เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: benzene ที่ 10 ส.ค. 12, 10:12



กระทู้: ว่าด้วยเรื่องเครื่องโขน-ละครโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: benzene ที่ 10 ส.ค. 12, 10:12
เครื่องโขน-ละครของไทยนั้น มีวิวัฒนาการมายาวนาน และมีความเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีชาติใดในภูมิภาคนี้เสมอเหมือน
เครื่องประดับ และหัวโขน ล้วนสร้างขึ้นตามบทบาทของตัวละครในวรรณคดีเรื่องต่างๆ
เช่น หากตัวละครเป็นพระมหากษัตริย์ ก็สร้างเครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับเลียนแบบเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์ เช่น ชฎา ทับทรวง ปั้นเหน่ง ชายไหว ชายแครง เป็นต้น
ในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเครื่องโขน ละครนั้น เคยมีบันทึกในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีพระราชบัญญัติที่อ้างถึงเครื่องโขน ละคร โดยขออนุญาตยกข้อความจาก http://3king.lib.kmutt.ac.th/King4_200/chap15/page2.html ดังนี้...................

พระราชกรณียกิจอันสำคัญที่ควรกล่าวถึงในเรื่องการอนุรักษ์และการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมไทย คือการพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หัดละครผู้หญิงกันได้โดยทั่วไป และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำบทพระราชนิพนธ์ไปเล่นได้

เมื่อเริ่มรัชกาล ยังไม่มีละครหลวง เพราะละครหลวงเลิกไปเสียแต่ครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นถึงรัชสมัยของพระองค์มิได้ทรงรังเกียจ ดังนั้นสมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดี จึงทรงหัดละครเด็กผู้หญิงในพระบรมมหาราชวังขึ้นชุดหนึ่ง แต่ไม่ทันได้ออกแสดง เนื่องจากสมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดีได้สิ้นพระชนม์ก่อน ต่อมาเมื่อทรงรับช้างเผือก (คือพระวิมลรัตน กิริณี) สู่พระบารมี ใน พ.ศ. 2396 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมละครของสมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดี ฝึกหัดเป็นละครหลวงได้ออกโรงเล่นสมโภชช้างเผือกเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2397

ในรัชกาลนี้ โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่าด้วย ละครผู้หญิง พ.ศ. 2398 โปรดอนุญาตให้เจ้านาย ขุนนาง และผู้มีบรรดาศักดิ์หัดละครผู้หญิงขึ้นได้ แต่ได้ขอจำกัดสิทธิ์บางประการไว้สำหรับละครหลวง เช่นรัดเกล้ายอด เครื่องแต่งตัวลงยา พานทอง หีบทอง ซึ่งใช้เป็นเครื่องยศ เครื่องประโคมแตรสังข์ และห้ามมิให้บังคับผู้ที่ไม่สมัครใจเล่นละครให้ได้รับความเดือดร้อน จึงโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศในประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 ภาค 2 58 (หอพระสมุดวชิรญาณ 2465 : 55-56) ความว่า

“...แต่ก่อนในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แลแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย มีลครผู้หญิงแต่ในหลวงแห่งเดียว ด้วยมีพระราชบัญญัติห้ามมิให้พระราชวงศานุวงศ์แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝึกหัดลครผู้หญิง เพราะฉนั้นข้างนอกจึงไม่มีใครเล่นลครผู้หญิงได้ ครั้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดลคร แต่ทว่าทรงแช่งชักติเตียนจะไม่ให้ผู้อื่นเล่น ถึงกระนั้นก็มีผู้ลักเล่นเงียบ ๆ อยู่ด้วยกันหลายราย มาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ พระราชวงศานุวงศ์ แลข้าราชการผู้ใหญ่ ผู้น้อย ผู้ใดเล่นลครผู้ชายผู้หญิงก็มิได้ทรงรังเกียจเลย ทรงเห็นว่ามีลครด้วยกันหลายรายดี บ้านเมืองจะได้ครึกครื้น จะได้เปนเกียรติยศแผ่นดิน เดี๋ยวนี้ท่านทั้งปวงเห็นว่าลครในหลวงมีขึ้นก็หามีใครเล่นลครเหมือนอย่างแต่ก่อนไม่ คอยจะกลัวผิดแลชอบอยู่ การอันนี้มิได้ทรงรังเกียจเลย ท่านทั้งปวงเคยเล่นอยู่แต่ก่อนอย่างไรก็ให้เล่นไปเถิด ในหลวงมีการงานอะไรบ้าง ก็จะได้โปรดหาเข้ามาเล่นถวายทอด พระเนตรบ้าง จะได้พระราชทานเงินโรงรางวัลให้บ้าง ผู้ใดจะเล่นก็เล่นเถิด ขอยกเสียแต่รัดเกล้ายอดอย่างหนึ่ง เครื่องแต่งตัวลงยาอย่างหนึ่ง พานทองหีบทองเปนเครื่องยศอย่างหนึ่ง เมื่อบททำขวัญยกแต่แตรสังข์อย่างหนึ่ง แล้วอย่าให้ฉุดบุตรชายหญิงที่เขาไม่สมัคเอามาเปนลคร ให้เขาได้ความเดือดร้อนอย่างหนึ่ง ขอห้ามไว้แต่การเหล่านี้ ให้ท่านทั้งปวงเล่นไปเหมือนอย่างแต่ก่อนเถิด”


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องเครื่องโขน-ละครโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: benzene ที่ 10 ส.ค. 12, 10:21
ตัวอย่างภาพถ่ายโบราณเกี่ยวกับเครื่องละคร (โรงนอก) ในสมัยรัชกาลที่ ๕


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องเครื่องโขน-ละครโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: benzene ที่ 10 ส.ค. 12, 10:35
เครื่องแต่งกายแบบต้นกรุง จากการสังเกต และถามจากผู้รู้ ท่านอธิบายว่า ส่วนใหญ่แล้ว มักจะใช้ลายผ้าแทนการปักดิ้นเงิน ดิ้นทอง หรือปักเลื่อม
ถ้ามีการปักเลื่อม หรือดิ้นเงิน ดิ้นทอง ก็จะมีลวดลายเล็กๆ และปักลงไปบนพื้นผ้าไม่มาก ดูพองาม
มุ่งให้เห็นถึงความงามในลวดลายของผ้าที่นำมาตัดชุดมากกว่าการมุ่งเน้นให้เห็นความวิจิตรด้านลวดลายปักอย่างสมัย รัชกาลที่ ๖ (เครื่องแต่งกายของกรมมหรสพ หรือเครื่องแต่งกายของละครในวังเจ้านายพระองค์ต่างๆ)
ภาพต่อไปนี้เป็นตัวอย่างเครื่องแต่งกายของสำนักละครเจ้าคุณจอมมารดาเอม ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ ละครวังหน้า ซึ่งสืบทอดวิธีการแสดง
และท่ารำมาจากละครหลวงราชสำนักรัชกาลที่ ๒ (ปรากฏชื่อครูละครของสำนักเจ้าจอมมารดาเอม ที่เป็นหม่อมละครในรัชกาลที่ ๒ คือ คุณน้อยงอก ไกรทอง และคุณอิ่ม ย่าหรัน นอกจากนี้ยังมีครูละครจากสำนักละครสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) คือ หม่อมแสง จินตหรา)


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องเครื่องโขน-ละครโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: benzene ที่ 10 ส.ค. 12, 10:36
ภาพบน : ตัวอย่างเครื่องแต่งกายละครแบบต้นกรุงที่ยังคงหลงเหลือให้เห็น ปัจจุบันเป็นสมบัติของเอกชน


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องเครื่องโขน-ละครโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: benzene ที่ 10 ส.ค. 12, 10:38
ละครสำนักเจ้าคุณจอมมารดาเอม หรือ ละครวังหน้า


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องเครื่องโขน-ละครโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: benzene ที่ 10 ส.ค. 12, 10:45
ตัวอย่างเครื่องละครโบราณแบบต้นกรุง ที่คุณพีรมณฑ์ ชมธวัช ทำการศึกษา และเก็บรวบรวมหลักฐานเพื่อเป็นวิทยาทาน


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องเครื่องโขน-ละครโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: benzene ที่ 10 ส.ค. 12, 10:50
 ตัวอย่างชายผ้าห่มนางละครสมัยรัชกาลที่ 5 งานปักดิ้น และเลื่อม เป็นลายพฤกษาบนผ้ากำมะหยี่ ละเอียด ประณีต และสวยงามมาก


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องเครื่องโขน-ละครโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: benzene ที่ 10 ส.ค. 12, 10:54
ตัวอย่างภาพ กรองคอ ของนางละคร (โรงนอก) อายุประมาณ 50-60 ปี ปัจจุบัน ตกไปอยู่ในคอลเลคชั่นของต่างชาติ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องเครื่องโขน-ละครโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: benzene ที่ 10 ส.ค. 12, 10:55
กรองคอ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องเครื่องโขน-ละครโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: benzene ที่ 10 ส.ค. 12, 10:58
ตัวอย่างภาพ "อินทรธนู" ส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกายของโขน และละครโบราณ ที่ยังคงหลงเหลือให้เห็น คาดว่าชิ้นขวาสุดจะเป็นชิ้นที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด เนื่องจากลายปักที่ละเอียด เล็ก และมุ่งให้เห็นความงดงามของเนื้อผ้า


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องเครื่องโขน-ละครโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 ส.ค. 12, 11:11
รบกวนคุณ benzene ให้ความรู้เรื่องการแต่งกาย "ยืนเครื่องกลาย" เป็นความรู้สักนิดเทอญ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องเครื่องโขน-ละครโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: benzene ที่ 10 ส.ค. 12, 11:58
เท่าที่ถามครูบาอาจารย์มานะครับ "ยืนเครื่องกลาย"
อธิบายตามศัพท์เลยครับ คือการแต่งกายยืนเครื่องที่ประยุกต์ และทำให้แปลกตาไปจากการแต่งกายยืนเครื่องพระนางที่มีองค์ประกอบครบถ้วน
แต่ยังคงนุ่งผ้า หรือสวมเครื่องประดับแบบจารีตเดิม การนุ่งผ้าและสมเครื่องประดับแบบจารีตเดิมในที่นี้ ผมจะอธิบายด้วยภาพประกอบไปด้วยครับ
ในภาพนี้ เป็นการแสดงละครคนแก่ ในงานขึ้นพระที่นั่งสวนดุสิต
แสดงละครเรื่อง คาวี
นางแบบในภาพนี้คือ หม่อมผาด บุนนาค แสดงเป็น คาวี
หม่อมผาดแต่งกายตามจารีตเดิม คือ สวมชฎา สวมเสื้อ สวมสนับเพลง และนุ่งผ้าเยียรบับ

ดูตามภาพนะครับ เริ่มจากหัวลงมาเลย

๑ สวมชฏา ไม่มีอะไรผิดแผกไปจากยืนเครื่องพระ

๒ กรองคอ อันนี้แปลกหน่อย ตรงที่เป็นเครื่องประดับ ที่ทำจากโลหะ (ผมเดาว่าเป็นโลหะ) ที่เป็นแผงๆ คล้ายกรองคอ ซึ่งกรองคอแบบจารีตยืนเครื่องพระ
จะเป็นกรองคอที่ปักเลื่อม และดิ้นเงินทอง ลงบนผ้าตาด เป็นลวดลายต่างๆ หรือง่ายๆ ก็คือ กรองคอผ้า อันนี้ "กลาย"

๓ ไม่เห็นว่าหม่อมผาดประดับอินทรธนูไว้บนบ่า ซึ่งดูตามภาพด้านบนที่ผมลงเอาไว้ จะเห็นว่าละครตัวพระ จะประดับอินทรธนูบนบ่าด้วย แต่รูปนี้หม่อมผาดไม่มีอินทรธนู อันนี้ "กลาย"

๔ มองที่ต้นแขน เราจะเห็นว่าหม่อมผาด ใส่ "พาหุรัด" ซึ่งปกติแล้ว ละครยืนเครื่องไม่ค่อยนิยมใส่พาหุรัดกันนัก ผมเกิดมาก็ไม่เคยเห็นละครที่ใส่พาหุรัดสักที
ทั้งที่รู้ว่ามันใส่ได้ แต่ก็ไม่เห็นว่าเขาจะเอามาใส่กัน ก็เลยเห็นแต่ในภาพนี้ แล้วก็ภาพละครของกรมพระนราธิป ฯ ที่ทั้งพระ และนางใส่พาหุรัดด้วย อันนี้ "กลาย"

๕ สังวาลย์ หม่อมผาดสวมสังวาลย์ที่เป็นรูปดอกไม้ สังเกตได้ในภาพครับ สังวาลย์ของหม่อมผาด ผมว่าน่าจะเป็นเป็นวัสดุจำพวกโลหะรูปดอกไม้ที่นำมาร้อยกันเป็นสายสังวาลย์ ต่างจากจารีตเดิมที่เป็นผ้าตาดเย็บเป็นสายสังวาลย์ และเอาเครื่องประดับโลหะปักลงไปบนสายสังวาลย์ผ้านั้นอีกที อันนี้ "กลาย"

๖ การนุ่งผ้า ผ้าเยียรบับของหม่อมผาด นุ่งแปลกแหวกแนวจากจารีตเดิมอย่างมาก เพราะเธอนุ่งแบบทิ้งชายไปด้านหลัง ซึ่งแต่เดิม ยืนเครื่องพระ จะนุ่งผ้าแบบหางหงส์แบบเจ้านายในพิธีโสกันต์ แต่หม่อมผาดทิ้งชายผ้า แล้วคลี่ออก เรียกว่า "นุ่งหางปรก"  อันนี้ "กลายสุดๆ"

๗ รัดสะเอวที่เห็นอยู่ในรูปด้านหน้าของหม่อมผาด เป็นชายผ้าที่คลี่ลงมาจากผ้าคาดเอว ห้อยหน้า ห้อยข้าง ก็เช่นกัน เป็นชายของผ้าคาดเอวอีกชั้นหนึ่งที่ห้อยลงมา ผิดไปจากการคาดชายไหวชายแครงที่เป็นผ้าปักดิ้น เลียนแบบชายไหวชายแครงของเจ้านายในพิธีโสกันต์ อันนี้ก็ "กลายสุดๆ"

๘ หม่อมผาดมีเครื่องประดับที่เพิ่มมาอีกชิ้นหนึ่ง คือ อุบะดอกไม้สดที่ห้อยเอาไว้ด้านข้างสะโพกทั้งสองข้าง อันนี้ "กลาย"

เท่าที่ผมเข้าใจ และถามครูบาอาจารย์มานะครับ ครูท่านก็อธิบายคำว่า "ยืนเครื่องกลาย" มาแบบนี้ ถ้าผิดไปจากความเข้าใจ ของคุณ Siamese ที่อาจเห็นแบบอื่นที่เรียกว่ายืนเครื่องกลาย ผมก็ต้องขออภัยด้วยนะคร้าบบบบบบบ  ;D ;D ;D 


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องเครื่องโขน-ละครโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: benzene ที่ 10 ส.ค. 12, 12:07
อันนี้ละครกรมพระนราธิป ฯ อาจจะไม่ใช่ยืนเครื่องกลาย แต่มีเครื่องประดับหลายอย่างที่เพิ่มเข้าไป เช่น พาหุรัด ที่รัดอยู่ตรงต้นแขนของทั้งนาง และพระ
และผ้าปักที่ห้อยอยู่ตรงจีบหน้านาง ก็ทำเป็นชายพลิ้วๆ คล้ายกับในภาพจิตรกรรม ถือว่าเป็นเครื่องแต่งกายของละครที่งดงามแปลกตาอีกโรงหนึ่ง


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องเครื่องโขน-ละครโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 ส.ค. 12, 13:43
อันนี้ละครกรมพระนราธิป ฯ อาจจะไม่ใช่ยืนเครื่องกลาย แต่มีเครื่องประดับหลายอย่างที่เพิ่มเข้าไป เช่น พาหุรัด ที่รัดอยู่ตรงต้นแขนของทั้งนาง และพระ
และผ้าปักที่ห้อยอยู่ตรงจีบหน้านาง ก็ทำเป็นชายพลิ้วๆ คล้ายกับในภาพจิตรกรรม ถือว่าเป็นเครื่องแต่งกายของละครที่งดงามแปลกตาอีกโรงหนึ่ง

งดงามมากครับ ตัวนางแสดงโดยหม่อมแก้ว วรวรรณ ส่วนตัวพระแสดงโดยหม่อมช้อย วรวรรณ

เครื่องทรงจะเห็นความงดงามและอลังการ เนื่องจากละครของกรมพระนราธิปฯ ท่านต้องฟู่ฟ่าอลังการไว้ก่อนเพื่อให้สมกับเป็นคณะละครปรีดาลัย สิ่งที่เก๋อย่างหนึ่งคือ การใส่ปลอกคอ (Collar) ประดับเพชรเป็นการประยุกต์โชคเกอร์ให้เข้ากับความงามด้านเครื่องแต่งกายละครไทย

สังวาลย์ที่สวม เรียกว่า สังวาลย์คแฝด ซึ่งวางเป็นคู่กันเมื่อสวนใส่

การวางตัวของอุบะ ก็วางไม่เหมือนสมัยนี้

ผ้านุ่งนางก็จัดให้เพิ่ม "ผ้าปักแทรก" ลงไปเพื่อความสวยงาม ซึ่งผ้าปักแทรกนี้เป็นอย่างธรรมเนียมกรุงศรีอยุธยาซึ่งมีภาพจิตกรรมเขียนไว้ในตัวนางนุ่งผ้าจีบหน้านางและมีปักแทรก

ทั้งหมดงามมากครับ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องเครื่องโขน-ละครโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 ส.ค. 12, 13:44
มาดูภาพเก่าภาพนี้ ไม่ทราบว่าคุณ benzene มีเก็บไว้ในคลังภาพหรือยัง เป็นภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ ๔

ตัวพระนุ่งผ้ากราบค่อนข้างเล็กมาก ตัวนางนุ่งผ้าริ้วสายบัว ทั้งคู่สวมปลอกเล็บยาว


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องเครื่องโขน-ละครโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: benzene ที่ 11 ส.ค. 12, 02:12
อันนี้น่าจะเป็นละครหัวเมืองนะครับ เพราะผมคุ้นๆ เรื่องปั้นเหน่ง
มันเหมือนที่โนราเขาใส่กัน


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องเครื่องโขน-ละครโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: benzene ที่ 11 ส.ค. 12, 02:37
เอารูปโขนหลวงสวยๆ ในรัชกาลปัจจุบันมาแปะ (เครดิตภาพจากคุณ Supot Yuadyingyong ช่างภาพมือเทพ)
พระ พี่ออม อ.บวรนรรฏ แห่งสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
นาง ครูจูน ขวัญใจ คงถาวร จากสถาบันเดียวกัน
ลิง ซ้าย พี่เอ็กซ์ ขวา พี่ป๊อบ แห่งกรมศิลปากร 
ยักษ์ ซันนี่ น้องชายแท้ๆ ของผมเอง อิอิ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องเครื่องโขน-ละครโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ส.ค. 12, 08:07
ติดใจในเสื้อผ้าของโขนสมเด็จพระนางเจ้าตั้งแต่ศรพรหมมาศ จนกระทั่งโขนตอนนางลอย เครื่องทรงแต่ละชิ้นตัดเย็บลวดลายอย่างของโบราณ ผัดหน้าขาววอก เขียนคิ้วตาอย่างเทพ เทวาสวยงามดั่งคันศร

ติดตามซื้อ CD ทุกครั้งการแสดงเลยครับ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องเครื่องโขน-ละครโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: benzene ที่ 12 ส.ค. 12, 23:46
เครื่องละครของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง
นี่ก็แปลกตาตามคอนเซ็ปต์ที่เขียนไว้ในโรงละคร
"สะแดงความดูเปนที่ประหลาดตา"


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องเครื่องโขน-ละครโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: benzene ที่ 13 ส.ค. 12, 00:01
สภาพในปัจจุบันของเครื่องละครเจ้าพระยามหิทรศักดิ์ธำรง
ส่วนใหญ่ทำจากโลหะ บ้างก็เป็นทองแดง บ้างก็เป็นโลหะผสม
เครื่องสำรับนี้ เจ้าจอมมารดามรกฏ (เพ็ญกุล) ถวายให้กับหลวง จนตกมาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถาแห่งชาติ พระนคร


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องเครื่องโขน-ละครโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ส.ค. 12, 08:55
คณะละครเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (http://www.t-h-a-i-l-a-n-d.org/talkingmachine/boosra_mahin/Berlin.html) เดินทางไปแสดงที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องเครื่องโขน-ละครโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ส.ค. 12, 11:13
เครื่องละครของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง
นี่ก็แปลกตาตามคอนเซ็ปต์ที่เขียนไว้ในโรงละคร
"สะแดงความดูเปนที่ประหลาดตา"


ป้าย concept ที่เขียนไว้เป็นคล้ายบท ๆ หนึ่งที่เขียนไว้ในขณะเล่นละครครับ โดยภาพเก่าหลาย ๆ ภาพของโรงละครนี้จะพบว่ามีการบอกป้าย concept ไว้ต่าง ๆ กัน

จากภาพที่นำมาแสดงไว้นั้นจะเห็น่ว่าเป็นโรงละครยุคหลังเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง เราจะเห็นว่าการพัฒนาของชื่อโรงละครได้เปลี่ยนจาก "Simaese Theater" ไปสู่คณะ "Prince Theater"

ละครของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง จัดเป็น "ละครพันทาง" หมายถึงละครที่จับเอาเนื้อเรื่องวรรณคดีไทยต่าง ๆ มาผสมรวมกัน และเขียนเรื่องราวขึ้นมาใหม่โดยหลวงพัฒนพงษ์ภักดี และนำมาจัดการแสดงให้ประชาชน

การที่จัดแดสงก็ไม่ได้ให้เข้าฟรี แต่มีการเก็บอัฐเป็นค่าเข้าชม อันเป็นการแสดงละครแนวใหม่ ที่ท่านได้รับอิทธิพลจากการ London Theater ที่ท่านได้ไปเห็นมาจากคราวที่คณะราชทูตไปไปกรุงลอนดอน พ.ศ. ๒๔๐๐

และจัดการแสดงเป็นวิก Week  ตัวละครที่สังกัดมีดังนี้

-กลีบ ตัวนายโรง

- หม่อมแย้ม เป็นครูละคร

- เป้า เล่นเป็นบทเงาะ

- เปลี่ยน เล่นเป็นท้าวสามนต์

- เครือ, เสงี่ยม, งาน, ทิม และบุศ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องเครื่องโขน-ละครโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ส.ค. 12, 16:30
การเปลี่ยนแปลงเครื่องแต่งกายละคร มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เนื่องจากชาวอินเดียได้เริ่มเข้ามาตั้งร้านค้าแถวท่าน้ำราชวงศ์ วัดเกาะ และพาหุรัด ซึ่งพ่อค้าเหล่านี้ได้นำผ้ายก ผ้าทอ ดิ้นเงิน ดิ้นทอง เพชรหลา (เพชรขายเป็นเส้น เป็นแถบ ๆ) พวกคนไทยพากันไปซื้อมาทำเครื่องละคร ยังผลให้มีการวิวัฒนาการของเครื่องประดับและเครื่องละคร


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องเครื่องโขน-ละครโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: benzene ที่ 13 ส.ค. 12, 22:27
ภาพหมู่ที่เห็นในภาพแรก เป็นคณะละครของนายบุศย์มหินทร์ ครับ ผมขอมักง่าย ใช้วิชามารยกบทความมาตัด แล้วแปะ (ขอโทษในความมักง่ายเป็นอย่างสูงครับ)
นักรบวัฒนธรรมผู้เดียวดาย : นาย 1900 บุศย์มหินทร์
โดย : สุเมธ สอดจิตต์
มาแชร์ครับ เพราะว่าขี้เกียจพิมพ์ ห้าๆๆๆ มันดราม่ามากๆ....
“...ปี 1900 วงนายบุศย์มหินทร์ นำดนตรีและคณะนาฏศิลป์ชุดหนึ่งไปแสดง ขณะเดียวกัน เยอรมันก็ได้ซื้อเครื่องบันทึกเสียงของเอดิสัน เป็นกระบอกเสียง ใช้ระบบมือหมุน บันทึกได้ครั้งละ 2 นาที ตอนนั้น มีคณะดนตรีหลายชาติรอการอัดเสียง ไม่ว่าจะเป็น แอฟริกา อาหรับ อินเดีย เกาหลี และญี่ปุ่น แต่ชาติไทยเป็นชาติแรกที่ได้บันทึกเสียงเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์เสียงกรุงเบอร์ลิน (Berlin Phonogramm-Archiv) ถือเป็นการอัดเสียงนอกประเทศครั้งแรกของศิลปินชาวสยาม โดยมี คาร์ล สตุมฟ์ (Prof.Dr.Carl Stumpf) ศาสตราจารย์ด้านมานุษยดุริยางควิทยา และผู้ช่วยคือนายบอสเตล (Bastal) อัดเสียงการแสดงของคณะละครนายบุศย์มหินทร์ที่สวนสัตว์กรุงเบอร์ลิน(Berlin Zoological Gardens) ในวันที่ 29 กันยายน ปี 1900 ประชาชนสมัยนั้นไม่เคยรู้จักกับระบบเสียงของดนตรีสยาม ฟังเป็นเสียงแปลกประหลาด เพราะต่างคุ้นชินรูปแบบดนตรีตะวันตก
หลังจากนั้นจึงมีนักแสดงหลายๆ คณะในหลายประเทศ ได้อัดเสียงเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนั้น เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย แอฟริกา..
ในปี ค.ศ.2000 นับเป็นโอกาสครบรอบร้อยปี นาฏกรรมไทยคณะนายบุศย์ ซึ่งบันทึกเสียงเป็นครั้งแรกของพิพิธภัณฑ์และได้เก็บรักษาไว้นั้น ประเทศเยอรมันจึงจัดงานฉลองยิ่งใหญ่ มีการเผยแพร่เสียงแห่งอดีตจำหน่ายในรูปแบบคอมแพ็คดิสก์ แต่คนไทยไม่ค่อยได้ยิน...”
“...มาสเตอร์เสียงวงนายบุศย์มหินทร์ บันทึกบนแผ่นคอมแพ็คดิสก์ อยู่นี่.. (ดร.สมศักดิ์ ให้ดูแผ่นซีดี และหนังสือสูจิบัตรที่บรรจุกล่องกระดาษอย่างดี) ทางพิพิธภัณฑ์เยอรมันส่งมาให้เพื่อวิเคราะห์เพลง

เพลงที่ให้ฟัง ชื่อเพลง คำหอม...”
ผมดิ่งด่ำรสเพลง เสียงระนาดเหงาเศร้าอยู่เบื้องหน้าเครื่องดนตรีชนิดอื่น มีระนาดทุ้มคลอต่ำ ขลุ่ยไทยแหลมสูง ยินเสียงเครื่องให้จังหวะปนเสียงลานจากเทคนิคการอัดเสียงลงกระบอกรุ่นแรก ชัดเจน ทำนองขรึมขลัง ความยาวเพลงไม่เกินสองนาที
...เพลงคำหอม...
อาจารย์บอกว่า เป็นหลักฐานเก่าที่สุด นำมาเปิดให้ฟัง ทิ้งเป็นการบ้าน ฝากเป็นหน้าที่ของพวกเรา นิสิตใหม่ ให้นำไปคิดต่อ
หลังจากวันนั้น เรื่องราวเพลงคำหอม และการเดินทางของคณะละครนายบุศย์ก็จมอยู่ในห้วงนึก กระแทกอารมณ์ให้หวนคิดหลายครั้งครา มีช่วงหนึ่งที่ผมเข้าปรึกษาดอกเตอร์เพื่อขอถ่ายสำเนาเสียงเพลงคำหอม เก็บไว้ในเครื่องบันทึกระบบ Mini disc และถ่ายสำเนาเอกสาร Music! The Berlin Phonogramm-Archiv 1900 - 2000 ซึ่งจัดทำโดย Museum Collection Berlin ในนั้นมีข้อมูลนายบุศย์มหิทร์ฝังอยู่ สักวันหนึ่งคงมีโอกาสศึกษา
หนึ่งปีเต็ม ตั้งแต่กลางปี 2002 ถึงปี 2003 ผมค้นหาข้อมูลจากหลายแหล่งไปเรื่อย ได้เดินหลงเข้าศึกษาเกี่ยวกับดนตรีพื้นถิ่น ย้อนยุคไปในสมัยฝรั่งชาติเจริญไล่ล่าอาณานิคม เหล่านักแสดงจากประเทศโลกที่สามถูกมองเป็นคณะนาฏกรรมประหลาด ต่างจากศิลปะอันเจริญเหมือนประเทศเขา เป็นของแปลกจากโลกนอก คณะนายบุศย์มหินทร์ จึงเป็นกลุ่มนาฏศิลป์พลัดถิ่น วิธีการดนตรีเหน่อๆ สุ่มเสียงดัง ชุดการแสดงดูลวดลายตระการตา ลีลาการแสดงลี้ลับ สีสันการแต่งกายแวววับ ระยิบระยับคล้ายเหล่าเทวดา ไม่! พวกเขาไม่เคยสัมผัสเทวดา จินตนาการไม่ถึงขั้นเทวา เขาคุ้นชินอาการพิศวงจากคณะละครสัตว์ ละครสีทองสดบุศย์มหินทร์จึงมีโอกาสร่ายรำพัด (Fan Dance) ในสวนสัตว์แห่งมหานครเบอร์ลิน ผู้ดีวิถีตะวันตก ชอบ ชื่นชม เรียกการแสดงแปลกประหลาดนั้นว่า EXOTIC
พวกเขาดูแล้วหัวเราะ
พวกเขายิ้ม
เขาประทับใจ “คนแปลกประหลาด” พวก EXOTIC MAN
ผมจุดธูปอินเดียเก้าดอก
กลิ่นหอม.. แปลกประหลาด...
บัดนี้ผมคว้าได้ข้อมูลเพิ่มเติม
ภาพถ่ายขาว - ดำของศิลปินแห่งอดีตวางอยู่เบื้องหน้า กลุ่มคนสามสิบกว่าชีวิต ชาย หญิง ผู้ใหญ่ เด็กน้อย ในชุดละครโบราณ พร้อมชุดนักดนตรีเบื้องหลังเครื่องปี่พาทย์ กลุ่มคนที่เดินทางไกลไปต่างแดน ผมเห็นชายหนุ่มนั่งเล่นระนาดเอก มองตรงหน้านิ่งเศร้าอยู่นั่น! เขาคือ นายบุศย์มหินทร์ หัวหน้าคณะละครไทย
ผมศึกษาข้อมูลจากงานเขียนหลายเล่ม เดินทางสู่โลกไร้พรมแดน เปิดเว็บไซน์ บังเอิญผ่านไปดูใน www.waxylinder.com บัดนั้น ผมตะลึงกับถ้อยความพาดโปรย

“...ถ้าดวงวิญญาณของนายบุศย์มหินทร์ ยังอยู่บนสรวงสวรรค์
ขอให้ดวงวิญญาณท่านรับรู้ด้วยว่า...
...ในห้วงเวลาเดียวกันแต่ต่างมิติ
ท่านคือผู้สร้างประวัติศาสตร์การอัดเสียงนอกสยาม
เป็น “คนแรก” และเป็น “ครั้งแรก” ของประเทศไทย...
...ขอร่วมไว้อาลัย “นายบุศย์มหินทร์”
ผู้สร้างตำนานการอัดเสียงแห่งสยาม...”

ผมคัดย่อไว้เพียงบางส่วน เว้นพื้นที่ว่างให้ใจจินตนาการ ผู้เขียนคำอุทิศ คือ พฤฒิพล ประชุมผล – ผมบันทึกข้อมูล

นั่งหลังระนาดเอก บุศย์ เพ็ญกุล, บุศรา มหินทร์, บุษย์มหินทร์, นายบุศย์มหินทร์ หรือ เจ้าหมื่นไววรนารถ (บุศร) ตามชื่อที่ตีความและเขียนได้หลากหลาย เป็นข้าราชการวิญญาณศิลปิน มีความสามารถด้านดนตรีไทยหนึ่งในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง คือคนหนุ่มการศึกษาดี ดีกรีการร่ำเรียนผ่าน มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ บุตรชาย เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ท่านเป็นเจ้าของคณะนาฏศิลป์ใหญ่สุดในสยาม มีชาวคณะรวม 800 – 1,000 ชีวิต เมื่อสิ้นชีพบิดา นายบุศราจึงรับช่วงต่อมรดกนาฏกรรมของบรรพชน
นางรำในภาพขาว-ดำ ที่ดูอยู่ขณะนี้ คือหนึ่งในลูกทีมของบุศย์มหินทร์ซึ่งร่วมรอนแรมสู่ต่างแดน เบื้องหลังภาพ มีสัดส่วนชีวิตที่เป็นตำนาน แวดล้อมด้วยความเศร้าเข้าเจือปนมากมาย
..................................
จากหนังสือนาฏกรรมชาวสยาม หน้า 46-48 (คุณเอนก นาวิกมูล)
ตามสายตาของผู้เล่าเหตุการณ์วัย 12 ขวบ หม่อมศรีพรหมา กฤษดากร บุตรบุญธรรมของ พระพรหมสุรินทร์ (สวัสดิ์ ภูมิรัตน์) ข้าหลวงจากกรุงเทพฯ ซึ่งเดินทางไปประจำอยู่ในสำนักเอกอัครราชทูตไทยแดนรัสเซีย เธอได้บันทึกเหตุการณ์ในวัยเยาว์ ณ ขณะนั้นว่า
“...โรงละครหลวงหรูมาก ละครนั้นนายบุษมหินทร์พาไปเล่น แต่ขาดทุน เพราะไปผิดฤดูกาล หนาวกันเกือบตาย นายบุษมหินทร์เป็นบุตรเจ้าพระยามหินทร์ศักดิ์ธำรง นำเอาแบบเจ้าคุณพ่อ ซึ่งมีชื่อเสียงดังในเมืองเรามาแล้วไปเล่น ละครเจ้าพระยามหินทร์มีชื่อเสียงโด่งดังสมัยโน้น ใครๆ ก็รู้จัก ไม่ได้เล่นเป็นเรื่องเป็นราว แต่เป็นฉากๆ สวยงามมาก เครื่องแต่งกายก็สวยแวววับ พราวแพรวไปหมด ถ้าไปเหมาะๆ คงจะได้เงินบ้าง ทางทูตจัดส่งกลับเพราะไม่มีเงิน
ฉากละครที่จำได้แม่น คือ ชุดรำโคม ชุดรำพัด ชุดรำอะไรต่ออะไรไม่ได้จำ ชุดพระชุดนาง คงจะมีรำฉุยฉายด้วย เหลือกว่าเด็กจะจำได้...”
ผมพลิกหนังสือไปดูตามสายตาฝรั่งซึ่งบันทึกข้อมูลที่เขาสัมผัส ณ ห้วงเวลาเดียวกัน ซึ่งอยู่ในส่วนภาคผนวกของหนังสือเล่มเดิม ได้เห็นภาพคณะละครพลัดถิ่นทำหน้าที่ทูตวัฒนธรรมอยู่ท่ามกลางความหนาวเหน็บเดียวดาย
“...คณะนาฏศิลป์มีสมาชิก 35 คน เป็นหญิง 23 ชาย 12 ผู้หญิงเป็นทั้งตัวละคร นางรำ ส่วนผู้ชายเล่นดนตรี วงดนตรีประกอบด้วยเครื่องดนตรีไทยโบราณ เช่น ฆ้องวง ซึ่งประกอบด้วย ฆ้องโลหะระดับเสียงต่างๆ จำนวนมากรายรอบติดกับตัวไม้เป็นครึ่งวงกลม ระนาด ปี่ ขลุ่ย ฉิ่ง ฉาบ...”
ผมเห็นภาพพวกเธอร่ายรำ ตามคำบรรยายของฝรั่งคนนั้น

“...นางรำแต่งเครื่องทรงอลงกรณ์ สวมชฎา มงกุฎ เพียบพร้อมด้วยเครื่องประดับประดา ต่างทั้งร้องทั้งรำ ทรงตัว โดยย้ายเคลื่อนไหว ตัดแข้งตัดขา เป็นท่าต่างๆ ไปตามจังหวะดนตรี บางครามือโบกรำไปข้างหลังเกือบจรดหลัง พวกเราซึ่งคุ้นเคยแต่ระบำรำเต้นแบบยุโรปมาแต่เล็กแต่น้อยก็ต้องทำใจลืมทัศนคติที่มีต่อนาฏศิลป์ของเราเองไว้ชั่วขณะ เพราะนาฏศิลป์ไทยนี้แม้จะดูแปลกตา แต่ทว่าน่าสนใจ โดยเฉพาะลีลาท่ารำของนางรำ ดูแล้วเป็นธรรมชาติ และมีเสน่ห์กว่านาฏศิลป์ของเราเสียอีก...”
ผมปิดนาฏกรรมชาวสยาม หยุดเสพข้อมูลจากหนังสือไว้พลางก่อน
เปิดใจรับข่าวสารซึ่งเรียบเรียงโดย พฤฒิพล ประชุมผล ที่ส่งผ่านโลกไร้แดน
“...คณะละครนายบุศย์มหินทร ถูกส่งกลับเนื่องจากการแสดงขาดทุนอย่างยับเยิน ไม่มีแม้ค่าเดินทางกลับ บ้างก็ว่าหญิงละครบางคนต้องนำชุดละครออกขายฝรั่งเพื่อเป็นค่าเดินทางกลับสยาม บ้างก็ว่าได้รับความช่วยเหลือจากราชทูตในยุโรป ทั้งนายบุศย์เองเมื่อกลับมาถึงยังโดนหญิงละครภายในคณะฟ้องร้องเรื่องค่าแรงตามสัญญาอีกด้วย...
...ข่าวในบางกอกไตมส์วันที่ 22 ตุลาคม ลงว่า เด็ก 8 ขวบ ชื่อหนอม เป็นนักแสดงที่อายุน้อยสุดที่ไปกับคณะละครนายบุศย์มหินทร ฟ้องเรียกค่าจ้างตามสัญญาที่เคยบอกไว้ว่าจะให้วันละ 8 บาท ขณะนี้ยังไม่ได้ ศาลตัดสินให้บริษัทนายบุศย์จ่ายค่าแรงดังกล่าววันละ 3 บาท แต่ฝ่ายจำเลยก็ยังขออุทธรณ์อยู่...”


“...หนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์ ฉบับวันพุธที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2444 ลงข่าว (ครั้งสุดท้าย) เกี่ยวกับนายบุศย์มหินทร์ไว้ดังนี้
ข่าวถึงแก่กรรม
ทุกๆ ท่านบรรดาที่เปนญาติแลมิตรแก่เจ้าหมื่นไววรนารถ(บุศร)แล้วเปนที่เสียใจเศร้าโศกน่าสังเวดที่ทราบว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 16 ธันวาคมเวลาบ่าย เจ้าหมื่นไววรนารถอาบน้ำเพื่อจะไปธุระ ในทันใดนั้นเปนลมล้มลงในห้องน้ำขาดใจตายทันที พวกพ้องและภรรยาได้แก้ไขก็หาฟื้นไม่ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคมได้มีการรดน้ำอาบศพเข้าหีบตามราชการ เมื่อมีเหตุอันร้ายแรง เกิดขึ้นสำคัญแก่เจ้าหมื่นไวยวรนารถถึงแก่ชีวิตโดยเร็วเช่นนั้นก็เปนที่เศร้าโศกแห่งญาติ แลมิศหายบุตรภรรยาเหลือเกิน ด้วยท่านผู้ตายหรือก็มีความผาศุขอ้วนพี มิได้เปนโรคอย่างใดอย่างหนึ่งเลย เมื่อเปนเช่นนั้นแล้ว ก็กระทำให้เสียใจแก่ทุกๆ ท่านๆ ผู้นี้ก็ได้ราชการมาในกรมมหาดเล็กก็ช้านาน ทั้งเปนผู้ขับรถพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระจ้าวอยู่หัวด้วย เมื่อกำลังทำราชการอยู่นั้นก็มิได้มีความผิดอันใดในน่าที่ราชการเลย...”
นั่นคือถ้อยความตามรูปสะกดเก่า จากภาษาหนังสือพิมพ์โบราณ เมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา