เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: ดาวกระจ่าง ที่ 10 มี.ค. 20, 18:40



กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ ชนชั้นสูง อื่นๆ ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 10 มี.ค. 20, 18:40
ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ไทย ชนชั้นสูง ชนชั้นที่ร่ำราย หรือบุคคลที่ทำงานในราชการแล้วมีชื่อพระราชทานของไทยค่ะ คือเนื่องจากดิฉันเห็นว่างคนในราชวงศ์ไทย ชนชั้นสูง ชนชั้นที่ร่ำราย หรือบุคคลที่ทำงานในราชการแล้วมีชื่อพระราชทานของไทย จะมีชื่อที่มากกว่าสามพยางค์หรือสามคำขึ้นไป ส่วนใหญ่จะเป็นภาษาบาลี สันสกฤตเลยอยากจะทราบว่า

1 การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ไทย ชนชั้นสูง ชนชั้นที่ร่ำราย หรือบุคคลที่ทำงานในราชการแล้วมีชื่อพระราชทานของไทย มีหลักเกณฑ์ หลักไวยกรณ์อย่างไรคะว่าจะเอาคำไหนมาอยู่ข้างหน้า ข้างหลัง

2 การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ไทย ชนชั้นสูง ชนชั้นที่ร่ำราย หรือบุคคลที่ทำงานในราชการแล้วมีชื่อพระราชทานของไทยมีหลักเกณฑ์ หลักไวยกรณ์ตามหลักภาษาบาลี สันสกฤตไหมคะว่าจะเอาคำไหนมาอยู่ข้างหน้า ข้างหลัง หรือใช้หลักของไทยเอง


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ ชนชั้นสูง อื่นๆ ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มี.ค. 20, 15:04
ช่วยอธิบายได้อีกทีได้ไหมคะ งง?
อ้างถึง
คนในราชวงศ์ไทย ชนชั้นสูง ชนชั้นที่ร่ำราย หรือบุคคลที่ทำงานในราชการแล้วมีชื่อพระราชทานของไทย
1  หมายถึงใครบ้างคะ  ขอตัวอย่าง
2 ชื่อพระราชทาน ตามความเข้าใจของคุณ คืออะไรคะ  ชื่อบุคคลที่โปรดเกล้าฯพระราชทานตามคำขอ  หรืออะไร?
ทำไมต้องมีคำว่าชนชั้นสูง ชนชั้นที่ร่ำรวย และบุคคลทำงานในราชการด้วย


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ ชนชั้นสูง อื่นๆ ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 11 มี.ค. 20, 17:50
ขอโทษที่ไม่ได้ยกตัวอย่างค่ะ

1 ชื่อคนในราชวงศ์ไทย ขออนุญาตยกตัวอย่างชื่อพระปรมาภิไธยของ ร.6 มาแบบบย่อๆนะคะว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ เอกอรรคมหาบุรุษบรมนราธิราช พินิตประชานารถมหาสมมตวงษ์ อดิศัยพงษวิมลรัตน์ วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ จุฬาลงกรณราชวรางกูร บรมมกุฏนเรนทรสูรสันตติวงษวิสิฐ สุสาธิตบุรพาธิการ อดุลยกฤษฎาภินิหารอดิเรกบุญฤทธิ ธัญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประณตบาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดมบรมสุขุมาลย์"

2 ส่วนชนชั้นสูง ชนชั้นที่ร่ำรวยดิฉันหมายถึงในสมัยก่อนค่ะเพราะถ้าเป็นคนธรรมดาคงมีชื่อไม่ยาวนัก ดิฉันขออนุญาตยกพระราชโอรส พระราชธิดา และพระราชนัดดาของ ร.5 มานะคะ
-พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช
-สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย
-พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา
-สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี

3 บุคคลที่ทำงานในราชการแล้วมีชื่อพระราชทานของไทย ตรงนี้ดิฉันอาจจะใช้คำผิดไป ดิฉันหมายถึง ราชทินนาม บรรดาศักดิ์ไทย เช่น
-ออกญาศรีสุริยะราชาไชยอภัยพิรียภาหะ เจ้าเมืองเมืองพิชัย
-ออกญาเทพาธิบดีศรีรณรงค์ฤๅไชยอภัยพิรียภาหะ เจ้าเมืองเมืองพิจิตร
-ออกญาไกรเพชรรัตนสงครามรามภักดีพิรียภาหะ เจ้าเมืองเมืองนครสวรรค์
-ออกญาแก้วเการพยพิไชยภักดีบดินทรเดโชไชยอภัยพิรียะภาหะ เจ้าเมืองเมืองพัทลุง

จากที่หามาในวิกินะคะ พอจะบอกได้ไหมคะว่าชื่อทั้งหลายเหล่านี้มีหลักการวางคำ เช่น คำนาม คำกิริยา คำวิเศษ คำคุณศัพท์อย่างไรว่าจะให้คำไหนอยู่ข้างหน้า ข้างหลัง ใช้ตามหลักภาษาไทยไหมหรือวางตามหลักภาษาบาลี สันสกฤต

เกรงว่าจะรบกวนไปไม่ต้องอธิบายหมดทุกชื่อก็ได้ค่ะ บอกหลักการแค่ 2-3 ชื่อก็ได้


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ ชนชั้นสูง อื่นๆ ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มี.ค. 20, 12:05
คำถามของคุณดาวกระจ่างกว้างมาก  ดูเหมือนถามเรื่องเดียวแต่จริงๆแล้วหลายเรื่อง    ชื่อก็มี ราชทินนามก็มี  ภาษาก็มี
จึงไม่แน่ใจว่าคุณถามเรื่องภาษาของชื่อเหล่านี้ หรือหลักเกณฑ์การตั้งชื่อ  หรือทั้งสองอย่าง
ขอตอบแบบเดาจุดมุ่งหมายของคุณก่อนนะคะ
1   ไม่มีกฎหมาย ข้อบังคับ กฎเกณฑ์ใดๆ ในสังคมไทยที่กำหนดการตั้ง"ชื่อปัจเจกบุคคล"ที่คุณยกตัวอย่างถึง ว่าจะต้องใช้เกณฑ์อะไรหรือภาษาแบบไหนอย่างไร   เป็นสิทธิของผู้ตั้งแต่ละคน
2  ราชทินนามขุนนางเป็นคนละเรื่องกับชื่อของปัจเจกบุคคล  ราชทินนามมีไว้เพื่อบอกถึงหน้าที่การงานและสังกัดของขุนนาง   ไม่ใช่ชื่อตัว   
เช่นออกญาไกรเพชรรัตนสงครามรามภักดีพิรียภาหะ " เป็นราชทินนามประจำตัวของขุนนางที่มารับตำแหน่งเจ้าเมืองนครสวรรค์   ถ้าคนเดิมตายไปหรือเลื่อนตำแหน่งไปรับหน้าที่อื่น  เจ้าเมืองคนใหม่ของนครสวรรค์ก็เป็นออกญาไกรเพชรรัตน แทน

ดังนั้นในประวัติศาสตร์ไทย จึงมีราชทินนามซ้ำกันหลายคนในยุคต่างๆ จึงต้องวงเล็บชื่อเอาไว้ตอนท้ายให้รู้ว่าหมายถึงใคร 
3  ชื่อที่คุณยกตัวอย่างมา  เป็นชื่อไทยที่มีที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤตค่ะ  ใช้หลักเกณฑ์สนธิและสมาส 

     


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ ชนชั้นสูง อื่นๆ ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 มี.ค. 20, 13:54
การตั้ง พระนาม/พระนามทรงกรม/ราชทินนาม/นาม สำหรับ เจ้านาย/ขุนนาง/คหบดี มีความนิยมอยู่เรื่องหนึ่งคือความคล้องจองกัน ดังตัวอย่าง

พระนามทรงกรมของพระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


ประสูติเมื่อก่อนบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนา

กรมหมื่นมเหศวรศิวลาส
กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร

ประสูติเมื่อบรมราชาภิเษกแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนา

ชั้นเจ้าฟ้า

กรมพระจักรพรรดิพงศ์
กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

ชั้นพระองค์เจ้า

กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์
กรมหลวงพิชิตปรีชากร
กรมหลวงอดิศรอุดมเดช
กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์
กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม
กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์
กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร
กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ
กรมขุนสิริธัชสังกาศ
กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ
กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์
กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ
กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
กรมพระสมมตอมรพันธ์
กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา
กรมหมื่นพงศาดิศรมหิป
กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา
กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
กรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์
กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์
กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ ชนชั้นสูง อื่นๆ ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มี.ค. 20, 16:06
^
ที่คุณเพ็ญชมพูอธิบายไว้ข้างบนนี้คือพระนามทรงกรมของพระเจ้าลูกยาเธอที่ประสูติจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ไม่ใช่พระนามเมื่อแรกประสูติ
พระนามเมื่อประสูติเจ้านาย มีมาจากเหตุผลนานาประการ   เรื่องหนึ่งที่บันทึกไว้คือพระนามจากเหตุการณ์ขณะประสูติ

พระราชโอรสพระองค์หนึ่งในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงพระนามว่า  "พระองค์เจ้าเพชรหึง" ทั้งนี้เพราะเหตุในวันประสูติ เกิดลมพายุแรงกล้าที่คนโบราณเรียกกันว่า ลมเพชรหึง   แรงขนาดพัดพระตำหนักแพวังหน้าที่ผูกไว้หลุดลอย   ประจวบกับเจ้าจอมมารดาชูเจ็บครรภ์  ประสูติพระองค์เจ้าชายในวันนั้นพอดี   พระราชบิดาจึงพระราชทานพระนามว่า พระองค์เจ้าเพชรหึง 
พระองค์เจ้าพระองค์นี้  สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 2


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ ชนชั้นสูง อื่นๆ ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มี.ค. 20, 19:07
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดที่จะพระราชทานพระนามพระราชโอรสธิดาที่ประสูติจากเจ้าจอมมารดาเดียวกัน ให้มีพระนามคล้องจองกัน
ตัวอย่างคือพระราชโอรสธิดาที่ประสูติจากเจ้าจอมมารดาแพ  มีอยู่ 5 พระองค์  ทุกพระองค์ทรงดำรงพระยศเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้า
มีรายพระนามดังนี้
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดา
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพักตร์พิมลพรรณ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ ต่อมาทรงกรมเป็นกรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ ทรงเป็นต้นราชสกุลเกษมสันต์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ   ต่อมาคือสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบรรจบเบญจมา

เจ้าจอมมารดาแพถึงแก่อนิจกรรมเมื่อพระองค์เจ้าบรรจบเบญจมาประสูติ  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงพระราชทานนามว่า "บรรจบเบญจมา" หมายถึง ครบพระองค์ที่ห้า  หรือสิ้นสุดลงที่พระองค์ที่ห้า


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ ชนชั้นสูง อื่นๆ ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มี.ค. 20, 19:14
พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงมีพระนามเมื่อแรกประสูติว่า พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์  ส่วนหนึ่งของพระนามคือ"รพี" แปลว่า ดวงอาทิตย์
ดังนั้นจึงประทานพระนามพระโอรสธิดา ให้มีความหมายเกี่ยวกับดวงอาทิตย์  ทุกองค์ทรงดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้า
ได้แก่
พิมพ์รำไพ-ไขแสงรพี-สุรีย์ประภา-วิมวาทิตย์-ชวลิตโอภาส-อากาศดำเกิง-เพลิงนภดล-ถกลไกรวัล-รวิพรรณไพโรจน์-ดวงทิพโชติแจ้งหล้า-ทิตยาทรงกลด-คันธรสรังษี-รำไพศรีสอาง 



กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ ชนชั้นสูง อื่นๆ ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 มี.ค. 20, 19:39
คุณเทพ  สุนทรศารทูล อธิบายเกี่ยวกับการตั้งราชทินนาม/พระนาม ว่ามีหลักเกณฑ์เหมือนกันประการหนึ่ง

ราชทินนาม ที่พระราชทานให้นี้  ไม่ใช่ว่าจะโปรดพระราชทานตามพระทัยชอบ  แต่ทรงตั้งให้ด้วยพระมหากรุณา  จะให้เกิดเป็นศิริมงคลแก่ผู้นั้นด้วย  จึงทรงให้พระอาลักษณ์และพระโหราธิบดี คิดนามพระราชทานให้ต้องตามตำรา  คือตั้งตามวันเกิดผู้นั้น  ถ้าหากว่าเป็นบุคคลชั้นแม่ทัพนายกอง  จะต้องให้โหรตรวจดูดวงชะตาประกอบด้วยว่า คนเกิดในวันนั้น  มีดวงดาวให้คุณให้โทษอย่างไร  จะตั้งนามพระราชทานอย่างไรจึงจะส่งเสริมให้เจ้าชะตานั้นมีศิริมงคล  พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงเรียนวิชาโหราศาสตร์ด้วย  จึงทรงทราบว่านามที่โหรกับอาลักษณ์คิดถวายนั้นเหมาะหรือไม่  แล้วจึงเขียนประกาศนียบัตร  หรือหิรัญบัตร หรือจารึกสุพรรณบัฏ  พระราชทานราชทินนาม ให้เป็นเกียรติยศ  ราชทินนามจึงเป็นนามศักดิ์สิทธิ์  เป็นศิริมงคลอย่างยิ่ง  เพราะตั้งด้วยวิชากับน้ำใจและคุณธรรม ผสมกัน ๓ ประการ  กล่าวคือ ผู้ตั้งเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์  ตั้งน้ำใจกรุณาและด้วยธรรมะในหัวใจของผู้ยิ่งใหญ่ในแผ่นดิน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผูกพระนามพระราชทานพระราชโอรสพระราชธิดา  ก็ทรงใช้หลักการตั้งราชทินนามในการผูกพระนาม เช่น

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (รัชกาลที่ ๕) พระราชสมภพวันอังคาร  ก็ทรงใช้อักษรวรรค จ. เป็นอักษรนำ  เพื่อให้ดวงจันทร์ ตัวกาลกิณีเดิมในดวงพระชะตาซึ่งทรงคุณเป็นมหาจักรนั้นให้กลับกลายเป็นไม่ให้โทษ ตามตำราโหราศาสตร์  หรือสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประสูติวันเสาร์  ก็ทรงผูกนามพระราชทานว่า "ดิศวรกุมาร"  โดยให้อักษร ด. นำหน้า ตามหลักของคนเกิดวันเสาร์

การพระราชทานราชทินนามเจ้านายและขุนนางตามวันเกิดนั้นคงเป็นพระราชประเพณีสืบเนื่องมาจนถึงรัชกาลที่ ๗ เมื่อโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน  ซึ่งมีพระราชสมภพในวันจันทร์ว่า "ภูมิพลอดุลยเดช" นั้น  โปรดให้มช้อักษร ภ. นำหน้า  เพื่อให้ดาวอาทิตย์ในดวงพระชะตาเดิม  ซึ่งเป็นกาลกิณีนั้นกลายเป็น "ศรี" จากให้โทษเป็นให้คุณแก่พระชะตา

ปัจจุบันการพระราชทานพระนามโดยหลักดังกล่าวข้างต้นยังคงมีใช้อยู่ในพระราชสำนัก  ซึ่งก็จะเป็นนามพระราชทานสำหรับพระเจ้าหลานเธอหรือพระราชวงศ์ที่ใกล้ชิด  กับที่พระราชทานแก่เด็กที่เป็นบุตรหลานข้าราชบริพารหรือผู้ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกอบพิธีสมรสพระราชทานเท่านั้น


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ ชนชั้นสูง อื่นๆ ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 มี.ค. 20, 19:40
ความหมายในราชทินนามมักจะเกี่ยวกับ ความรู้ ความชำนาญ หน้าที่การงาน ของผู้ที่ได้รับพระราชทานราชทินนาม และนิยมตั้งให้คล้องจองเช่นกัน

ในรัชกาลที่ ๕ - ๖ ยังได้ทรงผูกราชทินนามพระราชทานแก่ข้าราชการกระทรวงต่างๆ มีนามอันคล้องจองกันจำนวนมาก เช่น

รัชกาลที่ ๕  -  วรพงษ์พิพัฒน์  บุรุษรัตนราชพัลลภ  นรรัตนราชมานิต  นรฤทธิ์ราชหัช  ศิริสัตน์สถิตย์  วรสิทธิ์เสวีวัตร์

ในรัชกาลที่ ๖ ทรงคิดราชทินนามไว้มาก เช่น ราชทินนามสำหรับมหาดเล็กผู้ใหญ่ชั้นพระยา  อาทิ ประเสริฐศุภกิจ  ประสิทธิ์ศุภการ  บำรุงราชบริพาร  บริหารราชมานพ  ชั้นรองลงมาที่ทรงคิดไว้มีอาทิ จมื่นเทพดรุณาทร  จมื่นอมรดรุณารักษ์  เป็นชั้นรองหัวหมื่นมหาดเล็ก  หลวงประมวลธนสาร  หลวงประมาณธนสิทธิ์ สังกัดกองปลัดบาญชี  นายแพทย์เป็น หลวงวิวิธเวชการ  หลวงวิศาลเวชกิจ  พนักงานผสมยาเป็น ขุนพิพิธเภสัช  ขุนพิพัฒน์โอสถ  ราชทินนามสำหรับครู เช่น ราชดรุณรักษ์  พิทักษ์มานพ  อนุสิษฐดรุณราช  อนุสาสน์ดรุณรัตน์  สนธิ์วิชากร  สอนวิชาการ  ธรมสารประศาสน์  ธรรมพาทประจิตร  วิสิษฐศุภเวท  วิเศษศุภวัตร  

ราชทินนามสำหรับช่างเขียนหรือจิตรกร เช่น อนุศาสน์จิตรกร  อนุสรจิตราคม  อนุกรมจิตรายน  วิมลจิตรการ  วิศาลจิตรกรรม  ประสมสีสมาน  ประสานเบญจรงค์  บรรจงลายเลิศ  ประเจิดลายลักษณ์  สำหรับช่างสลัก เช่น จำลองศุภลักษณ์  สลักศุภเลิศ  ประเสริฐหัดถกิจ  ประสิทธิ์หัดการ

ราชทินนามกรมโขนหลวง เช่น นัฏกานุรักษ์  พำนักนัจนิกร  สุนทรเทพระบำ   รำถวายกร  ฟ้อนถูกแบบ  แยบเยี่ยงคง  ยงเยี่ยงครู  ชูกรเฉิด  เชิดกรประจง  ทรงนัจวิธี  ศรีนัจวิไสย  วิไลยวงวาด  วิลาสวงงาม  รามภรตศาสตร์  ราชภรตเสน  เจนภรตกิจ  จิตรภรตการ  ชาญรำเฉลียว  เชี่ยวรำฉลาด    ฯลฯ  ตำแหน่งจำอวดก็มีราชทินนามเป็น ราชนนทิการ  สำราญสมิตมุข  สนุกชวนเริง  บรรเทิงชวนหัว

พวกพิณพาทย์ก็มีราชทินนามเฉพาะ เช่น ศรีวาทิต  สิทธิ์วาทิน  พิณบรรเลงราช  พาทย์บรรเลงรมย์  ประสมสังคีต  ประณีตวรศัพท์  คนธรรพวาที  ดนตรีบรรเลง  เพลงไพเราะ  เพราะสำเนียง  เสียงเสนาะกรรณ  สรรเพลงสรวง  พวงสำเนียงร้อย  สร้อยสำเนียงสนธิ์  วิมลวังเวง  บรรเลงเลิศเลอ  

แต่ละราชทินนามที่ยกมาเป็นตัวอย่างอ่านดูแล้วจะทราบได้ทันทีว่า ผู้ที่ได้รับพระราชทินนามนั้นมีหน้าที่ราชการอย่างไร  ยังมีราชทินนามอีกมากสำหรับตำแหน่งต่างๆ



กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ ชนชั้นสูง อื่นๆ ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มี.ค. 20, 19:42
การตั้งชื่อบุตรธิดาตามอักษรชื่อบิดา  

พระยาอิศราธิราชเสวี (เลื่อน บุนนาค ) สมรสกับคุณหญิงเอิบอาบ สกุลเดิม อรรถจินดา มีบุตรธิดา ๕ คน

ท่านตั้งชื่อบุตรด้วยอักษร ล. ตามชื่อของท่าน  และตัวอักษรซ้ำกันในพยางค์ ตามแบบชื่อของภรรยา
บุตรทั้งสี่คน ชื่อ ละล่อง ละลิ่ว ลิ่วละล่อง และล่องละลิ่ว
ธิดาชื่อ ลีลา (สมรสกับ พลเรือโทพรชัย เทพปัญญา)

บุตรที่เกิดจากภรรยาอื่น ได้แก่ ลอยเลื่อน และเลื่อนลอย   มีธิดาชื่อ ลลิดา และลินดา


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ ชนชั้นสูง อื่นๆ ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มี.ค. 20, 21:07
การตั้งชื่อบุตรธิดาคล้องจองกัน

เจ้าพระยารามราฆพมีบุตรธิดา 34 คน   บุตรธิดาที่เกิดจากมารดาเดียวกัน มีชื่อคล้องจองกัน ดังนี้

บุตร-ธิดา 2 คนเกิดจากคุณหญิงประจวบ รามราฆพ
คุณรุจิรา
คุณมานน
มีบุตร-ธิดา 7 คนเกิดจากคุณนงคราญ พึ่งบุญ ณ อยุธยา
คุณสุรางค์
คุณโสภางค์พึงพิศ
คุณจิตอนงค์
คุณบุษบงรำไพ
คุณอนงค์ในวัฒนา
คุณปิยานงราม
คุณความจำนงค์
มีบุตร-ธิดา 9 คนเกิดจากบุญเรือน พึ่งบุญ ณ อยุธยา
คุณพัฒนา
คุณบุษบานงเยาว์
คุณเชาวน์ชาญบุรุษ
คุณพิสุทธิอาภรณ์
คุณบทจรพายัพทิศ
คุณจักร์กฤษณ์กุมารา
คุณวนิดาบุญญาวาศ
คุณพรหมาศนารายณ์
คุณเจ้าสายสุดรัก
มีบุตร-ธิดา 7 คนเกิดจากคุณพิศวาส พึ่งบุญ ณ อยุธยา
คุณศิริโสภา
คุณดวงสุดาผ่องศรี
คุณกุมารีหริลักษณ์
คุณทรงจักรวรภัณฑ์
คุณรามจันทร์วรพงษ์
คุณภุชงค์บรรจถรณ์
คุณจันทรรัศมี
มีบุตร-ธิดา 6 ท่าน เกิดจากคุณถนอม พึ่งบุญ ณ อยุธยา
คุณระฆุวงศ์
คุณนีละพงษ์อำไพ
คุณไกรกรีกูร
คุณประยูรกาฬวรรณ
คุณนวลจันทร์ธิดาราม
คุณโสมยามส่องฟ้า
มีบุตร-ธิดา 3 คนเกิดจากคุณพยุงวดี พึ่งบุญ ณ อยุธยา
คุณสู่นคเรศ
คุณทักษิณีเขตจรดล
คุณอำพลปนัดดา



กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ ชนชั้นสูง อื่นๆ ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 มี.ค. 20, 09:19
อีกเวอร์ชั่นหนึ่ง

รุจิรา มานน พัฒนา บุษบานงเยาว์ เชาว์ชาญบุรุษ พิสุทธิ์อาภรณ์ บทจรพยัพทิศ

จักรกฤษณ์กุมารา วนิดาบุญวาส พรหมาศนารายณ์ เจ้าสายสุดที่รัก สุรางค์

โสภางค์พึงพิศ จิตอนงค์ บุษบงรำไพ อนงค์ในวัฒนา ปรียานงราม ความจำนงค์

สิริโสภา ดวงสุดาผ่องศรี กุมารีหริลักษณ์ ทรงจักรวรพันธ์ รามจันทร์วรพงศ์

ภุชงค์บรรจถรณ์ จันทรรัศมี รฆุพงศ์ นีละพงศ์รำไพ ไกรกรีกูล ประยูรกาฬวรรณ

นวลจันทร์ธิดาราม โสมยามส่องฟ้า สู่นคเรศ ทักขิณีเขตจรดล อำพลปนัดดา"


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ ชนชั้นสูง อื่นๆ ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 มี.ค. 20, 19:39
พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงมีพระนามเมื่อแรกประสูติว่า พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์  ส่วนหนึ่งของพระนามคือ"รพี" แปลว่า ดวงอาทิตย์
ดังนั้นจึงประทานพระนามพระโอรสธิดา ให้มีความหมายเกี่ยวกับดวงอาทิตย์  ทุกองค์ทรงดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้า
ได้แก่
พิมพ์รำไพ-ไขแสงรพี-สุรีย์ประภา-วิมวาทิตย์-ชวลิตโอภาส-อากาศดำเกิง-เพลิงนภดล-ถกลไกรวัล-รวิพรรณไพโรจน์-ดวงทิพโชติแจ้งหล้า-ทิตยาทรงกลด-คันธรสรังษี-รำไพศรีสอาง  

พระนามพระโอรสธิดาในสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของพระนามที่มีความคล้องจองกัน ทุกพระองค์ทรงดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้า

อัปสรสมาน-บรรสานสนิท-พิจิตรจิราภา-สุธาสิโนทัย-ไตรทศประพันธ์-จันทรนิภา-ทิศากร-บังอรรัต-ดำรัสดำรง-พงศ์ทินเทพ-เสพยสุมนัส-ทิพยรัตนประภา-นาราวดี-ตรีทิเพศพงศ์-วงศ์นิรชร-มรุพรพันธ์-กันดาภา-ดาราจรัสศรี-ปรีดิเทพย์พงศ์-วงศ์ทิพยสุดา-อัจฉราฉวี-ศรีทศาลัย-ไตรทิพเทพสุต-สุรวุฒิประวัติ-ทัศศศิธร-นิกรเทวัญ-อนันตนรไชย-วิไลยกัญญา-สุชาดามณี-สมรศรีโสภา-อาทิตย์อุไทย-เจริญวัยวัฒนา-วงศานุวัติ-พวงรัตนประไพ-แขไขจรัสศรี-อัศนีฟ่องฟ้า-ประภาภรณี-โชติศรีกฤติกา-จีราโรหิณี


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ ชนชั้นสูง อื่นๆ ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 มี.ค. 20, 09:51
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดที่จะพระราชทานพระนามพระราชโอรสธิดาที่ประสูติจากเจ้าจอมมารดาเดียวกัน ให้มีพระนามคล้องจองกัน

คุณ วราห์  โรจนวิภาต เขียนบทความ ยํ้ารอยอดีตคลองบางหลวง ๑ ไว้อย่างนี้

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5929.0;attach=56434;image)

พระยาศรีสรราชภักดี (วัน บุนนาค) เป็นเปรียญและเป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การที่เป็นเปรียญจึงมีความรอบรู้แตกฉานทั้งบาลีและสันสกฤตเช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนามเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนมีเพียงพยางค์เดียวหรือสองพยางค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นเปรียญ ทรงคิดพระนามพระราชทานพระราชโอรสพระราชธิดาด้วยศัพท์บาลีสันสกฤต มีพระนามยาว ๆ คล้องจองกันอย่างไพเราะ พระยาศรีสรราชภักดีเลยทำตามบ้าง ชื่อบุตรธิดาของพระยาศรีสรราชภักดีจึงมีนามคล้องจองกันดังนี้

พงษ์สุริยันต์-พันธุ์สุริยา-พิณเทพเฉลิม-เพิ่มเสน่หา-พุ่มมะลิร่วง-พวงมะลิลา-เพิ่มสมบัติมูล-พูนสมบัติมา-พียศมูล-พูนยศมา-พลอยพรรณราย-พรายพรรณา

http://lek-prapai.org/home/view.php?id=188

ชื่อบุตรธิดาของพระยาศรีสรราชภักดีใช้คำไทยผสมกับบาลีสันสกฤต ฟังแล้วไพเราะ และเข้าใจความหมายได้ทันที มีสองชื่อที่เป็นผู้ชายคือ พิณเทพเฉลิม และ เพิ่มเสน่หา เป็นคหบดีคนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ ๕ นอกนั้นเป็นผู้หญิง  ;D


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ ชนชั้นสูง อื่นๆ ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 มี.ค. 20, 10:41
ชื่อบุตรธิดาของพระยาศรีสรราชภักดีจึงมีนามคล้องจองกันดังนี้

พงษ์สุริยันต์-พันธุ์สุริยา-พิณเทพเฉลิม-เพิ่มเสน่หา-พุ่มมะลิร่วง-พวงมะลิลา-เพิ่มสมบัติมูล-พูนสมบัติมา-พียศมูล-พูนยศมา-พลอยพรรณราย-พรายพรรณา

อีกเวอร์ชั่นหนึ่ง

สาส์นสมเด็จ ฉบับลงวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทูล สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

https://vajirayana.org/สาส์นสมเด็จ-พุทธศักราช-๒๔๘๔/สิงหาคม/วันที่-๑๐-สิงหาคม-พศ-๒๔๘๕-ดร (https://vajirayana.org/สาส์นสมเด็จ-พุทธศักราช-๒๔๘๔/สิงหาคม/วันที่-๑๐-สิงหาคม-พศ-๒๔๘๕-ดร)


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ ชนชั้นสูง อื่นๆ ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 มี.ค. 20, 11:22
การนำส่วนหนึ่งของชื่อบิดามารดามาเป็นชื่อบุตร

เจ้ากาวิละวงศ์ ณ เชียงใหม่ สมรสกับเจ้าศิริประกาย ณ เชียงใหม่    มีบุตรธิดา 3 ท่านคือ
เจ้าพงษ์กาวิล
เจ้าศิริกาวิล
เจ้ากอแก้ว ประกายกาวิล   (เดิมชื่อประกายกาวิล)


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ ชนชั้นสูง อื่นๆ ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 มี.ค. 20, 11:33
  เจ้านายที่ประสูติจากเจ้าจอมมารดาเดียวกัน ได้รับพระราชทานพระนามคล้องจองกัน มีอยู่หลายพระองค์ในรัชกาลที่ 5
  - พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ พระองค์เจ้าสุวพักตร์วิไลยพรรณ และพระองค์เจ้าบัณฑรวรรณวโรภาษ ประสูติจากเจ้าจอมมารดาแพ (เจ้าคุณพระประยุรวงศ์)
  - พระราชธิดาแฝดที่ประสูติจากเจ้าจอมมารดาพร้อม  ทรงพระนามว่า พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลยและพระองค์เจ้าประไพพรรณพิลาส
  - พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท และพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์   ต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ประสูติจากเจ้าจอมมารดาม.ร.ว.เนื่อง



กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ ชนชั้นสูง อื่นๆ ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 มี.ค. 20, 15:31
การตั้ง พระนาม/พระนามทรงกรม/ราชทินนาม/นาม สำหรับ เจ้านาย/ขุนนาง/คหบดี มีความนิยมอยู่เรื่องหนึ่งคือความคล้องจองกัน ดังตัวอย่าง

ชั้นพระองค์เจ้า

.......................................
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา
....................................

เรื่องนี้มีที่มา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ในนิทานโบราณคดีดังนี้

มีเรื่องเนื่องกับพระประวัติของพระองค์ศรีฯ อยู่เรื่องหนึ่ง ในเวลานี้ดูเหมือนจะรู้อยู่แต่ตัวฉันคนเดียว ด้วยเป็นเรื่องเนื่องในเรื่องประวัติของฉันด้วย จะเขียนลงไว้มิให้สูญไปเสีย ประเพณีแต่ก่อนเมื่อพระเจ้าอยู่หัวจะทรงตั้งเจ้านายพระองค์ใดให้เป็นกรม อาลักษณ์เป็นพนักงานคิดนามกรม เมื่อครั้งตัวฉันจะรับกรม พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจาริยางกูร) เห็นว่าฉันรับราชการทหาร จึงคิดนามกรมว่า กรมหมื่นจตุรงครังสฤษฏ์ นามหนึ่ง ว่า กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ นามหนึ่ง ถวายทรงเลือก สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดนามหลัง แต่ทรงปรารภถึงคำ “ภาพ” ที่ลงท้าย ว่าเมื่อถึงนามกรมของพระองค์ศรีฯ ซึ่งเป็นเจ้าน้องต่อตัวฉัน จะหาคำรับสัมผัสให้คล้องกันได้ยาก พระยาศรีสุนทรฯ กราบทูลรับประกันว่าจะหาให้ได้ จึงทรงรับฉันเป็นกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ พระยาศรีสุนทรฯ กราบทูลรับแล้วไม่นอนใจ คิดนามกรมสำหรับพระองค์ศรีฯ ขึ้นสำรองไว้ว่า “กรมหมื่นศุภกาพย์กวีการ” เพราะเธอทรงชำนิชำนาญการบทกลอนภาษาไทย แต่ลักษณะพิธีรับกรมในสมัยนั้น พระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปพระราชทานพระสุพรรณบัฏที่วังเจ้านาย คือต้องสร้างวังก่อนแล้วจึงรับกรม พระองค์ศรีฯ ด่วนสิ้นพระชนม์เสียแต่ยังไม่ได้สร้างวัง จึงมิได้เป็นกรม นามกรมที่พระยาศรีสุนทรโวหารคิดไว้ก็เลยสูญ เมื่อโปรดให้พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต เจ้าน้องถัดพระองค์ศรีฯ ไป รับกรม พระยาศรีสุนทรโวหารคิดพระนามใหม่ว่า “กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา” ก็สัมผัสคำ “ภาพ” ได้ไม่ขัดข้อง

https://vajirayana.org/นิทานโบราณคดี/นิทานที่-๑๒-เรื่องตั้งโรงพยาบาล (https://vajirayana.org/นิทานโบราณคดี/นิทานที่-๑๒-เรื่องตั้งโรงพยาบาล)

พระองค์ศรีฯ ในที่นี้คือ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ ชนชั้นสูง อื่นๆ ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 มี.ค. 20, 16:23
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระนามเมื่อประสูติว่า พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร  (อ่านว่าดิด-วอ-ระ-กุ-มาน  ไม่ใช่  ดิ-สวน-กุ-มาร)
พระโอรสจึงมีคำว่า ดิศ อยู่ในพระนาม หลายพระองค์ด้วยกัน ทุกองค์ดำรงฐานันดรศักดิ์เป็นหม่อมเจ้า

จุลดิศ   ดิศศานุวัติ นิพัทธ์พันธุ์ดิศ  พิสิษฐดิศพงศ์    ศุกรวรรณดิศ    กาฬวรรณดิศ  วีรดิศ  อาชวดิศ   พิริยดิศ   สุภัทรดิศ  กุมารดิศ

นอกจากนี้ หลายองค์ทรงมีพระนามคล้องจองกัน
จุลดิศ  อิทธิดำรง  ทรงวุฒิภาพ    รัชลาภจิรธิษฐ   ดิศศานุวัติ นิพัทธ์พันธุ์ดิศ   พิสิษฐดิศพงศ์ 


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ ชนชั้นสูง อื่นๆ ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 14 มี.ค. 20, 19:43
ก่อนอื่นต้องขออภัยด้วยค่ะที่เข้ามาขอบคุณช้า ขอขอบพระคุณท่านๆที่เข้ามาตอบ อธิบายเรื่องการตั้งชื่อให้ฟังมากๆค่ะ

และอนุญาตขอตอบคำถามของคุณเทาชมพูที่ถามไว้นะคะ

1   ไม่มีกฎหมาย ข้อบังคับ กฎเกณฑ์ใดๆ ในสังคมไทยที่กำหนดการตั้ง"ชื่อปัจเจกบุคคล"ที่คุณยกตัวอย่างถึง ว่าจะต้องใช้เกณฑ์อะไรหรือภาษาแบบไหนอย่างไร   เป็นสิทธิของผู้ตั้งแต่ละคน

- ถ้าเป็นเรื่องของภาษาดิฉันไม่ได้คิดว่าต้องมีกฏบังคับให้ตั้งชื่อได้แต่ภาษาบาลีและสันสกฤตค่ะ เพียงแต่เห็นว่าเป็นกลุ่มภาษาที่คนไทยเอามาตั้งเป็นชื่อจริงมากที่สุดและชื่อชาติอื่นก็ดูเหมือนไม่ยาวเท่านี้เลยยกมาถามค่ะ

2  ราชทินนามขุนนางเป็นคนละเรื่องกับชื่อของปัจเจกบุคคล  ราชทินนามมีไว้เพื่อบอกถึงหน้าที่การงานและสังกัดของขุนนาง   ไม่ใช่ชื่อตัว   
เช่นออกญาไกรเพชรรัตนสงครามรามภักดีพิรียภาหะ " เป็นราชทินนามประจำตัวของขุนนางที่มารับตำแหน่งเจ้าเมืองนครสวรรค์   ถ้าคนเดิมตายไปหรือเลื่อนตำแหน่งไปรับหน้าที่อื่น  เจ้าเมืองคนใหม่ของนครสวรรค์ก็เป็นออกญาไกรเพชรรัตน แทน

ดังนั้นในประวัติศาสตร์ไทย จึงมีราชทินนามซ้ำกันหลายคนในยุคต่างๆ จึงต้องวงเล็บชื่อเอาไว้ตอนท้ายให้รู้ว่าหมายถึงใคร

-เรื่องราชทินนามก่อนอื่นต้องขอขอบคุณสำหรับความรู้ค่ะ เหตุผลที่ยกมาดิฉันแต่เห็นว่าราชทินนามเป็นภาษาบาลีและสันสกฤตที่มีมากกว่า 3 คำขึ้นไปเหมือนชื่อคนทั่วไปเลยหยิบมาถามด้วยค่ะจะได้ครอบคลุมเรื่องชื่อต่างๆที่ใช้ภาษาบาลีและสันสกฤตที่มีมากกว่า 3 คำขึ้นไป


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ ชนชั้นสูง อื่นๆ ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 14 มี.ค. 20, 20:03
พอได้อ่านที่ท่ายๆยกมาตอบแล้วทำให้ที่ดิฉันมีสงสัยมีอยู่อีก 2 เรื่องค่ะคงต้องขอคำแนะนำด้วย

1 เรื่องกฏการแปลภาษาจากคำหลังไปคำหน้าของภาษาบาลีและสันสกฤตมีผลต่อการตั้งชื่อในสังคมไทยไหมคะ เคยมีการตั้งชื่อเพื่อให้คนแปลจากคำหลังมาก่อนไหม

2 อันนี้ต้องขออภัยไว้ก่อนถ้าไม่ควรนะคะ จากที่ดิฉันยกตัวอย่างมา เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี

-การเรียงคำ ศิรา+ภรณ์+โสภณ +พิมล+รัตน+วดี ไม่มีกฏอะไรที่ทำให้เรียงแบบนี้ขึ้นอยู่กับขึ้นอยู่กับผู้ตั้งว่าจะเรียงคำแบบไหนก็ได้ไม่มีกฏการเรียงคำ และถ้ามีการเรียงสลับคำว่า  โสภณ+ศิรา+ภรณ์ +รัตน+พิมล+วดี ก็สามารถทำได้ผิดกฏอะไรถูกไหมคะ



กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ ชนชั้นสูง อื่นๆ ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 มี.ค. 20, 20:08
   ดิฉันเดาจากคำตอบของคุณดาวกระจ่าง  ว่าคุณคงแปลกใจว่า เหตุใดจึงมีชื่อบาลีสันสกฤตอยู่ในชื่อยาวๆของคนไทยและราชทินนามขุนนาง     การตั้งชื่อเหล่านี้เกิดจากอะไร
   ก่อนอื่นขออธิบายว่า ภาษาไทยดั้งเดิม เป็นคำโดด คือคำเดี่ยวๆเสียเป็นส่วนใหญ่    เช่น พ่อ แม่  พี่  ต่อมาเมื่อพุทธศาสนาเข้ามาในดินแดนแหลมทอง   ภาษาบาลีซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในการเขียนพระไตรปิฎกก็เข้ามาเสริมให้คำในภาษาไทยมีมากขึ้น     ส่วนสันสกฤตนั้นมากับพราหมณ์  ในศาสนาฮินดูซึ่งอ้อมมาทางเขมรอีกทีหนึ่ง  
   ดังนั้นในสมัยอยุธยา จึงมีทั้งบาลีและสันสกฤตเข้ามาใช้ในศาสนาและวรรณคดี แล้วก็มาเป็นชื่อเสียงเรียงนามต่างๆ เช่นพระนาม "รามาธิบดี"ของกษัตริย์อยุธยาหลายพระองค์ด้วยกัน  
   ภาษาเหล่านี้ถือเป็นภาษาของชนชั้นสูง    ใช้ประกอบชื่อและราชทินนามขุนนาง  ซึ่งต้องการความสละสลวยและความหมายที่ซับซ้อนกว่าคำโดดในภาษาไทยดั้งเดิมจะเอื้อให้ได้     ค่านิยมเหล่านี้ก็สืบทอดมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
   พระนามเดิมของเจ้านายในสมัยรัตนโกสินทร์เป็นคำโดด   พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงมีพระนามเดิมว่า "ฉิม"  สมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงมีพระนามเดิมว่า "ทับ" แต่เมื่อทรงกรม  ภาษาก็จะเป็นพิธีรีตองขึ้น ต้องอาศัยภาษาบาลีสันสกฤตเข้ามาประกอบ  
   ส่วนประชาชนสามัญนั้น ก็ใช้ชื่อเป็นภาษาไทยคำโดดเสียเป็นส่วนใหญ่  ขอยกตัวอย่างชื่อตัวละครใน "สี่แผ่นดิน"  แม่พลอย พ่อเพิ่ม คุณอุ่น คุณเชย  คุณชิด ล้วนมีชื่อเป็นภาษาไทย คำโดด    สมัยนั้นไม่นิยมชื่อยาวๆเพราะถือว่าทำเทียมเจ้านาย    
  แต่การถือกันแบบนี้ในรัชกาลที่หกดูจะหย่อนลงมาก   คนสมัยใหม่ในรัชกาลที่ 6 เริ่มนิยมตั้งชื่อลูก 2 พยางค์แทนพยางค์เดียว  หรือถ้าเป็นลูกขุนนางก็อาจจะชื่อยาวหรูหราได้โดยไม่มีใครว่า
  เช่นเจ้าพระยามหิธร(ลออ ไกรฤกษ์) ตั้งชื่อธิดาค่อนข้างยาวเมื่อเทียบกับชื่อคนไทยรุ่นก่อน

ดุษฎีมาลา
มัณฑนาภรณ์
วิจิตราภรณ์
ภูษณาภรณ์
นิภาภรณ์
ดารา
รัตนาภรณ์


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ ชนชั้นสูง อื่นๆ ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 มี.ค. 20, 20:14
อ้างถึง
1 เรื่องกฏการแปลภาษาจากคำหลังไปคำหน้าของภาษาบาลีและสันสกฤตมีผลต่อการตั้งชื่อในสังคมไทยไหมคะ เคยมีการตั้งชื่อเพื่อให้คนแปลจากคำหลังมาก่อนไหม

ชื่อคน เป็นวิสามานยนาม  หมายความว่าเป็นชื่อเฉพาะตัว   ไม่ใช่ชื่อที่หมายถึงสิ่งของทั่วๆไป  เพราะฉะนั้นจะตั้งเพื่อแปลจากหลังมาหน้า หรือแปลจากหน้าไปหลัง ก็ทำได้ตามใจสมัครของผู้ตั้ง
เช่น พระนามของสมเด็จเจ้าฟ้า" มหาวชิรุณหิศ"  ก็เป็นการแปลจากหลังมาหน้า ค่ะ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ ชนชั้นสูง อื่นๆ ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 มี.ค. 20, 22:23
จากที่ดิฉันยกตัวอย่างมา เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี

การเรียงคำ ศิรา+ภรณ์+โสภณ +พิมล+รัตน+วดี ไม่มีกฏอะไรที่ทำให้เรียงแบบนี้ขึ้นอยู่กับขึ้นอยู่กับผู้ตั้งว่าจะเรียงคำแบบไหนก็ได้ไม่มีกฏการเรียงคำ และถ้ามีการเรียงสลับคำว่า  โสภณ+ศิรา+ภรณ์ +รัตน+พิมล+วดี ก็สามารถทำได้ผิดกฏอะไรถูกไหมคะ

สิ่งที่ควรยึดถือเป็นหลักในการเรียงคำบาลีสันสกฤตคือ คำสนธิ และ คำสมาส

คำว่า '"ศิราภรณ์" เป็นคำสนธิ เกิดจาก ศิระ + อาภรณ์ เแปลว่า เครื่องประดับศีรษะ จะแยกเป็น ศิรา + ภรณ์ หรือ ภรณ์ + ศิรา อย่างนี้ไม่ได้

คำว่า "รัตนวดี" เป็นคำสมาส เกิดจาก รัตนะ + วดี แปลว่า มีแก้ว คำว่า วดี ต้องลงท้ายคำนาม เป็นเพศหญิงตามหลักไวยากรณ์ จะลงท้ายคำว่า พิมล เป็น พิมลวดี อย่างนี้ไม่ได้ เพราะ พิมล ซึ่งแปลว่า ปราศจากมลทิน, ผ่องใส เป็นคำวิเศษณ์


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ ชนชั้นสูง อื่นๆ ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 16 มี.ค. 20, 13:40
ขอบคุณสำหรับคำอธิบายเรื่องคำโดดค่ะคุณเทาชมพู อันที่จริงกิฉันไม่ได้สงสัยเรื่องนั้นหรอกค่ะที่ดิฉันสงสัยเปฌป็นเรื่องกฏการตั้งชื่อน่ะค่ะอย่างที่ดิฉันได้ถามไปเรื่องต้องคิดถึงวิธีการอ่านด้วยไหม ดิฉันเห็นว่าภาษาบาลีและสันสกฤตเขาก็มีกฏ ไวยกรณ์ของเขาอยู่พอไทยนำมาใช้ในการตั้งชื่อไทยก็นำกฏ ไวยกรณ์ของภาษานั้นๆมาใช้ด้วยหรือไม่น่ะค่ะ ปล.เห็นคุณเทาชมพูพูดถึงการสมาส สนธิไว้ครั้งก่อนก็ประมาณเรื่องนั้นค่ะ ต้องขอโทษด้วยที่ไม่ได้ยกมาเดี๋ยวดิฉันจะไปศึกษาเพิ่มค่ะ

และขอบคุณคุณเพ็ญชมพูสำหรับคำอธิบายเรื่องการเรียงคำด้วยค่ะ เดี๋ยวดิฉันจะไปศึกษาเพิ่มค่ะ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ ชนชั้นสูง อื่นๆ ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 มี.ค. 20, 11:03
การเรียงคำในชื่อยาว ๆ และมีคำคล้องจองกัน เช่น พระนามทรงกรม/พระนาม/นาม สามารถสลับคำได้ (หากไม่มีการแยกคำอย่างผิดหลักไวยากรณ์เช่นในกรณี คำสมาส คำสนธิ) โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ถึงเปลี่ยนแปลงก็เล็กน้อย

…..............................
กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร
กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ
กรมขุนสิริธัชสังกาศ
กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ
กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์
....................................

พระนามทรงกรมข้างบนสามารถสลับคำได้ดังนี้

ราชศักดิ์สโมสร  
ทิวากรวงศ์ประวัติ
สิริธัชสังกาศ
สรรพสาตรศุภกิจ
สรรพสิทธิประสงค์
         ↓
ประสงค์สรรพสิทธิ
ศุภกิจสรรพสาตร
สังกาศสิริธัช
วงศ์ประวัติทิวากร
สโมสรราชศักดิ์

พระนามที่คุณดาวยกมาเป็นตัวอย่างก็อาจสลับคำได้ดังนี้

ศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี → รัตนวดีพิมล โสภณศิราภรณ์

แม้แต่ชื่อก็อาจสลับคำได้ เช่น ดาวกระจ่าง → กระจ่างดาว, เพ็ญชมพู → ชมพูเพ็ญ ;D


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ ชนชั้นสูง อื่นๆ ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 มี.ค. 20, 10:50
การตั้งชื่อบุตรธิดาตามอักษรชื่อบิดา  

พระยาอิศราธิราชเสวี (เลื่อน บุนนาค ) สมรสกับคุณหญิงเอิบอาบ สกุลเดิม อรรถจินดา มีบุตรธิดา ๕ คน

ท่านตั้งชื่อบุตรด้วยอักษร ล. ตามชื่อของท่าน  และตัวอักษรซ้ำกันในพยางค์ ตามแบบชื่อของภรรยา
บุตรทั้งสี่คน ชื่อ ละล่อง ละลิ่ว ลิ่วละล่อง และล่องละลิ่ว
ธิดาชื่อ ลีลา (สมรสกับ พลเรือโทพรชัย เทพปัญญา)

บุตรที่เกิดจากภรรยาอื่น ได้แก่ ลอยเลื่อน และเลื่อนลอย   มีธิดาชื่อ ลลิดา และลินดา


นอกจากจะตั้งชื่อตามอักษรต้นของชื่อบิดาแล้ว ก็ยังใช้อักษรต้นของชื่อมารดาด้วย  ;D

นอกจากการตั้งชื่อให้คล้องจองแล้ว ยังใช้อักษรต้นชื่อของบิดามารดามาตั้งชื่อลูกด้วย อย่างเจ้านาย เช่น พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ และ พระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระนามขึ้นด้วย "อ" เพราะเจ้าจอมมารดาเป็นเจ้าจอมก๊กออ (เจ้าจอมมารดาอ่อน และน้องสาว เจ้าจอมเอี่ยม เอิบ อาบ เอื้อน)

เจ้าจอมก๊กออ เป็นธิดาของ เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) และท่านผู้หญิงอู่ (วงศาโรจน์) บุตร ธิดา ของท่านทั้งสอง ถ้าเป็นชาย จะใช้ "ท" (หรือ  "ถ" เนื่องจากเน้นการออกเสียงเป็นสำคัญ) ตามเจ้าคุณบิดา ส่วนธิดา จะขึ้นด้วย "อ" ตามคุณหญิงมารดา  ดังนี้

เทียน-เอม-เทียม-อ่อน-แถบ-อ่วน-เอี่ยม-อิ่ม-อบ-เถลิง-เอิบ-อาบ-อาย-เอื้อน

บางครั้ง ทั้งบุตรและธิดา อาจใช้อักษรต้น ตามบิดาทั้งหมด หรือ บุตรธิดาที่เกิดจากอนุภริยา อาจใช้ตามมารดาทั้งหมด ทั้งนี้ ไม่ใช่หลักตายตัว  บางครอบครัวก็ตั้งชื่อตามใจชอบ

ในเรื่องสี่แผ่นดิน คุณเปรม (ปร) แม่พลอย (พ)   นำอักษรต้นของชื่อทั้งสอง มาตั้งเป็นชื่อบุตรธิดา คือ

ปร นธ์
ปรพั นธ์
ปร จน์
ปร ะ ไ

โดยชื่อบุตรนั้น เอาพยางค์หลัง มาเปลี่ยนเป็น "อ" เพื่อตั้งเป็นชื่อเล่น คือ

พนธ์ - อ้น
พันธ์ - อั้น
พจน์ - อ๊อด



กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ ชนชั้นสูง อื่นๆ ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มี.ค. 20, 11:27
การใช้คำเพื่อให้รู้ว่าเป็นบุตรหรือเชื้อสายจากบิดาหรือมารดา   

เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ  ทรงมีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ    พระโอรสพระองค์เดียวจึงมีพระนามว่า "จุลจักรพงษ์" 
จุล แปลว่า น้อย  ตรงกับ Junior ในภาษาอังกฤษ


คุณหญิงพันธ์ุเครือ ยงใจยุทธ อดีตภรรยาของพลอ. ชวลิต ยงใจยุทธ  เป็นธิดาของหลวงนรอัฎบัญชา  กับภรรยาชื่อเครือวัลย์    จึงได้รับนามว่า " พันธ์ุเครือ"


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ ชนชั้นสูง อื่นๆ ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 มี.ค. 20, 12:18
พระนามพระโอรส ธิดาในพลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ต้นสกุล ทองใหญ่  ล้วนมีความหมายว่า "ทอง" ตามพระนามพระบิดา

หม่อมสุวรรณ

หม่อมเจ้าหญิงสุพรรณพิมพ์
หม่อมเจ้าหญิงประสบสุวรรณ

หม่อมพริ้ง

หม่อมเจ้าชายทองฑีฆายุ
หม่อมเจ้าชายทองอนุวัติ

หม่อมจันทร์

หม่อมเจ้าหญิงอุไรวรรณ
หม่อมเจ้าหญิงสอิ้งมาศ
หม่อมเจ้าหญิงมาลากนก
หม่อมเจ้าชายลายฉลุทอง
หม่อมเจ้าหญิงเถาทองตรา

หม่อมนวม

หม่อมเจ้าหญิงพันธ์สิหิงค์
หม่อมเจ้าหญิงนาฏนพคุณ
หม่อมเจ้าชายไศลทอง
หม่อมเจ้าหญิงลำทองแร่
หม่อมเจ้าหญิงแพร่ทองทราย
หม่อมเจ้าหญิงสลักทองนูน
หม่อมเจ้าชายทองทูลถวาย
หม่อมเจ้าชายทองประทาศรี
หม่อมเจ้าชายทองคำเปลว

หม่อมเปลี่ยน

หม่อมเจ้าทองมุ่นใหญ่
หม่อมเจ้าหญิงมาลกสุวรรณ
หม่อมเจ้าหญิงข่ายทองถัก

หม่อมทองสุก

หม่อมเจ้าหญิงก่องกาญจนา
หม่อมเจ้าหญิงกรัณฑ์คำ

หม่อมแก้ว

หม่อมเจ้าชายทองแกมแก้ว


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ ชนชั้นสูง อื่นๆ ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มี.ค. 20, 13:24
เมื่อพ.ศ. 2454  ในรัชกาลที่ 6  สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวงได้เสด็จประพาสมณฑลพิษณุโลก พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าคำรบ ปราโมช ผู้บัญชาการทหารมณฑลพิษณุโลก ได้อุ้มบุตรชายคนเล็กที่ยังไม่มีชื่อไปเข้าเฝ้าด้วย
สมเด็จพระพันปีหลวงทรงรับมาอุ้ม  รับสั่งว่า "เต้นไป"  เด็กชายก็เต้นอยู่ในวงพระกร จึงพระราชทานนามว่า "คึกฤทธิ์"

เด็กชายจึงมีนามว่า หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ ชนชั้นสูง อื่นๆ ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มี.ค. 20, 15:55
พระนามพระโอรส ธิดาในพลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ต้นสกุล ทองใหญ่  ล้วนมีความหมายว่า "ทอง" ตามพระนามพระบิดา

นอกจากราชสกุล ทองใหญ่  ก็ยังมีราชสกุล ทองแถม ที่พระโอรสธิดามีพระนามเกี่ยวกับ  "ทอง" ตามพระนามแต่ประสูติของพระบิดา  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ  พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาสังวาลย์

หม่อมเจ้าทองเชื้อธรรมชาติ   ทองแถม
หม่อมเจ้าเครือมาศวิมล        ทองแถม   
หม่อมเจ้าพวงสนธิสุวรรณ     ทองแถม
หม่อมเจ้าพันธุคำนพคุณ       ทองแถม
หม่อมเจ้าคำงอก               ทองแถม
หม่อมเจ้าทองชมพูนุท        ทองแถม
หม่อมเจ้าชุนทองชุด          ทองแถม   
หม่อมเจ้าหย่องกาญจนา      ทองแถม
หม่อมเจ้าทองเติม             ทองแถม
หม่อมเจ้าทองต่อ              ทองแถม
หม่อมเจ้ากนกนารี             ทองแถม
หม่อมเจ้าสุวรรณโสภา         ทองแถม
หม่อมเจ้าทองบรรณาการ      ทองแถม
หม่อมเจ้ากังวาลสุวรรณ       ทองแถม


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ ชนชั้นสูง อื่นๆ ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มี.ค. 20, 14:51
พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ ทรงมีพระนามเดิมว่าหม่อมเจ้าขจร มาลากุล  ต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ เลื่อนขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าขจรจรัสวงษ์
ทรงตั้งพระนามโอรสธิดา ซึ่งเป็นหม่อมราชวงศ์  ด้วยตัวอักษร ป. ตามอักษรตัวแรกของพระนามทรงกรม

1 หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล (เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี)
2 หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล (เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี)
3 หม่อมราชวงศ์หญิงแป้น มาลากุล
4 หม่อมราชวงศ์หญิงปั้ม มาลากุล
5 หม่อมราชวงศ์หญิงแป้ม มาลากุล
6 หม่อมราชวงศ์หญิงแป้ม มาลากุล
7 หม่อมราชวงศ์หญิงปุย มาลากุล
8 หม่อมราชวงศ์โป้ย มาลากุล (พระยาเทวาธิราช)
9 หม่อมราชวงศ์โป๊ะ มาลากุล (พระยาชาติเดชอุดม)
10 หม่อมราชวงศ์เปี๊ยะ มาลากุล
11 หม่อมราชวงศ์ปีก มาลากุล


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ ชนชั้นสูง อื่นๆ ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 มี.ค. 20, 08:17
บุตรธิดาชั้นหม่อมหลวงก็ยังคงใช้ตัวอักษร ป เช่นกัน  ;D

สมเด็จกรมพระยาบำราบฯ มีพระโอรส ประสูติจากหม่อมกลีบ ได้แก่หม่อมเจ้าขจรจรัสวงษ์    ต่อมาเลื่อนขึ้นเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าขจรจรัสวงษ์ กรมหมื่นปราบปรปักษ์

กรมหมื่นปราบปรปักษ์  มีโอรสจากหม่อมเปี่ยม ชื่อม.ร.ว. เปีย มาลากุล  รับราชการได้เป็นเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี

เจ้าพระยาพระเสด็จฯ(ม.ร.ว. เปีย)มีบุตรธิดากับท่านผู้หญิงเสงี่ยม  รวม  8 คน คือ

ม.ล. ปก

ม.ล. ปอง สมรสกับหม่อมเจ้าสุรวุฒิประวัติ เทวกุล

ม.ล. เปนศรี

ม.ล. ปนศักดิ์

ม.ล. ป้อง

ม.ล. ปิ่น

ม.ล. เปี่ยมสิน

ม.ล. ปานตา สมรสกับนายเมืองเริง วสันตสิงห์

บุตรคนที่ ๖ คือ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล (https://th.m.wikipedia.org/wiki/หม่อมหลวงปิ่น_มาลากุล) ท่านเป็นบุคคลสำคัญในวงการศึกษาของไทย และได้รับการยกย่องเป็นบุคคลสำคัญทางการศึกษาระดับโลก

มล. ปิ่น เป็นท่านผู้ให้กำเนิดโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในยุคปัจจุบัน ในฐานะลูก ตอ. คนหนึ่ง ผมยังจำได้ว่า เพลงประจำโรงเรียนคือเพลง "ปิ่นหทัย" และว่ากันว่า เล็งถึงท่านผู้ก่อตั้งโรงเรียนนี่เอง ในเนื้อเพลงนั้น ว่ากันว่าท่านผู้แต่งเนื้อเพลงสามารถบรรจุชื่อของอาจารย์ใหญ่โรงเรียนเตรียมฯ ทุกท่านตั้งแต่แรกตั้ง คือท่าน ม.ล. ปิ่นมาจนถึงท่านที่เป็นอาจารย์ใหญ่อยู่ในขณะที่แต่งเพลง ใส่เข้าไปในเนื้อเพลงปิ่นหทัยได้หมด (แต่อาจารย์ใหญ่หลังจากนั้น ยังไม่มีเนื้อ version ที่ updated ครับ)

...รัก ตอ. ขอจงอยู่ยืนนาน

 รักครูอาจารย์ รักเพื่อนทั่วหน้า

รักจริงรักจริง รักสิงวิญญาณ์

รัก ตอ. ประหนึ่งว่า "ปิ่น" ปักจุฑานั่นเอย...