เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์โลก => ข้อความที่เริ่มโดย: NAVARAT.C ที่ 09 มี.ค. 13, 16:21



กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 มี.ค. 13, 16:21
ในกระทู้ที่แล้ว ผมกล่าวถึงบุคคลที่เป็นอาทิกัมมิกะ คือ บุคคลที่กระทำผิดเป็นคนแรกก่อนมีข้อห้าม ถือว่าไม่ผิด เลยนึกถึงเรื่องตามชื่อกระทู้นี้ อยากนำมาเล่าต่อสู่กันฟัง

ชาวพุทธระดับที่เข้ามาในเรือนไทย คงไม่มีใครไม่รู้จักพระปัญจวัคคีย์ หรือกลุ่มพระภิกษุ๕องค์ ซึ่งทำให้บังเกิดสงฆ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในพระพุทธศาสนา ครบเป็นองค์๓ของพระรัตนตรัย อันประกอบด้วย พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

ความจริงแล้วในสมัยพุทธกาล มีพระภิกษุถูกจัดให้เป็นกลุ่มๆ เรียกว่า“วัคคีย์”ปรากฏในพระไตรปิฎกหลายกลุ่มอยู่ ปัญจวัคคีย์เป็นกลุ่มสงฆ์ที่ควรแก่การเคารพคารวะ ทว่าในหมวดพระวินัยนั้น มีกลุ่มพระแสบที่เข้ามาบวชเป็นเหลือบในพระพุทธศาสนา เรียกว่าพวกฉัพพัคคีย์ หรือแก๊ง๖คน และพวกสัตตรสวัคคีย์ หรือแก๊ง๑๗คน รวมอยู่ด้วย

๑๗ บาลีว่า สัตตรส อ่านว่า สัด-ตะ-ระ-สะ ไม่ใช่ "สัด-ตะ-รด” อันจะกลายเป็นแปลว่ารสชาติทั้ง๗ไป
สัตตรสวัคคีย์  อ่านว่า สัด-ตะ-ระ-สะ-วัค-คี คือกลุ่มบุคคลที่รวมกันได้๑๗

ทั้งพระฉัพพัคคีย์ และพระสัตตรสวัคคีย์ นับว่าเป็นอาทิกัมมิกะ ในศีลของพระภิกษุสงฆ์มากมายหลายสิบข้ออย่างน่าเหลือเชื่อ


กระทู้: แก๊งแสบกับแก็งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 มี.ค. 13, 16:23
สมัยที่พระพุทธเจ้ายังมิได้ทรงมอบภารกิจการบวชกุลบุตรเข้ามาเป็นพระภิกษุในศาสนาของพระองค์นั้น สังฆสาวกที่เป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ เป็นสงฆ์เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตโดยออกพระโอษฐ์ว่า ขอท่านจงเป็นภิกษุแต่บัดนี้เถิด นั้น ท่านเหล่านี้มิได้เคยสร้างปัญหาให้คณะสงฆ์ด้วยกันแต่อย่างใด ครั้นเมื่อพระพุทธศาสนาเริ่มแผ่ไป สุดวิสัยที่พระองค์แต่ผู้เดียวจะทรงเป็นผู้อนุญาตการบวช จึงมอบภาระนี้แก่หมู่สงฆ์ เมื่อเป็นดังนี้ หน้าที่รับผิดชอบในการกลั่นกรองคนจึงขึ้นอยู่กับพระอุปัชฌาย์ หรือสงฆ์ผู้อนุญาตและคอยดูแลเอาใจใส่ แนะนำพรำเตือนศิษย์ของตน

เพราะเหตุที่มิได้มีกฎเกณฑ์ใดๆกำกับไว้ หวังให้ขึ้นอยู่กับการใช้วิจารณญาณของแต่ละท่าน การกลั่นกรองของพระอุปัชฌาย์บางองค์ ถึงแม้จะเป็นพระอรหันต์ก็ยังมีพลาด ทำให้บุคคลที่มิได้ตั้งใจจะแสวงหาความหลุดพ้นเข้ามาป่วนวงการสงฆ์ จนพระพุทธเจ้าต้องทรงแก้ไข ด้วยการบัญญัติข้อห้ามที่เรียกว่าศีล ตามมาทุกครั้งที่ความผิดบังเกิด กว่าจะปรินิพพาน ศีลของพระภิกษุจึงมีถึง๒๒๗ข้อ และแน่นอนว่า ถ้าพระชนมายุยืนยาวกว่านั้น ศีลของพระภิกษุคงมีมากกว่าที่เห็นแน่ๆ


กระทู้: แก๊งแสบกับแก็งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 มี.ค. 13, 16:26
ผมขอแนะนำให้รู้จักภิกษุฉัพพัคคีย์ ที่มีฉายาว่าแก๊งแสบก่อน

นี่ว่ากันตามสำนวนพระไตรปิฎก

ได้ยินว่าชน๖คน๑ ในกรุงสาวัตถีเป็นสหายกัน ปรึกษากันว่าการกสิกรรมเป็นต้นเป็นการงานที่ลำบาก เอาเถิดสหายทั้งหลายพวกเราจะพากันบวช และพวกเราเมื่อจะบวช ควรบวชในฐานผู้ช่วย สลัดออกเสียในเมื่อมีกิจการเกิดขึ้น     
ดังนี้แล้วได้บวชในสำนักแห่งพระอัครสาวกทั้งสอง……………

ชน๖คน๑ ตามสำนวนนี้หมายถึงคนจำนวน๖คนกลุ่มหนึ่ง ประกอบด้วยผู้ที่มีรายนามดังนี้คือ   ปัณฑกะ๑ โลหิตกะ๑  เมตติยะ๑ ภุมมชกะ ๑ อัสสชิ ๑ ปุนัพพสุกะ ๑  เมื่อบวชแล้วเรียกว่า  ภิกษุฉัพพัคคีย์
 
พระอัสสชิในกลุ่ม๖นี้ ไม่ใช่พระอัสสชิในกลุ่มภิกษุปัญจวัคคีย์นะครับ องค์นั้นท่านเป็นอรหันตสาวกอันควรแก่การกราบไหว้ด้วยเศียรเกล้า ชื่อแขกก็เป็นชื่อโหลอย่างนี้แหละ ในพระไตรปิฏกปรากฎชื่อพระอัสสชิตั้งหลายองค์

ภิกษุฉัพพัคคีย์นี้บวชเรียนเข้ามาอยู่ในสำนักของพระโมคคัลลาน์และพระสารีบุตรทีเดียวเชียวนะท่าน

ในอินเดียนั้น ไม่ว่าสมัยไหนๆ คนจนมีมากกว่าคนไม่จน เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นแล้ว มีผู้เลื่อมไสศรัทธามาทำบุญทำทานมากมาย จนคนกลุ่มหนึ่งมองว่าเป็นพระในพุทธศาสนานี่สบายดี วันๆคงกินกับนอนไม่ต้องทำอะไร เลยกะจะเข้ามาบวชเพื่อที่จะเช้าเอน เพลนอน บ่ายพักผ่อน กลางคืนจำวัด อาศัยผ้าเหลืองไปวันๆ


กระทู้: แก๊งแสบกับแก็งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 มี.ค. 13, 16:29
เมื่อแก๊งฉัพพัคคีย์บวชเข้ามานั้น ในวัดมีแก๊งสัตตรสวัคคีย์ หรือกลุ่มเด็กโจ๋๑๗คนบวชอยู่ก่อนแล้ว

ขอแนะนำภิกษุสัตตรสวัคคีย์ ว่ากันตามสำนวนพระไตรปิฎก

ก็สมัยนั้นแล ในพระนครราชคฤห์มีเด็กชายพวกหนึ่ง ๑๗ คน เป็นเพื่อนกันเด็กชายอุบาลีเป็นหัวหน้าของเด็กพวกนั้น

ครั้งนั้น มารดาบิดาของเด็กชายอุบาลีได้หารือกันว่าด้วยวิธีอะไรหนอ เมื่อเราทั้งสองล่วงลับไปแล้ว เจ้าอุบาลีจะอยู่เป็นสุข และจะไม่ต้องลำบาก ครั้นแล้วหารือกันต่อไปว่า ถ้าเจ้าอุบาลีจะพึงเรียนหนังสือ ด้วยวิธีอย่างนี้แหละ เมื่อเราทั้งสองล่วงลับไปแล้ว เจ้าอุบาลี จะพึงอยู่เป็นสุข และจะไม่ต้องลำบาก
แล้วหารือกันต่อไปอีกว่า ถ้าเจ้าอุบาลีจักเรียนหนังสือ นิ้วมือก็จักระบม ถ้าเจ้าอุบาลีเรียนวิชาคำนวณ ด้วยอุบายอย่างนี้แหละ เมื่อเราทั้งสองล่วงลับไปแล้ว เจ้าอุบาลีจะพึงอยู่เป็นสุข และไม่ต้องลำบาก
ครั้นต่อมาจึงหารือกันอีกว่า ถ้าเจ้าอุบาลีจักเรียนวิชาคำนวณเขาจักหนักอก ถ้าจะพึงเรียนวิชาดูรูปภาพ ด้วยอุบายอย่างนี้แหละ เมื่อเราทั้งสองล่วงลับไปแล้ว เจ้าอุบาลีก็จะพึงอยู่เป็นสุข และจะไม่ต้องลำบาก
ครั้นต่อมาจึงหารือกันอีกว่า ถ้าเจ้าอุบาลีจักเรียนวิชาดูรูปภาพ นัยน์ตาทั้งสองของเขาจักชอกช้ำ พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้แล มีปกติเป็นสุข มีความประพฤติเรียบร้อย ฉันอาหารที่ดี นอนในห้องนอนอันมิดชิด ถ้าเจ้าอุบาลีจะพึงบวชในสำนักพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร ด้วยวิธีนี้แหละ เมื่อเราทั้งสองล่วงลับไปแล้ว เจ้าอุบาลีก็จะอยู่เป็นสุข และจะไม่ต้องลำบาก

เด็กชายอุบาลีได้ยินถ้อยคำที่มารดาบิดาสนทนาหารือกันดังนี้ จึงเข้าไปหาเพื่อนเด็กเหล่านั้น ครั้นแล้วได้พูดชวนว่า มาเถิดพวกเจ้า พวกเราจักพากันไปบวชในสำนักพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเด็กชายเหล่านั้นพูดว่า ถ้าเจ้าบวช แม้พวกเราก็จักบวชเหมือนกัน

เด็กชายเหล่านั้นไม่รอช้า ต่างคนต่างก็เข้าไปหามารดาบิดาของตนๆ แล้วขออนุญาตว่าขอท่านทั้งหลายจงอนุญาตให้ข้าพเจ้า ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด
มารดาบิดาของเด็กชายเหล่านั้นก็อนุญาตทันที ด้วยคิดเห็นว่า เด็กเหล่านี้ต่างก็มีฉันทะร่วมกัน มีความมุ่งหมายดีด้วยกันทุกคน เด็กพวกนั้นเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายแล้วขอบรรพชา  


กระทู้: แก๊งแสบกับแก็งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 มี.ค. 13, 16:31
ยังไงไม่ทราบได้ ภิกษุทั้งหลายก็บรรพชาอุปสมบทให้เด็กแก๊งนี้ ในคืนนั้นเอง พระเด็กเหล่านั้นก็หิว ร้องไห้คร่ำครวญจะขอกินข้าว พวกที่หลับแล้วก็ปัสสาวะ อุจจาระรดที่นอน ด่าทอกันเองอึงอยู่ จนเสียงดังไปถึงพระพุทธเจ้า ทรงตรัสถามพระอานนท์ว่านั่นเสียงเด็กหรือ พระอานนท์จึงกราบทูลเรื่องที่เกิดขึ้น

เช้าวันนั้น พระพุทธเจ้าจึงรับสั่งถามต่อคณะสงฆ์ว่า มีใครบวชให้เด็กอายุต่ำกว่า๒๐ปีจริงหรือ ภิกษุทั้งหลายก็กราบทูลว่าจริงพระพุทธเจ้าข้า พระพุทธเจ้าจึงทรงติเตียนว่า ไฉนโมฆบุรุษพวกนั้นรู้อยู่ จึงได้ให้บุคคลมีอายุหย่อน ๒๐ ปี อุปสมบทเล่า
 
คำว่าโมฆบุรุษแปลตามศัพท์บาลีว่าบุคคลที่ว่างเปล่าไม่มีอะไรในตน อธิบายตามภาษาปัจจุบันเรียกว่าพวกสมองกลวง

ทรงตรัสต่อว่า โมฆบุรุษพวกนั้นก็รู้อยู่ว่าคนที่มีอายุน้อยกว่ายี่สิบปี เป็นผู้ไม่อดทนต่อเย็น ร้อน หิวกระหาย ไม่อดทนต่อเหลือบ ยุง ลม แดด สัตว์เลื้อยคลาน ไม่อดทนต่อการถูกกล่าวร้าย ต่อทุกขเวทนาจนอาจทำให้เสียชีวิตได้ การกระทำของโมฆบุรุษดังนั้น จึงไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว

พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติข้อห้ามว่า ภิกษุรู้อยู่ ไม่พึงให้บุคคลมีอายุหย่อน ๒๐ปีอุปสมบท ภิกษุผู้ใดเป็นอุปัชฌายะให้อุปสมบท ผู้นั้นต้องอาบัติปาจิตตีย์
ส่วนพระอุปัชฌาย์ที่บวชให้ครั้งนี้ ถือเป็นอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติ

ส่วนพระเด็กทั้ง๑๗องค์ เมื่อบวชเข้ามาแล้วก็โชคดีถือว่าแล้วไปแล้ว ยังดำรงสมณเพศได้ต่อไป แต่ต้องปฏิบัติตามพระวินัยเช่นพระภิกษุทั่วไป รู้จักกันในนามว่า พระสัตตรสวัคคีย์ 


กระทู้: แก๊งแสบกับแก็งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 มี.ค. 13, 16:36
เด็กก็คือเด็ก วันหนึ่งแก๊งโจ๋พวกนี้ได้ไปเล่นน้ำในแม่น้ำอจิรวดี บังเอิญพระเจ้าปเสนทิโกศลและพระมเหสีได้เสด็จไปเจอเข้า เห็นพระว่ายน้ำเล่นกันอย่างคึกคะนองผิดสมณะสารูปก็สลดพระทัย ทำอย่างไรจะให้พระพุทธเจ้าได้ทรงรับรู้ จึงทรงออกอุบายฝากงบน้ำอ้อยไปถวายพระพุทธเจ้า ครั้นพระพุทธเจ้าถามว่าใครถวายมา และซักเรื่องราวต่างๆก็ทรงทราบว่า พระโจ๋แก๊งนี้ไปเล่นน้ำกันมา จึงทรงติเตียนโฆษบุรุษทั้งหลาย แล้วบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุว่ายน้ำเล่น ภิกษุใดละเมิดต้องอาบัติปาจิตตีย์

ส่วนแก๊งโจ๋กระทำก่อนบัญญัตินี้ ถือเป็นอาทิกัมมิกะ จึงรอดตัวไป


กระทู้: แก๊งแสบกับแก็งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 มี.ค. 13, 16:38
และแล้วแก๊งแสบกับแก็งโจ๋ก็โคจรมากัน


ครั้งนั้นพระนครราชคฤห์มีมหรสพบนยอดเขา พระสัตตรสวัคคีย์ได้ไปดูมหรสพบนยอดเขา ประชาชนเห็นพระเด็กๆมาก็เอ็นดู จึงนิมนต์ให้สรงน้ำ ลูบไล้ของหอม ให้ฉันอาหารแล้วได้ถวายของขบเคี้ยวไปด้วย พระสัตตรสวัคคีย์นำของเคี้ยวมาถึงวัดแล้วไปจ๊ะเอ๋กับแก๊งพระฉัพพัคคีย์เข้า เลยแก้เกี้ยวนิมนต์ให้ฉันด้วย พระฉัพพัคคีย์ถามว่านี่พวกท่านฉันอาหารในเวลาวิกาลหรือ ว่าแล้วก็ติเตียน โพนทะนาเพ่งโทษแก๊งโจ๋ว่าฉันอาหารในเวลาวิกาล ในที่สุดเรื่องก็ไปถึงพระพุทธเจ้า ทรงสอบถามแล้วพระสัตตรสวัคคีย์ทูลรับว่าจริง
 
จึงทรงติเตียนโฆษบุรุษทั้งหลาย แล้วบัญญัติสิกขาบท ห้ามพระภิกษุฉันอาหารในเวลาวิกาล ตั้งแต่เที่ยงไปจนรุ่งอรุณ ภิกษุใดละเมิดต้องอาบัติปาจิตตีย์

ส่วนแก๊งโจ๋กระทำก่อนบัญญัตินี้ ถือเป็นอาทิกัมมิกะ จึงรอดตัวไป


กระทู้: แก๊งแสบกับแก็งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 มี.ค. 13, 16:40
ครั้งนั้น พระสัตตรสวัคคีย์กำลังช่วยกันซ่อมแซมวิหารหลังหนึ่งที่อยู่สุดเขตวัด หมายใจว่าจะได้เข้าครอบครอง พระฉัพพัคคีย์ได้เห็นแก๊งโจ๋กำลังทำงานง่วนอยู่ก็พูดกันว่า อย่ากระนั้นเลย พวกเราจักไล่พวกเธอไปเสีย สมาชิกในแก๊งแสบบางท่านเสนอให้รออยู่ก่อน จนกว่าพวกเธอจะปฏิสังขรณ์เสร็จ เมื่อเธอปฎิสังขรณ์เสร็จแล้วพวกเราจงค่อยไล่ไป

ครั้นเสร็จแล้ว  แก๊งแสบก็ยกพวกไปลุยโดยกล่าวกับแก๊งโจ๋ว่าพวกท่านจงย้ายไป วิหารนี้เป็นของพวกเรา แก๊งโจ๋ตอบว่า อาวุโสทั้งหลาย พวกท่านควรจะบอกล่วงหน้ามิใช่รึ   พวกเราจะได้ปฏิสังขรณ์วิหารหลังอื่น เถียงกันไปมา สุดท้ายแก๊งแสบขัดใจ ทำเป็นโกรธเข้าจับคอจับคอพวกแก๊งโจ๋ฉุดคร่าออกไป พระสัตตรสวัคคีย์ถูกฉุดคร่าออกไปก็ร้องให้ ภิกษุทั้งหลายเห็นเข้าก็พากันถามว่าพวกท่านร้องไห้ทำไม พระสัตตรสวัคดีย์ก็เล่าเรื่องให้ฟัง ในที่สุดเรื่องก็ถึงพระพุทธเจ้า

ลำดับนั้น ทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ว่า พวกเธอโกรธ ขัดใจ ฉุดคร่าภิกษุทั้งหลายออกจากวิหารของสงฆ์จริงหรือ พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริงพระพุทธเจ้าข้า
พระพุทธเจ้าจึงทรงติเตียนโฆษบุรุษทั้งหลาย แล้วบัญญัติสิกขาบท ห้ามพระภิกษุทำร้ายกัน ภิกษุใดโกรธ ขัดใจ ฉุดคร่าก็ดี ให้ฉุดคร่าก็ดี  ซึ่งภิกษุจากวิหารของสงฆ์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ส่วนแก๊งแสบกระทำก่อนบัญญัตินี้ ถือเป็นอาทิกัมมิกะ จึงรอดตัวไป


กระทู้: แก๊งแสบกับแก็งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มี.ค. 13, 17:44
ต้องโทษพ่อแม่ของเด็กชายอุบาลีเป็นอันดันแรก ที่หวังให้ลูกบวชเพื่อเป็นกาฝากในศาสนา    อาศัยความเลื่อมใสของประชาชนบันดาลได้นั่งๆนอนๆ กินสบายอยู่สบาย ไม่ต้องประกอบอาชีพ      โดยไม่ได้ใส่ใจเลยว่าพุทธศาสนามีจุดมุ่งหมายอย่างใด   เมื่อพ่อแม่ไม่เห็นลูกจะเห็นอย่างไรได้

อ่านๆจากข้างบนนี้ พวกแก๊งค์สองแก๊งค์นี่ก็น่าเอ็นดูอยู่อย่าง  ถูกจับได้ทีไรก็ยอมรับสารภาพทุกที  ไม่ตะแบงไปข้างๆคูๆ ให้ผู้จับได้ปวดหัวกันอย่างสมัยนี้    และไม่มีเส้นมีสายมาคอยช่วยเหลือ  ทำให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยได้ง่ายขึ้นมาก 


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 09 มี.ค. 13, 20:06
แก๊งโจ๋ของพระอุบาลีนี่เข้าใจว่าเป็นคนละอุบาลีกับพระอุบาลีเถระ  เพราะพระอุบาลีเถระก่อนบวชเป็นช่างภูษามาลาออกบวชพร้อมกับพระราชกุมารอีก 6 พระองค์ คือพระเจ้าภัททิยศากยราชา, เจ้าชายอนุรุทธะ, เจ้าชายอานนท์, เจ้าชายอนุรุทธะ, เจ้าชายกิมพิละ และเจ้าชายเทวทัต โดยนายอุบาลีภูษามาลาบวชก่อนเพื่อเป็นการลดทิฐิของเหล่าราชกุมาร เพราะเมื่อบวชก่อนท่านจะมีพรรษามากกว่าเหล่าพระราชกุมาร ทำให้เหล่าราชกุมารทั้งหลายต้องกราบไหว้ท่าน  พระอุบาลีเถระเป็นพระอรหันต์ เป็นหนึ่งในพระภิกษุสาวกเอตทัคคะของพระพุทธเจ้าเป็นเลิศในด้านผู้ทรงวินัย

ในการสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งแรก พระอุบาลีเถระเป็นผู้วิสัชชนาพระธรรมวินัยที่แถวๆ เมืองราชคฤห์

ข้อมูลลอกเอามาจากแถวๆ wiki ครับ


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 มี.ค. 13, 07:31
ข้อความโดย: เทาชมพู
อ้างถึง
อ่านๆจากข้างบนนี้ พวกแก๊งค์สองแก๊งค์นี่ก็น่าเอ็นดูอยู่อย่าง  ถูกจับได้ทีไรก็ยอมรับสารภาพทุกที  ไม่ตะแบงไปข้างๆคูๆ ให้ผู้จับได้ปวดหัวกันอย่างสมัยนี้    และไม่มีเส้นมีสายมาคอยช่วยเหลือ  ทำให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยได้ง่ายขึ้นมาก

ครับ
พระภิกษุสมัยนั้น ไม่ว่าจะพยศอย่างไรก็ตามก็ยังรักและเคารพพระพุทธเจ้า นอกจากเทวทัตเท่านั้นที่กล้าทำร้ายพระพุทธองค์

ทั้งพระฉัพพัคคีย์และพระสัตตรสวัคคีย์ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่รักษาศีล ในความหมายว่า"ข้อห้าม"ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติแล้วอย่างเคร่งครัด ท่านจะไม่มุสา หรือเอาสีข้างเข้าถูจนสีข้างไม่มีหนังกำพร้าเหมือนพวกนักการเมือง แม้ท่านจะชอบทำอะไรผิดๆวิสัยพระ จนพระพุทธเจ้าต้องทรงบัญญัติศีลเพิ่มตาม ท่านก็จะไม่ละเมิดศีลข้อเดิมนั้นอีก แต่จะไปหาเรื่องแผลงๆใหม่ๆทำไปได้เรื่อยๆ


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 มี.ค. 13, 07:59
ข้อความโดย: ประกอบ
อ้างถึง
แก๊งโจ๋ของพระอุบาลีนี่เข้าใจว่าเป็นคนละอุบาลีกับพระอุบาลีเถระ.....ฯลฯ

ครับ

ผมแจงไว้แล้วว่า ชื่อคนอินเดียสมัยพุทธกาลมีชื่อโหลแยะมาก แต่บางครั้งจะใช้ว่าเป็นลูกใครเป็นชื่อด้วย เช่นพระสารีบุตรเมื่อแรกเกิดมีชื่อว่า"อุปติสสะ"เป็นบุตรของนางพราหมณีชื่อ"สารี" คนทั้งปวงขนานนามท่านว่า"สารีบุตร" แปลว่าบุตรของนางสารีเพื่อไม่ให้ซ้ำกับอุปติสสะอื่นๆ หรือ พระโมคคัลลานะ ชื่อเดิมของท่านคือ "โกลิตะ" มาได้ฉายาใหม่ซึ่งแปลว่าผู้มีเชื้อสายของนางโมคคัลลี เป็นต้น

การพ่วงท้ายคำว่า"เถระ"ก็บ่งบอกฐานะของพระภิกษุเช่นกัน พระอุบาลีเฉยๆกับพระอุบาลีเถระ มีความแตกต่างกันแน่นอนครับ



กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 มี.ค. 13, 08:22
ต่อมา พระฉัพพัคคีย์ก็หาวิธีแย่งที่อยู่ของภิกษุอื่นอีก โดยให้อุบายเข้าไปนอนเบียดพระภิกษุชั้นผู้ใหญ่ ด้วยคิดว่าท่านอึดอัดเข้าก็จะหลีกไปเอง ปกติพระเถระนั้นท่านรักความสงบวิเวกอยู่แล้ว ท่านยินดีนอนที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นหลืบถ้ำหรือโคนต้นไม้ แก๊งแสบจึงชิงที่นอนนั้นได้สำเร็จ พระภิกษุอื่นๆทราบเข้าก็พากันตำหนิติเตียน แล้วนำความไปกราบทูลพระพุทธเจ้า ทรงตรัสถาม พระฉัพพัคคีย์ก็รับสารภาพ

จึงทรงติเตียนโฆษบุรุษทั้งหลาย แล้วบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุใดรู้อยู่  สำเร็จการนอนแทรกแซงภิกษุผู้เข้าไปก่อน ในวิหารของสงฆ์ ด้วยหมายว่าผู้ใดมีความคับใจ ผู้นั้นจักหลีกไปเอง ทำความหมายอย่างนี้เท่านั้นให้เป็นปัจจัย หาใช่อย่างอื่นไม่  ภิกษุใดละเมิดต้องอาบัติปาจิตตีย์

ส่วนแก๊งแสบกระทำก่อนบัญญัตินี้ ถือเป็นอาทิกัมมิกะ จึงรอดตัวไป


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 มี.ค. 13, 08:34
แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ โดยธรรมชาติของผู้ชายที่วุฒิภาวะยังไม่ถึงขั้นจะเป็นผู้ใหญ่ ตัวใหญ่ก็ย่อมเล่นแกล้งตัวเล็กเพื่อความสนุกสนานอยู่แล้ว

ภิกษุพวก๖ ซ่อนบาตรบ้าง จีวรบ้าง ของภิกษุพวก๑๗ ซึ่งไม่ค่อยเก็บบริขาร(เครื่องใช้ของพระ)ของตนให้เรียบร้อย เรื่องไปถึงพระพุทธเจ้า ทรงสอบถาม พระฉัพพัคคีย์ทูลรับสารภาพ

จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุซ่อนบาตร จีวร กล่องเข็ม ประคดเอวของภิกษุอื่น แม้เพื่อจะหัวเราะเล่น ภิกษุใดละเมิดต้องอาบัติปาจิตตีย์
ส่วนแก๊งแสบกระทำก่อนบัญญัตินี้ ถือเป็นอาทิกัมมิกะ จึงรอดตัวไป


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 มี.ค. 13, 08:58
ขอรับพระเจ้าข้า ไม่เล่นซ่อนหาก็ได้ เล่นไอ้นี่ดีกว่า

ภิกษุพวก๖ หลอกภิกษุพวก๑๗ ให้กลัวผี พวกเธอถูกหลอกจึงร้องไห้ ภิกษุทั้งหลายถามแก๊งโจ๋ว่าพวกท่านร้องไห้ทำไม พระสัตตรสวัคคีย์ตอบว่า พระฉัพพัคคีย์พวกนี้หลอกผีพวกผมขอรับ

เรื่องไปถึงพระพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกเธอหลอนภิกษุทั้งหลายจริงหรือ พระฉัพพัคคีย์ทูลรับสารภาพว่าจริงพระเจ้าข้า

จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุใดหลอนซึ่งภิกษุอื่น ภิกษุใดละเมิดต้องอาบัติปาจิตตีย์
ข้อห้ามนี้ หมายรวมไปถึงหลอกให้เกิดความกลัวทั้งหมด ไม่เฉพาะหลอกเรื่องผีเท่านั้น

ส่วนแก๊งแสบกระทำก่อนบัญญัตินี้ ถือเป็นอาทิกัมมิกะ จึงรอดตัวไป


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 มี.ค. 13, 09:35
คราวนี้แก๊งแสบเล่นแก๊งโจ๋แร๊งงค์

ครั้งนั้นภิกษุพวก๖ ได้ทำภิกษุรูปหนึ่งในพวก๑๗ ให้หัวเราะด้วยการจี้ด้วยนิ้วมือ  เธอสะดุ้ง หายใจไม่ทันถึงกับขาดใจมรณภาพลง พระภิกษุอื่นๆทราบเข้าก็พากันตำหนิติเตียน แล้วนำความไปกราบทูลพระพุทธเจ้า ทรงตรัสถาม พระฉัพพัคคีย์ก็รับสารภาพ

จึงทรงติเตียนโฆษบุรุษทั้งหลาย แล้วบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุจี้ภิกษุอื่นด้วยนิ้วมือ ภิกษุใดละเมิดต้องอาบัติปาจิตตีย์
ส่วนแก๊งแสบกระทำก่อนบัญญัตินี้ ถือเป็นอาทิกัมมิกะ จึงรอดตัวไป

ถามว่า ทำไมแก๊งแสบจึงไม่ต้องปาราชิกในข้อที่ว่าห้ามฆ่ามนุษย์

ในทางพระพุทธศาสนาแล้ว บุคคลใดจะถือว่าได้กระทำผิดศีลหรือไม่ ให้ดูที่เจตนาของบุคคลขณะที่กระทำกรรมนั้น
พวกแก๊งแสบมิได้มีเจตนาจะฆ่าพระแก๊งโจ๋(แม้อาจจะหมั่นไส้อยู่บ้างก็ตาม) เพียงแต่ประสงค์จะแกล้งเล่นเพื่อความบันเทิงของตน แต่บังเอิญพลาดพลั้งไปเหยื่อจึงตาย ก็มีความผิดแค่ฐานประมาท
แต่นี่ไม่ใช่กฎหมายของบ้านเมืองนะครับ ทว่าในพระไตรปิฎกมิได้กล่าวต่อในเรื่องนี้ว่าเป็นคดีถึงพระอัยการหรือไม่อย่างไร สันนิฐานว่าบ้านเมืองก็คงไม่เอาความ เพราะแก๊งแสบยังคงก่อเรื่องต่อไปในนามของภิกษุฉัพพัคคีย์อีกหลายเรื่อง

โปรดติดตาม


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 มี.ค. 13, 09:46
กระทู้โน้นเขามีอาหารสารพัดคาวหวานมารับรองแขกเรือน ของพ้มค่อนข้างจะแห้งแล้งหน่อยนะขอรับท่าน  มีแต่ข้าวก้นบาตร เชิญรับประทานระหว่างรอคอย


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มี.ค. 13, 19:00
^
เดี๋ยวเด็กชายประกอบจะผอม
และ
เสียชื่อเจ้าของเรือนหมด


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มี.ค. 13, 19:16
อย่างหนึ่งที่เห็นได้จากกรณีดังกล่าว คือสังคมสมัยพุทธกาลไม่ได้อยู่กันแบบต่างคนต่างอยู่อย่างยุคนี้    ดูเหมือนชุมชนจะเข้มแข็งมากทีเดียว ในการสอดส่องความประพฤติของสมาชิกในชุมชนนั้น
พระสงฆ์อื่นๆเมื่อเห็นพระด้วยกันทำอะไรไม่สมควร แม้จะเป็นเรื่องที่สมัยนี้เอาหูไปนาเอาตาไปไร่กันได้ อย่างเช่นแกล้งไปนอนเบียดพระผู้ใหญ่เพื่อแย่งที่นอน     พระสงฆ์อื่นก็ไม่นิ่งดูดาย   ต้องร้องเรียนถึงพระพุทธองค์

บางเรื่องแม้สิ่งที่ทำไม่ใช่ความผิดคิดร้าย   แต่ดูแล้วไม่สำรวม เช่นไปว่ายน้ำเล่น   พระโจ๋ว่ายน้ำคึกคะนองอาจจะโดดน้ำตูมๆ หรือเล่นขี่คอกันในน้ำประสาเด็ก  พระเจ้าปเสนทิโกศลและพระมเหสีได้เสด็จไปเจอเข้า ท่านก็ไม่ถือว่าชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์   แต่หาอุบายร้องเรียนให้พระพุทธเจ้าทรงทราบจนได้
ปัญหาเรื่องพระสงฆ์แสดงกิริยาไม่สมกับสมณสารูปมีเยอะมาก  ถึงไม่ว่ายน้ำ แต่ไปเล่นสาดน้ำสงกรานต์  ปีนขึ้นน้ำตกไปนอนแช่น้ำตก แบบนี้ก็ไม่สมกับสมณสารูปเช่นกัน


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 10 มี.ค. 13, 20:53
สำรับท่านซายานวรัตนนี่ตำรับวัดป่าชัดๆ    ส่วนของท่านอาจารย์เทานี่ต้องระดับเจ้าคุณฯ วัดหลวงชั้นเอกฉันแล้วครับ ไอ้กระผมมันเด็กวัดป่าเก่า คอยถือปิ่นโตตามขบวนพระบิณฑบาต เห็นข้าวเหนียวมะม่วงได้แต่เมียงมอง แม้ตอนนี้ก็ไม่ได้สัมผัสมา 2 ปีแล้ว  :'(

วงการพระสงฆ์สมัยพุทธกาลจะว่าท่านสอดส่องกันดีก็ว่าได้ครับ แต่บางอารมณ์เวลาอ่านพุทธประวัติหรือการบัญญัติศีลต่างๆ ก็รู้สึกได้ว่าพระปุถุชน(พระที่ยังไม่ถึงระดับพระอริยะ)สมัยนั้นท่านก็นินทาหรือซุปซิบกันเก่งเหมือนกัน ซุบซิบๆ กันดังไปถึงพระพุทธองค์


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 มี.ค. 13, 07:39
ภัตตาหารที่ท่านอาจารย์เทาชมพูนำมาเสริฟเอาใจอุบาสกอุบาสิกาที่เข้ามาในห้องนี้ เป็นแบบที่ล่อโฆษบุรุษเข้ามาบวชในพุทธศาสนา ขนาดสมัยพุทธกาล จังหันบิณฑบาตจะเป็นคล้ายกับในบาตรพระป่าทางอีสานบ้านเฮา ยังมีแก๊งแสบแก๊งโจ๋ และสิงห์เดี่ยวอีกหลายองค์บวชเข้ามาหวังความสุขสบาย

แต่ไม่เป็นไรนะครับ ใครทำอะไรก็ได้อย่างนั้น ถ้าท่านอาจารย์เทาชมพูเจริญศรัทธาถวายจังหันอันประณีต ท่านก็จะได้อานิสงส์จากการนั้นไปสะสมในกองบุญของท่าน ส่วนพระที่ฉันอาหาร ท่านคิดท่านพูดท่านปฏิบัติอย่างไร ท่านย่อมได้รับผลดีชั่วอย่างนั้น พระแท้ท่านจึงหมั่นเจริญสติรักษาจิตอยู่ทุกขณะ ไม่ให้ฟุ้งซ่านไปกับกิเลศตัณหา


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 มี.ค. 13, 07:52
กลับมาที่แก๊งแสบซึ่งยังคงหมั่นไส้แก๊งโจ๋อยู่

ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์แกล้งพูดเย้าหยอกพระสัตตรสวัคคีย์ว่า พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว สงฆ์ไม่พึงอุปสมบทบุคคลมีอายุหย่อน๒๐ปี ดังนั้นพวกท่านซึ่งมีอายุหย่อน๒๐ปี ถึงจะบวชแล้วก็เป็นแค่อนุปสัมบันของพวกเรากระมัง พระสัตตรสวัคคีย์เหล่านั้นอัดอั้นมากก็ร้องไห้

การบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเรียกว่าอุปสมบท  อุปสัมบันแปลว่าผู้ที่ผ่านการบวชคือพระภิกษุ อนุปสัมบันคือผู้ที่ยังไม่ได้ผ่านการบวชแบบอุปสมบท ใช้กับเณรที่การบวชจะเป็นแบบย่อเรียกว่าบรรพชา หรืออุบกสกอุบาสิกาที่ปฏิบัติธรรมเคร่งครัด เช่นแม่ชีในสมัยนี้
ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ราหุลพระราชโอรสออกบวช แต่เมื่อทรงมีอายุหย่อน๒๐ปี พระพุทธเจ้าจึงทรงบรรชาให้โดยถือแค่ศีล๑๐ พระราหุลถือว่าเป็นสามเณรองค์แรกในพระพุทธศาสนา

คราวนั้น ภิกษุทั้งหลายถามว่าพวกท่านร้องไห้ทำไม ครั้นพระสัตตรสวัคคีย์เล่าให้ฟังแล้ว ในที่สุดความไปก็ไปถึงพระพุทธเจ้า ทรงตรัสถาม พระฉัพพัคคีย์ก็รับสารภาพ

จึงทรงติเตียนโฆษบุรุษทั้งหลาย แล้วบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุใดแกล้งก่อความรำคาญแก่ภิกษุอื่น ด้วยหมายใจว่า จักให้เธอหมดความผาสุกแม้ครู่หนึ่ง ภิกษุนั้นต้องอาบัติปาจิตตีย์

ส่วนแก๊งแสบกระทำก่อนบัญญัตินี้ ถือเป็นอาทิกัมมิกะ จึงรอดตัวไป


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 มี.ค. 13, 07:54
ยังครับยัง เมื่อพูดเย้าแหย่ยังกลายเป็นผิดไปแล้ว ก็ทำแบบหนังใบ้ก็แล้วกัน

ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์โกรธ น้อยใจ เงื้อฝ่ามือขึ้นทำท่าเหมือนจะตบพระสัตตรสวัคคีย์ พระสัตตรสวัคคีย์ตกใจหลบหัวซุกหัวซุนแล้วร้องไห้ ภิกษุทั้งหลายถามว่าพวกท่านร้องไห้ทำไม ครั้นพระสัตตรสวัคคีย์เล่าให้ฟังแล้ว ในที่สุดความไปก็ไปถึงพระพุทธเจ้า ทรงตรัสถาม พระฉัพพัคคีย์ก็รับสารภาพ

จึงทรงติเตียนโฆษบุรุษทั้งหลาย แล้วบัญญัติสิกขาบท ภิกษุโกรธเคือง แล้วเงื้อมือจะทำร้าย ภิกษุ ภิกษุนั้นต้องอาบัติปาจิตตีย์

ส่วนแก๊งแสบกระทำก่อนบัญญัตินี้ ถือเป็นอาทิกัมมิกะ จึงรอดตัวไป


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มี.ค. 13, 09:03
ภัตตาหารที่ท่านอาจารย์เทาชมพูนำมาเสริฟเอาใจอุบาสกอุบาสิกาที่เข้ามาในห้องนี้ เป็นแบบที่ล่อโฆษบุรุษเข้ามาบวชในพุทธศาสนา

จะเอายังไงได้ทั้งนั้น      บ้านหลังนี้เจ้าเรือนตามใจสมาชิกอยู่แล้ว  ;)
ถ้าไม่ชอบอาหารระดับเจ้าคุณวัดหลวงช้้นเอก   ดิฉันขอเสิฟท่านอุบาสกทั้งสองเสียใหม่   ให้ถูกใจท่านค่ะ


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 มี.ค. 13, 09:37
อดเลยอัตโน


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 มี.ค. 13, 10:52
^
โสน้าน่า

แก๊งแสบทั้ง๖ มิได้ตั้งเป้าจะเล่นงานเฉพาะแก๊งโจ๋ คือใครเข้ามาขวางหูขวางตาพวกตะแก พวกตะแกก็เล่นงานหมด

ภิกษุฉัพพัคคีย์มักจะทะเลาะกับภิกษุผู้ทรงศีลอื่นๆ แล้วด่าแช่งด้วยคำด่า๑๐ประการ คือถ้อยคำที่พาดพิงถึง ๑ชาติกำเนิด ๒ชื่อ ๓โคตร ๔การงาน ๕ศิลปะ ๖อาพาธ ๗เพศ ๘กิเลส ๙อาบัติ และ๑๐คำด่าที่เลวทรามต่ำช้า
 
ในที่สุดความไปก็ไปถึงพระพุทธเจ้า ทรงตรัสถาม พระฉัพพัคคีย์ก็รับสารภาพ
จึงทรงติเตียนโฆษบุรุษทั้งหลาย แล้วบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุด่าภิกษุอื่น ภิกษุใดละเมิดต้องอาบัติปาจิตตีย์

ส่วนแก๊งแสบกระทำก่อนบัญญัตินี้ ถือเป็นอาทิกัมมิกะ จึงรอดตัวไป


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 มี.ค. 13, 10:56
ไม่ด่าก็ได้ไม่พูดเท็จก็ได้ เอาเรื่องจริงมาพูดก็ทำให้ท่านพลุ่งพล่าน เป็นที่สนุกสนานสะใจแก่หมู่ตนได้เหมือนกัลลล์

ครั้งนั้น ภิกษุฉัพพีคคีย์พูดส่อเสียดภิกษุสองฝ่ายซึ่งทะเลาะกัน ฟังความข้างนี้ไปบอกข้างโน้น ฟังความข้างโน้นไปบอกข้างนี้เพื่อให้แตกร้าวกัน ทำให้ทะเลาะกันยิ่งขึ้น
ในที่สุดก็มีพระภิกษุผู้ทรงศีลนำความไปถึงพระพุทธเจ้า ทรงตรัสถาม พระฉัพพัคคีย์ก็รับสารภาพ

จึงทรงติเตียนโฆษบุรุษทั้งหลาย แล้วบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุพูดส่อเสียดให้ภิกษุอื่นทะเลาะกัน ภิกษุใดละเมิดต้องอาบัติปาจิตตีย์

ส่วนแก๊งแสบกระทำก่อนบัญญัตินี้ ถือเป็นอาทิกัมมิกะ จึงรอดตัวไป

คำว่าพูดส่อเสียด หลายคนเข้าใจว่าคือคำพูดเสียดสี คือด่าท่านทางอ้อม ความจริงแล้วไม่ตรงกับความหมายในพระพุทธศาสนา การพูดส่อเสียดคือการยุให้คนเขาตีกัน อันเป็นกิจวัตรของบรรดาแกนนำม๊อบป่วนเมืองทั้งหลายนั่นเอง


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มี.ค. 13, 21:00
อ่านๆไปก็อดเหนื่อยใจกับพวกสองแก๊งค์นี้ไม่ได้      เลยทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า สมัยพุทธกาล ไม่มีการจับพระภิกษุสึกเลยหรือไร   เพราะสองแก๊งค์นี้น่าจะโดนจับสึกไปนานแล้ว  ข้อหาก่อเรื่องไม่ได้หยุด     
เลยนึกสงสัยว่าสมัยพุทธกาล คงไม่มีการจับพระภิกษุสึกละกระมัง หรือมีแต่ไม่ได้บันทึกไว้  ???  ทั้งนี้ไม่รวมผู้ที่สมัครใจสึกออกไปด้วยเหตุผลส่วนตัวนะคะ

มีผลงานอัปยศของพระภิกษุฉัพพัคคีย์อีกเรื่องที่ดิฉันอ่านเจอ แต่ไม่เข้าใจ    เป็นเรื่องพระเสพสุราในสมัยพุทธกาล ต้องอาบัติสถานเบาคืออาบัติปาจิตตีย์เท่านั้น

ดังที่พระไตรปิฎกบันทึกไว้ว่า    ครั้งหนึ่ง  พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่โฆสิตาราม ในเมืองโกสัมพี   ทรงปรารภพระสาคตะเถระเรื่องดื่มสุรา เรื่องมีอยู่ว่า พระสาคตะเถระได้ปราบนาคของพวกชฏิลได้ ทำให้ชาวบ้านดีใจ ปรึกษากันว่าจะถวายอะไรดีที่เป็นสิ่งของหาได้ยาก    พระภิกษุฉัพพัคคีย์ก็ออกโรง  แนะให้ถวายเหล้าใสสีแดงดั่งเท้านกพิราบ ชาวบ้านจึงเตรียมเหล้าแดงไว้ และถวายให้พระสาคตะดื่ม  ทำให้พระสาคตะเกิดความเมามายไม่ได้สติ   หลับฟุบอยู่ที่ประตูเมือง
พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุดื่มสุรา (น้ำเมาที่กลั่น) และเมรัย (น้ำเมาที่หมักหรือดอง) ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด  ทำให้คณะสงฆ์ ได้กำหนดเป็นโทษทางพระธรรมวินัย เกี่ยวกับการดื่มสุราของพระภิกษุ-สามเณร

จริงๆแล้วการดื่มน้ำเมาเป็นการผิดศีลห้า   ซึ่งเป็นศีลของฆราวาสชาวพุทธ    พระภิกษุต้องรู้อยู่แล้วว่าฉันไม่ได้    ทำไมในตอนนี้ทำเหมือนไม่รู้เลยว่าดื่มไม่ได้    ที่จริงน่าจะมีบัญญัติแต่แรกแล้วด้วยซ้ำ


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 11 มี.ค. 13, 23:31
อ่านๆไปก็อดเหนื่อยใจกับพวกสองแก๊งค์นี้ไม่ได้      เลยทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า สมัยพุทธกาล ไม่มีการจับพระภิกษุสึกเลยหรือไร   เพราะสองแก๊งค์นี้น่าจะโดนจับสึกไปนานแล้ว  ข้อหาก่อเรื่องไม่ได้หยุด     
เลยนึกสงสัยว่าสมัยพุทธกาล คงไม่มีการจับพระภิกษุสึกละกระมัง หรือมีแต่ไม่ได้บันทึกไว้  ???  ทั้งนี้ไม่รวมผู้ที่สมัครใจสึกออกไปด้วยเหตุผลส่วนตัวนะคะ

มีผลงานอัปยศของพระภิกษุฉัพพัคคีย์อีกเรื่องที่ดิฉันอ่านเจอ แต่ไม่เข้าใจ    เป็นเรื่องพระเสพสุราในสมัยพุทธกาล ต้องอาบัติสถานเบาคืออาบัติปาจิตตีย์เท่านั้น

ดังที่พระไตรปิฎกบันทึกไว้ว่า    ครั้งหนึ่ง  พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่โฆสิตาราม ในเมืองโกสัมพี   ทรงปรารภพระสาคตะเถระเรื่องดื่มสุรา เรื่องมีอยู่ว่า พระสาคตะเถระได้ปราบนาคของพวกชฏิลได้ ทำให้ชาวบ้านดีใจ ปรึกษากันว่าจะถวายอะไรดีที่เป็นสิ่งของหาได้ยาก    พระภิกษุฉัพพัคคีย์ก็ออกโรง  แนะให้ถวายเหล้าใสสีแดงดั่งเท้านกพิราบ ชาวบ้านจึงเตรียมเหล้าแดงไว้ และถวายให้พระสาคตะดื่ม  ทำให้พระสาคตะเกิดความเมามายไม่ได้สติ   หลับฟุบอยู่ที่ประตูเมือง
พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุดื่มสุรา (น้ำเมาที่กลั่น) และเมรัย (น้ำเมาที่หมักหรือดอง) ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด  ทำให้คณะสงฆ์ ได้กำหนดเป็นโทษทางพระธรรมวินัย เกี่ยวกับการดื่มสุราของพระภิกษุ-สามเณร

จริงๆแล้วการดื่มน้ำเมาเป็นการผิดศีลห้า   ซึ่งเป็นศีลของฆราวาสชาวพุทธ    พระภิกษุต้องรู้อยู่แล้วว่าฉันไม่ได้    ทำไมในตอนนี้ทำเหมือนไม่รู้เลยว่าดื่มไม่ได้    ที่จริงน่าจะมีบัญญัติแต่แรกแล้วด้วยซ้ำ

ขออนุญาต นำแนวคิดเรื่องทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยช้า ดังนี้ครับ


".....ศีลนั้นบัญญัติขึ้นในพรรษาที่ ๒๑ ของพระพุทธเจ้า เพราะว่าช่วง ๒๐ ปีแรกนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นพระอริยเจ้าทั้งหมด ท่านรู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร แต่พอระยะหลังการบวชแพร่หลายไปเรื่อย ๆ จากการประทานเอหิภิกขุ คือ พระพุทธเจ้าบวชให้ด้วยพระองค์เอง ก็กลายเป็นให้สงฆ์บวชด้วยญัตติจตุตถกรรม บุคคลที่บวชเข้ามาเป็นปุถุชนเสียเยอะ ก็เลยมีผิดพลาดขึ้นมา ต้องเริ่มบัญญัติศีลไล่ไปเรื่อย พระพุทธเจ้าประกาศศาสนา ๔๕ ปี ช่วง ๒๕ ปีหลัง คณะสงฆ์เริ่มมีปัญหามากขึ้น เพราะคนร้อยพ่อพันแม่เริ่มเข้ามาบวชด้วยกัน ต้องมีข้อห้ามอย่างนั้น ข้อห้ามอย่างนี้ โดยเฉพาะภิกษุที่เขาเรียก ฉัพพัคคีย์ ก็คือ พวก ๖

พระภิกษุพวก ๖ นี่สุดยอดมนุษย์เลย มีพระปัณฑุกะ พระโลหิตกะ พระเมตติยะ พระภุมมชกะ พระอัสสชิ พระปุนัพพสุกะ ท่านทั้ง ๖ นี้ เวลาจะทำอะไรมีการวางแผนชนิดยอดเยี่ยมมาก คำนวณเลยว่า เมืองสาวัตถีนี้ประกอบไปด้วยสองล้านครอบครัว มีมหาเศรษฐีมาก บวชแล้วเราควรจะไปอยู่ที่นั่น พอ ๖ คนบวชด้วยกันแล้วแยกกันไปอยู่คนละทิศละทาง แล้วก็ก่อปัญหาสารพัด


แต่คราวนี้เวลาเขาจะทำอะไร เขาทำในแบบที่ว่าไปไม่ล้ำเส้น เรื่องไหนที่ไม่ห้ามเขาทำ...พอห้ามเมื่อไรก็หยุด พระฉัพพัคคีย์และพระโลลุทายีเป็นต้นกำเนิดศีลเกือบ ๒๒๗ ข้อ ต้องบอกว่าเป็นบุญคุณของท่านจริง ๆ...ไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีศีลขนาดนั้น เพราะท่านทำทุกเรื่อง เราอ่านประวัติไปก็เครียดแทน ลองมานึกว่าถ้าเราเป็นพระพุทธเจ้า แล้วมีลูกศิษย์ประเภทหาเรื่องให้ทุกวัน แล้วไม่ใช่ใกล้ ๆ นะ เทียบแล้วกิฏาคีรีชนบทก็ประมาณสุไหงโกลก ส่วนพระพุทธเจ้าอยู่กรุงเทพฯ แล้วเขาก่อเรื่องที่นั่น พระองค์ก็ต้องตามไปสอบสวนกัน


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 11 มี.ค. 13, 23:32
ครั้งแรกท่านไปเผาป่า แล้วมีคนตายไปหลายคน พระพุทธเจ้าสอบสวนว่า"เธอมีเจตนาหรือไม่ ?" เขาบอกว่า"ไม่มีเจตนา" พระพุทธเจ้าบอกว่าถ้าอย่างนั้นเธอโดนอาบัติถุลลัจจัย ไม่โดนปาราชิก ภิกษุฉัพพัคคีย์เลยรอดไป ครั้งต่อมาก็เผาอีก พระพุทธเจ้าถามว่า "เธอตั้งใจหรือเปล่า ?" ภิกษุฉัพพัคคีย์บอกว่า"ตั้งใจ" คราวนี้โดนปาราชิก เราจะเห็นความดีของคนสมัยก่อนว่าพูดจริงทำจริง ไม่โกหก ถามอย่างไรตอบอย่างนั้น ทำอย่างไรรับอย่างนั้น

เราจะเห็นคุณความดีของท่านหลายอย่าง และที่แน่ ๆ เราจะเห็นคุณของพระพุทธเจ้าอย่างยิ่งเลยว่า พระพุทธเจ้าไม่ใช่แค่บัญญัติสิกขาบท ๒๒๗ ข้อ ยังมีอภิสมาจาร คือ มารยาทเล็กน้อย ๆ อีก ๔๐๐ - ๕๐๐ ข้อ แล้วสิกขาบทแต่ละข้อ ยังมีอนุบัญญัติตามมาอีก บางข้อเขาแหกคอกไปได้ ๒๐๐ กว่ามุม อย่างเช่นว่า ห้ามภิกษุเสพเมถุน ก็คือ ห้ามมีเมีย เขาตีความว่าห้ามมีเมียที่เป็นมนุษย์ ก็เลยไปเสพเมถุนกับลิง พอห้ามเสพเมถุนกับมนุษย์และสัตว์เดรัจฉาน เขาก็ตีความว่าซากศพไม่ใช่มนุษย์ ก็เลยไปเสพเมถุนกับซากศพอีก ทีนี้พอเขาใช้คำว่า ปัสสาวะมรรค ก็คือ ช่องเพศธรรมดา เขาก็เลี่ยงไปเสพเมถุนทางช่องปากอีก เขาเลี่ยงไปเรื่อย.... กระทั่งรอยแผลเขายังทำได้ คนหน้ามืดขึ้นมานี่ไม่รู้จะว่าอย่างไรจริง ๆ ถ้าหากใครไปอ่านพระวินัยปิฎก คนที่ประเภทเลี่ยงกฎหมายเขาเลี่ยงกันสุดชีวิตจริง ๆ


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 11 มี.ค. 13, 23:36
เราลองมานึกถึงพระพุทธเจ้า
ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ เช้าขึ้นมาต้องเสด็จออกบิณฑบาต ท่านไม่ได้ออกไปบิณฑบาตเฉย ๆ แต่ท่านตั้งใจที่จะไปโปรดคน สงเคราะห์คน ก็แปลว่า ต้องไปเทศน์โปรดเขาด้วย เดินทางไกลอีก

สายณฺเห ธมฺมเทสนํ ตอนบ่ายเทศน์โปรดชาวบ้าน

ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ เวลาเย็นก็ให้โอวาทพระภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรี สิกขมานา

อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหนํ เที่ยงคืนแล้วก็แก้ปัญหาให้พรหมและเทวดา

ปจฺจุสฺเสว คเต กาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ พอใกล้รุ่งก็ตรวจนิสัยสัตว์โลก ว่าวันนี้จะไปโปรดใคร แล้วพระองค์ยังต้องมาเจอประเภทภิกษุฉัพพัคคีย์อีก ท่านเอาเวลาที่ไหนมา ?

ท่านไม่ได้บัญญัติแค่มูลบัญญัติ คือ ศีลต้น ไม่ได้บัญญัติแค่อนุบัญญัติ ก็คือข้อห้ามรอง ๆ ลงมา แต่ท่านจะต้องบอกด้วยว่า แต่ละข้อจะต้องทำอย่างไร ต้องห้ามอย่างไร อย่างเช่นว่า ถ้าหากโดนอาบัติปาราชิกต้องทำอย่างไร โดนอาบัติสังฆาทิเสสต้องทำอย่างไร ลักษณะไหนจึงโดน ลักษณะไหนจึงไม่โดน มันเหมือนกับอธิบายความกฎหมาย เท่ากับทำตำราขึ้นมาอีกเล่มหนึ่ง แล้วท่านเอาเวลาที่ไหนมาอธิบายละเอียดขนาดนั้น ? ท่านอธิบายอย่างไม่มีช่องทางให้เล็ดลอดเลย


แต่ยังมีคนสงสัยว่าพระพุทธเจ้าท่านเป็นสัพพัญญูขนาดนั้น ทำไมท่านไม่ห้ามไปเสียก่อน? รอให้เกิดเรื่องก่อนแล้วค่อยห้าม มันเสียเวลา...


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 11 มี.ค. 13, 23:40
มีคำอธิบายง่าย ๆ ว่าถ้าห้ามก่อน เขาจะไม่เชื่อว่ามันแหกคอกได้ขนาดนั้น

คุณเคยได้อ่านพระวินัย รถวินีตสูตรหรือยัง ? สุดท้ายไม่มีอะไรแล้ว แม้กระทั่ง กบ ปลา งู เขาก็ยังเอา นี่ถ้าเจองูเขี้ยวยาว ๆ ละก็....แค่นึกก็สยองแล้ว แต่คนหน้ามืดเขาทำของเขาได้ เขาถือว่าพระพุทธเจ้ายังไม่ได้ห้าม

เขาไม่ได้รักในพระศาสนา แค่อาศัยอยู่เฉย ๆ แค่ปัญหาเรื่องบวชก็แย่แล้ว พระบวชเข้ามาก็มีแต่สารพัดโรคเต็มไปหมด เพราะหมอชีวกโกมารภัจจ์ ท่านปวารณารักษาพระ คราวนี้ท่านรับราชการเป็นหมอหลวง รักษาพระพุทธเจ้าด้วย รักษาพระเณรทั่วไปด้วย จึงไม่มีเวลาที่จะไปรักษาคนอื่น คนทั่วไปไม่รู้จะรักษากับใคร เพราะหมออื่นรักษาหายบ้างไม่หายบ้าง แถมโกงเงินอีกต่างหาก แต่ถ้ารักษากับหมอชีวกโกมารภัจจ์หายแน่นอน เขาก็เลยวางแผนว่า ในเมื่อหมอชีวกโกมารภัจจ์รักษาแต่พระเณร เขาก็บวชเข้ามา รักษาจนหายเขาก็สึกไป แต่คราวนี้หมอชีวกไปเจอเข้าสิ "อ้าว...ท่านบวชอยู่ไม่ใช่หรือ ?" "หายแล้วจ้ะ" หมอชีวกโกมารภัจจ์ท่านจำหน้าคนที่ไปรักษากับท่านได้ ก็เลยไปกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า บรรดาโรคน่ารังเกียจ ๕ อย่าง อย่าให้บวชได้ไหม ? พระพุทธเจ้าก็ต้องบัญญัติขึ้นมา ห้ามพระที่เป็นโรค ๕ อย่างนี้บวช ก็คือ กุฏฐัง โรคเรื้อน คัณโฑ โรคฝีดาษ กิลาโส โรคกลาก พวกกลากวงเดือน เรื้อนกวาง สะเก็ดเงิน โสโส โรคไข้มองคร่อ(วัณโรค) อปมาโร โรคลมบ้าหมู


ขอขอบคุณความเห็นจาก http://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=1499


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 มี.ค. 13, 07:56
อ้างถึง
อ่านๆไปก็อดเหนื่อยใจกับพวกสองแก๊งค์นี้ไม่ได้ เลยทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า สมัยพุทธกาล ไม่มีการจับพระภิกษุสึกเลยหรือไร เพราะสองแก๊งค์นี้น่าจะโดนจับสึกไปนานแล้ว ข้อหาก่อเรื่องไม่ได้หยุด
เลยนึกสงสัยว่าสมัยพุทธกาล คงไม่มีการจับพระภิกษุสึกละกระมัง หรือมีแต่ไม่ได้บันทึกไว้ ทั้งนี้ไม่รวมผู้ที่สมัครใจสึกออกไปด้วยเหตุผลส่วนตัวนะคะ

แต่แรกที่พระพุทธเจ้ายังมิได้ทรงบัญญัติพระวินัย เป็นศีลข้อห้ามไม่ให้พระภิกษุประพฤติผิดสมณสารูปอย่างโน้นอย่างนี้ ถ้าพระภิกษุองค์ใดไปประพฤติเข้า เป็นครั้งแรกถือว่าไม่ผิด หากห้ามแล้วประพฤติเช่นนั้นอีกจึงผิด
การจับสึกพระภิกษุ มีเหตุเดียวคือประพฤติเหตุให้ต้องอาบัติปาราชิก คือเสพเมถุน ๑ ลักทรัพย์ที่มีค่าแม้น้อย๑ ฆ่าคนตาย๑ กล่าวอวดอุตริมนุสธรรม(คืออวดอ้างคุณวิเศษที่ตนไม่มี)อีก๑
สี่ประการนี้ทำผิดเมื่อไร ก็ขาดจากการเป็นสมณะโดยอัตโนมัติทันที ถ้าไม่ยอมละจีวรออกจากตน หมู่สงฆ์จึงจะพรากจีวรออกจากร่างของสมีผู้นั้นได้

สมีที่พ้นจากการเป็นสมณะด้วยอาบัติปาราชิกคงมีแต่สมัยพุทธกาล แต่มิได้มีบันทึกประวัติไว้ว่ามีใครบ้าง
พระไตรปิฎกเองก็มาบันทึกสมัยหลังที่มีวัสดุและวิธีการเขียนแล้ว ก่อนหน้านั้นใช้วิธีท่องจำต่อๆกันมาแบบปากต่อปากทั้งสิ้น ถึงปัจจุบันจะมีพระไตรปิฎกฉบับที่พิมพ์หมึกบนกระดาษอย่างดี แต่ก็ยังสืบต่อประเพณีที่กระทำกันมาแต่สมัยพุทธกาล โดยประชุมสงฆ์ให้พระภิกษุที่เป็นตัวแทนของหมู่ทบทวนความจำโดยการท่องดังๆให้ทุกคนได้ยิน เรียกว่าสวดปาฏิโมกข์ นานเป็นชั่วโมงๆ โดยมีอีกองค์หนึ่งเปิดคัมภีร์อ่านตรวจสอบไปด้วย ท่องผิดตรงไหนท่านก็จะทักให้แก้ไขทันที

ฉะนั้นวิธีการบันทึกด้วยความสามารถในการจำของมนุษย์จึงมีแต่เรื่องสำคัญที่สุดที่จะสืบรักษาพระศาสนาไว้เท่านั้น


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 มี.ค. 13, 08:20
อ้างถึง
มีผลงานอัปยศของพระภิกษุฉัพพัคคีย์อีกเรื่องที่ดิฉันอ่านเจอ แต่ไม่เข้าใจ เป็นเรื่องพระเสพสุราในสมัยพุทธกาล ต้องอาบัติสถานเบาคืออาบัติปาจิตตีย์เท่านั้น

ดังที่พระไตรปิฎกบันทึกไว้ว่า ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่โฆสิตาราม ในเมืองโกสัมพี ทรงปรารภพระสาคตะเถระเรื่องดื่มสุรา เรื่องมีอยู่ว่า พระสาคตะเถระได้ปราบนาคของพวกชฏิลได้ ทำให้ชาวบ้านดีใจ ปรึกษากันว่าจะถวายอะไรดีที่เป็นสิ่งของหาได้ยาก พระภิกษุฉัพพัคคีย์ก็ออกโรง แนะให้ถวายเหล้าใสสีแดงดั่งเท้านกพิราบ ชาวบ้านจึงเตรียมเหล้าแดงไว้ และถวายให้พระสาคตะดื่ม ทำให้พระสาคตะเกิดความเมามายไม่ได้สติ หลับฟุบอยู่ที่ประตูเมือง
พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุดื่มสุรา(น้ำเมาที่กลั่น) และเมรัย (น้ำเมาที่หมักหรือดอง) ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด ทำให้คณะสงฆ์ ได้กำหนดเป็นโทษทางพระธรรมวินัย เกี่ยวกับการดื่มสุราของพระภิกษุ-สามเณร

จริงๆแล้วการดื่มน้ำเมาเป็นการผิดศีลห้า ซึ่งเป็นศีลของฆราวาสชาวพุทธ พระภิกษุต้องรู้อยู่แล้วว่าฉันไม่ได้ ทำไมในตอนนี้ทำเหมือนไม่รู้เลยว่าดื่มไม่ได้ ที่จริงน่าจะมีบัญญัติแต่แรกแล้วด้วยซ้ำ
ดังที่คุณsamun007นำมาลงไว้
พระสาวกในพรรษาต้นๆของพระพุทธศาสนาล้วนแต่มีอินทรีย์แก่กล้ามาทั้งนั้น จะเห็นว่าส่วนใหญ่ได้ฟังธรรมะเพียงครั้งสองครั้งก็เข้าใจ ที่มีสำนวนเรียกว่าดวงตาเห็นธรรม ศีลก็จะเกิดโดยอัตโนมัติเรียกว่าอินทรีย์สังวรณ์ศีล คือมีสติระลึกรู้กายอยู่ตลอดเวลา จะไม่เผลอไปทำชั่วอันเนื่องด้วยกายและวาจา พระพุทธเจ้าท่านจึงทรงไม่มีความจำเป็นที่ต้องบัญญัติศีลมากมายมาควบคุมความประพฤติของพระสาวกรุ่นนี้

ศีลสำคัญในพระพุทธศาสนาคือปัญจศีล หรือศีล๕ เป็นศีลหลักของมนุษย์ผู้เจริญทุกคน สมณสงฆ์มีศีลหลักเรียกว่า สมณศีล คือศีล๑๐ เพิ่มจากฆราวาสอีก๕ข้อ คือ ห้ามบริโภคอาหารในยามวิกาล๑ ห้ามฟ้อนรำขับร้องเล่นดนตรี๑ ห้ามปรุงแต่งกายด้วยเครื่องสำอางค์ทั้งหลาย๑ ห้ามนอนบนฟูกหนานุ่มสบาย๑ ห้ามถือเงินทองของมีค่า๑ แต่พระพุทธเจ้าจะเพียงแค่ทรงบอกศีลเหล่านี้แก่พระสาวก โดยไม่จำเป็นต้องบอกโทษของการละเมิด ที่เรียกว่าอาบัติ เพราะพอท่านทราบแล้วก็น้อมรับศีลนั้นไปปฏิบัติด้วยความเคารพ

ต่อมาคนไม่มีคุณภาพเริ่มเข้ามาบวชมากขึ้น พวกหัวหมอก็เห็นว่าการทำเช่นนั้นเช่นนี้พระพุทธเจ้ามิได้ทรงห้ามไว้ หรือผิดศีลบ้างคงไม่เป็นไรเพราะไม่ได้กำหนดโทษไว้นี่นา ก็กระทำลงไป กรณีย์พระสาคตะเถระ แม้จะเป็นพระชั้นผู้ใหญ่ก็มิได้หมายความว่าท่านผู้นี้ได้บรรลุอริยะธรรม ซึ่งจะถือเป็นพระอริยะบุคคลระดับพระโสดาบันขึ้นไป พระแก่พรรษาเหล่านี้จึงอาจจะมีโอกาสเผลอกระทำผิดเป็นเหตุให้คนทั้งหลายติเตียนและมาถึงพระเนตรพระกรรณของพระพุทธเจ้าได้ การปราบงูใหญ่สำเร็จมิได้มีข้อความอันใดบอกว่าปราบด้วยอภิญญาอันเป็นคุณวิเศษของพระอริยะเจ้า(บางองค์) พระสาคตะเถระอาจจะเป็นแค่หมองูเก่าตั้งแต่ก่อนบวชก็ได้ เมื่อเห็นไวน์แดงของหายากที่ชาวบ้านนำมาถวายจึงเกิดกิเลศที่จะเสพ เลยเป็นต้นเหตุให้เกิดศีลข้อสุราเมระยะมัชชะปะมา


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 มี.ค. 13, 11:20
ความแสบของภิกษุฉัพพัคคีย์ทำให้พระพุทธเจ้าต้องทรงบัญญัติพระวินัยขึ้นเป็นจำนวนมาก แม้ภิกษุกลุ่ม๖นี้จะยอมรับ แต่มีครั้งหนึ่งก็ได้แกล้งกล่าวติเตียนพระวินัยว่า สิกขาบทเล็กๆน้อยๆ ชวนให้น่ารำคาญ รบกวนทั้งกายและใจเปล่าๆ พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติสิกขาบทขึ้นมากำกับอีก ความว่า เมื่อสวดปาฏิโมกข์ ภิกษุแกล้งกล่าวติเตียนสิกขาบท ต้องปาจิตตีย์

ความจริงสิกขาบททั้ง๒๒๗ข้อ มีนับร้อยข้อที่บุคคลปกติก็ไม่ปฏิบัติเช่นนั้นอยู่แล้ว แต่ใครจะรู้ว่าในอนาคตของพระพุทธศาสนา จะมีโฆษบุรุษเช่นพวกแก๊งแสบเข้ามาอาศัยผ้าเหลืองคลุมกายเพื่อยังชีพ และมีวัตรปฏิบัติที่ทำลายศรัทธาของฆราวาสแม้จะโดยมิได้ตั้งใจ พระพุทธเจ้าจึงทรงไม่ละเลยที่จะป้องกันเหตุเช่นนั้น แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย

มาดูว่าแก๊งแสบได้ประพฤติสิ่งใดบ้าง ที่เป็นเหตุให้เกิดสิกขาบทเหล่านี้


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 มี.ค. 13, 11:31
หมวดว่าด้วยความเหมาะสมแก่สมณเพศ มี ๒๖ สิกขาบท

สิกขาบทที่ ๑ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักนุ่ง(สบง)ให้เป็นปริมณฑล คือเบื้องล่างปิดเข่า เบื้องบนปิดสะดือ ไม่ห้อยหน้าห้อยหลัง  
สิกขาบทที่ ๒ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักห่ม(จีวร)ให้เป็นปริมณฑล คือให้ชายผ้าเสมอกัน ไม่ห้อยหน้าห้อยหลัง
สิกขาบทที่ ๓ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักปกปิดกายด้วยดี ไปในบ้าน คือให้นุ่งสบงห่มจีวรให้เรียบร้อย เมื่อไปบ้านคฤหัสถ์  สิกขาบทที่ ๔ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักปกปิดกายด้วยดี นั่งในบ้าน ให้นั่งเรียบร้อย ระวังไม่ให้โป๊
สิกขาบทที่ ๕ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักสำรวมด้วยดี ไปในบ้าน 
สิกขาบทที่ ๖ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักสำรวมด้วยดี นั่งในบ้าน.
สิกขาบทที่ ๗ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักมีตาทอดลง ไปในบ้าน
สิกขาบทที่ ๘ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักมีตาทอดลง นั่งในบ้าน.
สิกขาบทที่ ๙ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เวิกผ้า ไปในบ้าน 
สิกขาบทที่ ๑๐ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เวิกผ้า นั่งในบ้าน.
สิกขาบทที่ ๑๑ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่หัวเราะดัง ไปในบ้าน.
สิกขาบทที่ ๑๒ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่หัวเราะดัง นั่งในบ้าน.
สิกขาบทที่ ๑๓ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่พูดเสียงดัง ไปในบ้าน.
สิกขาบทที่ ๑๔ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่พูดเสียงดัง นั่งในบ้าน.
สิกขาบทที่ ๑๕ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่โคลงกาย ไปในบ้าน.
สิกขาบทที่ ๑๖ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่โคลงกาย นั่งในบ้าน.
สิกขาบทที่ ๑๗ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ไกวแขน ไปในบ้าน.
สิกขาบที่ ๑๘ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ไกวแขน นั่งในบ้าน.
สิกขาบทที่ ๑๙ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ไกวแขน ไปในบ้าน.
สิกขาบทที่ ๒๐ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่สั่นศีรษะ นั่งในบ้าน.
สิกขาบทที่ ๒๑ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เอามือค้ำกาย ไปในบ้าน.
สิกขาบทที่ ๒๒ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เอามือค้ำกาย นั่งในบ้าน.
สิกขาบทที่ ๒๓ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เอาผ้าคลุมศีรษะ ไปในบ้าน.
สิกขาบทที่ ๒๔ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เอาผ้าคลุมศีรษะ นั่งในบ้าน.
สิกขาบทที่ ๒๕ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เดินกระโหย่งเท้า ไปในบ้าน.
สิกขาบทที่ ๒๖ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่นั่งรัดเข่า ในบ้าน.  


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 มี.ค. 13, 11:55
หมวดว่าด้วยการฉันอาหาร มี ๓๐ สิกขาบท

สิกขาบทที่ ๑ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักรับบิณฑบาตโดยเคารพ
สิกขาบทที่ ๒ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักแลดูแต่ในบาตร รับบิณฑบาต
สิกขาบทที่ ๓ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักรับบิณบาตพอสมส่วนกับแกง 
สิกขาบทที่ ๔ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักรับบิณฑบาตพอสมเสมอขอบปากบาตร
สิกขาบทที่ ๕ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักฉันบิณฑบาตโดยเคารพ
สิกขาบทที่ ๖ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักแลดูแต่ในบาตร ขณะฉันบิณฑบาต
สิกขาบทที่ ๗ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักฉันบิณฑบาต ไม่ขยุ้มแต่ยอดลงไป
สิกขาบทที่ ๘ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักฉันบิณฑบาตพอสมส่วนกับแกง
สิกขาบทที่ ๙ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักฉันบิณฑบาต ไม่ตักเจาะลงไป
สิกขาบทที่ ๑๐ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เอาข้าวสุกปิดแกงและกับด้วยหวังจะได้มาก
สิกขาบทที่ ๑๑ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราไม่เจ็บไข้ จักไม่ขอแกงหรือข้าวสุกเพื่อประโยชน์แก่ตนมาฉัน
สิกขาบทที่ ๑๒ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่มองดูบาตรของผู้อื่นด้วยหมายว่าท่านจะยกอาหารในบาตรให้
สิกขาบทที่ ๑๓ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ทำคำข้าวให้ใหญ่เกินไป
สิกขาบทที่ ๑๔ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ประดิษฐ์ประดอยทำคำข้าว
สิกขาบทที่ ๑๕ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่อ้าปากในเมื่อคำข้าวยังไม่มาถึง
สิกขาบทที่ ๑๖ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เอามือทั้งมือใส่ปากในขณะฉัน
สิกขาบทที่ ๑๗ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่พูดทั้งที่ปากยังมีคำข้าว
สิกขาบทที่ ๑๘ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันโยนคำข้าวเข้าปาก 
สิกขาบทที่ ๑๙ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่กัดคำข้าว
สิกขาบทที่ ๒๐ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันทำกระพุ้งแก้มให้ตุ่ย
สิกขาบทที่ ๒๑ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันพลางสะบัดมือพลาง 
สิกขาบทที่ ๒๒ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันโปรยเมล็ดข้าว 
สิกขาบทที่ ๒๓ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันแลบลิ้น 
สิกขาบทที่ ๒๔ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันดังจั๊บๆ  ;D
สิกขาบทที่ ๒๕ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันดังซู๊ด ๆ ;D
สิกขาบทที่ ๒๖ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันเลียมือ 
สิกขาบทที่ ๒๗ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันเลียบาตร 
สิกขาบทที่ ๒๘ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันเลียริมฝีปาก 
สิกขาบทที่ ๒๙ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เอามือเปื้อนจับภาชนะน้ำ
สิกขาบทที่ ๓๐ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เอาน้ำล้างบาตรมีเมล็ดข้าวเทลงในบ้าน  


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 มี.ค. 13, 12:02
หมวดว่าด้วยการแสดงธรรมมี ๑๖ สิกขาบท

สิกขาบทที่ ๑ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีร่มในมือ.
สิกขาบทที่ ๒ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีไม้พลองในมือ.
สิกขาบทที่ ๓ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีมีดดาบหอกในมือ.
สิกขาบทที่ ๔ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีธนูหน้าไม้ในมือ.
สิกขาบทที่ ๕ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่สวมรองเท้าไม้
สิกขาบทที่ ๖ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่สวมรองเท้า
สิกขาบทที่ ๗ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่อยู่ในยานพาหนะ
สิกขาบทที่ ๘ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่อยู่บนที่นอน
สิกขาบทที่ ๙ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งรัดเข่า
สิกขาบทที่ ๑๐ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่โพกศีรษะ
สิกขาบทที่ ๑๑ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่คลุมศีรษะ
สิกขาบทที่ ๑๒ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เรานั่งอยู่บนแผ่นดิน จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งอยู่บนอาสนะเครื่องปูนั่ง
สิกขาบทที่ ๑๓ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เรานั่งอยู่บนอาสนะต่ำ จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งบนอาสนะสูง
สิกขาบทที่ ๑๔ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เรายืนอยู่ จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งอยู่
สิกขาบทที่ ๑๕ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราเดินไปข้างหลัง จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่เดินไปข้างหน้า
สิกขาบทที่ ๑๖ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราเดินไปนอกทาง จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่ไปในทาง  


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 มี.ค. 13, 12:04
หมวดเบ็ดเตล็ด มี ๓ สิกขาบท

สิกขาบทที่ ๑ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราไม่เป็นไข้ จักไม่ยืนถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ.
สิกขาบทที่ ๒ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราไม่เป็นไข้ จักไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือบ้วนน้ำลายลงบนของเขียว (พืชพันธุ์ไม้)
สิกขาบทที่ ๓ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราไม่เป็นไข้ จักไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือบ้วนน้ำลายลงในแหล่งน้ำ  


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 มี.ค. 13, 12:15
ผมนับดูฝีมือของแก๊งแสบ เฉพาะงานนี้ทำให้เกิดศีลถึง ๗๕ ข้อจากจำนวนทั้งหมด ๒๒๗ เลยทีเดียว


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มี.ค. 13, 18:45
ขอออกนอกทางสายใหญ่หน่อยค่ะ   เห็นค.ห. 37 แล้วรู้สึกอย่างที่รู้สึกมาหลายครั้งว่าภาษาในพระไตรปิฎกนี้ช่างทำความเข้าใจได้ยากจริงๆ   บ่อยครั้งอ่านไม่รู้เรื่องเลย

คำว่า "เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้" คำว่า ไม่เป็นไข้ หมายถึงคนที่ปกติดี ไม่เจ็บไม่ป่วย(ไม่ว่าทางกายหรือทางจิต) ใช่ไหมคะ   ไม่ได้หมายความว่า "เฉพาะไม่เป็นไข้ แต่เป็นอย่างอื่นเช่นปวดหัวปวดท้อง ไม่นับ"

สิกขาบทที่ ๑ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีร่มในมือ.
สิกขาบทที่ ๒ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีไม้พลองในมือ.
สิกขาบทที่ ๓ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีมีดดาบหอกในมือ.
สิกขาบทที่ ๔ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีธนูหน้าไม้ในมือ.

ภาษาพวกนี้ถ้าหากว่าเอาวิชาตรรกวิทยามาจับ  ก็จะกลายเป็นว่า  ถ้าคนเป็นไข้ที่มีร่มในมือ และมีอาวุธต่างๆในมือ  ภิกษุก็แสดงธรรมได้น่ะซี    เพราะห้ามแต่คนไม่เป็นไข้เท่านั้นนี่


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 มี.ค. 13, 19:06
ตามนั้นแหละครับ ที่ตัวอย่างสำนวนเต็มๆ

ธรรมเทศนาปฏิสังยุต ๑๖ สิกขาบท  สุรุสุรุวรรค สิกขาบทที่ ๗

             [๘๕๗] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์แสดงธรรมแก่บุคคลผู้กั้นร่ม. บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย  ...  ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระฉัพพัคคีย์จึงได้แสดงธรรมแก่บุคคลผู้กั้นร่มเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนี้แก่พระผู้มีพระภาค.
ทรงสอบถาม
             พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกเธอธรรมแก่บุคคลผู้กั้นร่ม จริงหรือ?
             พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า

             พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงได้แสดงธรรมแก่บุคคลผู้กั้นร่มเล่า การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
             ๒๐๒. ๕๗. ก. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลมีร่มในมือ.
             ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ
ฉะนี้.

             [๘๕๘] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายรังเกียจเพื่อจะแสดงธรรมแก่คนเป็นไข้มีร่มในมือ ชาวบ้านพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงไม่แสดงธรรมแก่คนเป็นไข้ซึ่งมีร่มในมือเล่า ภิกษุทั้งหลายได้ยินชาวบ้านพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียนโพนทะนาอยู่ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.

ทรงอนุญาตให้แสดงธรรมแก่คนไข้
             ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า เราอนุญาตให้แสดงธรรมแก่คนเป็นไข้มีร่มในมือได้.

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-

พระอนุบัญญัติ
             ๒๐๒. ๕๗. ข. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้ มีร่มในมือ.
สิกขาบทวิภังค์
             ที่ชื่อว่า ร่ม ได้แก่ร่ม ๓ ชนิด คือ ร่มผ้าขาว ๑ ร่มลำแพน ๑ ร่มใบไม้ ๑ ที่เย็บเป็นวงกลมผูกติดกับซี่.
             ที่ชื่อว่า ธรรม ได้แก่ ถ้อยคำที่อิงอรรถอิงธรรม เป็นพุทธภาษิต สาวกภาษิต อิสีภาษิต เทวตาภาษิต.
             บทว่า แสดง คือแสดงโดยบท ต้องอาบัติทุกกฏ ทุกๆ อักขระ.

             อันภิกษุไม่พึงแสดงธรรมแก่บุคคลไม่เป็นไข้ผู้กั้นร่ม ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ แสดง
ธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้กั้นร่ม ต้องอาบัติทุกกฏ.

อนาปัตติวาร
             ไม่แกล้ง ๑ เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑ อาพาธ ๑ มีอันตราย ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 มี.ค. 13, 19:15
ผมหลีกเลี่ยงที่จะยกมาทั้งต้นฉบับ เพราะกลัวผู้อ่านหลายท่านจะเหนื่อยเสียก่อน จึงพยายามหาฉบับย่อมานำเสนอ แต่เพื่อการวิเคราะห์ก็จำเป็นต้องเอามาลง

สุรุสุรุวรรค สิกขาบทที่ ๘
             [๘๕๙] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์แสดงธรรมแก่บุคคลผู้ถือไม้พลอง ...

พระอนุบัญญัติ
             ๒๐๓. ๕๘. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้ มีไม้พลองในมือ.
สิกขาบทวิภังค์
             ที่ชื่อว่า ไม้พลอง ได้แก่ ไม้พลองยาวสี่ศอกของมัชฌิมบุรุษยาวกว่านั้นไม่ใช่ไม้พลองสั้นกว่านั้น ก็ไม่ใช่ไม้พลอง.
             อันภิกษุไม่พึงแสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้ถือไม้พลอง ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อแสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้ถือไม้พลอง ต้องอาบัติทุกกฏ.

อนาปัตติวาร
             ไม่แกล้ง ๑ เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑ อาพาธ ๑ มีอันตราย ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกะ ๑   ไม่ต้องอาบัติแล.
สุรุสุรุวรรค สิกขาบทที่ ๘ จบ.
-----------------------------------------------------
สุรุสุรุวรรค สิกขาบทที่ ๙
             [๘๖๐] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์แสดงธรรมแก่บุคคลผู้ถือศัสตรา ...
พระอนุบัญญัติ
             ๒๐๔. ๕๙. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้ มีศัสตราในมือ.
สิกขาบทวิภังค์
             ที่ชื่อว่า ศัสตรา ได้แก่ วัตถุเครื่องประหารมีคมข้างเดียว มีคมสองข้าง.
             อันภิกษุไม่พึงแสดงธรรม แก่บุคคลผู้ไม่เป็นไข้ผู้ถือศัสตรา ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ แสดงธรรมแก่บุคคลผู้ไม่เป็นไข้ ผู้ถือศัสตรา ต้องอาบัติทุกกฏ.
อนาปัตติวาร
             ไม่แกล้ง ๑ เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑ อาพาธ ๑ มีอันตราย ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกะ ๑
ไม่ต้องอาบัติแล.
สุรุสุรุวรรค สิกขาบทที่ ๙ จบ.
-----------------------------------------------------
สุรุสุรุวรรค สิกขาบทที่ ๑๐
             [๘๖๑] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์แสดงธรรมแก่บุคคลผู้ถืออาวุธ ...
พระอนุบัญญัติ
             ๒๐๕. ๖๐. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้ มีอาวุธในมือ.
สิกขาบทวิภังค์
             ที่ชื่อว่า อาวุธ ได้แก่ ปืน เกาทัณฑ์.
             อันภิกษุไม่พึงแสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้ถืออาวุธ ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อแสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ มีมือถืออาวุธ ต้องอาบัติทุกกฏ.
อนาปัตติวาร
             ไม่แกล้ง ๑ เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑ อาพาธ ๑ มีอันตราย ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกะ ๑
ไม่ต้องอาบัติแล.


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 มี.ค. 13, 19:26
อ้างถึง
คำว่า "เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้" คำว่า ไม่เป็นไข้ หมายถึงคนที่ปกติดี ไม่เจ็บไม่ป่วย(ไม่ว่าทางกายหรือทางจิต) ใช่ไหมคะ   ไม่ได้หมายความว่า "เฉพาะไม่เป็นไข้ แต่เป็นอย่างอื่นเช่นปวดหัวปวดท้อง ไม่นับ"

ผมคิดเช่นนั้นครับ คำว่า ไม่เป็นไข้ หมายถึงคนที่ปกติดี ไม่เจ็บไม่ป่วย(ไม่ว่าทางกายหรือทางจิต)

อ้างถึง
ถ้าคนเป็นไข้ที่มีร่มในมือ และมีอาวุธต่างๆในมือ  ภิกษุก็แสดงธรรมได้น่ะซี
ถูกต้องครับ


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มี.ค. 13, 20:00
ที่บอกตัวเองว่าพอจะเข้าใจในตอนแรก    เจอตัวอย่างยาวเหยียดเข้าเลยเข้ารกเข้าพง    มึนตึ้บไปแล้ว
 :-\
ขอความกรุณาท่านซายา  อธิบายแบบสบายๆสไตล์นวรัตนดอทซีได้ไหมคะ ว่าเรื่องถือร่มไม่ถือร่ม ถือไม้พลองอาวุธอะไรต่อมิอะไรนี่  ข้อห้ามจริงๆคืออะไรกันแน่    และทำไมจะต้องเป็นเช่นนั้น
ทำไมคนปกติ ต้องห้ามไม่ให้ถืออะไรทั้งหมด ถ้าจะฟังธรรม     ทำไมคนไม่ปกติ ถึงอนุโลมยอมให้ฟังธรรมได้หมดล่ะคะ ไม่ว่าจะถืออะไรก็ตาม แม้แต่ถือสิ่งที่ไม่น่าไว้วางใจเช่นอาวุธ


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 มี.ค. 13, 21:36
อ้างถึง
ทำไมคนปกติ ต้องห้ามไม่ให้ถืออะไรทั้งหมด ถ้าจะฟังธรรม

ท่านถือว่าธรรมะเป็นของสูง ไม่ใช่ของตลาดที่จะต้องไปเที่ยวเร่ขาย พระพึงแสดงธรรมต่อผู้ที่พร้อมจะฟัง ผู้ที่ไม่พร้อม ไม่ให้ความเคารพ ท่านห้ามมิให้แสดงธรรมต่อคนเหล่านั้น
คนที่ถือร่มในขณะที่พระอยู่ในแดดแผดเผา แสดงว่าเขาไม่ได้ให้ความเคารพนับถืออะไร แสดงธรรมไปก็เท่ากับตักน้ำรดหัวตอ อย่าว่าแต่พระเลย คนธรรมดาคุยกันอย่างนั้นเดี๋ยวเดียวก็ต้องเลิก
ส่วนคนที่ถืออาวุธ จะเป็นไม้พลองมีดดาบธนูปืนอะไรก็ตาม หากมิวางลงเพื่อแสดงอาการพร้อมที่จะรับฟัง พระก็ไม่พึงแสดงธรรมใดๆโปรด

ข้อนี้พระพุทธเจ้ายังทรงบอกองคุลีมาลให้วางอาวุธลง แล้วนั่งฟังพระองค์ เมื่อองคุลิมาลถึงพร้อมด้วยกายและใจ ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่นานก็เข้าใจธรรมนั้น ถึงกับขอออกบวช
ถ้าองคุลิมาลยังถืออาวุธวิ่งไล่พระพุทธองค์อยู่ ก็คงหาสมาธิมิได้ที่จะน้อมนำธรรมะนั้นเข้าถึงจิตถึงใจ


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 มี.ค. 13, 21:40
อ้างถึง
ทำไมคนไม่ปกติ ถึงอนุโลมยอมให้ฟังธรรมได้หมดล่ะคะ ไม่ว่าจะถืออะไรก็ตาม แม้แต่ถือสิ่งที่ไม่น่าไว้วางใจเช่นอาวุธ
ตรรกะข้างบนนี้ฟังดูเหมือนพระจะเปิดการแสดงธรรม แล้วคัดเลือกคนให้เข้าฟัง คนปกติโอเคให้ผ่านประตู ผู้ที่ถืออาวุธไม่ให้เข้า ผู้ถืออาวุธแต่มีใบรับรองแพทย์ว่าป่วย อนุโลมให้เข้าได้
ไม่ใช่นาครับ
 
ตอนองคุลิมาลถือดาบวิ่งไล่กวดพระพุทธเจ้า ร้องบอกพระพุทธองค์ให้หยุด ตอนนั้นองคุลิมาลถือว่าเป็นคนป่วยทางจิต ทรงตรัสตอบว่า “ตถาคตหยุดแล้ว ท่านสิมิได้หยุด” ตรงนี้ถือว่าทรงแสดงธรรมแล้ว เพราะทรงหมายความว่า ทรงหยุดปาณาติบาตทั้งปวง ส่วนองคุลิมาลยังไล่ล่าจะฆ่ามนุษย์อยู่ แต่พระพุทธองค์ก็ทรงหยุดพระโอษฐ์ไว้เพียงเท่านั้น ต่อเมื่อองคุลิมาลวิ่งไล่จนเหนื่อย ยอมแพ้ และยอมวางอาวุธแล้วนั่งลง จึงทรงโปรดองคุลิมาลด้วยธรรมะแบบยาวๆ และได้ผล

พระพุทธเจ้าท่านทรงอนุญาตให้พระแสดงธรรมให้คนป่วยแม้จะถืออาวุธฟังได้เฉยๆ ไม่ได้บอกให้ต้องแสดงด้วย คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญานของพระสิครับ ว่าพึงจะโปรดคนป่วยนั้นๆหรือไม่ อย่างไร อย่างสั้นหรืออย่างยาว หรือเลือกที่จะอุเบกขาอยู่เงียบๆก็ได้ ไม่ผิดศีล


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มี.ค. 13, 21:41
ชนกันกลางอากาศ เลยต้องแก้ข้อความใหม่ค่ะ

มันจะไม่รัดกุมกว่าหรือ ว่าถ้าห้ามต้องห้ามทั้งหมด       คือไม่ว่าคนมีไข้หรือไม่มีไข้   ห้ามถืออะไรอยู่ในมือทั้งนั้น  พระท่านถึงจะแสดงธรรมให้ฟัง       ถ้ายังถือร่ม ถือไม้พลองกระบองยาว ไปจนเอ็มสิบหกและอาก้า    ไม่ยอมวาง   พระท่านไม่แสดง  เป็นข้อบังคับ ไม่ใช่ให้พระเลือกเอาว่าจะแสดงก็ได้ไม่แสดงก็ได้


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 มี.ค. 13, 08:17
อ้างถึง
มันจะไม่รัดกุมกว่าหรือ ว่าถ้าห้ามต้องห้ามทั้งหมด คือไม่ว่าคนมีไข้หรือไม่มีไข้ ห้ามถืออะไรอยู่ในมือทั้งนั้น พระท่านถึงจะแสดงธรรมให้ฟัง ถ้ายังถือร่ม ถือไม้พลองกระบองยาว ไปจนเอ็มสิบหกและอาก้า ไม่ยอมวาง พระท่านไม่แสดง เป็นข้อบังคับ ไม่ใช่ให้พระเลือกเอาว่าจะแสดงก็ได้ไม่แสดงก็ได้
ที่ผมเอาสำนวนจริงๆตามโบราณมาให้วิเคราะห์ก็เพื่อให้เห็นว่า ศีลถูกบัญญัติขึ้นต่างกรรมต่างวาระ

[๘๕๗] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์แสดงธรรมแก่บุคคลผู้กั้นร่ม(และผู้ถือพลอง ผู้ถือศาสตรา ผู้ถืออาวุธ) บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระฉัพพัคคีย์จึงได้แสดงธรรมแก่บุคคลผู้กั้นร่ม(และผู้ถือพลอง ผู้ถือศาสตรา ผู้ถืออาวุธ)เล่า แล้วกราบทูลเรื่องนี้แก่พระผู้มีพระภาค.

ทรงสอบถาม

พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกเธอธรรมแก่บุคคลผู้กั้นร่ม(และผู้ถือพลอง ผู้ถือศาสตรา ผู้ถืออาวุธ)จริงหรือ?
พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงได้แสดงธรรมแก่บุคคลผู้กั้นร่ม(และผู้ถือพลอง ผู้ถือศาสตรา ผู้ถืออาวุธ)เล่า การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-

พระบัญญัติ
๒๐๒. ๕๗. ก. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลมีร่มในมือ(และผู้ถือพลอง ผู้ถือศาสตรา ผู้ถืออาวุธ)
ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้

กรรมนี้วาระนี้ เกิดเพราะพระไปแสดงธรรมแก่บุคคลผู้กั้นร่ม ผู้ถือพลอง ผู้ถือศาสตรา และผู้ถืออาวุธ

เมื่อมีศีลสี่ข้อนี้ (๔ข้อ แต่เกิดทีละข้อ) พระเลยไม่แสดงธรรมแก่บุคคลผู้กั้นร่ม ผู้ถือพลอง ผู้ถือศาสตรา และผู้ถืออาวุธทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคนปกติหรือเจ็บไข้ได้ป่วยดังที่ท่านอาจารย์เทาชมพูเสนอ

คราวนี้ชาวบ้านพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่าทำไมพระจึงไม่เอื้อเฟื้อต่อคนเจ็บไข้ได้ป่วยบ้างเล่า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบ ก็ทรงดำรัสถึงเหตุอันเป็นเค้ามูล(ที่พระฉัพพัคคีย์สร้างขึ้น) และเหตุอันเป็นแรกเกิด ตรงนี้ไม่ได้ระบุว่าภิกษุใดสร้าง และสร้างเรื่องใด สมมติก็แล้วกัน สมมติว่าตาแก่คนหนึ่งเป็นลมล้มลงกลางท้องทุ่งเพราะทนแดดไปไหว ชาวบ้านเห็นก็เอาร่มมากั้นให้ แต่กำลังทำท่าจะขาดใจตาย พอดีพระเดินผ่านมา ชาวบ้านจึงนิมนต์พระว่า โอ้โชคดีจริงพระคุณเจ้าผ่านมา เมตตาเทศน์โปรดชายชราผู้นี้ฟังเป็นครั้งสุดท้ายด้วยเถิด เผื่อว่าเขาจะได้ไปสู่สุขคติ พระตอบว่า โชคร้ายน่ะซีโยม พระพุทธเจ้าเพิ่งจะทรงบัญญัติห้ามมิให้พระแสดงธรรมแก่ผู้ที่กั้นร่ม


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 มี.ค. 13, 08:20
ความก็ถึงพระพุทธเจ้า

[๘๕๘] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายรังเกียจเพื่อจะแสดงธรรมแก่คนเป็นไข้มีร่มในมือ(และผู้ถือพลอง ผู้ถือศาสตรา ผู้ถืออาวุธ) ชาวบ้านพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงไม่แสดงธรรมแก่คนเป็นไข้ซึ่งมีร่มในมือ(และผู้ถือพลอง ผู้ถือศาสตรา ผู้ถืออาวุธ)เล่า ภิกษุทั้งหลายได้ยินชาวบ้านพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียนโพนทะนาอยู่ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.

ทรงอนุญาตให้แสดงธรรมแก่คนไข้

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมิกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า เราอนุญาตให้แสดงธรรมแก่คนเป็นไข้มีร่มในมือ(และผู้ถือพลอง ผู้ถือศาสตรา ผู้ถืออาวุธ)ได้.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-

พระอนุบัญญัติ
๒๐๒. ๕๗. ข. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้(และผู้ถือพลอง ผู้ถือศาสตรา ผู้ถืออาวุธ)มีร่มในมือ.


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 มี.ค. 13, 08:30
นั่นร่ม เป็นของที่มิได้ไว้ใช้ทำร้าย แล้วศาสตราวุธเล่า

อ่ะ เอาอีกสมมตินึง ช่างกลกับช่างก่อสร้างในหมู่บ้านประจัตคามแห่งหนึ่งตีกันเละเทะจนบาดเจ็บด้วยกันทั้งคู่ แต่ไม่ยอมแยกย้าย ถอยกำลังไปตั้งประจันกันคนละฟากถนนทำท่าจะเข้าทำร้ายกันอีก ผู้เห็นเหตุการณ์กำลังเกลี้ยกล่อมให้กลับบ้านกลับช่องไปเสียจนเด็กเหล่านั้นใจอ่อนลงมากแล้ว หลวงปู่เดินโผล่มาพอดี ชาวบ้านเห็นพระเข้าก็นิมนต์ว่า โอ้โชคดีจริงพระคุณเจ้าผ่านมา เมตตาเทศน์โปรดเด็กหนุ่มผู้หลงผิดเหล่านี้ด้วยเถิด เผื่อว่าพวกเขาจะสำนึกได้เลิกก่อกรรมทำเข็ญ หลวงปู่ตอบว่า โชคร้ายน่ะซีโยม พระพุทธเจ้าเพิ่งจะทรงบัญญัติห้ามมิให้พระแสดงธรรมแก่ผู้ที่มีมีดมีไม้อยู่ในมือเมื่อก่อนพรรษานี้เอง

อย่างนี้ พระจะโดนท่านผู้ชมโห่ไหมล่ะพี่น้อง


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 มี.ค. 13, 08:52
หากพิจารณาสำนวนข้อบัญญัติเดิม จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าอนุโลมให้พระแสดงธรรมโปรดคนผู้ถือพลอง ผู้ถือศาสตรา ผู้ถืออาวุธ เฉพาะผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วยได้ เท่านั้น ทั้งนี้ทั้งนั้นมิได้เป็นการบังคับ จึงขึ้นอยู่กับสถานะการณ์

สมมติชายชุดดำถืออาก้าอยู่ในมือ ถูกยิงบาดเจ็บสาหัสหนีเข้าไปซุกตัวอยู่ในซอกกำบัง แสดงอาการคุ้มคลั่ง ใครโผล่เข้าไปเป็นยิงสาดออกมาก่อน ตำรวจก็เลยบอกหลวงพี่ที่บังเอิญผ่านมาว่า นิมนต์ท่านมหาเทศน์โปรดไอ้หมอนี่หน่อยได้ไหมครับ เผื่อมันจะเชื่อ ตรงนี้ท่านมหาสามารถเลี่ยงได้ เช่น เชิญท่านผู้กำกับแสดงก่อนก็แล้วกันนะโยม

พระพุทธเจ้ามิได้ทรงห้ามพระภิกษุตรงนี้ ท่านมหาจึงไม่อาบัติ


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 มี.ค. 13, 21:31
ชักสนใจ   ลองไปหาอ่านดูบ้างเรื่องพระแสบ   ก็พบว่าผลงานท่านแสบสันต์ไม่เบาเลยสักเรื่อง    เรื่องที่เป็นเหตุให้เข้าข่ายปาราชิกคือไปขโมยของเขาก็มี  แต่รอดตัวไปได้ตามเคยเพราะเป็นอาทิกัมมะ

เรื่องมีอยู่ว่าแก๊งค์พระฉัพพัคคีย์คบคิดกันไปที่ลานตากผ้าของช่างย้อม ไปฉกห่อผ้าของช่างย้อมนำกลับมากุฏิ แล้วแบ่งปันกันเป็นจีวรใหม่เพลิดเพลินไปเลย      ภิกษุอื่นๆสังเกตเห็นก็เลยปรารภว่า พวกท่านเป็นผู้มีบุญมาก เพราะมีผ้าเกิดขึ้นให้ใช้มากมาย
แต่พระฉัพพัคคีย์ก็ไม่ได้พลิ้วในเรื่องมุสา   อาจจะพลิ้วไม่ทัน  จึงยอมรับตรงๆว่าเปล่า ไม่ใช่มีบุญ แต่ไปฉกของช่างย้อมมาเขามา
พระภิกษุอื่นๆก็ร้องว่า อ้าว  พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้วมิใช่หรือ ห้ามลักขโมย  เหตุไรพวกท่านจึงได้ลักห่อผ้า ของช่างย้อมมา
พระแสบก็ตอบหน้าตาเฉยว่า  จริงขอรับ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว แต่สิกขาบทนั้น  พระองค์ทรงหมายถึงในเขตหมู่บ้านตะหาก   มิได้ทรงบัญญัติรวมไปถึงในป่า
พระภิกษุทั้งหลายก็แย้งว่า พระบัญญัตินั้นย่อมเป็นได้เหมือนกันทั้งนั้นมิใช่หรือ   แล้วก็ติเตียนพระแสบกันขนานใหญ่ จากนั้นก็นำความไปกราบทูลพระพุทธเจ้า


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 มี.ค. 13, 21:32
เรื่องก็เลยถึงต้องให้ประชุมภิกษุสงฆ์     ทรงสอบสวนเรื่องราว  พระฉัพพัคคีย์ก็ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนพระฉัพพัคคัย์   แล้วทรงบัญญัติว่า

 อนึ่ง ภิกษุใด ถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้ด้วย ส่วนแห่งความ เป็นขโมย จากบ้านก็ดี จากป่าก็ดี พระราชาทั้งหลาย จับโจรได้แล้ว ประหารเสียบ้าง จองจำไว้บ้าง เนรเทศเสียบ้าง ด้วยบริภาษว่า เจ้าเป็นโจร เจ้าเป็นคนพาล เจ้าเป็นคนหลง เจ้าเป็นขโมย ดังนี้ ในเพราะถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้เห็น ปานใด    ภิกษุถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้เห็นปานนั้น     แม้ภิกษุนี้ ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้

พระฉัพพัคคีย์ก็อาศัยอาทิกัมมะ รอดมาทำเรื่องให้เป็นข้อบัญญัติในพระวินัยได้อีกหลายสิบเรื่อง      นอกจากนี้ก็ยังมีพระโลลุทายี ซึ่งแสบไม่แพ้กัน   
รอซายาท่านมาเล่าต่อ  ขอปั่นเรตติ้งแค่นี้ค่ะ


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 มี.ค. 13, 06:35
คะแนนที่ได้จากการปั่นเรตติ้ง เอาไปแลกของแถมได้ก็คงดี

โทษของการลักทรัพย์ผู้อื่นของพระภิกษุเป็นอาบัติแรงถึงขั้นปาราชิก คือต้องสึกสถานเดียว ถ้าไม่ยอมสึกเองก็จะโดนสงฆ์จับสึกโดยการจับเปลื้องจีวรออก ถือว่าหนักมาก จึงเคยมีคำถามว่า ทรัพย์มีมูลค่าเท่าไรจึงจะสมควรแก่ความผิดนั้น เรื่องนี้ พระพุทธเจ้าทรงทรงถามภิกษุผู้เคยเป็นมหาอำมาตย์ผู้พิพากษามาก่อนบวชว่า พระเจ้าพิมพิสารทรงจับโจรได้แล้วประหารชีวิต จองจำหรือเนรเทศ ด้วยกำหนดทรัพย์เท่าไร ก็ได้รับคำตอบว่า ๕ มาสก รอยอินอธิบายไว้ว่า มาตราเงินในครั้งโบราณ ๕ มาสก มีค่าเท่ากับ ๑ บาท จึงทรงบัญญัติสิกขาบท มิให้ภิกษุถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ให้ ผู้ใดทำเช่นนั้น ตีราคาได้เท่ากับที่พระราชาจับโจรได้ประหารชีวิต จองจำหรือเนรเทศ ต้องอาบัติปาราชิก

เรื่องนี้เคยมีผู้หัวหมออภิปรายว่าบาทหนึ่งในสมัยโน้นซื้อควายได้ตัวนึง สมัยนี้ซื้อลูกชิ้นปิ้งได้เม็ดเดียว มันก็ไม่แฟร์น่ะซี๊ ก็ว่ากันไป

เรื่องนี้จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าทรงเอากฎหมายบ้านเมืองเข้าเทียบ กฎหมายอาญาของไทยในปัจจุบัน มาตรา๓๓๔ ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท
มิได้กำหนดด้วยซ้ำว่าทรัพย์ราคาเท่าไหร่ ถึงจะตีราคาไม่ได้แต่เจ้าของหวง ก็เข้าความผิดกระทงนี้เหมือนกัน

ความจริงนั้น ตัวเป็นพระ เพียงแค่คิดจะโขมยก็ผิดแล้ว ถึงจะไม่มีโทษ แต่ก็ภาวนาไม่เป็นมรรคเป็นผลทั้งสิ้น


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 มี.ค. 13, 07:32
ปาราชิกในข้อบัญญัติสำคัญอีกข้อหนึ่ง คือการฆ่าคนตาย เรื่องนี้แก๊งแสบก็มีเอี่ยวกับเขาด้วย

ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอสุภกถา โดนใจพวกที่รักสวยรักงาม หลงรูปโฉมตัวเองราวกับว่ามันจะเป็นอย่างนั้นถาวรไปตลอดชาติ ทรงสอนพวกที่รู้สึกอย่างนี้ให้พิจารณาร่างกาย  จนมีปัญญาเห็นว่าโดยแท้แล้วไม่มีอะไรงามจริง อุปมาดังถุงหนังบรรจุของโสโครก มีรอยรั่วน้อยใหญ่นับไม่ถ้วน มีปฏิกูลรั่วและซึมออกตลอดเวลา
ครั้นแล้วรับสั่งว่า ทรงพระประสงค์จะปลีกวิเวกอยู่ตามลำพังพระองค์ตลอดกึ่งเดือน ใครๆไม่พึงเข้าไปเฝ้า เว้นแต่ภิกษุผู้นำอาหารเข้าไปถวายเพียงรูปเดียว
 
ภิกษุบางพวกปฏิบัติอสุภกรรมฐานแล้ว ถึงขั้นผิดหวังเบื่อหน่ายเกิดรังเกียจกายของตนเองขึ้นมา มีความรู้สึกเหมือนชายหนุ่มหญิงสาวที่อาบน้ำแต่งตัวสวยงามแล้ว แต่ยังมีซากศพตัวอะไรสักตัวคล้องอยู่ที่คอ กำจัดเท่าไรก็ไม่ออก แทนที่จะเข้าหาครูบาอาจารย์ให้แก้กรรมฐานให้ กลับฆ่าตัวตายเองบ้าง ฆ่ากันและกันบ้าง เข้าไปหานายมิคลัณฑิกะผู้แต่งตัวเหมือนสมณะ จ้างด้วยบาตรจีวรให้ฆ่าบ้าง นายมิคลัณฑิกะก็รับจ้างฆ่าภิกษุทั้งหลายวันละหนึ่งรูปบ้าง สองรูป สามรูป สี่รูป ห้ารูป จนถึงหกสิบรูปบ้าง
 
อรรถกถาตั้งคำถามว่า พระพุทธเจ้าไม่ทรงทราบหรือว่าพระเหล่านั้นจะฆ่าตัวตาย หรือจ้างเขาฆ่าแล้วเฉลยว่า ทรงทราบ เพราะภิกษุนั้นในชาติก่อนเคยเป็นพรานล่าเนื้อ ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมามากมาย ต้องชดใช้กรรมที่ตนก่อไม่มีใครจะแก้ไขได้ พระองค์จึงทรงหลีกเร้นเสียตลอดกึ่งเดือน เรื่องของวิบากกรรมนั้น ถ้าไม่ตายอย่างนี้ ก็ต้องตายอย่างอื่น

เมื่อครบกำหนดแล้วเสด็จกลับมา จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ แล้วทรงสั่งสอนอานาปานสติสมาธิ คือการทำใจให้ตั้งมั่นแล้วตามรู้ตามดูลมหายใจ หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ ซึ่งเป็นกรรมฐานที่มีแต่คุณไม่มีโทษ แล้วทรงปรารภเรื่องภิกษุฆ่าตัวตาย ฆ่ากันและกัน รวมทั้งจ้างผู้อื่นให้ฆ่าตน ทรงติเตียน แล้วบัญญัติสิกขาบท ห้ามมิให้ภิกษุฆ่ามนุษย์หรือใช้ให้คนอื่นฆ่า ทรงปรับอาบัติปาราชิกแก่ผู้ล่วงละเมิด
 
อนุบัญญัติ (ข้อบัญญัติเพิ่มเติม)
 
สมัยนั้น อุบาสกคนหนึ่งไม่สบาย ภิกษุฉัพพัคคีย์เกิดพอใจในภริยาของอุบาสกนั้น จึงพูดพรรณนาคุณแห่งความตาย อุบาสกนั้นเชื่อ ก็ตั้งหน้ารับประทานแต่ของแสลง เป็นเหตุให้โรคกำเริบและตายด้วยโรคนั้น ภริยาของอุบาสกจึงยกโทษภิกษุฉัพพัคคีย์เหล่านั้นขึ้นติเตียน ความทราบถึงพระพุทธเจ้า ทรงเรียกประชุมสงฆ์ ไต่สวน ได้ความเป็นสัตย์แล้ว จึงทรงติเตียนพวกโฆษบุรุษเหล่านั้น แล้วทรงบัญญัติเพิ่มเติม ห้ามการพรรณนาคุณของความตาย หรือชักชวนเพื่อให้ตาย ผู้ใดละเมิด ต้องอาบัติปาราชิกด้วย


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 มี.ค. 13, 08:30
นอกจากละเมิดศีลสำคัญทั้งสองข้อที่อยู่ในศีล๕ ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังมิได้บัญญัติโทษทางวินัยนั้น แก๊งแสบยังละเมิดศีลที่เป็นสมณะศีลในข้อที่แปด คือ เว้นจากการนอนที่นอนสูงใหญ่ ภายในยัดด้วยนุ่นและสำลีอีกด้วย จนทำให้พระพุทธเจ้าต้องทรงบัญญัติโทษ

ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์ให้ทำเตียงบ้าง ตั่งบ้าง ยัดด้วยนุ่น พวกชาวบ้านเที่ยวไปทางวิหารเห็นเข้าแล้วต่างพากันเพ่งโทษติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระจึงทำตัวเหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า กามนี้มีความหมายครอบคลุมถึงความสุขความสบายทั้งหลายทั้งปวงที่มนุษย์ในโลกแสวงหานะครับ

สุดท้ายพระพุทธเจ้าจึงต้องทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุให้ทำเตียงหรือตั่งที่หุ้มด้วยนุ่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์  ที่ทำแล้วให้รื้อเสียจึงแสดงอาบัติตก


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 มี.ค. 13, 08:32
ในบทเดียวกันนี้ ยังมีอีกสามสิกขาบทคือ

ห้ามทำผ้าปูนั่งมีขนาดเกินประมาณ
ภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ผ้าปูนั่งไม่มีประมาณ ผ้าย้อยไปข้างหน้าข้างหลังของเตียงแลตั่ง พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุจะให้ทำผ้าปูนั่ง พึงทำให้ได้ประมาณ คือ ยาว ๒ คืบ กว้างคืบครึ่ง ด้วยคืบสุคต ถ้าทำให้เกินประมาณนั้นไป ต้องปาจิตตีย์ ที่ให้ตัดเสีย (จึงแสดงอาบัติตก) ภายหลังทรงอนุญาตชายผ้าปูนั่งอีก ๑ คืบ
 
ห้ามทำผ้าปิดฝีมีขนาดเกินประมาณ
ภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ผ้าปิดฝีไม่มีประมาณ ลากผ้าไปข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง เที่ยวไป พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุจะทำให้ผ้าปิดฝี พึงทำให้ได้ประมาณ คือ ยาว ๔ คืบ กว้าง ๒ คืบ ด้วยคืบสุคต ถ้าทำให้เกินประมาณนั้น ต้องปาจิตตีย์ ที่ให้ตัดเสีย (จึงแสดงอาบัติตก)
 
ห้ามทำผ้าอาบน้ำฝนมีขนาดเกินประมาณ
ภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ผ้าอาบน้ำฝนไม่มีประมาณ ลากผ้าไปข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง เที่ยวไป พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุจะให้ทำผ้าอาบน้ำฝน พึงทำให้ได้ประมาณ คือ ยาว ๖ คืบ กว้าง ๒ คืบครึ่ง ด้วยคืบสุคต ถ้าทำให้เกินประมาณนั้น ต้องปาจิตตีย์ ที่ให้ตัดเสีย (จึงแสดงอาบัติตก)  


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 มี.ค. 13, 08:49
ผมตั้งใจจะเขียนเฉพาะเรื่องแก๊งแสบและแก๊งโจ๋ตามหัวเรื่องให้จบ และมีฉันทะจะเขียนนำหรือเขียนตอบผู้ข้องใจสงสัยเฉพาะในขอบเขตนี้เท่านั้น มิได้ตั้งใจจะเขียนพระไตรปิฎกฉบับง่ายๆสไตล์navarat.c ทั้งฉบับ เอาแต่เรื่องของแก๊งแสบก็ยังมีให้เล่าสู่กันฟังได้อีกพอสมควรทีเดียว

โปรดติดตาม


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 มี.ค. 13, 11:07
ห้ามหล่อเครื่องปูนั่งเจือด้วยไหม

ภิกษุฉัพพัคคีย์เข้าไปหาช่างทำไหม ขอให้เขาต้มตัวไหม, และขอใยไหมบ้าง เพื่อจะหล่อสันถัต (เครื่องลาด, เครื่องปูนั่ง) เจือด้วยไหม, เขาหาว่าเบียดเบียนเขาและเบียดเบียนตัวไหม พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุหล่อสันถัต เจือด้วยไหม ทรงปรับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด

ห้ามหล่อเครื่องปูนั่งด้วยขนเจียมดำล้วน

เอาละซีครับพระคุณท่าน ขนเจียมเป็นอย่างไรล่ะนั่น ผมอ่านอรรถกถาจารย์อธิบายอย่างไรก็ไม่เข้าใจ เครื่องปูนั่งทำด้วยขนก็เข้าประเภทสิ่งทอ แล้วไหง๋ถึงผลิตด้วยการหล่อ ซึ่งแปลว่าทำให้ของเหลวเป็นของแข็งในรูปทรงที่กำหนดแม่แบบบังคับ ขนเจียมหมายถึงกรรมวิธีผลิตขน(คล้ายๆคำว่าขนัก ขนทอ)หรือแปลว่าขนของตัวที่ชื่อเจียม ผมก็ไม่เคยทราบ

ต้องตามไปอ่านภาคภาษาอังกฤษที่ฝรั่งแปลจากบาลี เขาใช้คำว่าfelt blanket/rug entirely of black wool ขะรับ เลยพอจะเข้าใจ
felt คือผ้าสักหลาด(อ่านว่าสัก-กะ-หลาด) ซึ่งคนอินเดียผลิตมานานจนมีความชำนาญ ทำจากขนสัตว์ โดยนำขนสัตว์มาโปรยลงบนแท่น แล้วกระแทกด้วยแผ่นที่มีตะปูปลายแหลมมีเงี่ยงคล้ายเบ็ดถี่ยิบขึ้นๆลงๆซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนขนสัตว์ขึ้นมาพันกันเป็นผืน ในลักษณะคล้ายๆกับทอเข้าด้วยกัน แต่ไม่ใช่ การทอจะมีลวดลายเป็นระเบียบกว่า ท่านที่มีผ้าสักหลาดลองเอาแว่นขยายส่องดู จะเห็นขนสัตว์ที่ประสานกันเป็นเนื้อเดียวอย่างไม่มีระเบียบ ผิดกับผ้าทั่วไป ภาษาไทยไม่มีบัญญัติศัพท์นี้ ท่านจึงไปใช้ว่าหล่อ

อ่ะ คราวนี้ตัวเจียมคือตัวอะไร ผมก็ตามรอย black wool ของอินเดียไป เจอเจ้าตัวนี้ออกมาเต็มหน้าจอ เขาเรียกว่าตัวyak ไทยเราเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าจามรี ปกติจะมีขนสีขาว แต่สีดำก็มี และเป็นของหายาก ขนจามรีดำจึงมีราคาแพง

ก็ยังตอบไม่ได้อยู่ดีว่า เจียมหมายถึงจามรี หรือต้องกล่าวว่าขนเจียม เพราะแปลว่าผ้าสักหลาดที่ส่วนใหญ่ทำจากขนแกะหรือแพะ
แต่เอาเป็นว่าท่านคงเข้าใจแล้วว่าอะไรเป็นอะไร ผมก็ขอคงศัพท์เดิมไว้ก็แล้วกัน

ภิกษุฉัพพัคคีย์หล่อสันถัตด้วยขนเจียมดำล้วน คนทั้งหลายติเตียนว่า ใช้ของอย่างคฤหัสถ์ จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามหล่อเองหรือใช้ให้หล่อสันถัตด้วยขนเจียมดำล้วน ทรงปรับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์แก่ผู้ล่วงละเมิด  


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 มี.ค. 13, 11:22
ห้ามใช้ขนเจียมดำเกิน๒ ส่วนใน๔ส่วน เมื่อหล่อเครื่องปูนั่ง

ภิกษุฉัพพัคคีย์หล่อสันถัตด้วยขนเจียมดำล้วนเพียงแต่เอาขนเจียมขาวหน่อยหนึ่งใส่ลงไปที่ชาย มีผู้ติเตียน จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุจะหล่อสันถัตใหม่ พึงถือเอาขนเจียมดำ๒ส่วน ขนเจียมขาว๑ส่วน ขนเจียมแดง๑ส่วน ถ้าไม่ทำตามส่วนนั้น ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

เห็นความแสบไหมครับ พอพระพุทธเจ้าท่านห้ามขนเจียมดำล้วน เพราะหายาก มีราคาแพงระยับ ท่านก็พริ้วไปใช้ขนเจียมสีขาวหน่อยหนึ่งไปใส่ที่ชายเพื่อให้พ้นไปจากคำว่าดำล้วน คราวนี้พระพุทธเจ้าถึงกับต้องทรงกำหนดสัดส่วนที่จะผสมไว้เลย
 
สิกขาบทที่ทรงบัญญัติห้ามเนื่องจากขนเจียมยังมีอีกหลายข้อ แต่ไม่ได้เป็นนวตกรรมของแก๊งฉัพพัคคีย์ ผมของดที่จะกล่าวถึง

อ้อ มาถึงตรงนี้แล้วคงเข้าใจมากขึ้น เจียมจึงไม่น่าจะเป็นจามรีเท่านั้น แต่น่าจะหมายถึงสัตว์ให้ขนทั่วๆไป เช่นแพะและแกะด้วยครับ


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 มี.ค. 13, 12:56
อ้อ มาถึงตรงนี้แล้วคงเข้าใจมากขึ้น เจียมจึงไม่น่าจะเป็นจามรีเท่านั้น แต่น่าจะหมายถึงสัตว์ให้ขนทั่วๆไป เช่นแพะและแกะด้วยครับ

ท่านรอยอินวิสัชนาไว้ดังนี้

เจียม หมายถึง เครื่องลาดลักษณะเหมือนพรม ทําด้วยขนสัตว์ชนิดหนึ่งในจําพวกกวาง มีอยู่ทางเหนือของประเทศจีน  (เจียม มาจากภาษาเขมร แปลว่า แกะ)

สัตว์จำพวกกวางมีอยู่ทางเหนือจีน คือตัวอะไร  ต้องสืบสวนกันต่อไป

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 มี.ค. 13, 13:11
อยากจะถามใครก็ตามที่มีความเชื่อเช่นนี้ว่า ทําด้วยขนสัตว์ชนิดหนึ่งในจําพวกกวาง มีอยู่ทางเหนือของประเทศจีน นำมาอินเดียในสมัยพุทธกาลอย่างไร จนแพร่หลายเป็นที่รู้จักของคนระดับที่มาบวชพระ

ขนาดพระถังซำจั๋งเดินทางมาคัดลอกพระไตรปิฎกในปีพ.ศ.๑๑๗๐ ยังลำบากลำบนแทบเอาชีวิตไม่รอด แล้วพ่อค้าขนสัตว์จะไหวหรือ ได้กำไรเที่ยวละสักเท่าไหร่กันเชียว


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 มี.ค. 13, 20:32
 ห้ามไปดูกองทัพที่ยกไปภิกษุฉัพพัคคีย์ไปดูกองทัพที่ยกไป พระเจ้าปเสนทิทอดพระเนตรเห็นก็ทรงทักท้วง คนทั้งหลายพากันติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุไปดูกองทัพที่เขายกไป ต้องปาจิตตีย์
ภายหลัง มีญาติผู้ใหญ่ของพระภิกษุองค์หนึ่งบาดเจ็บล้มป่วย ให้คนมาบอกพระภิกษุองค์นั้นถึงวัดให้ไปหา จึงทรงอนุญาตให้ไปในกองทัพได้เมื่อมีเหตุสมควร.

ห้ามพักอยู่ในกองทัพเกิน ๓ คืนภิกษุฉัพพัคคีย์มีเหตุจำเป็นไปในกองทัพ และพักอยู่เกิน ๓ คืน มีผู้ติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า เมื่อมีเหตุจำเป็นจะต้องไปในกองทัพ ภิกษุจะพักอยู่ในกองทัพได้ไม่เกิน ๓ ราตรี ถ้าอยู่เกินกว่านั้น ต้องปาจิตตีย์

ห้ามดูเขารบกัน เป็นต้น เมื่อไปในกองทัพ
ระหว่างภิกษุฉัพพัคคีย์มีเหตุจำเป็นต้องไปพักในกองทัพ ๒-๓ ราตรี เธอได้ไปดูการรบ การตรวจพล การจัดทัพ และดูทัพที่จัดเป็นกระบวนเสร็จแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งในจำนวน ๖ รูป ถูกลูกเกาทัณฑ์(เพราะไปดูเขารบกัน) เป็นที่เยาะเย้ยติเตียนของคนทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุที่พักอยู่ในกองทัพ ๒-๓ ราตรี ไปดูการรบ การตรวจพล การจัดทัพ และทัพที่จัดเป็นขบวนเสร็จแล้ว ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 มี.ค. 13, 20:38
ห้ามฉันอาหารในโรงพักเดินทางเกิน ๑ มื้อ

ภิกษุฉัพพัคคีย์ไปฉันอาหารในโรงพักคนเดินทางที่ผู้ใจบุญจัดอาหารให้เป็นทานแก่ผู้คนเดินทางที่มาพัก แล้วเลยติดใจ ถือโอกาสไปพักและฉันเป็นประจำ เป็นที่ติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุพึงฉันอาหารในโรงทานได้เพียงมื้อเดียว ถ้าฉันเกินกว่านั้น ต้องปาจิตตีย์
ภายหลังทรงผ่อนผันให้ภิกษุไข้ ซึ่งเดินทางต่อไปไม่ไหวฉันเกินมื้อเดียวได้  


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 มี.ค. 13, 20:40
ห้ามขออาหารประณีตมาเพื่อฉันเอง

ภิกษุฉัพพัคคีย์ขออาหารประณีต คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้, น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมเปี้ยว มาเพื่อฉันเอง เป็นที่ติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์ แก่ภิกษุผู้ทำเช่นนั้น เว้นไว้แต่อาพาธ


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 มี.ค. 13, 06:39
พระฉัพพัคคีย์มิได้เป็นต้นบัญญัติของศีลเท่านั้นนะครับ แม้แต่เรื่องการเข้าพรรษา พระพุทธเจ้าได้ทรงวางระเบียบขึ้น ก็เพราะความขยันแต่ไม่รู้กาละเทศะของแก๊งนี้ ปกติก่อนหน้านั้น พระอริยะสงฆ์ในช่วงต้นพุทธกาลจะทราบดีว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควรกระทำ

ทั้งนี้เพราะสมัยหนึ่ง พระฉัพพัคคีย์ได้เกิดฟิตจัดขึ้นมา ชวนกันออกเดินทาง(อ้างว่า)เพิ่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาในชนบทต่างๆ โดยไม่ย่อท้อทั้งในฤดูหนาวฤดูร้อน และแม้แต่ฤดูฝน ทำให้ชาวบ้านได้พากันติเตียนว่า พวกพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาไม่ยอมหยุดพักสัญจรแม้ในฤดูฝน ในขณะที่นักบวชในศาสนาอื่นหยุดเดินทางในช่วงนั้น เพราะจะหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะไปเหยียบย่ำข้าวกล้าของชาวบ้านให้ได้รับความเสียหาย หรืออาจไปเหยียบย่ำโดนสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่ออกหากินจนถึงแก่ความตาย เมื่อพระพุทธเจ้าทราบเรื่อง จึงได้วางระเบียบให้ภิกษุประจำพรรษาอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาสามเดือนดังที่ทุกท่านทราบดีอยู่แล้ว

แต่แก๊งพระฉัพพัคคีย์ออกไปเผยแพร่อะไร อย่างไร และก่อนออกเผยแพร่ได้มีพฤติกรรมหลายอย่างนั้น ทำให้เกิดข้อบัญญัติเป็นศีลของสงฆ์ตามมาอีกหลายข้อทีเดียว


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 มี.ค. 13, 06:45
เรื่องเรียนดิรัจฉานวิชา

พระฉัพพัคคีย์เรียนดิรัจฉานวิชา  ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระพุทธเจ้า ทรงตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเรียนดิรัจฉานวิชา รูปใดเรียนต้องอาบัติทุกกฏ

 
ดิรัจฉานวิชาคือวิชาที่ขวางต่อมรรคผลนิพพาน เพราะการใช้เวลาศึกษาในวิชาเหล่านั้นย่อมทำให้เนิ่นช้าในการบำเพ็ญเพียรเพื่อให้บรรลุธรรม มากน้อยขึ้นอยู่กับความหมกมุ่นของผู้ที่ใฝ่ใจในวิชาเหล่านั้น
วิชาทางโลกทั้งหมดถือเป็นดิรัจฉานวิชาตามนัยยะนี้ เพราะเป็นวิชาที่จำเป็นต้องเรียนให้รู้เพื่อใช้ในการดำรงชีวิต มนุษย์ก็เช่นเดียวกับสัตว์โลกอื่นๆที่ต้องอาหารใส่ท้อง และการเอาตัวให้รอดจากสถานการณ์ร้ายที่อาจเกิดขึ้นไปวันหนึ่งๆ


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 มี.ค. 13, 06:47
เรื่องสอนดิรัจฉานวิชา

เมื่อไม่ให้เรียนต่อ เรื่องที่เรียนมาแล้วก็คงสอนได้ เพราะพระพุทธเจ้ายังมิได้ทรงห้าม
สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์สอนดิรัจฉานวิชา ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่าเหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระพุทธเจ้า ทรงตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสอนดิรัจฉานวิชา รูปใดสอนต้องอาบัติทุกกฏ


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 มี.ค. 13, 07:15
ห้ามกล่าวธรรมพร้อมกับผู้ไม่ได้บวชในขณะสอน

ภิกษุฉัพพัคคีย์สอนอุบาสกทั้งหลายให้กล่าวธรรม(พร้อมกัน)โดยบท ทำให้อุบาสกเหล่านั้น ขาดความเคารพในภิกษุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้สอนธรรมแก่อนุปสัมบันพร้อมกันโดยบท

ท่านอ่านแล้วคงงงเหมือนผมในตอนแรก

คือเมื่อสอนวิชาอื่นไม่ได้ ภิกษุฉัพพัคคีย์ก็จะสอนธรรมะในพระพุทธศาสนานี่แหละ โดยคงจะชวนพระใหม่และอุปสัมบันในวัด หมายถึงนักบวชที่ยังไม่ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในที่นี้คือเณร เณรี ยายชีตาเถรที่บรรพชาถือศีลอย่างน้อย๘ข้อ ให้มาเรียนด้วยกันเยอะๆ

พอมาเรียนแล้ว ก็ให้มีการท่องบทสวด หรือกถาธรรมใดๆขึ้นดังๆพร้อมกันทั้งพระและผู้ที่ไม่ใช่พระ  ทำให้เกิดภาพที่ไม่น่าดูขึ้น พระพุทธเจ้าจึงทรงห้าม จะเรียนจะสอนก็ทำได้ แต่ห้ามสั่งให้ท่องออกเสียงพร้อมๆกัน


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 มี.ค. 13, 09:42
ภิกษุฉัพพัคคีย์จะมีกึ๋นไปสอนใครแค่ไหนไม่ทราบ แม้แต่เรื่องอย่างนี้ยังต้องทำให้พระพุทธเจ้าท่านทรงต้องบัญญัติศีล

ห้ามน้อมลาภสงฆ์มาเพื่อตน

ภิกษุฉัพพัคคีย์ไปพูดกับคณะบุคคล ซึ่งเตรียมอาหารและจีวรไว้ถวายแก่สงฆ์ เพื่อให้เขาถวายแก่ตน เขาถูกรบเร้าหนัก ก็เลยถวายไป ความทราบถึงพระผู้มีพระภาค จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุรู้อยู่ น้อมลาภสงฆ์มาเพื่อตน ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

สมัยนั้น ชาวบ้านหมู่หนึ่งจัดภัตตาหารพร้อมทั้งจีวร จะไปถวายสังฆทานสงฆ์ ณ พระเชตวันอารามด้วยตั้งใจว่าเมื่อพระฉันแล้วจะถวายจีวรให้ครองในโอกาสนั้นเลย จีวรในสมัยพุทธกาลเป็นของหายาก พระภิกษุยังต้องชักบังสุกุลผ้าห่อศพมาทำความสะอาดต้มย้อม แล้วนำมาตัดเย็บต่อกันเป็นจีวรห่มกาย นานๆจะมีอุบาสกอุบาสิกานำอติเรกจีวร คือจีวรใหม่ๆป้ายแดงมาถวาย ถ้าเขามิได้เจาะจงจะถวายแก่พระภิกษุองค์ใดโดยเฉพาะ ของถวายนั้นก็จะถือเป็นของสงฆ์ หมายถึงถวายเป็นส่วนกลาง สุดแล้วแต่คณะสงฆ์จะมอบให้แก่องค์ใดอีกทีหนึ่ง ในครั้งนั้นชาวบ้านที่ไปทำบุญถวายสังฆทาน ตั้งใจจะถวายจีวรให้เป็นขององค์ที่สงฆ์มอบหมายให้เป็นผู้มารับสังฆทานนั้นด้วยเลย

หนึ่งในแก๊งฉัพพัคคีย์ทราบเข้า จึงได้เข้าไปหาชาวบ้านหมู่นั้นก่อนแล้วกล่าวว่า ขอท่านทั้งหลายจงให้จีวรนี้แก่อาตมาเถิด เขากล่าวตอบว่า ท่านเจ้าข้า พวกกระผมจัดถวายไม่ได้ เพราะพวกกระผมได้จัดอาหารพร้อมทั้งจีวรไว้เพื่อสงฆ์ทุกๆปีเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอยู่ เธอก็พูดแค่นได้จนเขารำคาญ ต้องถวายไป
"แค่นได้"เป็นภาษาโบราณตรงกับศัพท์สมัยนี้ว่าตื้อ

สุดท้าย พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงบัญญัติข้อห้ามดังกล่าว

ห้ามน้อมลาภสงฆ์มาเพื่อบุคคล

เรื่องทำนองเดียวกันเลย เมื่อพระพุทธเจ้าทรงห้ามพระร่วมแก๊งแล้ว ทั้งแก๊งก็เลยปรึกษากันว่า งั้นเราก็ฟอร์มทีมเป็นคณะสงฆ์ซะเลยดีกว่า เพราะพระพุทธเจ้าท่านมิได้ทรงห้าม ได้มาแล้วค่อยมาดูกันอีกทีว่าจะมอบให้ใคร
 
ครั้นแล้วก็เกิดเรื่องตามมา ท่านย้อนกลับไปอ่านข้อความข้างบนได้ เพียงแต่เปลี่ยนคำว่าอาตมาเป็นคณะของอาตมาเท่านั้น
พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติสิกขาบทเพิ่มขึ้นมาว่า ภิกษุน้อมลาภที่เขากะว่าจะถวายแก่สงฆ์ไปเพื่อบุคคล ต้องปาจิตตีย์  

สงสัยจริงๆ เวลาท่านไปสอนพระใหม่เรื่องศีล ท่านจะสอนเรื่องที่ท่านทำเลอะเทอะไว้อย่างไร


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 มี.ค. 13, 09:51
ห้ามเก็บบาตรเกิน๑ลูก ไว้เกิน๑๐วัน

ภิกษุฉัพพัคคีย์สะสมบาตรไว้เป็นอันมาก ถูกมนุษย์ติเตียนว่าเป็นพ่อค้าบาตร พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุเก็บบาตรอติเรก (คือที่เกิน ๑ ลูก ซึ่งเกินจำเป็นสำหรับใช้เป็นประจำ) ไว้เกิน ๑๐ วัน ต้องนิสสัคคียปาจิตตีย์.

 


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 มี.ค. 13, 09:54
ห้ามแสวงและทำผ้าอาบน้ำฝนเกินกำหนด

ภิกษุฉัพพัคคีย์ทราบว่าพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตผ้าอาบน้ำฝน จึงแสวงหาและทำนุ่ง ก่อนเวลา(จะถึงหน้าฝน) ต่อมาผ้าเก่าชำรุด เลยต้องเปลือยกายอาบน้ำฝน พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ให้แสวงหาผ้าอาบน้ำฝนได้ภายใน ๑ เดือนก่อนฤดูฝน ให้ทำนุ่งได้ภายใน ๑๕ วันก่อนฤดูฝน ถ้าแสวงหาหรือทำก่อนกำหนดนั้น ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์  


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 มี.ค. 13, 09:55
ห้ามขอด้ายเอามาทอเป็นจีวร

ภิกษุฉัพพัคคีย์เที่ยวขอด้ายเขามาให้ช่างหูกทอเป็นจีวร ด้วยเหลือก็ไปขอเขาเพิ่ม ให้ช่างหูกทอเป็นจึวรอีก ด้ายเหลืออีก ก็ไปขอด้ายเขาสมทบ เอาไปให้ช่างหูกทอเป็นจีวรอีก รวม ๓ ครั้ง คนทั้งหลายพากันติเตียน พระผู้พระภาคทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุขอด้ายเขาด้วยตนเอง เอามาให้ช่างหูกทอเป็นจีวร ต้องนิสสัคคียปาจิตตีย์  


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 มี.ค. 13, 10:11
อันนี้เข้าข่ายความผิดในคดีอาญา ฐานหมิ่นประมาท

ห้ามโจทภิกษุด้วยอาบัติสังฆาทิเสสไม่มีมูล

ภิกษุฉัพพัคคีย์แกล้งโจทภิกษุด้วยอาบัติสังฆาทิเสสไม่มีมีมูล พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุโจทภิกษุด้วยอาบัติสังฆาทิเสสไม่มีมูล ต้องปาจิตตีย์  


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 มี.ค. 13, 10:16
เอ้า ถ้าอย่างนั้น เอาเรื่องจริงไปประจานใครก็ไม่เป็นไรน่ะซี เพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงห้าม

ห้ามบอกอาบัติชั่วหยาบของภิกษุแก่ผู้มิได้บวช

ภิกษุฉัพพัคคีย์ทะเลาะกับพระอุปนนทะ ศากยบุตร เลยแกล้งประจานพระอุปนนทะ กับพวกอุบาสก ที่กำลังเลี้ยงพระว่า พระอุปนนทะต้องอาบัติสังฆาทิเสส

พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุบอกอาบัติชั่วหยาบของภิกษุแก่อนุปสัมบัน (ผู้มิได้เป็นภิกษุ หรือภิกษุณี) ต้องปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ได้รับสมมติ

ตามประมวลกฎหมายอาญาในคดีเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท เอาเรื่องจริงของเขามาโพนทะนาให้เขาเสียหายก็ติดคุกได้นะครับ  อย่างเบาะๆก็ถูกศาลท่านสั่งปรับแน่นอน อย่างน้อยๆก็หลายพันบาทอยู่เหมือนกัน


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 มี.ค. 13, 10:33
เกี่ยวกับเรื่องข้อกฏหมายนี้ ฝรั่งมีแม่บทอยู่ข้อหนึ่งว่า "Ignorantia juris non excusat" กฏหมายไทยนำมาใช้โดยแปลว่า "ความไม่รู้กฎหมาย จะอ้างเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้"
พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติเรื่องทำนองเดียวกันนี้ก่อนฝรั่ง เพราะผลงานของแก๊งแสบ

ห้ามพูดแก้ตัวว่า เพิ่งรู้ว่ามีในปาฏิโมกข์

ภิกษุฉัพพัคคีย์ประพฤติอนาจาร เมื่อฟังสวดปาฏิโมกข์ว่า ภิกษุไม่รู้ก็ต้องอาบัติ จึงกล่าวว่า เพิ่งรู้ว่าข้อความนี้มีในปาฏิโมกข์ (ทั้ง ๆ ที่ฟังมาแล้วไม่รู้ว่ากี่ครั้ง เป็นการแก้ตัว) พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้กล่าวแก้ตัวเช่นนั้น เป็นการปรับอาบัติในภิกษุ(ผู้แก้ตัวว่า)หลงลืม  


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 มี.ค. 13, 10:47
สามข้อนี้ก็คล้ายกับกฎหมายแพ่ง เรื่องการมอบอำนาจให้บุคคลอื่นไปกระทำการแทนตน

ให้ฉันทะแล้วห้ามพูดติเตียน

ภิกษุฉัพพัคคีย์ให้ฉันทะในการประชุมทำกรรมของสงฆ์ แล้วกลับว่าติเตียนในภายหลัง พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุให้ฉันทะ(คือความพอใจหรือการมอบอำนาจให้สงฆ์ทำกรรมได้) เพื่อกรรมอันเป็นธรรม แล้วบ่นว่าในภายหลัง ต้องปาจิตตีย์

ขณะกำลังประชุมสงฆ์ ห้ามลุกไปโดยไม่ให้ฉันทะ

สงฆ์กำลังประชุมกันทำกรรมอยู่ ภิกษุฉัพพัคคีย์ให้ฉันทะแก่ภิกษุพวกตนรูปหนึ่งให้เข้าไปประชุมแทน ภายหลังภิกษุรูปนั้นไม่พอใจจึงลุกออกจากที่ประชุมทั้งที่มิได้ให้ฉันทะ พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุไม่ให้ฉันทะ ลุกจากอาสนะหลีกไปในเมื่อถ้อยคำวินิจฉัยยังค้างอยู่ในสงฆ์ ต้องปาจิตตีย์
 
ร่วมกับสงฆ์ให้จีวรแก่ภิกษุแล้ว ห้ามติเตียนภายหลัง
จีวรเกิดขึ้นแก่สงฆ์ สงฆ์ประชุมกันให้แก่พระทัพพมัลลบุตร ภิกษุฉัพพัคคีย์กลับว่าสงฆ์ให้จีวรเพราะชอบกัน ภิกษุทั้งหลายจึงติเตียนว่า ร่วมประชุมกับสงฆ์แล้ว ทำไมจึงมาพูดติเตียนในภายหลัง พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามทำเช่นนั้น ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 มี.ค. 13, 10:49
จะเข้าบ้านในเวลาวิกาล ต้องบอกลาภิกษุก่อน
ภิกษุฉัพพัคคีย์เข้าสู่บ้านในเวลาวิกาล(เที่ยงแล้วไป) ชวนชาวบ้านพูดเรื่องไร้สาระ เป็นที่ติเตียนของคนทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามเข้าสู่บ้านในเวลาวิกาล ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด ภายหลังทรงผ่อนผันให้เข้าไปในบ้านในเวลาวิกาลได้ เมื่อบอกลาภิกษุที่มีอยู่ในวัดหรือในเมื่อมีกิจรีบด่วน

ห้ามแอบฟังความของภิกษุผู้ทะเลาะกัน
ภิกษุฉัพพัคคีย์ทะเลาะกับภิกษุทั้งหลายแล้วไปแอบฟังความว่า ภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวตนอย่างไร พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า เมื่อภิกษุทั้งหลายทะเลาะวิวาทกัน ภิกษุแอบฟังความด้วยประสงค์จะทราบว่าภิกษุเหล่านั้นพูดว่าอย่างไร มุ่งเพียงเท่านั้น มิได้มุ่งเหตุอื่น ต้องปาจิตตีย์

 


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 มี.ค. 13, 12:01
นอกจากที่นำมาเล่าไว้แล้วนี้ ยังมีศีลเกี่ยวกับภิกษุณีอีกสี่ห้าข้อที่แก๊งฉัพพัคคีย์กระทำพฤติกรรมอันไม่ควรไว้ จนพระพุทธเจ้าต้องทรงบัญญัติเป็นข้อห้าม แม้ในสมัยนี้จะไม่มีพระภิกษุณีแล้ว ศีลเหล่านี้รวมถึงข้ออื่นๆทีภิกษุองค์อื่นหรือกลุ่มอื่นประพฤติมิชอบต่อภิกษุณีด้วย ยังคงรวมอยู่ในศีล๒๒๗ข้อ ที่สงฆ์จะต้องทบทวนในวันกระทำปาฏิโมกข์ทุกเดือน

ห้ามใช้นางภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติทำความสะอาดขนเจียม

ภิกษุฉัพพัคคีย์(พวก ๖) ใช้นางภิกษุณีให้ซัก ให้ย้อม ให้สางขนเจียม ทำให้เสียการเรียน การสอบถาม และเสียข้อปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ชั้นสูง พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามใช้นางภิกษุณีที่มิใช่ญาติซัก, ย้อม, หรือสางขนเจียม ทรงปรับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด

แสดงว่าขนเจียมนี้บำรุงรักษายุ่งยากจริงๆ


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 มี.ค. 13, 12:03
ข้อนี้ คงเป็นที่เข้าใจ

ห้ามไปสอนนางภิกษุณีถึงที่อยู่

ภิกษุฉัพพัคคีย์เข้าไปสอนนางภิกษุณีถึงที่อยู่ นางภิกษุณีทั้งหลายติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุไปสอนนางภิกษุณีถึงที่อยู่ ต้องปาจิตตีย์ ภายหลังทรงผ่อนผันให้เมื่อนางภิกษุณีเจ็บไข้


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 มี.ค. 13, 12:06
ห้ามสอนนางภิกษุณีเมื่อมิได้รับมอบหมาย

ภิกษุฉัพพัคคีย์เห็นภิกษุอื่นๆสอนนางภิกษุณีแล้วได้ของถวายต่างๆ อยากจะมีลาภบ้าง จึงแจ้งความประสงค์แก่นางภิกษุณีทั้งหลาย เมื่อนางภิกษุณีไปสดับโอวาทก็สอนเพียงเล็กน้อย แล้วชวนสนทนาเรื่องไร้สาระโดยมาก พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุที่ไม่ได้รับสมมุติจากสงฆ์ สอนนางภิกษุณีต้องปาจิตตีย์

ข้อนี้เผยไต๋ที่ผมเคยตั้งข้อสงสัยพวกชาวแก๊งไว้ ว่าอยู่ๆก็อยากจะเที่ยวไปสอนธรรมะแก่ใครได้อย่างไร
ภายหลังที่ทรงห้ามและตั้งกฏเกณฑ์ข้างต้นไว้ ภิกษุฉัพพัคคีย์ก็นับนิ้วแล้วบอกว่า เรามีกัน๖คนก็ถือเป็นคณะสงฆ์ได้แล้วนี่นา คณะสงฆ์แก๊งนี้ก็เลยมอบอำนาจให้ชาวแก๊งคนนึงวันนี้ คนนึงวันโน้น ไปสอนภิกษุณีแล้วเอาของติดกัณฑ์เทศน์มาแบ่งกัน

พระพุทธเจ้าจึงทรงกำหนดคุณสมบัติเพิ่มเติมสำหรับภิกษุที่จะสอนนางภิกษุณีถึง ๘ ข้อ โดยข้อสุดท้าย กำหนดว่าต้องให้เป็นพระภิกษุที่บวชมาแล้วถึง๒๐พรรษาหรือเกินกว่า จึงจะไปสอนพระภิกษุณีได้ ทำเอาชาวแก๊งหงายหลังผลึ่งเพราะคุณสมบัติไม่ผ่านสักองค์นึง


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 มี.ค. 13, 12:09
เมื่อเมื่อตนไม่ได้สอน ก็ตั้งกองนินทาว่าร้ายพระภิกษุอาวุโสที่เข้าไปสอน อย่างนี้ก็เข้าข่ายหมิ่นประมาทเหมือนกัน

ห้ามติเตียนภิกษุอื่นว่าสอนนางภิกษุณีเพราะเห็นแก่ลาภ
ภิกษุฉัพพัคคีย์กล่าวว่า พระเถระทั้งหลายสอนนางภิกษุณีเพราะเห็นแก่อามิส พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุพูดว่า ภิกษุทั้งหลายสอนนางภิกษุณีเพราะเห็นแก่อามิส ต้องปาจิตตีย์ (ห้ามประจานกันเอง แม้เห็นแก่อามิสจริง ถ้าเที่ยวพูดไป ก็ต้องอาบัติทุกกฏ)


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 มี.ค. 13, 12:15
การควรไม่ควรที่จะประพฤติปฏิบัติระหว่างชายหนุ่มหญิงสาว อันจะเป็นเชื้อให้เกิดข้าศึกแห่งพรหมจรรย์นั้น พระพุทธเจ้าจะทรงเข้มงวดต่อพระสาวกมาก ไม่ทรงเปิดโอกาสให้พญามารตั้งตัวได้เลย

ห้ามเดินทางไกลร่วมกับนางภิกษุณี
ภิกษุฉัพพัคคีย์ชวนนางภิกษุณีเดินทางไกลร่วมกัน มีผู้ติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุชวนนางภิกษุณีเดินทางไกลร่วมกัน แม้ชั่วระยะบ้านหนึ่ง ต้องปาจิตตีย์ ภายหลังผ่อนผันให้เดินทางร่วมกันได้ เมื่อทางนั้นมีภัย ต้องไปเป็นคณะ

ห้ามชวนนางภิกษุณีเดินทางร่วมเรือร่วมกัน
ภิกษุฉัพพัคคีย์ชวนนางภิกษุณีไปในเรือลำเดียวกัน มีผู้ติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุชวนนางภิกษุณีลงเรือลำเดียวกันขึ้นหรือล่อง ต้องปาจิตตีย์ ภายหลังทรงผ่อนผันให้ข้ามฟากได้  


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 มี.ค. 13, 14:36
ทั้งหมดที่นำมาเสนอนี้ อยู่ในพระไตรปิฎก หมวดมหาวิภังค์ ซึ่งกล่าวถึงมูลเหตุแห่งการบัญญัติพระวินัย รวมเป็นศีลทั้งหมด ๒๒๗ข้อ

ก่อนจะจบ อยากให้คิดนิดนึงว่า แสบทั้งหลายนั้นความเลวมีอยู่เยอะก็จริง แต่ท่านมีความดีอยู่อย่างสำคัญคือ ท่านเคารพเชื่อฟังพระพุทธเจ้า พอพระพุทธเจ้าห้าม พวกท่านก็ไม่ทำผิดซ้ำ และพระพุทธองค์ก็มิได้ทรงห้ามเหมือนกันว่าอย่าไปทำอะไรพิเรนทร์อีกนะ คงจะให้พระพวกนี้สำรอกความเลวของปุถุชนออกมาให้หมด เพื่อที่จะได้ทรงบัญญัติศีลห้ามไว้สำหรับพระภิกษุในอนาคต

ผมคงจะนินทาภิกษุในแก๊งทั้งสองมาพอสมควรแล้ว หนักกว่านี้อาจเจอข้อหาหมิ่นประมาทได้เหมือนกัน จึงขอยุติเรื่องที่ได้พรรณามา ด้วยประ กา ร ฉ ะ นี้


กระทู้: แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 มี.ค. 13, 22:11
ได้อ่านพระวินัยที่บัญญัติขึ้นมาเพราะพระฉัพพัคคีย์เป็นเหตุ    มีมากมายอ่านไม่หวัดไม่ไหว   จนเกิดความสงสัยว่าด้วยปริมาณขนาดนี้  พระฉัพพัคคีย์น่าจะขยันก่อเรื่องในอัตราถี่ยิบกว่าเด็กช่างกลตีคู่อริหลายเท่า   จนไม่น่ารอดจากถูกจับสึกไปได้  หรืออย่างน้อยก็ต้องถูกพระภิกษุด้วยกันบอยคอตเพราะเหลืออดเหลือทนกันเข้าบ้างละ  ถึงตรงนั้นท่านอาจจะสึกไปเองก็ได้ เพราะวัดก็ไม่เอา ชาวบ้านก็ไม่เลื่อมใส

ก็เลยคิดว่า เป็นไปได้ไหมที่ในหมวดส่วนที่เรียบเรียงขึ้นในระยะหลัง  คำว่าพระฉัพพัคคีย์ไม่ได้หมายถึงพระหัวโจกชุดเดิม   แต่หมายความรวมไปถึงพระที่ก่อปัญหาแบบหัวหมอ ทำนองเดียวกัน   เป็นเหตุให้ต้องบัญญัติพระวินัยขึ้นมากมายน่ะค่ะ

ขอขอบคุณท่านซายานวรัตนที่นำเรื่องหายากเช่นนี้มาเรียบเรียงเล่าสู่กันฟังค่ะ     ถ้าใครจะออกความเห็นเพิ่มก็เชิญนะคะ