เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: Wandee ที่ 16 มิ.ย. 08, 22:12



กระทู้: ประกวดโคลงกระทู้ วชิรญาณ ๒๔๓๖
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 16 มิ.ย. 08, 22:12
กรรมการหอสมุดฯ ในเวลานั้น ปรารภกันว่า จะหาผู้มีฝีปากสู้โคลงกระทู้ของโบราณได้หรือไม่ จึงประกาศให้แต่งมาประกวดกัน
บทใดที่ดีก็ได้รางวัล  บทที่ใกล้รางวัลคือบทที่ได้รองลงมาจากรางวัลที่สอง  ประกวดกันทุกสัปดาห์

ขอยกตัวอย่างฝีปากของขุนนางชั้นผู้น้อยที่เห็นว่าคมคายมาลง

กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงลงประกวดบ่อยครั้งและได้รับรางวัลหลายครั้ง
เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงศ์ได้รับรางวัล บทใกล้รางวัลสองครั้ง
กรมหมื่นดำรงราชานุภาพทรงส่งโคลงกระทู้หนึ่งครั้ง
กรมหมื่นพิทยลาภก็ลงเข้าร่วมประกวดด้วย ได้รางวัลที่สอง

พระยาศรีสุนทรโวหาร(กมล) ได้ บทใกล้รางวัล
เปรียญหลายท่านมาแรงมาก

หวังว่าคงชอบกันตามสมควร


กระทู้: ประกวดโคลงกระทู้ วชิรญาณ ๒๔๓๖
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 16 มิ.ย. 08, 22:21
กะ
ฐิน
ริน
ย่า


บทได้รางวัล   นายทัด เปรียญ

กะ     อะไรเร่งให้          ทันกะ
ฐิน     ด่วนจวนเพนพระ    นั่งพร้อม
ริน     อุทกยกกะทะ       หยอดกทิ  เร็วเทอญ
ย่า     ปู่หมู่ญาติน้อม      นอบเข้าถวายของ



บทใกล้รางวัล   กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์

กะ     บวยริมโอ่งข้าง       ครัวไฟ
ฐิน     เอ่ยเองเร็วไป        หยิบแล้ว
ริน     น้ำสุกในไห          มาหน่อย  เถิดรา
ย่า     หอบกระหายแอ้ว    แซ่วเปลี้ยเต็มที


กระทู้: ประกวดโคลงกระทู้ วชิรญาณ ๒๔๓๖
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 16 มิ.ย. 08, 22:25
กระตุก
กระติก
กระตุ้ง
กระติ้ง


บทได้รางวัล  หลวงศรีสงคราม  ปลัดเมืองพิจิตร

กระตุก     ไกไขจักรม้วน          เขม็งลาน  ฬิกาเอย
กระติก     เลื่อนเข็มเดินขาน       ข่าวคล้อย
กระตุ้ง     ตีทุ่มโมงกาล            กำหนด  ส่วนแฮ
กระติ้ง     แกว่งลูกตุ้มห้อย         เหตุให้แรงหัน


กระทู้: ประกวดโคลงกระทู้ วชิรญาณ ๒๔๓๖
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 16 มิ.ย. 08, 22:29
ตู
ตี
เต่า
ตาย


บทได้รางวัล คือ  พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติ

ตู      ยลเต่าใหญ่ล้ำ             ริมหนอง
ตี      กระหน่ำซ้ำกระบอง        กดไว้
เต่า    กระเดือกเสือกกระดอง    กแด่วกแด่ว  ดิ้นนา
ตาย   ฉิบตูฉวยได้                รีบด้นดลเรือน


กระทู้: ประกวดโคลงกระทู้ วชิรญาณ ๒๔๓๖
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 16 มิ.ย. 08, 22:44
ฝา
หรั่ง
มัง
ค่า


นายปาล เปรียญได้รางวัลที่ ๑

ฝา        ตึกกระจกล้วน            ชาวฝา_
หรั่ง       ชอบประดับประดา        ประดิษฐ์สร้าง
มัง        กรติดหลังคา              เจ๊กชอบ  ทำเฮย
ข้า        ชอบทั้งสองข้าง           ฝรั่งทั้งจีนจีนเจือ



กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ ได้รางวัลที่ ๒

ฝา        ปะกนแค่นแก้              ทำฝา_
หรั่ง       วุ่นเอาฝุ่นทา               ทับไม้
มัง        กรท่อนท้ายฉา             มังกุ  หัวพ่อ
ข้า        ไม่ขอเห็นให้               เกลียดร้อยพันษมา



กระทู้: ประกวดโคลงกระทู้ วชิรญาณ ๒๔๓๖
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 17 มิ.ย. 08, 06:21
ผู้
ลาก
มาก
ดี


รางวัลที่ ๑   นายเหมือน  วังกรมหมื่นนราธิป

ผู้          มีนิวาศตั้ง               กุลพงศ์
ลาก       หาบเงินทองคง          คั่งตู้
มาก       หมู่บริวารวง             แวดนับ  ถือแฮ
ดี          สิ่งใดไม่รู้               เรียกผู้ดีกัน


กระทู้: ประกวดโคลงกระทู้ วชิรญาณ ๒๔๓๖
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 17 มิ.ย. 08, 06:36
ตาม
บุญ
ตาม
กรรม


รางวัลที่ ๑    นายชม  เสมียนกรมกระสาปน์

ตาม        รถตามม้าวิ่ง               พอทัน
บุญ        และบาปเหลือขัน          แข่งสู้
ตาม       ไปยิ่งไกลกัน               นับโยชน์  เจียวพ่อ
กรรม      อาตม์เองหากรู้             สึกแล้วควรเฉย


รางวัลที่สอง  กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์   

ตาม        จนทนนุ่งผ้า               ปะเติน  เต่อพ่อ
บุญ         ช่วยหน่อยรวยเงิน        ไม่น้อย
ตาม        อย่างเถิดอย่าเลิน         เล่อเรื่อง  เพียรเลย
กรรม       ชอบตอบผลร้าย          เท่าให้เกินเห็น


กรมหมื่นนราธิปประพันธพงศ์  ส่งอีกสำนวน

ตาม         ทีพี่รักแล้ว               จักทำ   ไฉนรา
บุญ         ก็สมผิวะกรรม            ก็ม้วย
ตาม        เถิดเกิดแล้วจำ            ตายขณะ  หนึ่งแม่
กรรม       ฆ่าตายตายด้วย          รักแล้วกลัวไย


กระทู้: ประกวดโคลงกระทู้ วชิรญาณ ๒๔๓๖
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 17 มิ.ย. 08, 09:53
น่าจะเป็นอย่างนี้นะครับ
กรรม       ชอบตอบผลร้อย          เท่าให้เกินเห็น


กระทู้: ประกวดโคลงกระทู้ วชิรญาณ ๒๔๓๖
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 17 มิ.ย. 08, 10:53
ขอบคุณ คุณ CrazyHOrse  ค่ะ
คัดมาผิดค่ะ


กระทู้: ประกวดโคลงกระทู้ วชิรญาณ ๒๔๓๖
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 17 มิ.ย. 08, 14:07
คัดย่อมาจากคำนำของกรมศิลปากร ลงวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๐๘  ลงใน นิทานวชิรญาณ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ
สำนักพิมพ์บรรณาคาร  ๒๕๐๘


"หอพระสมุดวชิรญาณ คือหอสมุดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงชักชวนให้บรรดาเจ้านายที่เป็น
พระราชโอรสและพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร่วมกันจัดตั้งขึ้น ใน พ.ศ. ๒๔๒๔

ได้ทำพิธีเปิดหอพระสมุดวชิรญาณ ในปี ๒๔๒๗
คณะกรรมการได้จัดพิมพ์หนังสือวชิรญาณฉบับแรกออกแจกแก่สมาชิกและผู้มาร่วมพิธีในวันนั้นด้วย
เมื่อแรกออกเป็นรายปักษ์   ต่อมาได้มีการแก้ไขการออกหนังสือวชิรญาณอีกหลายครั้งตามความเหมาะสม

เรื่องที่ตีพิมพ์ ได้มาจากต้นฉบับหนังสือดีมีค่าที่ยังมิได้เผยแพร่   เจ้านายกรรมการและสมาชิกได้ส่งเรื่องมาลง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาพระราชทานเรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน
ซึ่งต่อมาได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดแห่งความเรียง และเป็นหนังสือสำคัญของบ้านเมือง
วรรณคดีมีค่าเรื่องอื่นๆ เป็นต้นว่าลิลิตพระลอ  สมุทรโฆษคำแันท์ ฯลฯ ก็ตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือวชิรญาณก่อนที่จะนำมาพิมพ์เป็นเล่มต่อภายหลัง

หนังสือวชิรญาณนี้ได้ออกต่อมาจนกระทั่งหอสมุดวชิรญาณรวมเข้ากับหอพระสมุดสำหรับพระนคร"



ที่้นำมาเล่าสู่กันฟัง ณ เรือนไทย  ก็เพราะว่ามี โคลงกระทู้ วชิรญาณ หนึ่งเล่ม พิมพ์ ๒๔๖๕   นิทานวชิรญาณ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ๒๕๐๘  สามเล่ม
หนังสือวชิรญาณ เล่ม ๑ พิมพ์ต่ออายุ ๒๕๔๑  และ เล่ม ๒ พิมพ์ต่ออายุ ใน ๒๕๔๒

อ่านแล้ว  สนุกมาก   

รายชื่อขุนนางที่ร่วมส่ง โคลงกระทู้ เข้าประกวด  หลายท่านก็เป็นขุนนางผู้น้อย ประจำอยู่ตามวังและกรมต่างๆ  บางท่านประจำอยู่ต่างจังหวัด
ได้แสดงความรู้ความสามารถให้ปรากฏ



กระทู้: ประกวดโคลงกระทู้ วชิรญาณ ๒๔๓๖
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 17 มิ.ย. 08, 14:58
โลภ
โม
โท
สัน

รางวัลที่ ๑   นายเปล่ง  ศิษย์วัดบวรนิเวศ

โลภ     เจ้าอ้ายยี่ครั้ง             ชนคช
โม       หะยุทธหวังยศ           ชเยศไว้
โท       ท้าวร่อนง้าวจด           คิววิ่น  พร้อมพ่อ
สัน      โดฐสามพระยาได้        เสด็จขึ้นครองถวัลย์


รางวัลที่ ๒    ขุนประเสริฐอักษรนิติ์(แพ  เปรียญ)

โลภ      แผลงว่าลโมภให้        เห็นความ  แลแฮ
โม        หะอ่านเสียงสยาม      โม่ห์ร้อง
โท        ษะว่าโทษตาม          แต่เสนาะ  ศัพท์ฤๅ
สัน        สะกฤตบต้อง           แต่งใช้ไทยแผลง


รู้จักแต่ ท่าน แพ เปรียญ คนเดียว


กระทู้: ประกวดโคลงกระทู้ วชิรญาณ ๒๔๓๖
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 17 มิ.ย. 08, 17:57
โท       ท้าวร่อนง้าวจด           คิววิ่น  พร้อมพ่อ

คำนี้แปลกๆนะครับคุณ Wandee

เป็น ศิร หรือเปล่าครับ


กระทู้: ประกวดโคลงกระทู้ วชิรญาณ ๒๔๓๖
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 17 มิ.ย. 08, 18:06
อุทานเบา ๆ  ในใจ  ไอ๊ย่า
โสภณพิพรรฒธนากร รับไปซะดี ๆ ครึ่งหนึ่ง
วันดีรับครึ่งเดียวเจ้าค่ะ


กระทู้: ประกวดโคลงกระทู้ วชิรญาณ ๒๔๓๖
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 มิ.ย. 08, 10:14
ขุนประเสริฐอักษรนิติ์(แพ  เปรียญ)= พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์)
มีของแถมฝากคุณวันดี ค่ะ

ถ้าคุณวันดีเคยอ่าน ราตรีประดับดาว จะรู้ว่ามาจากบันทึกของพันโทโพยม จุลานนท์ เขียนเป็นอนุสรณ์งานศพของคุณหญิงวิเศษสิงหนาถ ผู้มารดา
ในบันทึกนั้น บอกว่าเมื่อคุณหญิงวิเศษสิงหนาถเดินทางจากเพชรบุรี มากรุงเทพ เพื่อตามหาข่าวคราวของสามี หลายครั้งในรอบ ๘ ปีที่พลัดพรากจากกัน
บ้านหนึ่งที่ท่านมาพำนักอยู่   คือบ้านของพระยาปริยัติธรรมธาดา   


กระทู้: ประกวดโคลงกระทู้ วชิรญาณ ๒๔๓๖
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 18 มิ.ย. 08, 11:04
ขอบคุณ คุณเทาชมพู ที่กรุณาแถมเรื่องราวที่น่าสนใจให้นำไปคิดโยงเรื่องราวได้อีก

มีหนังสือ ๒๐๐ ปีสุนทรภู่และตำนานเมืองเพชรบุรี ที่ ค้นคว้าและเรียบเรียงโดย อำมาตย์เอกและเสวกเอก พระยาปริยัติธรรมธาดา
(แพ  ตาละรักษ์ เปรียญ) ในปี ๒๔๕๖   ที่น่าสนใจเป็นที่สุดคือมุขปาฐะของผู้ที่เคยรู้จักหรือมีความรู้เกี่ยวกับสุนทรภู่
พิมพ์ครั้งแรก ๒๕๒๙  พิมพ์ครั้งที่สอง ๒๕๓๓

ขออนุญาตนำมาลงเป็นบางตอน เพื่อรับฟังความคิดเห็นของทุกท่าน เป็นการเพิ่มความรู้ความเข้าใจ

มีข้อมูลใหม่ แต่ที่จริงเก่า ไม่เป็นที่รู้จัก


กระทู้: ประกวดโคลงกระทู้ วชิรญาณ ๒๔๓๖
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 มิ.ย. 08, 12:18
อยากอ่านมากๆค่ะ
พระยาปริยัติธรรมธาดาได้ค้นคว้ารวบรวมประวัติของสุนทรภู่จากคำบอกเล่า เอาไว้   แต่คนรุ่นหลังอย่างพวกเราไม่ได้อ่านกัน    เกือบทั้งหมดของผู้ที่ศึกษาสุนทรภู่ อาศัยประวัติที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯทรงเรียบเรียงไว้ เพียงเท่านั้น
คุณพพ.เป็นคนหนึ่งที่ตั้งข้อสันนิษฐานถึงข้อเท็จจริง ที่ยังขัดแย้งกันอยู่  จากประวัติและเนื้อหาในนิราศ
ถ้าได้จากคุณวันดีมาเล่าให้ฟังก็คงต่อยอดความคิดไปได้อีกมาก

คุณหญิงวิเศษฯ เป็นสาวเมืองเพชร   บ้านของพระยาปริยัติฯ เห็นทีจะเป็นศูนย์กลางที่ชาวเมืองเพชรมาอาศัยอยู่  เมื่อมีกิจธุระต้องขึ้นมาเมืองหลวง
ตัวท่านเป็นผู้ใหญ่ มีบารมีและความโอบอ้อมอารี พอจะเป็นที่พึ่งได้ในยุคที่ไม่มีโรงแรมหรือเกสเฮาส์ให้พัก