เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: Wandee ที่ 10 ก.ค. 10, 08:29



กระทู้: รายงานการรับรองเซอร์ยอนโปวะริงราชทูตอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ก.ค. 10, 08:29

สาระของเรื่อง คือ  มีข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องท่านผู้หญิงทรัพย์  หรือ แหม่มทรัพย์  ภรรยาของหันแตร และ โรเบิร์ต  ฮันเตอร์  บุตร

ต่อจากเรื่อง บริติข แฟกเตอรี่  ที่ คุณหลวงเล็กได้เขียนไว้


รายละเอียดของการต้อนรับก็มีแต่เรื่องผลไม้และขนมที่ส่งไปทักทูต  ที่ดิฉันสนใจ  อ่านแล้วอ่านอีก


ยังมีเรื่องฮาริปักถามซอกแซก   เลยไปหาเรื่องฮาริปักอ่าน   รู้จักเพิ่มขึ้น  จึงตั้งใจจะมาเล่าว่าฝรั่งถามอย่าง  ไซมีสตอบไปอีกอย่าง
ในเรื่องนี้  ล่าม  อาจอธิบายไม่ได้


แหล่งข้อมูลก็สยามประเภท เล่ม ๓  และเอกสารต่างประเทศ


กระทู้: รายงานการรับรองเซอร์ยอนโปวะริงราชทูตอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 10 ก.ค. 10, 08:33
มาปูเสื่อ  วางหมอนอิง  ตั้งสำรับคาวหวาน  คอยฟังคุณวันดีเล่า 
ขอข้อมูลละเอียดยิบเลยนะครับ   แค่ได้ยินชื่อเอกสารก็เนื้อเต้นแล้ว  ;D


กระทู้: รายงานการรับรองเซอร์ยอนโปวะริงราชทูตอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ก.ค. 10, 08:58
       สยามประเภท  เล่ม ๓  ตอนที่ ๑๕   วันศุกร์ที่ ๒๐ เมษายน  ร.ศ. ๑๑๙

เริ่มจากสักวา  ของ  ขุนนางสามแผ่นดิน ใน หน้า ๖๕๑


       ศักระวาท์สาระวอนปากบอนถาม                     ไม่ออกความแล้วจะเยาะหัวเราะหยัน

กล่าวแต่ความล้ำลึกบึกรำบรรพ์                             เชิญเล่นกันไม่นานการบูดรา

เห็นออกแต่เรื่องบูราณนานหลายร้อย                       ปัญญาน้อยของลึกเหลือศึกษา

จะสืบอ้างพยานใครที่ไหนมา                                เจ้าตำราอวดวุ่นเป็นจุณเอย


       ศักระวาท์ถามไม่นานการลับลี้                       เมื่อที่สี่รัชกาลกรุงสยาม

มีอังกฤษทูตาพยายาม                                      ปรากฎนามเซอร์ยอน โปวะริง

มาเจริญไมตรีเปนทีแรก                                     คงจะแปลกดีร้ายสักหลายสิ่ง

แม้นท่านครูผู้ฉลาดเปนปราชญ์จริง                        อย่าจนนิ่งอวดฝีปากอยากฟังเอย



กระทู้: รายงานการรับรองเซอร์ยอนโปวะริงราชทูตอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ก.ค. 10, 09:27
ในวันแรกนั้น เซอร์ยอน โปวริง  กล่าวกับหลวงสุรสาคร ล่าม  เป็นที่น่าฟังว่าต้อนรับดีเหมือนในแผ่นดินพระนารายณ์

พระยามนตรีสุริยสงศ์(ชุ่ม)ผู้ไปรับรองแทนเจ้าพระยาพระคลัง(ขำ)   กล่าวถ่อมตัวตามระเบียบ  และขอโทษว่าการรับรองอาจไม่สมเกียรติยศ


ฮะริปัก กงสุลอังกฤษประจำอยู่ในกรุงเทพตอบว่า  ท่านเซอร์ติดธุระอยู่เมืองจีนเพราะราชการเกี่ยวข้องใหญ่โต   

ด้วยทหารสมเด็จพระเจ้ากรุงปักกิ่งพระบรมราชาธิราชเจ้ายกกองทัพมาตีเมืองเซี่ยงไฮ้กลับไปได้   ถ้าจะไม่มาก็จะเหมือนไม่รักษาสัญญา

จึงต้องเข้ามาตามนัดหมายเดิม     จะอยู่ในกรุงเทพเต็มที่ก็ ๔ - ๕ วัน    ไม่เกินหนึ่งอาทิตย์

ฮะริปักนี่ไปอยู่เมืองจีนตั้งแต่อายุวัยรุ่น  เป็นลูกพี่ลูกน้องกับเมียหมอกิสลับ(ถ้าไม่ใช่หมอกิสลับมิชชันนารีก็ฝรั่งที่ชื่อกิสลับอีกคนหนึ่ง)    พูดจีนได้  แถมหัดเรียนภาษาญี่ปุ่นด้วย


กระทู้: รายงานการรับรองเซอร์ยอนโปวะริงราชทูตอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ก.ค. 10, 12:03
ฮาริปัก   จากวิกิพีเดีย

Harry Smith Parkes        ต่อมาได้รับพระราชทานยศเป็น sir  เพราะคล่องแคล่วในกิจการตะวันออกมาก


ประวัติโดยย่อ

บิดา คือ    แฮรี  ปากส์   ผู้ก่อตั้งบริษัทตีเหล็ก    Parkes, Otways & Co.,   

เกิดที่เมือง Staffordshire  ประเทศอังกฤษ  ปี ค.ศ. ๑๘๒๘(พ.ศ. ๒๓๗๑)



กำพร้ามารดาเมื่ออายุ ๔ ขวบ   ปีต่อมาบิดาประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต

ลุงซึ่งเป็นนายทหารเรือเกษียณรับไปเลี้ยงที่เมืองเบอร์มิงแฮม

เข้าโรงเรียนประจำที่ Basal Heath และในปี 1838  เข้าโรงเรียน King Edward Grammar School


กระทู้: รายงานการรับรองเซอร์ยอนโปวะริงราชทูตอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ก.ค. 10, 12:47
นับได้ว่าพอมีการศึกษาขั้นต้นบ้างเท่านั้น    อายุได้ ๑๓ ก็เดินทางไปอยู่กับญาติที่เมืองจีนที่แต่งงานกับมิชชันนารีคาร์ล กิสลับ

พอไปถึงก็เตรียมตัวไปทำงานเป็นนักเรียนล่ามในสำนักของเซอร์ เฮ็นรี  พอตติงเกอร์ ตัวแทนทางการค้าในจีน   ตอนนี้ล่ะเกิดสงครามฝิ่นครั้งแรก


ลูกกำพร้าชนชั้นพ่อค้าผู้นี้ได้เรียนภาษาจีนและได้ร่วมเดินทางไปกับคณะของเซอร์ เฮ็นรี พอตติงเกอร์ตามที่ต่างๆในประเทศจีน

เขาคงซึมซับถึงอำนาจของจักรภพที่สามารถบังคับให้เปิดท่าเรือใหญ่ๆได้ถึง ๕ แห่ง

ห้าปีต่อมาเขาก็เริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่น



ที่เล่าประวัติของนักการทูตผู้นี้มาเล็กน้อยก็เพื่อให้เข้าใจการสนทนาของเขากับคนไทยว่าคำถามของเขาล้วนบ่งบอกความกร้าวของวัยหนุ่ม

ที่ไม่มีความเกรงใจแฝงอยู่เลย     ถามซักไซ้พระยามนตรีสุริยวงศ์เรื่องสงครามเชียงตุงแล้วหัวเราะเยาะ



กระทู้: รายงานการรับรองเซอร์ยอนโปวะริงราชทูตอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ก.ค. 10, 13:25

       พระยามนตรีสุริยวงศ์(ชุ่ม)  บอกหลวงสุรสาครล่าม  ให้ถามเซอร์ยอนโปวะริงว่า

ได้ยินข่าวเล่าลือมาว่า   ราชทูตฝรั่งเศสและราชทูตเมืองอเมริกัน   จะเข้ามาพร้อมกับเซอร์ยอน

จะเข้ามาจริงหรือไม่จริงประการใด


ฮะริปักตอบว่า  เดิมราชทูตทั้งสองได้พูดกันไว้ที่ฮ่องกงมาจะเข้ามาพร้อมกัน   ในเวลานั้นเมืองจีนยังสงบราบคาบ   ต่อมามีการรบราฆ่าฟัน

ขึ้นมากนัก    ฝ่ายราชทูตอเมริกันต้องกลับไปอเมริกาเพราะมีธุระ          แต่ราชทูตฝรั่งเศสมีกิจติดพันกับจีน     ต้องอยู่จัดการโดยสามารถ

ราชทูตอเมริกันได้ขอให้เซอร์ยอนคอย  จะได้เข้าไปกรุงเทพพร้อมกัน        เซอร์ยอนตอบว่าได้ยินข่าวว่าทางกรุงเทพจัดการต้อนรับไว้พร้อมแล้ว  จะช้าอยู่ไม่ได้



กระทู้: รายงานการรับรองเซอร์ยอนโปวะริงราชทูตอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ก.ค. 10, 13:47

พระยามนตรีสุริยวงศ์ถามว่า         ราชทูตฝรั่งเศาและราชทูตอเมริกันจะเข้ามาในปีนี้หรือไม่มา

ฮะริปักตอบว่า  เห็นจะเข้ามาไม่ได้ในปีนี้



แล้วฮะรีปักถามว่า   เจ้าพระยากลาโหมกับเจ้าพระยาคลัง  สบายดีอยู่หรือ

พระยามนตรีศรีสุริยวงศ์ตอบว่าสบายดีอยู่


ฮะริปักถามว่า  ได้ยินข่าวว่าท่านเจ้าพระยากลาโหมขึ้นไปเมืองลาวเชียงตุง  กลับมาแล้วหรือยัง        ราชการทัพฝ่ายสยามกับที่เมืองเชียงตุงเป็นอย่างไรบ้าง

พระยามนตรีสุริยวงศ์ตอบว่า   เจ้าพระยากลาโหมไม่ได้ขึ้นไปถึงเมืองลาว  เป็นแต่จ้าวนายขุนนางผู้ใหญ่  ขึ้นไปปราบปรามเชียงตุง   เดี๋ยวนี้เมืองเชียงตุงเรียบร้อยราบคาบเลิกแล้ว
ฮะริปักถามว่า   เลิกกันเสียด้วยเหตุใด

พระยามนตรีสุริยวงศ์ตอบว่า       หนทางที่จะขึ้นไปเชียงตุงนั้น  ต้องข้ามภูเขาเป็นทางกันดาลนัก       พลทหารที่จะขนเครื่องอาวุธมีปืนใหญ่เป็นต้น  จะขนไปไม่ได้ เป็นการลำบากยิ่งนัก


ฮะริปักถามว่า  พลทหารไทยที่ขึ้นไปรบกับลาวเชียงตุงประมาณสักเท่าใด

ฝ่ายพระยามนตรีสุริยวงศ์ตอบว่า            พลทหารไทยทั้งหมดที่ขึ้นไปเมืองลาวเชียงตุง  มีบัญขี หนึ่งแสนเก้าหมื่นหกพันสามร้อยคน

ฮะริปักตอบว่า        รี้พลไทยมากนัก   ต้องเสียเงินเดือนเบี้ยเลี้ยงทหารเดือนละเท่าไร

พระยามนตรีสุริยวงศ์ตอบว่า    ไม่ต้องเสียเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงเลย   เกณฑ์มารับราชการแล้ว  ก็เกณฑ์ข้าวตามราษฎรหัวเมืองมาเลี้ยง

ฮะริปักได้ยินดังนั้นก็หัวเราะเยาะเล่นมากแล้วพูดว่า     เมืองไทยไม่มีความกรุณาแก่ไพร่เลย




กระทู้: รายงานการรับรองเซอร์ยอนโปวะริงราชทูตอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ก.ค. 10, 13:51


บันทึกนี้  ก.ศ.ร.กุหลาบเล่าว่า  เป็นสมุดไทยดำ  พระยามนตรีสุริยวงศ์เรียบเรียงไว้ด้วยลายมือตนเอง



กระทู้: รายงานการรับรองเซอร์ยอนโปวะริงราชทูตอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ก.ค. 10, 14:43
       การสนทนาได้ถามถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว   คุยถึงกำปั้นกลไฟที่มีจักรใต้น้ำ

เรื่องเจ้าเมืองวิลาดคิดทำกำปั่นแบบใหม่ยาว ๖๐๐ ฟิต  ปากกว้าง ๒๔ ฟิต           ขุนนางช่างทำปืนใหญ่ดีพิเศษ

คิดทำกระสุนสำหรับกำปั้น  เป็นกระสุนเรียวเป็นรูปไข่คล้ายปลรกล้วย  ยิงทางไกลได้ ๔ ไมล์    ถูกป้อมค่ายใดก็ทำลายได้หมดสิ้น

เรื่องโจรผู้ร้ายชุกชุมในกรุงปักกิ่ง


     ขณะนั้นพระยาสมุทบุรารักษ์กรมการเมืองสมุทรปราการ  ได้จัดของไปทักถามราชทูต

มะพร้าวอ่อน    ๒๐ ทลาย
กล้วยหอม      ๓๖ โต๊ะ
อ้อย            ๑๕๕ ลำ
ส้มเปลือกบาง   ๓๐ โต้ะ
มะม่วงดิบ        ๕  โต๊ะ
ข้าวสาร        ๑๐   ถัง
ข้าวเปลือก      ๕   สัด
สุกรเป็น         ๕   สุกร
เป็ดเป็น        ๕๐   เป็ด
ไก่เป็น        ๑๐๐   ไก่
ฟืน         ๑๐๐๐๐   ดุ้น  


       ของหลวงพระราชทาน

มะปราง           ๒  โต้ะ
ลิ้นจี่               ๔    "
มะซาง            ๒    "
มะม่วง            ๒    "
ผลหนอยแหน่    ๑    "
ทับทิม            ๑    "
ส้มเขียวหวาน    ๒   "
ฝอยทอง          ๑   "
ทองหยิบ          ๑   "


     กัปตันที่นำเรือมาชื่อ กัปตัน เกริบ


กระทู้: รายงานการรับรองเซอร์ยอนโปวะริงราชทูตอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ก.ค. 10, 15:01

การเจรจามีขึ้นอีก ๑ รอบ  ทางอังกฤษขอให้ขุนนางอังกฤษขึ้นไปตรวจดูที่ทางที่จัดไว้ต้อนรับ

กำปั่นขอนำไปกรุงเทพด้วย


พระยามนตรีสุริยวงศ์ป้องปัดเรื่องการนำเรือกำปั่นขึ้นมากรุงเทพ

ทางอังกฤษแย้งว่าสมัย ร.​๒ กำปั่นใบเรือเป็นเรือรบของเมืองมะกาวหรือโควา  แต่งกาละโลศมันโนเวล์ขึ้นไปถึงกรุงเทพครั้งหนึ่งแล้วไม่ใช่หรือ

พระยามนตรีตอบว่า กะปิตันได้ขนปืนใหญ่สำหรับเรือขึ้นหมด  นำมาไว้ที่ด่านหน้าเมืองสมุทรปราการพร้องเครื่องกระสุนดินดำ

ฮะริปักบอกว่าธรรมเนียมอังกฤษถ้ามิได้มีเหตุร้ายเป็นอันตรายจนจะต้องอับปางจะนำปืนน้อยใหญ่ขึ้นไม่ได้เลย

ชาติอังกฤษหรือชาติอื่นในยุโรปประเทศ ถือว่าถ้าขุนนางเมืองใดไปเจริญพระราชไมตรีกับประเทศใด ๆ   ถ้ามีกำปั่นรบไปด้วยตั้งแต่หนึ่งลำขึ้นไป  ถือเป็นเกียรติยศกับเมืองนั้นมาก


กระทู้: รายงานการรับรองเซอร์ยอนโปวะริงราชทูตอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ก.ค. 10, 17:29


       เจ้าคุณมนตรีสุริยวงศ์ตอบว่า     ธรรมเนียมประเทศยุโรป  กับประเทศอินเดียไม่เหมือนกัน

เมืองฝ่ายอินเดียถือว่า   ถ้ามีกำปั้นรบเข้าไปในบ้านเมืองใดแล้ว  ก็มักจะเป็นเหตุร้ายกับบ้านเมืองสักครั้งหนึ่ง

คือเมื่อ ๑๒ ปีที่ล่วงมาแล้วนั้น    มีกำปั่นรบฝรั่งเศสเข้าไปที่อ่าวเมืองตุรน ๒ ลำ     คือเป็นอ่าวหน้ากรุงเว้ของญวนนั้น

กำปั่นรบก็ได้ก่อวิวาทกับญวน       จนบัดนี้ก็หารู้ว่าญวนทีความผิดสิ่งไรไม่      เพราะเหตุนี้จึงไม่ไว้ใจคนต่างประเทศ



เมื่อเซอร์ยอนโปวริงเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีครั้งนี้   ฝ่ายกรุงเทพ ฯ ได้ยินข่าวเล่าลือกันว่าท่านเซอร์เป็นตนสุภาพเรียบร้อย 

มีน้ำใจยุติธรรมรักษาความสามัคคีเสมอกัน  มิได้เอารัดเอาเปรียบกับเมืองเล็กเมืองน้อย         ก็เป็นผู้คุ้นเคยส่งหนังสือไปมาทูลเกล้าถวาย

ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ เจ้าอยู่หัวมาช้านานแล้ว           พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระมหากรุณาโปรดปรานท่านเซอร์มากด้วย

เพราะเหตุนี้ เสนาบดีสยามจึ่งไม่มีความรังเกียจอะไรในท่านเซอร์ยอนโปวริง               แม้ถึงจะนำกำปั่นกลไฟขึ้นไปใน

กรุงเทพ ฯ ด้วยให้เป็นเกียรติยศแก่ราชทูตนั้น            ฝ่ายเสนาบดีไทยก็จะยอมให้ได้ตามความประสงค์


       เมื่อท่านเซอร์จะขึ้นไปกรุงเทพ ฯ เมื่อใด          เสนาบดีไทยจะได้จัดเรือบันดาศักดิ์มีกระบวนแห่มารับรอง   

ให้สมแก่เกียรติยศของเอกอรรคราชทูตพิเศษอังกฤษ   ซึ่งเป็นมหาประเทศใหญ่ในทวีปยุโรป

ไพร่บ้านพลเมืองไทยจะได้แลดูและชมบรรดาศักดิ์ของท่านทั่วตลอดลำน้ำเจ้าพระยา   แต่ทว่ากำปั่นเรือไฟให้รอพักอยู่ที่หน้าเมืองสมุทรปราการก่อน       

กว่าจะมีเจ้าพนักงานฝ่ายไทยได้มานำทางเรือกลไฟขึ้นมา    ภายหลังจึงจะขึ้นไปตามท้ายกระบวนรับรองราชทูตอังกฤษได้



(มิน่าเล่า   เซอร์ยอนถึงออกปากชมสมเด็จเจ้าพระยาเป็นอย่างมาก )


กระทู้: รายงานการรับรองเซอร์ยอนโปวะริงราชทูตอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ก.ค. 10, 21:35

       ครั้นวันพฤหัสบดี  เดือน ๕ ขึ้น สิบเอ็ดค่ำ     สมุหพระกลาโหม ๑   พระยามนตรีสุริยวงศ์ ๑

พระยาราชานุประพันธ์   พระยาราชวังสัน   พระยามหาอัครนิกร ๑  พระยาสมุทรบุรารักษ์ ๑

ได้จัดเรือสำปั้นเก๋งภั้งกรอบปิดทองคำเปลว   ซึ่งเป็นเรือของสมเด็จเจ้าพระยาพระองค์ใหญ่โดยยาว ๑๑ วา ลำ ๑

ยาว ๑๐ วาสองศอกลำ ๑    ทั้งสองลำมีพลพาย สวมเสื้อแดงหมวกแดงลำละ ๒๔ คน   มอบให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายอังกฤษ

กับจีนคนใช้ ๔ คน มาตรวจดูที่พักของเซอร์ยอนโปวริงในกรุงเทพ ฯ


       หลวงชนะไพรินทร์ ๑   จางวางสา ๑   ขุนสำแดงเดชา ๑   นายทหารปืนใหญ่ในเมืองสมุทปราการ  คุมเรือแขกเมืองเข้ากรุงเทพ

หลวงสุระสาครล่าม ๑   กับขุนหมื่นฝรั่งกะดีจีนล่าม ๒ นาย  กำกับแขกเมืองขึ้นไปถึงกรุงเทพ



       เจ้่าพระยาพระคลังผู้สำเร็จราชการกรมท่า มีบัญชาสั่งให้   พระยาพิพัฒนโกษา ๑      พระยาวิสูตรโกษา ๑     พระอนุรักษโยธา ๑
หลวงฤทธิสำแดง ๑      ลงไปคอยรับรองที่บันไดท่าน้ำจะขึ้นตึกสูงที่พักแขกเมืองหน้าวัดประยูรวงศ์นั้น



แล้วสั่งให้ทรัพย์ ภรรยามิศเตอร์ฮันเต้อ   เป็นผู้ทำกับข้าวอย่างฝรั่ง  มาเลี้ยงจนกว่าพวกแขกเมืองจะกลับไป


       ในตอนบ่าย ๕โมงเศษ   ฝ่ายอังกฤษไปเยี่ยมเยือน ฯ พณ​ ฯ มหาโกษาธิบดีกรมท่า

หลวงสุรสาคร(มืศเตอร์โรเบิด   บุตรมิศเตอร์หันแกร) เป็นล่าม




กระทู้: รายงานการรับรองเซอร์ยอนโปวะริงราชทูตอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ก.ค. 10, 21:52

พาฝรั่งไปทัววัด    ไปวัดประยูรวงศาราม

แขกเมืองชมวัดว่างามมาก  มีอะไรปลาดดี

แขกเมืองเก็บหอยในอ่างบัวไปวางบนภูเขาดูเล่น    ตอนเย็นจับผีเสื้อ จับตักแตนตามต้นไม้ริมขอบสระ  นำไปใส่ขวดแก้ว

เก็บดอกไม้ในกระถาง        ขึ้นไปบนฐานทักษิณพระเจดีย์ใหญ่  บ่นว่าอิฐปูนไม่แข็งแรง

เข้าไปในพระอุโบสถและพระวิหาร  เห็นพระพิมพ์อยู่ในวิหารมาก  ถามล่ามว่ามีขายที่ไหนบ้าง  อยากได้

ไม่มีผู้ใดบอกเพราะเกรงผิด



ไปวัดกัลยาณมิตร

ฮะริปักว่า  ไปเที่ยวมาหลายเมืองแล้วพม่าลังกา  ยังไม่เคยเห็นพระที่ใหญ่โตอย่างนี้เลย



ไปวัดอรุณราชวราราม

ฮะริปักถามว่าพระปรางค์สูงเท่าไร

ขุนพิพิธบอกกัยหลวงสุรสงครามว่า  ๔๐ วา

ฮะริปักบอกว่า  เห็นจะไม่ถึง ๔๐ วา  จะเป็น ๓๐ วาเท่านั้น



พูดคุยกันเล็กน้อยแล้วก็ลงมา


กระทู้: รายงานการรับรองเซอร์ยอนโปวะริงราชทูตอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ก.ค. 10, 13:58

เจ้าพระยาพระคลังเสนาบดี  ผู้สำเร็จราชการกรมท่า   มีบัญชาให้พระยามนตรีสุริยวงศ์จัดหาผลไม้ที่ดี ๆ ส่งไปให้ฮะรีปักและคณะ


       ครั้นเวลา ๒ โมงเช้า ฮะริปักลงเรือญวนเก๋งภั้งปิดทองคำเปลว  พลพายสรวมเสื้อแดงหมวกแดงล่องลงไปเที่ยวซื้อสิ่งของตามตลาดท้องน้ำ

แฮริปักถามว่า   แพนั้นใครเป็นคนคิดทำขึ้นก่อน

หลวงสุรสาครล่ามถามขุนพิพิธผู้กำกับว่า    คนโบราณคิดทำการแพต่อ ๆ กันมา

แฮริปักหัวเราะเยาะแล้วพูดว่า     คนโบราณคิดทำนั้นชื่ออะไร   คิดทำขึ้นในปีใด        ขุนพิพิธจนปัญญาต้องก้มหน้าไป



       แล้วแฮริปักให้แจวเรือเก๋งภั้งขึ้นมาถึงปากคลองตลาดแล้ว    เห็นผลพลับสดสุกแดงในกระจาดวางไว้ขายหน้าแพ

จึงถามหลวงสุรสาครว่าผลไม้ลูกแดง ๆ นั้นชื่อว่าอะไร     ปลูกในกรุงเทพนี้เองหรือมาจากที่ใด

หลวงสุรสาครถามขุนพิพิธสมบัติ     ขุนพิพิธ​สมบัติตอบว่า   ชื่อผลพลับเกิดขึ้นเองในเมืองไทย

ฮะริปักพูดว่า ไม่จริง  ผลพลับนี้มีในเมืองจีน


       
       แล้วเรือฮาริปักพายมาถึงน่าวังกรมหมื่นอุดมรังษี    เห็นเด็กหญิงสาวทาขมิ้นเหลืองนั่งอยู่ที่ท่าน้ำ      จึ่งถามว่า

เด็กคนนั้นผิวเนื้อสีเหลืองเพราะเอาทองคำเปลวมาปิดหรือ

ขุนพิพิธสมบัติตอบว่า  ไม่ได้ปิดทอง   เด็กหญิงคนไทยผิวเหลืองเองเป็นธรรมดา

แฮริปักให้แจวเรือเข้าไปให้ใกล้  จะได้ดูให้ถนัด         ครั้นแจวเรือเข้าใกล้แล้วจึ่งเห็นถนัดว่าไม่ใช่เนื้อเหลืองเอง

จึ่งพูดว่า   ท่านว่าเนื้อเด็กไทยเหลืองเองนั้นไม่จริง  เห็นแล้วว่าทาสีจึ่งเหลือง


       
       ฮะริปักให้พายเรือแจวเรือขึ้นถึงหน้าพระตำหนักแพ       เห็นมีเรือบรรดาศักดิ์ดาดหลังคาสีมีอยู่ ๖ ลำ   กับเรืออะสุรวายุภักษ

แลเห็นเรือรูปสัตส์มียักษ์แลลิงเป็นต้นหลายลำ

ฮะริปักถามว่า        เรืองาม ๆ ทำไว้เรียบร้อยสำหรับอะไร

ล่ามตอบว่า  สำหรับจะได้ลงไปรับราชทูตอังกฤษ



กระทู้: รายงานการรับรองเซอร์ยอนโปวะริงราชทูตอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ก.ค. 10, 14:10
       แล้วแลขึ้นไปเห็นโรงเรือพระที่นั่งยาวเส้นเศษ     จึ่งบอกล่ามว่า   ขอให้แวะเรือเข้าที่หน้าโรงเรือ   จะขอขึ้นไปดูเรือพระที่นั่งในโรงด้วย

ขุนพิพิธสมบัติห้ามไว้ไม่ให้ขึ้นไป   เพราะยังไม่ได้รับบัญชาอนุญาตมาจากท่านเสนาบดี


       เรือแขกเมืองพายขึ้นไปถึงท่าช้าง          จึ่งได้เห็นช้างมาลงน้ำที่ท่านั้นหลายเชือก

ฮะริปักถามว่า  ช้างนี้  จับมาทำกันอย่างไร

ขุนพิพิธสมบัติตอบว่า   มีหมอช้างบังเกิดมาในตระกูลพระพิคฆะเนศวร   มาจับช้างในป่าด้วยเวทมนต์  จึ่งจับได้   ถ้าไม่มีคาถาแล้วจับไม่ได้

ฮะริปักตอบว่า  เคยเห็นคล้องช้างที่เมืองพม่าแล้ว   ไม่ต้องมีคาถาอะไรพม่าก็จับได้เหมือนกัน



กระทู้: รายงานการรับรองเซอร์ยอนโปวะริงราชทูตอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ก.ค. 10, 14:28

       พระยามนตรีสุริยวงศ์ไปพบฮะริปัดตอนกลางวัน

ฮะริปักถามว่า   เรือที่สำหรับจะลงไปรับเซอร์ยอนโปวริงเอกอรรคราชทูตอังกฤษนั้น   จัดตกแต่งไว้เท่านั้นหรือ

พระยามาตรีสุริยวงศ์ตอบว่า   จัดไว้เท่านั้นพอดีแล้ว

ฮะริปักตอบว่า   เมื่อครั้งบ้านเมืองดี  ในกรุงศรีอยุธยาโบราณนั้น  เมื่อมองซิเออลารุแบร์ราชทูตฝรั่งเศสเข้ามากรุงเก่า

กรุงเก่าได้จัดเรือแพนาวารับรองมากกว่าครั้งนี้       โดยเราได้เห็นมีรูปเรือไทยที่พวกฝรั่งเศสตีพิมพ์ไว้ในสมุดหนังสือพิมพ์หลายเล่ม

เห็นมีเรือกระบวนแห่งามมากกว่าครั้งนี้หลายเท่า


พระยามนตรีสุริยวงศ์ตอบว่า   ครั้งบ้านเมืองดีมีเรืองาม ๆ มาก     ด้วยจัดการแห่พระราชสาส์นของเจ้าเมืองฝรั่งเศสด้วย      จึ่งมีกระบวนแห่มากกว่า

ครั้งนี้          ครั้งนี้ไม่มีพระราชสาส์น   มีแต่การรับรองราชทูตอังกฤษเท่านั้นจึ่งมีเรือกระบวนน้อยไป   ไม่เหมือนครั้งบ้านเมืองดี

ฮะริปักตอบว่า  เดี๋ยวนี้มีอย่างธรรมเนียมที่เมืองวิลาดทุกประเทศ  ไม่ใช้พระราชสาส์นเป็นใหญ่กว่าคนแล้ว        ใช้ตัวคนเป็นราชทูตแทน

เจ้าวิลาศทีเดียว



กระทู้: รายงานการรับรองเซอร์ยอนโปวะริงราชทูตอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ก.ค. 10, 15:07

       ฮะริปัก Harry Smith Parks (1828 - 1885) เริ่มทำงานให้ Karl Gutzlaff  สามีของญาติ  ตอนที่ หมอกิสลับ เป็น civil magristrate   ที่  Chusan

เมื่ออังกฤษยึดเกาะไว้        ฮะริปักอายุได้ ๑๔ ปีกว่า  มีตำแหน่งเป็นเสมียน       น่าจะได้แรงบันดาลใจจากหมอกิสลับซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาจีน   จึงตั้งในเรียนภาษา

ประกอบกับอายุน้อย    อยู่ในฐานะต้องดิ้นรนต่อสู้สร้างฐานะ

     เรียนภาษาจีนอยู่ไม่ถึงสองปี  ก็สอบ งานกงศุลในภาษาจีนได้ที่ฮ่องกง   ได้เป็นล่ามที่ Foochow     ท่าเรือยังไม่ได้เปิด  จึงไปทำงานตามเมืองต่างๆ  เพิ่มความสำคัญในหน้าที่รับผิดชอบขึ้นเรื่อย ๆ

ทำงานให้เซอร์ยอนโปวริงอยู่ประมาณสองสามปีจึงมีโอกาสตามมาเมืองไทย

       ผลงานในเมืองไทยทำให้เขาได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย

       ภรรยาคือ  Fanny Plummer   หลานปู่ของ  Vice Chancelor Sir Thomas Plummer      มีลูกด้วยกัน ๖ คน



ประวัติของฮะริปักมีเอกสารที่เกี่ยวกับเมืองจีนและญี่ปุ่นมากมาย เพราะเป็นทูตอยู่ในญี่ปุ่นเกือบยี่สิบปี        เขาสนับสนุนเจ้าหน้าที่สถานทูตให้ทำงานค้นคว้าในด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

เขาเก็บงานเรื่องกระดาษญี่ปุ่นและ การผลิตกระดาษญี่ปุ่นจากภูมิภาคต่างๆ    งานชิ้นนี้เป็นที่ยกย่องทั่วโลกเพราะเก็บรายละเอียดเรื่องแหล่งผลิต  ราคา  กรรมวิธีผลิต  และวิธีใช้

       เก็บความมาโดยย่อ   โปรดหาอ่านได้ในสงครามฝิ่นครั้งที่สอง


       


กระทู้: รายงานการรับรองเซอร์ยอนโปวะริงราชทูตอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ก.ค. 10, 15:42

       ธรรมดาอ่านหนังสือด้วยความสุข   พอจำเรื่องได้  อย่างหันแตร เป็นต้น    เรือนไทยทำให้ต้องสนใจรายละเอียดเช่นเรื่อง ทรัพย์ และ บุตร

ซึ่งเล่ากันต่อ ๆ มา    ขยายความ    ข้อมูลสับสน ไม่มีอ้างอิง หรือ ค้นคว้าใหม่เลย

จำฮาริปักได้เพราะว่าช่างซักเหลือทน        ไม่คิดเลยว่าจะเป็นเด็กหนุ่ม  และต่อมามีประวัติอันลือชื่อในประเทศจีน



       จำหมอกิสลับได้เพราะครูสมิทเล่าไว้บ่อย           สยามประเภทนั้นถ้าอ่านโดยความระมัดระวัง  ตรวจสอบกับเอกสารรุ่นเดียวกัน  ก็น่าอ่านมาก

ในที่นี้ใช้สยามประเภทไปสองฉบับ คือ ฉบับที่ ๑๕(เอ่ยไปแล้ว)   กับ ๑๘ วันอาทิตย์ที่ ๒๐ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๑๙

ข้อมูลใหม่ แม้ว่าจะเล็กน้อย เรื่อง ทรัพย์ มาทำกับข้าวให้เซอร์ยอนโปวริง   ขอมอบให้กับคุณหลวงเล็ก แห่ง เรือนไทย  ผู้มีสมบัติหนังสือมหาศาล ในฐานะผู้ร่วมสนทนาที่ช่างซักถาม

อีกบางเรื่องที่ตอบไม่ได้  ก็ขอเลื่อนไปอีกเจ็ดวันเทอญ



กระทู้: รายงานการรับรองเซอร์ยอนโปวะริงราชทูตอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 10, 19:58
ตามมาอ่านอีกคนค่ะ
มีรูปคุณฮะริปักมาประกอบด้วย
ถ้าหาหนังสือเรื่องเซอร์จอห์นเบาริงเจอ   จะมาร่วมแจมด้วย


กระทู้: รายงานการรับรองเซอร์ยอนโปวะริงราชทูตอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ก.ค. 10, 08:16
   

     ขณะนั้นพระยาสมุทบุรารักษ์กรมการเมืองสมุทรปราการ  ได้จัดของไปทักถามราชทูต

มะพร้าวอ่อน    ๒๐ ทลาย
กล้วยหอม      ๓๖ โต๊ะ
อ้อย            ๑๕๕ ลำ
ส้มเปลือกบาง   ๓๐ โต้ะ
มะม่วงดิบ        ๕  โต๊ะ
ข้าวสาร        ๑๐   ถัง
ข้าวเปลือก      ๕   สัด
สุกรเป็น         ๕   สุกร
เป็ดเป็น        ๕๐   เป็ด
ไก่เป็น        ๑๐๐   ไก่
ฟืน         ๑๐๐๐๐   ดุ้น  


       ของหลวงพระราชทาน

มะปราง           ๒  โต้ะ
ลิ้นจี่               ๔    "
มะซาง            ๒    "
มะม่วง            ๒    "
ผลหนอยแหน่    ๑    "
ทับทิม            ๑    "
ส้มเขียวหวาน    ๒   "
ฝอยทอง          ๑   "
ทองหยิบ          ๑   "


     กัปตันที่นำเรือมาชื่อ กัปตัน เกริบ

คำว่า  ทัก  ไม่ได้หมายความว่า  กล่าวทักทาย  แต่หมายถึง  ต้อนรับ  เป็นคำเก่า  เดี๋ยวนี้ไม่ได้ใช้กันแล้ว    ;D


กระทู้: รายงานการรับรองเซอร์ยอนโปวะริงราชทูตอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ก.ค. 10, 08:24

มะซางคืออะไร

น้อยเหน่    คือ น้อยหน่าลูกเล็กหรือคะ


กระทู้: รายงานการรับรองเซอร์ยอนโปวะริงราชทูตอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ก.ค. 10, 08:41
มะซาง (Ma-saang) 
   
   
ชื่อวิทยาศาสตร์ Madhuca pierrei H.J. Lam Syn. Bassia pierrei F.N Will.
วงศ์ SAPOTACEAEAE
ชื่ออื่น : ซาง หนามซาง
ลักษณะทั่วไป : ไม้ยืนต้น ขนาดใหญ่ ลำต้น เปลา ตรง เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ กิ่งก้านอวบ มีขนสีเทานุ่ม เปลือกสีน้ำตาลดำ แตกเป็นสะเก็ดสีเหลี่ยม มียางสีขาว ใบ เป็นใบเดี่ยวเรียงเวียนสลับถี่ ๆ อยู่เป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง รูปไข่กลับ ขนาดกว้าง 7-10 เซนติเมตร ยาว 15-20 เซนติเมตร โคนใบสอบ ปลายใบป้าน เนื้อใบหนาหลังใบเกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง แต่ท้องใบมีขนสีเทาปกคลุม ก้านใบยาว 1-1.5 เซนติเมตร ดอก เป็นดอกเดี่ยว แต่ออกเป็นกระจุกตามปลายกิ่งเหนือกลุ่มใบ ขนาด 2.5-3 เซนติเมตร ก้านดอกยาว 2.5 เซนติเมตร ก้านดอก และกลีบเลี้ยงมีขนนุ่ม กลีบเลี้ยง 4 กลีบ เรียงเป็น 2 ชั้น หุ้มดอกมิดชิดเมื่อดอกตูม กลีบดอก 6 กลีบ สีขาว ขาวแกมเหลือง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด รูปถ้วย เกสรตัวผู้ 12 อัน รังไข่ 6 ช่อง ออกดอกเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม ผล รูปร่างกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-4 เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียว ปลายผลมีส่วนของหลอดเกสรตัวเมียติดอยู่ยาว 4-5 เซนติเมตร และมีกลีบเลี้ยงหุ้มส่วนขั้วผล ภายในผลมี 1 เมล็ด การขยายพันธุ์ ด้วยเมล็ด
นิเวศวิทยาและการแพร่กระจาย : เป็นพรรณพืชสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในยุคหินกลาง พบน้อยมาก
ประโยชน์ : เนื้อไม้ ใช้ทำเครื่องเรือน กระดาน พื้น ฝา ด้ามเครื่องมือ แจว พาย ผลสุกมีรสหวานรับประทานได้และใช้เป็นน้ำปานะสมัยพุทธกาล เมล็ด ให้น้ำมันใช้ปรุงอาหาร 
 

ดูภาพด้านล่างประกอบ
 


กระทู้: รายงานการรับรองเซอร์ยอนโปวะริงราชทูตอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ก.ค. 10, 08:52
ผลมะซางเมื่อสุกมีรสหวานสามารถคั้นทำเป็นน้ำผลไม้ได้ เป็น ๑ ใน ๘ ของน้ำอัฐบาน -นํ้ามะม่วง นํ้าชมพู่หรือนํ้าหว้า นํ้ากล้วยมีเม็ด นํ้ากล้วยไม่มีเม็ด นํ้ามะซาง นํ้าลูกจันทน์หรือน้ำองุ่น นํ้าเหง้าอุบล นํ้ามะปรางหรือน้ำลิ้นจี่



กระทู้: รายงานการรับรองเซอร์ยอนโปวะริงราชทูตอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ก.ค. 10, 09:37




     ลิ้นจี่ของเราในสมัยโน้น  น่าจะฝาดอยู่บ้างกระมัง



กระทู้: รายงานการรับรองเซอร์ยอนโปวะริงราชทูตอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ธีร์ ที่ 12 ก.ค. 10, 14:25
 ลิ้นจี่ที่มีรสฝาดนั้นในเมืองไทยมีปลูกอยู่แหล่งเดียวครับ คือที่ อัมพาวา ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีรสชาดหวานแต่ว่าจะติดฝาดที่ปลายลิ้น

 แต่ว่าเวลาแกะกินแล้วจะแห้งไม่มีน้ำมาก

 ส่วนถ้าเป็นลิ้นจี่จากทางเหนือ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ ลินจง ฮงฮวย หรือพี่ใหญ่บิ๊กอย่าง จักรพรรดิ(ลูกใหญ่เม็ดก็ใหญ่แต่บางต้นมี

 เป็นกะเทยคือเม็ดลีบ มีเคล็ดในการสังเกตุอยู่เหมือนกันครับ) หรือ กะจิดริดอย่าง กิมเจง(เม็ด ลีบเนื้อเยอะแต่ลูกเล็ก) ก็จะ

 ออกรสหวานอมเปรี้ยวแถมมีน้ำเยอะ

 ลิ้นจี่ผลไม้ล้มราชบัลลัง  :)


กระทู้: รายงานการรับรองเซอร์ยอนโปวะริงราชทูตอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 21 ก.ค. 10, 17:09

ข้อมูลต่อไปนี้    อ่านมาจาก หนังสือชาวต่างชาติในประวัติศาสตร์ไทย  ของคุณสมบัติ  พลายน้อย
ฉบับรวมสาส์น พิมพ์ครั้งที่ สี่ พ.ศ. ๒๕๓๘


หน้า ๑๑๙

เซอร์ยอนเบาริงเข้ามาเมืองไทยครั้งนั้น  คิดไว้ว่าทางไทยจะต้องต้อนรับให้เหนือกว่าครั้งหมอครอเฟิต หรือ เฮนรี เบอร์นี

เพราะตนเองได้รับแต่งตั้งมาจากราชสำนัก   

แฮรี่ปาร์กพกตำราสมเด็จพระนารายณ์รับทูตมาด้วย


       การทำหนังสือสัญญาในครั้งนั้นไม่ยุ่งยากเหมือนการทำสัญญาครั้งก่อนๆ เพราะทูตก็ไม่เอาแต่ใจตัว

เมื่อเซอร์ยอนเบาริงจะออกเดินทางจากกรุงเทพ  ได้โปรดเกณฑ์เรือแห่พระราชสาส์นไปส่งที่เมืองสมุทรปราการ


เซอร์ยอนเบาริงเกิดเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๓๕

ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๕




ในโอกาสต่อไป จะขอนำเรื่องราวของแฮรี่ ปาร์ก  จากเอกสารต้นฉบับประมาณสามเล่ม มาเล่า  เพราะเป็นบุคคลสำคัญในวงการทูต

และเราไม่มีประวัติและผลงานของเขาอ่านมากนัก       ชีวิตการต่อสู้สร้างตัวของเด็กกำพร้าในโลกใหม่เป็นเรื่องราวที่น่านับถืออย่างยิ่ง


ขออนุญาตจบเรื่องราวการต้อนรับรองเซอร์ยอนโปวริงไว้เพียงนี้