เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: V_Mee ที่ 16 ก.ค. 16, 11:49



กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 16 ก.ค. 16, 11:49
คุณหมอ JFK แสดงความปรารถนาใคร่จะทราบเรื่องการที่รัชกาลที่ ๓ ทรงรับราชสมบัติสืบต่อจากรัชกาลที่ ๒ นั้น  เรื่องนี้หม่อมเจ้าพูนพิศมัย  ดิศกุล ทรงเล่าไว้ใน “พระราชวงศ์จักรี” หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อ “สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น” ว่า
เรื่องเก่าๆ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ เรื่อยมาจนได้ทรงพบเห็นด้วยพระองค์เองนั้น  ทรงฟังมาจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ซึ่งทรงฟังคำบอกเล่ามาจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ อีกชั้นหนึ่ง

ในตอนที่ว่าด้วยรัชกาลที่ ๓ ทรงรับราชสมบัตินั้น  ทรงเล่าไว้ว่า
“เนื่องสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงมีพระชันษาแก่กว่าเจ้าฟ้ามงกุฎฯ พระอนุชาถึง ๑๗ ปี  และได้ทรงว่าราชการแทนพระองค์สมเด็จพระราชบิดามาแล้วหลายคราว  ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมีผู้นับถือเลื่อมใส  ทั้งพวกเจ้านายและขุนนางจาม Crawford เล่าไว้  ในหมู่เจ้านายชั้นผู้ให
ญ่ที่เป็นชั้นพระเจ้าอาว์ที่มีพระนามปรากฏเด่นต่อมาก็คือ กรมหมื่นศักดิพลเสพฯ และกรมหมื่นีกษ์รณเรศ  ที่ได้ทรงทำคำมั่นสัญญาไว้ว่าจะถวายราชสมบัติกับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  ทั้งฝ่ายขุนนางผู้ใหญ่มีสมเด็จเจ้าพระยา ๒ องค์พี่น้องก็เห็นสมควร  ฉะนั้นในวันสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ เสด็จสวรรคต  จึงตกลงเชิญเสด็จกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ซึ่งเสด็จเข้าไปประทับอยู่ในพระที่นั่งพร้อมด้วยเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่  ในเวลาทรงพระประชวรหนักเป็นราชประเพณีอยู่แล้ว  ให้เสด็จออกให้เจ้านายและข้าราชการอื่นๆ เฝ้าบนพระแท่นที่ประทับและถวายให้ทรงถือพระแสงอาญาสิทธิ์ไว้บนพระเพลาเป็นการแสดงให้คนทั้งหลายที่เฝ้านั้นเข้าใจว่าได้ทรงรับราชสมบัติแล้ว  ส่วนสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ก็เหมาะเวลาพระชันษาครบที่จะทรงอุปสมบท  และได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุแล้ว  เมื่อก่อนสมเด็จพระราชบิดาสวรรคตเพียง ๗ วัน  สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดให้ไปทูลถามว่าจะต้องพระราชประสงค์ราชสมบัติหรือไม่  และได้ทรงกราบทูลตอบไปว่า  ไม่ต้องพระประสงค์  จะขอทรงผนวชเล่าเรียนต่อไป  เหตุที่จริงมีอยู่เท่านี้”


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 16 ก.ค. 16, 11:50
นอกจากนั้นหม่อมเจ้าพูนพิศมัย  ดิศกุล ยังได้ทรงเล่าไว้ในพระราชวงศืจักรีอักว่า

“ต้นตระกูลของเจ้าพระยารามฯ คือ (the very) กรมหลวงรักษ์รณเรศ (พระองค์เจ้าไกรสร)  พระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑  และเป็นผู้ที่คิดยึดราชสมบัติจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔  ไว้ถวายแก่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓...  เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ได้เสด็จขึ้นเสวยราชย์แล้วก็โปรดให้พระเจ้าอาว์ผู้ร่วมคิด ๒ พระองค์  เลื่อนพระยศขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์หนึ่ง  คือกรมหลวงศักดิพลเสพ.  ส่วนพระองค์เจ้าไกรสร  ทรงเป็นกรมหลวงรักษ์รณเรศว่าการกระทรวงวังและกรมพระตำรวจหลวง  ซึ่งในเวลานั้นมีอำนาจชำระคดีและตัดสินความผู้ถวายฎีกาได้ด้วย,  นับว่าเป็นผู้มีอำนาจไม่ใช่น้อยในเวลานั้น.  เจ้านายทรงเล่าต่อๆ กันมาว่า กรมหลวงรักษ์ฯ ทรงสามารถปราดเปรื่องมีอำนาจมากในรัชกาลที่ ๓.  มีคนกลัวและเกลียดมากในสมัยของท่าน.  ได้ทรงว่าการหลายแผนกซึ่งรวมขึ้นอยู่ในกระทรวงวัง.  และเป็นผู้รู้พระราชหฤทัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ เป็นยอดเยี่ยม   เช่นครั้งเมื่อกรมหมื่นอับสรสุดาเทพ พระราชธิดาซึ่งทรงพระเสน่หาเป็นพิเศษสิ้นพระชนม์,  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ เสด็จลงพระราชทานสรงน้ำพระศพตามประเพณี  ทรงเศร้าโศกสลดเป็นอย่างยิ่ง  ครั้นถึงเวลาเบิกกระบวนแห่ให้เดินเข้าไปเชิญพระศพออกมาไว้ข้างหน้า  พอประตูวังเปิดเดินกระบวนเข้ามา  ก็เป็นกระบวนสำหรับพระเกียรติยศเจ้าฟ้าทุกประการ.  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนิ่งตะลึงหายทรงพระกำสรดไปทันที  ทั้งนี้เพราะกรมหลวงรักษ์ฯ ทรงจัดตามที่กะว่าจะเป็นที่พอพระราชหฤทัยหายเศร้าโศก.  แต่รู้ดีว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงถ่อมพระยศจะไม่ทรงสั่งเองเป็นอันขาด.  น่าเสียใจที่ว่าต่อมาต้องทรงแตกกันด้วยมีเรื่องให้ขุ่นเคืองกันหลายครั้งหลายหน  จนในที่สุดถึงมีคดีว่ากรมหลวงรักษ์ ทรงซ่องสุมผู้คนและเครื่องสาตราวุธไว้ที่วัง,  และมีพระยามอญคนหนึ่งถวายฎีกาว่าลูกชายของตนถูกกรมหลวงรักษ์ ทรงตัดสินให้ฆ่าด้วยเบิกพยานเท็จ.  โปรดให้ชำระไต่สวนได้ความว่าจริง.  กรมหลวงรักษ์ จึงถูกถอดพระยศลงมาเป็นหม่อมไกรสร (คือพ้นตำแหน่งเกี่ยวข้องกับเจ้า)  แล้วถูกตัดสินให้สำเร็จโทษตามความผิดนั้น.  เล่ากันว่าหม่อมไกรสรว่าสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ว่า “ตึกสำเร็จแล้วก็รื้อนั่งร้านเป็นธรรมดา”  และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ โปรดให้เอาดอกไม้ธูปเทียนไปขอขมา (fogive and forget) ว่าสิ่งไรที่ได้ทำร้ายต่อพระองค์ท่านมา  ท่านทรงยกโทษให้,  ขออย่าให้เป็นเวรเป็นกรรมกันต่อไปอีกเลย.  แต่หม่อมไกรสรกำทรายตอบว่า จะขอผูกเวรไปทุกชาติ์เท่าเม็ดกรวดเม็ดทราย!   พวกเจ้าๆ ชั้นข้าพเจ้าได้เคยฟังผู้ใหญ่เล่าเรื่องนี้มาแต่เล็กๆ  และเคยร้องไห้สงสารปู่ของตัวเองมาเสมอ,  จึงจำได้ดี”.


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 16 ก.ค. 16, 11:52
อนึ่งมีข้อที่น่าสังเกตว่า เมื่อรัชกาลที่ ๓ ทรงรับราชสมบัติแล้ว  ในรัชกาลนี้ไม่มรงรับพระเจ้าน้องนางเธอเป็นพระมเหสีตามพระราชประเพณี  ในรัชกาลนี้จึงไม่ทรงมีพระราชกุมารชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าทีจะทรงรับรัชทายาทเสด็จดำรงสิริราชสมบัติต่อไป  ฉะนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร 
“พระอาการมีแต่ทรงกับทรุดเรื่อยมา  จึงมีพระบรมราชโองการให้เจ้าพระยาพระคลัง สมุหพระกลาโหม (สมเด็จองค์ใหญ่)  พร้อมด้วยขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อย  ปฤกษากันว่าจะถวายราชสมบัติแก่ผู้ใด  เพราะจะทรงมุ่งเจาะจงพระราชทานราชสมบัติแก่ใคร  ก็จะไม่เป็นการสามัคคี  ทรงขอให้ปฤกษากันโดยดี  เพื่อเห็นแก่ความเจริญของประเทศเป็นใหญ่”

ด้วยเหตุนี้บรรดาเจ้านายและขุนนางจึงได้พร้อมกันไปอัญเชิญสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ ให้ทรงสละสมณเพศ  แล้วเสด็จดำรงสิริราชสมบัติเป็นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ แห่งพระราชวงศ์จักรีต่อมา


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 16 ก.ค. 16, 12:09
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต  ทรงมีพระราชโอรสที่เป็นอุภโตสุชาต ประสูติแต่พระราชมารดา คือ สมเด็จเทพศิรินทราบรมราชินี ด้วยกัน ๓ พระองค์
การสืบราชสมบัติจึงตกแก่พระราชโอรสพระองค์โต คือ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ โดยไม่มีข้อสงสัย

แต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นทรงมีพระอัครมเหสีที่ถวายการประสูติพระราชโอรสถึง ๓ พระองค์ คือ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี  สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระระชรมราชินีนาถ  และพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี  โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชโอรสในสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ทรงเป็นพระราชกุมารพระองค์ใหญ่  พระองค์ที่มีพระชันษารองลงมาคือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี  ซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินันาถ  พระองค์ที่มีพระชันษาต่อลงมาคือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมขุนมไหสุริยสงขลา (ต่อมาเฉลิมพระยศใหม่เป็นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต)

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า เมื่อทรงพระมหากรุณาสมเด็จเจาฟ้ามหาวชิรุณหิศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงศักดินา ๑๐๐๐๐๐ แล้ว  ต่อมาได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เป็นกรมขุนเทพทวาราวดี ทรงศักดินา ๕๐๐๐๐ เป็นพิเศษ  ด้วยทรงมีพระเกียรติยศเป็นที่สองรองจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ  ส่วนสมเด็จเจ้าฟ้าฯ พระองค์อื่นๆ นั้นทรงศักดินา ๔๐๐๐๐ ตามพระเกียรติยศสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  แต่เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เสด็จสวรรคต  และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนเทพทวาราวดี ได้ทรงรับสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ แล้ว  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมักจะทรงออกพระโอษฐ์เรียกสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต ว่า "เจ้าฟ้าเบิร์สอง"  เพราะทรงมีพระชันษาเป็นที่สองรองจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้าฟ้ามหาวชิราวุธ  เพราะเหตุดังกล่าวจึงเชื่อกันต่อๆ มาว่า รัชกาลที่ ๕ มีพระราชประสงค์ให้การสืบราชสมบัติเป็นไปตามลำดับพระชันษาของพระราชโอรส


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 16 ก.ค. 16, 12:13
แต่เมื่อพิจารณาความในพระราชบันทึก "ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖" ก็พบว่า  

ก่อนที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร จะเสด็จสวรรคตนั้น  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงพระประชวรหนักมาแต่ครั้งวิกฤติ ร.ศ. ๑๑๒  จนทรงหวั่นเกรงในพระราชหฤทัยว่า อาจจะไม่สามารถดำรงพระชนม์ชีพให้ยืนนานต่อไปได้  จึงทรงมีพระราชหัตถเลขาแสดงพระราชประสงค์ในการจัดการพระบรมศพไว้ว่า

“ถ้าพระองค์ทูลกระหม่อมเสด็จสวรรคตลงก็ให้ฉันเปนผู้ถวายน้ำสรงพระบรมศพและถวายทรงพระชฎามหามหากะฐิน,  แต่ถ้าหากฉันยังไม่กลับจากยุโรปก็ให้น้องชายเล็กเปนผู้กระทำกิจนั้นๆ แทน  ดังนี้จึ่งเห็นว่าไม่มีทางอื่นนอกจากที่เลือกให้พระโอรสร่วมพระมารดาเดียวกับฉันเปนรัชทายาทต่อๆ ไป  ฉะนั้นในระหว่างเวลาที่ฉันยังไม่มีลูก, ขอให้ถือว่าน้องที่ร่วมอุทรกันเปนรัชทายาทตามลำดับอายุพรรษกาล, จำเดิมแต่น้องชายเล็กลงไป.
เหตุใดพระเจ้าหลวงจึ่งต้องทรงมีคำสั่งเช่นนี้  ผู้ที่ไม่รู้เรื่องเดิมคงจะแลไม่เห็นเปนแน่  เพราะเมื่อฉันเป็นรัชทายาทของทูลกระหม่อมอยู่แล้ว  ทำไมจะต้องสั่งด้วยว่าให้เปนผู้ถวายน้ำสรงพระบรมศพ?  ขออธิบายว่า เมื่อทรงเขียนพระราชหัตถ์ฉบับนั้น  ฉันยังหาได้เปนยุพราชไม่, เพราะทูลกระหม่อมใหญ่ ยังมีพระชนม์อยู่  แต่โดยเหตุที่ทูลกระหม่อมใหญ่ไม่ใคร่จะเอื้อในการเข้าไปเฝ้าและพยาบาลทูลกระหม่อมในเวลาที่ทรงพระประชวรอยู่, ทูลกระหม่อมท่านจึ่งทรงหาว่าทูลกระหม่อมใหญ่มิได้มีความจงรักภักดีต่อพระองค์,  เปนแต่คอยเปนเจ้าแผ่นดินเท่านั้น, และทรงหาความว่าจะทอดทิ้งพระบรมศพ, จึ่งได้ทรงสั่งไว้ให้ฉันเปนผู้ถวายน้ำสรง”

ครั้นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงสำเร็จการศึกษาและเสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนครใน พ.ศ. ๒๔๔๕ แล้ว

“ฉันได้รับพระราชทานพระชัยนวโลหะในพระที่นั่งไพศาล, ต่อหน้าเจ้านายเปนอันมาก, เมื่อพระราชทานพระชัยองค์นั้น  ทูลกระหม่อมได้มีพระราชดำรัสว่า พระชัยองค์นั้นได้ทรงหล่อที่พระราชวังบางปะอิน  เมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) และเดิมตั้งพระราชหฤทัยว่าจะพระราชทานแด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิส, แต่สมเด็จพระบรโอรสาธิราชพระองค์นั้นสวรรคตเสียก่อนที่ได้รับพระราชทาน  บัดนี้ได้ทรงตั้งแต่งให้ฉันเปนพระยุพราชรัชทายาทแล้ว, จึ่งพระราชทานพระชัยองค์นั้นไว้ให้เปนสวัสดิมงคลสืบไป”


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 16 ก.ค. 16, 12:18
เมื่อพระราชทานพระชัยนวโลหะรัชกาลที่ ๕ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธไว้สำหรับพระองค์นั้น  ได้มีพระราชกระแส

“ทรงกำชับว่าให้พึงเข้าใจว่าพระราชทานไว้สำหรับพระราชโอรสของเสด็จแม่ทุกคน, เมื่อใครเปนผู้มีอายุมากที่สุดในพวกพี่น้องก็ให้เปนผู้รักษาพระชัยองค์นั้นไว้จนกว่าจะสิ้นอายุ, แล้วจึ่งให้รับรักษากันต่อๆ ลงไปตามลำดับ  อาศัยข้อความตามที่ได้กล่าวมานี้  จึ่งเห็นว่าพระบรมราโชวาทของทูลกระหม่อมพอมีเค้าสังเกตได้ว่า พระโอรสของเสด็จแม่ควรที่จะได้เปนผู้สืบสันตติวงศ์เปนลำดับตามอาวุโส”

ส่วนพระชัยนวโลหะรัชกาลที่ ๔ นั้น  สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช  มีรับสั่งให้หม่อมเจ้าดำรัสดำรง  เทวกุล ทรงบันทึกไว้ในพระประวัติส่วนพระองค์จอมพล สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงซ์วรเดช ว่า

“เมื่อพระชนม์พรรษาได้ ๕๑ ปีนั้น  วันเสาร์ที่  ๒๒  ตุลาคม  พ.ศ. ๒๔๕๓  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเปลี่ยนรัชกาลใหม่  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ มกุฎราชกุมารได้สำเร็จราชการเป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบต่อสมเด็จพระบรมชนกาธิราช  พระองค์ได้ดำรงพระยศเปลี่ยนจากสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  ตามราชประเพณี...
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลใหม่พระราชทานพระไชยนวโลหะ  กับพระเต้าศิลาบรรจุน้ำพระพุทธมนต์  แด่พระองค์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  เมื่อวันที่  ๒๖  ตุลาคม  พ.ศ. ๒๔๕๓  ก่อนที่จะพระราชทานได้มีพระราชดำรัสว่า “พระไชยเนาวโลหะพระองค์นี้ทูลกระหม่อม (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) รับสั่งไว้ว่า  เมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว  ให้ทรงมอบถวายแก่ทูลกระหม่อมอาว์ ทรงรักษาไว้  เพราะเป็นของทูลกระหม่อมปู่พระราชทานไว้เฉพาะพระราชโอรสของทูลกระหม่อมย่า  เมื่อมีการพระราชพิธีเมื่อใด  ขอให้ได้เชิญเข้าไปตั้งตามเคย”  แล้วทรงหลั่งน้ำพระพุทธมนตร์ในพระเต้าศิลา  พระราชทานให้สรงพระพักตร์และเสวยเพื่อเป็นสิริสวัสดิมงคลด้วย  เจ้าพนักงานกรมพระภูษามาลาได้เชิญพระพุทธรูปและพระเต้าศิลามาส่งประดิษฐานอยู่ ณ วังบูรพาภิรมย์  ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่  ๒๗  ตุลาคม  พ.ศ. ๒๔๕๓ เป็นต้นไป  และเมื่อถึงการพระราชพิธีใหญ่ๆ ในพระบรมมหาราชวัง  เจ้าพนักงานจะได้มาเชิญไปตั้งพระแท่นมณฑลตามเคย”


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 16 ก.ค. 16, 12:27
อนึ่ง เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถเสด็จกลับจากทรงศึกษาที่ประเทศรัสเซียและทรงนำพระชายาชาวรัสเซียกลับมาด้วยนั้น  พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ผู้ทรงเป็นพระโอรสได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ในเกิดวังปารุสก์ว่า

“ตามที่ข้าพเจ้าได้ทราบเรื่องราวต่อมา  ปรากฏว่า ทูลกระหม่อมปู่ได้ทรงเรียกพ่อให้ไปเฝ้าสองต่อสองและได้ทรงต่อว่าถึงการแต่งงานกับผู้หญิงฝรั่ง  จริงอยู่บุคคลชั้นขุนนางได้เคยมีแต่งงานกับผู้หญิงฝรั่งมาก่อนนั้นแล้ว  แต่ชั้นเจ้านายยังไม่มี  ทูลกระหม่อมปู่ได้ทรงเตือนพ่อว่า  เป็นที่สองในการสืบสันตติวงศ์ต่อจากทูลกระหม่อมลุง  พ่อได้ทรงโต้เถียงว่ามิได้เคยทรงคิดเช่นนั้น  เพราะตามที่เข้าใจกัน  สมเด็จเจ้าฟ้าชั้นทูลกระหม่อมก็ย่อมมียศเท่ากันหมด  พ่อจึงได้ทรงคิดว่าที่สองต่อจากทูลกระหม่อมลุง คือ สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์  ขณะนั้นเป็นกรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต  ซึ่งแก่กว่าพ่อ”   

ดังนี้ย่อมเห็นได้ชัดว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวางลำดับสืบราชสมบัติตามแบบตะวันตก  โดยทรงกำหนดให้ถือพระเกียรติยศของพระชนนีเป็นสำคัญ  ฉะนั้นลำดับการสืบราชสมบัติตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์  ต่อจากรัชกาลที่ ๕ จึงเริ่มจากสายสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง (สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ)  แล้วจึงต่อด้วยสายสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี)  และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี (พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี) เป็นลำดับ


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 16 ก.ค. 16, 13:57
มาลงชื่อเข้าเรียนครับ


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ค. 16, 17:19
ขอบคุณคุณ V_Mee ที่ตั้งกระทู้มีสาระหาอ่านยากกระทู้นี้ค่ะ  คงจะถูกใจคุณหมอ JFK คุณ Praweenj และท่านอื่นๆ
ว่างเมื่อไหร่จะเข้ามาแจมค่ะ


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 16 ก.ค. 16, 18:55
ขออนุญาตเสริมเรื่องการสืบราชสมบัติหลังสิ้นแผ่นดินรัชกาลที่ ๒ บางประเด็นนะครับ


พิจารณาจากสถานการณ์ทางการเมืองในเวลานั้น อย่างที่ทราบกันดีว่ากรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นผู้ที่ทรงบารมีสูงสุด เพราะทรงช่วยราชการต่างพระเนตรพระกรรณเป็นที่ไว้วางพระทัยของรัชกาลที่ ๒ จนได้รับมอบหมายให้ว่าราชการกรมท่าดูแลกิจการต่างประเทศ รวมถึงกรมพระคลังมหาสมบัติ และกรมพระตำรวจว่าความฎีกา

ทรงเป็นเจ้านายองค์สำคัญควบคู่ไปกับเจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ที่เป็นพระมหาอุปราช กับเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีซึ่งกำกับกรมวังและกรมมหาดไทยอยู่ จนกระทั่งเจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์สิ้นพระชนม์ไป กิจการกรมวังและกรมพระตำรวจจึงตกมาอยู่กับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทั้งหมด จึงทรงดูแลราชการแผ่นดินเรื่อยมาตราบจนสิ้นรัชกาลที่ ๒ ทำให้พระองค์ทรงมีอำนาจบารมีและประสบการณ์ทางการเมืองสูงมาก

ด้วยเหตุนี้หลังจากรัชกาลที่ ๒ สวรรคตอย่างกะหันหันโดยไม่สามารถตรัสสั่งเสียเรื่องราชสมบัติได้ จึงทรงได้ราชสมบัติในรูปแบบที่เรียกขานในสมัยหลังว่า "อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ" หมายถึงทรงได้รับการยอมรับจากชนทั้งหลาย ซึ่งในที่นี้หมายถึงทรงได้แรงสนับสนุนจากพระสังฆราช พระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ ขุนนางและพระราชวงศ์ทั้งหลายนั่นเองครับ

ดังที่พระราชพงศาวดารได้ระบุไว้ว่า

"จึ่งอาราธนาพระสังฆราช พระราชาคณะผู้ใหญ่มาแล้ว พร้อมด้วยพระบรมราชวงศานุวงศ์ต่างกรมและท่านเสนาบดีและข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ฯ ซึ่งเป็นประธานในราชการแผ่นดิน เห็นว่าพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงพระสติปัญญาเฉลียวฉลาด ได้ว่าราชการต่างพระเนตรพระกรรณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาช้านาน พากันเข้าเฝ้า...เชิญเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ"


ส่วนเจ้าฟ้ามงกุฎหลังจากทรงปรึกษาพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ในเวลานั้น จึงทรงตัดสินพระทัยไม่รับราชสมบัติ แต่คงอยู่ในสมณเพศต่อไป โดย พระนิพนธ์ "ความทรงจำ ของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ" ได้อธิบายว่า

“ตรัสปรึกษาเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ซึ่งเป็นพระเจ้าน้าองค์น้อย ทูลแนะนำว่าควรคิดเอาราชสมบัติตามที่มีสิทธิ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นชอบด้วย ไปทูลปรึกษากรมหมื่นนุชิตชิโนรส พระปิตุลาซึ่งทรงผนวชอยู่ กับทั้งกรมหมื่นเดชอดิศร พระเชษฐาซึ่งทรงนับถือมาก ทั้งสองพระองค์ ตรัสว่าไม่ใช่เวลาควรจะปรารถนา อย่าหวงราชสมบัติดีกว่า เพราะฉะนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฟังคำถาม จึงตรัสตอบว่ามีพระราชประสงค์จะทรงผนวชอยู่ต่อไป”


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 16 ก.ค. 16, 19:07
แต่นอกจากเรื่องปัจจัยเรื่องความเหมาะสม ยังมีหลักฐานบ่งบอกไปอีกทางหนึ่งที่เจ้าฟ้ามงกุฎเองทรงโดน "ข่มขู่" ซึ่งไม่ค่อยมีผู้กล่าวถึงครับ

อย่างเช่นที่ปรากฏจากบอกเล่าของกรมหลวงมหิศวรินทรามเรศ พระเชษฐาของรัชกาลที่ ๔ ซึ่งถูกอ้างในบันทึกความทรงจำของพระยากสาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) ที่ระบุว่า

“พระจอมเกล้าฯ เสด็จเข้าไปพอเห็นสวรรคตแล้วก็พระกรรแสงโฮขึ้น หม่อมไกรสรก็เข้าไปกอดไว้แล้วคลำดู ดูที่จีวรกลัวจะซ่อนพระแสงเข้าไป พระจอมเกล้าฯ ก็ตกพระทัยรับสั่งว่าขอชีวิตไว้อย่าฆ่าเลย พระนั่งเกล้ารับสั่งว่าท่านอย่ากลัว ไม่มีใครทำอะไรหรอกอย่างตกพระทัย พี่น้องกันทั้งนั้น ทำอย่างไรได้เวลานั้นโดยท่านตกพระทัย พระบังคนไหลออกมาเปียงสบงเป็นครึ่งผืน”



"ลิลิตมหามกุฎราชคุณานุสรณ์" ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ พระโอรสของรัชกาลที่ ๔ เอง ก็ทรงพระนิพนธ์เหตุการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ไว้ว่า

เขาเชิญไปวัดพระแก้ว            มรกฎ อกอา
พัก ณ พระอุโบสถ               ก่อนเฝ้า
หับทวารส่งทหารปด              เป็นรัก ขานา
ฉุกละหุกกลับรุกเร้า               รอบรั้งขังคุม พระเอย

กุมไว้ในโบสถ์สิ้น                  สับดวาร พ่ออา
ไร้มิตรศิษย์บริพาร                พี่น้อง
คึกคักแต่พนักงาน                 สนมนิเวสะรักษ์ฤา
คอยพิทักษ์หรือคอยจ้อง          จับมล้างพรางไฉน ฯ

จากบทประพันธ์ถอดความได้ความว่าเจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงถูกคุมอยู่ในพระอุโบสถวัดพระแก้วถึง ๗ วัน ทรงถูกเฝ้าดูอย่างเข้มงวดโดยอ้างว่าเป็นการอารักขา ทรงประทับอยู่โดยไม่มีผู้ใด และทำให้เกิดความระแวงว่าจะเกิดอันตรายกับพระองค์   หากความเป็นจริงก็บ่งชี้ว่าการสืบราชสมบัติในครั้งนั้นคงไม่ได้เป็นไปอย่างเรียบร้อยราบรื่นอย่างที่กล่าวกันโดยทั่วไปครับ



แม้กระทั่งในพระราชนิพนธ์ภาษาบาลี ว่าด้วยพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เองก็ทรงกล่าวอย่างชัดเจนว่าพระองค์ทรงถูกฝ่ายของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์คุกคามมาตั้งแต่สมัยที่พระบิดายังไม่เสด็จสวรรคต จนต้องเสด็จออกผนวช และกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ก็มีพระทัยอยากจะได้ราชสมบัติอยู่เช่นกันครับ

“ในกาลก่อนแต่นี้ พระราชโอรสผู้ประเสริฐพระองค์ใหญ่ของพระราชเทวี เมื่อทรพิจารณาถึงกาลอันหนึ่งเทียว ทรงเห็นซึ่งพระราชบุตรผู้พี่ชายพระองค์ใหญ่กว่าพระราชบุตรทั้งปวง อันชนหมู่ใหญ่นับถือ แล้วปรารถนาอยู่แม้ซึ่งราชสมบัติของพระราชบิดา ครอบงำเสียซึ่งพระราชบุตรต่างพระมารดากัน กระทำอยู่แม้โดยพระกำลัง

แล้วทรงกำหนดซึ่งกาลใช่โอกาสของพระองค์ยังทรงพระเยาว์อยู่เทียว พระองค์มีพระชนม์พรรษาได้ยี่สิบปี แต่พระชาติทรงเห็นช่องทางซึ่งบรรพชาเป็นที่พ้นไปได้ จึงกราบทูลลาพระราชบิดา เข้าไปถึงแล้วซึ่งบรรพชา มีพระนามปรากฏโดยพระนามของพระภิกษุว่าพระผู้เป็นเจ้า วชิรญาณ ดังนี้”


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ค. 16, 20:11
อ้างถึง
"ลิลิตมหามกุฎราชคุณานุสรณ์" ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ พระโอรสของรัชกาลที่ ๔ เอง ก็ทรงพระนิพนธ์เหตุการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ไว้ว่า

เขาเชิญไปวัดพระแก้ว            มรกฎ อกอา
พัก ณ พระอุโบสถ               ก่อนเฝ้า
หับทวารส่งทหารปด              เป็นรัก ขานา
ฉุกละหุกกลับรุกเร้า               รอบรั้งขังคุม พระเอย

กุมไว้ในโบสถ์สิ้น                  สับดวาร พ่ออา
ไร้มิตรศิษย์บริพาร                พี่น้อง
คึกคักแต่พนักงาน                 สนมนิเวสะรักษ์ฤา
คอยพิทักษ์หรือคอยจ้อง          จับมล้างพรางไฉน ฯ

จากบทประพันธ์ถอดความได้ความว่าเจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงถูกคุมอยู่ในพระอุโบสถวัดพระแก้วถึง ๗ วัน ทรงถูกเฝ้าดูอย่างเข้มงวดโดยอ้างว่าเป็นการอารักขา ทรงประทับอยู่โดยไม่มีผู้ใด และทำให้เกิดความระแวงว่าจะเกิดอันตรายกับพระองค์   หากความเป็นจริงก็บ่งชี้ว่าการสืบราชสมบัติในครั้งนั้นคงไม่ได้เป็นไปอย่างเรียบร้อยราบรื่นอย่างที่กล่าวกันโดยทั่วไปครับ

น่าจะเป็นการ "จุกช่องล้อมวง"  หรือเปล่าคะ คุณ V_Mee?


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 17 ก.ค. 16, 07:50
จุกช่องล่อมวง คือ การถวายอารักขาเจ้านายที่จะทรงรับรัชทายาท  เพื่อมิให้เกิดเหตุร้ายขึ้น  แต่ในกรณีเจ้าฟ้ามงกุฎนั้น  น่าจะเป็นการควบคุมพระองค์ไว้ให้ผ่านเหตุการณ์สำคัญ คือ ถวายราชสมบัติแด่รัชกาลที่ ๓

เรื่องการสืบราชสมบัติในตอนปลายรัชกาลที่ ๒ คงจะไม่ราบรื่นดังที่คุณศรีสรรเพชญ์กล่าวไว้  เพราะพบความตอนหนึ่งในบันทึกของ John Crawford ที่เข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีในตอนปลายรัชกาลที่ ๒ ว่า

"ในเวลานั้นพวกคนไทยแยกกันเป็น ๒ พวก  พวกหนึ่งนับถือในกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ ๓)  อีกพวกหนึ่งนับถือเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ขัตติยราชกุมาร
แต่ตัวครอเฟิดเองได้ถามเจ้าพระยาพระคลัง (ที่เรียกกันว่าสมเด็จองค์ใหญ่)  ผู้ที่รับรองว่าควรจะไปเฝ้าเจ้านายพระองค์ใดบ้าง  เจ้าพระยาพระคลังได้แนะนำและพาไปเฝ้ากรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ที่วัง  จึงได้รู้จักพระอัธยาศัยว่าทรงเฉลียวฉลาดรอบรู้สมควรแก่ตำแหน่งเป็นอย่างยิ่ง  แต่ได้เฝ้าพระองค์เดียวไม่ได้รู้จักพระองค์อื่นอีก" 


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 ก.ค. 16, 08:04
มีข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนรัชกาล จากรัชกาลที่ ๒ เป็นรัชกาลที่ ๓ และจากรัชกาลที่ ๓ เป็นรัชกาลที่ ๔ จากหนังสือ "ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖" พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ในต้นฉบับเขียนเป็นย่อหน้าเดียว ขออนุญาตแบ่งเป็นหลายย่อหน้าเพื่อจะได้อ่านสะดวกขึ้น)


เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าทรงประชวรหนักนั้น, มิได้มีเวลาที่จะทรงสั่งไว้ว่าให้ผู้ใดเปนพระเจ้าแผ่นดินต่อพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าในเวลานั้นทรงผนวชอยู่, และมีพระชนมายุเพียง ๒๐, แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเปนพระเจ้าลูกยาเธอผู้ใหญ่และเปนผู้กำกับราชการอยู่หลายตำแหน่ง, พอพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าเสด็จสวรรคต ท่านก็ทรงฉวยอำนาจไว้ได้หมด, ฉนั้นท่านจึ่งมิได้ให้ผู้ใดเรียกพระองค์ท่านว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" จนกว่าจะได้กระทำพิธีราชาภิเษกแล้ว.

ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าทรงพระประชวรหนัก ได้ทรงพระประชวรเรื้อรังอยู่นาน, แต่ก็หาได้ทรงมอบหมายราชสมบัติแด่พระองค์ ๑ พระองค์ใดไม่, ทั้งนี้เปนเพราะพระองค์ท่านทรงรู้สึกอยู่ว่า ได้ทรงแย่งราชสมบัติที่รู้กันอยู่ว่าเปนของทูลกระหม่อมปู่ของฉัน, โดยพระองค์ทรงเปนเจ้าฟ้าชายพระองค์ใหญ่ พระโอรสแห่งสมเด็จพระพุทธเลิศหล้ากับสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี. ส่วนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าทรงเปนเพียงพระองค์เจ้าพระโอรสของพระสนม.

การที่ทรงแย่งครองราชสมบัตินั้นก็ได้เคยมีพระราชดำรัสอยู่ว่า "จะรักษาไว้ให้เขา" เท่านั้น. ฉนั้นที่ควรก็ควรต้องทรงสั่งไว้ว่าเมื่อเสด็จสวรรคตแล้วให้ราชสมบัติตกเปนของทูลกระหม่อมปู่. แต่พระราชโอรสของพระองค์ท่านก็มีอยู่หลายพระองค์ที่กำลังทรงพระเจริญวัยขึ้น, เปนธรรมดาบิดาย่อมจะต้องอยากให้บุตรเปนทายาท, ฉนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าจึงมิได้ทรงส่งมอบราชสมบัติแก่พระองค์ใด, เปนแต่มีพระราชกระแสรไว้ว่า เมื่อท่านเสนาบดีมุขมนตรีเห็นสมควรจะมอบราชสมบัติถวายแด่พระราชวงศ์พระองค์ใด ก็ให้ถวายแด่พระองค์นั้นเถิด.

เมื่อทราบกันว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าทรงพระประชวรหนักนั้น ก็ได้มีผู้ตระเตรียมการกันไว้พร้อม. แต่ไม่มีฝ่ายใดพร้อมเพรียงหรือมีกำลังมากเท่าสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ (ดิศ บุนนาค, ซึ่งเวลานั้นเป็นเจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหกลาโหม) กับสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย (ทัด บุนนาค, ซึ่งเวลานั้นเปนพระยาศรีพิพัฒน์), และท่านทั้ง ๒ นี้ตั้งใจไว้มั่นคงว่าต้องให้ทูลกระหม่อมปู่ได้ราชสมบัติ, และไม่ยอมเปนอันขาดที่จะให้ลูกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าได้.

ท่านทั้ง ๒ นี้มีความแค้นเคืองพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าอยู่, เพราะสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่นั้นได้เปนผู้ ๑ ในพวกที่สนับสนุนให้พระนั่งเกล้าขึ้นทรงราชย์, แต่มาครั้งเมื่อพระนั่งเกล้ากริ้วหม่อมไกรสรได้พลอยกริ้วสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ด้วย, จนต้องหนีออกไปตั้งกองสักเลขอยู่ที่เมืองชุมพร จึ่งได้รอดภัย.

เมื่อครั้งหม่อมไกรสรรับพระราชอาญา สมเด็จองค์ใหญ่ร้องว่า พระนั่งเกล้าไม่ทรงซื่อตรงต่อผู้ภักดี. ใช้คำว่า "ท่านใช้เราเปนบรรไดขึ้นถึงที่สูงได้แล้ว ท่านจะเตะบรรไดเสีย" ดังนี้.

ข้างฝ่ายผู้ที่อยากให้ลูกพระนั่งเกล้าได้เปนพระเจ้าแผ่นดินออกจะไม่มีผู้ใดที่หลักแหลมและเจ้านายน้องยาเธอที่จะพอหวังให้ช่วยสนับสนุนลูกพระนั่งเกล้าได้ก็มีอยู่แต่กรมสมเด็จพระเดชาติศร (พระองค์เจ้าละมั่ง, เวลานั้นเปนกรมหลวงเดชอดิศร), เพราะพระนั่งเกล้าโปรดปรานท่านอยู่มาก, แต่พระองค์กรมสมเด็จพระเดชาดิศรเองท่านวางพระองค์เปนกลางเฉยอยู่, ฉนั้นก็ยากที่จะหวังให้ท่านเปนหัวหน้าได้.

พูดไปตามจริงพระราชโอรสของพระนั่งเกล้าก็ไม่มีองค์ใดที่แหลมอยู่เลย. พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ, พระโอรสพระองค์ใหญ่ (เปนพระบิดาของสมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดี พระบรมราชเทวีในรัชกาลที่ ๔), กับกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์(พระองค์เจ้าสิริวงศ์, เปนพระชนกของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี) ก็ได้สิ้นพระชนม์ไปก่อนแล้วทั้ง ๒ พระองค์.

พระโอรสพระองค์ที่ ๓ (ซึ่งได้เปนกรมหมื่นเชษฐาธิเบนทร์ในรัชกาลที่ ๔) ก็ไม่ใช่คนโปรดปรานและออกจะมืด ๆ อยู่, คงมีที่ค่อยยังชั่วอยู่ก็พระองค์เจ้าคเณจร (ซึ่งได้เปนกรมหมื่นอมเรนทรบดินทร), แต่ก็มีคนนับถือน้อย, ฉนั้นพอพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเสด็จสวรรคตลง สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่กับสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยก็รีบไปจัดการล้อมวงที่วัดบวรนิเวศ, และอัญเชิญเสด็จทูลกระหม่อมปู่เข้าไปในพระบรมมหาราชวังทั้ง ๆ ยังทรงพระผนวชอยู่, และทูลอัญเชิญให้เสด็จลาผนวชในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม, แล้วและจัดการให้มีการถือน้ำโดยเร็วด้วย


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 ก.ค. 16, 08:19
จากรัชกาลที่ ๔ เป็นรัชกาลที่ ๕

รัชกาลที่ ๖ ทรงกล่าวไว้ในหนังสือประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ ว่า

เมื่อทูลกระหม่อมปู่เสด็จสวรรคตนั้น, อันที่จริงก็ไม่ควรที่จะมีข้อสงสัยเลย, หากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค, ซึ่งเวลานั้นเปนเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกระลาโหม) ทำเหตุให้ยุ่งไปเองแท้ ๆ ในขณะที่ทูลกระหม่อมทรงพระประชวรหนักขึ้น พะเอินทูลกระหม่อมของฉันก็ทรงพระประชวรเปนไข้มีพระอาการมากอยู่ด้วยเหมือนกัน. อีกประการ ๑ ในเวลานั้นทูลกระหม่อมก็มีพระชนมายุเพียง ๑๕ เต็ม ๆ เท่านั้น, ทูลกระหม่อมปู่จึ่งได้มีพระราชดำรัสฝากให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ช่วยเปนผู้ประคับประคองด้วย สมเด็จเจ้าพระยาเห็นว่าเปนโอกาสเหมาะที่จะรวบรัดอำนาจไว้ในกำมือของตน, ฉนั้นเมื่อได้ไปเชิญเสด็จทูลกระหม่อมจากพระตำหนักสวนกุหลาบเข้าไปประทับที่ในพระฉากในพระที่นั่งอมรินทร์แล้ว, และได้จัดการถือน้ำตามประเพณีแล้ว, ก็ยังมิได้ให้เรียกทูลกระหม่อมว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว", เพราะเขานึกว่าทูลกระหม่อมจะสวรรคตเสียก่อนที่จะได้ราชาภิเษก ที่ว่าสมเด็จเจ้าพระยานึกเช่นนี้ ไม่ใช่เปนการใส่ความ, เพราะมีสิ่งที่เปนพยานอยู่อย่าง ๑ คือสมเด็จเจ้าพระยาได้จัดการให้กรมหมื่นบวรวิชัยชาญ (พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ, หรือที่เรียกกันอยู่ว่า "ยอร์ช วอชิงตั้น), พระโอรสองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว, รับบวรราชาภิเษกเปนกรมพระราชวังบวรก่อนงานบรมราชาภิเษกของทูลกระหม่อม, ซึ่งเปนการนอกธรรมเนียมราชประเพณีโดยแท้, เพราะมิได้เคยมีเลยในรัชกาลใด ๆ, ทั้งครั้งกรุงเก่าและกรุงรัตนโกสินทร์, ที่วังน่าจะได้รับบวรราชาภิเษกก่อนที่พระเจ้าแผ่นดินในรัชกาลนั้นจะได้รับบรมราชาภิเษก.

รัชกาลที่ ๕ ก็ได้ทรงกล่าวเชิงประชดถึงเรื่องนี้ไว้ใน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวิจารณ์เรื่องพระราชพงศาวดาร กับเรื่องพระราชประเพณีการตั้งพระมหาอุปราช ความว่า

ท่านเสนาบดีปฤกษาว่า พระองค์เจ้ายอร์ช วอชิงตัน กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ มีวิชาเป็นช่างเชาว์เกลาเกลี้ยงให้เป็นกรมพระราชวังบวรรับบัณฑูรเป็นที่ ๑๖ จะได้คุมข้าไทของวังหน้าต่อไป เป็นวังหน้าที่มิได้เป็นพระราชโอรสของกษัตริย์ และกษัตริย์มิได้ทรงเลือกเองเป็นที่ ๑ ตั้งแต่กรุงทวารวดีจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 17 ก.ค. 16, 18:09

ขอเพิ่มเติมข้อมูลครับ

วังหน้าที่ไม่ได้เป็นพระราชโอรสของกษัตริย์มีอย่างน้อย สองพระองค์
พระศรีสุธรรมราชา อนุชาพระเจ้าปราสาททอง
และ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

การสืบทอดราชสมบัติจาก ร.๒ ไป ร.๓ นับได้ว่าสงบเรียบร้อย
หากเทียบกับสมัย ร.๒ ขึ้นครองราชสมบัติ
และเป็นไปอย่างราบรื่นมากๆเมื่อเทียบกับสมัย อยุธยาตอนปลาย

และผู้มีสิทธิสืบต่อราชสมบัติไม่จำเป็นต้องมีพระยศเป็นระดับเจ้าฟ้าหากเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าแผ่นดินก็สามารถทำได้


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 17 ก.ค. 16, 18:51
อ้างถึง
"ลิลิตมหามกุฎราชคุณานุสรณ์" ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ พระโอรสของรัชกาลที่ ๔ เอง ก็ทรงพระนิพนธ์เหตุการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ไว้ว่า

เขาเชิญไปวัดพระแก้ว            มรกฎ อกอา
พัก ณ พระอุโบสถ               ก่อนเฝ้า
หับทวารส่งทหารปด              เป็นรัก ขานา
ฉุกละหุกกลับรุกเร้า               รอบรั้งขังคุม พระเอย

กุมไว้ในโบสถ์สิ้น                  สับดวาร พ่ออา
ไร้มิตรศิษย์บริพาร                พี่น้อง
คึกคักแต่พนักงาน                 สนมนิเวสะรักษ์ฤา
คอยพิทักษ์หรือคอยจ้อง          จับมล้างพรางไฉน ฯ

จากบทประพันธ์ถอดความได้ความว่าเจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงถูกคุมอยู่ในพระอุโบสถวัดพระแก้วถึง ๗ วัน ทรงถูกเฝ้าดูอย่างเข้มงวดโดยอ้างว่าเป็นการอารักขา ทรงประทับอยู่โดยไม่มีผู้ใด และทำให้เกิดความระแวงว่าจะเกิดอันตรายกับพระองค์   หากความเป็นจริงก็บ่งชี้ว่าการสืบราชสมบัติในครั้งนั้นคงไม่ได้เป็นไปอย่างเรียบร้อยราบรื่นอย่างที่กล่าวกันโดยทั่วไปครับ

น่าจะเป็นการ "จุกช่องล้อมวง"  หรือเปล่าคะ คุณ V_Mee?


ตามความคิดเห็นส่วนตัว ถ้าเป็นการจุกช่องล้อมวงตามราชประเพณีปกติ ในบทประพันธ์ก็ไม่น่าจะมีข้อความดังนี้ครับ

หับทวารส่งทหารปด              เป็นรัก ขานา
ฉุกละหุกกลับรุกเร้า               รอบรั้งขังคุม พระเอย


คือส่งทหารที่กล่าวปดว่าจะมาอารักขา แต่กลับทำการรุกเร้าคุมขังเจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งดูอย่างไรก็ไม่น่าจะเป็นการคุมโดยสงบ นอกจากนี้ยังถูกคุมอยู่เพียงพระองค์เดียวโดยไม่มีข้าราชบริพารเลย



หรือข้อความ คอยพิทักษ์หรือคอยจ้อง          จับมล้างพรางไฉน


สันนิษฐานโดยเบื้องต้นว่าผู้ประพันธ์คือสมเด็จฯ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์น่าจะทรงฟังเรื่องนี้มาจากผู้ที่เคยฟังจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงบอกเล่ามาแต่ก่อน ซึ่งก็น่าเจ้านายผู้ใหญ่อย่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ หรือเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ (คงจะไม่ได้ทรงฟังมาจากพระจอมเกล้าฯ ที่เป็นพระบิดาโดยตรง เพราะตอนพระบิดาสวรรคตยังทรงพระเยาว์มาก)


ถ้าบทประพันธ์นี้มาจากคำบอกเล่าของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จริง ก็น่าจะเห็นได้ว่าตอนที่พระองค์ทรงอยู่ในอุโบสถวัดพระแก้วนั้น ก็น่าจะทรงอยู่ในภาวะที่ทรงระแวงพอสมควรครับ การที่พระองค์จะทรงกลัวว่าจะโดนทำร้ายในช่วงผลัดแผ่นดินก็คิดว่าคงไม่แปลกครับเพราะพระองค์เองก็เป็นทรงอยู่ในฐานะที่จะสืบราชสมบัติได้อย่างชอบธรรมโดยที่ทรงเป็น อุภโตสุชาติ  

และเมื่อนำมารวมกับเรื่องหม่อมไกรสรที่ทรงวางตัวเป็น "ไพรี" กับพระองค์มาตั้งแต่แรก บวกกับที่ทรงกล่าวไว้เองทรงผนวชเพราะหลีกหนีจากอิทธิพลของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์พระเชษฐา ในช่วงผลัดแผ่นดินพระองค์ก็น่าจะเป็นที่ระแวงจากฝั่งกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์หรือหม่อมไกรสรเช่นเดียวกันครับ จึงทำให้ถูกกุมพระองค์ไว้ชั่วคราว จนรัชกาลที่ ๓ ได้ราชสมบัติแล้วอย่างที่คุณ V_Mee กล่าวครับ


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 17 ก.ค. 16, 19:20

จะว่าไป การสืบราชสมบัติของรัชกาลที่ ๔ นับเป็นเรื่องของดวงพระชะะตาโดยแท้
ไม่มีเหตุการณ์ใดตลอดรัชสมัยที่ให้เราเชื่อได้ว่า รัชกาลที่ ๓ ทรงมีพระราชประสงค์
ให้เจ้าฟ้ามงกุฏเป็นผู้สืบทอดราชสมบัติ


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 17 ก.ค. 16, 19:30

ขอเพิ่มเติมข้อมูลครับ

วังหน้าที่ไม่ได้เป็นพระราชโอรสของกษัตริย์มีอย่างน้อย สองพระองค์
พระศรีสุธรรมราชา อนุชาพระเจ้าปราสาททอง
และ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

การสืบทอดราชสมบัติจาก ร.๒ ไป ร.๓ นับได้ว่าสงบเรียบร้อย
หากเทียบกับสมัย ร.๒ ขึ้นครองราชสมบัติ
และเป็นไปอย่างราบรื่นมากๆเมื่อเทียบกับสมัย อยุธยาตอนปลาย

และผู้มีสิทธิสืบต่อราชสมบัติไม่จำเป็นต้องมีพระยศเป็นระดับเจ้าฟ้าหากเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าแผ่นดินก็สามารถทำได้


สำหรับพระมหาอุปราชที่ไม่ได้เป็นโอรสพระเจ้าแผ่นดิน ผมนึกออกอีกองค์คือ นายจัน พระอนุชาของขุนวรวงศาธิราชครับ

"นางพญาจึ่งมีพระเสาวะนีตรัษสั่งปลัดวังให้เอาราชยานแลเครื่องสูงสังข์กับขัดิวงษ์ออกไปรับฃุนวรวงษาธิราชเข้ามาในพระราชนิเวษมลเทยีนสถานแล้ว ตั้งพระราชพิทธีราชาภิเศกฃุนวรวงษาธิราชขึ้นเปนจ้าวพิภพกรุงเทพวารวะดีศรีอยุทธยาจึ่งเอานายจันผู้นอ้งขุนวรวงษาธิราชบ้านอยู่มหาโลกนั้น เปนมหาอุปราช"

มหาอุปราชจันถูกหมื่นราชเสน่หานอกราชการลอบยิงตายระหว่างขี่ช้างไปเพนียด คืนก่อนที่ขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์จะถูกขุนพิเรนทรเทพและคณะลอบปลงพระชนม์กลางคลองสระบัวครับ


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 17 ก.ค. 16, 21:41
มีคำบอกกล่าวกันมากในหมู่เจ้านายเกี่ยวกับการสืบราชสมบัติต่อจากรัชกาลที่ ๓ ว่า "เก็บเอาไว้ให้เขา" หรือ "จะรักษาไว้ให้เขา" ซึ่งผมพบอย่างน้อยสองที่คือ "ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖" พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับ "เจ้าชีวิต" พระนิพนธ์ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งทรงกล่าวว่าทรงได้ยินมาจากเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถผู้เป็นพระบิดาครับ

ถึงแม้รัชกาลที่ ๓ อาจจะตั้งพระทัยจะคืนราชสมบัติให้กับเจ้าฟ้ามงกุฎ แต่พิจารณาตามหลักฐานต่างๆ แม้ว่าจะทรงอุปภัมภ์เจ้าฟ้ามงกุฎในทางศาสนาเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่ได้พบว่ารัชกาลที่ ๓ ทรงเตรียมการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้เจ้าฟ้ามงกุฎได้เสวยราชสมบัติสืบต่อครับ


นอกจากนี้เมื่อรัชกาลที่ ๓ ทรงครองราชย์ ตำแหน่งพระมหาอุปราชซึ่งเป็นเสมือนตำแหน่งรัชทายาทอย่างกลายๆ ตกเป็นของพระองค์เจ้าอรุโณทัย กรมหมื่นศักดิพลเสพย์ซึ่งเป็นพระโอรสของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์จึงมีศักดิ์เป็นพระเจ้าอาของรัชกาลที่ ๓ นอกจากนี้ยังมีเชื้อสายของเจ้านครศรีธรรมราชผ่านพระมารดาที่เป็นธิดาของเจ้าพระยานคร (พัด) และทรงเป็นหลานน้าของเจ้าพระยานครน้อย จึงอาจนับว่ามีฐานอำนาจทางฝั่งพระมารดาอยู่พอสมควร

พระองค์ซึ่งเป็นเจ้านายทรงพระบารมีมากมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ โดยทรงได้กำกับกรมพระกลาโหมและหัวเมืองปากใต้ทั้งหมด และทรงเคยบัญชาการทัพออกไปรับศึกพม่าร่วมกับรัชกาลที่ ๓ เมื่อครั้งเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของรัชกาลที่ ๓ มาแต่ก่อนและทรงเป็นกำลังสนับสนุนที่ให้รัชกาลที่ ๓ ได้ราชสมบัติถึงทรงได้รับความไว้วางพระทัยเป็นวังหน้า ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เองทรงรับหน้าที่สำคัญคือเป็นแม่ทัพใหญ่ออกไปปราบเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์

พิจารณาแล้ว ถ้ากรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ยังทรงมีพระชนม์ยืนยาวมาเรื่อยๆ โดยอำนาจบารมีก็ทรงมีแนวโน้มสูงที่จะได้ราชสมบัติต่อจากรัชกาลที่ ๓ ครับ แต่พระองค์เป็นกรมพระราชวังบวรได้เพียง ๘ ปี ก็สิ้นพระชนม์ไปเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๕


ซึ่งช่วงหลังจากนี้รัชกาลที่ ๓ น่าจะทรงเริ่มมองมาที่เจ้าฟ้ามงกุฎมากขึ้นครับ แต่ก็พบว่าสำหรับเจ้าฟ้ามงกุฎก็มีแต่การแสดงออกในรูปแบบ "สัญลักษณ์" ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวว่า เป็นสิ่งที่คนสมัยนั้นสันนิษฐานกันว่าเป็นการแสดงออกว่าจะให้เจ้าฟ้ามงกุฎรับราชสมบัติต่อครับ ไม่ได้ทรงกระทำการอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน และก็ไม่ได้ทรงสถาปนายศศักดิ์ให้เจ้านายองค์ใดเป็นพิเศษ จนถึงก่อนสวรรคตก็ให้เหล่าเสนาบดีและพระราชวงศ์คัดเลือกพระเจ้าแผ่นดินกันเองอย่างเมื่อครั้งที่พระองค์ได้ราชสมบัติเพื่อป้องกันปัญหาเจ้านายร้าวฉานแย่งชิงราชสมบัติกัน


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ค. 16, 22:26
ใครมีพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ที่มีไปถึงสมเด็จกรมพระยาเดชาดิศรบ้างคะ  ที่ขึ้นต้นว่า "พ่อมั่งขา  พ่อจงเป็นเชษฐมัตตัญญู"
ดิฉันหาไม่เจอในกูเกิ้ล
ถ้านำมาลงได้ จะเห็นความในพระราชหฤทัยของสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ว่าท่านมองเจ้านายในแผ่นดินองค์ไหนอย่างไรบ้าง  ทำไมถึงไม่ทรงมอบราชสมบัติให้ชัดๆ เลยสักพระองค์เดียว


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ก.ค. 16, 07:01
พระราชหัตถเลขาที่คุณเทาชมพูกล่าวถึงมีเนื้อหาแสดงความไม่พอพระทัยที่พระสงฆ์ในคณะธรรมยุติกนิกายซึ่งพระวชิรญาณเถระหรือเจ้าฟ้ามงกุฎทรงตั้งขึ้นห่มผ้าอย่างมอญ

“พ่อมั่งขา

            พ่อจงเป็นเชฐมัตตัญญู พ่อจงรู้วารน้ำจิต และอธิบายของข้าผู้พี่ อันขันธะทุพพลภาพมากอยู่แล้ว      ด้วยแผ่นดินศรีอยุธยา ทรงพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์แล้ว กับพี่ด้วยอีกคนหนึ่ง เป็น ๓ ตั้งแต่แผ่นดินล้นเกล้าล้นกระหม่อมสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ท่านได้ปราบดาภิเษกปีขาลนั้นมาได้ ๕ ปี ถึงปีมะแมพี่จึงเกิด    ตั้งแต่จำความได้มา จนอายุได้ ๒๒ ปี ได้บวชในแผ่นดินนั้น ต่ออายุ ๒๓ จึงสิ้นแผ่นดินไป     มาเป็นแผ่นดินของล้นเกล้าล้นกระหม่อมอีก ๑๖ ปี จึงมาเป็นแผ่นดินของพี่

            พระสงฆ์ผู้เป็นสงฆรัตนในกรุงศรีอยุธยาก็เห็นนุ่งสบงทรงจีวรเป็นลูกบวบทั้งสิ้นด้วยกัน แต่พม่ารามัญที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่นั้นแหละ เห็นครองผ้าผิดกับพระภิกษุของเรา จึงเรียกกันว่า พระมอญ        เดี๋ยวนี้พระไทยก็ห่มผ้าเป็นมอญ          โดยอัตโนมัติปัญญาของพี่ เห็นว่าถ้าล้นเกล้าล้นกระหม่อมยังเสด็จอยู่ ก็เห็นจะให้ประชุมพระราชาคณะ ได้ว่ากล่าวกันให้เห็นว่าควรไม่ควรนานแล้ว นี่พี่กลัวจะเป็นบาปเป็นบุญ เป็นคุณเป็นโทษ พระสงฆ์จะแตกร้าวกันไป จึงมิได้ว่ากล่าว          แต่ใจนั้นรักแต่อย่างบุราณอย่างเดียวนั้น และสืบไปเบื้องหน้าพระภิกษุไทยซึ่งห่มผ้าเป็นมอญนั้นศูนย์ไปพี่เห็นว่าจะควรกับศรีอยุธยา

            ก็ถ้าแม้นกลับมากขึ้นอีกด้วยเหตุอันใดอันหนึ่ง ชื่อของพี่ผู้ได้เป็นเจ้าแผ่นดิน ก็มีแต่จะเสียไป เขาจะว่าเป็นเมืองมอญเมืองพม่าไปเสียมาแต่ครั้งแผ่นดินนั้น นี่แลเป็นความวิตกของพี่มากนักหนา

            ให้พ่อเห็นแก่พี่ ช่วยเอาขึ้นแจ้งกับกรมหมื่นนุชิตชิโนรส เธอเป็นบรมญาติอันใหญ่ ทรงไว้ซึ่งผ้ากาสาวพัตร์ ทั้งรู้พระสัทธรรมของพระเจ้าเป็นอันมาก แล้วก็เป็นพระภิกษุศรีอยุธยา พี่มีจีวรอยู่ผืนหนึ่ง ให้พ่อช่วยถวายกรมหมื่นนุชิต ถ้าเธอจะรับเอาไว้ครองได้ ก็ให้ถวายเธอเถิด ถ้าเธอมิรับไว้ครองแล้ว ก็ให้เอาคืนมาเสีย”


              เรื่องนี้ทรงอดกลั้นอยู่ถึง ๒๑ ปี จนจวบจะสวรรคต จึงได้ตัดสินพระราชหฤทัยมีจดหมายกระแสพระราชโองการ โดยโปรดให้ พระราชโอรส คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอรรณพ  กรมหมื่นอุดมรัตนราษี ต้นราชสกุล ‘อรรณพ ณ อยุธยา’ จดตามพระราชดำรัส  ณ วันอังคาร เดือน ๓ แรม ๒ ค่ำ ปีจอโทศก เพลาตี ๒ ทุ่มเศษ (พ.ศ. ๒๓๙๓)
          
           เมื่อได้รับพระบรมราชโองการ     ‘พ่อมั่ง’ ก็ไปกราบทูล "กรมหมื่นนุชิตชิโนรส" หรือสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส  ปรากฏว่า เมื่อรับพระราชทานจีวรแล้ว สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ท่านก็ทรงครองทันที และทรงครองแบบที่สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มีพระราชประสงค์มาตลอดพระชนมชีพ



กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ก.ค. 16, 07:12
อ้างถึง
แต่ก็พบว่าสำหรับเจ้าฟ้ามงกุฎก็มีแต่การแสดงออกในรูปแบบ "สัญลักษณ์" ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวว่า เป็นสิ่งที่คนสมัยนั้นสันนิษฐานกันว่าเป็นการแสดงออกว่าจะให้เจ้าฟ้ามงกุฎรับราชสมบัติต่อครับ ไม่ได้ทรงกระทำการอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน

คงจะหมายถึง การที่ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างพระตำหนักขึ้นในวัดบวรนิเวศ ให้พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎทรงย้ายจากวัดราชาธิวาส มาครองที่นั่น เสมือนการครองพระบวรราชวังกระมัง
ผมคิดว่าก็ชัดอยู่นะครับ

เรื่องบางอย่างจะชัดมากกว่านี้ไป ก็อาจจะเป็นภัยแก่องค์พระเอง


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 18 ก.ค. 16, 07:15
อ้างอิงจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๕๑ จดหมายเหตุเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต

ในชั้นแรก เมื่อทรงพระประชวรหนักจึงโปรดให้กรมหมื่นวงศาสนิท (กรมหลวงวงศาธิราชสนิท) กับพระยาพิพัฒน์โกษาเขียนออกมา โดยให้พระราชวงศ์และเสนาบดีผู้ใหญ่เลือกเจ้านายที่เหมาะสมขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินเองครับ

พระราชปรารภเรื่องการปกครองแผ่นดิน

"พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ สํฆํ สรณํ คจฺฉามิ คุณพระรัตนตรัยอันเป็นใหญ่ในโลก ให้เจ้าพระยาพระคลัง พระยาศรีพิพัฒน์ พระยาราชสุภาวดี กับขุนนางผู้น้อยทั้งปวง จงเป็นสามัคคีรสแก่กันและกัน ตั้งใจฉลองพระเดชพระคุณสมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์มาแล้ว ได้ช่วยกันรักษาแผ่นดินของสมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัวอันเป็นปฐมกษัตริย์มาได้ถึง ๖๙ ปี จนมีพระญาติประยุรวงศานุวงศสืบ ๆ มาเป็นอันมากประมาณถึงพันหนึ่งสองพัน แต่ที่เป็นผู้หญิงนั้นยกเสีย ว่าแต่ผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่ก็มี กลางคนก็มี เด็กก็มีนั้น สมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัวได้ชุบย้อมคุณานุรูปทุกองค์ แต่ที่จะให้บังคับให้ท่านผู้ใดเป็นเจ้าแผ่นดิน บังคับไม่ได้ขอเสียเถิด ให้พระญาติประยุรวงศกับขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยประนีประนอมกัน สมมุติจะให้พระองค์ใดหรือผู้ใดขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินก็สุดแต่จะเห็นพร้อมกันเถิด ให้เห็นแก่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า กับสมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัวด้วย อย่าให้ฆ่าฟันกันเสียนักเลย จงช่วยกันรักษาแผ่นดินไปด้วยกันเถิด อนึ่งการพระราชกุศลซึ่งได้สร้างวัดวาอารามกับทั้งการพระราชกุศลสิ่ง อื่น ๆ ยังค้างอยู่เป็นอันมากนั้น ถ้าท่านผู้ใดจะได้ครองแผ่นดินสืบไปจงสงเคราะห์แก่ข้า ด้วยเงินในท้องพระคลังทั้งข้างหน้าข้างในมีอยู่สัก ๔๐,๐๐๐ ชั่งเศษ ขอไว้ให้ข้า ๑๐,๐๐๐ ชั่งจะใช้ในการพระราชกุศลซึ่งยังค้างอยู่นั้น ยังเงินอีก ๓๐,๐๐๐ ชั่งเศษนั้น จงเอาไว้ใช้ในการแผ่นดินต่อไปเถิด ทองคำก็มีอยู่กว่า ๒๐๐ ชั่ง ขอแบ่งไว้ให้ข้าเป็นส่วนพระราชกุศลสำหรับปิด วัดวาอารามที่ยังค้างอยู่นั้นให้สำเร็จก่อน ทองเหลืออยู่จากนั้นจะใช้ทำเครื่องละเม็งละคอนและการแผ่นดินก็ตามเถิด อนึ่งพระอัฐิพระไอยกีพระไอยกาของข้าซึ่งอยู่ในหอพระอัฐินั้น กีดอยู่ก็ให้มอบไว้กับพระเจ้าลูกเธอผู้ชายพระองค์ใด ๆ ก็ตามเถิด ถ้าและเขาฆ่าเสียหมดแล้ว ก็ให้มอบไว้กับพระเจ้าลูกเธอผู้หญิงที่ยังเหลือออยู่นั้นจะได้เชิญไปเสียให้พ้น ถึงพระบรมอัฐิสมเด็จพระศรีสุลาไลยนี้เล่าก็เป็นสูงเท้าหน้าต่ำเท้าหลังหาสมควรที่จะอยู่ร่วมกับพระบรมอัฐิไม่ ก็ให้เชิญไปไว้กับพระอัฐิพระไอยกีพระไอยกาเสียด้วยเถิด จดหมายกระแสพระราชโองการฉะบับนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้กรมหมื่นวงศาสนิท พระยาพิพัฒนโกษา เขียนออกมาณวันจันทรเดือน ๓ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีจอโทศก เพลาตี ๑๑ ทุ่มเศษ"




กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ก.ค. 16, 07:18
การไม่ทรงมีพระภริยาเจ้า เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้พระราชโอรสพระองค์ใดมีพระยศเจ้าฟ้า ก็ชัดเจนอยู่
ซึ่งเรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯก็ทรงเจริญรอยตาม

ทำให้พระราชวงศ์และเสนาบดีผู้ใหญ่ เลือกเจ้านายที่เหมาะสมขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินได้ง่ายขึ้นมากครับ


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 18 ก.ค. 16, 07:25
แต่หลังจากที่มีกระแสพระราชโองการออกไปแล้ว ก็ยังไม่มีผู้ใดตั้งรัชทายาท โดยยังอ้างว่าพระอาการยังไม่หนักมาก จนรัชกาลที่ ๓ มีพระกระแสเกี่ยวกับพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ ๔ พระองค์กับพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) ครับ

อ้างอิงจากพระราชพงศาวดารของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์

"ครั้น ณ วันอังคาร เดือน ๓ ขึ้น ๑๐ ค่ำเพลาบ่าย ๕ โมง มีรับสั่งให้หาพระยาศรีสุริยวงศ์จางวางมหาดเล็กเข้าไปเฝ้าในที่ มีพระราชโองการถามว่า พระยาพิพัฒน์ ฯ ได้เอาจดหมายที่ทรงอนุญาตนั้นออกไปปรึกษาหารือเสนาบดีแล้วหรือ เขาว่ากะไรบ้าง พระยาศรีสุริยวงศ์กราบทูล ว่า ได้ทราบเกล้าทราบกระหม่อม ทุกคนพากันเศร้าโศกและเห็นว่าโปรด ฯ ดังนี้พระเดชพระคุณเป็นที่สุด ปรึกษากันว่าพระโรคนั้นยังไม่ถึงตัดรอน แพทย์หมอยังพอฉลองพระเดชพระคุณได้อยู่ ซึ่งจะยกพระวงศานุวงศพระองค์ใดพระองค์หนึ่งขึ้นก็ยังไม่สมควร จะช่วยกันฉลองพระเดชพระคุณว่าราชการแผ่นมิให้มีเหตุการณ์ภัยอันตรายขึ้นได้

จึงตรัสสั่งให้ท่านพระยาศรีสุริยวงศ์ขยับเข้าไปให้ชิดพระองค์ ให้ลูบดูพระสรีรกาย แล้วดำรัสว่าร่างกายทรุดโทรมถึงเพี่ยงนี้แล้ว หมอเขาว่ายังจะหายอยู่ไม่เห็นด้วยเลย การแผ่นดินไปข้างหน้าไม่เห็นผู้ใดที่จะรักษาแผ่นดินได้ กรมขุนเดชเล่าท่านก็เป็นคนพระกรรณเบา ใครจะพูดอะไรท่านก็เชื่อง่าย ๆ จะเป็นใหญ่โตไปไม่ได้ กรมขุนพิพิธเล่าก็ไม่รู้จักการงาน ปัญญาก็ไม่สอดส่องไปได้ ท่านฟ้าน้อยเล่าก็มีสติปัญญารู้วิชชาการช่างและการทหารต่าง ๆ อยู่ แต่ไม่พอใจทำราชการ เกียจคร้านรักแต่การเล่นสนุกเท่านั้น ที่สติปัญญาพอจะรักษาแผ่นดินได้อยู่เห็นแต่ท่านฟ้าใหญ่คนเดียว แต่รังเกียจอยู่ว่าท่านฟ้าใหญ่ถืออย่างมอญ ถ้าเป็นเจ้าแผ่นดินขึ้นก็จะให้พระสงฆ์ห่มผ้าอย่างมอญเสียหมดทั้งแผ่นดินดอกกระมัง กลัวเจ้านายข้าราชการเขาจะไม่ชอบใจ จึงได้อนุญาตให้ ตามใจคนทั้งปวงสุดแท้แต่จะเห็นพร้อมเพรียงกัน

การต่อไปภายหน้าเห็นแต่เองที่จะรับราชการเป็นอธิบดีผู้ใหญ่ต่อไป การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าเห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่พวกข้างฝรั่ง ให้ระวังให้ดีอย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะร่ำเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขาแต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว ทุกวันนี้คิดสละห่วงใหญ่ให้หมด อาลัยอยู่แต่วัดสร้างไว้ใหญ่โตหลายวัด ที่ยังค้างอยู่ก็มี ถ้าชำรุดทรุดโทรมไปจะไม่มีผู้ช่วยทนุบำรุง เงินในพระคลังที่เหลือจับจ่ายใช้ราชการแผ่นดินมีอยู่ ๔๐,๐๐๐ ชั่ง ขอสัก ๑๐,๐๐๐ ชั่งเถิด ถ้าผู้ใดเป็นเจ้าแผ่นดินแล้วให้ช่วยบอกแก่เขา ขอเงินรายนี้ ให้ช่วยทนุบำรุง วัดที่ชำรุดและการวัดที่ยังค้างอยู่นั้นเสียให้แล้วด้วย ท่านพระยาศรีสุริยวงศ์รับพระราชโองการแล้วก็ร้องไห้ ถอยออกมาจากที่เฝ้า."


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 18 ก.ค. 16, 07:33
อ้างถึง
แต่ก็พบว่าสำหรับเจ้าฟ้ามงกุฎก็มีแต่การแสดงออกในรูปแบบ "สัญลักษณ์" ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวว่า เป็นสิ่งที่คนสมัยนั้นสันนิษฐานกันว่าเป็นการแสดงออกว่าจะให้เจ้าฟ้ามงกุฎรับราชสมบัติต่อครับ ไม่ได้ทรงกระทำการอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน

คงจะหมายถึง การที่ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างพระตำหนักขึ้นในวัดบวรนิเวศ ให้พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎทรงย้ายจากวัดราชาธิวาส มาครองที่นั่น เสมือนการครองพระบวรราชวังกระมัง
ผมคิดว่าก็ชัดอยู่นะครับ

เรื่องบางอย่างจะชัดมากกว่านี้ไป ก็อาจจะเป็นภัยแก่องค์พระเอง



ส่วนตัวผมก็เห็นว่าชัดครับ และที่ไม่มีการแสดงออกในทางปฏิบัติมากมายอย่างทรงเลื่อนกรมใหญ่โตหรืออื่นๆ ก็น่าจะเพื่อป้องกันการอิจฉาริษยาจากเจ้านายองค์อื่นและกรรแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของเจ้านายและขุนนาง (แต่เข้าใจว่าหลังจากหม่อมไกรสรถูกสำเร็จโทษไปแล้วก็คงไม่มีเจ้านายที่มีบารมีองค์ไหนตั้งตนเป็นศัตรูอีกครับ)

โดยเฉพาะพระกระแสรับสั่งก่อนสวรรคตที่ดูจะชี้นำไปที่เจ้าฟ้ามงกุฎมากที่สุดครับ เพราะทรงติเพียงเรื่องเดียวคือเรื่องการห่มจีวรอย่างมอญซึ่งสามารถแก้ไขได้ ในขณะที่เจ้านายองค์อื่นทรงติเรื่องอุปนิสัย ซึ่งเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก

และหลังจากที่มีพระกระแสออกไปก็โปรดให้มีหนังสือไปแจ้งกรมหมื่นนุชิตชิโนรส (ที่คุณเพ็ญชมพูนำมาลง) ทำให้เจ้าฟ้ามงกุฎทรงทราบแล้วขอเข้ามารับพระราชทานอภัย และยินดีปฏิบัติตามพระราชโองการดังนั้น ประเด็นที่พระนั่งเกล้าฯทรงรังเกียจการห่มจีวรอย่างมอญของเจ้าฟ้ามงกุฎก็น่าจะจบไปได้ครับ


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ก.ค. 16, 08:08
มีข้อมูลอีกทางหนึ่งว่ามีพระราชประสงค์ให้พระองค์เจ้าอรรณพสืบต่อราชสมบัติ

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงสิริราชสมบัติอยู่ ๒๗ ปี นับเป็นเวลาที่ยาวนานพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้รอคอยที่จะสืบราชบัลลังก์ต่อไป

จนเมื่อเวลาอันเป็นที่สุดแห่งรัชกาลมาถึง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเลือกขนบธรรมเนียมเดิม คือไม่ระบุองค์รัชทายาทตรงๆ แต่กลับทรงเลือกวิธีเก่าคือ โยนหินถามทาง หยั่งเสียง และการบอกโดยนัยยะ แม้กระทั่งมีพระราชดำรัส "ตัด" พระราชวงศ์ที่อยู่ในข่ายสืบราชสมบัติออก

เบื้องต้นมีพระราชประสงค์ที่จะ "หยั่งเสียง" โดยมีพระราชโองการออกมาให้พระบรมวงศ์และขุนนางเลือกองค์รัชทายาทกันเอง คล้ายกับจะทรงฟังว่ามีมติออกมาอย่างไร แต่ครั้นทรงทวงถามถึงพระราชโองการนั้นว่ามีผลอย่างไร พระยาศรีสุริยวงศ์ก็กราบทูลเป็นการบ่ายเบี่ยงเสียว่า พระโรคนั้นยังไม่ถึงขั้นตัดรอน "ซึ่งจะยกพระวงศานุวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งขึ้นก็ยังไม่สมควร"

ครั้นเมื่อทรงทราบดังนี้แล้วว่ายังไม่มีการเสนอผู้ใดขึ้นมา ซึ่งย่อมหมายถึงพระราชโอรสที่ทรงต้องการให้เป็นรัชทายาทก็ย่อมไม่อยู่ใน "โผ" นั้นด้วย

จึงมีพระราชกระแสรับสั่ง "กัน" พระราชวงศ์ที่เป็น "ตัวเก็ง" ออก คือ กรมขุนเดชอดิศร ท่านว่าพระกรรณเบาเชื่อคนง่าย กรมขุนพิพิธภูเบนทร์ พระสติปัญญาไม่ถึงขั้น ส่วนเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ก็ไม่พอพระทัยทำราชการ รักแต่เล่นสนุก ส่วนที่มีความเหมาะสมมากกว่าคนอื่นคือเจ้าฟ้ามงกุฎ แต่ก็รังเกียจว่าทรงครองผ้าอย่างมอญ จะเห็นได้ว่า "ข้อหา" สำหรับเจ้าฟ้ามงกุฎนั้น "เบา" และแก้ไขได้ง่ายที่สุด เห็นจะทรงปลงพระทัยแล้วหรืออย่างไร?

ส่วนพระราชโอรสที่มีพระราชประสงค์จะให้สืบต่อราชสมบัติคือพระองค์เจ้าอรรณพ ซึ่งครั้งหนึ่งมีพระราชประสงค์จะมอบ "สัญลักษณ์" แห่งการสืบราชบัลลังก์ คือพระประคำทองคำของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ แต่ก็เกิดการ "หยิบผิด" หรือ "สับเปลี่ยน" นำพระประคำองค์ปลอมไปถวาย ว่ากันว่าเป็นลางให้พระองค์เจ้าอรรณพต้องพลาดจากราชบัลลังก์ไป

แต่สิ่งที่แน่นอนกว่าพระประคำทองคำองค์นั้นคือ แรงสนับสนุนจากขุนนางตระกูลบุนนาค ที่ส่งคนไปเตรียมการ "สึกพระ" ตั้งแต่ก่อนพระเจ้าอยู่หัวจะสวรรคตเสียอีก ทางด้าน "ทูลกระหม่อมพระ" เองก็ทรงแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนต่างประเทศ "เปิดตัว" ไว้ล่วงหน้าเช่นกัน

พระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอยู่ค่อนข้างจะหนักและทรมาน เสวยข้าวไม่มีรสมาแล้วเป็นปี อาการพระโรคเจ็บหลัง เสียดท้องตามชายโครง เสียดถึงขั้นนอนหงายไม่ได้ พระอาการหนักอยู่จนถึงขั้นต้องออกประกาศหาแพทย์มือดีมารักษา แต่ก็ไม่สามารถจะฉุดรั้งพระอาการประชวรไว้ได้นาน ครั้น ณ วันพุธ เดือน ๕ ขึ้น ๑ ค่ำ เวลา ๘ นาฬิกา ๕ บาท ก็เสด็จสวรรคต ตรงกับวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๓๙๔

ราชสมบัติสืบต่อไปยังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรัชกาลที่ ๔ แห่งพระราชวงศ์จักรี และทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในพระราชวงศ์นี้ที่มีสร้อยพระนาม "อุภโตสุชาติ" ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินที่มาจาก "เจ้าฟ้า" เท่านั้น อุภโตสุชาติคือการเกิดดี ทั้งพระราชบิดาและพระราชมารดาเป็นเจ้า

พระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรีที่มีสร้อยพระนามอุภโตสุชาตินั้นมี ๔ พระองค์ คือ รัชกาลที่ ๔, ๕, ๖, ๗

จากบทความเรื่อง ผลัดแผ่นดิน กรุงรัตนโกสินทร์ โดย ปรามินทร์ เครือทอง จากหนังสือศิลปวัฒนธรรม วันที่ ๑  มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่  ๘


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 18 ก.ค. 16, 08:15
คำสารภาพของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ

"กระหม่อมฉันเจ้าฟ้ามงกุฏสมมุติเทวาวงศ ขอรับพระราชทานสารภาพโดยสัตย์โดยจริง ว่าแต่ก่อนเมื่อเป็นภิกษุหนุ่มแรกบวช กำลังยังตั้งหน้าหาความรู้ วินัยสิกขา ไปคบหากับพระสงฆ์พวกศึกษาคิดละเอียดไปต่าง ๆ ได้ฟังท่านพูดกันว่าห่มอย่างรามัญเห็นถูกต้องด้วยเหตุต่าง ๆ ก็พลอยเห็นไปด้วย แต่ยังไม่ได้ห่มเองมิได้ ครั้นภายหลังพระสงฆ์ อื่น ๆ ท่านห่มเข้าไปในพระราชวังเป็นรับสั่งถามเลย ๆ มิได้มีรับสั่ง ก็ พลอยคิดดีใจไปว่าทรงพระกรุณาโปรดให้ถือตามชอบใจ จึงพลอยทำด้วยต่อมา โดยรักไปข้างทางสิกขาหาได้นึกมาถึงพระเกียรติยศและการแผ่นดินเป็นของสำคัญแข็งแรงเหมือนดังทรงพระราชดำริครั้งนี้ไม่เลย ถ้านึกได้แต่ครั้งนั้นก็มิได้ประพฤติมาดังนี้ อนึ่งเมื่อครั้งโน้นเป็นแต่มีศิษย์เป็นพระสงฆ์อนุจรอยู่ ๕ องค์ ๖ องค์ ไม่ทราบว่าจะมีศิษย์หามากมายไป ครั้นอาศัยพระบารมีเป็นที่ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงบริษัทจึงมากขึ้น จึงคิดเห็นบ้างว่าจะประพฤติห่มอย่างรามัญไม่สมควรแก่พระเกียรติยศและประเพณีพระนคร แต่กาลเลยมานานแล้วก็กระดากอยู่ และไม่มีผู้ใหญ่บังคับบัญชาเป็นที่อ้างก็เกรงใจศิษย์หาพวกพ้องที่ประพฤติเหมือนกันอยู่นั้น ครั้งนี้ได้รับสั่งในกรมเป็นที่อ้างก็ยินดีจะประพฤติตามพระราชประสงค์ สนองพระเดชพระคุณมิให้มีความรำคาญเคืองพระบรมราชอัธยาศัย พระเดชพระคุณเป็นที่ล้นที่พ้น ชีวิตอยู่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท อนึ่งก็จะได้เป็น สามัคคีคารวะด้วยพระราชทานคณะผู้ใหญ่เป็นอันมากต่อไปในเบื้องหน้าด้วย. ควรมิควรสุดแต่จะโปรด

ปฏิญาณนี้ถวายไว้แต่ณวันพฤหัสบดี เดือน ๓ แรม ๔ ค่ำ ปีจอโทศก พระลังกาในอารามนี้ ๑๑ องค์ ขอรับประทานตามใจเขาเถิดบ้านเมืองครูอาจารย์เขาที่บวชอย่างนั้น ครั้นเคี่ยวเข็นเข้าความจะอึงออกไปนอกบ้านนอกเมือง"


อธิบายเรื่องต่อมา

ถึงรัชกาลที่๔ พระสงฆ์ธรรมยุติกาซึ่งต้องห่มผ้าคลุมอย่างมหานิกายพากันถวายพระพรขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกลับห่มแหวกอย่างเดิมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสตอบว่าการปฏิบัติพระธรรมวินัยเป็นการของสงฆ์ แล้วแต่จะศรัทธาอย่างไรก็ปฏิบัติอย่างนั้นไม่เกี่ยวด้วยฝ่ายอาณาจักร เพราะฉะนั้นไม่ทรงห้ามปรามหรือทรงอนุญาตทั้ง ๒ สถาน แต่นั้นพระสงฆ์ธรรมยุติกาก็กลับห่มแหวกต่อมา





กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 18 ก.ค. 16, 08:18
"กรมขุนเดชเล่าท่านก็เป็นคนพระกรรณเบา ใครจะพูดอะไรท่านก็เชื่อง่าย ๆ จะเป็นใหญ่โตไปไม่ได้ กรมขุนพิพิธเล่าก็ไม่รู้จักการงาน ปัญญาก็ไม่สอดส่องไปได้ ท่านฟ้าน้อยเล่าก็มีสติปัญญารู้วิชชาการช่างและการทหารต่าง ๆ อยู่ แต่ไม่พอใจทำราชการ เกียจคร้านรักแต่การเล่นสนุกเท่านั้น ที่สติปัญญาพอจะรักษาแผ่นดินได้อยู่เห็นแต่ท่านฟ้าใหญ่คนเดียว แต่รังเกียจอยู่ว่าท่านฟ้าใหญ่ถืออย่างมอญ ถ้าเป็นเจ้าแผ่นดินขึ้นก็จะให้พระสงฆ์ห่มผ้าอย่างมอญเสียหมดทั้งแผ่นดินดอกกระมัง กลัวเจ้านายข้าราชการเขาจะไม่ชอบใจ จึงได้อนุญาตให้ ตามใจคนทั้งปวงสุดแท้แต่จะเห็นพร้อมเพรียงกัน "[/i]

เจ้านาย ๔ องค์ที่รัชกาลที่ ๓ ออกพระนามมาล้วนแต่เป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่ยังมีพระชนม์อยู่ในตอนนั้น และอยู่ในข่ายที่จะสืบราชสมบัติได้

นอกจากท่านฟ้าน้อยซึ่งคือเจ้าฟ้ามงกุฎก็มี

-กรมขุนเดช คือ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์มั่ง กรมขุนเดชอดิศร (สมัยรัชกาลที่ ๔ ได้เลื่อนกรมเป็นกรมสมเด็จพระเดชาดิศร) เป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพนับถือโดยทั่วไป และได้รับการยกย่องว่า “ทรงพระปรีชารอบราชการ” กำกับกรมพระอาลักษณ์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ ทรงมีผลงานสำคัญคือการชำระโคลงโลกนิติให้มีความไพเราะยิ่งขึ้น



-กรมขุนพิพิธ คือ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าพนมวัน กรมขุนพิพิธภูเบนทร์ (สมัยรัชกาลที่ ๔ ได้เลื่อมกรมเป็น กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์) ทรงได้กำกับกรมพระนครบาลและกรมพระคชบาลซึ่งเป็นกรมใหญ่ ทำให้ทรงมีข้าไทในสังกัดจำนวนมาก ทรงโปรดปรานทางการดนตรีและละคร กล่าวกันว่าในสมัยนั้นกระบวนรำของละครของกรมขุนพิพิธนั้นงามที่สุด

ตอนเกิดคดีหม่อมไกรสร หม่อมไกรสรบอกกับตุลาการว่า "คิดอยู่ว่าถ้าสิ้นแผ่นดินไปแล้ว ก็จะไม่ยอมเป็นข้าของใคร"  คือหลังสิ้นแผ่นดินพระนั่งเกล้าฯ ตนจะขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน และเมื่อตุลาการถามว่าจะยกเจ้านายพระองค์ไหนเป็นวังหน้า หม่อมไกรสรตอบว่า "คิดอยู่ว่าจะเอากรมขุนพิพิธภูเบนทร์" แม้ว่าจะไม่ปรากฎว่ากรมขุนพิพิธจะร่วมมือกับหม่อมไกรสร แต่น่าจะทรงถูกเพ่งเล็งอยู่ไม่น้อย และนอกจากนี้ยังทรงเป็นเจ้านายกำกับกรมใหญ่ มีข้าในสังกัดจำนวนมาก

ปลายรัชกาลกรมขุนพิพิธภูเบนทร์จึงทรงระแวงขึ้นมาว่าพระองค์จะโดนอย่างหม่อมไกรสร ซึ่งสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงอธิบายไว้ในพระนิพนธ์ความทรงจำว่า

"เมื่อเวลาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรอยู่นั้น มีเรื่องเนื่องกับเหตุที่จะเปลี่ยนรัชกาลที่เกิดขึ้นหลายเรื่อง ด้วยเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงตั้งเสนาบดี ปล่อยให้ตำแหน่งว่างอยู่หลายกระทรวง ตรัสว่า พระเจ้าแผ่นดินต่อไปจะได้ตั้งตามพระราชหฤทัย ทางฝ่ายเจ้านายในตอนนี้ ตั้งแต่สำเร็จโทษหม่อมไกรสรแล้ว ก็ไม่มีต่างกรมพระองค์ใดมีกำลังและอำนาจมาก ทั้งพากันหวาดหวั่นเกรงจะต้องหาว่ามักใหญ่ใฝ่สูงอยู่แทบทั้งนั้น อำนาจในราชการบ้านเมืองตอนปลายรัชกาลที่ ๓ จึงตกอยู่ในเจ้าพระยาพระคลัง(๒๙) ซึ่งเป็นอัครมหาเสนาบดีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงพระคลังคน ๑ กับพระยาศรีพิพัฒนฯ(๓๐)

เมื่อตอนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแรกประชวร แม้รู้กันอยู่ว่าจะไม่กลับคืนดีได้ ท่านทั้ง ๒ ก็ยังไม่ปรารภถึงกรณีที่จะเปลี่ยนรัชกาลเพราะเกรงพระราชอาญา ด้วยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังว่าราชการแผ่นดินอยู่ แต่การที่ท่านผู้ใหญ่ทั้ง ๒ นิ่งเฉยอยู่นั้น ต่อมาเป็นเหตุให้เกิดระแวงหวาดหวั่นกันไปต่างๆ ถึงกรมขุนพิพิธภูเบนทร์เรียกระดมพวกข้าในกรมเข้ามารักษาพระองค์ ด้วยเกรงจะถูกจับเหมือนหม่อมไกรสร เจ้าพระยาพระคลังทราบความจึงปรึกษากับพระยาศรีสุริยวงศ์(๓๑) ซึ่งเป็นบุตรคนใหญ่และเป็นผู้เฉียบแหลมในราชการยิ่งกว่าผู้อื่นในเวลานั้น พระยาศรีสุริยวงศ์รับจัดการแก้ไข ให้ไปเอาทหารบรรทุกเรือขึ้นมาจากปากน้ำ แล้วไปทูลกรมขุนพิพิธภูเบนทร์ให้ปล่อยข้าในกรมไปเสียให้หมด กรมขุนพิพิธภูเบนทร์ก็ต้องทำตาม"


ข้าไทของกรมขุนพิพิธภูเบนทร์นั้นมีมากจนวังของพระองค์ในเชิงสะพานหัวจระเข้ไม่พอให้อยู่ ต้องให้ออกไปอาศัยที่ตามศาลาวัดพระเชตุพนด้วย พระยาศรีสุริยวงศ์ไปเฝ้ากรมขุนพิพิธภูเบนทร์ ทูลว่าบิดาให้มาทูลถามว่าที่ระดมผู้คนเข้ามาไว้มากมายเช่นนั้นมีวัตถุประสงค์อย่างไร กรมขุนพิพิธภูเบนทร์ตรัสตอบว่า ด้วยเกรงอันตราย จึงเรียกคนมาไว้ป้องกันพระองค์ พระยาศรีสุริยวงศ์จึงทูลว่า บิดาของท่านกับเสนาบดีช่วยกันรักษาราชการบ้านเมืองให้เป็นปกติอยู่ ไม่มีเหตุอันสมควรจะทรงหวาดหวั่นเช่นนั้น ขอให้ไล่คนกลับไปเสียให้หมดโดยเร็ว มิฉะนั้นจะให้ทหารมาจับเอาคนเหล่านั้นไปทำโทษ กรมขุนพิพิธภูเบนทร์ก็จนพระหฤทัยต้องปล่อยให้คนกลับไป



-ท่านฟ้าน้อย คือ พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (คือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ได้บังคับบัญชากรมทหารแม่ปืนหน้า ปืนหลัง และญวนอาสารบ แขกอาสาจาม ทรงสนพระทัยในวิทยาการชาติตะวันตกหลายแขนงโดยเฉพาะเรื่องการทหาร และทรงอ่านเขียนภาษาอังกฤษได้ดี แต่พระอัธยาศัยเป็นไปตามที่รัชกาลที่ ๓ ทรงกล่าวคือพอพระทัยแต่จะเล่น ไม่ค่อยโปรดทำราชการ ไม่ทรงถือพิธีรีตอง แม้ว่าจะทรงมีศักดิ์เป็นพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๔ ก็ตาม


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 18 ก.ค. 16, 10:11
มีข้อมูลอีกทางหนึ่งว่ามีพระราชประสงค์ให้พระองค์เจ้าอรรณพสืบต่อราชสมบัติ

ส่วนพระราชโอรสที่มีพระราชประสงค์จะให้สืบต่อราชสมบัติคือพระองค์เจ้าอรรณพ ซึ่งครั้งหนึ่งมีพระราชประสงค์จะมอบ "สัญลักษณ์" แห่งการสืบราชบัลลังก์ คือพระประคำทองคำของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ แต่ก็เกิดการ "หยิบผิด" หรือ "สับเปลี่ยน" นำพระประคำองค์ปลอมไปถวาย ว่ากันว่าเป็นลางให้พระองค์เจ้าอรรณพต้องพลาดจากราชบัลลังก์ไป


เรื่องการมอบประคำของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ให้พระองค์เจ้าอรรณพ มีการกล่าวถึงอยู่ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๕๒ จดหมายเหตุเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเรียบเรียงครับ

"และในวันอังคาร เดือน ๑๑ ขึ้น ๖ ค่ำนั้น มีรับสั่งให้ภูษามาลาเชิญหีบพระเครื่องมาถวายแล้วทรงเลือกพระประคำทองสาย๑อันเป็นของพระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (๑) กับพระธำมรงค์เพ็ชร์องค์ ๑ ให้พระราชโกษา (๒) เชิญตามเสด็จพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดี ไปพระราชทานสมเด็จเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้า ฯ กรมขุนพินิตประชานาถ พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีเสด็จออกมาทูลกรมหลวงวงศาธิราชสนิทและบอกให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศซึ่งพร้อมกันอยู่ที่ท้องพระโรงพระที่นั่งอนันตสมาคมให้ทราบตามกระแสรับสั่ง กรมหลวงวงศาธิราชสนิทและเจ้าพระยาศรีสุริยวงศก็ไปยังพระตำหนักสวนกุหลาบด้วยเวลานั้นปิดความไม่ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ฯทรงทราบว่าสมเด็จพระบรมชนกนาถประชวรพระอาการมาก เจ้าพระยาศรีสุริยวงศจึงแนะพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีให้ทูลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ฯ ว่าของทั้ง ๒ สิ่งนั้นพระราชทานเป็นของขวัญ โดยทรงยินดีที่ได้ทรงทราบว่าพระอาการ ที่ประชวรค่อยคลายขึ้นเมื่อพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีไปทูล สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯดำรัสถามว่า ของขวัญเหตุใดจึงพระราชทานพระประคำ พระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกด้วย แต่ก็ไม่มีผู้ใดทูลตอบว่ากระไร เมื่อถวายสิ่งของแล้วต่างก็กลับมา

(๑) พระประคำทองสายนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสวรรคต จะพระราชทานพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอรรณพ ซึ่งได้เป็นกรมหมื่นอุดมรัตนราศีในรัชชกาลที่ ๔ แต่บังเอิญเจ้าพนักงานหยิบผิดสาย กรมหมื่นอุดมไม่ได้ไปจึงถือว่าเป็นของสิริมงคลสำหรับแต่ผู้มีบุญญาภินิหาร

(๒) ชื่อ จัน ในรัชชกาลที่ ๕ เป็นพระยา เป็นบิดาพระยาอุทัยธรรม ( หรุ่น วัชโรทัย ) เดี๋ยวนี้"




กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 18 ก.ค. 16, 10:18
การไม่ทรงมีพระภริยาเจ้า เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้พระราชโอรสพระองค์ใดมีพระยศเจ้าฟ้า ก็ชัดเจนอยู่
ซึ่งเรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯก็ทรงเจริญรอยตาม

ทำให้พระราชวงศ์และเสนาบดีผู้ใหญ่ เลือกเจ้านายที่เหมาะสมขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินได้ง่ายขึ้นมากครับ


เรื่องการดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้าหรือไม่ ในการพิจารณาผู้เหมาะสมในการสืบพระราชสมบัตินั้น
เราอาจสรุปได้ว่ารัชกาลที่ ๓ มิได้ทรงใช้เป็นประเด็นหลักในการพิจารณา
ในบรรดาเชื้อพระวงศ์ที่ออกพระนามพิจารณาก่อนเสด็จสวรรคต ๔ ราย
สองรายแรกก็มิได้เป็นเจ้าฟ้า
รัชกาลที่ ๓ พระองค์เองก่อนขึ้นครองราชย์ก็มิได้ทรงเป็นเจ้าฟ้า

สุดท้ายแล้วทรงกล่าวเป็นนัยที่ให้เลือกผู้ที่จะไม่ขึ้นมาประหารเครือญาติกันเอง
และประสานประโยชน์กับขุนนางและเครือญาติเพื่อดำรงพระบรมจักรีวงศ์ต่อไป

ตามที่เรียนไปแล้วเบื้องต้น การสืบราชสมบัติของรัชกาลที่ ๔ ส่วนหนึ่งต้องนับเป็นเรื่องของดวงชะตา

ในปลายรัชกาลที่ ๓ บรรดาเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงที่คุมอำนาจต่างทะยอยกันล้มหายตายจากไปก่อนทีละท่าน

พ.ศ. ๒๓๙๑ พระองค์เจ้าไกรสร ผู้ที่สามารถสืบราชสมบัติได้ ถูกขุนนางล้อมกรอบร่วมกันเตะตัดขา
พ.ศ. ๒๓๙๒ เจ้าพระยาบดินทรเดชา เสาหลักค้ำบัลลังก์ ถึงแก่อสัญกรรมเนื่องจากอหิวาห์ตกโรค
                ดุลย์อำนาจขุนนางเปลี่ยน กลุ่มเจ้าพระยาพระคลังกลับเข้ามามีอำนาจเต็ม
พ.ศ. ๒๓๙๔ รัชกาลที่ ๓ ทรงสวรรคต
                ขุนนางเลือก รัชกาลที่ ๔ ทรงแบ่งอำนาจการปกครองกับพระอนุชา พระญาติและขุนนาง
                


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 18 ก.ค. 16, 11:00
แต่โอกาสที่พระองค์เจ้าอรรณพจะได้ราชสมบัติสืบต่อนั้นดูน้อยมากครับ เมื่อเทียบกับพระบารมีและฐานาศักดิ์กับเจ้านาย ๔ พระองค์ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงออกพระนามไว้ก่อนสวรรคตดูจะเทียบกันไม่ได้เลยครับ


แม้ว่าจะมีหลักฐานของชาวตะวันตกบางชิ้นระบุว่าพระนั่งเกล้าฯ มีพระราชประสงค์จะให้พระองค์เจ้าอรรณพได้ราชสมบัติ และปรากฏอยู่ว่าทรงถวายงานอยู่ใกล้ชิดเป็นที่โปรดปราน แต่ในทางปฏิบัติปรากฏว่าพระองค์เองไม่ได้มีฐานกำลังหรือบารมีที่เพียงพอ และไม่ปรากฏผู้สนับสนุน โดยที่เสนาบดีตระกูลบุนนาคไปสนับสนุนเจ้าฟ้ามงกุฎทั้งหมด และไม่ได้ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงเตรียมการใดๆ เพื่อให้พระองค์เจ้าอรรณพได้ราชสมบัติเลยครับ

พระองค์ไม่ได้เป็นเจ้านายที่ได้ทรงกรม (ได้ทรงกรมเป็นกรมหมื่นอุดมรัตนราษีในสมัยรัชกาลที่ ๔) ได้กำกับเพียงกรมสังฆการีซึ่งไม่มีกำลัง ในช่วงที่รัชกาลที่ ๓ ประชวรก็ทรงมีหน้าที่เพียงเดินหนังสือบ้าง ไม่ได้ทรงมีหน้าที่สำคัญอื่นๆ

เช่นเดียวกับพระโอรสของรัชกาลที่ ๓ องค์อื่นๆ ที่ยังมีพระชนม์ในปลายรัชกาลที่มีพระชนม์พอสมควรอย่าง พระองค์เจ้าโกเมน พระองค์เจ้าลดาวัลย์ พระองค์เจ้าคเนจร พระองค์เจ้าชุมสาย ซึ่งล้วนแต่มีพระชนม์สูงกว่าพระองค์เจ้าอรรณพก็ไม่ปรากฏว่าได้ทรงกรม หรือทรงรับผิดชอบตำแหน่งสำคัญเช่นเดียวกัน

พระโอรสพระองค์โปรดของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ คือพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ ซึ่งร่วมพระมารดาเดียวกับกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพพระธิดาองค์โปรด กล่าวกันว่าทรงมีพระรูปโฉมงดงามเหมือนกับสังข์ทอง แต่ก็สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๗๘ เมื่อพระชนม์ ๒๓ พรรษา โดยยังไม่ได้ทรงกรม

เช่นเดียวกับพระองค์เจ้าศิริวงศ์ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ที่มีพระชันษาไล่เลี่ยกัน และเข้าใจว่าเป็นพระโอรสที่ได้ทรงกรมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ ก็สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๘๒


พระโอรสองค์อื่นๆ ที่มีพระชนม์อยู่ ก็ดูจะไม่มีจะไม่มีความเหมาะสมเทียบเท่าสองพระองค์ที่กล่าวมาครับ


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ค. 16, 14:00
ตามความเห็นของดิฉัน
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เป็นบุคคลที่สามารถสร้างการถ่วงดุลย์อำนาจ หรือ balance of power ได้เก่งที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย
แต่เดี๋ยวค่อยขยายเรื่องนี้ นะคะ

ย้อนกลับไปสมัยอยุธยา การรบราฆ่าฟันชิงอำนาจในช่วงผลัดเปลี่ยนรัชสมัย เป็นเรื่องเกิดขึ้นซ้ำซากกันมาตั้งแต่สมัยต้น    ไม่สามารถแก้ไขได้ตลอดสี่ร้อยกว่าปีตั้งแต่เริ่มสถาปนาอาณาจักรจนวันสิ้นสุดของอาณาจักร
บุคคลที่อยู่ในข่ายก็ซ้ำๆอย่างพี่กับน้อง เช่นเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา   ชิงอำนาจกันเองตายกันไปเองทั้งคู่  เจ้าสามพระยาผู้อยู่เฉยๆไม่รู้อีโหน่อีเหน่ เลยยได้ส้มหล่นทั้งเข่ง    นี่ก็กรณีหนึ่ง   
นอกจากนั้นก็ญาติผู้ใหญ่กับญาติผู้น้อย เช่นอากับหลาน  รูปแบบนี้มีบ่อย    ที่มาของประเด็นก็พอมองเห็นได้ พี่ชายกับน้องชายอยู่ในวัยฉกรรจ์    พี่ได้บัลลังก์ น้องก็รอได้เพราะเกรงใจพี่    แต่พี่เกิดมีลูกขึ้นมา   กลายเป็นว่าลูกเข้ามาปาดหน้าได้คิวก่อนอา 
แต่หลานชายมักจะอายุน้อย ฝีมือน้อย  สะสมผู้คนได้น้อย ผิดกับอาที่แข็งแกร่งกว่าเพราะอยู่มานานกว่า    เมื่อพ่อตาย ลูกชายจึงมักจะไม่รอด  ตามหลัก  Survival of the fittest  แล้วอาก็ขึ้นสู่อำนาจแทน

ราชวงศ์บ้านพลูหลวง เป็นราชวงศ์ที่ชิงอำนาจกันดุเดือดมาตลอด    จนทำให้อาณาจักรอ่อนแอลง     เมื่อผู้ปกครองไม่ดี  ขุนน้ำขุนนางดีๆก็ร่อยหรอลงเหลือแต่พวกประจบสอพลอ    กลายเป็นบทเรียนให้ราชวงศ์จักรีต้องระแวดระวังป้องกันมิให้เกิดขึ้นอีก   
ในกระทู้นี้ไม่ได้ย้อนไปถึงปลายรัชกาลที่ 1  ทั้งๆช่วงนั้นหวุดหวิดจะซ้ำรอยราชวงศ์บ้านพลูหลวง  หากแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มิได้ทรงวู่วามกับพระราชอนุชา   แต่มาทรงปราบกบฏเอาเมื่อสิ้นกรมพระราชวังบวรแล้ว     กบฎพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต ก็ดูๆว่าไม่มีรี้พลกำลังอะไรนัก  ออกจะคล้ายๆกบฏยังเติร์กในหลายๆประเทศที่นายทหารหนุ่มฮึกเหิมเกินตัว  จึงถูกปราบได้ราบคาบ   การผลัดแผ่นดินจากรัชกาลที่ 1 เป็นรัชกาลที่ 2 จึงเป็นไปโดยเรียบร้อย


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ค. 16, 14:01
  วันนี้มีเวลามาเสิฟฟาสฟู้ดได้แค่นี้ค่ะ  เชิญท่านผู้รู้สนทนากันต่อ


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 18 ก.ค. 16, 16:49
จุดที่สั่งเกตเห็นได้ประการหนึ่งก็คือ หลังจากกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ที่เป็นพระมหาอุปราชสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ.๒๓๗๕ ก็ไม่ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจัดการเรื่อง "รัชทายาท" อย่างชัดเจนเลยครับ

ในตอนนั้นข้าของเจ้านายผู้ใหญ่หลายพระองค์พากันตื่นเต้นว่าเจ้านายจะได้ขึ้นเป็นวังหน้า แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ก็ไม่ทรงแต่งตั้ง เพียงแต่เลื่อนกรมให้เจ้านายผู้ใหญาเพื่อไม่ให้ตื่นเต้นกันต่อไปอีก โดยในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ระบุว่า


“ครั้งนั้นข้าไทยเจ้าต่างกรม กรมใหญ่ๆ ตื่นกันว่าเจ้าของตัวจะได้เป็นวังหน้า บ้างก็หาเครื่องยศและผ้าสมปัก ที่อยากเป็นตำรวจก็หาหอกรัดประคดเอิกเกริกกันไปทั้งเมือง สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบ ปรึกษาด้วยท่านเสนาบดีผู้ใหญ่ ท่านพระยาศรีพิพัฒนรัตนโกษากราบทูลว่า ถ้าไม่ทรงตั้งกรมพระราชวังแล้ว ขอให้ยกเจ้าต่างกรมผู้ใหญ่เลื่อนขึ้นเป็นกรมหลวง กรมขุนขึ้น ข้าไทยจะได้เห็นว่าเจ้านายของตัวได้เลื่อนที่มียศเพียงนั้นๆ แล้วจะได้หายตื่น ทรงพระราชดำริเห็นด้วย จึงเลื่อนกรมหมื่นเทพพลภักดิ์ ๑ กรมหมื่นรักษรณเรศร ๑ กรมหมื่นเสนีบริรักษ์ ๑ สามพระองค์ขึ้นเป็นกรมหลวง กรมหมื่นรามอิศเรศ ๑ กรมหมื่นเดชอดิศร ๑ กรมหมื่นพิพิธภูเบนทร์ ๑ เลื่อนขึ้นเป็นกรมขุน แล้วทรงตั้งสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าพระองค์น้อย ขึ้นเป็นกรมขุนอิศเรศรังสรรค์”


ส่วนตำแหน่งวังหน้าก็ปลอยว่างไปทั้งรัชกาลครับ พิจารณาดูเหมือนว่าพระองค์ไม่มีพระราชประสงค์จะกำหนดรัชทายาทที่ชัดเจน แม้ว่าในพระราชหฤทัยอาจจะทรงมีตัวเลือกอยู่ก็ตามครับ

อาจเป็นด้วยว่าในช่วงเวลานั้นยังมีเจ้านายผู้ใหญ่หลายองค์ที่ต่างก็มีบารมีและสิทธิธรรมที่จะเสวยราชย์สมบัติได้ และก็มีบางองค์ที่ประกาศเป็นศัตรูอย่างเห็นได้ชัดคือในกรณีของเจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งแม้จะไม่มีอำนาจแต่โดยศักดิ์นับว่าทรงเป็นอุภโตสุชาติซึ่งก็นับว่าสูงส่งกว่าเจ้านายพระองค์อื่น กับกรมหลวงรักษรณเรศหรือหม่อมไกรสรซึ่งก็ช่วยเหลือสนับสนุนพระนั่งเกล้ามาโดยตลอด เป็นที่ไว้วางพระทัยจนทรงนับว่า "เป็นเพื่อนทุกข์เพื่อนยากกันมา" ได้บังคับการกรมวังและศาลหลวง ทรงบารมีมาก

หลังจากที่กรมพระราชวังบวรฯ สิ้นพระชนม์ กรมหลวงรักษรณเรศก็คงจะทรงคาดว่าพระองค์จะได้เป็นวังหน้า และน่าจะทรงแสดงออกชัดเจนด้วย ดังที่ปรากฏในคำพิพากษาว่า "แล้วยังมาคิดมักใหญ่ใฝ่สูงจะเป็นวังหน้าบ้าง เป็นเจ้าแผ่นดินบ้าง"

ในกรณีว่าพระนั่งเกล้าฯ ประสงค์จะให้เจ้าฟ้ามงกุฎรับราชสมบัติสืบต่อ หากพระองค์ทรงประกาศอย่างเปิดเผย แน่นอนกรมหลวงรักษรณเรศที่ทรงตั้งตนเป็น "ไพรี" ของเจ้าฟ้ามงกุฎ ย่อมไม่พอพระทัยและอาจจะทรงไปใช้กำลังระรานเจ้าฟ้ามงกุฎมากขึ้น จากที่เดิมก็ปรากฏว่าทรงหาเหตุระรานมาก่อนอยู่แล้วหลายครั้ง จนอาจทำให้เกิดภยันตรายต่อเจ้าฟ้ามงกุฎได้ ซึ่งมีตัวอย่างมาแล้วในสมัยอยุทธยาที่เจ้าฟ้าอุทุมพรทรงได้เป็นวังหน้าทำให้เจ้าสามกรมไม่พอพระทัยจนก่อกบฎ เป็นต้น


การที่ทรงไม่ประกาศรัชทายาทที่ชัดเจนในเวลานั้นจึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงความร้าวฉานในหมู่เจ้านายเวลานั้นครับ


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 18 ก.ค. 16, 21:33
ส่วนเรื่องการแสดงออกในรูปแบบ "สัญลักษณ์" ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งกล่าวกันว่าประสงค์จะถวายราชสมบัติคืนให้กับเจ้าฟ้ามงกุฎนั้น สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงเล่าไว้ในพระนิพนธ์ความทรงจำ ดังนี้ครับ


เริ่มตั้งแต่เมื่อครั้งที่ทรงประกาศเลื่อนกรมให้เจ้านายทั้งหลายหลังจากกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์สิ้นพระชนม์ ว่าไม่ทรงเลื่อนกรมให้เจ้าฟ้ามงกุฎด้วย ดูเป็นการประหลาด ทำให้กรมพระยาดำรงทรงสันนิษฐานว่า

"ประหลาดอยู่ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเว้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้ ไม่โปรดฯให้ทรงรับกรม จะเป็นเพราะเหตุใด จะว่าขัดข้องเพราะทรงผนวชเป็นพระภิกษุก็มิใช่ ด้วยเมื่อกรมหมื่นนุชิตชิโนรสทรงรับกรมก็เป็นพระภิกษุ มีตัวอย่างอยู่ ข้อนี้น่าสันนิษฐานว่าคงเป็นเพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าตำแหน่งพระมหาอุปราชเป็นรัชทายาท ไม่สมควรแก่เจ้านายพระองค์อื่น นอกจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ทรงผนวชอยู่ จะทรงตั้งเป็นพระมหาอุปราชก็ขัดข้องทางฝ่ายพระศาสนา จะให้ทรงรับกรมก็ไม่เข้ากับเหตุที่เลื่อนกรมเจ้านายครั้งนั้น จึงได้งดเสีย "



(http://f.ptcdn.info/656/041/000/o5clomighDVn52cWFTX-o.jpg)

หน้าบันพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร  มีสัญลักษณ์รูปมงกุฎ ราชลัญจกรประจำพระองค์



และมีเหตุคือทรงโปรดให้เจ้าฟ้ามงกุฎย้ายมาเป็นพระราชาคณะที่วัดบวรนิเวศวิหารซึ่งกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ทรงสร้างไว้ ซึ่งนอกจากเรื่องของชื่อวัดซึ่งมีคำว่า "บวร" พ้องกับวังหน้าแล้ว ยังมีเหตุการณ์คือ

"เวลาเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้ามาอยู่วัดบวรนิเวศฯนั้น ดูทรงระวังมากที่จะมิให้โทมนัสน้อยพระหฤทัย เป็นต้นว่า เมื่อแห่เสด็จมาจากวัดราชาธิวาสตามประเพณีแห่พระราชคณะไปครองวัดนั้น โปรดฯให้จัดกระบวนเหมือนอย่างแห่เสด็จพระมหาอุปราช แล้วโปรดฯให้สร้างตำหนัก (หลังที่เรียกว่า "พระปันยา") กับท้องพระโรงให้เสด็จอยู่เป็นผาสุก และทรงทำนุบำรุงด้วยประการอย่างอื่นอีกเป็นอันมาก(๑๖) ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพอพระหฤทัย

(๑๖) กล่าวกันว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชนามวัดบวรนิเวศฯในครั้งนั้นด้วย เพื่อให้เป็นเกียรติแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ข้าพเจ้า(เสด็จในกรมฯ)เห็นว่าจะพระราชทานมาก่อนแล้ว เพราะเป็นวัดที่สถิตย์ของพระราชาคณะผู้ใหญ่แต่ก่อนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาครอง"


ถ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงพระราชทานนามวัดนี้เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎมาประทับจริงตามคำบอกเล่า ก็ยิ่งดูเป็นการตั้งใจมากขึ้นแสดงออกของพระเจตนารมณ์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นครับ


นอกจากนี้ก็ยังมีตัวอย่างอื่นๆ ที่ทรงวินิจฉัยไปในทางนั้นอีกดังนี้

"ต่อมามีกรณีหลายอย่างที่ส่อให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจำนงพระราชหฤทัยจะให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นรัชทายาท เช่นโปรดฯให้แห่เสด็จอย่างพระมหาอุปราชเมื่อย้ายมาประทับ ณ วัดบวรนิเวศนฯดังกล่าวมาแล้ว ต่อมาอีกครั้งหนึ่งเมื่อจะยกยอดพระปรางค์วัดอรุณฯ เดิมทำเป็นยอดนภศูลตามแบบพระปรางค์โบราณ ครั้งใกล้จะถึงวันฤกษ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งให้ยืมมงกุฎที่หล่อสำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่อง ที่จะเป็นพระประธานวัดนางนอง มาติดบนยอดนภศูล (ดังปรากฎอยู่บัดนี้) จะเป็นด้วยพระราชดำริอย่างไรจึงทำเช่นนั้น หาได้ตรัสให้ใครทราบไม่ และการที่เอามงกุฎขึ้นต่อบนยอดนภศูลก็ไม่เคยมีแบบอย่างที่ไหนมาก่อน คนในสมัยนั้นจึงพากันสันนิษฐานว่ามีพระราชประสงค์จะให้คนทั้งหลายเห็นเป็นนิมิตร ว่าสมเด็จเจ้าฟ้า "มงกุฎ" จะเป็นยอดของบ้านเมืองต่อไป แม้เรื่องสำเร็จโทษหม่อมไกรสรนั้น เมื่อคิดดูก็เห็นเหมือนหนึ่งจะทรงป้องกันอันตรายมิให้มีแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะความผิดข้อใหญ่ของหม่อมไกรสรอยู่ที่มาดหมายจะเอาราชสมบัติเมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๓"


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 18 ก.ค. 16, 22:01
แต่เรื่อง "มงกุฎ" นี้ก็ยังมีผู้ที่เห็นต่าง อย่างเช่นที่ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดมเคยวิเคราะห์เอาไว้ครับ

เลยยกมาให้ทุกท่านลองอ่านประกอบด้วย


ทำไม ร.๓ ไม่สวมมงกุฎ?

ศรีศักร วัลลิโภดม


ข้าพเจ้าเป็นคนชอบเที่ยวและชอบสังเกต จึงทำให้คำถามอะไรต่างๆ นานาทางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม มักเป็นสิ่งที่มาจากการพบเห็นมากกว่าจากการอ่านหนังสือ ดังเช่นเรื่องของพระปรางค์ที่พบเห็นในเมืองหลวงของไทยแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาถึงกรุงเทพฯ

พระปรางค์เป็นพระสถูปรูปแบบหนึ่งในทางพุทธเถรวาท ที่เกิดจากการนำเอารูปปรางค์หรือศิขรของปราสาทขอมแต่สมัยลพบุรีอันเป็นศาสนสถานฝ่ายฮินดูและพุทธมหายาน มาสร้างให้เกิดรูปแบบใหม่ขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ลงมา พระปรางค์ต่างจากพระสถูปแบบอื่นโดยเฉพาะสถูปทรงกลมในลักษณะที่ว่า สถูปทรงกลมมีวิวัฒนาการมาจากพูนดินหรือเนินดินที่ฝังศพและอัฐิธาตุ แต่พระปรางค์มาจากศิขรหรือยอดเขาสูงซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่สถิตของเทพเจ้า โดยที่หน้าที่ความสำคัญของปรางค์ก็เช่นเดียวกันกับสถูปทรงกลมนั่นเอง คือเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุ ต่างจากปราสาทอันเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ เช่น ศิวลึงค์ เทวรูป หรือพระพุทธรูป แต่โดยระบบสัญลักษณ์ ทั้งพระสถูปที่บรรจุพระบรมธาตุและปราสาทที่ประดิษฐานรูปเคารพต่างก็เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุมาศ อันเป็นศูนย์กลางจักรวาลของฮินดู - พุทธ เช่นกัน

พระปรางค์นับเป็นอัตลักษณ์ทางศิลปสถาปัตยกรรมของกรุงศรีอยุธยาโดยตรง เพราะมีสร้างมากกว่าเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะในสมัยอยุธยาตอนต้น ที่เห็นได้จากปรางค์วัดมหาธาตุ วัดพระราม วัดราชบูรณะ มาแผ่วไปบ้างในสมัยอยุธยาตอนกลางที่มีพระสถูปทรงกลมมากกว่า แต่พอถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย คือรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองลงมา ความนิยมในการสร้างพระปรางค์ก็กลับมาอีก แม้ว่าจะมีรูปแบบแตกต่างไปจากสมัยแรกๆ ก็ตาม มักนิยมสร้างคละไปกับบรรดาเจดีย์ทรงกลมที่ย่อไม้สิบสองหรือยี่สิบ มีทั้งสร้างเป็นปรางค์ประธานและปรางค์ราย

แต่ที่โดดเด่นเห็นจะเป็นพระปรางค์ประธานและเมรุรายที่วัดไชยวัฒนาราม ที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองสร้างขึ้นในบริเวณที่เป็นนิวาสสถานเดิมและที่ถวายพระเพลิงพระศพของพระชนนี ก่อนขึ้นครองราชย์ พระปรางค์นี้สูงสง่าโดดเด่นอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฟากใต้ของเกาะเมือง เป็นปรางค์ที่เห็นชัดในภาพเขียนเกาะเมืองอยุธยาที่ฝรั่งเขียนขึ้นแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ลงมา

ความโดดเด่นอย่างสำคัญของปรางค์วัดไชยวัฒนารามที่แตกต่างไปจากปรางค์วัดอื่นๆ ก็คือ มีการจัดผังพุทธาวาสเป็นมณฑลจักรวาลที่ได้สัดส่วนตามเรขาคณิตเหมือนกับผังปราสาทขอม เช่นปราสาทนครวัดของกัมพูชา เพราะเป็นสิ่งที่เกิดจากการนำเอาศิลปสถาปัตยกรรมขอมมาปรุงแต่งขึ้นใหม่ในรัชกาลนี้

สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มาจากสามัญชนที่มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ผู้เป็นทั้งอัครมหาเสนาบดีและผู้สำเร็จราชการ ทรงมีพระราชอำนาจยิ่งใหญ่และนำความมั่งคั่งรุ่งเรืองทางการค้าขายกับต่างประเทศให้แก่ราชอาณาจักร จึงได้ใช้ความมั่งคั่งนี้ในการฟื้นฟูวัดวาอาราม ปราสาทราชวัง รวมทั้งการสร้างประเพณีวัฒนธรรมใหม่ๆ ให้กับบ้านเมือง อาทิ ประเพณีการถวายพระเพลิงพระบรมศพในสนามหลวงหรือทุ่งพระเมรุ สร้างพระโกศและรูปแบบสัญลักษณ์ของยศถาบรรดาศักดิ์ของเจ้านายและขุนนาง และทำพิธีลบศักราช เป็นต้น เพื่อแสดงพระองค์เป็นธรรมราชาจักรพรรดิราช ซึ่งแสดงออกด้วยการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องเป็นพุทธบูชาตามวัดสำคัญต่างๆ เช่นในซุ้มเมรุรายวัดไชยวัฒนารามและที่พระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุเป็นต้น

โดยเฉพาะที่วัดหน้าพระเมรุนั้น พระประธานซึ่งเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องมีความงดงามยิ่งกว่าพระทรงเครื่องใดๆ ในสยามประเทศก็ว่าได้ อีกทั้งพระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุก็เป็นอาคารขนาดใหญ่เก้าห้อง ที่แต่เดิมมักทำเฉพาะพระวิหารเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็นับเป็นการให้ความสำคัญกับการสร้างพระอุโบสถให้เป็นอาคารสำคัญกว่าพระวิหารในเขตพุทธาวาสทีเดียว

ถ้าจะให้จินตนาการแล้ว ข้าพเจ้าคิดว่าพระประธานของวัดหน้าพระเมรุนี้ก็คือพระพุทธรูปฉลองพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าปราสาททององค์หนึ่งก็เป็นได้

เมื่อแลเปรียบเทียบความโดดเด่นในทางสถาปัตยกรรมและความนึกคิดในเรื่องสัญลักษณ์ของจักรวาลแล้ว ข้าพเจ้าค่อนข้างเห็นว่าพระปรางค์วัดไชยวัฒนารามอันประกอบด้วยเมรุทิศ เมรุราย และผังภูมิมณฑลจักรวาลนั้น คือสัญลักษณ์ความรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมของกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ที่ส่งอิทธิพลมายังพระปรางค์วัดแจ้งหรือวัดอรุณราชวรารามที่สร้างเสร็จในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

วัดแจ้งเป็นวัดในเมืองธนบุรีที่มีมาแต่สมัยอยุธยา ตั้งอยู่บนฝั่งน้ำเจ้าพระยาที่เป็นคลองขุดลัดแม่น้ำอ้อมครั้งรัชกาลสมเด็จพระชัยราชาธิราชแต่พุทธศตวรรษ์ที่ ๒๑ โดยมีวัดระฆังหรือวัดบางหว้าใหญ่เป็นวัดสำคัญ เพราะมีพระปรางค์เก่าแก่แต่สมัยนั้นเป็นสัญลักษณ์ของภูมิทัศน์ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงสถาปนาเมืองธนบุรีให้เป็นราชธานี วัดแจ้งหรือวัดอรุณฯ ก็กลายเป็นวัดหลวงของราชสำนักทำนองเดียวกันกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ของกรุงศรีอยุธยา เมื่อย้ายพระนครมาฝั่งกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน วัดอรุณฯ ก็ได้รับการดูแลเรื่อยมาในสมัยรัชกาลที่ ๒ ซึ่งก็มีการสร้างพระสถูปเพื่อบรรจุพระบรมธาตุให้เป็นสัญลักษณ์ของภูมิทัศน์ริมฝั่งน้ำเจ้าพระยาในทำนองเดียวกันกับวัดไชยวัฒนาราม

พระสถูปนี้สร้างไม่เสร็จในสมัยรัชกาลที่ ๒ แต่รัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างต่อจนสำเร็จอย่างงดงามเพื่อฉลองเป็นพระราชกุศลถวายสมเด็จพระราชบิดา พระสถูปมีรูปแบบเป็นพระปรางค์ มีปรางค์ทิศและมณฑปรายในระบบมณฑลจักรวาลคล้ายกันกับพระปรางค์วัดไชยวัฒนารามและแลเห็นโดดเด่นเป็นสัญลักษณ์ที่งดงามริมฝั่งน้ำเจ้าพระยาเหมือนกัน พระปรางค์วัดอรุณฯ มีรูปแบบเพรียวกว่าปรางค์วัดไชยวัฒนาราม ประดับด้วยกระเบื้องถ้วยชามเบญจรงค์อย่างงดงาม ที่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ ๓ ก็ว่าได้ เพราะวัดสำคัญอื่นๆ บรรดาที่สร้างในรัชกาลนี้ให้ความสำคัญกับการประดับกระเบื้องสีเกือบทั้งนั้น นับเป็นศิลปะนิยมแบบใหม่ที่นำอาวัสดุกระเบื้องถ้วยชามเบญจรงค์อันเป็นสินค้ามาจากจีน มาตกแต่งขึ้น

เรื่องนี้ถ้ามองให้ลึกลงไปก็สะท้อนให้เห็นถึงความมั่งคั่งรุ่งเรืองของบ้านเมืองในการค้าขายทางทะเลกับต่างประเทศนั่นเอง โดยเฉพาะกับทางจีนที่ทำให้มีการนำเอารูปแบบสถาปัตยกรรมจีนและลายเครือเถาดอกไม้ พืช สัตว์ ที่เป็นมงคล มาประดับซุ้มประตูหน้าต่าง ผนังอุโบสถและวิหาร ที่ทำให้แตกต่างไปจากของในสมัยก่อนๆ แม้แต่ภาพที่แสดงความหมายทางศาสนาที่อยู่ตามผนังภายในพระอุโบสถหรือพระวิหาร ก็มีรูปแบบใหม่ขึ้นมาหลายวัด เช่นภาพลายรดน้ำแสดงเรื่องสามก๊ก หรือแสดงสัญลักษณ์ของพระจักรพรรดิราชที่วัดหนังและวัดนางนองเป็นตัวอย่าง

แต่ทว่า ความแปลกใหม่และโดดเด่นที่สุดก็คือ พระปรางค์ประธานวัดอรุณราชวรารามไม่มียอดเป็นนภศูล เช่นบรรดาพระปรางค์ทั้งหลาย หากมีมงกุฎสวมเป็นยอดแทน จึงดูน่าพิศวงว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้ เพราะในอดีต ทั้งยอดของพระสถูปหรือยอดปราสาทในคติฮินดู – พุทธ มักจะทำเป็นรูปดอกบัวบานหรือบัวตูม อันเป็นสัญลักษณ์ของจักรวาล จึงน่าจะมีเจตนาอะไรที่ซ่อนเร้นอยู่

การตั้งคำถามในเรื่องนี้ก็คงมีเกิดขึ้นในคนหลายชั่วหลายยุคแล้ว จึงทำให้มีการเฉลยโดยผู้รู้และปราชญ์ของราชสำนัก ที่มีโอกาสได้รับรู้อะไรต่างๆ จากภายใน ว่าเป็นการที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงต้องการจะยกย่องและประกาศว่าเจ้านายที่จะทรงครองราชย์ต่อจากพระองค์ก็คือสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามงกุฎ (รัชกาลที่ ๔ ในเวลาต่อมา) ผู้เป็นพระราชโอรสอันประสูติแต่พระอัครมเหสีของรัชกาลที่ ๒ ผู้ทรงเป็นพระบรมชนกนาถ อีกทั้งรัชกาลที่ ๓ เองก็ไม่ทรงสวมพระมหามงกุฎ เพราะต้องการแสดงให้ผู้คนเห็นว่าพระองค์ทรงทำหน้าที่เสมือนผู้สำเร็จราชการเพื่อรอเวลาการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามงกุฎ

ข้าพเจ้าได้เรียน ได้ยิน และได้ฟังมาจากนักประวัติศาสตร์ทั้งอาวุโสและไม่อาวุโสแห่งสกุลดำรงราชานุภาพ จนต้องเชื่ออย่างเดียว (เพราะการเรียนประวัติศาสตร์ของสกุลนี้ต้องท่องต้องเชื่ออย่างเดียว เถียงและถามก็ไม่ได้) แต่ชั้นแรกข้าพเจ้าก็ไม่สนใจอะไร จนต่อมาเมื่อได้อ่านงานชีวประวัติของสุนทรภู่ซึ่งปราชญ์ผู้ใหญ่ของสกุลดังกล่าวนี้ เขียนว่าสุนทรภู่เคยเป็นกวีราชสำนักที่รุ่งเรืองและเป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่ ๒ พอถึงรัชกาลที่ ๓ ก็ตกอับ ไม่เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ เพราะเหตุว่าเคยแต่งกลอนขัดแย้งกับรัชกาลที่ ๓ ในที่ประชุมกวีราชสำนักที่รัชกาลที่ ๒ ทรงเป็นประธาน เลยไม่เป็นที่พอพระทัยเรื่อยมา ทำให้สุนทรภู่ต้องตกอับและร่อนเร่ไปตามที่ต่างๆ แต่งกลอนแต่งนิยายเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เรื่องนี้ดูสมจริงเพราะสุนทรภู่มักจะสะท้อนให้แลเห็นชีวิตที่ตกอับของตนอยู่บ่อยๆ ในวรรณคดีต่างๆ ที่แต่งขึ้น โดยเฉพาะนิราศภูเขาทองและอื่นๆ

เรื่องสุนทรภู่ตกอับเพราะไม่เป็นที่พอพระทัยของรัชกาลที่ ๓ เป็นเรื่องที่ข้าพเจ้าคล้อยตามไม่ได้ เพราะได้อ่านวรรณคดีเรื่องต่างๆ ของสุนทรภู่แล้ว ถึงแม้ว่าจะยอมรับว่าเป็นกวีที่ยิ่งใหญ่ของยุค ซึ่งนอกจากจะมีการใช้ถ้อยคำไพเราะเพราะพริ้งสวยงามแล้ว ยังมีจินตนาการที่เป็นอิสระในเรื่องประโลมโลกย์เหนือบรรดากวีทั้งหลายด้วยก็ตาม แต่ข้าพเจ้าก็เห็นว่าสุนทรภู่ใช้จินตนาการที่เกินความจริงไปหน่อย เพราะสุนทรภู่ไม่ได้ถึงตกอับแบบร่อนเร่พเนจรเช่นคนยากไร้ เวลาเดินทางด้วยเรือจะไปที่ไหนก็มีขี้ข้าพายเรือไปตามที่ต่างๆ จนสามารถแต่งโคลงกลอนได้อย่างสบายใจ แถมยังบอกความจริงให้รู้เสมอว่าเป็นกวีขี้เมา แตกแยกกับเมีย โดยที่เมียไม่ทิ้ง แต่เป็นฝ่ายทิ้งเมียเสียด้วยซ้ำ

ข้าพเจ้าเริ่มแลไม่เห็นภาวะความตกอับของสุนทรภู่ ว่าเป็นเพราะรัชกาลที่ ๓ ไม่โปรด แต่เผอิญรัชกาลที่ ๓ ทรงมีภารกิจในการบริหารปกครองบ้านเมืองมากกว่าที่จะไปนั่งแต่งกลอนกับบรรดานักปราชญ์ราชกวีทั้งหลายบ่อยครั้งเหมือนสมัยรัชกาลที่ ๒ นั่นเอง

ต้องอย่าลืมว่ารัชกาลที่ ๒ นั้นทรงสนพระทัยในเรื่องวรรณคดี ศิลปวัฒนธรรมมากกว่าการบ้านการเมือง และทรงปล่อยให้รัชกาลที่ ๓ ครั้งดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงรับหน้าที่แทน ทรงเอาพระทัยจดจ่อกับกวีนิพนธ์จนเป็นที่รู้กันดี จนสะท้อนให้เห็นในเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพลายงามถวายตัวว่า

“ให้เคลิ้มพระองค์ทรงกลอนละครนอก นึกไม่ออกเวียนวงให้หลงใหล

ลืมประภาษราชกิจที่คิดไว้ กลับเข้าในแท่นที่ศรีไสยาฯ”

แม้กระทั่งในเวลาใกล้จะสวรรคต รัชกาลที่ ๒ ก็ประชวรนิ่ง ไม่ทรงตรัสอะไร ทำให้รัชกาลที่ ๓ ต้องทรงทำหน้าที่ต่างๆ แทนจนสิ้นรัชกาล เลยเป็นเหตุให้ทรงเป็นผู้เหมาะสมที่สุดใน “อเนกนิกรสโมสรสมมุติ” ในการขึ้นครองราชย์แทน

ข้าพเจ้าไม่คิดว่ารัชกาลที่ ๓ จะทรงมีเวลาอะไรไปคิดอคติกับกวีขี้เมาอย่างสุนทรภู่ ดังจะเห็นได้ว่าสุนทรภู่เองก็ได้อาศัยพระบารมีกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดาองค์โปรดของรัชกาลที่ ๓ ในวัดเทพธิดาราม อันเป็นวัดสำคัญที่รัชกาลที่ ๓ ทรงสร้าง เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ข้าพเจ้าก็ได้คิดว่ารัชกาลที่ ๓ ย่อมไม่ทรงพิศวาทอะไรกับสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งผนวชอยู่ ถึงแก่ทรงนำมงกุฎไปครอบยอดพระปรางค์วัดอรุณฯ เพื่อประกาศความเป็นผู้เหมาะสมในการดำรงราชย์ต่อจากพระองค์ ทำนองตรงข้าม พระองค์ก็ไม่ทรงคิดร้ายเพื่อขจัดให้พ้นไปจากสิทธิในการได้ครองราชย์ ทั้งๆ ที่ไม่ทรงพอพระทัยอะไรนักในเรื่องที่รัชกาลที่ ๔ ขณะทรงเป็นพระภิกษุทรงนิยมพุทธแบบมอญ จนถึงทรงเปรยๆ ว่า ถ้าหากได้ครองราชย์แล้วอาจทำให้พระสงฆ์ไทยห่มจีวรแบบมอญไป เพราะรัชกาลที่ ๓ ดูทรงเป็นห่วงพุทธศาสนามากกว่าอย่างอื่น ดังเห็นได้ว่าทรงสร้างวัด ปฏิสังขรณ์วัดมากมายแทบทุกแห่งหนในราชอาณาจักร เพื่อทำให้ผู้คนที่หลากหลายทางชาติพันธุ์ที่เข้ามาเป็นคนสยามหรือคนไทย ได้นับถือศาสนาเดียวกัน และเกิดสำนึกร่วมของการอยู่ร่วมปฐพีเดียวกัน จนกระทั่งมีคำกล่าวว่าทรงมั่งคั่งร่ำรวยจากการค้าสำเภากับต่างประเทศ แต่ก็ทรงใช้เงินจนหมดท้องพระคลังในการสร้างวัดวาอารามและบำรุงพระพุทธศาสนา มากกว่าการสร้างสิ่งอลังการเพื่อแสดงพระเกียรติยศของพระองค์

การถ่อมพระองค์ในเรื่องความโอ่อ่านั้นสะท้อนให้เห็นจากบันทึกของราชทูตฝรั่งที่เข้ามาเจริญไมตรี ที่กล่าวว่าท้องพระโรงที่เสด็จออกรับแขกเมืองนั้นไม่โอ่อ่าและดูเก่าๆ รัชกาลที่ ๓ เองก็ทรงฉลองพระองค์ที่ไม่หรูหราและดูเก่าๆ ด้วย ทำให้แลเห็นความแตกต่างระหว่างวัดกับวังเป็นอย่างมาก เพราะบรรดาวัดวาอารามและศิลปกรรมที่ทรงสร้างให้กับพระพุทธศาสนานั้น ดูสวยงามเลอเลิศและราคาแพง เมื่อตอนใกล้จะสวรรคตก็ไม่ทรงกำหนดพระราชโอรสองค์ใดหรือผู้ใดเป็นผู้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์ แต่กลับปล่อยให้เป็นหน้าที่ของมุขมนตรีและเสนาบดี ที่เลือกจากความเหมาะสมให้เป็น “อเนกนิกรสโมสรสมมุติ” เช่นเดียวกันกับการขึ้นครองราชย์ของพระองค์

ข้าพเจ้าจึงคิดว่าการที่มีผู้กล่าวว่าทรงเอามงกุฎไปครอบยอดพระปรางค์วัดอรุณฯ จึงไม่น่าจะเป็นการ “บอกใบ้” ว่าเป็นรัชกาลที่ ๔ ซึ่งทรงผนวชอยู่ หรือแม้แต่จะสนับสนุนพระราชโอรสองค์ใดให้ขึ้นครองราชย์ก็เกรงจะเกิดความขัดแย้งและเป็นที่ติฉินนินทา เมื่อเป็นเช่นนี้ก็มาถึงคำถามว่า ทำไมทรงเอามงกุฎไปครอบยอดพระปรางค์ให้ผิดแผกไปจากยอดนภศูลของพระปรางค์โดยทั่วไป ซึ่งต้องมองหาคำตอบจากเรื่องอื่นแทน

ข้าพเจ้าจึงคิดว่ารัชกาลที่ ๓ ทรงมีอะไรที่คล้ายๆ กันกับสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะในเรื่องที่พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสนอกเศวตฉัตร ในขณะที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงมาจากสามัญชน ทั้งสองพระองค์ต่างฟื้นฟูพุทธศาสนา สร้างวัด บูรณะปฏิสังขรณ์วัด รวมทั้งสร้างประเพณีพิธีกรรมใหม่ๆ และทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ทั้งสองพระองค์ทรงมีความมั่งคั่งจากการค้าทางทะเลเช่นกัน แต่ที่โดดเด่นเช่นเดียวกันคือสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องเป็นพุทธบูชา

ตามตำนานชมพูบดีสูตร พระพุทธรูปทรงเครื่องหมายถึงการเป็นจักรพรรดิแห่งโลกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การที่สร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องของพระมหากษัตริย์ ก็คือการถวายความเป็นจักรพรรดิของพระองค์แด่สมเด็จพระพุทธเจ้านั่นเอง

แต่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเน้นเพียงการสร้างพระพุทธรูปเป็นพิเศษ ส่วนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างเดียวไม่พอ หากยังทรงสร้างมงกุฎถวายพระบรมธาตุที่พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามด้วย นับได้ว่าทรงมีจินตนาการในเรื่องสัญลักษณ์ที่ลึกซึ้งไม่เหมือนใคร เพราะเป็นสิ่งที่อธิบายได้แจ่มแจ้งว่าทำไมไม่ทรงสวมมงกุฎ

http://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=Sections&op=printpage&artid=167 (http://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=Sections&op=printpage&artid=167)


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: DrJfk ที่ 19 ก.ค. 16, 15:52
ขอบคุณมากครับ ปักหมุดไว้ก่อนเด๋วค่อยละเลียดเล็ม

มีบางประเด็นที่เคยได้ยิน แต่มี หลายประเด็นที่ไม่เคยได้ยิน เด๋วค่อยๆไล่

ว่า ด้วย ส่วนของ การสืบรัชกาลที่ 7 ตอนนั้น สายจักรพงษ์ ถ้าไม่ได้ถูก ขีดห้ามไว้เรื่อง มีแม่ เป็นชาวต่างชาติ เรา อาจจะได้ สายราชวงศ์ใหม่

รวมทั้ง คนหล่อ คนเก่ง คนนี้ ก็ได้นะ คุณฮิวโก้ จุลจักร

ฟังเค้าตอบนักข่าว ฉลาด และ เก่ง นะครับ :)

https://www.youtube.com/watch?v=JVEEnqTfJcs (https://www.youtube.com/watch?v=JVEEnqTfJcs)


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: DrJfk ที่ 19 ก.ค. 16, 16:29
อ้อ รบกวนขอสอบถามเป็นความรู้อีกนิดครับ

กฏมณเทียรบาล ว่าด้วยการสืบสันติวงศ์ นี่ มีมานานแล้ว หรือเพิ่ง มี ตอน ร.6 เขียนบัญญัติไว้

และมีระบุไว้มั้ย ครับ ว่า ต้องเป็นเฉพาะชายเท่านั้นที่ขึ้นครองราชย์ได้

และปัจจุบัน มีการแก้กฏข้อนี้กันแล้วหรือไม่

และอีกอัน คือ สงสัย

ตอนสมัย สิ้น ร 6  แล้ว ยุคนั้น ยังมี พระอนุชา ของพระองค์อย่าง ร.7 อยู่ แต่ว่า ฟังดูเหมือน ถ้าไม่มีข้อระบุสั่งเสีย ที่ขอให้เว้น โอรสของพระอนุชา บางองค์ ที่มีพระมารดาเป็น นางละคอน หรือ พระมารดาเป็นชาวต่างชาติ แล้ว พระโอรส เหล่านั้น จะมีลำดับขึ้นก่อน ร7 ทำให้แปลกใจ

ในการจัด ลำดับ ตามกฏ สมมุติ King คือ โอรส องค์ที่ 1  แล้ว มี อนุชา องค์ ที่ 2-3-4

เค้าไล่ ลำดับ ตามPriority โดย ไล่ลำดับ โอรส King ก่อน ถ้าไม่มี

เอาพระอนุชาคนที่ 1 ถ้า สิ้นพระชนภ์ แล้ว เอาโอรส ของ พระอนุชาองค์นี้ ไล่จนหมด ก่อน ถ้าไม่มีหมด ค่อยไปไล่

พระอนุชาคนที่ 2 และ โอรสของท่านใช่มั้ย ครับ ไม่ได้ ข้ามไป  พระอนุชา องค์ถัดไปก่อน คือ หลาน ของน้องคนต้นๆ มาก่อน น้องในสายเลือด ของ King ใช่มั้ยครับ

อีกอัน สมมุติ ถ้าลำดับถัด King เป็น พระขนิษฐา  แล้ว ค่อยถัดไป เป็นพระอนุชา องค์สุดท้าย ถ้า King ไม่มี โอรส พระขนิษฐา มีโอรส อย่างนี้ โอรส ของพระขนิษฐา มาก่อน พระอนุชาองค์สุดท้องของ King หรือป่าว

หลายคำถามหน่อย งงมั้ยครับ แฮ่ะๆ

ถ้าสรุป
1 ตามกฏมณเทียรบาล  ไล่ลำดับความสำคัญ ลูกชาย ของ น้อง หรือ พี่ชาย King  มี อาวุโส กว่า  น้องKing คนเล็ก หรือ ไม่
2 ถ้า ข้อหนึ่งลูกของ พี่ชาย อาวุโส กว่า น้องคนเล็ก King แล้ว ถ้า เป็นลูกของ พี่สาว หรือ น้องสาวล่ะ ครับ ยัง อาวุโส กว่าน้อง King คนเล็กหรือไม่
3 ปัจจุบัน มีการแก้กฏมณเทียรบาล ให้ ผู้หญิงครองราชย์ได้หรือไม่


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 19 ก.ค. 16, 20:24
กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ บัญญัติเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๗ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวครับ

ทุกมาตราอ่านได้จากลิ้งค์ด้านล่างครับ
https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%A1%E0%B8%93%E0%B9%80%E0%B8%91%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C_%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A8%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A_%E0%B9%92%E0%B9%94%E0%B9%96%E0%B9%97

เรื่องที่ว่าให้เจ้าชายผู้ชายสืบราชสมบัติได้เท่านั้นมีอยู่ใน หมวด ๕ มาตรา ๑๓ ครับ

ในกาลสมัยนี้ ยังไม่ถึงเวลาอันควรที่ราชนารีจะได้เสด็จขึ้นทรงราชย์ เป็นสมเด็จพระแม่อยู่หัวบรมราชินีนาถผู้ทรงสำเร็จราชการสิทธิ์ขาดอย่างพระเจ้าแผ่นดินโดยลำพังแห่งกรุงสยาม ฉะนั้น ท่านห้ามมิให้จัดเอาราชนารีพระองค์ใด ๆ เข้าไว้ในลำดับสืบราชสันตติวงศ์เป็นอันขาด

แต่สำหรับ "กาลสมัยนี้" (ปัจจุบัน) ไม่ทราบว่าได้มีการแก้ไขหรือยัง คงต้องรอท่านอื่นครับ



ส่วนเรื่องลำดับการสืบสันตติวงศ์ ในหมวด ๔ มาตรา ๙ ได้อธิบายไว้ชัดเจนแล้วครับ



มาตรา ๙

ลำดับชั้นเชื้อพระบรมราชวงศ์ซึ่งจะควรสืบราชสันตติวงศ์ได้นั้น ท่านว่า ให้เลือกตามสายตรงก่อนเสมอ ต่อไม่สามารถจะเลือกทางสายตรงได้แล้ว จึงให้เลือกตามเกณฑ์ที่สนิทมากและน้อย

เพื่อให้สิ้นสงสัย ท่านว่าให้วางลำดับสืบราชสันตติวงศ์ไว้ดังต่อไปนี้

(๑) สมเด็จหน่อพุทธเจ้า

(๒) ถ้าแม้ว่าสมเด็จหน่อพุทธเจ้าหาพระองค์ไม่แล้ว ให้อัญเชิญพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จหน่อพุทธเจ้า และพระอัครชายาของสมเด็จหน่อพุทธเจ้าพระองค์นั้น ขึ้นทรงราชย์ หรือถ้าพระราชโอรสพระองค์ใหญ่หาพระองค์ไม่แล้ว ก็ให้อัญเชิญพระราชโอรสพระองค์รอง ๆ ต่อไปตามลำดับพระชนมายุ

(๓) ถ้าแม้ว่าสมเด็จหน่อพุทธเจ้าหาพระองค์ไม่แล้ว และไร้พระราชโอรสของท่านด้วยไซร้ ก็ให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่ ๒ ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอัครมเหสี

(๔) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่ ๒ หาพระองค์ไม่แล้ว แต่ถ้ามีพระโอรสอยู่ ก็ให้อัญเชิญพระโอรสโดยอนุโลมตามข้อความในข้อ ๒ แห่งมาตรานี้

(๕) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่ ๒ ในสมเด็จพระอัครมเหสีหาพระองค์มิได้แล้ว และไร้พระราชโอรสของท่านด้วยไซร้ ก็ให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์อื่น ๆ ในสมเด็จพระอัครมเหสี หรือพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น ๆ สลับกันไปตามลำดับ โดยอนุโลมตามข้อความในข้อ ๒, ๓ และ ๔ แห่งมาตรานี้

(๖) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในพระอัครมเหสีหาพระองค์ไม่แล้ว และพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอนั้น ๆ ก็หาไม่ด้วยแล้ว ให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในพระมเหสีรองถัดลงไปตามลำดับชั้นพระอิสริยยศแห่งพระมารดา หรือถ้าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอหาพระองค์ไม่แล้ว ก็ให้อัญเชิญพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอนั้น ๆ สลับกันตามลำดับ โดยอนุโลมตามข้อความในข้อ ๒, ๓ และ ๔ แห่งมาตรานี้

(๗) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในพระมเหสีรองหาพระองค์ไม่สิ้นแล้ว และพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอนั้น ๆ ก็หาไม่ด้วยแล้ว ให้อัญเชิญพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่มีพระชนมายุมากที่สุด หรือถ้าพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้นหาพระองค์ไม่แล้ว ก็ให้อัญเชิญพระโอรสพระองค์ใหญ่ของพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น แต่ถ้าแม้ว่าพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่มีพระชนมายุมากที่สุดนั้นหาพระองค์ไม่แล้ว และพระโอรสของท่านก็หาไม่ด้วยแล้ว ก็ให้อัญเชิญพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่มีพระชนมายุถัดลงมา หรือพระโอรสของพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น ๆ สลับกันไปตามลำดับ โดยอนุโลมตามข้อความในข้อ ๒, ๓ และ ๔ แห่งมาตรานี้

(๘) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไร้พระราชโอรสและพระราชนัดดา ท่านว่าให้อัญเชิญสมเด็จพระอนุชาที่ร่วมพระราชชนนีพระองค์ที่มีพระชนมายุถัดลงมาจากพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์

(๙) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระอนุชาพระองค์ที่ควรได้ทรงเป็นทายาทนั้นหาพระองค์ไม่เสียแล้ว ท่านว่าให้อัญเชิญพระโอรสของสมเด็จพระอนุชาพระองค์นั้นตามลำดับ โดยอนุโลมตามข้อความในข้อ ๒ แห่งมาตรานี้

(๑๐) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระอนุชาพระองค์ใหญ่หาพระองค์ไม่แล้ว และพระโอรสของท่านก็หาพระองค์ไม่อีกด้วยไซร้ ท่านว่าให้อัญเชิญสมเด็จพระอนุชาที่ร่วมพระชนนีพระองค์ที่ถัดลงไปตามลำดับพระชนมายุ หรือพระโอรสของสมเด็จพระอนุชาพระองค์นั้น ๆ สลับกันไปตามลำดับ อนุโลมตามข้อความในข้อ ๒, ๓ และ ๔ แห่งมาตรานี้

(๑๑) ถ้าแม้สมเด็จพระอนุชาร่วมพระชนนีหาพระองค์ไม่สิ้นแล้ว และพระโอรสของสมเด็จพระอนุชานั้น ๆ ก็หาไม่ด้วยแล้ว ท่านว่าให้อัญเชิญสมเด็จพระเชษฐา และสมเด็จพระอนุชาต่างพระชนนี หรือพระโอรสของสมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระอนุชานั้น ๆ สลับกันไปตามลำดับ โดยอนุโลมตามข้อความในข้อ ๒, ๓, ๔ และ ๖ แห่งมาตรานี้

(๑๒) ถ้าแม้สมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระอนุชาต่างพระชนนีก็หาพระองค์ไม่สิ้นแล้ว และโอรสของสมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระอนุชานั้นก็หาไม่ด้วยแล้วไซร้ ท่านว่าให้อัญเชิญพระเจ้าพี่ยาเธอ และพระเจ้าน้องยาเธอ หรือพระโอรสของพระเจ้าพี่ยาเธอ และพระเจ้าน้องยาเธอ ตามลำดับสลับกัน โดยอนุโลมตามข้อความในข้อ ๗ แห่งมาตรานี้

(๑๓) ต่อเมื่อหมดพระเจ้าพี่ยาเธอและพระเจ้าน้องยาเธอ อีกทั้งหมดพระโอรสของท่านนั้น ๆ แล้วไซร้ ท่านจึงให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ หรือพระโอรส และเชื้อสายของท่านพระองค์นั้น ตามลำดับแห่งความสนิทมากและน้อย โดยอนุโลมตามข้อความที่กล่าวมาแล้วตั้งแต่ข้อ ๑ ถึง ๑๒ แห่งมาตรานี้



ซึ่งในลำดับดังกล่าวพระราชนารีทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นพระเชษฐภคินีหรือพระขนิษฐาไม่ถูกนับอยู่ในลำดับการสืบสันตติวงศ์ ดังนั้นพระโอรสจะไม่ถูกนับด้วย (แต่ในสมัยนั้น เจ้านายฝ่ายในไม่นิยมอภิเษกสมรสกัน จึงไม่ค่อยมีโอรสอยู่แล้วครับ)



กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: Praweenj ที่ 20 ก.ค. 16, 05:27
อิ่มอร่อยเลยครับ  ;D
ลงชื่อเข้าเรียนครับผม อ่านสนุกมากกกกครับ
จะว่าไปช่วงการผลัดแผ่นดินเป็นช่วงที่ขุนนางผู้ใหญ่และพระบรมวงศานุวงศ์จะต้องมีการ Balance power กันอย่างมาก แม้จะมีการแต่งตั้งตำแหน่งและเชิดชูจากพระเจ้าแผ่นดินชัดเจนแล้วก็ตาม เท่าที่ทราบ การผลัดแผ่นดินที่ไม่มีเหตุใดๆเลยก็ น่าจะเป็น ร.5 มาเป็น ร.6
จาก ร.2 มาเป็น ร.3 แล้วมาเป็น ร.4 : มีตัวละครดำเนินเรื่องที่เป็นหลักที่พอจะสรุปได้คือ กรมหลวงรักษ์รณเรศหรือหม่อมไกรสร (โอรส ร.1 ต้นราชสกุล พึ่งบุญ ณ อยุธยา) ที่สุดท้ายยังไม่ยอมคืนดีหรืออโหสิกรรมกับ ร.4 จนวันสุดท้าย แต่สุดท้ายแล้ว รุ่นหลาน คือเจ้าพระยารามราฆพ ก็ได้กลายมาเป็นขุนนางคนสนิทและโปรดปรานที่สุดของ ร.6 ซึ่งพระองค์ก็เป็นหลานของ ร.4 เหมือนกับว่ารุ่นหลานได้สลายความเป็นอริของปู่ไปในที่สุด
ในส่วนต่อจากนั้นการผลัดแผ่นดินก็เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลที่ ร.6 ทรงได้ตั้งขึ้น


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 20 ก.ค. 16, 10:18
การสืบราชสมบัติในปลายรัชกาลที่ ๓ แม้ว่าจะไม่ได้ทรงกำหนดตัวรัชทายาทที่ชัดเจน แต่ดูแล้วก็เหมือนกับทรงบอกกับพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นนัยๆ ให้เห็นว่าเจ้าฟ้ามงกุฎนั้นเหมาะสมที่สุดครับ

ซึ่งก็ไม่อาจทราบได้ว่าในพระราชหฤทัยอาจจะทรงปรารถนาให้เจ้านายองค์อื่นได้ราชสมบัติหรือไม่ (อย่างที่บางแห่งระบุว่าทรงปรารถนาจะให้ราชสมบัติแก้พระองค์เจ้าอรรณพ) แต่สันนิษฐานว่าคงจะทรงเห็นแก่บ้านเมืองและความเหมาะสมเป็นหลัก ไม่ได้อยากให้ผู้ใหญ่ทั้งหลายร้าวฉานกันไป จึงได้แต่ทรงชี้นำ ที่เหลือให้เป็นเรื่องของเหล่าพระราชวงศ์และเสนาบดีผู้ใหญ่ประชุมตัดสินใจเลือกพระเจ้าแผ่นดินกันเองเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เหมือนครั้งที่พระองค์ได้ราชสมบัติ

ซึ่งในช่วงปลายรัชกาลที่ ๓ ตำแหน่งเสนาบดีหลายตำแหน่งก็ไม่ทรงแต่งตั้ง ตรัสว่า "พระเจ้าแผ่นดินต่อไปจะได้ตั้งตามพระราชหฤทัย" ส่วนทางเจ้านายนับแต่หม่อมไกรสรถูกสำเร็จโทษไปก็ไม่มีเจ้านายที่มีอำนาจเทียบได้อีก นอกจากนี้เจ้าพระยาบดินทรเดชาที่สมุหนายกซึ่งเป็นขุนพลคู่พระบารมีก็ถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว ทำให้ปลายรัชกาลดุลอำนาจของราชสำนักจึงอยู่ที่ขุนนางสกุลบุนนาคซึ่งนำโดย เจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหม (ดิศ)  พระยาศรีพิพัฒน์ (ทัต) เสนาบดีกรมพระคลังสินค้า และบุตรชายเจ้าพระยาพระคลังคือ พระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) จางวางมหาดเล็ก

ซึ่งก็ปรากฏว่าสกุลบุนนาคมีแนวโน้มสนับสนุนเจ้าฟ้ามงกุฎมาก ซึ่งก็มีการสันนิษฐานว่านอกจากเรื่องความเหมาะสมแล้ว อาจจะเพราะส่วนขุนนางบุนนาคก็มีนโยบายทางการเมืองที่ค่อนข้างเปิดรับและประนีประนอมกับชาติตะวันตก เจ้าฟ้ามงกุฎเองก็ทรงมีความนิยมชาติตะวันตกที่สอดคล้องกับสภาวะการเมืองในขณะนั้น จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม ซึ่งเรื่องนี้อาจจะรอท่านอื่นอธิบายเพิ่มเติมครับ



ดังนั้นหลังจากที่รัชกาลที่ ๓ ทรงมีพระราชกระแสเรื่องรัชทายาทออกมาราวเดือนครึ่ง ซึ่งระหว่างนั้นก็คงมีการประชุมเจ้านายและเสนาบดีกันแล้วถึงการเลือกผู้สืบทอดราชสมบัติ เจ้าพระยาพระคลังจึงให้จมื่นราชามาตย์ (ขำ ได้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เสนาบดีการต่างประเทศในรัชกาลที่ ๔) ออกไปทูลเชิญให้เจ้าฟ้ามงกุฎรับราชสมบัติ ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ยังไม่เสด็จสวรรคต

"ครั้นถึงวันพุธเดือน ๔ แรม ๘ ค่ำ ยังเป็นปีจอโทศกจุลศักราช ๑๒๑๒ ท่านเจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหม ให้จมื่นราชามาตย์พลขันธ์ไปเผ้าสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ กราบทูลว่าจะเชิญเสด็จครองสิริราชสมบัติ จะโปรดรับหรือมิโปรดขอให้ทราบด้วย จึ่งมีรับสั่งว่า ท่านผู้หลักผู้ใหญ่พร้อมใจกันอัญเชิญแล้วก็ต้องรับ แต่ขอให้ถวายราชสมบัติแด่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าฯ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ด้วยอีกพระองค์ ๑ เจ้าพระยาพระคลังได้ทราบกระแสรับสั่งแล้วจึงข้ามฟากไปพระราชวังเดิมกราบทูลสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าฯ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ให้ทรงทราบไว้ด้วย แล้วจึงสั่งขุนอักษรสมบัติเสมียนตรากรมท่า คุมทหารปืนปากน้ำนาย ๑ พระนนทบุรีคุมเลขทหารปืนปากน้ำนาย ๑ พระอินทรอาษาคุมลาวเมืองพนัสนิคมนาย ๑ รวม ๓ นาย ไปตั้งกองจุกช่องล้อมวงนั่งยามตามเพลิงรักษาอยู่รอบวัดบวรนิเวศ มิให้ผู้คนแปลกปลอมเข้าไปได้"




พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าทรงทราบดีว่าเหตุที่พระองค์ได้ขึ้นครองราชย์นั้นไม่ใช่เป็นเพราะอำนาจเทวดา หรือพระชาติกำเนิด แต่เป็นเพราะมีผู้คนค้ำชูให้พระองค์ได้ราชสมบัติ (ซึ่งก็คงหมายถึงผู้ใหญ่ในสกุลบุนนาคนั่นเอง) ดังที่ทรงเขียนในพระราชหัตถเลขาถึงกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศความว่า

“ที่ได้เปนพระเจ้าแผ่นดินทั้งนี้ ครั้นจะว่าไปว่าได้เปนด้วยอำนาจเทวดาก็จะเปนอันลบหลู่บุญคุณของท่านผู้หลักผู้ใหญ่ที่ท่านพร้อมใจกันอุปถัมภ์ค้ำชูให้เปนเจ้าแผ่นดินนั้นไป ด้วยว่าความที่ได้เปนเจ้าแผ่นดินเพราะท่านผู้หลักผู้ใหญ่ค้ำชูอุดหนุนนั้น รู้อยู่แก่ตา เห็นอยู่แก่ตาของคนเปนอันมากตรงๆ ไม่อ้างว่าอำนาจเทวดาแล้ว”


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: DrJfk ที่ 20 ก.ค. 16, 17:14
ขอบคุณ คุณศรรเพชญ์ สำหรับข้อมูล ครับ

สรุป ผมเข้าใจถูกต้องแล้ว คือ  กรณีไล่ Priority โอรส ของ พระเจ้าลูกเธอ องค์โต มาก่อน  พระเจ้าลูกเธอ องค์รองๆ ลงไปร่วมพระครรภ์ แต่ ถ้าเป็นโอรสของ พี่สาว ไม่นับ

ดังนั้นกรณี ของร 7 ตามกฏมณเฑียรบาล สมัยนั้น ถ้าไม่ติด เรื่องข้อ มีพระมารดา เป็นคนต่างชาติ พระองค์จุล จะมี  Priority มาก่อน ร7


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: DrJfk ที่ 20 ก.ค. 16, 18:14
ในส่วนของ การที่ ร. 3 ขึ้นครองราชย์ก่อน ร 4  ทั้งที่ ร. 4 เป็น โอรสของอัครมเหสี ซึ่งถ้าตามกฏมณเฑียรบาลภายหลัง นี่ถือว่า  Priority สูงกว่า แต่ว่า ทาง ขุนนาง ทั้งหลาย ยกให้ ร3 ขึ้นก่อน แล้ว ประวัติศาสตร์เราก็เขียนกัน ให้ ดูดี มีความปรองดอง เช่น พระมารดา ร.4 บอกกับ ร.3 ว่า น้องยังเล็ก ให้ ร3 ขึ้นแทน แต่ถ้าเรามาดูจริงๆ ผมว่า ท่านตอนนั้นก็อายุครบบวช แล้ว ไม่เด็กแล้ว

ถ้าจะขึ้นจริงๆ ก็ขึ้นได้ แล้ว แต่คงเป็นว่า ทางขุนนาง่ส่วนใหญ่หนุน ร3 มากกว่า ท่านเลยต้องออกไปบวช จนสิ้นรัชกาล ดูตามรูปการ คงไม่ใช่ ไม่เต็มจะรับ ขึ้นครองราชย์ก่อน แต่คงขึ้นไม่ได้ เลยต้องหลบไปบวช

เพราะว่า ถ้ามาดูจากตอนที่ ร.3 สิ้นแล้ว ขุนนางตะกูลบุญนาค มาทูลเชิญให้สึกออกมา ท่านก็ออกมา ขึ้นครองราชย์ และยังกล่าวชมเป็นบุญคุณแทน เทวดา ตามข้อความข้างบน แสดงว่าลึกๆท่านก็คง ต้องการขึ้นครองราชย์ฺเช่นกัน แต่คงเป็นการเมือง ในสมัยนั้น ที่ทำให้ท่านตัองหลบไปบวช

ผมพิมพ์ตามที่คิด ต้องขอกราบขออภัย ที่ใช้ข้อความราชาศัพท์ ไม่ถูกต้อง

และอยากรบกวนเรียนถามด้วยว่า การที่เราถกกันถึง ประวัติราชวงศ์ ลักษณะนี้ เป็นการไม่สมควรหรือไม่ ครับ ถ้าไม่สมควรจะได้เลี่ยง คืออยากให้ ได้ข้อมูลที่เข้าใจกันได้ง่ายๆ และถูกต้อง


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 20 ก.ค. 16, 20:17
พระองค์จุลฯ ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่อยู่ในลำดับครับ และไม่ได้มีแต่พระองค์จุลด้วย มีพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัชก็เป็นอีกพระองค์ที่ถูกข้ามเพราะพระมารดาไม่ใช่สะใภ้หลวงด้วย จะต่างกับในหลวงของเรา ที่สมเด็จย่าแม้จะเป็นสามัญชน แต่มีสถานะเป็นสะใภ้หลวง ทำให้พระเจ้าอยู่หัวอานันทฯกับในหลวงอยู่ในลำดับการสืบราชสมบัติ

ส่วนรัชกาลที่ 3 นี่กรณีพิเศษ เพราะทรงมีพระราชอำนาจมาก แต่การขึ้นครองราชฯ ของพระองค์ก็มีข้อดี คือทำให้พระจอมเกล้าทรงมีเวลาให้ทรงเรียนรู้วิทยาการต่างๆ ทำให้ทรงเข้าใจโลกและอำนาจตะวันตกดี ทำให้เราปรับตัวทำ แนะนำใหอ่านหนังสือความทรงจำของกรมพระยาดำรงราชานุภาพครับ ทิ้งemail ไว้ก็ได้ เดี๋ยวส่ง PDF ไปให้ครับ


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: DrJfk ที่ 20 ก.ค. 16, 23:20
พระองค์จุลฯ ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่อยู่ในลำดับครับ และไม่ได้มีแต่พระองค์จุลด้วย มีพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัชก็เป็นอีกพระองค์ที่ถูกข้ามเพราะพระมารดาไม่ใช่สะใภ้หลวงด้วย จะต่างกับในหลวงของเรา ที่สมเด็จย่าแม้จะเป็นสามัญชน แต่มีสถานะเป็นสะใภ้หลวง ทำให้พระเจ้าอยู่หัวอานันทฯกับในหลวงอยู่ในลำดับการสืบราชสมบัติ

ส่วนรัชกาลที่ 3 นี่กรณีพิเศษ เพราะทรงมีพระราชอำนาจมาก แต่การขึ้นครองราชฯ ของพระองค์ก็มีข้อดี คือทำให้พระจอมเกล้าทรงมีเวลาให้ทรงเรียนรู้วิทยาการต่างๆ ทำให้ทรงเข้าใจโลกและอำนาจตะวันตกดี ทำให้เราปรับตัวทำ แนะนำใหอ่านหนังสือความทรงจำของกรมพระยาดำรงราชานุภาพครับ ทิ้งemail ไว้ก็ได้ เดี๋ยวส่ง PDF ไปให้ครับ


ของพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช ที่ลำดับอยู่ก่อนพระองค์จุลฯ ดูเหมือนมีลิขิต ร 6 ไว้เลย ใช่มั้ยครับ ว่าให้ข้าม ส่วน ของพระองค์จุลฯ นี่ ไม่ใจ มีลิขิตให้ข้ามหรือไม่



กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: Praweenj ที่ 21 ก.ค. 16, 02:39
พระองค์จุลฯ ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่อยู่ในลำดับครับ และไม่ได้มีแต่พระองค์จุลด้วย มีพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัชก็เป็นอีกพระองค์ที่ถูกข้ามเพราะพระมารดาไม่ใช่สะใภ้หลวงด้วย จะต่างกับในหลวงของเรา ที่สมเด็จย่าแม้จะเป็นสามัญชน แต่มีสถานะเป็นสะใภ้หลวง ทำให้พระเจ้าอยู่หัวอานันทฯกับในหลวงอยู่ในลำดับการสืบราชสมบัติ

ส่วนรัชกาลที่ 3 นี่กรณีพิเศษ เพราะทรงมีพระราชอำนาจมาก แต่การขึ้นครองราชฯ ของพระองค์ก็มีข้อดี คือทำให้พระจอมเกล้าทรงมีเวลาให้ทรงเรียนรู้วิทยาการต่างๆ ทำให้ทรงเข้าใจโลกและอำนาจตะวันตกดี ทำให้เราปรับตัวทำ แนะนำใหอ่านหนังสือความทรงจำของกรมพระยาดำรงราชานุภาพครับ ทิ้งemail ไว้ก็ได้ เดี๋ยวส่ง PDF ไปให้ครับ


ของพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช ที่ลำดับอยู่ก่อนพระองค์จุลฯ ดูเหมือนมีลิขิต ร 6 ไว้เลย ใช่มั้ยครับ ว่าให้ข้าม ส่วน ของพระองค์จุลฯ นี่ ไม่ใจ มีลิขิตให้ข้ามหรือไม่


อันนี้จากกฎมณเฑียรบาล ร.6 ได้บัญญัติขึ้นและประกาศในปี พ.ศ. 2467 ซึ่งประกาศภายหลังจากที่สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสด็จทิวงคต ประกาศพระบรมราชโองการนี้ 4 ปีต่อมาหลังจากที่ พระองค์เสด็จทิวงคตปี 2463 ครับ ตอนนั้นที่ประกาศพระองค์จุลก็อายุ 17 ปีกำลังเรียนอยู่ที่แฮโรว อังกฤษ
มาตรา ๑๑
เจ้านายผู้เป็นเชื้อพระบรมราชวงศ์ ถ้าแม้ว่าเป็นผู้มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งกล่าวไว้ข้างล่างนี้ไซร้ ท่านว่าให้ยกเว้นเสียจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์

ลักษณะที่กล่าวนี้ คือ

(๑) มีพระสัญญาวิปลาส

(๒) ต้องราชทัณฑ์เพราะประพฤติผิดพระราชกำหนดกฎหมายในคดีมหันตโทษ

(๓) ไม่สามารถทรงเป็นอัครพุทธศาสนูปถัมภก

(๔) มีพระชายาเป็นนางต่างด้าว กล่าวคือ นางที่มีสัญชาติเดิมเป็นชาวประเทศอื่น นอกจากชาวไทยโดยแท้

(๕) เป็นผู้ที่ได้ถูกถอนออกแล้วจากตำแหน่งพระรัชทายาท ไม่ว่าการถูกถอนนี้จะได้เป็นไปในรัชกาลใด ๆ

(๖) เป็นผู้ที่ได้ถูกประกาศยกเว้นออกเสียจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์



มาตรา ๑๒
ท่านพระองค์ใดตกอยู่ในเกณฑ์มีลักษณะบกพร่องดังกล่าวมาแล้วในมาตรา ๑๑ แห่งกฎมณเฑียรบาลนี้ไซร้ ท่านว่าพระโอรสอีกทั้งบรรดาเชื้อสายโดยตรงของท่านพระองค์นั้น ก็ให้ยกเสียจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์ด้วยทั้งสิ้น



มาตรา ๑๓
ในกาลสมัยนี้ ยังไม่ถึงเวลาอันควรที่ราชนารีจะได้เสด็จขึ้นทรงราชย์ เป็นสมเด็จพระแม่อยู่หัวบรมราชินีนาถผู้ทรงสำเร็จราชการสิทธิ์ขาดอย่างพระเจ้าแผ่นดินโดยลำพังแห่งกรุงสยาม ฉะนั้น ท่านห้ามมิให้จัดเอาราชนารีพระองค์ใด ๆ เข้าไว้ในลำดับสืบราชสันตติวงศ์เป็นอันขาด

ถ้าตามนี้ สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ก็ย่อมถูกข้ามในฐานะเป็นรัชทายาท รวมไปถึงโอรสคือพระองค์จุล ด้วยครับ
ลำดับต่อมาก็เป็น สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา แต่เสด็จทิวงคต 9 กพ. 2467 ก่อนประกาศ และไม่มีโอรสครับ
ลำดับต่อมาเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย แต่เสด็จทิวงคต 8 กค. 2466 ก่อนประกาศ มีโอรสคือ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช ที่ประสูติจากหม่อมระวีนางละครจากคณะละครวังสวนกุหลาบ ซึ่ง ร.6 ได้มีลิขิตให้ข้ามพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัชไป (ซึ่งตอนประกาศพระบรมราชโองการนี้มีพระยศเป็น ม.จ.วรานนท์ธวัช แต่ต่อมาได้รับการเฉลิมพระยศเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2470)
ดังนั้นลำดับรัชทายาทจึงมาที่ พระปกเกล้า ครับ


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 21 ก.ค. 16, 08:10
เรื่องพระองค์จุลถูกห้ามสืบราชสมบัตินั้น  หม่อมเจ้าพูนพิศมัย  ดิศกุล ทรงเล่าเรื่องการตั้งรัชทายาทในตอนต้นรัชกาลที่ ๖ไว้ใน "พระราชวงศ์จักรี" ว่า

“ในปีแรกเสวยราชย์,  เมื่อเสร็จงานพระราชพิธีเสด็จขึ้นพรราชมณเธียรสถานแล้ว,  หรือจะเรียกว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๑ ก็ได้  จึงทรงพระราชดำริห์ถึงเรื่องตั้งรัชทายาท,  อันเคยมีมาแต่ก่อนว่าพระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแก่ผู้หนึ่งผู้ใด  หรือพระเจ้าแผ่นดินทรงคืนราชสมบัติให้แก่เสนาบดีและข้าราชการที่ได้พร้อมใจกันถวาย  ให้เขาเลือกกันใหม่เป็นประชามติ  ดังจะเห็นได้ในพงษาวดารรัชกาลที่ ๓ และที่ ๔ นี้ถึง ๒ รัชกาลติดๆ กัน,  ซึ่งถ้าถือคติตามสมบูรณาสิทธิราชจริงๆ แล้วก็ไม่มีการจำเป็นอย่างไรเลย  และเนื่องด้วยคนโดยมากพากันบ่นว่ายังไม่ทรงมีรัชทายาทสืบพระองค์อยู่จนพระชันษาถึง ๓๐ ปีแล้วนี้  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชดำริห์ว่าควรจะทำเสียให้เป็นการสืบสายอย่างยุโรปประเทศเสียทีเดียว  เพื่อให้เรียบร้อยไม่มีการผิดใจกันได้ต่อไป  มีตั้งต้นแต่พระราชบุตร์ของพระมเหษัที่ ๑ ไปทางพระโอรส,  ถ้าไม่มีพระโอรสก็สืบต่อไปทางพระอนุชา  ซึ่งถ้าหมดในทางพระราชมารดา  ก็เป็นพระราชบุตร์ของพระมเหสีที่ ๒, ที่ ๓ ต่อไป.  ถ้าหมดพระราชบุตร์ของพระมเหสีแล้วไซร้  ก็เรียงไปตามลำดับพระชันษา.

เมื่อร่างพระราชกฤษฎีกานั้นแล้ว,  ก็โปรดให้เรียกประชุมคณะสภาองคมนตรี  ซึ่งมีมาแต่ในรัชกาลที่ ๕ เป็นสภา (body) ที่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณแก่พระเจ้าแผ่นดินไว้แล้วว่า  ถ้ามีความเห็นใดๆ จะกราบบังคมทูลตามใจอันสุจริตซื่อตรงทุกเวลา.  สภานี้มีสมาชิกไม่ต่ำกว่า ๔๐ คน.  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงประกาศตั้งสมเด็จพระอนุชา เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลก Prince Chakrapongse เป็นรัชทายาทในวันนั้น

ก่อนจะถึงวันประชุม ๒ – ๓ วัน  สมเด็จกรมพระยาเทววงษ์ฯ  และกรมพระนเรศวรฤทธิ์ได้เสด็จมาพบเสด็จพ่อที่กระทรวงมหาดไทย .  กรมพระยาทววงษ์ฯ ตรัสว่า “ในกรม, จะเกิดความเสียแล้ว !  แล้วตรัสเล่าต่อไปว่า “มีองคมนตรีพวกหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องรัชทายาท  เพราะว่าทูลหม่อมเล็กมีเมียเป็นฝรั่งต่างชาติ  เขาจะคัดค้าน,  และกรมสวัสดิ์ ก็จะเป็นผู้ลุกขึ้นพูดในวันประชุม.  ฉันเห็นว่าควรจะกราบทูลให้ทรงทราบเสียก่อน  ดีกว่าปล่อยให้มีเรื่องขึ้นในที่ประชุม”  เสด็จพ่อทูลรับรองว่าเห็นด้วย  จึงปรึกษากันต่อไปว่าใครจะเป็นผู้กราบทูล.  ซึ่งลงท้ายเสด็จพ่อตรัสว่า “ใต้ฝ่าพระบาททรงคอยอยู่นี่เถิด,  เกล้ากระหม่อมจะเสี่ยงภัย run the risk เข้าไปกราบทูลเดี๋ยวนี้แหละ !”  แล้วก็ทรงพระดำเนินเข้าไปที่พระที่นั่งจักรี,  พบพระยาบำเรอฯ   ก็ตรัสบอกว่าให้เข้าไปกราบทูลว่าพระองค์ท่านขอพระราชทานเฝ้าสักประเดี๋ยว.  พระยาบำเรอฯ เข้าไปแล้วก็กลับออกมาเชิญเสด็จเข้าไปทันที.  เสด็จพ่อก็กราบทูลตามที่ได้ทราบมาและกราบทูลว่าที่รีบเข้ามาก็เพราะเห็นว่าวันจวนประชุมอยู่แล้วจะได้ทรงมีเวลาคิดแก้ไขเสียก่อน.  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับข่าวนั้นด้วยเข้าพระราชหฤทัยดีและตรัสตอบว่า “ไม่เป็นไร,  หม่อมฉันจะให้ตาเล็กทำปฏิญาณเสียก่อนว่าจะไม่ยอมยกราชสมบัติให้กับลูกที่ไม่ได้เกิดจากผู้หญิงไทย”  เรื่องก็สงบเป็นอันเรียบร้อยไปได้.”

ส่วนรายพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัชนั้น  มีพระราชพินัยกรรมฉบับที่ทรงขึ้นไว้ก่อนสวรรคตราว ๒ เดือน  โดยทรงระบุไว้ในพระราชพินัยกรรมฉบับนั้นให้ข้ามพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัชไปที่รัชกาลที่ ๗ เลย  เพราะทรงเห็นว่าพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัชมีมารดาที่ไม่เป็นที่ยอมรับของพระราชวงศ์  ทรงเกรงว่าหากให้ทรงรับราชสมบัติแล้วจะไม่ได้รับความเคารพจากพระราชวงศ์


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: DrJfk ที่ 21 ก.ค. 16, 08:16
ขอบคุณ คุณ praweenJ สำหรับ ข้อมูลเพิ่มครับ เคลียร์เลย. เหมือนเคยได้ยินคนถก ประมาณว่ากฎห้ามแต่ มี หม่อมเป็นต่างด้าว ไม่ได้ห้ามแม่ต่างด้าว

แต่เห็น มาตตรา 12 ระบุชัด เลย ว่า ถ้า ถ้าพระบิดาถูกยกเว้นตามมาตรา11 โอรส ย่อมถูกคัด ออกไปด้วย


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ก.ค. 16, 09:15
ส่วนรายพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัชนั้น  มีพระราชพินัยกรรมฉบับที่ทรงขึ้นไว้ก่อนสวรรคตราว ๒ เดือน  โดยทรงระบุไว้ในพระราชพินัยกรรมฉบับนั้นให้ข้ามพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัชไปที่รัชกาลที่ ๗ เลย  เพราะทรงเห็นว่าพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัชมีมารดาที่ไม่เป็นที่ยอมรับของพระราชวงศ์  ทรงเกรงว่าหากให้ทรงรับราชสมบัติแล้วจะไม่ได้รับความเคารพจากพระราชวงศ์

พินัยกรรมของ ร.6 ที่เสนาบดีกระทรวงวังอ่านในที่ประชุมเจ้านายผู้ใหญ่ในคืนวันสวรรคต 26 พฤศจิกายน 2468 (ตอนตี 2) ซึ่งเป็นการประชุมพิเศษเพื่อตกลงเลือกพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ ข้อความใน "พินัยกรรม" นี้ ซึ่งความจริงคือ entry หนึ่งใน "สมุดจดหมายเหตุรายวัน" (Diary) ของพระองค์ มีดังนี้


.................................................


หนังสือสั่งเสนาบดีวัง

เรื่องสืบสันตติวงศ์แลตั้งพระอัฐิ

(ดูรายวันน่า ๑๖๑)

ฃ้าพเจ้ามาล้มเจ็บลงคราวนี้ รู้สึกอำนาจแห่งวัยธรรม, ไม่ควรประมาท, มีกิจการบางอย่างที่ฃ้าพเจ้าเป็นห่วง, จึ่งอยากจะสั่งไว้เสียให้รู้สึกโล่งใจ, จึ่งฃอสั่งเสนาบดีกระทรวงวัง ดังต่อไปนี้ :-


ฃ้อ ๑ ถ้าถึงเวลาที่ฃ้าพเจ้าล่วงลับไป, แม้ฃ้าพเจ้าไม่มีบุตร์ชาย, ฃ้าพเจ้าฃอมอบให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมฃุนสุโขทัยธรรมราชาสืบสันตติวงศ์, ให้ฃ้ามหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัช ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมฃุนเพชรบูรณอินทราไชยนั้นเสียเถิด, เพราะ หม่อมเจ้า วรานนท์ธวัชมีมารดาที่ไม่มีชาติสกุลอย่างใด. เกรงจะไม่เปนที่เคารพแห่งพระบรมวงศานุวงศ์, ฃ้าราชการ, และอาณาประชาชน


ฃ้อ ๒ ถ้าเมื่อฃ้าพเจ้าสิ้นชีวิตไป สุวัทนายังมีครรภ์อยู่, ฃอให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมฃุนสุโขทัยธรรมราชาเปนผู้สำเร็จราชการไปก่อน จนกว่าลูกฃ้าพเจ้าจะประสูติ. ถ้าประสูติเปนหญิง ก็ให้เปนไปตามฃ้อ ๑ ถ้าประสูติเปนชาย ก็ให้เปนไปตามข้อ ๓ ข้างล่างนี้


ฃ้อ ๓ ถ้าเมื่อฃ้าพเจ้าสิ้นชีวิตไป มีลูกชายอยู่ แต่อายุยังไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์, ฃ้าพเจ้าฃองแสดงความปราร์ถนาว่า ให้เลือกสมเด็จเจ้าฟ้ากรมฃุนสุโขทัยธรรมราชา เปนผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามกฎมณเฑียรบาล

............................................

ผมเอาจากบทความเรื่อง "ห้วงแห่งชีวิตและงานบางเสี้ยวของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ" ของ บุญยก ตามไท ใน ศิลปวัฒนธรรม (มิถุนายน 2528)



กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: NT ที่ 21 ก.ค. 16, 09:24
ส่วนรายพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัชนั้น  มีพระราชพินัยกรรมฉบับที่ทรงขึ้นไว้ก่อนสวรรคตราว ๒ เดือน  โดยทรงระบุไว้ในพระราชพินัยกรรมฉบับนั้นให้ข้ามพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัชไปที่รัชกาลที่ ๗ เลย  เพราะทรงเห็นว่าพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัชมีมารดาที่ไม่เป็นที่ยอมรับของพระราชวงศ์  ทรงเกรงว่าหากให้ทรงรับราชสมบัติแล้วจะไม่ได้รับความเคารพจากพระราชวงศ์

พินัยกรรมของ ร.6 ที่เสนาบดีกระทรวงวังอ่านในที่ประชุมเจ้านายผู้ใหญ่ในคืนวันสวรรคต 26 พฤศจิกายน 2468 (ตอนตี 2) ซึ่งเป็นการประชุมพิเศษเพื่อตกลงเลือกพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ ข้อความใน "พินัยกรรม" นี้ ซึ่งความจริงคือ entry หนึ่งใน "สมุดจดหมายเหตุรายวัน" (Diary) ของพระองค์ มีดังนี้


.................................................


หนังสือสั่งเสนาบดีวัง

เรื่องสืบสันตติวงศ์แลตั้งพระอัฐิ

(ดูรายวันน่า ๑๖๑)

ฃ้าพเจ้ามาล้มเจ็บลงคราวนี้ รู้สึกอำนาจแห่งวัยธรรม, ไม่ควรประมาท, มีกิจการบางอย่างที่ฃ้าพเจ้าเป็นห่วง, จึ่งอยากจะสั่งไว้เสียให้รู้สึกโล่งใจ, จึ่งฃอสั่งเสนาบดีกระทรวงวัง ดังต่อไปนี้ :-


ฃ้อ ๑ ถ้าถึงเวลาที่ฃ้าพเจ้าล่วงลับไป, แม้ฃ้าพเจ้าไม่มีบุตร์ชาย, ฃ้าพเจ้าฃอมอบให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมฃุนสุโขทัยธรรมราชาสืบสันตติวงศ์, ให้ฃ้ามหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัช ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมฃุนเพชรบูรณอินทราไชยนั้นเสียเถิด, เพราะ หม่อมเจ้าวรานนท์ธวัชมีมารดาที่ไม่มีชาติสกุลอย่างใด. เกรงจะไม่เปนที่เคารพแห่งพระบรมวงศานุวงศ์, ฃ้าราชการ, และอาณาประชาชน


ฃ้อ ๒ ถ้าเมื่อฃ้าพเจ้าสิ้นชีวิตไป สุวัทนายังมีครรภ์อยู่, ฃอให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมฃุนสุโขทัยธรรมราชาเปนผู้สำเร็จราชการไปก่อน จนกว่าลูกฃ้าพเจ้าจะประสูติ. ถ้าประสูติเปนหญิง ก็ให้เปนไปตามฃ้อ ๑ ถ้าประสูติเปนชาย ก็ให้เปนไปตามข้อ ๓ ข้างล่างนี้


ฃ้อ ๓ ถ้าเมื่อฃ้าพเจ้าสิ้นชีวิตไป มีลูกชายอยู่ แต่อายุยังไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์, ฃ้าพเจ้าฃองแสดงความปราร์ถนาว่า ให้เลือกสมเด็จเจ้าฟ้ากรมฃุนสุโขทัยธรรมราชา เปนผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามกฎมณเฑียรบาล

............................................

ผมเอาจากบทความเรื่อง "ห้วงแห่งชีวิตและงานบางเสี้ยวของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ" ของ บุญยก ตามไท ใน ศิลปวัฒนธรรม (มิถุนายน 2528)



โดยส่วนตัว ผมมีความเห็นว่า "หม่อมเจ้าวรานนท์ธวัชมีมารดาที่ไม่มีชาติสกุลอย่างใด" น่าจะหมายถึงการที่หม่อมระวี ไกยานนท์ มิได้เป็นสะใภ้หลวงที่ได้รับพระราชทานสมรส มากกว่าประเด็นที่ท่านเป็นนางละครครับ ประเด็นนี้เคยมีการถกกันอย่างกว้างขวางมาแล้วหลายปีครับ หากท่านใดมีข้อมูลเพิ่มจะยิ่งดีมากครับ


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ก.ค. 16, 09:30
(http://www.vcharkarn.com/uploads/31/31429.jpg)

นี่ครับ หน้าตา "พินัยกรรม" ฉบับที่ผมกล่าวถึง


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ก.ค. 16, 09:33
(http://www.vcharkarn.com/uploads/31/31430.jpg)

นี่คือหน้าปกของ "สมุดจดหมายเหตุรายวัน" (diary) เล่มที่มี "พินัยกรรม"


กระทู้: การสืบราชสมบัติ
เริ่มกระทู้โดย: hobo ที่ 21 ก.ค. 16, 12:44
เคยผ่านตาจากงานของพระองค์จุล ท่านเล่าว่า ร.6 ยกให้ทูลกระหม่อมเล็กพ่อท่าน แต่ขอให้ข้ามตัวพระองค์จุลไปเสีย ท่านยังกล่าวว่าถ้าพ่อท่านได้เป็นจริง ท่านจะได้เป็นหรือเปล่าก็ไม่ทราบเพราะเดาใจพ่อท่านไม่ออก