เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ค. 06, 15:24



กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ค. 06, 15:24

กระทู้นี้ตามคำขอของคุณ paganini ซึ่งผลุบๆโผล่ๆ ให้เห็นบ้างไม่ให้เห็นบ้างในระยะนี้ เลยไม่รู้ว่าคุณ paganini จะเห็นกระทู้นี้หรือยัง ถ้าเห็นแล้วช่วยเข้ามาถามถึงตอนที่อยากรู้ด้วยนะคะ

ประวัติของสมเด็จเจ้าพระยาฯ นำมาจากเว็บนี้
 http://www.watbuppa.com/somdej/somdej.doc
เป็นการปูพื้นให้เข้าใจชีวิตและบทบาทของท่าน สำหรับผู้ที่ยังไม่คุ้ยเคยกับประวัติของท่านนัก
***************************
เอกสารประกอบนิทรรศการ “บ้านสมเด็จเจ้าพระยา”
ของภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
วันที่ ๑๓-๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๒
............................

ความเป็นมาของตระกูล “บุนนาค”

ตระกูล “บุนนาค” เป็นตระกูลเก่าแก่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

ต้นตระกูลเป็นพ่อค้าชาวอาหรับชื่อ เฉกอะหมัด เข้ามาในประเทศสยาม เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ในปลายรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม เฉกอะหมัดได้รับราชการในกรมพระคลัง โดยปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับงานของกรมท่า เฉกอะหมัดได้ทำความดีความชอบในหน้าที่ราชการเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าแผ่นดิน จนได้รับบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาเฉกอะหมัดรัตนาธิบดี ที่สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ

ปรากฎว่าผู้สืบตระกูลของเฉกอะหมัดได้รับราชการในกรมพระคลังสืบต่อกันเรื่อยมา วงศ์เฉกอะหมัดบางท่านได้เป็นถึงสมุนายก และในรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ เจ้าพระยาเพ็ชรพิไชยแห่งตระกูลบุนนาคได้เปลี่ยนจากการนับถือศาสนาอิสลามมาเป็นศาสนาพุทธ

วงศ์เฉกอะหมัดได้สืบตระกูลต่อกันเรื่อยมาถึงชั้นที่ ๖ มีบุคคลสำคัญคือนายบุนนาค ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดตระกูลบุนนาคในสมัยรัตนโกสินทร์
ในรัชกาลที่ ๑ นายบุนนาคได้เป็นเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาที่สมุทพระกลาโหม บุตรของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนากับเจ้าคุณพระราชพันธุ์ (นวล) (น้องสาวของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระมเหสีในรัชกาลที่ ๑) เป็นผู้สืบตระกูลบุนนาคโดยตรง

คนสำคัญคือ นายดิศ และนายทัต บุนนาค ท่านทั้งสองเข้ารับราชการมาตั้งแต่แผ่นดินรัชกาลที่ ๑ เป็นผู้ที่มีบทบาทในการปกครองประเทศสยามมาก
ในแผ่นดินรัชกาลที่ ๔ ท่านทั้งสองได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์สูงสุด เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ผู้สำเร็จราชการทั่วพระราชอาณาจักร และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ผู้สำเร็จราชการพระนครตามลำดับ

ผู้สืบตระกูลโดยตรงต่อจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์คือ นายช่วง บุนนาค ซึ่งรับราชการตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ ท่านผู้นี้ได้รับพระราชท่านบรรดาศักดิ์เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ใน พ.ศ. ๒๔๑๖

เทาชมพู  [IP: hidden] วันที่ 20 มี.ค. 2549 - 10:01:47
(คุณ เทาชมพู ช่วยร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ ผ่านวิชาการ.คอมแล้ว รวมทั้งสิ้น 4084 ครั้ง)


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 15:26
ประวัติของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีวงศ์มีนามเดิมว่า ช่วง บุนนาค เป็นบุตรชายคนใหญ่ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) กับท่านผู้หญิงจันทร์  เกิดเมื่อปีมะโรง วันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น ๗ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๕๑ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๙ คน

แต่ในสุดเหลือท่านกับน้องอีก ๔ คน คือ เจ้าคุณหญิงแข เจ้าคุณหญิงปุก เจ้าคุณหญิงหรุ่น และพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม) เท่านั้นที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่มาด้วยกัน

ตอนเยาว์วัยเด็กชายช่วง บุนนาค ได้รับการศึกษาจากวัดพอประมาณ ไม่ได้เล่าเรียนอักขรสมัยอย่างลึกซึ้ง แต่ได้อ่านและเรียนตำราต่างๆ จากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นที่เสนาบดีกลาโหมและเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศหรือกรมท่า ทำให้ได้ทราบเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับการเมืองมากขึ้น มีความเฉลียวฉลาด ปฏิภาณไหวพริบทวีขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะในกระบวนการเมืองและการติดต่อกับต่างประเทศ
และภายหลังที่รับราชการในกรมมหาดเล็ก ก็ศึกษาภาษาอังกฤษและวิชาช่างจากมิชชันนารี จนสามารถต่อเรือรบ (เรือกำปั่น) ใช้ในราชการได้

นายช่วง บุนนาค ได้ถูกบิดานำเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่ออายุราว ๑๖ ปี ครั้นถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เป็นนายไชยขรรค์ มหาดเล็กหุ้มแพร นายไชยขรรค์เป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓
ต่อมาได้โปรดเลื่อนนายไชยขรรค์เป็นหลวงสิทธิ์นายเวรมหาดเล็ก ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า หลวงนายสิทธิ์

หลวงสิทธิ์นายเวรรับราชการมีความดีความชอบมาก จึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นโดยลำดับ คือ ใน พ.ศ. ๒๓๘๔ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ เลื่อนหลวงสิทธิ์นายเวรขึ้นเป็นจมื่นไวยวรนาถหัวหมื่นหมาดเล็ก และในตอนปลายแผ่นดินรัชกาลที่ ๓ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็กใน พ.ศ. ๒๓๙๓

ต่อมาในแผ่นดินรัชกาลที่ ๔ พระยาศรีสุริยวงศ์ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่าที่สมุหพระกลาโหม กับโปรดให้สร้างตราศรพระขรรค์พระราชทานสำหรับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ขณะที่มีอายุได้ ๔๓ ปี นับเป็นข้าราชการที่มีอายุน้อยที่สุดในตำแหน่งสมุหพระกลาโหม

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 20 มี.ค. 2549 - 10:08:12


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 15:28
ปรากฏว่า ตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง นุนนาค) เป็นบุคคลที่มีความสำคัญมากในการปกครองประเทศสยาม โดยเฉพาะหลังจากที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงแก่พิราลัยและสวรรคตตามลำดับ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ยิ่งมีความสำคัญมากจนสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวเปรียบเทียบไว้ว่า
“ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ เป็นเสมือนแม่ทัพแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ก็เป็นเหมือนเสนาธิการช่วยกันทำงานมาตลอดรัชกาลที่ ๔”

ดังนั้นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงเป็นบุคคลผู้มีความสำคัญในการปกครองประเทศสยามเป็นอันดับที่ ๒ รองจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ต่อมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุเพียง ๑๕ พรรษา
พระบาทวงศานุวงศ์ พระสงฆ์ ราชาคณะ และที่ประชุมเสนาบดีจึงเห็นสมควรแต่งตั้งให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ ๕ ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๑๑-๒๔๑๖ มีอำนาจอาญาสิทธิ์ที่จะปกครองประเทศ และประหารชีวิตผู้กระทำความผิดขั้นอุกฤษฏ์ได้

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๑๖ เมื่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์พ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน รัชกาลที่ ๕ โปรดให้เลื่อนเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ถือศักดินา ๓๐,๐๐๐

เมื่อพ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรียวงศ์มักออกไปพำนักอยู่ที่จังหวัดราชบุรี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ถึงแก่พิราลัยเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๕ เวลา ๕ ทุ่มเศษ บนเรือที่ปากคลองกระทุ่มแบน สิริรวมอายุได้ ๗๔ ปี ๒๗ วัน รัชกาลที่ ๕ โปรดให้ทำพิธีพระราชทานเพลิงศพของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์อย่างสมเกียรติ ณ วัดบุปผาราม ธนบุรี เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๒๗

เมื่อศึกษาถึงประวัติของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ จะเห็นได้ว่าท่านเป็นอัจฉริยบุรุษผู้มีชื่อเสียงเด่นที่สุดในบรรดาสมาชิกทั้งหลายของตระกูลบุนนาค ไม่เพียงแต่ชื่อเสียงของท่านจะเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวไทยว่า ท่านเป็นผู้มีอำนาจและอิทธิพลในการปกครองประเทศสยามในแผ่นดินรัชกาลที่ ๔ และที่ ๕ เท่านั้น แต่ท่านยังเป็นที่รู้จักกันดีในบรรดาชาวต่างประเทศตั้งแต่สมัยเมื่อท่านมีชีวิตอยู่จนกระทั่งปัจจุบันนี้

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 20 มี.ค. 2549 - 10:10:11


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 15:32
ตลอดอายุของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ท่านได้สร้างผลงานในด้านต่าง ๆ ไว้มากมาย ดังต่อไปนี้ คือ

บทบาททางด้านการเมืองการปกครอง

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเห็นการณ์ไกลว่า ต่อไปภายหน้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จะเป็นผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ในหมู่เสนาบดี ดังจะเห็นได้จากพระบรมราชโองการตอนหนึ่งที่มีต่อพระยาศรีสุริยวงศ์ก่อนที่พระองค์จะสวรรคตว่า
“...ที่สติปัญญาพอจะรักษาแผ่นดินได้อยู่ ก็เห็นแต่ท่านฟ้าใหญ่ ท่านฟ้าน้อย ๒ พระองค์ ... การต่อไปภายหน้า เห็นแต่เอง (คือ พระยาศรีสุริยวงศ์) ที่จะรับราชการเป็นอธิบดีผู้ใหญ่ต่อไป การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดีอย่าให้เสียทีแก่เขาได้”

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรใกล้จะสวรรคต พระยาศรีสุริยวงศ์ได้มีส่วนเสนอความเห็นต่อเจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหม (ดิศ) ผู้เป็นบิดาว่า ควรจะสนับสนุนให้เจ้าฟ้ามงกุฎได้ขึ้นครองราชย์และมีสิทธิ์ในราชบัลลังก์ต่อไป เพราะเป็นพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระบรมราชินี บ้านเมืองจึงจะเป็นปกติต่อไป ซึ่งเจ้าพระยาพระคลังก็เห็นด้วย จึงกล่าวได้ว่า พระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการอัญเชิญเจ้าฟ้ามงกุฎมาทรงเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 20 มี.ค. 2549 - 10:11:24


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 15:36
 ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ภายหลังที่ไทยทำสนธิสัญญากับนานาประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมอบอำนาจให้แก่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ทั้งทางด้านการเมือง การทหาร และการปกครองประเทศ เมื่อรัชกาลที่ ๔ ทรงต้องการปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัยตามแบบอย่างชาวยุโรป ก็ได้ส่งเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ พร้อมด้วยพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร และพระองค์เจ้าชายสุประดิษฐ์ ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ออกไปดูการต่างประเทศ ณ สิงคโปร์ใน พ.ศ. ๒๔๐๔ เพื่อดูแบบอย่างการบริหารและการปกครองของอังกฤษนำมาปรับปรุงบ้านเมือง

จึงนัยได้ว่า เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้มีอำนาจอย่างกว้างขวางตลอดสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเมื่อรัชกาลที่ ๔ จะเสด็จสวรรคต ก็ทรงฝากฝังและให้ท่านเป็นผู้พิจารณาว่า ควรจะมอบสมบัติให้แก่ผู้ใด และเมื่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้สนับสนุนให้เจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ซึ่งยังทรงพระเยาว์ได้เป็นกษัตริย์ จึงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน จนกว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ จะทรงมีพระชนมายุบรรลุนิติภาวะ นอกจากนี้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ยังเป็นแรงสำคัญในการสนับสนุนให้กรมหมื่นบวรวิชัยชาญ พระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล อำนาจอันยิ่งใหญ่ที่มีอยู่นี้ ถ้าเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จะคิดทรยศต่อราชบัลลังก์ โดยยกตนเองเป็นกษัตริย์ก็ย่อมจะทำได้ แต่ท่านหาได้มีความทะเยอทะยานมักใหญ่ใฝ่สูงเกินศักดิ์ไม่ หากแต่มีความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเป็นอย่างยิ่ง คติประจำใจที่ท่านยึดถือไว้คือคำโบราณที่ว่า

“คำพระ คำพระมหากษัตริย์ คำบิดามารดา ใครลบล้างก็เป็นอกตัญญู”

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์อยู่ในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินระหว่าง พ.ศ. ๒๔๑๑-๒๔๑๖ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกผนวชและทรงทำพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๔๑๖ แล้ว
ก็โปรดเลื่อนบรรดาศักดิ์เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ มีสร้อยสมญาภิไธยตามจารึกในสุพรรณบัตรว่า

“สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ สมันตพงศ์พิสุทธิ มหาบุรุษยรัตโนดม บรมราชุตมรรคมหาเสนาบดี มหาสุริยมัณฑลีมุรธาธร จักรรัตนสหจรสุรศรขรรค์ วรลัญจธานินทร์ ปริมินทรมหาราชวรานุกูล สรรพกิจจานุกิจมูลประสาท ปรมามาตยกูลประยูรวงศ์วิวัฒน์ สกลรัชวรณาจักโรประสดัมภ์ วรยุติธรรมอาชวาธยาศัยศรีรัตนตรัยคุณาภรณ์ภูษิต อเนกบุยฤทธิประธิสรรค์ มหันตวรเดชานุภาพบพิตร”

หลังจากนั้นก็พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แต่คนทั่วไปยังคงเรียกท่านว่า “ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน” เป็นหัวหน้าเสนาบดี มีหน้าที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ช่วยทำนุบำรุงบ้านเมือง

อย่างไรก็ดีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ยังคงมีอำนาจและอิทธิพลยิ่งใหญ่ในประเทศสยาม ท่านได้ถือตรามหาสุริยมณฑล ได้บังคับบัญชาข้าราชการแผ่นดินทั่วพระราชอาณาจักรอย่างเป็นที่ปรึกษาที่สำคัญยิ่งในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และยังมีอำนาจสิทธิ์ขาดที่จะสั่งประหารชีวิตนักโทษขั้นอุกฤษฏ์ได้

ภาพนี้คือตราสุริยมณฑล


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 15:37
 สวัสดีครับ อ. เทาชมพู มานั่งที่ชานเรือนครับ
ผมเคยได้ยินเรื่องเกี่ยวกับสมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านนี้อยู่เหมือนกัน ทั้งในทางดีและไม่ดี
อีกเรื่องหนึ่งที่เคยได้ยิน คือเรื่องที่นายทิม (คุณหลวงชื่ออะไร จำไม่ได้)ผู้แต่งนิราศหนองคาย ถูกลงโทษเพราะเหตุใดเหตุหนึ่ง ที่พาดพิงสมเด็จเจ้าพระยาฯ ครับ
เรื่องนี้มีเบื้องหน้าเบื้องลึกอย่างไร ผมก็ไม่ทราบ จึงขอถามสมาชิกทุกท่านในกระทู้นี้ครับ  

โดย: ศรีปิงเวียง  [IP: 210.86.142.82,,]  
วันที่ 20 มี.ค. 2549 - 16:59:43


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 15:38
 จองที่นั่งไว้ก่อนครับ  

โดย: CrazyHOrse  [IP: 61.91.223.43,,]  
วันที่ 20 มี.ค. 2549 - 17:54:45


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 15:38
 มาเกาะระเบียงอ่านด้วยคนครับอาจารย์

โดย: ติบอ  [IP: hidden]  
วันที่ 20 มี.ค. 2549 - 18:13:11


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 15:39
 เรื่องนิราศหนองคาย อ่านมานานมากแล้ว รู้เพียงว่าผู้แต่งคือหลวงพิพัฒน์ภักดี(ทิม สุขยางค์) ผู้ติดตามของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง( เพ็ง เพ็ญกุล)ไปในทัพของเมืองหลวงที่ยกไปปราบฮ่อที่หนองคาย สมัยรัชกาลที่ ๕
นายทิมได้บรรยายความลำบากยากเย็นของการเดินทัพ เนื้อความบางอย่างก็ไม่เหมาะสมจะเผยแพร่นัก เพราะไปบาดความรู้สึกของผู้หลักผู้ใหญ่เข้า
ทำให้บุคคลสำคัญระดับเจ้าพระยา ๒ ท่านบาดหมางกัน ท่านหนึ่งคือเจ้าพระยามหินทรฯ นายของนายทิมเอง อีกท่านหนึ่ง ขออภัยจำไม่ได้แม่นว่าเป็นเจ้าพระยาภูธราภัย(นุช บุณยรัตพันธุ์)ใช่หรือไม่
ผลสุดท้ายนิราศเรื่องนี้ก็เลยถูกเซนเซอร์ไปตามระเบียบ

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 22 มี.ค. 2549 - 10:59:53


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 15:41
 บทบาททางด้านการต่างประเทศ

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ตั้งแต่ครั้งยังเป็นหลวงสิทธินายเวร มีความคุ้นเคยกับชาวต่างประเทศมาก โดยเฉพาะมิชชันนารีอเมริกันที่เข้ามาอยู่ในไทย การที่ได้คบหาสมาคมกับมิชชันนารีนี้ ทำให้ท่านได้มีโอกาสศึกษาภาษาอังกฤษ และรู้ขนบธรรมเนียมของชาวตะวันตก หมอบรัดเลย์แห่งคณะอเมริกันคอมมิชชันเนอร์ ฟอร์ฟอเรน มิชชัน ได้กล่าวถึงหลวงสิทธินายเวรไว้ในบันทึกรายวันมีข้อความตอนหนึ่งว่า
“...ท่าทางคมขำ พูดจาไพเราะมีอัธยาศัยดี...”

พวกมิชชันนารีได้ไปหาหลวงนายสิทธิยังบ้านของท่าน บ้านของหลวงนายสิทธินี้ หมอบรัดเลย์กล่าวว่าใหญ่โตงดงามมาก ที่หน้าบ้านเขียนป้ายติดไว้ว่า
“นี่บ้านหลวงนายสิทธิ ขอเชิญท่านสหายทั้งหลาย”
ที่บ้านหลวงนายสิทธินี้ พวกมิชชันนารีได้รู้จักคนดี ๆ อีกหลายคน ข้อนี้พวกมิชชันนารีรู้สึกชอบพอแลรักใคร่ท่านมาก...”

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เคยเกี่ยวข้องกับงานด้านการต่างประเทศมาตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในคราวสงครามอันนัมสยามยุทธ์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เมื่อครั้งเป็นจมื่นไวยวรนาถ หัวหมื่นมหาดเล็ก รับหน้าที่เป็นแม่ทัพหน้าคุมกำลังไปรบกับญวนที่เมืองบันทายมาศ (ฮา เตียน) โดยมีเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวในสมัยรัชกาลที่ ๔) ทรงเป็นแม่ทัพคุมกองทัพเรือไปรบ

ในด้านการติดต่อกับต่างประเทศนี้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้รับความไว้วางใจจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาก ดังปรากฏในพระราชดำรัสของรัชกาลที่ ๓ ตอนหนึ่งว่า
“...จมื่นไวยวรนาถเล่าก็เป็นคนสันทัดหนักในอย่างธรรมเนียมฝรั่ง...”

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อประธานาธิบดีซาคารี เทย์เลอร์ แห่งสหรัฐอเมริกาส่งนายโจเซฟ บาเลสเตียร์ เข้ามาขอแก้ไขสนธิสัญญากับไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๒
จมื่นไวยวรนาถ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งมีหน้าที่คอยดูแลความสงบเรียบร้อยอยู่ที่เมืองสมุทรปราการได้มีส่วนได้มีส่วนในการต้อนรับทูตอเมริกันคณะนี้
และเป็นผู้ติดต่อระหว่างบาเลสเตียร์กับเสนาบดีผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ ถึงเรื่องการทำการเจรจากัน ตลอดจนการจะเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และเมื่อลอร์ดปาล์มเมอร์สตัน รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษได้แต่งตั้งให้เซอร์เจมส์บรุ๊ค เป็นผู้แทนเข้ามาขอแก้ไขสนธิสัญญาเบอร์นีกับไทยใน พ.ศ. ๒๓๙๓ จมื่นไวยวรนาถภักดีศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้หนึ่งที่รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในการตรวจร่างสัญญา และเป็นผู้รับร่างหนังสือของฝ่ายไทยไปเขียนลงกระดาษให้เรียบร้อยส่งตอบหนังสือของเซอร์เจมส์ บรุ๊ค

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 22 มี.ค. 2549 - 17:52:07


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 15:43
 ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๙๘ เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งประเทศอังกฤษทรงแต่งตั้งเซอร์จอห์นบาวริง ผู้สำเร็จราชการประจำฮ่องกง เป็นราชทูตมาขอแก้ไขสนธิสัญญาเบอร์นี เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้รับมอบหมายจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เป็นผู้หนึ่งในคณะข้าหลวงดำเนินการเจรจากับอังกฤษ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์มีบทบาทเป็นผู้ประสานการเจรจาระหว่างทูตอังกฤษกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ จนทำให้มีการลงนามในสนธิสัญญาบาวริงได้เป็นผลสำเร็จ

ระหว่างการเจรจา เซอร์จอห์น บาวริง ได้บันทึกสรรเสริญเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่า เป็นผู้มีสติปัญญาและความสามารถยอดเยี่ยม
มีความคิดก้าวหน้าและใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เมื่อเทียบกับบรรดาข้าราชการในสมัยนั้น ดังปรากฏข้อความในหมายเหตุประจำวันลงวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๙๘ ว่า

“...ท่านผู้นี้ ถ้าไม่เป็นเจ้ามารยาอย่างยอด ก็เป็นคนรักบ้านเมืองจริง แต่จะเป็นเจ้ามารยาหรือเป็นคนรักบ้านเมืองก็ตาม ต้องว่าเป็นผู้มีความฉลาด ล่วงรู้กาลล้ำคนทั้งหลายที่เราได้พบในที่นี้ เป็นผู้มีกิริยาอัชฌาศัยอย่างผู้ดี และรู้จักพูดพอเหมาะแก่กาลเทศะ...”

และอีกข้อความหนึ่งในหมายเหตุประจำวัน ลงวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๓๙๘ ว่า

“...นิสัยของอัครมหาเสนาบดีนั้นน่าสรรเสริญมาก...ท่านได้กล่าวแก่เราหลายครั้งว่า ถ้าเรามีความมุ่งหมายจะช่วยประชาชนให้พ้นความกดขี่และช่วยบ้านเมืองให้พ้นภาษีผูกขาด ซึ่งจะเอาประโยชน์ของบ้านเมืองไปเป็นส่วนบุคคลนั้น ก็จะช่วยเราเหนื่อยด้วย และถ้าทำการสำเร็จ ชื่อเสียงของเราก็จะเป็นที่ยกย่องต่อไปชั่วกาลนาน และบางคราวพูดอย่างโกรธเกรี้ยว
ถ้าท่านผู้นี้มีใจจริงดังปากว่า ก็ต้องนับว่าเป็นคนรักบ้านเมือง และฉลาดเลิศที่สุดคนหนึ่งในเหล่าประเทศตะวันออก...”

ภายหลังที่ไทยทำสนธิสัญญากับนานาประเทศแล้ว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์สนับสนุนให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับอังกฤษและฝรั่งเศสตามลำดับ อันเป็นการเริ่มศักราชทางการทูตระหว่างไทยกับมหาอำนาจตะวันตกเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นการเพิ่มพูนสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับบรรดาชาติยุโรปและเอเชียให้กว้างขวางยิ่งขึ้นมาจนทุกวันนี้

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 22 มี.ค. 2549 - 17:56:41


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 15:43
 มาแล้วครับ แหม อาจารย์ นึกถึงผมยังงี้ผมรักอาจารย์มั่กๆเลยครับ ขอบคุณมากๆเลยครับ

ครับช่วงนี้ผมผลุบๆโผล่ๆ เดี๋ยวต้องไปทำงาน ต่างประเทศ 2 เดือนอีก จะยิ่งผลุบโผล่เข้าไปใหญ่ แต่ยังไงก็ไม่ลืมที่นี่หรอกครับ เข้ามาอ่านเท่าที่โอกาสครับ

โดย: paganini  [IP: hidden]  
วันที่ 22 มี.ค. 2549 - 18:48:36


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 15:45
 ขอฟ้องทีมวิชาการให้ช่วยเป็นพยานด้วยค่ะ
ว่าคุณ paganini แกชอบสารภาพรักกับดิฉันมาหลายกระทู้แล้ว
แต่จนบัดนี้ ยังไม่เคยโผล่ตัวจริงมาให้เห็น
ดิฉันและชาวเรือนไทยที่คอยดูตัว ก็เลยเก้อกันจนบัดนี้
********************
งานทางด้านวิทยาการสมัยใหม่

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ให้ความสนใจในวิทยาการสมัยใหม่ที่พวกมิชชันนารีนำเข้ามาเผยแพร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับด้านสถาปัตย์กรรม วิชาการช่าง และเทคนิคต่าง ๆ ตามแบบอย่างตะวันตก ที่สำคัญได้แก่
๑. การต่อเรือกำปั่น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เมื่อครั้งเป็นหลวงสิทธิ์นายเวรในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นผู้มีความสามารถในการต่อเรือโดยศึกษาจากมิชชันนารี  ในขณะที่ติดตามบิดาไปอยู่ที่เมืองจันทบุรี ใน พ.ศ. ๒๓๗๘ หลวงสิทธิ์นายเวรได้ต่อเรือรบไทย (เรือกำปั่นรบ) ซึ่งเป็นเรือใหญ่ลำแรกในประเทศสยามที่ทำตามแบบฝรั่ง เป็นเรือบริกชนิดใช้ใบเหลี่ยมทั้งเสาหน้าและเสาท้ายสองเสาครึ่ง ตั้งชื่อเรือลำนี้ว่า เรือ “เอเรียล” (Ariel) หรือมีชื่อทางไทยว่าเรื่อ “แกล้วกลางสมุทร” หลวงสิทธิ์นายเวรได้นำเรือลำนี้ถวายรัชกาลที่ ๓ เป็นที่โปรดปรานและพอพระราชหฤทัยมาก
นอกจากนี้ยังได้ต่อเรือ “ระบิลบัวแก้ว” และยังได้ต่อเรืออื่น ๆ ที่จันทบุรีที่มีน้ำหนักขนาด ๓๐๐-๔๐๐ ตัน มีจำนวนมากกว่า ๕๐ ลำ

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้อำนวยการต่อเรือปืนที่เรียกว่าเรือ “กันโบต” ขึ้น ๔ ลำได้แก่ เรือปราบหมู่ปรปักษ์ เรือหาญหักศัตรู เรือต่อสู้ไฟรีรณ และเรือประจัญปัจจนึก และต่อเรือกลไฟซึ่งได้แก่ เรืออรรคราชวรเดช และเรือเขจรชลคดี ขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เรือที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ต่อขึ้นได้แก่เรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ และเรือสุริยมณฑล
***************
ขอเล่าเกร็ดแทรกตรงนี้หน่อยค่ะ
ชื่อเรือ แอเรียล นั้น มาจากชื่อตัวละครในเรื่อง The Tempest ของเชกสเปียร์ ไม่รู้ว่ามิชชันนารีตั้งให้หรือว่าท่านตั้งเอง แต่เป็นชื่อที่เหมาะมาก แอเรียลเป็นชื่อภูตพรายตัวหนึ่งที่พรอสเพอโร ผู้ทรงคาถาอาคม ใช้มนตร์เอาตัวมาเป็นบริวารใช้สอยได้ถูกใจแอเรียล แปลตามศัพท์ว่า spirit of the air เป็นภูตพรายที่ว่องไวดังลมกรดสมชื่อ เฉลียวฉลาดใช้สอยได้ตามใจนึก เอามาเป็นชื่อเรือ ก็ให้ภาพว่าคงกางใบแล่นฉิวปลิวลม บังคับให้โต้คลื่นไปทางไหนก็ไปได้ดังใจนึก

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 23 มี.ค. 2549 - 08:44:55


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 15:47
 ๒. การสร้างประภาคาร สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มีความสนใจในการเรือมาตั้งแต่อยู่ในวัยหนุ่ม เมื่อเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ก็ยังคงสนใจในการเรือและมีกำลังอุดหนุนงานด้านนี้มากยิ่งขึ้น ท่านได้เล็งเห็นสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์ในการเดินเรืออย่างหนึ่ง คือ ประภาคารหรือกระโจมไฟ เวลานั้นในประเทศสยามยังไม่มีประภาคาร สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จึงบริจาคทรัพย์ส่วนตัวสร้างประภาคารขึ้น
เพื่อให้เป็นเครื่องหมายการนำเรือราชการและเรือสินค้าผ่านสันดอนเข้าออกได้โดยสะดวกที่จังหวัดสมุทรปราการ โดยเริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ เสร็จเรียบร้อยเปิดใช้ใน พ.ศ. ๒๔๑๗ สิ้นค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงิน ๑๘,๐๒๑.๒๕ บาท นับเป็นประภาคารที่สร้างขึ้นตามระบบมาตรฐานสากลดวงแรกของไทย
ประภาคารแห่งนี้มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษปรากฏในแผนที่เดินเรือไทยหมายเลข ๑ a ว่า Bar or Regent Lighthouse ส่วนชื่อภาษาไทยเรียกว่า “กระโจมไฟสันดอน” และใช้เป็นเครื่องหมายการเดินเรือมาเป็นเวลานานถึง ๕๕ ปี กับ ๒๒ วัน (เลิกใช้เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๗๒

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 23 มี.ค. 2549 - 08:48:05


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 15:49
 ๓. การทหาร ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีพระราชดำริที่จะจัดการกรมทหารอย่างยุโรปให้รุ่งเรืองขึ้น
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก (ช่วง บุนนาค) ควบคุมบังคับบัญชาจัดขึ้น เรียกว่า “ทหารอย่างยุโรป”
ให้กัปตันนอกส์เป็นครูฝึก มีโรงทหารตั้งอยู่ที่บ้านพระยาศรีสุริยวงศ์ ณ ฝั่งแม่น้ำด้านตะวันตก มีสนามฝึกหัดอยู่ข้างวัดบุปผาราม

งานด้านการก่อสร้าง

ในรัชกาลที่ ๓ จมื่นไวยวรนาถ (ช่วง บุนนาค) ได้รับมอบหมายให้ลงไปเป็นแม่กองสร้างป้อมที่บางจะเกร็ง เพื่อให้เป็นที่อยู่ของแม่ทัพที่เมืองสมุทรปราการ สร้างเสร็จใน พ.ศ. ๒๓๙๓ และพระราชทานนามว่า “ป้อมเสือซ่อมเล็บ”
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดให้สร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทขึ้น ภายหลังจากเสร็จกลับจากประพาสสิงคโปร์และชวา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙
แต่เดิมจะสร้างพระที่นั่งเป็นยอดโดม ใช้เสด็จออกขุนนางโดยต่อเนื่องกับพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ และพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ โดยมีท้องพระโรงกลางเป็นทางต่อเชื่อม
การสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทนี้ สร้างเป็นตึกสามชั้น เจ้าพระยาภาษุวงษ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เป็นแม่กอง นายยอน คลูมิตธ์ เป็นผู้ออกแบบหลังคาเป็นยอดโดม แต่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้กราบบังคมทูลขอให้ทำเป็นยอดปราสาท ดังนั้นพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทจึงเป็นศิลปผสมผสานระหว่างศิลปไทยและยุโรป ซึ่งเรียกกันตามสามัญว่า “หัวมงกุฎ ท้ายมังกร”

หมายเหตุ สำนวนที่ถูกต้องคือ "หัวมังกุ ท้ายมังกร" ค่ะ ทั้งมังกุและมังกรเป็นชื่อเรือคนละชนิดกัน

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 23 มี.ค. 2549 - 08:50:42


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 15:51
 ขอแทรกด้วยความเคารพครับ

หลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) แต่งนิราศเรื่องนี้เพื่อด่ากระทบสมเด็จเจ้าพระยาครับ ตามที่จิตร ภูมิศักดิ์ค้นคว้าไว้
หนังสือพิมพ์เสร็จแล้วแต่ยังไม่ทันได้จำหน่าย ที่รุนแรงมากคือ หาว่าท่านช่วง จงใจสั่งให้เจ้าพระยามหินทร์ฯ เดินทัพเข้าดงไข้ป่าที่ดงพญาไฟ ไพร่พลล้มป่วยสาหัสนัก ใช้ถ้อยคำรุนแรงมาก
ท่านช่วงรู้เรื่องเข้าก็ฟ้องจะเอาเรื่องให้ถึงนายของนายทิม พระพุทธเจ้าหลวงทรงตั้งเจ้านายรีบตัดสิน และทรงโปรดให้บันทึกด้วยความโล่งพระทัยว่า เรื่องจบเร็วดี ไม่กระทบถึงผู้อื่น(มีในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน)
ดูเหมือนนายทิมจะถูกปลด โบยหลัง แต่แกก็มาเอาดีทางวรรณกรรมและการแสดง แต่งบทละคอนไว้มาก เรื่องหนึ่งก็ที่เป็นต้นเหตุของกลอนซึมซาบที่ ร 5 ทรงแต่งล้อเลียนความไม่รู้ราชพิธี ครับ

ขออนุญาตเรียนถามอาจารย์เทาด้วยครับ ว่าเรื่องท่านช่วงไปสิงค์โปร์ปรากฏในเอกสารใดครับ พอดีจะทำรายงาน หาข้อความนี้ไม่เจอ
ขอบพระคุณล่วงหน้าครับ

โดย: pipat  [IP: 58.8.57.126,,]  
วันที่ 23 มี.ค. 2549 - 19:05:28


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 15:51
 ถูกจำคุก 9 เดือนด้วยครับ

โดย: pipat  [IP: 58.8.57.126,,]  
วันที่ 23 มี.ค. 2549 - 20:36:10


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 15:52
 เรื่องสิงคโปร์ ตอนนี้นึกไม่ออกเลยค่ะ
ใครทราบบ้างคะ ช่วยคุณ pipat หน่อย

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 24 มี.ค. 2549 - 07:44:18


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 15:53
 งานทางด้านศาสนา
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้สร้างและปฏิสังขรณ์วัดไว้หลายแห่ง เมื่อครั้งที่ท่านยังเป็นที่จมื่นไวยวรนาถ ก็ได้ปฏิสังขรณ์วัดดอกไม้ซึ่งเป็นวัดร้างอยู่ในสวนแห่งหนึ่ง ไม่ห่างไกลจากบ้านที่ท่านอยู่ การปฏิสังขรณ์นี้ท่านได้ทำกับจมื่นราชามาตย์ (เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ หรือ ขำ บุนนาค) ซึ่งเป็นน้องชายแล้วกราบทูลขอคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายจากสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎให้ไปครองวัดนี้
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยังทรงผนวชก็ได้เสด็จไปวัดนี้เสมอ และใช้เป็นที่ทรงศึกษาภาษาอังกฤษร่วมกับจมื่นไวยวรนาถ
วัดที่ปฏิสังขรณ์ใหม่นี้ รัชกาลที่ ๔ ได้พระราชทานนามให้ใหม่ว่า “วัดบุปผาราม”

ภายหลัง พ.ศ. ๒๔๑๖ เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์พ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ท่านมักไปพำนักอยู่ที่จังหวัดราชบุรี
ณ จังหวัดนี้ ท่านได้สร้างวัดขึ้นแห่งหนึ่งใน พ.ศ. ๒๔๒๒ เป็นวัดประจำตระกูลของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานนามว่า “วัดสุริยวงษาวาส”

งานทางด้านวรรณคดี
กิจจานุกิจของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ในสมัยที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินประการหนึ่งคือ ประชุมนักปราชญ์ทางภาษาจีนให้แปลพงศาวดารจีนออกเป็นภาษาไทย เพราะเห็นว่า เรื่องเหล่านี้มีคติสอนใจเหมาะสำหรับประดับสติปัญญานักปกครองหรือขุนนางทั่วไป
เรื่องที่ได้แปลไว้ได้แก่ ไซ้จิ้น น่ำซ้อง ซวยงัก ซ้องกั๋ง ไต้อั้งเผ่า และอื่น ๆ อีกมากมาย

เกร็ดประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดแต่งตั้งพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เสนาบดีผู้ช่วยกระทรวงกลาโหมแล้ว ก็โปรดเกล้า ฯ พระราชทานบ้านหลวงให้อยู่สมเกียรติของผู้จะเป็นเสนาบดีกลาโหมคนต่อไป คือ พระราชทานบ้านเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมุหนายก ซึ่งอสัญกรรมไปเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๒ อยู่ที่ริมคลองสะพานหันฝั่งตะวันออก ตรงข้ามวังบูรพา ให้เป็นจวนประจำตำแหน่งเสนาบดีกลาโหม ปรากฏว่า เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้อยู่ที่จวนหลังนี้จนถึง พ.ศ. ๒๓๙๘ เมื่อบิดา คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ถึงแก่พิราลัย และท่านเข้ารับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหมเต็มที่แล้ว จึงไปสร้างบ้านใหม่อยู่ที่สวนวัดดอกไม้ ฝั่งธนบุรี อันเป็นโรงเรียนสมเด็จเจ้าพระยา หรือที่เป็นโรงเรียนศึกษานารีในปัจจุบัน

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 25 มี.ค. 2549 - 08:19:21


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 15:55
 เกร็ดประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
ในแผ่นดินสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเถลิงราไชศูริยสมบัติ เป็นบรมกษัตริย์ครอบครองสยาม เจริญพระชนมายุได้ ๑๕ ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) จุดเทียนเล่มใหญ่เข้าไปในบ้านสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เอาคัมภีร์หนีบรักแร้ ตาลปัตรทำหางเสือ จุดเทียนเล่มใหญ่เข้าไปที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ฯ ในเวลากลางวันแสก ๆ เดินรอบบ้าน (คลองสาน) สมเด็จเจ้าพระยา ฯ อาราธนาขึ้นบนหอนั่ง แล้วนมัสการว่า โยมไม่สู้มืดนักหรอกเจ้าคุณ
อนึ่ง โยมนี้มีใจแน่นแฟ้นในพระพุทธศาสนาแน่นอนมั่งคงเสมอ
อนึ่ง โดยทะนุบำรุงแผ่นดินโดยเที่ยงธรรมและตั้งใจประคับประคองสนองพระเดชพระคุณโดยตรงโดยสุจริต คิดถึงชาติ และศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นที่ตั้งตรงอยู่เป็นนิตย์ ขอเจ้าคุณอย่าปริวิตกให้ยิ่งกว่าเหตุไป
...................
หนังสือประกอบการเรียบเรียง
๑. ธวัชชัย อิศรางกูร ณ อยุธยา (ผู้รวบรวม) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม พระนคร โรงพิมพ์อักษรสมัย, ๒๕๑๖
๒. ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม เจ้าพระยาและสมเด็จเจ้าพระยาบางท่านในสกุลบุนนาค พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพอำมาตย์เอก พระยาสุริยานุวงศ์ประวัติ (เต๋า บุนนาค) ท.ม. , ว.ป.ร. , ต.จ.ว. ณ เมรุวัดธาตุทอง วันที่ ๑๙ พฤษจิกายน ๒๕๑๗
๓. ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์, ๒ เล่ม พระนคร โรงพิมพ์เทพไพศาล, ๒๕๐๔
๔. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา ประวัติสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เมื่อก่อนเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ม.ป.ท.
๕. ปิยนาค บุนนาค บทบาททางการเมืองการปกครองของเสนาบดีตระกูล “บุนนาค” พระนคร ดวงกมล, ๒๕๒๐

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 25 มี.ค. 2549 - 08:21:31


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 15:56
 ขอตอบคำถามของคุณพิพัฒน์ครับ
จากหนังสือ คนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก เล่มที่ 1 และ 3 พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ระบุว่า พ.ศ. 2404 โปรดฯ ให้กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร เสด็จไปตรวจการงานต่างประเทศกับเจ้าพระยาศรีสุริวงศ์(ในสมัยรัชกาลที่ 5 สถาปนาเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) สมุหพระกลาโหมในขณะนั้น และได้เสด็จไปถึงเมืองสิงคโปร์และเกาะหมาก(ปีนัง) ครั้งนี้ กรมหลวงพิชิตปรีชากรเคยทูลขอไปเมืองสิงคโปร์ ในฐานะที่สมเด็จเจ้าพระยาฯ รับไว้เป็นคุณตา

เท่าที่ผมตรวจสอบดู หนังสือคนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก ไม่มีวางจำหน่ายทั่วไปครับ
พระประวัติกรมหลวงพิชิตฯ มีในคนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก เล่ม 1
พระประวัติสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ มีในคนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก เล่ม 2
และพระประวัติกรมหมื่นวิศนุนาถนิภาธร มีในคนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก เล่ม 3 ครับ

ป.ล. ขอถามครับว่า นิราศหนองคายยังเหลืออยู่ในปัจจุบันหรือเปล่าครับ
ได้ข่าวว่า เป็นหนึ่งในหนังสือ 100 เล่ม ที่คนไทยควรอ่านครับ
และขอบพระคุณคุณพิพัฒน์ และ อ.เทาชมพู เรื่องนายทิม มา ณ ที่นี้ครับ

โดย: ศรีปิงเวียง  [IP: 61.19.145.16,192.168.2.59,]  
วันที่ 4 เม.ย. 2549 - 11:25:41


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 15:57
 ยังไม่เห็นนิราศหนองคาย วางขายในร้านไหน ดิฉันเคยเห็นแต่ในหอสมุดของมหาวิทยาลัยค่ะที่มช. น่าจะมี

มาเล่าเรื่องสมเด็จเจ้าพระยา ต่อ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต บทบาทของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ในฐานะ the kingmaker ก็เป็นที่ประจักษ์แก่ราชสำนัก

ขออธิบายหน่อยนะคะว่า คำว่า kingmaker คืออะไร
คำนี้หมายถึง One who has the political power to influence the selection of a candidate for high public office. หรือบุคคลทรงอำนาจทางการเมือง ผู้มีอิทธิพลต่อการแต่งตั้งบุคคลสู่ตำแหน่งสำคัญยิ่ง
kingmaker นี้ไม่ใช่ king แต่ว่ากุมอำนาจขนาดผลักดันใครสู่ตำแหน่งระดับชาติได้ในอังกฤษ มีอยู่หลายคนในประวัติศาสตร์

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 5 เม.ย. 2549 - 10:20:16


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 15:58
 ขอบคุณคุณศรีฯครับ

นายยอน คลูมิตธ์ ผมไม่แน่ใจว่าจะเป็นคลูนิตส์หรือเปล่า จะสอบก็ไม่มีหนังสือ แต่มีเล่าละเอียดในประวัติการจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี และ ร.5 ทรงตอบคำกราบบังคมทูลของท่านช่วง เรื่องหลังคาพระที่นั่งจักรี ได้อย่างแนบเนียนหากอาจารย์จะกรุณาเล่าฝากไว้ก็จะเป็นประโยชน์ครับ

อ้อ อย่างให้เล่าเรื่องผ้าสมปักที่น่าสงสาร ที่คุณพุ่มอธิฐานล้อเอาไว้ด้วยครับ

โดย: pipat  [IP: 58.9.195.215,,]  
วันที่ 6 เม.ย. 2549 - 19:57:35


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 15:58
 ช่วงก่อนสงกรานต์ งานของดิฉันนอกเน็ตเยอะมากค่ะ จนกระทู้นี้คืบหน้าได้ช้าเหมือนเต่าคลาน อยากจะขอคุณพิพัฒน์ช่วยผลักให้เร็วกว่านี้บ้าง
ดิฉันจะเล่าเรื่องโคมระย้าแก้วในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท คุณช่วยเล่าเรื่องหลังคาพระที่นั่งได้ไหมคะ เรื่องผ้าสมปัก ได้ค่ะ

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 7 เม.ย. 2549 - 08:36:39


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 15:59
 ได้ครับ รับบัญชา แต่ปัญหาคือผมต้องเล่าจากความจำ หนังสือที่มีมันไปกองรวมกันไม่ได้แยกเข้าชั้น คือจนน่ะครับ มีตังค์ซื้อหนังสือ แต่ไม่มีตังค์ซื้อชั้น

จำได้ว่าในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ปีสัก 2418.....มีบันทึกว่า
สมเด็จเจ้าพระยาเดินทางมาจากราชบุรี คือว่า พอในหลวงทรงครองราชย์โดยพระองค์เองแล้ว ท่านก็ปลีกวิเวกไปอยู่อาณาจักรของท่านที่ราชบุรี เมื่อท่านถึงกรุง ก็ขอเข้าเฝ้าทันที แล้วกราบบังคมทูลอย่างที่เราทราบๆกัน
พระเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นยังเด็กมากนะครับ 21-22 เท่านั้น
เพิ่งจัดการคดีพระยาอาหารฯลงได้อย่างราบคาบ
เรียกว่าไฟสงครามยังไม่มอดเชื้อ

ท่านตอบว่า
ทรงเห็นแล้วว่าแผ่นดินยังไม่มีพระมหาปราสาทประจำรัชกาล แต่ทรงรอคำกราบบังคมทูลจากท่านผู้ใหญ่ เพื่อให้คำนั้นติดอยู่ในแผ่นดิน เป็นเกียรติยศแก่ผู้เสนอ

ผมอ่านเจอตั้งแต่เด็ก ชอบปฎิภาณของพระองค์จริงๆ
จำได้ด้วยว่าเจ้าพระยามหินทร์ เป็นผู้กล่าวถึงรูปทรงหลังคาว่า ฝรั่งใส่ชฎา และในรูปเก่าๆหน่อย จะเห็นว่าเครื่องบนเป็นช่อฟ้ามอญ มีประราลีด้วยนะครับ

ผิดพลาดขออภัย ขอส่งการบ้านแก้ผ้าเอาหน้ารอดแต่เพียงนี้

โดย: pipat  [IP: 58.9.192.218,,]  
วันที่ 7 เม.ย. 2549 - 09:51:16


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:00
 ขอบพระคุณทุก ๆ ความเห็นครับ

โดย: ศรีปิงเวียง  [IP: 61.19.145.16,192.168.2.59,]  
วันที่ 7 เม.ย. 2549 - 10:28:43


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:01
 ขอบคุณค่ะคุณพิพัฒน์ ที่มาช่วยผลักกระทู้ให้ไปเร็วขึ้น ถ้ามีเรื่องเกี่ยวกับสมเด็จเจ้าพระยาฯก็ช่วยแวะเข้ามาอีกนะคะ

ถึงตอนนี้จะเล่าถึงบทบาทเมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๔ อันเป็นที่มาของคำว่า The Kingmaker เก็บความจาก โครงกระดูกในตู้ ของม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งท่านอ้างอิงจาก พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค)อีกทีหนึ่ง
********************
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ก็มีการประชุมใหญ่ในพระบรมมหาราชวังเพื่อเลือกพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่
องค์ประชุมก็ประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางข้าราชการและประมุขทางศาสนา
สมเด็จเจ้าพระยาซึ่งขณะนั้นคือเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์สมุหพระกลาโหม ก็สั่งให้ทหารตั้งกองจุกช่องล้อมวงทั้งชั้นนอกชั้นใน ให้แน่นหนา
คือจะมองว่าเป็นการอารักขาอย่างเข้มแข็งหรือเป็นการปิดล้อมอย่างเข้มงวด ก็ได้ทั้งสองทาง

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 7 เม.ย. 2549 - 12:33:57


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:02
 เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ก็ประกาศต่อที่ประชุม ข้อความในพระราชพงศาวดารยืดยาว สรุปสั้นๆว่าขอให้เสนอพระนามเจ้านายที่จะขึ้นครองราชย์

กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ ผู้เป็นเจ้านายพระชนมายุอาวุโสที่สุดในพระบรมวงศานุวงศ์ก็ทรงทำหน้าที่คล้ายประธานฝ่ายเจ้านาย เสนอพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งก็เป็นการสมควรอยู่แล้ว

ขอแวะออกซอยเล็กไปหน่อยนะคะ เพื่ออธิบายว่ากรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ ท่านเป็นเจ้านายพระองค์ใดในพระราชวงศ์จักรี

ทรงพระนามเดิมว่าพระองค์เจ้าชายกลาง เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๒ ประสูติจากเจ้าจอมมารดาน้อยระนาด นับจากปีประสูติ ทรงมีพระชนม์ลำดับรองลงมาจากเจ้าฟ้ามงกุฏ หรือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ห่างกันไม่ถึง ๔ เดือน ทรงกำกับกรมช่างทองมาตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๓ ในรัชกาลที่ ๔ ได้ว่าความศาลราชตระกูลจนสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๕ ทรงเป็นต้นราชสกุล "วัชรีวงศ์" ในรัชกาลที่ ๕ ทรงเลื่อนขึ้นเป็นกรมพระเทเวศร์วัชรินทร์

ในหนังสือบอกว่าทรงเป็นเจ้านายฝ่ายหน้าที่ทรงมีอาวุโสสูงสุด บวกลบปีดูพบว่าตอนนั้นพระชนม์ ๖๔ พรรษา ถ้าเป็นยุคนี้ก็ต้องถือว่าอายุไม่มากนัก
****************
เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ก็ขอความเห็นชอบจากที่ประชุมอีกครั้ง ที่ประชุมก็ไม่ได้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงถือเป็นการลงมติให้อัญเชิญสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพินิตประชานาถ ขึ้นสืบราชสันตติวงศ์ต่อไป

ดูๆจากเท่านี้ก็ไม่ได้สะท้อนให้เห็นบทบาทและความสำคัญของเจ้าพระยาศรีฯมากมายนัก แต่ขั้นตอนต่อไปนี่สิคะ แสดงออกมาชัดทีเดียว

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 7 เม.ย. 2549 - 12:35:37


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:03
 ยินดีครับ ถ้าจะเป็นประโยชน์

1 เสริมเรื่องการเปลี่ยนจากอิสลามมาเป็นพุทธ ครับ
อ่านจากใหนจำไม่ได้(อีกแล้ว)ว่า ตอนนั้นจะเสด็จประพาสพระบาท มีการเตรียมการกันโกลาหล แต่ทางบุนนาคไม่ได้เกี่ยวด้วยเลย ท่านก็เลยถามพระเจ้าอยู่หัวว่าทำไมจึงไม่ได้ไปพระบาท ท่านตรัสว่า ก็ไม่ใช่พุทธ จะไปได้อย่างไร ท่านก็เลยเปลี่ยนศาสนา

ผมเดาเอาว่า สมัยนั้นสกุลบุนนาคคงคลายการนับถือเดิมไปมากแล้ว ก็เลยเปลี่ยนความเชื่อได้ง่าย

2 ใครที่มีบันทึกของหมอปลัดเล (ฉบับภาษาอังกฤษ) ขอเชิญแวะมาส่งความรู้ฝากไว้ด้วยเถิดครับ
ผมว่าถ้าเราช่วยกันคนละไม้คนละมือ เวบนี้จะเป็นที่พึ่งของเด็กๆในอนาคตครับ

3 ไม่ทราบอาจารย์เทาฯ เคยผ่านตาหนัสือของชัย เรืองศิลป์ บ้างใหม แกเขียนไว้หลายประเด็น ดีทีเดียว และมีพิมพ์เป็นป็อกเก็ตบุคเรื่อง ยอดคน ว่าด้วยประวัติท่านช่วงโดยเฉพาะ

4 ท่านช่วงเล่นแง่ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท เลยไม่ได้เป็นสมเด็จกรมพระยาฯ ใครรู้เรื่องนี้ใหมครับ

เสริมมากไป อาจารย์เทาฯ อย่าเอ็ดนะครับ

โดย: pipat  [IP: 58.9.183.94,,]  
วันที่ 7 เม.ย. 2549 - 13:31:08


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:03
 แถมอีกเรื่อง
อันนี้อัดอั้นมาเป็นสิบปีแล้ว เรื่องที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ ทรงดูแคลนสมเด็จเจ้าพระยาฯ
ท่านทรงไว้ที่ใหนสักแห่ง(ประวัติสมเด็จเจ้าพระยา....หรือ ตำนานการที่ไทยเรียนอังกฤษ หรือจดหมายเหตุนิราศลอนดอน ประชุมพงศาวดารภาค 45....ขออภัย ความจำสั้น)
ว่า สมเด็จเจ้าพระยาฯ เห็นจะรู้ภาษาอังกฤษแต่พออ่านออกเขียนได้ พูดได้ไม่คล่อง ดูเหมือนท่านจะอ้างว่าเคยเจอตัวท่านช่วงด้วย
ข้อนี้ผมไม่เห็นด้วยเลย ท่านช่วงคบฝรั่งมาตั้งแต่อายุยี่สิบเศษ
เจอคนทุกสถานะ จะอาศัยแต่ล่ามเจียวหรือ
อีกอย่าง สมัยร.3 จะหาใครมาเป็นล่าม ในเมื่อไม่รู้ภาษาอังกฤษสักคน นับตั้งแต่ยุคหันแตรลงมาก็พอ

ฝากวินิจฉัยด้วยครับ ว่าท่านใช้ภาษาอังกฤษได้ดีขนาดใหน

โดย: pipat  [IP: 58.9.195.158,,]  
วันที่ 7 เม.ย. 2549 - 14:27:43


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:04
 เรื่องเปลี่ยนการนับถือศาสนาจากอิสลามเป็นพุทธ มีมาตั้งแต่ปลายอยุธยาค่ะ
หนังสือของคุณชัย เรืองศิลป์ถ้าเป็นเรื่องสมเด็จเจ้าพระยา ยังไม่เคยอ่านค่ะ
เรื่องกรมหลวงวงษาฯ ก็ไม่ได้อ่านเหมือนกัน

ส่วนเรื่องความรู้ภาษาอังกฤษ อ่านเจอที่สมเด็จกรมพระยาฯท่านเล่าว่าสมเด็จเจ้าพระยาท่านสนใจการต่อเรือ เสียมากกว่าสนใจเรื่องอ่านและเขียนภาษาอังกฤษ แต่ว่าท่านพูดได้ และฟังได้รู้เรื่อง

ลองมาอ่านที่หมอบรัดเลย์บันทึกไว้ดีกว่า
"วันนี้ (๒๓ ตุลาคม ๒๓๗๘) มีขุนนางไทยหนุ่มคนหนึ่งมาหาพวกมิชชันนารี ขุนนางหนุ่มผู้นี้พวกมิชชันนารีกล่าวว่าท่าทางคมขำ พูดจาไพเราะ เมื่อแรกมาถึงได้สนทนากับพวกมิชชันนารีอยู่พักหนึ่ง ครั้นจวนจะกลับ จึงได้สนทนากับยอห์น แบบติสต์ผู้ช่วยในร้านขายยา ตอนที่คุยกับยอร์น แบบติสต์นี้เอง ขุนนางหนุ่มคนนั้นได้บอกว่า ตัวท่านคือหลวงนายสิทธิ์ บุตรหัวปีของเจ้าพระยาพระคลัง เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ เพิ่งกลับจากจันทบุรี โดยเรือที่ไปต่อมาจากที่นั่นซึ่งได้ให้ชื่อว่า "อาเรียล"

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 9 เม.ย. 2549 - 10:44:09


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:05
 ตามที่ดิฉันเข้าใจ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ท่านไม่ได้ดูแคลนสมเด็จเจ้าพระยา แต่ท่านบอกว่าสมเด็จเจ้าพระยาสนใจเรื่องต่อเรือ เสียมากกว่าจะสนใจอ่านเขียนภาษาอังกฤษจนแตกฉาน อย่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ หรือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ แต่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ท่านก็ทรงยอมรับว่าสมเด็จเจ้าพระยาฯ พูดภาษาอังกฤษได้ โต้ตอบกับฝรั่งรู้เรื่อง

ถ้าถามว่าภาพลักษณ์ของสมเด็จเจ้าพระยาฯ สมัยยังหนุ่ม เป็นยังไง ก็ขอตอบว่ามองผ่านสายตามิชชันนารีแล้ว โก้มาก เท่มาก ทีเดียว
หมอบรัดเล เล่าต่อว่า

" ในวันรุ่งขึ้นพวกมิชชันนารีได้พากันไปเยี่ยมที่บ้านหลวงนายสิทธิ์ตามที่ท่านบอกเชิญไว้เมื่อวาน เมื่อไปถึงก็พบบ้านใหญ่โตงดงามมาก ที่หน้าบ้านมีคำขวัญเขียนเตรียมรับรองไว้ว่า "นี่บ้านหลวงนายสิทธิ์ ขอเชิญท่านสหายทั้งหลาย"
(คำรับรองนี้เขียนเป็นภาษาอังกฤษ)

ที่บ้านหลวงนายสิทธิ์นี้เองมิชชันนารีได้พบคนดีๆของเมืองไทยอีกหลายคน ทำให้พึงพอใจการพบปะครั้งนี้มาก และพวกมิชชันนารีก็พอใจรักใคร่หลวงนายสิทธิ์ขึ้นอีกมาก

ส่วนภรรยาหลวงนายสิทธิ์ที่ชื่อคุณกลิ่น(ต่อมาคือท่านผู้หญิงกลิ่น) มีอัธยาศัยคล้ายสามี ชอบสมาคมกับชาวต่างประเทศ ได้ชอบพอกับนางแบบติสต์มากถึงกับเคยไปนอนค้างที่บ้านนางแบบติสต์ด้วย

(เก็บความจากหนังสือ "เฉกอะหมัด และต้นสกุลบุนนาค "ของพระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร)
******************
เดินยังไม่ถึงโคมระย้าแก้วสักที  

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 9 เม.ย. 2549 - 10:55:44


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:06
 ข้อความนี้ต่อจากค.ห. ๒๗ ค่ะ
*****************
แทนที่จะยุติการประชุมลงเพียงแค่นั้น ถือว่าสยามได้พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่เรียบร้อยแล้ว ต่อไปจะเป็นยังไง ก็เท่ากับเป็นเรื่องของงานแผ่นดินที่พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่จะทรงรับพระราชภารกิจต่อไป
การประชุมก็ยังไม่จบ พูดอีกทีคือไม่ยักจบ

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ถามที่ประชุมอีกว่า ขอให้เสนอพระนามผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งว่างมาตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต รวม ๓ ปีกว่าแล้ว

อันที่จริงธรรมเนียมนี้ไม่มีมาก่อน ที่บรรดาเจ้านายจะมาประชุมเลือกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรฯ ก่อนหน้านี้ทั้ง ๔ รัชกาล ล้วนแต่เป็นพระบรมราชวินิจฉัยของพระเจ้าแผ่นดิน ที่จะโปรดเกล้าฯสถาปนาเจ้านายพระองค์ใดก็ได้แล้วแต่จะทรงเห็นสมควร หรือจะไม่ทรงเลือกองค์ไหนก็ทรงทำได้เช่นกัน

อย่างที่เป็นมาแล้วในรัชกาลที่ ๓ เมื่อกรมพระราชวังบวรศักดิพลเสพย์สิ้นพระชนม์ไปแล้วหลังทรงดำรงตำแหน่งแค่ ๗ ปี ตำแหน่งนี้ก็ว่างจนสิ้นรัชกาล ไม่ใช่หน้าที่ของพระบรมวงศานุวงศ์หรือขุนนางจะมาเลือกกันเอง

ผู้ที่คิดเห็นอย่างนี้คงจะมีหลายองค์ เพราะเจ้านายย่อมทรงทราบโบราณราชประเพณีกันมาดี แต่ก็ไม่มีใครพูดออกมา คงเอออวยตามวิธีการของเจ้าพระยาสมุกลาโหม กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์จึงทรงเสนอพระนามกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ พระโอรสองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นมา

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 9 เม.ย. 2549 - 10:58:53


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:07
 ตอนอ่าน" โครงกระดูกในตู้" ถึงตอนนี้ก็อดคิดไม่ได้ว่าฉากนี้มีการเตี๊ยมรายพระนามกันมาล่วงหน้าแล้ว ถึงเสนอกันได้ไม่ผิดพลาดระหว่างกรมหลวงเทเวศร์ฯและเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์
เจ้านายองค์อื่นๆก็คงทรงรู้หมือนกัน แต่ว่าไม่มีใครกล้าที่จะคัดค้าน
แต่มีองค์เดียวเท่านั้นที่กล้าพูดขึ้นมากลางที่ประชุม ก็คือกรมขุนวรจักรธรานุภาพ(พระองค์เจ้าปราโมช)

กรมขุนวรจักรฯเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาอำภา และทรงเป็นเสด็จปู่ของม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ในรัชกาลที่ ๔ ทรงกำกับกรมนครบาล ตอนนั้นพระชนม์ ๕๒ แล้ว ไม่ใช่น้อยๆส่วนเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์อายุ ๖๐ ปี

กรมขุนวรจักรฯ ตรัสขึ้นมาว่า
" ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรหรือวังหน้านั้น ตามพระราชประเพณีการปกครองแต่ดั้งเดิมมา สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงแต่งตั้ง ผู้อื่นจะมาแต่งตั้งไม่ได้ เมื่อที่ประชุมได้ลงมติให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนพินิตประชานาถ ทรงสืบราชสันตติวงศ์เป็นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ก็ควรจะได้โปรดเกล้าฯตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นกรมพระราชวังบวรฯ ตามพระราชอำนาจ ไม่ใช่อำนาจหรือหน้าที่ของที่ประชุมนั้นจะมาแต่งตั้งกรมพระราชวังบวรฯเอาเอง"

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 9 เม.ย. 2549 - 11:00:42


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:08
 เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ฟังกรมขุนวรจักฯทรงแย้ง แทนที่ท่านจะตอบตามประเด็นนี้ว่ามันผิดหรือมันถูก หรือมันมีเหตุผลอะไรที่จะต้อง" เลือกตั้ง" ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรฯ หรือจะถามที่ประชุมว่าจะเอาแบบไหน แบบกรมขุนวรจักรฯตรัสมา หรือว่าจะแบบที่ท่านเสนอที่ประชุม

เปล่า เจ้าพระยาฯท่านไม่ได้ตอบตามประเด็นนี้สักคำ แต่ท่านย้อนถามกรมขุนวรจักรฯว่า " อยากจะเป็นเองหรือ?"

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 9 เม.ย. 2549 - 11:01:53


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:09
 การเปลี่ยนประเด็นจาก "เรื่องที่พูดกันอยู่" เป็น "ใครที่พูดขึ้นมา" แบบนี้ มีที่มาเบื้องหลังที่หนักหน่วงไม่เบา

ก่อนหน้านี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เป็นกรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ
พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงกระทำสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระพุทธมณีรัตนปฏิมากร แล้วทรงแสดงความในพระราชหฤทัยว่า ในเวลาต่อไป ถ้าเจ้านายทรงกรม ๔ พระองค์ คือ กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ กรมหมื่นบำราบปรปักษ์ กรมหมื่นวรจักรธรานุภาพ และกรมหมื่นราชสีหวิกรม
ถ้าในภายหน้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งเสด็จขึ้นครองราชย์ ก็จะมิได้ทรงรังเกียจเดียดฉันท์เลย

แปลออกมาได้ความว่าผู้ที่ทรงเห็นว่าเหมาะสมเข้าข่ายจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินได้มีอยู่ ๔ พระองค์

พระองค์แรกคือพระราชโอรสที่ทรงพระเยาว์อยู่มาก
พระองค์ที่ ๒ และ ๓ เป็นพระราชอนุชา
ส่วนพระองค์ที่ ๔ เรียกอย่างชาวบ้านว่าเป็น "หลานอา"

ขออธิบายถึงแต่ละพระองค์ก่อนนะคะ
กรมหมื่นบำราบปรปักษ์ พระนามเดิมคือเจ้าฟ้ามหามาลา เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๒ ประสูติแต่เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี รับราชการในกรมวัง กรมพระคชบาล และกรมสังฆการีธรรมการ เมื่อถึงรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯสถาปนาเป็นสมเด็จกรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงเป็นต้นราชสกุล มาลากุล

กรมหมื่นวรจักร - อธิบายแล้ว

กรมหมื่นราชสีหวิกรม (พระองค์เจ้าชุมสาย)องค์นี้เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเอมใหญ่ ทรงกำกับกรมช่างศิลาและกรมช่างสิบหมู่ เป็นต้นราชสกุล ชุมสาย

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 10 เม.ย. 2549 - 10:03:04


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:10
 ราชสกุลชุมสายนี้ไงคะที่เคยเป็นข่าว เชื้อสายของท่านเคยให้ทนายยื่นโนติสน้องป๊อปให้เลิกใช้นามสกุลพ้องกับราชสกุลโดยไม่มีสิทธิ์ตามกฎหมาย
ราชสกุลชุมสายนี้เหมือนกันที่เป็นราชสกุลของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เจ้านายผู้อาภัพองค์หนึ่งของสยาม

เอาละ ออกนอกเรื่องมากไปแล้ว เลี้ยวกลับมาที่เดิม

พระราชประสงค์ในพระเจ้าอยู่หัวข้อนี้แทนที่จะเป็นเรื่องน่าปลาบปลื้มของเจ้านายทั้ง ๓ พระองค์ ว่าเป็นการสรรเสริญพระปรีชาสามารถ
ก็กลับเป็นสิ่งน่าสะพรึงกลัว ให้ทรงหวาดหวั่นว่าจะเป็นที่เพ่งเล็งจากพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางข้าราชการว่า อาจจะมักใหญ่ใฝ่สูงคิดการใหญ่
ทุกพระองค์ต่างก็ทรงระมัดระวังพระองค์ ไม่ทรงทำสิ่งใดให้เกิดเสียงครหานินทาว่าทรงทะเยอทะยานในเรื่องนั้น

เมื่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ย้อนในเรื่องที่เป็นข้อลำบากพระทัยของกรมขุนวรจักรฯ มาแต่ไหนแต่ไร
เจ้านายพระองค์นี้ก็ไม่อาจตรัสถึงประเด็นนี้อีก แต่ทรงตอบว่า
" ถ้าจะให้ยอมก็ต้องยอม"

ก็เป็นอันว่าผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า ได้แก่พระราชโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ
ลำดับญาติแล้วก็ทรงเป็น "ลูกพี่ลูกน้อง"ของพระเจ้าแผ่นดิน ผิดกับวังหน้าองค์ก่อนๆ ที่ทรงเป็น "ลูก" บ้าง "น้องชายแท้ๆ"บ้าง เป็น "อา" บ้าง
ทั้งที่ในรัชกาลที่ ๕ ก็มีทั้ง "น้องชาย" และ "อา" อยู่รวมกันแล้วหลายพระองค์
คำตอบในข้อนี้ก็เป็นอันชี้ชัดแล้วว่าในช่วงนั้นใครเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 10 เม.ย. 2549 - 10:07:06


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:11
 หลังจากการประชุมจบลง กรมขุนวรจักรฯก็เสด็จกลับวัง และประทับอยู่ในวัง ไม่เสด็จออกมาสู่สังคมภายนอกที่สมเด็จเจ้าพระยาฯเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอีกเลยแม้แต่ครั้งเดียว เป็นเวลานานถึง ๕ ปี

จนกระทั่งมีอำนาจการปกครองแผ่นดินกลับมาสู่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จเจ้าพระยาฯได้พ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแล้วนั่นแหละ กรมขุนวรจักรฯถึงประทับเสลี่ยงเสด็จออกจากวังเพื่อจะไปเฝ้ารับเสด็จ เวลาเสด็จออก

มีเกร็ดเล่าโดยม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมชว่า กรมขุนวรจักรฯเสด็จออกประตูวังไม่ได้ เพราะว่าประตูนี้ไม่เคยเปิดเสียนานหลายปี จนต้นตะขบขึ้นงอกงาม ขวางอยู่หลายต้น คนธรรมดาพอจะเดินลอดผ่านไปได้ แต่เสลี่ยงผ่านไม่ได้
พอเสด็จออกก็เลยกลายเป็นเรื่องใหญ่ ต้องวางเสลี่ยงให้มหาดเล็กไปหามีดพร้ามาตัดต้นตะขบ
กรมขุนวรจักรฯก็ทรงลงจากเสลี่ยงมาช่วยตัดกับเขาเหมือนกัน เอะอะเอิกเกริกอยู่พักใหญ่ เสโทท่วมองค์ กว่าจะทรงขึ้นเสลี่ยงตั้งขบวนให้หามออกนอกประตูวังไปได้

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 10 เม.ย. 2549 - 10:08:37


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:12

ตะขบ หน้าตาเป็นยังงี้ค่ะ
 http://wanakorn.com/index.php?modules=article/samunpai&PHPSESSID=61a59cd0ea7865b5c7331c6b46883fff  

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 10 เม.ย. 2549 - 10:11:23


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:13
 คราวนี้ถึงเรื่องโคมระย้าแก้ว ตามที่ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เล่าไว้ใน "โครงกระดูกในตู้"

สมเด็จเจ้าพระยาฯท่านนิยมความเป็นอยู่ทันสมัยแบบฝรั่ง สมกับที่ท่านนิยมสมาคมกับฝรั่ง จึงมีฝรั่งพ่อค้าเอาแคตตาล็อคสินค้ามาให้ดู ในนั้นมีโคมระย้าแก้วเจียระไนแบบฝรั่ง (chandalier) สวยงามหรูหรามาก

ฝรั่งก็ไซโคว่าโคมระย้าแก้วแบบนี้ผู้มีเกียรติยศสูงและมีอำนาจวาสนามากในเมืองฝรั่งจึงจะใช้ติดเพดานตึกได้
ในเมืองไทยก็เห็นมีแต่ท่านเท่านั้นที่มีบุญวาสนาและอำนาจราชศักดิ์พอที่จะมีโคมแบบนี้แขวนบนตึกที่บ้านได้

สมเด็จเจ้าพระยาฯดูรูปแล้วก็ถูกใจ เพราะสวยงามหรูหราสมกับบุญวาสนาของท่านจริงๆ ท่านก็สั่งเข้ามา เสียเงินไปเป็นพันๆชั่ง (๑ ชั่งเท่ากับ ๘๐ บาท ๑๐๐๐ชั่งก็ ๘๐๐๐๐ บาท ถ้าสองสามพันชั่งก็เป็นแสน)

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 11 เม.ย. 2549 - 08:28:14


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:14
 พอโคมมาถึงจริงๆ ปรากฏว่ามันใหญ่โตขนาดเข้าประตูไม่ได้ ไม่ว่าประตูกำแพงบ้านหรือประตูเข้าตัวตึก ต่อให้รื้อประตูเอาเข้าไปจริงๆ พอแขวนเพดาน โคมก็จะห้อยลงมาถึงพื้น จนปัญญาเข้าท่านก็ต้องปลูกโรงมุงจากไว้ริมตลิ่ง เอาเสาซุงปักไว้ แล้วเอาโคมแขวนไว้ตรงนั้นหลายปี

จนกระทั่งพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทสร้างเสร็จ สมเด็จเจ้าพระยาท่านคอยดูแลเรื่องท้องพระโรงกลางบนพระที่นั่ง ที่ใช้เสด็จออกรับเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ ให้มีขนาดกว้างยาวและสูงจนถูกใจท่าน

แล้วท่านก็ให้คนหามโคมระย้าเข้าไปน้อมเกล้าฯถวาย ให้ติดบนท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรี ได้พอเหมาะ ท่านก็รื่นเริงเบิกบานมากในครั้งนั้น

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์บอกว่าโคมระย้ายังติดอยู่จนบัดนี้ ใครเคยเห็นบ้างคะ?

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 11 เม.ย. 2549 - 08:37:51


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:15
 อำนาจของสมเด็จเจ้าพระยามีมากแค่ไหน รู้ได้จากบันทึกของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เรื่องนี้ท่านหญิงพูนฯ ทรงได้ยินจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นราชศักด์สโมสร(พระองค์เจ้าชายกมลาสเลอสรรค์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาเที่ยง ต้นราชสกุล กมลาสน์)

ขอลอกมาให้อ่านกันค่ะ จะได้รสชาติครบถ้วน

"เสด็จลุงกรมราชศักดิ์ ท่านเคยเสด็จมาเยี่ยมเสด็จป้าที่วังเราเสมอๆ ข้าพเจ้าชอบไปคุยกับท่านเพราะท่านเป็นคนตรงๆ และคุยสนุก
ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าทูลถามท่านว่า "เสด็จลุงทรงจำทูลกระหม่อมปู่ได้ไหมเพคะ?"
ท่านก็เลยทรงเล่าประทานว่า
"ได้ซีวะ ข้าอายุ ๑๑ ปีแล้ว กำลังเป็นเณร เขามาเรียกไปเก็บไว้ในพระที่นั่งกันเป็นแถว พูดถึงสวรรคตเข้าจริงข้าก็ร้องไห้ออกมาทั้งเป็นเณร"
ข้าพเจ้าทูลถามต่อไปว่า "แล้วอย่างไรต่อไป"
ท่านตรัสว่า " แล้วยังไง พอสึกจากเณรแล้วข้าก็อยู่กับแม่ ถึงเวลาก็ขึ้นเฝ้าในหลวงทางข้างหน้า แหม เอง เรากลัวเขาจริง พอคลานผ่านที่เขาเอกเขนกอยู่ละก็ เราหมอบกราบกันราบเทียว"

(เอง ในที่นี้ คือ เอ็ง ค่ะ)

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 11 เม.ย. 2549 - 08:39:48


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:15
 ทูลถามว่า "เขาน่ะใคร"
ท่านตอบว่า "ใครล่ะ สมเด็จเจ้าพระยาน่ะซี วันหนึ่งเขาเขยิบตีนไปถูกเอาหัวสมเด็จพระมหาสมณะ*ที่กำลังกราบอยู่เข้า เขาหันมาบอกว่า "ขอโทษทีนะ เจ้า"
ข้าพเจ้าอดไม่ได้ก็แซกขึ้นไปว่า
"ทำไมจะต้องกราบล่ะ เพียงนั่งคุมเท่านั้นไม่พอเทียวรึ"
ท่านทรงพระสรวลแล้วตอบว่า "มึงอย่าอวดดีไปหน่อยเลย ถ้าเองเกิดทัน เองก็กลัวเขาเหมือนกัน"

ข้าพเจ้าเล่าถวายเสด็จพ่อว่า เสด็จลุงท่านว่าอย่างนี้ เสด็จพ่อเลยตรัสว่า
"จริงของท่านนะ พ่อเคยเห็นคนมามากแล้ว ไม่เห็นใครมีสง่าเหมือนสมเด็จเจ้าพระยาฯคนนี้ ถ้าเดินมาในที่ประชุม คนทั้งร้อยก็กลัวทั้งร้อย ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร"

หมายเหตุ : หมายถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระนามเดิมคือพระองค์เจ้าชายมนุษยนาคมานพ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแพ
เมื่อสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสด็จสวรรคต พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพยังทรงพระเยาว์ พระชันษาแค่ ๘ ปี
นึกภาพพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เล็กๆ ไว้จุก กราบสมเด็จเจ้าพระยากันเป็นแถว เจ้านายท่านก็คงยำเกรงสมเด็จเจ้าพระยาตามประสาเด็ก

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 11 เม.ย. 2549 - 08:46:49


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:16

นำภาพท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท มาให้ชมโคมระย้าที่คุณเทาชมพูกล่าวถึงไว้ในความเห็นที่ ๓๙ ครับ

โดย: UP  [IP: 24.196.81.139,,]  
วันที่ 11 เม.ย. 2549 - 08:49:37


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:17
 เพิ่งเข้ามาอ่านกระทู้นี้จริงจังครับ ขอโอกาสคุณเทาชมพูวกออกไปเล่าเรื่องการเปลี่ยนศาสนาของพวกบุนนาคสักนิด เป็นการเพิ่มเติมจากที่คุณ pipat ได้เล่าไว้ในความเห็นที่ ๒๘ ครับ

เรื่องการเปลี่ยนจากอิสลามเป็นพุทธซึ่งพัวพันกับการเสด็จพระพุทธบาทนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคของ "เจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ)" ในวงศ์เฉกอะหมัด ชั้นที่ ๔ เมื่อแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศครับ

ในปีหนึ่ง การเสด็จพระราชดำเนินไปสมโภชพระพุทธบาท เป็นมหกรรมเอิกเกริกว่าปกติทุกปี เพราะเป็นระยะที่พระเจ้าบรมโกศทรงหายจากพระอาการประชวร บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และขุนน้ำขุนนางก็ยินดีกันมากเป็นพิเศษที่จะตามเสด็จสนองพระเดชพระคุณไปพระบาทในปีนี้ แต่ไม่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระยาเพ็ชรพิไชย (ต่อมาเป็นเจ้าพระยา) ตามเสด็จ

พระยาเพ็ชรพิไชยจึงกราบบังคมทูลพระกรุณาขอตามเสด็จ แต่พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชปรารภว่าพระยาเพ็ชรพิไชยเป็นแขกมุสลิม ไม่ควรตามเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท ดังนี้ พระยาเพ็ชรพิไชยจึงตัดสินใจเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา โดยได้ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะต่อสมเด็จพระสังฆราช และเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าอยู่หัว เป็นอันว่าพระยาเพ็ชรพิไชยก็ได้ตามเสด็จสมดังตั้งใจ

เมื่อเสด็จกลับพระนครแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ อวยยศให้พระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) เป็น "เจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย" ที่สมุหนายก

โดย: UP  [IP: 24.196.81.139,,]  
วันที่ 11 เม.ย. 2549 - 09:28:35


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:17
 เรื่องเท้าสมเด็จเจ้าพระยาไปต้องพระเศียรพระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ (สมเด็จพระมหาสมณฯ) ที่คุณเทาชมพูกรุณาเล่าไว้ในความเห็นที่ ๔๒ นั้น มีผลติดตามมาเป็นเรื่องค้างคาพระทัยของเจ้านายผู้ทรงถูก "ตีน" ต้องพระเศียร

ผมไม่แน่ใจว่าอ่านจากไหน แต่จำเนื้อความที่อ่านได้เลาๆ ว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ยังทรงขุ่นเคืองติดพระทัยในเรื่องนี้อยู่มาก ถึงกับทรงปรารภว่าหากว่าจะหากจะทรงได้รับพระราชทานสถาปนาพระยศแล้ว ในที่สุดขอให้มีศักดินาสูงกว่าสมเด็จเจ้าพระยาฯ

โดย: UP  [IP: 24.196.81.139,,]  
วันที่ 11 เม.ย. 2549 - 09:33:47


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:18
 นึกอยู่เหมือนกันว่า คุณ UP จะต้องมีโคมระย้าแก้วมาให้เห็น เดาแม่นจริงๆ ขอบคุณที่มาขยายเรื่องให้ฟังค่ะ พิมพ์อยู่คนเดียวชักจะกร่อย

ดิฉันอยากได้อีกเรื่องคือความในพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงไว้ในพระราชหัตถเลขาถึงพระราชโอรส เท้าความถึงตอนเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ๆว่าอัดอั้นตันพระทัยแค่ไหน ที่ทรงพึ่งพาใครไม่ได้ ทรงเห็นว่า "ญาติข้างพ่อก็โลเลเหลวไหล"

ดิฉันมีกรรมแตกต่างไปจากคุณพิพัฒน์ คือที่บ้านมีชั้นและตู้หนังสือ แต่ว่าเล่มไหนบรรจงเก็บเข้าชั้นเข้าตู้ให้เรียบร้อย กลัวหาย มันจะหายไปในแถวหนังสือในชั้นในตู้นั่นเอง หาไม่เจอว่าอยู่ตรงไหน ตู้ไหน ส่วนเล่มที่ไม่เอาใจใส่ กองเอาไว้นอกตู้ เสี่ยงกับแม่บ้านรวบรวมไปชั่งกิโลขายยิ่งนัก มักจะอยู่ครบ ไม่เคยหาย

สรุปว่า เลยหาไม่เจอถึงพระราชหัตถเลขาเรื่องนี้จนแล้วจนรอดค่ะ
ขอความอนุเคราะห์อีกสักครั้งเถอะ

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 11 เม.ย. 2549 - 09:57:42


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:19
 ส.ศ.ษ. เคยเล่าไว้ใน เรื่องเก่าเล่าใหม่ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับ พ.ค. 2544
ในบทความนี้ ส.ศ.ษ. (สุลักษณ์ ศิวรักษ์) พูดถึงเรื่องที่สืบต่อจาก สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น และเบ็ดเตล็ดครับ

โดย: ศรีปิงเวียง  [IP: 61.19.145.16,192.168.2.59,]  
วันที่ 11 เม.ย. 2549 - 12:15:07


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:19
 ผมอิจฉาอาจารย์เทาจังเลย ไม่ใช่เรื่องชั้นหนังสือ เรื่องแม่บ้านน่ะครับ ผมได้รับการสถาปนาโดยสมาชิกครอบครัวอันน้อยนิดให้เป็นตำแหน่งนี้ ใครมีก็ช่วยถนอมรักด้วยนะครับ

ขอเสริมสองเรื่อง
เรื่องแรก ผมไม่ค่อยเชื่อเกร็ด เรื่องการสั่งซื้อโคมนี้ มันออกจะเหยียดๆชอบกล
ผมเดาเอาว่าท่านซื้อถวายเลยละครับ เพราะในยุคนั้น การสั่งซื้อ ทำผ่านตัวแทน ด้วยอุปกรณ์ขายคือแคตล็อก ในนั้นจะมีรูป ขนาด สัดส่วน น้ำหนัก ราคา ฯลฯ ครบถ้วน ท่านช่วงอยู่ในวัฒนธรรมไม่ทำเทียมเจ้า อย่างที่เป็นสำนวนว่า "บ้านใหญ่ราวกะวัง" (ห้ามสร้าง) ลองสังเกตดูวัตถุสถานเกี่ยวกับท่านสิครับ วัดของท่านก็ขนาดกำลังราม บ้านช่องห้องหอก็ไม่ใหญ่โตหรูหรา และลองฟังอาจารย์เทา เล่าเรื่องผ้านุ่งเถอะครับ ยิวเรียกพี่เชียวแหละ
รับรองว่าแกไม่สร้างบ้านใหญ่พอใส่โคมยักษ์นี้แน่

มีใครทันนึกใหมครับ ว่าโคมนี้มาตอนเมืองไทยยังไม่มีไฟฟ้า
ร. 5 ท่านเคยบ่นเรื่องจุดเทียนโคมนี้ไว้ที่ใหนสักที่ ช่วยหามาเก็บลงที่นี่ด้วยครับ ท่านบ่นทำนองว่าต้องหยุดงานเลี้ยง ให้พนักงานจุดเทียน ......จำที่มาไม่ได้อีกแล้ว

เรื่องที่สอง
ฝากรบกวนอาจารย์อีกและ
มีฝรั่งเขียนเรื่องท่านช่วงไม่ตั้งตัวเองเป็นกษัตริย์ เก็บความจากคำบอกเล่าของลูกหลาน ผมจำที่มาไม่ได้ (ทั้งปี.....)
กรูณาเล่าฝากไว้อีกเรื่องนะครับ

โดย: pipat  [IP: 58.9.196.79,,]  
วันที่ 11 เม.ย. 2549 - 12:16:05


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:21
 เห็นจะต้อง" ออกปากบอกแขกช่วยแบกหาม" คุณพิพัฒน์เล่นกระหน่ำคำขอมา จนดิฉันตั้งตัวไม่ติด ฝากท่านอื่นๆมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ

เดี๋ยวขอเล่าถึงผ้าสมปักก่อน

เรื่องนี้มาจากคำอธิษฐานของคุณพุ่ม กวีหญิงคนสวยฝีปากกล้าในสมัยรัชกาลที่ ๓ คำอธิษฐานนี้แต่งเป็นคำคล้องจองกัน จุดมุ่งหมายก็คือ"แซว" บุคคลที่ท่านเอ่ยถึง มีดังนี้ค่ะ

-ขออย่าให้เป็นชิดของเจ้าคุณผู้ใหญ่
-ขออย่าให้เป็นคนใช้ของเจ้าพระยานคร
-ขออย่าให้เป็นคนต้มน้ำร้อนของพระยาศรี
-ขออย่าให้เป็นมโหรีของพระยาโคราช
-ขออย่าให้เป็นสวาสดิของพระองค์ชุมสาย
-ขออย่าให้เป็นฝีพายของเจ้าฟ้าอาภรณ์
-ขออย่าให้เป็นละครของแม่น้อยบ้า
-ขออย่าให้รู้ชาตาเหมือนอาจารย์เซ่ง
-ขออย่าให้เป็นนักเลงอย่างท่านผู้หญิงฟัก
-ขออย่าให้เป็นสมปักของพระนายไวย
-ขออย่าให้เป็นดอกไม้ของเจ้าคุณวัง
-ขออย่าให้เป็นระฆังของวัดบวรนิเวศ

ที่ว่าขออย่าให้เป็นสมปักของพระนายไวย สมปักคือผ้าสมปักปูมที่ขุนนางนุ่ง ชาวบ้านไม่มีสิทธิ์ เป็นขุนนางชั้นไหนก็มีผ้าสมปักลายชั้นนั้นบอกถึงระดับชั้น ว่ากันว่าสมเด็จเจ้าพระยาฯสมัยเป็นจมื่นไวยวรนารถ ท่านนุ่งสมปักอยู่ผืนเดียวไม่เคยเปลี่ยน สมปักท่านคงต้องถูกใช้งานตรากตรำมากไม่เคยได้พักผ่อนในหีบ
ข้อนี้ทำให้คุณพิพัฒน์เห็นว่าสมเด็จเจ้าพระยาฯท่านเป็นคนมัธยัสถ์ไม่นิยมความฟุ่มเฟือย ไม่น่าจะสั่งซื้อโคมระย้าแพงๆยังงั้นมาประดับบ้าน

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 11 เม.ย. 2549 - 12:58:49


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:21
 ขออีกแล้ว
ผมเคยอ่านจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันตอนที่ท่านถึงแก่พิราลัย อ่านแล้วก็สะท้อนใจว่า รัฐบุรุษที่ช่วยสร้างชาติมาถึงสามรัชกาล เวลาตายช่างเดียวดายเสียจริง
ผมเคยมีหนังสือชุดนี้เกือบจะครบ อยู่มาวันหนึ่งก็มีปลวกมาช่วยอ่าน เกือบหมดบ้าน ดังนั้นถ้าอ้างแต่ความจำก็อย่าตำหนิเลยนะครับ ทุกวันนี้ทรากหนังสือทิ้งกองอยู่ จะทิ้งก็คิดถึง จะเก็บก็ไม่มีปัญญา

ยังมีอีกเรื่องก็ตอนที่ท่านแบ่งต้นฉบับให้หมอปลัดเล และหมอสมิท นำไปพิมพ์ขาย เราไม่ได้ยกย่องท่านเท่าที่ควรในเรื่องที่ท่านสร้างต้นฉบับแปลวรรณกรรมจีนจนครบชุด ตั้งแต่ตอนสร้างโลก ห้องสิน มาถึงพวกโหงวโห้วเพ่งปัก

ใครรู้ เติมด้วยนะครับ

โดย: pipat  [IP: 58.9.197.217,,]  
วันที่ 11 เม.ย. 2549 - 22:21:33


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:23
 อำนาจเป็นของมีคมค่ะ เอาไว้ใช้ประโยชน์ ฟัน ผ่า หั่น ได้สารพัด ถ้าไม่มี เราก็ลำบากไม่ว่าจะกินจะใช้อะไร
แต่ของมีคม ยิ่งคมเท่าไรก็ยิ่งมีสิทธิ์บาดมือไปจนบาดคอได้มากเท่านั้น ใครอยู่ใกล้ก็ต้องระวังตัวแจ

เหตุการณ์ตอนสถาปนาวังหน้ารัชกาลที่ ๕ (ที่เกิดการปะทะกันระหว่างกรมขุนวรจักรฯและสมเด็จเจ้าพระยา)
เป็นเหตุการณ์ที่ยังความลำบากพระราชหฤทัยแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯมากแค่ไหน
ก็พอมองเห็นเงาสะท้อนได้จากพระราชนิพนธ์ "ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖" ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ทรงบันทึกไว้อย่างตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อมเห็นแก่หน้าใคร ทรงเข้าพระทัยหรือคิดเห็นอย่างไรก็บันทึกลงไปตามนั้น
ขอลอกมาให้อ่านค่ะ จะเก็บความก็ไม่ได้รสชาติเท่าของแท้

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 12 เม.ย. 2549 - 08:37:06


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:24
 "ในขณะที่ทูลกระหม่อมปู่(-หมายถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)ทรงพระประชวรหนักนั้น พะเอิน(-เผอิญ)ทูลกระหม่อมของฉัน(-หมายถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)ก็ทรงพระประชวรเปนไข้ มีพระอาการมากอยู่ด้วยเหมือนกันอีกประการ ๑ ในเวลานั้นทูลกระหม่อมก็มีพระชนมายุเพียง ๑๕ เต็มๆเท่านั้น ทูลกระหม่อมปู่จึ่งได้มีพระราชดำรัสฝากให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ช่วยเปนผู้ประคับประคองด้วย

สมเด็จเจ้าพระยาเห็นว่าเปนโอกาสเหมาะที่จะรวบรัดอำนาจไว้ในกำมือของตน ฉนั้นเมื่อได้ไปเชิญเสด็จทูลกระหม่อมจากพระตำหนักสวนกุหลาบ เข้าไปประทับที่ในพระฉากในพระที่นั่งอมรินทร์แล้ว และได้จัดการถือน้ำตามประเพณีแล้ว ก็ยังมิได้ให้เรียกทูลกระหม่อมว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"
เพราะเขานึกว่าทูลกระหม่อมจะสวรรคตเสียก่อนที่จะได้ราชาภิเษก

ที่ว่าสมเด็จเจ้าพระยานึกเช่นนี้ ไม่ใช่เปนการใส่ความ เพราะมีสิ่งที่เปนพยานอยู่ อย่าง ๑ คือสมเด็จเจ้าพระยาได้จัดการให้กรมหมื่นบวรวิชัยชาญ( พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ หรือที่เรียกกันอยู่ว่า ยอร์ช วอชิงตั้น ) พระโอรสองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว รับบวชราชาภิเษกเปนกรมพระราชวังบวรก่อนงานบรมราชาภิเษกของทูลกระหม่อม
ซึ่งเปนการทำนอกธรรมเนียมราชประเพณีโดยแท้ เพราะมิได้เคยมีเลยในรัชกาลใดๆ ทั้งครั้งกรุงเก่าและกรุงรัตนโกสินทร์ที่วังน่าจะได้รับบวรราชาภิเษกก่อนที่พระเจ้าแผ่นดินในรัชกาลนั้นจะได้รับบรมราชาภิเษก

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 12 เม.ย. 2549 - 08:38:35


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:25
 อีกอย่าง ๑ ทูลกระหม่อมได้รับสั่งเล่าให้ฉันฟังว่า เมื่อพระองค์ท่านกำลังบรรทมประชวรอยู่ในพระฉากในพระที่นั่งอมรินทร์นั้น
คุณหญิงพันเมียสมเด็จเจ้าพระยาได้เข้าไปยืนอยู่ทางบนพระเจ้า( -หมายเหตุ หมายถึงทางศีรษะค่ะ)แล้วแลพูดว่า

" พ่อคุ๊ณ น่าสงสาร นี่พ่อจะอยู่ไปได้อีกสักเท่าไร?"

ทูลกระหม่อมได้ทรงเล่าต่อไปว่า ครั้นเมื่อถึงเวลาทำงานศพคุณหญิงพัน ท่านได้เสด็จขึ้นไปบนเมรุ ทรงเคาะโกษฐ์ แล้วตรัสว่า

"ยายพัน แกได้เคยถามว่าฉันจะอยู่ไปได้อีกสักเท่าไร วันนี้ฉันมาตอบแกว่าฉันอยู่มาได้นานพอที่จะมาในงานศพของแกแล้วละ จะว่าอย่างไร"

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 12 เม.ย. 2549 - 08:50:08


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:25
 อาจารย์เทาครับ เหาจะกินหัวผมใหมครับ ถ้าผมจะเสริมพระราชนิพนธ์ด้วยข้อมูลที่ไม่เสริมพระราชนิพนธ์นั้น

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า โปรดให้ลูกชายของท่านช่วงเข้าเฝ้านะครับ ไม่ใช่ท่านช่วง แล้วพระองค์ก็ทรงเป็นอัจฉริยกษัตริย์ โดยทรงผูกมัดพระราชโอรสไว้กับสกุลบุนนาคแล้วชั้นหนึ่งก่อน
ในกระแสพระราชดำรัสสั่งเสียนั้น ทรงอ้างการที่พระนั่งเกล้าทรงปฏิบัติ ก่อนสวรรคต โดยฝากแผ่นดินไว้กับลูก ไม่ใช่ไว้กับพ่อ
ท่านไม่ฝากแผ่นดินให้สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ แต่ฝากให้กับลูกของสมเด็จเจ้าพระยาแทน

ควรมืควรประการใด ขออาจารย์โปรดพิจารณา

โดย: pipat  [IP: 58.9.192.141,,]  
วันที่ 12 เม.ย. 2549 - 09:52:18


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:26
 คุณพิพัฒน์น่าจะแบมือมาให้ดิฉันตีเสียดีๆ ทำเอาดิฉันต้องไปค้นหนังสือเป็นการใหญ่
*********************
เหตุการณ์เมื่อใกล้เสด็จสวรรคต เป็นยังงี้ค่ะ

วันจันทร์ขึ้น ๑๒ ค่ำ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดให้พระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์(วร บุนนาค) ผู้เป็นบุตรชายสมเด็จเจ้าพระยาฯ และเป็นบิดาของเจ้าคุณแพพระสนมเอก เข้าไปเฝ้า แล้วตรัสถามถึงพระอาการสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระยาสุรวงษ์ฯกราบทูลว่าพระอาการดีขึ้นแล้ว ก็ทรงฝากสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ว่าไหนๆก็ได้เป็นเขยแล้ว ก็ขอให้พระยาสุรวงษ์ " ดูแลให้พ้นภัย" ด้วย

วันพฤหัสบดีขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลา ๓โมงเช้าเศษ
โปรดให้กรมหลวงเทเวศวัชรินทร์ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท กรมขุนวรจักรธรานุภาพ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนบำราบปรปักษ์ และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เจ้าพระยาภูธราภัยสมุหนายกไปเฝ้า
แล้วมีพระราชดำรัสว่า พระองค์เห็นจะเสด็จสวรรคตในวันนี้....สิ่งใดที่ได้ทรงขัดเคืองว่ากล่าวแก่ท่านทั้งหลายทั้งปวงมาแต่ก่อนนั้น ขอให้อโหสิกรรมกันเสียเถิด และขอฝากพระราชโอรสธิดาทั้งหมดด้วย "ถ้าจะมีความผิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นข้อใหญ่ ขอแต่ชีวิตไว้ ให้เป็นแต่โทษเนรเทศเถิด"

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 12 เม.ย. 2549 - 11:02:50


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:27
ถ้าตามข้อมูลนี้ สมเด็จพระจอมเกล้าฯท่านก็ทรงเล็งเห็น "ภัย" ที่จะพึงเกิดได้กับพระราชโอรส จึงขอพระยาสุรวงษ์ ซึ่งย่อมจะผูกพันกับลูกสาวและหลานสาวอยู่มาก ช่วยดูแล "ลูกเขย" ด้วย ดิฉันพูดอ้อมๆก็แล้วกันว่า หากเกิด" ภัย" จริงๆขึ้นมาพระยาสุรวงษ์จะได้ช่วยคานไว้บ้าง

ส่วนสมเด็จเจ้าพระยาและเจ้านายพระองค์อื่นๆที่ถือว่ามีอาวุโสอยู่ในแผ่นดิน ก็ทรงฝากไว้พร้อมหน้ากันให้เป็นพยานกันทั่วถึง สิ่งที่ทรงขอนั้น ก็ทรงตระหนักดีถึงอำนาจอันยิ่งใหญ่ที่จะ "ลงโทษ" แก่พระราชโอรสธิดาได้ในภายภาคหน้า
หมายถึงว่าก็ไม่ทรงแน่พระทัยนักว่าแผ่นดินจะตกอยู่กับผู้ใด

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]
วันที่ 12 เม.ย. 2549 - 11:22:09


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:29
อาจารย์อย่าตีเจ็บนะครับ
นี่ครับมือ สมเด็จพระจอมเกล้า ทรงเห็นการณ์ไกลมาตั้งแต่พระปิ่นเกล้ายังอยู่แล้วละครับ ท่านไปแอบซื้อที่ดินไว้กลางสิงค์โปร์ ตั้งพระทัยว่า หากเกิดเหตุวิกฤติประการใด ลูกของท่านจะมีที่ลี้ภัย ท่านยังคิดทะลุไปอีกชั้นหนึ่งว่า แม้ไม่มีเหตุอันใด ที่แปลงนี้ก็ปล่อยเช่าไม่เสียเปล่า
ทรงซื้อในนามลูกสาวคนโตและลูกชายคนโตครับ

เรื่องไม่เกี่ยวกับสมเด็จเจ้าพระยานัก แต่หวังจะเสริมที่อาจารย์เล่านะครับ

อาจารย์ได้อ่าน ชานพระสี บ้างใหมครับ

โดย: pipat  [IP: 58.9.183.42,,]  
วันที่ 12 เม.ย. 2549 - 11:38:23


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:30
 ตีไม่เจ็บค่ะ ไม้บรรทัดขนาดกำลังราม
ถ้าเฆี่ยนเมื่อไร ถึงค่อยโวยวาย

ชานพระศรี ของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง น่ะหรือคะ
มีหนังสือค่ะ เคยเก็บมาเล่าเป็นบทความไว้หรือไงนี่ละ นานแล้ว

เช่นเดียวกับหนังสือดีหายาก ที่เก็บไว้อย่างดีจนหาไม่เจอ
ดิฉันขอให้คุณพิพัฒน์เล่าดีกว่า

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 12 เม.ย. 2549 - 12:59:02


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:31
 ผมประทับใจชานพระศรี ตรงที่สิ่งนี้แสดงด้านลึกของความเป็นไทย แสดงกระบวนการทางปัญญาที่ชนชั้นนำในอดีต ประพฤติปฏิบัติกัน โดยการสืบทอดเรื่องเล่าลงไปทีละรุ่น ส่วนหนึ่งของ พระราชพงศาวดารทั้งหลาย ก็คงมาจากกระบวนการเช่นนี้

คิดดูเถิด ท่านเพ็งนี่ให้ทุกอย่างกับเจ้านาย จนแม้กระทั่งคำสอนเล็กๆน้อยๆ ท่านยังอุตส่าห์รักษาไว้ แล้วหาทางส่งมอบ ชานพระสี เป็นหนังสือเล็กๆ ที่น้อยคนจะรู้จัก (แหะ แหะ นี่ผมอยู่ในสวนมะพร้าวนี่หว่า ดันมาบอกขายมะพร้าวห้าวซะนี่) โดยเฉพาะคนที่ไม่รู้จัก (หึ หึ ขอทางลงหน่อย)

ท่านเขียนคำนำไว้ ด้วยภาษาอันเข้าใจยากมาก เพราะเป็นสำนวนเก่า คนอยุทธยาก็น่าจะพูดแบบนี้ ว่า มีเรื่องเล็กน้อยที่จำได้จะเล่าถวาย เหมือนกำลังจะถวาย พระศรี ของพระจอมเกล้า( แต่เป็นชานแล้ว คือเคี้ยวแล้ว แม้หมดค่า) อันท่านเห็นเป็นของสูง หนึ่งในนั้นเป็นเรื่องประวัตินโปเลยง มีเกร็ดแทรกว่า ท่านได้ฉายา เพ็ง นโปเลยง เพราะชอบเรื่องนี้มาก กลายเป็นถูกล้อกระมัง
เอ่ยถึงท่านผู้นี้ เพราะอยากจะแนะนำว่า จดหมายเหตุที่ท่านจดเรื่องการสวรรคตของ ร. 4 นั้น น่าจะเย็บเล่ม ปิดทองตั้งไว้เป็นขวัญของห้องสมุด ท่านเล่าละเอียดจนเรารู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์
ผมไม่ปลื้มกับตัวบทที่สมเด็จดำรงฯ ท่านทรงชำระใหม่ สอบหลักฐาน แทรกเรื่องจนแห้งแล้งกลายเป็นวิชาการ
ผมว่าเรื่องนี้เทียบชั้นวรรณคดีได้กระมัง

โดย: pipat  [IP: 58.9.186.83,,]  
วันที่ 12 เม.ย. 2549 - 13:20:53


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:31
 นึกได้อีกเรื่องเกี่ยวกับสมเด็จเจ้าพระยา แต่ไม่ใช่เรื่องสมเด็จเจ้าพระยา

มาจากหนังสือของคุณสมภพ จันทรประภา
ตอนสงคราม เจ้านายทางวังสระประทุมต้องอพยพหนีระเบิดไปอยู่บางปะอิน นายปรีดี ตอนนั้นเป็นผู้สำเร็จ ไปอำนวยการด้วย
สมเด็จฯพระพันวษา ไม่รู้จัก ทรงถามว่าเป็นใคร เจ้าหน้าที่จะทูลให้ท่านเข้าพระทัยก็ดูเหมือนจะลำบาก เลยทูลว่า สมเด็จเจ้าพระยาไง จึงทรงปฏิสันฐานได้พอเหมาะพอเจาะ

โดย: pipat  [IP: 58.9.188.223,,]  
วันที่ 12 เม.ย. 2549 - 13:39:27


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:32
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 61

การบ้านของคุณครูในความเห็นที่ ๔๖ นั้นยังจนด้วยเกล้าที่จะค้นหาครับ แต่เข้าใจว่าคุณเทาชมพูตั้งใจจะพิมพ์ว่า "ญาติข้างแม่" ไม่ใช่ "ญาติข้างพ่อ" เพราะจำได้ว่าพระราชหัตถเลขานั้น มีพระราชทานแก่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเล่าถึงความเหลวไหลของพระญาติฝ่ายพระบรมราชชนนี คือฝ่าย สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี

ไม่สามารถตอบการบ้านได้ แต่กลับไปได้เรื่องงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จเจ้าพระยา ที่คุณ pipat เอ่ยไว้ในความเห็นที่ ๕๐

ความตามจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอยู่ว่า

“วันศุกร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๕ ปีวอก ยังเป็นเบญจศก จุลศักราช ๑๒๔๕ วันนี้เริ่มการศพสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ไปเข้าเมรุวัดบุปผาราม เจ้าพนักงานจัดการตามธรรมเนียมซึ่งมีมา
เวลาเช้า ๔ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทางพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทรงพระราชยานไปประทับท่าราชวรดิษฐ์ เสด็จทรงเรือพระที่นั่งกราบกลีบสมุทร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยกระบวนนำและตามเสด็จโดยชลมารค ไปประทับท่าหน้าวัดประยูรวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินโดยสถลมารค ไปประทับพลับพลาตรีมุขหน้าผ้าขาววัดบุปผาราม

โปรดให้เรียกกระบวนแห่ เจ้าพนักงานยกโกศศพสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ขึ้นเสลี่ยงสามคาน เดินกระบวนแห่ แต่หน้าบ้านสมเด็จเจ้าพระยาไปตามหน้าบ้านเจ้าพระยาสุรวงศ์ อ้อมวัดบุปผาราม ผ่านมาหน้าอุโบสถวัดบุปผารามตรงไปข้างเมรุด้านเหนือ เมรุนั้นตั้งที่สนามข้างอุโบสถวัดบุปผารามด้านตะวันออก พลับพลานั้นตั้งริมกำแพงอุโบสถวัดบุปผารามตรงหน้าเมรุมุขตะวันตก

กระบวนแห่หน้ามีทหารแตรทหารหน้า ๑๐๐ คน แล้วถึงธง ๓ ชาย ๕ ชาย เครื่องแห่ของทำบุญต่าง ๆ เป็นอันมากเหลือที่จะพรรณนา แล้วถึงทหารแตรทหารปืนมรีน แล้วเทวดาคู่แห่กลองชนะเครื่องสูง แล้วถึงเสลี่ยงกง สมเด็จพระวันรัตอ่านพระอภิธรรมนำศพกั้นกลดกำมะลอ แล้วถึงเสลี่ยงโถงนายพลพ่ายโปรยเสลี่ยงแปลงนายชิตโยงกั้นสัปทนแดง แล้วถึงเสลี่ยงสามคานศพ พระราชทานโกศกุดั่นใหญ่ประกับลองเป็นเกียรติยศ พระบวนแห่เดินมาถึงประตูเมรุด้านเหนือแล้วเลยไป พอถึงเทวดาคู่แห่กลองชนะเครื่องสูงก็เลี้ยวเข้าประตูเหนือเวียนเมรุ ตามจารีตโบราณล้วน ๓ รอบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเข้าเมรุประทับมุขตะวันตก ทอดพระเนตรเจ้าพนักงานยกโกศศพขึ้นเกรินไปตั้งเบญจาทองอังกฤษ ซึ่งทำครั้งพระศพกรมขุนขัตติยกัลยานั้น ครั้นเสร็จแล้วจึงทอดผ้าไตร ๓๑ ไตร สมเด็จพระวันรัต พระราชาคณะ พระครูฐานา ๓๑ รูป บังสุกุลแล้ว ทรงประเคนสังเคตหัวทานแก่สมเด็จพระวันรัต ๑ สังเคต พระสงฆ์ถวายยถาสัพพี แล้วเสด็จพระราชดำเนินทรงพระราชยานกลับมาประทับท่าวัดประยูรวงศ์ ทรงเรือพระที่นั่งเสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง


อนึ่ง การเมรุสมเด็จเจ้าพระยา ฯ คราวนี้ ทำ ๔ มุขยอด มีฉัตรผ้าแดงยอด แต่ทรงเมรุทำเป็น ๔ เหลี่ยม ไม่ใช่ไม้ ๑๒ อย่างเจ้า ไม่มีนาคปักบานแถลง มีสร้างล้อมเมรุ ๔ สร้าง ราชวัตรทึบมีดอกไม้ร่วง มีฐานบัตรรับแผ่ลดกระจังทองเสีย ใช้ผ้าแดงบังล้อมใน สร้างราชวัตรไม้ไผ่ ฉัตรเบญจรงค์ ๙ ชั้น ล้อมนอกสร้างรอบเมรุ การประดับประดา ส่วนเจ้าภาพนั้นก็มีเป็นอันมาก ไม่ต้องพรรณนา

เย็นวันนี้ มีทิ้งทานต้นกัลปพฤกษ์ ๔ ต้น มีดอกไม้หลวงด้วย เมื่อศพมาถึงมีโขน ๑ หุ่น ๑ งิ้ว ๑ กลางคืนมีหนังตามธรรมเนียม
วันเสาร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ปีวอก ยังเป็นเบญจศก จุลศักราช ๑๒๔๕ เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระที่นั่งจักรีทรงพระราชยานไปประทับท่าราชวรดิษฐ์ เสด็จทรงเรือพระที่นั่งกราบ เสด็จพร้อมด้วยกระบวนนำและตามเสด็จ ไปประทับหน้าวัดประยูรวงศาวาส เสด็จขึ้นทรงพระราชยานไปประทับพลับพลาหน้าเมรุ เสด็จทอดพระเนตรรอบเมรุ แล้วประทับมุขตะวันตก ทรงทอดผ้าไตร ๓๑ ไตร สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พระราชาคณะ พระครูฐานาบังสุกุล แล้วทรงประเคนสังเคตสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็นหัวทาน แล้วพระสงฆ์ถวายอนุโมทนาอติเรกแล้ว เสด็จพระราชดำเนินกลับพระบรมมหาราชวัง

อนึ่ง ทรงโปรยนั้น วันละ ๑๐ + ต้นกัลปพฤกษ์ ๔ ต้น ๆ ละ ๕ +
วันอาทิตย์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๕ ปีวอก ยังเป็นเบญจศก จุลศักราช ๑๒๔๕ เวลาบ่ายเจ้าพนักงานตั้งบันไดนาคเกรินโกศศพสมเด็จเจ้าพระยาลงจากเบญจา แล้วรื้อเบญจาตั้งตรางประดับเครื่องสด แล้วยกโกศขึ้นตั้งตรางเผา

เวลาบ่าย ๔ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เสด็จทรงพระราชยานไปประทับท่าราชวรดิษฐ์ เสด็จทรงเรือพระที่นั่งกราบพร้อมด้วยกระบวนนำและตามเสด็จไปประทับหน้าเมรุมุขตะวันตก ทรงทอดผ้าไตร ๓๑ ไตร กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ กรมหมื่นวชิรญาณ หม่อมเจ้าพระ พระราชาคณะ พระครูฐานา ๓๑ รูป บังสุกุลแล้ว ทรงประเคนบริขารเครื่องสังเคตแก่กรมพระปวเรศ พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา แล้วทรงจุดเทียน เสด็จขึ้นไปพระราชทานเพลิงศพสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ แล้วพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการก็เผาศพภายหลัง เสด็จพระราชดำเนินกลับ ประทับพลับพลาทรงโปรย แล้วโปรดให้เทวดาทิ้งทานทั้ง ๔ ต้นกัลปพฤกษ์ มิสเตอ ชาเตา กงสุลเยเนอราลอังกฤษนำกัปตันและออฟพิศเซอเรือรบอังกฤษซึ่งเข้ามาช่วยการศพเฝ้าด้วย ทรงทิ้งทานแล้วเสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง การเล่นมีตามธรรมเนียม

วันจันทร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๕ ปีวอก ยังเป็นเบญจศก จุลศักราช ๑๒๔๕ เวลาเช้า ๓ โมงเศษ เสด็จพระราชดำเนินออกทางพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เสด็จทรงพระที่นั่งราชยานไปประทับท่าราชวรดิษฐ์ เสด็จทรงเรือพระที่นั่งกราบเสด็จไปประทับท่าวัดประยุรวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินไปประทับในเมรุมุขตะวันตก เรียกให้สามหาบเดินสามหาบ ของหลวงสามหาบ ของเจ้าภาพสามหาบ ครั้นเดินแล้ว เสด็จขึ้นบนฐานบัตร รับสั่งให้หาเจ้าพระยาสุรวงศ์ขึ้นไป รับสั่งให้จุดเทียนแล้วทรงทอดผ้าไตรสามหาบ แล้วโปรดให้เจ้าพระยาสุรวงศ์ทอดผ้าไตรสามหาบ แล้วทรงเก็บอัฐิแล้วเสด็จลงทางเมรุมุขตะวันออก ทรงประเคนแล้วเสด็จขึ้นมุขใต้ที่ข้างในแล้วเสด็จออกมุขตะวันตกในเวลานั้น

เจ้าพระยาสุรวงศ์กับญาติพี่น้องผู้หญิงพร้อมกันเก็บอัฐิ แล้วเชิญโกศมาตั้งมุขตะวันตก ทรงทอดผ้าไตร ๓๑ พระธรรมวโรดม พระราชาคณะ พระครูฐานา ๓๑ รูป บังสุกุลแล้วทรงประเคนสังเคตหัวทานแก่พระธรรมวโรดม เป็นหัวทาน ๑ แล้วเสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง”

โดย: UP  [IP: 24.196.81.139,,]  
วันที่ 13 เม.ย. 2549 - 01:31:34


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:33
 ไปพบข่าวตายของท่านผู้หญิงพัน ในสมเด็จเจ้าพระยาฯ ตามความเห็นที่ ๕๓ ของคุณเทาชมพู ในราชกิจจานุเบกษาครับ เลยขอคัดมาให้อ่านกัน

"ท่านผู้หญิงพัน ภรรยาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุรยวงษ ท่านผู้หญิงพันเปนบุตรพระยาศรีอรรคราช ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ ๔ ชั่ง เมื่อเดือน ๓ ปีกุนนพศก ป่วยเปนโรคชรา ได้หาพระยาประเสริฐสาตรดำรง รักษา อาการทรงบ้างซุดบ้าง ภายหลังกลับซุดหนักลง รับประทานได้มื้อละถ้วยฝาขนาดน้อยบ้าง ไม่ถึงบ้าง วัน ๗ เดือน ๘ บูรพาสาธ ขึ้น ๑ ค่ำ มีอาการหอบ รับประทานอาหารได้มื้อละ ๑ ช้อนบ้าง ๒ ช้อนบ้าง เวลาย่ำค่ำครึ่งเปนลมประทะมา ถึงแก่กรรมอายุ ๖๙ ปี พระราชทานน้ำอาบศพ หีบทองทึบเปนเกียรติยศ"

อ่านแล้วรู้สึกว่าราชกิจจาฯ สมัยก่อนจดละเอียด มีชีวิตชีวา อ่านสนุกทีเดียวครับ

โดย: UP  [IP: 24.196.81.139,,]  
วันที่ 13 เม.ย. 2549 - 01:43:45


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:33
 คุณ UP ครับ
ค้นย้อนอีกนิดนะครับ เล่มของจ.ศ.1244 กระมัง มีจดเรื่องที่ท่านช่วงป่วยจนตายอยู่
ขอบพระคุณที่กรุณาพิมพ์มาให้อ่าน เป็นงานหนักเอาเรื่องเทียวนะครับ

ขอบุญกุศลนี้ส่งให้ทั้งครอบครัวมีความจำเริญในสิ่งกุศลทั้งปวงเทอญ

โดย: pipat  [IP: 58.9.184.73,,]  
วันที่ 13 เม.ย. 2549 - 09:28:12


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:34
 ผมไม่แน่ใจว่าจะมีหรือไม่นะครับคุณ pipat เพราะบ้านนอกบ้านนาที่ผมอยู่เวลานี้ แม้มีหนังสือภาษาไทยไม่น้อย แต่ก็ไม่มากพอที่จะค้นคว้าได้อย่างใจปรารถนา แต่จะพยายามหาดูครับ

ขอบพระคุณและขอสนองพรครับ

โดย: UP  [IP: 24.196.81.139,,]  
วันที่ 13 เม.ย. 2549 - 10:48:18


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:34
 มาลงชื่ออ่านค่ะ ขอบพระคุณอาจารย์เทาชมพู คุณ pipat และคุณ UP ค่ะ

ป.ล. ตกลงชื่อคุณ pipat อ่านว่าพิพัฒน์ ใช่ไหมคะ? ไม่ใช่ พิพาท นะคะ

แซวคนใจดีให้ซีดีค่ะ  

โดย: B  [IP: 71.104.132.254,,]  
วันที่ 13 เม.ย. 2549 - 14:26:42


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:36
 อ่านว่าปี่พาท หรือปิ๊ปั๊ท ก็ได้ครับ ขอเพียงมีไมตรีจิต ชื่อก็ไม่สำคัญ จริงใหมครับ คีบุญ ของกำนัล ไม่มารับ ระวังมันจะแตกลูกแตกหลานเป็น brahms 2, 3, 4,... 5555555

เอาอย่างคุณอั๊ป แต่พิมพ์ไม่เก่ง ข้างล่างนี่มาจาก CDrom ประชุมพงศาวดารภาค 1-82 ของกรมศิลปากร ใครอยากได้ ยินดีอภินันทนาการ แต่ไม่รู้จะส่งยังไง ตั้งหลายหมื่นหน้า
ผมใส่ เอ บี ซี เพื่อแยกเนื้อความนะครับ
-------------
ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๕๒ จดหมายเหตุเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียงทูลเกล้า ฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร ครบสัปตมวาร ณวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒
----------------------------------
A ถึงณวันอังคาร เดือน ๑๑ ขึ้น ๖ ค่ำ พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้หาพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร ซึ่งเป็นพระราชวงศผู้ใหญ่โดยเจริญพระชนมายุกว่าพระองค์อื่น ๆ พระองค์ ๑ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ซึ่งเป็นพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ในราชการพระองค์ ๑เจ้าพระยาศรีสุริยวงศอัครมหาเสนาบดีที่สมุหพระกลาโหม ซึ่งเป็นหัวหน้าในข้าราชการทั้งปวงคน ๑ เข้าไปเฝ้าพร้อมกันแล้ว มีพระบรมราชโองการมอบพระราชกิจในการปกครองพระราชอาณาจักร ให้ท่านทั้ง ๓ ปรึกษาหารือกันบังคับบัญชาการต่างพระองค์ ในเวลาทรงพระประชวรอย่าให้ราชการบ้านเมืองติดขัดผันแปรเป็นเหตุให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินได้ความเดือนร้อน
B และในวันอังคาร เดือน ๑๑ ขึ้น ๖ ค่ำนั้น มีรับสั่งให้ภูษามาลาเชิญหีบพระเครื่องมาถวายแล้วทรงเลือกพระประคำทองสาย๑อันเป็นของพระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (พระประคำทองสายนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสวรรคต จะพระราชทานพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอรรณพ ซึ่งได้เป็นกรมหมื่นอุดมรัตนราศีในรัชชกาลที่ ๔ แต่บังเอิญเจ้าพนักงานหยิบผิดสาย กรมหมื่นอุดมไม่ได้ไปจึงถือว่าเป็นของสิริมงคลสำหรับแต่ผู้มีบุญญาภินิหาร) กับพระธำมรงค์เพ็ชร์องค์ ๑ ให้พระราชโกษา (ชื่อ จัน ในรัชชกาลที่ ๕ เป็นพระยา เป็นบิดาพระยาอุทัยธรรม (หรุ่น วัชโรทัย)) เชิญตามเสด็จพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดี ไปพระราชทานสมเด็จเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า ฯ กรมขุนพินิตประชานาถ
C พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีเสด็จออกมาทูลกรมหลวงวงศาธิราชสนิทและบอกให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศซึ่งพร้อมกันอยู่ที่ท้องพระโรงพระที่นั่งอนันตสมาคมให้ทราบตามกระแสรับสั่ง กรมหลวงวงศาธิราชสนิทและเจ้าพระยาศรีสุริยวงศก็ไปยังพระตำหนักสวนกุหลาบด้วยเวลานั้นปิดความไม่ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ฯทรงทราบว่าสมเด็จพระบรมชนกนาถประชวรพระอาการมาก เจ้าพระยาศรีสุริยวงศจึงแนะพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีให้ทูลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ฯ ว่าของทั้ง ๒ สิ่งนั้นพระราชทานเป็นของขวัญ โดยทรงยินดีที่ได้ทรงทราบว่าพระอาการ ที่ประชวรค่อยคลายขึ้นเมื่อพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีไปทูล สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯดำรัสถามว่า ของขวัญเหตุใดจึงพระราชทานพระประคำ พระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกด้วย แต่ก็ไม่มีผู้ใดทูลตอบว่ากระไร เมื่อถวายสิ่งของแล้วต่างก็กลับมา
D ในเวลานั้นเห็นจะเป็นด้วยเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ เห็นว่าพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีได้เสด็จออกไปทอดพระเนตรเห็นการที่จัดตั้งกองล้อมวงแล้ว กลับเข้าไปข้างในก็คงจะกราบทูลพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นเมื่อกลับมาถึง พระที่นั่งอนันตสมาคมเจ้าพระยาศรีสุริยวงศกับกรมหหลวงวงศาธิราชสนิท ปรึกษากันว่าควรจะกราบทูลพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงทราบถึงการที่จัดไว้ จึงสั่งพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีเข้าไปกราบบังคมทูล ว่าเจ้านายผู้ใหญ่กับเสนาบดีปรึกษากันเห็นว่า พระอาการที่ทรงพระประชวรมากอยู่ไม่ควรจะประมาทแก่เหตุการณ์ ได้สั่งให้จัดการจุกช่องล้อมวงรักษาพระบรมมหาราชวังให้กวดขันขึ้นและได้ตั้งกองล้อมวงรักษาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ฯ ที่พระตำหนักสวนกุหลาบด้วย (ประเพณีการตั้งกองล้อมวงรักษาพระองค์เจ้านายพระองค์ใด ในเวลาสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวประชวรหนัก เป็นการแสดงว่าเจ้านายพระองค์นั้นจะเป็นผู้รับราชสมบัติเคยตั้งกองล้อมวงพระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาแต่ก่อน)

โดย: pipat  [IP: 58.9.195.138,,]  
วันที่ 13 เม.ย. 2549 - 20:32:59


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:36
 เมื่อพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีกราบทูลความนี้ให้ทรงทราบ มีรับสั่งถามว่าได้เห็นผู้คนล้อมวงที่สวนกุหลาบจริงหรือ และมีผู้หลักผู้ใหญ่ใครดูแลการล้อมวงอยู่ที่นั่น เมื่อได้ทรงทราบแล้วจึงดำรัสสั่งให้พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีกลับออกไปทูลกรมหลวงวงศาฯ และแจ้งแก่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศว่าการที่จะสืบสนองพระองค์นั้นขอให้คิดมุ่งหมายเอาแต่ความเรียบร้อยมั่นคงของพระราชอาณาจักรเป็นประมาณพระองค์ไม่ได้ตั้งพระราชหฤทัยมักใหญ่ใฝ่สูงอย่างไรดอกผู้ที่จะรับราชสมบัติจะเป็นน้องยาเธอก็ได้ หลานเธอก็ได้ ขอแต่ให้ได้ร่มเย็นเป็นสุขแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ฯพระชันษายังทรงพระเยาว์นักจะทรงบังคับบัญชาราชการบ้านเมืองได้และหรือขอให้คิดกันดูให้ดี

เมื่อพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีเชิญพระกระแสออกมาทูลกรมหลวงวงศา ฯ และเจ้าพระยาศรีสุรยวงศ ท่านทั้งสองนั้นจึงเชิญสมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนบำราบปรปักษ์มาปรึกษาอิกพระองค์หนึ่งแล้วสั่งให้เข้าไปกราบบังคมทูลว่า ได้ปรึกษาเห็นพร้อมกันว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ฯสมควรจะรับราชสมบัติสืบสนองพระองค์ราชการบ้านเมืองจึงจะเรียบร้อยเป็นปกติ ข้อซึ่งทรงพระปริวิตกว่ายังทรงพระเยาว์นั้นสมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนบำราบปรปักษ์ รับจะสนองพระเดชพระคุณช่วยดูแลประคับประคองในส่วนพระองค์มิให้เสื่อมเสียได้

เมื่อพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีนำความเข้าไปกราบบังคมทูลฯพระบาทสมเด็จฯพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระปริวิตกว่า พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีจะเชิญกระแสรับสั่งออกไปแจ้งไม่ถูกถ้วนตามประราชประสงค์ ครั้นรุ่งขึ้นณวันพุธเดือน ๑๑ ขึ้น ๗ ค่ำ จึงดำรัสสั่งให้พระศรีสุนทรโวหาร เขียนกระแสรับสั่งพระราชทานให้พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีเชิญออกมายังที่ประชุม พระราชวงศและเสนาบดีว่า ผู้ซึ่งจะครองราชสมบัติสืบพระบรมราชวงศต่อไปนั้นให้ท่านผู้หลักผู้ใหญ่ปรึกษากันแล้วแต่จะเห็นว่าเจ้านายพระองค์ใด จะเป็นพระเจ้าน้องยาเธอก็ดีพระเจ้าลูกยาเธอก็ดี พระเจ้าหลานเธอก็ดีสมควรจะเป็นผู้ใหญ่ เมื่อพร้อมกันเห็นว่าพระองค์ใดจะปกครองรักษาแผ่นดินได้ ก็ให้ถวายราชสมบัติแก่พระองค์นั้นสืบสนองพระองค์ต่อไปกระแสรับสั่งซึ่งโปรด ฯ ให้เขียนออกไปในที่ประชุมเสนาบดีนี้ ไม่ปรากฏว่ามีคำที่ประชุมตอบประการใด

ในระหว่างนั้น เห็นจะเป็นด้วยพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ทรงพระปริวิตกถึงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ฯ ยิ่งขึ้น ด้วยเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ฯ ประชวรพระอาการมากอยู่นั้น ไม่ได้กราบบังคมทูลฯให้ทรงทราบเพราะเกรงกันว่า ถ้าพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอม เกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบก็จะทรงพระปริวิตกวุ่นวาย พระอาการจะซุดหนักไปจึงปิดความเสีย ครั้นณวันพุธเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ จึงโปรด ฯ ให้พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีถวายปฏิญาณก่อนแล้วจึงดำรัสถามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ฯ กรมขุนพินิตประชานาถ ซึ่งรับสั่งเรียกว่า “พ่อใหญ่ ”นั้นสิ้นพระชนม์เสียแล้วหรือยังมีพระชนม์อยู่(๑)ขอให้กราบทูลแต่โดยสัตย์จริง ถ้าสิ้นพระชนม์เสียแล้วก็จะได้หมดห่วง พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดี กราบบังคมทูลฯ ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอนั้น เดิมประชวรไข้ ครั้นไข้ค่อยคลายเกิดพระยอดมีพิษขึ้นที่พระสอพระอาการมากอยู่คราวหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้ค่อยคลายขึ้นแล้ว เป็นความสัตย์จริงดังนี้ มีพระราชดำรัสว่าถ้าเช่นนั้นให้ไปทูลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯว่า ถ้าพระอาการค่อยคลายพอ จะมาเฝ้าได้ให้เสด็จมาเสียก่อนวันขึ้น๑๕ค่ำ ถ้ารอไปจนถึงวันแรมค่ำ ๑ ก็จะได้แต่สรงพระบรมศพไม่ทันสั่งเสียอันใด

พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดี เชิญพระกระแสออกมาทูลกรมหลวงวงศาฯและเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ ท่านทั้งสองปรึกษากันเห็นว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ พระกำลังยังอ่อนนักถ้าเชิญเสด็จเข้าไปเฝ้าในเวลานั้นคงจะทรงพระโศกาดูรแรงกล้าน่ากลัวพระโรคจะกลับกำเริบขึ้น เห็นควรจะระวังรักษาอย่าให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ฯ มีภัยอันตรายจะดีกว่า จึงพร้อมกันห้ามเสียไม่ให้ไปทูลให้กราบพระราชประสงค์และให้กราบทูลพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ พระอาการค่อยคลายแล้ว แต่พระกำลังยังน้อยนักเสนาบดีปรึกษากันเห็นว่ายังจะเชิญเสด็จมาเฝ้าไม่ได้

โดย: pipat  [IP: 58.9.196.118,,]  
วันที่ 13 เม.ย. 2549 - 21:14:18


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:37
 ในวันพุธเดือน๑๑ขึ้น๑๔ ค่ำนั้นจึงมีรับสั่งให้หาพระยาสุรวงศวัยวัฒน์จางวางมหาดเล็กเข้าไปเฝ้าพร้อมกับพระยาบุรุษฯ ดำรัสถามพระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์ ว่าพระอาการสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ฯ เดี๋ยวนี้เป็นย่างไรบ้าง พระยาสุรวงศวัยวัฒน์กราบบังคมทูลว่าพระอาการค่อยคลายขึ้นแล้ว
ตรัสถามต่อไปว่าการแผ่นดินเดี๋ยวนี้จัดกันอย่างไรพระยาสุรวงศวัยวัฒน์กราบบังคมทูลว่าเจ้าพระยาศรีสุริยวงศผู้บิดาเห็นว่าอาการ ที่ทรงพระประชวรมาก ได้ปรึกษากับพระราชวงศและข้าราชการผู้ใหญ่เห็นพร้อมกันว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าฯกรมขุนพินิตประชานาถเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ควรจะรับสิริราชสมบัติสืบสนองพระองค์ต่อไป เจ้าพระยาศรีสุริยวงศจึงได้สั่งให้เจ้าพนักงานตั้งกองล้อมวงที่พระตำหนักสวนกุหลายหลายเวลาแล้ว มีพระราชดำรัสว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ฯ พระชันษายังเยาว์จะทรงบังคับบัญชาราชการแผ่นดินอย่างไรได้เกรงจะทำการไปไม่ตลอดเจ้านายผู้ใหญ่ที่ทรงพระสติปัญญาก็มีอยู่มากพระองค์ใดควรจะว่าราชการแผ่นดินได้ จะเลือกพระองค์นั้นก็ควร อย่าให้เกิดเป็นภัยอันตรายแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ฯ ซึ่งยังทรงพระเยาว์อยู่

พระยาสุรวงศวัยวัฒน์กราบบังคมทูลว่า ถ้าไม่ยกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ฯ ขึ้นครองราชสมบัติน่ากลัวจะมีเหตุร้ายไปภายหน้า ด้วยคนทั้งหลายตลอดจนชาวนานาประเทศก็นิยมนับถือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าฯกรมขุนพินิตประชานาถว่าเป็นรัชชทายาทแม้สมเด็จพระเจ้านะโปเลียนที่๓ เอมปเรอฝรั่งเศสก็ได้มีพระราชสาสนทรงยินดีประทานพระแสงมีจารึกยกย่องพระเกียรติยศเป็นรัชชทายาทมาเป็นสำคัญถ้าไม่ยกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าฯกรมขุนพินิตประชานาถขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไปการภายหน้าเห็นจะไม่ปกติเรียบร้อยได้

มีพระราชดำรัสว่าเมื่อเห็นพร้อมกันเช่นนั้นก็ตามใจ แล้วทรงชี้แจงต่อไปถึงครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มิได้มีรับสั่งให้หาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศเข้าไปทรงฝากฝังสั่งเสียราชการแผ่นดินรับสั่งให้หาแต่เจ้าพระยาศรีสุรยวงศแต่ยังเป็นจางวางมหาดเล็กเข้าไปทรงสั่ง ครั้งนี้พระองค์ทรงประพฤติตามแบบอย่างพระบาทสมเด็จฯพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมิได้มีรับสั่งให้หาเจ้าพระยาศรีสุรยวงศเข้ามาสั่งเสีย ให้พระยาสุรวงศวัยวัฒน์เป็นผู้รับสั่ง เมื่อจะขัดขวางอย่างใดก็จงปรึกษากับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศผู้เป็นบิดาเถิดไหน ๆ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ก็ได้เป็นเขย การที่ปรึกษาเห็นพร้อมกันว่าจะให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯครองราชสมบัติต่อไปนั้นขอทรงฝากฝังให้ช่วยกันทำนุบำรุงให้ดีอย่าให้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นได้ การเปลียนแผ่นดินใหม่ถ้าไม่ระวังให้ดี อาจจะเกิดรบพุ่งฆ่าฟันกัน ต้องระวังอย่าให้มีเหตุเช่น พระเสนหามนตรี ถ้าเกิดเหตุขึ้นเช่นนั้นจะอายเขา

พระยาสุรวงศวัยวัฒน์กราบบังคมทูลฯรับว่าจะไปคิดอ่านกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศผู้บิดาสนองพระเดชพระคุณมิให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นได้

(เหตุเรื่องพระเสนหามนตรีนั้น คือเมื่อเจ้าพระยานคร ( น้อยกลาง ) ถึงอสัญกรรมในรัชชกาลที่ ๔ พระเสนหามนตรี ( หนูพร้อม ) ผู้เปนบุตรใหญ่อายุยังเยาว์ยังไม่ได้บวช มีผู้ซึ่งเป็นเชื้อวงศเจ้าพระยานคร ( น้อย ) คิดปรารถนาจะเป็นพระยานครศรี ธรรมราชหลายคน แต่พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริจะโปรด ฯ ให้พระเสนหามนตรีเป็นพระยานคร ฯ จึงยังรอการตั้งพระยานครไว้ ครั้นพระเสนหามนตรีมีอายุครบอุปสมบทเข้ามาบวชอยู่วัดพิไชยญาติการาม เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐ คืนวันหนึ่งพระเสนหามนตรีไหว้พระอยู่ในกุฏิ มีผู้ร้ายเอาปืนยิงเข้าไปในทางช่องฝา บังเอิญปืนลั่นออกเมื่อขณะพระเสนหามนตรีกราบพระ กระสุนปืนข้ามไปจึงไม่ถูก การไต่สวนต่อมาก็ไม่ได้ตัวผู้ร้าย พอพระเสนหามนตรีลาสิกขาบท ก็ทรงตั้งให้เป็นพระยานคร ฯ พระยานคร ( หนูพร้อม ) อยู่มาจนชรา ได้เลื่อนเปนเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีเมื่อในรัชชกาลที่ ๕)

โดย: pipat  [IP: 58.9.196.118,,]  
วันที่ 13 เม.ย. 2549 - 21:15:21


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:38
 ถึงวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลา ๕โมงเช้า ดำรัสสั่งให้พระยาบุรุษฯออกไปเชิญเสด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิทเจ้าพระยาศรีสุริยวงศที่สมุหพระกลาโหมเจ้าพระยาภูธราภัยที่สมุห นายกเข้าไปเฝ้าถึงข้างที่พระบรรทมมีพระราชดำรัสว่าเห็นจะเสด็จสวรรคต ในวันนั้นท่านทั้ง๓ กับพระองค์ได้ทำนุบำรุงประคับประคองกันมา บัดนี้กาละจะถึงพระองค์แล้วขอลาท่านทั้งหลายในวันนี้ขอฝากพระราชโอรสธิดาอย่าให้มีภัยอันตรายหรือเป็นที่กีดขวางในการแผ่นดินถ้าจะมีความผิดสิ่งไรเป็นข้อใหญ่ ขอแต่ชีวิตไว้ให้เป็นแต่โทษเนียรเทศ ขอให้ท่านทั้ง ๓จงเป็นที่พึ่งแก่พระราชโอรสธิดาต่อไปด้วยเถิด

ท่านทั้ง ๓เมื่อได้ฟังก็พากันร้องไห้สอึกสอื้นอาลัย จึงดำรัสห้ามว่าอย่าร้องไห้ ความตายไม่เป็นอัศจรรย์อันใด ย่อมมีย่อมเป็นเหมือนกันทุกรูปทุกนาม ผิดกันแต่ที่ตายก่อนและตายที่หลังแต่ก็อยู่ในต้องตายเหมือนกันทั้งสิ้น บัดนี้เมื่อกาละมาถึงพระองค์เข้าแล้ว จึงได้ลาท่านทั้งหลาย

แล้วมีพระราชดำรัสต่อไปว่า มีพระราชประสงค์จะรับสั่งด้วยราชการแผ่นดิน แต่จะทรงสมาทานเบญจศีลเสียก่อน ครั้นทรงสมาทานศีลแล้ว ตรัสภาษาอังกฤษหลายองค์แล้วจึงมีพระราชดำรัสว่า ที่พูดภาษาอังกฤษนี้เพื่อจะให้ท่านทั้งหลายเห็นว่าสติสัมปชัญญยังเป็นปกติถึงภาษาอื่นมิใช่ภาษาของตนก็ยังทรงจำได้ด้วยสติยังดีอยู่ท่านทั้งปวงจะได้สำคัญในข้อความที่จะสั่งว่ามิได้สั่งโดยฟั่นเฟือน เมื่อตรัสประภาษดังนี้แล้ว จึงมีพระราชดำรัสต่อไปว่า

ท่านทั้ง ๓ กับพระองค์ได้ช่วยกันทำนุบำรุงแผ่นดินมาได้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดมาจนถึงเวลาสิ้นพระชนมายุถ้าสิ้นพระองค์ล่วงไปแล้ว ขอให้ท่านทั้งปวงจงช่วยกันทำนุบำรุงแผ่นดินต่อไปให้เรียบร้อย ให้สมณพราหมณ์อาณาประชาราษฎรได้พึ่งอยู่เย็นเป็นสุขทั่วกันขอให้ทูลพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ให้เอาเป็นพระธุระรับฎีกาของราษฎรอันมีทุกข์ร้อน ให้ร้องได้สะดวกเหมือนพระองค์ได้ทรงเป็นพระธุระรับฎีกามาแต่ก่อนผู้ซึ่งจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบพระบรมราชวงศไปภายหน้านั้น ให้ปรึกษากันเลือกดูแต่ที่สมควรจะเป็นพระเจ้าน้องยาเธอก็ตามพระเจ้าลูกยาเธอหรือพระเจ้าหลานเธอก็ตาม เมื่อปรึกษาเห็นพร้อมกันว่าพระองค์ใดมีปรีชาสามารถควรจะรักษาแผ่นดินได้ก็จงยกย่องพระองค์นั้นขึ้นจะได้ทำนุบำรุงแผ่นดินให้พระราชวงศานุวงศข้าราชการและอาณาประชาราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขต่อไป อย่าได้หันเหียนเอาตามเห็นว่าจะชอบพระราชหฤทัยเป็นประมาณเลย เอาแต่ความดีความเจริญของบ้านเมืองเป็นประมาณเถิด

มีพระราชดำรัสสั่งดังนี้แล้ว ก็มิได้ตรัสสั่งถึงราชการแผ่นดินอีกต่อไปเวลาเย็นวันนั้นได้ทรงพระราชนิพนธ์คำขอขมาและลาพระสงฆ์โดยภาษาบาลีแล้วทรงพระปริวิตกว่าพระองค์ทรงพระประชวรพระอาการมากถึงเพียงนั้น พระสติสัมปชัญญะจะฟั่นเฟือนไป จึงมีรับสั่งให้หาพระศรีสุนทรโวหาร ฟัก เปรียญ เข้าไปเฝ้าที่ข้างที่พระบรรทมท่องพระราชนิพนธ์ให้ฟัง แล้วตรัสถามว่ายังทรงภาษาบาลีถูกต้องอยู่หรือประการใด พระศรีสุนทร กราบทูลว่า ยังถูกต้องจะหาวิปลาสแต่แห่งใดนั้นมิได้ จึงมีรับสั่งให้พระศรีสุนทร ฯ เขียนพระราชนิพนธ์นั้น ดังต่อไปนี้

โดย: pipat  [IP: 58.9.196.118,,]  
วันที่ 13 เม.ย. 2549 - 21:19:24


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:39
 เห็นตัวอังกฤษไปแทรกในเนื้อความแล้วรู้สึกว่าผมทำผิดมหันตร์ เลยแกตัวใหม่ เป,ยนเป็นวางวรรคตอนใหม่ แต่ก็จะทำให้อารมณ์สะดุด ที่มุ่งหมายจะมีเครื่องหมายอ้างอิงเพราะเวลาอ้างตัวบท จะหาง่ายครับ

เอาอย่างนี้แล้วกันครับ
ผมขอชึ้ว่า ร. 4 ท่านอ่านออกว่า พระเจ้าหลานเธอพระองค์หนึ่ง น่าจะอยากเป็นกษัตริย์ แต่ท่านไม่แน่ใจในตัวท่านช่วง จึงทรงวางกุศโลบายไว้หลายชั้นสมเด็จเจ้าพระยา ท่านเป็นสหชาติกับพระปิ่นเกล้า และกรมหลวงวงษาธิราชสนิท คืออ่อนกว่าพระเจ้าอยู่หัว 3 ปี ความคิดอ่านเห็นจะเรียกว่า มองตาก็รู้ใจ การที่ท่านชิงตั้งพระองค์เจ้ายอร์ช วอชิงตัน เป็นวังหน้า ผมจึงเห็นว่าเป็นการห้ามไฟแต่หัวลม ในเมื่อได้เป็นหมายเลข 2 แล้ว ก็น่าจะเพียงพอ
แต่ถ้าไม่ได้เป็นอะไรเลย รออีก 6 ปีกว่าจะรู้ว่า อาจได้หรือไม่ได้เป็น ซึ่งน่าจะไม่ได้ เพราะมีเจ้าฟ้าจาตุรนต์รอเติบใหญ่อยู่แล้ว

ผมจึงว่า สมเด็จเจ้าพระยานั้น ท่านเป็นขิงแก่ ความคิดความอ่านสุดที่จะหยั่งถึง

เอ นี่ผมเล่นบทพระยาโบราณฯ ในการแก้คดีพระเจ้าปราสาททอง มากไปหรือหรือเปล่านี่

โดย: pipat  [IP: 58.9.196.118,,]  
วันที่ 13 เม.ย. 2549 - 21:31:44


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:40
 ขอเสริม(จากที่จำได้)นะครับ เรื่องพระราชหัตถเลขาถึงพระราชโอรส......ความเห็น46 เผื่อคุณอั๊บจะค้นได้เร็วขึ้น
เป็นพระราชหัตถเลขาพระราชทานเจ้าฟ้าวชิรุณหิศ เมื่อทรงมีพระชนมายุเท่าพระเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงครองราชย์

สำนวนงดงามเหลือจะเปรียบปาน ข้อความสั้น เด่นชัด และเต็มไปด้วยสาระอย่างยิ่งใหญ่ ท่านเปรียบพระองค์เอง....เหมือนคนที่ตาย แล้วเขาเอาไปตั้งไว้ต้องประคองตัวอยู่ในท่ามกลางอันตราย และข้อความที่อาจารย์เทาท่านอ้างถึง (สลับความนิดหน่อย เป็นบ่อยครับกับคนชอบตีลูกศิษย์ มักเป็นเช่นนี้)

ถ้าทำได้ เราคัดลอกข้อความยิ่งใหญ่เหล่านี้ เก็บไว้ประดับเรือนไทย จะยุ่งยากมากใหมครับ แขกไปใครมา จะได้รู้ว่าลูกหลานดีกว่าบรรพบุรุษบ้างใหม

เรียนอาจารย์โปรดพิจารณา

โดย: pipat  [IP: 58.9.193.35,,]  
วันที่ 13 เม.ย. 2549 - 21:47:42


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:40
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 72

เปลี่ยนเป็นยืนกางแขนคาบไม้บรรทัดก็ได้นะคะ คุณปี่พาท

ส่วน ค.ห. 70 ดิฉันเห็นคนละทางกับคุณพิพัฒน์ แต่ขอออกตัวก่อนว่าไม่ได้เป็นไปในทางมองแง่ร้ายต่อสมเด็จเจ้าพระยาฯ และไม่ได้เป็นการเถียงคุณพิพัฒน์ว่าฉันถูกคุณผิด เรื่องราวในประวัติศาสตร์นั้นมีน้อยเรื่องนักที่เป็นข้อเท็จจริงชนิดมองต่างมุมไม่ได้ ต่อให้มีจริง ก็มักเป็นข้อมูลชนิดที่ไม่มีใครหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันอยู่ดี

ดิฉันมองว่าในตอนนั้น พระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯหนักมาก ไม่มีใครรู้ว่าจะทรงหายประชวรหรือไม่ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านก็ต้องเลือกหมายเลข ๒ ที่ท่านแน่ใจว่าจะไม่ก่อความปั่นป่วนขึ้นมาให้แผ่นดิน โดยเฉพาะกับตัวท่าน หากว่าไม่มีหมายเลข ๑ ขึ้นมาจริงๆ

เจ้านายวังหลวงที่พระชนม์สูงๆอยู่ในขณะนั้น ก็ไม่แน่ว่าจะโอนอ่อนผ่อนตามสมเด็จเจ้าพระยาไปเสียทุกเรื่อง ดูกรมขุนวรจักรฯเป็นตัวอย่างก็ได้

ที่คิดเช่นนี้เพราะเมื่อเหตุพิพาทวังหน้ากับวังหลวงระเบิดขึ้นมา กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เสด็จเข้าไปลี้ภัยในสถานทูตอังกฤษ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านก็เป็นคนเดียวที่เข้าไปในสถานทูต เชิญเสด็จกรมพระราชวังบวรฯกลับออกมาได้ด้วยสันติวิธี แสดงถึงความยกย่องเกรงใจที่กรมพระราชวังบวรฯทรงมีต่อท่าน

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 14 เม.ย. 2549 - 09:33:40


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:41
 ส่วนพระราชหัตถเลขา ที่คุณพิพัฒน์ว่ามานั้น ถ้าหามาได้ช่วยนำลงด้วยค่ะ
ดิฉันกำลังหาอยู่เหมือนกัน
******************
สมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็นผู้ที่ใช้อำนาจเพื่อสุขของแผ่นดิน ไม่ใช่เพื่อสุขส่วนตัว
มีตัวอย่างเล็กๆของการใช้อำนาจเด็ดขาดของท่านเพื่อความสงบสุขของราษฎร ดังที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯทรงเล่าไว้ว่า

ครั้งหนึ่งมีโจรสำคัญ เรียกกันว่า "อ้ายอ่วมอกโรย" (อกโรยเป็นชื่อตำบลในจ.อ่างทองค่ะ ไม่ใช่ลักษณะของโจร) อาละวาดปล้นทรัพย์ ฉุดผู้หญิงสาวๆไปเป็นเมียเสียมาก ก่อความหวาดกลัวให้ชาวบ้าน
กรมการเมืองพยายามจับตัวก็จับไม่ได้ เพราะผู้คนพากันหวาดกลัวเกินกว่าจะแจ้งเบาะแส จนอ้ายอ่วมย่ามใจ กำเริบขั้นนั่งเรือแจวอย่างขุนนาง ไปถึงไหนก็ปล้นทรัพย์ฉุดผู้หญิง ตามบ้านรายทาง กลางวันแสกๆไม่มีใครกล้าขัดขืน

สมเด็จเจ้าพระยาฯเห็นว่ามันชักกำเริบหนัก เป็นตัวอย่างให้โจรอื่นๆเอาอย่าง ท่านก็สั่งข้าหลวงตามมณฑลกรุงเก่า ส่งพนักงานลงเรือไปสืบจับให้ได้ วันหนึ่งพนักงานแจวเรือสวนไปกับเรือเก๋งลำใหญ่ ปิดหน้าต่างบานเกล็ดหมด แต่มีมือผู้หญิงลอดหน้าต่างออกมากวักเรียก แล้วชี้เข้าไปข้างในเรือ

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 14 เม.ย. 2549 - 10:51:33


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:42
 เจ้าพนักงานเอะใจ ก็พากันไปล้อมเรือ บุกเข้าไปเห็นอ้ายอ่วมนอนหลับอยู่ มีผู้หญิงนั่งพัดวี ก็ล้อมจับมาได้
ได้ความว่าเป็นหญิงสาวที่มันฉุดมา แต่หล่อนไม่สมัครใจก็เลยหาโอกาสชี้ทางให้คนอื่นรู้ตัวเมื่อจับตัวอ้ายอ่วมได้ สมเด็จเจ้าพระยาฯก็เรียกญวนเพชฌฆาตจากบางโพธิ์ ลงเรือไปกับท่านทันที เพราะคนไทยไม่มีใครกล้าทำ

ถึงกรุงเก่าท่านก็ให้ตั้งศาลชำระความ เอาอ้ายอ่วมไปที่เพนียด แล้วให้ญวนผ่าอกออกดูใจอันร้ายกาจในวันนั้น ท่ามกลางราษฎร ตัวท่านนั่งเป็นประธาน
ผู้คนเห็นกันทั่งหน้า ตกใจไหวสะท้าน โจรผู้ร้ายก็สงบไปได้ทันที เมื่อเห็น "เชือดไก่ให้ลิงดู"

ม.จ.พูนพิศมัยทรงเล่าไว้ว่า
" เสด็จพ่อ(หมายถึงสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ) ทันได้รู้จักสมเด็จเจ้าพระยาฯคนนี้ และเมื่อเจ็บมากจะถึงอสัญกรรม ท่านก็ได้เสด็จไปเยี่ยม
สมเด็จเจ้าพระยาฯได้เรียกเข้าไปหาข้างที่นอน แล้วสั่งสอนว่าให้อุตส่าห์ทำราชการเถิดคงจะได้ดี

สมเด็จเจ้าพระยาฯมีลูกหลานเป็นคนดี แต่ไม่มีที่วิเศษศรี หลักแหลม (brilliant) อย่างตัวท่านเองเลย"

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 14 เม.ย. 2549 - 10:52:49


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:43
 ยอมถูกตีดีกว่าครับ คาบของหน้าห้องนี่เคยโดนมาแล้ว ไม่สนุกเลยครับ
พระราชหัตถเลขานี่ ยกให้คุณอั๊บครับ เผื่อมีคนถูกตีเป็นเพื่อน

ผมจำได้ว่าอ้ายอ่วมอกโรยถูกบั่นสองท่อน แต่ยังไงมันก้อตายแน่ครับ

เรื่องกรณีพิพาทวังหน้า น่าจะเป็นหลักฐานอย่างดี ว่ากรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ไม่ได้อยู่ข้างสมเด็จเจ้าพระยาเลย และทำท่านหน้าแตกด้วย
จะรอเถียงอาจารย์ตอนเล่าจบ
ผมมันเด็กดื้อครับ แต่ดื้อไม่ตลอดรอดฝั่ง แพ้ครูทุกที

โดย: pipat  [IP: 58.9.185.107,,]  
วันที่ 14 เม.ย. 2549 - 20:38:38


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:44
 คราวนี้น่าจะชนะคุณครู เพี้ยง
(นี่ถึงกับต้องเล่นของเชียวหรือ)
เรื่องกรมขุนวรจักรฯไม่ออกจากบ้านจนสิ้นสมเด็จเจ้าพระยาฯ

ผมไปเจอว่า  ในเดือน ๙ นี้ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ เปนแม่กอง ชำระหางว่าวเบี้ยหวัดขุนหมื่นตัดเบี้ยหวัดเสียทุกหมทุกกรม ทั้งทหารพลเรือน
(จดหมายเหตุโหร จมื่นก่งศิลป์ ประชุมพงศาวดาร ภาค 8)

เป็นการทำทะเบียนกองกำลังครั้งแรกในรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นงานหลักเพราะจะได้รู้ว่าในแผ่นดินใหม่ มีผู้คนให้ใช้สอยเท่าใด

งานนี้ นั่งทำอยู่ที่วังไม่ได้ ผู้อำนวยการต้องมีอำนาจสิทธิขาด เป็นที่ยำเกรง และต้องไปกำกับงานตามบ้านเรือน ตำหนัก วัง เพื่อป้องกันการโกง

ผมไม่ค่อยเชื่อเรื่องเกร็ดเหล่านี้มาแต่ใหนแต่ไรแล้วครับ
คุณครูอย่าตีเจ็บนะครับ

โดย: pipat  [IP: 58.9.196.66,,]  
วันที่ 14 เม.ย. 2549 - 21:36:29


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:44
 หากจะครูถูกตีก็คงต้องยอมล่ะครับ เพราะสองสามวันมานี้ไม่ได้ออกจากบ้านเลย จะไปห้องสมุดก็ไม่สะดวก บ้านเมืองที่ผมอยู่ตอนนี้เป็นกาลเปลี่ยนฤดู มีพายุแทบทุกวัน ครั้นจะหาในอินเทอร์เนตก็จนใจ ลองทุกคีย์เวิร์ดแล้วก็ไม่พบ ไม่น่าเชื่อจริงๆ เราได้ยินได้อ่านกันออกจะบ่อย แต่ไม่ยักกะมีใครนำมาลงไว้เนตเลย

ขอนอกเรื่องเบี่ยงประเด็น เผื่อครูจะลืมว่าได้สั่งการบ้านไว้

พูดถึงเรื่องบุนนาค ก็คิดไปถึงวัด ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าบ้านบุนนาคนี้สกุลที่มีลานวัดเป็นของตัวเองให้ลูกหลานได้วิ่งเล่นมากที่สุดในบรรดาตระกูลผู้ดีกรุงสยามก็ว่าได้

วัดที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ก็ไม่น่าตื่นเต้นอะไร เช่น วัดประยุรวงศาวาส วัดพิชยญาติการาม วัดบุปผาราม วัดศรีสุริยวงศาราม

อยู่มาปีหนึ่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับพระราชทานผ้าพระกฐินให้เชิญไปทอด ณ พระอารามหลวงชั้นตรี ณ จังหวัดราชบุรี ชื่อ "วัดสุรชายาราม" (วัดหลุมดิน) ผมกับอาจารย์ที่เคารพนับถือกันท่านหนึ่งพอได้ยินเข้าก็มองหน้ากันงงๆ แล้วก็แค้นใจตัวเองกันทั้งคู่ว่าทำไมไม่รู้เลยว่า "ชายา" ใครกันเป็นผู้สร้าง

ด้วยความแค้นใจก็เลยไปค้นประวัติ พบว่า ท่านผู้หญิงอิ่ม สุรวงษไวยวัฒน์ ภริยา เจ้าพระยาสุรวงษไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) นี่เอง คือผู้ปฏิสังขรณ์ไว้ แล้วได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "วัดสุรชายาราม"

..โก้เทียว ถึงขนาดทรงใช้คำว่า "ชายา" (ของ สุร-) เป็นเกียรติแก่ท่านผู้หญิงสะใภ้ใหญ่ของสมเด็จเจ้าพระยาฯ

โดย: UP  [IP: 24.196.81.139,,]  
วันที่ 15 เม.ย. 2549 - 01:29:49


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:45
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 78

กรณีพิพาทวังหลวงกับวังหน้าจนกรมพระราชวังบวรฯเสด็จเข้าไปอาศัยสถานทูตอังกฤษ  ดิฉันอ่านมาสองทางไม่ตรงกันในรายละเอียด
ทางหนึ่ง บอกว่ากรมพระราชวังบวรฯเสด็จไปขอปรึกษาสมเด็จเจ้าพระยาก่อน สมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านตอบว่า ท่านไม่มีทางจะทำอะไรให้ได้ เมื่อวังหน้าเห็นว่าใครเป็นที่พึ่งได้ ก็ไปพึ่งเขาเถิด กรมพระราชวังบวรฯจึงเสด็จไปพึ่งสถานทูต แต่กงสุลน็อกซ์ ได้จัดการไกล่เกลี่ยจนเป็นผลสำเร็จ ในที่สุดวังหน้าก็เสด็จกลับออกมา เรื่องพิพาทก็ยุติลงไป
(ผู้เล่าคือม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล)

แต่อีกทางหนึ่ง ก็คือเมื่อกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จเข้าสถานทูตอังกฤษไปแล้ว เรื่องก็ทำท่าจะไปกันใหญ่ เพราะเข้าทางของกงสุลน็อกซ์ที่ตั้งใจจะแบ่งสยามเป็นสยามเหนือและสยามใต้ ให้กรมพระราชวังบวรฯครองส่วนหนึ่ง และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯครองอีกส่วนหนึ่ง ขนาดกำลังเรือรบของอังกฤษเดินทางมาแล้ว จากสิงคโปร์หรือฮ่องกง จำไม่ได้ค่ะ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงขอสมเด็จเจ้าพระยาให้ช่วยเจรจา
ในตอนนั้นท่านพ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแล้วก็จริง แต่ท่านก็ไปที่สถานทูตอังกฤษ เชิญเสด็จกรมพระราชวังบวรฯกลับออกมาได้ ไม่มีการเสียเลือดเนื้อ และมีการแจ้งไปทางอังกฤษด้วยว่าพระเจ้าอยู่หัวของสยามคือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เพียงพระองค์เดียว
เรือรบของอังกฤษก็เลยไม่เข้ามารุกรานไทย แผนของกงสุลน็อกซ์เป็นอันยกเลิกไป เมื่ออังกฤษยอมรับในราชบัลลังก์ของไทย
ขอโทษทีที่อ้างข้อมูลไม่ได้ว่าจากหนังสือไหน เล่าจากความจำ (ซึ่งน่าจะตกหล่นให้คุณ UP เข้ามาใช้หมึกแดงตรวจแก้ได้อีกแล้ว) คุณพิพัฒน์อ่านมาอย่างไหนคะ

ดิฉันเชื่ออย่างที่สอง ซึ่งแสดงว่ากรมพระราชวังบวรฯต่างหากที่พระพักตร์แตกเพราะเมื่อเกิดเหตุคับขัน สมเด็จเจ้าพระยาฯท่านก็แสดงให้เห็นแล้วว่าท่านเห็นแก่ประโยชน์ของแผ่นดินเป็นประโยชน์สูงสุด

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 15 เม.ย. 2549 - 09:19:15


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:46
 ตอบข้ออื่นๆ
อ้ายอ่วมอกโรยเจอผ่าอกควักหัวใจเข้าก็เสร็จแน่นอนค่ะ
เว้นเสียแต่ว่ามันเป็นศิษย์เก่าฮอกวาร์ทส์ อาจจะรอดไปได้บ้าง

เรื่องกรมขุนวรจักรฯ คุณพิพัฒน์บอกว่าเดือน ๙ ปีไหนคะ
ชำระเบี้ยหวัด คุณพิพัฒน์หมายถึงอะไร
กรมขุนวรจักรฯ ไม่มีทางใช้เจ้ากรมของท่านไปตรวจเช็คของจริงกับบัญชีได้หรือคะ

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 15 เม.ย. 2549 - 09:28:22


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:46
 วัดสุรชายาราม...เพิ่งเคยได้ยินชื่อเหมือนกันค่ะ ขอบคุณที่เล่าให้ฟัง
วัดที่คู่กับวัดพิชยญาติการามคือวัดอะไรนะคะ ที่เป็นของท่านผู้หญิงของท่าน อยู่ๆก็ลืมขึ้นมาเฉยๆ
ใกล้อุทยานเฉลิมพระเกียรตฺสมเด็จพระศรีนครินทราฯทรงอยู่เมื่อทรงพระเยาว์น่ะค่ะ

พูดแล้วนึกถึงความหลังที่เคยเดินท่อมๆฝ่าแดดสำรวจแถวนั้น มีบ้านคนใหญ่คนโตในอดีตอยู่ด้วยบางหลัง เช่นบ้านเจ้าพระยารัตนบดินทร์ บ้านของพวกไกรฤกษ์ ด้วย

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 15 เม.ย. 2549 - 09:35:12


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:47
 วัดอนงคารามหรือเปล่าคะอาจารย์?

บ้านตระกูล ทินกร ก็อยู่ละแวกนั้นนะคะ เคยไปบ้านอาจารย์พนม ทินกร ท่านน่ะค่ะ

โดย: B  [IP: 71.104.132.254,,]  
วันที่ 15 เม.ย. 2549 - 09:39:41


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:47
 ใช่แล้วค่ะ คุณ B ขอบคุณมาก

หมายเหตุ: อ.พนม ทินกร ณ อยุธยาที่คุณ B เอ่ยถึงเป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬา ค่ะ
ราชสกุลทินกร สืบเชื้อสายมาจากพระองค์เจ้าทินกร กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ
ทรงเป็นกวี คู่ประชันสักรวาของคุณพุ่ม บุษบาท่าเรือจ้าง
อ่านเกี่ยวกับกรมหลวงภูวเนตรได้ในบทความ "แค้นของกวี" ค่ะ

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 15 เม.ย. 2549 - 10:15:46


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:48
 เดือน 9 ปีแรกของรัชกาลครับ หลังบรมราชาภิเษกแล้วไม่กี่ดือน
การชำระหางว่าวเบี้ยหวัดขุนหมื่น...นี่ เป็นงานใหญ่ครับ ผมก็เกิดไม่ทันเสียด้วย เอาเป็นว่าต่อไปนี้ ใช้หลับตาฝันเอานะครับ ผิดพลาดต้องขออภัย ผู้รู้โปรดแก้ด้วย

จำนวนหางว่าวนี่หมายถึงสัมมะโนประชากรประมาณนั้น ในยุคที่ใช้กฏหมายศักดินา ทุกคนต้องมีสังกัด และการตรวจนับจำนวนคนว่ามูลนายคนใดมีไพร่ในสังกัดเท่าใด เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เหมือนซุกหุ้นยังไงยังงั้นเลยละครับ คนมีไพร่มาก จะเม้มว่ามีน้อย คนมีสังกัดก็อยากจะอยู่นอกสังกัด เพราะทุกคนต้องจ่ายค่าตัวตลอดเวลา ถ้าเราอยู่ในสังกัดพระยาบันดาลทุกข์ลาภ(สมมตินะครับ) เราแค่จ่ายสินบนให้เจ้านาย อย่าได้ลงชื่อเราในหางว่าว ถึงเวลาก็ไม่ต้องจ่าย ส่วย ไม่ต้องเข้าเกณฑ์ มีเวลาเป็นของเราเต็มที่ ที่จะทำมาหาเลี้ยงชีพ
โดยปกติ การชำระหางว่าว มีกำหนดทำกันไม่บ่อยครั้ง เพราะทำมากก็เหมือนรีดนาทาเร้น ปกครองยาก จึงมักจะทำเมื่อมีเหตุ และเหตุที่มักจะทำได้โดยไม่ก่อเหตุ ก็ตอนเปลี่ยนแผ่นดินครับ
สมัยรัชกาลที่ 4 ผมเคยเห็นจดหมายเหตุเรื่องนี้ เกี่ยวกับสักเลขหัวเมืองปักษ์ใต้ นั่นต้องยกทัพไปตรวจครับ คนโกงบ้านโกงเมือง มีหรือจะยอมให้จับมาลงโทษ คงได้สู้ตายกันไปข้างหนึ่ง กบฏหลายหนในต้นรัชกาลที่ 5 ก็มาจากการทำทะเบียนประชากรนี่แหละครับ ทุกคนอยากเป็นคนข้อมือเปล่ากันทั้งนั้น

ทีนี้ ระหว่างปลอดการตรวจหางเลข ตีเสียว่าสักห้าหกปีก็พอ เด็กสิบสามก็จะกลายเป็นเด็กสิบแปด ซึ่งตามปรัชญาของกฏหมายศักดินา คนพวกนี้คือทรัพย์สินของแผ่นดินนะครับ ถ้ามีบัญชีลงเอาไว้ ก็คือมีตัวเงินและตัวแรงงานอยู่ในท้องพระคลัง
การทำหางว่าวยังตัดปัญหาเรื่องซ่องสุมผู้คนอีกด้วย หากพระยาบันดาลทุกข์ลาภ มีกำลังคน 2,000 แต่เรานึกอยู่นั่นแหละ ว่าแกมีคนอยู่ 150 ตามหางว่าวที่บิดเบี้ยว พระยาอย่างนี้ สอง-สามคนรวมกัน จะทำอะไรแก่บ้านเมืองมันคงง่ายละครับ ดูแต่จีนตั้วเหี่ยสิครับ คุมกันร้อยสองร้อย ตีบ้านตีเมืองได้แล้วครับ
คนที่จะได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ทำบัญชีนี้ ต้องเป็นบุคคลระดับสูง มีทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อตัดไฟแต่ต้นลม
คิดดูว่าส่งเจ้ากรมของท่าน เข้าวังหน้า ไปทำบัญชีหางว่าว ก็คงได้แต่ป่านออกมามังครับ เฉพาะที่เป็นเจ้านายใหญ่โตตอนต้นรัชกาลนี่ ผมว่าร่วมสิบพระองค์ ทางครอกกุญชรนั่นก็ไม่เล็กนะครับ สายกรมขุนราชสีห์ก็ใหญ่พอกัน
จดหมายเหตุโหรของจมื่นก่งศิลป์นี่ผมออกจะนับถือมากกว่าฉบับอื่นๆ แกจดแต่เรื่องใหญ่ และแม่น อย่างแกเรียก พระจุฬาลงกรณ์เกล้าฯ นี่ ต้องชมครับ การที่จดเรื่องทำหางว่าวไว้ ผมเลยคิดว่าคงเป็นงานโกลาหลประจำยุคสมัยทีเดียว
เรื่องกรมขุนวรจักรฯไม่ออกจากวังนี่ ผมเชื่อไม่สนิทใจ ครับ มันเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกินไป วังท่านอยู่เลยหมู่พระอภิเนาว์ไปแค่ข้ามถนน จะมามุดรูอยู่ไม่ออกมาผึ่งผายเห็นจะไม่ใช่เลือดขัตติยะ ผมไม่เชื่อว่าคนที่กล้าค้านสมเด็จเจ้าพระยากลางที่ประชุม จะหลีกลี้หนีหน้าพระเจ้าอยู่หัวตั้งห้าหกปีครับ
ผมไม่มีเวลาพอจะค้นว่า ท่านทำอะไรบ้างตอนต้นรัชกาล แต่จดหมายเหตุในหอฯ คงมีบอกไว้แน่นอน ใครช่วยค้นมาเล่าหน่อยได้ใหมครับ นึกว่าทำบุญ

โดย: pipat  [IP: 58.9.186.100,,]  
วันที่ 15 เม.ย. 2549 - 12:37:09


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:48
 นับผิดไปหนึ่งปีครับ เดือนเก้า 2413 สองเดือนหลังจากเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ตาย

โดย: pipat  [IP: 58.9.189.115,,]  
วันที่ 15 เม.ย. 2549 - 13:15:25


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:49

วงปี่พาทย์ มอบให้คุณปี่พาท(พิพัฒน์)ครับ
 http://www.thaitambon.com/tambon/ttrvtypetlist.asp?PLC=70  

โดย: ศรีปิงเวียง  [IP: 210.86.223.7,,]  
วันที่ 15 เม.ย. 2549 - 13:16:20


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:49
 ชอบม้ากกกก ขอรับคุณศรี
อยากได้เสียงด้วยอะครับ ขอมากไปรึเป่า

โดย: pipat  [IP: 58.9.189.115,,]  
วันที่ 15 เม.ย. 2549 - 13:27:18


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:50
 คุณปี่พาท ดูได้ที่นี่ครับ
 http://www.dontrithai.com/MP3.htm  

โดย: ศรีปิงเวียง  [IP: 210.86.223.7,,]


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:50
 เคยเข้าเว็บนี้ผ่านหน้าหลักของเขา ไม่มีระบุว่าจะโหลด เอ็มพีสามได้ ลองตามลิงค์ของคุณศรีเข้าไป เจอรายชื่อแต่เปิดฟังบ่มิได้ เสียใจจังครับ

ขอบคุณในความกรุณาครับ

โดย: pipat  [IP: 58.9.189.115,,]  
วันที่ 15 เม.ย. 2549 - 14:07:10


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:51
 ส่วนเรื่องวิกฤติการณ์วังหน้า ถ้าใช้หลักฐานร่วมสมัย ตอนเกิดเรื่อง สมเด็จเจ้าพระยา อยู่ราชบุรี ตอนท่านเข้ามาที่กรุง วังหน้าเผ่นเข้าบ้านน็อกส์แล้ว

คุณณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม (ในงานหลายชิ้น) รวบรวมพระราชหัตถเลขาเกี่ยวกับเหตุการณ์ช่วงนี้ไว้ ลองอ่านชุดที่ทรงมีไปมากับพระอุปัชฌาย์ท่านนะครับ ได้ความรู้สึกเหมือนฟังเขาถกกันในสภาเชียว ท่านถามถึงขนาดว่าดวงข้างใครเหนือกว่ากัน

ใครไม่รู้บอกว่า เสร็จปัญหานี่ สมเด็จเจ้าพระยากราบแทบฝ่าพระบาท ยอมรับเจ้านายหนุ่มเป็นกษัตริย์โดยบริบูรณ์

โดย: pipat  [IP: 58.9.192.174,,]  
วันที่ 15 เม.ย. 2549 - 17:22:06


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:51
 นั่นสิคะ ฟังคุณพิพัฒน์แจกแจงออกมาฉาดฉาน ดิฉันก็ชักจะเชื่อว่ากรมขุนวรจักรฯชำระบัญชีหางว่าวเองเห็นทีจะเป็นโปรเจ็คใหญ่ระดับชาติ
แต่เรื่องต้นตะขบ ก็ยังไม่อยากฟันลงไปง่ายๆว่าไม่จริง ดิฉันยังนับถือความรู้ของม.ร.ว. คึกฤทธิ์ อยู่เหมือนเดิม
ขอรอดูหลักฐานอีกสักเรื่อง แล้วครูเป็นฝ่ายถูกตีเสียเองก็ตีเถอะ

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 15 เม.ย. 2549 - 18:12:41


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:53
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 99

ขออนุญาตด้วยคน ไม่ทราบจะพอให้รายละเอียดได้หรือเปล่า เฉพาะในส่วนของ 2 คดี ในส่วนของ หอรัษฎากรพิพัฒน์ และ การเลิกทาส ไม่ได้ทำไว้ แต่ในหนังสือของ "คุณวิมลพรรณ ปีตธวัชชัย เรื่อง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทววะวงศ์วโรปการ" คงจะมีรายละเอียดเรื่องนี้ไว้ครบค่ะ

คดีพระยาอาหารบริรักษ์

เริ่มจากมีการปรับเปลี่ยนระบบพระคลังมหาสมบัติ พระยาอาหารบริรักษ์(นุช บุญ-หลง) เสนาบดีกรมนา ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานชายของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ภายหลังจากที่ปรึกษาราชการแผ่นดินเสนอให้มีการจัดระเบียบการเก็บค่านาใหม่ พระยาอาหารบริรักษ์ไม่ยอมรับและปฏิเสธที่จะปฏิบัติตาม โดยอ้างเหตุผลว่า ร่างกฎหมายที่ว่าด้วยที่นาใหม่นอกจากจะนำมาใช้ไม่ได้ในทางปฏิบัติแล้วยังก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้อย่างมากอีกด้วย เมื่อเสนาบดีกรมนามีปฏิกิริยาเช่นนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ตั้งกรรมการ สอบบัญชีเงินย้อนหลัง และปรากฏว่าบัญชีรายรับเงินภาษีของกรมนาและจำนวนเงินที่กรมนาส่งให้แก่พระคลังมหาสมบัติ
แตกต่างกันอย่างมาก จึงมีการดำเนินคดีกับพระยาอาหารบริรักษ์เสนาบดีกรมนา

การพิจารณาคดีของพระยาอาหารบริรักษ์เป็นการแสดงเจตจำนงอย่างแน่วแน่ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จะทรงใช้ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินและที่ปรึกษาราชการส่วนพระองค์เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบการบริหารการปกครองประเทศของพระองค์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยเริ่มจากการเคร่งครัดเรื่องของภาษีอากร ให้ขุนนางต้องดำเนินการภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนด เมื่อมีหลักฐานชัดเจน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ริบราชบาตร ถอดพระยาอาหารบริรักษ์ กับผู้สมรู้ร่วมคิดลงเป็นไพร่มีโทษจำคุก

โดย: วรรณวรรธน์  [IP: 202.5.86.231,,]  
วันที่ 18 เม.ย. 2549 - 11:29:07


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:54
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 100

คดีพระปรีชากลการ

ถือว่าเป็นคดีที่มีความสำคัญต่อประเทศในขณะนั้นคดีหนึ่ง เนื่องจากมีผลกระทบถึงในระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของประเทศไทยกับประเทศอังกฤษความเดิมของคดีดังกล่าวคือ พระยาปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) เป็นบุตรชายของพระยากษาปน์กิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน จบการศึกษาด้านวิศวกรรมมาจากระเทศอังกฤษ รับราชการในตำแหน่งเจ้าเมืองปราจีนบุรีเป็นผู้ดูแลเหมืองทองที่กบินทร์บุรี เป็นขุนนางที่แสดงตนสนับสนุนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาโดยตลอด แต่ในขณะที่พระยาปรีชากลการดำรงตำแน่งเจ้าเมืองปราจีนบุรีอยู่นั้น ได้ถูกประชาชนชาวปราจีนบุรีทูลเกล้าฯฎีกาต่อองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึง ๒๗ ฎีกาด้วยกัน รวมทั้งข้อหาเบิกเงินหลวงไปลงทุนทำบ่อทองถึง ๑๕,๕๐๐ ชั่งเศษ แต่ส่งทองมาเพียง ๑๑๑ ชั่งเท่านั้นอันเป็นจำนวนทองคำ ที่ต่ำกว่าการคาดหมายมากนัก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานฎีกาทั้งหลายไปยังที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินพิจารณาแล้วจึงเชิญตัวพระยาปรีชากลการมาสอบสวนความผิด เนื่องจากพระยาปรีชากลการเป็นลูกเขยของกงสุลเยเนอราลอังกฤษประจำประเทศไทยในขณะนั้น (Thomas George Knox) จึงมีการติดต่อกับกงสุลอังกฤษบีบบังคับให้ทางการไทยปล่อยตัวถึงกับเรียกเรือปืนอังกฤษจากสิงคโปร์มาข่มขู่จะยิงพระนคร การควบคุมตัวและดำเนินกระบวนการสอบสวนเอาผิดกับพระยาปรีชากลการจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและมีผลกระทบถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงเหตุดังกล่าว ทรงโปรดเกล้าฯให้กระบวนการพิจารณาคดีของสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินดำเนินการไต่สวนความผิดของพระยาปรีชากลการต่อไป ขณะเดียวกันทรงโปรดให้พระยาภาสกรวงศ์ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน เป็นราชทูตพิเศษไปเข้าเฝ้า
สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียเพื่อป้องกันมิให้กรณีดังกล่าวที่ลุกลามอาจบานปลายเป็นวิกฤติการณ์ระหว่างประเทศไปได้
แต่ท้ายสุดเมื่อความผิดเป็นที่ปรากฏว่าพระยาปรีชากลการได้กระทำผิดหลายกระทง ทั้งกรณีกล่าวหาว่าฉ้อราษฎร์บังหลวงเหมืองแร่ทองคำที่กบินทร์บุรี และคดีอาญาฆ่าประชาชนตาย จนกลายเป็นความผิดอุกอาจถึงขั้นต้องโทษประหารชีวิตในท้ายสุด
การพิจารณาโทษพระยาปรีชากลการดังกล่าวประเทศไทยก็มิได้กระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใหญ่โตอย่างที่คาดหมายไว้แต่ประการใด


บทคัดลอกนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ "กว่าจะมาเป็น...ศาลปกครอง" สำนักงานศาลปกครอง ค่ะ

โดย: วรรณวรรธน์  [IP: 202.5.86.231,,]  
วันที่ 18 เม.ย. 2549 - 11:32:59


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:54
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 101

อาจารย์เทาฯ ได้ลูกศิษย์เก่งๆ มาช่วยอีกแล้ว

คุณวรรณวรรธน์ เล่ามา ทำให้นึกถึงเรื่องสำคัญเกี่ยวกับสมเด็จเจ้าพระยาอีกเรื่องคือ การที่ท่านไม่รับเป็นสภาที่ปรึกษา ทั้งส่วนพระองค์และของแผ่นดิน
สภานี้ เป็นการเมืองก้าวสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงแยกมิตรแยกศัตรู และค่อยๆ สถาปนาระเบียบบริหาราชการแผ่นดินให้เป็นแบบแผน

ผมเดาเอาว่า เป็นพระราโชบายของรัชกาลก่อนต่อเนื่องลงมา หัวใจของระบบนี้คือ งบประมาณแผ่นดินต้องตรวจสอบได้และเบิกจ่ายจากส่วนกลาง

ตอนสิ้นรัชกาลที่ 4 สมเด็จเจ้าพระยา ท่านมีกระเป๋าเงินส่วนตัว คือผลประโยชน์ของมณฑลราชบุรีทั้งหมด ไม่มีใครกล้าเข้าไปตรวจสอบ คดีพระยาอาหารฯนี่ ทำกระเป๋าฉีกเลยครับ

โดย: pipat  [IP: 58.9.190.140,,]  
วันที่ 18 เม.ย. 2549 - 12:46:14


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:54
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 102

กลับไปอ่านตัวบทที่อาจารย์เทาฯแนะนำ เจอข้อความอย่างนี้เข้าให้
ตอนเยาว์วัยเด็กชายช่วง ...รับการศึกษาจากวัดพอประมาณ ไม่ได้เล่าเรียนอักขรสมัยอย่างลึกซึ้ง แต่ได้อ่านและเรียนตำราต่างๆ จากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ .....
งงยิ่งกว่างงครับ

ระดับท่านช่วงนี่ได้รับการศึกษาแค่พอประมาณ ผมว่าจะยังไงยังไงอยู่นา

โดย: pipat  [IP: 58.9.190.140,,]  
วันที่ 18 เม.ย. 2549 - 12:56:24


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:55
 ขอบคุณคุณวรรณวรรธน์ค่ะ
ระดับคุณวรรณวรรธน์ไม่ใช่ลูกศิษย์ดิฉันค่ะ คุณพิพัฒน์ น่าจะเรียกว่าเพื่อนร่วมอาชีพ หรือร่วมอุดมการณ์มากกว่า

เรื่องการศึกษาของสมเด็จเจ้าพระยา ในสมัยรัชกาลที่ ๓ คงหมายความว่าท่านไม่ได้เรียนอักขระจากวัด ขั้นแตกฉานบาลีจนเป็นเปรียญหรือมหาได้มั้งคะ


โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 18 เม.ย. 2549 - 13:11:20  


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:56
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 104

"ท่านไม่ได้เรียนอักขระจากวัด ขั้นแตกฉานบาลีจนเป็นเปรียญหรือมหา"

ถ้าแตกฉานได้อย่างนั้น(เป็นเปรียณ หรือมหา) ร 4 ท่านทรงโปรดให้รับราชการได้แค่ 2 กรมเท่านั้นนะครับ

ผมว่าผู้เขียนอาจจะเคยชินกับระบบการศึกษาปัจจุบันมากไปหน่อย
สมัยนั้น ท่านที่ใหญ่ๆโตๆ นี่ ท่าน "โฮมสกูล" กันทุกสกุลมิใช่หรือครับ

คำว่า การศึกษาแค่พอประมาณ จึงไม่สอดคล้องกับเหตุการณ์

ผมว่าผมนี่ชักเรื่องมากไปซะแล้ว ขออภัยด้วยนะครับ

โดย: pipat  [IP: 58.9.190.140,,]  
วันที่ 18 เม.ย. 2549 - 13:25:25


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:57
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 105

มาขอกราบอาจารย์เทาชมพูกับคุณ pipat อาจารย์เทาชมพูมาบอกเป็นเพื่อนร่วมอาชีพหรือร่วมอุดมการณ์เล่นเอาสะดุ้งโหยง ไม้กวาดหลุดหล่นหมดเลย จริงๆแล้วเป็นแค่เด็กเก็บกวาดใต้ถุนเรือนไทยค่ะ แอบมาตะคุ่มๆอยู่ใต้ถุนบ้างประตูเรือนไทยบ้าง ตามสภาพอากาศ ที่มาแกเปลี่ยนก็อาศัยว่าเก็บเบี้ยเก็บหอยตามทางมาพูดคุยทั้งนั้นค่ะไม่ได้คิดเอง....

กรณีที่คุณpipat ถามเรื่องสมเด็จเจ้าพระยาฯท่านปฏิเสธ เข้าร่วมสภาที่ปรึกษานั้น ต้องเกริ่นนิดหนึ่งว่า เท่าที่ตัวเองจำได้ สภาที่ปรึกษาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวท่านจะตั้งขึ้นในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๑๗ มีสองสภาด้วยกันคือ สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน หรือที่เรียกกันว่า ที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน ฤๅ เคาน์ซิล ออฟสเตด (ลูกขุน ณ ศาลา) อีกสภาหนึ่งคือสภาที่ปรึกษาส่วนพระองค์ ฤๅ ปรีวีเคาน์ซิล (ลูกขุน ณ ศาลหลวง)

ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งจากบรรดาสนาบดีและเชื้อพระวงศ์ที่ทรงวางพระทัยในขณะนั้นแต่งตั้งไว้รวม สิบสอง(พระองค์) ท่าน ด้วยกัน ที่ทำหน้าที่เรื่องประกาศหอรัษฎากรพิพัฒน์และคดีต่างๆ ที่คุณ pipat ถามและตอบไปบ้างแล้วตอนต้น

แต่ที่ปรึกษาราชการส่วนพระองค์ นั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งในภายหลัง ที่ปรึกษาราชการส่วนพระองค์นี้เอ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทาบทามสมเด็จเจ้าพระยาฯ มาเป็นคณะที่ปรึกษา แต่ สมเด็จเจ้าพระยาฯได้ตอบปฏิเสธโดยกราบบังคมทูลมีใจความว่า
“....ตนเองนั้นได้รับราชการรับใช้บ้านเมืองและพระราชวงศ์มาตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้รับราชการสำคัญใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทมาโดยตลอดครั้นมาถึงรัชสมัย
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยฝากฝังบ้านเมืองให้ทำนุบำรุงต่อมา จนกระทั่งได้ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน มาถึงในรัชกาลปัจจุบันนี้(รัชกาลที่ ๕) ก็ได้เป็นถึงสมเด็จเจ้าพระยาฯมีอำนาจสิทธิขาดถึงตัดหัวคนได้ เมื่อได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณมาจนแก่เฒ่าถึงเพียงนี้ แล้วยังจะให้ไปถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาซ้ำสองเพื่อเป็นปรีวี่ เคาน์ซิลอีก ขุนนางผู้ใหญ่ขนาดตนนั้นไม่อาจรับได้...”

เพราะเหตุนี้ สมเด็จเจ้าพระยาฯ จึงไม่ได้เข้าไปอยู่ในที่ปรึกษาราชการส่วนพระองค์ ปรีวี่ เคาน์ซิล”

ดูจากคุณวิมลพรรณ ปีตธวัช ในสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ค่ะ

ว่าแล้วก็ขอไปแอบตะคุ่มๆตามต้นไม้ริมๆ เรือนไทยต่อตามเดิมดีกว่าค่ะ......

โดย: วรรณวรรธน์  [IP: 202.57.168.76,,]


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:58
ความเห็นเพิ่มเติมที่ 106


 
คนกวาดใต้ถุนเรือนยังแค่นี้ ผมเป็นคนผ่านทาง ไม่กล้าอยู่นาน

แวะเอารูปพระที่นั่งจักรี แบบดั้งเดิมมาฝากครับ


โดย: pipat  [IP: 58.9.185.55,,]  
วันที่ 19 เม.ย. 2549 - 00:14:53


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 16:59
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 107

สวัสดีครับทุกท่าน
ขอบคุณที่มาเล่าได้อย่างจุใจเลยครับ
ตอนนี้อยู่ ต่างประเทศครับ เลยไม่ค่อยมีโอกาสมาโพสต์เท่าไหร่
แต่ยังไงก็ต้องขอชื่นชมคุณ พิพาท ไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับว่ามีภูมิความรู้ล้ำลึกในหลายด้าน นับถือๆ

อาจารย์เทาชมพูคงสบายใจล่ะครับที่มีคนช่วยทำให้เรือนไทยครึกครื้นยิ่งขึ้น

โดย: paganini  [IP: 209.87.242.5,,]  
วันที่ 19 เม.ย. 2549 - 09:44:20


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:00
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 108

สวัสดีค่ะคุณ paganiniว่างเมื่อไรก็แวะเข้ามาอ่านนะคะ

มีเกร็ดเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับสมเด็จเจ้าพระยาอีกเรื่องหนึ่ง ที่ขอเอามารวมไว้ในกระทู้นี้

ในต้นรัชกาลที่ ๕ มีชายหนุ่มชาวอังกฤษชื่อเฮนรี อาลาบาสเตอร์มีชาติตระกูลดี เดินทางมาประจำในสถานกงสุลไทยในฐานะนักเรียนล่าม
ในช่วงที่กงสุลน็อกซ์เป็นกงสุลอยู่ ต่อมาน็อกซ์เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านเกิด มอบให้นายอาลาบาสเตอร์รักษาการแทน
ช่วงนั้นอั้งยี่ในกรุงเทพก่อเรื่องวุ่นวายขึ้นที่วัดสัมพันธวงศ์ สมเด็จเจ้าพระยาสั่งปราบปราม เกิดการต่อสู้กันใหญ่ จนเกิดเพลิงไหม้
ลามไปไหม้บ้านพวกแขกซึ่งเป็น"สัปเยก" หรือคนในบังคับของอังกฤษ
เมื่อนายอาลาบาสเตอร์เห็นคนในบังคับบ้านถูกไฟไหม้เสียหาย เพราะเหตุนี้ก็มาเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลไทย
สมเด็จเจ้าพระยาท่านก็แน่เหมือนกัน ท่านบอกว่าให้ไปเรียกค่าเสียหายจากอั้งยี่เอาเอง เพราะเป็นต้นเหตุ
นายอาลาบาสเตอร์ก็เถียงว่ารัฐบาลไทยจับไม่ดีจึงเกิดความเสียหาย
เถียงกันไปมา นายอาลาบาสเตอร์เกิดโทสะก็เอาธงอังกฤษลงจากเสา ผู้คนก็ตื่นตระหนกลือกันไปทั่วเมืองว่าอังกฤษจะรบกับไทย

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 24 เม.ย. 2549 - 09:23:19


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:01
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 109

เรื่องยังไม่ทันลุกลามมากกว่านั้น กงสุลน็อกซ์กลับจากอังกฤษมาถึงสยามเสียก่อนก็เข้าไกล่เกลี่ยให้นายอาลาบาสเตอร์แพ้ความ รัฐบาลไทยไม่ต้องจ่ายเงินค่าเสียหายให้แขกสัปเยก นายอาลาบาสเตอร์ก็เลยขุ่นใจ ลากลับไปอังกฤษ ไปเรียนกฎหมายเพื่อจะกลับมาเมืองไทยแล้วจัดการกับกงสุลน็อกซ์ให้ได้

สมเด็จเจ้าพระยาเห็นเรื่องจะไปกันใหญ่ ก็เลยตัดไฟแต่ต้นลมด้วยการกราบบังคมทูลให้จ้างนายอาลาบาสเตอร์มารับราชการเสียให้หมดเรื่อง
นายอาลาบาสเตอร์ก็เลยได้เข้ามาสอนทหารไทย ทั้งด้านทำแผนที่และด้านวิศวกรรมฯ ตั้งโรงเรียนสอนอยู่ในหอสมุทัย

สมเด็จกรมพระยาเทวะวงษ์ฯทรงนับถือว่าเป็นผู้มีความรู้เรื่องกฎหมาย เมื่อมีพระประสงค์จะทราบเรื่อง International Law ก็ทรงปรึกษาราชการกับนายอาลาบาสเตอร์ด้วย

นายอาลาบาสเตอร์ได้ภรรยาคนไทยชื่อเพิ่ม มีบุตรชาย ๒ คน คือ
๑ พระยาวันพฤกษ์วิจารย์(ทองคำ) รับราชการกรมป่าไม้
๒ พระยาอินทราบดีสีหราชรองเมือง(ทองย้อย)
บุตรของนายอาลาบาสเตอร์ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า เศวตศิลา แปลว่าหินขาว (alabaster) ซึ่งสะกดคล้ายนามสกุลของนายอาลาบาสเตอร์ (Albaster) หลานปู่ของนายอาลาบาสเตอร์ ที่พวกเราคงเคยได้ยินชื่อกันคือพลอ.อ. สิทธิ์ เศวตศิลา

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 24 เม.ย. 2549 - 09:34:05


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:01
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 110

นึกว่าอาจารย์จะไม่มาต่อเสียแล้ว
เดชะบุญคุณปะการัง เอ้ย..ปะกานินี มาเยี่ยม เลยได้ยืดอายุไปอีกหลายๆเฮือก(กระมัง)

ผมจำได้ว่าอาลาบาสเตอร์เป็นวิศวกร เพิ่งทราบว่าแกเป็นเนติด้วย
จะแวะเข้าประวัติท่านผู้นี้ เห็นจะต้องเปิดเรื่องใหม่มังครับ
เป็นคนดูแลผลประโยชน์ประเทศไทยยุคต้นรัชกาลที่ 5
นำเข้าความเจริญหลายอย่าง ทั้งพฤกษ์ศาสตร์ โลหะวิทยา พิพิธภัณฑ์ การสำรวจ ฯลฯ แม้กระทั่งเป็นนักวิชาการด้านพุทธศาสนารุ่นบุกเบิก

ใครจะรับข้อนี้ไปคันต่อครับ ผมอยากรู้แต่ไม่มีปัญญาแล่ว

โดย: pipat  [IP: 58.9.187.241,,]  
วันที่ 24 เม.ย. 2549 - 16:52:17


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:02
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 111

ไม่มีหนังสือประวัตินายอาลาบาสเตอร์ค่ะ
คุณพิพัฒน์น่าจะเล่าเองได้น่า มาใช้คนอื่นทำไม

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 25 เม.ย. 2549 - 09:15:55


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:02
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 112

ผมไม่กล้าเล่าครับ ท่านเป็นวิศวกร่ใหญ่ ทายาทก็มีตัวตนอยู่มากมาย เล่าไปก็เป็นแต่ผิวเผิน อย่างเรื่องตัดถนนเจริญกรุง ทำสวนสราญรมย์และทำมิวเซียม แค่นี้ผู้น้อยก็ขอลาละครับ ยังมีเรื่องแปลหนังสือแสดงกิจจานุกิจอีก

ถ้าทำได้รับประกันไม่ถอยขอรับ ส.พลายน้อยยังเล่าไว้นิดเดียวเอง คุณเอนก นาวิกมูลก็เติมไว้อีกหน่อย
ไม่สมใจอยากครับ

โดย: pipat  [IP: 58.9.185.221,,]  
วันที่ 25 เม.ย. 2549 - 11:28:55


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:02
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 113

มายั่วให้อยาก...
เรื่องผิวเผินนั่นแหละค่ะ อยากให้เล่า
คุณส.พลายน้อยและคุณเอนกเล่าว่าไงล่ะคะ

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 25 เม.ย. 2549 - 11:37:30


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:03
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 114

ขอ ๒ หนแล้วนะคะ เล่นตัวจัง ไม่ให้ก็ไม่ขออีกแล้วนะ
ทีขอเจ้าสาว เขายังขอหนเดียวเลย จริงไหมคุณจ้อ

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 25 เม.ย. 2549 - 11:38:49


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:03
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 115

อาจารย์เล่นไม้นี้ ถ้าผมยังเฉยอยู่ จะถูกไล่ออกจากชายคาใหมครับ
ผมขอเปิดเป็นกระทู้ใหม่นะครับ แต่จะเล่าสั้นๆเท่าที่นึกได้ตอนนี้ ผิดถูกอย่าว่ากันนะครับ

ชัย เรืองศิลป์เป็นคนแรก อ้อ ไม่ใช่สิ อาจารย์ชิน อยู่ดีมากกว่า ที่เปิดสมองผมให้รู้จักท่านผู้นี้ ในบทความเรื่องกุเรเตอร์เมื่อร้อยปีก่อน (หนังสือหนึ่งร้อยปีพิพิธภัณฑ์ไทยกระมังครับ) จากนั้นเมื่อมาอ่านประวัติศาสตร์ไทยของคุณชัย เรืองศิลป์ แกอ้างสยามรีโปสิตอรีของหมอสมิท ที่เขียนชมต้นตระกูลเศวตศิลา (แปลว่าหินสีขาว) ว่าเหนื่อยากแสนเข็ญเพียงไร ต้องบุกสวนลุยโคลน กระโจนข้ามท้องร่อง เพื่อรับใช้รัชกาลที่ 4 ตัดถนนเจริญกรุงนอกจนสำเร็จถึงถนนตก
(ถนนเส้นนี้ คือเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ยุคเบาว์ริงก์มาจนถึงยุคจีไอ แต่ทำไมไม่มีใครทำวิจัยก็ไม่รู้)

ขอตัวไปอ่าน The Wheel of the Law กับ โกศลกิตยานุกิตย์(บางทีเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ท่านก็ใช้คำนี้ครับ)
อีกนานละครับ กว่าจะเอาการบ้านมาส่ง

โดย: pipat  [IP: 58.9.185.221,,]  
วันที่ 25 เม.ย. 2549 - 12:10:19


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:04
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 116

จะรอการบ้านค่ะ นานก็ไม่ว่ากัน
ระหว่างนี้ขอเชิญคุณพิพัฒน์แวะเข้ากระทู้นี้
 http://www.vcharkarn.com/include/vcafe/showkratoo.php?Cid=18&Pid=4683
ไปเฉลยข้อสงสัยเรื่องงาพระคเณศหน่อยได้ไหมคะ

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 25 เม.ย. 2549 - 13:15:19


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:05
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 117

จาก ค.ห. 29 ฝากวินิจฉัยด้วยครับ ว่าท่านใช้ภาษาอังกฤษได้ดีขนาดใหน
(คุณ pipat ใหน ใหม ใช้ไม้ “ไ” สะกดค่ะ)

กรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าว่า...จะรู้ภาษาอังกฤษเพียงใดทราบไม่ได้ ข้าพเจ้าเคยได้ยินท่านพูดภาษาอังกฤษ
กับฝรั่งครั้งหนึ่ง ดูเหมือนจะพอสนทนา ปราศรัยได้ แต่การต่อเรือกำปั่นท่านศึกษาจนชำนิชำนาญไม่มีตัวสู้
ในสมัยของท่าน ได้เป็นผู้ต่อตลอดจนเรือกำปั่นไฟในรัชการที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕

โดย: Rinda  [IP: 124.121.186.237,,]  
วันที่ 28 เม.ย. 2549 - 17:33:28


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:06
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 118

ค.ห. 24 หลังคาโบสถ์พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ด้วยพระที่นั่งเดิมที่มีอยู่ล้วนมีขนาดเล็กและชำรุด ไม่เหมาะแก่การรับแขกบ้านแขกเมืองให้สม
พระเกียรติยศ จึงมีการสร้างพระที่นั่งใหม่ โดยวางศิลาฤกษ์วันที่ 17 พ.ค. 2419

ในการสร้างพระที่นั่งจักรีมหาประสาท พระราชดำริเดิม เป็นที่เข้าใจว่าจะทรงให้สร้างตามสถาปัตยกรรมยุโรป
จึงได้จ้างช่างฝรั่งที่เคยสร้างที่ทำการรัฐบาลที่สิงคโปร์มากระทำ มีสเตอร์ยอนคลูนิช สถาปนิกชาวอังกฤษ
เป็นนายช่าง ตามแบบแปลนเดิมหลังคาพระที่นั่งทั้งสามองค์เป็นทรงกลม

มีผู้เข้าใจว่าสมเด็จเจ้าพระยาเป็นผู้กราบบังคมทูลถวายความคิดเห็นด้วยตัวเอง เพื่อขอให้เปลี่ยนทรง
หลังคาเป็นยอดปราสาท แต่จากจดหมายเหตุที่คัดมา น่าจะเป็นว่าท่านมิได้กราบบังคมทูลเองโดยตรง

“ท้าวราชกิจ (แพ บุนนาค) ได้มาทูล ด้วยสมเด็จเจ้าพระยาสั่งมาให้กราบทูลขอแก้หลังคาพระที่นั่งใหม่
ให้เป็นยอดประสาท 3 ยอด ทรงตอบไปว่าชอบแล้ว การเรื่องนี้ได้ทรงพระราชดำริไว้ในพระทัยว่า
หากจะทำด้วยในพระองค์ก็ยังไม่ได้ทรงสร้างปราสาทไว้ในกรุงเทพฯ เลยประการหนึ่ง ชื่อเสียง
สมเด็จเจ้าพระยาที่เป็นผู้ขอก็จะได้ปรากฏในแผ่นดินเป็นชื่อเสียงมาก ขอให้ท่านเรียกพระยาสงคราม
ไปคิดเถิด”

ด้วยเหตุฉะนี้แลจึงปรากฏเป็นปราสาทยอดแหลม “ฝรั่งใส่ชฎา” นั่นเอง

โดย: Rinda  [IP: 124.121.186.237,,]  
วันที่ 28 เม.ย. 2549 - 17:36:50


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:06
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 119

ไปสิงคโปร์ ดูการทำนุบำรุงเมืองตามแบบอารยประเทศ
(จาก "ยอดคน" ของ ชัย เรืองศิลป์)

การที่ไทยทำหนังสือสัญญากับฝรั่งต่างชาติเรื่องการเก็บภาษีนั้น เป็นเหตุให้
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ต้องทรงเปลี่ยนการทำนุบำรุงบ้านเมืองใหม่ให้
ทันสมัย พระองค์ทรงหวั่นพระทัยว่าฝรั่งจะแย่งซื้อข้าวไปหมด จึงทรงมีพระราช
ดำริให้ขุดคลองมหาสวัสดิ์ คลองภาษีเจริญ เพิ่มถนนหนทางให้มากขึ้น และเป็น
การเปิดทางเพื่อให้มีที่ทำนาไร่มากขึ้น

ครั้นปีระกา พ.ศ. 2404 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดฯให้เจ้าพระยา
บรมมหาศรีสุริยวงศ์ออกไปเมืองสิงคโปร์ด้วยกันกับพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่น
วิษณุนารถนิภาธร ซึ่งได้ทรงบัญชาการกรมพระคลังมหาสมบัติ ให้ตรวจตรา
พิจารณาวิธีที่อังกฤษทำนุบำรุงบ้านเมือง แต่จะกลับมากราบบังคมทูลถวาย
รายงานอย่างไรบ้างหาปรากฏไม่ การทำนุบำรุงกรุงเทพฯตามคติฝรั่ง เช่น
ทำถนนและสะพานสำหรับใช้รถ จัดโปลิศ เป็นต้น เนื่องมาตั้งแต่ทำหนังสือ
สัญญาเปิดการค้ากับต่างประเทศ และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
เป็นผู้รับสั่งให้ดูแลการเหล่านั้นแทบทุกอย่าง


...เมื่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์สร้างถนนทั้งสามสายเสร็จแล้วรัฐบาลขอร้องเจ้านาย
ขุนนาง และพวกเศรษฐี ให้ช่วยออกเงินสร้างสะพานข้ามคลองที่ถนนผ่าน
มีผู้สร้างสะพานรวมทั้งสิ้น 17 สะพาน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ก็ได้ร่วมสร้างสะพานด้วย
โดยบริจาคเงิน160 ชั่ง สร้างสะพานเหล็กข้ามคลองรอบกรุงริมวังเจ้าเขมรสะพาน 1
และจ่ายเงิน 13 ชั่ง สร้างสะพานไม้ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมที่ริมป้อมปิดปัจจานึก
1 สะพาน...

ในพ.ศ. 2405 รัฐบาลได้ตั้งเจ้าพระยายมราช เสนาบดีกรมพระนครบาล
เป็นแม่กองสร้างถนนเจริญกรุงตอนภายในกำแพงเมือง ต่อจากถนนเจิญกรุง
ที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์อำนวยการสร้าง ที่ริมคลองรอบเมืองตรงมาบรรจบ
ถนนสนามชัย ที่มุมวัดพระเชตุพนเมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ให้สร้างตึกแถวชั้นเดียวขึ้น
ริมถนนทั้งสองฟาก สำหรับให้คนเช่าทำการค้าขาย...

โดย: Rinda  [IP: 124.121.186.237,,]  
วันที่ 28 เม.ย. 2549 - 17:38:44


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:07
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 120

"ถ้าเช่นนั้นกั้นกำแพงแบ่งกันเสียที่ท้องสนามหลวงก็แล้วกัน"
จดหมายเหตุเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต

ข้อสำคัญอันหนึ่งในเรื่องประวัติสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
เมื่อตอนก่อนเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน คือที่ท่านคิดอ่านยกกรม
พระราชวังบวรวิชัยชาญขึ้นเป็นพระมหาอุปราช ดังปรากฏอยู่ในเรื่อง
จดหมายเหตุเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต
(ซึ่งพิมพ์ในงานสตมวารของสมเด็จกรมหลวงสงขลาฯ) นั้น มีหลักฐาน
ปรากฏว่าท่านได้ตกลงใจมาแล้วหลายปี เห็นจะเป็นตั้งแต่พระบาทสมเด็จ
พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตเมื่อปีฉลู พ.ศ. 2408 และได้กราบบังคมทูล
ความคิดนั้นแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบด้วย

เรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้ามีพระราชดำรัสเล่า ว่าวันหนึ่งพระบาท
สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกประทับ ณ พระทวารหน้ามุข
พระที่นั่งอนันตสมาคมอันเป็นที่รโหฐาน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
เข้าเฝ้าฯ ส่วนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับคอยรับใช้
อยู่เบื้องพระขนองของสมเด็จพระบรมชนกนาถ ได้ทรงสดับตรัสประภาษกับสมเด็จ
เจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ด้วยเรื่องต่างๆมาจนถึงเรื่องวังหน้า สมเด็จเจ้าพระยาบรม
มหาศรีสุริยวงศ์จะได้กราบทูลอธิบายว่ากระไรหาทรงได้ยินถนัดไม่ ได้ยินแต่
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสตอบว่า

"ถ้าเช่นนั้นกั้นกำแพงแบ่งกันเสียที่ท้องสนามหลวงก็แล้วกัน"


เข้าพระทัยว่าเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์คงกราบทูลอธิบายว่าเห็นจำเป็นจะต้องให้กรม
พระราชวังบวรวิชัยชาญเป็นพระมหาอุปราช พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ไม่ทรงเห็นชอบด้วย แต่จะทรงโต้แย้งขัดขวางก็เห็นไม่เป็นประโยชน์ จึงมีพระราช
ดำรัสอย่างนั้น

เรื่องที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสเล่านี้ ก็สมกับการที่พระบาท
สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องกรมหมื่นบวรวิชัยชาญในเวลาต่อมา
เช่นโปรดฯให้ไปเยี่ยมตอบราชทูตฝรั่งเศส (ที่ปรากฏในหนังสือเรื่องพระราชประวัติ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อก่อนเสวยราชย์) และเล่ากันว่าเมื่อ
เสด็จออกรับเจ้าเมืองสิงคโปร์ที่พลับพลาหว้ากอ โปรดฯให้กรมหมื่นบวรวิชัยชาญ
หมอบเฝ้าฯ ข้างที่ประทับฝ่ายหนึ่ง คู่กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

โดย: Rinda  [IP: 124.121.186.237,,]  
วันที่ 28 เม.ย. 2549 - 17:43:57


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:07
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 121

ค.ห.70 เรื่องการตั้งวังหน้า ขออนุญาตมองคนละมุมกับคุณ pipat

“เมื่อพ่อได้รับราชสมบัติในเวลาอายุ 15 ปี เท่านั้น เหมือนตะเกียงริบหรี่จวนจะดับ”

พระราชอำนาจของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เมื่อยังทรงพระเยาว์มีจำกัด
เนื่องจากมีผู้สำเร็จราชการ ว่าการแทน ดังที่พระองค์ทรงรำพึงในพระราชหัตถเลขา
พระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ในโอกาสที่ทรงเจริญ
พระชนมายุ 15 พรรษาว่า “เมื่อพ่อได้รับราชสมบัติในเวลาอายุ 15 ปี เท่านั้น
เหมือนตะเกียงริบหรี่จวนจะดับ”

สันนิษฐานว่าเจ้าพระยาฯ ประสงค์ที่จะตั้งวังหน้าเป็นเพราะ

1) กรมพระราชวังบวรฯ มีพระชนมายุมากกว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 16 พรรษา
โอกาสล่วงลับก่อนพระมหากษัตริย์มีสูง และไร้ช่องทางรับรัชทายาท

2) ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ ว่าราชการแทนองค์พระมหากษัตริย์ เป็นตำแหน่งที่มี
ผู้ระแวงสงสัย ทำให้ท่านวางตัวลำบาก จึงต้องตัดระแวงโดยการตั้งพระมหาอุปราช

3) ในภายหน้า หากเมื่อวังหลวงทรงว่าราชการเต็มพระองค์ ท่านจะเป็นตัวกลางสำหรับ
วังหลวงและวังหน้า จึงต้องตั้งวังหน้าเองกับมือเพื่อความอุ่นใจ

โดย: Rinda  [IP: 124.121.186.237,,]  
วันที่ 28 เม.ย. 2549 - 17:48:56


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:08
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 122

ท่านใดเคยได้ยินเรื่องนี้บ้างไหมคะ

ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าจะสวรรคต ได้พระราชทานพระหีบซึ่งทำด้วยทองคำฝังเพชร
พร้อมเงินอีก 1,000 ชั่ง ให้แก่เจ้าพระยาฯ ทั้งหมดคิดเป็นเงิน 96,000 บาท ในสมัยนั้น
คงมีมูลค่าหลายล้านบาทในสมัยนี้

เคยอ่านวีรกรรมของเซอร์ ทอมัส นอกซ์ หลังจากเป็นที่ปรึกษาฝ่ายไทย ก็ได้ไปเป็นกงศุลอังกฤษ
เห็นว่าประวัติแกแสบสุดๆ จนเจ้าพระยาฯบันทึกว่า

"การสนทนาเจรจากับท่านกงศุลใหญ่อังกฤษนั้น ก่อให้เกิดความรู้สึกสะอิดสะเอียนขยะแขยง เพราะกิริยามารยาทแปลกปลาดของบุรุษผู้นี้ ถ้าเขาไม่มีความเคารพต่อคำพูดของเรา เราก็ไม่มีทางที่เจรจากับเขาได้ ความโอหังของเขานั้น เกินกว่าที่รัฐบาลไทยจะทนได้"

โดย: Rinda  [IP: 125.24.90.212,,]  
วันที่ 29 เม.ย. 2549 - 15:37:19


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:08
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 123

คุณรินดาช่วยเติมเนื้อหาได้ถึงใจจัง กรุณาบอกแหล่งข้อมูลด้วยได้ใหมครับ

ปัญหาวังหน้านี่ ผมว่าต้นสายปลายเหตุมันมากกว่ากรณีของพระองค์เจ้าจอร์จ วอชิงตัน
แต่ใหนแต่ไรมา อำนาจวังหน้า(ตามระบบ) มีไม่มาก ระบบไม่ยอมให้มีเจ้าสองรองจากเจ้าชีวิตอยู่แล้ว
ปัญหาที่ปรากฏมาจากคนทั้งนั้น คือความมักใหญ่ไฝ่สูง หมายความว่าคนๆ นั้น ไปกินตำแหน่งใด คงอดสร้างปัญหามิได้
อย่างวังหน้าร. 1 เริ่มต้นขัดแย้งกัน มิใช่ด้วยเรื่องผลประโยชน์ แต่ด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง
หลังจากนั้นก็ไม่มีปัญหาวังหน้าอีกเลย จนสิ้นแผ่นดินพระนั่งเกล้าฯ

ขอนั่งเทียนเขียนเรื่องก่อนเกิดอย่างนี้นะครับ
สมเด็จเจ้าพระยาท่านเป็นนักปกครองชั้นยอด ที่ท่านทำไป หาใช่ไม่รู้การควรมิควร แต่ท่านเทียบแบบอย่างพระจอมเกล้าครับ

เมื่อรับเชิญเป็นกษัตริย์ รัชกาลที่ 4 เหตุใดทรงยกน้องชายเป็น วังหน้า และยกขึ้นถึงเป็นกษัตริย์พระองค์ที่สอง
ตอบว่า เพราะจะได้ซ่องสุมอาวุธผู้คนได้อย่างเปิดเผย เพื่อคานอำนาจบุนนาค ถ้าไม่ตั้งให้สูง สรรพกำลังที่เจ้าฟ้าจุฑามณีทรงสะสมไว้ จะให้สลายทิ้งกระนั้นหรือ นองเลือดแน่นอน และกำลังเหล่านั้น ยังคงเพิ่มพูนขึ้น แม้สิ้นพระปิ่นเกล้าแล้วก็ตามที

เมื่อร. 5 เสด็จครองราชย์ ถามว่ากำลังของกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ มีมากเพียงใด เราปัจจุบันไม่รู้(เปิดทำเนียบข้าราชการวังหน้า จะพอเห็นเค้า) แต่สมเด็จเจ้าพระยารู้

ถามว่า ไม่ยกท่านขึ้น แล้วจะทำกับท่านอย่างไร ในเมื่อ ร. 4 เองก็ไม่ได้กดพระเจ้าหลานเธอพระองค์นี้ลง หากยกสูงขึ้นอีก โปรดให้เสด็จคู้เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เยี่ยมเรือรบฝรั่งเศส ให้นานาประเทศรับรู้

การสถาปนาวังหน้าของสมเด็จเจ้าพระยา จึงเป็นกุศโลบายอันแยบยลแต่ไม่ต้องพระราชประสงค์ของพระเจ้าแผ่นดินน้อย

คงจำได้ว่าครั้งสำเร็จโทษหม่อมไกรสรในรัชกาลที่ 3 ทำให้เกิดช่องว่างแห่งอำนาจ เจ้านายพากันฝันไฝ่ว่าจะถูกยก ตระกูลบุนนาคออกกุศโลบายแบบนี้เป็นครั้งแรก คือเลื่อนตำแหน่งยกกระบิ ให้รู้กันว่า ตัวเองจะได้เพียงเท่าไร
ท่านก็บอกกรมหมื่นบวรวิไชยชาญแบบเดียวกันแหละครับ ว่าเป็นได้สูงสุดเพียงวังหน้า อย่าฝันเลยเถิด

นี่ผมเป็นทนายของบุนนาคไปแต่เมื่อไรกันครับ

เห็นกระทู้นี้นิ่งมานาน แวะมาพรมน้ำพรวนดินนิดหน่อย

โดย: pipat  [IP: 58.9.183.177,,]  
วันที่ 3 พ.ค. 2549 - 10:03:14


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:09
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 124

ขออนุญาตมาแจมาในกระทู้นี้ด้วยคนนะครับ พอดีเห็นคุณ pipat เป็นทนายแก้ต่างให้ท่านสมเด็จฯ ก็เลยอยากจะมาแสดงความเห็นที่ต่างออกไปครับ


ผมว่าการตั้งกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ น่าจะเป็นการรักษาผลประโยชน์ และอำนาจของตระกูลบุนนาคไว้มากกว่า ดังที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านได้เขียนไว้ว่าหากท่านสมเด็จฯ ไม่ตั้งเป็นตัวตั้งตัวตีในการสถาปนากรมพระราชวังบวรฯ และปล่อยให้เป็นพระราชอำนาจของยุวกษัตริย์แล้ว เจ้านาย 1 ใน 3 พระองค์ซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงเคยมีพระราชปรารภว่าจะไม่ทรงรังเกียจเลยหากได้ขึ้นครองราชย์สมบัติ ก็อาจได้เป็นวังหน้า และอาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ และการเมืองของตระกูล โดยเฉพาะหากเป็นกรมขุนวรจักรฯ ที่เคยรับราชการทั้งในกรมท่า และกรมพระนครบาล ด้วยแล้ว ก็ไม่น่าไว้วางใจ เพราะอาจจะควบคุมไม่ได้ ก็เหมือนกับปลายสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ได้เลือกพระภิกษุ เจ้าฟ้ามงกุฎเป็นรัชทายาท เพราะพระองค์สามารถควบคุมดูแลได้ง่ายน่ะครับ


อีกประการหนึ่งความน่าจะเป็นไปได้ที่กรมขุนวรจักรฯ อาจจะได้เป็นวังหน้านั้น ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะพระองค์ก็ทรงพระปรีชาสามารถในหลายๆ ด้าน และตามที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าเมื่อสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเสร็จแล้ว รัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้วาดพระรูปกรมขุนวรจักรฯ ติดไว้ในห้องน้ำเงิน ทั้งๆ ที่ทรงเป็นเพียงเจ้านายชั้นพระองค์เจ้าเท่านั้นครับ

โดย: หยดน้ำ  [IP: 202.28.62.245,unknown,]  
วันที่ 3 พ.ค. 2549 - 14:48:02


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:09
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 125

ขอแสดงความคิดเห็นบ้างค่ะ แต่ดิฉันยืนอยู่มุมไหนยังดูตัวเองไม่ออกเหมือนกัน

รอยร้าวระหว่างสกุลบุนนาคกับพระเจ้าแผ่นดินเริ่มมีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 3 แล้ว ตั้งแต่ยุคสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่(สมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์)และสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย(สมเด็จเจ้าพระยามหาพิชัยญาติ) พ่อและอาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

ขอลอกบันทึกในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ มาให้อ่านดีกว่า จะแจ่มแจ้งกว่าย่อมาให้อ่าน

" เมื่อทราบกันว่าสมเด็จพระนั่งเกล้าทรงพระประชวรหนักนั้น ก็ได้มีผู้ตระเตรียมการกันไว้พร้อม
แต่ไม่มีฝ่ายใดพร้อมเพรียงหรือมีกำลังมากเท่าสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ กับสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย
และท่านทั้งสองนี้ตั้งใจไว้มั่นคงว่าต้องให้ทูลกระหม่อมปู่ได้ราชสมบัติ
และไม่ยอมเปนอันขาดที่จะให้ลูกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าได้
ท่านทั้งสองนี้มีความแค้นเคืองสมเด็จพระนั่งเกล้าอยู่ เพราะสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ได้เปนผู้ ๑ ในพวกที่สนับสนุนให้พระนั่งเกล้าขึ้นทรงราชย์
แต่มาครั้งเมื่อพระนั่งเกล้ากริ้วหม่อมไกรสร ได้พลอยกริ้วสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ด้วย จนต้องหนีออกไปตั้งกองสักเลขอยู่ที่เมืองชุมพร จึ่งได้รอดภัย

เมื่อครั้งหม่อมไกรสรรับพระราชอาญา สมเด็จองค์ใหญ่ร้องว่าพระนั่งเกล้าไม่ทรงซื่อตรงต่อผู้ที่ภักดี
ใช้คำว่า " ท่านใช้เราเป็นบรรไดขึ้นถึงที่สูงได้แล้ว ท่านจะเตะบรรไดเสีย"

ยังมีต่อ ค่ะ

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 3 พ.ค. 2549 - 16:48:13


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:10
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 126

ฉนั้นพอพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเสด็จสวรรคตลง สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่กับสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยก็รีบไปจัดการล้อมวงที่วัดบวรนิเวศ
และอัญเชิญเสด็จทูลกระหม่อมปู่เข้าไปในพระบรมมหาราชวังทั้งๆยังทรงพระผนวชอยู่
และทูลอัญเชิญให้เสด็จลาผนวชในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วและจัดการให้มีการถือน้ำโดยเร็วด้วย

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 3 พ.ค. 2549 - 16:53:59


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:10
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 127

ผมไม่คิดว่าคนรุ่นนั้นจะเล่นการเมืองโดยมีบ้านเมืองเป็นเดิมพันขนาดนั้นมังครับ นั่นมันพวกฝรั่งเศส ตั้งสีหนุเพราะคิดว่าเป็นเจ้าเสเพล ฝรั่งเศสก็คิดได้สิครับ พวกนั้นไม่รักประเทศเขมรนี่
ส่วนที่สำนักศิลปวัฒนธรรมปล่อยหนังสือการเมืองเรื่องตั้งพระจอมเกล้าฯ โดยยกเหตุผลแบบที่คุณอ้าง"ได้เป็นกษัตริย์เพราะอ่อนแอ" หมายความว่าพระบรมราชโองการนัดสุดท้ายของ ร. 3 เป็นแค่ลมพัดผ่านหูกระนั้นหรือ

ผมคิดเอาว่าคนรุ่นที่ถือน้ำพระพิพัทฯ ต้องมีหลักยึดเหนี่ยวทางใจอะไรอยู่บ้าง ที่บางทีเราอาจมองข้ามไป
ในยุคนั้น ถ้าจะคิดเอาบ้านเอาเมืองกันมันปิดไม่มิดครับ ฆ่าทิ้งมาทุกรัชกาลแล้ว แต่พอถึงรัชกาลที่ 4 ระบบนี้คงหมดสภาพไป เพราะสังคมเปลี่ยนมาก
ก่อน ร 3 ขึ้นไป ขุนนางไปมาหาสู่กันนี่ โทษถึงตาย แต่สมัย ร. 3 ไม่เข้มงวดขนาดนั้น ก็แปลว่า มีระบบสอดส่องที่มาชดเชยกัน

ก่อนสิ้นพระชนม์ พระปิ่นเกล้าท่านสะสมอาวุธไว้ มากกว่าวังหลวงอีก เป็นของทันสมัยทั้งนั้น แต่พระจอมเกล้า เสด็จไปกับพระโอรส เข้าไปถึงข้างเตียง บุกถ้ำเสือด้วยมือเปล่า แปลว่าท่านรู้กันครับ ไว้ใจกัน
แล้วอาวุธพวกนี้ไปใหนหมด ก้อยังอยู่กับลูกพระปิ่นเกล้าสิครับ
ร. 4 ท่านจึงยกย่องกรมหมื่นบวรวิไชยชาญยิ่งกว่าเดิม

ถ้าสมเด็จเจ้าพระยาอยากให้ท่านพระองค์นี้เป็นกษัตริย์ คงง่ายยิ่งกว่าปอกกล้วย ยิ่งถ้าเชื่อตามคุณชายคึกฤทธิ์ว่านะครับ แค่เถียงกันหนเดียว ไม่ออกจากวังตั้งห้า-หกปี ทั้งแผ่นดินจะมีใครทำอะไรบุนนาค+ยอดยิ่งยศได้

ทำไมเราชอบคิดกันจัง ว่าท่านช่วงไม่เห็นแก่บ้านเมือง
อีตาโปรเฟสเสอร์อะไรที่อิธากะเขียนเป็นตุเป็นตะเรื่องสยามเก่าสยามใหม่ นั่นมันการเมืองแบบฝรั่ง สันดานฝรั่ง

คิดดูเถิดครับ วันที่ท่านช่วงนั่งเรือจากราชบุรีเข้ามาถวายคำเตือนเรื่องพระที่นั่งจักรีน่ะ ท่านอายุเท่าไหร่แล้ว เหนื่อยยากลำบากล่องเรือมาเป็นวัน เพื่อจะบอกเด็กหนุ่มคนหนึ่งเรื่องหลังคาบ้าน
มันไม่เข้าแก๊ปเลยขอรับ

มันต้องมีสิครับ คนประเภทที่นั่งก้อคิด นอนก้อคิด ฝันยังคิดถึงเรื่องบ้านเมือง มีน้อง มีลูก มีหลาน ยกให้เป็นข้าแผ่นดินหมด
เราเรียกท่านเหล่านี้ว่ารัฐบุรุษครับ

แต่ไอ้เรื่องผิดเส้นกันมันต้องมีอยู่แล้ว ปุถุชนนี่ครับ

โดย: pipat  [IP: 58.9.183.177,,]  
วันที่ 3 พ.ค. 2549 - 17:20:29


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:10
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 128

ตลอดรัชกาลที่ ๔ อำนาจของพวกบุนนาคก็เติบโตอย่างมั่นคงมาตลอด แม้แต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯเองก็ทรงจับตามองด้วยความไม่ประมาท
จึงทรงฝึกทหารเอาไว้คานอำนาจพวกขุนนาง กำลังทหารของวังหน้ามากกว่าวังหลวงเสียอีก
ส่วนเจ้านายอื่นๆที่เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๒ แทบจะไม่มีบทบาทอะไรในการบริหารบ้านเมืองอยู่แล้ว และก็ไม่เห็นว่ามีพระองค์ไหนแสดงความทะเยอทะยาน

กำลังทางทหารตกทอดมาถึงกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญมากน้อยแค่ไหน ดิฉันไม่ทราบรายละเอียด
ทราบแต่ว่าตามธรรมเนียมของรัชกาลก่อนๆ เมื่อวังหน้าสิ้นพระชนม์ไป ขุนนางวังหน้าทั้งหมดก็จะต้องย้ายเข้ามาสังกัดวังหลวงโดยอัตโนมัติ

เคยอ่านพบที่ไหนสักแห่งว่า เมื่อสิ้นสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ แล้ว กองทหารที่ฝึกเอาไว้แบบฝรั่งก็ถูกลดทอนลง บางส่วนก็ไปขึ้นกับสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์

ส่วนกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญนั้น พระอัธยาศัยโปรดการทหารด้วยหรือไม่ ก็ไม่ทราบ รู้แต่ว่าโปรดวิชาช่างต่างๆ อย่างหุ่นวังหน้าที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน

แต่อย่างไรก็ตาม ดิฉันก็มองว่า อำนาจของวังหลวง (x)อำนาจของวังหน้า(y)และอำนาจของพวกบุนนาค(z) น่าจะเป็น ๓ กลุ่มที่สำคัญไล่เลี่ยกัน มากน้อยต่างกันไม่เท่าใดนัก
เทียบเป็น x=y=z

แต่ถ้า z จัดระเบียบเสียใหม่ เป็น z+y ส่วน x แยกออกไปเดี่ยวๆ
ก็จะออกมาในรูปนี้ z+y>x
หรือกลับกัน เป็น x< z+ y

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 3 พ.ค. 2549 - 17:26:05


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:11
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 129

เกือบชนกันกลางอากาศ เหลื่อมกันนิดเดียว คุณพิพัฒน์

ที่ยกมานั้นเป็นหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนเรื่องจะเชื่อหรือไม่เชื่อหลักฐานนั้นไม่เถียงละค่ะ ความเชื่อของแต่ละคนเถียงกันยาก มีแต่ว่าตรงกันหรือต่างกัน

ดิฉันเองก็มีความเชื่อเหมือนกัน
เชื่อว่าสมเด็จเจ้าพระยาฯท่านพอใจแต่มีอำนาจอยู่ในมือ เพื่อจะทำงานบริหาร เพื่อแผ่นดิน
แต่ไม่ได้คิดว่าจะใช้อำนาจนั้นเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและลูกหลาน

แต่คนอื่นๆนั้นเขาอาจจะเชื่ออย่างอื่น และเชื่อกันแพร่หลายด้วย
จนกระทั่งก่อความขมขื่นแก่ลูกหลานบางคน
คุณพิพัฒน์จำพระราชหัตถเลขาที่สมเด็จพระนางสุขุมาลมารศรีทรงมีถึงพระราชโอรสได้ไหม ว่าทรงเอ่ยถึงตระกูลบุนนาคอันเป็นตระกูลฝ่ายเจ้าจอมมารดาของท่านไว้อย่างไร ดิฉันว่าคุณพิพัฒน์จำได้น่า

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 3 พ.ค. 2549 - 17:34:46


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:11
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 130

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเหยื่ออีกรายของการสร้างวรรณกรรมประวัติศาสตร์
ถามว่าทำไมท่านไม่ยกเมียสักคนขึ้นเพื่อให้มีเจ้าฟ้า
ถามว่าทำไมท่านไม่ตั้งวังหน้า แทนพระองค์ที่สิ้นไป
ถามว่าทำไมยกมงกุฏไว้เหนือพระปรางค์วัดอรุณ(วัดนี้สร้างถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า เป็นศรีแห่งพระนครนะครับ)
ถามว่าเลื่อนพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏ และให้ครองวัดบวรฯ(วัดของวังหน้านะครับ วัดในกรุงมีออกถม)
ถามว่าทำไมมีพระไพรีพินาศ
ถามว่ายกย่องท่านฟ้าน้อยทำไม
ถามว่าลูกท่านองค์ใหนได้ยกย่องบ้าง ได้คุมกำลังบ้าง
ถามว่าทำไมให้พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏดูแลการทำสัญญากับต่างประเทศ นั่นไม่ใช่กิจของสงฆ์ และในขณะนั้น มีใครในแผ่นดินที่เคารพนับถือพระพุทธศาสนาเหนือท่านบ้าง
ถามว่าคำสั่งเสียสุดท้าย ยกพระนามพระภิกษุว่าเหมาะเป็นกษัตริย์ทำไม

ท่านทำไว้เป้นนัยยะร่วมยี่สิบรายการ
คนทั้งหลายเอาเรื่องสร้อยเส้นเดียวมาลบล้างหมด
สำหรับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 ที่อาจารย์เทาฯเชิญมานั้น
ผมทำความเข้าใจแบบเดียวกับที่อ่านงานของคุณชายคึกฤทธิ์ครับ

โดย: pipat  [IP: 58.9.183.177,,]  
วันที่ 3 พ.ค. 2549 - 17:37:25


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:11
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 131

ใจเย็นๆน่าคุณพิพัฒน์ ดิฉันก็เชื่ออย่างที่คุณเชื่อ

ส่วนสร้อยประคำเส้นนั้น ดิฉันก็เชื่อว่าไม่ได้หมายความกันใหญ่โตอย่างที่มาตีความกัน
อาจเป็นของส่วนพระองค์ พระราชทานพระราชโอรสที่ยังมีพระชนม์อยู่ ด้วยความรักจากพ่อที่มอบให้เป็นครั้งสุดท้าย

เพราะเงินทองทั้งหลายท่านก็ทรงทำเป็นเงินถุงแดง ให้แผ่นดินไปหมดแล้ว

สนทนากันนานๆเข้า ดิฉันแว่วว่าเสียงคุณพิพัฒน์ชักจะไม่ต้องใช้ไมค์เลยนะคะ แม้ในห้องประชุมขนาดคอนเวนชั่นฮอล ของศูนย์สิริกิติ์

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 3 พ.ค. 2549 - 17:56:24


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:12
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 132

ผมคิดว่า สิ่งที่นายสุกิจ นิมมานเหมินท์เล่าไว้ เรื่องรัตนบุรุษไทยสมัยก่อน น่าจะฟังขึ้น และวิธีคิดวิธีปฏิบัติอย่างนั้นแหละ ที่ทำให้เรากู้ชาติคืนจากพม่าในหกเดือน สร้างกรุงใหม่ได้ในรัชกาลเดียว และรอดเงื้อมมือตะวันตกมาได้

เว้นแต่มีหลักฐานอย่างหนาแน่น เราค่อยมาเขียนประวัติสาดเสียเทเสียกัน

ป.ล. 1 เรียนอาจารย์เทา ไม่สำคัญว่าผมจำได้ใหม คนอื่นๆ ควรได้จำบ้าง เล่ามาเสียดีๆ นะครับ
ป.ล. 2 เรียนอาจารย์เทาอีกนั่นแหละ ถ้าพระราชนิพนธ์ ร.6 ควรยึดถืออย่างเคร่งครัด
เราจะทำยังไงกับ "บิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์" กันดีครับ

โดย: pipat  [IP: 58.9.183.177,,]  
วันที่ 3 พ.ค. 2549 - 17:59:43


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:12
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 133

เรียน คุณพี. พี. (ทนายหน้าหอ ตระกูล บ. น.)

***เมื่อรับเชิญเป็นกษัตริย์ รัชกาลที่ 4 เหตุใดทรงยกน้องชายเป็นวังหน้า
และยกขึ้นถึงเป็นกษัตริย์พระองค์ที่สอง ตอบว่า เพราะจะได้ซ่องสุมอาวุธผู้คน
ได้อย่างเปิดเผย เพื่อคานอำนาจบุนนาค ***


คุณพีพี ทำไมถึงคิดไปไกลลิบลับนักล่ะคะ ลองมองประวัติศาสตร์แบบเส้นตรง
ดูบ้างนะคะ เราอ่านคำตอบของคุณพีแล้ว ดังเสี้ยนตำฝ่าเท้าเราให้ต้องระทมอยู่ร่ำไป
เราขอโต้สัก 2 กระบวนท่า ให้ท่านปวกเปียกเป็นมะเขือลนไฟ ดั่งนี้แล
(ตำราที่หมายจะงัดขึ้นมาสู้อยู่ในตู้ยังหาไม่เจอ ใช้ตำราใกล้ตัวตอบก่อนนะคะ)

1) พระองค์ทรงเชื่อในอิทธิพลของดวงดาวต่อวิถีชีวิตมนุษย์ มากกว่าใดอื่น

เมื่อ ร. 3 ทรงประชวรหนัก สมเด็จเจ้าพระยาเตรียมตัวมาเทียบเชิญเจ้าฟ้ามงกุฎ
ขึ้นครองบัลลังก์ เราคิดว่าเจ้าฟ้ามงกุฎมีพระทัยใสสะอาด ในร่มกาสาวพักตร์
(ร่วม 27 วัสสา) เกินกว่าจะทรงมีจิตรคิดการแยบยลต่ำกว่าสะดือ ดั่งเหตุที่คุณพี
ยกอ้างทุกครั้งๆ (รวมทั้งเรื่องซื้อแผ่นดินที่สิงหะ+ปุระ 11 ไร่ – ที่ 370 ถนนออร์ชาร์ด)
แต่อย่างใดไม่

และเมื่อกางพระราชพงศาวดารโต้ตอบกับท่าน (ขอโทษที่ประวัติศาสตร์ไทย
เขียนโดยสมาชิกของตระกูล บ.น.) ก็น่าเป็นได้ว่าพระองค์ไม่ทรงประสงค์ทัดทาน
ลิขิตจากฟ้า อีกทั้งเข้าใจลึกซึ้งว่า....อันชีวิตนั้นกำหนดไม่ได้

“......สมเด็จเจ้าพระยาไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ที่วัดบวร
ซึ่งทรงผนวชอยู่กราบทูลให้ทรงทราบว่าจะเชิญขึ้นครองราชย์สมบัติ
ทรงตรัสว่าถ้าจะถวายราชสมบัติแด่พระองค์ ก็ขอให้ถวายแด่พระปิ่นเกล้าฯ
ซึ่งตรัสเรียก (อย่างอ่อนโยน) ว่า “ท่านฟากข้างโน้น” ด้วยเพราะท่านมี
ชะตาแรงนัก ตามตำราโหราศาสตร์ว่า ผู้มีชะตาเช่นนั้น จะต้องได้เป็นพระเจ้า
แผ่นดิน ถ้าทรงรับเพียงพระองค์เดียว จะเกิดอัปมงคลด้วยไปกีดบารมี
สมเด็จพระอนุชา......”

ที่มา: เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 4
(พระนคร พ.ศ. 2504) หน้า 41-42

โดย: Rinda  [IP: 124.121.185.148,,]  
วันที่ 3 พ.ค. 2549 - 21:15:32


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:12
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 134

2) ดูกรท่านมานพ พีพี ที่รักชีพกว่าชาติ..อันว่าสากย่อมคู่กับครกฉันใด
บุ๋นก็ย่อมคู่กับบู๊ฉันนั้น

ขอเก็บความจากหนังสือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มาโต้กับคุณพีค่ะ


พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงชำนาญทางบุ๋น จึงมีพระประสงค์
ให้พระอนุชาธิราช (ผู้เป็นที่นับถือของคนเป็นอันมากและเป็นพระอนุชาคู่ทุกข์คู่ยาก)
ดูแลทางบู๊ ความที่ทรงอยู่ในเพศบรรพชิตที่ยาวนาน ทำให้เราเชื่อว่า
พระองค์ไม่ทรงประสงค์จะปวดพระเศียรเรื่องการศึกตลอด ทรงใช้เวลาทาง
สุ-จิ-ปุ-ลิ สำหรับการค้นหาวิชาความรู้แขนงใหม่ๆ และคบหาสมาคมกับชาวต่างชาติ
อย่างอิสระเสรี เช่น ทรงเรียนละตินจากบาทหลวงปาลเลอกัวซ์ (Pallegoix)
และสาธุคุณแคสเวล (Caswell) ตลอดจนได้เสด็จ ธุดงแสวงบุญ ทรงสัมผัส
กับชาวบ้านทุกระดับ ทำให้พระองค์ทรงประสงค์ ดูแลการบ้านการเมือง
ยังภาระยุทธโยธินไว้ประทานใส่บ่าพระอนุชา

“สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าก็ทรงพระปรีชา.....รอบรู้การในพระนคร
และการ ตปท. และขนบธรรมเนียมต่างๆและศิลปะศาสตร์ในการณรงค์สงคราม
.......มีการณรงค์สงครามมาคับขันประการใด จึงได้ให้เสด็จไปเป็นจอมพยุหโยธา
ทหารทั้งปวง”

ที่มา: พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว, ม.ร.ว. กมลพิสมัยนวรัตน และ
นางบรรจบพันธุ์ นวรัตน ณ อยุธยา (พระนคร พ.ศ. 2507) หน้า

โดย: Rinda  [IP: 124.121.185.148,,]  
วันที่ 3 พ.ค. 2549 - 21:21:05


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:13
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 135

ค.ห. 130 ก-ข-ค-ง-จ-ฉ.....

สำหรับ ก. และ ข. ตอบซื่อๆว่า ทรงต้องการให้องค์รัชทายาทเข้าได้กับเจ้านาย
และพระราชวงศ์ ดังนั้นพระองค์จึงทรงสละสิทธิ์นี้ โดยให้เจ้านายทรงเลือกกันเอง
จะได้ประคบประหงม ประคับประคองกันไป

ค. ขอหาตำราหนึ่งเล่ม แล้วค่อยกลับมาตอบ

ง. พระองค์ทรงคิดว่าสมบัติผลัดกันชม แผ่นดินเมื่อ 27 ปีก่อน ควรเป็นของ
เจ้าฟ้ามงกุฎ ท่านทรงขัดตาทัพเสีย 27 พรรษา บัดนี้ลุแก่เวลาแล้ว

จ. ก็เพราะ ร. 3 ทรงช่วยกำจัดเสี้ยนหนามให้ เจ้าฟ้ามงกุฎแล้ว อริมลายสิ้น

ฉ. ถามว่ายกย่องท่านฟ้าน้อยทำไม…..ใครยกคะ ร.3 ไม่ได้ยกนะคะ (ดูข้างล่าง)

ช. ซ. และ ช. เชอ ก็ต้องดูข้อ ง. เหมือนกัน

ร. 3 ทรงคิดว่าเมื่อท่านคืนบัลลังก์ให้เจ้าฟ้ามงกุฎ เงินที่งอกเงยจากการโล้สำเภา
ก็ควรเป็นทุนรอนของประเทศต่อไปน่ะค่ะ ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงไม่ทรงทำการจัดสรรศฤงคาร
ในหมู่พระราชโอรสธิดาของท่าน (ผิดด้วยหรือที่จะมีเจ้านายที่เงินทองเหนี่ยวพระทัยไม่ได้
อีกพระองค์ที่เห็น ก็คือ กรมพระจันทร์ฯ)


ขอคัดข้อสังเกตที่ ร. 3 ทรงพระราชทานแก่เจ้านายที่เข้าเฝ้าเพื่อเป็นแนวทาง
ในการเลือกเฟ้นพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ มา ณ ที่นี้


“กรมขุนเดช (กรมขุนเดชอดิศร พระอนุชา) เล่าท่านก็เป็นคนพระกรรเบา
ใครจะเชื่ออะไรท่านก็เชื่อง่ายๆ จะเป็นใหญ่โตไปไม่ได้ กรมขุนพิพิธ
(กรมขุนพิพิทธภูเบนทร์ พระอนุชา) เล่าก็ไม่รู้จักการงาน ปัญญาก็ไม่สอดส่องไปได้
คิดแต่จะเล่นอย่างเดียว ที่สติปัญญาพอจะรักษาแผ่นดินได้อยู่ก็เห็นแต่ท่าน
ฟ้าใหญ่ (สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ) ท่านฟ้าน้อย (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์)
ก็ทรงรังเกียจอยู่ว่าท่านฟ้าใหญ่ถืออย่างมอญ ถ้าเป็นเจ้าแผ่นดินขึ้นก็จะให้พระสงฆ์
ห่มผ้าอย่างมอญเสียทั้งแผ่นดินดอกกระมัง ท่านฟ้าน้อยเล่าก็มีสติปัญญารู้วิชา
การช่างและการทหารต่างๆอยู่ แต่ไม่พอใจทำราชการ รักแต่การเล่นสนุกเท่านั้น”

คณะเสนาบดีได้ยินก็ยังลังเลไม่เลือกผู้ใด แต่เสนาบดีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคือ
เจ้าพระยาคลังเห็นว่าผู้ที่มีความสามารถสติปัญญาจะถือบังเหียนแผ่นดินให้
รอดพ้นจากฝรั่งได้ก็มีแต่เจ้าฟ้ามงกุฎเท่านั้น จึงไปอัญเชิญพระองค์ใน 7 วันต่อมา

ในพระราชพิจารณ์ของ ร. 5 เรื่องพระราชประเพณีการตั้งพระมหาอุปราช
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็ทรงคิดว่าเจ้าพระยาฯ เห็นว่าเจ้าฟ้ามงกุฎ
ทรงเป็นพระบรมราชโอรสอันประเสริฐ ในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 5 เป็นผู้คู่ควรแก่แผ่นดิน

(ท่อนนี้ขอไม่บอกที่มา เพราะคุณพีจะกล่าวหาว่าไร้จินตนาการ)

โดย: Rinda  [IP: 124.121.185.148,,]  
วันที่ 3 พ.ค. 2549 - 21:33:47


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:13
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 136

ข้อมูลของผมคงไม่ค่อยแม่น เพราะอ่านน้อย เล่มที่กรุณาแนะนำก็ไม่เคยอ่าน อ่านของท่านจันทร์ไม่เห็นมีอย่างที่ว่า

ตั้งแต่ทัพเรือแตกที่เมืองโจดก ผมก็ไม่ทราบว่าท่านฟ้าน้อยเคยรบทัพจับศึกที่ใหนอีก

คราวศึกเชียงตุงนี่ ท่านทำอะไรบ้างครับ

โดย: pipat  [IP: 58.9.183.177,,]  
วันที่ 3 พ.ค. 2549 - 22:11:33


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:14
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 137

ตอบคุณพิพัฒน์ ค.ห.พ.ต. 132

ป.ล. 1 เรียนอาจารย์เทา ไม่สำคัญว่าผมจำได้ใหม คนอื่นๆ ควรได้จำบ้าง เล่ามาเสียดีๆ นะครับ

ไปเปิดหนังสือแล้วค่ะ อ่าน 2 เที่ยวแล้วยังหาตอนที่สมเด็จพระนางฯ ทรงเอ่ยถึงสกุลท่านฝ่ายท่านไม่เจอ
กำลังนึกว่ามีเล่มไหนอีกในบ้าน จะไปงมเข็ม

จะเล่าแบบเก็บความก็เกรงว่าจะไม่ตรง อยากจะคัดข้อความกันเป๊ะๆมากกว่า
จนปัญญาต้องถามคุณ UP ว่ามีไหม พระหัตถเลขาที่ทรงมีไปถึงสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตเมื่อครั้งทรงไปศึกษาอยู่ในยุโรป

ป.ล. 2 เรียนอาจารย์เทาอีกนั่นแหละ ถ้าพระราชนิพนธ์ ร.6 ควรยึดถืออย่างเคร่งครัด
เราจะทำยังไงกับ "บิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์" กันดีครับ

คำถามของคุณพิพัฒน์ ดิฉันไม่แน่ใจว่าแปลว่าอะไรกันแน่
เพราะฉะนั้นคำตอบของดิฉัน คุณพิพัฒน์ก็ต้องไปแปลเอาเองเหมือนกัน

ในเรื่องอิเหนา ตอนระตูจรกาหาคู่ ใช้ช่างเขียนไปวาดภาพหญิงงามในเมืองต่างๆมาให้เลือก
ช่างเขียนก็มาเห็นบุษบาเจ้าหญิงเมืองดาหา

บัดนั้น.....................................ช่างเขียนผู้มีอัชฌาศัย
เมียงหมอบลอบดูอยู่แต่ไกล........วาดรูปอรไทตื่นบรรทม
ไม่ผัดพักตราทรงอาภรณ์............ก็งามงอนระทวยสวยสม
นางช่างเขียนพลางทางชม..........นึกนิยมเตือนใจไปมา
**************
เมื่อนั้น....................................นายช่างชำนาญการเลขา
เห็นเทวีทรงเครื่องเรืองรจนา........โสภาผุดผ่องละอององค์
ตั้งตาพินิจพิศดูนาง....................เยื้องย่างยุรยาตรดังราชหงส์
จึงคลี่กระดาษวาดรูปโฉมยง.........เหมือนทั่วทั้งองค์อินทรีย์

พระนิพนธ์ เปรียบได้กับบุษบาตอนผัดหน้าแต่งองค์ทรงเครื่องอร่ามเรืองออกมาแล้ว
พระราชนิพนธ์ คือบุษบาตอนไม่ได้ผัดหน้าแต่งตัว

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 4 พ.ค. 2549 - 08:54:16


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:14
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 138

ผมยอมรับครับว่าในฐานะเสนาบดีผู้ใหญ่ ท่านสมเด็จเจ้าพระยาฯ จะทำสิ่งใดก็คงต้องเห็นแก่บ้านแก่เมือง เพราะความมั่นคงของสยามย่อมส่งผลต่อความมั่นคงของตระกูลบุนนาคด้วย ยิ่งในภาวะที่ถูกภัยคุกคามจากต่างประเทศด้วยแล้ว ท่านจะทำสิ่งใดก็คงจะระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่การทำงานรับใช้พระเจ้าแผ่นดินในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ถ้าเป็นคนโปรดก็นับว่าเป็นบุญวาสนา แต่ถ้าวันใดไม่โปรดขึ้นมาภัยก็อาจจะมาถึงตัวได้ ดังนั้นสิ่งที่ท่านทำย่อมต้องคำนึงถึงผลประโยชน์และความมั่นคงของวงศ์ตระกูลท่านเองด้วยครับ

โดย: หยดน้ำ  [IP: 203.118.106.104,,]  
วันที่ 4 พ.ค. 2549 - 09:23:41


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:14
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 139

ในความคิดเห็นที่ 135 พระราชกระแสรับสั่งที่คุณ Rinda ยกมา นับว่าเป็นพระราชดำรัสที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องสืบสันตติวงศ์ เพราะได้ทรงแสดงพระราชดำริจะตัดสิทธิ์เจ้านาย 4 พระองค์นี้ ไม่ให้ขึ้นครองแผ่นดิน แต่คุณ Rinda ตกข้อความตอนหน้าที่เป็นประโยคสำคัญไปครับ


"...การแผ่นดินไปข้างหน้า ไม่เห็นผู้ใดที่จะรักษาแผ่นดินได้กรมขุนเดชเล่า ท่านก็เป็นคนพระกรรณเบา ใครจะพูดอะไรท่านก็เชื่อง่ายๆ จะเป็นใหญ่โตไปไม่ได้ กรมขุนพิพิธเล่า ก็ไม่รู้จักการงาน ปัญญาก็ไม่สอดส่องไปได้ คิดแต่จะเล่นอย่างเดียว ที่สติปัญญาพอจะรักษาแผ่นดินได้อยู่ก็เห็นแต่ท่าน
ฟ้าใหญ่ ท่านฟ้าน้อย ก็ทรงรังเกียจอยู่ว่าท่านฟ้าใหญ่ถืออย่างมอญ ถ้าเป็นเจ้าแผ่นดินขึ้นก็จะให้พระสงฆ์ ห่มผ้าอย่างมอญเสียทั้งแผ่นดินดอกกระมัง ท่านฟ้าน้อยเล่าก็มีสติปัญญารู้วิชา
การช่างและการทหารต่างๆอยู่ แต่ไม่พอใจทำราชการ รักแต่การเล่นสนุกเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึ่งมิได้ทรงอนุญาต กลัวเจ้านายข้ราชการเขาจะไม่ชอบใจเพียงนี้ จึ่งได้โปรดให้ตามใจคนทั้งปวง สุดแต่เห็นพร้อมเพรียงกัน..." (พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๔ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี)


นอกจากนี้เซอร์เฮนรี่ ออร์ด ผู้สำเร็จราชการเมืองสิงคโปร์ในสมัยนั้น ได้บันทึกเรื่องราวที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 และปลายรัชกาลที่ 4 ไว้ว่า

"...สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระชันษาราวสัก ๑๕ ปี เป็นที่สงสัยกันว่า เจ้าฟ้าพระองค์นี้จะเป็นรัชทายาทสืบพระวงศ์ เพราะในเวลานี้ไม่มีพระมหาอุปราช แต่ไม่เป็นการแน่ทีเดียวที่เจ้าฟ้าพระองค์นี้จะได้ราชสมบัติ ด้วยตามประเพณีไทยถึงการรับราชสมบัติย่อมสืบต่ออยู่ในพระราชวงศ์เดียวกัน ราชสมบัติไม่ได้แก่พระราชโอรสพระองค์ใหย่ของพระเจ้าแผ่นดินเป็นแน่นอน มีตัวอย่างเช่น ครั้งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อน มีพระราชประสงค์จะให้พระเจ้าลูกเธอได้รับราชสมบัติ แต่ตระกูลใหญ่ของผู้สำเร็จราชการทั้ง ๒ ไม่เห็นชอบตามพระราชประสงค์ ไม่ยกพระเจ้าลูกเธอของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อนขึ้น พร้อมกันถวายราชสมบัติแก่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ ผู้เป็นรัชทายาที่แท้จริงแห่งสมเด็จพระบรมชนกนาถ ก็ทำได้โดยปราสจากเหตุการณ์..."

บันทึกที่ผมยกมานี้อาจเป็นหลักฐานอีกอย่างที่อาจจะสันนิษฐานได้ว่าในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 มีพระราชประสงค์จะยกราชสมบัติให้พระเจ้าลูกเธอพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง หาใช้วชิรญาณภิกขุครับ

โดย: หยดน้ำ  [IP: 203.118.106.104,,]  
วันที่ 4 พ.ค. 2549 - 09:54:24


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:15
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 140

ศึกที่เมืองบันทายมาศ ในปี 2538 น่าจะเป็นศึกเดียวของพระปิ่นเกล้าฯ ในสมัยรัชกาลที่ 3 นะครับ ส่วนศึกที่อื่นท่านก็อาจมีหน้าที่เกี่ยวข้องบ้างในฐานะที่ทรงกำกับราชการกรมทหารปืนใหญ่ กรมกองแก้วจินดา กรมทหารแม่นปืนหน้า แม่นปืนหลัง ญวนอาสารบ แขกอาสาจามครับ

โดย: หยดน้ำ  [IP: 203.118.106.104,,]  
วันที่ 4 พ.ค. 2549 - 10:09:19


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:15
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 141

คราวศึกเชียงตุงนี่ ท่านทำอะไรบ้างครับ...
เช่นคุณหยดน้ำเล่าค่ะ ท่านเจ้าฟ้าน้อยไม่มีบทบาทอะไร

ศึกเชียงตุง
ในปี 2392 เกิดกบฏเชียงรุ้ง และมีชาวเชียงรุ้งหนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงมีพระราชดำริว่าที่พม่ามีอำนาจเหนือเมืองเชียงรุ้ง ก็เพราะได้อาศัยเมืองเชียงตุงอันเป็นเมืองใหญ่ขึ้นต่อพม่า
ถ้าไทยตีเมืองเชียงตุงได้ก็จะเป็นการตัดกำลังพม่ามิให้มีอำนาจเหนือเมืองเชียงรุ้งอีกต่อไป
พระองค์ทรงสั่งให้เกณฑ์กองทัพเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ไปตีเมืองเชียงตุง แต่ตียังไม่สำเร็จก็เสด็จ สวรรคตเสียก่อน

ลุปี 2496 ต้นสมัย ร. 4 พระองค์ไม่ทรงสนพระทัยเชียงรุ้งที่มาสวามิภักดิ์เพราะเห็นว่าอยู่ไกลเกินไป แต่มีผู้ทัดทานว่าควรต้องสนองศรัทธา
ต่อมาสภาเสนาบดีเสนอความเห็นว่าสยามควรจะไปตีเชียงตุงอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้กรมวงษาธิราชฯ ทรงเป็นแม่ทัพหลวง และเจ้าพระยายมราชเป็นแม่ทัพหน้า กรีฑาทัพอันประกอบด้วยหัวเมืองฝ่ายเหนือมุ่งหน้าสู่เชียงตุง

สิ้นฤดูแล้ง กองทัพไทยยังตีเมืองเชียงตุงไม่ได้ เพราะภูมิประเทศของเชียงตุงเป็นภูเขาสูง การเคลื่อนพลทำได้ลำบาก บางช่วงต้องเดินขึ้นเขาเป็นแถวตอนลึกทีละหนึ่ง
ขาดแคลนเสบียงอาหาร และหญ้าสำหรับให้คาราวานสัตว์กิน กองทัพไทยต้องถอยร่น กลับประเทศก่อนย่างเข้าฤดูฝน เพื่อหลีกเลี่ยงน้ำหลากจากภูเขา


โดย: Rinda  [IP: 124.121.188.223,,]  
วันที่ 4 พ.ค. 2549 - 12:07:53


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:15
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 142

การบุกเชียงตุง ปี 2397: การรบครั้งสุดท้ายระหว่างไทยกับพม่า

การเตรียมบุกเชียงตุงครั้งที่ 2 ในหน้าแล้งปี 2397 กรมวงษาธิราชฯ ทรงเตรียมทัพอยู่ทาง
หัวเมืองเหนือของไทย ส่วนเจ้าพระยายมราชก็เช่นกัน แต่แล้วก็ต้องกลับกรุงเทพฯ เพื่อปลง
ศพมารดา และกลับขึ้นไปสบทบใหม่ แม่ทัพทั้งสองวางแผนว่าจะต้องยกพลออกไปเร็วหน่อย
เพื่อให้มีเวลามากขึ้นในการเผด็จศึกให้ได้ก่อนฤดูฝน แต่ฤกษ์ไม่ดีเอาเสียเลยเมื่อเกณฑ์พลไม่ได้
ตามเป้า ไพร่พลที่เคยเดินทัพไปด้วยกันรู้ซึ้งถึงความลำบาก จึงหลบลี้ ทำให้การเคลื่อนพลช้าไป
1 เดือน

การยกพลไปเชียงตุงครั้งที่ 2 เหมือนฉายหนังม้วนเดิม ผิดกันที่ว่าครั้งนี้พระเจ้ามินดุงขึ้นครอง
เป็นกษัตริย์พม่า ทรงส่งทหารมาช่วยเชียงตุง ทำให้ศึกเชียงตุงมีสีสันขึ้น ครั้งก่อนเจ้าเมือง
เชียงตุงมีอุบายแยบยล รู้ตัวว่าไพร่พลน้อยกว่า และกองทัพไทยอาจมีปัญหาเรื่องเสบียง จึงเก็บ
กวาดเสบียงนอกเมืองเรียบวุธ แล้วหลบอยู่ในกำแพงเมือง คอยยิงปืน ญ. ลงจากเขาใส่กองทัพ
ไทยเป็นระยะ กองทัพไทยยิงปืน ญ. เปิดทางไปบ้าง แต่ก็ไร้ผล เพราะกระบอกเล็กและวิถีใกล้
เกินไป ลูกปืน ญ. จึงไปตกนอกกำแพงเมืองเสียหมด ครั้งนี้กองทัพเชียงตุงใช้วิธีรบแบบกองโจร
เพื่อตัดเสบียง จนกระทั่งฝนเริ่มลง ก็ยังทำอะไรไม่ได้ ไพร่พลทหารก็ล้มตายวันละหลายๆคน
จากไข้ป่าและโรคสารพัดชนิด รวมทั้งความอ่อนล้าที่กรำศึกติดต่อกันมาหลายเดือน

เจ้าพระยายมราชยกทัพหน้าไปทางหนึ่ง แยกจากทัพหลวงแต่ก็บุกต่อไม่ได้ ต้องหยุดรอ
เสบียงที่ส่งมาไม่ทัน ทางด้านกรมวงษาธิราชฯ ทรงเห็นท่าไม่ดี จึงสั่งให้ถอยทัพกลับ
เจ้าพระยายมราชที่เตรียมจะบุกต่อ เมื่อทราบว่าทัพหลวงล่าถอย จึงถอยกลับบ้าง

การรบที่เชียงตุงในปี 2397 สิ้นสุดลงด้วยความเสียหายด้านกำลังพลและทรัพย์สินเป็นอันมาก
และถือว่าเป็นการรบครั้งสุดท้ายระหว่างไทยกับพม่า

โดย: Rinda  [IP: 124.121.188.223,,]  
วันที่ 4 พ.ค. 2549 - 12:10:09


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:16
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 143

ค.ห.139
ฮิฮิ คุณหยดน้ำคะ แหมโตะใจหมดเลย

เราถกกันเพื่อกระชับสัมพันธ์นะคะ ส่วนตัวเห็นว่าข้อความในแบรคเก็ตข้างล่างนี้ น่าจะละได้
โดยไม่ทำให้ความหมายตกหล่นแต่อย่างใด เหตุผลคือมีบริบทก่อนหน้าและตามหลัง
โคตนี้ อีกทั้งข้อความในโคต ก็มีการแจกแจงข้อบกพร่องของตัวละครแต่ละท่านเรียง
ลำดับกัน เมื่ออ่านทั้งหมด น่าจะได้ใจความสมบูรณ์ดีอ่ะ

"...[การแผ่นดินไปข้างหน้า ไม่เห็นผู้ใดที่จะรักษาแผ่นดินได้] กรมขุนเดชเล่า
ท่านก็เป็นคนพระกรรณเบา ใครจะพูดอะไรท่านก็เชื่อง่ายๆ จะเป็นใหญ่โตไปไม่ได้
กรมขุนพิพิธเล่า ก็ไม่รู้จักการงาน ที่สติปัญญาพอจะรักษาแผ่นดินได้.........

โดย: Rinda  [IP: 124.121.188.223,,]  
วันที่ 4 พ.ค. 2549 - 12:13:31


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:16
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 144

พระหัตถเลขา
สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมมาลมารศรีฯ ถึงพระโอรส (ทูลหม่อมบริพัตรฯ)
ขณะทรงประทับอยู่ ย.ร.

“วันที่ 21 กันยายน ร.ศ. 116

ถึงลูก

ด้วยแม่ผัดว่าจะตอบหนังสือของลูก ฉบับ ล.ว. 5 ก.ค. นั้น เผอิญมีธุระจุกๆจิกๆ
ไม่ปรุโปร่งหัวใจ พึ่งจะได้ฤกษ์เขียนวันนี้

เรื่องที่พระนายเสมอใจ เขาสอนว่าให้รักใคร่ทูนหม่อมโตนั้น เป็นเพราะแม่สั่งเขา ไปด้วย เพราะแม่รู้อยู่เต็มใจว่า ชาวฟากข้างโน้นนั้นเป็นที่รังเกียจของเจ้านายเป็น อันมาก
เพราะผู้ใหญ่บางคนทำชั่วไว้ ความชั่วเลยมาแปดเปื้อนแก่ลูกหลานต่อมา
แลพวกเหล่านั้นกองพันโตหนักด้วย ปรการหนึ่ง ตัวของลูกก็ไม่ใช่เป็นเจ้านาย อย่างสามัญ ความรแวงสงสัยมันอาจต้องเกิดขึ้น เพราะเป็นเจ้าฟ้าปัญญาดี และมี ญาติข้างแม่มาก
......................ต้องทำให้ทูนหม่อมโตท่านรักใคร่ไว้วางพระทัยจริง ให้ปรากฏแก่ตาคนทั้งหลายมากๆเท่านั้น.....................”

โดย: Rinda  [IP: 124.121.188.223,,]  
วันที่ 4 พ.ค. 2549 - 12:19:05


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:16
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 145

เรียนถามอาจารย์เทาฯอย่างชัดๆเลยครับ ว่า
1 "พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นี้ไม่มีศาสนา, ไม่มีศีล, ไม่มีธรรม, วัน ๑ อาจพูดอย่างหนึ่ง, อีกวันหนึ่งอาจกลับกลอกเสียก็ได้, และฃ้าพเจ้าจะไม่ลืมเลย ว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นี้ ลิเอาราชอาณาเฃตต์ฃองพระราชวงศ์จักรีไปฃายฝรั่งเสีย ๓-๔ คราวแล้ว"
2 " ท่านใช้เราเป็นบรรไดขึ้นถึงที่สูงได้แล้ว ท่านจะเตะบรรไดเสีย"
ผมไม่เชื่อทั้งสองข้อครับ

สำหรับเรื่องลูกประคำนั้น
ถ้าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่ง จะมอบราชสมบัติให้ใคร แค่หยิบลูกประคำผิด เห็นจะเปลี่ยนชะตากรรมไม่ได้มังครับ

พระบรมราชโองการนัดสุดท้ายนั้น ผมอ่านอย่างคนโง่ ก็คงได้ความว่า มี "สอง" พระองค์เท่านั้นที่เหมาะสม
พระองค์หนึ่ง รีบทำคำปฏิญานถวาย(แต่ไม่ใช่ว่าเพราะกระสันในราชบัลลังก์) ส่วนอีกพระองค์หนึ่ง ข้อกล่าวหารุนแรงจนแก้ไม่ได้

ความสัมพันธ์ระหว่างตระกูลบุนนาคกับพระภิกษุเจ้าฟ้าฯ นั้น ให้ไปดูเรื่องราวการสร้างวัดดอกไม้
และให้ไปค้นว่า ทำไม ร. 4 พระราชทานนามวัดแห่งหนึ่งว่าวัดมหาพฤฒาราม

คำเล่าของเซอร์ออร์ด เหมือนกับคำเล่าของปาเลกัวส์
นักปราชย์ไทยยืนยันอย่างนี้มาตั้งร้อยปีแล้ว ผมยังไม่เชื่อ ทำไมต้องมาเชื่อฝรั่ง 2 คนนี้

ผมอ่านข้อความของคุณรินดาไม่แตก ท่านใช้สำนวนล้ำลึกเกินสมองน้อยๆ ของผมจะทานทนได้

โดย: pipat  [IP: 58.9.189.196,,]  
วันที่ 4 พ.ค. 2549 - 13:04:35


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:17
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 146



สมองตื้นๆของดิฉันก็ไม่อาจทานทนความล้ำลึกแห่งคำถามของคุณพิพัฒน์ได้เหมือนกัน

เลยตอบไปเสียอีกทาง คนละเรื่องกันเลย เพิ่งเลี้ยวกลับมาได้ตอนคุณพิพัฒน์ยอมเฉลยข้อสอบในค.ห. ข้างบนนี้เอง

ใครที่ติดตามอ่านมาแต่แรก กรุณาข้ามค.ห. 137 ไปนะคะ



คุณพิพัฒน์ คำถามของคุณเป็นปริศนาข้อโตสำหรับดิฉันมาตั้งแต่อ่านหนังสือครั้งแรก

ดิฉันยังหาข้อมูลไม่ได้ว่า ๓-๔ คราวนั้นคือคราวไหนบ้าง นอกจากคราวแรกที่เคยเล่าให้ฟังแล้ว



คำตอบเท่าที่หาให้ตัวเองไปพลางๆก่อน ก็คือ สิ่งที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ทรงเข้าใจนั้น ย่อมมีต้นสายปลายเหตุอยู่ ไม่ใช่แค่คำเพ็ดทูลลอยๆ หรือข่าวลือหาตัวผู้เล่าไม่ได้ เพราะถ้ามีแค่นั้น บุคคลผู้เป็นนักปราชญ์อย่างพระองค์ท่าน มีหรือจะทรงเชื่อแน่นแฟ้น

แต่ปัญหาก็คือ "ต้นสายปลายเหตุ" ย่อมมองได้หลายมุม ยิ่งเป็นเรื่องตัวบุคคลแล้ว มองในแง่บวกก็ได้ลบก็ได้ เพราะมนุษย์ปุถุชนนั้นจะทำให้ถูกใจคนอื่นไปเสียทุกเรื่องย่อมเป็นไปไม่ได้



นาย ก. ยื่นเงินให้นาย ข. 1000 บาท นายข.จะซาบซึ้งน้ำใจเพื่อนว่าอุตส่าห์ควักกระเป๋าให้ตั้งหนึ่งพันบาท หรือจะนึกสวดในใจว่า ไอ้นี่ขี้เหนียวให้มาพันเดียวเอง ก็เป็นได้ทั้งสองทาง



เรื่องของบุคคลที่ทรงเห็น เอาเป็นว่าทรงมองในแง่ลบ ดิฉันเชื่อว่าทรงเห็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ว่าสิ่งที่ทรงเห็นนั้น'จริง' หรือไม่ อันนี้ไม่กล้าฟันธง ใครจะกล้า?



ส่วนเรื่องที่ว่าเชื้อพระวงศ์หนุ่มอาจเอื้อมดอกฟ้าชั้นพระอนุวงศ์ จนกลายเป็นเหตุลุกลามนั้น เอาเป็นว่าไม่เชื่อละกัน



ป.ล. สนทนากับคุณพิพัฒน์บ่อยเข้า ชักติดเชื้อหวัดคำว่า "ไม่เชื่อ" หรือ"เชื่อ" มาหลายคำแล้ว หวังว่าคงไม่ร้ายแรงอย่างไข้หวัดนก



โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  

วันที่ 4 พ.ค. 2549 - 13:38:45


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:17
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 147

เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ นั้น
ผมเรียนตามตรงว่า ทรเป็นพระมหากษัตริย์ที่ "โลดโผน" เกินกว่ามาตรฐานพระราชวงศ์ยุคนั้นจะตามทัน อันนี้สดุดีนะครับ
ดูเอาเถิด ท่านจะประกาศสงคราม ท่านยังต้องรอวันเสาร์ และทรงชุดสีม่วง ใครเคยอ่านที่ท่านเอ็ดมหาดเล็กคนหนึ่ง(จำชื่อไม่ได้) ท่านว่า ข้าจะประกาศสงคราม ใช้ปากกาด้ามนี้ได้ยังไง ...(ขออภัย เล่าจากความจำอีกแล้ว)

แต่... พระราชอัธยาศัยเช่นนี้ เป็นฝ่ายศิลปิน มิใช่ฝ่ายวิชาการ (ยกเว้น วิชาการดอทคอม) เปรียบแล้วพระราชนิพนธ์นั้นคือเพชรน้ำเอก
แต่พระบรมราชวินิจฉัย ต้องรอบคอบเหมือนเดินผ่านสนามทุ่นระเบิด

นิสัยไม่ดีนี่ติดง่ายครับอาจารย์ แต่ทิ้งไว้พักเดียวก็หลุด เหมือนน้ำกลิ้งบนใบบอน เพียงแต่นี่เป็นใบบัวของบัวที่บานแล้ว

โดย: pipat  [IP: 58.9.189.196,,]  
วันที่ 4 พ.ค. 2549 - 14:02:01


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 11 พ.ค. 06, 17:18
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 148

คนที่เป็นศิลปิน ทำไมเป็นนักวิชาการพร้อมกันไม่ได้ล่ะคะ
อังคาร กัลยาณพงศ์เป็นศิลปินแห่งชาติ แต่อ.กรุณา กุศลาศัยก็เป็นศิลปินแห่งชาติเหมือนกัน

พระอัธยาศัยในเชิงวิชาการ ไม่มีเลยหรือ? รอคุณ V_Mee คุณหยดน้ำ หรือคุณ UP มาเล่าจะได้รายละเอียดกว่า

ดิฉันเชื่อในพระบรมราชวินิจฉัยหลายเรื่อง ตั้งแต่เรื่องเข้าร่วมกับพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ทั้งที่สยามเองก็เจ็บช้ำน้ำใจจากฝรั่งเศสและอังกฤษมาหลายครั้ง แต่ไม่เคยมีเรื่องบาดหมางกับเยอรมัน ถ้าทรงใช้อารมณ์มากกว่าวิชาการ ก็คงไม่ตัดสินพระทัยอย่างนี้

การแต่งองค์ที่คุณพิพัฒน์ยกมา ก็คือทรงกระทำตามโบราณราชประเพณีไทยเท่านั้นเอง เคารพสิ่งที่ถือว่าเป็นมงคล
ไม่น่าจะนับรวมเข้าเป็นอารมณ์ศิลปิน

โดย: เทาชมพู  [IP: hidden]  
วันที่ 4 พ.ค. 2549 - 14:14:13


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 11 พ.ค. 06, 21:18
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 137

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 145

เรียนถามอาจารย์เทาฯอย่างชัดๆเลยครับ ว่า
1 "พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นี้ไม่มีศาสนา, ไม่มีศีล, ไม่มีธรรม, วัน ๑ อาจพูดอย่างหนึ่ง, อีกวันหนึ่งอาจกลับกลอกเสียก็ได้, และฃ้าพเจ้าจะไม่ลืมเลย ว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นี้ ลิเอาราชอาณาเฃตต์ฃองพระราชวงศ์จักรีไปฃายฝรั่งเสีย ๓-๔ คราวแล้ว"
2 " ท่านใช้เราเป็นบรรไดขึ้นถึงที่สูงได้แล้ว ท่านจะเตะบรรไดเสีย"
ผมไม่เชื่อทั้งสองข้อครับ

เรื่องข้างต้นนี้โปรดอ่านรายละเอียดในกระทู้เรื่อง http://www.vcharkarn.com/include/vcafe/showkratoo.php?Cid=130&Pid=49906  

ส่วนเรื่องเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ นั้น
ผมเรียนตามตรงว่า ทรเป็นพระมหากษัตริย์ที่ "โลดโผน" เกินกว่ามาตรฐานพระราชวงศ์ยุคนั้นจะตามทัน อันนี้สดุดีนะครับ
ดูเอาเถิด ท่านจะประกาศสงคราม ท่านยังต้องรอวันเสาร์ และทรงชุดสีม่วง ใครเคยอ่านที่ท่านเอ็ดมหาดเล็กคนหนึ่ง(จำชื่อไม่ได้) ท่านว่า ข้าจะประกาศสงคราม ใช้ปากกาด้ามนี้ได้ยังไง ...(ขออภัย เล่าจากความจำอีกแล้ว)
เรื่องนี้คิดว่า ไม่น่าจะเกี่ยวกับความเป็นศิลปิน  แต่น่าจะอยู่ที่ความพร้อมมากกว่า  เพราะเท่าที่ทราบมา  ทรงเตรียมการไว้ล่วงหน้าเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว  ดังที่ทรงมีพระราชหัตถ์ลับให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นกำแพงเพชรอัครโยธิน ซึ่งทรงกำกับการขุดอุโมงค์ขุนตานถือไว้  พอดีเวลาที่กำหนดก็ให้จับกุมวิศวกรเยอรมันและชนชาติศัตรูพร้อมกันกับที่กรุงเทพฯ  ในเรื่องการจับกุมนี้มีเรื่องเล่ากันอยู่ว่า  ฝ่ายเยอรมันนั้นพอจะได้ระแคะระคายอยู่บ้าง  แต่ไม่ทราบว่าจะรวดเร็วถึงขนาดทูตถูกจับกุมจากที่นอน  ที่สำคัญคืออุโมงค์ขุนตานหากวิศวกรเยอรมันลอบวางระเบิดอุโมงค์  งานที่ทำมากว่าก่อนหน้านั้นก็เป็นอันสูญหมด  ถึงแม้คนไทยจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีไว้แล้วก็คงยากที่จะมาเริ่มงานใหม่

ในประเด็นเรื่องเครื่องทรงนั้น  ขอเรียนว่า ทรงสีแดง ซึ่งเป็นสีตามกำลังวันของวันอาทิตย์ตามโบราณราชประเพณี  และการทรงเครื่องเช่นนี้เป็นไปตามตำหรับพิชัยสงครามซึ่งพระมหากษัตริย์ในอดีตได้ทรงกันมาตลอด  เป็นการทำสงครามจิตวิทยาชนิดหนึ่ง  หากขวัญกำลังใจของทหารไม่พร้อมแล้ว  ต่อให้มีกำลังมากกว่าข้าศึกถึง ๑๐ เท่าก็อาจปราชัยได้  ดังเช่น พระเจ้านโปเลียนที่มีกำลังมากกว่ากองทัพของดุ๊กออฟเวลลิงตันถึง ๑๐ เท่า  แต่ก็แพ้สงครามวอเตอร์ลูให้แก่อังกฤษเป็นตัวอย่าง


กระทู้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 12 พ.ค. 06, 13:32
 เรียน คุณหยดน้ำ มีข้อมูลเพิ่มเติมจากของคุณค่ะ

1) เจ้าฟ้ามหามาลา ทรงกรมเป็นกรมหมื่นปราบปรปักษ์ เพราะทรงอิสริยยศ
เสมอเป็นเจ้าฟ้าชั้นโท  ปี พ.ศ 2394

เจ้าฟ้ามหามาลา ตอนกำเนิดน่าจะถือเป็นเจ้าฟ้าชั้นเอก เพราะเป็นโอรส
ของเจ้าฟ้ากุณฑล (อัครมเหสีฝ่ายซ้าย-พระราชธิดาของร.1) แต่พระบาท
สมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯมิได้ทรงยกย่อง แม้จะโปรดปรานพระราชชายานารี
ที่ประสูติพระโอรสธิดาถึง ๔ พระองค์ สันนิษฐานว่ารัชกาลที่2  ทรงเกรง
พระทัยอัครมเหสีฝ่ายขวา สมเด็จเจ้าฟ้าบุญรอด

ชาววังขานพระนามเจ้า 3 องค์ ว่า องค์ใหญ่ (เจ้าฟ้าอาภรณ์) องค์กลาง
(เจ้าฟ้ามหามาลา) องค์ปิ๋ว (สิ้นพระชนม์เมื่อ 19 พรรษา) เสมอพระองค์เจ้า
รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดน้องเล็กๆทั้ง 3 พระองค์มาก และโปรดฯให้เป็น
เจ้าฟ้าชั้นโท

ต่อมาปลายสมัย ร.3 เจ้าฟ้าอาภรณ์ ขณะชันษา 33 ถูกจองจำ และสิ้นพระชนม์
ในคุกด้วยโรคอหิวาต์  เนื่องจากติดร่างแหไปกับกรมหลวงรักษ์รณเรศ (เคยทรง
ช่วยราชการกำกับกรมพระคชบาลอยู่ด้วยกัน) ร.3 โปรดฯให้ฝังพระศพอย่างคน
โทษ แต่เจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งทรงผนวชอยู่กราบบังคมทูลขอพระราชทานทำพิธีถวาย
พระเพลิงอย่างพระศพเจ้านายชั้นเจ้าฟ้า


2) เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ เจ้าฟ้าจาตุรนต์ฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีฯ ประสูติเป็น
เจ้าฟ้าชั้นเอก (ทรงรับพระสุพรรณบัฏเป็นกรมหมื่นตั้งแต่ประสูติ) เจ้าฟ้า
จุฬาลงกรณ์ฯ ทรงกรมเป็นกรมขุนพินิตประชานาถ ตอนชันษา 14

กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ น่าจะเป็นเจ้าฟ้าที่ทรงกรมเป็นกรมขุนเร็ว
ที่สุดองค์หนึ่ง พระองค์จุลฯเล่าว่าพ่อได้ทรงกรมเป็นกรมขุนตั้งแต่ 9 ชันษา [หาปีไม่พบ]
.