เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: กระบี่อิงฟ้า ที่ 09 พ.ค. 01, 10:13



กระทู้: กิมฮวย กิมลั้ง ถึง กิมหงวน กิมเบ๊
เริ่มกระทู้โดย: กระบี่อิงฟ้า ที่ 09 พ.ค. 01, 10:13
ละครเรื่องหนึ่งทางช่อง7 แม่ชื่อกิมฮวย ลูกชื่อกิมลั้ง ชวนให้สงสัยว่าแม่นาง2กิมนี้ เป็นคนเชื้อชาติใด เพราะถ้าเป็นคนจีน เขาจะไม่ตั้งชื่อคน2รุ่นด้วยคำขึ้นต้นเหมือนกัน ถ้าเหมือนกันแสดงว่าต้องเป็นคนในรุ่นเดียวกัน เลยพลอยนึกไปถึงกิมหงวน กับ เตี่ยชื่อกิมเบ๊ เคยมีนักเขียนท่านหนึ่ง(จำไม่ได้ว่าเป็นใคร) เคยกระเซ้าว่ากิมหงวน น่าจะเป็นคนไทยแท้ เช่นนามสกุลของเขา เพราะคนจีน ชื่อพ่อกับชื่อลูกจะไม่ขึ้นด้วยคำเดียวกัน เพราะไม่เช่นนั้น พ่อลูก จะกลายเป็นพี่น้องกันไป


กระทู้: กิมฮวย กิมลั้ง ถึง กิมหงวน กิมเบ๊
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 09 พ.ค. 01, 22:13
นั่นก็ถูก ยกเว้นแต่ว่า กิม ในกรณีนี้เป็นแซ่ อย่างนั้นพ่อชื่อกิมเบ๊ ลูกชื่อกิมหงวนก็ไม่แปลกครับ
ดูเหมือนคุณ ป. จะให้กิมหงวนแซ่โค้ว หรืออย่างไรนี่แหละ ไม่ใช่แซ่กิม จึงถูกวิจารณ์ได้ว่าไม่ใช่ธรรมเนียมจีน


กระทู้: กิมฮวย กิมลั้ง ถึง กิมหงวน กิมเบ๊
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 12 พ.ย. 05, 04:33
 --- เพราะถ้าเป็นคนจีน เขาจะไม่ตั้งชื่อคน2รุ่นด้วยคำขึ้นต้นเหมือนกัน ---

กับ

--- เพราะคนจีน ชื่อพ่อกับชื่อลูกจะไม่ขึ้นด้วยคำเดียวกัน เพราะไม่เช่นนั้น พ่อลูก จะกลายเป็นพี่น้องกันไป ---

----------------------------------------------------------

ตรงนี้ผมไม่เข้าใจครับ ที่คุณกระปี่อิงฟ้าว่า "คำขึ้นต้นเหมือนกัน"

ท่านที่รู้ธรรมเนียมจีน โดยตอบด้วยนะครับ ตามที่ผมเข้าใจนั้น คนจีนจะเรียก "แซ่" ขึ้นก่อน แล้วตามด้วยชื่อตัว เหมือนญี่ปุ่นที่นำธรรมเนียมนี้ไปใช้เหมือนกัน และเกาหลีก็เช่นกัน

ประกอบกับชื่อและนามสกุลของคนจีนมักเป็นคำ ๒ คำประกอบกัน เลยทำให้คนไทยบางคนเข้าใจว่า เป็นแค่ชื่อ แต่จริงๆ แล้วเป็นทั้งชื่อและนามสกุล

กิมฮวย  กิมลั้ง  ถ้าแบบนี้ แสดงว่า ชื่อคือ ฮวย  นามสกุลคือ กิม ครับ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะขึ้นต้นด้วย "กิม" เหมือนกัน เพราะอยู่ในตระกูล "กิม" เดียวกัน

อย่าง "เล่าปี่" คือ คนตระกูล "เล่า" ชื่อ "ปี่" แปลเป็นไทยคือ นายปี่ แซ่เล่า อิอิ
กวนอู ก็คือ คนตระกูล "กวน" ชื่อ "อู"
กวนหิน เป็นลูกกวนอู ชื่อนายหิน แซ่กวน

ทำนองเดียวกัน นักร้องญี่ปุ่นชื่อ
UTADA Hikaru
ไม่ได้ชื่อ อุตะดะ นะครับ แต่ชื่อ ฮิคะรุ นามสกุล อุตะดะ

แต่บางครั้ง เมื่อออกเป็นสากล ก็จะมีการสลับตำแหน่งให้เป็นแบบภาษาอังกฤษเป็น Hikaru UTADA


กระทู้: กิมฮวย กิมลั้ง ถึง กิมหงวน กิมเบ๊
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 12 พ.ย. 05, 09:25
 คนไทยเวลาแต่งชื่อจีน อาจไม่ได้คำนึงถึงแบบแผนดั้งเดิมของจีนก็ได้ค่ะ

"กิม"  จีนแต้จิ๋ว แปลว่า ทอง.......     จีนกลาง อ่านออกเสียง "จิน"
"ฮวย"จีนแต้จิ๋ว แปลว่า ดอกไม้...  จีนกลาง อ่านออกเสียง "ฮัว"

กิมเป็นคำอันเป็นมงคล จะถูกจะแพงขอให้มีคำว่ากิมไว้ก่อน ไม่ว่าตำแหน่งใดที่เติม "กิม" ได้
จะมีการเติม "กิม" ให้เป็น prefix ไป บางครั้งคนที่ชื่อเล้ง อาจได้เป็น กิมเล้ง โดยไม่รู้ตัว
นานๆเข้าภาษามีวิวัฒนาการเพราะมนุษย์ใช้แบบแผลงๆ จนกลายเป็นสากลนิยม เช่น กิมฮวย กลายเป็นคำด่า
เพราะลูกจีนผสมไทย เอามาล้อกันในความหมาย "ดอกทอง"

เพื่อนชื่อ "ตือ"  แปลว่า หมู คนไม่รู้จักมักคุ้นเขาก็เรียกแบบเคารพยกย่อง ว่า "กิมตือ"

"กิมง้วน"  คือการอ่านแบบจีนแต้จิ๋ว คนไทยอ่านเพี้ยนเป็น  "กิมหงวน"
"แปะ"......................  แปลว่าลุง คนไทยอ่านเพี้ยนเป็น  "แป๊ะ"
"กิมเบ๊" แปลว่า ม้าทอง นักการเมืองไทยที่แซ่เบ๊ เวลาตั้งนามสกุลไทย ก็เป็น อัศวเหม (อัศว =ม้า, เหม=ทอง)


กระทู้: กิมฮวย กิมลั้ง ถึง กิมหงวน กิมเบ๊
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ย. 05, 08:45
มีเพื่อนเป็นลูกจีนแต้จิ๋ว     เขาอธิบายแบบเดียวกับคุณกระบี่อิงฟ้า ว่าในคนจีนในแต่ละเจนเนอเรชั่น  เขาตั้งชื่อลูกด้วยคำต้นเดียวกัน  
ไม่ใช่แซ่นะคะ

สมมุติว่าแซ่โค้ว  รุ่นของอากง   พ่ออากงเลือกคำว่า กิม นำหน้าลูกๆ   พี่น้องอากงและตัวอากงเอง ก็จะชื่อ กิมฮวย กิมเน้ย กิมเบ๊  กิมเพ้งฯลฯ มีกี่คน ก็มีคำว่า"กิม"นำไปเรื่อย  จนกว่าจะครบคน
ถ้าเรียกเต็มๆเอานามสกุลไว้หน้าคือ โค้วกิมฮวย โค้วกิมเน้ย โค้วกิมเบ๊ ฯลฯ

ต่อมารุ่นอากง - คุณโค้วกิมเบ๊  โตเป็นหนุ่ม  แต่งงานมีลูก
อากงโค้วกิมเบ๊ เลือกคำว่า ทิ
ลูกๆคุณโค้วกิมเบ๊ คือรุ่นอาป๊า  ก็จะชื่อ ทิซัว  ทิฮุย  ทิ...ฯลฯ
เรียกชื่อเต็ม พร้อมนามสกุลแบบจีนว่า โค้วทิซัว โค้วทิฮุยฯลฯ

ถ้าหากว่าแยกย้ายกันไปไกลไม่เคยเจอกัน    มาถึงวันชุมนุมญาติ แค่เอ่ยชื่อเขาก็พอสืบลำดับกันได้ว่าอยู่ในเจนเนอเรชั่นไหน  ใครเป็นพี่ ใครเป็นน้อง ใครเป็นอา ใครเป็นหลาน

ด้วยเหตุนี้ เจ้าสัวกิมเบ๊ จึงไม่น่าจะเป็นพ่อของอาเสี่ยกิมหงวน  น่าจะเป็นพี่น้องกันมากกว่า

แต่ธรรมเนียมนี้คงไม่ค่อยมีแล้ว  คนรุ่นนี้เขาตั้งชื่อกันตามแต่เห็นไพเราะ หรือความหมายดี


กระทู้: กิมฮวย กิมลั้ง ถึง กิมหงวน กิมเบ๊
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 14 พ.ย. 05, 12:29
 เอ...ธรรมเนียมที่อาจารย์เล่ามานั้น ถ้าให้สันนิษฐาน ก็คิดว่าไม่มีมานานแล้วมังคะ
ดิฉันลองถามบรรพบุรุษ ซึ่งหลังจากลงเรือสำเภาก็มาตั้งถิ่นฐานที่ ต. บางหลวง
อ.บางเลน  จ. นครปฐม ริมแม่น้ำท่าจีน  (ครึ่งชม. จากองค์พระ)
ปัจจุบันที่บางหลวงนี้ยังมีหมู่บ้านคนจีนที่คงสภาพเดิม
เมื่อเด็กๆเป็นห้องแถวเต๊ง 2 ชั้น อย่างไร ปัจจุบันก็ยังเป็นอย่างนั้น
รักษาความเป็นหมู่บ้านจีนได้อย่างเหนียวแน่น
อาหารจีนแบบดั้งเดิมที่หาที่ไหนรับประทานไม่ได้แล้ว ก็ต้องมาที่นี่

ที่บางหลวงมีโรงเรียนจีนที่โด่งดังชื่อ โรงเรียนเจี้ยนหัว
ลูกจีนทุกคนที่บางหลวงมักจะเรียนจบที่นี่ และสามารถอ่านหนังสือพิมพ์จีนหรือนิยายจีนได้
สอบถามลุงป้าน้าอาที่ยังมีวิถีชีวิตแบบจีน หรือคนรุ่นอากง ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า
“การตั้งชื่อแบบรุ่นเดียวกันใช้คำขึ้นต้นเดียวกัน” ไม่มีใครเคยได้ยินเลย

เมื่อลองนึกตระกูลจีนอื่นดูบ้าง ครูสอนภาษาจีนของดิฉันเป็นเจ้าของร้านทอง
สอนเพราะใจรัก ครูเกิดและเรียนหนังสือจีนมาจากประเทศจีน
มาเมืองไทยก็ยังนิยมการขีดเขียน โดยส่งบทความไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์จีนเสมอ
ครอบครัวของครูเคร่งธรรมเนียมจีนมาก ไม่ปรากฏว่ามีการตั้งชื่อรุ่นเดียวกันเหมือนกันเลย
นับถอยหลังไปสองสาแหรก ก็ไม่ปรากฏการตั้งชื่อแบบนี้
ดิฉันถามอาป๊าดู คำว่า “กิม” ก็เป็นคำฮิตเหมือนคนไทยใช้ชื่อโหลบางชื่อ
รุ่นพ่อใช้ “กิม” รุ่นลูกก็ยังเป็น “กิม” อยู่เป็นเรื่องปกติค่ะ


กระทู้: กิมฮวย กิมลั้ง ถึง กิมหงวน กิมเบ๊
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 พ.ย. 05, 13:02
ดิฉันเอง เคยเห็นธรรมเนียมนี้มาจากครอบครัวคนใกล้ตัวค่ะ
เหล่ากงของเขาเป็นแต้จิ๋ว  ตั้งชื่อลูกว่า กิม เรียงแถวกันเลย

แล้วก็มาได้ยินจากเพื่อน ซึ่งคุณพ่อตัวเองเป็นแต้จิ๋ว  ท่านรู้ภาษาจีนดีมาก
เขาก็เล่าให้ฟังถึงธรรมเนียมนี้ ตรงกัน
ถ้าคุณ Nuchan ย้อนขึ้นไปอ่านข้างบน จะเห็นว่าคุณกระบี่อิงฟ้า และคุณนิลกังขา  ก็รู้ธรรมเนียมนี้เช่นกัน
รายหลังนี้ไปทำงานอยู่ในเมืองจีนนานหลายปี
แล้วยังมีธรรมเนียมอีกอย่างที่เคยได้ยินมา  จากคนจีนที่เตี่ยอพยพมาจากเซี่ยงไฮ้
คือการตั้งชื่อคนจีน เขามีระดับของภาษาด้วย ว่าคำไหนสูง คำไหนต่ำลงมา
เวลาตั้งชื่อลูกเขาเลือกให้พอเหมาะสม
เสียดายไม่ทราบรายละเอียดมากกว่านี้


กระทู้: กิมฮวย กิมลั้ง ถึง กิมหงวน กิมเบ๊
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 14 พ.ย. 05, 23:19
 ใน ค.ห. ที่ 1 บอกว่า "กิม" เป็นแซ่
เท่าที่นึกออก "กิม" ไม่ได้เป็นแซ่นะคะ

แต่เรื่องนี้น่าสนใจพอควรอยู่ค่ะ เดี๋ยวดิฉันจะดักคอยพวก "เหล่า-เต่-แขะ"
จับตัวซักให้รู้เรื่อง ถือเป็นความรู้ใหม่ ขอบคุณค่ะ


กระทู้: กิมฮวย กิมลั้ง ถึง กิมหงวน กิมเบ๊
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 พ.ย. 05, 08:12
 มันอาจจะเป็นธรรมเนียมที่นิยมกันในท้องถิ่นหนึ่ง  แต่ไม่ใช่ทั้งหมด
ก็เป็นได้ค่ะ
คงเป็นคนรุ่นเก่าด้วย   เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีแล้ว


กระทู้: กิมฮวย กิมลั้ง ถึง กิมหงวน กิมเบ๊
เริ่มกระทู้โดย: Peking Man ที่ 20 พ.ย. 05, 15:13
 ไม่ได้แวะเวียนมานาน ๆๆๆ มาก ๆ @^__^@

ดังนั้น...ผมขออาสาแก้ปมสงสัยครับ

ก่อนอื่นเราจะต้องมาเข้าใจกันว่า ชื่อจีนมีลักษณะอย่างไร

ชื่อจีนนั้น ประกอบด้วย ชื่อ และ แซ่ (นามสกุล) โดยส่วนมาก แซ่ จะเป็น อักษร ตัวเดียว แต่ก็มี แซ่ ที่ประกอบด้วย สอง ตัวอักษร และมากกว่า ซึ่ง แซ่ที่ประกอบด้วย ตัวอักษรที่มากกว่า หนึ่ง เป็นส่วนน้อย และมักจะบอกถึงความ เป็นชนกลุ่มน้อย ของคน ๆ นั้นด้วย สำหรับ ชื่อ คนจีน มักจะมีชื่อยาว หนึ่ง หรือ สอง ตัวอักษร โดยปกติมักจะไม่มากกว่า สอง ยกเว้น ชื่อของ ชนกลุ่มน้อย เช่น แซ่ อ้าย ซิน เจี๋ย หลัว (สี่ตัวอักษร)ของราชวงศ์ชิง(ชาวแมนจู)

ด้วยสาเหตุนี้ ชื่อจีน จะมีความยาว ตั้งแต่ สอง พยางค์ขึ้นไป

สองพยางค์ (แซ่ หนึ่ง ชื่อ หนึ่ง)เช่น

เจิ้ง (แซ่ แต้) ซิ่น (ชื่อ ซิ่น) (พระเจ้าตากสิน)

เกา (แซ่) ลี่ (ชื่อ)

หลิว (แซ่) เป้ย (ชื่อ)

...

สามพยางค์ (แซ่ หนึ่ง ชื่อ สอง) เช่น

หลี่ (แซ่) หง จัง (ชื่อ)

หลิน (แซ่) ฮุย อิน (ชื่อ)

ลู่ (แซ่) ซือ ม่าน (ชื่อ)

...

สามพยางค์ (แซ่ สอง ชื่อ หนึ่ง) เช่น

หยู เหวิน (แซ่) ซิ่น (ชื่อ)

ตง ฟัง (แซ่) ซั่ว (ชื่อ)

ซือ หม่า (แซ่) กวง (ชื่อ)

...

สี่พยางค์ (แซ่ สอง ชื่อ สอง) เช่น

หยู เหวิน (แซ่) ฮว่า จี๋ (ชื่อ)

...

และอื่น ๆ

้เมื่อเราได้ทำความรู้จักกับชื่อจีนแล้ว กลับมาดู ประเด็นสำคัญของกระทู้

"กิมฮวย กิมลั้ง ถึง กิมหงวน กิมเบ๊"

ที่คุณ กระบี่อิงฟ้า เขียนถามไว้

ผมขอตอบว่า

ในกรณีของ กิมฮวย กิมลั้ง ก่อนอื่น ถ้าคิด ตามที่คุณ กระบี่อิงฟ้า กล่าวถาม ว่า เป็น แม่ลูก กัน เป็นไปได้หรือไม่

ไม่น่าที่จะได้ครับ เพราะว่า คนจีนแม้ว่า จะแต่งงานกันก็ตาม จะไม่มีการ เปลี่ยนนามสกุลครับ จะเป็นไปได้ แม่ กับ ลูกสาว แซ่เดียวกัน ก็แค่ในกรณีที่ แม่นั้นแต่เดิมแล้ว แซ่เดียวกับตัว พ่อ ซึ่งในปัจจุบัน ที่คนจีนไม่ถือกับ การแต่งงานของคนแซ่เดียวกัน ทำให้การเกิดเหตุการณ์นี้เป็นไปได้ ทว่า ถึงแม้ว่าจะเป็นเช่นนี้ เนื่องด้วยคนจีนให้ความสำคัญกับ ผู้ให้กำเนิด และ บรรพบุรุษ มาก การที่จะตั้งชื่อของลูกก็มักจะไม่ตั้งชื่อเลียนแบบมาก ด้วยสาเหตุนี้เอง การที่ กิมฮวย กิมลั้ง จะเป็น แม่ลูก กันนั้้น โอกาส น้อยมาก ๆ ครับ

ถ้า กิมฮวย กิมลั้ง ไม่ได้เป็น แม่ลูก กันแล้ว ทั้งสองก็คงจะเป็น พี่น้องกัน เพราะว่า คนจีน นิยมที่จะใส่ไปในชื่อ ตัวที่บ่งบอกถึง รุ่น ของสมาชิกในครอบครัว

ซึ่งหากมองจาก กิมฮวย กิมลั้ง เราก็จะเห็นว่า "กิม" นั้นเป็น ตัวอักษรที่บ่งบอกถึงรุ่นนั่นเอง แต่ด้วยในปัจจุบัน ครอบครัวชาวจีน ที่ปฎิบัติตามนี้น้อยลงเรื่อย ๆ จึงน้อยลงเรื่อย ๆ ที่เราจะเห็น การตั้งชื่อแบบนี้

ส่วนในกรณีของ กิมหงวน กับ กิมเบ๊ นั่้นก็เป็นตัวอย่างที่ดีของการเปลี่ยนแปลงไปของวัฒนธรรมการตั้งชื่อของชาวจีนครับ ไม่ได้มี ผิด หรือ ถูก ประการใด

หว้งว่า ผมไม่ได้อธิบายยาวและเยิ่นเย้อจนเกินไปนะครับ


กระทู้: กิมฮวย กิมลั้ง ถึง กิมหงวน กิมเบ๊
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 21 พ.ย. 05, 01:08
 ขอบคุณ คุณ Peking Man มากครับที่ให้ความกระจ่าง

ถ้าเช่นนั้น ตัวอย่างที่ยกมาที่เป็น "กิม" นี้ คือชื่อนะครับ และมีนัยว่าเป็นคนรุ่นเดียวกัน (พี่น้องกัน) ส่วนแซ่ไม่ได้แสดงไว้

อย่างกิมหงวน เป็นไปได้หรือไม่ครับว่า ผู้ประพันธ์ไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้ แต่คำนึงว่า ตั้งชื่ออย่างไรให้ผู้อ่านจำง่ายๆ ว่าพวกนี้แหละพี่น้องพ่อลูกกัน ก็เลยเอาคำว่า "กิม" นำหน้าให้หมดเลย ซึ่งมันก็แฝงอารมณ์ขันอยู่นิดๆ นะครับ ผมว่า อิอิ เหมือนชื่อนักฟุตบอลเกาหลีใต้ "คิม" กันค่อนทีม ดูแล้วก็ตลกดี

อืม แล้ว กิมหงวน มีลูกชื่ออะไรครับ ???? "กิม" ด้วยหรือเปล่า ???

จำได้ว่า เมื่อก่อนตอนเศรษฐกิจดีๆ ผมผ่านจังหวัดเพชรบุรีจะเจอกลุ่มร้านค้าที่ผมเรียกว่า "ร้านตระกูลกิม" เยอะมาก ขายขนมหม้อแกง และอื่นๆ เช่น แม่กิมลั้ง แม่กิมเล้ง ฯลฯ ล้วนมีคำว่า "กิม" นำหน้าทั้งสิ้น ผมว่ามีไม่ต่ำกว่า ๑๐ ร้าน ตามริมถนน แต่ปีที่แล้ว เห็นเหลือไม่กี่กิม สงสัยต้องเปลี่ยนเสียแล้ว อิอิ เป็น "ร้านพี่น้องรุ่นกิม"



กระทู้: กิมฮวย กิมลั้ง ถึง กิมหงวน กิมเบ๊
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 25 ม.ค. 06, 16:23
 มาเพิ่มให้้อีกนิดหนึ่งครับ

ปกติคนจีนจะอยู่กันเป็นหมู่บ้าน ตามประเพณีแล้วจะแต่งสะใภ้เข้าบ้านเสมอ ดังนั้นคนในหมู่บ้านที่ว่าจะเป็นคนแซ่เดียวกันทั้งหมู่บ้านครับ

คำว่ากากี่นั้ง(หรือ กาตี่นั้ง แล้วแต่สำเนียงนะครับ) ที่ภาษาไทยเรามาแปลว่าคนกันเอง หรือ คนบ้านเดียวกันนั้น มีความหมายที่ลึกซึ้งขึ้นไปอีก เพราะกาตี่นั้งที่ว่าคือคนแซ่เดียวกันและมีบรรพบุรุษร่วมกันครับ

ปกติแล้วคนในตระกูลที่ประสบความสำเร็จไม่ว่าทางจะโดยการค้าหรือการรับราชการ อาจแยกออกไปตั้งบ้านใหม่ของตัวเองครับ และจะมีการแต่งโศลกขึ้นมาบทหนึ่ง

โศลกนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะคำในโศลกจะถูกใช้เป็นชุดของชื่อลูกหลานแต่ละรุ่น ใช้เป็นคำแรกในชื่อครับ ดังนั้นเพียงรู้ชื่อก็สามารถลำดับญาติกันได้ว่าใครอยู่รุ่นไหน เพราะคำจะถูกหยิบมาใช้ลำดับไปเรื่อยๆ หมดเมื่อใด ลูกหลานที่มีความรู้ก็แต่งบทใหม่ใช้กันต่อไปครับ

ระบบแบบนี้ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าใช้สืบสายเลือดย้อนหลังไปได้ไกลมาก
หลายปีที่แล้วเคยมีการสังคายนาเครือญาติในตระกูลผม(แบบนานาชาติเลย) และสืบย้อนหลังไปได้ไกลมาก

ทั้งนี้ระบบโศลกที่ว่านี้ปัจจุบันเสื่อมความนิยมไปแล้วครับ

เครือญาติผม รุ่นพ่อก็ใช้วิธีตั้งแบบตามใจฉันแล้ว

แต่ก็ยังรักษาประเพณีคำแรกเหมือนกันเอาไว้นะครับ


กระทู้: กิมฮวย กิมลั้ง ถึง กิมหงวน กิมเบ๊
เริ่มกระทู้โดย: นนทิรา ที่ 25 ม.ค. 06, 22:03
 เท่าที่ทราบ มีครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนที่เคยยึดถือธรรมเนียมนี้คือ ครอบครัวพรประภาค่ะ

เจ้าสัวถาวร พรประภาตั้งชื่อลูกๆทุกคน โดยใช้คำต้นว่าพร เช่น คุณพรพรรณ คุณหญิงพรทิพย์ คุณพรเทพ เป็นต้น และเคยได้ยินคนในตระกูลพรประภา เล่าว่า คุณปู่บอกว่ารุ่นหลาน (ลูกของลูกชาย) ให้ใช้คำนำหน้าว่า ประ หรือ ปรา  เช่น คุณปราโมทย์ คุณประนัปดา คุณประพล เป็นต้นค่ะ


กระทู้: กิมฮวย กิมลั้ง ถึง กิมหงวน กิมเบ๊
เริ่มกระทู้โดย: ชื่นใจ ที่ 26 ม.ค. 06, 01:44
 เห็นหลายท่านอธิบายกันละเอียดละออแล้ว
อิฉันขอแค่มาช่วยยืนยันอีกคนค่ะว่า
การตั้งชื่อโดยใช้คำแรกเหมือนกันหมดใน generation เดียวกัน
เป็นแบบแผนที่ชาวจีนยึดถือ แม้ปัจจุบันจะคลายความเคร่งครัดลงไปมาก
อย่างในครอบครัวอิฉันนี่ บรรดาลูกหลานจะทราบว่าญาติผู้ใหญ่ของตนนั้นอยู่ลำดับไหน
แต่น่าสงสารญาติผู้ใหญ่ค่ะที่ต้องมางงงันกับรุ่นอิฉันนี่
เพราะว่าบางคนไม่มีชื่อจีน (เวลาแนะนำตัวเองเลยต้องบอกชื่อตัว ตามด้วยชื่อพ่อ/แม่ )
แต่สำหรับคนที่มีชื่อจีนก็ยังคงมีพยางค์แรกเป็นคำเดียวกัน


กระทู้: กิมฮวย กิมลั้ง ถึง กิมหงวน กิมเบ๊
เริ่มกระทู้โดย: ภูมิ ที่ 27 ม.ค. 06, 11:28
 >การตั้งชื่อโดยใช้คำแรกเหมือนกันหมดใน generation

ตัวอย่างอันหนึ่งที่จะเห็นในนิยายจีนก็คือ หลวงจีนหรือนักพรต ในรุ่นเดียวกันก็จะใช้ ตัวอักษรเริ่มต้นตัวเดียวกัน

เช่น หลวงจีนรุ่น คง เป็นค้น

ลูกกิมหงวนชื่อ สมนึก ครับ


กระทู้: กิมฮวย กิมลั้ง ถึง กิมหงวน กิมเบ๊
เริ่มกระทู้โดย: กอประกาญจน์ ที่ 28 ม.ค. 06, 22:57
 สมาชิกใหม่มาขอสนับสนุนว่าคนรุ่นเดียวกันใช้ชื่อคำแรกเหมือนกันด้วยอีกคนค่ะ เพื่อนร่วมงานเคยเล่าให้ฟังเรื่องนี้ค่ะ พี่น้องเขาสี่คนก็มีชื่อคำแรกเหมือนกัน เขาบอกด้วยว่าบอกชื่อบอกแซ่มาก็จะรู้เลยว่าใครเป็นคนรุ่นใดค่ะ


กระทู้: กิมฮวย กิมลั้ง ถึง กิมหงวน กิมเบ๊
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 01 ก.พ. 06, 14:59
 ใช่แล้ว กลับมายืนยัน (หลังจากหายไปหลายปี - กระทู้นี้ยังอยู่อีกแฮะ)

ที่คุณ Crazy Horse พูดนั้น ถูกเลย คือ บางตระกูลเขามีบทกวีประจำตระกูลที่บรรพบุรุษจะด้วยเหตุใดก็ตาม ชอบใจ เลือกเอาไว้ สมมติว่าบทกวีนั้นมีอยู่ 20 ตัวอักษร ก็จะใช้เป็นชื่อลูกหลานลงไปเรื่อยๆ ได้ถึง 20 รุ่น !

อันนี้ไม่เกี่ยวกับแซ่ เพราะแซ่ก็เหมือนกันหมดตลอดจะกี่รุ่นก็ตาม มีตัวเดียว คำที่ว่านี้ เป็นคำที่สองของชื่อ

เรื่องของเจ้าสัวกิมเบ๊ ลูกชื่อกิมหงวนนั้น ทั้งๆ ที่สองคนนี้แซ่อื่น (ไม่ใช่แซ่กิม) เป็นเพียงจินตนาการของท่านผู้แต่ง ซึ่งเป็นคนไทยครับ และท่านแต่งเล่นๆ เป็นเรื่องชวนหัว ไม่ได้ค้นคว้าอย่างซีเรียสมากมาย คนไทยที่อ่านก็ไม่ซีเรียสเหมือนกัน (แต่ผมได้ยินว่า มีคนอ่านพลนิกรกิมหงวนเคยตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ไว้จริงๆ ซึ่งก็สรุปตอบได้อย่างเดียวว่า คุณ ป. อินทรปาลิตท่านไม่ได้ค้นธรรมเนียมจีนก่อนแต่ง เท่านั้น)

ใช่แล้วเหมือนกันที่คุณภูมิว่า หลวงจีนวัดเส้าหลิน (อย่างน้อยในหนังสือจีนกำลังภายใน) ที่บวชรุ่นเดียวกัน จะมีฉายานามทางพระที่ขึ้นต้นด้วยอักษรเดียวกัน ลูกศิษย์ของหลวงจีนรุ่น x ก็จะเป็นรุ่นอีกรุ่นหนึ่ง อาจจะเป็นหลวงจีนรุ่น y


กระทู้: กิมฮวย กิมลั้ง ถึง กิมหงวน กิมเบ๊
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 01 ก.พ. 06, 15:05
 อ้อ.. แซ่กิม มีแน่นอนครับ ทำไมจะไม่มีล่ะ อดีตแฟนผมยังแซ่นี้เลย แต่งกับคนอื่นไปแล้ว ฮือๆๆๆ...

จีนกลางเรียกแซ่นี้ว่า จิน แปลว่า ทองคำ เวลาแปลงเป็นนามสกุลไทย เห็นมีตั้งเป็น กาญจน... + คำอื่นๆ บ้าง ขึ้นต้นว่า จารุ ... บ้าง สุวรรณ ... บ้าง คือย้อนกลับไปหาคำแปลของแซ่เดิม

คุณภูมิมาบอกแล้วว่า ลูกกิมหงวนชื่อ สมนึก ผมขอเติมว่า และนามสกุลก็ไม่ใช่แซ่โค้วหรืออะไรทำนองนั้นแล้วด้วย เพราะคุณ ป. ท่านแต่งให้เปลี่ยนเป็นนามสกุลไทยว่า ไทยแท้ ตั้งแต่รุ่นพ่อแล้ว อาเสี่ยกิมหงวนของเราจึงชื่อว่า สงวน ไทยแท้ และสมนึกก็ชื่อ สมนึก ไทยแท้ เหมือนกัน


กระทู้: กิมฮวย กิมลั้ง ถึง กิมหงวน กิมเบ๊
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 01 ก.พ. 06, 16:29
 สงวน ไทยเทียม ครับ

แต่ กิมหงวน ไทยแท้

เป็นอารมณ์ของป.อินทรปาลิตน่ะครับ

ส่วนแซ่ของกิมหงวนนั้นอย่าคิดมากเลย ยืนยันได้ว่า"มั่ว"ครับ คุณ ป. แกนึกอยากจะแซ่อะไรก็ใส่ไว้ มีจริงบ้างตลกบ้าง และที่มีจริงๆนั้นก็เคยใส่ไว้หลายแซ่ไม่ซ้ำกันครับ

สรุปได้ว่ากิมหงวนเป็นตัวละครที่เป็นลูกจีนในมุมมองของป. อินทรปาลิตครับ


กระทู้: กิมฮวย กิมลั้ง ถึง กิมหงวน กิมเบ๊
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 06, 16:43
 ขอตั้งข้อสังเกตอีกอย่างว่า การตั้งชื่อลูกๆของสี่เกลอ เป็นแบบไทยนะคะ

คนไทยนิยมเอาตัวอักษรในชื่อพ่อและแม่ มาผสมตั้งเป็นชื่อลูก   เรื่องนี้อาจไม่ใช่ธรรมเนียมของคนไทยทั้งหมด  แต่ก็แพร่หลายในยุคหนึ่ง
อย่างใน สี่แผ่นดิน   เสด็จประทานชื่อลูกชายคนแรกของพลอย ว่า ประพนธ์
เอาชื่อ ป.จากคุณเปรม  และพ.จากแม่พลอย
ตาอั้นชื่อประพนธ์    ตาอ้นพี่ชายก็เลยมีชื่อว่าประพันธ์  ตาอ๊อดชื่อประพจน์
และลูกสาว พลอยเตรียมตั้งชื่อไว้ว่าประไพ

ตัวอย่างที่หาได้จากคนจริงๆ รุ่นเดียวกับคุณเปรมและแม่พลอย
คือพระยามไหศวรรย์ (กอ  สมบัติศิริ) ท่านทำตามธรรมเนียมนี้  
เอา ก.ไก่ จากชื่อเดิมของท่าน มาตั้งชื่อลูกๆ  ลูกท่านมีอักษร ก. นำในชื่อ

ลูกของกิมหงวน (สงวน) กับนวลลออ  เอาตัว ส.กับ น. มาตั้งเป็นชื่อสมนึก
พลกับนันทา  ตัว พ. กับ น.  ลูกชื่อพนัส
นิกรกับประไพ   ตัว น. กับ พ.  ลูกชื่อนพ
ส่วนดร.ดิเรก  เอาอักษรจากชื่อพ่อคนเดียว ไม่มีชื่อแม่(ประภา)  คือ ดำรง


กระทู้: กิมฮวย กิมลั้ง ถึง กิมหงวน กิมเบ๊
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 18 ก.พ. 06, 15:02
นึกขึ้นมาได้อีกอย่างครับ

เรื่องสมญานามทางพระของหลวงจีนวัดเส้าหลิน และวัดจีนอื่นๆ

ในนิยายเรื่องไซอิ๋ว พระถังซัมจั๋งท่านมีศิษย์ 3 คน ตามที่เราก็รู้อยู่แล้ว ผมไม่ได้ตามไปดูต่อว่าลูกศิษย์ 3 คนนั้น ได้ไปรับศิษย์ต่อ ให้กลายเป็นหลานศิษย์ของพระถังหรือไม่ แต่เฉพาะในรุ่นลูกศิษย์อดีตปีศาจลิง หมู และเงือกน้ำ 3 ตัวนั้น เมื่อละพยศมาถือศีลบวชติดตามพระถังธุดงค์ไปเมืองอินเดีย ท่านตั้งชื่อให้ใหม่ พอจะเรียกได้ว่าเป็นรุ่น "หงอ" ไม่ได้แปลว่ากลัวหงอนะครับ

เห้งเจียพญาลิง ชื่อซึงหงอคง โป้ยก่ายปีศาจหมู ชื่อตือหงอเหนง ซัวเจ๋งปีศาจพรายน้ำหรือเงือก ชื่อซัวหงอเจ๋ง อันนี้ตามฉบับไทย ซึ่งคงจะยึดถือตามชื่อสำเนียงไม่แต้จิ๋วก็ฮกเกี้ยน มี "หงอ" อยู่ตรงกลางชื่อทุกคนเลย

แต่แต่ละคนก็มีชื่ออื่นๆ อีก เห้งจียมีชื่อเยอะสุด บทบาทก็เก่งสุดเป็นศิษย์พี่คนโต ทั้งชื่อหงอคง ซีเทียนไต้เซีย (ฉายาก่อนบวช) เห้งเจีย เป๊กเบ๊อุน (อย่าไปเรียกท่านชื่อนี่เข้านะครับอาจจะโดนกระบองได้ ท่านไม่ชอบชื่อนี้) โป้ยก่ายนั้น นอกจากชื่อตือหงอเหนงแล้ว พระอาจารย์ถังซัมจั๋งยังให้ฉายาว่าตือโป้ยก่าย แปลว่าตือศีล 8 หรือหมูศีลแปด (ซึ่งแปลว่าที่แกมา "บวช" น่ะ ที่จริงเพียงแค่รักษาอุโบสถศีลเท่านั้นแหละ แต่ก็ยังดี) มีซัวเจ๋งคนเดียวบทน้อยหน่อย ชื่อก็เลยน้อย ดูเหมือนผมนึกออกแค่ชื่อเดียว


กระทู้: กิมฮวย กิมลั้ง ถึง กิมหงวน กิมเบ๊
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 18 ก.พ. 06, 15:08
ที่ว่า รุ่น หงอ ไม่ได้แปลว่าหงอ นั้น ที่จริงแล้วมีความหมายทางปรัชญาพุทธมหายาน หรือพุทธนิกายเซนที่ลึกซึ้ง

ผมไม่รู้ว่านอกจากศิษย์คนโตแล้ว อีก 2 ศิษย์ชื่อเรียกเป็นจีนกลางว่าอย่างไร แต่รู้ว่า ซึงหงอคง ในพากย์ไทย หรือโงกุน (พระเอกดราก้อนบอล)ในภาษาญี่ปุ่นนั้น จีนกลางเรียก ซุนอู๋คง

อู๋ เข้าใจว่าจะแปลว่า ไร้ ไม่มี ว่างเปล่า - -

อนัตตาไงล่ะครับ

พุทธศาสนาเถรวาทก็รับรอง ไม่ได้ขัดกันเลย มีคำกล่าวทางสายเถรวาทเราอยู่ว่า นิพพานัง ปรมัง สูญญัง นิพพานเป็นความว่างเปล่าอย่างสูงสุด (ปราศจากกิเลส)


กระทู้: กิมฮวย กิมลั้ง ถึง กิมหงวน กิมเบ๊
เริ่มกระทู้โดย: Peking Man ที่ 18 ก.พ. 06, 15:41
 ต้องกดออดเตือนภัย ขอบังอาจแก้ไขท่านพี่ นกข ศิษย์ทั้งสามของพระถังซำจั๋ง (ถัง เจิง) ในชื่อนั้นไม่ได้ใช้คำว่า "อู๋" (ไม่มี ไร้ซึ่ง) ในความจริงแล้วเขาใช้คำว่า "อู้" (บรรลุ เข้าถึง)ครับ

ลิง ให้ชื่อว่า อู้คง (เข้าถึง(ความหมายของ)ความว่าง)
หมู ให้ชื่อว่า อู้เหนิง(เข้าถึง(ความหมายของ)ความสามารถ(ในการควบคุมตนเอง))
อมนุษย์ ให้ชื่อว่า อู้จิ้ง (เข้าถึง(ความหมายของ)ความบริสุทธิ์)

ซึ่งดั่งที่คุณ นกข ได้กล่าวไว้บ้างแล้ว ผมขอสรุปเรื่องนี้สั้น ๆ ว่า ไซอิ๋ว (การเดินทางอันยาวไกล(ไปทางทิศ)ตะวันตก(เพื่ออัญเชิญพระคัมภีร์กลับอณาจักรถัง)
เป็นเรื่องที่อธิบายถึงเรื่องการที่คน(พระถัง)ต้องการจะไปให้ถึงนิพพาน(การไปเอาคัมภีร์) ต้องใช้ทั้ง ปัญญา (ลิง) สมาธิ (อมนุษย์) ศีล (หมู) เมื่อทั้งสามสามารถที่จะทำงานร่วมกันได้อย่างดีแล้ว ไม่ว่าอุปสรรคใด ๆ ก็ไม่สามารถที่จะทำให้คน ๆ ล้มเหลว


กระทู้: กิมฮวย กิมลั้ง ถึง กิมหงวน กิมเบ๊
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 18 ก.พ. 06, 17:24
แมร์ซี่... เมอสิเออร์ เลอลิงเดอปักกิ่ง

(วันนี้วันเสาร์ ผมมาแสตนด์บายที่ทำงาน ช่วยกันรับเมอซิเออร์เลอเปรสิดองท์เดอลาเรปุบลิคฟรองเซส ท่านประธานาธิบดีฝรั่งเศส ซึ่งตอนนี้มาเยี่ยมเมืองไทยครับ)

ถ้ายิ่งเป็น อู้ ก็ยิ่งมีความหมายลึกซึ้งทางปรัชญามหายานยิ่งขึ้นไปอีก

ที่จริงผมน่าจะรู้อยู่แล้ว เพราะ อู๋ ที่แปลว่าไม่มีน่ะ เวลาเป็นแต้จิ๋วมันไม่ใช่ หงอ มันออกเสียงอย่างอื่น เมื่อซึงหงอคงชื่อว่าหงอคง ก็น่าจะนึกออกว่ามันไม่ควรจะตรงกับจีนกลางว่าอู๋

อู๋ (ปราศ- ไร้ ไม่มี) ดูเหมือน (ไม่แน่ใจนักแต่คิดว่าใช่) ดูเหมือนแต้จิ๋วจะออกเสียงว่า บ๊อ บ้อ ซึ่งจะมาเกี่ยวกับคำไทยว่า บ่ หรือไม่อย่างไรก็เหลือจะเดา เช่นในคำว่า บ้อลัก อันแปลว่าแก่เลี้ยวไม่มีเรี่ยวแรง เป็นต้น (เป็นอาการของใครแถวนี้รึเปล่าก็ไม่ทราบนะครับ ผมยังกัดฟันบอกตัวเองว่า Young at heart อยู่นะเฟ้ย แม้ว่ากลัวๆ อยุ่ว่าจะ heart attack ก็เถอะ)


กระทู้: กิมฮวย กิมลั้ง ถึง กิมหงวน กิมเบ๊
เริ่มกระทู้โดย: ภูมิ ที่ 19 ก.พ. 06, 11:26
 ตัว หงอ หรือ อู้ จะพูดอีกอย่างหนึ่ง คือ การเข้าใจ การตรัสรู้
หรือภาษาวัยรุ่นที่เรียกว่า ปิ๊ง นะครับ