เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: NAVARAT.C ที่ 20 มิ.ย. 10, 16:41



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 มิ.ย. 10, 16:41
ในโอกาสที่คุณ proudtobethai  ได้เขียนข้อความเพิ่มในกระทู้ชีวิตและงานของม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน ทำให้ผมมีโอกาสย้อนกลับไปอ่านกระทู้ดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง และได้เห็นข้อความนี้จึงนึกขึ้นมาได้ว่า ผมยังมีอะไรติดค้างในใจไว้

อ้างถึง
ดิฉันนึกถึงบุคคลสำคัญทางการเมืองที่ต้องลี้ภัยจากภัยการเมือง พ.ศ. ๒๘๘๒  ไปถึงแก่กรรมอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน
คือพันเอก พระยาทรงสุรเดช
ชะตากรรมของท่านเป็นโศกนาฏกรรมทางการเมือง  คล้ายกับชีวิตของม.ร.ว.นิมิตรมงคล    น่าเสียดายที่มีผู้รวบรวมเรื่องราวไว้น้อยมาก
ที่จำได้ก็มีบุตรชายของท่าน คุณทศ พันธุมเสน เขียนหรือให้สัมภาษณ์ไว้   แต่ดิฉันไม่มีหนังสือเล่มนี้

ผมมีหนังสือเล่มที่ว่าอยู่ เขียนโดยท.ส.ร่วมเป็นร่วมตายของท่าน อดีตร้อยเอกสำรวจ กาญจนสิทธิ์ จะสกัดเอาที่เป็นเนื้อๆมาปรุงแต่งกับข้อมูลที่ได้จากหนังสือที่ท่านอื่นๆเขียนไว้ มาใส่จานเอาผักชีโรยหน้า นำเสริพเสนอสนองท่านที่สนใจในเรื่องที่ท่านอาจารย์เทาชมพูเกริ่นนำไว้
เชิญติดตามได้ครับ อ้อ ระหว่างที่กระทู้เดินไปเรื่อยๆ ท่านใดมีข้อมูลในเรื่องนั้ ประสงค์จะเอามาแลกเปลี่ยนเป็นความรู้ระหว่างกันและกัน ก็ขอเชิญได้ในทุกจังหวะเช่นเคยนะครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 มิ.ย. 10, 16:50
พระยาทรงฯมีชื่อเดิมคือเทพ พันธุมเสน เป็นบุตรของร้อยโทไท้ นายทหารกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกแล้ว ได้ทุนไปศึกษาต่อ ที่ประเทศเยอรมนี เข้าโรงเรียนนายร้อย เมื่อสอบผ่านหลักสูตร 2 ปีแล้ว นักเรียนจะมียศเป็น ฟาฮ์นริช (Fahnrich ตรงกับระดับชั้นนายสิบ) แต่จัดว่าเป็น "นักเรียนทำการนายร้อย" มีสิทธิพิเศษแตกต่างจากนายสิบชั้นประทวนทั่วไป ท่านเข้าเรียนต่อวิชาทหารช่าง ทั้งฝึกทั้งเรียนหนักอีก2ปี จึงได้เข้าสอบเลื่อนขึ้นเป็น "เดเก้น-ฟาฮ์นริช" (degen แปลว่า กระบี่) คือมีสิทธิใช้กระบี่และเครื่องแบบนายทหารสัญญาบัตร เว้นแต่ยังคงใช้อินทรธนูนายสิบ ชั้นยศนี้คงจะเทียบเท่า "ว่าที่ร้อยตรี" รอจนกว่า จักรพรรดิ์ไกเซอร์ วิลเฮล์มองค์จอมทัพจะโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรยศจากพระหัตถ์ในทุกๆวันเฉลิมพระชนม์พรรษา 27 มกราคม พร้อมกันนั้นจะได้รับพระราชทานพระฉายาลักษณ์ ขนาด 10 นิ้ว x 12 นิ้วที่ทรงลงพระปรมาภิไธยเองทุกพระรูป  จึงจะเปลี่ยนใช้อินทรธนูได้เป็น "นายร้อยตรี" (Oberleutnant) อย่างสมบูรณ์

รูปหมู่นักเรียนนายร้อยเยอรมันรุ่นก่อนสงครามโลกครั้งที่1ข้างล่างนี้ ผมหามาประดับกระทู้ให้ได้อารมณ์เฉยๆ ไม่ต้องไปส่องหานะครับว่าขเด็จเทพ(ศัพท์ของท่านสรศัลย์ แพ่งสภา)เป็นคนไหน ขอบอกไว้ก่อน กลัวท่านจะตาเหล่เสียก่อนที่จะอ่านกระทู้จบ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 มิ.ย. 10, 16:52
นายร้อยตรีเทพ พันธุมเสนได้เข้าประจำการในกองทัพเยอรมันที่กองทหารในเมืองมักเคเบอร์ก ก่อนที่จะเดินทางกลับสยามเมื่อสงครามโลกครั้งแรกระเบิดขึ้นในปี พ.ศ. 2458 และเข้ารายงานตัวเพื่อรับราชการในกองทัพบกต่อจนได้รับพระราชทานยศเป็น ร้อยเอกหลวงรณรงค์สงครามเมื่อพ.ศ. 2461 และย้ายไปเป็นผู้บังคับการทหารช่างรถไฟ กองพันที่ 2 กรมทหารบกที่ 3 มีผลงานสำคัญคือ
 
ก่อสร้างทางรถไฟสายเหนือ จากถ้ำขุนตานถึงสถานีรถไฟเชียงใหม่
ก่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออก จากแปดริ้วถึงสถานีรถไฟอรัญประเทศ
ก่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงนครราชสีมา
 
สุดท้ายก่อนที่จะมีบทบาทยิ่งใหญ่  ได้รับพระราชทานยศนายพันเอก และบรรดาศักดิ์เป็นพระยาทรงสุรเดช ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหาร โรงเรียนนายร้อยทหารบก


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 มิ.ย. 10, 16:58
เป็นที่รู้กันว่า พวกนักเรียนนอกมักจะมีแนวความคิดที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศมาเป็นประชาธิปไตย พระยาทรงนั้นท่านเห็นว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชที่สยามใช้อยู่ขณะนั้น เจ้านายน้อยใหญ่หลายองค์ได้แสดงความประพฤติไม่เหมาะสมเป็นที่ดูแคลนของคนทั่วไป แต่ก็ยังดำรงยศฐาบรรดาศักดิ์บังคับให้ราษฎรกราบกรานอยู่  ที่แย่คือการให้อภิสิทธิแก่เจ้านายเท่านั้นในการเข้าดำรงตำแหน่งสูงๆทั้งด้านการทหารการปกครอง และงานราชการทั่วไปโดยไม่คำนึงถึงความสามารถ สามัญชนที่ถึงแม้จะมีความเหมาะสมกว่า ก็ไม่มีโอกาสได้ทำงานให้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองได้เต็มที่ สมกับความรู้ที่ได้ไปเล่าเรียนมา ในบันทึกของพระยาทรงสุรเดชเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า " พวกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แทบทั้งหมด มุ่งแต่เพียงทำตัวให้โปรดปรานไว้เนื้อเชื่อใจจากพระเจ้าแผ่นดินไม่ว่าด้วยวิธีใด ตลอดทั้งวิธีที่ต้องสละเกียรติยศด้วย..." 

วิธีหลังนี้ พระยาทรงท่านได้พิสูจน์ตนเองจนถึงที่สุดแห่งชีวิตว่า คนอย่างท่านทำเช่นนั้นไม่ได้


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 มิ.ย. 10, 17:03
เมื่อมีความรู้สึกนึกคิดเช่นนี้อยู่ เพื่อนรุ่นน้องที่ห่างกันมากแต่สนิทสนมตั้งแต่เด็ก คือ ร้อยโทประยูร ภมรมนตรีจึงสามารถเชื่อมโยงให้ไปร่วมกันคิดอ่านกับกลุ่มนักเรียนนอกฝรั่งเศส ซึ่งคนสำคัญในกลุ่มนั้นคือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม(ปรีดี พนมยงค์) และนายพันตรีหลวงพิบูลสงคราม(แปลก ขิตะสังคะ) ตกลงว่าจะร่วมมือกันกระทำการเปลี่ยนแปลงอำนาจการปกครองของสยามให้เป็นประชาธิปไตยให้ได้โดยเร็ว ไม่รอให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯพระราชทานรัฐธรรมนูญลงมาเองตามที่ทรงแสดงพระราชประสงค์ไว้ เพราะไม่ทราบว่าวันนั้นจะเป็นเมื่อไรและเนื้อหาจะเป็นอย่างไร


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 มิ.ย. 10, 17:20
พระยาทรงป็นนักเรียนนายร้อยเยอรมันรุ่นเดียวกับพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา(พจน์ พหลโยธิน) และเป็นรุ่นพี่พันโท พระประศาสตร์พิทยายุทธ์(วัน ชูถิ่น) จึงชักชวนนายทหารทั้งสองมาเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์  หลังจากนั้นได้ดึงพันเอก พระยาฤทธิ์อัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ในพระนครอันสำคัญมาร่วมด้วย ต่อมาทั้งสี่คนนี้ได้รับฉายาว่า “สี่ทหารเสือ” แห่งคณะราษฎร ซึ่งมีพระยาพหลผู้อาวุโสที่สุดได้รับการเลือกจากผู้ร่วมก่อการทุกสายให้เป็นหัวหน้าคณะ ส่วนพระยาทรงเป็นหัวหน้าเสนาธิการผู้วางแผนการยึดอำนาจในครั้งนี้


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 มิ.ย. 10, 17:30
ท่านสรศัลย์ แพ่งสภาผู้ล่วงลับได้เขียนเรื่องตอนนี้ไว้ในหนังสือ “นักเรียนนายร้อยไทยในเยอรมัน ยุคไกเซอร์” ทำให้คนรุ่นหลังสามารถแกะร่องรอยที่มาที่ไปในอดีตได้ว่า พระยาทรง ท่านได้เพาะศัตรูไว้กับผู้ใด

พ.อ. พระยาทรงสุรเดชที่ยอมรับกันว่าปราดเปรื่องเฉียบคมเป็นมันสมองของคณะราษฎร เป็นบุคคลที่หัวหน้าสายทหารกลุ่มหนุ่มไม่ใคร่ชอบ แต่ยังแซงขึ้นมาได้ติดด้วยอาวุโสและบารมี พระยาทรงฯถือตัวอาวุโสว่าเป็นครูบาอาจารย์ ชอบใช้วิธีอธิบายเชิงสอน และออกจะพูดแรงตรงไปตรงมาสั้นๆ อย่างเรื่องแผนและวิธีปฏิบัติสำหรับวันที่ 24 มิถุนายน พระยาทรงฯ ถามในที่ประชุมว่า ถ้าราษฎรรวมตัวเข้าต่อสู้ขัดขวางด้วยความจงรักภักดีในราชบัลลังก์ คณะราษฎรจะทำอย่างไร นายทหารหนุ่มเหล่าปืนใหญ่ท่านหนึ่งตอบว่า "ยิง" ตามแบบคนหนุ่มไฟแรงใจร้อน
พระยาทรงสุรเดชสวนทันควัน “ยังงี้บรรลัยหมด กำลังเรามีเท่าไหร่ กำลังราษฎรกับทหารหน่วยอื่นเท่าไหร่ ….ทำไมไม่เตรียมวิธีการประนีประนอมปลอบให้เข้าใจจุดมุ่งหมายของคณะราษฎร”

พระยาทรงฯ มีจุดอ่อนจุดแข็งอยู่ที่เคยเป็นครูบาอาจารย์มานาน ก็เลยเป็นครูอยู่ตลอดเวลา พูดจาโผงผางครูสอนศิษย์พูดจาทุบแตกและทุบโต๊ะ วันดีคืนดีใครตอบไม่ถูกเรื่องอาจจะได้รับคำชมว่า "โง่" ก่อนที่ท่านจะอธิบายถูกผิด เป็นไปได้เป็นไปไม่ได้ในปัญหายุทธการ ใครที่โดนตอกหน้าแตกหน้าชามาก็สุมความแค้นไว้เงียบๆ
นี่คงเป็นเหตุหนึ่งที่คณะราษฎรรุ่นหนุ่มถือเป็นเรื่องขื่นๆอยู่ ข้ามาจากฝรั่งเศสหนึ่งในตองอูเหมือนกัน อำนาจยศศักดิ์มันไม่เข้าใครออกใคร หากมักใหญ่ใฝ่สูงจะเป็นใหญ่ในแผ่นดินก็ต้องกำจัด"สี่เสือ" หัวหน้าคณะราษฎรชั้นอาวุโสลงเสียก่อน และก็ "พันเอก พระยาทรงสุรเดช" นี่แหละ เป็นบุคคลแรกที่ต้องกำจัดออกไปโดยเร็ว เพราะฉลาดเกินไป ตรงเกินไป ซื่อเกินไป รู้ทันเกินไป ผู้ใต้บังคับบัญชาลูกศิษย์ลูกหารักใคร่เกินไป พันเอกพระยาทรงสุรเดช ไม่รู้ตัวเลยว่ามีศัตรูในพวกเดียวกัน ที่จ้องจะเชือด



ถึงท่านจะไม่ระบุชื่อ แต่คนที่สนใจประวัติศาสตร์ช่วงนี้ก็ทราบได้โดยไม่ยากว่านายทหารหนุ่มดังกล่าวคือนายพันตรี หลวงพิบูลสงคราม


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 มิ.ย. 10, 17:39
ในการวางแผนยึดอำนาจ พระยาทรงแสดงความเป็นทหารอัจฉริยะอย่างเต็มที่ โดยพระยาทรงกล่าวว่าการปฏิวัติ2475เป็นเรื่องของยุทธวิธี ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ เพราะการปฏิวัติที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ตื่นตัวต้องการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง จะหวังใช้กำลังพลจำนวนมากนั้นไม่ได้เรื่องแน่ เนื่องจากความลับจะรั่วไหลแล้วกลายเป็นกบฎ

ท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงทราบดีอยู่แล้วว่า แผนยุทธวิธีที่พระยาทรงวางไว้นั้น ยอดเยี่ยมเพียงใดในการใช้กำลังทหารเพียงหยิบมือเดียว ปฏิบัติการไม่ถึงครึ่งวันก็สำเร็จเรียบร้อยแบบไม่สูญเสียเลือดเนื้อ คณะผู้ก่อการได้ประชุมกันเพียง 2 ครั้ง ครั้งแรกก็เพียงไม่กี่เดือนก่อนลงมือที่บ้านพักของพระยาทรงเอง และครั้งที่ 2 ที่บ้านพักของร้อยโทประยูร ภมรมนตรี ที่สรุปแล้วพระยาทรงสุรเดชเสนอแผนการทั้งหมด 3 แผนให้ที่ประชุมเลือก คือ

แผนที่ 1 ให้นัดประชุมบรรดานายทหารที่กรมเสนาธิการ หรือที่กรมยุทธศึกษา หรือที่ศาลาว่าการกลาโหม เพื่อประกาศว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน ผู้ใดไม่เห็นด้วยก็จะเข้าควบคุมตัวไว้ ในระหว่างนั้นคณะผู้ก่อการฝ่ายทหารเรือและพลเรือนแยกย้ายกันไปคุมตัวเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มากักตัวไว้ในพระที่นั่งอนันตสมาคมหรือบนเรือรบ

แผนที่ 2 ให้จัดส่งหน่วยต่าง ๆ ไปคุมตามวังเจ้านายและข้าราชการคนสำคัญ ในขณะเดียวกันให้จัดหน่วยออกทำการตัดการสื่อสารติดต่อ เช่น โทรเลข โทรศัพท์ และให้จัดการรวบรวมกำลังทหารไปชุมนุม ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยวิธีออกคำสั่งลวงในตอนเช้าตรู่แล้วประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อหน้าทหารเหล่านั้น และจัดนายทหารฝ่ายก่อการเข้าควบคุมบังคับบัญชาทหารเหล่านั้นแทนผู้บังคับบัญชาคนเดิม แล้วทหารก็คงจะฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาคนใหม่ต่อไป การณ์ก็คงสำเร็จลงโดยเรียบร้อยโดยมิต้องมีการต่อสู้จนเลือดนองแผ่นดิน

แผนที่ 3 ให้หน่วยทหารหนึ่งจู่โจมเข้าไปในวังบางขุนพรหม และเข้าจับกุมพระองค์สมเด็จกรมพระนครสวรรค์วรพินิตมาประทับที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อเป็นประกันในความปลอดภัยของคณะราษฎร และให้ดำเนินการอย่างอื่น ๆ ตามที่กล่าวแล้วในแผนที่ 2


แผนที่1เป็นทางเลือกที่พระยาทรงเสนอมาให้ดูเวอร์ๆเข้าไว้ว่าเพื่อดักทางให้ที่ประชุมเห็นชอบกับแผนที่2ควบกับแผนที่ 3 และให้ลงมือในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปหัวหิน เพื่อทอดพระเนตรการทดลองการยิงปืนใหญ่ ซึ่งมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ แม่ทัพ นายกอง จะร่วมโดยเสด็จด้วยเป็นส่วนมาก กำหนดวันลงมือกระทำการในวันที่ 24 มิถุนายน โดยที่ประชุมยังไม่รู้ว่า ผู้ก่อการคนใดจะนำทหารที่ไหนออกมาใช้ยึดอำนาจและจะทำได้อย่างไร เพราะพระยาทรงยังอุบไว้เป็นความลับ

แผนการณ์สุดยอดในใจของพระยาทรงในวันคอขาดบาดตายนั้นก็คือ การปล่อยข่าวลับลวงพราง ล่อหลอกให้นายทหารแต่ละกรมกองนำกำลังพลออกมาชุมนุมร่วมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้าโดยไม่ทราบล่วงหน้าว่า จะมีเข้าร่วมในการแผนเปลี่ยนแปลงการปกครองกับเขาด้วย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 มิ.ย. 10, 17:43
ล่วงหน้าหนึ่งวัน พระยาทรงในฐานะเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหาร ของโรงเรียนนายร้อยทหารบก ได้ไปพบพันโทพระเหี้ยมใจหาญ ผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อย เพื่อขอให้นำนักเรียนนายร้อยทั้งหมดพร้อมอาวุธปืนบรรจุกระสุนไปที่ลานหน้าพระบรมรูปทรงม้าในตอนเช้าตรู่วันที่ 24 มิถุนายน เพื่อฝึกยุทธวิธีทหารราบต่อสู้รถถัง โดยจะใช้นักเรียนนายร้อยทำหน้าที่ทหารราบและนำรถถังจากกรมทหารม้ามาใช้ในการฝึก ต่อจากนั้นได้ไปพบผู้บังคับกองพันทหารราบที่รู้จักอีกสองคน เพื่อขอร้องให้นำทหารไปฝึกหน้าลานพระบรมรูปทรงม้าเวลาหกโมงเช้า และไปพบผู้บังคับการกองพันทหารช่างที่บางซื่อ เพื่อขอร้องให้นำทหารมาที่สนามหน้าโรงทหารในเวลาหกโมงเช้าเช่นกัน เพื่อจะนำไปฝึกต่อสู้กับรถถัง

เช้าวันที่ 24 มิถุนายน พระยาทรงตื่นตั้งแต่เวลา 4.00 น. และออกจากบ้านไปพร้อมกับร้อยเอกหลวงทัศนัยนิยมศึก(ทัศนัย มิตรภักดี) ผู้ที่มารับ จากนั้นแผนการนำทหารออกมาใช้เปลี่ยนแปลงการปกครองของพระยาทรงก็ได้ถูกเปิดเผยให้แก่ผู้ร่วมก่อการ เวลา5.00น. ทั้งหมดก็ได้มุ่งหน้าไปยังกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ สี่แยกเกียกกาย โดยมีเป้าหมายที่จะยึดรถเกราะ รถรบ เปิดเอาอาวุธออกจากคลังกระสุน และหลอกพาทหารเดินมาขึ้นรถบรรทุกของกรมทหารปืนใหญ่ ภายใต้การบังคับบัญชาของพระยาฤทธิอัคเนย์ ที่อยู่ใกล้กัน ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปลานพระบรมรูปทรงม้า

เมื่อไปถึงกรมทหารม้า พระยาทรง พระยาพหล และพระประศาสน์ ตบเท้าเข้าไปถามหาตัวผู้บังคับการกองรักษาการณ์ พูดด้วยเสียงดุดันว่า
"เวลานี้เกิดกบฏกลางเมืองขึ้นแล้ว มัวแต่หลับนอนอยู่ได้ เอารถเกราะ รถรบ เอาทหารออกไปช่วยเดี๋ยวนี้"
ตัวผู้บังคับการเองเป็นนายทหารชั้นผู้น้อย เมื่อเห็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ครูบาอาจารย์ทั้งสามก็หลงเชื่ออย่างสนิทใจ รีบออกคำสั่งให้เป่าแตรแจ้งสัญญาณเหตุสำคัญปลุกทหารทั้งกรมตื่นขึ้นโดยฉับพลัน

ในช่วงเวลาระทึกใจนี้ ผู้ที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ไว้แล้วก็แยกย้ายกันปฏิบัติงาน พระยาพหลใช้กรรไกรตัดเหล็กที่เตรียมมาตัดโซ่กุญแจคลังแสงออกแล้วช่วยกันลำเลียงกระสุนมาขึ้นรถอย่างรวดเร็ว พระประศาสน์ตรงไปยังโรงเก็บรถพร้อม ร.อ.หลวงทัศนัยเร่งให้ทหารสตาร์ตรถถัง รถเกราะ ออกมาโดยเร็ว ร้อยเอกหลวงรณสิทธิชัยและพรรคพวกมุ่งไปยังโรงทหาร ออกคำสั่งแก่พลทหารให้แต่งเครื่องแบบทันทีไม่ต้องล้างหน้า ไม่กี่นาทีต่อมาก็ออกไปขึ้นรถบรรทุกทหารภายในกรมทหารปืนใหญ่ที่ได้นัดแนะกับพระยาฤทธิอัคเนย์เอาไว้แล้ว  แล้วพระประศาสน์ก็นำขบวนรถถัง รถเกราะ รถขนกระสุนและปืนกลเบารวม15 คัน ออกจากที่ตั้งนำขบวนรถทั้งหมดมุ่งหน้าตรงไปยังลานพระบรมรูปทรงม้าซึ่งนักเรียนนายร้อยคงแต่งชุดฝึกมารออยู่แล้ว ระหว่างทางแล่นผ่านกองพันทหารช่าง พระยาทรงก็กวักมือตะโกนเรียกผู้บังคับการทหารช่างว่าได้เวลาที่จะไปฝึกการต่อสู้รถถังตามที่ตกลงกันเมื่อเย็นวาน เหล่าทหารกำลังฝึกอยู่บนสนามหน้ากองพัน จึงได้รับคำสั่งให้ขึ้นรถบรรทุกไปกับเขาด้วย

ปฏิบัติการทั้งหมดนี้ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง มีคำถามมากมายต่อมาว่าเกิดอะไรขึ้น เหตุใดกองรักษาการณ์กรมทหารม้าจึงร่วมมืออย่างง่ายๆ ทำไมยามคลังแสงจึงปล่อยให้พระยาพหลงัดประตูเอากระสุนออกไปได้ ทำไมนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาในกรมนี้จึงปล่อยให้นายทหารที่อื่นนำทหารของตัวออกไปได้ โดยไม่แสดงปฏิกิริยาอันใดเลย

สำหรับคำถามเหล่านี้ ได้บันทึกของพระยาทรงได้ให้คำตอบอย่างชัดเจนว่า

“เป็นเพราะนายทหาร นายสิบ พลทหารเหล่านั้นเห็นด้วยในการปฏิวัติหรือ...เปล่าเลย ทั้งนายทหาร นายสิบ พลทหาร ไม่มีใครรู้เรื่องอะไรทั้งสิ้น ตั้งแต่เกิดมาก็ไม่มีใครเคยได้เห็นได้รู้ การปฏิวัติทำอย่างไร เพื่ออะไร มีแต่ความงงงวยเต็มไปด้วยความไม่รู้ และข้อนี้เองเป็นเหตุสำคัญแห่งความสำเร็จ! สำหรับพลทหารทั้งหมดไม่ต้องสงสัยเลย เขาทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาของเขาโดยไม่มีข้อโต้แย้ง เขาถูกฝึกมาเช่นนั้น และหากนายทหารอื่นมาสั่งให้ทำโดยอ้างว่าเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เขาก็ทำเช่นเดียวกัน ทำไมเขาจะไม่ทำ เพราะในชีวิตเป็นทหารของเขา เขายังไม่เคยถูกเช่นนั้น เพราะฉะนั้นเขาจะรู้ไม่ได้เลยว่าเป็นการลวง ในเมื่อเขาโดนเป็นครั้งแรก ...นายทหารทั้งหมดส่วนมากได้เรียนในโรงเรียนนายร้อยในสมัยที่ผู้อำนวยการฝ่ายทหารเป็นอาจารย์ใหญ่ เพราะฉะนั้นจึงมีความเคารพและเกรงในฐานผู้ใหญ่…….”


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 มิ.ย. 10, 17:53
เหตุการณ์อีกด้านหนึ่ง ในตอนเช้าตรู่เวลาประมาณ4.00 น.ของวันเดียวกัน พลตำรวจโทพระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุยส์ จาติกวณิช) อธิบดีกรมตำรวจ ได้ขอเข้าเฝ้าจอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงกลาโหมเป็นการด่วนที่วังบางขุนพรหม  ด้วยได้รับรายงานทางลับว่ามีคณะบุคคลจะลงมือทำการปฏิวัติยึดอำนาจในเช้าวันนี้ และจะเชิญพระองค์ไปเป็นประกันเพื่อต่อรองกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯด้วย พระยาอธิกรณ์ประกาศได้เตรียมเรือกลไฟเล็กมาจอดคอยอยู่ที่ท่าน้ำตำหนักน้ำ  เพื่อให้สมเด็จกรมพระนครสวรรค์เสด็จหนีไปก่อน และอาจจะทรงตั้งกองบัญชาการชั่วคราวที่กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์สวนเจ้าเชตุเพื่อหาทางต่อสู้ต่อไปได้ ทรงฟังคำกราบทูลของอธิบดีกรมตำรวจด้วยพระทัยเยือกเย็น  รับสั่งให้รอดูเหตุการณ์ไปก่อน “ฉันจะไปได้อย่างไร ฉันรักษาพระนครอยู่ด้วย”

หลังจากหลังจากนั้นเพียงครู่เดียวก็มีขบวนรถถังและรถเกราะ6 คัน พร้อมด้วยนักเรียนนายร้อย1หมวด นำโดยพระประศาสน์ และหลวงพิบูลเข้ายึดสถานีตำรวจหน้าวังไว้ และเคลื่อนพลเข้ามาในวังบางขุนพรหม สมเด็จกรมพระนครสวรรค์ทรงเป็นนายทหารสำเร็จจากเยอรมันนี เช่นเดียวกับพระประศาสน์ และทรงเป็นเจ้าภาพแต่งงานให้เสียด้วย จึงมีพระดำรัสด้วยพระสุรเสียงอันไม่สะทกสะท้านแม้แต่น้อยว่า “ตาวัน แกมา ต้องการอะไร”

พระประศาสน์ไม่กล้าสบสายพระเนตร  กราบทูลว่า “ขอเชิญเสด็จไปพระที่นั่งอนันต์ มีข้าราชการทหารพลเรือน รออยู่แล้ว ขอเชิญเสด็จเดี๋ยวนี้”
แม้จะมีพระดำรัสขอให้ทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์เพราะยังทรงอยู่ในชุดนอน  พระประศาสน์ก็มิได้สนองพระประสงค์ จึงเสด็จเข้าประทับในรถที่พระประศาสน์เตรียมมาถวายพร้อมด้วยหม่อมสมพันธุ์ และหม่อมเจ้าหญิงประสงค์สมพระธิดา เป็นอันว่าแผน3ในภารกิจที่สำคัญที่สุดของคณะปฏิวัติได้เสร็จสิ้นลงแล้ว  การได้สมเด็จกรมพระนครสวรรค์มาทรงเป็นองค์ประประกัน  ทำให้ปัญหาการนองเลือดตลอดจนปัญหาการต่อต้านที่จะมาจากทุกทิศทางหมดไปทันที
ต่อมา พระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่และข้าราชการที่ถูกเชิญมาควบคุม ได้เริ่มทยอยเข้ามาในพระที่นั่งอนันตสมาคม เช่นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ เป็นต้น นายทหารชั้นผู้ใหญ่ได้เข้าล้อมเจ้านายทุกพระองค์ไว้เพื่อถวายความปลอดภัย ด้วยพวกคณะปฏิวัติมิได้ถวายพระเกียรติเท่าที่ควร ทำให้อาจเกินเหตุอันมิได้คาดคิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้

ในตอนบ่ายวันนั้นพระยาพหล พระยาทรง และพระยาฤทธิอาคเนย์ ได้เข้ามาเฝ้ากราบทูลว่า คณะปฏิวัติมีความประสงค์เพียงขอพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดินจากพระเจ้าอยู่หัว  และขอให้สมเด็จกรมพระนครสวรรค์ทรงคลี่คลายสถานการณ์อันสับสนในเวลานั้น ด้วยหนังสือกราบบังคมทูลไปถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯแล้ว แต่ยังมิได้พระราชทานคำตอบแต่ประการใด  สมเด็จกรมพระนครสวรรค์ทรงเห็นแก่บ้านเมือง จึงได้ประทานลายพระหัตถ์ให้คณะราษฎร์นำประกาศกระจายเสียงทางวิทยุ  ความว่า “ตามด้วยที่คณะราษฎร์ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเอาไว้ได้โดยมีความประสงค์ข้อใหญ่ที่จะให้ประเทศไทยมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้น ข้าพเจ้าขอให้ทหารข้าราชการ และราษฎรทั้งหลาย จงช่วยกันรักษาความสงบ อย่าให้เสียเลือดเนื้อคนไทยกันเอง โดยไม่จำเป็นเลย”

เมื่อเหตุการณ์ทั้งหมดคลี่คลายลงแล้ว คณะราษฎรมีความเห็นว่า เจ้านายระดับสูงหากยังประทับอยู่ในเมืองไทยก็จะเกิดปัญหาไม่จบ จึงสมควรต้องเนรเทศซึ่งใช้ภาษาให้สละสลวยว่าอัญเชิญเสด็จไปประทับ ณ ต่างประเทศ พระธิดาของสมเด็จงกรมพระนครสวรรค์ทรงบันทึกไว้ว่า

"ทูนกระหม่อมมีเวลาเตรียมพระองค์ไม่ถึง12 ชั่วโมง ไม่มีเวลาแม้แต่จะกราบถวายบังคมลา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระบรมราชินี ต้องทรงละทิ้งวัง และข้าราชบริพารร่วม400ชีวิตให้ดูแลตัวเอง ขบวนเสด็จจากวังบางขุนพรหมแห่ล้อมด้วยรถถังและรถหุ้มเกราะ สุดที่จะประมาณได้ เมื่อประทับบนรถไฟแล้วมีตำรวจในความควบคุมของพระนรากรบริรักษ์ อีกสองกองร้อยตามเสด็จ เพื่อควบคุมพระองค์ ทรงมีเงินส่วนพระองค์ติดไป 9000บาท ทรงทิ้งความทรงจำแห่งชีวิตราชการที่ทรงมีมากว่าครึ่งพระชนม์ชีพไว้ในความทรงจำ"


กงกรรมกงเกวียน การเมืองก็มีแต่เรื่องอย่างนี้ ผู้ก่อการคณะราษฎรหลายคนก็ต้องชะตากรรมเช่นเดียวกัน บางคนแม้ไม่ได้ไปเสียชีวิตที่ต่างประเทศ ก็ถูกรถชนตายข้างถนน ลูกหลานไปพบก็อยู่ในสภาพของศพไม่มีญาติเสียหลายวันแล้ว ใครอย่ามาถามผมนะครับว่าท่านที่ผมกล่าวถึงตอนท้ายนี้คือใคร


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 มิ.ย. 10, 18:11
ขอน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงตั้งพระทัยจะพระราชทานธรรมนูญการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว ติดขัดเพียงบางหลักการที่มีผู้คัดค้านกำลังจะแก้ไข เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นจึงไม่ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะต่อต้าน ทั้งๆที่ทหารหัวเมืองทั้งหลายพร้อมอยู่ รอฟังพระราชกระแสรับสั่งจากจอมทัพเท่านั้น หากพระองค์ทรงยึดมั่นถือมั่นที่จะรักษาพระราชอำนาจโดยไม่คำนึงบ้านเมืองแล้ว แน่นอนว่า เลือดคงจะได้ท่วมนองแผ่นดิน ประชาชนทั้งหลายจะพลอยรับเคราะห์บาดเจ็บล้มตาย ทรัพย์สินวินาศสันตะโร ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นซ้ำซากทุกยุคทุกสมัย
 
วันที่27มิถุนายน 2475 ทรงลงพระปรมาภิไธยในธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ที่ทรงเติมคำว่า “ชั่วคราว” ไว้ด้วยพระราชหัตถเลขา เนื่องจากทรงยังไม่เห็นด้วยในบางประการ รับสั่งว่า “ให้ใช้ไปก่อน” เพื่อจะแก้ใขในภายหลัง


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 มิ.ย. 10, 18:19
ในหนังสือเรื่อง “ชีวิต5แผ่นดินของข้าพเจ้า” เขียนโดยพลโทประยูร ภมรมนตรี มีข้อความตอนหนึ่งเขียนไว้ถึงพระดำรัสที่สมเด็จกรมพระนครสวรรค์มีรับสั่งกับตนที่พระที่นั่งอานันตสมาคมในเช้าวันนั้นว่า…แกคงจะรู้จัก โรเบสเปียร์  มารา และดันตอง เพื่อนร่วมน้ำสาบานฝรั่งเศสดีแน่ ในที่สุดมันผลัดกันเอากิโยตีนเฉือนคอกันทีละคน...จำไว้ ฉันสงสารแก ฉันเลี้ยงแกมาตั้งแต่เด็ก นี่แกเป็นกบฏแม้จะรอดจากอาญาแผ่นดินไม่ถูกตัดหัว แต่แกจะต้องถูกพวกเดียวกันฆ่าตาย แกจำไว้….ซึ่งร้อยโทประยูรผู้ก่อการคนสำคัญที่เขามอบหมายให้มาคอยเฝ้าดูพระองค์กราบทูลตอบว่า   “ทราบเกล้าฯแล้ว ตามประวัติศาสตร์มันต้องเป็นเช่นนั้น อย่างมากแค่ตาย”

ผมจะไม่เล่าเรื่องของคนอื่นในเวลานี้ เอาเฉพาะชะตากรรมของพระยาทรงตามหัวข้อเรื่องก็แล้วกัน

ใครไม่ทราบกล่าวไว้ว่า การปฏิวัติยึดอำนาจนั้นไม่ยาก มันยากที่จะทำอย่างไรจะให้บรรลุอุดมการณ์ของการปฏิวัติได้
ครับ..ผมเห็นด้วย อุดมการณ์มีองค์ประกอบด้วยกิเลศของมนุษย์ ตั้งแต่ตัวละเอียด เช่น ฉันอยากให้ไอ้นั่นดีอย่างนั้นอย่างนี้  ตัวกลางๆเช่น ฉันดีกว่าแก ฉันเหมาะสมกว่าเพื่อน ไปจนถึงตัวหยาบๆเช่นฉันอยากเด่น ฉันอยากรวย ฉันอยากมีอำนาจ และกิเลศมนุษย์ของนักการเมืองนี่แหละครับ ที่เป็นตัวบั่นทอนความสุขความเจริญของมนุษยชาติ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 มิ.ย. 10, 18:26
เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จได้เพียงเดือนเดียว พระยาทรง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกฝ่ายยุทธการ เป็นรองก็เฉพาะพระยาพหลซึ่งเป็นตัวผู้บัญชาการ  ได้เรียกประชุมนายทหารใต้บังคับบัญชาของตน ที่ตึกทหารวังปารุสกวัน ซึ่งในคำพิพากษาศาลพิเศษ2482 (ซึ่งทราบกันทั่วไปว่าผู้พิพากษาทั้งหลายเป็นคนของหลวงพิบูล) ได้เรียกการกระทำดังกล่าวว่า “ลอบประชุม” มิให้พระยาพหลรู้เห็น เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงการของกองทัพบก ในระยะนี้วันหนึ่งพระยาพหลลงไปรับแขกชั้นล่าง จะกลับขึ้นไปห้องทำงานข้างบน ทหารยามที่เฝ้าบรรไดอยู่ทำท่าเตรียมแทง ไม่ให้ขึ้น พระยาพหลจึงร้องเรียกพระยาทรงลงมาดู พระยาทรงบอกว่าบอกว่าทหารชั้นผู้น้อยยังไม่รู้จักผู้บังคับบัญชา(คนใหม่) แต่พระยาพหลเริ่มจะผูกใจว่าพระยาทรงคิดจะแย่งอำนาจเสียแล้ว

เหตุการณ์ทำนองคล้ายกันต่อจากนั้นอีกประมาณเดือนเดียว มีสายหลวงพิบูลมารายงานว่าพระยาทรงคิดจะย้ายหลวงพิบูลไปอยู่ตำแหน่งผู้ช่วยรบ เพื่อจะได้ไม่มีสิทธิ์บังคับบัญชาควบคุมกำลังทหาร หลวงพิบูลฉุนจัดจึงจะไปขอเข้าพบเพื่อสอบถาม แต่ทหารยามเอาดาบปลายปืนกั้นไว้ เผอิญพระยาทรงอยู่ที่นั่นจึงเห็นเข้าแล้วร้องห้ามไว้ เมื่อคุยกันแม้พระยาทรงจะปฏิเสธเรื่องดังกล่าว แต่หลวงพิบูลก็ปักใจเชื่อว่ามีมูล เพราะแม้ตนจะอยู่ที่ตำแหน่งเดิม แต่พรรคพวกถูกย้ายออกจากสายคุมกำลังหมดและมีนายทหารลูกน้องพระยาทรงเข้ามาเป็นแทน ศาลพิเศษอ่านคำพิพากษาตอนหนึ่งว่า “การที่พระยาทรงสุรเดชกับพวกกระทำเช่นนี้แสดงว่า พระยาทรงสุรเดชจะคุมอำนาจทหารไว้ฝ่ายเดียว บั่นทอนอำนาจการปกครองของทหารซึ่งหลวงพิบูลสงครามและพวกที่ได้ควบคุมอยู่นั้น ให้หมดสิ้นไป โดยมีวัตถุประสงค์เกี่ยวแก่การเมืองซึ่งจะได้กล่าวต่อไป ตั้งแต่นั้นมาพระยาทรงสุรเดชกับหลวงพิบูลสงครามก็ไม่ถูกกันเรื่อยๆมา”


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 มิ.ย. 10, 18:48
สำหรับเรื่องขัดแย้งระหว่างพระยาทรงกับหลวงประดิษฐ์ ความจริงพระยาทรงเขม่นหลวงประดิษฐ์อยู่นานแล้วเพราะทนความเป็นนักวิชาการหัวก้าวหน้ามากไม่ไหว ในการประชุมคณะราษฎรครั้งแรกๆ พระยาทรงก็หลบออกจากที่ประชุมมาบ่นหลวงประดิษฐ์ให้ร้อยโทประยูร โซ่ข้อกลางระหว่างนักเรียนเก่าเยอรมันกับนักเรียนเก่าฝรั่งเศสฟังด้วยถ้อยคำรุนแรง และมาถึงที่สุดในวันที่พร้อมกันเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯเป็นครั้งแรกหลังวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งพระยาทรงเป็นหัวหน้าคณะแทนพระยาพหลที่ไม่กล้าเข้าเฝ้าเพราะตนเองอยู่ในตำแหน่งนายทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ และโดนพันเอก พระยาสุรเดชรณชิต (ชิต ยุวนะเตมีย์) เพื่อนนักเรียนนายร้อยเยอรมันร่วมรุ่นอีกคนหนึ่งถามแสบๆว่า "ไอ้พจน์ มีทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ชาติไหนมั่งวะที่กบฎต่อพระเจ้าแผ่นดิน"

พระยาทรงนำคณะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบขอพระราชทานอภัยโทษ เมื่อพระองค์โปรดเกล้าให้หลวงประดิษฐ์นำรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าถวาย ทรงอ่านข้อความในรัฐธรรมนูญแล้ว ตรัสถามพระยาทรงว่าได้อ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาแล้วหรือยัง พระยาทรงกราบทูลว่ายังไม่ได้อ่าน ทรงหันมาถามร้อยโทประยูรว่าได้อ่านหรือยัง ร้อยโทประยูรกราบทูลตอบว่าไม่ได้อ่านเพราะไม่มีหน้าที่โดยตรง แต่ได้ทราบว่าพระยาทรงได้กำชับหลวงประดิษฐ์ไว้มั่นคงแล้วว่าให้ร่างแบบอังกฤษที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

พระองค์ก็ตรัสตอบว่าต้องการให้เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน แต่ทำไมต้องใช้คำแทนเสนาบดีว่า "คณะกรรมการราษฎร" แบบรัสเซียซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์

พระยาทรงอึ้งอยู่ชั่วครู่จึงกราบบังคมทูลว่า "ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานสารภาพรับผิดที่ไม่ได้อ่านมาก่อน  ขอพระราชทานอภัยโทษและขอถวายสัตย์ว่าจะไปร่างมาใหม่ ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ทุกประการ"

ทรงตรัสว่า "ถ้าพระยาทรงรับรองว่าจะไปแก้ไขกันใหม่ฉันก็จะยอมเชื่อพระยาทรง แต่อย่างไรก็ตามวันนี้หัวเด็ดตีนขาด ฉันก็ไม่เซ็น" รับสั่งให้กลับไปแก้ไขแล้วนำมาเสนอใหม่ในอีก 2 วันข้างหน้า แล้วจึงเสด็จขึ้น

พวกที่เข้าเฝ้าก็ตกตะลึงทำอะไรไม่ถูก ทยอยเดินออกมายืนที่ลานพระราชวัง พระยาทรงโกรธมากถึงกับชี้หน้าหลวงประดิษฐ์แล้วพูดว่า "คุณหลวงทำป่นปี้ ไม่ทำตามที่บอกกล่าวกันไว้ ทำอะไรไปนอกเรื่อง ฉิบหายหมดแล้ว"

พระยาทรงเมื่อแสดงความแค้นเคืองแล้วก็เดินขึ้นรถจากไป หลังจากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างพระยาทรงกับหลวงประดิษฐ์ก็ไม่ดีขึ้น ทั้งสองฝ่ายไม่ยอมปรับความเข้าใจกัน  ซ้ำยังเลวร้ายกว่าเรื่องของหลวงพิบูลเสียด้วยซ้ำ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 มิ.ย. 10, 18:54
และนั่นก็เป็นที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ทรงเติมคำว่า “ชั่วคราว” ต่อท้าย ที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดานำขึ้นทูลเกล้าให้ทรงลงพระปรมาภิไธยที่พระราชวังสวนจิตรลดา ในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ดังกล่าวไปแล้วในกระทู้ก่อนหน้า 

พร้อมกันนั้น ได้มีประกาศให้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่ทำการรัฐสภาสยาม มีพิธีการชักธงชาติขึ้นสู่ยอดพระที่นั่งเพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นสถานทีราชการในวันเดียวกันด้วย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 มิ.ย. 10, 19:01
ขอบพระคุณที่ปักหมุดให้กระทู้นี้อย่างรวดเร็วน่าชื่นใจนะครับ

และผมจะขอพักยก ให้ท่านทั้งหลายตั้งตัวนิดนึง จะได้หาประเด็นมาเสริมให้กับเรื่องนี้ของผมด้วย

แต่นี่ ยังไม่ได้เฉียดเรื่องในหนังสือที่ขึ้นหัวข้อไว้เลยนะครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 มิ.ย. 10, 19:35
กระทู้นี้ น่าจะยาวถึง ๕๐ ได้ไม่ยาก    แต่ดิฉันตั้งใจจะปั่นให้ได้ถึง ๑๐๐  ;D

ลากเสื่อมาปูนั่งแถวหน้า   รอฟังเมกะโปรเจคเรื่องของพระยาทรงสุรเดช  จากคุณนวรัตนต่อไปนะคะ    ชีวิตของพระยาทรงฯ ดิฉันไม่ทราบมากนัก ก็จะไม่แตะต้อง
ระหว่างนี้ ขอย้อนกลับมาปูแบคกราวน์  ถึงบรรยากาศในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองก่อน

ย้อนกลับไปถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อสยามตัดสินใจเปิดประตูรับประเทศมหาอำนาจด้วยมิตรไมตรี   เพื่อรักษาตัวให้รอด     นโยบายเท่าทันตะวันตกอย่างหนึ่งคือ ส่งนักเรียนไทยไปเรียนในยุโรป     เพื่อจะรับความศิวิไลซ์มาพัฒนาประเทศ
นโยบายนี้สืบต่อมาเรื่อย อย่างแข็งขันในรัชกาลที่ ๕  และเรื่อยต่อมาจนถึงรัชกาลที่ ๖  บรรดานักเรียนไทยหัวนอกทยอยกันกลับมาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๕   
ในรัชกาลที่ ๖ และ ๗  พวกนี้ก็กระจายกันอยู่ในราชการหลายหน่วยงาน ทั้งทหารและพลเรือน
ความคิดที่เข้มข้นและแข็งขันของอดีตนักเรียนนอกเหล่านี้ จะหนักไปทางพัฒนาประเทศมากน้อยแค่ไหน  ยังไม่เห็น  แต่ที่เห็นก็คือความคิดว่า คนเก่งสามัญชนไม่สามารถขึ้นถึงยอดได้  เพราะว่ามีบุคคลที่เกิดมาเป็น "เจ้า" ครองพื้นที่ส่วนยอดในราชการไว้แล้ว   และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงๆได้ก็เพราะโหน "เจ้า" อยู่ 
สังคมไทยแบบเดิม จึงไม่ถูกต้องในสายตาของนักเรียนไทยหัวนอกพวกนี้  ส่วนเรื่องความประสงค์จะเปลี่ยนสังคมเพื่อราษฎรส่วนใหญ่ที่ด้อยโอกาส   อาจมองเห็นร่องรอยได้ในนโยบายของดร.ปรีดี พนมยงค์ 
ความมุ่งหวังจะเห็นประชาธิปไตย คือประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงสมกับเป็นระบอบการปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่
เห็นได้อีกครั้งในหนังสือ "ความฝันของนักอุดมคติ" หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองไปแล้ว

บรรยากาศที่ไม่ค่อยมีใครพูดกันเต็มปากนัก จึงเป็นบรรยากาศ เกลียดเจ้า ที่แพร่สะพัดอยู่ในต้นรัชกาลที่ ๗ จนถึงวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง
หาอ่านได้ในพระนิพนธ์ สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ของม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล    เดี๋ยวจะขอเวลาย่อยมาให้อ่านกันค่ะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 มิ.ย. 10, 20:37
ตัดตอนมาบางส่วน จากพระนิพนธ์ สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น

" ถึงรัชกาลที่ ๗  เป็นเวลาที่นักเรียนนอกกลับมาเต็มบ้านเต็มเมือง   แบกเอาความเห็นเข้ามาต่างๆชนิด  ซึ่งดูเหมือนจะยังขาดอยู่แต่เรื่อง anarchism อย่างเดียว    ทั้งประจวบเวลาที่น้ำใจคนรวนเรผันแปรด้วยเรื่องตัดรายจ่ายของแผ่นดิน    เป็นต้นเหตุให้เกิดความไม่พอใจ discontentment  ขึ้นในหมู่ข้าราชการ    เพราะต้องถูกึดออกจากตำแหน่งบ้าง   ถูกลดรายได้ลงบ้างตามฐานะ   จึงเป็นโอกาสให้พวกที่อยากเปลี่ยนแปลงการปกครองอยู่แล้วด้วยความฟุ้ง   ด้วยเกลียดในหลวง   ด้วยเห็นเป็นโอกาส  หรือเห็นดีเพราะไม่รู้จักเมืองไทยก็ตาม  เข้าส่งเสริมและชี้แจงได้ถนัด"

พระยามโนปกรณ์ฯ นายกคนแรกได้รับสารภาพกับข้าพเจ้าเองที่ปินังว่า "ที่จริงใครๆก็รู้กันดีทั้งนั้นแหละว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง    แต่เขากำลังเบื่อ   เขาก็พากันเมินๆทำไม่รู้เสีย" ข้าพเจ้าถามว่า "เบื่ออะไร?" เจ้าคุณตอบว่า " ก็เบื่ออ้ายการปกครองอย่างที่เป็นอยู่น่ะซี"




กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 มิ.ย. 10, 20:56
อีกตอนหนึ่งที่น่าจะเป็นบทสรุปได้  ถึงคลื่นใต้น้ำเมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง

"เมืองไทยมีโรคหลายอย่างดังที่เล่ามา   เหมือนคนที่เจ็บเป็นโรคเรื้อรังไม่มีทางรักษา    เพราะแก้การศึกษาไม่ทันเสียแล้ว    พอหมดกำลังลงก็พอดีเชื้อโรคลุกลามมาทุกทิศทุกทางดังแกล้งให้เกิดขึ้น
ทางฝ่ายพระราชวงศ์ ก็อ่อนแอลงเพราะการแข่งดีกันเอง   โดยไม่ทำดีอะไรให้คนนับถือ    ก็เลยเป็นเครื่องมือให้พวกก่อการยุยงคนให้เกลียดชังได้เร็วและสะดวกยิ่งขึ้น     เสียงเกลียดเจ้าค่อยๆเริ่มขึ้นจนถึงแสดงกิริยาเปิดเผยขึ้นทุกที   แล้วก็ลามขึ้นไปถึงพวกเสนาบดี-กับอภิรัฐฯ    มีเรื่องขุ่นเคืองกันแทบจะทุกประชุม    เมื่อเถียงทะเลาะกันแล้วก็นำเอาออกมาเล่า ด้วยเห็นว่าตัวเป็นฝ่ายถูก    เรื่องเหล่านั้นก็กึกก้องต่อเติมกันยิ่งขึ้นทุกที"

มีข้อความตอนหนึ่งในพระนิพนธ์เรื่องนี้  ที่เวลาพิมพ์  บรรณาธิการเว้นชื่อบุคคล เหลือแต่ ............ ก็เลยไม่แน่ใจว่าหมายถึงใคร
ข้อความตอนนี้พูดถึงความขัดแย้งเรื่องเลื่อนยศนายทหาร และเงินเดือนก็ต้องขึ้นไปโดยปริยาย   แต่นโยบายในตอนนั้นคือการตัดทอนงบประมาณลงให้มากที่สุด  จากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำไปทั่วโลกและกระทบถึงไทยด้วย   จึงไม่มีการอนุมัติให้กระทรวงกลาโหม
ผลก็คือ  บุคคลสำคัญที่เว้นชื่อนั้น  ก็.."แถลงการแก่นายทหารต่างๆ  และมี at-home-day  ทุกอาทิตย์ที่บ้านถนนวิทยุ   มีพวกนายทหารทุกชั้นทุกวัยไปเล่น tennis  แล้วอยู่กินน้ำชา   กินดินเน่อร์แล้วก็เลยประชุมกันหนักขึ้นทุกที    นายทหารที่ไปประจำคือ  พระยาอินทราวุธ(อาวุธ อาวุธ)   พระยาพหลพลพยุหเสนา(พจน์ พหลโยธิน)  และพระยาทรงสุรเดช  (เทพ พันธุมเสน) นี้อยู่ภายหลังดินเนอร์เสมอ"
เดาว่า บุคคลสำคัญที่นัดนายทหารไปบ้านถนนวิทยุ   เพื่อประชุมกันหนัก(คงจะหมายถึงพูดกันเรื่องไม่พอใจการปกครองในตอนนั้น) คือพระองค์เจ้าบวรเดช
ฝากผู้รู้ในนี้ช่วยตรวจสอบให้ด้วยค่ะ 


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 มิ.ย. 10, 21:16
คลื่นใต้น้ำที่ซัดแรงอยู่ในสังคมไทยตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๖๘-๒๔๗๕  พอจะประมวลได้ว่าเกิดจาก
๑  การตัดทอนงบประมาณโดยรัฐบาล  ที่เรารู้จักกันในชื่อ "ดุลยภาพ" เพื่อรักษารายรับรายจ่ายของท้องพระคลังไว้ให้สมดุลย์      เป็นผลให้เกิดการยุบหน่วยราชการหลายหน่วยในรัชกาลที่ ๖    โดยเฉพาะพวกบันเทิงมหรสพที่เคยเฟื่องฟูในรัชกาลก่อน     ส่วนในกระทรวงและกรมสำคัญๆแม้ไม่ได้ยุบ ก็มีคำสั่งให้ตัดทอนงบประมาณ   ข้าราชการถูกลดทอนเงินเดือน หรือบางคนก็ต้องถูกออกจากราชการ โดยไม่ได้ทำผิด   ก็ทำให้เดือดร้อน ไม่พอใจกันไปทั่ว
ตัวอย่างอยู่ในสี่แผ่นดิน  คุณเปรมเป็นคนหนึ่งที่ "ถูกดุลย์"
๒  ความก้าวหน้าของคนรุ่นใหม่ ที่ไปรับการศึกษามาจากเมืองนอก   ทำให้ไม่พอใจกับระบอบและความเป็นอยู่หลายๆอย่างในสังคมไทย  
๓  ความแตกแยกภายใน    จากพระนิพนธ์ของม.จ.พูนพิศมัย  เห็นได้ชัดว่าเจ้านายระดับสูงก็ขัดแย้งกันเอง  ทั้งส่วนพระองค์และเรื่อยไปถึงงานในหน้าที่    แม้แต่พระเจ้าอยู่หัวเองก็ทรงลำบากพระราชหฤทัยกับความขัดแย้งดังกล่าว
ปัจจัยพวกนี้แหละ ทำให้คนที่ระแคะระคายแต่ต้นว่า น่าจะเกิดปฏิวัติขึ้นในไม่ช้า ก็เพิกเฉย   ถือว่าธุระไม่ใช่ หรือไม่ก็ระอากับสภาพที่เป็นอยู่  ก็เลยไม่กระตือรือร้นจะตัดไฟแต่ต้นลม     ในที่สุดเมื่อเจอเสนาธิการใจกล้าอย่างพระยาทรงสุรเดช จู่โจมทำสิ่งที่คนอื่นๆตั้งตัวไม่ทันเข้า  การเปลี่ยนแปลงการปกครองก็เกิดและจบลงอย่างง่ายดาย    
แต่จะถือว่าเป็นการปฏิวัติที่สงบเรียบร้อย ไม่เสียเลือดเนื้ออย่างที่มักจะอ้างกัน  ก็ไม่ใช่    เพราะการเปลี่ยนแปลงเป็นเพียงจุดสตาร์ทเท่านั้น   ส่วนลู่วิ่งที่ยาวเหยียดนั้น ปูด้วยเลือดและชีวิตของคนจำนวนมาก ทั้งผู้เกี่ยวข้องและผู้บริสุทธิ์     กว่าจะเรียกว่าจบได้ก็สังเวยชีวิตไปมากมาย ทั้งกบฏบวรเดช และนักโทษประหาร ๒๔๘๒
ไม่มีตรงไหนเลยที่เรียกได้ว่าเรียบร้อย  หมดจด  และจบลงด้วยดี


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 มิ.ย. 10, 07:18
อ้างถึง

ผลก็คือ  บุคคลสำคัญที่เว้นชื่อนั้น  ก็.."แถลงการแก่นายทหารต่างๆ  และมี at-home-day  ทุกอาทิตย์ที่บ้านถนนวิทยุ   มีพวกนายทหารทุกชั้นทุกวัยไปเล่น tennis  แล้วอยู่กินน้ำชา   กินดินเน่อร์แล้วก็เลยประชุมกันหนักขึ้นทุกที    นายทหารที่ไปประจำคือ  พระยาอินทราวุธ(อาวุธ อาวุธ)   พระยาพหลพลพยุหเสนา(พจน์ พหลโยธิน)  และพระยาทรงสุรเดช  (เทพ พันธุมเสน) นี้อยู่ภายหลังดินเนอร์เสมอ"
เดาว่า บุคคลสำคัญที่นัดนายทหารไปบ้านถนนวิทยุ   เพื่อประชุมกันหนัก(คงจะหมายถึงพูดกันเรื่องไม่พอใจการปกครองในตอนนั้น) คือพระองค์เจ้าบวรเดช
ฝากผู้รู้ในนี้ช่วยตรวจสอบให้ด้วยค่ะ

ผมเอาบางตอนจาก “นักเรียนนายร้อยไทยในเยอรมันยุคไกเซอร์” ของ สรศัลย์ แพ่งสภา มาให้อ่าน

.....มีปัญหาว่าทำอย่างไรจึงจะยึดกรุงเทพฯ ได้ โดยปราศจากการเสียเลือดเนื้อ พูดง่ายๆ ก็คือ คณะราษฎรต้องพยายามหลีกเลี่ยงการต่อสู้ทุกวิธีทาง รู้ตัวดีว่าจะไม่มีทางต้านพลังความจงรักภักดีในพระมหากษัตริย์ของประชาชนทุกหมู่เหล่าได้ เอาไงดี ตอนนั้นอยู่ในช่วงที่ว่า "เอาแน่" แต่จะด้วยวิธีใดและเมื่อไหร่ ยังตั้งเป้าหมายวันเวลาไม่ได้ ปีนึงสองปีสามปี เมื่อไหร่ไม่มีใครตัดสินใจวันหนึ่ง พระยาพหลฯ มีโอกาสเฝ้า พลเอกพระองค์เจ้าบวรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหมซึ่งกราบบังคมลาออกจากราชการ ตั้งแต่ พ.ศ. 2473 ก็เปรยทูลเชิงตลกไร้แก่นสารว่ากรุงเทพฯ นี่ถ้าจะยึดให้ได้ง่ายๆ เงียบๆ จะทำอย่างไรดี

พระองค์เจ้าบวรเดชรับสั่งตอบทันควัน รับสั่งต่อเหมือนทรงรู้อะไรดีอยู่แล้ว ยึดกรุงเทพฯได้แล้วเราจะทำอะไรต่อไป จะให้อะไรที่ดีขึ้นแก่ราษฎร และพรรคพวกของเราจะรักษาสัจจะได้แค่ไหน หัวใจมันอยู่ตรงนี้...


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 มิ.ย. 10, 07:24
หลังจากเหตุการณ์ในขั้นวางแผนดำเนินมาถึงวันที่24 มิถุนายน อันเป็นวันที่คณะราษฎรปฎิบัติการ ลวงทหารออกมาชุมนุม และจับเจ้านายและนายทหารชั้นผู้ใหญ่มาไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม


และก็เช้าวันนั้นนั่นแหละ .....พลเอกท่านหนึ่งที่คณะราษฎรไม่เอ่ยถึงทั้งๆ ที่เคยเป็นถึงเสนาดีกระทรวงกลาโหม และไม่มีการจับมาเป็นตัวประกัน ท่านมาถึงลานพระบรมรูปทรงม้าในชุดกีฬา(สมัยนั้น) คือ เสื้อเชิ้ตแขนยาว กางเกงขาสั้น หมวกกะโล่ สวมถุงน่องรองเท้าคาบกล้องยาเส้น เข้ามาพบนายทหารรักษาการณ์ ขอพบหัวหน้าคณะราษฎร ท่านก็ได้พบเจ้าคุณพหลฯท่านผู้นั้นก็คือ พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ที่ประทานแผนจับตัวประกันให้เจ้าคุณพหลฯ


ชัดไหมครับ  ..แต่ก็ไม่มีใครให้ความสนใจท่านมากไปกว่านั้น สักครู่ก็จากไป


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 มิ.ย. 10, 07:37
ที่น่าสนใจต่อไปก็คือ ประโยคหนึ่งในบทสนทนาระหว่างร้อยโท ประยูร ภมรมนตรีกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ในเช้าวันนั้น ซึ่งผมค้ดจากหนังสือ “ชีวิต๕แผ่นดินของข้าพเจ้า”

…..ท่าทางของข้าพเจ้าคงป่าเถื่อนอยู่มาก สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ทรงจ้องมองข้าพเจ้าด้วยความหวาดระแวง พอข้าพเจ้าสำนึกก็วางปืนลง แล้วกราบขอพระราชทานอภัย
รู้สึกว่าทรงคลายความวิตก แล้วทรงรับสั่งถามคำแรกว่าใครเป็นหัวหน้า พระองค์บวรเดชใช่ไหม ข้าพเจ้ากราบทูลว่าไม่ใช่ ทรงถามว่าแล้วใครเล่า ข้าพเจ้าก็ตอบว่า ยังกราบทูลไม่ได้พะย่ะค่ะ…..


ผมยังเจอในที่อื่นๆอีกหลายแห่ง และแน่ใจว่า พระองค์บวรเดชมีพระทัยอยากจะปฏิวัติอยู่นานแล้ว เป็นความลับที่ทุกฝ่ายรู้ แต่ไม่มีใครเอาด้วยเพราะนิสัยการวางองค์ข่มผู้อื่นของท่านเอง การก่อกบฏในปีต่อมาจึงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย แต่การสอดแทรกองค์ท่านเข้ามาเป็นแม่ทัพทหารหัวเมืองแทนพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) เป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบ นายทหารแม่ทัพนายกองในกรุงเทพเลยกลับใจหมดไม่มีใครเอาด้วย กบฏบวรเดชจึงปิดฉากลงแบบที่พวกคณะราษฏร์สรุปว่า “ไอ้เดชหนี..ไอ้ศรีตาย”


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 21 มิ.ย. 10, 08:11
ในความเห็นที่ ๑๒  ท่านพี่นวรัตนได้กล่าวไว้ถึงเรื่อง "“ลอบประชุม” มิให้พระยาพหลรู้เห็น เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงการของกองทัพบก" 
การเปลี่ยนแปลงโครงการกองทัพบกนั้นคงจะหมายถึงการปรับลดสายการบังคับบัญชาทหาร  จากเดิมที่เสนาธิการทหารบกเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหาร  แล้วถัดลงมาเป็นกองทัพน้อย (ปัจจุบันคือ กองทัพภาค)  กองพล  กรม  และกองพัน ตามลำดับ  แต่โครงสร้างที่จัดใหม่ในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นยุบเลิกกองทัพน้อย  กองพล และกรมเสียทั้งหมด  คงเหลือแต่หน่วยกำลังระดับกองพันขึ้นตรงต่อผู้บัญชาการทหารบก  ส่วนยศนายทหารชั้นนายพลก็เลิกหมดในคราวเดียวกันนั้น

เมื่อเกิดสงครามอินโดจีนในปี พ.ศ. ๒๔๘๓  มีปัญหาการประสมกำลังทางยุทธการ  จึงทำให้ต้องรื้อฟื้นสายการบังคับบัญชาระดับกองทัพ  กองพล และกรมขึ้นมาใหม่อีกครั้ง  พร้อมกับการรื้อฟื้นยศนายพลขึ้นมาใหม่  และในคราวเดียวกันนี้ก็ได้เกิดปรากฏการณ์พิเศษ  มีนายทหารท่านหนึ่งมีความชอบพิเศษได้เลื่อนยศจากนายพลตรีเป็นจอมพลเลยทีเดียว   


ในความเห็นที่ ๑๘  ท่านอาจารย์เทาชมพูได้กล่าวถึงพระนิพนธ์ในหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย  ดิศกุล ว่า
ข้อความตอนหนึ่งในพระนิพนธ์เรื่องนี้  ที่เวลาพิมพ์  บรรณาธิการเว้นชื่อบุคคล เหลือแต่ ............ ก็เลยไม่แน่ใจว่าหมายถึงใคร
ข้อความตอนนี้พูดถึงความขัดแย้งเรื่องเลื่อนยศนายทหาร และเงินเดือนก็ต้องขึ้นไปโดยปริยาย   แต่นโยบายในตอนนั้นคือการตัดทอนงบประมาณลงให้มากที่สุด  จากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำไปทั่วโลกและกระทบถึงไทยด้วย   จึงไม่มีการอนุมัติให้กระทรวงกลาโหม

บุคคลในจุดๆ นั้น คือ นายพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ซึ่งทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหมในตอนต้นรัชกาลที่ ๗  และได้ทรงเสนอให้ขึ้นเงินเดือนทหารในที่ประชุมเสนาบดีสภา  แต่ที่ประชุมไม่เห็นด้วยเพราะอ้างถึงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ  พระองค์บวรฯ จึงทรงลาออกจากเสนาบดีกลาโหม  กล่าวกันว่าในการประชุมวันนั้นกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินกับพระองค์บวรฯ ทรงโต้เถียงกันดุเดือด  ถึงกับในกรมกำแพงฯ มีรับสั่งว่าจะส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดเมืองหงสาวดี


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มิ.ย. 10, 08:16
อ้างถึง
กงกรรมกงเกวียน การเมืองก็มีแต่เรื่องอย่างนี้ ผู้ก่อการคณะราษฎรหลายคนก็ต้องชะตากรรมเช่นเดียวกัน บางคนแม้ไม่ได้ไปเสียชีวิตที่ต่างประเทศ ก็ถูกรถชนตายข้างถนน ลูกหลานไปพบก็อยู่ในสภาพของศพไม่มีญาติเสียหลายวันแล้ว ใครอย่ามาถามผมนะครับว่าท่านที่ผมกล่าวถึงตอนท้ายนี้คือใคร

ยังจำได้ว่าใคร   เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น น่าจะเป็นช่วงที่ดิฉันเรียนจบจากจุฬาแล้ว     คลับคล้ายคลับคลาว่าเป็นรถเมล์ที่ราชประสงค์

อ้างถึง
การสอดแทรกองค์ท่านเข้ามาเป็นแม่ทัพทหารหัวเมืองแทนพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) เป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบ นายทหารแม่ทัพนายกองในกรุงเทพเลยกลับใจหมดไม่มีใครเอาด้วย

เรื่องนี้จริง   เหตุผลที่ยกมาเป็นทางการ คือนายทหารแม่ทัพนายกองเหล่านั้นรู้สึกว่า  ก็จะเป็นการนำระบอบกษัตริย์กลับมาอีก   จึงไม่มีใครเอาด้วย
พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ น่าจะทรงทราบเรื่องราวมาแต่ต้น   จึงไม่มีพระราชประสงค์จะให้นำชื่อพระองค์ท่านเป็นข้ออ้าง

กำลังจะส่งข้อความก็ชนกลางอากาศกับคุณ V_Mee พอดี   
ยินดีมากที่เข้ามาร่วมวงเร็วทันใจค่ะ   ดิฉันกำลังนึกถึงอยู่ทีเดียวว่าถ้าได้คุณ V_Mee มาเล่าเสริมถึงประวัติศาสตร์ช่วงรัชกาลที่ ๖ ต่อเนื่องจน รัชกาลที่ ๗  กระทู้ก็คงจะปั่นได้ถึง ๑๐๐


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มิ.ย. 10, 08:40
อ้างถึง
กล่าวกันว่าในการประชุมวันนั้นกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินกับพระองค์บวรฯ ทรงโต้เถียงกันดุเดือด  ถึงกับในกรมกำแพงฯ มีรับสั่งว่าจะส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดเมืองหงสาวดี

มาขยายความให้คุณ V_Mee
" มีเรื่องหนึ่งที่รู้กันดีว่า กรมพระกำแพงเพชรฯ เสนาบดีกระทรวงคมนาคม  กับพระองค์เจ้าบวรเดช(กฤดากร)เสนาบดีกระทรวงกลาโหม  เกิดวิวาทกันขึ้นด้วยเรื่องเครื่องบินพาณิชย์     กรมพระกำแพงเพชรฯเห็นว่าควรอยู่ในความควบคุมของกระทรวงคมนาคม    แต่พระองค์บวรเดชว่า-การบินเกี่ยวกับแก่การทำแผนที่ได้สะดวก  จะปล่อยให้อยู่ในมือผู้อื่นที่ไม่ใช่ทหารไม่ได้    กรมพระกำแพงเพชรฯกริ้วขึ้นมา  ถามว่า "ทหารจะไปรบกับใคร? จะไปตีเมืองหงสาฯ หรือ?"  พระองค์บวรเดชก็โกรธว่ากรมพระกำแพงเพชรฯ ด่า ...เพราะเมืองหงสาวดีเป็นเมืองมอญ   และ..ท่านบวรเดชเป็นมอญจริงๆ   แต่นั้นมา  ความไมตรีในระหว่างท่านทั้งสองนี้ก็ขาดอย่างเปิดเผย"  (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น-ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล)

คำว่า "ท่านบวรเดชเป็นมอญ" หมายถึงเชื้อสายทางเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นหรือเปล่าคะ   ดิฉันค้นหนังสือพระมเหสีเทวี ของคุณส.พลายน้อย ไม่เจอ  ต้องขอถามคุณวันดี


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: bookaholic ที่ 21 มิ.ย. 10, 13:00
ขอร่วมมือปั่นเรตติ้งด้วยคนครับ
อ่านแล้ว  ก็เห็นภาพว่า ผู้อยู่เบื้องหลังปฏิวัติ   ไม่ได้มีแต่สี่ทหารเสือเท่านั้น  แต่มีเสนาบดีวางเค้าโครงแผนการด้วยอีกองค์หนึ่ง    แต่เมื่อลงมือกระทำจริงๆ  สี่ทหารเสือก็ไม่เอาท่านเข้ามาเอี่ยวด้วย  ทำการกันไปเองจนสำเร็จ 
เมื่อสำเร็จแล้วจะเอาท่านมาทีหลัง ก็ยังไงๆอยู่  เพราะท่านก็เป็นเจ้า  ก็เลยไม่เอาให้มันตลอดรอดฝั่ง

ความสำเร็จอย่างง่ายดายของปฏิวัติ น่าจะทำให้ชุลมุนกันอยู่พักใหญ่หลังจากนั้น    อำนาจไม่เข้าใครออกใคร
เมื่อได้มาแล้วใครๆก็อยากได้เป็นของตัวเอง  เพราะต่างก็มีข้ออ้างที่จะแบ่งเค้กไม่ลงตัว

รออ่านต่อด้วยความระทึกใจครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มิ.ย. 10, 14:07
      " ก็ไม่มีอะไรแล้วนี่ขอรับ  คุณพ่อ" คุณพระผู้เป็นลูกเขยตอบด้วยเสียงค่อนข้างมั่นใจ "ก็ตกลงกันได้ด้วยดี   คณะราษฎร์ก็กราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษด้วยวาจาในวันเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวแล้ว     กระผมได้ยินเขาพูดกันว่าจะขอพระราชทานขมาลาโทษอย่างเป็นทางการ   อีกไม่นานนี่แหละขอรับ"
      "พระเจ้าอยู่หัวท่านทรงเป็นนักประชาธิปไตยแท้" คุณพระผู้เป็นลูกชายเสริมด้วยเสียงนิยมชมชื่น " มิฉะนั้น เลือดอาจจะนองแผ่นดินก็ได้  ใครจะรู้"
      " ดูไปก่อนเถอะ  อย่าเพิ่งคิดง่ายๆ" เสียงคุณปู่ยังคงเข้มงวด "เจ้าสองคนรู้จักฝิ่นมากน้อยแค่ไหน บอกพ่อซิ"
       ลูกชายกับลูกเขยมองสบตากันอย่างงงๆ   แปลกใจที่ท่านเปลี่ยนเรื่องกะทันหัน
        " ฝิ่นหรือขอรับ คุณพ่อ"
       " ฝิ่นน่ะสิ    คนที่จะได้ฝิ่นได้ก็ต้องเป็นหมอใช่ไหมเล่า    รู้คุณรู้โทษของมันอย่างเจนจบแล้วถึงจะใช้รักษาคนไข้ได้    แต่ถึงกระนั้นก็ต้องระวังให้มาก     ถ้าเป็นคนที่ไม่รู้ฤทธิ์ของฝิ่นเป็นอย่างดี    ลองได้ฝิ่นมามากๆเต็มมือ  เสพเข้าไปเมื่อไร   ถึงเวลาก็ลงแดงตายกันทุกคน..."
       ท่านหยุดพูดนิดหนึ่ง   ก่อนจะต่อท้ายอย่างสั้นๆว่า
        "อำนาจก็เหมือนฝิ่นนั่นแหละ"   
                                                             จาก "สองฝั่งคลอง"
                                                                ของ ว.วินิจฉัยกุล


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 มิ.ย. 10, 14:28
กระทู้ชักสนุก
 
คุณ bookaholicครับ คือระบอบการเมืองมันเหมือนแฟชั่น ตอนนั้นทุกคนเห็นว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชนั้นล้าสมัยเต็มที แม้เจ้านายเองท่านก็มีความคิดเช่นนั้น ที่ช้าอยู่ก็เพราะแก้ปัญหาใหญ่แบบไทยๆไม่ตก คือเมื่อเปลี่ยนระบบแล้ว จะมีคนจำนวนไม่น้อยส่วนหนึ่ง ปรับตัวไม่ได้ หรือต่อต้านไม่ยอมปรับ จะเอาคนที่ว่านี้ไปไว้ไหน ในประเทศคอมมิวนิสต์เขาเอาคนเหล่านี้ไปทำปุ๋ย การปฏิวัติตามความหมายแท้จริงจึงจะสำเร็จ พระเจ้าอยู่หัวท่านทรงหวังให้เปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปดังเช่นการเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ห้า ที่สำเร็จอย่างนิ่มนวลปราศจากการขัดแย้งนองเลือด เรื่องการเปลี่ยนระบอบการปกครองของไทยเป็นประชาธิปไตยนั้น คนระดับชั้นปกครองของประเทศทราบดีอยู่ว่ายังไงๆก็เปลี่ยนแน่ จะเมื่อไหร่เท่านั้น ดังนั้น การที่พระองค์บวรเดชจะทรงหลุดๆในเรื่องปฏิวัติบ้าง เจ้านายท่านจึงไม่อยากจะถือ ทรงทราบๆกันดีว่าท่านกำลังทรงอกหักกับตำแหน่งใหญ่ทางการทหาร และไม่ค่อยจะทรงมีความคิดที่ดีๆกับผู้บังคับบัญชานัก ส่วนผู้ก่อการเขาก็ไม่เอาด้วย เขาหลอกให้ทรงเผยไต๋ต่างหาก ไม่ใช่ถึงกับคบคิดกันหรอกครับ เพราะความเป็นเจ้าอย่างพระองค์บวรเดชเป็นจุดอ่อน ไม่มีฝ่ายไหนไว้พระทัยสักคน


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 มิ.ย. 10, 14:40
ผมจะพาท่านผู้อ่านติดตามเรื่องราวของพระยาทรงต่อไปเรื่อยๆนะครับ เรื่องข้างเคียงจะได้เปลี่ยนแนวตามไปกับท้องเรื่อง ก่อนที่ดวงชะตาของท่านจะโคจรเข้าสู่ช่วงตกอับแบบกู้ไม่ขึ้นนั้น พระยาทรงท่านทำอะไรลงไปบ้าง

เรามาดูจุดยืนทางการเมืองของท่านก่อน เรื่องนี้ร้อยโทประยูรเขียนไว้ว่า


ก่อนการปฏิวัติ พระยาทรงขอพบหลวงประดิษฐ์เป็นพิเศษเพื่อปรึกษาเรื่องรัฐธรรมนูญ …..ข้าพเจ้าได้นั่งฟังอยู่ด้วยโดยตลอดเวลา หลวงประดิษฐ์มนูธรรมพยายามบรรยายถึงความจำเป็นที่จะต้องทำการปฏิวัติให้ครบรูป ทางด้านการปกครอง การเศรษฐกิจ และการสังคมประกอบกันไป ได้สาธยายลัทธิโซเชียลิสม์ และแนวเศรษฐกิจของศาสตราจารย์ซาร์ยิด อย่างพิศดารกว้างขวาง พระยาทรงสุรเดชนั่งฟังอยู่สักครู่ใหญ่ และในที่สุดก็ได้ปรารภพูดตัดบทว่า ที่มาพบกันวันนี้ต้องการฟังเรื่องหลักการที่จะร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นสำคัญ ขอให้งดเว้นเอาเรื่องเศรษฐกิจการสังคมมาพัวพัน หน้าที่ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้มีจุดมุ่งหมายเพียงสร้างรัฐธรรมนูญขึ้นมาป็นกฏหมายสูงสุดในการบริหารประเทศชาติ ให้มั่นคงและรุ่งเรือง ส่วนเรื่องการเศรษฐกิจการสังคมเป็นเรื่องปัญหาลัทธิการเมือง อันเป็นหน้าที่ของผู้แทนราษฎรที่จะได้รับเลือกตั้งมาซึ่งจะต้องตกเป็นภาระของรัฐบาลตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญต่อไป หาใช่หน้าที่ของคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง จะมากำหนดบีบบังคับไว้ล่วงหน้าประการใดได้ไม่ และได้ย้ำในวาระสุดท้ายว่า ให้ร่างรัฐธรรมนูญตามแนวของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ ดังเช่นประเทศอังกฤษ  แล้วก็ลุกลาออกมาบ่นกับข้าพเจ้าว่าร้อนและยุงกัด ทนฟังตาขรัวอาจารย์ปรีดีของลื้อพูดจานอกเรื่อง ดูจะร้อนวิชาอยู่มาก ขอให้ช่วยติดตามฟังดูเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ แล้วนำมาปรึกษากันใหม่ แล้วลากลับไป

นี่คือมุมมองของทหารแท้ที่เห็นว่า “เมื่อสมควรจะต้องกระทำการยุทธเพื่อชาติแล้ว ก็พึงกระทำไป แต่เมื่อกระทำการนั้นสำเร็จแล้ว ก็ให้เป็นหน้าที่ของนักการเมืองในการแก้ปัญหาต่อ ทหารต้องกลับกรมกอง หาควรมาเป็นนักการเมืองเสียเองไม่”
 
แต่ทหารส่วนหนึ่งมีโอกาสแล้วก็อดที่จะลอง “ฝิ่น” ของ ว.วินิจฉัยกุลไม่ได้ และเมื่อลองเข้าไปแล้วก็เมากลับเข้ากรมกองไม่ถูกอย่างที่เห็นๆ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 มิ.ย. 10, 14:44
อย่างไรก็ดี  ในคณะรัฐบาลชุดแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่มี พระยามโนปกรณ์นิติธาดา(ก้อน หุตะสิงห์) เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร(นายกรัฐมนตรีที่เรียกตามศัพท์ของหลวงประดิษฐ์) คณะสี่เสือซึ่งเดิมตกลงกันว่าจะยุติบทบาทของตนหลังปฏิวัติสำเร็จก็ทนการอ้อนวอนร้องขอจากหลายฝ่ายไม่ไหว ยอมได้รับเลือกให้เป็นกรรมการราษฎรหรือรัฐมนตรีพร้อมๆกับผู้ก่อการคนสำคัญอื่นๆ รวมกันแล้วประมาณสองในสามของคณะกรรมการราษฎร นอกนั้นเป็นบุคคลภายนอกผู้ทรงคุณวุฒิ เมื่อประชุมสภาครั้งแรก ในวาระ2นั้น พระยาพหลได้แถลงต่อที่ประชุมดังนี้ “…บัดนี้มีรัฐธรรมนูญและสภาผู้แทนราษฎรขึ้นสำเร็จแล้ว ข้าพเจ้าขอมอบอำนาจผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหารให้แก่สภาฯแต่บัดนี้…”

แม้จะฟังดูดี แต่นั่นก็เป็นเพียงพิธีการ สภานั้นก็คือพวกของคณะราษฎรนั่นเอง ความเป็นจริงก่อนหน้านั้นการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท2 ที่มาจากการแต่งตั้ง ก็เกิดรายการวิ่งเต้นกันตีนขวิดในระหว่างพวกผู้ก่อการ ต่างคนก็ต่างมีลูกสมุนจะต้องขุนเลี้ยง เมื่อตำแหน่งในสภาหมดก็เอาตำแหน่งราชการที่หาเรื่องไล่คนของพวกเจ้าออกไป ให้คนของตนเข้าเสียบแทน พวกที่หางานหลักให้ยังไม่ได้ก็มอบงานเฉพาะกิจให้กินไปพลางๆก่อน ที่ชอบกันมากคืองานเป็นสายลับให้ตำรวจ แต่ที่โด่งดังที่สุดคืองานของหน่วยโฆษณา มีหน้าที่ออกไปชี้แจงเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้แก่ข้าราชการและประชาชนในท้องที่ต่างๆ เมื่อไม่ใช้มืออาชีพแต่ใช้คนแบบต่างตอบแทน พวกนี้พอถูกซักถามหนักๆเข้าตัวเองก็ตอบไม่ได้ เลยออกแนวตีรวนสร้างความหมั่นไส้พวกคณะราษฎร์ขึ้นแทนที่จะเป็นศรัทธา บางรายจบด้วยการตบโต๊ะ  แล้วประกาศกึกก้องว่า ถ้าผู้ใดยังไม่เข้าใจสงสัยก็ให้ถามปืนกระบอกนี้ดู กว่าผู้ก่อการจะรู้เรื่องและเลิกโครงการนี้ไป ความดีที่พอจะมีอยู่บ้างก็ตกหล่นไปเยอะ เป็นที่รู้กันว่า พวกสาวกของคณะผู้ก่อการสายพลเรือนนั้นแสบมาก ชอบนั่งรถตระเวนกรุงควงปืนแสดงความยิ่งใหญ่ พูดจากร้าวร้าวเอะอะโวยวายกับคนทั่วไป  


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มิ.ย. 10, 14:55
อ้างถึง
พระเจ้าอยู่หัวท่านทรงหวังให้เปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปดังเช่นการเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ห้า ที่สำเร็จอย่างนิ่มนวลปราศจากการขัดแย้งนองเลือด

มีคำถามนี้อยู่ในใจเหมือนกันว่า  ถ้าเรามีประชาธิปไตยแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่นเดียวกับเลิกทาส   ก็จะไม่เสียเลือดเนื้อ    และคงไม่ล้มลุกคลุกคลานต่อมาอีกหลายสิบปี
แม้แต่วันนี้ก็เถิด   เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสดๆร้อนๆ ก็ยังมีการเรียกร้องประชาธิปไตยแบบตามใจฉัน   และจบลงด้วยการเสียเลือดเนื้อและเศรษฐกิจพังพินาศ   จนเกิดคำถามกับตัวเอง  ว่าเราเคยมีประชาธิปไตยกันจริงๆด้วยหรือ   หรือมีแต่ระบอบรัฐสภาที่เลือกตั้งกันเข้ามาด้วยวิธีการสารพัดรูปแบบ   จนกลายเป็นธุรกิจการเมือง
เดี๋ยวจะออกนอกเรื่อง กลับมาที่ปี ๒๔๗๕ ดีกว่าค่ะ

การเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ ๕ ดิฉันมองว่าในช่วงเวลานั้น  ฝ่ายคัดค้าน หรือมีอำนาจคานกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นไม่มี    ความตึงเครียดกับวังหน้า หรืออำนาจของผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ก็จบสิ้นไปแล้ว   ผู้บริหารงานแผ่นดินก็เป็นพระเจ้าน้องยาเธอทั้งหลาย ที่พร้อมจะสนองพระบรมราโชบายไปในทางเดียวกัน  พระบารมีจึงแผ่ไพศาล
ในเมื่อทรงเลิกทาสอย่างนิ่มนวล  ไม่หักหาญน้ำใจ  คนจะหือจะโวยก็เลยไม่มี  ขุนนางคนไหนพอใจบ้าง  คนไหนไม่พอใจบ้างก็ย่อมสงบเสงี่ยมตามที่ตามทาง   ไม่มีผลกระทบอะไรในวงกว้าง
แต่ในรัชกาลที่ ๗  แค่อ่านพระนิพนธ์บันทึกของท่านหญิงพูนฯ เล่มเดียวก็รู้สึกว่าข้างในราชสำนักนั้นปั่นป่วนไม่ใช่เล่น     ทำนองสนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อในตน    
บุคคลสำคัญที่บริหารงานแผ่นดินเป็นพระหัตถ์ขวาของรัชกาลที่ ๕ อย่างสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ก็ดูเหมือนว่าจะไร้สิทธิ์และเสียงเท่ากับอีกพระองค์หนึ่ง ที่เป็นจุดจุดจุดจุดอยู่ในหนังสือ    แล้วพระองค์นั้นก็ไม่ทรงป๊อบปูล่าเอาเสียเลย    
ข้อนี้ก็อาจเป็นการบั่นทอนพระบารมีสมเด็จพระปกเกล้าฯ ลงไปไม่มากก็น้อย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 มิ.ย. 10, 14:58
พระยาทรงเองก็ไม่เบา แม้จะไม่เล่นการเมือง แต่ในฐานะนักวิชาการทหาร คงอยากทำโครงการเปลี่ยนแปลงกองทัพบกสยามโดยจะปรับปรุงโครงสร้างให้เล็กลง ยกเลิกยศนายพล เหลือยศสูงสุดแค่พันเอกเหมือนสวิตเซอร์แลนด์มานานแล้ว แต่ไม่มีโอกาส ก่อนปฏิวัติแย้มขึ้นมาทีนึงก็ทะเลาะกับหลวงพิบูล จนฝ่ายหลังประท้วงด้วยการวอร์คเอ้าท์กลับบ้านไปเฉยๆก็ทีนึง ต่อมาปรับความเข้าใจกันนึกว่าจะไม่เอาอีก ที่ไหนได้พอปฏิวัติเสร็จก็รีบดำเนินการในระหว่างที่ตนมีอำนาจเต็มที่ คงกลัวว่าถ้าใจเย็นไปอาจจะไม่ทันการ รายละเอียดนอกจากที่คุณวีมีของผมจะสาธยายไปแล้ว ยังแหวกแนวด้วยการตั้งคณะกรรมการเลือกผู้บังคับบัญชาขึ้น วงการทหารก็ปั่นป่วน ถูกกล่าวหาเป็นการทำลายจิตใจ และระเบียบการปกครองของทหารอย่างยิ่ง ที่เลวร้ายที่สุดคือการสั่งการโยกย้ายหน่วยทหารอย่างสายฟ้าแลบ เมื่อเข้าไปในกองทัพก็สั่งให้เป่าแตรเรียกแถว แล้วออกเดินทางไปต่างจังหวัดโดยทันที ครอบครัวนายสิบให้ติดตามกันไปเองทีหลัง เรื่องนี้ทำให้หลวงพิบูลของขึ้นมาก สงสัยลูกน้องตนคงโดนเข้าไปด้วยหลายคน เพื่อนฝูงต้องคอยดึงไว้ให้ใจเย็นๆ  พระยาทรงทำอย่างนี้ไปแล้วก็ระวังตัวเต็มที่ สั่งตั้งบังเกอร์รังปืนกลล้อมรอบวังปารุสก์ฯที่ทำงานของตนอย่างแน่นหนา

ความวุ่นวายไปหมดทุกวงการทหาร ตำรวจ พลเรือนเช่นนี้ ทุกคนก็ย่อมจะเห็นได้ แต่ขณะนั้นแล้ว ใครจะกล้าพูดกล้าวิจารณ์อย่างไร เห็นจะมีก็แต่ในนวนิยาย  เมื่อรุ้ง จิตเกษมได้ขึ้นเวทีอภิปรายต่อต้านคณะราษฎร์ว่า “…ท่านสุภาพบุรุษผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าซื่อสัตย์สุจริตและมีเกียรติยศ แต่ท่านได้เอาความยุ่งเหยิงมาสถิตแทนความมีระเบียบ เอาความแตกก๊กแตกเหล่ามาแทนความสามัคคี การรักษาตัวให้ปลอดภัยโดยตั้งป้อมค่ายขึ้นที่วังปารุสกวัน โดยจัดตำรวจลับออกลาดตระเวนจับคนที่ไม่ยอมเป็นพวกพ้อง โดยโยกย้ายนายทหารจัดรูปกองทัพสำหรับปราบจลาจล โดยบรรจุคนของตนเข้าดำรงตำแหน่งชั้นหัวหน้าอย่างไม่คำนึงถึงวุฒิความสามารถ…” ขนาดเป็นนวนิยาย นายรุ้งก็ถูกตำรวจลับจดบันทึกรายงานไปยังกรม เป็นเหตุให้ถูกติดคุกอยู่ดี


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 มิ.ย. 10, 15:02
อ้างถึง
บุคคลสำคัญที่บริหารงานแผ่นดินเป็นพระหัตถ์ขวาของรัชกาลที่ ๕ อย่างสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ก็ดูเหมือนว่าจะไร้สิทธิ์และเสียงเท่ากับอีกพระองค์หนึ่ง ที่เป็นจุดจุดจุดจุดอยู่ในหนังสือ    แล้วพระองค์นั้นก็ไม่ทรงป๊อบปูล่าเอาเสียเลย     
ข้อนี้ก็อาจเป็นการบั่นทอนพระบารมีสมเด็จพระปกเกล้าฯ ลงไปไม่มากก็น้อย


องค์นี้ จุด จุด จุด จริงๆเลยครับ สุดยอด


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มิ.ย. 10, 15:14
อ้างถึง
แต่ทหารส่วนหนึ่งมีโอกาสแล้วก็อดที่จะลอง “ฝิ่น” ของ ว.วินิจฉัยกุลไม่ได้
  :o :o :o

เรียนท่านประธานที่เคารพ
เอ่อ....ดิฉันขอใช้สิทธิ์พาดพิงเจ้าค่ะ   :(
ขอยืนยัน นั่งยันว่า"ฝิ่น" อยู่แต่ในนิยายเท่านั้นนะคะ    ถ้าอยู่ในเรือนไทยละก็   เจ้าของเรือนคงต้องขาดงานปั่นกระทู้ไปอีกหลายปี กว่าจะหลุดออกมาได้

อ้างถึง
คณะสี่เสือซึ่งเดิมตกลงกันว่าจะยุติบทบาทของตนหลังปฏิวัติสำเร็จก็ทนการอ้อนวอนร้องขอจากหลายฝ่ายไม่ไหว ยอมได้รับเลือกให้เป็นกรรมการราษฎรหรือรัฐมนตรีพร้อมๆกับผู้ก่อการคนสำคัญอื่นๆ รวมกันแล้วประมาณสองในสามของคณะกรรมการราษฎร

ขึ้นหลังเสือแล้วลงไม่ได้ เท่านั้นเอง

ชนกันกลางอากาศกับคุณนวรัตน  ขอแถมเพิ่มเติมว่า คนบางคนนอกจากลงจากหลังเสือไม่ได้  ก็ยังลำพองที่อยู่บนหลังเสืออีกด้วย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 มิ.ย. 10, 15:31
ครับ...ท่านประธาน ด้วยความเคารพท่านประธานจริงๆนะครับ ไม่ได้เหวง
ถ้าท่านจะบังคับพ้มให้ถอนคำว่า "ฝิ่น" ละก็ พ้มจะขอเปลี่ยนให้เบาลงหน่อยเป็นยาบ้า..จะได้ไหมครับ

อ้าว ยิ่งแรงใหญ่เลยหรือครับ งั้นยาหม่อง..ไหนครับ ครับๆๆๆ ถอนครับ ถอน


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มิ.ย. 10, 15:52
เรียนท่านประธานที่เคารพ
ถ้าถอนจนเหลือแต่ยาน้ำแก้ไอละก็    ขอเล่าเป็น sideline ควบคู่กันไปแทนดีกว่าค่ะ  :)

มีเกร็ดเล็กๆเกร็ดหนึ่งซึ่งไม่เป็นที่สนใจของนักประวัติศาสตร์      ก็รู้กันแต่เฉพาะคนไม่กี่คน    บังเอิญพอจะเกี่ยวกับกระทู้นี้บ้าง จึงขอบันทึกลงไว้
ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕   เมื่อคณะราษฎร์นำโดยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เรียกทหารที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่มารวมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้าได้  ก็อ่านประกาศปฏิวัติให้ฟัง  แล้วถามความสมัครใจประกอบปืน ชี้ถามนายทหารแต่ละคนว่าจะร่วมด้วยไหม   เจอเข้าแบบนี้ใครจะตอบปฏิเสธ
ในจำนวนนั้นมีนายทหารรักษาพระองค์ยศพันตรีคนหนึ่ง  อยู่แถวหลัง  ไม่ยอมเข้าด้วย  ก็แอบหลบออกจากตรงนั้นไปได้  ออกไปทางสนามเสือป่าแล้วกลับเข้าไปในกรมทหารรักษาพระองค์   รายงานผู้บังคับบัญชาชื่อพันเอกพระยาสุรเดชให้ทราบ
พระยาสุรเดชตั้งใจจะขัดขืน   แต่มาได้ข่าวว่าฝ่ายปฏิวัติจับกรมพระนครสวรรค์ไปคุมขังไว้ได้แล้ว   ก็เลยไม่กล้าทำการโดยพลการ    แต่เมื่อพระยาพหลฯเรียกไปพบในฐานะเพื่อนเก่าด้วยกัน เพื่อเกลี้ยกล่อมให้เป็นพวก
พระยาสุรเดชฯก็ปฏิเสธ   จึงถูกปลดออกจากราชการ
ส่วนนายทหารยศพันตรีคนนั้นยังอยู่ในราชการต่อมา    จนถึงเกิดการจับกุมกวาดล้างครั้งใหญ่ ปี ๒๔๘๑ ที่กรมขุนชัยนาทฯโดนร่างแหเข้าไปด้วย     ตำรวจขึ้นลิสต์นายทหารคนนี้ว่าอยู่ในข่ายปรปักษ์ของรัฐบาล     ก็ไปถึงบ้านเพื่อจับกุมเอาตัวไปสอบสวน
ตอนนั้นเช้ามาก ยังไม่ได้แต่งตัว  เขาตอบว่าขอเข้าห้องไปแต่งกายให้เรียบร้อยก่อน    พอเดินเข้าไปในห้อง ตำรวจก็ตามเข้าไป แล้วยิงตายตรงนั้นเอง  ต่อหน้าลูกเมีย   โดยไม่มีการต่อสู้หรือสอบสวนอย่างใดเลย
นายทหารรักษาพระองค์คนนั้นชื่อ พันตรี หลวงราญรณกาจ (พุฒ วินิจฉัยกุล)


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 มิ.ย. 10, 16:16
ผมเคยอ่านเรื่องนี้ครับ

และ เดี๋ยวคงมีในกระทู้นี้
ลูกน้องคนสำคัญสองสามคนของพระยาทรงก็ได้รับชะตากรรมคล้ายๆกัน


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 21 มิ.ย. 10, 17:23
สวัสดีค่ะ   :)

ไม่มีความรู้เรื่องราวเหล่านี้เลย ตอนเรียนหนังสือ ก็ไม่มีการสอนถึงเรื่องราวเบื้องลึกถึงขนาดนี้

โชคดีมากเลยค่ะที่ได้มาพบเวปฯนี้ ทำให้ได้ความรู้เรื่องราวในอดีตมากมายเหลือเกินค่ะ ต้องขอบพระคุณ
ทุกท่านจริงๆ ที่กรุณาเสียสละเวลา มาบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ กว่าจะมีวันนี้ของประเทศไทย

ขอเข้ามานั่งเป็นนักเรียนแถวหน้าๆนะคะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 21 มิ.ย. 10, 17:56
เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นซึ่งเป็นเจ้าจอมมารดาในกรมพระนเรศวรฤทธิ์ ต้นราชสกุลกฤดากรนั้นท่านเป็นมอญ จริงๆ ครับ

สำหรับจุดๆๆๆที่ท่านอาจารย์เทาชมพูกล่าวถึงนั้น  ท่านเป็นขมิ้นกับปูนกับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพมาแต่ยุคปฏิรูปราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ ๕ แล้วครับ  แล้วก็เป็นที่ทราบกันโดยเปิดเผย  แม้ในคราวที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ จะทรงจัดระเบียบราชการกระทรวงยุติธรรมเมื่อปลายปี ๒๔๕๔  ก็ยังมีรับสั่งในที่ประชุมเสนาบดีสภาว่า ถ้าให้จุดๆๆๆ ท่านนั้นมาเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมก็คงจะทำให้เสนาบดีสภาแตกเป็นเสี่ยงๆ  จึงทรงเลี่ยงให้ท่านที่จุดๆๆๆ นั้นไปเป็นอธิบดีศาลฎีกา  ซึ่งเป็นตำแหน่งเทียบเท่าเสนาบดี  เจ้าตัวท่านจึงเรียกตำแหน่งของท่านเสียโก้หรูว่า ประมุขตุลาการ  เพราะในการจัดระเบียบราชการกระทรวงยุติธรรมคราวนั้นล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงแยกอำนาจตุลาการเป็นอิสระจากอำนาจบริหาร  เสนาบดียุติธรรมคงมีอำนาจปกครองแต่งานธุรการของกระทรวง

แล้วอธิบดีศาลฎีกาท่านนั้นก็สร้างเหตุร้ายแรงจนต้องถูกปลดออกจากราชการ  และล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ถึงกับมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งเป็นเด็ดขาดห้ามมิให้กลับเข้ารับราชการอีกเลย  แต่พอถึงรัชกาลที่ ๗  แม้ท่านที่จุดๆๆๆ นั้นจะไม่ได้กลับเข้ารับราชการก็ตาม  แต่คณะอภิรัฐมนตรีซึ่งประกอบด้วยเจ้านายผู้ใหญ่ก็ยังต้องเกรงใจท่านจุดๆๆๆ ท่านนั้น

เรื่องที่พูดกันว่า เมื่อรัชกาลที่ ๕ ทรงส่งนักเรียนไปเรียนเมืองนอกแล้วกลับมารับราชการ  แต่ไม่มีโอกาสเติบโตในราชการนั้นดูจะเป็นการกล่าวที่เกินจริงไปสักนิด  เพราะในรัชกาลที่ ๖ นั้น  เจ้านายที่มีฝีมือในราชการในสมัยรัชกาลที่ ๕ ต่างก็สิ้นพระชนม์หรือทรงพระชราทุพพลภาพไปเกือบหมด  ในรัชกาลที่ ๖ จึงเป็นยุคที่ที่นักเรียนที่จบการศึกษาจากต่างประเทศได้เติบโตในราชการจนถึงเป็นเสนาบดี  ปลัดทูลฉลอง  และอธิบดี กันเป็นอันมาก  ยิ่งตำแหน่งเจ้ากรมที่เป็นตำแหน่งชั้นรองลงมาก็เป็นนักเรียนนอกกันเกือบหมด  แม้แต่เสนาบดีกลาโหมต่อจากกรมหลวงนครไชยศรี คือ เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (ม.ร.ว.อรุณ  ฉัตรกุล) ก็ไต่เต้ามาจากพลทหาร  และเสนาบดีกลาโหมคนถัดมาก็เป็นสามัญชนคือ เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม  ณ นคร)  แต่มีข้อสังเกตว่านายทหารที่สำเร็จการศึกษาจากเยอรมันกลัยไม่ค่อยเจริญก้าวหน้าในราชการ เมื่อเทียบกับผู้ที่จบจากประเทศอื่นๆ  ในข้อนี้อาจจะเป็นเพราะหลักคิดของทหารเยอรมันค่อนข้างจะแปลกแตกต่างไปจากหน่วยทหารของชาติอื่นๆ ซึ่พอดีไม่มีเอกสารหลักฐานอยู่ในมือจึงไม่กล้าฟันธงว่า แตกต่างอย่างไร

เมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ เสด็จสวรรคต  เสนาบดีที่รับราชการมาด้วยดีในรัชกาลที่ ๖ ต่างพากันลาออกไปถึง ๗ คน  จาก ๑๑  คน  แล้วผู้ที่เข้ามาเป็นเสนาบดีแทนที่ส่วนใหญ่เป็นเจ้า  เมื่อเข้ามาเป็นเสนาบดีแล้วก็ไม่สามารถทำงานให้บรรลุผลสำเร็จ  ต้องมีการเปลี่ยนตัวหรือสลับตำแหน่งกัน  ซึ่งผิดกับในสมัยรัชกาลที่ ๖  เมื่อทรงตั้งเสนาบดีแล้ว  ผู้ที่เป็นเสนาบดีนั้นก็คงรับราชการไปจนชราทุพลลภาพหรือสิ้นพระชนม์หรือถึงแก่อสัญกรรม  จึงจะมีการเปลี่ยนเสนาบดีกัน  


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มิ.ย. 10, 17:58
 ;D คุณ proudtobethai


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มิ.ย. 10, 18:16
กระทู้วิ่งเหยียบ ๔๐ แล้วใน ๒ วัน  เห็นทีจะได้ ๑๐๐ ตามเป้าในอีกไม่นาน
ขอบคุณคุณ V_Mee ที่เข้ามาตอบให้หายข้องใจค่ะ

เห็นทีจะมองข้ามท่าน จุดจุดจุดจุด ไปไม่ได้แล้ว  แต่จะเอ่ยชื่อก็กระไรอยู่  เอาเป็นว่าเพิ่มด้วยก๊อสสิปที่ไม่มีในหนังสือก็แล้วกัน   ดิฉันฟังมาจากท่านผู้หญิงท่านหนึ่งวัยเกือบ ๙๐  แล้วแต่ความจำยังดีอยู่
ท่านเล่าว่าเมื่อทูลกระหม่อมเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมาสิ้นพระชนม์  หม่อมแผ้ว หม่อมของท่านซึ่งยังสาวมากและไม่มีโอรสธิดา   ถูกบังคับให้ออกจากวัง   
ท่านจุดจุดจุดจุดนั้นเข้ามายึดกุญแจเซฟ    นำเครื่องประดับและของมีค่าไปทั้งหมด     
หม่อมแผ้วท่านต้องออกจากวังไปโดยไม่มีทรัพย์สิน   ไปอาศัยอยู่บนที่ดินของท่านที่ปทุมธานี    แต่นายทหารราชองครักษ์ที่เคยถวายรับใช้ทูลกระหม่อมมาก่อนก็สงสาร เลยช่วยเหลือดูแล  ไม่ทอดทิ้ง   ต่อมาท่านก็ได้สมรสกับนายทหารท่านนั้น
ชะตากรรมคล้ายคลึงกันนี้     พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖  ก็ทรงประสบทำนองเดียวกัน เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๖  คุณ V_Mee คงทราบรายละเอียดดีกว่าดิฉัน


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 มิ.ย. 10, 19:16
จะว่าไป โอรสของท่านจุด จุด จุด จุด พระนามว่าจุด จุด และจุด จุด ที่อยู่ใกล้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯก็จุด จุด จุดเหมือนกัน

เอ้า..คุณวีมี ช่วยเฉลยหน่อยครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มิ.ย. 10, 19:24
เรียนท่านประธานที่เคารพ
ดิฉันขอแปรญัตติจาก  ฝิ่น เป็น แปะฮวยอิ๊ว แทนได้มั้ยเจ้าคะ    
เห็นจะต้องขอใช้รีบด่วน ในค.ห.นี้แล้วละ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 22 มิ.ย. 10, 07:05
เรื่องการริบทรัพย์สินหม่อมแผ้วดังที่ท่านอาจารย์เทาชมพูได้กล่าวถึงนั้น  น่าจะเป็นเพียงหนังตัวอย่างครับ
เพราะเมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖  สวรรคต  ปฏิบัติการจองเวรก็เริ่มขึ้น  ดังที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึง พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา ซึ่งเพิ่งประสูติก็ต้องทรงประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับหม่อมแผ้ว  แล้วยังเลยไปถึงสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี  ซึ่งพระธิดาของท่านจุดๆๆๆนั้น ท่านออกพระนามว่า "...อิน"  ตลอดจนเครือญาติในสกุลสุจริตกุล  ซึ่งเป็นญาติสนิทของท่านนั้นก็พลอยโดนริบทรัพย์สินทั้งที่ดินและเครื่องประดับที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ พระราชทานไว้  

เพราะการกระทำที่เลยเถิดของท่านจุดๆๆๆ นี้เอง  พระพิบูลย์ไอศวรรย์ (เปรียบ  สุจริตกุล) เนติบัณฑิตอังกฤษจึงได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องท่านจุดๆๆๆ นั้นในฐานะเป็นประธานจัดพระราชทรัพย์หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า ผู้จัดการมรดกในรัชกาลที่ ๖  ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นการฟ้องในหลวงรัชกาลที่ ๗  เพื่อเรียกเงินตามพระราชพินัยกรรมพระราชทานเงินเลี้ยงที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงกำหนดไว้  แล้วท่านจุดๆๆๆ มายกเลิกไม่จ่ายเสียดื้อๆ  ศาลชั้นต้นพิพากษาให้พระพิบูลย์ฯ ชนะคดี  คดีขึ้นศาลอุทธรณ์แล้วเลยกลายเป็นประเด็นหนึ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ ๗ ทรงโต้ตอบกับคณะราษฎรว่า ถ้าทรงแพ้คดีพระพิบูลย์อีกจะทรงสละราชสมบัติ  สุดท้ายศาลอุทธรณ์พิพากษาแบบประนีประนอมให้พระคลังข้างที่จ่ายเงินให้ผู้มีรายชื่อตามพระราชพินัยกรรมแบบไม่เต็มจำนวน  แต่คุณพระพิบูลย์ฯ ผู้ฟ้องคดีได้เข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษาได้รับเงินเดือนมากกว่าเงินพระราชทานเลี้ยงชีพแล้ว  ให้งดไม่ต้องรับพระราชทานเงินเลี้ยงชพตามพระราชพินัยกรรม  


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: dotdotdot ที่ 22 มิ.ย. 10, 07:15
การศึกษาผมแค่ ม6 ครับ เข้ามารับการศึกษาดีๆที่นี่ ต้องขอบคุณทุกๆท่านที่ได้ให้ความรู้ต่างๆ
ผมได้นั่งเรียนอยู่นอกห้องมาสักพักหนี่งแล้ว ก็ไม่เคยคิดว่าจะต้องลงทะเบียนจนมาเจอแนวการ
สอนใหม่จากท่านอาจารย์ทั้งหลาย เกี่ยวกับวิชา จุด จุด จุด เรียนจนถึงบทที่ 43 แล้วก็ยัง
สอนแต่ จุด จุด จุด ขอความกรุณาอย่าลงโทษนักเรียนให้มากกว่านี้เลยครับ ช่วยสอนอ้าย
เจ้า จุด จุด จุด ว่าเป็นวิชาอะไรกันแน่

ขอบคุณครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 มิ.ย. 10, 07:49
จุด จุด จุด เป็นวิชาว่าด้วยกฏหมายแพ่งและอาญาคดีหมิ่นประมาทครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 22 มิ.ย. 10, 08:17
อ่านแรกๆ รู้สึกเหมือนคห.ข้างบนเลยค่ะ ว่าอาจารย์ทุกท่านสอนยากจัง :-[

แต่พออ่านๆไป ไม่แน่ใจว่าเจอคำเฉลยแทรกอยู่ด้วยใช่หรือเปล่า เลยต้องไปค้นข้อมูลเพิ่มเติม
เอาเองจากอากู๋ คุณ dotdotdot ลองค้นคว้าข้อมูลเพิมเติมเองสิคะ แล้วจะสนุกกับการเรียนวิชานี้

รออ่านต่อนะคะ อาจารย์ทุกๆท่าน ขอบพระคุณค่ะ  :)


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มิ.ย. 10, 08:26
นักเรียนใหม่ลองทำตามนักเรียนเก่าแนะนำก็ดีนะคะ  ถือว่าเป็นการค้นคว้าเพิ่มเติมนอกห้องเรียน   จะทำให้เรียนได้สนุกขึ้น  ;D
วีรกรรมของท่านจุดจุดจุดจุด มีมากมายพอตั้งกระทู้แยกได้  แต่อาจารย์ผู้สอนทั้ง ๓ คน อาจจะต้องย้ายที่อยู่ไปนอกเรือนไทย   ก็ขอกลับเข้าเรื่องเสียที


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มิ.ย. 10, 09:29
อ้างถึง
ตอนนั้นทุกคนเห็นว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชนั้นล้าสมัยเต็มที แม้เจ้านายเองท่านก็มีความคิดเช่นนั้น ที่ช้าอยู่ก็เพราะแก้ปัญหาใหญ่แบบไทยๆไม่ตก คือเมื่อเปลี่ยนระบบแล้ว จะมีคนจำนวนไม่น้อยส่วนหนึ่ง ปรับตัวไม่ได้ หรือต่อต้านไม่ยอมปรับ จะเอาคนที่ว่านี้ไปไว้ไหน ....พระเจ้าอยู่หัวท่านทรงหวังให้เปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปดังเช่นการเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ห้า ที่สำเร็จอย่างนิ่มนวลปราศจากการขัดแย้งนองเลือด เรื่องการเปลี่ยนระบอบการปกครองของไทยเป็นประชาธิปไตยนั้น คนระดับชั้นปกครองของประเทศทราบดีอยู่ว่ายังไงๆก็เปลี่ยนแน่ จะเมื่อไหร่เท่านั้น ดังนั้น การที่พระองค์บวรเดชจะทรงหลุดๆในเรื่องปฏิวัติบ้าง เจ้านายท่านจึงไม่อยากจะถือ ทรงทราบๆกันดีว่าท่านกำลังทรงอกหักกับตำแหน่งใหญ่ทางการทหาร และไม่ค่อยจะทรงมีความคิดที่ดีๆกับผู้บังคับบัญชานัก


ข่าวซุบซิบเรื่องปฏิวัติ แพร่กันอยู่ในหมู่บุคคลสำคัญมาก่อนหน้าวันที่ ๒๔ มิย.๒๔๗๕ แล้ว   ไม่ใช่ว่าเป็นปรากฏการณ์ฟ้าผ่าไม่มีใครนึกถึง   
สมเด็จกรมพระนครสวรรค์ฯ เสนาบดีมหาดไทยก็ทรงได้รับรายงานลับมาก่อน ว่ามีการสมคบคิดกันในกลุ่มนายทหาร    แต่ทรงเข้าพระทัยว่าเป็นความไม่พอใจของคนกลุ่มเล็กๆเพียงไม่กี่คน   
แล้วก็ไม่มีการลงมือทำอะไร   จึงไม่มีหลักฐานพอจะจับกุมได้  เรียกมาสอบสวนก็ต้องปล่อยไปเสียเปล่าๆ  จึงมิได้ทรงกระทำอะไรลงไป
ส่วนทางผู้ก่อการนั้นนอกจากนายทหารแล้ว มีปัญญาชนเป็นมันสมอง   ก็ช่วยกันวางแผนกระจายข่าวลือ  ปลุกปั่นความเกลียดชัง "เจ้า" ให้แพร่หลายมากขึ้น
ข่าวลือที่ได้ผล คือข่าวลือที่เป็นความจริงส่วนหนึ่งและผสมความเท็จเข้าไปอีกส่วนหนึ่ง   ไม่ใช่ข่าวลือเท็จล้วนๆ
คนเราเมื่อเห็นว่าส่วนหนึ่งเป็นเรื่องจริง มักจะเชื่อโดยอัตโนมัติว่าส่วนอื่นๆ ในเรื่องเดียวกันก็เป็นเรื่องจริงด้วยเช่นกัน

สงครามข่าวลือแบบนี้ สังคมไทยไม่รู้จักมาก่อน    ไม่รู้ว่ามันเป็นกลยุทธที่ได้ผลยิ่งกว่าหากำลังพลเสียอีก     ข่าวลือประหลาดๆแต่ก่อให้เกิดความตื่นตกใจแก่ราษฎรก็เลยเกิดขึ้นบ่อย  เช่นข่าวลือว่าจะเก็บภาษีหลังคาบ้านตามใจชอบ มาพร้อมกับข่าวการขึ้นภาษี
ผู้คนก็เลยรู้สึกว่ารัฐบาลไม่ทำอะไรนอกจากเก็บภาษี รีดเลือดเอากับปู ทั้งๆชาวบ้านก็เดือดร้อนจากเศรษฐกิจตกต่ำมากพออยู่แล้ว


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: karen ที่ 22 มิ.ย. 10, 13:19
ขอคั่นรายการ   "..อยู่ขอบเวทีมานาน  ขอคุยด้วยคนครับ.."

  เคยเข้าเวบนี้ครับ  เข้ามาเก็บเกี่ยวๆๆ  แล้วก็ออกไป แล้วก็ เข้ามาอีก  ก้อ เข้ามาบ่อยๆ 
วันนี้อดใจไม่ได้สมัครเป็นแฟนคลับซะเลย  สบายใจ

    เป็นเวบที่มีคุณค่าต่อสังคมใฝ่รู้มากทีเดียวครับ  โดยเฉพาะสำหรับ นักเรียน  กศน ( การศึกษานอกโรงเรียน /นอกระบบ)
ย้อนกลับขึ้นไปบรรทัดแรกของการทักทาย  ที่ว่าเข้ามาเก็บเกี่ยวๆๆๆ   ครั้งนั้น เข้ามาอ่าน ชาติพันธุ์วรรณาในวรรณคดี ดูเรื่อง  กะเหรี่ยงละว้า ครับ
และ ภาพจิตกรรม (ภาพกะเหรี่ยง)   อยากแลกเปลี่ยนด้วยกับ 2 เรื่องที่ผ่านมา  เอาเป็นว่า ขอคั่นรายการ และ วันนี้ขึ้นเวทีแล้ว ครับ

วกกลับเข้ามาเรื่องพระยาทรงสุรเดชฯ
  ผมมีเกร็ดเล็กๆที่เกิดขึ้นในครอบครัว รุ่น พ่อ/ปู่ ปี 2476 เมื่อ คุณพ่อ/ปู่  ได้พา พระยาสุรพันธ์(อิ้น  บุนนาค) ที่ถูกตั้งข้อหาเดียวกัน หนีไป พม่า ทาง อ.สวนผึ้ง ราชบุรี เพื่อออกไป ทวาย  และท่านพระยาสุรพันธ์ ถูกจับตัว สุดท้ายไป ตะรุเตา ...ฯลฯ...

                               เท่านี้ก่อนครับ 
                              KAREN  SUAN PHUNG
 


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มิ.ย. 10, 19:24
กระทู้นี้มีแม่เหล็ก   ดึงผู้ไม่ประสงค์แสดงตัวเข้าสมัครสมาชิกได้ ๒ คนแล้ว   หวังว่าคงจะมีอีก  ;D

อยากฟังเรื่องพระยาสุรพันธ์  ยังไม่มีเวลาไปค้นประวัติของท่าน  ขอเชิญคุณ Karen เล่าก่อนนะคะ
เรื่องชาติพันธุ์วรรณา  ถ้ามีเวลาจะย้อนกลับไปหยิบพระอภัยมณีมาปัดฝุ่นเล่าต่อ  เพราะยังบรรยายชาติพันธุ์ไม่จบ

ขอต่อจากที่เล่าค้างไว้
*******************
อ่านมาถึงค.ห.๔๙ อาจมีคนนึกว่า สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ทรงประมาทเกินไป ที่ไม่เชื่อว่าจะมีใครกล้ากบฏขึ้นมาจริงๆ    ทั้งที่มีรายงานลับแจ้งเข้ามาล่วงหน้า  
ฝ่ายที่จงรักภักดีกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ออกจะเคืองๆท่านอยู่  ว่าถ้าสั่งจับพวกนี้เสียแต่แรก เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ก็จะไม่เกิดเรื่องใหญ่โตขนาดนี้
ตำรวจคนหนึ่งทูลท่านหญิงพูนฯ ว่า
" พิโธ่    เราตามมันมาตั้ง ๓-๔ เดือนแล้ว   ท่านไม่เชื่อได้!    ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นกับทูลกระหม่อมแล้ว   กระหม่อมจะไม่สงสารเลยจนนิดเดียว"

คำตอบของสมเด็จฯกรมพระนครสวรรค์นั้น จับใจยิ่งนัก
" ก็เราเคยฝึกหัดมาให้เชื่อในเกียรติของยุนิฟอร์ม"
และ
" ฉันอาจจะทำผิดได้ดังคนสามัญทั้งหลาย   แต่ฉันไม่เคยทำชั่ว!"

ผลจากการที่ทรง "เชื่อในเกียรติของยุนิฟอร์ม" ก็คือทรงถูกจู่โจมเข้าจับกุม และคุมขังอยู่ในตำหนักราชฤทธิ์รุ่งโรจน์ หน้าพระที่นั่งอัมพรสถาน ด้วยฝีมือนายทหารซึ่งเคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา นั่นเอง
จากนั้น กลุ่มนายทหารผู้ก่อการฯ ก็ปรึกษากันว่า จะจำคุกท่านตลอดชีวิต และริบทรัพย์สินทั้งหมด     เรื่องนี้พระเจ้าอยู่หัวทรงขอร้อง ผ่อนผันให้ลดโทษลงเป็นเนรเทศและริบวังบางขุนพรหมเป็นของรัฐบาล   ทั้งที่วังนี้สร้างด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แท้ๆ
พระยามโนฯ และพระยาพหลฯ ยินยอมตามนี้  แต่ทหารหนุ่มๆไม่ยอม  ต้องเจรจากันอยู่นานถึงได้ตกลงกันว่าเป็นโทษขั้นเนรเทศและริบวังบางขุนพรหม

เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ผู้ทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ - ผู้ทรงอยู่ในฐานะจะสืบราชสมบัติต่อจากรัชกาลที่ ๖ ด้วยได้อีกพระองค์หนึ่ง - ผู้ทรงสำเร็จวิชานายทหารจากเยอรมัน เช่นเดียวกับพันเอกอีกหลายๆคนที่ก่อการปฏิวัติ - ผู้ทรงเป็นเสนาบดีมหาดไทย   มีอำนาจเป็นที่คร้ามเกรงกันทั่วสยาม -  ผู้ซึ่งทรงเชื่อในเกียรติของทหารด้วยกัน     ก็ต้องเสด็จออกจากสยามอย่างกะทันหันในวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๔๗๕   พร้อมด้วยพระชายา พระโอรสธิดา  มีเงินติดพระองค์ไป ๙๐๐๐ บาท   นั่งรถไฟเที่ยวพิเศษ คือไม่แวะสถานีไหนเลย  จากกรุงเทพลงไปทางใต้จนถึงชายแดน  จากนั้นทหารผู้ควบคุมก็ปล่อยให้ลงจากรถ    แบบปล่อยทิ้งเอาไว้ที่นั่น  มิได้อินังขังขอบด้วยอีกว่าจะทรงไปที่ไหนอย่างไร

เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ เสด็จออกจากชายแดนสยามไปถึงปีนัง  ทรงพำนักอยู่ที่นั้นชั่วระยะหนึ่ง   หาที่ลี้ภัยจนกระทั่งตกลงพระทัยว่าจะไปประทับที่เมืองบันดุง  อินโดนีเซีย   ซึ่งมีภูมิอากาศดี  ไม่ต่างจากสยามนัก  และค่าครองชีพก็ไม่แพงเหลือบ่ากว่าแรงอย่างในยุโรป
ณ เมืองบันดุง ทรงสร้างตำหนักที่ประทับขึ้น   แล้วทรงอยู่ที่นั้นตลอดพระชนม์ชีพ  มิได้มีโอกาสเสด็จกลับมาเห็นบ้านเกิดเมืองนอนอีกเลย
สิ้นพระชนม์เมื่อพ.ศ. ๒๔๘๗  ช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา  พระชนม์ ๖๓ พรรษา


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 มิ.ย. 10, 20:17
^
^

คำพังเพยที่ว่า "หอกข้างแคร่" นี่ไม่ทราบว่าผู้ใดคิดขึ้น และคิดตั้งแต่สมัยไหน แต่น่านับถือแท้
หอกข้างแคร่นั้น เจ้าของเอาไว้ใกล้ตัว เพื่อจะใช้ฆ่าคนอื่น
แต่ประวัติศาสตร์บอกว่า เจ้าของหอก กลับถูกฆ่าด้วยหอกนั้น อย่างนึกไม่ถึง

มาเดินเรื่องกันต่อครับ

การที่ผู้ก่อการตกลงใจเลือกพระยามโนปกรณ์นิติธาดามาเป็นประธานคณะกรรมการราษฎรหรือนายกรัฐมนตรีนั้น เพราะเห็นว่าเป็นผู้มีความรู้ทางด้านกฏหมายยอดเยี่ยม มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความกล้าหาญมิได้ยำเกรงต่ออิทธิพลใดๆ เล่ากันว่ากรมพระจันทบุรีนฤนาถ หลังจากที่ตกไปในสมัยรัชกาลที่6 เพราะทรงเลือกสามัญชนที่เก่งๆขึ้นมาหลายคนเป็นเสนาบดีแทนเจ้านายตามที่คุณวี_มีกล่าวไปแล้วนั้น ทรงกลับมาใหม่ในรัชกาลที่7นี้ และทรงเป็นประธานกรรมการคณะต่างๆ  การประชุมทุกครั้งเลขานุการต้องอ่านชื่อกรรมการที่มาประชุมครั้งที่แล้วให้ที่ประชุมรับทราบ ครั้งหนึ่งถึงลายเซ็นของพระยามโน เลขาฯบอกว่าลายเซ็นนี้อ่านชื่อไม่ออก วันนั้นพระยามโนไม่อยู่ในที่ประชุม องค์ประธานจึงตรัสว่า "ถ้าเขียนชื่อให้อ่านไม่ออก ก็ให้อ่านว่านายหมา" ให้เลขาบันทึกไว้ ครั้นพระยามโนได้รับรายงานการประชุมดังกล่าว ก็เขียนสำทับลงไปว่า " ถ้าเป็นคน  ก็อ่านออก "  ("เรื่องเก่าเล่าใหม่" ศิลปวัฒนธรรม พฤษภาคม 2544,116)

เรื่องนี้ดังไปทั่ว การเป็นคนไม่กลัวใครแม้จะเป็นเจ้าใหญ่นายโตก็คงจะเข้าหูเข้าตาหลวงประดิษฐ์บ้างและเคยแว่วๆว่าท่านไม่ปฏิเสธระบอบประชาธิปไตย จึงเสนอชื่อท่านพร้อมกับชื่อท่านที่เหมาะสมอื่นๆต่อคณะราษฎร สามในสี่ทหารเสืออดีตนายร้อยเยอรมันยุคไกเซอร์เห็นชื่อพระยามโนก็เอาด้วยทันที เพราะรู้จักท่านดีอยู่แล้ว เพราะสหายร่วมรุ่นอีกคนหนึ่งชื่อ พันเอก พระยาศรีพิชัยสงคราม (เจริญ จันทร์ฉาย) เป็นหลานพระยามโน สมัยเป็นนายร้อยหนุ่มๆ คณะพรรคนี้เคยไปสังสรรกันที่บ้านของท่านเป็นประจำ


ร้อยโทประยูรเขียนไว้ว่า พระองค์บวรเดชทรงถามพระยาพหลว่าทำไมไม่เลือกท่าน พระยาพหลทูลว่า เสนอแล้วแต่คนอื่นเขาไม่เอา


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 มิ.ย. 10, 20:23
หลังจากที่ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ในวันที10 ธันวาคม2497 ๒๔๗๕ ผ่านพ้นไปไม่เท่าไร รอยร้าวที่เกิดขึ้นแล้วในพวกผู้ก่อการ ก็ปริแตกหนักหนักขึ้นเพราะ“สมุดปกเหลือง” หรือ “เค้าโครงเศรษฐกิจ” ซึ่งหลวงประดิษฐ์เสนอให้ใช้เป็นแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ แต่ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ แตกความคิดเห็นเป็นสองพวก ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าโครงการนี้มีลักษณะเป็นสังคมนิยมอย่างแรง หรือว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” ไปเลย หากนำมาใช้แล้วจะเกิดจลาจลวุ่นวายแน่นอน พวกที่มีความเห็นเช่นว่านี้คือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา และรัฐมนตรีที่มาจากขุนนางเก่าทั้งหลายที่อีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า พวกศักดินา(สมัยนี้ดูเหมือนจะเรียกว่าพวกอำมาตย์) แต่รวมไปถึงผู้ก่อการที่เป็นทหารหลายคน แน่นอนว่าพระยาทรงและทหารเสือทั้งหลายรวมอยู่ด้วย แม้ว่าพระยาพหลต่อมาจะเลือกไปอยู่ฝ่ายตรงกันข้ามเพราะเขม่นพระยาทรง เลยต้องไป “ชิดชอบ” กับหลวงพิบูล ส่วนหลวงพิบูลนั้นไม่ต้องพูดถึง ข้างไหนก็ได้ แต่ตอนนี้ขอให้ตรงข้ามกับพระยาทรงก่อนก็แล้วกัน

ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งแท้ๆ ก็คือหลวงประดิษฐ์และบรรดาผู้ก่อการกลุ่มพลเรือนที่เป็นพวกพ้องร่วมอุดมการณ์และลูกศิษย์ลูกหา พวกนี้ล้วนแต่เป็นคนหนุ่มและมีหัวรุนแรงทั้งสิ้น เห็นว่าเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ประเทศสยามถึงกาลที่จะต้องเปลี่ยนรูปแบบและโครงสร้างได้แล้ว เพื่อให้ราษฎร(สมัยนี้ดูเหมือนจะเรียกว่าพวกไพร่)เป็นใหญ่ในแผ่นดิน

อย่างที่ท่านอาจารย์เทาชมพูว่าการปฏิวัติมิได้จบแค่24มิถุนายน เห็นไหมครับ เดี๋ยวนี้ถึงแม้ตัวแสดงจะเปลี่ยนไป แต่การสู้รบกันเองที่ทุกฝ่ายต่างอ้างว่าเพื่อประชาธิปไตย ในเมืองไทยยังไม่ได้จบลงเลย จะต้องมีการเสียเลือดเสียเนื้ออีกเท่าไหนก็ไม่รู้

เกี่ยวกับเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ นี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯได้ทรงมีพระราชวิจารณ์ไว้ใน “สมุดปกขาว” มีความสำคัญตอนหนึ่งว่า

“….โครงการนี้นั้น เป็นโครงการอันเดียวกันอย่างแน่นอนกับที่ประเทศรัสเซียใช้อยู่ ส่วนใครจะเอาอย่างใครนั้น ข้าพเจ้าไม่ทราบ สตาลินจะเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ หรือหลวงประดิษฐ์จะเอาอย่างสตาลินก็ตอบไม่ได้ ตอบได้ข้อเดียวว่าโครงการทั้งสองนี้เหมือนกัน เหมือนกันจนรายละเอียดที่ใช้ และรูปแบบของวิธีการกระทำ จะผิดกันก็แต่รัสเซียนั้นแก้เสียเป็นสยาม หรือสยามนั้นแก้เป็นรัสเซีย ข้าวสาลีแก้เป็นข้าวสาร หรือข้าวสารแก้เป็นข้าวสาลี…”


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 มิ.ย. 10, 20:26
เมื่อเป็นเช่นนี้ เมื่อหลวงประดิษฐ์เสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี  จึงแพ้โหวตในที่ประชุม ทำให้ตกไป ไม่สามารถเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมสภาได้ ทำให้ฝ่ายหลวงประดิษฐ์ไม่พอใจในรัฐบาลพระยามโนเป็นอย่างยิ่ง และพากันอภิปรายโจมตีพระยามโนที่ประชุมสภาอย่างเผ็ดร้อนในทุกโอกาส ยิ่งกว่านั้นสมาชิกหลายคนยังได้ใช้สิทธิ์ในฐานะที่เป็นผู้ก่อการคณะปฏิวัติ มีใบอนุญาตให้พกปืนป้องกันตัวไปไหนมาไหนได้  ถือเป็นโอกาสพกปืนเข้าไปในที่ประชุมสภากันอย่างเปิดเผย ไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม สร้างความหวาดเสียวแก่บรรดาสมาชิกสภารุ่นอาวุโส และผู้รักความสงบเป็นอย่างยิ่ง หลายท่านไม่อยากไปประชุมเพราะเกรงว่าวันหนึ่งอาจโดนลูกหลง

เมื่อเหตุการณ์ชักวุ่นวายมากขึ้น พระยามโนจึงได้ขอร้องให้พระยาทรง จัดทหารมาคอยตรวจค้นอาวุธปืนของพวกสมาชิกสภา ใครพกปืนมาก็ให้ริบไว้ก่อน เลิกประชุมแล้วจึงคืนให้ แต่สมาชิกสภากลุ่มกลับโกรธแค้นพระยามโนเป็นอย่างยิ่ง เกรี้ยวกราดโจมตีว่ารัฐบาลละเมิดอำนาจสภา เป็นเผด็จการเอาทหารมาคุมสภา อันได้ทวีความโกลาหลในที่ประชุมสภายิ่งขึ้นอีกเป็นอันมาก


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 มิ.ย. 10, 20:29
สถานะคณะรัฐบาลเองก็อยู่ในภาวะคับขันมากขึ้น หลวงประดิษฐ์กับพระยามโนมีความเห็นขัดแย้งกันรุนแรงจนไม่สามารถทำงานอะไรได้ เพื่อป้องกันมิให้ประเทศชาติต้องเสี่ยงกับการจลาจล พระยามโนจึงตัดสินใจดำเนินการกับสมาชิกสภาหัวรุนแรงด้วยการออกพระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเดิม ยกเว้นหลวงประดิษฐ์และพรรคพวกเพียง ๒-๓ คน  รัฐบาลใหม่ยังถือโอกาสออก “พระราชบัญญํติคอมมิวนิสต์” เพื่อป้องกันและลงโทษผู้ประพฤติเป็นคอมมิวนิสต์ตามออกมาในวันเดียวกันนั้น เองอีกด้วย ถือได้ว่าเป็นมาตรการรุนแรงที่พระยามโนนำออกมาจัดการกับหลวงประดิษฐ์และพรรคพวกโดยเฉพาะ และเป็นเหตุให้หลวงประดิษฐ์จำใจต้องเดินทางออกไปนอกประเทศ เพื่อศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศสอย่างไม่มีกำหนด โดยคำแนะนำของพระยามโนและคณะรัฐมนตรีฝ่ายทหาร มิฉนั้น จะไม่รับรองความปลอดภัย ว่าอย่างนั้นเถอะ

หลังจากนั้นไม่นาน “สี่ทหารเสือ” คือทั้งพระยาพหล พระยาทรง พระยาฤทธิ์อัคเนย์ และพระประศาสน์อก็ได้พร้อมใจกันยื่นใบลาออกจากหน้าที่ ทั้งในด้านทหารและด้านการเมืองทุกตำแหน่ง ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 24มิถุนายน2476 เป็นต้นไป นับเป็นข่าวใหญ่ของเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง ถึงกับมีหน้าม้าจัดการเดินขบวนของกรรมกรขึ้นเพื่อแสดงความอาลัยต่อการลาออกของ “สี่ทหารเสือ” ถือเป็นการเดินขบวนแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มิ.ย. 10, 21:24
กระทู้นี้วิ่งเร็วมาก  ๓ วันเข้าไป ๕๖ ค.ห.แล้วค่ะ  ;D

อ้างอิงค.ห. ๕๓
" ประวัติศาสตร์ไทย เดินเป็นวงกลม" เคยพูดคำนี้ไว้บนเวทีเมื่อไปอภิปรายเรื่องหนังสือ "ความฝันของนักอุดมคติ"  จนบัดนี้ก็ยังคิดเช่นนั้น

ยกคำคมมาให้อ่านกัน ระหว่างรอ
The lesson of history is rarely learned by the actors themselves.  ~James A. Garfield

Professor Johnston often said that if you didn't know history, you didn't know anything.  You were a leaf that didn't know it was part of a tree.  ~Michael Crichton, Timeline


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มิ.ย. 10, 23:05
มีเกร็ดอีกนิดหน่อย เกี่ยวกับสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์ฯ จะมาเล่าเพิ่มเติม

ในวันที่จะเสด็จออกจากเมืองไทย   สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระนครสวรรค์ ทรงมีลายพระหัตถ์มอบวังขุนพรหมให้คณะปฏิวัติ    ขอยกข้อความตอนหนึ่ง มาให้อ่านกัน
"...เมื่อได้พลีแรงงาน  กำลังกาย ทำการให้แก่ชาติโดยสุจริตและหวังดีเป็นเวลาช้านานเกือบถึง ๓๐ ปีแล้ว  และเมื่อพ้นจากหน้าที่ที่จะทำการให้แก่ชาติด้วยน้ำแรง   ยังสละทรัพย์อันมีค่าสูงให้เป็นชาติพลีอีกชั้นหนึ่ง  ดังนี้แล้ว  หากว่าจะยังถูกขึ้นชื่ออยู่ว่าเป็นผู้เอาเปรียบชาติและประชาชนไซร้   ก็เป็นอันสุดปัญญาของฉันที่จะทำให้เห็นใจได้..."


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: karen ที่ 23 มิ.ย. 10, 11:49
(ย้อนกลับขึ้นไปที่  กระทู้ที่ 50)  เกริ่นนำ  พันเอก พระยาสุรพันธ์เสนีย์  อิ้น  บุนนาค เทศาภิบาลมณฑลราชบุรี
 สายตระกูลบุนนาค เมืองเพชรบุรี  พ่อตาของ  มนัส  ยรรยงค์
            มนัส  ยรรยงค์  ได้เขียน ประวัติในหนังสือชื่อ   " ฝันร้ายในชีวิตจริงของข้าพเจ้า " ( ถูกพิมพ์ในหนังสือเครือต่วยตูน)
ตอนหนึ่งกล่าวถึง  พระยาสุรพันธ์ หนีฝ่ายรัฐ หวังจะออกไปพม่า ทาง ทวาย ไปทางหมู่บ้านกะเหรี่ยงสวนผึ้ง ราชบุรี 
เพราะรู้จักคุ้นเคยกับผู้นำกะเหรี่ยงสวนผึ้ง คือ  กำนัน ตาไม้  และ ลูกชาย ระเอิน  บุญเลิศ ( ท่านแรกคือ ปู่ ท่านที่ 2 คือ พ่อ ผมครับ)
วันที่ท่านพระยาสุรพันธ์หนีมาถึงสวนผึ้ง    อาผมคือ  โสภา  แต่งงานพอดี คนที่พระยาสุรพันธ์ รับไปเลี้ยง หวังจะให้คนป่า เป็นคนเมือง ที่จวนราชบุรี

                                    ....................................ฯลฯ............................

วันที่ตำรวจโรงพัก จอมบึง มาขู่บังคับ ให้  ตาไม้ ตามจับ พระยาสุรพันธ์   
ช่วงเวลาที่ พระยาสุรพันธ์ "จนตรอก"
วันเวลาที่กะเหรี่ยงสวนผึ้ง สยายเส้นผม ล้างเท้า พระยาสุรพันธ์ ด้วยผงขมิ้นและน้ำส้มป่อย
สุดท้าย  กำนัน กะเหรี่ยง สวนผึ้งที่ชื่อ ตาไม้   ถูกหาว่าทรยศ ต่อ เพื่อนและผู้บังคับบัญชา ( พระยาสุรพันธ์ )

  เรื่องราวเหล่านี้ ยังคงถูกเล่าต่อปากต่อปาก  ส่งต่อจากคนรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่ง
  กาลเวลา  ย่อมกลืนกินสรรพสิ่ง  อีกไม่นาน  ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เรื่องราวของ " คนใน" คงจะลบเลือน
  ดังคำกล่าวของคนกะเหรี่ยงสวนผึ้งที่ว่า

          ...เส้นทางเดิน  ถ้าไม่มีคนใช้  อีกไม่นานก็จะลบเลือน
             ญาติพี่น้อง    ถ้าไม่ไปมาหาสู่กัน  อีกไม่นานก็ไม่รู้จักกัน
             เรื่องเก่าๆ  ถ้าไม่นำมาเล่า  อีกไม่นานก็จะหลงลืม.."

                    karen suanphung


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 มิ.ย. 10, 12:25
เดาว่า ถ้ากำนันไม้ไม่ยอมร่วมมือกับตำรวจ   ตัวเองและลูกเมียก็คงจะลำบากเดือดร้อนกันไปหมด อาจจะถึงตาย
ก็เลยต้องยอมร่วมมือ
เป็นเหตุให้ถูกกล่าวหาว่าทรยศต่อเจ้านายเก่าผู้มีพระคุณ
ชะตาพระยาสุรพันธ์เสนีเป็นอย่างไรต่อไป รอดจากตะรุเตากลับมาได้ไหมคะ?
*****************
พระยาสุรพันธ์เสนีไม่ใช่พระยาคนเดียวที่ตกที่นั่งลำบาก    ทั้งนี้ดิฉันจะไม่กล่าวถึงพระยาอีกหลายท่านที่ถูกส่งไปตะรุเตา    คุณนวรัตนคงจะเล่าในโอกาสต่อไป
ขอเล่าแต่เพียงว่า แม้แต่พระยานักวิชาการ ซึ่งมิได้เกี่ยวข้องใดๆกับการเมือง  ก็ยังถูกหางเลข"ประชาธิปไตย" จากผู้ที่ไม่รู้ความหมายแท้จริงของคำนี้ เล่นงานเอาด้วย

ในปี ๒๔๗๕ เมื่อคณะราษฎร์เปลี่ยนแปลงการปกครองได้แล้ว   ความฮึกเหิมใน " ประชาธิปไตย" ก็ตื่นตัวขึ้นในหมู่ปัญญาชน   ถึงขั้นว่า"คณะนักเรียนเก่า และนักเรียนปัจจุบันของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" เข้าชื่อกันไล่มหาอำมาตย์ตรีพระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา)  ออกจากผู้บัญชาการมหาวิทยาลัย  
"คณะกรรมการราษฎร" ที่ตั้งขึ้นมาจากกลุ่มคณะราษฎร์ และมีอำนาจยิ่งใหญ่ไพศาล ได้นำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระปกเกล้าฯ เพื่อขอพระบรมราชานุญาตปลดพระยาภะรตราชา ตามที่นิสิตเรียกร้องมา
แต่พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงยินยอม  ทรงตอบมาว่า
"...การยอมให้นักเรียนเลือกผู้ปกครองตนเอง   และถอดครูบาอาจารย์กันอย่างนี้  ไม่ทรงสบายพระราชหฤทัย   ต่อไปจะรักษา discipline กันอย่างไร?  ควรระวัง  อย่าให้เกิดมีเรื่องขึ้นอีก..."
อย่างไรก็ตาม  พระยาภะรตราชาก็พ้นหน้าที่จากจุฬาฯ ในวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๔๗๕ นั้นเอง


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 มิ.ย. 10, 12:41
ขอเล่าถึงความเป็นมาของ "คณะกรรมการราษฎร " ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้ทรงพระราชทานพระบรมราชานุมัติ ให้ใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. ๒๔๗๕ เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ และในวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๔๗๕ สภาผู้แทนราษฎรอันประกอบด้วย สมาชิกซึ่งคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารได้ตั้งขึ้น จำนวน ๗๐ นาย ได้ประชุมกันเป็นครั้งแรก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
   ในที่ประชุม ได้เลือก พระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน  หุตะสิงห์) เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร ส่วนคณะกรรมการราษฎรมีรายชื่อต่อไปนี้
๑. นายพลเรือตรี พระยาปรีชาชลยุทธ (วัน จารุภา)  กรรมการราษฎร 
๒. มหาอำมาตย์ตรี พระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล)  กรรมการราษฎร 
๓. นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)  กรรมการราษฎร 
๔. นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน)  กรรมการราษฎร 
๕. นายพันเอก พระยาฤทธิอัคเณย์ (สละ เอมะศิริ)  กรรมการราษฎร   
๖. อำมาตย์เอก พระยาประมวญวิชาพูล (วงศ์ บุญหลง)  กรรมการราษฎร 
๗. นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ์ (วัน ชูถิ่น)  กรรมการราษฎร   ๘. นายพันตรี หลวงพิบูลสงคราม (แปลก พิบูลสงคราม)  กรรมการราษฎร 
๙. นายนาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน)  กรรมการราษฎร 
๑๐. อำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)  กรรมการราษฎร 
๑๑. รองอำมาตย์เอก หลวงเดชสหกรณ์ (หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์)  กรรมการราษฎร 
๑๒. รองอำมาตย์เอก ตั้ว ลพานุกรม  กรรมการราษฎร 
๑๓. รองอำมาตย์เอก ประยูร ภมรมนตรี  กรรมการราษฎร 
๑๔. นายแนบ พหลโยธิน  กรรมการราษฎร 

   ในขณะที่รัฐสภากำลังเปิดประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะกรรมการราษฎร
อันมีพระยามโนปกรณนิติธาดา เป็นประธานกรรมการราษฎรนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานข้อกังขามายังพระยามโนปกรณนิติธาดาว่าการใช้คำว่า "กรรมการราษฎร" แทน "Minister" หรือ "เสนาบดี" ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น ทรงเห็นว่าไม่เหมาะ ในฐานะที่กรุงสยามมีกษัตริย์ "กรรมการราษฎร" หนักไปในทาง Commissar ของโซเวียตในรัฐสภา

           ผลของการลงมติที่ประชุมรัฐสภาให้ใช้คำว่า "รัฐมนตรี" แทน "กรรมการราษฎร" และ
ใช้คำว่า "นายกรัฐมนตรี" แทน "ประธานคณะกรรมการราษฎร" และนี่คือที่มาของคำว่า "รัฐมนตรี"


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 มิ.ย. 10, 13:07
อ้างถึง
อย่างไรก็ดี  ในคณะรัฐบาลชุดแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่มี พระยามโนปกรณ์นิติธาดา(ก้อน หุตะสิงห์) เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร(นายกรัฐมนตรีที่เรียกตามศัพท์ของหลวงประดิษฐ์) คณะสี่เสือซึ่งเดิมตกลงกันว่าจะยุติบทบาทของตนหลังปฏิวัติสำเร็จก็ทนการอ้อนวอนร้องขอจากหลายฝ่ายไม่ไหว ยอมได้รับเลือกให้เป็นกรรมการราษฎรหรือรัฐมนตรีพร้อมๆกับผู้ก่อการคนสำคัญอื่นๆ รวมกันแล้วประมาณสองในสามของคณะกรรมการราษฎร นอกนั้นเป็นบุคคลภายนอกผู้ทรงคุณวุฒิ เมื่อประชุมสภาครั้งแรก ในวาระ2นั้น พระยาพหลได้แถลงต่อที่ประชุมดังนี้ “…บัดนี้มีรัฐธรรมนูญและสภาผู้แทนราษฎรขึ้นสำเร็จแล้ว ข้าพเจ้าขอมอบอำนาจผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหารให้แก่สภาฯแต่บัดนี้…”

ขอเลี้ยวแยกออกซอยไปเล็กน้อย   จากที่คุณนวรัตนกล่าวไว้ 
ในบทบัญญัติ ๓๙ มาตรา ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้  ได้ให้อำนาจคณะกรรมการราษฎรไว้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด  คือ
- มีอำนาจออกกฎหมายใดๆก็ได้เอง  ในกรณีฉุกเฉินเรียกประชุมสภาไม่ทัน
- มีอำนาจให้อภัยโทษ
- มีอำนาจกำหนดนโยบายต่างประเทศ
- มีอำนาจเหนือพระมหากษัตริย์ในการตั้ง และถอดถอนเสนาบดี
- มีอำนาจเหนือพระมหากษัตริย์ในการประกาศสงคราม
- มีสิทธิ์กระทำการได้แทนพระมหากษัตริย์ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มีเหตุจำเป็นที่จะทำหน้าที่ไม่ได้ หรือไม่อยู่ในพระนคร

คำถามที่อาจจะอยู่ในใจบางคนก็คือ    อุดมการณ์ของคณะราษฎร์ที่จะให้ "อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลาย"  มันสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือเปล่า
"คณะกรรมการราษฎร" เป็นใคร เหตุใดจึงไม่มีตัวตนอยู่ในประกาศ ๖ ข้อของคณะราษฎร์  ที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นคนร่าง
ประกาศ ๖ ข้อ ที่คณะราษฎรวางไว้ มีอยู่ว่า
๑.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
๒.จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
๓.ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
๔.จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้)
๕.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น
๖.จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

และคำถามสุดท้ายคือ คณะกรรมการราษฎร มีชาวบ้านรวมอยู่ด้วยสักคนหรือเปล่า?


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 23 มิ.ย. 10, 14:02
ขออนุญาติเสริมข้อมูล (นอกเรื่อง) นะครับ

ที่มา : พันทิป (ไม่รับประกันความถูกต้องของข้อมูล)


พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕



หมวด ๑

ข้อความทั่วไป


มาตรา ๑ อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย

มาตรา ๒ ให้มีบุคคลและคณะบุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ เป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรตามที่จะได้กล่าวต่อไปในธรรมนูญ คือ

๑ .กษัตริย์

๒. สภาผู้แทนราษฎร

๓ .คณะกรรมการราษฎร

๔ .ศาล



หมวด ๒

กษัตริย์


มาตรา ๓ กษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดของประเทศ พระราชบัญญัติก็ดี คำวินิจฉัยของศาลก็ดี การอื่น ๆ ซึ่งจะมีบทกฎหมายระบุไว้โดยเฉพาะก็ดี จะต้องกระทำในนามของกษัตริย์

มาตรา ๔ ผู้เป็นกษัตริย์ของประเทศ คือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว การสืบมรดกให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ และด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร

มาตรา ๕ ถ้ากษัตริย์มีเหตุจำเป็นชั่วคราวที่จะทำหน้าที่ไม่ได้ หรือไม่อยู่ในพระนคร ให้คณะกรรมการราษฎรเป็นผู้ใช้สิทธิแทน

มาตรา ๖ กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาญายังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย

มาตรา ๗ การกระทำใด ๆ ของกษัตริย์ต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎรจึงใช้ได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ



หมวด ๓

สภาผู้แทนราษฎร


ส่วนที่ ๑

อำนาจและหน้าที่

มาตรา ๘ สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจออกพระราชบัญญัติทั้งหลาย พระราชบัญญัตินั้นเมื่อกษัตริย์ได้ประกาศให้ใช้แล้ว ให้เป็นอันใช้บังคับได้

ถ้ากษัตริย์มิได้ประกาศให้ใช้พระราชบัญญัตินั้นภายในกำหนด ๗ วัน นับแต่วันที่ได้รับพระราชบัญญัตินั้นจากสภา โดยแสดงเหตุผลที่ไม่ยอมทรงลงพระนาม ก็มีอำนาจส่งพระราชบัญญัตินั้นคืนมายังสภา เพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ถ้าสภาลงมติยืนตามมติเดิม กษัตริย์ไม่เห็นพ้องด้วย สภามีอำนาจออกประกาศพระราชบัญญัตินั้นใช้บังคับเป็นกฎหมายได้

มาตรา ๙ สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจดูแลควบคุมกิจการของประเทศ และมีอำนาจนัดประชุมกันถอดถอนกรรมการราษฎร หรือพนักงานรัฐบาลผู้หนึ่งผู้ใดก็ได้


ส่วนที่ ๒

ผู้แทนราษฎร

มาตรา ๑๐ สมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นไปตามกาลสมัยดังนี้

สมัยที่ ๑

นับแต่วันใช้ธรรมนูญนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะถึงเวลาที่สมาชิกในสมัยที่ ๒ จะเข้ารับตำแหน่ง ให้คณะราษฎรซึ่งมีคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร เป็นผู้ใช้อำนาจแทนจัดตั้งผู้แทนชั่วคราวขึ้นเป็นจำนวน ๗๐ นาย เป็นสมาชิกในสภา

สมัยที่ ๒

ภายในเวลา ๖ เดือน หรือจนกว่าจะจัดประเทศเป็นปกติเรียบร้อย สมาชิกในสภาจะต้องมีบุคคล ๒ ประเภททำกิจการร่วมกัน คือ

ประเภทที่ ๑ ผู้แทนที่ราษฎรจะได้เลือกตั้งขึ้นจังหวัดละ ๑ นาย ถ้าจังหวัดใดมีราษฎรเกินกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน ให้จังหวัดนั้นเลือกตั้งผู้แทนเพิ่มขึ้นอีก ๑ นาย ทุก ๆ ๑๐๐,๐๐๐ นั้น เศษของ ๑๐๐,๐๐๐ ถ้าเกินกว่าครึ่ง ให้นับเพิ่มขึ้นอีก ๑

ประเภทที่ ๒ ผู้เป็นสมาชิกอยู่แล้วในสมัยที่ ๑ มีจำนวนเท่ากับสมาชิกประเภทที่ ๑ ถ้าจำนวนเกินให้เลือกกันเองว่าผู้ใดจะคงเป็นสมาชิกต่อไป ถ้าจำนวนขาดให้ผู้ที่มีตัวอยู่เลือกบุคคลใด ๆ เข้าแทนจนครบ

สมัยที่ ๓

เมื่อจำนวนราษฎรทั่วพระราชอาณาเขตได้สอบไล่วิชาประถมศึกษาได้ เป็นจำนวนเกินกว่าครึ่งและอย่างช้าต้องไม่เกิน ๑๐ ปี นับแต่วันใช้ธรรมนูญนี้ สมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นผู้ที่ราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นเองทั้งสิ้น สมาชิกประเภทที่ ๒ เป็นอันไม่มีอีกต่อไป

มาตรา ๑๑ คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนประเภทที่ ๑ คือ

๑ สอบไล่วิชาการเมืองได้ตามหลักสูตร ซึ่งสภาจะได้ตั้งขึ้นไว้

๒ อายุ ๒๐ ปี บริบูรณ์

๓ ไม่เป็นผู้ไร้หรือเสมือนไร้ความสามารถ

๔ ไม่ถูกศาลพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิในการรับเลือก

๕ ต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย

๖ เฉพาะผู้สมัครรับเลือกเป็นผู้แทนประเภทที่ ๑ ในสมัยที่ ๒ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกในสมัยที่ ๑ เสียก่อนว่า เป็นผู้ที่ไม่ควรสงสัยว่า จะนำมาซึ่งความไม่เรียบร้อย

มาตรา ๑๒ การเลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ ๑ ในสมัยที่ ๒ ให้ทำดังนี้

๑ ราษฎรในหมู่บ้านเลือกผู้แทนเพื่อออกเสียงตั้งผู้แทนตำบล

๒ ผู้แทนหมู่บ้านเลือกผู้แทนตำบล

๓ ผู้แทนตำบลเป็นผู้เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

การเลือกตั้งสมาชิกในสมัยที่ ๓ จะมีกฎหมายบัญญัติภายหลังโดยจะดำเนินวิธีการที่ให้สมาชิกได้เลือกตั้งผู้แทน ในสภาโดยตรง

มาตรา ๑๓ ผู้แทนประเภทที่ ๑ จะอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ ๔ ปี นับแต่วันเข้ารับตำแหน่ง แต่เมื่อถึงสมัยที่ ๓ แล้ว แม้ผู้แทนในสมัยที่ ๒ จะได้อยู่ในตำแหน่งไม่ถึง ๔ ปีก็ดี ต้องออกจากตำแหน่งนับแต่วันที่ผู้แทนในสมัยที่ ๓ ได้เข้ารับตำแหน่ง

ถ้าตำแหน่งผู้แทนว่างลงเพราะเหตุอื่น นอกจากถึงคราวออกตามเวร ให้สมาชิกเลือกตั้งผู้อื่นขึ้นใหม่ให้เต็มที่ว่าง แต่ผู้แทนใหม่มีเวลาอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาที่ออกไปนั้นชอบที่จะอยู่ได้

มาตรา ๑๔ ราษฎรไม่ว่าเพศใดเมื่อมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ ย่อมมีสิทธิออกเสียงลงมติเลือกผู้แทนหมู่บ้านได้ คือ

๑ มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์

๒ ไม่เป็นผู้ไร้หรือเสมือนไร้ความสามารถ

๓ ไม่ถูกศาลพิพากษาให้เสียสิทธิในการออกเสียง

๔ ต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย

คุณสมบัติของผู้แทนหมู่บ้านและผู้แทนตำบล ให้เป็นไปเหมือนดั่งมาตรา ๑๑

มาตรา ๑๕ การเลือกตั้งผู้แทนใด ๆ ให้ถือตามคะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้มีการเลือกตั้งครั้งที่ ๒ ถ้าครั้งที่สองมีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ตั้งคนกลางออกเสียงชี้ขาด และให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนกลางไว้

มาตรา ๑๖ ผู้แทนนอกจากถึงเวรจะต้องออกจากตำแหน่งให้นับว่าขาดจากตำแหน่งเมื่อขาด คุณสมบัติดังกล่าวในมาตรา ๑๑ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเมื่อตาย หรือเมื่อสภาวินิจฉัยให้ออก ในเมื่อสภาเห็นว่าเป็นผู้ทำความเสื่อมเสียให้แก่สภา

มาตรา ๑๗ การฟ้องร้องสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรเป็นคดีอาญายังโรงศาล จะต้องได้รับอนุญาตจากสภาก่อน ศาลจึงจะรับฟ้องได้

ส่วนที่ ๓

ระเบียบการประชุม

มาตรา ๑๘ ให้สมาชิกเลือกกันขึ้นเป็นประธานของสภา ๑ นาย มีหน้าที่ดำเนินการของสภาและมีรองประธาน ๑ นายเป็นผู้ทำการแทน เมื่อประธานมีเหตุขัดข้องชั่วคราวที่จะทำหน้าที่ได้

มาตรา ๑๙ เมื่อประธานไม่อยู่หรือไม่สามารถมาได้ ก็ให้รองประธานแทนเป็นผู้รักษาความเรียบร้อยในสภา และจัดการให้ได้ปรึกษาหารือกันตามระเบียบ

มาตรา ๒๐ ถ้าประธานและรองประธานไม่อยู่ในที่ประชุมทั้ง ๒ คน ก็ให้สมาชิกที่มาประชุมเลือกตั้งกันเองขึ้นเป็นประธานคนหนึ่งชั่วคราวประชุมนั้น

มาตรา ๒๑ การประชุมปกติให้เป็นหน้าที่ของสภาเป็นผู้กำหนด

การประชุมพิเศษจะมีได้ต่อเมื่อสมาชิกมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่า ๑๕ คนได้ร้องขอ หรือคณะกรรมการราษฎรได้ร้องขอให้เรียกประชุม การนัดประชุมพิเศษ ประธานหรือผู้ทำการแทนประธานเป็นผู้สั่งนัด

มาตรา ๒๒ การประชุมทุกคราว ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุมปรึกษาการได้

มาตรา ๒๓ การลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษานั้น ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ สมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้ามีจำนวนเสียงลงคะแนนเท่ากัน ให้ผู้เป็นประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นได้อีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา ๒๔ สมาชิกไม่ต้องรับผิดในถ้อยคำใด ๆ ที่ได้กล่าวหรือแสดงเป็นความเห็น หรือในการออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมผู้หนึ่งผู้ใดว่าจะกล่าวฟ้องร้องเพราะเหตุนั้นหาได้ไม่

มาตรา ๒๕ ในการประชุมทุกคราว ประธานต้องสั่งให้เจ้าหน้าที่ประจำในสภาจดรายงานรักษาไว้และเสนอเพื่อให้ สมาชิกได้ตรวจแก้ไขรับรอง แล้วให้ผู้เป็นประธานในที่ประชุมลงนามกำกับไว้

มาตรา ๒๖ สภามีอำนาจตั้งอนุกรรมการเพื่อทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือให้สอบสวนพิจารณาทำความเห็นในเรื่องหนี่งขึ้นเสนอต่อในที่ประชุมใหญ่ เพื่อปรึกษาตกลงอีกชั้นหนึ่งก็ได้ ประธานอนุกรรมการนั้น เมื่อสภาไม่ได้ตั้ง ก็ให้อนุกรรมการเลือกกันเองตั้งขึ้นเป็นประธานได้

อนุกรรมการมีอำนาจเชิญบุคคลใด ๆ มาชี้แจงแสดงความเห็นได้ อนุกรรมการและผู้ที่เชิญมาได้รับสิทธิในการแสดงความเห็นตามมาตรา ๒๔

ในการประชุมอนุกรรมการนั้น ต้องมีอนุกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่า ๓ นาย จึงจะเป็นองค์ประชุมปรึกษาการได้ เว้นแต่อนุกรรมการนั้นจะมีจำนวนตั้งขึ้นเพียง ๓ คน เมื่อมาประชุมแค่ ๓ คน ก็ให้นับว่าเป็นองค์ประชุมได้

มาตรา ๒๗ สภามีอำนาจตั้งระเบียบการปรึกษาหารือ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามธรรมนูญนี้ (ในชั้นแรกนี้ ให้อนุโลมใช้ข้อบังคับสภากรรรมการองคมนตรี เฉพาะที่ไม่ขัดกับธรรมนูญนี้ไปพลางก่อน)



หมวดที่ ๔

คณะกรรมการราษฎร


ส่วนที่ ๑

อำนาจและหน้าที่

มาตรา ๒๘ คณะกรรมการราษฎรมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภา

มาตรา ๒๙ ถ้ามีการฉุกเฉินเกิดขึ้น ซึ่งคณะกรรมการจะเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ทันท่วงทีมิได้ และคณะกรรมการเห็นสมควรจะต้องออกกฎหมายเพื่อให้เหมาะแก่การฉุกเฉินนั้น ๆ ก็ทำได้แต่จะต้องรีบนำกฎหมายนั้นขึ้นให้สภารับรอง

มาตรา ๓๐ คณะกรรมการราษฎรมีอำนาจให้อภัยโทษ แต่ให้นำความขึ้นขอพระบรมราชานุญาตเสียก่อน

มาตรา ๓๑ ให้เสนาบดีกระทรวงต่าง ๆ เป็นผู้รับผิดชอบต่อคณะกรรมการราษฎรในกิจการทั้งปวง

สิ่งใดซึ่งเป็นการฝ่าฝืนต่อคำสั่ง หรือระเบียบการของคณะกรรมการราษฎร หรือกระทำไป โดยธรรมนูญไม่อนุญาตให้ทำได้ ให้ถือว่าการนั้นเป็นโมฆะ

ส่วนที่ ๒

กรรมการราษฎรและเจ้าหน้าที่ประจำ

มาตรา ๓๒ คณะกรรมการราษฎร ประกอบด้วยประธานคณะกรรมการราษฎร ๑ นาย และกรรมการราษฎร ๑๔ นาย รวมเป็น ๑๕ นาย

มาตรา ๓๓ ให้สภาเลือกตั้งสมาชิกในสภาผู้หนึ่ง ขึ้นเป็นประธานกรรมการ และให้ผู้เป็นประธานนั้นเลือกสมาชิกในสภาอีก ๑๔ นาย เพื่อเป็นกรรมการ การเลือกนี้เมื่อได้รับความเห็นชอบของสภาแล้ว ให้ถือว่าผู้ที่ได้รับเลือกนั้น ๆ เป็นกรรมการของสภา ในเมื่อสภาเห็นว่า กรรมการมิได้ดำเนินกิจการตามรัฐประสานนโยบายของสภา สภามีอำนาจเชิญกรรมการให้ออกจากเจ้าหน้าที่ แล้วเลือกตั้งใหม่ตามที่กล่าวในตอนนั้น

มาตรา ๓๔ กรรมการคนใดมีเหตุอันกระทำให้กรรมการคนนั้นขาดคุณสมบัติอันกำหนดไว้สำหรับผู้แทนในมาตรา ๑๐ ก็ตาม หรือตายก็ตาม ให้สภาเลือกกรรมการแทนสำหรับตำแหน่งนั้น ๆ

ในเมื่อสภาได้เลือกตั้งกรรมการแล้ว สภาชุดนั้นหมดกำหนดอายุตำแหน่งเมื่อใด ให้ถือว่ากรรมการชุดนั้นย่อมหมดกำหนดอายุตำแหน่งด้วย

มาตรา ๓๕ การตั้งการถอดตำแหน่งเสนาบดี ย่อมเป็นพระราชอำนาจของกษัตริย์ พระราชอำนาจนี้จะทรงใช้แต่โดยตามคำแนะนำของคณะกรรมการราษฎร

มาตรา ๓๖ การเจรจาการเมืองกับต่างประเทศ เป็นหน้าที่ของกรรมการราษฎร และกรรมการอาจตั้งผู้แทนเพื่อการนี้ได้

การเจรจาได้ดำเนินไปประการใด ให้กรรมการรายงานกราบบังคมทูลกษัตริย์ทรงทราบ

การให้สัตยาบันสัญญาทางพระราชไมตรี เป็นพระราชอำนาจของกษัตริย์ แต่จะทรงใช้พระราชอำนาจนี้ตามคำแนะนำของกรรมการราษฎร

มาตรา ๓๗ การประกาศสงครามเป็นพระราชอำนาจของกษัตริย์ แต่จะทรงใช้พระราชอำนาจนี้ตามคำแนะนำของกรรมการราษฎร

ส่วนที่ ๓

ระเบียบการประชุม

มาตรา ๓๘ ระเบียบการประชุมของคณะกรรมการราษฎรให้อนุโลมตามที่บัญญัติ ในหมวดที่ ๓



หมวดที่ ๕

ศาล

มาตรา ๓๙ การระงับข้อพิพาทให้เป็นไปตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลานี้



ประกาศมา ณ วันที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ และให้ใช้บังคับได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 23 มิ.ย. 10, 14:23
ธรรมนูญประชาธิปก (ร่างรัฐธรรมนูญในรัชกาลที่ ๗ ฉบับที่ ๑ จากจำนวน ๒ ฉบับ)

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๔๖๙ โดย พระยากัลยาณไมตรี (Dr. Francis B. Sayre)

***แปลจากภาษาอังกฤษ*** (จากพันทิป ซึ่งนำมาจาก วิษณุ เครืองาม, กฎหมายรัฐธรรมนูญ, พิมพ์ครั้งที่ 2,  2523, หน้า 132-134 )

Outline of Preliminary Draft

มาตรา ๑ อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์

มาตรา ๒ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีนายหนึ่งซึ่งรับผิดชอบต่อพระองค์ในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งปวง และให้นายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งตามพระราชอัธยาศัย

มาตรา ๓ ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในการแต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรีทั้งหลาย ซึ่งเป็นเจ้ากระทรวงต่าง ๆ โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบต่อพระมหากษัตริย์ในกิจการทั้งปวงของแต่ละกระทรวง และจะต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติภารกิจตามนโยบายทั่วไปของรัฐบาล ดังที่มีพระบรมราชโองการ และรับผิดชอบในการประสานงานระหว่างกระทรวงต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุนโยบายดังกล่าว

มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีแต่ละนายรับผิดชอบโดยตรงต่อนายกรัฐมนตรี สำหรับงานในกระทรวงของตน และให้ร่วมปฏิบัติภาคกิจตามนโยบายทั่วไปของรัฐบาลตามคำบัญชาของนายกรัฐมนตรี

มาตรา ๕ ให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยให้คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยรัฐมนตรีทุกนาย คณะรัฐมนตรีอาจอภิปรายปัญหาสำคัญอันเป็นประโยชน์ได้เสียร่วมกันได้แต่ให้ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในการลงมติทั้งปวง

มาตรา ๖ ให้นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์เพื่อขอรับพระบรมราชวินิจฉัย ในปัญหาทั้งปวงอันเกี่ยวด้วยนโยบายทั่วไป และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดก็ตาม นายกรัฐมนตรีต้องปฏิบัติตามพระบรมราชโองการ

มาตรา ๗ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งมนตรี ๕ นาย ประกอบกันเป็น อภิรัฐมนตรีสภา ให้นายกรัฐมนตรีเป็นสมาชิกอภิรัฐมนตรีสภาโดยตำแหน่ง แต่ห้ามรัฐมนตรีนายอื่นดำรงตำแหน่งสมาชิกด้วย อภิรัฐมนตรีไม่มีอำนาจทางบริหาร ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ก็ตาม อำนาจหน้าที่ของอภิรัฐมนตรีสภามีเพียงถวายความคิดเห็นแด่พระมหากษัตริย์ ในปัญหาเกี่ยวด้วยนโยบายทั่วไป หรือปัญหาอื่นใดอันมิใช่รายละเอียดเกี่ยวกับงานบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลเท่านั้น อภิรัฐมนตรีสภาไม่มีอำนาจเสนอแนะให้แต่งตั้งใครดำรงตำแหน่งใดตลอดจนเสนอแนะ รายละเอียดเกี่ยวกับการปกครอง อย่างไรก็ตาม อภิรัฐมนตรีสภามีอำนาจเปลี่ยนแปลงผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี

มาตรา ๘ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและถอดถอนสมาชิกองคมนตรีสภาตามพระราชอัธยาศัย

มาตรา ๙ ภายในระยะเวลา ๓ วันนับแต่วันเสวยราชสมบัติ พระมหากษัตริย์จะทรงเลือกบุคคลหนึ่งเป็นรัชทายาทด้วยคำแนะนำและยินยอมขององค์มนตรีสภา บุคคลผู้จะเป็นรัชทายาทได้นั้น จะต้องเป็นโอรสของพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระบรมราชินี หรือเป็นบุคคลอื่นซึ่งอยู่ในราชตระกูล แต่ทั้งนี้ไม่จำต้องอยู่ในลำดับฐานะมีพระอิสริยยศสูง หรือมีอาวุโสสูง การกำหนดบุคคลใดให้เป็นรัชทายาทย่อมไม่อาจเพิกถอนได้ แต่อาจถูกทบทวนใหม่ได้ในเวลาสิ้นสุดของทุกกำหนด ๕ ปี โดยพระมหากษัตริย์ด้วยคำแนะนำและยินยอมขององคมนตรีสภา หากพระมหากษัตริย์สวรรคตก่อนมีการเลือกรัชทายาท ให้องคมนตรีสภาเลือกบุคคลหนึ่งขึ้นเป็นรัชทายาททันทีหลังจากที่พระมหากษัตริย์สวรรคต ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดก็ตาม สามในสี่ของสมาชิกองคมนตรีสภา ซึ่งอยู่ในราชอาณาจักร ย่อมประกอบกันเป็นองค์ประชุมกำหนดตัวรัชทายาท

มาตรา ๑๐ ภายใต้บังคับแห่งพระราชอำนาจสูงสุด ศาลฎีกาและศาลอื่นใดทั้งหลายซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตั้งขึ้นเป็นคราว ๆ เป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ

มาตรา ๑๑ อำนาจสูงสุดทางนิติบัญญัติเป็นของพระมหากษัตริย์

มาตรา ๑๒ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญนี้กระทำได้โดยพระมหากษัตริย์ประกอบด้วยคำแนะ นำและยินยอมจากสามในสี่ของสมาชิกองคมนตรีสภา

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๔๗๔ โดย Raymond B. Stevens ที่ปรึกษากระทรวงต่างประเทศ เเละ พระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง หรือ หุ่น ฮุนตระกูล)


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 23 มิ.ย. 10, 14:39
ธรรมนูญประชาธิปก (ร่างรัฐธรรมนูญในรัชกาลที่ ๗ ฉบับที่ ๒ จากจำนวน ๒ ฉบับ)

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๔๗๔ โดย Raymond B. Stevens ที่ปรึกษากระทรวงต่างประเทศ เเละ พระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง หรือ หุ่น ฮุนตระกูล)


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 มิ.ย. 10, 14:42
ขอบคุณคุณภาณุเมศร์ค่ะ

อ้างถึง
มาตรา ๑๐ สมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นไปตามกาลสมัยดังนี้
สมัยที่ ๑
นับแต่วันใช้ธรรมนูญนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะถึงเวลาที่สมาชิกในสมัยที่ ๒ จะเข้ารับตำแหน่ง ให้คณะราษฎรซึ่งมีคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร เป็นผู้ใช้อำนาจแทนจัดตั้งผู้แทนชั่วคราวขึ้นเป็นจำนวน ๗๐ นาย เป็นสมาชิกในสภา
สมัยที่ ๒
ภายในเวลา ๖ เดือน หรือจนกว่าจะจัดประเทศเป็นปกติเรียบร้อย สมาชิกในสภาจะต้องมีบุคคล ๒ ประเภททำกิจการร่วมกัน คือ

ประเภทที่ ๑ ผู้แทนที่ราษฎรจะได้เลือกตั้งขึ้นจังหวัดละ ๑ นาย ถ้าจังหวัดใดมีราษฎรเกินกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน ให้จังหวัดนั้นเลือกตั้งผู้แทนเพิ่มขึ้นอีก ๑ นาย ทุก ๆ ๑๐๐,๐๐๐ นั้น เศษของ ๑๐๐,๐๐๐ ถ้าเกินกว่าครึ่ง ให้นับเพิ่มขึ้นอีก ๑

ประเภทที่ ๒ ผู้เป็นสมาชิกอยู่แล้วในสมัยที่ ๑ มีจำนวนเท่ากับสมาชิกประเภทที่ ๑ ถ้าจำนวนเกินให้เลือกกันเองว่าผู้ใดจะคงเป็นสมาชิกต่อไป ถ้าจำนวนขาดให้ผู้ที่มีตัวอยู่เลือกบุคคลใด ๆ เข้าแทนจนครบ

สมัยที่ ๓

เมื่อจำนวนราษฎรทั่วพระราชอาณาเขตได้สอบไล่วิชาประถมศึกษาได้ เป็นจำนวนเกินกว่าครึ่งและอย่างช้าต้องไม่เกิน ๑๐ ปี นับแต่วันใช้ธรรมนูญนี้ สมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นผู้ที่ราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นเองทั้งสิ้น สมาชิกประเภทที่ ๒ เป็นอันไม่มีอีกต่อไป
*******************
     " ผมรู้สึกว่ามีบางข้อที่ผมยังไม่สนิทใจ     เราต้องการให้อำนาจอธิปไตยอยู่กับราษฎร   แต่เหตุใดเมื่อมีสภาผู้แทนราษฎรแล้ว  จึงต้องมีสมาชิกสภาถึง ๒ ประเภท    แทนที่จะเป็นผู้แทนจากราษฎรโดยตรงเพียงประเภทเดียว   กลับให้คณะราษฎร์มีอำนาจแต่งตั้งประเภทที่ ๒ ถึง ๗๐ คน    แล้วยังมีเงื่อนไขอีกว่า  จะเหลือแต่ประเภทผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งโดยตรง   ก็เมื่อจำนวนราษฎรทั่วพระราชอาณาเขต ได้สอบไล่วิชาประถมศึกษา  ได้เป็นจำนวนเกินกว่าครึ่ง  และอย่างช้าไม่เกิน ๑๐ ปี นับจากนี้   เงื่อนไขนี้มันโผล่มาจากไหน"
                                                     จาก "ราตรีประดับดาว"
                                                         ของ ว.วินิจฉัยกุล


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 23 มิ.ย. 10, 14:47
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๔๗๔ โดย Raymond B. Stevens ที่ปรึกษากระทรวงต่างประเทศ เเละ พระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง หรือ หุ่น ฮุนตระกูล)

ข้อความนี้ใน คคห. 63 ของผมพิมพ์เกินนะครับ  แท้จริงแล้วเป็นข้อความอธิบาย คคห. 64 ครับ

ใน คคห. 63 นั้น  เป็นการแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยในปัจจุบัน จึงมีการใช้คำบางคำที่ยังไม่ได้ใช้ในสมัยนั้น (ตามความหมายในปัจจุบัน เช่น  นายกรัฐมนตรี)


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 23 มิ.ย. 10, 14:53
ผมอ่านเจอว่าท่านโดนวางยาพิษใชหรือไม่ครับ
นายพันเอกพระยาทรง สุรเดช เป็นผู้นำสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ.2475 โดยหากขาดท่านผู้นี้ ก็ต้องฟันธงได้เลยว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จะไม่มีวันสำเร็จได้เลยในวันนั้น
หลังการปฏิวัติสำเร็จลง พระยาทรงฯไม่ขอรับตำแหน่งใดในรัฐบาล ไม่ขอเพิ่มยศเป็นนายพล ไม่ขอคุมกำลังทางทหาร แต่ท่านถูกขอให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
แต่ ในภายหลังสถานการณ์พลิกผันทำให้ชะตากรรมของพระยาทรงฯต้องถูกเนรเทศไปอยู่ใน อินโดจีนของฝรั่งเศส คือเวียดนาม และสุดท้ายที่เขมร อย่างอนาถา ส่วนลูกน้องถูกประหารชีวิตไป 18 ศพ
แม้กระทั่งยามยากในญวนและเขมร ต้องอยู่บ้านเช่าโกโรโกโส ปั่นจักรยานถีบ และทำขนมไทยขายขายเลี้ยงประทังชีวิต แต่เมื่อไทยตกอยู่ใต้การยึดครองของญี่ปุ่น ก็พยายามอย่างโดดเดี่ยวที่จะขับไล่ญี่ปุ่นอย่างมืดมนลำพัง
แม้ว่า ต้องตกระกำลำบากในเขมรขนาดนั้น และเป็นเวลาที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองทั่วเอเชีย รวมทั้งเขมรและไทยด้วยนั้น ญี่ปุ่นได้ติดต่อลับๆจะให้นายพันเอกพระยาทรงสุรเดชกลับไปมีอำนาจโค่นล้ม ปฏิปักษ์ของท่าน
คือจอมพลป. ซึ่งญี่ปุ่นชักไม่ไว้ใจ แต่พระยาทรงฯปฏิเสธ เพราะเห็นเป็นการทรยศบ้านเมือง ยอมระกำลำบากดีกว่า อันนี้นับเป็นจิตใจที่น่าเชิดชูยิ่ง
สุดท้ายเมื่อสิ้นสงครามโลกครั้ง ที่ 2 ผู้มีอำนาจขณะนั้นส่งนายทหารคนหนึ่งไปลอบวางยาพิษพระยาทรงฯถึงแก่ความตายใน เขมร ทั้งที่มีหวังกำลังจะได้กลับจากการลี้ภัย สุดท้ายคุณหญิงของท่านและทหารรับใช้ต้องทำพิธีอย่างศพอนาถา



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 23 มิ.ย. 10, 14:58
ขออนุญาตเสริมข้อมูล (นอกเรื่อง) ครั้งสุดท้ายครับ


ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑


ราษฎรทั้งหลาย


เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระเชษฐานั้น ในชั้นต้นราษฎรบางคนได้หวังกันว่า กษัตริย์องค์ใหม่นี้จะปกครองราษฎรให้ร่มเย็น แต่การณ์ก็หาได้เป็นไปตามที่คิดหวังกันไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจเหนือกฎหมายอยู่ตามเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้างและการซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการเปลี่ยนเงิน ผลาญเงินของประเทศ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร กดขี่ข่มเหงราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม ดังที่จะเห็นได้จากความตกต่ำในทางเศรษฐกิจและความฝืดเคืองในการทำมาหากิน ซึ่งพวกราษฎรได้รู้กันอยู่โดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิสามารถแก้ไขให้ฟื้นขึ้นได้

การที่แก้ไขไม่ได้ก็เพราะรัฐบาลของกษัตริย์มิได้ปกครองประเทศเพื่อราษฎร ตามที่รัฐบาลอื่น ๆ ได้กระทำกัน รัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่าไพร่บ้าง ข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดียรัจฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เหตุฉะนั้น แทนที่จะช่วยราษฎร กลับพากันทำนาบนหลังราษฎร จะเห็นได้ว่า ภาษีอากรที่บีบคั้นเอาจากราษฎรนั้น กษัตริย์ได้หักเอาไว้ใช้ปีหนึ่งเป็นจำนวนหลายล้าน ส่วนราษฎรสิ กว่าจะหาได้แม้แต่เล็กน้อย เลือดตาแทบกระเด็น ถึงคราวเสียเงินราชการหรือภาษีใด ๆ ถ้าไม่มีเงินรัฐบาลก็ยึดทรัพย์หรือใช้งานโยธา แต่พวกเจ้ากลับนอนกินกันเป็นสุข ไม่มีประเทศใดในโลกจะให้เงินเจ้ามากเช่นนี้ นอกจากพระเจ้าซาร์และพระเจ้าไกเซอร์เยอรมัน ซึ่งชนชาตินั้นก็ได้โค่นราชบัลลังก์ลงเสียแล้ว

รัฐบาลของกษัตริย์ได้ปกครองอย่างหลอกลวงไม่ซื่อตรงต่อราษฎร มีเป็นต้นว่าหลอกว่าจะบำรุงการทำมาหากินอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ครั้นคอย ๆ ก็เหลวไป หาได้ทำจริงจังไม่ มิหนำซ้ำกล่าวหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้กิน ว่าราษฎรยังมีเสียงทางการเมืองไม่ได้ เพราะราษฎรโง่ คำพูดของรัฐบาลเช่นนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าราษฎรโง่ เจ้าก็โง่เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน ที่ราษฎรรู้ไม่ถึงเจ้านั้นเป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้ เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าเมื่อราษฎรได้มีการศึกษา ก็จะรู้ความชั่วร้ายที่พวกเจ้าทำไว้ และคงจะไม่ยอมให้เจ้าทำนาบนหลังคนอีกต่อไป

ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศเป็นอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบและกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน ? ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั้นเอง บ้านเมืองกำลังอัตคัดฝืดเคือง ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนา เพราะทำนาไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง รัฐบาลไล่คนงานออกอย่างเกลื่อนกลาด นักเรียนที่เรียนสำเร็จแล้วและทหารที่ปลดกองหนุนแล้วก็ไม่มีงานทำ จะต้องอดอยากไปตามยถากรรม เหล่านี้เป็นผลของกษัตริย์เหนือกฎหมาย บีบคั้นข้าราชการชั้นผู้น้อย นายสิบ และเสมียน เมื่อให้ออกจากงานแล้วก็ไม่ให้เบี้ยบำนาญ ความจริงควรเอาเงินที่พวกเจ้ากวาดรวบรวมไว้มาจัดบำรุงบ้านเมืองให้คนมีงานทำ จึงจะสมควรที่สนองคุณราษฎรซึ่งได้เสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้ร่ำรวยมานาน แต่พวกเจ้าก็หาได้ทำอย่างใดไม่ คงสูบเลือดกันเรื่อยไป เงินเหลือเท่าไหร่ก็เอาไปฝากต่างประเทศ คอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรม ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย

เหตุฉะนั้น ราษฎร ข้าราชการ ทหาร และพลเรือน ที่รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว จึงรวมกำลังตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้น และได้ยึดอำนาจของกษัตริย์ไว้ได้แล้ว คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ก็โดยที่จะต้องจัดการปกครอง โดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลายๆ ความคิดดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงได้อัญเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎรได้แจ้งความประสงค์นี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจ ลงมาก็จะชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองแบบอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา ตามวิธีนี้ราษฎรพึงหวังเถิดว่าราษฎรจะได้รับความบำรุงอย่างดีที่สุด ทุกๆ คนจะมีงานทำ เพราะประเทศของเราเป็นประเทศที่อุดมอยู่แล้วตามสภาพ เมื่อเราได้ยึดเงินที่พวกเจ้ารวบรวมไว้จากการทำนาบนหลังคนตั้งหลายร้อยล้าน มาบำรุงประเทศขึ้นแล้ว ประเทศจะต้องเฟื่องฟูขึ้นเป็นแม่นมั่น การปกครองซึ่งคณะราษฎรจะพึงกระทำก็คือ จำต้องวางโครงการอาศัยหลักวิชา ไม่ทำไปเหมือนคนตาบอด เช่นรัฐบาลที่มีกษัตริย์เหนือกฎหมายทำมาแล้ว เป็นหลักใหญ่ ๆ ที่คณะราษฎรวางไว้ มีอยู่ว่า

๑.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

๒.จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

๓.ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

๔.จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้)

๕.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น

๖.จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ราษฎรทั้งหลายจงพร้อมใจกันช่วยคณะราษฎรให้ทำกิจอันจะคงอยู่ชั่วดินฟ้านี้ให้สำเร็จ คณะราษฎรขอให้ทุกคนที่มิได้ร่วมมือเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลกษัตริย์เหนือกฎหมายพึงตั้งตนอยู่ในความสงบและตั้งหน้าทำมาหากิน อย่าทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางต่อคณะราษฎร การที่ราษฎรช่วยคณะราษฎรนี้ เท่ากับราษฎรช่วยประเทศและช่วยตัวราษฎร บุตร หลาน เหลน ของตนเอง ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบริบูรณ์ ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพพ้นจากการเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาสพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือ ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า “ศรีอาริยะ” นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า


คณะราษฎร

๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

ต้นฉบับ
http://upload.wikimedia.org/wikisource/th/9/9f/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A1_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2475.pdf (http://upload.wikimedia.org/wikisource/th/9/9f/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A1_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2475.pdf)


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 มิ.ย. 10, 16:02
“….ท่านสุภาพบุรุษที่เปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าซื่อสัตย์สุจริตและมีเกียรติยศ แต่ท่านเอาความยุ่งเหยิงมาสถิตย์แทนความเป็นระเบียบ เอาความแตกก๊กแตกเหล่ามาแทนความสามัคคี การรักษาตัวเองให้ปลอดภัยโดยตั้งป้อมค่ายอยู่ในวังปารุสกวัน โดยจัดตำรวจลับออกลาดตระเวนจับคนที่ไม่ยอมเป็นพวกพ้อง โดยโยกย้ายนายทหาร และจัดรูปกองทัพแบบปราบจลาจล โดยบรรจุคนของตัวเข้าดำรงตำแหน่งชั้นหัวหน้าในราชการอย่างไม่คำนึงถึงวุฒิความสามารถ เหล่านี้กระทำไปในนามของราษฎร…..
……รัฐบาลนี้อ้างว่าได้จัดตั้งขึ้นโดยราษฎรและเพื่อราษฎร ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เราก็ต้องมีอำนาจที่จะบังคับรัฐบาลให้บริหารในทางที่เป็นประโยชน์แก่เราทั้งหลายร่วมกัน ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของรัฐมนตรีและเพื่อนพ้องของรัฐมนตรีเท่านั้น มิฉนั้นเราก็ต้องเปลี่ยนรัฐบาลใหม่…..”
                                                                    จาก เมืองนิมิตร : ความฝันของนักอุดมคติ
                                                                     ของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน
************************




กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 มิ.ย. 10, 22:37
อ้างถึง
ผมอ่านเจอว่าท่านโดนวางยาพิษใชหรือไม่ครับ
นายพันเอกพระยาทรง สุรเดช เป็นผู้นำสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ.2475 โดยหากขาดท่านผู้นี้ ก็ต้องฟันธงได้เลยว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จะไม่มีวันสำเร็จได้เลยในวันนั้น
หลังการปฏิวัติสำเร็จลง พระยาทรงฯไม่ขอรับตำแหน่งใดในรัฐบาล ไม่ขอเพิ่มยศเป็นนายพล ไม่ขอคุมกำลังทางทหาร แต่ท่านถูกขอให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
แต่ ในภายหลังสถานการณ์พลิกผันทำให้ชะตากรรมของพระยาทรงฯต้องถูกเนรเทศไปอยู่ใน อินโดจีนของฝรั่งเศส คือเวียดนาม และสุดท้ายที่เขมร อย่างอนาถา ส่วนลูกน้องถูกประหารชีวิตไป 18 ศพ
แม้กระทั่งยามยากในญวนและเขมร ต้องอยู่บ้านเช่าโกโรโกโส ปั่นจักรยานถีบ และทำขนมไทยขายขายเลี้ยงประทังชีวิต แต่เมื่อไทยตกอยู่ใต้การยึดครองของญี่ปุ่น ก็พยายามอย่างโดดเดี่ยวที่จะขับไล่ญี่ปุ่นอย่างมืดมนลำพัง
แม้ว่า ต้องตกระกำลำบากในเขมรขนาดนั้น และเป็นเวลาที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองทั่วเอเชีย รวมทั้งเขมรและไทยด้วยนั้น ญี่ปุ่นได้ติดต่อลับๆจะให้นายพันเอกพระยาทรงสุรเดชกลับไปมีอำนาจโค่นล้ม ปฏิปักษ์ของท่าน
คือจอมพลป. ซึ่งญี่ปุ่นชักไม่ไว้ใจ แต่พระยาทรงฯปฏิเสธ เพราะเห็นเป็นการทรยศบ้านเมือง ยอมระกำลำบากดีกว่า อันนี้นับเป็นจิตใจที่น่าเชิดชูยิ่ง
สุดท้ายเมื่อสิ้นสงครามโลกครั้ง ที่ 2 ผู้มีอำนาจขณะนั้นส่งนายทหารคนหนึ่งไปลอบวางยาพิษพระยาทรงฯถึงแก่ความตายใน เขมร ทั้งที่มีหวังกำลังจะได้กลับจากการลี้ภัย สุดท้ายคุณหญิงของท่านและทหารรับใช้ต้องทำพิธีอย่างศพอนาถา

ตอนจบของชะตากรรมพระยาทรงก็เป็นไปอย่างที่คุณwerachaisubhongเอามาจากอินเทอเน็ตนั่นแหละครับ แต่นั่นถือว่าเป็นหนังตัวอย่างของเรื่องที่ผมจะเอามาเสนอต่อไปก็แล้วกัน ผมรับรองว่าเนื้อหาของกระทู้นี้เข้มข้น ไม่เคยมีมาก่อนไม่ว่าในเวปไหน ดูซีครับ ผมไปต่างจังหวัดวันสองวัน กลับมามีหลายท่านเอาข้อมูลข้างเคียงมาเสริมให้เพียบ ขอบคุณทุกท่านมากครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 มิ.ย. 10, 22:47
ต่อความจากตอนที่แล้ว

อ้างถึง
หลังจากนั้นไม่นาน “สี่ทหารเสือ” คือทั้งพระยาพหล พระยาทรง พระยาฤทธิ์อัคเนย์ และพระประศาสน์ก็ได้พร้อมใจกันยื่นใบลาออกจากหน้าที่ ทั้งในด้านทหารและด้านการเมืองทุกตำแหน่ง ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 24มิถุนายน2476 เป็นต้นไป นับเป็นข่าวใหญ่ของเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง ถึงกับมีหน้าม้าจัดการเดินขบวนของกรรมกรขึ้นเพื่อแสดงความอาลัยต่อการลาออกของ “สี่ทหารเสือ” ถือเป็นการเดินขบวนแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย
เบื้องลึกของเรื่องนี้ก็คือ อดีตเพื่อนรักนักเรียนนายร้อยเยอรมันที่มีฝีมือการฟันดาบเอเป้ทัดเทียมกัน ทั้งคู่ประลองกีฬานี้กันบ่อยๆก็จริง แต่วันหนึ่งพระยาพหลวิ่งควงมีดปังตอมาทั้งๆที่นุ่งผ้าโสร่งผืนเดียว ตะโกนหาพระยาทรงว่า ไอ้เทพ มึงทำอย่างนี้มาฟันกับกูดีกว่า พระยาทรงได้ยินเสียงมาก่อนตัวก็หลบฉากออกจากห้องมาขึ้นรถ ให้ขับไปหาเพื่อนอีกสองเสือ บอกว่า ไอ้พจน์มันกลัดมันเป็นบ้า อยู่ด้วยกันไม่ได้แล้ว ได้ความว่า พระยาทรงไปแก้คำสั่งการทางทหารของเจ้าคุณพหล พอนายทหารคนสนิทรายงานให้ทราบขณะที่ท่านเข้าครัวกำลังทำกับข้าว เลือดปรี๊ดขึ้นหน้าคว้ามีดสับหมูได้ก็จะไปสับคนที่ไม่เห็นแก่หน้าท่าน กลุ่มสามเสือปรึกษากันแล้วก็สรุปว่า เราไปบอกพระยาพหลว่าถ้าอยู่ไปแล้วต้องมาทะเลาะกันเองอย่างนี้ ก็ลาออกจากตำแหน่งตามที่ตั้งใจกันไว้ตั้งแต่ก่อนว่า หากปฏิวัติสำเร็จแล้ว จะวางมือให้คนอื่นเขาทำงานการเมืองกันไปดีกว่า แล้วให้พระประศาสตร์ผู้ที่พระยาพหลรักใคร่ชอบพอที่สุดไปชวนพระยาพหลให้ลาออกด้วย ซึ่งก็สำเร็จเป็นไปตามนั้น หลังจากการลาออกจากตำแหน่งแล้ว พระยาทรงและพระประศาสตร์จะเดินทางไปพม่าเพื่อดูงานและพักผ่อนสักระยะหนึ่งก่อนจะกลับเข้ามารับหน้าที่ในตำแหน่งใหม่
 
พระยาพหลนั้น ข้อมูลอีกกระแสหนึ่งอ้างว่า ที่รีบลงชื่อขอลาออกไปด้วยนั้นเพราะไม่อยากให้ทั้งสามคนเปลี่ยนใจ แต่หวังว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯจะยับยั้งใบลาออกของตน เพราะมีการเดินขบวนแสดงความเสียดายหากจะลาออกจริง ทว่าไม่เป็นไปเช่นนั้นเพราะคนทางสายนายกได้ไปกราบบังคมทูลไว้ให้ทรงปล่อยบุคคลทั้งสี่ไป เพื่อจะได้ตั้งนายทหารสายขุนนางเข้ามาแทนที่


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 มิ.ย. 10, 22:59
ความจริงแล้ว พระยามโนเจอเรื่องที่สี่เสือขอลาออกนี้เข้าท่านก็เกือบสลบ หลังจากปรึกษากับพระยาราชวังสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งแนะนำท่านว่าให้ฟังเสียงพวกผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองดู การทำงานข้างหน้าจะได้สมัครสมานกันราบรื่น เมื่อเชิญหลวงพิบูลมาปรึกษาแล้ว สรุปว่าให้เชิญพลตรี พระยาพิไชยสงคราม(แก็บ สรโยธิน) เป็นผู้บัญชาการทหารบกแทนพระยาพหล และพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม(ดิ่น ท่าราบ)เป็นเจ้ากรมยุทธการทหารบก ส่วนพันโทหลวงพิบูลสงครามจะขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก โดยหลวงพิบูลเป็นผู้ไปเจรจาทาบทามนายทหารชั้นผู้ใหญ่ทั้งสองด้วยตนเอง พระยาศรีสิทธิสงครามนั้นตกลงรับเพราะเห็นด้วยกับหลวงพิบูลเรื่องการโยกย้ายทหารที่พระยาทรงสั่งการไว้ โดยหลวงพิบูลขอให้ช่วยแก้ไข และหาทางป้องกันไม่ให้พระยาทรงกลับเข้ามามีอำนาจอีกได้ เมื่อทั้งสองท่านตกลงลงแล้วจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าลงมา ตามที่นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าเสนอ

แต่กลับเป็นว่า ภายในระยะเวลาประมาณเดือนเดียว คำสั่งโยกย้ายนายทหารที่พระยาศรีสิทธิสงครามออกมาแบบสายฟ้าแลบนั้น ได้สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายแก่วงการทหารอีกครั้งหนึ่ง ล่าสุดมีสายลับมารายงานหลวงพิบูลว่า กำลังจะมีคำสั่งชุดใหม่ออกมาโยกย้ายนายทหารพวกผู้ก่อการให้พ้นจากสายบังคับบัญชา หลวงพิบูลจึงตัดสินใจที่จะทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนตามที่บรรดาผู้ก่อการทั้งทหารและพลเรือนมาขอร้อง โดยมีเหตุผลว่า พวกขุนนางภายใต้ความเห็นชอบของกษัตริย์กำลังจะดำเนินการริดรอนอำนาจของคณะราษฎร เพื่อหาทางฟื้นฟูระบบราชาธิปไตยขึ้นมาอีก แต่หลวงพิบูลประมาณตนเองว่ายังบารมีไม่ถึงที่จะเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ จึงไปเชิญพระยาพหลมาเป็นผู้นำในครั้งนี้

เพียงแปดสิบวันหลังนายกรัฐมนตรีปิดสภา ก็เกิดการปฏิวัติขึ้นแล้วบังคับให้พระยามโนลาออก ซึ่งท่านก็ยอมลาออกโดยดี และในที่สุดเพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง หลังมีข่าวไม่สู้ดีเกี่ยวกับกบฏบวรเดช ท่านจึงเดินทางไปหลบภัยที่ปีนัง ซึ่งท่านคิดถูกแล้ว ถ้าอยู่ เขาคงหาข้อหาให้ท่านติดคุกแน่นอน แต่ท่านก็เลยถึงแก่พิราลัยที่นั่น ไม่ได้กลับเมืองไทยอีก


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 มิ.ย. 10, 06:54
การปฏิวัติดังกล่าวนับว่าเป็นการปฏิวัติเงียบ หวังเพียงเพื่อจี้นายกให้ลาออก  เมื่อสำเร็จและตกลงในการวางตัวว่าใครจะไปใครจะมาในค.ร.ม. เสร็จแล้ว พวกผู้แทนที่ถูกปิดสภาไปก็ทำหนังสือถึงประธานสภา ให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อเปิดสภาใหม่ เมื่อสภาเปิดก็โหวตให้พระยาพหลเป็นนายกรัฐมนตรีตามโผ แทนพระยามโนที่ลาออกไป

พระยาพหลพลพยุหเสนาจึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่2ของสยาม แทนที่จะเป็นคนที่1เพราะตอนนั้นยังเหนียมๆไปหน่อย

เมื่อเป็นนายกแล้ว ผู้แทนสายพลเรือนก็เรียกร้องให้เอาหลวงประดิษฐ์ที่ถูกรัฐบาลที่แล้วเนรเทศไปเรียนหนังสือที่ฝรั่งเศสกลับมา เมื่อกลับมาและได้เป็นรัฐมนตรีเสร็จสรรพ ส.ส.อุตรดิษฐ์ก็ได้เสนอให้สภาตั้งคณะกรรมการสอบสวนหลวงประดิษฐ์ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ตามข้อกล่าวหาของพระยามโนหรือไม่ สภาได้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญประกอบด้วย หม่อเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ พระยานลราชสุวัจน์ พระยาศรีสังกร เป็นองค์คณะพิจารณา และอนุมัติให้มองซิเออร์กียองกับเซอร์โรเบิร์ต ฮอลแลนด์(โอ๊ะโอ๋ -ทำไมไปพ้องกับชื่อของนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัมด้วย) มาเป็นผู้เชี่ยวชาญสำหรับให้ความเห็นต่อคณะกรรมการชุดนี้ ส่วนฝรั่งสองคนนี้มาได้อย่างไรคงอย่าไปเดาเลย เดี๋ยวถูก เอาเป็นว่าหลังฟังความเห็นแล้วคณะกรรมการก็มีมติเป็นเอกฉันท์ให้หลวงประดิษฐ์พ้นมลทินเป็นคอมมิวนิสต์ตามข้อกล่าวหา

คืนวันที่สภาลงมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการเสนอ บรรดาส.ส.ก็ได้จัดงานเลี้ยงแสดงความยินดีต่อหลวงประดิษฐ์ที่บริเวณสภากันยกใหญ่ โดยเฉลี่ยกันออกค่าใช้จ่ายกันข้อครหา


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 24 มิ.ย. 10, 07:35
การที่พระยาภะรตราชา ถูกนิสิตจุฬาฯ ขับไล่นั้น  ถ้าคนที่รู้จักท่านคงเห็นว่าไม่แปลก  เพราะถึงจะเป็นครูแต่ท่านก็ดุและเจ้าระเบียบไม่แพ้ท่านผู้การกรมทหารปืนใหญ่ที่กล่าวถึงกันเรื่อง ร้อยโท จงกล ไกรฤกษ์  
เรื่องที่ท่านออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น  ท่านเคยเล่าให้ฟังก่อนถึงอนิจกรรมไม่นานว่า  "นโยบายของกันไม่เข้ากับนโยบายของรัฐบาลคณะราษฎร์  กันเลยออกจากจุฬาฯ"  คำว่า "กัน" นั้นท่านมักจะใช้เป็นสรรพนามแทนตัวท่านเวลาพูดกับนักเรียนหรือผู้ที่อ่อนอาวุโสกว่า

มองซิเออร์กียอง ที่คุณพี่นวรัตนกล่าวถึงนั้นเป็นที่ปรึกษากฎหมายที่คณะรัฐบาลจ้างมาเป็นกรรมการร่างกฎหมายตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๖ แล้วครับ  ผลงานสำคัญของที่ปรึกษานี้ คือ การยกร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ซึ่งร่างมาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๖  มาเสร็จสมบูรณ์เอาปลายรัชกาลที่ ๗  เพราะเวลาร่าง  ที่ปรึกษากฎหมายท่านเป็นชาวฝรั่งเศส  ท่านก็ร่างเป็นภาษาฝรั่งเศส  แล้วจึงแปลเป็นภาษาอังกฤษเพราะนักกฎหมายไทยส่วนใหญ่เป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ  แล้วจึงแปลเป็นภาษาไทยสำหรับให้คนไทยอ่านรู้เรื่องอีกที  นี่จึงเป็นพยานความล่าช้าในหลายๆ เรื่อง

ขออนุญาตเลี้ยวออกนอกเรื่องพระยาทรงสุรเดชไปที่เรื่องการร่างกฎหมาย  เมื่อจะแก้ไขสนธิสัญญากับมหาอำนาจตะวันตกนั้น  ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสต่างก็ออกแรงบีบรัฐบาลไทยให้ร่างกฎหมายตามแบบประเทศของตน  ข้างฝ่ายอังกฤษก็จะให้เราใช้หลักกฎหมายจารีตแบบอังกฤษ  ข้างฝ่ายฝรั่งเศสก็จะให้ใช้ระบบประมวลเหมือนตน  สุดท้ายพระพุทธเจ้าหลวงทรงเลือกแบบประมวล  เพราะมีการเขียนกฎหมายไว้ขัดเจนแน่นอนสะดวกแก่การศึกษาค้นคว้า  แต่ระบบกฎหมายฝรั่งเศสเป็นแบบกล่าวหา   ผู้ถูกกล่าวหาต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ว่าตนไม่ผิด  แต่อังกฤษใช้ระบบไต่สวน  โดยมีความเชื่อว่า ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะพิพากษาว่ากระทำผิด  ระบบกฎหมายของศาลเราเลยเป็นแบบผสมมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ ถึงสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง  เมื่อถึงยุคเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย  ท่านเป็นนักเรียนฝรั่งเศสก็คงจะเลื่อมใสวิธีการแบบฝรั่งเศส  เลยเอาระบบศาลฝรั่งเศสมาใช้กับศาลพิเศษ  แล้วผู้ถูกกล่าวหาในศาลพิเศษก็เลยต้องโทษกันเป็นระนาว   เพราะไม่มีโอกาสที่จะพิสูจน์ตนเองในศาลได้เลย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 มิ.ย. 10, 09:27
ขอบคุณนะครับ คุณวี_มี เอ้าทุกท่านโปรดทราบตามนั้น
ผมขอต่ออีกนิดนึง แล้วเชิญท่านช่วยกันเสริมเรื่องข้างเคียงอย่างเคยนะครับ

พระยาพหลกล่าวในที่ประชุมสภาในวาระแรกว่า

“ข้าพเจ้าเป็นนักรบ ไม่ใช่นักพูด ไม่เจนจัดในทางการเมือง ไม่สันสัดในการปกครองแผ่นดิน จะดำเนินการไปไม่ครบถ้วนทุกสถาน แต่เมื่อโปรดเกล้าตามคำแนะนำของประธานสภาผู้แทนราษฎร และคณะทหารได้ขอร้องให้รับตำแหน่ง ฉะนั้น เพื่อความสงบเรียบร้อยในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ ก็จะขอรับตำแหน่งไปเพียง10หรือ15วันเท่านั้น”

การกล่าวเช่นนี้จึงได้ใจสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประชาชนอย่างยิ่ง แต่เมื่อครบ15วันเมื่อกราบบังคมทูลขอลาออก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงยับยั้งไว้ ด้วยทรงเห็นว่าเป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อถือไว้ใจของประชาชน และสามารถประสานสามัคคีกับทุกฝ่ายได้ดี พระยาพหลจึงยินยอมเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

แรกๆก็ดูจะไปได้ด้วยดี แต่แล้วมีบุคคลระดับกรรมกร แต่มีตำแหน่งเป็นเลขานุการสมาคมกรรมกรรถราง แต่งตั้งทนายฟ้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กล่าวหาว่าพระองค์หมิ่นประมาทตนในหนังสือสมุดปกขาว คราวที่มีพระราชวิจารณ์เค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ ท้าวความตอนที่ว่า ทรงเขียนว่าการที่กรรมกรรถรางนัดหยุดงานนั้น มิใช่เดือดร้อนจริงแต่มีคนยุยง เพื่อจะได้มีโอกาสจัดตั้งสมาคมคนงาน และตนจะได้เป็นหัวหน้ามีเงินเดือนกินสบายเท่านั้น

เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่โตไม่จบง่ายๆ เพราะมีผู้ไปแจ้งความและอัยการก็สั่งฟ้องคนฟ้องว่าเป็นกบฏและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นายคนนี้ก็เลยทำเรื่องขอให้สภาตีความกฏหมายรัฐธรรมนูญว่าตนมีสิทธิ์ฟ้องพระมหากษัตริย์หรือไม่ สภาเถียงกันยืดเยื้อยาวนานก็ออกแนวเลี่ยงบาลีว่า ไม่ควรรับพิจารณาเรื่องที่ยื่นโดยบุคคลภายนอก อีกไม่กี่วัน หลวงประดิษฐ์ก็ยื่นญัตติด่วนให้สภาตีความรัฐธรรมนูญมาตรา3นี้ อ้างว่าเป็นพระราชประสงค์ที่ทรงอยากจะทราบด้วยว่าตกลงเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร  สภาก็อภิปรายยืดเยื้อยาวนานอีก สรุปลงมติว่าสภาไม่ใช่ศาล ไม่มีอำนาจชำระคดี  เรื่องเลยไม่จบไปจริงๆ เพราะได้กลายเป็นข้ออ้างข้อนึงที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ซึ่งต่อมาเรียกว่า “กบฏบวรเดช”


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 มิ.ย. 10, 20:35
ขอเสิฟเครื่องเคียงของว่าง   คั่นเวลาก่อนดินเนอร์ตัวจริงจะมาถึง  ;D
พูดถึงพระยามโนปกรณ์นิติธาดา   มีหลักฐานหลายอย่างแสดงให้เห็นว่าท่านพยายามอะลุ้มอล่วย ไม่เข้มงวดกับอำนาจเก่า (คือสถาบันกษัตริย์) เท่าที่จะทำได้    เพราะไม่ประสงค์จะให้มีรอยร้าวกันมากกว่านี้ 
พระยามโนปกรณ์ฯ ย้ำเตือนในที่ประชุมเสมอว่า " เราไม่ใช่ศัตรูของเจ้า(นาย)"   ท่านเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวถึงสัปดาห์ละ ๓ วัน  คืออังคาร พฤหัส เสาร์  หลังประชุมคณะกรรมการราษฎร เพื่อทูลปรึกษาข้อราชการ     แม้พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงมีสิทธิ์จะตัดสินได้อย่างเมื่อก่อน  แต่ก็ถวายพระเกียรติว่าให้รับทราบ
เรื่องบางเรื่อง ท่านก็ถือหลัก Let bygones be bygones  คืออะไรแล้วก็ให้แล้วกันไป  เมื่อส.ส.มานิต วสุวัต ซึ่งถ่ายหนังวันปฏิวัติเอาไว้ ประสงค์จะนำออกฉายตามโรง  พระยามโนฯก็ระงับด้วยเหตุผลว่า จะเป็นการซ้ำเติมพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์มากเกินไป  นี่ก็ตัวอย่างหนึ่ง

นโยบายสมานฉันท์ของพระยามโนฯ ถูกมองว่าท่านเป็น "ซากตกค้างมาจากระบบเก่า" (สมัยนี้อาจจะเรียกว่าอำมาตย์)  ปฏิกิริยาของฝ่ายไม่เห็นด้วยก็เริ่มแรงขึ้น จนกลายเป็นการขัดแย้งแม้แต่ในเรื่องไม่เกี่ยวกับสถาบัน
พูดง่ายๆว่าก็เลิกเกรงใจประธานกันแล้ว 
สี่ทหารเสือ (ที่ต่อมาลาออก)ขาดประชุมกันถี่ยิบ     บางคนขู่ว่าถ้าเสนอประเด็นเข้าไปแล้วไม่ได้ตามขอ ก็จะลาออก 
คลื่นใต้น้ำทำนองนี้แรงขึ้นทุกวัน  จนในที่สุดก็เป็นอย่างที่คุณนวรัตนเล่าไว้ข้างบนนี้  คือพระยามโนฯก็ถูกจี้ให้ลาออกไป
*****************
ส่วนเรื่องเลขานุการสมาคมกรรมกรรถราง แต่งตั้งทนายเพื่อจะฟ้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กล่าวหาว่าพระองค์หมิ่นประมาทตน   เรื่องอลหม่านอยู่ที่สภาพักหนึ่ง   แล้วก็เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย คืออัยการตั้งข้อหากบฎและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ   เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา ๓ ระบุว่า "องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ  ผู้ใดละเมิดมิได้" 
อย่างไรก็ตาม   ก็ถือว่าเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ ที่พระมหากษัตริย์ตกเป็นจำเลยราษฎร


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 มิ.ย. 10, 22:02
ในระยะหนึ่งปี ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง  จนถึงพระยามโนฯถูกจี้ให้ออกจากตำแหน่ง    เรามาดูกันว่าผลงานของคณะราษฎร์เป็นอย่างไร
กลุ่มผู้ก่อการฯ มีอุดมการณ์ที่ปูพื้นมาจาก"ความเข้าใจ" ว่าสังคมไทยมีปัญหาอย่างนั้นอย่างนี้  (โปรดกลับไปอ่านประกาศคณะราษฎร์ฉบับที่ ๑  ที่คุณภาณุเมศร์นำมาลงไว้) มากกว่าเป็นปัญหาที่มีหลักฐานมายันกันให้เห็นจะจะ ว่าสิ่งเหล่านี้คือปัญหาใหญ่ ต้องเปลี่ยนแปลงสังคมโดยด่วน  ยังไงก็รอรัฐธรรมนูญจากสมเด็จพระปกเกล้าฯไม่ได้แล้ว
เพราะฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า เมื่อได้สังคมมาอยู่ในมือแล้ว  คณะราษฎร์ก็เข้าใจว่า "ไม่พร้อม" จะให้ประชาชนเลือกตั้งผู้แทนของตนเองแต่ฝ่ายเดียว   แต่เห็นความจำเป็นว่าประชาชนจะต้อง" เล่าเรียนเขียนอ่านจบประถม ๔ " ให้พร้อมเสียก่อนภายในเวลา ๑๐ ปี  ระหว่างนี้ก็มีสมาชิกสภาประเภทแต่งตั้งเป็นพี่เลี้ยงกำกับอยู่
การเห็นความไม่พร้อมของประชาชน เกิดขึ้นพร้อมๆกับความจำเป็นของผู้ก่อการฯ ที่จะจัดหาผู้มาดูแลสังคม โดยเฉพาะในเมืองหลวง ต่อไปอีกนานนับปี
เรื่องนี้เรียกว่าเป็นผลงานชิ้นแรกๆของคณะราษฎร์  

เรื่องที่ ๒  ก็คือการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดจากความเข้าใจว่า  คนชั้นสูง(ซึ่งสมัยนี้ก็น่าจะเรียกว่าอำมาตย์ ) เป็นคนส่วนน้อยในสังคม แต่กุมเงินทองความมั่งมีเอาไว้ในมือ   ขณะที่ราษฎรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ( ถ้าเป็นสมัยนี้ก็อาจเรียกว่าไพร่ หรือรากหญ้า) เป็นฝ่ายถูกเอารัดเอาเปรียบ ให้ยากจนกว่าที่ควรเป็น   เพราะเงินถูกดึงไปทางฝ่ายแรกเสียหมด
เพราะฉะนั้น  ถ้าจะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เงยหน้าอ้าปากขึ้นมาได้  ก็ต้องเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจเสียใหม่   ผู้นำความคิดทางนี้คือนายปรีดี พนมยงค์  
ตราบใดที่ประชาชนยังยากจนข้นแค้น   เพราะเงินทองไหลวนเวียนอยู่ในมือชนชั้นสูงมากกว่าที่ควร    การปกครองแบบใหม่จะให้สิทธิอย่างไรกับประชาชน ก็ไม่มีประโยชน์
ดังนั้นงานบริหารของรัฐบาล  ก็มุ่งเป้าไปที่จัดทำงบประมาณกระทรวงต่างๆเสียใหม่ทันที เพื่อจัดสรรเงินทองให้ถูกต้องลงตัว


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 มิ.ย. 10, 11:59
สมัยที่พระยามโนเป็นนายก ได้มีเจ้านายระดับพระองค์เจ้าและหม่อมเจ้าหลายองค์ร่วมกับกลุ่มขุนนาง ขออนุญาตจัดตั้ง “สมาคมคณะชาติ”ขึ้นคู่กับสมาคมของคณะราษฎร ซึ่งเลี่ยงไปใช้ชื่อว่าสมาคม “คณะราษฎรสราญรมย์” เพราะข้อห้ามของบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญที่ยังไม่อนูญาตให้ผู้ใดจัดตั้งพรรคการเมือง รัฐบาล(ซึ่งคุมเสียงโดยคณะผู้ก่อการ)พิจารณาเห็นว่าวัตถุประสงค์แท้จริงของสมาคมคณะชาติไม่น่าจะเป็นสมาคมธรรมดาจึงไม่อนุญาต แถมยังส่งกองทัพตำรวจลับเข้าเกาะติดชาวสมาคมนี้ ได้รายชื่อที่เหวี่ยงแหมาได้เป็นกระบุงโกย ครั้นเปลี่ยนนายกมาเป็นพระยาพหล พวกคณะชาติเก่าก็กลายพันธุ์เป็นคณะกู้บ้านกู้เมือง มีสมาชิกประเภทฮาร์ดคอร์ประชุมกันเป็นประจำ และหนึ่งในนั้นคือพระยาศรีสิทธิสงคราม

การกระทำของหลวงพิบูลที่ปฏิวัติแล้วปลดท่านกลางอากาศนั้นเป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจได้ แต่ที่สร้างความโกรธแค้นให้แก่พระยาศรีสิทธิสงครามอย่างยิ่ง คือการส่งทหารมาขับไล่ไสส่งท่านออกจากห้องทำงานแบบไม่ให้รู้เนื้อรู้ตัว ถือเป็นการหยามเกียรติที่เกินกว่าเหตุ การพบปะคุยกันของคณะกู้บ้านกู้เมืองจึงออกแนวที่จะต้องจัดทัพลุยกับพวกรัฐบาลบ้าง โดยชูพระยาศรีสงครามเป็นแม่ทัพ ครั้นเหตุการณ์ที่รัฐบาลปล่อยให้เรื่องคนระดับหัวหน้าม็อบฟ้องพระเจ้าอยู่หัวหมิ่นประมาทยืดเยื้อ ทำให้ในสภาก็มีสมาชิกบางคนอภิปรายพาดพิงไปถึงสถาบันด้วยถ้อยคำจาบจ้วงรุนแรง ขนาดสมัยนั้นอ่านแค่หนังสือพิมพ์ไม่ได้ถ่ยทอดสด ประชาชนก็ยังแสดงความไม่พอใจความถ่อยสถุลของบรรดาท่านผู้ทรงเกียรติเหล่านี้กันอย่างกว้างขวาง พระยาศรีสิทธิสงครามเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะดำเนินการ เมื่อจุดประเด็นกับพวกนายทหารประจำการระดับคุมกำลัง มีหลายคนเห็นด้วยที่จะเข้าร่วม โดยกำหนดเป็นแผนยุทธการป่าล้อมเมือง ให้ทหารอิสานเป็นกำลังหลัก เคลื่อนพลเข้ากรุงเทพ มีทหารสระบุรีและอยุธยาเข้าสมทบด้านทิศเหนือ ด้านตะวันออกให้ทหารจากฉะเชิงเทราและนครนายก ด้านใต้ให้ทหารจากเพชรบุรีและนครปฐม ส่วนทหารกรุงเทพทั้งหมดจะหนุนคณะกู้บ้านกู้เมือง ไม่ยอมทำตามคำสั่งรัฐบาล


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 มิ.ย. 10, 12:02
หลวงพิบูลเองก็ได้รับรายงานจากตำรวจสันติบาลว่ามีการเคลื่อนไหวที่ผิดสังเกตุ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าใครจะทำอะไร  จึงร่างสาส์นขึ้นมาฉบับหนึ่ง ความตอนสำคัญดังนี้
“…..บัดนี้ปรากฏตามทางสืบสวนว่า ท่านได้มีประชุมและคิดอยู่เสมอในอันที่จะทำให้เกิดความความไม่สงบแก่บ้านเมือง และทำให้รัฐบาลมีกังวล ซึ่งเป็นเหตุให้การบริหารบ้านเมืองไม่ก้าวหน้าดังที่ควรจะเป็น ในฐานะที่ข้าพเจ้ารับผิดชอบรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ก็ขอเตือนให้ท่านสงบจิตเสีย หากท่านยังขืนจุ้นจ้านอีก คณะผู้ก่อการก็ตกลงจะกระทำการอย่างรุนแรง ที่กล่าวมานี้มิใช่ขู่เข็ญ แต่เป็นการเตือนมาเพื่อความหวังดี….”

จดหมาย“ปราม” นี้ ส่งไปขอแสดงความนับถือยังนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายคน และเจ้านายที่ใกล้ชิดกับวังศุโขทัยสองสามองค์รวมทั้งพระองค์บวรเดชด้วย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 มิ.ย. 10, 12:05
จะว่าไปแล้ว จดหมายฉบับนี้ถือว่าได้ผลที่นำชัยชนะมาสู่รัฐบาลได้ในที่สุด ไม่ใช่ว่าคนที่ได้รับจะกลัวหัวหด แต่เป็นเพราะพระองค์บวรเดช ที่ถูกกันออกไปอยู่เฉยๆ เลยได้ทรงทราบว่าฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองน่าจะกำลังทำอะไรอยู่แน่ๆ ในฐานะเสนาบดีกระทรวงกลาโหมเก่าก็คงจะทรงหาข่าวได้ว่าเขาจะเริ่มต้นเคลื่อนพลจากโคราชแน่ แต่น่าจะรออะไรสักอย่าง ซึ่งนายทหารระดับท่านทรงทราบดีว่ากองทัพต้องเดินด้วยท้อง และผมก็ว่าของผมเองนะครับ ว่าการที่พระองค์ทรงสามารถทำให้นายทหารอิสานทั้งปวงต้องยอมรับให้พระองค์เป็นแม่ทัพแทนพระยาศรีที่ยอมลดตนเองลงมาเป็นรอง ก็เพราะทรงนำเงิน2oo,oooบาท ใส่กระเป๋าขึ้นไปเป็นทุนกระทำการปฏิวัติด้วย

การเข้ามาของพระองค์บวรเดชบังเกิดผลดีแก่รัฐบาลโดยทางอ้อม


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 มิ.ย. 10, 12:09
จากคำพิพากษาศาลพิเศษคดีกบฏ 2482 ตอนนึง

 “…รัฐบาลมีหลักฐานว่าสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้จ่ายเงินให้พระองค์เจ้าบวรเดชในช่วงนั้น 200,000บาท ซึ่งศาลเชื่อว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯพระราชทานให้พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นค่าใช้จ่ายในการกบฏ”

เงินดังกล่าวมากแค่ไหน ก็ลองคำนวณดูนะครับ สมัยนั้นเงินเดือนรัฐมนตรีอยู่ในราวๆเดือนละไม่เกิน2000บาท สมัยนี้ประมาณ60,000บาท ก็ต่างกัน30เท่า
ผมอ่านหนังสือหลายเล่ม เอาข้อความที่เกี่ยวพันในเรื่องนี้มาจับแพะชนแกะให้ท่านได้อ่านกันบ้าง

พโยม โรจนวิภาต เขียนไว้ในเรื่อง “พ.27 สายลับพระปกเกล้า” ประมวลได้ว่า  พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบอุปนิสัยของพระองค์เจ้าบวรเดชดี และทรงทราบว่าพระองค์บวรเดชขึ้นไปเคลื่อนไหวทางภาคอิสานในเรื่องกู้บ้านกู้เมืองโดยปกปิดไม่ให้พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่าอยู่ที่ใด ด้วยเกรงว่าหากทรงมีรับสั่งห้ามแล้วตนจะขัดพระราชบัญชามิได้  แต่เป็นไปไม่ได้เลยว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงคบคิดกับพระองค์เจ้าบวรเดช

หนังสือเล่มเดียว กันยังลงพระราชกระแสที่ทรงรับสั่งต่อพระยาพหลนานก่อนหน้านั้น เรื่องเกี่ยวกับพระองค์บวรเดช สอดรับกับ “ชีวิต๕แผ่นดินของข้าพเจ้า” ของพลโทประยูร ภมรมนตรี ซึ่งถือว่าเป็นฝ่ายผู้ก่อการว่า “เรื่องของพล.อ.พระองค์เจ้าบวรเดชนี้ ขณะที่ข้าพเจ้าทำหน้าที่เลขาธิการ(คณะรัฐมนตรี)นำหนังสือทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯเคยทรงปรารภและเตือนว่า เจ้านายองค์นี้เป็นผู้ใหญ่ เคยเป็นครูบาอาจารย์และผู้บังคับบัญชาของพระองค์ ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นก็ตักเตือนกันไม่ได้  ทางที่ดีถ้าพวกแก(ทรงใช้สรรพนามเรียกพลโทประยูรอย่างนั้นเพราะทรงคุ้นเคย ด้วยเป็นเด็กของเจ้านายมาก่อนที่จะไปร่วมกับคณะผู้ก่อการ)ฉลาดรู้จักไซโค ท่านองค์นี้ชอบโก้และเจ้ายศเจ้าอย่าง ถ้าจัดหานายทหารไปประจำพระองค์ จัดรถยนต์ให้มีทหารขับ และทูลเชิญไปในงานสำคัญๆ หรือแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาการทหาร ก็จะเป็นประโยชน์ และเป็นการป้องกันให้สงบนิ่งอยู่ในที”

พวกผู้ก่อการนอกจากจะไม่สนใจจะสนองสิ่งที่ทรงแนะนำแล้ว คราวนี้หลวงพิบูลยังไปแหย่รังแตนเข้าอีก ก็เสมือนขึ้นปี่กลองเตือนให้นักมวยออกไปไหว้ครูกลางเวทีนั่นแล


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 มิ.ย. 10, 12:16
แล้วเงินที่สำนักงานทรัพย์สินจ่ายให้พระองค์บวรเดชมาจากใคร ในหลวงท่านไม่ได้ทรงเซนต์เชคหรือมีหน้าที่ตรวจสอบการจ่ายเงินทุกยอดด้วยพระองค์เอง ผมก็ไม่มีหลักฐานโดยตรงแต่ก็ถ่ายข้อความเหล่านี้มาจากหนังสือของพลโทประยูรทั้งสิ้น ขอให้ท่านทั้งหลายใช้สติปัญญากลั่นกรองเอาเอง



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 มิ.ย. 10, 12:25
ต่ออีกตอนหนึ่งนะครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 มิ.ย. 10, 12:35
พอนายหารหัวเมืองอื่นๆทราบว่าพระองค์บวรเดชเป็นแม่ทัพในสงครามกู้บ้านกู้เมือง ไม่ใช่พระยาศรีสิทธิสงครามเสียแล้ว ก็เปลี่ยนใจเป็นทิวแถว เพราะเกรงว่าถ้าชนะพระองค์บวรเดชจะนำ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชจะกลับมาอีก จึงพร้อมใจกันใส่เกียรถอยหลัง พวกที่มาแล้วก็ใส่เกียรว่าง แผนการยุทธของพระองค์บวรเดชที่ตั้งชื่อเสียหรูว่า “แผนล้อมกวาง” เพราะจะเอาจำนวนพลมารายล้อมกรุงเทพให้รัฐบาลกลัวแล้วเจรจาให้ลาออกโดยดีนั้น กลับเจอเอา“กวางแปลก”ที่ดุดันกระหายเลือด สั่งอาวุธหนักทุกชนิดจะขึ้นไปถล่มพวกพรานบ้านนอก นี่ขนาดแม่ทัพเรือไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งให้เอาเรือปืนขึ้นไปจอดยังสพานพระรามหกแล้วยิงถล่มฐานทัพอากาศดอนเมืองที่ทหารฝ่ายบวรเดชมายึดไว้ มีแค่ปืนกลต่อสู้อากาศยาน แต่พอใช้ยิงคนไปตับหนึ่งแค่หกเจ็ดนัด พวกทหารหัวเมืองก็เผ่นหนีเอาตัวรอดกระเจิดกระเจิง ทัพใหญ่รีบขึ้นรถไฟกลับไปโคราชทิ้งทัพหน้าไว้ยันทหารฝ่ายรัฐบาลที่แก่งคอย พระยาศรีสิทธิสงครามนำหน้าทหารที่ยังยอมสู้ตายตั้งรังปืนกลรออยู่ที่ช่องหินลับ ซึ่งเป็นช่องแคบที่รถไฟจะต้องวิ่งผ่าน เกิดรบกันดุเดือดก็ที่นั่น แต่พระยาศรีโชคไม่ดี คืนนั้นไปตรวจแนวหน้าบังเอิญหมู่ลาดตระเวนของฝ่ายรัฐบาลเซอะซะเข้ามาเลยเกิดยิงกัน กระสุนนัดหนึ่งฟลุ๊กถูกท่านที่ด้านข้างลำตัวอย่างจัง ท่านยังมิได้เสียชีวิตทันที แต่ผู้ที่จัดการให้ท่านพ้นทุกข์ไปว่ากันว่าเป็นฝีมือของนักเรียนนายร้อยปีสุดท้าย ที่เขารีบติดยศเอามาปราบกบฏชื่อ “ว่าที่ร้อยตรีตุ๊” ศพของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ท่านนี้ถูกกระทำทารุณขนาดที่หลวงพิบูลซึ่งลิงโลดขึ้นมาดูศพด้วยความดีใจยังถึงกับสลด และสั่งการให้ทำอะไรไว้เกียรตินายทหารชั้นผู้ใหญ่กันบ้าง เสร็จศึกว่าที่ร้อยตรีตุ๊ได้เลื่อนยศเป็นร้อยเอก สุดท้ายของท่านผู้นี้ นิสิตนักศึกษารุ่น14ตุลารู้จักดีในชื่อว่าจอมพลประภาส จารุเสถียร

พอได้ข่าวทัพหน้าแตก พระยาศรีสิทธิสงครามเสียชีวิต พระองค์เจ้าบวรเดชก็ขึ้นเครื่องบินหนีไปมอบตัวกับฝรั่งเศส เจ้าอาณานิคมเขมร เพื่อขอลี้ภัยทางการเมืองตามสูตร กบฏบวรเดชก็ยุติลง มีสมาชิกคณะชาติถูกเชคบิลติดคุกกันเป็นแถว ศาลพิเศษที่รัฐบาลตั้งขึ้นพิพากษาตัดสินถอดยศและจำคุกนายทหารแบบเหวี่ยงแหคลุมไปแทบจะหมดกองทัพ ที่ถูกตัดสินประหารชีวิตก็หลายราย แต่ระหว่างรอการประหาร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงสละราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลขึ้นครองราชย์แทน รัฐบาลเลยต้องลดโทษนักโทษทุกคนตามประเพณีของบ้านเมือง ท่านที่ต้องโทษประหารชีวิตก็ได้รับการลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิตในครั้งนี้ และถูกส่งไปปล่อยเกาะตะรูเตาในเวลาต่อมา


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 มิ.ย. 10, 12:51
เมื่อทราบข่าวกบฏ พระยาพหลได้มีคำสั่งให้โทรเลขไปตามพระยาทรง กับพระประศาสตร์ที่อยู่ในระหว่างลาพักและกำลังเดินทางอยู่ต่างประเทศให้กลับไปช่วยปราบกบฏ โดยให้รีบกลับทันทีและเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ปรากฏว่ากว่าจะได้รับโทรเลข เรือได้ออกจากท่าโคลัมโบไปแล้วกำลังมุ่งหน้าสู่ยุโรป จึงได้โทรเลขกลับไปว่าตนไม่มีอำนาจจะสั่งการกัปตันให้นำเรือย้อนกลับเข้าท่าได้ จะกลับได้เร็วที่สุดก็ต่อเมือ่เรือถึงท่าที่ปอร์ตซาอิด เมืองอียิปต์ แล้วต้องรอเรือโดยสารที่จะย้อนกลับมาอีก ฉะนั้นจึงอย่าได้รอตน ขอให้ดำเนินการที่สมควรไปเลย

เรื่องนี้กลายเป็นว่าพระยาทรงรู้เห็นด้วยว่าจะเกิดกบฏ จึงได้เดินทางหนีออกไปต่างประเทศ ตามคำพิพากษาศาลพิเศษที่นำมาอ่านในศาล เมื่อเกิดกบฏ ศาลบอกว่า พระยาทรงโทรเลขตอบกลับมาว่า เป็นเรื่องเล็กน้อย ให้จัดการกันเอง

จากกบฏ2476 ก็ต่อยอดไปเป็น กบฎพระยาทรง หรือกบฏ2482 ด้วยประการฉนี้


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: bookaholic ที่ 25 มิ.ย. 10, 13:43
ตามอ่านครับ
ผมไม่แน่ใจว่าพระยาทรงรู้เห็นด้วยกับกบฏบวรเดชหรือเปล่า   แต่อยู่ในแวดวงเดียวกัน น่าจะระแคะระคายมั่ง  ไม่มากก็น้อย   เพียงแต่ไม่ได้ลงมือร่วมด้วยช่วยกัน
หลวงพิบูลปราบกบฏได้แล้ว   ก็ยิงกระสุนนัดเดียว  นกถูกกวาดเกลี้ยงแทบจะหมดกองทัพ  เป็นโอกาสให้สถาปนานิวเอราของเชื่อผู้นำชาติพ้นภัยต่อมาได้  ไม่มีใครเป็นเสี้ยนหนาม
ผมเชื่อว่าคนอย่างหลวงพิบูลในปัจจุบันนี้ก็ยังมี


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 25 มิ.ย. 10, 13:47
ในความเห็นที่ ๗๗ ท่านอาจารย์เทาชมพูได้กล่าวถึงคณะราษฎรเข้าใจความ "ไม่พร้อม" ของราษฎร  จึงต้องจัดให้ประชาชนจะต้อง" เล่าเรียนเขียนอ่านจบประถม ๔ " ให้พร้อมเสียก่อนภายในเวลา ๑๐ ปี  นี่ย่อมเป็นพยานยืนยันว่า เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ นั้น  ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมจริงดังที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ ทรงพระราชดำริ

เรื่องการวางรากฐานการศึกษาเพื่อพัฒนาระบอบประชาธิปไคยนี้  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักแน่มาตั้งแต่เริ่มทรงรับราชสมบัติ  จึงโปรดให้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเรียนพระราชปฏิบัติเรื่องแนวพระราชดำริการศึกษาชาติ  ในเรื่องนี้คุณมหาดเล็กในล้นเกล้าฯ เล่ากันว่า เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ ได้กราบบังคมทูลสัญญาว่าจะจัดการศึกษาให้ประชาชนได้เล่าเรียนจบชั้นประถมศึกษาภายใน ๑๕ ปี นับแต่เสด็จเสวยราชย์  ซึ่งก็สอดึล้องกับการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔  ซึ่งเมื่อครบ ๑๕ ปีนับแต่เสวยราชย์ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗  ก็จะมีนักเรียนจบชั้นประถม ๓ (สมัยนั้นมีแค่ประถม ๓) ตาม พรบ.ประถมศึกษาพอดี  แต่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ ไม่สามารถขยายการจัดตั้งโรงเรียนได้ทั่วถึงทังประเทศจึงทำให้ยังไม่สามารถทำให้เด็กไทยทุกคนเรียนจบชั้นประถมศึกษา  จึงกริ้วเจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ เสียยกใหญ่  

อนึ่งก่อนที่จะประกาศใช้ พรบ.ประถมศึกษา  ก็ทรงสร้างเมืองจำลองดุสิตธานีเพื่อสอนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  ทั้งทรงผลักดันให้กระทรวงนครบาลนำรูปแบบประชาธิปไตยในดุสิตธานีไปเริ่มจัดในท้องที่มณฑลกรุงเทพฯ ก่อน  แต่เสนาบดีกระทรวงนครบาลก็อ้างว่าไม่พร้อม  เพราะในมณฑลกรุงเทพฯ เองยังมีปัญหาจัดการศึกษาไม่ครบทุกตำบล  เมื่อเสนาบดีมหาดไทยกราบถวายบังคมลาออกจากราชการเพราะชราทุพพลภาพ  จึงโปรดให้รวมกระทรวงนครบาลเข้ากับกระทรวงมหาดไทย  เพื่อจะได้เร่งรัดจัดการศึกษาและวางรากฐานประชาธิปไตยไปพร้อมกันทั่วประเทศ  แต่เผอิญสวรรคตเสียก่อนปัญหานี้จึงค้างคามาจนเกิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง  แล้วเรื่องการศึกษาก็เป็นข้ออ้างต่อมา


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มิ.ย. 10, 15:50
เข้าปีที่ ๗๘ แล้ว    ก็ยังไม่รู้ว่าพร้อมจะเป็นประชาธิปไตยหรือยัง?
กลับมาที่ประเด็นที่เล่าค้างอยู่ดีกว่านะคะ
--------------------------
คณะราษฎร์เข้าใจแต่เพียงว่า เศรษฐกิจตกต่ำเพราะเงินส่วนใหญ่อยู่ในมือชนชั้นสูง เช่นสถาบันและนายทุนพ่อค้าทั้งหลายที่เป็นคนรวยในประเทศ
เมื่อยึดการปกครองได้ ก็มีอำนาจเข้าจัดการกับเงินของบุคคลเหล่านี้ได้  ด้วยการยึดเงินปีของพระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศานุวงศ์    ยึดเงินเดือนอภิรัฐมนตรี และเก็บภาษีคนรวยให้มากขึ้น
พอลงมือทำ  พบว่าเงินที่ได้มาไม่เข้าเป้า   เพราะเงินของพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ไม่ได้รับกันฟุ่มเฟือยอย่างที่คาดคะเนไว้แต่แรก     อภิรัฐมนตรีได้เงินเดือน ๓๐๐๐ บาท    มีกันอยู่ไม่กี่คน   ถึงถูกตัดออกไปรัฐบาลก็ได้เงินเข้าคลังปีละไม่กี่หมื่น   
เงินที่เจ้านายได้กัน เป็นเบี้ยหวัดเงินปี  ก็ได้คนละเล็กละน้อย   เช่นหม่อมเจ้าได้ปีละ ๑๐ ตำลึงหรือ ๔๐ บาท  คงที่มาตั้งสมัยรัชกาลที่ ๕   ซึ่งตอนนั้นก็อาจจะถือว่าเป็นรายได้ที่ดีสำหรับเจ้านายที่อยู่อย่างประหยัด (หาอ่านได้จากหนังสือประวัติเจ้าพระยาวรพงษ์)  แต่ล่วงมาถึงรัชกาลที่ ๗ เงินเท่านี้ถือว่าให้พอเป็นพิธีเท่านั้น   รัฐบาลตัดไปก็ได้เงินเข้าคลังไม่เท่าไร

รัฐบาลออกพ.ร.บ.ช่วยเหลือคนจน ตามอุดมการณ์ของคณะราษฎร์   คือพ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา   แต่ไม่ได้ผล    เพราะเจ้าหนี้ทั้งหลายเมื่อรู้สึกว่าถูกบีบโดยภาครัฐ  ก็หยุดให้กู้เงิน   ถ้าจะให้กู้ก็หาวิธีเลี่ยงกฎหมาย   
ไปๆมาๆ  ลูกหนี้ก็เดือดร้อนหาเงินกู้ไม่ได้  หรือกู้ได้ก็ไม่เป็นไปตามกฎหมาย  สรุปแล้วก็คือเท่าเดิม
รุ้ง จิตเกษม เป็นคนหนึ่งที่รู้จักเจ้าหนี้เงินกู้ อย่างชาวอินเดียเพื่อนร่วมงานของเขา   เวลาผ่านจากปี ๒๔๗๕ มาหลายปี   พวกนี้ก็ยังออกเงินกู้และเก็บดอกเบี้ยเป็นล่ำเป็นสัน   ไม่ได้สะทกสะท้านอะไรกับพ.ร.บ.


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มิ.ย. 10, 17:33
ส่วนพระราชบัญญัติภาษีมรดก ที่นายปรีดี พนมยงค์เสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการราษฎร  เพื่อเป็นการนำเงินจากคนรวยมาเข้ารัฐ    เสนอตั้งแต่ปี ๒๔๗๕    แต่ผลคือยืดเยื้ออยู่ ๓ ปี กว่าจะผ่านสภาได้   และเมื่อใช้ได้แค่ ๓ ปีต่อมาก็ยกเลิกไป  ด้วยเหตุผลต่างๆเช่นไม่ยุติธรรม เจอคนหลีกเลี่ยงกันมาก   ทำให้คนไม่ยอมลงทุนเพื่อสะสมเงินทอง  ผลคือไม่มีการลงทุนก็ไม่มีงานทำ  คนจนก็เดือดร้อนฯลฯ  ในที่สุดก็ต้องยกเลิก

ทั้งที่เจตนารมณ์ของคณะราษฎร์ที่ประกาศไว้ คือลดช่องว่างระหว่าง "เจ้า" กับ" ไพร่"    แต่เรื่องบางเรื่องที่ควรง่ายก็กลับยืดเยื้อเสียยิ่งกว่าภาษีมรดก  นั่นคือการยกเลิกบรรดาศักดิ์   
ในตอนแรก คณะกรรมการราษฎรก็เต็มอกเต็มใจจะเลิกความเป็นขุน หลวง พระ พระยา   คือบรรดาศักดิ์ใหม่ก็ไม่มี และบรรดาศักดิ์เก่าก็ไม่ใช้       แต่ก็มีการยื้อกันไปยืดกันมา จนกว่าจะมีพระราชบัญญัติคลอดออกมาได้ก็กินเวลาถึง ๑๐ ปี
หลังจากนั้นอีกแค่ ๒ ปี  นายกรัฐมนตรีสมัยนั้นคือนายควง อภัยวงศ์ อนุญาตให้นำบรรดาศักดิ์กลับมาใช้ได้อีก  ก็กลับมาใช้กันตามเดิม
เมื่อยกเลิกบรรดาศักดิ์  ผู้ที่ยังอยากใช้ราชทินนามเป็นชื่อสกุล แทนนามสกุลเดิมก็มีไม่น้อย   อ่านได้จากกระทู้ของคุณหลวงเล็ก


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 25 มิ.ย. 10, 22:24
เข้าปีที่ ๗๘ แล้ว    ก็ยังไม่รู้ว่าพร้อมจะเป็นประชาธิปไตยหรือยัง?

มาถึงขั้นนี้แล้ว คงต้องคิดว่าจะทำยังไงกันต่อไปเท่านั้นแหละครับ

นึกได้ว่ามีเพื่อนคนหนึ่งพูดไว้โดนใจมากว่า "ผ่านไป ๘๐ ปีคนไทยบางกลุ่มเพิ่งรู้ว่าตัวเองมีสิทธิ์ และอาจต้องใช้เวลาอีก ๘๐ ปี กว่าคนกลุ่มนี้จะรู้ว่าตัวเองมีหน้าที่ด้วย"


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 25 มิ.ย. 10, 23:37
แถมยังส่งกองทัพตำรวจลับเข้าเกาะติดชาวสมาคมนี้ ได้รายชื่อที่เหวี่ยงแหมาได้เป็นกระบุงโกย ครั้นเปลี่ยนนายกมาเป็นพระยาพหล พวกคณะชาติเก่าก็กลายพันธุ์เป็นคณะกู้บ้านกู้เมือง มีสมาชิกประเภทฮาร์ดคอร์ประชุมกันเป็นประจำ และหนึ่งในนั้นคือพระยาศรีสิทธิสงคราม


โดยส่วนตัวผมคิดว่าท่านเจ้าคุณดิ่น ไม่น่าจะ HardCore มากเท่าใดนะครับ เพราะบุคคลิกของท่านค่อนข้างจะไปในแนวทางเสนาธิการเสียมากกว่าจะเป็นระดับปฎิบัติการ

ผู้ที่เป็น Hard Core ตัวจริงน่าจะเป็น พลตรี พระยาเสนาสงคราม (ม.ร.ว อี๋ นพวงศ์) มากกว่าครับ เพราะตอนที่คณะราษฏร์ไปจับตัวท่านก็ต้องทั้ง "ตีให้มึน" และ "ยิงให้เจ็บ"

ซึ่งแนวทางการจับกุมก็มาจากแผนของ พระยาทรงสุรเดช ด้วยนั่นเอง


ภายหลังเสือคู่นี้ก็ตามราวีกันไปอีกนาน ถึงขนาดท้ายิงกันตัวต่อตัว แต่พระยาทรงสุรเดชไม่กล้าสู้ด้วย เพราะท่านพระยาเสนาสงคราม ได้เหรียญแม่นปืนนั่นเองครับ

ภายหลังท่านเจ้าคุณดิ่นได้รวบรวมพรรคพวก ท่านพระยาเสนาสงครามก็มาร่วมด้วย และก็เป็นเพราะท่านพระยาเสนาสงครามนี่แหละ ที่ทำให้กองหนุนจากนครสวรรค์ลงมาช่วยไม่ทัน ทำให้แผนยุทธการผิดพลาดไปหมดครับ จนเป็นเหตุให้ พันโทแปลก รบชนะได้

ข้อมูลจากหนังสือ "เจ้าฟ้าประชาธิปกราชันย์ผู้นิราศ" ของนายหนหวยครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 26 มิ.ย. 10, 00:07
ความจริงแล้ว พระยามโนเจอเรื่องที่สี่เสือขอลาออกนี้เข้าท่านก็เกือบสลบ หลังจากปรึกษากับพระยาราชวังสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งแนะนำท่านว่าให้ฟังเสียงพวกผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองดู การทำงานข้างหน้าจะได้สมัครสมานกันราบรื่น เมื่อเชิญหลวงพิบูลมาปรึกษาแล้ว สรุปว่าให้เชิญพลตรี พระยาพิไชยสงคราม(แก็บ สรโยธิน) เป็นผู้บัญชาการทหารบกแทนพระยาพหล และพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม(ดิ่น ท่าราบ)เป็นเจ้ากรมยุทธการทหารบก ส่วนพันโทหลวงพิบูลสงครามจะขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก โดยหลวงพิบูลเป็นผู้ไปเจรจาทาบทามนายทหารชั้นผู้ใหญ่ทั้งสองด้วยตนเอง พระยาศรีสิทธิสงครามนั้นตกลงรับเพราะเห็นด้วยกับหลวงพิบูลเรื่องการโยกย้ายทหารที่พระยาทรงสั่งการไว้ โดยหลวงพิบูลขอให้ช่วยแก้ไข และหาทางป้องกันไม่ให้พระยาทรงกลับเข้ามามีอำนาจอีกได้ เมื่อทั้งสองท่านตกลงลงแล้วจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าลงมา ตามที่นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าเสนอ



ข้อมูลที่ผมแต้มสีลงไปนั้น เมื่อสอบทานกับข้อเขียนของ คุณกุหลาบ  สายประดิษฐ์(ศรีบูรพา) พบว่ามีข้อมูลดังนี้ครับ

"...ภายหลังพระยาศรีฯได้ถูกย้ายจากตำแหน่งราชการทหารมารับตำแหน่งราชการ ทางกระทรวงธรรมการ  อยู่มาจนกระทั่งพระยาพหลฯ พร้อมด้วยนายทหารอีก ๓ นายลาออกจากคณะรัฐบาล  เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๔๗๖ ด้วยมีเรื่องขัดใจกับพระยามโนฯ  พระยามโนฯหวังจะเอาพระยาศรีฯเป็นกำลังต่อไป  จึงได้แต่งตั้งพระยาศรีฯดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก  ในวันที่พระยาศรีฯจะไปรับมอบหมายงานที่กระทรวงกลาโหมนั่นเอง  พระยาพหลฯก็นำคณะยึดอำนาจการปกครองจกพระยามโนฯเป็นคำรบสอง  เมื่อวันที่ ๒๐  มิถุนายน  พระยาศรีฯจึงไม่ได้รับตำแหน่งนั้น
   อย่างไรก็ดี พระยาพหลฯและหัวหน้าบางคนในคณะของท่านก็ใคร่จะได้พระยาศรีฯปช่วยราชการ เหมือนกัน  พระยาพหลฯจึงได้ทำความเข้าใจกับพระยาศรีฯ ว่าการที่ไมได้จัดการให้พระยาศรีฯได้รับตำแหน่งทางการทหารในเวลานั้นก็เป็น ด้วย เมื่อได้ผลัดเปลี่ยนรัฐบาลใหม่และเป็นในยามมืดมนอนธการเช่นนี้   เพื่อให้คน ทั้งปวงมีความเชื่อมั่นในความสงบของบ้านเมือง  ตำแหน่งสำคัญ ๆ ทางราชการทหาร  จำต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงไปด้วย  ขอให้พระยาศรีฯอยู่ในความสงบไปพลางก่อน  ต่อผ่านระยะแห่งความยุ่งยากไปแล้วก็จะได้จัดการให้พระยาศรีฯ ได้รับตำแหน่งในราชการทหารสืบไป  ทั้งนี้มีความรู้สึกฉันมิตรอันจริงใจของพระยาพหลฯและนายทหารชั้นหัวหน้าของ คณะผู้ก่อการบางคนที่มีต่อพระยาศรีสิทธิสงคราม
   อย่างไรก็ดี  พระยาศรีฯ คงมีความเข้าใจผิดคิดว่าปิยมิตรไม่ไว้วางใจในตนเสียแล้ว  ก็คงจะมีความโทมนัสใจ  และประกอบกับคงจะมีความข้าใจผิดในคติการเมืองของคณะราษฎรในบางปะการ  จึงเป็นเหตุบันดาลให้พระยาศรีฯไปร่วมมือกับพระองค์เจ้าบวรเดช  ก่อการกบฏต่อรัฐบาลคณะราษฎรขึ้น  จนถึงได้นำทหารหัวเมืองมาทำยุทธการกับเหล่าทหารของรัฐบาลคณะราษฎรขึ้น  ในที่สุดฉากแห่งชีวิตของท่านนายพันเอกผู้นี้ปิดลงด้วยการสู้รบจนถึงแก่ความ ตายในสมรภูมิสมเยี่ยงชาติทหาร


ลุงคำตัน ชีวิต/อุดมการณ์/ความหวัง
ทันพงษ์  รัศนานันท์  บรรณาธิการ"

http://www.thaioctober.com/forum/index.php?action=printpage;topic=575.0


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 มิ.ย. 10, 09:45
ขอบคุณคุณ Samun007 ที่เข้ามาแลกเปลี่ยนทัศนะกันในกระทู้นี้นะครับ ท่านพล.ต.พระยาเสนาสงคราม(ม.ร.ว. อี๋ นพวงศ์) นั้น ผมยกให้ท่านเป็นระดับซูปเปอร์ฮาร์ดคอร์ทั้งสามีและภรรยา คนที่เขียนเรื่องของท่านได้ดีที่สุดอีกคนหนึ่งก็คือท่านพลเอก บัญชร ชวาลศิลป์ แม้เนื้อหาเดิมๆจะเอามาจากนายหนหวยก็ตาม

“วันเกิดเหตุซึ่งมีการปะทะคารมกันนั้นมีบันทึกไว้ว่าเกิดขึ้นครั้งแรกต่อหน้านายทหารในสโมสรนายทหารชั้นผู้ใหญ่กระทรวงกลาโหม โดย พ.อ.พระยาทรงสุรเดชได้เปรยขึ้นมาในกลุ่มนายทหารพันเอกด้วยกันรอบๆโต๊ะบิลเลียดว่า"เขาเล่ากันว่า พระราชวงศ์จักรีจะปกครองเมืองไทยอยู่เพียง 150 ปีเท่านั้น นี่ก็ครบ 150 ปีแล้ว เขาว่าจะมีคนคิดกบฎ"พูดจบก็สังเกตปฏิกริยาจากนายทหารที่ได้ยินคำพูดนี้ แน่นอน…เรื่องคอขาดบาดตายแบบนี้ต่อให้มึนขนาดไหนก็หายเป็นปลิดทิ้ง แต่แล้วก็ปรากฎมีเสียงสวนตอบอย่างหนักแน่นดังสนั่นแหวกความเงียบมาว่า

"ใครกบฏก็รบกันซีวะ…กูก็เลือดราชวงศ์จักรีเหมือนกัน ไม่ยอมให้ใครมาเหยียบได้ง่าย" เจ้าของเสียงคือ พล.ต.พระยาเสนาสงคราม เสือร้ายเจ้าพ่อ พล.1 รอ.พร้อมสายตาแข็งกร้าว…”

เรื่องราวขัดแย้งระหว่างสองเสือเริ่มปะทุขึ้นแล้ว !!!
^
^
ขอเชิญติดตามได้ในลิงค์นี้

http://www.bloommedia.co.th/webboard/viewtopic.php?f=23&t=691

http://www.bloommedia.co.th/webboard/viewtopic.php?f=23&t=731


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 มิ.ย. 10, 09:52
ส่วนเรื่องราวหลังจากนั้น ต้องดูตามสำนวนของพลโทประยูร ภมรมนตรี

สั่งเก็บผบ.พล ๑
เมื่อพล.ต. พระยาเสนาสงครามถูกปลดออกจากราชการ ก็ขับรถยนต์คันเล็กสองคนตายายมารังควานจอดรถท้าทายพระยาทรงอยู่หน้าวังปารุสกวันเป็นประจำ ทำให้ท่านเจ้าคุณทรงเคียดแค้นรำคาญสั่งให้ลูกน้องเก็บ ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นเรื่องกระทบกระเทือนสร้างความหวั่นไหวให้แก่ประชาชนในเรื่องระบบการยิงทิ้ง จึงอาสาจะจัดการระงับ ครั้นแล้วข้าพเจ้าก็ไปพบ น.ต.หลวงสกลนภากาศ(มล สิงหเสนี)ซึ่งเป็นญาติห่างๆและเป็นลูกเขยพระยาเสนาสงคราม ขอร้องให้ท่านย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดและสงบนิ่งอยู่ เหตุการณ์บ้านเมืองย่อมผันแปรไป โดยพร้อมที่จะซื้อบ้านที่อยู่ของท่านที่ถนนนครชัยศรี หลวงสกลนภากาศก็รับรองว่าจะช่วยเจรจาให้สำเร็จ ขอเงินขายบ้าน5000บาท ข้าพเจ้าได้อ้อนวอนขอเงินจำนวนนี้จากท่านเจ้าคุณมโนปกรณ์ ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลและว่าการคลังอยู่ด้วย ท่านรู้สึกอิดหนาระอาใจว่าเล่นการเมืองอย่างนี้อยากจะลาออก แต่ในที่สุดก็รับปากที่จะจัดหาเงินรายได้พิเศษมาให้ แต่การดำเนินการเบิกจ่ายล่าช้า ท่านเจ้าคุณทรงก็มาต่อว่าเร่งรัดและเกิดขัดใจ เลยลงมือเสียเอง โดยให้ร้อยโทขุนนามนฤนาท  ซึ่งไปประจำเป็นนายทหารติดต่อกับฝ่ายตำรวจจัดการให้สิบเอกสวัสดิ์กับสิบเอกเทียนฟู้ เป็นคนมาดักยิงพระยาเสนาสงครามที่หน้าบ้าน บาดเจ็บสาหัสอาการปางตาย แต่ท่านรู้ตัวมาก่อนจึงได้ยิงต่อสู้กับมือปืนบาดเจ็บ ต้องแอบไปรักษาตัวอยู่ที่วัดนครปฐม ข้าพเจ้ารู้สึกขุ่นหมองเจ้าคุณทรงเป็นอย่างมากว่ามีกำลังทหารอยู่ในมือทั้งกองทัพ ไม่น่าจะมาทำให้มีเรื่องสะเทือนใจทำลายเสถียรภาพของรัฐบาล


ผมไม่ได้นำเรื่องนี้มาเขียนแต่แรกก็เพราะเห็นว่า ข้อขัดแย้งดังกล่าวมิใช่เรื่องที่พระยาทรงมีกับคณะผู้ก่อการ อันจะนำไปสู่วิบากที่ท่านจะประสพในชีวิตของท่าน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ผมจะเขียนดังต้นเรื่องที่เกริ่นไว้ แต่ยังไปไม่ถึงสักที นี่จะหมดโควต้าร้อยความเห็นที่ท่านเจ้าของห้องตั้งเป้าไว้แล้ว เห็นทีจะต้องขอต่อรองเพิ่มมาอีกสักห้าหกสิบ ก็เรื่องข้างเคียงของพระยาทรงมีเยอะมาก ที่ท่านยกมากันก็เป็นข้อมูลดีๆสนุกๆทั้งนั้น ที่ผมละเว้นเรื่องที่เกี่ยวกับท่านพระยาเสนาสงครามไป ไม่ได้กล่าวถึงแต่แรก ก็นึกเสียดายอยู่ เพราะเท่ากับตัดส่วนสำคัญของพระยาทรงในเรื่องความไม่ดีของท่าน ที่ชอบใช้วิธีการรุนแรงลอบทำร้ายศัตรู ทั้งๆที่น่าจะใช้สมองเสธ.เอากำลังทหารเข้าบีบจับเป็นมาให้ได้ โดยใช้จิตวิทยาประกอบอย่าให้พระยาเสนาตัดสินใจใช้ปืน ฉะนั้นจึงต้องขอขอบคุณคุณSamun007 อีกครั้งหนึ่งที่ทำให้ผมกลับมามีโอกาสกล่าวถึงเรื่องนี้ แทนที่จะไปหาโอกาสเขียนแถวๆบทสรุป

เพราะกรรมก็ตามสนอง มาคิดๆดูแล้ว หลวงพิบูลคงทราบนิสัยพระยาทรงในเรื่องนี้ดีอยู่ พอตนถูกนายพุ่มยิงเอาปางตายที่ท้องสนามหลวง เผอิญ(หรือไม่เผอิญก็ไม่ทราบ) ร้อยตำรวจเอกขุนนามนฤนาท อยู่ในที่เกิดเหตุขนาดเป็นผู้อุ้มหลวงพิบูลขึ้นรถพยาบาล แต่บอกว่าเผอิญผ่านเข้ามาในเหตุการณ์ ตอนนั้นจำเลยไม่ได้ซัดทอดขุนนามเลยรอดตัวไป แต่ชื่อขุนนามและพระยาทรงคงอยู่ในbad listไปแล้วเพราะมีประวัติตามที่พลโทประยูรเขียน เรื่องที่หลวงพิบูลตัดสินใจเชคบิลกับพระยาทรงและพรรคพวกน่าจะมีเหตุมีปัจจัยมาอย่างนี้ ดังนั้น แม้เรื่องกบฎ2482พระยาทรงจะถูกเนรเทศ แต่ขุนนามก็เป็น1ใน18ที่โดนประหาร


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 มิ.ย. 10, 09:55
ส่วนพระยาศรีสิทธิสงคราม(ดิ่น ท่าราบ)นั้น ผมก็ยังเชื่อว่าท่านเป็นนักรบระดับแนวหน้าที่ผมใช้คำว่าhardcore แต่ไม่ถึงขนาดsuper hardcoreไปควงปืนท้าดวลกับผบ.หน้ากรมทหาร ถ้าเป็นอย่างนั้น ผมก็เชื่ออีกเหมือนกันว่าคงไม่มีใครเลือกให้เป็นแม่ทัพ พระยาเสนาท่านกระเปิ๊บกระป๊าบดังว่า จึงไปปฏิบัติการนำทหารปืนใหญ่จากนครสวรรค์ลงมากรุงเทพไม่สำเร็จ

ที่น่านับถือพระยาศรีอย่างยิ่ง แม้จะผิดแผนไปหมด แต่การที่ท่านไม่ยอมพ่ายหนีอย่างขี้ขลาดตาขาว ก็คือการถอยมาอยู่ที่ช่องหินลับอย่างมีชั้นเชิง อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่กำหนดไว้ว่า หากเพลี่ยงพล้ำฝ่ายรัฐบาล ก็จะใช้จุดยุทธศาสตร์นี้ยันทัพที่ติดตามตีได้ และท่านได้อยู่บัญชาการรบเอง ไม่ได้สั่งให้ลูกน้องว่าเอ็งอยู่ กูจะไป แม้นโชคชะตาจะกำหนดให้ท่านต้องเสียชีวิตทั้งๆที่การรบยังไม่ถึงขั้นแตกหัก เพราะออกมาเดินตรวจแนวรบให้กำลังใจทหารในคืนที่มืดมิดโดยมีปืนพกกระบอกเดียว
แต่การเสียชีวิตของท่านก็ได้รับการยอมรับจากสังคมว่าเป็นการตายที่สมศักด์ศรีชายชาติทหาร พนักงานกรมรถไฟยังได้จัดพิธีรำลึกวันพระยาศรีขึ้นในทุกปีของวันที่23 ตุลาคม ณ ตำแหน่งที่เป็นที่เคยเป็นมั่นสุดท้ายของท่าน นายสถานีหินลับจะเป็นผู้ทำพิธีที่เรียบง่าย ด้วยการนำคนรถไฟ ชาวบ้าน และเด็กๆ ทยอยนำดอกไม้มาวางที่ป้าย ซึ่งการรถไฟจัดทำไว้ ไม่มีศาลให้คนมาขอหวยรกรุงรัง  ป้ายนั้นมีข้อความว่า

        ที่มั่นสุดท้าย-ที่ตาย
                 ของ
       พระยาศรีสิทธิสงคราม
            (ดิ่น ท่าราบ)
         คราวกบฏบวรเดช


เมื่อขบวนรถผ่านมาในเวลานั้น จะต้องชลอความเร็วตามปกติเพราะเป็นทางโค้งและแคบ นายสถานีจะกระโดดขึ้นไปบนรถข้างพนักงานขับ แล้วยิงปืน 18 นัด สลุตให้แก่ท่าน เป็นเกียรติยศเทียบเท่าเสนาบดี

พิธีดังกล่าวกระทำตามคำสั่งของนายพันเอกพระยาสฤษดิการบรรจง(สมาน ปันยารชุน) ผู้ว่าการการรถไฟในสมัยนั้น ซึ่งถูกให้ออกจากราชการเพราะการท้าทายอำนาจรัฐอย่างโจ่งแจ้งในเรื่องนี้ แต่ก็น่านับถือคนรถไฟ ผู้ว่าการคนต่อๆมาไม่มีใครยกเลิกคำสั่งดังกล่าว และยังคงถือปฏิบัติต่อมาจนปัจจุบัน


เรื่องของท่านดิ่น น่าจะเปิดเป็นกระทู้อีกกระทู้หนึ่ง เอาไว้เมื่อผมจบ และหายเหนื่อยจากกระทู้นี้ก็แล้วกัน


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มิ.ย. 10, 10:38
ผมไม่ได้นำเรื่องนี้มาเขียนแต่แรกก็เพราะเห็นว่า ข้อขัดแย้งดังกล่าวมิใช่เรื่องที่พระยาทรงมีกับคณะผู้ก่อการ อันจะนำไปสู่วิบากที่ท่านจะประสพในชีวิตของท่าน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ผมจะเขียนดังต้นเรื่องที่เกริ่นไว้ แต่ยังไปไม่ถึงสักที นี่จะหมดโควต้าร้อยความเห็นที่ท่านเจ้าของห้องตั้งเป้าไว้แล้ว เห็นทีจะต้องขอต่อรองเพิ่มมาอีกสักห้าหกสิบ

ขอโทษที่เกริ่นไว้กำกวมไปหน่อย   ที่ว่าตั้งเป้าไว้ ๑๐๐ ค.ห.  หมายความว่า ตั้งใจจะให้ทำให้ได้ อย่างน้อย ๑๐๐ ค.ห.   เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีรายละเอียดให้เล่าได้มาก    คนก็รู้กันน้อย   ไม่อยากให้จบเร็วๆ
คุณนวรัตนจะเขียนยาวสักกี่พันค.ห.ก็ได้ค่ะ   
เรื่องพระยาเสนาสงคราม และพระยาศรีสิทธิฯ เป็นเรื่องเข้มข้นอีกเรื่องหนึ่ง ที่อยากจะขออาราธนาคนมาเล่าให้ฟังนานแล้ว
คุณหญิงเสนาสงคราม ท่านยังกะโจน ออฟ อาร์ค ออฟ สยาม  ยังไงยังงั้น


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 มิ.ย. 10, 12:46
อ้างถึง
คุณนวรัตนจะเขียนยาวสักกี่พันค.ห.ก็ได้ค่ะ

เอิ๊กกก...เ ป็ น  ล  ม


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: bookaholic ที่ 26 มิ.ย. 10, 17:55

"ใครกบฏก็รบกันซีวะ…กูก็เลือดราชวงศ์จักรีเหมือนกัน  ไม่ยอมให้ใครมาเหยียบได้ง่าย" เจ้าของเสียงคือ พล.ต.พระยาเสนาสงคราม เสือร้ายเจ้าพ่อ พล.1 รอ.พร้อมสายตาแข็งกร้าว…”
ขอให้ข้อมูลข้างเคียง  เพื่อช่วยปั่นทู้ให้ถึง 1000 เร็วๆครับ
ราชสกุลนพวงศ์ ของพระยาเสนาสงคราม  สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านพวงศ์ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส หรือ พระองค์เจ้าชายนพวงศ์ วรองค์อรรคมหามกุฎ ปรมุตมราโชรส พระนามเดิม พระองค์เจ้านพวงศ์
ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อย ธิดาของพระอินทรอำไพ (สมเด็จเจ้าฟ้าทัศไภย พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกับ กรมหลวงบริจาภักดี ศรีสุดารักษ์) ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ ปีมะเมียจัตวาศก จ.ศ. ๑๑๘๔ (๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๖๕)
พระองค์เจ้านพวงศ์ ทรงเป็นพระโอรสหนึ่งในสองพระองค์ที่ประสูติก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก (อีกพระองค์หนึ่งคือ พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์)

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็น กรมหมื่นมเหศวรศิวลาส กำกับดูแลกรมล้อมพระราชวัง ต่อมาโปรดฯให้กำกับราชการกรมพระคลังมหาสมบัติ เพิ่มอีกตำแหน่ง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านพวงศ์ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส สิ้นพระชนม์เมื่อวันศุกร์ เดือน ๘ แรม ๓ ค่ำปีเถาะนพศก จ.ศ. ๑๒๒๙ (๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๑๐) พระชันษา ๔๖ ปี

พระยาเสนาสงคราม มีนามเดิมว่าม.ร.ว. อี๋ นพวงศ์  ผมก็ไม่ทราบว่าท่านพ่อของท่านเป็นหม่อมเจ้าโอรสองค์ไหนของกรมหมื่นมเหศวร      แต่ถ้าลำดับชั้น   ท่านเป็นเหลนทวดของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครับ
ดังนั้น  ท่านจึงพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นเลือดราชวงศ์จักรี


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มิ.ย. 10, 21:00
ความคิดเห็นของศรีบูรพา หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ต่อสถาบันกษัตริย์   ลงในน.ส.พ.ศรีกรุง  ฉบับวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๕
"พระราชวงศ์อาจมีทั้งที่ฉลาดและโง่    บางพระองค์อาจเป็นได้ทั้งโง่และทั้งหยิ่ง   นี่แหละเป็นเหตุที่ทำให้สมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระเจ้าแผ่นดินดำเนินไปในทางผิดหวัง    ทำให้ประชาชนเห็นตระหนักยิ่งขึ้นทุกขณะว่า  ชาติกำเนิดของบุคคลไม่ใช่เครื่องหมายบ่งบอกถึงความดีของมนุษย์"

ไม่มีพระราชวงศ์ท่านใดออกมาคัดค้าน  หรือแสดงปฏิกิริยาอย่างใดกับความเห็นของศรีบูรพา     ศรีบูรพาอาจรู้สึกผิดหวังต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จริง  ดังที่แสดงในข้อเขียน  และหวังว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองจะนำความสมหวังมาให้ประชาชน   อย่างน้อยก็ดีกว่าเดิม
แต่ระบอบการปกครองของไทย ในช่วงหนึ่ง   หลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์สิ้นสุดลง   เป็นระบอบที่ประทับตรา "กบฏ" ให้สุภาพบุรุษนักเขียนผู้เชื่อมั่นในประชาธิปไตย   จนกระทั่งต้องลี้ภัยการเมืองไปถึงแก่กรรมในสาธารณรัฐประชาชนจีน 


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 มิ.ย. 10, 06:20
อ้างถึง
ผมไม่แน่ใจว่าพระยาทรงรู้เห็นด้วยกับกบฏบวรเดชหรือเปล่า   แต่อยู่ในแวดวงเดียวกัน น่าจะระแคะระคายมั่ง  ไม่มากก็น้อย   เพียงแต่ไม่ได้ลงมือร่วมด้วยช่วยกัน

ข้อความที่คุณbookaholicได้ตั้งคำถามไว้ ผมก็เชื่อว่าท่านคงทราบแน่ แต่พระยาทรงท่านอาจจะเบื่อการเมืองจริงๆ ก่อนหน้านั้นจึงได้ลาออก พร้อมกับชวนสี่เสือออกพร้อมกันทั้งคณะ แล้วตัวท่านกับพระประศาสตร์ก็รีบเดินทางไปพม่า  แล้วจึงเกิดเหตุการณ์หลวงพิบูลปฏิวัติพระยามโนโดยชูพระยาพหลขึ้นบังหน้า พอท่านกลับมา ถึงหลวงพิบูลจะเชิญให้ร่วมงานกันอีก ท่านก็ปฏิเสธ แม้จะเสนอตำแหน่งรัฐมนตรีให้ ส่วนพระยาฤทธิ์และพระประศาสตร์ยอมรับคำชวนโดยดี เรื่องนี้หลวงพิบูลจึงตั้งข้อสงสัยว่า พระยาทรงคงจะต้องการตำแหน่งบังคับบัญชาทหาร เช่นเป็นรัฐมนตรีกลาโหมเป็นต้น ตำแหน่งอื่นๆไม่เอา มักใหญ่ใฝ่สูงมาก คิดไปโน่น ทั้งๆที่ท่านพอใจจะเป็นนายทหารธรรมดาๆ รับราชการไปตามหน้าที่เท่านั้น

ส่วนข่าวกบฎในปีเดียวกัน ท่านก็ต้องระแคะระคายเท่าๆกับที่รัฐบาลรู้ เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะเกิดวันไหนเท่านั้น ท่านจึงขอลาไปดูงานยาวถึงยุโรป จะได้ไม่ต้องเกี่ยวข้องด้วย เพราะหากอยู่ก็เปลืองตัว ตอนปฏิวัติท่านเป็นเบอร์2 หลวงพิบูลยังเด็กๆรุ่นน้องรอฟังคำสั่งท่าน แค่ปีเดียว หลวงพิบูลก็เติบโตขึ้นมาเสมอบ่าเสมอไหล่ เมื่อท่านลาออกจากตำแหน่งไปแล้วก็เท่ากับยอมให้เขาล้ำหน้า เมื่อเกิดกบฏขึ้นมา เป็นทหารก็ต้องเข้าสนามรบ แล้วตอนนั้นใครจะเป็นคนสั่งใคร ออกเดินทางไปแล้ว20วันก็เกิดกบฏขึ้นตามคาด



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 มิ.ย. 10, 08:35
เมื่อเกิดกบฏและพระยาพหลนายกรัฐมนตรีสั่งให้กลับกรุงเทพทันทีตามที่เล่าไปแล้วนั้น เมื่อลงจากเรือที่อียิบต์และกว่าจะจับเรือขากลับ เมื่อเรือแวะที่ท่าโคลัมโบ ก็ได้รับข่าวล่าว่าเขาก็ปราบกบฏกันไปเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีข่าวลือกันให้แซดว่า ในแนวหน้าที่ทุ่งบางเขนนั้น หลวงพิบูลยกปืนพกขึ้นจะยิงพันเอกพระสิทธิเรืองเดชพล (แสง พันธุประภาส) เพื่อนของพระยาทรง เพราะความระแวง ไม่ไว้ใจผู้ที่ไม่ใช่พวกของตน

เมื่อเสร็จศึก พระสิทธิ์ได้รับการปลอบใจจากพระยาพหล แต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรี แต่ก็อยู่ได้ไม่นานนัก พระสิทธิ์ก็ลาออกจากรัฐมนตรีและตำแหน่งหน้าที่ประจำการฝ่ายทหาร เดินทางไปดูงานทางทหารที่ประเทศพม่ากับพระยาทรง ระหว่างที่อยู่ในพม่า ได้เกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้น หลวงพิบูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมถูกคนร้ายจ่อยิงขณะกำลังอยู่ในรถจะเดินทางกลับจากพิธีเปิดการแข่งขันฟุตบอลที่สนามหลวง โชคดีที่กระบี่เกะกะขา หลวงพิบูลก้มลงจัดกระบี่ในจังหวะที่คนร้ายลั่นไก กระสุนพลาดศรีษะไปทะลุท้ายทอย ถากแก้มไปเป็นรอยเลือดอาบ ตำรวจจับคนร้ายได้ทันควัน สารภาพว่าตนเป็นนักเลงสุพรรณชื่อพุ่ม ทับสายทอง มายิงล้างแค้นให้พี่ชายที่เป็นโจร ถูกตำรวจจับตายแล้วตัดหัวเสียบประจาน เพราะเข้าใจว่าหลวงพิบูลเป็นคนสั่ง ไม่มีผู้ใดจ้างวานตนมายิง คดีนี้ตำรวจจับผู้ต้องสงสัยหลายคน แต่นายพุ่มติดคุกคนเดียว 20 ปีตามคำพิพากษาของศาล เมื่อพระยาทรงได้ทราบข่าวว่าหลวงพิบูลถูกยิง ก็รีบเดินทางกลับเมืองไทยมิให้ต้องสงสัย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 มิ.ย. 10, 08:40
กลางปีนั้น เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่ากบฎนายสิบขึ้น นำโดย สิบเอกสวัสดิ์ มหะมัด วางแผนที่จะกระทำการในวันที่ 5 สิงหาคม 2478 มุ่งจะจับพระยาพหล และหลวงพิบูล เป็นตัวประกัน ส่วนหลวงประดิษฐ์ จะจับตายเท่านั้น แต่ยังไม่ทันได้ลงไม้ลงมือ ความลับรั่วเสียก่อน รัฐบาลจึงจับกุมผู้ก่อการ เป็นนายสิบทั้งสิ้นรวม 8 คนได้ทั้งหมด ตั้งศาลพิเศษชำระคดี หัวหน้าฝ่ายกบฏ ส.อ.สวัสดิ์ มหะมัด ถูกตัดสินประหารชีวิต นำไปยิงเป้าที่ป้อมพระจุล นอกนั้นจำคุกมากน้อยลดหลั่นกันไป ผู้ต้องหาทั้งหมดสารภาพ แต่ไม่ยอมรับว่ามีนายทหารอยู่เบื้องหลังดังที่รัฐบาลเชื่อว่าน่าจะมี  โดยเฉพาะพยายามจะให้ซัดทอดพระยาทรงมากที่สุด แต่ไม่สำเร็จ


ในปลายปีพระยาทรงกับพระสิทธิก็ไปประเทศจีนด้วยกันอีกหลายเดือน กลับมาแล้วพระยาทรงทำเรื่องขอกลับเข้ารับราชการทหาร ได้รับการบรรจุเข้าประจำกองบังคับการกรมเสนาธิการทหารบก เสนอโครงการก่อตั้งโรงเรียนรบชั้นสูงสำหรับนายทหาร(สมัยนี้น่าจะเรียกว่าโรงเรียนเสนาธิการกระมัง)  คงจะตามที่ได้ไปดูงานมาในหลายประเทศ สภากลาโหมเห็นชอบอนุมัติ ให้จัดตั้งขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ในค่ายกาวิละปัจจุบัน ท่านจึงคัดเลือกนายทหารระดับหัวกะทิทั้งหมด 29 นายขึ้นไปเรียน แต่หลวงพิบูลก็มิได้ไว้ใจ ส่งคนของตนขึ้นไปสอดแนมดูความเคลื่อนไหวเป็นระยะๆ ว่ากำลังซ่องสุมผู้คนจะก่อการใหญ่หรือเปล่า


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มิ.ย. 10, 09:36
มาต่อเรื่อง "เค้าโครงเศรษฐกิจ"ของปรีดี พนมยงค์
การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของดร.ปรีดี   มุ่งไปในทางที่ให้รัฐเป็นผู้บริหารเศรษฐกิจและสังคมเสียเอง  ทั้งในด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม    คือให้ประชาชนเป็นลูกจ้างหรือพนักงานของรัฐ ผลิตด้านเกษตรและอุตสาหกรรม  ไม่ได้ทำเอง ขายเอง รวยเองหรือเป็นหนี้เอง อย่างเมื่อก่อน  ในการตอบแทน รัฐก็ต้องมีสวัสดิการให้ประชาชนทุกคน เพื่อจะมีกำลังกายกำลังใจทำงานต่อไป

แนวทางปฏิบัติ ในเค้าโครงเศรษฐกิจแบบนี้ก็คือ

๑   ให้รัฐซื้อที่ดินของเอกชน โดยจ่ายเงินหรือออกใบกู้ให้เจ้าของเดิม
* ถ้าใครดูทีวีเมื่อวันสองวันก่อน จะเห็นความคิดนี้กลับมาในรูปของการซื้อที่ดิน ที่มีเจ้าของแต่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์   เพื่อให้ประชาชนได้ทำมาหากิน*
๒   รัฐบาลกำหนดให้ประชาชนทำงานตามคุณวุฒิ กำลังและความสามารถของตน
*  ข้อคิดนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือ ความฝันของนักอุดมคติ   รุ้ง จิตเกษมเห็นด้วยกับข้อนี้*
๓   รัฐหาเงินมาใช้ในการลงทุนเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ด้วยการเก็บภาษีมรดก  ภาษีเงินได้  ภาษีการพนัน  ออกสลากกินแบ่ง และกู้เงินจากต่างประเทศ
* คณะกรรมการราษฎร หรือคณะรัฐมนตรี ดำเนินการบางส่วนไปแล้ว    บางส่วนยกเลิกเช่นภาษีมรดก  บางส่วนยังดำเนินการมาจนทุกวันนี้ เช่น ภาษีเงินได้   ออกสลากกินแบ่ง และกู้เงิน    ส่วนการพนัน ในเมื่อเราถือว่าผิดกฎหมาย ก็มีแต่บ่อนเถื่อน ซึ่งไม่ต้องเสียภาษี*
๔   สนับสนุนให้รัฐพึ่งตัวเอง  คือสามารถผลิตทุกสิ่งทุกอย่างบริโภคเอง
*  ข้อนี้ยังไม่เคยบรรลุผล   ไทยยังต้องสั่งสินค้าจากต่างประเทศมากมายจนถึงทุกวันนี้  โดยเฉพาะน้ำมัน*
๕  จัดทำสหกรณ์
*  ข้อนี้มีแล้วในปัจจุบัน*
๖   จัดทำแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ
*  มาทำจริงๆ ๒๕ ปีหลังจากนั้น*

สี่วันหลังจากความแตกแยกในคณะรัฐมนตรี    เค้าโครงเศรษฐกิจฉบับนี้ก็พับฐานไป    ดร.ปรีดีต้องออกไปอยู่นอกประเทศ    ๕ เดือนกว่าจึงได้กลับมาเป็นรัฐมนตรีของรัฐบาลพระยาพหลฯ ที่จี้พระยามโนฯนายกเดิมออกไป
แต่นายปรีดีก็ต้องสัญญาว่า "จะไม่ใช่วิธีใดๆที่จะบังคับซื้อที่ดิน แล้วบังคับจ้างแรงงาน"


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มิ.ย. 10, 11:11
ความพ่ายแพ้ของเค้าโครงเศรษฐกิจเกิดจากอะไรก็ตาม มองได้หลายอย่าง
-  กระแสต่อต้านจากผู้สูญเสีย มีมากกว่ากระแสสนับสนุนของผู้เห็นชอบ
-  การไม่ได้ศึกษาสภาพแท้จริงของสังคมไทยสมัยนั้นมากพอ ทำให้ไม่มีหลักฐานแข็งแกร่งที่จะมายืนยัน
-  ความไม่เข้าใจ หรือไม่เห็นชอบกับอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจแบบนี้
-  ความเป็นไปไม่ได้ในการปฏิบัติ   ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคม
ผลก็คือ นอกเหนือจากการทหารที่เข้ามามีบทบาท กำหนดทิศทางและบุคคลในคณะรัฐมนตรี   จนเกิดกบฏติดตามกันมาไม่ขาดสายแล้ว   เศรษฐกิจก็ยังอยู่ในมือคนมีเงิน เหมือนสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์
      เป็นเวลานานหลายสิบปี  กว่าสังคมไทยจะค่อยๆปรับบางส่วนให้สอดคล้องกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ในประเทศคือเกษตรกรและกรรมการ  เช่นเรื่องสหกรณ์   แต่ก็ยังพูดไม่ได้ว่า เป็นสหกรณ์ที่เข้มแข็งและทำให้คนใช้แรงงานได้รับประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย

นอกจากนี้ คณะผู้ก่อการก็ยังทำอะไรบางอย่างให้ประชาชนสับสนอยู่บ้าง   เพราะเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ  กระแสประชาธิปไตยถูกกระตุ้นให้ตื่นตัว ด้วยการเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นต่อการพัฒนา  ส่งผ่านสื่อหนังสือพิมพ์รายวัน
กระแสตอบรับดีมาก   มีทั้งชาวกรุงเทพ และชาวชนบทส่งความเห็นกันมาคึกคัก  ทั้งชาวบ้านและพระภิกษุ  มีสารพัดเรื่องที่เกี่ยวกับการร้องเรียน ร้องทุกข์  ออกความเห็นเรื่องข้าราชการ   กฎหมาย กฎระเบียบ ฯลฯ
แต่ผลก็คือ  รัฐบาลเห็นเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปลีกย่อย ไร้สาระ  ไม่ได้เห็นความสำคัญ   ไม่ได้กระตือรือร้นอะไรกับความคิดเห็นของประชาชน   กลายเป็นว่าออกความเห็นได้ก็ออกความเห็นไป  ไม่ว่ากัน   แต่ก็ไม่ได้นำไปปฏิบัติ
คุ้นๆยังไงชอบกล   เหมือนเกิดทัน


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 27 มิ.ย. 10, 11:18

ในปลายปีพระยาทรงกับพระสิทธิก็ไปประเทศจีนด้วยกันอีกหลายเดือน กลับมาแล้วพระยาทรงทำเรื่องขอกลับเข้ารับราชการทหาร ได้รับการบรรจุเข้าประจำกองบังคับการกรมเสนาธิการทหารบก เสนอโครงการก่อตั้งโรงเรียนรบชั้นสูงสำหรับนายทหาร(สมัยนี้น่าจะเรียกว่าโรงเรียนเสนาธิการกระมัง)  คงจะตามที่ได้ไปดูงานมาในหลายประเทศ สภากลาโหมเห็นชอบอนุมัติ ให้จัดตั้งขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ในค่ายกาวิละปัจจุบัน ท่านจึงคัดเลือกนายทหารระดับหัวกะทิทั้งหมด 29 นายขึ้นไปเรียน แต่หลวงพิบูลก็มิได้ไว้ใจ ส่งคนของตนขึ้นไปสอดแนมดูความเคลื่อนไหวเป็นระยะๆ ว่ากำลังซ่องสุมผู้คนจะก่อการใหญ่หรือเปล่า


โรงเรียนที่พระยาทรงฯ ไปจัดตั้งน่าจะเป็นประเภท "โรงเรียนเหล่ารบพิเศษ" นะครับ อ้างอิงจากหนังสือ "นักเรียนนายร้อยฯ" ของคุณลุงสรศัลย์

ลักษณะก็คือจะเป็นสถานที่ฝึกสอนเฉพาะทางให้กับหน่วยต่าง ๆ โดยได้แนวคิดมาจากรูปแบบการฝึกศึกษาของระบบทหารเยอรมันครับ  ซึ่งก็เป็นไปในแนวทางเดียวกับข้อความในหนังสือ "คนไทยในกองทัพนาซี" ของท่าน พันเอกวิชา ฐิตวัตร นะครับ
กล่าวคือเมื่อเริ่มแรก ต้องไปเรียนในโรงเรียนรวมเหล่าของทหาร เทียบกับบ้านเราก็คงเป็นนักเรียนนายร้อย(Kadet : ขเด็ท) พอจบออกมา นักเรียนท่านใดชำนาญด้านไหน ก็จะไปเรียนต่อที่โรงเรียนเฉพาะทางนั้น ๆ  เช่น เหล่าม้า เหล่าปืนใหญ่ เหล่าสื่อสาร เหล่าทหารราบ เหล่าทหารสารบัญ เหล่าทหารช่าง ฯลฯ

ซึ่งในปัจจุบันนี้ทางกองทัพบกของไทย ก็จัดตั้งโรงเรียนเหล่าเฉพาะทางตามแต่ละประเภทไว้อยู่แล้ว เช่น ศูนย์การทหารราบ(ค่ายธนรัช) ศูนย์การทหารปืนใหญ่(ค่ายพหลโยธิน) ศูนย์การทหารม้า(ค่ายอดิศร) ศูนย์การทหารช่าง(ค่ายภานุรังษี) นอกจากนี้ก็ยังมีโรงเรียนตามเหล่าต่าง ๆ เช่น โรงเรียนสารบรรณ(อยู่แถวใกล้ ๆ สถานีรถไฟสามเสน) โรงเรียนการบัญชี(อยู่ตรงสะพานซังฮี้) ฯลฯ

และนอกจากนี้ หลักสูตรของนักเรียนนายร้อยไทย ก็ได้ปรับปรุงให้เป็นเหมือนกับระบบสหรัฐ(ซึ่งกองลอกแนวคิดเยอรมันมาอีกที)นั่นเองครับ เพราะสหรัฐก็แบ่งศูนย์การฝึกทหารออกตามเหล่า อย่าง ฟอร์ตเบนนิ่ง(Fort Benning) ก็เทียบได้กับศูนย์การทหารราบบ้านเรา, ฟอร์ตน๊อกซ์ (Fort Nox) ก็เทียบได้กับศูนย์การทหารม้าบ้านเรา ฯลฯ เป็นต้น ครับ  



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 มิ.ย. 10, 13:56
^
^
ขอบคุณคุณsamun007ที่ให้ความเห็นนะครับ ที่ผมเดาไปอย่างนั้นก็เพราะเห็นว่าเวลาที่พระยาทรงใช้ในการจัดตั้งโรงเรียนรบที่ว่านับว่าน้อยมาก ถ้าหลักสูตรเป็นแค่การเรียนการสอนในห้องส่วนใหญ่ ก็คงพอไหว แต่ถ้าเป็นหลักสูตรรบพิเศษที่จะต้องฝึกในภาคสนามกับอาวุธยุทโธปกรณ์ ผมคิดว่าไม่น่าจะเตรียมของเตรียมคนทันในระยะเวลาแค่2-3เดือน แต่ผมเองก็ไม่ได้ชำนาญการด้านหลักสูตรทางการทหารนะครับ อาจจะผิดก็ได้


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 มิ.ย. 10, 13:59
แล้วพระยาทรงท่านอยู่ของท่านดีๆแล้ว คนในสภาก็เอาเรื่องคอขาดบาทตายมาให้ท่าน

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท1 ที่มาจากการเลือกตั้งกลุ่มนึง มีร้อยโท ณ เณร ตาละลักษณ์ ส.ส.พระนครผู้ที่ปากกล้าเสียงดังฟังชัดที่สุด และเป็นบ.ก.หนังสือพิมพ์รายวัน “ชุมชน” ด้วย ประกาศตนเป็นฝ่ายค้านรัฐบาลอย่างไม่เกรงกลัวอิทธิพลผู้ใด และออกโรงเชียร์พระยาทรงโดยเปิดเผยว่าเป็นบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่สุด  เมื่อพระยาพหลประกาศยุบสภาแพ้การลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เรื่องที่รัฐบาลเอาที่ดินของพระคลังข้างที่ออกมาขายให้พรรคพวกของตนในราคาถูกแสนถูก แถมยังมีผ่อนส่งอีกต่างหาก ถือเป็นการคอรัปชั่นเชิงนโยบายตามศัพท์อันทันสมัย เมื่อได้ส.ส.ใหม่เข้าสภาแล้ว ได้จัดให้มีการประชุมลับเฉพาะส.ส.ประเภท1เพื่อหยั่งเสียงว่าจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรีแทน มีผู้เสนอชื่อพระยาทรงคู่กับหลวงพิบูล ปรากฎว่าคะแนนพระยาทรงชนะขาดถึง37ต่อ5 วันรุ่งขึ้นนสพ.ชุมชนตีภาพพระยาทรงกับหลวงพิบูลขึ้นหน้าหนึ่งคู่กันโดยพาดหัวว่า สภาลงคะแนนลับให้พระยาทรง37คะแนน หลวงพิบูล5แต้ม

ไม่ต้องสงสัยว่า เรื่องนี้จะทำความโกรธแค้นอับอายให้แก่หลวงพิบูลอย่างสาหัสเพียงไร แน่นอนพระยาทรงจะต้องถูกสงสัยว่าพยายามที่จะแย่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่อยู่แค่เอื้อมของตน

และในช่วงที่การเมืองยังไม่นิ่งนั้นก็มีข่าวพาดหัวว่า หลวงพิบูลถูกนายลี บุญตาคนสวนในบ้านบุกขึ้นไปยิงถึงห้องนอน แต่กระสุนพลาดเป้า หลวงพิบูลไม่เป็นอะไร ส่วนนายลีถูกจับ ต่อมาอีกเพียงหนึ่งเดือนก็มีข่าวพาดหัวอีกว่า หลวงพิบูลถูกวางยาพิษ ต้องถูกส่งไปล้างท้องกันทั้งครอบครัว แขกที่ไปรับประทานอาหารมื้อนั้นด้วยก็โดนลูกหลง โดนยาต้องไปล้างท้องกับเขาด้วย ทั้งสองเหตุการณ์ดัง

ดังนั้น เมื่อถึงเวลาที่สภาลงมติจริง กลับไม่มีใครเสนอชื่อพระยาทรง เพราะเห็นว่าท่านไม่เอาด้วย หลวงพิบูลจึงไร้คู่แข่ง พระยาพหลก็ประกาศเสนอชื่อหลวงพิบูลให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปสืบจากตน และด้วยการเสียงของส.ส.ประเภท2 หรือที่เรียกในปัจจุบันนี้ว่าสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นคนของรัฐบาลทั้งนั้น ลงมติรวมกับเสียง ส.ส.ประเภท ๑ ปรากฏว่าหลวงพิบูลได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างท่วมท้น


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 มิ.ย. 10, 14:05
รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามเข้าบริหารราชการได้เพียงเดือนเดียว  ก็เริ่มปฏิบัติการกวาดล้างเสี้ยนหนามทางการเมืองทันที โดยพันเอกหลวงอดุลยเดชจรัส เพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนนายร้อยของหลวงพิบูล ซึ่งเป็นอธิบดีกรมตำรวจ และรัฐมนตรีมหาดไทย ออกคำสั่งให้ลงมือปฏิบัติการพร้อมกันทุกสายในเช้ามืด ของวันที่ 29 มกราคม2482 ให้ทำการจับกุมผู้ต้องสงสัย จำนวน 51 คน และจับตายผู้ที่คิดว่าเป็นสายเจ้า หรือสายพระยาทรง3คน

คนแรก พันตรีหลวงราญรณกาจ อยู่บ้านข้างวัดโสมนัส เพิ่งจะตื่นนอนอยู่ในชุดโสร่งเมื่อตำรวจ ภายใต้การนำของร้อยตำรวจเอกหลวงจุลกะรัตนากรไปถึง หลวงราญออกมาเปิดประตูต้อนรับตำรวจด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เมื่อเชิญให้เข้ามาในบ้าน หลวงจุลกะก็ยื่นหมายจับให้ หลวงราญให้นั่งรอในห้องรับแขกก่อน ขอเวลาให้ตนได้เปลี่ยนเสื้อผ้า แถลงการณ์ของรัฐบาลออกมาว่าหลวงราญหายเข้าไปข้างในแล้วกลับออกมายิงตำรวจสองคนได้รับบาดเจ็บ ตำรวจจึงยิงป้องกันตัวด้วยปืนกลมือ ถูกหลวงราญล้มลงขาดใจตาย

คราวนี้มาดูเรื่องที่เล่ากันในครอบครัวของท่านบ้าง

อ้างถึง
มีเกร็ดเล็กๆเกร็ดหนึ่งซึ่งไม่เป็นที่สนใจของนักประวัติศาสตร์      ก็รู้กันแต่เฉพาะคนไม่กี่คน    บังเอิญพอจะเกี่ยวกับกระทู้นี้บ้าง จึงขอบันทึกลงไว้
ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕   เมื่อคณะราษฎร์นำโดยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เรียกทหารที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่มารวมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้าได้  ก็อ่านประกาศปฏิวัติให้ฟัง  แล้วถามความสมัครใจประกอบปืน ชี้ถามนายทหารแต่ละคนว่าจะร่วมด้วยไหม   เจอเข้าแบบนี้ใครจะตอบปฏิเสธ
ในจำนวนนั้นมีนายทหารรักษาพระองค์ยศพันตรีคนหนึ่ง  อยู่แถวหลัง  ไม่ยอมเข้าด้วย  ก็แอบหลบออกจากตรงนั้นไปได้  ออกไปทางสนามเสือป่าแล้วกลับเข้าไปในกรมทหารรักษาพระองค์   รายงานผู้บังคับบัญชาชื่อพันเอกพระยาสุรเดชให้ทราบ
พระยาสุรเดชตั้งใจจะขัดขืน   แต่มาได้ข่าวว่าฝ่ายปฏิวัติจับกรมพระนครสวรรค์ไปคุมขังไว้ได้แล้ว   ก็เลยไม่กล้าทำการโดยพลการ    แต่เมื่อพระยาพหลฯเรียกไปพบในฐานะเพื่อนเก่าด้วยกัน เพื่อเกลี้ยกล่อมให้เป็นพวก
พระยาสุรเดชฯก็ปฏิเสธ   จึงถูกปลดออกจากราชการ
ส่วนนายทหารยศพันตรีคนนั้นยังอยู่ในราชการต่อมา    จนถึงเกิดการจับกุมกวาดล้างครั้งใหญ่ ปี ๒๔๘๑ ที่กรมขุนชัยนาทฯโดนร่างแหเข้าไปด้วย     ตำรวจขึ้นลิสต์นายทหารคนนี้ว่าอยู่ในข่ายปรปักษ์ของรัฐบาล     ก็ไปถึงบ้านเพื่อจับกุมเอาตัวไปสอบสวน
ตอนนั้นเช้ามาก ยังไม่ได้แต่งตัว  เขาตอบว่าขอเข้าห้องไปแต่งกายให้เรียบร้อยก่อน    พอเดินเข้าไปในห้อง ตำรวจก็ตามเข้าไป แล้วยิงตายตรงนั้นเอง  ต่อหน้าลูกเมีย   โดยไม่มีการต่อสู้หรือสอบสวนอย่างใดเลย
นายทหารรักษาพระองค์คนนั้นชื่อ พันตรี หลวงราญรณกาจ (พุฒ วินิจฉัยกุล)



คนที่สอง พันตำรวจตรีหลวงรณสฤษฏ์ ก่อนหน้านั้นถูกย้ายไปปลั่งอยู่ที่แม่ฮ่องสอน แล้วให้ย้ายไปอยู่ปากพนัง นครศรีธรรมราช โดยมีคำสั่งลับไปที่ผู้บังคับบัญชาว่าอย่าอนุญาตให้ออกไปนอกเขตเมืองคอน ครั้งนี้รัฐบาลส่งนายตำรวจสันติบาลไปคุมตัวมากรุงเทพ รัฐบาลออกแถลงการณ์ว่า ระหว่างเดินทางอยู่บริเวณตำบลในจังหวัดชุมพร หลวงรณสฤษฏ์ได้แย่งปืนพกตำรวจแล้วยิงตนเองตาย

คนที่สาม พันตรีหลวงสงครามวิจารณ์ นายทหารกองหนุน ลาออกจากราชการแล้วไปทำการค้าอยู่ที่จังหวัดยะลา กรมตำรวจสั่งให้ร้อยตำรวจเอก ขุนพันธ์ราชเดช เจ้าของไอเดียจตุคามรามเทพที่ปั่นกระแสตลาดพระจนฮิตติดซีลลิ่ง ไปจับกุมตัวได้โดยละม่อมที่บ้านเอาแล้วไปคุมตัวไว้ที่ปัตตานี ครั้นเมื่อจะนำไปขึ้นรถไฟที่สถานีโคกโพธิ์เพื่อส่งเข้ากรุงเทพ รัฐบาลแถลงว่า ระหว่างนั้น มีโจรมลายูเก้าคนพร้อมอาวุธครบมือบุกเข้าปล้นตัวหลวงสงคราม ระดมยิงปืนใส่ตำรวจบาดเจ็บสองคน ตำรวจจึงยิงป้องกันตัว คนร้ายหนีไปได้หมด แต่หลวงสงครามถูกลูกหลงเสียชีวิต


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 มิ.ย. 10, 14:15
ส่วนผู้ที่ถูกจับส่วนหนึ่งประกอบด้วย

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร
พลโท พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) - อดีตแม่ทัพไทยในสงครามโลกครั้งที่ 1
พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ - อดีตรัฐมนตรี
พระวุฒิภาคภักดี
พันเอก พระสิทธเรืองเดชพล (แสง พันธุประภาส) อดีตรัฐมนตรี
พันโท พระสุวรรณชิต (วร กังสวร)
ร้อยโท ณ เณร ตาละลักษณ์ - สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พระนคร
ร้อยเอก หลวงภักดีภูมิภาค
ร้อยโท ชิต ไทยอุบล
หลวงสิริราชทรัพย์
นายดาบ ผุดพันธ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา - บุตรพระยาเทพหัสดิน
ร้อยโท เผ่าพงศ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา - บุตรพระยาเทพหัสดิน
นายดาบ พวง พลนาวี - ข้าราชการรถไฟ พี่เขยทรงสุรเดช
พันเอก หลวงมหิทธิโยธี (สุ้ย ยุกตวิสาร) - ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกราชบุรี
ร้อยตรี บุญมาก ฤทธิ์สิงห์ - นายทหารประจำการ
พันเอก หลวงชำนาญยุทธศิลป์ - อดีตรัฐมนตรี
ร้อยเอก ขุนคลี่พลพฤนท์ (คลี่ สุนทรารชุน) นายทหารประจำ รร.รบ เชียงใหม่
พันตำรวจตรี ขุนนามนฤนาท (นาม ประดิษฐานนท์) - นายตำรวจประจำการ
พันตรี หลวงไววิทยาศร (เสงี่ยม ไววิทย์) - นายทหารประจำการ
ร้อยเอก จรัส สุนทรภักดี - ลูกศิษย์พระยาทรง รร.รบ เชียงใหม่
ร้อยโท แสง วัณณศิริ- ลูกศิษย์พระยาทรง รร.รบ เชียงใหม่
ร้อยโท สัย เกษจินดา- ลูกศิษย์พระยาทรง รร.รบ เชียงใหม่
ร้อยโท เสริม พุ่มทอง- ลูกศิษย์พระยาทรง รร.รบ เชียงใหม่
ร้อยโท บุญลือ โตกระแสร์- ลูกศิษย์พระยาทรง รร.รบ เชียงใหม่
ร้อยเอก ชลอ เอมะศิริ - หลานชาย พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ 1 ใน 4 ทหารเสือ
พลตรี หม่อมเจ้าวงศ์นิรชร เทวกุล
นายโชติ คุ้มพันธ์ - สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
พระยาวิชิตสรไกร
ต่อมามีการจับกุมผู้ต้องสงสัยเพิ่มอีก 20 กว่าคน เช่น นายเลียง ไชยกาล ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน นายมังกร สามเสน และนายทหารจากโรงเรียนรบ เชียงใหม่อีกหลายนาย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 มิ.ย. 10, 14:21
ในวันปฏิบัติการนั้น ถือเป็นงานใหญ่ระดับชาติ ใช้เครื่องบินสื่อสารเดินคำสั่งและนำรายงานกลับมาให้กองบก.วังสวนกุหลาบที่พำนักของนายกรัฐมนตรีทุกระยะ

พระยาทรงที่รัฐบาลแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้ากบฏในครั้งนี้กำลังอยู่ในระหว่างการนำศิษย์โรงเรียนรบที่เพิ่งจบหลักสูตรตระเวณดูงานทหารตามกรมกองต่าง ๆ แต่เมื่อถึงกรมทหารราชบุรี ปรากฎว่ามีเครื่องบินสื่อสารมารออยู่ พันเอกหลวงประจักรกลยุทธเป็นผู้มากับเครื่องบินลำดังกล่าวได้นำซองขาวมายื่นให้ เป็นคำสั่งให้ปลดนายทหารออกจากราชการ ลงนามโดยพันเอกมังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีสั่งราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีรายชื่อดังต่อไปนี้

1 พันเอกพระยาทรงสุรเดช ผู้อำนวยการโรงเรียนรบ เป็นนายทหารพ้นราชการ ไม่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญ
2 ร้อยเอกขุนคลี่พลพฤนท์ ประจำบก.โรงเรียนรบ เป็นนายทหารพ้นราชการ ไม่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญ
3 ร้อยเอกสำราญ กาญจนสิทธิ์ นายทหารคนสนิทของผู้อำนวยการโรงเรียนรบ เป็นนายทหารพ้นราชการ ไม่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญ
4 พันตรีหลวงธุระไวทยะวิเศษ ประจำบก.โรงเรียนรบ เป็นนายทหารพ้นราชการ ไม่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญ
5 พันเอกหลวงมหิทธิเมธี ผบ.มณฑ.5 จังหวัดราชบุรี เป็นนายทหารพ้นราชการ ไม่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญ
6 พันตรีหลวงพิชิตปัจจนึก ครูกรมยุทธศึกษาทหารบก เป็นนายทหารพ้นราชการ ไม่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญ
7 ร้อยเอกขุนรณมัยพิศาล ประจำกองเกียกกายทหารบก เป็นนายทหารพ้นราชการ ไม่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญ
8 ร้อยเอกขุนประสิทธิ์สินธวาคม ประจำแผนกที่2 กรมจเรทหารบก เป็นนายทหารพ้นราชการ ไม่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญ
9 ร้อยเอกชลอ เอมะศิริ ประจำแผนกที่2 กรมจเรทหารบก เป็นนายทหารพ้นราชการ ไม่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญ
10 ร้อยเอกเพชร ศุขสว่าง รองผบ.ร2 พัน4 เป็นนายทหารพ้นราชการ ไม่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญ
11  ร้อยเอกเจือม เอี่ยมคะนุช ประจำแผนกที่2 กรมจเรทหารบก เป็นนายทหารพ้นราชการ ไม่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญ
12ร้อยตรีบุญมาก ฤทธิ์สิงห์ สำรองราชการ บก.ทหารบก เป็นนายทหารพ้นราชการ ไม่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญ

ทั้งนี้ให้สังกัดกองบัญชาการจังหวัดทหารบกกรุงเทพ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 มิ.ย. 10, 14:43
พอรับทราบคำสั่งแล้ว พระยาทรงก็ยินยอมให้นายทหารที่มาควบคุมตัวเข้ากรุงเทพทันที รัฐบาลหลวงพิบูลแถลงว่า เพื่อตอบแทนคุณงามความดี จึงได้สั่งให้เนรเทศไปอยู่ในอินโดจีน
ผมเห็นในบันทึกของพันเอก พระอินทรสรศัลย์ ที่พี่สรศัลย์ แพ่งสภานำรูปมาพิมพ์ไว้ในหนังสือของท่าน ระบุว่า วันที่ 30มกราคม2481 ท่านมีกิจกรรมในวันนั้นคือไป“ส่งพระยาทรงไปญวน” แต่พี่สรศัลย์บอกว่า คนไปส่งถูกทหารกันไว้ ไม่ให้เข้าไปในสถานีรถไฟ แต่นักข่าวที่ได้สัมภาษณ์พระยาทรงเขียนไว้ว่า
“ไม่รู้เนื้อรู้ตัวว่าถูกปลดด้วยเรื่องอะไร และไม่สนใจด้วยว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป รู้สึกขอบคุณรัฐบาลที่ให้ไปพักผ่อน ดีเหมือนกัน จะได้ใช้ชีวิตอย่างสงบสุขเสียที”

ผมดูช่วงเวลาแล้วเห็นว่า ท่านมีเวลาไม่เกิน24ชั่วโมง เท่าที่ท่านกระทำแก่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯในวันที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเช่นกัน ไม่รู้จะเตรียมตัวเตรียมใจได้แค่ไหน และจะได้ใช้ชีวิตอย่างสงบสุขตามที่พูดปลอบใจตนเองหรือไม่ อย่าเพิ่งเบื่อนะครับ เราจะตามไปดูกันต่อจากนี้

ส่วนพรรคพวกของท่าน หรือผู้ที่เผอิญไปมีช่วงหนึ่งของชีวิตอยู่ในขอบเขตของท่านที่ถูกจับกุมมา รัฐบาลตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณาคดีเป็นการเฉพาะ มีพันเอกหลวงพรหมโยธี เป็นประธาน ศาลพิเศษนี้ได้ตัดสินว่า มีการเตรียมการยึดอำนาจโดย พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นผู้นำ และตัดสินลงโทษประหารชีวิตจำเลยจำนวน 21 คน คือ

1นายลี บุญตา - คนทำสวนในบ้าน ที่ใช้ปืนไล่ยิงหลวงพิบูล
2 พันโท พระสุวรรณชิต
3 ร้อยโท ณ เณร ตาละลักษณ์
4 นายดาบ พวง พลนาวี
5 พลโท พระยาเทพหัสดิน
6 นายดาบ ผุดพันธ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยึ
7 ร้อยโท เผ่าพงศ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา
8 ร้อยตรี บุญมาก ฤทธิ์สิงห์
9 นายทอง ชาญช่างกล
10 พันเอก หลวงมหิทธิโยธี
11 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร
12 พันเอก หลวงชำนาญยุทธศิลป์
13 ร้อยเอก ขุนคลี่พลพฤนท์
14 พันตำรวจตรี ขุนนามนฤนาท
15 พันตรี หลวงไววิทยาศร
16 พันเอก พระสิทธิเรืองเดชพล
17 จ่านายสิบตำรวจ แม้น เลิศนาวี
18 ร้อยเอก จรัส สุนทรภักดี
19 ร้อยโท แสง วัณณศิริ
20 ร้อยโท สัย เกษจินดา
21 ร้อยโท เสริม พุ่มทรง

ให้เว้นการประหาร คงเหลือโทษจำคุกตลอดชีวิต 3 คน เนื่องจากเคยประกอบคุณงามความดีให้กับประเทศชาติ คือ
1 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร
2 พลโท พระยาเทพหัสดิน
3 พันเอก หลวงชำนาญยุทธศิลป์

นอกจากนั้น ศาลพิเศษตัดสินจำคุกตลอดชีวิตจำนวน 25 คน ปล่อยตัวพ้นข้อหาจำนวน 7 คน

ทุกวันนี้ เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วว่าผู้ถูกลงโทษทั้งหมด เป็นแพะรับบาปที่ถูกสามสหายร่วมรุ่นโรงเรียนนายร้อย ได้แก่หลวงพิบูล หลวงอดุลเดชจรัส และหลวงพรหมโยธี สร้างสถานะการณ์หาหลักฐานพยานเท็จมาปรักปรำว่าร่วมกันกระทำความผิด เพราะเพียงเห็นว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับตนทางการเมืองเท่านั้น การกำจัดบุคคลเหล่านี้ก็ใช้อำนาจของศาลพิเศษที่บรรดาผู้พิพากษาคือผู้ที่รัฐบาลแต่งตั้ง และไม่ให้มีทนายจำเลยตามหลักยุติธรรมสากล กบฏพระยาทรงสุรเดช คือการกบฎที่รัฐบาลประกาศเอาเองทั้งๆที่ไม่มีการเคลื่อนไหวกำลัง หรือมีเหตุการณ์ร้ายแรงอะไร นอกจากที่เป็นข่าวกับหลวงพิบูลสงคราม3ครั้งดังกล่าวข้างต้น ซึ่งนอกจากครั้งแรกที่เชื่อว่าหลวงพิบูลถูกนายพุ่มยิงจริงๆแล้ว อีกสองครั้งต่อมาล้วนเป็นการจัดฉากของบรรดาคนสนิท แต่หลวงพิบูลทราบหรือไม่ให้ทราบก็แล้วแต่ เพราะเขาต้องการให้ดูแนบเนียนเท่านั้น และเรื่องลงนามคำสั่งประหารเหยื่อการเมืองทั้ง18คนนี้ หลอกหลอนหลวงพิบูลและหลวงอดุลตลอดเวลาเมื่อถูกซักถามในภายหลังเมื่อเวลาผ่านไปพ้นยุคที่ตนมีอำนาจบาตรใหญ่ ต่างคนก็ต่างโทษกันว่ากระทำไปโดยที่ตนมิได้รู้เห็น ไม่สมกับที่เป็นชายชาติทหาร


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 มิ.ย. 10, 15:15
รถไฟได้พาพระยาทรง ผู้ที่ยังยืดอกสมชายชาติทหาร พร้อมกับร้อยเอกสำรวจ กาญจนสิทธิ์ ท.ส.คู่ใจ ท่ามกลางห้อมล้อมของทหารและตำรวจที่ติดตามไปคุมตัวท่าน ให้เดินทางออกไปนอกประเทศอย่างเรียบร้อย ถึงสุดท้ายปลายทางชายแดนด้านทิศตะวันออกของประเทศสยามที่ด่านอรัญประเทศ ท่านเข้ามอบตัวกับทางการของอินโดจีนฝรั่งเศสในฐานะผู้ขอลี้ภัยทางการเมือง ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ด่านได้รับรองและให้เกียรติเป็นอย่างดี หลังจากนั้นจึงได้จัดการนำท่านขึ้นรถต่อไปยังพนมเป็ญเพื่อพบกับผู้บังคับบัญชาของเขาต่อไป

ผู้ลี้ภัยทางการเมืองถือว่าไม่ใช่อาชญากร ทุกชาติที่เจริญแล้วย่อมให้เกียรติ เมื่อเสร็จพิธีรีตองอันพึงต้องกระทำแล้ว ฝรั่งเศสก็อนุญาตให้ท่านเป็นอิสระ

พระยาทรงไม่มีเงินติดตัวมากนัก รัฐบาลไล่ท่านออกโดยไม่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญอย่างหินโหด ท่านต้องใช้จ่ายอย่างประหยัดที่สุด สิ่งที่ท่านทำได้ขณะนั้นก็คือ เช่าบ้านไม้โกโรโกโสในราคาเดือนละ21บาทอยู่กันสองคน รอการติดต่อจากครอบครัวของท่าน


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 27 มิ.ย. 10, 15:54
^
^
ขอบคุณคุณsamun007ที่ให้ความเห็นนะครับ ที่ผมเดาไปอย่างนั้นก็เพราะเห็นว่าเวลาที่พระยาทรงใช้ในการจัดตั้งโรงเรียนรบที่ว่านับว่าน้อยมาก ถ้าหลักสูตรเป็นแค่การเรียนการสอนในห้องส่วนใหญ่ ก็คงพอไหว แต่ถ้าเป็นหลักสูตรรบพิเศษที่จะต้องฝึกในภาคสนามกับอาวุธยุทโธปกรณ์ ผมคิดว่าไม่น่าจะเตรียมของเตรียมคนทันในระยะเวลาแค่2-3เดือน แต่ผมเองก็ไม่ได้ชำนาญการด้านหลักสูตรทางการทหารนะครับ อาจจะผิดก็ได้

สำหรับข้อมูลประกอบเกี่ยวกับโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ผมขอยกมาประกอบดังนี้ครับ


ตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ผ่านมานี้ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ได้รับการพัฒนามาโดยลำดับ ทั้งในด้านการจัดหลักสูตร การจัดการศึกษา ตำรา สถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกทางการศึกษา ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจ และนโยบายที่ได้รับมอบ สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ สอดคล้องกับพื้นฐานความรู้ของนายทหารนักเรียนที่มีอยู่แล้วก่อนเข้ารับการ ศึกษา รวมทั้งให้มีมาตรฐานสอดคล้องกับวิวัฒนาการทางด้านวิชาการตามยุคตามสมัย จากการพัฒนาการดังกล่าว สามารถแบ่งวิวัฒนาการของโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ได้เป็น ๓ สมัยด้วยกัน คือ.-

๑.  สมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เริ่มตั้งแต่สถาปนาโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ในปี พ.ศ.๒๔๕๒ จนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี พ.ศ.๒๔๗๕

๒.  สมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๗(รร.สธ.ทบ.ถูกยุบเลิก ๒ปี ๒๔๗๕-๗๖) จนถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒

ปี พ.ศ.๒๔๘๘

๓.  สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๘๙ จนถึงปัจจุบัน อันเป็นสมัยที่ได้มีการพัฒนาปรับปรุงไปในแนวทางของโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ต่างประเทศหลายประเทศ

ก่อนที่จะเปิดการศึกษาเป็นหลักสูตรที่แน่นอน ตั้งแต่ชุดที่ ๑ นั้น ได้มีการเปิดการศึกษาทดลอง และฝึกหน้าที่ฝ่ายเสนาธิการทหารบกขึ้น เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๔๔๑ เพื่อรับผิดชอบงานด้านการยุทธศึกษา และการสอนวิชาทหารบก การแก้ไขและกำหนดแบบธรรมเนียมทหาร การติดตามและรวบรวมวิชาการทหารต่างประเทศ และรวบรวมแผนที่ภูมิประเทศ ซึ่งหลังจากนั้น กรมเสนาธิการทหารบก ก็ได้มีการพัฒนาโดยลำดับ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๔๖ จอมพล สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอเจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ยังดำรงพระยศเป็น พลตรี ทรงดำรงตำแหน่ง เสนาธิการทหารบก ได้ทรงสั่งการให้ทำการคัดเลือกนายทหารจากกรมกองต่าง ๆ เข้ามาสำรองราชการในกรมเสนาธิการทหารบก เพื่อเข้ามาศึกษาทดลองทำงานในหน้าที่ฝ่ายเสนาธิการ เมื่อครบกำหนดแล้ว ก็มีการพิจารณาคัดเลือกผู้มีความเหมาะสม ให้เข้ารับราชการประจำในกรมเสนาธิการทหารบกต่อไป การคัดเลือกนายทหารเข้ารับการศึกษาทดลองทำงานในหน้าที่ฝ่ายเสนาธิการนี้ ได้กระทำทั้งสิ้น ๓ ครั้ง ดังนี้.-

ครั้งที่ ๑ ใช้ระยะเวลาการศึกษาทดลอง ๔ เดือน ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึงเดือนตุลาคม ๒๔๔๖ มีผู้เข้ารับการศึกษาทดลอง ๖ นาย มีผู้เหมาะสมได้รับการบรรจุเข้าประจำกรมเสนาธิการทหารบก ๕ นาย

ครั้งที่ ๒ ใช้ระยะเวลาศึกษาทดลอง ๙ เดือน ระหว่างเดือนธันวาคม ๒๔๔๖ ถึงเดือนกันยายน ๒๔๔๗ มีผู้เข้ารับการศึกษาทดลอง ๙ นาย มีผู้ได้รับการบรรจุเข้าประจำกรมเสนาธิการทหารบก ๓ นาย

ครั้งที่ ๓ ในปี ๒๔๔๘ มีการปรับปรุงการศึกษาให้มีระยะเวลาการศึกษาที่แน่นอนขึ้น โดยกำหนดการศึกษาวิชาการ สัปดาห์ละ ๒ ครั้ง คือ วันอังคาร และ วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา ๑๑.๐๐ น. ถึง ๑๗.๐๐ น. มีผู้เข้ารับการศึกษา ๖ นาย หลังจากสำเร็จการศึกษา ไปทำหน้าที่และเป็นเหล่าเสนาธิการ ๒ นาย

การศึกษาทดลองทั้ง ๓ ครั้งดังกล่าว ปรากฏว่าได้ผลดี จึงนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การศึกษาหลักสูตรเสนาธิการทหารบกอย่างจริง จังในโอกาสต่อมา

 

ที่มา :http://cgsc.rta.mi.th/cgsc/index.php?option=com_content&view=article&id=1&Itemid=8

 


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 27 มิ.ย. 10, 16:00
อีกหน่วยงานหนึ่งที่มีลักษณะรูปแบบการฝึกศึกษาคล้าย ๆ กันคือ วิทยาลัยเสนาธิการ ซึ่งรับทุกเหล่าทัพครับ
http://jsc.rtarf.mi.th/

สำหรับกรณีโรงเรียนรบของพระยาทรงฯ จริง ๆ แล้วท่านอาจจะจัดรูปแบบการฝึกศึกษาอย่างที่คุณ Navarat ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ก็เป็นได้ครับ หรืออาจจะเป็นไปตามมุมมองของคุณลุงสรศัลย์ก็ได้อีกเช่นกัน เนื่องจากการจัดโครงสร้างยังไม่ชัดเจน จึงมีความเป็นไปได้ในสมมติฐานทั้งสองทางครับ





กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มิ.ย. 10, 19:25
รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามเข้าบริหารราชการได้เพียงเดือนเดียว  ก็เริ่มปฏิบัติการกวาดล้างเสี้ยนหนามทางการเมืองทันที โดยพันเอกหลวงอดุลยเดชจรัส เพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนนายร้อยของหลวงพิบูล ซึ่งเป็นอธิบดีกรมตำรวจ และรัฐมนตรีมหาดไทย ออกคำสั่งให้ลงมือปฏิบัติการพร้อมกันทุกสายในเช้ามืด ของวันที่ 29 มกราคม2482 ให้ทำการจับกุมผู้ต้องสงสัย จำนวน 51 คน และจับตายผู้ที่คิดว่าเป็นสายเจ้า หรือสายพระยาทรง3คน

คนแรก พันตรีหลวงราญรณกาจ อยู่บ้านข้างวัดโสมนัส เพิ่งจะตื่นนอนอยู่ในชุดโสร่งเมื่อตำรวจ ภายใต้การนำของร้อยตำรวจเอกหลวงจุลกะรัตนากรไปถึง หลวงราญออกมาเปิดประตูต้อนรับตำรวจด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เมื่อเชิญให้เข้ามาในบ้าน หลวงจุลกะก็ยื่นหมายจับให้ หลวงราญให้นั่งรอในห้องรับแขกก่อน ขอเวลาให้ตนได้เปลี่ยนเสื้อผ้า แถลงการณ์ของรัฐบาลออกมาว่าหลวงราญหายเข้าไปข้างในแล้วกลับออกมายิงตำรวจสองคนได้รับบาดเจ็บ ตำรวจจึงยิงป้องกันตัวด้วยปืนกลมือ ถูกหลวงราญล้มลงขาดใจตาย


ไม่เคยเห็นวิสามัญฆาตกรรมรายไหน ที่ตำรวจลงบันทึกว่าผู้ร้ายอยู่เฉยๆ  ไม่ได้ต่อสู้ แต่ถูกยิงตายอยู่ดี

แถลงการณ์ของรัฐบาลเป็นอย่างไรก็ตาม     มันก็เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว   ที่พันตรีนายทหารผู้ต้อนรับตำรวจด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เชื้อเชิญเข้าไปในบ้านด้วยดี  แสดงว่าไม่ได้อีโหน่อีเหน่เลยว่าตัวเองเข้าชะตาร้าย
แต่พอรู้ว่าถูกหมายจับ  ก็เปลี่ยนใจควงปืนสั้นกระบอกเดียว มาดวลกับปืนกลมือ ๒ กระบอก  ทั้งที่นุ่งโสร่งอยู่ผืนเดียวอย่างนั้น

ปกติตำรวจที่เขามาเชิญผู้ต้องหาไปสอบสวน   เขาพกปืนกลมือกันด้วยหรือคะ  
****************
พันตรีหลวงราญรณกาจ ถูกยิงในห้องนอนจากทางด้านหลัง เมื่อกำลังแต่งตัวอยู่หน้ากระจกเงา    ตายต่อหน้าลูกเมีย 
แต่ไม่เคยมีการนำเรื่องนี้มาพิจารณาใหม่ในศาล       นายตำรวจผู้ยิงก็ไม่ได้รับโทษแต่อย่างใด   เพราะรัฐบาลถือว่าเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่
*************
มีเรื่องสายลับของรัฐบาลมาเล่าสู่กันฟังนิดหน่อยค่ะ  ขอเวลาสักพัก


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 มิ.ย. 10, 20:12
^
^
เรื่องที่โหดเหี้ยมไม่น่าเชื่อว่าคนไทยจะทำกับคนไทยได้ ในสมัยที่บ้านเมืองน่าจะมีอารยะแล้วนี้
มันเกิดขึ้นได้จริงๆในยุคนั้น

เขาจึงเรียกว่ายุคทมิฬไงครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 มิ.ย. 10, 14:12
ก่อนหน้าที่หลวงพิบูลจะลงมือปฏิบัติการกวาดล้างบุคคลน้อยใหญ่ที่ตนระแวง วันหนึ่งพระยาฤทธิ์อัคเณย์กำลังปฏิบัติราชการในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการอยู่ที่กระทรวงเกษตรธิการ พ.ต.ท.ขุนศรีศรากร (ชลอ  ศรีธนากร) ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล และ ลูกน้องอีกคนหนึ่ง  ได้เข้าพบเพื่อแจ้งว่า “เจ้าคุณพหลให้เชิญใต้เท้าไปประชุมที่วังปารุสกวันเดี๋ยวนี้”

พระยาฤทธิ์ฯรู้สึกงงเล็กน้อย เมื่อพบกันแล้วพระยาพหลบอกว่าหลวงพิบูลจะเอาเรื่อง พระยาฤทธิ์เองก็ดูเหมือนจะรู้ตัวดีอยู่ เพราะหลวงพิบูลเคยเรียกไปกล่าวหาตรงๆว่ามีใจร่วมกับพวกกบฏบวรเดช โดยมีพยานหลักฐานว่า ได้ลงนามในฐานะรัฐมนตรีเกษตร อนุมัติให้รับอดีตนักโทษการเมืองชื่อพันโทพระเทวัญอำนวยเดชเข้าทำงานที่กรมสหกรณ์ และ เรืออากาศโทม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน เข้าทำงานที่กรมชลประทาน  ท่านก็บอกว่าอ้าว นั่นเป็นมติของคณะรัฐมนตรีที่ให้รับผู้พ้นโทษกรณีนี้เข้ารับงานราชการได้ไม่ใช่เหรอ ท่านก็อนุมัติไปตามขั้นตอนที่ข้างล่างเสนอมา ไม่รู้จักใครเป็นการส่วนตัว ไม่เคยพบกันด้วยซ้ำ แต่อีกข้อกล่าวหาหนึ่งท่านไม่ได้แก้ตัว เพราะหลวงพิบูลบอกว่าท่านสนิทสนมกับพระยาทรง ก็แล้วจะให้ท่านทำอย่างไร พระยาพหลบอกว่าในเมื่อเขาจะลงมือกันอยู่แล้ว ท่านก็ขอไม่ได้ ให้พระยาฤทธ์รีบหลบไปต่างประเทศก่อนดีกว่า ว่าแล้วก็ให้นายตำรวจสันติบาลจัดการส่งให้พระยาฤทธิ์ออกไปปีนังอย่างปลอดภัย  และเพื่อจะให้ออกไปแล้วไม่ย้อนกลับมาอีก รัฐบาลจึงแถลงการณ์ว่าพระยาฤทธิอัคเณย์ผู้ต้องหาคดีกบฏหนีไป ผู้ใดจับมาได้จะให้ค่าหัว 1หมื่นบาท พระยาฤทธิ์ก็เลยไม่กล้ากลับเมืองไทยจนกระทั่งหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 มิ.ย. 10, 14:18
ส่วนสี่ทหารเสือคนสุดท้อง คือ พระประศาสน์พิทยายุทธ

พระประศาสน์เป็นผู้ที่ถูกหลวงพิบูลหมายหัวอยู่ด้วยอีกคนหนึ่งเพราะเห็นว่าสนิทสนมกับพระยาทรงมาก หลวงประดิษฐ์รู้ข่าวก็รีบไปขอกับหลวงพิบูลในฐานะที่ตนเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ให้ไปเป็นเอกอัครราชทูตที่เยอรมัน เลยรอดตัวไปได้อย่างฉิวเฉียด แต่ก็ได้พบกับชะตากรรมลำบากแสนสาหัสในระหว่างสงคราม และเมื่อเบอร์ลินโดนสัมพันธมิตรถล่มด้วยระเบิดและปืนใหญ่ ลูกสาวเสียชีวิต ครอบครัวต้องพลัดพราก วันที่กองทัพรถถังของรัสเซียตลุยกรุงแตก พระประศาสน์มอบตัวและอ้างเอกสิทธิ์ทางการทูต แต่ก็ถูกจับไปไว้ที่ค่ายกักกันเชลยศึกในไซบีเรีย ที่หน้าหนาวมีความเยือกเย็นขนาดลบ40 องศาใต้ศูนย์ โดยที่มีโอเวอร์โค้ทเพียงต้วเดียว ทรมานทรกรรมในนรกน้ำแข็งอยู่ถึง 7 เดือนครึ่ง จึงได้รับการปล่อยตัว กว่าจะเอาตัวรอดกลับมาเมืองไทยได้ก็หวุดหวิดความตายเต็มที และก็อยู่ในสภาพที่เรียกว่าขาดทุน ไม่มีเงินทอง บ้านช่องในเมืองก็ไม่มี ต้องไปอยู่ที่บ้านสวนที่บางซ่อน

ในบั้นปลายชีวิต ท่านกลับเข้ารับราชการได้รับการปลอบใจจากรัฐบาลใหม่ให้เป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข แต่ก็กลายเป็นคนดื่มเหล้าจัดมาก จนป่วยเป็นโรคตับ และถึงแก่กรรมไปหลังจากนั้นไม่นาน


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 มิ.ย. 10, 14:23
ส่วนพระยาพหล สีเสือคนหัวปี หลวงพิบูลเมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีสมใจนึกแล้ว ก็ขจัดท่านออกจากทุกตำแหน่งโดยเอาไปขึ้นหิ้งไว้ในตำแหน่ง “เชษฐบุรุษ”

ผมจะเขียนอะไรขึ้นใหม่ หรือเรียบเรียงอย่างไรก็คงจะได้ดีเท่าที่พี่สรศัลย์ แพ่งสภาเขียนไว้แล้วไม่ได้ เชิญท่านอ่านดู


นักเรียนเยอรมันสมัยโน้นก็เหมือนศิษย์เก่าสถาบันต่างๆ สมัยนี้ รวมๆ กันไปกินไปพบปะกันที่นั่นที่นี่บ้านโน้นบ้านนี้ ก่อน 24 มิถุนายน ไม่เท่าไหร่ ไปพบปะเฮฮากันอยู่ที่วังท่านนิล (พลตรี ม.จ.นิลประภัศร เกษมศรี เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก) สะพานเหลือง ที่ปัจจุบันเป็นโรงแรมแมนดารินนั่นน่ะ
ท่านนิลรับสั่งฐานะเพื่อนสนิทว่า เห็นด้วยกับการที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย แต่ที่จะทำอะไรกันนี่น่ะมันไม่ชิงสุกก่อนห่ามไปหน่อยเรอะ ยังงั้นอีกห้าสิบปีราษฎรก็ยังตามไม่ทัน แกไม่เคยมีความรู้พื้นฐานซักนิด แกนึกวาดภาพไม่ออก

ท่านนิลทรงเตือนว่า

…..พวกเรานี่มันเป็นทหารมาทั้งชีวิต พจน์ทั้งซื่อทั้งตรง เห็นทุกคนดีหมด ระวังรุ่นเด็กจะหลอกเชิด เราจะเป็นเพียงหลักเกาะเป็นแป้นสำหรับเหยียบก้าวกระโดดต่อไป เมื่อไหร่เขาสร้างฐานได้แน่นหนามีบารมีสูงพอ เมื่อนั้นแกก็สิ้นความหมาย พจน์ตัวหัวหน้าใหญ่จะน้ำตาตก ไม่ใช่เพราะหมดวาสนา แต่เพราะสิ้นอิทธิพลหมดทางควบคุมยับยั้งความวุ่นวายของรุ่นเด็ก ที่ต่างจะแย่งอำนาจฉกโอกาส แสวงลาภยศทรัพย์สินเป็นส่วนตัวกัน ทิ้งหลักการดั้งเดิมของคณะราษฎร

เทพก็เหมือนกัน เรียนหนังสือเก่งเปรื่องปราดเป็นครูบาอาจารย์นั่นแหละระวังให้ดี ลูกศิษย์จะล้างครู…..

คำพูดเหล่านี้ไม่สู้จะเป็นที่สบอารมณ์เจ้าคุณพหลฯ เจ้าคุณทรงฯนัก น้ำกำลังเชี่ยว

ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 มิ.ย. 10, 14:29
วันที่24มิถุนายน2475 มีนายทหารกระหืดกระหอบไปทูลพลตรี หม่อมเจ้า นิลประภัศร เกษมศรี เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก หรือ "ขเด็ท พริ้นซ์ นิล" เพื่อนร่วมรุ่นของหัวหน้าคณะปฏิวัติที่วังสามย่านว่า คณะราษฎรลากเอานักเรียนนายร้อยออกมา เป็นกำลังกบฎ ท่านนิลตกพระทัยเป็นห่วงเด็ก รีบทรงเครื่องแบบเสด็จมาที่โรงเรียน ที่นั่นไม่มีใคร ท่านนิลฯจึงเสด็จไปพระที่นั่งอนันตสมาคม พบพันเอก พระยาทรงสุรเดช จึงรับสั่งถามว่า ใครเป็นผู้นำนักเรียนนายร้อยออกนอกโรงเรียน ในเมื่อองค์ท่านเป็นเจ้ากรมยุทธศึกษาผู้รับผิดชอบโดยตรง ไม่รู้เรื่องอะไรซักนิด
"กระหม่อมเอง"
เจ้าคุณทรงฯ ทูลตอบ แล้วหันหลังเดินไปเฉยๆ
เมื่อทรงทราบว่าสมเด็จกรมพระนครสวรรค์ฯ "ผู้สำเร็จราชการพระนคร" ถูกควบคุมอยู่ จึงขออนุญาตเข้าเฝ้า เพื่อดูว่าเพื่อนฝูงเยอรมันจะปฏิบัติถวายท่านประการใด ฝ่ายสมเด็จกรมพระนครสวรรค์ฯ กำลังกริ้วเต็มที่ พอทอดพระเนตรเห็นท่านนิล ก็รับสั่งทันที่
"ไง ตานิล แต่งเครื่องแบบมาตรวจพลสวนสนามฉลองชัยชนะเรอะ มันพวกเดียวกันทั้งนั้นนี่"
ความจริงเปล่าทั้งเพ พลตรี หม่อมเจ้านิลประภัศร เกษมศรี เพื่อนของ ขเด็ทพจน์ ขเด็ทเทพ ขเด็ทดิ่น ก็ถูกรวบตัวไปควบคุมไว้ในห้องไม่ไกลจากทูลกระหม่อมบริพัตรฯ เหมือนกัน เพราะเป็น "เจ้า" และเป็น "นายพล"

ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

ครั้งสุดท้ายพบปะกันที่วัง หม่อมเจ้า นิลประภัศรฯ สามย่าน ด้วยความเป็นห่วงเพื่อนเกลอก็ทรงเตือนเจ้าคุณพหลฯ ถึงความใจอ่อน คล้อยตามเรื่อง "ไล่ลดปลดทิ้ง" กำลังพลชั้นดีที่เพียงแต่เห็นว่า "ไม่ใช่พวกคณะราษฎร" ระวังจะเป็นเหยื่อให้เด็กหลอกใช้ หรือดีไม่ดีจะเป็นหุ่นให้กลุ่มเด็กเชิดแล้วจะเสียใจไม่รู้จบ
พระยาพหลพลพยุเสนา หัวหน้าคณะราษฎรหมายเลข 1 โกรธ หาว่าท่านนิลฯ ดูหมิ่นเพื่อนฝูงว่าฉลาดไม่ทันเด็ก โน่น - ท่านตีความไปโน่น
เหตุการณ์ในระยะต่อมา เริ่มฉายให้เห็นความยุ่งยาก รุ่นเด็กอ้างสิทธิ์แสวงตำแหน่งยศ แสวงทรัพย์สิน ผลประโยชน์ ประพฤติรังควานดูหมิ่นข้าราชการเก่าอย่างรุนแรง.ขนาดนายสิบ จ่านายสิบที่เผอิญได้เข้าไปไชโยในวันที่ 24 มิถุนายน ก็กลายเป็นผู้ก่อการฯ ไปด้วย กระด้างไม่ทำความเคารพนายทหารเก่า ไม่ว่าชั้นยศไหน วินัยกองทัพเสื่อมทันที

ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 มิ.ย. 10, 14:32
พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าใหญ่หมายเลข 1 ของ "คณะราษฎร" ท่านมีอุปนิสัยใจคอโอนอ่อนผ่อนตาม วางเฉยในเกือบทุกกรณีขัดแย้งระหว่างกลุ่ม วางตัวอยู่เหนือปัญหาใดๆ จนไม่สามารถควบคุมสมาชิกรุ่นรอง จนเห็นกันว่าผู้กุมอำนาจแท้จริงนั้นไม่ใช่เจ้าคุณพหลฯ แต่เป็นฝ่ายทหารกลุ่มหนุ่ม มิตรสหายของท่านถูกตีกระจุยไปหมดสิ้น เหลือแต่ตัวท่านโดดเดี่ยว
แต่คณะราษฎรกลุ่มที่หวังอำนาจเด็ดขาดยังต้องพึ่งบารมีพระยาพหลฯอยู่  เผด็จการยังยึดพื้นฐานไม่แน่นพอ แต่ในที่สุดเมื่อทุกอย่างลงตามแผนเต็มที่ รุ่นเด็กครองอำนาจเบ็ดเสร็จ พระยาพหลพลพยุหเสนาก็ถูกสูบลมลอยเคว้งคว้างขึ้นเป็น "เชษฐบุรุษ" หมดอำนาจบังคับบัญชาและอิทธิฤทธิ์ ได้แต่นั่งดูสมาชิกแก่งแย่งชิงดี ละทิ้งสัญญาที่ให้ไว้กับราษฎร บางกลุ่มกอบโกยผลประโยชน์หวังร่ำรวยไปตามกัน มีแต่มิตรสหายของท่านเท่านั้นที่ต่างต้องชะตากรรมระหกระเหิน
ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

สงครามมหาเอเชียบูรพางวดหนัก ฝูงบินสัมพันธมิตรเข้ามาทิ้งระเบิดกรุงเทพฯ ถี่และรุนแรง ชาวกรุงต้องอพยพหนีภัยทางอากาศออกไปอยู่รอบนอก พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ขณะนั้นป่วยเป็นอัมพาตที่ขาบางส่วน ย้ายไปพักอยู่ที่เรือนข้าราชการบริพารในพระราชวังบางปะอิน ผมติดตามท่านผู้ใหญ่ในฐานะพลกรรเชียงเรือจากบางกะสั้น ไปเยี่ยมเจ้าคุณพหลฯ ตอนต้นปี พ.ศ. 2488 ท่านพลเอกหัวหน้าคณะผู้ยึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองผู้แกร่งกร้าว ได้รับสถาปนาขึ้นเป็น "เชษฐบุรุษ" และขณะนั้นก็ดำรงตำแหน่ง "แม่ทัพใหญ่" อยู่กับท่านผู้หญิงและคนไม่กี่คน เงียบสงบ ไร้บริวารแห่ห้อมเกรียวกราว หลังไหล่ของท่านที่คนอื่นเคยอาศัยเหยียบก้าวผ่านไปสู่อำนาจราชศักดิ์อัครฐาน บัดนี้สิ้นแล้วซึ่งความสำคัญและสิ้นความหมาย"คณะราษฎร"ส่วนที่เสวยอำนาจต่างหันหลังให้โดยสิ้นเชิง
"ขเด็ทพจน์" ชันกายขึ้นนั่งบนเตียงต้อนรับสหายขเด็ทผู้มาเยือน โอบกอดน้ำตาคลอ สหายสนิทที่ต้องห่างเหินไปตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง จากสารทุกข์สุกดิบที่วนมาลงที่ปัญหาบ้านเมือง ตอนหนึ่งท่านน้ำตาไหล
"สอาด ที่เจ้านิลเตือนแต่แรกนั่นน่ะ ถูกทุกอย่าง"
"เจ้านิลว่ากันจะน้ำตาตก ก็ตกจริงๆ เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเปลี่ยนการปกครอง แล้วราษฎรไม่ได้อะไรเลย มีแต่ประชาธิปไตยหลอกๆ ถูกข่มเหงมากขึ้น หันไปพึ่งใครก็ไม่ได้
คณะราษฎรเองกลับหาประโยชน์หาอำนาจใส่ตัว แก่งแย่งชิงดีถึงเอาชีวิต คนบริสุทธิ์ผู้หลักผู้ใหญ่ ขุนนางเก่าเดือดร้อนกันเป็นแถว"
"พวกเขาผลักกันออกนอกทาง หมดทางยับยั้งห้ามปรามประชาธิปไตยไม่เห็นแม้แต่เงา เจ้านิลพูดถูก"
.
.
เจ้าคุณพหลถึงแก่อนิจกรรมด้วยเส้นโลหิตในสมองแตก ขณะนอนแช่ในอ่างน้ำอุ่นเพื่อบำบัดอาการอัมพาต อันเป็จกิจวัตรประจำวันของท่าน


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 มิ.ย. 10, 14:44
พอได้กลับไปอ่านหนังสือที่พี่สรศัลย์เขียนไว้ เลยได้เห็นเรื่องโรงเรียนรบของพระยาทรงที่คุณsamun007ทักมา ว่าดังนี้

พันเอกพระยาทรงสุรเดช หลีกเลี่ยงจากลาภยศทางการเมือง ไปก่อตั้ง "โรงเรียนรบ" ที่เชียงใหม่ แบบ Kriegschule ของเยอรมัน ฝึกอบรมร่วมเหล่าทั้งด้านยุทธการและยุทธวิธีในสนาม โดยใช้ภูมิประเทศจริง หลักสูตร 2 ปี นายทหารฝึกหัดราชการโรงเรียนรบ (ไม่ใช้คำว่านักเรียน) คัดจากหน่วยกำลังรบชั้นยศไม่เกินร้อยเอก เป็นการฝึกผู้บังคับหน่วยให้คุ้นสภาวะแวดล้อมในสนามทุกรูปแบบ

ผมก็ถามคุณวิกี้ว่าKriegschule คืออะไร คุณวิกี้ก็ตอบมาสั้นๆ ผมจะแปลเป็นไทยทั้งหมดก็เกรงว่า ท่านผู้อ่านอ่านแล้วก็คงไม่เข้าใจอยู่ดี  เอาเป็นสั้นๆว่าโรงเรียนแบบนี้สำหรับฝึกพื้นฐานนายทหาร หลักสูตร8สัปดาห์ มุ่งหมายให้มีความรู้อย่างดีในพื้นฐานของการบังคับบัญชา จบตรงนี้แล้ว นายทหารก็จะโยกย้ายไปฝึกยังโรงเรียนทหารในสาขาต่างๆที่เลือกไว้ต่อไป ฯลฯ

ท่านที่สามารถก็กรุณาอ่านเอง แปลเอง และทำความเข้าใจเอาเองแล้วกันนะครับ ว่าอะไรเป็นอะไร หรือไม่เป็นอะไร จะละเอียดไปกว่านี้ ผมจนปัญญาจริงๆ

A Kriegschule was a General Military School used for basic officer training in Germany up until the defeat in 1945. All Wehrmacht officers in World War II had passed through a Kriegsschule during their training. The Wehrmacht had five 'Kriegsschulen': at Potsdam, Dresden, München, Hannover, and Wiener-Neustadt. Officer candidates, known as Fahnenjunkers undertook an extensive 8 week course, aimed at giving them a good knowledge of the basics of command. After completion of the course, the officer candidate moved off to his chosen Truppenschule or branch of service school. An example of a Truppenschule is Panzertruppenschule I in Munster, but there were also schools catering for all branches of service. Engineers,  


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 28 มิ.ย. 10, 15:17

ท่านที่สามารถก็กรุณาอ่านเอง แปลเอง และทำความเข้าใจเอาเองแล้วกันนะครับ ว่าอะไรเป็นอะไร หรือไม่เป็นอะไร จะละเอียดไปกว่านี้ ผมจนปัญญาจริงๆ

A Kriegschule was a General Military School used for basic officer training in Germany up until the defeat in 1945. All Wehrmacht officers in World War II had passed through a Kriegsschule during their training. The Wehrmacht had five 'Kriegsschulen': at Potsdam, Dresden, München, Hannover, and Wiener-Neustadt. Officer candidates, known as Fahnenjunkers undertook an extensive 8 week course, aimed at giving them a good knowledge of the basics of command. After completion of the course, the officer candidate moved off to his chosen Truppenschule or branch of service school. An example of a Truppenschule is Panzertruppenschule I in Munster, but there were also schools catering for all branches of service. Engineers,  

เป็นมาตรฐานของกองทัพนาซีในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ครับ

วิธีการรับนายทหารของระบบกองทัพเยอรมันในยุคนั้นจะแบ่งเป็น

- รับตรงจากนักเรียนนายร้อย

- เลื่อนขั้นมาจากนายสิบที่มีความสามารถ เช่น จอมพลจิ้งจอกทะเลทราย รอห์มเมล ก็ไต่เต้ามาจากนายสิบ มีนายทหารไทยบางท่านก็ไต่เต้ามาจากนายสิบเหมือนกัน เนื่องจากไปเข้าเรียนไม่ทันตามเกณฑ์อายุของการคัดเลือกนักเรียนนายร้อยของเยอรมัน (อ่านในหนังสือของลุงสรศัลย์ได้ครับ ผมจำชื่อไม่ได้แล้ว)

หลังจากสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียน Kriegschule แล้ว นักเีรียนทั้งหมดก็จะถูกแยกไปฝึกตามที่ตนถนัดอย่างที่คุณ NAVARAT ได้อธิบายมานั่นเองครับ

ซึ่งนักเรียนจากโรงเรียน Kriegschule ที่มาจากสายนักเรียนนายร้อยจาก ริชแตร์เฟลแดร์  นั้น แทบจะไม่ต้องเรียนวิชาพื้นฐานอะไรใหม่มากนัก เพราะเรียนตรงมาอยู่แล้ว

แต่นักเรียนที่มาจากการแต่งตั้งขึ้นมาจากสายนายสิบ ต้องถือว่าปรับตัวพอสมควรครับ

จากนั้นพอเีรียนจบ 8 อาทิตย์ บางคนก็ต้องไปรบเลยก็มี (ตายเสียก็เยอะ, พิการก็มาก)  บางคนโชคดีได้ไปเรียนต่อเฉพาะทางก็มี บางคนไม่ผ่านการประเมินผลต้องกลับไปเป็นพลทหารก็มี(อย่างเช่น เพื่อนคนหนึ่งของ พันเอกวิชา ฐิตวัตร ที่ไม่ยอมทำความสะอาดปืน แล้วจะมามั่วเอาปืนของท่านผู้พันไปใช้ ปรากฏว่า เพื่อน ๆ ในชั้นจับได้ เลยโดนซ่อมเสียคางเหลือง ผลก็คือไม่ผ่านการฝึก ต้องไปเป็นพลนำสารแทนครับ )

สำหรับคนไทยที่ได้เรียนหลักสูตรนี้ ก็เห็นจะมีแต่รุ่นของท่าน ผู้พันวิชา ฐิตวัตร ล่ะครับ มีไปเรียนกัน 4 ท่าน แต่รอดกลับมาเพียง 3 (ทำอัตวินิบาตกรรมไปหนึ่ง)
ที่เรียนมาก็มี เหล่าม้า,เหล่าสื่อสาร(ผู้พันวิชา),เหล่าทหาราบรถถัง(เป็นยังไงไม่รู้เหมือนกันครับ)

ก่อนเีรียนจบ จะต้องออกไปปฏิบัติราชการสนามจริง ๆ ด้วยเช่นกัน อย่างเช่น ท่านผู้พันวิชา ที่ต้องไปเดินสายโทรศัพท์ที่ตอนใต้ของฝรั่งเศสครับ

เรื่องเนื้อหาหลักสูตรโรงเีรียนนี้ ผมแนะนำให้อ่านหนังสือ "คนไทยในกองทัพนาซี" ของท่านพันเอก วิชา ฐิตวัตร(ยศสุดท้าย) ประกอบครับ จะเข้าใจมากขึ้น




กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 มิ.ย. 10, 16:01
ขอบพระคุณครับ

เสียดายหลวงพิบูลสงสัยจะคิดว่าเป็นโรงเรียนฝึกหน่วยล่าสังหารพิเศษแบบเจมส์ บอนด์มาเล่นงานตัวมั้ง เลยรีบชิงจัดการลงมือก่อน

แต่.เอ๊ะ..นี่คุณsamun007เป็นอะไรกับน้าเจมส์ของผมหรือเปล่าล่ะครับนี่


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 มิ.ย. 10, 16:46
เสียดายหลวงพิบูลสงสัยจะคิดว่าเป็นโรงเรียนฝึกหน่วยล่าสังหารพิเศษแบบเจมส์ บอนด์มาเล่นงานตัวมั้ง เลยรีบชิงจัดการลงมือก่อน

บทบาทสายลับไทย มีการปฏิบัติการกันอย่างเอาจริงเอาจังมาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง     
คุณนวรัตนคงจำได้ที่ดิฉันเล่าว่า มีสายสืบเข้าไปถวายรายงานสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ตั้งแต่ก่อน ๒๔ มิย. ๒๔๗๕ แล้ว ว่ากลิ่นอายปฏิวัติเริ่มโชยมา   แต่ทูลกระหม่อมท่านไม่ทรงเชื่อ
เราอาจมองอีกแง่หนึ่งว่า สายลับในยุคก่อนหน้านั้นน่าจะไม่ได้ทำงานเป็นล่ำเป็นสันเท่าไร    คือมีน่ะมี   แต่ว่ารัฐบาลไม่ได้เอาใจใส่ข่าวจากสายสืบมากนัก   
แต่เมื่อปฏิวัติได้แล้ว    ผู้ก่อการฯ เห็นความจำเป็นของการสืบข่าวมาก      เพราะไม่รู้ว่ากลุ่มอำนาจเก่า(คือฝ่ายเจ้านาย) จะตีโต้กลับได้เมื่อไร       ก็รู้ๆกันว่าการปฏิวัติเกิดจากนายทหารกลุ่มเดียว ไม่ใช่ทั้งหมดกองทัพ
ข้อสำคัญประชาชนทั่วประเทศก็ไม่รู้เรื่องด้วย      ใช่ว่าลุกฮือขึ้นมาอย่างปฏิวัติฝรั่งเศสเสียเมื่อไร    ถ้าหากว่าประชาชนซึ่งส่วนใหญ่ยังจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ตามที่สืบทอดกันมาชั่วปู่ย่าตายาย เกิดยกพวกไปเข้าข้างอำนาจเก่า   บวกกับทหารส่วนใหญ่ของกองทัพก็เอาด้วย   พวกเขาจะทำอย่างไร
การป้องกันไฟแต่ต้นลมจึงอาศัยสายลับนี่แหละเป็นหลักใหญ่

ด้วยความระแวงและความกลัว  คณะกรรมการราษฎร หรือคณะรัฐมนตรีชุดแรก  จึงหาสายสืบไปสอดแนมตามวังและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เชื่อว่าอยู่ในกลุ่ม"อำนาจเก่า" ถึงกว่า ๕๐ แห่ง
หัวหน้าชื่อหลวงนฤเบศร์มานิต   เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

รายงานที่ส่งกลับมา มี ๓ ประเภท  คือ  คนตำหนิติฉินผู้ก่อการ    การเคลื่อนไหวของพวกเจ้า  และการปฏิบัติงานฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล
ข่าวเหล่านี้มีทั้งข่าวที่มีหลักฐาน   และข่าวที่ "ฟังเขามาเล่าว่า..."  ทั้งหมดถูกส่งเข้าศูนย์กลาง หมด


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 มิ.ย. 10, 16:56
สายสืบ ไม่ได้มีหน้าที่กลั่นกรองว่าข่าวไหนเชื่อได้ว่าจริง  ข่าวไหนแค่ข่าวลือ   สรุปว่าข่าวอะไรถ้ากระทบถึงคณะกรรมการราษฎรแล้วต้องรายงานหมด   
รายงานข่าวจึงมีข่าวลือเข้ามาเป็นปะปน แทบจะเป็นกระแสหลักก็ว่าได้   
ข่าวหนักสุดคือข่าวลือว่าจะมีการลอบทำร้าย ลอบสังหารคณะผู้ก่อการ      คนที่เจอข่าวลือเข้ามากที่สุดคือพระยาพหลฯ   ขนาดมีการตั้งค่าหัวท่านถึง ๑๐๐๐ บาท  ให้ระวังยาพิษ  อย่าไปไหนมาไหนคนเดียว  อย่าให้ใครเข้าใกล้ แม้แต่พระสงฆ์องค์เจ้าก็อย่าไว้ใจให้เฉียดเข้ามา
มีแม้แต่ข่าววางแผนสังหารด้วยระเบิด

เป้าหมายที่สองคือพระบรมวงศานุวงศ์ ถูกสายสืบเฝ้าวัง ไม่ได้คลาดสายตา อยู่ประมาณ ๒๐ วัง รวมทั้งสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ซึ่งก็พระชนม์มากถึง ๗๐ แล้ว
มีข่าวลือส่งไปยังรัฐบาลว่า พวกเจ้า นัดหมายรวมตัวกับคนยากคนจน โจร และกุ๊ยเช่นพวกนักเลงเชื้อจีน  ตั้ง"คณะคอมมิวนิสต์" ขึ้นมาเพื่อโค่นล้มรัฐบาล
คือสรุปว่า  ศักดินาพยายามรวมตัวกับไพร่เพื่อโค่นประชาธิปไตย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 มิ.ย. 10, 18:14
เรื่องสายลับนี้ ผมได้พูดถึงไว้ในคคห.ต้นๆเหมือนกัน
อ้างถึง
สภานั้นก็คือพวกของคณะราษฎรนั่นเอง ความเป็นจริงก่อนหน้านั้นการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท2 ที่มาจากการแต่งตั้ง ก็เกิดรายการวิ่งเต้นกันตีนขวิดในระหว่างพวกผู้ก่อการ ต่างคนก็ต่างมีลูกสมุนจะต้องขุนเลี้ยง เมื่อตำแหน่งในสภาหมดก็เอาตำแหน่งราชการที่หาเรื่องไล่คนของพวกเจ้าออกไป ให้คนของตนเข้าเสียบแทน พวกที่หางานหลักให้ยังไม่ได้ก็มอบงานเฉพาะกิจให้กินไปพลางๆก่อน ที่ชอบกันมากคืองานเป็นสายลับให้ตำรวจ

ฟังที่ท่านอาจารย์เล่าต่อแล้วนั้น ก็นึกถึงที่พี่สรศัลย์เขียนไว้อีกตอนนึงดังนี้

เรื่องมันชักจะข้นๆ เครียดๆ หันมาดูอะไรเบาๆ ซักนิดปะไร เดี๋ยวค่อยกลับไปใหม่ เรื่องสันติบาลเฝ้านี่แหละครับ หัวหน้าหน่วยสั่งให้ไปเฝ้า แกก็ไปเฝ้า วางตัวเป็นสายลับเต็มที่ บ้านหนึ่งมีคลองใหญ่ขนาดคลองแสนแสบอยู่ข้างบ้าน หน้าบ้านเป็นถนนใหญ่มีคูระบายน้ำเล็กนิดเดียวสายลับไปนั่งตกปลามันทุกวันในคู ไม่ยักตกในคลอง บ้านหนึ่งมีคนไปกวาดถนนหน้าบ้าน กวาดมันอยู่แต่แถวนั้น บ้านอื่นก็ไม่ไปกวาด บ้านหนึ่งเจ้าของบ้านมีรถยนต์มีเหตุต้องออกจากบ้านทุกวัน สายลับต้องมีรถยนต์คอยติดตามเหมือนกัน เช้าขึ้นสายลับขับรถมาจอดหน้าห้องแถวคนละฟากถนนกับบ้านลงมาโขกหมากรุกกับเจ้าของห้อง เห็นมั่งไม่เห็นมั่งคนเข้าคนออก พอรถเจ้าของบ้านโผล่ออกมา สายลับก็กระโดดขึ้นรถคอยขับตามไป ไม่นานเจ้าของบ้านเห็นว่ายุ่งยากเปลืองน้ำมันหลวง ท่านเลยขับรถมาแวะรับนั่งไปซะด้วยกัน บ้านหนึ่งมีร้านกาแฟอยู่ติดกับประตูใหญ่หน้าบ้าน เช้าขึ้นสายลับแกก็มาประจำการอยู่ที่ร้านกาแฟอาโก สนิทสนมกับคนในบ้านโดยเฉพาะลูกชายท่านเจ้าของบ้านเป็นอันดี ขนาดที่ว่าวันไหนไม่เห็นสายลับละก็วันนั้นเซ็งเป็นบ้า ว่างั้นเถอะ อยู่ไปก็อาศัยไหว้วานสายลับช่วยขับรถไปธุระปะปังที่โน่นที่นี่ได้ เจมส์ บอนด์ ยุคนั้นเขาดีอย่างนี้ละครับ

มีเรื่องที่ผมว่าไม่รู้จะขันหรือขันไม่ออก ไม่ใช่สายลับ แต่พยานในคดีกบฏ พยานให้การกับเจ้าพนักงานสอบสวนว่าพยานเป็นผู้มีหลักฐานบ่งชี้ว่า ผู้ต้องหา กระทำผิดจริง หลักฐานนั้นเป็นจดหมายนัดแนะจำเลยอีกผู้หนึ่ง พนักงานสอบสวนถามว่าพยานได้จดหมายนั้นมาอย่างไร ได้รับคำตอบหนักแน่นว่าใช้ยางมะละกอติดปลายไม้ แหย่ลงไปในตู้ไปรษณีย์ใกล้บ้านผู้ต้องหา จดหมายที่ติดยางมะละกอขึ้นมาคือจดหมายฉบับนี้ที่ยื่นเป็นหลักฐาน จะด้วยพยานปากนี้หรือเปล่าก็ไม่ทราบได้ เมื่อคดีถึงศาลจำเลยถูกตัดสินจำคุก อันนี้ผมฟังเล่ามาอีกทีหนึ่งนะครับ จริงเท็จอยู่ที่ท่านผู้เล่า

คนหลับไม่รู้นอนคู้ไม่เห็นอยู่กับบ้านยังโดนข้อหาพยายามล้มล้างรัฐบาล มีพยานมาเรียบร้อยชี้หน้าว่ารู้จักและเคยเฝ้าติดตามไปตามสถานที่หลายแห่ง เห็นว่าไปประชุมกับผู้ต้องหาอื่นๆ ยืนยันสถานที่ว่าเป็น"ร้านตัดผม" ชื่อ "นิติกร" นักเรียนเยอรมันที่โดนร้านนิติกรเข้าเต็มเปาก็คือ พระยาอานุภาพไตรภพ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 มิ.ย. 10, 19:51
มาแลกกันฮาเรื่องสายสืบบ้างค่ะ
 วิธีการสืบของสายสืบสมัยนั้น ง่ายสุดคือไปนั่งเฝ้าหน้าบ้านอย่างที่คุณสรศัลย์เขียนไว้    คอยจดเบอร์รถที่เข้าออกวังหรือบ้านขุนนางผู้ใหญ่ว่าใครเข้าออกกันบ้าง 
วันไหนเจ้าของบ้านหรือลูกหลานออกจากบ้าน   สายสืบก็มักจะหมดปัญญาจะติดตาม   จึงมีรายงานกลับไปที่นายว่า
" ด้วยเงินเกล้ากระผมหมด  จึงไม่ได้ติดตามไป"
มีบ่อยครั้ง สายสืบขอเบิกเงินครั้งละ ๕ บาทบ้าง ๑๐ บาทบ้าง   โดยให้เหตุผลกับนายว่า
"จะต้องให้สายของเรา ๓-๔ คน สำหรับตรุษจีน   ครั้นเราจะทำเฉยเสีย ก็จะทำให้ลูกน้องเหินห่างไป"

ข่าวจากสายสืบ มักจะออกมาเป็นแพทเทิร์น   คือถ้ารายงานข่าวว่ามีคนกลุ่มไหนคณะไหนต่อต้านรัฐบาล  ก็จะมีแถมท้ายว่า  กลุ่มนั้นมีสปอนเซอร์เป็นเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง  คอยให้เงินอุดหนุนอยู่   เช่นคอลัมนิสต์เขียนบทความคัดค้านรัฐบาล  ก็เพราะได้รับค่าจ้างเป็นเงิน ๔๐๐๐ บาท      สมาคมชาวปักษ์ใต้ได้รับเงินอุดหนุนถึงหนึ่งล้านบาทจากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯที่ประทับอยู่เมืองบันดุง ฯลฯ
อดีตข้าราชการสำคัญ ๓ คนที่สายสืบรายงานว่า เป็นหัวหน้ากลุ่มฟื้นฟูอำนาจเจ้านายขึ้นมาอีก คือพระยาอธิกรณ์ประกาศ อดีตอธิบดีตำรวจ     พลตรีพระยาเสนาสงคราม  และพระยาปฏิพัทธภูบาล   คนหลังสุดเป็นคนสนิทของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์

รายงานข่าวทั้งหมดนี้ไม่มีการยืนยันว่าจริงเท็จแค่ไหน   แต่ก็เป็นข่าวที่รัฐบาลให้ความสำคัญอยู่ไม่น้อย เจ้านายทั้งหลายจึงได้รับคำเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร  ให้อยู่เฉยๆ อย่าได้เป็นปรปักษ์กับรัฐบาลเป็นอันขาด
บอกรายละเอียดให้อ่านเลยก็ได้ค่ะ
เดือนก.ค. ๒๔๗๖   เจ้านายที่โดน"ตักเตือน"   เป็นระนาว  ก็มีพระองค์เจ้าทศศิริวงศ์   พระองค์เจ้าบวรเดช  ม.จ.โสภณภราไดย สวัสดิวัตน์   ม.จ.ฉัตรมงคล โสณกุล  ม.จ.ไขแสงระพี รพีพัฒน์ และม.จ.วงศ์นิรชร เทวกุล   ได้รับจดหมายเตือนจากพันโทหลวงพิบูลสงคราม และหลวงศุภชลาศัย รัฐมนตรี  กล่าวหาว่า เจ้านายเหล่านี้
" ...ได้มีการประชุม และคิดอยู่เสมอ  ในอันที่จะทำให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง...
จึงเตือนให้สงบจิตเสีย   หากยังจุ้นจ้านอยู่อีก   ก็จะกระทำการอย่างรุนแรง"


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 มิ.ย. 10, 20:55
ระบบสายสืบทำงานอย่างเข้มข้นเมื่อสี่เสือหมดอำนาจลงไปแล้ว   หลวงพิบูลขึ้นสู่อำนาจปกครองหลังปราบปรามกบฏบวรเดชจบลง       นายตำรวจอย่างหลวงอดุลเดชจรัสเป็นผู้สานนโยบาย  
ผลก็คือ มีการสืบสวน  และปราบปรามผู้ที่ถูกสงสัยว่าเป็นปรปักษ์ของรัฐบาลกันอย่างหนัก ตั้งแต่ปี ๒๔๗๖ จนถึง ๒๔๘๒  เพื่อให้บ้านเมืองราบคาบ
ราบคาบ แต่จะสงบหรือไม่นั้น ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ช่วงนี้คงจะอธิบายเองได้

ปรปักษ์ของรัฐบาลถ้าจะแบ่งจริงๆแล้วมี ๒ พวกใหญ่  ฝ่ายแรกคือฝ่ายเจ้า ซึ่งเคยถูกเรียกว่า "อำนาจเก่า" แต่ล่วงมาถึงปี ๒๔๘๑ ก็ไม่มีอำนาจอะไรเหลืออีกแล้ว    พระราชอำนาจหมดไปตั้งแต่วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ แล้วด้วยซ้ำไป
พระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปประทับที่อังกฤษ  พระบรมวงศานุวงศ์ส่วนใหญ่ลี้ภัยการเมืองออกนอกประเทศ    เหลือแต่เจ้านายสตรี    ส่วนฝ่ายชายมีเจ้านายระดับพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เดียวคือกรมขุนชัยนาทนเรนทร   ก็ทรงถูกจับกุมและตั้งข้อหาร้ายแรง ทั้งที่ไม่ทรงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง
ส่วนฝ่ายที่สองคือฝ่าย "อำนาจเก่า" ของจริง ได้แก่กลุ่มสี่เสือที่เคยกอดคอกันเสี่ยงตายเปลี่ยนแปลงการปกครอง      ทุกคนต่างก็มีชะตากรรมระเหระหนกันไปคนละทาง    
อย่างไรก็ตาม  ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะมองว่าทั้งสองกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มเดียวกัน   การลงโทษจึงปนเปกันไปหมด

ระบบสายสืบในช่วงนั้นทำงานอย่างเข้มข้น  แม้ว่าอำนาจเก่าทั้งสองอำนาจจบไปแล้ว    
มีคนหลายคนที่ถูกฆ่าทิ้ง    ถูกลงโทษจำคุก  ถูกประหาร  ก็เพราะสายลับรายงานไปสู่ศูนย์กลางว่าบุคคลนั้นทำตัวเป็นปรปักษ์รัฐบาล
ไม่จำเป็นต้องลงมือทำ แค่พูด หรือเขียนอะไรที่ส่อให้ตีความลากเข้าความได้   ก็ถือว่าเป็นโทษหนักได้แล้ว
บรรยากาศการเมืองในช่วงนั้น มองว่าเป็น "รัฐตำรวจ" ได้หรือไม่   คงเป็นคำถามที่ไม่มีใครกล้าตอบออกมาดังๆ   นอกจากรุ้ง จิตเกษม
(จบลงตรงนี้จนได้ :))


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 มิ.ย. 10, 23:14
ผมได้ตอบคุณ bookaholicไว้ในคคห.ต้นๆของกระทู้ว่า ระบอบการเมืองมันเหมือนแฟชั่น

คือมันเป็นแบบนี้จริงๆ ตอนโน้นเห่อประชาธิปไตยกัน แต่ตอนนี้ในยุโรป ฮิตเลอร์และมุสโสลินีกำลังเป็นฮีไร่ของคนเยอรมันและอิตาลี เพราะความเป็นผู้เผด็จการที่เด็ดขาด ใครค้าน ตาย!

ระบอบเผด็จการสามารถนำประเทศมุ่งไปข้างหน้าในทิศเดียวกันได้เพราะไม่มีฝ่ายค้านคอยกระตุกขา มันก็ไปโลดอยู่ แต่ทิศทางจะถูกหรือผิดตอนนั้นยังไม่รู้ แต่การที่เยอรมันพลิกล็อคจากที่เป็นเบี้ยล่างอังกฤษและฝรั่งเศส กลับมาเป็นมหาอำนาจในเวลาไม่กี่ปีหลังจากที่แพ้สงคราม มันช่างเร้าใจคนอย่างหลวงพิบูลยิ่งนัก อยากจะตามแฟชั่นเป็นท่านผู้นำกับเขาบ้าง

ก่อนอื่นก็ต้องสถาปนาเมืองไทยเป็นรัฐตำรวจเหมือนเยอรมัน มีตำรวจลับที่มีอำนาจตามแบบฉบับของเกสตาโป จะได้จับทุกคนที่คิดว่าเป็นศัตรู เอาไปขจัดเสียบ้าง ขังคุกบ้าง เมื่อไม่มีใครขวางแล้ว ท่านผู้นำจะได้นำไทยไปสู่มหาอำนาจได้สะดวกโยธิน สมัยนั้นคนไทยจึงกลัวตำรวจกันหัวหด ขนาดเด็กร้องไห้โยเย แม่ไกวเปลอยู่ขู่ว่าเดี๋ยวบอกตำรวจจับนะ เด็กยังหยุดร้องไห้ ก็ว่ากันว่าเริ่มในช่วงนี้แหละ

ขั้นต่อไปก็ต้องปลุกระดมลัทธิคลั่งชาติ ถือโอกาสที่ฝรั่งเศสแพ้เยอรมันหมดรูป ส่งทหารบุกเข้าอินโดจีนยึดดินแดนไทยที่เสียไปในสมัยรัชกาลที่ห้าคืน แม้จะเห็นๆอยู่ว่าญี่ปุ่นห้ามทัพให้หยุดรบกัน เพราะเห็นว่ากระสุนของไทยจะหมดคลังแล้ว แต่ก็ทำให้หลวงพิบูลประสพความสำเร็จสูงสุดในชีวิต ได้เป็นพระเอกของชาติเฉกเช่นฮิตเลอร์ จอมเผด็จการตัวพ่อ บรรดาลิ่วล้อแซ่ซ้องสรรเสริญเสนอเลื่อนยศให้จ้าวนายทีเดียวจากพลตรีเป็นจอมพล ยิ่งใหญ่ในประเทศนี้ประหนึ่งพระราชา ประชาธิปไตยกลายเป็นแฟชั่นตกรุ่นไปเลย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 29 มิ.ย. 10, 09:07
ขอบพระคุณครับ

เสียดายหลวงพิบูลสงสัยจะคิดว่าเป็นโรงเรียนฝึกหน่วยล่าสังหารพิเศษแบบเจมส์ บอนด์มาเล่นงานตัวมั้ง เลยรีบชิงจัดการลงมือก่อน

แต่.เอ๊ะ..นี่คุณsamun007เป็นอะไรกับน้าเจมส์ของผมหรือเปล่าล่ะครับนี่

มิได้เป็นญาติหรอกครับ ตั้งไว้ให้มันดูโก้เท่านั้นเองครับ จริง ๆ samun คำนี้มาจากคำว่า "สมัน" ในภาษาไทยครับ



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 29 มิ.ย. 10, 11:11
เข้ามาติดตามอ่านเหมือนเดิมค่ะ
อ่านหลายๆเรื่องในนี้แล้ว บางครั้งก็หลงคิดไปว่า กำลังอ่านนิยายอยู่ ทั้งๆที่ทั้งหมดเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในอดีต
แต่อ่านแล้ว ทั้งสนุกและให้ความรู้ในประวัติศาสตร์ ชอบมากเลยค่ะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 มิ.ย. 10, 11:46
^
^
ขอบคุณมากเลยครับ ที่คอยส่งเสียงให้กำลังใจ
เดี๋ยวตอนหน้า เราจะเปลี่ยนฉากจากไทยเป็นอินโดจีนกันแล้ว

ผมขอยืนยันตามที่คุณproudtobethaiเข้าใจ เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง แม้สำบัดสำนวนของผมจะออกเชิงนิยายไปบ้าง ก็เพราะไม่อยากให้เรื่องนี้ออกแนวสารคดีเครียดๆแบบบทวิชาการ กลัวจะเสียเรทติ้งพวกวัยรุ่นไป เนื้อหามันหนักนัก ก็เอาลูกเล่นมาเหยาะๆไว้ให้มันเบาๆลงบ้าง

แต่แม้จะเป็นเรื่องจริง ผมก็ยอมรับว่าความจริงทั้งหมดไม่ได้ถูกนำมาเขียนในกระทู้นี้  บางอย่างที่รู้ที่อ่านมา หากจะเอามาเขียนต่อๆกันไปมันไม่ใช่เรื่องดี มีประโยชน์อันใด นอกจากจะทำความเสียหายให้บุคคลบางท่านโดยไม่จำเป็น เยาวชนรุ่นหลังอ่านเรื่องของผมเท่านี้ก็รู้เรื่องที่ควรจะรู้ครบแล้ว ถ้าใครต้องการจะทำวิทยานิพนธ์ เพิ่มดีกรีปริญญาทางประวัติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ ก็เชิญไปค้นส่วนที่ผมเหลือไว้เอาเอง

เชิญติดตามต่อนะครับ แล้วอย่าเงียบกันให้มากนัก ผมขี้เหงานะ จะบอกให้


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: ponl ที่ 29 มิ.ย. 10, 16:45
อ่านเรื่องราวเก่าๆ ที่ท่านผู้รู้หลายๆท่าน กรุณานำมาเล่าให้ได้ฟังกัน
 สนุกมากเลยครับ  ;D เลยขอเป็นสมาชิกใหม่อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะครับ :D

   เมื่ออ่านเรื่องนี้แล้ว บอกตรงๆครับว่าตรงข้ามกับความรู้สึกเดิมที่เคยมีต่อคณะราษฎร์ และจอมพล ป. ไม่เหมือนกับที่เคยเรียนมาสมัยเด็กๆ เลย  การเมืองเป็นเรื่องโหดร้ายจริงๆ    เรื่องที่ได้อ่านในกระทู้นี้ทำให้นึกถึงคำคมซึ่งผมจำไม่ได้ว่าใครเป็นคนพูด  แต่เคยอ่านผ่านตามาบอกว่า  ความดีของมนุษย์จะสิ้นสุดลงเมื่อเล่นการเมือง  

    ที่ท่านอาจารย์บอกว่าประวัติศาสตร์มักจะย้อนกลับมาเสมอ  อ่านเรื่องนี้แล้วอดคิดไม่ได้จริงๆ ว่าตอนนี้เรากำลังย้อนรอยประวัติศาสตร์อยู่หรือเปล่า  :o




กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 มิ.ย. 10, 16:58
^
^
ประวัติศาสตร์ย้อนรอยเสมอ อาจเปลี่ยนฉาก เปลี่ยนตัวละครบ้าง แต่เนื้อหาก็เดิมๆ เป็นกงกรรมกงเกวียน ยินดีที่คุณเข้ามาอ่านนะครับ เราต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไว้ หากมีเหตุการณ์ใดเวียนกลับมา จะได้ไม่ทำผิดๆซ้ำซาก
.
.
ก่อนจะติดตามชะตาชีวิตของพระยาทรงในอินโดจีนต่อไป เรามาทำความรู้จักกับประเทศนี้ในสมัยนั้นกันสักหน่อยก่อนดีกว่าไหมครับ
.
.
เมื่อฝรั่งเศสได้ญวนเป็นอาณานิคมแล้ว ก็ข่มขู่ว่าลาวและเขมรเป็นเมืองขึ้นของญวน หาเรื่องเข้ายึดดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงทั้งหมดที่สยามครอบครองอยู่เดิม อ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของลาวและเขมรด้วย ผมคงไม่ต้องย้อนเรื่องไปถึงนะครับ ฝรั่งเศสเรียกประเทศใหม่ที่ยึดมาเป็นอาณานิคมของตนรวมกันว่าอินโดจีน แบ่งการปกครองออกโดยนิตินัยเป็นลาว เขมรและญวนดังเดิมที่ยังยอมให้มีกษัตริย์เก่าเป็นพระประมุขแบบหุ่นเชิด แต่โดยพฤตินัยแล้วฝรั่งเศสจะสั่งเอาอย่างไรก็ย่อมได้ ในอาณานิคมนี้ส่วนใหญ่ ไม่ค่อยจะมีทรัพยากรให้กอบโกยมากนัก ฝรั่งเศสจึงใช้เป็นที่เนรเทศข้าราชการที่ไม่พึงปรารถนามาทำงาน เหมือนเมืองไทยสมัยก่อนที่เอะอะก็สั่งย้ายคนที่ควรจะไล่ออกไปอยู่แม่ฮ่องสอน คนพวกนี้ถ้าไม่อยู่ไปวันๆก็เป็นนักฉวยโอกาส หาทางกอบโกยให้ตุงกระเป๋าก่อนจะหมดเทอมแล้วย้ายกลับบ้าน ดังนั้นการได้อาณานิคมนี้มา รัฐบาลฝรั่งเศสดีดยี่ต็อกแล้วไม่ค่อยจะคุ้มเท่าไร เงินที่ลงทุนไปกับการก่อสร้างอาคารสถานที่ราชการต่างๆก็หมดไปเยอะ และยังต้องจ่ายงบประมาณประจำปีเป็นค่าบริหารจัดการกับเงินเดือนข้าราชการที่ว่าห่วยๆนั้นอีก ไม่สมดุลย์กับรายรับ ปิดงบทีไรติดลบทุกปี ไม่เหมือนกับอังกฤษที่ได้สินแร่ดีบุกมหาศาลในมลายู สร้างกำไรเป็นกอบเป็นกำ สิงคโปร์ก็เป็นทำเลเหมาะสำหรับการเป็นเมืองท่าสำคัญของภูมิภาค พม่ามีไม้สัก ข้าวและทับทิม แม้ในญวนแม้จะยังค่อยยังชั่วหน่อยเพราะผลิตข้าวได้มาก แต่ในเขมรและลาว ฝรั่งเศสขาดทุนย่อยยับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 มิ.ย. 10, 17:15
บ้านเมืองในไซ่ง่อนเมืองหลวงทางญวนใต้ที่ฝรั่งเศสเรียกโคชินจีน Cochinchine (โคชินไชน่า)นั้นสวยงามดีอยู่ เพราะฝรั่งเศสก็อยากให้ทัดเทียมกับแรงกูน(ยั่งกุ้ง)ในพม่า และสิงคโปรของอังกฤษ แต่ก็สวยงามเฉพาะอาณาบริเวณที่พวกตนอยู่ ส่วนของคนญวนก็สกปรกตามสภาพ ยิ่งคนญวนนิยมฝังศพคนในครอบครัวที่บ้าน เมืองทั้งเมืองจึงดูราวกับสุสาน (เดี๋ยวนี้ก็ยังเห็นสภาพนี้) ความเป็นอยู่ทั่วไปคนต้องตีนถีบปากกัด หารายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องและเสียภาษี  ฝรั่งเศสออกกฏหมายเก็บภาษีราษฎรแบบเหมาจ่าย กำนันของแต่ละตำบลเป็นผู้รับภาระแบบนายอากรสมัยต้นรัตนโกสินทร์ จ่ายให้รัฐบาลเป็นก้อนใหญ่แล้วไปหาทางรีดภาษีจากลูกบ้านเอาเอง ถ้ามีคนไปทำความเสียหายให้กับสิ่งของสาธารณะเช่นสะพาน ประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ ซ่อมไปเท่าไหร่เรียกเก็บจากคนในตำบลนั้น5เท่า จ่ายเป็นเงินไม่ได้ก็ยึดทรัพย์ไปตามมูลค่า เมื่อรถยนต์ที่มีคนฝรั่งเศสนั่งอยู่แล่นไปตามชนบท ชาวบ้านข้างถนนเห็นแล้วต้องเปิดหมวกกุยเล้ยเป็นการเคารพ ตามร้านอาหาร คอฟฟี่ช็อปในเมือง ถ้าคนฝรั่งเศสเข้าไปแล้วชี้จะเอาที่นั่งตรงไหน คนที่นั่งอยู่ก่อนต้องลุก ถ้าไม่ลุกเจ้าของร้านมีหน้าที่ออกมาช่วยกันไล่ตะเพิด โสเภณีต้องตีตั๋วเป็นการเสียภาษี ถ้าไม่มีแล้วถูกจับได้จะถูกนำไปขังในค่ายกักกันพิเศษ เป็นเหยื่อปลดปล่อยทางกามารมณ์ของพวกทหารต่างด้าว และทหารเกณฑ์ที่นำมาจากเมืองขึ้นทางอ้ฟริกา แทนค่าปรับ จนกว่าจะมีคนมาประมูลซื้อตัวออกไปจากนรก คนญวนเองฝรั่งเศสไม่เอามาเป็นทหารกองกำลังหลักเพราะไม่ไว้ใจ นอกจากให้เป็นตำรวจช่วยดูแลรีดไถคนชาติเดียวกันมาแบ่งกับจ้าวนาย

คนที่มีฐานะดีต้องการส่งบุตรหลานไปเรียนหนังสือต่อที่ฝรั่งเศส ก็ต้องหาครอบครัวที่จะส่งไปอยู่ด้วย แล้วจ่ายเงินหรือวางหลักทรัพย์เป็นประกันตามที่เขาจะเรียกร้อง ผู้ที่เรียนจบวิชาแพทย์ วิศวกรรม การบัญชี และกฎหมาย จะประกอบวิชาชีพตามที่เล่าเรียนมามิได้ นอกจากจะโอนสัญชาติเป็นฝรั่งเศสก่อน ซึ่งจะต้องเสียเงินเสียทองทั้งบนโต๊ะและใต้โต๊ะเป็นหมื่นบาท

ราษฎรพื้นเมือง ถ้ามีเรื่องกับคนฝรั่งเศสจึงยากนักยากหนาที่จะชนะความ หากวิวาทกันถึงขั้นทำร้ายร่างกายเขา จะถูกโทษโบยและขังลืม คนไทยเองยังจำคุกขี้ไก่ที่ฝรั่งเศสทำไว้คราวยึดเมืองจันท์ได้ เดี๋ยวนี้ก็ยังมีทรากอยู่ การต่อสู้ขัดขืนตำรวจ จะถูกจับยัดลงโอ่งที่เลี้ยงแมลงประเภทตะขาบและแมลงป่องไว้ ดิ้นได้ไม่นานก็ตาย ออกมาอีกทีก็เหลือแต่โครงกระดูก อ่านมาถึงตอนนี้แล้วจึงเห็นว่าระบอบพิบูลสงครามที่ว่าโหดเหี้ยมแล้ว ยังถือว่าเด็กๆถ้าเทียบกับระระบอบฝรั่งเศสที่ใช้ปกครองอาณานิคม คนไทยบางคนที่ชอบพูดว่าเมืองไทยถ้าตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งบ้าง ก็คงน่าจะดีกว่านี้ ผมอยากให้เข้ามาอ่านเรื่องที่ผมเอามาลงไว้ตอนนี้มาก

คนญวนจะโดนบีบบังคับสาหัสที่สุด วิธีหนึ่งที่ช่วยบรรเทาได้คือการพาตนไปเข้าโบสถ์คาธอลิก พึ่งบารมีบาทหลวงฝรั่งเศสให้คุ้มครอง ผ่อนหนักให้เป็นเบา คนญวนจึงเป็นคริสเตียนกันมาก และเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่ฝรั่งเศสประสพความสำเร็จในการเผยแผ่คริสตศาสนา ดังนั้นความแค้นของคนญวนจึงเหมือนภูเขาไฟประทุอยู่ในหัวอก ต่อมาได้รับการติดอาวุธจากจีนคอมมิวนิสต์ จึงระเบิดออกมาอย่างวินาศสันตะโร กระจุยทั้งฝรั่งเศสทั้งอเมริกัน หนีกลับประเทศเกือบจะไม่ทัน


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 มิ.ย. 10, 17:23
ในเขมรและลาวนั้น ความจริงฝรั่งเศสไม่ค่อยได้เอาใจใส่ หลังจากปล้นศิลปวัตถุไปจากนครวัตอย่างมากมายแล้ว ชาวเขมรและลาวมีชีวิตที่ไม่กระตือรือล้นเหมือนคนญวน ฝรั่งเศสก็ขายฝิ่นให้สูบ เหล้าให้ต้มกินกันเอง นอกหน้านาก็ปล่อยให้เล่นการพนันกัดปลาตีไก่ไปวันๆ ข้าราชการบ้านเมืองจะหยุดนอนกลางวันตามวัฒนธรรมของฝรั่งเศส ปิดที่กระทำการในเวลา11-15น. ตอนนั้นทุกสิ่งในเมืองจะสงบนิ่ง ผู้คนกลับบ้าน รถราจอดเข้าร่มข้างถนน ในพนมเปญมีบริษัทของฝรั่งเศสมาเปิดทำการค้าอยู่เพียงสี่ห้าบริษัท นอกนั้นก็เป็นพวกมาลงทุนทำไร่ และปลูกยางพาราด้านชายแดนติดๆกับไทยทางตราดและจันทบุรี แต่ฝรั่งเศสต้องวางกำลังทหาร ทั้งกองพันต่างด้าวอันโด่งดัง เพราะประกอบด้วยฆาตกรอาชีพจากทั่วโลกที่ฝรั่งเศสจ้างมาสวมเครื่องแบบ มีหน้าที่เข่นฆ่าเจ้าของประเทศเดิมเพื่อให้ความสะดวกคนฝรั่งเศสเข้าไปครอบครอง ผลงานโด่งดังโหดเหี้ยมของพวกนี้มีมากเช่นในแอลจีเรีย มอรอคโค และไนจีเรีย ฝรั่งเศสเอากองพันทหารต่างด้าวมาไว้ที่เขมรเพราะไม่ไว้ใจไทย และยังเอาทหารเกณฑ์ตัวดำๆจากอาฟริกามาสมทบอีกหลายกองพล รวมกันแล้วถึง 80000คน นับว่ามากมายค่าใช้จ่ายบานเบอะ เพียงเพื่อจะยึดครองดินแดนแห่งนี้รักษาศักดิ์ศรี  แต่พอกองกำลังบูรพาบุกข้ามแดนมาจริงๆ พวกทหารรับจ้าง กับทหารเกณฑ์ก็สู้ความฮึกเหิมของทหารไทยไม่ได้ ถูกตีถอยรูด ทิ้งศพและพรรคพวกให้ตกเป็นเชลยศึกมากมาย ให้ไทยยึดธงไชยเฉลิมพลของของพันได้


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 มิ.ย. 10, 17:27
แต่ถึงกระนั้น ถนนหนทางจากด่านชายแดนไทยไปยังพนมเปญเมืองหลวงก็ลาดยางอย่างดี ขณะที่ฝั่งไทยเป็นถนนลูกรังฝุ่นตลบ  ที่ทำการของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของฝรั่งเศสเป็นตึกโก้ มีสวนไม้ดอกไม้ประดับ เสาธงชาติสูงใหญ่สง่างาม นายด่านแต่งเครื่องแบบภูมิฐาน แต่ฝั่งไทยเจ้าหน้าที่ชอบนุ่งผ้าขาวม้า ไม้กั้นด่านบนถนนเป็นไม่ท่อนคดๆงอๆตัดเอาแถวนั้น เสาธงเป็นไม้รวก ธงชาติเก่าสีซีด แต่ภายในเข้ามามีตลาดใหญ่คึกคัก พ่อค้าส่วนใหญ่เป็นคนจีนมีสินค้าในโกดังเพียบ ล้วนแต่เกินฐานะที่คนแถวนั้นจะซื้อ แต่สินค้าหรูหราฟุ่มเฟือยเหล่านี้จะข้ามชายแดนไปมากับฝั่งโน้นด้วยการลักลอบไม่เสียภาษี แน่นอนต้องจ่ายใต้โต๊ะทั้งสองฝั่ง แต่พ่อค้าก็รวยดี  ครั้งหนึ่งนายด่านทางฝรั่งเศสใกล้โยกย้ายก็ส่งเสริมให้ขนสินค้าเถื่อนขนานใหญ่ แต่แล้วก็นำจับรับเงินกึ่งหนึ่งของมูลค่าของตามระเบียบของศุลกากรก่อนกลับประเทศ เล่นเอาตลาดวาย พ่อค้าจีนส่วนใหญ่ต้องหมดตัว แถมติดคุกติดตะราง บางคนถึงกับฆ่าตัวตายหนีหนี้ไปเลย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 มิ.ย. 10, 17:57
มาปั่นกระทู้ตามเดิมค่ะ
รูปจักรพรรดิองค์สุดท้ายของญวน - จักรพรรดิเบาได๋


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 มิ.ย. 10, 18:02
ผู้หญิงญวนในปลายศตวรรษที่ ๑๙  ตอนนั้นญวนเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสแล้ว


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 29 มิ.ย. 10, 18:07

ทุกวันนี้ เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วว่าผู้ถูกลงโทษทั้งหมด เป็นแพะรับบาปที่ถูกสามสหายร่วมรุ่นโรงเรียนนายร้อย ได้แก่หลวงพิบูล หลวงอดุลเดชจรัส และหลวงพรหมโยธี สร้างสถานะการณ์หาหลักฐานพยานเท็จมาปรักปรำว่าร่วมกันกระทำความผิด เพราะเพียงเห็นว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับตนทางการเมืองเท่านั้น การกำจัดบุคคลเหล่านี้ก็ใช้อำนาจของศาลพิเศษที่บรรดาผู้พิพากษาคือผู้ที่รัฐบาลแต่งตั้ง และไม่ให้มีทนายจำเลยตามหลักยุติธรรมสากล กบฏพระยาทรงสุรเดช คือการกบฎที่รัฐบาลประกาศเอาเองทั้งๆที่ไม่มีการเคลื่อนไหวกำลัง หรือมีเหตุการณ์ร้ายแรงอะไร นอกจากที่เป็นข่าวกับหลวงพิบูลสงคราม3ครั้งดังกล่าวข้างต้น ซึ่งนอกจากครั้งแรกที่เชื่อว่าหลวงพิบูลถูกนายพุ่มยิงจริงๆแล้ว อีกสองครั้งต่อมาล้วนเป็นการจัดฉากของบรรดาคนสนิท แต่หลวงพิบูลทราบหรือไม่ให้ทราบก็แล้วแต่ เพราะเขาต้องการให้ดูแนบเนียนเท่านั้น และเรื่องลงนามคำสั่งประหารเหยื่อการเมืองทั้ง18คนนี้ หลอกหลอนหลวงพิบูลและหลวงอดุลตลอดเวลาเมื่อถูกซักถามในภายหลังเมื่อเวลาผ่านไปพ้นยุคที่ตนมีอำนาจบาตรใหญ่ ต่างคนก็ต่างโทษกันว่ากระทำไปโดยที่ตนมิได้รู้เห็น ไม่สมกับที่เป็นชายชาติทหาร


ขออนุญาตยกมือถามข้อสงสัยหน่อยนะคะ

หลังจากที่ได้รับการยืนยันว่าท่านเหล่านั้นเป็นแพะรับบาป แล้วทางรัฐบาลในสมัยนั้น มีการลบล้างมลทินให้กับผู้ถูกกล่าวหายังไงคะ ไม่ว่าจะเป็นการชดเชยให้กับครอบครัวของท่านเหล่านั้น หรือวิธีการอื่นๆ หรือว่า ปล่อยเลยตามเลยคะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 มิ.ย. 10, 20:09
ระหว่างรอคำตอบ  ขอเอาภาพมาคั่นโปรแกรมอีก ๒ ภาพ 
ภาพแรก ทหารไทยในลาว เมื่อพ.ศ. 2436 (ในรัชกาลที่ ๕)
ภาพที่สอง  กองทัพไทยพร้อมปืนใหญ่


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 มิ.ย. 10, 20:33
อ้างถึง
ขออนุญาตยกมือถามข้อสงสัยหน่อยนะคะ

หลังจากที่ได้รับการยืนยันว่าท่านเหล่านั้นเป็นแพะรับบาป แล้วทางรัฐบาลในสมัยนั้น มีการลบล้างมลทินให้กับผู้ถูกกล่าวหายังไงคะ ไม่ว่าจะเป็นการชดเชยให้กับครอบครัวของท่านเหล่านั้น หรือวิธีการอื่นๆ หรือว่า ปล่อยเลยตามเลยคะ


หลังจากนักโทษการเมืองปี2476สมัยกบฏบวรเดชได้ถูกเนรเทศไปคุมขังที่ทัณฑสถานเกาะตะรุเตาแล้วย้ายมาเกาะเต่า ส่วนนักโทษการเมืองปี2482ที่รอดจากโทษประหาร ถูกขังอยู่ที่เรือนจำบางขวางทั้งหมด มีเพียง2คนเท่านั้นที่ถูกเนรเทศไปเกาะเต่าด้วย วันหนึ่งในขณะที่นักโทษต้องทนทุกข์ทรมานด้วยไข้ป่าและถูกบังคับให้ทำงานกรรมกรประจำวัน เครื่องบินทหารลำหนึ่งได้มาบินเวียนขวากระทำทักษิณาวรรตเหนือเกาะในระดับต่ำ แล้วโคลงปีกด้านขวาเป็นสัญญาณแสดงความยินดี นักบินโผล่ออกมาโบกมือให้เหมือนจะบอกอะไรสักอย่าง แต่ก็เป็นเวลากว่าสามสัปดาห์หลังจากนั้นจึงได้ทราบว่า รัฐบาลหลวงพิบูลแพ้มติในสภาต้องลาออกไป แล้วนายควง อภัยวงศ์ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีแทน เรื่องแรกๆที่รัฐบาลใหม่รีบดำเนินการก็คือ ออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่นักโทษการเมือง ทั้งคดีกบฏบวรเดช พ.ศ.2476 กบฏนายสิบ พ.ศ.2481 และคดีกบฏพระยาทรง พ.ศ.2482  ทางการกำหนดให้นำนักโทษการเมืองจากเกาะเต่ามาทำพืธีปล่อยตัวที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในวันที่ 20 ตุลาคม 2487 ให้ทุกคนเป็นอิสระกลับไปหาลูกเมีย พ่อแม่พี่น้องที่รักของตน

ปีต่อมา มีการเปลี่ยนรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง นายปรีดี พนมยงค์เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการตราพระราชบัญญัติคืนยศ บรรดาศักดิ์ เครื่องราชอิสสริยาภรณ์ และสิทธิในการรับเบี้ยหวัดบำเหน็จและบำนาญ พ.ศ.2489 และฉบับที่2 ในปีพ.ศ.2491 ให้รัฐบาลนำความขึ้นกราบบังคมทูล ขอพระราชทานคืนยศ บรรดาศักดิ์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และสิทธิในการรับเบี้ยหวัด บำเหน็จและบำนาญ แก่บุคคลที่ต้องโทษทางการเมืองหรือเสียสิทธิเพราะการกระทำทางการเมืองในคดีดังกล่าวทุกคน

นั่นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้วเท่าที่ผู้ก่อการคณะราษฎร์ส่วนหนึ่ง จะชดเชยต่อการกระทำของผู้ก่อการคณะราษฎร์อีกส่วนหนึ่งได้ ทุกอย่างต่อจากนั้นให้เลิกแล้วกันไป...อโหสิ


อ้อ อดีตนักโทษการเมืองส่วนหนึ่งได้ร่วมตั้งพรรคการเมือง และลงสมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรครับ หลายๆคนได้รับเลือก และหลายคนได้เป็นรัฐมนตรีด้วย แต่เป็นได้สักพักเดียวทหารก็ปฏิวัติอีก ไม่นานจอมพลแปลกก็กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกเป็นสมัยที่2 เรียกว่ารัฐบาลจอมพลป.(ไม่เรียกหลวงพิบูล2นะครับ)  ส่วนเสด็จในกรมชัยนาททรงได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันยังทรงศึกษาอยู่สวิตเซอร์แลนด์ครับ
  
 


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 29 มิ.ย. 10, 21:00
   เรื่องที่ได้อ่านในกระทู้นี้ทำให้นึกถึงคำคมซึ่งผมจำไม่ได้ว่าใครเป็นคนพูด  แต่เคยอ่านผ่านตามาบอกว่า  ความดีของมนุษย์จะสิ้นสุดลงเมื่อเล่นการเมือง  

  



ถ้าจำไม่ผิด รู้สึกจะเป็นอริสโตเติล ไม่ก็เพลโต ครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 มิ.ย. 10, 21:05
.
เมื่อฝรั่งเศสได้ญวนเป็นอาณานิคมแล้ว ก็ข่มขู่ว่าลาวและเขมรเป็นเมืองขึ้นของญวน หาเรื่องเข้ายึดดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงทั้งหมดที่สยามครอบครองอยู่เดิม อ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของลาวและเขมรด้วย

การ์ตูนภาพล้อ สะท้อนเหตุการณ์เมื่อฝรั่งเศสเข้ายึดดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงจากสยาม   ลงในหนังสือพิมพ์ Punch ของอังกฤษ
เป็นรูปหมาป่าฝรั่งเศสกำลังจะขย้ำแกะสยาม


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 29 มิ.ย. 10, 21:12
ขอเสริมเรื่องสงครามระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเพื่อชิง พระตะบอง,เสียมราฐ,ศรีโสภณ สักนิดนะครับ

โดยเฉพาะสมรภูมิบ้านพร้าว ซึ่งเป็นสมรภูมิที่รบกันหนักที่สุด และเป็นสมรภูมิที่ไทยสามารถทำให้ฝรั่งเศสได้อายมากที่สุด เพราะทหารไทยสามารถละลายกองพันของฝรั่งเศสได้อย่างหมดจด ด้วยการบัญชาการของ พันตรีขุนนิมมาณกลยุทธ (นิ่ม ชโยดม)

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า การบังคับบัญชาของท่านขุนฯ ดันไปฝืนคำสั่งของท่านผู้บังคับการกองพลเสียอย่างนั้น ซึ่งผู้บังคับบัญชากองพลนี้ไม่ใช่ใครที่ไหน เขาเป็นเพื่อนของ จอมพล ป. นั่นเองครับ

ยังผลให้ ท่านขุนฯ โดนต่อว่าต่าง ๆ นานา และไม่ก้าวหน้าในหน้าที่การงานต่อไปอีกเลย ทั้ง ๆ ที่สมรภูมิบ้านพร้าวนี่แหละ ที่ทำให้ทหารไทยได้ยึด "คัว เดอ แกร์" หรือก็คือ ธงไชยเฉลิมพลของฝรั่งเศสได้

เพื่อนคนนี้ของ จอมพล ป. จะเป็นใคร ลองหาคำตอบในเนื้อหาของกระทู้นี้ดูนะครับ คุณอา NAVARAT ได้เฉลยคำตอบไว้แล้ว...ฮา

รายละเอียดของการยุทธ เชิญที่ Link นี้ครับ http://www.oknation.net/blog/print.php?id=104600

http://www.tigerarmy.in.th/home/about/war.php


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 29 มิ.ย. 10, 21:14
อีกเรื่องครับ เสียมราฐ คือการเรียกแบบคนไทย แต่ถ้าเป็น เสียมเรียบ(สยามพ่าย) จะเป็นชื่อเรียกแบบเขมรครับ เพราะฉะนั้นจะเรียกแบบไหนก็ลองพิจารณาดูให้ดี ๆ นะครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 มิ.ย. 10, 21:28
   เรื่องที่ได้อ่านในกระทู้นี้ทำให้นึกถึงคำคมซึ่งผมจำไม่ได้ว่าใครเป็นคนพูด  แต่เคยอ่านผ่านตามาบอกว่า  ความดีของมนุษย์จะสิ้นสุดลงเมื่อเล่นการเมือง  

  


ถ้าจำไม่ผิด รู้สึกจะเป็นอริสโตเติล ไม่ก็เพลโต ครับ
*****************
ไม่น่าจะเป็นเพลโตนะคะ   แต่เป็นของอริสโตเติลหรือไม่  ยังนึกไม่ออก
เพลโตเคยพูดว่า "“Those who are too smart to engage in politics are punished by being governed by those who are dumber.”
"คนที่นึกว่าตัวเองฉลาดเกินกว่าจะเล่นการเมือง ก็จะลงเอยด้วยการถูกคนโง่กว่ามาปกครอง"
แสดงว่าเพลโตก็ไม่ได้เห็นการเมืองเป็นสิ่งเลวร้าย จนไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย
 


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 มิ.ย. 10, 22:03
รายชื่อแม่ทัพในสงครามอินโดจีน
      ๑๓  พฤศจิกายน  ๒๔๘๓     ฝ่ายไทยได้แต่งตั้ง ผู้บัญชาการทหารสูงสุด แม่ทัพบก แม่ทัพเรือ และแม่ทัพอากาศ
         กองทัพบก      ได้จัดกองทัพบกสนาม  โดยมีนายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดและเป็นแม่ทัพบก ประกอบด้วย    กองทัพบูรพา  กองทัพอีสาน  กองพลผสมปักษ์ใต้  กองพลพายัพ และกองพลผสมกรุงเทพ ฯ  มีการประกอบกำลัง ดังนี้
         กองทัพบูรพา   นายพันเอก หลวงพรหมโยธี  เป็นแม่ทัพ     
         มีภารกิจ    เข้าตีด้านประเทศเขมร  เพื่อเข้ายึดกรุงพนมเปญ  บรรจบกับกองทัพอิสานที่พนมเปญ    แล้วทั้งสองกองทัพกวาดล้างข้าศึกขึ้นไปทางเหนือ  ตามแนวแม่น้ำโขง เพื่อบรรจบกับกองพลพายัพที่กวาดล้างลงมาทางใต้   
        ประกอบด้วย  กองพลพระนคร  กองพลลพบุรี  กองพลปราจีนบุรี  กองพลวัฒนานคร  กองพลจันทบุรี  โดยตั้งกองบัญชาการอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี
       กองพลพระนคร    ประกอบด้วย    กองพันทหารราบที่  ๑, ที่ ๒  และ ที่ ๓
       กองพลลพบุรี    ประกอบด้วย    กองพันทหารราบที่ ๔, ๖, ๓๗, ๑ (หนุน), ๒๙ (หนุน) และกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๔ 
       กองพลปราจีนบุรี    ประกอบด้วย    กองพันทหารราบที่ ๕, ๘, ๔๕, ๓๑ (หนุน) (จัดแบบกองพันอัตราศึก) และ  ๑ กองพันทหารปืนใหญ่
      กองพลวัฒนานคร    ประกอบด้วย    กองพันทหารราบที่
      กองพลจันทบุรี      ประกอบด้วย    กองพันนาวิกโยธินที่ ๑, ที่ ๒, ที่ ๓, กองพันทหารม้าที่ ๔ (ม.พัน ๔ ), กองพันทหารปืนใหญ่นาวิกโยธิน,  กองทหารช่าง (ทบ.) และ กองทหารสื่อสาร (ทบ.) 

         กองทัพอีสาน    นายพันเอก หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต  เป็นแม่ทัพ     
            มีภารกิจ    เข้าตีตามแนวชายแดนด้านเขมรตั้งแต่เขตจังหวัดสุรินทร์  ไปถึงด้านลาว  ตั้งแต่เขตจำปาศักดิ์  ไปถึงด้านเหนือ  คือเวียงจันทน์    ด้านเหนือ  ให้ทำการบรรจบกับกองพลพายัพที่เวียงจันทน์   แล้วให้รุกลงมาทางใต้ตามแนวลำน้ำโขง       
            ประกอบด้วย  กองพลอุดร   กองพลอุบล   กองพลสุรินทร์  กองพลธนบุรี  กองพลนครราชสีมา หน่วยขึ้นตรงกองทัพฝ่ายกิจการพิเศษ   กองหนุนกองทัพ และหน่วยทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน 
            กองพลอุดร    ประกอบด้วย    กองพันทหารราบที่ ๒, ๒๒, ๒๒(หนุน), ๑ กองพันทหารปืนใหญ่, กองทหารช่าง,กองทหารสื่อสาร  และกองกำลังสำรอง   
            ปฏิบัติการอยู่ในบริเวณพื้นที่จังหวัดอุดรธานี  เลย  หนองคาย  นครพนม  และสกลนคร

           กองพลอุบล    ประกอบด้วย    กองพันทหารราบที่ ๑๙, ๒๐, ๒๑, ๓๐, กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๘, กองทหารม้าที่ ๕, หมวดรถรบ, กองทหารช่าง, กองทหารสื่อสาร, กองกำลังสำรอง  และกองพลาธิการกองพล
            ปฏิบัติการอยู่ในบริเวณพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี  และศรีสะเกษ   

           กองพลสุรินทร์    ประกอบด้วย    กองพันทหารราบที่ ๗,๒๙,๑๙ (หนุน),กองพันทหารม้าที่ ๓, กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑๐, กองทหารช่าง, กองทหารสื่อสาร  และ กองกำลังสำรอง
            ปฏิบัติการอยู่ในบริเวณพื้นที่จังหวัดสุรินทร์  และบุรีรัมย์

           กองพลธนบุรี    เป็นกำลังหนุนเพิ่มเติม   ตั้งขึ้นภายหลังการทำสัญญาพักรบ   
           มีภารกิจแก้ปัญหาเมื่อฝรั่งเศสไม่ปฏิบัติตามสัญญาไกล่เกลี่ยของญี่ปุ่น   
          ประกอบด้วย    กองพันทหารราบที่ ๒๘, ที่ ๒ (หนุน), ที่ ๓ (หนุน), กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๖, กองทหารสื่อสาร  และ กองกำลังสำรอง
 
          กองพลนครราชสีมา    เป็นกำลังหนุนเพิ่มเติม   ตั้งขึ้นภายหลังการทำสัญญาพักรบ   
          มีภารกิจเช่นเดียวกับกองพลธนบุรี
         ประกอบด้วย    กองพันทหารราบที่ ๒๑, ที่ ๒๑ (หนุน), ที่ ๑๙ (หนุน) และ ที่ ๑๙ (หนุน) 

         กองพลผสมปักษ์ใต้   ประกอบด้วย  กองพลสงขลา และกองพลนครศรีธรรมราช  มีนายพันเอก หลวงเสนาณรงค์  เป็นผู้บัญชาการกองพล 
          กองพลสงขลา    ประกอบด้วย    กองพันทหารราบที่ ๕, ที่ ๔๑, ที่ ๔๒  และกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑๗
         กองพลนครศรีธรรมราช    ประกอบด้วย    กองพันทหารราบที่ ๓๘, ที่ ๓๙, ที่ ๔๐  และกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๓

          กองพลพายัพ      นายพันโท หลวงหาญสงคราม  เป็นผู้บัญชาการกองพล     
         มีภารกิจ    เข้าตีเพื่อยึดหลวงพระบาง  เวียงจันทน์     แล้วกวาดล้างข้าศึกลงมาทางใต้ ตามแนวลำน้ำโขง  เพื่อทำการยุทธบรรจบกับกองทัพอิสาน
         ประกอบด้วย    กองพันทหารราบที่ ๓๐,ที่ ๓๑,ที่ ๒๘ (หนุน),ที่ ๓๐ (หนุน)  และกองทหารสื่อสาร 
          กองพลผสมกรุงเทพ ฯ    ประกอบด้วย กองพันทหารม้าที่ ๑, กองพันทหารช่างที่ ๗,  กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑๖,  กองสื่อสารและกองรถรบ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 30 มิ.ย. 10, 07:11
ขอบพระคุณมากค่ะ ที่กรุณาคลายข้อสงสัย  :)

เข้ามาในเวปนี้ ไม่ผิดหวังจริงๆค่ะ ได้ศึกษาเรื่องราวในประวัติศาสตร์
มารอติดตามตอนต่อไปค่ะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 30 มิ.ย. 10, 09:20
เคยอ่านพบชื่อกองพลต่างๆ มาก่อน  แต่ก็นึกสงสัยอยู่ว่า ไปเอาอัตรากำลังที่ไหนมาจัดเป็นกองพลได้เยอะแยะขนาดนั้น  เพิ่งมาถึงบางอ้อว่า กองพลเหล่านั้นก็คือหน่วยกำลังระดับกรมในปัจจุบันนั่นเอง  แต่ตที่ตั้งชื่อเป็นกองพลนั้นคงจะให้ข้าศึกรู้สึกครั้นคร้ามในกำลังเป็นแน่


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 มิ.ย. 10, 09:44
การรบกับฝรั่งเศสในกรณีพิพาทอินโดจีนเป็นความสะใจของคนไทยทุกคนในฐานะที่เป็นมนุษย์ปุถุชน เหมือนคนที่เคยถูกเขกหัวกระบานมาวันหนึ่งสามารถชกคางคนเขกได้ก็จะรู้สึกว่าดี อย่างไรอย่างนั้น

ในมุมมองของผมหลวงพิบูลประสพความสำเร็จหลายประการ นอกจากจะได้ใจคนทั้งประเทศแล้ว ยังได้ความสามัคคีของคนในชาติคืนมา อย่าลืมว่าตอนนั้นสังคมไทยแตกแยกกันขนาดหนักถึงขนาดต้องกวาดล้างกัน มีแพะถูกเอาไปฆ่าเสียบ้างติดคุกบ้าง ที่อยู่นอกคุกก็คอยระแวงว่าใครจะเล่นงานใครอีก พอประเทศเข้าสู่สงครามกับชนต่างชาติ เรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันเองระหว่างคนไทยก็จืดไปเลย ตอนนี้มีใครคิดจะบุกเขมรอีกสักรอบหรือยังก็ไม่รู้

ที่จริงแล้ว ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเห็นดีเห็นงามตามหลวงพิบูลที่จะรบกับฝรั่งเศสไปหมด คนใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่คัดค้านอย่างแข็งขันก็คือหลวงประดิษฐ์หรือนายปรีดี พนมยงค์ ท่านผู้นี้สมองคนละเบอร์กับหลวงพิบูล เห็นว่าฝรั่งเศสแพ้เยอรมันไปแล้วก็จริง แต่คนฝรั่งเศสก็จัดตั้งขบวนการใต้ดินต่อสู้ต่ออยู่อย่างแข็งขัน สงครามโลกที่ได้เกิดขึ้นไปแล้วยังไม่ยุติ นับนิ้วมือว่าฝ่ายใดมีกี่ชาติที่เข้าร่วมรบแล้ว เยอรมันคงจะชนะยาก วันหนึ่งหากฝรั่งเศสจะกลับเป็นฝ่ายชนะบ้าง ไทยจะสูญเสียย่อยยับ แต่หลวงพิบูลก็หาได้ฟังไม่ ในที่สุดผู้ก่อการคณะราษฎร์คู่สุดท้ายก็แตกกัน ระหว่างสงครามโลกที่ไทยร่วมรบเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น นายปรีดีก็เริ่มขบวนการใต้ดินขึ้นมาต่อต้าน ตอนท้ายสงครามได้รวมกับเสรีไทยนอกประเทศ ทำงานเข้าตาสัมพันธมิตร สามารถพลิกล็อกจากเจ้งเป็นเจ๊าได้อย่างฉิวเฉียด เพราะได้พี่กันช่วยกันพี่เศสไว้อย่างแรง หลวงพิบูลถูกจับตัวขึ้นศาลอาชญากรสงครามเพื่อเอาใจสัมพันธมิตร ตอนนั้นก็ลุ้นกันว่าจะโดนโทษประหารให้แขวนคอเหมือนบรรดาแม่ทัพนายกองญี่ปุ่นเมื่อไหร่  ช่วงนี้เองที่หลวงอดุลเพื่อนซี้ได้ไปเป็นพยานต่อศาลให้การปรักปรำเรื่องในอดีตของหลวงพิบูลเสียเละตุ้มเป๊ะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 มิ.ย. 10, 09:55
อย่างไรก็ดี การดำเนินคดีในศาลได้ใช้เวลาหลายปีจนอุณหภูมิสงครามเย็นลง ไทยก็ใช้หนี้ใช้สินที่ไปก่อเรื่องกับฝรั่งเศสและไปช่วยญี่ปุ่นรบ เป็นข้าวบ้างเป็นเงินบ้างจนหมด พอเห็นว่าฝรั่งคงไม่ติดใจแล้ว ศาลก็พิพากษาว่าพรบ.อาชญากรสงครามของไทยเป็นกฏหมายที่ไทยเพิ่งจะตราขึ้นเมื่อสงครามยุติแล้ว ส่วนการกระทำของหลวงพิบูลแม้จะเข้าข่ายที่จะเป็นอาชญากรสงคราม แต่กฏหมายก็ไม่สามารถจะไปเอาผิดย้อนหลังให้ลงโทษได้

หลวงพิบูลก็ได้เป็นอิสระ นอนเลียแผลอยู่ไม่กี่ปีก็หวลกับสู่วงการเมืองอีก ในปี2492ขณะที่เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่2 นายปรีดีก็เป็นหัวหน้าก่อการที่เรียกว่ากบฎวังหลวง (เพราะไปยึดเอาพระบรมมหาราชวังเป็นกองบัญชาการ) แต่จอมพลป.เป็นมือปราบปืนโหดโดยธรรมชาติอยู่แล้ว งานนี้ถืออกุศโลแกน"เลือดไทยเท่านั้น ที่จะล้างเมืองไทยให้สะอาดได้" ยกพวกเอารถถังออกมาตีกบฏแตกกระเจิง โชคดีที่นายปรีดีหนีออกไปนอกประเทศได้ แต่พวกที่ยังอยู่ถูกจับตายหลายคน สานุศิษย์4คนของนายปรีดีที่เป็นผู้ก่อการสายพลเรือนของคณะราษฎรและเป็นรัฐมนตรีหลายสมัยถูกสันติบาลของพันตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์จับได้ แล้วกลายเป็นศพถูกยิงพรุนอยู่หน้าวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน รัฐบาลใช้มุขเดิมไม่มีปัญญาคิดใหม่ แถลงการณ์ว่าโจรจีนมลายูมาแย่งชิงตัวเกิดต่อสู้กับตำรวจ ไม่มีใครตายนอกจากผู้ต้องหาทั้งสี่โดนลูกหลงเสียชีวิต

จบมหากาพย์เรื่อง"คณะราษฎร์ย่อมถูกล้างด้วยคณะราษฎร์" เพียงเท่านี้


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 มิ.ย. 10, 11:45
ความตอนที่แล้ว

อ้างถึง
รถไฟได้พาพระยาทรง ผู้ที่ยังยืดอกสมชายชาติทหาร พร้อมกับร้อยเอกสำรวจ กาญจนสิทธิ์ ท.ส.คู่ใจ ท่ามกลางห้อมล้อมของทหารและตำรวจที่ติดตามไปคุมตัวท่าน ให้เดินทางออกไปนอกประเทศอย่างเรียบร้อย ถึงสุดท้ายปลายทางชายแดนด้านทิศตะวันออกของประเทศสยามที่ด่านอรัญประเทศ ท่านเข้ามอบตัวกับทางการของอินโดจีนฝรั่งเศสในฐานะผู้ขอลี้ภัยทางการเมือง ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ด่านได้รับรองและให้เกียรติเป็นอย่างดี หลังจากนั้นจึงได้จัดการนำท่านขึ้นรถต่อไปยังพนมเป็ญเพื่อพบกับผู้บังคับบัญชาของเขาต่อไป

ผู้ลี้ภัยทางการเมืองถือว่าไม่ใช่อาชญากร ทุกชาติที่เจริญแล้วย่อมให้เกียรติ เมื่อเสร็จพิธีรีตองอันพึงต้องกระทำแล้ว ฝรั่งเศสก็อนุญาตให้ท่านเป็นอิสระ

พระยาทรงไม่มีเงินติดตัวมากนัก รัฐบาลไล่ท่านออกโดยไม่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญอย่างหินโหด ท่านต้องใช้จ่ายอย่างประหยัดที่สุด สิ่งที่ท่านทำได้ขณะนั้นก็คือ เช่าบ้านไม้โกโรโกโสในราคาเดือนละ21บาทอยู่กันสองคน รอการติดต่อจากครอบครัวของท่าน


เมื่อครอบครัวซึ่งมีคุณหญิงทรงสุรเดช (ผมไม่ทราบชื่อตัวของท่าน หากคุณวันดีหรือคุณหลวงเล็กแวะมาเยี่ยม โปรดลองกรุณาค้นหาให้ด้วยจะเป็นพระคุณยิ่ง) และคุณเทพีบุตรสาวได้เดินทางมาสมทบ ปรึกษาหารือกันแล้วคิดว่าพวกผู้หญิงจะช่วยกันทำข้าวแกงแบบไทยๆขาย น่าจะมีคนเขมรมาอุดหนุนเยอะ และคงจะเลี้ยงชีวิตอยู่ไปกันได้ ความจริงท่านมีลูกชายอีกคนหนึ่งชื่อคุณทศ พันธุมเสน โชคดีที่คุณทศได้รับทุนไปศึกษาที่อังกฤษก่อนมีเรื่อง ตอนที่ออกเดินทางมีผู้คนไปส่งคึกคัก พระยาพหลยังเดินทางมาสวมพวงมาลัยให้ด้วยตนเอง ผิดกับบิดาวันที่บิดาถูกปืนจี้ให้ออกเดินทางเยอะแยะ คุณทศได้เข้าเป็นเสรีไทยในช่วงสงคราม ในปาฐกถาที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ครั้งหนึ่ง คุณทศพูดว่า

“(จำกัด พลางกูร)เดินรี่เข้ามาถามผมว่า ผมเป็นบุตรพระยาทรงสุรเดชใช่ไหม พอผมตอบรับเขาก็คุยจ้อ พูดกันแต่เรื่องประชาธิปไตยในไทยและในอังกฤษ ไม่มีเรื่องอื่นเลย เขาบอกว่าน่าเสียดายที่พระยาทรงไม่ร่วมรัฐบาล  และที่หลวงประดิษฐ์ไม่อยู่ในฐานะที่จะเร่งรัดให้ประชาธิปไตยในไทยก้าวหน้าไปเร็วๆ เขาเกรงว่าหลวงพิบูลจะหันเหจากอุดมการณ์ของคณะราษฎร เขาชื่นชมประชาธิปไตยในอังกฤษ ภายใน20 นาทีที่ได้ฟังจำกัดพูด ผมได้ความรู้และข้อคิดเรื่องประชาธิปไตยมากมาย และความเขม่นแรกพบก็กลายเป็นความนิยมในความรอบรู้ของเขามากทีเดียว จำกัดเดินทางกลับประเทศไทยปลายฤดูร้อน พ.ศ. 2481เขาบอกผมว่า ถ้าผมต้องการฝากของไปให้คุณพ่อ เขาก็ยินดีจะนำไปให้ เพราะเขาอยากพบท่าน แต่แล้วเขาก็ไม่ได้พบคุณพ่อผม เพราะท่านโดนมรสุมการเมืองและต้องลี้ภัยไปอินโดจีนของฝรั่งเศส จำกัดเข้ารับราชการในกระทรวงศึกษาธิการได้ไม่นานก็ได้รับคำสั่ง(รัฐบาลหลวงพิบูล)ให้ออกจากราชการ”

นายจำกัด พลางกูรได้เข้าเป็นเลขาธิการขบวนการเสรีไทยสายในประเทศ และนายปรีดีได้ส่งให้ลักลอบเดินทางไปหาเจียงไคเชค ในเมืองจีน เพื่อเจรจาจนนายพลเจียงรับที่จะให้จีนประกันเอกราชให้ไทยหลังสงครามสงบ แต่นายจำกัดไม่สามารถคืนกลับเมืองไทยได้ เพราะเสียชีวิตในระหว่างสงครามที่เมืองจีนนั้นเอง


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 10, 14:46
คุณวิกี้ตอบคำถามเรื่องกบฏวังหลวง ไว้ว่า
เป็นชื่อเรียกการกบฏที่เกิดขึ้นในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 เกิดขึ้นโดยนายปรีดี พนมยงค์นำกองกำลังส่วนหนึ่งจากประเทศจีนร่วมกับคณะนายทหารเรือ และอดีตเสรีไทยกลุ่มหนึ่ง เรียกตัวเองว่า "ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์" นำกำลังยึดพระบรมมหาราชวังและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นกองบัญชาการ (จึงเป็นที่มาของชื่อกบฏในครั้งนี้) ในเวลาประมาณ 16.00 น. โดยเรียกปฏิบัติการครั้งนี้ว่า "แผนช้างดำ-ช้างน้ำ" จากนั้นในเวลา 21.00 น. ประกาศถอดถอน รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายนาย และได้ประกาศแต่งตั้ง นายดิเรก ชัยนาม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน โดยที่นายดิเรกมิได้มีส่วนรู้เห็นอันใดกับการกบฏครั้งนี้ และแต่งตั้ง พลเรือโท สินธุ์ กมลนาวิน เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด

ในส่วนของนายปรีดีที่หลบหนีออกจากประเทศไปตั้งแต่การรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ได้แอบเดินทางกลับมาโดยปลอมตัวเป็นทหารเรือและติดหนวดปลอมปะปนเข้ามาพร้อมกับกลุ่มกบฏ แต่มีผู้พบเห็นและจำได้

ซึ่งความจริงแล้ว ทางฝ่ายรัฐบาลก็รู้ตัวก่อนล่วงหน้าว่าอาจมีเหตุเกิดขึ้นได้ เพราะ จอมพล ป.ก่อนหน้านั้นได้พูดทิ้งท้ายไว้เป็นนัยทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยว่าไว้ถึง 2 ครั้ง เช่น "เลือดไทยเท่านั้น ที่จะล้างเมืองไทยให้สะอาดได้" เป็นต้น และได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไว้ล่วงก่อนถึง 3 วันเกิดเหตุ รวมทั้งได้มีการฝึกซ้อมรบด้วยกระสุนจริงของทหารบกที่ตำบลทุ่งเชียงราก จังหวัดปทุมธานี ซึ่งหนังสือพิมพ์ได้ขนานนามการซ้อมรบครั้งนั้นว่า "การประลองยุทธ์ที่ตำบลทุ่งเชียงราก"

ในระยะแรก ฝ่ายกบฏดูเหมือนจะเป็นฝ่ายได้ชัยชนะ เพราะสามารถยึดสถานที่สำคัญและจุดยุทธศาสตร์ไว้ได้หลายจุด แต่ทว่าตกค่ำของคืนวันนั้นเอง ทหารฝ่ายรัฐบาลก็ตั้งตัวติดและสามารถยึดจุดยุทธศาสตร์กลับคืนมาได้ อีกทั้งกองกำลังทหารเรือฝ่ายสนับสนุนกบฏจากฐานทัพเรือสัตหีบก็ติดอยู่ที่ท่าน้ำบางปะกง เพราะน้ำลดขอดเกินกว่าปกติ แพขนานยนต์ไม่สามารถที่จะลำเลียงอาวุธและกำลังคนข้ามฟากไปได้ เมื่อน้ำขึ้นก็เป็นเวลาล่วงเข้ากลางคืน กองกำลังทั้งหมดมาถึงพระนครในเวลา 2 ยาม ถึงตอนนั้นฝ่ายกบฏก็เพลี่ยงพล้ำต่อรัฐบาลแล้ว

จุดที่มีการปะทะกันระหว่างทหารบกฝ่ายรัฐบาล และทหารเรือฝ่ายกบฏ เช่น ถนนวิทยุ, ถนนพระราม 4, ถนนสาทร, สี่แยกราชประสงค์ มีการยิงกระสุนข้ามหลังคาบ้านผู้คนในละแวกนั้นไปมาเป็นตับ ๆ มีผู้ได้บาดเจ็บกันทั้ง 2 ฝ่าย

พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ - ยศในขณะนั้น) ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการปราบปราม มีการสู้รบกันในเขตพระนครอย่างหนักหน่วง โดย พล.ต.สฤษดิ์เป็นผู้ยิงปืนจากรถถังทำลายประตูวิเศษไชยศรีของพระบรมมหาราชวังพังทลายลง จนในที่สุด เวลาเย็นของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ทั้ง 2 ฝ่ายก็หยุดยิง เมื่อรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้และปราบปรามฝ่ายกบฏได้สำเร็จ
นายปรีดี พนมยงค์ ต้องหลบหนีออกนอกประเทศอีกครั้ง และหลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน ได้มีการสังหารบุคคลสำคัญทางการเมืองลงหลายคน เช่น พล.ต.ต. บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ พ.ต. โผน อินทรทัต ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบและอดีตเสรีไทย
รวมทั้งการสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรีที่ถนนพหลโยธิน กิโลเมตรที่ 11 คือนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายถวิล อุดล นายจำลอง ดาวเรือง และนายทองเปลว ชลภูมิ ซึ่งเป็นนักการเมืองในสายของนายปรีดี พนมยงค์ เป็นต้น


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 10, 15:10
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=134659

กบฏวังหลวง (26 กุมภาพันธ์ 2492)

      นายปรีดี พนมยงค์ พร้อมด้วย เรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวชนายทหารนอกราชการเลขานุการส่วนตัว และคณะเดินทาง ออกจากประเทศจีน เมื่อ 10 มกราคม พ.ศ.2492 โดยเรือรบอเมริกัน และมาถึงน่านน้ำไทยทอดสมอนอกเกาะเสม็ด จังหวัดระยอง เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 (รัฐบาลอเมริกันช่วยเพราะสนิทกับนายปรีดี และไม่ชอบจอมพล ป. ที่ไปเป็นพันธ มิตรญี่ปุ่น)


       ตอนแรกนายปรีดี ต้องการกลับมาสู้คดีกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จึงให้ เรือเอก ชลิต ชัยสิทธิเวช เป็นตัวแทนไปติดต่อผู้มีอำนาจในรัฐบาลและ ในราชการเช่นพลตำรวจตรี เผ่า ศรียานนท์ พันโท ละม้าย อุทยานานนท์ พลตรี สฤษดิ์   ธนะรัชต์ เพื่อให้ความคุ้มครองแต่ได้รับการปฏิเสธ จึงให้นายทหารผู้นั้นติดต่อ พลเรือตรี สังวร สุวรรณ ชีพนำเรือยนต์ไปรับเมื่อ 22.00 น. ของ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 เมื่อแนวทางสู้คดีไม่ได้รับการรับรองจากผู้มีอำนาจ จึงตัดสินใจใช้กำลังเข้าโค่นล้มรัฐบาล พร้อมๆ กับแสวงหาพันธ มิตรหลายกลุ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารเรือ และเสรีไทย ซึ่งขณะนั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็น "กองทัพพลเรือน"


       แนวความคิดในการปฏิบัติของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส เจ้าของโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ คือแผนการยึดอำนาจแบบใต้ดินเป็นการปฏิบัติการร่วมกันระหว่างพลพรรคเสรีไทย กับกองทหารประจำการ โดยใช้วิธีการแบบ "สายฟ้าแลบ" เข้ายึดสถานที่สำคัญ จับกุมบุคคลสำคัญของทางราชการ ปิดล้อมกองพันต่าง ๆ แล้ว ทำการปลดอาวุธ จากนั้นจึงล้มรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศตั้งรัฐบาลใหม่ตลอดจน ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2492 แล้วนำรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2475 มาใช้ โดยนัดหมายสมาชิกเสรีไทย เวลา 19.00 น. ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ในวันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 ว่าจะมีงานเลี้ยง บุคคที่นายปรีดีนัดแนะมาได้แก่ พล.ต. สมบูรณ์ ศรานุชิต นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร์ นายสมพงษ์ ชัยเจริญ นายละออ เชื้อภัย นายกมล ชลศึก นายทวี ตเวกุล และยังมีคนอื่นๆอีกประมาณ 50 คน  
      โดยมีแผนแรกคือใช้กำลังส่วนหนึ่งเข้ายึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เอาไว้ เป็นกองบัญชาการ และรวบรวมสรรพกำลัง  แผนต่อไปคือจะใช้กำลังส่วนหนึ่ง เข้ายึดพระบรมมหาราชวังไว้เป็นกองบัญชาการชั่วคราว เหตุผลที่เลือกพระบรมมหาราชวัง เพราะมีกำแพงมั่นคงแข็งแรง มีปราสาทราชมณเฑียรอันล้ำค่า ซึ่งฝ่ายก่อการคาดว่าฝ่ายรัฐบาลคงไม่กล้าที่จะใช้อาวุธหนักเข้าทำการปราบปราม และที่สำคัญที่สุดคืออยู่ติดกับกองเรือรบ ซึ่งขณะนั้นยังตั้งอยู่ที่ฝั่งพระนคร ส่วนที่บัญชาการคุมกำลังส่วนใหญ่ หรือเป็นที่รวบรวมสรรพอาวุธอันสำคัญนั้น อยู่ที่กองสัญญาณทหารเรือที่ศาลาแดง กำลังอีกส่วนหนึ่ง
           นายปรีดี ได้บัญชาการให้ไปยึดบริเวณวัดพระเชตุพนตรงข้ามกับ ร. พัน 1. เพื่อเป็นการตรึงกำลัง ร. พัน. 1 ไว้ เมื่อกำลังส่วนต่างๆในพระนคร ซึ่งมีทหารบก พลเรือน ตำรวจเข้ายึดสถานที่สำคัญๆ เพื่อตรึงกำลังของหน่วยทหารบกบางแห่งไว้แล้ว กลุ่มเสรีไทยที่เคยร่วมมือกับนายปรีดีต้านญี่ปุ่น ก็จะเคลื่อนกำลังเข้าสมทบโดยเร็วที่สุด โดยนายชาญ บุนนาค ผู้จัดการป่าไม้สัมปทานหัวหิน จะเป็นผู้นำพวกเสรีไทยเข้าสู่พระนคร นายชวน เข็มเพชร นำพวกเสรีไทยภาคตะวันออกได้แก่ ลาว ญวณอิสระ เข้ามาทางอรัญประเทศ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายจำลอง ดาวเรือง นายถวิล อุดล และนายเตียง ศิริขันธ์ จะนำพวกเสรีไทยยึดภาคอิสาน แล้วจะนำพวกเสรีไทยเข้ามาสมทบในพระนคร นายเปลว ชลภูมิ จะนำเสรีไทยจากเมืองกาญจนบุรี เข้ามาสมทบอีก สำหรับทหารเรือที่เป็นฝ่ายสนับสนุนการปฎิวัติของนายปรีดีนั้น ก็มี พล.ร.ต. สังวร สุวรรณชีพ  พล. ร.ต. ทหาร ขำหิรัญ ก็จะนำกำลังทหารเรือบางส่วนจากสัตหีบ ชลบุรี ระยอง เคลื่อนมารวมกำลังที่ชลบุรี ต่อจากนั้นจะมุ่งสู่กรุงเทพฯ เพื่อดำเนินตามแผนการณ์ที่วางไว้

            ด้านของทหารเรือนั้นส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยเลย กับการร่วมมือกับนายปรีดี พนมยงค์ แต่จากการที่ทหารบกและทหารเรือ มีข้อขัดแย้งที่ลึกซึ้งกันมาก่อน จึงได้มีการเคลื่อนพลใหญ่ เพื่อทำการซ้อมรบ ทั้งจากหน่วยนาวิกโยธิน กองเรือรบ และกองโรงเรียนชุมพลทหารเรือ จังหวัดสมุทรปราการ ส่วนทหารบกก็มีการฝึกซ้อมยิงปืนใหญ่ ด้วยกระสุนจริงใน 23 กุมภา พันธ์ พ.ศ. 2492 เรียกว่า "การประลองยุทธ์ที่ตำบลทุ่งเชียงราก"


         ต่อมารัฐบาลซึ่งพอทราบ ระแคะระคาย เกี่ยวกับการกลับมาของนายปรีดี ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินขึ้น และสั่งให้มีการ เตรียมพร้อมทั้งกองทัพบกและกองทัพเรือ ภายใต้แผนการปราบจลาจล ที่เรียกเป็นรหัสลับว่า "แผนช้างดำ ช้างน้ำ" โดยมีข้อตกลงระหว่างกองทัพบกและกองทัพเรือว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นให้แต่ละกองทัพแบ่งเขตกันทำการปราบปรามและปฏิบัติงานร่วมกันในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ของแต่ละกองทัพ

         ในส่วนของกองทัพบกในตอนเย็นของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 มี การเตรียมพร้อมตามกองพันต่างๆ มีการตั้งปืนกลตามจุดที่สำคัญ โดยเฉพาะข้างวังสวนกุหลาบ ปิดการจราจร      
        
           ส่วนกำลังทหารเรือ จากกองสัญญาณทหารเรือ ณ ที่ตั้ง (ซึ่งต่อมากลาย เป็นโรงเรียนเตรียมทหาร ลุมพินี) ได้วางกำลังที่สี่แยกราชประสงค์ ตั้งแต่เวลา 18.00 น และ ปิดถนนสายกรุงเทพ สมุทรปราการ สำหรับกำลังนาวิกโยธินจากจังหวัดชลบุรี ที่เตรียมนำมา เสริมตามจุดต่าง ๆ ปรากฏว่าแพขนานยนต์ติดแห้งที่ท่าข้ามบางปะกง

           ขณะเดียวกันสมาชิก เสรีไทย คือ นายประสิทธิ์ ลุสิตานนท์ ได้นำอาวุธที่นำมาจากบริษัท เคเถา ตัวแทนจำหน่ายปืน ไปแจกจ่ายให้พรรคพวกในธรรมศาสตร์ เวลา 20.30 น เรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวชนายทหารนอกราชการ  ได้เคลื่อนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยรถยนต์ 4 คัน ภายในรถมีอาวุธและพลพรรคเต็มคันรถ ที่หน้าประตูวิเศษไชยศรี นายเรือเอก วัชรชัย กระโดลงจากรถ พร้อมด้วยพรรคพวก ก็พร้อมอยู่แล้วสำหรับเหตุการณที่จะเกิดขึ้น
           จากนั้น ร.อ. วัชรชัย ก็ร้องเรียกให้นายร้อยโทพร เลิศล้ำ ผู้กองรักษาการณ์ ร. พัน. 1 ประจำพระบรมมหาราชวัง ออกมาพบที่หน้าประตู เมื่อ ร.ท. พร ออกมาพบก็ถูกเอาปืนจี้บังคับให้ปลดอาวุธโดยทันที จากนั้นก็บุกเข้าไปปลดอาวุธทหารที่รักษาการณ์ทั้งหมด แล้วเข้ายึดพระบรมมหาราชวังไว้ได้ ก่อนจะลำเลียงอาวุธนานาชนิดเข้าไป
 
       เมื่อการยึดพระบรมมหาราชวังได้เป็นไปตามแผนแล้ว นายปรีดี พนมยงค์ กับพรรคพวก 7 คน สวมเครื่องแบบทหารสื่อสาร พร้อมอาวุธครบมือ ได้พากันเข้าไปในสถานีวิทยุของกรมโฆษณาการพญาไท แล้วใช้อาวุธบังคับเจ้าหน้าที่กรมโฆษณาการ แล้วกระจายข่าวเมื่อเวลา 21.15 น. ด้วยเสียงของ พันตรี โผน อินทรทัต เสรีไทยสายอเมริกาแทรกรายการแสดงลิเกเรื่องคำปฏิญาณของ นายสุชิน ว่า ....พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ล้มเลิกรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เสีย และคณะรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งด้วย และได้แต่งตั้งนาย ดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และกระทรวงการคลัง ให้นายทวี บุณยเกต เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และได้ประกาศแต่งตั้งและปลดบุคคลสำคัญ อีกหลายคน จากนั้นก็ถอดชิ้นส่วนของเครื่องกระจายเสียงไปด้วย เพื่อป้องกันมิให้รัฐบาลทำการกระจายเสียงต่อไป

          คำแถลงการณ์จากวิทยุของพวกกบฎแพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว ฝูงชนที่สัญจรไปมา พากันกลับบ้านจ้าละหวั่น เพราะเกรงอันตราย ร้านรวงต่างๆพากันปิดกิจการ เพราะกลัวพวกปล้นสดมภ์จะฉวยโอกาส

           จุดแรกที่นายปรีดี พนมยงค์ และพรรคพวก จะเข้ายึดก็คือ กรมรักษาดินแดน อันอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ พ.อ. จรัส โรมรัน รองเจ้ากรมรักษาดินแดน และทำการปลดอาวุธให้สิ้นเชิง แต่ก็ช้าไป คำสั่งจากกองบัญชาการของรัฐบาลให้เตรียมรับสถานการณ์จากฝ่ายกบฎ ทำให้ทหารในกรมการรักษาดินแดน จึงพร้อมอยู่เสมอในการที่จะรับการจู่โจมจากฝ่ายกบฎ   ทหารเข้าประจำอยู่ตามจุดต่างๆ อย่างพร้อมเพียงที่จะหยุดยั้งการจู่โจมของกบฎ และในเวลาเดียวกันนั้นเอง     ฝ่ายรัฐบาลก็ลำเลียงกำลังทหารและอาวุธเข้ามาอยู่เรื่อยๆ ทำให้กรมการรักษาดินแดนมีกำลังต้านทานแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

           แผนการณ์ จู่โจมได้กระทำสำเร็จแล้วในการยึดวังหลวง สำหรับกรมการรักษาดินแดนนั้นล้มเหลว เพราะรัฐบาลสั่งการและป้องกันไว้ได้ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ฝ่ายกบฎจึงได้เปลี่ยนยุทธวิธีใหม่ ใช้การเจรจาทางการทูตแทน โดยให้คนยกธงขาวขอเปิดการเจรจาด้วยสันติวิธี แต่ได้รับการปฎิเสธไม่ยอมร่วมมือ     ทูตสันติจึงกลับไปรายงานถึงความล้มเหลวในการเจรจา และพันเอกจำรัส โรมรัน เจ้ากรมรักษาดินแดนยังได้ยื่นคำขาดให้ฝ่ายกบฎถอยออกไปเสียจากวังหลวง และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อนรุ่งอรุณ ถ้าไม่ปฎิบัติตามจะดำเนินการอย่างเด็ดขาดต่อไป

         23.00 น. ของวันที่ 26 กุมภาพันธ์ นายปรีดี พนมยงค์ ก็ให้ลูกน้องยิงปืนจากท่าวาสุกรีไปยังวังสวนกุหลาบ อันเป็นที่ตั้งกองบัญชาการทหาร โดยฝ่ายกบฎใช้เครื่องยิงลูกระเบิด ค. 85 ชุดแรกยิงไป 4 นัด แต่ลูกกระสุนพลาดเป้าไปตกที่หลังบ้านพลโทสุข ชาตินักรบ

         ก่อนเสียงปืนจะดังขึ้น พลตรีเผ่า ศรียานนท์ รองอธิบดีตำรวจฝ่ายปราบปราม ได้นำกำลังตำรวจสถานีชนะสงครามมายึดกรมโฆษณาการไว้โดยเรียบร้อย ในเวลาเดียวกันรถยนต์หุ้มเกราะขบวนหนึ่งก็วิ่งมาที่กรมโฆษณาการ พร้อมด้วยทหารอาวุธครบมือ นำโดย พลโทหลวงกาจ กาจสงคราม รองผู้บัญชาการทหารบก จากนั้นกำลังทหารอีกหน่วยหนึ่งจากสวนเจ้าเชตุก็มาถึง และเข้าทำการรักษากรมโฆษณาการต่อจากกำลังตำรวจ ต่อมาเวลา 02.00 น. ได้เข้ายึดสถานีวิทยุกรมโฆษณาการ พญาไท และยิงพันตรี โผน อินทรทัต ตาย   แต่ไม่สามารถส่งกระจายเสียงได้ เนื่องจากชิ้นส่วนของเครื่องส่งถูกถอดออก จึงย้ายไปส่งกระจาย เสียงจากสถานีวิทยุกรมจเรทหารสื่อสาร

          จอมพล ป. และคณะรัฐบาลจึงออกประกาศเพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบถึงการปฎิวัตินั้นว่า รัฐบาลได้ติดตามความเคลื่อนไหวของพวกกบฎอย่างใกล้ชิดตลอดเวลาเป็นระยะ จึงได้ทราบแน่ชัดว่า ไม่มีวิถีทางใดที่จะหลีกเลี่ยงการนองเลือดได้ จึงเตรียมอยู่ทุกโอกาสที่จะรับมือพวกกบฎ เมื่อการกบฎเกิดขึ้นฝ่ายรัฐบาลจึงได้แต่งตั้งให้ พลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกที่ 1 เป็นผู้อำนวยการปราบปรามกบฎคราวนี้ ให้ประชาชนอยู่ในความสงบ

          ในด้านสะพานเฉลิมโลก (ตรงประตูน้ำ) อันเป็นแดนแบ่งเขตรักษาการณ์ระหว่างทหารบก ทหารเรือ หรือเป็นพื้นที่ร่วมก็ เกิดการเข้าใจผิดจนเกิดปะทะกัน เมื่อเรือตรี ประภัทร จันทรเขต หัวหน้าสายตรวจ ทหารเรือ ขอเข้าไปตรวจ     แต่ทหารบกไม่ยอม เกิดการโต้เถียงและยิงกันจน เรือตรี ประภัทร จันทรเขต ถูกยิงบาดเจ็บสาหัส (ท่านผู้นี้ต่อมา เป็นพลเรือโท เจ้ากรมยุทธศึกษาทหาร) เมื่อ เวลา 01.00 น. ทำให้ นาวาเอก ชลี สินธุโสภณ ผู้บังคับการกองสัญญาณทหารเรือ ซึ่งท่านมีนิสัยรักลูกน้อง ยิ่ง เกิดความเจ็บแค้น จึงเขียนข้อความออกอากาศทางสถานีวิทยุของกอง สัญญาณทหารเรือ ซ้ำ ๆ อยู่หลายครั้งว่า "ทหารบกกระทำแก่ทหารเรือจนสุดจะทนทาน ขอให้ทหารเรือกระทำ ตอบแทน โดยให้เรือรบทุกลำเข้ามาในพระนครเพื่อทำการต่อสู้กับทหารบก เพื่อเกียรติและ ศักดิ์ศรีของ ทหารเรือเอง"

        เนื่องจากการกระจายเสียงของสถานีวิทยุกองสัญญาณทหารเรือ ดังกล่าว ใช้คลื่นเดียวกับคลื่นส่งวิทยุของกรมจเรทหารสื่อสารกองทัพบก    ประชาชนจึงตกอยู่ในความหวาดผวาในเหตุการณ์ที่สับสน     การต่อสู้ที่รุนแรงระหว่างทหารบกและทหารเรือ เกิดขึ้น จากการปลุกเร้า ของวิทยุกองสัญญาณทหารเรือ ที่มุ่งเน้นอยู่ตรงความไม่พอใจจากการ ที่ ทหารเรือถูกทหารบกยิง    มิใช่อยู่ที่การต่อสู้เพื่อยึดอำนาจการปกครองแต่อย่างใด

      การปลุกเร้า ดังกล่าวสามารถ ระดมกำลังแทบทุกส่วนของกองทัพเรือ แม้แต่เรือรบที่กำลังฝึกทางทะเล ก็ ยัง เดินทางเข้ามา ตามคำประกาศนั้น ยกเว้นกองพันนาวิกโยธิน ที่ 4 และ 5 สวนอนันต์ ซึ่ง อยู่ใกล้ กับพระบรมมหาราชวังอันเป็นที่ตั้งกองบัญชาการของฝ่ายกบฏ มิได้แสดงท่าทีและออกปฏิบัติ การที่เป็นการหนุนช่วยหรือให้ความคุ้มกันฝ่ายกบฏแต่อย่างใด การที่ทหารเรือไม่ได้สนับสนุนเต็มที่ในทุกส่วนนี่เอง เป็นผลให้นายปรีดี ต้องยอมรับความพ่ายแพ้ในเวลาต่อมา

        ทางด้านพระบรมมหาราชวังอันเป็นป้อมปราการของนายปรีดี ยังเปิดฉากยิงเข้าไปใน ร. พัน. 1 มีทหารเสียชีวิต 1 นาย และบาดเจ็บอีกหลายนาย ผู้บังคับบัญชาการกองทัพทหารราบที่ 1 ได้สั่งการให้ยิงโต้ตอบไปบ้างเสียงสนั่นกรุง ประมาณ 1 ชั่วโมงก็เงีบยไป

         เวลา 02.00 น.พลตรี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 สั่งการให้ พันเอก ถนอม กิตติขจร ผู้บังคับการ กรมทหารราบที่ 11 และ พันโท กฤช ปุณณกัณฑ์ ผู้บังคับการกรมรถรบ ให้ล้อมพระบรมมหาราชวัง 3 ด้าน (ยกเว้นด้านกองเรือรบ) และบุกเข้าไปในพระบรมมหาราชวังทางประตูวิเศษไชยศรี โดยทหารราบและ ป.ต.อ. วิ่งตามเข้าไปอย่างไม่เกรงกลัว      พวกฝ่ายกบฎในพระบรมมหาราชวังยิงปืนกราดออกมาดังห่าฝน รถถังคันหนึ่งในจำนวนหลายคันถูกปืนบาซูก้ากระหน่ำเสียจนไปต่อไม่ได้ จากนั้นรถถังอีก 2 คันก็พุ่งเข้าชนประตูวิเศษไชยศรีจนประตูเบื้องซ้ายพังลงมา จากนั้นก็พากันบุกเข้าไปอย่างรวดเร็ว เกิดการยิงต่อสู้กันอย่างรุนแรงและหนักหน่วง

           กำลังฝ่ายรัฐบาลอีกส่วนหนึ่งได้โอบล้อมเข้าไปอย่างเงียบๆ โดยกำลังทหาร ร. พัน 1 สวนเจ้าเชตุ ได้เคลื่อนเข้ายึดวังสราญรมย์ และระดมยิงปืนใหญ่ พอเวลา 06.00 น. ประตูสวัสดิ์โสภา และเทวาพิทักษ์ก็พังลง เปิดทางให้ทหารราบกรูกันเข้าไปในพระบรมมหาราชวังได้อีก 2 ทาง ฝ่ายกบฎจึงถูกบีบวงล้อมกระชับขึ้น และตกอยู่ในฐานะลำบาก

          นายปรีดี พนมยงค์ ในชุดพันจ่าเอกไว้หนวด     เรือเอกวัชรชัยและชนชั้นหัวหน้าพากันหลบหนีออกจากพระบรมมหาราชวัง ออกไปทาง ประตูเทวาภิรมย์ ด้านท่าราชวรดิษฐ์ โดยเรือโทสิริ ข้าราชการกรมพระธรรมนูญทหารเรือ เป็นผู้นำออกไป แต่เมื่อได้นำตัวนายปรีดีออกไปได้แล้ว ก็เกิดกลัวความผิด จึงได้กระโดดน้ำตายที่ท่าราชวรดิตถ์นั่นเอง
          แม้ว่าผู้ก่อการชั้นหัวหน้าจะหนีไปแล้ว ฝ่ายผู้ก่อ การในวังที่เหลือ ยังใช้กลยุทธ์ยิงทางโน้นทีทางนี้ที ลวงให้ทหารบก ผู้ปราบจลาจล และทหาร เรือที่กองเรือรบ เข้าใจผิดต่างกระหน่ำยิงกันต่อไปกันใหญ่ จนสายก็ไม่หยุด

        ในอีกด้านหนึ่งของ กรุงเทพ ฯ ทางด้านสี่แยกราชประสงค์ รถถังของ พันเอก ประภาส จารุเสถียร ผู้บังคับการกรม ทหารราบที่ 1 ได้รับคำสั่งให้ข้ามสะพานราชเทวี เพื่อเตรียมเผด็จศึกด้านกองสัญญาณทหารเรือ ถูกบาซูก้าของทหารเรือยิงทำลายกลางสะพาน จากนั้นทหารเรือก็ใช้ปืน ค.85 ยิงถล่มใส่ อย่างรุนแรง จนทหารบกต้องถอยร่นอย่างไม่เป็นขบวนข้ามทางรถไฟสายอรัญประเทศไปตั้ง หลักที่สี่แยกพญาไท และทหารเรือสามารถยึดรถถังกับปืนใหญ่ทหารบกได้

          เหตุการณ์ดำเนิน มาถึง ราว 16.00 น. กำลังทหารเรือหนุนเนื่องเป็นสายก็ขึ้นมาจากเรือ ณ ท่าเรือใหม่(ท่าเรือ คลองเตย) มาสู่กองสัญญาณ เสียงทหารเรือพูดกันอย่างมั่นใจว่าพวกเราเป็นผู้ถูกข่มเหงน้ำใจ มานานแล้ว เลือดนาวีต้องสู้กันละ
  
           ภายหลังการปราบปรามพวกกบฎ ภายในพระบรมมหาราชวังเรียบร้อยแล้ว พลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงได้นำกำลังที่มีอยู่เคลื่อนมายังบริเวณดังกล่าว ท่ามกลางการต่อสู้กันอย่างดุเดือดนั้น พลตรีประวัติ ศรีพิพัฒน์ เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ได้เข้าพบ พลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อเปิดเจรจาหยุดยิง พลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยอมรับข้อเสนอในการหยุดยิงของฝ่ายทหารเรือ เพราะไม่ต้องการให้คนไทยฆ่ากันเอง โดยให้ตั้งเวลาหยุดยิงให้ตรงกันคือ 10.15 น.

            ครั้นได้เวลา 10.15 น. ฝ่ายทหารเรือ ทหารบก ก็หยุดยิงกันตลอดแนว และจากนั้นก็ไกล่เกลี่ยกันจนเป็นที่เข้าใจกันดีแล้ว แต่ละฝ่ายก็เคลื่อนกำลังเข้าสู่ที่ตั้งของตน

               หลังจากปราบปรามพวกกบฎในครั้งนั้นแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการจับกุม พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข อดีตผู้บังคับการสันติบาล และ พ.ต. โผน อินทรทัต อดีตผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ แต่ทั้งสองคนถูกตำรวจยิงตายในข้อหาว่า ต่อสู้เจ้าหน้าที่.

               ส่วนนายปรีดี ยังคงหลบซ่อนตัวในประเทศ ไทยต่อไปอีก 6 เดือน จึงได้อาศัยเรือหาปลาเล็ก ๆ ลำหนึ่ง เดินทางไปประเทศสิงคโปร์    ซ่อนตัวอยู่ในประเทศสิงคโปร์อีก 11 วัน จากนั้นจึงเดินทางโดยเรือเดินสมุทร "ฮอยวอง" ไปประเทศ ฮ่องกง และต่อด้วยรถยนต์ไปซิงเตา

               กบฏวังหลวง มีพื้นฐานอยู่บนความขัดแย้ง 2 มิติ คือ ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับ นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งถือว่าเป็นกบฏวังหลวงแท้ๆ อีกมิติหนึ่งคือ ความขัดแย้งที่ดำเนินมา เป็นระยะ เวลาอันยาวนานระหว่างทหาร บกกับทหารเรือ ซึ่งเกิดมาภายหลังการเปลี่ยนแปลง การปกครอง พ.ศ.2475 จากกรณี ต่าง ๆ เช่น การที่ทหารบกซึ่งคุมอำนาจทางการเมือง แทรกแซงการแต่งตั้ง ผู้บังคับบัญชาทหารเรือ ทหารเรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งกรณีกบฏบวรเดช และผู้นำทหารบกออกคำสั่งที่ได้ขัดต่อความรู้สึก ของทหารเรือทั่วไป

               จึงอาจวิเคราะห์ แยกการปะทะออกมาเป็นสองกรณี คือ การปะทะกันระหว่าง ทหารบกผู้ปราบจลาจลกับฝ่ายกบฏในวังหลวง กับ กรณีปะทะกันที่ราชประสงค์ระหว่างทหารบก ทหารเรือ แต่ทั้ง 2 กรณี เกิดขึ้นวันเวลาเดียวกัน คือ 26 กุมภาพันธ์ 2492 ทหารเรือ ส่วนใหญ่ไม่ได้คิดว่าตนเอง เป็นกบฏ หรือ เป็นฝ่ายกบฏเข้าข้างฝ่ายกบฏ แต่ถือว่าเป็นการเข้าใจผิดในระหว่างการ ปราบจลาจล กับหยุดยั้งความก้าวร้าวของทหารบก ยกเว้นทหารเรือกลุ่ม พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ เท่านั้นที่คิดว่าตนเองแพ้ไปพร้อมกับฝ่ายกบฏด้วย

คัดลอกและเรียบเรียงใหม่จาก


จดหมายรายงานการปฏิบัติงานนอกสถานที่ของ จ.ส.ต....(สงวนนาม) ฉบับลงวันที่ 23 เมษายน 2492

หนังสือชื่อ "ผู้บริหารราชการแผ่นดิน โดย นายเชื้อ พิทักษากร" จัดพิมพ์โดยกระทรวงมหาดไทยเพื่อแจกเป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ นายเชื้อ พิทักษากร ผู้ว่าราชการภาค 6 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2496

หนังสืออนุสรณ์ในงานรับพระราชทานเพลิงศพ พลโท กาจ กาจสงคราม ปช. ปม. (เทียน เก่งระดมยิง) วันที่ 20 เมษายน 2510

นาวิกศาสตร์ฉบับปี 90 เล่ม4 เมษยน 2550
http://www.navy.mi.th/navic/document/900403a.html

เหตุการณ์ทางการเมือง 43 ปีแห่งระบบประชาธิปไตย : โดย วิเทศกรณีย์http://www.baanjomyut.com/library/6_treason/03.html


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 30 มิ.ย. 10, 15:30
ช่วงนี้กระทู้คุณภาพในเรือนไทยคับคั่งจนผมตามอ่านไม่ค่อยจะทัน จะแทรกความนอกเรื่องเข้าไปทีไรก็ดูจะตกหน้าไปแล้วทุกครั้ง แต่ถ้าไม่ลงชื่อไว้เกรงท่านเจ้าของกระทู้และเพื่อสมาชิกผู้ร่วมอภิปรายจะสงสัยว่าตัวเลขคนอ่านที่วิ่งปรู๊ดปร๊าดอยู่นี้มาจากไหนบ้าง จึงต้องมาแสดงตนและขอขอบพระคุณทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 10, 15:39
ปั่นกระทู้เพลินไปหน่อย  จนคุณม้าควบตามไม่ทัน  จะพยายามลดสปีดลงค่ะ    :-[

คุณม้าจะย้อนกลับไปคุยในค.ห.เก่าๆก็ได้นี่คะ  คลิกอ้างอิงให้คนอ่านอ่านได้ง่ายหน่อยว่าที่มาของความเห็นคุณ  คืออะไรจากตรงไหน   แค่นี้ก็เรียบร้อย
ขอเชิญร่วมวงด้วยความเต็มใจ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 มิ.ย. 10, 16:04
คคห.156 ตอนเดียว สามารถเอาไปทำหนังสงครามของฮอลิวู้ดได้เรื่องหนึ่ง แค่อ่านก็เหงื่อซึมมือแล้ว


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 มิ.ย. 10, 16:15
ความสำคัญในตอนที่แล้ว


อ้างถึง
เมื่อครอบครัวซึ่งมีคุณหญิงทรงสุรเดช (ผมไม่ทราบชื่อตัวของท่าน หากคุณวันดีหรือคุณหลวงเล็กแวะมาเยี่ยม โปรดลองกรุณาค้นหาให้ด้วยจะเป็นพระคุณยิ่ง) และคุณเทพีบุตรสาวได้เดินทางมาสมทบ ปรึกษาหารือกันแล้วคิดว่าพวกผู้หญิงจะช่วยกันทำข้าวแกงแบบไทยๆขาย น่าจะมีคนเขมรมาอุดหนุนเยอะ และคงจะเลี้ยงชีวิตอยู่ไปกันได้

ที่ทางยังไม่ทันจะลงตัว เกิดการเปลี่ยนแปลงในอินโดจีน เมื่อก่อนฝรั่งเศสกระจายการปกครองออกไปตามเมืองหลวงของประเทศเดิม แต่รัฐบาลกลางที่ปารีสสั่งใหม่ให้ไปรวมศูนย์เสียที่เดียวที่ไซ่ง่อน อาจจะเป็นการเตรียมรับสถานะกาณ์สงครามหรือประหยัดอย่างไรสุดแล้วแต่ แล้วผู้สำเร็จราชการอินโดจีนก็มีหนังสือสั่งให้พระยาทรงโยกย้ายตามไปอยู่ที่ไซ่ง่อนด้วย บุคคลสำคัญระดับนี้ไม่ควรปล่อยไว้ไกลหูไกลตา ใครจะไปรู้ อาจจะเป็นไส้ศึกทำทีมาสวามิภักดิ์แบบอุยกาย ได้ทีก็เผาเมืองเลยก็เป็นได้

ตอนเดินทางนั้น พระยาทรงไปกับท.ส.คู่ใจเพียงสองคน มีมองซิเออร์เซมเปรนายตำรวจใหญ่แห่งเมืองพนมเปญประกบตัว พานั่งรถโดยสารประจำทางชั้นหนึ่งของฝรั่งเศสไปตลอดทาง จากเช้าถึงเย็น พระยาทรงท่านหวังว่าจะยื่นเรื่องขอผ่อนผันให้กลับไปอยู่กับครอบครัวที่พนมเปญได้ แต่เมื่อพบกับผู้บัญชาการตำรวจของโคชินชีนแล้ว เขาบอกว่าเรื่องนี้ทางปารีสสั่ง ถ้าจะขอผ่อนผันต้องส่งไปให้ปารีสอนุมัติ จะรู้ผลประมาณหนึ่งเดือนเศษ ระหว่างนี้ท่านต้องรอไปก่อน ส่วนร้อยเอกสำรวจนั้น จะกลับไปพนมเปญเมื่อไหร่ก็ได้ ทางการไม่ขัดข้อง แม้จะฟังดูว่าเป็นการพูดแบบนักการทูต แต่ก็สร้างหวังให้กับท่านได้มาก

เมื่อรู้ตัวว่าต้องอยู่ยาว อย่างน้อยก็เป็นเดือน ท่านจึงขอย้ายจากโรงแรม“แม่โขง” ขอร้องให้มองซิเออร์เซมเปรพาไปหาบ้านเช่าราคาถูกๆให้ ตระเวนดูหลายแห่ง ในที่สุดก็ได้ห้องแถวในย่านดาเกา ชานเมืองไซ่ง่อน ราคา35ดองหรือ28บาทต่อเดือน พออยู่ได้ หลังจากนั้นมองซิเออร์เซมเปรก็ใจดี พาท่านเที่ยวชมเมือง ให้รู้จักถนนหนทาง ดื่มเบียร์ดื่มน้ำหวานพอเพลิดเพลิน แล้วพาไปทานอาหารเย็นที่ภัตตาคารจีนที่ย่านเจ๋อเล้ง ผรั่งเรียกโชลอง(Cholon) หรือเยาวราชของบ้านเรา ก่อนจะลากลับพนมเปญในวันรุ่งขึ้น

ชีวิตต่อจากนั้นก็เหมือนตอนที่จากเมืองไทยไปอยู่พนมเปญใหม่ๆ สองนายและลูกน้องต้องช่วยตัวเอง ทำอาหาร กวาดบ้านถูบ้าน และซักผ้าของตน พระยาทรงท่านพูดว่า “ไม่มีวิธีใดที่จะทำให้มือสะอาดดีเท่ากับซักเสื้อผ้า”



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 มิ.ย. 10, 17:29
พระยาทรง ท่านเป็นนักปฏิวัติที่ถืออุดมการณ์ มิใช่นักฉวยโอกาสที่จะแสวงหาอำนาจเข้ามากอบโกย โกงชาติและประชาชนหาความร่ำรวยให้ตนเอง ต่างกับพวกคณะราษฎร์หนุ่มๆที่ไม่มีต้นทุนทางสังคมมาก่อน เมื่อท่านสิ้นวาสนาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว เงินทองที่เก็บหอมออมริบไว้จึงมีไม่มากพอที่จะใช้จ่ายอย่างที่เคยในเมืองไทยได้ ต้องคำนึงถึงวันข้างหน้าด้วยว่าจะกินจะอยู่อย่างไรกันไปอีกนานแค่ไหน

อาหารที่คนทั้งสองทำใส่ท้องในวันหนึ่งๆจึงลดลงเหลือแค่วันละ2มื้อ เช้าและเย็น กลางวันดื่มน้ำต้มสุก กับข้าวอย่างเดียวกินกับข้าวสวยร้อนๆตอนหิว วนเวียนเมนูไประหว่าง ผัดผักกาด ผัดผักคะน้า ผัดผักบุ้ง ไข่เจียว ไข่ต้ม ไข่ทอด นานๆจึงจะมีหมูบะช่อสักทีหนึ่ง ตอนหลังท.ส.ไปตลาดเจอเป็ดย่างเจ้าหนึ่ง ขายถูกเพียงตัวละ 20 สตางค์ เลยซื้อมาสลับบ้างในบางมื้อ

ระหว่างการรอคอยคำตอบจากปารีสที่ผ่านไปอย่างเชื่องช้านั้น พระยาทรงได้ทำหนังสือถึงประธานสภาผู้แทน ขอลาออกจากการเป็นส.ส.ประเภท2ต่อมาได้อ่านข่าวเจอว่า จากจดหมายฉบับนั้นของท่าน เป็นโอกาสให้ส.ส.ประเภท1ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลว่าเกิดอะไรขึ้นกับพันเอก พระยาทรงสุรเดช ทำไมรัฐบาลจึงได้ขับไล่ไสส่งท่านไปโดยไม่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญ แต่รัฐบาลไม่ตอบกระทู้นี้ และหลังจากนั้น ก็ไม่มีใครเอ่ยถึงท่านอีก จดหมายจากเมืองไทยถูกเซนเซอร์ทั้งขาไปและขามา จนญาติมิตรระแวงว่า ถ้าเขียนถึงท่านบ่อยๆอาจถูกสันติบาลหาเรื่องเล่นงานได้ ท่านจึงมีชีวิตอยู่อย่างหงอยเหงาเหมือนคนถูกลืม สักพักหนึ่งก็เริ่มทำใจได้ และเริ่มต้นใช้เวลาว่างในการเขียนบันทึกความทรงจำ

“บันทึกการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475” เป็นเรื่องหนึ่งที่ท.ส. เก็บไว้และได้นำกลับมาพิมพ์ที่กรุงเทพ ทำให้พวกเรารู้ว่าวันนั้นเขาทำการปฏิวัติกันอย่างไร ซึ่งผมย่อความเอามาให้ท่านได้อ่านในตอนต้นๆหมดแล้วนั่นเอง



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 10, 18:49
ระหว่างที่พระยาทรงฯ ตกระกำลำบากอยู่ที่ไซ่ง่อน     ทางประเทศไทย พระบรมวงศานุวงศ์ต่างก็ต้องทรงหลบลี้ภัยการเมืองออกนอกประเทศ    ทยอยกันไปเรื่อยๆตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๗๕ 
เริ่มตั้งแต่เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ อย่างที่คุณนวรัตนเล่าให้ฟังแล้ว  ต้องเสด็จออกจากบ้านเกิดเมืองนอนภายใน ๒๔ ช.ม.
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ และม.จ.กาฬวรรณดิศ ดิศกุลก็เสด็จออกไปในอีกไม่นาน
ปีนัง สิงคโปร์และชวากลายเป็นที่ชุมนุมของเจ้านายผู้ลี้ภัยการเมือง   เพราะอยู่ในกรุงเทพฯก็ทรงอึดอัดกับความหวาดระแวงของรัฐบาล
พอกบฏบวรเดชสิ้นสุดลง    กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฏ์ ก็ต้องเสด็จลี้ภัยไปปีนังทันที   เพราะรัฐบาลกำลังหมายตาจะได้ตัวอยู่
ปี ๒๔๗๖   พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางรำไพฯ เสด็จออกจากสยาม ไปอังกฤษ   พระเจ้าอยู่หัวเสด็จสรรคตที่อังกฤษ มิได้ทรงมีโอกาสกลับมา   ส่วนสมเด็จพระนางรำไพฯ ทรงต้องรออีกหลายปีถึงเสด็จกลับมา
เจ้านายที่ทรงลี้ภัยไปต่างแดน มีจำนวนถึง ๒๙ องค์
เจ้านายระดับพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เดียวที่ยังเหลืออยู่ในสยาม คือกรมขุนชัยนาทฯ ก็ถูกจับข้อหากบฏ  กลายเป็น "นักโทษชายรังสิต"   ถูกศาลตัดสินประหารชีวิต และลดโทษลงเป็นจำคุกตลอดชีวิต   ทั้งที่มิได้ทรงเกี่ยวข้องใดๆกับการเมือง

สรุปว่า พระยาทรงฯ ก็มิได้เคราะห์ร้ายแต่ผู้เดียว


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: karen ที่ 30 มิ.ย. 10, 21:20
 อ่านและติดตามตลอดครับ 
 เกาะติดขอบเวทีเลยครับ
 และจ้องแบบไม่กระพริบตา

  ทำไปทำมามีข้อสงสัย คือว่า พอเหลือบเหลียวมองดู ใต้ชื่อคุณ เนาวรัตน์ คุณท่านคนอื่นๆ
มีดาวคนละดวงบ้าง  3 - 4 -5 ดวงบ้าง  ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ดาวนั้นคืออะไร หรือว่า  ยศ ร้อยตรี โท เอก และหรือ ? คือว่าสงสัย
จึงได้ถาม  ถูกผิดอย่างไรกรุณาได้โปรดอย่าว่าผมเลยนะครับ
ทีผมไม่เห็นมีดาวสักดวง  ทำอย่างไรนะจะได้ดาวกับเขาบ้าง

     ถามมาคั่นรายการ ครับ ขออสูมาเตอะเจ้า(ขออภัย)
ผมคาดหวังเอาว่าต้องมีท่านใดท่านหนึ่งตอบให้ผมมีกำลังใจแน่ๆเลยครับ
                              karen


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 10, 22:03
เรื่องดาว ต้องถามคุณม้า ดิฉันก็ไม่รู้เหมือนกันค่ะ      มันน่าจะเกี่ยวกับจำนวนความเห็นที่ตอบ  
ตอนนี้ขอปั่นกระทู้ไปเรื่อยๆก่อนนะคะ  คุณ Karen มาช่วยกันด้วยก็จะดี
********************
กลับมาทางสยาม
ระหว่างพระยาทรงฯ ถูกเนรเทศ   ทางนี้  คณะกรรมการศาลพิเศษที่รัฐบาลตั้งขึ้น  เพื่อพิจารณาโทษในคดีการเมืองปี ๒๔๘๑  ที่กรมขุนชัยนาทฯทรงตกเป็นจำเลยด้วยนั้น  ได้สรุปตอนท้ายคำพิพากษาว่า
" พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ มิได้ทรงสละพระบรมเดชานุภาพโดยเต็มพระทัย    หากเป็นการกระทำชั่วขณะหนึ่งซึ่งหวังจะมีโอกาสได้รับพระราชอำนาจคืนสู่สภาพเดิมภายหลัง"โดยคณะกรรมการศาลตัดสินว่า
"...ได้ร่วมคิดกับพระยามโนปกรณ์นิติธาดา   กับพวก ที่จะบั่นทอนผู้ก่อกำเนิดให้มีรัฐธรรมนูญ  ซึ่งบริหารราชการแผ่นดินอยู่เวลานั้นให้สูญสิ้นไป"
และชี้ขาดในตอนท้ายว่า
" พระปกเกล้าฯ  พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิ์อัคเนย์  หลวงรณสิทธิพิชัย และบุคคลอื่นอีกหลายคน ได้รู้เห็นสนับสนุนด้วย"

ผลที่ลงเอยอย่างนี้  น่าจะเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือความคาดฝันของพระยาทรงสุรเดช  เมื่อตัดสินใจลงมือยึดอำนาจในพ.ศ. ๒๔๗๕    แต่อย่างไรก็ตาม อดีตก็ไม่อาจย้อนกลับไปได้อยู่ดี


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 30 มิ.ย. 10, 22:34
ระบบดาวนับตามจำนวนตอบกระทู้อย่างที่อ.เทาชมพูว่า ถูกต้องแล้วครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ค. 10, 07:02
อ้างถึง
ระหว่างพระยาทรงฯ ถูกเนรเทศ   ทางนี้  คณะกรรมกาศาลพิเศษที่รัฐบาลตั้งขึ้น  เพื่อพิจารณาโทษในคดีการเมืองปี ๒๔๘๑   ที่กรมขุนชัยนาทฯทรงตกเป็นจำเลยด้วยนั้น  ได้สรุปตอนท้ายคำพิพากษาว่า
" พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ มิได้ทรงสละพระบรมเดชานุภาพโดยเต็มพระทัย    หากเป็นการกระทำชั่วขณะหนึ่งซึ่งหวังจะมีโอกาสได้รับพระราชอำนาจคืนสู่สภาพเดิมภายหลัง"โดยคณะกรรมการศาลตัดสินว่า
"...ได้ร่วมคิดกับพระยามโนปกรณ์นิติธาดา   กับพวก ที่จะบั่นทอนผู้ก่อกำเนิดให้มีรัฐธรรมนูญ  ซึ่งบริหารราชการแผ่นดินอยู่เวลานั้นให้สูญสิ้นไป"
และชี้ขาดในตอนท้ายว่า
" พระปกเกล้าฯ  พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิ์อัคเนย์  หลวงรณสิทธิพิชัย และบุคคลอื่นอีกหลายคน ได้รู้เห็นสนับสนุนด้วย"

น่าเศร้าใจอย่างยิ่ง ถึงยุคปัจจุบันนี้แล้ว ผมเคยอ่านพบในหลายแห่งว่า คนเขียนหนังสือสารคดีการเมืองบางคนยังเชื่อและอ้างอิงคำพิพากษาศาลพิเศษของหลวงพิบูลอยู่เลย เขียนว่าผู้นั้นกระทำผิดอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่ทราบว่ายังอ่านมาไม่พอหรือจงใจบิดเบือนต่อเพราะมีจุดประสงค์เร้นลับ ที่จะปลูกฝังความเกลียดชังคนกลุ่มหนึ่ง เพื่อเชิดชูความเชื่อทางการเมืองของตนและกลุ่มของตน

ในเรื่องการเมืองแล้ว ไม่แปลกที่ตัวแสดงซึ่งกาลข้างหน้าจะเป็นประวัติศาสตร์จะโกหกหน้าด้านๆพูดออกทีวี  หรือให้สื่อนำไปเขียน ทั้งๆที่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรคนส่วนใหญ่ก็เห็น  จะแปลกก็ตรงที่มีคนเสื้อสีเดียวกันพร้อมจะเชื่ออย่างสนิทใจ อะไรก็ได้ที่คนบนเวทีจะพูด และสนับสนุนคำโกหกนั้นออกสื่อต่อๆกันไป


ผมเห็นใจนักอ่านเรื่องประวัติศาสตร์ มันหนักขึ้นทุกทีที่จะแยกแยะใครถูกใครผิดในเหตุการณ์ก่อนตนเกิดจากข้อมูลที่สื่อที่ทำไว้ แม้นักอ่านเรื่องการเมืองสมัยนี้ก็ตาม คุณเชื่อหรือว่าสิ่งที่คุณเชื่อมันไม่ใช่เรื่องโกหก ที่จงใจโกหกโดยพวกที่มีอาชีพเป็นนักการเมือง

 


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ค. 10, 09:34

อ้างถึง
ระหว่างที่พระยาทรงฯ ตกระกำลำบากอยู่ที่ไซ่ง่อน     ทางประเทศไทย พระบรมวงศานุวงศ์ต่างก็ต้องทรงหลบลี้ภัยการเมืองออกนอกประเทศ    ทยอยกันไปเรื่อยๆตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๗๕ 
เริ่มตั้งแต่เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ อย่างที่คุณนวรัตนเล่าให้ฟังแล้ว  ต้องเสด็จออกจากบ้านเกิดเมืองนอนภายใน ๒๔ ช.ม.
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ และม.จ.กาฬวรรณดิศ ดิศกุลก็เสด็จออกไปในอีกไม่นาน
ปีนัง สิงคโปร์และชวากลายเป็นที่ชุมนุมของเจ้านายผู้ลี้ภัยการเมือง   เพราะอยู่ในกรุงเทพฯก็ทรงอึดอัดกับความหวาดระแวงของรัฐบาล
พอกบฏบวรเดชสิ้นสุดลง    กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฏ์ ก็ต้องเสด็จลี้ภัยไปปีนังทันที   เพราะรัฐบาลกำลังหมายตาจะได้ตัวอยู่
ปี ๒๔๗๖   พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางรำไพฯ เสด็จออกจากสยาม ไปอังกฤษ   พระเจ้าอยู่หัวเสด็จสรรคตที่อังกฤษ มิได้ทรงมีโอกาสกลับมา   ส่วนสมเด็จพระนางรำไพฯ ทรงต้องรออีกหลายปีถึงเสด็จกลับมา
เจ้านายที่ทรงลี้ภัยไปต่างแดน มีจำนวนถึง ๒๙ องค์
เจ้านายระดับพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เดียวที่ยังเหลืออยู่ในสยาม คือกรมขุนชัยนาทฯ ก็ถูกจับข้อหากบฏ  กลายเป็น "นักโทษชายรังสิต"   ถูกศาลตัดสินประหารชีวิต และลดโทษลงเป็นจำคุกตลอดชีวิต   ทั้งที่มิได้ทรงเกี่ยวข้องใดๆกับการเมือง

สรุปว่า พระยาทรงฯ ก็มิได้เคราะห์ร้ายแต่ผู้เดียว


ผมเป็นคนเชื่อเรื่องกรรมในทางพระพุทธศาสนา กรรมบางอย่างก็ส่งผลในชาตินี้ภพนี้กรรมบางอย่างก็ส่งผลในชาติภพต่อๆไป ไม่มีใครหนีพ้น
เรามาติดตามวิบากกรรมของพระยาทรงกันต่อว่าจะจบลงเช่นไร


เวลาผ่านไปอย่างช้าๆเลยกว่าหนึ่งเดือนยังไม่รับข่าว พระยาทรงขอเข้าพบผู้บัญชาการตำรวจอินโดจีนเพื่อติดตาม ได้รับแจ้งว่า ทางกระทรวงอาณานิคมที่ปารีสขอให้ทางการตำรวจอินโดจีนส่งข้อมูลอีกสองสามประการเพื่อประกอบการพิจารณา  กว่าจะได้รับคำตอบแน่นอน น่าจะเป็นอีก3เดือนข้างหน้าเป็นอย่างเร็ว
ข้อเท็จจริงก็คือ ฝรั่งเศสเริ่มมีความสงสัยว่ารัฐบาลหลวงพิบูลสะสมกำลังทางทหาร และสั่งซื้ออาวุธสงครามมากมายจะเอามาทำอะไร กระทรวงอาณานิคมอยากทราบวัตถุประสงค์แท้จริง และเรื่องราวลึกๆในสัมพันธภาพระหว่างหลวงพิบูลและพระยาทรง

แต่3เดือนสำหรับพระยาทรงหมายถึงค่าใช้จ่ายเดือนละสองร้อยกว่าเหรียญ ผู้บัญชาการตำรวจอินโดจีนแจ้งว่ารัฐบาลอินโดจีนยินดีจะช่วยเหลือเกื้อกูลทุกอย่าง ขอให้บอกเท่านั้น แต่ท่านได้แต่แสดงความขอบคุณ เรื่องอย่างนี้ไม่มีใครให้อะไรใครฟรีๆ แต่ท่านก็ต้องกลับมาคิดหนักว่า จะอยู่กันต่อไปอย่างไรในภาวะที่มีแต่รายจ่าย ไม่มีรายรับเลยเช่นนี้

ขณะนั้นคุณหญิงและบุตรสาวได้เริ่มต้นกิจการขายอาหารไทยที่พนมเปญ มีลูกมือคนไทยอีก2คนเป็นผู้ช่วย แต่ยังชักหน้าไม่ถึงหลังอยู่ เมื่อเป็นความจำเป็นบังคับ จึงต้องสลับตัว เอาภรรยาและลูกไปช่วยดูแลงานบ้านที่ไซ่ง่อน และให้ท.ส.ไปควบคุมกิจการร้านอาหารแทน


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ค. 10, 10:26
ข่าวร้ายๆทะยอยมาไม่หยุด หนังสือพิมพ์ลงข่าวรัฐบาลไทยประหารชีวิตจำเลยในคดีกบฎ18คนตามคำพิพากษาของศาลพิเศษ พระยาทรงตั้งแต่ต้องมาลี้ภัยอยู่อินโดจีน ท่านยังแสดงอาการปกติแบบคนปลงตก มีปัญหาอะไรก็แก้กันไปไม่ยอมนั่งทนทุกข์ บัดนี้ข่าวที่ญาติมิตร และลูกศิษย์ลูกหาผู้ใต้บังคับบัญชาของท่านต้องมาโดนโทษถึงตายเพียงเพราะเคยเกี่ยวข้องกับท่านเท่านั้นเอง ถ้าท่านกระทำความผิดจริงก็ไปอย่าง แต่นี่เป็นการปรักปรำกลั่นแกล้งกันอย่างโจ่งแจ้ง ข่าวนี้จึงทำเอาท่านเศร้าซึมลงไปถนัดตา ลูกศิษย์คนหนึ่งที่ท่านอาลัยรักมากคือร้อยโทเสริม พุ่มทอง บิดาเป็นคนยากจนอยู่บ้านนอกไม่สามารถส่งเสียบุตรชายได้ ท่านจึงได้รับอุปการะและรักน้ำใจเด็กคนนี้มาก เมื่อถูกเอาตัวมาจองจำที่บางขวางท่านมีจดหมายไปถึงญาติให้ช่วยดูแลเสื้อผ้าอาหารให้เสริมด้วย เมื่อเสริมถูกประหาร ท่านได้มีจดหมายสั่งการไปอีก ให้ญาติขายสมบัติทุกอย่างของท่านที่ยังอยู่ติดบ้าน ประเภทขันเงิน เครื่องเรือน เครื่องดนตรีไทย ซออู้ซอด้วงที่ท่านสะสมไว้เป็นของรัก ปืนพกที่ตำรวจยึดไป ให้ขอคืนเอามาขายให้หมด สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการทำศพร้อยโทเสริม และคนอื่นๆที่ไม่มีญาติมิตรจัดการให้ ขาดเหลือให้แจ้งมายังท่าน

หากเขาแจ้งมาจริงๆท่านก็คงลำบาก พระยาทรงจนกรอบ เงินสดที่มีก็ใกล้จะหมดในไม่ช้า เหลือแต่เครื่องถนิมพิมพาภรณ์ที่ติดตัวคุณหญิงของท่านอยู่เท่านั้น ความมืดมนในชีวิตข้างหน้ายังรออยู่ ท่านจะปล่อยจิตใจให้เศร้าหมองยาวนานไม่ได้


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 01 ก.ค. 10, 13:56
นึกได้ว่าเคยอ่านเจอคุณสศษพูดถึง คุณประยูร ภมรมนตรี เสียหมดเครดิตเลยครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ค. 10, 14:20
จะมีกี่คนที่คุณสาม ส พูดแบบให้เครดิตล่ะคะ?   :)

ก่อนคุณนวรัตนจะเล่ากระทู้นี้ให้ฟัง   ดิฉันจำได้แต่คำบอกเล่าของผู้ใหญ่ว่า พระยาทรงฯลี้ภัยไปอยู่อินโดจีน   ไปตกยาก   ถึงขั้นอดตายที่นั่น  เป็นชีวิตที่น่าเศร้าของนายทหารชั้นผู้ใหญ่
เพิ่งรู้จากการอ่านนี่แหละว่า  มีอะไรซับซ้อนกว่านั้น
เลยชักสงสัยว่า คำบอกเล่าที่เล่าต่อๆกันมา คงเป็นข่าวที่แพร่มาทางประเทศไทย ให้คนภายนอกได้ยินกันอย่างนั้น เพื่อจะไม่ตั้งข้อสงสัยมากกว่านี้กระมังคะ

อ้างถึง
น่าเศร้าใจอย่างยิ่ง ถึงยุคปัจจุบันนี้แล้ว ผมเคยอ่านพบในหลายแห่งว่า คนเขียนหนังสือสารคดีการเมืองบางคนยังเชื่อและอ้างอิงคำพิพากษาศาลพิเศษของหลวงพิบูลอยู่เลย เขียนว่าผู้นั้นกระทำผิดอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่ทราบว่ายังอ่านมาไม่พอหรือจงใจบิดเบือนต่อเพราะมีจุดประสงค์เร้นลับ ที่จะปลูกฝังความเกลียดชังคนกลุ่มหนึ่ง เพื่อเชิดชูความเชื่อทางการเมืองของตนและกลุ่มของตน

ผมเห็นใจนักอ่านเรื่องประวัติศาสตร์ มันหนักขึ้นทุกทีที่จะแยกแยะใครถูกใครผิดในเหตุการณ์ก่อนตนเกิดจากข้อมูลที่สื่อที่ทำไว้ แม้นักอ่านเรื่องการเมืองสมัยนี้ก็ตาม คุณเชื่อหรือว่าสิ่งที่คุณเชื่อมันไม่ใช่เรื่องโกหก ที่จงใจโกหกโดยพวกที่มีอาชีพเป็นนักการเมือง

คนมักจะเต็มใจเชื่อเรื่องที่ตัวเองอยากเชื่ออยู่แล้ว    มากกว่าเชื่อเรื่องที่ตรงกันข้ามกับความเข้าใจแต่แรกของตัวเอง


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 01 ก.ค. 10, 14:35
จะมีกี่คนที่คุณสาม ส พูดแบบให้เครดิตล่ะคะ?   :)
;D น่าจะนับนิ้วมือได้นะครับ แล้วก็คงเป็นพระสงฆ์เสียเกินครึ่ง  ;D


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ค. 10, 15:34
อ่านกระทู้มาจนถึงค.ห.หลังๆนี้  ไม่ว่าเรื่องไทย เรื่องญวน หรือลาว   หลายครั้ง  ก็ได้แต่นึกถึงพระราชนิพนธ์ในล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๖

ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง                    คงจะต้องบังคับขับไส
เคี่ยวเข็ญเย็นค่ำกรำไป                    ตามวิสัยเชิงเช่นผู้เป็นนาย
เขาจะเห็นแก่หน้าค่าชื่อ                   จะนับถือพงศ์พันธุ์นั้นอย่าหมาย   
ไหนจะต้องเหนื่อยยากลำบากกาย         ไหนจะอายทั่วทั้งโลกา  


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ค. 10, 15:46
คุณม้าครับ ขอโทษที่กลับมาคุยด้วยช้าหน่อย

ผมไม่ได้คิดว่าเรื่องทีพลโทประยูรเขียนไว้จะเป็นเรื่องจริงทั้งหมด พอๆกับที่ผมไม่ได้คิดว่าจะเป็นเรื่องเท็จสรรปั้นแต่งขึ้นมาทั้งหมดเหมือนกัน แต่พลโทประยูรถือว่าเป็นบุคคลสำคัญของคณะราษฎรตั้งแต่ต้น และอยู่ยงคงกระพันแม้จะถูกหลวงพิบูลสั่งจับไปใส่ตะรางแล้วเปลี่ยนใจเป็นเนรเทศให้ไปไกลตัว แต่ให้มีตำแหน่งนักการทูตเป็นต้น กลับมาแล้วเดี๋ยวก็งอนกันเดี๋ยวก็ดีกันตลอดมาจนจบยุคจอมพล ป. ผมก็ต้องใช้วิจารณญาณของผมในการที่จะคัดสรรจะเอาตอนไหนมาสกัดให้เหลือแต่เนื้อล้วนๆ นำเสนอต่อท่านบ้าง ลอกลงไว้ทั้งท่อนบ้าง ข้อความบางตอนที่ต้องลอกก็เพราะเกรงว่า ถ้าไปขัดเกลาสำนวนของท่านเข้าแล้ว จะถูกผู้เชี่ยวชาญหาว่าผมเป็นฤาษีแปลงสารไป

ความจริงไม่ใช่แต่เรื่องของพลโทประยูรหรอกครับ เรื่องที่เอาของทุกท่านมา ผมก็ทำอย่างที่กล่าวนั้นเช่นเดียวกันกัน

ในกระทู้นี้ มีบางตอนที่ผมสกัดเอามาจากท่านสศษด้วย แต่นี๊ดเดียวจริงๆ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 01 ก.ค. 10, 16:10
เรื่องพลโทประยูรไปเข้าเฝ้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ ๗ พร้อมกับหลวงศุภชลาศัยที่วังไกลกังวลนั้น  เคยได้ยินคุณพระมหาเทพกษัตรสมุห เท่าเล่าวว่า  เวลานั้นท่านยังเป็นเจ้ากรมพระตำรวจนอกซ้าย  คอยถวายอารักขาพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ อยู่  เพราะเวลานั้นเหลือแต่ทหารรักษาวังอยู่เพียง ๒ กองร้อยและพระตำรวจหลวงอีกหยิบมือเดียวที่คอยถวายอารักขา  ทหารมหาดเล็กซึ่งมีหน้ที่สำคัญในการถวายอารักขายังกลายเป็นฝ่ายคณะปฏิวัติ  คุณพระท่านเล่าว่าท่านคอยยืนขวางอยู่ที่พระทวารพระตำหนัก  พอคณะของหลวงศุภชลาศัยไปถึงท่านว่าแต่ละคนต่างก็มีอาการเกร็งด้วยเกรงในพระบารมีกันทั้งหมด  เฉพาะอย่างยิ่งพลโทประยูร  ภมรมนตรี ที่โตมาในพระราชสำนักพร้อมๆ กับคุณพระนั้น  เมื่อคุณพระถามว่า ตายูรแกเอากับเขาด้วยหรือ  ตายูรนั้นก็ถึงกับออกอาการสั่นด้วยเกรงพระบารมีขึ้นมาทันที


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ค. 10, 16:30
^
^
อย่างที่คุณวี_มีเล่านี่น่ะครับ พลโทประยูรไม่มีวันเขียนเป็นอันขาด


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ค. 10, 20:25
มีข่าวลือเล็กๆ เกี่ยวกับพระยาทรงสุรเดช กับสมเด็จพระปกเกล้าฯ ย้อนหลังกลับไปในพ.ศ. ๒๔๗๕
หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองและพระราชทานธรรมนูญชั่วคราวแล้ว    แทนที่บ้านเมืองจะสงบ  คลื่นใต้น้ำก็เริ่มแรงจากกลุ่มต่อต้านผู้ก่อการฯ
หนึ่งในนั้นคือ"คณะชาติ"  มีหัวหน้าคือหลวงวิจิตรวาทการ    (ซึ่งหลายปีต่อมา  ได้เข้าทำงานอยู่กับจอมพล ป.)
คุณหลวงวิจิตรฯ ส่งคนมากราบทูลพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จไปประทับที่หัวหิน ในเดือนก.พ.( สมัยนั้นปีใหม่เริ่มนับจากเมษายน   มีนาคมจึงเป็นปลายปี ๗๕) ว่าอย่าเสด็จกลับเข้ากรุงเทพ
เพราะพวกทหารมีพระยาทรงสุรเดชเป็นหัวหน้า จะคอยดักยึดรถไฟพระที่นั่งที่บางซื่อ (ซึ่งเป็นแดนทหาร)   แล้วจะบังคับให้ทรงเซ็นลาออกอย่างพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซีย
เพื่อจะสถาปนาสยามเป็น republic
ถ้าไม่ยอมเซ็นพระนาม   ก็จะจับพระองค์ไว้  ให้เจ้านายพระบรมวงศานุวงศ์นำทรัพย์มาไถ่พระชนม์ชีพ

เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบข่าวนี้   ก็ตรัสกับพระยามโนฯนายกรัฐมนตรีว่า ทรงเชื่อ   เพราะในบรรดาผู้ก่อการทั้งหมด พระยาทรงฯเป็นคนเดียวที่ไม่ยอมมาเข้าเฝ้า   
ในตอนนั้นพระยาทรงฯ ก็ยังมีอำนาจอยู่มาก  เป็นคนที่ทหารเชื่อฟัง
เมื่อรู้ข่าวนี้   พระยามโนฯ จึงพาพระยาทรงสุรเดชเข้าเฝ้า   เพื่อยืนยันว่าไม่เป็นความจริง   จะไม่มีเหตุการณ์ตามข่าวเป็นอันขาด
เมื่อเสด็จกลับกรุงเทพ   พระยาทรงสุรเดช ก็ถวายอารักขาอย่างเข้มแข็ง   ไม่มีเหตุร้ายใดๆ เกิดขึ้น   เป็นเหตุให้โล่งใจได้ว่า พวกหัวรุนแรงยังไม่ได้พระยาทรงฯไปเป็นพวก
*******************


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ค. 10, 20:59
ระหว่างไปค้นชื่อพ.ต.อ. พุฒ บูรณสมภพ เพื่อโพสต์ลงกระทู้ นิยายเก่าเล่าใหม่  ก็เลยเจอเรื่อง "กบฏวังหลวง" เพิ่มเติมอีกนิดหน่อย จากคุณวิกี้
เลยเอามาลงไว้ให้อ่านกันค่ะ

คดีสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรี พ.ศ. 2492
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
 
ภาพศพ 4 อดีตรัฐมนตรีคดีสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรี พ.ศ. 2492 คือการสังหารอดีตรัฐมนตรี 4 คน ในสายของนายปรีดี พนมยงค์ ในเวลาดึกสงัดบนถนนสายเปลี่ยวอย่างมีเงื่อนงำ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์กบฏวังหลวงยุติลงในเวลา 18.00 น. ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ฝ่ายกบฏได้ยอมแพ้และแยกย้ายกันหลบหนี ทางรัฐบาลก็ยังได้ส่งตำรวจติดตามและสังหารอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น พันตรีโผน อินทรทัต ถูกกระสุนปืนยิงเสียชีวิตบริเวณหน้าผาก ศพอยู่ที่พบที่อำเภอดุสิต ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์, พันตำรวจเอกบรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข ผู้บังคับการตำรวจสันติบาลก็ถูกยิงเสียชีวิตหลังจากถูกจับกุม ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ เป็นต้น

1 มีนาคม หนังสือพิมพ์ทุกฉบับได้ลงพาดหัวแถลงการณ์ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าได้มีกลุ่มบุคคลก่อการหวังจะยึดอำนาจการปกครองกลับคืนหลังจากการรัฐประหาร เมื่อปี พ.ศ. 2490 โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ทำการยึดพระบรมมหาราชวังซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกต อันเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง โดยเปิดเผยชื่อหัวหน้าขบวนการคือ นายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรี

ทางการได้ออกประกาศตามจับและให้สินบนนำจับ โดยลดหลั่นกันลงไป เช่น นายปรีดี หัวหน้าขบวนการมีรางวัลนำจับ 50,000 บาท, พลเรือตรีสังวรณ์ สุวรรณชีพ รองหัวหน้า รางวัลนำจับ 30,000 บาท เป็นต้น

สำหรับบุคคลทั้ง 4 ที่เสียชีวิต ประกอบไปด้วย นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ อดีต ส.ส.จังหวัดอุบลราชธานี พรรคสหชีพ และเป็นอดีตรัฐมนตรีถึง 6 สมัย, นายถวิล อุดล อดีต ส.ส.จังหวัดร้อยเอ็ด พรรคเดียวกัน เป็นอดีตรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลนายทวี บุณยเกตุ, นายจำลอง ดาวเรือง อดีต ส.ส.จังหวัดมหาสารคาม พรรคเดียวกัน ถูกจับกุมตัวพร้อมกันในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ในสถานที่ที่ต่างกันออกไป เช่น นายถวิลถูกจับที่สโมสรราชนาวี เป็นต้น และ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ อดีต ส.ส.จังหวัดนครนายก และเลขาธิการพรรคแนวรัฐธรรมนูญ ถูกจับในวันที่ 1 มีนาคม ที่สนามบินดอนเมือง โดยตำรวจส่งโทรเลขเป็นรหัสไปลวงว่าการปฏิวัติสำเร็จแล้วให้รีบกลับมา เพราะ ดร.ทองเปลวได้หลบหนีไปอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งบุคคลทั้ง 4 นี้ ล้วนแต่เป็นนักการเมืองสายของนายปรีดี และ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ทั้งสิ้น และไม่มีชื่อในประกาศจับของทางการ ทั้งนี้ได้มีการเปิดเผยภายหลังว่า บุคคลเหล่านี้ไม่ได้เป็นฝ่ายริเริ่มก่อการหรือเป็นแกนนำ แต่ถูกวางตัวให้เป็นผู้ร่างกฎหมายและประกาศฉบับต่าง ๆ หากการปฏิวัติสำเร็จ

ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวอยู่นั้น บรรดาญาติของผู้ต้องหาไม่ได้มีความระแวงว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้น เนื่องจากก่อนหน้านั้นบุคคลทั้ง 4 ก็ได้เข้า ๆ ออก ๆ เรือนจำเป็นประจำอยู่แล้วในข้อหาทางการเมืองต่าง ๆ โดยติดอยู่หนึ่งเดือนบ้าง 2 เดือนบ้างก็ถูกปล่อยตัวออกมาพบครอบครัว ซึ่งการถูกจับกุมในครั้งนี้ผู้ต้องหาไม่ได้รับการให้ประกันตัว

 
พ.ต.อ.หลวงพิชิตธุรการ (ยศขณะนั้น) ผู้ควบคุมการขนย้าย 4 ผู้ต้องหาค่ำวันที่ 3 มีนาคม ตำรวจได้เคลื่อนย้ายผู้ต้องหาทั้งหมดไปไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน โดยอ้างเหตุความปลอดภัย ด้วยรถของตำรวจหลายเลขทะเบียน กท. 10371 โดยมี พ.ต.อ.หลวงพิชิตธุรการ เป็นผู้ควบคุม โดยรับ ดร.ทองเปลว ที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน นายจำลองที่สถานีตำรวจนครบาลยานนาวา นายถวิลที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง และนายทองอินทร์ที่สถานีตำรวจนครบาลสามเสน เมื่อวิ่งมาถึงหลักกิโลเมตรที่ 12 ถนนพหลโยธิน เวลาประมาณ 3.00 น. ของวันที่ 4 มีนาคม ใกล้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตด้วยกระสุนร่างละไม่ต่ำกว่า 10 นัด ในสภาพที่ทุกคนยังสวมกุญแจมืออยู่ โดยได้ส่งศพไปชันสูตรที่โรงพยาบาลกลาง ต่อมาตำรวจแถลงว่า ในที่เกิดเหตุกลุ่มโจรมลายูพร้อมอาวุธครบมือได้ดักซุ่มยิงเพื่อชิงตัวผู้ต้องหา และได้มีการปะทะกับตำรวจ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ตำรวจทั้งหมดราว 20 นายไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเลย

ญาติของผู้ต้องหากว่าจะทราบเรื่องการเสียชีวิต ก็เมื่อได้ไปเยี่ยมที่สถานีตำรวจเดิมที่คุมขังแล้วไม่พบตัว ต้องไปตามหาตามที่ต่าง ๆ เช่น วังปารุสกวัน ซึ่งในขณะนั้นเป็นกองบัญชาการตำรวจนครบาล และได้รับคำบอกต่อให้ไปดูที่โรงพยาบาลกลาง จึงได้ทราบเรื่อง

ศพของทั้งหมดอยู่ตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดมกุฏกษัตริยาราม กระนั้นในงานศพก็ยังมีตำรวจสายสืบและสันติบาลมาติดตามเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของผู้ที่เข้าร่วมงานศพอยู่เสมอ

จากความผิดปกติในครั้งนี้ ทำให้สังคมโดยทั่วไปไม่เชื่อว่าทั้งหมดเสียชีวิตเพราะถูกกระสุนของโจรมลายูจริง แต่เชื่อว่าเป็นการกระทำของตำรวจเอง ภายใต้การบัญชาการของ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในการปราบกบฏและมีตำแหน่งเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจในเวลานั้น

 
พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์สยามนิกร ในปี พ.ศ. 2500หลังจากนั้นไม่นาน ก็ได้มีการฆาตกรรมนักการเมืองและบุคคลฝ่ายที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นผู้ที่อยู่ตรงข้ามอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี เช่น นายเตียง ศิริขันธ์, นายหะยีสุหรง อับดุลกาเดร์, นายอารีย์ ลีวีระ เป็นต้น

คดีนี้ได้ถูกรื้อฟื้นและตัดสินอย่างจริงจังหลังการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2500 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ศาลดำเนินคดีในปี พ.ศ. 2502 พบผู้ต้องหา 5 ราย ได้แก่ พลตำรวจจัตวาผาด ตุงคะสมิท, พล.ต.จ.ทม จิตรวิมล, ร้อยตำรวจโทจำรัส ยิ้มละมัย, ร.ต.ท.ธนู พุกใจดี และสิบตำรวจเอกแนบ นิ่มรัตน์ โดยศาลพิพากษาในปี พ.ศ. 2504 จำคุกตลอดชีวิตผู้ต้องหา 3 ราย คือ พล.ต.จ.ผาด, พล.ต.จ.ทม และส.ต.อ.แนบ ส่วน ร.ต.ท.จำรัส และร.ต.ท.ธนู ศาลได้ยกฟ้อง แต่กระนั้นก็ยังมีความเชื่อว่า ผู้ต้องหาเหล่านี้ไม่ได้เป็นผู้ต้องหาตัวจริง อีกทั้งยังมีการช่วยเหลือและไม่จริงใจในการดำเนินคดีอีกด้วย ทั้งนี้ เพราะมีผู้ต้องหาหลายคนที่เคยเป็นทหารและตำรวจในสังกัดของจอมพล ป. มาก่อน ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ก็ต้องการให้ทหารและตำรวจเหล่านี้ค้ำจุนอำนาจไว้

ในหนังสือ "13 ปี กับบุรุษเหล็กแห่งเอเซีย" ของ พันตำรวจเอกพุฒ บูรณสมภพ นายตำรวจคนสนิทของ พล.ต.อ.เผ่า ตอนหนึ่งได้บันทึกถึงคดีนี้ว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด ยิ่งโดยเฉพาะ ส.ต.อ.แนบ เป็นเพียงนายตำรวจชั้นผู้น้อยที่ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุและไม่รู้จักกับผู้ต้องหาคนอื่น ๆ ด้วยซ้ำ ซึ่งตน (พ.ต.อ.พุฒ) ทราบว่า ผู้ลงมือสังหารจริง ๆ คือใคร แต่ไม่ขอเปิดเผย แต่การกระทำแบบนี้ต้องใช้การประชุมในขั้นสูง และที่ประชุมต้องตัดสินร่วมกันว่าต้องใช้วิธีเด็ดขาด นั่นคือใช้วิธีการที่เรียกว่า Eliminate คือการลบให้หายจากบัญชีพลเมืองของโลกไปเลย


รายการย้อนรอย ตอน คดีสังหาร 4 รัฐมนตรี
วินทร์ เลียววาริณ. ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2537. ISBN 974-8585-47-6
เพลิง ภูผา. ย้อนรอยขบวนการยึดอำนาจ ปฏิวัติเมืองไทย. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์เครือเถา, พ.ศ. 2550. 232 หน้า. ISBN 978-974-8337-16-6
ประสมศักดิ์ ทวีชาติ (ป.ทวีชาติ). รัฐตำรวจยุคอัศวินผยอง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วันชนะ, พ.ศ. 2545. 304 หน้า. ISBN 974-90614-5-4
ดึงข้อมูลจาก "http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3_4_%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2492".


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ค. 10, 21:20
สมัยโน้นเขาลือกันว่าคนที่รู้ว่าใครเป็นคนยิงก็เพราะตนเองเป็นคนยิง เขาลือนะครับ ผมไม่ได้บอกให้เชื่อ

เรื่องทำมาหากินนั้น พระยาทรงท่านก็คิดจนสมองแทบแตกก็ยังคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไร การค้าอะไรๆก็ต้องใช้ทุน ที่ต้องมีหนักกว่านั้นคือประสพการณ์  ไช่ง่อนมีคนญวน85% จีน8% ฝรั่งเศส5% ที่เหลือเป็นชนชาติอื่นๆรวมกันทั้งตัวท่านด้วย คนไทยน้อยมาก แม้จะดูคึกคักขึ้นตั้งแต่เกิดกบฎบวรเดช มีนายทหารหนีตายมาอยู่กันที่นี่หลายคน นอกจากพระองค์เจ้าบวรเดชกับพระชายา ที่เสด็จทางเครื่องบินที่ขับโดยหลวงเวหนเหินเห็จแล้ว ก็มีอีกเป็นชุดๆขี่ม้าหนีจากทางโคราชและอุบล ข้ามแดนแล้วมุ่งสู่กรุงพนมเปญ เช่น
พระยาเสนาสงคราม
พระยาไชเยนทร์ฤทธิรงค์
พระยาเทพสงคราม
พระปัจจะนึกพินิศ
หลวงจรูญฤทธิไกร
หลวงลพบาดาล
หลวงอาจณรงค์
หลวงหาญรณยุทธ
หลวงโหมรอนราญ
หลวงไล่พลรบ
ขุนเริงรณชัย
และทหารชั้นประทวนระดับจ่าและนายสิบอีกหลายคน

พวกที่ติดตามพระองค์เจ้าบวรเดชไปอยู่ไซ่ง่อนล้วนมีความเป็นอยู่อย่างยากจน จะทำมาค้าขายอะไรเล็กๆน้อยๆก็สู้คนญวนคนจีนไม่ได้ ขาดทุนป่นปี้ บางคนย้ายกลับไปอยู่พนมเปญเพราะค่าครองชีพที่ถูกกว่า หรือไม่ก็ยอมกลับไปมอบตัวติดคุกในเมืองไทย บางคนก็ยอมตนไปขายแรงงานอยู่ต่างจังหวัด พระยาทรงท่านเคยเดินสวนกับพระองค์เจ้าบวรเดชครั้งหนึ่งบนถนนกลางกรุงไซ่ง่อน ต่างฝ่ายต่างมองเห็นกันโดยบังเอิญแล้วแสร้งทำเป็นมองไม่เห็น ไม่ยอมทักทายกัน มีแต่หลวงจรูญวุฒิไกรผู้เคยรู้จักกันก่อน มาเยี่ยมและไปมาหาสู่ หลวงจรูญเป็นลูกชายพระยาโชฎึกราชเศรษฐี จึงพอจะมีฐานะดีกว่าเพื่อน มีอาชีพหลักเป็นครูสอนคาราเต้ให้นายตำรวจฝรั่งเศสและญวน เพราะมีวิชานี้ตั้งแต่ไปเรียนที่ญี่ปุ่น อาชีพเสริมคือลงทุนค้าไม้ ออกบ้านนอกไปเลือกซื้อซุงมาขาย กำไรบ้างขาดทุนบ้างแต่พออยู่ได้ หลวงจรูญเป็นเพื่อนที่ดีและให้คำแนะนำเมื่อพระยาทรงอยากจะลองทำตามดูบ้าง แต่เมื่อเดินทางไปดูไม้กันสองสามครั้งแล้วไม่ได้ของดีตามราคาคุยของพวกนายหน้า ก็เสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินจำนวนมากไปโดยเปล่าประโยชน์ ท่านก็เลิก

ส่วนท.ส.ที่สลับตัวมาอยู่พนมเปญก็ดำเนินงานร้านข้าวแกงต่อโดยมีผู้ช่วยเดิมสองคนนั้น แม้จะไม่รุ่งนัก ก็ยังมีรายได้พออยู่พอกิน แต่ไม่เหลือกำไรที่จะส่งไปช่วยค่าใช้จ่ายทางไซ่ง่อนได้  ในพนมเปญนี้มีนายทหารไทยที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับพวกพระองค์เจ้าบวรเดชลี้ภัยมาอยู่ก่อนคือพันโท หลวงรณสิทธิพิชัย (เจือ กาญจนพินทุ)เปิดร้านขายหนังสือพอเลี้ยงตัวได้ ทั้งสองคบหาสมาคมกันเป็นเพื่อนคู่ทุกข์

หลวงรณนี้เป็นหนึ่งใน “ผู้ก่อการ” คณะราษฎร์สายทหาร แต่ถูกประกาศจับพร้อมพระยาฤทธิ์อัคเนย์ ตอนนั้นเล่นเอาประชาชนงงงันไปหมดว่าพวกนี้เล่นอะไรกัน หลวงรณโชคดีได้กลับบ้านหลังจากรัฐบาลนายควงออกพระราชกฤษฎีกาประกาศนิรโทษกรรม และสมัครเข้ารับราชการต่อ เมื่อจอมพลป.กลับมาเป็นนายกครั้งใหม่แล้วได้พยายามล้างบาป ให้ไปเป็นอธิบดีกรมศิลปากรในยุคที่ทหารอยากจะเป็นอะไรก็เป็นได้  แต่ก็ดี มีผลงานพอสมควรจึงได้เลื่อนยศเป็นพันเอก




กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 01 ก.ค. 10, 22:39
ประเด็นเรื่องพลโทประยูร ภมรมนตรีนั้น มีเหตุอยู่ที่หนังสือ "ชีวิต ๕ แผ่นดินของข้าพเจ้า" นั้นเคยมีคดีอยู่ครับ

ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ

ตั้งแต่  พ.ศ. ๒๕๑๗ เป็นต้นมา กระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติขึ้น ตามคำแนะนำขององค์การศึกษาสหประชาชาติ และคณะกรรมการคณะนี้ได้รับหน้าที่ดำเนินการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติสืบ ต่อมา คณะกรรมการดังกล่าวนั้นก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการและอนุกรรมการรับช่วงงานต่อๆ กันไปเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ คณะกรรมการพิจารณาหนังสือแห่งชาติ ประเภทสารคดี ได้ตัดสินให้รางวัลชมเชยหนังสือยอดเยี่ยมประจำปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ประเภทสารคดีแก่สำนักพิมพ์บรรณกิจ ผู้พิมพ์หนังสือเรื่อง ชีวิต ๕ แผ่นดินของข้าพเจ้า โดยพลโท ประยูร  ภมรมนตรี และคณะกรรมการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๑๙ ได้ให้สิ่งที่เป็นหลักฐานแก่สำนักพิมพ์นั้น ซึ่งได้ลงพิมพ์ภาพไว้ในหน้าต้นแห่งหนังสือเล่มนั้น

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๒๒ นายปรีดี  พนมยงค์ อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และอดีตนายกรัฐมนตรี ได้ยื่นคำประท้วงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแสดงว่ามีข้อความมากมาย หลายประการในหนังสือเล่มนั้นที่ฝ่าฝืนความจริงที่ปรากฏในเอกสารหลักฐานและ ไม่สมเหตุสมผลแห่งหนังสือประเภทสารคดีตามความเข้าใจของคนไทยโดยทั่วไป และตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติได้กำหนดไว้กระทรวงศึกษาธิการได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อผดุงไว้ และส่งเสริมสัจจะแห่งประวัติศาสตร์ของชาติไทย และเพื่ออนาคตของกุลบุตรกุลธิดาของชาติไทย เห็นตัวอย่างศีลธรรมจรรยาอันดีและเพื่อให้ความเสียหายที่นายปรีดี  พนมยงค์ ได้รับจากคำจูงใจของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องดังกล่าวนั้นกลับคืนดี กระทรวงศึกษาธิการจึงประกาศเพิกถอนคำตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาหนังสือแห่ง ชาติ ประเภทสารคดี ที่ได้ตัดสินให้รางวัลชมเชยหนังสือเล่มนั้นของพลโท ประยูร  ภมรมนตรี ว่าเป็นหนังสือดีเด่นประเภทสารคดีประจำปี พ.ศ. ๒๕๑๘ และประกาศถอนสิ่งที่เป็นหลักฐานซึ่งคณะกรรมการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๑๙ ที่ให้แก่สำนักพิมพ์บรรณกิจนั้นด้วย

          ประกาศ ณ วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๒๓

          นายสิปปนนท์  เกตุทัต

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

 

ประกาศ เรื่องกระทรวง ศึกษาธิการเพิกถอนรางวัลชมเชย

หนังสือชื่อ  ชีวิต  ๕  แผ่นดินของข้าพเจ้า

เรียบเรียงโดย  พล.ท.ประยูร  ภมรมนตรี

และคำขอขมาของห้างหุ้นส่วนจำกัด บรรณกิจเทรดดิ้ง  จำเลยที่  ๒


 

          ตามที่คณะกรรมการพิจารณาหนังสือแห่งชาติประจำปี  ๒๕๑๙  ตัวแทนของกระทรวงศึกษาธิการได้ตัดสินใจและให้เอกสารหลักฐานรางวัลชมเชย หนังสือดีเด่นประจำปี  พ.ศ.  ๒๕๑๘  ประเภทสารคดี  แก่สำนักพิมพ์บรรณกิจ  ผู้พิมพ์หนังสือเรื่อง  ชีวิต  ๕  แผ่นดินของข้าพเจ้า  เรียบเรียงโดย  พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี  ซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัดบรรณกิจเทรดดิ้งได้โฆษณาจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปนั้น

          นายปรีดี พนมยงค์  จึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงศึกษาธิการเป็นจำเลยที่  ๑  ห้างหุ้นส่วนจำกัดบรรณกิจเทรดดิ้งเป็นจำเลยที่  ๒  ต่อศาลแพ่งตามคดีหมายเลขดำที่  ๘๕๘๖/๒๕๒๓  ฐานโฆษณาหนังสือที่มีข้อความฝ่าฝืนความจริงทำให้โจทก์เสียหาย

          กระทรวงศึกษาธิการจำเลยที่  ๑  โดยนายสิปปนนท์  เกตุทัต  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้นได้มีประกาศลงวันที่  ๑๔  มีนาคม  ๒๕๒๓  เพิกถอนการให้รางวัลชมเชยหนังสือเล่มที่  พล.ท.ประยูร  ภมรมนตรี  เรียบเรียง และเพิกถอนเอกสารหลักฐานที่ให้แก่  ห.ส.จ.  บรรณกิจเทรดดิ้งนั้นแล้วห้างหุ้นส่วน จำกัดบรรณกิจเทรดดิ้ง  ขอรับผิดที่ได้โฆษณาหนังสือเล่มดังกล่าวซึ่งทำให้นายปรีดี พนมยงค์  ได้รับความเสียหาย  และยอมส่งมอบหนังสือ  ชีวิต  ๕  แผ่นดินฯ  ที่เหลืออยู่อีก  ๑ พันเล่ม  ต่อศาลแพ่งเพื่อทำลาย  และได้ทำสัญญาประนีประนอมต่อศาลยอมรับผิดตามที่โจทก์ฟ้องทุกประการ ศาลแพ่งได้พิพากษาเมื่อวันที่  ๗ กรกฎาคม  ๒๕๒๕  ให้คดีสิ้นสุดลงตามหนังสือประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยแล้วห้างหุ้นส่วนจำกัดบรรณกิจเทรดดิ้ง  จำเลยที่  ๒  จึงประกาศขอขมานายปรีดี  พนมยงค์  ณ  ที่นี้พร้อมทั้งได้นำประกาศกระทรวงศึกษาธิการพิมพ์ไว้ต่อท้ายคำขอขมาของ ห้างฯ  ด้วย

          ประกาศมา  ณ  วันที่  ๗ กรกฎาคม  ๒๕๒๕

            ลงชื่อ  ห้างหุ้นส่วนจำกัดบรรณกิจเทรดดิ้ง  จำเลยที่  ๒



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ค. 10, 23:55
ผมได้ตามเข้าไปอ่านในที่มาของเอกสารที่คุณม้าเอามาลงแล้ว เสียดายอยู่ว่าสถาบันปรีดี พนมยงค์ไม่ได้ให้รายละเอียดว่า ข้อความใดที่เป็นความเท็จ ในประโยคเหล่านี้


อ้างถึง
ได้ยื่นคำประท้วงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แสดงว่ามีข้อความมากมายหลายประการในหนังสือเล่มนั้นที่ฝ่าฝืนความจริงที่ปรากฏในเอกสารหลักฐานและไม่สมเหตุสมผลแห่งหนังสือประเภทสารคดีตามความเข้าใจของคนไทยโดยทั่วไป  และตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติได้กำหนดไว้


ผมมีหนังสือ“ชีวิต๕แผ่นดิน”ของพลโทประยูรอยู่โดยไม่เคยทราบว่าหนังสือดังกล่าวถูกเพิกถอนรางวัล หรือถูกฟ้องร้องจนมีการยอมความเกิดขึ้น และไม่มีทางทราบได้ว่า ข้อความดังกล่าวที่ผู้เสียหายหมายถึงนั้น อยู่ที่ไหนทั้งหมด การใช้วิจารณญาณในการเลือกข้อความใด จากหนังสือต่างๆที่นำมาเสนอในกระทู้นี้ ผมก็ได้แถลงไปแล้วในกระทู้ก่อน ซึ่งผมพยายามนำมาลงเฉพาะเรื่องที่สอดคล้องรองรับกันโดยหนังสือมากกว่าหนึ่งเล่ม อย่างไรก็ดี หากการนำเสนอข้อความใดๆของผมได้ไปกระทบกระเทือนท่านผู้ใดผู้หนึ่ง ทายาท หรือผู้ที่มีส่วนร่วมว่าตนเสื่อมเสีย จะแถลงข้อเท็จจริงของท่านให้ผู้อ่านได้รับทราบ เพื่อบรรเทาความเสื่อมเสียนั้นก็ย่อมเป็นสิทธิ์ที่จะกระทำได้ เพราะที่นี่เป็นเวทีเปิด และผมพร้อมเสมอที่จะรับฟัง หรือรับผิดเมื่อเห็นว่าตนผิด

หวังว่าทุกท่านจะกรุณาเข้าใจตามนี้ด้วยนะครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ค. 10, 07:45
ดิฉันเข้าใจว่าข้อความในหนังสือเล่มนั้นน่าจะเป็นส่วนที่เอ่ยถึงนายปรีดี พนมยงค์  ทำให้เจ้าตัวเห็นว่าเสียหาย   จึงเป็นผู้ฟ้องร้อง ทำให้กระทรวงศึกษาธิการต้องเพิกถอนรางวัลไป   
ส่วนที่ไม่เกี่ยวกันเช่นประวัติของพลโทประยูรเอง   หรือที่เล่าถึงบุคคลอื่นๆ  คงจะไม่อยู่ในข่ายนี้
น่าเสียดายที่เราไม่รู้ว่า ในเอกสารประกอบ(ถ้ามี) มีส่วนไหนที่ทนายโจทก์ระบุว่าเป็นเรื่องเท็จ ผิดเพี้ยนจากความจริง  และความจริงเป็นอย่างไร    สถาบันปรีดี พนมยงค์น่าจะนำมาลงไว้เป็นความรู้ด้วย  จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์

อย่างไรก็ตาม   ถ้ามีความเสียหายอย่างใดเกิดขึ้นจากการลงกระทู้นี้  ขอให้ผู้เสียหาย หรือผู้เห็นว่าไม่สมควร  แจ้งมาให้ทราบ พร้อมหลักฐานประกอบด้วย   
เชื่อว่าคุณ Navarat C. ก็คงจะยินดีแก้ไขให้ตามนั้น   เพื่อความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ก.ค. 10, 09:31
ความยากลำบากของผู้ศึกษาเรื่องราวในประวัติศาสตร์ก็เป็นดังที่ผมปรารภในกระทู้แล้วๆ ว่ายากที่คนในชั้นหลังจะทราบว่าข้อความอะไรเป็นเท็จ อะไรเป็นจริง โดยยกตัวอย่างกรณีย์ในยุคปัจจุบัน เห็นภาพเดียวกันแท้ๆคนยังเชื่อเป็นสองทาง

แต่ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสนุก โดยเฉพาะเรื่องค้นหาความจริงที่จะเลือกเชื่อจากหนังสือกองพะเนินเทินทึกที่แต่ละเล่มมีรายละเอียดชนิดที่เรียกว่า“คนละเรื่องเดียวกัน” ยิ่งอ่านยิ่งงง ยิ่งเมาตัวหนังสือ การเขียนกระทู้ในเนทมีข้อเสียอย่างหนึ่งที่เวลาจำกัดมาก ไม่เหมือนเขียนหนังสือซึ่งจะใช้เวลาเป็นปีก็ได้ แถมเมื่อโพสต์ลงไปแล้วกว่าจะเห็นที่ผิดพลาด ก็แก้ไขไม่ได้เสียแล้ว ต้องหาจังหวะเวลาในกระทู้หลังๆแก้ไขสิ่งผิด

สัญญาณเตือนของคุณม้าทำให้ผมต้องระมัดระวังตัวในเรื่องข้อเท็จจริงมากขึ้น และย้อนกลับไปดูที่ผมเอาข้อมูลของพลโทประยูรมาใช้ในตอนที่ไปเกี่ยวข้องกับหลวงประดิษฐ์ มีตอนหนึ่งในคคห.13 ที่ผมอ้างอิงเอาความมาเขียนเพื่อจะปูทางสู่เรื่องที่พระยาทรงมีความขัดแย้งกับผู้ก่อการสำคัญของคณะราษฎร์ด้วยกัน จนเป็นเหตุให้ต้องได้รับชะตากรรม ที่ผมตั้งใจจะเขียนเป็นหัวใจของกระทู้นี้ต่อไปมากกว่า คือเรื่องเข้าเฝ้าเพื่อทูลเกล้าฯถวายร่างธรรมนูญการปกครอง เพื่อให้ทรงพิจารณาลงพระนาม

อ้างถึง
สำหรับเรื่องขัดแย้งระหว่างพระยาทรงกับหลวงประดิษฐ์ ความจริงพระยาทรงเขม่นหลวงประดิษฐ์อยู่นานแล้วเพราะทนความเป็นนักวิชาการหัวก้าวหน้ามากไม่ไหว ในการประชุมคณะราษฎรครั้งแรกๆ พระยาทรงก็หลบออกจากที่ประชุมมาบ่นหลวงประดิษฐ์ให้ร้อยโทประยูร โซ่ข้อกลางระหว่างนักเรียนเก่าเยอรมันกับนักเรียนเก่าฝรั่งเศสฟังด้วยถ้อยคำรุนแรง และมาถึงที่สุดในวันที่พร้อมกันเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯเป็นครั้งแรกหลังวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งพระยาทรงเป็นหัวหน้าคณะแทนพระยาพหลที่ไม่กล้าเข้าเฝ้าเพราะตนเองอยู่ในตำแหน่งนายทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ และโดนพันเอก พระยาสุรเดชรณชิต (ชิต ยุวนะเตมีย์) เพื่อนนักเรียนนายร้อยเยอรมันร่วมรุ่นอีกคนหนึ่งถามแสบๆว่า "ไอ้พจน์ มีทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ชาติไหนมั่งวะที่กบฎต่อพระเจ้าแผ่นดิน"

พระยาทรงนำคณะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบขอพระราชทานอภัยโทษ เมื่อพระองค์โปรดเกล้าให้หลวงประดิษฐ์นำรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าถวาย ทรงอ่านข้อความในรัฐธรรมนูญแล้ว ตรัสถามพระยาทรงว่าได้อ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาแล้วหรือยัง พระยาทรงกราบทูลว่ายังไม่ได้อ่าน ทรงหันมาถามร้อยโทประยูรว่าได้อ่านหรือยัง ร้อยโทประยูรกราบทูลตอบว่าไม่ได้อ่านเพราะไม่มีหน้าที่โดยตรง แต่ได้ทราบว่าพระยาทรงได้กำชับหลวงประดิษฐ์ไว้มั่นคงแล้วว่าให้ร่างแบบอังกฤษที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

พระองค์ก็ตรัสตอบว่าต้องการให้เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน แต่ทำไมต้องใช้คำแทนเสนาบดีว่า "คณะกรรมการราษฎร" แบบรัสเซียซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์

พระยาทรงอึ้งอยู่ชั่วครู่จึงกราบบังคมทูลว่า "ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานสารภาพรับผิดที่ไม่ได้อ่านมาก่อน  ขอพระราชทานอภัยโทษและขอถวายสัตย์ว่าจะไปร่างมาใหม่ ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ทุกประการ"

ทรงตรัสว่า "ถ้าพระยาทรงรับรองว่าจะไปแก้ไขกันใหม่ฉันก็จะยอมเชื่อพระยาทรง แต่อย่างไรก็ตามวันนี้หัวเด็ดตีนขาด ฉันก็ไม่เซ็น" รับสั่งให้กลับไปแก้ไขแล้วนำมาเสนอใหม่ในอีก 2 วันข้างหน้า แล้วจึงเสด็จขึ้น

พวกที่เข้าเฝ้าก็ตกตะลึงทำอะไรไม่ถูก ทยอยเดินออกมายืนที่ลานพระราชวัง พระยาทรงโกรธมากถึงกับชี้หน้าหลวงประดิษฐ์แล้วพูดว่า "คุณหลวงทำป่นปี้ ไม่ทำตามที่บอกกล่าวกันไว้ ทำอะไรไปนอกเรื่อง ฉิบหายหมดแล้ว

พระยาทรงเมื่อแสดงความแค้นเคืองแล้วก็เดินขึ้นรถจากไป หลังจากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างพระยาทรงกับหลวงประดิษฐ์ก็ไม่ดีขึ้น ทั้งสองฝ่ายไม่ยอมปรับความเข้าใจกัน  ซ้ำยังเลวร้ายกว่าเรื่องของหลวงพิบูลเสียด้วยซ้ำ


มีประเด็นเดียวที่ผมตรวจสอบแล้ว เห็นว่ามีข้อมูลจากที่แตกต่างกันออกไป ผมพบข้อความข้างล่างก่อนจาก “สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น” ของท่านหญิงพูนพิศมัย ทำให้เข้าไปค้นหาต่อในเวป ได้ความต่อไปดังนี้

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้เสด็จจากหัวหินกลับกรุงเทพฯ โดยขบวนรถไฟพิเศษเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๕ มิถุนายน เวลา ๑๙.๔๕ น. เสด็จลงที่สถานีรถไฟจิตรลดาวันอาทิตย์ที่ ๒๖ มิถุนายน เวลา ๐.๓๗ น. แล้วเสด็จตรงไปประทับที่วังสุโขทัย แล้วมีพระราชกระแสรับสั่งให้คณะราษฎรเข้าเฝ้าที่วังสุโขทัยเวลา ๑๑.๐๐ น. ของวันที่ ๒๖ มิถุนายนนั้น

เวลา ๙.๑๑ น. ของเช้าวันนั้น เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ เสนาบดีกระทรวงวังได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นำรถยนต์หลวง ๒ คัน เชิญนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระยาพหลฯ ได้ให้นายพลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี นายพันโทพระประศาสน์พิทยายุทธ นายพันตรีหลวงวีระโยธา พร้อมด้วยรถยนต์หุ้มเกราะ ๒ คัน นักเรียนร้อย ๒ หมวด และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม รองอำมาตย์เอก ประยูร ภมรมนตรี นายจรูณ ณ บางช้าง นายสงวน ตุลารักษ์ ผู้แทนคณะราษฎร จากพระที่นั่งอนันตสมาคม ถึงพระราชวังสุโขทัยเมื่อเวลา ๑๑.๐๕ น.

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จออกท้องพระโรงเมื่อเวลา ๑๑.๑๕ น.พอคณะผู้แทนคณะราษฎรขึ้นท้องพระโรง พระยาสุรวงศ์วิวัฒน์ได้เบิกตัวนายพลเรือตรี พระศรยุทธเสนี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม และคณะราษฎรเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้กราบบังคมทูล ขอพระราชทานพระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช ๒๔๗๕ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้

ครั้น แล้วหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ยืนขึ้นอ่านพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินถวายพระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสดับฟัง และทรงพยักพระพักตร์เป็นคราวๆ ด้วยความพอพระราชหฤทัย เมื่อหลวงประดิษฐ์ฯ ได้อ่านถวายสิ้นกระแสความแล้ว จึงทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานพระบรมนามาภิไธย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินมีข้อความยืดยาว เพียงแต่ทรงสดับยังไม่เข้าใจดี จึงขอทอดพระเนตรเองอีกครั้งหนึ่ง แล้วหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้น้อมเกล้าถวายพระธรรมนูญการปกครอง ครั้นแล้วเวลา ๑๒.๑๕ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จขึ้น

ครั้นเวลา ๑๒.๔๐ น. พระยาอิศราธิราชเสวีได้นำพระกระแสพระบมราชโองการว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงให้คำตอบในวันที่ ๒๗ เดือนนี้ เวลา ๑๗ น. ตามทางราชการ

ถ้าวันนั้น พระยาทรงมิได้เป็นหัวหน้าคณะผู้ก่อการที่เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวจริงๆ พลโทประยูรก็สร้างเรื่องที่ผมยกมาในกระทู้เอาเอง เพื่อจะเน้นความเชื่อของตนว่าหลวงประดิษฐ์โน้มเอียงไปในแนวทางเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งหลวงประดิษฐ์และสานุศิษย์ได้ปฏิเสธ และต่อสู้ตามขบวนการยุติธรรมกับกับผู้ที่ใส่ร้ายตนในทุกเรื่อง เป็นผลสำเร็จตลอดมาว่าไม่เป็นความจริงตามที่ถูกกล่าวหา

แต่บันทึกดังกล่าวกระทำโดยฝ่ายรัฐบาล รัฐบาลไหนไม่ทราบ ความในเวปก็ไม่ได้แจ้งที่มา ผมก็ไม่อยากจะปลงใจเชื่อ ชื่อพระยาทรงอาจจะถูกตัดออกโดยคนเขียนบันทึกก็ได้ ท่านหญิงท่านมิได้ประทับอยู่ในเหตุการณ์ ทรงเขียนตามที่เขาเล่าว่า จึงมีความคลาดเคลื่อนเหมือนกัน แต่เพื่อความเป็นธรรมก็ขอให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบรายละเอียดตามนี้ด้วย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 02 ก.ค. 10, 10:44
ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านกระทู้นี้จะเข้าใจได้ว่าคุณ Navarat.C และผู้ร่วมอภิปรายไม่ได้มีเจตนาที่จะเบี่ยงเบนความจริง การอ้างอิงที่มาของข้อมูลแต่ละส่วนนั้นเป็นการเปิดช่องทางเพื่อการตรวจสอบย้อนหลังแก่ท่านผู้อ่านอยู่แล้วครับ ผมเพียงเห็นว่าการระบุความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลที่อาจเป็นปัญหาจะช่วยให้ท่านผู้อ่านได้ประเมินความน่าเชื่อถือได้อย่างระมัดระวังมากขึ้นเท่านั้น

เรื่องเนื้อหาที่เป็นปัญหาในหนังสือเล่มนี้นั้น ประเมินจากคดีอื่นๆที่นายปรีดีฟ้องร้องบุคคลต่างๆ ผมเข้าใจเองว่าน่าจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ร.๘ เป็นหลักครับ แต่ก็จนใจที่จะทราบว่าในประเด็นอื่นเป็นปัญหาด้วยหรือไม่ เพียงไหน ถ้าใช้เกณฑ์ว่าไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับกรณีสวรรคต หรือเอาอย่างระมัดระวังกว่านั้นคือไม่เกี่ยวกับนายปรีดี ส่วนอื่นๆน่าจะใช้เป็นแหล่งข้อมูลได้ไม่แตกต่างจากแหล่งข้อมูลอื่นๆครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ก.ค. 10, 11:01
^
^
หนังสือของพลโทประยูรเอ่ยถึงกรณีสวรรคตเพียงย่อหน้าสั้นๆ และไม่ได้แตะต้องชื่อผู้ใดครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ค. 10, 11:12
เราน่าจะคุยต่อกันได้นะคะ
มาถึงพระยาทรงฯดำเนินชีวิตอยู่ในไซ่ง่อน    คุณหญิงของท่านตามมาอยู่ด้วย  ไม่ทราบว่าจนวาระสุดท้ายหรือเปล่า
มีเกร็ดเล็กๆอีกเกร็ด เจอในเน็ต  เล่าถึงพี่ชายคุณหญิงชื่อนายดาบพวง พลนาวี  เป็นหนึ่งในสิบแปดนักโทษประหารปี 2482
http://www.fbmat.org/forum/index.php?topic=112.0
การประหาร เจ้าหน้าที่ราชทัณท์ได้จัดการยิงเป้าวันละ6คน
วันนี้เป็นนายทหาร4คน นอกจาก ร้อยตรีเณร แล้ว อีก3คนเป็นนายทหารหนุ่มๆลูกศิษย์พระยาทรงฯ
นอกนั้นคนหนึ่งเป็นทหารนอกราชการชื่อนายดาบพวง พลนาวี ผู้นี้เป็นพี่ภรรยาพระยาทรงฯจึงถูกหาเรื่องให้ออกจากงาน สายลับรายงานว่าขึ้นไปพบกับพี่เขยที่เชียงใหม่ ความจริงคือเพื่อไปของานทำ

พระยาทรงนั้นได้ชื่อว่าเป็นคนตรงอย่างไม่ยอมเลี้ยวไม่ยอมงอคนหนึ่ง เรื่องจะเอาญาติพี่น้องเพื่อนฝูงมาเกี่ยวกับงานราชการนั้นไม่ทำ

นายดาบพวงนอกจากจะผิดหวังที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆแล้ว กลับมายังถูกยัดข้อหากบฏและถูกตัดสินประหารชีวิตไปด้วย แต่แทนที่จะแค้นผู้กระทำ กลับแค้นพระยาทรงฯ ก่นด่าน้องเขยตลอดเวลาที่ทำให้เขาเคราะห์ร้ายตลอดมาจนถึงชีวิต
**************
หากมีข้อมูลอื่นที่แย้งกับข้อมูลนี้ ก็ยินดีลงให้ค่ะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 02 ก.ค. 10, 11:13
ผมยังหาไม่เจอว่าอ่านเรื่องคุณสศษพูดถึงคุณประยูรจากไหน แต่จำได้ว่าเป็นการตอบจดหมายผู้อ่านท่านหนึ่งที่อ้างหนังสือเล่มนี้ (ซึ่งตอนนั้นผมเข้าใจว่าเป็นประเด็นกรณีสวรรคต) และคุณสศษสวนกลับเอาว่าเรื่องจากหนังสือนี้มีความเท็จมากจนศาลต้องระงับการจำหน่าย (แถมวิจารณ์คุณประยูรอีกหนึ่งประโยคหนักๆ)

นั่นหมายถึงว่าที่ผมเข้าใจว่าประเด็นปัญหาของหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องกรณีสวรรคตนั้น เป็นความเข้าใจผิดของผมเองครับ ต้องขออภัยด้วยครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ก.ค. 10, 11:19
ผมสงสัยว่า นายปรีดีจะติดใจประเด็นที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์มากกว่า  จากข้อเท็จจริงก็ชัดว่ามาจากพระราชวินิจฉัยก่อน หลังจากนั้นสภาจึงแตกความเห็นเป็นสองกลุ่มจนทำให้หลวงประดิษฐ์โดนเนรเทศไปเรียนหนังสือต่อที่ฝรั่งเศสโดยอิทธิพลของพระยามโน ซึ่งหนุนหลังโดยพระยาทรงกับพวก(และร.ท.ประยูร เลขานายกรัฐมนตรี) ประโยคสุดท้ายนี่จริงเท็จอย่างไรให้ดูที่คำพิพากษาของศาลพิเศษ2482 ที่เชื่อกันว่าเป็นเรื่องปั้นแต่งขึ้นโดยรัฐบาลหลวงพิบูลเพื่อขจัดฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น แต่ในหนังสือ “พระปกเกล้ากับคณะราษฎร” แต่งโดยสานุศิษย์ผู้ที่มีผลงานด้านการปกป้องอาจารย์ของตนมากที่สุด ได้เลือกที่จะเชื่อคำพิพากษาของศาลพิเศษนี้ เพียงเพราะมีข้อความหลายแห่งเข้าทางของตนที่สุด ดังที่ผมสำเนาบางตอนมาให้ดูนี้


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ก.ค. 10, 13:12
อ้างถึง
หากมีข้อมูลอื่นที่แย้งกับข้อมูลนี้ ก็ยินดีลงให้ค่ะ 


ไม่ได้มาแย้งครับ มาเพิ่ม

นายดาบพวง พลนาวี เป็นพี่คุณหญิงทรงสุรเดช อาศัยอยู่ในบ้านพระยาทรงแต่รับราชการเป็นตำรวจรถไฟ  ตอนพระยาทรงไปเปิดโรงเรียนรบที่จังหวัดเชียงใหม่ นายดาบพวงถูกให้ออกจากงานจึงขึ้นไปของานทำ แต่พระยาทรงเฉยเลยต้องบากหน้ากลับกรุงเทพ สายลับรายงานว่าไปรับแผนกบฏ เลยถูกตัดสินประหาร

ที่บางขวางพวงคร่ำครวญด่าพระยาทรงตลอดเวลาว่าเวลาเป็นใหญ่เป็นโตไม่เคยเลี้ยงดูตน เวลาเกิดเรื่องระยำฉิบหาย กูไม่รู้ไม่เห็นสักนิดเดียวแต่ก็ต้องฉิบหายไปด้วย เสริม และสัยในฐานะศิษย์ของพระยาทรงช่วยกันปลอบโยนว่ามันเป็นเรื่องของกรรม ก็ไม่ฟัง กลับโพนทนาเสียงดังขึ้นไปอีก จนนายทหารทั้งสองทนไม่ได้ต้องตวาดให้หยุดพล่าม ถ้าไม่หยุดจะเจอดี จึงได้หยุด

พวงและเสริมเข้าหลักประหารพร้อมกัน เสริมนิ่งสงบและเยือกเย็น ต่างกับพวงที่พร่ำรำพันตลอดเวลาว่าตนไม่มีความผิด…ไม่มีความผิด จนกระทั่งเสียงปืนกลแบลกมันต์ดังขึ้น ทุกสรรพสิ่งจึงเงียบสงบ

 


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: ponl ที่ 02 ก.ค. 10, 14:25
อ่านที่คุณนวรัตน์ เล่าใน คห.188 แล้วสงสารนายพวงนะครับ
เข้าใจเลยว่าทำไมเขาถึงบอกว่าปล่อยคนผิดไปสิบ(หรือร้อย)คน  ดีกว่าจับคนบริสุทธิ์มาหนึ่งคน


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ค. 10, 15:24
คุณยุทธนา มุกดาสนิท เตรียมสร้างหนังไทยเรื่อง นักโทษประหาร 2482   ในพ.ศ. ๒๕๓๑ 
มีฉัตรชัย เปล่งพานิช เป็นหลวงพิบูลสงคราม
แต่โครงการก็ล้มเลิกไป  มีข่าวว่าทายาทของจอมพล ป. ไม่ประสงค์จะให้สร้างเรื่องนี้


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ค. 10, 18:30
ไปเจอความเห็นที่ตอบโต้และแย้งกัน ในไทยโพสต์  เกี่ยวข้องกับพระยาทรงสุรเดชด้วยบ้าง     ก็เลยเอามาลงให้อ่านค่ะ   
ถือว่าเป็นประชาธิปไตย  ที่สามารถเห็นต่างกันได้  โดยไม่ต้องหักล้างให้ได้อย่างใจตัวเอง
http://www.thaipost.net/news/310309/2563


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ค. 10, 22:23
กลับไปอ่านช่วงที่พระยาทรงฯถูกเนรเทศอีกครั้ง    เกิดคำถามกับตัวเองว่า  ทำไมท่านถึงไม่ถูกหลวงพิบูลฯจับกุม เอามาขึ้นศาลพิเศษอย่างคนอื่นๆโดนกัน
จะว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอ เลยจับไม่ได้   ก็ไม่น่าจะใช่   เพราะนายดาบพวงพี่ภรรยาท่านก็ไม่เห็นจะทำอะไรที่เป็นหลักฐานมัดตัว  ยังถูกจับลงโทษถึงประหารได้เลย
จะว่าพระยาทรงฯ เป็นบุคคลสำคัญจนหลวงพิบูลเกรงใจ   ก็ไม่น่าจะใช่อีก    เพราะบุคคลสำคัญที่โดนเข้าไปในคดีนี้   อย่างกรมขุนชัยนาท และพระยาอีกหลายท่าน  ก็สำคัญกว่าทั้งนั้น  ไม่เห็นว่าจะเป็นที่เกรงใจ
จะว่าหลวงพิบูลยังยกย่องนับถือเป็นส่วนตัว  ในฐานะที่เป็นผู้ก่อการ     ก็ยังหาหลักฐานสนับสนุนข้อนี้ไม่ได้


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ค. 10, 07:32
จำที่สมเด็จกรมพระยานครสวรรค์ท่านตรัสตอนจับท่านไปไว้ที่พระที่นั่งอนันต์วันที่24มิถุนาได้ใช่ไหมครับว่า ท่านบอกวันหนึ่งพวกแกจะต้องล้างกันเองเมือนพวกปฏิวัติฝรั่งเศส ผู้ก่อการระดับแกนนำกลัวกงล้อประวัติศาสตร์นี้มาก จึงสาบานกันว่าแม้มีอะไรร้ายแรงเกิดขึ้นในกาลข้างหน้า ก็จะไม่ฆ่าไม่แกงกัน เอาแค่เนรเทศ

เมื่อหลวงพิบูลจำประหารเพื่อนรักให้ตักษัย พระยาพหลและหลวงประดิษฐ์จึงได้เข้าไปขอชีวิตพระยาฤทธิ์ และพระประศาสตร์ ให้หนีไปก่อนโดยไม่มีการจับกุม ก่อนหน้านั้นหลวงรณสิทธิพิชัยก็ถูกสั่งให้ออกไปอยู่เขมร เพราะพัวพันกับกลุ่มกบฏบวรเดชผมเล่าไปแล้ว ส่วนพระยาทรง หลวงชำนาญยุทธศิลป์ ถูกจับกุมแต่เนรเทศเฉพาะพระยาทรงภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง ส่วนหลวงชำนาญส่งเข้าคุก ศ่าลพิเศษตัดสินประหารแต่เป็นหนึ่งในสามที่ศาลลดโทษให้เป็นจำคุกตลอดชีวิตเพราะทำคุณงามความดีแก่ชาติมาก่อน อีกสองนั้นคือสมเด็จกรมพระยาชัยนาทที่ลดท่านเป็นน.ช.รังสิต และพลเอกพระยาเทพหัสดิน แม่ทัพใหญ่ทหารอาสาของสยามไปรบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในยุโรป ลดท่านเป็น น.ช.ผาด

ส่วน4รัฐมนตรีที่รัฐบาลจอมพลป.บอกว่าโจรจีนมลายูบุกกรุงเทพเข้ามายิงกับตำรวจแล้วโดนลูกหลงตายนั้น เป็นผู้ก่อการสายพลเรือนมุ้งหลวงประดิษฐ์ทั้งสิ้น อันนี้สงสัย แค่สงสัยนะครับว่า ผู้ที่ชวนให้พวกทหารสาบานคือหลวงประดิษฐ์ ดังนั้นคนที่เป็นตัวตั้งตัวตีให้คนอื่นร่วมสาบาน แต่ตั้งตนเองเป็นหัวหน้าชวนพรรคพวกก่อการกบฏ คำสาบานจึงถือเป็นโมฆะ หลวงประดิษฐ์เองก็เถอะ ตอนนั้นถ้าถูกจับได้เห็นทีจะรอดยาก อาจจะไม่ถูกจับเป็นด้วยซ้ำ โจรจีนรออยู่แล้ว


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ค. 10, 09:29
ขอบคุณค่ะ สำหรับคำอธิบาย   อย่างนี้นี่เอง  เขาถึงเรียก" ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย"
ตอนเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ปี ๑  อาจารย์ธิติมา พิทักษ์ไพรวัน สอนเรื่องเราเรียนปวศ.ไปทำไม  ท่านอธิบายมาหลายข้อ     
ข้อหนึ่งคือ ดูประวัติศาสตร์ในอดีต เมื่อจะมาเตือนตัวเองในปัจจุบัน  ว่าควรหรือไม่ควรจะให้มันซ้ำรอย
เป็นการเรียนรู้อดีตเพื่อรับใช้ปัจจุบัน    ในข้อดีของอดีต  และหลีกเลี่ยงความผิดพลาดในอดีต ไม่ให้เกิดขึ้นอีกในปัจจุบัน

ดังนั้นการปกปิดซ่อนเร้น  ลบล้าง ห้ามปรามหรือบิดเบือนอดีต  จึงไม่ใช่เรียนรู้ประวัติศาสตร์อย่างถูกต้อง

ชื่อ "โจรจีน" เข้ามาป้วนเปี้ยนกับมรณกรรมของใครต่อใครในการเมืองไทยมาหลายคน      เลยอยากรู้ว่า ทำไมถึงต้องเป็น "โจรจีน" จะเป็นโจรชาติอื่นไม่ได้หรือ
โจรจีนที่ว่านี้คือขบวนการของคุณฉางผิงจีนเป็ง  แห่งมลายู หรือเปล่า   ถ้าใช่  สงสารคุณฉางผิง   ว่าในพ.ศ. นั้น   แกคงสำลักบ่อย ที่ถูกนำมาเป็น reference เสียเรื่อยเลย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ค. 10, 09:57
ใช่แล้วครับ ใช่ทั้งความเห็น และคำถาม

พระยาทรงต่อ....ระหว่างอยู่ที่ไซ่ง่อนท่านยังหาทางออกไม่พบว่าจะหาเงินที่ไหนมาตู๊ค่าใช้จ่ายเดือนๆหนึ่งกว่าสองร้อยเหรียญ ในระหว่างการรอคอยเอกสารไปกลับของรัฐบาลอินโดจีนกับประเทศแม่ ที่บอกว่าสองสามเดือนอาจจะหมายถึง4เดือน คิดจะลดค่าใช้จ่ายโดยไปหาที่ราคาถูกกว่านั้น ก็ไม่ปลอดภัยเรื่องชาวบ้านที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมต่ำทราม ทั้งโขมยขโจรและวาจามารยาทของคนญวนระดับล่างสุด ผู้ดีไทยตกยาก พูดไม่รู้เรื่อง ฟังไม่เข้าใจ ไปร่วมอยู่ในสังคมของเขาก็ผิดสีผิดกลิ่นเป็นอย่างยิ่ง ครั้นท.ส.ย้ายไปอยู่เขมร ท่านมีความคิดที่จะทำการค้าแบบแลกเปลี่ยน เอาของญวนที่คิดว่าคนเขมรต้องการส่งไปขาย ให้ท.ส.หาของเขมรที่คิดว่าคนญวนต้องการส่งกลับมา เริ่มประเดิมด้วยการซื้อผ้าถูกๆแต่ท่าทางจะทนทานไม่ขาดง่าย ส่งไปสองพับใหญ่ๆเพราะคิดว่าจะถูกตลาดเพราะคนเขมรยากจน ท.ส.ไปเดินตลาดเจ็ดวันขายได้สิบกว่าเมตร คนเขมรบอกว่าถูกดีนะ แต่ตัดกางเกงนอกจากค่าแรงแพงกว่าค่าผ้าแล้ว ผ้ามันไม่ดิ้นใส่ไม่เท่เหมือนผ้าฝรั่ง คนเขมรเงินเดือน30เหรียญแต่ยินดีจะตัดกางเกงตัวละ30เหรียญอย่างอาจหาญซื้อความเท่ เงินเดือนไม่พอใช้ก็ไปกู้เขามาก่อนแล้วผ่อนส่งเขาไป พฤติกรรมนี้เหมือนชาติใดหน๊อ ที่รูดบัตรซื้อสินค้าเงินผ่อนจนเงินส่งงวดไม่พอกับเงินเดือน ต่อไปก็ก่อหนี้นอกระบบต่อ
พระยาทรงท่านเป็นทหาร ความจริงนิสัยคนไทยในยุคนั้นก็เหมือนๆกับคนเขมร ไม่รู้ใครเอาอย่างใคร แต่พระยาทรงท่านบอกว่าป็นความรู้ใหม่ของท่าน หลังจากใช้เวลาอีกหลายเดือน ผ้าของท่านขายไปได้ไม่ถึงยี่สิบเมตร

ดังนั้นเพียง6เดือนหลังจากถูกขับไล่ออกจากราชการ ท่านหมดไปแล้วกว่าครึ่งของสมบัติติดตัวที่ท่านมีทั้งชีวิต เครื่องทองน้อยทองหยองทั้งหลายของคุณหญิงได้แปรสภาพเป็นเงินสำหรับปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต ทุกครั้งที่คุณหญิงปลดสร้อยออกจากคอหรือรูดแหวนออกจากนิ้ว ท่านจะหัวเราะหึๆประชดตนเอง ฝรั่งเศสแม้จะเสนอให้ที่ทำการเกษตรแถมพันธุ์วัวแพะแกะหมู คนอย่างท่านก็ยอมรับไม่ได้เสียอีก หลังจากสี่เดือนเศษที่ไร้คำตอบจากปารีส สมบัติชิ้นสุดท้าย แหวนที่หัวเป็นเพชรลูกก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นเงิน750เหรียญในวันที่ต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน เหลือเชื่อจริงๆ คนที่เพิ่งรู้จักกันคนหนึ่ง ฐานะดีอยู่ตึกมีเครื่องเรือนภูมิฐาน พูดดี มีการงานเงินเดือน600เหรียญ มาบอกว่าร้อนเงินขอกู้ท่าน300เหรียญสักเดือนหนึ่ง โดยจะให้ดอก30เหรียญ สองคนสามีภรรยาปรึกษากันแล้วเห็นว่าดีกว่าให้เงินนิ่งอยู่เฉยๆเลยให้ไป แต่พอถึงกำหนดไปทวงคืนบอกว่ายังไม่มี พอทวงครั้งที่สองที่สามบอกว่าไม่มี ไม่ใช้ ไม่หนี อยากจะฟ้องร้องหรือทำอะไรก็เชิญ เป็นอันว่า    จบกัน


ในที่สุดวันตัดสินโชคชะตาของท่านก็มาถึง ล่าช้าประมาณเดือนหนึ่งจากกำหนดเดิม ตำรวจญวนมารับที่บ้าน บอกนายฝรั่งขอเชิญไปพบ ผู้บัญชาการตำรวจอินโดจีนแจ้งท่านว่า ปารีสให้คำตอบมาแล้ว พระยาทรงสุรเดชได้รับเกียรติให้อยู่ในไซ่ง่อนต่อไปโดยไม่มีกำหนด


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 03 ก.ค. 10, 10:34
ไปเจอสัมภาษณ์คุณศุขปรีดา พนมยงค์ พูดถึง พล.ท.ประยูร ภมรมนตรีไว้ดังนี้ครับ

"คือ อย่างนี้ สมัยหลังๆ ท่านไม่ค่อยมีอะไรทำ ก็ไปนั่งตามโรงแรมใหญ่ๆ พวกรุ่นหลังเรียกท่านว่าเจ้ากรม คนหนึ่งเป็นนักเขียน ให้เล่าเรื่องให้ฟังแล้วจะเขียน เขียนออกมาผิดข้อเท็จจริง ท่านปรีดีเลยฟ้อง เขาจะทำเป็นหนังสือแบบเรียนเลยนะ ศาลสั่งเก็บ แต่ว่าถ้าพูดถึง 2475 คนที่ร่วมสองคนแรกคือคุณประยูรกับ อ.ปรีดี เดินด้วยกันบนถนนที่ปารีส คุณประยูรสังเกต อ.ปรีดีแล้วถามว่าอาจารย์คิดอะไรอยู่ นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิด 7 คน"


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ค. 10, 11:41
ที่ฝ่ายนายปรีดีถืออีกเรื่องหนึ่งก็คือ ใครกันแน่ที่เป็นผู้ริเริ่มความคิดที่จะตั้งคณะราษฏรขึ้นมาปฏิวัตินำประชาธิปไตยมาสู่ประเทศไทย พลโทประยูรเขียนฟังดูคล้ายๆกับว่าท่านเป็นต้นคิด ส่วนนายปรีดีก็ว่าท่านเป็นคนแรก บทความของนายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ศิษย์คนหนึ่งของท่านได้สะท้อนความรู้สึกที่ว่าออกมาให้ตีความ ดังต่อไปนี้

 พลโทประยูร ภมรมนตรี เขียนไว้ในหนังสือ “ ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า ” (หนังสือนี้พลโทประยูรได้เอาต้นฉบับให้ผมตรวจก่อนพิมพ์ เฉพาะตอนที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา ตรวจที่ห้องทำงานของท่าน ที่ตึกไทยนิยมผ่านฟ้าประเสริฐ) ว่า

          “ สำหรับข้าพเจ้ากับคุณปรีดี พนมยงค์ก็ได้มีความรักใคร่สนิทสนมกันยิ่งขึ้นตามลำดับ ตอนค่ำลงหลังอาหารก็ออกไปเดินสนทนาคุยกันวันละหลายๆชั่วโมง ในโอกาสนี้ก็ได้วิจารณ์เรื่องการเมืองกันมาเป็นเวลาหลายเดือน จนถึงเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2567 ในขณะที่รับประทานอาหารกลางวันอยู่สองต่อสอง ที่ร้านอาหารเรสทัวรองค์ Des Ecoleav Henry-Martin ข้าพเจ้าได้ชักชวนคุณปรีดี พนมยงค์ว่าเราพูดเรื่องการเมืองมามากแล้ว สมควรจะลงมือกันเสียที ซึ่งคุณปรีดีก็ตะลึงนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วลุกขึ้นจับสองมือบีบแน่นด้วยความยินดีว่า
“ เอาจริงหรือ? ”  ข้าพเจ้าก็รับรองว่า “ เอาจริงแน่ เอาเดี๋ยวนี้ ”
             “ การคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ได้เกิดขึ้น ณ บัดนั้น...ข้าพเจ้าได้ศึกษาภาษาฝรั่งเศส ก็ได้พบกับร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ(จอมพลป.พิบูลสงคราม) เป็นเพื่อนที่รักใคร่สนิทสนมกันมาก  ได้ร่วมชั้นในโรงเรียนนายร้อยมาตั้งแต่ปีที่ 2 ได้มาเรียนภาษาในโรงเรียนนี้พร้อมกับ ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี(พ.ต.หลวงทัศนัยนิยมศึก) ซึ่งเป็นญาติโยมสัมพันธ์กับสกุลภมรมนตรีทางสายอินทรกแหง จึงได้ถือโอกาสให้มาอยู่รวมกันในบริเวณ และชักชวนเข้ามาร่วมคิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งท่านทั้งสองได้มีความสนใจอย่างจริงจัง  ส่วนคุณปรีดีได้ชักชวนนายจรูญ สิงหเสนี (หลวงศิริราชไมตรี) ซึ่งเป็นข้าราชการสถานทูตได้อีก 1 คน และข้าพเจ้าได้เดินทางไปชวน ดร.ตั้ว ลพานุกรมจากสวิตเซอร์แลนด์ กับนายแนบ พหลโยธิน ซึ่งศึกษาวิชากฎหมายอยู่ในปารีส เข้ามาอีกผู้หนึ่ง ครั้นเมื่อรวมได้ 7 คน ก็ได้เริ่มเปิดการประชุมคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2467  ที่บ้านพักของข้าพเจ้าที่ 5 Rue du Sommerad ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรก ข้าพเจ้าได้ถือเป็นวันอุดมมงคลฤกษ์ ซึ่งตรงกับวันเกิดของข้าพเจ้า ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้เสนอให้ ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ ผู้อาวุโสและเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการ เป็นประธานในที่ประชุม...”

                 นี่คือข้อเขียนของพลโทประยูร ซึ่งผ่านสายตาผมก่อนพิมพ์ แต่ข้อความตอนนี้ผมไม่สนใจเพราะเป็นเหตุการณ์ก่อนผมเกี่ยวข้อง

                 ทีนี้ ขอนำมาเปรียบเทียบกับหนังสือ “ บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย ” เขียนโดยอาจารย์ปรีดีว่า
 
                “ การประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรกของคณะราษฎร มีขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1927 ที่หอพักแห่งหนึ่ง ณ Rue du Sommerad ซึ่งเราเช่าห้องใหญ่ไว้เฉพาะการประชุมนั่น ผู้ร่วมประชุมมี 7 คน คือ

                 1. ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี นายทหารกองหนุนซึ่งเคยเป็นผู้บังคับหมวดทหารมหาดเล้กรักษาพระองค์รัชกาลที่ 6  
                 2. ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ สำเร็จวิชาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกสยาม แล้วมาศึกษาที่โรงเรียนนายทหารปืนใหญ่ฝรั่งเศส
                 3. ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี นายทหารกองหนุน เคยเป็นผู้บังคับหมวดกรมทหารม้าที่ 5 นครราชสีมา แล้วมาศึกษาที่โรงเรียนนายทหารม้าฝรั่งเศส
                 4. นายตั้ว ลพานุกรม นักศึกษาวิทยาศาสตร์ในสวิตเซอร์แลนด์ เคยเป็นจ่านายสิบในกองทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1  
                5. หลวงสิริ ราชไมตรี นามเดิมจรูญ นามสกุลสิงหเสนี ผู้ช่วยสถานทูตสยามประจำกรุงปารีส เคยเป็นนักเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมและเป็นนายสิบตรีในกองทหาร  อาสาสงครามโลกครั้งที่ 1
                 6.นายแนบ พหลโยธินเนติบัณฑิตอังกฤษ
                 7.ข้าพเจ้า
 
                 “ ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ ให้ข้าพเจ้าเป็นประธานและเป็นหัวหน้าคณะราษฎรจนกว่าจะมีบุคคลที่เหมาะสมเป็นหัวหน้าคณะราษฎรในกาลต่อไป”  นี่เป็นข้อเขียนของอาจารย์ปรีดี  

                 เมื่อนำข้อเขียนของพลโทประยูร กับของอาจารย์ปรีดีมาเปรียบเทียบกันมีข้อแตกต่างกัน เช่น พลโทประยูร เรียกการประชุมนั้นว่าเป็นการประชุมเป็นทางการครั้งแรกของคณะราษฎร สถานที่พลโทประยูรบอกว่าเป็นบ้านพักของท่าน อาจารย์ปรีดีบอกว่า เป็นที่ซึ่งคนเหล่านั้นเช่าไว้เฉพาะการประชุมนั้นชื่อสถานที่ดูจะเป็นชื่อเดียวกัน  แต่ผมก็ไม่รู้ว่าเป็นที่เดียวกันหรือเปล่า วันเวลาพลโทประยูรบอกว่า วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2467 อาจารย์ปรีดีบอกว่า เดือนกุมภาพันธ์ 2470 (1927) พลโทประยูรบอกว่าที่ประชุมเสนอ ร.ท.แปลก เป็นประธานอาจารย์ปรีดีบอกว่า ที่ประชุมลงมติเอกฉันท์ให้ท่านเป็นประธานที่ประชุมและหัวหน้าคณะราษฎร

                 แต่ในความแตกต่างเหล่านี้ ผมขอถือเอาข้อเขียนของอาจารย์ปรีดีเป็นหลัก ของพลโทประยูรเป็นส่วนประกอบ  


ผมไม่ได้นำเอาเรื่องการก่อตั้งคณะราษฎรในฝรั่งเศสมาเสนอในกระทู้ของผมเพราะเห็นว่าไม่เกี่ยวกับพระยาทรง และนักศึกษาประวัติศาสตร์ก็เข้าไปหาอ่านเองได้ไม่ยากนักทั้งในเวปและในห้องสมุด ส่วนใครเป็นผู้เริ่มคนแรก บ้านของพลโทประยูรจะอยู่ที่5 Rue du Sommeradจริง จะประชุมกันในห้องของตนหรือไปเช่าอีกห้องหนึ่งเพื่อจัดประชุมในวันนั้น ซึ่งจะเป็นวันที่เท่าไรกันแน่ อ่านถึงตรงนี้ก็สรุปไม่ได้นะครับ ถ้าทั้งสองท่านยังไม่ตายก็น่าจะไปเถียงกันในศาลและให้ศาลชี้ออกมานั่นแหละ จึงจะเป็นข้อยุติ บังเอิญเรื่องนี้จบในขั้นศาลอย่างที่เราทราบก็จริงแต่ไม่ถึงขบวนการพิพากษา ก็ท่านเล่นฟ้องบุคคลที่สาม จำเลยคือกระทรวงศึกษาธิการและสำนักพิมพ์ ทั้งข้าราชการ รัฐมนตรีตลอดถึงเถ้าแก่โรงพิมพ์ต่างก็ไม่มีใครอยากจะไปค้าความในเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของตนโดยตรง อะไรยอมได้ก็ยอมความกันไป เรื่องก็จบโดยคนส่วนใหญ่ไม่รู้ไม่สนใจอะไรเลย
 



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ค. 10, 11:50


อ้างถึง
ในที่สุดวันตัดสินโชคชะตาของท่านก็มาถึง ล่าช้าประมาณเดือนหนึ่งจากกำหนดเดิม ตำรวจญวนมารับที่บ้าน บอกนายฝรั่งขอเชิญไปพบ ผู้บัญชาการตำรวจอินโดจีนแจ้งท่านว่า ปารีสให้คำตอบมาแล้ว พระยาทรงสุรเดชได้รับเกียรติให้อยู่ในไซ่ง่อนต่อไปโดยไม่มีกำหนด

ที่พระยาทรงได้รับคำตอบเช่นนั้น เหตุผลจริงๆแล้วขณะดังกล่าวเหตุการณ์กำลังตึงเครียดหนักในยุโรป สงครามใกล้ระเบิดในนาทีใดนาทีหนึ่ง ในปารีสไม่มีเรื่องอะไรสำคัญเท่ากองทัพของฮิตเลอร์ที่เคลื่อนไหวอยู่ในแนวชายแดนเยอรมันก็จริง แต่หันกระบอกปืนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องของพระยาทรงกระจี๊ดดดเดียว ตัดบทได้จึงตัดบทไป

ท่านผู้อ่านต้องใจเย็นกับผมสักนิดนะครับ ตั้งใจจะเขียนเรื่องจากเนื้อหาในพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มเดียว ที่ร.อ.สำรวจ กาญจนสิทธิ์เขียนไว้เพียง280หน้า แต่ทำให้ผมต้องไปค้นข้อมูลเพิ่มในหนังสืออีกหลายเล่ม อะไรที่ผมสงสัยก็ไม่อยากทิ้งไว้ให้ท่านผู้อ่านสับสนต่อ วันนี้ครึ้มอกครึ้มใจเลยเอาภาพที่ผมเอาตั้งหนังสือประกอบการเขียนเรื่องนี้มาวางเรียงแล้วถ่ายรูปให้ดู ที่เห็นนี่ยังไม่ครบด้วยซ้ำ ไม่นับที่ค้นจากเวปอีก เรื่องที่ร.อ.สำรวจท่านเขียน ผมก็ต้องตีความตัดความย่อความขยายความ ตอนนี้กำลังจะเข้าเรื่องสงครามอินโดจีนและสงครามมหาเอเซียบูรพาที่เกี่ยวกับเมืองไทยและท้องเรื่องผูกไปถึง ผมอยากจะทิ้งความรู้ไว้ให้เยาวชนที่เข้ามาอ่านเรื่องที่ไม่ได้สักแต่ว่ามั่วมา มันคงจะมีประโยขน์บ้างหรอก ประวัติศาสตร์นี่น่ะ

สัปดาห์นี้(เริ่มต้นจากเมือวาน)ผมจะต้องไปวัดทุกคืนเพื่อแสดงความรำลึกเป็นครั้งสุดท้ายต่อน้าผู้หญิงที่ผมรักมากผู้เพิ่งได้จากไป ลูกชายสองคนของน้าก็เหมือนพี่ชายแท้ๆของผม ดังนั้นเรื่องที่กำลังเขียนจึงช้าลงไปอีก ต้องให้เวลากับผมนิดนึงนะครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: prickly heat ที่ 03 ก.ค. 10, 15:41
เพิ่งสมัครสมาชิกใหม่....ขออนุญาติลงชื่อว่าติดตามอยู่หลายวันแล้วครับ.......


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 03 ก.ค. 10, 16:03
มาร่วมลงชื่อเข้าห้องเรียนอีกคนค่ะ  :)

ตามอ่านเกือบทุกวันค่ะ มีบางวันที่คอมพิวเตอร์เกเรบ้าง ก็มารวบยอดอ่านวันหลัง (หรือวันหน้าคะ...?)


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ค. 10, 16:42
มาแสดงความเสียใจกับคุณนวรัตน ในการสูญเสียญาติผู้ใหญ่ที่เคารพค่ะ
กระทู้นี้ปักหมุดไว้แน่นดีแล้ว     ถึงกระทู้ไม่ขยับ  กี่เดือนกี่ปี ตราบใดยังไม่ถอนหมุดออก  ก็ยังอยู่ให้คนรุ่นหลังเข้ามาอ่านได้เสมอ
ระหว่างที่เจ้าของเรื่องยังไม่อยู่     ก็ขอคั่นโปรแกรมอยู่หน้าม่านไปพลางๆ
****************************
สังเกตว่า พระยาทรงสุรเดชอาจไม่ลำบากยากแค้นเท่านี้ก็ได้    ถ้าหากว่าท่านยอมรับความช่วยเหลือจากฝรั่งเศสบ้าง   เพราะทางเขาก็ยื่นนั่นยื่นนี่ให้ เพื่อบรรเทาความคับแค้น
แต่ท่านก็ไม่ยอม  อาจเป็นเพราะไม่อยากเป็นหนี้บุญคุณพวกเขา  อันจะทำให้ต้องเกิดภาวะจำยอมในภายหลัง  หากฝรั่งเศสต้องการให้ท่านตอบแทนขึ้นมาบ้าง
คนเราถ้าต้องพึ่งพาอาศัยอีกฝ่าย   ก็มักจะอึดอัด   เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไรเขาวางตนเป็นเบี้ยบนขึ้นมา สั่งให้ทำโน่นนี่ตามใจเขา  ยื่นมาให้สิบบาทอาจต้องตอบแทนเป็นร้อยบาท     ไม่ทำก็กลายเป็นอกตัญญู  หรือไม่ก็โดนเช็คบิลล์หนักกว่าที่ได้มา
แม้แต่เพื่อนรักก็ยังหักเหลี่ยมโหดกันได้   นายกับลูกน้องก็ยังทรยศกันได้     แล้วจะหวังอะไรกับคนที่ห่างกันกว่านี้

เรื่องที่สองคือการประหารชีวิตนายดาบพวง      ต่อให้นายดาบพวงไม่ได้บริสุทธิ์อย่างความเป็นจริง  แต่เดินทางขึ้นเหนือไปรับแผนกบฏจริงๆตามที่สายลับรายงาน    โทษก็ไม่น่าจะหนักหนาถึงขั้นประหาร  โดยไม่มีการลดหย่อนใดๆ   
ในเมื่อกบฎพระยาทรงฯ  เป็นกบฎที่ไม่มีการลงมือ    ไม่มีความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินใดๆเกิดขึ้น   เป็นกบฏที่เกิดจาก"ข่าวลับ" รายงานมาถึงรัฐบาลเท่านั้น     การพิจารณาของศาลพิเศษก็แล้วแต่ผู้เป็นใหญ่จะชี้ให้ศาลดำเนินการอย่างใด  ชี้เป็นชี้ตายได้ทั้งนั้น
ดิฉันจึงเข้าใจว่า นายดาบพวง จึงตายในลักษณะที่เรียกว่า "ตีวัวกระทบคราด"  เป็นวัวที่ถูกตีจนตาย หวังให้คราดที่ใกล้ชิด เจ็บปวดพอๆกับถูกตีเสียเอง





กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ค. 10, 17:25
^
^
แวะเข้ามาเตรียมการบ้านน่ะครับ
ยินดี และขอบคุณทั้งทุกท่านที่เข้ามา รวมทั้งได้แสดงความเสียใจที่น้าของผมได้จากไป

ผมขอเรียนถึงท่านอื่นด้วยนะครับ ถือว่าท่านอาจารย์เทาชมพูเป็นตัวแทนของมิตรที่แสดงความเสียใจต่อผมแล้ว ไม่จำเป็นต้องกระทำซ้ำอีก
เพราะความจริงแล้ว ผมไม่ได้เสียใจเลยที่น้าพ้นทุกข์จากที่นอนเป็นอัมพาตอยู่แปดปีกว่า การดับของสังขาร เป็นสุข
น้าของผม ท่านทำบุญถือศีลภาวนามาตลอด ยังไงท่านก็ต้องไปดี

เรื่องพระยาทรง ติดตามให้จบนะครับ นี่ท่านยังไม่ได้ลำบากจนถึงที่สุดเลย และท่านก็ยังไม่ได้รับข้อเสนออะไรที่ชัดเจนเป็นเรื่องเป็นราว
 
ส่วนเรื่องดาบพวงหรือคนอีก17คนที่ต้องสังเวยชีวิต ผมไม่ได้คิดว่าหลวงพิบูลและพรรคพวกจะตีวัวกระทบคราดนะครับ ผมคิดว่าท่านเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าคนเหล่านี้เป็นภัยต่อตน ตนจึงมีสิทธฺ์ป้องกันตัว เหมือนมนุษย์กับงู มนุษย์เห็นงูก็มักจะตีงูตายก่อนโดยไม่คิดว่าเป็นบาปด้วยซ้ำ เพราะกลัวว่าถ้าไม่ตีเดี๋ยวงูจะกัดเอาหรือจะไปกัดผู้อื่น ไม่สนใจด้วยว่าเป็นงูพิษหรืองูกินแมลง ยิ่งหลวงพิบูลแล้ว ท่านเป็นคนชนิดที่เห็นว่า "ชาติคือตัวฉัน" ดังนั้นใครที่อาจเป็นภัยต่อท่าน ท่านก็คิดว่าเขาเป็นภัยต่อชาติแล้ว ดังนั้น คนพวกนี้จึงสมควรตาย ซ.ต.พ.

สำหรับคุณภูมิใจไทย(แปลผิดแปลใหม่ได้นะครับ) วันหน้าวันหลังจะเข้ามาอ่านอีกก็เชิญได้ตลอดเวลาเลยนะครับ ไม่ต้องห่วง



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 03 ก.ค. 10, 18:33
ขอบพระคุณค่ะ ไม่ว่าวันหน้าวันหลัง (ไม่ทราบว่า วันที่ต่อจากวันนี้ไปควรเรียกว่า วันหน้า หรือ วันหลัง คะ)
ก็จะตามอ่านจนจบล่ะค่ะ   ประวัติของแต่ละบุคคล มีอะไรน่าสนใจให้ศึกษา ถึงได้ชอบอ่านเรื่องราวเก่าๆ
และประวัติศาสตร์ นี่แหละค่ะ

ภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทยค่ะ ล็อคอินนี้มีที่มา เพราะคนต่างชาติชอบถามว่า บ้านเมืองวุ่นวาย อยู่ที่นี่ คงไม่อยากกลับ
ไปไทยอีกแล้วใช่ไหม และตัวเองก็บอกซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ถึงยังไงก็เป็นคนไทย บ้านเมืองจะวุ่นวายยังไง ก็จะกลับ
ถ้ามีโอกาส และภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทยเสมอค่ะ  :)


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ค. 10, 19:27
ระหว่างพระยาทรงฯ ตกระกำลำบากที่ไซ่ง่อน     ทหารเสืออีกหนึ่งในสี่ คือพระยาฤทธิ์อัคเนย์  ก็ต้องประสบชะตากรรม ลี้ภัยอยู่ในปีนังเช่นกัน  
เจอบันทึกของคุณพโยม โรจนวิภาต จาก oknation.net

"ปีต่อๆมาในเมืองปีนัง  ที่ข้าพเจ้าเนรเทศตนเองมาอยู่โดยพระบรมราชานุญาต  แม้จะไม่เคยมีการเคลื่อนไหวติดต่อกับผู้ใดในเมืองไทย เกี่ยวกับการคิดล้มล้าง หรือคิดร้ายต่อรัฐบาลด้วยประการใดๆเลยก็ตาม แต่ก็ยังถูกรัฐบาลระแวงสงสัยอยู่ตลอดมา  เพราะในเมืองนี้มี อดีตนายกรัฐมนตรี พระยามโปกรณ์ฯ อาศัยอยู่  พร้อมทั้งเจ้านายผู้ใหญ่ผู้น้อยหลายพระองค์เช่น กรมหลวง สิงหวิกรมเกรียงไกร.อดีตเสนาบดีกลาโหม  กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน  อดีตเสนาบดี กระทรวงพานิชย์และคมนาคม ซึ่งประทับอยู่สิงคโปร์  และไปๆมาๆ กับปีนังอยู่เป็นประจำ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ สมเด็จกรมพระสวัสดิ์วัฒนวิศิษฎ์ และหม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิ์วงศ์  อดีตราชเลขานุการ ในพระ ร. 7 เป็นต้น

           นายพลตรี  พระยาเสนาสงคราม ก็เดินทางจากไซง่อนมาอยู่กับครอบครัวซึ่งมาอยู่ปีนังอีกด้วย  ภริยาและธิดาของพระสารสาสน์พลขันธ์  ก็มาหลบภัยการเมืองเกี่ยวกับ        "กบฎบวรเดช"  อยู่อีกครอบครัวหนึ่ง.

        ภายหลังต่อมาก็มี  พ.อ.พระยาฤทธิ์อัคเนย์  หนึ่งในสี่ เสือของคณะผู้ยึดอำนาจการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ถูกลมสลาตันพัดจากวังปารุสก์  ให้กระเด็นออกมาอยู่ปีนัง  ท่านผู้นี้มีค่าตัว  ซึ่งรัฐบาลตั้งเอาไว้ ถึง 1 หมื่นบาท  แต่ก็ไม่เห็นมีใครมาคิดจับส่ง          ในระยะหลังต่อมาอีก  ก็มีคนสำคัญที่หนีจากเกาะตะรุเตามาอาศัยธงอังกฤษที่ปีนังอีก5 คน คือ พ.อ.พระยาสุรพันธ์เสนี, น.อ.พระยาศราภัยพิพัฒ, ขุนอัคนีรถการ, นายหลุยคีรีวัต อดีตผู้อำนวยการ น.ส.พ.กรุงเทพเดลิเมล์  และนายแฉล้มเหลี่ยมเพชรรัตน์ อดีตทนายความที่นครราชสีมา.

         ร.ท.ขุนโรจนวิชัย  พี่ชายข้าพเจ้าซึ่งหนีออกไปอยู่ไซง่อน พร้อมพระองค์เจ้าบวรเดชก็ย้ายมาอยู่กับน้องชายอีกด้วย
         นอกจากนั้น  ยังมีจีนคนเดียวที่เกี่ยวข้องกับ " กบฎบวรเดช " และถูกจับเนรเทศไปเมืองจีน  ก็เดินทางเรือมาตั้งถิ่นฐานอยู่ปีนังอีกครอบครัวหนึ่ง.    

         ปีนังจึงกลายเป็นเมืองสำคัญ   ที่รัฐบาลสยามต้องจับตาเพ่งเล็งเป็นพิเศษ  ว่าจะมีการ  "ก่อหวอด" เพื่อทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลอย่างไรบ้าง  แต่เมื่อเบ่งอำนาจออกมาไม่ถึง  รัฐบาลจึงจำต้องส่งสายลับปลอมตัว  ย่องเข้ามาสืบข่าวในลักษณะต่างๆกันเช่นเป็นนักท่องเที่ยว,  เป็นพ่อค้าและเป็นคนไทยชาวใต้  มาอาศัยตามวัดไทยเป็นต้น   สายลับดังกล่าวมักจะไม่พ้นสายตาตำรวจนครบาล  ศิษย์สก็อตแลนด์ยาร์ดของอังกฤษ  ซึ่งจะแอบมากระซิบให้พวกเรา-ผู้ลี้ภัยทางการเมือง-รู้และระวังตัว   แต่ความจริง,  บรรดาผู้ลี้ภัยการเมืองก็ "ได้กลิ่น"  เมื่อเจอะแก๊งสายลับของรัฐบาลไทยไม่ว่าจะปลอมแปลงมาในรูปไหน..

         ข้าพเจ้าขอยืนยันไว้ในประวัติศาสตร์ได้เลยว่าระหว่าง  พ.ศ. 2476  ถึง  พ.ศ.2484อันเป็นปีที่ญี่ปุ่นก่อสงครามอาเซียอาคเนย์ขึ้นนั้น  บรรดาชาวไทยผู้ลี้ภัยในปีนังและสิงคโปร์  มิได้คิดก่อการใดๆที่จะทำการปฏิวัติ-ล้มล้างรัฐบาลในเมืองไทยเลย  ทุกคนคอยแต่เงี่ยหูฟังข่าวว่าเมื่อไรจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่เท่านั้น  เพราะนั่นเป็นความหวังชิ้นเดียวที่ยังเหลืออยู่....พอได้ทราบว่าเกิดมีการเปลี่ยนแปลง  แต่ยังคงเป็นรัฐบาลเก่า เหมือนเหล้าในขวดเก่า  เอามาใส่ในขวดใหม่  เราก็พากันเศร้าต่อไป  ความหวังครั้งนั้น ตั้งอยู่บนรากฐานว่า  การพ้นอำนาจของรัฐบาล  "คณะราษฎร์"  แล้วเท่านั้น บรรดาโทษทัณฑ์ทางการเมือง  ที่รัฐบาลเก่ายัดเยียดให้เรา  จึงจะได้รับนิรโทษกรรมเพราะเราอยากเชื่อว่าความยุติธรรมยังคงจะมีอยู่ในโลกนี้บ้างเมื่อเราใช้หนี้ " กรรมเก่า " ที่ติดตามเรามาแต่ชาติปางก่อนจบสิ้นแล้ว...ฟ้าก็จะประทานความยุติธรรมให้แกเราบ้าง..

          เมื่อมีแต่ข่าว  เหล้าขวดเก่ายังคงเปลี่ยนแต่เพียงขวดเท่านั้น เราก็รอ..รอต่อไป..  บรรดาผู้ลี้ภัยการเมืองจากสยามครั้งนั้น  ได้รับความยกย่องนับถือจากรัฐบาลอังกฤษ  ว่าเป็นผู้ดีมีเกีรติสูง  คือเป็นพระราชวงศ์และข้าราชการที่เคารพ พระมหากษัตริย์  เช่นเดียวกับชาวอังกฤษ  ถ้าผู้มีเกียรติเหล่านี้กลับมาประพฤติผิดกฎหมายนานาชาติ  กล่าวคือมาส้องสุมกันเพื่อคิดทำลายล้างรัฐบาลไทย  ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เสื่อมเกียรติยศอย่างน่าอับอายที่สุด  น่าเสียดายที่รัฐบาลไทยสมัยนั้น  มิได้คิดเช่นนี้  จึงพยายามส่งสายลับเปลี่ยนหน้ากันมาสืบลาดเลาอยู่เรื่อย...



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ค. 10, 20:23
ตามอ่านบันทึกของคุณพโยม โรจนวิภาต ต่อไปอีก    ก็เลยเจอเรื่องโจรจีนที่ชอบมาแย่งชิงนักการเมืองไทยจนถูกลูกหลงตายกันบ่อยๆ     คำเฉลยก็สอดคล้องกับที่คุณนวรัตนอธิบายไว้

       
          "ขอถือโอกาสเล่าเรื่องประหลาดเกี่ยวกับโฮเต็ลปินกังที่ ฮัตตันแลนด์นี้ไว้สักหน่อยคือเมื่อเกิดการปฏิวัติรัฐประหารในกรุงเทพฯ  ครั้งที่เท่าไร  จำไม่ไหว  ได้มีรัฐมนตรีหนุ่มนายหนึ่ง  หนีออกมาพักอยู่ในโรงแรมนี้  โดยมีนัดหมายกับพรรคพวกทางกรุงเทพฯไว้ว่า  ถ้าเหตุการณ์เรียบร้อยจะกลับเมืองไทยได้  ก็ส่งให้โทรเลขมาบอกเขาตามคำรหัสที่นัดกันไว้....

           ต่อมาเมื่อฝ่ายเหลือบฝูงที่มาครองอำนาจใหม่แอบรู้คำรหัส  จึงโทรเลขปลอมมาหลอกรัฐมนตรีหนุ่มให้กลับกรุงเทพฯ

            พอเขาลงจากเรือบินที่ดอนเมือง  ก็ถูกฝ่ายตรงข้ามตะครุบตัวไปทันที  แล้วในที่สุดเขาก็ถูกยิงตาย  ขณะมีการโยกย้ายที่คุมขัง  พร้อมกับเพื่อนรัฐมนตรีชุดเดียวกันรวม 4 คน  รัฐบาลแถลงว่า  "โจรมะลายู"  ยกพวกมาชิงตัว  เลยยิงต่อสู้กับตำรวจ  จนตายเฉพาะ 4 รัฐมนตรีหนุ่มเท่านั้น  โจรมะลายูและตำรวจไม่มีใครตายเลย

            คำแถลงนี้เป็นที่น่าอับอาย  ชาวอังกฤษและมะลายูผู้พิศวงงงงันว่า "โจรมะลายู"จะไปปล้นเอาตัวรัฐมนตรีไทยมาทำอะไรกัน....

           เรื่องเกี่ยวกับโฮเต็ลปินกังในตอนนี้  คือ  รัฐมนตรีหนุ่มผู้ถึงฆาตได้บอกกับเจ้าของโรงแรมไว้ว่า  จะกลับมาอีกในไม่กี่วัน  และเขาก็ได้มาตามสัญญา  ในวันรุ่งขึ้นจากที่เขาถูก  โจรมะลายู  รุมยิงตายพร้อมกับรัฐมนตรีเพื่อนเขาอีก 3 คน นั้น เขาได้มาปรากฎตัวที่ประตูที่บนโรงแรม หลายคนได้เห็นเขาอย่างถนัดชัดเจนในเวลากลางวันแสกๆ  จึงตกตะลึงเอะอะขึ้นเพราะนึกว่าเป็นตัวเขาจริงๆ  แต่ชั่วขณะหนึ่งนั้นภาพของเขาก็หายวับไปกับตา  มิได้มีตัวรัฐมนตรีหนุ่มชื่อดัง....อยู่ที่นั่นเลย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 03 ก.ค. 10, 23:30
ขอแสดงความเสียใจกับคุณ Navarat.C ด้วยครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ก.ค. 10, 07:11
^
ขอบพระคุณครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ก.ค. 10, 07:16
อาจารย์ใหญ่สองท่านเข้ามาแต่ไม่ตอบคุณภูมิใจที่เป็นคนไทย (ตกลงภูมิใจไทยไม่เอานะครับ ขอประทานโทษ) สงสัยจะให้สถาปนิกตอบ  ตอนแรกผมไม่ค่อยแน่ใจเหมือนกัน บางทีคำที่เราเรียนมาสมัยเด็กๆว่าถูก ราชบัณฑิตสมัยหลังประชุมกันแล้วบอกว่าผิด ที่ถูกต้องเป็นอย่างนี้ แล้วผมจะไปทราบได้อย่างไร ไม่ได้ติดตามอ่านพจนานุกรมทุกฉบับ เคยเถียงกับคุณม้าเรื่องฐ.สันฐานมาทีหนึ่งแล้ว ถูกคุณม้าน็อคตกเวทีไป

ยกตัวอย่าง สมัยเป็นนักเรียน จะมีคุณพระหรือพระยาท่านหนึ่งเป็นข้าราชสำนักในรัชกาลที่6มาพูดให้ฟังบนหอประชุมเรื่องวิชามหาดเล็ก ผมยังนึกชื่อท่านไม่ออกแต่คุณวี_มีอาจจะทราบ ท่านบอกว่าทูนเกล้าทูนกระหม่อม สะกดด้วยน.หนู ให้ใช้เวลาถวายของที่ไม่หนัก วางบนหัวแล้วคอไม่หักว่างั้นเถอะ ถ้าหนักเช่นจะถวายช้างหรือรถยนต์จะใช้ทูนเกล้าฯไม่ได้ ต้องน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม ส่วนทูล ล.ลิงสะกด แปลว่าพูด ใช้กับคำว่ากราบบังคมทูลเท่านั้น ให้จำเอาไว้
ผมก็ใช้อย่างนั้นมาจนเมื่อสี่ห้าปีที่แล้ว รุ่นน้องไม่ติดฝุ่นมาบอกผมว่าพี่เขียนทูนเกล้าฯถวายผิด ต้องทูลเกล้าฯ ผมก็เลคเช่อร์เรื่องข้างบนให้ฟังซะเลย พ่อหนุ่มนั่นฟังเสร็จก็ถอยออกไปสักครู่แล้วเอาพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานมาเปิดให้ดู ในนั้นแจ้งว่า การถวายของใดๆก็ตาม ให้ใช้คำว่าทูลเกล้าทูลกระหม่อมเพียงคำเดียว ผมก็หงายหลังตึง ตกเวทีไปอีกครั้ง

คราวนี้เลยต้องตรวจสอบ ได้ความตามที่ผมเข้าใจและใช้อยู่เป็นประจำละครับ

วันหน้า  คือวันในอนาคตที่ค่อนข้างจะยาวหน่อย เช่น เด็กวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้า
วันหลัง คืออนาคตอันใกล้แทบจะต่อจากวันพรุ่งนี้ หรือมะรืนมะเรื่องกันทีเดียว
วันหน้าวันหลัง เป็นวันในอนาคตแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว

หวังว่าคุณภูมิใจที่เป็นคนไทยจะนำไปใช้ต่อไปด้วยความมั่นใจนะครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 04 ก.ค. 10, 09:11
ขอบพระคุณค่ะ :D สงสัยมานานแล้วล่ะค่ะว่า วันหน้า กับ วันหลัง ใช้ต่างกันยังไง คราวนี้คงใช้ได้ถูกซักที..
ตามอ่านเรื่องราวชะตากรรมของพระยาทรงฯต่อไปนะคะ ^^


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ค. 10, 09:39
วิชาภาษาไทย ให้คนเรียนสาขาอื่นมาตอบ   อาจจะได้เนื้อถ้อยกระทงความมากกว่าค่ะ   ขอบคุณคุณนวรัตนที่มาอธิบายให้ฟัง
ขอแก้ตัวว่าไม่ได้ตอบคุณ ภ.จ.ท.ด.ป.ค.ท.   เพราะยังหาคำตอบไม่ได้    มันก็คล้ายๆกันไม่ว่าวันหน้าหรือวันหลัง   รอคุณหลวงเล็กก็ไม่เห็นเข้ามา
คือภาษาไทยเป็นภาษาที่ดิ้นได้ โดยเฉพาะภาษาพูด  จะล็อคเอาลงกรอบได้ยาก  รู้มากเลยอธิบายยาก 
เพราะเราก็มีคำว่า "วันหน้าวันหลัง" ที่หมายความอย่างเดียวกัน
" วันหน้าวันหลัง  คุณเทาชมพูกับคุณม้า ก็ระวัง  อย่าไปโยนหน้าที่ให้คุณนวรัตนอีกนะ"
แต่ถ้าจะจำแนกอย่างคุณนวรัตน ดิฉันก็เห็นด้วยค่ะ  วันหน้าเป็นอนาคตไกลกว่าวันหลัง

ส่วนเรื่องทูนเกล้าฯ หรือทูลเกล้าฯ      อาจารย์เจ้าคุณที่สอนในร.ร.เตรียม  สอนแบบเดียวกับที่คุณนวรัตนสอน   ไม่รู้ว่าท่านเดียวกันหรือเปล่า
ของเบาพอยกได้  ใช้ทูนเกล้าฯ    ของหนักยกไม่ไหว หรือเป็นนามธรรม ใช้น้อมเกล้าฯ
เดี๋ยวนี้ใช้ทูลเกล้าฯหมดแล้วหรือไม่ว่าอะไร ?


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ก.ค. 10, 10:28
^
ครับ สำนักพระราชวังเองก็ใช้เช่นนั้น


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ก.ค. 10, 10:49
พระยาทรงเขียนจดหมายไปถึงร้อยเอกสำรวจ กาญจนสิทธิ์ ท.ส.ของท่านมีข้อความตอนหนึ่งว่า

“…..เรื่องกลับพนมเปญเป็นอันล้มเหลว เขาบอกว่าได้รับคำตอบจากปารีสแล้ว ไม่ให้ไป เป็นอันว่ากันเป็นเหี้ยตัวสำคัญทีเดียว ถ้าปล่อยเพ่นพ่านก็จะทำความระยำอัปรีย์ขึ้นได้ กันไม่มีเหตุผลที่จะต้องเสียใจในการที่เขากักตัวไว้ เพราะเป็นความผิดของกันเอง การที่รัฐบาลฝรั่งเศสยังกรุณาให้อยู่ในไซ่ง่อนตามสบายก็เป็นพระเดชพระคุณของเขามากแล้ว ส่วนการไม่รู้จักทำมาหากิน เป็นความบัดซบของกันเอง…..”

ร.อ.สำรวจมาทำร้านขายข้าวแกงและขนมไทยๆแทนคุณหญิงและลูกสาวของเจ้านายอยู่ก็ยังไม่เป็นโล้เป็นพาย มีแต่ความพยายามแต่ขาดพรสวรรค์ในเรื่องรสชาดที่ยังไม่ค่อยถูกปากคนเขมร แม้อาหารทั้งสองชาติจะมีความใกล้เคียงกันมากไม่เหมือนญวนก็ตาม ก่อนหน้าพระยาทรงจะได้รับข่าวทางปารีสนั้น ร.อ.สำรวจโชคดีนิดหนึ่ง ร.อ. ทวี จันทร์ยิ่งยง เพื่อนรักที่ได้ทุนไปเรียนฟิลลิปปินส์และเคยขอยืมเงินให้ร.อ.สำรวจส่งไปให้เดือนละ30บาท พอทราบข่าวความทุกข์ยากของเพื่อนจึงโอนเงินก้อนใหญ่กลับมาใช้หนี้ แลกได้เกือบ800เหรียญ ผมเลยเห็นควรต้องจารึกชื่อของท่านลงในโลกไซเบอร์ให้เป็นตัวอย่างของคนดี การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องเสียหายตราบเท่าที่เราพยายามที่จะใช้หนี้ เป็นหนี้แล้วไม่ใช้เขานี่เป็นบาปเท่ากับการลักทรัพย์ แต่หนี้ที่เกิดจากการพนันเป็นความโงภ(แปลว่าโง่+โลภ)นะขอรับ

เล่ามาถึงตอนนี้ต้องขอเอ่ยเสียหน่อยว่า ในกรุงเทพมีการปล่อยข่าวว่าท่านผู้นำดูแลผู้ที่เคยเป็นศัตรูทางการเมืองมาก่อนอย่างดี ส่งเงินส่งทองไปให้พวกที่โดนเนรเทศใช้สอยไม่ลำบาก ลูกหลานก็ดูแลให้การศึกษาไม่ละเลย มีผู้ออกมาปฏิเสธอย่างเป็นเรื่องเป็นราวก็คือร.อ.สำรวจคนหนึ่งละที่เขียนไว้ว่า “อย่าว่าแต่ผู้ก่อการ24มิถุนา75จะให้เงินให้ทองเลย แม้ชีวิตเลือดเนื้อเขาก็จะทำลายให้สิ้น ตายไปเสียโดยเร็ว การที่เริ่มเดินทางจากประเทศเมืองเกิดมาก็แทบจะเอาชีวิตไม่รอด หวุดหวิดจะถูกเขาปลิดทิ้งระหว่างทาง ความเมตตาปรานีน่ะหรือ จะหาได้จากพวกเผด็จการเหี้ยมโหด”

เรื่องนี้สอดคล้องกับที่แพทย์หญิงโชติศรี ท่าราบ บุตรีของพระยาศรีสิทธิสงคราม(ดิ่น ท่าราบ)ได้เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง“กำศรวลพระยาศรี”ว่าเธอถูกถามเรื่องข่าวลือ ตอนที่สอบติดที่จุฬาแล้ว มหาวิทยาลัยจะไม่ให้เข้าเรียนเพราะเป็นลูกกบฏ เธอจึงหาญไปพบจอมพลป.ๆบอกว่าไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะเป็นการศึกษาไม่น่าจะกีดกัน เธอจึงได้เรียนตามสิทธิ์ และยังได้รับอุปการะเรื่องค่าเล่าเรียนอีกด้วย เธอตอบผู้ถามว่า ไม่จริงหรอก เธอสอบเอนทรานส์ได้ และได้เข้าเรียนโดยปกติเหมือนคนอื่น ค่าเล่าเรียนทั้งหมดก็เป็นเงินของแม่เธอเองทั้งสิ้น คนถามคือคุณณรงค์ จันทร์เรืองก็พอใจในคำตอบ บอกว่าเรื่องนี้คาใจตนมากว่าสามสิบปี “หลงนึกว่าจอมพลป.เขาก็เป็นคนดีนะ”

ยายของผมนามสกุลเดิมว่าไตลังคะ ผมจึงมีญาติอยู่กลุ่มหนึ่งที่เป็นญาติกับณ เณรอีกทีนึง เคยคุยกับพี่ผู้หญิงบอกว่า ลูกของ ณ เณรต้องออกจากโรงเรียน ทั้งแม่และลูกเลยต้องเปลี่ยนนามสกุล ไม่คบหาสมาคมกับญาติพี่น้องคนใดอีกเลย

ขอเล่าเรื่องตัวเองซะหน่อย ตอนผมอายุสัก5ขวบ แม่ไปดูงานอนุบาลศึกษาที่อังกฤษหนึ่งปี ฝากผมไว้กับป้า ตอนนั้นที่บ้านมีญาติผู้พี่ผู้ชายหลายคนสอบเข้าโรงเรียนเซนต์กาเบรียลได้ ผมไม่ได้ไปสอบด้วยหรอกเพราะยังไม่เต็มวัย แต่ป้าพาไปพบอธิการด้วยเผื่อฟลุ๊ก ผมเห็นฝรั่งเครายาวสูงใหญ่ใส่กระโปรงขาวแล้วปวดปัสสาวะจี๊ดขึ้นมาทันที วิ่งออกไปนอกห้องได้ก็ไม่ยอมเข้าไปอีกแล้ว ป้าออกมาเล่าให้พวกรอฟังนอกห้องว่า ตอนแรกเขาก็จะไม่รับ พอบอกว่าเป็นเด็กกำพร้าพ่อ อดีตนักโทษการเมืองเกาะเต่าเท่านั้น ท่านอธิการรับเลยเพราะสงสาร แม่ได้ทราบทางจดหมายตอนป้าฝากตัวชำระค่าเทอมให้ผมเรียบร้อยไปแล้ว ไม่พอใจว่าผมอายุน้อยเกินกว่าจะขึ้นไปเรียนชั้นประถม แต่ป้าบอกไม่เห็นเป็นอะไรเลย เขารับเข้าโดยไม่ต้องเสียแป๊ะเจี๊ยะตั้งพันสองพันก็นับว่าบุญแล้ว ผมขออนุญาตบันทึกเรื่องของท่านอธิการผู้มีพระคุณที่ผมไม่เคยทราบชื่อท่าน ณ ที่นี้ด้วย อยู่โรงเรียนนี้4ปีไปต่อมัธยมที่วชิราวุธ ผู้บังคับการก็รับเข้าโดยไม่ต้องสอบอีก กลายเป็นเด็กเส้นใหญ่ไปเลย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ค. 10, 10:55
คงเป็นการเปลี่ยนแปลงอีกขั้นหนึ่ง    ใช้อย่างเดียวกันหมด
ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรถตู้ ๕ คัน เพื่อใช้ในโครงการหลวง....ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายที่ดินจำนวน ๑๐๐ ไร่    ก็"ทูน" หัวกันได้
******************
ปั่นกระทู้ต่อ  ชนกันกลางอากาศกับคุณเจ้าของกระทู้พอดี

อ่านจากที่คุณนวรัตนเล่ามาตั้งแต่ต้นจนค.ห.นี้    ขอสรุปความเข้าใจว่า
๑    เราเริ่มต้นประชาธิปไตยด้วยการปฏิวัติ   เพราะเห็นว่าระบอบที่มีผู้บริหารคนเดียว  ไม่สามารถแก้ปัญหาสังคมในขณะนั้นได้    
ต้องเอาคนกลุ่มใหม่ที่มีความคิดใหม่เข้ามาแก้ไข  เพื่อประโยชน์จะตกอยู่แก่ประชาชนซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่สุดของประเทศ

๒   เมื่อได้อำนาจมาแล้ว    การบริหารก็กลายเป็นว่า  มีผู้แทนของประชาชน คือส.ส. ประเภท ๑ ได้    แต่ก็ต้องมีกลุ่มคนที่ปฏิวัติหรือคนที่มีความรู้ดี  คอยกำกับเป็นพี่เลี้ยงให้  เรียกว่าส.ส.ประเภท ๒    ในระยะ ๑๐ ปี   เพราะประชาชนยังไม่มีความรู้ความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยเพียงพอ
ข้อนี้ ในระยะหลัง เมื่อมี ส.ส. ๒ ประเภทนี้อีก   ดูเหมือนสื่อจะเรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ    
ไม่ทราบว่าผู้ติดตามงานของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล  หาคำอธิบายของคุณสุุพจน์ มาเล่าสู่กันฟังได้บ้างหรือไม่ ว่าทำไมผู้นำคณะผู้ก่อการฯ จึงไปคิดตรงกับสมเด็จพระปกเกล้าฯ ว่าประชาชนยังไม่พร้อมจะเป็นประชาธิปไตย
๓   หลังจากบริหารประเทศอยู่ไม่ถึง ๑ ปี  ก็เกิดการขัดแย้งในหมู่ผู้ก่อการ  จนมีการรัฐประหารเอานายกฯออก   ไม่ได้โหวตเอาออกในสภา  ตามระบอบประชาธิปไตย
๔   เกิดกบฏบวรเดช  ซึ่งไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย
๕   เกิดจากจับกุมคุมขัง พิจารณาโทษโดยศาลพิเศษ  ซึ่งไม่เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม   จำเลยไม่มีโอกาสตั้งทนาย  หรือหาหลักฐานมาต่อสู้
๖   หลังจากนั้น  คณะผู้ก่อการก็แยกย้ายลี้ภัยการเมืองกันออกนอกประเทศไป    เร็วบ้างช้าบ้าง   สาเหตุตั้งแต่กบฏพระยาทรง  ไปจนถึงกบฏวังหลวง ซึ่งไม่เป็นไปตามระบอบรัฐสภา ของประชาธิปไตย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ก.ค. 10, 11:20
โอ้..ใช่แล้วครับ ขอบพระคุณที่ให้เบาะแส ขอบคุณอินเทอเน็ตที่ผมเอาช่ื่อฟาเธอร์ฮีแลร์ไปค้นหาภาพ ก็ได้มาในชั่วอึดใจ ใช่เลยหนวดเคราอย่างนี้แหละที่ทำเอาผมถึงกับปัสสาวะรดกางเกง ยังจำได้ชัดเจน

ผมเคยพยายามจะค้นหามาก่อนเหมือนกัน แต่สมัยไม่มีอินเทอเน็ตก็ลำบากเกินจะไปเริ่มต้น เอ้อ ดีใจจังครับที่หาผู้มีพระคุณเจอ

อ้าว กระทู้ก่อนหน้านี้หายไปไหน?


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ค. 10, 11:36
ขอโทษที   โพสต์ไปแล้ว เกิดนึกได้ว่าอาจไม่ใช่    ก็เลยลบกระทู้ไปค่ะ    
คุณนวรัตนไวปานความเร็วแสง อ่านเจอเสียก่อน
ถ้าหากว่าใช่คุณพ่อฮีแลร์ก็ดีแล้วละค่ะ   หายค้างคาใจว่าเป็นใคร


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ค. 10, 11:48
กลับมาเรื่องกบฏพระยาทรงสุรเดชอีกครั้งดีกว่าค่ะ
กลับไปอ่านถึงรายชื่อผู้ถูกประหารรวมทั้งนายดาบพวง พี่ภรรยาของพระยาทรงฯแล้ว  สงสารจับใจ ว่าโทษนั้นหนักเหลือเกิน แค่นายดาบพวงถูกกล่าวหาว่าเดินทางไปรับแผนจากน้องเขยที่เชียงใหม่เท่านั้นยังโดนประหาร    อำนาจในสมัยประชาธิปไตยนั้นแรงจริงๆ
ทำให้ย้อนนึกถึงคดีกบฏ ๑๓๐     ในรัชกาลที่ ๖     พระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาด สั่งประหารใครก็ได้  นายทหารหนุ่มที่คิดขั้นล้มราชบัลลังก์   วางแผนกันชัดเจนมีหลักฐานยืนยัน  ก็ยังไม่มีใครถูกประหารสักคน
ถูกแค่จำคุก   แล้วต่อมาก็พระราชทานอภัยโทษให้ทุกคน

เรื่องนี้คงต้องถามคุณV_Mee เผื่อจะมาเล่าให้น้องๆหลานๆ ที่สนใจปวศ. ฟังบ้าง    เล่าได้ละเอียดกว่าดิฉันแน่นอน


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ก.ค. 10, 12:03
ระหว่างรอคุณวี_มีเข้ามาทำการบ้านที่ถูกพาดพิงไว้ ผมก็ขอกลับมาเดินเรื่องพระยาทรงต่อสักหน่อยนะครับ ไปสนุกกับเรื่องข้างทางซะหลายเรื่อง

เงิน800เหรียญของร.อ.สำรวจ ละลายไปกว่าครึ่งเพราะได้นายพันเอก เสนาธิการหัวกระทิเป็นที่ปรึกษา ขอคำแนะนำว่าระหว่างค้าน้ำตาลปึกกับทำรถสามล้อให้เช่าอะไรจะดีกว่ากัน พระยาทรงเขียนมาบอกว่า น้ำตาลเป็นของกิน สงครามจะเกิดของกินจะหายาก ราคาแพงอย่างไรคนก็ต้องกิน ส่วนรถสามล้อนั้น พอจนเงินเข้า คนก็เลือกที่จะเดิน ไม่ขึ้นรถให้เสียสตางค์ ฟังดูดีมีหลักคิดนะครับ สำรวจก็เห็นด้วยเพราะทำขนมขายอยู่ ยังไงๆน้ำตาลก็คงไม่เน่าไม่บูดขายไม่ออกก็ได้ใช้ แต่ปรากฏว่าพอลงทุนซื้อมาเยอะแยะจึงได้ความรู้ใหม่อีกประการหนึ่งว่า น้ำตาลปึกนั้นไม่เน่าไม่บูดก็จริง แต่เก็บไว้ระยะหนึ่งก็ไหลเยิ้มละลายได้ ความรู้ใหม่ของสำรวจต้องจ่ายค่าเล่าเรียนด้วยราคาแพงมาก แต่คนอ่านกระทู้ของผมได้รับฟรีๆ ใครไม่รู้ธรรมชาติของน้ำตาลปึกก็ขอให้รู้ซะ นักเรียนผู้ใดไม่รู้จักน้ำตาลปึกก็สารภาพมาโดยดีจะได้เฉลยให้

หลวงรณสิทธิ (อนาคตอธิบดีกรมศิลปากรในวันหน้า(เห็นไหมครับตรงนี้ใช้ในวันหลังไม่ได้ วันหน้าวันหลังก็ไม่ใช่อีก))เจ้าของไอเดียทำสามล้อให้เช่าสงสารเพื่อนรุ่นน้องมาก เลยยินดีลงทุนร่วม50-50 ให้เกิดความมั่นใจ ซื้อรถเก่าๆมาเพื่อจะเอาทะเบียน แล้วซ่อมแซมตกแต่งด้วยความใจเย็นไม่เร่งร้อน ได้รถสวยมาคันหนึ่งให้เช่าได้เดือนละ80เหรียญ แบ่งครึ่งกับหุ้นส่วนแล้วได้คนละ40เหรียญ ร.อ.สำรวจภาคภูมิใจในน้ำพักน้ำแรงนี้มาก เงินรายได้จากเดือนแรกนี้ร.อ.สำรวจส่งไป ใช้คำว่ากราบเท้าอาจารย์ที่ตกทุกข์ในไซ่ง่อน กรณีย์นี้นี้ท่านยอมรับ ทำให้ศิษย์ดีใจและชื่นใจมาก



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ค. 10, 12:30
เรื่องอาหารการกิน ทำด้วยน้ำตาลปึก คงจะต้องขอคุณวันดีมาเสริมละมัง
อ่านมาถึงชีวิตตอนนี้ของพระยาทรงฯ  สงสัยว่ากำเนิดของท่านคงมาจากครอบครัวผู้ลากมากดี    ท่านถึงไม่รู้วิธีทำมาหากินอย่างชาวบ้านร้านถิ่นเขา   คุณหญิงเองก็คงช่วยไม่ได้มากเท่าไร
นึกถึงประวัติท่านผู้หญิงมหิธรที่คุณวันดีเล่าไว้    เมื่อเจ้าคุณทำท่าว่าจะขาดแคลนรายได้   ท่านผู้หญิงก็ทำเครื่องร่ำน้ำปรุงเป็นการใหญ่ ให้บ่าวหาบไปขาย พอเป็นรายได้เลี้ยงนายและบ่าวกันไปได้

ไม่รู้ว่าท่านอื่นๆทั้งเจ้านายและข้าราชการ  ที่ลี้ภัยไปอยู่ปีนัง สิงคโปร์ ต้องลำบากอย่างนี้บ้างไหม    หารายละเอียดไม่เจอว่าท่านหาเลี้ยงชีพกันอย่างไร


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ค. 10, 15:52
ไปเจอคำให้สัมภาษณ์ของพ.ต.พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา บุตรชายพระยาพหลฯ ในเว็บไทยโพสต์ วันอาทิตย์ที่ 4ก.ค. 2553  เลยลอกมาให้อ่าน สำหรับท่านที่อยากติดตามบั้นปลายชีวิตของเจ้าคุณพหลฯ และครอบครัวของท่าน
 
 
“คิดหรือว่าการปฏิวัติทำให้ประเทศเจริญ ไม่จริงหรอก มีปฏิวัติกี่ครั้งผมบอกเลย มีครั้งเดียวที่ผมเชื่อ 24 มิ.ย.2475 เพราะครั้งนั้นไม่มีหรอกนิรโทษกรรม ถ้าไม่สำเร็จผมก็ไม่ได้เกิด เพราะ 7 ชั่วโคตร เพราะฉะนั้นพ่อผมทำด้วยความมุ่งหมายสูงสุด ไม่เหมือนอย่างไอ้พวกนี้ทั้งหลายแหล่ที่มันปฏิวัติโดยอ้าง 3 ประ เหมือนเป็นนะโมตัสสะ ประเทศชาติ ประชาธิปไตย ประชาชน แต่ 3 ประนี้ไม่เคยได้ประโยชน์จากการอ้างของมันเลย”
 
 ลูกชายคนกลางของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา กับท่านผู้หญิงบุญหลง ใส่เสื้อยืดที่ยังเปื้อนจากการทำงานในบ้านยืนคุยกับเราในบ้านเช่าที่เป็นบ้านไม้โทรมๆ อยู่ในซอยลึกย่านรามอินทรา นี่คือลูกอดีตนายกรัฐมนตรี อดีตผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้าคณะราษฎร ผู้นำการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตย นำอำนาจมาให้ปวงชนชาวไทย
 
แต่ถึงบ้านจะเก่า ก็เป็นระเบียบเรียบร้อย ในบริเวณยังมีต้นไม้ผลไม้หลายชนิดที่ปลูกไว้ บอกว่าได้มาจากคุณแม่ ท่านผู้หญิงบุญหลง ที่ทำเองทุกอย่างเพื่อเลี้ยงลูก 7 คน หลังจากพระยาพหลถึงแก่อนิจกรรม
 
“เห็นเขาขายกับข้าวกันแล้วนึกถึงคุณแม่ผม ฝีมือท่านถ้าเรียนไว้บ้างคงสบาย คุณแม่ผมทำเองทุกอย่าง แม้แต่น้ำบูดูก็ทำเป็น น้ำปลาก็ทำเอง เผาถ่านเอง เทียนพรรษายังหล่อเอง เพราะมีผึ้งหลวงทำรังอยู่ที่บ้านในตอนนั้น”
 
ลูกนายกฯผู้มีเงิน 25 บาท
 
พระยาพหลถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี 2490 สิ่งที่ครอบครัวได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐบาลก็คือมีบ้านให้อยู่ เพราะพระยาพหลไม่มีบ้าน อาศัยวังปารุสก์อยู่มาตั้งแต่ 2475
 
“พอหลังจากทำศพคุณพ่อเสร็จ  รัฐบาลจอมพล ป. ก็ไปขอคุณแม่ขอใช้วังปารุสก์เป็นกองบัญชาการคณะรัฐประหาร และให้คุณแม่ผมไปอยู่ที่ ปตอ. เป็นบ้านเก่าที่ท่านอยู่ตอนเป็น พ.ท. อยู่หัวมุมปตอ. ริมคลองบางซื่อ ใกล้กับสะพานพิบูลฯ ที่จะไปบางโพ อยู่ปีเดียวเพราะตอนนั้นมันไกล เท่าๆ กับชานเมือง ย้ายมาอยู่บ้านสวนอัมพวันที่สี่เสาเทเวศร์ เดิมเป็นบ้านคุณท้าวในรัชกาลที่ 5 มี 2 หลัง ตอนนี้รู้สึกจะเป็นสมาคมจันทบุรีและที่ตั้งของสภาโอลิมปิก ปี 2510 จอมพลถนอมมาขอคุณแม่บอกว่าอยากจะได้บ้านหลังนี้ทำสภาการศึกษาแห่งชาติ แล้วให้ไปอยู่บ้านที่ยึดจากจอมพลสฤษดิ์ที่ซอยจอมพล ที่ให้ภรรยาน้อยอยู่”
 
ตรงนั้นอยู่ได้ไม่นาน ท่านผู้หญิงก็ย้ายไปซื้อที่ดินอยู่ที่นครชัยศรี จนท่านถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี 2531 ทรัพย์สมบัติที่มีบ้างก็คือที่ดินแต่ขายหมด
 
“เช่น ที่บางเขน ใครผ่านไปแถวนั้นจะเห็นชื่อซอยท่านผู้หญิงพหลฯ คุณพ่อซื้อสมัยเป็นร้อยโทร้อยเอก ไร่ละ 20 บาท ขายเพราะไม่มีจะกิน คุณแม่คนเดียวต้องเลี้ยงลูก 7 คน ที่รังสิตก็ขาย บ้านบางซื่อที่คุณพ่อกับคุณป้าปลูกด้วยกันก็ต้องขายเพราะไม่มีเงินจะเลี้ยงพวกผม”
 
“สมัย จอมพล ป. คุณแม่บอกว่า ปรับเงินเดือนข้าราชการ แล้วบำนาญของท่านเจ้าคุณล่ะ โอ๊ย ท่านผู้หญิงอย่าให้ผมไปเกี่ยวข้องกับเงินท่านเจ้าคุณเลยครับ เดี๋ยววิญญาณท่านรู้ท่านจะไม่พอใจผม ถ้าท่านผู้หญิงเดือดร้อนอะไรบอกผม เดี๋ยวผมจัดการให้ แต่อย่าให้ผมไปแตะต้องบำนาญของท่านเลย”
 
“ท่านเป็นคนซาดิสซึ่ม (หัวเราะ) โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ตรงวัดพระศรี เป็นที่ของคุณพ่อ จอมพล ป.เป็นนายกปุ๊บ ออกกฎหมายเวนคืนที่ตรงนั้นสร้างโรงเรียน แล้วมาถามคุณพ่อว่าใต้เท้าโกรธผมหรือเปล่า คุณพ่อก็ถามว่าคุณหลวงถามผมทำไม ที่ผมแกล้งเวนคืนที่ของใต้เท้าทำโรงเรียน เอ๊ะ คุณหลวงผมจะไปโกรธคุณหลวงได้ยังไง คุณหลวงจำได้ไหมเมื่อวันที่ 24 มิถุนา หลัก 6 ประการของคณะราษฎร ข้อหนึ่งระบุว่าจะบำรุงการศึกษาของชาติให้เจริญ แล้วเมื่อคุณหลวงเห็นที่ของผมจะมีประโยชน์กับการศึกษา ผมควรจะดีใจไม่ใช่ไปโกรธ จอมพลป.ท่านหน้าหงายเลย ท่านแกล้งใครมีแต่โกรธ แต่แกล้งคุณพ่อดันไม่โกรธ”
 
เล่าว่าหลังจากพระยาพหลออกจากราชการก็ไม่มีรายได้อะไรนอกจากบำนาญ
 
“มีที่ก็เก็บค่านาแต่ละปี เป็นข้าวบ้าง ตอนคุณพ่อเสียมีเงินติดบ้านอยู่ 25 บาท เพราะฉะนั้นคุณแม่ยิ่งกว่าประเสริฐ ผู้หญิงคนเดียวตัวเล็กๆ อายุไม่เท่าไหร่ ฟันฝ่าชีวิตเลี้ยงลูก 7 คนรอด รัฐบาลเขาก็ให้อยู่บ้านฟรีบ้าง ให้รถใช้บ้าง แต่ไม่ใช่แค่นั้นแล้วอยู่ได้    จนรัฐบาลคุณธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกฯ คุณแม่ไปหาคุณบุญมา วงศ์สวรรค์ รัฐมนตรีคลัง ไม่เคยรู้จักกัน คุณธานินทร์ก็ไม่รู้จัก    เข้าไปพบคุณบุญมาเล่าว่าบำนาญไม่เคยได้รับการปรับเลย คุณบุญมาก็เรียกปลัดกระทรวงมา ตรวจสอบก็จริง โห ตั้งกี่สิบปีไม่ได้ปรับ คุณบุญมาก็บอกท่านผู้หญิงครับ เราจะพยายามทำให้ถูกต้องแต่ขอร้องท่านผู้หญิง อย่าเรียกดอก รัฐบาลไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนมาให้ เพราะไม่ได้จ่ายมา 20-30 ปี ตามกฎหมายต้องเสียดอกด้วย แต่จะปรับให้ถูกต้อง”
 
ตอนนั้นเองที่ได้ปรับจากบำนาญ 1,600 บาทมาเป็น 8,000 บาท
 
“เวลาเขาปรับเงินเดือนข้าราชการ ข้าราชการบำนาญจะได้ปรับด้วย แต่ของคุณแม่ไม่เคยได้รับการปรับเลย”
 
กรณีนี้ก็เช่นเดียวกับ อ.ปรีดี ที่ต่อมาได้ฟ้องรัฐบาลว่าไม่จ่ายบำนาญเลย และเรียกดอกเบี้ยด้วย
 
“ก็ทำกับท่านกับครอบครัวเจ็บปวดแค่ไหน พี่ปาลถูกแกล้งเกณฑ์มาเป็นพลทหาร อยู่บางกระบือ แล้วยังจับเข้าคุก สารพัด ครอบครัวท่านน่าสงสารมาก ทำเพื่อคนทั้งประเทศแต่ตัวเองได้รับกรรมแค่ไหน”
 
ทางพระยาพหลอาจยังเบากว่า เพราะเหมือนเป็นคนกลาง และพ้นจากอำนาจไปก่อน
 
“เหมือนใครจะทะเลาะกันก็คุณพ่อ อย่างคุณอาควง เวลาปีใหม่ก็ไปหา มามานั่งตักอา มีอะไรจะมาคุยกับอาปีนี้ ไหนเขาบอกว่าคุณหลวงพิบูลกับคุณอาควงไม่ถูกกัน ไม่ใช่ อากับตาแปลกเป็นเพื่อนกัน แต่ตาแปลกตอนมันมีอำนาจมันแกล้งอา มันตั้งให้อามียศพันตรีเพื่อจะไปเป็นลูกน้องมัน อาก็ต้องไปรายงานตัวกับมันที่ศูนย์ปืน ลพบุรี วันดีคืนดีมันก็เอารถถังมาจอดหน้าบ้าน เฮ้ยตาควงแกขึ้นเป็นนายก อยู่ไปอยู่มาอารถจิ๊ปติดปืนกลมา บอกเฮ้ยแกลงจากเก้าอี้นายกได้แล้ว คุณอาควงเป็นคนอย่างนี้ แต่ก่อนนี้ผมชอบประชาธิปัตย์ แต่มาตอนนี้ไม่เอาเลย”
 
 จากนายสิบเป็น ผบ.รถถัง
 เชื่อหรือไม่ว่า ลูกอดีตผู้บัญชาการทหารบก แทนที่จะเข้า ร.ร.นายร้อย จปร.กลับเข้า ร.ร.นายสิบ
 
“ผมมาเข้าเป็นนักเรียนนายสิบเพราะประชดแม่ โกรธว่าแม่ไม่รักเพราะผมถูกตีมากกว่าเพื่อน แต่ผมไม่ได้ดูเลยว่าตัวผมเองเกเร สารพัดที่จะทำ คิดว่าตัวเองเป็นคนดี มองเห็นแต่ตัวเองตลอด และก็โทษสิ่งแวดล้อมว่าเขาไม่รักเรา พวกพี่ๆ ล้อว่าผมเป็นเด็กเก็บจากกองขยะ ก็เชื่อเป็นตุเป็นตะ พอถูกคุณแม่ตีมากก็โกรธคุณแม่หาว่าคุณแม่ไม่รัก กว่าจะหายโง่ก็แก่แล้ว”
 
“ผมเข้าโรงเรียนนายสิบ ผู้การชาติชายท่านจะไม่รับตอนนั้นท่านเป็นพลจัตวา ผู้บัญชาการโรงเรียนยานเกราะ พอเห็นนามสกุลท่านเรียกไปถาม คุณเป็นอะไรกับเจ้าคุณพหล ผมเป็นลูก คุณเป็นลูกแน่ๆ หรือ แน่ครับ แม่คุณชื่ออะไร ท่านผู้หญิงบุญหลง เรียกคุณชายเลย คุณชายมาเข้าทำไมนักเรียนนายสิบ ทำไมไม่เข้าโรงเรียนนายร้อย ผมสอบไม่ได้ครับ ได้สิเดี๋ยวจัดการให้ ไม่เอา แกงงเลย รองผู้บัญชาการ พ.อ.ศรี พาคุณชายไปพบท่านผู้หญิงเดี๋ยวนี้ ให้มาเข้าได้ยังไงนักเรียนนายสิบ พ.อ.ศรีท่านก็พานั่งรถไปที่บ้าน โกรธคุณแม่ ยังไงก็ไม่ยอม อยากจะแต่งเครื่องแบบ เดี๋ยวเอาเครื่องแบบให้แต่ง สิบเอกก็ได้ อยากจะขับรถถังจะพาไปฝึกขับ แต่ไม่ต้องเป็นนักเรียนนายสิบ มันโหดร้ายทารุณ รองศรีบอกว่าดื้อน่าดูเลย ตามใจอยากจะไปเรียนก็ไป ใต้เท้ายอมให้คุณชายไปเรียนหรือครับ คุณแม่บอกตามใจเขา เราก็คิดว่านักเรียนนายสิบเหมือนกับโรงเรียนทั่วไป ที่ครูพูดว่าเธออย่างนั้นเธออย่างนี้ พอไปเจอของจริงมันไม่ใช่ ตรงกันข้ามเลย”
 
เข้า ร.ร.นายสิบปี 2500 จบแล้วก็รับราชการเป็นทหารชั้นประทวนธรรมดา จนปี 2511 ไปรบเวียดนาม ตอนนั้นเป็นสิบเอก บอกว่าอยากได้ประสบการณ์เพราะเป็นทหารก็ต้องไปรบ แม้จะเข้าใจการต่อสู้ของคนเวียดนามและมีเชื้อสายเวียดนาม
 
“ตระกูล ผมทั้งพ่อทั้งแม่ 4 เผ่า ไม่มีเลือดไทยเลย คุณปู่ผมพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (ถิ่น พหลโยธิน) เป็นฮกเกี้ยน คุณย่าผมเป็นมอญบางไส้ไก่ คุณตาจีนแต้จิ๋ว คุณยายญวน หลานยาลองหว่าง เฮ ผมไปเวียดนามเพื่อให้ได้ประสบการณ์ว่าฉันได้รบ คิดว่าตายก็ช่างมันเพราะไม่มีใครรักอยู่แล้ว แต่พอไปแล้วหลายสิ่งหลายอย่างสอนให้เรามองเห็นตัวเองว่าเคยทำอะไรไว้บ้าง”
 
“พอกลับ จากเวียดนาม ลงจากเครื่องบิน คุณแม่ยืนรอรับวิ่งไปถึงกราบที่เท้าเลย บุญคุณแม่นี้ใหญ่หลวง เรานี่เลวมาตลอดเลย ไม่เคารพรัก ผมถูกยิงหมวกทะลุ หัวไหล่ทะลุ ตอนนั้นหลับอยู่เวียดกงเข้าตี ฝันว่าคุณพ่อกับคุณแม่มายืนในที่สลัวๆ มา เรียก-แมว! (ชื่อเล่น) ตื่น ข้าศึกกำลังเข้าตี ผมลืมตาเฮ้ยของจริง ปืนครกหล่นปั๊บระเบิดตูมสะเก็ดเฉียดจมูกไปหน่อยเดียว ผมเป็นพลขับรถ คว้าเสื้อเกราะ ใส่รองเท้าแบบไม่ต้องผูกเชือก วิ่งไปเตรียมขับรถ ปรากฏว่าข้างหน้ายิงมากราวใหญ่ขึ้นรถข้างหน้าไม่ได้ ก็มาขึ้นข้างหลัง ต้องกลายเป็นผู้อำนวยการสั่งยิงวันนั้น เพราะผู้หมวดไม่อยู่ บอกระยะเพื่อนให้ยิง ทางนี้ 500 เมตร 10 นัด ขับรถไปยิงไปด้วยขับไปด้วย”
 
เป็น ทหารสังกัด ม.พัน 4 หน่วยที่มีบทบาททางประวัติศาสตร์ เป็นหนึ่งในลูกน้องของ พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร สอบจากนายทหารชั้นประทวนขึ้นเป็นร้อยตรี เลื่อนตำแหน่งจนเป็นพันตรีผู้บังคับกองร้อย แล้วลาออกจากราชการเมื่อปี 2529 หลังกบฎ 9 กันยาหน่อยเดียว เพราะถูกไม่ไว้วางใจแม้จะไม่ได้ร่วมกับนายเก่าก่อกบฎ
 
“แกเป็นผู้พัน ผมเป็นจ่า” เล่าถึง พล.ต.มนูญกฤต “เดิมตอนเป็นนักเรียนนายร้อยผมเรียกแกพี่เปี๊ยกๆ พอจบโรงเรียนนายร้อยแกไปอยู่โคราช ม.พัน 8 เจอหน้ากันก็หวัดดีครับพี่เปี๊ยก แกก็ดีกับผม สมัยนั้นแกยังไม่มีบทบาทด้านการเมือง”
 
“เมษาฮาวายผมเกี่ยว แต่ครั้งหลังผมไม่เกี่ยว เพราะผมเห็นแล้วว่าไม่ได้ประโยชน์ เมษาฮาวายนี่อย่าว่าแต่ประตูเลย รูแพ้สักนิดก็ไม่มี เพราะทุกฝ่ายเอาหมด ผมไปเป็นผู้บังคับกองร้อยรถถังขนาดใหญ่อยู่ที่สระบุรี มนูญสั่งให้ผมเตรียมรถถัง มีหน้าที่ลงมาล้อมดอนเมือง วันนั้นผมก็เตรียมรถถัง ตั้งแถวไว้เรียบร้อย เช้าขึ้นประกาศปฏิวัติ พอเที่ยงกว่าๆ ในหลวงเสด็จไปโคราช โห ขบวน 60-70 คัน ยาว 2 กิโลได้ พอตกเย็นพล.ต.อาทิตย์ รองแม่ทัพภาค 2 พูดวิทยุ อยู่สระบุรีฟังชัดทั้ง 2 สถานี โรคประสาทจะกินผม”
 
โชคดีที่ไม่มีคำสั่งให้ลงไปกรุงเทพฯ ครั้งนั้นจึงรอดไป ไม่อยู่ในกลุ่มกบฎ แต่มาโดนครั้งหลัง
 
“เพราะความหูเบาของผู้ใหญ่ หาว่าผมซ่องสุมกำลังปฏิวัติ เชื่อหรือว่าผมทำ เชื่อ เชื่อเพราะอะไร เพราะว่าแมวเป็นลูกคุณพ่อและเป็นลูกน้องมนูญ แค่ 2 อย่างนี้หรือผมต้องปฏิวัติ พี่เห็นไหมผู้การมนูญ ตอนนั้นเขา พ.อ. เขายศอะไร เขาจบมาจากไหน แล้วผมจบมาจากไหน เขายังทำไม่สำเร็จ ผมนี่อย่าว่าแต่ชวนคนเลย ชวนหมาหมาก็ยังไม่เอากับผม แล้วพี่คิดหรือว่าการปฏิวัติทำให้ประเทศเจริญ ไม่จริงหรอก มีปฏิวัติกี่ครั้งผมบอกเลย มีครั้งเดียวที่ผมเชื่อ 24 มิ.ย.2475 เพราะครั้งนั้นมันไม่มีหรอกนิรโทษกรรม ถ้าไม่สำเร็จผมก็ไม่ได้เกิด เพราะ 7 ชั่วโคตร เพราะฉะนั้นพ่อผมทำด้วยความมุ่งหมายสูงสุด ไม่เหมือนอย่างไอ้พวกนี้ทั้งหลายแหล่ที่มันปฏิวัติโดยอ้าง 3 ประ เหมือนเป็นนะโมตัสสะ ประเทศชาติ ประชาธิปไตย ประชาชน แต่ 3 ประนี้ไม่เคยได้ประโยชน์จากการอ้างของมันเลย”
 
ย้อนไปสมัยที่สอบนายทหารได้ ก็สอบได้ด้วยตัวเอง หลังจากเป็นนายสิบถึงสิบกว่าปี
 
“ผมสอบนายทหารได้ปี 2517 ทั้งเหล่าทหารม้าไปสอบที่ศูนย์การทหารม้า สระบุรี 425 คน เอา 12 คน วันแรกแต่ละคนคุยนักคุยหนารู้ข้อสอบ มีเส้นสาย เราก็คิดว่าปีนี้หาประสบการณ์ ปีหน้าค่อยสอบใหม่ แต่รุ่งขึ้นหายไป 300 พวกที่หลบจากดอยลงมาพัก อยู่บนดอยเสี่ยงกับผกค. ลงมาพัก 7 วันยังดี แล้วเขาจะเอาเวลาที่ไหนดูหนังสือ ไม่เหมือนกองพันทหารม้าที่ 4 เป็นจอมหลักการ มีวินัย มีความรู้ ก็สอบได้ที่ 1 ใน 425 คน”
 
“นายเปรมท่านเป็นผบ.ศม. (ศูนย์การทหารม้า) วันนั้นท่านแจกประกาศนียบัตรหลักสูตรนายสิบอาวุโส ท่านถามว่านี่เราสอบยังไงถึงได้ที่หนึ่ง ผมก็บอกผมได้ที่ 4 ครับ เพราะผมได้ที่ 4 ของนายสิบอาวุโส ท่านก็ยิ้มพยักหน้า พวกอาจารย์ทั้งหลายแหล่ก็มานั่งเลี้ยงโต๊ะจีนมื้อกลางวัน ดีใจด้วยนะๆ อาจารย์ดีใจกับผมเรื่องอะไรครับ อ้าวไม่รู้เหรอ เราน่ะสอบนายทหารได้ที่ 1 คะแนนรวม 92 กว่า”
 
“ผม สอบได้ปี 2517 ทำหน้าที่นายทหาร 1 ปี ติดนายทหารปี 2518 ไปเป็นผู้หมวดรถถังอยู่อีกองร้อยหนึ่ง มีนายทหารที่ท่านชอบผม จบโรงเรียนเสธมา เป็นผู้กองลาดตระเวน ท่านก็บอกกับผู้พันมนูญ พี่นูญผมขอแมวมาอยู่ลาดตระเวนด้วยกัน ผู้พันมนูญก็บอกแมว อุดมชัยเขาอยากจะได้แมวไปอยู่ ลว.ไปไหม แล้วแต่ผู้พันครับ งั้นพรุ่งนี้ไปอยู่กับเขาเลย ผมก็เลยไปอยู่ลาดตระเวน ได้วิชาความรู้มาอีกเยอะ ก็คือพล.อ.อุดมชัย องคสิงห์ ที่เป็นเลขารัฐมนตรีกลาโหม คุณสมัคร”
  
ต้องรู้ว่าลูกใคร
 
ออกจากทหารได้รับบำนาญเพียงเดือนละ 5 พันกว่าบาท ต่อมาปรับเป็น 8 พันกว่าบาท อาแมวบอกว่าปัจจุบันทรัพย์สินที่เหลือก็มีแต่ที่ของคุณแม่ ที่นครชัยศรี แต่ไม่มีเงินไปปลูกบ้าน
 
“พี่เสียหมดแล้ว เหลือผมและน้องอีก 3 คน น้องชายเป็นนายตำรวจที่ไม่ได้ท่า เพราะยศสูงสุดแค่พ.ต.ท. วันดีคืนดีเขาก็ย้ายไปต่างจังหวัดตั้งนาน เพราะรีดไถคนไม่เป็น อยู่ตรวจคนเข้าเมือง เขาล็อกทุกตำแหน่ง มีว่างไม่ใช่ไม่มี แต่ทุกตำแหน่งไม่เหมาะกับคนอย่างคุณ เพราะไม่รู้จักวันเกิดนาย รีดไถคนไม่เป็น ซองก็ไม่ต้องการ เขาวางไว้ให้บนโต๊ะก็ไม่เอา เพราะคุณแม่บอกว่าแกจะเป็นตำรวจก็เป็นได้ แต่แกต้องรู้ว่าแกเป็นลูกใคร คุณพ่อเคยทำอะไรไว้ไหมที่สกปรก เพราะฉะนั้นแกอย่าทำ”
 
น้อง ชายชื่อ พ.ต.ท.พรหมมหัชชัย “ท่านเจ้าคุณพรหมมุนีซึ่งตอนหลังเป็นสมเด็จพระสังฆราชวัดเบญจฯ ท่านเป็นคน ตั้งชื่อให้ เขาเพิ่งเกษียณเมื่อเร็วๆ นี้ ตอนเขาเป็นร.ต.อ. ผมเป็นร.ท. พอผมร.อ. เขาก็ร.ต.อ. ผม พ.ต. เขาก็ร.ต.อ. จนคุณแม่ต้องไปถามรอง อตร.สมัยนั้น ว่าลูกฉันทำผิดอะไรถึงไม่ได้ยศสูงขึ้น ท่านตกใจก็เรียกกำลังพลมาดู เอ๊ะเงินเดือนเขา พ.ต.ท.แล้วทำไมยัง ร.ต.อ. ก็เรียกหัวหน้า ตม.มา ไหนเอาตำแหน่งมาดูสิ มีตำแหน่งตั้งเยอะแยะทำไมไม่ให้เขา ไปจัดการเดี๋ยวนี้ นั่นแหละติดพ.ต.ต. ไม่ถึง 6 เดือน ก็ติดพ.ต.ท.เพราะเงินเดือนเขา พ.ต.ท. แต่พอคนที่หากินทางวิทยุเสียงสามยอดเป็น อ.ตร.ก็ออกคำสั่งย้าย บอกเจ้าตัวสมัครใจ ย้ายไปอยู่วิเชียรบุรี”
 
“คุณพ่อผมมีแม่ 2 คน คนแรกคุณป้าพิศ เป็นพี่สาวคนโตของคุณแม่ แต่คุณป้าพิศไม่สามารถให้ลูกกับคุณพ่อได้ คุณป้าพิศก็เลยยกคุณแม่ให้กับคุณพ่อ ตอนนั้นคุณแม่ยังเด็กอยู่ ก็มีลูกกับคุณพ่อ 7 คน”
 
“คนโตพี่พาภรณ์ เสียนานแล้ว ไม่มีครอบครัว ตอนหลังท่านเสียสติ หลังจากจบอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ไปอังกฤษแล้วโดนแกล้งคุณแม่ต้องไปรับตัวกลับมา คนที่สองชื่อพรจันทร์ เป็นภรรยานายทหารเรือ พล.ร.อ.วินิจ ศรีพจนาถ คนที่ 3 พี่ชาย พล.ต.ชัยจุมพล ผมเป็นคนกลาง น้องสาวอีก 2 คน พวงแก้ว กับผจี ผจีอยู่ที่นครชัยศรี พวงแก้วอยู่กับสามีและหลานๆ ที่ลาดพร้าว”
 
ความจริงพระยาพหลนามสกุลพหลโยธิน แต่ลูกๆ มาเปลี่ยนเป็นพหลพลพยุหเสนา
 
“คุณ แม่บอกว่าบรรดาศักดิ์ของคุณพ่อจะสูญหาย พหลโยธินมันเยอะ ดีก็มีชั่วก็เยอะ เพราะฉะนั้นเอาบรรดาศักดิ์ของคุณพ่อมาเป็นนามสกุล ก็ทำขอกระทรวงมหาดไทย ผมกับน้องชาย พี่ชายก็ขอใช้ มาเป็นพหลพลพยุหเสนา”
 
“อาแมว” รับว่า     เอาใจช่วยเสื้อแดง แต่บางอย่างก็ไม่ไหวเหมือนกัน เช่นการยกม็อบไปพัทยา หรือแท็กซี่ปิดอนุสาวรีย์ชัย
 
“ผม เป็นทหารได้คลุกคลีกับชาวบ้าน เห็นความเดือดร้อนของเขา เพราะฉะนั้น 30 บาทรักษาทุกโรคมันอาจจะไม่ได้ดีที่สุดแต่มันก็ยังดีที่ทำให้เขาได้พบหมอ สมัยก่อนผมได้แต่ช้ำใจ เพราะผมช่วยเขาไม่ได้ เนี่ยลุงป้าไม่สบายทำไมไม่ไปหาหมอ ฉันจะเอาเงินที่ไหนไปหา เราได้ยินทีไรเราช้ำใจแต่เราช่วยเขาไม่ได้ แล้ววันดีคืนดีมีคนชื่อทักษิณบอกว่า 30 บาทรักษาทุกโรค” นี่ยอมรับตรงๆว่าชอบทักษิณในบางเรื่อง
 
แล้วที่เสื้อแดงจะชุมนุมวันที่ 24 ให้เป็นวันชาติ
“อย่าพรวดพราดๆ อย่าชิงสุกก่อนห่าม ตื๊อเท่านั้นครองโลก ตื๊อเข้าอย่ารุนแรง ตื๊อเข้าไปจนกว่าคนในประเทศเขาจะเห็นใจ และคนรอบๆ เราเห็นใจจนทั่วโลกเห็นใจ อองซานซุจีดูสิกี่สิบปี แกเจ็บตัวไม่เป็นไร แต่คนทั้งโลกจะมองพม่ามากแค่ไหน เพราะฉะนั้นอย่าไปเอาตัวเป็นที่ตั้ง เหมือนอย่างคราวที่แล้วดันไปเอาทักษิณเป็นที่ตั้ง พวกตามล้างตามเช็ดตามกระทืบ ครอบครัวเขาเดือดร้อน ฉะนั้นค่อยเป็นค่อยไป ตื๊อ ฝ่ายนั้นเขามีคนครอบกบาลอยู่ ฝ่ายนี้ไม่มีอะไรสักอย่าง”
 
ตอนนี้ก็มีคนกลับมาพูดว่าคณะราษฎรชิงสุกก่อนห่าม ไม่น่ารีบปฏิวัติ
“แล้ว ถามว่าเขาทำอะไรบ้างที่จะทำให้คนได้รู้จักประชาธิปไตย ไม่มีทาง ถ้าเผื่อไม่ทำมันก็ยังเป็นราชาธิปไตย ไม่มีหรอกที่ราชาธิปไตยจะเอาประชาธิปไตยมาให้”


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 04 ก.ค. 10, 17:40
คุณพี่นวรัตนสั่งให้มาตอบเรื่อง "เจ้าคุณ" ที่มาพูดบนหอประชุมโรงเรียนเก่า  เจอโจทย์ข้อนี้ไปเล่นเอามึนเหมือนกัน  เพราะเมื่อคุณนวรัตนจบจากโรงเรียนนั้นผมยังเป็นน้องเล็กเพิ่งเข้าโรงเรียนได้เพียงปีเดียว  พอโตขึ้นมาก็จำได้แต่ "เจ้าคุณภะรต" เจ้าของฝ่ามือพิฆาตที่ผมเกือบจะโดนตัดไฟเสียแต่ต้นลม  ตั้งแต่เรียนประถม ๕ โทษฐานไม่จงรักภักดีเพราะไปรับเสด็จไปทัน  

ท่านเจ้าคุณที่กล่าวถึงเรื่อง "ทูนเกล้าฯ" ถวาย  แม้จะระบุตัวไม่ได้แน่ชัด  แต่ถ้าให้เดาน่าจะเป็น พระยานรเทพปรีดา (จำเริญ  สวัสดิ์ - ชูโต) ซึ่งเดิมท่านเป็นเลขาธิการกรมบัญชาการกลางมหาดเล็ก  ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบงานหนังสือของกรมมหาดเล็กทั้งปวง  ท่านผู้เนี้เป็นนักเรียนทุนสมเด็จพระพันปีหลวงไปเล่าเรียนที่ประเทศญี่ปุ่นพร้อมพระยาเทวาธิราช (ม.ร.ว.แปด  มาลากุล)  จำได้ว่าเมื่อมีงานบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในวันที่  ๒๕  พฤศจิกายน ทุกปี   ท่านเจ้าคุณนรเทพฯ จะมาร่วมงานทุกปี  และเมื่อเสด็จฯ กลับแล้วก็มักจะได้ยินเสียงท่านเจ้าคุณเอ็ดพระยาภะรตฯ เรื่องวงจุลดุริยางค์บรรเลงเพลง เพลงสรรเสริญพระบารมีบทพระสุบินหรือสรรเสริญเสือป่าในตอนท้ายเสียงดังไป  ท่านว่า ท่อนสุดท้ายของเพลงนั้นต้องค่อยๆ เบาลงจนเลือนหายไปสมกับเป็นบททรงพระสุบิน  


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 04 ก.ค. 10, 17:58
[ นักเรียนผู้ใดไม่รู้จักน้ำตาลปึกก็สารภาพมาโดยดีจะได้เฉลยให้
[/quote]

มายกมือ ยอมรับว่าไม่แน่ใจค่ะ  :-[
น้ำตาลปึกนี่ เหมือนกับที่คนใต้เรียกว่าน้ำตาลแว่น ที่นำมาทำขนมโคหรือเปล่าคะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ค. 10, 17:58
ขอบคุณสำหรับคำตอบค่ะ  คุณV_Mee   คนตามก็ตามเร็ว  คนถูกตามก็มาตอบเร็วทันใจ
ตอนดิฉันเข้าเรียนในร.ร.เตรียมอุดม   มีพระยาท่านหนึ่งมาสอน เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี    เช้คแฮนด์ที่ถูกต้อง ต้องจับหรือสั่นมือแบบไหน  จึงจะถูกแบบ   ถ้าเข้าเฝ้าต้องโค้งหรือถอนสายบัวยังไงแบบไหน
รู้จากผู้ใหญ่ว่าท่านถวายงานใกล้ชิดรัชกาลที่ ๖    เป็นสารถี   หรือไม่ก็ตามเสด็จไปทุกหนทุกแห่งนี่แหละ
ท่านเป็นพระยา ๒ หน  หนแรกเป็นพระยาราชทินนามอย่างหนึ่ง   ต่อมาเป็นพระยาในราชทินนามอีกอย่างหนึ่ง   ดิฉันจำไม่ได้ถนัด แต่เขียนในค.ห.บนว่า เทพอรชุน  
กำลังสงสัยว่าหรือจะเป็นพระยานรเทพฯ    ท่านเป็นคนผอม สูง  เสียงท่านดังฟังชัด  พูดจากระฉับกระเฉง  ไม่กลัวใครทีเดียว
*************
ถ้าพอมีเวลา   ช่วยเล่าเรื่องกบฏ 130 ให้ฟังหน่อยได้ไหมคะ   ข้อนี้ไม่เร่งรัดนะคะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ก.ค. 10, 21:41
กลับจากวัดเข้ามาตรวจการบ้านคุณวี_มีของผมหน่อย เคยชมเขาต่อหน้าว่าหลังจากท่านหม่อมหลวงปิ่นแล้ว คุณวี_มีนี่แหละที่เป็นเอกะทัคคะในเรื่องที่เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างยากที่หาผู้ใดเสมอเหมือน และทำหน้าที่มหาดเล็กหลวงรักษาพระองค์แทนนักเรียนวชิราวุธได้อย่างดียิ่งในหน้าไซเบอร์ ใครแหลมเข้ามาผิดๆจะโดนคุณวี_มีโต้กลับด้วยข้อมูลแน่นปึ็กตลอด

ที่คุณวี_มีเดาว่าพระยานรเทพปรีดานั้น ผมคิดว่าใช่ เพราะจำได้ว่าพวกเราจะเรียกสั้นๆว่าเจ้าคุณนรฯ ผมจะใส่ชื่อนี้ไปแต่แรกก็ไม่แน่ใจว่าตนไปสับสนกับท่านเจ้าคุณนร องค์ที่เป็นพระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต(ธมฺมวิตโก)หรือเปล่า เลยรอคุณวี_มีมาเฉลยดีกว่า เจ้าคุณนรฯที่เป็นฆราวาสท่านเคยเป็นนักเรียนนอก ตอนแก่แล้วดูผอมสูง ใส่แว่น ศรีษะค่อนข้างล้าน ใบหน้ายิ้มเห็นฟัน  เวลาพูดจะปล่อยมุขตลกอยู่ตลอด เด็กจึงไม่หลับ น่าจะใช่คนเดียวกับที่สอนท่านอาจารย์เทาชมพูที่เตรียมอุดม เพราะได้ยินว่าท่านได้รับเชิญให้ไปสอนหลายโรงเรียน


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ค. 10, 22:21
ขอบคุณค่ะ   ยังระลึกถึงอาจารย์เจ้าคุณที่ร.ร.เตรียมเป็นครั้งคราว     จะถามก็ไม่ทราบจะถามใคร  เพื่อนฝูงที่เรียนมาด้วยกัน ก็นานๆเจอกันทีเฉพาะวันงานนักเรียนเก่า
เห็นด้วยเรื่องภูมิรู้แน่นปึ้กของคุณ V_Mee  ใครอยากรู้อะไรเกี่ยวกับรัชกาลที่ ๖ ก็ถามคุณ V_Mee ได้นะคะ
อีกคนหนึ่งที่ยังนึกถึงอยู่คือคุณ UP      ตอนนี้ไปทำงานบริหาร ไม่ค่อยมีเวลาเข้ามาวิสาสะกันอีกแล้ว   ถ้าอยากถามอะไร   ต้องไปสื่อสารกันที่ facebook

เหลือคำถามเรื่องน้ำตาลปึก  รายการนี้ ลูกพี่มาเอง   :)  ไม่ต้องตามคุณ V_Mee


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ก.ค. 10, 22:29
คราวนี้เฉลยให้คุณ P.T.B.T.ผู้อยู่ไกลบ้าน

น้ำตาลที่ทำจากจั่น หรือดอก ของมะพร้าว หรือตาล จะคล้ายกันมาก ยากที่จะบอกได้ว่าอะไรเป็นอะไร เริ่มจากปีนต้นขึ้นไปตัดส่วนปลายของจั่นด้วยมีดคมๆ มันจะมีน้ำไหลออกมาเหมือนยางไม้ แต่มีรสหวานจัดเรียกว่าน้ำตาลสด เอากระบอกไม้ไผ่ผูกรองรับไว้ แล้วกลับไปนอนเล่นที่บ้าน ได้เวลาก็ปีนขึ้นไปเทเอามา รวมได้ปริมาณเยอะๆแล้วก็กรองเอาสิ่งแปลกปลอมออก เทน้ำตาลสดใส่กระทะใบบัวใหญ่ๆเคี่ยวไฟ หมั่นเอาใบพายกวนไปเรื่อยๆจนข้น ต้องระวังอย่าให้ไหม้

เอาน้ำตาลที่ข้นเกือบแข็งนี้บรรจุใส่ปี๊บ เรียกน้ำตาลปี๊บ
เอาไปใส่ถ้วยแล้วคว่ำ หรือหยอดออกมาเป็นก้อน เรียกน้ำตาลปึก
เอาไปหยอดใส่วงแหวนที่ทำจากใบตาลออกมาเป็นแว่นๆ เรียกน้ำตาลแว่น

สีที่ต่างกันเพราะไฟอ่อนไฟแก่ด้วยครับ
แต่รูปน้ำตาลแว่นข้างล่างอาจจะเป็นน้ำตาลที่ทำมาจากอ้อยก็ได้ครับ ใช้น้ำอ้อยผสมจะออกสีคล้ำ ส่วนใหญ่จะเป็นแว่นแล็กๆบางๆเพราะแพงน่ะครับ
ถ้าทำจากน้ำอ้อย ทางปักษ์ใต้จะเรียกว่างบน้ำอ้อย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 05 ก.ค. 10, 05:40
ขอบพระคุณค่ะ  :D

เข้ามาเวปนี้ไม่ผิดหวัง ความรู้รอบตัวมากมายให้ศึกษา เลยไปป่าวประกาศให้เพื่อนๆที่ชอบเรื่องราวเหล่านี้
มาเป็นนักเรียนด้วยกัน อาจารย์ทุกท่านในสถานศึกษานี้ใจดีมากๆเลยค่ะ  ;D


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ค. 10, 08:48
ขนมไทย ใส่น้ำตาลปิ๊บละลาย รสหอมหวานอร่อยมาก    อย่างขนมปลากริมไข่เต่า    ไม่สามารถหาน้ำตาลอื่นมาแทนที่ได้
แต่ตอนนี้หากินได้ยากมาก   ไปร้านอาหารไทย ไม่เจอเมนูปลากริมไข่เต่าเลยค่ะ    เจอแต่ทับทิมกรอบกับลอดช่อง

งบน้ำอ้อย เป็นสำนวนหมายถึงอะไรที่เล็กๆน่าเอ็นดู      ดิฉันเคยได้ยินผู้ใหญ่เปรียบเทียบเด็กหน้าเล็กๆ ว่า "หน้าเท่างบน้ำอ้อย"

ในเมืองหนาวอย่างอเมริกา น้ำตาลปึก ทำจากต้นเมเปิ้ล    ในหนังสือ Little Houses ของลอร่า อิงกัลส์ ไวลเดอร์ เรียกน้ำตาลปึกจากต้นเมเปิ้ลว่า  mapple sugar cake

จากชีวิตรันทดในบั้นปลายของพระยาทรงสุรเดช  กระทู้นี้ก็ยังหาของหวานๆมาเจือรสขมให้คลายลงได้บ้าง   นี่คือเอกลักษณ์ของเรือนไทย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ก.ค. 10, 11:04
^
กินขนมเสร็จแล้วใช่ไหมครับ เสร็จแล้วเชิญกินบอระเพ็ดผัดพริกขี้หนูราดน้ำปลาต่อเลย

1 กันยายน 2482 เกิดสงครามในยุโรป เยอรมันโดยการนำของฮิตเลอร์ผู้นำต้นแบบจอมเผด็จการ ยกกองทัพเข้าตีโปแลนด์ด้วยยุทธวิธีสงครามสายฟ้าแลบ 3 กันยายน อังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมัน แต่ไม่สามารถสนับสนุนกำลังทหารได้ทัน โปแลนด์แตกในเวลาเพียง 27 วัน เยอรมันหยุดชั่วคราวเพื่อจัดทัพและดำเนินวิธีการทูตกับรัสเซียเพื่อซื้อเวลาหาพันธมิตร
 
พระยาทรงได้ติดตามข่าวสงครามด้วยความสนใจยิ่งยวด ท่านยอมลงทุนซื้อแผนที่ทวีปยุโรปหลายฉบับ และซื้อหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสที่ออกในไซ่ง่อนมาอ่านเหมือนแฟนฟุตบอลโลกที่คลั่งไคล้การทำศึกลูกหนังในอาพริกาใต้  พอถึง9 เมษายน 2483 เยอรมันบุกเดนมาร์ก และนอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และฝรั่งเศส ท่านใช้เวลาวันละ4-5 ชั่วโมงอยู่กับการวิเคราะห์แผนที่ว่าใครจะดำเนินกลยุทธ์อย่างไร  เมื่อสิ่งที่ท่านคิดเกิดเป็นเช่นนั้นจริงๆ ท่านจะหัวเราะรื่นเริง มันทำให้เวลาของท่านไม่ถูกครอบงำกับวิตกจริตได้เป็นอย่างดี

12 พฤษภาคม กองทัพเยอรมันนำด้วยรถถังอันทรงอานุภาพก็แปรขบวนข้ามแนวต้านทานของฝรั่งเศสที่แนวชายแดน บุกตลุยมุ่งสู่ปารีสทันที
14 กรกฎาคม ปารีสแตก ฮิตเลอร์บินไปฉลองชัยชนะเพื่อขีดเส้นพรมแดนใหม่ผนวกบางแคว้นของฝรั่งเศสเข้ากับอาณาจักรไรซ์ที่3 แบ่งเค็กส่วนหนึ่งให้สหายศึก อิตาลีของมุสโสลินีไป แล้วเชิดนายพลอองรี เปไตน (Henri Petain) ทหารเกษียณแก่งั่กวัย83 ขึ้นเป็นประธานาธิบดีของรัฐบาลหุ่นฝรั่งเศสที่เรียกว่ารัฐบาลวีชี (Vichy government) สำหรับดูแลกิจการทั่วไปภายใต้อาณัติ แต่รัฐบาลนี้ไม่สามารถครอบงำคนฝรั่งเศสทั้งหมดได้
17กรกฎาคม วิทยุBBCออกอากาศในกรุงลอนดอนได้กระจายเสียงของนายพลชาร์ล เดอ โกลล์รับฟังได้ทั่วโลก ประกาศตั้งขบวนการฝรั่งเศสเสรี(Free French)ให้คนหนุ่มสาวชาวฝรั่งเศสร่วมมือกับกองทัพอังกฤษต่อต้านเยอรมันในทุกรูปแบบ ชั่วเวลาปลายเดือนนั้นเองประชาชนรวมแล้วกว่าเจ็ดพันคนได้อาสาจับอาวุธเข้าร่วมกับขบวนการใต้ดินนี้ สร้างความเสียหายให้แก่กองทัพเยอรมันมาก

ขบวนการฝรั่งเศสเป็นต้นแบบของเสรีไทยในการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นในอีกไม่นานต่อมา

ความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสต่อเยอรมันไม่มีผลถึงอินโดจีน ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสยังปกครองอินโดจีนอยู่ภายใต้ค่ำสั่งการของรัฐบาลหุ่นวีชี แม้จะไม่ชอบหน้าเลยก็ตาม


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ก.ค. 10, 11:11
ก่อนหน้าที่กองทัพเยอรมันจะบุกยึดกรุงปารีสได้ รัฐบาลไทยและอินโดจีนฝรั่งเศสได้ตกลงทำสนธิสัญญาไม่รุกรานกัน แต่ยังไม่ได้ลงนามเพราะทางอินโดจีนส่งไปให้รัฐบาลแม่ที่ปารีสให้สัตยาบัน ก็จะลงนามอย่างไรได้ คนเซนต์กำลังวิ่งหนีตายจากกองทัพเยอรมันอยู่ ต่อมาพอเยอรมันจัดตั้งรัฐบาลวิชีเสร็จ ญี่ปุ่นมหามิตรของเยอรมันก็เข้าเจรจาขอให้กองทัพญี่ปุ่น ใช้เมืองฮานอย และเมืองไฮฟอง เป็นฐานทัพเพื่อเตรียมรุกใหญ่ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป ฝรั่งเศสถูกเยอรมันบีบคอให้ตกลงยินยอม

3 สิงหาคม 2484  ญี่ปุ่นส่งทหารเข้าไปในอินโดจีน35,000คน ทำให้สนธิสัญญาไม่รุกรานกับไทยถึงลงนามไปก็ไร้ความหมาย รัฐบาลไทยได้ประท้วงไปยังรัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศสอย่างรุนแรงว่าการยินยอมของฝรั่งเศสเช่นนั้นเป็นอันตรายแก่ประเทศไทย ฉะนั้นหากฝรั่งเศสจะรักษาอธิปไตยในอินโดจีนไว้ไม่ได้ ไทยก็จำต้องเรียกร้องเอาดินแดนคืน เพื่อประโยชน์ในการป้องกันประเทศ และมิให้คนไทย ที่อยู่ในเขตปกครองของฝรั่งเศส ต้องตกเป็นอยู่ในปกครองของประเทศที่ 3 (หมายความถึงญี่ปุ่นที่ชอบเกณฑ์แรงงานทาสจากเกาหลีเมืองขึ้นของตนไปรบในจีน) รัฐบาลไทยส่งคณะทูตไปเจรจากับรัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศสที่กรุงฮานอย  แต่ก็กลายเป็นวิวาทะเผ็ดร้อน ฝรั่งเศสประนามไทยว่ากำลังใช้มีดแทงข้างหลัง(สำนวนนี้ฝรั่งหมายถึงการทรยศต่อเพื่อน) ในขณะที่ตนเพลี่ยงพล้ำ  และพูดรุนแรงว่ายกดินแดนที่ยึดจากไทยให้ญี่ปุ่นดีกว่าที่จะคืนให้


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ก.ค. 10, 11:22
ในเมืองไทยระหว่างนี้เริ่มมีการปลุกกระแสขึ้นแล้วว่า ถึงเวลาที่ลูกหลานไทยจะต้องเอาคืนจากฝรั่งเศสบ้างหลังจากที่ได้ข่มเหงย่ำยีไทยไว้ตั้งแต่ร.ศ.112 ในคณะรัฐบาลหลวงพิบูลเองมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย นายปรีดีได้ค้านความคิดของหลวงพิบูลโดยมีเหตุผลว่า การเรียกร้องดินแดนของไทยคืนจากฝรั่งเศสเป็นสิทธิโดยชอบธรรมก็ถูกอยู่ แต่ควรจะกระทำในขอบเขตสันติวิธีและการดำเนินการทางการทูต มิใช่การทหาร การบในยุโรป เยอรมันกำลังเป็นฝ่ายได้เปรียบก็จริง แต่ก็เร็วเกินไปที่จะมั่นใจว่าจะเป็นผู้ชนะสงคราม ขณะนั้นสหรัฐอเมริกายังไม่ได้ขยับปืนเลย หากปรากฏภายหลังว่าฝรั่งเศสกลับมาเป็นฝ่ายชนะ ไทยจะต้องเสียหายหนักเข้าไปใหญ่ แต่หลวงพิบูลก็เพียงแต่รับฟัง หาได้เชื่อไม่ คงปลุกระดมในทุกสื่อจนเลือดรักชาติของคนไทยเดือดพล่าน ควันไฟออกหู รอเมื่อไหร่ท่านผู้นำจะชักธงรบให้เข้าประจัญบาน

ครั้นเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีสแจ้งกลับมาว่า รัฐบาลวีชีขอให้สนธิสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศสมีผลใช้บังคับได้เลย ไม่ต้องเสียเวลารอการลงนามแลกเปลี่ยนสัตยาบัน รัฐบาลไทยจึงตอบฝรั่งเศสกลับไป เมื่อ11กันยายน 2483 ว่าไทยยินดีจะรับตกลง หากฝ่ายฝรั่งเศสยอมรับเงื่อนในเรื่องต่างๆ เหล่านี้คือ

1 ให้วางแนวเส้นเขตแดนลำแม่น้ำโขงใหม่ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ถือร่องน้ำลึกเป็นเกณฑ์ (แทนที่จะกำหนดให้เกาะทุกเกาะในแม่น้ำโขงเป็นดินแดนของฝรั่งเศส)

2 ปรับปรุงเขตแดนใหม่ให้เป็นไปตามธรรมชาติ คือ ใช้แม่น้ำโขงเป็นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีน ตั้งแต่ทิศเหนือในลาวมาจนทิศใต้ต่อกับชายแดนเขมร โดยให้ฝ่ายไทยได้รับดินแดนทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง ตรงข้ามกับหลวงพระบางและตรงข้ามกับปากเซคืน

3 ให้ฝรั่งเศสรับรองว่า ถ้าหากอินโดจีนเปลี่ยนจากอธิปไตยฝรั่งเศสไป ฝรั่งเศสจะยกอาณาเขตลาวและเขมรที่ได้จากไทยไป คืนให้แก่ไทยทั้งหมด


5 ตุลาคม 2483 ฝรั่งเศสได้ตอบบันทึกของไทยกลับมาดังนี้

1 รัฐบาลฝรั่งเศสไม่รับหลักการที่จะยกดินแดนที่กล่าวมานั้นคืนให้ไทยทั้งสิ้น โดยให้เหตุผลว่า เขตแดนที่เป็นอยู่เป็นข้อตกลงที่ถึงที่สุดแล้ว ตามสนธิสัญญาที่กระทำกันไว้ในวันที่ 23มีนาคม 2450 (สมัยรัชกาลที่ 5)

2เพื่ออนุโลมตามคำของไทย รัฐบาลฝรั่งเศสจะจัดการให้ผู้เชี่ยวชาญจากอินโดจีนมาประชุมในปัญหาเรื่องเกาะในลำน้ำโขง ตามที่ฝรั่งเศสเคยยินยอมว่าจะให้มีการหยิบยกขึ้นมาเจรจาต่อได้ เพราะไทยได้ให้คำมั่นในตอนนั้นว่า จะไม่เสนอข้อเรียกร้องอื่นๆเกี่ยวกับดินแดนอีก

3 ฝรั่งเศสจะรักษาสถานภาพทางการเมืองและบูรณภาพแห่งดินแดนอินโดจีนไว้ต่อข้ออ้างสิทธิ์ทั้งปวง และต่อการรุกราน ไม่ว่าจะมาจากทิศทางใด
.
.
.
8 ตุลาคม 2483 นิสิตจุฬาลงกรณ์เป็นผู้นำเดินขบวนเรียกร้องให้รัฐบาลใช้กำลังทหารยึดดินแดนคืน



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ก.ค. 10, 11:33
ทำไมจึงเป็นจุฬา ผมอยากจะเชื่อว่าเป็นเพราะหลวงพิบูลคือท่านอธิการบดีที่นั่น แต่คนที่มีบทบาทกระตุ้นให้คือพันโทประยูร ภมรมนตรีผู้เป็นรองอธิการบดี และมีบทบาทใกล้ชิดกับนิสิตมากกว่า ส่วนที่ธรรมศาสตร์นั้น นักศึกษาที่นั่นก็ตกอยู่ในสภาวะแวดล้อมเดียวกัน ที่ทุกสื่อของเมืองไทยต่างระดมกันปลุกกระแสสงครามตามทิศทางที่ท่านผู้นำชี้ไปข้างหน้าเหมือนกัน พอมีข่าวว่านิสิตจุฬาจะเดินขบวน ธรรมศาสตร์เองซึ่งมีการจัดตั้งแกนนำขึ้นมาเคลื่อนไหวจะเข้าร่วมด้วยอยู่แล้ว ท่านอธิการบดีปรีดีเลยเรียกประชุมนักศึกษาในเวลาเดียวกับกำหนดเดินขบวน นักศึกษามากันล้นห้องประชุม นึกว่าท่านจะพูดอุ่นเครื่องก่อนเวลาให้ แต่ท่านก็กลับเลกเช่อร์เรื่องสงครามยุโรป ใครจะแพ้ใครจะชนะ ไทยคือใครในสังคมโลก ควรจะวางตนเองอย่างไร ยังไม่ทันจบ ขบวนของจุฬาเดินร้องเพลงกึกก้องมาทางถนนราชดำเนิน มุ่งสู่กระทรวงกลาโหม นักศึกษาธรรมศาสตร์ในห้องประชุมก็เฮไปร่วมกับแกนนำเดินขบวนแบกป้ายไปสมทบกับจุฬา

หลวงพิบูลรอรับการเดินขบวนเรียกร้องนี้อยู่ที่กระทรวงกลาโหม กำลังลุ้นว่านักศึกษาธรรมศาสตร์จะเข้าร่วมด้วยหรือไม่ เพราะมีรายงานว่าอธิการบดีเรียกประชุมด่วนดักหน้าไว้ พอมีเสียงตะโกนแว่วๆว่าขบวนนักศึกษาธรรมศาสตร์เคลื่อนออกจากมหาวิทยาลัยแล้ว หลวงพิบูลถึงกับยิ้มออก และออกไปยืนรอรับบทพระเอกบนระเบียงตึก


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ค. 10, 12:35
มาเพิ่มเรตติ้งกระทู้ค่ะ

โชว์รูปด้านหน้า ของหลวงพิบูล  บนระเบียงตึกชั้นบนของกระทรวงกลาโหม วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2483


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 ก.ค. 10, 12:54
ตามรูปคุณเทาชมพูไปพบเรื่องนี้

http://iseehistory.socita.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538711046&Ntype=1

๘  ตุลาคม  ๒๔๘๓  การเดินขบวนได้เริ่มขึ้น  ประชาชนนับหมื่นทุกเพศทุกวัย พากันมาจากทุกสารทิศ คนเฒ่าคนแก่ อุ้มลูกจูงหลาน ร้องไห้ฟูมฟายด้วยความเคียดแค้นที่ไทยต้องเสียดินแดนไป ความรู้สึกนี้ได้แผ่ขยายไปทั่วประเทศ เป็นการแสดงมติมหาชนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั้งชาติ

(http://images.widetalks.multiply.com/image/1/photos/upload/300x300/SWIo6AoKCs8AAAyFClk1/photo-SWIo6AoKCs8AAAyFClk1.jpg?et=URsmwwreJkcUL2KFmV6eaA&nmid=0)

ขบวนการเรียกร้องดินแดนคืนของยุวชนนายทหาร ไหลหลากมาเต็มหน้าพระลานและท้องสนามหลวง และได้มาหยุดชุมนุมกันหน้ากระทรวงกลาโหม

พลตรี หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  พันเอก หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต รองผู้บัญชาการทหารบก เจ้ากรมยุวชนทหาร และรองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มาต้อนรับที่หน้ากระทรวงกลาโหม ผู้แทนของมหาวิทยาลัยทั้งสองในเครื่องแบบยุวชนทหาร ได้เรียนเสนอการเรียกร้องดินแดนคืนต่อ พลตรี หลวงพิบูลสงคราม ขอให้เป็นผู้นำกองทัพของชาติ เข้ายึดเอาดินแดนของไทยกลับคืนมา ให้พี่น้องชาวไทยที่อยู่ในดินแดนดังกล่าวได้กลับมาร่วมเป็นบ้านพี่เมืองน้องของไทยตามเดิม และยุวชนนายทหาร ทั้งสองมหาวิทยาลัย จะมอบชีวิตไว้เป็นชาติพลี

พลตรี หลวงพิบูลสงคราม ได้กล่าวปราศรัยต้อนรับ และสรรเสริญสดุดีในความรักชาติ ความสามัคคี และความเสียสละ เพื่อประเทศชาติของชาวไทยทั้งมวล และได้ร่วมกันกล่าวปฏิญาณตน หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จบแล้วได้กล่าวอวยชัยให้พร ไชโยสามครั้ง เป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ซาบซึ้งตรึงใจเป็นที่สุด

 



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 ก.ค. 10, 13:04
จุลลดา ภักดีภูมินทร์เล่าเรื่องนี้ไว้ในบทความเรื่อง เดินขบวนครั้งแรก พุทธศักราช ๒๔๘๓

http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp?stcolumnid=5127&stissueid=2715&stcolcatid=2&stauthorid=13

         ทว่า เมื่อถึงวันที่ ๘ ตุลาคม บรรดานิสิต นิสิตา นักเรียนเตรียมจุฬาฯ ก็รวมตัวกันที่บริเวณมหาวิทยาลัยแต่เช้า พากันเดินขบวน ชูป้ายที่ช่วยกันทำช่วยกันเขียนด้วยถ้อยคำต่างๆ คน ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ คน เดินกันไปตะโกนเสียงลั่นสนั่นไปตามท้องถนน เป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น ผู้คนจึงพากันตื่นเต้น และพลอยถูกปลุกให้เกิดความรู้สึกรักชาติขึ้นมาด้วย
         เดินกันไปร้องตะโกนกันไปตามถนนจนถึงกระทรวงกลาโหม ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ไปกล่าวปราศรัยท่ามกลางเสียงโห่ร้อง แล้วจึงพากันเดินขบวนกลับ
         ตอนบ่ายประมาณ ๑๕.๐๐ น. วันนั้น นักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ก็รวมตัวกันที่มหาวิทยาลัยบ้าง แล้วเดินขบวนไปที่กระทรวงกลาโหม ครั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้มาปราศรัยเช่นกัน และได้นำนักศึกษา กล่าวคำปฏิญาณตนหน้ากระทรวงกลาโหม หันหน้าไปยังวัดพระแก้ว
         ตั้งแต่วันที่ ๘ เป็นต้นมา ก็มีการเดินขบวนกันคึกคักทั่วพระนครแล้วลุกลามออกไปตามต่างจังหวัด พากันเดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืนกันอย่างครึกโครม
         แต่การเดินขบวนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือการเดินขบวนของประชาชนหลายหมื่นคน ซึ่งมีทั้งองค์การต่าง ๆ และประชาชน ซึ่งมาชุมนุมกัน ณ ท้องสนามหลวง แล้วออกเดินถือป้ายแห่แหนไปทั่วพระนคร
         เวลานั้นผู้เล่ายังเด็ก ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปข้างนอก แต่ผู้คนในบ้านนั้นหลายคนออกไปดูเขาบ้าง บางคนที่เป็นเด็กชายคะนองใกล้หนุ่มก็อาจพลอยไปสมทบเดินกับเขา โดยเฉพาะเด็กชายวัยรุ่นซึ่งมีหน้าที่รับใช้พ่อ ลุง อา กลับมาทำท่าเดินถือป้ายให้พวกทางหลังบ้านดู ปากก็ร้องว่า
         “พูดดี ๆไม่ชอบต้องปลอบด้วยปืน”
        ประโยคนี้ดูจะ ‘ฮิต’ ที่สุดขณะนั้น
         ร้องถามว่า “ไปไหน”
         แล้วตอบเอง “ไปปากเซ”
         ถามอีก “ไปทำไม”
         ตอบเอง “ไปรบกับมัน”
         ย่าเดินออกมาจากทางหน้าเรือนพอดี ร้องถามว่า
         “ปากเซอยู่ไหน เอ็งรู้กะเขาเรอะ”
         เขาทรุดลงนั่งคุกเข่า หัวเราะแหะ ๆ
         “ไม่ทราบครับผม”
         ย่าด่าคำหนึ่งด้วยความเคยปากอย่างคนแก่สมัยโบราณ แต่ก็อดหัวร่อไม่ได้
         ขบวนประชาชนหลายหมื่นคนนั้น มีอยู่คณะหนึ่งใช้ชื่อว่า ‘คณะเลือดไทย’ เขาแจกใบปลิวด้วยมีข้อความปลุกใจ และขอให้รัฐบาลดำเนินการเรียกร้องเอาดินแดนคืนมา
         อ่านให้ย่าฟังแล้วแต่จำไม่ได้เลย จำได้แต่เนื้อเพลงปลุกใจที่หลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้แต่ง ที่ว่า
         “เลือดไทยไหลริน ทาแผ่นดินไว้ชื่อ
         ให้โลกได้รู้ร่ำลือ ว่าเลือดไทยกล้าหาญ”
         เมื่อเด็ก ๆ เคยร้องได้จบ ส่วนมากร้องได้จบเกือบทุกเพลง เช่นเพลง ‘ข้ามโขง’
         ต่อมายังไม่ทันได้ดินแดนคืน ก็เกิดรบกันขึ้นตามชายเขตแดนก่อน แล้วเลยเป็นสงครามใหญ่เหมือนกัน ที่เราเรียกว่าสงครามอินโดจีน รัฐบาลส่งกองทัพไปรบ จำได้แม่นยำ ๒ กองทัพ ที่จำได้เพราะมีเพลงปลุกใจออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียง ซึ่งเราเด็กๆพากันร้องตาม มาถึงตอนนี้เหลือจำได้เพียงกระท่อนกระแท่น
         “ทัพพรหมโยธี ไชโย (ชูกำปั้น) ยกเข้าโจมตี พวกไพรี แตกหนีพ่ายไป ไชโย...ไชโย” ตอนหนึ่ง
         ส่วนอีกตอนหนึ่งจำได้ยาวหน่อย
         “กองทัพเกรียงศักดิ์ ยกเข้าหาญหัก ไชโย (ชูกำปั้น) ได้จำปาศักดิ์ มาสมัครสมาน
         พี่น้องเลือดไทย ล้วนใจชื่นบาน เทอดเกียรติทหารหาญ ของไทยยิ่งเอย”



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ค. 10, 13:33
ตามรูปคุณเทาชมพูไปพบเรื่องนี้


ผู้แทนของมหาวิทยาลัยทั้งสองในเครื่องแบบยุวชนทหาร ได้เรียนเสนอการเรียกร้องดินแดนคืนต่อ พลตรี หลวงพิบูลสงคราม ขอให้เป็นผู้นำกองทัพของชาติ เข้ายึดเอาดินแดนของไทยกลับคืนมา 

นึกถึงใจท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันนั้น    ว่าท่านจะรู้สึกอย่างไรบ้าง กับชะตากรรมของประเทศที่ท่านมองเห็นล่วงหน้า
หลวงพิบูลฯ เป็นคนที่สร้างจิตวิทยามวลชนได้เป็นผลสำเร็จดีมาก    ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่จนปีนี้  ท่านจะระดมคนได้กี่สิบล้านกันนะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ค. 10, 13:37
เพลง มณฑลบูรพา
" มณฑลบูรพา      เคยได้เป็นของเรา                       

                  เสียมราฐ    พระตะบอง        บ้านพี่เมืองน้องมาช้านาน   แต่ครั้งโบราณก่อนเก่า
                  ไทย . . . ชาติไทยใจเศร้า     เลือดเนื้อเชื้อเผ่าถูกเขายื้อแย่งไป                                                                 
                  คอย . . . ไทยเราเฝ้าคอย     แต่กำลังเราน้อยสู้เขาไม่ไหว
                  ร่วมสามสิบปี     ทัพไทยก็มี              สมรรถภาพและเข้มแข็งยิ่งใหญ่
                  ทหารภาคบูรพา    ทัพพรหมโยธี        รุกไล่โจมตี   พวกไพรีแตกหนีพ่ายไป                                         
                 กองทัพบูรพา    องอาจเก่งกล้า          เทอดเกียรติก้องหล้า     เลือดทหารชาติไทย "


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ก.ค. 10, 14:11
คุณเพ็ญชมพูเดินขบวนจากจุฬามาสมทบแล้ว เฮ

ขอตัดแว๊บมาที่พนมเปญนิดนึงครับ

ตั้งแต่คุยกันที่ไซ่ง่อนไม่รู้เรื่อง ฝรั่งเศสก็เตรียมตัวทำสงครามกับไทย ในเขมรแย่หน่อยเพราะอยู่ใกล้ชิดติดกัน คนไทยเยอะแยะจึงถูกฝรั่งเศสเหล่มองไม่ไว้ใจเพราะเป็นชนชาติศัตรูไปแล้ว คนต่างด้าวในอินโดจีนถูกหมายเกณฑ์ให้ไปรายงานตัวเพื่อบรรจุเข้าเป็นพลทหารตามกองพันทหารต่างด้าวต่างๆ พระยาทรงท่านรอดตัวไปไม่โดนหมาย แต่ร.อ.สำรวจและหลวงรณโดนพร้อมๆกับชายไทยอีกหลายคน ไม่ว่าจะทำหนังสือร้องทุกข์ หรือร้องเรียนใดๆก็เป็นผล สุดท้ายจะเอาเป็นทหารก็ยอมละ ขอยศกันหน่อยเพราะเคยเป็นนายทหารสัญญาบัตร อย่าให้ขนาดถึงกับเป็นพลทหารเลย ก็ไม่รับฟัง ใดๆทั้งสิ้น ต้องรายงานตัวตามกำหนด นอนโรงทหารไป1คืน เช้ากำลังรอรับเครื่องแบบนายทหาร มองสิเออร์เซมเปร นายตำรวจผู้ดูแลพวกกบฎลี้ภัยก็ปรากฏตัวเหมือนสวรรค์ส่งมา ส่งหนังสือของผู้สำเร็จราชการอินโดจีนสั่งการให้ผู้บังคับการกรม  ปลดปล่อยตัวนายทหารไทยทั้งหมดเป็นอิสระ

หายใจโล่งอกอยู่ได้สามวัน  พอกองทัพไทยเข้าประชิดตลอดแนวพรมแดนติดต่อระหว่างกัน รัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศสก็มีคำสั่งด่วน ให้อพยพอดีตนายทหารทั้งหมดออกจากพนมเปญไปอยู่เมืองญวนภายใน3ชั่วโมง(สามชั่วโมง) เพราะความไม่ไว้วางใจ และในคำสั่งระบุให้ไปรายงานตัวต่อตำรวจในไซ่ง่อนทุกๆ3วันอีกด้วย

ความซวยไม่จบของคนที่บ้านเกิดเมืองนอนไม่ต้องการ ประเทศที่คุ้มกะลาหัวก็กลับไม่ไว้วางใจ บุคคลที่น่าสงสารรวมทั้งครอบครัวจึงบ่ายหหน้าไปหาพระยาทรง สุภาพบุรุษผู้ใจกว้างอาศัย ผู้อยู่อาศัยในห้องแถวแคบๆ ห้องนอนเดียว พื้นที่รวมกว้าง3เมตร ยาว6เมตรนั้น นอกจากเป็นห้องนอนของสามคนพ่อแม่ลูกแล้ว ก็เป็นครัว ห้องอาหาร และห้องรับแขก แต่ท่านก็ยินดีต้อนรับทุกคนด้วยความเต็มใจ รวมทุกชีวิตที่จะอยู่ในรูหนูนั้นแล้ว10คนพอดี และด้วยความเป็นผู้ดีของท่าน ท่านยืนยันให้หลวงรณผู้เป็นแขกนอนในห้อง ส่วนท่านผู้เป็นเจ้าของบ้านออกมากางเตียงผ้าใบนอนนอกระเบียง โดยไม่ยอมฟังเสียงวิงวอนของหลวงรณที่จะขอสลับกัน

คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก การที่มีคนมาอยู่เยอะๆทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไปในทางดีขึ้น ในการช่วยกันคิด ช่วยกันทำมาหากิน

กลับมาทางเมืองไทย ทุกคนใจจดจ่ออยู่กับที่จะได้ล้างแค้น ไชโย ท่านผู้นำของเรา ไชโย เอามันให้ตาย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ค. 10, 14:53
อ่านพบคำว่า ยุวชนทหาร มาก่อน    เคยอ่านพบว่ามีอยู่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒   คุณวิกี้ให้คำตอบมาว่า
เยาวชนที่ได้รับการฝึกวิชาทหารขึ้นในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2477 - 2490 เนื่องจากรัฐบาลไทยสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามมีนโยบายพื้นฟูการฝึกวิชาทหารให้แก่ประชาชน โดยทำการฝึกจากนักเรียนและนิสิตนักศึกษาตามอย่างการฝึกยุวชนนาซีของเยอรมนี
ยกเลิกไปเมื่อพ.ศ. ๒๔๙๐

รูปนี้ ยุวชนทหารน่าจะกำลังฝึกกันอยู่


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ก.ค. 10, 15:57
เดี๋ยวนะครับยังรบไม่ได้

การที่อยู่ๆกระจอกอย่างไทยจะส่งทหารไปรบกับใครโดยที่มหาอำนาจเจ้าของพื้นที่ไม่รู้ไม่เห็นด้วยนั้น อย่าได้คิดนะครับ ยิ่งสมัยนี้ยิ่งไม่ต้องคิดใหญ่ พอหลวงพิบูลอยากจะรบอินโดจีนฝรั่งเศส ก็ส่งทูตออกเป็นสองสาย สายแรกไปยุโรป เข้าหาเยอรมันเจ้าของฝรั่งเศสที่กลายเป็นเมืองขึ้นเสียเองไปแล้ว อาศัยเส้นพระยาพหลนักเรียนนายร้อยยุคไกเซอร์เพื่อนรุ่นเดียวกับนายพลเกอริง แม่ทัพใหญ่ของนาซีแบบซี้ปึ่ก ให้พระประศาสตร์อดีตผู้ก่อการที่ถูกปลั่งไปอยู่เบอร์ลินประสานให้ นี่ก็นักเรียนนายร้อยเยอรมันเหมือนกัน ท่านผู้อ่านคงจำได้ นายพลเกอริงจึงเปิดอกพูดว่าไอเจรจากับไอ้เศสให้แล้วว่ะ แต่มันไม่ยอม เอายังงี้แล้วกัน มันดื้อนักพวกยูก็อัดมันซะ แต่เอาแต่เบาะๆนะโฟ้ย อย่ารุกเกินดินแดนที่มันเอาจากยูไป  เดี๋ยวจะยุ่งไม่จบ หลังจากนั้นก็ชวนกินเบียร์กับขาหมูทอดหนังกรอบต่อ ไม่พูดการเมืองอีก
 
สายที่ไปญี่ปุ่นนั้น ไม่ไปไม่ได้ เพราะกองทัพญี่ปุ่นอยู่ในเมืองญวนเต็มไปหมด บังเอิญแม่ทัพโตโจก็นักเรียนนายร้อยเยอรมันยุคไกเซอร์ รุ่นเดียวกับเกอริงและพระยาพหลเหมือนกัน น่าจะคุยกันได้ ญี่ปุ่นไม่ค่อยพอใจนักเพราะตามแผนแล้ว เล็งไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศสเป็นพันธมิตร ไม่อยากให้รบกันเองเปลืองไพร่พลและยุทโธปกรณ์  น่าจะถนอมไว้รบกับศัตรูของญี่ปุ่นมากกว่า แต่ก็ไม่อยากขัดใจไทยเพราะกำลังจะจีบให้ร่วมวงศ์ไพบูลย์มหาเอเซียบูรพาด้วยกัน แต่ฝรั่งเศสในอินโดจีนมันทำท่าญวนๆกับญี่ปุ่นอยู่ ญี่ปุ่นอยากจะจับทุ่มสั่งสอนในท่ายูโดนาเงะโนกาตะอยู่ครามครัน จึงพยักหน้าให้ไทย แต่ปากก็พูดว่าญี่ปุ่นจะขอเป็นกลางไม่ยุ่งเรื่องนี้  เพราะรอเวลาจะเข้าตีจีนทางอ่าวตังเกี๋ยไม่มีเวลาสนใจเรื่องของไทย  ทูตทหารทั้งสองคณะก็กลับไปรายงานให้ท่านผู้นำได้รับทราบ เป็นอันว่าทุกอย่างพร้อมที่จะเล่นสงครามสาดกระสุนปืนใส่กันแล้ว


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: ธีร์ ที่ 05 ก.ค. 10, 17:10
ขออนุญาติคิดต่างจากท่าน นวรัตน์ หน่อยครับ
เรื่องน้ำตาลจากต้นตาลกับน้ำตาลจากมะพร้าว เพราะว่าที่บ้านต้นตระกูลมาจากเมืองเพชร ปัจจุบันย้ายมาแล้วก็ยังมีลุงเขยทำอยู่ครับ
ความหวานของน้ำตาลจากต้นตาลนั้นจะละมุนลิ้นกว่าน้ำตาลจากมะพร้าวครับ ถ้ารสมะพร้าวจะหวานโดดกว่าครับ สีที่ได้ก็จะขาวกว่าของต้นตาลซึ่งจะคล้ำกว่านิดหน่อย สีของน้ำตาลจะมะพร้าวจะคล้ายๆน้ำจากน้ำต้มหอย(สำนวนบ้านนอกจริงเรา  ;D)

แต่ว่าปัจจุบันน้ำตาลโตนดจากเมืองเพชรแท้ๆเจอพวกเพชรรุ่นใหม่หัวเสธเข้าให้ครับ เอาน้ำตาลทรายผสมรสชาดจะไม่อร่อยอย่างตาลโตนดแท้ๆครับ

น้ำตาลสดแท้ๆนั้นต้องรีบกินเพราะยังไม่ได้ต้มจะเสียเร็วมาก แต่ต้องระวังเปลือกพยอม(คิดว่าจำไม่ผิด)ที่อยู่ในกระบอกใส่ไว้กันเสียหน่อยแล้วกัน
อีกอย่างคนรุ่นใหม่(ผมด้วย)กินน้ำจากกระบอกไม่เป็นยกทีเดียวหกหมดครับ  :D


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 05 ก.ค. 10, 17:17
มาขยายความเรื่องที่ นายพันโท ประยูร  ภมรมนตรี รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถปลุกนิสิตให้ลุกขึ้นเรียกร้องดินแดนได้มากเช่นนั้นก็เพราะท่านเป็นเจ้ากรมยุวชนทหารด้วย  แล้วนิสิตจุฬาฯ ทุกคนในเวลานั้นก็ต้องเป็นยุวชนนายทหารอยู่แล้ว  จึงไม่ใช่เรื่องยาก

ยุวชนนายทหาร (สำหรับนิสิต นักศึกษา)และยุวชนทหาร หรือยุวชนนายสิบนั้นเป็นนักเรียนมัธยม  แนวความคิดในการฝึกยุวชยทหารนี้สืบเนื่องมาจากการฝึกเสือป่าและลูกเสือในรัชกาลที่ ๖  ถึงรัชกาลที่ ๗ เสือป่าถูกปล่อยเข้าป่าไปหมด  คงเหลือแต่ลูกเสือที่ยังคงฝึกวิชาทหารเบื้องต้นอยู่  แต่ที่โรงเรียนวชิราวุธนั้นในสมัยรัชกาลที่ ๖  โปรดให้นักเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ทั้ง ๔ โรงเรียน คือ มหาดเล็กหลวง  ราชวิทยาลัย มหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ และพรานหลวง เป็น "นักเรียนเสือป่าหลวง"  หรือชาวบ้านท่านเรียกกันว่า "นักเรียนนายร้อยเสือป่า"  พอยุบรวมโรงเรียนในสมัยรัชกาลที่ ๗ กรมนักเรียนเสือป่าหลวงก็ถูกปล่อยเข้าป่าไปพร้อมกับเสือเฒ่า  นักเรียนวชิราวุธก็เลยต้องกลับมาฝึกลูกเสือกันใหม่  แต่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ มีพระราชดำริว่า นักเรียนวชิราวุธเคยฝึกวิชาทหารกันมาก่อนควรจะให้ฝึกต่อไปเพราะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ  จึงโปรดให้นักเรียนวชิราวุธฝึกวิชาทหารตามแบบ R.O.T.C Resrve Officer Training Corp ของอังกฤษ  หรือ R.T.C. ของอเมริกา  ก็ฝึกกันมาจนเปลี่ยนแปลงการปกครอง  รัฐบาลประชาธิปไตยที่มีคุณหลวงพิบูลสงครามคงจะได้ข่าวเรื่องยุวชนนาซีของฮิตเลอร์ซึ่งสอดคล้องกับการฝึกของนักเรียนวชิราวุธ  จึงได้มอบหมายให้นายพันโท ประยูร  ภมรมนตรี ซึ่งเป็นข้าเก่าในพระราชสำนักมาแต่รัชกาลที่ ๖  มีความคุ้นเคยกับบรรดาเสือเฒ่าทั้งหลายมาเป็นเจ้ากรมยุวชนทหาร  เลยให้นักเรียนมัธยมกลาง คือ ตั้งแต่มัธยม ๔ (ปัจจุบันคือ ม.๒) เลิกฝึกลูกเสือแล้วเปลี่ยนมาฝึกยุวชนทหาร  จนสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลงกรมยุวชนทหารจึงถูกยุบเลิกตามยุวชนนาซีไป  แล้วกลับมาฝึกลูกเสือกันใหม่  แต่ให้นักเรียนชั้นมัธยมปลายและนิสิตนักศึกษาฝึกวิชาหารที่เรียกกันว่า ร.ด. แทน


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 05 ก.ค. 10, 19:59
ขอสลับฉากด้วย ความใน "สามกรุง" พระนิพนธ์ น.ม.ส. ตามเนื้อเรื่องบรรยายถึงเจ้าพระฝาง แต่สอดแทรกความรู้สึกอัดอั้นต่อพฤติการณ์ของท่านผู้นำ ตัวเอนตามต้นฉบับนะครับ ผมไม่ได้ใส่เอง

๏ ครานี้จะกล่าวบทถึง             เถรหนึ่งฐานะเจ้าพระฝาง
ไม่ใช่พระไม่ใช่เจ้าเข้าระวาง       ตัวอย่างผิดแผกแปลกกฎเกณฑ์
เคยเป็นบรรพชิตศิษย์เลื่อมใส     เด็กผู้ใหญ่ศรัทธาขรัวตาเถร
ครั้นโชคมาชตาโยนก็โอนเอน     เป็นเถนทุราจารพาลเสเพล
คราวกรุงยุ่งยับอับวาศนา          อยุธยาธิปตัยก็ไขว้เขว
สังฆราชเมืองสวางต่างทำเล       สมคเนน่าที่เป็นผีบุญ
ครองไตรยสีแดงแผลงนักหนา    สถาปนาตนเผ่นขึ้นเป็นขุน
สาวกฉกฉวยร่ำรวยทุน            เจ้าประคุณพระฝางวางตำรา
จัดวงไพบูลย์ภูลโภค              ใช้โฉลกอำนาจวาศนา
ฉาว ๆ ป่าวประโยชน์โฆษณา      จูงใจไพร่ฟ้าประชากร
อ้างเหตุบ้านเมืองเคืองเข็ญ        เป็นทางวาจาอุทาหรณ์
พูดอะไรพูดได้ไม่อาวรณ์          ราษฎรโง่เง่าเหมือนเต่าปลา
ห่มจีวรสบงเหมือนทรงศีล         แต่ป่ายปีนไปปราศสาสนา
ฆ่ามนุษย์รบพุ่งมุ่งจินดา           อทินนาทายีไม่มีอาย
เสพย์สตรีมีรศไม่หมดรัก          เยื้องยักแยบอย่างทางฉิบหาย
เป็นพระปลอมเจ้าปลอมจอมอุบาย   อันผายแผ่ตนเพื่อผลพาล
โฆษณาจูงใจได้ทุกสิ่ง             เหล่าหญิงยอมกายถวายท่าน
พวกถูกปล้นไม่ชอบระบอบการ    แต่ทัดทานไม่ไหวจำใจยอม
ผูกขาดค้าขายถ่ายทรัพย์สูญ      ไปเข้าวงไพบูลย์โดยลม่อม
ปวงราษฎรปราศฤทธิ์ต้องอิดออม  อำนาจย่อมอยู่ในมือผู้ถือปืน
เทศน์ให้คนสมัคทาง รักชาติ      รักจนขาดลมหายใจอย่าใฝ่ฝืน
บ้านเมืองคับขันต้องยันยืน         ชีวิตยื่นให้ชาติปราศกีดกาง
เข้าเงินเรี่ยไรไม่รู้เบื่อ              ต้องเชื่อ ผู้นำ ทำต่างต่าง
ไม่ให้ทำไม่ทำอย่าอำพราง        ทุกอย่างไว้ใจได้ในผู้นำ
จะนำไปทางไหนไม่ต้องบอก      แซกซอกไม่หยุดมุดให้หนำ
แม้ลำบากยากแค้นแสนระกำ      ก็ต้องทำ เพื่อชาติ ปราศจำนรรจ์
ฉันเป็นผู้นำชาติอาจนำให้          ทั้งชาติได้ประจักษ์ศักดิ์สุขสันต์
ฉันนี่แหละเป็นผู้รู้เท่าทัน           เพราะว่าชาตินั้นคือฉันเอง
ท่านรักชาติแม้จะม้วยต้องช่วยชาติ   ไม่บังอาจพูดโป้งทำโฉงเฉง
ฉันคือชาติ ๆ คือฉันหันตามเพลง  จงยำเยงจอมโยธีผู้มีปืน ฯ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ค. 10, 20:12
 :)


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ค. 10, 20:22
คำว่า "วงไพบูลย์" เกิดขึ้นในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒     หลังจากไทยยอมจำนนให้ญี่ปุ่นยกทัพผ่านประเทศไทยได้    คนทั่วไปใช้คำนี้ในความหมายถึงการกระชับมิตรระหว่างไทยกับญี่ปุ่น
ต่อมาก็กว้างออกไป ใครร่วมวงคบหา สมาคมกับใครก็เรียกว่าร่วม "วงไพบูลย์" กัน

แต่ความหมายใหญ่ มาจากวงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา  หาอ่านได้จากวิกิ
 
วงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา (อังกฤษ: The Greater East Asia Co-Prosperity Sphere) เป็นความพยายามของญี่ปุ่นที่จะรวบรวมและสร้างแนวป้องกันแห่งชาติเอเชียเพื่อหลุดพ้นจากอิทธิพลของชาติตะวันตก     โดยเป็นความคิดริเริ่มของนายพลฮาชิโร่ ฮาริตะ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และมีอุดมการณ์ทางการทหารอย่างแรงกล้าที่จะสร้าง มหาเอเชียตะวันออก "Greater East Asia"

ในระหว่างที่สงครามกำลังดำเนินอยู่นั้น ญี่ปุ่นได้พยายามโฆษณาชวนเชื่อ โดยมีประโยคที่ว่า "เอเชียเพื่อชาวเอเชีย" (Asia for Asians) โดยเนื้อหานั้นจะพูดถึงเกี่ยวกับการปลดปล่อยชาติในเอเชียให้หลุดพ้นจากลัทธิจักรวรรดินิยม โดยทำการบุกประเทศเพื่อนบ้าน และขับไล่ทหาร อังกฤษ ฝรั่งเศส และอเมริกา ออกไปจากภูมิภาคนี้

 ปัจจัยที่ผลักดันให้ญี่ปุ่นคิดสร้างวงไพบูลย์มหาเอเชียบูรพา
1.มีความคิดที่ว่าญี่ปุ่นมีชาติพันธุ์ที่เหนือกว่าชาติอื่นในเอเชีย ในเมื่อปกครองโดยพระจักรพรรดิผู้ทรงสืบเชื้อสายมาจากพระอาทิตย์มาอย่างไม่ขาดสาย จึงมีสิทธิชอบธรรมที่จะเป็นใหญ่คุ้มครองชาติอื่น
2.ญี่ปุ่นคิดว่าวัฒนธรรมตะวันตกหรือปรัชญาตะวันตกเป็นยาพิษของตะวันออกและเป็นวัฒนธรรมที่เสื่อมทราม จึงจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูระเบียบสังคมและวัฒนธรรมตามขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของตะวันออกที่เป็นแบบอำนาจนิยมขึ้นมาแทนระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตก เพื่อให้เอเชียเป็นของชาวเอเชียเท่านั้น


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ค. 10, 08:08
ตัดกลับมาที่บ้านพระยาทรงในไซ่ง่อน

คนทั้งสิบประชุมกันแล้วเห็นว่า มาอยู่กันเยอะๆแล้วน่าจะทำขนมกล้วยแบบไทยๆลองขายให้คนญวนดู เพราะลงทุนน้อย ทำไม่ยาก แต่ต้องใช้แรงงานมาก และต้องโม่แป้งซึ่งเป็นงานหนักเท่านั้น ผมเกิดทันพอที่จะได้เห็นการใช้โม่หินในภาพข้างล่าง เขาจะเอาข้าวสารแช่น้ำสักพักแล้วหยอดลงไปในรูด้านบน หลังจากนั้นก็ใช้ด้ามไม้หมุนหินตัวบนบดกับแท่นด้านล่าง จนข้าวละเอียดเป็นแป้งเหลว ใหลออกมาลงภาชนะที่รองรับ พระยาทรงท่านรับหน้าที่คนบด วันละ1ชั่วโมง ท่านบอกว่าได้ออกกำลังกายดี ส่วนงานเอาผลกล้วยสุกงอมมาขยำกับแป้งและน้ำตาลท.ส.เป็นคนทำ ผู้หญิงมีหน้าที่เอาใบตองมาตัดเป็นชิ้นๆและห่อขึ้นรูป เพื่อเอาไปนึ่ง แรกๆลองทำวันละ300-400ห่อ ให้ร้อยโทผล นายทหารม้าที่ตามพระองค์เจ้าบวรเดชมาอยู่เมืองญวนหลายปีแล้ว พูดภาษาญวนได้ พาออกตลาดเพื่อฝากขายตามแผงขายขนมต่างๆห่อละ1เซนต์ ก็พอขายได้และเริ่มขยับยอดขายขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ไม่เคยถึงพันห่อสักครั้งเดียว งานขายขนมกล้วยเป็นงานที่ใช้แรงงานมาก แม้ต่อมาจะทำขนมถั่วกวน ข้าวเหนียวตัดออกเสริม แต่ก็ขายไม่ดีเท่าจึงเลิกไป กำไรจึงมีแค่พอเป็นค่าอาหารวันหนึ่งๆ คำนวณรายได้เฉลี่ยต่อคนแล้วถูกกว่าค่าแรงกรรมกรเสียอีก แต่ก็ยังดีที่มีกิน และมีงานทำ มีโอกาสสนทนากันถึงเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในโลกและในเมืองไทย เป็นการบำรุงสุขภาพจิตของทุกคน

ปกติพระยาทรงจะมีแขกที่เป็นชาวญวนชาวฝรั่งเศสที่เคยรู้จักสมัยที่ท่านยังมีตำแหน่งราชการในเมืองไทยแวะมาเยี่ยมบ้าง แต่วันหนึ่งขณะที่กำลังทำขนมกล้วยเป็นการใหญ่ อดีตข้าหลวงฝรั่งเศสเมืองพระตะบองมาเยี่ยม เขาแสดงท่าทางเห็นอกเห็นใจอย่างยิ่งที่ได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของท่าน แม้ตลอดเวลาของการสนทนา ท่านจะมิได้ปริปากเพียงนิดเดียวถึงความทุกข์ยากที่กำลังประสพอยู่  วันรุ่งขึ้นชาวฝรั่งเศสผู้นั้นให้คนถือจดหมายมาพร้อมเงิน800เหรียญบรรจุอยู่ในซอง มีข้อความสั้นๆว่า เขาขออภัย โปรดอย่าคิดว่าเขาหมิ่นเกียรติของท่านเลย แต่หลังจากเมื่อวันวานแล้วเขาคิดว่า เขาจะผ่านไปโดยไม่ช่วยเหลือท่านอย่างใดอย่างหนึ่งมิได้ ขอให้ท่านกรุณารับความปรารถนาดีของเขาด้วย

พระยาทรงท่านตอบขอบคุณเขาฝากไปกับคนเดินหนังสือ

เงิน800เหรียญมากเท่ารายได้จากการขายขนมกล้วยเกือบหนึ่งแสนห่อ มีค่าเท่ากับค่าใช้จ่ายของคนทั้งบ้าน4เดือน แต่ไม่ทำให้ชายผู้นี้เปลี่ยน แม้ท่านจะรู้สึกขอบคุณ และมิได้ตำหนิความเมตตาของผู้ให้ แต่คนอย่างท่านไม่สามารถรับเงินจากใครที่ไม่ทราบที่มาที่ไป เงินก้อนนี้อาจจะมาจากรัฐบาลอินโดจีนก็ได้ พระยาทรงตัดสินใจยอมอดตายเสียดีกว่าที่จะเสียเกียรติ

คนฝรั่งเศสที่คบหาเป็นเพื่อนผู้น้อยของท่านคนหนึ่งชื่อ มองซิเออร์ วิกเตอร์บูเกย เคยอยู่เมืองไทยเรียนหนังสือที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ท่านเรียกตามชื่อเล่นที่เพื่อนตั้งให้เขาตอนเป็นเด็กว่าอาบู ท่านติดต่ออาบูให้พาท่านนำเงิน800เหรียญที่ได้มานี้ ไปบริจาคให้สภากาชาดของอินโดจีน และตามที่คาดไว้ว่า เรื่องดังกล่าวจะต้องถึงหูคนของรัฐบาลอินโดจีนจนได้ ต่อมาอาบูได้มาเล่าให้ฟังว่า มองซิเออร์เซมเปรทราบเรื่องเข้าก็ได้กล่าวติเตียนผู้ที่นำเงินมาให้ท่านว่า คนอย่างพระยาทรงไม่มีวันจะรับเงินด้วยวิธีนี้เป็นอันขาด

ดังนั้น อีกต่อมาไม่นาน จึงมีนายทหารฝรั่งเศสมาที่บ้านของท่าน หลังจากแสดงความเคารพแล้วแจ้งว่า พลเรือเอก ญัง เดอกูซ์ (Admiral Jean Decoux) ผู้สำเร็จราชการใหญ่แห่งอินโดจีนให้มาขอนัดหมาย เพื่อขอเรียนเชิญพันเอก พระยาทรงสุรเดชไปพบ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ค. 10, 09:52
ครั้นถึงเวลานัดหมาย พระยาทรงในชุดสากลผูกหูกระต่าย เดินนำหน้านายทหารฝรั่งเศสผู้มารับไปขึ้นรถเก๋งคันยาวที่ท่านผู้สำเร็จราชการส่งมาเพื่อไปดินเนอร์ร่วมกัน
การสนทนาใช้ล่ามภาษาฝรั่งเศสและเยอรมัน เริ่มจากการโอภาปราศรัยสารทุกข์สุกดิบตามวิธีทางการทูต มีการแสดงความเสียใจและแสดงความขอบคุณต่อกันและกัน แล้วเชิญดื่มเล็กๆน้อยๆให้ผ่อนคลายอารมณ์ ก่อนจะเข้าเรื่องสงครามระหว่างฝรั่งเศสและไทยที่กำลังจะเกิดในวันสองวันนี้ ท่านผู้สำเร็จราชการถามพระยาทรงว่าท่านมีความคิดเห็นอย่างไร

พระยาทรงตอบคำถามนี้ตามความจริงใจของท่านว่าท่านไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลไทยที่เลือกใช้วิธีการก่อสงคราม เพราะปัญหาของไทยจะต้องเผชิญกับการคุกคามในอนาคตอันใกล้มิใช่ฝรั่งเศส แต่เป็นประเทศมหาอำนาจซึ่งกำลังแสดงอิทธิพลอยู่แถบนี้จะเป็นมือที่3ที่จะได้รับประโยชน์จากสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับไทยอย่างแท้จริง แต่ในระยะยาวแล้ว ท่านคิดว่าฝ่ายสัมพันธมิตรที่มีประเทศมหาอำนาจผนึกกำลังกันมากกว่า จะเป็นฝ่ายชนะ

ตามข้อเท็จจริง  พระยาทรงท่านไม่ใช่คนพูดมาก และท่านต้องระมัดระวังคำพูดเป็นพิเศษมิให้เสียหายต่อประเทศชาติ เมื่อถูกถามเกี่ยวกับกำลังรบของไทย ท่านก็จะเปิดเผยแต่สิ่งที่คิดว่าฝรั่งเศสรู้อยู่แล้ว หลวงพิบูลเคยเอาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เพิ่งสั่งซื้อเข้ามา แสดงอวดที่ท้องสนามหลวง แนวที่5ของฝรั่งเศสก็ถ่ายภาพส่งมาไซ่ง่อนจนไม่เป็นความลับแล้ว ท่านก็ให้ความเห็นไป ส่วนคำถามคำตอบเรื่องที่เกี่ยวกับการทหารอื่นๆ ท่านอาจจะพูดไปบ้าง แต่เชื่อเถอะ เรื่องการรักษาความลับของนายทหารผู้นี้ ต้องดูคราวก่อนหน้า24มิถุนายน เพื่อนฝูงพยายามจะซักถามว่าเสธฯ.จะเอาทหารที่ไหนมาทำการปฏิวัติ ท่านก็ชวนคุยเรื่องอื่น ขนาดพระยาพหลหัวหน้าคณะผู้ก่อการยังได้ทราบเอาในเช้าตรู่ของวันที่ปฏิบัติการนั้นเลย ดังนั้น เรื่องที่พลเรือเอก ญัง เดอกูซ์ จะได้อะไรจากท่านไปได้บ้างนั้น ขอให้วางใจเกษม

ไม่นานเกินรอ หลังจากการรับประทานอาหารค่ำในคืนนั้น กองทัพไทยก็บุกข้ามพรมแดนอินโดจีนต่อจากปฏิบัติการที่ทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหากันเรื่องการส่งเครื่องบินรบเข้าไปก่อกวนอีกฝ่ายหนึ่ง สงครามที่มิได้ประกาศระหว่างไทยกับฝรั่งเศสได้เริ่มต้นอย่างเต็มรูปแบบ เกิดการรบทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ที่ต่อมาเรียกอย่างเป็นทางการว่า “กรณีย์พิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส”


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ค. 10, 11:17
ผมมีหนังสือเล่มนี้อยู่ มีเรื่องราวของกรณีพิพาทอินโดจีนที่รัฐบาลต้องการเผยแพร่อย่างละเอียดลออ โปรดสังเกตุความหนา ผมอ่านส่วนที่นำ“ข่าวทหาร”ทุกฉบับที่รัฐบาลแถลงให้ประชาชนทราบทุกวันในช่วงรบกัน ผมอ่านแล้วก็ไม่อยากจะวิจารณ์เขาหรอก รัฐบาลระหว่างสงครามประเทศไหนก็ต้องออกข่าวจริงบ้างยกเมฆบ้างเพื่อเรียกขวัญกำลังใจประชาชนฝ่ายตน แต่อ่านข่าวการรบทางเรือแล้ว เข้าใจเรื่องที่เล่ากันในครอบครัวเลย ทำไมคุณยายพอได้ข่าวจากวิทยุว่า เรือรบฝรั่งเศสบุกเข้ามาทางเกาะช้างแล้วรล.ธนบุรีเข้าต่อตีด้วยความกล้าหาญจนฝรั่งเศสล่าถอยไป คุณยายก็ร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวรเพราะเป็นห่วงลูกชายที่เป็นนายป้อมปืนท้ายบนเรือลำนั้น ไม่มีใครอยากเชื่อ“ข่าวทหาร”ว่าทหารไทยได้รับชัยชนะอย่างงดงามโดยสูญเสียเพียงเท่าที่รัฐบาลแถลง

ความเป็นจริงเฉพาะส่วนนี้ ไทยต้องสูญเสียเรือปืนใหม่เอี่ยมที่เพิ่งสั่งต่อมาจากญี่ปุ่นไป1ลำ เรือตอร์ปิโดใหญ่สั่งต่อจากอิตาลี ถึงจะไม่ใหม่ขนาดแกะกล่องแต่ก็ถือว่าทันสมัย2ลำถูกยิงจมขณะยังไม่ได้ติดเครื่องด้วยซ้ำ เรือหลวงธนบุรีนั้นยิงกับฝรั่งเศสหูดับตับไหม้ โดนลูกฟลุ็คของฝรั่งเศสในช่วงสิบนาทีแรกของการสู้รบ หัวกระสุนลอดช่องหน้าต่างสพานเดินเรือ(หอบังคับการ)ที่มีเกราะหนาถึง4นิ้วเข้าไประเบิดข้างใน ผู้บังคับการเรือตายคาที่ เครื่องบินของกองทัพอากาศที่ส่งออกมาจากฐานบินจันทบุรีเพื่อโจมตีข้าศึกตามข่าว เห็นเรือหลวงธนบุรีอยู่ในม่านควัน นึกว่าเป็นเรือรบฝรั่งเศสก็ดำทิ้งระเบิดโดนดาษฟ้าทะลุพื้นไประเบิดกลางลำเรือ

วันหลังค่อยเล่าต่อแล้วกันนะครับ วันนี้พอก่อน อ้อบอกท่านที่เป็นห่วงนิดนึงนะครับ ลุงผมรอดชีวิตมาได้ หลายวันต่อมานุ่งกางเกงกลาสีขาสั้นเดินยิ้มเผล่เข้ามาในบ้าน คุณยายก็ร้องไห้อีกยกใหญ่ คราวนี้เป็นด้วยความดีใจ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ค. 10, 12:46
ระหว่างที่ฝรั่งเศสกำลังรบกับไทยอยู่นั้นเอง ญี่ปุ่นก็ถือโอกาสเพิ่มกำลังพลเข้ามาในญวนจนเต็มไซ่ง่อนไปหมด พอเห็นว่าทั้งคู่ซัดกันพอหอมปากหอมคอ สูญเสียทั้งสองฝ่ายพอประมาณแล้วก็ดำเนินการเข้าไกล่เกลี่ยทันที เรือประจันบานนาโตริที่ลอยลำอยู่ในทะเลหลวงก็แล่นเข้าไปทอดสมอบีบฝรั่งเศสถึงแม่น้ำหน้าเมืองไซ่ง่อน แปลกที่ไม่ยักต้องออกแรงขู่ไทย แค่แจ้งให้ทราบหลวงพิบูลรีบส่งคณะทูตไปเซ็นสัญญาหยุดยิงบนเรือรบของญี่ปุ่น การเจรจาดำเนินต่อไปเล็กน้อยก็ได้ข้อยุติ ไทยได้ดินแดนกลับคืนมาบางส่วน 4 จังหวัด คือ จำปาสัก ศรีโสภณ มงคลบุรีและพระตะบอง รวมเป็นพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 24,039 ตารางกิโลเมตร ไทยกับฝรั่งเศส ลงนามในอนุสัญญาสันติภาพที่กรุงโตเกียว เมื่อ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 หลวงพิบูลประกาศเป็นชัยชนะของไทย และเริ่มต้นโครงการก่อสร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่ยังดำรงอยู่มาจนทุกวันนี้

พระยาทรงเห็นความเคลื่อนไหวทางการทหารของญี่ปุ่นแล้วทหารระดับท่านก็เดาออก ผู้สำเร็จราชการฝรั่งเศสคุยกับท่านในระหว่างการรับประทานอาหารคืนวันนั้นว่า ถ้าพระยาทรงจะรวบรวมคนไทยจัดตั้งขบวนการแบบฝรั่งเศสเสรีแล้ว เขายินดีจะสนับสนุน ขณะที่ไทยกำลังจะรบกับฝรั่งเศสอยู่ท่านจึงได้แค่รับฟังเพราะไม่แน่ใจว่าฝรั่งเศสต้องการกระทำเพื่อรักษาดินแดนในครอบครองของตนหรือไม่ แต่เมื่อศัตรูของทั้งสองชาติมีความชัดเจนมากขึ้น ท่านจึงอยากจะหาคนที่จะเป็นตัวกลางประสานงานกับคนในเมืองไทย เพื่อทำอะไรสักอย่างเตรียมต่อต้านญี่ปุ่น ในเมืองจีนท่านมีเพื่อนที่พบกันครั้งสุดท้ายในปี2457 เชื่อว่าจะเป็นผู้เชื่อมความคิดของท่านได้จึงติดต่อกับมองซิเออร์ เซมเปรให้รายงานท่านผู้สำเร็จราชการ ขอเพียงพาหนะนำท่านไปส่งที่ชายแดนจีน หลังจากนั้นท่านเชื่อว่าจะได้รับความช่วยเหลือต่อจากเพื่อนคนนั้น มองซิเออร์ เซมเปรใช้เวลาพักหนึ่งแล้วมาแจ้งว่าฝรั่งเศสยินดีจะช่วย แต่ครั้นถึงวันนัดหมายที่จะเดินทาง ฝรั่งเศสมาบอกข่าวว่าญี่ปุ่นได้ปิดทุกช่องทางที่จะเข้าสู่เมืองจีนหมดแล้วเพื่อตัดการติดต่อทุกอย่าง ขอเลื่อนแผนการณ์ดังกล่าวออกไปก่อน

 ระหว่างนั้น อันที่จริงความเป็นอยู่ของท่านได้แย่ลง เริ่มจากการที่ขนมกล้วยขายไม่ดีเท่าแต่ก่อน ไม่ทราบว่าเพราะคนเบื่อหรือประหยัดในภาวะสงคราม ท่านจึงได้ย้ายออกไปอยู่บ้านนอกที่ก่อนหน้านั้นไม่กล้าไปเพราะน้อยคน จะป้องกันบ้านจากโขมยขโจรไม่ได้ แต่คราวนี้ลูกน้องมาอยู่หลายนาย ย้ายออกไปหาที่ถูกๆกว้างขวางหน่อยจะดีกว่า ห้องเช่าเดิมในไซ่ง่อน หลวงรณกับครอบครัวขอรับช่วงต่อไม่ได้ไปด้วย การออกไปอยู่บ้านนอกในช่วงนี้แหละที่เป็นข่าวว่าพระยาทรงตกอับถึงกับต้องเดินท่อมๆทอดแหหาปลามากินไปวันๆ ข้อเท็จจริงคือร.อ.สำรวจมีความชำนาญในการใช้แหมาตั้งแต่เด็ก เห็นหมู่บ้านที่ย้ายไปอยู่ใหม่มีหนองน้ำคลองบึงมากมายจึงไปซื้อแหจากตลาดมาลองจับปลาดู ได้ผลน่าพอใจ สมาชิกในบ้านมีอาหารโปรตีนเสริมแทนการกินผัดผักกับกุ้งแห้งโดยไม่ต้องซื้อ พระยาทรงท่านเห็นดีด้วย เขาออกไปทอดแหกันท่านก็ไปกับเขา เริ่มจากการช่วยเอาปลาออกจากแหจนถึงกับลงมือทอดแหเองเลย



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ค. 10, 13:03
ขอพักเชคชื่อหน่อยนะครับท่านผู้อ่าน
วันนี้เงียบๆชอบกลทั้งอาจารย์ทั้งนักเรียน หายกันไปหมด

ไม่รู้ว่าจะทิ้งโดดให้ผมบรรเลงเดี่ยว หงอยเหงาไปคนเดียวหรือเปล่า


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 06 ก.ค. 10, 13:28
แอบอยู่ครับ  8)


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 06 ก.ค. 10, 14:34
ภาพปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน(ป.ต.อ) ในความเห็นที่ ๒๔๖ พร้อมโคมไฟฉายนี่ ถ้ายึดตามข้อมูลหนังสือลุงสรศัลย์ ท่านว่าเป็นแนวคิดของ ท่านเจ้าคุณศรีสิทธิสงคราม(ดิ่น ท่าราบ) แล้วก็โคมไฟฉายนี้เอง ที่เป็นที่มาของคำว่า "สามแยกไฟฉาย" เพราะว่าที่พ่อตาผมเล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนเขาเอาโคมไฟแบบนี้ไปตั้งไว้ตรงนั้น ก็เลยเป็นที่มาของคำว่า "สามแยกไฟฉาย" ครับ



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: sirinawadee ที่ 06 ก.ค. 10, 15:10
สมาชิกใหม่ค่ะ แอบอ่านมานานแล้ว แต่ต้องสมัครเพราะกระทู้นี้

ขอกราบขอบพระคุณคุณลุง NAVARAT อย่างสุดซึ้งค่ะ กระทู้นี้นอกจากจะได้ความรู้อย่างเต็มเปี่ยมแล้ว ยังได้อ่านภาษาไทยในสำนวนราบรื่นนุ่มนวลเป็นที่สุด

เปิดกระทู้นี้ทั้งวัน และหมั่น refresh เสมอค่ะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 06 ก.ค. 10, 15:38
มาเช็คชื่อเข้าห้องเรียนสายไปหน่อย ขออภัยนะคะ^^
แต่ไม่ได้โดดเรียนนะคะ แค่นั่งหลังห้องไปหน่อยเท่านั้นเองค่ะ

อีกอย่าง อาจารย์เล่นเอาขนมไทยๆมาเล่าให้อยากทาน ยิ่งคิดถึงอาหารไทยอยู่ด้วยค่ะ  :'(
ต้องแวบออกนอกห้องไปหากล้วย มาทานแทนขนมกล้วยค่ะ  :(


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ค. 10, 19:05
ครูประจำชั้น หยุดเลกเชอร์กะทันหัน       หันมาเช็คชื่อทั้งครูและนักเรียนที่เข้าชั้น 
นักเรียนยกมือกันพรึ่บพรั่บ   ครูที่โดดเรียนไปประชุุม  ก็ต้องรีบกลับมารายงานตัว ก่อนจะถูกหักคะแนนตามไปด้วย

ดิฉันกำลังอ่าน ประวัติและผลงานของคุณหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ค่ะ   ในนั้น มีรายงานการประชุมของรัฐบาลในครั้งที่ญี่ปุ่นบุกไทย     
ถ้าคุณนวรัตนเล่าต่อไปถึงสงครามมหาเอเชียบูรพา    ก็คงอ่านจบเล่มพอดี  จะเอารายงานมาแจมด้วย

     ในกระทู้นี้ สงครามอินโดจีนกำลังร้อนระอุ  มาอ่านกันดีกว่า ว่าสมัยนั้นเขาเขียนถึงจอมพล ป.ว่ายังไง
     ในหนังสือ "จอมพลป.พิบูลสงคราม" โดย อ.พิบูลสงคราม   เล่าว่า
      "..น่าสังเกตว่า ยกเว้นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ  น.อ. พระเวชยันต์รังสฤษดิ์  พ.อ.พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ  ขุนสมาหารหิตะคดี และหลวงวิจิตรวาทการ  รวม ๕ ท่าน  รัฐมนตรีทั้งหมดรวม ๒๐ ท่าน ล้วนเป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองทั้งสิ้น    เป็นการยืนยันว่า  ความรักใคร่สามัคคีกลมเกลียว ของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองยังคงเป็นปึกแผ่นแน่นแฟ้นอยู่อย่างมั่นคง   หลังจากได้ผ่านชีวิตร่วมทุกข์ยากด้วยกันมาเป็นเวลานานกว่า ๖ ปี   ในการร่วมมือ ร่วมใจ  กันสร้างความรุ่งเรือง ให้แก่ประเทศชาติ   และในการยืนหยัดต่อสู้กับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช   ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองในขณะนั้น"

      พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิ์อัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ ดูเหมือนจะถูกลืมไปเสียแล้วว่ายังมีตัวตนอยู่


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ค. 10, 19:13
ระหว่างที่ฝรั่งเศสกำลังรบกับไทยอยู่นั้นเอง ญี่ปุ่นก็ถือโอกาสเพิ่มกำลังพลเข้ามาในญวนจนเต็มไซ่ง่อนไปหมด พอเห็นว่าทั้งคู่ซัดกันพอหอมปากหอมคอ สูญเสียทั้งสองฝ่ายพอประมาณแล้วก็ดำเนินการเข้าไกล่เกลี่ยทันที เรือประจันบานนาโตริที่ลอยลำอยู่ในทะเลหลวงก็แล่นเข้าไปทอดสมอบีบฝรั่งเศสถึงแม่น้ำหน้าเมืองไซ่ง่อน แปลกที่ไม่ยักต้องออกแรงขู่ไทย แค่แจ้งให้ทราบหลวงพิบูลรีบส่งคณะทูตไปเซ็นสัญญาหยุดยิงบนเรือรบของญี่ปุ่น การเจรจาดำเนินต่อไปเล็กน้อยก็ได้ข้อยุติ ไทยได้ดินแดนกลับคืนมาบางส่วน 4 จังหวัด คือ จำปาสัก ศรีโสภณ มงคลบุรีและพระตะบอง รวมเป็นพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 24,039 ตารางกิโลเมตร ไทยกับฝรั่งเศส ลงนามในอนุสัญญาสันติภาพที่กรุงโตเกียว เมื่อ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 หลวงพิบูลประกาศเป็นชัยชนะของไทย และเริ่มต้นโครงการก่อสร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่ยังดำรงอยู่มาจนทุกวันนี้


ไปพบรายละเอียดอีกนิดหน่อยเกี่ยวกับการประกาศชัยชนะของไทยในครั้งนี้  คือ  รัฐบาลยุบเลิกตำแหน่งผู้บังคับบัญชาการทหารสูงสุด    และพลตรีหลวงพิบูลสงคราม   ได้เลื่อนยศรวดเดียวจากพลตรีเป็นจอมพลทั้งสามกองทัพ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 06 ก.ค. 10, 21:33
มาครับ มาค่ำเลยครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: prickly heat ที่ 06 ก.ค. 10, 22:47
ขออนุญาติเช็คชื่อว่ายังตามติดและติดตามอยู่ด้วยครับ.......


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: yanang ที่ 07 ก.ค. 10, 00:12
ขออนุญาตเข้ามารายงานตัวด้วยคนค่ะ   ;D
ติดตามอ่านตั้งแต่กลางวัน แสบตาไปหมดเลย
แต่ไม่สามารถละสายตาได้  เพราะได้รับความรู้มากจริง ๆ ค่ะ
ขอบคุณอาจารย์ทุกท่านที่กรุณานำความรู้ดีๆ แบบนี้มาเผยแพร่ให้ได้ติดตามนะคะ   :)


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ค. 10, 07:52
ขอบพระคุณทุกท่านมากครับ ชื่นใจจริงๆ

วันนี้ผมขอต่อสั้นหน่อยนะครับ เพราะต้องไปวัดมกุฏฯในช่วงสายๆ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ค. 10, 07:57
เมื่อหนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าคณะผู้แทนไทยจะเดินทางมาไซ่ง่อนเพื่อเจรจาเรื่องการปักปันชายแดนนั้น พระยาทรงท่านพลางตัวไปซุ่มดูอยู่ไกลๆในสนามบินว่า ใครเป็นใครในคณะที่มา เผื่อจะมีคนรู้จักจะได้หาทางเชื่อมโยงแนวความคิดที่จะจัดตั้งขบวนการใต้ดินที่กำลังคิดวางแผน แต่ก็ผิดหวัง ทั้งคณะที่มาท่านไม่รู้จักหน้าว่าใครเป็นใคร พอที่จะไว้เนื้อเชื่อใจเจรจาความเป็นความตายระดับนี้ได้ จึงจำต้องสงบตนไว้

แต่สงครามระหว่างไทยกับฝรั่งเศสก็นำผลกระทบในทางดีมาให้ท่าน ตอนที่ตึงเครียดระหว่างกันก็เหมือนฝีกลัดหนอง พอฝีมันสุกงอมแตกออก คัดหนองออกไปแล้วแผลก็เริ่มหาย เมื่อเลิกรบกับไทยแล้ว ทางการฝรั่งเศสก็แจ้งให้ทราบว่า ขณะนี้หมดความจำเป็นที่จะต้องกักบริเวณท่าน พระยาทรงเป็นอิสระ จะไปตั้งถิ่นฐานในที่แห่งใดก็ได้ในดินแดนของฝรั่งเศส

ทุกคนรีบเก็บข้าวเก็บของอยากไปพนมเป็ญโดยเร็ว เขมรกับไทยเหมือนพี่เหมือนน้องกันมากกว่าคนญวน อยู่ที่นั่นโอกาสอดข้าวตายน้อยมาก


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ค. 10, 08:03
รัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศสก็ดีใจหาย พอทราบว่าท่านจะเดินทาง ก็จัดรถบรรทุกมาให้ ขามาก็ขนท่านมา ขากลับก็จะเอาไปส่ง ท่านสามารถทุ่นเงินค่าเช่ารถไปได้100เหรียญที่จะถนอมไว้เป็นทุนสำหรับการค้าขายได้ ถึงพนมเปญแล้วท่านเลือกได้บ้านเช่าเล็กๆในสวน จัดข้าวจัดของเสร็จสรรพ ทุกคนก็พร้อมที่จะต่อสู้ในสงครามแห่งชีวิตภาคต่อไป

ท่านอาจารย์เทาชมพูท่านเปรยไว้ในคคห.ต้นๆตอนหนึ่งว่า ถ้าคุญหญิงทรงสุรเดช (จนแล้วจนรอดผมก็หาชื่อตัวท่านไม่พบ) มีฝีมือในการทำอาหารการกินบ้าง ครอบครัวคงไม่ลำบากขนาดนี้ ตอนนั้นผมก็ยังไม่อยากไปออกรับแทน ก็ท่านแจ้งว่ารสชาดแบบไทยๆไม่ถูกปากคนญวน ท่านเดินทางจากประเทศไทย ตั้งใจมาอยู่พนมเปญกับสามี พอลูกไม้ลูกมือพร้อมแล้วก็จะทำขนมขาย แต่ฝรั่งเศสก็บังคับให้ท่านเจ้าคุณสามีไปอยู่เมืองญวน ท่านก็ต้องติดตามไปด้วย พอลูกไม้ลูกมือมากันครบที่พนมเปญ กลับกลายเป็นนายทหารยศร้อยเอกผู้ไม่เคยทำครัว แต่ดำรงตำแหน่งเชฟใหญ่แสดงฝีมือทำข้าวแกงขายคนเขมร ก็ยังพอขายได้ไม่อดตายแหละ ขณะนี้ท่านกลับมาใหม่แล้วพร้อมดรีมทีม ทุกคนล้วนกระตือรือล้นที่จะทำขนมแบบไทยๆให้คนเขมรลองชิมดูสักครั้ง

เริ่มต้นเอาน้ำตาลปึกจากคคห.โน้นมา ตามคุณวี_มีมาชิม อันไหนทำจากจั่นตาลรสละมุนก็เอาไว้ทำขนม อันไหนทำจากมะพร้าวรสแหลมก็เอาไปทำหอก เอ้ย..ขอประทานโทษ เอาไปรอไว้ทำข้าวแกง ขนมของท่านไม่ขี้เหนียวกระทิ จึงทั้งอร่อยหวานมัน ทั้งสะอาด วันแรกที่ลองทำขายก็ขายหมดเกลี้ยงทุกถาด วันต่อมาเพิ่มปริมาณก็เกลี้ยงอีก ขยายยอดขายทุกวันคนก็แน่นร้าน พระยาทรงท่านสะสมกำไรวันละเล็กละน้อยเป็นทุนเพิ่มในการทำขนมให้มากอย่างมากประเภท ขายดิบขายดี กิตติศัพท์ร่ำลือกันตรึมไปจนถึงระดับไฮโซ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 10, 08:35
อ้าว  ถ้างั้นก็ต้องขอขมาลาโทษคุณหญิงทรงสุรเดชละค่ะ    เพราะไม่นึกว่าขนมที่ไม่ถูกปากญวน กลับกลายเป็นถูกปากเขมรเอามากๆ    นึกว่าขนมอร่อย  ใครกินก็อร่อยทั้งนั้น
คุณนวรัตนบรรยายกับข้าวไทยและขนมไทยได้ฉาดฉาน ราวกับย้อนเวลาไปทำครัวกับคุณหญิงทรงสุรเดชมาเอง  ค.ห.ข้างบนนี้คงจะทรมานใจคุณ proudtobethai  ผู้หวนหาอาหารไทยไม่มากก็น้อย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: sirinawadee ที่ 07 ก.ค. 10, 08:43
อ่านแล้วเห็นภาพชัดเจนยังกับดูหนังแน่ะค่ะ

เนื้อหาตั้งแต่พระยาทรงท่านออกจากเมืองไทยไปลำบากอยู่ต่างแดน ทั้งที่รู้ตอนจบ แต่ก็อดเอาใจช่วยท่านไม่ได้ สงสารท่าน แต่ก็ประทับใจในความเป็นลูกผู้ชายของท่านมากๆ  :'(


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ก.ค. 10, 08:55
มาลงชื่อเข้าเรียน

ให้กำลังใจคุณครูอยู่เสมอ

 ;D


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 10, 09:50
กระทู้นี้  กองเชียร์คึกคักจริงๆ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ก.ค. 10, 10:03
ขออนุญาตคุณนวรัตน แวะเชียร์ร่วมกับคุณเทาชมพูหน่อย

When C.U. boys say "Boom - ba - la - ka !" They mean to say "Dear,I love you !"

When C.U.girls say "Chick - a - la - ka ! ' They mean to say " I love you too !"

 ;D


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 10, 10:45
จะร้องตอบอีกเพลง  ก็เกรงว่าจะหาทางจากสามย่านกลับพนมเปญไม่เจอ    เอาไว้เปิดกระทู้คาราโอเกะกันวันหลัง(เร็วกว่าวันหน้า)นะคะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 07 ก.ค. 10, 10:49
คุณนวรัตนบรรยายกับข้าวไทยและขนมไทยได้ฉาดฉาน ราวกับย้อนเวลาไปทำครัวกับคุณหญิงทรงสุรเดชมาเอง  ค.ห.ข้างบนนี้คงจะทรมานใจคุณ proudtobethai  ผู้หวนหาอาหารไทยไม่มากก็น้อย


ที่สุดเลยค่ะอาจารย์.......
อ่านเรื่องนี้ทรมานต่อมน้ำลายจริงๆค่ะ เพราะจินตนาการภาพขนมไทยไม่ขี้เหนียวกะทิไปด้วย
โอย.. สงสารตัวเอง  :'(


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 10, 11:16
เห็นใจมากค่ะ คุณพราวด์  กลับบ้านเกิดเมื่อไร อย่าลืมตรงดิ่งไปกินขนมไทยเสียให้หายอยาก  จะเอารูปมาลงให้ดูก็เกรงว่าจะเป็นการทรมานคนไกลบ้านหนักขึ้น

ระหว่างดาราตัวจริงยังไม่กลับเข้ากระทู้   ดิฉันก็หาเรื่องราวมาเล่ากันหน้าม่านไปพลางๆก่อนนะคะ
**********************
จอมพล ป. ในตอนนั้นดูออกว่าไทยจะต้องเจอพิษสงครามที่เริ่มต้นในยุโรปมาแต่แรก  ไม่มากก็น้อย  ตอนแรกก็ประกาศว่าไทยเป็นกลางอย่างเคร่งครัด   แต่ต่อมาดูออกว่า ไทยจะต้องพัวพันในสงครามอย่างดิ้นไม่หลุด  ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง     ก็เลยมีประกาศพระราชบัญญัติออกมาอีก กำหนดหน้าที่คนไทยในเวลารบ  ต่อต้านมิให้ต่างชาติรุกเข้ามาได้   ต้องป้องกันสุดความสามารถชนิดเอาชีวิตเข้าแลก  มีประกาศรัฐนิยมว่าคนไทยต้องต่อสู้ป้องกันประเทศยังไงบ้าง รวม ๑๒ ฉบับด้วยกัน

ในช่วงนี้เองเป็นช่วงที่เปลี่ยนปีใหม่   คือแทนที่จะเริ่มต้นปีใหม่จาก ๑ เมษายน อย่างที่ใช้กันมาแต่เดิม  ก็เปลี่ยนเป็น ๑ มกราคม  เหตุผลคือ
" เพื่ออนุโลมตามปีประเพณีของไทยแต่โบราณ   หรือให้ตรงกับที่นิยมใช้กันในต่างประเทศที่เจริญแล้วในปัจจุบัน"
มาอธิบายให้ฟังอีกทีว่า
๑ เดิมไทยเราถือเดือนอ้ายเป็นเดือนแรกของปี     
๒  ต่อมานับปฏิทินตามสุริยคติ  คือนับเดือนมกรา กุมภา มีนา
เมื่อจะกลับไปนับแบบโบราณคือเดือนอ้าย  และก็ยังทันสมัยแบบตะวันตกด้วย   ก็ไม่มีวันใดจะเหมาะเท่า ๑ มกราคม  เพราะเป็นวันต้นเดือนอ้าย

สรุปแล้วในปีนั้น  เลยมีแค่ ๙ เดือน  เพราะอีก ๓ เดือนกลายเป็นของปีใหม่ไปแล้ว


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ก.ค. 10, 11:27
กองเชียร์หามาช่วยเสริม

ยุคไม่ขำ..วัธนธัมไทย โดย เทาชมพู

http://vcharkarn.com/reurnthai/no_joking.php

 ;)



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 07 ก.ค. 10, 11:46
ตามลิงค์ไป อ่านแล้วจ้ะ (แหะๆๆ ขอประทานโทษค่ะ )  :-[

ขอบพระคุณมากค่ะ  กำลังจินตนาการ ถึงผู้สูงอายุมากๆ ใส่หมวก โดยเฉพาะผู้หญิง
ยังนึกภาพไม่ออกเลยค่ะว่าเป็นยังไง คงต้องตามหาจากอากู๋อีกแล้วล่ะค่ะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 10, 12:08
เอารูปมาให้ดูค่ะ ว่าสาวๆเขาสวมหมวกกันแบบไหน   ส่วนรูปหญิงแก่สวมหมวกหาไม่ได้  ได้แต่ปกสี่แผ่นดินพิมพ์ครั้งแรก เล่ม ๒  หน้าปกคือแม่พลอยวัยชรา ถือหมวก
นอกจากนี้ยังมีเพลงเชิญชวนให้สวมหมวกด้วยนะคะ  ชื่อเพลง สวมหมวก  
คำร้อง จมื่นมานิตย์นเรศร์
ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน
ขับร้อง มัณฑนา โมรากุล

เชิญซิคะ เชิญร่วมกันสวมหมวก
แสนสะดวกสบายด้วย ทั้งสวยหรู
ปรุงใบหน้าให้อร่าม งามหน้าดู
อีกจะชูอนามัยให้มั่นคง

สมศักดิ์ศรีมีสง่าเป็นอารยะ
หมวกนี้จะชวนให้ชมสมประสงค์
ถึงไม่สวยหมวกจะช่วย เสริมทรวดทรง
งามระหงเลิศวิไลหญิงไทยเรา

อย่ารีรอเลยเจ้าขามาช่วยกัน
สมานฉันท์สร้างไทยให้เทียมเขา
สวมหมวกเถิดจะสำรวยสวยไม่เบา
สนองเค้าท่านผู้นำกล่าวคำชวน

เข้าไปฟังได้ที่นี่
http://www.maama.com/music/view.php?id=016207


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 10, 12:32
พระรูปสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ ทรงสวมพระมาลา  แต่งกายแบบสตรีตะวันตก   เข้าใจว่าเป็นระยะที่ทรงอยู่ในอังกฤษ  เพราะกว่าจะเสด็จกลับประเทศไทยก็จบสงครามโลกไปสิบกว่าปีแล้ว


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 07 ก.ค. 10, 12:34
ขอบพระคุณอาจารย์มากๆเลยค่ะ เพิ่งเคยได้ฟังเพลงสมัยก่อนค่ะ  :D

ผู้หญิงสมัยนั้นสวยดีนะคะ พอใ่ส่หมวกก็ยิ่งดูดี น่าจะถูกใจท่านผู้นำฯนะคะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 10, 13:08
ในค.ห. 255 พิมพ์ผิดไป  กลับไปแก้ไขแล้วค่ะ
ก่อนหน้านี้รัฐบาลยกเลิกตำแหน่ง "ผู้บังคับบัญชาการทหารสูงสุด"   แต่ว่าตำแหน่งนี้ไม่ได้หายไปโดยสิ้นเชิง   แต่กลับมาใหม่อีกครั้งในชื่อสั้นลง   ว่า "ผู้บัญชาการทหารสูงสุด"
ในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๘๔   จอมพลป. พิบูลสงคราม ได้เข้ารับตำแหน่ง "ผู้บัญชาการทหารสูงสุด" บังคับบัญชาแม่ทัพได้หมดทั้ง ๓ เหล่าทัพ   ตลอดจนมีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการได้ตามที่เห็นสมควร  ก็หมายความว่าอำนาจในการสั่ง  แต่งตั้ง  โยกย้าย ทหารและพลเรือน อยู่ในมือจอมพล ป.เพียงผู้เดียว   ไม่ต้องผ่านคณะรัฐมนตรีหรือปลัดกระทรวง
ตอนนั้นบ้านเมืองกำลังตึงเครียด เพราะสงครามนอกประเทศรุนแรงจนใกล้ระเบิด    ญี่ปุ่นส่งทูตพิเศษไปเจรจากับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา  เรื่องจะตกลงยังไงกับเอเชียตะวันออก    ข้อเสนอของญี่ปุ่นคือขอไม่ให้อเมริกาไปถือหางเข้าข้างจีน  ถ้ายอมทำได้ญี่ปุ่นจะถอยกำลังจากอินโดจีน  กลับมาเป็นมิตรดีกับอเมริกา  ซื้อสินค้าทำมาค้าขายกับเป็นปกติ
แต่อเมริกาตอบญี่ปุ่นอย่างแข็งกร้าวว่า ให้ญี่ปุ่นนั่นแหละ  เลิกไปยุ่งกับอินโดจีน  ยูถอยกำลังสามกองทัพกลับบ้านได้แล้ว   ห้ามไปหาเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับรัฐบาลจีน   ให้คบกันด้วยดีดีกว่า
คำตอบนี้เหมือนซัดญี่ปุ่นเข้าเปรี้ยงใหญ่ที่กระโดงคาง     คณะทูตก็ถอยทัพกลับบ้านด้วยความผิดหวัง    ส่วนอเมริกาเมื่อยิงหมัดไปแล้วก็หันมาปรึกษากันที่วอชิงตันว่า ต้องรับมืออย่างหนักกับญี่ปุ่นแน่นอน  เพียงแต่รอข่าวกรองว่าวันไหนเดือนไหนเท่านั้น

ดิฉันคงจะเล่ากินเนื้อที่ของดารานำตัวจริงแห่งกระทู้นี้ไปมากแล้ว    จะผิดถูกประการใดไม่รู้ได้   เพราะอ้างจากหนังสือเล่มเดียว   จึงขอหยุดไว้แค่นี้ก่อน ถ้าผิดท่านก็คงมาแก้ไขให้เอง

กลับมาที่จอมพล ป.อีกครั้ง ว่าความตึงเครียดนอกบ้านก็ทำให้รัฐบาลกระวีกระวาดลุกขึ้นปิดประตู ลากอาวุธออกมาเตรียมพร้อมอย่างเข้มแข็ง   มีการซื้อและเตรียมอาวุธยุทโธปกรณ์ไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว    ตอนนี้ก็ถึงขั้นให้กองกำลังทุกหน่วยเข้าประจำการณ์ ทั้งเหนือ ตะวันออก และใต้
ตัวท่านเองก็ออกแนวหน้าไปเยี่ยมเยียน บำรุงขวัญทหาร ในปลายปี ๒๔๘๔ นั้นเอง

อีกสักพักใหญ่ๆ ถ้ามีจังหวะ  โกโบริจะออกโรงแล้วค่ะ    แต่ถ้าไม่มีจังหวะก็อย่าเสียดายเลย  เรื่องราวในบั้นปลายของพระยาทรงสุรเดชมีรสชาติเข้มข้นหาอ่านได้ยากกว่าคู่กรรม   คู่กรรมคงมีอยู่ประจำในตู้หนังสือของสมาชิกเรือนไทยหลายคนอยู่แล้ว


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 10, 14:11
ไปเจอเกร็ดที่คุณเพ็ญชมพูเล่าไว้ในห้องสมุดพันทิป  เรื่องการใช้อำนาจของจอมพล ป. ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด เลยขอนำมาบางส่วน
http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K8337465/K8337465.html#128

เหตุการณ์ที่ท่านจอมพลออกคำสั่งให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งครั้งนั้นมีเพียง ๒ ท่านคือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และนายปรีดี พนมยงค์  มารายงานตัว

นายปรีดีได้บันทึกไว้ในหนังสือ บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ ดังนี้

“...ต่อมาประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๘๖ จอมพล ป. ได้ยื่นใบลาออกตรงมายังประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แล้วจอมพล ป. ก็ได้ลาออกจากทำเนียบสามัคคีชัย ไม่รู้ว่าไปไหนชะรอยพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯจะทรงทราบว่า จอมพล ป. ต้องการลาออกจริงเพื่อปรับปรุงคณะรัฐมนตรีใหม่ พระองค์จึงส่งใบลาจอมพล ป. มาให้ข้าพเจ้าพิจารณา  ข้าพเจ้าจึงเขียนความเห็นในบันทึกหน้าปกใบลานั้นว่า ‘ใบลานั้นถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแล้ว อนุมัติให้ลาออกได้’ ข้าพเจ้าลงนามไว้ตอนล่าง ทิ้งที่ว่างตอนบนไว้เพื่อให้พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ทรงลงพระนาม ซึ่งพระองค์ก็ทรงลงพระนาม

ข้าพเจ้าเชิญนายทวี  บุณยเกตุ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมาถามจอมพล ป. จะจัดการปรับปรุงรัฐบาลหรืออย่างไร? ก็ได้รับคำตอบว่า คงจะปรับปรุงรัฐบาล และตามหาตัวจอมพล ป. ก็ยังไม่พบ แต่เมื่อคณะผู้สำเร็จราชการฯ ส่งคำอนุมัติใบลาออกของจอมพล ป. แล้ว สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีซึ่งบังคับบัญชากรมโฆษณาการอยู่ด้วยก็ให้วิทยุของกรมนั้นประกาศการลาออกของจอมพล ป.

ฝ่ายจอมพล ป. ขณะนั้นจะอยู่ที่แห่งใดก็ตาม เมื่อได้ฟังวิทยุกรมโฆษณาการประกาศการ ลาออกเช่นนั้นแล้ว  ก็แสดงอาการโกรธมากครั้นแล้วได้มีนายทหารจำนวนหนึ่งไปเฝ้าพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ณ พระที่นั่งอัมพรสถานซึ่งท่านผู้นี้ประทับอยู่ขณะนั้น ขอให้จัดการเอาใบลาออกคืนให้จอมพล ป.

เป็นธรรมดาเมื่อพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ เห็นอาการของนายทหารเหล่านั้นจึงตกพระทัยเพราะไม่สามารถเอาใบลาคืนให้จอมพล ป. ได้ ฉะนั้นพระองค์พร้อมด้วยหม่อมกอบแก้ว ชายาได้มาที่ทำเนียบที่ข้าพเจ้าอาศัยอยู่ ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำใกล้ท่าช้างวังหน้า ขออาศัยค้างคืนที่ทำเนียบ  ข้าพเจ้าจึงขอให้เพื่อนทหารเรือช่วยอารักขาข้าพเจ้าด้วย เพื่อนทหารเรือได้ส่งเรือยามฝั่งในบังคับบัญชาของ ร.อ. วัชรชัย  ชัยสิทธิเวช ร.น. มาจอดที่หน้าทำเทียบของข้าพเจ้า ฝ่าย พ.ต. หลวงราชเดชา ราชองครักษ์ประจำตัวข้าพเจ้า และ พ.ต. ประพันธ์  กุลวิจิตร ราชองครักษ์ประจำองค์พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ก็มาร่วมให้ความอารักขาด้วย

เราสังเกตดูจนกระทั่งเวลาบ่ายของวันรุ่งขึ้นก็ไม่เห็นทหารบกหรืออากาศมาคุกคามประการใด ดังนั้นพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ กับหม่อมกอบแก้ว จึงกลับไปพระที่นั่งอัมพรสถาน

จากการที่พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ และนายปรีดีได้ลงพระนามและลงนามอนุมัติให้จอมพล ป. ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และวิทยุกระจายเสียงของกรมโฆษณาการก็ได้ออกอากาศให้รู้กันทั่วไป อันเป็นการปฏิบัติราชการที่ถูกต้องตามแบบแผนทุกประการ แต่ไม่ถูกใจจอมพล ป. เพราะเจตนาการลาออกของจอมพล ป. ก็เพื่อหยั่งเชิงการเข้ากุมอำนาจเบ็ดเสร็จแบบนโปเลียน ด้วยคาดคิดว่าคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คงไม่กล้าลงพระนามและลงนามอนุมัติให้ท่านลาออก และถ้าเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับยอมรับในอำนาจเบ็ดเสร็จของท่าน แต่เหตุการณ์ไม่ได้เป็นไปเช่นนั้น อันเป็นสัญญาณบอกให้ท่านรู้ว่าการเข้ากุมอำนาจเบ็ดเสร็จยังมีปัญหา ซึ่งหมายถึงยังมีคนต่อต้านขัดขวาง

เพื่อแก้ปัญหาการต่อต้านขัดขวางการขึ้นสู่อำนาจเบ็ดเสร็จ จอมพล ป. จึงอาศัยอำนาจตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตามกฤษฎีกาลงวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๔ ออกคำสั่งให้พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ และนายปรีดีเข้าประจำกองบัญชาการทหารสูงสุด และให้ไปรายงานตัวต่อผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ซึ่งก็คือท่านจอมพลนั่นเอง) ภายใน ๒๔ ชั่วโมง
พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ รีบไปรายงานตัวทันที ส่วนนายปรีดีไม่ยอมไป โดยให้เหตุผลว่า

“ข้าพเจ้ามีตำแหน่งเป็นผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นจอมทัพตามรัฐธรรมนูญ ถ้าข้าพเจ้าไปรายงานตัวยอมอยู่ภายใต้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็เท่ากับข้าพเจ้าลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ลงอยู่ภายใต้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีรัฐมนตรีบางนายได้ชี้แจงขอร้องให้จอมพล ป.ถอนคำสั่งที่ว่านั้น ซึ่งจอมพล ป. ก็ได้ยอมถอนคำสั่ง เป็นอันว่าพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ และข้าพเจ้าคงสามารถปฏิบัติภารกิจแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเป็นจอมทัพตามรัฐธรรมนูญได้ต่อไป”

หลังจากที่จอมพล ป. ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ก็ทรงลาออกจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๗  และสิ้นพระชนม์เมื่อ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙

จากคุณ : เพ็ญชมพู   


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: ธีร์ ที่ 07 ก.ค. 10, 14:30
มีเรื่องสงสัยครับ อ.นวรัตน์(ขออนุญาติเรียกอาจารย์นะครับ) กางเกงที่นายทหารรุ่นนั้นใส่(จากรูปความเห็นที่ 260 ท่านซ้ายสุด) เขามีชื่อเรียกไหมครับแล้วเราไปเอารูปแบบนี้มาจากไหนครับ ทรงเหมือนกับโจงกระเบนเลยครับ

อ้อ อาจารย์ครับ จั่นมะพร้าวทำหอกไม่ได้นะครับ  :D แต่ว่าทางมะพร้าวที่เหลือจากไปทำไม้กลัดแล้ว คงจะเป็นของเล่นชั้นดีที่เดียวของเด็กไทยรุ่นเก่าๆ ทั้งหอก ดาบ ตะกล้อ นก ฯ :-[

ส่วนเรื่องที่ท่าน อ.เทาชมภู กล่าวถึงวันปีใหม่ไทย เมืองไทยกับเมืองจีนนี้ น่าแปลกตรงที่เดือนอ้ายกลับไม่เป็นวันตัดปีใหม่ แต่ว่ากลับไปตัดปีใหม่ตามฤดูกาล สำหรับเมืองไทยไปตัดตรุษสงกรานต์(เดือน ๕ หรือ เดือน ๖ แล้วแต่กรณี) ส่วนเมืองจีนตัดตรุษจีนเป็นวันปีใหม่  :)


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ก.ค. 10, 14:42
ไปเจอเกร็ดที่คุณเพ็ญชมพูเล่าไว้ในห้องสมุดพันทิป  เรื่องการใช้อำนาจของจอมพล ป. ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด เลยขอนำมาบางส่วน
http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K8337465/K8337465.html#128

เกร็ดนี้นำมาจาก

ปรีดี พนมยงค์กับสถาบันกษัตริย์และกรณีสวรรคต สุพจน์ ด่านตระกูล
http://www.pridiinstitute.com/autopage/show_page.php?h=12&s_id=5&d_id=8&page=2&start=1

 8)


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 10, 14:59
มีเรื่องสงสัยครับ อ.นวรัตน์(ขออนุญาติเรียกอาจารย์นะครับ) กางเกงที่นายทหารรุ่นนั้นใส่(จากรูปความเห็นที่ 260 ท่านซ้ายสุด) เขามีชื่อเรียกไหมครับแล้วเราไปเอารูปแบบนี้มาจากไหนครับ ทรงเหมือนกับโจงกระเบนเลยครับ


คุณธีร์คงหมายถึงกางเกงทหารทรงนี้  รอคุณนวรัตนมาอธิบายดีกว่าค่ะ  ดิฉันรู้แค่รูปนี้เอง


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: yanang ที่ 07 ก.ค. 10, 17:55
กางเกงทหารทรงนี้ ตอนแรกเข้าใจว่าเป็นแบบเดียวกับที่สมเด็จฯเจ้าฟ้าจักรพงษ์ทรงใส่เป็นเครื่องแบบของทหารม้าฮุสซาร์เสียอีก แต่พอไปค้นรูปดูจริง ๆ กลับไม่ใช่ เพราะด้านบนเป็นเหมือนกางเกงขี่ม้าปรกติ ไม่พองเป็นโจงกระเบนแบบนี้  ...รอฟังคำตอบด้วยคนค่ะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 07 ก.ค. 10, 18:09
วันนี้คุณพี่นวรัตนคงจะยุ่งกับงานศพ  เพราะเมื่อเช้าบอกไว้ว่าต้องไปวัดมกุฎ  น้องชายจึงขออนุญาตมาตอบคำถามของคุณธีร์แทนพี่ชายที่เคารพไปพลาง  กางเกงที่นายทหารคนซ้ายในภาพความเห็นที่ ๒๖๐ นั้นเรียกว่ากางเกงขี่ม้าครับ  

ในสมัยปรับปรุงกองทัพเรื่อยมาจนถึงยุคงครามโลกครั้งที่ ๒  นั้น  นายทหารของไทยเรามีระเบียบการใช้กางเกงอยู่ ๓ แบบ คือ ๑) กางเกงขี่ม้า  และ ๒) กางเกงขายาวแบบที่ปรากฏในภาพ  แต่กางเกงขายาวนั้นยังมีแบบพิเศษที่ตรงปลายขามีแถบผ้าต่อลงไปสองข้างแล้วไปร้อยที่ใต้รองเท้า  เพราะในสมัยก่อนนั้นกางเกงนายทหารมีแถบสีที่ด้านนอกขากางเกง  การร้อยสายรัดใต้รองเท้าจะทำให้แถบขากางเกงนั้นตึงแลดูสวยงาม  กางเกงแบบที่ ๓) เรียกว่า กางเกงขาสั้น  ที่เรียกว่าขาสั้นนั้นเพราะขากางกางเกงยาวไปถึงใต้เข่า  กางเกงแบบนี้จะไม่มีทรง  ขากางเกงจะตรงเป็นทรงกระบอกตั้งแต่ต้นขาแล้วไปรวบที่ใต้เข่า  ถ้าเป็นนายทหารก็สวมรองเท้าสูงหรือบูทขึ้นมาสวมทับขากางเกงตรงที่รัดไว้ใต้เข่า  แต่ถ้าเป็นนายทหารที่มิได้สวมรองเท้าสูงหรือนายสิบพลทหารที่สวมรองเท้าหุ้มข้อหรือไม่สวมรองเท้า เพราะรองเท้าเป็นของราคาแพง  ก็ใช้ผ้าพันแข็งพันตั้งแต่ข้อเท้าขึ้นไปจนถึงใต้เข่าเหมือนในภาพที่ท่านอาจารย์ใหญ่กรุณานำมาลงไว้ให้ชมกันในความเห็นก่อนหน้า  ผ้าพันแข้งนี้มีไว้สำหรับป้องกันงูหรือสัตว์ร้ายฉกกัดในบริเวณน่อง

สำหรับกางเกงขาสั้นอย่างที่นักเรียนใช้กันอยู่นั้น  ในสมัยก่อนท่านเรียกกันว่า "กางเกงไทย"  คุณสมบัติที่สำคัญของกางเกงไทยนั้น  พระบาทสมเด็จพพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีลายพระราชหัตถ์เล่าความไว้ว่า  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงถวายความเห็นไว้ว่า กางเกงตัวใดที่ถลกขากางเกงขึ้นมาปัสสาวะได้ให้เรียกกางเกงไทย

โปรดสังเกตภาพนายทหารที่ยืนหันหลังข้างล่างนี้  กางเกงที่ท่านสวมอยู่เรียกว่า กางเกงขาสั้น  ซึ่งในเอกสารบางฉบับออกชื่อว่า กางเกงรูเซีย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 10, 18:36
น่าทึ่งมาก ขอบคุณคุณวีมีสำหรับคำอธิบายค่ะ     ไม่เคยดูออกเลยว่าเป็นกางเกงขาสั้นที่รวบปลาย  ถ้าขาไม่บานมากก็ไม่พองเท่าไร  ถ้าบานมากก็พองมาก เป็นโจงกระเบน
สนับแข้ง ก็เพิ่งเห็นวันนี้เองว่าหน้าตาเป็นยังไง  ทีแรกนึกว่าทหารฝรั่งเขาสวมบู๊ตสูงเสียอีก
เอามาแถมให้ดูอีกรูปค่ะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 10, 18:56
เดาว่าในเมื่อนายทหารของสยามจบจากเยอรมันกันมาก   เครื่องแบบทหารไทยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็คงเป็นแบบเยอรมัน
ไปค้นรูปนายทหารสวมเครื่องแบบเยอรมันสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๑ มาได้     รูปขวาสุดสวมกางเกงมีแถบข้างอย่างที่คุณ V_Mee อธิบายไว้ว่าต้องมีสายรัดใต้ฝ่าเท้าให้ตึง    ส่วนทางซ้ายก็ทรงพองอย่างที่เป็นปริศนาให้ถามกัน
ตรงกลาง ไม่ใช่นายทหารนุ่งกระโปรง   แต่ว่าเป็นเสื้อโค้ตยาวสวมในฤดูหนาว


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ค. 10, 21:49
วันนี้ตั้งแต่เช้าเพิ่งกลับมาถึงบ้าน ยอมรับว่าเหนื่อยจริงๆครับ แต่เข้าห้องเรือนไทยมาแล้วชื่นใจกับทุกท่านที่เข้ามาช่วยเสริมความรู้ความบันเทิงให้กับท่านผู้อ่านไม่ให้ขาดตอนความสนุก คืนนี้ผมยังลุยต่อมากไม่ไหว พรุ่งนี้เก็บอัฐิแต่เช้า แล้วทำบุญเลี้ยงพระเพล ขอเวลาให้ผมอีกสักวันสองวันจะกลับมาวิ่งเต็มสูบใหม่


ไหนๆเข้ามาแล้วก็ขอขัดตาทัพด้วยของแท้ รูปจอมพลป.พิบูลสงครามในชุดเครื่องแบบกางเกงขี่ม้า ร้องเท้าทอปบู๊ตหนังเท่ระเบิด หล่อเฟี้ยว


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: yanang ที่ 07 ก.ค. 10, 21:52
ไปเปิดกรุหนังสือเก่าของตัวเอง พอจะค้นรูปที่การแต่งกายใกล้เคียงมาร่วมได้เล็กน้อยค่ะ
แต่ยังลงรูปไม่เป็นค่ะ นักเรียนคนนี้ใหม่มากสำหรับการโพสต์  รบกวนขอคำแนะนำในการลงรูปด้วยได้มั้ยคะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 10, 22:02
เมื่อตอบในช่องคำตอบแล้ว   คลิกที่ "ตัวเลือกเพิ่มเติม" ค่ะ   แล้วห้องลับในเรือนไทยจะโผล่ขึ้นมา   มีช่องให้ browse รูปได้  
ไฟล์รูปที่อนุญาต คือ: doc, gif, jpg, mpg, pdf, png, txt, zip, kmz
ขนาดไฟล์สูงสุดที่อนุญาต: 250 KB, ต่อกระทู้:  ใส่รูปได้ 4  รูปค่ะ

ระหว่างรอ นว(รัตน) เดอะ สตาร์  คืนสู่เวที   เราจะช่วยทำอะไรกันดี   ไม่ให้กระทู้นิ่งสนิทไปเฉยๆ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: yanang ที่ 07 ก.ค. 10, 22:05
ขอบพระคุณค่ะอาจารย์ จะลองดูเลยนะคะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: yanang ที่ 07 ก.ค. 10, 22:09
คลิกที่ "ตัวเลือกเพิ่มเติม" ค่ะ   แล้วห้องลับในเรือนไทยจะโผล่ขึ้นมา   มีช่องให้ browse รูปได้  
ไฟล์รูปที่อนุญาต คือ: doc, gif, jpg, mpg, pdf, png, txt, zip, kmz
ขนาดไฟล์สูงสุดที่อนุญาต: 250 KB, ต่อกระทู้:  ใส่รูปได้ 4  รูปค่ะ

ระหว่างรอ นว(รัตน) เดอะ สตาร์  คืนสู่เวที   เราจะทำอะไรกันดี   ไม่ให้กระทู้หยุดนิ่งไปเฉยๆ

ถ้าอย่างนั้น ลองทายรูปบุคคลท่านนี้ดูมั้ยคะ  ว่าเป็นใคร ? ใบ้ให้ว่า เกี่ยวข้องกับกระทู้นี้โดยตรงค่ะ



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ค. 10, 22:13
สนับแข้ง คือผ้าพันปลายกางเกงเข้ากับรองเท้าหุ้มข้อของกองทัพไทยต้องดูนี่ครับ นักเรียนนายร้อยหญิงรุ่นแรกที่เกิดขึ้นจากความคิดริเริ่มของท่านผู้นำ

เมื่อไทยจะต้องเผชิญกับสงครามโลกครั้งที่ 2แน่ๆ จอมพล ป. มีดำริให้จัดตั้งกองทหารหญิงขึ้น โดยมอบให้กรมยุทธศึกษาทหารบก วางหลักสูตรการศึกษานักเรียนนายร้อยหญิงทหารบก โดยใช้หลักการเดียวกับนายร้อยสำรองทหารบก เช่น เป็นผู้สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า อายุระหว่าง 18-24 ปีบริบูรณ์ สัญชาติไทย และบิดามารดาต้องเป็นคนไทยโดยกำเนิด เป็นต้น

หลักสูตรนักเรียนนายร้อยหญิง แบ่งเป็นภาควิชาการ 1 ปี ภาคปฏิบัติ 6 เดือน โดยมีการเรียนการสอนภาควิชาการ จำนวน 13 วิชา ได้แก่ วิชาทหารราบ ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ ทหารช่าง ทหารสื่อสาร ทหารอากาศ ยุทธวิธี แผนที่ จิตวิทยา กฎหมาย ศีลธรรม สุขวิทยาอนามัยและไอพิษ
 ส่วนภาคปฏิบัติ ต้องฝึกการยิงปืน ขุดสนามเพลาะ การใช้อาวุธประจำกายและประจำหน่วย การฝึกเดินทางไกล รวมทั้งพลศึกษา ซึ่งมีท่ากายบริหาร ราวคู่ ราวเดี่ยว ห่วง ยูโด ดาบฝรั่ง ดาบไทย ต่อยมวย ว่ายน้ำ และไต่เชือก

 เมื่อศึกษาครบกำหนดตามหลักสูตร นักเรียนนายร้อยหญิงได้รับการบรรจุให้เข้ารับราชการในตำแหน่งผู้บังคับหมวดในกองทัพบก โดยให้สำรองราชการมณฑลทหารบกที่ 1 รับยศเป็นว่าที่ร้อยตรีหญิง


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ค. 10, 22:15
คำปฏิญาณของนายทหารหญิงมีอยู่ว่า

ฉันจะพลีชีพให้สมกับเกียรติของทหาร คือ ตายในสนามรบ
ฉันจะเทิดทูนไว้ซึ่งเกียรติของชาติ คือ สงวนความเป็นดอกไม้งามของไทย
ฉันจะทูนเหนือหัวซึ่งเกียรติของทหารหญิง คือ แม่พิมพ์ที่ดี
คุณงามความดีที่จะยึดมั่นไว้ ให้หนักแน่นกว่าขุนเขา
ส่วนความเสียสละเพื่อชาติ จะให้เบากว่าปุยนุ่น

คำปฏิญาณข้างบนนี้อย่ามาถามผมว่าหมายความว่าอย่างไรนะครับ สมองผมก็เบากว่าปุยนุ่นเหมือนกัน ส่วนดอกไม้งามของไทยคนไหน เป็นแม่พิมพ์ที่ดี มีความยึดมั่นหนักแน่นดังขุนเขา ก็กรุณาช่วยตีความด้วย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: yanang ที่ 07 ก.ค. 10, 22:44
เอารูปมาลงไว้แล้ว แต่เกรงว่าพรุ่งนี้อาจจะไม่ได้เข้ามาร่วมติดตามกระทู้ช่วงกลางวัน
จึงขออนุญาตอาจารย์ทุกท่าน เฉลย คำตอบของรูป ในความเห็นที่ 288 เลยนะคะ (รวดเร็วทันใจมาก)  ;D
ดิฉันได้รูปมาจากหนังสือเล่มนี้ ซึ่งอยู่ในกรุหนังสือเก่าที่พอมีอยู่บ้างนะคะ



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 10, 22:49
ตกม้าตายตั้งแต่รูปที่คุณ yanang เอามาถามแล้วค่ะ  หน้าคุ้นๆแต่นึกไม่ออก  ไม่ใช่พระยาฤทธ์อัคเนย์และพระประศาสน์ฯ  จะว่าเป็นพระยาทรงฯเอง ก็ไม่เหมือน

ส่วนคำปฏิญาณของทหารหญิง ไม่รู้ว่าใครคิด    ถ้าเป็นท่านจอมพล ป. เอง  ดิฉันก็ขอยอมแพ้
ผู้ใหญ่เคยเล่าว่าท่านจอมพลเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์  ตั้งหัวข้อว่า "กินหมูวันละหนึ่งตัวเป็นจริงแล้ว"   ทำให้คนอ่านมึนงงไปหมด ว่าใครหนอกินหมูได้ถึงวันละตัว

ฉันจะพลีชีพให้สมกับเกียรติของทหาร คือ ตายในสนามรบ          บรรทัดนี้เข้าใจ
ฉันจะเทิดทูนไว้ซึ่งเกียรติของชาติ คือ สงวนความเป็นดอกไม้งามของไทย    บรรทัดนี้เริ่มมึน ว่าเกียรติของชาติกับความเป็นดอกไม้งาม  มีคอนเนคชั่นแบบไหนอย่างไร  
ฉันจะทูนเหนือหัวซึ่งเกียรติของทหารหญิง คือ แม่พิมพ์ที่ดี          เคยได้ยินแต่เขาเปรียบเทียบอาชีพครูว่าเป็นแม่พิมพ์   อาชีพทหาร-นึกไม่ออกว่าเป็นแม่พิมพ์ได้ยังไง
คุณงามความดีที่จะยึดมั่นไว้ ให้หนักแน่นกว่าขุนเขา                  บรรทัดนี้เข้าใจ
ส่วนความเสียสละเพื่อชาติ จะให้เบากว่าปุยนุ่น         ถ้ามันเบากว่าปุยนุ่น  ก็แทบไม่ได้เสียสละอย่างมีน้ำหนักเลยน่ะซีคะ

ไหว้วานดอกไม้งาม อย่างคุณวันดี คุณ PTBT และท่านอื่นๆที่เข้าเกณฑ์ของคุณนวรัตน มาช่วยตีความอีกแรงสองแรงก็จะดี


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 10, 22:52
โอ๊ะโอ  พระยาฤทธิ์อัคเนย์จริงๆด้วย   ไม่เหมือนตอนปฏิวัติเลย
(คนที่สามจากซ้ายค่ะ)


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: yanang ที่ 07 ก.ค. 10, 23:00
อาจารย์เทาชมพูคะ จริง ๆ ดิฉันก็ไม่เคยทราบว่าตนเองมีหนังสืองานศพของท่านอยู่
จนกระทั่งเมื่อวานตามอ่านกระทู้นี้จนตาลาย เพราะวางไม่ลง จึงไปลองค้นรูปกางเกงทรงทหารโบราณ
มาเพื่อร่วมกระทู้  ทำให้เจอเล่มนี้โดยบังเอิญ  เหมือนได้รับการปูพื้นเกี่ยวกับตัวท่านในกระทู้นี้แล้ว
เมื่อเปิดอ่านด้านใน  โดยเฉพาะคำไว้อาลัยจากบุคคลใกล้ชิดต่าง ๆ รู้สึกเหมือนมีจิ๊กซอว์ตัวเล็ก ๆ
มาเติมเรื่องราวต่าง ๆ อีกมากมายเลยค่ะ  


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: Diwali ที่ 07 ก.ค. 10, 23:05
เข้ามาลงชื่อว่า ตามอ่านอยู่นะครับ


ผมเดินทางบ่อย เลยไม่ได้เข้ามาส่งเสียง
อย่างไร ก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกๆท่านที่เข้ามาตั้ง เติม เสริม เนื้อหาอันประเทืองปัญญา กระทู้นี้นะครับ



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: sirinawadee ที่ 07 ก.ค. 10, 23:53
ขออนุญาตเดาด้วยคนค่ะ

ฉันจะพลีชีพให้สมกับเกียรติของทหาร คือ ตายในสนามรบ                    เข้าใจค่ะ
ฉันจะเทิดทูนไว้ซึ่งเกียรติของชาติ คือ สงวนความเป็นดอกไม้งามของไทย    น่าจะหมายถึงว่า หญิงไทยต้องรักในเกียรติยศของตัว จึงจะสมเป็นดอกไม้ของชาติรึเปล่าคะ
ฉันจะทูนเหนือหัวซึ่งเกียรติของทหารหญิง คือ แม่พิมพ์ที่ดี                    พอเรารักษาเกียรติเอาไว้ได้ เราก็จะกลายเป็นตัวอย่างที่ดี ไชโย
คุณงามความดีที่จะยึดมั่นไว้ ให้หนักแน่นกว่าขุนเขา                           เข้าใจค่ะ
ส่วนความเสียสละเพื่อชาติ จะให้เบากว่าปุยนุ่น                                ขอเดาว่าเบากว่านุ่น ก็ฟูฟ่องลอยไปได้สูงๆ ประมาณว่าเสียสละอย่างสูงส่งรึเปล่าคะ

คนอะไรไม่รู้ ชื่อตัวแปลกแล้วยังต้องทำอะไรแปลกๆ อีก


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: yanang ที่ 08 ก.ค. 10, 02:10
วีรกรรมของ "สี่ทหารเสือ" ที่ได้ติดตามอ่านมานี้ ดิฉันอ่านแล้วก็รู้สึกว่าตัวเองได้รับความรู้เพิ่มขึ้นมากมายทีเดียว
เป็นการเติมเต็มความรู้ที่แต่เดิมมีเพียงผิวเผินเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งประวัติศาสตร์
สิ่งที่ "สี่ทหารเสือ" ร่วมกันทำนั้น ต้องเรียกได้ว่าเป็นปฏิบัติการที่สำคัญและยิ่งใหญ่มาก  แต่ไม่น่าเชื่อว่า
ท้ายที่สุด  บั้นปลายชีวิตของหนึ่งในสี่ทหารเสือผู้เกรียงไกร กลับเรียบกว่าเรียบ เกินกว่าที่ดิฉันคาดไว้มากทีเดียว

จากในหนังสือพระราชเพลิงศพของ พันเอก พระยาฤทธิ์อาคเนย์ มีคำไว้อาลัยของบุคคลสำคัญหลายท่าน
กล่าวถึงท่านผู้วายชนม์ไว้ได้น่าสนใจ  ดิฉันเลือกคัดลอกมาให้อ่านเป็นบางบท คั่นเวลาช่วงที่อาจารย์นวรัตน์
ยังไม่หายเหนื่อยจากภารกิจแล้วกันนะคะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: yanang ที่ 08 ก.ค. 10, 02:26
แด่เจ้าคุณฤทธิอัคเนย์ผู้ดำรงธรรม


....ท่านเจ้าคุณผู้นี้มีรูปร่างแบบบาง แต่ใบหน้าเคร่งขรึมแสดงความเป็นผู้บึกบึนเอาการเอางาน
ปกติไม่ใคร่ชอบพูด เมื่อพูดขึ้นก็เป็นการหนักแน่นจริงจัง  นิสัยใจคอบริสุทธิ์ใสสะอาด
ถ้าดูผาด ๆ ก็น่าหวั่นเกรงเอาการอยู่  แต่เมื่อได้เข้าใกล้ชิดกับท่าน ก็จะปรากฏว่าท่านเป็นผู้
มีกิริยาวาจาสุภาพอ่อนโยน เป็นที่น่ารักเคารพยิ่งนัก.....

....ชีวิตของท่านจึงดำรงอยู่อย่างสามัญชน  หรือกล่าวโดยเฉพาะก็คือ
อยู่อย่างไม่ใคร่จะสมบูรณ์พูลสุขนักข้าพเจ้าใคร่ของเล่าเรื่องเก่าเมื่อท่านเจ้าคุณ
ได้รับแต่งตั้งเป็นวุฒิสมาชิกในสภาฯ ภายหลังรัฐประหารใน พ.ศ. 2490
ท่านและข้าพเจ้าได้นั่งในที่นั่งของสภาฯใกล้เคียงกัน เมื่อสภาฯเลิกประชุมแล้ว
ข้าพเจ้าถามท่านว่า ท่านจะกลับบ้านอย่างไร  ท่านตอบว่านั่งรถเมลล์บ้าง รถแท๊กซี่บ้างแล้วแต่สะดวก
ข้าพเจ้าจึงได้ขอร้องจะไปส่งท่าน ท่านก็ปฏิเสธไม่ยอมรับ แต่เมื่อข้าพเจ้ายืนยันอย่างหนักแน่นหลายครั้ง
ท่านจึงยอมรับและได้ไปส่งท่านที่ท่าช้างวังหลวง แล้วท่านก็ลงเรือต่อไป.....(ราวพ.ศ.2498)
ท่านเจ้าคุณได้ไปมีบ้านเล็ก ๆ อยู่ในบริเวณวัด(วัดอโศการาม บางปิ้ง) และบำเพ็ญเพียงทางสมถะกัมมัฏฐาน
อยู่หลายปี...นับเป็นผู้มีอายุยืนยาวในหมู่คณะที่ร่วมก่อการฯ พวกรุ่นราวคราวเดียวกับท่านต่างพากันล่วงลับ
ไปนานแล้ว เช่นเจ้าคุณทรงสุรเดช เจ้าคุณพหลฯและพระประศาสน์ฯ แม้แต่รุ่นเยาว์วัยกว่าท่าน


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: yanang ที่ 08 ก.ค. 10, 02:41
เช่น คุณหลวงพรหมโยธี คุณหลวงเกรียงศักดิ์พิชิตและท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม ฯลฯ
ก็ได้ล่วงลับไปอีก.....

พลเรือตรี ถวัลย์  ธำรงนาวาสวัสดิ์

จริง ๆ แล้วมีอีกหนึ่งบทคำไว้อาลัยที่เขียนโดน พลเอก กฤช ปุณณกันต์ ที่แสดงอีกแง่มุมในชีวิตของ
พระยาฤทธิ์อาคเนย์ ไว้ได้อย่างน่าสนใจ แต่ดิฉันเป็นคนเล่าเรื่องไม่เก่ง ทำได้อย่างมากก็เพียงคัดลอกแบบย่อส่วนมาให้
ได้อ่านกัน พิมพ์ไปแล้วก็กลัวว่าจะเยอะและหนักกระทู้ เกรงใจทั้งผู้อ่านที่ติดตามและเจ้าของกระทู้ด้วยค่ะ  :-[
แต่ถ้าท่านใดสนใจ ดิฉันยินดีมาพิมพ์ให้อ่านวันหลังนะคะ จากนี้ขอเป็นผู้ติดตามต่อไปอย่างเดิม


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ค. 10, 03:30
ลูกเขาตื่นมาเชียรบอลเอะอะ ผมเลยตาสว่าง เข้ามาเปิดดูเรือนไทย

คุณหญ้านางครับ จิ๊กซอร์ตัวนี้ตัวเบ่อเร่อ ผมดีใจมากจะที่มีผู้นำตอนสุดท้ายแห่งชีวิตของพระยาฤทธิ์อัคเนย์มาเติมเต็มให้กระทู้นี้ครับ ในอินเทอเน็ตไม่มีเรื่องราวของท่านเลย ทราบจากหนังสือเล่มหนึ่งว่าถูกเนรเทศไปอยู่ปีนัง ชีวิตย่ำแย่พอๆกับพระยาทรง พอญี่ปุ่นจะขึ้น อังกฤษก็ให้ย้ายไปสิงคโปรพร้อมกับผู้ลี้ภัยคนไทยเกือบทั้งหมด ยอมเว้นให้เฉพาะเจ้านายสูงอายุอย่างกรมพระยาดำรงฯ กรมพระยานริศฯ  กรมพระสวัสดิ์ฯ  พระยาฤทธิ์และครอบครัวต้องไปเช่าบ้านถูกๆเดือนละ30เหรียญ เป็นตายร้ายดีอย่างไรไม่ทราบที่ผมใช้คำว่า หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์

ต้องขอให้กำลังใจคุณหญ้านาง ต่อไปใครเข้าเวปมาหาเรื่องราวของพระยาฤทธิ์อัคเนย์ ก็จะได้เรื่องได้ราวที่ถูกต้องออกไป เป็นประโยชน์และเป็นวิทยาทานสำหรับผู้ใฝ่รู้ครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ค. 10, 04:52
จาก 28 มกราคม ซึ่งป็นวันยุติกรณีพิพาทอินโดจีน ไปจนถึง 8 ธันวาคม 2484 ซึ่งเป็นวันที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก เวลาเกือบจะทั้งปีนี้ถือว่าเป็นยุคเฟื่องที่สุดของชายชื่อแปลก ท่านได้เลื่อนยศจากพลตรีเป็นจอมพลไปแล้ว คนก็เรียกว่าท่านจอมพลบ้าง ท่านผู้นำบ้าง คราวนี้ท่านอยากเป็นสมเด็จเจ้าพญา ภรรยาของท่านซึ่งได้เป็นท่านผู้หญิงที่อายุน้อยมากแค่36ปีเศษไปแล้ว พันเอกหญิงก็ได้เป็นแล้ว คราวนั้นเกือบจะได้เป็นสมเด็จเจ้าพญาหญิง หากท่านปรีดีมิได้โต้คัดค้านเสียงแข็งในที่ประชุมค.ร.ม.ว่าขัดต่ออุดมคติของคณะราษฎร จอมพลพิบูลไม่พอใจมาก เลยเสนอให้ที่ประชุมเลือกเอาสองทาง คือทางหนึ่งตกลงตามแผนสถาปนาฐานันดรเจ้าศักดินาอย่างใหม่ หรือไม่ก็ต้องเลือกทางที่สอง เวนคืนบรรดาศักดิ์เดิมทุกคน รัฐมนตรีส่วนมากเลือกทางเวนคืน จอมพลพิบูลจึงเสนอว่า เมื่อเวนคืนบรรดาศักดิ์แล้ว ผู้ใดจะใช้ชื่อและนามสกุลเดิม หรือเปลี่ยนนามสกุลตามชื่อบรรดาศักดิ์ที่เป็นอยู่ก็ได้ ตัวท่านเองได้เปลี่ยนนามสกุลจากขีตตะสังคะมาเป็นพิบูลสงคราม แต่ชื่อแปลกก็แปลกไปหน่อยเลยย่อเสียนิด เป็นจอมพล ป.พิบูลสงคราม คนเรียกสั้นๆว่าจอมพลป. ดังนั้นในกระทู้นี้ ผมจึงจะปรับปรุงให้ทันสมัยด้วยการเรียกท่านว่าจอมพลป. แทนหลวงพิบูลนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ในยุคเฟื่องของจอมพลป. ดังกล่าวข้างต้น ท่านได้ทำอะไรต่อมิอะไรไว้มากมาย ทั้งดีและไม่ดี ระหว่างที่ผมจำเป็นต้องบกพร่องในหน้าที่วันสองวันนี้ ใคร่ขอความกรุณาท่านกูรูเทาชมพูเพ็ญ ขยายความเรื่องรัฐนิยมที่ท่านเคยเขียนๆไว้แล้วแต่ก่อนมากมาย นอกจากหมวกกับหมากแล้วยังมีอย่างอื่นอีกแยะที่เริ่มต้นในช่วงนี้ ที่ยาวไปจนหมดยุคแล้วหยุดก็มี ยาวมาจนทุกวันนี้ก็มี แล้วผมจะโยงเข้าสู่เรื่องพระยาทรงในเขมรในอันดับต่อไป ก็รัฐนิยมของท่านไม่ได้ใช้บังคับแต่ในกรุงเทพนี่ครับ เล่นไปซะทั่วพระราชอาณาจักรซึ่งรวมถึงดินแดนที่ได้กลับคืนมาใหม่ๆจากอินโดจีนฝรั่งเศสด้วย สนุกไม่จืดเลยทีเดียว


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 08 ก.ค. 10, 05:08

ขออนุญาตเดา (ทั้งเดาทั้งมั่วแน่ๆค่ะ  :-[) บ้างนะคะ

ฉันจะพลีชีพให้สมกับเกียรติของทหาร คือ ตายในสนามรบ          บรรทัดนี้เข้าใจ
ฉันจะเทิดทูนไว้ซึ่งเกียรติของชาติ คือ สงวนความเป็นดอกไม้งามของไทย    สงวนความเป็นสตรีไทยซี่งงดงามทั้งกายใจ หรือเปล่าคะ..
ฉันจะทูนเหนือหัวซึ่งเกียรติของทหารหญิง คือ แม่พิมพ์ที่ดี          ประมาณว่า จะเป็นตัวอย่างที่ดี เพื่อเกียรติ ของทหารหญิง 
คุณงามความดีที่จะยึดมั่นไว้ ให้หนักแน่นกว่าขุนเขา                  บรรทัดนี้เข้าใจ
ส่วนความเสียสละเพื่อชาติ จะให้เบากว่าปุยนุ่น        เบากว่าปุยนุ่น เพราะกระจายไปได้ไกล จะเสียสละไปทุกพื้นที่ไกลยิ่งกว่าที่ปุยนุ่นจะปลิวไปถึง...

เดาเสร็จแล้ว ก็มานั่งเรียนต่อค่ะ...รอเรื่องรัฐนิยมเรื่องอื่นๆด้วยคนนะคะ... :D


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ค. 10, 08:01
ตอนนี้เปิดเทอมแล้ว  บางวันต้องลงเรือนไปทำหน้าที่เรือจ้าง   เย็นกลับมาจะพาชาวเรือนไทยไปสวมหมวก ท่องอดีตรัฐนิยมกันค่ะ
คุณหญ้านางคะ    ถ้าหากหนังสืองานอนุสรณ์งานศพของพระยาฤทธิ์อัคเนย์ยาวนัก ก็สแกนหนังสือมาทั้งหน้าลงกันให้อ่านได้ไหม อยากรู้ว่าชีวิตบั้นปลายของท่านเป็นอย่างไร
ดิฉันหาของพระประศาสน์พิทยายุทธเจอในเน็ต    ชีวิตเจ้าคุณพหลกับเจ้าคุณทรง  ท่านกูรูใหญ่(ยิ่งกว่า)ที่ชื่อนวรัตนได้คำตอบพร้อมเฉลยแล้ว    แฟนรอหน้าเวทีกันตรึม   เหลือพระยาฤทธิ์ฯนี่แหละที่ยังไม่ได้มา    ฟังที่คุณหญ้านางเล่า  ท่านก็ดูจะลำบากในบั้นปลายไม่น้อยกว่ากัน

คำปฏิญาณทหารหญิง ถ้าให้มาตีความกันอีก ๑๐ คนก็เชื่อว่าจะได้อีก ๑๐ คำตอบ   ครึกครื้นดีจริงๆ   ใครอยากจะตีความอีกเชิญเลยนะคะ  ไม่จำเป็นต้องเป็นดอกไม้งาม  จะเป็นต้นไม้หรือกิ่งไม้ก็ได้ตามสะดวก


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 08 ก.ค. 10, 08:13
จริง ๆ แล้วมีอีกหนึ่งบทคำไว้อาลัยที่เขียนโดน พลเอก กฤช ปุณณกันต์ ที่แสดงอีกแง่มุมในชีวิตของ
พระยาฤทธิ์อาคเนย์ ไว้ได้อย่างน่าสนใจ แต่ดิฉันเป็นคนเล่าเรื่องไม่เก่ง ทำได้อย่างมากก็เพียงคัดลอกแบบย่อส่วนมาให้
ได้อ่านกัน พิมพ์ไปแล้วก็กลัวว่าจะเยอะและหนักกระทู้ เกรงใจทั้งผู้อ่านที่ติดตามและเจ้าของกระทู้ด้วยค่ะ  :-[
แต่ถ้าท่านใดสนใจ ดิฉันยินดีมาพิมพ์ให้อ่านวันหลังนะคะ จากนี้ขอเป็นผู้ติดตามต่อไปอย่างเดิม


มาลงชื่อ รออ่านอีกคนค่ะ (หากไม่เป็นการรบกวนนะคะ)  :D


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ก.ค. 10, 08:41
จาก 28 มกราคม ซึ่งป็นวันยุติกรณีพิพาทอินโดจีน ไปจนถึง 8 ธันวาคม 2484 ซึ่งเป็นวันที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก เวลาเกือบจะทั้งปีนี้ถือว่าเป็นยุคเฟื่องที่สุดของชายชื่อแปลก ท่านได้เลื่อนยศจากพลตรีเป็นจอมพลไปแล้ว คนก็เรียกว่าท่านจอมพลบ้าง ท่านผู้นำบ้าง คราวนี้ท่านอยากเป็นสมเด็จเจ้าพญา ภรรยาของท่านซึ่งได้เป็นท่านผู้หญิงที่อายุน้อยมากแค่36ปีเศษไปแล้ว พันเอกหญิงก็ได้เป็นแล้ว คราวนั้นเกือบจะได้เป็นสมเด็จเจ้าพญาหญิง หากท่านปรีดีมิได้โต้คัดค้านเสียงแข็งในที่ประชุมค.ร.ม.ว่าขัดต่ออุดมคติของคณะราษฎร จอมพลพิบูลไม่พอใจมาก เลยเสนอให้ที่ประชุมเลือกเอาสองทาง คือทางหนึ่งตกลงตามแผนสถาปนาฐานันดรเจ้าศักดินาอย่างใหม่ หรือไม่ก็ต้องเลือกทางที่สอง เวนคืนบรรดาศักดิ์เดิมทุกคน รัฐมนตรีส่วนมากเลือกทางเวนคืน จอมพลพิบูลจึงเสนอว่า เมื่อเวนคืนบรรดาศักดิ์แล้ว ผู้ใดจะใช้ชื่อและนามสกุลเดิม หรือเปลี่ยนนามสกุลตามชื่อบรรดาศักดิ์ที่เป็นอยู่ก็ได้ ตัวท่านเองได้เปลี่ยนนามสกุลจากขีตตะสังคะมาเป็นพิบูลสงคราม แต่ชื่อแปลกก็แปลกไปหน่อยเลยย่อเสียนิด เป็นจอมพล ป.พิบูลสงคราม คนเรียกสั้นๆว่าจอมพลป. ดังนั้นในกระทู้นี้ ผมจึงจะปรับปรุงให้ทันสมัยด้วยการเรียกท่านว่าจอมพลป. แทนหลวงพิบูลนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ในคดีดำที่ ๔๒๒๖/๒๕๒๑ นายปรีดี  พนมยงค์ โจทก์ยื่นฟ้องนายรอง  ศยามานนท์ ศาสตราจารย์ทางประวัติศาสตร์ จำเลย กรณีที่ศาสตราจารย์ผู้นั้นบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมิ่นประมาทใส่ความ ซึ่งในที่สุดจำเลยรับผิดตามฟ้องนั้น คำบรรยายฟ้องตอนหนึ่งมีดังนี้

“เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๘๔ ได้มีพระราชกฤษฎีกาแต่งตั้งให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด และพลโทมังกร พรหมโยธี เป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ต่อมาอีก ๖ วัน คือ ในวันที่ ๑๘ เดือนเดียวกันนี้ ก็ได้มีกฤษฎีกาเพิ่มเติมอีกฉบับหนึ่งว่า ให้จอมพลพิบูลฯ มีอำนาจสิทธิ์ขาดผู้เดียวในการสั่งทหารสามเหล่าทัพ อันเป็นอำนาจพิเศษยิ่งกว่าผู้บัญชาการทหารสูงสุดอื่น ๆ

ครั้นต่อมาในปลายเดือนพฤศจิกายนนั้นเอง คือก่อนที่ญี่ปุ่นจะรุกรานไทย ในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ จอมพลพิบูลฯ ได้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้บัญญัติกฎหมายยกเลิกบรรดาศักดิ์ไทยเดิม โดยสถาปนา ‘ฐานันดรศักดิ์’ (Lordship) ตามแบบฝรั่งขึ้นใหม่ คือ ดยุก, มาควิส, เคานท์, ไวสเคานท์, บารอน ฯลฯ โดยตั้งศัพท์ใหม่ขึ้นเพื่อใช้สำหรับฐานันดรศักดิ์เจ้าศักดินาใหม่ คือ สมเด็จเจ้าพญา, ท่านเจ้าพญา, เจ้าพญา, ท่านพญาฯลฯ ส่วนภรรยาของฐานันดรเจ้าศักดินาใหม่นั้นให้เติมคำว่า ‘หญิง’ ไว้ข้างท้าย เช่น ‘สมเด็จเจ้าพญาหญิง’

แต่หลวงวิจิตรวาทการเสนอให้เรียกว่า ‘สมเด็จหญิง’ และฐานันดรเจ้าศักดินาให้มีคำว่า ‘แห่ง’ (of) ต่อท้ายด้วยชื่อแคว้นหรือบริเวณท้องที่ เช่น สมเด็จเจ้าพญาแห่งแคว้น... พญาแห่งเมือง... ฯลฯ ทำนองฐานันดรศักดินายุโรป เช่น ดยุก ออฟ เบดฟอร์ด ฯลฯ ฐานันดรเจ้าศักดินาใหม่นี้ให้แก่รัฐมนตรีและข้าราชการไทยตามลำดับตำแหน่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์สายสะพาย เช่น จอมพลพิบูลฯ ได้รับพระราชทานสายสะพายนพรัตน์ ก็จะได้ดำรงฐานันดรเจ้าศักดินาเป็น ‘สมเด็จเจ้าพญาแห่ง...’

ฐานันดรเจ้าศักดินาใหม่นั้นทายาทสืบสันตติวงศ์ได้เหมือนในยุโรปและญี่ปุ่น อันเป็นวิธีการซึ่งนักเรียนที่ศึกษาประวัติศาสตร์นายพลนโปเลียน โบนาปาร์ต ทราบกันอยู่ว่า ท่านนายพลผู้นั้นได้ขยับขึ้นทีละก้าวทีละก้าว จากเป็นผู้บัญชาการกองทัพแล้วเป็นกงสุลคนหนึ่งในคณะกงสุล ๓ คนที่มีอำนาจสิทธิ์ขาดปกครองประเทศฝรั่งเศส ครั้นแล้วนายพลนโปเลียน โบนาปาร์ต ก็เป็นกงสุลผู้เดียวตลอดกาลซึ่งมีสิทธิ์ตั้งทายาทสืบตำแหน่ง

รัฐมนตรีที่เป็นผู้ก่อการฯ จำนวนหนึ่งรวมทั้งโจทก์ด้วยนั้น ได้คัดค้านจอมพลพิบูลฯ ว่าขัดต่ออุดมคติของคณะราษฎร อันเป็นเหตุให้จอมพลพิบูลฯ ไม่พอใจ ท่านจึงเสนอให้ที่ประชุมเลือกเอาสองทาง คือทางหนึ่งตกลงตามแผนสถาปนาฐานันดรเจ้าศักดินาอย่างใหม่ ทางที่สองเวนคืนบรรดาศักดิ์เดิมทุกคน

รัฐมนตรีส่วนข้างมาจึงลงมติในทางเวนคืนบรรดาศักดิ์เดิม เมื่อจอมพลพิบูลฯ แพ้เสียงข้างมากในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว ท่านจึงเสนอว่าเมื่อเวนคืนบรรดาศักดิ์เก่าแล้ว ผู้ใดจะใช้ชื่อและนามสกุลเดิม หรือเปลี่ยนนามสกุลตามชื่อบรรดาศักดิ์เดิมก็ได้

โจทก์กับรัฐมนตรีส่วนหนึ่งกลับใช้ชื่อและนามสกุลเดิม แต่จอมพลพิบูลฯ เปลี่ยนนามสกุลเดิมของท่านมาใช้ตามราชทินนามว่า ‘พิบูลสงคราม’ และรัฐมนตรีบางท่านก็ใช้ชื่อเดิม โดยเอาสกุลเดิมเป็นชื่อรอง และใช้ราชทินนามเป็นนามสกุล ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งชื่อและนามสกุลยาวๆ แพร่หลายจนทุกวันนี้”


พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา อดีตประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ให้การเป็นพยานในคดีอาชญากรสงคราม ที่มีจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นจำเลย มีความตอนหนึ่งรับกันกับคำฟ้องของนายปรีดีข้างต้น ดังนี้

“ตอนที่ จอมพล ป. นำให้มีการลาออกหรือให้พ้นจากบรรดาศักดิ์กันนั้น ขุนนิรันดรชัยได้มาทาบทามข้าพเจ้าว่า จะได้มีการแต่งตั้งบรรดาศักดิ์กันใหม่เป็นสมเด็จเจ้าพญาชายบ้าง สมเด็จเจ้าพญาหญิงบ้าง และขุนนิรันดรชัยถูกแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ โดยยึดหลักเกณฑ์ว่า ผู้ที่ได้สายสะพายนพรัตน์จะได้เป็นสมเด็จเจ้าพญาชาย ซึ่งมีจอมพล ป. คนเดียวที่ได้สายสะพายนั้น เมื่อตั้งสมเด็จเจ้าพญาชายแล้ว เมียของผู้นั้นก็ได้เป็นสมเด็จเจ้าพญาหญิงตามไปด้วย

ข้าพเจ้า รู้สึกว่า จอมพล ป. นั้น กระทำการเพื่อจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเอง แล้วภรรยาจอมพล ป. ก็มีความมักใหญ่ใฝ่สูงทำนองเดียวกันเอารูปไปฉายในโรงหนังให้คนทำความเคารพโดยมีการบังคับ ในการทำบุญวันเกิดก็ทำเทียมวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระเจ้าแผ่นดิน เช่น มีตราไก่กางปีกประดับธงทิวทำนองเดียวกับตราครุฑหรือตราพระบรมนามาภิไธยย่อ และได้สร้างเก้าอี้ขึ้นในทำนองเดียวกับเก้าอี้โทรนของพระเจ้าแผ่นดินเว้นแต่ใช้ตราไก่กางปีกแทนตราครุฑเท่านั้น...”

http://www.pridiinstitute.com/autopage/show_page.php?h=12&s_id=5&d_id=8&page=2&start=1

 



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 08 ก.ค. 10, 11:37
เรื่องตั้งตำแหน่งยศขุนนางอย่างฝรั่งนี้  ดูเหมือนจะเป็นความตั้งใจของบุคคลบางคนในคณะราษฎร  ซึ่งคงจะเห็นแบบอย่างมาจากญี่ปุ่น  ที่มีการเอาบรรดาศักดิ์ขุนนางอย่างฝรั่งมาใช้กันอย่างแร่หลายตั้งแต่สมัยจักรพรรดิเมจิเป็นต้นมา

ย้อนกลับมาดูที่เมืองไทยเราบ้าง  เมื่อเลิกบรรดาศักดิ์ข้าราชการไทยกันไปแล้ว  รัฐบาลคณะราษฎรก็ระแวงเจ้านายฝ่ายเหนือจะประกาศตนป็นเอกราชจากรัฐบาลกลางที่กรุงเทพฯ จึงมีความคิดที่จะให้เลิกยศ "เจ้า" ที่ใช้กันมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๔  แล้วจะให้มีการตั้งราชวงศ์ฝ่ายเหนือขึ้นใหม่ให้มีฐานันดรเป็นพระองค์  หม่อมเจ้า  หม่อมราชวงศ์  หม่อมหลวง  แต่ก็มีผู้ค้านขึ้นว่า จะเป็นการตั้งราชวงศ์ขึ้นแข่งกับพระราชวงศ์จักรี  แนวความคิดนั้นจึงเลิกไปแต่ก็มีผู้เสนอให้ตั้งบรรดาศักดิ์เป็นดยุค  มาควิส  เคาท์ แบบใร่งขึ้นแทน  สุดท้ายเมื่อเรื่องไปถึง "ท่านผู้นำ"  ท่านเกษียนหนังสือด้วยลายมือสั้นๆ ว่า "ไม่เอา และไม่ให้เงิน"  เรื่องความคิดตั้งบรรดาศักดิ์เจ้านายฝ่ายเหนือคราวนั้นจึงเป็นอันตกไป  แต่มาโผล่ขึ้นใหม่ที่กรุงเทพฯ ในยุค "วัธนะธัมนำไทยสู่มหาอำนาจ" แทน


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ค. 10, 15:04
อ้างถึง
แต่หลวงวิจิตรวาทการเสนอให้เรียกว่า ‘สมเด็จหญิง’ และฐานันดรเจ้าศักดินาให้มีคำว่า ‘แห่ง’ (of) ต่อท้ายด้วยชื่อแคว้นหรือบริเวณท้องที่ เช่น สมเด็จเจ้าพญาแห่งแคว้น... พญาแห่งเมือง... ฯลฯ ทำนองฐานันดรศักดินายุโรป เช่น ดยุก ออฟ เบดฟอร์ด ฯลฯ ฐานันดรเจ้าศักดินาใหม่นี้ให้แก่รัฐมนตรีและข้าราชการไทยตามลำดับตำแหน่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์สายสะพาย เช่น จอมพลพิบูลฯ ได้รับพระราชทานสายสะพายนพรัตน์ ก็จะได้ดำรงฐานันดรเจ้าศักดินาเป็น ‘สมเด็จเจ้าพญาแห่ง...’

บรรดาศักดิ์ไทยที่ต่อท้ายด้วยชื่อเมือง   เราเคยมีแนวคล้ายคลึงกันมาแล้วในพระนามทรงกรมของเจ้านายสมัยรัชกาลที่ ๕   ซึ่งว่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงได้ไอเดียจากบรรดาศักดิ์เจ้านายและขุนนางฝรั่ง พระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าลูกเธอจึงทรงกรมเป็นพระนามจังหวัดต่างๆ  
เมื่อมาฟื้นขึ้นอีกครั้งสมัยจอมพล ป. ก็อาจมองอีกมุมหนึ่งได้ว่า  ประชาธิปไตยไทยสมัยท่านไม่ได้เดินไกลออกจากระบอบสมบูรณาฯได้กี่ก้าวนัก  เผลอๆก็เดินกลับไปด้วยซ้ำ   เปลี่ยนแต่กลุ่มบุคคลเท่านั้น
*********************
ท่านกูรูใหญ่ยิ่งกว่า-ตัวจริงเสียงจริง  สั่งการบ้านไว้เรื่องรัฐนิยม  
ก่อนอื่นขอเล่าแบคกราวน์ของโลกในพ.ศ. 2484 ให้เห็นแบบพาโนราม่าก่อนนะคะ     ยุโรปกำลังลุกเป็นไฟด้วยสงคราม   อเมริกาลังเลว่ากระโจนเข้าไปช่วยจะคุ้มไหม   ยังไงเป็นประเทศใหญ่ประเทศเดียวที่ยังไม่เจ็บตัว  ขณะที่ฝรั่งเศสตายสนิท  ส่วนอังกฤษก็ร่อแร่เต็มที    ก็พอดีญี่ปุ่นแผ่แสนยานุภาพรุกคืบหน้าทางเอเชีย   มีปาซิฟิคขวางอยู่เท่านั้นเอง  
ถ้าหากว่าญี่ปุ่นจับมือกับเยอรมันแบ่งโลกครองกันคนละครึ่ง  อิทธิพลของอเมริกาทางเอเชียก็จะอับแสงลงไป
ส่วนทางสยามของเรา เหตุการณ์ภายในประเทศค่อนข้างดีสำหรับรัฐบาล   ถ้าถือหลักว่า "รัฐคือตัวฉัน" จอมพล ป. ท่านก็ดูจะสบายใจ  เพราะว่ากวาดล้างคนที่ท่านสงสัยว่าเป็นศัตรูเหี้ยนเตียนไปแล้วตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๘๒    
ทหารเสือที่กอดคอกันมาก็แยกย้ายหนีภัยการเมืองไปคนละแห่ง    เหลือท่านเท่านั้นมีอำนาจสูงสุด  
คนที่พอจะคานและคัดค้านได้บ้างก็คือนายปรีดี เวลาอยู่ในสภา   แต่ในเมื่อนายปรีดีไม่มีกำลังทหารอยู่ในมือ ก็ไม่น่าวิตกนักในสายตาผู้บัญชาการทหารสูงสุด

ในตอนนี้เองก็เป็นโอกาสให้ท่านจอมพล ป. พัฒนาประเทศได้ตามความคิดเห็นของท่าน   เป้าหมายรวมคือทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่อารยะได้รวดเร็วฉับไว  วิธีการคือปรับปรุงวิถีชีวิตของคนไทยเสียใหม่    ราษฎรเคยอยู่กันมาอย่างที่สมัยโน้นเรียกว่าอีเหละเขละขละ แต่สมัยนี้อาจเรียกว่าโหล่ยโท่ย   ก็ต้องเปลี่ยนใหม่ให้ศิวิลัยซ์   ด้วย"รัฐนิยม"  คือรัฐเป็นผู้กำหนดค่านิยมเสียเอง
รัฐนิยมก็เลยเข้ามากำหนดชีวิตประจำวันของคนไทยเสียใหม่  ให้ "อารยะ" เช่นแต่งกายเสียใหม่ให้ภูมิฐาน    เลิกกินหมากจะได้ไม่บ้วนน้ำหมากเปรอะเปื้อนถนนหนทาง    เปลี่ยนชื่อเสียใหม่ให้มีระเบียบแบบแผน หญิงฟังเป็นหญิง ชายฟังเป็นชาย  ชื่อต้องมีความหมายไพเราะน่าฟังด้วย
เริ่มพูดจากันอย่างมีแบบแผน เหมือนฝรั่งพูด   ฝรั่งเขามีสรรพนามสั้นๆแค่ I  เรามีมากเกินเหตุเช่น กู ข้า  อั๊ว ฉัน ผม กระผม  มากมายเกินไป ไม่จำเป็น  ชายหญิงใช้ "ฉัน" คำเดียวพอ
นี่คือเหตุผลหนึ่งของการสวมหมวก  เพราะท่านไปต่างประเทศมา เห็นผู้คนเขาแต่งกายกันเป็นระเบียบ  ผู้ชายสวมเสื้อนอกกางเกงขายาว ผู้หญิงนุ่งกระโปรงมีหมวกมีถุงมือ    ท่านก็รู้สึกว่าประเทศมหาอำนาจเขามีผู้คนแต่งกายดี   ถ้าเราจะเป็นมหาอำนาจให้ได้ในวันหนึ่งก็ต้องเริ่มด้วยแต่งกายดี แบบเขา
ตรรกะแบบนี้ ชาวเรือนไทยอาจจะหงายหลังพลิกหลายตลบ   แต่ ปี 2484  ถือเป็นเรื่องซีเรียสเอาจริงเอาจัง   จนมีคำขวัญว่า "มาลานำไทยไปสู่มหาอำนาจ"
สวมหมวก เพื่อประเทศไทยจะได้เจริญ!
  


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ค. 10, 15:28
จอมพล ป.ตระหนักถึงภัยสงครามที่ล้อมรอบประเทศไทย  นับแต่ทำสงครามอินโดจีนจนได้ดินแดนบางส่วนคืนมาแล้ว  ท่านก็ย่อมรู้ว่ามันไม่จบแค่นี้  จึงเริ่มปรับปรุงหาอาวุธยุทโธปกรณ์และเตรียมพร้อมสามเหล่าทัพ ใน ๓ ภาคของไทย   แต่ในเมืองหลวงก็ยังสนุกสนานกันด้วย "วัธนธัม" ใหม่  
แม้แต่ภาษาไทยก็ถูกแก้ไขใหม่ให้อ่านสะดวกรวดเร็ว  ตัวอักษรหลายตัวเช่น ธ ฒ ฌ ฎ ฏ  ถูกตัดทิ้งไป   ครูภาษาไทยได้รับคำสั่งให้สอนหนังสือด้วยตัวสะกดแบบใหม่  แม้แต่หนังสือเรียนก็สะกดแบบใหม่ด้วยเช่นกัน    ทำความปวดเศียรเวียนเกล้าให้ครูอย่างยิ่ง
ในพ.ศ. ๒๔๘๔ นี้เอง มีเหตุการณ์ใหญ่ที่ถ้าเกิดเมื่อก่อน ๒๔๗๕   ก็คงเป็นที่สั่นสะเทือนจิตใจของราษฎร   ต้องตระเตรียมงานพิธีกันมากมาย  แต่ในปีนี้ เป็นเรื่องเงียบเชียบแทบจะเรียกได้ว่า เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
นั่นคือ วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๘๔ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯเสด็จสวรรคตที่แคว้นเค้นท์ ในประเทศอังกฤษ  ช่วงที่อังกฤษกำลังร้อนระอุด้วยไฟสงคราม

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯประชวรด้วยโรคพระหทัยมาหลายปีแล้ว   พระอาการมีแต่ทรงกับทรุด  ไม่ได้ดีขึ้น   เหตุการณ์ต่างๆทางเมืองไทยก็ไม่ได้ทำให้สบายพระทัย    
เป็นได้ว่าคงจะรู้พระองค์ว่าจะดำรงพระชนม์ต่อไปไม่่นาน   จึงทรงสั่งเสียไว้ว่า ถ้าสวรรคตเมื่อไรก็ขอให้แต่งพระศพด้วยพระภูษาแดง ทรงสะพักผ้าขาวผืนเดียว  นำลงหีบแล้วถวายพระเพลิงให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้    ไม่ต้องไปรอรับเกียรติยศใดๆทั้งจากต่างประเทศและจากประเทศไทย
ในงานถวายพระเพลิงก็ไม่ต้องมีประโคมแห่แหนใดๆ  มีไวโอลินคันเดียวพอ   เล่นเพลงที่ทรงโปรดขับกล่อมในงาน    และถ้ารัฐบาลยังมีอำนาจอยู่ก็ห้ามนำพระบรมอัฐิกลับบ้านเมืองเป็นอันขาด
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีทรงปฏิบัติตามทุกประการ  พระบรมศพได้ไปถวายพระเพลิงที่สุสานสามัญ ณ Golders Green ในลอนดอน
และทรงเก็บพระบรมอัฐิรักษาไว้ ตามพระราชประสงค์


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ค. 10, 15:42
      ม.จ.พูนพิศมัย ทรงเล่าไว้ตอนนี้ว่า
      "สมเด็จพระปกเกล้าฯ ต้องสวรรคตอยู่กับนางพยาบาลคนเดียว    งานพระบรมศพก็มีรถยนต์สมเด็จพระนางรำไพฯ และพระญาติวงศ์ชั้นเด็กๆตามไป ๓ รถ  ไม่มีใครกล้าเกี่ยวข้องด้วยได้     เพราะเกรงไปว่าจะเป็นการเมือง  ในฐานะที่พระองค์ถูกเป็นศัตรูของรัฐบาลไทย   จึงไม่มีใครกล้าแม้แต่จะนึกถึงด้วยความสงสาร
      ในเวลาที่ข้าพเจ้าเขียนหนังสือนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๖)  ได้เพียรวิ่งสืบถามถึงการศึกษาและการงานที่ได้ทรงทำไว้ก่อนเสวยราชย์     ยังไม่มีใครกล้าจะรับหาหลักฐานให้ได้    เพราะเกรงจะถูกหาว่าเป็นพวกของพระปกเกล้า! ได้แต่ดูในราชกิจจาฯ และถามจากพวกเจ้าๆ  และขุนนางเก่าๆได้ ๒-๓ คน    ใครจะพูดถึงก็ได้แต่ติเตียนซ้ำเติม    แม้พวกทีได้ทรงชุบเลี้ยงมา   ก็มีที่ชื่อตรงจงรักจริงๆเพียง ๔-๕ คน
    เป็นอันว่ารัชกาลที่ ๗ ได้จบลงอย่างอนาถใจ"  


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ค. 10, 15:47
มาดูกันว่า รัฐนิยม ๑๒ ฉบับ กำหนดอะไรบ้าง เพื่อนำประเทศไปสู่อารยะ และปลุกใจให้รักชาติ

รัฐนิยม ฉบับที่ 1 
เรื่องการใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482
วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2482 ให้เปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” ตามที่เรียกขานประชาชนว่าคนไทย ชื่อประเทศก็ควรเรียกว่าประเทศไทย
รัฐนิยม ฉบับที่ 2 ประกาศไม่ให้คนไทยประพฤติตนเป็นตัวแทนของต่างชาติ และไม่ให้ขายที่ดินให้ต่างชาติ
รัฐนิยม ฉบับที่ 3 
เรื่องการเรียกคนในประเทศว่า “คนไทย” แม้มีเชื้อสายอื่นก็ให้ถือว่ามีสัญชาติไทย มิให้แบ่งแยก เป็นความต่อเนื่องจากรัฐนิยมแบบแรก นั่นคือการเรียกชื่อว่า “ไทยเหนือ ไทยอีสาน ไทยใต้ ไทยอิสลาม” ให้เรียกว่า “ไทย” โดยรวมเพื่อขจัดความแตกต่าง ซึ่งกำหนดให้เลิกเรียกชื่อชาวไทยโดยใช้ชื่อไม่ต้องตามเชื้อชาติ และนิยมของผู้เรียก แต่ให้ใช้คำว่า “ไทย” แก่ชาวไทยทั้งมวลโดยไม่แบ่งแยก ทั้งนี้รัฐบาลมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมความเป็นปึกแผ่นดินมั่นคงของประเทศและความกลมเกลียวสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติไทยทั่วทุกภาคของประเทศ
กล่าวได้นับว่านับเป็นครั้งแรกที่มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่า “ชาวไทยมุสลิม” เป็นคนไทยเช่นเดียวกับคนไทยทั่วไปชนผืนแผ่นดินไทย มีข้อความว่าด้วยรัฐบาลเห็นว่า “การเรียกว่าไทย” บางส่วนไม่ต้องตามชื่อเชื้อชาติ และความนิยมของผู้ถูกเรียกก็ได้ การเรียกชื่อแบ่งแยกคนไทยออกเป็นหลายพวก หลายเหล่า เช่น ไทยเหนือ ไทยอีสาน ไทยใต้ และไทยอิสลาม ก็ดีไม่สมควรแก่สถานของประทศไทย ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งอันเดียวกันจะแบ่งแยกมิได้จึงประกาศไว้ในรัฐนิยมไว้ ดังนี้
      1 ให้เลิกการเรียกชาวไทยโดยใช้ชื่อที่ไม่ต้องตามเชื้อชาติและความนิยมของผู้เรียก 2 ให้ใช้คำว่า ไทย แก่ชาวไทยทั้งมวลโดยไม่แบ่งแยกรัฐนิยมฉบับนี้ ซึ่งกำหนดให้เลิกการเรียกชาวไทยโดยใช้ ชื่อที่ไม่ต้องตามเชื้อชาติและความนิยมของผู้ถูกเรียก แต่ให้ใช้คำว่า “ไทย” แก่ชาวไทยทั้งมวล โดยไม่แบ่งแยก ทั้งนี้โดยรัฐบาลมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของประเทศและ ความกลมเกลียวสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชนชาติไทยทั่วทุกภาคของประเทศ24 กล่าว ได้ว่านับเป็นครั้งแรกที่มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าชาวไทยมุสลิมเป็นคนไทยเช่นเดียวกับ คนไทยทั่วไปชนผืนแผ่นดินไทย
รัฐนิยม ฉบับที่ 4 
เรื่องการเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี
รัฐนิยม ฉบับที่ 5 
เรื่องให้ชาวไทยพยายามใช้เครื่องอุปโภค บริโภคที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย
รัฐนิยม ฉบับที่ 6 
เรื่องทำนอง และเนื้อร้องเพลงชาติ
รัฐนิยม ฉบับที่ 7 
เรื่องชักชวนให้ชาวไทยร่วมกันสร้างชาติ
รัฐนิยม ฉบับที่ 8 
เรื่องเพลงสรรเสริญพระบารมี
รัฐนิยม ฉบับที่ 9 
เรื่องภาษาและหนังสือไทยกับหน้าที่พลเมืองดี ซึ่งกำหนดให้ชนชาติไทย ถือเป็นพลเมืองดีที่จะต้องศึกษาให้รู้หนังสือไทยอันเป็นภาษาของชาติอย่างน้อยต้องให้อ่านออก เขียนได้ และถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญในการช่วยเหลือสนับสนุนแนะนำชักจูงให้พลเมืองที่ยังไม่รู้ ภาษาไทยหรือยังไม่รู้หนังสือไทยให้รู้ภาษาไทยหรือหนังสือไทยจนอ่านออกเขียนได้ ทั้งนี้เพื่อ ไม่ให้เกิดความแตกแยกและความแตกต่างของท้องที่ถิ่นกำเนิด
รัฐนิยม ฉบับที่10 
เรื่องการแต่งกายของประชาชนชาวไทย : กำหนดให้คนไทยต้องแต่งกายตามที่รัฐบาลกำหนดไว้ว่าเป็นสุภาพชน เช่น ผู้ชายสวมหมวกใส่เสื้อชั้นนอกคอเปิดหรือปิด สวมกางเกงขายาวแบบสากล สวมรองเท้าหุ้มส้นและหรือหุ้มข้อ และถุงเท้า ส่วนผู้หญิงก็ต้อง สวมหมวก ใส่เสื้อนอกคลุมไหล่ สวมผ้าถุง ใส่รองเท้าหรือหุ้มส้นและถุงเท้า เป็นต้น
รัฐนิยม ฉบับที่ 11 
เรื่องกิจประจำวันของคนไทย ( ประกาศเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2484 ) โดยชนชาติไทยพึงบริโภคอาหารให้ตรงเวลา ไม่เกินวันละ 4 มื้อ และนอนประมาณ 6-8 ชั่วโมงต้องมุ่งมั่นทำงาน พักกลางวันไม่เกิน 1 ชั่วโมง มีเวลาทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นไม้ ทั้งชำระร่างกายแล้วจึงรับประทานอาหารว่าง ในเวลากลางคืนก็ควรใช้ในการพบปะสนทนาในครอบครัว มิตรสหาย ทั้งใช้ศึกษาหาความรู้ หรือในการมหรสพ ส่วนวันหยุดก็ควรใช้ให้เป็นประโยชน์ ต่อร่างกายและจิตใจ เล่นกีฬา พักผ่อน ทำบุญ ฟังเทศน์ เป็นต้น
รัฐนิยม ฉบับที่ 12 
เรื่องการช่วยเหลือคุ้มครองเด็ก คนชรา หรือคนทุพพลภาพ ประกาศเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2485


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: ธีร์ ที่ 08 ก.ค. 10, 16:08
 :) ขอบคุณทุกท่านที่ช่วยกันเฉลยเรื่องกางเกงครับ ปกติเห็นกางเกงแบบนี้จากภาพ จอมพล ป. ซึ่งเป็นภาพถ่ายเดี่ยวเลยไม่นึกสงสัย แต่ว่าในความเห็นที่ 260 เป็นการถ่ายหมู่ เห็นมีกางเกงอยู่หลายทรง จึงนึกแปลกในขึ้นมาครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ก.ค. 10, 16:38

รัฐบาลเอาจริงเอาจังเรื่องการแต่งกาย เช่นยกเลิกโจงกระเบนมานุ่งกางเกง (สำหรับผู้ชาย) และผ้าซิ่นหรือกระโปรงสำหรับผู้หญิง   ออกจากบ้านต้องสวมหมวก

แม้สมเด็จฯ พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงอยู่ในวังสระปทุมอย่างสงบ จำกัดการติดต่อกับโลกภายนอกไว้น้อยที่สุด เว้นแต่พระราชกรณียกิจเช่นเรื่องสภากาชาดไทยที่ทรงไม่เคยละทิ้ง     ยุค "วัธนธัม"ของรัฐบาลก็ยังยื่นมือเข้าไปยุ่งเกี่ยวเข้าจนได้  

เช่นมีเจ้าหน้าที่ตัวแทนไปเข้าเฝ้า  ขอพระราชทานฉายพระบรมฉายาลักษณ์ ให้ทรงพระมาลา เพื่อนำไปเผยแพร่ภายนอกว่า สมเด็จฯทรงร่วมมือปฏิบัติตัวตามนโยบายของรัฐบาล เป็นตัวอย่างแก่ประชาชน

สมเด็จฯ กริ้ว ตรัสตอบว่า

"ทุกวันนี้ จนจะไม่เป็นตัวของตัวอยู่แล้ว  นี่ยังจะมายุ่งกับหัวกับหูอีก  ไม่ใส่  อยากจะให้ใส่ก็มาตัดเอาหัวไปตั้ง แล้วใส่เอาเองก็แล้วกัน"

หมดเรื่องหมวกไปเรื่องหนึ่ง แต่ก็ยังไม่จบสิ้นอยู่ดี    

รัฐบาลมีนโยบายให้ประชาชนเปลี่ยนชื่อ  ผู้ชายมีชื่อฟังรู้ว่าเป็นชาย  ผู้หญิงมีชื่อฟังรู้ว่าเป็นหญิง

รัฐบาลเกิดเห็นว่าพระนาม "สว่างวัฒนา" สมควรเป็นชื่อผู้ชาย  ก็ส่งตัวแทนมาขอให้ทรงเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับ "รัฐนิยม"

สมเด็จฯทรงกริ้วทันทีเมื่อทรงทราบ  ตรัสด้วยความแค้นพระทัยว่า

" ชื่อฉัน ทูลหม่อม (หมายถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) พระราชทาน   ท่านทรงทราบดีว่าฉันเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย"

ผลก็คือ ทรงดำรงพระนามไว้ได้ตามเดิมจนกระทั่งหมดยุค ก็ไม่มีใครมาเซ้าซี้ให้เปลี่ยนพระนามอีก

 ;D


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 08 ก.ค. 10, 17:30
เคยได้อ่านเรื่องราวของ สมเด็จฯ พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า จาก bloggang เหมือนกันค่ะ
อ่านแล้วนึกสงสารพระองค์ท่านฯ มากเลยค่ะ  (ขออภัยนะคะ ใช้คำราชาศัพท์ไม่ถูก :( )


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ค. 10, 18:50
มาต่อ ที่คุณเพ็ญชมพูอุตสาหะไปหาเรื่องเก่าในอดีตมาให้

เมื่อรัฐบาลไปทูลขอสมเด็จพระพันวัสสาไม่ได้  ก็หันไปขอความร่วมมือจากคุณพระประยูรวงศ์(เจ้าจอมมารดาแพ บุนนาค) ให้ท่านสวมหมวก  ออกงานต่างๆ เพื่อจะโชว์ประชาชนว่าผู้ใหญ่ยศศักดิ์สูงก็เห็นดีด้วย   ตอนนั้นเจ้าคุณแพท่านอายุ ๙๐ เข้าไปแล้ว 
เคยเห็นรูป  แต่เสียดายว่าหาในเน็ตไม่เจอ

ย้อนกลับมาถึงรัฐนิยม ๑๒ ฉบับ   จะเห็นว่าไม่มียุคไหนเลยที่นโยบายของรัฐก้าวเข้ามาถึงในมุ้งในม่าน  ในห้องในหับของชาวบ้านถึงขนาดนี้   กำหนดกระทั่งว่ากินอาหารให้ตรงเวลา   อาบน้ำก่อนกินอาหาร  กลางคืนหาเวลาคุยกับลูกเมียฯลฯ 
ราวกับว่าประชาชนไม่เคยทำมาก่อน  เสื้อผ้าก็ต้องแต่งอย่างนี้ ไม่แต่งอย่างนั้น    ผู้หญิงนุ่งโจงกระเบนห่มผ้าแถบไม่ได้ ต้องสวมเสื้อมีแขน(ที่เรียกว่าเสื้อปิดไหล่) และผ้าถุงหรือกระโปรง สวมหมวกด้วย จึงจะถูกต้อง
คำว่าประชาธิปไตยที่เคยเป็นอุดมการณ์  เหมือนจะถูกลืมไปแล้วโดยสิ้นเชิง

เราอาจจะอ่านแล้วขำว่าบ้า ทำเข้าไปได้ยังไง  แต่ในยุคโน้นเป็นเรื่องปฏิบัติกันจริงจัง

ประชาชนกลุ่มใหญ่ที่รัฐบาลเล็งบังคับก่อนกลุ่มอื่น คือข้าราชการ   เพราะในยุคนั้นข้าราชการมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม   บริษัทห้างร้านยังมีน้อย นักธุรกิจส่วนใหญ่คือพ่อค้าเชื้อสายจีน ซึ่งไม่มีบทบาทในสังคมเท่าไร   ข้าราชการจึงตกเป็นเป้าหมายใหญ่ ที่จะสนองนโยบายออกมาให้เห็นผล
รัฐสั่งให้เลิกงานแล้วกลับบ้านปลูกผักทำสวนครัว  ก็ต้องทำกัน      ครูต้องสอนภาษาไทยแบบใหม่ เช่น ฉันกล่าวขอโทส  ตาดีมืแป แกไปนาตาขำ ( มื-อ่านว่า มือ นะคะ)  แม้ตอนที่สงครามเกิดขึ้นแล้ว  ระเบิดจะมาทิ้งเมื่อไรยังไม่รู้  ข้าราชการก็ต้องหยุดงานบ่ายวันพุธ(หรือพฤหัส จำไม่ได้แม่นค่ะ) ไปรำวงมาตรฐาน ที่กำหนดขึ้นมาให้มี "วัธนธัม" ถูกต้องตามระเบียบแบบแผน


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 08 ก.ค. 10, 19:02
โชคดีที่ไม่เกิดในสมัยนั้นนะคะ โดนบังคับให้เปลี่ยนแปลงความเคยชินของตัวเอง คงอึดอัดน่าดูเลยค่ะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ค. 10, 19:27
หมากกลายเป็นสิ่งต้องห้าม ราวกับฝิ่นในสมัยจอมพลสฤษดิ์   จึงมีการโค่นหมากกันเป็นไร่ๆ   หมากหายเข้าตลาดมืด  ใครจะกินต้องส่งซิกกับคนขายเพื่อจะซื้อมากินด้วยราคาแพงกว่าปกติ     พลูก็เจอชะตาเดียวกัน    กินหมากแล้วออกจากบ้านต้องบ้วนปากแปรงฟันให้หายคราบน้ำหมาก
แม้จะมีความทุลักทุเลในการดำเนินชีวิตแบบอารยะวัธนธัม    ชาวไทยก็ยังทนไหว  เพราะยังมีงานรื่นเริงต่างๆให้ไปสังสรรค์กันได้ไม่ขาด     นอกประเทศเขายิงกันตูมๆ แต่สยามซึ่งกลายมาเป็นประเทศไทย ก็ยังสนุกสนานกันได้อยู่
จนกระทั่งญี่ปุ่นบุกเพิร์ลฮาเบอร์แบบสายฟ้าแลบ ในวันอาทิตย์ที่  ๗ ธันวาคม ๒๔๘๔   ก็เหมือนสัญญาณแรกของฝันร้าย สำหรับคนไทยที่ยืดเยื้อต่อมาถึง ๔ ปี

ใครดูหนังPearl Harbor คงนึกภาพวันเครื่องบินญี่ปุ่นทิ้งระเบิดได้ออก เพิร์ลฮาเบอร์โกลาหลอลหม่าน  เรือรบ"อริโซน่า" โดนระเบิดเข้าเต็มรักจนจมดิ่งลงแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวในเวลาไม่กี่วินาที   คร่าชีวิตลูกเรือทั้งลำเรือในพริบตา  ตามมาด้วยความเสียหายอีกหลายอย่างที่อยากจะให้ไปหาวิดีโอหนังเรื่องนี้มาดูกันเอง
ไปเจอหนังตัดตอนในยูทูป เวอร์ชั่นอิตาเลียน  มันตื่นเต้นและเห็นภาพชัดกว่าสารคดีของจริง   ก็เลยเอามาฝากกันค่ะ
http://www.youtube.com/watch?v=2qqTwhQOBPQ&feature=related

ถ้าใครไปเที่ยวโฮโนลูลู  ไปดูอนุสรณ์สถานของเพิร์ล ฮาเบอร์ ก็ยังเห็นเรือรบจมอยู่ในน้ำ มองลงไปเห็น  เขาเก็บเอาไว้อย่างนั้นไม่ได้กู้่ขึ้นมา

ความเสียหายที่เพิร์ลฮาเบอร์ได้รับ ทำให้อเมริกาประกาศผาง โดดเข้าร่วมรบกับฝ่าย "พันธมิตร" (ที่คนละความหมายกับ"เสื้อเหลือง"นะคะ) คืออังกฤษและฝรั่งเศส ทันที
เท่ากับว่าญี่ปุ่นไปปลุกเสือให้ออกจากถ้ำแล้ว     ก็เหลือแต่ว่าจะเป็นฝ่ายถลกหนังเสือได้  หรือถูกเสือขย้ำเท่านั้น

ส่วนคนไทย ไม่รู้เรื่อง เพราะข่าวสารยังมาช้ามาก   ช่วงปลายปีอยู่ในฤดูหนาว อากาศเย็นสบาย   บ้านเมืองมีงานใหญ่ต่างๆสำหรับประชาชนออกเที่ยวเตร่กัน  งานออกหน้าออกตาสมัยนั้นคืองานรัฐธรรมนูญ  จัดหลายวันติดต่อกันให้ชาวกรุงออกเดินเที่ยวเตร่ชมร้านรวงของราชการที่มาออกในงาน    คล้ายๆงานกาชาดสมัยนี้
งานรัฐธรรมนูญสมัยโน้นเป็นงานไฮโซ    เราไปงานกาชาดเดี๋ยวนี้ อาจจะใส่เสื้อยืดลากรองเท้าแตะ    แต่งานรัฐธรรมนูญเป็นแหล่งรวมของคนโก้ทั้งหญิงชาย   ประกอบกับรัฐบาลเองก็หนุนให้ประชาชนแต่งตัวอย่างอารยะ   ชายจึงสวมเสื้อนอก และหญิงสวมชุดราตรีหรูหรา  ไปเดินชายกระโปรงลากฝุ่นในงานกันอย่างหนาตา

คนกรุงเทพเที่ยวงานจนดึกดื่นก็กลับบ้านหลับสบาย    ไม่รู้ล่วงหน้าแม้แต่น้อยว่า เช้ามืดวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ จะตื่นขึ้นมาพบว่าญี่ปุ่นยกพลขึ้นบุกประเทศไทยเสียแล้ว
เมื่อโกโบริยาตราทัพเข้ามา ก็ไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกเลยสำหรับคนไทย   แม้แต่อนาคตของจอมพล ป. เอง


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ค. 10, 20:35
ในเช้ามืดวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ญี่ปุ่นจู่โจมไทยแบบสายฟ้าแลบ  ทางด้านตะวันออก เครี่องบินขับไล่เซ็นโตกิโจมตีสนามบินวัฒนานครซึ่งมีกำลังเพียงส่วนน้อยรักษาอยู่  ยิงกองบังคับการและอาคารไม่ยั้งจนเสียหายแบบไม่มีใครรู้ล่วงหน้า  พอตั้งตัวได้  เครื่องบินไทยบินขึ้นต่อสู้ ๓  ต่อ ๒๕ เครื่องทางฝ่ายโน้น  ก็เลยถูกข้าศึกยิงตกทั้งหมด  เราเสียทั้งเครื่องบินและนักบิน
ทางใต้ ญี่ปุ่นยกพลบุกสายฟ้าแลบพร้อมกันหลายแห่ง   ตั้งแต่จังหวัตประจวบคีรีขันธ์ลงไปถึงปัตตานี   ที่ประจวบฯ กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกเพื่อยึดกองบินน้อยที่ ๕ แต่ทหารไทยที่นี่ไม่หมู  นาวาอากาศโท ม.ล.ประวาศ ชุมสายกับทหารอากาศไทยอีกราว ๑๒๐ คนปักหลักสู้อย่างทรหด  จนญี่ปุ่นเสียชีวิตกว่า ๕๐๐ คน บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ส่วนทหารอากาศไทยเสียชีวิต ๔๐ คน บาดเจ็บสาหัส ๔ คน  ไทยก็ยังสู้จนกระทั่งมีคำสั่งจากกรุงเทพให้หยุด
ญี่ปุ่นบุกสายฟ้าแลบ แต่ทางไทยก็ไม่ยอมแพ้   วันที่ ๘ ธันวาคมนี้เองเป็นที่มาของวีรกรรมยุวชนทหาร จังหวัดชุมพร เมื่อรบอย่างหนักหน่วงที่สะพานท่านางสังข์ และที่วัดท่ายางใต้ ซึ่งอยู่ในตำบลท่ายาง อำเภอเมืองชุมพร นอกจากตำรวจทหารที่เข้าสู้กับญี่ปุ่น  ก็ยังมียุวชนทหารโรงเรียนศรียาภัย เข้าสู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ใหญ่  จนเสียชีวิตไปหลายคน

ส่วนรัฐบาลไทย กระทำการพลิกล็อคถล่มทลาย

คงจะจำได้ว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลระดมอาวุธยุทโธปกรณ์   ระดมพลเข้าประจำที่  จอมพล ป.ออกเยี่ยมบำรุงขวัญทหาร   และถึงขั้นออก พ.ร.บ.ให้ประชาชนรบอย่างสุดใจขาดดิ้น หากเกิดสงคราม   มีการปลุกใจทางวิทยุทุกวันให้รบข้าศึกถึงที่สุด   ถ้าสู้ไม่ไหวก็ให้เผาทำลายเสียให้หมด      คนไทยก็รบจริงๆ เมื่อข้าศึกจู่โจมเข้ามา
คืนวันที่ ๗ ธันวาคม  ตอนห้าทุ่ม  เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี  แต่จอมพลป.ท่านไม่อยู่  ไปราชการที่อรัญประเทศ   มีแต่รมว.ต่างประเทศรับหน้าศึกแทน   ท่านทูตญี่ปุ่นแจ้งว่าญี่ปุ่นประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกาแล้ว  ตอนนี้จำเป็นต้องยกพลขอผ่านประเทศไทย  ขอให้ไทยยินยอมด้วย
คืนนั้น คณะรัฐมนตรีถูกตามตัวกันอลหม่าน  ได้กันมาไม่ครบ ตามกันมาตามมีตามเกิดเพราะฝ่ายที่เป็นทหารก็ไม่อยู่   นายกฯก็ไม่อยู่   ไม่มีใครตัดสินใจว่าจะยอมหรือไม่ยอมได้   เพราะอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่จอมพล ป.เพียงผู้เดียว
ผลก็คือกว่าจอมพล ป. จะกลับกรุงเทพมาประชุมได้ก็ล่วงเข้าวันรุ่งขึ้น    ญี่ปุ่นกับไทยรบกันตายไปแล้วมากมาย    กว่าจอมพลป. จะตัดสินใจได้ว่า ยอมเขา    และสั่งให้ทหารไทยกับคนไทยหยุดรบ  ยอมให้ญี่ปุ่นกรีฑาทัพเข้าประเทศไทยโดยดี

คำพูดของจอมพล ป. คือ
"ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะต่อต้าน  เพราะเราไม่มีกำลัง . . . "
และอีก ๓ วันต่อมาคือวันที่ ๑๑ ธันวาคม    จอมพลป.ก็ให้ความเห็นประวัติศาสตร์ อีกครั้งหนึ่งว่า
"..แต่ในใจของผมเห็นว่าเมื่อเราจะเข้ากับเขาแล้ว  ก็เข้าเสียให้เต็ม  ๑๐๐ %  เขาก็คงเห็นอกเห็นใจเรา . . ."


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ค. 10, 21:27
อ่านรายงานการประชุมของคณะรัฐมนตรีในคืนวันที่ ๗ ธันวาคม ต่อกับเช้าวันที่ ๘ ธันวาคมแล้ว  ยาวเหยียดเกินกว่าจะลอกลงมาได้
อ่านแล้วก็รู้สึกว่า คนที่มีเสียงสำคัญ ไม่อยากให้ไทยรบกับญี่ปุ่นคือพล ต.ต.อดุล  อดุลเดชจรัส ซึ่งเป็นเพื่อนรักและขุนพลตำรวจคู่ใจของจอมพล ป.  ท่านแถลงยาวกว่าเพื่อน   ใจความคือเห็นความสำคัญของแสนยานุภาพญี่ปุ่นมากเอาการ   เห็นว่าขนาดอเมริกาญี่ปุ่นยังกล้าทำสงครามด้วย  ประเทศไทยเล็กๆอย่างเรา เขาขออย่างสุภาพว่าขอแค่ผ่าน ก็ถือว่าให้เกียรติไทย
พลต.ต. อดุล เห็นว่าญี่ปุ่นส่งเรือรบ ๑๕ ลำมาปิดอ่าวไทย  แสดงว่าอเมริกา ดัทช์หรืออังกฤษคงมาช่วยไทยไม่ได้  ถ้ามาก็ต้องปะทะกับเรือญี่ปุ่น   อังกฤษหรืออเมริกาหรือชาติไหนๆก็ไม่สามารถจะช่วยชาติอื่นได้  ทุกชาติต้องช่วยตัวเอง
ถ้าไทยจะสู้จนวาระสุดท้าย (ก็อย่างที่ออกพ.ร.บ.มาก่อนหน้านี้) ก็สู้ได้นานไม่ถึงปี    ถ้ารบกันแล้วแพ้   ไทยก็แพ้แบบกลายเป็นขี้ข้า  เป็นเมืองขึ้น ๑๐๐%
มีประโยคสำคัญอยู่ในความเห็นของพลต.ต.อดุล   ขอลอกมาให้อ่านกัน   เมื่ออ่านแล้วจะเห็นยังไงก็ตามแต่ความคิดแต่ละคน

" รัฐบาลที่จะสู้นั้นหมายความว่ารัฐบาลจะต้องออกไปอยู่นอกประเทศ    เท่าที่ปรากฏในยุโรปหลายประเทศแล้ว   รัฐบาลที่อยู่นอกประเทศปรากฏว่ามีเสียงไม่ดังพอ..."
" แผ่นดินที่เขายึดไว้ได้นั้น  เขาก็จำเป็นจะต้องตั้งคนไทยนั้นเองเป็นรัฐบาลใหม่    เมื่อได้ตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว  ก็เป็นอันว่ารัฐบาลไทยปกครองไทยแต่ว่าอยู่ในบังคับเขาเต็มที่"
" ผมเห็นว่าเราควรพูดจาผ่อนไปบ้างตามสมควร    เพราะเราขืนสู้ก็สู้ไม่ได้   และไม่มีใครเขาช่วยเราได้อย่างเต็มที่"


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ค. 10, 22:25
สรุปก็คือรัฐบาลตกลงยอมให้ญี่ปุ่นใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน   โดยตกลงกันอย่างสันติว่าจะไม่สู้รบกัน จะเคารพกันและกัน   รัฐบาลก็สั่งให้ทหารและพลเรือนหยุดยิง หยุดต่อสู้กับญี่ปุ่น
โกโบริถึงมาพำนักอยู่ใกล้ๆบ้านสวนของอังศุมาลินได้   ไม่มีกำหนดเวลา  จนกว่าแม่ทัพจะสั่งให้เคลื่อนย้ายออกนอกประเทศ ถึงจะไปจากไทย

คนไทยก็ออกจะงุนงง ตกอกตกใจกับการตื่นขึ้นมาพบทหารญี่ปุ่นอยู่เต็มเมือง     ความจริงสายลับของญี่ปุ่นแทรกซึมเข้ามาในไทยก่อนหน้านี้นานนับปีแล้ว  ในรูปของหมอฟันบ้าง พ่อค้าบ้าง   คืนวันที่ ๗ ธ.ค. ก็ลุกขึ้นถอดเสื้อเชิ้ตสวมเครื่องแบบญี่ปุ่นออกมาเดินกันพรึ่บตามถนนหนทาง   คนไทยที่ยังไม่กลับบ้านเข้านอนก็ตื่นตระหนกกันว่าเกิดอะไรขึ้น
สิ่งที่รัฐบาลขอเป็นอันดับแรกๆคือให้ทหารญี่ปุ่นเหล่านี้กลับเข้าบ้านช่องที่พัก  อย่าออกมาเดิน
แต่ในเมื่อไม่มีสงครามให้เห็น  ชาวกรุงเทพก็เลยค่อยรู้สึกหายตกใจในเวลาไม่นาน   แล้วก็แห่กันมายืนดูญี่ปุ่นตามถนนหนทาง ราวกับดูพาเหรด
โดยไม่รู้เลยว่าจะได้เห็นกันต่อมาอีกถึง ๓ ปี ย่างเข้า ๔ ปี


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: prickly heat ที่ 08 ก.ค. 10, 23:18
ขออนุญาติท่านอาจารย์ทั้งหลายเข้ามาเช็คชื่อว่ายังคงติดตามและขอขอบพระคุณที่ได้เล่าถึงความรู้ให้ทราบครับ....

ได้ทราบตั้งแต่ปฏิวัติ๒๔๗๕เกี่ยวกับพระยาทรงฯจนถึงยุคจอมพล ป.แต่ข้องใจเกี่ยวกับกบฏแมนฮัตตัน....ว่าตกลงใครเป็นผู้ก่อการ?แล้วมีใครต้องโทษภัยบ้าง?อย่างไร?

เห็นว่าในกระทู้ไม่ได้กล่าวถึงก็เลยสงสัยน่ะครับ.....เพราะบุคคลเหล่านี้ก็เริ่มต้นมาด้วยกัน...กรรมของแต่ละท่านก็ได้มาเห็นถึงลูกหลาน.....แต่ครั้นจะเล่าถึงพระยาทรงฯแล้วเข้าซอยไปถึงจอมพลฯแปลก....แล้วไม่จบ สงสัยว่านักเรียนโง่ผู้นี้คงอกแตกเสีย....ขออาจารย์กรุณาด้วยครับ....

แต่ตอนนี้พ่อโกโบริออกฉากมาแล้ว.....ก็จะขอให้พ่อดอกมะลิเชิญต่อไปครับ...


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 08 ก.ค. 10, 23:19
ขอเสริมครับ

ข้อมูลในหนังสือ "ทหารเหลือใช้สงคราม" ของท่านพลตรี ถาวร ช่วยประสิทธิ์  ท่านเล่าว่าตอนนั้นท่านประจำอยู่ที่วัฒนานคร วันที่ญี่ปุ่นบุก ท่านก็ได้รับคำสั่งให้เตรียมทหารในกองร้อยให้พร้อม จากนั้นทุกคนขึ้นรถกำลังแล่นออกจากกองร้อย ก็ปรากฏว่าได้รับคำสั่ง "ให้กลับเข้าที่ตั้ง" ทำให้ท่านผู้การถาวรออกอาการงงพอควร ผิดกับตอนที่จะไปตีฝรั่งเศสในแดนเขมรเป็นคนละเรื่องเดียวกันครับ

สำหรับการยกพลขึ้นบกของญี่ปุ่นนั้น มีเกร็ดอีกนิดหนึ่งในหนังสือ "สงครามมืดญี่ปุ่นบุกไทย" ของลุงสรศัลย์ แพ่งสภาผู้ล่วงลับ ท่านกล่าวว่า ญี่ปุ่น กลัวเรือดำน้ำของไทยอยู่พอควร(เรือดำน้ำไทยก็ต่อมาจากอู่ของบริษัทมิตซูบิชิจากญี่ปุ่นนั่นเอง)

ในแผนยุทธการที่ญี่ปุ่นวางไว้ จะบุกประเทศด้านตะวันออกพร้อม ๆ กัน ได้แก่ จีน,เวียตนาม(ตอนนั้นเป็น โคชิจีน),ไทย,มาเลเซีย,สิงคโปร์ ฯลฯ เพื่อทำให้ประเทศในแถบนี้ไม่สามารถช่วยเหลือกันได้

ช่วงที่ญีุ่่ปุ่นขึ้นฝั่งโคชินจีนได้นั้น ก็บังเอิญให้เรือตรวจการณ์ของอังกฤษที่คอยลาดตระเวนในอ่าวไทย ได้ตรวจพบการเคลื่อนไหวของกองกำลังทางเรือของญี่ปุ่น...........แต่ท่านผู้ดี ท่านคิดว่าไม่อยากจะไปยุ่ง....ก็เลยปล่อยผ่านไป และก็ไม่ได้ส่งสัญญาณเตือนกลับมายังประเทศไทยแต่อย่างใดด้วยเช่นกัน

จึงทำให้ญี่ปุ่นสามารถบุกเข้ามาได้อย่างสะดวกโยธิน เพราะถ้ามีการแจ้งเตือนมา เราอาจจะได้อ่านประวัติศาสตร์เรือดำน้ำไทยเข้าทำยุทธนาวีกับกองทัพที่ต่อเรือมาให้เราใช้ครับ และญี่ปุ่นน่าจะสูญเสียมากกว่านี้

สำหรับผลกรรมของท่านผู้ดีนั้น ก็จะสนองในอีกไม่กี่วันต่อมา กล่าวคือญี่ปุ่นก็ไปเยี่ยมเยือนถึงสิงคโปร์และมาเลเซีย พร้อมของว่างเป็นลูกระเบิด ส่วนอาหารหลักเป็นกระสุนปืนทั้งใหญ่และเล็กครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 08 ก.ค. 10, 23:22
ภาพในปัจจุบันของอดีตเรือดำน้ำแห่งประเทศไทย

โครงการจัดสร้างกำลังทางเรือ พ.ศ.2453
 
โครงการจัดสร้างกำลังทางเรือนี้มีคณะกรรมการอันประกอบด้วย นายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ (ต่อมาเป็น นายพลเรือเอก กรมหลวงฯ) นายพลเรือตรี พระยาราชวังสวรรค์ (ฉ่าง แสง-ชูโต ต่อมาเป็นนายพลเรือเอก พระยามหาโยธา) และนายพลเรือตรี พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร (ต่อมาได้เป็นนายพลเรือเอก กรมหลวงฯ) ได้จัดทำขึ้นถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต (ต่อมาเป็น จอมพลเรือ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระฯ) เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ และเสนาบดีฯ ทรงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 18 มกราคม ร.ศ.129 (พ.ศ. 2453) โครงการนี้ได้กำหนดให้มี “เรือ ส.(1) จำนวน 6 ลำ” ทั้งนี้คณะกรรมการฯ ได้อธิบายไว้ว่า “เรือ ส. คือเรือดำน้ำสำหรับลอบทำลายเรือใหญ่ข้าศึก….. แต่ยังกล่าวให้ชัดไม่ได้เพราะยังไม่เคยลงแลลอง แต่ที่พูดถึงด้วยนี้โดยเห็นว่าต่อไปภายหน้าการศึกษาสงครามจะต้องใช้เป็นมั่น คง แต่ไม่ใช่เดี๋ยวนี้” เวลานั้นเรือดำน้ำเป็นอาวุธที่นาวีของมหาอำนาจในยุโรปกำลังพัฒนาและทดลองใช้ อยู่
 
 

ต่อมาใน พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ออกจากประจำการ และต้องจ้าง นายนาวาเอก ชไนด์เลอร์ (J.Schneidler) นายทหารเรือชาติสวีเดนเข้ามาเป็นที่ปรึกษาการทหารเรือ ในวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2455 นายนาวาเอก ชไนด์เลอร์ ได้เสนอโครงการจัดสร้างกำลังทางเรือสำหรับป้องกันประเทศ และได้กล่าวถึง “เรือดำน้ำ” ว่า “เป็นเรือที่ดีมากสำหรับป้องกันกรุงเทพฯ แต่จะผ่านเข้าออกสันดอนลำบาก ถ้าเก็บไว้ในแม่น้ำก็ไม่คุ้มค้า” และได้เสนอไว้ในโครงการให้มีเรือดำน้ำ 8 ลำ สำหรับประจำอยู่กับกองทัพเรือที่จันทบุรี

ทหารเรือไทยและคนไทยได้มีโอกาสเห็นเรือดำน้ำจริงๆ เป็นครั้งแรกที่ไซ่ง่อน ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2454 ในโอกาสที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เสด็จประพาสอินโดจีนฝรั่งเศส ได้จัดเรือดำน้ำมาแล่น และดำถวายให้ทอดพระเนตรในบริเวณที่เรือพระที่นั่งมหาจักรีเทียบท่าอยู่

เรือเหล่านี้ขึ้นระวางประจำการแล้วได้ปฏิบัติภารกิจที่สำคัญคือ เมื่อเกิดกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส หลังจากที่ ร.ล.ธนบุรี และเรือตอร์ปิโดถูกเรือรบฝรั่งเศสยิงจมแล้ว เรือดำน้ำ 4 ลำได้ลาดตระเวนเป็นแถว อยู่หน้าบริเวณฐานทัพเรือของอินโดจีนฝรั่งเศส ใช้เวลาอยู่ใต้น้ำทั้งสิ้นลำละ 12 ชั่วโมงขึ้นไป นับเป็นการดำน้ำที่นานที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมี หมวดเรือดำน้ำเป็นต้นมา

เรือดำน้ำในกองทัพเรือไทย (มี 4 ลำ)
1. ร.ล.มัจฉาณุ ลำที่สอง (ร.ล.มัจฉาณุ ลำที่หนึ่ง เป็นเรือในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว)
2. ร.ล.วิรุณ
3. ร.ล.สินสมุทร
4. ร.ล.พลายชุมพล
 

ข้อมูลจาก http://www.navy.mi.th/navalmuseum/002_history/html/his_od_submarine_thai.htm

หลังสงคราม เรือดำน้ำทั้งหลายกลายมาเป็น "โรงจ่ายไฟฟ้า" ไปเสียนี่ !!!!


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 08 ก.ค. 10, 23:25
เทียบกับภาพในอดีตของเรือหลวงมัจฉานุ

http://www.arunsawat.com/board/index.php?topic=6810.msg55704


ภาพวันที่ออกจากอู่ของมิตซูบิชิ จากโกเบสู่เ้จ้าพระยา

เรือหลวงมัจฉาณุ-เรือหลวงวิรุณ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 08 ก.ค. 10, 23:31
ช่วงที่ไทยมีเรือดำน้ำใช้นั้น ลือกันว่าเป็นช่วง "ขาขึ้น" ของกองทัพเรือ จะขออะไรท่านผู้นำให้หมด ถ้ามาเทียบกับปัจจุบันเป็นคนละเรื่องครับ น่าจะสืบเนื่องมาจากเรื่อง "กรณีเรือขุดแมนฮัตตัน" ที่เพื่อนสมาชิกสงสัยกันมานั่นแหละครับ

แต่กรณี "แมนฮัตตัน" นี่อยู่ราว ๆ 2486 แล้วครับ คงต้องรอ คุณ Navarat.c และ อ.เพ็ญชมพู เล่าอีกสักหน่อยนะครับ  

สำหรับผลงานที่น่าภูมิใจเกี่ยวกับเรือดำน้ำของไทย ก็คือกรณีที่สมเด็จพระราชบิดาฯ ในรัชกาลปัจจุบัน ครั้งทรงศึกษาวิชาทหารที่เยอรมัน ภายหลังที่ทรงเปลี่ยนมาเรียนด้านการทหารเรือแล้ว ทรงได้รับรางวัลชนะเลิศสำหรับการออกแบบ "เรือดำน้ำขนาดเล็ก" ด้วยครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: prickly heat ที่ 08 ก.ค. 10, 23:41
ที่สงสัยไม่ใช่เหตุอะไรครับอาจารย์....

เพราะตั้งแต่เกิดมาก็ถูกเลี้ยงโดย"เตี่ยใจ"....หรือนายสุดใจ อมรเวช.....แกเล่าให้ฟังว่าแกเป็นพี่ชายของ "จุก เบี้ยวสกุล"

ตอนเด็กแกก็คุยให้ฟังโขมงโฉงเฉงตั้งแต่บ้านอยู่ก่อนสะพานแขวนจะสร้างว่าแกเป็นทหารยุคกบฏแมนฮัตตัน.....

ก็เลยจำได้แล้วเอามาถามนั่นล่ะครับ...ว่ามันอย่างไรกัน...


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 09 ก.ค. 10, 07:02
เรื่องเรือใต้น้ำนั้น  กองทัพเรือไทยอยากจะมีไว้ใช้ในราชการ  แต่นายทหารเรือไทยไม่เคยมีใครได้เรียนรูเวิธีการรบด้วยเรือใต้น้ำ  เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ขึ้น  กระทรวงทหารเรือมีดำริให้ส่งนายทหารเรือไทยไปฝึกการบังคับเรือใต้น้ำที่ประเทศเดนมาร์ค  แต่ทางเดนมาร์คปฏิเสธ  ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ จึงพระราชทานเงินส่วนพระองค์พระราชทานให้ นายนาวาตรี ผลวงหาญสมุท (ต่อมาเป็นนายพลเรือตรี พระยาหาญกลางสมุท - บุญมี  พันธุมนาวิน) ไปเรียนการบังคับเรือใต้น้ำที่กองทัพเรืออังกฤษ  ที่ส่งไปได้คนเดียวเพราะอังกฤษรับฝึกให้แบบไม่ค่อยเต็มใจนัก 

อ่านเรื่องวัธนธีมนำไทยสู่มหาอำนาจแล้ว  นึกถึงที่แม่เคยเล่าให้ฟังว่า เวลาคุณยายจะออกจากบ้านแต่ละทีต้องวุ่นหาผ้าถุงมานุ่งทับโจงกระเบนอีกที  ส่วนหมวกนั้นไม่ค่อยเป็นปัญหาเพราะคนบ้านนอกเช่นคุณยายท่านคุ้นชินกับการสวมงอบอยู่แล้ว  แต่มาบังคับให้ท่านนุ่งผ้าซิ่น  แม่เล่าว่าคุณยายท่านว่าเกิดมาท่านเคยแต่นุ่งโจงให้ท่านนุ่งเป็นฝรั่งทำไม่เป็น  เสียดายไม่ได้ถามแม่ว่า เวลาคุณตาคุณยายจะออกจากบ้านต้องจูบกันตามวัธนธัมใหม่หรือเปล่า  เพราะเมื่อเด็กๆ ผมยังช่วยคุณยายตำหมากอยู่บ่อยๆ  แล้วหลังบ้านก็ปลูกต้นพลูไว้ต้นเบ้อเริ่ม  นึกถึงคุณยายเคี้ยวหมากปากแดง (ถึงจะห้ามแต่ก็คงคุมไม่ได้) จูบคุณตาสวมเสื้อราชปะแตน  คงแปลกดีพิลึก 


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ค. 10, 07:14
ยุค "วัธนะธัมนำไทยสู่มหาอำนาจ"

   
ท่านอาจารย์เทาชมพูท่านยกให้ผมเป็นกูรูใหญ่กว่าอะไรนั่น ผมเป็นแค่นักเล่าเรื่องจริงที่ผ่านไปแล้วในอดีตในรูปแบบที่อ่านแล้วเหมือนนิยาย คนจะได้อยากเข้ามาล้อมวงฟัง หาใช่นักประวัติศาสตร์ไม่ พวกนั้นท่านต้องมีเชิงอรรถ มีอ้างอิง หรืออย่างน้อย ต้องมีปริญญาในทางนี้พ่วงท้ายเพื่อเป็นประกัน สามารถคัดบางบทบางตอนไปอ้างอิงต่อในวิทยานิพนธ์ได้ ส่วนเรื่องที่ผมเขียนมานี้ ใครอย่าเสี่ยงไปทำอย่างนั้นนะครับ เอาไปก็ได้ แต่คุณต้องไปทำการบ้านในการค้นหาที่มาที่ไปต่อเอาเอง

แต่เมื่อท่านให้เกียรติยอผมมาก็ขอสนองพระคุณท่านหน่อย เอารูปที่ท่านหามาลงให้เป็นการคารวะ แต่อาจจะไม่ใช่ภาพที่ท่านพูดถึงนะครับ ผมนึกถึงภาพนั้นออกเหมือนกัน เป็นภาพเดี่ยวครึ่งตัว แต่นาทีนี้ ผมหาไม่เจอ

อ้างถึง
"มาลานำไทยไปสู่มหาอำนาจ" สวมหมวก เพื่อประเทศไทยจะได้เจริญ!
เมื่อรัฐบาลไปทูลขอสมเด็จพระพันวัสสาไม่ได้  ก็หันไปขอความร่วมมือจากคุณพระประยูรวงศ์(เจ้าจอมมารดาแพ บุนนาค) ให้ท่านสวมหมวก  ออกงานต่างๆ เพื่อจะโชว์ประชาชนว่าผู้ใหญ่ยศศักดิ์สูงก็เห็นดีด้วย   ตอนนั้นเจ้าคุณแพท่านอายุ ๙๐ เข้าไปแล้ว  
เคยเห็นรูป  แต่เสียดายว่าหาในเน็ตไม่เจอ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ค. 10, 07:27
คุณพระประยูรวงศ์ท่านรับจ๊อบเป็นพรีเซนเตอร์ ส่วนพวกพริ๊ตตี้ที่ออกมาโชว์ตามงานต่างๆต้องสดสวยหน่อย ดอกไม้ของชาติจะได้ตามแฟชั่นโดยไม่ต้องฝืนใจ ยุคนั้นพ่อค้าขายหมวกยิ้มปากฉีกถึงรูหูทุกราย แต่ข่าวไม่แจ้งว่ามีใครกักตุนหมวกไว้ค้ากำไรล่วงหน้าหรือเปล่า ถ้าเป็นสมัยใหม่นี้คงได้มีการกล่าวหากันมั่งว่ารัฐบาลมีนโยบายแอบแฝง


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ค. 10, 08:02
อ้ะ..คราวนี้มาดูมาลานำไทยภาคประชาชน

รัฐบาลก็มีลูกเล่นทั้งดึงทั้งดัน สตรีนางใดไม่สวมหมวกจะไปติดต่องานราชการใดๆ ราชการจะไม่ทำให้ แต่นั่นไม่พอ ปกติผู้หญิงก็ไม่มีธุระปะปังอะไรจะไปติดต่อราชการอยู่แล้ว จึงต้องมาแนวแจกของ อันนี้ชาวบ้านชอบ แต่คราวนี้จะได้ไปฟรีไม่ได้แล้ว ต้องสวมหมวกมา ผมทำลูกศรให้ดูให้ป้าอ้วนนุ่งผ้าถุงที่ออกท่าทีกระวนกระวายว่าเขาแจกกันไปถึงไหนแล้ว เมื่อไหร่จะถึงคิวตน จะได้กลับไปขายกล้วยปิ้งต่อซะที หมวกของป้าไม่ค่อยเข้ากับเครื่องแบบที่ป้าต้องใส่ทุกวันนัก แต่เขาก็ให้ ขอให้มีอะไรแปะไว้บนศรีษะก็พอ

ผมนึกถึงสมัยเรียนถาปัดอยู่ ไม่เกี่ยวกับจอมพล ป.นะครับ แต่ตอนนั้นมหาวิทยาลัยมีกฎให้นิสิตต้องผูกเนคไทมาคณะ พวกเราก็ไม่ค่อยนำพาเท่าไหร่ อยู่ๆมีข่าวว่าวันนี้ทางคณะจะเอาจริง ถ้าตรวจเจอจะโดนหักคะแนนความประพฤติ พวกนอกกฎก็เหมือนป้าอ้วนข้างบน จะมีผ้าอะไรสักชิ้นซุกซ่อนไว้เผื่อฉุกเฉินอยู่แล้ว แต่ก็วุ่นวายกันน่าดู คนหนึ่งสุดท้ายแล้วหาอะไรไม่ได้ก็เอาเชือกผูกรองเท้ามาห้อยคอไว้ ผมยังจำท่าที่อาจารย์ผู้ปกครองเอาแขนโอบคอเพื่อนคนนั้นเดินคุยกระซิบกระซาบกันไปทางห้องคณบดี รอสักพักออกมาหน้าหายิ้มไม่เจอ อาจารย์บอกว่าเนคไทแปลกดี มีความคิดสร้างสรร คราวนี้ยกโทษให้ แต่คราวหน้าเจออีก จะถูกหักคะแนนสองเท่า


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 09 ก.ค. 10, 08:29
เคยเห็นแต่รูปผู้หญิงสมัยก่อนที่สวมงอบเวลาไปทำไร่ทำสวน คราวนี้ได้ดูรูปสวมหมวกบ้าง แปลกตาดีค่ะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 ก.ค. 10, 08:37
คำพูดของจอมพล ป. คือ
"ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะต่อต้าน  เพราะเราไม่มีกำลัง . . . "
และอีก ๓ วันต่อมาคือวันที่ ๑๑ ธันวาคม    จอมพลป.ก็ให้ความเห็นประวัติศาสตร์ อีกครั้งหนึ่งว่า
"..แต่ในใจของผมเห็นว่าเมื่อเราจะเข้ากับเขาแล้ว  ก็เข้าเสียให้เต็ม  ๑๐๐ %  เขาก็คงเห็นอกเห็นใจเรา . . ."

คำพูดนี้ทำให้นึกถึงคำปฏิญาณของทหารหญิงบรรทัดสุดท้ายที่ว่า

ส่วนความเสียสละเพื่อชาติ จะให้เบากว่าปุยนุ่น


แต่กรณี "แมนฮัตตัน" นี่อยู่ราว ๆ 2486 แล้วครับ คงต้องรอ คุณ Navarat.c และ อ.เพ็ญชมพู เล่าอีกสักหน่อยนะครับ  

คิดว่าคุณ samun007 อาจหมายถึงคุณเทาชมพูมากกว่า  แต่เพ็ญชมพูก็เพ็ญชมพู

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่  ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๔   ผู้ก่อการกบฏที่เป็นผู้นำสำคัญ คือ พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ นายทหารนอกราชการ อดีตผู้บังคับการกรมนาวิกโยธิน นาวาเอก อานนท์ ปุณฑริกาภา ผู้บังคับการกองสำรองเรือรบ นาวาตรี มนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือหลวงรัตนโกสินทร์ นาวาตรี ประกาย พุทธารี สังกัดกรมนาวิกโยธิน และนาวาตรี สุภัทร ตันตยาภรณ์ สังกัดกรมนาวิกโยธิน นอกนั้นเป็นทหารชั้นผู้น้อย ส่วนผู้นำฝ่ายอื่น ๆ นั้นก็ได้รับการชักชวนจากทหารเรือที่มียศระดับกลาง ๆ โดยไม่มีการให้คำมั่นเท่าที่ควร จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การกบฏประสบความล้มเหลว

เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๔ เวลา ๑๕.๐๐ น. ซึ่งเป็นวันและเวลาที่ทางราชการได้กำหนดให้ประกอบพิธีรับมอบเรือขุดสันดอนชื่อ แมนฮัตตัน ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกามอบให้รัฐบาลไทยตามโครงการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ โดยมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับมอบ พิธีนี้จัดขึ้นที่ท่าราชวรดิฐ เมื่อประกอบพิธีรับมอบเสร็จแล้ว จอมพล ป. พิบูลสงครามก็ได้รับเชิญไปชมเรือ ขณะนั้นเอง นายทหารเรือกลุ่มหนึ่งนำโดย นาวาตรี มนัส จารุภา ได้ใช้ปืนกลจี้บังคับให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปลงเรือเปิดหัวที่เตรียมไว้ แล้วนำไปยังเรือหลวงศรีอยุธยา และคุมขังจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไว้ ณ ที่นั้น

คณะผู้ก่อการกบฏได้ประกาศยืนยันถึงความจำเป็นที่ต้องทำการครั้งนี้ เพราะการบริหารงานที่เหลวแหลกของรัฐบาลซึ่งใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์และกดขี่ข่มเหงราษฎร แต่ก็ยืนยันว่าจะไม่ปฏิบัติการใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากถูกโจมตีก่อน ต่อมาเมื่อถึงเวลา ๐๔.๐๐ น. ของวันที่ ๓๐ มิถุนายน การเจรจาตามมติคณะรัฐมนตรีไม่เป็นผลสำเร็จ จึงเกิดการสู้รบกันขึ้นเมื่อเวลา ๐๔.๓๐ น. ของวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๔ เริ่มจากฝ่ายรัฐบาล โดยกองทัพบกภายใต้การนำของ พลโท สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กองทัพอากาศภายใต้การบัญชาของพลอากาศเอก ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี และกำลังตำรวจโดยพลตำรวจโท เผ่า ศรียานนท์ การสู้รบแพร่ขยายไปอย่างกว้างขวาง ทหารบกเริ่มโจมตีจากด้านพระนคร กองทัพอากาศเริ่มทิ้งระเบิดที่กรมอู่ทหารเรือ และตำแหน่งคลังเชื้อเพลิง ระหว่างการสู้รบกันนั้น การเจรจาต่อรองก็ยังคงดำเนินอยู่ จนกระทั่งเวลา ๑๕.๐๐ น. เครื่องบินของกองทัพอากาศได้ทิ้งระเบิดเรือหลวงศรีอยุธยา จนกระทั่งไฟลุกไหม้และอับปางลง แต่จอมพล ป. พิบูลสงครามได้รับการช่วยเหลือจากทหารเรือให้ว่ายน้ำขึ้นฝั่ง ณ ที่ทำการกองทัพเรือ ฝั่งธนบุรี ได้อย่างปลอดภัย ฝ่ายทหารอากาศยังคงโจมตีต่อไปจนกระทั่งเวลา ๑๗.๐๐ น. เรือหลวงคำรณสินธ์ ซึ่งทำหน้าที่คุ้มครองคลังน้ำมันอยู่ที่บริเวณกรมอู่ทหารเรืออับปางลงอีกลำหนึ่ง

รายละเอียดอ่านได้จาก

กบฎแมนฮัตตัน เรียบเรียงโดย ศุภการ สิริไพศาล และ รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
http://www.thaipoliticsgovernment.org/wiki/กบฎแมนฮัตตัน (http://www.thaipoliticsgovernment.org/wiki/กบฎแมนฮัตตัน)

คุณวิกกี้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ภายหลังเหตุการณ์ผู้ก่อการได้แยกย้ายกันหลบหนีไปพม่าและสิงคโปร์ น.ต.มนัส จารุภา รน. ผู้ทำการจี้จอมพล ป. ได้หลบหนีไปพม่าได้สำเร็จ แต่ถูกจับกุมได้หลังจากลักลอบกลับเข้าประเทศเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕

http://th.wikipedia.org/wiki/กบฏแมนฮัตตัน (http://th.wikipedia.org/wiki/กบฏแมนฮัตตัน)




        


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ค. 10, 08:46
อีกวัธนะธัมหนึ่งที่จะแสดงความเป็นไทยก็คือการ "รำวง" ที่โปรโมทขึ้นมาแทนช่ะ ช่ะ ช่ะ อันมาจากละตินอเมริกาโน่น
กลายเป็นกิจกรรมบันเทิงประจำวันที่ขาดไม่ได้ไปทีเดียว

สมัยนี้นักเที่ยวกลางคืนอาจจะไปเข้าโอเกะ แต่สมัยโน้นต้องเข้าโรงรำวง สืบต่อมาจนผมเป็นหนุ่มเข้าไปแล้วแหละหนา นายโรงรำวงจะหาสาวๆหน้าแฉล้มมานั่งรอบห้อง ติดเบอร์ไว้ หนุ่มๆจะพากันมาเหล่ เพ่งไปในความมืดสลัวหาน้องคนไหนตรงสเป็ก ก็จำเบอร์ไว้ พอหมดเพลงนายวงเป่านกหวีดปรี๊ด ก็พุ่งตรงไปหาน้องที่เล็งไว้ โค้งพลางยื่นตั๋วที่ต้องซื้อล่วงหน้าให้เธอ ตั๋วใบหนึ่งสมัยผมวัยสะรุ่นราคา5บาทต่อ1เพลง ใครเงินหนาก็ซื้อไว้ทั้งเล่ม จะให้น้องไปทั้งเล่ม หรือลองรำสักเพลงก่อน ถูกใจแล้วค่อยให้ตอนนายวงเป่านกหวีดปรี๊ดใหม่ก็ได้
เพื่อนผมพ่อเป็นนายหัวเหมืองแร่ดีบุกที่ภูเก็ตเคยพาเพื่อนรุ่นเดียวกันไปทัศนศึกษาภาคค่ำ แล้วแสดงการรำวงแบบดาวล้อมเดือนให้เพื่อนชมเป็นขวัญตา พอเพลงที่เขารำกันอยู่จบลง เป่าปรี๊ดเสร็จ นายวงจะประกาศขออภัยแขก แล้วบอกว่าต่อไปจะเป็นรอบ"ดาวล้อมเดือน" นะคร๊าบ ทุกคน แม้จะถือตั๋วไว้เป็นกำๆแล้วก็ต้องออก ยอมให้น้องของตนไปเข้าแถวรำดาวล้อมเดือน นายหัวน้อยจะไปยืนรำตรงกลาง น้องๆทั้งโรงจะเดินรำไปรอบๆเป็นวงกลมจนหมดเพลง คนรำดาวล้อมเดือนได้ต้องขนาดหลานๆเสี่ยกิมหงวนเพราะน้องๆในร้านมีจำนวนเหยียบร้อย ผมได้แต่ยืนดูกิจกรรมพวกนี้ด้วยความประหวั่นพรั่นใจ สมัยโน้นยังไม่มีระเบิดขวดก็จริงอยู่ แต่เขาว่าขวดเบียรจะบินบ่อยเหมือนกัน เพื่อนอีกคนหนึ่งบอกว่าเพื่อนคนนั้นเขาก็ระวังตัวอยู่เหมือนกัน คืนหนึ่งๆระรำแค่รอบสองรอบก็พอ

เมืองไทยไม่ทราบว่าโรงรำวงสูญพันธุ์ไปหมดแล้วหรือยัง แต่ในเวียงจันทน์ยังมีอยู่แน่นอน ผมจะไม่บอกละว่ากิจกรรมนี้เริ่มในสมัยจอมพลป.เดี๋ยวพี่น้องลาวเข้ามาอ่านจะกล่าวหาว่าผมชาตินิยมจัด  แต่เอาเป็นว่าผมลากเรื่องกลับมาถึงที่ผมค้างไว้ คือวัธนะธัมไทยที่ไปแสดงความเป็นมหาอำนาจกับเพื่อนบ้าน

แต่ เช่นเคยครับ  ขออภัยท่านผู้อ่านที่จะค้างคราวนี้ไว้ก่อน แต่คราวหน้าถึงแน่นอนครับ
ระหว่างนี้ทำตัวตามสบายนะครับ ใครอยากจะถามอะไรก็เชิญ กูรูสีชมพูทั้งสองท่านพร้อมอยู่ที่จะตอบ (ยกเว้นเรื่องรำวงที่ภูเก็ตมั้ง)


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ค. 10, 09:17
แถมให้อีกรูปนึงครับ ดูแล้วได้อารมณ์ไหม


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ค. 10, 09:54
พอท่านนว เดอะ สตาร์กลับคืนมาจับไมค์  เวทีก็ครึกครื้นขึ้นมาทันตาเห็น

ก่อนจะกล่าวต่อถึงนโยบายพลิกล็อค ๑๘๐ องศา ของรัฐบาล  ขอแวะมาเรื่องวัธนธัมรำวงหน่อยค่ะ
แต่เดิมมาชาวบ้านเขาก็รำวงกันเป็น โดยไม่ต้องมีใครสอน  รำตามๆผู้ใหญ่ในหมู่บ้านกันไป    แต่ว่ารำวงอย่างชาวบ้าน รัฐบาลเห็นว่ายังไม่มีวัธนธัม  ไม่ได้มาตรฐาน ท่านผู้หญิงละเอียดจึงคิด "รำวงมาตรฐาน"  ขึ้นมา ท่านแต่งเนื้อร้องเอง ให้กรมศิลปากรบรรจุทำนอง  และมีท่ารำเฉพาะเพลง ตายตัว พอขึ้นเพลงนี้ต้องรำแบบนี้  จะมารำกันตามใจชอบไม่ได้
ทั้งหมดมี ๑๐ เพลงด้วยกัน    สำนวนภาษาในนั้นก็เป็นไปตามวัธนธัมที่เฟื่องฟู เช่น ดอกไม้ของชาติ  ซึ่งหมายถึงผู้หญิง
เพลงรำวงมาตรฐานนี่แหละที่ข้าราชการต้องไปรำกัน ทุกสัปดาห์ แม้ระเบิดลงตูมๆอยู่บนหัวก็ต้องไปรำ

ส่วนรำวงที่ท่านกูรูใหญ่กว่า ท่านเอ่ยถึง    ถึงไม่เคยไปรำที่ภูเก็ต แต่ทำไมจะไม่รู้จัก    เขาเรียกรำวง "ปี๊ดละบาท" คำนี้รุ่นพี่คนหนึ่งแกเป็นคนเอ่ยขึ้นมาให้ฟัง   ก็เลยจำได้จนบัดนี้
โดยส่วนตัวแล้วดิฉันเป็นคนรำวงไม่เป็น  ที่รำไม่เป็นเพราะครูไม่เคยสอน  ร.ร.ไม่มีวิชานี้อยู่ในหลักสูตร  เพื่อนคนไหนรำเป็น แปลว่าไปเรียนเอาเอง หรือไม่ครูก็จับไปฝึกเป็นพิเศษ ก่อนออกรำในงานละครโรงเรียน
พอโตขึ้นไปเรียนไกลถิ่น  ถึงได้รู้ว่ารำวงเป็นภาคบังคับในงาน Thai Night ของนักเรียนไทย    ในเมื่อนักเรียนไทยมีอยู่น้อยคน   ก็ต้องถูกประธานกวาดต้อนมารำทั้งหมด รำไม่เป็นก็ต้องเป็น  เพราะว่าหลังจากดิสโก้กันแล้ว จะมีฉ็อทสำคัญ  คือพวกเราจะต้องเชิญคณาจารย์ฝรั่งที่มาร่วมงาน  ออกไปรำวงด้วยกัน
อาจารย์ฝรั่งคนไหนคนนั้น ไม่ว่าจะเคยมาเมืองไทยหรือไม่ก็ตาม  ชอบรำวงเหลือเกิน    พวกเราก็ต้องไปโค้งอาจารย์  พวกผู้หญิงก็เชิญอาจารย์ชาย  พวกผู้ชายเชิญภรรยาอาจารย์ ออกมารำวง  เริ่มด้วยลอยกระทง ต่อด้วยรำวงมาตรฐาน
พอครบ ๑ รอบก็หยุด  อาจารย์ก็ซับเหงื่อกลับไปนั่งที่  ถ้ายังสนุก ไม่ยอมเลิกก็ต่อรอบสองรอบสาม
ตอนนี้ละ พี่คนนั้นแกยืนดูอยู่ ก็เปรยขึ้นมาว่า 
" นี่มันรำวงปี๊ดละบาทนี่หว่า"
พอคุณนวรัตนเล่า  ดิฉันเลยเห็นภาพชัดเจนค่ะ
************************
เรื่องหมวกเป็นเรื่องเล่ากันได้ไม่เลิก     ชาวบ้านบางคนทั้งบ้านมีหมวกใบเดียว เป็นหมวกกะโล่สมัยพ่อ    พอจะไปติดต่อที่อำเภอ   ตาผัวก็สวมหมวกกะโล่ไป    ยายเมียจะต้องออกจากบ้านบ้าง ก็เอาหมวกกะโล่ใบนั้นแหละมาใส่
ราชการเขาไม่เกี่ยงว่าหมวกแบบไหน  ขอให้มีแปะอยู่บนหัวให้ถูกมาตรฐาน ก็ถือว่าใช้ได้
เป็นอันว่า ตากับยายแกออกจากบ้านพร้อมกันไม่ได้  เพราะหมวกเป็นเหตุ

ส่วนเรื่องให้สามีจูบภรรยาก่อนไปทำงาน   ข้อนี้ไม่ได้ออกเป็นกฎหมาย  แต่ดูเหมือนจะเป็นคำแนะนำให้ปฏิบัติ     ราชการก็คงเขินๆอยู่บ้างถ้าจะไปสอดส่องกันถึงขนาดนั้น
นี่ค่ะ หมวกกะโล่


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 ก.ค. 10, 10:09
สาวรำวง

อายุสิบห้าได้มาเป็นสาวรำวง
มาใส่กระโปรงวับวับ แวมแวม
ไฟสลัวมัวเหมือนคืนเดือนแรม
อร้าอะแหร่มอยู่บนฟลอร์เต้นรำ
เราเกิดมาเป็นคนต้อยต่ำ
กระด่างกระดำดั่งเม็ดดินเม็ดทราย

สาวน้อยใจกล้าต้องมาเป็นสาวรำวง
นั่งตีคิ้วโก่งรอบัตรโค้งจากชาย
ปากพูดจาขออย่ามากล้ำกราย
นิดเดียวพอได้ อย่ามากไปนะพี่จ๋า
โปรดมองฉันเป็นแค่เพียงอาหารตา
เห็นใจเถิดหนาคู่ขาเต้นรำวง

มีผู้เฒ่ากำลังเฝ้ารอ
ทั้งแม่และพ่อคอยเฝ้ารอใจบุญหนุนส่ง
จึงปล่อยลูกสาวที่รักมาเป็นสาวรำวง
จึงปล่อยลูกสาวที่รักมาเป็นสาวรำวง
ก็คงเข้าใจแล้วว่าไยสาวใจกล้ากระโดดขึ้นบนเวที

กฐินผ้าป่าทั้งงานวัดงานโยม
มาแอ่วมาห้อมมาเต้นฟ้อนรำวง
หนุ่มใหญ่หนุ่มน้อยเข้ามาโค้งนวลอนงค์
สามช่ารำวงตะบึงห้อจนเหงื่อไหล
แต่งสีสันชีวิตชีวาคนบ้านไพร
ชาวนาชาวไร่เป็นสุขใจในงานบุญ

ท้องฟ้าสว่าง ยามรุ่งอรุโณทัย
เราเริ่มต้นใหม่ยามเมื่อฟ้าราตรี
เปลี่ยนเวียนไปรักน้ำใจไมตรี
ร้อยวันพันปีรับไมตรีอยู่เสมอ
จากคืนนี้คงต้องมีวันพบเจอ
แล้วใครที่เหม่อ คราวโบกมืออำลา

เพลงนี้ให้ภาพ "รำวง" ระดับ "รากหญ้า" ได้ดีแท้

 ;D


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ค. 10, 10:19
เอาภาพเคลื่อนไหวมาเสริมคุณเพ็ญชมพู   บรรยากาศอาจจะคล้ายๆโรงรำวงที่คุณนวรัตนไปยืนดูอยู่บ้าง  ฉากหนึ่ง  มีดาวล้อมเดือนด้วย

http://www.youtube.com/watch?v=kKxl1QJNloU&feature=related

ขอดักคอไว้ก่อนว่า ปี๊ดละบาท ของดิฉันไม่ได้แต่งตัวอย่างนี้หรอกนะคะ  ยังน้อยหน้าสาวน้อยในวิดีโออยู่มาก  
แฟชั่นในยุค 70s เป็นชุดราตรียาวลากพื้น


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 ก.ค. 10, 10:27
ถ้าต้นฉบับต้อง อ้อย  (วง)กระท้อน

http://www.youtube.com/watch?v=lo1YWgQwmfY&feature=related

 ;D



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 09 ก.ค. 10, 10:47
อ้าว มาอีกที อาจารย์ออกไปรำวงกันยกห้องแล้ว สนุกดีค่ะ   :D

สมัยเด็กๆ อยู่ต่างจังหวัด ก็เคยเห็นเวทีรำวงอย่างที่อาจารย์เล่าให้ฟังนะคะ แต่ไม่เคยได้ไปดู
พ่อกับแม่ไม่ให้ลูกออกจากบ้านตอนกลางคืน เพราะแถวบ้านเคยเป็นเขตพื้นที่แดงน่ะค่ะ (คนละแดงกับสมัยนี้เหมือนกันค่ะ)


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ค. 10, 11:50
แวะรำวงกันพอหอมปากหอมคอแล้ว    จึงขอกลับมาที่การประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง
จากรายงานการประชุม  จอมพล ป. เป็นคนตัดสินใจว่า ขอสั่งให้หยุดยิง "เพราะสู้ไปก็แหลก"  นี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมทหารบางส่วนยกพลออกมาแล้ว มีคำสั่งให้ถอยกลับฐานอย่างกะทันหัน จนงงงวยกันไปหมด
จอมพล ป. บอกที่ประชุมเองว่า ได้ติดต่อกับญี่ปุ่่นมานานแล้ว   เรื่องรบไม่รบก็เคยต่อรองกันมา   ทางญี่ปุ่่นถาม   แบ่งได้เป็น ๓ ข้อ
๑  จะเข้าร่วมเป็นฝ่ายเดียวกันไหม
๒  ถ้าไม่ร่วม  ก็คือต้องรบกัน
๓  ทำเฉยๆ ไม่รู้ไม่ชี้
ยังไม่ได้ตกลงทำทั้ง ๓ ข้อ ญี่ปุ่นก็บุกสายฟ้าแลบ   พร้อมกับข้อเสนอชนิดเหล็กแป๊บน้ำหุ้มกำมะหยี่ ว่าแค่ขอผ่านเฉยๆ ไม่ทำร้ายเมืองไทยอย่างที่ทำกับอินโดจีน    จอมพล ป. ท่านก็ยอมประนีประนอมด้วย
ทีนี้ มีข้อน่าสนใจอีกข้อหนึ่ง คือ ญี่ปุ่นขอมาขั้นเดียวว่า แค่ผ่านประเทศไทย  คือเอาประเทศไทยเป็นทางผ่าน( passage ) แต่คณะรัฐมนตรีพูดกันไปมา กลายเป็นว่านอกจากเป็น passage แล้ว  ไทยคำนึงว่าจะเข้าไปร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นด้วย เป็นขั้นที่ ๒   ข้อนี้นายปรีดีเตือนว่า ให้หยุดแค่ขั้นที่ ๑  

เมื่ออ่านรายงานการประชุม  ดิฉันก็คิดอะไรบางอย่างขึ้นมา   อาจเป็นความคิดที่ผิดก็ได้  ขอเชิญท่านที่รู้ดีกว่ามาแย้ง  จะไม่ว่ากันเลย
คือก่อนอื่น ดิฉันสงสัยว่าการประนีประนอมกับญี่ปุ่นนี้น่าจะมีการตัดสินใจกันล่วงหน้าแล้วอย่างเงียบๆ   แต่จะล่วงหน้านานเท่าไรไม่รู้   อาจจะล่วงหน้าเป็นเดือนๆ หรือแค่ ๒-๓ ช.ม. ก็ได้
จากคำพูดของผู้เข้าประชุมหลายท่าน ไม่ใช่พล ต.ต. อดุลท่านเดียว   ดูเป็นปี่เป็นขลุ่ยสอดคล้องกันว่า  สู้ไม่ไหวแน่  ยอมดีกว่า    ประนีประนอมกับเขายังมีทางรอด
ดิฉันเป็นข้าราชการมาก่อน  พอจะรู้ว่าในการประชุมใหญ่ที่ต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญๆนั้น   เขาล็อบบี้กันล่วงหน้าทั้งนั้น   เช่นจะเลือกใครลงตำแหน่งไหน รู้กันมาก่อนแล้ว  เผลอๆก็นับคะแนนโหวตกันก่อนแล้วด้วยซ้ำ    การประชุมนั้นคือแถลงการณ์อย่างเป็นทางการเท่านั้นเอง  ทำทีอภิปรายกันหอมปากหอมคอแล้วก็โหวตอย่างที่รู้ๆกันล่วงหน้าน่ะแหละ  ใครเดินเข้าไปมือเปล่าไม่รู้จักล็อบบี้  ถือว่าชั้นเชิงของการบริหารยังอ่อนมาก

ข้อสองคือ  การประนีประนอมกับญี่ปุ่น ผลดีตกกับใคร
อย่างแรกคือก็ดีที่ว่าประชาชนไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ   ไม่ต้องยับเยินในหลายพื้นที่อย่างที่ประเทศอื่นเจอมาแล้วจากญี่ปุ่น  แต่เราก็อย่าลืมว่า การที่ดินแดนหนึ่งจะเสียท่าญี่ปุ่น ไม่อาจเหมารวมว่าดินแดนอีกแห่งจะต้องแพ้แบบเดียวกัน     คนไทยอาจมีวิธีการต่อสู้แบบค่ายบางระจัน หรือศึกถลาง ยันข้าศึกเอาไว้ก็ได้  จนกว่าจะถอยไปเอง  
แต่ค.ร.ม. ดูจะปิดประตูชนะเอาไว้เลย    เชื่อมั่นว่าสู้ไม่ไหวลูกเดียว
อย่างที่สอง   ถ้ามีการสู้รบแบบแรก   พล ต.ต.อดุลบอกว่า รัฐบาลชุดนี้อาจจะต้องกลายเป็นรัฐบาลพลัดถิ่น    ญี่ปุ่นก็จะตั้งรัฐบาลในคอนโทรลขึ้นมา   (ข้อนี้เห็นชัดตามที่เยอรมันทำกับฝรั่งเศส)    รัฐบาลพลัดถิ่นคงเสียเปรียบ สู้ไม่ไหว   ถ้าประนีประนอม ญี่ปุ่นก็จะไม่ตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมา
ข้อนี้แหละที่น่าคิด   ทำให้สงสัยเรื่อยเปื่อยต่อไปว่า การเจรจาก่อนหน้านี้น่าจะมีข้อนี้อยู่หรือเปล่า     คือถ้าท่านร่วมมือกับฉัน  ท่านก็นั่งเก้าอี้ต่อไปตามเดิม ไม่กระทบกระเทือน

ถ้าญาติผู้ใหญ่ของพ่อดอกมะลิทำอย่างนี้จริงๆ ก็ถือว่าชั้นเชิงการทูตเขามืออาชีพเลยเชียว


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ค. 10, 13:25
การที่ญี่ปุ่นบอกว่า "ขอใช้ไทยเป็นทางผ่าน" นั้น   ก็น่าคำนึงว่าผ่านแบบไหน เส้นทางไหน  เพราะประเทศไทยกว้างขวาง มีทั้งเหนือใต้ออกตก   ถ้าญี่ปุ่นต้องการผ่านไปพม่ากับอินเดีย   อาจยกพลขึ้นมาทางใต้แล้วเฉียงไปทางตะวันตก   ไม่ต้องเข้ามาทางตะวันออก  และไม่ต้องผ่านกรุงเทพเลยก็ได้
แต่คำขอของญี่ปุ่นคือ "ขอทั่วๆไป"  เพราะต้องการเสบียงและที่อยู่ของทหารญี่ปุ่น      แม้ออกตัวว่าไม่มีเจตนาจะเข้ามาในเมืองหลวง แต่ก็ต้องเข้ามาเพราะต้องการใช้สถานีรถไฟ  และสนามบินดอนเมือง  ก็ต้องการเอาไว้ขึ้นลงเครื่องบินรบ  เผื่ออังกฤษใช้สนามบินร่างกุ้งส่งเครื่องบินมาถล่ม

จอมพล ป.สรุปท้ายการประชุมว่า
"บอกว่าเราพยายามต่อสู้แล้ว    ในที่สุดทางญี่ปุ่นก็ได้มาเจรจาขออย่างนี้ๆ    และเราเห็นว่าการที่จะต่อสู้ต่อไปนั้นก็เป็นการเปลืองชีวิตผู้คนและทรัพย์สมบัติ    เราจึงได้ตกลงผ่อนผันกับเขา     และในที่สุดท้ายก็ขอให้ประชาชนพลเมืองจงเชื่อฟังรัฐบาลต่อไปเถิด"


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 09 ก.ค. 10, 13:27
ขอเสวนากรณีการตัดสินใจของท่านผู้นำครับ ออกตัวก่อนว่าไม่ใช่นักประวัติศาสตร์นะครับ แค่คนเคยอ่านหนังสือเจอเท่านั้น

ในมุมมองผม คิดว่ามีข้อเสนอจากญี่ปุ่นมานานแล้ว แต่ท่านผู้นำอาจจะรับข้อเสนอแล้วก็สร้างละครฉากหนึ่งขึ้นมา หรือ อาจจะไม่ตกลง(ดึงเกมไว้ก่อน) แล้วรอดูผลงานของทหารไทยก่อนก็ได้  ผลประโยชน์น่าจะตกกับท่านผู้นำครับเพราะ

๑.. การหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยในช่วงก่อนหน้าญี่ปุ่นจะยกพลขึ้นบกเป็นระยะเวลา ๒ วัน โดยอ้างว่าไปราชการที่อรัญประเทศนั้น ที่อรัญประเทศในช่วงนั้นไม่มีอะไรที่จะต้องห่วง เพราะฝรั่งเศสก็ยอมแพ้ไปแล้ว ถึงจะไม่ยอมแพ้ก็ทำอะไรไม่ได้ญี่ปุ่นเดินกันขวักไขว่แล้ว

๒.. ต่อจากข้อแรก เมื่อทหารญี่ปุ่นเดินกันขวักไขว่ ถ้าอดีตท่านผู้นำไปราชการแถวอรัญฯ จริงตามที่บอกไว้ มันก็น่าสงสัยเข้าไปอีก เพราะ.... แค่เดินข้ามฝั่งไป ก็จะถึงแดนเขมรที่ญี่ปุ่นอยู่กันพรึ่บพรับแล้ว.... สมัยก่อนไม่มีคาสิโน ก็เลยยังไม่น่าจะไปเล่นพนันได้...(ฮา)

๓..พอญี่ปุ่นยกพลบุกขึ้นมาแล้วปะทะกับคุณปู่ คุณลุงทหารหาญและยุวชนทหารแล้ว สถานการณ์ไม่สู้ดี...จู่ ๆ ... ท่านผู้นำก็โผล่มาซะงั้น !!!!! พร้อมกับบอกขอยอมแพ้

ถ้าเป็นละคร ผมว่าท่านอดีตผู้นำควรจะต้องได้อย่างน้อย รางวัลผู้เขียนบทภาพยนต์ยอดเยี่ยม.... เพราะ
สามารถเขียนเนื้อหาของเรื่องให้มีตอนจบได้หลากหลายมาก ๆ ดังเช่น

- กรณีญี่ปุ่นรบชนะ ท่านจอมพลก็จะอ้างได้ว่า เราสู้เต็มที่แล้วแต่ไม่ไหว ยอมแพ้เขาดีกว่า อย่าให้เสียเลือดไปมากกว่านี้เลย...

- กรณีเกิดฟลุ๊ค(ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เลยในทางปฏิบัติ)  คือ ทหารไทยยันญี่ปุ่นไว้ได้นานจนมหาอำนาจอื่น ๆ ส่งความช่วยเหลือมาให้  หรืออาจจะเป็นจีนต่อกรกับญี่ปุ่นได้อย่างถึงพริกถึงขิง จนทำให้ญี่ปุ่นต้องรามือจากสมรภูมิืด้านนี้แล้วไปทุ่มใส่แผ่นดินใหญ่แทน  กรณีนี้ ท่านผู้นำจะได้รับรางวัลเสริมคือ ดารานำชายยอดเยี่ยมด้วยครับ เป็นยิ่งกว่า IRON MAN + SUPER MAN เสียอีก.....


เมื่อดีดลูกคิดรางแก้วแล้ว ไม่มีอะไรต้องเสียสำหรับท่านผู้นำ(ยกเว้นชีวิตทหารและพลเรือน)  ก็เล่นตามเกมอำนาจนี้ดีกว่า............








กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 09 ก.ค. 10, 13:34
ยิ่งถ้าดูผลงานเก่า ๆ ในอดีต ตั้งแต่ความคิดเห็นเรื่อง "ให้ยิงชรับเนลใส่ฝูงชนที่ต่อต้าน" , "การขอเวนคืนที่ดินของท่านเจ้าคุณพหลฯ " ฯลฯ

ผมเชื่อครับว่า ไม่มีอะไรใต้ดวงอาทิตย์นี้ ที่ท่านผู้นำจะทำ(เพื่อตัวเอง)ไม่ได้... ๕๕๕๕ (ขอยืมสำนวนของ อดีตลูกน้องท่านผู้นำมาใช้ประกอบนะครับ ผมว่ามันตรงตัวดี)

ป.ล. ชรับเนล คือ กระสุนปืนใหญ่แตกอากาศครับ ท่านใดงงว่า ข้อความประโยคนี้มาจากไหน ขอให้ย้อนกลับไปดูหน้าแรก ๆ ของกระทู้นี้ครับ คุณ NAVARAT.C ท่านเขียนไว้แล้ว


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ค. 10, 14:00
ขอบคุณคุณสมัน 007 มาทำให้ค.ห.ดิฉันออกรสชาติขึ้นเยอะเชียวค่ะ  
เล่าต่อนะคะ
มติค.ร.ม. ที่ให้ประนีประนอมยอมญี่ปุ่นโดยดีนั้น  ทำให้นายดิเรก ชัยนาม รมว.ต่างประเทศ ต้องไปรับหน้าเอกอัครราชทูตอังกฤษที่พอรู้ก็ถามตรงๆว่าจะทำยังไงกับอังกฤษ    ถ้าไทยไปยอมญี่ปุ่นก็เท่ากับเป็นฝ่ายญี่ปุ่น   กลายเป็นฝ่ายตรงข้ามกับอังกฤษซึ่งเคยเป็นมิตรดีกันมาก่อน    สถานทูตอังกฤษในไทยก็มี   ฝรั่งอังกฤษมาทำงานในไทยก็มากพอดู
ท่านทูตอังกฤษแสดงชั้นเชิงนุ่มนวลในยามคับขัน   ยื่นข้อเสนอว่าถ้าไปยูเป็นพวกญี่ปุ่นก็ไม่ว่าอะไรหรอก   แต่ไอห่วงความปลอดภัยของคนของไอ   ยังไงก็ขอรถขนส่งคนอังกฤษในไทยออกไปให้พ้นเขตแดนได้ไหม  
นอกจากนี้ อีก ๒-๓ วัน อเมริกากับอังกฤษจะไปบอมป์โตเกียวแล้ว     ถ้าอังกฤษจะยกพลมาปะทะกับญี่ปุ่นในตอนใต้ของไทย  ทหารไทยจะยิงอังกฤษไหม
นายดิเรกก็รับรองว่า รัฐบาลไทยสังทหารหยุดยิงเด็ดขาดแล้ว   ไม่ว่าเจอใคร ก็ไม่ยิงทั้งนั้น

ท่านทูตก็ฝากหลังมือมาเบาะๆในตอนท้าย ว่า เท่าที่รัฐบาลเซ็นข้อตกลงให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทยได้นั้น  ทางอังกฤษไม่ว่าอะไร   เพราะถ้าญี่ปุ่นรักษาข้อตกลงไว้ได้ว่าทำแค่นี้ก็แค่นี้  ก็ดี  ขออวยชัยให้พรด้วย   แต่ท่านทูตสงสัยว่า "อีก ๒-๓ วัน เขาจะมีมาอย่างอื่นอีก"
ถอดรหัสออกมาว่า ท่านทูตอังกฤษน่าจะดูรัฐบาลไทยออกทะลุปรุโปร่งว่า  คงไม่หยุดไมตรีกับญี่ปุ่นอยู่แค่นี้ ญี่ปุ่นเองก็คงไม่หยุดแค่นี้เช่นกัน    แต่จะบอกตรงๆก็เสียมารยาท  เลยแค่ดักคอไว้แบบไก่เห็นตีนงู

เท่าที่ฟังคำพูดของนายดิเรก   เห็นว่าท่านก็พยายามสุดความสามารถจะให้เห็นว่าไทยอยู่ในภาวะจำยอม   ไม่อยากเป็นศัตรูไม่ว่าฝ่ายไหน    ก็อะลุ้มอล่วยกันมากที่สุดเท่าที่จะให้กันได้
นายดิเรกพาคำเจรจากับทูตอังกฤษกลับมาบอก ค.ร.ม.   คำตอบของ พลต.ต. อดุล ทำให้ดิฉันเห็นว่าท่านทูตนี่ดูออกใสแหนวเชียวว่าใจรัฐบาลไทยไปทางไหนแล้วเต็มตัว
"  ตามหลักที่ผมทำ   ไม่ว่าใครจะเข้ามาทั้งนั้น   ผมสั่งแล้วว่าให้ยิง    ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นเข้ามาเราก็ได้ยิงแล้วเหมือนกัน    แต่เวลานี้เราได้ตกลงกับญี่ปุ่นแล้วให้หยุดยิง    แต่ส่วนทางอังกฤษนั้นเราไม่มีข้อตกลงอะไร   แต่เขาเข้ามาแล้วเราก็ต้องยิง"
นายดิเรกตอบว่า " ผมได้ตอบไปว่า เข้าใจว่าจะไม่มีการยิง"

ถ้าดิฉันเป็นรมว.ต่างประเทศ ก็คงอยากจะเป็นลม   เพราะอุตส่าห์ไปผ่อนสั้นผ่อนยาวกับอังกฤษเอาไว้ ไม่อยากให้ระคายเคือง   พอกลับมารายงาน   รัฐมนตรีด้วยกันบอกเฉยเลย  ว่าจะรบกับอังกฤษ   ถ้าอังกฤษบุกเข้ามาละก็
ดิฉันอ่านรายงานต่อ ค้นหาว่ารัฐบาลตัดสินยังไงในเรื่องนี้   ประนีประนอมกับญี่ปุ่นก็เรื่องใหญ่มากแล้ว    นี่ไม่ทันไร  จะกลายเป็นศัตรูเต็มตัวกับอังกฤษ  ซึ่งไม่เคยมีปัญหาอะไรกันอีกหรือ
แต่..เปล่า ไม่เห็นท่านนายก ป. ตัดสินอะไรเรื่องนี้  กลับเปลี่ยนเรื่องไปพูดเรื่องอพยพกันดีหรือไม่ดี    ในที่สุด  แย้งกันไปมาคนละคำสองคำ  ก็สรุปว่าไม่ย้าย  จบประชุม


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 09 ก.ค. 10, 18:14
การเข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่นนี้เคยได้ฟังพันตรีวิลาศ  โอสถานนท์ ท่านพูดหลังอาหารในที่ชุมนุมผู้สูงอายุรุ่นราวคราวเดียวกับท่าน  สมาชิกรุ่นเด็กที่เคยไปร่วมการชุมนุมนั้นบ่อยๆ ก็เห็นจะมีคุณพี่นวรัตน  กับตัวกระผมที่เป็นเด็กที่สุด

พันตรีวิลาศท่านเล่าว่า ท่านจอมพลท่านทราบอยู่ก่อนแล้วว่า ญี่ปุ่นจะบุก จึงได้มอบหมายให้คุณวิลาศซึ่งเวลานั้นเป็นอธิบดีกรมโฆษณาการไปเจรจาซื้อน้ำมันที่สิงคโปร์  แต่วัตถุประสงค์แท้จริงคือ ให้ไปถามรัฐบาลอังกฤษที่สิงคโปรฺว่า หากญี่ปุ่นบุก  อังกฤษยังคงยืนยันที่จะส่งทหารขึ้นมาช่วยตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาลับตั้งแต่ครั้งล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ เสด็จยุโรปครั้งแรก  อันเป็นเหตุผลสำคัญที่ไทยเราไม่มีกองทหารอยู่ในคาบสมุทรมลายูเลย  ทางอังกฤษรับปากรับคำเป็นอย่างดี  เมื่อญี่ปุ่นขึ้นท่านจอมพลจึงหายตัวไปเพื่อรอดูเหตุการณ์ว่า อังกฤษจะส่งทหารขึ้นมาช่วยรบหรือไม่  เมื่อทราบแน่ชัดว่า ไม่มีทหารอังกฤษมาแน่แล้วท่านจอมพลจึงได้เรียกประชุม ค.ร.ม.  เวลานั่งประชุมนั้นคุณวิลาศท่านเล่าว่า จอมพลท่านเอาแส้มาที่ถือติดมือมานั้นเคาะลองเท้าบูทของท่านเป็นจังหวะ  แล้วถาม ค.ร.ม.เรียงตัวทีละคนว่าจะยอมให้ญี่ปุ่นผ่านหรือไม่  ในตอนนี้สาวกหลวงประดิษฐ์ฯ ท่านบันทึกไว้ว่า มีหลวงประดิษฐ์เพียงท่านเดียวใน ค.ร.ม.ที่คัดค้านไม่ยอมให้ญี่ปุ่นผ่าน  แต่คุณวิลาศท่านยืนยันว่า วันนั้นหลวงประดิษฐ์ก็ได้ออกเสียงให้ยอมให้ญี่ปุ่นผ่าน  เรื่องนี้ดูจะตรงกับรายงานการประชุมที่ท่านอาจารย์ใหญ่ได้กล่าวถึงข้างต้น


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ค. 10, 18:54
เห็นค.ห.คุณวีมี ทำให้ต้องย้อนกลับไปอ่านรายงานการประชุมวันที่ ๗-๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ อีกครั้ง  ไม่มีตอนไหนที่นายปรีดี พนมยงค์คัดค้าน  ท่านเป็นเสียงหนึ่งที่ยอมตกลงว่า ให้ญี่ปุ่นใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน
ความคิดของนายปรีดี เน้นหนักไปทางลงรายละเอียดว่า  ถึงยอมก็ต้องยอมแบบมีเงื่อนไข   ไม่ใช่ยอมไปหมดแล้วแต่ญี่ปุ่นจะกำหนดมา
ถ้าทำสัญญากัน ก็ควรจะเป็นสัญญาผูกมัดญี่ปุ่นฝ่ายเดียว   ไม่ใช่ไทยต้องไปร่วมผูกมัดตัวเองด้วย    
พูดง่ายๆว่า ยอมเรื่องให้กองทัพบุกเข้ามาโดยไม่ขัดขวาง  แต่ไม่ได้หมายความรวมไปว่าเรายอมเรื่องอื่นด้วย  

ขอลอกคำพูดมาให้อ่านกันนะคะ
"ต้องไปซ้อมความเข้าใจกับเขาอีกว่า  ที่พูดกันนี้้เฉพาะในเรื่องทางทหารเท่านั้น     ส่วนทางอื่นนั้น  เขาจะต้องเคารพเรา  และจะมาเอาการเศรษฐกิจการคลังด้วยนั้นไม่ได้  นี่ต้องซ้อมความเข้าใจให้เขาเข้าใจเสียด้วย"

แต่มีการประชุมในครั้งหลังๆ  ที่นายปรีดีมีท่าทีไม่เห็นด้วย เป็นอีกเรื่องหนึ่งค่ะ จะค่อยๆแกะออกมาให้อ่านกันอีกที

อ่านจากที่คุณวีมีเล่า   ดิฉันก็คิดว่า จอมพล ป.คงไม่ได้ไปเจรจากับอังกฤษฝ่ายเดียวหรอก  น่าจะเจรจากับญี่ปุ่นมาก่อนหน้านี้ด้วย   เพราะตัวท่านเองก็รับออกมาในที่ประชุมเองในเรื่องนี้    ส่วนเรื่องเตรียมกองทัพให้พร้อม ปลุกใจประชาชนทุกวัน  น่าจะเป็นนโยบายทำตัวเก่งมากกว่าอย่างอื่น  แต่ปฏิบัติจริงๆเป็นไง อีกเรื่อง   เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังถึงเหตุผลนี้
เมื่อเกิดสถานการณ์ขั้นแตกหักต้องตัดสินใจว่าจะทำยังไง    อย่างแรกที่ค.ร.ม.คิด คือคำนึงถึงเสถียรภาพของรัฐบาลก่อนอื่น    เพราะงั้น คนที่รู้ใจกันแล้ว ก็พูดได้เต็มปากว่า ยอมญี่ปุ่นเขาเถอะ

อย่างไรก็ตาม  การตัดสินใจของจอมพลป. ในขั้นที่ ๑ นี้  น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดทั้งกับรัฐบาลและประชาชน   เพราะคนไทยก็ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อมากกว่านี้    ส่วนญี่ปุ่นก็รักษาคำพูดไว้ดี คือไม่ข่มเหงโหดร้ายทารุณคนไทย อย่างที่เคยทำกับจีนและเกาหลี เป็นแผลบาดลึกมาจนทุกวันนี้
คนไทยทั่วไปถึงไม่ค่อยจะเกลียดญี่ปุ่นเท่าไร    หลังจากหายตื่นเต้นตกใจแล้วก็เริ่มค้าขายกับญี่ปุ่น  โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน ที่ญี่ปุ่นซื้อไม่อั้น
ความรู้สึกไม่เกลียดญี่ปุ่น ทำให้ไทยไม่มีบาดแผลสงครามร้าวลึก อย่างในอีกหลายๆประเทศที่เจอพิษสงทหารญี่ปุ่น     เป็นเหตุให้เรื่องคู่กรรม เป็นที่ยอมรับในหมู่คนไทยด้วยดี   ไม่มีใครรู้สึกว่าเป็นเรื่องของศัตรู     และทำให้ญี่ปุ่นก็ยินดีรับเรื่องนี้ไปเผยแพร่ เป็นตัวอย่างความดีของทหารญี่ปุ่นในสงครามมหาเอเชียบูรพา

แต่พอถึงการตัดสินใจขั้นที่ ๒ ของจอมพล ป.   ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ติดตามข้อมูลแล้วรับไม่ได้   ไม่เห็นด้วยเลยถึงการร่วม "วงไพบูลย์" กับญี่ปุ่น


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ค. 10, 19:37
ผ่านมาอีก ๒ วัน  ถึงวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๔  คณะรัฐมนตรีก็ประชุมกันอีกครั้ง   คราวนี้สุ้มเสียงจอมพล ป. เห็นชัดว่าท่านยอมประนีประนอมกับญี่ปุ่นแบบไม่มีเงื่อนไข    จนอาจจะเรียกว่าท่านโปรญี่ปุ่นก็ว่าได้
เมื่อนายปรีดีรายงานด่วนว่าเกิดเรื่องขัดแย้งกันระหว่างศุลกากรกับญีปุ่นที่ท่าบี.ไอ.   เพราะญี่ปุ่นจะเข้าไปเอาสินค้าในคลังเอาไปใช้   ศุลกากรไม่ยอมก็ถูกญี่ปุ่นจับมัดไว้ทั้งคืน    ตอนเช้าเอาชะแลงไปงัดคลังสินค้า    ในเมื่อทางรัฐบาลสั่งลงไปว่าให้ยอม  จะเอาอะไรก็เอาไป  ทางศุลการักษ์ก็ยอม  เพียงแต่จะขอจดหีบห่อไว้เป็นหลักฐาน   ญี่ปุ่นก็ไม่ยอมให้จด  ทุบตีเอาข้าราชการไทยบาดเจ็บไปสองคน  นายปรีดีบอกว่าถ้างั้นถอนเจ้าหน้าที่ไทยออกหมดเสียดีกว่า   ขืนมี ก็จะเกิดเรื่องกับญี่ปุ่นอีก

คำตอบของจอมพล ป. น่าอัศจรรย์มาก  ขอลอกประโยคเด็ดๆมาให้อ่านกัน

" เราควรจะนึกว่าสมัยนี้ กฎหมายก็ดี  ศีลธรรมก็ดี  เราพึ่งไม่ได้   เราต้องพึ่งอำนาจ....เมื่อเขาใช้อำนาจแล้ว   เราจะไปร้องว่าผิดกฎหมาย   เราจะไปร้องว่าผิดกฎนานาชาติ   เราจะไปร้องว่าผิดกฎศีลธรรมนั้น    ผมนึกว่าปัจจุบันนี้เป็นการพ้นสมัย    เพราะฉะนั้นในการที่ข้าราชการของเราถูกข่มเหง  หรือได้ถูกอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น   เราก็ควรจะนึกว่าอำนาจของเรายังไม่มีพอ"
" ...เช่นเขาบอกว่าเขาจะมาเอาโรงเรียนแห่งหนึ่งหรือสถานทูตอังกฤษนั้น   เขาจะใช้เป็นที่ทำงานของเขาละ   ถ้าจะเจรจากันในทางการทูต  มีหนังสือไปยังกระทรวงการต่างประเทศ  แล้วเจรจาผ่านไปทางเซอร์โยไซอาร์ครอสบี้   อย่างนี้ผมเองก็เห็นว่าทำไม่ได้เหมือนกัน   เพราะฉะนั้นเมื่อทหารของเขาเข้ามาแล้ว  จะเอาที่ไหนเขาก็ไปยึดเอา   อย่างนี้เป็นของธรรมดา"
" แต่ถ้าจะมาถามต่อว่าต่อไปเขาจะปฏิบัติหรือไม่  และจะคาดคั้นเอากับผม    ผมก็ไม่รู้ใครจะตอบได้     ถ้าเวลานี้ผมมีกองทัพอยู่ในมือสักล้านคน   มีเครื่องบินสักหมื่นลำก็ตอบได้  นี่มันไม่มี"

ถ้าเห็นว่ายังไม่เด็ดพอ  มาฟังข้อความนี้  แล้วจะเข้าใจว่าที่ดิฉันบอกข้างบนนี้ว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลปลุกใจให้รักชาติ ออกวิทยุไม่เว้นแต่ละวันว่าให้สู้สุดใจขาดดิ้น   ทำไปทำไม
"ผมได้เคยพูดเมื่อก่อนนี้ว่า   เรารบตายอย่างชาวบ้านบางระจันนั้นเป็นของวิเศษมีเกียรติยศ   แต่นั่นเป็นการปลุกขวัญประชาชน    เพราะว่าตามหลักการโฆษณาของรัฐบาลในเวลาก่อนมีเรื่อง  กับเวลามีเรื่องแล้วนั้น เป็นคนละอย่าง    เมื่อก่อนมีเรื่องนั้น เราจะต้องทำตัวเก่งด้วยประการทั้งปวง    เดี๋ยวนี้มันก็ผ่านไปแล้ว    ที่ว่าเราจะต้องต่อสู้จนคนสุดท้าย ก็ไม่มีชาติไหนเลยที่สู้่จนคนสุดท้าย"


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ค. 10, 21:34
ยกคำพูดท่านมาอีกครั้ง
" ใครจะเป็นคนกู้(ชาติ) กว่าจะมีสมเด็จพระนเรศวรส่งเข้ามาสักคนหนึ่ง  และการกู้ชาติในสมัยนี้เป็นของที่ยาก    เพราะฉะนั้นผมนึกว่าที่ตกลงไปแล้วนั้นเป็นของดีที่สุด"
" ถ้าเราไปดื้อดึงเข้า  ชาติของเราตายแล้วก็จะไม่มีวันฟื้น   ถ้าหากว่าเราได้ผ่อนผันคล้ายๆว่าพายุแรงมาเราก็ผ่อนโอนไป  อย่าให้ต้นไม้ถึงกับหักได้   ต้นไม้นั้นยังคงอยู่นี้  ถ้าเปรียบกับต้นไม้ และต่อไปข้างหน้า ลูกมันก็อาจจะออกมาซึ่งเราจะเก็บผลกินได้อีก"
"...ปัญหาอยู่ที่ว่าเขาจะล้มรัฐบาล จะควบคุมรัฐบาล  เขาจะไล่เราออกหรือไม่"

ถ้าท่านจอมพล ป. คิดว่ารัฐบาลคืออันหนึ่งอันเดียวกับชาติ  ข้างบนนี้ เปลี่ยนคำว่าชาติเป็นรัฐบาล เราก็คงพอเข้าใจความหมายได้

เล่ามาชักจะเครียด  ขอนำรำวงมาตรฐานมาคั่นโปรแกรมสัก ๑ ค.ห. ค่ะ
เนื้อเพลง คือการปลุกใจ ตามนโยบายของจอมพล ป.   

http://www.youtube.com/watch?v=xuylf5JaYgA&feature=related

http://www.youtube.com/watch?v=9dO-3zRsB20&feature=related


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: sirinawadee ที่ 09 ก.ค. 10, 21:43
ประทับใจคำพูดของท่านจอมพลค่ะ

..คนที่เกิดมาเป็นผู้ชายอาจจะไม่ได้มีความเป็นลูกผู้ชายไปเสียทุกคนนะคะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ค. 10, 22:12
      มีคำพูดของจอมพล ป. อีกตอนหนึ่งที่ดิฉันคิดแปดตลบแล้ว ยังไม่เห็นด้วย     เรื่องนี้เริ่มตั้งแต่ตอนนายปรีดีมาฟ้องว่าญี่ปุ่นไปบุกคลังสินค้า ทำร้ายเจ้าหน้าที่ศุลการักษ์  
      จากรายงานการประชุม เข้าใจว่าในระยะเริ่มแรกจะมีข่าวเข้ามาเป็นระยะ ว่าญี่ปุ่นทำอะไรไม่เป็นที่พอใจของคนไทยบ้าง  จอมพลป.ท่านก็คงได้รับฟังข่าวพวกนี้   ท่านก็เลยพูดในที่ประชุมค.ร.ม. ว่า ที่มีข่าวว่าญี่ปุ่นไปซื้อขนมแล้วไม่ให้สตางค์  ไปกินเบียร์แล้วไม่ให้สตางค์   ไปเที่ยวผู้หญิงอย่างว่าแล้วไม่จ่ายเงิน  ทั้งหมดนี้ท่านจอมพล เห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย  พูดไปก็ไม่ดี ไม่ควรพูด เพราะ...
     " จะทำให้คนที่อ่อนการศึกษาของเราเองมีความเคียดแค้น     เพราะคนอ่อนการศึกษานั้นแกไม่เห็นการใหญ่ๆ    แกเห็นแต่งานชิ้นเล็กๆ   ไม่ใช่ว่าผมจะว่าพวกสามล้ออ่อนการศึกษา  แต่สามล้อนั้นถ้าคนญี่ปุ่นขึ้นแล้วไม่ให้สตางค์ นั่นเป็นปัญหาเป็นตายของแกทีเดียว     ตัวอย่างเช่นนี้เป็นปัญหาเป็นตายสำหรับคนชนิดหนึ่ง    แต่ปัญหาสำหรับรัฐบาลนั้น  การที่เราจะกู้ชาติรักษาชาติของเรานั้นไม่ใช่เป็นปัญหาที่เป็นตายอะไร   เป็นปัญหาอยู่ที่ว่าเขาจะล้มรัฐบาล จะควบคุมรัฐบาล  เขาจะไล่เราออกหรือไม่.."
    ก็ตอนปฏิวัติกันเมื่อปี ๒๔๗๕   ท่านและคณะราษฎร์ก็ประกาศอุดมกาณ์ให้ประชาชนได้เป็นใหญ่ไม่ใช่หรือ   ทำไมปัญหาของประชาชนคนขี่สามล้อจึงกลายเป็นปัญหาเล็กไม่ควรเก็บมาคำนึงถึงไปได้


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 10, 09:41
ในรายงานการประชุมครั้งเดียวกันนี้  จอมพล ป. พูดยาวมาก   ถอดออกมาได้หลายหน้ากระดาษ   มีอีกตอนที่ท่านพูดไว้น่าสนใจมาก
คือ ท่านก็ออกคำสั่งเรื่องชาวญี่ปุ่นบุกเข้าไปในสถานที่ราชการว่า
๑ ให้ข้าราชการไทยห้ามเขา บอกว่ามันผิดข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับแม่ทัพญี่ปุ่น
๒  ถ้าญี่ปุ่นขืนจะเข้าไปให้ได้  ให้บอกว่าไปตกลงกับคณะกรรมการไทย-ญี่ปุ่นที่ตั้งขึ้นเสียก่อน
๓ ถ้ายังไม่ยอมฟัง ก็ปล่อยให้เข้า แล้วรายงานมาที่นายกรัฐมนตรี

ก็นับว่าเป็นหลักการที่ดี มีระเบียบแบบแผนทางปฏิบัติ  อย่างน้อยข้าราชการไทยจะได้ไม่งงงวยว่าควรทำตัวยังไงดี    คลังสินค้า ของรับผิดชอบของตัวเองแท้ๆ ญี่ปุ่นบุกเข้ามาเอาชะแลงงัดตามใจชอบ  ปล่อยตามสบาย  เดี๋ยวข้าราชการก็โดนข้อหาผิดวินัย ทำของหลวงหาย ถูกตัดเงินเดือนหรือไล่ออก     แต่ถ้าท่านนายกออกกฎให้ชัดเจน  ข้าราชการก็จะได้หายใจโล่งอก

แต่ท่านจอมพล ป. ท่านไม่ได้หยุดแค่ออกกฎ   ท่านพูดต่อไป  ฟังแล้วก็คงมีบางคนในคณะรัฐมนตรีสะอึกไม่มากก็น้อย    ขนาดดิฉันอ่านรายงานการประชุมเมื่อ ๖๙ ปีให้หลัง ยังรู้สึกว่าแปลกมากๆ

" คือถ้าใครทำรุนแรงกับญี่ปุ่นในเวลานี้   คนนั้นก็เท่าๆกับขายชาติ  ไม่ใช่คนรักชาติ     ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าผมจะชอบเขา   ความจริงผมก็ชอบอยู่แต่กับเมืองไทย    แต่ผมพิจารณาแล้วเห็นว่า   ถ้าใครไปทำรุนแรงกับญี่ปุ่น ก็เท่ากับเป็นการขายชาติ"
" ในเวลานี้เราจะต้องผูกมิตรกับญี่ปุ่นเป็นของสำคัญ    ถ้าเปรียบเหมือนเรานั่งในบ้าน   ไฟจะไหม้ก็ไหม้ที่หน้าบ้านของเราก่อนที่อื่น"

ถ้อยคำของจอมพล ป.  ทำให้ดิฉันนึกถึงฉากหนึ่งใน"สี่แผ่นดิน" ขึ้นมาได้  เป็นเหตุการณ์ในแผ่นดินที่ ๔ เมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา  ญี่ปุ่นเข้าประเทศไทยได้แล้ว

คุณเสวี ลูกเขยของพลอย พูดว่า
" เวลานี้ญี่ปุ่นกำลังตีฟิลิปปินส์ของอเมริกัน และกำลังเข้าโจมตีมลายูของอังกฤษ   จากนั้นจะไปพม่าและชวา  เกาะบอร์เนียวและอินเดีย  เขาเข้าตีทุกด้านพร้อมกันหมด....ในเอเชียนี้   ต่อไปก็จะมีแต่ญี่ปุ่นกับเราเท่านั้น  ที่จะเป็นชาตินำ  เพราะเราไหวตัวทัน  เข้ากับเขาเสียแต่แรก  ใครไม่ร่วมมือกับญี่ปุ่นเวลานี้เท่ากับไม่รักชาติ"
ตาอั้นเอามือตบโต๊ะอย่างแรง แล้วพูดว่า
" มากไปเสียแล้วละ เสวี   กันรู้แล้วว่าเสวีเป็นพวกญี่ปุ่น   แต่อย่าเที่ยวว่าคนอื่นเขาไม่รักชาติ   ใครๆก็รักชาติด้วยกันทั้งนั้น   และคนที่เขารักชาติจริงๆ เขาก็จะต้องว่าเสวีนั่นแหละเป็นคนขายชาติให้ญี่ปุ่น"


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ค. 10, 10:22
เรื่องญี่ปุ่นจะบุกเมืองไทยที่กำลังสนุกเข้าด้ายเข้าเข็ม ในฐานะนายทหารระดับผู้นำของประเทศ พระยาทรงท่านคาดเดาไว้แล้ว ไม่คิดว่านโบบายที่ประกาศตนเป็นกลางของรัฐบาลจะเป็นผล ระหว่างที่กระบอกเสียงปั่นสมองประชาชนผ่านคู่สนทนาสองคนคือนายมั่นกับนายคงให้ราษฎรเตรียมอาวุธทุกชนิดช่วยทหารไทยปกป้องแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นปืนผาหน้าไม้หลาวแเหลน กระทั่งหมามุ่ย ก็สามารถนำมาใช้ยับยั้งข้าศึกได้ เอ้าใครไม่รู้จักหมามุ่ยยกมือ

ในการประชุมสภาป้องกันราชอาณาจักรครั้งสุดท้ายก่อนที่จะต้องระหกระเหินออกนอกประเทศ พระยาทรงสุปความเห็นชัดเจนว่า ชาติที่เป็นกลางได้ต้องมีกำลังทหารมหาศาลที่จะป้องกันเขตแดนของตนจากมหาอำนาจคู่สงครามที่ต้องการรุกล้ำเข้ามาเพื่อสร้างความได้เปรียบฝ่ายศัตรู หากไม่มีกำลังทหารก็ต้องมีภูมิประเทศที่หินโหดเป็นปราการ

การใช้โฆษณาปาวๆให้ต่อสู้กับมหาอำนาจที่กำลังพลมากกว่าอาวุธดีกว่า เป็นการหลอกตัวเองและหลอกราษฎรที่ไม่รู้อิโน่อิเหน่ให้ตายฟรีๆโดยไม่มีประโยชน์อันใดต่อชาติ ประเทศเล็กที่อยู่ระหว่างคมหอกคมดาบของมหาอำนาจที่ประจันหน้ากัน จะต้องทำตนอย่างไรจึงจะรักษาตัวรอดได้ คำตอบคือ ก็ต้องเลือกอยู่กับผู้ที่จะชนะในยกสุดท้าย นั่นน่ะของตาย พูดอีกก็ถูกอีก แต่แม้จะรู้ว่าใครใหญ่กว่าใครและเลือกข้างถูกก็จริง  แต่ตอนเขารบกันในบ้านเราก็ละเอียดอยู่ดี  แต่ละเอียดแล้วเป็นฝ่ายชนะย่อมดีกว่าละเอียดแล้วเป็นฝ่ายแพ้

การยอมยกธงขาวให้ญี่ปุ่นผ่าน เป็นการซื้อเวลาไม่ให้บ้านเมืองละเอียดเร็วเกินไป ก็พี่ยุ่นแกเล่นขู่จะใช้เครืองบินรบถล่มพระบรมมหาราชวังก่อนเลย คงศึกษาประวัติศาสตร์มาว่าฝรั่งเศสเคยเอาเรือปืนเข้ามาขู่คนไทยอย่างนี้แล้วสำเร็จง่ายดายกระมัง จอมพล ป.ท่านก็เอาข้อนี้มาแก้ตัวกับคนไทยว่าทำไมจึงยอมแพ้เร็ว หมามุ่ยที่เตรียมไว้ยังไม่ได้ใช้เลย คนไทยก็เข้าใจ แต่เป๊บเดียวไปประกาศสงครามกับอังกฤษกับอเมริกาเสียแล้ว อันนี้ไม่เข้าใจ

พระยาทรงท่านเลือกข้างสัมพันธมิตรตั้งแต่ไก่โห่ แต่วิธีนี้คงไม่ช่วยให้ไทยต่อต้านญี่ปุ่นซึ่งๆหน้าได้  นอกจากจะใช้วิธีการของฝรั่งเศสเสรี ดึงญี่ปุ่นออกจากเมืองไปรบกันในป่าด้วยกลยุทธสงครามกองโจร


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ค. 10, 10:24
ฐานะความเป็นอยู่ท่านดีขึ้นมามาก แม้จะไม่ถึงกับสบายแต่ก็ไม่ต้องตีนถีบปากกัด เออ..ครับ ผมเล่าข้ามไปว่าร้านขนมในบ้านสวนของท่านถูกค้นพบโดยสมเด็จกรมพระวรจักรฯ เจ้านายพระทัยดีองค์หนึ่งของเขมร ทรงเป็นพระโอรสองค์หนึ่งของกษัตริย์นโรดมในพระบรมโกศ พระองค์ทรงรู้กิตติศัพท์ของพระยาทรงสุรเดชและทรงเห็นใจมาก จึงทรงเมตตาเสนอให้เช่าบ้านหลังหนึ่งซึ่งเคยเป็นวังของพระเชษฐ์ภคินี(พี่สาว)ของพระองค์ในราคาเพียงเดือนละ15เหรียญ บ้านนี้ใหญ่ขึ้นกว่าที่เดิมและข้อสำคัญอยู่ในทำเลที่ดีขึ้นมาก ขนมไทยจึงขายดีขึ้น ตั้งโต๊ะสี่ห้าโต๊ะให้คนมานั่งทานในร้านก็ได้  พระยาทรงท่านก็มีงานหลักในงานควบคุมคุณภาพการผลิต ทำการชั่งตวงวัดส่วนผสมของขนมเองเพื่อรักษามาตรฐานความอร่อยให้คงที่  เมื่อเสร็จงานหลักประจำวันท่านก็มีงานเสริม ซื้อจักรยานเก่ามาถอดเปลี่ยนอะไหล่ แล้วซ่อมสร้างใหม่สวยงาม ขายได้กำไรคันละ 10 เหรียญ

เอาเป็นว่าระหว่างที่ผมไปยุ่งกับงานศพของน้าอยู่นั้น ท่านแข็งแรงมีเนื้อมีหนังขึ้น มีกำลังพอที่จะคิดการอะไรใหญ่ๆได้แล้ว


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ค. 10, 10:28
ตอนที่ไทยยึดครองดินแดนเขมรที่เคยเป็นของไทยมาในสมัยที่สยามเป็นนักล่าเมืองขึ้นใหญ่ประจำถิ่นกลับมาอยู่ในก้อมกอดอีกครั้งหนึ่ง คนเขมรที่ไม่ชอบการปกครองของฝรั่งเศสที่ผมเล่าไว้แล้วในต้นกระทู้ ก็อพยพครอบครัวเข้าไปในหวังพึ่งพระบรมโพธิสมภารตามศัพท์ที่เคยเรียกขานกัน วันหนึ่งๆหลายสิบครัวเรือน ตอนนั้นพระยาทรงก็ส่งคนเข้าไปแทรกซึมหาข่าวว่าข้าราชการ บุคคลสำคัญของไทยมีทัศนคติอย่างไรในเรื่องสงครามที่จะเกิดขึ้นต่อไปข้างหน้า แต่ยังไม่ทันจะเป็นผล เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่นที่รวดเร็วมาก

รัฐบาลไทยได้จัดแบ่งการปกครองใหม่ในเขมร โดยยุบจังหวัดเสียมเรียบ จังหวัดอุดรมีชัย และจังหวัดบันเตียเมียนเจย มารวมเป็นจังหวัดเดียวตั้งชื่อว่าจังหวัดพิบูลสงครามเพื่อเป็นเกียรติแก่จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีผู้พิชิต และสร้างอนุสาวรีย์ไก่ขาวกางปีกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจอมพล ป.เพราะท่านเกิดปีระกา ไว้เป็นอนุสรณ์กลางจังหวัดนี้ แต่ไหง๋เอาไก่ที่เขาเอาไปทำข้าวมันไก่ ไม่ใช้ไก่ชนพระนเรศวรเป็นสัญญลักษณ์ผมก็ไม่เข้าใจ อนุสาวรีย์นี้พอสงครามเลิกคนเขมรก็ทุบลงไปเป็นอิฐหักกากปูนตามระเบียบ

การปกครองของจังหวัดพิบูลสงคราม แบ่งออกเป็น 6 อำเภอ คือ

อำเภอไพรีระย่อเดช (ตามเขตอำเภอบ้านพวกเดิม)ตั้งชื่อตาม พันเอกหลวงไพรีระย่อเดช (ชมะบูรณ์ ไพรีระย่อเดช) ผู้บัญชาการกองพลบูรพา และรองแม่ทัพด้านบูรพา
อำเภอกลันทบุรี (ตามเขตอำเภอกลันทบุรีเดิม)
อำเภอพรหมขันธ์ (ตามเขตอำเภอพรหมขันธ์เดิม)
อำเภอเกรียงศักดิ์พิชิต (ตามเขตอำเภอสำโรงเดิม)ตั้งชื่อตาม พันเอกหลวงเกรียงศักดิ์พิชิต (พิชิต เกรียงศักดิ์พิชิต)  แม่ทัพด้านอีสาน และผู้ช่วยแม่ทัพบกในขณะนั้น
อำเภอวารีแสน (ตามเขตอำเภอวารีแสนเดิม)
อำเภอจอมกระสานติ์ (ตามเขตอำเภอจอมกระสานติ์เดิม)
ต่อมาทางการได้ปรับปรุงเขตการปกครองจังหวัดพิบูลสงครามใหม่ โดยโอนท้องที่อำเภอจอมกระสานต์ไปขึ้นจังหวัดนครจัมปาศักดิ์ และโอนท้องที่อำเภอศรีโสภณ และอำเภอสินธุสงครามชัย จังหวัดพระตะบอง มาขึ้นจังหวัดพิบูลสงครามแทนในเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน

ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนโดยเอาชื่อแม่ทัพนายกองของไทยที่ดังๆในการรบกับฝรั่งเศสมาตั้ง ท่านคงจะเข้าใจความรู้สึกของคนเขมรในท้องที่เหล่านั้นได้ ว่าจะสับสนเพียงไรกับชื่อยาวๆจำยาก แม้คนไทยแท้ๆที่นั่นยังเรียกไม่ถูก จำไม่ได้


จังหวัดพระตะบอง เป็นอีกจังหวัดหนึ่งของเขมร ที่พอไทยเข้าไปยึดครองใหม่ก็เปลี่ยนแปลงชื่ออำเภอต่างๆ ดังนี้

อำเภอเมืองพระตะบอง ตามเขตอำเภอพระตะบองเดิม
อำเภอพรหมโยธี ตามเขตอำเภอสังแกเดิมตั้งชื่อตาม นายพันเอกหลวงพรหมโยธี (มังกร พรหมโยธี)
อำเภออธึกเทวเดช ตามเขตอำเภอระสือเดิมตั้งชื่อตามพลอากาศโท หลวงอธึกเทวเดช (บุญเจียม โกมลมิศร์) แม่ทัพอากาศสนาม
อำเภอมงคลบุรี ตามเขตอำเภอมงคลบุรีเดิม
อำเภอศรีโสภณ ตามเขตอำเภอศรีโสภณเดิม
อำเภอสินธุสงครามชัย ตามเขตอำเภอตึกโชเดิม) ตั้งชื่อตาม พลเรือตรีหลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) ผู้บัญชาการทหารเรือ และแม่ทัพเรือ
อำเภอไพลิน ตามเขตอำเภอไพลินเดิม

ต่อมาทางการไทยได้ปรับปรุงเขตการปกครองจังหวัดพระตะบองเสียใหม่ โดยโอนท้องที่อำเภอศรีโสภณ และอำเภอสินธุสงครามชัย ไปขึ้นจังหวัดพิบูลสงครามแทนในเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ค. 10, 10:31
ในเมืองลาวก็สลับสับสนเช่นเดียวกับเขมร

รัฐบาลไทยได้จัดตั้งจังหวัดลานช้าง ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวนี้คือ แขวงไซยะบูลีของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวจังหวัดลานช้าง ได้แบ่งการปกครองออกเป็น 6 อำเภอ คือ

อำเภอสมาบุรี ตามเขตอำเภอสมาบุรีเดิม
อำเภออดุลเดชจรัส ตามเขตอำเภอปากลายเดิม ตั้งตามนามของ พลตำรวจเอกหลวงอดุลเดชจรัส (บัตร พึ่งพระคุณ หรือ อดุล อดุลเดชจรัส)
อำเภอแก่นท้าว ตามเขตอำเภอแก่นท้าวเดิม
อำเภอเชียงฮ่อน ตามเขตอำเภอเชียงฮ่อนเดิม
อำเภอหาญสงคราม ตามเขตอำเภอหงษาเดิม ตั้งตามนามของ พันเอก หลวงหาญสงคราม (พิชัย หาญสงคราม) ผู้บัญชาการกองพลพายัพ

สุดท้าย

จังหวัดนครจัมปาศักดิ์ หรือ แขวงจำปาสักของลาวในปัจจุบันแต่ครั้งนั้น รัฐบาลไทยขีดเส้นใหม่ให้จังหวัดนี้ยังกินอาณาบริเวณพื้นที่ส่วนหนึ่งของจังหวัดสตึงแตรง และพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดพระวิหาร ของเขมรไว้ด้วยความคิดอันแยบยลที่ท่านเดาเอาเองก็แล้วกัน ว่ามีความประสงค์อันใด

อำเภอที่ขึ้นกับจังหวัดนี้มีดังนี้

อำเภอเมืองนครจัมปาศักดิ์ (ตามเขตอำเภอนครจัมปาศักดิ์เดิม)
อำเภอวรรณไวทยากร (ตามเขตอำเภอมูลปาโมกเดิม)ซึ่งตั้งตามพระนามของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงการต่างประเทศ และหัวหน้าคณะผู้แทนเจรจาสันติภาพฝ่ายไทยในกรณีพิพาทอินโดจีน
อำเภอธาราบริวัตร (ตามเขตอำเภอธาราบริวัตรเดิม)
อำเภอมะโนไพร (ตามเขตอำเภอมะโนไพรเดิม)
กิ่งอำเภอโพนทอง (ตามเขตกิ่งอำเภอโพนทองเดิม)
ต่อมาทางการได้ปรับปรุงเขตการปกครองจังหวัดนครจัมปาศักดิ์ใหม่ โดยโอนท้องที่อำเภอจอมกระสานต์ จังหวัดพิบูลสงคราม มาขึ้นจังหวัดนครจัมปาศักดิ์ด้วย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ค. 10, 10:44
เรื่องจัดเขตแดนใหม่ เอาเมืองโน้นไปขึ้นกับเมืองนี้ เอาดินแดนเขมรไปไว้กับลาว คนเขมรก็พอทำใจ แต่พี่ท่านเล่นเอาวัธนะธัมนำไทยไปสู่มหาอำนาจไปบังคับใช้ คนเขมรยังพอฝืนใจมารำวงหลังอาหารกลางวันเพลงไทยไทรโยคได้ แต่เล่นแรงสั่งโค่นต้นหมาก ตัดต้นพลู ไม่ให้คนเขมรกินหมากเพราะเป็นคนไทยแล้ว ผู้หญิงต้องสวมหมวก คนเขมรก็เริ่มอกจะแตก พอถึงให้ผู้ชายต้องหอมเมียก่อนออกจากบ้าน ผู้นำครอบครัวก็สั่งให้สมาชิกลูกเด็กเล็กแดงอพยพกลับไปอยู่กับฝรั่งเศสนายเก่าดีกว่า นายใหม่มันบ้าๆบอๆเต็มที ตอนแรกๆคนเขมรอพอพไปอยู่เขตไทยวันหนึ่งหลายสิบครอบครัว ตอนหลังๆอพยพออกมาเป็นร้อย ในเขมรวุ่นวายเดือดร้อนกันไปทั่ว แนวร่วมของพระยาทรงที่คอยส่งข่าวในเขตไทยให้ถึงกับสลายตัว

ในลาวไม่รู้จะเป็นอย่างไร แต่รำวงนี่ดูท่าพี่น้องที่นั่นจะชอบ หรือเขารำของเขาอยู่นานแล้ว จอมพลแปลกไปอำของเขามาว่าเป็นวัธนะธัมไทยผมก็ไม่รู้นะ


พูดถึงเรื่องนี้ ผมสงสัยขึ้นมาว่าแล้วทางพี่น้องมุสลิมทางภาคใต้ของเราจะเป็นอย่างไร เข้าไปถามนายกูเกิน ๆก็ส่งบทความมาหลายบท เจ็บแสบเข้าทรวง วัธนะธัมไทยให้ตั้งพระพุทธรูปในโรงเรียนและสถานที่ราชการ ให้นักเรียนและข้าราชการสวดมนต์ ตอนเคารพธงร้องเพลงชาติทำเอาบ้านเมืองที่เคยสงบสันติ ลุกเป็นไฟทันที
อ่านบางตอนตามสำนวนดั้งเดิมของเขาก็แล้วกัน

การเชื่อมโยงศาสนาพุทธ เข้ากับ "ความเป็นคนไทย" นี้ ไปไกลถึงขั้นที่ช่วงหนึ่งหลวงพิบูลฯสั่งให้กระทรวงทบวงกรมต่างๆ สำรวจว่ามีข้าราชการคนใดบ้างไม่นับถือศาสนาพุทธ และพยายามชักชวนคนเหล่านี้ "ให้มานับถือศาสนาพุทธเสียให้หมด หากผู้ใดไม่ยอมเปลี่ยนก็ให้ทางราชการตั้งข้อรังเกียจต่างๆ เช่น ไม่พิจารณาเลื่อนเงินเดือนเป็นต้น" (คำพูดหลวงอดุลเดชจำรัส ในที่ประชุม ครม. 23 เมษายน 2484 ผมควรชี้ว่าหลวงอดุลฯ กำลังเน้นที่คนนับถือคริสต์ ไม่ใช่อิสลาม) และมีการออกระเบียบกรมตำรวจไม่รับคนที่ไม่นับถือพุทธเป็นตำรวจ(มีข้อยกเว้น "ไปพลางก่อน" ให้ 4 จังหวัดภาคใต้) หลวงพิบูลฯเองกล่าวสนับสนุนข้อบังคับนี้ว่า "เมืองไทยเป็นของไทยมิควรจะให้คนศาสนาอื่นอยู่!"

อีกด้านหนึ่งที่รัฐบาลพยายามทำ "ให้เป็นไทยจริงๆ" คือเรื่องภาษา กรณีภาคใต้ หลวงพิบูลฯแสดงความไม่พอใจที่ "ปรากฏว่าทางใต้ การติดต่อพูดจาทางราชการบางทีต้องพูดภาษาแขก ไม่ใช้ภาษาไทย หนักเข้าต้องพูดภาษาแขกหมด" (ประชุม ครม. 21 กุมภาพันธ์ 2482) และกล่าวว่า "อยากสั่งข้าราชการให้พยายามพูดภาษาไทยกับชาวพื้นเมือง" (ประชุม ครม. 31 มกราคม 2482) ประยูร ภมรมนตรี เสนอว่าให้หาทางส่งข้าหลวงที่คนท้องถิ่นนิยม แล้ว "หาวิธีบังคับให้แก(คนท้องถิ่น)พูดภาษาไทย"
ขณะที่ ปรีดี พนมยงค์ ตำหนิว่า ที่ผ่านมาเรื่องภาษาไทยนี้ "พวกข้าหลวงอะลุ้มอะล่วยเกินไป" ให้กับคนอิสลามในท้องถิ่น
………………………………………………………………………………………………..................................................................
        
จนกระทั่งมีการบังคับให้ประชาชนที่เป็นชายใส่กางเกง ไม่ให้ใส่สะโหร่ง ผู้หญิงไม่ให้สวมผ้าคลุมหัว ในโรงเรียนไม่ให้มีการพูดและสอนภาษามลายู และภาษาอาหรับ โดยให้พูดและสอนภาษาไทยเท่านั้น นอกจากนี้ยังไม่ให้มีการอ่านคำภีร์อัล-กุรอาน แล้วอย่างนี้ใครที่ไหนที่รับได้ ลองนึกดูนะครับเกิดมีผู้มีอำนาจในบ้านเรามาบอกเราว่า ห้ามคุณเข้าวัด ห้ามสวดมนต์ ห้ามพูดและเรียนภาษาไทย ห้ามทักทายโดยการยกมือไหว้ ท่านจะรู้สึกอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ยังได้รับการปฎิบัติจากเจ่าหน้าที่รํฐอย่างไม่เป็นธรรม ถูกเอารัดเอาเปรียบ นโยบายต่างๆเกิดจากการไม่เข้าใจในวิถีชีวิตที่แตกต่าง ทำให้ปัญหาต่างๆเกิดขึ้น
 
          เมื่อถูกกดขี่ข่มเหงมากเข้าก็เกิดความชิงชัง เคียดแค้นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เริ่มมีการรวมกลุ่ม แยกสังคมออกจากกันระหว่างชาวไทยพุทธ กับชาวมุสลิม เกิดเหตุพิพาทขึ้มมาเจ้าหน้าที่รัฐมักจะเข้าข้างเฉพาะชาวไทยพุทธ  และปฎิบัติกับชาวไทยมุสลิมไม่อย่างเท่าเทียม
         จนกระทั่งมีเหตุการณ์ที่หมู่บ้าน ดุซงญอ ในจังหวัดนราธิวาส เหตุเกิดขึ้นมาจากขณะนั้น โจรชาวจีนมลายูมีมาก และมักจะเข้ามาปล้นสะดมชาวบ้านแถวนั้นอยู่บ่อยๆ จึงทำให้ชาวบ้านรวมตัวกันประมาณ 500 คน หรืออาจมากกว่านั้น เพื่อทำพิธีอะไรบางอย่างอาจจะเป็นการเพื่อบูชาให้ตัวเองอยู่ยงคงกระพัน ไว้ต่อสู้กับโจรจีนมลายูก็เป็นได้ แต่เมื่อเรื่องนี้รูไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐสยามเข้าก็เลยส่งตำรวจมาปราบปรามคิดว่า ชาวบ้านเตรียมการก่อกบฎ มีการต่อสู้กันอยู่นานและทำให้มีชาวบ้านเสียชีวิตไปถึง 400 คน เจ้าหน้าที่เสียชีวิตไป 40 นาย จนเป็นที่กล่าวถึงว่า "กบฎดุซงญอ"  จนถึงทุกวันนี้

ปฎิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นไม่เกี่ยวพันเชื่อมโยงมาจนถึงปัญหาทุกวันนี้  ถ้ายังจำได้เมื่อนึกถึงเหตุการณ์ "กรือเซะ" ผู้ก่อการร้ายก็เอาวันเดียวกันนี้ปฎิบัติการ ไม่ใช่แค่ไม่มีใครลืม แต่มันกลับถูกนำมาเป็นการยุยงผู้ที่สูญเสียญาติในครั้งนั้น รวมถึงผู้ที่มีความเกลียดชังเจ้าหน้าอยู่แล้วให้ร่วมมือกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายด้วย  ปัญหาต่างๆ ความเคียดแค้นมันถูกถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งมาสู่อีกรุ่นหนึ่งอย่างเป็นวัฎจักรที่ไม่หมดสิ้น  
…………………………………………………………………………………………………………………………………………………...............


มาถึงตรงนี้ผมต้องขอสารภาพ ท่านผู้อ่านที่ได้อ่านเรื่อง “ตนกู อับดุล ราห์มัน ชาวสยามที่ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย” คงจำได้เมื่อผมเล่าถึงคำพูดของท่านที่ผมประทับใจจนต้องนำมาเขียนเรื่องดังกล่าว

ผมเพิ่งจะเข้าใจความหมายแฝงที่ลึกซึ้งซ่อนอยู่ในใบหน้ายิ้มๆขณะที่ท่านพูกว่า “ I was  Siamese, but not a Thai” มันละเอียดอ่อนกว่าที่ผมเคยนึกคิดมาก เมืองเคดะห์ของท่านตนกูได้กลับไปเป็นเมืองไทรบุรีของไทยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่2เมื่อญี่ปุ่นตีอังกฤษในมลายูแตกแล้วยกดินแดน3รัฐให้เป็นของเล่นของจอมพล ป. แม้ว่าข้าราชการไทยไม่ได้ฮึกเหิมเหมือนตอนหักเขมรและลาวมาจากฝรั่งเศส และพยายามรู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดีในดินแดนมลายู แต่เรื่องที่คนมุสลิมถูกรังแกในนราธิวาสคงเป็นข่าวใหญ่ก่อนที่ข่าวร้ายเรื่องญี่ปุ่นยกดินแดนของตนให้ไทยมาแล้ว ท่านตนกูคงจะทราบดี โชคดีของคนไทยที่อำนาจของจอมพล ป.อ่อนลง ไม่สามารถพยายามหักด้ามพร้าด้วยหัวเข่าอีกได้ต่อไป มิฉนั้นเราอาจมีมาเลเซียเป็นศัตรูถาวร

แผลหัวใจของคนมุสลิมที่ถูกกรีดไปแล้ว พอตกสะเก็ด ยังไม่เป็นแผลเป็นก็มีนักการเมืองไปสะกิดให้เลือดกระฉูดออกมาอีก เลอะนองแผ่นดินไปทั้งสองฝ่าย
ในเขมรและลาวเองก็เถอะ ถ้าไม่ต้องคืนเขาไปหลังสงคราม ตอนนี้ถึงจะครอบครองแผ่นดินของเขาได้ ก็คงจะยังต้องรบราฆ่าฟันกันไม่จบ นับศพได้ไม่ถ้วน


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 10 ก.ค. 10, 13:51
สมัยยังเด็กอยู่ชายแดนภาคใต้ คนในท้องถิ่นที่รู้จักมีความรู้สึกไม่ชอบข้าราชการและตำรวจจริงๆค่ะ
จำได้ว่าเคยมีเหตุการณ์ทหารกับตำรวจทะเลาะกัน ชาวบ้านเอาใจเชียร์ทหารกันเกือบยกหมู่บ้าน

ยังไงก็แล้วแต่ ทั้งๆที่บ้านเคยเป็นเขตพื้นที่อันตราย แต่คนไทยคนมุสลิมหรือคนจีนอยู่ร่วมกันอย่างสันติค่ะ
ไม่มีการแบ่งแยกว่าใครนับถือศาสนาอะไร

โชคดีที่ไม่เกิดในสมัยที่รัฐบาลพยายามทำ "ให้เป็นไทยจริง"  ::)


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ค. 10, 14:30
ชาติหว่านสงคราม ประชาชนหว่านความรัก

นักอุดมคติท่านผู้หนึ่งว่าไว้

มนุษย์ส่วนมากในโลกมีความเป็นมิตรต่อกัน แต่พอแบ่งสี แบ่งชาติ แบ่งศาสนาแล้ว ก็อาจเกลียดกัน ถึงฆ่ากันได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล
การรักชาติ รักศาสนาของตนเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าเกินขีด จะกลายเป็นคลั่งชาติ คลั่งศาสนาอันนำไปสู่สงครามระหว่างมนุษยชาติ

สงครามการเมือง เกิดจากนักการเมืองปลุกปั่น ปลูกฝังความเกลียดชังขึ้นมาแทนความรัก ญาติพี่น้องฆ่ากัน กว่าจะรู้ตัวว่าชัยชนะที่ได้มาบนซากศพของพี่น้อง หรือผู้ที่เคยเป็นญาติมิตร คนชาติเดียวกันทั้งนั้น  ไม่คุ้มค่าเลยกับความสูญเสีย ...ก็สายเกิน
 


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ค. 10, 14:35
ท่านผู้อ่านคงจำมองซิเออร์ วิกเตอร์ บูรฺเกย หรืออาบูสมัยเป็นนักเรียนอัสสัมชัญได้ นายคนนี้เป็นลูกครึ่งฝรั่งเศสแม่เป็นไทย คบหาติดต่อพระยาทรงอยู่ตั้งแต่เมืองไซ่ง่อนและเป็นผู้ที่พระยาทรงเจาะจงให้พาตนนำเงิน800เหรียญที่มีคนของรัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศสนำมาให้ไปบริจาคต่อกับสภากาชาด เพื่อจะได้เข้าหูเจ้าของเงิน ครั้งสุดท้ายอาบูมาหาท่าน บอกว่าตนกำลังจะเดินทางไปฝังตัวกับญาติพี่น้องทางแม่ที่กรุงเทพ เพื่อสืบเสาะดูว่ามีใครในบ้านเมืองที่คิดจะต่อต้านญี่ปุ่น เพื่อจะได้หาทางเชื่อมโยงร่วมทำงานใหญ่กันต่อไป พระยาทรงท่านเห็นดีด้วย แต่เตือนว่าต้องระมัดระวังตัวให้ยิ่งยวด สายลับไทยเยอะแยะแทบจะเดินชนกันตายอยู่แล้วยังมีสายลับของญี่ปุ่นมาเสริมเข้าไปอีก อาบูต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบให้มาก อย่าเอาแต่ได้โดยไม่คิดเสีย อาบูแสดงความขอบคุณแล้วก็ร่ำลา ยังไม่ได้พบกันอีกเลย

ระหว่างที่แสนยานุภาพของญี่ปุ่นในอินโดจีนเคลื่อนพลเข้าประชิดชายแดนทั้งด้านเขมรและลาว ในอ่าวไทยมีเรือรบและเรือลำเลียงพลคึกคักรอคำสั่งปฏิบัติการอยู่นั้น นายทหารบกยศพลตรีของกองทัพลูกพระอาทิตย์ก็ขอนัดหมายมาพบ เพื่อเยี่ยมคำนับท่านที่บ้านในกรุงพนมเปญถึงสามครั้ง โดยครั้งที่3ซึ่งเป็นครั้งสำคัญที่สุด มากันถึง5คน ระหว่างนั้น คุณทวีวงศ์ พันธุมเสน บุตรชายคนที่สอง เคยเรียนอยู่ที่ญี่ปุ่น4-5ปีทำหน้าที่ล่าม

คำถามแรกหลังบรา บรา บรา บรากันแล้ว ญี่ปุ่นอยากทราบว่า ในฐานะที่ร่วมงานสำคัญยิ่งยวดกันมา พระยาทรงสุรเดชคิดว่า หลวงพิบูลสงคราม หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หลวงอดุลเดชจรัส หลวงสินธุสงครามชัย เป็นคนอย่างไร เชื่อถือได้หรือไม่

พระยาทรงได้แจ้งความรู้สึกไปโดยสุจริตใจว่า บุคคลทั้งสี่มีความรักชาติบ้านเมือง และมีอุดมการณ์สูงคล้ายคลึงกัน
หลวงพิบูลนั้น ผู้ที่ใครได้คบหาแล้วยากที่จะมองข้ามความสุภาพอ่อนน้อม มีความสามารถผูกใจคนให้นิยมรักชอบตนได้ดียิ่ง
ญี่ปุ่นสวนกลับมาตรงนี้ว่า แล้วจะเชื่อได้ไหมว่าหลวงพิบูลจะจริงใจต่อญี่ปุ่น ท่านก็ตอบอย่างมีชั้นเชิงว่า คนญี่ปุ่นน่าจะทราบดีกว่าท่าน คบเป็นมิตรสนิทสนมกันมานานแล้วมิใช่หรือ
ญี่ปุ่นเสียงอ่อยลงบอกว่า ไม่มีความมั่นใจเลย พฤติกรรมของหลวงพิบูลบางอย่างเอนไปเอนมา แล้วหลวงอดุลล่ะ คนคนนี้เป็นอย่างไร
พระยาทรงตอบว่า คนนี้เป็นคนทำงานเอาจริงเอาจัง มีแนวทางนโยบายชาตินิยมน่าสรรเสริญ ญี่ปุ่นถามเข้มว่า แล้วหลวงอดุลชอบญี่ปุ่นหรือไม่
พระยาทรงหัวเราะ ใครๆก็รู้กันทั้งเมืองว่าหลวงอดุลเกลียดญี่ปุ่น แต่โดยส่วนตัวที่คบกันแบบเพื่อนฝูงแล้ว ญี่ปุ่นคนไหนรัก คนไหนชอบหลวงอดุล หลวงอดุลก็รักก็ชอบตอบเหมือนมนุษย์ธรรมดาทั่วไป  ญี่ปุ่นก็ถอนหายใจเฮือกใหญ่

เอ้า ตานี้หลวงสินธุ์ แม่ทัพเรือ พระยาทรงก็บอกว่าคนนี้เป็นคนตรงไปตรงมา นิสัยซื่อสัตย์มั่นคงเด็ดเดี่ยว เห็นประจักษ์ในวันปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ว่ามีความรู้ความสามารถ ทำงานจริง น่านับถือ

คนสุดท้าย หลวงประดิษฐ์ พระยาทรงท่านบอกว่าตามสายตาท่านแล้ว เป็นคนสุขุมล้ำลึก มีความรักชาติ แล้วก็เงียบ ญี่ปุ่นก็ผงกหัวขึ้นๆลงๆ ไม่ว่ากระไร นิ่งไปสักครู่ก็ยิงคำถามสำคัญ ช้าๆและหนักแน่นว่า พระยาทรงสุรเดชสนใจจะทำงานการเมืองในช่วงนี้หรือไม่ ท่านยิ้มเปิดเผย ตอบว่าไม่ขอสนุกด้วยอีกแล้ว เพราะท่านได้รับบทเรียนที่ล้ำค่า คนอย่างท่านไม่เหมาะที่จะเป็นนักการเมือง

บัดนั้น คณะนายทหารที่มาด้วยก็ช่วยกันหว่านล้อมพร้อมข้อเสนอประกอบเหตุผลมากมาย ท่านก็ยืนยันคำตอบเดิม ผมพยายามจะแคะไค้มานำเสนอท่านผู้อ่านว่า ญี่ปุ่นตั้งข้อเสนออย่างไร แต่ก็ล้มเหลวเพราะท.ส.ของท่านผู้เขียนบันทึกนี้ได้หักปากกาทิ้งเสียแล้ว จบกัน

นายพลลูกพระอาทิตย์ทั้งห้าสุดปัญญาจะเปลี่ยนใจนายพันเอกผู้มักน้อย ไม่ยอมขายตัวเป็นหุ่นเชิดให้รัฐบาลทหารของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ได้ ก็ลุกขึ้นคำนับอย่างสุดซึ้ง ขอลากลับไปรับทานซูชิดีกว่า กว่าจะสิ้นสุดไปจากสายตาซึ่งกันและกันได้  โค้งกันไปโค้งมาเกือบสิบครั้งตามธรรมเนียม





กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: bookaholic ที่ 10 ก.ค. 10, 16:02
ผมเป็นนักเรียนมาสายสุด    อาจารย์เข้าห้องเชคชื่อไปแล้วหลายวัน   ผมพึ่งมาถึง     
เข้ามารายงานตัวก่อนครับ    หลังจากนั้น   ค่อยย้อนกลับไปอ่านกระทู้ไล่หลัง


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ค. 10, 16:36
หลังจากญี่ปุ่นขึ้นเมืองไทยตามที่ท่านผู้อ่านได้รับการปูท้องเรื่องมาอย่างดีแล้ว ผมไม่จำเป็นต้องเล่าซ้ำ สองสามเดือนต่อมาพระยาทรงได้รับจดหมายติดแสตมป์ลาวส่งมาถึงท่านหนึ่งฉบับ ภายในบรรจุกระดาษเขียนข้อความละเอียดยิบ3แผ่น ท่านจำได้ว่าที่จ่าหน้าซองมาเป็นลายมือของอาบู

มีกระดาษชิ้นเล็กๆปลิวลงมาขณะดึงจอหมายออกจากซอง ท่านอ่านข้อความในกระดาษชิ้นนี้ก่อน ผู้เขียนแจ้งว่าตนรับฝากจดหมายของอาบู กะจะถือมาให้ท่านโดยตรงด้วยมือตนเองเพื่อเสวนาเรื่องอื่นๆกันด้วย แต่ระหว่างปฏิบัติราชการอยู่ที่เวียงจันทน์ถูกเรียกตัวกลับกรุงเทพด่วน จึงจำเป็นต้องส่งจดหมายที่อาบูส่งมาให้ทางไปรษณีย์ พร้อมกับแจ้งว่า ตนจะมาอินโดจีนอีกครั้งหนึ่งในสองเดือนข้างหน้า ถึงตอนนั้นจะหาโอกาสมาหาท่านด้วยตนเอง

จดหมายของอาบูยืดยาว บรรยายการเดินทางเป็นอย่างไร ใครอุปถัมภ์ ใช้วิธีการสืบความอย่างไรจึงได้เรื่องว่าบุคคลสำคัญของไทยผู้ใดที่มีความคิดจะต่อต้านญี่ปุ่น จึงได้พยายามหาทางเข้าพบ ในชั้นต้น“ผู้ใหญ่”ที่ว่าไม่เชื่อถือว่า ผู้ที่ส่งสัญญาณมาจะเป็นพระยาทรง แต่หลังจากแสดงหลักฐานและภาพถ่าย จึงยอมเชื่อและให้ส่งข่าวมาบอกว่าตนยินดีที่สุดที่จะได้ติดต่อกันเพื่องานของชาติในอนาคต

“ผู้ใหญ่”ที่ว่านี้มี2คน เป็นคนสำคัญที่สุด ก่อนที่ญี่ปุ่นจะเข้ามาเต็มเมืองไทยนั้น “ผู้ใหญ่”ทั้งสองอยู่กันคนละขั้ว  ยากที่จะร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้ ดังนั้นเพื่อมิให้พระยาทรงแคลงใจ อาบูจึงเขียนอธิบายยืดยาวว่าเหตุผลใดที่“ผู้ใหญ่”ทั้งสองหันมาจับมือกันได้

ท้ายของจดหมายได้เร่งเร้าให้พระยาทรงเริ่มดำเนินงานตามแผนที่คิดไว้โดยด่วน และสั่งการผ่านผู้ที่ถือหนังสือนี้มาติดต่อด้วย
เรื่องที่“ผู้ใหญ่”ทั้งสองจับมือกันนั้น พระยาทรงท่านยังไม่ปลงใจเชื่อจริงๆ ท่านจะรอจนกว่าจะได้ซักถามผู้ที่จะถือหนังสือจากเมืองไทยมาพบท่าน เพื่อทราบข้อมูลที่หนักแน่นกว่านี้

ผมไม่สามารถจะเป็นผู้เฉลยเสียเองว่า“ผู้ใหญ่”ทั้ง2ท่านเป็นใคร เพราะร้อยเอกสำรวจไม่ได้แจ้งนามไว้ในหนังสือที่เขียน แม้พอจะเดาได้ก็เก็บไว้ให้ท่านทั้งหลายเฉลยสู่กันในกระทู้นี้ดีกว่า ผมจะให้เวลาหนึ่งวันนะครับ แล้วจะเข้าสู่ตอนจบของเรื่องในวันพรุ่งนี้ ส่วนจะเป็นเวลาใดก็ขอให้ท่านติดตามกันต่อไป




กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 10, 17:09
คุณนวรัตนอุบคำตอบว่าผู้ยิ่งใหญ่ ๒ คน ๒ ขั้วนั้นเป็นใคร  ยั่วให้ระทึกไปพลางๆ     
ถ้าใครอยากรู้คำตอบก่อนท่านเฉลย เห็นจะต้องหารายชื่อไปหย่อนลงตู้  แล้วค่อยติดสินบนคุณพอลยอดปลาหมึกให้เลือกตู้อีกที   :)

กลับมาเรื่องจอมพล ป. กับญี่ปุ่น
หลังจากรัฐบาลไทยยอมให้พ่อดอกมะลิกรีฑาทัพผ่านไทย    โดยระหว่างผ่านก็มาประจำอยู่ในประเทศไทยไม่ว่ากัน   ๓  วันต่อมาคือ ๑๑ ธันวาคม   จอมพล ป.ก็แถลงกับค.ร.ม.อีกว่า ตอนนี้ญี่ปุ่นเขาอยากให้ร่วมมือกันมากกว่านี้ คือไม่ใช่แค่เปิดประตูให้ผ่านบ้านเข้ามาเฉยๆ   แต่ขอให้ร่วมรบ เรียกว่า military  co-operation
ในระหว่างรอคำตอบร่วมรบ   ญี่ปุ่นก็ปลดอาวุธตำรวจทหาร ในหลายจังหวัด  แม้แต่ข้าหลวงผู้ว่าราชการจ.ว. ของมหาดไทยก็โดนด้วย    ชาวอังกฤษอเมริกันในไทยที่ไทยส่งขึ้นรถเพื่อพาออกไปชายแดน  ญี่ปุ่นก็ดักจับเอาตัวเข้าค่ายไปดื้อๆเช่นกัน
จอมพลป.ก็ใช้นโยบายผ่อนปรน เช่นเดิม  ไม่สู้  ไม่ต่อต้าน ไม่ห้ามปราม   ปล่อยญี่ปุ่นทำไปตามความประสงค์   

จากนั้นเหตุการณ์วันประวัติศาสตร์ก็เกิดขึ้น  ในเดือนเดียวกันนั้นเอง  ถัดมาอีก ๑๐ วัน   รัฐบาลไทยยินยอมลงสัญญากติกาสัมพันธไมตรีกับญี่ปุ่น   มีใจความสำคัญคือตกลงเป็นพันธมิตรร่วมรบกัน  คือถ้าใครมารบกับญี่ปุ่นก็เท่ากับมารบกับไทยด้วย ว่างั้นเถอะ   นอกจากนี้ยังร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ  การเมืองและการทหาร 
สัญญานี้ ไปทำพิธีลงนามกันในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม   เบื้องพระพักตร์พระแก้วมรกต เพื่อให้แน่นอนมั่นคงว่าสาบานต่อหน้าพระแก้ว

ถัดมาอีก ๑ เดือนกว่าๆ    ไทยก็ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ    เป็นพระบรมราชโองการ   แต่ผู้ลงนามตัวจริงคือคณะผู้สำเร็จราชการ ประกอบด้วยพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา  (ในประกาศไม่ลงฐานันดรศักดิ์ว่าเป็นพระองค์เจ้า  ลงแต่ยศทางทหาร ว่า พล.ต. อาทิตย์ทิพอาภา)  เจ้าพระยาพิชเยนทร์โยธิน( ลงยศว่า พลเอกพิชเยนทร์โยธิน) และคนสุดท้ายคือ นายปรีดี พนมยงค์   


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ค. 10, 17:30
มีรูปมาประกอบครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 10, 17:32
ถ้าเรามองในแง่ที่ว่า ไทยเป็นประเทศเล็ก มหาอำนาจสองขั้วคือฝรั่งกับญี่ปุ่นเขากำลังยิงกันสนั่น  ไทยอยู่ตรงกลาง ทำยังไงถึงจะรอด  อย่างแรกคืออย่าไปยืนเกะกะขวางทางเขา   อย่างที่สองคือวิ่งหาที่กำบัง   จอมพล ป. ท่านก็คงเห็นอย่างนี้ ท่านก็เลยยินยอมให้ญี่ปุ่นมายืนบังจนมิด  เพื่อไทยจะได้ไม่ถูกกระสุนที่กำลังสาดใส่กัน
แต่ญี่ปุ่นไม่ได้มายืนบังเฉยๆ  จอมพลป.ท่านบอกว่าโกโบริยัดปืนใส่มือ  ให้ท่านช่วยยิงฝรั่งอังกฤษและอเมริกันด้วย   ท่านก็รับปืนมาช่วยยิง เพราะท่านบอกว่าไม่มีทางอื่น  
เมื่อรับปืนมายิง  ทางพันธมิตรอเมริกาและอังกฤษก็หันมาสาดกระสุนใส่ไทยเข้าบ้าง  เมื่อเป็นอย่างนี้บ้านเมืองไทยก็เข้าสู่ภาวะสงคราม ถูกระเบิดถล่มอยู่นานสามปี  บ้านเมืองยับเยินไปจริงๆ  
มองในแง่นี้ก็คือ  การยินยอมให้ญี่ปุ่นกรีฑาทัพเข้ามาโดยไม่สู้ ไม่ว่ากัน  ไม่ได้ทำให้ไทยรอดจากยับเยินจากภาวะสงครามไปได้  เพราะเมื่อยอมแล้ว ก็รัฐบาลไม่ได้หยุดอยู่แค่ยอมให้ผ่าน โดยพยายามหาทางออกว่าจะดึงรั้งเอาไว้แค่นี้ได้ยังไง   แต่รัฐบาลไปยอมขั้นที่ ๒ คือประกาศตัวเป็นฝ่ายเดียวกับเขาอย่างเต็มประตู  
ดิฉันเชื่อว่าจอมพล ป. ท่านน่าจะเชื่อด้วยใจจริงว่าญี่ปุ่นเป็นฝ่ายชนะฝรั่ง    บวกเข้าไปจากความผิดหวังว่าเมื่อเกิดคับขันแล้วอังกฤษไม่เห็นจะช่วยอะไรไทยสักอย่าง      ถ้าญี่ปุ่นชนะ ท่านเข้าข้างฝ่ายชนะ  ยังไงก็ย่อมได้รับผลดีไม่มากก็น้อย    ท่านก็เลยเทคะแนนเป็นแฟนพันธุ์แท้ของโกโบริไป
อย่างไรก็ตาม แม้แต่นักการทหารชั้นยอด ก็อาจจะทำนายการรบผิดพลาดได้       ดังนั้นการคาดคะเนว่าญี่ปุ่นจะมีชัยเหนือฝรั่ง กลายเป็นมหาอำนาจแห่งเอเชีย  จึงเป็นความฝันที่ไม่เป็นความจริงขึ้นมา     อังกฤษและฝรั่งเศสที่ทำท่าร่อแร่ไปไม่รอด  ได้กำลังทัพและอาวุธมหาประลัยของอเมริกา โถมเข้ามาช่วย   พลิกสถานการณ์กลายเป็นฝ่ายได้ชัยชนะในอีก ๔ ปีต่อมา
เคยอ่านพบว่าตอนญี่ปุ่นบุกไทยนั้น  ญี่ปุ่นก็เปลี้ยลงมากแล้ว   จากการทำสงครามมายาวนานก่อนหน้านี้   แม่ทัพใหญ่ฝ่ายญี่ปุ่นก็ไม่อยากหักโหมโจมตีไทย   ตกลงกันได้ด้วยสันติก็ดี   ไม่เปลืองรี้พลของญี่ปุ่น    บางทีญี่ปุ่นคงดำเนินการทั้งลับและแจ้งเพื่อให้เป็นไปอย่างนี้
แต่ญี่ปุ่นเองก็รู้พิษสงไทย   จึงไม่ไว้ใจรัฐบาลไทยอยู่ดี ว่าจะพลิกผันไปจากวงไพบูลย์เมื่อใดก็ได้   ส่วนคนสำคัญของไทยบางคนก็รู้ข้อนี้เหมือนกันว่า จะไว้ใจใครกันไม่ได้เลย  ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าขบวนการเสรีไทยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากคนสำคัญในไทย ที่เมื่อก่อนโอนอ่อนเข้าหาญี่ปุ่น    และคนนั้นก็ไม่ใช่นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งแสดงแต่แรกแล้วว่าไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับญี่ปุ่นมาแต่ไหนแต่ไร
ส่วนเป็นใครนั้น รอคุณพอลเฉลย   ถ้าคุณพอลไม่เฉลยก็รอท่านกูรูผู้ใหญ่กว่า     ระหว่างนี้ช่วยกันปั่นกระทู้ให้ถึงสัก ๕๐๐ ก่อนดีไหมคะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ค. 10, 17:47
ดูรูปไปพลางๆก่อน ประเด็นที่ท่านอาจารย์ใหญ่ชวนอภิปรายนั้นน่าขบคิดมาก^


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 10, 18:14
ดิฉันไม่เห็นด้วยกับจอมพล ป.ในหลายๆเรื่องตั้งแต่กบฏบวรเดชเป็นต้นมา   แต่เรื่องเหล่านั้นเอาไว้ก่อน มันไม่เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ ๒    แต่เรื่องที่ไม่เห็นด้วยมากที่สุดคือท่านตัดสินใจเร็วไปหน่อยที่จะเข้าร่วมรบเคียงข้างญี่ปุ่น  ตั้งแต่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔
เหตุการณ์หลายๆอย่างบ่งชี้ให้คิดว่า จอมพลป. ทุ่มเทไปทางญี่ปุ่น ด้วยความเชื่อมั่นส่วนตัวบวกเข้าไปด้วย   ไม่ใช่แค่รักษาประเทศชาติให้รอดและรัฐบาลไม่ถูกปลดเท่านั้น     ท่านจึงตกลงไปทำสัญญาสาบานกันในวัดพระแก้ว     ปกติ เซ็นชื่อในสัญญาไมตรีที่ทำเนียบพร้อมค.ร.ม. ก็เป็นเกียรติมากพอแล้ว     ถึงจะอ้างว่าญี่ปุ่นเป็นฝ่ายต้องการ แต่ดิฉันเชื่อว่าเป็นความเต็มใจทางฝ่ายไทย

         ถ้าท่านจอมพลเคยอ่าน ไซ่ฮั่น ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงให้กรมพระราชวังหลังแปลไว้ เพื่อศึกษาพิชัยสงคราม  ก็จะพบตอนหนึ่งว่า
     -    อย่าทำอันตรายแก่ผู้ใด   ถ้าเห็นข้างไหนเพลี่ยงพล้ำ     จึงค่อยทำศึกเข้าข้างผู้ชนะต่อภายหลัง  
        เตียวเหลียงสอนว่าเห็นเขารบกัน อย่าเพิ่งเข้าข้างฝ่ายไหนเต็มตัวแต่แรก  แต่ดูท่าทีก่อนว่าฝ่ายไหนเพลี่ยงพล้ำแพ้แน่นอน   แล้วค่อยเข้าข้างฝ่ายชนะ    เราก็จะชนะไปด้วย
           เรื่องทำนองนี้ต้องเชิญคุณวีมี มาร่วมอธิบายถึงไทยเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ ๑  แล้วจะมันส์ ค่ะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ค. 10, 18:42
อ้างถึง
ประเทศเล็กที่อยู่ระหว่างคมหอกคมดาบของมหาอำนาจที่ประจันหน้ากัน จะต้องทำตนอย่างไรจึงจะรักษาตัวรอดได้ คำตอบคือ ก็ต้องเลือกอยู่กับผู้ที่จะชนะในยกสุดท้าย นั่นน่ะของตาย พูดอีกก็ถูกอีก แต่แม้จะรู้ว่าใครใหญ่กว่าใครและเลือกข้างถูกก็จริง  แต่ตอนเขารบกันในบ้านเราก็ละเอียดอยู่ดี  แต่ละเอียดแล้วเป็นฝ่ายชนะย่อมดีกว่าละเอียดแล้วเป็นฝ่ายแพ้....

.....การยอมยกธงขาวให้ญี่ปุ่นผ่าน เป็นการซื้อเวลาไม่ให้บ้านเมืองละเอียดเร็วเกินไป ก็พี่ยุ่นแกเล่นขู่จะใช้เครืองบินรบถล่มพระบรมมหาราชวังก่อนเลย


ผมนั่งคิดนอนคิด ถ้าเราเป็นจอมพล ป.ในตอนนั้นเราควรจะทำอย่างไร พระยาทรงท่านเลือกข้างฝรั่งเศส(หมายถึงสัมพันธมิตร) แต่ท่านไมได้เฉลยว่า ในยกแรกที่จะถล่มกัน ควรจะหยุดรบสงครามในรูปแบบตรงไหน ก่อนที่จะหนีไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในป่าหรือนอกประเทศ  ตรงที่กรุงเทพเละเป็นเซี่ยงไฮ้ไปแล้วหรืออย่างไร จอมพล ป.ท่านก็รบ แต่ที่หยุดเร็วไปหน่อยก็เพราะเสียดายบ้านเมือง ปราสาทราชวัง ส่วนการหุนหันไปร่วมวงไพบูลย์แห่งเอเซียกับญี่ปุ่น อาจจะเป็นด้วยท่านเชื่อว่าญี่ปุ่นจะชนะสงครามดังท่านอาจารย์ว่า มิใช่เพราะโดนบีบจนหน้าเขียวอย่างที่ผมเคยเข้าใจก็เป็นได้  ท่านปรีดีเองก็เถอะ ได้ชื่อว่าปราชญ์เปรื่อง แต่ก็คิดวิธีง่ายๆดังเช่นที่ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทยในวอชิงตันได้กระทำไปไม่ออก ก็เพียงแต่เดินไปบอกรัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกาว่า รัฐบาลไทยสั่งให้ไอมายื่นหนังสือประกาศสงครามกับยู แต่ไอไม่ประกาศเพราะไม่เห็นด้วย ขอให้ยูช่วยสนับสนุนให้ไอตั้งขบวนการใต้ดินเพื่อขับไล่ญี่ปุ่นออกจากประเทศของไอจะได้ไหม รัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกันก็บอกว่าโอเค ถ้าท่านปรีดีคิดได้ในวิธีการนี้ และสั่งการในทางลับให้เอกอัครราชทูตในกรุงลอนดอนทำอย่างเดียวกันกับวอชิงตัน สถานภาพของไทยหลังสงครามจะดีกว่านี้มาก นี่เล่นไปลงนามประกาศสงครามกับเขาด้วยโต้งๆ อังกฤษจะเอาเราตาย

การที่สัมพันธมิตรมาทิ้งระเบิดกรุงเทพ ก็มิได้มีเป้าหมายจะทำลายสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของไทยเช่นที่ญี่ปุ่นขู่ เพราะมีขบวนการเสรีไทยคอยชี้เป้าไม่ให้สะเปะสะปะ และอเมริกันก็เห็นคุณค่าของศิลปวัฒนะธรรม ดังเช่นการเว้นเกียวโตมิให้ต้องระเบิดแม้เพียงลูกเดียว พระราชวังมัณฑเลย์ของพม่าไม่รอด อังกฤษทิ้งระเบิดเพลิงใส่จนเหลือแต่ทราก

ไม่ใช่ผมจะมองข้ามฝีมือและความพยายามของมนุษย์ แต่ก็อดคิดไม่ได้ที่ผู้หลักผู้ใหญ่บอกว่า บ้านเมืองของเรามีพระสยามเทวาธิราชปกป้องคุ้มครอง ผ่อนหนักเป็นเบาอยู่ จึงทำให้มีคนอย่างจอมพล ป. ที่ตัดสินใจยอมญี่ปุ่น บ้านเมืองจึงไม่พินาศในเบื้องต้น ส่วนเบื้องปลายก็มีขบวนการเสรีไทย ทั้งอเมริกาและอังกฤษ ทั้งสายนอกประเทศและในประเทศ มาช่วยทำให้ฝรั่งไม่ถล่มเราเละเทะเหมือนชาติผู้แพ้สงครามจะพึงโดนกระทำอื่นๆ กลายเป็นทุกขั้วความคิดล้วนได้ทำสิ่งที่ถูกต้องหมด ไม่มีใครผิด

ท่านผู้อ่านว่ามั้ยครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 10, 19:28
ดิฉันเชื่อในพระสยามเทวาธิราชนะคะ   แต่ก็เชื่อว่าท่านก็คงไม่ประสงค์จะแบกรับภาระทั้งหมดของประเทศไทยเอาไว้   ต้องให้คนไทยหาทางออกกันเองบ้าง  
ไม่งั้นลูกช้างชาวไทยทั้งหลายจะไม่รู้จักโต  เอะอะอะไรก็ไหว้ขอพระสยามไว้ก่อน  จนผิดพุทธพจน์ อัตตาหิ อัตโน นาโถ

ขอร่วมวงเสวนา จากที่คุณนวรัตนจุดประเด็นไว้

ดิฉันคิดว่าเจ้าคุณทรงท่านคงให้คำตอบไม่ได้ทะลุปรุโปร่งหรอกว่า คนไทยควรทำยังไงเมื่อญี่ปุ่นบุก    ตามวิสัยนักการทหารเขาต้องดูสถานการณ์ก่อน  ไม่พรวดพราดเข้าไปรบโดยไม่รู้จักคะเนกำลังฝ่ายข้าศึก  หรือไม่สนยุทธวิธีว่าอีกฝ่ายใช้แบบไหน ฉันจะใช้แบบนี้ลูกเดียว   อย่างนี้รบร้อยครั้งก็แพ้ร้อยครั้ง
ส่วนใหญ่จะรู้กันเป็นขั้นๆไปว่า เมื่อเจอแบบนี้จะหาทางออกกันยังไง  ขั้นต่อไป มันกลับกลายเป็นยังงี้ จะหาทางออกแบบไหนกันได้อีก เมื่อทางแรกไม่ได้ผลก็ต้องทางที่สอง ฯลฯ
มันเป็นไปได้ว่า เจ้าคุณทรงเองอาจใช้วิธีสันติ ไม่ปะทะตรงๆหากคะเนว่ากำลังเราสู้เขาไม่ไหวแน่    เรามีเครื่องบิน ๓ ลำ เขามี ๒๕ ลำ อย่างที่วัฒนานคร จะสู้อะไรไหว   แต่ในการประนีประนอม ไม่จำเป็นว่าต้องโถมเข้าไปเป็นฝ่ายเขาเต็มตัวแต่แรก    หาทางสงวนท่าทีไว้ก่อน  เพราะเรื่องอเมริกาจะแพ้ญี่ปุ่นนั้นไม่มีทาง   อย่างน้อยสงครามก็ต้องห้ำหั่นกันอีกหลายปี    ไทยต้องประคองตัวเองจนเห็นฝ่ายไหนแพ้แน่  จึงค่อยเข้าข้างฝ่ายชนะ    นี่คือการมองแบบเตียวเหลียง ผูู้ลงหลักปักฐานให้ราชวงศ์ฮั่นได้ด้วยสติปัญญาระดับเดียวกับขงเบ้ง
การตั้งสงครามกองโจรก็ดี  ขบวนการเสรีกู้ชาติก็ดี  เป็นฝีมือที่ประเทศเล็กมีกำลังคนน้อยทำได้อยู่แล้ว     เพียงแต่หาเงินหนุนหลังจากประเทศใหญ่ ก็จะทำสงครามได้ยืดเยื้อยาวนาน จนญี่ปุ่นแพ้พันธมิตรไปก่อนก็เป็นได้  ดูแต่คุณฉางผิงจีนเป็งเป็นตัวอย่างก็ได้ค่ะ  
แต่ดูว่าท่านจอมพล ป. ไม่ได้คิดข้อนี้เลย   แม้ค.ร.ม. ของท่านก็ไม่เผื่อข้อนี้ ดูได้จากกติกาสัมพันธไมตรีที่ไปสาบานกันในวัดพระแก้ว    จนกระทั่งนักเรียนไทยในต่างประเทศนั่นแหละทนไม่ไหว  ตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นมา   อเมริกา อังกฤษ ก็เข้าหนุนหลังเต็มที่  
ส่วนที่คุณนวรัตนบอกในตอนท้ายว่าเรารอดมาได้ไม่เป็นฝ่ายแพ้    ผู้เชี่ยวชาญทางปวศ.ท่านหนึ่งที่ประสิทธิ์วิชาความรู้ให้ดิฉัน ท่านกระซิบบอกว่า ไทยไม่ได้รอดปลอดภัยหายห่วงหรอก  โดนอังกฤษเรียกค่าเสียหายจนอ่วม  พอๆกับเป็นฝ่ายแพ้น่ะแหละ  เขาชาร์จเรา เป็นค่าที่เขายกมือเห็นด้วยกับอเมริกา


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 10, 19:57
ยังติดตามชีวิตเจ้าคุณทรง ด้วยความระทึกใจนะคะ      ชื่นชมท่านที่ไม่ยอมเป็นเครื่องมือของฝ่ายไหนทั้งสิ้น    แต่ก็รู้สึกว่า ถ้าท่านไม่ยอมเป็นเครื่องมือ  แต่ยังเคลื่อนไหวพยายามจะทำอะไรเพื่อประเทศชาติ   ก็เหมือนไม่ยอมรับร่มจากใคร แต่ยังออกมาเดินกลางฝน  ท่านก็ต้องเปียกอยู่ดี
ในเมื่อท่านยังรู้ความเคลื่อนไหวทางกรุงเทพได้   ทางนี้เขาก็ต้องรู้ความเคลื่อนไหวของท่านเหมือนกัน   

กลับมาเรื่องพระบรมราชโองการประกาศสงครามอีกหน่อย    มันมีเบื้องหน้าเบื้องหลังที่ควรรู้กันไว้  คือ ประกาศพระบรมราชโองการที่ลงชื่อโดยคณะผู้สำเร็จราชการ ๓ คน  นั้น  จริงๆแล้วเมื่อร่างกันเสร็จและลงชื่อกันนั้น ลงชื่อกันแค่ ๒ คน คือพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ และเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน   
นายปรีดีไปต่างจังหวัด  ไม่ได้อยู่ในกรุงเทพ จึงไม่ได้ลงชื่อด้วย
แต่มีความจำเป็นว่าจะต้องรีบประกาศให้ทันเวลาเที่ยง    พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯก็รับสั่งว่า ให้ประกาศชื่อของนายปรีดี พนมยงค์ลงไปก็แล้วกัน   แม้ไม่ได้ลงนามก็ตาม   ท่านจะทรงรับผิดชอบเอง
ก็เลยประกาศออกมาทางการ  คือประกาศรบกับอังกฤษและอเมริกา
ถ้าถามว่านายปรีดีกลับจากต่างจังหวัดมาลงนามไหม  หรือว่าท่านไม่ได้ลงนามจนแล้วจนรอด  คำตอบคือท่านกลับมาลงนามในภายหลัง

พอสงครามจบลง   ญี่ปุ่นแพ้    ไทยก็ประกาศว่าการประกาศสงครามครั้งนี้เป็นโมฆะ  เพราะเวลาประกาศไม่ได้ลงนามครบ ๓ คน   ฝ่ายพันธมิตรและสหประชาชาติซึ่งมีอเมริกาเป็นพี่เอื้อยหนุนหลังไทยอยู่แล้ว  ก็เออวยเห็นด้วยว่า ประกาศสงครามที่ไทยทำครั้งนั้นเป็นโมฆะ   ไทยไม่ได้เป็นฝ่ายญี่ปุ่น
ส่วนมันเป็นโมฆะจริงหรือไม่    โดยตัวของประกาศเอง ขอเชิญท่านผู้อ่านเรือนไทยพิจารณาเองตามอัธยาศัยค่ะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ค. 10, 20:07

อ้างถึง
ส่วนที่คุณนวรัตนบอกในตอนท้ายว่าเรารอดมาได้ไม่เป็นฝ่ายแพ้    ผู้เชี่ยวชาญทางปวศ.ท่านหนึ่งที่ประสิทธิ์วิชาความรู้ให้ดิฉัน ท่านบอกว่า ไทยไม่ได้รอดหรอก  โดนอังกฤษเรียกค่าเสียหายจนอ่วม  พอๆกับเป็นฝ่ายแพ้น่ะแหละ  เขาชาร์จเราเป็นค่ายกมือเห็นด้วยกับอเมริกา



คือผมถือว่าเราเจ๊าครับ ไม่ได้เจี๊ยะแต่ก็ไม่ได้เจ๊ง

อ้างถึง
ขบวนการเสรีไทย...... มาช่วยทำให้ฝรั่งไม่ถล่มเราเละเทะเหมือนชาติผู้แพ้สงครามจะพึงโดนกระทำอื่นๆ  



การเลิกสถานะคู่สงคราม

สหรัฐอเมริกาได้ประกาศรับรองในทันทีว่า คำประกาศสงครามของไทยเมื่อ พศ. 2485 เป็นโมฆะ และได้แสดงน้ำใจไม่เรียกร้องให้ ชดใช้ค่าเสียหายแต่อย่างใด แต่อังกฤษมีท่าทีแตกต่างไป เพราะรัฐบาลอังกฤษได้ประกาศสงครามตอบไทยด้วย อังกฤษยื่นข้อเสนอให้ไทยปฏิบัติมากมาย เพื่อยกเลิกสถานะคู่สงคราม อเมริกาได้เข้ามาเป็นผู้ช่วยเจรจาต่อรอง ในที่สุดอังกฤษและไทยก็ได้ลงนามใน "ความตกลงสมบูรณ์แบบเพื่อยุติภาวะสงคราม ระหว่างไทยกับบริเตนใหญ่และอินเดีย" ที่สิงคโปร์เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2489 มีใจความสำคัญคือ ไทยจะต้องคืนดินแดนในมลายูและรัฐฉานที่ได้มาระหร่างสงคราม ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ทรัพย์สินของอังกฤษที่ถูกไทยยึดครองระหว่างสงคราม และต้องชดใช้เป็นข้าวสารจำนวน 1.5 ล้านตันแก่อังกฤษ ซึ่งนับว่าไทยได้รับการผ่อนผันมากพอสมควรเมื่อเปรียบเทียบกับบรรดาประเทศฝ่ายอักษะด้วยกัน เพราะไทยไม่ต้องถูกยึดครอง และไม่มีข้อผูกมัดทางการเมืองและการทหารใดๆ ที่ทำให้ไทยต้องสูญเสียเอกราชและอธิปไตย

นอกจากนั้นไทยยังต้องทำการตกลงกับฝรั่งเศษในการที่จะเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติด้วยการคืนดินแดนที่ได้มาจากกรณีพิพาทอินโดจีนเมื่อปีพศ. 2483 ให้แก่ฝรั่งเศส แต่ฝรั่งเศส เรียกร้องที่จะให้ไทยมอบพระแก้วมรกตให้แก่ฝรั่งเศษ ซึ่งฝรั่งเศษอ้างว่า พระแก้วมรกตเคยอยู่ในลาวมาก่อนถึง 200 กว่าปี ก่อนที่จะมาอยู่ทีกรุงเทพฯ และเมื่อลาวเป็นดินแดนในอาณัติของฝรั่งเศษแล้ว ไทยจึงควรจะต้องคืนพระแก้วมรกตให้แก่ลาวด้วย แต่ไทยก็อ้างว่า การค้นพบพระแก้วมรกตครั้งแรกนั้น เป็นการค้นพบในประเทศไทย และการที่พระแก้วมรกตต้องอยู่ในประเทศ ลาวถึง 200 กว่าปีนั้น เป็นเพราะว่า พระไชยเชษฐาได้นำพระแก้วมรกตจากเมืองเชียงใหม่ไปไว้ในเมืองหลวงพระบาง และเมืองเวียงจันทน์ในที่สุด ดังนั้น การที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้อันเชิญพระแก้วมรกตมาไว้ยังกรงธนบุรีและกรุงเทพฯ ตามลำดับนั้น เป็นการนำกลับคืนมาสู่สถานที่เดิม ข้อเรียกร้องของฝรั่งเศษข้อนี้จึงตกไป เพราะอังกฤษกับอเมริกาเห็นด้วยกับไทย  

ส่วนข้าวสาร1.5ล้านตันนั้น ต่อมาไทยได้เจรจาต่อรอง และอังกฤษยอมจ่ายเงินเป็นค่าข้าวให้บ้าง แมัจะไม่ให้เท่าราคาที่ไทยเรียกร้องเพราะอังกฤษเอาไปบริจาคเลี้ยงผู้อดอยากจากพิษสงครามในเครือจักรภพ มิได้เอาไปขายเอากำไร


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 10 ก.ค. 10, 20:10
ถ้าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น โดยส่วนตัวคิดว่าอีกคนที่น่าจะพูดถึงคือ นายควง อภัยวงศ์ ครับ ถึงแม้ท่านจะดูกลับกลอกไปมา แต่ก็เพราะความมีไหวพริบ(ถ้าเป็นภาษาวัยรุ่นสมัยนี้ต้องอุทานว่า "พริ้ว") จึงทำให้ค่อนข้างจะผ่อนหนักเป็นเบาได้ในหลาย ๆ ครั้ง อย่างกรณีญี่ปุ่นเริ่มจะจับได้ว่ามีการสร้างสนามบินลับในหลาย ๆ จังหวัด หรือแม้แต่กรณีการโดดร่มของเหล่าเสรีไทย ก็ได้ไหวพริบปฏิภาณของท่านผู้นี้ช่วยไว้หลายครั้ง แม้อุปนิสัยของท่านคนภายนอกมองว่าไม่ค่อยตรง แต่ผมว่าในสถานะการณ์อย่างนั้น คนแบบนี้เหมาะที่สุดแล้วครับที่จะรับภาระกิจสำคัญ ๆ แบบนี้

น่าคิดว่า ถ้านายควง รับบทนายกฯ เสียแต่แรกก่อนญี่ปุ่นจะบุก หน้าตาผลภายหลังสงครามโลกของเราจะเปลี่ยนไปอย่างไร

สำหรับท่านจอมพลฯ โดยส่วนตัวผมคิดว่า แกน่าจะเก่งกับคนไทยด้วยกันเองมากกว่า จะไปเก่งกับคนต่างชาติครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 10 ก.ค. 10, 20:14


นอกจากนั้นไทยยังต้องทำการตกลงกับฝรั่งเศษในการที่จะเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติด้วยการคืนดินแดนที่ได้มาจากกรณีพิพาทอินโดจีนเมื่อปีพศ. 2483 ให้แก่ฝรั่งเศส แต่ฝรั่งเศส เรียกร้องที่จะให้ไทยมอบพระแก้วมรกตให้แก่ฝรั่งเศษ ซึ่งฝรั่งเศษอ้างว่า พระแก้วมรกตเคยอยู่ในลาวมาก่อนถึง 200 กว่าปี ก่อนที่จะมาอยู่ทีกรุงเทพฯ และเมื่อลาวเป็นดินแดนในอาณัติของฝรั่งเศษแล้ว ไทยจึงควรจะต้องคืนพระแก้วมรกตให้แก่ลาวด้วย แต่ไทยก็อ้างว่า การค้นพบพระแก้วมรกตครั้งแรกนั้น เป็นการค้นพบในประเทศไทย และการที่พระแก้วมรกตต้องอยู่ในประเทศ ลาวถึง 200 กว่าปีนั้น เป็นเพราะว่า พระไชยเชษฐาได้นำพระแก้วมรกตจากเมืองเชียงใหม่ไปไว้ในเมืองหลวงพระบาง และเมืองเวียงจันทน์ในที่สุด ดังนั้น การที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้อันเชิญพระแก้วมรกตมาไว้ยังกรงธนบุรีและกรุงเทพฯ ตามลำดับนั้น เป็นการนำกลับคืนมาสู่สถานที่เดิม ข้อเรียกร้องของฝรั่งเศษข้อนี้จึงตกไป เพราะอังกฤษกับอเมริกาเห็นด้วยกับไทย [/color]


ตรงนี้ต้องขอยกย่อง บุคคลท่านหนึ่งซึ่งเป็นผู้แก้ข้อกล่าวหานี้ไว้ครับ จำชื่อท่านไม่ได้เสียแล้ว ถ้าจำไม่ผิดรู้สึกจะเป็น กรมหมื่นพิทยลาภฯ หรือไม่ครับ ?


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 10, 20:23
เราคงพอจะมองเห็นว่า ความคิดเห็นของจอมพล ป. และนายปรีดีในเรื่องชาติและญี่ปุ่น ไม่ลงรอยกันนักมาตั้งแต่ญี่ปุ่นบุก   ในรายงานการประชุม มีหลายครั้งที่แสดงว่านายปรีดีพยายามทัดทานมิให้จอมพล ป.สนับสนุนญี่ปุ่นมากเกินไปนัก     ในประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา  นายปรีดีไปต่างจังหวัด ลงชื่อไม่ทันในครั้งแรก   ก็น่าจะแสดงถึงการปฏิเสธในระดับหนึ่ง เพราะเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานอย่างนั้น   รัฐมนตรีคลังก็คงไม่ไปไหนไกลจนตามตัวไม่ทัน
ความขัดแย้งระหว่างพญาเสือสองตัวในถ้ำเดียวกันเห็นชัด เมื่อจู่ๆปีต่อมา คือเมื่อเดือนมีนาคม ๒๔๘๕ จอมพล ป. ก็นำค.ร.ม.ถวายบังคมลาออกทั้งชุด  โดยไม่มีสาเหตุแน่ชัดว่าอะไร    และพอลาออกปุ๊บ  ก็ได้รับพระบรมราชโองการลงนามโดยคณะผู้สำเร็จราชการให้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งเดิมปั๊บ   แต่ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งเป็นของนายปรีดี เปลี่ยนมือไปเป็นรมว.ใหม่ คือนอ.เทียน เก่งระดมยิง   ส่วนนายปรีดีอยู่ในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
การที่นายปรีดีพ้นตำแหน่งรมว.คลังและพ้นจากตำแหน่งในรัฐบาลไป  ว่ากันว่าญี่ปุ่นพอใจ  เพราะนายปรีดีไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับญี่ปุ่นในหลายๆเรื่อง    เมื่อท่านพ้นตำแหน่งบริหารไปแล้ว  ก็จะได้ไม่เป็นที่กีดหน้าขวางตาอีก      แต่ในช่วงเวลานั้นเอง ญี่ปุ่นก็ไม่รู้ว่า นายปรีดีได้ดำเนินการลับประสานงานกับเสรีไทยนอกประเทศ

ถ้าใครยังติดตามเรื่องวัธนธัมอยู่    ก็ขอตอบว่า ในยามสงคราม  วัธนธัมไทยก็ยังเดินหน้าต่อไปเต็มที่    เหมือนเมื่อตอนก่อนสงคราม  คนไทยสวมหมวกกันทั้งหญิงชายมาตลอดเวลาที่ระเบิดลงตูมตามอยู่บนหัว
ล่วงมาจนปลายสงครามมหาเอเชียบูรพา  นโยบายใหม่ของจอมพล ป. คือสร้างฐานทัพใหม่ที่เพชรบูรณ์    เป็นศูนย์เชื่อมการติดต่อกับกรุงเทพ ขึ้นเหนือไปจนลำปาง  และต่อเชื่อมไปจนถึงยูนนานใต้    ท่านให้เหตุผลว่าเพื่อจะใช้ทำศึกกับญี่ปุ่น  เพราะเห็นว่ากำลังของญี่ปุ่นชักจะอ่อนลงมากแล้ว


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 10, 20:32
เคยอ่านพบชื่อผู้แทนที่ไปเจรจาทางฝ่ายไทยเรื่องพระแก้วมรกต   ไม่ใช่กรมหมื่นพิทยลาภ ฯ แต่เป็นเชื้อพระวงศ์ระดับม.ร.ว.  ลืมชื่อไปเสียเฉยๆค่ะ   ต้องถามท่านกูรูใหญ่กว่า  เผื่อท่านนึกออก


อ้างถึง
ส่วนที่คุณนวรัตนบอกในตอนท้ายว่าเรารอดมาได้ไม่เป็นฝ่ายแพ้    ผู้เชี่ยวชาญทางปวศ.ท่านหนึ่งที่ประสิทธิ์วิชาความรู้ให้ดิฉัน ท่านบอกว่า ไทยไม่ได้รอดหรอก  โดนอังกฤษเรียกค่าเสียหายจนอ่วม  พอๆกับเป็นฝ่ายแพ้น่ะแหละ  เขาชาร์จเราเป็นค่ายกมือเห็นด้วยกับอเมริกา



คือผมถือว่าเราเจ๊าครับ ไม่ได้เจี๊ยะแต่ก็ไม่ได้เจ๊ง

อ้างถึง
ขบวนการเสรีไทย...... มาช่วยทำให้ฝรั่งไม่ถล่มเราเละเทะเหมือนชาติผู้แพ้สงครามจะพึงโดนกระทำอื่นๆ  



เห็นด้วยค่ะ
แฟนคลับมาชูป้ายร่วมวงเสวนากันคึกคัก ไม่เงียบเชียบเหมือนเมื่อวาน     ดีใจแทน เดอะ สตาร์จริงๆ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 10, 20:59
เสียดาย ดิฉันไม่มีหนังสือประวัติและผลงานของนายควง อภัยวงศ์อยู่ในมือเลย  เลยไม่สามารถจะเล่าได้  ต้องขอเชื้อเชิญผู้รู้มาร่วมแจมเรื่องนี้
จำได้ว่าชอบท่านเรื่องหนึ่งที่พอขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลแล้ว   ก็เลิกห้ามคนไทยกินหมาก ใส่หมวก  นุ่งโจงกระเบนก็ได้ไม่ว่ากัน

โครงการจังหวัดเพชรบูรณ์นี้เคยได้ยินผู้ใหญ่เล่าว่า จอมพลป.ท่านจะย้ายเมืองหลวงไปที่นั่น  รัฐสภาเองก็รับรู้เช่นนั้น   แต่จอมพล ป. ท่านอธิบายว่าเหตุผลแท้จริง คือเป็นฐานทัพแห่งใหม่เพื่อรบขับไล่ญี่ปุ่น     ดิฉันได้ยินคำบอกเล่ามาเช่นกันว่า การสร้างเส้นทางเชื่อมเพชรบูรณ์นั้นลำบากทุรกันดารมาก ทำเอาแรงงานที่เกณฑ์มาล้มตายไปมากมายเพราะไข้ป่าและกันดารของภูมิประเทศ   

ผลก็คือ รัฐบาลก็ต้องลาออกเพราะแพ้คะแนนเสียง เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี ๒๔๘๗  ช่วงนั้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ ใกล้จะสิ้นสุด  ฝ่ายค้านในสภาเห็นว่า  เพชรบูรณ์เต็มไปด้วยป่าเขาและโรคภัยไข้เจ็บ ไม่เหมาะจะเป็นเมืองหลวง  และที่อพยพหลบภัย  นอกจากนี้ส.ส.ยังไม่เห็นด้วยกับการเกณฑ์แรงงานไปสร้างถนนหนทางและสถานที่ราชการ   การขับไล่คนต่างด้าวมิให้เข้าไปทำมาหากินในเขตเพชรบูรณ์  ล้วนถูกหยิบยกมาเป็นข้อคัดค้าน

การแพ้คะแนนโหวตจนจอมพล ป.ต้องลาออกนี้   มีหนังสือกล่าวถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังเอาไว้ ๒ เรื่อง  คือ หนังสือ "จอมพล ป.พิบูลสงคราม" โดย อ. พิบูลสงคราม   เล่าไว้ว่า  การสร้างเมืองใหม่เป็นอุบายของท่านจอมพล ปกปิดมิให้ญี่ปุ่นระแวงว่าที่จริงเรากำลังสร้างฐานทัพไว้ขับไล่ญี่ปุ่นต่างหาก  มีแผนยุทธศาสตร์ประสานกับจีนทางใต้อย่างที่ดิฉันเล่าไว้ในค.ห.ข้างบนนี้ 
ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้อธิบายว่า
"รัฐบาลอยากพูดก็พูดไม่ได้     ส่วนส.ส.ฝ่ายที่ไม่ต้องการให้ความร่วมมือกับรัฐบาลทราบว่าเป็นอุบายของรัฐบาล แต่ก็แสร้งทำเป็นไม่ทราบ     ดังนั้นเมื่อรัฐบาลจำต้องปิดปากตัวเอง   และภายหลังจากถูกโจมตีตรงจุดอ่อน จนรัฐบาลบอบช้ำ ไม่มีทางสู้อย่างไรต่อไปแล้ว  สภาฯก็ลงมติไม่อนุมัติพ.ร.ก.ฉบับนี้ด้วยคะแนน ๔๘ ต่อ ๓๖"

ผู้เขียนยังเล่าต่อไปว่า
" ในวันนั้นจอมพลป.มิได้ไปชี้แจงที่สภาด้วยตัวเอง  เพราะในระหว่างสงคราม ท่านมักไม่มีโอกาสได้ไปประชุมสภาฯบ่อยครั้งนัก     เพราะท่านไม่เคยข่มขู่สภาฯ โดยวิธีของระบอบเผด็จการ  แต่ในการที่สภาไม่อนุมัติ พ.รก. ...สภาถูกนัก " ประชาธิปไตย"คนใดข่มขู่ไว้ด้วยกลอุบายอันสกปรกโสมมอย่างไร  ก็คงเป็นที่ประจักษ์กันได้ดีแล้ว    และนี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เกิดจากนักการเมืองพลเรือน ไม่ใช่ทหาร"

บุคคลปริศนาในค.ห.นี้ เป็นใคร ไม่ทราบ    เชิญท่านทั้งหลายเดาเอาเอง


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ค. 10, 21:18
ตั้งแต่เห็นที่คุณสมัน007เอ่ยพระนามกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร หรือ หม่อมเจ้าธานีนิวัต โสณกุล คิดว่าไม่ใช่แน่ ผมก็ลืมๆไปเหมือนกันว่าใคร
ในคคห.ที่แล้วข้อความที่ผมให้สีน้ำเงินคือข้อความที่ผมป้ายเอามาในเวปเพื่อทุ่นแรงพิมพ์ ถ้าเป็นของผมเองจะสีดำ เรื่องนี้ในเวปไม่มีรายละเอียด ผมจึงต้องไปหยิบหนังสือ "ไทยกับสงครามโลกครั้งที่2" ของ ศาสตราจารย์ ดร.ดิเรก ชัยนาม (แหม เกือบพิมพ์เป็นณรงค์ฤทธิ์) ในตู้มาอ่าน ท่านเขียนไว้ว่า

ในปลายเดือนกันยายน 2484 รัฐบาลส่งคณะผู้แทน ซึ่งมีพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ไชยยันต์เป็นหัวหน้าออกไปเจรจากับอังกฤษ.....ผู้แทนฝรั่งเศสซึ่งมาอยู่เมืองแคนดี ได้ถือโอกาสเฝ้าพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย และยื่นหนังสือเป็นทางการ......รัฐบาลฝรั่งเศสต้องการให้ไทยคืนดินแดนที่ได้รับไป ตลอดจนขอพระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกตด้วย หัวหน้าคณะผู้แทนได้ตอบผู้แทนฝรั่งเศสไปว่า โดยมิได้รับมอบอำนาจจากรัฐบาล จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะเจรจากับฝรั่งเศสได้ แต่ในฐานะส่วนตัว มิได้มีความเห็นสอดคล้องกับฝรั่งเศสในเรื่องสถานะความเป็นศัตรูระหว่างประเทศทั้งสอง....ส่วนข้อเรียกร้องเกี่ยวกับพระแก้วมรกตนั้น เชื่อว่าคงไม่มีรัฐบาลชุดใดที่จะสามารถรับฟังได้....ต่อมาผู้แทนฝรั่งเศสได้แจ้งต่อผู้แทนไทยว่าพร้อมที่จะถอนข้อเรียกร้องเกี่ยวกับพระแก้วมรกตนั้น....

ผู้แทนอังกฤษในเมืองแคนดีแจ้งแก่ผู้แทนไทยว่า.......เรื่องพระแก้วมรกตนั้น เขาได้แนะให้ฝรั่งเศสถอนข้อเรียกร้องนี้แล้ว

ความจริงข้อเรียกร้องมีหลายข้อ แต่ข้อนี้รัฐบาลม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชได้ทำหนังสือตอบอย่างเป็นทางการในข้อ ฉ.ความว่า ส่วนข้อเรียกร้องในเรื่องพระมหามณีรัตนปฏิมากรนั้น ไม่มีรัฐบาลไหนที่ยังเคารพตนเองอยู่จะสามารถรับฟังได้


เรื่องจึงจบไปโดยไม่ต้องมีการชักประวัติศาสตร์ไทยให้ฝรั่งง่วงดังข้อความที่ผมลอกมา


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 10, 21:38
ขอประทานอภัยอย่างสูง ที่จำผิด   ลดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยลงเป็นม.ร.ว. เสียแล้ว   :(
******************
หนังสืออีกเล่มที่เล่าถึงการแพ้โหวตจนรัฐบาลจอมพล ป. ต้องลาออก   คือ " ๓๖ รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย"ของพ.อ.บัญชา แก้วเกตุทอง   ผู้เขียนบรรยายว่า การที่ท่านจอมพลแพ้โหวตน่าจะมีแผนอยู่เบื้องหลัง     เหตุเพราะท่านไปเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น และประกาศสงครามกับพันธมิตร   มาถึงตอนนี้รูปการณ์เห็นชัดว่าญี่ปุ่นแพ้แน่   นายปรีดี พนมยงค์ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เห็นว่า ถ้าปล่อยให้ท่านจอมพลเป็นนายกฯต่อไป ประเทศจะเสียหาย  นายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายนายก็เห็นด้วย   ขณะนั้นก็มีขบวนเสรีไทยเกิดขึ้น  นายปรีดีเป็นหัวหน้าเสรีไทยในประเทศ  ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าเสรีไทยนอกประเทศ   
นายทหารกลุ่มหนึ่งเข้ามาร่วมขบวนการเสรีไทยกับนายปรีดี     พอดีกับจอมพล ป. นำพ.ร.บ.เพชรบูรณ์เข้าสู่สภา    ทำให้แผนกำจัดจอมพล ป.ง่ายขึ้น  เพราะฝ่ายต่างๆเห็นสอดคล้องกันว่าจอมพล ป. จำต้องพ้นตำแหน่งก่อนสงครามจะยุติ"

ผู้เขียนยกย่องจอมพล ป. ไว้ว่า
"นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมา   ในระยะแรกประเทศพัฒนาไปอย่างเชื่องช้า   แทบจะไม่รู้สึกว่ามีการเปลี่ยนแปลงใดๆ    เพราะฐานะรัฐบาล แม้่พระยาพหลฯเองก็ไม่มั่นคง...   แต่สมัยจอมพล ป. ประเทศพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว  โดยเฉพาะด้านคมนาคม   ตลอดจนการก่อสร้างโรงเรียน   สำนักราชการต่างๆที่ทรุดโทรมก็มีการปรับปรุงอย่างมาก...ในจังหวัดพระนครก็มีการปรับปรุงถนนหนทางต่างๆ    แม้แต่ถนนราชดำเนินก็ขยายให้กว้าง    โค่นต้นมะฮ๊อกกานี ๒ ข้างออกหมด   แล้วปลูกตึกอาคารตลอด ๒ ฝั่งราชดำเนินอย่างสวยงาม"


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 10, 21:46
เรื่องญี่ปุ่นจะบุกเมืองไทยที่กำลังสนุกเข้าด้ายเข้าเข็ม ในฐานะนายทหารระดับผู้นำของประเทศ พระยาทรงท่านคาดเดาไว้แล้ว ไม่คิดว่านโบบายที่ประกาศตนเป็นกลางของรัฐบาลจะเป็นผล ระหว่างที่กระบอกเสียงปั่นสมองประชาชนผ่านคู่สนทนาสองคนคือนายมั่นกับนายคงให้ราษฎรเตรียมอาวุธทุกชนิดช่วยทหารไทยปกป้องแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นปืนผาหน้าไม้หลาวแเหลน กระทั่งหมามุ่ย ก็สามารถนำมาใช้ยับยั้งข้าศึกได้ เอ้าใครไม่รู้จักหมามุ่ยยกมือ


ช่วยอธิบายถึงหมามุ่ยให้ชาวเรือนไทยฟังได้ไหมคะ   หนุ่มๆสาวๆชาวกรุงเทพ คงมีอยู่มากที่เกิดมาไม่เคยเห็นหมามุ่ย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ค. 10, 22:40
เห็นเขาเงียบกัน ผมคิดว่าเขารู้จักกันแล้วมั้งครับ

ตอนแรกนึกว่าจะมีใครเหมือนเพื่อนผมคนหนึ่งชื่อไอ้ตั๋ง เป็นลูกข้าราชการสถานทูตเลยตามพ่อไปเรียนหนังสืออยู่เมืองนอกหลายประเทศจนจบชั้นมัธยม พ่อย้ายกลับกรุงเทพเลยมาสอบติดที่สถาปัตย์จุฬา คราวหนึ่งนิสิตสถาปัตย์ต้องไปฝึกภาคสนามที่อยุธยา อาจารย์แบ่งลูกศิษย์เป็นกลุ่มๆ ให้ไปรังวัดวิหารวัดร้างต่างๆ เพื่อมาขึ้นรูปวิหารทั้งหลังว่าเดิมมีรูปทรง และลวดลายอย่างไร กลุ่มของผมได้วัดกุฎีดาว สมัยนี้ได้รับการอนุรักษ์ไว้สวยงามแต่ตอนนั้นสภาพเกือบจะเป็นป่า ทางเดินต้องเรียงหนึ่งฝ่านดงโครตรกมหารก คดไปเคี้ยวมาไปกว่าจะถึงตัววิหาร เสียงคนข้างหน้าตะโกนกลับมาว่า เฮ้ย ระวังหมามุ่ยนะโว้ย ทุกคนก็ระวังตัว พอพ้นเหลี่ยมโค้งผมก็เห็นเถาไม้เลี้อย ดอกสีม่วงเข้มเป็นพวงสวยงาม มีฝักแก่เหมือนถั่วแระขนาดใหญ่สีเหลืองอร่าม ความรู้จากพลนิกรกิมหงวนบอกผมว่าไอ้นี่แหละคือหมามุ่ย ฝักของมันนั้นมีละอองขนเล็กๆ โดนเข้าไปแล้วคันคะเยอทั้งตัว ไอ้แห้วคนขับรถเคยโดนจนต้องลงไปนั่งแก้ผ้าร้องไห้แช่น้ำในโอ่งมาแล้ว ผมก็เดินให้เฉียดไป  ไอ้ตั๋งอยู่ถัดไปจากผมเป็นคนสุดท้าย เดินหันหน้าหันหลังอยู่นั่นแหละจนไปชนเถาหมามุ่ยเข้าจนได้ พอถึงวิหารมานั่งเกาขะเยอ เป็นผื่นแดงไปทั้งตัว เพื่อนฝูงแทนที่จะสงสารกลับประนามว่าไอ้โง่เอ้ย ก็เขาร้องบอกกันแล้วให้ระวัง ดันเดินหันหลังมันก็โดนซีวะ ไอ้ตั๋งเสียงเขียวกลับมาว่า ก็ใครจะไปรู้เล่าโวัย พวกมึงไม่บอกนี่หว่าว่าหมามุ่ยเป็นพืช กูก็นึกว่าให้ระวังหมาวัดจะมากัดน่ะซีวะ
 
เพื่อนฝูงเลยขำกลิ้งนักเรียนนอกกันอีกยกใหญ่ ไม่นานเรื่องนี้ก็รู้กันไปทั้งคณะ

นี่คือหมามุ่ย อาวุธมหาประลัยที่รัฐบาลจอมพล ป.บอกให้ราษฎรไทยเก็บฝักมันไปโรยใส่ทหารญี่ปุ่นผู้รุกราน


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 10, 23:03
ตั้งแต่ปลายปี ๒๔๘๔-๒๔๘๘ ที่ญี่ปุ่นเข้ามาอยู่ในไทย    จริงอยู่ว่าไทยไม่ได้ถูกญี่ปุ่นถล่มยับเยิน  แต่ทหารญี่ปุ่นอยู่ในพระนครเต็มไปหมดในฐานะผู้อยู่เหนือกว่า     สถานที่ทางราชการหลายแห่งกลายเป็นออฟฟิศของญี่ปุ่น  หนึ่งในนั้นคือโรงเรียนเตรียมอุดม รัฐบาลประกาศให้ญี่ปุ่นเป็น "มหามิตร" ไม่ลืมกำชับกำชาให้ประชาชนร่วมมือและสนับสนุนกับทางญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ การกระทำใด ๆ ที่เป็นปรปักษ์มีโทษถึงประหารชีวิต ทำให้คนไทยไม่กล้าต่อต้านญี่ปุ่นตรงๆ   มีแต่เป็นปรปักษ์อย่างลับๆ ตั้งแต่ระดับชาวบ้านไปจนระดับชาติ

ระดับชาติคือขบวนการเสรีไทย ของคนไทยนอกประเทศ ทั้งอังกฤษและอเมริกา     ผู้นำของอเมริกาคือม.ร.ว.เสนีย์ปราโมช เอกอัครราชทูตไทย   ของอังกฤษคือท่านชิ้น  หม่อมเจ้าศุภสวัสด์วงศ์สนิท สวัสดิวัฒน์

ระดับชาวบ้าน เรียกว่า ขบวนการไทยถีบ  ดักปล้นสินค้ายุทธปัจจัยต่าง ๆ ของกองทัพญี่ปุ่นที่ขนส่งโดยทางรถไฟ  โดยลอบถีบลงกลางทาง เอาไปซ่อนตามป่าเขา บางครั้งยังแอบเข้าไปลักลอบขโมยดาบซามูไรของทหารญี่ปุ่นในเวลาหลับอีกด้วย เรียกว่า ไทยลักหลับ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ขบวนการขโมยแม้แต่ทรัพย์สินของรัฐบาลไทยเอง เช่น ลวดทองแดง สายโทรศัพท์  ขบวนการเสรีไทยก็ไม่ได้นับขบวนการไทยถีบเป็นแนวร่วม

นอกจากนี้ มีการปล้นทหารญี่ปุ่นกันอย่างหนัก ซึ่งมีทั้งใช้การปล้นสะดมด้วยการรมยาให้หลับ ที่สุดมีแม้แต่การปล้นในเวลากลางวัน โดยที่โจรถึงกับทักทายทหารญี่ปุ่นก่อนลงมือปลดทรัพย์ทรัพย์และอาวุธ หรือ ปล้นทหารญี่ปุ่นด้วยไม้ตะพดชิงเอาอาวุธปืนไปได้ โดยไม่เกรงกลัวอาญาแผ่นดิน

หลังสงคราม ตำรวจต้องระดมกำลังปราบปรามบรรดาโจรผู้ร้ายซึ่งมีอาวุธที่ชิงมาจากทหารญี่ปุ่น และ บรรดาเสือร้ายต่าง ๆ เช่น กรณีการถล่มชุมโจรที่บางไผ่ ซึ่งอยู่บริเวณรอยต่อระหว่าง อำเภอปากท่อ ราชบุรี และ จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อ ปี พ.ศ. 2490 กว่าจะราบคาบ ก็กินเวลานานหลายปี


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: prickly heat ที่ 11 ก.ค. 10, 00:03
เข้ามาเช็คชื่อและกราบขอบพระคุณอาจารย์ทั้งหลายในเรื่องกบฏแมนฮัตตันครับ.....

จะขอกรุณาติดตามเรื่องราวไปเรื่อยๆนะครับ..... ;D


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.ค. 10, 07:09
เพื่อให้เรามองกันครบทุกด้าน ผมจึงเอาบทสัมภาษณ์ของอดีตว่าที่ร้อยตรีหญิงจีรวัสส์ พิบูลสงคราม บุตรสาวของจอมพล ป. มาลงให้ไว้ ปัจจุบันท่านใช้นามสกุลปันยารชุน ผู้ที่สัมภาษณ์เรียกท่านว่า “คุณป้าจี” ตัดตอนเฉพาะเรื่องที่เราว่ากันในกระทู้นี้ก่อน ถ้าลงหมด เดี๋ยวได้บานไปถึงพันคคห.ดังที่ท่านอาจารย์เทาชมพูอยากให้เป็นแน่ๆ

ในยุคจอมพลป.คนจะมองว่า... (เราถามยังไม่จบคำ)

"เป็น dictator เผด็จการ ชอบว่าคุณพ่อเป็นเผด็จการ พี่พูดในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่แล้วนะ จะว่าคุณพ่อเป็นเผด็จการได้ยังไง คุณพ่อให้มีเลือกตั้งแล้วก็เป็นคนเดียวที่ไม่เคยยุบสภา นายกฯตั้งหลายคนยุบสภากันมาทั้งนั้น แล้วคุณพ่อเป็นคนที่รักชาติ พี่เป็นลูกนี่พี่พูดได้เลย คุณพ่อนี่ชาติอย่างเดียวเท่านั้น ถ้าจะว่าชาตินิยมเลวยังไง พี่ว่าคุณพ่อนี่ชาตินิยม รักชาติที่สุดเลย อะไรๆ ก็นึกถึงชาติ พี่ว่าที่เราเปลี่ยนจากสยามเป็นไทยแลนด์ ขณะนี้มีคนพูดว่าก็ไม่เป็นไรคุณอยากเปลี่ยนเป็นสยามก็เปลี่ยนไปสิ แต่พี่ว่าสมัยเป็นสยามไม่ค่อยดีใช่ไหม อะไรๆ ก็ขึ้นกับต่างชาติ เปลี่ยนเป็นไทยแลนด์ คือรู้สึกมันเป็น independent ดี สยามต้องขึ้นอยู่กับญี่ปุ่น และก็ไม่ใช่คุณพ่อคนเดียวนะ พระองค์วรรณ (ไวทยากร) คณะรัฐมนตรีก็เห็นด้วย แต่ว่าอยากจะเป็นสยามอีกก็ไม่เห็นเป็นไร ส่วนที่ว่าภาษาไทยเป็นภาษาวิบัติ ที่ตัด ฅ.คน ออก ก็เพราะญี่ปุ่นจะบังคับให้เราเรียนภาษาญี่ปุ่น บอกว่าทางมลายู เขาเรียนภาษาญี่ปุ่นกันหมดแล้ว ทำไมเมืองไทยไม่เรียน เราบอกไม่ได้หรอก เพราะเรากำลังเรียนภาษาใหม่ของเรา สมัยนั้นเราต้องแก้เกมญี่ปุ่น"
 
"คุณพ่อทำชาตินิยม ไม่ให้คนกินหมาก ไม่ให้นุ่งผ้าโจงกระเบน เพื่ออะไรรู้ไหม ให้ญี่ปุ่นเขารู้ว่าเรานิยมฝรั่ง แต่อันนี้มันพูดไม่ได้ระหว่างสงคราม อยากให้เข้าใจเหตุผลที่เราทำอย่างนี้เป็นเพราะอะไร ญี่ปุ่นมันทันเราตลอดเวลา คุณพ่อป่วยมันก็รู้นะ ปรอทขึ้นเท่าไหร่มันยังรู้เลย แม่ทัพนากามูระยังพูดตอนที่ไปเป็นพยานคดีอาชญากรสงคราม ยังบอกว่าพูดได้คำเดียวว่าจอมพล ป.รักชาติ ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาปล่อย คุณพ่อนึกถึงชาติตลอดเวลา"
 
"คุณรู้ไหม พวกคนไทยเขายังพูด คนที่เข้าข้างญี่ปุนมากที่สุดไม่ใช่จอมพลป. เป็นใครรู้ไหม-คุณควง เขาพูดถึงขนาดนั้น คุณควงกินข้าวกับนากามูระทุกวัน คุณพ่อซะอีกเวลาให้ไปกินข้าวคุณพ่อไม่ไป ส่งลูกไปเท่านั้น ให้ไปญี่ปุ่นคุณพ่อไปเมื่อไหร่ ให้พระองค์วรรณไป เครื่องบินเกือบตก ให้ไปประชุมอินโดนีเซียคุณพ่อก็ไม่ไป เมื่อตอนโตโจมามอบดินแดน 4 จังหวัดปักษ์ใต้ เขาบอกว่าจอมพลป.ไม่ได้แสดงกริยาดีอกดีใจแม้แต่น้อย และตอนที่เราต้องคืน 4 จังหวัด คุณควงให้พี่สงค์ไปกับคณะ" (ตอนนั้น พล.ร.ท.ประสงค์ พิบูลสงครามเป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ)
 
"กับท่านปรีดีก็ไม่มีอะไร ก็เปลี่ยนแปลงการปกครองมาด้วยกัน แต่ช่วยไม่ได้พวกลูกน้องอาจจะไม่ค่อยชอบกัน ต่างคนต่างมีเจ้านาย แต่ในที่สุดแล้วรุ่นหลังก็มีความรู้สึกว่าทั้ง 2 คน จอมพลป. ท่านปรีดี ก็ทำเพื่อชาติทั้งนั้น ถ้าคุณพ่อไม่ปล่อยให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านบ้านเมืองเราก็เละ ท่านปรีดีท่านเป็นเสรีไทยท่านก็ช่วยให้เมืองไทยอยู่รอด"
 
"คุณพ่อยังพูดในงานเลี้ยงว่าเสรีไทย ถ้าเผื่อจะสู้ มาสู้ในเมืองไทยสิ มาช่วยกันสู้ รู้ไหมยุวชนใช้หลังรองปืนกลที่ปักษ์ใต้ตั้งเท่าไหร่ ทหารญี่ปุ่นมาถึงใช้ดาบฟันพวกเราตั้งกี่คน พวกเรารู้บ้างไหมว่าสู้กันมาตั้งเท่าไหร่ แล้วจะมาบอกว่าจอมพล ป.เข้ากับญี่ปุ่นได้ยังไง ญี่ปุ่นตอนนั้นเหมือนเป็นน้ำแรงมา เขาต้องผ่านเพื่อที่จะไปสิงคโปร์ในวันนี้ เพราะฉะนั้นถ้าเราต่อสู้เขา เขาต้องบอมบ์ทิ้งหมด เขาบอกแล้วว่าต้องเอาผ้าขาวไปปูที่สนามม้านางเลิ้ง ว่ายอมให้เขาผ่านไปหรือเปล่า ทางรัฐบาลไทยต้องประชุมกันและต้องยอมให้ผ่าน คนญี่ปุ่นที่มีหน้าที่เอาผ้าขาวไปปูที่สนามม้า เครื่องบินลำแรกมาแล้วเขาก็ไม่เห็นผ้าขาวเพราะเรายังไม่ได้ตัดสินใจ ญี่ปุ่นคนนี้บอกเขาใจหายใจคว่ำ เขาจะต้อมบอมบ์กรุงเทพฯเพราะกองทัพเขาจะต้องไปสิงคโปร์ และกำลังกองทัพเขาสด ไปดูสิสิงคโปร์ราบเรียบเท่าไหร่ จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ถ้าคุณไปยุโรปจะเห็นตึกที่เป็นรูกระสุน แต่เมืองไทยเราไม่มีนะ วัดพระแก้วเรายังอยู่ ทุกอย่างเรายังอยู่"
 
แต่ดั้งเดิมมา จอมพล ป.เกลียดคนกินหมากไหม ป้าจีบอกว่าเปล่าเลย
 
"คุณย่าคุณยายก็กิน แต่เมื่อเป็นนโยบายของลูกชายไม่ให้กินหมาก ท่านก็ไม่กิน"
 
"ไม่ใช่ว่าท่านไม่ชอบ แต่เป็นนโยบายที่เราจะต้องทำให้เห็นว่าเราเป็นตัวของเรา ที่ให้แต่งตัวแบบฝรั่งโดยลึกซึ้งคือให้แกรู้ว่าฉันไม่ได้เข้าข้างแก ฉันเข้าข้างฝรั่ง บางทีมันลึกซึ้งละเอียดอ่อน ตอนนั้นมันพูดไม่ได้"
 
ป้าจีบอกว่าตอนเล็กๆ ก็ไม่ได้ใส่หมวก
 
"ไม่มี เป็นไปตามสมัย เมื่อเด็กๆ เคยนุ่งผ้าซิ่นยังไงเราก็นุ่งผ้าซิ่นอย่างนั้น คุณย่าคุณยายก็นุ่งโจงกระเบน ต่อมาก็ตอนเช้ากินไข่ แทนที่จะเป็นข้าวต้มข้าวสวย กินไข่ง่ายดี ได้กำลังด้วย คุณพ่อเป็นคนบอกให้กินไข่ สนับสนุนคุณหลวงสุวรรณฯ รณรงค์ให้กินไข่ กระทรวงเกษตรคุณพ่อเป็นคนตั้ง แต่ไม่ได้พูดถึงคุณพ่อเลย สมัยนั้น กะ อุ พา กรรม ให้รวมกัน กระทรวงเกษตร กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ มาสมัยนี้แหมคนไทยต้องใช้ของไทยกินของไทยเที่ยวเมืองไทย สมัยท่านจอมพลทำมาจนคนจะแตกอยู่แล้ว แล้วใครให้เครดิตท่านบ้างไหม ไม่มีเลย ไม่สงสารท่านจอมพลป.บ้างเลย"



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.ค. 10, 07:14
สมัยจอมพล ป. ดูหนังจบนี่มีภาพจอมพล ป.ใช่ไหม

"แต่พอคุณโตมา เรื่องจอมพล ป.เหมือนกับเป็นนิยายไปแล้ว เวลานี้ไปถามเด็กรุ่นนี้จะรู้จักแค่จอมพลสฤษดิ์ ถ้าถามถึงเรื่องจอมพลป.เขาบอกว่ามันเหมือนกับนิยาย จอมพล ป.ในขบวนผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นคนที่ถูกทำร้ายมากที่สุดนะ เป็นคนถูกจ้องทำลายมากที่สุด คุณพ่อถูกวางยา กินข้าวด้วยกันนายพลเยอะแยะ รวมทั้งจอมพลฟื้นด้วย ที่นั่งกินข้าวด้วยกัน คุณพ่อยังถูกวางยา และคุณพ่อถูกยิงอีก 2 หน ที่สนามหลวงเกือบตาย ระยะเผาขนเลย มาอยู่ตรงประตูรถ พอดีก้มลงหยิบกระบี่ ตอนเผาคุณพ่อยังเห็น ข้างหลังกระโหลกยังเป็นรอยกระสุนถากไป อีกหนหนึ่งก็ไอ้ลี (บุญตา) คนสวน ไล่ยิงระยะติดๆ คุณพ่อกำลังแต่งตัวไปกินข้าวที่สถานทูตอังกฤษ มันเข้าไปยิง คุณพ่อก็วิ่งออกมาห้องพี่ แล้วออกมาอีกห้องหนึ่ง พอดีคุณเผ่าเขาอยู่ข้างล่าง ขึ้นมาล็อคไอ้ลีถึงบันได ดีที่มันยิงไม่ถูกคุณแม่ คุณแม่มาแต่งตัวห้องพี่ โต๊ะเครื่องแป้งยังเป็นรูกระสุนเลย ตอนนั้นลูกๆ ไม่อยู่บ้าน พี่อยู่โรงเรียนวัฒนา"
 
ป้าจีก็รู้จักนายลีเพราะเป็นคนในบ้าน
"มันเป็นคนสวนในบ้าน เป็นคนอุบลฯ วันนั้นนายลีไปรับน้องสาวที่อยู่โรงเรียนประจำด้วยกัน ไปรับยายเล็กกลับบ้าน เคราะห์ดีมันไม่ฆ่า ตกกลางคืนมาไล่ยิงคุณพ่อ"
 
นายลีโดนยิงเป้า "เขาว่าเวลามันจะตาย มันตะโกนบอกไหนว่าจะช่วยผมไงๆ"


แล้วคิดว่าใครสั่ง

"ต้องไปค้นคำสั่งศาล"
 
เป็นการแย่งอำนาจกันหรือ
"พี่ว่าไม่ใช่การแย่งอำนาจ เป็นการตัดคนที่มีอำนาจ"
 


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 11 ก.ค. 10, 07:38
เคยฟังผู้ใหญ่ในบ้านเล่าให้ฟังถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2ว่า แถวบ้านที่ต่างจังหวัด มีบ้านบางหลังมีห้องใต้ดิน เลยโดนทหารญี่ปุ่นยึดเป็นที่พัก
หรือกองบัญชาการฯไม่แน่ใจค่ะ พอญี่ปุ่นกลับไป ห้องใต้ดินนั้น ก็กลายเป็นห้องลับเอาไว้สำหรับแอบเล่นไพ่กันเป็นประจำ ;D

หมามุ่ยนี่ รู้จักดีเลยค่ะ  เด็กๆแอบซนกับเพื่อน เอาหมามุ่ยไปโรยตามโต๊ะแกล้งคนอื่นซะงั้น  ::)


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.ค. 10, 07:49
เด็กกรุงเทพอย่างผม ถึงจะรู้จักหมามุ่ยว่าไม่ใช่สัตว์ก็ไม่เคยเห็นหรอกครับ เพิ่งจะเห็นตัวจริงเสียงจริงก็พร้อมๆกับไอ้ตั๋งในวันนั้น

เอ้า..เอามาให้อ่านอีกฉบับนะคร้าบ
 
เอ๊ะ หรือผมจะกลายเป็นคนปั่นกระทู้ไปเสียเอง

ใน พ.ศ.๒๔๘๘ ตอนปลายสงคราม ค่ำวันหนึ่งได้มีการเลี้ยงแบบกันเองระหว่างฝ่ายไทยกับญี่ปุ่น ซึ่งจัดสองอาทิตย์ต่อครั้งตามปกติ วันนั้นมีการรับประทานอาหารที่บ้านเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ที่ถนนเพชรบุรี คืนนั้นนายกรัฐมนตรีควงได้แสดงสุนทรพจน์เป็นภาษาญี่ปุ่น คืออ่านจากตัวหนังสือไทย ที่เขียนออกเสียงเป็นภาษาญี่ปุ่น แล้วได้มีการล้อเลียนสัพยอกถึงเรื่องลูกระเบิดแบบใหม่ ที่สหรัฐทิ้งที่เมืองฮิโรชิมา ว่ามีฤทธิ์เดชมากสองวันแล้วยังมีฝุ่นคลุ้งอยู่

เมื่อรับประทานอาหารเสร็จก็ออกมารับประทานกาแฟ บรั่นดี และคุยกันที่ห้องกลาง ขณะนั้นมีผู้สื่อข่าวญี่ปุ่น ๒-๓ นายรีบร้อนมาพบเอกอัครราชทูต และนายพลนากามูรา ซุบซิบอะไรกันอยู่ แล้วนายพลนากามูราก็รีบลากลับไปก่อนทั้ง ๆ ที่ยังรับประทานกาแฟไม่เสร็จ

ทางฝ่ายไทยก็ได้ข่าวจากขบวนการเสรีไทยว่าญี่ปุ่นได้ยอมแพ้ วันรุ่งขึ้นนายกรัฐมนตรีจึงได้เชิญนายพลนากามูรากับพวกผู้ใหญ่ฝ่ายญี่ปุ่นมาถามเพื่อยืนยัน แต่นายพลนากามูราตอบปฏิเสธ

เรื่องนี้ พันตรี ควง อภัยวงศ์ ได้เล่าว่า หลวงประดิษฐ์ ฯ ฟังวิทยุแล้วก็เรียกผมไปหา บอกว่าควง...ญี่ปุ่นยอมแพ้แล้ว เขาขอยอมแพ้โดยแจ้งผ่านทางรัสเซีย แล้วทูตญี่ปุ่นก็เชิญผมไปกินข้าว ผมแกล้งพูดสัพยอกทูตว่า ท่านทูตนา ผมนี่ตั้งต้นจับคนมามากแล้ว จับอังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส แล้วก้จับพวกเยอรมัน อิตาลี ต่อไปผมเห็นจะต้องจับท่านเสียแล้ว เขาก็หัวเราะ ผมถามว่าจะยอมแพ้ใช่ไหม เขาตอบว่า โอ...ไม่ยอมหรอก ผมก็ว่าเอาเถอะถ้าท่านจะยอมแพ้ก็ขอความกรุณา อย่าเอาผมและเมืองไทยไปเกี่ยวข้องด้วย ท่านยอมไปคนเดียวก็แล้วกัน เขาก็บอกตกลง

ต่อมาไม่ถึงสองวัน นายทหารญี่ปุ่นก็แต่งตัวเต็มยศสวมถุงมือ มาเยี่ยมคำนับผม แล้วยื่นหนังสือให้บอกว่าญี่ปุ่นจะยอมแพ้แล้ว เราจะให้เขาช่วยอะไรบ้าง ผมก็ตอบว่าขอความกรุณาอย่าช่วยฉันเลย ปล่อยให้ฉันทำของฉันเองเถิด โปรดบอกแก่รัฐบาลของท่านตามนี้ด้วย ฝ่ายญี่ปุ่นเขาก็ดี เขาบอกว่าท่านจะหาวิธีอย่างไร ญี่ปุ่นไม่ว่าอะไรทั้งนั้น ขอให้เมืองไทยรอดเถอะ ผมก็ตอบขอบใจเขา

ทีนี้ผมจะหาทางออกอย่างไรเล่า ญี่ปุ่นก็ยอมแพ้ไปแล้ว แต่เมืองไทยยังรบอยู่คนเดียวถึง ๑๕ วัน จอมพล ป.ก็ประกาศสงครามกับเขาเสียด้วย ใคร ๆ ก็ยอมแพ้กันไปหมดแล้ว เหลือแต่เมืองไทยเท่านั้นที่ยังไม่ยอม ตกลงว่าผมนี่ดูเก่งกาจนัก รบคนเดียวอยู่ได้ตั้ง ๑๕ วัน

ผมให้หลวงประดิษฐ์ ฯ ช่วยร่างประกาศให้ผม แล้วผมก็ไปประชุมสภาผู้แทนราษฎร ทางสภาพอแว่วข่าวว่าเราจะประกาศว่า การทำสงครามของเราเป็นโมฆะก็เอะอะสงสัยกันใหญ่ ผมบอกว่านี่นิ่ง ๆ นะคุณ ประเดี๋ยวผมจะประกาศเอง แล้วผมก็เดินไปกระซิบกับบรรดาสมาชิกสภาว่า คราวนี้ถ้าพวกคุณไม่ยกมือให้พร้อมเพรียงกันละก็ตายนะคุณ ผมไม่รู้ด้วยนา ในที่สุดพวกนั้นก็ตกลง

พอผมประกาศว่าการทำสงครามเป็นโมฆะ สภาก็ลงมติเห็นชอบแหมยกมือกันพรึ่บหมด แล้วพวกนั้นก็สบายใจนึกว่าหมดธุระแล้ว แต่ไม่ใช่หมดนะ เราต้องฟังอังกฤษและอเมริกาเขาจะว่ายังไง ต่อมาอีกประมาณสามวัน อเมริกาก็ปล่อยข่าวออกมาว่าเห็นด้วย ไม่เอาธุระกับไทย ส่วนอังกฤษยังแบ่งรับแบ่งสู้ ผมก็รอดตัว ภายหลังหลอร์ดหลุยเมาท์แบทเตนโทรเลขมาถึงผม ให้จัดการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยทั้งหมด

ผมก็มาคิดว่าจะทำยังไงดี ถ้าให้ทหารไทยไปปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น ก็จะเกิดเบ่งกันขึ้น แล้วก้อาจเกิดเรื่องใหญ่ ผมจึงเชิญนายพลนากามูรามาบอกว่า ฝ่ายสัมพันธมิตรเขาสั่งมาอย่างนี้จะให้ฉันทำยังไง เพราะเราเป็นเพื่อนกัน นายพลนากามูราบอกว่าท่านไม่ต้องวิตกหรอก ฉันจะปลดอาวุธตัวเอง ท่านส่งทหารไปรับมอบอาวุธตามจำนวนก็แล้วกัน เรื่องก้เป็นอันเรียบร้อย

บัดนี้ผมได้ปฏิบัติหน้าที่เสร็จสิ้นลงแล้ว และผมจะต้องลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ทางอังกฤษและอเมริกาบอกมาว่าไม่ต้องลาออกก้ได้ หลวงประดิษฐ์ ฯ ก็ไม่ยอมให้ผมออก แต่ผมชี้แจงว่าไม่ได้หรอก ผมเป็นรัฐบาลชุดร่วมสงครามกับญี่ปุ่น เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้แล้วผมจะต้องไปด้วย จะอยู่ได้ยังไง เมื่อผมลาออกนั้น สมาชิกสภาทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายตรงข้ามก็มาขอบใจผม ที่พาประเทศไทยรอดมาได้

ความจริงเขาไม่ควรจะขอบใจผม เขาควรจะขอบคุณพระสยามเทวาธิราชมากกว่า


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 10, 09:10
เราก็รับฟังกันได้ทั้งสองด้าน  แต่จะเชื่ออย่างไหน ย่อมเป็นสิทธิ์ส่วนตัวของแต่ละคน

อ้างถึง
"คุณพ่อทำชาตินิยม ไม่ให้คนกินหมาก ไม่ให้นุ่งผ้าโจงกระเบน เพื่ออะไรรู้ไหม ให้ญี่ปุ่นเขารู้ว่าเรานิยมฝรั่ง  แต่อันนี้มันพูดไม่ได้ระหว่างสงคราม อยากให้เข้าใจเหตุผลที่เราทำอย่างนี้เป็นเพราะอะไร ญี่ปุ่นมันทันเราตลอดเวลา คุณพ่อป่วยมันก็รู้นะ ปรอทขึ้นเท่าไหร่มันยังรู้เลย แม่ทัพนากามูระยังพูดตอนที่ไปเป็นพยานคดีอาชญากรสงคราม ยังบอกว่าพูดได้คำเดียวว่าจอมพล ป.รักชาติ ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาปล่อย คุณพ่อนึกถึงชาติตลอดเวลา"

คุณป้าจีจำเวลาผิดหรือเปล่าคะ  กฎหมายรัฐนิยมออกมาตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๘๒   ให้เลิกกินหมาก ให้สวมหมวกนุ่งกระโปรง   ส่วนญี่ปุ่นเพิ่งมาบุกทีหลังเอาเมื่อธันวาคม ๒๔๘๔ ตอนนั้นน่ะ   รัฐนิยมออกมาหมดทุกฉบับแล้ว

ปั่นกระทู้ต่อ  ไม่ได้ ๑๐๐๐ เอา ๕๐๐ ก็ยังดี 


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 10, 09:39
เล่าต่อนะคะ
เมื่อจอมพลป. แพ้โหวตต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่านก็มั่นใจว่าคะแนนเสียงท่านดีพอจะได้รับเลือกให้กลับเข้ามาใหม่   เพื่อนสนิทคู่ใจของท่านคือพล ต.ต.อดุล รมช. มหาดไทยสนับสนุนความคิดนี้อยู่   นายปรีดีก็พอมองเห็น  จึงส่งพระยาพหลลงชิงคะแนนเสียงกับจอมพล ป.   ผลออกมา พระยาพหลได้คะแนนถึง ๘๑ ต่อ ๑๙   แต่พระยาพหลปฏิเสธว่าเป็นอัมพาต    ก็ต้องลงชิงกันใหม่ นายปรีดีจึงสนับสนุนนายควง อภัยวงศ์ ให้ลงแข่ง พร้อมกับหลวงสินธุ์สงครามชัย เป็นตัวรอง   ผลคือนายควง อภัยวงศ์ได้ ๖๙  จอมพลป.ได้ ๒๒ คะแนน
เมื่อผลออกมาอย่างนี้  ประธานผู้สำเร็จราชการคือพระองค์เจ้าอาทิตย์ก็เรียกนายควงไปเจรจาขอให้ถอนตัว    ถ้าไม่ถอนตัวท่านก็จะทรงลาออกจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ       เราก็คงเดาออกว่านายควงคงจะไม่ถอนตัว  เพราะไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะทำ ในเมื่อการลงคะแนนในสภาก็ทำกันเปิดเผย ได้ตำแหน่งมาอย่างถูกต้องตามระบอบรัฐสภา
พระองค์เจ้าอาทิตย์ก็ทรงลาออกจริงๆ    ในเมื่อเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธินถึงแก่อสัญกรรมไปก่อนหน้านี้   คณะผู้สำเร็จราชการ ๓ คนก็เหลือคนเดียวคือนายปรีดี พนมยงค์

เมื่อนายควงขึ้นเป็นนายก  ก็ยกเลิก "รัฐนิยม" หลายเรื่องด้วยกัน     เรื่องสำคัญสุดก็คือยกเลิกโทษของนักโทษการเมือง ด้วยการประกาศนิรโทษกรรมให้บรรดาผู้ที่ถูกจับกุมคุมขังตั้งแต่ปี ๒๔๘๒   ไปเอาชีวิตไม่รอดอยู่ที่ตะรุเตาเสียมากมาย  ให้กลับคืนสู่อิสรภาพตามเดิม
ตอนนั้นสงครามโลกเดินมาถึงตอนปลายพอดี   ฮิตเลอร์พ่ายแพ้ในศึกครั้งหลังๆหลายครั้งก็ฆ่าตัวตายพร้อมภรรยา เป็นผลให้เยอรมันยอมแพ้ต่อพันธมิตร ด้วยการเจรจาขอสงบศึก    พอศึกด้านยุโรปจบปุ๊บ  อเมริกากับอังกฤษก็ทุ่มกำลังมาทางเอเชีย เผด็จศึกญี่ปุ่นได้โดยไม่ต้องพะวงกับศึกสองด้านอีกต่อไป
๖ และ ๗  สิงหาคม ๒๔๘๘   ระเบิดปรมาณู ๒ ลูกก็ทิ้งลงที่ฮีโรชิม่า  และนางาซากิ    เป็นเหตุให้ญี่ปุ่นยอมแพ้ต่อฝ่ายพันธมิตร พระเจ้าจักรพรรดิประกาศยอมแพ้ในวันที่ ๑๕ สิงหาคมปีนั้นเอง  สงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็จบสิ้นลง 
ส่วนทางไทย  พอญี่ปุ่นแพ้ สถานการณ์ในไทยก็พุ่งขึ้นสู่ระดับตึงเครียดสูงสุด   เพราะไทยก็ไม่รู้ว่าญี่ปุ่นในไทยจะเอายังไง  ญี่ปุ่นในไทยก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลชุดใหม่นี้จะเอายังไง    และที่สำคัญที่นายควงหนักใจก็คือ   ไทยดันไปประกาศเป็นปรปักษ์กันพันธมิตรมาตั้งแต่หลังทำสาบานในวัดพระแก้วครั้งโน้น     พอญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้   กลายเป็นว่าไทยประเทศเดียวยังอาจหาญครองตัวเป็นคู่สงครามกับพันธมิตรอยู่  โดดเดี่ยวประเทศเดียว

ก็ตอนนี้แหละ ที่เสรีไทยโดดเข้ามาประกาศตัวเป็นซูเปอร์แมน   เจรจากับอเมริกาและสหประชาชาติว่ารัฐบาลไทยอยู่ในภาวะจำยอม และประกาศสงครามกับฝ่ายอเมริกาอังกฤษเป็นโมฆะ เพราะลงนามไม่ครบคน  เรื่องก็จบลงด้วยดี   เราก็แค่เจ๊าไม่มีเจ๊ง   อย่างที่ท่านท่านกูรูนวรัตนตัดสินไว้นั่นละค่ะ
ดิฉันจะหยุดไว้แค่นี้ก่อน    รอว่าคุณนวรัตนจะมาเฉลยตอนจบของปริศนาระทึกใจ  ว่าใครคือ ผู้ใหญ่ ๒ ขั้ว ๒ คนที่มีบทบาทมากในขบวนการเสรีไทย   เพราะดิฉันเองก็มีรายชื่อมาเฉลยเหมือนกัน    แต่กำลังหวั่นๆอยู่ตอนนี้ว่าคนตอบกระทู้นี้ ไม่ได้นัดหมายกันเลย  ต่างคนต่างเขียน  หนังสือหนังหาก็ต่างคนต่างอ่าน    เลยไม่รู้ว่าข้อสอบข้อนี้คำเฉลยจะตรงกันหรือเปล่า   
ถ้าไม่ตรงกันขอให้ถือว่า 4 อาจไม่เท่ากับ 2+2 เสมอไป  อาจเป็น 3+1 หรือ 4+0  หรือ 5-1 ก็ได้
เพราะเรื่องใครเป็นใครในเสรีไทยนี้    เป็นเรื่องสนุกให้เล่าและถกเถียงกันได้อีกพักใหญ่   ปั่นกระทู้ได้อีกหลายสิบเชียว


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.ค. 10, 10:22
อ้างถึง
ดิฉันจะหยุดไว้แค่นี้ก่อน    รอว่าคุณนวรัตนจะมาเฉลยตอนจบของปริศนาระทึกใจ  ว่าใครคือ ผู้ใหญ่ ๒ ขั้ว ๒ คนที่มีบทบาทมากในขบวนการเสรีไทย   เพราะดิฉันเองก็มีรายชื่อมาเฉลยเหมือนกัน    แต่กำลังหวั่นๆอยู่ตอนนี้ว่าคนตอบกระทู้นี้ ไม่ได้นัดหมายกันเลย  ต่างคนต่างเขียน  หนังสือหนังหาก็ต่างคนต่างอ่าน    เลยไม่รู้ว่าข้อสอบข้อนี้คำเฉลยจะตรงกันหรือเปล่า    
ถ้าไม่ตรงกันขอให้ถือว่า 4 อาจไม่เท่ากับ 2+2 เสมอไป  อาจเป็น 3+1 หรือ 4+0  หรือ 5-1 ก็ได้

ผมก็คิดอย่างนั้นเหมือนกันครับ คำว่าผู้ใหญ่ ๒ ขั้วนั้นร.อ. สำรวจ กาญจนสิทธฺ์เป็นผู้กล่าว เหมือนตีหัวแล้ววิ่งเข้าบ้านไม่ได้เฉลยไว้ ผู้ถูกตีหัวก็มึนงงไปเป็นธรรมดา แต่ยังไม่ต้องรีบเดาก็ได้ครับ รออ่านให้จบเรื่องจริงๆ ที่เหลืองวดสุดท้ายนี่เนื้อๆทั้งนั้น ผมทวนไปทวนมายังไม่กล้าฟันธงเลย กลัวว่า 4 จะมาจาก x + y น่ะสิครับ

วันนี้ขอลากิจอีกแล้วครับ แต่เย็นๆจะกลับมา ถ้ากระทู้นิ่งแปลว่าท่านผู้อ่านอยากให้จบไวๆ ผมจะได้เดี่ยวจรเข้เพลงเขมรโศกาสู่ตอนจบเลย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 10, 11:02
อ้างถึง
ถ้ากระทู้นิ่งแปลว่าท่านผู้อ่านอยากให้จบไวๆ ผมจะได้เดี่ยวจรเข้เพลงเขมรโศกาสู่ตอนจบเลย

ได้เวลาระดมกองเชียร์อีกแล้วละมัง


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 11 ก.ค. 10, 11:06
มาลงชื่อปั่นกระทู้ค่ะ  ;D
ก็เรื่องนี้ มันต่อยอดไปได้อีกตั้งหลายเรื่องนี่คะ ยังสนุกอยู่เลยค่ะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.ค. 10, 14:21
^
^
^
อยากให้ต่อไปยอดไหนละครับ ยอดตาลหรือยอดมะพร้าวขอให้บอก จะได้ปั่นถูก


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: yanang ที่ 11 ก.ค. 10, 14:56
ในช่วงที่กำลังจะปั่นกระทู้  ขออนุญาตนำช่วงสุดท้ายของท่านพระยาฤทธิอัคเนย์ มาลงไว้คั่นเวลาแล้วกันนะคะ
ข้อมูลจากหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพของท่านค่ะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: yanang ที่ 11 ก.ค. 10, 15:00
คำไว้อาลัยของ พลเอก กฤช ปุณณกันต์ บอกเล่าถึงวิถีและแนวคิด ในบั้นปลายของท่านดังนี้ค่ะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: yanang ที่ 11 ก.ค. 10, 15:12

เมื่อนายควงขึ้นเป็นนายก  ก็ยกเลิก "รัฐนิยม" หลายเรื่องด้วยกัน     เรื่องสำคัญสุดก็คือยกเลิกโทษของนักโทษการเมือง ด้วยการประกาศนิรโทษกรรมให้บรรดาผู้ที่ถูกจับกุมคุมขังตั้งแต่ปี ๒๔๘๒   ไปเอาชีวิตไม่รอดอยู่ที่ตะรุเตาเสียมากมาย  ให้กลับคืนสู่อิสรภาพตามเดิม




จากข้อความนี้ของอาจารย์เทาชมพู  พ้องกับเรื่องที่นายควงก็ได้กล่าวไว้เองในคำไว้อาลัยต่อท่านพระยาฤทธิอัคเนย์ ดังนี้ค่ะ



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: bookaholic ที่ 11 ก.ค. 10, 15:23
เข้ามาชูมือโหวตอีกเสียงว่าท่านนวรัตน์อย่าจบเรื่องพระยาทรงสุรเดชเร็วนักนะครับ  กำลังสนุก


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 11 ก.ค. 10, 15:35
^
^
^
อยากให้ต่อไปยอดไหนละครับ ยอดตาลหรือยอดมะพร้าวขอให้บอก จะได้ปั่นถูก

 ;D  มีคนมาต่อยอดให้แล้วเห็นมั๊ยคะ ไม่มีใครอยากให้จบไวๆ เพราะกำลังสนุกค่ะ

ขอบคุณ คุณย่านางด้วยนะคะสำหรับเรื่องราวของหนึ่งในสี่เสือ  :)


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: yanang ที่ 11 ก.ค. 10, 15:37
จากที่อาจารย์นวรัตน์กล่าวไว้ว่า ข้อมูลเกี่ยวกับพระยาฤทธิอัคเนย์จากสื่อทั่วไปดูเหมือนจะหาได้ไม่ง่ายนัก
ดิฉันจึงขอนำประวัติส่วนตัว (โดยสังเขป) ของท่าน มาลงประกอบไว้ด้วยอีกหนึ่งข้อมูลแล้วกันนะคะ

ประวัติ พันเอก พระยาฤทธิอัคเนีย์ ( สละ  เอมะศิริ ) ป.ม.

ชื่อเดิม   สละ  ชื่อสกุล  เอมะศิริ

เกิด   ณ วันที่ ๑๔  มกราคม ๒๔๓๒

ชื่อบิดามารดา  พระยามนูสารศาสตรบัญชา  (ศิริ  เอมะศิร) และ คุณหญิงเหลือบ

ครอบครัว

พ.อ. พระยาฤทธิอัคเนย์ได้สมรสกับคุณหญิงอิน  ฤทธิอัคเนย์  เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕
บุตรธิดาของท่านคือ

๑. นายเสรี  เอมะศิริ
๒.  นายเสลา  เอมะศิริ
๓.  ร.ต. สลับ  เอมะศิริ
๔. นางสาวพันธุ์ศรี  เอมะศิริ
๕.  นายฤทธี  เอมะศิริ
๖.  นายศิรินทร์  เอมะศิริ
๗.  นาสาวลักษณา  เอมะศิริ

พ.อ. พระยาฤทธิอัคเนย์ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคมะเร็งที่ปอด  เมื่อวันที่  ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๙  เวลา ๐๒.๕๕ น.  ณ  โรงพยาบาลศิริราช.




กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.ค. 10, 16:13
ผมกำลังคิดถึงคุณหญ้านาง(ขออภัย หรือย่านาง) เพราะกระทู้นี้ยังไม่ควรจะจบก่อนที่เรื่องของพระยาฤทธิ์ไม่กระจ่าง

ประวัติในหนังสือแจกในงานพระราชทานเพลิงศพมีเพียงเท่านี้หรือครับ

ถ้าเป็นเช่นนั้น ผมจะได้เข้าใจว่าทำไมเรื่องราวความทุกข์ยากของท่านจึงไม่ถูกเปิดเผยในที่สาธารณะนัก

จากวัตรปฏิบัติของท่านแม้เพียงเท่าที่ได้อ่าน ผมคิดว่าท่านเลยอโหสิธรรมไปไกล

ใครทำอะไรกับท่าน ท่านยกให้หมด เลิกแล้วกันไป ไม่มีติดค้างคาใจ


ท่านอาจจะไม่ต้องการให้มีเรื่อง ไม่ต้องการให้มีร่องรอยให้เกินประวัติว่าเกิดเมื่อไร บิดามารดา ภรรยาและบุตรธิดา ชื่ออะไร ตายอย่างไร เมื่อไหร่

จบ

ไม่ทิ้งเชื้อให้เป็นกรรมนำไปอาฆาตแค้น ไม่ว่าต่อเขา หรือต่อเรา


ไม่มีอะไรอีกเลยในเล่มนั้นนอกจากคำไว้อาลัยที่คนนอกครอบครัวเขียนหรือครับ



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 10, 16:50
ขอสรุปประวัติสั้นๆของพันเอกพระยาฤทธิ์อัคเนย์  เท่าที่ปะติดปะต่อได้จากหนังสืออนุสรณ์งานศพ  และเท่าที่คุณหญ้านางนำมาลง
ว่าท่านถูกพิษการเมืองในช่วง 2482 เมื่อจอมพลป.ขึ้นสู่อำนาจเบ็ดเสร็จ   ต้องลี้ภัยไปอยู่ปีนังพร้อมด้วยค่าหัว 10000 บาท ที่รัฐบาลประทับตราให้สำหรับนำจับ
ท่านคงอยู่ปีนังมาตลอดจนปลายสงครามโลก    หรือจะอพยพไปเมืองไหนก็ไม่ทราบ   เพราะจำได้จากกระทู้คุณนวรัตนเล่าถึงท่านตนกูอับดุลราห์มาน ว่าปีนังโดนถล่มราบจากเครื่องบินรบของอังกฤษ    แต่ท่านไม่มีโอกาสกลับมาประเทศไทย  จนนายควง อภัยวงศ์ออกพ.ร.บ. นิรโทษกรรมนักโทษการเมือง ปี 2489  ท่านถึงกลับมาได้  แต่ก็กลับมาเงียบๆ คงจะปลีกตัวจากวงราชการและการเมือง ไม่กลับไปเกี่ยวข้องอีกไม่ว่าเรื่องไหน     ชื่อของท่านจึงเหมือนกับสูญหายไปจากสังคม
เมื่อพลเอกกฤชพบท่านในฐานะผู้ฝักใฝ่ทางธรรม  ในพ.ศ. ๒๕๐๑   พระยาฤทธิ์อัคเนย์อายุ ๖๙ แล้ว     เพื่อนร่วมอุดมการณ์ก็ล้มหายตายจากไปหมด   คนรุ่นท่านคงเหลืออยู่น้อยคน  
กว่าท่านจะถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. ๒๕๑๒  ชื่อท่านก็ถูกลืมไปแล้วจากสังคมร่วมสมัย    

ชีวิตของพระยาฤทธิ์อัคเนย์ ทำให้ดิฉันนึกถึงเพลงชื่อFernando ร้องโดย วง ABBA  เป็นเพลงจากสวีเดนที่มาใส่เนื้อร้องอังกฤษ เข้ามาฮิทในอเมริกาปี 1975    เนื้อเพลงเป็นคำร้องของทหารเก่าและแก่คนหนึ่ง ทบทวนความหลังสมัยยังหนุ่ม  ออกสนามรบด้วยกันกับเพื่อนชื่อ Fernando ฟัง   เป็นสงครามที่เขาเป็นฝ่ายแพ้  แต่เขาก็ไม่เสียใจเลยที่ได้เข้ารบ  
 

http://www.youtube.com/watch?v=nAv_VZLHLSU


ดิฉันเชื่อว่าคนอย่างท่านยังมีอุดมการณ์ต่อบ้านเมืองอยู่เต็มเปี่ยม  น่าเสียดายที่ไม่มีใครมีโอกาสถามว่า ถ้าท่านรู้ว่าบ้านเมืองจะเปลี่ยนแปลงมาเป็นอย่างนี้  ท่านจะเข้าร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ๒๔๗๕ หรือไม่


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 10, 17:09
อ้างถึง
ถ้ากระทู้นิ่งแปลว่าท่านผู้อ่านอยากให้จบไวๆ ผมจะได้เดี่ยวจรเข้เพลงเขมรโศกาสู่ตอนจบเลย





กระทู้นอกจากไม่นิ่ง ไม่เงียบ  แล้ว ก็ยังอึงคะนึง  ถ้าหากว่าคุณนวรัตนยังไม่เหนื่อย ขอเชิญบรรเลงเพลงใหม่ เก็บเพลงเขมรโศกา ไว้ก่อน   แต่ถ้าเหนื่อย อยากให้จบไวๆ  จะนั่งพักสักหน่อยก็ไม่ว่ากันค่ะ
ชาวเรือนไทยรอได้ว่า พระยาทรงสุรเดชท่านจะทำยังไงกับเสรีไทยสำคัญ ๒ ขั้ว ๒ คน

ส่วนข้อมูลเสรีไทยทางฝ่ายดิฉัน  ทำท่าว่า 4=1+1+2 เสียแล้ว  กลายเป็นเลข 3 ตัว  ไม่ใช่ 2   เฉลยเมื่อไร   ตัวเลขชนกันกับของคุณนวรัตนอย่างแรง  
พอถอดรูท X & Y ออกมา เผลอๆคำตอบเรื่องหัวหน้าเสรีไทยอาจกลายเป็นคนละคน   คงได้ปั่นกระทู้กันไปอีกยาวหลายวัน


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: yanang ที่ 11 ก.ค. 10, 17:25
เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู และอาจารย์นวรัตน์  

จากหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของท่านที่มีอยู่นี้  มีหลักฐานพอปะติดปะต่อถึงท่านเพียงเท่านี้เองค่ะ
แม้แต่คำไว้อาลัยจากบุตรธิดา ก็เป็นเพียงการกล่าวขอบคุณแขกผู้เกียรติต่าง ๆ อย่างสั้นที่สุด
แต่จากการอ่านโดยรวมแล้ว ผู้หลักผู้ใหญ่ทางการเมือง(ในขณะนั้น) ซึ่งบางท่านก็เป็นเพื่อนกับบุตรชายคนโตของท่านเอง
กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า บุคคลิกของพระยาฤทธิฯ ที่โดดเด่นคือ เป็นผู้มีอัธยาศัยดี กิริยามารยาทดี พูดน้อย
แต่วาจาอ่อนหวานเป็นสุภาพบุรุษโดยแท้ มีเลือดของชายชาติทหารอย่างเต็มเปี่ยม ซื่อสัตย์ มีน้ำใจ
เป็นที่รักใคร่และมีเมตตาต่อผู้ใต้บังคับบัญชา  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านเป็นผู้มีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สถานศึกษาของดิฉันอีกด้วยค่ะ

ขณะนี้ดิฉันเจอหนังสืออนุสรณ์งานศพของ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ เท่าที่อ่านดูคร่าว ๆ  มีหลายตอนที่ท่านเล่าถึงเหตุการณ์
ที่อาจารย์กำลังเล่าอยู่นี้ด้วยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือ กบฏซ้อนในวาระต่าง ๆ  แต่ต้องสารภาพตรง ๆ ว่า ดิฉันไม่ใช่นักอ่านที่เก่งนัก จึงไม่รู้ว่า จะนำเรื่องต่าง ๆ มาโยงกับเหตุการณ์ ที่กำลังออกรสอยู่นี้ได้อย่างไร  :-[  ครั้นจะสแกนลงให้ดูอีก ก็หลายหน้ามาก ๆ ไม่รู้จะขาดอรรถรสหรือเปล่า  หรือดิฉันจะสแกนแล้วส่งให้อาจารย์ดีคะ เรียนขอคำแนะนำเลยแล้วกันค่ะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 10, 17:35
เริ่มน้ำลายหกกับหนังสือจากคุณหญ้านาง   อยากอาราธนาให้คุณนวรัตนต่อยอดกระทู้  ไหนๆก็เอ่ยถึงยอดตาลยอดมะพร้าวมาแล้ว แสดงว่าคงจะปีนได้คล่องแคล่วดี
เอาอย่างนี้ดีไหมคะ    ในฐานะที่คุณนวรัตนเป็นผู้เริ่มกระทู้มหากาพย์  เล่าเรื่องที่ดิฉันไม่มีความสามารถพอจะเล่า   ขอให้คุณหญ้านางสแกนส่งให้คุณนวรัตนย่อยดีกว่าค่ะ  แล้ว cc: ส่งให้ดิฉันด้วย  เพื่อเก็บไว้ในตู้หนังสือของเรือนไทยต่อไป


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: yanang ที่ 11 ก.ค. 10, 17:42
ขอสรุปประวัติสั้นๆของพันเอกพระยาฤทธิ์อัคเนย์  เท่าที่ปะติดปะต่อได้จากหนังสืออนุสรณ์งานศพ  และเท่าที่คุณหญ้านางนำมาลง
ว่าท่านถูกพิษการเมืองในช่วง 2482 เมื่อจอมพลป.ขึ้นสู่อำนาจเบ็ดเสร็จ   ต้องลี้ภัยไปอยู่ปีนังพร้อมด้วยค่าหัว 10000 บาท ที่รัฐบาลประทับตราให้สำหรับนำจับ
ท่านคงอยู่ปีนังมาตลอดจนปลายสงครามโลก    หรือจะอพยพไปเมืองไหนก็ไม่ทราบ   เพราะจำได้จากกระทู้คุณนวรัตนเล่าถึงท่านตนกูอับดุลราห์มาน ว่าปีนังโดนถล่มราบจากเครื่องบินรบของอังกฤษ    แต่ท่านไม่มีโอกาสกลับมาประเทศไทย  จนนายควง อภัยวงศ์ออกพ.ร.บ. นิรโทษกรรมนักโทษการเมือง ปี 2489  ท่านถึงกลับมาได้  แต่ก็กลับมาเงียบๆ คงจะปลีกตัวจากวงราชการและการเมือง ไม่กลับไปเกี่ยวข้องอีกไม่ว่าเรื่องไหน     ชื่อของท่านจึงเหมือนกับสูญหายไปจากสังคม
เมื่อพลเอกกฤชพบท่านในฐานะผู้ฝักใฝ่ทางธรรม  ในพ.ศ. ๒๕๐๑   พระยาฤทธิ์อัคเนย์อายุ ๖๙ แล้ว     เพื่อนร่วมอุดมการณ์ก็ล้มหายตายจากไปหมด   คนรุ่นท่านคงเหลืออยู่น้อยคน  
กว่าท่านจะถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. ๒๕๑๒  ชื่อท่านก็ถูกลืมไปแล้วจากสังคมร่วมสมัย    


ช่วงหนึ่งของประวัติการทำงานของท่าน กล่าวว่า
 พฤศจิกายน  ๒๔๙๑  เป็น วุฒิสมาชิกในรัฐสภา
พฤศจิการยน ๒๔๙๔  เป็น  ออกจากวุฒิสมาชิกสภา เนื่องจากยุบสภา


แสดงว่า บั้นปลายของชีวิตท่าน ก็ยังได้มีโอกาสกลับมาอยู่ในแวดวงการเมือง ภายหลังรัฐประหารในปี ๒๔๙๐ ใช่มั้ยคะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.ค. 10, 17:50
ตกลงผมเปลี่ยนใจยังไม่เดี่ยวจรเข้เพลงเขมรโศกาแล้ว ให้มันกลับไปลงน้ำเอาแรงก่อน ขอร่วมแจมในวงโยธะวาทิตกับทุกๆท่านให้ดังไปถึงคุณเฟอร์นานโดสักเพลงสองเพลง

คุณหญ้านาง(มาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต้องหญ้านางแหง๋ๆ ถ้ามาจากอู่ต่อเรือรบผมถึงจะเดาว่าย่านาง) เฉลยเรื่องของพระยาฤทธิ์ตรงตามที่ผมคาดการณ์ไม่ผิด ผมต้องขออนุโมทนากุศลกรรมกับท่านด้วย และต้องปลุกใจตนเองหน่อยว่าเรากำลังทำหน้าที่เล่าความจริง หรือที่เราเชื่อว่าจริงอยู่ ไม่ได้คิดปรุงแต่งเรื่องขึ้นมาให้เป็นคุณเป็นโทษแก่ใคร ถ้ามันจะเป็น มันก็เป็นด้วยเนื้อหาของมันเอง หาได้เกิดจากความเคียดแค้นอาฆาตพยาบาทใครไม่ ท่านที่อินๆอยู่กับคนใดเรื่องใด ไม่ว่าจะด้วยว่าชอบหรือเกลียด ปลงๆซะนะครับ เรื่องที่ผ่านไปแล้ว ไม่สำคัญเท่าเรื่องปัจจุบัน พึงกระทำเหตุในปัจจุบันให้ดี เพื่อผลอันดีที่จะตามมาในอนาคต

ไม่ต้องสาธุก็ได้ครับ แหะ แหะ

นี่...เอามาโชว์


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: yanang ที่ 11 ก.ค. 10, 17:59
อาจารย์นวรัตน์คะ ถึงแม้ว่าดิฉันจะถูกเพาะเมล็ดเป็นดอกนนทรี แต่มาบัดนี้ เกิดการเสียดุลย์ ได้ร่วมเครือเป็นครอบครัวดอกประดู่เสียแล้วล่ะค่ะ  ชื่อ "ย่านาง" จึงตั้งใจว่าจะให้เป็นชื่อของสมาชิกใหม่ในครอบครัวดอกไม้สีเหลืองทองของเราค่ะ (ถ้ามีนะคะ)  :D


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 10, 18:01
งั้นต้องสรุปใหม่ว่า พระยาฤทธิ์อัคเนย์กลับจากปีนังเมื่อปลายสงครามโลก จากพ.ร.บ.นิรโทษกรรม แล้วท่านคงจะได้รับเชิญให้เป็นวุฒิสมาชิก ในรัฐสภาปี 2491  ยุคนายควง อภัยวงศ์ ถูกจอมพลป.ยกขึ้นให้เป็นนายกรัฐมนตรี   เมื่อจอมพล ป. ทำรัฐประหารสำเร็จในพ.ศ. 2490
จากนั้นนายควงก็ถูกจี้ให้ลาออก     แต่วุฒิสภายังคงมีอยู่  พระยาฤทธิ์อัคเนย์จึงดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกต่อมาจนปี 2494 จึงพ้นวาระไปเพราะถูกยุบ
แต่นี่เป็นการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2   พระยาทรงสุรเดชถึงแก่กรรมไปนานหลายปีแล้ว  จึงขออธิบายเพียงสั้นๆแค่นี้ค่ะ    ไม่งั้นจะกลายเป็นปั่นกระทู้ผิดเรื่อง


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.ค. 10, 18:02
มีผู้ที่นับถือกันท่านหนึ่ง เห็นผมเขียนเรื่องแนวนี้อยู่ สแกนบางหน้าของหนังสือนี้อิเมล์มาให้ผม ตอนเขียนคคห.ข้างต้นๆ ผมพยายามกลับไปหาไฟล์นี้ หาเท่าไรก็ไม่เจอ วันนี้ลองหาอีกที่ เอ้า..เจอ แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นเหตุการณ์วันปฏิวัติซ้ำกับเรื่องของพระยาทรง มีอยู่เพียง2หน้าที่ผมเห็นว่าน่าจะเอามาลงไว้ก่อน กำลังติดต่อท่านเจ้าของหนังสืออยู่ เผื่อจะได้ที่เหลือมาลง


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.ค. 10, 18:11
หน้านี้ ทำให้ผมเห็นที่ผิดของผม เป็นชื่อเจ้านายที่ทรงลี้ภัยไปอยู่ปินัง แล้วอังกฤษตามพระทัยยกไว้ ไม่บังคับให้อพยพไปด้วย ใครที่ซีเรียสก็แก้ซะนะครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.ค. 10, 18:16
คุณย่านางครับ ขอแสดงความยินดีด้วย เมื่อก่อนมีรักบี้ประเพณีชาวเรือชาวไร่ เกษตรก็เสียดุลย์ เอ๊ะ..ผมว่าได้ดุลย์นะ เอาทหารเรือมาอยู่ในโอวาทได้ตั้งหลายคน
ส่วนหนังสือถ้าจะกรุณา เด๊๋ยวหลังไมค์นะครับ

ขอบพระคุณ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 10, 18:52
ระหว่างรอคุณนวรัตนมาเล่าต่อ  ก็ขอคั่นโปรแกรมหน้าม่าน ด้วยการขยายความเรื่อง "เจ๊าแต่ไม่เจ๊ง" ของไทยให้ฟังกันไปพลางๆก่อนค่ะ
แม้ว่าไทยรอดไปได้จากการเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม เพราะอเมริกาถือหางเสรีไทยเป็นหลักใหญ่  ไม่ได้ถือรัฐบาลไทยเป็นหลักใหญ่   แต่อังกฤษเองก็เล่นเชิงให้ยากขึ้น ไม่ได้ให้จบง่ายๆ 

ตอนแรก  อังกฤษยืนกรานให้ไทยชดใช้ค่าเสียหาย ที่เรียกว่าค่าปฏิกรรมสงคราม แบบเดียวกับประเทศแพ้สงครามโดนเช็คบิลล์กันจนอ่วม   ขืนไทยจ่าย ประเทศก็แทบจะล้มละลาย  เพราะภาวะหลังสงคราม เศรษฐกิจในประเทศก็ย่ำแย่เต็มทีแล้ว   ทรุดหนักมาตั้งแต่อยู่ในสงครามมหาเอเชียบูรพา
แต่อเมริกาเข้าข้างไทยช่วยคานอังกฤษเต็มเหนี่ยว   อังกฤษก็เลยผ่อนปรนจากค่าปฏิกรรมสงครามมาเป็นสัญญาสมบูรณ์แบบ  คือหย่อนลงมานิดหน่อย  แค่ไทยจ่ายข้าว ๑ ล้าน ๕ แสนตัน  และอังกฤษเข้าควบคุมดีบุก  ไม้สักและอื่นๆในไทย   ตรงนี้ที่อาจารย์ดิฉันเห็นว่าเราโดนเข้าไม่เบาเลย
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช  อยากจะขอความช่วยเหลือจากสหประชาชาติให้ช่วยผ่อนปรน ก็เลยตกลงจ่ายค่าข้าวให้เป็นค่าช่วยเหลือผู้อดอยากในโลกอีกเดือนละ ๒ หมื่นตัน  เผื่อยูเอ็นจะเห็นใจ    แต่ไม่สำเร็จ สหประชาชาติก็ช่วยอะไรไม่ได้  ไทยเลยต้องเสียข้าวสองซ้ำสองซ้อน    เสียให้ทั้งอังกฤษและยูเอ็นด้วย  เกือบถึงขั้นโคม่าหลังสงครามกันทีเดียว
แต่อย่างน้อย  เราก็ไม่ได้เป็นประเทศแพ้สงคราม


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: yanang ที่ 11 ก.ค. 10, 19:04
อาจารย์เทาชมพูและอาจารย์นวรัตน์คะ   ดิฉันจะเริ่มทะยอยสแกนหนังสือตั้งแต่วันพรุ่งนี้เลยนะคะ
ส่วนรายละเอียดการส่ง รบกวนอาจารย์แจ้งให้ทราบอีกครั้งนะคะ ดีใจที่หนังสือดี ๆ ที่มีอยู่ในมือ
ไม่เป็นเพียงข้อมูลที่ได้รับรู้อยู่คนเดียว แต่กำลังจะได้รับการส่งต่อและขยายให้เป็นวิทยาทาน
ในวงกว้างเหมือนหลาย ๆ กระทู้ที่ดิฉันได้รับจากเรือนไทยมาโดยตลอด

ขอบพระคุณค่ะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 10, 19:35
 ;D ;D ;D


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.ค. 10, 19:40
^
^
^


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.ค. 10, 19:54
ผมกำลังเอาหนังสือเล่มนี้มาค้นข้อมูลครับ ซื้อไว้เป็นปีแล้วยังไม่ได้อ่านจริงจังเพราะหนาเกือบคืบ คอนไม่ไหว จะหาว่า2คน2ขั้วน่าจะเป็นใครอื่นมากกว่าที่คิดไว้เดิมหรือเปล่า หาไปหามาก็เพลินไปอ่านเรื่องข้างทางเข้าอีก แต่ไกลพนมเป็ญเกิน วันหลังเอาไว้เปิดกระทู้ใหม่ดีกว่า


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 10, 20:11
หาไปหามาก็เพลินไปอ่านเรื่องข้างทางเข้าอีก แต่ไกลพนมเป็ญเกิน วันหลังเอาไว้เปิดกระทู้ใหม่ดีกว่า


 ;D ;D ;D


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 10, 22:11
ตอนเด็กๆ เคยได้ยินเพลง "แปดนาฬิกา ได้เวลาชักธง เราจะต้องยืนตรง เคารพธงชาติไทย"  แต่ไม่เข้าใจว่าเป็นเพลงอะไร  เพราะมีเพลงชาติไทยอย่างที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ ให้ยืนเคารพธงชาติตอนโรงเรียนเข้าอยู่แล้ว
จนมีกระทู้นี้ถึงได้นึกถึงเพลงนี้ขึ้นมาได้   ไปถามคุณกุ๊กดู  ก็ได้คำตอบมาว่าเป็นเพลงรำโทน ที่ร้องกันสมัย "วัธนธัม" เพลงที่ยกมาล้วนเป็นสะท้อนภาพสมัยนั้น

เพลง แปดนาฬิกา
แปดนาฬิกา ได้เวลาชักธง
เราจะต้องยืนตรง เคารพธงของชาติไทย (ซ้ำ)
เราสนับสนุน ป.พิบูลสงคราม
เราจะต้องทำตาม ตามผู้นำของชาติไทย(ซ้ำ)

เพลง ผู้นำของชาติ
เชื่อผู้นำของชาติ ประกาศทั้งชายและหญิง
สตรีเอาไว้ผมยาว ( ซ้ำ) ใส่หมวกรองเท้าให้ทันสมัย
นุ่งถุงกระตุ้งกระติ้ง(ซ้ำ) มันน่ารักจริงยอดหญิงชาวไทย(ซ้ำ)

เพลงนี้สะท้อนภาพพริตตี้สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ดี
เพลง สาวน้อยเอวกลม
สาวน้อยเอวกลม ไว้ผมดัดลอนดัดคลื่น
ใส่น้ำมันหอมรื่น สวมแต่หมวกใบลาน
แต่งตัวทันสมัย สาวไทยแบบหลวงพิบูล
หิ้วกระเป๋าจันทบูรณ์ (ช) แม่คุณจะไปไหนกัน
(ญ) ฉันจะไปดูโขน (ช) ฉันจะไปดูหนัง (ซ้ำ)
(ช) มาขึ้นรถราง (พร้อม) มาไปด้วยกัน

สาวๆสมัยนี้คงไม่เข้าใจคำว่า สาวน้อยเอวกลม ว่าทำไมเอวต้องกลม   เอวกลมคือเอวคอดเล็ก   เป็นหุ่นผู้หญิงไทยสมัยก่อนที่นิยมเอวเล็ก  ประมาณ ๒๒ นิ้วถือว่าเป็นมาตรฐานสาวทั่วไป


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: hikkiweb ที่ 11 ก.ค. 10, 22:25
นักเรียนใหม่แอบมาตามรายงานตัวกับอาจารย์ทุกท่านด้วยขอรับ ฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะขอรับ



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 10, 22:34
โครงการย้ายเมืองหลวงไปเพชรบูรณ์ที่ล้มเหลว   จอมพล ป.บอกว่าเป็นยุทธศาสตร์สร้างแหล่งต่อต้านญี่ปุ่น แต่ใช้ข้ออ้างสร้างเมืองใหม่บังหน้า   นายพลนากามูระ ผู้บัญชาการกองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทยบันทึกไว้ดังนี้…

"ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว (พ.ศ.๒๔๘๖ )ข้าพเจ้าได้เริ่มทราบข่าวลือเรื่องการย้ายเมืองหลวงเป็นประจำ และการประกาศย้ายเมืองหลวงทำให้พวกข้าพเจ้าตระหนักใจว่าข่าวลือนั้นกลายมาเป็นความจริง ข้าพเจ้าขอตั้งข้อสังเกตดังต่อไปนี้

๑.นายกพิบูลคงพิจารณาด้วยความเชื่อมั่นว่า ฝ่ายญี่ปุ่นนั้นเสียเปรียบเมื่อสงครามยุติลง ฉะนั้นจึงต้องมีที่หลบภัยจากฝ่ายญี่ปุ่นยามใดก็ได้ โดยเฉพาะการปฏิเสธเข้าร่วมประชุมวงไพบูลย์มหาเอเซียบูรพานั้น เป็นเรื่องที่ทำให้มีความเคลือบแคลงในกัน ท่านจึงต้องตัดสินใจอย่างฉับพลันในเรื่องนี้

๒. เกี่ยวกับปัญหาภายใน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้สำเร็จราชการปรีดี พนมยงค์ กับนายกพิบูลนั้นง่อนแง่นอยู่เต็มทีแล้ว และศัตรูการเมืองกลุ่มอื่นๆก็ยังมีอยู่ คือถ้าพวกนั้นพยายามโค่นล้มรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยอาศัยกำลังญี่ปุ่นเป็นเครื่องมือแล้ว ท่านนายกในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดก็จะหลบอยู่ที่เพชรบูรณ์ ซึ่งใครจะไปทำอะไรท่านไม่ได้ เพราะว่าในเขตภาคเหนือมีกองทัพไทยอยู่ที่เชียงรายและลำปาง ทางทิศใต้มีเมืองทหารอยู่ที่ลพบุรี ความนี้สมกับเป็นความคิดของนายกรัฐมนตรีประเทศหนึ่ง

ที่ตั้งของเมืองหลวงใหม่มีความเหมาะสม ทั้งในแง่การเมืองและการยุทธศาสตร์อย่างหาที่ติไม่ได้ ข้อเสียมีอยู่ว่า ที่นั่นเป็นแดนของไข้มาลาเรีย และมีน้ำเพื่อการบริโภคอยู่อย่างอัตคัด

๓. ท่านนายกรัฐมนตรีและภริยาบอกกับข้าพเจ้าว่า การย้ายเมืองหลวงไปเพชรบูรณ์นั้นมีความสำคัญมากเพื่อการรักษาหัวใจของความสัมพันธไมตรีของไทย-ญี่ปุ่นสืบไป แม้ว่ากรุงเทพฯจะร้างไป ก็ยังมีเมืองที่เป็นศูนย์กลางไว้เพื่อรักษาวัฒนธรรมและสมบัติของชาติ แต่คำพูดนั้นเราเข้าใจอย่างที่ท่านพูดไม่ได้ ในการสร้างเมืองหลวงใหม่นั้น ได้ตั้งงบประมาณไว้ ๑๐๐ ล้านบาท และระดมกรรมกรหลายหมื่นคนจากทั่งประเทศ โดยถือเอาการก่อสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่าที่แล้วเสร็จได้ภายใน ๑๐ เดือนเป็นตัวอย่าง ได้ทำการก่อสร้างทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ด้วยเหตุนี้จึงมีคนป่วยเป็นไข้มาลาเรียมากมาย ได้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก การก่อสร้างเมืองหลวงใหม่ได้กลับกลายมาเป็นเป้าในการเกลียดชังของประชาชน และทำให้สัมพันธมิตรไทย-ญี่ปุ่นต้องมืดมนลง และสุดท้ายกลายเป็นสาเหตุให้รัฐบาลพิบูลสงครามสิ้นสุดลง"

พลเอกบัญชร ชวาลศิลป์ ได้ตั้งคำถามไว้ในบล็อคของท่านว่า
จอมพล ป.ถูกหรือผิด ?
ถึงเวลานี้เมื่อเหตุการณ์ทั้งสิ้นผ่านไปและเราได้รับรู้ข้อมูลแทบจะทุกเรื่องราวทุกมิติที่เกี่ยวข้องทำให้สามารถตัดสินถูกผิดได้อย่างไม่ยากนัก…

แต่หากถามตัวเองว่า ถ้าต้องตกอยู่ในสถานการณ์ในช่วงต้นของสงคราม ภาพเฉพาะหน้าที่ใครๆก็เห็นใครๆก็ยอมรับว่า ญี่ปุ่นต้องเป็นฝ่ายชนะอย่างแน่นอน…

เราจะตัดสินใจเช่นใด ?

การตัดสินใจของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในเรื่องแรกที่ยินยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทยนั้นดูจะไม่มีใครติดใจคัดค้าน แต่สำหรับการตัดสินใจประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกานั้น เมื่อฝ่ายญี่ปุ่นกลับเพลี่ยงพล้ำ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในฐานะนายกรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบการทั้งปวงของฝ่ายบริหารย่อมไม่อาจหลีกหนีคำสรุปว่า"เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด"ไปได้

แน่ละ การตัดสินใจของผู้คนนั้น ย่อมมีทั้งถูกต้อง และมีทั้งผิดพลาด…

แต่ที่สำคัญ สำหรับเรื่องราวของประเทศชาติแล้วขอเพียงให้ตัดสินใจไปโดยคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลักก็ยังเป็นเรื่องที่เข้าใจกันได้

แม้จะไม่ควรผิดพลาดก็ตาม…
พิเคราะห์จากเรื่องราวของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม แล้วเห็นได้ว่าการตัดสินใจของท่านก็กระทำไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนไทยนั่นเอง และที่สำคัญเมื่อเห็นว่าการตัดสินใจผิดพลาดไปเสียแล้ว ท่านก็ยังพยายามที่จะหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับประเทศชาติดังที่ผมนำมาเล่าให้ฟัง

แต่จอมพล ป.พิบูลสงครามพลาดอย่างที่อาจารย์ แถมสุข นุ่มนนท์ วิเคราะห์ไว้ (ในหนังสือ เมืองไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒) ดังนี้…

"อย่างไรก็ตาม จอมพล ป.พิบูลสงครามมีความผิดที่ไม่น่าจะให้อภัยอยู่ข้อหนึ่ง คือ เมื่อเหตุการณ์ผันแปรจากดีเป็นร้าย จากชัยชนะเป็นความพ่ายแพ้ และเมื่อทราบว่าตนเองเข้าข้างคนแพ้ ฯพณฯ กลับขาดความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวที่จะเผชิญต่อความจริงอย่างลูกผู้ชาย กลับหาข้อแก้ตัวต่างๆนานาซึ่งล้วนแต่ฟังไม่ขึ้นและขาดเหตุขาดผล
อันที่จริงจะเป็นเรื่องที่น่าสรรเสริญ ถ้าหากจอมพล ป.จะลุกขึ้นพิสูจน์ตนเองและแถลงด้วยสัจจะว่า ในช่วงเวลานั้น การตัดสินใจเช่นนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด ดีที่สุด และเพื่อผลประโยชน์ประเทศชาติมากที่สุด
ส่วนเรื่องที่เหตุการณ์จะผันแปรไปในทางตรงกันข้าม เป็นสิ่งสุดวิสัยที่จะแก้ไขได้…"


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 10, 22:56
ในเมื่อพิมพ์ไป หาข้อมูลไป   ข้อความจึงอาจโดดไปโดดมาให้สมาชิกเรือนไทยเวียนหัวกันได้ง่ายๆ     ดิฉันจึงขอเรียบเรียงให้ฟังกันง่ายๆอีกครั้ง   ก่อนคุณนวรัตนจะพากลับไปถึงพระยาทรงสุรเดชตามหัวข้อกระทู้
๑  ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔  ญี่ปุ่นบุกไทยสายฟ้าแลบ   รัฐบาลจอมพล ป. ยินยอมโดยดีให้ญี่ปุ่นเข้ามาและปักหลักอยู่ในประเทศไทยได้   ห้ามประชาชนและทหารต่อสู้
๒    สัมพันธไมตรีระหว่างรัฐบาลไทยกับญี่ปุ่นแน่นแฟ้นถึงขั้นไทยประกาศสงครามกับฝ่ายพันธมิตร  คืออังกฤษกับอเมริกา
๓    ทั้งหมดนี้ดิฉันเชื่อว่าจอมพล ป. ทำลงไปเพราะเชื่อมั่นว่าญี่ปุ่นเป็นฝ่ายชนะอีกด้วย   ไม่ใช่เพียงแค่จำยอมต่อแสนยานุภาพเท่านั้น
๔   ความขัดแย้งระหว่างจอมพล ป. และนายปรีดี พนมยงค์ รมว.คลัง มีมากขึ้นเรื่อยๆในเรื่องนโยบายต่อญี่ปุ่น  จนนายปรีดีต้องพ้นจากค.ร.ม.ไป
๕      นักเรียนไทยและข้าราชการไทยในอังกฤษและอเมริการวมตัวกันต่อต้านรัฐบาลไทยและญี่ปุ่น  โดยมีอเมริกาหนุนหลัง ตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้น   
๖      นายปรีดีไปประสานงานกับขบวนการเสรีไทยต่างประเทศ   ในฐานะหัวหน้าเสรีไทยในประเทศ
๗   นายปรีดีปิดเรื่องเสรีไทยเป็นความลับ  มิให้จอมพล ป. รู้
๘       เมื่อญี่ปุ่นเริ่มเพลี่ยงพล้ำต่ออเมริกา  จอมพล ป. เห็นลางแพ้ของญี่ปุ่น  ก็คิดจะหันไปร่วมมือกับมหาอำนาจอีกแห่งในเอเชีย คือจีน   เพื่อช่วยกันกวาดล้างญี่ปุ่นให้พ้นไทย     นี่คือเหตุผลของการสร้างเมืองใหม่ที่เป็นฐานที่มั่นใหม่ของรัฐบาลไทย
๙    นโยบายนี้ล่มกลางคัน  เพราะนายปรีดีสามารถทำให้รัฐสภาคว่ำคะแนนเสียง   เป็นเหตุให้จอมพล ป. พ้นตำแหน่งนายกไปอย่างกะทันหัน   


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 12 ก.ค. 10, 00:12
เรื่องคุณดิเรก ชัยนาม ผมว่าไม่แปลกครับ เคยได้ยินเขาว่าในวงการทูต
- yes แปลว่า maybe
- maybe แปลว่า no
- ใครตอบ no คนนั้นไม่ใช่ทูตแน่ๆ
แฮ่ๆ

เรื่องเสรีไทยกับจอมพล ป. หลายคนเชื่อว่า จอมพล ป. รู้กันกับเสรีไทย เล่นเกมนกสองหัว บางคนที่เชื่อนั้นเป็นอดีตนายทหารคนสำคัญ เขียนไว้ในต่วย'ตูน เมื่อหลายปีมาแล้ว ผมติดว่าจำได้ว่าเป็นท่านไหนที่พูด แต่ไม่มีอยู่ในมือ กลัวผิด ดังนั้นท่านใดสนใจกรุณาไปค้นเอง ขออำภัยครับ

ส่วนตัวผมเองเห็นว่า เรื่องคณะราษฎรกับสงครามมหาเอเชียบูรพา ก็เหมือนกับเรื่องคณะราษฎรกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง กล่าวคือไม่ได้มีความเป็นเอกภาพ แต่ละคนก็มีความคิดเห็นของตัวเอง ซึ่งถ้าคิดว่าทำอย่างไรถึงจะรอดจากความเสียหายจากสงครามไปได้ ก็ต้องยอมรับว่าต้องยอมให้ญี่ปุ่น แต่การยอมร่วมมือกันอย่างเต็มที่นั้น ผมไม่เห็นว่าจะเป็นทางประกันให้ชาติรอดไปได้

จะบอกว่าญี่ปุ่นมีกำลังทางทหารเหนือไทยพอที่จะยึดครองไทยได้ ข้อนี้เป็นจริง แต่ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของญี่ปุ่น เพราะเป้าหมายของญี่ปุ่นคือจะใช้ความได้เปรียบทางชัยภูมิของไทยในการส่งกำลังเข้าไปในพม่า มลายู และจีน ซึ่งถ้าไทยต่อต้านก่อกวน ญี่ปุ่นคงลำบากมาก เพราะคู่ต่อสู้ที่เป็นคนในพื้นที่ ย่อมมีความชำนาญพื้นที่เหนือกว่าเจ้าอาณานิคมทั้งหลายเป็นแน่

ยิ่งดูนโยบายสารพัดเรื่องของจอมพล ป. ผมก็เห็นว่าเป็นแนวคิดอย่าง NAZI ชัดๆ สอดคล้องกับฝ่ายอักษะ การเข้าร่วมกับญี่ปุ่นจึงน่าจะเป็นเรื่องความนิยมทางลัทธิการเมืองเป็นการส่วนตัวของจอมพล ป.ด้วย ส่วนจะเรียกว่าประชาธิปไตยหรือไม่นั้น ไม่อยากวิจารณ์ แต่ต้องไม่ลืมว่า Hitler ก็มาจากการเลือกตั้งเหมือนกัน และสิ่งที่เราได้เห็นกันตลอดมา ก็พิสูจน์ให้เห็นอยู่แล้วว่า การเลือกตั้งไม่ได้เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของประชาธิปไตย

ส่วนการหันไปสร้างสัมพันธ์กับจีนนั้น เป็นเหตุการณ์ในช่วงท้ายของยุคเรืองอำนาจยุคที่สองของจอมพล ป.แล้วครับ การอ้างว่าจะไปซบจีนเพื่อมาจัดการญี่ปุ่นนั้นฟังไม่ขึ้นแต่อย่างใด น่าจะเป็นเหตุผลเดียวกับการที่รัฐบาลทหารพม่าย้ายเมืองหลวงไปเมือง Pyinmana เสียมากกว่าครับ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการยอมลงจากอำนาจในครั้งนั้นของจอมพล ป. ถือเป็นผลดีต่อประเทศไทย และจอมพล ป. ก็พลอยได้อานิสงส์จากการนี้ หลุดรอดจากคดีอาชญากรรมสงครามไปด้วย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 10, 07:48
ปี2487เป็นปีที่สัมพันธมิตรเริ่มรุกกลับฝ่ายอักษะอย่างเป็นมรรคเป็นผล งานของเสรีไทยทั้งสายอเมริกา และสายอังกฤษซึ่งสมัยเริ่มต้นก็ต่างคนต่างทำ กว่าจะประสานแผนงานกันได้ บัดนี้มาถึงจุดสำคัญที่สามารถเชื่อมโยงกับเสรีไทยในประเทศได้ เป็นที่ทราบกันว่าปฏิบัติการใต้ดินในลักษณะนี้ หากขาดความร่วมมือจากขบวนการที่ทีอุดมการณ์เดียวกันในพื้นที่ ก็ไม่มีทางสำเร็จ ก่อนหน้านั้น อังกฤษและอเมริกันได้ฝึกพวกนักเรียนไทย กว่าจะมีความชำนิชำนาญในการใช้วิทยุสื่อสารและอาวุธยุทธวิธีเอาตัวรอดในป่าก็ใช้เวลาเป็นปี แต่ปรากฏภายหลังว่า พวกที่ให้เรือดำน้ำพามาส่งขึ้นฝั่งบ้าง ให้โดดร่มลงมาบ้าง หายจ้อยเพราะไม่มีทางเล็ดรอดหนวดปลาหมึกยักษ์ของหลวงอดุลไปได้เลย ปลาหมึกที่ว่ามิได้เลี้ยงเอาไว้เพื่อจะใช้ทำนายผลฟุตบอลหรือเลือกเบอร์หวย แต่เป็นโครงข่ายตำรวจที่ทั้งลับและไม่ลับ งานถนัดของหลวงอดุลอธิบดีตำรวจที่ทำรับใช้นายผู้เป็นเพื่อนสนิทตั้งแต่ครั้งนักเรียนนายรัอย แต่คราวนี้หลวงอดุลมิได้คิดว่าเสรีไทยเป็นศัตรูทางการเมืองจึงนำพวกที่จับได้ไปเลี้ยงดูอย่างดีไม่ให้ญี่ปุ่นรู้ระแคะระคาย แต่วันหนึ่งจับวิวรรธน์ ณ ป้อมเพชรเสรีไทยสายอังกฤษได้ จึงได้พาไปที่บ้านนายปรีดี เพราะท่านผู้หญิงพูนศุขนามสกุลเดิมคือ ณ ป้อมเพชร ทั้งสองจึงได้ล่วงรู้ความคิดของกันและกันว่าต่างคนต่างทำอะไรอยู่ แม้หลวงอดุลจะสะสมเชลยเสรีไทยไว้ในคอลเลคชั่นแล้วกว่าสิบคน แต่นายปรีดีก็ยังไม่ไว้ใจหลวงอดุลเต็มร้อยว่าจะมีการถ่ายทอดไปถึงจอมพล ป.หรือไม่ กว่าจะยอมรับและร่วมมือกันทำงานเพื่อชาติ เรื่องส่วนตัวเอาไว้ก่อนก็อีกครึ่งหนึ่งของภาวะสงครามแล้ว

นายปรีดีเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในประเทศตั้งแต่ญี่ปุ่นเข้า ความคิดที่จะต่อต้านญี่ปุ่นก็คล้ายกับที่พระยาทรงคิดจะทำ เพียงแต่ท่านมีศักยภาพมากกว่าและด้วยตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินที่มีความน่าเชื่อถือยิ่ง ท่านพยายามส่งคนที่ไว้วางใจไปเมืองจีนเพื่อติดต่อรัฐบาลเจียงไคเชกให้สนับสนุนขบวนการเสรีไทยและให้แจ้งอังกฤษ อเมริกันทราบถึงความเคลื่อนไหวนี้ แต่ตอนแรกกองทัพจีนของนายพลเจียงยังระส่ำระสายต่อต้านญี่ปุ่นไม่อยู่ ต้องรบพลางถอยพลาง รัฐบาลก็ย้ายเมืองหลวงตามไปด้วย ไม่ได้ม้วนถนนตึกรามบ้านช่องแบกหนีไปปูที่ใหม่นะครับ แค่กองบัญชาการย้ายไปที่ไหนก็เรียกเมืองหลวงแล้ว สุดท้ายที่นายจำกัด พลางกูรไปพบได้สำเร็จก็ที่จุงกิง ทำให้วอชิงตันได้รับทราบความสำคัญนี้เป็นครั้งแรก แต่นายจำกัดก็สละชีพเพื่อชาติไทยเพราะสงครามในเมืองจีนดังที่ผมเคยกล่าวไปแล้ว

คนที่สองที่ทำงานได้ผลเกินคาดคือนายสงวน ตุลารักษ์ คนนี้สามารถเชื่อมสายสื่อสารในทางลับระหว่างจีนกับไทยได้ ซึ่งส่งผลในการแนวรบด้านเหนือที่กองทัพไทยกำลังประจันหน้ากับกองพล93ของจีนอยู่ที่เมืองเชียงตุง จอมพล ป.ท่านโดนญี่ปุ่นบีบให้ส่งทหารไปตีจีนทางด้านนี้ ท่านก็ไม่ได้อยากจะไปสู้กับพญามังกรหรอก สั่งให้แม่ทัพไปหาทางเจรจาซูเอี๋ยกับแม่ทัพจีน เขาก็ไม่เล่นด้วย อยู่ดีๆใจอ่อนขึ้นมาเฉยๆยอมยิงกันเฉพาะวันที่ญี่ปุ่นมาตรวจแนวรบ  จอมพล ป. ท่านนับเป็นเครดิตของท่านว่าเห็นม๊ะ ฉันก็ร่วมรบกับญี่ปุ่นไปอย่างงั้นหร็อก ไม่เห็นจะเสียหายเล้ย
ก็ตอนนั้นทหารจีนไม่ได้บอกทหารไทยว่าที่ทำอย่างนั้นเพราะรัฐบาลจีนสั่งมา เขาเชื่อคนอื่น มิได้เชื่อท่าน


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 10, 08:34
นายสงวน ตุลารักษ์ ได้เดินทางจากจีนต่อไปอเมริกา และอยู่ที่นั่นเพื่อเจรจากับรัฐบาลอเมริกันและพบปะพวกเสรีไทยระหว่างเดือนพฤศจิกายน2486 ถึงกุมภาพันธุ์2487 โปรดสังเกตุว่าผมจะเริ่มให้ความสำคัญกับเดือนและพ.ศ. เพราะเดี๋ยวเราจะต้องนำมาวิเคราะห์หาผู้ที่เป็นปริศนาอันเป็นไคลแมกซ์ของเรื่อง หลังจากอเมริกานายสงวนก็ไปลอนดอนก่อนจะไปประจำการอยู่ในเมืองแคนดี้ของศรีลังกา ที่นั่นเป็นฐานทัพใหญ่ของอังกฤษเพื่อสู้รบกับญี่ปุ่นในเอเซีย

ข้อความต่อไปนี้สำคัญนะครับ เมื่อคืนนี้ผมลงทุนค้นหนังสือเล่มยักษ์จนตาแฉะเพื่อหาข้อความอย่างนี้แหละ

นายสงวน ตุลารักษ์ ให้ข้อมูลว่านายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการฯคือหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในประเทศไทย และพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจก็มีท่าทีชัดเจนว่าไม่นิยมญี่ปุ่นอยู่เป็นอันมาก แต่ขณะนี้ยังไม่ได้เข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทย นายสงวนคงจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่าพล.ต.อ.อดุลเป็นตัวแปรที่สำคัญยิ่งต่อความสำเร็จและไม่สำเร็จของปฏิบัติการต่างๆของเสรีไทยที่ส่งเข้าไปปฏิบัติการในประเทศไทย ดังนั้นภารกิจที่จำเป็นของเสรีไทยที่จะส่งเข้าไปปฏิบัติการในประเทศไทยก็คือการประสานระหว่างนายปรีดีและพล.ต.อ.อดุลให้ได้ และหากเป็นไปได้ก็คือทำการประสานให้นายปรีดีและพล.ต.อ.อดุลร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นายปรีดี พนมยงค์ไม่เคยทาบทามให้พล.ต.อ.อดุลเข้าร่วมในขบวนการเสรีไทยเลย ทั้งๆที่ตระหนักว่าจุดยืนและทัศนคติของอธิบดีกรมตำรวจนั้นสอดคล้องกับของตนเอง เหตุผลก็คือพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัสเป็นตำรวจที่ซื่อตรงต่อวิชาชีพซึ่งจะไม่ยอมรับการกระทำใดๆที่ผิดกฏหมายบ้านเมือง และยังเป็นมิตรสนิทของจอมพล ป.พิบูลสงครามอีกด้วย

ผมได้เน้นข้อความที่สำคัญๆให้ท่านผู้อ่านดาวน์โหลดใส่ความจำของท่าน เพื่อความมันส์อันต่อเนื่อง ผมจำเป็นต้องพาท่านไปพนมเปญในซีนต่อไป หลังเบรครับทานอาหารเช้าของผมแล้ว  อ้อระหว่างผมเบรคขอเชิญทุกท่านอย่างเคยนะครับ จะลงคคห.อย่างไรตามสะดวก ผมเข้ามาต่อได้เสมอ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 10, 08:58
ระหว่างท่านกูรูใหญ่ไปรับประทานอาหารเช้า  ที่อาจจะเลื่อนจากเช้าเป็นสาย เพราะมัวแต่มาทำงานฟรี ส่งเรือนไทยอยู่   ดิฉันก็จะเข้ามาคั่นรายการที่หน้าม่านตามเคย
ขอทวนความนิดหนึ่งว่า เสรีไทยเกิดขึ้นในต่างประเทศก่อนจากฝีมือคนไทยกลุ่มเล็กๆที่เรียน ทำงาน หรือพักอาศัย    ไม่ได้เกิดเป็นขบวนการในไทย  แต่อย่างที่คุณนวรัตนอธิบายไว้คือขบวนการเสรีไทยนอกประเทศจะทำงานได้ผลก็ต้องประสานกับคนไทยในประเทศที่อุดมการณ์เดียวกัน
คนไทยที่ประสานได้ คือนายปรีดี พนมยงค์   ซึ่งไม่โปรญี่ปุ่นและญี่ปุ่นก็ไม่โปรท่าน
แต่นายปรีดีคนเดียวก็ยังมีเครือข่ายไม่กว้างขวางพอ  ต้องประสานกับผู้มีอำนาจกว้างขวางกว่าในสังคมไทยขณะนั้น   ในที่สุด สปอตไลท์ก็ไปจับที่พลต.ต. อดุล อดุลเดชจรัส
เมื่ออ่านประวัติของนายปรีดี พนมยงค์  หลายๆแหล่งข้อมูลก็บอกว่าท่านเป็นหัวหน้าเสรีไทยในประเทศ   แต่เมื่อไปหาข้อมูลเพิ่มเติม พบว่ามีชื่อพล ต.ต. อดุล อดุลเดชจรัส เข้ามามีบทบาทมาก    ตอนแรกที่แปลกใจว่าชื่อนี้โผล่ขึ้นมาจากไหน  เพราะใครๆก็รู้ว่าท่านเป็นนายตำรวจคู่บารมีของจอมพล ป.   จะเป็นไปได้ยังไงว่าท่านเป็นหัวหน้าใหญ่อีกคนหนึ่งของเสรีไทยในประเทศ
จากข้อมูลหลายๆแห่งเช่นกัน    สอดคล้องกันว่าท่านตำรวจใหญ่ท่านร่วมมือกับเสรีไทยจากต่างประเทศอย่างลับๆ   ช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้    จนอาจพูดได้ว่าถ้าไม่ได้พลต.ต. อดุล    เสรีไทยอาจทำงานไม่ได้ผล   เพราะถ้าเข้ามาเหยียบจมูกตำรวจในไทยโดยตำรวจใหญ่ไม่เปิดไฟเขียวให้  ป่านนี้เสรีไทยอาจหายสาบสูญกันไปเกือบหมดหน่วยปฏิบัติการแล้วก็ได้  รวมทั้งวนัสด้วย ก็อย่าหวังเลยว่าจะได้มาพบอังศุมาลิน
เราก็คงนึกกันออกว่าตำรวจไทยมีอำนาจขนาดไหน    เว้นแต่กองทัพญี่ปุ่นในไทยแล้ว ตำรวจไทยสามารถเสกประชาชนทุกคนให้ล่องหนได้ทั้งชั่วคราวและถาวร
แต่ท่านนายพลตำรวจทำอย่างนั้นทำไม   ข้อนี้ตีความกันได้หลายกระแส     กระแสหนึ่งบอกว่าจริงๆแล้วท่านไม่ชอบญี่ปุ่น เพราะท่านเองก็รักชาติเหมือนกัน   กระแสนี้ไปไกลถึงกับบอกว่าท่านแอนตี้ญี่ปุ่นมาตั้งแต่ยกทัพเข้าไทย     กระแสที่สองบอกว่าท่านอาจเหยียบเรือสองแคม   คือร่วมมือกับกองทัพญี่ปุ่นด้วยตามหน้าที่และร่วมมือกับเสรีไทยด้วย เพราะไม่อยากจะทุ่มทุนไปทางญี่ปุ่นเต็มร้อย ประกอบกับเห็นทางว่าพันธมิตรจะชนะในตอนท้าย    
ถ้ามีแค่ ๒ กระแส   ดิฉันก็จะเฉลยคำตอบออกมาได้ตรงกับคุณนวรัตน  ว่าผู้ใหญ่ ๒ คน ๒ ขั้ว ที่พระยาทรงแปลกใจนั้น  คำตอบตรงกัน   x = นายปรีดี y = พลต.ต.อดุล
แต่....
ไปเจอหนังสืออีกเล่มหนึ่ง  บอกว่าเสรีไทยในประเทศ มีอีกคน    ดิฉันก็แทบล้มตึง    เพราะกลายเป็น ๓  ไม่ใช่ ๒ อย่างที่คิดเสียแล้ว
คนที่ ๓ นั้นคือ...
จอมพล ป. พิบูลสงคราม นั่นเอง
 


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 10, 09:17
การทำงานของพลต.อ. อดุล อธิบดีตำรวจในเรื่องเสรีไทย  ข้อมูลแบ่งเป็น ๒ ทาง   ทางหนึ่งบอกว่าท่านตัดสินใจอำนวยความสะดวกให้เสรีไทยเพราะมีการประสานงานมาจากที่ใดที่หนึ่ง ไม่ต่างประเทศก็จากนายปรีดี  และท่านตกลงที่จะร่วมมือ  แต่ข้อมูลอีกทาง ระบุว่า พลต.อ. อดุลนั่นแหละเป็นคนก่อตั้งเสรีไทยในประเทศขึ้นมาเองเลย  ไม่ใช่ประสานต่อจากใคร


ในหนังสือ  นักอพยพ ของ พลตำรวจตรี ชอบ สุนทรพิพิธ เล่าไว้ว่า

ท่านผู้นี้ไม่เพียงแต่จะเป็นบุคคลท่านแรก ที่ได้เริ่มปรับปรุงกิจการของกรมตำรวจ ให้ก้าวหน้าไปสู่ความรุ่งเรือง เที่ยงธรรม เป็นที่เชื่อถือได้เท่านั้น ท่านยังมีบุญคุณต่อชาติไทยอย่างประมาณค่ามิได้อีกด้วย ในฐานะที่ท่านได้เป็นกำลังสำคัญของรัฐบาล ในการควบคุมสถานการณ์ภายในประเทศไว้ได้อย่างดีเยี่ยม และในขณะเดียวกันท่านก็ได้พยายามดำเนินการทุกวิถีทาง ที่จะดำรงรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไทยไว้ ท่านได้จัดตั้งหน่วยเสรีไทยฝ่ายตำรวจขึ้น ภายในประเทศสายหนึ่ง โดยท่านดำรงตำแหน่งหัวหน้าสาย และดำเนินการแบบใต้ดิน เหยียบจมูกทหารญี่ปุ่นมาตลอดเวลา ในขณะที่เมืองไทยกำลังตกอยู่ในฐานะที่เกือบจะเรียกว่า บ้านแตกสาแหรกขาด ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒  

ท่านผู้นั้นก็คือ พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส หรือ ฯพณฯ พลตำรวจเอก หลวงอดุลเดชจรัส ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมตำรวจ ในยุคนั้นนั่นเอง

และจากหนังสือเรื่อง นายพลผู้ซื่อสัตย์ เขียนโดย ๔๘๕ ได้เล่าถึงการปฏิบัติงานในยามสงครามของ พลตำรวจเอก หลวงอดุลเดชจรัส ไว้ว่า

สำหรับคุณหลวงอดุลฯ นั้น มีความรู้สึกนึกคิดว่าไม่ควรยอมให้กองทัพญี่ปุ่น เดินผ่านประเทศไทย แต่ส่วนมากยินยอม ดังนั้นท่านจึงทำอะไรไม่ได้ ตั้งแต่นั้นมาคุณหลวงอดุลฯ จึงดำเนินงานต่อต้านญี่ปุ่นแบบใต้ดิน โดยตั้งหน่วยเสรีไทยขึ้น ได้ใช้กำลังตำรวจทั้งหมดทำงานใต้ดินเป็นหลัก

ท่านได้คัดเลือกนายตำรวจบางคน เดินทางออกไปนอกประเทศ ร่วมกับนายทหารอากาศ ทหารบก ไปติดต่อกับอเมริกาและอังกฤษ  โดยไปทางเครื่องบินบ้างทางเรือดำน้ำบ้าง หลังจากได้ติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรแล้ว อเมริกาได้ส่งนักเรียนไทยซึ่งเรียนอยู่ที่อเมริกา มาโดดร่มลงในประเทศไทยก่อน ต่อมาอังกฤษจึงส่งนักเรียนไทยที่เรียนในอังกฤษ มาโดดร่มลงในประเทศไทยบ้าง และเดินทางเข้ามาโดยทางเท้าบ้าง

ในเรื่องงานเสรีไทยของคุณหลวงอดุลฯ นี้ พลโท ประยูร ภมรมนตรี ได้เล่าไว้ใน ชีวิต ๕ แผ่นดินของข้าพเจ้า ว่า

เรื่องขบวนการเสรีไทย ที่กำลังดำเนินการต่อต้านญี่ปุ่น ทั้งในประเทศและนอกประเทศ ที่บินโดดร่มลงมาหรือมาทางเรือใต้น้ำ มาทำงานใต้ดินนั้น อยู่ในสายตาของญี่ปุ่น และติดตามอยู่ใกล้ชิด และเตรียมการที่จะทำการกวาดล้างอยู่หลายครั้งหลายคราว แต่ท่าน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สั่งการให้ตำรวจจัดการจับกุมเสียเอง และช่วยคุ้มครองความปลอดภัย

เรื่องเสรีไทยนี้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้ พลตำรวจเอก หลวงอดุล ฯ เป็นเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะ ที่เป็นพลร่ม ก็ให้จัดการควบคุมเด็ดขาดห้ามการติดต่อ และให้ความคุ้มกันพาหลบซ่อนไป เกรงทหารญี่ปุ่นจะเข้ามาพัวพัน จึงรอดพ้นอันตรายกันมาได้

เรื่องนายพลผู้ซื่อสัตย์ ได้ดำเนินความต่อไปว่า

พวกนักเรียนไทยที่มาโดดร่มลงในประเทศไทยนี้ ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงดำเนินงานใต้ดิน บางคนก็ทำหน้าที่ส่งข่าววิทยุที่นำติดตัวมา บางคนก็ทำหน้าที่ประสานงาน โดยเดินทาง ไป ๆ มา ๆ ระหว่างประเทศไทยกับอเมริกาและอังกฤษ บางครั้งก็ไปเพียงแค่อินเดีย

ทางประเทศอเมริกาก็มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าเสรีไทยอยู่  ทางอังกฤษคุณหลวงอดุลฯ ก็มอบให้ คุณยิ้ม พึ่งพระคุณ ซึ่งเป็นน้องชายเป็นผู้ติดต่อกับอังกฤษ และคุณหลวงอดุลฯ ได้ส่งคุณบูรณศิลป์ อดุลเดชจรัส บุตรชายของท่านไปอยู่ประจำที่ประเทศอินเดีย ทำหน้าที่ติดต่อกับลอร์ดหลุยซ์เม้าท์แบตเท็น แม่ทัพของฝ่ายสัมพันธมิตรโดยใกล้ชิด  

ท่านได้ดำเนินการต่อต้านญี่ปุ่นอยู่ตลอดเวลา ในระหว่างที่ท่านได้ดำเนินการอยู่นี้ นายปรีดี พนมยงค์ ก็ได้ดำเนินการต่อต้านญี่ปุ่น แบบใต้ดินอยู่เช่นเดียวกัน โดยต่างคนต่างทำ ส่วน จอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ได้ทำการต่อต้านญี่ปุ่น แบบใต้ดินอีกเหมือนกัน ทั้งสามท่านนี้ต่างคนต่างดำเนินงานของตนไป แต่คงมีจุดหมายปลายทางเช่นเดียวกัน คือต่อต้านญี่ปุ่น  

นาวาอากาศเอก วิมล วิริยะวิทย์ เสรีไทยสายอเมริกาได้เล่ารายระเอียดเพิ่มเติมว่า

ท่านกับ บุญมาก เทศะบุตร์ ได้โดดร่มจากเครื่องบิน บี ๒๔ ลงที่ในป่าจังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๔๘๗ แต่พลัดกันไปคนละทาง ท่านถูกนำตัวไปพบกับหลวงอดุลฯ ในกรุงเทพ เมื่อ ๒๒ กันยายน ๒๔๘๗ และได้แจ้งให้ทราบภารกิจที่ได้รับมอบหมาย จากทางสหรัฐอเมริกา ว่าให้มาติดต่อกับทางหลวงอดุลและหลวงประดิษฐ์โดยตรง โดยขอให้ร่วมมือกันทำงาน สหรัฐอเมริกาจะให้การสนับสนุนแก่เสรีไทยในประเทศ ทุกวิถีทาง ไม่ว่าอาวุธ การฝึกฝน การเมืองหลังสงคราม ฯลฯ
แต่ถ้าหากไม่ร่วมมือกัน ก็ยากที่ทางสหรัฐอเมริกาจะช่วยเหลือ เพราะงานจะมีอุปสรรคอย่างแน่นอน คุณหลวงอดุล ฯ จึงตัดสินใจพาวิมลเข้าพบหลวงประดิษฐ์ ที่บ้านของ นายดิเรก   ชัยนาม รองเมือง ซอย ๒ จึงเป็นอันว่าหลวงอดุลกับหลวงประดิษฐ์ ได้ตกลงที่จะร่วมมือกันทำงานตั้งแต่วันนั้น จึงนับได้ว่าเป็นวันเริ่มปรากฏผลงานในประเทศของเสรีไทยสายอเมริกา และเป็นวันที่ได้กำลังตำรวจทั้งประเทศมาร่วมด้วย

กลับมาที่เรื่อง นายพลผู้ซื่อสัตย์ อีกครั้งหนึ่ง

การดำเนินงานของคุณหลวงอดุลฯ นั้น ท่านได้กระทำโดยแบ่งการปฏิบัติออกไปเป็นเรื่องเป็นรายไป คนหนึ่งรับมอบงานไปปฏิบัติอย่างหนึ่ง โดยคนอื่น ๆ ไม่รู้ว่าผู้นั้นมีหน้าที่อย่างไร ท่านเล่าให้ฟังว่าการที่ต้องแบ่งงานกันเช่นนี้ เพราะถ้าเกิดความลับรั่วขึ้นก็จะเกิดเสียหายเพียงเรื่องนั้นเรื่องเดียว งานของคนอื่น ๆ ไม่เสียไปด้วย เพราะการทำงานเช่นนี้เป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายมาก ถ้าใช้คน ๆ เดียวทำแล้วถ้าความลับแตกออก และถูกญี่ปุ่นจับตัวไปหรือถูกฆ่าตาย งานก็เสียหมด จึงจำเป็นต้องแยกงานกันทำ

แต่ก็เป็นโชคของประเทศไทยอย่างมาก ที่ความลับต่าง ๆ ซึ่งท่านได้ทำไปแล้ว ญี่ปุ่นจับไม่ได้เลย บางครั้งฝ่ายญี่ปุ่นสงสัยท่าน ว่าทำการต่อต้านแบบใต้ดิน เคยส่งคนออกทำการสืบสวนแต่ก็ไม่ได้เรื่องอะไร ญี่ปุ่นได้ส่งคนเข้ามาดูว่าคุณหลวงอดุลฯ ทำงานอยู่ที่วังปารุสกวันหรือเปล่า โดยทำทีว่ามาเยี่ยมคำนับ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ที่ในวังปารุสกวันบ้าง และด้วยวิธีอื่น ๆ อีก ทุกครั้งที่ญี่ปุ่นมาดูก็คงเห็นคุณหลวงอดุลฯ นั่งทำงานอยู่ที่วังปารุสกวันมิได้หายไปไหน

ในการดำเนินงานของท่านนั้น ท่านได้ออกปฏิบัติงานในเวลากลางคืนจนตลอดสว่างทุกคืน แม้ท่านจะต้องออกเดินทางไปต่างจังหวัด ท่านก็ไปตอนกลางคืน สำหรับฝ่ายญี่ปุ่นนั้นสงสัยท่านอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่มีหลักฐานที่จะทำอะไรได้

ท่านเป็นคนรอบคอบการที่จะเดินทางไปไหน ๆ ท่านไม่ใช้เส้นทางซ้ำกันเลย ท่านเปลี่ยนเส้นทางอยู่ตลอดเวลา และท่านไม่เคยยอมบอกใครว่าท่านจะไปไหน แม้คนที่นั่งรถไปกับท่านด้วยกัน ก็ไม่รู้ว่าจะไปไหน เมื่อไปถึงที่แล้วนั่นแหละจึงจะรู้ว่าไปไหน
ด้วยความรอบคอบนี้ท่านจึงปลอดภัย และทำการกู้ประเทศไทยจนสำเร็จ

ท่านได้เล่นเอาเถิดเจ้าล่อกับพวกญี่ปุ่นตลอดเวลาสงคราม นักเรียนไทยที่มาจากอเมริกาและอังกฤษ โดยโดดร่มลงมาก็ดี โดยทางน้ำทางบกก็ดี ท่านได้เอาตัวมาเก็บไว้ที่กองตำรวจสันติบาล ปทุมวัน ทำประหนึ่งว่าเอาตัวควบคุมไว้ทำการสอบสวน ฐานโดดร่มลงมาในประเทศไทย แต่ในเวลากลางคืนท่านได้พาพวกนี้ไปทำการส่งวิทยุ ติดต่อไปยังฝ่ายสัมพันธมิตร โดยจัดสถานที่ส่งวิทยุไว้หลายแห่งด้วยกัน เสร็จแล้วก็นำตัวกลับมาคุมไว้ที่สันติบาลตามเดิม ฝ่ายญี่ปุ่นได้ส่งคนมาด้อม ๆ มอง ๆ อยู่เสมอ แต่ก็จับอะไรไม่ได้

พวกนักเรียนไทยเหล่านั้นเท่าที่ข้าพเจ้าจำได้ คือ คุณป๋วย อึ๊งภากรณ์ คุณยอด บุรี คุณประทาน เปรมกมล คุณธนา โปษะยานนท์ คุณการุณ เก่งระดมยิง เป็นต้น ที่ข้าพเจ้าจำได้ดีเพราะเคยทำหน้าที่ควบคุมดูแลคนเหล่านี้ด้วยคนหนึ่ง พวกเสรีไทยเหล่านี้ไหมุนเวียนกันออกไปปฏิบัติหน้าที่เป็นประจำ ส่งวิทยุแจ้งที่พักของกองทหารญี่ปุ่น ให้ฝ่ายสัมพันธมิตรส่งเครื่องบินหรือเรือดำน้ำ เข้ามารับทหารที่บาดเจ็บเพราะเครื่องบินตก เป็นต้น

และบางคราวมีราชการลับที่จะต้องหารือ ในการวางแผนยุทธศาสตร์ ท่านก็ได้ส่งเสรีไทยเหล่านี้บางคน ออกไปทำการติดต่อกับรัฐบาลอังกฤษบ้าง อเมริกาบ้าง ฝ่ายอังกฤษส่วนมากท่านได้จัดส่ง คุณป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าของเสรีไทยฝ่ายอังกฤษออกไปเจรจา ฝ่ายอเมริกาท่านก็จัดส่ง คุณการุณ เก่งระดมยิง ออกไปเจรจา การเดินทางนั้นส่วนมากเดินทางโดยเครื่องบิน ซึ่งนัดให้เครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรมารับ โดยมาลงที่สนามบินลับที่สร้างขึ้นในเวลากลางคืน

คุณหลวงอดุลฯ เป็นคนที่รอบคอบในการทำงานใต้ดินนี้ ท่านได้ทำบัญชีรายชื่อไว้ว่าผู้ใดบ้างที่ได้ร่วมมือทำงานอยู่ด้วย ทั้งผู้ที่โดดร่มเข้ามาในประเทศไทย และผู้ที่อยู่ ณ ต่างประเทศ เพราะท่านมองเห็นการไกลว่า ต่อไปอาจมีผู้แอบอ้างว่าได้ร่วมมือทำงานใต้ดินกับท่าน ซึ่งถ้าเป็นจริงแล้วย่อมต้องมีชื่ออยู่ในบัญชีนั้น จนบัดนี้ (พ.ศ.๒๕๑๒) บัญชีนี้ก็ยังอยู่ในมือท่าน ตลอดจนหลักฐานในการทำงานใต้ดินที่สำคัญ ๆ คงเก็บอยู่ที่ท่าน

ด้วยผลงานอันดีเด่นที่ได้กระทำเพื่อประเทศชาติแล้วนี้ หลังจากสงครามสงบแล้ว อเมริกาได้ช่วยจนกระทั่งประเทศไทยพ้นจากการตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม อันคุณงามความดีของท่านนี้สุดที่คนไทยจะลืมเสียได้ และบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยสืบไปชั่วกาลนาน คุณหลวงอดุลฯ เป็นคนหนึ่งที่ได้ช่วยกู้ประเทศไทยไว้ในยามที่บ้านเมืองคับขันเต็มไปด้วยศัตรู หากการทำงานของท่านพลาดไปเพียงนิดเดียว บ้านเมืองก็จะพินาศ แม้แต่ชีวิตของท่านเองก็คงไม่รอดไปได้
http://topicstock.pantip.com/writer/topicstock/W3453677/W3453677.html

ตัวแดงข้างบนนี้  บอกชัดเจนว่าพลต.อ. อดุล ทำงานเสรีไทย ตามคำสั่งของจอมพล ป. พิบูลสงครามอีกทีหนึ่ง    เพราะฉะนั้น ถ้าข้อมูลนี้ถูกต้อง   ก็กลายเป็นว่าหัวหน้าเสรีไทยในประเทศตัวจริง คือจอมพล ป.นั่นเอง
เพราะฉะนั้น  4 = 1ปรีดี + 1 อธิบดีตำรวจอดุล + 2 คือตัวจอมพล ป.


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 12 ก.ค. 10, 09:21

 ซึ่งส่งผลในการแนวรบด้านเหนือที่กองทัพไทยกำลังประจันหน้ากับกองพล93ของจีนอยู่ที่เมืองเชียงตุง จอมพล ป.ท่านโดนญี่ปุ่นบีบให้ส่งทหารไปตีจีนทางด้านนี้ ท่านก็ไม่ได้อยากจะไปสู้กับพญามังกรหรอก สั่งให้แม่ทัพไปหาทางเจรจาซูเอี๋ยกับแม่ทัพจีน เขาก็ไม่เล่นด้วย อยู่ดีๆใจอ่อนขึ้นมาเฉยๆยอมยิงกันเฉพาะวันที่ญี่ปุ่นมาตรวจแนวรบ  จอมพล ป. ท่านนับเป็นเครดิตของท่านว่าเห็นม๊ะ ฉันก็ร่วมรบกับญี่ปุ่นไปอย่างงั้นหร็อก ไม่เห็นจะเสียหายเล้ย
ก็ตอนนั้นทหารจีนไม่ได้บอกทหารไทยว่าที่ทำอย่างนั้นเพราะรัฐบาลจีนสั่งมา เขาเชื่อคนอื่น มิได้เชื่อท่าน


ข้อมูลแนวรบด้านเชียงตุงหรืออีกชื่อในยุควัธนธัมก็คือสหรัฐไทยเดิมนั้น ในหนังสือของท่านผู้การถาวร ท่านเล่าไว้ว่าตอนแรกก็รบกันครับ แต่ไป ๆ มา ๆ ช่วงหลัง ๆ ขาดแคลนทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์และเสบียงพอ ๆ กันทั้งสองฝ่าย สุดท้ายต่างก็ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ยิ่งช่วงวันท้าย ๆ ก่อนสงครามจะยุติ ฝ่ายไทยก็ยิงปืนใส่เหมือนกัน แต่เป็นไปในลักษณะ "ยิงเพื่อระบายกระสุนทิ้ง" คงจะเป็นในลักษณะยิงนกก็น่าจะได้

เรื่องแนวรบด้านเชียงตุงนี้ สามารถเขียนได้อีกตอนใหญ่ ๆ ครับ สนุกสนานไม่แ้พ้ประวัติท่านเจ้าคุณทรงฯ แต่อย่างใด ทั้งเรื่อง "เดินนับไม้หมอนกลับบ้าน" , "รองเท้าทหาร(COMBAT)ตราช้าง" ฯลฯ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 12 ก.ค. 10, 09:26
การทำงานของพลต.อ. อดุล อธิบดีตำรวจในเรื่องเสรีไทย  ข้อมูลแบ่งเป็น ๒ ทาง   ทางหนึ่งบอกว่าท่านตัดสินใจอำนวยความสะดวกให้เสรีไทยเพราะมีการประสานงานมาจากที่ใดที่หนึ่ง ไม่ต่างประเทศก็จากนายปรีดี  และท่านตกลงที่จะร่วมมือ  แต่ข้อมูลอีกทาง ระบุว่า พลต.อ. อดุลนั่นแหละเป็นคนก่อตั้งเสรีไทยในประเทศขึ้นมาเองเลย  ไม่ใช่ประสานต่อจากใคร



สำหรับคุณหลวงอดุลฯ นั้น มีความรู้สึกนึกคิดว่าไม่ควรยอมให้กองทัพญี่ปุ่น เดินผ่านประเทศไทย แต่ส่วนมากยินยอม ดังนั้นท่านจึงทำอะไรไม่ได้ ตั้งแต่นั้นมาคุณหลวงอดุลฯ จึงดำเนินงานต่อต้านญี่ปุ่นแบบใต้ดิน โดยตั้งหน่วยเสรีไทยขึ้น ได้ใช้กำลังตำรวจทั้งหมดทำงานใต้ดินเป็นหลัก



นั่นสิครับ ตกลงเป็นอย่างไรกันแน่ หรือว่าคุณหลวงจะสวมวิญญาณนักฟุตบอลที่โชว์ลีลาขั้นเทพ สับขาหลอกไปมา.. ?


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 10, 09:29
ชนกันกลางอากาศอีกแล้ว
เรื่องยังไม่จบ  จำต้องเล่าอีกสักค.ห.หนึ่ง  ถึง งานใต้ดินของจอมพล ป. ที่ประสานกับจีน
ข้อมูลก็น่าตื่นเต้นระทึกใจ ยิ่งกว่าเจมส์บอนด์ 007
พลเอกบัญชร ชวาลศิลป์ เล่าไว้ว่า
"หลังจากไทยยอมให้ญี่ปุ่นเคลื่อนทัพผ่านเมื่อ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ แล้ว ความสัมพันธ์ทางการทหารระหว่างไทยกับญี่ปุ่นก็กระชับแน่นมากขึ้นตามลำดับ มีการลงนามในความตกลงร่วมยุทธกับฝ่ายทหารญี่ปุ่นเมื่อ ๒๑ ธันวาคม ๒๔๘๔ ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งกองทัพพายัพและส่งขึ้นไปยึดดินแดนสหรัฐไทยเดิม หรือรัฐฉานของพม่าในปัจจุบัน เพื่อยันกองทัพจีนไว้ เปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นสามารถรุกเข้าพม่าได้โดยสะดวก

กองทัพพายัพสามารถเข้ายึดเชียงตุงเมืองหลวงของสหรัฐไทยเดิมได้เมื่อ ๒๖ พฤษภาคม ๒๔๘๕ พลตรีหลวงหาญสงคราม(จอมพล ผิน ชุณหะวัณ บิดาของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ) ผู้บัญชาการกองพลที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยเข้ายึดเชียงตุงกระทำพิธีอัญเชิญธงไตรรงค์ขึ้นสู่ยอดเสาที่เมืองนี้ด้วยตัวของท่านเอง

ครั้นเดือนถัดมาเมื่อสถานการณ์เริ่มพลิกผัน ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อเมริกันในยุทธนาวีที่มิดเวย์ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เริ่มตระหนักถึงความผิดพลาดในการตัดสินใจ จึงเริ่มหาทางออกด้วยการติดต่อกับจีนหวังให้เป็นสะพานเชื่อมโยงสู่สหรัฐและอังกฤษ

งานใต้ดินของจอมพล ป.พิบูลสงครามก็เริ่มขึ้น

เริ่มงานใต้ดิน
พลเอก เนตร เขมะโยธิน นายทหารที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่ได้รับความไว้วางใจจากจอมพล ป.พิบูลสงครามในขณะนั้น ได้บันทึกจุดเริ่มต้นของงานใต้ดินครั้งนี้ไว้ว่า

"เมื่อกองทัพพายัพของไทยซึ่งได้รับมอบหน้าที่ให้ทำการรบในแคว้นฉานของพม่า(ต่อมาเรียกว่าสหรัฐไทยเดิม)ได้รุกถึงเส้นพรมแดนระหว่างประเทศพม่ากับแคว้นยูนานของประเทศจีน ครั้นแล้วกองทัพพายัพกับกองทัพจีนก็ตรึงกันอยู่เพียงแค่นั้น ระหว่างนั้นเองทางเราก็ติดต่อกับกองทัพจีนว่า เราไม่มีความมุ่งหมายที่จะล่วงล้ำเข้าไปในเขตแดนประเทศจีนต่อไปอีก เพราะจีนกับไทยมิได้มีสาเหตุโกรธเคืองอะไรกัน การที่ประเทศไทยต้องเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นก็เนื่องด้วยสถานการณ์บังคับ เราอยากจะส่งผู้แทนของเราไปพบกับผู้บัญชาการทหารจีนทางด้านนี้เพื่อปรับความเข้าใจและเพื่อผูกมิตรกันมากกว่าที่จะเป็นศัตรูต่อกัน

ครั้นต่อมาเราก็ได้รับคำตอบจากทางด้านจีนว่า ยินดีจะพบกับผู้แทนของกองทัพไทย…"

เมื่อมีความคืบหน้าเช่นนี้ จอมพล ป.พิบูลสงครามก็สั่งการเพิ่มเติมเพื่อขยายผลแห่งความสำเร็จทันที

ลักลอบพบปะกับจีน
เนื่องจากข่าวความสำเร็จครั้งแรกนั้นมิได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ดังนั้นเพื่อให้ได้ท่าทีที่ชัดเจน จอมพล ป.จึงสั่งการให้จัดนายทหารข้ามแดนไปพบกับฝ่ายจีนโดยตรง

"ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้สั่งให้กองพลที่ ๓ ของไทยซึ่งประจันหน้าอยู่กับกองพลที่ ๙๓ ของจีนที่เมืองเชียงล้อส่งนายทหารชั้นผู้น้อยข้ามพรมแดนปพบกับผู้บัญชาการกองพลที่ ๙๓ ของจีนเป็นการหยั่งท่าทีกันดูก่อน

ผู้บัญชาการกองพลที่ ๓ ของไทยในขณะนั้นคือ พล.ต.หลวงหาญสงคราม จึงได้ส่ง พ.อ.หลวงไกรนารายณ์ พ.ท.แสวง ทัพภะสุต กับนายทหารอีก ๒-๓ นายลอบไปพบและติดต่อกับผู้บัญชาการทหารจีนที่เมืองเชียงล้อเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๘๗ การพบกันครั้งนั้น ทางกองพลที่ ๓ ได้รายงานตรงมายังจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้นแล้วท่านจอมพลได้ส่งมาให้ พล.ท.จีระ วิชิตสงคราม เสนาธิการกองทัพบกสนามทราบ ปรากฏว่าได้ผลเป็นที่พึงพอใจ แต่การพบปะกันครั้งนั้นเป็นเพียงการเริ่มต้น และเป็นการพบกันระหว่างผู้บังคับหน่วยทหารในแนวรบเท่านั้น ทั้งสองฝ่ายจึงนัดพบกันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการพบปะครั้งสำคัญ เพราะได้ตกลงกันว่า ทั้งสองฝ่ายจะแต่งตั้งผู้แทนของผู้บัญชาการทหารสูงสุดของแต่ละฝ่ายซึ่งมีอำนาจเต็มไปเจรจาหารือกันต่อไป

ในตอนนี้เองที่ข้าพเจ้าได้มีบทบาทร่วมการปฏิบติงานใต้ดินกับเขาด้วย"

พันเอกโยธี
"พันเอกโยธี"เป็นนามรหัสที่ฝ่ายพันธมิตรตั้งให้กับ พล.อ.เนตร เขมะโยธิน ในฐานะตัวแทนของฝ่ายเสรีไทยไปร่วมปฏิบัติงานที่เมืองแคนดี ลังกา และต่อมาท่านได้เขียนบันทึกประสพการณ์
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไว้ในหนังสือชื่อ"งานใต้ดินของพันเอกโยธี"ซึ่งจัดเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญชิ้นหนึ่งของไทย

ผมนำเรื่องราวของ เสธ.ทวี มาเล่าให้ฟังไปแล้ว ชีวิตของ พล.อ.เนตร เขมะโยธินก็นับว่ามีความโลดโผน ตื่นเต้น แทบไม่ต่างกัน อย่างที่เล่ามาถึงตอนนี้ว่า ท่านกำลังจะไปทำงานใต้ดินให้กับจอมพล ป.พิบูลสงคราม และต่อมาเมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๔๘๗ เป็นผลให้งานใต้ดินของท่านต้องสิ้นสุดลงไปด้วย พล.อ.เนตร เขมะโยธินก็จะไปเข้าร่วมกับเสรีไทยเพื่อปฏิบัติภารกิจกู้ชาติต่อไป


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 10, 09:40


นั่นสิครับ ตกลงเป็นอย่างไรกันแน่ หรือว่าคุณหลวงจะสวมวิญญาณนักฟุตบอลที่โชว์ลีลาขั้นเทพ สับขาหลอกไปมา.. ?

ค.ห.ดิฉันข้างบนนี้เป็นการเอาข้อมูลหลายแหล่งมาโชว์กันให้เห็นทั้งหมด    ยังไม่ได้ย่อยว่าความจริงน่าจะเป็นยังไง  แค่อ่าน ก็คงพอเดาได้ว่า ชวนมึนงงขนาดไหน   นี่ขนาดเอามาให้เห็นเบาะๆ ยังไม่ได้ขนมาทั้งหมด  ถ้าขนมาหมด  กองเชียร์ก็คงเป็นลมตกสแตนด์ทั้งกอง
ฝากคุณนวรัตนช่วยตัดสินเป็นคนแรกได้ไหมคะ?

เพราะข้อมูลที่ชนกันสนั่นจากหลายแหล่งนี้  กลายเป็นว่า ฮีโร่ของเสรีไทยมีทั้งนายปรีดี  พลต.อ.อดุลและม้ามืดที่ไม่มีใครนึก คือจอมพล ป.  ท่านเอง
เรื่องพลต.อ. อดุลก่อตั้งเสรีไทยสายตำรวจมาแต่แรกเอง หรือว่ายอมประสานงานร่วมกับเสรีไทยสายนายปรีดี    เอาไว้ก่อน    เพราะจะเป็นแบบไหนก็ดูจะไม่ส่งผลลัพท์ให้แตกต่างกันนัก   ค่าของ X  ยังไม่แตกต่างคนละขั้ว   เอาเป็นว่าท่านเป็นเสรีไทยในประเทศ
แต่คำถามที่ค้างคาใจคือ พล ต.อ. อดุลทำงานลับใต้จมูกจอมพล ป.   หรือว่าท่านทำตามคำสั่งจอมพล ป.  กันแน่
คำตอบทางที่ ๒ ก่อให้เกิดตัวแปรสำคัญ  คือถ้า ใช่ แบบที่สอง   จอมพล ป. ก็ทั้งประสานงานกับจีนโค่นญี่ปุ่นโดยมีเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวงใหม่ทางยุทธศาสตร์   และยังเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยตัวจริงในประเทศไทย  โดยนายปรีดีเองก็ไม่รู้


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 10, 09:45
บอกแล้วไงคะ ว่าถ้าจะปั่นกระทู้ให้ถึง ๕๐๐ ได้ก็เรื่องเสรีไทยนี่แหละ ลากยาวจนพระยาทรงท่านคอยตอนจบ  จนเมื่อยแล้วเมื่อยอีกอยู่ที่พนมเปญ   ไม่มีโอกาสออกโรงสักที
ขอเชิญท่านผู้อ่านออกความเห็น ค่ะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 10, 10:42
อ้างถึง
ค.ห.ดิฉันข้างบนนี้เป็นการเอาข้อมูลหลายแหล่งมาโชว์กันให้เห็นทั้งหมด    ยังไม่ได้ย่อยว่าความจริงน่าจะเป็นยังไง  แค่อ่าน ก็คงพอเดาได้ว่า ชวนมึนงงขนาดไหน   นี่ขนาดเอามาให้เห็นเบาะๆ ยังไม่ได้ขนมาทั้งหมด  ถ้าขนมาหมด  กองเชียร์ก็คงเป็นลมตกสแตนด์ทั้งกอง
ฝากคุณนวรัตนช่วยตัดสินเป็นคนแรกได้ไหมคะ?

ผมเคยแสดงทัศนะของผมไว้ในกระทู้นี้

คคห.116
ผมเห็นใจนักอ่านเรื่องประวัติศาสตร์ มันหนักขึ้นทุกทีที่จะแยกแยะใครถูกใครผิดในเหตุการณ์ก่อนตนเกิดจากข้อมูลที่สื่อที่ทำไว้ แม้นักอ่านเรื่องการเมืองสมัยนี้ก็ตาม คุณเชื่อหรือว่าสิ่งที่คุณเชื่อมันไม่ใช่เรื่องโกหก ที่จงใจโกหกโดยพวกที่มีอาชีพเป็นนักการเมือง

คคห.182
ความยากลำบากของผู้ศึกษาเรื่องราวในประวัติศาสตร์ก็เป็นดังที่ผมปรารภในกระทู้แล้วๆ ว่ายากที่คนในชั้นหลังจะทราบว่าข้อความอะไรเป็นเท็จ อะไรเป็นจริง โดยยกตัวอย่างกรณีย์ในยุคปัจจุบัน เห็นภาพเดียวกันแท้ๆคนยังเชื่อเป็นสองทาง
แต่ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสนุก โดยเฉพาะเรื่องค้นหาความจริงที่จะเลือกเชื่อจากหนังสือกองพะเนินเทินทึกที่แต่ละเล่มมีรายละเอียดชนิดที่เรียกว่า“คนละเรื่องเดียวกัน” ยิ่งอ่านยิ่งงง ยิ่งเมาตัวหนังสือ




กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 10, 10:57
^
ยังสรุปไม่ได้ครับ

ผมอยากจะเชิญชวนให้ท่านอาจารย์เทาชมพูลองหา "คำให้การของพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส พยานโจกท์ ให้การคดีอาชญากรสงคราม จอมพลแปลก พิบูลสงคราม จำเลย" ผมมีอยู่ไม่รู้ซุกอยู่ซอกไหน อ่านแล้วต้องร้องเอ้อเหอ ๆ ไปตลอด ไม่นึกว่าเพื่อนจะยำเพื่อนแบบตรงไปตรงมาขนาดนี้ คุณป้าจียังบอกว่า"ยังเด็ก แต่ทราบว่าตอนนั้นคุณหลวงอดุล มาที่บ้านเราบ่อยมากเลย ตอนหลังพี่ไปเจอหนังสือที่หลวงอดุลท่านเป็นพยานตอนคุณพ่อเป็นอาชญากรสงคราม พี่ไม่เข้าใจเลย คำให้การของหลวงอดุล แหม ด่าคุณพ่อจังเลย ให้การอย่างชนิดที่ไม่น่าเชื่อว่าเป็นคุณหลวงอดุล เป็นเพื่อนกันมา รักกัน ต่างคนต่างไอ้ กู มึง สนิทสนมกัน"


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 10, 11:18
เคยถามผู้เชี่ยวชาญที่ไปขอความรู้ท่าน   ว่าทำไมไม่มีกรรมการชี้ชัดเรื่องประวัติศาสตร์ลงไปให้รู้คำตอบจริงๆเสียที    นักเรียนจะได้ไม่งง  ท่านก็ตอบยิ้มๆทีเล่นทีจริงว่า ถ้างั้นนักประวัติศาสตรก็ตกงานหมดน่ะซี
ประวัติศาสตร์เป็นวิชาสำหรับฝึกให้คิด วิเคราะห์ ไตร่ตรองและสรุป   ไม่ใช่วิชาสอนให้เชื่อ   แต่ไม่รู้ว่าในโรงเรียนเขาสอนกันแบบไหนอย่างไรนะคะ   ไม่เคยไปเข้าชั้นเรียน

เรื่องเสรีไทย  ประมวลจากข้อมูล  ได้คำตอบไม่มีข้อสงสัยเรื่องนายปรีดีว่าเป็นผู้ประสานงานรายใหญ่ของเสรีไทยในประเทศ     แต่คำถามก็คือ ท่านเป็นหัวหน้าใหญ่แต่ผู้เดียวหรือ    ถ้าหากว่าไม่ใช่  มีท่านอื่นด้วย  เราก็ควรจะรำลึกถึงวีรกรรมของท่านอื่นๆนั้นด้วยเช่นกัน     มิฉะนั้นก็จะไม่ยุติธรรมที่ถูกมองข้ามไป
พลต.อ.อดุล เมื่อคำนึงถึงฐานะอธิบดีตำรวจแล้ว  มีบารมีและเครือข่ายกว้างขวางกว่านายปรีดี ในการคุ้มครองเสรีไทยให้ทำงานได้ตลอดรอดฝั่ง     เพราะลำพังแต่นายปรีดีซึ่งเป็นพลเรือน  มีตำแหน่งเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์  แม้่เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติยศสูงยิ่ง แต่ก็ไม่มี"กำลังคน" อยู่ในมือโดยตรงอย่างอธิบดีตำรวจ
การจะคุ้มครองเสรีไทย  ทำได้ยากกว่าพลต.อ. อดุล    หากว่าข่าวเล็ดรอดไปถึงญีปุ่นได้    ญีปุ่นก็จะไม่เกรงใจ เพราะรู้ว่านายปรีดีเป็นคนละขั้วกับจอมพล ป.   ก็คงปราบปรามทั้งเสรีไทยและนายปรีดี    แต่นี่มีเครือข่ายตำรวจของพล ต.อ.อดุลเป็นข่ายเพชรเจ็ดชั้นป้องกันอยู่อีกชั้นหนึ่ง

ส่วนคำถามสุดท้าย ว่าจอมพล ป.หนุนหลังพล ต.อ.อดุลอยู่อีกทีหรือเปล่า     ถ้าหากว่าพลต.อ.อดุลยำเพื่อนรักเสียเละตอนขึ้นศาลอาชญากรสงคราม   (ดิฉันไม่มีหนังสือเล่มนี้  ไม่รู้จะหาไปหาที่ไหน)  ก็เป็นได้ว่าท่านอธิบดีตำรวจทำงานลับอยู่ใต้จมูกเพื่อนเก่า 

จอมพล ป.ไม่ใช่เสรีไทย   แต่ว่าต่อต้านญี่ปุ่นตามแบบของท่านคือดอดไปจับมือกับจีน  ข้อนี้คุณม้าเวบมาสเตอร์ ก็ไม่เชื่ออีกนั่นแหละ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 10, 11:42
ถ้าจะรอกระทู้นี้ชำระประวัติศาสตร์ท่อนนี้ให้จบเสียก่อน สงสัยพระยาทรงท่านจะต้องตรากตรำอยู่ในพนมเปญจนเลยเกษียน ไม่ได้กลับบ้านเก่าไปพักผ่อนเสียที

ลองตามไปดูให้ท่านไปตามบทของท่าน พอถึงตอนวิเคราะห์ กระทู้อาจจะวิ่งฉิวโดยไม่ต้องปั่นก็ได้ครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 10, 11:43
คุณนวรัตนอาจจะลำบากใจแม้ว่าหาหนังสือเจอแล้ว ที่จะลอกลงมาตรงๆ   ถ้างั้นกรุณาเก็บความมาเล่าได้ไหมคะ ว่าพลต.อ. อดุลให้การถึงจอมพล ป. ว่ายังไง  ในทำนองไหน

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จบลง  เสรีไทยออกมาเดินสวนสนามฉลองสันติภาพกันครั้งใหญ่ เมื่อ ๒๕ กันยายน ๒๔๘๘  แล้วก็ยุบขบวนการอย่างเป็นทางการเพราะหมดภาระหน้าที่แล้ว   แต่เสรีไทยที่ไม่เป็นทางการก็ยังธำรงอยู่   กลุ่มใหญ่ที่สุดคือกลุ่มที่สนับสนุนนายปรีดี
ส่วนพลต.อ. อดุลได้รับพระราชทานยศพลตำรวจเอก พลเอก พลอากาศเอก  และพลเรือเอก     และข้ามจากกรมตำรวจไปสู่กองทัพบก  คือจากอธิบดีตำรวจเป็นผู้บัญชาการทหารบกในปี ๒๔๘๙  เราก็คงพอมองออกว่า เมื่อท่านเป็นเสือข้ามห้วยไปกินตำแหน่งแม่ทัพ  ก็ย่อมก่อความชะงักงันให้การเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่โตมาตามขั้นตอนทหาร    ด้วยเหตุนี้กระแสความไม่พอใจจึงเกิดขึ้นในกองทัพ    ในปีต่อมาพ.ศ.๒๔๙๐ ท่านก็ลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

ส่วนสมาชิกเสรีไทยที่ยังเกาะกลุ่มกันอยู่ในสายของนายปรีดี  ก็เติบโตขึ้นเป็นกลุ่มการเมืองสำคัญ  มี ๒ กลุ่มคือ พรรคสหชีพของนักการเมืองอีสาน มีแกนนำคือนายเตียง ศิริขันธ์ นายจำลอง ดาวเรือง นายถวิล อุดล  กลุ่มที่ ๒  เป็นพวกอดีตเสรีไทยที่ไม่ใช่อีสาน  เช่นนายจรูญ สืบแสง นายสงวน ตุลารักษ์ นายเดือน บุนนาค
นอกจากนี้ยังมีนักการเมืองที่หนุนนายปรีดีมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลก คือ พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายสงวน จูฑะเตมีย์ นายทองเปลว ชลภูมิ นายดิเรก ชัยนาม มล.กรี เดชาติวงศ์ พันเอกช่วง เชวงศักดิ์สงคราม
แต่เรื่องนี้ชักจะไกลพระยาทรงฯออกไปทุกทีแล้ว ขอเบรคไว้แค่นี้ก่อนค่ะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 10, 11:46
ก่อนจะสิ้นเมษายนของปี 2487 วันหนึ่งที่บ้านร้านขนมไทย พระยาทรงมีแขกคนไทยหิ้วกระเป๋าเดินทางมาหาท่านและแนะนำตัวเองว่า ตนเป็นนายทหารยศร้อยเอกเป็นลูกศิษย์ของท่านมากราบเยี่ยมอาจารย์ด้วยความเคารพ พระยาทรงท่านงุนงงมากที่มีศิษย์ซึ่งท่านจำไม่ได้ และเป็นนายทหารประจำการ กล้ามาเยี่ยมท่านขณะที่คนอื่นไม่กล้าทำ แต่เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ท่านเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนนายร้อย นายทหารที่ผ่านสถาบันนี้ก็ถือเป็นศิษย์เป็นอาจารย์กับท่านทุกคน ท่านจึงต้อนรับเขาในฐานะศิษย์

นายร้อยเอกคนนี้ ท.ส.ของท่านมิได้เปิดเผยนามจริง แต่สมมติให้ชื่อร.อ.เล็ก ผมก็จะเรียกตามไปในชื่อนี้ด้วยก็แล้วกัน

ร.อ.เล็กเล่าว่าตนได้รับคำสั่งให้เรียนงานการพิมพ์แสตมป์และธนบัตรที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา3ปี สำเร็จแล้วเดินทางกลับโดยทางเครื่องบินมาลงที่ไซ่ง่อน แทนที่จะขึ้นเครื่องต่อไปกรุงเทพเพื่อรีบกลับบ้านไปหาครอบครัวที่จากกันมานานหลายปี กลับแบกกระเป๋าพะรุงพะรังหาทางไปขึ้นรถขนส่ง อีกหลายชั่วโมงจากไซ่ง่อนมาพนมเปญ เพราะตั้งใจจะมาเยี่ยมเคารพอาจารย์ผู้ตกทุกข์ได้ยากแม้จะไม่คุ้นเคยก็ตามที แม้จะฟังแปลกๆท่านก็เชิญขึ้นบ้าน เลี้ยงอาหารกลางวันกันตามมีตามเกิด การสนทนาก็ไปในแนวคำถามคำตอบเกี่ยวกับสารทุกข์สุขดิบ หน้าที่การงาน บ้านเมืองของเขาของเรา ครั้นได้เวลาอันควรที่แขกควรจะลากลับได้แล้ว ท่านก็ถามร.อ.เล็กว่าจะพักที่ไหน

พระยาทรงท่านหมายถึงจะพักที่โฮเต็ลไหน ซึ่งมีอยู่หลายแห่งในพนมเปญ ร.อ.เล็กก็ทำหน้างงๆอึกอักอยู่ พระยาทรงท่านเลยบงการท.ส.ให้จัดที่นอนให้แขกในเรือนหลังเล็กที่ร.อ.สำรวจพักอยู่กับมารดาของตนคนละห้อง โดยมารดาของร.อ.สำรวจจะต้องย้ายขึ้นไปนอนบนเรือนใหญ่ที่พระยาทรงและครอบครัวพักอยู่ เขาเดือดร้อนกันขนาดนั้นร.อ.เล็กก็ยังทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ เหมือนไม่มีเงินพอค่าโรงแรมซะงั้น ทีค่าเครื่องบินค่ารถที่อุตส่าห์ดั้นด้นมาตั้งไกลยังจ่ายได้


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 10, 11:51
วันรุ่งขึ้นร.อ.สำรวจก็พาร.อ.เล็กไปเที่ยวเมือง แวะชมตลาดอาหารสดทันสมัยที่ฝรั่งเศสสร้างขึ้น แวะซื้อขนมชั้นญวนที่ร.อ.สำรวจบอกว่าอาจารย์ใหญ่ชอบนัก เป็นของโปรดอันดับหนึ่ง จะเอาไปฝาก อีกวันต่อมา ร.อ.เล็กหายไปคนเดียวแต่เช้าตรู่ กลับมาพร้อมขนมชั้นญวน2ชิ้นเป็นของฝากอาจารย์ พระยาทรงก็ฉลองศรัทธารับประทานต่อหน้าเขาเกือบหมดทั้งสองชิ้น  

ร.อ.เล็กมิได้อยู่แค่วันสองวันตามที่บอกแต่แรก แต่ทำตัวสนิทสนมเข้านอกออกในบ้าน กินอาหารร่วมกันทุกมื้ออยู่เกือบสัปดาห์จึงกราบลาอดีตอาจารย์ ไปขึ้นรถไฟขบวนพิเศษของทหารญี่ปุ่นเข้ากรุงเทพ ก่อนไปได้ให้สัญญาอย่างแข็งขันว่าจะเขียนจดหมายส่งข่าวสารทุกข์สุขให้ทราบทันทีที่ถึงเมืองไทย


รอจนทุกคนลืมๆไป จดหมายนั้นก็ยังมาไม่ถึง


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 10, 11:56
วันที่ 17 พฤษภาคม 2487 ใกล้จะเที่ยงแล้ว พระยาทรงถีบจักรยานกลับจากตลาดมาถึงบ้านตามปกติวิสัยที่ปฏิบัติเสมอๆ เมื่อกลับมาถึงบ้านก็ลงมือเช็ดถูทำความสะอาดจักรยานหลังการใช้งาน ปากก็บ่นว่าของมันแพงขึ้นทุกที ไอ้โน่นไอ้นี่ก็ขาดตลาด คนฟังก็นั่งตัดเย็บใบตองห่อขนมฟังไปเรื่อยๆเพลินๆ พอสงสัยว่ายังไม่จบเรื่องทำไมทรุดตัวลงนั่งแล้วเงียบไปเฉยๆ พอก็เห็นท่านพยายามจะยกมือปาดเหงื่อบนใบหน้า แต่แล้วกลับล้มคว่ำลงปะทะกับจักรยานดังโครม เสียงหวีดร้องพร้อมกันของผู้หญิงทำให้พวกผู้ชายวิ่งมาจากอีกห้องหนึ่ง ร.อ.สำรวจยกไหล่ท่านขึ้นจากพื้น ประคองสอดหมอนหนุนใต้ศรีษะ ท่านหายใจแผ่วๆ เหงื่อยังคงผุดเต็มใบหน้า หลังจากนวดเฟ้นและให้ดมยาแอมโมเนียพักใหญ่ ท่านก็เผยอเปลือกตาขึ้นมาถามว่า “นี่กันเป็นอะไรไป”

เมื่อพยายามจะลุกขึ้นเองแต่ลุกไม่ได้ ร.อ.สำรวจจึงประคองท่านไปนอน หลังจากหลับเป็นตายไปหลายชั่วโมงท่านดีขึ้นมาก สามารถเล่าอาการแต่แรกเริ่มให้ฟังได้อย่างปะตอปะต่อ ท่านคิดว่าท่านเป็นลมเพราะขี่จักรยานในขณะอากาศร้อนแดดจัด ท่านอายุ52แล้ว ควรต้องระวังสุขภาพตัวมากกว่านี้ หลังจากพักฟื้นสองวัน ท่านก็ขี่จักรยานเล่นในตอนเย็นได้ กลับมาก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร คนทั้งบ้านรวมถึงตัวท่านเองด้วยก็นึกว่าอาการป่วยชั่ววูบนั้นหายเป็นปกติดีแล้ว


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 10, 11:58
24 พฤษภาคม 2487 ใกล้ค่ำไปหาหมอๆฉีดยาบำรุงกำลังให้1เข็ม ท่านหลับไปตอนดึก เมื่อฟ้าสาง คุณหญิงสังเกตุว่าพระยาทรงนอนแขนเกร็งและมีอาการกระตุกจึงพยายามปลุกแต่ไม่ค่อยจะรู้สึกตัว เมื่อรุมกันนวดเฟ้นก็พอขานรับการเรียกชื่อได้ ก็อาเจียนออกมาเป็นน้ำ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศสที่รีบไปเชิญมาตรวจอาการ เห็นแล้วใช้เข็มเจาะเส้นเลือดใหญ่แล้วดูดเอาเลือดจากแขนท่านออกมาสองหลอดใหญ่ ท่านออกอาการเจ็บแสดงว่าสติกลับคืน พอหมอเรียกชื่อก็ขานรับ 15นาทีต่อมาท่านสามารถพูดกับหมอด้วยภาษาเยอรมันได้

เหมือนมหัศจรรย์ที่เพียงแค่ดูดเลือด คนไข้ที่ไม่มีสติก็กลับพูดได้ หมอบอกว่าท่านมีอาการของโลหิตเป็นพิษ มีความเข็มข้นสูงพร้อมจะแข็งตัวเมื่อถูกอากาศ เมล็ดโลหิตเต็มไปด้วยพิษร้าย จะต้องรีบนำไปส่งหอวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อทำการวิเคราะห์ หมอได้สั่งยาให้สามขนาน เป็นยาถ่ายหนึ่ง ยาบำรุงกำลังหนึ่ง ส่วนยาล้างพิษในกระแสโลหิต ในระหว่างสงครามไปหาซื้อที่ไหนก็ไม่มี

บ่านวันนั้น มองซิเออร์ เซมเปร เพื่อนฝรั่งเศสคนเดียวที่อยู่ในพนมเปญก็มาเยี่ยม เมื่อทราบอาการแล้วก็มีสีหน้าไม่สู้ดี บอกว่าพ่อเขาตายก็เพราะโรคนี้ หมอคนเดียวกันนี่แหละที่รักษา บอกให้พ่อเลิกเหล้า ก็อยู่มาได้หลายปีแล้วก็กลับมาดื่มจัดอีก แถมโมโหร้าย เช้าวันนึงคนเข้าไปพบว่านอนสิ้นลมอยู่กับพื้นแล้ว พระยาทรงบอกว่า ถ้าท่านจะตายอย่างนั้นได้ก็ดี ไม่รู้สึกตัวแล้วขาดใจตายไปเฉยๆ ไม่ต้องเจ็บปวดทรมาน แต่ครอบครัวของท่านรู้สึกเบาใจขึ้นมานิดนึงเพราะพระยาทรงท่านไม่ดื่มจัด พ่อของมองซิเออร์ เซมเปรเป็นนักดื่มขนาดหนัก ยังอยู่ได้หลายปีกว่าจะตาย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 10, 12:00
ท่านยังต้องนอนรักษาตัวอยู่กับบ้าน ลุกไม่ได้ เวียนศรีษะ ที่เคยอารมณ์ดีก็เริ่มฉุนเฉียว เห็นไอ้โน่นไอ้นี่ขัดหูขัดตาไปหมด มีอาการหลงลืม ถามซ้ำแล้วซ้ำอีกจนคนถูกถามนึกว่าแกล้งล้อเล่น ผมเล่าละเอียดมิได้คิดจะให้เป็นดราม่า แต่หากมีคุณหมอหลงเข้ามาอ่าน จะได้ช่วยให้ความรู้กันบ้างถึงสาเหตุของอาการเหล่านี้
คืนวันที่31ท่านอาการดีขึ้น นอนคุยหัวเราะสนุกสนานกับลูกหลาน ตอนค่ำร้านปิดคนเอาเงินที่ขายขนมมาให้คุณหญิงแล้วแจ้งยอดว่าวันนี้ขายได้เกือบสองร้อยเหรียญ ท่านมีสติดีที่จะได้ยินเขาพูดกัน แล้วยังกล่าวว่า ค่อยยังชั่ว ถ้าขายได้อย่างนี้ อีกสามสี่เดือนก็ฟื้นตัวแล้ว

04.28ของเช้าวันรุ่งขึ้น คุณหญิงได้ยินเสียงผิดปกติที่ไม่ใช่กรนก็ลุกขึ้นมาดูเห็นพระยาทรงแขนเกร็งอย่างอาการคราวมี่แล้ว ทุกคนถูกปลุกขึ้นมาช่วยกันนวดเฟ้น ทายาถูเนื้อถูตัวให้เกิดความร้อน แต่ท่านไม่สนองหรือตอบรับคำพูดใดๆ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 10, 12:03
นายแพทย์คนเดิมรีบมาในเวลาไม่ถึง45นาทีแล้วรีบลงมือจะดูดเลือดอย่างเคย ครั้งนี้เข็มไม่สามารถแทงเข้าในเส้นเลือดได้เพราะโลหิตแข็งตัวมาก แม้จะใช้ใบมีดโกนหนวดอันคมกริบกรีดนำ แล้วเอาเข็มแทงเส้นเข้าไปก็ดูดโลหิตออกมาไม่ได้ ด้วยความชำนาญหมอเปลี่ยนวิธีการใหม่โดยฉับพลัน จับคนไข้นอนคว่ำหน้าเอาใบมีดกรีดเป็นริ้วๆ ตลอดแผ่นหลัง แล้วใช้แก้วลนไฟไล่อากาศออกคว่ำครอบแผลไว้ พอแก้วเย็นก็จะเกิดแรงดูดขึ้นมาเอง เพียงสิบห้านาทีโลหิตใหลออกมาแผลละครึ่งแก้ว ข้นคลั่ก แต่อาการของพระยาทรงมิได้ดีขึ้น มีกระตุกเป็นระยะๆ กัดฟันแน่นจนขากรรไกรนูน น้ำลายฟูมปาก ปรากฎเสียงครอกๆในลำคอแผ่วเบาในระยะห่างๆ หัวใจเต้นอ่อนลงๆ ตามลำดับ

ถึงตอนนี้ นายแพทย์ได้แสดงอาการสิ้นหวัง เขากล่าวอำลาเจ้าของไข้อย่างเศร้าๆก่อนเดินไปขึ้นรถ ขับไปในความขมุกขมัวจากแสงอาทิตย์ย่ำรุ่ง ก่อนไปเขาแอบกระซิบกับร.อ.สำเร็จว่าพระยาทรงจะอยู่ได้ไม่เกินแปดโมงเช้า ต่อจากนั้นกายของท่านค่อยๆสงบลง เหลือเพียงการเต้นของหัวใจที่แผ่วมากแล้ว และในที่สุดก็หยุดนิ่งเมื่อเวลา 08.31น.วันที่ 1 มิถุนายน 2487

พระยาทรงสุรเดชถึงแก่กรรมบนเตียงไม้กระดานของท่านที่ปราศจากฟูกเพราะความยากจน สิ้นสุดชีวิตที่ผกผันขึ้นลง ที่ทรงไว้ซึ่งอำนาจและเสื่อมอำนาจ จากมีเป็นหมด แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนจนวันตายของท่านก็คือ ท่านไม่ยอมแพ้ต่อความชั่วที่จะดึงท่านลงต่ำ พระยาทรงสุรเดชสามารถรักษาศักดิ์ศรีของท่านไว้ได้จนถึงนาทีสุดท้าย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 10, 12:05
ศพของท่านถูกนำใส่โลงฝีมือชาวเขมรเพื่อนบ้านที่มาช่วยกันทำบุญออกแรงเลื่อยไม้ และประกอบเป็นโลงอย่างง่ายๆ ใส่รถบรรทุกศพเทียมม้าเดี่ยวที่ผอมเห็นซี่โครง ดอกไม้ประดับเป็นดอกไม้สดที่จัดขึ้นด้วยความรักภักดีเต็มเปี่ยมแม้จะพร่องด้วยฝีมือ ขบวนที่เดินตามศพไปสู่เมรุวัดปทุมวดีนั้น มีคนไทย16คน ชาวบ้านชาวเมืองมาสมทบไม่เกิน300 นอกจากคนเขมรแล้ว 10%ของจำนวนนั้นเป็นชาวฝรั่งเศสและญวน ขณะเริ่มการฌาปนกิจ ทหารเขมร1หมวดภายใต้บังคับบัญชาของนายทหารฝรั่งเศสกระทำวันทยาวุธ พร้อมเป่าแตรนอนอันโหยหวนให้เกียรติตามพิธีทหาร

ความหวังที่จะนำอัฐิของท่านกลับบ้านมีขึ้นหลังการสิ้นอำนาจของจอมพลป. ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองได้ร่วมมือกัน ส่งผู้แทนมารับอัฐิพันเอกพระยาทรงสุรเดชที่ชายแดนตำบลสวายดงแก้ว นำไปบำเพ็ญกุศลที่พระตะบองโดยท่านข้าหลวงและข้าราชการประชาชนร่วมเป็นเจ้าภาพ กรมรถไฟจัดรถพิเศษ1หลัง นำอัฐิของท่านเข้ากรุงเทพ แล้วทำพิธีบรรจุ ณ เจดีย์วัดประชาธิปไตย หรือวัดพระศรีมหาธาตุในปัจจุบัน

ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองสามท่านที่ร.อ.สำรวจ กาญจนสิทธิ์เขียนไว้ชัดเจนก็คือ

ผู้สำเร็จราชการฯ ปรีดี พนมยงค์
นายกรัฐมนตรี ควง อภัยวงศ์
อธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 12 ก.ค. 10, 12:11
น่าสงสารท่านจังเลยค่ะ
ต้องไปตกระกำลำบากแล้วยังไปเสียชีวิตต่างแดนอีก ยังดีที่อัฐของท่านยังได้กลับมาบ้านเกิดเมืองนอนนะคะ
สงสัย ขนมชั้นญวนจาก รอ.เล็ก มีปัญหาอะไรบางอย่าง ถึงทำให้ท่านมีอาการดังกล่าว..


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 10, 12:16
ได้เวลาผมต้องเบรคอาหารกลางวันอีกแล้ว
ระหว่างนี้จะให้เวลาท่านผู้อ่านหายใจหายคอ
ผู้ใดจะหยิบทิชชู่ขึ้นมาซับน้ำตาก็เชิญกระทำซะ

ตอนต่อไปเราจะมาดูที่มาที่ไปของร.อ.เล็ก
และถ้าร.อ.เล็กถูกสั่งมา เราจะช่วยกันวิเคราะห์ว่าใครเป็นผู้สั่ง? ?

อย่าพลาด...!  โปรดติดตาม

แอ่น..แอน.....แอ้นนน


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 12 ก.ค. 10, 12:25
 ;D รอติดตามตอนต่อไปค่ะ

ดีนะคะได้ทราบไคลแมกซ์ของเรื่องนี้ ก่อนจะยื่นใบลากิจในวันสองวันข้างหน้านี้
ไม่งั้นคงเหมือนขาดอะไรไปซักอย่าง บอกไม่ถูกค่ะ   :D


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 10, 12:42
ตอนนี้ก็ได้แต่หวังว่าจะมีคุณหมอเข้ามาอ่านสักท่าน     หรือใครมีเพื่อนเป็นหมอก็ฝากถาม พร้อมส่งอาการเจ้าคุณทรงสุรเดชให้ทราบด้วย  เผื่อคุณหมอจะชี้แจงให้หายข้องใจ
ส่วนหมอเถื่อนอย่างดิฉันก็ทำได้แค่ไปเปิดเว็บไซต์หาว่าโรคโลหิตเป็นพิษ คืออะไร  รู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยถามหมอสักที    หมอกู๊กตอบมาว่า
โลหิตเป็นพิษ หมายถึง ภาวะที่เชื้อ หรือพิษของแบคทีเรียแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดทั่วร่างกาย ถือเป็นภาวะที่มีอันตรายร้ายแรงมาก อาจทำให้เกิดภาวะช็อกถึงตายได้
 
สาเหตุ มักเป็นผลแทรกซ้อนของโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ไม่ได้ให้ยารักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่แรก หรือพบในผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ (เช่น เป็นมะเร็ง หรือกินยาสเตอรอยด์นาน ๆ ) โรคติดเชื้อที่อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษ ที่พบได้บ่อย เช่น โรคติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ , ปอดอักเสบ , เยื่อบุช่องท้องอักเสบ , ปีกมดลูก หรือมดลูกอักเสบ , ถุงน้ำดีอักเสบ , ท่อน้ำดีอักเสบ , ไข้ไทฟอยด์ , เยื่อบุหัวใจอักเสบเรื้อรัง , บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกรุนแรง , โรคติดเชื้อแบคทีเรียของผิวหนัง เป็นต้น
 
อาการ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น อาจจับไข้ตลอดเวลาหรือไข้สูงเป็นพัก ๆ ซึม กระสับกระส่าย เบื่ออาหาร ซีด เหลือง (ดีซ่าน) อาจมีจุดแดง จ้ำเขียวขึ้นตามตัว หรือมีเลือดออกตามที่ต่าง ๆ เช่น เลือดกำเดา เลือดออกตามไรฟัน อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด เป็นต้น ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะเกิดภาวะช็อก คือ ความดันเลือดตกหายใจหอบ และปัสสาวะออกน้อย ในที่สุดจะเกิดภาวะไตวาย และตายได้
 
บ่ายหน้าไปถนนเบเกอร์ ปรึกษาเชอร์ล็อคโฮล์มส์    ก็ได้คำแนะแนวว่า ปลายเดือนเมษายน ร้อยเอกเล็กผู้ลึกลับมาเยี่ยมคารวะท่าน  วันรุ่งขึ้นจากที่มาเยี่ยม  ร้อยเอกเล็กซื้อขนมชั้นญวนมาให้พระยาทรงฯ ท่านรับประทาน  จากนั้นร้อยเอกเล็กก็อยู่ในบ้านท่านอีก เกือบสัปดาห์ก่อนลากลับประเทศไทย
แปลว่าการกินขนมชั้นญวน กินตั้งแต่ปลายเมษา  แต่กว่าอาการของพระยาทรงฯจะปรากฏ ปาเข้าไป ๑๗ พฤษภาคม    ถ้าขนมชั้นมียาพิษ จนพิษแพร่เข้าไปในกระแสเลือด  มันน่าจะส่งผลภายใน ๒๔ ช.ม.  ตั้งแต่ร้อยเอกเล็กยังอยู่ในบ้านท่าน   ไม่น่าจะผ่านมาอีกตั้งเกือบ ๒๐ วัน
เมื่อมีอาการครั้งแรก ว่าโลหิตเป็นพิษ  มันน่าจะมาจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่ขนมชั้น         



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: yanang ที่ 12 ก.ค. 10, 12:44
รอติดตามอย่างใจจดใจจ่อ พร้อมกับสแกนหนังสือไปด้วย เพื่อไม่ให้เสียเวลา
เผื่อจะมีข้อมูลใดมา"ชน"ให้อาจารย์ได้นำมาย่อยให้ฟังอีก  ;D


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 10, 12:50
ส่วนร้อยเอกเล็กมาทำอะไรในบ้านท่าน     อ่านจากข้อมูลแล้วก็อยากจะฟันธงโดยไม่ต้องพึ่งคุณปลาหมึกพอล ว่าร้อยเอกเล็กเป็นสายลับถูกส่งมาดูความเคลื่อนไหวอย่างละเอียดชนิดถึงก้นครัว       ไม่ใช่แค่มาด้อมๆมองๆอยู่ข้างบ้าน  แล้วจดรายละเอียดกลับไปบอกนาย
การอ้างว่าไปเรียนที่ญี่ปุ่นอาจเป็นข้ออ้าง    จริงๆแล้วเดินทางมาทางรถไฟ กลับไปทางรถไฟ  เมื่อเสร็จภารกิจ ได้ข้อมูลกลับไปแล้วก็แล้วกัน  ไม่ต้องเกี่ยวข้องกันอีก   จึงไม่มีจดหมายจากเมืองไทยกลับมาดังที่สัญญาไว้   ไม่แปลกอะไรที่ร้อยเอกเล็กก็หายสูญไป  ไม่มีคนในครอบครัวท่านได้ข่าวคราวอีกเลย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 10, 13:23
แอ่น..แอน.....แอ้นนน


เจอแล้วครับ เรียบเรียงโดยนายสุพจน์ ด่านตระกูลก็จริง แต่เป็นสำนวนคำให้การของอดุลล้วนๆที่ศาลบันทึกเสีย 80% ที่เหลือเป็นคำไว้อาลัยคัดมาจากหนังสืองานศพของท่านเอง

อ่านผ่านๆไปรอบนึง ถ้าจะให้สรุปที่ท่านให้การเกี่ยวกับจอมพลป.ว่าเป็นเสรีไทยระดับก่อตั้งหรือไม่ คำตอบคือ..ไม่


แต่ละหน้าข้อมูลเพียบ เดี๋ยวจะค่อยๆทยอยออกมาให้อ่านกัน


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 10, 13:45
ท่านอาจารย์เทาชมพูเข้าไปถามหมอกู๊กมาเหมือนกันเลย ถ้าไปถามว่าโลหิตเป็นพิษคืออะไร หมอกู๊กจะเรียงคำตอบให้พรึ่ดไปหมดว่าเป็นโรคติดเชื้อ ประมาณคล้ายๆกับโรคเอดส์ ผมมาคิดๆดูถ้าเราจะเชื่อหมอกู๊กอย่างนั้น มันจะไม่เป็นการปรักปรำพระยาทรงท่านไปหน่อยรึ เอดส์มันระบาดจากโสเภณีหรือพวกกระเทียม ท่านก็แก่แล้ว แถมยากจนคงหมดมู๊ดที่จะไปซุกซนอย่างงั้น

ผมเลยลองเปลี่ยนคำถามดู ใช้คำว่าเลือดข้น มีคำตอบหนึ่งออกมาอาการใกล้เคียงกับอาการของท่านที่ร.อ.สำรวจเขียนไว้ แต่กลายเป็นห้องหมอแผนโบราณไม่ใช่แผนฝรั่ง

ผมเลยคิดถึงคุณหมอเล่นเน็ตทั้งหลายไงครับ ไม่มีสักรายที่เป็นแฟนเรือนไทยเลยหรือนี่

ความดันต่ำอาจจะเนื่องมาจากโลหิตข้น เพราะมีสารพิษในร่างกาย เป็นผลทำให้หัวใจทำงานหนักเพราะโลหิตข้น กล้ามเนื้อจะเกร็ง เพราะมีปัญหากับระบบไหลเวียนโลหิต อาการปวดหัว ปวดตา ปวดท้ายทอย เป็นแนวเส้นเดียวกันที่เกิดจากลมอั้น ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตัว
 
ขอตอบตามข้อมูลที่คุณให้ คุณควรล้างสารพิษในร่างกายเพื่อให้โลหิตหายข้น จะใช้ใบรางจืด 15 ใบ ต้มน้ำดื่ม หรืออาจใช้ใบย่านาง ตำผสมน้ำซาวข้าวดื่ม ทานน้ำอุ่นมากๆตั้งแต่เช้าถึงเย็น เลิกดื่มน้ำอัดลม อาหารทอด อาหารมัน อาหารเผ็ดจัด ถ้าท้องผูก ให้ทานยาระบายสมุนไพร ทานยาหอมบำรุงหัวใจ (ยาหอมอย่างดี ราคาแพง) ใช้น้ำมันงาบริสุทธิ์ หรือน้ำมันนวด นวดบริเวณกล้ามเนื้อคอตั้งแต่กล้ามเนื้อไหล่ขึ้นไปจนถึงท้ายทอย  กล้ามเนื้อคอ หลังใบหู

ถ้าไม่ดีขึ้น ขอให้พบแพทย์ค่ะ  


มีใบย่านาง ไม่ได้สะกดว่าหญ้านางซะด้วย คุณย่านางคร้าบ..งาน….เข้าวววววว          



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ก.ค. 10, 13:56
มีซุบหน่อไม้ ก็ต้องมีใบย่านาง  ;)

(http://i263.photobucket.com/albums/ii157/kohrmet/551000014093301.jpg)

http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/ใบย่านาง (http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/ใบย่านาง)


ส่วนเรื่อง โลหิตเป็นพิษ หรือ septicemia หาความรู้ได้จากคุณวิกกี้ http://th.wikipedia.org/wiki/ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (http://th.wikipedia.org/wiki/ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)

 ;D


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 10, 13:59
น่าน้อยใจจริงว่าเรือนไทยหาสมาชิกหมอไม่ได้สักคน  จะไปตามนักฟิสิกส์อย่างคุณจ้อคุณเปี้ยวคุณอ๊อฟมาจากวิชาการ   ก็ไม่รู้ว่าจะมาตรวจได้หรือเปล่า  หรือต้องแยกสารเคมีก่อน
ดิฉันเข้าใจว่าโรคโลหิตเป็นพิษเกิดจากติดเชื้อในกระแสโลหิต   การติดเชื้อนั้นก็ติดเชื้อแบคทีเรียได้  ไม่ต้องเป็นโรคอะไรลึกล้ำอย่างที่คุณนวรัตนว่ามา  นั่นก็เป็นได้  แต่เป็นโรคธรรมดาเช่นท้องเสียท้องร่วงก็ได้  
เร็วๆนี้ ขอเอ่ยถึงด้วยความเคารพและเสียดายยิ่ง ว่าคุณกำธร สุวรรณปิยะศิริ   เจ้าของเสียง " หวังเฉาหม่าฮั่น นำเครื่องประหารหัวมังกร..."  ท่านป่วยเข้าร.พ.   คุณนันทวัน เมฆใหญ่ภรรยาท่าน ให้สัมภาษณ์ว่าท่านท้องเสียอย่างแรง เข้าร.พ.แล้วพบว่าเชื้อ(น่าจะเป็นแบคทีเรียจากโรคทางเดินอาหาร) เข้าไปในกระแสเลือด  ทำให้ท่านเสียชีวิตกะทันหันในแค่สองสามวัน
แต่อาการของเจ้าคุณทรงฯที่ว่าเลือดข้น น่าจะเป็นคนละโรคกัน      เห็นวิธีกรีดเนื้อเถือหนังคนไข้ของหมอฝรั่งในเขมรแล้วสยองขวัญจริงๆ ถ้ารอดจากเลือดข้นมาได้จะรอดจากพิษบาดแผลไหมเนี่ย
ส่วนเลือดข้นนี่จนปัญญา   ขอตัวไปหาคุณย่านางจากภาพที่คุณเพ็ญชมพูส่งมา  เอาไปต้มก่อน เผื่อจะรักษาได้ผล

คุณเพ็ญชมพู   เห็นรอบรู้สารพัด   ตั้งแต่หนังสือเก่าหายาก ไปจนแตงกวาทะเล     ไม่มาช่วยอธิบายเรื่องโรคเลือดข้นบ้างหรือคะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: yanang ที่ 12 ก.ค. 10, 14:01
แหม..มีเอี่ยวกับเค้าด้วยนิด ๆ หน่อย ๆ โดยไม่รู้ตัว  ;D

อาจารย์นวรัตน์คะ ตอนนี้สแกนไป ก็อ่านไปด้วยว่า ข้อมูลที่จะส่งให้นั้นมันทำเรื่องที่คุยกันอยู่เดินหน้าได้ หรือเป็นเพียงข้อมูลประกอบเรื่องที่อาจารย์ทั้งหลายกล่าวมาแล้วก็ชักไม่แน่ใจนะคะ  แต่จะอย่างไรก็จะส่งให้ลองพิจารณาดูก่อนบางส่วน ว่าเป็นข้อมูลทั่วไปหรือพอจะเป็นประโยชน์ได้ ตอนนี้ดิฉันมีแอดเดรสของอาจารย์เทาชมพูแล้ว เหลือแต่ของอาจารย์นวรัตน์ค่ะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ก.ค. 10, 14:22
ดิฉันเข้าใจว่าโรคโลหิตเป็นพิษเกิดจากติดเชื้อในกระแสโลหิต   การติดเชื้อนั้นก็ติดเชื้อแบคทีเรียได้  ไม่ต้องเป็นโรคอะไรลึกล้ำอย่างที่คุณนวรัตนว่ามา  นั่นก็เป็นได้  แต่เป็นโรคธรรมดาเช่นท้องเสียท้องร่วงก็ได้  

คุณหมอวิกกี้ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้

ภาวะพิษเหตุติดเชื้อรุนแรง (Severe sepsis) เกิดเมื่อภาวะพิษเหตุติดเชื้อทำให้อวัยวะทำงานผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำ หรือเลือดเลี้ยงอวัยวะไม่เพียงพอ (ซึ่งทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดแล็กติก การสร้างปัสสาวะลดลง หรือระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง) ภาวะพิษเหตุติดเชื้ออาจทำให้เกิดช็อกเหตุพิษติดเชื้อ (หรือเซ็ปติก ช็อก) กลุ่มอาการการทำหน้าที่ผิดปกติของหลายอวัยวะ และเสียชีวิต การล้มเหลวของอวัยวะเป็นผลจากความดันโลหิตต่ำที่ถูกกระตุ้นโดยภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (ความดันโลหิตต่ำกว่า ๙๐ มิลลิเมตรปรอท หรือลดลงจากฐานเดิมมากกว่า ๔๐ มิลลิเมตรปรอท) และภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย (Disseminated intravascular coagulation) หรือจากสาเหตุอื่น ๆ

ภาวะเลือดมีแบคทีเรีย (Bacteremia) หมายถึงภาวะที่มีแบคทีเรียที่มีชีวิตอยู่ในกระแสเลือด ในทำนองเดียวกันภาวะเลือดมีไวรัส (viremia) และภาวะเลือดมีเชื้อรา (fungemia) ก็มีความหมายตามตัวคือภาวะที่มีไวรัสและเชื้อราอยู่ในกระแสเลือดตามลำดับ คำเหล่านี้ไม่ได้อธิบายถึงผลที่ตามมาที่เกิดขึ้นต่อร่างกาย ตัวอย่างเช่นในระหว่างการแปรงฟันอาจชักนำให้มีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปในกระแสเลือดได้ ภาวะเลือดมีแบคทีเรียแบบที่ยกตัวอย่างนี้แทบจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาในคนปกติ แต่สำหรับในประชากรกลุ่มเสี่ยงภาวะเลือดมีแบคทีเรียที่เกิดจากหัตถการทางทันตกรรมบางอย่างอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่ลิ้นหัวใจได้ (หรือที่รู้จักกันว่าเยื่อบุหัวใจอักเสบ (endocarditis))  ในทางกลับกันกลุ่มอาการตอบสนองต่อการอักเสบทั่วร่างกายอาจเกิดได้ในผู้ป่วยโดยไม่มีการติดเชื้อมาก่อน เช่นในผู้ป่วยแผลไหม้ การบาดเจ็บหลายแห่งหรือรุนแรง หรือในภาวะแรกของตับอ่อนอักเสบ (pancreatitis) และปอดอักเสบจากสารเคมี (chemical pneumonitis)

http://th.wikipedia.org/wiki/ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (http://th.wikipedia.org/wiki/ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)


คุณเพ็ญชมพู   เห็นรอบรู้สารพัด   ตั้งแต่หนังสือเก่าหายาก ไปจนแตงกวาทะเล     ไม่มาช่วยอธิบายเรื่องโรคเลือดข้นบ้างหรือคะ

เรื่องโรคเลือดข้นนี่ เป็นคนละเรื่องกับโลหิตเป็นพิษแน่นอน

ลองอ่านคำตอบเรื่องโรคเลือดข้น (polycythema vera) จากคุณยาฮู  http://th.answers.yahoo.com/question/index?qid=20080312210357AAY6G1w (http://th.answers.yahoo.com/question/index?qid=20080312210357AAY6G1w)

 ;D



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 10, 14:37
โรคเลือดข้น ไม่ใช่โรคติดเชื้อใช่ไหมคะ    ถ้าไม่ใช่  ก็เป็นไปไม่ได้ที่ใครวางยาพระยาทรงสุรเดช  จนกระทั่งทำให้เกิดโรคเลือดข้นขึ้นมา


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 10, 14:50
จะเลือดติดเชื้อหรือเลือดข้น เดี๋ยวค่อยว่ากัน

แต่ความเจ็บป่วยของพระยาทรงภายในครึ่งเดือนโดยประมาณหลังจากที่ร.อ.มาพบกันในวันแรกนั้น ไม่ใช่เรื่องปกติของผู้ชายวัย51-52ที่ยังสุขภาพแข็งแรง ตลอดหกปีที่สมบุกสมบันในอินโดจีนมาก็ไม่เคยเจ็บป่วยถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อ จากวันที่หน้ามืดคว่ำหน้าลงไปฟาดจักรยาน เพียง 15วันก็ถึงแก่กรรม ลูก เมีย ลูกน้องของท่านก็ต้องสงสัย
 
คนแรกที่ให้ข้อมูลแก่ร.อ.สำรวจก็คือ พันโท หลวงจรูญฤทธิไกร เล่าให้ฟังว่าร.อ.เล็กไปพบกับท่านหลังเดินทางมาจากโตเกียวเพื่อสอบถามว่าจะมาพบพระยาทรงได้อย่างไร หลวงจรูญได้บอกที่อยู่ให้และแนะนำว่าที่พนมเปญนั้นควรพักในโรงแรมอะไร เพราะบ้านของพระยาทรงมีคนอยู่แยอะและค่อนข้างคับแคบ คนไทยคนอื่นก็ล้วนอยู่อย่างยากจน ไม่ควรจะไปรบกวนกันในเรื่องของที่อยู่

แต่ก็ปรากฏแล้วว่าร.อ.เล็กก็ทำไขสือ เพราะเขาปรารถนาจะอยู่ใกล้ชิด รู้ความเป็นไปในทุกอิริยาบท ทุกตื้นลึกหนาบาง ทำไมเล่า ท่านอาจารย์เทาชมพูก็เฉลยให้ฟังแล้ว เขาต้องการไปรายงานเจ้านาย คำสัญญาว่าจะส่งข่าวทันทีที่กลับบ้านปลอดภัยแล้ว สัญญาว่าจะไม่ลืมท่านและครอบครัว ไม่ลืมรุ่นน้องที่สละห้องนอนให้เป็นห้องพักในระหว่างที่เขามาทัศนาจรพนมเปญ เป็นแค่ลมปากให้ผู้ที่จิตใจใสซื่อตายใจ เมื่ออัฐิพระยาทรงถึงเมืองไทย ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และนายกรัฐมนตรีได้ร่วมเป็นประธานจัดงานบำเพ็ญกุศลให้ ณ วัดพระศรีมหาธาตุ หนังสือพิมพ์ วิทยุออกข่าวเอิกเริก ทหาร ประชาชนที่รู้จักท่านได้ไปร่วมงานเป็นจำนวนร้อยพัน แต่ไม่มีใครได้เห็นหน้าผู้ที่อ้างตนเป็นศิษย์เอกผู้นั้น

แต่เหตุผลทั้งหมดยังขาดที่สำคัญที่สุด

สิบปีต่อมาร.อ.สำรวจ กาญจนสิทธิ์ได้เข้าศึกษาโรงเรียนเสนาธิการทหารบก เพื่อนนายทหารคนหนึ่งได้รื้อฟื้นความจำให้ฟังว่า ประมาณปี2476 ขณะที่พันเอกพระยาทรงสุรเดชดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกฝ่ายยุทธการ สมัยนั้น ทหารมีวินัยเข้มแข็งเพราะความเด็ดขาดของท่าน ครั้งหนึ่งท่านได้มีคำสั่งด่วนให้นายทหารยศร้อยตรีคนหนึ่งออกจากราชการภายใน24ชั่วโมง ฐานกระทำความผิดชู้สาว ซึ่งทหารถือว่าเป็นความผิดขั้นรุนแรง ไร้ศีลธรรม และทำให้เสื่อมเกียรติถึงสถาบัน

ร้อยตรีผู้นั้นคือ ร.อ.เล็ก(นามสมมุติ)

ในปีต่อมาพันเอกพระยาทรงสุรเดชสละอำนาจ ลาออกจากตำแหน่งทางราชการทหาร ร้อยตรีคนนี้ได้วิ่งเข้าหานายทหารชั้นผู้ใหญ่อีกคนหนึ่ง ผู้มีอำนาจ แต่มีแนวคิดตรงข้ามกับพระยาทรงสุรเดช และได้กลับเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่ง ต่อมาได้เลื่อนยศเป็นร้อยเอก
ร.อ.สำรวจ กาญจนสิทธิ์ สรุปในย่อหน้าสุดท้ายของบทนี้ว่า วงการทหารญี่ปุ่น และอินโดจีนฝรั่งเศส ก็เข้าใจว่า ความตายของพันเอกพระยาทรงสุรเดชมีความลึกลับ น่าสงสัยจะถูกวางยาพิษ หรือ “ยาสั่ง”

ซึ่งร.อ.สำรวจ กาญจนสิทธิ์คิดว่า มันอาจจะเป็นไปได้




กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 10, 15:20
ประเด็นที่เราควรจะบริหารสมองกันต่อก็คือ

1 ท่านเป็นโรคปัจจุบันขึ้นมา
2 หรือท่านถูกวางยาพิษ

ถ้าถูกวางยาพิษ ใครเป็นผู้สั่งการ
2.1 ก ข ค (หรือ ง)
2.2 ก+ข  ก+ค  ข+ค
2.3 ก+ข+ค

3 (สำคัญที่สุด) ใครคือ ก ข ค (หรือ ง)


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 10, 15:26
เริ่มตื่นเต้นระทึกใจกับข้อมูลของร้อยเอกเล็ก
ยังเชื่อว่า ร้อยเอกเล็กถูกเจ้านาย(ซึ่งก็เคยมีบุญคุณกันมาก่อน)ใช้มาสืบเรื่องพระยาทรงสุรเดช  ท่านถึงแก่กรรมในปี 2487 ไทยยังอยู่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2    เป็นยุคที่ขบวนการเสรีไทยเคลื่อนไหวกันในประเทศไทยแล้ว    อาจมีผู้ใหญ่เข้าใจว่าพระยาทรงฯเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อกลับมามีอำนาจอีกครั้ง
ขนมชั้นที่ร้อยเอกเล็กซื้อมาฝาก  ถ้ามียาอะไรสักอย่างอยู่ในนั้น ก็คงเป็นยาที่ออกฤทธิ์หลังจากเขากลับไปประเทศไทยแล้ว    ถ้าเป็นยาพิษที่ส่วนใหญ่ออกฤทธิ์ภายใน ๒๔ ช.ม.  ร้อยเอกเล็กอาจถูกสงสัยได้
เคยได้ยินมาว่ายาสั่งคือยาที่ตัวของมันเองไม่มีพิษสง   แต่จะออกฤทธิ์   เมื่อเหยื่อกินอาหารอีกอย่างเข้าไป  พอผสมกันในร่างกายนั่นแหละ มันก็ออกฤทธิ์ขึ้นมาอย่างแรง   แต่ข้อนี้ไม่ยืนยันเพราะเกิดมาก็ไม่เคยเห็นยาสั่ง
ถ้าหากว่ามีการวางยาพิษจริง  เป็นไปได้ไหมว่าไม่ได้มาจากขนมชั้นนั่นหรอก  แต่ก่อนลากลับ ร้อยเอกเล็กอาจจะแสดงน้ำใจไปซื้อของแห้งในตลาดมาให้คุณหญิงทรงสุรเดชเอาไว้ทำกับข้าว    ของพรรค์นี้มันแนบเนียนและธรรมดาจนไม่มีใครทันสังเกต   มันจะแปลกตรงไหนถ้าแขกผู้มาพักอาสาไปซื้อกับข้าวให้แม่บ้าน   แล้วก็บอกว่าไม่คิดเงิน เพื่อตอบแทนพระคุณท่านที่ให้ที่พักที่กินมาหลายวัน
ของนั้นต้องเป็นของแห้ง ไม่ใช่ของสด  เพราะพระยาทรงฯ มีอาการป่วยครั้งแรกหลังจากร้อยเอกเล็กกลับไปแล้วร่วม ๒๐ วัน

ถ้าเป็นอย่างนั้น ร้อยเอกเล็กก็ต้องแน่ใจว่าอาหารแห้งที่เขาซื้อ เป็นอาหารที่พระยาทรงกินแน่นอน และกินคนเดียวด้วย   ไม่งั้นพลาดไปเจอคุณหญิงทรง หรือทหารคนอื่นกิน   คนนั้นก็เกิดอาการขึ้นมาแทน   จะไม่ได้ผลตามแผนการณ์


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 10, 15:29

ถ้าถูกวางยาพิษ ใครเป็นผู้สั่งการ
2.1 ก ข ค (หรือ ง)
2.2 ก+ข  ก+ค  ข+ค
2.3 ก+ข+ค

3 (สำคัญที่สุด) ใครคือ ก ข ค (หรือ ง)

ถามกลับ  ใครได้ประโยชน์ (หมายถึงผลในทางบวก )จากมรณกรรมของพระยาทรงสุรเดช?
ถามกลับอีกข้อ  ใครเป็นเจ้านายของร้อยเอกเล็กในปี 2487


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 10, 15:43


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 10, 15:48
งั้น  ก ก็เป็นผู้ต้องสงสัยอันดับ ๑


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 10, 15:55
แต่อาบูแจ้งว่า ผู้ที่รู้ว่าพระยาทรงอยากจะเคลื่อนไหวต้านญี่ปุ่น เป็นบุคคล2คน อยู่คนละขั้ว

มันน่าจะเป็นใครหรือครับ

ข+ค หรือเปล่า


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ก.ค. 10, 16:04
หลังสงครามจบลง นายพันเอกหลวงพิบูลฯต้องพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และถูกดำเนินคดีอาชญากรสงคราม นายพันเอกพระยาทรงฯซึ่งนับวันเดือนปีจะได้กลับสู่มาตุภูมิก็กลับไม่มีโอกาสนั้นเลย เมื่อมีนายทหารไทยคนหนึ่งอ้างว่าไปศึกษาที่ญี่ปุ่นก่อนกลับไทยเลยแวะมาเยี่ยม แล้ววางยาพิษพระยาทรงตายด้วยความทรมานอนาถา และจัดทำศพเยี่ยงคนไร้ญาติ โดยถึงแก่อนิจกรรมลงในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ที่ตำหนักร้างในกรุงพนมเปญ ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่าเสียชีวิตด้วยอาการโลหิตเป็นพิษ

ทส.พระยาทรง เขียนไว้ให้แปลความระหว่างบรรทัดว่า จอมพลป.อาจจะอยู่เบื้องหลังความตาย เพราะเมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพายุติลง จอมพลป.ถูกดำเนินคดีอาชญากรสงคราม หากพระยาทรงได้กลับไทยและกลับสู่อำนาจ อาจเป็นอันตรายต่อจอมพลป.ได้ กระดูกของพระยาทรงฯกลับถึงประเทศไทย พร้อมกับบันทึกส่วนตัวที่กล่าวถึงการปฏิวัติ ๒๔๗๕ และกลายมาเป็นหนังสือชื่อ "ชีวิตในต่างแดนของพระยาทรงฯ"

ข้อมูลจากคุณใต้หล้า
http://writer.dek-d.com/hearfern/writer/viewlongc.php?id=248590&chapter=44


 คือ  ?

 ???


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 10, 16:09
แต่อาบูแจ้งว่า ผู้ที่รู้ว่าพระยาทรงอยากจะเคลื่อนไหวต้านญี่ปุ่น เป็นบุคคล2คน อยู่คนละขั้ว

มันน่าจะเป็นใครหรือครับ

ข+ค หรือเปล่า
คนที่ร่วมอุดมการณ์เดียวกัน  ไม่มีเหตุผลอะไรจะต้องกำจัดกัน ก่อนอุดมการณ์บรรลุเป้าหมาย

  คือ   ?

 ???

หุหุ  อาจเป็น  ษ  ห  ฬ ฮ    ไม่จำกัดตัวย่อ
เดี๋ยวก็ต้องสอนคุณเพ็ญชมพู ว่าด้วยวิชาจุดจุดจุดจุด อีกหรอก


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 12 ก.ค. 10, 16:11
น่าน้อยใจจริงว่าเรือนไทยหาสมาชิกหมอไม่ได้สักคน  

อาจารย์ครับ ผมขอสารภาพบาปครับ ผมเป็นหมอครับ ไม่ธรรมดาด้วย เพราะผมจบเฉพาะทางด้านผ่าตัดหัวใจ  :-[
แต่ผมละทิ้งงานด้านรักษาพยาบาลมาประมาณ ๕ ปีแล้ว
วันนี้ก็มัวแต่ประชุม เลยรออ่านกระทู้นี้ตอนเลิกงาน

เดี๋ยว อ่านจบแล้วมีประเด็นอะไรทางการแพทย์ที่ผมช่วยได้ ผมจะช่วยเพิ่มเติมให้ครับ  :)


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 10, 16:17
ไชโย หมอมาแล้ว ๑ คน
ทิ้งงานรักษาพยาบาลไป ๕ ปี คุณหมอยังจำอาการโรคต่างๆได้แน่นอนค่ะ ดิฉันเชื่อ  หรือไปรื้อฟื้นตำราลงมาจากชั้นเสียหน่อยก็ได้
ได้มาช่วยไขข้อข้องใจให้พวกเราสักครั้ง 
ดิฉันรบกวนคุณเพ็ญชมพู มาตั้งแต่หาสัตว์ประหลาดบนดินบนอากาศ ในทะเล ไปจนกระสือสีชมพูใต้น้ำ  ต้องมาหาโรคเลือดข้นให้อีก คงจะเหนื่อยเต็มที


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 10, 16:22
หลังสงครามจบลง นายพันเอกหลวงพิบูลฯต้องพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และถูกดำเนินคดีอาชญากรสงคราม นายพันเอกพระยาทรงฯซึ่งนับวันเดือนปีจะได้กลับสู่มาตุภูมิก็กลับไม่มีโอกาสนั้นเลย เมื่อมีนายทหารไทยคนหนึ่งอ้างว่าไปศึกษาที่ญี่ปุ่นก่อนกลับไทยเลยแวะมาเยี่ยม แล้ววางยาพิษพระยาทรงตายด้วยความทรมานอนาถา และจัดทำศพเยี่ยงคนไร้ญาติ โดยถึงแก่อนิจกรรมลงในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ที่ตำหนักร้างในกรุงพนมเปญ ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่าเสียชีวิตด้วยอาการโลหิตเป็นพิษ

ทส.พระยาทรง เขียนไว้ให้แปลความระหว่างบรรทัดว่า จอมพลป.อาจจะอยู่เบื้องหลังความตาย เพราะเมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพายุติลง จอมพลป.ถูกดำเนินคดีอาชญากรสงคราม หากพระยาทรงได้กลับไทยและกลับสู่อำนาจ อาจเป็นอันตรายต่อจอมพลป.ได้ กระดูกของพระยาทรงฯกลับถึงประเทศไทย พร้อมกับบันทึกส่วนตัวที่กล่าวถึงการปฏิวัติ ๒๔๗๕ และกลายมาเป็นหนังสือชื่อ "ชีวิตในต่างแดนของพระยาทรงฯ"

ข้อมูลจากคุณใต้หล้า
http://writer.dek-d.com/hearfern/writer/viewlongc.php?id=248590&chapter=44


 คือ  ?

 ???

ไม่ขอลงความเห็นตามคุณใต้หล้า     เพราะอยากจะแกะรอยตั้งแต่อาการป่วยของพระยาทรงฯ ไปจนอาการหนักวันสุดท้าย   อย่างน้อยก็ต้องให้ความยุติธรรมแก่ผู้ต้องสงสัย อย่างร้อยเอกเล็ก และนายของเขาบ้าง
มันก็เป็นไปได้ว่า พระยาทรงฯท่านป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บธรรมดา จากความตรากตรำมานานหลายปีเต็มที  โดยไม่รู้มาก่อนว่ามีโรคร้ายแอบแฝงอยู่ เจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆ ท่านก็ไม่คำนึงถึง   จนมันหนักถึงแสดงอาการขั้นสุดท้ายออกมา
ส่วนเรื่องการสืบราชการลับของร้อยเอกเล็ก  ก็เป็นเพียงการสืบข่าวคราวความเคลื่อนไหวของท่านโดยละเอียดเท่านั้น


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 10, 16:24
ถามกลับ  ใครได้ประโยชน์ (หมายถึงผลในทางบวก )จากมรณกรรมของพระยาทรงสุรเดช?

คนที่มีอำนาจสูงสุดทางการเมืองแบบผู้เผด็จการ ย่อมได้ประโยชน์หากศัตรูทางการเมืองสิ้นชีพไปจากโลกได้ หมดทุกคนยิ่งดี

ถามกลับอีกข้อ  ใครเป็นเจ้านายของร้อยเอกเล็กในปี 2487  

เจ้านายตามลำดับขั้น ก็ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
ผู้เป็นเจ้าพระเดชนายพระคุณของร้อยเอกเล็กในปี 2477

บุญคุณต้องทดแทน แค้นต้องชำระ

คุณเพ็ญชมพูครับ ใครคือคนนี้ สมมุติให้ชื่อ ก ก็แล้วกัน อักษรอีกตัวมันมีหาง


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 12 ก.ค. 10, 16:29
ขอแก้ความเห็นของท่านอาจารย์เทาชมพูเรื่องหลวงหาญสงครามครับ

พลตรี หลวงหาญสงครามนั้น ท่านชื่อเดิม  ฟ้อน  สุวรรณไศละ ต่อมาเปลี่ยนเป็น พิชัย  หาญสงคราม  ในสงครามเชียงตุงนั้นคุณหบวงหาญ เป็น ผบ.พล.๓  สุดท้ายท่านได้รับพระราชทานยศเป็น พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก  บุตรของท่านคนหนึ่ง คือ พล.อ.อ.เกริกชัย (โชคพิชัย)  หาญสงคราม

ส่วนแม่ทัพพายัพนั้น คือ พล.ผิน  ชุณหะวัน  ที่ต่อมาได้รับพระราชทานยศเป็นจอมพลผิน  ชุณหะวัน และเป็นบิดาท่านนายกชาติชาย  ชุณหะวัน


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 10, 16:32
เริ่มรายการปั่นกระทู้ ร้อยคำถาม
หลักฐานที่โยงเข้าไปใกล้ตัวคุณ ก มากที่สุดคือเขาเป็นนายของร้อยเอกเล็ก     ถ้าคนที่ไปเยี่ยมเป็นนายเล็ก หรือร.ต.อ. เล็ก  หลักฐานก็คงชี้ไปอีกทางหนึ่ง
แต่อาการป่วยของเจ้าคุณก็ไม่เหมือนถูกวางยาพิษเลยนะคะ    
นอกจากนี้ ตั้งแต่ท่านเริ่มป่วยเมื่อ ๑๗ พ.ค.  จนถึงวันที่ท่านถึงแก่อนิจกรรม   ร้อยเอกเล็กแกก็อยู่ห่างจากท่านเป็นพันกิโลเมตรแล้ว
ถ้าแกยังป้วนเปี้ยนแอบอยู่ข้างบ้าน ดอดมาใส่ยาในสำรับกับข้าวบ้านท่าน   ก็ต้องใส่ตอนกลางวันเพราะท่านคงไม่กินข้าวเอาตอนสองยาม  คนในบ้านซึ่งอยู่กันคึกคักหนาตาก็ต้องเห็นเข้าบ้างละ  บ้านหลังแค่นั้น

ชนกลางอากาศกับคุณ V_Mee ขอบคุณที่มาแก้ไขให้ถูกต้องค่ะ   


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 10, 16:34
อ้างถึง
ไม่ขอลงความเห็นตามคุณใต้หล้า     เพราะอยากจะแกะรอยตั้งแต่อาการป่วยของพระยาทรงฯ ไปจนอาการหนักวันสุดท้าย   อย่างน้อยก็ต้องให้ความยุติธรรมแก่ผู้ต้องสงสัย อย่างร้อยเอกเล็ก และนายของเขาบ้าง
มันก็เป็นไปได้ว่า พระยาทรงฯท่านป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บธรรมดา จากความตรากตรำมานานหลายปีเต็มที  โดยไม่รู้มาก่อนว่ามีโรคร้ายแอบแฝงอยู่ เจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆ ท่านก็ไม่คำนึงถึง   จนมันหนักถึงแสดงอาการขั้นสุดท้ายออกมา
ส่วนเรื่องการสืบราชการลับของร้อยเอกเล็ก  ก็เป็นเพียงการสืบข่าวคราวความเคลื่อนไหวของท่านโดยละเอียดเท่านั้น


ปรบมือให้กับความยุติธรรมครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 10, 16:37
แต่เชอร์ลอคโฮมริณีต้องไม่ทิ้งประเด็นอื่นด้วยนะครับ ประเด็นเจ็บไข้ต้องให้แพทย์ชี้ขาด


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 10, 16:42
แต่เชอร์ลอคโฮมริณีต้องไม่ทิ้งประเด็นอื่นด้วยนะครับ ประเด็นเจ็บไข้ต้องให้แพทย์ชี้ขาด
ขืนทิ้ง  ก็อดปั่นกระทู้ต่อน่ะซีคะ  :)  ต้องกลับไปเย็บหน้า แล้วซุ่มอ่านอย่างเดียว

ตอนนี้กำลังรอคุณหมอ CVT ไล่อ่านกระทู้ที่วิ่งด้วยความเร็วใกล้เคียงกับแสง มาให้ทัน    
ถ้าคุณหมอฟันธงลงไปว่า อาการแรกของพระยาทรงเป็นไปได้ว่าเกิดจากยาพิษ  แม้จะรอดก็ส่งผลให้เกิดอาการอื่นตามมา   ดิฉันจะไม่รอผลตัดสินจากคุณหมึกพอลเลยเชียว

เห็นด้วยกับท่านกูรูใหญ่กว่าอยู่แล้วว่า พระยาทรงท่านสิ้นไปได้ก็คงเป็นที่โล่งใจของฝ่ายตรงข้ามบางคน  ที่เกรงว่ายังอยู่เมื่อใดก็กีดหน้าขวางตาเมื่อนั้น     การเคลื่อนไหวของท่านที่ใช้อาบูสืบข่าว เป็นไปได้มาก-ว่ารั่วไหลมาถึงหูฝ่ายตรงข้าม     ท่านคงถูกจับตามาตลอด จนในที่สุดร้อยเอกเล็กก็เข้าประชิดตัวท่านมากที่สุด


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 12 ก.ค. 10, 16:43
เรื่องจอมพล ป.กับจีน ว่ากันด้วยเรื่องคุณจำกัด พลางกูร สายปรีดีเขาว่าคุณจำกัดต้องตายก็เพราะการ(จงใจ)ละเลยของจอมพล ป.

ยิ่งถ้าไปอ่านที่คุณจำกัดเคยเขียนไว้ (ลอกคุณจ้อมาจากในเรือนไทยนี่แหละครับ)

ขบวนการกู้ชาติ

จำกัด พลางกูร อักษรศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดแกนนำคนหนึ่งของขบวนการกู้ชาติ ได้เล่าไว้ในหนังสือ การกู้ชาติ ว่า

"เมื่อข้าพเจ้ายังเรียนอยู่ที่ประเทศอังกฤษข้าพเจ้ารวบรวมสมัครพรรคพวกได้เป็นอันมาก เพื่อจะมาตั้งคณะต่อสู้กับจอมพลแปลกเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างแท้จริงขึ้นทางลับ ๆ ในประเทศไทยแต่ครั้นข้าพเจ้าถูกไล่ออกจากทางราชการ เพราะข้าพเจ้าไม่ไปประกาศทางวิทยุกระจายเสียง เกี่ยวกับประชาธิปไตยของข้าพเจ้าเพื่อนฝูงก็เริ่มเหินห่างออกไป"

แต่เมื่อทราบข่าวญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกและท่าทีของรัฐบาลที่ไม่ยอมต่อต้านญี่ปุ่น ความพยายามในการก่อตั้งขบวนการกู้ชาติก็กลับมาอีกครั้ง

"ตอนบ่ายวันที่ ๙ ธันวาคม (๒๔๘๔) ...ข้าพเจ้าได้ปรึกษานายเตียง หาทางออกไปนอกอาณาจักรไทยไปยังพม่า ทราบว่ามีทางออกอยู่ทางแม่สอดและกาญจนบุรี แต่ต่อมาอีกสองวันก็ได้ข่าวว่าญี่ปุ่นได้ยึดสองทางนั้นเสียแล้ว เป็นอันว่าการเตรียมตัวของเราต้องล้มเหลวไปข้าพเจ้าจึงรวบรวมเพื่อนพ้องเพื่อตั้งขบวนการกู้ชาติ ... หลักการของข้าพเจ้ามีอยู่ว่า จะรวบรวมพรรคพวกเท่าที่จะหาได้ แบ่งออกเป็น ๓ ชั้น คือ ชั้นที่ ๑ พวกที่รู้แผนการของข้าพเจ้า ชั้นที่ ๒ คือพวกที่รู้เลา ๆ ว่าข้าพเจ้าทำอะไร และชั้นที่ ๓ คือพวกที่มีความเลื่อมใสและนิยมในตัวข้าพเจ้า พวกเหล่านี้ให้ล่วงรู้อะไรโดยตรงไม่ได้ และถึงเวลาจำเป็นก็คงใช้บริการได้ พวกนี้ได้แก่ศิษย์ข้าพเจ้าโดยมาก

พวกชั้นที่ ๑ เท่าที่รวบรวมได้ก็มีนายเตียง ศิริขันธ์ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายถวิล อุดล นายจำลอง ดาวเรือง นายเรือโท โกเมศ เครือตราชู นายยล สมานนท์ ชั้นที่ ๒ ภรรยา ข้าพเจ้า (นางฉลบชลัยย์ พลางกูร) ได้ไปชวน นางปิ่น บุนนาค (นางราชญาติรักษา) และพวก ข้าพเจ้าได้ไปชวนนายแพทย์เฉลิม บุรณนนท์ ฯลฯ ชั้น ๓ นั้นมีมากมาย

แต่ข้อที่สำคัญก็คือ แม้ว่าพวกเราจะหนีไปตั้งรัฐบาลได้ เราก็ไม่มีกำลังพอที่จะต่อสู้กับกองทัพของจอมพลได้ ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า ในระหว่างผู้มีอำนาจคงมีใครบ้างที่คิดอย่างเรา แล้วรวมคณะเราเข้าไป คงทำประโยชน์ได้บ้างไม่มากก็น้อย ข้าพเจ้าส่ายตาดูก็เห็นมีแต่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้เดียวซึ่งจะเป็นหัวหน้า เป็นกำลังสำคัญของคณะกู้ชาติของเราได้ ข้าพเจ้าจึงตรงไปหาท่านที่บ้านสีลมทันที"

ต่อมา ขบวนการกู้ชาติและองค์การต่อต้านญี่ปุ่นได้รวมตัวกันในปลายปี ๒๔๘๔

เห็นว่าถ้าจอมพล ป.จะสนับสนุนเสรีไทยแล้ว ก็คงสนับสนุนไปในทางที่ว่าจะส่งให้ขึ้นสวรรค์ไปไว ๆ เท่านั้นเอง


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: bookaholic ที่ 12 ก.ค. 10, 16:59
เข้ามาให้ข้อมูลว่า   จอมพล ป. เองก็ถูกวางยาพิษ เมื่อพ.ศ. 2481 แต่ว่ารอดมาได้ครับ
ไม่ขอฟันธง    เพียงแค่คิดว่าท่านก็ถูกศัตรูทางการเมืองเล่นงานเหมือนกันครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 10, 17:09
^
^
ผมเขียนเรื่องนี้ไว้แล้ว ลองเข้าไปดูครับ

ถ้าสงสัยก็ขอต๊ะเรื่องนี่ไว้ก่อน จบเรื่องก.ข.ค.แล้วจะย้อนกลับไปว่ากันนะครับ


http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3025.90


คคห. 91 ครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 10, 17:17
ประเด็นที่เราควรจะบริหารสมองกันต่อก็คือ

1 ท่านเป็นโรคปัจจุบันขึ้นมา
2 หรือท่านถูกวางยาพิษ

ถ้าถูกวางยาพิษ ใครเป็นผู้สั่งการ
2.1 ก ข ค (หรือ ง)
2.2 ก+ข  ก+ค  ข+ค
2.3 ก+ข+ค

3 (สำคัญที่สุด) ใครคือ ก ข ค (หรือ ง)

ท่านกูรูน่าจะมีคำเฉลยอะไรบางอย่าง    ดิฉันทายไปเองก็ไม่สนุก  ขอนั่งเป็นคนดูอยู่แถวหน้า   เพราะยังเดาไม่ได้ว่าทำไมถึงมีข้อ 2.2 และ 2.3  ส่วน 2.1 พอเดาได้ว่ามีผู้อยู่ในข่ายหลายคน อาจเป็นคนใดคนหนึ่ง


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 10, 17:23
เอาบางหน้าที่พล.ต.อ.อดุล ให้การในศาลมาให้อ่าน ในกรณีที่มีใครเขียนว่าจอมพล ป.หัวหน้าเป็นเสรีไทยคนนึง ท่านก็แค่เห็นด้วยที่ทหารรายงานมาว่าติดต่อหยุดยิงกับจีนได้แล้ว


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 10, 17:26
หน้าต่อไปนี่ชัดเจนนะครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 10, 17:32
คราวนี้มาดูที่ ค. พูดถึงความคิดของ ก ที่มีต่อ ข


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 10, 17:48
สรุปตรงนี้สักทีหนึ่งก่อนนะครับ ในช่วงก่อนที่พระยาทรงจะถึงแก่กรรม เอาเป็นว่าช่วงที่อาบูมาฝังตัวอยู่กรุงเทพ และเปิดเผยเรื่องราวของท่านให้แก่บุคคล2คน2ขั้วนั้นนั้น ก ข ค มีความสัมพันธ์กันดังนี้

ก กับ ค เป็นเพื่อน(เคย)รักสนิทสนม ค ทำงานรับใช้ ก ในการขจัดศัตรูทางการเมืองมาตลอด

ก และ ข เมื่อก่อน2475กินปาท่องโก๋กัน ในปี2487กินเกาเหลากัน

ค เกลียดญี่ปุ่นเหมือน ข

ข ยังไม่ไว้ใจ ค เพราะกลัว ค จะเอาความลับไปบอก ก

ผมก็ไม่ทราบนะครับว่า บุคคล2คน2ขั้ว นั้นคือ ข กับ ค หรือเปล่า

แล้ว ค เอาความที่ได้จากอาบูไปบอก ก เพราะพระยาทรงเคยเป็นศัตรูร่วมที่เริ่มมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกแล้ว


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 12 ก.ค. 10, 18:04
การเสียชีวิตกระทันหันของบุคคลสำคัญในยุคก่อน  ถ้าไม่มีสิ่งบอกเหตุมาก่อนก็มัดจะโทษว่า "ถูกวางยาพิษ" ไว้ก่อน  ดูเหมือนจะเป็นมาตรฐานของสังคมไทมาแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑  ที่มีนายทหารผู้ใหญ่สิ้นพระชนม์และเสียชีวิตโดยกระทันหันในเวลาใกล้เคียงกัน  ซึ่งในยุคนั้นก็ลือกันว่า ถูกวางยาพิษฬนการประชุมเลี้ยงรับรองนายทหารที่กระทรวงกลาโหม  แต่เมื่อคีวจสอบข้อมูลแล้วปรากฏว่า ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ มีไข้หวัดใหญ่สเปนระบาดหนัก  อาจจะหนักกว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เสียอีก  เพราะมีทั้งทหารและพลเรือนเสียชีวิตไปนับล้านคน  รวมทั้งนายทหารไทยที่ไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ก็เสียชีวิตเพราะไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ไปหลายคน  เมื่อนายทหารที่ไปราชการสงครามคราวนั้นดเดินทางกลับมาถึงกรุงเทพฯ ก็คงจะมีส่วนนำเชื้อไช้หวัดใหญ่นี้เข้ามาแพ่พันธุ์ในเมืองไทย  จึงทำให้นายทหารผู้ใหญ่ที่ตรากตรำทำงานหนักในระหว่างสงครามต้องติเชื้อไข้หวัดใหญ่นี้และทำให้เสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว  แต่ในเมื่อคนไทยในสมัยนั้นยังไม่รู้จักเชื้อโรคนี้ก็สันนิษฐานไว้ก่อนว่า "ถูกวางยาพิษ"


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 10, 18:18
คือคุณวีมีครับ ผมก็อยากให้คุณหมอCVTกลับมาเฉลยอย่างนั้นเหมือนกัน เรื่องจะได้จบอย่างที่ท่านอาจารย์เทาชมพูได้เขียนไว้ แต่ก่อนที่คุณหมอจะกลับมา เราก็ลับสมองของเราต่อไปได้ ว่าอาบูนำความมาคุยกับใคร
คคห.เมื่อกี้ ผมตั้งคำถามว่าบุคคล2คน2ขั้ว นั้นคือ ข กับ ค หรือเปล่า
คือผมไม่กล้าคิดอย่างตื้นๆว่าอาบูจะนำความไปคุยกับ ก และ ข

แล้ว ก จะทราบได้อย่างไรถ้าอาบูมิได้นำความมาบอกตนด้วย ผมจึงต้องเสียเวลาหาข้อมูลเพื่อจะดึง ค เข้ามา
เพราะ ข ไม่มีวันจะบอก ก
อัฐิพระยาทรง ข ยังเป็นเจ้าภาพจัดการให้อย่างสมเกียรติ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 10, 18:30
ขอแบ่งปันความเห็น  (ภาษาง่ายกว่านี้เรียกว่า เดา)
ข อาจไม่มีพลังพอจะดำเนินงานด้านลับ ได้โดยปราศจากความรู้เห็นของ ค     เพราะฉะนั้น ความลับของอาบูจึงรู้กันทั้ง ๒ คน คือ ข และ ค
ค  ไม่ทรยศต่อ ข   แต่ ค  ก็ไม่อาจปิดเรื่องนี้ต่อการรับรู้ของ ก ได้    ถ้าปิดเมื่อไร ค เดือดร้อนแน่   หาก ก รู้จากทางอื่น
เมื่อ ก รู้  ก ก็ลงมือจัดการ  โดยไม่เกี่ยวกับ ค
แต่ ค ก็รู้ดีว่า ใครทำ    และคงรู้สึกเสียใจอยู่บ้าง

ป.ล. เกรงคุณ dotdotdot จะโผล่เข้ามาถามอีกครั้งว่า อ้าย ก ข ค ง นี่มันวิชาอะไรครับ   ข้อสอบยากเหลือเกิน..อีกแล้ว  


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: yanang ที่ 12 ก.ค. 10, 18:41
มีนักเรียนหัวช้า เขียนรหัสแปล ก ข ค ไว้ในกระดาษประกอบการเรียน
อ่านไป ตาก็ดูโพยไป เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน อาจารย์อย่าเพิ่งรีบเอา
วิชา จุดจุดจุด มาเพิ่มเลยนะคะ เผื่อว่า จะมี ง จ ฉ ช ออกมาโลดแล่นอีก
นักเรียนจะได้ยังพอจะตามทัน  :-[


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 10, 18:45
เชื่อดิฉันเถอะค่ะ   คุณย่านาง    ดิฉันถอด Navinci Code  ออกมาได้แค่ ก ข ค ก็ดีใจแทบตาย
ไม่พยายามจะมองว่า ง ที่ท่านเปรยๆไว้ตอนหนึ่งน่ะ หมายถึงใครอีกหรือเปล่า


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 10, 19:07
อ้างถึง
ส่วนข้อมูลเสรีไทยทางฝ่ายดิฉัน  ทำท่าว่า 4=1+1+2 เสียแล้ว  กลายเป็นเลข 3 ตัว  ไม่ใช่ 2   เฉลยเมื่อไร   ตัวเลขชนกันกับของคุณนวรัตนอย่างแรง 


ตรงนี้แหละครับ ผมเลยวงเล็บ ง งูเผื่อไว้(ถ้ามี)

ค  ไม่ทรยศต่อ ข   แต่ ค  ก็ไม่อาจปิดเรื่องนี้ต่อการรับรู้ของ ก ได้    ถ้าปิดเมื่อไร ค เดือดร้อนแน่   หาก ก รู้จากทางอื่น
ตรงนี้เห็นด้วยเป็นที่สุดครับ

ตัวละครเหลือแค่ 3 ตัว ส่วนผู้ที่เห็นต่างก็เชิญนะครับ มาช่วยกันเดาให้แตกฉานทุกประเด็นไป
ต้องเร็วๆหน่อยนะครับ เดี๋ยวคุณหมอมาจะอดเดา


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 10, 19:24
ระหว่างรอคนอื่น  ก็ขอย้อนไปถึงเรื่องขบวนการเสรีไทยทั้ง ๓ สาย ที่ลงไว้ในค.ห.ก่อนหน้านี้

ในเรื่องงานเสรีไทยของคุณหลวงอดุลฯ นี้ พลโท ประยูร ภมรมนตรี ได้เล่าไว้ใน ชีวิต ๕ แผ่นดินของข้าพเจ้า ว่า

เรื่องขบวนการเสรีไทย ที่กำลังดำเนินการต่อต้านญี่ปุ่น ทั้งในประเทศและนอกประเทศ ที่บินโดดร่มลงมาหรือมาทางเรือใต้น้ำ มาทำงานใต้ดินนั้น อยู่ในสายตาของญี่ปุ่น และติดตามอยู่ใกล้ชิด และเตรียมการที่จะทำการกวาดล้างอยู่หลายครั้งหลายคราว แต่ท่าน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สั่งการให้ตำรวจจัดการจับกุมเสียเอง และช่วยคุ้มครองความปลอดภัย

เรื่องเสรีไทยนี้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้ พลตำรวจเอก หลวงอดุล ฯ เป็นเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะ ที่เป็นพลร่ม ก็ให้จัดการควบคุมเด็ดขาดห้ามการติดต่อ และให้ความคุ้มกันพาหลบซ่อนไป เกรงทหารญี่ปุ่นจะเข้ามาพัวพัน จึงรอดพ้นอันตรายกันมาได้

ข้อเขียนของพลโทประยูร ภมรมนตรี ไม่ตรงกับคำให้การของพลต.อ.อดุล  ในค.ห. 477 และ 478   ว่า จอมพล ป. ทำเรื่องติดต่อกับจีน  แต่เรื่องเสรีไทย  ลอร์ดหลุยส์เมาตแบตเตนไม่ได้ติดต่อจอมพล ป.  ติดต่อเฉพาะพลต.อ.อดุล

ถ้างั้นก็เป็นไปได้ว่า พลต.อ.อดุลทำงานใต้ดินเรื่องเสรีไทย ใต้จมูกของจอมพล ป.    ไม่ใช่จอมพล ป. สั่งให้ทำ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: dotdotdot ที่ 12 ก.ค. 10, 19:49
ขอแบ่งปันความเห็น  (ภาษาง่ายกว่านี้เรียกว่า เดา)
ข อาจไม่มีพลังพอจะดำเนินงานด้านลับ ได้โดยปราศจากความรู้เห็นของ ค     เพราะฉะนั้น ความลับของอาบูจึงรู้กันทั้ง ๒ คน คือ ข และ ค
ค  ไม่ทรยศต่อ ข   แต่ ค  ก็ไม่อาจปิดเรื่องนี้ต่อการรับรู้ของ ก ได้    ถ้าปิดเมื่อไร ค เดือดร้อนแน่   หาก ก รู้จากทางอื่น
เมื่อ ก รู้  ก ก็ลงมือจัดการ  โดยไม่เกี่ยวกับ ค
แต่ ค ก็รู้ดีว่า ใครทำ    และคงรู้สึกเสียใจอยู่บ้าง

ป.ล. เกรงคุณ dotdotdot จะโผล่เข้ามาถามอีกครั้งว่า อ้าย ก ข ค ง นี่มันวิชาอะไรครับ   ข้อสอบยากเหลือเกิน..อีกแล้ว  


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 10, 20:01
มาจริงๆด้วย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 10, 20:26
อ้างถึง
ข้อเขียนของพลโทประยูร ภมรมนตรี ไม่ตรงกับคำให้การของพลต.อ.อดุล  ในค.ห. 477 และ 478   ว่า จอมพล ป. ทำเรื่องติดต่อกับจีน  แต่เรื่องเสรีไทย  ลอร์ดหลุยส์เมาตแบตเตนไม่ได้ติดต่อจอมพล ป.  ติดต่อเฉพาะพลต.อ.อดุล

ถ้างั้นก็เป็นไปได้ว่า พลต.อ.อดุลทำงานใต้ดินเรื่องเสรีไทย ใต้จมูกของจอมพล ป.    ไม่ใช่จอมพล ป. สั่งให้ทำ

มีข้อความยืนยันอีกครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 10, 20:48
จอมพล ป. ก็คิดระแวงและสงสัยข้าฯอยู่เช่นเดียวกับนายปรีดี
ประโยคสั้นๆ   แต่ความหมายมหาศาล
เราไม่มีโอกาสรู้ว่าพลต.อ.อดุลทำอะไรให้จอมพล ป. ระแวงสงสัย     แต่เดาว่าเรื่องระแวงของผู้มีอำนาจก็มักจะไม่พ้นว่า อีกคนหนึ่งชักจะมีอำนาจมากเกินไป    การมีอำนาจมากเกินไปก็มักทำให้ไม่เกรงใจ  เมื่อไม่เกรงใจก็ไม่เอออวย แต่กล้าแย้งขึ้นมาบ้าง
นายพลตำรวจเอกคงจะอึดอัดอยู่มากกับจอมพลทหาร    ก็เลยสะดวกใจที่จะทำงานประสานกับพลเรือนมากขึ้นกว่าเดิม  มีนักการทูตเป็นตัวเชื่อม

กลับมาเรื่อง ก ข ค ง อีกครั้งค่ะ  ไม่เกี่ยวกับข้างบนนะคะ
เป็นไปได้ไหมว่า ก  ก็ไม่ไว้ใจ ค  พอที่จะใช้ทำงานบางเรื่อง  เพราะ ค อาจจะไปคุ้มกันฝ่ายตรงข้ามก็ได้   ก ทำอะไรไม่ถนัด   เลยปฏิบัติงานบางเรื่องเอง ไม่ผ่าน ค


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 10, 21:17
ก็น่าจะเป็นไปได้ครับ
อยู่ที่ข้อสันนิฐานอีกนั่นแหละ

ถ้าสั่งให้ไปสืบเฉยๆ ก ก็สั่ง ค ได้ ในฐานะที่ ค มารายงาน
แต่ถ้าสั่งให้ไปเก็บด้วย ก็สั่งคนของตัว น่าจะดีกว่า


ส่วนว่าพล.ต.อ.อดุลทำอะไรให้จอมพล ป. ระแวงสงสัย ยกตัวอย่างครั้งหนึ่งพล.ต.อ.อดุลจับรัฐมนตรี2คน ลุกน้องจอมพล ป.ข้อหาฉกรรจ์ ไม่ให้ประกันตัวด้วย จอมพล ป.มาขอร้องให้ปล่อย พล.ต.อ.อดุลก็ไม่ยอม แถมยังบอกว่า ใครทำผิดกฎหมายอั้วจับหมด ถึงเป็นนายกรัฐมนตรีก็จับ

พล.ต.อ.อดุลบอกว่าจอมพล ป.ไปนินทาลับหลัง กล่าวหาว่าพล.ต.อ.อดุลเป็น "บาโดคลิโอ" (ลูกน้องคนที่โค่นล้มมุสโสลินี)


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 10, 21:55
ระหว่างรอคุณหมอ CVT มาตรวจอาการพระยาทรงสุรเดช    ก็ขอเล่าถึงพลต.อ. อดุล อดุลเดชจรัสไปพลางๆ
เพิ่งรู้จากในเน็ตว่าท่านเป็นมุสลิม  และท่านเคยปกป้องพวกคาทอลิค ที่ถูกเบียดเบียนโดยทางราชการไทยในช่วง "รัฐนิยม"  แต่เจ้าของบทความไม่ได้ให้รายละเอียด  ว่าเบียดเบียนแบบไหนอย่างไร   แต่ยกย่องอธิบดีตำรวจที่ช่วยเหลือพวกคาทอลิคมิให้เดือดร้อน
                               คำกล่าวของหลวงอดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ

 อธิบดีกรมตำรวจคัดค้านเรื่องเบียดเบียนอย่างตรงๆแต่ท่านปฏิบัติตามคำสั่งของหลวงพิบูลสงคราม อย่างไรก็ตาม ท่านก็เป็นเพียงคนเดียวซึ่งนายกรัฐมนตรีเกรงใจ และเช่นเดียวกันคำสั่งเบียดเบียนเป็นคำสั่งลับ อธิบดีกรมตำรวจจึงกล้าผ่อนผันในหลายๆ เรื่อง  และช่วยเหลือพวกคริสตัง ผู้เขียนเอง (คุณพ่อลารเก) ก็เคยได้รับความช่วยเหลือจากท่านหลายครั้ง ท่านเป็นมุสลิม     คำพูดของหลวงพิบูลในเรื่องเอกภาพทางศาสนาเป็นการข่มขู่ไม่ใช่เฉพาะต่อศาสนาคริสต์เท่านั้น แต่เป็นการข่มขู่ศาสนาอิสลามด้วย

ก. คำกล่าวของหลวงอดุล เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1941

 ในฐานะอธิบดีกรมตำรวจ      หลวงอดุลสั่งให้ชาวฝรั่งเศสซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของ ประเทศไทย เดินทางออกนอกประเทศทันทีทันใดภายในวันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1940ส่วนคนอื่นให้เดิน ทางเข้ามาในกรุงเทพฯ ภายในวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1941 ภายในเวลา 72 ชั่วโมง สำหรับประเด็นนี้ไม่ขอ พูดถึง     มีรายงานว่าการเบียดเบียนศาสนาพวกคนไทยที่เป็นคาทอลิกโดยผู้ว่าราชการจังหวัด, นายอำเภอ และสมาชิกคณะเลือดไทยของหลวงพิบูล ได้เริ่มขึ้นแล้ว  
นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1941 เป็นต้นมา    มีประกาศทางวิทยุกระจายเสียงและตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับ นี่คือที่มาของ   เอกสารหมายเลข 5/2   ซึ่งเนื้อหาโดยสรุปได้ถูกตีพิมพ์ลงในนิตยสารคาทอลิก "สารสาสน์" ฉบับวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1941 หน้า 106-107 เป็นเนื้อหาที่นำมาจากหนังสือพิมพ์ “นิกร” ฉบับวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1941 หน้า 2 ดังมีใจความต่อไปนี้

 “ข้อสาม ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ให้ระงับการเสียดสี ขู่เข็ญ หรือบังคับในเรื่องการถือศาสนา
 ทั้งนี้ ให้ตกเป็นหน้าที่ของตำรวจท้องที่ทั่วไป ที่จะต้องสอดส่องระมัดระวัง ..เพราะว่าในการสนับสนุน รัฐบาลในการปรับปรุงเส้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส....      บางหมู่คณะได้เป็นไปใน จำพวกรุนแรงเกินเลยขอบเขต และบ้างก็แตกความคิดเห็นเป็นหมู่เป็นคณะและเป็นบุคคล   มีการกระทบ กระทั่งเสียดสี ขู่เข็ญระหว่างกัน... บางกรณีก็มีการทุจริตเคลือบแฝงเจือปนเพื่อหาประโยชน์ส่วนตับางกรณี ก็มีการลอบทำร้ายกัน...อาจเป็นการกระทบกระเทือนแก่ชาวต่างประเทศที่มีสัมพันธไมตรีกับประเทศไทย... ไม่ต้องด้วยนโยบายของรัฐบาล เป็นมูลเหตุแห่งการเริ่มต้นที่จะก่อความไม่สงบ  ผิดศีลธรรม ผิดมนุษยธรรม หรือผิดวิธีการที่อารยชนจะพึงปฏิบัติ”

ข. หลวงอดุล  ได้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ใช้ชื่อว่า“ไทยเอกราช”ในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ท่านได้เรียกร้องอิสรภาพทางศาสนาต่อไป ตามรัฐธรรมนูญมาตราที่ 1 และมาตราที่ 13 ดังนี้

 เอกสารหมายเลข 1

 “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”

 มาตราที่ 1 ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิดหรือสาสนาใด   ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญ นี้เสมอ

 คำอธิบายของสำนักโฆษณาการ: ประชาชนไม่ว่าเหล่ากำเนิดหรือสาสนาใดๆย่อมอยู่ในความ คุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน คนไทยหรือชาวไทย อาจพูดภาษาผิดเพี้ยนกันไปได้  และนับถือสาสนา ต่างกันก็ได้ แต่ทั้งนี้ไม่เปนการทำให้พวกเราแตกแยกกันไป      หรือทำให้ฐานะของชาวไทยแตกต่างกันเลย รัฐธรรมนูญได้ให้ความคุ้มครองแก่ชนชาวไทยเหมือนกันหมด  ชาวไทยจึงอาจจะนับถือพระพุทธสาสนาก็ได้ สาสนาอิสลามก็ได้ หรือคริสตศาสนาก็ได้ ตามแต่ใจสมัคร

มาตรา 13 บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนาหรือลัทธิใดๆ    และย่อมมีเสรีภาพในการ ปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เปนการปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและไม่เปนการขัดต่อ ความสงบเรียบร้อยหรื อศีลธรรมของประชาชน”

 คำอธิบายของสำนักโฆษณาการ: มาตรานี้แสดงว่า   บุคคลทุกคนย่อมมีเสรีภาพในการที่จะนับถือ ศาสนาใดๆ ทั้งนั้น รัฐธรรมนูญย่อมให้ความคุ้มครองประชาชนชาวไทยซึ่งถือสาสนาต่างๆ โดยเท่าเทียมกัน หมด อนึ่ง เมื่อผู้ใดนับถือศาสนาใดแล้ว ก็ย่อมมีเสรีภาพที่จะประกอบพิธีกรรมต่างๆ       ในศาสนานั้นตาม ความเชื่อถือของตนได้ เช่น กราบไหว้บูชาสิ่งที่เชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น...

หลวงอดุลจะทำการเรียกร้องให้ปฏิบัติตามกฎรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ

ค. ในขณะที่หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นไม่ได้พูดถึงการกระทำที่โหดร้ายทารุณ การเผาวัดหรือทำลายวัด การจับพวกคริสตังขังคุกหรือข่มขู่เพื่อให้ละทิ้งศาสนา    หลวงอดุลพูดถึงเรื่องนี้อย่างชัดเจนในหนังสือพิมพ์ไทยเอกราช และถ้าใครมีโอกาสเข้าไปที่หอสมุดแห่งชาติที่ท่าวาสุกรี  เขาจะ สามารถใช้ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ในการทำประวัติการเบียดเบียนศาสนาระหว่างปี ค.ศ. 1940-1944 ได้ แต่เจ้าหน้าที่จะห้ามเข้าไปโดยบอกว่า “ไม่มีหนังสือพิมพ์ไทยเอกราชที่นี่”  และประตูก็จะไม่เปิดอีกเลย หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นหาอ่านได้ง่ายกว่า แต่สำหรับคนที่สามารถเข้าไปที่นั่นได้ ก็จะอยู่ในสายตาของพวกเจ้าหน้าที่หอสมุดตลอดเวลา พวกคาทอลิกจึงไม่กล้าไปค้นหาหนังสือพิมพ์ร่วมสมัยในสถานที่ดังกล่าว

 อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าประสพความสำเร็จในการทำสำเนาเอกสาร 2     เรื่องจากหนังสือพิมพ์ไทยเอกราชที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ และตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษร่วมสมัยชื่อ“บางกอกไทม์ส”  เป็นเพราะหนังสือพิมพ์ดังกล่าวถูกตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ หนังสือพิมพ์ฉบับนี้จึงไม่ทำให้เจ้าหน้าที่ หอสมุดเกิดความระแวงสงสัย ความรักสัญชาติไทยอันบริสุทธิ์ของเขาไม่มีความบาดหมาง

ง. บทความจากหนังสือพิมพ์ไทยเอกราช
  นี่คือบทความ 2 บทที่แปลจากหนังสือพิมพ์ไทยเอกราชของหลวงอดุลแปลและตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ บางกอกไทม์ส บทความแรกพบได้ที่นี่ นี่คือ  เอกสารหมายเลข 11   ที่เริ่มต้นพูดถึงเรื่องการเลือกที่รักมักที่ชังระหว่างพวกคริสตังและชาวมุสลิมพวกหนึ่ง และชาวพุทธ อีกพวกหนึ่ง ข้อความเป็นภาษาอังกฤษ ข้าพเจ้าไม่จำเป็นต้องแปลเป็นภาษาไทยอีกประการหนึ่ง  ข้าพเจ้า คิดว่าท่านก็มีเอกสารฉบับนี้แล้ว ถึงแม้จะเป็นภาษาอังกฤษ

 บทความที่ 2 พูดเรื่องการเบียดเบียนอย่างตรงๆหลวงอดุลกล่าวตำหนิผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม (หนองแสง), พวกนายอำเภอ และคณะเลือดไทย อย่างตรงๆ    เสแสร้งทำเป็นไม่รู้เรื่องคำสั่งของการเบียดเบียน เพราะว่าคำสั่งเหล่านั้นเป็นความลับ ข้อความนี้พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษซึ่งข้าพเจ้ามิได้แปลเป็นภาษา ไทย นี่คือ  เอกสารหมายเลข 12

 ตามปกติจะต้องพูดถึงต่อไป  แต่ข้าพเจ้าแยกพูดเรื่องการเบียดเบียนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับเรื่องที่เกิดขึ้นในภาคอื่นของประเทศไทย ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าจะแทรกไว้ที่ตรงไหนดี ไม่ว่าจะลงไว้ที่ไหน ก็ยังถือเป็นเอกสารอยู่ดี

 เป็นที่น่าสังเกตว่า หนังสือพิมพ์บางกอกไทม์สเขียนหลายครั้งว่า หนังสือพิมพ์ไทยเอกราชได้พูดถึง เรื่องการเบียดเบียนไว้หลายครั้ง เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ไม่มีใครคิดถึงเรื่องนี้ในเวลานั้น ไม่มีใครเก็บหนังสือ พิมพ์ไว้เป็นหลักฐาน.

ข้อสังเกต

ข้าพเจ้าไปที่หอสมุดแห่งชาติด้วยตนเองพร้อมเพื่อนอีกคนหนึ่งเพื่อหาหนังสือพิมพ์ต่างๆ และพบกับนางธารา กนกมณี เจ้าหน้าที่ หนังสือพิมพ์ฉบับนี้(ไทยเอกราช)  ได้อันตรธานหายไปอย่างไร้ร่อง รอย ไม่มีการเอ่ยถึงร่องรอยของการเบียดเบียนในหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับต่างในสมัยนั้นเลย   พวกเขา  ได้ลืมนึกถึงหนังสือพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษไป
************************
คุณนวรัตนได้พูดถึงรัฐนิยมกับทางใต้ ในค.ห.ก่อนนี้     ดิฉันก็เลยเดาว่าเป็นเพราะนโยบายชาตินิยมในประกาศรัฐนิยม ซึ่งรวมการถือว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาของคนไทย อาจทำให้คนไทยที่นับถือศาสนาอื่น เสียสิทธิ์บางอย่างไป   และอาจจะกระทบถึงเสรีภาพในการนับถือศาสนาด้วย 


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 12 ก.ค. 10, 22:34
ต้องขออภัยที่ทำให้รอคอยครับ ผมออกไปต่างจังหวัด ต่อเน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ อืดอาดมาก กว่าจะโหลดแต่ละเรื่องแต่ละราวมาอ่านได้อยากจะปาโทรศัพท์ทิ้งหลายครั้ง
เอาโดยสรุปเรื่องอาการป่วยของพระยาทรงสุรเดชก่อนนะครับ....

อาการ เหงื่อออก เป็นลม หมดสติ เป็นอาการของภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ สาเหตุสำคัญ
๑. จากสมอง เช่นโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน หรือหลอดเลือดสมองแตก
๒. จากหัวใจ เช่นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นเหตุให้เกิดการเต้นผิดจังหวะของหัวใจจนปริมาณเลือดที่สูบฉีดออกจากหัวใจไปเลี้ยงร่างกายและสมองน้อยกว่าปกติ
ไม่ได้เล่าว่าท่านมีอาการอื่น เช่นเจ็บแน่นหน้าอกร่วมด้วยหรือไม่ เพราะถ้ามีอาการนี้บ่งชี้ไปทางโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

การที่เจาะเลือดแล้วทิ้งไว้มีการแข็งตัว ปกติเลือดคนเราถ้าทิ้งไว้ประมาณ ๕-๑๐ นาที จะมีการแข็งตัวเอง เป็นกลไกการแข็งตัวที่เกิดจากสารพวกเอนไซม์ในเลือด

การที่หมอเจาะเลือดท่านเจ้าคุณฯไม่ได้ ไม่น่าจะเป็นเพราะเลือดแข็งตัว เพราะคนมีชีวิตเลือดจะไม่แข็งตัวภายในหลอดเลือดยกเว้นเป็นโรคบางอย่าง แต่กรณีท่านเจ้าคุณฯน่าจะเกิดจากภาวะช๊อค ที่เรียกว่า cardiogenic shock คือการที่หัวใจทำงานผิดปกติ จนเลือดที่สูบฉีดจากหัวใจไปเลี้ยงร่างกาย และสมองน้อยมาก จนทำให้ความดันโลหิตต่ำมาก ร่างกายจะตอบสนองด้วยการหดตัวของหลอดเลือด เพื่อเพิ่มความดันโลหิต จึงทำให้หลอดเลือดเล็กกว่าปกติมาก จนแทงเข็มไม่เจอหลอดเลือด

ท่านเจ้าคุณฯไม่มีอาการของโลหิตเป็นพิษ หรือ septicemia เพราะภาวะโลหิตเป็นพิษจะเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการที่ร่างกายมีการติดเชื้ออย่างรุนแรง เช่นมีบาดแผลสกปรก หรือมีการติดเชื้อในระบบต่างของร่างกายในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่นเป็นปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรียในคนสูงอายุ จนเชื้อกระจายไปตามกระแสโลหิตทั่วร่างกาย จนอวัยวะต่างๆเสียหายทำงานผิดปกติ

ส่วนโรคที่เลือดแดงข้นกว่าปกติ เนื่องจากมีปริมาณเม็ดเลือดแดงสูงกว่าปกติมาก เรียกว่า Polycythemia vera อาจจะเป็นเหตุให้เลือดในหลอดเลือดข้นผิดปกติ เป็นเหตุให้เลือดไปเลี้ยงร่างกาย และสมอง หรือหัวใจเองน้อยได้เช่นกัน

วิธีการเอาถ้วยลนไฟแล้วไปแปะที่รอยกรีดที่หลังเพื่อดูดเลือด เป็นการรักษาแบบโบราณที่เชื่อว่าเป็นการถอนพิษในกระแสโลหิต บางครั้งเราอาจจะเคยได้ยินการใช้ปลิงดูดเลือดเพื่อรักษาโรคของคนโบราณ

ผมอ่านเรื่องของท่านเจ้าคุณฯแล้วไม่คิดว่าท่านโดนวางยา โดยการผสมมาในขนม แต่มีอาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งโรคนี้อาจจะไม่มีอาการนำมาก่อนเลยก็ได้ ถ้าเราจำได้เมื่อ ๒๐ ปีที่แล้วมีผู้บรรยายกีฬาท่านหนึ่งซึ่งเป็นรุ่นน้อง OV ของคุณ Navarat C. เป็นคนแข็งแรงดี เป็นนักกีฬา ไปเล่นเทนนิสแล้วมีอาการเจ็บหน้าอกหมดสติจนเสียชีวิต ก็มีลักษณะแบบเดียวกับท่านเจ้าคุณฯครับ

ผมฟันธงครับว่าพระยาทรงสุรเดชไม่ได้ตายจากการถูกวางยาพิษในอาหารครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 12 ก.ค. 10, 22:43
ระหว่างรอคุณหมอ CVT มาตรวจอาการพระยาทรงสุรเดช    ก็ขอเล่าถึงพลต.อ. อดุล อดุลเดชจรัสไปพลางๆ
เพิ่งรู้จากในเน็ตว่าท่านเป็นมุสลิม  และท่านเคยปกป้องพวกคาทอลิค ที่ถูกเบียดเบียนโดยทางราชการไทยในช่วง "รัฐนิยม"  แต่เจ้าของบทความไม่ได้ให้รายละเอียด  ว่าเบียดเบียนแบบไหนอย่างไร   แต่ยกย่องอธิบดีตำรวจที่ช่วยเหลือพวกคาทอลิคมิให้เดือดร้อน

ผมบังเอิญมีญาติผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดกันท่านหนึ่ง เคยเป็นลูกเขยหลวงอดุลเดชจรัส แต่ภายหลังหย่าร้างกัน
อาผมเป็นพุทธ แต่แต่งงานกับบุตรสาวหลวงอดุลฯซึ่งเป็นมุสลิม
ผมเข้าใจว่าหลวงอดุลฯท่านคงจะเป็นมุสลิมที่ไม่เคร่งครัดต่อเรื่องการนับถือศาสนาและจารีตประเพณี
เอาไว้จะถามพ่อถึงเรื่องนี้ให้ครับ
จะถามอาก็เกรงใจท่าน เพราะท่านเลิกรากันไปตั้งแต่ผมยังจำความไม่ได้
และอาผมก็มีภรรยาใหม่ครองคู่กันจนปัจจุบันฝ่ายชายได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า ฝ่ายหญิงก็เป็นคุณหญิงไปแล้ว


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 10, 22:47
ขอบคุณมากค่ะคุณหมอ CVT
มิเสียแรง  คืนนี้เซิฟเน็ตอยู่จนดึก  เลยได้รู้คำตอบก่อนใคร


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 12 ก.ค. 10, 22:56
เอาความรู้เพียงน้อยนิดมาเติมเต็มช่องว่างของกูรู
เป็นการตอบแทนกูรูทุกท่านครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 10, 23:08
คำวินิจฉัยโรคของคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ  CVT น่าจะมีผลต่อกระทู้นี้มากค่ะ   เพราะบัดนี้เราก็พอจะบอกได้ว่า ท่านไม่ได้ถูกวางยาพิษ  รอคุณนวรัตนมาต่อกระทู้ดีกว่า ว่าเรื่องจะเดินไปทางไหน  ดิฉันเองก็รอตอนต่อไปด้วยใจระทึก


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 12 ก.ค. 10, 23:34
ระหว่างรอคุณหมอ CVT มาตรวจอาการพระยาทรงสุรเดช    ก็ขอเล่าถึงพลต.อ. อดุล อดุลเดชจรัสไปพลางๆ
เพิ่งรู้จากในเน็ตว่าท่านเป็นมุสลิม  และท่านเคยปกป้องพวกคาทอลิค ที่ถูกเบียดเบียนโดยทางราชการไทยในช่วง "รัฐนิยม"  แต่เจ้าของบทความไม่ได้ให้รายละเอียด  ว่าเบียดเบียนแบบไหนอย่างไร  

น่าจะคล้าย ๆ กับกรณี โบสถ์คริสต์ทั้งหลายโดนทำลายกระมังครับ แล้วเหลือรอดอยู่ที่โบสถ์แถว ๆ แปดริ้ว คนในชุมชนบอกว่า "พระแม่" มาปรากฏองค์เองพร้อมกระบี่ด้วยซ้ำ แถมยังอ้างอีกว่าคนพุทธอีกหลายคนก็เห็น



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 12 ก.ค. 10, 23:40
ส่วนเรื่องการเสียชีวิตของพระยาทรงฯ ผมเห็นตามคุณหมอ CVT บ้านโป่ง ครับ เพราะ

๑..วิถีการดำเนินชีวิตของท่านเจ้าคุณ ย่อมต้องมีความเครียดเป็นปกติอยู่แล้ว ทั้งก่อนและหลัง ๒๔๗๕ และเป็นความเครียดสะสมเสียด้วย อาจจะทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจได้แน่นอน สมัยนี้ก็เห็นบายพาสกันบ่อย สำหรับพวกเครียดจัด ๆ

๒..วิถีการดำเนินชีวิตของท่าน ไม่น่าจะได้โอกาสออกกำลังกายเท่าไร แม้ช่วงบั้นปลายจะมาทำขนมขาย แต่ก็ต้องถือว่า "เบา" อยู่ดี ถ้าเทียบกับบรรดาลุงป้า พี่น้อง ทั้งหลายที่ทำงานด้านกสิกรรม หรือ เกษตรกรรมครับ ซึ่งถ้าลองไปดูการดำเนินชีวิตของคนที่ทำงานหนักมาตลอดชีวิต จะเห็นได้ว่าอายุระดับ ๕๐ ต้น ๆ นี้ยังถือว่า "หนุ่ม" อยู่เยอะครับ กระชับกระเชงสบาย ๆ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 12 ก.ค. 10, 23:48
ส่วนเรื่องการเสียชีวิตของพระยาทรงฯ ผมเห็นตามคุณหมอ CVT บ้านโป่ง ครับ 

รู้จัก CVTบ้านโป่ง ด้วย  ;D


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ก.ค. 10, 06:02
ขอบพระคุณ คุณหมอCVTบ้านโป่งเป็นอย่างยิ่งครับ

ดีใจแทนท่านอาจารย์เทาชมพู เจ้าของบ้าน "เรือนไทย" ที่เป็นเวทีฟอกประวัติศาสตร์อันมอมแมมให้สะอาด

ดีใจให้กับตนเองที่ตั้งกระทู้นี้มาเขียน คนท่องเวปทั้งหลายซึ่งจะเห็นแต่ข้อความที่ลอกๆต่อๆกันดังเช่นข้างนี้

นายทหารไทยคนหนึ่งอ้างว่า ไปศึกษาที่ญี่ปุ่นก่อนกลับไทยเลยแวะมาเยี่ยม แล้ววางยาพิษพระยาทรงฯตายด้วยความทรมานอนาถา และจัดทำพิธีศพเยี่ยงคนไร้ญาติ โดยถึงแก่อนิจกรรมลงในปี พ.ศ. 2487 ที่ตำหนักร้างในกรุงพนมเปญ
ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่าเสียชีวิตด้วยอาการโลหิตเป็นพิษ ทส.พระยาทรงเขียนไว้ให้แปลความระหว่างบันทัด โดยตั้งข้อสงสัยไปในทำนองว่า ปฏิปักษ์ทางการเมืองคือจอมพลป.อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับความตาย

ต่อไปนี้จะปรากฏข้อเท็จจริงที่หักล้างความเข้าใจเดิมๆด้วยเหตุผลทางการแพทย์ที่ปราศจากอคติ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ก.ค. 10, 06:07
จอมพล ป. ท่านคงดีใจที่ไม่ต้องเป็นนาย ก
ท่านปรีดี ไม่ต้องเป็นนาย ข
และพล.ต.อ.อดุล ไม่ต้องเป็นนาย ค

ทุกคนเป็นอิสสระต่อข้อกล่าวหาผู้อยู่เบื้องหลังฆาตกร


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ก.ค. 10, 06:40
พระยาทรงสุรเดชท่านเริ่มต้นชีวิตเยี่ยงเทพ เป็นนักเรียนนายร้อยเยอรมันยุคไกเซอร์ เป็นนายทหารดาวรุ่งพุ่งแรงสู่ระดับผู้บังคับบัญชาชั้นสูงแต่วัยหนุ่ม เป็นครูบาอาจารย์ของทหารไทยค่อนกองทัพ เป็นผู้วางแผนปฏิวัติที่ไม่มีใครในโลกนี้สามารถเลียนแบบหรือแม้เพียงกล้าที่จะคิด เป็นผู้นำระบอบประชาธิปไตยมาสู่เมืองไทย เป็นผู้ชนะ..ที่ไม่นานก็เริ่มปรากฏความเป็นผู้แพ้ เป็นเหยื่อทางการเมืองของเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยที่ท่านเป็นผู้ก่อการนำมา

ชีวิตขาลงท่านอาภัพอับโชค ที่สุดของมันนั้นคือการเสียชีวิตด้วยโรคปัจจุบันในระยะเวลาอันสั้น ก่อนที่จะมีโอกาสกลับเมืองไทยตามพระราชกำหนดนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองของรัฐบาลประชาธิปไตย อดีตนักโทษการเมืองหลายคนได้รับการเลือกจากประชาชนให้เข้าไปทำหน้าที่ในสภา และร่วมคณะรัฐมนตรีใหม่เป็นทิวแถว เพื่อนผู้ก่อการระดับนั่งเก้าอี้สี่ตัวหน้า ที่ต้องไประหกระเหินในเมืองนอกเช่นเดียวท่านได้รับเกียรติอันนั้น แต่ท่าน..เกียรติที่ได้รับ เพียงอัฐิถูกนำไปบรรจุอย่างถูกที่ถูกทางในอนุสรณเจดีย์ของผู้ร่วมก่อการ 2475 เคียงข้างผู้ร่วมอุดมการณ์ปฏิวัติทุกคน


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 13 ก.ค. 10, 06:59
ต่อไปนี้จะปรากฏข้อเท็จจริงที่หักล้างความเข้าใจเดิมๆด้วยเหตุผลทางการแพทย์ที่ปราศจากอคติ

เราผ่านเรื่องราวที่เอาความไม่รู้ไม่เข้าใจของธรรมชาติของโรคบางอย่างมาเป็นข้ออ้าง หรือมาเป็นข่าวลือมากมาย
ที่โด่งดัง เช่น กรณีทิวงคตของเจ้าฟ้าฯกรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 13 ก.ค. 10, 08:18
ส่วนเรื่องการเสียชีวิตของพระยาทรงฯ ผมเห็นตามคุณหมอ CVT บ้านโป่ง ครับ 

รู้จัก CVTบ้านโป่ง ด้วย  ;D

ฮิ ๆ ๆ ที่ผมพอจะจำได้ ก็เพราะนามปากกาเดิมยังอยู่ครับ ตัดแต่ท่อนท้ายออกไป ในบอร์ดเรือนไทยนี่ ส่วนใหญ่ก็จะเล่นกันอยู่ในพันทิพย์ด้วยอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้คุ้นเคยกันมาเป็นอย่างดีครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 10, 09:05
ในที่สุดกระทู้นี้ก็เดินมาถึงตอนจบได้ ด้วยความเป็นสุขใจของคนหลายคน   
-คุณนวรัตนเป็นสุขที่ตั้งกระทู้นี้  ค้นคว้ามาเขียนจนเห็นภาพประวัติศาสตร์ตั้งแต่ ๒๔๗๕ จน ๒๔๘๗ ชัดเจนขึ้น  จนทำให้อนิจกรรมอันคลุมเครือของพระยาทรงสุรเดช พ้นจากคำเล่าลือด้วยความเข้าใจผิดได้
- ดิฉันก็เป็นสุข ที่ไม่ต้องทิ้งงานประจำมาปั่นกระทู้ให้ได้ ๕๐๐ ตามเป้าหมาย    กลับไปทำงานวิชาการที่ค้างอยู่ได้เสียที
- คุณหมอ CVT ก็คงเป็นสุขที่ได้ตรวจพบอาการโรคแท้จริงของพระยาทรงสุรเดช   หลังจากวางมือรักษาพยาบาลไป ๕ ปี
- คุณสมัน ๐๐๗ คงเป็นสุขที่ได้มาร่วมแจมความคิดเห็นต่างๆทางการทหาร ที่หาได้ยากมาก  นับเป็นเกียรติแก่เรือนไทย
- คุณม้า เป็นสุขที่แวะมาร่วมวิเคราะห์ด้วยเท่าที่จะหาเวลาได้
- คุณ ptbt และคุณย่านางก็จะได้โล่งอกที่จะละหน้าจอ  ไปทำอะไรต่อมิอะไรได้บ้าง   
- คุณ dotdotdot ได้ไม่ต้องคอยถอดรหัสอีกต่อไป
- คุณเพ็ญชมพูไม่ต้องโดนหาข้อมูลอีกต่อไป
ท่านอื่นๆที่ติดตามอยู่ก็คงสบายใจ  ที่ได้อ่านมหากาพย์ ที่ยากจะหาอ่านที่ไหนได้  ตั้งแต่ต้นจนจบ     พร้อมกันนั้น ก็จะได้เริ่มเฮไปติดตามกระทู้ใหม่กัน อย่างไม่ยอมพลาด

พิมพ์มาถึงตรงนี้เห็นกระทู้ใหม่ของท่านกูรูใหญ่กว่าเข้า   ก็รู้ว่างานวิชาการเห็นจะต้องค้างเติ่งต่อไปเสียแล้ว :)


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 13 ก.ค. 10, 09:46
 :) ขอบพระคุณอาจารย์ทุกๆท่านนะคะ

นักเรียนคนนี้นั่งหน้าห้องบ้าง หลังห้องบ้าง ศึกษาประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองเราในกระทู้นี้ ด้วยความสนุกในการอ่าน
เพราะแต่ละท่านเขียนเล่าได้สนุกมากค่ะ มีบ้างที่ งง ต้องอ่านซ้ำ เพราะเรื่องมันหนัก  แต่ก็พยายามทำความเข้าใจไป
เรื่องราวแบบนี้ จะทิ้งไปไม่เข้าเรียนได้ยังไง จริงไหมคะ

รอติดตามเรื่องอื่นๆอีกนะคะ  ;D


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: prickly heat ที่ 13 ก.ค. 10, 15:40
ได้ติดตามอ่านจนจบเสียที.....เรื่องจริงนี่บางครั้งยิ่งกว่านิยายเลยครับ....

ขอบพระคุณอาจารย์ทุกๆท่านครับ.....


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 13 ก.ค. 10, 19:07
อ้านเรื่องสี่ทหารเสือแล้ว  มีข้อที่น่าสังเกตที่อยากจะฝากไว้ในกระทู้นี้ คือ เมื่อเริ่มปรับปรุงกองทัพบกในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น  นักเรียนไทยได้ไปเรียนที่โรงเรียนนายร้อยเยอรมัน  ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นกองทัพที่เคร่งครัดในระเบียบวินัยที่สุดในโลก  เคร่งถึงขนาดที่ว่า นายทหารทุกคนแม้อยู่ในบ้านยังต้องแต่งเครื่องแบบทหาร  แต่น่าแปลกที่ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงในช่วงรัชกาลที่ ๕ จนถึงรัชกาลที่ ๖  นักเรียนนายร้อยเยอรมันแทบไม่มีบทบาทในกองทัพเลย  เริ่มจากกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการและเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เป็นนักเรียนนายร้อยเดนมาร์ค  เมื่อเสด็จในกรมสิ้นพระชนม์ลง  ตำแหน่งเสนาบดีกลาโหมตกอยู่แก่ เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (ม.ร.ว.อรุณ  ฉัตรกุล) ผู้ที่ไต่เต้ามาจากพลทหาร  เมื่อเจ้าพระยาบดินทรฯ อสัญกรรมลง  เสนาบดีคนถัดมา คือ เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม  ณ นคร) ผู้จบจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก  ส่วนตำแหน่งเสนาธิการทหารบกนั้นตกแก่ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ นักเรียนนายี้อยรัสเซีย  เมื่อทูลกระหม่อมจักรพงษ์ ทิวงคตแล้ว  ล้นเกล้าฯ  รัชกาลที่ ๖ จึงทรงย้ายทูลกระหม่อมบริพัตร สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต จากเสนาบดีทหารเรือมาเป็นเสนาธิการทหารบกซึ่งปัจจุบันคือ ผู้บัญชาการทหารบก  นับเป็นครั้งแรกที่นักเรียนนายร้อยเยอรมันเริ่มมีบทบาทในกองทัพ

ถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ ทูลกระหม่อมบริพัตรย้ายไปเป็นเสนาบดีกลาโหม  แล้วย้ายไปเป็นเสนาบดีมหาดไทย  โดยมีพระองค์เจ้าบวรเดช นักเรียนนายร้อยเยอรมัยมาเป็นเสนาบดีกลาโหมแทน  ในช่วงรัชกาลที่ ๗ นี้เองที่นักเรียนนายร้อยเยอรมันเริ่มมีบทบาทในกองทัพมากขึ้น  จนสี่ทหารเสือก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  และนักเรียนนายร้อยเยอรมันก็มาห้ำหั่นกันในกบฏบวรเดช  จนถูกตา ป. คว้าพุงปลาไปกิน


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: Diwali ที่ 13 ก.ค. 10, 21:13
อ่านมาถึงตอนนี้ ห้าร้อยกว่าความคิดเห็น แล้วใจหายครับ

จบแล้วหรือนี่ อายุกระทู้นี้ยังไม่มากเลย

เรียนทุกท่านตามตรงว่า ผมนิยมชมชอบ ตามอ่านเป็นรายวัน รายสัปดาห์ รายปักษ์ ไปยาวๆครับ
อ่านไปคิดตามไป เปิดโลกจินตนาการย้อนยุคไปหลายทศวรรษ

(ผมเกิดไม่ทันครับ จึงสนใจเป็นพิเศษ)


แต่เหนือสิ่งอื่นใด คงต้องขอบพระคุณ ท่านเจ้าของกระทู้ และกูรู ทุกๆท่านที่เข้ามาเสริมนะครับ
อยากให้รวมเล่มพิมพ์จังเลย
 ;D ;D ;D


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: yanang ที่ 13 ก.ค. 10, 21:20
ขอบพระคุณอาจารย์ทุก ๆ ท่านจากใจเลยค่ะ

กระทู้นี้ทำให้หูตาสว่างขึ้นในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตัวเอง
ที่เมื่อก่อนต้องการรู้เรื่องอะไรซักเรื่อง ก็ไปหาหนังสือมาอ่าน อ่านจบเพียง 1 เล่ม
ก็เป็นอันบอกตัวเองว่า  เรารู้เรื่องนั้น ๆ แล้ว แต่พอได้อ่านกระทู้นี้ เห็นได้ชัดเลยว่า
คนเราจะพูดได้ว่ารู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วนั้น ต้องค้นคว้า วิเคราะห์ และสังเคราะห์
ข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่ง ยิ่งถ้าได้มีการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกลุ่มคน
ที่สนใจในเรื่องเดียวกันแล้ว  ไม่ต้องบรรยายถึงความสุขและความสนุกที่ได้รับเลย
ว่ามันจะมากมายเพียงใด  

ขอลงทะเบียนเป็นลูกศิษย์ในคลาสต่อ ๆ ไปเลยนะคะ  ;D


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 13 ก.ค. 10, 21:50
อ้านเรื่องสี่ทหารเสือแล้ว  มีข้อที่น่าสังเกตที่อยากจะฝากไว้ในกระทู้นี้ คือ เมื่อเริ่มปรับปรุงกองทัพบกในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น  นักเรียนไทยได้ไปเรียนที่โรงเรียนนายร้อยเยอรมัน  ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นกองทัพที่เคร่งครัดในระเบียบวินัยที่สุดในโลก  เคร่งถึงขนาดที่ว่า นายทหารทุกคนแม้อยู่ในบ้านยังต้องแต่งเครื่องแบบทหาร  แต่น่าแปลกที่ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงในช่วงรัชกาลที่ ๕ จนถึงรัชกาลที่ ๖  นักเรียนนายร้อยเยอรมันแทบไม่มีบทบาทในกองทัพเลย  เริ่มจากกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการและเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เป็นนักเรียนนายร้อยเดนมาร์ค  เมื่อเสด็จในกรมสิ้นพระชนม์ลง  ตำแหน่งเสนาบดีกลาโหมตกอยู่แก่ เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (ม.ร.ว.อรุณ  ฉัตรกุล) ผู้ที่ไต่เต้ามาจากพลทหาร  เมื่อเจ้าพระยาบดินทรฯ อสัญกรรมลง  เสนาบดีคนถัดมา คือ เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม  ณ นคร) ผู้จบจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก  ส่วนตำแหน่งเสนาธิการทหารบกนั้นตกแก่ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ นักเรียนนายี้อยรัสเซีย  เมื่อทูลกระหม่อมจักรพงษ์ ทิวงคตแล้ว  ล้นเกล้าฯ  รัชกาลที่ ๖ จึงทรงย้ายทูลกระหม่อมบริพัตร สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต จากเสนาบดีทหารเรือมาเป็นเสนาธิการทหารบกซึ่งปัจจุบันคือ ผู้บัญชาการทหารบก  นับเป็นครั้งแรกที่นักเรียนนายร้อยเยอรมันเริ่มมีบทบาทในกองทัพ

ถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ ทูลกระหม่อมบริพัตรย้ายไปเป็นเสนาบดีกลาโหม  แล้วย้ายไปเป็นเสนาบดีมหาดไทย  โดยมีพระองค์เจ้าบวรเดช นักเรียนนายร้อยเยอรมัยมาเป็นเสนาบดีกลาโหมแทน  ในช่วงรัชกาลที่ ๗ นี้เองที่นักเรียนนายร้อยเยอรมันเริ่มมีบทบาทในกองทัพมากขึ้น  จนสี่ทหารเสือก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  และนักเรียนนายร้อยเยอรมันก็มาห้ำหั่นกันในกบฏบวรเดช  จนถูกตา ป. คว้าพุงปลาไปกิน

อังกฤษ รัสเซีย เดนมาร์ก เยอรมัน สยาม แบ่งตำแหน่งกันไปมา สุดท้ายฝรั่งเศสแย่งพุงปลาไปกิน แถมยังแย่งชนิดที่เรียกว่า เยอรมันตายยกเข่งด้วยสิครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 14 ก.ค. 10, 14:19
ขอบพระคุณวิทยากรทุกท่านครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: bookaholic ที่ 14 ก.ค. 10, 15:32
ไม่เคยอ่านประวัติศาสตร์สนุกอย่างนี้มาก่อนครับ  ถ้าหากว่ารวมเล่มได้ก็ดีนะครับ

นอกจากเข้ามาขอบคุณท่านอาจารย์ทั้งหลายแล้ว   หวังว่าคงไม่ขอมากไป คือผมยังค้างคำถามในใจอยู่อีกข้อ
อยากรู้ชะตากรรมของสี่ทหารเสือครับ
รู้ไปแล้วสาม  พระยาทรงไปเสียชีวิตด้วยโรค(ที่ส่อว่า)กล้ามเนื้อหัวใจตาย ที่เขมร    พระยาพหลเป็นอัมพาต  เส้นโลหิตแตก     พระยาฤทธิ์อัคเนย์หันไปถือศีลเข้าวัดเข้าวา แล้วตายไปตามอายุขัย     
เหลือพระประศาสน์พิทยายุทธ์    ไม่รู้ว่าเป็นตายร้ายดียังไง    ท่าน Navarat  จะเฉลยให้หายข้องใจได้ไหมครับ

ผมขอกราบลาไปเข้าห้องเรียนใหม่เรื่องหลวงอดุลเสียทีครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ก.ค. 10, 07:12
^
เรื่องของพระประศาสตร์ เขียนไว้ในกระทู้ตอนต้นๆแล้วนี่ครับ ลองย้อนไปดูใหม่

ส่วนพระยาฤทธิ์อัคเนย์ ผมเคยปรารภว่า กระทู้นี้จะไม่สมบูรณ์ถ้ายังหาไม่ได้ชัดว่า ชะตากรรมท่านต้องไประหกระเหิรอย่างไรในมลายูและสิงคโปร ก่อนที่จะได้กลับบ้านเกิดเมืองนอนหลังการประกาศนิรโทษกรรมนักการเมือง บัดนี้ผมได้หนังสือเล่มเดียวที่มีประวัติและเรื่องราวเกี่ยวกับท่านโดยสมบูรณ์มาอยู่ในมือแล้วอย่างฟลุ๊กๆ

หนังสือนี้หนาพอสมควรและกระดาษเหลืองกรอบ ต้องค่อยๆพลิกอ่านอย่างระมัดระวัง เขียนโดยคอลัมนิสต์ที่ติดตามและมีโอกาสเข้าไปทำตนสนิทสนมหลังจากที่ท่านละกิจกรรมทางโลกแล้ว แม้ส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาเบื้องหลังตั้งแต่การปฏิวัติแบบลักไก่ของทหารเสือทั้งสี่ ตามแผนเสธฯ.ของพระยาทรง และการแย่งชิงอำนาจที่ได้มาระหว่างแกนนำของคณะราษฎรดังที่ผมเขียนไปแล้ว ก็มีบางเรื่องที่น่าสนใจ ควรนำมาลงเพิ่มไว้ด้วย ผมจะค่อยๆย่อยมาลงเท่าที่สำคัญ ท่านผู้อ่านโปรดติดตามในกระทู้นี้ต่อไปนะครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ก.ค. 10, 07:17
ความในคคห.117
อ้างถึง
ก่อนหน้าที่หลวงพิบูลจะลงมือปฏิบัติการกวาดล้างบุคคลน้อยใหญ่ที่ตนระแวง วันหนึ่งพระยาฤทธิ์อัคเณย์กำลังปฏิบัติราชการในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการอยู่ที่กระทรวงเกษตรธิการ พ.ต.ท.ขุนศรีศรากร (ชลอ  ศรีธนากร) ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล และ ลูกน้องอีกคนหนึ่ง  ได้เข้าพบเพื่อแจ้งว่า “เจ้าคุณพหลให้เชิญใต้เท้าไปประชุมที่วังปารุสกวันเดี๋ยวนี้”

พระยาฤทธิ์ฯรู้สึกงงเล็กน้อย เมื่อพบกันแล้วพระยาพหลบอกว่าหลวงพิบูลจะเอาเรื่อง พระยาฤทธิ์เองก็ดูเหมือนจะรู้ตัวดีอยู่ เพราะหลวงพิบูลเคยเรียกไปกล่าวหาตรงๆว่ามีใจร่วมกับพวกกบฏบวรเดช โดยมีพยานหลักฐานว่า ได้ลงนามในฐานะรัฐมนตรีเกษตร อนุมัติให้รับอดีตนักโทษการเมืองชื่อพันโทพระเทวัญอำนวยเดชเข้าทำงานที่กรมสหกรณ์ และ เรืออากาศโทม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน เข้าทำงานที่กรมชลประทาน  ท่านก็บอกว่าอ้าว นั่นเป็นมติของคณะรัฐมนตรีที่ให้รับผู้พ้นโทษกรณีนี้เข้ารับงานราชการได้ไม่ใช่เหรอ ท่านก็อนุมัติไปตามขั้นตอนที่ข้างล่างเสนอมา ไม่รู้จักใครเป็นการส่วนตัว ไม่เคยพบกันด้วยซ้ำ แต่อีกข้อกล่าวหาหนึ่งท่านไม่ได้แก้ตัว เพราะหลวงพิบูลบอกว่าท่านสนิทสนมกับพระยาทรง ก็แล้วจะให้ท่านทำอย่างไร พระยาพหลบอกว่าในเมื่อเขาจะลงมือกันอยู่แล้ว ท่านก็ขอไม่ได้ ให้พระยาฤทธ์รีบหลบไปต่างประเทศก่อนดีกว่า ว่าแล้วก็ให้นายตำรวจสันติบาลจัดการส่งให้พระยาฤทธิ์ออกไปปีนังอย่างปลอดภัย  และเพื่อจะให้ออกไปแล้วไม่ย้อนกลับมาอีก รัฐบาลจึงแถลงการณ์ว่าพระยาฤทธิอัคเณย์ผู้ต้องหาคดีกบฏหนีไป ผู้ใดจับมาได้จะให้ค่าหัว 1หมื่นบาท พระยาฤทธิ์ก็เลยไม่กล้ากลับเมืองไทยจนกระทั่งหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์

ข้อเท็จจริงจากหนังสือ “ชีวิตทางการเมืองของพระยาทรง” ท่านเล่าไว้คล้ายกัน แต่ไม่เหมือนตรงที่ว่า เมื่อเข้าไปแล้วในห้องนั้นมิได้มีเฉพาะพระยาพหลผู้เป็นเพื่อน หากมีทั้งหลวงประดิษฐ์ หลวงพิบูล หลวงธำรง และนายดิเรก ชัยนาม เป็นเลขานุการจดบันทึกการประชุม พอท่านนั่ง หลวงพิบูลก็พูดขึ้นว่าที่ประชุมให้เป็นผู้เจรจา ตนได้รับมอบหมายจากหลวงอดุล รองอธิบดีตำรวจให้เอาหลักฐานเกี่ยวกับพระยาฤทธ์มาให้ที่ประชุมพิจารณา แล้วก็ว่าไปตามใจความล้อมกรอบข้างบน

เรื่องสำคัญที่ขาดไปคือ หลวงพิบูลบอกว่าตำรวจมีหลักฐานว่าพระยาฤทธิ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่ตนถูกยิงที่สนามหลวงโดยฝีมือนายพุ่ม

นายพุ่มเป็นนักเลงกิ๊กก๊อกรับจ๊อบอยู่แถวสุพรรณ ติดคุกมาแล้ว7ครั้ง ตำรวจจับเป็นได้ทันทีและให้การว่ามายิงเพราะแค้นพี่ชายอาชีพโจรที่ถูกตำรวจจับตัดคอเสียบประจาน แต่โดนตำรวจใช้วิชามารไม่นานก็เปิดปากสารภาพ ได้ผู้ต้องหาหลายคนส่งฟ้องศาล ที่สุดแห่งคดีนี้ ศาลพิพากษาให้ประหารชีวิต พันตำรวจเอก พระยาธรณีธิเบศร์ อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรกลางสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชที่ถูกคณะราษฎร ปลดออกจากราชการ แต่มีเหตุอันควรจึงลดโทษให้เป็นจำคุกตลอดชีวิต นายพุ่ม ทับสายทองมือปืนรับจ้าง พิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ลดเหลือ20ปีเพราะให้การเป็นประโยชน์ต่อคดี

หลวงพิบูลบอกพระยาฤทธิ์ว่า ตำรวจสืบมาแล้วว่าพระยาธรณีเป็นเพื่อนนักเรียนรุ่นเดียวกับพระยาฤทธิ์ ท่านก็รับว่าจริง แต่ไม่สนิทกัน ทำงานไม่ได้พบกันเลย

หลวงพิบูลบอก มีรายงานตำรวจอีกฉบับหนึ่งว่า พระยาฤทธิ์ขึ้นเหนือไปปรึกษากับพระยาทรงเรื่องจะกบฏ
ท่านนั่งงงทบทวนเวลาตามที่ถูกกล่าวหาแล้วก็นึกขึ้นได้ว่าท่านไปตรวจราชการพร้อมคณะข้าราชการผู้ใหญ่กรมป่าไม้ที่เชียงราย เวลานั้นพระยาทรงไปพักร้อนที่กว๊านพะเยาเลยเจอกันในร้านอาหารโดยบังเอิญ แล้วทานข้าวด้วยกันเป็นโต๊ะใหญ่ มีนายทวี บุณยเกตุสมาชิกคณะราษฎรที่ติดตามไปในคณะก็นั่งอยู่ด้วย แล้วจะไปคุยกันเรื่องจะกบฏได้อย่างไร

หลวงพิบูลบอกว่า ถ้าอย่างนั้นในฐานะผู้ต้องหา ท่านก็ต้องไปสู้คดีในศาลเพราะตำรวจจะสั่งฟ้องแน่นอน แต่ในฐานะเป็นผู้ก่อการผู้ใหญ่ ที่ประชุมเสนอทางเลือก2ทางให้ก็คือ หนึ่ง ลาออกจากราชการแล้วเดินทางไปอยู่เมืองนอกเสีย หรือสอง ยอมขึ้นพิสูจน์ข้อเท็จจริงในศาล ท่านย้อนถามว่า ศาลไหน หลวงพิบูลตอบว่า ศาลพิเศษที่รัฐบาลจะจัดตั้งขึ้นต่อไป ท่านเลยบอกว่า ถ้าเป็นศาลพิเศษละก็ ท่านลาออกแล้วไปอยู่ต่างประเทศดีกว่า

ตอนเลิกประชุมแล้วนั่นแหละ พระยาพหลจึงพูดกับพระยาฤทธิ์ว่า เสียใจด้วย ไม่มีทางจะช่วยได้ และตราบใดที่หลวงอดุลยังอยู่ ท่านเห็นจะไม่มีทางที่จะกลับบ้านได้
ขณะนั้น ท่านคิดถึงแต่ลูกชายที่สอบแข่งขันได้ทุนของทางราชการไปเรียนวิชาสัตวแพทย์ที่ฟิลลิปปินส์ ถามพระยาพหลว่า ถ้าพ่อโดนข้อหากบฏแล้ว จะเรียกลูกท่านกลับและให้ออกจากราชการด้วยไหม ที่ท่านถามอย่างนี้เพราะลูกๆของบรรดาผู้ที่มีโทษกบฏต้องออกจากมหาวิทยาลัย หรืองานราชการ ตามนโยบายคณะราษฎรที่ปฏิบัติอยู่ พระยาพหลบอกว่าไม่ และจะดูแลครอบครัวให้ด้วย

แต่หลังจากที่ท่านเดินทางไปแล้ว นายเสรี เอมะศิริก็ถูกเรียกกลับมาเดินเตะฝุ่นในกรุงเทพตามชะตากรรม




กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ก.ค. 10, 13:08
เหตุการณ์ต่อมาหลังจากที่พระยาฤทธิ์เดินทางไปแล้วไม่กี่เดือน ก็มีการกวาดล้าง  จับกุมกันเป็นการใหญ่ และรัฐบาลจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นมาตัดสินคดีที่เรียกว่ากบฏพระยาทรงที่ท่านได้อ่านกันไปแล้ว คำฟ้องของตำรวจที่อัยการนำมาในศาลก็มาพาดพิงถึงท่านอีก โดยเบิกความว่าหลวงอดุลเรียกตัวพยานที่ให้การจนพระยาธรณีและนายพุ่มติดคุกคราวโน้นนั้น ไปสอบสวนอีกเพราะเชื่อว่าพยานยังปิดบังผู้เกี่ยวข้องคนอื่นอยู่ พยานก็ให้การใหม่ซัดทอดพระยาฤทธิ์ หลวงรณ(ที่หนีไปอยู่ในพนมเปญก่อนพระยาทรงเล็กน้อย) และจำเลยอื่นๆสองสามคนที่สุดท้ายศาลพิเศษตัดสินประหารชีวิตหมด พยานอ้างว่าที่ตอนนั้นมิได้ให้การอย่างนี้เพราะกลัวอำนาจมืด นี่เห็นว่าตัวการใหญ่สองคนหนีไปต่างประเทศแล้วจึงได้กล้าเปิดเผยกับหลวงอดุล

ท่านผู้อ่านพิจารณากันเอาเองก็แล้วกันว่าจะเชื่อใครเป็นผู้มีอำนาจมืด ส่วนพระยาฤทธิ์ท่านบอกว่าท่านตัดสินใจถูก ถ้าคิดสู้คดีในครั้งนั้นก็มีหวังได้เป็นศพ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ก.ค. 10, 13:14
พระยาฤทธิ์ยังดีกว่าพระยาทรง ตำรวจให้เวลาถึงสามวันที่จะเตรียมตัวออกเดินทาง ท่านจึงมีโอกาสสั่งเสียใครต่อใคร จนได้ข่าวว่าลูกน้องในกระทรวงเกษตรจะแห่มาส่งรัฐมนตรีกันครึ่งกระทรวง เห็นท่าจะไม่ดี ท่านเลยเผ่นออกจากกรุงเทพด้วยรถเร็วช่วงเช้า ไปนอนรอในหัวหินห้าหกชั่วโมงเพื่อต่อรถด่วนที่จะวิ่งไปถึงปีนังอันเป็นจุดหมายปลายทาง คนไปส่งท่านที่สถานีรถไฟเก้อกันเยอะ เลยทำให้ท่านถูกเขม่นหนักเข้าไปอีก

พระยาฤทธิ์ท่านลี้ภัยไปกับหลานชายอีกคนหนึ่งเท่านั้น แต่มีนายตำรวจสันติบาลที่คอยติดตามท่านอยู่ เป็นเงาตามไปด้วยจนถึงปลายทาง
ที่ปีนังท่านต้องพักโรงแรมอยู่สามสี่วันจึงหาบ้านเช่าได้ ด้วยความช่วยเหลือของขุนโรจนวิชัย นายทหารไทยในกองทัพของพระองค์บวรเดช หลังจากนั้นคุณหญิง ภรรยาของท่านจึงได้มาอยู่ด้วย

เมื่อหายใจหายคอปลอดโปร่งสักพัก ท่านจึงได้เดินสายไปเยี่ยมคารวะผู้หลักผู้ใหญ่ที่ต้องลมสลาตันมาอยู่ที่ปีนังก่อนท่าน ท่านแรก เจ้าคุณมโนแสดงความรู้สึกแปลกใจเมื่อเห็นพระยาฤทธิ์ แต่พอฟังเรื่องแล้วก็ไม่พูดอะไร หลังจากนั้น ได้ขอติดตามพระยามโนไปเฝ้าสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งทันทีที่ทอดพระเนตรเห็น ทรงมีรับสั่งว่าเราไม่พูดเรื่องการเมืองกันนะ หลังจากนั้นการสนทนาจึงเป็นแต่เรื่องสารทุกข์สุขดิบ จืดชืด เป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่พระยาฤทธิ์ได้เข้าเฝ้าเจ้านาย ในขณะที่หนังสือพิมพ์ในกรุงเทพลงข่าวครึกโครมว่า พระยาฤทธิ์ได้ไปเข้าเฝ้าเจ้านายองค์นั้นองค์นี้ รวมถึงไปบันดุงเพื่อเฝ้าสมเด็จกรมพระนครสวรรค์ด้วย ตามข่าวปล่อยของรัฐบาล

ว่ากันตามเนื้อผ้า ผู้ใหญ่ทุกท่าน เจ้านายทุกพระองค์คงต้องระแวงโดยธรรมชาติว่าอดีตแกนนำคณะราษฎรจะมาไม้ไหน อยู่ๆโผล่มาอ้างว่าทะเลาะกัน หากพูดอะไรมากไปแล้ว ปรากฏว่าเขาไม่ได้ทะเลาะกันจริง ก็คงเป็นภัยกับตนเองโดยไม่ใช่เรื่อง



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.ค. 10, 14:45
คุณนวรัตนเคยเล่าไว้ก่อนหน้านี้แล้วค่ะ  คุณบุ๊ค

ส่วนสี่ทหารเสือคนสุดท้อง คือ พระประศาสน์พิทยายุทธ

พระประศาสน์เป็นผู้ที่ถูกหลวงพิบูลหมายหัวอยู่ด้วยอีกคนหนึ่งเพราะเห็นว่าสนิทสนมกับพระยาทรงมาก หลวงประดิษฐ์รู้ข่าวก็รีบไปขอกับหลวงพิบูลในฐานะที่ตนเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ให้ไปเป็นเอกอัครราชทูตที่เยอรมัน เลยรอดตัวไปได้อย่างฉิวเฉียด แต่ก็ได้พบกับชะตากรรมลำบากแสนสาหัสในระหว่างสงคราม และเมื่อเบอร์ลินโดนสัมพันธมิตรถล่มด้วยระเบิดและปืนใหญ่ ลูกสาวเสียชีวิต ครอบครัวต้องพลัดพราก วันที่กองทัพรถถังของรัสเซียตลุยกรุงแตก พระประศาสน์มอบตัวและอ้างเอกสิทธิ์ทางการทูต แต่ก็ถูกจับไปไว้ที่ค่ายกักกันเชลยศึกในไซบีเรีย ที่หน้าหนาวมีความเยือกเย็นขนาดลบ40 องศาใต้ศูนย์ โดยที่มีโอเวอร์โค้ทเพียงต้วเดียว ทรมานทรกรรมในนรกน้ำแข็งอยู่ถึง 7 เดือนครึ่ง จึงได้รับการปล่อยตัว กว่าจะเอาตัวรอดกลับมาเมืองไทยได้ก็หวุดหวิดความตายเต็มที และก็อยู่ในสภาพที่เรียกว่าขาดทุน ไม่มีเงินทอง บ้านช่องในเมืองก็ไม่มี ต้องไปอยู่ที่บ้านสวนที่บางซ่อน

ในบั้นปลายชีวิต ท่านกลับเข้ารับราชการได้รับการปลอบใจจากรัฐบาลใหม่ให้เป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข แต่ก็กลายเป็นคนดื่มเหล้าจัดมาก จนป่วยเป็นโรคตับ และถึงแก่กรรมไปหลังจากนั้นไม่นาน



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ก.ค. 10, 14:46
เหตุที่กรมพระยาดำรงต้องทรงนิราศมาอยู่ปีนังนั้นก็ด้วยเหตุว่า ท่านประทับอยู่กับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯที่พระราชวังไกลกังวลร่วมกับเจ้านายหลายพระองค์หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อเกิดกบฏบวรเดช รัฐบาลเรียกระดมพลทหารหัวเมืองรอบกรุงเทพไปช่วยปราบกบฏ ทหารเพชรบุรีภายใต้การนำของ พันตรี หลวงสิทธยานุการ (สิทธิ์ แสงชูโต) แข็งข้อ โดยให้เหตุผลว่าทหารของตนมีหน้าที่ถวายอารักขาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเตรียมนำกำลังทหารมาล้อมวังถวายความปลอดภัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงเห็นว่าจะไปกันใหญ่ เดี๋ยวพวกรัฐบาลจะมาหาว่าพระองค์เป็นหัวหน้ากบฏเสียเอง จึงทรงห้าม ให้ทหารเพชรบุรีอยู่เฝ้าถนนและทางรถไฟอยู่ในจังหวัดของตนอย่าให้ทหารฝ่ายใดทั้งนั้นล่วงล้ำลงมาก็แล้วกัน และเพื่อแสดงความเป็นกลาง และไม่ทรงปรารถนาให้ฝ่ายใดอ้างพระองค์เป็นประกัน จึงตัดสินพระทัยเสด็จทางเรือ โดยเรือพระที่นั่งศรวรุณ ลำเล็กนิดเดียว มุ่งไปสงขลาในตอนค่ำ รอนแรมกลางทะเล3วัน3คืนจึงถึงที่หมาย เจ้านายที่มิได้โดยเสด็จทางเรือ มีสมเด็จกรมพระยาดำรง สมเด็จกรมพระยานริศ และหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ ที่ไปทางรถไฟเพื่อสมทบกับพระองค์ที่นั่นก็เจอเหตุการณ์ระทึกใจไปตลอดทาง รางรถไฟถูกถอดออกบ้าง แกล้งกักขบวนรถไว้บ้าง เพราะนายสถานีและพวกตำรวจเห็นว่าเป็นพวกกบฏ เกือบจะเกิดเหตุร้ายหลายหน

เมื่อปราบกบฏสิ้นแล้ว รัฐบาลก็หันมาเพ่งเล็งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯและบรรดาเจ้านายทั้งนั้นว่าสนับสนุนฝ่ายกบฏอยู่ดี พอหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ถูกเชิญไปให้การในข้อหากบฏ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงสะเทือนพระราชหฤทัยมาก ถึงกับในที่สุด ทรงตัดสินใจสละราชสมบัติ และเสด็จไปประเทศอังกฤษ ส่วนกรมพระยาดำรงทรงเลือกเสด็จไปประทับที่ปีนัง จนถึงปลายปีพ.ศ.2485 จึงได้เสด็จกลับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ก.ค. 10, 07:51
คนไทยอื่นๆที่พระยาฤทธิ์ได้พบก็คือพระประศาสตร์ผู้ถูกเนรเทศที่โชคดีกว่าเพื่อนเพราะหลวงประดิษฐ์ขอไว้ให้ส่งไปเป็นทูตในเยอรมัน จะว่าโชคดีก็ไม่ถูกทีเดียวเพราะเป็นระหว่างสงคราม ในที่สุดก็เกือบตายดังที่ผมเล่าในกระทู้บนๆแล้ว การพบกันครั้งนี้ได้ก็เพราะพระประศาสตร์นั่งรถไฟจากกรุงเทพมาลงเรือโดยสารที่ปีนัง จึงได้มีโอกาสติดตามข่าวสารการเมืองว่ามันเกิดอะไรขึ้น พระประศาสตร์บอกว่านี่เป็นขั้นเริ่มต้น เชื่อว่าหลวงพิบูลจะทำการกวาดล้างใหญ่ในเร็วๆนี้

นอกจากนั้นก็ได้พบนักโทษการเมืองสมัยกบฏบวรเดชที่หนีมาก่อนบ้าง ที่ถูกเนรเทศมากักขังไว้ที่ทัณฑสถานเกาะตะรุเตา แต่หนีมาได้บ้าง เช่น พระยาศราภัยพิพัฒน์ นายหลุยส์ คีรีวัต พระยาสุรพันธ์เสนี โหรแฉล้ม เลี่ยมเพชรรัตน์ ขุนอัคนีรัถการ ไม่นานพระยาเสนาสงคราม(ม.ร.ว.อี๋ นพวงศ์) นายทหารคนสำคัญของฝ่ายพระองค์บวรเดชก็ย้ายจากอินโดจีนฝรั่งเศสมาอยู่ที่ปีนังอีกคนหนึ่ง พระยาเสนามีบาดแผลที่คณะปฏิวัติยิงเมื่อ24 มิถุนายน 2475 ถือเป็นศัตรูคู่แค้นกับคณะราษฎร์  เมื่อพบกันใหม่ในสถานภาพเช่นนี้ พระยาฤทธิ์ได้ขอขมาลาโทษ และพระยาเสนาก็เป็นชายชาติทหารพอที่จะอโหสิให้ เลิกแล้วไม่มีบาปต่อกัน

พระยาฤทธิ์โชคดีกว่าพระยาทรงที่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญอยู่ถึงเดือนละ600บาท มีคนไปรับแล้วส่งมาให้ได้4เดือน  การกวาดล้างใหญ่ได้เกิดขึ้นจริงๆตามคำทำนายที่พระประศาสตร์บอกไว้ก่อนขึ้นเรือไปเยอรมัน ปรากฏว่า รัฐบาลออกหมายจับพระยาฤทธิ์โดยตั้งเงินรางวัลจับเป็นไว้ถึง10000บาทในข้อหากบฏ เงินเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญก็ถูกตัด ไม่ได้รับตั้งแต่นั้น

ยังโชคดีที่ไม่มีใครบ้าจี้ มาจับตัวพระยาฤทธิ์ไปรับสินบนค่าหัว แต่ท่านก็ต้องผันตนเองไปเป็นพ่อค้า ขายของเล็กๆน้อยๆแต่ไม่ค่อยได้กำไร


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ก.ค. 10, 07:57
อยู่ที่ปีนังสองปี อังกฤษเริ่มไม่ไว้ใจคนไทยเพราะหลวงพิบูลไปตีซี้กับญี่ปุ่นผิดลูกหูลูกตา จึงสั่งให้ทั้งหมดยกเว้นบุคคลสำคัญให้3 นอกนั้นต้องไปอยู่สิงคโปร อยู่ได้อีกสองปีญี่ปุ่นก็ยกพลขึ้นบกทั่วแหลมทอง ตั้งแต่เมืองไทยไปยันมลายู ไทยหยุดรบตั้งแต่นกกระจอกยังไม่ได้กินน้ำ ทหารลูกพระอาทิตย์ก็มุ่งลงใต้ อังกฤษสู้พลางถอยพลาง โดยมีสิงคโปรเป็นปราการสุดท้าย
อีกเดือนเศษๆหลังหยุดยิงกับญี่ปุ่นไทยก็ประกาศสงครามกับอังกฤษ
 
นั่นเป็นข่าวร้ายอันคาดไม่ถึงของคนไทยที่นั่น อังกฤษถือว่าทุกคนเป็นชนชาติศัตรู จับคนไทยทั้งหมดสองร้อยกว่าคนไปขังไว้ในสถานกักกันเชลย รวมทั้งพระยาฤทธ์ด้วย แต่อยู่ได้10วัน พระยาศราภัยผู้ที่กำลังทำงานเป็นโฆษกของวิทยุอังกฤษในสิงคโปรได้ยื่นคำร้อง ขอให้อังกฤษปล่อยผู้ลี้ภัยทางการเมืองเป็นผลสำเร็จ คนไทยที่เหลือต้องถูกคุมขังอยู่อีกห้าสิบกว่าวันก็ถูกปล่อยเป็นอิสระโดยกองทัพญี่ปุ่น หลังการใช้แสนยานุภาพทางอากาศถล่มสิงคโปรพอเบาะๆ อังกฤษก็ยกธงขาวยอมแพ้โดยดี

พระยาฤทธ์บอกว่าทหารอังกฤษแท้ๆอยู่ในสิงคโปรไม่เท่าไร ส่วนใหญ่เกณฑ์มาจากเมืองขึ้น ที่หน้าเป็นฝรั่งก็พวกออสซี่ หน้าเป็นแขกโพกผ้าก็มาจากปัญจาบ พวกแขกไม่อยากรบเพราะญี่ปุ่นประกาศว่า หากชนะสงครามจะปลดปล่อยอินเดียจากอังกฤษมาร่วมวงไพบูลย์ของชาวเอเซีย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ก.ค. 10, 08:18
ระหว่างสงคราม ข้าวยากหมากแพงอย่างหนัก ปกติสิงคโปรและมลายูต้องพึ่งข้าวจากพม่าและไทยอยู่แล้ว ในช่วงรบกัน คมนาคมสะดุด สิงคโปรขาดแคลนหนัก พระยาฤทธิ์อาศัยใบบุญของราชนาวีที่นำเรือไปรับน้ำมันที่สิงคโปรมีกำหนดเป็นปกติ ทหารเรือใจดีเห็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองในสภาพน่าสลดใจก็แบ่งข้าวให้กิน แต่ก็พออยู่ได้แบบประทังไปวันหนึ่งๆ อาศัยอยู่คนเดียวในกระต๊อบหลังคามุงจากย่านชานเมือง สภาพชีวิตใกล้ขอทานเข้าไปทุกที

พระยาฤทธิ์ก็ได้รับสถานภาพของอิสระชนเหมือนนักโทษการเมืองทั้งหลายในเมืองไทย เมื่อรัฐบาลนายควงประกาศพระราชกำหนดนิรโทษกรรมในปลายสงคราม

โดยไม่รอช้าท่านรีบจับรถมุ่งหน้าสู่บ้านเกิดเมืองนอน มีหนุ่มสิงคโปรลูกจีนจะเข้าไปหาญาติในเมืองไทยร่วมเดินทางเป็นเพื่อนช่วยหิ้วของให้ เพราะหวังจะอาศัยบารมีท่านในเรื่องความสะดวก ทั้งสองมุ่งหน้าไปเคด่ะห์ในมลายูก่อน ขณะนั้นชื่อไทรบุรี ญี่ปุ่นยกให้กลับมาเป็นของไทย เพื่อขอพบท่านข้าหลวง ออกปากขอยืมเงิน500บาทเป็นค่าเดินทาง ท่านข้าหลวงก็ดีใจหาย ให้ท่านพักฟื้นที่นั่นสองสามวันแล้ว ก็ฝากท่านเข้ามากับขบวนรถไฟที่ญี่ปุ่นควบคุมอยู่ ได้รับความสะดวกขึ้นมาก
พระยาฤทธิ์หอบข้าวหอบของเข้าบ้านตนเองท่ามกลางความตกตะลึงของทุกคน เพราะไม่ได้รับข่าวคราวอะไรจากท่านเลยมานานนม  รวมเวลาที่ไปตกทุกข์อยู่ทั้งหมดร่วมเจ็ดปี

หนังสือพิมพ์ศรีกรุงพาดหัวในวันรุ่งขึ้นว่า “เสือ24มิถุนาเข้าเมืองไทยแล้ว”


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 16 ก.ค. 10, 08:53
สิ่งที่ผมอยากรู้มากที่สุดคือ หาก ๔ ทหารเสือคณะราษฎร์ ยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน จะรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่ตนทำเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ค. 10, 09:05
คำถามบางเรื่องมันก็เหมือนเพลง Blowin' in the Wind  คือไม่มีคำตอบ

อ่านกระทู้นี้แล้วนึกถึงพระพุทธวัจนะ "สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้ (จูฬกัมมวิภังคสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔)

คำว่า กรรม มีทั้งกุศลกรรม(กรรมฝ่ายดี) และอกุศลกรรม(กรรมฝ่ายชั่ว)  มนุษย์ปุถุชนอย่างเราๆย่อมกระทำกรรมทั้งสองอย่าง มากน้อยคละปนกันไป
ผลแห่งกรรมตามพุทธศาสนามี 4 อย่าง คือ

ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม หมายถึง กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน คือในภพนี้
อุปปัชชเวทนียกรรม หมายถึง กรรมที่ให้ผลในภพที่จะไปเกิด คือในภพหน้า
อปราปริเวทนียกรรม หมายถึง กรรมที่ให้ผลในภพต่อๆไป
อโหสิกรรม หมายถึง กรรมเลิกให้ผล ไม่มีผลอีก

พระยาเสนาสงคราม ถูกยิงถึง ๒ ครั้งนับแต่คืนวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๔๗๕   ได้ชื่อว่าเป็นปรปักษ์ตัวสำคัญของคณะราษฎร์  ซึ่งก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากเพื่อนพ้องรุ่นพี่รุ่นน้องในอาชีพเดียวกัน   เคยเห็นเคยทำงานร่วมกัน   ในที่สุดต้องลี้ภัยไปอยู่ปีนัง  
แต่ท่านก็มีน้ำใจนักกีฬา รู้จักให้อโหสิกรรม   เป็นแบบอย่างที่น่าจดจำรำลึก

อ่านถึงชีวิตของพระยาฤทธิ์อัคเนย์ที่ท่านกูรูใหญ่กว่าอุตสาหะพิมพ์ให้อ่านกันอย่างละเอียด   จึงเข้าใจว่าบั้นปลายชีวิตท่านคงเลื่อมใสพุทธศาสนา เห็นธรรมะเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริง  


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ก.ค. 10, 08:54
ก่อนหน้าจะหันหลังให้โลกเข้าสู่วัด พระยาฤทธิ์พักฟื้นร่างกายและจิตใจในช่วงที่การเมืองเปลี่ยนแกนเช่นเดียวกับนักการเมืองสายคณะราษฎร์ทั้งหลาย ปล่อยให้สายเสรีไทยและอดีตนักการเมืองรุ่น2475 และ2482 ที่ประชาชนเลือกเข้ามาเป็นผู้แทนด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย เข้าบริหารบ้านเมืองหลังสงคราม ให้รอดพ้นจากความหายนะจากการเรียกคืนเอาบ้างของสัมพันธมิตร  การบริหารงานบ้านเมืองช่วงนั้นเต็มไปด้วยความยากลำบาก สถานภาพทางการเมืองง่อนแง่น รัฐบาลผลัดเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีภายใต้รัฐธรรมนูญเดิมหลายครั้ง หลังจากนายควง อภัยวงศ์ นายทวี บุณยเกตุได้เป็นนายกขัดตาทัพระหว่างรอ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชเดินทางกลับมาเมืองไทยเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อเจรจาหาข้อยุติที่อังกฤษเอาเรื่องที่ไทยไปประกาศสงครามกับเขาไว้ หมดเรื่องนี้แล้วม.ร.ว.เสนีย์ยุบสภา เลือกตั้งใหม่นายควงกลับมาเป็นนายก อยู่ได้ไม่นานก็แพ้การลงมติในสภา ต้องลาออก การเมืองเปลี่ยนสลับขั้ว นายปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ในสมัยที่นายปรีดีเป็นนายกนี้ ได้เกิดกรณีย์สวรรคตขึ้น เป็นเหตุให้นายปรีดีต้องประกาศลาออก พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่

สมัยของรัฐบาลนี้ พระยาฤทธิ์ก็มีชื่อได้เป็นวุฒิสมาชิกที่ตั้งขึ้นแทนส.ส.ประเภท2กับเขาด้วย



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ก.ค. 10, 10:16
พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจาก นายปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2489 ในช่วงที่เข้ารับตำแหน่งประเทศกำลังทรุดหนัก พลเรือตรี ถวัลย์ได้แก้ไขปัญหาด้วยการซื้อของแพงมาขายถูกให้แก่ประชาชนเพื่อตรึงราคาสินค้าไม่ให้สูง กลับเป็นปัญหาอีกด้านเพราะรัฐก็ม่มีเงินมากพอที่จะถมเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักเต็ม สุดท้ายก็แก้ปัญหาด้วยการนำทองคำซึ่งเป็นทุนสำรองของชาติออกมาขายแก่คนรวยเพื่อหาเงินใช้หนี้ที่รัฐบาลก่อ ฝ่ายค้านได้ที ขออภิปรายไม่ไว้วางใจ และเนื่องจากเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดวิทยุ การอภิปรายจึงสร้างสถิติพูดไม่จบติดต่อกันเจ็ดวันเจ็ดคืน แม้รัฐบาลจะโหวตชนะ แต่นายกก็ถูกถล่มนอกสภาจนต้องจำต้องลาออก
เลือกนายกกันใหม่ พลเรือตรี ถวัลย์ได้รับเลือกอีก จอมพล ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงครามภายใต้บารมีของจอมพล ป. พิบูลสงครามผู้ฟอกตัวจากคดีอาชญากรสงครามเรียบร้อยแล้วแต่งตัวรออยู่ ก็ทนไม่ได้ที่จะรอให้การเมืองต้องแก้ไขด้วยวิธีทางการเมือง ใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารเมื่อวันที่8 พฤศจิกายน 2490 
พลเรือตรีถวัลย์ลี้ภัยไปอยู่ที่ฮ่องกงระยะหนึ่ง แล้วจึงกลับประเทศไทยยุติบทบาท “นายกลิ้นทอง” ใช้ชีวิตอย่างสงบเงียบจนอนิจกรรม


พระยาฤทธิ์ได้เห็นความเป็นอนิจจังของการเมืองซ้ำซากอย่างนี้จนบรรลุแก่ปัญญา ปล่อยวางเรื่องที่วนเวียนตามเหตุตามกรรม ตามกิเลสอันไม่จบไม่สิ้นของมนุษย์ไว้ตรงจุดนี้


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ค. 10, 16:22
สาธุ
“นตฺถิ ปญฺญา สมาอาภา : แสงสว่างเสมอด้วยปัญญา  (ย่อม)ไม่มี”


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: alias1124 ที่ 20 ก.ค. 10, 00:17
ขอมารายงานตัวครั้งแรกครับ หลังจากได้ตามอ่านมาทั้งกระทู้ เผอิญเพิ่งได้โอกาส
มาแสดงความเห็นครั้งแรก ผมอ่านรายละเอียดแล้วรู้สึกตกใจมากว่าทำไมตอน
เรียนประวัติศาสตร์ถึงไม่ได้สอนเรื่องพวกนี้  ท่องจำอย่างเดียวว่า 24 มิ.ย. 2475
เปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรแค่นี้ อ่านมาทั้งหมดผม(ด้วยความเห็น
ส่วนตัว)มองว่า
1) คณะราษฎรใจร้อนไปจริงๆ ที่นำประชาธิปไตยมาให้ประเทศ มีคนบางกลุ่มแย้งว่า
    เวลาได้เหมาะสมแล้วด้วยทั้งเศรษฐกิจ ปัจจัยภายนอก แต่มองยังไงๆก็ไม่ใช่อยู่ดีครับ
    ผมว่าน่าจะเป็นการร้อนวิชาของพวกที่ไปเรียนจากต่างประเทศ แล้วนำกลับมา
    ยัดเยียดให้คนไทยโดยที่ไม่มองหลักความจริงที่เหมาะสมกับประเทศหรือไม่ต่างหาก
2) คณะราษฎรบางคนมีจิตใจที่ดี เจตนาทำเพื่อบ้านเมือง  แต่บางคน(ซึ่งก็น่าจะ
    พอทราบว่าใคร)กระหายและเหลิงในอำนาจ สุดท้ายก็รวบอำนาจ ไล่เบี้ยตามเก็บ
    พรรคพวกไปทีละคน แทนที่จะได้ประชาธิปไตยสุดท้ายก็เผด็จการดีๆนี่เอง ดังมี
    คนกล่าวไว้ว่า "อำนาจ เหมาะสำหรับที่จะเสพสุขเพียงผู้เดียว"  อันนี้หากมอง
    ให้แท้ก็บอกได้ว่าคณะราษฎรยังขาดประสบการณ์ให้การบริหาร"อำนาจ"ก็ได้
3) สมัยก่อนพระมหากษัตริย์มีอำนาจเบ็จเสร็จก็จริง แต่ก็ยังมีระเบียบประเพณีบางอย่าง
    ที่แม้แต่พระมหากษัตริย์ยังทำไม่ได้ หลักนิติรัฐก็ต้องบังคับใช้อยู่  ดังนั้นการ
    สืบสันตติวงศ์ให้พระมหากษัตริย์องค์ถัดไปปกครองต่อจึงสามารถทำได้ เนื่องจาก
    ได้มีการเห็นการปกครองจากพระมหากษัตริย์องค์ก่อนเป็นแบบอย่าง  รวมถึงการ
    ใช้ทศพิธราชธรรมในการปกครอง  แต่ต้องยอมรับว่าระบบสมบูรณาญาฯนั้นก็
    ต้องพึ่งโชคด้วย หากได้พระมหากษัตริย์ที่เป็นผู้ปกครองที่ดี บ้านเมืองก็ดีไป
    หาก  หากเป็นตรงกันข้ามก็แย่ไป การจัดสรรอำนาจเพื่อถ่วงดุลกันในแบบ
    ประชาธิปไตยก็ดูเข้าท่าดีอยู่  แต่หากผู้ปกครองดัน"ลืม"เอาทศพิธราชธรรมมา
    ใช้ในการปกครองเหมือนนักการเมืองตั้งแต่ 2475 จนถึงปัจจุบัน  ประชาธิปไตย
    ก็"ตาย"เช่นกัน

ขอให้ความเห็นแค่นี้ครับ ขอบคุณอาจารย์ทุกๆท่านในที่นี้ที่ให้ความรู้เพิ่มเติม
ว่างๆจะมาให้ความเห็นใหม่ครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ก.ค. 10, 07:46
ขอบคุณสำหรับความเห็นครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ค. 10, 08:21
ขอเชิญคุณ alias1124  อ่านต่อกระทู้นี้ค่ะ
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3419.0
ส่วนเรื่องไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์ช่วงนี้  ในชั้นมัธยม หรือมหาวิทยาลัย   ถ้าคุณเรียนเอกในคณะที่มีเอกประวัติศาสตร์ก็อาจได้เรียน แต่ถ้าเรียนสาขาวิชาอื่นและคณะอื่นก็ไม่ได้เรียน
ส่วนในระดับมัธยม ก็น่าเห็นใจความลำบากของกระทรวงศึกษาธิการว่าจะเขียนเนื้อหายังไงไม่ให้กระทบกระเทือนบุคคลสำคัญในอดีต  เพราะเรื่องหลายเรื่องก็เอามาเล่ากันอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้   นอกจากนี้  หลักสูตรกระทรวงมุ่งไปในทางเรียนเพื่อให้นักเรียนนิยมอดีต มากกว่าวิจารณ์อดีตอยู่แล้ว


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 20 ก.ค. 10, 09:29
เข้ามาเห็นด้วยกับคุณ alias1124 ค่ะ
ไม่ได้เรียนทางด้านประวัติศาสตร์เลย แค่เรียนวิชานี้บ้างสมัยเป็นนักเรียนมัธยม ซื่งไม่มีอะไรมากไปกว่า
มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี พศ.2475 เท่านั้นเองค่ะ ไม่มีรายละเอียดมากมายอย่างในนี้ให้ศึกษาหรอกค่ะ



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ก.ค. 10, 09:31
เรื่องที่ผมจะให้ข้อมูลนี้ จะหาไม่พบในตำราเรียนครับ

เพราะธรรมะเป็นธรรมคู่ ในด้านโลกธรรมที่เรารู้จักกันว่ามีได้ลาภก็มีเสื่อมลาภ มียศก็มีเสื่อมยศ มีสรรเสริญก็มีนินทา มีสุขก็ต้องมีทุกข์นั้น ถ้านับลงไปถึงรายละเอียดก็จะมีเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยรวมอยู่

ผู้ที่คิดว่าคณะราษฎรใจร้อนไปมีมาก แต่ก็มีผู้ที่เห็นว่ารอไม่ได้ก็มีไม่น้อย

ผมเพิ่งจะอ่านเจอประโยคเล็กๆที่นึกขึ้นมาได้ตอนนี้ ดูเหมือนจะเป็นจอมพล ป.(หรือนายปรีดี หากจำผิดขออภัย)จะเป็นผู้พูดว่า หากรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯจะยาวนานมาถึงตอนนี้(ตอนนั้น) ก็คงจะพระราชทานธรรมนูญการปกครองให้ราษฎรแล้ว คุณวีมีคงจะเข้ามาเสริมได้ ว่าพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ท่านได้ตระเตรียมข้าราชการแผ่นดินให้รู้จักทำงานในระบบอประชาธิปไตยอย่างไร แม้กระทั่งไม่โปรดที่จะแต่งตั้งเจ้านายให้ดำรงตำแหน่งใหญ่ๆทั้งหมดเช่นสมัยรัชกาลที่5 โดยทรงแต่งตั้งข้าราชการสามัญชนที่ตอนนั้นเรียกขุนนางที่มีความสามารถสูง มาดำรงตำแหน่งที่เคยผูกขาดเป็นของเจ้านายผู้ใหญ่เป็นจำนวนมาก แม้จะทรงทราบว่าบรรดาเจ้านายทั้งหลายจะไม่พอพระทัยก็ตาม

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯเสด็จขึ้นครองราชย์อย่างไม่ทันเตรียมพระองค์ จึงต้องทรงรับฟังเจ้านายที่(เคย)ใหญ่กว่าท่านหลายพระองค์ ดังนั้น ท่านที่ทรงมีพฤติกรรมไม่น่ารักในรัชกาลก่อนก็ได้กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิมๆ หรือไม่ก็ในตำแหน่งสำคัญอื่นๆที่มีอิทธิพลต่อนโยบายในการบริหารแผ่นดิน ธรรมนูญการปกครองที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงมีพระราชประสงค์มุ่งมั่นที่จะพระราชทาน ก็ถูกดึงไว้ เพราะเห็นตำหนิตรงนั้นตรงนี้ ไม่รู้ว่าจะแก้กันอีกนานเท่าไร ข้าราชการระดับหนึ่งก็ไม่พอใจกันมาก กระแสปฏิวัติจึงได้มีขึ้นจนเมื่อเกิดปฏิวัติขึ้นมาจริงๆ คนทั้งหลายจึงมิได้ตกอกตกใจในระดับคอขาดบาดตายแต่อย่างไร

เห็นไหมครับ ผลมันเกิดจากเหตุ แม้แต่ส้มหล่นมันก็มีเหตุของมันเหมือนกัน


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ก.ค. 10, 09:35
ผมอยากปิดฉากเรื่องของพระยาฤทธ์ในเรื่องที่ท่านได้ไปเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อลี หรือพระวิสุทธิธรรมรังสี วัดปากน้ำสมุทรปราการ จากไปๆมาๆระหว่างวัดกับบ้านจนถึงกับไปปลูกกระท่อมเล็กๆอยู่ในวัด เพื่อปฏิบัติธรรมคนเดียวในระหว่างเข้าพรรษา ไม่คลุกคลีพูดคุยกับผู้ใดหากไม่ใช่ความจำเป็น ออกพรรษาก็เดินทางไปปฏิบัติตามป่าเขาเหมือนพระธุดงค์อยู่เนืองๆ แต่ในสถานภาพที่ยังเป็นฆราวาส เมื่อกลับมาอยู่บ้าน ท่านก็ต้องถูกมารยาทบังคับให้ออกงาน “โลกๆ” บ้างเพื่อให้กลมกลืนกับสังคม   สมัยกึ่งพุทธกาลในปี2500 ท่านพ่อลีได้มาหาท่านที่บ้านเพื่อชวนให้ไปอยู่วัดว่า “อย่าอยู่เลยเจ้าคุณ มันจะยุ่งกันอีกแล้ว” ท่านก็เชื่อครูบาอาจารย์ รีบย้ายตนเองไปอยู่วัดในบัดนั้น

ในคืนวันที่16 กันยายน 2500 ท่านพ่อลีได้เดินตรวจตราการฝึกของศิษย์มาถึงท่านก็กล่าวว่า “นี่ท่านเจ้าคุณช่วยแผ่เตตาให้รัฐบาลบ้างนะ”  แล้วท่านมิได้พูดอะไรอีก พระยาฤทธิ์นั่งงงสักพักก็ลืม วันสองวันต่อมาท่านจึงเข้าใจ

วันรุ่งขึ้นเป็นวันที่ 17 กันยายน 2500 จอมพล ป.ถูกรัฐประหารโดยจอมพลสฤษฎ์ จนต้องหนีตายออกทางด่านอรัญญประเทศไปเขมร จุดหมายเดียวกับพระยาทรง และกลับมาเมืองไทยเป็นอัฐิ บรรจุอยู่ข้างเคียงกันร่วมกับผู้ร่วมอุดมการณ์2475อื่นๆ

เมื่อมีคนไปถามความเห็นพระยาฤทธิ์ ท่านจะบอกว่าท่านหมดหน้าที่เรื่องการบ้านการเมืองแล้ว ตอนนี้ท่านอยู่กับธรรมะเท่านั้น
พระยาฤทธิ์อัคเนย์นับว่าอายุยืนยาวกว่าผู้ก่อการทั้งหลาย ท่านถึงแก่กรรมในปี2509 สิริอายุรวมเกือบ 78 ปี


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 20 ก.ค. 10, 19:48
พี่ชายที่เคารพท่านสั่งให้มาขยายความเรื่องการวางรากฐานการปกครองในบอบประชาธิปไตยของรัชกาลที่ ๖  ผู้เป็นน้องก็ต้องรับปฏิบัติต่อไปแต่ก่อนที่จะเริ่มร่ายยาวถึงพงศาวดารการวางรากฐานประชาธิปไตย  คงต้องเล่าถึงเรื่องแปลกให้ท่านที่ติดตามอ่านเรื่องราวความเป็นมาของการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ได้ทราบถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงรอยต่อรัชกาลที่ ๖ กับรัชกาลที่ ๗

ในเอกสารประวีติศาสตร์ของไทยเรามักจะกล่าวไว้เหมือนกันหมดว่า เมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ เสด็จขึ้นครองราชย์นั้นเศรษฐกิจของชาติตกต่ำลงมากเพราะการใช้จ่ายฟุ้มเฟือยในพระราขสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  เลยจำต้องทรงตัดทอนรายจ่ายในพระราชสำนักลง ๓ ล้านบาท  คงเหลือเงินที่รัฐบาลจัดถวายเพียงปีละ ๖ ล้านบาท  ซึ่งก๊เท่ากับจำนวนเงินที่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติจัดถวายล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ เมื่อแรกเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ  ซึ่งกักจากยอดที่เคยถวายล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ไป ๓ ล้านบาทเหมือนกัน

ในประวัติต้นรัชกาลที่ ๖  ทรงพระราชบันทึกถึงเหตุผลที่กระทรวงพระคลังตัดเงินปีที่จัดถวายไป ๓ ล้านบาทนั้นว่า  เพราะเพิ่งจะเสด็จขึ้นครองราชย์ ยังไม่ทรงมีพระมเหสี  จึงจัดให้เพียง ๖ ล้านก่อน  แล้วจะขึ้นให้ปีละห้าแสนบาท  สุดท้ายแล้วต้องทรงรับเงินปีเพียงปีละ ๖ ล้านบาทต่อมาอีกหลายปี  จนต้องทรงทวงถามกระทรวงพระคลังจึงยอมเพิ่มให้ปีละ ๕ แสนบาท  จนสุดท้ายทรงได้รับปีละ ๙ ล้านบาทเท่ากับที่กระทรวงพระคลังเคยถวายรัชกาลที่ ๕  นอกจากจะทรงถูกตัดเงินไป ๓ ล้านบาทแล้ว  เสนาบดีพระคลังยังขอให้ทรงแยกการใช้จ่ายส่วนพระองค์ออกจากราชการแผ่นดิน  ผลก็คืองบประมาณกระทรวงวัง  กระทรวงมุรธาธร และกรมมหาดเล็กซึ่งเป็นหน่วยราชการเทียบเท่ากระทรวง  ล้วนถูกผลักให้มาเป็นค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์ทั้งหมด  แถมด้วยสมเด็จพระพันปีหลวงมีรับสั่งว่า กระทรวงพระคลังถวายเงินปีๆ ละ ๓ แสนบาทไม่ทรงพอใช้  ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ก็เลยต้องจัดเงินถวายสมเด็จพระพันปีหลวงอีกปีละ ๑ แสนบาท  แถมด้วยจ่ายเงินเดือนให้ข้าราชการในพระราชสำนักสมเด็จพระพันปีหลวงต่อมาตราบจนเสด็จสวรรคตในปี ๒๔๖๒

ในรัชกาลที่ ๖ แม้จะทรงได้รับเงินปีเพียงปีละ ๖ ล้านบาท  แต่ก็ทรงจัดตั้งหน่วยราชการในพระราชสำนักเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย ๒ หน่วยงานใหญ่ คือ กรมมหรสพเพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์กิจการด้านนาฎดุริยางศิลป์ของชาติมิให้เสื่อมสูญไปเพราะขาดผู้อุปถัมภ์  กับกรมศิลปากร เพื่ออนุรักษ์งานประณีตศิลปกรรม  แล้วยังโปรดเกล้าฯ ให้ยกกรมวังนอกขึ้นเป็นทหารรักษาวัง  ทำหน้าที่เป็นทหารยืนยามรักษาประตูพระบรมมหาราชวังแทนการใช้ทหารรักษาพระองค์ที่โปรดให้ถอนกำลังออกไปทำหน้าที่ปกป้องประเทศชาติ  ทั้งยังโปรดให้จัดตั้งกองพันทหารรักษาวังขึ้นที่นครศรีธรรมราชอีก ๑ กองพัน เพื่อเป็นกองกำลังในดินแดนที่เป็นเขจปลอดทหาร  เพราะโดยนิตินัยทหารรักษาวังเป็นข้าราชการพลเรือน  กระทรวงวัง

พอถึงรัชกาลที่ ๗ ที่ทรงได้รับเงินปีๆ ละ ๖ ล้านบาทเหมือนกัน  แต่เงินจำนวนดังกล่าวไม่แช้จ่ายในพระราชสำนัก  จำต้องยุบกรมมหรสพและกรศิลปากร  กับปรับลดกำลังคนในกรมมหาดเล็กลงจำนวนหนึ่ง  กับปรับลดอัตรากำลังทหารรักษาวังจาก ๒ กองพันๆ ละ ๔ กองร้อย รวม ๘ หองร้อยลงเหลือเพียง ๒ กองร้อย   

เงินจำนวนเท่ากันรัชกาลหนึ่งสามารถเพิ่มหน่วยงานและเพิ่มคน   แต่อีกรัชกาลหนึ่งกลับลดคน  เมื่อท้องหิวจึงต้องดิ้นรนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  แล้วก็แปลกเรื่องการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยในพระราชสำนักรัชกาลที่ ๖ ไม่ใช่เพิ่งเริ่มมีขึ้นในตแนปลายรัชกาลที่ ๖  แต่เมื่อย้อนกลับไปดูเหตุผลของการก่อกบฏ ร.ศ. ๑๓๐  ก็มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นกล่าวถึงเหมือนกัน  นับว่าเป็นเริ่องแต่จริงที่ยิ่งกว่าจริงเสียอีก


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 20 ก.ค. 10, 20:04
เล่าเรื่องแปลกไปแล้ว  คราวนี้ขอส่งการบ้านที่ท่านอาจารย์ใหญ่ เทาชมพู ท่านให้การบ้านไว้หลายวัน  แม้ว่าท่านว่ายังไม่ต้องรีบแต่ขืนไม่รับมีหวังไม่ได้เรียบเรียงเพราะมัวไปเขียนเรื่องอื่นเสียก่อน  เมื่อเรื่องของสี่ทหารเสือจบลงก็พอดีได้จังหวะมาต่อด้วยเรื่อง "กบฏ ร.ศ. ๑๓๐"  ซึ่งจากหลักฐานที่ไปสิบค้นมาได้ออกจะไม่ตรงกับที่ที่เคยมีการอ้างอิงกัน  ก็ขอฝากเป็นการบ้านให้คุณๆนักเรียนในห้องเรือนไทยช่วยกันวิเคราะห์วิจารณ์กันต่อไป

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเสวยสิริราชสมบัติในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ นั้น  ได้ทรงพระราชดำริว่า เมื่อประทับทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษนั้น  ได้ทรงพบปะคุ้นเคยกับพระราชวงศ์และประมุขของประเทศต่างๆ ในยุโรปเป็นจำนวนมาก  ทั้งยังได้ทรงเป็นผู้แทนพระองค์สมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็พระราชดำเนินไปทรงร่วมงานบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ในยุโรปก็หลายพระองค์  เมื่อถึงคราวที่จะทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็น่าจะเชิญผู้แทนพระประมุขและประมุขของประเทศเหล่านั้นมาร่วม  เพื่อเป็นการแนะนำประเทศสยามให้เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติบ้าง  จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็น ๒ คราว  คราวแรก คือ การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร  มีการพระราชพิธีครบถ้วนสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี ในระหว่างวันที่  ๓ – ๑๔  พฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๔๕๓  แต่เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างประดิษฐานพระบรมศพสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง  จึงโปรดให้งดการสมโภชและการเสด็จเลียบพระนครรวมทั้งการเลี้ยงลูกขุนตามประเพณีไว้ก่อน  

ครั้นพ้นกำหนดการไว้ทุกข์ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตามโบราณราชประเพณีที่มีกำหนด ๑ ปีแล้ว  จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชขึ้นอีกครั้งหนึ่ง  ในระหว่างวันที่  ๘  พฤศจิกายน – ๑๐  ธันวาคม  พ.ศ. ๒๔๕๔  มีพิธีการรวมทั้งการามโภชต่างๆ เต็มตามโบราณราชประเพณี  ทั้งยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติสยามที่พระราชาธิบดีและประธานาธิบดีจากมิตรประเทศได้จัดให้ผู้แทนพระองค์และอัครราชทูพิเศษมาช่วยงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ถึง ๑๔ ประเทศ  

เสร็จการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชและการพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษาในตอนต้นเดือนมกราคมแล้ว  เสด็จพระราชดำเนินประพาสมณฑลนครไชยศรี  ราชบุรี  และทรงนำเสือป่าฝึกซ้อมวิธียุทธประจำปี  ในระหว่างนั้นได้แปรพระราชฐานไปประทับแรมที่พะราชวังสนามจันทร์  แล้วเย็นวันหนึ่งในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธุ์  จู่ๆ ก็มีขบวนรถไฟพิเศษจากกรุงเทพฯ ไปหยุดที่สถานีรถไฟหลวงพระราชวังสนามจันทร์ซึ่งปกติจะมีแต่ขบวนรถไฟพระที่นั่งมาจอดที่สถานีนี้เท่านั้น  เมื่อขบวนรถหยุดเรียบร้อยแล้ว  นายพลเอก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ หรือ “ทูลกระหม่อมเล็ก” เสนาธิการทหารบก ได้เสด็จลงจากรถไฟพิเศษนั้นแล้วทรงพระดำเนินตรงไปยังพระราชวังสนามจันทร์  พอเสด็จถึงพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์  จึงทรงพบกับหัวหน้าเวรมหาดเล็กซึ่งประจำรักษาการอยู่  และได้มีรับสั่งถามว่า “ฉันจะเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวได้ที่ไหน?”

เมื่อหัวหน้าเวรมหาดเล็กกราบทูลว่า  “เวลานี้กำลังเสด็จไปทรงเล่นสุนัขไล่กระต่ายอยู่ทางไร่เจ๊ก  ด้านทิศตะวันออกของพระราชวังสนามจันทร์ พ่ะย่ะค่ะ”  ก็มีรับสั่งต่อไปว่า “ไปกราบทูลให้ทรงทราบว่า   ฉันขอเฝ้าโดยมีราชการด่วน  ฉันจะรออยู่ที่แหละ”

หัวหน้าเวรมหาดเล็กจึงได้จัดพระเก้าอี้ถวายให้เสด็จประทับรอ  พร้อมกับมอบหมายให้มหาดเล็กเวรจัดพระสุธารสถวายแล้ว  ก็รีบออกไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งกำลังทรงทดสอบวิชาสะกดรอยตามแบบฝึกหัดสั่งสอนเสือป่าและลูกเสือที่เพิ่งทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่  แต่ในเวลานั้นโปรดให้ลูกเสือหลวงโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเดินทางกลับกรุงเทพฯ ไปก่อนแล้ว  จึงทรงชวนมหาดเล็กบางคนไปเล่นสุนัขไล่กระต่าย (Paper Chase)  ซึ่งเป็นการเล่นชนิดหนึ่งที่เคยทรงเล่นเมื่อครั้งประทับทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ  การเล่นชนิดนี้กำหนดให้มีคนหนี ๒ คน  เรียกว่ากระต่าย แต่คนไล่ซึ่งเรียกว่าสุนัขนั้นไม่กำหนดว่ากี่คน  คนหนีนั้นต้องออกวิ่งก่อนคนไล่ประมาณ ๑๕ นาที  และโปรยกระดาษไปตามทางที่ตนไป  เพื่อให้คนไล่เห็นและตามถูกทาง  เรียกว่า “สะกดรอย”  

เมื่อหัวหน้าเวรมหาดเล็กไปเฝ้าที่ไร่เจ๊ก  ซึ่งต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระคลังข้างที่จัดซื้อที่ดินบริเวณนั้นและโปรดให้ตัดถนนสายสั้นๆ ชื่อ “ถนนยิงเป้า”  และได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบว่า ทูลกระหม่อมเล็กเสด็จมารอเฝ้าอยู่ที่พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์แล้ว  ก็รีบเสด็จพระราชดำเนินกลับมายังพระราชวังสนามจันทร์ในทันที  และทรงมีพระราชปฏิสัณฐานกันอยู่ราวครึ่งชั่วโมงเศษ  ทูลกระหม่อมเล็กก็กราบถวายบังคมลาไปประทับรถยนต์พระประเทียบไปประทับรถไฟพระที่นั่งพิเศษกลับกรุงเทพฯ ในเวลาค่ำวันนั้น  


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 20 ก.ค. 10, 20:05
ตอนที่เสด็จขึ้นนั้นยังไม่มีใครทราบว่าทูลกระหม่อมเล็กเสด็จมาเฝ้าฯ ด้วยเรื่องอะไร  ต่อเมื่อเสด็จลงประทับเสวยพระกระยาหารค่ำ  จึงมีพระราชดำรัสเล่าให้หม่อมเจ้าและข้าราชการที่ร่วมโต๊ะเสวยในวันนั้นทราบว่า มีพวกนายทหารคิดกบฏ  แต่น้องชายเล็กหรือทูลกระหม่อมเล็กได้จัดการจับกุมไว้ได้หมดแล้ว  จากนั้นอีก ๒ – ๓วัน  หนังสือพิมพ์จึงได้ลงข่าวว่า การกบฏครั้งนี้มีนายทหารทั้งหมด ๓๐ คน  เป็นชั้นนายร้อยเอก ๓  นอกนั้นเป็นชั้นนายร้อยโทและนายร้อยตรีทั้งสิ้น  การกบฏครั้งนี้เป็นแต่เพียงร่วมประชุมปรึกษาหารือกัน  ยังมิทันได้ลงมือกระทำการอะไร  สาเหตุที่จับได้ก็เพราะมีนายทหารชั้นนายร้อยโทนายหนึ่งซึ่งเป็นผู้ร่วมคิดอยู่ด้วยในจำนวน ๓๐ คนนั้นเกิดเกรงกลัวพระราชอาญา  จึ่งนำรายชื่อนายทหารทั้ง ๓๐ คนไปถวายทูลกระหม่อมเล็ก และกราบทูลให้ทรงทราบ  การจับกุมจึงกระทำได้โดยละม่อม  แล้วได้มีการขยายผลจับกุมนายทหารบกทหารเรือและข้าราชการกระทรวงยุติธรรมเพิ่มเติมอีกหลายสิบคน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวคงประทับแรทีพระราชวังสนามจันทร์ต่อมา  ถึงวันที่    ๙  มีนาคม  พ.ศ. ๒๔๕๔  เวลาบ่าย ๔ โมง  จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ โดยขบวนรถไฟพิเศษ  ถึงสถานีรถไฟบางกอกน้อยแล้วประทับเรือยนต์พระที่นั่งมาเสด็จขึ้นที่ท่าราชวรดิษฐ์  ทรงรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินประพาสถนนสายต่างๆ ในพระนคร  จนตะวันโพล้เพล้จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับพระที่นั่งอัมพรสถาน  พระราชวังดุสิต
วันรุ่งขึ้นตื่นพระบรรทมเข้าไปกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า มิสเตอร์เวสเตนการ์ด ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศได้มารอเฝ้าฯ อยู่ที่ห้องธารกำนัลแล้ว  มีพระราชกระแสดำรัสสั่งว่า “ลงไปเชิญให้ขึ้นมาเฝ้าบนนี้เถอะ  วันนี้จะขอรับแขกในห้องนอนสักที”  มหาดเล็กห้องพระบรรทมผู้นั้นจึงลงมานำที่ปรึกษาราชการฯ ขึ้นไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท  เมื่อมีพระราชดำรัสปฏิสัณฐานกับมิสเตอร์เวนเตนการ์ดตามสมควรแล้ว  จึงมีพระราชกระแสดำรัสสั่งให้มหาดเล็กห้องพระบรรทมให้ “ไปนั่งเฝ้าอยู่ที่หน้าประตู  อย่าให้ใครเข้ามา”

มหาดเล็กห้องพระบรรทมในวันนั้นคือ พระยาภูมีเสวิน (จิตต์  จิตตะเสวี)  ซึ่งเวลานั้นยังเป็นนายกวด หุ้มแพร  ได้เล่าว่า “กระแสพระราชดำรัสและคำกราบบังคมทูลของมิสเตอร์เวนการ์ดซึ่งเป็นคำสนทนาปราศรัยกันนั้นเป็นภาษาอังกฤษทั้งสิ้น  จนเมื่อมิสเตอร์เวสเตนการ์ดจะกราบบังคมทูลลากลับ  จึงได้กราบบังคมทูลเป็นภาษาไทย  เข้าใจว่าคงจะเป็นคำปลอบขวัญพระราชหฤทัยมีใจความว่า “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้  ขออย่าได้ทรงพระวิตกและเสียพระราชหฤทัยเลย  กลับจะเป็นโชคลางดีที่แสดงให้เห็นประจักษ์ว่า ต่อไปประเทศจะเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าไปอีกมากทีเดียว””


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 20 ก.ค. 10, 20:08
เสร็จงานพระราชพิธีเถลิงศกในช่วงสิ้นเดือนมีนาคมต่อด้วยการพระราชพิธีตรุษสงกรานต์แล้ว  ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการประชุมเสนาบดีสภา  เมื่อเปิดประชุมแล้วได้มีกระแสพระราชดำรัสถึงเรื่องที่จะทรงมอบสิทธิการปกครองให้ประชาชนเพื่อปกครองตนเอง  อย่างที่เรียกว่าประชาธิปไตย  ตามที่คณะผู้ก่อการกำเริบได้หยิบยกขึ้นเป็นข้ออ้างในการก่อกบฏ ร.ศ. ๑๓๐

ในทันใดนั้น จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช จเรทหารทั่วไปในฐานะเสนาบดีอาวุโส  ได้ประทับยืนและกราบบังคมทูลพระกรุณาแทนคณะเสนาบดีว่า “ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่ายังไม่ถึงเวลา  เพราะประชาชนพลเมืองของเรายังไร้การศึกษาอยู่มาก  ลัทธิการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้นเป็นลักษณะการปกครองอันละเอียดอ่อน  ต้องอาศัยปัญญาความรู้และใช้วิธีการปกครองอย่างสุขุมคัมภีรภาพจึงจะนำความเจริญก้าวหน้าและดำรงคงมั่นอยู่ตลอดไปได้  ถ้าขืนมอบการปกครองให้แก่ประชาชนในเวลานี้  ก็เปรียบเสมือนหนึ่งว่ายื่นแก้วให้วานร  นอกจากไม่สามารถจะนำความเจริญมาสู่ประเทศชาติแล้ว  กลับจะนำให้บ้านเมืองล่มจมไปโดยเปล่าประโยชน์อีกด้วย  ตามที่ข้าพระพุทธเจ้ากราบบังคมทูลคัดค้านมานี้  หากเป็นที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท  ก็ขอได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษแก่ข้าพระพุทธเจ้าด้วย”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้อยู่หัวทรงเห็นจริงตามที่สมเด็จพระราชปิตุลากราบบังคมทูล  จึงมีพระราชดำรัสตอบว่า “เป็นพระกรุณาที่ทรงกล่าวทักท้วง  มิได้เป็นการกระทบกระเทือนต่อหม่อมฉันแต่ประการใด หม่อมฉันขอขอบพระทัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย” 

จากนั้นจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งรัดจัดทำแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๕๖  ซึ่งกำหนดแผนการศึกษาชาติเป็น  ประถม  มัธยม และอุดมศึกษา  แล้วได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาไพศาลศิลปสาตร (สนั่น  เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ไปจัดการขยายการศึกษาให้แพร่หลายให้มีโรงเรียนประชาบาลครบทุกตำบลให้แล้วเสร็จภายใน ๑๕ ปีนับแต่เสด็จเสวยสิริราชสมบัติ  เพื่อที่จะได้พระราชทานการปกครองท้องถิ่นให้แก่ประชาชน  เป็นการเตรียมการไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาในขั้นตอนต่อไป     


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 20 ก.ค. 10, 20:09
นอกจากการเรียกร้องการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแล้ว  มูลเหตุสำคัญที่คณะกบฏ ร.ศ. ๑๓๐  ได้หยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างเป็นสาเหตุสำคัญในการก่อการและมุ่งประทุษร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น  เห็นจะได้แก่เรื่องความไม่พอใจที่ทหารถูกหมิ่นเกียรติศักดิ์  โดยเฉพาะเรื่องการเฆี่ยนหลังทหารตามจารีตนครบาลในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒(ร.ศ. ๑๒๘)  ซึ่งข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในหลักฐานของทางราชการกับบันทึกของกลุ่มกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ นั้น  แถมสุข  นุ่มนนท์ ทายาทคนหนึ่งของร้อยตรีถัด  รัตนพันธุ์ หนึ่งในผู้ต้องรับพระราชอาญาจำคุก ๒๐ ปีได้บันทึกไว้ใน “ยังเติร์กรุ่นแรก  กบฏ ร.ศ. ๑๓๐” ว่า

“...ตามบันทึกของนายร้อยตรีเหรียญ  ศรีจันทร์  และนายร้อยตรีจรูญ  ษะตะเมษ ระบุว่า เหตุเกิดจากการที่ทหารมหาดเล็กใช้ไม้รุมตีศีรษะนายดาบกรมทหารราบ ๒ คน  ซึ่งแต่งกายพลเรือนออกมาเที่ยว  เมื่อถูกรุมตีนายดาบได้วิ่งเข้ากรมทหารและรายงานต่อนายร้อยเอกสม  เจริญผล ผู้บังคับการกองร้อยของตน  แต่กลุ่มทหารมหาดเล็กยังคงยืนท้าทายอยู่หน้ากรมทหาร  ถือเป็นการกระทำที่อุกอาจ  เพราะมาข่มเหงทหารถึงหน้ากรม
นายร้อยเอกสม  เจริญผล  นายร้อยตรีจั่น  นายดาบบาง (ผู้ถูกตีศีรษะ)  พร้อมทั้งนายสิบและพลทหาร  รวม ๕ คน  จึงวิ่งไล่ตีมหาดเล็กไปจนถึงหน้าวังปารุสก์  เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงทราบ  รับสั่งให้ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๒  สอบสวน  ทหารรับสารภาพจึงถูกสั่งขัง  แต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงให้เฆี่ยนหลังเพื่อมิให้เป็นตัวอย่างต่อไป  และถ้าไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอก็จะทรงลาออกจากตำแหน่งรัชทายาท

หนังสือยุทธโกษ  นิตยสารของทหารเสนอรายงานถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปในอีกทางหนึ่ง  กล่าวว่าเหตุเกิดจากการที่ทหาร ๓ นาย คือ นายร้อยเอกสม  เจริญผล  นายร้อยตรีจั่นและนายดาบบาง  จากกรมทหารราบที่ ๒  ได้ชวนนายสิบ พลทหาร ถอดเครื่องแบบและชวนกันไปเดินเที่ยวเล่น  ระหว่างทางได้พบกับมหาดเล็กของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ๒ นายเดินมากับผู้หญิง  นายร้อยเอกสมกับและพรรคพวกจึงเข้ารุมตีพวกที่เดินมานั้น  หลังจากไต่สวนแล้ว  ปรากฏว่าทหารมีความผิดจริง  จึงต้องลงโทษให้เป็นเยี่ยงอย่าง

การตัดสินในเรื่องนี้ได้มีพระบรมราชโองการให้ถอดยศและบรรดาศักดิ์นายทหารทั้ง ๓ นาย  และให้ลงพระราชอาญาให้เฆี่ยนทหารทั้ง ๕ นาย  นายละ ๓๐ ที  และในเวลาต่อมาการลงโทษด้วยการเฆี่ยนหลังนี้เป็นพระราชนิยมอย่างหนึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  มีกรณีเฆี่ยนหลังเกิดขึ้นบ่อยครั้ง  พวกที่ถูกเฆี่ยนหลังมากคือพวกราชสำนัก  โขน  และละคร  แม้แต่พระยาชั้นพานทองมหาเสวกก็ไม่ได้รับการยกเว้น
เรื่องที่พูดกันทั่วไปตอนต้นรัชกาลก็คือกรณีหลวงรักษานารถที่ไม่ยอมให้ภรรยาของตนเข้าร่วมแสดงการฟ้อนรำในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  เป็นเหตุให้พระองค์ทรงพระพิโรธ  และมีพระบรมราชโองการให้สั่งถอดยศบรรดาศักดิ์  พร้อมทั้งเฆี่ยนหลังหลวงรักษานารถ ๓๐ ที  และนำไปขังคุก ๑ ปี...”


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 20 ก.ค. 10, 20:12
ความข้างต้นนั้นให้เผอิญไปสอดรับกับความในบัตรสนเท่ห์ที่พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงปราจิณกิติบดี ราชเลขาธิการได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตร  และได้ทรงพระราชบันทึกถึงเรื่องนี้ไว้ใน “ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ เล่ม ๑” ว่า

“เมื่อวันที่  ๒๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๔๕๓, กรมปราจิณ ส่งจดหมายฉบับ ๑ เข้าไปให้ฉัน, เปนบัตรสนเท่ห์ซึ่งทิ้งมาโดยไปรษณีย์, มีข้อความพูดกับฉันเปนเชิงบอกกล่าว, ใจความในบัตนสนเท่ห์นั้นมีว่า ผู้เขียนจดหมายเปนสมาชิกแห่งสมาคมอัน ๑  ซึ่งถือความยุติธรรมเปนเจ้าเปนใหญ่,  และถ้าผู้เปนเจ้าเปนใหญ่พระองค์ใดไม่ตั้งอยู่ในยุติธรรมแล้ว  พระนามก็ต้องมาเข้าในที่ประชุม  เปนทางวินิจฉัย.  ชื่อของฉันได้เคยเข้าที่ประชุมครั้ง ๑ แล้ว,  คือเมื่อครั้งนายทหารถูกเฆี่ยนเพราะวิวาทกับมหาดเล็กของฉัน,  ในครั้งนั้นก็เห็นกันแล้วว่าฉันเปนผู้ไม่มียุติธรรมและปราศจากความเมตตาต่อนายทหาร,  แต่เห็นว่ายังมิได้เปนพระเจ้าแผ่นดินประการ ๑,  และนายทหารนั้นๆ เองก็มีความผิดประพฤติไม่ดีจริงด้วยประการ ๑,  สมาคมจึ่งนิ่งไว้”

เมื่อตรวจสอบข้อมูลเรื่องทหารวิวาทกับมหาดเล็กของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ  และเรื่องสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สั่งโบยทหารจากเอกสารทางราชการ  กลับพบหลักฐานที่ตรงข้ามกับข้อความที่ระบุไว้ในบัตรสนเท่ห์ และที่นายร้อยตรีเหรียญ  ศรีจันทร์  และนายร้อยตรีจรูญ  ษะตะเมษ ได้บันทึกไว้ใน “กบฏ ร.ศ. ๑๓๐” โดยสิ้นเชิง  กล่าวคือ หนังสือ “ยุทธโกษ” ซึ่งเป็น “นิธิและโอษฐ์ของทหารบกในประเทศสยาม” หรืออีกนัยหนึ่งคือ จดหมายเหตุของกรมยุทธนาธิการ  ได้บันทึกเรื่องราวเดียวกันนั้นไว้ว่า

“เหตุเกิดจากการที่ทหาร ๓ นาย คือนายร้อยเอกสม  เจริญผล  นายร้อยตรีจั่น และนายดาบบางจากกรมทหารราบที่ ๒ ได้ชวนนายสิบ พลทหาร ถอดเครื่องแบบและวนกันไปเดินเที่ยวเล่น  ระหว่างทางได้พบกับมหาดเล็กของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ๒ นายเดินมากับผู้หญิง  นายร้อยเอกสมและพรรคพวกจึงเข้ารุมตีพวกที่เดินมานั้น  หลังจากไต่สวนแล้ว  ปรากฏว่าทหารมีความผิดจริง  จึงต้องลงโทษให้เป็นเยี่ยงอย่าง”

ในขณะที่ราชกิจจานุเบกษา  เล่ม ๒๖  วันที่  ๒๐  มิถุนายน  พ.ศ. ๒๔๕๒  ได้ลงประกาศ “แจ้งความกรมยุทธนาธิการ” ซึ่งมีความว่า
“ด้วยนายร้อยเอก สม  นายร้อยตรี จั่น  กรมทหารราบที่ ๒  ประพฤติตนไม่สมควรกับตำแหน่ง  มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ถอด นายร้อยเอก สม  นายร้อยตรีจั่น  จากตำแหน่งยศบรรดาศักดิ์แล้ว ฯ
                                                                     ศาลายุทธนาธิการ
                                                     วันที่  ๑๙  มิถุนายน  รัตนโกสินทรศก ๑๒๘
                                                              (ลงพระนาม)  จิรประวัติวรเดช
                  ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ”


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 20 ก.ค. 10, 20:13
ความในเอกสารราชการทั้งสองฉบับนั้นระบุตรงกันว่า ทหารเป็นฝ่ายทำร้ายมหาดเล็ก  มิใช่มหาดเล็กเป็นผู้ทำร้ายทหารดังที่คณะกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ กล่าวอ้าง  ทั้งยังมีความสอดรับกับความใน “ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชบันทึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ว่า

“(๑) เรื่องนายทหารถูกเฆี่ยนเพราะวิวาทกับมหาดเล็กของฉัน,... เปนเหตุการณ์อันได้เกิดขึ้นในมิถุนายน, ๒๔๕๒,  ในเวลานั้นพวกกรมรถม้าของฉันอยู่ที่วังจันทร์ ,  และกรมทหารราบที่ ๒ อยู่ที่โรงเชิงสพานมัผฆวานรังสรรค์,  ฉะนั้นจึ่งเปนอันมีชายหนุ่มๆ สองพวกอยู่ในที่ใกล้เคียงกัน,  ก็เปนธรรมดาอยู่เองที่จะต้องเกิดเหตุระหองระแหงกันบ้าง,  เนื่องด้วยการแย่งผู้หญิงกันเปนต้น.  การทุ่งเถียงและพูดแดกดันกันนั้นคงจะได้มีแก่กันอยู่นาน,  ในที่สุดคืนหนึ่งจึ่งได้ถึงแก่ตีกันขึ้น,  และหม่อมราชวงศ์เหรียญ , พนักงานรถม้าของฉันคน ๑ ได้ถูกนายทหารราบที่ ๒ ตัวแตก.  เมื่อเกิดชำระกันขึ้นได้ความว่าตัวการมีนายร้อยเอกสม, นายร้อยตรีจัน, กับนายดาบบาง, ได้พาพลทหารออกจากโรงไปตีเขา.  กรมนครชัยศรี เอาตัวพวกทหารขึ้นศาลทหารชำระได้ความจริงว่าได้ออกจากโรงทหารผิดเวลาและยกพวกไปตีเขาเช่นนั้น, เห็นว่าเปนโทษหนัก, จำเปนต้องลงอาญาให้เปนเยี่ยงอย่าง, กรมนครชัยศรีจึ่งได้กราบบังคมทูลพระเจ้าหลวงขอให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนหลังคนละ ๓๐ ทีและถอดจากยศยศ.  การลงอาญาครั้งนั้นไม่ใช่โดยโดยความขอร้องของฉันเลย,  ตรงกันข้ามฉันเปนผู้ท้วงว่าแรงเกินไป,  แต่กรมนครชัยศรีว่าจะต้องลงโทษให้เป็นเยี่ยงอย่าง.  หาไม่จะกำราบปราบปรามทหารที่เกะกะไม่ได้, และนายทหารจะถือตนเปนคนมีพวกมากเที่ยวรังแกข่มเหงเขาร่ำไปให้เสียชื่อทหาร”
   
การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นายพลเอก พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช สั่งลงพระราชอาญาโบยนายทหารคนละ ๓๐ ทีนั้น  จึงเป็นการลงอาญาในความผิดฐานออกนอกกรมกองในเวลาวิกาลแล้วไปวิวาทกับบุคคลพลเรือน  ซึ่งเป็นการกระทำผิดยุทธวินัยอย่างร้ายแรง  เพราะ “ยุทธวินัยเปนหลักสำคัญที่สุดของทหาร  การที่กองทัพจะได้ชัยชะนะในสงคราม  ก็ย่อมต้องอาศรัยการที่ทหารรักษายุทธวินัยโดยเคร่งครัดนั้นเป็นใหญ่  ส่วนในเวลาสงบศึกกองทัพจะมีระเบียบเรียบร้อยรักษาเกียรติยศเปนกองทัพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้จริงมิใช่กองโจรก็โดยอาศรัยยุทธวินัยๆ นี้องเปนอาการที่จะทำให้เห็นว่ามิใช่โจร ซึ่งถืออาวุธเหมือนกัน”


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 20 ก.ค. 10, 20:15
   ในส่วนที่นายร้อยตรีเหรียญ  ศรีจันทร์  และนายร้อยตรีจรูญ  ษะตะเมษ บันทึกไว้ว่า “เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงทราบ  รับสั่งให้ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๒ สอบสวน  ทหารรับสารภาพจึงถูกสั่งขัง แต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงให้เฆี่ยนหลังเพื่อมิให้เป็นตัวอย่างต่อไป” นั้น  นอกจากจะมีหลักฐานปรากฏชัดในพระราชบันทึก “ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖” ว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นผู้บังคับการพิเศษรมทหารบกราบที่ ๒ ต้นสังกัดของนายทหารที่ต้องโทษนั้นจะทรงท้วงว่า การลงอาญาโบยครั้งนั้น “แรงเกินไป” แล้ว  ใน “ประกาศกระแสพระราชดำริห์ในเรื่อง เปนลูกผู้ชาย” ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศ “มายังบรรดาบุตรข้าราชการที่ได้มาถวายตัว และที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดให้มีที่อยู่ในจังหวัดวัง กับทั้งผู้ที่มารับราชการเปนครั้งคราว  ทราบทั่วกัน”  ตั้งแต่ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ก็ได้ทรงกล่าวถึงการลงอาญาโบยไว้ในประกาศฉบับนั้นว่า “การที่จะลงพระราชอาญาด้วยอาการใดๆ มีตีและขังเปนต้น  ก็ทรงพระราชดำริห์ว่าน่าจะไม่เปนประโยชน์  เพราะลูกผู้ดีไม่ใช่สัตว์เดียรฉาน  ที่จะบังคับได้ด้วยอาญา  ถึงแม้จะจะใช้อาญาเท่าใด  ถ้าแม้นลูกผู้ดีจะเกิดมีทิฐิมานะขึ้นมาแล้วไซร้  จะห้ามปรามยึดเหนี่ยวไว้ไม่ได้เลย  แต่ถ้าแม้ว่าตัวลูกผู้ดีนั้นรู้สึกเห็นว่าสิ่งใดผิด  ก็จะไม่พักให้ใครต้องใช้อาญา  คงจะต้องรักตัวรักชื่อเสียงและอดสิ่งที่ชั่วที่ผิดนั้นเสียเอง”   

ส่วนที่บันทึกของนายร้อยตรีเหรียญ  ศรีจันทร์ และนายร้อยตรีจรูญ  ษะตะเมษ ได้กล่าวถึงการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ลงอาญาโบยหลวงรักษานารถเพราะไม่ยอมให้ภรรยาของตนเข้าร่วมแสดงการฟ้อนรำในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช  และมีพระบรมราชโองการให้ถอดหลวงรักษานารถจากยศบรรดาศักดิ์  พร้อมทั้งเฆี่ยนหลัง ๓๐ ที  และนำไปขังคุก ๑ ปีนั้น  เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้แล้ว ไม่พบว่ามีพระบรมราชโองการให้ถอดหลวงรักษานารถจากยศบรรดาศักดิ์และให้นำไปขังคุก ๑ ปี ดังความเชื่อของคณะกบฏ ร.ศ. ๑๓๐  หากแต่พบบันทึกของนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงชิวห์  บุนนาค อดีตผู้อำนวยการกองวัง  สำนักพระราชวัง  ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์และได้บันทึกถึงเรื่องราวครั้งนั้นไว้ว่า
“ในการซ้อมโขนหรือละคร  เริ่มซ้อมใหม่  มักจะทรงปล่อยไม่กวดขันประการใด  แต่ในวันซ้อมใหญ่จะขาดไม่ได้  จึงมีพระบรมราชโองการปิดประกาศไว้ในโรงละครว่า “ถ้าผู้ใดง่วงเหงาหาวนอน  ก็อนุญาตให้ไปนอนที่ตึกสนมได้”  มีใครบ้างที่อยากไปกรมสนม  คือ คุกของราชบริพารที่ถูกลงพระราชอาญานั่นเอง

ได้กล่าวมาแล้วว่า  เรื่องที่ผิดเล็กๆ น้อย มักจะทรงพระกรุณา  แต่เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องที่ทรงพระพิโรธ  ในปีนั้นข้าราชการกรมมหรสพหลวง  ได้แสดงโขนถวายสมเด็จพระพันปีหลวงทอดพระเนตรในงานขึ้นปีใหม่ในเดือนเมษายน  วันนั้นเป็นวันซ้อมใหญ่นักเรียนมหาดเล็กหลวงได้ถูกเกณฑ์มาเฝ้ารับเสด็จและดูการซ้อมโขนหลวงด้วย  เป็นของธรรมดามีงานแสดงถวายทอดพระเนตรที่ไหน  น.ร.ม.ก็ต้องไปเฝ้ารับเสด็จด้วยที่หน้าโรงโขนหลวงสวนมิสกวัน  ครั้นเวลาประมาณ ๒๑.๓๐ น. ก็เสด็จพระราชดำเนินมาถึงขึ้นประทับบนมุขเบื้องบน  เหล่านักเรียนมหาดเล็กหลวงก็ติดตามไปนั่งเฝ้าเบื้องหลัง  พิณพาทย์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี  แล้วก็ขึ้นเพลงสาธุการไหว้ครูตามแบบอย่าง โขน ละคร  พวกโขนออกมารำถวาย  จนถึงตอนเทพบุตรนางฟ้าออกมารำฟ้อน  กรีดกรรำร่ายซ้ายขวา  ทอดพระเนตรเห็นนางฟ้าขาดไป  เหลือแต่เทพบุตรผู้เดียว  จึงรับสั่งเรียก เฟื้อ (หมายถึงเจ้าคุณจางวาง  พระยาประสิทธิ์ศุภการ) ไปสอบถามดูถี  นางฟ้าขาดหายไปไหน  สักครู่หนึ่ง  เจ้าคุณจางวางกราบทูลว่า ตัวนางฟ้าลาไปแต่งงาน  ครบกำหนดลาหลายวันแล้วไม่เห็นกลับมา  ถ้าจะถูกสามีหน่วงเหนี่ยวไว้

ทรงพระพิโรธตวาดลั่น  มันถือดีอย่างไร  ให้ตำรวจหลวงไปจิกหัวทั้งคู่มาดูหน้ามันสักหน่อย  เจ้าคุณจางวางจึงใช้ให้ตำรวจหลวงนำรถยนต์ไปเอาตัวมาเฝ้าโดยเร็วที่สุด ในระหว่างนี้ทรงพระสึรเสียงสิงหนาทก้องโรงโขน  บรรดาเทพบุตรนางฟ้าลงหมอบอยู่ตัวสั่น  พิณพาทย์ลาดตะโพนเงียบกริบ  แม้ในป่าช้าเงียบสงัดยามค่ำคืนก็ยังมีเสียงจิ้งหรีดเรไรเล็ดลอดออกมาได้ยิน  แต่บรรยากาศที่นี้ไม่ไม่มีเสียงแม้แต่ไอหรือจาม  เพราะเกรงหัวจะหลุดออกจากบ่า  ต่างนั่งหรือหมอบประหม่างันงก  หัวใจแทบจะหยุดเต้นไปตามกัน  พระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนมาทุกคนจะต้องรู้สึกเช่นนี้   สักครู่ใหญ่ๆ เจ้าคุณจางวางก็นำสองคน  สามีและภรรยาพร้อมด้วยตำรวจหลวงเข้ามาเฝ้าหน้าพระที่นั่ง  แต่ก่อนที่จะนำตัวเข้ามาก็ได้บอกกับสงคนไว้แล้วให้รับสารภาพผิดแต่โดยดี  บางทีอาจทรงยกโทษได้บ้าง  ทรงทอดพระเนตรเห็นแล้ว  ตรัสว่า อ้อ นางฟ้ามันงามอย่างนี้  เอ็งทั้งคู่รู้สึกว่ามีความผิดหรือไม่ประการใด  ทั้งคู่กราบถวายบังคม  สามีกล่าวคำขอเดชะ  ข้าพระพุทธเจ้าทั้งคู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์   บังอาจกระทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท  ขอพระราชทานอภัยเป็นที่พึ่ง  ทรงรับสั่งว่า  มึงรู้รับผิดก็ดีแล้ว  กูจะให้โบยหลัง ๖๐ ที   ส่วนนางฟ้าของเอ็งกูจะงดโทษให้  จงไปเข้าแถวรำของเอ็ง  ทั้งคู่กราบถวายบังคม  เจ้าคุณจางวางกราบบังคมทูลว่า  เห็นฝ่ายชายบอบบางนัก เกรงว่าจะรับพระราชอาญาไม่ถึง ๖๐ ทีจะสิ้นลมไปเสียก่อน  ทรงรับสั่งตอบว่า  งั้นข้าลดโทษให้เหลือ ๓๐ ที  แต่ต้องตีให้เมียมันได้ยินเสียงด้วยนะ  เจ้าคุณจางวางให้ตำรวจหลวงนำตัวไปลงหวายที่หลังโรง  น.ร.ม.บางคนอยู่ด้านหลังแอบเล็ดรอดไปดูเหตุการณ์  มาเล่าให้ฟังว่า ให้จิกปลายหวายเลยหลังไปหน่อย  เสียงขวับแรกยังไม่ร้อง  เจ้าคุณจางวางถามว่า

ไม่เจ็บใช่ไหม?

เจ็บขอรับ

แล้วทำไมถึงไม่ร้อง  พอถึงหนที่ ๒  ที่ ๓  ก็ร้องโหยหวนดังขึ้นทุกทีจนครบ ๓๐ ที  ทรงรู้สึกสลดพระราชหฤทัยอยู่เหมือนกัน  เจ้าคุณจางวางเข้ามากราบบังคมทูลว่า สลบไป  ข้าพระพุทธเจ้าให้หมอแก้ไข  ให้ตำรวจหลวงนำตัวไปส่งบ้านแล้ว  ทรงหายขุ่นเคืองพระราชหฤทัยกลับทรงมีพระเมตตาตรัสว่า “เฟื้อ, คอยดูมันบ้างก็แล้วกัน”  นี่แหละ  ถึงยังไง  ยังไง  ก็ยังมีพระมหากรุณาอยู่เสมอ  ผู้เป็นข้าราชสำนักย่อมรู้ดี  ยามทรงพระพิโรธก็ลงโทษ  เมื่อถึงยามโปรดก็ทรงพระมหากรุณาใหม่  ขอให้ตั้งใจประพฤติตนดีเท่านั้น”     


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 20 ก.ค. 10, 20:16
อนึ่ง เมื่อพิจารณาถึงเรื่องการลงโทษโบยที่คณะกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ ได้หยิบยกขึ้นกล่าวอ้างเป็นสาเหตุสำคัญในการก่อการกำเริบจนถูกจับกุมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๓๐ แล้ว  จะเห็นได้ว่า เรื่องทั้งหมดล้วนถูกต่อเติมเสริมแต่งจนผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง  เช่นเดียวกับการบิดเเบือนข้อเท็จจริงใน “คดีพญาระกา” อันเป็นชนวนเหตุให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์กราบถวายบังคมลาออกจากราชการเมื่อต้นปี ร.ศ. ๑๒๙ (พ.ศ. ๒๔๕๓) ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จสวรรคตไม่นานนัก  และบรรดาผู้พิพากษาผู้เป็นศิษย์ในพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้นได้พร้อมกันกราบถวายบังคมลาออกจากราชการตามเสด็จพระอาจารย์ถึง ๒๘ คน  รวมถึงเรื่องที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงถูกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสทรงตำหนิในเรื่องให้ราชเลขานุการในพระองค์มีหนังสือไปเตือนผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือในเรื่องการสั่งสอนศิษย์  และเรื่องที่พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ กับนายพลโท พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ทรงแสดงความเป็นอริต่อกัน  จนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ต้องทรง “...พูดไกล่เกลี่ยเสียขนานโตจึ่งได้เปนอันระงับความลงได้, หาไม่ท่านพี่ชายทั้ง ๒ องค์นั้นอาจจะถึงวางมวยกัน...”  เมื่อเวลาเย็นวันที่  ๒๒  ตุลาคม  พ.ศ. ๒๔๕๓  รวมทั้งการสมคบกันก่อกบฏ ร.ศ. ๑๓๐  ล้วนเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันมาในเวลาใกล้เคียงกัน  ทั้งตัวบุคคลที่เกี่ยวพันกับเรื่องต่างๆ เหล่านั้นก็เป็นบุคคลชุดเดียวกันทั้งหมด  โดยมีผู้ที่ต้องพระราชอาญาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวห้ามมิให้เฝ้าในที่รโหฐานเป็นผู้ออกอุบายอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น  เมื่อประมวลเหตุวุ่นวายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลากังกล่าวแล้ว  ชวนให้คิดต่อไปว่า ผู้ที่ปล่อยข่าวการโบยนายทหารเมื่อตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และการโบยมหาดเล็กในตอนต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น น่าจะมีจุดมุ่งหมายในเบื้องต้นเพียงเพื่อจะทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเพิ่งเสด็จเสวยสิริราชสมบัติทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ  แต่เมื่อคณะกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ ได้ประชุมปรึกษาและขยายความ  จนถึงขั้นสมคบกันจะปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  แล้วเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไปเป็นแบบรีปับลิก หรือสาธารณรัฐ โดยจะเชิญเสด็จพระเจ้าพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดี  จึงทำให้คณะก่อการกำเริบซึ่งได้กระทำการอันเป็นการตระบัดสัตย์สาบานน้ำพระพิพัฒน์สัตยาต้องถูกจับกุมคุมขัง  แล้วนำไปสู่การพิจารณาของคณะกรรมการศาลรับสั่งพิเศษ  จนได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ
ประหารชีวิต ๓ นาย 
จำคุกตลอดชีวิต ๒๐ นาย
จำคุก ๒๐ ปี  ๓๒ นาย
จำคุก ๑๕ ปี  ๖ นาย
จำคุก ๑๒ ปี  ๓๐ นาย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 20 ก.ค. 10, 20:20
ครั้นความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท  ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยเด็ดขาด ดังต่อไปนี้

“ด้วยได้ตรวจดูคำพิพากษาของกรรมการศาลทหาร  ซึ่งได้พิจารณาปฤกษาโทษในคดีผู้มีชื่อ ๙๑ คนก่อการกำเริบ  ลงวันที่  ๔ พฤษภาคมนี้ตลอดแล้ว
เห็นว่ากรรมการพิพากษาลงโทษพวกเหล่านี้ชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหทายทุกประการแล้ว  แต่ว่าความผิดของพวกเหล่านี้  มีข้อสำคัญที่จะกระทำร้ายต่อตัวเรา  ราไม่ได้มีจิตรพยาบาทคาดร้ายแก่พวกนี้  เห็นควรที่จะลดหย่อนผ่อนโทษ  โดยถานกรุณาซึ่งเปนอำนาจของเจ้าแผ่นดินจะยกให้ได้
เพราะฉะนั้นบรรดาผู้มีชื่อ ๓ คน  ซึ่งวางโทษไว้ในคำพิพากษาของกรรมการว่าเปนโทษชั้นที่ ๑ ให้ประหารชีวิตนั้น  ให้ลดลงเปนมีโทษชั้นที่ ๒ ให้จำคุกตลอดชีวิต

แลบรรดาผู้มีชื่อ ๒๐ คน  ซึ่งวางโทษไว้ว่าเปนชั้นที่ ๒ ให้จำคุกตลอดชีวิตนั้น  ให้ลดลงเปนมีโทษชั้นที่ ๓  คือให้มีโทษจำคุกมีกำหนด ๒๐ ปี  ตั้งแต่วันนี้สืบไป

แต่บรรดาผู้มีชื่ออีก ๖๘ คน  ซึ่วางโทษในชั้นที่ ๓  ให้จำคุก ๒๐ ปี ๓๒ คน  แลวางโทษชั้นที่ ๔  ให้จำคุก ๑๕ ปี  ๖ คน  แลวางโทษชั้นที่ ๕  ให้จำคุก ๑๒ ปี  ๓๐ คน นั้น  ให้รอการลงอาญาไว้  ทำนองอย่างเช่นที่ได้กล่าวในกฎหมายลักษณอาญามาตรา ๔๑  แล ๔๒  ซึ่งว่าด้วยการรอลงอาญา  ในโทษอย่างน้อยนั้น  แลอย่าเพ่อให้ออกจากตำแหน่งยศก่อน

แต่ฝ่ายผู้มีชื่อ ๓ คน ที่ให้ลงโทษชั้นที่ ๒  กับผู้มีชื่อ ๒๐ คน ที่ให้ลงโทษชั้นที่ ๓  รวม ๒๓ คนดังกล่าวมาข้างต้นนั้น  ให้ถอดจากตำแหน่งยศบรรดาศักดิ์ตามอย่างธรรมเนียม  ซึ่งเคยมีกับโทษเช่นนั้น

สั่งแต่พระที่นั่งอัมพรสถาน  ณ วันที่  ๕  พฤษภาคม  รัตนโกสินทร ศก ๑๓๑”

ต่อมาเมื่อได้เสด็จดำรงสิริราชสมบัติมาถึงปีที่ ๑๕  เมื่อวันที่  ๑๑  พฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๔๖๗  ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องพระราชอาญาให้จำคุกตลอดชีวิตและจำคุก ๒๐ ปีในความผิดฐานเป็นกบฏ เมื่อ ร.ศ. ๑๓๐ ให้กระทรวงยุติธรรมปล่อยตัวเป็นอิสระเสียทั้งสิ้น  รวมเป็นเวลาที่ถูกจำขังตามกระแสพระบรมราชโองการเพียง ๑๓ ปีเศษ  แต่ในส่วนการเร่งรัดพัฒนาการศึกษาให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศให้ได้เล่าเรียนจนจบชั้นประถมศึกษา  ก่อนที่จะพระราชทานการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้แก่ปวงชนชาวไทย  ดังที่ได้มีพระราชปรารภไว้ในที่ประชุมเสนาบดีเมื่อคราวเกิดเหตุการณ์ไม่สงบใน ร.ศ. ๑๓๐ นั้น  ยังไม่บรรลุผลสำเร็จสมดังพระราชประสงค์  แม้ในมณฑลกรุงเทพฯ ก็ยังไม่อาจประกาศใช้พระราชประถมศึกษา พ.ศ. ๒๔๖๔ ได้ครบทุกตำบล   เพราะมีเหตุขัดแย้งกันในระหว่างกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการ  และแม้นว่าคณะราษฎรจะได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยมาเป็นประชาธิปไตยในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้วก็ตาม  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕ ก็ยังต้องมีบทเฉพาะกาลบัญญัติไว้ว่า

“มาตรา ๖๕ เมื่อราษฎรผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ยังมีการศึกษาไม่จบประถมศึกษาสามัญมากกว่ากึ่งจำนวนทั้งหมดและอย่างช้าต้องไม่เกินกว่าสิบปี นับแต่วันใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.๒๔๗๕ สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก ๒ ประเภทมีจำนวนเท่ากัน
(๑) สมาชิกประเภทที่ ๑ ได้แก่ผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นตามเงื่อนไขในบทบัญญัติมาตรา ๑๖ , ๑๗
(๒) สมาชิกประเภทที่ ๒ ได้แก่ผู้ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕”

เป็นอันว่ารายงานเรื่อง "กบฏ ร.ศ. ๑๓๐" ได้จบลงโดยสมบูรณ์แล้ว  ในลำดับต่อไปขอเรียนเชิญเพื่อนๆ นักเรียนชาวเรือนไทยได้ร่วมกันวิพากษ์ต่อไปครับ  เผื่อท่านอาจารย์ใหญ่จะให้เกรดงามๆ ครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ค. 10, 21:07
ตัวบุคคลที่เกี่ยวพันกับเรื่องต่างๆ เหล่านั้นก็เป็นบุคคลชุดเดียวกันทั้งหมด  โดยมีผู้ที่ต้องพระราชอาญาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวห้ามมิให้เฝ้าในที่รโหฐานเป็นผู้ออกอุบายอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น  เมื่อประมวลเหตุวุ่นวายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลากังกล่าวแล้ว  ชวนให้คิดต่อไปว่า ผู้ที่ปล่อยข่าวการโบยนายทหารเมื่อตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และการโบยมหาดเล็กในตอนต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น น่าจะมีจุดมุ่งหมายในเบื้องต้นเพียงเพื่อจะทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเพิ่งเสด็จเสวยสิริราชสมบัติทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ 

เห็นจะต้อง จุดจุดจุดจุด อีกแล้ว
ถ้าเป็นอย่างที่คุณ V_Mee ว่ามา  ก็มีใครสักคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่ง ขุ่นเคืองใจมาตั้งแต่ถูกลงโทษในคดีพญาระกา (อ่านรายละเอียดได้จากกระทู้ เจ้าพระยามหิธร) แล้วมาใส่สีตีข่าว จากเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่    เหมือนกับจะลองดีพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ โดยไม่ยำเกรงพระบรมเดชานุภาพ
จากนั้นนายทหารหนุ่มกลุ่มหนึ่งก็งับเหยื่อ  ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์     กลายเป็นเรื่องใหญ่โตจนกลายเป็นกบฏร.ศ. ๑๓๐  ไป
ที่จริงข้อหาล้มล้างราชบัลลังก์ในระบอบราชาธิปไตย  ถ้าเป็นต้นรัตนโกสินทร์ละก็ ประหารลูกเดียว  ลูกเด็กเล็กแดงพลอยไม่รอดด้วยอีกต่างหาก
เท่าที่ทรงพระมหากรุณาธิคุณ ลงโทษเพียงแค่นี้ถือว่าเบามากแล้ว   
ในระบอบประชาธิปไตยในภายหลังของไทย   ผู้วางแผนประทุษร้ายต่อผู้นำทางการเมือง โดนโทษหนักกว่านี้มาก


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ก.ค. 10, 22:43
คุ้มค่าแห่งการรอคอยจริงๆ คุณวีหมี
ขอบคุณครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: Diwali ที่ 20 ก.ค. 10, 23:12
เข้ามาลงชื่อว่ายังไม่ได้ขาดเรียนไปใหนครับ

เนื้อหาดีๆแบบนี้ จะขาดเรียนได้อย่างไร

ผมมีความปรารถนาอีกประการหนึ่งครับ
ทำอย่างไร จึงจะมีเนื้อหาในกระทู้แบบนี้ รวมเล่มตีพิมพ์ครับ

สงสัยจะต้องมีใครไปนำเรียน คุณครูวรชาติ ออกหนังสืออีกสักเล่มนะครับ
 ;D ;D ;D


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: alias1124 ที่ 21 ก.ค. 10, 12:09
มารายงานตัวฟังเรื่องกบฎ รศ 130 ด้วยอีกคนครับ  ตอนแรกเห็นท่านอาจารย์ใหญ่
อยากจะจบกระทู้นี้ ไปๆมาๆ ยังยืดต่อได้  ผมเองก็อยากให้กระทู้นี้ยังหายใจได้ต่อ
ไปอีกซักนิด ก็ยังดีนะครับ  ;D 


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ก.ค. 10, 12:30
http://www.youtube.com/watch?v=OICHJ8Fmyao&feature=related


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.ค. 10, 12:34
เคยเขียนถึงกบฎ ร.ศ. 130 ไว้   ขอนำมาลงประกอบคำบอกเล่าของคุณ V_Mee และคลิปวิดีโอของคุณเพ็ญชมพู

http://vcharkarn.com/reurnthai/130.php
กบฎ ร.ศ. ๑๓๐

เทาชมพู pinkandgrey@doramail.com

     ขอให้เห็นเช่นเราผู้เฒ่าทัก บำรุงรักษาชาติสอาดศรี 
ทั้งเจ้านายฝ่ายพหลและมนตรี จงเป็นที่ศีวิไลซ์จริงอย่างนิ่งนาน
ให้รีบหาปาลีเมนต์ขึ้นเป็นหลัก  จะได้ชักน้อมใจไพร่สมาน
เริ่มเป็นฟรีปรีดาอย่าช้ากาล  รักษาบ้านเมืองเราช่วยเจ้านาย

     กลอนข้างบนนี้เป็นของนักคิดนักเขียนผู้ล้ำยุคในสมัยปลายรัชกาลที่ ๕ คือเทียนวรรณ หรือ ต.ว.ส.วัณณาโภ เขียนไว้เมื่อพ.ศ. ๒๔๔๙ เรียกร้องให้จัดตั้ง Parliament หรือการปกครองแบบมีสภาผู้แทนราษฎรขึ้นในขณะที่สยามยังเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่มีใครคิดว่า ๕ ปีต่อมา ความคิดของเทียนวรรณได้รับการสานต่อเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาจริงๆ แม้จะล้มเหลวลงตั้งแต่ยังไม่ทันลงมือก็ตาม

    ในวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๔(ร.ศ. ๑๓๐) นายทหารหนุ่มและพลเรือนกลุ่มหนึ่งถูกทางการจับกุมในข้อหาคบคิดวางแผนการปฎิวัติ ลดอำนาจพระมหากษัตริย์ลงมาใต้กฎหมายแบบเดียวกับอังกฤษและญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีแผนจะเปลี่ยนองค์พระมหากษัตริย์ จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเจ้านายพระองค์อื่นด้วย คนพวกนี้ยังไม่ทันจะลงมือทำ แผนก็รั่วไหลจนถูกจับกุมได้เสียก่อน รวมผู้ก่อการจำนวน ๙๒ คน

     สิ่งที่น่าตกใจอย่างแรกคือบุคคลเหล่านี้ไม่ใช่คนอื่นคนไกลพระมหากษัตริย์ ทหารส่วนใหญ่มาจากหน่วยทหารรักษาพระองค์ ส่วนพลเรือนหลายคนเป็นนักกฎหมายหนุ่มระดับปัญญาชนของประเทศ ในจำนวนนี้มีอยู่มาก ที่เป็นลูกศิษย์และมหาดเล็กใกล้ชิดสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ ทำให้เป็นที่เดือดร้อนพระราชหฤทัยมาก ทรงรับหน้าที่เป็นประธานอำนวยการพิจารณาโทษพวกนี้อย่างเคร่งครัด ท่ามกลาง "ข่าวลือ" ว่าทรงอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับพระเจ้าอยู่หัว ทั้งที่พวกกบฎเองก็ไม่ยอมรับพระองค์ในตอนนั้นเพราะทรงจับพวกเขาเข้าคุกเข้าตะราง การที่ต้องทรงยืนอยู่บนทางสองแพร่งทำให้ลำบากพระทัย จนถึงกับขอลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงยับยั้งไว้ ทรงให้เหตุผลว่าทรงเชื่อถือในพระราชอนุชา และ

     "…ถ้าเมื่อใดฉันไม่ไว้วางใจให้เธอกระทำการในน่าที่แล้ว ฉันจะไม่รอให้เธอเตือนเลย ฉันจะบอกเธอเองทันที"

     ย้อนมาดูว่ากบฎ ร.ศ. ๑๓๐ เกิดขึ้นได้เพราะเหตุใด ก็จะประมวลมาได้ถึงสาเหตุ ๓ อย่างใหญ่ๆคือ

     ๑ อุดมการณ์แบบตะวันตก ที่เผยแพร่มากับตำรับตำราวิชาการและสื่อหนังสือพิมพ์ต่างๆ โดยเฉพาะความคิดที่ว่าประเทศทางตะวันตกที่เจริญแล้วล้วนปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย มีประธานาธิบดี(อย่างฝรั่งเศส) หรือไม่ก็มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ(อย่างอังกฤษ) ชาวสยามรุ่นใหม่จึงคิดว่า ถ้าจะทำให้สยามเจริญขึ้นมาได้ ก็ต้องเปลี่ยนการปกครองให้เป็นแบบประเทศตะวันตกเสียก่อน

     ๒ ความไม่พอใจ "ระบบราชการ" ซึ่งเรียกอีกอย่างว่าระบบเจ้าขุนมูลนาย และความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๕ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ถึง พ.ศ. ๒๕๕๓ คือเกิดภัยธรรมชาติและโรคระบาดติดต่อกันหลายปี ทำให้ราษฎรในหัวเมืองลำบากกันมากถึงขั้นต้องอพยพทิ้งถิ่น ปลูกข้าวไม่ได้ ถึงขั้นบางคนก็อดตาย พอดีกับช่วงนั้น รัฐเก็บภาษีการเกษตรเพิ่มขึ้น ทำให้เดือดร้อนกันมากขึ้นด้วย

     ๓ เรื่องนี้เกือบจะเรียกว่าเป็นสาเหตุส่วนตัวของผู้ก่อการที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ก็ได้ คือความไม่พอใจต่อ ' กองทหารเสือป่า ' ที่ตั้งขึ้นในปีนั้น ทหารจำนวนมากรู้สึกว่าเสือป่าซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือนและข้าราชสำนักเป็นคู่แข่งของฝ่ายทหาร ได้รับความสำคัญและสิทธิพิเศษมากกว่า นอกจากนี้ยังต้องใช้งบประมาณสิ้นเปลืองเพื่อทำกิจกรรมกันมาก ทั้งที่เสือป่าเองก็ไม่ได้มีความสามารถในการรบเท่ากับทหาร

     หนึ่งในผู้ก่อการ ถึงกับเห็นว่าควรปฏิวัติเพื่อให้… 'ทหารมีเกียรติยศเพิ่มขึ้น ให้เชิดหน้าชูตาขึ้นอีก '
      เรื่องนี้ก่อความโทมนัสให้พระเจ้าอยู่หัว เพราะทหารที่ก่อกบฎก็คือทหารผู้ใกล้ชิดพระองค์นั้นเอง ถึงกับมีพระราชปรารภว่า

     "…ตัวเราเวลานี้ตกอยู่ในที่ลำบาก ยากที่จะรู้ว่าภัยอันตรายจะมาถึงตัวเวลาใด เพราะเรารู้สึกประหนึ่งว่าเป็นตัวคนเดียว หาพวกพ้องมิได้ ฤาที่เป็นพวกพ้องก็พะเอินเป็นผู้ที่อยู่ในตำแหน่งอันหาอำนาจมิได้"

     แต่ถึงกระนั้น เมื่อมีคำพิพากษาออกมา ตัดสินโทษประหารชีวิตสำหรับหัวหน้าผู้ก่อการ เมื่อมาถึงขั้นตอนพระราชวินิจฉัย ก็ทรงให้ลดหย่อนผ่อนโทษลงแค่จำคุกตลอดชีวิต คนอื่นก็ได้รับโทษน้อยลง ลดหลั่นกันลงไป แล้วมีการลดโทษลงมาอีกเรื่อยๆจนพ้นโทษกันหมดทุกคนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ หนึ่งปีก่อนจะประชวรและเสด็จสวรรคต

     จุดมุ่งหมายเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่เรื่องที่พระเจ้าอยู่หัวทรงรังเกียจ แต่ทรงเห็นว่าประชาชนทั่วไปยังไม่มีความเข้าใจในระบอบนี้เพียงพอ เมื่อเริ่มทดลองสอนประชาธิปไตยด้วยการสร้างดุสิตธานี ก็ทรงส่งแบบจำลองการสร้างไปให้นักโทษที่ถูกคุมขังได้มีส่วนร่วมในการช่วยสร้างด้วย ม.ล.ปิ่น มาลากุลผู้เป็นข้าราชบริพารรุ่นเยาว์ในรัชกาลที่ ๖ได้บันทึกไว้ภายหลังว่า

      " ภายหลังที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว ผู้เขียนได้รับคำบอกเล่าว่า เขาเหล่านั้นซาบซึ้งในพระบรมราโชบายเป็นอย่างยิ่ง และช่วยกันทำด้วยความจงรักภักดี ทั้งเกิดความรู้สึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงสุด เพราะเท่ากับพระราชทานชีวิตให้เกิดใหม่ ได้ทำบุญอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลทุกปี"


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 21 ก.ค. 10, 16:34
เปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วดีจริงเหรอคะ ???

ทำไมคนไทยไม่ว่าสมัยนั้นหรือสมัยนี้ ชอบที่จะตามอย่างตะวันตกคะ
เฮ้อ คิดๆไป ก็ไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง ใช่มั๊ยคะ แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน  :-X


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: bookaholic ที่ 21 ก.ค. 10, 21:01
ร.ศ. 130  ปัจจัยแวดล้อมไม่หนุนนายทหารกลุ่มนี้ครับ     พระบารมีในระบอบกษัตริย์ที่สืบทอดมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ยังแข็งแกร่งอยู่มาก   เหตุผลของกลุ่มกบฏก็หนักไปทางเจ็บแค้นส่วนตัวเสียมากกว่าส่วนรวม       ผมมองงั้นนะครับ  มันเลยไปไม่รอด
ส่วนพ.ศ.  2475  ปัจจัยแวดล้อมหนุนมากครับ  อ่านในกระทู้นี้แล้วจะเข้าใจ     ผมยังคิดต่อไปว่าถ้าเขาทำในปี 2475 ไม่สำเร็จ    เป็นไปได้ว่าเกิดมีอีกในปีต่อๆมาก็ได้ครับ   


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: sirinawadee ที่ 25 ก.ค. 10, 01:19
ไม่ได้มาเรียนอาทิตย์เดียวเอง ยกเลิกคลาสไปแล้วหรือคะ  :'(

นักเรียนยังรอความเมตตาค่ะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.ค. 10, 07:48
อาจารย์ของคุณ Sirinawadee ไปเปิดวิชาใหม่ ให้เรียนกันหามรุ่งหามค่ำ อยู่ที่นี่ค่ะ
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3419.0
เชิญติดตามได้ค่ะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ส.ค. 10, 09:20
จากสามกระทู้มหากาพย์ คือ
ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
หลวงอดุล-หลวงพิบูล คู่รัก, พล.ต.อ อดุล-จอมพล ป. คู่แค้น
จอมพลป.2 ไม่ผ่านขึ้นป.3

ขอสรุปบั้นปลายของบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475  เท่าที่เก็บความได้ ดังนี้

     พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว       สละราชสมบัติ ขณะประทับอยู่ที่อังกฤษ  จนสวรรคตที่อังกฤษ   
     สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต     ถูกเนรเทศจากสยาม ลี้ภัยการเมืองอยู่ที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซียจนสิ้นพระชนม์
            พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา    หัวหน้าคณะราษฎร์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี 5 สมัย  ยุติบทบาททางการเมืองเมื่อพ.ศ. 2481  ในวัยชราป่วยด้วยโรคอัมพาตและถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคเส้นโลหิตในสมองแตก
        พันเอก พระยาทรงสุรเดช    อดีต 1 ใน 4 ทหารเสือที่ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นผู้ที่วางแผนการยึดอำนาจทั้งหมด  ได้รับการสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ได้เป็น  ถูกกล่าวหาว่าคิดก่อการกบฏล้มล้างรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในกบฏพระยาทรงสุรเดช   ท่านถูกเนรเทศไปอยู่ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา จนถึงแก่กรรมด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ที่คุณหมอ CVT วินิจฉัยว่าเป็นอาการกล้ามเนื้อหัวใจตาย
      พันเอก  พระยาฤทธิ์อัคเนย์    หนึ่งในสี่ทหารเสือ  ประสบภัยการเมืองต้องลี้ภัยไปอยู่ปีนังและสิงคโปร์   กลับมาเมืองไทยหลังสงครามโลก  ได้เป็นวุฒิสมาชิก   บั้นปลายหันหน้าเข้าวัดปฏิบัติธรรม
     พันเอก พระประศาสน์พิทยายุทธ    พ้นจากการเมืองไทยไปเป็นเอกอัครราชทูตที่เยอรมัน  แต่ถูกจับไปเข้าค่ายเชลยในไซบีเรียช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง  แต่รอดตายกลับมาประเทศไทยได้  ได้เป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข  ถึงแก่กรรมด้วยโรคตับจากพิษสุรา
     จอมพลป.พิบูลสงคราม     เป็นนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง     ถูกรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  ลี้ภัยการเมืองไปถึงแก่อนิจจกรรมที่ประเทศญี่ปุ่น
         นายปรีดี พนมยงค์   ผู้ก่อการพลเรือนของคณะราษฎร์   พ่ายแพ้รัฐบาลจอมพลป.  ในคดีกบฏวังหลวงเมื่อรวบรวมกำลังทหารเรือยึดอำนาจจากรัฐบาล  ลี้ภัยการเมืองไปอยู่ประเทศจีนและไปถึงแก่กรรมในฝรั่งเศส
          หลวงกาจสงคราม  ผู้ก่อการฯคนหนึ่ง ได้เป็นรัฐบาลของจอมพลป. หลังสงครามโลก    ถูกเนรเทศทางการเมืองไปอยู่ฮ่องกงและกลับมาถึงแก่กรรมในประเทศไทย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ส.ค. 10, 11:17
รู้สึกว่าเรื่องของพันโทพระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) อีกหนึ่งของสี่ทหารเสือที่มีบทบาทในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผมยังไม่ได้เล่าไว้ละเอียดนัก จึงจะขอเก็บตกจากที่เอามาในเวป เพื่อเสริมให้ท่านผู้อ่านที่สนใจอยากทราบโดยไม่ต้องไปคลิ๊กหาที่ไหนอีก
ปฏิบัติการที่สร้างชื่อเสียงให้ท่านโด่งดังจนเป็นทหารเสือกับเขานั้น ขอเอาจากบล็อกของนายกรณ์ จาติกวณิช  ซึ่งเอามาจากบันทึกของพระประศาสน์เองอีกทีหนึ่ง

หลังจากที่ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ได้ขึ้นอ่านแถลงการณ์ “ประกาศคณะราษฎรฉบับที่ ๑” และได้นำกำลังบุกเข้ายึดพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นศูนย์บัญชาการชั่วคราวแล้ว พันเอกพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) หัวหน้าฝ่ายทหารของคณะราษฎรและเสนาธิการสูงสุดของการยึดอำนาจครั้งนั้น ได้ออกคำสั่งให้ พันโทพระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) นำกำลังไปจับกุมบุคคลสำคัญ ที่รวมถึง จอมพลเรือสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเป็นเสมือนพระรัชทายาทเบอร์ ๑ ผู้ทรงอำนาจที่สุด รองแต่เฉพาะพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น มาควบคุมไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อเป็นตัวประกัน สำหรับต่อรองกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล ในขณะนั้น
 
พระประศาสน์พิทยายุทธ และ หลวงพิบูลสงคราม (ต่อมาคือจอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี) จึงนำกำลังทหารและรถหุ้มเกราะบุกเข้าไปในวังบางขุนพรหม โดยเกิดปะทะกันเพียงเล็กน้อย จากบันทึกเรื่อง “แผนการปฏิวัติ” ของเจ้าตัว กล่าวความในตอนนี้ไว้ว่า “......ขบวนรถแล่นเข้าสู่วังบางขุนพรหมตรงไปที่พระตำหนักใหญ่ รถของเรากำลังแล่นไปอย่างเสียงดังเอิกเกริก ในขณะนั้นเองมีนายตำรวจผู้หนึ่งวิ่งออกมาจากพระตำหนัก ซึ่งทราบภายหลังว่าคือพระอาสาพลนิกร ชักปืนพกออกยิงรัวมายังข้าพเจ้า ปัง ปัง แต่ข้าพเจ้าไม่รู้สึกหวั่นไหวประการใดนัก ลูกศิษย์ข้าพเจ้าที่อยู่ในรถยนต์หุ้มเกราะก็ยิงปืนกลสวนควันออกไป เสียงปรุ้ม ปรุ้ม แต่เรายิงขึ้นไปบนฟ้า ไม่ได้มุ่งหมายจะให้เป็นอันตรายแก่ผู้ใด นอกจากจะแสดงว่านี่เป็นเรื่องใหญ่โตเสียแล้ว จะมาทำเล่นเล็กๆ น้อยๆ กันต่อไป ไม่ได้ พระอาสาพลนิกรก็วิ่งหลบหนีหายไปทางเบื้องหลังพระที่นั่ง
 
ข้าพเจ้าสั่งให้ทหารในรถกระโดดลงขยายแถวเรียงรายไปตามสนามหญ้าหน้าพระตำหนักวังทันที และสั่งให้นายร้อยตำรวจโทผู้บังคับกองขึ้นไปทูลเชิญสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ลงมาเจรจาการเมืองกัน ณ เบื้องล่าง ให้เวลา ๑๕ นาที นายตำรวจผู้นั้นก็รับคำสั่งเงียบหายขึ้นพระตำหนักไป..........สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ก็ทรงจนพระทัย มิรู้จะทรงปฏิบัติอย่างไร ถ้าพระองค์ทรงสั่งให้เอาปืนกลระดมยิงพวกเรา พวกเราก็คงจะตายลงหลายคน แต่เมื่อเราหลบบังและทำการต่อสู้ พวกเราก็คงจะจับกุมพระองค์จนได้ และถ้าไปก่อกวนให้เกิดความโกรธขึ้นเช่นนั้น ใครเล่าจะรับผิดชอบได้ว่าจะ ไม่เกิดการฆ่าฟันกันประดุจโรงฆ่าสัตว์ พระตำหนักก็อาจจะถูกเผาไฟเป็นจุณไป อย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่าพระองค์ทรงขัดขืนมิเสด็จลงมา ก็คงจะทำความลำบากให้แก่เราไม่น้อย แต่อย่างไรก็ตาม โชคบันดาลให้เราอย่างประหลาดที่ไม่แต่พระองค์เท่านั้นที่เสด็จลงมา แต่กลับพาทุกๆ คนลงมาให้เราโดยบังเอิญ

หมดเวลา ๑๕ นาทีแล้ว ข้าพเจ้าสั่งให้ทหารเคลื่อนที่เข้าล้อมวังทันที เมื่อทหารของเราพร้อมสรรพด้วยอาวุธ ขยายแถวเดินเข้าสู่พระตำหนักเบื้องหลัง ก็ปรากฏว่าสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์ฯ และบริพารตั้งร้อยคับคั่งอยู่ที่ท่าน้ำเตรียมหนีทางเรือ แต่เนื่องจากความรอบคอบของฝ่ายเรา เรือรบของฝ่ายเราได้ติดเครื่องบรรจุกระสุนปืนในอาการที่จะเคลื่อนไหวได้ในทันทีอยู่ ณ เบื้องหน้า ทำให้ทรงงงงัน ไม่มีใครกล้าจะลงเรือหนี รีๆ รอๆ อยู่ด้วยความลังเลใจ ก็พอดีทหารของข้าพเจ้าไปควบคุมในลักษณาการเอาจริงเอาจังที่สุด ณ เบื้องหน้าเสียแล้ว ฝ่ายพระองค์ท่านก็เตรียมพร้อม พวกผู้ชายมีปืนสั้นบรรจุกระสุนอยู่พร้อมแล้ว พร้อมที่จะแสดงความจงรักภักดีพลีชีพเพื่อเจ้านายที่รักของตน ฝ่ายเราก็มั่นใจในอุดมคติของเราว่า เราจะสร้างลัทธิประชาธิปไตยให้ชาติไทยให้ได้ในครั้งนี้ ต่างคนก็ต่างยินดีพลีชีพเพื่ออุดมคติของตน


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ส.ค. 10, 11:19
ในสภาพหน้าสิ่วหน้าขวานที่จะนองเลือดกันหรือไม่ ขณะนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าข้าพเจ้ากระทำไปโดยความขี้ขลาด หรือขาดความเป็นสุภาพบุรุษอันแท้จริงเพียงนิดเดียว ก็จะต้องเกิดการนองเลือดเป็นอย่างแน่นอน แต่ข้าพเจ้าใช้ตัวของข้าพเจ้าเองเข้ากู้สถานการณ์ในขณะนั้น และใช้ความคิดที่เผอิญดลใจเกิดขึ้นในบัดดลเข้ากระทำการโดยเด็ดขาด ซึ่งใคร จะหาว่าข้าพเจ้าทำการไม่ฉลาด ถ้าพลาดพลั้งข้าพเจ้าตายลงแล้ว จะมีใครทำการแทนข้าพเจ้าได้ในสถานการณ์เช่นนั้นในบัดนั้นก็ตามที ข้าพเจ้าก็มีเหตุผลของข้าพเจ้าเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าพเจ้าถวายเกียรติยศแด่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ว่าทรงสูงดีพอที่ข้าพเจ้าจะเทิดเกียรติของพระองค์ไว้เหนือชีวิตข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะเอาชีวิตข้าพเจ้าแลกกับการไม่นองเลือดให้จงได้ ถ้าหากจะเกิดการนองเลือดขึ้น ก็ขอให้ฝ่ายพระองค์เป็นผู้ลงมือก่อนเถิด ใครใช้อาวุธทำร้ายก่อน ขอให้เป็นผู้รับผิดชอบในการนองเลือดครั้งนั้น

เมื่อข้าพเจ้าตัดสินใจเด็ดขาดดังนั้นแล้ว ก็สั่งทหารด้วยเสียงอันดังว่า “อย่ายิงจนกว่าฉันจะสั่งให้ยิงหรือฉันเป็นอันตราย”
 
คำสั่งของข้าพเจ้าเป็นการสั่งแบบจิตวิทยา ที่สะกดกระบอกปืนของทั้ง ๒ ฝ่าย ไม่มีใครกล้าลั่นปืนออกมาได้ เพราะฝ่ายข้าพเจ้านั้นจะไม่ลั่นไกยิงจนกว่าจะสั่ง และฝ่ายท่านถ้ายิงเราแล้วก็จะเป็นอันตราย ทั้งหมดด้วยปืนนัดนั้นของฝ่ายท่านเอง  เอาซี ข้าพเจ้าตายท่านตายหมด
 
ท่ามกลางบริวารนับร้อยผู้จงรักภักดีของพระองค์ พร้อมด้วยอธิบดีกรมตำรวจและนายตำรวจหลายนาย ประกอบด้วยชายฉกรรจ์อยู่เบื้องหน้า ต่างคนมีอาวุธเตรียมพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อเจ้านายที่รักของตนสุดความสามารถ ณ เบื้องหลังมีพระชายาและสนมกำนัลยืนอกสั่นขวัญหายอยู่มากมาย หรือกล่าวอย่างสั้นๆ คนในวังทั้งหมดมาอยู่พร้อมหน้าข้าพเจ้า ในบัดนี้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตทรงยืนสง่าน่าเกรงขามอยู่ ณ เบื้องหน้า ข้าพเจ้าเดินเข้าไปเฝ้า เผชิญพระพักตร์อย่างองอาจ จิตใจมั่นคงเสียเหลือเกิน เพราะเชื่อมั่นในอุดมคติของตน...............
 

....................“เอ๊ะ” ทรงมีรับสั่ง     “อีตาวันก็เป็นกบฏกับเขาด้วยหรือ”
 
“มิได้ ฝ่าพระบาท” ข้าพเจ้ากราบทูลตอบ “เราต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เราไม่มีเจตนาสักนิดเดียวที่จะทำลายกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ และมิเป็นการสมควรที่จะกราบทูลเรื่องอันเป็นความลับต่อฝ่าพระบาทด้วยเสียงอันดังต่อหน้าธารกำนัล ฉะนั้นเกล้ากระหม่อม ขอเชิญเสด็จไปเจรจาการเมืองเรื่องสำคัญอันลับอย่างยิ่งนี้ที่หน้าสนามหญ้าพระตำหนักพ่ะย่ะค่ะ”
 
“ก็ได้” ทรงพระดำรัสขึ้นในที่สุด
 
เป็นการเสี่ยงภัยครั้งที่ ๒ เพราะว่าข้าพเจ้าผู้เดียวเดินออกห่างไปจากทหารของข้าพเจ้า พร้อมด้วยสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ซึ่งมีพระยาอธิกรณ์ประกาศเป็นองครักษ์ตามไปในลักษณะ ๒ ต่อ ๑ และข้าพเจ้าตกลงใจที่จะไม่ใช้อาวุธปืนของข้าพเจ้าต่อหน้าเจ้านายที่ข้าพเจ้าเคารพอย่างที่สุดนี้ให้เป็นการเสียมารยาทเป็นอันขาด ส่วนพระยาอธิกรณ์ประกาศนั้น ใครจะไปทราบใจท่านได้ แต่ความจริงการกระทำดังนั้นก็มีเหตุผลอยู่ เพราะ มิฉะนั้นแล้ว ถ้าเกิดการโต้เถียงขึ้น จะเป็นการก่อให้คนเป็นจำนวนมากเกิดโทสะรุนแรงขึ้น และอาจจะเกิดการยิงกันขึ้นด้วยอารมณ์โทสะก็ได้ แต่ถ้าหากว่าเราพูดกันโดยอาการสงบในระยะไกล คนอื่นไม่ได้ยินคำพูดของเราแล้ว ก็ไม่เป็นการทำให้ชนส่วนมากมีโทสะจิตขึ้น เรา ๒-๓ คน รับผิดชอบที่จะไม่ใช้กำลังกันไม่ได้หรือ เราเป็นผู้ใหญ่แล้ว สมควรที่จะฟังเหตุฟังผล กันได้ ถ้าหากว่าข้าพเจ้าจะต้องเสียชีวิตเพราะให้เกียรติแก่สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์ฯ ในครั้งนี้ก็ตามทีเถิด   แต่อย่างไรก็ดี ก็ยังเป็นการล่อแหลมต่ออันตรายที่สุด เพราะว่าพระยาอธิกรณ์ประกาศหาได้รู้สึกอย่างข้าพเจ้าไม่ ซึ่งจะได้เห็นในระยะต่อไป


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ส.ค. 10, 11:21
ในการเจรจาตอนนี้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ คงจะประมาณข้าพเจ้าว่าเป็นกบฏอยู่เรื่อยไป ข้าพเจ้าก็กราบทูลว่าข้าพเจ้ามิได้เป็นกบฏ แต่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงแบบการปกครองของชาติไทยให้ทันสมัยกับประเทศที่เจริญแล้วในโลก และเราไม่มีเจตนาอันใดที่จะทำร้ายพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนพระราชทรัพย์ประการใดเลย อันนี้เป็นความบริสุทธิ์แท้จริงแห่งดวงใจข้าพเจ้า และเนื่องด้วยเราไม่ต้องการ ให้มีการนองเลือดขึ้นในระหว่างคนไทยด้วยกัน จึงจำเป็นต้องทูลเชิญเสด็จพระองค์ไปเป็นประกัน แล้วจะส่งคนไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระราชวังไกลกังวล เพื่อกราบทูลเชิญเสด็จฯ มายังพระนคร และขอพระราชทาน รัฐธรรมนูญต่อไป พระองค์ไม่ทรงฟังเหตุฟังผล ไม่ทรงยอมเสด็จไปกับเรา ข้าพเจ้าไม่ยอมพระองค์เป็นอันขาด ในขณะที่เรากำลังเจรจากันแรงขึ้นนี้เอง พระยาอธิกรณ์ประกาศได้ควักปืนพกออกเงื้อฟาดลงจะยิงข้าพเจ้าในทันที ข้าพเจ้าแลเห็น แต่ข้าพเจ้าบอกแล้วว่า ข้าพเจ้าไม่ยอมควักอาวุธออกมาต่อสู้กันหน้าพระพักตร์เจ้านายที่เคารพอย่างยิ่งของเราเป็นอันขาด ถ้าใครกระทำ ผู้นั้นต้องรับผิดชอบ ในชั่วเวลาพริบตาเดียว คุณหลวงนิเทศกลกิจกระโดดเข้าเตะมือพระยาอธิกรณ์ประกาศ ปืนกระเด็นตกลงยังพื้นดิน พวกเรา ๒-๓ คน ก็ฮือกันเข้ามาเก็บปืนไปได้ ใครๆ ก็เห็นภาพอันน่าตื่นเต้นที่สุดในตอนนี้ พริบตาเดียวแห่งชีวิต
 
อีกครั้งหนึ่ง การกระทำของพระยาอธิกรณ์ประกาศเปรียบเหมือนพระผู้เป็นเจ้าให้โอกาสแก่เรา เพราะในขณะนั้นเราต่างก็มีอาวุธพร้อมสรรพอยู่ในอาการเตรียมพร้อม ไม่มีเหตุผลอันใดแล้ว ใครก็ไม่อาจปลดอาวุธกันได้ แต่บัดนี้พระยาอธิกรณ์ประกาศเป็นฝ่ายผิด บังอาจใช้อาวุธทำร้ายในขณะที่เราเจรจากันด้วยสันติวิธี ความคิดเด็ดขาดอันหนึ่งผุดขึ้นในสมองข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถือโอกาสนี้ก้าวเท้าเข้าไปหน้าทหารท่ามกลางที่คนทั้งหลายกำลังตกตะลึงต่อภาพอันน่าหวาดเสียวนั้น ข้าพเจ้าแสร้งทำดุอย่างโกรธจัด ร้องสั่งออกไปต่อหน้าทั้งสองฝ่ายว่า
 
“เรากำลังเจรจากันโดยสงบ ทำไมจึงใช้อาวุธลอบทำร้ายกันเช่นนี้ ทหาร ยึดอาวุธให้หมดเดี๋ยวนี้”
 
พอขาดคำ ทหารของข้าพเจ้าก็   ถือปืนในท่าเตรียมยิงเดินแถวตรงเข้ารับอาวุธฝ่ายพระองค์ ส่วนฝ่ายพระองค์นั้น ทุกๆ คนต่างก็ตะลึงและรู้ว่าตนเป็นฝ่ายผิด เพราะหัวหน้าตนจะไปยิงเขาก่อน ต่างก็ไม่มีใครกล้าขัดขืน นี่แหละ ความยุติธรรมคืออำนาจ ทำให้ทุกๆ คนเข้าใจเหตุผลโดยไม่ต้องอธิบาย เมื่อฝ่ายเราปลดอาวุธฝ่ายพระองค์ท่านได้หมดแล้วเช่นนี้ พระเจ้าบันดาลความสำเร็จให้โดยบังเอิญการนองเลือดน่าจะไม่มีในการปฏิวัติครั้งนี้
 
ข้าพเจ้าเดินกลับมาเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ในขณะนี้ ก็ทรงดำริตกลงพระทัยแล้วดุจกัน พอข้าพเจ้ามาทูลเชิญเสด็จให้ได้ในเดี๋ยวนั้น ก็ทรงร้องว่า
 
“เฮ้ย อีตาวัน ข้าตกลงจะไปให้ แต่ขอขึ้นไปแต่งตัวเสียให้ดีๆ หน่อยนะ”
 
“ขอประทานอภัยโทษ” ข้าพเจ้ากราบทูลด้วยความรู้สึกระแวงว่าอาจจะเป็นกลอุบาย
 
“ไม่ได้พ่ะย่ะค่ะ” ข้าพเจ้ารู้สึกว่าข้าพเจ้ายอมไม่ได้ในครั้งนี้ เพราะข้าพเจ้าต้องรับผิดชอบต่อชีวิตมนุษย์ ถ้าประมาทเลินเล่อปล่อยให้เกิดมีจุดที่จะนองเลือดกันขึ้นได้ โดยปล่อยให้ทรงไปเอาปืนกลลงมายิงพวกเราก็คงจะเกิดการฆ่าฟันกันใหญ่โต พระองค์ท่านคงจะทราบความคิดของข้าพเจ้าดีจึงทรงเปลี่ยนเรื่อง
 
“เอ็งเอารถดีๆ มารับข้าหน่อยไม่ได้หรือ” ทรงตรัส
 
“โธ่ ฝ่าพระบาท” ข้าพเจ้าทูลตอบ “ในสถานการณ์เช่นนี้ กระหม่อมจะไปหารถดีๆ ที่ไหนมาถวาย เรามาที่นี่มีแต่รถกระบะอย่างนี้ จำเป็นต้องขอเชิญฝ่าพระบาท เสด็จไปกับเกล้ากระหม่อมเช่นนี้”
 
“เอ้า กูจะไปกับมึง” ทรงดำรัสในที่สุด
 
“เฮ้ย อีตาวัน ข้าเอาเมียไปด้วยได้ไหม”
 
“ได้พ่ะย่ะค่ะ เกล้ากระหม่อมไม่ขัดข้อง” ข้าพเจ้ารีบทูลตอบ เพราะไม่มีความสำคัญอะไร สิ่งใดที่ไม่จำเป็นที่จะขัดพระหฤทัยแล้ว ข้าพเจ้าไม่ขัดพระอัธยาศัยเลย
 
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้ทรงอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ใน เครื่องฉลองพระองค์เพียงกางเกงจีนกับเสื้อกุยเฮง พร้อมด้วยพระชายา ก็ยินดีเสด็จขึ้นรถกระบะไปกับพวกเรา ข้าพเจ้าดีใจเป็นล้นพ้น สั่งทหารขึ้นรถเป็นการด่วน ขบวนรถของเราก็พากันแล่นออกจากวังบางขุนพรหมตรงไปยังวัดโพธิ์ ซึ่งเป็นทางที่จะไปบ้านพระยาสีหราชเดโชชัย นายทหารเสือแห่งประเทศไทยในครั้งนั้น”



นั่นเป็นฉากเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นที่วังบางขุนพรหมในเช้าวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นปัจจัยตัดสินหลักที่ทอนกำลังของฝ่ายรัฐบาลลง ทำให้พ่ายแพ้ในที่สุด เพราะสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงดำรงตำแหน่งผู้รักษาการพระนคร เท่ากับทรงสำเร็จราชการในเขตพระนครทั้งหมด ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเสด็จอยู่ในพระนคร เมื่อทรงยอมให้ถูกควบคุมพระองค์ ก็เท่ากับกองกำลังฝ่ายรัฐบาลในเขตพระนครปราศจากหัวหน้าที่จะลุกขึ้นต่อสู้ขัดขืน
 
พระยาอธิกรณ์ประกาศ ได้แสดงบทบาทสำคัญในเช้าวันนั้นด้วย แม้บทบาทของเขาจะถูกประเมินโดยแกนนำฝ่ายคณะราษฎรว่าเป็น “จุดอ่อน” ของฝ่ายเจ้า เพราะตัดสินใจทำการแบบไม่รอบคอบ ทำให้สถานการณ์ของฝ่ายเจ้าตกเป็นรองในทันที แต่ในสายตาของฝ่ายเจ้า พระบรมวงศานุวงศ์ และเหล่าข้าราชบริพารทั้งหลายแล้ว การกระทำของพระยาอธิกรณ์ประกาศเช่นนี้ ย่อมเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีอย่างที่สุด ยอมเอาแม้กระทั่งชีวิตเข้าเสี่ยงเพื่อปกป้องสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ ในเช้าวันนั้น  


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ส.ค. 10, 11:32
จากบล็อกของนายกรณ์ ต่อ

เพื่อความเป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย จึงได้นำมุมมองของฝ่ายตรงข้ามมาให้รับรู้กันด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง พระธิดาของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงเล่าเหตุการณ์ในเช้าวันนั้น ในมุมมองของฝ่ายเจ้าที่ถูกบุกเข้าไปจับกุมถึงวังบางขุนพรหมว่า “........ถึงวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ตอนสาง ข้าพเจ้านอนอยู่ในห้องซึ่งมองเห็นแม่น้ำ ถูกปลุกขึ้นเพราะเสียงปืนหลายนัด ลุกขึ้นไปที่เฉลียงเล็กหน้าห้องเห็นเจ๊กคนสวน ๒ คนที่สนามหญ้าใกล้ตำหนัก จึงตะโกนถามว่า “ใครเข้ามายิงนกถึงนี่” คนสวนบอกว่า “ไม่ใช่ยิงนก”
 
ตอนนี้คำว่า “เจ๊กลุก” (สมัยนั้นมีข่าวลือในหมู่ชาววังบางขุนพรหมว่าคนจีนในไทยจะทำกบฏ---บ.ก.) ซึ่งฝังอยู่ท้ายสมอง ก็โผล่ออกมา ถามไปว่า “เจ๊กเรอะ?” คนสวนบอกว่า “ไม่ใช่เจ๊ก คนไทยทั้งนั้ง ทหารทั้งนั้ง” รู้สึกอายเจ๊กคนสวน ถอยกลับเข้าห้องก็มีมหาดเล็กเข้ามาบอกว่า “ทหารเข้าวังทูนหม่อมเสด็จอยู่ที่ท่าน้ำ  เจ้านายเสด็จไปกันแล้ว”
 
ข้าพเจ้าชวนแม่ลงไปตำหนักน้ำ แล้วเดินไปลงอัฒจันทร์หินใหญ่ เร็วเท่าที่แม่จะทำได้ เลี้ยวขวาก็ไปถึงทางลงไปถนน พอถึงระยะที่มองเห็นพ่อ ทรงสนับเพลาขาว ฉลองพระองค์ขาวชุดบรรทม ยืนอยู่กับคนอีกหลายคน ข้าพเจ้าก็ออกวิ่งจี๋ ทิ้งแม่ไว้ข้างหลัง
 
ข้าพเจ้าเห็นนายตำรวจ ๒ คนยืนอยู่กับพ่อ คนหนึ่งรู้จักว่าเจ้าคุณอธิกรณ์ฯ อีกคนหนึ่งผู้ใหญ่กว่า ทราบภายหลังว่าชื่อเจ้าคุณธรนินทร์ มีเด็จย่า น้องๆ และหม่อมสมพันธ์ รายล้อมอยู่ ต่อมาแม่ก็มาเข้ากองด้วย........


 
ความจริงนั้น เจ้าคุณตำรวจทูลพ่อให้เสด็จลงเรือไฟลำเล็กซึ่งเราก็เพิ่งเห็นว่าจอดอยู่หน้าโป๊ะ พ่อสั่นพระเศียร เจ้าคุณตำรวจก็เลยหันมาบอกว่าขอให้เจ้านาย  ผู้หญิง เสด็จลงไปก่อน โดยความสัตย์จริงแล้วไม่ได้รู้สึกกลัวมากมายอะไร หรือจะตกใจจนชาก็ไม่ทราบ เขาคะยั้นคะยอก็เลยเดินลงสะพานน้ำตามๆ กันไปพลางเหลียวหลังมาดูพ่อ เห็นทรงยืนเฉย ก็เลยกลับขึ้นไปยืนอยู่ด้วยอย่างเดิม ได้ยินรับสั่งกับเจ้าคุณตำรวจว่า “ฉันจะไปได้ยังไง ฉันรักษาพระนครอยู่ด้วย” อีกครู่เดียวพวกทหารถือปืนยาวก็เดินลงมาเต็มสะพาน แล้วขนาบตัวพวกเราทุกคน แม้แต่เด็จย่า (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี) ซึ่งพระชันษา ๖๘ แล้ว และสมัยนั้นนับว่าเป็นคนแก่มากแล้ว ก็มีหอกปลายปืนจ่อเดิน ขึ้นมาอย่างสง่าผ่าเผยทั้งสองข้าง ส่วนพ่อนั้นมีทหารถือปืนกลเล็กๆ จ่อบั้นพระองค์ พวกเราไม่เคยเห็นทั้งนายทหารทั้งปืนกลนี้มาก่อนเลย ต่อมาได้เห็นรูปหมู่ผู้พิชิตทั้งกอง มีชื่อบอกไว้ทุกคน จึงทราบว่าชื่อ “ทวน วิชัยขัตคะ”.............

 
ขอกล่าวถึงต้นเหตุที่ต้องถูกจับ พ่อได้ทรงเล่าประทานภายหลังว่าก่อนจะเกิดเหตุ (นานเท่าไรข้าพเจ้าลืมแล้ว) ว่าพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปรึกษาอภิรัฐมนตรี และนายสตีเวนส์ ที่ปรึกษากระทรวงต่างประเทศเป็นรายตัว ถึงเรื่องจะพระราชทาน รัฐธรรมนูญการปกครอง พ่อได้กราบบังคมทูลว่า ทรงเห็นว่าราษฎร (ท่านผู้อ่านอย่าลืมว่าเมื่อ ๕๐ ปีมาแล้ว) (อนึ่งบันทึกนี้    ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔-บ.ก.) ยังไม่มีการศึกษาดีพอ ที่อ่านหนังสือไม่ออกก็ยังมีอีกมากมายนัก จะตกเป็นเบี้ยล่างให้คนมีความรู้ครึ่งๆ กลางๆ ที่ไม่สุจริตเอาเปรียบได้ เมื่อมีการประชุมก็จะต้องมีการโต้แย้งกัน ซึ่งเกรงว่าจะเป็นไปอย่างรุนแรงถึงหยาบคาย ซึ่งท่านรู้สึกว่าจะทนไม่ได้   ตามความคิดของท่านเห็นว่าควรจะค่อยเป็นค่อยไป โดยฝึกสอนข้าราชการเสียก่อน เช่นที่ได้ตั้งสหกรณ์ขึ้นแล้วเป็นต้น แต่ถ้าหากทรงเห็นว่าถึงเวลาสมควรแล้วที่จะพระราชทาน ก็แล้วแต่พระราชหฤทัย  ส่วนพระองค์ท่านนั้น ขอกราบถวายบังคมลาพักผ่อนนอนบ้านเสียที เพราะได้ทำราชการมาถึง ๓ รัชกาลแล้ว..........”

 
พระยาอธิกรณ์ประกาศ ที่ชักปืนออกมาจะยิงพระประศาสน์พิทยายุทธ หรือที่พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง ทรงเรียกว่า “เจ้าคุณตำรวจ” คนนั้น ก็คือ พลโทพระยาอธิกรณ์ประกาศ หรือ “หลุย จาติกวณิช” หรือชื่อเดิม “ซอเทียนหลุย” ซึ่งมีศักดิ์เป็นปู่ของ กรณ์ จาติกวณิช เจ้าของบล็อกนี้ ท่านเป็นอธิบดีกรมตำรวจที่เคยเข้าเฝ้าถวายรายชื่อผู้ที่จะคิด“กบฎ”ที่ตำรวจสืบทราบมาได้สองสามวันก่อนปฏิบัติการ แต่สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิตทอดพระเนตรรายชื่อเหล่านั้นแล้วมิทรงเชื่อ ด้วยเห็นว่าล้วนเป็นผู้ที่เจ้านายทรงอุปถัมภ์ค้ำชูมาแต่เล็กแต่น้อย เช้าตรู่ของวันปฏิบัติการท่านเข้าวังแต่ก่อนรุ่งสางเพื่อจะทูลยืนยันว่า เขาเอาแน่ แต่ก็สายเกินการณ์ไปเสียแล้ว


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ส.ค. 10, 11:34
ช่วงที่ท่านมีเหตุอันจะต้องรีบเดินมางไปเป็นทูตในเยอรมันนั้น เอามาจากกระทู้ของคุณPP ใน thaijustice.comครับ

พระประศาสน์อีกคนหนึ่ง ซึ่งได้มีการบันทึกไว้ว่าเป็นผู้ที่ถูกหลวงพิบูลฯหมายหัว พระยาพหลขอไว้ให้ไปเป็นทูตในเยอรมันนั้น ความจริงคือหลวงประดิษฐ์มนูธรรมในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศให้ไปเป็นฑูตทหารที่เบอร์ลิน
และได้อยู่ร่วมชะตากรรมจนวันที่กรุงเบอร์ลินแตกจากน้ำมือของกองทหารรัสเซีย

บันทึกเรื่องนี้เอามาจากข้อเขียนของบุตรหลานท่านเอง น่าจะผิดเพี้ยนน้อยที่สุด
(จากหนังสือเรื่อง ..เปิดบันทึกชีวิตพระประศาสน์พิทยายุทธ 1 ใน 4 ทหารเสือ ผู้วางแผนการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 โดย พันเอก(พิเศษ) สมพงศ์ พิศาลสารกิจ)

"สว่าง รตะพันธุ์" คนขับรถประจำตัวคุณป๋า(พระประศาสน์ฯ)มานานนมได้เล่าเรื่องให้ฟังว่า วันหนึ่งมีคนแปลกหน้ามาขอพบคุณป๋า เมื่อเขานำเข้าไปพบแล้วได้สังเกตว่า เขาผู้นั้นไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับคุณป๋า และยังได้เห็นคนผู้นั้นล้วงกระเป๋าหยิบกล่องไม้ขีดไฟออกมายื่นให้ท่านอย่างระวัดระวังไม่ให้ผู้อื่นเห็น
เมื่อแขกแปลกหน้ากลับไปแล้วเข้าใจว่าคุณป๋าคงจะได้เปิดกล่องไม้ขีดไฟนั้น ซึ่งมีแต่สำลีกับกระดาษชิ้นเล็ก ๆ อยู่ชิ้นเดียว" "...จึงพอสันนิษฐานเอาได้ว่า เบื้องหลังของกล่องไม้ขีดไฟนั้นผู้ส่งมาให้ต้องเป็นหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ที่ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เพื่อนร่วมน้ำสาบานคนหนึ่ง
ในคณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง คงจะได้ตระหนักเป็นอย่างดีว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับคุณป๋า

ในเมื่อได้เกิดขึ้นแล้วกับพระยาทรงสุรเดชและพระยาฤทธิ์อัคเนย์...จึงอาจจเขียนจดหมายสั้น ๆ ยัดมาในกล่องไม้ขีดไฟ ขอให้คุณป๋ารีบเตรียมตัวเดินทางไปต่างประเทศเสียก่อนที่จะต้องถูกปลดจากราชการอย่างน่าเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงวงศ์ตระกูล ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศท่านจะได้เสนอแต่งตั้งให้ไปเป็นเอกอัคราชฑูตไทยประจำกรุงเบอร์ลินถิ่นที่คุณป๋าถนัด

ขอให้รับจัดกระเป๋า มีเสื้อผ้าเท่าที่จำเป็นต้องติดตัวไปลงเรือยนต์เล็กหน้าทำเนียบบท่าช้างเวลา 05.00 น. เพื่อจะได้รีบขึ้นเรือใหญ่ที่เกาะสีชัง ซึ่งทางหลวงประดิษฐ์ฯจะได้รีบดำเนินการแต่งตัวและรีบจัดส่งสารตราตั้งให้ต่อไป แล้วการดำเนินการแต่งตั้งก็สำเร็จลงอย่างราบรื่นและรวดเร็ว

เมื่อหลวงประดิษฐ์ได้ติดต่อพร้อมกับแจ้งให้คุณป๋าทราบผลเป็นระยะ ๆ จนกระทั่งเมื่อได้รับอนุมัติจากนายกรัฐมนตรีแล้วคุณป๋าและครอบครัวก็ไม่ต้องลักลอบไปลงเรือยนต์เล็ก หากเดินขึ้นเรือเดินสมุทร ณ ท่าวัดพระยาไกรไปอย่างสง่าผ่าเผย เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2481


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ส.ค. 10, 11:36
“....ตอนครอบครัวเราย้ายไปอยู่ที่เยอรมันนีนั้น เป็นช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ล้ว ครอบครัวของเราก็ได้รับความกระทบกระเทือนด้วย คุณป๋าส่งผมไปเรียนที่สวิส และได้ส่งคุณแม่ก้บพี่สาวผมไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัย ส่วนท่านต้องทำหน้าที่ทูตที่เบอร์ลินต่อไป

กระทั่งสหภาพโซเวียตส่งกองทัพบุกเข้ากรุงเบอร์ลิน และกวาดจับทุกคนเป็นเชลย รวมทั้งคุณป๋าด้วย แล้วส่งไปอยู่ค่ายกักกันใกล้กรุงมอสโคว์ ซึ่งคุณป๋าเป็นหนึ่งในคนไทยสองคนที่ต้องตกอยู่ในชะตากรรมอันทารุณที่คุกรัสเซียนี้ ภายหลังคุณป๋าได้ให้สัมภาษณ์นักหนังสือพิมพ์คนหนึ่ง ผมขอคัดมาบางตอน คือ....

“....การต่อสู้เป็นเรื่องหนักแก่ชีวิตแก่ข้าพเจ้าอย่างเหลือทน ความหนาวในรัสเซียขณะนี้กำลังหนาวจัด ควมเยือกเย็นของอากาศถึงขนาด 40 ดีกรีใต้ศูนย์ ตามถนนหนทางเต็มไปด้วยน้ำแข็ง เท่ากับว่าเรานอนกันอยู่บนกองน้ำแข็ง ในโกดังน้ำแข็งชัด ๆ

ข้าพเจ้าทนทานต่ออากาศเช่นนี้ไม่ไหว ร้ายแรงขนาดนี้แล้ว ยังขาดเชื้อเพลิงสำหรับบำบัดเสียอีก ข้าพเจ้ามีโอเวอร์โค้ทเพียงต้วเดียว จะไปช่วยอะไรได้เล่า...ข้าพเจ้าสวมโอเวอร์โค้ทไปนั่งอยู่เช้าวันหนึ่ง หนาวสิ้นดี จนต้วแทบจะแข็งทื่อไปตามน้ำแข็ง ซึ่งเต็มไปน้ำแข็งทั้งส้วม

กระดาษชำระให้หาทั้งค่ายก็หาไม่ได้ ข้าพเจ้าต้องงัดเอาซองบุหรี่เก่า ๆ ขึ้นมาใช้แทน ภายหลังก็เคยชิน หนัก ๆ เข้าอ้ายซองบุหรี่ก็หมด ข้าพเจ้าต้องแอบตัดชายผ้าห่มไปทีละชิ้น ทั้ง ๆ ที่ผ้าห่มนั้นเป็นประโยชน์แก่ชีวิตเป็นอย่างมากเพียงใด ในท่ามกลางอากาศที่หนาวที่สุดในโลก อย่างประเทศรัสเซีย...”

คุณป๋าอยู่ในคุกรัสเซียนานถึง 225 วัน หรือ 7 เดือนครึ่ง จึงได้รับการปล่อยตัว เมื่อราวปลายเดือน ม.ค.พ.ศ.2489 ท่านเดินทางโดยรัสไฟสายทรานส์ไซบีเรียมารที่เมืองโอเดสสา เพื่อรอขึ้นเรือมายังกรุงสต๊อกโฮล์ม แล้วแจ้งข่าวไปยังกาชาดสากล ให้ติดต่อมาย้งสถานทูตไทยในสวิส เพื่อให้ผมเดินทางไปสมทบ. เมื่อผมพบคุณป๋า ได้เห็นสภาพร่างกายของท่านแล้ว สงสารมาก ผ่ายผอมจนเห็นซี่โครง หน้าตาซูบตอบ


ผมตระหนักดีว่า ท่านได้รับความลำบากยากเข็ญเพียงไร แล้วเรา 2 คนก็ลงเรือสินค้าที่เดินทางเที่ยวแรกจากสวีเดนมาสิงคโปร์ แล้วต่อเรือเข้ามายังกรุงเทพฯ.....
คุณป๋ากลับมาเมืองไทยในสภาพที่เรียกว่าขาดทุน....ไม่มีเงินทอง บ้านช่องดี ๆ ก็ไม่มีอยู่ ท่านกับผมต้องไปอยู่ที่บ้านสวนที่บางซ่อน
เรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตคุณป๋าทั้งหมด ท่านไม่เคยปริปากพูดบ่นอะไรให้ลูกหลานฟังเลย ท่านคงเก็บความรู้สึกทั้งหมดไว้เอง ในบั้นปลายชีวิต ท่านรับราชการเป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข และกลายเป็นคนดื่มเหล้าจัดมาก จนป่วยเป็นโรคตับ และสิ้นชีพไป....”


ชีวิตพระประศาสน์พิทยายุทธลำบากแสนสาหัสในเบอร์ลินช่วงที่สัมพันธมิตรถล่มด้วยระเบิดและปืนใหญ่ ลูกสาวเสียชีวิต ครอบครัวต้องพลัดพราก พระประศาสน์พิทยายุทธถูกจับเข้าคุกเชลยในไซบีเรีย กว่าจะเอาตัวรอดกลับมาเมืองไทยได้อย่างหวุดหวิดความตายเต็มที


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ส.ค. 10, 11:42
นี่เป็นอีกบทหนึ่งที่ผมเอามาจาก ไทยโพสต์แทบลอยด์ ซึ่งผู้เขียนได้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์บุตรชายของท่านโดยตรง

พ.อ.สมพงศ์-นงลักษณ์ พิศาลสรกิจ เป็นบุตรสาวและบุตรเขยของพระประศาสน์พิทยายุทธ 1 ใน 4 ทหารเสือในการปฏิวัติ 2475 ซึ่งได้แก่ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิ์อัคเณย์ พ.อ.(พิเศษ) สมพงศ์อายุ 92 แล้ว แต่ยังความจำดี เป็นผู้รวบรวมเรียบเรียงหนังสือ "เปิดบันทึกชีวิตพระประศาสน์พิทยายุทธ" ร่วมกับพี่น้องของภรรยา ตีพิมพ์เมื่อปี 2545
 
พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) ขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนนายทหารเสนาธิการ เป็นผู้ที่ร่วมกับพระยาพหล พระยาทรง ไปนำกรมทหารม้ารักษาพระองค์ ออกมาร่วมปฏิวัติ ซึ่งใช้ทั้งจิตวิทยาและความรู้จักนายทหารที่เป็นลูกศิษย์ ทำให้การปฏิวัติ 2475 สำเร็จลงโดยไม่เสียเลือดเนื้อ หลังจากนั้นยังเป็นผู้นำนักเรียนนายร้อย ร่วมกับหลวงพิบูลสงคราม ไปจับสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์ พระยาสีหราชเดโชชัย และพระยาเสนาสงคราม ซึ่งพระประศาสน์เขียนไว้ว่า กรมพระนครสวรรค์ คือ "เจ้านายที่เคารพอย่างยิ่ง" แต่ก็สามารถเจรจาได้โดยไม่เสียเลือดเนื้ออีกเช่นกัน
 
แต่หลังจากนั้นไม่กี่ปี คณะราษฎรก็เกิดความขัดแย้งกันเองในฝ่ายทหาร พระยาฤทธิ์อัคเณย์ ต้องเดินทางไปพำนักที่สิงคโปร์และปีนัง พระยาทรงสุรเดช ถูกออกจากราชการเมื่อปี 2481 ต้องไปอยู่เวียดนามและกัมพูชาจนเสียชีวิต
 
พระประศาสน์พิทยายุทธ โชคดีกว่าอีก 2 ท่านตรงที่ถูกส่งไปเป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงเบอร์ลิน โดยนายปรีดีที่เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศในขณะนั้น
 
"หลวงประดิษฐ์มนูธรรมท่านเห็นท่าจะไม่ ดี คล้ายๆ ฆ่ากันเองท่านเลยไปหาจอมพล ป. ไปบอกว่าช่วยลงนามแต่งตั้งให้พระประศาสน์ไปเป็นเอกอัครราชทูตที่เบอร์ลิน คือไล่มันออกไปซะ ท่านก็พยักหน้า ลงชื่อ แทนที่จะต้องหลบออกไปลงเรือ ก็กลายเป็นเปิดเผย มีเพื่อนฝูงญาติพี่น้องไปส่งที่ท่าเรือ ก็เพราะคนดีคนหนึ่งคือหลวงประดิษฐ์" พ.อ.สมพงศ์เล่า
 
ไม่อย่างนั้นจะเป็นแบบพระยาทรงฯใช่ไหม
"อะไรสักอย่าง แต่ไปก็ลำบาก ไปอยู่ในที่ที่เขารบ ทิ้งระเบิดทุกวัน วันละหลายหน"
 
"ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นทูตประจำกรุงเบอร์ลิน ท่านก็เอาครอบครัวไปอยู่ที่นั่น ผมสอบได้ที่ 1 ยุวชนทหาร ส่งให้ไปเรียนที่เยอรมนี แล้วเปลี่ยนมาที่อิตาลีแทน เพราะเยอรมนีไม่รับคนต่างชาติเพราะเตรียมเข้าสงคราม ผมเลยไปเรียนที่อิตาลี พอผมเรียนเสร็จก็ได้รับแต่งตั้งทางโทรเลขไปสถานทูตให้เป็นร้อยตรี ผมก็ควรจะต้องเดินทางกลับเมืองไทย แต่เดินทางไม่ได้เกิดสงคราม ทางราชการก็เลยแต่งตั้งให้ผมเป็นผู้ช่วยทูตทหารประจำกรุงเบอร์ลิน"
 
พ.อ.สมพงศ์เล่าว่าอยู่เบอร์ลินท่ามกลางสงคราม สิ่งสำคัญคือต้องเอาชีวิตให้รอด
 
"เดี๋ยวก็หวอขึ้น อังกฤษ อเมริกันไปทิ้งระเบิดเบอร์ลิน"
 
บุตรสาวคนโตของพระประศาสน์ก็ไปเสียชีวิตที่นั่น
 
"โดนลูกระเบิด ข้างห้องที่แกนอน ทางเยอรมันทำที่หลบภัยไว้อย่างดีทุกสถานทูต เราก็แบ่งกันใครอยู่ตรงไหนๆ เวลาหวอมา แต่พี่สาวคนโตไม่ได้ลงไปเพราะไม่สบาย"
 
เมื่อสงครามสงบ พระประศาสน์ส่งครอบครัวไปอีกทาง ตัวเองอยู่เฝ้าสถานทูตจนถูกรัสเซียจับ ต้องถูกคุมตัวไว้ในค่ายกักกัน จนกลับมาเมืองไทยภายหลัง
 
ส่วนครอบครัวเผชิญชะตากรรมอีกแบบ คือถูกส่งมาอเมริกา พ.อ.สมพงศ์กับป้านงลักษณ์เล่าว่า ระหว่างเดินขึ้นเรือซึ่งถูกนำตัวมาพร้อมกับเชลยญี่ปุ่น ก็โดนพวกทหารอเมริกันนับหมื่นๆคน ที่ไม่ได้แยกแยะว่าญี่ปุ่นไทย ถ่มน้ำลายใส่จนเปรอะเปื้อนไปหมดทั้งหัว
 
"ทางจะขึ้นเรือสองข้างเต็มไปด้วยทหาร อเมริกันเป็นหมื่นๆ คน ส่วนมากเป็นญี่ปุ่น เขามีสำนักงานที่ใหญ่มาก ข้าราชการเป็นร้อยๆ ของเราแค่ 10 คน เราก็เดินตามหลังญี่ปุ่น ผ่านมาทหารอเมริกันก็ถ่มน้ำลายใส่ จนกระทั่งขึ้นเรือ"
 
พระประศาสน์กลับมา ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. ตั้งให้เป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข จนจบชีวิตด้วยโรคตับในวันที่ 4 ธันวาคม 2492 เพราะในช่วงหลังกลายเป็นคนดื่มเหล้ามาก กระทั่งบุตรธิดาเล่าว่าทดลองทำเหล้าลิเคียวร์จากผลไม้ไทย ใส่ขวดถ่วงน้ำไว้ในสระข้างบ้าน


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ส.ค. 10, 11:43
คงจะสมบูรณ์แล้วครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: mr.eakaluck_tum ที่ 13 ก.ย. 10, 22:32
จบแล้วเหรอครับผมอ่านถึงความเห็น204อยุ่เลยสนุกมากๆๆๆครับกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์...อย่าให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกเลยครับ :'( :'(


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 ก.ย. 10, 06:43
ถ้าอ่านถึงความเห็น565แล้วก็เขียนมาคุยกันใหม่นะครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: nondt125 ที่ 02 ม.ค. 11, 21:45
หน้าสงสารท่านนะครับ

อยู่ดีๆๆก็ได้เป็นชือของกบฏหรือคนอาดจะรู้จักในชื่อกบฏ 18 ศพ

ยั่งไม่รู้ด้วยซับว่าท่านผิดจริงหรือเปล่า

ท่านต้องเสียชีวิตในต่างประเทศ

อย่างแร่งแค้น


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: Khonsu ที่ 15 ก.พ. 11, 20:57
น่าเสียดายและเสียใจกับท่านจริงๆค่ะ ท่านอายุสั้นเกินไปผิดกับจอมพลคนอื่นๆ
ขอขอบคุณท่านจากใจจริงที่ทำให้มีประชาธิปไตยในวันนี้


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: กระต่ายหมายจันทร์ ที่ 15 ม.ค. 12, 20:30
ผ่านมาปีกว่า เพิ่งมีโอกาสได้มาอ่านกระทู้ประวัติศาสตร์นี้

ใช้เวลาอ่านวันละหลายชั่วโมงเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์เต็มๆ อ่านไป คิดไป คลิ๊กลิ้งค์ที่ท่านอาจารย์ทั้งหลายแปะไว้ไปอ่านต่อ หาข้อมูลเพิ่ม จุดจุดจุด ก ข ค ... ขอใช้กระทู้แรกในเรือนไทยกล่าวคำขอบคุณแด่อาจารย์ทุกๆ ท่าน ที่ได้กรุณานำข้อมูลมากมายมาเผยแพร่และวิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์เพื่อชำระประวัติศาสตร์อย่างปราศจากอคติ

ประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ละเอียดอ่อน ไม่เพียงแต่ประชาชนโดยทั่วไปควรจะมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง ด้านหลักการที่นำมาซึ่งแนวคิดประชาธิปไตย การรู้จักใช้สิทธิควบคู่ไปกับการปฏิบัติตนตามหน้าที่ ... ผู้ปกครองในระบอบประชาธิปไตยควรจะเป็นผู้ที่มีธรรมและหิริโอตัปปะเป็นที่ตั้ง ... ทั้งสองอย่างควรดำเนินควบคู่กันไป การขาดสมดุลย์ฝั่งใดฝั่งหนึ่งอาจนำมาซึ่งความหายนะแก่ประเทศดังที่เราได้เห็นกันมาหลายครั้งในประวัติศาสตร์ จากอดีตสู่ปัจจุบัน


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ม.ค. 12, 07:15
ขอบคุณที่เห็นเจตนารมณ์ของผู้เขียนครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: รักแผ่นดิน ที่ 20 เม.ย. 12, 19:02
เข้ามาแล้วได้ความรู้มากๆเลยครับ
เลยสมัครเป็นสมาชิกซ่ะเลยครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 เม.ย. 12, 20:57
ยินดีต้อนรับครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 23 มิ.ย. 12, 07:00
กราบสวัสดีท่านอาจารย์เทาชมพู และอาจารย์ Navarat C. ครับ

ด้วยประชาธิปไตยจะครบรอบ 80 ปี ในวันพรุ่งนี้ ผมก็เลยลองหาความรู้เรื่องการอภิวัฒน์ 2475 มาค้นพบกระทู้นี้  กำลังอ่านอย่างเมามันส์เลยครับ แต่ยังไม่ถึงสิบหน้าเลย ต้องขอพักก่อน
แล้วผมลอง log in ดู  โอ้โห ปรากฏว่ายังเข้าได้ ดีใจๆครับ

ขอบพระคุณสำหรับกระทู้ดีเยี่ยมเช่นนี้ครับ ได้ความรู้ ได้ข้อคิดอะไรใหม่ๆเยอะเลยครับ ทั้งๆที่พึ่งอ่านไปได้เจ็ดหน้าเอง 



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 มิ.ย. 12, 07:27
ผมกำลังเกลาต้นฉบับมหากาพย์เรื่องใหม่ของผม ที่จะนำลงเมืองไทยในวาระนี้เหมือนกัน เรื่อง "กบฏบวรเดช นี่ทหารการเมืองเขาเล่นอะไรกัน"

ภาพประกอบแพรวพราว
กรุณาติดตามอ่านนะครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 มิ.ย. 12, 09:37
ที่มาของแรงบันดาลใจ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 มิ.ย. 12, 09:57
สวัสดีค่ะ คุณปากกานินีเจ้าเก่าของเรือนไทยนี่เอง.    หายหน้าไปหลายปี.   ดีใจที่เห็นว่ากลับมาเยือนอีกค่ะ
หวังว่าคราวนี้คงจะมีเวลามาสนทนากันบ่อยๆนะคะ
ตอนนี้มีเวลาแวะเรือนไทยได้กระพร่องกระแพร่งเต็มที.     ขอจองเก้าอี้แถวหลังสำหรับมหากาพย์เรื่ิองใหม่.  แถวหน้าๆให้เจ้าประจำนั่งแล้วกัน





กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 23 มิ.ย. 12, 17:06
คุณเนาวรัตน์น่าจะเขียนประวัติพระยาพหลฯ
ออกเป็นเล่มให้คนสนใจได้เก็บไว้อ่าน
ที่เคยอ่านล่าสุดของ ส.พลายน้อย ไม่มีข้อมูลเป็นชิ้นหนักแน่น

เป็นคน ตจว.หาหนังสืออ่านยาก


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: Phattranit ที่ 24 มิ.ย. 12, 05:03
ขออนุญาตเข้าเรียนค่ะ หลังจากนั่งสังเกตูการ์นอกห้องอยู่นานค่ะ  :-[


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: Phattranit ที่ 24 มิ.ย. 12, 05:10
ขออนุญาตเข้าเรียนค่ะ หลังจากนั่งสังเกตูการ์นอกห้องอยู่นานค่ะ  :-[

ขอประทานโทษค่ะที่พิมพ์ตกหล่น เพราะตาเริ่มลายหลังจากนั่งอ่านอยู่นานน่ะค่ะ แล้วจะเข้ามาติดตามเพิ่มเติมนะคะ ต้องขอขอบพระคุณทุกท่านที่ให้ความรู้ต่างๆค่ะ สนุกและน่าติดตามมาก เพราะเลิกอ่านไม่ได้จริงๆ ดีที่เป็นวันหยุดจีงนั่งอ่านได้เพราะไม่ต้องตืนเช้าไปทำงานค่ะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: namping2007 ที่ 24 มิ.ย. 12, 19:29
ความรู้แน่นๆเป็นอย่างนี้เองครับกับบ้างสิ่งที่เคยรู้แต่แบบบางๆ.
สมัครสมาชิกเพื่อเข้ามาหาความรู้ครับ.


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มิ.ย. 12, 11:03
เชิญติดตามกระทู้มหากาพย์ของคุณ NAVARAT.C เรื่องอื่นๆ เช่น

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3419.0
หลวงอดุล-หลวงพิบูล คู่รัก, พล.ต.อ อดุล-จอมพล ป. คู่แค้น

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3438.0
จอมพลป.2 ไม่ผ่านขึ้นป.3

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4942.270
ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว

มีอีกหลายกระทู้ค่ะ  ล้วนแต่มันส์หยด  ใครหาเจอ กรุณานำมาลงไว้ในกระทู้นี้ด้วยนะคะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 27 มิ.ย. 12, 12:34
ขอบพระคุณครับท่านอาจารย์เทาชมพู. มีการบ้านต้องทำอีกเยอะเลยผม แต่สนุกมากๆครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 30 มิ.ย. 12, 10:59
อ่านจบแล้วคร้าบบบ กระทู้นี้ หนึ่งอาทิตย์พอดี อ่านอย่างช้าๆละเมียดละไม ไม่อยากให้กระทู้จบเร็ว  แต่พอมาตอนท้าย โอยยย   ท่าน อจ เทาชมพูมาแปะลิ้งค้มหากาพย์ของ อจ นวรัตน์ อีกเพียบ แต่ละอันก็ยาวๆทั้งนั้น เลยอุ่นใจว่ามีของโปรดไว้บริโภคอีกนาน  ฮ่าๆๆๆๆ  ขอบพระคุณอย่างสูงทั้ง อจ นวรัตน์ อจ เทาชมพู และผู้ร่วมให้ความรู้ทุกๆท่านเลยครับไม่ว่าคุณวีมี คุณเครซี่ฮอร์สเพื่อนเก่า คุณสมันศูนย์ศูนย์เจ็ด คุณหมอซีวีที คุณพราวฯ   ฯลฯ

หมายเหตุ  เรื้อร้างห่างจากเรือนไทยไปนาน รู้สึกตัวเองใกล้เกลือกินด่างจริงๆ มัวแต่ไปเล่นเฟซบุ๊คอยู่ กลับมาเรือนไทยเปรียบเสมือนกลับภูมิลำเนาเดิม


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 12, 11:21
กระทู้ของคุณนวรัตน ที่หาเจอค่ะ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3025.0
ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4297.0
“นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4768.0
วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3477.0
ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4341.0
ภาพพระราชพงศาวดาร สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4197.0
ภาพและเรื่องสมัยรัชกาลที่๕ ได้มาใหม่จากเวปฝรั่งเศส
คุณ paganini ใช้เวลาอ่านอีกเป็นเดือนเชียวละค่ะ  แต่รับรองว่าคุ้ม
แวะมาคุยกันในกระทู้ใหม่ๆบ้างนะคะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 มิ.ย. 12, 11:37
^
ขอบคุณครับ ที่โฆษณาเวปของผมให้ฟรีๆ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 12, 11:43
โฆษณาเว็บเรือนไทย  ไม่ผิดกฎค่ะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 30 มิ.ย. 12, 11:47
ขอบพระคุณอีกครั้งครับท่าน อจ เทาชมพู

ผมเองก็ไม่ค่อยจะมีอะไรคุยหรอกครับ นอกจากเป็นนักเรียนขี้สงสัยถามคำถามอาจารย์ ถ้ายังงั้นก็พอได้ แต่ถ้าให้เอาความรู้มาช่วยเสริม ก็ต้องบอกว่ายังมีตุนไว้ในพุงน้อยอยู่เมื่อเทียบกับท่านทั้งหลายในเรือนไทยแห่งนี้

อ่านถึงเรื่องพระยาศรีสิทธิสงครม ดิ่น ท่าราบ  ทำให้นึกถึงแพทย์หญิง โชติศรี ท่าราบ  ใครรู้จักมั่งยกมือขึ้นนนนนนน

อิอิอิ  ผมเดาว่าถ้าไม่ใช่คอเพลงคลาสสิคก็น่าจะรู้จักยากอยู่ แต่ถ้าเป็นนักฟังเพลงคลาสสิครุ่นใหญ่ๆหน่อย ต้องรู้จัก "จิ๋ว บางซื่อ" เป็นอย่างดีทุกท่าน

จิ๋ว บางซื่อ หรือ แพทย์หญิง โชติศรี ท่าราบเป็นบุตรสาวของพระยาศรีสิทธิสงครามผู้มีชะตากรรมอันน่าสลดนี่แหละครับ

จิ๋วบางซื่อ ท่านเขียนบทความเกี่ยวกับดนตรีคลาสสิคลงในนิตยสารกลางกรุงตั้งแต่เมื่อสี่สิบกว่าปีก่อน เขียนดี อ่านสนุกมาก ท่านเขียนโดยแทนตัวเองว่า "ผม" คนเลยเข้าใจว่าท่านเป็นผู้ชาย  ผลงานเขียนของท่านเป็นอมตะ เพราะทราบว่าไม่นานมานี้ก็มีการพิมพ์รวมเล่มใหม่อีกครั้ง กลายเป็นคัมภีร์สำหรับผู้เริ่มฟังดนตรีคลาสสิคไปแล้ว และเป็นแรงบันดาลใจให้หลายๆคนรวมทั้งผมด้วย ติดตามฟังและชื่นชอบดนตรีคลาสสิคมาถึงทุกวันนี้ิ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 12, 11:53
ขอออกนอกเรื่อง ไหนๆก็ไหนๆ
คุณ paganini ไม่คิดจะถ่ายทอดความรู้เพลงคลาสสิคของคุณออกมาเล่าให้ชาวเรือนไทยฟังสักหน่อยหรือคะ   อยู่ในห้องศิลปวัฒนธรรมได้เลย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 30 มิ.ย. 12, 11:59
ฮ่าๆๆๆ  คำถามนี้ของท่าน อจ เทาชมพู ก็ถือว่าเป็นสั่งการบ้านให้นักเรียนแล้วละครับ  ผมขออนุญาตไปคิดก่อนว่าจะนำเสนอเรื่องอะไรดีนะครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 02 ก.ค. 12, 12:49
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตโดยฉับพลันด้วยพระหทัยวาย เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ขณะที่มีพระชนมายุ 47 พรรษา

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีทรงจัดการพระบรมศพเป็นการภายในโดยอัญเชิญพระบรมศพประดิษฐาน ณ พระตำหนักคอมพ์ตัน โดยรัฐบาลอังกฤษได้อนุญาตเป็นกรณีพิเศษในการประดิษฐานพระบรมศพเป็นเวลา 4 วันซึ่งตามปกติจะอนุญาตเพียงวันเดียว เพื่อให้ประยูรญาติที่อยู่ห่างไกลมาถวายบังคมลาเป็นครั้งสุดท้าย การจัดการพระบรมศพนั้นเป็นไปอย่างเงียบ ๆ โดยไม่มีการบำเพ็ญพระราชกุศลทรงพระพุทธศาสนาเพราะไม่มีพระสงฆ์ รวมทั้ง ไม่มีการพระราชพิธีอื่น ๆ ตามราชประเพณีด้วย

หลังจากตั้งพระบรมศพครบ 4 วันแล้ว พระบรมศพถูกอัญเชิญโดยรถบรรทุกไปยังสุสานโกลเดอร์ส กรีน (Golden green) อันเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพโดยใช้เตาแบบฝรั่ง ซึ่งการถวายพระเพลิงพระบรมศพเป็นไปอย่างเรียบง่าย โดยมีเพียงการกล่าวสุนทรพจน์โดยนายอาร์.ดี.เครก พระสหายชาวอังกฤษของพระองค์และมีการบรรเลงเพลงเมนเดลโซน ไวโอลิน คอนแชร์โต (Mendelssohn Violin Concerto) ซึ่งเป็นเพลงที่พระองค์โปรดเป็นพิเศษ ถวายเป็นครั้งสุดท้ายเท่านั้น

----------------------------------------------------------------------------------------------

เอาเกร็ดเล็กๆน้อยๆมาฝากครับ เพิ่งจะทราบว่าในหลวงรัชกาลที่เจ็ดทรงโปรด Mendelssohn Violin Concerto เป็นพิเศษ ซึ่งเป็นงานชิ้นที่โด่งดังมากๆในบรรดาคอเพลงคลาสสิคครับ ทุกวันนี้นักเรียนไวโอลินไหนๆก็ต้องผ่านคอนแชร์โต้อมตะบทนี้กันทั้งนั้น  ลอง search หาฟังในยูทูปดูนะครับ ไม่แน่ใจว่าที่นี่วางลิ้งค์จากยูทูปได้หรือเปล่า แต่ลองดู

http://www.youtube.com/watch?v=SJUQD6Rr2M8


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: hobo ที่ 02 ก.ค. 12, 13:19
ถ้าไม่เป็นการละลาบละล้วงเสียมารยาทจนเกินไปมีท่านใดทราบบ้างครับว่า
ในหลวงรัชกาลที่เจ็ดท่านประชวรด้วยโรคอะไร ผมสงสัยมานานแล้ว
ทราบแต่ว่าทรงไม่แข็งแรงมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ในจดหมายของหม่อมเจ้า
จงจิตรถนอมถึงสมเด็จกรมพระยาดำรง ตอนที่ประทับอยู่ที่ปีนัง ท่านทรงไว้
ในจดหมายว่าเกือบสวรรคตที่อังกฤษตั้งสามครั้ง แต่หมอช่วยรักษาเอาไว้ได้
นั่งพิจารณาดูทั้งทางกายภาพ กับพระราชประวัติแล้วนึกไม่ออกจริงๆ ครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 ก.ค. 12, 16:15
มีหนังสือวางอยู่ข้างตัวพอดีค่ะ     ขอเล่ารายละเอียดของเหตุการณ์วันที่   ๓๐ พฤษภาคม  เพิ่มเติมตามบันทึึกของหม่อมเจ้าการวิก  จักรพันธุ์  ดังนี้


        
        "ช่วงนี้เอง  พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอาการประชวรด้วยพระโรคพระหทัยพิการเพิ่มมากขึ้น   ยิ่งย่างเข้าฤดูหนาวและอากาศชื้น  

ทำให้พระอาการหอบยิ่งถี่ขึ้น    ในที่สุดตัดสินพระราชหฤทัยเสด็จกลับมาประทับยังพระตำหนักคอมพ์ตันเฮาส์     เมื่อเสด็จกลับมาประทับที่พระตำหนักแล้ว

พระอาการทั่วไปก็ดีขึ้น     ประจวบกับเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิ   ดอกไม้ใบหญ้าเริ่มผลิใบอ่อนแตกยอดกันเขียวชอุ่ม        อากาศสดชื่น  ท้องฟ้าแจ่มใส

ปลอดโปร่ง    อีกทั้งสภาวะสงครามดูจะเบาบางลงบ้าง   นอกจากสภาพความเป็นอยู่ของคนอังกฤษที่ยังต้องประหยัด    มีการแบ่งสันปันส่วน

อาหารกัน                

        วันที่ ๓๐ พฤษภาคม    พระเจ้าอยู่หัวตื่นพระบรรมแต่เช้าตรู่   พระอาการทั่วไปดีมาก   พระองค์ท่านมีรัสั่งกับสมเด็จพระบรมราชินีว่า
 
        "วันนี้ฉันรู้สึกสบายมาก   ไปเก็บดอกไม้จากบ้าน (เวนคอร์ต)มาดูกันบ้างซิ"

        ประมาณแปดนาฬิกา   สมเด็จพระบรมราชินีจึงเสด็จฯ ออก        โดยมีนายบวยเป็นคนขับรถ          ตอนนั้นผมยังอยูที่ตำหนักหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ฯ

พระเจ้าอยุ่หัวยังทรงฉลองพระองค์ชุดบรรทมเป็นสนับเพลาแพรและพระภูษาแขนยาว               รับสั่งให้นางพยาบาลประจำพระองค์นำไข่ลวกนิ่ม ๆ มาถวาย

เสวยเสร็จรับสั่งว่า "อร่อย"   และทรงขอพระเขนยมาหนุนพระหนุ(คาง)   แล้วทรงหลับพระเนตรนิ่ง....ลึก....และยาวนาน


        เกือบเก้านาฬิกา   พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ  ทรงโทรศัพท์ถึงผม   ตรัสด้วยเสียงร้อนรนว่า

       'รีบมาเถอะ  ไม่ดีแล้ว'       ผมตกใจรีบขึ้นรถขับมาทันที   และพบนางพยาบาลบอกว่า  สวรรคตแล้ว!

ช่วยไปตามพระราชินีที....

        ระหว่างทางเจอตำรวจที่ไหนก็บอกให้เขาช่วยสกัดทาง   ต่อมาก็สามารถสกัดรถนต์พระที่นั่งได้ครึ่งทางที่เมืองเมดสโตน


        ความสับสนชุลมุนวุ่นวายของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ พระตำหนักในวันนั้น   ผมรู้สึกว่าผ่านไปอย่างรวดเร็ว  ท่ามกลางความโศกสลดของทุกพระองค์และทุกคน


        ตลอดคืนวันนั้น   ผมและพระองค์เจ้วรานนท์ธวัชซึ่งยังทรงศึกษาอยู่ที่ วิทยาลัย มาร์โบโร   ได้เสด็จมายืนเฝ้าพระบรมศพในห้องบรรทมด้วยจวบจนรุ่งสาง

เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว   จึงอัญเชิญพระบรมศพในหีบไม้แปดเหลี่ยมแบบฝรั่งขึ้นรถสีดำคันใหญ่   ออกจากพระตำหนักไปยังสุสาน  Golders green  

ซึ่งอยู่ตอนเหนือของลอนดอนเพื่อถวายพระเพลิง          สมเด็จพระราชินีซึ่งประทับทอดพระเนตรอยู่ที่พระแกล (หน้าต่าง)  รับสั่งว่า

        "เขาเอาไปแล้ว"          พร้อมกับทรงกันแสง  หลังจากที่ทรงอดกลั้นมาตลอด


        หีบพระศพถูกอัญเชิญประดิษฐานไว้บนจิตกาธาน(เชิงตะกอน) ภายในโบสถ์เล็ก ๆ

        ระหว่างนั้นพระองค์เจ้าวรานนท์ฯ  ทรงรู้สึกเสียพระทัยอย่างยิ่ง   ถึงกับทรงกันแสงด้วยเสียงอันดัง

ทำให้บรรยากาศในที่นั้นโศกเศร้าอย่างยิ่ง"


        ได้อัญเชิญพระบรมอัฐิบรรจุลงในหีบสำริดทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า       แล้วสมเด็จพระบรมราชินีอัญเชิญข้ึ้นรถพระที่นั่งเสด็จฯกลับพระตำหนัก

ประดิษฐานไว้ในห้องบรรทมเหนือพระเศียรของพระองค์ท่านตลอดมา    ตราบจนกระทั่งถึงวันที่สมเด็จจพระบรมราชินีได้อัญเชิญเสด็จฯ

นิวัติกรุงเทพมหานคร   ในยามที่เมืองไทยคลี่คลายจากเมฆหมอกร้ายต่าง ๆ ที่คอยคุกคามพระองค์ท่าน  ในอีกราว  ๘  ปีต่อมา ...."


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: hobo ที่ 02 ก.ค. 12, 16:30
ขอบพระคุณมากครับที่อุตสาห์พิมพ์ให้อ่าน

สรุปว่าท่านประชวนด้วยโรคพระหทัยพิการ (เข้าใจว่าอาจเป็นลิ้นหัวใจรั่ว หรืออื่นๆ
ที่เกี่ยวข้องกับพระหทัยโดยตรง) ทีแรกผมเข้าใจผิดนึกว่าท่านทรงมีพยาธิสภาพอื่นๆ
อยู่ก่อนแล้ว ต่อมาจึงเกิดพระหทัยวายในภายหลัง

ได้ข้อมูลชัดเจนแล้วครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: sonse ที่ 02 ก.ค. 12, 16:58
ได้ความรู้มากเลยครับ ขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมเสวนาในกระทู้นี้


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 03 ก.ค. 12, 00:11


เมื่อมีเอกสารและหลักฐานที่เชื่อถือได้  เรื่องไปหามาตอบนั้นเป็นเรื่องที่นักอ่านนักสะสมที่ดีนิยมกระทำ

เพราะในโลกของข้อมูลนี้   เราต้องอาศัยกันและกันมากนัก

ถึงข้อมูลจะยังไม่สมบูรณ์พร้อม     เราก็จะค้นคว้าเรื่อยไปไม่หยุดหย่อน

บางครั้งมีการตีความไม่ถูกต้องเกิดขึ้น     เราจะยินดียอมรับคำติงจากผู้รู้ทุกท่าน


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ค. 12, 06:39
ที่คุณวันดีว่าข้างบนนี้ประเสริฐแท้

หนังสือเก่าคือขุมความรู้ที่ถูกขังอยู่ในตู้หนังสือของนักสะสม
หากท่านไม่เอามาเผยแพร่ ความรู้นั้นก็ตายซาก

ผมได้รับความกรุณาจากคุณวันดีในเรื่องของหนังสือเก่าหลายต่อหลายครั้ง รวมทั้งความรู้ที่ท่านมีอุตสาหะพิมพ์ขึ้นมาด้วยตัวท่านเองเพื่อนำลงเน็ท เพื่อเผยแพร่อย่างกว้างขวางแก่ทุกคนไม่จำกัด
 
ขอขอบพระคุณเป็นที่ยิ่งครับผม


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ค. 12, 07:37
สำหรับคุณHobo

ขอแนะนำให้ไปหาศิลปวัฒนธรรม ฉบับวันที่๗พฤษภาคม๒๕๕๕อ่านะครับ มีบทความของผ.ศ.นายแพทย์เอกชัย โควาวิสารัชเขียนวิเคราะไว้อย่างละเอียดตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ สรุปแล้วคุณหมอฟันธงว่า สาเหตุของการสวรรคตเกิดจากภาวะหรือโรคทางระบบหัวใจ ชนิดการเต้นของหัวใจห้องล่างผิดปกติ โดยพระองค์อาจจะมีหรือไม่มีโรคหัวใจมาก่อนก็ได้


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: payupat ที่ 30 ม.ค. 14, 13:36
สวัสดีครับนักเรียนใหม่รายงานตัวครับ  มีคำถามสงสัยครับว่า หลังจากได้รับนิรโทษกรรมสมัย นายควง อภัยวงศ์ มีเจ้านายพระองค์ไหนกลับมาอยู่เมืองไทยบ้างครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ม.ค. 14, 14:03
ใครจะช่วยตอบให้คุณสมาชิกใหม่หายข้องใจได้บ้าง
จำได้แต่ว่า พระองค์เจ้าบวรเดช เสด็จกลับมาประมาณพ.ศ. 2496


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 30 ม.ค. 14, 16:53

ไม่แน่ใจว่ากรณีของ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี จะใช่หรือไม่นะครับ

มีกระทู้เก่าที่เคยสอบถามกันคล้าย ๆ ประเด็นนี้ ลองหาอ่านเพิ่มเติมได้ครับ

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/11/K8568983/K8568983.html


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ม.ค. 14, 18:31
ขอทำความเข้าใจหน่อยนะครับ

การออกกฏหมายนิรโทษกรรมของนายควงมีผลต่อผู้ที่ถูกดำเนินคดีการเมืองตามข้อกล่าวหาของตำรวจแต่ยังไม่ฟ้อง หรือต้องโทษตามคำพิพากษาของศาลแล้วทั้งหมดที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น ไม่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะถูกจองจำอยู่ในคุกหรือยังหลบหนีอยู่ทั้งในและพระราชอาณาจักรก็ตาม

ส่วนพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่เสด็จลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น เพราะถูกคณะราษฎร์ทูลเชิญ(พูดให้เพราะๆ)ให้ไป โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งข้อหา คนละกรณีย์กับกบฏบวรเดชนะครับ นั่นเกิดขึ้นห่างกันหนึ่งปี ดังนั้น ในระหว่างที่สมาชิกของคณะราษฎร์ยังมีอำนาจอยู่ท่านจึงมิได้เสด็จกลับ
 
ครั้นสิ้นสงครามโลกครั้งที่๒ หลวงพิบูลสงครามหมดอำนาจ เจ้านายเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็สิ้นพระชนม์ไปหมดแล้ว ที่ยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่ส่วนใหญ่จะเป็นฝ่ายหญิงก็ทยอยเสด็จกลับ เมื่อมั่นใจในความปลอดภัยของพระองค์ ไม่ใช่ว่าได้รับนิรโทษกรรมด้วยความผิดทางการเมืองอันใด


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ก.พ. 14, 19:07
คุณ X_BM ไปเขียนถามผมในเวปโน้นไว้ดังนี้

อยากรู้ว่า ข้อความท้ายกระทู้นี้หมายถึงใครบ้างครับ

"กงกรรมกงเกวียน การเมืองก็มีแต่เรื่องอย่างนี้ ผู้ก่อการคณะราษฎรหลายคนก็ต้องชะตากรรมเช่นเดียวกัน บางคนแม้ไม่ได้ไปเสียชีวิตที่ต่างประเทศ ก็ถูกรถชนตายข้างถนน ลูกหลานไปพบก็อยู่ในสภาพของศพไม่มีญาติเสียหลายวันแล้ว ใครอย่ามาถามผมนะครับว่าท่านที่ผมกล่าวถึงตอนท้ายนี้คือใคร"

เห็นกระทู้นี้ในเรือนไทยนานแล้ว ยังคิดไม่ออกสักที

ขออนุญาตนำคำถามมาตอบในเวปนี้ด้วย
บางคนของผมเป็นเอกพจน์ ไม่ใช่พหูพจน์ดังที่ผู้ถามเข้าใจ และจะเป็นใครนั้นกรุณาค้นหาตามระโยงนี้ครับ

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A2%E0%B8%B9%E0%B8%A3_%E0%B8%A0%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.พ. 14, 20:03
อ่านกระทู้นี้ด้วยซีคะ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5236.0
คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: มีนา ที่ 04 มี.ค. 14, 16:28
อ่านจบจนได้ครับ ขอบคุณความรู้มหาศาลจากอาจารย์ทุกท่านครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: ชัยรัตน์ ที่ 22 มี.ค. 14, 17:07
ตามอ่านมา 3วันกว่าจะจบ ขอขอบคุณอาจารย์ทุกท่านครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 มี.ค. 14, 10:31
ขอบคุณที่ติดตามอ่านค่ะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: แมวบิน ที่ 26 มี.ค. 14, 18:35
ขอบคุณ อาจารย์ทุกๆท่านครับ ได้ความรู้เพิ่มเติมขึ้นเยอะเลยครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: cottoncandy ที่ 13 พ.ย. 14, 21:01
เมื่อวานนี้ได้อ่านบทความบางตอนในหนังสือ ฟ้าเดียวกัน จำชื่อตอนไม่ได้ค่ะ มีคนเปิดให้อ่าน แต่เป็นบทความที่พยายามชักจูงให้ผู้อ่านลงความเห็นว่ารัชกาลที่ 7 มีความพยายามที่จะยึดอำนาจกลับมาจากคณะราษฎรโดยอ้างอิงข้อมูลส่วนหนึ่งจากหนังสือ สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น : ประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ของ ม.จ. พูนพิศมัย ดิศกุล ที่กล่าวถึง "กองทัพน้ำเงิน" อะไรทำนองนี้ ถ้าจำไม่ผิดนะคะ ในหน้า 126-127 มาเป็นข้อมูลสนับสนุนข้อคิดเห็นดังกล่าว โดยส่วนตัวแล้วยังไม่ได้อ่านหนังสือของ มจ พูนพิศมัย เลย แต่เช็คดูแล้วว่ามีอยู่ในหอสมุดจุฬาและยังไม่มีใครยืมไปอ่าน ยังไงก็อยากขอคำชี้แจงจากท่านผู้รู้ทุกท่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยค่ะ ^^'


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 พ.ย. 14, 06:14
ไปอ่านมาก่อน^ได้ไหมครับ แล้วจึงมาถาม มิเช่นนั้นคำตอบอาจจะไปคนละแนวกับบริบทที่กล่าวในหนังสือก็ได้

ถ้าจะให้ตอบตรงนี้ก็จะตอบได้เพียงสั้นๆว่า กองทัพสีน้ำเงินหากหมายถึงฝ่ายทหารหัวเมืองที่ไม่พอใจการกระทำของผู้นำคณะราษฎรฝ่ายทหาร และรวมตัวกันยกกองทัพมาปิดล้อมพระนครในปี ๒๔๗๖ นั้น ไม่มีอะไรที่จะเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯในเรื่องความพยายามที่จะยึดอำนาจกลับมาจากคณะราษฎร การป้ายสีของฝ่ายที่อยู่ในซีกเดียวกับหนังสือที่คุณกล่าวถึง เป็นวิธีใส่ร้ายป้ายสีที่คนกลุ่มหนึ่งพยายามโกหกคนอื่น จนตนเองก็หลงเชื่อคำโกหกนั้นไปเลย

ของเข้าไปอ่านกระทู้กบฎบวรเดช นี่ทหารการเมืองเขาเล่นอะไรกัน?ดูครับ มีคำอธิบายของผมในประเด็นที่คุณสนใจอยู่ด้วย

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5194.0 (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5194.0)


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: cottoncandy ที่ 14 พ.ย. 14, 09:04
ที่จริงเมื่อวานอ่านกระทู้นั้นของคุณนวรัตน์จบแล้วหละค่ะ แต่สแกนไม่ดีหรืออย่างไรไม่ทราบไม่สังเกตเห็นคำว่าสีน้ำเงินก็เลยคิดว่าอาจจะเป็นอะไรที่กระทู้นั้นยังไม่กล่าวถึง เพราะว่าในหนังสือฟ้าเดียวกันเค้าเอาไปอ้างถึงเป็นตุเป็นตะเลย เดี๋ยววันนี้จะเข้าไปเอาหนังสือมาดูค่ะ จะได้เอาไปอธิบายต่อได้ด้วยเพราะคงมีหลายคนที่เชื่อสิ่งที่ฟ้าเดียวกันเขียนไว้


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 14 พ.ย. 14, 10:50
ในหนังสือ สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ของท่านหญิงพูน คือตัดชื่อออกไปเยอะ ทำให้อ่านแล้วงงๆ มันมีกรณีที่กล่าวถึงก่อนเกิดกบฎบวรเดช มีการสั่งจ่ายเช็ค 2 แสนให้ทางนั้นไปด้วย ซึ่งถูกตัดชื่อออกไป ซึ่งจริงๆคือกรมพระสวัสดิฯ พระสัสสุระของในหลวงรัชกาลที่ 7 ซึ่งกรมพระสวัสดิฯเธอก็นะ หลายๆคนก็น่าจะรู้ๆกันว่าท่านขนาดไหน แต่แนะนำว่าลองอ่าน "ราตรีประดับดาว" ดูอีกที จะเข้าใจเหตุการณ์ตอนนี้ช่วงกบฎบวรเดชมากขึ้น เพราะนำเสนอในแง่มุมของพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) ผู้เป็นแกนหลักของการกบฎครั้งนี้ ราตรีประดับดาว แม้จะเป็นนวนิยาย แต่ก็ให้แง่คิดอะไรๆเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้มากพอสมควร ประวัติศาสตร์ผู้ชนะเป็นผู้เขียนจริงแท้ทีเดียว



 


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 14 พ.ย. 14, 11:25
ในหนังสือ สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ของท่านหญิงพูน คือตัดชื่อออกไปเยอะ ทำให้อ่านแล้วงงๆ มันมีกรณีที่กล่าวถึงก่อนเกิดกบฎบวรเดช มีการสั่งจ่ายเช็ค 2 แสนให้ทางนั้นไปด้วย ซึ่งถูกตัดชื่อออกไป ซึ่งจริงๆคือกรมพระสวัสดิฯ พระสัสสุระของในหลวงรัชกาลที่ 7 ซึ่งกรมพระสวัสดิฯเธอก็นะ หลายๆคนก็น่าจะรู้ๆกันว่าท่านขนาดไหน แต่แนะนำว่าลองอ่าน "ราตรีประดับดาว" ดูอีกที จะเข้าใจเหตุการณ์ตอนนี้ช่วงกบฎบวรเดชมากขึ้น เพราะนำเสนอในแง่มุมของพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) ผู้เป็นแกนหลักของการกบฎครั้งนี้ ราตรีประดับดาว แม้จะเป็นนวนิยาย แต่ก็ให้แง่คิดอะไรๆเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้มากพอสมควร ประวัติศาสตร์ผู้ชนะเป็นผู้เขียนจริงแท้ทีเดียว
  

ขออนุญาตเสริมให้อีกชุดครับ แต่ในชุดนี้จะเป็นในลักษณะของเกร็ดข้อมูลเท่านั้น เป็นเหตุการณ์ตั้งแต่ก่อนและหลังกรณีกบฎบวรเดชครับ รวมไปถึงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยเช่นกัน

นักเรียนนายร้อยไทยในเยอรมันยุคไกเซอร์
ราตรีประดับดาวที่หัวหิน
บ้านย่าไผ่
ชะอำฟองคลื่นศักดินา





กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: cottoncandy ที่ 14 พ.ย. 14, 11:42
ทำไมหนังสือของ มจ พูนพิศมัย ถึงมีการดัดชื่อออกไปคะ เป็นความตั้งใจของผู้เขียนเหรอคะ หรือมีผู้มาบิดเบือนต้นฉบับในภายหลัง ถ้าเป็นความตั้งใจ มีเหตุผลอะไรในการทำเช่นนั้นคะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: cottoncandy ที่ 14 พ.ย. 14, 11:47
ที่อยากทราบจริง ๆ ก็คือ หนังสือเล่มนี้เป็นข้อมูลอ้างอิงที่มีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหนคะ หรือมีตรงไหนที่ไม่ควรนำมาใช้อ้างอิงเลยหรือไม่คะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: cottoncandy ที่ 14 พ.ย. 14, 11:54
ที่จริงคนเขียนฟ้าเดียวกันเค้าก็มีข้อมูลอ้างอิงเยอะค่ะ ไม่ได้พูดลอย ๆ ทั้งหมด ถ้าจะวิพากษ์วิจารณ์น่าจะเอาประเด็นความน่าเชื่อถือของข้อมูลอ้างอิง หรือการบิดเบือนข้อมูลอ้างอิงมาเป็นประเด็น


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NT ที่ 14 พ.ย. 14, 13:38
ทำไมหนังสือของ มจ พูนพิศมัย ถึงมีการดัดชื่อออกไปคะ เป็นความตั้งใจของผู้เขียนเหรอคะ หรือมีผู้มาบิดเบือนต้นฉบับในภายหลัง ถ้าเป็นความตั้งใจ มีเหตุผลอะไรในการทำเช่นนั้นคะ

ผมเข้าใจว่าไม่ได้เป็นความตั้งใจของท่านผู้แต่ง และไม่ใช่การบิดเบือนต้นฉบับครับ แต่สำนักพิมพ์ผู้ได้ลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์ รวมทั้งพระญาติในราชสกุลเดียวกับท่านผู้แต่ง ตัดออกเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับความรู้สึกของทายาทของท่านผู้ที่ถูกตัดชื่อออกไป


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 พ.ย. 14, 15:14
เมื่อวานนี้ได้อ่านบทความบางตอนในหนังสือ ฟ้าเดียวกัน จำชื่อตอนไม่ได้ค่ะ มีคนเปิดให้อ่าน แต่เป็นบทความที่พยายามชักจูงให้ผู้อ่านลงความเห็นว่ารัชกาลที่ 7 มีความพยายามที่จะยึดอำนาจกลับมาจากคณะราษฎรโดยอ้างอิงข้อมูลส่วนหนึ่งจากหนังสือ สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น : ประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ของ ม.จ. พูนพิศมัย ดิศกุล ที่กล่าวถึง "กองทัพน้ำเงิน" อะไรทำนองนี้ ถ้าจำไม่ผิดนะคะ ในหน้า 126-127 มาเป็นข้อมูลสนับสนุนข้อคิดเห็นดังกล่าว

ยังไม่เห็นคำว่า "กองทัพสีน้ำเงิน" ในหน้า ๑๒๖ - ๑๒๗  ;D

จาก สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ฯ พิมพ์ครั้งที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 14 พ.ย. 14, 15:31
หม่อมเจ้าพิริยดิศ  ดิศกุล ทรงเล่าถึงพระนิพนธ์ในหม่อมเจ้าพูนพิศมัย  ดิศกุล ที่มีการตีพิมพ์ไว้ว่า เมื่อท่านหญิงสิ้นชีพิตักษัยไปแล้ว  ต้นฉบับพระนิพนธ์ตกเป็นสมบัติของมูลนิธิสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพและหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล พระธิดา  ต่อมาสำนักพิมพ์มาติดต่อขอไปพิมพ์  หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ  ดิศกุล จึงทรงเป็นบรรณาธิการตรวจตัดความบางตอนที่จะส่งผลกระทบถึงผู้ที่ถูกกล่าวถึงออกไป  แต่ยังไม่ทันเสร็จก็พอดีประชวร  ธิดาในท่านชายจึงได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการจนได้มีการตีพิมพ์จำหน่ายในเวลาต่อมา

สำหรับเรื่องกองทัพสีน้ำเงินที่สงสัยกันนั้น  ขอเรียนว่ามีความปรากฏในลายพระหัตถ์นายพลเอก สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ว่า เมื่อเกิดกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ ขึ้นนั้น  นายพลโท พระยาสุรเสนา (กลิ่น  แสง - ชูโต) สมุหราชองครักษ์ในเวลานั้นถึงกับเสนอให้รัชกาลที่ ๖ ทรงใช้แต่ทหารรักษาวังทำหน้าที่ถวายอารักขาแทนทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ  แต่รัชกาลที่ ๖ ไม่ทรงเห็นด้วยทหารมหาดเล็กฯ จึงได้ทำหน้าที่ถวายอารักขามาตลอดรัชสมัยและต่อเนื่องมาจนถึงยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองในรัชกาลที่ ๗  ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วรัชกาลที่ ๗ ทรงมีแต่ทหารรักษาวังเพียง ๒ กองร้อยเท่านั้นที่ทำหน้าที่ทหารรักษาพระองค์  และเมื่อจะเสด็จพระราชดำเนินจากพระนครไปรักษาพระองค์ครั้งสุดท้ายก่อนสละราชย์นั้นก็มีแต่แถวทหารรักษาวังเท่านั้นที่เป็นกองเกียรติยศส่งเสด็จร่วมกับแถวนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยที่ไปรอส่งเสด็จที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน  ในขณะที่คนอื่นไม่กล้าไปส่งเสด็จเพราะเกรงรัฐภัย  ฉะนั้นเรื่องที่กล่าวว่ามีกองทัพสีน้ำเงินของพระปกเกล้าฯ จึงเป็นเรื่องที่นึกฝันกันไปเอง  ยิ่งถ้าได้อ่านเอกสารเรื่องการสละราชสมบัติจะยิ่งเห็นชัดว่า เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว  รัชกาลที่ ๗ ไม่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยในทหารเลย  ถึงกับมีพระราชบันทึกว่า แม้แต่ทหารมหาดเล็กฯ ที่มีหน้าที่ถวายอารักขาโดยใกล้ชิดก็ยังหันปากกระบอกปืนเข้าใสพระองค์  แล้วจะทรงไว้วางใจทหารได้หรือ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 พ.ย. 14, 08:29
ที่จริงคนเขียนฟ้าเดียวกันเค้าก็มีข้อมูลอ้างอิงเยอะค่ะ ไม่ได้พูดลอย ๆ ทั้งหมด ถ้าจะวิพากษ์วิจารณ์น่าจะเอาประเด็นความน่าเชื่อถือของข้อมูลอ้างอิง หรือการบิดเบือนข้อมูลอ้างอิงมาเป็นประเด็น

นักเขียนดังคนหนึ่งของค่ายนี้และค่ายมติชนด้วย ประวัติการเรียนดีเด่น ปัจจุบันก็เป็นอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัย ใจจริงแต่ทำตนประดุจตาบอดหูหนวก โจมตีผู้ที่ตนยกให้เป็นฝ่ายกษัตริย์ โดยอ้างอิงคำพิพากษาของศาลพิเศษ ๒๔๘๒ อยู่ซ้ำๆซาก

คนจำพวกนี้เขาแบ่งฝักแบ่งฝ่ายไว้ในใจแล้ว ป่วยการที่จะทำความเข้าใจ
เขามีหน้าที่เพาะพันธุ์พืชบนแผ่นดินของบ้านเกิดเมืองนอน ด้วยการรดคำเท็จชโลมต้นกล้าทุกวี่ทุกวัน หวังว่าวันหนึ่งจะเป็นต้นไม้ใหญ่เต็มทั้งปฐพี
 
ก็ดูกันไป พืชบนแผ่นดินนี้จะเติบโตด้วยน้ำฝนบริสุทธิ์  หรือคำเท็จ

ผมละประหวั่นใจอยู่เหมือนกัน ทุกวันนี้การกระทำอย่างเดียวกันของนักการเมือง ที่เห็นผลแล้วชัดขึ้นๆทุกวัน คนส่วนหนึ่งก็ยังยึดติดกับสีเสื้อ ไม่ยอมเปลี่ยนความเชื่อดั้งเดิมอยู่นั่นเอง ไม่เว้นแม้แต่สื่อ
ก็เพียงแต่หวังว่า คนส่วนใหญ่ของประเทศนี้จะฉลาดพอที่จะแยกแยะเอาความเท็จไปทิ้งเสียบ้างได้เท่านั้น


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: hobo ที่ 15 พ.ย. 14, 09:51
ถ้าสังเกตให้ดี หนังสือของท่านหญิงพูนที่พิมพ์นั้นเป็นเฉพาะแผ่นดินที่ 7 เข้าใจว่าทรงไว้ตั้งแต่แผ่นดินที่ 1 แต่นำมาพิมพ์จำหน่ายเฉพาะส่วนหลัง เหตุผลก็คงเหมือนที่สมเด็จกรมพระยาดำรงตรัสไว้ คือถ้าจะทรงพระประวัติต่อให้จบ ก็ต้องพาดพิงถึงใครต่อใครไม่มากก็น้อย ต้องมีคนเสียหาย ท่านจึงหยุดทรงเรื่องของท่าน ผมคิดว่าท่านหญิงพูนคงเสียดายเรื่องต่างๆ ที่ท่านทราบมา เลยนิพนธ์เองบ้าง แต่ก็มาติดที่การเผยแพร่ อยากให้นำมาตีพิมพ์เช่นเดียวกันกับพระราชประวัติ รัชกาลที่ 6 คงจะได้รับรู้เรื่องเราในอีกหลายมุม ที่ไม่เคยมีคนกล่าวถึงมาก่อนครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 พ.ย. 14, 14:25
ในโอกาสที่คุณ cottoncandy ปัดฝุ่นกระทู้นี้ขึ้นมาอีก ผมก็อยากจะบรรณาการท่านที่สนใจด้วยรูปภาพเก่าซึ่งได้มาใหม่จากงานสัปดาห์หนังสือ ณ บัดโน้นผมไม่สามารถจะหาได้

ภาพแรกเป็นบ้านของพระยาทรงสุรเดชครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 พ.ย. 14, 14:26
ศรีภรรยาของท่าน


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 พ.ย. 14, 14:28
สองสหายเพื่อนร่วมสถาบันโรงเรียนนายร้อยไกเซอร์


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 พ.ย. 14, 14:30
ก่อนถึงฉากสุดท้ายแห่งมิตรภาพ จากเพื่อนกลายเป็นอริ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 พ.ย. 14, 14:32
ภาพถ่าย ไม่กี่ปีก่อนจะต้องลี้ภัยทางการเมือง


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 พ.ย. 14, 14:33
นายทหารคนสนิท ที่กลายเป็นเพื่อนคู่ทุกข์คู่ยากจนตราบวาระสุดท้าย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: Neo ที่ 16 พ.ย. 14, 22:55
ผมน้องใหม่ครับ พึ่งรู้จักเวปนี้จากการที่ผม เสิร์ช หาภาพกรุงเทพเก่าๆในอดีตเลยเข้ามาดูเรื่อยๆ

พอมาเจอกระทู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย เลยสนใจนั่งค่อยๆอ่านอยู่ 3 วัน (อ่านอยู่หลายกระทู้เลย)

เลยสมัครสมาชิกเลย

มีหลายๆเรื่องที่ผมไม่เคยรู้เลยหรือรู้น้อยมากแบบงูๆปลาๆ แล้วก็มีอีกหลายเรื่องที่น่าสนใจ แต่ที่ชอบที่สุดคือแต่ละท่านมีการอ้างอิงข้อมูลที่สำคัญๆหลายกระทู้ที่ตอบอันนี้ผมชอบมาก

มันมีที่มาที่ไปของมันอยู่ในตัว ''ไม่ใช่ข้อมูลดิบๆลอยๆ ไม่มีอะไรมาอ้างอิงเลย'' คือปกติผมเล่นอยู่ที่พันทิพย์น่ะครับ

แต่ช่วงหลังๆนี้มีแต่พวกอะไรไม่รู้ ชอบพูดกระทบชิ่งโจมตีสิ่งที่ผมและคนไทยส่วนมากรัก และหวงแหน เลยพลานเบื่อๆไป

ผมคิดว่าประวัติศาสตร์มีไว้ให้เรา เรียนรู้ ศึกษา หาข้อมูล

สุดท้ายดีใจครับที่รู้จักเวปนี้ แม้จะช้าไปหน่อย ก็ยังดี     ;D



กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 พ.ย. 14, 08:28
นั่นแหละครับคือเหตุผลที่ผมต้องผันตัวเองมาเขียนที่นี่
คือคนที่เข้ามาในกระทู้ผมไม่รังเกียจ ถึงจะเข้ามาท้วงติงคัดค้าน  ถ้าเขาถูก ผมก็จะยอมรับโดยดี แต่พวกไม่รู้ ทว่าชอบอวดรู้โดยไม่มีการทำการบ้านมาก่อน หากเข้ามาแบบที่เริ่มต้นว่า เท่าที่จำได้บ้าง ถ้าไม่ผิดบ้าง ได้ยินมาว่าบ้าง อะไรประเภทนี้ คนเดียวสองคนไม่เป็นไร พอเอาอยู่  แต่มากนักก็ทำให้กระทู้เยิ่นเย้อโดยไม่จำเป็น ที่แย่สุดคือ พวกที่เข้ามาเพียงเห็นหัวเรื่อง ยังไม่ทันจะอ่านเนื้อเรื่องให้ดีก่อนแล้วแสดงความเห็นเลย พวกนี้ไม่ไหวจะแก้  ถ้ามีมากก็เบื่อมาก

ส่วนพวกซ้ายจัดหรือขวาจัด เข้ามาเมื่อไหร่ ผมจะปิดกระทู้หนีทันที พวกนี้จัดอยู่ในประเภทบัวใต้ตม กำลังตกเป็นเหยื่อของเต่าของปลาอยู่แท้ๆ ยังไม่รู้ตัว อะไรจริงเท็จอย่างไรไม่สนใจ ขอด่าลูกเดียว

ที่นี่ดีอย่างหนึ่งที่ตัวยืนมีภูมิปัญญาระดับครูบาอาจารย์  ไม่เข้ามาขัดกระทู้แบบเกรียนข้างต้น แม้บางกระทู้จะมีถกเถียงกันแบบถึงพริกถึงขิง แต่ความรู้ก็ตกอยู่กับผู้อ่าน อย่างนี้ถือเป็นวิทยาทาน  ผมจึงยอมใช้เวลาในชีวิตช่วงนี้ มานั่งเขียนเรื่องต่างๆที่ผมมีพื้นเพอยู่ ก่อนที่หน่วยความจำจะเสื่อมสภาพตามธรรมชาติของมัน

ถ้าคุณใหม่นีโอชินสถานที่แล้ว จะเข้ามาตั้งกระทู้ หรือเข้ากระทู้ไปแสดงความเห็นบ้างนะครับ ส่วนใหญ่คนที่มาจากพันทิปจะเกร็ง ไม่รู้เป็นเพราะอะไร นานเข้าๆเลยพาลเบื่อไป
จะเป็นเพราะกลัวถูกสอนหรือเปล่าก็ไม่ทราบ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ย. 14, 08:29
เชิญคุณ Neo ร่วมวงเรือนไทยค่ะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: ป้าหวัน ที่ 20 พ.ย. 14, 19:54
เข้ามาอ่านช้าไปหลายปี จึงต้องละเลียดอ่านด้วยความสนใจค่ะ ขอบคุณในข้อมูลประวัติศาสตร์ อยากเสนอใ้ห้คุณนวรัตน์ และอาจารย์เทาชมพูกรุณาขยายเรื่องกงกรรมกงเกวียน วิบากกรรมของจอมพลปฺ พิบูลย์สงคราม ดิฉันยังเป็นเด็กอยู่ตอนจอมพลสฤษดิปฏิวัติ คือเป็นวัยรุ่นยุคเพลงผู้ใหญ่ลีค่ะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 พ.ย. 14, 20:15
ได้อ่านถึงตรงนี้หรือยังครับ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3438.0 (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3438.0)


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 21 พ.ย. 14, 07:22
ถ้าสังเกตให้ดี หนังสือของท่านหญิงพูนที่พิมพ์นั้นเป็นเฉพาะแผ่นดินที่ 7 เข้าใจว่าทรงไว้ตั้งแต่แผ่นดินที่ 1 แต่นำมาพิมพ์จำหน่ายเฉพาะส่วนหลัง เหตุผลก็คงเหมือนที่สมเด็จกรมพระยาดำรงตรัสไว้ คือถ้าจะทรงพระประวัติต่อให้จบ ก็ต้องพาดพิงถึงใครต่อใครไม่มากก็น้อย ต้องมีคนเสียหาย ท่านจึงหยุดทรงเรื่องของท่าน ผมคิดว่าท่านหญิงพูนคงเสียดายเรื่องต่างๆ ที่ท่านทราบมา เลยนิพนธ์เองบ้าง แต่ก็มาติดที่การเผยแพร่ อยากให้นำมาตีพิมพ์เช่นเดียวกันกับพระราชประวัติ รัชกาลที่ 6 คงจะได้รับรู้เรื่องเราในอีกหลายมุม ที่ไม่เคยมีคนกล่าวถึงมาก่อนครับ

บันทึกของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย  ดิศกุล นี้ฉลับเต็มชื่อว่า "พระราชวงศ์จักรี"  ทรงนิพนธ์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ - ๗  จบลงตอนที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพสิ้นพระชนม์ครับ 

การตีพิมพ์พระนิพนธ์ดังกล่าวอาจจะเป็นดาบสองคมก็ได้ครับ  เพราะถ้าผู้อ่านไม่มีพื้นความรู้ทาางประวัติศาสตร์และไม่เคยรับรู้เบื้องหลังเบื้องลึกในเหตุการณ์ต่างๆ รวมทั้งบุคคลที่ถูกพาดพิงถึงอาจจะเกิดความเข้าใจผิดกันได้ง่าย  เหมือนอย่างเช่นพระราชบันทึก "ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖" ที่มีการตีพิมพ์เผยแพร่  แล้วมีการนำไปวิพากษ์เป็นเรื่อง "ตลกร้าย" ที่เวทีเสวนาจังหวัดเชียงใหม่  มีการอัดวิดิโอเผยแพร่ทาง Youtube  จนทำให้หลายๆ คนที่ไม่มีพื้นความรู้ในเรื่องที่ถูกกล่าวถึงพลอยเชื่อตามผู้ร่วมเสวนา  ในขณะที่ผู้ที่มีภูมิรู้ก็อดสังเวชในความ "ไม่รู้" แต่ "อวดรู้" ของผู้ร่วมเสวนา


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ย. 14, 08:42
เห็นด้วยกับคุณ V_Mee ค่ะ
เป็นการง่ายที่จะถูกบิดเบือนเพื่อสนองเจตนารมณ์ของผู้เขียน    ที่ไม่ใช่เชิงวิชาการแต่อ้างว่าเป็นวิชาการ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: unming ที่ 21 พ.ย. 14, 08:46
สวัสดีคะ อาจารย์ ทุก ๆ ท่าน
ติดตามอ่าน เรือนไทย มานานแล้ว โดยส่วนใหญ่ จะเข้ามาอ่านเกือบจะทุกวัน ติดตามทุกกระทู้คะ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับ ประวัติศาสตร์

ขอขอบพระคุณทุกความรู้ที่มอบให้นะคะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 21 พ.ย. 14, 14:56
ถ้าจะอ่าน "สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น" แนะนำว่าให้อ่านคำนำทั้งหมดตั้งแต่ต้นให้ละเอียดด้วยค่ะ จะเข้าใจในหนังสือเล่มนี้มากขึ้น ทั้งในส่วนของท่านผู้ประพันธ์เองและในส่วนของสำนักพิมพ์ ทุกอย่างมีบอกหมดในส่วนคำนำค่ะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 21 พ.ย. 14, 15:01
ถ้าสังเกตให้ดี หนังสือของท่านหญิงพูนที่พิมพ์นั้นเป็นเฉพาะแผ่นดินที่ 7 เข้าใจว่าทรงไว้ตั้งแต่แผ่นดินที่ 1 แต่นำมาพิมพ์จำหน่ายเฉพาะส่วนหลัง เหตุผลก็คงเหมือนที่สมเด็จกรมพระยาดำรงตรัสไว้ คือถ้าจะทรงพระประวัติต่อให้จบ ก็ต้องพาดพิงถึงใครต่อใครไม่มากก็น้อย ต้องมีคนเสียหาย ท่านจึงหยุดทรงเรื่องของท่าน ผมคิดว่าท่านหญิงพูนคงเสียดายเรื่องต่างๆ ที่ท่านทราบมา เลยนิพนธ์เองบ้าง แต่ก็มาติดที่การเผยแพร่ อยากให้นำมาตีพิมพ์เช่นเดียวกันกับพระราชประวัติ รัชกาลที่ 6 คงจะได้รับรู้เรื่องเราในอีกหลายมุม ที่ไม่เคยมีคนกล่าวถึงมาก่อนครับ

บันทึกของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย  ดิศกุล นี้ฉลับเต็มชื่อว่า "พระราชวงศ์จักรี"  ทรงนิพนธ์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ - ๗  จบลงตอนที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพสิ้นพระชนม์ครับ 

การตีพิมพ์พระนิพนธ์ดังกล่าวอาจจะเป็นดาบสองคมก็ได้ครับ  เพราะถ้าผู้อ่านไม่มีพื้นความรู้ทาางประวัติศาสตร์และไม่เคยรับรู้เบื้องหลังเบื้องลึกในเหตุการณ์ต่างๆ รวมทั้งบุคคลที่ถูกพาดพิงถึงอาจจะเกิดความเข้าใจผิดกันได้ง่าย  เหมือนอย่างเช่นพระราชบันทึก "ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖" ที่มีการตีพิมพ์เผยแพร่  แล้วมีการนำไปวิพากษ์เป็นเรื่อง "ตลกร้าย" ที่เวทีเสวนาจังหวัดเชียงใหม่  มีการอัดวิดิโอเผยแพร่ทาง Youtube  จนทำให้หลายๆ คนที่ไม่มีพื้นความรู้ในเรื่องที่ถูกกล่าวถึงพลอยเชื่อตามผู้ร่วมเสวนา  ในขณะที่ผู้ที่มีภูมิรู้ก็อดสังเวชในความ "ไม่รู้" แต่ "อวดรู้" ของผู้ร่วมเสวนา

ถ้าเป็นเฟสบุ๊คจะขอกดไลก์ให้ท่านอาจารย์วีมีสักล้านครั้งค่ะ  ;D ;D ;D ;D


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: ป้าหวัน ที่ 21 พ.ย. 14, 17:37
 ;D ขอบคุณคุณNAVARATค่ะ ยังอ่านไม่ถึงจริงๆเพราะเพิ่งถึงหน้า21 ตั้งใจและบรรจงอ่านทุกตัวอักษรจึงอ่านช้าค่ะ Can't wait to get to the page!


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 พ.ย. 14, 19:30
ค่อยๆอ่านไปครับ เนื้อๆทั้งนั้น ไม่ใช่ขนม อาจต้องใช้เวลาย่อยอยู่บ้าง


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: cottoncandy ที่ 22 พ.ย. 14, 22:18
ขอบคุณคุณเพ็ญชมพูมากค่ะที่มีน้ำใจสแกนทั้งหน้ามาให้ ที่ตั้งใจถามถึงสองหน้านั้นเป็นการเฉพาะก็เพราะรู้อยู่แล้วว่าสมาชิกหลายท่านมีหนังสือเล่มนี้อยู่ในมือแล้ว เผื่อว่าจะเข้าถึงหนังสือไม่ได้ก็จะได้มีคนมาไขข้อข้องใจได้บ้าง แต่ตอนนี้ได้หนังสือมาแล้วและได้อ่านโดยละเอียดพอสมควรแล้วค่ะ ตรงที่เป็น...ก็ทำเอามึนอยู่ แต่ตรงที่กล่าวถึงเรื่องเงินนั้นท่านหญิงพูนระบุไว้ชัดเจนว่ารัชกาลที่ ๗ ทรงเป็นแพะ ถือว่าชัดเจนมาก ๆ ค่ะ

ได้กลับมาดูต้นฉบับอีกครั้งทำให้เข้าใจว่าผู้เขียนเพียงอ้างอิงจำนวนเงินสองแสนที่ท่านหญิงพูนระบุไว้ว่าตรงกับคำพิพากษาศาลพิเศษ ซึ่งใช้ในการสนับสนุน "กองทัพสีน้ำเงิน"

สำหรับคำว่า "กองทัพสีน้ำเงิน" ที่ปรากฏร่วมอยู่ใกล้กันนี้ ชัดเจนแล้วว่าเป็นคำที่ผู้เขียนตั้งขึ้นมาเอง ไม่มีการอ้างอิงข้อมูลจากหนังสือเล่มไหนแต่อย่างใด ซึ่งในชั้นแรกก่อนที่จะได้ไปค้นข้อมูลอ้างอิงตามที่ระบุไว้ท้ายหน้านั้นจนครบหมดแล้วยอมรับว่าทำให้มึนงงและสับสนมาก ๆ ค่ะ แต่ดูเหมือนผู้เขียนก็ได้อ้างความชอบธรรมในการตั้งชื่อ "กองทัพสีน้ำเงิน" เช่นนั้น ด้วยข้อมูลอื่นที่ตัวเองมีอยู่ดังจะเห็นได้จากบทความที่ขอตัดตอนมาล่างข้างนี้

"น้ำเงินแท้" (True Blue) :

หนังสือพิมพ์และการกู่ก้องร้องเพลง

ประกาศอุดมการณ์ในแดนหก

ในระหว่างที่พวกเขาถูกคุมขังเพื่อรอการพิจารณาตัดสินจากศาลพิเศษนั้น ด้วยศรัทธาแห่งอุดมการณ์อันแรงกล้าไม่อาจทำให้แนวหลักและแนวร่วมของ "คณะกู้บ้านกู้เมือง" นี้สิ้นหวัง แต่ยังคงเคลื่อนไหวต่อไปโดยผ่านการออกหนังสือพิมพ์แสดงอุดมการณ์ของกลุ่มตนในนาม "น้ำเงินแท้" ในเรือนจำ ในนิยายกึ่งชีวประวัติของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน๒๗ เรื่องเมืองนิมิตร ได้บันทึกถึงกำเนิดของหนังสือพิมพ์นี้ว่า ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ เป็นผู้เสนอทำหนังสือพิมพ์ขึ้นก่อนเพื่อเผยแพร่ข่าวสารให้พรรคพวกทราบ โดยหนังสือพิมพ์นี้เป็นหนังสือพิมพ์ที่เขียนด้วยมือของ ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ ลงบนกระดาษสมุด ภายหลัง ม.ร.ว.นิมิตรมงคลได้เปลี่ยนวัตถุประสงค์หนังสือพิมพ์เพื่อใช้เป็นตำราการเมือง เป็นหนังสือพิมพ์ชื่อ "น้ำเงินแท้" ขึ้นแทน มีลักษณะเป็นสมุดปกแข็ง หุ้มด้วยกระดาษแก้ว การผลิตหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากเหล่านักโทษการเมืองมาก ตั้งแต่การเขียนภาพปก ภาพหัวเรื่อง โดย เพรา พวงนาค, เติม พลวิเศษ และแปลก ยุวนวรรธนะ สำหรับนักเขียนประจำใน "น้ำเงินแท้" มีเช่น หลวงมหาสิทธิโวหาร (สอ เสถบุตร), พระยาศราภัยพิพัฒ, พระศรีสุทัศน์, หลุย คีรีวัต, ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ และ "แม่น้ำโขง" (อ่ำ บุญไทย) เป็นต้น

การเผยแพร่หนังสือพิมพ์นี้ ชาว "น้ำเงินแท้" ใช้วิธีการซุกซ่อนใต้กระถางต้นไม้ บนหลังคาห้องน้ำ บ่อขยะ เพื่อสื่อสารระหว่างกัน ทั้งที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่เรือนจำได้ตรวจตราเป็นอย่างมากก็ไม่อาจจับได้

ความมุ่งมั่นในการออก "น้ำเงินแท้" นี้ดำเนินต่อไปได้ถึง ๑๗ ฉบับ ความพยายามในการเผยแพร่อุดมการณ์ไม่จำกัดแต่เพียงในแดนหกเท่านั้น แต่ชาว "น้ำเงินแท้" ยังพยายามเผยแพร่หนังสือนี้ออกสู่ภายนอกด้วยวิธีการผูกสมุดแนบกับตัวหรือท่อนขาของญาติที่มาเยี่ยม หรือฝากให้เมื่อพบกันที่ศาล๒๘ บทความที่ลงใน "น้ำเงินแท้" นั้นในสายตาของชุลี สารนุสิต ชาว "น้ำเงินแท้" คนหนึ่งแล้ว เห็นว่าเป็นบทความที่ดุเดือดที่เขียนจาก "ปากกาที่เผาด้วยเพลิง" มีทั้งบทความที่วิพากษ์วิจารณ์แห่งรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๗๕ และของต่างประเทศ และความเห็นเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจ การศึกษา๒๙ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามหากลองพิจารณาบันทึกความทรงจำที่เกี่ยวกับพฤติกรรมและอุดมการณ์การเมืองของชาว "น้ำเงินแท้" ที่เผยแพร่ออกมาในช่วงบรรยากาศเปิดทางการเมืองหลัง ๒๔๘๘ แล้ว เราอาจจะเข้าใจความหมายที่ซ่อนเร้นอยู่ในใจของพวกเขา ดังนี้ ชุลี สารนุสิต ได้บันทึกความทรงจำถึงความหมายของ "น้ำเงินแท้" ในแดนหก ว่า "น้ำเงินแท้" สามารถตีความได้ ๒ แบบ คือ สีของชุดนักโทษ หรือสีน้ำเงินในธงชาติ เขาเห็นว่าถูกทั้งสองความหมาย แต่เขาได้ย้ำเป็นพิเศษว่า สำหรับเขาแล้ว สีน้ำเงิน คือ "สีที่บริสุทธิ์ และเป็นธงชัยแห่งความหวัง"

ไม่แต่เพียงความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักโทษทางการเมืองเหล่านี้ด้วยการออกหนังสือพิมพ์เท่านั้น แต่ยังมีการแต่งเพลงร้องปลุกใจในพวกพ้องด้วย โดย ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ได้ทรงแต่งเพลง "น้ำเงินแท้" หรือ "True Blue" ขึ้น๓๐ ชุลีเล่าเสริมว่าเพลงนี้ได้แพร่หลายไปในหมู่นักโทษการเมืองอย่างรวดเร็ว แม้ว่าพรรคพวกที่เป็นผู้ใหญ่ที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษก็ยังร้องได้ เขาย้ำว่าเป็นเพราะว่าเพลง "True Blue" คือ "น้ำเงินแท้" นั่นเอง แม้ว่าภายหลังเจ้าหน้าที่เรือนจำเข้มงวดมากขึ้นจนทำให้ต้องยุติการออกหนังสือพิมพ์ แต่พลังของความหมายของ "น้ำเงินแท้" ไม่จบสิ้นลงในฐานะหนังสือพิมพ์เท่านั้น แต่บทเพลงแห่งอุดมการณ์ยังคงกึกก้องในหัวใจ ชุลีได้สรุปว่า "หนังสือน้ำเงินแท้ได้สิ้นลมปราณลงแล้ว เพราะความระมัดระวังตัวของพวกเรา แต่บทเพลงน้ำเงินแท้ยังคงชีพอยู่และก้องอยู่ในจิตต์ใจของนักโทษการเมืองทุกคน"๓๑

หลังจากถูกตัดสินลงโทษแล้ว ทั้งนักโทษการเมืองในกรณีกบฏบวรเดช ๒๔๗๖ และนักโทษในกรณีอื่นๆ เช่น การลอบสังหารหลวงพิบูลสงครามและการโค่นล้มรัฐบาล ได้ถูกส่งตัวไปกักขังที่เกาะตะรุเตาและเกาะเต่า อันเป็นที่มาของประสบการณ์ที่ชาว "น้ำเงินแท้" และนักโทษการเมืองอื่นๆ ได้ใช้เป็นวัตถุดิบในการเขียนสารคดีการเมืองทยอยออกมาเป็นชุดหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทั้งในหน้าหนังสือพิมพ์ หรือในรูปหนังสือสารคดีการเมืองเล่มเล็กๆ ที่เป็นอันนิยมขณะนั้น โดยโครงเรื่องส่วนใหญ่เป็นการเล่าถึงความยากลำบาก ความทุกข์ทรมานในขณะถูกจำคุกด้วยน้ำมือของคณะราษฎรที่พวกเขากล่าวหาว่า "ไม่เป็นประชาธิปไตย" และ "เป็นคณาธิปไตย" ทางการปกครอง ตลอดจน "อยุติธรรม" ในการกวาดจับพวกเขา






กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: cottoncandy ที่ 22 พ.ย. 14, 22:30
โดยส่วนตัวคิดว่าผู้เขียนใช้คำว่า "กองทัพสีน้ำเงิน" ในการขึ้นต้นบทความแบบนั้นมีแนวโน้มที่จะทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจผิดอยู่มากค่ะ แม้จะไปอ้างถึง True Blue ทีหลัง แต่ก็ไม่เกี่ยวกันเสียทีเดียว ที่จริงแล้วอยากเอาต้นฉบับมาลงให้ดูมาก รวมถึงตรงที่ผู้เขียนอ้างถึงบทความบางตอนของ มจ ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท เพื่อสนับสนุนข้ออ้างของตนเองด้วย แต่ติดอยู่ที่ว่าความสามารถน้อย ไม่สามารถปรับไฟล์รูปให้มีขนาดตรงกับที่กำหนดเอาไว้ได้ ครั้งที่ทำได้ก็ด้วยอาศัยยืมมือคนอื่นมาปรับขนาดไฟล์ให้ พอลองทำเองก็เล็กจนเกินกว่าจะอ่านรู้เรื่องได้ คิดว่าบางทีจะหาเว็บฝากไฟล์เป็นตัวช่วยให้ตามลิ้งค์ไปดูกันค่ะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 พ.ย. 14, 08:21
นายคนเขียนนี่อ่านหนังสือที่เขานำมาอ้างอิงเพียงจิ้มๆ หาข้อความที่นำจะไปบิดเบือนภายใต้ปกที่ดูเป็นวิชาการ อย่างเช่น

อ้างถึง
ในนิยายกึ่งชีวประวัติของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน๒๗ เรื่องเมืองนิมิตร ได้บันทึกถึงกำเนิดของหนังสือพิมพ์นี้ว่า ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ เป็นผู้เสนอทำหนังสือพิมพ์ขึ้นก่อนเพื่อเผยแพร่ข่าวสารให้พรรคพวกทราบ โดยหนังสือพิมพ์นี้เป็นหนังสือพิมพ์ที่เขียนด้วยมือของ ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ ลงบนกระดาษสมุด ภายหลัง ม.ร.ว.นิมิตรมงคลได้เปลี่ยนวัตถุประสงค์หนังสือพิมพ์เพื่อใช้เป็นตำราการเมือง เป็นหนังสือพิมพ์ชื่อ "น้ำเงินแท้" ขึ้นแทน มีลักษณะเป็นสมุดปกแข็ง หุ้มด้วยกระดาษแก้ว

เรืองเมืองนิมิตร ความฝันของนักอุดมคติ เป็นนวนิยายที่ตัวเอกเป็นนักโทษการเมืองคดีกบฏบวรเดช แต่ไม่มีตอนใดที่กล่าวถึงหนังสือพิมพ์ชื่อน้ำเงินแท้ตามที่หมอนั่นเขียน
ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตนเขียนบันทึกเรื่องจริงในชีวิตของตนเองขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่ง ชื่อ "ชีวิตแห่งการกบฏสองครั้ง" ในนั้นแหละที่กล่าวถึงหนังสือที่ตนเป็นบรรณาธิการ ใช้ชื่อว่าน้ำเงินแท้ ส่วนตำราการเมืองดังกล่าวมาจากคำอธิบายของม.ร.ว.นิมิตรมงคลเองว่า ในเมื่อนักโทษการเมืองส่วนใหญ่ต้องไปเกี่ยวข้องและรับโทษทางการเมือง โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่า "การเมือง" คืออะไร กล่าวคือรัฐธรรมนูญชั่วคราวของคณะราษฏรห้ามประชาชนศึกษาหาอ่านในเรื่องการเมือง หรือตั้งพรรคการเมืองใดๆมาแข่งกับคณะราษฎรทั้งสิ้น ผู้ใดละเมิดมีสิทธิ์ถูกจับไปตั้งข้อหากบฏ ดังนั้นในน้ำเงินแท้จึงมีบทความที่ให้ความรู้เรืองระบอบการเมืองต่างๆในโลก บทความเหล่านี้เมื่อม.ร.ว.นิมิตรมงคลพ้นโทษ(ครั้งแรก)แล้ว ได้พิมพ์เป็นพ๊อกเก๊ตบุค ชื่อ "พรรคการเมืองสยามและต่างประเทศ" ซึ่งเป็นบทวิชาการบริสุทธิ์ แต่ก็ถูกสันติบาลของพล.ต.อดุล อดุลเดชจรัส สมัยรัฐบาล ป.บุกไปยึดถึงโรงพิมพ์ก่อนวางจำหน่าย

นวนิยาย สารคดี และบทวิชาการทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ได้รับการตีพิมพ์รวมเล่มไว้ในวาระ ๑๐๐ปี ชาตกาลของม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน ผู้ที่ได้อ่านย่อมเข้าใจได้ด้วยตนเองว่า นี่คือเคราะห์กรรมของปัญญาชนผู้บริสุทธิ์ชัดๆ ผมจึงได้แต่ปลงว่า แม้ในยุคปัจจุบันที่อ้างประชาธิไตยจ๋า ก็ยังมีคนบาปอยู่ที่เลือกจะโกหกเพื่อป้ายสีคนอื่น ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตนยังคงตกเป็นเหยื่อ เพียงเพราะผู้เขียนคนนั้นหมายจะชูความคิดเห็นทางการเมืองของตนเองเท่านั้น


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 พ.ย. 14, 08:47
ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตนเขียนบันทึกเรื่องจริงในชีวิตของตนเองขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่ง ชื่อ "ชีวิตแห่งการกบฏสองครั้ง" ในนั้นแหละที่กล่าวถึงหนังสือที่ตนเป็นบรรณาธิการ ใช้ชื่อว่าน้ำเงินแท้


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: cottoncandy ที่ 23 พ.ย. 14, 10:16
ขอบคุณคุณนวรัตน์กับคุณเพ็ญชมพูมากค่ะที่เข้ามาช่วยกันอธิบายให้เห็นกระจ่าง

นอกจากนี้ผู้เขียนคือคุณณัฐพล ได้อ้างถึงเพลง True Blue โดย มจ สิทธิพร กฤดากร เพื่อยกเอามาสนับสนุนการตั้งชื่อ "กองทัพสีน้ำเงิน" เช่นเดียวกันค่ะ

True Blue


We have been in prison for over three years,
But there's no reason for living in fear.
We're bright and merry,'cause we're
Not very sad at being here for merely.
Doing our duty to Country and King.
So let be cheery make the well kin'ring,
Long live the King, We say Hoo-ray and sing.
We hope to go home pretty soon, Yes, we do.
You too,You too.
Back to Wives and Sweethearts, also ture, To you,
Let's say that we vow all of us to remain,
Ture Blue, And pray,
That our King be with us all life through,
Chai-Yo, "True Blue".


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: GAIA ที่ 11 ธ.ค. 14, 23:39
ใช้เวลาอ่านพักนึงติดตามมาจาก Fanpage Facebook คณะนึง ต้องขอบพระคุณอาจารย์ทุกท่านที่ได้สบะเวลาให้คนรุ่นหลังเข้าใจความจริงแท้ของประวัติศาสตร์มากขึ้น ไม่เสียดายเวลาที่อ่านตั้งนาน แต่เสียดายเวลาที่ผมไปอยู่ที่ไหนมาถึงเพิ่งจะมาเจอกระทู้แบบนี้

สมัยก่อนเรียนหนังสือในโรงเรียนนึกว่าจะถ่องแท้ที่ไหนได้มันต้องอ่านอีกเยอะ

กระทู้แบบนี้ต้องเก็บไว้าอนลูกหลานนานๆครับ

ผมอยู่แวดวงวิชาการ/วิทยาศาสตร์/ยังเพิ่งจะมากระจ่างไม่นานนี้เอง

ขอบพระคุณอีกครั้งครับ

 :D ;D


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ธ.ค. 14, 07:11
ยินดีที่ได้ทราบครับ ขอบคุณมาก


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ธ.ค. 14, 07:59
มาทักทายสวัสดีคุณ GAIA ค่ะ  ขอบคุณที่เห็นว่ากระทู้ในเรือนไทยมีประโยชน์ต่อความเข้าใจประวัติศาสตร์ไทย
มีกระทู้น่าอ่านอีกหลายเรื่องที่ท่านผู้รู้สละเวลามาให้วิทยาทานไว้ เชิญอ่านตามสบาย
และถ้าจะมาแจม แสดงความคิดเห็นด้วย ก็ขอต้อนรับด้วยความยินดี


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: GAIA ที่ 13 ธ.ค. 14, 21:42
ลิ้งค์เชื่อมโยงทุกลิ้งค์ผม Bookmark ไว้แล้วครับอาจารย์ ;D ค่อยๆไล่อ่านไป ที่ดีคือส่งให้น้องๆได้เรียนรู้อีกหลายคนครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: Almansos ที่ 11 เม.ย. 15, 15:02
ขอขอบพระคุณอาจารย์ทุกๆท่านที่ได้ให้ความรู้ครับ รู้สึกสงสารท่านเจ้าคุณทรงมากๆ แต่ก็ยอมรับนับถือท่านเป็นอย่างมาก ต้องขอขอบคุณท่านที่ยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองให้กับประเทศชาติ แม้ภายหลังท่านและแกนนำรุ่นใหญ่ทุกท่าน จะต้องประสบกับความยากลำบากจนแทบไม่เหลืออะไรเลยก็ตาม แตกต่างจากคณะราษฎรรุ่นต่อมาที่พอหมดอำนาจต่างก็พากันร่ำรวยเป็นร่ำเป็นสันกัน เรียกว่าไม่ลำบากเหลือกินเหลือใช้ก็แล้วกัน คำถามสุดท้ายครับ ใครคือผู้ที่มีอำนาจปกครองราษฎรคนสุดท้ายของสายที่มาจากคณะราษฎร - เสรีไทยครับ? หรือนักการเมืองคนสุดท้ายของสายนั้นครับ และ ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่าครับ? เข้ากับคำที่กล่าวไว้ว่า "กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมคืนสนอง" ใช่ไหมครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: Almansos ที่ 11 เม.ย. 15, 17:04
ว่ากันว่าหลวงอดุลเป็นนายพลตำรวจผู้รักความยุติธรรม มือสะอาด แต่ไหงไปช่วยหลวงพิบูลปรักปรำผู้บริสุทธิ์ในคราวกบฏ18ศพ แถมยังหาพยานเท็จ หลักฐานเท็จต่างๆนาๆเสร็จสรรพ ข้อนี้ไม่เข้าใจจริงๆครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 เม.ย. 15, 18:03
คำถามสุดท้ายครับ ใครคือผู้ที่มีอำนาจปกครองราษฎรคนสุดท้ายของสายที่มาจากคณะราษฎร - เสรีไทยครับ? หรือนักการเมืองคนสุดท้ายของสายนั้นครับ และ ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่าครับ? เข้ากับคำที่กล่าวไว้ว่า "กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมคืนสนอง" ใช่ไหมครับ

ผมไม่ค่อยแน่ใจคำว่า สายที่มาจากคณะราษฎร – เสรีไทย หมายถึงอะไร หมายถึงเป็นทั้งผู้ก่อการคณะราษฎร์ด้วย เสรีไทยด้วยหรือเปล่า

อย่างไรก็ดี อำนาจปกครองราษฎรคนสุดท้ายของสายที่มาจากคณะราษฎร – เสรีไทย (ถ้า –  แปลว่าหรือ) ก็คงเป็นจอมพลป.พิบูลสงครามนั่นแหละ และหลังจากถูกยึดอำนาจโดยจอมพลสฤษดิ์แล้ว พวกคลื่นลูกเก่าไม่ว่าจะคณะราษฎร หรืออดีตพลพรรคเสรีไทย ก็หายจ้อยไปหมดแบบผลัดแผ่นดิน

แต่ถ้าหมายถึงอดีตผู้ก่อการคณะราษฎรคนสุดท้ายที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ได้แก่เรือเอกชลิต กุลกำม์ธร โดยต่อมาท่านผู้นี้ได้ดำรงยศเป็นพลเรือตรี ชลิต กุลกำม์ธร  ได้รับการแต่งตั้งเป็น นายกเทศมนตรีคนที่ ๑๗ ของเทศบาลนครกรุงเทพ หรือทุกวันนี้เรียกว่ากทม.ที่ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตรเป็นผู้ว่าคนปัจจุบัน โดยพลเอก ประภาส จารุเสถียร (ยศในขณะนั้น) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลพลเอกถนอม กิตติขจร (ยศในขณะนั้น) เป็นผู้แต่งตั้ง เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๑๑


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 11 เม.ย. 15, 23:24
ถ้าเป็นเสรีไทยคนสุดท้ายที่ได้บริหารประเทศน่าจะเป็น
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินยึดอำนาจเมื่อ ตุลาคม 2519
แต่ ม.ร.ว.เสนีย์ ไม่ใช่คณะราษฎร


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 26 ต.ค. 15, 19:32
เรื่องนี้ก็น่าจะรวมเล่มนะคะ จำได้ว่าอ่านย้อนหลังไม่ได้หลับได้นอนตาแฉะอยู่ตั้งหลายวันแน่ะค่ะ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 27 ต.ค. 15, 19:32
ถ้ารวมเล่มได้ก็ เรื่องนี้มีเนื้อหาเยอะจะได้อ่านง่ายๆ และเนื้อหาก็ดีมากด้วยครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ต.ค. 15, 21:08
กระทู้พระยาทรงนี้สมเป็นกระทู้มหากาพย์ เพราะมีผู้เข้ามาร่วมให้ความรู้ซึ่งกันและกัน และผู้ที่เข้ามาซักถามอย่างสุจริตใจ รวมแล้วมากมาย ถึงเข้าตรอกเข้าซอยบ่อยแต่ก็พากันกลับมาในลู่ในแนว สร้างความแตกฉานให้แก่ผู้ที่เข้ามาอ่าน และผู้เขียนเองยิ่งนัก

ผมยอมรับว่ายากที่จะนำไปปรุงแต่งใหม่ให้เหมาะสมกับการจะนำไปลงนิตยสาร แล้วยังคงรสชาติสนุกสนานเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม ผมคงจะได้นำความเห็นของคุณศรีสรรเพชญ์ ซึ่งก็คล้ายๆกับอีกหลายท่านซึ่งคิดทำนองเดียวกันไปตรึกตรองดูครับ

เพียงแต่อาจจะต้องใช้เวลาสักหน่อย คงไม่ว่ากัน


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 27 ต.ค. 15, 21:15
ขอสนับสนุนอีกเสียง
คนรุ่นหลังคงจะมีหนังสือดีๆไว้อ่าน
ประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตของอีกคนหนึ่ง


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: tona22 ที่ 27 ธ.ค. 15, 14:37
ที่จริงคนเขียนฟ้าเดียวกันเค้าก็มีข้อมูลอ้างอิงเยอะค่ะ ไม่ได้พูดลอย ๆ ทั้งหมด ถ้าจะวิพากษ์วิจารณ์น่าจะเอาประเด็นความน่าเชื่อถือของข้อมูลอ้างอิง หรือการบิดเบือนข้อมูลอ้างอิงมาเป็นประเด็น

นักเขียนดังคนหนึ่งของค่ายนี้และค่ายมติชนด้วย ประวัติการเรียนดีเด่น ปัจจุบันก็เป็นอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัย ใจจริงแต่ทำตนประดุจตาบอดหูหนวก โจมตีผู้ที่ตนยกให้เป็นฝ่ายกษัตริย์ โดยอ้างอิงคำพิพากษาของศาลพิเศษ ๒๔๘๒ อยู่ซ้ำๆซาก

คนจำพวกนี้เขาแบ่งฝักแบ่งฝ่ายไว้ในใจแล้ว ป่วยการที่จะทำความเข้าใจ
เขามีหน้าที่เพาะพันธุ์พืชบนแผ่นดินของบ้านเกิดเมืองนอน ด้วยการรดคำเท็จชโลมต้นกล้าทุกวี่ทุกวัน หวังว่าวันหนึ่งจะเป็นต้นไม้ใหญ่เต็มทั้งปฐพี
 
ก็ดูกันไป พืชบนแผ่นดินนี้จะเติบโตด้วยน้ำฝนบริสุทธิ์  หรือคำเท็จ

ผมละประหวั่นใจอยู่เหมือนกัน ทุกวันนี้การกระทำอย่างเดียวกันของนักการเมือง ที่เห็นผลแล้วชัดขึ้นๆทุกวัน คนส่วนหนึ่งก็ยังยึดติดกับสีเสื้อ ไม่ยอมเปลี่ยนความเชื่อดั้งเดิมอยู่นั่นเอง ไม่เว้นแม้แต่สื่อ
ก็เพียงแต่หวังว่า คนส่วนใหญ่ของประเทศนี้จะฉลาดพอที่จะแยกแยะเอาความเท็จไปทิ้งเสียบ้างได้เท่านั้น

เข้าใจว่าเป็นหนังสือที่ผมจับอยู่พอดีขณะนี้ ของคุณณัฐพล ใจจริง
อ่านไปแล้ว ก็ใคร่ให้สงสัย ว่าแต่ละส่วนในหนังสือนั้น มีความน่าเชื่อถือเพียงใด

ในบทแรก เน้นชี้ให้เห็นการสนับสนุนอย่างใกล้ชิด ของ ร.7
ต่อการเคลื่อนไหวต่อต้าน การปฏิวัติของคณะราษฎร

โดยแหล่งอ้างอิงหลักของบทความในส่วนนี้
เน้นไปที่คำพิพากษา พ.ศ. 2482 และหนังสือ สายลับพระปกเกล้า พ.27
ในส่วนของคำพิพากษา อ่านเจอในเรือนไทยแห่งนี้ว่า ถูกจัดการโดยฝ่าย จอมพล ป.
แล้ว สายลับ พ.27 นั้นเล่า เขียนโดย อ.ก.รุ่งแสง (โพยม โรจนวิภาค)
อยากถามความเห็นท่านอาจารย์ทั้งหลาย ว่ามีความน่าเชื่อถือเพียงไร
ควรค่าแก่การหาอ่าน ศึกษาในฐานะหลักฐานชั้นต้นหรือไม่

ผมเป็นเพียง นักศึกษาใหม่ในเรือนไทยแห่งนี้
ระยะเวลาศึกษาประวัติศาสตร์ยุคใหม่ในเชิงลึกอย่างจริงจัง ไม่เกินครึ่งปี
ใคร่ขอคำแนะนำ ยินดีรับข้อมูลทุกด้านอย่างจริงใจครับ ไม้อ่อนดัดง่าย :D


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ธ.ค. 15, 18:11
คุณ tona22 ครับ

ถึงคุณจะเป็นนักศึกษาใหม่ แต่ดูว่าคุณจะมีสติปัญญาบริบูรณ์ดีอยู่
ค่อยๆอ่านเก็บสะสมข้อมูลไปเถอะครับ อ่านมันทุกฝ่ายนั่นแหละ ทุกเล่มได้ก็ยิ่งดี ถ้าชอบทางนี้ แต่อย่าเพิ่งเชื่อเล่มใดจนกว่าจะอ่านให้ใจมันพอ  พ้นจากความเป็นไม้อ่อนให้ใครต่อใครคิดจะมาดัดง่ายๆตามใจเขาแล้ว พึงใช้กาลามสูตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไตร่ตรองดู ดังนี้

1.มา อนุสฺสวเนน - อย่าเชื่อ เพราะฟังตามๆ กันมา
2.มา ปรมฺปราย - อย่าเชื่อ เพราะเชื่อถือสืบๆ กันมา
3.มา อิติกิราย - อย่าเชื่อ ด้วยการเล่าลือ
4.มา ปิฏกสมฺปทาเนน - อย่าเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
5.มา ตกฺกเหตุ - อย่าเชื่อ เพราะเดาว่าเป็นเหตุผลกัน
6.มา นยเหตุ - อย่าเชื่อ เพราะการอนุมานคาดคะเน
7.มา อาการปริวิตกฺเกน - อย่าเชื่อ ด้วยการเดาจากอาการที่เห็น
8.มา ทิฎฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา - อย่าเชื่อ เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว
9.มา ภพฺพรูปตา - อย่าเชื่อ เพราะผู้พูด(รวมทั้งผู้เขียนด้วย) มีลักษณะน่าเชื่อถือ
10.มา สมโณ โน ครูติ - อย่าเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้ หรือครูบาอาจารย์นี้ เป็นครูของเรา

เมื่อไตร่ตรองด้วยสติปัญญาที่บ่มฟักดีแล้ว ถึงตอนนั้นคุณจะไม่ต้องการใครมาชี้นำหรอกครับ ว่าควรจะเชื่อใคร ไม่เชื่อใคร

หนังสือของคุณณัฐพล ใจจริง ก็อ่านไป ส่วนว่ามีความน่าเชื่อถือเพียงไร คุณยังไม่ต้องฟันธงตรงนี้ รอสักหน่อยก็ได้ ไม่นานละครับ คุณก็จะบรรลุคำตอบได้ด้วยตัวคุณเอง


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 27 ธ.ค. 15, 18:29
มาสนับสนุนท่านนวรัตนอีก ๑ คนครับ
อ่านให้มากแล้วเปรียบเทียบกับข้อมูลของณัฐพลครับ
อย่างเล่ม ปฏิวัติ ณ.ศ. ๑๓๐ ที่ลอกงานเขียนของ ร.ต.เหรียญ  ศรีจันทร์ และ ร.ต.เนตร  พูยวิวัฒน์ มาทั้งเล่ม
ลองอ่านให้ละเอียดแล้วจะจับสังเกตแนวคิดของณัฐพลได้ชัดเจนครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: tona22 ที่ 28 ธ.ค. 15, 07:46
ขอขอบคุณท่านทั้งสอง ที่ชี้แนะ
ผมพยายามเรียงลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยตนเอง
พยายามเข้าใจวิธีคิด ของแต่ละบุคคลในประวัติศาสตร์
ผมเห็นว่า อุดมการณ์ ความแตกต่างทางความคิด ไม่ใช่เรื่องผิด
และไม่สามารถแยกให้คนเรามีฝ่ายธรรมะ อธรรมได้
ขอเพียงเคารพซึ่งกันและกัน รวมทั้งเคารพความคิดตนเอง
ไม่ตราหน้าคนคิดต่างว่างมงายกับคติเดิมๆ หรือหัวสมัยใหม่ลืมรากเหง้า
ที่สำคัญ หากอยากคนเห็นด้วยกับตน ก็ต้องแสดงความคิดของตนด้วยเหตุผล
มิใช่โจมตีเพื่อลดค่าฝ่ายตรงข้าม ใส่ร้าย ป้ายสี แบบนี้เห็นว่าเป็นวิธีที่ไม่บริสุทธิ์

ท่าน NAVARAT.C
ผมพยายามอ่านงานเขียนของทุกฝ่าย
จะรับหลักกาลามสูตร ไว้ช่วยเตือนสติทุกครั้งที่เปิดหนังสือครับ :D

ท่าน V_Mee
เล่มนี้อยากอ่านเหลือเกิน เสียแต่ยังหาซื้อไม่ได้
ตอนนี้หนังสือรออ่านกองเป็นพะเนิน
แต่ละเล่มก็ใหญ่ซะเหลือเกิน :D
หากหมดกองนี้ คงถึงเวลาเดินเข้าร้านหนังสือเก่า และห้องสมุดครับ

เรือนไทยแห่งนี้ช่วยผมไว้เยอะ
คงทำให้อ่านบันทึกของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย พระองค์จุลจักรพงษ์ ได้สนุก และเข้าใจมากขึ้นครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ธ.ค. 15, 08:21
ผมเห็นว่า อุดมการณ์ ความแตกต่างทางความคิด ไม่ใช่เรื่องผิด
และไม่สามารถแยกให้คนเรามีฝ่ายธรรมะ อธรรมได้
ขอเพียงเคารพซึ่งกันและกัน รวมทั้งเคารพความคิดตนเอง
ไม่ตราหน้าคนคิดต่างว่างมงายกับคติเดิมๆ หรือหัวสมัยใหม่ลืมรากเหง้า
ที่สำคัญ หากอยากคนเห็นด้วยกับตน ก็ต้องแสดงความคิดของตนด้วยเหตุผล
มิใช่โจมตีเพื่อลดค่าฝ่ายตรงข้าม ใส่ร้าย ป้ายสี แบบนี้เห็นว่าเป็นวิธีที่ไม่บริสุทธิ์




กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 14 ม.ค. 16, 09:25
ขอบคุณมากครับสำหรับเรืองราวของพระยาทรงสุรเดชตั้งแต่ต้นจนจบ ผมเป็นนักศึกษาใหม่เอี่ยมอ่านจบตั้งแต่ปลายปีก่อนแล้วแต่เพิ่งมาสมัครสมาชิก

ยังมีอะไรให้เรียนรู้อีกเยอะแยะ รบกวนทุกท่านด้วยนะครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 ม.ค. 16, 10:38
ดีครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 14 ก.ค. 16, 08:55
มาลงชื่อไว้ว่าอ่านจบเรียบร้อยค่ะ กำลังจะตามอ่านหลวงอดุล-หลวงพิบูลต่อค่ะ ได้รับความรู้มากมายเช่นเคย ต้องขอขอบพระคุณท่านอ.นวรัตน์ที่กรุณาค้นคว้าแล้วนำเรื่องราวพระยาทรงมาลงให้เราได้อ่านกันค่ะ

 :) ;) :D ;D


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: ราชประชา ที่ 26 ก.ค. 16, 16:20
เป็นแฟนประจำเรือนไทยมานานมากแล้ว ต้องสมัครสมาชิกเพราะกระทู้นี้เลย ต้องขอบคุณอาจารย์ทุกท่านที่ให้ความรู้มา ณ ที่นี้ด้วยครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: magino10 ที่ 31 ส.ค. 16, 21:03
ขอบคุณอาจารย์ทุกท่านที่กรุณาให้ความรู้ฯ และเพื่อเป็นกำลังใจครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ย. 16, 16:18
ขอบคุณนะครับ
ผมเลยอยากจะถือโอกาสบอกว่า กระทู้นี้ได้แปลงร่างเป็นบันเทิงสารคดี ลงในคอลัมน์ประวัติศาสตร์มีชีวิตของสกุลไทยไปแล้ว คิดว่าวันจันทร์หน้า ตอนที่ ๑ จะออกโรง แล้วจะต่อเนื่องกันไปถึงสิ้นปี รวม ๑๖ ตอน
หลังจากนั้นก็จะรวมเล่มครับ

ใครอยากได้เอาไว้เก็บบนหิ้งหนังสือ สำหรับตนเองหรือลูกหลานจะได้อ่าน ก็อดทนรอหน่อยแล้วกัน ๔ เดือนลืมๆซะก็แป๊บเดียวเอง


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 01 ก.ย. 16, 16:19
ผมครับ ผมอยากได้ฉบับรวมเล่ม


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ย. 16, 17:30
๑ คนแล้ว


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 01 ก.ย. 16, 20:32
ใครอยากได้เอาไว้เก็บบนหิ้งหนังสือ สำหรับตนเองหรือลูกหลานจะได้อ่าน ก็อดทนรอหน่อยแล้วกัน ๔ เดือนลืมๆซะก็แป๊บเดียวเอง

ฟรีไหมครับ  ;D


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ก.ย. 16, 07:16
สำหรับรายนี้มาเลย มีเลี้ยงกุ้งเผา ปูผัดผงกะหรี่ ขากลับมีแถมเสื้อผ้าให้ใส่แทนชุดแท็กซี่ด้วย นัดวันมาให้แน่ๆก็แล้วกัน


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ย. 16, 07:52
สำหรับรายนี้มาเลย มีเลี้ยงกุ้งเผา ปูผัดผงกะหรี่ ขากลับมีแถมเสื้อผ้าให้ใส่แทนชุดแท็กซี่ด้วย นัดวันมาให้แน่ๆก็แล้วกัน

รายการไม่ค่อยน่าสนใจเท่าไหร่    อย่าไปเลยค่ะ  คุณประกอบ
ก็มีแค่เนี้ย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 ก.ย. 16, 09:16
นึกว่าคุณชายดอกเตอร์ประกอบเทพวิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์ ไปรับเลี้ยงอาหารคุณนวรัตนตั้งแต่กลับจากเมืองวิลาศแล้ว    ;)

ยินดีด้วยค่ะ ดร.ประกอบ
อีกไม่นานจะได้เจอท่านนวรัตนดอทซี แล้วละซี


คุณประกอบอย่าลืมถ่ายรูปคู่กับคุณนวรัตนมาลงในเรือนไทยด้วยเน้อ  ;D


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 02 ก.ย. 16, 09:36
เดี๋ยวตามข่าวหนังสือในเพจนะคะ  ;D ;D ;D


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 02 ก.ย. 16, 11:23
เจอท่านอาจารย์ใหญ่กว่าใน facebook แล้วดุ๊ดุ ไม่ยักกะใจดีเหมือนบนเรือน ตอนนี้เลยแหยงๆ ไม่ค่อยกล้าไปซะแล้วครับ  :'(  :'(  :'(  :'(  :'(
แถมมาอยู่บ้านนอก แม้ไม่ไกลกรุงเทพเท่าไหร่ แต่น้านนนนนานทีถึงจะได้เข้ากรุง


แหม่ แต่รายการของฟรีนี่ดึงดูดไม่เลว


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ก.ย. 16, 13:29
^
ผมอาจจะโง่ก็ได้นะ แต่ไม่เข้าใจจริงๆว่าผมดุ๊ดุยังไง ขนาดคนอย่างคุณประกอบแหยง คนอื่นคงสาปส่ง fb ของผมแน่นอน
ลองเม้นต์กันหน่อยก็ได้ครับ ยินดีรับฟ้ง

https://www.facebook.com/มล-ชัยนิมิตร-นวรัตน-1174884455908584/

(วิธีเข้า ต้อง copy บรรทัดบนทั้งหมดไปแปะใน google แล้วให้มันหาให้อีกทีครับ)


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 ก.ย. 16, 13:36
https://www.facebook.com/มล-ชัยนิมิตร-นวรัตน-1174884455908584/

ทีนี้แหละเข้าไปอ่านได้แน่นอน  ;D

https://www.facebook.com/มล-ชัยนิมิตร-นวรัตน-1174884455908584/ (https://www.facebook.com/มล-ชัยนิมิตร-นวรัตน-1174884455908584/)


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ก.ย. 16, 13:46
ขอบคุณครับคุณหมอ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: untika ที่ 11 พ.ย. 16, 21:31
...เพิ่งเข้ามาอ่านด้วยความสนใจอย่างต่อเนื่อง ใช้เวลา 1 สัปดาห์ เป็นการอ่านเรื่องราวประวัติศาสตร์ ที่ทำให้รำลึกถึงสมัยเป็นนักศึกษาที่เรียนเอกวิชาประวัติศาสตร์เมื่อ 43 ปีก่อน ขอบคุณคุณนวรัตนและทุกๆท่านที่แสดงความคิดเห็นในกระทู้นี้ มีความสุขมากที่ได้อ่านสิ่งดีๆเช่นนี้ และจะติดตามอ่านต่อไปค่ะ ชื่นชม


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 พ.ย. 16, 07:31
ขอบคุณในคำชมครับ

และขอถือโอกาสแจ้งท่านที่ยังไม่ทราบ เนื่องจากวารสารสกุลไทยรายสัปดาห์ได้ปิดตัวลงไปในขณะที่สารคดีประวัติศาสตร์มีชีวิต เรื่องชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์ ยังไม่จบ ดังนั้นเพื่อไม่ให้ท่านผู้ติดตามอ่านค้างคาใจ ผมจึงนำตอนที่เหลือมาทยอยลงในFBของ ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน ท่านสามารถเข้าไปดูได้ครับ

สารคดีเรื่องเดียวกัน แต่คนละสำนวนระหว่างกระทู้กับหนังสือ รสชาติคงคล้ายๆอ่านหนังสือแล้วดูภาพยนต์เรื่องนั้นน่ะครับ

https://www.facebook.com/%E0%B8%A1%E0%B8%A5-%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A3-%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%99-1174884455908584/?ref=bookmarks


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 12 พ.ย. 16, 21:18
จะมีรวมเล่มไหมครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 12 พ.ย. 16, 21:31
...เป็นนักศึกษาที่เรียนเอกวิชาประวัติศาสตร์เมื่อ 43 ปีก่อน...

ขอคารวะผู้อาวุโสครับ  :)


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 02 เม.ย. 17, 08:18
ผมไปพบหนังสือ

อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงทรงสุรเดช (ห่วง พันธุมเสน) ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 (https://archive.org/details/2625200000unse)

จึงขออนุญาตท่านอาจารย์ นำระโยงของหนังสือ มาแสดงประกอบไว้ในกระทู้นี้ ครับ


เครดิต :

1.Thammasat University-Wat Bowonniwet Vihara Cremation Collection (https://archive.org/details/thaicremationcopy)

2. หอสมุด มธ.เปิดอีบุ๊ก ‘คลังหนังสืองานศพ’ วัดบวรฯ ให้อ่านฟรีกว่า 3,000 เล่ม
 (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6758.msg156683;topicseen#msg156683)
ห่างหายเรือนไทยไปนาน วันนี้แวะมาแจ้งข่าวนิดนึง พอดีไปเห็นกระทู้นึงใน pantip บอกว่าหอสมุด มธ.เปิดอีบุ๊ก ‘คลังหนังสืองานศพ’ วัดบวรฯ ให้อ่านฟรีกว่า 3,000 เล่ม และมีการแนะนำ link ให้เข้าไปดูด้วย ผมเข้าไปดูแล้วพบหนังสือน่าสนใจจำนวนมาก เลยเอา link มาฝากผู้เฒ่าผู้แก่ รวมถึงหนุ่มๆ สาวๆ ชาวเรือนไทยเผื่อท่านใดสนใจจะเข้าไปหาอ่านดูบ้าง

หนังสือแต่ละเล่มมีหลาย format ให้เลือกโหลดได้ ทั้งเป็น pdf หรือ ebook แบบต่างๆ เช่น epub, kindle หรือเป็น text เฉยๆ นำไปอ่านบนอุปกรณ์ต่างๆ ได้หลากหลายตามสะดวก

ขอเชิญท่านที่สนใจ ตามไปได้ที่  https://archive.org/details/thaicremationcopy&tab=collection


เครดิต https://pantip.com/topic/36281418


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 เม.ย. 17, 10:10
ขอบคุณมากครับ


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 เม.ย. 17, 10:26
จากข้างต้นเช่นกัน ทำให้ผมได้เจอเรื่องราวกันเนื่องมาจากนักโทษการเมือง ใคดดีกบฏพระยาทรง ที่ศาลพิเศษ ๒๔๘๒ พิพากษาจำคุกตลอดชีวิต


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 เม.ย. 17, 10:27
http://archive.org/details/unset0000unse_u7m2 (http://archive.org/details/unset0000unse_u7m2).


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 เม.ย. 17, 16:08
ภาษาของม.ร.ว.นิมิตรมงคล ไม่ว่าในโอกาสสถานการณ์ใด  เป็นภาษาที่ไพเราะสละสลวย ให้อารมณ์สะเทือนใจได้ดีเสมอ  โดยไม่ต้องพร่ำรำพันมากมาย


กระทู้: ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 04 เม.ย. 17, 20:03
1
จากข้างต้นเช่นกัน ทำให้ผมได้เจอเรื่องราวกันเนื่องมาจากนักโทษการเมือง ใคดดีกบฏพระยาทรง ที่ศาลพิเศษ ๒๔๘๒ พิพากษาจำคุกตลอดชีวิต

ศาสนาเป็นที่มาของกฎหมาย (http://archive.org/details/unset0000unse_u7m2.)

ภาษาของม.ร.ว.นิมิตรมงคล ไม่ว่าในโอกาสสถานการณ์ใด  เป็นภาษาที่ไพเราะสละสลวย ให้อารมณ์สะเทือนใจได้ดีเสมอ  โดยไม่ต้องพร่ำรำพันมากมาย


2
เพื่อจะขยายเรื่องที่พ่อของผมเขียนไว้ให้ผู้อ่านสิ้นสงสัย ผมจะขอเล่าคดีความของนายยันต์ วินิจนัยภาค นักโทษการเมืองในคดีกบฏพระยาทรงสุรเดช ต่อจากกระทู้ที่เคยเขียนไว้ให้จบครับ

หลังจากพิจารณาคดีอยู่สักสิบเดือน ศาลพิเศษก็พิพากษาคดีทั้งหมด คำพิพากษาศาลพิเศษฉบับนี้ รัฐบาลลงทุนตีพิมพ์ออกมาเองเพื่อบำบัดความสงสัยของประชาชนว่ามันจะอะไรกันขนาดนั้น อยู่ๆก็มีการกวาดจับ มีการตั้งศาลพิเศษแล้วก็เงียบหาย อยู่ๆก็เป็นข่าวอันน่าตระหนกว่ามีการประหารชีวิตกันถึง18ศพ กบฏในสมัยสมบูรณายาสิทธิราชยังไม่ฆ่าแกงอะไรกันถึงขนาดนั้น

เนื้อความในหนังสือดังกล่าว ผู้อ่านที่เป็นกลางและไม่ทราบเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรเลยก็อาจคล้อยตามได้ง่ายเพราะเห็นว่ามีพยานเยอะแยะมาให้การในศาล ผูกโยงกันไปผูกโยงกันมาสลับซับซ้อนเป็นขบวนการใหญ่ และมีจำเลยจำนวนหนึ่งที่ศาลตัดสินว่าไม่ผิดให้ปล่อยตัวไปด้วย ดังนั้น พวกที่ศาลลงโทษก็คงจะยุติธรรมสาสมดีแล้ว สำหรับพวกที่สนับสนุนฝ่ายรัฐบาลอย่างตาบอดหูดับนั้นไม่ต้องพูดถึง ต่างแซ่ซ้องกฤษดานุภาพของท่านผู้นำกันอย่างระเบ็งเซ็งแซ่ ครอบครัวจำเลยผู้เคราะห์ร้ายทั้งหลายแทบจะอยู่ในสังคมไม่ได้ บางคนเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนนามสกุลไปเลยเพื่อแสดงให้ชัดๆว่า ฉันไม่ใช่พวกนั้นนะจ๊ะ ท่านทั้งหลาย



ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒ (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6759.0)


หมายเหตุ : ผมขออนุญาตท่านอาจารย์ เชื่อมกระทู้ทั้งสองตรงจุดนี้ เข้าไว้ด้วยกันครับ