เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 10 ธ.ค. 07, 13:36



กระทู้: พยายามสืบค้น พระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 10 ธ.ค. 07, 13:36
มีข้อความในบันทึกเก่าของวัดที่ปากน้ำ สมุทรปราการ ชื่อ วัดมหาวงษ์ อ่านได้ความว่า

บรรยากาศที่ท่าน้ำ (ริมแม่น้ำเจ้าพระยา) หน้าวัดมหาวงษ์แต่ก่อนเก่า
รัชกาลที่ ๖ ทรงนิพนธ์ไว้ใน กาพย์เห่เรือ แห่ชมระยะทางไปปากน้ำ ความตอนหนึ่งว่า

“.…ผีเสื้อสมุทรป้อม   หนึ่งนั้นย่อมดูแข็งขลัง
ยิงปืนครืนครืนดัง      คำนับองค์พระทรงศร
สมุทรเจดีย์      ปูชนีย์ประณมกร
เอี่ยมโอ่สโมสร      กลางวิมลชลธาร….”

ในฐานะเป็นคนปากน้ำ ผมถือว่าเป็นข้อมูลพื้นที่ใกล้บ้านที่น่าสนใจ ที่ไม่เคยมีใครบันทึกเอาไว้

จึงอยากสืบค้นรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเส้นทางน้ำจากกรุงเทพฯ ถึงพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ในพระราชนิพนธ์ กาพย์เห่เรือ แห่ชมระยะทางไปปากน้ำ ใครที่มีข้อมูล พระราชนิพนธ์ (ฉบับเต็ม) หรือข้อแนะนำ ช่วยกรุณาด้วยนะครับ จะเป็นพระคุณยิ่ง


กระทู้: พยายามสืบค้น พระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 10 ธ.ค. 07, 13:51
อธิบายความ

ผีเสื้อสมุทรป้อม คือ ป้อมผีเสื้อสมุทร เกาะกลางปากน้ำเจ้าพระยา สร้างสมัยรัชกาลที่ ๒
ยิงปืนครืนครืนดัง เป็นการยิงสลุตของป้อมผีเสื้อสมุทร เมื่อมีพิธีรับเสด็จ เข้าปากแม่น้ำเจ้าพระยาทางชลมาคร
สมุทรเจดีย์ คือ เกาะองค์พระสมุทรเจดีย์ หรือ พระเจดีย์กลางน้ำ คู่เมืองสมุทรปราการ

ทั้งหมดอยู่กลางแม่น้ำ ฝั่งตรงข้ามวัดมหาวงษ์ สมุทรปราการ


กระทู้: พยายามสืบค้น พระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 11 ธ.ค. 07, 18:23
พระราชนิพนธ์กาพย์เห่เรือนี้  ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อคราวเสด็จฯ เลียบหัวเมืองชายทะเลมณฑลจันทบุรี  เมื่อเดือนธันวาคม  พ.ศ. ๒๔๕๗  โปรดพระราชทานให้จัดพิมพ์ครั้งแรกในวารสารสมุทสาร ของราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์  กาพย์เห่เรือชุดนี้  นอกจากจะเป็นกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานแล้ว  ยังมีบทชมชายฝั่ง  ซึ่งมีบทหนึ่งที่รู้จักกันดี คือ บทที่ขึ้นต้นว่า สีชังชังแต่ชื่อ  เกาะนั้นหรือจะชังใคร  ที่มีการใส่ทำนองเป็นเพลงสากล  และม.ร.ว.ถนัดศรี  สวัสดิวัตน์ เป็นผู้ขับร้อง  มีบทเห่ชมกระบวนเรือรบ  ซึ่งในครั้งนั้นกระทรวงทหารเรือได้จัดสวนสนามทางเรือถวายทอดพระเนตร  นับเป็นการสวนสนามทางเรือครั้งแรกของกองทัพเรือไทย  พระราชนิพนธ์กาพย์เห่เรือชุดนี้มีอยู่หลายบท  แต่ขอสารภาพผิดครับว่า ยังหาไม่พบ  ขออนุญาตหาแล้สจะมาโพสท์ให้ทราบอีกครั้งครับ


กระทู้: พยายามสืบค้น พระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ธ.ค. 07, 15:13
ค้นพบ บางบท เท่านั้นค่ะ  แต่เป็นบทพ้นสมุทรปราการไปถึงชลบุรี
คือ
๑)เห่ชมชายทะเล

   สีชังชังชื่อแล้ว          อย่าชัง
อย่าโกรธพี่จริงจัง         จิตต์ข้อง
ตัวไกลจิตต์ก็ยัง            เนาแนบ
เสน่ห์สนิทน้อง             นิจโอ้อาดูร

   สีชังชังแต่ชื่อ            เกาะนั้นฤๅจะชังใคร
ขอแต่แม่ดวงใจ            อย่าชังชิงพี่จริงจัง
  ตัวไกลใจพี่อยู่           เป็นคู่น้องครองยืนยัง
ห่างเจ้าเฝ้าแลหลัง       ตั้งใจติดมิตร์สมาน
  บางพระนึกถึงพระ      บูชนีย์ที่สักการ
แต่งตั้งยังสถาน           แทบหัวนอนขอพรครอง
  ผ่านทางบางปลาสร้อย      จิตต์ละห้อยละเหี่ยหมอง
นึกสร้อยสายเพ็ชรทอง        คล้องคอเจ้าเย้ากระมล
  บางนี้บุรีงาม             อันออกนามว่าเมืองชล
แลท้องทะเลวน           ชลนัยน์ไหลลงธาร
  อ่างหินนึกอ่างหิน       ที่ยุพินเคยสนาน
โอ้ว่ายุพาพาล             จะอ้างว้างริมอ่างหิน
  เรือผ่านเกาะกระดาษ  แม้สามารถจะพังภิน
จะเขียนสาราจิน           ตนาส่งถึงนงเยาว์
  ถึงอ่าวพุดซาวัน         ริกริกสั่นสิอกเรา
คิดถึงพุดซาเจ้า           เคยเก็บไว้ให้พี่ยา
  คลุกพริกกับเกลือดี    ไว้ให้พี่จิ้มพุดซา
เสร็จงานกลับบ้านมา    พอได้ลิ้มชิมชอบใจ


กระทู้: พยายามสืบค้น พระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 12 ธ.ค. 07, 20:53
ขอบพระคุณ คุณ V_Mee  และ คุณเทาชมพู มากครับ
เริ่มจะได้แนวทางแล้วครับ

ทราบว่าครั้งหนึ่งเกาะสีชัง เดิมก็เป็นอำเภอเกาะสีชัง จังหวัดสมุทรปราการ
ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นกิ่งอำเภอของจังหวัดชลบุรี
ผมมองจากปากแม่น้ำเจ้าพระยาวันอากาศดีดี ก็จะเห็นเกาะสีชังอยู่ไม่ห่างมากครับ

พระสมุทรเจดีย์ ปัจจุบัน ผมจะข้ามไปไหว้พระเจดีย์อยู่บ่อยๆ
แต่ก็ไม่เห็นจะเป็นพระเจดีย์กลางน้ำ อย่างที่คนรุ่นเก่าเล่าให้ฟังนะครับ
อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา แต่จากบทพระราชนิพนธ์ที่ว่า

"เอี่ยมโอ่สโมสร กลางวิมลชลธาร" ก็เลยต้องกลับไปสำรวจอีกครั้งแล้วครับ

 


กระทู้: พยายามสืบค้น พระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 13 ธ.ค. 07, 14:35

         วันนี้มีเวลาท่องดูกระทู้เก่าๆ พบภาพนี้จาก pantip โดยคุณปริยวาทีแสดงไว้ ครับ

           พระสมุทรเจดีย์หรือพระเจดีย์กลางน้ำ   อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ  ถ่ายในสมัยรัชกาลที่ 5 
สมัยนั้นที่ตั้งของพระเจดีย์ยังเป็นเกาะจริง ๆ ภายหลังพื้นดินรอบเกาะตื้นเขิน  ตัวเกาะจึงเชื่อมติดกับฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาดังเห็นอยู่ในปัจจุบัน
ภาพจากหนังสือ  Buddistsche  Tempelangan in Siam  ของ คาร์ล ดอห์ริง  พิมพ์เมื่อสมัยรัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2463 หอสมุดแห่งชาติ 


กระทู้: พยายามสืบค้น พระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 13 ธ.ค. 07, 18:13
ค้นพระราชนิพนธ์กาพย์เห่เรือในรัชกาลที่ ๖ มาได้แล้วครับ

เห่เรือชุดนี้เริ่มต้นที่เห่ชมกระบวนเรือพระที่นั่งมหาจักรี  และเรือรบที่เข้ากระบวนเสด็จประพาสอีก ๘ ลำ  ต่อด้วยเห่ชมปราสาทราชวังในกรุง้ทพฯ  แล้วจึงถึงบทเห่ชมสองฝั่งเจ้าพระยาจนถึงปากอ่าวไทย  ที่คัดมานี้คงรักษาตัวสะกดการันต์ตามต้นฉบับเดิมนะครับ

                           โคลง
     แล่นเรือมาแช่มช้า                ตามกระแส
แลเหลือบเหลียวหลังแล      ไฝ่บ้าน
ใจโยนประหนึ่งแพ      โดนคลื่น
ลมเฉื่อยระเรื่อยสร้าน      จิตเศร้าหาศรี ฯ
         
                       กาพย์
     เรื่อย ๆ เรือลอยลำ       ตามสายน้ำถูกกระแส
แลเหลือบเหลียวหลังแล       ไฝ่ถึงบ้านสร้านโศกใจ
     เรือนแพแลสพรั่ง       คลื่นโดนฝั่งก็กวัดไกว
แพโยน ๆ เหมือนใจ       เรียมผู้ไฝ่ถึงเคหา
     ผ่านหน้าวัดอรุณ       เคยทำบุญญะบูชา
ขอบุญการุญพา       ให้ฃ้าสมอารมณ์หวัง
     ขออย่าให้ฃ้าศึก                 ผู้พิลึกกาจกำลัง
สามารถอาจภินพัง       พระปรางค์ศรีธานีไทย
     ผ่านทางบางคอแหลม    ชื่อบางแนมเหน็บดวงใจ
แหลมหลักจักหาไหน       เหมือนแหลมคำเจ้าร่ำวอน
     ปากลัดตัดวิถี       ทางนทีสู่สาคร
วานลัดตัดทางจร       ดลสู่เจ้าตัดเศร้าใจ
     ยามมองช่องนนทรี       เห็นธานีอยู่ไกล ๆ   
หลังคาเคหาใน       นครยวนชวนจิตผัน
     เห็นเสาวิทยุเด่น       เปนของเลิศประเสริฐครัน
ถนัดอัศจรรย์       พูดกันได้  ไม่มีสาย
     ดูราวกับสองจิต       มิตร์ต่อมิตร์คิดเหมือนหมาย
เหมือนตารักตาชาย       ตาเห็นรักประจักษ์ใจ
     ผ่านป้อมเสือซ่อนเล็บ    นึกน่าเจ็บดวงหทัย
โบราณท่านตั้งไว้       ให้เล็งเหมาะจำเภาะดี
     ยิงเป้งเผงกลางน้ำ       ไม่ผิดลำถูกนาวี
อนิจจามาบัดนี้       ป้อมปรักแลหักพัง
     ผีเสื้อสมุทป้อม       หนึ่งนั้นย่อมดูแขงขลัง
ยิงปืนครั่นครืนดัง       คำนับองค์พระทรงศร
     สมุททะเจดีย์       บูชะนีย์ประนกร
เอี่ยมโอ่สโมสร       กลางวิมลชลธาร
     นาวามายั้งหยุด       ยังสมุททะปราการ
ดูเมืองรุ่งเรืองร้าน       ตลาดของที่ต้องใจ
     เรือรอพอเวลา       น้ำขึ้นมามากพอไป
ก็เลื่อนเคลื่อนคลาไคล       ไปสู่ท้องทเลลม
     ลมเฉื่อยเรื่อย ๆ พา       กลิ่นบุบผามารวยรมย์
รื่นรวยราวมวยผม       ที่เคยดมชมชื่นใจ
     ลมพัดไม่จัดจ้าน       พอประมาณไม่แรงไป
เหมือนยามเจ้าทรามไวย       พัดรำเพยเชยฤดี
     อากาศสอาดโปร่ง       สบายโล่งกลางวารี
แต้จิตคิดถึงศรี       จิตจึ่งเหงาเศร้าอาดูร ฯ

ต่อจากนี้เป็นเห่ชมปลา  ชมชายฝั่งทะเลที่ท่านอาจารย์เทาชมพูคัดมาให้อ่านกันแล้ว  นอกจากนั้นยังมีเห่ถึงพระร่วงเจ้า  ต่อด้วยบทรำพุงถึงหนังสือที่แม้เวลาจะล่วงเลยมาเกือบร้อยปี  ก็ยังทันสมัยอยู่เสมอ  เลยคัดมาให้อ่านกันเป็นของแถม
      โคลง
     เงียบเหงาเปล่าอกโอ้                อกครวญ
หยิบสมุดชุดชวน                อ่านบ้าง
นอนอ่าน ๆ ยิ่งหวล                ใจโศก
น้องพี่เคยเคียงฃ้าง                ช่วยชี้  ชวนหัว
            
                           กาพย์
     เงียบเหงาเปล่าอกหมอง   คิดถึงน้องหมองวิญญา
จึ่งหยิบหนังสือมา      แก้รำคาญอ่านเรื่อยไป
     อ่าน ๆ รำคาญฮือ      แบบหนังสือสมัยใหม่
อย่างเราไม่เฃ้าใจ      ภาษาไทยเฃาไม่เขียน
     ภาษาสมัยใหม่      ของถูกใจพวกนักเรียน
อ่านนักชักวิงเวียน      เขาช่างพียรเสียจริงจัง
     แบบเก๋เขวภาษา      สมมตว่าแบบฝรั่ง
อ่านเบื่อเหลือกำลัง      ฟังไม่ได้ คลื่นไส้เหลือ
     อ่านไปไม่ได้เรื่อง      ชักชวนเคืองเครื่องให้เบื่อ
แต่งกันแสนฟั่นเฝือ      อย่างภาษาบ้าน้ำลาย
     โอ้ว่าภาษาไทย      ช่างกระไรจวนฉิบหาย
คนไทยไพล่กลับกลาย      เปนโซ๊ดบ้าน่าบัดสี
     หนังสือฤาหวังอ่าน        แก้รำคาญได้สักที
ยิ่งอ่านดาลฤดี      เลยต้องขว้างกลางสาคร
     ลองหามาอ่านใหม่        พะเอินได้เปนบทกลอน
สมมตบทลคร      ขึ้นชื่อเสียงเฉวียงไว
     พุทโธ่โอ้ใจหาย      เราเคราะห์ร้ายนี่กระไร
จบหมดบทกลอนไทย      ไม่เปนส่ำระยำมัง
     ทั้งมวลล้วนเหลวแหลก   ทุกแพนกอนิจจัง
เรื่องเปื่อยเลื้อยรุงรัง      ทั้งถ้อยคำซ้ำหยาบคาย
     กลับหันหาเรื่องดี      ที่เอาไว้ใกล้ ๆ กาย
อ่านให้ใจสบาย      หายง่วงเหงาเศร้ากระมล ฯ

และขอทิ้งท้ายไว้ให้ทายกันเล่นๆ ว่า “เรื่องดี  ที่เอาไว้ใกล้ ๆ กาย” คือเรื่องอะไร?


กระทู้: พยายามสืบค้น พระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 13 ธ.ค. 07, 21:31
ขอคารวะ
สารานุกรมรัชกาลที่ ๖ ฉบับเดินได้


กระทู้: พยายามสืบค้น พระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 13 ธ.ค. 07, 22:35
ขอบคุณ คุณ pipat สำหรับภาพสวยๆครับ

ผมยังดีใจและขนลุกไม่หานะครับ สำหรับพระราชนิพนธ์กาพย์เห่เรือในรัชกาลที่ ๖ ของท่านสารานุกรมรัชกาลที่ ๖ ฉบับเดินได้ (คุณV_Mee) ยังสงสัยเรื่องเสาวิทยุที่ช่องนนทรี ว่าเมืองไทยเรามีแล้วหรือครับ ส่วนป้อมเสือซ่อนเล็บ ปัจจุบันกลายเป็นที่ตั้งโรงเรียนนายเรือไปแล้ว

ผมได้รับการติดต่อจากผู้อ่านท่านหนึ่ง ว่าได้เก็บสะสมเรื่องราวเกี่ยวกับเกาะองค์พระสมุทรเจดีย์ ทั้งรูปภาพเก่า ส.ค.ส. การ์ด และ ธนบัตรเก่าฉบับ ๑ บาท ฉบับ ๕ บาท ฉบับ ๑๐ บาท และ ๒๐ บาท สมัยรัชกาลที่ ๗ ที่ด้านหลังเป็นภาพพระสมุทรเจดีย์ ว่าจะส่งภาพมาให้แต่ติดอยู่ว่าส่งไม่เป็น ผมเองก็ไม่ถนัดเหมือนกัน กำลังติดต่อขอที่อยู่กันอยู่ครับ

ยังตื่นเต้นกับข้อมูลใหม่ จนลืมการบ้านที่ว่า  “เรื่องดี  ที่เอาไว้ใกล้ ๆ กาย” คือเรื่องอะไร
กำลังคิดหนักอยู่ครับ 


กระทู้: พยายามสืบค้น พระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 13 ธ.ค. 07, 23:14
พระสมุทรเจดีย์นั้น
ผมเห็นว่า เป็นยิ่งกว่าพระเจดีย์ที่ตั้งอยู่บนเกาะกลางน้ำครับ
แต่กระทู้นี้เกี่ยวกับรัชกาลที่ 6 จึงของดที่จะถกเรื่องนี้

ไว้โอกาศเหมาะ เรามาลองถกกันถึงจุดมุ่งหมายเชิงสัญลักษณ์ของศาสนสถานแห่งนี้กัน


กระทู้: พยายามสืบค้น พระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 14 ธ.ค. 07, 05:27
ขอบพระคุณสำหรับคำชมของทุกๆ ท่านครับ

เรื่องเสาวิทยุที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์กาพย์เห่เรือนั้น คือ เสาวิทยุโทรเลขของกระทรวงทหารเรือ ที่ศาลาแดง  ตรงที่เคยเป็นโรงเรียนเตรียมทหารเดิม  ข้อมูลจากสารานุกรมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเสงี่ยม  เผ่าทองศุข อดีตรองอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข ระบุว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงทหารเรือจัดตั้งสถานีวิทยุโทรเลขถาวรขึ้น ๒ แห่งที่ตำบลศาลาแดง  ในกรุงเทพฯ แห่งหนึ่ง  กับที่ชายทะเลจังหวัดสงขลา  ตรงกึ่งกลางระหว่างแหลมสมิหรากับเขาเก้าเส้ง  ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของสนามบินของฐานบินกองทัพอากาศ  ทั้งสองที่มีสถานีเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียวติดตั้งเครื่องรับส่งวิทยุของบริษัท เทเลฟุงเกนแบบประกายไฟฟ้า (Spark)พร้อมเสาวิทยุโทรเลขเป็นเสาเหล็กสามเหลี่ยมโปร่งต้นเดี่ยวสูง ๖๐ เมตร เหมือนกัน  (เรื่องเครื่องส่งวิทยุเทเลฟุงเกนนี้มีพระราชบันทึกที่ทรงกล่าวถึงอยู่ในประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ ด้วย)

เมื่อการจัดตั้งสถานีวิทยุโทรเลขทั้งสองแห่งแล้วเสร็จ  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ ไปทรงเปิดสถานีวิทยุโทรเลขที่ศาลาแดงเมื่อวันอังคารที่  ๑๓  มกราคม  ๒๔๕๖  และได้มีพระราชหัตถเลขาเป็นภาษาอังกฤษพระราชทานให้เจ้าพนักงานส่งเป็นวิทยุโทรเลขฉบับปฐมฤกษ์ไปถึงนายพลโท สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ซึ่งประทับอยู่ที่ทรงสงขลา มีความว่า
     GREETING TO YOU ON THIS.  WHICH WILL BE ONE OF THE MOST IMPORTANT DAY IN OUR HISTORY.



กระทู้: พยายามสืบค้น พระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 14 ธ.ค. 07, 13:56
เป็นนักติดตามอ่านเรื่องของคุณวีอีกคนหนึ่งอยู่ค่ะ


กระทู้: พยายามสืบค้น พระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ธ.ค. 07, 21:21
ยังเข้ามาร่วมวงอยู่ค่ะ
คุณ V_Mee เอ่ยถึงบทเห่ชมพระที่นั่ง พระตำหนักและพระบรมมหาราชวัง
เลยนำมาลงไว้ในกระทู้นี้เสียเลย

เหลือบแลชะแง้พิศ                  ดูดุสิตวนารมย์
เคยเที่ยวลดเลี้ยวชม                ดมบุปผาสารพัน
ชมวัดดังวิมาน                         ถิ่นสถานมัฆวัน
เพลินพิศไพจิตรสรร                  พะงามเนตรวิเศษชม
สล้างปรางค์มหันต์                    อนันตสมาคม
อัมพรสถานสม                        เป็นสถานพิมานอินทร์
สถานวิมานเมฆ                       เอกอาสน์โอ่ท้าวโกสินทร์
อภิเษกดุสิตภิญ                      โญยศยงองค์ภูบาล
ตำหนักสำนักตา                      จิตรลดารโหฐาน
ที่พระอวตาร                           สำราญรมย์ภิรมยา
สะพรั่งวังอนุช                         ผู้ทรงสุดเสน่หา
ปารุสก็สุดเพลินตา                   สวนกุหลาบปลาบปลื้มใจ
ตำหนักพระชนนี                      มีนามว่าพญาไท
อยู่ทาง บ่ ห่างไกล                  ใกล้ดุสิตวนาภา
นาวาผ่านนิเวศน์                      พระทรงเดชจอมประชา
พินิจพิศเพลินตา                      ตระการตรูดูเลิศดี
สล้างปรางค์ปราสาท                ประกอบมาศมณีศรี
รยับจับรพี                              สีสว่างกลางอัมพร
ปราสาทราชฐาน                     อวตารสโมสร
ยงยอดสอดสลอน                   ยอนยั่วฟ้าน่านิยม
จักรีพระที่นั่ง                          สามยอดตั้งตรูตาชม
สำราญสถานสม                     สถิตถิ่นปิ่นนรา
ดุสิตปราสาทตั้ง                     พระมนังคะศิลา
พิมานรัถยา                           อุดมอาสน์ราชฐาน
มณเฑียรเสถียรศักดิ์               จักรพรรดิ์พิมาน
เคียงใกล้คือไพศาล                ทักษิณที่สุขาลัย
ฝ่ายหน้าสง่าสิ้น                     อมรินทร์วินิจฉัย
พระโรงภูวนัย                        ธ ประศาสน์ราชการ
อารามวัดพระศรี                    รัตนศาสดาคาร
มงคลมหาสถาน                    ปูชนีย์ที่นิยม
อันกรุงรุ่งเรืองกิตติ์                ที่สถิตพิโรดม
เลิศล้วนชวนจิตต์ชม              สมเกียรติ์เลื่องเมืองสยาม

ใครจะช่วยนับชื่อพระที่นั่งและพระตำหนักบ้างคะ


กระทู้: พยายามสืบค้น พระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ธ.ค. 07, 21:26
มาต่อให้จากค.ห.ที่ 3

อ้างถึง
เห่ชมชายทะเล

   สีชังชังชื่อแล้ว          อย่าชัง
อย่าโกรธพี่จริงจัง         จิตต์ข้อง
ตัวไกลจิตต์ก็ยัง            เนาแนบ
เสน่ห์สนิทน้อง             นิจโอ้อาดูร

   สีชังชังแต่ชื่อ            เกาะนั้นฤๅจะชังใคร
ขอแต่แม่ดวงใจ            อย่าชังชิงพี่จริงจัง
  ตัวไกลใจพี่อยู่           เป็นคู่น้องครองยืนยัง
ห่างเจ้าเฝ้าแลหลัง       ตั้งใจติดมิตร์สมาน
  บางพระนึกถึงพระ      บูชนีย์ที่สักการ
แต่งตั้งยังสถาน           แทบหัวนอนขอพรครอง
  ผ่านทางบางปลาสร้อย      จิตต์ละห้อยละเหี่ยหมอง
นึกสร้อยสายเพ็ชรทอง        คล้องคอเจ้าเย้ากระมล
  บางนี้บุรีงาม             อันออกนามว่าเมืองชล
แลท้องทะเลวน           ชลนัยน์ไหลลงธาร
  อ่างหินนึกอ่างหิน       ที่ยุพินเคยสนาน
โอ้ว่ายุพาพาล             จะอ้างว้างริมอ่างหิน
  เรือผ่านเกาะกระดาษ  แม้สามารถจะพังภิน
จะเขียนสาราจิน           ตนาส่งถึงนงเยาว์
  ถึงอ่าวพุดซาวัน         ริกริกสั่นสิอกเรา
คิดถึงพุดซาเจ้า           เคยเก็บไว้ให้พี่ยา
  คลุกพริกกับเกลือดี    ไว้ให้พี่จิ้มพุดซา
เสร็จงานกลับบ้านมา    พอได้ลิ้มชิมชอบใจ

   ครั้นถึงทุ่งไก่เตี้ย      ยิ่งละเหี่ยละห้อยใจ
นึกยามเจ้าทรายวัย      ปรุงแกงไก่ให้พี่กิน
   เดินผ่านร้านดอกไม้   ก็ยิ่งใฝ่ใจถวิล
เคยชวนโฉมยุพิน        ชมดอกไม้ที่ในสวน
   เกาะยอเหมือนยอเจ้า    ยุพเยาว์อนงค์นวล
แสร้งยอ บ่ มิควร         เพราะนิ่มเนื้อเหลือเลิศชม
  เข้าถึงสัตหีบ             รีบหลบลี้หนีคลื่นลม
นึกยามเจ้าทรามชม     จัดผ้าจีบลงหีบน้อย
  ขบวนเรือประพาส     ดูดาดาษกลาดเกลื่อนลอย
ชิงชังดังหนึ่งคอย        จะต่อสู้ศัตรูผลา
  จอดห้อมล้อมเป็นวง   รอบเรื่ององค์พระราชา
ดูเหมือนเดือนสง่า        อยู่ท่ามกลางหว่างหมู่ดาว
  ดูพลางทางรำพึง       นิ่งคำนึงถึงเนื้อขาว
นึกนึกรู้สึกราว             ไปงานดึกพิลึกใจ
  แม้มีศึกสงคราม         ถึงสยามในวันใด
จำพรากจากทรามวัย    ไปต่อสู้ศัตรูพาล
  เกิดมาเป็นชาวไทย    ต้องทำใจเป็นทหาร
รักเจ้าเยาวมาลย์         ก็จำหักรักรีบไป
  จะยอมให้ไพรี           เหยียบย่ำยีแผ่นดินไทย
เช่นนั้นสิจัญไร            ไม่รักชาติศาสนา
  เพราะรักประจักษ์จริง จึงต้องทิ้งเจ้าแก้วตา
จงรักภักดีมา               อาสาต้านราญริปู


กระทู้: พยายามสืบค้น พระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ธ.ค. 07, 18:44
หามาให้อีกบทหนึ่งค่ะ    เป็นกาพย์ห่อโคลง เห่ชมกระบวนเรือ

     ปางเสด็จประเวศห้วง                         ชลธี
ทรงมหาจักรี                                          เกียรติก้อง
พรั่งพร้อมยุทธนาวี                                  แหนแห่
เสียงอธึกทั่วท้อง                                    ถิ่นด้าวอ่าวสยาม

      พระเสด็จโดยแดนชล                         ทรงเรือต้นงามสดสี
มหาจักรีมี                                              เกียรติก้องท้องสาคร
      นาวาวรายุทธ                                   อุตลุดแลสลอน
แห่ห้อมจอมนคร                                      ราวจะรอนริปูเปลือง
     ธงทิวปลิวระยับ                                  สีสลับขาวแดงเหลือง
อันธงพระทรงเมือง                                  เหลืองอร่ามดูงามตา
     ธงตรามหาราช                                  ผ่องผุดผาดในเวหา
รูปครุฑะราชา                                         อ้าปีกกว้างท่าทางบิน
     ธงแดงดังแสงชาด                              ลายช้างกาจก่องกายิน
บอกตรงธงแผ่นดิน                                  ถิ่นสยามอันงามงอน
     จักรีนาวีราช                                      ทิพอาสน์องค์ภูธร
สง่าราวอาภรณ์                                       เพื่อประดับทัพเรือไทย
    ใหญ่กว่านาวาสรรพ                            ในกองทัพพหลไกร
บรรดานาวาไทย                                     ในบัดนี้ไม่มีทัน
    ปืนไฟใหญ่ประเภท                             สี่นิ้วเศษสุดแข็งขัน
สามารถอาจเหียนหัน                               ผันหน้าสู้ศัตรูแรง
    อีกศรหกปอนด์หนัก                             ก็พร้อมพรักศักดิ์กำแหง
เตรียมอยู่สู้ศึกแขง                                   แย้งยื้อยุทธ์สุดกำลัง
    พาลีรั้งทวีป                                        รีบแล่นตามงามเงื่อนขลัง
เรือปืนยืนยุทธ์ยัง                                     ดังกระบี่พาลีหาญ
    เรือแรงคำแหงยุทธ                              มกุฎราชะกุมาร
คอยสู้ศัตรูพาล                                        ผู้ยื้อยุดมกุฎไทย
    สุครีพครองเมืองศรี                              สุรนาวีมุ่งชิงไชย
เรือปืนยืนยุทธไกร                                   เหมือนพญาพานะเรนทร์
    สุริยมณฑลกล้า                                   นาวากลาดลาดตระเวณ
หาญต่อ บ่ รอเกณฑ์                                สอึกสู้ริปูรอน
    เรือเสือทะยานชล                               พิฆาฏพลริปูสยอน
กั่นกล้าในสาคร                                      บ่ ย่อหย่อนยุทธนา
    เรือเสือคำรนสินธุ์                                พิฆาฏภินอริผลา
จู่โจมและโถมถา                                     กล้าประยุทธ์จนสุดแรง
     อีกเรือตอร์ปิโด                                  วิ่งโร่รีฝีเท้าแขง
ว่องไวไล่ย้อนแย้ง                                   ยักย้ายลอดดอดเอาไชย
     กระบวนล้วนแล่นล่อง                         ไปแทบท้องชลาลัย
อธึกดูคึกใจ                                            จิตต์จักสู้ศัตรูพาล


กระทู้: พยายามสืบค้น พระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 23 ธ.ค. 07, 02:45
"ผู้ใดมีอำนาจวาศนา                            ธรรมดาหาอะไรก็หาได้
กำหมัดคือยุติธรรมจงจำไว้                    ใครหมัดใหญ่ได้เปรียบเรียบเทียบเกลอ
ใครหมัดย่อมต้องถ่อมกายายอบ             ต้องคอยหมอบคอยกราบราบเทียวหนอ
คอยระแวงแขยงอยู่ละเออ                     มิได้กล้าเผยอขึ้นตึงตัง
มีอำนาจวาศนาวาจาสิทธิ์                       พูดสิ่งใดไม่ผิดเพราะฤทธิ์ขลัง
ถึงพูดผิดกำหมัดซัดลงปัง                      กลายเป็นพูดถูกจังไปทั้งเพ
กำหมัดเล็กลูกเด็กก็เถียงได้                   จะส่งเสียงเถียงไปไม่ไหวเหว
ต้องขอยืมหมัดโตไว้โบ๊เบ๊                      เดินโอ้เอ้วางปึ่งให้ถึงดี"
พระราชนิพนธ์นี้มาจากเรื่องอะไรครับ  แปลว่าโบ๊เบ๊  นี้เรียกกันมาแต่ครั้งรัชกาลที่ 6  แล้วสิครับ... ;)


กระทู้: พยายามสืบค้น พระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 23 ธ.ค. 07, 06:10
มาจากพระราชนิพนธ์เรื่อง วิวาหพระสมุท ครับ
ในพระราชนิพนธ์นี้ยังมีอีกหลายบทที่เป็นที่รู้จักกันดี เช่น

     ปากเป็นเอกเลขเป็นโทโบราณว่า      หนังสือตรีมีปัญญาไม่เสียหลาย
ถึงรู้มากไม่มีปากลำบากตาย                มีอุบายพูดไม่เป็นเห็นป่วยการ
ถึงเป็นครูรู้วิชาปัญญามาก                   ไม่รู้จักใช้ปากให้จัดจ้าน
เหมือนเต่าฝังนั่งซื้อฮื้อรำคาญ              วิชาชาญมากเปล่าไม่เข้าที
ใครช่างพูดพลิกแพลงเหมือนแรงมาก     คนนิยมลมปากมากเจียวพี่
ถึงรู้น้อยถ้อยคำให้ขำดี                       คงเป็นสมคเนที่เฉโก ฯ


     อันโดรเมดาสุดาสวรรค์                   ยิ่งกว่าชีวันเสนหา
ขอเชิญชาวสวรรค์ขวัญฟ้า                    เปิดวิมานลงมาให้ชื่นใจ
ถึงกลางวันสุริยันแจ่มประจักษ์               ไม่เห็นหน้านงลีกษณ์ยิ่งมืดใหญ่
ถึงราตรีมีจันทร์อันอำไพ                       ไม่เห็นโฉมประโลมใจก็มืดมล
อ้าดวงสุริย์ศรีของพี่เอ๋ย                       ขอเชิญเผยหน้าต่างนางอีกหน.


กระทู้: พยายามสืบค้น พระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 25 ธ.ค. 07, 11:06
ถึงกลางวันสุริยันแจ่มประจักษ์               ไม่เห็นหน้านงลีกษณ์ยิ่งมืดใหญ่
ถึงราตรีมีจันทร์อันอำไพ                       ไม่เห็นโฉมประโลมใจก็มืดมล
อ้าดวงสุริย์ศรีของพี่เอ๋ย                       ขอเชิญเผยหน้าต่างนางอีกหน.

มืดมล..หรือมืดมนคะ
ต้นฉบับเขียนสะกดด้วยล.ลิงหรือคะ


กระทู้: พยายามสืบค้น พระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 26 ธ.ค. 07, 23:46
ถึงกลางวันสุริยันแจ่มประจักษ์               ไม่เห็นหน้านงลีกษณ์ยิ่งมืดใหญ่
ถึงราตรีมีจันทร์อันอำไพ                       ไม่เห็นโฉมประโลมใจก็มืดมล
อ้าดวงสุริย์ศรีของพี่เอ๋ย                       ขอเชิญเผยหน้าต่างนางอีกหน.

มืดมล..หรือมืดมนคะ
ต้นฉบับเขียนสะกดด้วยล.ลิงหรือคะ

ตรวจสอบจากต้นฉบับ  ทั้งฉบับที่มหามกุฏราชวิทยาลัยฯ จัดพิมพ์โดยเสด็จพระกุศลในการทรงบำเพ็ญพระกุศลอุทิศถวายล้นเกล้าฯ มื่อวันที่  ๒๖  พฤศจิกายน  ๒๔๖๘  และจากหนังสือ "งานละครของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้ากรุงสยาม" ของ ท่านหม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล แล้วใช้คำว่า "มืดมล" ตรงกันทั้งสองฉบับครับ  และเพื่อความสมบูรณ์จะขอไปตรวจสอบกับต้นฉบับลายพระราชหัตถ์ที่หอวชราวุธานุสรณ์อีกทีครับ  ได้เรื่องอย่างไรจะมารายงานให้ทราบครับ

สำหรับวันนี้ขอนำเสนอตอนหนึ่งจากบทพระราชนิพนธ์ "หนามยอกเอาหนามบ่ง" ที่ ศ.คุณหญิงผอบ  โปษะกฤษณะ  ท่านเคยใช้ให้ค้นให้ท่าน  แต่ค้นไม่พบเพราะไปค้นในสำนวนที่ ๒  เลยโดนดุแล้วจึงพบว่าบทนี้อยู่ในสำนวนที่ ๑  เลยประทับใจมาจนวันนี้

     ขอบใจประชาชน            ถ้วนทุกคน ณ ธานี
มีจิตตะไมตรี                      เราเห็นชอบจะตอบเตือน
    หญิงชายทั้งหลายนั้น        ควรเห็นกันว่าเปนเพื่อน
ทหารและพลเรือน               จงฟังคำและจำดี
    ชาติเดียวกันทุกคน           รักแต่ตนจะเสียที
มัวแก่งและแย่งดี                 จนแตกพวกไม่ควรการ
    ทหารอย่าข่มเพื่อน            พลเรือนก็เท่าทหาร
พลเรือนอย่าใจพาล               อย่าชิงชังซึ่งโยธา
    ต่างฝ่ายต้องพึ่งกัน           ทุกสิ่งสรรพ์สำเร็จนา
โบราณะสุภา                       ษิตะกล่าวก็ควรฟัง
    เสือพีเพราะป่าปก              และป่ารกเพราะเสือยัง
ดินเย็นเพราะหญ้าบัง              และหญ้ายังเพราะดินดี
    ร่วมชาติต้องร่วมรัก           และสมัคสามัคคี
จงรักษะภักดี                       ต่อพระปิ่นนรากร
    ทั่วกันจงกั่นกาจ                รักษาชาติสโมสร
ศาสนาให้ถาวร                     อิศระอวสาน
    ให้เกียรติขจรจบ               บรรฦาลบถึงบาดาล
เทพไทในวิมาน                    ให้สรรเสริญทั้งโลกา ฯ

อีกบทหนึ่งจาก "หนานยอกเอาหนามบ่ง" สำนวนที่ ๑ ว่าด้วยจริตของอิสตรี

     สาวน้อยคอยจำคำข้าสอน  แม้บังอรหวังชายหมายเปนคู่  เมื่อแรกพบเขาจ้องอย่ามองดู  ต้องล่อชู้ด้วยทีตระหนี่ตัว  หญิงคนใดได้ง่ายชายเขาข้อน  ว่ารีบร้อนหมดกระดากอยากมีผัว  ยิ่งทำอายหดหู่ดูน่ากลัว  เหมือนยิ่งยั่วเย้าชายให้หมายมอง  อย่าอิดเอื้อนเชือนช้ามารยานาน  เขารำคาญกลับใจไม่ใฝ่ต้อง  เมื่อควรยอม ๆ เทียวลูกถูกทำนอง  ได้แล้วต้องผูกไว้ไม่ละเลย  เสร็จวิวาห์สารพัดมัดแน่นแล้ว  ผัวไม่แคล้วมือเรานะเจ้าเอ๋ย  ขู่กำราบปราบผัวหัวไม่เงย  ใครจะเย้ยช่างเขาเราพอใจ ฯ


กระทู้: พยายามสืบค้น พระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ ๖
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 11 ม.ค. 08, 09:36
........

(http://DSCF4189.JPG)