เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: Wandee ที่ 30 พ.ย. 10, 14:24



กระทู้: มหาอำมาตย์โท พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ ( สรรเสริญ สุขยางค์​ )
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 30 พ.ย. 10, 14:24


       ได้เคยร่วมวงญาติมิตรคุยกันเรื่อง  นิราศหนองคาย และ หลวงพัฒน์พงษ์ภักดี ( ทิม  สุขยางค์) 

มีเพื่อนสมาชิกผู้หนึ่งเล่าว่าคุ้นเคยหรือนับถือ พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์มามาก  ไม่เคยรู้จักประวัติ

ของ หลวงพัฒน์พงษ์ภักดีเลย         ดิฉันก็ตั้งใจว่าจะนำประวัติของบุตรของหลวงพัฒน์พงษ์ภักดีมา

เล่าสักหนหนึ่ง  พอให้ได้ทราบความเจริญของสกุลวงษ์ของกวีเอกคนหนึ่งของประเทศเรา  มิใช่จะรู้จักกันอย่างผิวเผิน

พอจำชื่อได้เท่านั้น   ในฐานะนักอ่านหนังสือเก่าผู้มีความหวังว่าสักวันหนึ่งจะสามารถค้นหา "นิราศหนองคาย"

ฉบับเต็มที่มีเนื้อหามากกว่าฉบับที่ถูกตัดทอนและชำระกว่าหนึ่งในสาม

 

อ่านมาจากหนังสืออนุสรณ์ ในการพระราชทานเพลิงศพ  มหาอำมาตย์โท พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์
ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส  ๕​ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๕


กระทู้: มหาอำมาตย์โท พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ ( สรรเสริญ สุขยางค์​ )
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 พ.ย. 10, 14:56
ภาพนายทิม ภรรยา และบุตรทั้งสองคน

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3123.0;attach=7666;image)

 ;D


กระทู้: มหาอำมาตย์โท พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ ( สรรเสริญ สุขยางค์​ )
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 30 พ.ย. 10, 14:59
พระวรวงค์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤติยากร  ทรงเขียนและเรียบเรียงประวัติ


บิดา       หลวงพัฒน์พงษ์ภักดี (ทิม  สุขยางค์)            มารดา      นางเสงี่ยม

เกิดเมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม  พ.ศ. ๒๔๒๖

ในบริเวณบ้านเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง  เพ็ญกุล) ที่ถนนมหาราช  ริมลำน้ำเจ้าพระยา

ภายหลังเป็นวังพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม  ต่อมาเป็นสำนักงานกรมสหกรณ์ กระทรวงเกษตราธิการ

น้องชายคนเดียวคือ  พระสาโรชรัตนนิมมานก์( สาโรช  สุขยางค์)


เรียนหนังสือที่โรงเรียน "สุนันทาลัย" กับ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวัง

สอบไล่ได้เป็นที่ ๑  ได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงออกไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ

ออกเดินทางโดยเรือ "บ้วนเส็งหงวน" ในเดือนพฤษภาคม ๒๔๔๓


ได้เรียนชั้นมัธยมและเตรียมอุดมที่โรงเรียนเอานเดิล (Oundle) เป็นเวลา ๓ ปี  และเข้าศึกษาต่อที่  

Royal Engineering College Coopers Hill  ได้ประกาศนียบัตรในปี ๒๔๔๘

ในปี ๒๔๔๙ รับประกาศนียบัตรวิศวกรรมศาสตร์ ของ Royal Indian Engineering Coopers Hill อีกหนึ่งใบ


ในปี ๒๔๔๙ ข้ามไปสหรัฐอเมริกา เรียน วิศวกรรมศาสตร์ แผนกทดน้ำ ที่ University of California

เดินทางกลับประเทศไทยในเดือน ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๐  ผ่านทางประเทศญี่ปุ่น


กระทู้: มหาอำมาตย์โท พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ ( สรรเสริญ สุขยางค์​ )
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 30 พ.ย. 10, 15:09

ขอบคุณค่ะคุณเพ็ญ มหามิตร

น้องชายคือพระสาโรชรัตนนิมมานก์ ก็ได้รับพระราชทานทุนหลวงไปเรียนที่อังกฤษด้วย

แสดงว่าเชื้อสายของนายทิมมีสติปัญญาอันล้ำเลิศและมีความบากบั่นสุจริต



เท่าที่ดูประวัติการศึกษาของคุณสรรเสริญ  ท่านเตรียมมาเพื่อทำงานในกรมคลอง  และ

Royal Indian Engineering  ก็ฝึกหัดวิศวกรอังกฤษให้ปฎิบัติงานในต่างประเทศให้

มีประสิทธิภาพสูงสุด  คือปรับตัวให้ปฎิบัติงานได้จริง




กระทู้: มหาอำมาตย์โท พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ ( สรรเสริญ สุขยางค์​ )
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 30 พ.ย. 10, 15:17


คุณสรรเสริญได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุน ผดุงสาครศาสตร์  เมื่อ  สิงหาคม ๒๔๕๓

อีกสามปีได้เป็นหลวง  ราชทินนามเดิม     อีก ๑๔ เดือนได้เลื่อนเป็นพระ  ราชทินนามเดิม


อีก ๔ ปี  ได้เป็น พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์


กระทู้: มหาอำมาตย์โท พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ ( สรรเสริญ สุขยางค์​ )
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 30 พ.ย. 10, 15:24


ได้สมรสกับ นางสาวสินธ์  วสุวัต  บุตรีพระยาสุนทรพิมล(เขียว  วสุวัต) ที่บ้านหน้าวัดสัมพันธวงศ์ ในปี ๒๔๕๓

มีบุตรธิดา ๘ คน


๑.   นางสาคร  สุขยางค์

๒.   นางสมพร  อมาตยกุล

๓.   นายสมมาทย์

๔.   นางสมศิริ  วรมนตรี

๕.   นายสมลักษณ์

๖.   นายสมพงษ์

๗.  นายสมพัฒน์

๘.  นายสมผดุง



กระทู้: มหาอำมาตย์โท พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ ( สรรเสริญ สุขยางค์​ )
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 30 พ.ย. 10, 15:44



       ในระหว่างที่รับราชการอยู่ในกรมคลองนี้  ได้รับมอบหมายให้ออกไปกำกับการก่อสร้างประตูน้ำสัญจรปากคลองท่อที่ข้างวัดราชาธิวาส ฯ

ประตูน้ำสำหรับนาบริเวณวังพญาไทย      ประตูระบายน้ำที่บางนกแขวก   ประตูระบายน้ำที่บางยาง   กับ  ประตูระบายน้ำที่กระทุ่มแบน



       หลังจากนั้นได้ย้ายมาควบคุมการก่อสร้างคลองส่งน้ำประปาสำหรับกรุงเทพฯตอนบน  ตั้งสำนักงานอยู่ที่วัดสำแลจังหวัดปทุมธานี

ภายหลังย้ายมาอยู่ที่ท่อไซฟอนคลองรังสิต            การก่อสร้างมีการขุดคลองส่งน้ำ  ก่อสร้างประตูรับน้ำที่วัดสำแล   ประตูน้ำสัญจร

ที่คลองบางหลวง  เชียงราก    ท่อไซฟอนลอดใต้คลองรังสิต  ท่อที่คลองบ้านใหม่    และการปิดทำนบในคลองต่าง ๆ ที่ติดต่อกับคลอง

บางหลวงเชียงราก   ทั้งการสร้างทำนบในคลองบางหลวงเชียงรากเองสองทำนบ



กระทู้: มหาอำมาตย์โท พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ ( สรรเสริญ สุขยางค์​ )
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 พ.ย. 10, 15:46
เรียนหนังสือที่โรงเรียน "สุนันทาลัย" กับ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวัง
สอบไล่ได้เป็นที่ ๑  ได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงออกไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ

ออกเดินทางโดยเรือ "บ้วนเส็งหงวน" ในเดือนพฤษภาคม ๒๔๔๓

เทพศิรินทร์ก็นับเป็นศิษย์เก่าเหมือนกัน

สรรเสริญ สุขยางค์ (มหาอำมาตย์โท พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์) นักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ DSA รุ่น---- หมวด องคมนตรี เกิดปี พ.ศ. ๒๔๒๖ ถึงแก่อนิจกรรม ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๙๔ พระราชทานเพลิงศพ มหาอำมาตย์โท พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ (สรรเสริญ สุขยางค์) ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๔๙๕ เป็นบุตรของหลวงพัฒนพงษ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) นักแต่งกลอนชื่อดัง กับนางเสงี่ยม สุขยางค์ มีพี่น้องชื่อสาโรช สุขยางค์ การศึกษา เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔** เลขประจำตัวนักเรียน ท.ศ. ๔ นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงโรงเรียนเทพศิรินทร์ การทำงาน • อธิบดีกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ท่านที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๕๗ - ๒๔๗๐ • อดีตผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง ต้องพ้นตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี ๒๔๗๕ • สภากรรมการองคมนตรี ชุดที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๗ (๑ เมษายน ๒๔๗๔ - ๓๑ มีนาคม ๒๔๗๖) สิ้นสุดลงเมื่อคณะราษฎรได้มีประกาศยกเลิกพระราชบัญญัติองคมนตรี เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ • อดีตวุฒิสมาชิก • ผลงานและเกียรติประวัติ ม.ป.ท. : ม.ป.พ.

http://www.debsirinalumni.org/webboard_show_ans.php?id_quiz=17&id_topic=2

สวนกุหลาบและเทพศิรินทร์เคยเป็นโรงเรียนเดียวมาก่อนในช่วงหนึ่ง ชื่อว่า "สวนกุหลาบอังกฤษเทพศิรินทร์"
เป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่เข้าใจไม่ตรงกันของทั้งสองโรงเรียนเพราะทางฝั่งสวนกุหลาบฯก็เข้าใจว่า
ได้นำเงินที่จะสร้างตึกเรียนของเค้ามาสร้างตึกแม้นนฤมิตร เทพศิรินทร์ก็เข้าใจอย่างหนึ่ง

การที่มีประวัติศาสตร์ซ้อนทับกันในช่วงหนึ่ง ทำให้หลายๆเรื่องยังถกเถียงกันจนถึงทุกวันนี้
เพราะต่างฝ่ายต่างก็อ้างชื่อเพื่ออวดอ้างสรรพคุณของแต่ละฝ่าย ทั้งเรื่องของนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงคนแรก
นายพุ่ม สาคร (พุ่มสกี้) นายกรัฐมนตรี ทวี บุนยเกตุ, หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช
ดังที่พี่ๆได้เคยค้นคว่าไว้ครับ

_____________________________________________________________________

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/07/K5595620/K5595620.html


คนดังใคร ๆ ก็ต้องการตัว

 ;D


กระทู้: มหาอำมาตย์โท พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ ( สรรเสริญ สุขยางค์​ )
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 30 พ.ย. 10, 21:51
พระสาโรชรัตนนิมานก์ (สาโรช ร. สุขยางค์)  เป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์  ประเทศอังกฤษ  สำเร็จเป็นบัณฑิตทางสถาปัตยกรรมแล้วกลับมารับราชการที่กระทรวงธรรมการ
ผลงานสำคัญของคุณพระสาโรชฯ มีอาทิ ตึกวชิรมงกุฎ (ตึกขาว)  ตึกพยาบาลและหอนาฬิกา วชิราวุธวิทยาลัย  ตึกจักรพงษ์และตึกคณะวิทยาศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นับว่าพี่น้องสกุลสุขยางค์ทั้ง ๒ ท่านนี้เป็นผู้เรียนเก่งมาก


กระทู้: มหาอำมาตย์โท พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ ( สรรเสริญ สุขยางค์​ )
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 ธ.ค. 10, 00:13

ขอบพระคุณคุณวีมีค่ะ


คุณเพ็ญที่รัก     หมู่นี้ดิฉันมีหนังสืออนุสรณ์อ่านหลายลังเลย  มีคนให้ยืมมาทั้งนั้น  และเจ้าของก็ตามมาเก็บ

กลับไปเองด้วยล่ะ   เจ้าสำนักทั้งหลายก็เฉือดเฉือนดิฉันว่า นิราศหนองคาย ฉบับแรกน่ะได้เห็นหรือยัง

ยังจ้ะ  แต่ติดต่อสำนักพิมพ์ไว้แล้วสองสามแห่งเพื่อฟลุก   ดิฉันแน่วแน่ว่า นิราศหนองคายฉบับแรกยังมีอยู่แน่นอน

เพราะคนที่ตามเก็บตามยึดหนังสือคงไม่ซุ่มซ่ามบุกค้นทำเนียบท่านแม่ทัพแน่   เลยอ่านฉบับของจิตรไปก่อนพอคลาย

เหงา   ทั้งนี้และทั้งนั้นความฝันอันสวยงามย่อมทำให้โลกหมุน    หนังสือที่หายไปจริง ๆ ก็ถูกซ่อนไว้ในตู้หนังสือในบ้าน

ใครสักคน   

       พระยาสารศาสตร์เป็นผู้คงแก่เรียนทีเดียวเพราะท่านเขียนเรื่องการจับช้างได้กว้างขวางและมีรายละเอียดที่ไม่เคยอ่านมาก่อน

หนังสือเรื่องช้างดิฉันขาดก็แต่ฉบับหลวงที่มีรูปการรำพัดชาเท่านั้นเพราะราคาแพงจัด     คุณเพ็ญก็ทราบดีว่าท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติแถวนี้  ที่เชี่ยวชาญเรื่องช้างมี     

เจ้าคุณท่านไปพูดที่สยามสมาคมหลายครั้ง     ดูผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาจะนับถือท่านมากทีเดียว


กระทู้: มหาอำมาตย์โท พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ ( สรรเสริญ สุขยางค์​ )
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 ธ.ค. 10, 07:23

     ใน พ.ศ. ๒๔๕๕  ทางสุพรรณฝนแล้ง  ได้เป็นแม่กองออกไปทำการปิดทำนบที่ปลายคลองบางยี่หน

คลองบางปลาม้าและคลองสาลี่พื่อกักน้ำไว้หล่อเลี้ยงต้นข้าวในทุ่งสุพรรณบุรี


เมื่อตั้งกรมทางและกระทรวงคมนาคม   ได้รับตำแหน่งหัวหน้ากองทางบก  มีหน้าที่ควบคุมและอำนวยการ

ก่อสร้างและบำรุงรักษาสิ่งก่อสร้างอาคารของกรมทางทั้งหมดทั้งในทางน้ำและทางบก


หลังจากตั้งกรมทดน้ำหรือกรมชลประทานขึ้นในกระทรวงเกษตราธิการ  แผนกน้ำของกรมทางก็ถูกโอนไปให้กรมทดน้ำ

ท่านเจ้าคุณได้เลื่อนเป็นเจ้ากรม กรมทางใน พ.ศ. ๒๔๕๘


       หลังจากที่ไทยได้ประกาศสงครามกับประเทศเยอรมันและอ๊อสเตรเลีย   กรมทางถูกย้ายไปอยู่ในกรมรถไฟหลวง

เพื่อสดวกแก่การที่กรมรถไฟหลวงและกรมทางจะได้มีโอกาสใช้วิศวกรที่มีอยู่ร่วมกัน

ได้เลื่อนเป็นผู้บัญชาการรถไฟหลวงในปี ๒๔๗๑

       ในระหว่าง มกราคม ๒๔๗๑ ถึง ตุลาคม ๒๔๗๒ ระหว่างที่กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินเสนาบดีกระทรวง

พาณิชย์และคมนาคมเสด็จไปรักษาพระองค์และพักผ่อนยังยุโรป   ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เป็นผู้แทนเสนาบดี

มีอำนาจเต็มเข้านั่งในที่ประชุมเสนาบดีเช่นตัวเสนาบดีทุกประการ

       ในระหว่างที่รับบำนาญ  ได้ช่วยคณะหนังสือพิมพ์ประมวญวัน  แปลข่าวต่างประเทศ

เป็นสมาชิกกิติมศักดิ์แห่งสมาคมวิศวกรรมสถาน   สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยตั้งแต่แรกตั้ง  และสมาชิก

สยามสมาคม


        พระยาสารศาสตร์ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๖๘ ปี  ๕ เดือน


กระทู้: มหาอำมาตย์โท พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ ( สรรเสริญ สุขยางค์​ )
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 ธ.ค. 10, 08:20

พระยาประกิตกลศาสตร์  ผู้เป็นศิษย์  มิตร และผู้ใต้บังคับบัญชา    เล่าว่า


       "ท่านเจ้าคุณเป็นผู้ใหญ่อุดมไปด้วยความโอบอ้อมอารี เมตตากรุณาต่อผู้น้อยทั้งหลาย

ท่านวางตนภาคภูมิถูกแบบแผนอยู่เสมอ    ผู้ที่ไม่เคยชินย่อมประหม่าเกรงขามหรือเข้าใจผิดว่าท่านเป็นคนหยิ่งยะโส

แต่ความเป็นจริงอันท่าทางเป็นผู้ใหญ่ของท่านนั้นเองเป็นเกราะที่ท่านสวมใส่ในเวลาราชการเป็นประจำ 

พูดจาก็ระมัดระวัง  ไตร่ตรองเสียจนรอบคอบก่อนเป็นพิเศษ  เพื่อมิให้ใครจับผิดท่านได้


       ท่านมีนิสสัยสุขุม  ซื่อตรง  ไม่มีลับลมคมใน  ชอบพูดอะไรออกมาตรง ๆ  ถ้าหากว่าพูดอะไรออกมาไม่ได้  ท่านก็นิ่งเสียเท่านั้น


       ในปี พ.ศ.​๒๔๖๐  กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินทรงเป็นผู้บัญชาการกรมรถไฟ  โดยรวมกรมรถไฟสายเหนือสายใต้และกรมทางเป็นองค์การเดียวกัน

และรวบรวมนายช่างฝรั่งและไทยไว้พร้อมที่จะเข้าแทนนายช่างเยอรมัน  อันต้องพ้นประจำการไปเพราะสงคราม       

ตอนนี้เป็นโอกาสอันดีของนายช่างจะรู้จักกันดีขึ้น  แต่โอกาสเสียดสีกันก็มีมากขึ้นด้วย

พวกช่างหนุ่ม ๆ ตอนนั้นเกิดความลำบากใจเพราะชินกับการทำงานใต้บังคับบัญชานายช่างฝรั่ง       บางคนก็ชินงาน

มากับชาวเยอรมันในกรมรถไฟสายเหนือ         บางคนก็ชินงานมากับชาวอังกฤษในรถไฟสายใต้      ต่างใช้ภาษา

คนละอย่าง  ขนบธรรมเนียมและวิธีงานก็ต่างกันด้วย          เสด็จในกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครราชโยธินเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่  มีท่าทางว่องไว

รับสั่งงานเด็ดขาดผิดตัวอย่างคนไทยที่เราเคยเห็นมา  ก็ออกจะมีความมึนงงไปตามกัน  ทั้งนี้  เพราะเสด็จในกรมทรงเป็นผู้มีความขยันขันแข็ง

อย่างวิเศษ  เกินกำลังวังชาของคนไทยทั้งหลาย  และเกินความขยันขันแข็งของฝรั่งในกรมรถไฟ


       ท่านเจ้าคุณมีท่าทางและนิสสัยผิดกับเสด็จในกรม ฯ มาก   ท่านอารมณ์เย็นกิริยาช้า ๆ  และค่อยพูดจา   

ซึ่งพวกนายช่างหนุ่ม ๆ เอาอย่างยากสักหน่อย   ต่างเห็นชัดแจ้งว่าเสด็จในกรม ฯ ไม่โปรดคนเซื่อง ๆ ด้วย

ท่านเจ้าคุณชำนาญงาน  ย่อมทำได้ผลเร็วกว่าพวกเราที่มีท่าทางว่องไวแต่อ่อนหัด


เสด็จในกรมฯ มาเริ่มรู้จักความภักดีของนายช่างไทยเมื่อสมัยน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. ๒๔๖๐  ทางรถไฟขาดตอนสายกรุงเทพ - แก่งคอย

และบ้านภาชีปากน้ำโพ       พวกฝรั่งต่างทำเฉยคอยดูความคิดอ่านของพระองค์ท่าน  ไม่มีใครอาสาเจ้าจนตัวตาย 

เสด็จในกรมเลิกง้อฝรั่งแล้ว  ทรงบัญชางานเองโดยตรง    นายช่างถูกส่งออกไปทำงานสนามโดยแบ่งเขตต์กันคนละตอน

เจ้าคุณสารศาตร์ ฯ และหม่อมเจ้าฉลาดลบเลอสรรค์ซึ่งชำนาฯการช่างน้ำมาก่อนแล้ว  ต่างคล่องแคล่วในการน้ำท่วมดุจจรเข้


กิจการซ่อมแซมได้สำเร็จไปอย่างรวดเร็ว  แสดงให้เห็นว่างานสนามบางอย่าง  เราสามารถกว่าพวกทำขนมเบื้องด้วยปากมาก

ท่านเจ้าคุณสารศาสตร์ทำธุระตอนของท่านเสร็จก่อนเพื่อน

เสด็จในกรมทรงไว้เนื้อเชื่อใจนายช่างไทยมากขึ้นเป็นลำดับ   โดยเฉพาะตัวเจ้าคุณผู้มีความคิดอ่านสุขุมถูกต้อง"



กระทู้: มหาอำมาตย์โท พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ ( สรรเสริญ สุขยางค์​ )
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 ธ.ค. 10, 08:36



เจ้าคุณประกิต ฯ เล่าเรื่องสนุกกินใจ  เพราะตัวท่านก็เรียนโรงเรียนปับลิคสกูลเดียวกันมา

เคยท้าแข่งขี่รถจักรยานยนตร์เมื่อเห็นท่านเจ้ากรมกรมทางกำลังหัดขี่รถที่ซื้อมาให้นายช่างหนุ่ม ๆ ใช้



       งานของกรมทางสมัยโน้นไม่มีเงินซื้อเครื่องจักรเครื่องมือทุ่นแรงงานเลย  นายช่างต้องคิดทำเครื่องมือเอาเอง

เป็นส่วนใหญ่       ท่านเจ้าคุณเป็นช่างคิดเครื่องมือเครื่องใช้แบบชั่วคราวมากอย่าง  เพราะท่านศึกษามาจาก

Royal Indian Engineering College   ซึ่งสอนนายช่างไปประจำงานในประเทศอินเดียให้รู้วิธีทำงานสนาม

แม้ปราศจากเครื่องจักรเครื่องมือ


กระทู้: มหาอำมาตย์โท พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ ( สรรเสริญ สุขยางค์​ )
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 ธ.ค. 10, 12:08

       สมัยมีนายช่างฝรั่งเป็นส่วนใหญ่และนายช่างไทยเป็นส่วนน้อย       ตำแหน่งเงินเดือนนายช่างหรือวิศวกรต้องเป็นฝรั่ง

หรือไทยที่ได้เคยศึกษามาจากต่างประเทศ     คนไทยที่เรียนวิชาช่างในบางกอก  จะขึ้นสูงสุดเพียงชั้นนายตรวจเอก

แม้นจะใช้ทำงานเหมือนนายช่างฝรั่ง หรือนักเรียนนอก  ก็ได้เงินเดือนไม่เกินนายตรวจเอก      เจ้าคุณท่านได้พยายามยกฐานะพวกช่างบางกอก

หลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ


       ท่านเจ้าพระยาวงศา ฯ เสนาบดีกระทรวงคมนาคมเคยเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าคุณสารศาตร์เป็นเวลานาน  ตลอดรัชกาลของ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว         แม้ตอนนั้นเสนาบดีกระทรวงคมนาคมกับผู้บัญชาการรถไฟจะไม่สู้กินเกลียวกันดีนัก

ท่านเจ้าคุณก็แสดงความจงรักภักดีต่อเจ้าพระยาวงศาฯ เสมอ         ตอนแรกเสด็จในกรมพระกำแพงเพ็ชรออกจะไม่ทรงโปรด

ในความซื่อสัตย์ของเจ้าคุณต่อนายและเพื่อนเก่า   แต่ในที่สุดก็ทรงเห็นชัดในลักษณะอันบริสุทธิ์เยี่ยมของท่านเจ้าคุณ     ความระแวง

ของพระองค์ท่านได้กลายเป็นความนิยมนับถือเจ้าคุณตลอดมา


       พระยาสารศาสตร์ ฯ เป็นคนมีระเบียบเรียบร้อยทั้งที่สำนักงาน และที่บ้าน  ชอบเขียนหมายเหตุประจำวันยาว ๆ ทุกวันตลอดชีวิตตั้งแต่หนุ่ม

เป็นนักอ่านหนังสืออย่างไม่รู้เบื่อ  เป็นครูแต่งหนังสือราชการอย่างดีเยี่ยมทั้งภาษาไทยและอังกฤษ         เคยอยากแต่งเรื่องประวัติศาสตร์เป็นบางตอน

แต่ยังเกรงว่าจะไปกระทบกระเทือนใจคนอื่น  เลยมิได้แสดงฝีมืออันหลักแหลม


กระทู้: มหาอำมาตย์โท พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ ( สรรเสริญ สุขยางค์​ )
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 04 ธ.ค. 10, 10:59

การคล้องช้าง

ปาฐกถาเป็นภาษาอังกฤษที่สยามสมาคมเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม  ค.ศ. ๑๙๔๔



(อ่านพบว่ามีรายละเอียดมากกว่าที่เคยเขียนและลอกต่อกันมา/วันดี)


ในประเทศไทย  มีวิธีจับช้างป่าอยู่ ๓ วิธี

วังช้าง
โพนช้าง
จับพะเนียด

ท่านเจ้าคุณได้เห็นพิธีหลวง  คือการจับช้างด้วยพะเนียด เป็นพิธีใหญ่โตและเป็นการแสดงที่น่าดู ๒ - ๓ ครั้ง
การจับพะเนียดหรือพิธีหลวงมีเป็นครั้งสุดท้ายในปี ค.ศ. ๑๙๐๖ เมื่อดุคแห่งตุริน  เข้ามาเยี่ยมประเทศไทย

ช้างต่อมี ๒ ชนิดเรียกว่า "ช้างค้ำ" และ "ช้างเชือก"

ช้างค้ำมีหน้าที่คอยกันและปะทะช้างป่าให้ออกไป     ช้างเชือกใช้ในการคล้องตัวช้างป่าตัวที่ต้องการจับ

ท่านเจ้าคุณเล่าว่าเมื่อคล้องช้างในพะเนียดได้แล้ว  จะเอาช้างต่อ ๒ เชือกเข้าไปขนาบช้างที่ถูกจับ  ควาญจะพยายามคล้องคออีกทีหนึ่งหลังจากที่

คล้องเชือกขาหลังได้แล้ว   บางทีช้างที่ถูกคล้องจะไม่ยอมไปโดยนั่งลง   ช้างต่อ ๒ เชือกก็จะพยายามลากตัวไป

ท่านเจ้าคุณเล่าเรื่องในนิทานโบราณคดีประกอบ

ท่านยังเล่าถึงวิธีวังช้าง  และบันทึกของ ฟรานซิส เอช ไกล์ส(จดหมายเหตุสยามสมาคม เล่ม ๒๕  ตอน ๒)  กฎเกณฑ์และข้อที่ภรรยาของสามีที่เป็นพรานช้าง

ใช้ปฎิบัติในประเทศพม่าและแคว้นฉาน



คลองลัด         ปาฐกถาเป็นภาษาอังกฤษที่สยามสมาคมเมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๓

กล่าวถึงคลองลัดของแม่น้ำเจ้าพระยา

ปาฐกถาเรื่องผี  Some Thai Ghosts & Ghost-Lore    นั้นนำลงโดยไม่มีการแปล


ท่านได้แปล Sammuel White เป็นเล่มออกจำหน่าย


เขียนคอลัมน์ "เก็บเล็กประสมน้อย" ร่วมกับ น.ม.ส. ในหนังสือพิมพ์ประมวลวัน ใน หน้า ๕

และแปลข่าวต่างประเทศลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์นี้อีกด้วย



ในฐานะนักอ่าน  ภูมิใจที่ได้มีเรื่องราวของ พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์(สรรเสริญ  สุขยางค์) มาเล่าในครั้งนี้

เพื่อน ๆ ของดิฉันก็หยิบ นิราศหนองคาย  มาอ่านกันอีกรอบ

รอคอยเวลาที่นักอ่านหนังสือเก่าจะล่าฉบับพิมพ์ครั้งแรกกลับมา


กระทู้: มหาอำมาตย์โท พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ ( สรรเสริญ สุขยางค์​ )
เริ่มกระทู้โดย: m.sukhyanga ที่ 07 ก.ค. 11, 14:57
ขอบคุณมากนะค่ะ ที่นำเรื่องของคุณชวดมา post เอาไว้ บางอย่างก็ได้ฟังมาจากคุณย่าบ้างแต่ก็ไม่ละเอียดนักค่ะ ลูกของพระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ ที่มีทั้งหมด 8 คน ตอนนี้เหลือคนเดียวแต่สุขภาพแข่งแรงมากค่ะ คุณปู่อู๊ด นายสมพัฒน์ สุขยางค์ ขอบพระคุณอีกครั้งนะค่ะ เมลานี สุขางค์


กระทู้: มหาอำมาตย์โท พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ ( สรรเสริญ สุขยางค์​ )
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ก.ค. 11, 15:08
ลูกของพระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ ที่มีทั้งหมด 8 คน ตอนนี้เหลือคนเดียวแต่สุขภาพแข่งแรงมากค่ะ คุณปู่อู๊ด นายสมพัฒน์ สุขยางค์   ขอบพระคุณอีกครั้งนะค่ะ เมลานี สุขางค์

ภาพครอบครัวนายทิม และ เนื้อหาตอนต้นของนิราศหนองคาย อยู่ในหนังสือนิราศหนองคาย ของ หลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) ฉบับกรมศิลปากร พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายสมพัฒน์ สุขยางค์ (หลานปู่ของผู้แต่ง)   ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๔ เมษายน ๒๕๑๕

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3123.0;attach=7668;image)

 ???  ???


กระทู้: มหาอำมาตย์โท พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ ( สรรเสริญ สุขยางค์​ )
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 07 ก.ค. 11, 15:22


       ขอบคุณคุณ เมลานี  ที่แวะมาอ่าน   

ขอเรียนว่า  นักอ่านเป็นจำนวนมากยังอ่านนิราศหนองคายอยู่   และยังสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นกันอยู่เสมอ

ความหวังที่จะได้เห็นฉบับเต็มพิมพ์ครั้งแรก  ซึ่งมีเนื้อหาอีกมากกว่า ๓๐​%  ยังเรืองรองแจ่มใส

เพราะท่านผู้ใหญ่ได้ออกปากแล้ว   เวลานี้ท่านป่วยมาก  อ่านหนังสือไม่ได้

เสียงเยาะเย้ยจากคนที่ไม่มีวันจะได้เห็นนั้น  จะสำคัญได้อย่างไร

ถ้าไม่พยายาม  ไม่ค้นคว้า  ก็จงรู้แต่ ............. ที่บันทึกไว้เถิด



กระทู้: มหาอำมาตย์โท พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ ( สรรเสริญ สุขยางค์​ )
เริ่มกระทู้โดย: vimarn ที่ 12 ก.ค. 11, 15:01
ตามมาอ่านนะคะ ขอบคุณที่นำเรื่องของคุณชวด หลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์)และคุณปู่ พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ (สรรเสริญ  สุขยางค์) มาลง ไว้ บุตรของท่านที่เหลือคือคุณสมลักษณ์ สุขยางค์ (สมพัฒน์ เป็นน้องชาย เสียชีวิตแล้ว) คุณพ่อจะ 90 แล้วค่ะ   ลองถามหาหนังสือเก่าๆ เหมือนกัน พ่อบอกว่าน่าจะไฟไหม้สมัยสงครามโลกมีระเบิดลงที่บ้านหัวลำโพง 
ขอบคุณอีกครั้ง ทำให้ได้ทราบเรื่องที่ไม่เคยทราบ จะติดตามต่อไปนะคะ   วิมาน สุขยางค์


กระทู้: มหาอำมาตย์โท พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ ( สรรเสริญ สุขยางค์​ )
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ก.ค. 11, 15:39

ขอบคุณคุณวิมานเป็นที่ยิ่ง   ปลื้มใจมากที่ทายาทพอใจ

เคยมีท่านผู้ใหญ่ที่เป็นลูกน้องเก่าของคุณปู่ท่าน  พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์  เขียนมาบอกว่าได้อ่าน

และท่านตื่นเต้นยินดีที่เพิ่งทราบว่า  ท่านเจ้าคุณ เป็นบุตร คุณหลวงพัฒนพงศ์ภักดี


       กลุ่มสหายของดิฉันเป็นนักอ่านนักสะสมหนังสือเก่าค่ะ     มีทายาทของนักประพันธ์อาวุโสมาตามหาผลงานทั้งหมดของบรรพบุรุษ   

พวกเราก็จ้อกแจ้กออกตามเก็บให้     รายการหนังสือบางทีมีหลายร้อยเล่มนะคะ      ไปเห็นที่ไหนก็ส่งข่าวกัน

ถ้ามีการพิมพ์ผลงานใหม่   พวกเราก็ตามไปจนผลงานครั้งแรกที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวัน    แก้ไขข้อมูลที่ยังไม่สมบูรณ์บ้าง

นำหนังสือที่พิมพ์หลายครั้งมาเปรียบเทียบกัน      เสนอตัวทำ "กัตตะลก" ให้นักสะสมมือหนึ่งของเมืองไทยบ้าง

ทั้งนี้เป็นการทำด้วยใจรัก  มุ่งมั่นหาหนังสือเก่าอ่านอย่างเดียวค่ะ


ดีใจที่ทำตัวมีประโยชน์ได้บ้าง