เรือนไทย

General Category => หน้าต่างโลก => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 11 ธ.ค. 14, 21:10



กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ธ.ค. 14, 21:10
มาตั้งกระทู้ไว้ก่อน  พร้อมลงรูป เป็นออเดิฟ
เรียกนักเรียนค่ะ


กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 11 ธ.ค. 14, 21:57
มาคร้าบบบบบบบบ


กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 11 ธ.ค. 14, 23:07
เย้! ดีใจจังเลยค่ะ ;D เรือนของพวกเรากลับมาอุ่นหนาฝาคั่งอีกครั้ง อาทิตย์ก่อนช่วงวันหยุดยาว ขึ้นเรือนมาแล้วเด็กหญิงแอนนารู้สึกใจคอห่อเหี่ยว ไม่พบผู้ใหญ่ในเรือนเลยแม้แต่ท่านเดียว บรรยากาศเงียบเหงาวังเวงสุดๆ :'(


กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 ธ.ค. 14, 07:13
เข้า class


กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ธ.ค. 14, 08:46
ลงจากเรือนไทยไปพักผ่อนหลายวันค่ะ   ปีนี้ไม่ได้ไปโคโลราโด   หมดภารกิจทางโน้นแล้ว     เลือกไปญี่ปุ่นเพราะคิดว่าอากาศน่าจะสบายกว่า  ที่ไหนได้เจออุณหภูมิเท่าโคโลราโดเลย หนาวสุดๆ 
ขาดแต่หิมะในเมืองเท่านั้น  แต่บนภูเขาหิมะตกแล้ว

ก่อนเริ่มเรื่อง ยกชาเขียวมาเสิฟนักเรียนก่อน  ให้ได้บรรยากาศ


กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ธ.ค. 14, 08:47
แถมไอศกรีมชาเขียวปลอบขวัญคุณแอนนาอีก ๒ ถ้วย


กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ธ.ค. 14, 09:06
ที่มาของตำนานเรื่องนี้คือวัดชื่อ Dojo  เรียกแบบญี่ปุ่นว่า Dojo-ji,  อยู่ในวาคายามา ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น  เชื่อกันว่าสร้างขึ้นในค.ศ.701 ตามพระราชโองการของจักรพรรดิเทนมู  เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในวาคายามา   แต่ถ้าเดินเข้าไปจะพบว่าตัวสิ่งก่อสร้างนั้นสวยงามอยู่ในสภาพสมบูรณ์อย่างไม่น่าเชื่อ    ก็ไม่น่าเชื่อจริงๆ เพราะมันไม่ใช่ของเก่าดั้งเดิม

ญี่ปุ่นมีทัศนคติในการอนุรักษ์โบราณสถานคนละขั้วกับไทย     ไทยจะรักษาของเดิมเอาไว้มากที่สุดไม่ยอมรื้อ แต่ใช้วิธีบูรณะซ่อมแซมแทน    กรมศิลปากรของไทยมีหน้าที่ยื่นมือเข้ามาห้ามไม่ให้ชาวบ้านเที่ยวรื้ออาคารบ้านเรือนเก่าแก่ตามใจชอบ โดยขึ้นทะเบียนโบราณสถานเอาไว้ แสดงว่าที่นั้นเป็นอาคารอนุรักษ์ รื้อทิ้งไม่ได้   แล้วกรมศิลปากรก็มีหน้าที่บูรณะสภาพเอาไว้ให้คงเดิมที่สุดเท่าที่งบประมาณและฝีมือจะอำนวย

ส่วนญี่ปุ่นเขาตรงกันข้าม   อาคารเก่าเขารื้อหมดเมื่อสภาพชักจะทรุดโทรม   แต่ก่อนรื้อ เขาจะมีบันทึกการก่อสร้างเอาไว้อย่างละเอียด อาคารกี่ชั้น กว้างยาวขนาดไหน ใช้ไม้หน้ากี่นิ้วขนาดเท่าไหร่  หน้าต่างประตูเป็นยังไง กระเบื้องแบบไหนใช้กี่แผ่น   จดละเอียดยิบเอาไว้หมด เพื่อส่งทอดให้ลูกหลานและชาวบ้านรุ่นหลังสร้างขึ้นมาได้ไม่ผิดเพี้ยนของเดิม    แล้วก็สร้างใหม่โดยไม่ดัดแปลงจากเก่า     เป็นการสืบทอดโบราณสถานทั้งหลายให้มีชีวิตชีวาอยู่ในสภาพเดิมเหมือนเมื่อแรกสร้าง

ดังนั้นเมื่อย่างก้าวเข้าไปในวัดโบราณ ทั้งแห่งนี้และแห่งอื่นๆ จึงมองความงามสง่าแบบโบราณ  แต่ไม่เห็นความคร่ำคร่าตรงไหนเลย   ก้มลงมองพื้นก็เห็นเสื่อและพื้นไม้เอี่ยมสะอาดเป็นเงา   แข็งแรงไม่ยุบไม่ยวบ  ไม่มีรอยซ่อมแปะของใหม่แทรกของเดิม  แต่เขาสร้างใหม่เฉพาะอาคาร  ตัวโบราณวัตถุเช่นพระพุทธรูปและเทวรูปในวัด ยังเป็นของเก่าแก่ดั้งเดิมอยู่นะคะ  รักษาไว้ในสภาพสมบูรณ์



กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ธ.ค. 14, 09:27
สถาปัตยกรรมไม้ของญี่ปุ่น


กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ธ.ค. 14, 09:28
เดินเข้าไปในอาคารนี้ ถ้าเป็นไทยน่าจะเรียกว่าวิหาร


กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ธ.ค. 14, 09:29
อ้อ ลานวัดมีใบไม้เปลี่ยนสีด้วยค่ะ


กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ธ.ค. 14, 09:53
เมื่อก้าวขึ้นบันไดไป ก็เจอแท่นบูชา และเทวรูปเจ้าแม่กวนอิมพันมือ


กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ธ.ค. 14, 10:00
มีรูปนางละครคาบูกิติดอยู่ข้างฝาและใต้เพดานเต็มไปหมด    แปลกตาสำหรับคนไทย 
เพราะเราจะไม่เอารูปผู้หญิง หรือการแสดงใดๆมาติดไว้ในโบสถ์วิหาร
แต่รูปเหล่านี้มีความหมาย  เพราะตำนานของวัดนี้กลายไปเป็นละครคาบูกิที่แพร่หลายมาก

อ้อ นางละครคาบูกิทั้งหลายไม่ใช้ผู้หญิงแสดงนะคะ   ทำนองเดียวกับละครนอกแต่ดั้งเดิมของไทย  คือใช้ผู้ชายเล่น
นางเอกคาบูกิบางคนล้างเมคอัพและวิกผมออกมา กลายเป็นคุณลุงคุณตาก็มี


กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ธ.ค. 14, 10:27
บรรยากาศกำลังดีเลยครับ
กรุณาเปิดตัวพรีเซนเตอร์ได้แล้ว
เอาแบบไม่สวมหน้ากากนะครับ
เดี๋ยวจะเหมือนละครคาบูกิ


กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ธ.ค. 14, 10:34
อ้าว ละล้าละลัง  กำลังจะพาชมวัดก่อนเข้าเรื่อง
โดนท่านอาจารย์ไล่ให้เข้าเรื่องแล้ว  นักเรียน จ้ำมากันทางนี้ด่วน เร็วเข้า

ข้างใน เป็นห้องโถงใหญ่เหมือนในพิพิธภัณฑ์ มีทั้งพระพุทธรูปและเทวรูปให้เคารพบูชา (และบริจาค)
นี่เจ้าแม่กวนอิมพันมือ


กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ธ.ค. 14, 10:36
พระพุทธรูป โบราณ  เขาบอกว่ามาจากปากีสถานหรือที่ใดที่หนึ่งแถวๆนั้น


กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ธ.ค. 14, 10:38
พระพุทธรูปทั้งสามองค์


กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ธ.ค. 14, 10:40
ไหว้พระเสร็จรึยังเธอ  ลุกขึ้นไปฟังนิทานได้แล้ว  ตำนานเรื่องนี้หลวงพ่อท่านจะเล่า ท่านรออยู่ในห้องโน้น
ด่วนๆๆ อย่าชักช้า


กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ธ.ค. 14, 10:51
ตำนานเรื่องนี้แพร่หลายจนกระทั่งมีคนเอาไปทำละครคาบูกิ  ละครสมัยใหม่ นิทาน ฯลฯ หลายรูปแบบ  รายละเอียดก็ผิดแผกกันไปตามการตีความและใส่ผงชูรสญี่ปุ่นเข้าไปบ้าง
แต่สรุปเนื้อเรื่องหลักๆก็คือ นานมาแล้วในรัชสมัยของจักรพรรดิ์ดาอิโกะ  มีพระญี่ปุ่นหนุ่มรูปหนึ่งมีชื่อว่า "อันจิน"  ออกเดินธุดงค์ จากเมืองมัตสุไปเมืองคูมาโนะ  ท่านธุดงค์แบบนี้ทุกปี ปีละหน  เมื่อเดินทางท่านก็ไปแวะพักที่โรงเตี๋ยมแห่งหนึ่งเป็นประจำ  เจ้าของโรงเตี๊ยมมีลูกสาวคนหนึ่งชื่อ "คิโยฮิเมะ"  แม่สาวน้อยคนนี้ออกจะนิสัยเฮ้วอยู่สักหน่อย  เมื่อหลวงพี่ไปพัก  ก็ผูกมิตรกับเธอตามประสาผู้ใหญ่เมตตาเด็ก   ถึงกับล้อเลียนว่า ถ้าเธอทำตัวดีๆละก็หลวงพี่จะแต่งงานด้วยแล้วพากลับไปอยู่กันที่เมืองมัตสุ

มาถึงตรงนี้ ก็ขอเบรค 5 นาที  เพื่ออธิบายว่าพระญี่ปุ่นนั้นบางวัดก็เคร่งครัดถือพรหมจรรย์แบบพระไทย  แต่บางวัดก็แต่งงานมีลูกเต้าได้เหมือนฆราวาส
 
หลวงพ่อเจ้าอาวาสที่วัดนี้ มีบุคลิกสำรวมมาก กิริยามารยาทเรียบร้อยน่าเลื่อมใส   เคยมาเมืองไทย พูดไทยทักทายได้นิดหน่อย    ฟังท่านเล่าตำนานให้แขกฟังจนจบก็เกิดสงสัยว่าท่านเหมือนพระสงฆ์เมืองไทยหรือไม่  จึงวานล่ามให้ถาม
ก็ได้คำตอบว่า ท่านแต่งงานแล้ว แต่ไม่มีลูก  


กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ธ.ค. 14, 10:56
ตุ๊ง...หมดเวลา
นักเรียนทั้งหลาย ครูจะต้องไปสัมมนานอกห้องเรียน    บ่ายกลับ 
นั่งกันดีๆชมรูปวาดไปก่อน  อย่าซนนะ  กลับมาแล้วจะเล่านิทานต่อ  ระหว่างนี้จะคุยกันก็เชิญได้ตามสบายนะคะ

ป.ล. ครูเพ็ญ อย่าเพิ่งมาปาดหน้าเล่าตอนจบซะก่อนล่ะ


กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ธ.ค. 14, 21:03
กลับมาต่อภาคค่ำ

อันจินเป็นพระหนุ่มรูปหล่อมาก คงไม่แพ้ณเดชน์   สาวน้อยคิโยจึงหลงรักอย่างง่ายดาย  ของพรรค์นี้ตบมือข้างเดียวไม่ดัง  จะด้วยอะไรก็ตาม   หลวงพี่เองก็เผลอไปมีความสัมพันธ์กับเธอเข้า   จนถึงขั้นสัญญิงสัญญาว่าไปธุดงค์เสร็จแล้วก็จะกลับมาแต่งงานด้วย     คิโยจึงรอคอยอยู่ในโรงเตี๊ยม
อย่างไรก็ตาม  สามวันจากนารีเป็นอื่น  ในกรณีนี้ฝ่ายเป็นอื่นคือหลวงพี่   เมื่อออกเดินทางไปธุดงค์ถึงจุดหมายปลายทาง เขาก็ได้สติขึ้นมาว่า อันที่จริงอาตมาไม่ได้ประสงค์จะมีลูกมีเมียกับเขาจริงๆนี่นา   ด้วยเหตุนี้ตอนขากลับ   หลวงพี่อันจินจึงไม่แวะโรงเตี๊ยม แต่เดินทางตรงกลับไปบ้านเลยทีเดียว

ทางฝ่ายคิโยก็รอแล้วรอเล่าด้วยความหวัง  เวลาผ่านไปนานเขาก็ไม่กลับมา  เธอก็เริ่มรู้ตัวว่าถูกหลอก  เธอจึงออกเดินทางติดตามเขาไป  จนไปทันกันที่แม่น้ำฮิดากะ
วิธีข้ามมีทางเดียวคือนั่งเรือจ้างข้ามไป   อันจินรีบลงเรือไปก่อน ติดสินบนคนแจวเรือว่าถ้ามีหญิงสาวไล่ตามหลังมา ขออย่าให้นายคนแจวเรือรับนางลงเรือข้ามไปเป็นอันขาด   ให้ค้างเติ่งอยู่บนฝั่งนี่แหละ



กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ธ.ค. 14, 21:06
อีกรูปหนึ่ง


กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ธ.ค. 14, 22:26
อ้างถึง
นานมาแล้วในรัชสมัยของจักรพรรดิ์ดาอิโกะ  มีพระญี่ปุ่นหนุ่มรูปหนึ่งมีชื่อว่า "อันจิน"

อ่านถึงตรงนี้ทำให้นึกถึงนานมาแล้วในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มีชายหนุ่มสองนายมีชื่อว่า "อินจัน"


กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: Methawaj ที่ 13 ธ.ค. 14, 00:28
ขออนุญาตนั่งรับฟังนิทานด้วยครับ


กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ธ.ค. 14, 06:29
อ้างถึง
นานมาแล้วในรัชสมัยของจักรพรรดิ์ดาอิโกะ  มีพระญี่ปุ่นหนุ่มรูปหนึ่งมีชื่อว่า "อันจิน"

อันจิน 安珍  安 = ปลอดภัย (安全), (ราคา) ถูก (安い)  珍 = หายาก, แปลก

คิโยะฮิเมะ 清姫  清 = ใส, บริสุทธิ์  姫 = เจ้าหญิง  คิโยะนี้ เป็นคำเดียวกับในชื่อวัดดังที่เกียวโต คิโยะมิซึเดะระ 清水寺 = วัดน้ำใส  

ภาพยนตร์ข้างล่างชื่อภาษาญี่ปุ่นแปลง่าย ๆ ว่า อันจินและคิโยะฮิเมะ  ถ้าตั้งชื่อเป็นภาษาไทยให้ตรงกับเนื้อเรื่องน่าจะเป็น "ไฟรักเพลิงแค้น"  ;D


กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ธ.ค. 14, 10:10
เรียกนางเอกเสียใหม่ว่า คิโยะ ตามคุณเพ็ญชมพู

คนแจวเรือจ้างเป็นคนซื่อสัตย์ตามแบบญี่ปุ่น  เมื่อรับสินบนจากหลวงพี่อันจินไปแล้ว ว่าอย่ายอมให้หญิงสาวที่ตามมานั่งเรือข้ามฟากไป แกก็ทำตามคำพูดอย่างเคร่งครัด
เมื่อคิโยะมาถึงฝั่งน้ำ ชายแจวเรือจึงปฏิเสธไม่ยอมให้เธอนั่งเรือข้ามฟากไป   คิโยะจึงไม่มีทางอื่นนอกจากโดดลงน้ำ ว่ายน้ำตามชายผู้หักหลังเธอไปด้วยตัวเอง

มีสำนวนหรือคำพังเพยฝรั่งที่สามารถใช้กับญี่ปุ่นในเรื่องนี้ได้ ว่า Hell hath no fury like a woman scorned  แปลว่า แม้แต่ไฟนรกก็ไม่ร้ายแรงเท่าไฟโทสะของหญิงที่ถูกคนรักทรยศ    ไฟรักเพลิงแค้นตามที่เซนเซเพ็ญตั้งให้ระเบิดขึ้นในตัวของคิโยะ ทำให้ร่างของเธอกลับกลายเป็นงูใหญ่หรือมังกร ขณะว่ายน้ำอยู่นั่นเอง


กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ธ.ค. 14, 10:40
    เมื่ออันจินเหลียวมาเห็นคิโยะกลายเป็นนางพญางู(หรือมังกร) ไปแล้วเช่นนั้น ก็ขวัญบิน   โกยแน่บไปถึงวัดโดโจจิอันเป็นสถานที่เจ้าอาวาสกำลังเล่าเรื่องให้แขกมาเยือนฟังอยู่นี่แหละค่ะ  ร้องขอให้ช่วย

    บรรดาพระลูกวัดเห็นเช่นนั้นก็เข้ามาช่วย   โดยเอาตัวอันจินเข้าไปซ่อนไว้ในระฆังใบใหญ่ของวัด  เพื่อไม่ให้นางมังกรเจอเข้า
นางมังกรก็เลื้อยไปทั่ววัดเพื่อจะดมกลิ่นของอันจิน   จนในที่สุดได้กลิ่นมาจากระฆังใบใหญ่ นางจึงเลื้อยมารัดรอบระฆังไว้ แล้วพ่นไฟจนระฆังมอดไหม้ไปพร้อมกับชายที่อยู่ข้างใน ก็กลายเป็นเถ้าถ่านไปด้วย

    เมื่ออันจินสิ้นชีวิต   นางมังกรก็เลื้อยกลับลงน้ำ  จบชีวิตตามไปอีกคนการจมดิ่งลงไปในห้วงน้ำ

    ทั้งอันจินและคิโยะไปเกิดเป็นงูด้วยกันทั้งสองคน   ต่างก็มาหาเจ้าอาวาสวัดโดโจจิเพื่อขอให้สวดมนตร์อุทิศส่วนกุศลให้  เจ้าอาวาสก็ตกลงทำตามนั้น  ด้วยอานิสงส์ของบุญกุศลที่ได้รับ  ต่างก็ไปเกิดใหม่เป็นเทพอยู่บนสวรรค์


กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ธ.ค. 14, 11:20
ตำนานมีหลายเวอร์ชั่น ขยายความออกไปอีกก็มี แต่จะเล่าเท่าที่หลวงพ่อเจ้าอาวาสท่านเล่าให้ฟังแค่นี้ละค่ะ   
ระฆังที่ว่านั้น มีจำลองอยู่มุมห้องที่หลวงพ่อเล่าให้ฟัง  และมีจำลองอยู่ตามละครคาบูกิ ละครร่วมสมัย หนังฯลฯ อีกหลายแบบ



กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ธ.ค. 14, 11:20
ตำนานมีหลายเวอร์ชั่น ขยายความออกไปอีกก็มี แต่จะเล่าเท่าที่หลวงพ่อเจ้าอาวาสท่านเล่าให้ฟังแค่นี้ละค่ะ   
ระฆังที่ว่านั้น มีจำลองอยู่มุมห้องที่หลวงพ่อเล่าให้ฟัง  และมีจำลองอยู่ตามละครคาบูกิ ละครร่วมสมัย หนังฯลฯ อีกหลายแบบ



กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ธ.ค. 14, 11:47
เนื่องจากเรื่องนี้ดราม่าในรสชาติมาก มีทั้งรัก โศก ผิดหวัง เคียดแค้น อาฆาต  จึงเป็นที่นิยมนำไปทำละครกันไม่รู้ว่ากี่ครั้งต่อกี่ครั้ง โดยเฉพาะละครคาบูกิที่ถือว่าเป็นศิลปะการแสดงชั้นคลาสสิคของญี่ปุ่น   
ห้องโถงในวัดมีตู้บรรจุชุดคาบูกิโชว์ไว้ด้วยค่ะ


กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ธ.ค. 14, 11:55
ในห้องโถงที่หลวงพ่อเล่าตำนาน มีภาพเขียนประดับอยู่ด้วย   เดินเข้าไปดูตอนแรกก็อ้าปากค้างหน่อยๆ   เป็นภาพของสาวคิโยะตอนกำลังกลายร่างเป็นงู(ภาพนี้น่าจะงูมากกว่ามังกร)  ศิลปินผู้วาดแสดงภาพเธอท็อปเลสทั้งสองภาพ   ดูแล้วเป็นภาพวาดร่วมสมัยกับเรานี่แหละไม่ใช่ภาพโบราณ
ตามประสาคนไทย   เคยเข้าแต่วัดไทยเป็นส่วนใหญ่ ก็ติดความตะขิดตะขวงใจมาว่าภาพนางเปลือย ไม่มีทางแขวนโชว์ไว้ในโบสถ์วิหาร ให้คนเข้ามาเห็นกันแจ่มแจ้ง    แม้มีภาพนางฟ้าเหาะโปรยดอกไม้บนภาพผนังโบสถ์บ้างก็เป็นภาพเล็กๆ  อยู่ไกลๆ ห่มสไบทับด้วย
แต่เมื่อตระหนักว่านี่คือวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน    ก็ไม่ว่ากัน ต้องเคารพเจ้าภาพ เจ้าของสถานที่   ได้แต่เก็บภาพมาให้ดูกันเท่านั้นละค่ะ


กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ธ.ค. 14, 13:10

    บรรดาพระลูกวัดเห็นเช่นนั้นก็เข้ามาช่วย   โดยเอาตัวอันจินเข้าไปซ่อนไว้ในระฆังใบใหญ่ของวัด  เพื่อไม่ให้นางมังกรเจอเข้า
นางมังกรก็เลื้อยไปทั่ววัดเพื่อจะดมกลิ่นของอันจิน   จนในที่สุดได้กลิ่นมาจากระฆังใบใหญ่ นางจึงเลื้อยมารัดรอบระฆังไว้ แล้วพ่นไฟจนระฆังมอดไหม้ไปพร้อมกับชายที่อยู่ข้างใน ก็กลายเป็นเถ้าถ่านไปด้วย

อีกเวอร์ชันหนึ่งเล่าว่า

เมื่อนางพญางู (ตามรูปน่าจะเป็นงูใหญ่) ตามมาถึง ถามหาอันจิน แต่หาไม่พบ ด้วยความโกรธแค้น เห็นระฆังตั้งอยู่ จึงพ่นไฟแผดเผาระฆังจนมอดไหม้ โดยรู้ไม่ว่าชายคนรักที่เธอเฝ้าตามหาได้หลบอยู่ในนั้น  เป็นโศกนาฏกรรมที่หญิงสาวเป็นฆาตกรฆ่าคนรักของตัวเองที่เป็นนักบวช

เวอร์ชันนี้น่าจะสะเทือนใจกว่าเวอร์ชันแรก  ;D


กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ธ.ค. 14, 13:26
เวอร์ชั่นของเซนเซเพ็ญช่วยบรรเทาความผิดของคิโยะลงไปมาก     แต่เวอร์ชั่นที่หลวงพ่อเจ้าอาวาสเล่าให้ฟังคือเวอร์ชั่นที่ดิฉันเล่าค่ะ
หลวงพ่อยังให้โอวาทแถมท้ายเรื่องว่า เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอย่าปล่อยให้อารมณ์โกรธเข้าครอบงำ อย่างที่คิโยะเป็น  เพราะมันมีพิษสงพอจะทำลายทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งตัวเราด้วย   ขอให้ระงับอารมณ์โกรธให้ได้ 
สาธุ เห็นด้วยกับหลวงพ่อเรื่องอารมณ์โกรธ   แต่ไม่เห็นด้วยว่าเรื่องนี้ควรโทษอารมณ์ของคิโยะฝ่ายเดียว     ก็ถ้าไม่มีหลวงพี่อันจินไปก่อเหตุ  คิโยะก็คงดำเนินชีวิตไปได้อย่างสงบจนแก่ตายไปตามสภาพ     
ใครล่ะไปหลอกเธอ ทั้งๆตัวเองก็เป็นพระ น่าจะรู้บาปบุญคุณโทษ     เมื่อเปลี่ยนใจไม่สมัครใจจะครองเรือน แทนที่จะกล้าหาญมาสารภาพกับคิโยะตรงๆว่าคิดผิดไปแล้ว  ก็ใช้วิธีหนีหัวซุกหัวซุน     หลอกหนนึงยังไม่พอ  ยังหยามน้ำหน้าเธอเป็นคำรบสอง  ความผิดหวังกับความอับอายขายหน้าคิโยะก็ต้องรับอยู่ฝ่ายเดียว   ใครมันจะนั่งใจเย็นอยู่ได้

เรื่องนี้สอนอีกข้อว่า ผู้ชายทำอะไรก็ไม่ผิด   ขนาดนี้ตายแล้วยังไปเกิดเป็นเทวดาอีกแน่ะ


กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ธ.ค. 14, 13:50
การพ่นไฟให้ระฆังไหม้ คงต้องมีอานุภาพไฟร้อนเป็นพันองศา เพื่อให้โลหะหลอมละลาย  ;)


กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ธ.ค. 14, 09:59
ถ้าเป็นพันองศา  อันจินคงไม่เหลือแม้แต่ขี้เถ้า


กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 14 ธ.ค. 14, 12:30
              นึกถึง นางพญางูขาวของจีนซึ่งไม่โหดแต่เศร้า

            งูขาวตามสามีมนุษย์มาที่วัดแต่ถูกหลวงจีนกีดกัน จึงต้องออกฤทธิ์แรงฟาดฟัน
โดยงูขาวใช้เวทย์เรียกน้ำ(ไม่ใช้ไฟ) แต่สุดท้ายนางก็พ่ายแพ้หลวงจีนและถูกกักขังไว้ใน
เจดีย์ งานนี้พระเอกรอด ส่วนงูขาวในที่สุดกว่าจะหลุดพ้นการกักกันได้ชายคนรักก็ล้มหาย
ตายจากแล้ว


กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ธ.ค. 14, 16:54
สองเรื่องนี้มีส่วนคล้ายกัน จนสงสัยว่าจะมี่ที่มาที่เดียวกันหรือเปล่า     
เรื่องของอันจินและคิโยะ ยังนำมาทำละครร่วมสมัยด้วยค่ะ

http://www.examiner.com/review/dojoji-the-man-inside-the-bell-a-japanese-legend-1 (http://www.examiner.com/review/dojoji-the-man-inside-the-bell-a-japanese-legend-1)


กระทู้: ตำนานญี่ปุ่น:ชายในระฆัง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ธ.ค. 14, 17:07
ก่อนจบกระทู้   มีภาพมาฝากเซนเซเพ็ญชมพู
ไปเที่ยวปราสาทโอซาก้า เจอคุณลุงนักรบโบราณ แต่งเสื้อเกราะแดง กำลังทำงานอยู่อย่างขะมักเขม้น   เลยไปขอถ่ายรูปมาเป็นที่ระลึก
คุณตามีหน้าที่รักษาความสะอาดของบริเวณโดยรอบพระราชวัง ก้มหน้าก้มตาทำงานแข็งขัน  เมื่อมีคนมาขอถ่ายรูป คุณตาก็มีท่าทีว่าเคยชินซะแล้วที่เป็นดาราหน้ากล้อง

ผลจากความก้าวหน้าทางสาธารณสุข โภชนาการดี หยูกยาการรักษาโรคก็ดี ทำให้ประเทศญี่ปุ่นมีผู้อายุยืนยาวเพิ่มจำนวนขึ้นมาก   ส่วนเด็กเกิดใหม่ก็น้อยลงเพราะหนุ่มสาวญี่ปุ่นไม่ค่อยนิยมมีลูกเป็นภาระกันเท่าไหร่   มีก็คนเดียวกันเสียมาก    ไปคราวหน้าเดินในเมืองเจอแต่หนุ่มสาวเต็มถนน   เห็นเด็กที่พ่อแม่เอาใส่รถเข็นมาคนเดียวเท่านั้น

ประเทศกำลังจะก้าวไปสู่สังคมคนสูงอายุ   รัฐบาลจึงต้องช่วยเหลือผู้สูงอายุให้ดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุข  ดีกว่าอยู่กันไปอย่างซังกะตาย    วิธีการของเขาคือหางานให้ทำ เพื่อจะได้อยู่อย่างกระฉับกระเฉง มีความหมายมากกว่าหายใจไปวันๆ
ที่สนามบิน   จึงเจอคุณตาแก่ๆ มาทำหน้าที่จัดคิวผู้โดยสารซึ่งกำลังจะผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง     คิวนี้ยาว เอ้า เชิญไปทางโน้น  คิวนั้นยังสั้น   ยกที่กั้น จัดทางใหม่   ดูคุณตาทำงานอย่างกระฉับกระเฉง ไม่มีท่าทีเบื่อหน่าย
นี่คือปัญหาที่สังคมไทยจะต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้ หรือเจออยู่แล้วก็เป็นได้