เรือนไทย

General Category => หน้าต่างโลก => ข้อความที่เริ่มโดย: ปิ่น ที่ 02 ก.ค. 15, 20:51



กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ปิ่น ที่ 02 ก.ค. 15, 20:51
สืบเนื่องจากไปโม้ไว้ที่กระทู้ขนมชาวจีนฯ ไว้ซะเยอะ มีสมาชิกแนะนำให้มาเปิดอีกกระทู้หนึ่ง อย่างน้อยก็เพื่อไม่ให้เรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับขนมของปิ่นไปทำให้กระทู้นู่นเสียสาระไป

ทั้งนี้ เรื่องที่จะเล่าในกระทู้นี้จะอยู่ในช่วง ค.ศ. 1993-1999 โดยประมาณค่ะ ที่ซัวเถา ไม่ใช่ที่อื่น เป็นประสบการณ์ของตัวเองค่ะ หากท่านใดมีเรื่องเล่าสนุกๆก็เชิญร่วมแจมได้เลยนะคะ

ดังนั้น เรื่องแรกที่จะพูดถึง...

มาจะกล่าวบทไป ถึงคราวที่ข้าพเจ้ายังเด็ก น่าจะไม่เกิน ๙ ขวบ ตอนนั้นที่บ้านยังใช้น้ำบาดาล หรืออาจจะใช้น้ำบาดาลมาโดยตลอดก็ได้ แต่ปิ่นไม่รู้เอง เอาเป็นว่า ความเข้าใจว่าใช้น้ำบาดาลคือตอนนั้นไม่มีก๊อกน้ำใช้ บ้านไหนๆก็ไม่มีก๊อก แล้วจะเอาน้ำจากที่ไหนมาใช้ละ??? ???

ถ้าเวนิสตะวันออกอย่างบางกอก สัญจรทางน้ำ บ้านอยู่ริมน้ำ ย่อมเอาน้ำจากแม่น้ำลำคลองมาใช้ประโยชน์ค่ะ แล้วคนที่ซัวเถาเขาทำยังไงคะ????

ึคำตอบคือ ขุดบ่อน้ำ ค่ะ  ส่วนมากแล้ว บ่อน้ำจะขุดไว้ใกล้กับลานซักผ้า เพื่อให้ง่ายต่อการซักผ้า บ่อน้ำบ้างก็ขุดไว้หน้าบ้าน บางบ้านก็ขุดไว้ในบ้าน คือ บ้านแบบเมืองจีนโบราณ พอก้าวพ้นประตูใหญ่จะเจอลานสี่เหลี่ยมที่ใช้ประกอบกิจกรรมต่างๆ ส่วนที่เป็นห้องพักหรือโถงจะยกสูงขึ้นไปอีกขั้น

บ่อน้ำจะเป็นทรงกลม หรือทรงสี่เหลี่ยมก็ได้ค่ะ โดยต้องมีถังน้ำเล็กๆใบหนึ่งผูกเชือกวางไว้ข้างๆ เพื่อใช้หย่อนลงไปตักน้ำขึ้นมาใช้นั่นเอง

ตอนปิ่นยังเด็ก ที่บ้านมีบ่อน้ำสี่เหลี่ยม ข้างนอกทำจากหินอ่อน ข้างในเคลือบกระเบื้องสีขาว เป็นบ่อใหญ่มากพอควรในสายตาของเด็ก ทีนี้ที่บ้านเด็กก็เยอะ มันก็เกิดเหตุการณ์น้องชายของปิ่นกับลูกของลุงอีกคนตกลงไปในบ่อน้ำ ต้องให้ผู้ใหญ่มีช่วยอยู่หลายครั้ง จะเห็นได้ว่า บ่อน้ำในบ้านก็อันตรายมากเหมือนกัน โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็กเล็ก

จำได้ว่า เคยไปอยู่บ้านของยาย บ่อน้ำแห้ง น้ำไม่ไหล จำเป็นต้องพึ่งพาอุปกรณ์พิเศษ ไม่แน่ใจว่าเรียกว่าอะไร แต่เป็นอุปกรณ์ที่เหมือนเครื่องปั๊มน้ำบาดาลแบบใช้มือ ตอนเด็กเล่นสนุกดีค่ะ โยกคันยกขึ้นแล้วกระโดดกดลงเพื่อปั๊มน้ำ น้ำจะไหลไปตามสายยางลงไปในถังที่รองไว้

 รูปแรก   บ้านแบบแต้จิ๋ว
 รูปที่สอง  บ่อน้ำแต้จิ๋ว
 รูปที่สาม  อุปกรณ์พิเศษ เครื่องปั๊มน้ำ


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ปิ่น ที่ 02 ก.ค. 15, 21:09
มีรูปมาให้ดูค่ะ กลับไปเยี่ยมบ้านเมื่อหลายปีมาแล้ว

หมู่บ้านนี้เป็นบ้านเก่าที่เคยอยู่ช่วงก่อน ค.ศ. 1995 เป็นหมู่บ้านโบราณ อายุคงจะเป็นร้อยปีได้แล้ว ได้ยินผู้ใหญ่บอกว่า ตอนญี่ปุ่นเข้ามาช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็มาที่หมู่บ้านด้วย

อาม่า เล่าว่า ตอนอาม่าเป็นเด็ก ญี่ปุ่นเขาก็มา และจะเกณฑ์พวกหนุ่มๆไปใช้แรงงาน อาม่าเป็นเด็กอายุประมาณ ๑๒ อาม่าก็ไปแทนพ่อของอาม่า ไปช่วยพวกญี่ปุ่นถือของเล็กๆน้อยๆ ญี่ปุ่นเขาเห็นว่าเป็นเด็ก ก็ไม่ได้ดุร้ายอะไรอย่างที่เห็นในทีวี

รูปแรก เป็นร้านขายของ บ้านจะเจาะด้านหน้าเป็นช่องใหญ่ เวลาเปิดร้านก็เอาแผ่นไม้ออก ปิดร้านก็เอาแผ่นไม้ปิด ประตูทางเข้าบ้านอยู่ด้านขวาของช่องใหญ่ๆค่ะ
รูปที่สอง เป็นซอยในหมู่บ้าน มีบ้านคนตั้งอยู่สองข้างยาวเป็นแนว
รูปที่สาม  อันนี้น่าจะเคยเป็นโรงงิ้ว หรือสถานที่จัดแสดงกลางแจ้งมาก่อนค่ะ

หมู่บ้านโบราณพวกนี้ เดี๋ยวนี้แทบจะไม่มีคนอาศัยอยู่แล้ว แต่ก็ไม่มีการบูรณะแต่อย่างใด คงจะผุพังไปตามกาลเวลาและถูกทุบทิ้งในอีกไม่ช้าค่ะ


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 02 ก.ค. 15, 22:12
สืบเนื่องจากไปโม้ไว้ที่กระทู้ขนมชาวจีนฯ ไว้ซะเยอะ มีสมาชิกแนะนำให้มาเปิดอีกกระทู้หนึ่ง

โอว์!คุณปิ่นช่างใจดีแท้ ขอปุ๊บก็ได้ปั๊บ จัดให้โดยพลัน ขอบคุณค่ะ ;D 


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 03 ก.ค. 15, 04:08
ไอ้แผ่นๆ ที่ปิดหน้าปิดตานี่เอาออกก็ได้นะครับ ไม่เห็นต้องปิดเลย  ;D


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ก.ค. 15, 07:59
ดูโรงงิ้วกลางแจ้ง แผ่นหินมีสลักปี 1972 ไว้ด้วย ไม่รู้ว่ายุคนั้น Red Grard ยังคงอยู่ไหม  :o


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: walai ที่ 03 ก.ค. 15, 08:22
สืบเนื่องจากไปโม้ไว้ที่กระทู้ขนมชาวจีนฯ ไว้ซะเยอะ มีสมาชิกแนะนำให้มาเปิดอีกกระทู้หนึ่ง

โอว์!คุณปิ่นช่างใจดีแท้ ขอปุ๊บก็ได้ปั๊บ จัดให้โดยพลัน ขอบคุณค่ะ ;D 
                                                                                   
                  คุณปิ่นเล่าเรื่องได้เห็นภาพ  ขอร่วมติดตามอ่านต่อไปนะคะ  เรื่องไม้กั้นร้านขายของ  อ่านแล้วนึกถึงชุมชนตรอกช่างนาคที่เคยอยู่ตอนเด็กๆ มีร้านขายของชาวจีนใช้ไม้กั้น
หน้าร้าน เช้าขึ้นก็มายกไม้ออก เพื่อให้ลูกค้าเดินเข้าไปในร้านได้เลยค่ะ
       


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 ก.ค. 15, 08:58
(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=6342.0;attach=57575;image)

ไม้กั้นมีเขียนตัวเลขกำกับไว้ดัวย เดาว่าคงเพื่อความสะดวกในการเรียงลำดับเวลาใส่ไม้ แต่นาน ๆ ไป ก็ใส่ตามใจชอบเห็นเรียงลำดับตัวเลขอยู่แค่ ๒ แผ่นแรก  一 (หนึ่ง) 二 (สอง) แล้วไป  四 (สี่) กระโดดไป  九 (เก้า) แล้วค่อยมา 三 (สาม)  ;D

ป.ล. มีคนรู้จักชื่อเล่นว่า ผิน มาจากตัวจีนว่า เดาว่าชื่อคุณปิ่น ก็น่ามาจากตัวนี้เหมือนกัน


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ค. 15, 09:48
กระทู้นี้ทำให้ต้องกลับไปค้นว่าซัวเถาอยู่ตรงไหนของแผ่นดินใหญ่
ได้คำตอบจากคุณวิกี้ว่า

ซัวเถา หรือ ซ่านโถว ในภาษาจีนกลาง (Shantou 汕頭 汕头)เป็นหนึ่งในจังหวัดของจีนที่ตั้งอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง มีเนื้อที่ 234 ตารางกิโลเมตร ประชากร 4,846,400 คน
นื่องจากติดกับจังหวัดแต้จิ๋ว จึงใช้ภาษาแต้จิ๋วปัจจุบันเรียกว่า เตี่ยซัวอ่วยหรือ ฉาวซ่านฮว่าหรือ แต่จิวอ่วย หรือแปะอ่วย เป็นภาษาพูด มีระดับเสียงดนตรี8เสียง (ภาษาไทยมีแค่ 5) ในภาษาจีนกลาง (潮汕话) เป็นภาษาท้องถิ่น และใช้ภาษาจีนกลางเป็นภาษาราชการ เนื่องจากเป็นจังหวัดหนึ่งในมณฑลกวางตุ้ง จึงสามารถใช้ภาษากวางตุ้งได้ในการติดต่อสื่อสาร หรือทำธุรกิจ และนับเป็นหนึ่งในชาวแต้จิ๋ว ปัจจุบันเรียก เตี่ยซัวนังหรือฉาวซ่านเหริน ในภาษาจีนกลาง (潮汕人)


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ปิ่น ที่ 03 ก.ค. 15, 10:00
(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=6342.0;attach=57575;image)

ไม้กั้นมีเขียนตัวเลขกำกับไว้ดัวย เดาว่าคงเพื่อความสะดวกในการเรียงลำดับเวลาใส่ไม้ แต่นาน ๆ ไป ก็ใส่ตามใจชอบเห็นเรียงลำดับตัวเลขอยู่แค่ ๒ แผ่นแรก  一 (หนึ่ง) 二 (สอง) แล้วไป  四 (สี่) กระโดดไป  九 (เก้า) แล้วค่อยมา 三 (สาม)  ;D

ป.ล. มีคนรู้จักชื่อเล่นว่า ผิน มาจากตัวจีนว่า เดาว่าชื่อคุณปิ่น ก็น่ามาจากตัวนี้เหมือนกัน

อาจารย์เพ็ญ... จินตนาการล้ำเลิศค่ะ แต่เสียดายด้วยนะคะ คิดว่าข้อสันนิฐานน่าจะผิดค่ะ

ตัวเลขจีนที่ปรากฏคิดว่าเด็กๆน่าจะมาเขียนเล่นมากกว่า เพราะในหมู่เด็กๆ มีอีกอย่างที่ชอบเล่นกันมาก คือเล่นครูกับนักเรียน สมัยปิ่นเด็กๆก็ชอบเล่นครูนักเรียนเหมือนกัน เห็นที่ไหนมีกระดาน มีแผ่นไม้ใหญ่พอให้ปลอมตัวเป็นครูก็สนุกแล้ว ประตูที่บ้านนี่ไม่เว้นค่ะ เต็มไปด้วยรอยชอล์คค่ะ ชอล์คก็หาซื้อง่ายมากถึงมากที่สุด ยิ่งเล่นสนุกกันเข้าไปใหญ่ค่ะ

กระโดดยางอย่างที่เด็กไทยชอบเล่น เด็กผู้หญิงจีนก็เล่นกันเยอะค่ะ เล่นทุกวัน เดี๋ยวสงสัยต้องเล่าเรื่องเล่นๆตอนเด็กๆให้ฟังว่า เด็กจีนสมัยนั้นเล่นอะไรกัน


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ปิ่น ที่ 03 ก.ค. 15, 10:16
กระทู้นี้ทำให้ต้องกลับไปค้นว่าซัวเถาอยู่ตรงไหนของแผ่นดินใหญ่
ได้คำตอบจากคุณวิกี้ว่า

ซัวเถา หรือ ซ่านโถว ในภาษาจีนกลาง (Shantou 汕頭 汕头)เป็นหนึ่งในจังหวัดของจีนที่ตั้งอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง มีเนื้อที่ 234 ตารางกิโลเมตร ประชากร 4,846,400 คน
นื่องจากติดกับจังหวัดแต้จิ๋ว จึงใช้ภาษาแต้จิ๋วปัจจุบันเรียกว่า เตี่ยซัวอ่วยหรือ ฉาวซ่านฮว่าหรือ แต่จิวอ่วย หรือแปะอ่วย เป็นภาษาพูด มีระดับเสียงดนตรี8เสียง (ภาษาไทยมีแค่ 5) ในภาษาจีนกลาง (潮汕话) เป็นภาษาท้องถิ่น และใช้ภาษาจีนกลางเป็นภาษาราชการ เนื่องจากเป็นจังหวัดหนึ่งในมณฑลกวางตุ้ง จึงสามารถใช้ภาษากวางตุ้งได้ในการติดต่อสื่อสาร หรือทำธุรกิจ และนับเป็นหนึ่งในชาวแต้จิ๋ว ปัจจุบันเรียก เตี่ยซัวนังหรือฉาวซ่านเหริน ในภาษาจีนกลาง (潮汕人)

ขอบคุณอาจารย์เทาชมพูค่ะ แต่จะขอขยายบางข้อนะคะ

1.แต้จิ๋ว กับ ซัวเถา เป็นจังหวัดที่อยู่ติดกันค่ะ โดยปกติเมื่อพูดถึงวัฒนธรรมของแถบนี้ คนจีนจะเรียกว่า วัฒนธรรมเตี่ยซัว (潮汕文化)อันเป็นการรวมเอาคำแรกของสองจังหวัดเข้าด้วยกันค่ะ

2. แปะอ่วย ในความหมายของคนแต้จิ๋ว เขาจะหมายถึง ภาษาจีนกวางตุ้ง ที่พูดกันที่ กวางเจา ฝอซัน เซินเจิ้น ฮ่องกง ค่ะ ไม่ใช่ภาษาแต้จิ๋วค่ะ

3. ภาษาจีนกลางเป็นภาษาราชการค่ะ แต่ความจริงก็คือ รุ่นพ่อหรือรุ่นปู่ย่ามีอีกจำนวนมากที่พูดภาษาจีนกลางไม่ได้ บางคนอ่านหนังสือไม่ออก เราเรียกคนเหล่านี้ว่า 文盲 literally คือ บอดด้านวรรณกรรม  illiteracy นั่นเองค่ะ ภาษาจีนกลางของคนแต้จิ๋วส่วนใหญ่จะมีสำเนียงแต้จิ๋วติดอยู่มาก

4. หลายๆคนเข้าใจว่า มณฑลกวางตุ้ง น่าจะพูดภาษากวางตุ้งได้ อันที่จริง ไม่ใช่นะคะ มณฑลกวางตุ้งเองก็มีภาษาถิ่นหลายภาษา สองภาษาที่ปิ่นรู้จักคือ กวางตุ้ง และ แต้จิ๋ว ซึ่งการออกเสียงไม่มีความใกล้เคียงกันเลย เรียกว่าคนละภาษาเลยก็ว่าได้ แต่ในอดีต ยุคที่ซีรีย์ทีวีบีเฟื่องฟูมากๆ ก็จะมีฉายที่ทีวีทุกวัน พอเราได้ฟังทุกวันก็พอจะฟังออก พูดได้บ้างนิดหน่อย คนที่ไปทำงานในจังหวัดที่ใช้ภาษากวางตุ้ง อย่างที่กวางเจา เซินเจิ้น ก็จะได้ภาษากวางตุ้งมาโดยปริยาย จำได้ว่าตอนเด็ก เคยมีญาติของคุณตาที่เขาแต่งงานไปที่ฮ่องกงตั้งแต่ยังสาว แล้วเขากลับมาเยี่ยมคุณทวดก็พาหลานสาวเขามาด้วย อายุก็รุ่นเดียวกับปิ่นนี่แหละ เขาพูดจีนกลางไม่ได้นะคะ การรณรงค์เรียนภาษาจีนกลางที่ฮ่องกง เกิดขึ้นหลังจากที่อังกฤษคืนฮ่องกงให้กับประเทศจีน เมื่อสองสามปีก่อน ได้ไปเที่ยวฮ่องกง ไปเจอกับคุณน้าที่เป็นหลานสาวของคุณตา เธอเกิดและโตที่ฮ่องกง เป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัยอยู่ที่นั่น แต่คุณน้าก็พูดภาษาจีนกลางไม่ได้ การสนทนาก็เลยต้องสนทนาด้วยภาษาอังกฤษไปอย่างทุลักทุเลพอควรค่ะ



กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ปิ่น ที่ 03 ก.ค. 15, 10:24
ตอบ คุณประกอบ ค่ะ      อย่าเลยดีกว่าค่ะ เขินเอง ถ้าเป็นภาพหมู่ยังไม่เท่าไหร่ นี่ภาพเดี่ยว ถ้ามีรูปที่เป็นฉากหลังเฉยๆคงเอามาลง ไว้ไปหารูปตอนเด็กที่ถ่ายที่จีน อาจจะพอมีบ้าง จะเอามาลงให้ดูค่ะ

ตอบ คุณหนุ่มสยาม ค่ะ  ไม่แน่ใจว่า เรดการ์ด ในความรู้สึกของคนต่างชาติเป็นอย่างไรบ้าง เพราะเท่าที่เรียนประวัติศาสตร์ตะวันออกมา มีความรู้สึกว่า Red Guard เป็นคำที่สื่อถึงความรุนแรงในระบอบ ค.ม.น. แต่ในยุค 1990 เป็นต้นไปนั้น คำๆนี้แทบจะไม่มีความหมายเลย นอกเสียจาก ต้องผูกผ้าพันคอสีแดงเวลาเข้าแถววันจันทร์ก็เท่านั้นเอง โรงเรียนไทยเวลาเข้าเรียนต้องร้องเพลงชาติ สวดมนต์ ของโรงเรียนปิ่นจะเป็นลักษณะ ร้องเพลงงชาติ อ่านบทเกี่ยวกับรักชาติ รักพรรค ค.ม.น. อะไรเทือกนี้ เราก็ท่องๆไปตามประสาเด็ก ได้ยินคำว่า 党(dang) อันสื่อถึง พรรค ค.ม.น. อยู่ทุกวันจนชินหู แต่ก็ไม่รู้ว่ามันหมายถึงอะไร หมายความว่าอะไร เพราะไกลตัวเรามาก และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันเลย


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ปิ่น ที่ 03 ก.ค. 15, 10:34
ไว้ช่วงบ่ายจะมาเล่าเรื่อง "รองเท้าแลกลูกโป่ง" ที่ทำให้รองเท้าของหลายๆคนในบ้านหายมาแล้ว


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: tita ที่ 03 ก.ค. 15, 10:54

ขอนั่งฟังด้วยคนค่ะ

/นอกเรื่อง งานเขียนภาษาไทยของคุณปิ่นไม่มีที่ติเลยนะคะ  สมกับที่เอกภาษาไทย  ไม่น่าเชื่อเลยว่าเริ่มเรียนมา 10 ปี  ทั้งที่ภาษาไทยเป็นภาษาที่ยากมาก 


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ปิ่น ที่ 03 ก.ค. 15, 12:19
ขอบคุณ คุณtita ค่ะ... ใครบอกว่าภาษาไทยเรียนง่ายนี่ ปิ่นต้องเถียงสุดใจขาดดิ้นเลย ถ้าจะเรียนผิวเผินอาจจะง่ายจริง เรียนให้ลึกแล้ว มันไม่ได้หมูๆขี้ๆนะคะ อันที่จริง บางทีเบลอๆ ภาษาไทยปิ่นอาจจะติดรูปคำแบบจีนมา แต่คนอ่านอาจจะไม่รู้มากกว่า

ก่อนจะเล่าเรื่อง รองเท้าแลกลูกโป่ง อยากจะเล่าอีกเรื่องที่ไม่ได้ประสบโดยตรง แต่อาม่าเล่าให้ฟังอีกที

ไม่แน่ใจว่าเริ่มเมื่อไหร่ คลับคล้ายคลับคลาว่าอาจจะคุยเล่นกับอาม่า หรือ อาจจะไปอ่านหนังสือมา เกี่ยวกับเรื่อง "การโค่นล้มระบอบเจ้าของที่ดิน" ของสังคมศักดินาจีนช่วงการเปลี่ยนผ่านการปกครอง ที่เรียกว่า "การปฏิวัติทางวัฒนธรรม" หรือ 文化大革命 ที่เกิดขึ้นใน ค.ศ. 1966 เมื่อพรรค ค.ม.น. ประกาศโค้นล้มโลกเก่า ทรัพยากรกลายเป็นของส่วนรวม พวกเจ้าของที่ดินซึ่งเคยเป็นบุคคลที่ร่ำรวย มั่งคั่ง มีที่ดินในครอบครองมากมาย มีรายได้จากการเก็บค่าเช่าพวกชาวนาเช่าที่ ชนชั้นชาวนาในขณะนั้นเป็นชนชั้นที่ถูกกดขี่ ถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าของที่ดิน เมื่อพรรค ค.ม.น. ประกาศออกมาแบบนั้น พวกเจ้าของที่ดินก็ซวย เพราะถูกชาวนาบุกเข้าบ้านไปทำลายข้าวของ ทำร้ายร่างกาย เป็นต้น

ปิ่นไม่แน่ใจว่าเป็นหนังสือเรื่อง Moment in Peking ผลงานชิ้นโบว์แดงของอาจารย์ Lin Yutang หรือเปล่า เพราะนานมากจนจำไม่ได้ว่าอ่านจากเรื่องอะไร ท่านใดที่สนใจนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ช่วงเปลี่ยนผ่านการปกครองสามารถหาอ่านได้ มีเป็นภาษาอังกฤษค่ะ

เนื้อเรื่องเล่าว่า พระเอกเป็นลูกชายของขุนนางคนหนึ่ง ตัวนางเอกนั้นแต่งงานกับพระเอก เป็นคนใจบุญ ทำบุญสร้างโรงทานอยู่บ่อยๆ เมื่อสงครามเกิดขึ้น ได้รับผลกระทบจนต้องหนีไปที่อื่น ระหว่างที่ขึ้นรถม้าหลบหนีไปร่วมกับชาวบ้านอื่นๆก็มีคนมาดักปล้นพวกเศรษฐี กับ เจ้าของที่ดิน พอจะมาปล้นรถของบ้านพระเอก พระเอกก็ออกตัวว่า ตัวเองเป็นใคร คนในรถเป็นใคร บ้านของเขาเป็นขุนนางก็จริง แต่บ้านของเขาไม่เคยทารุณชาวนาในปกครอง ภรรยาของเขาเองก็ทำบุญ เปิดโรงทานอยู่บ่อยๆ ถามไปถึงไหนใครๆก็รู้ว่า บ้านเขาเป็นคนดี พูดอยู่นาน ทางโจรถึงยอมปล่อยไปได้ คือ ความสุขสบาย เจริญรุ่งเรืองที่เคยมีมา เมื่อถึงคราวตกอับ จะต้องเสียศักดิ์ศรีอ้อนวอนก็ต้องทำ (พอนึกมาถึงตรงนี้ รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่อง Moment in Peking แต่อาจจะไม่ใช่ช่วงใกล้ๆนี้ด้วย)

แต่เรื่องที่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ช่วงโค่นล้มโลกเก่าตามนโยบายของพรรค ค.ม.น.นั้น ปิ่นก็ถามอาม่าว่า "อาม่า แล้วพวกเจ้าของที่ดินที่เขาเป็นคนดีละ พวกชาวบ้านเขาก็ทำร้ายเขาเหรอ" อาม่าเล่าว่า มีคนรู้จักอยู่บ้านหนึ่ง บ้านเขาเป็นชนชั้นเจ้าของที่ดินนี่แหละ พวกชาวบ้านบุกเข้าไปในบ้าน ทั้งปล้นข้าวของ ทั้งทำร้ายคนในบ้าน มีอาม่าแก่ๆที่เป็นแม่ของเจ้าของบ้านก็ถูกจิกหัวออกมาตบจนหน้าระบม สุดท้ายก็คงจะบ้านแตกสาแหรกขาดนั่นแหละ พวกผู้ชายก็ถูกพรรค ค.ม.น. จับไป ที่บ้านเหลือแต่คนแก่ ผู้หญิงและเด็ก ซึ่งต่อมายากจนและอนาถามาก

เราฟังแล้วก็รู้สึกสะเทือนใจว่า เขาทำได้อย่างไร ในเมื่อบ้านนั้นเป็นบ้านที่ทำบุญช่วยเหลือคนจนอยู่บ่อย แถมอาม่าคนนั้นก็ยังแก่แล้ว ทำไมต้องเข้าไปทำร้ายเขาแบบนั้น มันจึงเป็นเรื่องที่ฟังมาแล้วจำได้ตลอด ว่า คนที่ถูกกดขี่มานาน เมื่อถึงคราวที่ได้ลืมตาอ้าปากก็จะตอกกลับยังไม่ยั้งคิด ไม่ได้มองที่ตัวบุคคล ไม่ได้มองที่เหตุผล ไม่ได้มองที่ความดี แต่ยึดภาพรวมแล้วมาทำตามใจชอบ น่าสะเทือนใจมากๆ

 



กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 ก.ค. 15, 12:49
打碎旧世界  创立新世界
ทำลายโลกเก่า  สร้างโลกใหม่


เรื่องนี้คงต้องอ่านกระทู้  จุดเริ่มต้นแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรมจีน - ความเก่าเหมือนละคร แล้วย้อนดูตัว (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5830.0) ของคุณหาญปิงประกอบ


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ปิ่น ที่ 03 ก.ค. 15, 20:26
"รองเท้าแลกลูกโป่ง"

เด็กบ้านนอกอย่างเราน้อยคนนักที่จะมีของเล่นไว้เล่น โดยปกติก็จะหาเพื่อนเล่นกันเอง เล่นโดดยาง เล่นดินเล่นทราย ไปตามเรื่อง ดังนั้น "รถขายลูกโป่ง" เป็นสิ่งที่เด็กๆรอคอยกัน

คนขายลูกโป่งมักจะขี่จักรยานมา โดยมีถังก๊าซทรงยาวติดอยู่ข้างหลังจักรยาน ลูกโป่งที่ขายเป็นลูกโป่งใบเล็ก ขนาดเล็กที่สุดนั่นแหละ เขาขายลูกละ 0.2 หยวน สมัยนั้นก็น่าจะแพงอยู่นะ เพราะสมัยนั้น ไอติมแท่งละ 0.2yuan ถ้าเป็นแบบช็อคโกแลต 0.5หยวน

แต่คนขายลูกโป่งเขาก็รับรองเท้าพลาสติก และ กระป๋องน้ำอัดลมด้วย ตอนนี้นึกขึ้นมาเพิ่งรู้สึกว่า คนขายลูกโป่งนี่มีหัวทางการตลาดดีมาก คือ ขายลูกโป่งด้วย รับซื้อของเก่าด้วย

กระป๋องน้ำอัดลมแบบอลูมิเนียม สองใบ สามารถแลกลูกโป่งแบบเติมแก็สได้ หนึ่งใบ

รองเท้ายาง หนึ่งข้างก็สามารถแลกได้หนึ่งใบเหมือนกัน ดังนั้นจึงเกิดเหตุการณ์ที่ผู้ใหญ่ที่บ้านไม่ยอมให้ตังค์มาซื้อลูกโป่ง เด็กก็จะเอารองเท้าตัวเองบ้าง ขโมยรองเท้าที่บ้านบ้าง หรือเอารองเท้าชาวบ้านบ้าง ไปแลกลูกโป่ง

รองเท้าหนึ่งคู่มันราคา สาม สี่ หยวนได้ บางทียังเป็นรองเท้าใหม่อยู่แท้ๆ มันก็เอาไปแลกลูกโป่งกันหมด พอผู้ใหญ่รู้เข้า มิวายถูกจัดหนักอีกตามเคย

รูปประกอบหาจากในเน็ต คาดว่าเป็นที่อินเดีย แต่จักรยานและถังก๊าซจะมาในลักษณะนี้


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 03 ก.ค. 15, 21:27
เขาเอารองเท้าที่รับแลกไปขายเป็นรองเท้ามือสองหรือไงคะ ถ้าใช่่ แล้วที่มาข้างเดียวจะขายได้หรือคะ


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ปิ่น ที่ 03 ก.ค. 15, 21:38
เขาเอารองเท้าที่รับแลกไปขายเป็นรองเท้ามือสองหรือไงคะ ถ้าใช่่ แล้วที่มาข้างเดียวจะขายได้หรือคะ

เขาน่าจะเอาไปขายเป็นพลาสติกแปรรูปอีกทีค่ะ เพราะเขาไม่รับรองเท้าแบบอื่นที่ไม่ใช่รองเท้าพลาสติก


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 03 ก.ค. 15, 22:45
กระทู้นี้ทรงคุณค่าสำหรับคนเชื้อสายจีนแต้จิ๋วจริงๆครับ

สมัยคุณปิ่นอยู่ที่นั่น สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปจากก่อนช่วงเปิดประเทศมากไหมครับ


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ปิ่น ที่ 03 ก.ค. 15, 23:31
กระทู้นี้ทรงคุณค่าสำหรับคนเชื้อสายจีนแต้จิ๋วจริงๆครับ

สมัยคุณปิ่นอยู่ที่นั่น สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปจากก่อนช่วงเปิดประเทศมากไหมครับ

ก่อนช่วงเปิดประเทศ??? อันนี้ก็ไม่แน่ใจค่ะ เพราะว่ายังไม่เกิดมั้งคะ ก็เลยไม่มีภาพเปรียบเทียบเท่าไหร่ เกิดมาก็อยู่ที่นั่นเลย แต่ถ้าถามว่า เมื่อหลายปีก่อนที่กลับไปเยี่ยมบ้าน สภาพเปลี่ยนไปจากเมื่อสิบกว่าปีก่อนที่ปิ่นอยู่ที่จีนไหม ก็ต้องยอมรับว่าเปลี่ยนไปเยอะพอควร อย่างแรกเลย ตอนเด็กๆแถวบ้านปลอดภัย ไม่มีขโมยหรือโจรนะคะ และอีกอย่างที่หลายๆคนไม่ทราบคือ คนแต้จิ๋วท้องถิ่นจริงๆไม่ต้อนรับคนจากข้างนอกมาอาศัยอยู่ในชุมชนนะคะ เพราะชุมชนค่อนข้างมีลักษณะปิด รถยนต์ไม่เคยเห็น ใช้จักรยาน มอเตอร์ไซต์ เป็นหลัก ดังนั้น คนต่างจังหวัดจะเข้ามาก็ลำบากเหมือนกัน อีกทั้งในตัวหมู่บ้านเองก็ไม่มีอะไรให้คนต่างจังหวัดทำ เพราะในท้องที่ไม่มีอุตสาหกรรม ผู้ชายจะออกไปหางานทำข้างนอก ไม่ก็ค้าขาย อีกทั้งไม่ต้อนรับสะใภ้ต่างจังหวัดที่พูดต่างภาษากับตัวเอง เพราะส่วนใหญ่แล้ว พ่อแม่สามีพูดจีนกลางไม่ได้ จะมีปัญหาในการสื่อสารค่ะ (บ้านปิ่นเองก็เพิ่งมีพี่สะใภ้เป็นคนเซี่ยงไฮ้แต่งเข้ามาที่บ้าน เวลาพวกเราเด็กๆคุยกันก็จะคุยภาษาไทย พวกผู้ใหญ่คุยกันก็คุยแต้จิ๋ว พี่สะใภ้ก็จะงง เพราะไม่เข้าใจทั้งสองภาษา ต้องแปลให้ฟังทีเดียวสองภาษา) ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม แต่ปิ่นมีความรู้สึกว่า คนแต้จิ๋วค่อนข้างมีความรู้สึกเชิงลบกับคนต่างจังหวัด คือ เรียกพวกเขาว่า "หงั่ว เซ่ เกี๊ย" (外省仔) อันหมายถึงว่า คนต่างจังหวัด ครอบครัวแต้จิ๋วขนานแท้ ไม่เคยเห็นบ้านไหนมีเมียน้อยนะคะ ไม่รักก็อยู่กันจนแก่ได้ แต่อำนาจของบ้านอยู่ที่ผู้ชายแต่เพียงผู้เดียว ผู้หญิงเป็นได้แค่ช้างเท้าหลัง ไม่มีปากมีเสียงอะไรในบ้าน ต้องทำงานบ้านเลี้ยงลูก ต้องมีลูกผู้ชาย ผู้ใหญ่เขาจะมองกันว่า ผู้หญิงต่างจังหวัดขี้เกียจ ทำงานไม่เก่ง

นอกเรื่องไปซะเยอะ คือจะเล่าว่า ในหมู่บ้านของเรา บ้านใกล้เรือนเคียง ใครเป็นลูกใคร รู้กันหมด คนต่างจังหวัดจะหายากมาก ถ้าเกิดมีการขโมยของหรือของหายขึ้นมาจะหมายหัวพวกคนต่างจังหวัดที่เข้ามาในหมู่บ้าน บอกว่า พวกคนต่างจังหวัด มือไม้ไม่สะอาด คือลักเล็กขโมยน้อยนั่นเอง สมัยนั้นอยู่เมืองจีน เข้าบ้านนู้นบ้านนี้ ประตูบ้านเปิดอ้าไว้ไม่ต้องกลัวคนมาขโมยของ แต่เมื่อหลายปีก่อนที่กลับบ้านไปสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลง โดยปกติแล้ว การสร้างบ้านจะสร้างกันคนละหลังๆ โดยมีช่องว่างระหว่างบ้านเว้นไว้ลักษณะเป็นซอยทะลุได้ ซึ่งตอนปิ่นเด็กๆเคยเล่นกับเพื่อนบ้าน เช่น โดดยาง ขุดทราย เป็นต้น แต่ตอนกลับไปเยี่ยมบ้านกลับพบว่า ซอยแบบนั้น ทุกๆบ้านกั้นรั้วแบบล็อคได้ ขึ้นมาหมดแล้ว คือ จากเมื่อก่อนที่มีทางลัดกลับบ้าน พอกลับไปที่บ้านยายตอนดึกๆ ไฟถนนก็ไม่มี มืดก็มืด ไม่ได้กลับไปก็เป็นสิบปี ซอยทุกซอยที่เราเคยวิ่งเล่นตอนเด็ก เรากลับจำไม่ได้ซะแล้วว่าต้องเดินยังไง เพราะมันเปลี่ยนไปเยอะมาก ต้องคอยระวังบ้านช่อง คนต่างจังหวัดก็มาอยู่เยอะขึ้น แม่น้ำก็เน่าจนดูไม่ได้ มีแต่ขยะ ถนนลูกรังกลายเป็นถนนคอนกรีด แต่สภาพสังคมไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากมายค่ะ


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ปิ่น ที่ 03 ก.ค. 15, 23:48
ว่าแล้วสอดแทรกเรื่อง "นโยบายมีลูกคนเดียว" ของรัฐบาล คิดว่าน่าจะอยู่ในความสนใจของทุกท่านพอควร

นโยบายคุมกำเนิด หรือ มีลูกคนเดียวนั้น อันที่จริงเด็กยุค 80's ก็คงจะโตมาคนเดียวแบบไม่มีพี่น้อง จนผลกระทบที่ส่งถึงปัจจุบันมีมากมาย คำเรียกญาติมากมายในภาษาจีนแทบจะหมดความหมายไปเลยทีเดียว ด้วยไม่มีคนให้เรียกแล้ว เห็นได้ว่า สถาบันครอบครัวนั้นมีบทบาทสำคัญในสังคมจีน

แต่... เหนือฟ้ายังมีฟ้า... ในฐานะตัวแทนของเด็กยุค 90‘s จะมารายงานว่า บ้านปิ่นมีลูกพี่ลูกน้องรวมๆแล้วน่าจะเกิน 30 คน ลำพังคุณลุงคนโต บ้านนั้นมีลูกปาเข้าไป 7 คน

ตอนนี้ท่านอาจจะงงว่า พวกแม่ๆป้าๆเขาหลุดไปได้ยังไง อย่างแรกเลย คือ ด้วยความที่เราอยู่บ้านนอก พวกรัฐบาลที่เขารับผิดชอบด้านนี้เขาก็เอาคนไปตรวจจับถึงที่บ้านเลยนะ แบบพาไปดูเลยว่าใครมีลูกเกิน 1 คน ถ้ายังไม่ทำหมันจะ จับไปทำหมัน เข้าใจว่าเขาน่าจะจับจริง ตอนปิ่นยังเด็ก ก็เลยได้เจอเหตุการณ์ที่ป้า กับ แม่ ต้องหลบภัย คือ หลบไปอยู่บ้านญาติช่วงที่พวกคุมกำเนิดจะมาจับคนที่บ้าน เพราะมีพรายกระซิบมาปล่อยข่าวก่อน  วิธีที่สองที่เขานิยมทำ ก็คือไปใส่ห่วงคุมกำเนิดกัน แต่เห็นผู้ใหญ่เขาว่ากันว่าใส่ห่วงปลอม อันนี้ก็เกินความเข้าใจของปิ่นแล้วแหละ ก็คือ ๑ การจับไม่ค่อยเข้มข้นที่บ้านเรา ๒ พวกผู้หญิงมีทางหนีทีไล่ที่ดี ดังนั้น พวกเราก็เลยหลุดรอดมาได้แบบไม่ต้องเสียค่าปรับให้รัฐบาล เพราะตามกฎหมายแล้วต้องเสียค่ะ

แล้วตอนเด็กๆเคยถูกโรงเรียนพาไปเดินขบวนด้วยนะคะ เด็กนักเรียนตัวเล็กๆเข้าแถวเดินตะโกนคำโฆษณา "计划生育" (ก๊อย เหวะ เซ ยก) หมายถึง วางแผนคุมกำเนิด นั่นเอง

และบอกตามตรงอีกที... ไอ้ที่ร้องๆไปกับเขา ตอนนั้นก็ไม่เข้าใจว่าแปลว่าอะไร จำได้แต่ว่าร้องๆอยู่อย่างงั้นสนุกดี

ทว่า ความโหดร้ายของนโยบายมีลูกคนเดียวในท้องที่อื่น กลับไม่ได้โชคดีอย่างพวกผู้หญิงที่หมู่บ้านปิ่น จากข่าวสารหลายๆด้านที่ได้รับมาคือ มีคนถูกจับทำแท้งจริงๆ เพราะไอ้นโยบายนี้ และมีข้อกำหนดเป็นกฏหมายว่า จะคลอดลูกได้ต้องมีใบอนุญาตคลอดบุตร มิฉะนั้นจะคลอดไม่ได้ รายละเอียดไม่ได้ศึกษามา แต่บอกเลยว่า การทำแท้งที่เมืองจีน เขามองว่าเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย มากกว่าที่ไทยหลายเท่าเลย ไอ้วัดไผ่เงินหลายพันศพนั่น เป็นสิ่งที่ถูกเปิดโปงออกมา แต่เบื้องหลังนโยบายลูกคนเดียวน่าจะนองไปด้วยเลือดทารกอีกเป็นล้านศพที่ถูกทำแท้งด้วยเหตุผลต่างๆ


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 04 ก.ค. 15, 09:50
..เวลาพวกเราเด็กๆคุยกันก็จะคุยภาษาไทย พวกผู้ใหญ่คุยกันก็คุยแต้จิ๋ว...
[/quote]

ขอโทษนะคะ อย่าหาว่าละลาบละล้วงเลย คือสงสัยน่ะค่ะ ว่าทำไมคุณปิ่นกับพี่น้องเป็นเด็กที่เกิดและอาศัยอยู่ในเมืองจีนแท้ๆ แต่ทำไมถึงพูดภาษาไทยกันคะ

ดิฉันก็มีบรรพบุรุษมาจากซัวเถา เมื่อเล็กๆเคยได้ยินญาติผู้ใหญ่ รวมทั้งเพื่อนฝูงของพ่อที่ไปมาหาสู่หรือทำการค้ากันก็ล้วนแล้วแต่สื่อสารกันด้วยภาษาจีน ส่วนดิฉันกับพี่ๆ พวกเราเด็กๆก็พูดภาษาไทยกันอย่างเด็กที่เกิดในเมืองไทยทั่วไป


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ปิ่น ที่ 04 ก.ค. 15, 10:00
..เวลาพวกเราเด็กๆคุยกันก็จะคุยภาษาไทย พวกผู้ใหญ่คุยกันก็คุยแต้จิ๋ว...

ขอโทษนะคะ อย่าหาว่าละลาบละล้วงเลย คือสงสัยน่ะค่ะ ว่าทำไมคุณปิ่นกับพี่น้องเป็นเด็กที่เกิดและอาศัยอยู่ในเมืองจีนแท้ๆ แต่ทำไมถึงพูดภาษาไทยกันคะ

ดิฉันก็มีบรรพบุรุษมาจากซัวเถา เมื่อเล็กๆเคยได้ยินญาติผู้ใหญ่ รวมทั้งเพื่อนฝูงของพ่อที่ไปมาหาสู่หรือทำการค้ากันก็ล้วนแล้วแต่สื่อสารกันด้วยภาษาจีน ส่วนดิฉันกับพี่ๆ พวกเราเด็กๆก็พูดภาษาไทยกันอย่างเด็กที่เกิดในเมืองไทยทั่วไป
[/quote]

อันนี้ก็ต้องพูดอย่างอายนิดหนึ่งว่า ถนัดพูดภาษาไทยมากกว่าค่ะ ปิ่นมาอยู่ไทยประมาณ10ขวบได้ พอมาอยู่ช่วงแรกคือพูดไทยไม่ได้เลย ก็เลยถูกบังคับให้พูดแต่ภาษาไทย อีกทั้งญาติๆก็ไม่ได้อยู่ด้วยกัน เพื่อนวัยเดียวกันก็มีแต่เพื่อนที่โรงเรียนที่พูดภาษาไทย ผ่านไปสักสองสามปี ภาษาจีนก็ลืมจนเกือบจะหมด ตอนหลังอินเตอร์เน็ตเข้ามา ได้ศึกษาเองบ้าง อ่านหนังสือบ้างก็พอจะฟื้นมาได้บ้าง สรุปว่าได้ภาษาจีนกลางซะงั้น แต่ทักษะการพูดแต้จิ๋วอยู่ในขั้นวิกฤติจนถึงบัดนี้ คือคำธรรมดาปกติก็จะพูดได้ แต่อะไรที่นานๆพูดทีก็ชักจะจำไม่ได้  ส่วนน้องที่รุ่นเด็กกว่า นั่นแทบจะพูดกันไม่ได้แล้ว แล้วก็มีพวกที่เกิดในไทยด้วย ปัจจุบันมันก็เลยจะกลายเป็นว่า ผู้ใหญ่พูดจีนกับเรา แต่เราตอบเป็นภาษาไทย เกิดภาษาไทยอันไหนที่ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจเราก็ต้องอธิบายเป็นแต้จิ๋ว


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 04 ก.ค. 15, 11:33
สวัสดีค่ะ คุณปิ่น
ขอติดตามอ่านด้วยคนนะคะ
สะดุดกับคำว่า "มือไม้ไม่สะอาด คือลักเล็กขโมยน้อย"  ในความเห็นที่ 19
ดิฉันไม่ใช่แต้จิ๋ว แต่มีเชื้อสายกวางตุ้งค่ะ  เคยได้ยินคุณแม่พูดคำนี้แต่ในอีกความหมายหนึ่ง มือไม่สะอาด แปลว่า กำลังมีประจำเดือน
ไม่ทราบว่า วลีนี้จะใช้ได้กี่ความหมายคะ


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ปิ่น ที่ 04 ก.ค. 15, 11:56
สวัสดีค่ะ คุณปิ่น
ขอติดตามอ่านด้วยคนนะคะ
สะดุดกับคำว่า "มือไม้ไม่สะอาด คือลักเล็กขโมยน้อย"  ในความเห็นที่ 19
ดิฉันไม่ใช่แต้จิ๋ว แต่มีเชื้อสายกวางตุ้งค่ะ  เคยได้ยินคุณแม่พูดคำนี้แต่ในอีกความหมายหนึ่ง มือไม่สะอาด แปลว่า กำลังมีประจำเดือน
ไม่ทราบว่า วลีนี้จะใช้ได้กี่ความหมายคะ

เข้าใจว่า การใช้คำว่า "สะอาด" มาพูดถึงเรื่องปจด.ก็เคยได้ยินมานะคะ แต่ไมใช่มือไม่สะอาด มักจะใช้พูดเวลาที่ปจด.ใกล้จะหมด แต่ยังไม่หมด เขาจะเรียกว่ายังไม่สะอาดดี ดังนั้นคำว่า "สะอาด" จึงหมายความว่า หมดไป จบไป นั่นเอง

อีกอย่างหนึ่งคือ ความเชื่อแบบจีน เชื่อว่า ผู้หญิงที่กำลังอยู่ในช่วง ปจด. เป็นช่วงที่ร่างกายไม่สะอาด อย่างเช่น ไปวัดบางวัด เขาจะเขียนไว้ว่าบางสถานที่ห้ามผู้หญิงที่อยู่ในระหว่างปจด.ขึ้นไป หรือเวลาไปงานศพ ข้ามสะพานกงเต๊ก ผู้หญิงที่กำลังมีรอบเดือนก็ต้องเดินใต้สะพาน เพราะเขาถือกันว่าเลือดปจด.เป็นของไม่สะอาด

จะว่าไปแล้ว กางเกงในของผู้หญิงก็เหมือนกันนะคะ ห้ามนำไปตากรวมกับคนในบ้าน เวลาตากผ้าอยู่ ผู้ชายห้ามลอดผ่าน ไม่งั้นจะซวย กรณีนี้ไม่ว่ากางเกงในหรือกางเกงนอกห้ามลอดผ่านทั้งนั้น ผู้ใหญ่เขาเรียกว่า "เฮี้ยม เฮว่" ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามาจากภาษาจีนคำว่าอะไร เพราะแต้จิ๋วเป็นภาษาย่อยที่จริงๆแล้วไม่มีภาษาเขียน การใช้อักษรจีนจริงๆแล้วเป็นการแปลความหมายแล้วเชื่อมโยงกันมากกว่า  จริงๆตอนเด็กๆอาม่าก็ค่อนข้างเคร่งครัดเรื่องนี้นะคะ พอมาอยู่เมืองไทยก็ไม่ได้สนใจเลย

ส่วนที่ถามว่า วลีนี้ใช้ได้กี่ความหมาย อันนี้ไม่ทราบจริงๆค่ะ แต่อีกความหมายหนึ่งคือ "มีความซื่อตรงสุจริต" ค่ะ


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ก.ค. 15, 13:45
ส่วนที่ถามว่า วลีนี้ใช้ได้กี่ความหมาย อันนี้ไม่ทราบจริงๆค่ะ แต่อีกความหมายหนึ่งคือ "มีความซื่อตรงสุจริต" ค่ะ

ตรงนี้ตรงกับสำนวนไทยว่า "มือสะอาด" ซึ่งมาจากสำนวนฝรั่งว่า "clean hands" อีกที  ;D


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 05 ก.ค. 15, 14:55
เรื่องราวในซัวเถา สมัยที่คุณปิ่นยังเป็นเด็กหญิงตัวน้อยๆไม่จบแต่เพียงเท่านี้ใช่ไหมคะ  ;D


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ปิ่น ที่ 05 ก.ค. 15, 17:20
เรื่องราวในซัวเถา สมัยที่คุณปิ่นยังเป็นเด็กหญิงตัวน้อยๆไม่จบแต่เพียงเท่านี้ใช่ไหมคะ  ;D

ยังไม่จบคะ แต่ตอนนี้ยังนึกเรื่องสนุกๆมาเขียนไม่ได้ค่ะ


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 ก.ค. 15, 17:44
ตามประวัติบิดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินก็มาจากซัวเถา ร่ำลือกันว่าคนที่นั่นรู้เกียรติประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินดี (http://topicstock.pantip.com/klaibann/topicstock/2009/03/H7594773/H7594773.html#17) จึงอยากเรียนถามว่าตอนสมัยยังเด็กอยู่ที่ซัวเถาเคยได้ยินเรื่องของพระองค์ท่านจากในโรงเรียนหรือคนที่บ้านบ้างหรือไม่  ???


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ปิ่น ที่ 05 ก.ค. 15, 18:12
ตามประวัติบิดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินก็มาจากซัวเถา ร่ำลือกันว่าคนที่นั่นรู้เกียรติประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินดี จึงอยากเรียนถามว่าตอนสมัยยังเด็กอยู่ที่ซัวเถาเคยได้ยินเรื่องของพระองค์ท่านจากในโรงเรียนหรือคนที่บ้านบ้างหรือไม่  ???

ตัวปิ่นเองไม่เคยได้ยินนะคะอาจารย์ เพราะสถานทที่ปิ่นอยู่ไกลจากที่นั่นมากอยู่ แต่ที่เมือง เถิงไห่(แต้จิ๋ว เถ็ง ไฮ่) สถานที่ที่เชื่อว่าเป็นภูมิลำเนาของพระเจ้าตากสิน ปัจจุบันมีสุสานอยู่ โดยที่ป้ายด้านหน้าเขียนว่า “暹罗郑皇达信大帝衣冠墓” หมายถึง สุสานอาภรณ์ของพระเจ้าตากสินแห่งสยาม

สุสานนี้ไม่ได้มีอัฐิของพระเจ้าตากสิน แต่มีเสื้อผ้าและหมวกของพระเจ้าตากสิน ตามความเชื่อของคนจีนในอดีต ถ้าทหารไปรบแล้วหาศพไม่เจอ แต่ต้องทำหลุมฝังศพ สามารถนำเสื้อผ้าและหมวกของผู้ตายมาฝังแทนได้ เรียกว่า 衣冠墓 นั่นเอง แต่เสื้อผ้าอาภรณ์ที่เขาอ้างว่าเป็นของพระเจ้าตากสิน จริงเท็จแค่ไหนก็ไม่ทราบค่ะ

 "1782年秋,郑信的亲属把他常穿的泰服和华服各1套,运至故乡华富村安葬,建立泰皇郑信衣冠墓。1985年,重修郑信衣冠墓,现墓地为0.2公顷"

ฤดูใบไม้ร่วงในปี ค.ศ. ๑๗๘๒ ญาติของ สิน แซ่แต้ นำชุดไทยและเสื้อผ้าที่เขาใส่เป็นประจำอย่างละ ๑ ชุด ส่งมาฝังที่หมู่บ้านฮั้วฟู่ สร้างเป็นสุสานอาภรณ์ของกษัตริย์ไทยแต้สิน(เจิ้งสิ้น) ปีค.ศ. ๑๙๘๕ ทำการบูรณะใหม่ ปัจจุบันพื้นที่สุสานมีขนาด ๐.๒ เอเคอร์
 


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 05 ก.ค. 15, 19:36
ได้ยินคำว่า'เถ็ง ไฮ่' ทำให้จำได้ถึงเมื่อครั้งที่พวกเราพี่น้องไปตามหารากเหง้าที่ซัวเถา(ความจริงก็หาเรื่องเที่ยวนั่นแหละ ;D)
ดิฉันได้ยินคำว่า 'เถ็ง ไฮ่,ตั่วฉู่ และเตี่ยเอี๊ย' มาในชุดเดียวกัน พวกนี้เป็นชื่อตำบลหรือหมู่บ้านอะไรทำนองนั้นใช่ไหมคะ
ตอนนั้น..หมายถึงตอนที่ได้ยินอาแปะซึ่งเป็นคนที่นั่นพูดคำเหล่านี้ ด้วยความที่ภาษาจีนของดิฉันค่อนข้างแย่ทำให้จับความได้บ้างไม่ได้บ้าง จะถามก็ตั้งคำถามไม่ถูก คิดคำไม่ออก


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ปิ่น ที่ 05 ก.ค. 15, 19:43
ได้ยินคำว่า'เถ็ง ไฮ่' ทำให้จำได้ถึงเมื่อครั้งที่พวกเราพี่น้องไปตามหารากเหง้าที่ซัวเถา(ความจริงก็หาเรื่องเที่ยวนั่นแหละ ;D)
ดิฉันได้ยินคำว่า 'เถ็ง ไฮ่,ตั่วฉู่ และเตี่ยเอี๊ย' มาในชุดเดียวกัน พวกนี้เป็นชื่อตำบลหรือหมู่บ้านอะไรทำนองนั้นใช่ไหมคะ
ตอนนั้น..หมายถึงตอนที่ได้ยินอาแปะซึ่งเป็นคนที่นั่นพูดคำเหล่านี้ ด้วยความที่ภาษาจีนของดิฉันค่อนข้างแย่ทำให้จับความได้บ้างไม่ได้บ้าง จะถามก็ตั้งคำถามไม่ถูก คิดคำไม่ออก

เป็นชื่อสถานที่ค่ะ เถ็งไฮ่ เป็นจังหวัดค่ะ ตั่วฉู่ น่าจะเป็นชื่อเรียกย่านมากกว่าค่ะ เพราะแถวซัวเถาจะมีชื่อแนวๆนี้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็น เจี่ยฉู่(บ้าน ด้านบน) เอ่ฉู่(บ้าน ด้านล่าง) ประมาณนี้ ส่วน เตี่ยเอี๊ย อดีตเคยมีฐานะเป็นจังหวัดค่ะ ภายหลัง ค.ศ.๒๐๐๓ ลูกลดฐานะโอนมาเป็น เขตเตี่ยน้ำ และเขตเตี่ยเอี๊ย ค่ะ


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ค. 15, 08:57
อยากถามเรื่องอาหารการกิน ว่าเช้า กลาง วัน เย็น คนที่นั่นเขากินอะไรกันคะ
แล้วพวกของกินเล่นสำหรับเด็กๆ อย่างขนม มีอะไรบ้าง

อีกข้อคือเรื่องการแต่งกาย  ตอนเด็กๆคุณปิ่นแต่งตัวยังไง   และคุณพ่อคุณแม่สวมชุดแบบไหน


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ปิ่น ที่ 06 ก.ค. 15, 10:26
อยากถามเรื่องอาหารการกิน ว่าเช้า กลาง วัน เย็น คนที่นั่นเขากินอะไรกันคะ
แล้วพวกของกินเล่นสำหรับเด็กๆ อย่างขนม มีอะไรบ้าง

อีกข้อคือเรื่องการแต่งกาย  ตอนเด็กๆคุณปิ่นแต่งตัวยังไง   และคุณพ่อคุณแม่สวมชุดแบบไหน

ตอบอาจารย์เทาชมพูค่ะ

เรื่องอาหารการกิน

เช้า กินข้าวต้มค่ะ กับข้าวส่วนใหญ่จะเป็นง่ายๆ เช่น ไข่เจียวไช้โป๊ว หรือ ไช้โป๊วผัดพริกกับน้ำตาล(พิสดารพอดู ไม่รู้เคยได้กินไหม จริงๆอร่อยดีนะคะ เค็มๆหวานๆเผ็ดๆ) หรือ ถั่วลิสงคั่วเกลือ กับข้าวอย่างอื่นจำไม่ค่อยได้  ถ้าไม่กินข้าวต้ม บางวันที่มีหาบน้ำเต้าหู้มาขายถึงหน้าบ้าน ก็จะซื้อน้ำเต้าหู้ กินกับปาท่องโก๋ (ปาท่องโก๋ที่บ้านปิ่น จะยาวกว่าปาท่องโก๋ไทยประมาณ2เท่าครึ่ง แป้งไม่หนานุ่มอย่างปาท่องโก๋ไทย จะเป็นแบบกรอบๆ) ส่วนน้ำเต้าหู้ที่ซื้อมา บางทีก็ปรุงแบบใส่น้ำตาล หรือไม่ก็เอาไปต้มแล้วใส่ไข่ ฟองเต้าหู้และเต้าหู้ ก็คงแปลกพอๆกัน เพราะคนไทยคงไม่กินแบบนี้ ส่วนพวกผู้ใหญ่ผู้ชาย เช่น อากง ตอนเช้าชอบขี่จักรยานออกไปหาเพื่อน แล้วเลยไปกินอาหารเช้าที่ร้านขายอาหารเช้า ร้านขายอาหารเช้าที่นั่น ปกติจะขาย น้ำเต้าหู้แบบเลือกใส่เครื่องอย่างที่บอกข้างต้น แล้วก็มีลูกเดือยต้มอย่างเค็ม คือ เอาลูกเดือยไปต้มกับกระดูกหมู เคี่ยวจนข้น เหนียว แล้วใส่ไข่ ใส่หมู ใส่ผักชีโรยหน้า เป็นต้น

เที่ยง ปกติแล้วจะกินที่บ้าน ตอนเที่ยงก็กินข้าวต้ม นะคะ โรงเรียนที่เรียนหนังสือเป็นโรงเรียนใกล้บ้าน เพื่อนๆนักเรียนก็เป็นด็กที่อาศัยอยู่แถวนั้น ปกติเราจะเดินเท้าไปเรียนหนังสือ ใครที่บ้านไกลหน่อยก็ขี่จักรยานมา ที่โรงเรียนมีลานจักรยานให้นักเรียนจอด ไม่มีคนไหนที่ผู้ปกครองมาส่ง ฉะนั้นที่โรงเรียนจะไม่มีโรงอาหาร รอเลิกเรียนตอนเที่ยง ส่วนใหญ่จะเดินกลับบ้านไปกินข้าว คนที่บ้านไกลอาจจะหิ้วปิ่นโตมากินที่ห้อง แต่ส่วนใหญ่จะกินที่บ้านค่ะ ตอนเที่ยง อาม่าอาจจะผัดกับข้าวเพิ่มอีกอย่าง แต่โดยปกติแล้วคนที่นี่กินกันอย่างประหยัด พออิ่มท้องเท่านั้น สมัยนั้น ขนมกินเล่นจะไม่ค่อยเห็น ถ้าไม่ได้กินที่บ้าน บางทีก็ไปซื้อก๋วยเตี๋ยวที่ร้านอาหารแถวบ้าน(จะพกหม้อแบบมีหูหิ้วไปด้วย) ก๋วยเตี๋ยวแต้จิ๋ว มีแต่เส้นใหญ่เท่านั้น เส้นใหญ่มีลักษณะ หนาและแคบกว่าเส้นใหญ่ไทย อีกลักษณะหนึ่งที่แม่มักจะบ่น คือ ก๋วยเตี๋ยวไทยนั้น มันและมีรสชาติเปรี้ยว ซึ่งก็จริงอย่างที่แม่บ่นอยู่ ถ้าคนที่ไม่เคยกินก๋วยเตี๋ยวแต้จิ๋วอาจจะไม่รู้สึก แต่เราที่กินมาแล้ว พอมาชิมที่ไทยก็รู้สึกแบบเดียวกันว่า...เปรี้ยว แต่ด้วยความที่ชอบกินก๋วยเตี๋ยวมาตั้งแต่เด็ก พอมาอยู่ที่ไทยแล้วก็ยังชอบกินเส้นใหญ่อยู่ดี นานๆทีจะกินเส้นแบบอื่น

เย็น ข้าวเย็นน่าจะเป็นอาหารมื้อใหญ่สุดของวัน มื้อเย็นโดยปกติแล้วจะกินข้าวสวย สมัยที่ยังไม่มีหม้อหุงข้าว เวลาจะกินข้าวสวยก็ต้องเอาข้าวไปต้ม พอข้าวสุกก็ต้องเอากระชอนตาถี่มาตักข้าวให้สะเด็ดน้ำแห้งดีแล้วจึงกินได้ แบบนี้เรียกว่าหุงข้าวเช็ดน้ำหรือเปล่าหนอ? มื้อเย็นอาจจะมีปลา มีผัดผัก มีเนื้อสัตว์กิน กับข้าวที่กินจริงๆยอมรับว่าจำไม่ได้

อ้อ อีกอย่างที่เป็นข้อสังเกตคือ สมัยนั้น ทุกบ้านเขาใช้น้ำมันหมูกันหมด จะเจียวน้ำมันจากมันหมูเอง พอถึงหน้าหนาว น้ำมันหมูในถ้วยก็จะกลายเป็นไขแข็งๆ เวลาตักขึ้นมาแล้วใส่ในกระทะร้อนๆ สักพักก็ละลายเป็นน้ำมันใสๆ

ส่วนขนม และ เสื้อผ้า สมัยนั้นขอติดไว้ก่อน เผื่อจะไปหารูปมาประกอบ แต่เรื่องเสื้อผ้านี่ เขาตัดเย็บกันเองก็เยอะเหมือนกัน ไปซื้อมาจากข้างนอกก็พอมีบ้าง   


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ปิ่น ที่ 06 ก.ค. 15, 10:30
วันนี้จะมาเล่าเรื่อง คืนไหว้พระจันทร์ในความทรงจำ

อาจจะมีพิธีกรรมที่คนไทยไม่คุ้น เช่น เสี่ยงบุ้งกี๋ เผาเจดีย์ไฟ บูชาหนังสือเรียน

ถ้าไม่ได้มาเขียนกระทู้นี้ บอกตามตรงว่าคงลืมไปหมดแล้ว แต่ขอติดไว้ก่อน เดี๋ยวรอช่วงว่างๆจะมาเขียนให้ค่ะ


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ปิ่น ที่ 06 ก.ค. 15, 12:49
เทศกาลจีนอย่างหนึ่งที่ชาวไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี นอกจาก ตรุษจีนแล้ว เห็นจะเป็นเทศกาลไหว้พระจันทร์

โดยปกติแล้ว กิจกรรมที่ทำในคืนไหว้พระจันทร์ นอกเหนือจากไหว้เจ้า กินขนมไหว้พระจันทร์แล้ว บังเอิญยังนึกขึ้นได้ว่า ตอนเด็กๆเคยมีกิจกรรมอย่างอื่นด้วย

หนึ่งในนั้นคือ การเสี่ยงบุ้งกี๋ นั่นเอง

การเสี่ยงบุ้งกี๋ วิธีทำคือ นำบุ้งกี๋สานมาผูกตะเกียบตรงบริเวณหัวบุ้งกี๋ เสร็จแล้วนำกระจาดสานแบบแบนมาใส่แป้งสาลี(หรือแป้งอย่างอื่นก็ได้)ให้เต็ม จากนั้นคว่ำบุ้งกี๋ให้ตะเกียบจ่ออยู่ที่แป้ง โดยมีสองหรือสามคนหรือมากกว่านั้นมาจับบุ้งกี๋ไว้ มีการอ่านคำเชิญเทพธิดาบุ้งกี๋มาทรงในบุ้งกี๋ จากนั้นก็ถามคำถาม เพื่อให้ตะเกียบที่มัดไว้กับบุ้งกี๋เคลื่อนที่เขียนหนังสือลงบนแป้งนั้นเอง ดูมาถึงตรงนี้ อย่างกะเล่น ผีถ้วยแก้วหรือผีปากกาก็ไม่ปาน ตอนแรกนึกว่าอาจจะเป็นกิจกรรมที่บ้านปิ่นเล่นๆกันเอง เพราะไม่เห็นถิ่นอื่นจะมีกิจกรรมนี้ แต่พอได้ค้นประวัติก็พบว่า ได้ทำกันมาสมัยก่อนแล้ว อย่างน้อยก็ราชวงศ์ชิง

อ้างถึง
清 请紫姑神 。《荆楚岁时记》:『其夕迎紫姑,以卜将来蚕桑,并占众事。』故民间每于正月十五夜用畚箕为架,以扶乩形式迎接她降临,请她保佑蚕桑丰收,人畜平安。虽为一种迷信活动,实则含有对旧社会不幸妇女的深刻同情,并希望她有保护善良人们的神力。

โดยบันทึกไว้ในเอกสาร 《荆楚岁时记》ว่า "ตอนเย็นต้อนรับจี่โกว เพื่อทำนายผลผลิตไหมและใบหม่อน และทำนายเรื่องอื่นๆ" ดังนั้นทุกปีของคืนวันเพ็ญเดือนอ้าย ตามปฏิทินจันทรคติจีน ชาวบ้านจะใช้บุ้งกี๋เป็นโครง เรียกให้ท่านมาทรง เพื่อให้ท่านคุ้มครองผลผลิตไหมหม่อนมีผลดี คนและสัตว์ปลอดภัยมีสุข ถึงแม้เป็นกิจกรรมที่เป็นด้านไสยะ แท้จริงแล้วบ่งบอกความสงสารที่มีต่อผู้หญิงในโลกจรีต และหวังว่าท่าน(เธอ)มีอิทธิฤทธิ์คุ้มครองผู้คนที่มีจิตใจดี

และโชคดีมากที่เจอภาพเขียนแบบโบราณที่มีพิธีนี้อยู่ด้วย

ต้องออกตัวก่อนว่า ตอนต้นบอกว่าที่บ้านปิ่นทำพิธีนี้ในวันไหว้พระจันทร์ เนื่องจากผ่านมาเป็นสิบกว่าปีแล้ว จำรายละเอียดไม่ค่อยได้ว่า สรุปแล้วทำกิจกรรมนี้ในวันเพ็ญเดือนอ้าย(หลังตรุษจีน15วัน) หรือคืนไหว้พระจันทร์ กันแน่ เพราะมีความเป็นไปได้ว่า อาจจะมีการปรับเปลี่ยนไปก็ได้

และเท่าที่จำได้คือ ตอนที่เสี่ยงบุ้งกี๋ มีแต่ผู้หญิงและเด็กที่มาจับบุ้งกี๋ พวกผู้ชายไม่ได้มาเสี่ยงด้วย



กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ปิ่น ที่ 06 ก.ค. 15, 13:19
ไปค้นประวัติของเทพธิดาบุ้งกี๋แล้ว พบว่า ตัวเองอาจจะไม่ได้จำผิดก็ได้ค่ะ

พอจะเล่าประวัติของเทพธิดาบุ้งกี๋ให้ฟังคร่าวๆว่า

紫姑 (จีนกลาง จื่อ กู) (จีนแต้จิ๋ว จี่ โกว) ชื่ออื่นก็ว่า จื่อกู เช่อกู/เหมากู/เคิงกู(เทพธิดาห้องส้วม) เป็น เทพเจ้าห้องสุขาของจีน

โดยตำนานเล่าว่า เดิมชื่อ 何媚 (เหอ เหม้ย) เป็นคนไหลหยาง เล่ากันว่าเป็นอนุของหลี่จิ่งแห่งเมืองโซ่วหยาง เนื่องจากภรรยาหลวงเกิดความริษยาจึงถูกฆ่าตายในห้องสุขาเมื่อคืนวันเพ็ญ เดือนอ้าย โดยอ้างว่า เมื่อจื่อกู ตายแล้วเกิดอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์สามารถทำนายอนาคตได้ จึงกลายเป็นเทพทรงเจ้าของชาวบ้าน

ตอนหลังได้มีการเปลี่ยนแปลง

อ้างถึง
学者认为有许多地区在中秋节的扶乩,皆是由紫姑的习俗所演变。

广东、福建、台湾鹿港等地的篮仔姑使用菜篮为扶乩道具。台湾的椅仔姑使用椅子为扶乩道具。

มีนักวิชาการคิดว่าการเชิญทรงเจ้าของหลายๆท้องที่ในเทศกาลไหว้พระจันทร์น่าจะมีที่มาจากธรรมเนียมจื่อกูนั่นเอง

มณฑลกวางตุ้ง ฮกเกี้ยน ไต้หวัน เป็นต้น มีเทพธิดาตะกร้าที่ใช้ตะกร้าสารเป็นอุปกรณ์ทรงเจ้า ไต้หวันก็มีเทพธิดาเก้าอี้ที่ใช้เก้าอี้เป็นอุปกรณ์ทรงเจ้า [/i]

https://zh.wikipedia.org/wiki/%E7%B4%AB%E5%A7%91

จากน้องวิกี้ค่ะ


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 06 ก.ค. 15, 15:05
ประเพณีของชาวจีนทางใต้ ในช่วงเพ็ญเดือนแปด เขาจะทำพิธีอัญเชิญ เจ้าตะกร้าครับ
ยังไงรบกวนคุณปิ่นลองค้นจากคีย์เวอร์ด “ 请篮姑 ” แล้วเก็บความมาเล่าสู่กันฟังนะครับ


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ปิ่น ที่ 11 ก.ค. 15, 12:12
วันนี้มีรูปสมัยเด็กมาให้ดูค่ะ


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 11 ก.ค. 15, 21:03
ไม่บรรยายภาพหน่อยหรือครับ พอสังเขปก็ได้ วันเวลาสถานที่


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 11 ก.ค. 15, 21:06
เด็กๆดูมีความสุขกันทุกคน


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ปิ่น ที่ 12 ก.ค. 15, 00:01
ซัวเถาค่ะ น่าจะช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๕-๓๗ โดยประมาณค่ะ เป็นบ้านปิ่นหลังที่บรรยายเรื่องบ่อน้ำ (เหยื่อสองคนที่ตกบ่อน้ำสี่เหลี่ยมก็อยู่ในภาพด้วย) บ้านหลังนี้เป็นบ้านทรงแต้จิ๋วดั้งเดิมเลย ทุกบ้านจะสร้างเหมือนๆกันค่ะ

รูปที่ ๑ กับ รูปที่ ๒ จะเห็นว่าด้านซ้ายของภาพมีม่านไม้ไผ่อยู่ เป็นการนำไม้ไผ่มาเหลาเป็นแผ่นเล็กๆ ใช้เชือกอะไรสักอย่างเย็บเป็นผืนยาวเท่าความสูงของบานประตูแล้วเพ้นท์เป็นลวดลายค่ะ เอาไว้กั้นหน้าห้องเหมือนมู่ลี่ค่ะ หนักมาก เวลาไม่ใช้จะม้วนขึ้น ม้วนจากปลายขึ้นบน ด้านบนม่านจะมีเหรียญผูกเชือกเอาไว้ขัดระหว่างซอกไม้ไผ่ม่านเวลาเก็บม่านค่ะ ตอนหลังไปสร้างบ้านทรงสมัยใหม่ ม่านแบบนี้ก็ไม่มีใครนำไปใช้แล้วค่ะ เป็นภูมิปัญญาของชาวแต้จิ๋วแท้เลยค่ะ

รูปที่ ๒ จะสังเกตเห็นเด็กผู้หญิงสามคนรวบผมแบบมีโบว์สีแดงอันใหญ่ผูกอยู่บนหัว โบว์สีแดงนั้นทำจากริบบิ้นชีฟองแบบยาวพับให้เป็นโบว์แล้วติดผมค่ะ ไม่รู้เหมือนกันว่าแฟชั่นนี้มาจากไหนค่ะ แต่สมัยนั้นฮิตมากๆ

รูปที่ ๓ ถ่ายที่หน้าบ้านค่ะ เด็กผู้ชายคนที่ยืนต้นแถวใส่ชุดตำรวจจีน สมัยนั้นก็มีชุดแนวๆนี้ให้เด็กได้สวมใส่ นี่ครบเซทเลยนะ มีหมวกด้วย ส่วนเด็กผู้ชายคนที่โตที่สุดใส่ชุดสีฟ้า สันนิฐานว่าเป็นชุดนักเรียนค่ะ ชุดนักเรียนจีนส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นชุดกีฬาแบบนี้ เสาสองต้นข้างประตูที่เห็นมีขอบขาวๆเหมือนกระดาษนั้น คือ เวลาตรุษจีนจะต้องติด ตุ้ยเลี้ยง หรือกระดาษสีแดงที่เขียนคำมงคล ไว้สองฝั่งประตู ผ่านพ้นปีใหม่ไป กระดาษก็จะเปื่อยและยุ่ยไปในที่สุดค่ะ คงเหลือแต่ที่ทากาวติดอยู่ (กาวสมัยนั้นก็เป็นกาวแบบข้าวเหนียวค่ะ)

ปิ่นอยู่ในภาพทั้งสามภาพเลยค่ะ


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: walai ที่ 12 ก.ค. 15, 08:12

........ตอนนี้ ก็เกิดเป็นภาพปริศนาในใจของผู้ติดตามอ่านกันละค่ะ
........ ???คุณปิ่น..ยืนตรงไหนเอ่ย?ภาพนี้บันทึกมาประมาณ21-23ปีแล้ว ???


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ก.ค. 15, 08:46
คิดว่าคุณปิ่นคือเด็กผู้หญิงที่โตที่สุดในทุกภาพ  ;D


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 15, 08:53
คิดตรงกันเลย ซินแสเพ็ญ


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ปิ่น ที่ 12 ก.ค. 15, 10:10
ไม่ถูกค่ะ อิๆ  รูปที่สามที่ถ่ายที่หน้าบ้านยืมเรียงแถวตามลำดับอายุค่ะ


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: walai ที่ 12 ก.ค. 15, 12:12



................ถ้าเรียงตามอายุ   ขอทายว่า...หนูน้อยชุดชมพู..ค่ะคาดว่าอายุคงห่างจากชุดแดง
................สักสองสามปีละค่ะ :P


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 12 ก.ค. 15, 13:38
คุณปิ่นยังพอจะจำได้ไหมคะว่าโรงเรียนที่ซัวเถาบรรยากาศเป็นยังไง เด็กๆเรียนอะไรบ้าง


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ปิ่น ที่ 12 ก.ค. 15, 14:38
มีใครจะทายอีกไหมคะ มีแค่สองตัวเลือกเองคะ  :P

ตอบคุณแอนนาค่ะ

ที่โรงเรียนก็เรียน ภาษาจีน(语文) คณิตศาสตร์(数学) ธรรมชาติรอบตัว(自然) พละ(体育) ความคิดและคุณธรรม (思想品德) ศิลปะ(美术) ดนตรี(音乐) ประมาณนี้ค่ะ อาจจะมีอีกแต่จำไม่ได้แล้ว

การเรียนจะเรียนประจำห้องค่ะ ไม่ได้เดินเรียน ยกเว้นพละที่จะไปเรียนที่สนาม

ถ้าถามว่าบรรดาวิชาทั้งหลาย วิชาไหนประทับใจที่สุด ก็ต้องบอกว่าวิชาภาษาจีน เพราะต้องท่องบทเรียน สามสี่หน้าก็ต้องท่องจำให้ได้ทุกตัวอักษร แล้วไปท่องให้ครูฟังทีละคนๆ นอกจากนั้นก็ยังต้องคัดบทเรียน จะมีสมุดสำหรับคัดบทเรียนโดยเฉพาะ เป็นช่องสี่เหลี่ยมทีละช่องๆ คัดเกือบทุกวัน จำได้ว่ามีอยู่ครั่งหนึ่ง ปิ่นน่าจะเล่นเยอะไปหน่อย การบ้านไม่เสร็จ คัดบทเรียนจนถึงดึกๆดื่นๆ

สอบก็มีบ่อยมาก จบบทนึงก็สอบทีนึง ข้อสอบเป็นกระดาษหนึ่งแผ่น น่าจะขนาดเอสี่หรือเอฟสี่ ข้อสอบจะอาจจะมีแค่หน้าเดียวหรือสองหน้า ข้อสอบภาษาจีนต้องแต่งเรียงความตั้งแต่เด็ก ชั้นเล็กๆก็เขียนเล่นเรื่องตามภาพ ชั้นโตหน่อยก็ต้องแต่งเรียงความละ ถ้าสอบตก ก็ต้องคัดข้อสอบใหม่พร้อมแก้คำตอบ วิธีการคือไปร้านเครื่องเขียนซื้อกระดาษที่มีขนาดเท่ากระดาษข้อสอบ แล้วมาทาบคัดตาม เหมือนกระดาษลอกลายเลย

ปิดเทอมก็มีการบ้านทุกวิชา เนื้อหาของชั้นปีต่อไป ส่วนใหญ่ก็ทำไม่ได้หรอก ก็มั่วๆแล้วไปส่งตอนเปิดเทอม ชั้นโตหน่อยต้องเขียนไดอารี่ทุกวันตอนเปิดเทอมไปส่ง วิชาเลขต้องท่องตารางสูตรคูณตั้งแต่ป.๒

โต๊ะเรียนเป็นโต๊ะแบบนั่งคู่ เก้าอี้ก็เช่นกัน ใต้โต๊ะมีช่องให้เก็บกระเป๋านักเรียน (รูปแบบโต๊ะและเก้าอี้ตามรูปแนบเลย แบบเดียวกันค่ะ)

มีเวรเหมือนกัน ต้องทำเวรห้องเรียนตอนเลิกเรียน มีเวรทำความสะอาดห้องน้ำด้วย ถ้าจำไม่ได้ผิด ที่โรงเรียนจัดเวรรับผิดชอบส่วนต่างๆของโรงเรียนตามชั้นปี บางชั้นต้องไปทำความสะอาดสวนหย่อม บางชั้นต้องไปทำความสะอาดห้องน้ำชาย/หญิง แล้วแต่โรงเรียนจะจัดสรรให้ทำ ตอนนั้นก็ไม่ได้รู้สึกว่าเหนื่อยอะไร ถ้าจะปิดเทอมต้องทำความสะอาดครั้งใหญ่กันทุกห้อง ทุกคนต้องเอาแปรง ไม้กวาด จากบ้านมา แล้วช่วยกันขัดห้องเรียนให้สะอาด ได้สาดน้ำกันสนุกเลย (มีบรรยากาศมาให้ชมค่ะ)

แนบรูปหนังสือเรียนค่ะ


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 12 ก.ค. 15, 15:04
เรียนเขียนพู่กันจีนหรือเปล่าคะ


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ก.ค. 15, 15:39
อักษรจีนแปดตัวเหนือกระดานดำ 好好学习  天天向上 เรียนรู้หนักครัน  ทุกวันก้าวหน้า ดูจะเป็นคำขวัญสำคัญของการศึกษาจีน


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ธสาคร ที่ 13 ก.ค. 15, 03:18
ผมรู้จักเทศกาลหยวนเซียวจากเรื่องอ่านเล่นทั่วไป  อ่านแล้วก็จินตนาการเอาเองว่าคงเป็นอย่างนั้นอย่างนี้  ไปถามพ่อ  พ่อก็ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร  ประมาณว่าแต้จิ๋วไม่มีเทศกาลนี้  ทั้งๆที่ภูมิภาคอื่นในจีนเขาถือเป็นเทศกาลรื่นเริงใหญ่ที่สุดก็ว่าได้  เมื่อหลายปีก่อนผมเลยเป็นตัวตั้งตัวตีชวนพ่อกับเพื่อนพ่อกลุ่มใหญ่ไปชมเทศกาลหยวนเซียวที่ไต้หวัน (พ่อและเพื่อนพ่อ เป็นลูกจีน generation แรกที่เกิดในไทย)
ผมอยากทราบว่า  ซัวเถาในความทรงจำของคุณปิ่น  มีเทศกาลหยวนเซียวไหมครับ?

เรื่องนโยบายลูกคนเดียว  การแอบซ่อนผู้หญิงท้องไว้ในห้องลับ  ผมก็เคยได้ยินมา  แต่ผมสงสัยว่า  ต่อให้แอบซ่อนสำเร็จ  จนได้ลูกมากกว่า 1 คน  แต่เวลาจดทะเบียนเกิด  จะทำอย่างไร  ลูกคนที่ 2, 3, ... ถ้าจดทะเบียนเกิดไม่ได้  ก็กลายเป็นคนเถื่อน  จะเข้าเรียนหนังสืออย่างไร?  ต่อไปก็ไม่มีบัตรประชาชน  สมัครงานก็ไม่ได้ด้วย

ดูจากรูปถ่ายวัยเด็กของคุณปิ่น  พบว่ามีสามล้อเด็ก  เสื้อผ้าก็สวยสดงดงาม  ไฉนลูกโป่งยังสร้างความตื่นเต้นให้คุณปิ่นได้อยู่อีก?


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ธสาคร ที่ 13 ก.ค. 15, 04:39
ผมติดตามพ่อไปเยี่ยมญาติที่ซัวเถาในปี 2535  ผู้ใหญ่เขานั่งคุยกัน  ผมฟังไม่รู้เรื่องก็นั่งเฉยๆ  บรรยากาศห้องในบ้านมืดทึม  จำไม่ได้ว่าเปิดหลอดไฟหรือเปล่า  แต่ไม่น่าเปิดหรอก  เพราะจำได้ว่า  ตั้งตะเกียงไว้ดวงหนึ่ง  แสงเพียงริบหรี่ (ตั้งระดับไส้ตะเกียงไว้สั้นๆ เพื่อประหยัดน้ำมัน)  หน้าต่างก็ไม่มี, ผนังเป็นปูนหนาๆ, ธรณีประตูเป็นหิน, พื้นเป็นดินอัดแน่น  สัตว์เลี้ยงเช่น ไก่ หมู เดินเข้านอกออกในบ้านกันตามสบาย

เห็นเด็กจีนเขาเล่นไพ่กระดาษที่พิมพ์เป็นรูปตัวละครในวรรณกรรมจีน  ผมยังให้ญาติชาวจีนพาไปซื้อบ้าง  เก็บไว้เป็นที่ระลึก

ธนบัตรเมืองจีน โดยเฉพาะใบปลีกที่ราคาต่ำกว่า 1 หยวน  สภาพยับย่น-ขาดวิ่น-มอมแมม-ถูกขยำเป็นก้อนๆ  เวลารับเงินทอน  ผมต้องคลี่ออกดู  เพราะดูไม่ออกว่าเป็นแบงค์อะไร

สินค้าหัตถกรรมเมืองจีน  สวยมากและถูกมาก (พ.ศ.2535) จนอยากจะซื้อให้หมดทุกชิ้น  แต่กลัวว่าจะขนขึ้นเครื่องบินไม่ไหว  ภายในร้านไม่เปิดไฟซักดวง  พนักงานก็ไม่สนใจลูกค้า (บริการใช้ได้ หยิบยกนั่นนู่นนี่ ไม่มีบ่นหรือหน้างอ แต่ไม่สนใจลูกค้า) สภาพเปลือกนอกของร้านค้าเหมือนร้านใกล้เจ๊ง  ไม่มีป้ายเชิญชวนดึงดูดสายตา  ผมเดินเข้าร้านไปงั้นๆแหละ (เพราะตลอดทั้งถนน ไม่มีอะไรจะให้ดูนักหรอก) พอเข้าไปในร้านเท่านั้นแหละ...อู้หูกันเลย

นั่งสามล้อถีบ  ตกลงราคากันที่3หยวน  มันขี่ไปเจอเพื่อนที่ขี่สวนมา  จึงหยุดเจรจากันซักพัก  น้ำเสียงไม่พอใจอะไรบางอย่าง  แล้วต่างคนต่างขี่แยกย้ายกันไป  แม่ข้าพเจ้าแปลให้ฟังว่า  มันเจรจาขายข้าพเจ้ากับแม่ให้เพื่อนมันในราคา2หยวน  เพื่อนมันบอกว่าต้องได้ราคา3หยวนเท่ากันสิ  ก็เลยโชคดีไปที่ข้าพเจ้ากับแม่ไม่ต้องย้ายคัน  มันยังมีหน้าหันมาระบายกับแม่ด้วยว่า "ดูซิ เพื่อนมันโง่ไหม ให้ราคา2หยวน ยังไม่ยอมเอา"

ถนนในหมู่บ้าน  ผู้คน-หาบเร่-แผงลอย เป็นเจ้าถนน  ไม่สนใจไยดีกับรถยนต์  ประหนึ่งว่ารถยนต์เป็นอากาศธาตุ  รถยนต์ต้องคืบคลานไปด้วยความเร็วเท่ากับคนเดิน  บางครั้ง(บ่อยครั้ง)ที่คนขับต้องเปิดกระจกออกไปตวาดเพื่อขอทาง  มือหนึ่งจับพวงมาลัย  อีกมือคอยผลักคนให้เซออกไปให้ห่างจากรถ (ขนาดว่าหน้ารถแหวกฝูงคนไปได้แล้ว ยังต้องมาแหวกตอนช่วงกลางคันรถอีกด้วย)

ปากซอยที่ต้องเดินเท้าเข้าบ้านญาติ  เป็นร้านขายสัตว์พะโล้  ต้องใช้คำกว้างๆว่า"สัตว์"จริงๆ  เพราะมีทั้ง หมาพะโล้ แมวพะโล้ แขวนให้เห็นกันจะๆแบบเต็มตัวหัวจรดหาง

ระหว่างรถบัสวิ่งอยู่บนทางหลวงชนบท  จู่ๆก็เหยียบเบรกกระทันหัน  จนผู้โดยสารหัวคะมำ  คนขับรถกำลังเอะอะเอ็ดตะโรใส่คนที่อยู่บนถนน  เรานึกว่าเกิดอุบัติเหตุ  ที่แท้เจ้าหมอนั่นมันกระโดดมาขวางถนน  เพื่อมาขอตังค์ใช้


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ปิ่น ที่ 13 ก.ค. 15, 11:24
เทศกาลหยวนเซียวจากเรื่องอ่านเล่นทั่วไป  อ่านแล้วก็จินตนาการเอาเองว่าคงเป็นอย่างนั้นอย่างนี้  ไปถามพ่อ  พ่อก็ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร  ประมาณว่าแต้จิ๋วไม่มีเทศกาลนี้  ทั้งๆที่ภูมิภาคอื่นในจีนเขาถือเป็นเทศกาลรื่นเริงใหญ่ที่สุดก็ว่าได้  ซัวเถาในความทรงจำของคุณปิ่น  มีเทศกาลหยวนเซียวไหมครับ?

เรื่องนโยบายลูกคนเดียว  การแอบซ่อนผู้หญิงท้องไว้ในห้องลับ  ผมก็เคยได้ยินมา  แต่ผมสงสัยว่า  ต่อให้แอบซ่อนสำเร็จ  จนได้ลูกมากกว่า 1 คน  แต่เวลาจดทะเบียนเกิด  จะทำอย่างไร  ลูกคนที่ 2, 3, ... ถ้าจดทะเบียนเกิดไม่ได้  ก็กลายเป็นคนเถื่อน  จะเข้าเรียนหนังสืออย่างไร?  ต่อไปก็ไม่มีบัตรประชาชน  สมัครงานก็ไม่ได้ด้วย

ดูจากรูปถ่ายวัยเด็กของคุณปิ่น  พบว่ามีสามล้อเด็ก  เสื้อผ้าก็สวยสดงดงาม  ไฉนลูกโป่งยังสร้างความตื่นเต้นให้คุณปิ่นได้อยู่อีก?

คุณธสาครมีหลากประเด็น แยกเป็น 3 คำถามนะคะ

1. เทศกาล หยวนเซียว(จีนกลาง) งวงเสี่ยว(แต้จิ๋ว) 元宵节 ถ้าตามเรื่องอ่านเล่น เช่น นิยายละก็ ต้องมีฉากที่พระเอกกับนางเอกเจอกันระหว่างชมโคมอยู่ที่ตลาดแล้วปิ๊งกันแน่เลย เขาก็ว่า เทศกาลหยวนเซียวเป็นวาเลนไทน์จีนที่นอกเหนือจากเทศกาลชีซี เทศกาลงวงเซียวที่ดังๆก็จะมีกิจกรรม ชมโคม ทายปริศนาที่เขียนบนโคม กินบัวลอย อย่างอื่นไม่ทราบจริงๆ แต่ถ้างวงเซียวที่แต้จิ๋ว...ในความทรงจำของปิ่นคือ...ว่างเปล่าคะ จำไม่ได้ หนึ่งก็อาจจะเพราะ เทศกาลต่างๆมีเยอะมากจนจำไม่ได้ว่าอันไหนเป็นอันไหน สองคือ ที่ซัวเถาไม่นิยมชมโคม ทายปริศนาโคมเหมือนถิ่นอื่นๆ สามคือ เทศกาลดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นการไหว้เจ้าซะมากกว่าซึ่งไม่เป็นที่สนใจของเด็กอย่างเรา ปิ่นก็เลยลองไปค้นในเว็บไซต์ ก็พบว่า เทศกาลงวงเสี่ยวของแต้จิ๋ว หลักๆคือ มีการเชิญเหล่าเอี๊ยจากซูตึ๊งหรือศาลเจ้าไปเดินวนรอบหมู่บ้าน มีแห่เป็นการครึกครื้น... ในความทรงจำพอจะจำได้ว่ามีพิธีนี้ แต่การแห่เหล่าเอี๊ยก็มีหลายเทศกาลเช่นกัน ไม่แน่ใจว่าเกิดขึ้นในงวงเสี่ยวด้วยหรือเปล่า แล้วก็เห็นว่าได้นำเจดีย์น้ำตาล 糖塔 สิงโตน้ำตาล 糖狮 ไปไหว้ที่ศาลเจ้าด้วย (แนบรูปให้ชมค่ะ)

2. นโยบายลูกคนเดียว การซ่อนผู้หญิงท้องในห้องลับ ประสบกับตัวเองมาโดยตรง เล่าไปแล้วว่า พวกแม่กับป้าไปซ่อนที่บ้านญาติเวลาเจ้าหน้าที่มาตรวจ การซ่อนนี้ คือ 1. ซ่อนผู้หญิงที่มีลูกแล้ว และยังไม่ได้ทำหมัน ไม่จำเป็นว่าต้องท้อง เพราะเจ้าหน้าที่เขาจะจับไปทำหมัน(จริงๆก็ยิ่งกว่าจับหมาจับแมวไปทำหมันอีก) ส่วนผู้หญิงท้องนี่ ไม่แน่ใจว่าจะถูกจับทำแท้งหรือเปล่า เพราะไม่เคยได้ยินมาก่อน นอกจากโตแล้วไปเห็นข่าวว่ามี เด็กที่เกิดมาโดยไม่ได้ไปขึ้นทะเบียนเกิดเรียกว่า "เฮก โฮ่ว" 黑户 คือคนเถื่อนนั่นเอง คิดว่าเรื่องนี้ คนเมืองน่าจะซีเรียสกว่ามาก บางคนก็ต้องเอาลูกไปฝากขึ้นชื่อเป็นลูกของญาติ บางคนก็เสียค่าปรับแล้วขึ้นทะเบียนได้ หลักๆคือ เสียค่าปรับนั่นแหละค่ะ แต่ถ้าอยู่บ้านนอกและมีเส้นสายจะไม่มีปัญหาสักเท่าไหร่ เพราะการจับกุมไม่เข้มงวด และใครๆก็ทำกัน ขนาดเจ้าหน้าที่เองก็มีลูกหลายคน

3. ฐานะทางบ้านปิ่นในขณะนั้นถือว่า มีข้าวให้กินอิ่ม ไม่อดอยาก มีสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต แต่ไม่ได้ร่ำรวยอะไร สมัยปิ่นเป็นเด็ก แถวบ้านไม่มีใครใส่เสื้อผ้าแบบมีรอยปะ (补丁) กันแล้ว ไฟฟ้าก็เข้าถึงแล้ว เพียงแต่ ของเล่นยังไม่ได้มีให้เล่น อย่างขายลูกโป่งเนี่ย ของไทยอาจจะตามซื้อได้ในงานวัด ที่ซัวเถาเอง ไม่ได้มีงานแบบนั้น จะหาซื้อก็ไม่มีขาย ดังนั้นเด็กๆจึงตื่นเต้นกัน ไม่เกี่ยวกับว่ามีเงินหรือไม่มีเงิน แต่คือหาซื้อยากนั่นเอง ส่วนใหญ่เด็กสมัยนั้น บ้านใกล้เรือนเคียงจะออกมาเล่นด้วยกันตอนเย็นก่อนกินข้าวมากกว่า พอตัวมอมแมมก็จะถูกลากกลับบ้านไปอาบน้ำแล้วกินข้าว ตกดึกแล้วถนนไม่มีคนเลย ไม่มีnight lifeเลย จนเดี๋ยวนี้เอง อยู่ที่เมืองไทย เวลาไปกินข้าวข้างนอกดึกๆ แม่ก็ยังพูดว่า ชีวิตดีเนอะ ขับรถไปกินข้าวถึง หับซัว (峡山) ซึ่งหมายถึง ตัวเมืองที่เจริญที่สุดแล้วในขณะนั้น และจากบ้านจะไปที่นั่นก็ต้องนั่งรถสามล้อที่เรียกว่า ก่อยเชีย (街车) ไป คำว่า "ก่อย" เนี่ย เสียงเหมือนกับคำว่า "ไก่" ตอนเด็กๆ ปิ่นก็เอาแต่สงสัยว่า ทำไมรถมันถึงเรียกว่า "รถไก่" มันเกี่ยวกับอะไรกับไก่ มันใช้ขนไก่ไปขายหรือ เวลาว่างจากส่งไก่ก็มาส่งคนหรือเปล่า จริงๆแล้ว คำว่า "ก่อย" ในที่นี้ หมายถึง "ถนน" ค่ะ ;D  แม่จะพูดว่า นี่ถ้าอยู่ที่บ้านเก่าจะมีแบบนี้เรอะ ตกดึกก็ปิดประตูเข้าบ้านกันหมดแล้ว กิจกรรมยามดึกก็นั่งดูทีวีเป็นครอบครัวใหญ่อยู่ที่โถง ดูเสร็จก็แยกย้ายกันไปนอนค่ะ


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ปิ่น ที่ 13 ก.ค. 15, 11:48
ผมติดตามพ่อไปเยี่ยมญาติที่ซัวเถาในปี 2535  ตั้งตะเกียงไว้ดวงหนึ่ง  แสงเพียงริบหรี่ (ตั้งระดับไส้ตะเกียงไว้สั้นๆ เพื่อประหยัดน้ำมัน)  หน้าต่างก็ไม่มี, ผนังเป็นปูนหนาๆ, ธรณีประตูเป็นหิน, พื้นเป็นดินอัดแน่น  สัตว์เลี้ยงเช่น ไก่ หมู เดินเข้านอกออกในบ้านกันตามสบาย

เห็นเด็กจีนเขาเล่นไพ่กระดาษที่พิมพ์เป็นรูปตัวละครในวรรณกรรมจีน  ผมยังให้ญาติชาวจีนพาไปซื้อบ้าง  เก็บไว้เป็นที่ระลึก

ธนบัตรเมืองจีน โดยเฉพาะใบปลีกที่ราคาต่ำกว่า 1 หยวน  สภาพยับย่น-ขาดวิ่น-มอมแมม-ถูกขยำเป็นก้อนๆ  เวลารับเงินทอน  ผมต้องคลี่ออกดู  เพราะดูไม่ออกว่าเป็นแบงค์อะไร

สินค้าหัตถกรรมเมืองจีน  สวยมากและถูกมาก (พ.ศ.2535) จนอยากจะซื้อให้หมดทุกชิ้น  แต่กลัวว่าจะขนขึ้นเครื่องบินไม่ไหว  ภายในร้านไม่เปิดไฟซักดวง  พนักงานก็ไม่สนใจลูกค้า (บริการใช้ได้ หยิบยกนั่นนู่นนี่ ไม่มีบ่นหรือหน้างอ แต่ไม่สนใจลูกค้า) สภาพเปลือกนอกของร้านค้าเหมือนร้านใกล้เจ๊ง  ไม่มีป้ายเชิญชวนดึงดูดสายตา  ผมเดินเข้าร้านไปงั้นๆแหละ (เพราะตลอดทั้งถนน ไม่มีอะไรจะให้ดูนักหรอก) พอเข้าไปในร้านเท่านั้นแหละ...อู้หูกันเลย

นั่งสามล้อถีบ  ตกลงราคากันที่3หยวน  มันขี่ไปเจอเพื่อนที่ขี่สวนมา  จึงหยุดเจรจากันซักพัก  น้ำเสียงไม่พอใจอะไรบางอย่าง  แล้วต่างคนต่างขี่แยกย้ายกันไป  แม่ข้าพเจ้าแปลให้ฟังว่า  มันเจรจาขายข้าพเจ้ากับแม่ให้เพื่อนมันในราคา2หยวน  เพื่อนมันบอกว่าต้องได้ราคา3หยวนเท่ากันสิ  ก็เลยโชคดีไปที่ข้าพเจ้ากับแม่ไม่ต้องย้ายคัน  มันยังมีหน้าหันมาระบายกับแม่ด้วยว่า "ดูซิ เพื่อนมันโง่ไหม ให้ราคา2หยวน ยังไม่ยอมเอา"

ถนนในหมู่บ้าน  ผู้คน-หาบเร่-แผงลอย เป็นเจ้าถนน  ไม่สนใจไยดีกับรถยนต์  ประหนึ่งว่ารถยนต์เป็นอากาศธาตุ  รถยนต์ต้องคืบคลานไปด้วยความเร็วเท่ากับคนเดิน  บางครั้ง(บ่อยครั้ง)ที่คนขับต้องเปิดกระจกออกไปตวาดเพื่อขอทาง  มือหนึ่งจับพวงมาลัย  อีกมือคอยผลักคนให้เซออกไปให้ห่างจากรถ (ขนาดว่าหน้ารถแหวกฝูงคนไปได้แล้ว ยังต้องมาแหวกตอนช่วงกลางคันรถอีกด้วย)

ปากซอยที่ต้องเดินเท้าเข้าบ้านญาติ  เป็นร้านขายสัตว์พะโล้  ต้องใช้คำกว้างๆว่า"สัตว์"จริงๆ  เพราะมีทั้ง หมาพะโล้ แมวพะโล้ แขวนให้เห็นกันจะๆแบบเต็มตัวหัวจรดหาง

ระหว่างรถบัสวิ่งอยู่บนทางหลวงชนบท  จู่ๆก็เหยียบเบรกกระทันหัน  จนผู้โดยสารหัวคะมำ  คนขับรถกำลังเอะอะเอ็ดตะโรใส่คนที่อยู่บนถนน  เรานึกว่าเกิดอุบัติเหตุ  ที่แท้เจ้าหมอนั่นมันกระโดดมาขวางถนน  เพื่อมาขอตังค์ใช้

1. สมัยเด็กๆ ที่บ้านก็มีเลี้ยงเป็ด ไก่ หมู นะคะ ที่เลี้ยงเป็นสัดส่วนค่ะ ที่บ้านปิ่นเลิกเลี้ยงก่อนบ้านยายค่ะ ตอนเด็กๆไม่ค่อยได้อยู่บ้านตัวเอง เป็นเด็กฝากบ้านยายค่ะ เรื่องที่นำมาเล่าก็มีทั้งบ้านตัวเองและบ้านยายปะปนไป บ้านปิ่นเองเนื่องจากคุณพ่อทำงานที่มณฑลอื่น จะมีของที่ทันสมัยกว่า แต่บ้านยายจะโบราณกว่านิดนึง บ้านปิ่นเอง เท่าที่จำได้เคยเลี้ยงไก่ ไม่ได้เอาไว้ขายนะคะ น่าจะเอาไว้เก็บไข่กินหรือใช้ไหว้เจ้าช่วงเทศกาล จำได้ว่า เคยมีเด็กข้างนอกมาขโมยไข่ไก่และต้มกินในเล้าไก่ พอเรารู้นี่โกรธมากเลย ไปซุ่มจับเด็กนั่นอยู่ที่เล้าไก่กับพี่สาวด้วย สุดท้ายจับได้หรือเปล่าก็จำไม่ได้ 555 ตะเกียงนี่พอจะนึกออกว่าเคยเห็นที่บ้านยาย ยายจะจุดไว้เวลาไหว้เจ้า จะมีเจ้าองค์หนึ่งที่วางกระจาดไว้บนหลังคาเตียง (เป็นเตียงโบราณแบบมีเสาสี่เสาและมีมุ้ง) เวลาถึงเทศกาลจะไหว้ก็ต้องเอากระจาดมาตั้งไว้บรเตียงแล้วเอาอาหารคาวหวานมาตั้งในกระจาด ปักธูปค่ะ... แต่เอ แม่เหมือนจะไม่ได้ไหว้นานแล้วนะ พอไหว้เจ้าองค์นี้ก็ต้องเอาตะเกียงมาจุดไว้ ไม่รู้ทำไมเหมือนกันค่ะ ไม่งั้นก็เวลาไฟดับค่ะ จุดเทียน จุดตะเกียง ทำการบ้านก็ไม่ได้ 555 เด็กๆนั่งรวมกันฟังยายเล่าเรื่องสมัยสาวๆ แต่ยายเล่าอะไรก็จำไม่ได้แล้ว

2. ไพ่กระดาษนั่น คือตำนานของเด็กยุค 80 ที่จีนเลย เรียกว่า "ฮอบนังเกี้ย" วิธีเล่นคือใช้มือ ตบให้เกิดลมแล้วถ้า ไพ่ของเราไปทับของอีกฝ่ายเราก็จะได้ไพ่ของอีกฝ่ายมาค่ะ เด็กผู้หญิงไม่ค่อยชอบเล่น เด็กผู้ชายชอบเล่นมากกว่า

3. ธนบัตรที่ "แต้จิ๋ว" มีสภาพขาดๆนี่แหละ จนปิ่นนึกว่าแบงค์ของที่อื่นๆก็มีสภาพเหมือนกัน คือ ก่อนมาเมืองไทยก็ใช้ชีวิตอยู่แต่ในหมู่บ้านไม่ได้ไปไหน เมื่อมาอยู่เมืองไทยสัก10ปีได้กลับไป ถึงรู้ว่า ธนบัตรของคนเมืองไม่ได้ขาดอย่างบ้านเรา 555 สันนิฐานว่า ซัวเถาส่วนที่ไม่ได้เป็นตัวเมือง ออกไปข้างนอกลำบาก ทำให้ธนบัตรที่หมุนเวียนในหมู่บ้านเปลี่ยนมือกันอยู่แค่ในหมู่บ้าน เมื่อแบงค์เก่าไม่ออกไปข้างนอก แบงค์ใหม่ก็ไม่ได้เข้ามา นานๆไปก็ขาดและเปื่อยอย่างนั้นแหละ

4. ร้านขายของชำในหมู่บ้าน เขาไม่จำเป็นต้องทำการตลาด เพราะลูกค้าเป็นคนในหมู่บ้านนั่นแหละ ร้านก็มีอยู่ไม่กี่ร้าน ไม่มีลูกค้าใหม่ด้วย เพราะคนในหมู่บ้านอยู่กันเป็นถาวร ไม่มีบ้านเช่า ดังนั้นกลุ่มลูกค้าคงที่ ไม่เจ๊งแน่นอน

5. คุณธสาครไปอยู่ตัวเมืองหรือเปล่าคะ เพราะสมัยที่ปิ่นอยู่แทบจะไม่เคยเห็นรถยนตร์เลย

6. อาหารพะโล้เป็นอาหารขึ้นชื่อของชาวแต้จิ๋ว 卤味 แต่ส่วนใหญ่ ขาย ไก่ เป็ด ห่าน หมู ส่วน หมากับแมว ไม่เคยเห็นขายกันอย่างนั้นนะคะ ต้องสารภาพว่า เคยกินเนื้อหมามา 1 ครั้งตอนเด็กๆ ที่บ้านยาย ไม่รู้เพราะอะไร แต่นานมาแล้ว หลังๆแทบจะไม่เคยเห็นมีใครกินเนื้อหมาเลยค่ะ


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ธสาคร ที่ 15 ก.ค. 15, 03:44
เรื่องผู้หญิงท้องกับนโยบายลูกคนเดียว  ผมยังไม่เคยได้ยินถึงขั้นจับไปทำแท้ง  ได้ยินแต่เพียงว่า  หากเจ้าหน้าที่เจอผู้หญิงท้อง  เขาจะจับไปอยู่รวมกัน  พอคลอดปุ๊บ  ก็ทำหมันปั๊บ  แต่จีนเป็นประเทศใหญ่  แต่ละภูมิภาคอาจใช้มาตรการหนักเบาแตกต่างกันตามอัธยาศัยของเจ้าหน้าที่  ตามที่คุณปิ่นเล่าว่า “ขนาดเจ้าหน้าที่เอง ก็มีลูกหลายคน”  อย่างนี้ก็สื่อได้ว่า  นโยบายนี้ไม่ได้ทารุณถึงขนาดปูพรมแดง(เลือด)  เพียงแต่ว่าจีนมีประชากรตั้งพันล้าน  คนที่ถูกทำแท้งแม้เพียง 0.01%  ก็ยังคิดเป็นจำนวนคนตั้ง1แสนคน

ข้อสันนิษฐานแบงค์ปลีกมีสภาพทรุดโทรม  ฟังสมเหตุสมผล

เรื่องรถยนต์ขับแหวกเข้าไปในฝูงชน  เรื่องหมาแมวพะโล้  สถานที่คืออำเภอเถ่งไฮ่,  หมู่บ้าน(หรือตำบลก็ไม่รู้)เน่ยเอ๋ (เน้ย-ดอกบัว  เอ๋-ข้างล่าง)

ผมพักที่โรงแรมก๊กจี่  พ่อไปทำธุระจัดการสะสางเรื่องเงินให้เรียบร้อย (ไม่งั้น เดี๋ยวญาติทะเลาะกัน)  รวมทั้งนำเงินไปมอบให้ครอบครัวอื่น (รับฝากธุระมาจากเมืองไทย) 

ส่วนผมกับแม่อยู่ว่าง  ก็เลยเดินเล่นละแวกโรงแรมนั้นเอง  ร้านขายสินค้าหัตถกรรมที่ผมพูดถึง  อยู่ในเขตเมืองทั้งหมด  มีตั้งแต่ร้านศิลปินเดี่ยว(ขายรูปวาด)  ไปจนถึงร้านใหญ่มากๆ  ซึ่งน่าจะเป็นร้านของรัฐบาล  เพราะสินค้ามีความหลากหลาย  และเป็นของมีค่าสูง เช่น หยกแกะสลักก้อนโตๆ  ตุ๊กตาดินเผาฝีมือละเอียดประณีต 
ตั้งใจจะกลับไปซื้ออีกรอบ  เอาให้หนำใจ  แต่ก็ไม่ได้กลับไปซัวเถาอีกเลย  เพราะอาม่าอายุมากขึ้นเรื่อยๆ  ไม่สามารถเดินทางไกลได้อีก  จนในที่สุดท่านก็เสียไป  ญาติผู้ใหญ่ที่จีนก็ทยอยลาโลกไปเช่นกัน  โครงการเยี่ยมญาติก็เป็นอันหยุดไปตั้งแต่คราวนั้น


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ธสาคร ที่ 15 ก.ค. 15, 03:54
พ่อผม เพื่อนพ่อ และคุณปิ่น ลงความเห็นตรงกันว่าชาวแต้จิ๋วไม่มีธรรมเนียมชมโคมไฟในเทศกาลง่วงเซียว  จะมีก็เพียงแต่ไหว้เจ้าเท่านั้น  ซึ่งคงไม่อาจเรียกเป็นงานเทศกาลโคมไฟได้
ผมแนบรูปงานประดับโคมไฟที่ไต้หวันมาให้ดู

รูปล่างสุด  ที่เห็นเป็นแนวไฟระยิบระยับสุดสายตานั่นคืองานเดียวกัน  กินเนื้อที่เป็นพันไร่ (ใหญ่มากกกก)
จัดแสดงแยกเป็นโซนต่างๆ  ทั้งโคมไฟรูปแบบดั้งเดิม  ทั้งตกแต่งเป็นรูปคน รูปสัตว์  เป็นไฟราว-ไฟพวงแบบเทศกาลคริสต์มาส  งานออกร้าน-ขายของ


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ธสาคร ที่ 15 ก.ค. 15, 04:26
ไพ่กระดาษที่ผมพูดถึง  ไม่รู้จะใช่ "ฮอบนังเกี้ย" หรือเปล่า
แต่ละรูปมีขนาด 3x4cm  ยังไม่ได้ตัดแยกเป็นใบๆ (ติดกันเป็นแผ่นใหญ่แผ่นเดียว)
ผมสแกนด้านหลังมาแปะเทียบเคียงเอาไว้  เผื่อว่าคุณปิ่นหรือผู้รู้ภาษาจีนท่านอื่นผ่านมา  จะช่วยกันแปลให้เป็นที่ครึกครื้น

พ่อผมทราบแต่เพียงว่าเป็นเทวนิยาย  มนุษย์รบกันโดยมีเทพเจ้าถือหางมนุษย์แต่ละฝ่าย (ทำนองเดียวกับเทพนิยายกรีก สงครามกรุงทรอย)
ชื่อเทพเจ้าแต่ละองค์  พ่อผมอ่านออกแค่ไม่กี่ตัว


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ธสาคร ที่ 15 ก.ค. 15, 04:28
ต่อ...


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 15 ก.ค. 15, 09:25
ผมเคยพาคุณแม่กลับไปเมืองจีนเมื่อราวปี 28 เวลานั้นบรรยากาศการปิดกั้นชาวบ้านออกจากขนบธรรมเนียมจีนเก่าตามนโยบายท่านผู้นำยังฟุ้งแรงอยู่ การเก็บกระถางธูปไว้เซ่นไหว้เจ้ายังเป็นสิ่งผิด  ตามวัดและศาลเจ้าที่รอดพ้นจากการกวาดล้างระบบความเชื่อเก่า แม้จะให้คนจีนทั่วไปเข้าชม

แต่จะอนุญาตให้เฉพาะคนจากต่างแดนที่กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดมีโอกาสได้เซ่นไหว้เท่านั้น
และเครื่องเซ่นไหว้อย่างธูปเทียนกระทั่งไม้ขีดไม่มีขายแม้แต่ในวัด คนต่างประเทศจะต้องพกนำเข้าไปเอง

เวลานั้นขนบประเพณีที่ชาวบ้านเคยปฏิบัติสืบทอด ล้วนเป็นสิ่งที่ควรจะขจัดล้างเสียสิ้น

ผมมีโอกาสพาแม่ลงไปชนบทอีกครั้งเมื่อต้นปี 30 ถึงได้มีบรรยากาศของการผ่อนคลายและรื้อฟื้นประเพณีเก่าๆของแต่ละหมู่บ้าน
ซึ่งนั่นก็แล้วแต่ว่าคนในหมู่บ้านพร้อมจะร่วมขับเคลื่อนให้ประเพณีเก่าใดได้หวนกลับคืนมา

การที่บางหมู่บ้าน บางชุมชน จะละทิ้งบางขนบธรรมเนียมเก่า  ใช่ว่าหมู่บ้านอื่นต้องละทิ้งไปด้วย....


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 15 ก.ค. 15, 09:29
การฉลองเทศกาลหยวนเซียว หรือ หง่วงเซียว เป็นประเพณีใหญ่ของชุมชนจีนใหญ่ในต่างแดน


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 15 ก.ค. 15, 09:32
แม้แต่ในบางหมู่บ้านในแถบชนบทของแต้จิ๋ว


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 15 ก.ค. 15, 09:35
ขนมประจำเทศกาลหยวนเซียว ชาวบ้านเรียกอะบอหนิ่ม บางแห่งเรียก อะบอหลิ่ม
เป็นบัวลอยสอดไส้

ต่างจากบัวลอยเทศกาลตังโจยของชาวจีนทางใต้แต่ดั่งเดิม ที่ไม่สอดไส้


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.ค. 15, 09:38
การฉลองเทศกาลหยวนเซียว หรือ หง่วงเซียว เป็นประเพณีใหญ่ของชุมชนจีนใหญ่ในต่างแดน
เทศกาลนี้ คือเทศกาลอะไรคะ  มีโคมเป็นส่วนหนึ่งด้วย เพราะอะไร    ประเทศไทยมีหรือเปล่า


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 15 ก.ค. 15, 09:47
หยวนเซียว (元宵) แปลว่า เพ็ญแรก  หมายถึงเพ็ญแรก ของปีใหม่ หรือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือนอ้าย ตามปฏิทินจันทรคติของจีนครับอาจารย์

แต่สมัยผมเด็กหรือราวสี่สิบปีที่แล้ว ลูกจีนใน กทม. มีโอกาสเล่นโคมกันตามขนบของจีนแถบมณฑลกวางตุ้ง ในเพ็ญเดือนแปดครับ (วันไหว้พระจันทร์)


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ก.ค. 15, 09:51
คุณจิตรา ก่อนันทเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน เล่าเรื่องความเชื่อนี้ไว้ใน หนังสือลูกหลานกตัญญูโชคดี (http://www.formumandme.com/article.php?a=934)

ถึงวันที่  ๑๕  เดือน  ๑  ของจีน  ซึ่งคนจีนจะมีไหว้อีกครั้ง  เรียกเทศกาลไหว้นี้ว่า  “ง่วงเซียวโจ่ย”  แปลว่า  เทศกาลกลางเดือน  และมีบ้างที่เรียกเทศกาลนี้ว่า  เทศกาลชาวนา  เพราะเป็นวันและคืนสุดท้ายที่ชาวนาจะฉลองเต็มที่ก่อนเริ่มทำงาน

ที่เมืองจีน  จะมีธรรมเนียมไปไหว้บรรพบุรุษที่  “สื่อตึ๊ง”  สถานที่ตั้งป้ายชื่อของบรรพบุรุษประจำอำเภอ  บางแห่งมีขบวนแห่โคมไฟในตอนกลางคืน

ที่เมืองไทย  ไม่มีเทศกาลชาวนา  แต่ที่น่าสนใจคือธรรมเนียม  “จับโหงวแม้”  แปลว่า  คืนวันที่  ๑๕  บางบ้านมีไหว้เจ้าที่และไหว้บรรพบุรุษในช่วงเช้า  กลางคืนไปไหว้ที่ศาลเจ้าด้วยส้ม  มีการทิ้งส้มของเราไว้  แล้วเอาส้มของศาลเจ้ากลับมาทานเพื่อให้เป็นสิริมงคล


(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=6316.0;attach=57543;image)


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 15 ก.ค. 15, 09:53
เด็กๆในสิงคโปร์ และมาเลย์ เค้ายังได้เล่นโคมในวันไหว้พระจันทร์อยู่ครับ


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ก.ค. 15, 10:08
ในวันเทศกาลหยวนเซียว (元宵节) นั้น ชาวจีนนิยมทานขนมบัวลอยกันในครอบครัว เพราะบัวลอยในภาษาจีนมีนัยยะหมายถึงการอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันของคนในครอบครัว และในวันนี้ชาวจีนจะออกไปชมโคมไฟประดับอันงดงาม เพื่อความเป็นสิริมงคล ดังนั้นเทศกาลหยวนเซียวจึงมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “เทศกาลโคมไฟ” (灯节) ด้วย
       
นอกจากนั้น กว่า ๒,๐๐๐ ปีที่ผ่านมา เทศกาลหยวนเซียว ยังมีนัยยะของเทศกาลแห่งคู่รัก เพราะในอดีตนั้นกุลสตรีจีนส่วนใหญ่มักต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน แต่ในค่ำคืนวันนี้พวกนางจะมีโอกาสออกมาชมโคมประดับ เล่นทายปริศนา ทำให้หนุ่มสาวทั้งหลายมีโอกาสมองหาและเลือกคู่ครองในอนาคตด้วย

แต่ในบางพื้นที่ของจีนไม่เพียงแค่ทานบัวลอย ชมโคมประดับกันเท่านั้น ยังพ่วงกิจกรรมแปลก ๆ ขึ้นมาด้วย ดังเช่นที่มณฑลเสฉวน กว่างตง และกว่างซี ยามค่ำมืดดึกดื่นของคืนวันเทศกาลหยวนเซียว ทั้งเด็กผู้ใหญ่คนหนุ่มคนสาวจะย่องเข้าสวนผักของบ้านอื่น เพื่อขโมยผักที่บ้านนั้นปลูก เป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดกันมาในพื้นที่แถบนี้เรียกว่าประเพณี “ขโมยผัก” (偷青) แต่เริ่มต้น ณ สมัยไหนนั้นไม่มีระบุแน่ชัด
       
ที่เรียกว่า “ขโมยผัก” นั้นจริง ๆ แล้วก็ใช่ว่าจะขโมยกันแบบเอาเป็นเอาตายจนเจ้าของสิ้นเนื้อประดาตัว แต่จะขโมยกันแค่พอเป็นพิธี พอหอมปากหอมคอเท่านั้น เพราะจุดประสงค์ของการขโมยที่แท้จริงแล้ว คือการขโมยความโชคดี ความมีสิริมงคลมากกว่า ผักที่นิยมไปขโมยกัน ก็ได้แก่ “หัวหอม” (葱 - ชง) ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า “ฉลาดเฉลียว” (聪明- ชงหมิ่ง), “ผักคื่นช่าย” (芹菜 – ฉินไช่) พ้องเสียงกับคำว่า “ขยัน” (勤 - ฉิน), “กระเทียม” (蒜 - ซ่วน) พ้องเสียงกับคำว่า “คำนวณ” (算 – ซ่วน) ซึ่งมีนัยยะว่า คิดอย่างละเอียดถี่ถ้วน (精打细算 – จิงต่าซี่ซ่วน) แต่ในกว่างซีจะไม่นิยมขโมย “หัวผักกาด” (萝卜- หลัวปอ) เพราะเขามีสำนวนพูดติดปากว่า “ใครขโมยหัวผักกาด คนนั้นโง่กว่าควาย”
       
ส่วนเจ้าของสวนที่ถูกขโมยผักในวันนี้นั้น นอกจากจะไม่ถือโทษโกรธเคืองกันแล้ว กลับมีความสุขซะอีก เพราะนั่นหมายความว่าผักที่บ้านตัวเองปลูกได้นั้นเติบโตงอกงามดี และจะเก็บเกี่ยวดียิ่งๆ ขึ้นในปีต่อๆ ไป แต่ถ้าบังเอิญไปเจอหัวขโมยโลภมากเข้า เจ้าของสวนก็ได้แต่ก้มหน้ารับชะตากรรม ถือว่าฟาดเคราะห์ไป เจ้าของสวนบางรายรอบคอบเตรียมพร้อมรับมือหัวขโมยมืออาชีพด้วยการชิงเก็บผักที่สุกแล้วและกลางสุกกลางดิบไปเสียก่อน เหลือผักไว้ส่วนหนึ่งสำหรับให้ชาวบ้านร่วมสนุกกัน
       
หลังจากได้ผักตามต้องการแล้ว ขโมยสมัครเล่นจะนำผักที่ได้กลับบ้านไปต้มกิน ว่ากันว่าเมื่อกินผักที่ได้มาในคืนเทศกาลหยวนเซียวแล้ว คนคนนั้นจะปราศจากโรคภัย กลายเป็นคนเฉลียวฉลาด ใจกว้าง จิตใจดีงาม ผู้เฒ่าผู้แก่เชื่อว่า ประเพณีขโมยผักนั้นก็คือการขโมยความสนิทสนม หรือก็คือการไปเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันนั่นเอง เพราะมีตำนานเล่าว่า ในอดีตบรรพบุรุษของชาวจีนไม่สมัครสมานสามัคคีกัน เข่นฆ่าสายเลือดเดียวกันเป็นว่าเล่น ต่อมามีท่านเซียนปรากฏตัวสั่งสอนจนรู้สำนึก ในค่ำคืนขึ้น ๑๕ ค่ำเดือนอ้ายพวกเขาจึงได้ร่วมสาบานต่อหน้าผักว่าจะสมัครสมานสามัคคีกัน นับแต่นั้นมาจากศัตรูก็กลายเป็นมิตร

จาก ผู้จัดการ (http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9510000021199)


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ปิ่น ที่ 15 ก.ค. 15, 10:51
ยินดีที่กระทู้นี้มีส่วนในการให้ความรู้เรื่องต่างๆของชาวแต้จิ๋วค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ทุกท่านที่เข้ามาให้ความรู้เพิ่มเติมค่ะ


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ก.ค. 15, 10:54
มีโคมเป็นส่วนหนึ่งด้วย เพราะอะไร  

ว่ากันว่าเมื่อนานมาแล้ว เป็นยุคที่มีสัตว์ร้ายมากมายเที่ยวทำร้ายผู้คน ทำให้มนุษย์ต้องรวมตัวกันต่อสู้ กระทั่งวันหนึ่ง ได้มีวิหคสวรรค์บินหลงมายังโลก แล้วถูกบรรดานายพรานพลั้งมือฆ่าตาย จนทำให้เง็กเซียนฮ่องเต้ทรงพิโรธ มีราชโองการให้เหล่าขุนพลสวรรค์เดินทางมาเพื่อปล่อยเพลิง เผาทำลายมนุษย์และทรัพย์สินทั้งหลายให้หมดสิ้น ในคืน ๑๕ ค่ำเดือนอ้าย
      
ในครั้งนั้นธิดาผู้ของเง็กเซียนฮ่องเต้ เกิดสงสารไม่อาจทนเห็นผู้คนต้องประสบเภทภัย จึงแอบขี่เมฆบินลงมายังโลกมนุษย์ เพื่อเตือนภัยล่วงหน้า เมื่อนั้นจึงมีผู้เฒ่าคนหนึ่งได้เสนอแผนการว่า ในคืนวัน ๑๔ ค่ำ -๑๖ ค่ำ เดือนอ้าย ให้ทุกคนแขวนโคมประดับ จุดประทัดเสียงดัง พร้อมกับจุดพลุ เช่นนี้แล้ว เง็กเซียนฮ่องเต้จะเข้าใจว่าคนบนโลกถูกเผากันหมดแล้ว
      
ทุกคนต่างเห็นด้วย แล้วแยกย้ายกันไปเตรียมการตามแผนนั้น ในวัน ๑๕ ค่ำ เมื่อเง็กเซียนฮ่องเต้ทรงทอดพระเนตรลงมา ทรงเห็นว่าบนโลกนอกจากแดงเถือกไปหมดแล้ว ยังมีเสียงดังโหวกเหวก ต่อเนื่องเป็นเวลา ๓ วัน จึงคิดว่าโลกไปถูกไฟเผาไปแล้ว เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้ ทำให้ทุกปีเมื่อถึง ๑๕ ค่ำเดือนอ้าย ทุก ๆ บ้านก็จะมีการแขวนโคมไฟ และจุดประทัดเพื่อระลึกถึงวันดังกล่าว
      
บ้างก็ว่า เทศกาลหยวนเซียว เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (ก่อนคริสตกาล ๒๐๖ ปี- ค.ศ.๒๕) หลังจากที่มีการปราบกบฏเสร็จสิ้น ฮ่องเต้ฮั่นเหวินตี้รู้สึกปิติยินดีกับความสงบสุขที่เกิดขึ้น จึงต้องการจะจัดงานฉลองร่วมกับประชาชนขึ้นในวัน ๑๕ ค่ำเดือนอ้ายนี้
      
ส่วนประเพณีการชมโคมไฟ เล่ากันว่าเริ่มขึ้นเมื่อ ๑๙๐๐ ปีที่แล้ว ในยุคของจักรพรรดิหมิงตี้ แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันตก จักรพรรดิองค์นี้มีความศรัทธาในศาสนาพุทธ และทรงได้ยินมาว่าในวันขึ้น ๑๕ ค่ำของเดือนอ้าย พระสงฆ์จะเข้าไปสักการะพระธาตุและจุดประทีบูชาเพื่อแสดงความศรัทธา ดังนั้น จึงมีพระราชบัญชาให้วัดและวัง รวมไปถึงประชาชนทำการแขวนโคมไฟ จนเป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรมชมโคมไฟอย่างแพร่หลาย
      
มาถึงราชวงศ์ถัง (ค.ศ. ๖๑๘-๙๐๗) ประเพณีการชมโคมไฟก็ยิ่งมีความพิถีพิถันมากขึ้น ภายในพระราชวัง หรือตามท้องถิ่น ทุกหนทุกแห่งล้วนมีการแขวนโคมไฟ ทั้งยังพัฒนาไปเป็นตึกโคมไฟ ต้นไม้โคมไฟ วงล้อโคมไฟ ในยุคนี้ ประเพณีการชมโคมไฟมีต่อเนื่องกันถึง ๓ วัน และเมื่อล่วงเข้าราชวงศ์ชิง ก็มีการเพิ่มการเชิดสิงโต

จาก ผู้จัดการ (http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9500000024789)


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ปิ่น ที่ 15 ก.ค. 15, 10:57
เทศกาล หยวนเซียว หรือ หงวงเซียว หรือ งวงเสี่ยว (ตามแต่สำเนียงพูดของแต่ละท้องถิ่น) เป็นเทศกาลยอดนิยมที่นักเขียนชอบเอาไปเขียนในนิยายพีเรียด เพราะอย่างที่ได้กล่าวถึงคือ

1. เป็นวันที่พระเอกกับนางเอกได้มาเจอะกันโดยบังเอิญในงานระหว่างชมโคม

2. เป็นเทศกาลที่พระเอกไปขออนุญาตพานางเอกออกไปเที่ยวนอกบ้าน ไปชมโคม ลอยโคมน้ำ(放水灯)ตอนกลางคืน

3. เป็นเทศกาลที่พระเอกได้โชว์ความสามารถในการต่อกลอน ทายปริศนาโคม ของรางวัลส่วนใหญ่เป็นโคมสวยงาม พอได้โคมมาก็มอบให้นางเอก เป็นต้น

เป็นเทศกาลที่โรแมนติกมากๆในนิยายค่ะ


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ก.ค. 15, 11:34
เทศกาล หยวนเซียว หรือ หงวงเซียว หรือ งวงเสี่ยว (ตามแต่สำเนียงพูดของแต่ละท้องถิ่น)

ในเมืองไทยเรียกเทศกาลนี้ว่า "เทศกาลง่วนเซียว" มีจัดอยู่หลายจังหวัดเช่นพิษณุโลก ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา  แต่ที่พิษณุโลกดูจะครึกครื้นกว่าเพื่อน  ;D


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ปิ่น ที่ 15 ก.ค. 15, 12:20
เล่าเกร็ดให้ฟังว่า เวลาจาม ฝรั่งจะพูดว่า "Bless you"  คนแต้จิ๋วอย่างแม่ปิ่นจะพูดว่า "ฮ่อ ฮู ไล" แปลว่า ขอให้เรื่องดีๆเข้ามา

ไม่รู้ว่า ที่อื่นๆเขามีอะไรแบบนี้หรือเปล่า

แต่ถ้า แม่ไอ แม่จะไปตีคนข้างๆ ไม่รู้แก้เคล็ดอะไรหรือเปล่า จนบางทีเราได้ยินแม่ไอก็จะยื่นมือไปให้เขาตีโดยอัตโนมัติ 555


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 15 ก.ค. 15, 12:37
จำได้ว่าเมื่อตอนเล็กๆ มีอยู่วันหนึ่งไปเล่นที่บ้านญาติๆกันแล้วลื่นตกล้ม อาม่าที่อยู่ในบ้านนั้นรีบออกมาตีพื้นตรงที่ดิฉันหกล้ม พร้อมกับพูดอะไรสักอย่างด้วยน้ำเสียงดุๆ คิดว่าอาม่าคงกล่าวโทษพื้นว่าเป็นต้นเหตุทำให้เด็กหกล้มอะไรทำนองนั้นน่ะค่ะ ;D


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ปิ่น ที่ 15 ก.ค. 15, 12:45
จำได้ว่าเมื่อตอนเล็กๆ มีอยู่วันหนึ่งไปเล่นที่บ้านญาติๆกันแล้วลื่นตกล้ม อาม่าที่อยู่ในบ้านนั้นรีบออกมาตีพื้นตรงที่ดิฉันหกล้ม พร้อมกับพูดอะไรสักอย่างด้วยน้ำเสียงดุๆ คิดว่าอาม่าคงกล่าวโทษพื้นว่าเป็นต้นเหตุทำให้เด็กหกล้มอะไรทำนองนั้นน่ะค่ะ ;D

กรณีนี้น่าจะเป็นการปลอบใจเด็กมากกว่าค่ะ ผู้ใหญ่เห็นเด็กร้องไห้แล้วชอบทำบ่อย 555


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ปิ่น ที่ 15 ก.ค. 15, 12:51
โรคคางทูม เป็นโรคที่เวลาเป็น เด็กๆจะถูกวาดคำว่า "หมู" และ "เสือ" ไว้บนแก้มสองข้าง นัยว่า เสือกินหมูไปแล้ว โรคจะหาย เราก็เรียกว่าเป็น "ตู ทาว ฮวง" 猪头风 หรือแปลตรงๆว่า โรคลมหัวหมู เพราะแก้มจะอ้วนเหมือนหัวหมูนั่นเอง

ตัวปิ่นเองเคยเป็นโรคไหม จำไม่ได้เสียแล้ว แต่มีญาติลูกพี่ลูกน้องเคยเป็น และจำได้ว่า หน้าเขาถูกเขียนหนังสือตัวโตๆว่า เสือ น่าแปลกว่า ไม่นานแก้มก็ยุบและหายไป ไม่แน่ใจว่าได้กินยาร่วมหรือเปล่า แต่ก็ถือว่าเป็นความเชื่อของถิ่นแต้จิ๋วที่เดี๋ยวนี้เห็นกันยากแล้ว



กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 15 ก.ค. 15, 13:52
โรคคางทูม เป็นโรคที่เวลาเป็น เด็กๆจะถูกวาดคำว่า "หมู" และ "เสือ" ไว้บนแก้มสองข้าง นัยว่า เสือกินหมูไปแล้ว โรคจะหาย เราก็เรียกว่าเป็น "ตู ทาว ฮวง" 猪头风 หรือแปลตรงๆว่า โรคลมหัวหมู เพราะแก้มจะอ้วนเหมือนหัวหมูนั่นเอง

ตัวปิ่นเองเคยเป็นโรคไหม จำไม่ได้เสียแล้ว แต่มีญาติลูกพี่ลูกน้องเคยเป็น และจำได้ว่า หน้าเขาถูกเขียนหนังสือตัวโตๆว่า เสือ น่าแปลกว่า ไม่นานแก้มก็ยุบและหายไป ไม่แน่ใจว่าได้กินยาร่วมหรือเปล่า แต่ก็ถือว่าเป็นความเชื่อของถิ่นแต้จิ๋วที่เดี๋ยวนี้เห็นกันยากแล้ว



รู้มาว่า ถ้าให้เวิร์คสุด คนที่เขียนแก้มต้องเกิดปีเสือด้วยค่ะ จำได้ว่าตอนเด็กๆเมื่อเห็นญาติพาลูกที่เป็นคางทูมมาให้คุณพ่อดิฉันเขียนแก้มให้ เพราะท่านเกิดปีขาล ดิฉันก็อยากได้บ้าง รู้สึกว่ามันเท่สุดๆจนนึกอยากจะเป็นคางทูม  ;D


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ธสาคร ที่ 15 ก.ค. 15, 14:08
อาจารย์ที่สอนวิชาชีววิทยาบอกว่า  โรคคางทูมเป็นโรคไม่ร้ายแรง  ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันจนหายได้เอง  อาการบวมที่ปรากฏเป็นระยะสูงสุดของอาการ  พอไปวาดเสือที่แก้มหรือไม่วาดก็ตาม  อาการจะค่อยทุเลาลงจนหายเป็นปกติโดยธรรมชาติอยู่แล้ว


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ธสาคร ที่ 15 ก.ค. 15, 14:20
ชอบรูปในความเห็นที่61 ของคุณNamplaeng  ผมอยากไปดูง่วงเซียวแบบบ้านๆอย่างนี้แหละ
แต่ไม่รู้อยู่ที่ไหน  ก็เลยไปดูที่ไต้หวันแทน  ซึ่งที่ไต้หวันเป็นโคมไฟฟ้า โคมแฟนซี


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.ค. 15, 14:44
ตอนเด็กๆเคยถูกเขียนคำว่า โฮ้ว บนแก้มเหมือนกันตอนเป็นคางทูม ค่ะ


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ปิ่น ที่ 15 ก.ค. 15, 15:13
ตอนเด็กๆเคยถูกเขียนคำว่า โฮ้ว บนแก้มเหมือนกันตอนเป็นคางทูม ค่ะ

เขียน เสือ ให้ หมู กลัวค่ะ อิๆ ;D


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 15 ก.ค. 15, 15:50
คิดว่าน่าจะเป็นจิตวิทยาอันชาญฉลาดของคนโบราณ ที่หาวิธีเบี่ยงเบนความสนใจของเด็กจากอาการเจ็บป่วยน่ะค่ะ แหม..ก็แก้มบวมจนโย้ออกขนาดนั้น คงจะปวดไม่น้อย ท่านก็เลยหามุขมาเล่นให้เด็กพอเพลินๆจนลืมเจ็บ


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ปิ่น ที่ 16 ก.ค. 15, 12:38
แต้จิ๋ว "อาม่า" ไม่ใช่ "อาม่า"

ในการรับรู้ของคนส่วนใหญ่ที่ไทย อาม่า เป็นสรรพนามที่ใช้เรียก หญิงชราเชื้อสายจีน หรือ ย่า/ยายที่มีเชื้อสายจีน ทำนองเดียวกับ grandmother นั่นแหละ

แต่ที่แต้จิ๋วเอง อาม่า ไม่ได้ใช้ในความหมาย ย่า/ยาย

อาม่า จะเป็น ย่า/ยาย ก็ได้ แต่น่าจะเป็นธรรมเนียมของคนพูดภาษาฮกเกี้ยน เพราะใต้หวันเองที่ใช้ภาษาฮกเกี้ยนก็เรียกย่า/ยายหรือหญิงชราว่า "อาม่า"

แต่ที่แต้จิ๋ว ย่า/ยาย เราเรียกว่า "พัว" "อาพั้ว" 婆/阿婆 แต่ถ้าจะจำแนกให้ชัดเจน ส่วนใหญ่ ย่าฝ่ายพ่อจะเรียกว่า "อาพั้ว" เฉยๆ ส่วน ยายฝ่ายแม่จะเรียกว่า "หงั่ว พั้ว" 外婆 คำว่า "หงั่ว" นี้ หมายถึง ข้างนอก

แล้วคำว่า "อาม่า" หรือ "ม่า" เป็นคำที่ สะใภ้เรียกแม่สามี ถ้าไปที่แต้จิ๋ว ได้ยินผู้หญิงเรียกหญิงชราว่า "ม่า" ไม่ต้องสงสัยว่า สองคนนี้เป็น ลูกสะใภ้-แม่สามี

คำว่า "อากง" หรือ "กง" ใช้เรียก ปู่/ตา ของตน

ส่วนคำว่า "เตี่ย" 爹 ตามตัวอักษรแปลว่าพ่อก็จริง แต่คนแต้จิ๋วเรียกพ่อว่า "ป๊า" ส่วนลูกสะใภ้ต่างหากที่จะเรียกพ่อสามีว่า "เตี่ย" เช่นเดียวกัน ได้ยินผู้หญิงเรียกชายชราว่าเตี่ย เขาไม่ได้เป็นพ่อลูกกัน แต่เป็น ลูกสะใภ้-พ่อสามี ค่ะ

บางคนอาจจะสงสัยว่า อ้าว แล้วเรียกแม่ว่ายังไงนะ ถ้าคนแก่เก่าหน่อย อย่างรุ่นพ่อแม่ จะเรียกแม่ว่า "นี-ออ"(พูดควบเร็วๆค่ะ สุดความสามารถในการถอดเสียงแล้ว) หรือ 娘 เป็นคำเดียวกับ เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว (林姑娘) ค่ะ ส่วนเด็กยุคใหม่ก็เรียกแม่ว่า "หม่าม้า" หรือ "ม้า" ค่ะ

ชายชรา เพื่อนอากง หรือญาติห่างๆเรียกรวมๆว่า "เหล่า แปะ" 老伯 ในกรณีที่อายุมากกว่าอากงของเรา ต้องเรียกเขาว่าแปะ แต่ถ้าอายุน้อยกว่าอากงเราก็ให้เรียกว่า "เหล่า เจ็ก" 老叔

หญิงชรา เพื่อนอาม่า ก็เรียกว่า "เหล่า อึ้ม" 老姆 ในกรณีที่อายุมากกว่าอาม่าเรา ถ้าอายุน้อยกว่าก็เรียกว่า "เหล่า ซิ่ม" 老婶 ค่ะ


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ธสาคร ที่ 16 ก.ค. 15, 14:52
งั่วกง งั่วม่า ก็ทราบว่าใช้เรียก ตา กับ ยาย  แต่บ้านผมไม่นิยมเรียก  โดยเรียกอากง อาม่า เหมือนกันหมดทั้งปู่ย่าตายาย
อาพั้ว นี่ผมไม่เคยเจอ

บ้านผมเรียกพ่อ แม่ ว่า อาปา อาแหมะ
ลูกสะใภ้ก็เรียก อาปา อาแหมะ เช่นเดียวกัน
แต่ในนิยายจีนกำลังภายใน  เรียกพ่อกับแม่ว่า เตีย กับ เนี้ย (เป็นสำนวนแปลของนักแปลเมื่อ50ปีมาแล้ว)

นี-ออ ผมเห็นคนไทยเขาถอดเสียงเป็น เนี้ย


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ปิ่น ที่ 16 ก.ค. 15, 15:48
งั่วกง งั่วม่า ก็ทราบว่าใช้เรียก ตา กับ ยาย  แต่บ้านผมไม่นิยมเรียก  โดยเรียกอากง อาม่า เหมือนกันหมดทั้งปู่ย่าตายาย
อาพั้ว นี่ผมไม่เคยเจอ

บ้านผมเรียกพ่อ แม่ ว่า อาปา อาแหมะ
ลูกสะใภ้ก็เรียก อาปา อาแหมะ เช่นเดียวกัน
แต่ในนิยายจีนกำลังภายใน  เรียกพ่อกับแม่ว่า เตีย กับ เนี้ย (เป็นสำนวนแปลของนักแปลเมื่อ50ปีมาแล้ว)

นี-ออ ผมเห็นคนไทยเขาถอดเสียงเป็น เนี้ย


ค่ะ หลานที่เกิดที่แต้จิ๋วก็ยังติดนิสัยเรียก อากง อาพั้ว อยู่ แต่มีลูกพี่ลูกน้องที่เกิดที่ไทย เขาเรียกเป็นอากงอาม่าเหมือนคนไทยค่ะ

แล้ว ตา กับ ยาย นี่คือ ถ้าไม่เจาะจงก็เรียก "กง" กับ "พั้ว" เฉยๆก็ได้ หรือจะเรียก "งั่วกง" "งั่วพั้ว"ก็ได้เหมือนกัน อย่างปิ่นเวลาคุยกับแม่ ถ้าพูดถึงพั้ว โดยปกติแม่จะเข้าใจว่าหมายถึง ย่า เพราะ ครอบครัวยายอยู่ที่จีน แต่ถ้าจะพูดถึงยายก็ต้องบอกว่า "งั่วพั้ว"

ส่วนคำว่า 娘 นี่ รู้สึกว่า "เนี้ย" ก้ไม่ใช่การถอดเสียงที่ใกล้เคียงเลย แต่รุ่นปิ่นก็ยังมีคนเรียกแม่ว่า "เนี้ย" เหมือนกัน ตอนเด็กๆเห็นพี่ๆบ้านลุงเรียกแม่เขาว่า "เนี้ย" รู้สึกอยากเรียกตามยังไงก็ไม่ทราบ ไปเรียกแม่ว่า "เนี้ย" เลยโดนเบิ๊กกะโหลกไปที 55


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 16 ก.ค. 15, 16:48
ชายชรา เพื่อนอากง หรือญาติห่างๆเรียกรวมๆว่า "เหล่า แปะ" 老伯 ในกรณีที่อายุมากกว่าอากงของเรา ต้องเรียกเขาว่าแปะ แต่ถ้าอายุน้อยกว่าอากงเราก็ให้เรียกว่า "เหล่า เจ็ก" 老叔

หญิงชรา เพื่อนอาม่า ก็เรียกว่า "เหล่า อึ้ม" 老姆 ในกรณีที่อายุมากกว่าอาม่าเรา ถ้าอายุน้อยกว่าก็เรียกว่า "เหล่า ซิ่ม" 老婶 ค่ะ

'เหล่า'ใช้ในความหมายเดียวกับ'great grand'ก็ได้ใช่ไหมคะ เพราะพอได้ยินบรรดาคำที่ขึ้นต้นด้วย'เหล่า'ก็แวบคิดไปถึงคำว่า 'เหล่า กง' :ซึ่งถ้าจำไม่ผิดก็หมายถึง 'ปู่ทวด หรือ ตาทวด'

้อ้อ! ยังมีอีกค่ะ เคยดูหนังจีน ผู้หญิงสองคนนั่งคุยกัน (ดิฉันไม่เข้าใจทุกคำพูดหรอกค่ะ ซ้ำ subtitle ก็ไม่มี เลยได้แต่เดาไปตามเรื่อง) ผู้หญิงหนึ่งในสองบุ้บบ้ายไปทางผู้ชายที่นั่งอยู่ในห้องข้างๆ(เข้าใจว่าเป็นสามีหล่อน) พร้อมทั้งเอ่ยคำว่า 'เหล่ากง' 
ดิฉันก็เดาเอาว่า 'เหล่า กง'ในที่นี้ถ้าแปลเป็นไทยก็คงหมายถึง 'ตาเฒ่า' ใช่ไหมคะ?



 


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: ปิ่น ที่ 16 ก.ค. 15, 17:08
ชายชรา เพื่อนอากง หรือญาติห่างๆเรียกรวมๆว่า "เหล่า แปะ" 老伯 ในกรณีที่อายุมากกว่าอากงของเรา ต้องเรียกเขาว่าแปะ แต่ถ้าอายุน้อยกว่าอากงเราก็ให้เรียกว่า "เหล่า เจ็ก" 老叔

หญิงชรา เพื่อนอาม่า ก็เรียกว่า "เหล่า อึ้ม" 老姆 ในกรณีที่อายุมากกว่าอาม่าเรา ถ้าอายุน้อยกว่าก็เรียกว่า "เหล่า ซิ่ม" 老婶 ค่ะ

'เหล่า'ใช้ในความหมายเดียวกับ'great grand'ก็ได้ใช่ไหมคะ เพราะพอได้ยินบรรดาคำที่ขึ้นต้นด้วย'เหล่า'ก็แวบคิดไปถึงคำว่า 'เหล่า กง' :ซึ่งถ้าจำไม่ผิดก็หมายถึง 'ปู่ทวด หรือ ตาทวด'

้อ้อ! ยังมีอีกค่ะ เคยดูหนังจีน ผู้หญิงสองคนนั่งคุยกัน (ดิฉันไม่เข้าใจทุกคำพูดหรอกค่ะ ซ้ำ subtitle ก็ไม่มี เลยได้แต่เดาไปตามเรื่อง) ผู้หญิงหนึ่งในสองบุ้บบ้ายไปทางผู้ชายที่นั่งอยู่ในห้องข้างๆ(เข้าใจว่าเป็นสามีหล่อน) พร้อมทั้งเอ่ยคำว่า 'เหล่ากง' 
ดิฉันก็เดาเอาว่า 'เหล่า กง'ในที่นี้ถ้าแปลเป็นไทยก็คงหมายถึง 'ตาเฒ่า' ใช่ไหมคะ?



 

เอาแล้วไง นึกแล้วว่าต้องสงสัย 

"เหล่า กง" ในภาษาแต้จิ๋ว แปลว่า ปู่/ตาทวด ส่วน ย่า/ยายทวด เรียก "เหล่า ม่า" คือ 老公-老嫲

แต่ "เหล่า กง" ในภาษาจีนกลาง แปลว่า สามีค่ะ และ ภรรยา ก็เรียกว่า "เหล่า โผ" คือ 老公-老婆

แต่ถ้าตามรูปเขียนในภาษาจีน(ไม่เกี่ยวกับภาษาถิ่นนะคะ) คำว่า ปู่/ตาทวดต้องเขียนว่า 祖父 (จู่ปู้/ โจ๊ว เป่)


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 27 ก.ค. 15, 04:33
ท่านั่งกินข้าวต้มของคนซัวเถา ที่เรียกกันว่า “ ยอง ” หรือ ยองยองเหลา แท้ๆ 

เทียบกับหุ่นยองๆเหลาในความเข้าใจของหลายคน


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: npnett ที่ 29 ก.ค. 15, 15:51
เห็นภาพแล้วนึกไปว่า (ขออภัย) ท่านำเข้าและท่านำออก ทำไมถึงต้องเป็นท่าเดียวกัน


กระทู้: ซัวเถาในความทรงจำ
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 01 ส.ค. 15, 15:00
จากบริการของหาบเร่ สู่แผงลอย ?