เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 6
  พิมพ์  
อ่าน: 50039 เจ้าชายนักประพันธ์: หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 26 ก.ย. 05, 09:48

 แต่ก็ทรง "ลูบหลัง"ไว้ในตอนท้ายว่า

" แต่ถึงกระนั้นก็เป็นหนังสือที่ควรอ่าน    เพราะนอกจากข้อผิดสำคัญนี้แล้ว   นับว่าเป็นการก้าวหน้าอย่างหนึ่งสำหรับนักอักษรศาสตร์ไทย
น่าเสียดายที่ม.จ.อากาศฯเลี้ยวทางผิด   และทำให้งานอันน่าจะเป็นชิ้นสำคัญกลับกลายมาเป็นเสียไปดังนี้

แต่ถึงกระนั้น อย่าได้ทรงท้อพระทัย    เราทุกๆคนเรียนจากการพลาดพลั้ง
ถ้าถือเป็นตัวอย่างภายหน้าได้แล้ว  อาจกลับเป็นประโยชน์
หนังสือนี้แสดงให้เห็นได้ว่าท่านเชี่ยวชาญในการผูกเรื่องสมมุติ   ม.จ.อากาศฯ ต้องทรงลองนิพนธ์ใหม่อีก"

โปรดติดตามว่าม.จ.อากาศดำเกิง ทรงตอบว่ายังไงนะคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 28 ก.ย. 05, 11:31

 เมื่อม.จ.อากาศดำเกิงทรงอ่านบทวิจารณ์นี้  ก็กริ้วพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์มาก    ความกริ้วของท่านมีมากน้อยแค่ไหน และกริ้วในเรื่องใด  เห็นได้จากบทนิพนธ์ที่โต้กลับมา

แค่อ่านย่อหน้าแรก ก็ "แรง" แล้วค่ะ



"ข้าพเจ้าอดรู้สึกขันไม่ได้   เมื่อได้อ่านคำวิจารณ์ของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์...ข้อวิจารณ์ตลอดเรื่องไม่เป็นสาระ ไร้เดียงสาอย่างทารก   ประกอบด้วยคำกล่าวหาอย่างผิดๆ  และแถมความโม้เย่อหยิ่ง"



ท่านอากาศฯ ทรงออกตัวว่าทีแรกท่านก็ไม่คิดว่าจะตอบ   แต่บรรดาพระสหายคะยั้นคะยอให้ตอบ  เพื่อ "ต่อสู้ป้องกันงานชิ้นหนึ่งที่เหล่าสหายได้ถือว่าเป็นงานอันมีเกียรติอย่างสูงยิ่ง ที่ข้าพเจ้าได้เคยทำมาในชีวิตของข้าพเจ้า" ท่านก็เลยทรงอนุโลมตามเพื่อน  เพราะ " การทำตามใจเพื่อนคงเป็นการกระทำอันสุขุมยิ่งขึ้น  หรือช่วยให้ความเขลาลดน้อยลง  เพราะเราจะอยู่โดยไม่มีเพื่อนไม่ได้"



แล้วก็ทรงยกคำวิจารณ์ของพระองค์จุลฯ มาโต้เป็นข้อๆ    ถ้าจะลงในนี้ก็ยาวเหยียดเกินไป   ดิฉันขอยกตัวอย่างมาบางเรื่องเท่านั้น



"เสด็จนักวิจารณ์ของข้าพเจ้าได้ทรงแถลงกับท่าน  ว่าข้าพเจ้า 'กำลังพยายามที่จะเป็นคนฉลาด' เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องพยายามที่จะฉลาด  เพื่อจะแต่งหนังสือตั้ง 360 กว่าหน้า    ข้าพเจ้าไม่มีใจจะปฏิเสธความจริงนี้

ข้าพเจ้าเข้าใจว่าพระองค์จุลเป็นนักศึกษาผู้เชี่ยวชาญ   และหวังว่าพระองค์คงจะพยายามฉลาด   วันหนึ่งทรงแต่งหนังสือให้บุคคลในสมัยของพระองค์ได้มีโอกาสได้รับการศึกษา"

แปลง่ายๆก็คือ ถ้าพระองค์จุลเก่งจริงก็ลองแต่งหนังสือดูบ้าง
บันทึกการเข้า
Nuchana
สุครีพ
******
ตอบ: 979


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 28 ก.ย. 05, 20:39

 ขอเรียนถาม อ. เทาชมพูค่ะว่า ท่านอากาศฯ ได้ตรัสตอบแต่ละจุดที่พระองค์จุลฯ ทรงวิจารณ์มาบ้างไหมค่ะ เช่น

1) ประเด็นวิธีนิพนธ์อย่างนักแปลชั้นเลว ที่พูดถึงอวัยวะของสตรีเป็นต้องใช้ราชาศัพท์

2) ประเด็นที่ทรงใช้ตัวละครสมมุติและบุคคลจริงๆปะปนกันไปหมดทั้งเรื่อง
ขอบพระคุณค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 29 ก.ย. 05, 09:45

 คุณ Nuchan ถามถึงตอนที่เรียบเรียงยากที่สุดในกระทู้นี้

คำถามข้อแรก ขอตอบว่า ท่านอากาศฯ ไม่ได้ทรงตอบประเด็นนี้
คำถามข้อที่สอง   ท่านอากาศฯ ท่านก็ไม่ได้ตอบตรงๆอีกนั่นแหละ  แต่ท่านยกเรื่องของพระยาจำนงฯขึ้นมาตอบว่า

" ข้าพเจ้าอยู่ในประเทศญี่ปุ่น 4 เดือน  รู้จักพระยาจำนงค์ฯพอที่จะรู้ว่าเจ้าคุณเป็นคนอย่างไร   เสด็จนักวิจารณ์ของข้าพเจ้าไม่เคยสมาคมกับเจ้าคุณเลย   เพียงแต่ได้จับมือกันอย่างเบาๆครั้งเดียวที่กรุงปารีส
ข้าพเจ้าขอชมเชยความองอาจและกล้าหาญของพระองค์อย่างเต็มใจ ที่ได้ช่วยป้องกันคนซึ่งพระองค์ไม่รู้จัก
ถึงอย่างไรก็ดี  พระยาจำนงค์ฯได้ถึงแก่กรรมเสียแล้ว  และหนังสือของข้าพเจ้าก็ได้ออกมาสู่โลกเพียงสองวันก่อนที่เจ้าคุณถึงแก่กรรม   มันช้าเสียแล้วที่จะไปแก้ไขอย่างหนึ่งอย่างใด
ข้าพเจ้ารู้สึกเสียใจอย่างลึกซึ้ง"

สรุปอีกทีก็คือท่านอากาศฯ ทรงชี้แจงว่า ท่านรู้จักเจ้าคุณจำนงค์ฯ ว่าเป็นคนอย่างไร  (หมายเหตุ: ก็คือเป็นคนที่มีอะไรบางอย่างน่าตำหนิ อย่างที่วิสูตรพูดเอาไว้ในนิยาย)  ส่วนพระองค์จุลนั้นไม่รู้จักเจ้าคุณจำนงฯ แต่ก็ยังอุตส่าห์ออกมาปกป้อง
แต่ถึงท่านอากาศฯ จะยอมรับคำวิจารณ์ของพระองค์จุลฯ ในเรื่องนี้ก็สายเกินไปที่จะแก้ไข  เพราะเจ้าคุณฯ ถึงแก่กรรมเสียแล้ว

ดิฉันก็มึนๆเหมือนกันว่าจะตีความคำตอบของท่านอากาศฯว่ายังไง     ตามความเข้าใจของดิฉัน  ท่านคงหมายความว่า บุคคลจริงๆที่ท่านเอ่ยถึงในนิยายมีพฤติกรรมยังงั้นจริงๆ ในโลกความเป็นจริง
เพราะฉะนั้นถ้าพระองค์จุลฯจะสงสัยว่าวิสูตร (ซึ่งเป็นตัวละครสมมุติ) ประสบ  หรือท่าน(ผู้เป็นบุคคลจริงๆ)ประสบมากันแน่   ก็ไม่เห็นต่างกันตรงไหน  
เพราะยังไงบุคคลที่เป็นเป้าหมายนั้นก็มีพฤติกรรมน่าตำหนิ อันเดียวกัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 29 ก.ย. 05, 09:55

 ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไมท่านระบุชื่อจริงของพระยาจำนงฯ แทนที่จะสมมุติให้เข้ากับเรื่องซึ่งเป็นเรื่องแต่ง

ท่านอากาศฯให้เหตุผลว่า

" ข้าพเจ้าต้องการให้นักเรียนไทยทุกคนที่อยู่ต่างประเทศเมื่อได้อ่าน "ละครแห่งชีวิต" แล้ว  จะได้รู้จักที่ทางต่างๆที่ตนได้ไปถึง
และให้รู้จักบุคคลที่เป็นผู้แทนชาติของตนด้วยว่าเป็นผู้แทนชนิดไร
การทำเช่นนี้คงไม่เป็นความผิดทางอาชญาแน่นอน    ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่าเรื่องที่ข้าพเจ้าแต่งนั้นได้กระทำไปอย่างซื่อสัตย์ยิ่ง
ข้าพเจ้าไม่มีใจร้ายต่อพระยาจำนงค์ฯเลย   เหตุผลที่ข้าพเจ้ามีแต่เรื่องบกพร่องของพระยาจำนงค์ฯมาแต่งขึ้นนั้น  ก็เพราะข้าพเจ้าต้องการที่จะทำประโยชน์"

ความเห็น: ถ้าเป็นภาษาหนังสือพิมพ์ยุคปัจจุบัน   อาจจะตรงกับพาดหัวข่าวว่า "แฉเจ้าคุณ...." อะไรทำนองนี้
บันทึกการเข้า
Nuchana
สุครีพ
******
ตอบ: 979


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 29 ก.ย. 05, 20:16

 ขอบพระคุณ อ. เทาฯ สำหรับคำอธิบายเพิ่มเติมค่ะ
ดิฉันยังติดใจ 2 ประเด็นคือ เหตุผลแท้จริงที่ท่านอากาศฯใช้ราชาศัพท์กับสามัญชน และสื่อที่ท่านอากาศฯใช้โต้ตอบกับพระองค์จุล ว่าเป็นสื่อที่เข้าถึงผู้อ่านเสมอกันหรือไม่

หากจะวิเคราะห์ผู้ประพันธ์และผู้วิจารณ์ ดิฉันเห็นว่าทั้งสององค์เป็นคู่มวยที่ถูกลีก ทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ และชาติวุฒิที่เสมอเหมือน แต่เหตุที่ท่านอากาศฯเป็นเจ้าน้องของท่านหญิงชวลิตฯ อาจทำให้ทั้งผู้ประพันธ์และผู้วิจารณ์ มี    เพอสันแนล ฟิวด์ ติดองค์มาบ้างก็เหลือจะคาดได้ อย่างไรก็ตาม ดิฉันตั้งข้อสังเกตว่า
1)   ท่านอากาศฯ ทรงจำนนต่อเหตุผลว่าการปรักปรำพระยาจำนงค์ฯ ผู้ล่วงลับ เหมือนการเผด็จเป้านิ่ง เป็นการไม่ยุติธรรม ทั้งนี้ท่านก็ทรงเสียทัย แต่ก็มิอาจเยียวยาได้
2)   การที่ท่านอากาศฯ “แบ่งรับแบ่งสู้” ในการใช้ร่างสมมติของนายวิสูตร เป็นตัวเดินเรื่องและพาดพิงถึงตัวตนจริงของบุคคลอื่นๆ เป็นการยอมรับโดยปริยายว่าบทวิจารณ์ของพระองค์จุลเป็นจริง
3)   จากเหตุผลหลายๆข้อที่พระองค์จุลหยิบยก เท่ากับทรงชี้เป็นนัยว่า ละครแห่งชีวิต “ยังไม่สมราคา”
ในวัย 22 พรรษา ต้องนับว่าพระองค์จุลเป็นเจ้าชายนักประพันธ์อีกพระองค์หนึ่ง ที่ทรงวิเคราะห์วรรณกรรมได้แตกฉาน ชี้ชัด และไม่ไว้หน้า “หนังสือจะเป็นได้แต่เรื่องจริงหรือเรื่องสมมุติ จะเป็นทั้ง 2 อย่างพร้อมๆกันไม่ได้”
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 30 ก.ย. 05, 14:04

 คุณ Nuchan คะ  ถ้าหากเป็นนักมวย เจ้านายทั้ง 2 องค์ก็นับว่า" หมัดหนัก" ด้วยกันทั้งคู่  และปล่อยหมัดกันสุดแรง  ไม่ใช่แค่แย็บๆ ปัดๆป้องๆ
ท่านอากาศฯ  ไม่ใช่บุคคลประเภท "ขอน้อมรับคำติชมด้วยความขอบคุณ และจะนำไปปรับปรุงงานชิ้นต่อๆไปให้ดีขึ้น"
ตรงกันข้าม  ท่านสวนกลับมาด้วยความแรง( ไม่น้อยกว่าพระองค์จุลฯ หรืออาจจะมากกว่า) ตั้งแต่ต้นๆบทความแล้วว่า

"เขาได้เคยกล่าวกันไว้แล้วว่า  ซึ่งผู้ยกตนเองว่าเป็นนักวิจารณ์วรรณคดีนั้นเกิดมาเพื่อรื้อทำลายของออกเป็นชิ้นๆ   พวกนี้มิได้เห็นอะไรในธรรมชาติของมนุษย์นอกจากความผิด
ดีแต่เห็นตนเองสำคัญนั่นแหละ เป็นลัทธิที่ร้ายกาจที่พวกดำรงชีวิตบูชาอยู่
ข้าพเจ้าต้องพยายามที่จะบอกอย่างแจ่มแจ้งให้ท่านฟังว่าข้าพเจ้ารู้สึกอย่างไรกับคำวิจารณ์นั้น
ดูช่างคล้ายกับการวางยาเบื่อสุนัขตามถนน   อย่างที่คนได้จัดยัดสตริคนินเข้าไปในก้อนเนื้อซึ่งน่ากิน
แล้วก็คอยจนกว่าเจ้าตัวเจ้ากรรมที่ได้เร่ร่อนอยู่  แวะเข้ามากินจากมือเช่นนั้น
ข้าพเจ้าต้องยอมรับว่านั่นเป็นอุทาหรณ์ซึ่งไม่สู้งามนัก    แต่ข้าพเจ้าไม่คิดว่าจะหาอุทาหรณ์ใดมาเปรียบเทียบได้เหมาะไปกว่าที่ได้ยกมาแล้ว"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 30 ก.ย. 05, 14:22

ส่วนคุณภาพของ "ละครแห่งชีวิต" ท่านอากาศฯ ประเมินงานของท่านด้วยความภูมิใจ    น้ำเสียงของท่าน มีแววเชือดเฉือน อยู่ในความสละสลวยของการใช้คำ
"เสด็จนักวิจารณ์สู้อุตส่าห์กล่าวว่าหนังสือของข้าพเจ้าใช้ไม่ได้    และหาว่าข้าพเจ้าเดินผิดทาง   จึงเป็นเหตุให้งานที่สมควรได้รับความเชิดชูกลับเสียหาย
บางทีพระองค์อาจจะกล่าวถูกก็ได้
แต่"ละครแห่งชีวิต" ได้พิมพ์ออกจำหน่ายในประเทศสยามสองครั้งแล้ว  และครั้งที่ 3 ก็กำลังจะออกอยู่ไม่ช้า   ขายได้ถึงสี่พันเล่มในท้องตลอด  
เป็นสถิติใหม่ของการขายหนังสือในประเทศสยาม   ดีกว่าสถิติเก่าอย่างมากมายตั้งพันกว่าเล่ม
ถ้าหนังสือใช้ไม่ได้แล้ว  ข้าพเจ้าก็พอใจอย่างเต็มที่  
อย่างน้อยข้าพเจ้าก็ยังได้รับความปลอบใจ   และข้าพเจ้าก็สามารถกล่าวได้คล้ายๆกับท่านเชคสเปียร์ว่า
แต่เพี้ยนกันเล็กน้อย  คือท่านได้กล่าวว่า "การจากกันแม้นำความโศก  ก็เป็นความโศกอย่างหวาน"
แต่ข้าพเจ้าก็พูดได้ สำหรับเรื่องของข้าพเจ้าว่า "ความไม่สำเร็จเป็นความโศกอย่างหวาน"

ตอนท้าย  ดิฉันขอขยายความอีกนิดหน่อยค่ะ
คำพูดของเชคสเปียร์ ในตอนนี้  หมายถึงประโยคว่า Parting is such sweet sorrow มาจากเรื่อง Romeo and Juliet
ขออภัยที่ต้องเอายาหม้อใหญ่มาให้คุณ Nuchan กินอีกแล้ว
มันอยู่ในตอนที่โรมิโอปีนกำแพงสวนขึ้นไปสารภาพรักกับจูเลียตซึ่งอยู่บนระเบียงห้องนอน    เป็นฉากรักเด่นที่สุดของเรื่อง    
หลังจากรำพันฝากรักกันจนจะจบฉากแล้วก็ถึงตอนอำลา   พระเอกก็อ้อยอิ่งไม่อยากจากไปสักที  นางเอกก็เลยกล่าวอาลัยอาวรณ์ว่า
Good night, good night
Parting is such sweet sorrow,
That I shall say good night till it be morrow.
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงแปลว่า
ลาก่อน  ลาก่อน  อ้า! การลานี้โศกชื่นใจ
จนน้องนี้ใคร่อยากล่ำลาจนอุษาสาง

ท่านอากาศฯ คงจะหมายความว่า หนังสือที่ถูกกล่าวหาว่าไม่ดี(เทียบกับความโศก) แต่มหาชนกลับต้อนรับอย่างเอิกเกริกเป็นประวัติการณ์ (ความหวาน)  ก็คือยังมีข้อดีในความไม่ดี
แปลอีกทีก็คือ ท่านภูมิใจกับความเห็นของมหาชนที่ต้อนรับหนังสือของท่านด้วยดี  แม้ว่ามีนักวิจารณ์โจมตีก็ตาม  ถ้าเทียบกันแล้วใครผิดใครถูก สถิติการจำหน่ายย่อมประกาศได้เองในตัว
บันทึกการเข้า
Nuchana
สุครีพ
******
ตอบ: 979


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 30 ก.ย. 05, 22:41

 อ. เทาฯ พูดถึง Romeo ตรงนี้ดิฉันก็พอนึกออกค่ะ เพราะบรรทัดที่ยกมาเป็นเพชรน้ำเอกที่มีชื่อเสียงในหมู่วรรณคดีด้วยกัน เหมือนกับ To be or not to be… ในเรื่อง Hamlet  

จำได้ว่า Romeo และนางเอก  พิรี้พิไร ร่ำลากัน กอดกันแล้วแยกจากก้น แล้วกลับไปกอดกันอีกครั้งแล้วครั้งเล่า อาจารย์ทีสอนก็ใส่แอคชั่นตอนอ่าน ส่วนดิฉันก็ภาวนาว่าเมื่อไรจะจบเสียที  ทั้งคู่ระล่ำระลักจนกระทั่ง Juliet หลุดวาทะหวานแหวว ถือว่าเป็นการพลัดพรากอย่างเจ็บปวด แต่ก็เปี่ยมสุขที่ทั้งสองได้นัดแนะ จะมาพบกันอีกในวันรุ่งขึ้น

กลับมาพินิจดูปูมหลังของท่านอากาศฯ ชีวิตที่ลุ่มๆดอนๆของท่าน สภาพบ้านแตกสาแหรกขาดของครอบครัว ความสำเร็จทางวรรณกรรมตั้งแต่แต่อยู่ในรั้วเทพศิรินทร์ แรงศรัทธาของผู้อ่าน อีกทั้งกำลังสนับสนุนของทูลกระหม่อมนครสวรรค์ฯ ที่ทรงประทานเงินทุนในการจัดพิมพ์ ทำให้ดิฉันพอเข้าใจเหตุแห่งความลำพอง ถือว่าท่านก็ทรงเป็นหนึ่งในตองอูเหมือนกัน ดังนั้น ”พระเกียรติ” ที่ได้มานี้ เป็นสมบัติชิ้นเดียวที่พอจะทดแทนส่วน  ”ขาด” ได้ จึงทรงต้องปกป้องสุดชีวิต  แต่การที่ทรงเปรียบเปรยงานวิจารณ์ของพระองค์จุลว่าเหมือนกับการวางยาเบื่อสุนัขและใจจดใจจ่อให้สุนัขมาติดกับ ดิฉันคิดว่าเป็นคำพูดที่เค้นมาจากสภาพจิตใจที่ร้าวราน เพราะในฐานะนักเขียนท่านทรงสามารถลิขิตชีวิตตัวละครจากร้ายให้กลายเป็นดี มีความสุขได้ แต่ชีวิตของตัวท่านเองทรงกำหนดไม่ได้

ตรงกันข้าม พระองค์จุลทรงมีชีวิตเหมือนจับวาง คาบช้อนเงินช้อนทองมาแต่กำเนิด ไม่ต้องหารสั้นหารยาวกับใคร ไม่มีไฟแค้นที่อัดอั้นในทรวง จะทรงวิจารณ์งานชิ้นใดก็ทำได้แบบตรงไปตรงมา เพราะในโลกเจริญที่แวดล้อมพระองค์ ไม่มีวรรณกรรมใดแตะต้องไม่ได้

ถึงตรงนี้ต้องรอให้ อ. เทาฯ เล่าต่อค่ะว่าคู่มวยเลียแผล เดินแยกย้ายกลับเข้ามุม หวังประลองแค่หอมปากหอมคอ หรือพระองค์จุลทรงรวบรวมพละกำลัง หวังปล่อยหมัดตรงตีโต้ในยกหน้า
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 03 ต.ค. 05, 18:54

ขอย้อนไปถึงคำวิจารณ์ตอนท้ายๆของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์  ทรงท้วงในอีกประเด็นหนึ่งของเรื่องว่า วิสูตร์ ไปเรียนที่อังกฤษเพียง 1 ปี แต่สามารถก้าวเข้าไปเป็นผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ Times
และอีกไม่ช้าก็ก้าวไปอีกขั้น คือได้เป็นคอลัมนิสต์ เขียนวิจารณ์บทละครพูด  ตีพิมพ์ใน Times
ทรงเห็นว่า "เป็นการหนักมือไปสักหน่อยกระมัง?  อยากทราบว่าหนังสือพิมพ์ ไตมส์ ได้ยินเข้าจะว่ากระไร"

และทรงติงต่อไปว่า

"ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือพิมพ์ "ไตมส์" มาเสมอๆนานแล้ว   แต่ไม่เคยยปรากฏเลยว่ามีผู้เขียนประจำซึ่งใช้นามแฝงชนิด "บ๊อบบี้" เช่นเดียวกับวิสูตร์  
ก่อนจะแต่งถึงความภายในของหนังสือพิมพ์  ม.จ.อากาศฯ ควรจะทำพระองค์ให้คุ้นเคยแต่เพียงกับหน้ากระดาษของหนังสือพิมพ์เสียก่อนจะดี"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 03 ต.ค. 05, 18:55

 ข้อนี้เห็นจะต้องเท้าความอีกว่า  หนังสือพิมพ์ Times เป็นหนังสือพิมพ์สำคัญของอังกฤษ   อ่านกันตั้งแต่กษัตริย์ลงมาจนถึงสามัญชน  ปัญญาชนก็อ่านกันมาก
ดังนั้นนักข่าวหรือคอลัมนิสต์ ก็น่าจะเป็นประเภทมือระดับเซียน ถึงจะได้รับคัดเลือก
หนุ่มน้อยอย่างวิสูตร์ เพิ่งมาจากตะวันออก เรียนได้ 1 ปีในประเทศอังกฤษ จะเก่งกาจถึงขั้นเป็นนักข่าวของ Times และภาษาดีถึงขั้นเป็นคอลัมนิสต์ประจำเชียวหรือ
ถ้าหากว่าวิสูตร์เป็นตัวละครสมมุติ  สมมุติให้เป็นนักข่าว Times มันก็ไม่สมจริง
ถ้าหากว่าจะอ้างว่าเป็นเรื่องจริง  พระองค์จุลฯ ท่านก็ไม่เคยพบว่ามีนักข่าวหรือคอลัมนิสต์ชื่อ "บ๊อบบี้" หรือคล้ายคลึงกันอย่างที่เอ่ยไว้ในเรื่อง  
เพราะฉะนั้นท่านก็ไม่คิดว่าท่านอากาศฯ เป็นนักข่าวของ Times จริง ในนามบ๊อบบี้หรืออะไรก็ตาม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 03 ต.ค. 05, 18:56

 คำโต้ตอบของม.จ.อากาศฯ ในประเด็นนี้ ก็คือ
"...พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงกล่าวว่าข้าพเจ้าเขลา   ไม่รู้ละเอียดถึงเรื่องอันเป็นโครงสำคัญของหนังสือของข้าพเจ้า  คือ การจัดพิมพ์หนังสือ
เป็นการน่าสงสารมากที่เสด็จนักวิจารณ์ของข้าพเจ้าไม่แถลงให้พวกเราได้ทราบว่า พระองค์ทรงเข้าพระทัยหรือเปล่าว่าหนังสือพิมพ์คืออะไร
ข้าพเจ้าอยากแนะนำให้พระองค์อ่านหนังสือของเซอร์ฟิลิพ กิบส์  แล้วพระองค์จะทรงรู้สึกว่าข้พเจ้าไม่เขลาอย่างที่พระองค์ได้คิดไว้

ส่วนประเด็นที่พระองค์จุลฯ ทรงชมเชย ละครแห่งชีวิต  ท่านอากาศฯก็ทรงขอบพระทัย อย่างเชือดเฉือนตามแบบของท่านอีกครั้ง
"ก่อนที่จะจบ  ข้าพเจ้าจะไม่ลืมที่จะขอบพระทัยพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์อย่างเต็มอกเต็มใจ ที่ได้ทรงพอพระทัยในบทรำพันภาพต่างๆ ตลอดเรื่องของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าหวังว่าพระองค์จะได้กล่าวเช่นนั้นโดยซื่อสัตย์จริงๆ"
จบ

คำถามของคุณ Nuchan ขอตอบคราวหน้าค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 04 ต.ค. 05, 09:33

 พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงประหลาดพระทัยมากเมื่อได้อ่านคำตอบโต้รุนแรงของม.จ.อากาศดำเกิง
เพราะทรงเห็นว่า สิ่งที่ทรงเขียนไปก็คือคำติชม ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของวัฒนธรรมการวิจารณ์หนังสือ
นักเขียนอังกฤษที่ผลิตผลงานออกมาสู่สาธารณชน  ย่อมรู้ว่ามีสิทธิ์เจอการวิจารณ์  ไม่มากก็น้อย   ถ้าไม่เจอคำชมก็เจอคำติ  หรือเจอทั้งสองอย่างในบทความเดียวกัน
ส่วนใหญ่ก็ไม่มีใครตอบเป็นเรื่องเอาเป็นเอาตาย  ส่วนจะไปบ่นอุบอิบหรือฟ้องเพื่อนฝูง นอกเวที นั่นก็อาจจะทำกันได้
ม.จ.อากาศดำเกิงทรงทำงานในแวดวงหนังสือพิมพ์ที่อังกฤษ และข้ามไปต่อที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งก็มีวัฒนธรรมการวิจารณ์คล้ายคลึงกัน
พระองค์จุลฯจึงไม่ทรงนึกว่า ท่านอากาศฯมีปฏิกิริยาราวกับว่าเป็นเรื่องส่วนตัวกันระหว่างเจ้านาย 2 องค์
ก็เลยไม่ทรงกล่าวตอบอะไรอีก   เรื่องก็จบกันไป
(คืออย่างน้อยดิฉันก็ไม่พบว่าทรงวิจารณ์พระนิพนธ์ของม.จ.อากาศดำเกิงอีก)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 04 ต.ค. 05, 09:35

 ม.จ.อากาศดำเกิง ทรงมีผลงานที่รวมเล่ม 4 เล่มด้วยกันคือ ละครแห่งชีวิต  ผิวเหลืองผิวขาว  และรวมเรื่องสั้น ชื่อ วิมานทลาย และครอบจักรวาล
นอกจากนี้มีพระนิพนธ์ภาษาอังกฤษชื่อ  East or West คาดว่าส่งไปลงในหนังสือพิมพ์อังกฤษ  แต่ตามรอยไม่พบ
ในบั้นปลาย เมื่อเสด็จไปอยู่ที่ฮ่องกง  ก็มีบทความภาษาอังกฤษอีกหลายบท   แต่กระจัดกระจาย ไม่มีผู้รวบรวม  จึงสูญหายไปตามกาลเวลา

มีประเด็นหลักอีกประเด็นหนึ่งในพระนิพนธ์ของม.จ.อากาศดำเกิง ที่น่าสนใจ   คือภาพสะท้อน "เจ้าไม่มีศาล" ที่ปรากฏอยู่หลายครั้งในตัวละคร หรือแนวคิดต่างๆ กระจายอยู่ในผลงานหลายเรื่อง
คำนี้ หมายถึงเจ้าที่ชาติกำเนิดสูง มียศศักดิ์  แต่ว่าไม่มีเงินทองพอจะพยุงเกียรตินั้นไว้ให้สูงสมฐานะ
ความเป็นเจ้าจึงกลายเป็นภาระหนักอึ้งบนบ่า   เป็นตัวประหลาดในสังคม  เข้ากับใครไม่ได้  
จะเข้าสมาคมเจ้านายด้วยกันก็ถูกปฏิเสธว่า "ต่ำเกินไป "
จะอยู่กับสามัญชน  ก็กลมกลืนกันไม่สนิท  เพราะมีฐานะสูงศักดิ์เป็นสิ่งกีดขวางเอาไว้  
ผลคือความขมขื่นคับแค้นที่ไม่อาจลบล้างได้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 04 ต.ค. 05, 09:37

 ถ้าจะถามว่า ทัศนะของม.จ.อากาศดำเกิง คือทัศนะของสังคมหรือว่าทัศนะส่วนตัว   ดิฉันเห็นว่าเป็นทัศนะส่วนตัวของท่าน    แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า "เจ้าไม่มีศาล" มีแต่ในความเห็นของท่านคนเดียว
เจ้านายที่ยากจน ไม่อาจดำรงฐานะให้สูงส่งได้มีมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว  ไม่ใช่ว่าขึ้นชื่อว่าเป็นหม่อมเจ้าพระองค์เจ้าแล้ว จะต้องมีวังหรูหราเหมือนท่านชายพจน์พระเอกของ"ปริศนา" เสมอไป  เจ้านายที่ร่ำรวยโก้หรูอย่างนั้นอาจจะจำนวนน้อยกว่าเจ้าที่ไม่ร่ำรวยเสียอีก

ลองมาอ่านทัศนะของ ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล ทรงกล่าวถึงเจ้าที่ร่ำรวยและยากจนดูนะคะ
"เป็นธรรมดา คนชอบดูแต่ความโอ่อ่าฟุ้งซ่าน และ bluffing (สิ่งที่หลอกให้ลวงตา)ยิ่งกว่าการที่เป็นอยู่จริง
ฉะนั้น มนุษย์ที่เรียกว่า เจ้า  จึงมักจะถูกหาว่ามั่งมีนัก   และถ้าเจ้ามีแล้วก็ต้องแปลว่า ทำนาบนหลังคน
ทำไมเรื่องเจ้าจนๆ จึงไม่มีใครเอามาปาฐกถากันบ้าง?
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.064 วินาที กับ 19 คำสั่ง