เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 14 มิ.ย. 06, 22:35



กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 มิ.ย. 06, 22:35

.
.
มาตัดริบบิ้นเปิดกระทู้ให้คุณหมูน้อยฯ ตามเทียบเชิญของคุณพิพัฒน์
เรื่อง"รามเกียรติ์ศึกษา"

เปิดกว้างสำหรับรามเกียรติ์ในแง่มุมหลากหลาย   โขน จิตรกรรม วรรณคดี  หรือแม้แต่ประวัติศาสตร์
ใครใคร่คุย คุย ค่ะ  จะเริ่มมุมไหนก็ได้ตามสบาย

เชิญแวะอ่านกระทู้นี้เป็นพื้นฐาน   ปูทางเข้าสู่รามเกียรติ์ไปพลางๆ
ก่อนที่คุณหมูน้อยฯจะเข้ามา
 http://art.hcu.ac.th/khon/story.html  


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 มิ.ย. 06, 22:45

.
มาปั่นกระทู้ไปพลางๆ
ทราบหรือยังคะว่าพญายักษ์ชื่ออะไร

บริเวณวัดพระแก้วที่ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่  เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 มิ.ย. 06, 22:47

.
.
ภาพถ่ายใกล้ เห็นชัดๆ
คุณพิพัฒน์คงได้มาจากเรือนแพของมิศฟะรันซิส จิต  หลังแวะไปคุยเรื่องกล้องตัวใหม่กันสัก ๓ ชั่วโมง


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 14 มิ.ย. 06, 23:42
 คุณพิพัฒน์เฉลยมาว่าเป็น  สหัสะเดชะและทศกัณฐ์ ครับ

ในบรรดายักษ์ทั้งหลายในเรื่องรามเกียรติ์นี้ ผมชอบอยู่หลายตัวไม่ว่าจะเป็นกุมภกรรณเอย ภิเภกเอย แต่ที่ชอบอีกตัวก็คงไม่แคล้วคือทศกัณฐ์ แม้นว่าในเรื่องยักษ์ตนนี้นิสัยจะเกเรไปหน่อยก็ตาม แต่ดูแล้วเหมือนนิสัยก็เหมือนคนจริงๆที่สุดตนหนึ่งเหมือนกัน ผมเห็นทศกัณฐ์แล้วเหมือนมองเห็นภาพมนุษย์จริงๆที่มีอยู่ในสังคม

มองเห็นคนที่ บ้าอำนาจ โดยไม่คิดถึงผิดถูก มีเล่ห์เลี่ยม มีตัญหา มีความโลภอยากได้ไม่สิ้นสุด

บางครั้งทศกัณฐ์ก็ดูเก่งเหลือหลาย เหมาะสมโดยแท้ที่คู่ควรเป็นเจ้าแห่งยักษ์

หลายครั้งความเก่งไม่รู้หายไปไหนหมด โดนศัตรูแกล้ง โดนบังคับ สารพัด(อ่านแล้วให้สงสาร ดูไม่เหมือน ยักษ์ที่ผยองอยู่ในรูปด้านบนเอาเสียเลย)..... โดนแย่งผู้หญิง สู้ลิงไม่ได้ ก็ลอบมาลักเอาผู้หญิงกลับคืน โดยแปลงร่างเป็นปูลอบเข้ามา (ทำไม่ไม่แปลงร่างเป็นอะไรให้ยิ่งใหญ่กว่านั้นไม่ทราบ) ก็ถูกลิงจับได้จับทุบ จับถีบ ทึ้ง ถุยน้ำลายและฉี่รด หมดสภาพความเป็นพญายักษ์ เมื่อไม่ได้ก็ไปฟ้องฤาษี อาจารย์ตัวเองให้มาช่วยขอผู้หญิงคืนให้ตน

ครั้งหนึ่งถูกพาลีจับมัด ให้องคต(ซึ่งเกิดจากนางมณโฑกับพาลี พูดให้ชัดก็คือ ลูกที่เกิดจากสามีคนก่อนของ ภริยาทศกัณฐ์) ซึ่งยังเล็กอยู่ ลากต่างของเล่น  ก็ให้อับอายกลับไป(ที่จริงมีอีกหลายตอน แต่ตอนนี้ขอเล่าแค่นี้ก่อน รอให้ผู้อื่นมาเล่าบ้าง)
ตรงท้ายชื่อใคร มีขุนกระบี่คู่กายเป็นองคต ก็จะเห็นมีประโยคเล็กๆเล่าเท้าความแทรกอยู่ ซึ่งมาจากเหตุการณ์ตอนนี้แหละครับ

บางครั้งรู้สึกสมเพศที่ ทศกัณฐ์มักทำอะไร(ขออนุญาตใช้คำว่า)โง่ๆ... ไม่รู้จักคิด ไม่เหมาะสมกับความเป็นกษัตริย์ มองดูแล้วเหมือนเอา อำนาจไปยื่นให้กับคนโง่ รั้นและโลภ ก็ไม่ปาน

แต่ทั้งนี้เข้าใจว่าเพราะผู้แต่งต้องการสื่อถึงผู้อ่านให้เห็นภาพทศกัณฐ์อย่างนั้นเอง (ถ้าไม่ร้ายไม่เลยจะเป็นตัวร้ายได้อย่างไร)

แต่สุดท้ายผมก็อดสงสาร และเห็นใจทศกัณฐ์ไม่ได้ ในตอนที่ สั่งลาเมืองเมื่อรู้ว่าตนจะต้องตาย ตอนนี้ทศกัณฐ์ไม่ผิดกับ พระเอกในดวงใจก็ไม่ปาน ทั้งฉลาดมองการไกล(ฉลาดเอาตอนนี้) มีขัตติยมานะกษัตริย์  ความโหดร้ายที่มีมาแต่แรกไม่เหลือสักนิด ทั้งมีความอ่อนโยน( เอามากๆ) ทำเอาผู้อ่านน้ำตาซึม แทบไม่มีใครอยากให้ทศกัณฐ์ ตายไปจริงๆเลย (รายละเอียดค่อยรอ ท่านอื่นมาต่อ)

ตอนนี้เองเป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงชอบทศกัณฐ์ ไม่แพ้ ตัวละครอื่นๆ


ปล.ขอบพระคุณอาจารย์เทาชมพูที่เปิดกระทู้ให้ผมครับ
ปล.2 ผมเล่าโดยใช้ความทรงจำอันเลือนลาง ไม่ต่างจากคุณติบอ หากมีตรงไหนผิดพลาดไป ขอทุกท่านโปรดช่วยแก้ไขและบอกกล่าวด้วยครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 15 มิ.ย. 06, 01:22
 ผมเสนอทฤษฎีส่วนตัวเรื่องรามเกียรติ์ โดยได้แนวคิดมาจากลูกผม ตอนที่มัน 5 ขวบ
(ขออนุญาตหากินกะเด็กหน่อยนะครับ แหะ แหะ)
มันดูหนังเรื่องมัมมี่แล้วบอกว่าชอบมัมมี่
อ้าว...ผมงง ทำไมไม่ชอบพระเอก มันบอกพระเอกแหละ ผู้ร้าย มีอย่างที่ใหน สมบัติก็ไม่ใช่ของตัว
แย่งเขามาแล้วยังฆ่าเจ้าของเสียอีก มันจะเป็นมัมมี่ แต่จะไม่แพ้พวกพระเอก

เรื่องของเรื่องคือ มองกันคนละมุมครับ

เรื่องรามเกียรติ์นี่ มันก็ชอบทศกัณฐ์เป็นอันดับ 2 อันดับ 1 คือกุมภกรรณ เพราะชอบหอกโมขศักดิ์
เอาละซี ในเมื่อมีคนชอบผู้ร้ายได้ ทำไมผมจะเกลียดพระเอกมั่งไม่ได้
พระรามนี่ตัวดีเลยแหละ ดีแบบไม่ดีครับ
เมียรักเป็นยอดหญิง พี่แกสั่งฆ่าเฉยเลย ตอนแรกก็ระแวงก่อน จนสีดาต้องลุยไฟ คนเล่าต้องเป็นผู้ชายแหงมเลย
พอเจอเรื่องนางยักษ์อดูร ทีนี้สั่งฆ่าเลย มาตอนหลัง กะอีเด็กสองคน ถึงกับส่งทหารเอกเข้าทำร้าย โหดพอดู 55555
นี่รามเกียรติ์ฉบับรามไม่เกียรติ์นะครับ

ขออนุญาตมองวรรณกรรมนี้ ในแง่นิยาย ไม่ใช่พิธีกรรม
เป็นการตีความระดับอนุบาลของผม ซึ่งทำให้อ่านพระราชนิพนธ์ตอนจบเรื่อง ได้อีกมุมหนึ่ง

การมองสาระผ่านบุคคลิกภาพของตัวละครนั้น นัยว่าเพื่อเพิ่มมิติในการรับรู้ ไม่ทราบว่าครูไหวจะเอ็ดเอาใหมนี่


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มิ.ย. 06, 09:08
 หน้าแตก  ภาพในรูปที่ ๒ เป็นวัดแจ้งค่ะ ไม่ใช่วัดพระแก้ว ผู้เชี่ยวชาญหลังไมค์มาบอก
*******************
คุณหมูน้อยฯกับดิฉันยืนอยู่ฝั่งเดียวกัน    อ่านเรื่องรามเกียรติ์แล้วฮีโร่คือทศกัณฐ์   ไม่ยักใช่พระราม
ชอบทศกัณฐ์ค่ะ  เป็นตัวละครที่มีชีวิตจิตใจ  มีดีมีไม่ดี  จุดอ่อนจุดแข็ง  มีความน่าสมเพชและความสง่างามในตัว พร้อมไปหมด  อ่านแล้วมีชีวิตชีวา
ยักษ์ทางลงกา มีชีวิตชีวาหมดทุกตัว  ก้าวออกมาจากละคร หายใจได้มีเลือดเนื้อเห็นตัวตนชัด
ส่วนพระรามนั้นดูไม่มีชีวิตจิตใจเท่าไร    บางตอนน่ารำคาญเสียด้วยซ้ำ  ไม่มีเสน่ห์เล้ย   ถ้าเป็นนางสีดาละก็ไม่กลับหรอก อยู่ลงกาน่ะแหละ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 15 มิ.ย. 06, 12:34
 อวตารของพระวิษณุปางนี้เขาว่าเป็น the Perfect Human ครับ

ไม่รู้ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ดูแข็งๆไม่มีชีวิตจิตใจหรือไม่?

เพราะในรามเกียรติ์ ทั้งลิงทั้งยักษ์ คึกคักกันทุกตัวตน จะมีก็แต่มนุษย์อย่างพระรามพระลักษมณ์นี่แหละที่เป็นอย่างนี้

ผมกลับชอบอวตารเป็นพระกฤษณะ ในมหาภารตะมากกว่า สนุกสนานได้อารมณ์มากกว่าเยอะเลยครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 15 มิ.ย. 06, 13:12
 จะว่าพระรามดูเป็นมนุษย์ ดูไม่มีอารมณ์ ชีวิตจิตใจ ดูแข็งๆ ก็ไม่ได้ที่เดียวนักครับคุณม้าคลั่ง  

ในฉบับของไทยยุคธนบุรีและรัตนโกสินทร์ นั้น มีหลากหลายลักษณะซึ่งธรรมให้เห็นว่าพระรามก็เป็นอวตารของพระนารายณ์ ที่มีนิสัยเหมือนมนุษย์ทั่วไปอยู่ไม่น้อย (นับประสาอะไร เพราะเทพบนสวรรค์นั้นยังมีโกรธมีเกลียดมีชอบ...โกรธ ก็สาป....ชอบก็ให้พร..ประทานโน่นนี่ให้)

ดูตอนพระรามพร่ำพรรณนาถึงสีดาตอนนางหายไปคราวแรกๆ ร้องให้จะเป็นจะตาย สลบแล้วสลบอีก บางครั้งก็ไร้เหตุผลใช้อารมณ์มากกว่าวิจารณญาณ เช่นตอนสั่งประหาร สีดา ฯลฯ ดูมีหลากหลายอารมณ์ เหมือนกันนะ

แต่ผมว่าพระรามมีบทบาทน้อยและไม่เด่นเท่าหนุมาน (ผมว่าเรื่องนี้มีหนุมานเป็นพระเอก??) งานแทบทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยหนุมาน และเหล่าอาสาวานร

พูดก็พูดเถอะขอนินทาพระรามสักนิดเถอะครับ  (เฉพาะในเนื้อเรื่องนี้) พระรามเป็นใหญ่ก็จริง แต่ไม่ค่อยรู้อะไรสักเท่าไหร่เลย ไหวพริบมีไม่เท่าที่ควร เดินป่าไปทางไหนอย่างไร  ตั้งค่ายตรงไหน จองถนนยังไง แก้พิษอาวุธอย่างไร แม้แต่ฆ่าศัตรูอย่างไร ก็ล้วนเป็นเพราะคำแนะนำของ ลูกน้องที่แสนจะภักดีท้งนั้น
แต่แม้นบางที่ ลูกน้องแนะนำให้ ไม่พอใจก็ไม่ทำอีก แล้วในที่สุดก็ต้องมาตามแก้ หรือให้คนอื่นแก้ให้ภายหลัง(เรียกได้ว่าเดือดร้อนเขาไปทั่วว่างั้นเถอะ)

ปล.ตรงนี้ เป็นความเห็นของผมเองครับ ไม่มีแหล่งอ้างอิงเป็นความเห็นนักวิชาการใดๆ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 15 มิ.ย. 06, 14:15
 อืมม ให้ความเห็นกันน่าสนุกสนาน สำหรับตัวผมถ้าดูโขนแล้ว ความสง่างามของพระรามเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องใช้ประสบการณ์ในการชมสูงทีเดียวจึงจะได้รส ส่วนผมเองยังตาไม่ถึง บทบาทของพระรามสำหรับตัวผมยังออกจะไร้ชีวิตจิตใจและแห้งแล้ง อาจเป็นเพราะความต้องการเทิดทูนความเป็นเทพเจ้าก็เป็นได้ ขณะที่ยักษ์อื่นๆไม่มีลักษณะเหล่านี้ จึงเต็มไปด้วยสีสันและท่วงท่าที่โลดโผน

ผมเองก็รักทศกัณฐ์เช่นกัน เป็นตัวละครที่มีความเป็นคนมากที่สุดเลยก็ว่าได้


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 15 มิ.ย. 06, 14:50
 ผมว่าผู้แต่งคงประสงค์จะให้พระรามอยู่ในลักษณะผู้เป็นเจ้าเหนือชีวิต ไม่ว่าผิดถูกอย่างไร ก็ให้ทางข้าราชบริพาร น้อมรับไว้โดยไม่มีข้อโต้แย้งเพื่อแสดงถึงการที่จะต้องเทิดทูน ศรัทธาและเชื่อฟังอย่างมาก ต่อกษัตริย์ หรือต่อพระรามนั่นเอง

ที่น่าสังเกตุก็คือ พระรามมีมเหสีเพียงพระองค์เดียวคือนางสีดา ต่างจากกษัตริย์องค์อื่น เช่น พญากากาศ(พาลี) ทศกัณฐ์ ฯลฯ
ทั้งที่สมัยนั้นนิยมให้ตัวเอกมีภริยาหลายคน เพื่อแสดงถึงความเป็นเจ้าเสน่ห์และมีอำนาจ แต่นั่นน่าจะมีความหมายเป็น นัย อย่างอื่นนอกจากแต่งเพื่อใช้ประโลมใจเช่นวรรณคดีเรื่องอื่น

ด้วยเหตุนี้ การเป็นคนเจ้าชู้และเจ้าเสน่ห์จึงตกเป็นภาระ (ที่น่ายินดี) แก่หนุมานแทน

ใครบอกได้บ้าง? ว่าหนุมานมีภริยา(ทั้งถาวรและชั่วคราว) กี่คน...


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มิ.ย. 06, 16:01
 ทศกัณฐ์ มีคุณสมบัติบางอย่างคล้ายพระเอกในโศกนาฏกรรมของกรีก  คือเป็นตัวละครยิ่งใหญ่โดยชาติกำเนิดและความสามารถ  
แต่มีจุดอ่อนอย่างหนึ่งในนิสัย  เรียกว่า tragic flaw ที่นำไปสู่จุดจบของตัวเอง

ในที่นี้จุดอ่อนของทศกัณฐ์น่าจะเป็นความเจ้าชู้  ไม่เลือกลูกใครเมียใคร   สักแต่ว่าเห็นคนสวยถูกใจแล้วต้องเอามาครองให้ได้
จนกระทั่งกลายเป็นสาเหตุใหญ่  พาเอาญาติพี่น้องมาตายกันเสียเกือบหมดเผ่าพันธุ์

พระรามของไทยมีเมียเดียว ไม่เจ้าชู้ก็จริง แต่ดูจะรักใครไม่เป็น   แค่สงสัยว่าเมียปันใจให้ยักษ์ที่ตายไปแล้วก็สั่งประหารซะง่ายๆ   เรื่องลุยไฟแทบตายเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์เป็นอันว่าไม่เอามาคำนึงถึง
 
ส่วนทศกัณฐ์เมื่อรู้ว่านางมณโฑเมียหลวงถูกหลอก เสียท่าหนุมานไปแล้ว  ก็กลับปลอบใจ แล้วไม่ได้รังเกียจเดียดฉันท์อะไรสักนิด   คำเดียวก็ไม่ต่อว่า
ก่อนหน้านี้นางตกไปเป็นเมียพาลี ก็ไม่ได้รังเกียจ  ยังรักจริงเหมือนเดิม   ดิ้นรนหาทางเอากลับมาเชิดชูเป็นมเหสีเอกจนได้
นี่สิลูกผู้ชายใจถึงตัวจริงกระทิงแดง

จบแค่นี้ค่ะ  ไม่อยากเขียนถึงทศกัณฐ์ต่อไปอีก  เดี๋ยวอดรนทนไม่ได้จะแต่งเรื่องให้ยักษ์เป็นพระเอกเสียหรอก


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มิ.ย. 06, 16:03
 หนุมานมีภรรยาจนมีลูกด้วยกัน ๒ คนคือนางเบญกายกับนางสุพรรณมัจฉา
ส่วนที่ได้ชั่วครั้งชั่วคราว ไม่มีพันธะผูกพันกัน แบบ one -night stand มีอีกสองหรือสามคน  
ได้เพราะหลอกเขา ๑ คน  ได้เป็นของกำนัลอีก ๑  นับเป็นภรรยาหรือเปล่าก็ไม่ทราบ
รวมๆแล้วนับไม่ถูกค่ะ
ชวดรางวัลจากคุณหมูน้อยแน่ๆ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 15 มิ.ย. 06, 17:19
 เดี๋ยวก็คงมีคนเข้ามาตอบให้ถูกจนได้ละครับอาจารย์ (ดังนั้นยังไม่เฉลยล่ะนะครับ รอให้ท่านอื่นๆมีส่วนร่วมกันก่อน)

เป็นไปได้ไหมว่า ที่ผู้แต่งไม่ได้ให้พระรามมีเมียหลายคนก็เนื่องมาจากว่าพระรามเป็นอวตารของพระนารายณ์ มีชายาคือพระลักษมี ซึ่งเป็นที่เคารพด้วยกันทั้งคู่ สีดาก็คือภาคหนึ่งของพระลักษมี

หากแต่งให้ ในโลกมนุษย์ พระรามมีภริยาคนอื่นอีก ก็ไม่แคล้วเป็นการเปลี่ยนความเชื่อ ดั้งเดิมที่ว่าพระนารายณ์มีชายาองค์เดียวไป   อาจถึงขั้นที่ว่าผู้คนในยุคต่อๆ “อิน” เรื่องมากไปก็กลับมาก็ไปเชิดชู ภรรยาอีกคนของพระนารายณ์ไปด้วย ที่นี่ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่เลย  คิดสภาพ ว่าจิตรกรยุคหลังๆจะวาดภาพพระนารายณ์ประทับตรงกลางระหว่างบรรดาชายา แล้วมีพระลักษมีประทับ หน้ามุ้ย อยู่ข้างพระวรกาย

เรื่องทศกัณฐ์ นั้นขออีกหน่อยเถอะครับ ทศกัณฐ์นั้นน่าสงสารนัก  สมัยอยู่บนสวรรค์ก็เป็น (ขออนุญาตใช้คำว่า) ขี้ข้า ..เทวดามีหน้าที่ล้างเท้าให้เทวดา ให้ถูกแกล้งเป็นประจำถูกดึงผมเล่นจนหัวเถิก หัวล้าน ชอบสาวไหน ก็ไม่มีใครสนใจ  น่าสงสารเป็นที่สุด  และนี่คงเป็นเหตุให้พระเดชพระคุณท่าน พอมาเกิดใหม่มาแถมยังมีอำนาจอยู่ในมือ ก็เลยออกอาการเก็บกดนะครับผมว่า  สั่งโน่น สั่งนี่ ไม่ทันใจก็ลงโทษ หรือไม่ก็ทำเองซะเลย  เมื่ออยู่บนสวรรค์ไม่มีใครมองอยู่ บนโลก พ่อเลยฟาดให้เรียบเจอใครถูกใจ ก็ คว้ามาทำภรรยา เสียหมด  ไม่เว้นว่าจะเป็นยักษ์ มนุษย์  บ้างครั้งนึกพิเรนๆ แปลงร่างเป็น สัตว์ ไปสมสู่กับสัตว์ก็มี (นึกถึงเรื่องนางนาคี ไปเกลือกกลั้วกับงูดิน แต่จำไม่ได้ว่าเรื่องอะไร ตอนไหน ใช่เรื่องที่ตัวเอกไปแฝงกายอยู่ในร่างคางคกไหมนี่ ? ) และด้วยความเจ้าชู้ของทศกัณฐ์ก็ทำให้ตัวเองต้องพบจุดจบในตอนสุดท้ายนั้นเอง


อย่างนี้ นี่เอง เขาถึงว่ากันว่า “ เจ้าชู้ยักษ์ “!!


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: พุดซ้อน ที่ 15 มิ.ย. 06, 17:55
 ชอบกระทู้นี้จังค่ะ ทั้งสนุกและได้ความรู้ แต่คงจะร่วมแสดงความคิดเห็นไม่ได้ค่ะ เพราะยังอ่านไม่จบเลย แล้วจะแวะมาฟัง (หรือ่านกันนะ) อีกนะคะ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 15 มิ.ย. 06, 20:50

กระบี่ธุช
ของแท้และแน่นอน อยู่ที่พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ 2410 ขยายประมาณ 500 เท่าจึงจะเห็น

เซียนรามเกียรติ์มาตีความกันหน่อย แปลว่าอะไร
ท่านเป็นหนุมาน หรือหนุมานเป็นบริวารท่าน  


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 15 มิ.ย. 06, 20:53

.
หาให้ตายก็ไม่เจอกระมัง
ตอนแรก ผมปล่อยไก่ไปหมดเล้าเลย
บอกใครๆว่า เป็นพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ

จนมาขยายเจอหนุมาน
หงายเก๋งเลยครับ
ขอถือโอกาสสารภาพความเขลาของตัวไว้ณ ที่นี้ด้วย  


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 มิ.ย. 06, 01:35
 ทีนี้จะมาชักใบให้เรือเสีย 55555
ผมเชื่อว่า เรื่องรามเกียรติ์ หรือรามกีรติ หรือรามายณ
อาจจะเป็นนิยายเก่าแก่ แต่ที่มีเนื้อหาสลับซับซ้อนอย่างเรารู้จักกันนี่ เห็นจะราวๆ พ.ศ. 1700-1800 นี่เอง

ที่พม่า เรื่องนี้ไม่ฮิต พบ แต่ไม่ใช่ของใหญ่โต
ที่เขมร รูปที่เจ๋งที่สุด เป็นตอนราพณ์ยกเขาไกรลาศ (ซึ่งดูเหมือนจะสรรเสริญพระอิศวร ไม่ได้สรรเสริญนารายณ์) ฝรั่งเศสปล้นไปไว้ที่กีเมต์แล้ว เป็นหน้าบันงามเลิศ นอกนั้น เป็นลิงเด็กๆ ไม่มีชิ้นเอกเลย
ในประเทศไทย ไม่พบอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเหมือนกัน จนมาโอ่อ่าสง่างามที่พระระเบียงวัดพระแก้ว ซึ่งรัชกาลที่ 1 โปรดให้พระองค์เจ้าที่ผมจำชื่อไม่ได้แล้ว พาเจ้าฟ้ามงกุฎไปเดินเที่ยวชม ตอนสัก 4 ขวบกระมัง แล้วก้มีหนังชุดพระนครไหว ที่ถูกไฟไหม้แทบสูญสิ้นไปแล้ว

ดูเหมือนว่า ราชสำนักไทย จะเก็บเรื่องนี้ไว้บนหิ้ง มากกว่าทุกประเทศ สังเกตว่าเมื่อมีการแสดงรามายณนานาชาติ ประเทศอื่นออกแนวพื้นบ้านเสียเป็นส่วนใหญ่

ช่วยแก้ความเห็นแบบผิดๆ ของผมด้วยครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: อากง ที่ 16 มิ.ย. 06, 02:18
 พอพูดรามเกียรติ์ก็สงสัยต่อครับ ว่าคนแต่งนี่กับสุนทรภู่ผูกเรื่องให้ตัวละครบางตัวมีลักษณะหรือชื่อคล้ายกับ พระอภัยมณีหรือเปล่า

เช่น ผีเสื้อสมุทร ในรามเกียรติ์ก้มี ในพระอภัยมณีก็มี
นางเงือก ผมเคยจำได้ว่าในพระอภัยมณีชื่อว่าอะไรน้า....นึกไม่ออกจริงๆ

รบกวนไขความรู้หางอึ่งของผมหน่อยครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 มิ.ย. 06, 08:21
ในรัชกาลที่ ๒ สุนทรภู่เป็นอาลักษณ์   ทำงานคล้ายๆฝ่ายสารบรรณ มีหน้าที่คัดลอกวรรณกรรมหลวงต่างๆเก็บไว้เป็นเอกสารสำคัญ  
ก็ย่อมได้อ่านรามเกียรติ์ อิเหนา  ตลอดจนเรื่องจีนซึ่งนิยมกันมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑    ทุกเรื่อง
ตัวละครจากเรื่องต่างๆจึงมีเค้าจากเรื่องนั้นบ้างเรื่องนี้บ้างค่ะ

ในรามเกียรติ์ นางยักษ์ที่เฝ้าทะเลเป็นนายด่าน( หรือนางด่าน?) น่านน้ำของลงกาชื่อนางอากาศตะไลค่ะ    ถูกหนุมานฆ่าเสียในยกแรกที่สู้กัน
ส่วนนางผีเสื้อในพระอภัยมณี เป็นส่วนผสมระหว่างนางอากาศตะไลและกำเนิดของเห้งเจีย   คงมาจากเรื่องจีนเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่สุนทรภู่รู้จากซินแสพวกกรรมการแปลหนังสือสามก๊ก ไซ่ฮั่นและห้องสิน  

นางเงือกในรามเกียรติ์ชื่อนางสุพรรณมัจฉา   เป็นลูกสาวทศกัณฐ์เกิดจากนางปลา  ลูกสาวเลยครึ่งคนครึ่งปลา  
คุณอากงโปรดสังเกตว่าลูกสาวยักษ์จะเป็นมนุษย์สาวสวย     เกือบทุกคนยกเว้นนางสำมะนักขา  

ดีเอ็นเอของยักษ์ในรามเกียรติ์น่าสนใจศึกษามาก    ลูกชายลูกสาวแม้เกิดจากท้องแม่เดียวกันและพ่อเดียวกัน ก็เป็นคนละอย่างต่างเผ่าพันธุ์
อินทรชิตกับนางสีดาเป็นลูกเกิดจากทศกัณฐ์และนางมณโฑด้วยกันทั้งสองคน    แต่พี่ชายเป็นยักษ์  น้องสาวเป็นนางมนุษย์สวยยิ่งกว่านางฟ้า


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: นิรันดร์ ที่ 16 มิ.ย. 06, 11:13
 ผมแปลกใจว่า ภิเภก รอบรู้สารพัด
ทำไม ไม่บอกพี่ชายว่า สีดา คนที่กำลังเป็นต้นเหตุของเรื่องทั้งปวงนี้ ที่แท้ก็เป็นลูกสาวทศกัญฐ์
ปล่อยให้พี่น้องพากันล้มตายเป็นเบือแบบนี้
ทำไม ไม่มีใครสงสัยกันบ้างว่า เบญจกาย ทำไมถึงได้เหมือน สีดา นักหนา
หรือแต่วิธีสาวไส้ให้กากิน

ผมว่า ยักษ์ ไม่น่าจะน่าเกลียด ครับ
นอกจากรูปวาดที่ทำให้คนคิดไปอย่างนั้น
อินทรชิต แปลงร่างเป็นพระอินทร์ ก็เหมือนเสียจนไม่มีใครคาดถูก
ตอนทศกัณฐ์ออกรบ ก็งดงามเสียจนกองทัพพระรามทั้งกองทัพ งงกันไปพักใหญ่


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: ลำดวนเอ๋ยพี่จะด่วนไปก่อนแล้ว ที่ 16 มิ.ย. 06, 12:12
 จำได้ว่า เรื่องรามเกียรติ ตอนนนทุกก่อนโดนพระนารายณ์ประหาร ได้ทูลประชดว่าตนแพ้ เพราะว่าตนมีสองมือ แต่พระนารายณ์ มี 4 กร ถึงชนะ พระรามเลยสาป ให้ไปเกิดเป็นพญายักษ์ 10 หน้า 20 มือ และพระองค์จะอวตารเป็นมนุษย์ 2 มือ เดินดินตามไปล้างวงศ์มารให้สิ้นไป แต่ไนสุดท้าย ของเรื่องพระรามหรือพระนารายณ์อวตาร กลับปล่อยให้ นางสีดา ซึ่งเป็นลูกสาวแท้ของพระยาทศพักตร์ยักษา ยังมีชีวิตรอดอยู่ได้หว่า


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 16 มิ.ย. 06, 13:16
 อืมม รามเกียรติ์ไทยคงได้แบบอย่างมาจากเขมรเหมือนกัน แต่ที่คุณ Pipat ว่ามานั้นเป็นหน้าบันศิลปะบันทายสรี ราวๆพศ 1650-1700 ซึ่งอยู่ก่อนหน้าไวษณพนิกายจะเจริญรุ่งเรือง (ในสมัยนครวัด) ซึ่งตอนนั้นแม้ว่าจะสลักภาพรามายณแต่ก็ให้ความสำคัญกับพระอิศวร แต่ต่อมาสมัยนครวัดลงมาแล้ว แม้ว่าจะไม่มีของชิ้นเอกอย่างที่กีเมต์ แต่ก็มีภาพรามายณะหลายต่อหลายที่ทีเดียว

ส่วนหลักฐานแรกๆในเขมรเกี่ยวกับรามายณะผมว่าน่าจะเป็นภาพบุคคลถือศร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13


อืม......ที่แท้เบญจกายก็เป็นลูกพี่ลูกน้องกับสีดานี่เองถึงได้งามได้จนลุงหลง


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 16 มิ.ย. 06, 16:10
 "..ทำไม ไม่มีใครสงสัยกันบ้างว่า เบญจกาย ทำไมถึงได้เหมือน สีดา นักหนา......"

ผมว่าไม่มีตอนไหน ที่บอกว่า เบญจกาย หน้าตาเหมือนสีดา สักตอนเลย  เว้นแต่ตอนที่นางถูกแปลงร่างให้คล้าย นางสีดา แล้วแกล้งตายลอยน้ำไปเพื่อหลอกทัพพระราม  หากว่ากอนแปลงร่างนางเหมือนสีดาจริง ก็คงไม่ต้องแปลงกายกันให้วุ่นวาย

ที่ลุงของเธอหลงก็หลงในตอนนี้แหละ ว่ากันว่า พ่อสิบเศียรแกตะลึงแลเสียจนตาค้าง เสียจริต แทบจะโดดกอด หลานตัวเองเลยเชียว
(อย่างนี้เขาเรียกว่าอาการหน้ามืดใช่ไหมนี่...?)

ปล. ไหงหน้าจอผมเป็นอย่างนี้ล่ะครับนี่ ? โหลดยาก มองไม่เห็นรูปภาพใดเลย นอกจากข้อความที่โพส ของท่านอื่นเป็นอย่างนี้ไหม ? เดี๋ยวผมรอให้คอมพ์มัน "สบายดี" ก่อนแล้วจะรีบแวะเข้ามาใหม่ กำลังวิเคราะห์กันสนุกเชียว


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 16 มิ.ย. 06, 18:48
 อ่านความเห็นของคุณลำดวนฯแล้วถึงกับอึ้งเลยครับ ด้วยว่าไม่ได้นึกถึงข้อเท็จจริงตรงนี้มาก่อน
(อ่านปุ๊บความคิดแรกคิดว่า  เออ...จริงสินะ)

รู้นะรู้มาก่อนว่ามีการสาปมาให้เป็นแบบนั้น และพระนารายณ์ก็รับสั่งอย่างนั้นจริง แต่ก็ลืมนึกไปว่าวงศาคณายักษ์ ของทศกัณฐ์ ยังเหลืออีก หลายตน ทศพินก็หนึ่งล่ะ(แต่มาถูกฆ่าทีหลัง) ภิเภกก็หนึ่งล่ะ ไหนจะสีดาอีก ไม่ตรงกับที่รับสั่งไว้



ส่วนบรรดาเชื้อพงศ์วงศายักษ์ ในเรื่องนี้จะเห็นสืบเชื้อสายมาจาก พรหมเหมือนกันกับมนุษย์  ในเรื่อง แม้จะให้ยักษ์เป็นตัวแทนของความชั่วร้าย แต่ก็ปรากฎว่ามีเมืองยักษ์ อยู่กระจัดกระจาย ทั่วทวีป เหมือนเมืองของเหล่ามนุษย์ และเหล่าวานร

ดังนั้นอาจสรุปได้ไหมว่า โลกในวรรณคดีนั้นมีสิ่งที่(สมมุติ)เป็นสัตว์ประเสริฐอยู่หลายเผ่าพันธุ์ ทุกเผ่าพันธ์อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขมาก่อน ไม่ปรากฎว่ามีการพยายามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รุกราน หรือเกรงกลัวกัน อย่างที่คิด เช่นเป็นลิงตัวกระจ้อยแต่กลับไม่กลัวยักษ์หรือมนุษย์เลย(ไม่นับพญาวานรนะครับ)


นอกจากนี้ยังมี เมืองนาคอีก สัตว์ที่รู้ภาษาก็มีเยอะ เช่นปลาหอยกุ้งสัตว์น้ำ ตอน นางสุพรรณมัจฉาสั่งให้ไปขัดขวางการจองถนนของเหล่าทัพลิง  , บรรดากาสร พรรคพวกทรพา ฯลฯ (อาจถือได้ไหมว่าเป็นเผ่าพันธุ์อีกเผ่าหนึ่ง)


ที่อาจจะ(นับหรือ)ไม่นับว่าเป็นสัตว์ก็มี เช่น นกสะดายุและสำพาที  ที่เป็นเพื่อนกับท้าวทศรถ พระบิดาของพระราม ฯลฯ

ที่เจอโดยบังเอิญ ไม่แน่ว่าจะมีบ้านเมืองอยู่หรือเปล่าก็เช่น คนธรรม์

ตอนนั้น โลกอาจอยู่กันด้วยความสงบสุข ทุกเผ่าพันธุ์อยู่กันอย่างสันติ (ฟังแล้วดูดีจัง) มีการรบรากันบ้างเพียงประปราย เท่าที่จำเป็นเมื่อ    มีการผิดใจกัน หรือ มีความโลภ ความกำเริบ อวดฤทธิ์ กัน เช่น คราวท้าวทศรถรบกับ ปทูตทันต์ , คราว รามสูรกับเมขรา , คราวศึกทรพี



ทีใหญ่โตจนลามไปหลายเมืองก็มีศึกทศกัณฐ์และวงศ์วานนี่แหละ

ด้วยเหตุน้ำผึ้งหยดเดียวโดยแท้.....เฮ้อ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 16 มิ.ย. 06, 19:19
 มาคิดดูอีกที ที่ว่าทำไมภิเภกไม่บอกทศกัณฐ์ไปเลยเรื่องนางสีดาเป็นลูก
ผมว่าภิเภกแม้จะมีความรู้มากมาย แต่ก็ใช่จะรู้ไปเสียทุกเรื่อง

ภิเภกเป็นเพียงโหร( ยักษ์อะไรก็ไม่รู้เกิดมาพร้อมกับกระดานชนวน ..แต่ก็ไม่แปลกถ้าเทียบการการเกิดของหนุมาน และตัวละคอนอื่นๆ) ไม่ใช่ผู้วิเศษ จึงทำนายเท่าที่จำเป็น หรือมีโอกาส หรือเกิดสงสัยอะไรขึ้นมาเท่านั้น เป็นใครจะไปคิดว่าผู้หญิงที่พี่ชายจะนำมาเป็นเมียจะเป็นลูกของพี่ชายคนนั้นเอง



ถ้ารู้ขนาดนั้นก็น่าจะทำนาย อนาคตของตัวเองเสียก่อนว่าต่อไปนี้ในเวลาอันใกล้ จะถูกพี่ชายขับออกจากเมือง !!

อีกอย่างหากเป็นไปได้ ฟ้าดินก็อาจดล ให้โหรภิเภก ไม่ได้เอะใจทำนายหรือบอกพี่ชายไป เหตุผลง่ายๆก็คือ ถ้าบอกไป เหตุการณ์อาจไม่เป็นไปตามคำสาปพระนารายณ์ ที่จะอวตารมาเพื่อ ผลาญ ราพณ์ โดยเฉพาะนะสิครั บ บ!!


แต่ถ้าผมเป็นทศกัณฐ์นะ ถึงผมรู้แล้วว่านางสีดาเป็นลูกล่ะก็..ผมก็ไม่คืนหร๊อกกก .. ลูกสาวสวยๆอย่างนี้ผมหวงแย่...


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 16 มิ.ย. 06, 19:33
 อ่านข้อสันนิษฐานของแต่ละท่านไปเสียมากมายจนตาเริ่มแฉะ เห็นด้วยบ้างไม่เห็นด้วยบ้าง แต่ไม่ขอแสดงความคิดเห็นดีกว่า
สำหรับผม หลายเรื่องในรามเกียรติ์ ที่พอเอามานั่งวิเคราะห์แล้ว ขัดกับนั่นมั่งนี่มั่งจนคนปัจจุบันปวดหัวไปหมดนี่
ผมถือว่าเกิดขึ้นจากความเก่งกาจของผู้รจนาเสีย 7 ส่วน และความศรัทธาแอบแฝงอีกซัก 2 ส่วนครึ่ง กับความเผลอใจอีก ครึ่งส่วน
เหมือนที่ชาวบ้านเขาติดละครกันไปทั่วเมืองล่ะครับ ลองใครไปเดินตลาดแล้วพูดสิว่า "หนังเรื่องนั้นเรื่องนี้งี่เง่า"
"ไม่ได้ดู 3 อาทิตย์ยังต่อกันได้" หรือ "ทำไมนางเอกแค่เดินออกจากห้องต่างหูก็เปลี่ยนคู่ได้"
ขี้คร้านจะหลบเปลือกทุเรียนที่แม่ค้าเตรียมไว้ให้นางร้ายไม่ทันล่ะครับ หิหิ





ปล. ผมขอไม่แสดงความเห็นส่วนตัวกับรามเกียรติ์ดีกว่า เดี๋ยวจะกลายเป็นการขัดอารมณ์สมาชิกหลายๆท่านไป

แต่พูดก็พูดนิดเถอะ ทศกัณฑ์ กับหนุมานเนี่ยะ มีอะไรหลายอย่างเหมือนกันนะครับ
แต่ตัวนึงเป็นพระเอ๊กกกกกพระเอก อีกตัวก็ ผู้ร๊ายยยยผู้ร้าย ทำไมคนเขียนบทใจร้ายจังเรยยยยย หิหิ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 16 มิ.ย. 06, 20:51
 เชิญมาออกความคิดเห็นด้วยกันเถอะครับคุณติบอ


จะเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ไม่เกี่ยว !!

วรรณคดีเรื่องนี้ นับว่าเป็นวรรณคดีที่มีอรรถรส และเป็นเรื่องยาวที่สุดเท่าที่มีมาของประวัติศาสตร์ชาติไทย  รสที่ว่านั้น อาจหวานบ้างขมบ้าง จะจืด จะเค็มบ้าง มันก็มีมาแต่โบราณกาล  ....   ท่านอาจชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง ชอบมาก ชอบน้อย ก็สุดแล้วแต่
แต่เขานิยมนำมาเล่า มาเขียน มาเล่นละคอน กันตั้งแต่สมัยก่อนปู่ ก่อนย่าเกิด เสียอีก แสดงว่ามันก็ต้องมีคนชอบบ้าง หากไม่มีใครชอบเอาเสียเลย ป่านนี้ มันคงไม่เหลือ รอดมาให้เราๆท่านๆ ออก หรือ ไม่ออกความเห็นหรอก !!


กระทู้นี้ท่านอาจารย์ได้กรุณาเปิดไว้ตามเทียบเชิญของคุณพิพัฒน์ และกระทู้นี้มีไว้เพื่อเสวนาเรื่องรามเกียรติ์  หากไม่มีความเห็น , ไม่ออกความเห็น เกี่ยวกับรามเกียรติ์ ก็ไม่ต้องโพสมาว่า " ขอไม่ออกความเห็น อย่างนั้นอย่างนี้" ไม่ต้องโพสอืออา บ้าใบ้ ให้เปลืองเสียเนื้อที่กระทู้  !!

ผู้ที่อ่านหรือเข้ามาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่งวรรณกรรมโบราณเช่นรามเกียรติ์นั้น โดยมากมักเป็นผู้ที่มี วัยวุฒิ , มีวุฒิภาวะ และปัญญาชน (ผมนั้นระดับกรรมาชีพ..ไม่นับ!!) หากโพสเรื่องปวดหัวไม่ขอ ออกความเห็น , ละครน้ำเน่า พระเอกผู้ร้าย ที่ว่านั้นเห็นท่าว่าจะไม่ควรแทรกเข้ามากลางวง


ผมว่ามีกระทู้ที่เหมาะสมคุยเรื่องอื่น ละคร หรือ โพส เออ..อา..อยู่ที่ " กระทู้ถามเรื่องงี่เง่าฯ" โน่นไงครับ

ตอนนี้ได้เริ่มคุยกับอาจารย์ฯและท่านอื่นเรื่อง " สิ่ง" ที่จะนำมาลงแนบไว้ข้างๆชื่อของท่าน แทนเหล่าลิงไทย และเทพฝรั่ง แล้ว อดทนอีกนิดเดียวครับ ขอพวกเราได้ช่วยออกความเห็นกันก่อน (อย่าพึ่งรำคาญ) แล้วคุณจะได้ดังประสงค์คือไม่ต้องเป็น"ลิงหยิ่ง" อีก!!


ปล.ว่าแต่จะไม่ออกความเห็นจริงๆรึครับ ก็คุณติบอเองไม่ใช่รึ ที่ยกมือสนับสนุน พวกเราให้ตั้งกระทู้นี้ขึ้นมาน่ะ



"...ผมเอง อ่านรามเกียรติ์ไม่แตก เรื่องราวจะเป็นอย่างไรก็จำได้ไม่ครบถ้วนเสียแล้ว............
.... ต้องขอบพระคุณ คุณหมูน้อยในกะลามากครับ ที่ช่วยกระตุ้นความทรงจำเก่าๆของผมให้มีสีขึ้นมาได้
เห็นทีคราวนี้ผมคงต้องขออนุญาตออกเสียงให้คุณหมูน้อยฯ เปิดกระทู้ใหม่ซักกระทู้จะเป็นไรไปล่ะครับ
จริงมั้ยครับ คุณเฟื่องแก้ว

โดย: ติบอ  [IP: hidden]  
วันที่ 14 มิ.ย. 2549 - 22:25:04  "


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 มิ.ย. 06, 22:47
 ทศาวตาร มาถึงบ้านเรากลายเป็น นารายณ์สิบปาง

อาจจะเป็นด้วยเรื่องความเชื่อบางประการที่ขัดกันจึงมีการดัดแปลงบางส่วน

นารายณ์สิบปางของเรามีดังนี้
ปางที่ ๑ วราหาวตาร (อวตารเป็นหมูเผือกมีเขี้ยวเพชร)
ปางที่ ๒ กูรมาวตาร (อวตารเป็นเต่าทอง)
ปางที่ ๓ มัตสยาอวตาร (อวตารเป็นปลากรายทอง)
ปางที่ ๔ นรสิงหาวตาร (อวตารเป็นครึ่งสิงห์)
ปางที่ ๕ วามนาวตาร หรือ ทวิชาวตาร (อวตารเป็นพราหมณ์เตี้ย)
ปางที่ ๖ มหิงสาวตาร (อวตารเป็นมหิงสา หรือควาย)
ปางที่ ๗ อัปสราวตาร (อวตารเป็นนางฟ้า)
ปางที่ ๘ รามาวตาร (อวตารเป็นมนุษย์ชื่อพระราม)
ปางที่ ๙ กฤษณาวตาร (อวตารเป็นพระกฤษณะ)
ปางที่ ๑๐ กัลกยาวตาร (อวตารเป็นมนุษย์เรียกว่า วีรบุรุษขี่ม้าขาว)

ส่วนต้นฉบับทศาวตาร(Dasavatar หรือ Dasaavataaram) เป็นดังนี้

1.Matsyavatara (fish)
2.Koorma (tortoise)
3.Varaaha (boar)
4.Narasimha (the man lion)
5.Vaamana (the dwarf)
6.Parasurama (the angry man)
7.Rama (the perfect human)
8.Balarama and
9.Krishna (the divine statesman)
10.Kalki

บางตำราจะว่า Krishna เป็นอวตารที่ 8 โดยมี อวตารที่ 9 เป็น Buddha พระพุทธเจ้าของชาวพุทธ

ผมเดาว่าตำรับที่ไทยเรารับมาจะเป็นแบบหลังนี่แหละ คือมีพระพุทธเจ้าเป็นอวตารที่ 9 จึงมีการดัดแปลงตัดทิ้งไปเติมอัปสราวตารแทรกลงเป็นอวตารที่ 7

บางทีจะอ่านรามเกียรติ์ให้สนุกอาจจะต้องไปดูรามายณะเทียบกันอย่างละเอียด จะได้เห็นว่าตรงไหนที่เป็นแบบไทยๆ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 มิ.ย. 06, 10:36
 จำได้กระท่อนกระแท่นว่ารามเกียรติ์ที่ไทยได้มา น่าจะใช้ฉบับสิงหล เป็นหลักค่ะ   อาจจะมีในเล่มอื่นปนมาบ้าง  
แล้วมาปรุงรสแบบไทยๆ  

หนุมานชาญสมรก็เลยเป็นพระเอกแบบไทย ค่อนไปทางขุนแผน คือเห็นสาวสวย เป็นไม่ได้  ต้องฟัน
ฟันแล้วก็แล้วกัน   ไม่ได้สนใจจะรับผิดชอบ   ต่างคนต่างแยกกันไปแบบตัวใครตัวมัน
อย่างนางสุพรรณมัจฉาก็ดูเหมือนไม่ได้เจอหนุมานอีกเลย จนมีลูกไม่มีพ่อ ชื่อมัจฉานุ   ต้องมาทิ้งไว้ที่ชายหาด ตามบุญตามกรรม ถ้าเป็นยุคนี้คงได้ลงข่าวหน้า ๑  แม่ใจยักษ์ทิ้งทารก....ฯลฯ
แล้วนางก็หายไปจากฉาก ไม่มาให้เห็นจนจบเรื่อง

แต่จะว่าไปรสนี้ก็เหมือนของหวานเสิฟในสำรับอาหาร   กินแต่ของคาว เผ็ด เค็ม เปรี้ยวมาแล้ว  ถ้าไม่มีของหวานก็จะไม่ครบรสน่ะสิคะ
ปกติบทเกี้ยวพาราศีที่นำไปสู่บทอัศจรรย์มักถูกผูกขาดตอนสำคัญๆไปโดยพระเอก    พระรองมีบ้างแต่น้อย อย่างในเรื่องอิเหนา ระเด่มนตรีก็มีบทเข้าห้องเสียนับไม่ถ้วน  เหลือให้สังคามาระตาพระรองนิดหน่อย

แต่ว่าพระรามถูกจำกัดสิทธิ์กระดิกกระเดี้ยไม่ได้ เพราะเป็นพระนารายณ์อวตารผู้ศักดิ์สิทธิ์และยิ่งใหญ่อย่างหนึ่ง   อีกอย่างคือบอกว่ามาตามเมีย  ด้วยความยากลำบากกว่าจะได้กลับไปเมือง
จะมัวไปเล่นบทกับนางอื่นๆ  เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าเรื่องตามนางสีดาก็ทำไปงั้นๆ เป็นงานในหน้าที่ที่ทำอย่างเสียไม่ได้  
เสียเกียรติพระรามหมด
หนุมานจึงต้องโดดเข้ามารับบทพระเอกเสียเอง   สวมหัวใจชายไทยแบบขุนแผนด้วยประการฉะนี้


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: นิรันดร์ ที่ 19 มิ.ย. 06, 12:08
 การที่ทศกัณฐ์แพ้ ก็แพ้ตั้งแต่เกิดแล้ว เพราะถูกสาปให้เกิดมาเพื่อแพ้แท้ ๆ

พระรามสังหารยักษ์เสียหมด ก็เรียกว่าใช้ขีปนาวุธพิสัยไกล อำนาจทำลายล้างมหาศาล ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สงสัยจะเป็นอาวุธชีวภาพที่มุ่งทำลายผู้มี DNA ยักษ์โดยเฉพาะ
สมควรที่สหประชาชาติจะลงโทษ
สีดา รอดจากการล้างเผ่าพันธุ์ได้ อาจเพราะยีนกบ(หรือคางคก)อาจจะแรงกว่าของยักษ์ก็ได้    


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: นิรันดร์ ที่ 19 มิ.ย. 06, 12:19
 ใครได้อ่าน ดุจดั่งอวตาร บ้าง
เป็นรามเกียรติอีกมุมมองหนึ่งที่ว่า
พระราม ทศกัณฐ์ ฯลฯ
เป็นพวกมนุษย์ต่างดาว มียานต้านแรงโน้มถ่วงและอาวุธพิศดารใช้
เป็นหนังสือแปล
ผมอ่านเมื่อสักสามสิบปีก่อน(ถ้าจำไม่ผิด)
คาดว่า น่าจะยังพอหาอ่านได้ เพราะมีการจัดพิมพ์ขึ้นมาใหม่
อยู่ในกลุ่ม Sci-Fi
ถ้าพบว่าขายที่ไหน จะเอามาบอกให้ไปหามาอ่านกันครับ    


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 19 มิ.ย. 06, 13:48
 อ่านครับ เรื่องนั้นมาจาก Rendezvous with Rama ของ Arthur C. Clark ครับอาจารย์

อีตาคล้ากแกเป็นปรมาจารย์นักเขียนไซ-ไฟคนหนึ่ง ตัวแกเป็นฝรั่งแต่หลงเสน่ห์เกาะลังกา ก็เลยย้ายไปตั้งรกรากอยู่ที่ศรีลังกาหลายสิบปีแล้ว ดังนั้นผมสงสัยว่ารามายณะฉบับที่แกเอาไปเขียนเป็นนิยายสงครามอวกาศ อาจจะได้อิทธิพลฉบับสิงหลบ้างรึเปล่านะครับ

เท่าที่ทราบ บางท้องถิ่นในศรีลังกายังมีพิธีบูชาสมโภชทศกัณฐ์เป็นเทศกาลของเขาอยู่จนเดี๋ยวนี้ แต่ผมไม่ทราบรายละเอียด คิดดูก็ไม่แปลก สำหรับคนอื่นทั้งโลกทศกัณฐ์อาจเป็นผู้ร้าย แต่สำหรับคนกรุงลงกา จะมองทศกัณฐ์เจ้ากรุงลงกาว่าเป็นพระเอกและวีรบุรุษคู่เมืองผู้ต่อสู่กับผู้รุกราน (พระราม) จนตัวตาย ก็คงไม่ประหลาดอะไร แล้วแต่มุมมอง


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 19 มิ.ย. 06, 14:00
 เคยอ่านครับอ.นิรันดร์ ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าพิมพ์เมื่ไหร่ แต่ผมอ่านราวปี 2528-2529ก็ราวๆ 20 ปีที่แล้ว

ไม่นานนี้เห็น Provision เอามาจัดพิมพ์ใหม่(หลังชุด the Foundation ที่จัดพิมพ์ใหม่ พร้อมกับแปลภาคต่อโดย "fyta" อ.ยรรยง เต็งอำนวย) น่าเสียดายที่ยอดขายคงจะไม่ค่อยดี เขาเลยหยุดแปลภาคต่อของหนังสือเล่มนี้ (อีก 3 เล่ม)

เนื้อหาทั้งหมดเป็นอย่างไรไม่ทราบ แต่อ่านจากเล่มแรก"ดุจดั่งอวตาร"ยังไม่มีวี่แววของพระรามกับทศกัณฐ์เลยครับ (หรือจินตนาการผมไปไม่ถึงเอง แหะๆ) ยิ่งคิดยิ่งอยากอ่านภาคต่อ ไม่รู้ภาคภาษาอังกฤษยังหาซื้อได้หรือเปล่านะครับ

ปล. Clarke ครับท่านพี่ นกข. ตก e ไปตัวนึง


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: นิรันดร์ ที่ 20 มิ.ย. 06, 12:26
 ผมเองก็ชอบรามเกียรติมาก แล้วก็เป็นนิทานตอนเช้า เล่าให้ลูกฟังตอนนั่งไปด้วยกันในรถ
ลูก ๆ ก็ชอบ เช้าขึ้นก็รบเร้าให้เล่าต่อทุกเช้า

ดุจดั่งอวตารเป็นเรื่องของพระรามกับทศกัณฐ์ในมุมมองที่แปลกออกไปถึงความเป็นไปได้ในทางวิทยาศาสตร์(แบบนิยายวิทย์)ครับ

เช่นเรื่องบุษบก ก็เป็นยานที่ต้านแรงโน้มถ่วง
ศรราม ก็เป็นขีปนาวุธ
พวกนี้มีอายุหลายหมื่นปีเพราะสามารถเดินทางข้ามกาลเวลาได้
ผมอ่านนานมากแล้ว หนังสือก็ไม่รู้ว่าหายไปไหนแล้ว
อาจต้องไปหามาอ่านใหม่อีกสักรอบ  

ผมค่อนข้างเห็นใจทศกัณฑ์ที่เป็นเจ้าของแผ่นดินที่ถูกไล่ตกทะเลลงไปอยู่เกาะแล้วยังถูกตามไป"ผลาญราพณ์"อีก
แต่ฉงนใจกวีที่ทำไมจะต้องผูกเรื่องให้พ่ออยากได้ลูกเป็นเมียด้วย

อ่านเรื่องนี้แล้ว ทำให้คิดว่าคนที่ผูกเรื่องขึ้นมา น่าจะมีความคิดเรื่องการผสมข้ามสายพันธุ์
ไม่แน่ คนสมัยก่อน อาจมีเทคโนโลยีด้านการตัดต่อรหัสพันธุกรรมก็ได้    


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: HotChoc ที่ 20 มิ.ย. 06, 12:29
 แล้วที่ว่ารามเกียรติ์คืิอนิยายอิงประวัติศาสตร์การรุกรานของเผ่าอารยันเขาไปยังอินเดีย ขับไล่เผ่าดราวิเดียนลงใต้นั้นถูกต้องแค่ไหนครับ ถ้าเป็นเช่นนั้นเผ่าลิงนี่คือพวกไหน แล้วลงกากับศรีลังกาก็คือที่เดียวกันเลยหรือครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: Japonica ที่ 20 มิ.ย. 06, 16:05
 นึกได้ว่าเปิดเรื่องรามเกียรติ์ทั้งที แต่ยังไม่ได้มีบท "พากย์สามตระเบิกหน้าพระ" ซึ่งเป็นคำนมัสการ
เพื่อขอสวัสดิมงคลเลยครับ

พากย์ส่งเสียงให้ล้ำเลิด...........ทั้งคนเชิดให้เพริดเพรา
เล่นล้วนแต่ชาวเรา.................ให้สรรเสริญเยินยอ
ตัดไม้มาสี่ลำ........................ปักทำขึ้นเป็นจอ
สี่มุมแดงยอ.........................กลางก็ดาดด้วยผ้าขาว
วาดรูปพระอิศวรรายดาว..........เทียบรถบนกลางหาว
อาทิตย์ก็เลื่อนอยู่เห็นแสง

ลงการาษสสำแดง.................อยุธยากล้าแซง
จะเล่นให้ท่านทั้งหลายดู
ชัยศรีโขนทวาร.....................เบิกบานประตู
ฆ้องกลองตะโพนครู...............ดูเล่นให้สุขสำราญ
หนังเราใช่ชั่วช้าสามานย์.........เล่นมาแต่ก่อนกาล
บ่อห่อนจะมีใครไยไพ
ขอกันสารพัด........................อุบาทย์เสนียดแลจัญไร
ไว้แก่ผู้ไยไพ........................ติหนังที่ดีว่าบ่มิงาม
ข้าขอคุณพระลักษณม์พระราม  เทพเจ้าผู้ทรงนาม
สถิตอยู่ทั่วทุกตัวหนัง


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 20 มิ.ย. 06, 16:50
 ได้บรรยากาศเหมือนกำลังนั่งดูหนังใหญ่เชิดเรื่องพระรามา

...เบื้องซ้ายข้าจะไหว้ทศกัณฐ์
เบื้องขวาอภิวันท์
สมเด็จพระรามจักรี...

ขอติงนิดเดียวครับ ตามที่ผมจำได้ "ลงการากษสสำแดง อยุธยากล้า*แข็ง* จะเล่นให้ท่านทั้งหลายดู" นะครับ

ถ้ากล้าแซง จะกลายเป็นแข่งรถซิ่งไป

จำได้ว่า คำว่า แข็ง เขียนตามที่เราเขียนขณะนี้ สมัยหนึ่งเคยเขียนว่า แขง และบางทีก็เห็นเขียนโดยใช้ ข.ขวด (ตหัวแตกด้วย) อาจจะดูคล้ายๆ ซ.โซ่ ครับ

ขอเชิญว่าบทพากย์ต่อครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 20 มิ.ย. 06, 17:00
 ขอสวัสดิมงคลตอนต้นไปแล้ว ทำให้ผมนึกถึงคำปรารภตอนจบเรื่องในพระราชนิพนธ์ แต่ไม่ได้จะชวนให้เลิกคุยนะครับ เพียงแต่อยากเอามาลงคู่กันว่า หลังจากท่านเล่าเรื่องรามเกียรติ์มาจนตลอดเรื่องจบแล้ว ก็ทรงลงท้ายเป็น "คำตาม" (ม่ใช่คำนำ) ไว้ ตามที่ผมจำได้กระท่อนกระแท่น ผิดตรงไหนโปรดช่วยแก้ด้วย ว่า

...อันพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์
ทรงเพียรตามเรื่องนิยายไสย
ใช่จะเป็นแก่นสารสิ่งใด
ตั้งพระทัยสมโภชบูชา
ใครฟังอย่าได้ใหลหลง
จงปลงอนิจจังสังขาร์
ซึ่งอักษรกลอนกล่าวกำหนดมา
โดยราชปรีดาก็บริบูรณ์ฯ

ซึ่ง เมื่อผมอ่านแล้วก็รำพึงขึ้นมาในใจว่า ในหลวงของไทยพระองค์ที่ทรงให้มีการแต่งพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ ตามเรื่องนิยายฮินดูรามายณะ (ซึ่งทรงเรียกว่า "นิยายไสย" ไสย หรืลัทธิไสย บางทีแปลว่าความเชื่อทางพราหมณ์ก็ได้) นี้ ได้ทรงแสดงพระองค์หรือประกาศมานิเฟสโต้ไว้ชัดเจนท้ายเรื่อง ว่า ทรงเป็นพุทธ มิได้เป็นพราหมณ์ ถึงจะชอบฟังนิทานฮินดูก็เถิด


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 20 มิ.ย. 06, 17:08
 ต้นฉบับรามายณะกระแสหลักไม่ปรากฏเรื่องที่ว่าสีดาเป็นลูกของราพณ์นะครับ

แต่มีกระแสรองบางฉบับที่ว่าอย่างนี้ เข้าใจว่าไทยได้รับเอาฉบับนี้มาแหละครับ นางสีดาจึงเป็นลูกของทศกัณฐ์

ผมคุ้นๆเหมือนเคยอ่านในศิลปวัฒนธรรมบางเล่มที่ลงความเห็นว่าเรื่องสีดาเป็นลูกทศกัณฐ์นี่เป็นเรื่องที่ไทยแต่งเติมเอง ก็คงจะเป็นเพราะว่าไม่ทราบเรื่องตำนานกระแสรองพวกนี้นี่แหละครับ

ส่วนเรื่องรามายณธเป็นตำนานการขับไล่ดราวิเดียนโดยพวกอารยันนั้นคิดว่ามีมูลอย่างมากครับ ทุกวันนี้พวกทมิฬในศรีลังกายังมีปัญหาเรื่องการแบ่งแยกอยู่เลยครับ ส่วนพวกลิง เข้าใจว่าเป็นชนพื้นเมืองที่มีผิดไม่คล้ำเท่าพวกดราวิเดียน ออกไปทางเหลืองๆ และรูปร่างเล็กกว่า อย่างพวกทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียปัจจุบันครับ

ผู้ชนะเป็นเทวดาจำแลง พวกแพ้เป็นยักษ์ คนช่วยรบได้รับเกียรติเป็นลิง

ให้มันได้อย่างนี้สิท่าน!


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มิ.ย. 06, 18:37
 ตำราที่ดิฉันเรียนมาก็เป็นเรื่องการแผ่อำนาจของอารยันเหมือนกันค่ะ
ต่างกันหน่อย ว่า พระรามเป็นอารยัน   ทศกัณฐ์คือพวกทมิฬหรือสิงหล
ส่วนพลลิงนั้นคือดราวิเดียน   หรือฑราวิท

เรื่องนี้โยงไปถึงหินโสโครกที่เรียกว่าถนนพระราม ทางใต้ของอินเดีย    ไม่ทราบว่าเป็นตำนานเกิดขึ้นภายหลังหรือเปล่า แต่เรื่องรามายระคงแพร่หลายไปถึงที่นั่นแล้วในตอนนั้น

ตำนานของเฮเลนแห่งทรอยกับนางสีดา มีอะไรคล้ายคลึงกันอยู่    อาจเป็นการแพร่ของตำนานที่ข้ามจากกรีกไปจนถึงอินเดีย


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 21 มิ.ย. 06, 21:16
 เคยได้ยินว่าที่อินเดียใต้ยังบูชาทศกัณฐ์อยู่เลย และออกจะเคืองๆที่ส่วนอื่นๆมีประเพณีเผารูปทศกัณฐ์ เลยประกาศออกมาว่าถ้ายังเผาอยู่จะเผารูปพระรามบ้าง


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: Japonica ที่ 22 มิ.ย. 06, 03:47
 อ่านพบ ตลกดีครับ
ในสมัย ร. 4 มีการเก็บภาษีโขนด้วย มีขุนสมัชชาธิกร เป็นเจ้าภาษีละคร
รับผูกภาษีมหรสพ ซึ่งในสมัยนั้นก็มีแต่ โขน/ละคร ครับ

ละครโรงใหญ่ เล่นเรื่อง
รามเกียรติ์ 1 วัน 1 คืน ภาษี 20 บาท
อิเหนา........................... 16 บาท
อุณรุท........................... 12 บาท
ละครสามัญเล่นงานปลีก......2  บาท


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 22 มิ.ย. 06, 10:00
 แพงเอาเรื่องเหมือนกันนะครับ คุณ Japonica คืนหนึ่งตั้งยี่สิบบาท แล้วตอนนี้ยังมีเก็บไหมครับ คิดว่าถ้าเก็บก็คงสงสารแก่ตัวรำทั้งหลาย แค่จะอนุรักษ์ไว้ยังยาก ถ้ายังเก็บอีกก็คงต้องบอกเลิกกันละ

เคยอ่านประกาศรัชกาลที่ 4 เหมือนกันครับ ท่านว่าห้ามทำช้างเล่นละครหรือโขนเป็นช้างเผือกหรือช้างสีประหลาด จะอนุญาตก็แต่ตอนที่มีช้างเอราวัณของพระอินทร์เท่านั้น ถ้าทำช้างเล่นละครก็ควรเป็นช้างสีดำไม่ควรเป็นสีอื่น

เมื่อสักสองสามสัปดาห์ก่อนได้มีโอกาสชมนาฏกรรมที่กล่าวขวัญกันทั้งเมือง ยังได้เห็นช้าง(จำลอง) ทำเผือกผู้สูงใหญ่งอนงาสง่างาม เลยคิดว่าเรื่องนี้หรือความเหมาะสมต่างๆคงจะเลือนหายไปนานแสนนานเสียแล้ว


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 22 มิ.ย. 06, 12:06
 ที่ชอบที่สุดก้อเห็นจะเป็น พญาวรนรที่ชื่อกำแหงหาญ หนุมาน นี่แหละค่ะ โดยเฉพาะเมื่อได้ดูหุ่นละครเล็ก โจ หลุยส์ แล้ว หลงรักลิงตัวนี้เป็นที่สุดไม่ว่าจะดูโขน หรือหุ่นละครเล็ก ก้อ เห็น หนุมาน กับ บรรดาพวกลิง เหมือนเด็ก ซนๆ พวกหนึ่ง ที่น่ารักมากมาย


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: Japonica ที่ 22 มิ.ย. 06, 23:02
 อ่านโคลงรามเกียรติ์บทนี้แล้วรู้สึกว่า สงครามระหว่างวานรและอสูร คงจะกระเทือนไปทั้งสามพิภพแน่ๆ เลยครับ

เสียงประโคมแข่งเอื้อ........เอิกอึง
เสียงพลุสัญญาณตรึง.........ตื่นฟ้า
เสียงโห่สะท้านถึง..............พรหมโลก
เสียงบาทสะเทือนหล้า........เล่ห์ด้าว  ดินไหว

(โคลงรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ ร. 5)
โปรดเกล้าฯ ให้ประชุมนักปราชญ์บัณฑิตแต่งขึ้นประกอบไว้ที่ระเบียงวัดพระแก้ว ในโอกาสฉลองกรุง 100 ปี


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: Baren ที่ 23 มิ.ย. 06, 18:48
 จำได้ว่าอ่านวรรณคดีไทยเรื่องแรกคือ รามเกียรติ์ตอนอายุ11แล้วก็เริ่มซื้อวรรณคดีไทยเรื่องอื่นๆเพราะช่วงนั้นติดมาก ต้องขอบคุณรามเกียรติ์ด้วยค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 23 มิ.ย. 06, 21:11
 คุณ Baren เริ่มอ่านอายุใกล้เคียงกับผมเลย และเพราะรามเกียรติ์นี่แหละทำให้ผมชอบวรรณคดีไทย ไม่ใช่เพราะเนื้อเรื่องสนุกสนาน แต่คงเพราะความอลังการของภาษามากกว่า ต่อจากนั้นมาผมก็หัดดูโขน หัดดูศิลปะทุกแขนงที่อยู่ในโขน ไม่ว่าจะเป็นดนตรี นาฏศิลป์ วรรณศิลป์ วิจิตรศิลป์ สังคม โขนให้อะไรเรามากกว่าความเพลิดเพลินมากทีเดียว


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: มุดฉานะ ที่ 25 มิ.ย. 06, 12:19
 ย้อนไปถึงความเห็นเก่าน่ะค่ะ...(นึกถึงเรื่องนางนาคี ไปเกลือกกลั้วกับงูดิน แต่จำไม่ได้ว่าเรื่องอะไร ตอนไหน ใช่เรื่องที่ตัวเอกไปแฝงกายอยู่ในร่างคางคกไหมนี่ ? )..ในความเห็นเพิ่มเติมที่ 12 ของคุณหมูน้อย..เป็นตอนกำเนิดนางมณโฑค่ะ..เรื่องมีอยู่ว่านางนาคสมสู่กับงูดินให้ฤาษีทั้ง 4 เห็น ฤษีเลยหัวเราะเยาะในความไม่มีศักดิ์ไม่มีศรี..นางนาคเลยยัวะแค้นๆๆๆ...แอบไปคายพิษไว้ที่อ่างนมซึ่งมีแม่วัวมาใส่ไว้ให้ฤาษีได้ดื่มกินทุกวัน...โดยข้างๆอ่างนมก็มีคางคกอาศัยเฝ้าอยู่เพื่อได้เลียกินนมที่ค้างก้นอ่างทุกวั้นทุกวัน...นางคางคกเห็นเข้าก็ด้วยความกตัญญูต่อฤาษีทั้ง 4 ที่เหลือนมให้กินก็เลยชิงกินนมผสมพิษนาคก่อนที่ฤาษีจะกลับมาจากป่า..ทำให้นางคางคกม่องเท่ง..พอฤาษีกลับมาเห็นคางคกตายจึงช่วยกันชุบชีวิตเป็นนางฟ้าชื่อ มณโฑ แล้วส่งไปอยู่บนสวรรค์กับพระอุมา...จบหล่ะไหม..เดี๋ยวจะกลายเป็นเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน อิอิ.... เรื่องพวกนี้ก็รู้เป็นตอนๆ..เพราะมันพันกับไปพันกันมา..มีไว้เล่าให้ลูกและเพื่อนฟัง...(หลอกทั้งเด็กและผู้ใหญ่ฟัง..เวลาไปค้างแรมกลางป่าไม่มีอะไรทำ)
   


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 25 มิ.ย. 06, 13:07
 ขอบคุณ คุณมุดฉานะ ด้วยครับ ผมคงไปจำสับสนกับเรื่องที่ตัวนางเอกชื่อนางอุทัยเทวี ที่ไปแฝงกายในร่างคางคกนี่เอง


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มิ.ย. 06, 13:36
 โคลงรามเกียรติ์บทที่ดิฉันชอบที่สุด เป็นพระนิพนธ์ของกรมหลวงพิชิตปรีชากร  บรรยายมัจฉานุ  
โคลงสี่สุภาพก็รู้กันอยู่แล้วว่า ลักษณะเป็นบทกวีสั้น ๔ บรรทัด จังหวะคำรวบรัด   บรรยายอะไรมากไม่ได้
แต่ว่ากรมหลวงพิชิตปรีชากร ท่านเก็บสำมะโนครัวของมัจฉานุได้หมดจด  บอกลักษณะของพระเอกในโคลงนี้ได้ครบถ้วน และยังระบุบทบาทหน้าที่ไว้อีกพร้อมด้วย
บรรจุความหมายพันคำลงในโคลงไม่กี่คำ  ถือเป็นฝีมือกวีที่เลอเลิศในสมัยรัชกาลที่ ๕    

หลานลมหลานราพณ์ทั้ง...........หลานปลา
หลานมนุษย์บุตรมัจฉวา-...........นเรศพ้อง
ยลหางเยี่ยงมัตสยา..................กายเศวต สวาแฮ
นามมัจฉานุป้อง.......................กึ่งหล้าบาดาล


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: มีมี่2009 ที่ 04 ก.ค. 06, 15:28
 จริงมั๊ยค่ะที่เค้าพูดกันว่า หนุมานเป็นทั้งลูกเขยและชายชู้ของทศกัณฑ์..ดิฉันคิดว่าเคยได้อ่านผ่านๆตามาบ้างนะค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ค. 06, 15:53
 ทศกัณฐ์  สะกดด้วย ฐ์ ค่ะ แปลว่าสิบคอ  (เพราะมีสิบหน้า)
ถ้าทศกัณฑ์  หมายถึงกัณฑ์เทศน์

หนุมานเป็นลูกเขยทศกัณฐ์ จริง   เพราะได้นางสุพรรณมัจฉาเป็นเมีย  
แม่เงือกสาวครึ่งคนครึ่งปลาเป็นลูกสาวทศกัณฐ์เกิดจากนางปลา  
จนเกิดลูกครึ่งลิงครึ่งปลาด้วยกัน ชื่อมัจฉานุ

ส่วนที่ว่าเป็นชายชู้ของทศกัณฐ์   อ่านแล้วสะดุ้ง  ฟังราวกับว่าทศกัณฐ์เป็นเกย์
ที่จริงควรใช้คำว่าเป็นชู้กับเมียทศกัณฐ์มากกว่าค่ะ

มันก็ไม่เชิงนะคะ    เพราะตอนที่หนุมานแปลงกายเป็นทศกัณฐ์เข้าหานางมณโฑเพื่อทำลายพิธีหุงน้ำทิพย์
นางมณโฑไม่รู้นี่ว่านี่คือทศกัณฐ์ปลอม  นึกว่าสามีตัวจริง
จะเรียกว่านางมีชู้ก็คงไม่เชิง

นอกจากนี้หนุมานยังเป็นหลานเขยทศกัณฐ์ด้วย  เพราะเป็นสามีของนางเบญกาย ลูกสาวพิเภกน้องชายของทศกัณฐ์


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 04 ก.ค. 06, 18:37
 หลายครั้งผมเคยเห็นทศกัณฐ์ เขียนว่า ทศกรรฐ์ เข้าใจว่าคงถูกต้องเช่นกัน เพราะ กรรฐ์ ตัวนี้มาจากศัพท์เดียวกันกับ กัณฐ์ คือ กรฺฐ



จะว่าไปแล้วก็ถือได้ว่าหนุมาน เป็นน้องเขยของชายาพระรามก็ว่าได้ เพียงแต่ไม่มีใครทราบนอกจากผู้อ่าน และ เทวดาบางองค์ (อาจรวมถึงภิเภกด้วย)

องคตก็เป็นน้องร่วมมารดาเดียวกันกับสีดา

ถ้าหนุมานรู้ภายหลังว่านางมณโฑหน้าขาวที่ตนไปลอบนอนกับนางนั้นเป็นมารดาบังเกิดเกล้าของนางสีดาและองคตแล้วล่ะก็  

อยากรู้นักว่าหนุมานจะทำหน้าอย่างไร ?


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 05 ก.ค. 06, 10:42
 คิดว่าคงทำหน้าเหมือนลิงอะครับ คุณหมูน้อย

รู้สึกจะคลับคล้ายคลับคลามาว่ารามายณะฉบับเดิม หนุมานจะถือเพศเป็นพราหมณ์แล้วก็รักษาพรหมจรรย์

ก็อยากทราบเหมือนกันครับว่า มูลเหตุอะไรทำให้หนุมานในไทยมีเมียมากเช่นนี้ หรือว่าเป็นความนิยมของนิยายไทยที่พระเอกจะต้องเจ้าชู้มีเมียมาก

อยากทราบเรื่องราวของพระรามบ้างครับ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับต้นฉบับดั้งเดิม ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันแค่ไหน


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ค. 06, 10:53
 ก็ทำนองนั้นละค่ะ    หนุมานก็ยอดชายชาตรีตามค่านิยมไทย เหมือนอิเหนา หรือขุนแผน
เนื้อเรื่องหลักของรามเกียรติ์เป็นเรื่องทำสงครามกันตั้งแต่ต้นจนจบ  เรียกว่ามีรสเดียว  เป็นโมโนโทนมากไป   กวีจึงต้องแทรกรสชาติอื่นๆ เข้ามาบ้าง พอไม่ให้จืดชืดแห้งแล้งนัก
หนุมานเหมาะจะเล่นบทเจ้าชู้ได้มากกว่าพระราม  คุณสมบัติอื่นพร้อมอยู่แล้ว   พระลักษมณ์ก็มัวเป็นตัวแทนรับเคราะห์แทนพี่ชายอยู่เรื่อย   เลยไม่ได้เล่นบทนี้


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: ภูมิ ที่ 09 ก.ค. 06, 03:46
 ดุจดังอวตาร เคยอ่านเหมือนกันครับ  เข้าใจว่าอยู่ที่ใดที่หนึ่งในบ้าน (ฉบับเก่า ได้มรดกมาจากพี่ๆนร.ทุน หนังสือเล่มนี้บินไปญี่ปุ่นและขึ้นเรือกลับเมืองไทยมาเรียบร้อยแล้ว)

จำได้ว่าจบลงที่  
" ทำไมชาวดาวนี้ถึงชอบทำอะไรเป็นเลข สาม "

ยังไม่เคยเห็นเล่มต่อเหมือนกัน แต่ในเล่มแรกนอกจากคติเกี่ยวกับ ตรีมูรติ กับเรื่องทะเลแล้ว ก็ไม่รู้สึกว่าเกี่ยวกับ รามเกียรติ์เท่าใด


>กึ่งหล้าบาดาล
เห็นแล้วอดนึกถึงนิยายของ ก่ำฟ้า (จินตวีย์) ไม่ได้


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: caeruleus ที่ 13 ก.ค. 06, 15:58
 เคยดูการแสดงโขน ที่ชอบจับใจมากๆคือตอนที่เล่นเพลงเต่าเห่ ตอนนางลอยน่ะค่ะ
เด็กเล็กๆเล่นเป็นลิงซนน่าดู แต่น่ารักมากๆ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 13 ก.ค. 06, 19:48
 ชอบเหมือนกันครับ คุณ Caeruleus มันเหมือนเห่เรือแบบละคร คือเห่เป็นเสียงหวานๆเย็นๆ แล้วก็ได้ภาพลักษณ์พระรามลงสรงดีแท้

ถ้าเป็นตอนนางลอยนอกจากเต่าเห่นี้แล้ว ก็มีตอนที่ทศกัณฐ์หลงเกี้ยวเบญจกายที่แปลงเป็นสีดา รู้สึกจะร้องจีนขิมเล็ก ได้อารมณ์สนุกซุกซนมากๆ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: caeruleus ที่ 13 ก.ค. 06, 22:27
 ชอบเหมือนกันเลยค่ะ คุณกุรุกุลา จำได้ว่าตอนที่ร้องว่า
...อย่าถือโทษเลยหนา ลุงตาลาย..
เนี่ยน่ารักมากๆเลย


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: ชายองค์ ที่ 26 ก.ค. 06, 13:31
 จำได้ว่าตอนเรียน อาจารย์ผมบอกว่า
ในพระสูตร ก็มีเรื่องรามายณะ
ในมงคลสูตร ตอนต้นที่เทวดาไปเที่ยวถามหามงคลในโลก
มีคำว่า สีตา หรณ พระไทยแปลว่า เรื่องนางสีดาหรณ์

อาจารย์ท่านได้บอกว่า จริง คือเรื่อง รามายณะ ต่างหาก คือ แปลว่า การลักพานางสีดา

ใครมีข้อมูลช่วยสืบค้นทีครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: นิรันดร์ ที่ 26 ก.ค. 06, 21:23
 อ่านเรื่องรามเกียรติ์แล้วก็รู้สึกว่า ยักษ์ ลิง คน ไม่น่าจะต่างกัน
คนออกลูกมาเป็นลิงก็มี (นางสวาหะ-หนุมาน)
ยักษ์มีลูกเป็นคนก็มี(ทศกัณฐ์-สีดา)
นึกไม่ออกว่าลิงมีลูกเป็นคนมีบ้าไหม
แล้วคนมีลูกเป็นยักษ์มีหรือเปล่า ???


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: นิรันดร์ ที่ 27 ก.ค. 06, 23:15
 บ้า ตกงองูไปครับ
ขอแก้เป็น บ้าง    


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: ฟ้าเวอร์ริเดียน ที่ 03 ส.ค. 06, 03:49
 ชะพรานกมลชั่ว    จิตะมัวมิรู้อาย
ยิงนกกะเรียนตาย ขณะมันสราญรมย์
ใจมึงบ่ปรานี        ก็จะเปรียบอะไรสม
แน่ะมึงจะตกจม    ณ นรกตลอดกาล

อุปชาติฉันท์ที่ยกมานี้กล่าวถึงเรื่องรามเกียรติ์ค่ะ พยายามสืบค้นชื่อผู้แต่งมานานมากแล้วแต่ไม่พบ
ท่านใดทราบ รบกวนช่วยตอบเป็นวิทยาทานด้วยค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: มุดฉานะ ที่ 03 ส.ค. 06, 16:21
 ขอโทษน่ะค่ะคุณหมูน้อยขา..ช่วยไขข้อข้องใจหน่อยค่ะ..เพราะคิดยังไงก็คิดไม่ออกว่า..หนุมานเป็นน้องเขยสีดาได้ไง..(อนุเคราะห์ผู้ด้อยความรู้กำเต๊อะ..อู้แต้ กึ้ดบ่าออก...)
"จะว่าไปแล้วก็ถือได้ว่าหนุมาน เป็นน้องเขยของชายาพระรามก็ว่าได้ เพียงแต่ไม่มีใครทราบนอกจากผู้อ่าน และ เทวดาบางองค์ (อาจรวมถึงภิเภกด้วย)"



กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: caeruleus ที่ 03 ส.ค. 06, 16:32
 ขอเดาตอบคุณมุดฉานะ แทนคุณหมูน้อยนะคะ

ดิฉันคิดว่า เป็นเพราะว่า นางสุพรรณมัจฉาเป็นลูกของทศกัณฐ์ ก็คือเป็นน้องคนละแม่กับ
สีดา (แม่ของสีดาคือนางมณโฑ แต่แม่ของสุพรรณมัจฉาเป็นปลา ดิฉันไม่ทราบว่าชื่อ
อะไร)

พอหนุมานตัวเองเราไปเ้กี้ยวสาวเจ้าเข้าจนมีมัจฉานุน้อยออกมา ก็เรียกได้ว่าหนุมานเป็น
น้องเขย (ที่ไม่ได้แต่ง) ของสีดาได้ค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 03 ส.ค. 06, 18:57
 รามายณะ ไม่ได้แปลว่า การไปของพระราม หรือการเดินทางของพระรามหรือครับ คุณชายองค์ เป็น Rama + Ayana

ยังไม่มีความรู้เพียงพอทางด้านภาษาครับ ผิดถูกชี้แจงด้วยครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ส.ค. 06, 18:57
 ตอบค.ห. 62
ลองค้นจินดามณีดูตัวอย่างรามเกียรติ์คำฉันท์ ซิคะ ว่ามีตอนนี้ไหม
เป็นตอนฤาษีวาลมิกิสาปพรานที่ยิงนกกะเรียน
รามเกียรติ์คำฉันท์ตัวต้นฉบับสูญไปแล้ว มีแต่ตัวอย่างที่อ้างไว้ในจินดามณี

ไม่แน่ใจว่าจะถูกไหม เคยอ่านมานานมากแล้ว  แต่พอเห็นก็นึกถึงรามเกียรติ์คำฉันท์ค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: caeruleus ที่ 03 ส.ค. 06, 19:11
 ลืมขยายความว่าทำไม "ไม่มีใครทราบนอกจากผู้อ่านและเทวดาบางองค์" นั่นก็เพราะว่า
ทศกัณฐ์น่ะ สั่งให้เอาสีดาไปลอยน้ำตั้งแต่ยังแบเบาะอยู่เลยนี่คะ ก็นึกเอาเองว่าลูกตายไป
แล้ว

ส่วนพิเ๓กนั้น ตัวดิฉันเองคิดว่าไม่น่าจะทราบว่าสีดาเป็นลูกของทศกัณฐ์ เหตุเพราะว่า
พิเภกเนี่ย ถ้าไม่จับยาม หรือนั่งลงดูจริงๆก็จะไม่ทราบความจริง ตัวพเภกเองก็เป็นผู้ดู
ดวงชะตาของสีดาเมื่อแรกคลอด และเป็นคนแนะนำให้พาสีดาไปลอยน้ำ ก็คงคิดเอา
เหมืือนกันว่า หลานได้ตายไปแล้ว ยิ่งพอมาพบสีดาอีกทีก็กลายเป็นเมียพระราม แถม
สวยจับใจ ใครจะคิดมานั่งดูชะตาว่าเป็นหลานของตัวเอง


อันนี้เวิร์บทูเดาล้วนๆนะคะ ใครรู้จริงช่วยแจ้งแถลงไขทีว่าดิฉันพอจะจบวิชาเดาชั่นมั้ย


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: ฟ้าเวอร์ริเดียน ที่ 03 ส.ค. 06, 22:11
 ขอบพระคุณอ.เทาชมพูที่สุดเลยค่ะ  ดีใจจัง  เดี๋ยวจะรีบไปค้นเลยค่ะ  ได้ผลยังไงแล้วจะมาโพสต์ให้รู้ทั่วกันค่ะ

อาจารย์รักษาสุขภาพด้วยนะคะ
รัก อ.เทาชมพูจัง


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: หมีใหญ่ ที่ 06 ส.ค. 06, 22:24
 สวัสดีครับผมสมาชิกใหม่ครับ ผมก็เคยอ่านดุจดังอวตาร แต่ยังไม่เจอตอนที่เกี่ยวกับพระรามเลยครับ แต่เคยอ่านเรื่อง รามเกียรติ์ยุคอวกาศครับ เนื้อหาจะเป็นไปตามที่คุณนิรันตร์กล่าวถึงครับ และศรในแบบต่างๆ ซึ่งหมายถึงตามเรื่องว่าขีปนาวุธ ก็ต้องมีการไปขออนุญาติในระดับต่างๆ ด้วย เหมือนกับที่ไปขอให้ประสิทธิผลจากพรม หรือต้องทำพิธีกี่วัน ซึ่งเสมือนกับการเติมเชื้อเพลิงนั่นเองครับ แต่จะเป็นภาคต่อของดุจดังอวตารหรือไม่ผมไม่ทราบครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: หมีใหญ่ ที่ 06 ส.ค. 06, 22:31
 ผมหาภาพในคอมไม่เจอ ผมเคยเซฟเก็บไว้ครับ เป็นภาพล้อเลียนในวัดพระแก้วของเราครับ อารมณ์ขันของศิลปิน จะเป็นจุดย่อยในภาพ เช่น ทหารลิงกำลังรวมพลกันอยู่ แต่ก็จะมีบางตัว แอบจู๋จี๋กับเมียที่บ้านก่อนจะมา หรือ ภาพลิงยามที่แอบซ่อนบุหรี่ไว้ขณะทหารลิงหัวหน้าหมู่มาตรวจ ทหารยามแอบหาว เป็นต้นครับไม่ทราบใครพอจะหาได้ ลองมาเผยแพร่ให้ดูกันด้วยครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ส.ค. 06, 22:51
 เข้ามาสวัสดีคุณหมีใหญ่ค่ะ

ยังนึกถึงคุณฟ้าอยู่  ถ้าไม่เจอในจินดามณี ลองหา"บ่อเกิดรามเกียรติ์" มาอ่านดูนะคะ
กลับมาอ่านอีกที  สะดุดใจว่าสำนวนภาษาในฉันท์
ใหม่กว่าอยุธยาตอนกลาง จนคิดว่าอาจจะประมาณรัชกาลที่ ๖ นี่เอง  


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: Japonica ที่ 07 ส.ค. 06, 22:09
 เรื่องรามเกียรติ์ที่คุณฟ้าถามไม่ได้อยู่ในจินดามณี เพราะว่าภาษาในเล่มนี้เป็นภาษาโบราณมากจนแปล
ไม่ออก ส่วนใน"บ่อเกิดรามเกียรติ์" พระองค์ทรงเล่าถึงฤาษีว่าไปสาปนายพรานที่ยิงนกกระเรียนตาย
ภายหลังฤาษีเสียใจว่าที่ได้สาปแช่งออกจะรุนแรงเกินไปสักหน่อย

แต่ว่าพระราชนิพนธ์ของรัชการที่ 6 ที่เอ่ยถึงนกกระเรียนเป็นร้อยแก้ว (บรรยายโวหาร) ไม่ใช่เป็นฉันท์ดังที่คุณฟ้ายกมา
ที่เปิดดูให้พบว่า
-ไม่ใช่สมัยธนบุรี
-ไม่ใช่ของ ร. 2
-ไม่ใช่ของ ร.4
-ไม่ใช่ของ ร. 5 (โคลงรามเกียรติ์)


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: Japonica ที่ 07 ส.ค. 06, 22:17
 ตอบคุณหมี

เก็บภาพสวยๆที่คุณพูดถึงไว้ในอีกคอมอีกเครื่องหนึ่ง รอหน่อยนะ จะส่งลิ้งค์ให้ ภาพรามเกียรติ์นั้นจี้มาก
หากขยายดูรายละเอียดใกล้ๆ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: ฟ้าเวอร์ริเดียน ที่ 08 ส.ค. 06, 17:19
 สวัสดีค่ะ อ.เทาชมพูและคุณ Japonica

ขอบพระคุณทั้งสองท่านค่ะ  ลองพยายามค้นจากจินดามณีและหลายๆแห่งแล้วก็ยังไมพบค่ะ  รู้สึกคุ้นมากๆแต่นึกไม่ออกว่าไปจำมาจากไหน  มันก็เลยคาใจ  อยากรู้จริงๆ

ขอบคุณคุณ Japonica มากๆค่ะที่ช่วยเปิดหาให้ตั้งหลายเล่ม ประหยัดพลังงานไปเยอะเลย  

จะลองไปหาที่อื่นดูค่ะ  ไม่แน่ใจว่าตอนท้ายของหนังสือนารายณ์สิบปางพระราชนิพนธ์ ร.6 จะมีพูดถึงบ้างรึเปล่า


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 08 ส.ค. 06, 18:59
 เข้ามากราบสวัสดีอาจารย์เทาชมพู และสวัสดีสมาชิกในเรือนทุกๆท่านครับ จากที่หายไปพักใหญ่

ขอสวัสดีและยินดีต้อนรับท่านสมาชิกใหม่ของเรือนทั้งสองท่านครับ คุณหมีใหญ่และคุณฟ้าฯ



ปล.คุณหมีใหญ่ นี่จะใช่ท่านเดียวกันกับที่เคยทักทายพูดคุยกันไว้ที่เว็บอื่น(เว็บลับ)หรือเปล่าครับ ถ้าใช่ก็ยินดีอย่างยิ่งครับผม


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: Gabriel ที่ 08 ส.ค. 06, 19:48
 เคยได้ยินอาจารย์ท่านหนึ่งใน ม.กรมศิลฯ ท่านเคยบอกว่า
ทศกัณฐ์นั่นถอดรูปยักษ์ได้ ครั้งหนึ่งเคยถอดรูปยักษ์เป็นมนุษย์
ต่อหน้านางสีดา นางสีดาถึงกับหลงในรูปโฉมที่งดงาม งามกว่าพระรามเสียอีก


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: jaae ที่ 08 ส.ค. 06, 21:50
 จริงค่ะ คห. 76  ดูได้จากตอนก่อนที่ทศกัณฐ์จะตาย ( ขอใช้คำสามัญแล้วกันนะคะ )  หาอ่านในรามเกียรติ์ดูนะค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: ฟ้าเวอร์ริเดียน ที่ 08 ส.ค. 06, 22:53
 สวัสดีค่ะ  คุณหมูน้อยในกะลาและสมาชิกทุกท่านค่ะ

"ฮาจิเมะ มาชิเตะ โดโซะ โยโรชิกุ" แปลว่าสวัสดีค่ะ ขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ส.ค. 06, 23:09
 หนูฟ้า   แล้วจะโทรไปหานะจ๊ะ  
คิดถึงมาก  


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 09 ส.ค. 06, 11:27
 จากคหพต.ของคุณ Gabriel เกี่ยวกับการการถอดรูปของทศกัณฐ์
มีเรื่องชวนให้คิดหลายอย่างเลยครับ (ชวนคุยเล่นสนุกนะครับ)เช่นว่า

การถอดรูปนี้ปกติใช้กับการที่ถอดคืนเป็นร่างเดิม กายเดิม เช่นเงาะถอดรูป ก่อนที่จะเป็นเจ้าเงาะก็เป็นพระสังข์มาก่อน คือพระสังข์ทองสวมรูปเงาะ และภายหลังจึงถอดรูปเงาะออก

ส่วนทศกัณฐ์เกิดมาเป็นยักษ์ แต่ก่อนจะตายกลับถอดรูปเป็นมนุษย์ จึงดูพิกลไปหน่อย
(ทศกัณฐ์เคยแปลงกายหลายครั้ง เช่น เป็นปู เป็นปลา เป็นช้าง ??ฯลฯ แต่จำไม่ได้ว่าเคยแปลงเป็นมนุษย์  อ๋อ มีครั้งหนึ่งแปลงเป็นพระราม )

เอ..หรือว่าจริงๆแล้วไม่ได้ถอดรูป แต่เป็นการแผลงฤทธิ์ก่อนตาย??

หรือว่าก่อนตายแผลงเดชกลับไปเป็นพรหม เหมือนปู่เหมือนทวด??

จะว่ารูปที่ถอนนั้นเป็นรูปเมื่อชาติภพเดิมบนครั้งทศกัณฐ์อยู่บนสวรรค์ก็เป็นไปไม่ได้ใหญ่ เพราะนนทก หน้าตาอัปลักษณ์กว่าชาติปัจจุบันเสียอีก.!

มีอีกประเด็นที่(อาจคิดให้)น่าสนใจ ก็คือ การคิดระลึกสำนึกผิดและคุณงามความดีของทศกัณฐ์ก่อนตาย มีผลทำให้รูปทศกัณฐ์ที่เห็น  ดูงดงามตามจิตใจของทศกัณฐ์ในขณะนั้น



อาจมีประเด็นหนึ่งที่ทำให้ผมสะอึก หยุดสงสัย และวิเคราะห์ไม่ออกก็คือ ถอดรูปได้ตามใจผู้แต่ง!!


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: หมีใหญ่ ที่ 09 ส.ค. 06, 18:39
 คุณหมูน้อยคัรบ ผมหมีใหญ่ตัวเดียวกันครับ หมีใหญ่มีหลายตัวมากไม่ได้ครับ จะแย่งถ้ำกันอยู่ อิอิ
เรื่องแปลงร่างของทศกัณฐ์นี้มีอีกรูปครับ คือรูปณ. หน้าทอง ที่มีไว้ตอนจะไปจีบสีดาครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 10 ส.ค. 06, 12:29
 ปกติหากไม่นับการแผลงฤทธิ์อวดศักดา
แล้วละก็ การแปลงกายนี้เห็นต้องยกให้พระเอก(ของผม)ละครับที่แปลงกายฟุ่มเฟือยที่สุด
คนอื่นเขาแปลงกายเพื่อหน้าที่ เพื่อการงาน ตามคำสั่ง  หนีภัย ลวงศัตรู
แต่พ่อพระเอกของผมนี้แปลงกายเพื่อจีบหญิง หลีสาว ลูกเดียว
อ้อ..พระเอกของผมที่ว่านี้ คือ พ่อยักษ์10คอ นะครับ

ลวงสีดาเอย เกี่ยวนางมัจฉาเอย หลีนางช้างเอย
คนแรกไม่สำเร็จ
2นางหลังให้กำเนิดบุตรเชื้อสายยักษ์มา3ตน
ไหนจะตอนที่ปลอมเป็นเทวดา(จำไม่ได้ว่าองค์ไหน) ไปไล่ปล้ำนางสวรรค์อีก

เอ..ใครพอจะนับได้ไหมครับว่า ถ้าไม่รวมนางสวรรค์ที่ถูกพ่อเจ้าชู้ยักษ์ไล่ปล้ำนั้นแล้ว บรรดาเมียของทศกัณฐ์นั้นมีกี่คนกัน ?
ถาม-ตอบ สนุกๆ เรียกบรรยากาศคึกคักสนุกสนานของเรือนฯเมื่อครั้งเก่าให้กลับมาบ้างครับ..

ปล.คุณหมีฯครับ
พอจะช่วยเล่าย่อๆหรือพอจะมีลิ้งค์ เกี่ยวกับรูปณ. หน้าทอง ในความเห็นข้างบนให้ผมค้นหาบ้างไหมครับ ผมหลงลืมเรื่องนี้ไปเกือบหมดแล้ว เผื่อว่าเราจะได้มีประเด็นสนุกคุยกันต่ออีก
ขอรบกวนด้วยล่ะนะครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 10 ส.ค. 06, 13:02
 ขอแก้คำผิดครับ

เกี่ยวนางมัจฉา เป็น เกี้ยวนางมัจฉา
...
ตอนนั้นหมอแปลงเป็นปลา
เกี้ยวนางช้าง ก็แปลงเป็นช้าง
....
แต่ตลกตอนแปลงเป็นปู เพราะโดนจับได้ เลยโดนอัดซะเละ
.....
ไหนๆก็ถามเรื่องเมียของพญายักษ์แล้วก็เลยถามซะเลยว่า ลูกล่ะ ทศกัณฐ์มีลูกทั้งหมด กี่ตน  ?


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 10 ส.ค. 06, 17:12
 ครับ เคยได้ยินมาว่าทศกัณฐ์ถ้าอยู่ในกรุงลงกาจะต้องหน้าทอง แต่เท่าที่เคยเห็นเล่นโขน หน้าทองจะใช้ตอนลงสวน หรือฉุยฉายทศกัณฐ์

เป็นตอนที่แสดงความสง่างามได้อย่างอลังการทีเดียวครับ ถือพัดด้ามจิ้วอันหนึ่ง ห้อยพวงอุบะ แล้วก็มีผ้าคล้องสองไหล่ แต่งตัวกันอย่างที่เรียกว่าเจ้าชู้กรุ้มกริ่มจริงๆ แล้วก็ทรงรถมาตอนกลางคืนถึงในสวน มีนางกำนัลถือโคม มีมหาดเล็กถือมัดหวาย

ถ้าจำไม่ผิดจะใช้เพลง พญาเดิน หน้าพาทย์ที่สง่ามากๆ รับกันกับเสียงหึ่งของฆ้อง

ช่างให้ภาพของขบวนเสด็จกษัตริย์อย่าง "ไปรเวท" จริงๆ

ที่สะใจต่อมาก็คือตอนนางสีดาเอาไม้ปักดินแล้วชี้ด่า จนทศกัณฐ์หนวดกระดิกต้องรีบวิ่งขึ้นรถกลับ

แล้วก็จะถึงร้องร่ายที่ผมคิดว่าไพเราะงดงามที่สุดในรามเกียรติ์ทีเดียว

"เอาผ้าผูกพันกระสันรัด
เกี่ยวกระหวัดกับกิ่งโศกใหญ่
ชายหนึ่งผูกศออรไท
ทอดองค์ลงไปจะให้ตาย"


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ส.ค. 06, 17:34
ตอบคุณ Gabriel และคุณหมูน้อยฯ
ทศกัณฐ์ไม่ได้" ถอด" รูป ค่ะ  ทศกัณฐ์" แปลง" กาย คุณหมูน้อยเข้าใจถูกแล้ว ถ้า" ถอด" แปลว่าเขามีตัวจริงอยู่ข้างในแต่ปลอมตัวให้ดูภายนอกเป็นอีกแบบ
อย่างพระสังข์ เป็นตัวจริง เอารูปเงาะมาสวมทับ  ถึงเวลาก็ "ถอด" รูปเงาะออก กลายเป็นพระสังข์ทองซึ่งเป็นตัวแท้จริง  กลายมาเป็นสำนวนว่า "เงาะถอดรูป"

ทศกัณฐ์ในศึกครั้งสุดท้าย   รู้ว่าตัวเองจะต้องตายแน่  เพราะพบว่าเสียรู้หนุมาน ถูกขโมยกล่องดวงใจไปเสียแล้ว   ก็เลย"แปลง" กายเป็นพระอินทร์  
ถามว่าแปลงไปทำไม  คำตอบคือแปลงเพื่อเป็นเกียรติแก่ตน

ในรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่  1 เล่าตอนนี้ไว้ละเอียดลออ  ทศกัณฐ์พูดไว้ชัดเจนว่า

ตัวกูเป็นวงศ์พรหมเมศ...............เลื่องชื่อลือเดชทุกทิศา
วันนี้จะสิ้นชีวา..........................จะให้เกียรตินั้นปรากฏไว้
ตราบเท่ากัลปาฟ้าดิน.................สิ้นทั้งสามภพสบสมัย
คิดแล้วร่ายเวทเกรียงไกร............สำรวมใจนิมิตอินทรีย์

บัดเดี๋ยวก็กลับกลายเพศ.............เป็นท้าวตรีเนตรเรืองศรี
ทรงโฉมประโลมโลกีย์................ใครเห็นเป็นที่จำเริญนัก
ผิวผ่องพึงพิศผุดผาด..................งามวิลาศล้ำเลิศในไตรจักร
กรายกรอ้อนแอ้นพริ้มพักตร์..........พญายักษ์มาสรงชลธาร

คนที่เห็นทศกัณฐ์แปลงแล้วตะลึงงงงวย  ไม่ใช่นางสีดา  แต่เป็นพระราม  ถึงกับยอมรับว่า

ถึงรูปงามทั้งสามธาตรี.................ก็ไม่เปรียบรูปนี้เสมอสอง
งามจริงยิ่งกว่ารูปทอง..................นวลละอองผ่องแผ้วอำไพ
แต่เราชายเห็นยังเช่นนี้................ถ้าสตรีเห็นจะเป็นไฉน
น่าแสนพิศวาสจะขาดใจ...............หลงไปด้วยรูปกุมภัณฑ์


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 11 ส.ค. 06, 09:32
 กราบขอบพระคุณอาจารย์ครับที่กรุณาแจกแจงอธิบายให้ทราบ
หากอาจารย์ไม่บอกก็คงงงไปอีก จนกว่าจะได้อ่านเจอ เพราะในเว็บไซด์ต่างๆเกี่ยวกับรามเกียรติ์ไม่มีรายละเอียดเท่าทีควร
ตอนนี้หนังสือก็ไม่มีในมือ พูดคุย วิจารณ์ วิเคราะห์ตัวละครและเนื้อเรื่องกับสมาชิกท่านอื่นๆ โดยอาศัยเพียงความทรงจำเก่าๆ
(เดี๋ยวต้องมีการผิดคิวกันบ้างละ!! หมูฯใช้ไม่ได้เลยนะครับข้อมูลมีไม่แน่น แต่ยังมาออกความเห็นอีก สมาชิกท่านอื่นคงไม่ว่า
นะครับ แห่ะๆ)

จะว่าไปแล้ว การพูดคุยที่กระทู้นี้ก็รู้สึกว่า กระทู้นี้สนุกไม่แพ้กระทู้ขนมไทย กระทู้กลอน หรือกระทู้อื่นๆเลยนะครับ
เชื่อว่าท่านที่ผ่านมาอ่าน(ทั้งขาจร และขาประจำ) ก็คงรู้สึกเช่นกัน    


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ส.ค. 06, 10:48
 เดี๋ยวจะไปค้นสำมะโนครัวของทศกัณฐ์มาให้นะคะ คุณหมูน้อย


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 11 ส.ค. 06, 15:08
 0//      ..... ขอยกมือตอบด้วยคนค่ะ

ตูก้า สงสัยว่า คำเปรียบเปรย ที่ว่า เจ้าชู้ยักษ์ นี่มาจาก ทศกัณฐ์ รึปล่าวคะ  เพราะเจ้ากรุงลงกา ตนนี้มีเมีย 1,014 นาง  แถมมีลูก อีก 1,017 ชีวิต ....ไม่รู้จะใช้ว่า คน หรือ ตน ดีค่ะ...

นางมณโท    -   อินทรชิต ,  สีดา  ,  ไพนาสุริวงศ์
นางกาลอัคคี -   บรรลัยกัลป์
นางช้างพัง    -   คีรีวัน  ,  คีรีธร
นางปลา       -   สุพรรณมัจฉา
นางสนมพันตน  -  สหัสกุมาร (1,000กุมาร)
นางสนมสิบคน  - สบรถ (10 คน)

คำตอบที่ถูกคงต้องให้ อาจารย์เทาชมพูมาเฉลยค่ะ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 11 ส.ค. 06, 16:25
 คุณตูก้าฯ ตอบได้รวดเร็วดีครับ
ทีนี้พอจะทราบไหมครับ ว่าเจ้ากรุงลงกาตนนี้ มีบุตรบุญธรรมอยู่คนหนึ่ง แต่เป็นใครกันล่ะ ?

คำว่าเจ้าชู้ยักษ์นี้อาจต้องให้ท่านอื่นช่วยมาตอบให้ เพราะเรื่องเจ้าชู้นี่ผมท่าจะไม่สันทัด !! ;) แห่ะๆ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: หมีใหญ่ ที่ 11 ส.ค. 06, 21:32
 ผมได้ดูจากรายการคุณพระช่วย อาจารย์มืด ท่านบอกว่า เจ้าชู้ยักษ์นี่มาจากทศกัณฐ์ แน่ครับ
เรื่องหน้าทอง ผมก็เห็นจากโขนเช่นกัน จะเป็นหน้าเดียวที่ทำสีทองทั้งหมด จะใช้ในบทจีบนางสีดาครับ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: Malagao ที่ 06 ต.ค. 06, 14:21
 เมื่อกลางเดือน สิงหาคม 2549 นี้ ไปดูงานเทศกาลวัดอรุณ มีมหรสพหลายอย่างชอบมาก มีโขนชักรอกด้วย ทั้ง 3 คืน ( 11-13 ) ถ่ายรูปมาด้วยมากมาย แต่ความจุของรูปสูงมาก ส่งให้เวบนี้ไม่ได้
แต่ที่อยากจะกล่าวถึงอย่างหนึ่งก็คือ การแสดง แสง เสียง ถึงความเป็นมาของวัดอรุณ มีตอนหนึ่ง มีผู้แสดงเป็นพญายักษ์ 2 ตน ที่มีรูปปั้นอยู่ที่วัด คือ ทศกัณฐ์ (สีเขียว)และ สหัสเดชะ(สีขาว) การแสดงนั้นพูดอะไรบ้างจำไม่ได้ แต่จำได้แม่นยำว่า ทศกัณฐ์พูดกับสหัสเดชะแบบเพื่อน มีตบหลังตบไหล่ แสดงความสนิทสนมกัน เห็นแล้วกลุ้มใจ ในความมักง่ายของผู้จัดการแสดง ทศกัณฐ์นั้นเป็นเพื่อนกับน้องชายสหัสเดชะ ไม่ใช่เพื่อนสหัสเดชะ ทศกัณฐ์ เวลาเรียก สหัสเดชะ จะเรียกว่า " พระเชษฐาธิบดี" เวลามีการเล่นโขนตอนที่ ทศกัณฐ์ ไปเฝ้าสหัสเดชะ ทศกัณฐ์จะรำด้วยเพลงหน้าพาทย์สาธุการ อันเป็นเพลงหน้าพาทย์สูงสุด แต่ยักษ์ 2 ตัวที่เล่น แสง สีเสียง นั้น กิริยามรรยาทและการพูดจา เหมือน รปภ.มากกว่า ที่จะเป็นพญายักษ์ ผู้ทรงศักดิ์


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 07 ต.ค. 06, 00:01
 สวัสดีค่ะ คุณ Malagao  ตูก้าอยากดูภาพด้วยค่ะ ใช้ โปรแกรม photoshop ได้มั้ยค่ะ ถ้าจะกรุณา


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: Malagao ที่ 08 ต.ค. 06, 13:38
 มีคนที่มีรูปพวกนี้เป้นพันรูป เพราะตอนหลังนี้ถ่ายรูปด้วยกล้องดิจิตอล จึงไม่อั้นในปริมาณการถ่ายรูป ลองเมล์ติดต่อไปที่ ancientism@yahoo.com เพื่อติดต่อขอรูปเหล่านี้ หรือจะจะเอารูปขึ้นทีเวบนี้ได้อย่างไร โดคยที่ไม่ต้องลดขนาดรูป เพราะไม่มีเวลามานั่งทำ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: Malagao ที่ 08 ต.ค. 06, 13:40
 "ตลกหลวง" ศิลปะที่ยังไร้ผู้สืบทอด
โดย ผู้จัดการรายวัน 27 กันยายน 2549 18:13 น.
เสียงหัวเราะครื้นเครงจากผู้ชมตั้งแต่เด็กตัวเล็กตัวน้อย ไปยันคุณยายเคี้ยวหมากฟันดำ ด้วยต่อมขำทำงานอย่างเต็มที่ เสมือนหนึ่งเป็นพวงมาลัยน้ำใจที่คล้องให้กับผู้แสดงหน้าม่าน ซึ่งงัดเอาลีลาลูกเล่นมาประเคนใส่คนดูจนปล่อยเสียงฮากันทั่วหน้า แม้ว่าองค์ประกอบบนเวทีจะถูกรายล้อมไว้ด้วยเครื่องทรงองค์พระ ยักษ์ ลิง แพรวพราว วางท่าสง่างามตามรูปแบบการจัดระเบียบร่างกายของศิลปะการแสดง "โขน" ...หากแต่ท่วงท่าและทำนองการเรียกเสียงฮาของบรรดาตัวตลก กลับมิได้โลดโผนโจนกระโดดออกจากศิลปะชั้นสูงของชาติ หรือแม้แต่จะส่งผลให้คนดูรู้สึกขัดเคืองว่าผู้แสดงกระทำผิดเรื่อง ผิดที่ก็หาไม่
     
      แม้เบื้องหน้าของเวทีพวกเขาจะออกท่าทะเล้น เต้น ฟ้อน เป็นตัวตลกเรียกเสียงฮาให้เด็กเล็กได้ล้อเลียน แต่หากย้อนความเป็นไปในอดีต พวกเขาสืบทอดและเติบโตจาก "ตลกหลวง" ที่ทำหน้าที่ถวายความสำราญแก่ราชวงศ์ในพระราชสำนัก
     
      ** "พ่อเส"พ่อครูแห่งตลกกรมศิลป์
     
      ปัจจุบันศิลปินแห่งกรมศิลปากรที่ทำหน้าที่ป้อนเสียงฮาให้กับประชาชนจนขึ้นชื่อ และคุ้นหน้ามีอยู่ไม่กี่คน "พ่อเส" เสรี หวังในธรรม ศิลปินแห่งชาติ ถือเป็น "พ่อครู" แห่งวงการตลกกรมศิลป์ รุ่นหลังที่เติบโตตามมาแต่อายุอานามใกล้เคียงกันคือ "อาหนอม" ถนอม นวลอนันต์ ข้าราชการบำนาญ สังกัดสำนักการสังคีต ในวัย 67 ปี "ครูมืด" ประสาท ทองอร่าม กลุ่มงานวิจัยและพัฒนาการแสดง สำนักการสังคีต และตลกกรมศิลป์ที่อาวุโสน้อยสุดในกลุ่ม จรัญ พูลลาภ ครูชำนาญการ วิทยาลัยนาฏศิลป์
     
      ครูมืด ได้ขยายความถึงคำว่า "ตลกหลวง" ว่า สืบทอดมาจากการแสดงในราชสำนักโดยข้าราชบริพารเป็นผู้ทำการแสดงตลกถวายพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ จึงเรียกว่าตลกหลวง ซึ่งกรมศิลปากรก็เติบโตมาจากราชสำนักเช่นกัน
     
      ในวงการตลกกรมศิลป์ทุกคนต่างยกให้ พ่อเส เป็นต้นตำรับของการสร้างตลกประกอบโขนให้เป็นที่รู้จักของประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งพ่อเสได้บอกว่า การเล่นตลกประกอบโขนนั้น มีมาแต่โบราณมิใช่ตัวเองเป็นผู้คิดค้นขึ้นใหม่ แต่ในอดีตที่ผ่านมาการเล่นตลกประกอบโขนจะเล่นกันนิดๆ หน่อยๆ ไม่มากนัก
     
      "ถึงอย่างไรโขนก็เป็นพระเอก แต่เมื่อคนดูดูโขนนานๆ ก็อาจจะรู้สึกเบื่อ เราก็คิดว่าต้องหาอะไรเข้ามาเป็นตัวประกอบก็เลยคิดไอ้โน่น ไอ้นี่ใส่เข้าไป เพื่อเพิ่มอรรถรสให้โขนมีความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น แต่การเล่นตลกเป็นแค่ส่วนประกอบเท่านั้น สิ่งสำคัญคือเราต้องไม่ทำให้เนื้อเรื่อง หรือความโดดเด่นสง่างามของโขนต้องเสียไป เราต้องรู้ว่าบทไหน ตอนไหนจะเล่นได้ และที่สำคัญต้องรู้ว่าจะเล่นอย่างไร"
     
      **"ครูมืด-อาหนอม-จรัญ รับประกันความฮา
     
      ปัจจุบัน 3 ศิลปิน ที่เกาะกลุ่มทำการแสดงตลกประกอบโขนจนเข้าขากันเป็นอย่างดีคือ ครูมืด อาหนอม และ จรัญ ซึ่งครูมืด เปิดเผยว่า เส้นทางการแสดงของครูมืดนั้น เริ่มต้นจากการฝึกหัดเล่นโขน ผ่านการคัดตัวเป็นพระ ยักษ์ ลิง ไม่แตกต่างจากนักเรียนโขนคนอื่นๆ แต่เมื่อเริ่มโตขึ้นก็ได้ติดตามพ่อเสไปทำการแสดง เมื่อผู้ใหญ่เห็นแววก็ถูกดึงมาเล่นตลกประกอบโขน
     
      "คนจะเล่นตลกประกอบโขนนั้น ต้องเรียนการแสดงโขนฝึกรำ ฝึกฟ้อนเหมือนนักแสดงในกรมศิลป์คนอื่นๆ มาก่อน และต้องรู้เนื้อเรื่องของโขนลึกซึ้งเป็นอย่างดี แต่สิ่งที่ตลกโขนจะต้องมีแตกต่างจากคนอื่นคือ ปฏิภาณไหวพริบ กล้าแสดงออก โดดเด่นในการแสดง และที่ขาดไม่ได้เลยคือ ต้องศึกษาค้นคิดและเปิดรับเรื่องราวใหม่ๆ อยู่เสมอ"
     
      หากจะมีตลกในกรมศิลป์ที่ไม่ได้เริ่มก้าวจากการร่ำเรียนวิชาโขนในขณะนี้มีเพียง อาหนอม ที่เติบโตมาจากการแสดงลิเก แต่ถูกชักชวนให้มาร่วมขบวนเรียกเสียงฮาโดยอาจารย์เสรีและยังคงทำหน้าที่ต่อเนื่องยาวนานมาถึงปัจจุบันแม้จะเกษียณอายุแล้วก็ตาม
     
      "ผมเริ่มเล่นลิเกมาก่อน แต่ก่อนเป็นพระเอกลิเก เล่นหนัง แสดงละคร แล้วได้รับเชิญมาแสดงในรายการศรีสุขนาฏกรรมของกรมศิลป์ อาจารย์เสรีก็เลยชักชวนมาเล่นตลก ตอนแรกเราเข้ามาก็เหมือนไก่ตาบอดเพราะไม่รู้จะเริ่มอย่างไร เล่นอย่างไร เราไม่รู้เรื่องโขน ก็สอบถามจากพ่อเสบ้าง จากครูมืดบ้าง ว่าแบบนี้เล่นได้ไหม สอดแทรกเข้าไปได้ไหม เราต้องเชื่อเขาเพราะเขารู้เรื่องโขนละเอียด ช่วงแรกๆ ครูมืดก็จะบอกอย่างนี้ได้นะอา อย่างนี้อย่าเล่นนะเดี๋ยวมันเสียอรรถรส พอช่วงหลังๆ เล่นร่วมกันบ่อยขึ้นก็เข้าใจ และเข้าขากัน"
     
      ส่วนน้องสุดท้องจรัญนั้น เติบโตจากการเล่นเป็นตัวยักษ์ตั้งแต่สมัยเรียนนาฏศิลป์ แต่ด้วยความสนใจอยากเล่นตลกประกอบโขนจึงไปขอร่ำเรียนวิชาเรียกเสียงฮาจากพ่อเสและครูมืดซึ่งขณะนั้นเป็นศิลปินมีชื่อเสียงแล้ว จึงถือเป็นศิลปินตลกของกรมศิลป์ที่มีอายุน้อยที่สุด
     
      สำหรับพ่อเสนั้น บอกว่า การเลือกตัวตลกนั้นส่วนใหญ่หยิบจากจากตัวพระ ยักษ์ ลิง เมื่อดูแล้วว่ามีความสามารถก็เอาออกมาเล่นตลก ซึ่งจะมีกรอบอยู่
     
      "จะเปิ๊บป๊าบไม่ได้ ที่พ่อพยายามทำขึ้นมา คือตอนไหนจะเล่นตลก เล่นอย่างไร เพื่อให้เล่นแล้วเราสนุก คนดูสนุก แล้วเราก็ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้นไปอีก"
     
      **กระตุ้นต่อมขำทำไม่ง่าย
     
      ตลกกรมศิลป์ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การแสดงตลกประกอบโขนแม้จะเป็นงานเรียกเสียงหัวเราะ แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตลกโขนต่างจากการแสดงตลกโดยทั่วไปอย่างสิ้นเชิง จะเล่นสนุกเถิดเทิงเกินขอบเขตก็จะกลายเป็นรุ่มร่ามเกินงาม เพราะต้องแสดงควบคู่กับศิลปะของชาติ
     
      "ตลกโขนเล่นยาก เพราะจะเล่นหยาบคายก็ไม่ได้ ต้องอยู่ในประเพณีปฏิบัติที่ถูกต้องของการแสดงโขน ต้องอิงเรื่องราวโขน ต้องมีปี่พาทย์ การแสดงจึงไม่เหมือนตลกโดยทั่วไป ตลกรุ่นหลังอย่างพวกเราก็จะอิงเอาการแสดงจากพ่อเสเป็นหลัก ซึ่งพ่อเสจะมีหลักมีเกณฑ์ว่าจะเล่นแค่ไหน และจะคอยบอกเสมอว่าเวลาแสดงต้องรับส่งกัน ต้องมีช่องไฟ และต้องไม่แก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน ดังนั้น ความสัมพันธ์กับเพื่อนที่จะแสดงร่วมกันก็เป็นเรื่องสำคัญ"ครูมืดกล่าว
     
      ขณะที่อาหนอมบอกว่า ตลกประกอบโขนต้องระวังเรื่องหยาบคาย ด่าพ่อล่อแม่ หรือโลดโผนเกินไปต้องไม่ทำ แต่สิ่งที่อาหนอมพยายามทำมาโดยตลอดคือนำเอาเรื่องราวของไทยแต่ดั้งเดิม หรือสุภาษิตคำพังเพย เข้ามาเรียงร้อยเข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบันให้ทันยุคทันสมัย
     
      "ผมจะอ่านหนังสือ ดูหนัง ดูละคร หรือหนังฝรั่งก็ดู ดารา นักร้อง เด็กๆ กำลังสนใจเรื่องอะไรกัน เราเอามาใส่เป็นมุกสอดแทรกผสมกับเรื่องราวของไทยๆ เรา เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ๆ เขาสนุก และไม่รู้สึกล้าสมัย เพราะหากมาแล้วเขามานั่งหลับมันก็ไม่มีประโยชน์ และหากเราเล่นย่ำอยู่กับที่ไม่มีมุกใหม่ๆ ไม่รู้จักประยุกต์ดัดแปลงคนดูเขาก็เบื่อหนีไปเสียหมด"
     
      มุกตลกคาเฟ่อาจจะถูกหยิบยืมมาใช้บ้าง แต่ต้องไม่มากจนเกินไป ซึ่งจรัญบอกว่า ศิลปินตลกคาเฟ่นั้นต่างให้ความเคารพนับถือศิลปินตลกในกรมศิลป์และให้เกียรติเป็นอย่างมาก อะไรที่ตลกกรมศิลป์นำมาแสดงคณะตลกเหล่านี้จะไม่นำไปแสดงบนเวทีคาเฟ่
     
      "โขนจะไม่มีตลกมาประกอบก็ได้ แต่พอมีตลกมาประกอบก็ทำให้โขนดูสนุกขึ้น คนก็นิยมมากขึ้น เพราะคนดูเขาต้องการทั้งความสวยงามและตลกขบขัน มาชมละคร มาชมโขน เขาก็ต้องการพักผ่อน คลายเครียดและได้รับความบันเทิงกลับไป
     
      **ควานหาคนสืบทอดมรดกขยับเหงือก
     
      แม้จะได้ทำหน้าที่เป็นเพียงจำอวดประดับฉาก แต่ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "ภาคภูมิใจ" เพราะใช่ว่าคนทุกคนจะมาแสดงเป็นตลกได้ หากขาดองค์ประกอบที่เกื้อหนุนอื่นๆ
     
      "ตลกในราชสำนักนั้น น้อยคนนักจะรู้จัก และน้อยคนนักที่จะเข้าใจและเล่นได้ ต้องรู้เรื่องวรรณคดีอย่างดี คลุกคลีกับศิลปะไทย และผมไม่เคยรู้สึกน้อยใจเลยที่ไม่ได้เล่นเป็นตัวเอก เพราะเราถือว่าคนอื่นทำไม่ได้ แต่เรามาช่วยกันยึดเอาไว้สืบทอดต่อ การเป็นตัวเอกนั้นฝึกซ้อม ฝึกรำกันจริงๆ ก็สามารถเป็นได้ แต่หากเป็นตลกไม่มีความสามารถ ไม่มีพรสวรรค์ รำไม่เป็น และไม่มีความเข้าใจก็เป็นไม่ได้"
     
      ส่วนพระเอกลิเกเก่าอย่างอาหนอมนั้น บอกอย่างเต็มปากเต็มคำว่า ไม่ได้เป็นพระเอกนั้น ไม่มานั่งคิดแล้ว
     
      "สมัยหนึ่งสังขารเรายังดีเราก็เล่นเป็นพระเอกได้ แต่วันนี้สังขารไม่ได้แข็งแรง ไม่สวยงามเหมือนเก่า เราจะอยู่จีรังยั่งยืนไม่ได้ และเราไม่ได้นั่งเฉยๆ เป็นพระเอกเขาคิดคำร้องทำนอง เราเป็นตลก เราก็ต้องคิดมุก"
     
      แม้ว่านักเรียนนาฏศิลป์จะมีสมัครเข้าเรียนอย่างต่อเนื่อง แต่บุคลากรขยับเหงือกในกรมศิลป์กลับหยุดนิ่งหาคนมาสานต่อได้ยากเย็น แม้จะพยายามหา พยายามเฟ้น แต่คนที่ "เล่นเป็น" นั้นยังไม่เจอ ครูมืดถึงกับออกปากว่า
     
      "นักเรียนนาฏศิลป์ 100 คนจะหาตัวพระ นาง ยักษ์ ลิง เราอาจจะคัดได้ถึง 80% แต่จะหาคนมาแสดงตลกประกอบโขนสักคนนั้นหายากจริงๆ เพราะมันฝึกมันสอนกันเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีพรสวรรค์ติดตัวมาด้วย บางคนเป็นคนสนุกแต่แสดงไม่สนุกก็ใช้ไม่ได้ คนดูก็เบื่อ แม้มั่นใจว่าจะต้องมีคนสืบทอดแต่ตอนนี้ยังหาคนใหม่ๆ ไม่ค่อยเจอ"
     
      สอดคล้องกับที่ จรัญ บอกว่า ขณะนี้พยายามมองหานักเรียนนาฏศิลป์ หรือเด็กใหม่ๆ ที่พอมีแววในแวดวงกรมศิลป์ แต่ก็ยังไม่สำเร็จ บางคนหน่วยก้านเข้าท่าเข้าทาง แต่พอแสดงจริงกลับเล่นไม่ได้อย่างที่คิด
     
      ส่วนอาหนอม พูดถึงเรื่องนี้ว่า บอกไปศอกเล่นแค่คืบ บอกไปคืบเล่นแค่ 2 นิ้ว ศิลปะตลกมันก็สั้นลงไปเรื่อยๆ ต้องหาคนที่จะมาสืบทอด มารับช่วงต่อไป ซึ่งเชื่อมั่นว่ามีแน่ เพียงแต่ตอนนี้ยังหาไม่เจอแค่นั้น
     
      "อดีตอธิบดีกรมศิลปากรเคยเรียกผมเข้าไปคุย บอกว่าถนอมช่วยเขียนเป็นหลักสูตรพื้นฐานได้ไหม ผมก็บอกว่ามันเขียนไม่ได้ เล่นตลกมันต้องเรียนรู้เอง ต้องสั่งสมประสบการณ์ และมันเป็นธรรมชาติของแต่ละคน มันสอนยากไม่เหมือนสอนให้รำท่ายักษ์ ท่าลิง"
     
      อาหนอม บอกด้วยว่า อยากให้เด็กๆ ได้จดจำว่า สิ่งที่เหล่าศิลปินในกรมศิลปากรแสดงนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ในวงการทำมาด้วยความลำบากยากแค้น หากจะมีการแยกแยะออกไปทำเป็นอย่างอื่น ก็อย่าให้เกินเลยออกไปมาก และให้ช่วยกันธำรงรักษาศิลปะของไทยเอาไว้ และศิลปินทุกคนล้วนเปิดกว้างสำหรับการให้ความรู้เรื่องศิลปะที่พวกเขาชำนาญ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลกหลวงในราชสำนักทุกคนต่างพูดตรงกัน
     
      สุดท้ายพ่อเส ตลกหลวงชั้นครู กล่าวถึงการแสดงโขนซึ่งเป็นมรดกทางศิลปะของไทยไว้สั้นๆ
     
      "เด็กวัยรุ่นเขาก็สนุกของเขาไป ตอนนี้วัยเขากำลังเฮฮาเราก็ปล่อยไป แต่เดี๋ยวเขาต้องกลับมาหารากเหง้าของเขาเอง เขาจะหวนหาสิ่งที่เป็นของเขา พ่อเห็นมาตลอด ปัญหาคือเราต้องช่วยกันรักษาของของเราเอาไว้ให้ดี โขนของเราก็เป็นของทันสมัยจะผ่านไป 10-20 ปี ก็ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงได้ หนุมานต้องสีขาว สุครีพต้องสีแดง พระรามต้องสีเขียว ใครจะแต่งตัวแตกต่างจากนี้ไม่ใช่โขน เพียงแต่เราต้องช่วยกันรักษาของดีของเราเอาไว้ให้ได้เท่านั้นเอง"
     
      *********************
     
      เรื่อง - คีตฌาณ์ ลอยเลิศ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: Malagao ที่ 08 ต.ค. 06, 13:56

แผนภูมิราชวงศ์ลงกา
ของใครทำก็ไม่รู้จำไม่ได้
เซฟไว้ในเครื่องแล้วลืม
ขออภัยไว้ณที่นี้ด้วย


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: Malagao ที่ 08 ต.ค. 06, 13:57

แผนภูมิราชวงศ์อโยธยา


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: Malagao ที่ 08 ต.ค. 06, 13:58

แผนภูมิราชวงศ์เมืองขีดขิน
(มีแค่ 3 ราชวงศ์นี้นะคะ หมดแล้ว)


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: Malagao ที่ 08 ต.ค. 06, 14:02

เครื่องแต่งตัวพระ
ของคนอื่นเขาเช่นกัน


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: Malagao ที่ 08 ต.ค. 06, 14:03

เครื่องแต่งตัวนาง


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: Malagao ที่ 08 ต.ค. 06, 14:04

เคื่องแต่งตัวยักษ์


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: Malagao ที่ 08 ต.ค. 06, 14:04

เครื่องแต่งตัวลิง


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: Malagao ที่ 08 ต.ค. 06, 15:34

ทศกรรฐสิบภักตรชั้น   เศียรตรี
ทรงมกุฏไชยเขียวสี   อาตมไท้
กรยี่สิบพรศุลี      ประสาศฤทธิ   ยิ่งนา
ถอดจิตรจากตนได้      ปิ่นด้าวลงกา
   พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์
                                                           ( ตัวสะกดตามต้นฉบับเดิม )


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: Malagao ที่ 08 ต.ค. 06, 15:46

กระบินทรบุตรมารุตนี้   นามหณุมานเนอ
ผิวเผือกตรีเทพอุ      กฤษฐแกล้ว
แสดงเดชสี่ภักตรดุ      แปดหัดถหาญแฮ
โลมเพชรอิกเขี้ยวแก้ว   กับทั้งกุณฑล ฯ
                          หลวงบรรหารอัดถคดี
                          ( ตัวสะกดตามต้นฉบับเดิม )


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: Malagao ที่ 08 ต.ค. 06, 15:52

๑๘ มงกฏ คือ เทวดาแปลง แผลงฤทธิ์มาช่วยพระราม
มิ.ย. ๔๘
ปัจจุบันพอเอ่ยคำว่า “ ๑๘ มงกุฏ” คนมักจะคิดว่าเป็นพวกมิจฉาชีพ นักต้มตุ๋นมนุษย์หรือพวกหลอกลวงคน ทั้งที่จริงแล้ว “๑๘มงกุฏ” เป็นคำที่เรียก เสนาวานร ๑๘ ตน หนึ่งในกลุ่มทหารเอกของพระราม ในเรื่อง “รามเกียรติ์” ซึ่งถือว่าเป็นฝ่ายธรรมะ และก็มิใช่เป็นวานรหรือลิงธรรมดา แต่ล้วนเป็นเทวดาอาสาแบ่งภาคมาช่วยพระรามหรือพระนารายณ์ที่อวตารลงมาปราบยักษ์
คือ ทศกัณฐ์ทั้งสิ้น ซึ่งเทวดาแปลงเป็นลิง ๑๘ มงกุฏนี้มีใครบ้าง กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จะได้นำมาเล่าให้ฟังต่อไป
ตามปกติ เราจะคุ้นเรื่อง “รามเกียรติ์” จากการแสดงโขน อันเป็นการแสดงที่ผู้แสดงจะต้องสวม “หัวโขน” ซึ่งว่ากันว่าเดิมทีเดียว คงจะยังไม่มีหัวโขนสวมเช่นปัจจุบัน แต่ใช้การแต่งหน้าระบายสีลงบนหน้าตัวแสดงตามลักษณะที่ปรากฏในเรื่อง ครั้นต่อมาเมื่อตัวละครมีมากเข้า ไม่สะดวกในการแต่งหน้าตัวละครเช่นเดิม จึงได้มีการคิดทำเป็นหน้ากากจำลองเป็นรูปใบหน้าต่างๆ สวมครอบศีรษะและหน้าซึ่งยังสวมเทริด (อ่านว่า เซิด หมายถึง เครื่องประดับศีรษะ) อยู่ แล้วต่อมาจึงได้พัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลง
จนกลายมาเป็น “หัวโขน” ดังที่เห็นทุกวันนี้
ในการแสดงโขนเรื่อง “รามเกียรติ์” นี้ แม้จะมีตัวละครอยู่มากมาย แต่ทางนาฏศิลป์จะมีคำเรียกเพื่อแบ่งคู่สงครามออกเป็น ๒ พวกใหญ่ คือ ฝ่ายพลับพลา หมายถึงฝ่ายธรรมะ ได้แก่ พระราม พระลักษณ์และบรรดาวานรที่เป็นพันธมิตรกับพระราม ส่วนทศกัณฐ์กับบรรดาอสูรและพวกประยูรญาติเรียกว่า “ฝ่ายกรุงลงกา” ถือว่าเป็นฝ่ายอธรรมะ ซึ่งแต่ละฝ่ายจะสวมหัวโขนที่มีลักษณะหน้า เครื่องประดับ และสีที่แตกต่างกันตามฐานะเพื่อให้จำแนกออก เช่น หัวโขนหน้าวานร ๑๘ มงกุฏที่จะกล่าวถึงต่อไป แม้จะทำเป็นหน้าลิงหัวโล้น สวมมาลัยรักร้อยเหมือนกัน แต่ก็จะมีสีที่หน้าต่างกัน รวมถึงปากที่บางตัวก็อ้าปาก บางตัวก็หุบปากด้วย ส่วนหน้ายักษ์มักจะทำตาให้ต่างกัน เช่น ทศกัณฐ์ อินทรชิต จะทำตาเบิกโพลง ถ้าตาหลบต่ำที่เรียกว่าตาจระเข้ จะเป็น ตรีเศียร พิราพ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ชมสามารถแยกออกว่าตัวไหนเป็นใคร ตำแหน่งอะไร
สำหรับวานร ๑๘ มงกุฏ ที่เป็นฝ่ายพันธมิตรกับพระรามหรือที่เรียกว่า ฝ่ายพลับพลา นั้นเป็นวานรที่มาจากสองเมือง
คือ เมืองขีดขินของสุครีพ และเมืองชมพู ซึ่งแต่เดิมก็คือเทวดา ๑๘ องค์ที่อาสามาช่วยพระนารายณ์ตอนอวตารมาเป็นพระราม
นั่นเอง ดังบทละครรามเกียรติ์ที่กล่าวถึงตอนนี้ว่า “ เมื่อนั้น ฝูงเทพเทวาน้อยใหญ่ ต่างทูลอาสาพระภูวไนย จะขอไปเป็นพล
พระอวตาร มาล้างเหล่าอสูรพาลา ที่หยาบช้าเบียนโลกทุกสถาน” เทวดาเหล่านี้ประกอบด้วย พระวิรุฬหก เป็น เกยูร พระวิรูปักษ์ เป็น มายูร พระหิมพานต์เป็น โกมุท พระวิศาลเทวบุตร เป็น ไชยามพวาน พระพิรุณ เป็น ไวยบุตร
พระมหาชัย เป็น สุรกานต์ พระพินาย เป็น นิลเอก พระพิเนกเป็น นิลขัน พระเกตุ เป็น กุมิตัน พระสมุทร เป็น นิลราช พระจันทร์ เป็น สัตพลี พระอังคารเป็น วิสันตราวี พระพุธ เป็นสุรเสน พระราหู อวตารเป็น นิลปานัน พระพฤหัส เป็น มาลุนทเกสร พระศุกร์เป็นนิลปาสัน พระเสาร์เป็น นิลพานร และพระไพรศรพณ์(อ่านว่า พะ-ไพ-สบ) เป็น เกสรทมาลา
1.   เกยูร คือ ท้าววิรุฬหก ผู้เป็นใหญ่ในยักษ์ทั้งหลายและเป็นหนึ่งในจตุโลกบาลประจำทิศใต้ ได้แบ่งภาคมาเป็นเกยูร วานรเมืองขีดขิน หัวโขนจะเป็นหน้าวานรปากอ้า สีม่วงแก่ มักปรากฏชื่อในกองทัพตอนรบกับเหล่าอสูร
2.   มายูร คือท้าววิรูปักษ์ ผู้เป็นใหญ่ในหมู่พญานาค เป็นหนึ่งในจตุโลกบาลประจำทิศตะวันตก แบ่งภาคมาเป็นมายูร วานรเมืองขีดขิน หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้า สีม่วงอ่อน ได้รับการกล่าวถึงในกระบวนทัพเช่นเดียวกับเกยูร
3.   โกมุทหรือโคมุท คือพระหิมพานต์ ผู้ดูแลรักษาป่าหิมพานต์ มีฤทธิ์เดชเก่งกล้ามาก รบชนะพวกยักษ์เสมอ แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน หัวโขนจะเป็นหน้าวานรปากอ้าสีดอกบัวโรย (บ้างก็ว่าหุบปาก) อยู่ในกองทัพที่รบกับอสูรเช่นกัน และเมื่อเสร็จศึกลงกา ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเสนาฝ่ายซ้ายเมืองขีดขิน คู่กับไชยามพวาน
4.   ไชยามพวาน คือ พระอีศาณหรือพระวิศาลเทวบุตร แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน ได้รับพรจากพระอิศวรให้เป็นผู้ถือธงชัยนำกองทัพพระรามไปรบ เพราะมีชื่อเป็นมงคลข่มนามอสูร หัวโขนจะเป็นหน้าวานรปากอ้าสีเทา หรือสีมอหมึกอ่อน เมื่อเสร็จศึกได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาฝ่ายขวาเมืองขีดขิน
5.   ไวยบุตร คือ พระพิรุณ เทพแห่งฝน แบ่งภาคเป็นวานรเมืองขีดขินมาช่วยรบ หัวโขนจะเป็นหน้าวานรปากอ้า สีเมฆคครึ้มฝน หรือสีมอครามแก่
6.   สุรกานต์ คือ พระมหาชัยแบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน คุมกำลัง ๓๐ สมุทรมาช่วยรบ เมื่อเสร็จศึกได้ครองเมืองโรมคัลซึ่งเป็นเมืองของยักษ์ หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้าสีเหลืองจำปา
7.   นิลเอก คือ พระพินายแบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองชมพู หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้าสีทองแดงแก่ (บางแห่งก็ว่าหุบปาก) มีบทบาทในการรบไม่น้อย เช่น ไปช่วยพระลักษณ์ทำลายพิธีกุมภนิยาของอินทรชิต
8.   นิลขัน คือ พระพิเนกหรือพระพิฆเนศแบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองชมพู ช่วยพระรามรบกับพวกยักษ์ หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้าสีหงดินแก่ หรือสีอิฐแก่ (หงคือสีแดงเจือขาว)
9.   กุมิตัน คือ พระเกตุ หนึ่งในเทวดานพเคราะห์ มาแบ่งภาคมา ไม่ปรากฏว่าเป็นฝ่ายใด บ้างก็ว่าอยู่เมืองชมพู ปรากฏในคราวกระบวนทัพครั้งพระมงกุฎพระลบรบกับท้าวคนธรรพ์นุราช หัวโขนเป็นหน้าวานรปากหุบ (บางทีก็ว่าปากอ้า) สีทอง หรือ สีเหลืองรง (รง คือ ชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งที่มียางสีเหลือง)
10.   นิลราช คือ พระสมุทร แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองชมพู นอกจากมีบทบาทสำคัญในการรบแล้ว ยังมีหน้าที่เอาก้อนหินไปถมทะเลในตอนจองถนน เพราะต้องคำสาปของฤาษีคาวิน ว่าเมื่อเอาสิ่งใดทิ้งน้ำให้จมอยู่กับที่ จึงต้องเป็นผู้อาสาเอาศิลาไปทิ้งทะเลแต่ผู้เดียวจึงจะพ้นคำสาป หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้า(บ้างก็ว่าปากหุบ) สีน้ำไหลหรือสีฟ้าอ่อนเจือเขียว
11.   สัตพลี คือ พระจันทร์ หนึ่งในเทวดานพเคราะห์แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน นอกจากมีหน้าที่จดความดีความชอบของเหล่าทหารแล้ว ยังมีบทบาทเด่นเป็นผู้เขียนสารส่งไปยังกรุงลงกา ภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นอาลักษณ์แห่งเมืองขีดขิน หัวโขนเป็นหน้าวานรปากหุบ สีขาวผ่อง
12.   วิสันตราวี คือ พระอังคาร เทพแห่งสงคราม หนึ่งในเทวดานพเคราะห์ แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองชมพู ปรากฏในตอนพระพระพรตพระสัตรุดทำศึกกับท้าวทศพิน หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้าสีแดงลิ้นจี่
13.   สุรเสน คือ พระพุธ เทวดานพเคราะห์แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน ความเก่งกาจเกือบเทียบได้กับหนุมาน เมื่อเสร็จศึกได้ไปครองเมืองอัสดงค์ของสัทธาสูร หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้าสีแสด หรือสีเขียว
14.   นิลปานัน คือ พระราหู เทวดานพเคราะห์ แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองชมพูมาช่วยรบ หัวโขนจะเป็นหน้าวานรปากอ้า สีสำริด
15.   มาลุนทเกสร คือ พระพฤหัสบดี เทวดานพเคราะห์แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน ปรากฏในคราวพระรามรบกับมังกร
กัณฐ์ หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้า (บ้างก็ว่าปากหุบ) สีเมฆ หรือสีม่วงครามอ่อน
16.   นิลปาสัน คือ พระศุกร์ เทวดานพเคราะห์แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองชมพู ปรากฏในการรบกับกุมภกรรณ หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้าสีเลื่อมเหลือง หรือสีหมากสุก
17.   นิลพานร หรือ วิมล คือ พระเสาร์ เทวดานพเคราะห์ที่แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน ปรากฏในการรบตอนหกรถรบหกวานร หัวโขนเป็นหน้าวานรปากหุบสีดำหมึก
18.   เกสรทมาลา คือ พระไพศรพณ์ แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน (บางแห่งว่าไม่ปรากฏเป็นฝ่ายใด) ปรากฏในตอนรบกับกุมภกรรณ หัวโขนเป็นหน้าวานรอ้าปากสีเหลืองอ่อน หรือเลื่อมเหลือง
ทั้งหมดคือที่มาของ ๑๘ มงกุฏ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ล้วนเป็นเทวดาที่มีความเก่งกล้าสามารถและมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยปราบยักษ์หรือเหล่าอธรรมะให้สิ้นไป จึงได้อาสาแบ่งภาคมาจุติเป็นเสนาวานร ทหารเอกของพระรามเพื่อการนี้ ไม่ได้มีนัยการใช้ความเก่งกล้าไปในทางร้ายกาจหรือเจ้าเล่ห์แสนกลดังที่เราใช้ในความหมายปัจจุบันเลย ดังนั้น ถ้าจะใช้คำว่า “๑๘ มงกุฏ” คราวต่อไป เราคงต้องเปลี่ยนความหมายใหม่ว่าหมายถึง “ผู้ปราบมารหรือเหล่าร้าย” น่าจะถูกต้องกว่า
..............................................
อมรรัตน์ เทพกำปนาท
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: Malagao ที่ 08 ต.ค. 06, 15:57

รามเกียรติ์ตอน “พาลีสอนน้อง” บอก ๑๐ วิธีทำงานให้เจ้านายรัก
พ.ค. ๔๘
ในวรรณคดีเรื่อง “รามเกียรติ์” นอกเหนือไปจาก “หนุมาน” พญาลิงเผือกซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว
ยังลิงอีกตัวหนึ่งที่ถูกกล่าวขวัญถึงอยู่เสมอ และเป็นลิงที่สมัยนี้ต้องเรียกว่าเป็นระดับ “บิ๊กลิง” ตัวหนึ่ง นั่นคือ “พาลี” ผู้ครองนครขีดขิน หลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “พาลีสอนน้อง” อันเป็นเรื่องราวตอนหนึ่งในวรรณคดีเรื่องนี้อยู่บ่อยๆ แต่พาลีสอนน้อง น้องคือใคร พาลีมาจากไหน คำสอนว่าอย่างไร เชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยคงยังไม่ทราบ กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังดังต่อไปนี้
อันว่า “พาลี” นี้ เป็นลูกของพระอินทร์กับนางกาลอัจนา เดิมมีกำเนิดเป็นคน แต่เพราะถูกฤาษีโคดม สามีของแม่จับได้ว่าเป็นลูกชู้เลยถูกสาปให้เป็นลิง เช่นเดียวกับ “สุครีพ” ที่เป็นลูกของพระอาทิตย์ (ชู้อีกคนของแม่) ทั้งคู่มีศักดิ์เป็นน้าของหนุมาน เพราะเป็นน้องชายของ นางสวาหะ แม่หนุมานที่เป็นพี่สาวร่วมแม่ แต่ต่างพ่อกัน โดยนางสวาหะเป็นลูกสาวแท้ๆของฤาษีโคดมและเป็นลูกคนแรกของนางกาลอัจนา ลักษณะของพาลี เป็นลิงที่มีกายสีเขียว ส่วนสุครีพมีกายสีแดง ทั้งสองเมื่อถูกสาปก็ซัดเซพเนจรอยู่ในป่า พระอินทร์พระอาทิตย์ผู้พ่อ เกิดความสงสารลูกตัวจึงได้สร้างเมืองที่ชื่อว่า “ขีดขิน” ให้ลูกไปอยู่ โดยพาลีมีชื่อเดิมที่พ่อตั้งให้ว่า “พระยากากาศ” เป็นเจ้าเมือง ส่วนสุครีพน้องชายให้ดำรงตำแหน่งเป็นมหาอุปราช
ตามเนื้อเรื่อง พาลีนับว่าเป็นลิงที่ทั้งเจ้าชู้และเจ้าอารมณ์ไม่น้อย เพราะเมื่อทศกัณฑ์พานางมณโฑเหาะผ่านมา พาลีก็ไปแย่งชิงมาเป็นเมีย ต่อมาสุครีพได้ทำความดีความชอบโดยช่วยยกเขาพระสุเมรุที่ทรุดเอียงให้ตั้งตรงใหม่ได้ พระอิศวรก็เลยปูนบำเหน็จฝากผะอบแก้ว (ที่มีนางฟ้าดาราอยู่ข้างใน) ให้พาลีเอาไปให้สุครีพซึ่งไม่ได้มาด้วย ส่วนพาลีในฐานะพี่และเจ้านายก็ได้ชื่อใหม่ว่า “พาลีธิราช” พร้อมทั้งได้ตรีเพชรเป็นอาวุธ และพรที่ว่าหากสู้กับใคร ก็จะได้พลังของฝ่ายนั้นมาอีกครึ่งหนึ่ง แต่กระนั้น เมื่อพาลีเปิดผะอบ เห็นนางดาราก็เกิดอาการ “ปิ๊ง” ยึดนางเป็นเมียทันที สุครีพก็พูดไม่ออก ครั้นต่อมาทรพี ควายจอมซ่าส์ ฆ่าทรพาผู้พ่อได้ ก็เกิดอาการฮึกเหิมท้ารบไปทั่ว จนมาเจอกับพาลี ก็ไปสู้กันในถ้ำ ปรากฏว่าพาลีชนะ แต่บังเอิญฝนตกทำให้เลือดทรพีที่ไหลออกมาเจือจางเป็นสีใส สุครีพเข้าใจผิดคิดว่าพี่ตาย ก็ทำตามคำสั่งคือให้ปิดถ้ำ พอพาลีออกจากถ้ำได้ก็โกรธ คิดว่าน้องทรยศ จึงขับไล่ออกจากเมืองไป ครั้นต่อมาเมื่อหนุมานได้ไปรับใช้พระราม ก็มาชักชวน
สุครีพน้าชายให้มารับราชการกับพระรามด้วย สุครีพก็เลยแนะว่า หากต้องการกำลังพลไปสู้กับทศกัณฑ์ต้องไปฆ่าพาลีเพื่อยึดเอาเมืองขีดขินมา พระรามก็ต่อว่าสุครีพว่าเป็นน้องชายคิดฆ่าพี่ชายได้อย่างไร สุครีพก็เลยท้าวความว่าที่ฆ่าได้เพราะพาลีผิดคำสาบานที่เอานางดารามาเป็นเมีย แทนที่จะนำมาให้ตน ดังนั้น จึงต้องตายด้วยศรของพระรามตามคำสัตย์ที่ให้ไว้กับพระนารายณ์ตอนรับผะอบมา พาลีเมื่อต้องศรพระรามก็รู้ตัวว่าต้องตายแน่
ก็รู้สึกเสียใจที่ไม่มีโอกาสอยู่ช่วยพระรามปราบยักษ์ ส่วนพระรามเองก็เสียดายความสามารถของพาลี จึงแนะว่าให้เอาเลือดพาลีสักครึ่งหยดๆลงไปบนศรพรหมาสตร์ก็จะพ้นคำสาบานไม่ต้องตาย เพียงแต่จะมีแผลเป็นขนาดเส้นผมผ่าเจ็ดที พาลีคิดแล้วเห็นว่าแม้แผลจะเล็กน้อย แต่ก็ดูเสียศักดิ์ศรี เสียสัตย์สาบาน น่าอับอาย เลยยอมตายดีกว่า ว่าแล้วก็เรียกสุครีพ และองคตลูกชายมาสั่งลา พร้อมกับแนะนำสุครีพถึงการปฏิบัติตนในการรับใช้พระราม และคำสอนในตอนนี้เอง จึงเป็นที่มาของ “พาลีสอนน้อง” ที่เราพูดถึงสำหรับ “พาลีสอนน้อง” นี้มีผู้แต่งหลายท่าน แต่ที่นำมาเสนอในที่นี้ เป็นตอนหนึ่งใน บทละครพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งเนื้อหาถ้าจะพูดแบบสมัยนี้ก็คือ “แนะวิธีทำงานให้เจ้านายรัก” ว่าต้องทำอย่างไรนั่นเอง สิ่งที่พาลีสอน พอตีความสรุปได้ว่า

๑. หมั่นเฝ้าเช้าเย็นเป็นนิจกาล อย่าเกียจคร้านแต่ตามอำเภอใจ คือ เป็นลูกน้องต้องหมั่นไปหาเจ้านายหรือผู้บังคับบัญชาอยู่เสมอ อย่าขี้เกียจตามใจตัวเอง อยากก็ไป ไม่มีอารมณ์ก็ไม่ไป แบบนี้ไม่รุ่งแน่
ไม่ว่าจะทำงานเอกชนหรือราชการ การไปพบเจ้านายบ่อยๆพูดคุยปรึกษาหารือ จะทำให้จำเราได้ และยังเป็นโอกาสเรียนรู้งานจากนายด้วย
๒. สิ่งใดพระองค์จะตรัสถาม อย่าเบาความพิดทูลแต่โดยได้ นั่นคือ หากผู้ใหญ่หรือเจ้านาย
จะพูดคุยซักถามอะไรก็ตอบให้ตรงประเด็น อย่าพูดมาก หรือเลือกพูดเอาแต่ได้(ประโยชน์เฉพาะตัว) เพราะผู้ใหญ่จะรู้เลยว่าเราเป็นคนเช่นไร และหากเพื่อนร่วมงานอื่นๆรู้ เขาก็จะรังเกียจไม่อยากทำงานด้วย
๓. อย่าแต่งตัวโอ่อวดพระทรงชัย ที่ในพระโรงรัตนา หมอบเฝ้าอย่าก้มอย่าเงยหงาย อย่าเตร่ตร่ายเหลือบแลซ้ายขวา หมายถึง เวลาพบผู้ใหญ่ ต้องแต่งกายให้เหมาะสม ไม่มากไม่น้อยถูกกาละเทศะ อย่าเว่อร์เกินงาม ในขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักสำรวมกิริยา ไม่ลุกรี้ลุกรน ล่อกแล่ก ทำให้ดูบุคลิกภาพไม่ดี ไม่น่าเชื่อถือ
๔. พระที่นั่งบัลลังก์อลงการ์ อย่าฝ่าฝืนขึ้นนั่งอิงองค์ แปลตรงตัวก็ว่าที่นั่งของเจ้านาย อย่าขึ้นไปนั่ง นั่นคือ สอนว่าอย่าตีตนเสมอผู้ใหญ่ เพราะเป็นการขาดสัมมาคารวะ และอาจเป็นเหตุให้ท่านหมั่นไส้และไม่เมตตาต่อเรา
๕. อันฝูงพระสนมนางใน อย่าผูกจิตพิสมัยใหลหลง ความนัยข้อนี้คือ อย่าไปยุ่งกับของรักของหวงของนาย ไม่ว่าจะเป็นคนหรือของ เพราะนายจะคิดว่าเรากำเริบเสิบสาน และโอกาสก้าวหน้าอาจจะดับ
๖. จงภักดีต่อใต้บาทบงสุ์ อย่าทะนงว่าทรงพระเมตตา เป็นสอนให้เรารู้จักจงรักภักดี ให้ความ
เลื่อมใสเคารพนับถือต่อผู้บังคับบัญชาอย่างจริงใจ ไม่โอ้อวดถือดี ตีเสมอ แม้ท่านจะมีเมตตาต่อเรา และอย่านำความรักความเมตตาที่ท่านมีต่อเรา ไปหาผลประโยชน์ส่วนตัว ถือว่าเป็นการไม่ภักดีต่อนายเช่นกัน
๗. แขกเมืองอย่าบอกความลับ อย่าสนิทคำนับคบหา หมายถึง อย่าเอาความลับของหน่วยงานไปบอกแก่ผู้อื่น หรือไปทำสนิทสนมกับฝ่ายตรงข้าม พูดง่ายๆคือ อย่าไปสาวไส้ให้กากิน เพราะนอกจากทำให้เราดูไม่ดี ไม่ซื่อสัตย์ต่อหน่วยงานแล้ว ยังทำให้ดูไม่น่าคบ เหมือนคนสองหน้า
๘. อันรางวัลให้ปันเสนา อย่ามีใจฉันทาทัดทาน เมื่อทำงานดีได้ปูนบำเหน็จความดีความชอบ ก็ควรจัดสรรปันส่วนให้ลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงานด้วย เขาก็จะรักในน้ำใจ หากเห็นแก่ตัว งกไว้คนเดียวนานไป คนก็จะถอยห่าง นอกจากนี้หากนายจะให้รางวัลคนอื่นๆบ้างก็ควรสนับสนุน ไม่ใช่คัดค้านขัดขวางความเจริญของเพื่อนฝูง เพราะหากเขารู้เข้าก็จะโกรธหรือผูกใจเจ็บเป็นการก่อศัตรูโดยใช่เหตุ
๙. แม้นกริ้วโกรธลงโทษผู้ใด อย่าใส่ใจยุยงจงผลาญ หมายถึง เมื่อเจ้านายเกิดโมโหลงโทษหรือดุว่าใครก็อย่าได้ร่วมวงทับถมเพื่อน หรือยุยงให้ลงโทษให้หนักขึ้น หากเขาผิดจริง ก็ควรวางเฉยให้นายพิจารณาเอง แต่ถ้าเขาไม่ผิด และเรารู้ ถ้าสามารถพูดจาช่วยเหลือได้ ก็ควรทำ เพราะนอกจากจะช่วยให้นายไม่ลงโทษคนผิด ทำให้นายดูดีขึ้นแล้ว ในอนาคต คนที่เราช่วยเหลืออาจเป็นกำลังสำคัญในการทำงานของเราก็ได้
๑๐. อย่าโลภลักราชทรัพย์ศฤคาร พระบรรหารสิ่งใดจงจำความ เป็นการสอนว่าอย่าโลภมาก อย่าริอ่านขโมยหรือยักย้ายถ่ายเทสมบัติของนายหรือของหลวงมาเป็นของตัว เพราะเป็นเรื่องผิดทั้งทางนิตินัยและพฤตินัย อีกทั้งหากนายสั่งงานสิ่งใด ก็ต้องจดจำเพื่อนำไปปฏิบัติให้ถูก หรือท่านสอนเราอย่างไร ก็จงจำไว้ประพฤติปฏิบัติ เพราะนั่นคือสิ่งที่นายต้องการจากเรา หรือคือสิ่งที่นายได้เรียนรู้มาก่อน แล้วนำมาสอนเราอีกต่อหนึ่ง
คำสอนของพาลีทั้งสิบข้อนี้ แม้จะเป็นเรื่องโบราณ แต่เราก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับปัจจุบันได้
เช่นที่กล่าวมาแล้ว เพราะอย่าลืมว่า พาลีนั้นเป็นถึงเจ้าเมืองๆหนึ่ง ในฐานะเจ้านายที่ต้องปกครองคนมากมายย่อมต้องรู้ และมีประสบการณ์ว่าสิ่งใดจะเป็นที่พึงพอใจของผู้บังคับบัญชา จึงได้ประมวลวิธีผูกใจนายมาสอน
น้องก่อนตายได้ ข้อสำคัญ คนที่สามารถขึ้นมาเป็น “เจ้านาย” ได้ไม่ว่าระดับไหน ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม ย่อมแสดงว่า เขาผู้นั้นย่อมมี “ความสามารถที่ดี ในทางใดทางหนึ่ง” เป็นแน่ มิฉะนั้นคงมิได้รับเลือก และหากความสามารถในทางนั้นๆของเขา ไม่เป็นที่ชื่นชอบของเรา ก็โปรดระลึกไว้ว่า เมื่อใดก็ตามที่เราได้เป็น “เจ้านาย” ก็อย่าเป็นแบบที่เราไม่ชอบนั้นๆด้วย อย่าเข้าทำนอง “ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง”
............................................
อมรรัตน์ เทพกำปนาท กลุ่มประชาสัมพันธ์ สวช. กระทรวงวัฒนธรรม


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: Malagao ที่ 08 ต.ค. 06, 16:02
 พาลีพานเรศเจ้า      ขีดขิน        นครเฮย
เอารสองค์อมรินทร์   ฤทธิกล้า
ทรงชฎาลอออิน      ทรีย์สด        เขียวแฮ
ใครบสบแรงล้า      กึ่งเปลี้ยเสียสูญฯ
                                               กรมหมื่นเทววงษวโรปการ
                                                ( ตัวสะกดตามต้นฉบับเดิม )


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: Malagao ที่ 08 ต.ค. 06, 16:06
 ต้นเรื่องรามเกียรติ์
ณ ยอดเขาจักรวาลมียักษ์ตนหนึ่งชื่อ หิรันตยักษ์ ได้บำเพ็ญตบะเพื่อขอพรจากพระอิศวรให้มีฤทธิ์มากขึ้น เมื่อได้พรแล้วจึงคิดกำเริบว่าไม่มีใครสามารถสู้ได้ จึงม้วนแผ่นดินแล้วเหาะนำไปไว้ที่เมืองบาดาล เหล่าเทวดาจึงไปทูลฟ้องพระอิศวร พระอิศวรให้พระนารายณ์ไปปราบ แล้วจึงนำแผ่นดินมาคลี่ไว้ที่เดิม จากนั้นจึงกลับยังเกษียณ
สมุทร พบดอกบัวบานมีกุมารน้อยอยู่ในนั้น จึงนำไปถวายพระอิศวร พระอิศวรให้พระอินทร์ไปสร้างเมืองให้ที่ป่าทวาราวดี แล้วตั้งชื่อกุมารว่า อโนมาตัน และมอบอาวุธคือ ตรีเพชร คทา และธำมรงค์ ให้ไปปกครองเมืองนั้น ส่วนพระอินทร์ได้มอบนางมณีเกสร เป็นพระมเหสี ต่อมามีโอรสชื่อ อัชบาล และต่อมาท้าวอัชบาลกับนางเทพอัปสรมีโอรสชื่อ ทศรถ
      ฝ่ายพระพรหมองค์หนึ่งชื่อสหบดี ซึ่งเคยให้สหมลิวัน ไปปกครองทวีปลังกาแต่ได้หนีพระนารายณ์ ไปอยู่เมืองบาดาล ทวีปลังกาจึงกลายเป็นเมืองร้าง สหบดีเห็นว่าควรมีการสืบวงศ์พรหมต่อไป จึงสั่งให้พระวิษณุพรหม ไปดูทำเลสร้างเมืองใหม่ พระวิษณุพบเกาะกลางทวีปมีภูเขาสูงชื่อ นิลกาฬ สีดำสนิทตั้งอยู่กลางเกาะเห็นว่าเป็นทำเลที่เหมาะจะสร้างเมืองที่มีความมั่นคง ป้องกันการรุกรานของข้าศึกได้ จึงสร้างเมืองขึ้นตรงเกาะนั้น
    " อันคูเขื่อนปราการล้อมรอบ                                   เป็นคันรอบมั่นคงแน่นหนา
หอรบช่องปืนใบเสมา                                         ทวาราป้อมค่ายรายไป "

   แล้วตั้งชื่อว่าพิชัยลังกา ท้าวสหบดีได้ให้ญาติชื่อท้าวจตุรพักร ไปครอง มอบอาวุธคือ ตรีศูล คทา ฉัตรแก้ว พร้อมพระเวทกำกับฉัตร หากเมื่อข้าศึกมาประชิดเมือง ให้ยกฉัตรขึ้นบังแสงอาทิตย์ ข้าศึกจะมองไม่เห็นเมือง ทั้งยังประทาน นางมลิกา ไปเป็นมเหสี ต่อมามีโอรสชื่อท้าวลัสเตียน ซึ่งมีมเหสี 5 องค์ องค์สุดท้ายชื่อ พระนางรัชดาเทวี ซึ่งเป็นแม่ของทศกรรฐ์
            มียักษ์ชื่ออสุรพรหม อยู่เชิงเขาจักรวาล ต้องการมีฤทธิ์มากขึ้น เพียรทูลขอกระบองที่ไม่มีใครสู้ได้จากพระอิศวร จนพระอิศวรประทานกระบองเพชรให้ มาลีวัคคพรหม จึงทูลทักท้วงว่า การที่ทรงประทานกระบองเพชรให้นั้น จะทำให้โลกเดือดร้อนได้ เพราะอสุรพรหมเป็นยักษ์ที่หยาบช้า ควรจะประทานอาวุธแก่ท้าวอัชบาล เพื่อใช้ปราบอสุรพรหม พระอิศวรจึงประทานพระขรรค์และพรแก่ท้าวอัชบาล ซึ่งภายหลังได้ฆ่าอสุรพรหมตาย ด้วยเหตุนี้มาลีวัคคพรหม จึงเป็นเพื่อนกับท้าวอัชบาลในเวลาต่อมา
ต่อมา มาลีวัคคพรหมเสด็จไปเฝ้าพระอิศวรทูลลาไปอยู่ ณ เขายอดฟ้า พระอิศวรเห็นว่าเป็นพรหมที่มีความซื่อสัตย์ จึงประทานพรให้มีวาจาสิทธิ์ ทั้งได้ตั้งชื่อให้ใหม่ว่าท้าวมาลีวราช ปกครองเหล่าคนธรรพ์และยักษ์
        มียักษ์อีกตนหนึ่งชื่อ ตรีบุรัม   ครองเมืองโสพัส ต้องการมีฤทธิ์เอาชนะพระนารายณ์ได้ จึงบำเพ็ญตบะเพื่อขอพรจากพระอิศวร จนพระอิศวรต้องเสด็จลงมาให้พรตามที่ขอว่า พระนารายณ์ไม่สามารถฆ่าตรีบุรัมได้    เมื่อได้พรแล้วจึงกำเริบไปข่มเหงเหล่าเทวดาและนางฟ้าจนถึงสวรรค์ชั้นที่หกเดือดร้อนไปทั่ว จึงพากันมาฟ้องพระอิศวร เนื่องจากศึกครั้งนี้ใหญ่หลวง ด้วยตรีบุรัมได้พรจากพระอิศวร ทั้งพระพรหมและพระนารายณ์ไม่อาจปราบได้ พระอิศวรจึงต้องยกทัพไปปราบเอง ในกระบวนทัพของพระอิศวร ให้พระขันธกุมารเป็นทัพหน้า พระราหูถือธง พระพิเนตรเป็นปีกซ้าย พระพินายะเป็นปีกขวา พระกาฬเป็นเกียกกาย ท้าวเวสสุวรรณเป็นยกกระบัตร และพระเพลิงเป็นกองหลัง ส่วนพระอิศวรนั่งบนหลังพระโคอุสุภราช เอากำลังพระพรหมผสมกับพระเดชเป็นเกราะเพชร เขาพระสุเมรุเป็นคันธนูชื่อ มหาโลหะโมลี เอาอนันตนาคราชเป็นสายธนู พระนารายณ์เป็นลูกศร แต่ไม่สามารถยิงได้เพราะพรจากพระอิศวรดังกล่าว พระอิศวรจึงลืมตาที่สามขึ้นเป็นเพลิงกรดไหม้ตรีบุรัมตาย จากนั้นจึงมอบธนูโลหะโมลีไว้ที่เมืองมิถิลาและฝากเกราะเพชร ไว้ที่พระฤาษีอัคถะดาบส เพื่อเก็บไว้ถวายพระนารายณ์ตอนอวตารมาปราบเหล่ายักษ์


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: Malagao ที่ 08 ต.ค. 06, 16:16
 อาขยาน – หอกโมกขศักดิ์

8 ธันวาคม 2547 12:39 น.


อาขยาน – หอกโมกขศักดิ์
คำถาม

ผมซื้อ “รามเกียรติ์ – ฉบับการ์ตูน” ซึ่งมีอยู่ 2 สำนวน มาอ่านให้ลูกฟัง ลูกติดใจสำนวนของคุณจันทนีย์ พงษ์ประยูร วันก่อนไปเดินงานมหกรรมหนังสือที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เห็นคุณจันทนีย์ฯไปยืนแจกลายเซ็นที่บู้ธสำนักพิมพ์ซีเอ็ดฯ (ใกล้ ๆ บู้ธกลุ่ม “ผู้จัดการ”) เลยซื้อมาเก็บไว้อีกเล่ม พร้อมทั้งการ์ตูนเรื่องอื่น ๆ ของเธอ.... สังข์ทอง, สามก๊ก, ทรอย, เทพเจ้ากรีก ....แล้วยังมี “ซีดีรามเกียรติ์” ด้วย เธออ่านเอง มีซาวน์เอฟเฟคและผู้อ่านผู้พากย์คนอื่น ๆ เด็ก ๆ ชอบกันมากครับ

ตอนพระลักษณ์โดนหอกโมกขศักดิ์ เธออ่านบทกลอนออกมาตอนหนึ่ง “บัดนั้น พระยาพิเภกยักษี เห็นพระองค์ทรงโศกโศกี.... ฯลฯ” เธอบอกว่าท่องจำสมัยเรียนหนังสือ ผมก็จำได้คลับคล้ายคลับคลา คุณพายัพฯมีฉบับเต็มไหมครับ รบกวนด้วย ผมขี้เกียจไปซื้อฉบับคำกลอนมาเปิดหา

เรื่องรามเกียรติจริง ๆ ยาวมาก คำกลอนพระราชนิพนธ์มีไม่หมด จะอ่านเรื่องย่อได้ที่ไหน
สุดใจ ทรงพล 1 ธ.ค. 47
คำตอบ

ดีครับ จะเป็นสำนวนใดก็ตามการที่เด็กมีโอกาสได้สนใจ “รามเกียรติ์” จะทำให้เขาเป็นคนมีราก ในอนาคตเขาอาจจะหาฉบับเต็มมาอ่านเองได้
“รามเกียรติ์” นั้นมีที่มาจากมหากาพย์ “รามยณะ” ที่ฤาษีวาลมิกิ ชาวอินเดีย แต่งขึ้นเป็นภาษาสันกฤต เมื่อประมาณ 2,400 ปีเศษมาแล้ว แพร่กระจายจากอินเดียไปยังประเทศใกล้เคียง โดยมีการเพิ่มเติมรายละเอียด ผิดแผกแตกต่างออกไปจากต้นฉบับเดิม
“รามยณะ” เป็นปางหนึ่งใน 10 ปางของการอวตารมาปราบยุคเข็ญของพระนารายณ์
“รามเกียรติ์” ของบ้านเรามีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จะสังเกตได้ว่าชื่อ “กรุงศรีอยุธยา” นี่ก็มาจากชื่อเมืองของพระรามในมหากาพย์เรื่องนี้
ในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระราชนิพนธ์สำหรับให้ละครหลวงเล่น ปัจจุบันมีอยู่ไม่ครบ
ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อรวบรวมเรื่องรามเกียรติ์ทั้งหมดที่มีมาแต่เดิม ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ตั้งแต่ต้นจนจบ
ตอนพระลักษณ์ต้องหอกโมกขศักดิ์ที่เป็นบทอาขยาน (ท่องจำ) ของนักเรียนชั้นประถม 4 สมัยก่อน เป็นพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
เดี๋ยวนี้จะมีการท่องจำกันหรือเปล่า – ผมไม่แน่ใจ !
สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ เพื่อให้ละครหลวงเล่น โดยได้ทรงเลือกมาเป็นตอน ๆ สำนวนกลอนไพเราะมาก
สมเด็จพระมงกุฎเกล้าทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ โดยดัดแปลงจากพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพื่อใช้ในการเล่น “โขน” มีเพียงบางตอนเท่านั้น เช่น ตอนนางลอย ตอนหักคอช้างเอราวัณ ตอนสีดาลุยไฟ เป็นต้น
“รามเกียรติ” จึงมีอีกฐานภาพหนึ่ง – เป็นวรรณคดีสำคัญของประเทศไทย เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เนื้อเรื่องและสำนวนกลอนมีทั้งความไพเราะ คติสอนใจ และแง่คิดในด้านต่าง ๆ สอดแทรกไว้ตลอดทั้งเรื่อง
เป็นการบูรณาการหลักนิยมทางปรัชญาของอินเดียในเนื้อเรื่อง กับหลักนิยมของไทยในสำนวนกลอน
อย่าลืมหาเวลาพาลูกไปเที่ยววัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณพระบรมมหาราชวัง
บอกเขาว่าจะพาไปดูจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ – ลูกไม่ปฏิเสธแน่ !
ที่รอบพระระเบียงวัดพระแก้ว มีจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนขึ้นมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ รวมทั้งสิ้น 178 ห้อง (หรือ 178 ภาพ) โดยจิตรกรยอดฝีมือของแผ่นดินในแต่ละยุค เป็นภาพวิจิตรงดงาม ทรงคุณค่าทางศิลปกรรมเป็นอย่างยิ่ง
มีการซ่อมแซมหลายครั้ง เมื่อปี 2375, ปี 2425, ปี 2475 และครั้งล่าสุดเมื่อปี 2525 เนื่องในวาระกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 200 ปี
และนอกจาก “รามเกียรติ์” แท้ ๆ จากห้องที่ 1 ถึงห้องที่ 178 แล้วยังมีเรื่องการอวตารของพระนารายณ์ในปางก่อน ๆ อันเป็นที่มาของเรื่องอีกหลายปาง คือ นรสิงหาวตาร – ปางที่ 4, วราหาวตาร - ปางที่ก่อให้เกิดวงศ์พระนารายณ์ขึ้นที่โลกมนุษย์ คือ “ท้าวอโนมาตัน” โอรสพระนารายณ์ที่เกิดจากองค์พระนารายณ์เอง
สำหรับบทอาขยานที่คุณขอมานั้น มีดังนี้....

บัดนั้น......
พระยาพิเภกยักษี
เห็นพระองค์ทรงโศกโศกี
อสุรีกราบลงกับบาทา
ทูลว่าพระลักษณ์สุริยวงศ์
ยังไม่ปลงชีวังสังขาร์
อันโมกขศักดิ์อสุรา
พรหมาประสิทธิ์ประสาทไว้
ทรงอานุภาพฤทธิรุทร
ต้องใครจะฉุดนั้นไม่ไหว
แต่มียาคู่หอกชัย
ให้ไว้สำหรับแก้กัน
แม้นละไว้จนรุ่งราตรี
ต้องแสงพระระวีจะอาสัญ
ขอให้ลูกพระพายเทวัญ
ไปห้ามพระสุริยันในชั้นฟ้า
อย่าเพ่อรีบรถบทจร
ข้ามยุคนธรภูผา
แล้วให้ไปเก็บตรีชวา
ทั้งยาชื่อสังขรณี
ยังเขาสรรพยาบรรพต
ปรากฏอยู่ยอดคีรีศรี
กับปัญจมหานที
สรรพยาทั้งนี้มาให้ทัน
แม้นว่าได้บดชโลมลง
องค์พระอนุชาไม่อาสัญ
จะดำรงคงชีพชีวัน
หอกนั้นก็จะหลุดขึ้นมา

อ้อ – คุณจันทนีย์ พงษ์ประยูร ในอดีตก็คือ คุณจันทนีย์ อูนากูล เจ้าของเพลงฮิต “สายชล” เมื่อสัก 20 ปีก่อน


พายัพ วนาสุวรรณ 1 ธ.ค. 47


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: Malagao ที่ 08 ต.ค. 06, 16:25

พิเภกน้องแทตย์ท้าว   ทศกรรฐ   
คือแว่นเวศสุญาณสรร   สืบสร้าง
เพทางค์สารทขยัน   ยลยวด   ยิ่งเฮย
ทรงมกุฏน้ำเต้าอ้าง   อาตม์พื้นขจีพรรณ ฯ
                                   นายทัดกุเรเตอร์
                           ( ตัวสะกดตามต้นฉบับเดิม )  


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ต.ค. 06, 16:31
 คุณ Malagao ไปเอามาจากเว็บผู้จัดการค่ะ  
ทำลิ้งค์ให้สำหรับผู้สนใจ
 http://www.manager.co.th/politics/PoliticsQAQuestion.asp?QAID=3939  


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: Malagao ที่ 09 ต.ค. 06, 10:25

กระทู้เรื่องนางลอยปิดไปแล้ว กะจะเล่าด้วยภาพสักหน่อย เพราะมีเยอะ แต่ไม่มีเวลามานั่งลดขนาดภาพ ต้องค่อยๆทำไปทีละนิด ทีลัหน่อย


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: Malagao ที่ 09 ต.ค. 06, 13:03
เอาใหม่


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: Malagao ที่ 09 ต.ค. 06, 15:39
กุมภกรรณ อุปราชกรุงลงกา
สีเขียว 1 หน้า 2 มือ
หัวโล้น หัวโขนทำเป็น 4 หน้า หน้าใหญ่ 1 หน้า หน้าเล้กอยู่ข้างหลัง 3 หน้า โอรสองค์ที่ 2 ของท้าวลัสเตียนกับนางรัชฎา


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: Malagao ที่ 09 ต.ค. 06, 16:02
อินทรชิต (รณพักตร์) ยุพราชกรุงลงกา
สีเขียว 1 หน้า 2 มือ ชฎามนุษย์ หรือชฎายอดกาบไผ่เดินหน
จอนหูมนุษย์ โอรสองค์ที่ 1 ของทศกัณฐ์กับนางมณโฑ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: Malagao ที่ 09 ต.ค. 06, 16:23
วิรุญจำบัง
กษัตริย์เมืองจารึกองค์ที่ 2
สีมอหมึก 1 หน้า 2 มือ
มงกุฏหางไก่ โอรสพญาทูต น้องชายทศกัณฐ์


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: Malagao ที่ 09 ต.ค. 06, 16:48
แสงอาทิตย์
อนุชามังกรกัณฐ์
สีแดงชาด 1 หน้า 2 มือ
มงกุฏกระหนก
โอรสพญาขรน้องชายทศกัณฐ์ กับนางรัชฎาสูร


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: Malagao ที่ 09 ต.ค. 06, 21:51
 นางมณโฑ สาวงามสี่ผัว แต่ไม่มั่วรัก
เมื่อเอ่ยถึง “นางมณโฑ” ในเรื่อง “รามเกียรติ์”  เชื่อว่าหลายคนคงจะรู้สึกคุ้นหูกับชื่อนี้ไม่น้อยไปกว่านามของนางสีดา  นางเบญกาย  หรือนางสุพรรณมัจฉา  แต่ประวัตินางมณโฑเป็นมาอย่างไร  คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่รู้ . . .
ทั้งๆ ที่เรื่องราวของนางก็น่าสนใจไม่น้อย  ข้อสำคัญ แม้เธอจะมิใช่สาวแรงสูงผู้ไขว่คว้าหาความรัก  แต่เชื่อไหมว่าในเรื่องเธอต้องมี “สามี” ถึงสี่คน และมิใช่ “กิ๊ก” อย่างที่สาวๆ สมัยนี้นิยมกัน  นางมณโฑเป็นใคร มาจากไหน กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม  ขอนำมาเล่าสู่กันฟังเพื่อความรู้และความเพลิดเพลิน ดังนี้
        เล่ากันว่าที่เชิงเขาหิมพานต์ มีฤาษีสี่ตน บำเพ็ญพรตอยู่เป็นเวลาช้านาน  และมีตบะแก่กล้ามาก  ทุกๆ เช้า จะมีนางโค ๕๐๐ ตัว มาที่อาศรมของฤาษี   และต่างก็จะหยดนมของตัวลงในอ่างแก้วเพื่อให้ฤาษีได้ฉันเป็นอาหารเช้า  ซึ่งฤาษีก็จะแบ่งนมส่วนหนึ่งให้แก่นางกบตัวเมียตัวหนึ่งที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นเป็นประจำทุกวันเช่นกัน  อยู่มาวันหนึ่งฤาษีทั้งสี่ออกไปป่า  พบนางนาคตนหนึ่งกำลังเสพสังวาสกับงูดิน  ฤาษีเห็นว่านางนาคเป็นสัตว์ตระกูลสูงกว่า ไม่น่าจะมาสมสู่กับงูดิน  จึงได้เอาไม้เท้าเคาะไปที่ขนดหางนางนาคเบาๆ  นางนาคกำลังร่านด้วยแรงราคะก็ยังไม่รู้ตัว  ฤาษีจึงเคาะซ้ำไปที่กลางลำตัว  นางนาคตกใจคลายขนด (ขะ-หฺนด หมายถึงตัวงูที่ขด หรือโคนหางงู) ออกมาเห็นฤาษี  ก็รู้สึกอับอายขายหน้า จึงหนีกลับไปเมืองบาดาล   กลับไปแล้ว ยิ่งคิดก็ยิ่งคิดแค้นใจพระฤาษีที่ทำให้ตนได้รับความอับอาย  และคิดว่าหากพระยากาฬนาคพ่อตนรู้เข้า นอกจากตนจะเสื่อมเสียแล้ว ก็อาจมีโทษถึงตาย  เมื่อคิดได้ดังนั้น  นางนาคจึงกลับไปอาศรมฤาษี  แล้วคายพิษลงในอ่างน้ำนมที่ฤาษีทั้งสี่ต้องฉันทุกเช้า  ฝ่ายนางกบเห็นเช่นนั้น  ก็ตกใจ และด้วยความกตัญญูสำนึกในพระคุณของฤาษีที่เลี้ยงตนมา  จึงตัดสินใจตายแทน ด้วยการกระโดดลงไปในอ่างนม และขาดใจตายเพราะพิษนางนาคนั้น
        ครั้นฤาษีทั้งสี่กลับมาจะฉันน้ำนม  เห็นนางกบนอนตายในนั้น  ก็รู้สึกไม่พอใจคิดว่านางกบตะกละ  แต่ก็ยังมีใจเมตตาอยู่  จึงชุบชีวิตนางกบขึ้นมาใหม่  แล้วสอบถามดูว่าทำไมประพฤติตัวโลภมากอย่างนี้  ให้กินทุกวันยังไม่พอใจอีกหรือ  นางกบก็เล่าความจริงให้ฟังถึงเรื่องนางนาคมาคายพิษไว้  ฤาษีฟังแล้ว เห็นในคุณความดีของนางกบ  จึงได้ทำพิธีก่ออัคคีแล้วร่ายมนตร์วิเศษ พร้อมโยนนางกบลงในไฟ ชุบชีวิตขึ้นมาใหม่กลายเป็นสาวที่มีรูปโฉมโนมพรรณงามกว่าหญิงใดในสวรรค์ทั้งหก  ดังพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๑  ที่ว่า

        เดชะพระเวทสิทธิศักดิ์  
พระวิษณุรักษ์รังสรรค์
เกิดเป็นกัลยาวิลาวัณย์
งามวิจิตรพิศพรรณขวัญตา
งามพักตร์ยิ่งชั้นมหาราช
งามวิลาสล้ำนางในดึงสา
งามเนตรยิ่งเนตรในยามา
งามนาสิกล้ำในดุษฎี
งามโอษฐ์งามกรรณงามปราง
ยิ่งนางในนิมาราศี
งามเกศยิ่งเกศกัลยาณี
อันมีในชั้นนิรมิต
ทั้งหกห้องฟ้าหาไม่ได้
ด้วยทรงลักษณ์วิไลไพจิตร
ใครเห็นเป็นที่เพ่งพิศ
ทั้งไตรภพจบทิศไม่เทียมทัน
        จากพระราชนิพนธ์ข้างต้น  จะเห็นได้ว่าหน้าตาของนางมณโฑเลิศล้ำสวยงามเพียงใด และจากที่นางมีกำเนิดมาจากกบ  พระฤาษีจึงตั้งชื่อให้ว่า “นางมณโฑ” ที่แปลว่า “กบ”  อันเป็นสถานภาพเดิมของนาง  และเนื่องจากพระฤาษีเห็นว่านางเป็นหญิงสาวไม่เหมาะจะอยู่ด้วย  เกรงเป็นที่ติฉินนินทาได้  จึงพร้อมใจกันพานางไปถวายพระอิศวร (พระศิวะ) พระอิศวรก็รับนางไว้ และให้ไปอยู่กับพระแม่อุมา  พระชายาของพระองค์   นับตั้งแต่ไปอยู่กับพระอุมา  นางมณโฑก็ตั้งใจปรนนิบัติรับใช้พระแม่เป็นอย่างดี  จนเป็นที่เมตตาและพระแม่อุมาก็ได้บอกพระเวทย์ต่างๆ ให้
        ต่อมาเขาไกรลาสเอียงทรุด  เพราะยักษ์วิรุฬหกจากเมืองบาดาลโกรธสารภูตุ๊กแกที่ล้อเลียนตน  จึงขว้างสังวาลนาคใส่ และเลยไปถูกเขาไกรลาสจนเอียง  พระอิศวรจึงประกาศแก่เหล่าเทวดาทั้งหลายที่มาเฝ้าว่า  หากใครยกเขาไกรลาสให้ตั้งตรงได้  จะมีรางวัลให้อย่างงาม  ก็ปรากฎว่าไม่มีใครยกได้  พระอิศวรจึงต้องให้เทวดาไปตามทศกัณฐ์มายกให้จึงสำเร็จ  ทศกัณฐ์ก็ทูลขอพระแม่อุมาเป็นรางวัล  พระอิศวรแม้ไม่พอใจที่ทศกัณฐ์เหิมเกริม แต่เนื่องจากออกโอษฐ์ไปแล้ว  ก็จำยอมประทานให้ตามขอ  เพราะรู้ว่าอย่างไรเสีย ทศกัณฐ์ก็ต้องนำมาคืนแน่นอน  ฝ่ายทศกัณฐ์พอได้รับประทานพระอุมา  ก็ตรงเข้าไปอุ้มพระแม่อุมา แต่ครั้นถูกองค์พระแม่  ก็รู้สึกร้อนเหมือนถูกไฟไหม้  จึงจำต้องช้อนพระบาทพระอุมาทูนไว้บนหัว เหาะกลับเมืองลงกา  เหาะต่อมาไม่นาน ก็รู้สึกร้อนจนทนไม่ได้  จึงต้องวางพระแม่อุมาลง และพาเดินต่อไป  ส่วนเหล่าเทวดานางฟ้าเห็นทศกัณฐ์พาพระอุมาไปเช่นนั้นก็ตกใจ  จึงพากันไปเฝ้าพระนารายณ์ให้ช่วยแก้ไข  พระนารายณ์จึงออกอุบายแปลงเป็นยักษ์แก่ ปลูกต้นไม้เอายอดลงดิน รากชี้ฟ้า  ทศกัณฐ์พาพระอุมาเดินผ่านก็สงสัยและแปลกใจ  ถามว่าทำไมโง่ปลูกต้นไม้แบบนี้  ยักษ์แปลงก็ว่าทศกัณฐ์แหละโง่  ไปพาหญิงร้ายที่จะมาทำลายเหล่ายักษ์มาทำไม  ไม่รู้จักขอของดีมา  ทศกัณฐ์ได้ฟังก็ชักเห็นตาม เพราะตนเองพาพระอุมามาก็ร้อนเข้าใกล้ไม่ได้  จึงถามยักษ์แก่ดู  ก็ได้รับคำแนะนำให้ไปขอนางมณโฑ  ทศกัณฐ์จึงพาพระอุมาทูนหัวเหาะกลับไปคืนพระอิศวร  และขอนางมณโฑมาแทน
        ระหว่างพานางมณโฑเหาะกลับเมืองนั้น  ถึงคราวเคราะห์ของทศกัณฐ์ที่เหาะผ่านเมืองขีดขินของพาลี  พญาลิงที่กำลังว่าราชการอยู่  ทำให้พาลีไม่พอใจฉวยพระขรรค์เหาะไปขวางหน้าทศกัณฐ์  ครั้นเห็นนางมณโฑงามดั่งนางฟ้าก็นึกรัก  จึงพาลหาเรื่องต่อสู้กับทศกัณฐ์ๆ พ่ายแพ้  พาลีจึงแย่งนางมณโฑมาได้  แล้วพากลับเมืองได้นางเป็นเมีย  นางมณโฑนั้นแต่แรกก็ไม่ยินยอม  แต่ก็ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ กอปรกับพาลีใช้ทั้งวาทศิลป์และเล่ห์ชายจนนางต้องยินยอมในที่สุด  นับว่าพาลีเป็นสามีลิงคนแรกของนาง  
        ส่วนทศกัณฐ์นั้นเมื่อกลับกรุงลงกา ก็เสียใจที่แพ้และยังถูกแย่งนางมณโฑไป จึงคลุ้มคลั่งพาลทำร้ายนางสนมกำนัลในไปหมด  ใครเอาใจอย่างไรก็ไม่ถูกใจ  และไม่ว่าราชการนานถึงเจ็ดเดือน  กุมภกรรณและพิเภกน้องชายจึงช่วยกันคิดหาวิธีแก้ไข  ด้วยการไปเชิญพระโคบุตร อาจารย์ของทศกัณฐ์มา  เมื่อทราบเรื่องทั้งหมดแล้ว  พระโคบุตรจึงไปหาพระอังคต อาจารย์ของพาลี เพื่อให้ว่ากล่าวพาลีให้คืนนางมณโฑแก่ทศกัณฐ์  พระอังคตจึงเดินทางไปหาพาลีกล่อมให้คืนนางมณโฑ และว่าพาลีทำไม่ถูกที่ไปแย่งเมียคนอื่นเขามา  ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง  พาลีไม่อยากคืน ก็อ้างว่านางท้องได้หกเดือนแล้ว  ไม่อยากให้ลูกตนไปอยู่กับยักษ์  พระอังคตจึงว่าเรื่องนี้ไม่ยาก  ท่านจะแหวะท้องนาง เอาลูกมาใส่ในท้องแพะไว้ก่อนจนกว่าจะคลอด  พาลีบ่ายเบี่ยงอย่างไรก็ไม่เป็นผล  แม้จะไม่เต็มใจ ก็จำต้องยอมคืนนางแก่ทศกัณฐ์   ครั้นนางมณโฑทราบเรื่องก็เสียใจ ร้องไห้จนสลบไป  พระอังคตเห็นเป็นโอกาสดี จึงผ่าท้องเอาลูกนางไปใส่ในท้องแพะ และร่ายมนตร์วิเศษปิดท้องให้อย่างเดิม  เมื่อนางฟื้นก็พาตัวไปคืนทศกัณฐ์  ส่วนลูกนางกับพาลีที่ฝากไว้กับท้องแพะ เมื่อถึงกำหนดสิบเดือน  พระอังคตก็ทำพิธีผ่าออกมาจากท้องแพะ แล้วให้ชื่อว่า “องคต” เลียนชื่อท่านเองเพื่อเป็นมงคลนาม (นี่จะเห็นว่า การอุ้มบุญ มีมาแต่โบราณกาล  แถมวิทยาการยังทันสมัยกว่าอีก เพราะให้สัตว์อุ้มท้องแทนก็ได้)
        ส่วนทศกัณฐ์ได้นางมณโฑคืนมา ก็ดีใจพาเหาะกลับกรุงลงกา แล้วเกี้ยวพาราสีต้องเนื้อต้องตัวนาง  จนในที่สุดก็ได้นางเป็นเมียสมใจ  ถือเป็นสามีคนที่สอง  นางมณโฑนั้น เมื่อเป็นเมียพาลีก็คงรักพาลี  เพราะเป็นชายคนแรกของนาง  ครั้นต้องมาเป็นเมียทศกัณฐ์  นางก็รักและจงรักภักดีต่อทศกัณฐ์เช่นกัน  ดังจะเห็นได้ว่า  เมื่อทศกัณฐ์ลักนางสีดามา  และต้องทำสงครามต่อสู้กับพระราม พระลักษณ์และหนุมานยืดเยื้อเป็นเวลานาน  จนต่างฝ่ายต่างต้องเสียไพร่พลไปมากมายนั้น   ทศกัณฐ์ก็ได้สอบถามนางมณโฑว่า  ตอนที่นางอยู่กับพระแม่อุมา  ได้เรียนมนตร์วิเศษอะไรบ้าง  นางก็ว่าเคยเรียนมนตร์ที่เรียกว่า “สัญชีพ” ไว้  ซึ่งมนตร์นี้ถ้าทำสำเร็จจะได้น้ำทิพย์อันวิเศษ  ผู้ใดตายไปแล้ว  หากพรมด้วยน้ำทิพย์นี้  ก็จะฟื้นคืนชีพขึ้นมา ใช้ให้ทำอะไรก็ได้  และยังสามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ด้วย   แต่มีข้อแม้ว่าผู้ทำพิธีห้ามพูด และห้ามร่วมเสน่หาระหว่างกระทำพิธี   ทศกัณฐ์ได้ทราบก็ดีใจนัก  รีบตั้งโรงพิธีให้นางมณโฑทันที  ครั้นทำพิธีครบเจ็ดวัน  ก็บังเกิดน้ำทิพย์ขึ้นในหม้อทองคำ   นางมณโฑก็ให้รีบนำไปให้ทศกัณฐ์ที่สนามรบ  ทศกัณฐ์จึงใช้น้ำทิพย์ประพรมไพร่พลยักษ์ที่ตายไป  ทำให้เหล่ายักษ์ปีศาจฟื้นขึ้นมาช่วยต่อสู้ใหม่  และเข้าโจมตีไพร่พลวานรของพระรามจนแตกกระเจิงไป  พระรามเห็นดังนั้น  ก็สอบถามพิเภกดู    เมื่อทราบความจริง  จึงได้ส่งหนุมาน พร้อมด้วยวานรอีกจำนวนหนึ่งไปทำลายพิธี   หนุมานจึงได้แปลงตนเป็นทศกัณฐ์  และให้พลพรรควานรที่ไปด้วยแปลงเป็นพวกทศกัณฐ์เดินทัพกลับเข้ากรุงลงกา  ทำทีว่าชนะศึกกลับมาแล้ว  จากนั้นหนุมานก็ตรงไปโรงพิธี  ใช้เล่ห์กลหลอกนางมณโฑให้เข้าใจว่าตนเป็นทศกัณฐ์กลับมาขอบคุณนางที่ทำให้รบชนะ  แล้วก็พานางกลับปราสาทโอ้โลมปฏิโลมจนได้ร่วมพิศวาสกับนาง  ส่วนพลพรรควานรที่อยู่ข้างนอกก็ทำลายโรงพิธีจนหมดสิ้น  
        เมื่อหลอก “นอน”กับนางมณโฑ เป็นการทำลายพิธีได้สำเร็จแล้ว  หนุมานแปลงก็ลานาง ทำทีว่าจะไปจับพิเภกที่หนีไปได้  จากนั้นก็กลับไปทูลพระรามว่าสามารถล้มพิธีได้แล้ว  พระรามจึงสั่งให้สุครีพนำพลเข้าโจมตีพวกยักษ์  ฝ่ายทศกัณฐ์เมื่อต่อสู้ไปๆ  น้ำทิพย์ที่จะพรมยักษ์ตาย ให้ฟื้นก็หมด  ไม่เห็นมีใครมาส่งเพิ่ม  แล้วยังถูกพวกลิงเยาะเย้ย ก็เอะใจ  ขอพักรบ  แล้วกลับเมือง ไปถึงเห็นโรงพิธีพินาศ  จึงไปสอบถามและต่อว่านางมณโฑที่อยู่ในปราสาท และยังไม่รู้อิโหน่อิเหน่อยู่  นางมณโฑก็เล่าเรื่องราวให้ทราบ  ทศกัณฐ์ก็รู้ว่าเสียท่าหนุมานแล้ว  ก็บอกเมีย  นางมณโฑทั้งอับอายขายหน้า ทั้งเสียใจที่เสียตัวและเสียรู้หนุมาน จึงร้องไห้จนสลบไป  ทศกัณฐ์ก็แก้ไขจนฟื้น  แต่นางยังรู้สึกเสียใจร้องไห้รำพึงรำพันขอให้ทศกัณฐ์ฆ่านางเสีย  เพราะนางทำให้เสียเกียรติสามี  แต่ทศกัณฐ์นั้นทั้งรักและสงสารเมีย จึงปลอบโยนนางมณโฑ และว่าตนไม่ถือโทษโกรธนาง  ถือเสียว่าเป็นกรรมเป็นเวรไปก็แล้วกัน  ส่วนการต่อสู้  ตนก็จะหาวิธีอื่นต่อไป  นางจึงค่อยคลายทุกข์ไป   ดังนั้น  หนุมานจึงเป็นสามีคนที่สาม  แต่เป็นสามีลิงคนที่สองของนาง (พาลีเป็นคนแรก)  แต่อย่างกรณีของหนุมาน  จะนับว่าเป็นสามีจริงๆ จังๆ อย่างพาลี และทศกัณฐ์คงไม่ได้  เพราะเป็นการได้นางเป็นเมียแบบใช้เล่ห์กล  และถ้านางรู้ก็คงไม่ยอมเป็นแน่
        ต่อมาภายหลัง เมื่อหนุมานสามารถล่อลวงเอากล่องดวงใจของทศกัณฐ์มาจากพระโคบุตร  อาจารย์ของทศกัณฐ์  จนทำให้พระรามฆ่าทศกัณฐ์ตายได้ในที่สุดนั้น  ก่อนตายทศกัณฐ์ก็ได้ฝากฝังนางมณโฑไว้กับพิเภกน้องชาย  ครั้นชนะศึกแล้ว  พระรามก็ได้จัดพิธีราชาภิเษกให้พิเภก ได้ครองกรุงลงกาต่อมา  โดยให้ชื่อใหม่ว่า “ท้าวทศคิริวงศ์”  และประทานนางมณโฑให้  พิเภกจึงเป็นสามีคนที่สี่  และเป็นสามียักษ์คนที่สองของนางมณโฑ  ต่อมานางมณโฑได้คลอดลูกชายชื่อ “ไพนาสุริย์วงศ์” ซึ่งเป็นลูกทศกัณฐ์ที่ติดท้องนางมณโฑมา ก่อนที่ทศกัณฐ์จะตาย  แต่พิเภกไม่รู้ และเข้าใจว่าเป็นลูกตน  จึงรักและชื่นชมเลี้ยงดูลูกนางเป็นอย่างดี  ต่อมาไพนาสุริย์วงศ์รู้จากพี่เลี้ยงว่าทศกัณฐ์ซึ่งเป็นพ่อแท้ๆ ตายไปแล้ว  ส่วนพิเภกเป็นเพียงพ่อเลี้ยง  จึงไปถามนางมณโฑดูจนรู้ความจริง  จึงอุบายขอลาไปเรียนวิชา   เมื่อเรียนจบก็แอบไปหาท้าวจักรวรรดิเพื่อนทศกัณฐ์ให้มาช่วยแก้แค้นพิเภก  จับพิเภกขังคุก และท้าวจักรวรรดิ์ก็ได้ตั้งไพนาสุริย์วงศ์ลูกทศกัณฐ์กับนางมณโฑครองกรุงลงกาแทน  โดยตั้งนามใหม่ให้ว่า “ทศพิน”  ต่อมาทศพินก็ต้องตายไปเพราะมีการสู้รบแก้แค้นไปมา  ส่วนนางมณโฑแม้จะได้ห้ามลูกไว้แต่แรกแล้ว  แต่ทศพินหรือไพนาสุริย์วงศ์ก็ไม่ฟัง  จึงต้องตายไปในที่สุด  นางมณโฑเองก็เกือบต้องโทษในฐานะเป็นแม่ด้วย  แต่พอดี “องคต” ลูกชายอีกคนที่เกิดกับพาลี  มีความดีความชอบ  จึงรอดพ้นโทษมาได้  ซึ่งเนื้อหารามเกียรติ์ตอนต่อไปยังมีอีกมาก  แต่มิได้กล่าวถึงนางมณโฑอีก  
        จะเห็นได้ว่าชีวิตของ  “นางมณโฑ”  นางกบที่พระฤาษีอุตส่าห์ชุบชีวิตให้เป็นสาวงาม  แม้ว่าจะต้องมีผัวถึงสี่คน  แต่ถ้าอ่านตามเนื้อเรื่องแล้ว  จะเห็นได้ว่านางมิใช่หญิงร่าน  หรือจงใจใช้ความงามหว่านเสน่ห์เพื่อหาสามีเลย  ตรงกันข้าม  การมีสามีแต่ละครั้งแต่ละหน  ล้วนอยู่ในภาวะจำยอมทั้งสิ้น  นั่นคือ ไม่ถูกยกให้  ก็ถูกแย่ง หรือถูกหลอก   โดยเมื่อแรกอยู่กับพระแม่อุมาดีๆ ก็ถูกยกให้ทศกัณฐ์  ยังไม่ทันอยู่กินกับทศกัณฐ์ก็ถูกแย่งไปเป็นเมียของพาลี  แล้วถูกพากลับมาเป็นเมียทศกัณฐ์อีก  ครั้นแล้วก็ต้องตกเป็นเมียหนุมานโดยไม่รู้ว่าถูกหลอกขณะทำพิธีช่วยทศกัณฐ์สามี    และท้ายสุดก็ถูกยกให้เป็นเมียน้องสามีคือพิเภกอีก  นางมณโฑจึงนับเป็นสาวงามผู้อาภัพยิ่งนัก  แม้นางจะมากผัว เป็นผัวลิงบ้าง ผัวยักษ์บ้าง  แต่ก็กล่าวได้ว่า  นางมิใช่ผู้หญิงประเภทมั่วรัก  กลับเป็นหญิงที่ดีงามคนหนึ่ง  เพราะนางจงรักภักดีต่อสามีทุกคน (ยกเว้นหนุมานเพราะได้ด้วยเล่ห์กล) มิฉะนั้นแล้ว  เราอาจจะมี วลีเสียดสีผู้หญิงที่มีสามีหลายคนเพิ่มจากนางวันทอง โมรา กากี  โดยต่อท้ายว่า นางมณโฑมากผัวก็ได้
กลุ่มประชาสัมพันธ์  สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ  กระทรวงวัฒนธรรม


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: Malagao ที่ 09 ต.ค. 06, 22:07

โขนไทยไปแวร์ซายส์

เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี และจากความสัมพันธ์ที่มีต่อกันมาอย่างยาวนานกว่า ๓๒๐ ปี รัฐบาลสาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยประธานาธิบดี ฌาคส์ ชีรัก เปิดโรงละครพระราชวังแวร์ซายส์ ให้กระทรวงวัฒนธรรม นำโขนไทยจากกรมศิลปากรทำการแสดงรามเกียรติ์ ตอน นางลอย-ยกรบ ในพิธีเปิดงาน “เทศกาลวัฒนธรรมไทยในฝรั่งเศส” กราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นประธานในพิธีเปิดงานฯ วันที่ ๑๘ กันยายน นี้    
จากการเปิดเผยของคุณหญิงทิพาวดี  เมฆสวรรค์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ว่า ตามความตกลงในแถลงการณ์ร่วมระหว่างนายกรัฐมนตรีของไทยและนายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖ กระทรวงวัฒนธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันจัดงาน “เทศกาลวัฒนธรรมไทยในฝรั่งเศส” ขึ้น ที่ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ ๑๕ กันยายน-๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๙ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จฯ เป็นประธานพิธีเปิดงานและทอดพระเนตรการแสดงโขนจากกรมศิลปากรที่จะทำการแสดงรามเกียรติ์ ตอน นางลอย-ยกรบ ในวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๙ ณ โรงละครพระราชวังแวร์ซายส์ ที่บรรจุผู้ชมได้ ๗๐๐ ที่นั่ง โดยกรมศิลปากร ได้พัฒนารูปแบบการแสดงเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างความประทับใจในการแสดงศิลปะชั้นสูงของไทยแก่ผู้ชมชาวฝรั่งเศส โดยจะทำการแสดงทั้งหมด ๕ รอบ ที่พระราชวังแวร์ซายส์ ๑ รอบ ที่ Opera National de Brest ๒ รอบ และที่ Opera de Massy ๒ รอบ ซึ่งในการพัฒนารูปแบบการแสดงโขนในครั้งนี้มี ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ นายกสยามสมาคม เป็นที่ปรึกษาการดำเนินงาน
ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ ที่ปรึกษาคณะทำงานพัฒนาการจัดการแสดงโขนเพื่อร่วมงานเทศกาลวัฒนธรรมไทยในฝรั่งเศส เปิดเผยว่า ได้พัฒนารูปแบบการแสดงโขนให้กระชับเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ชมชาวต่างประเทศที่ไม่รู้จักโขนเลยให้มากที่สุดแต่ยังคงการแสดงแบบโบราณดั้งเดิมเอาไว้เพราะผู้ชมไม่รู้ว่ายักษ์ตัวไหน ลิงตัวไหน โดยในฉากแรกและช่วงพักครึ่งเวลา จะนำเสนอในลักษณะ “ละครใบ้และการเต้นโขน” (Masked Mime & Drama Dance) พร้อมคำอธิบายเบื้องหลังการแสดงโขน เช่น ประเพณีการไหว้ครูก่อนทำการแสดง การแต่งกายที่ต้องเย็บเครื่องแต่งกายเข้ากับนักแสดงจริง เป็นต้น จากนั้นจะเริ่มทำการแสดงตอนนางลอยซึ่งเป็นตอนที่เป็นไทยแท้คือประเทศอื่นไม่เล่นเลยเพราะเราคิดขึ้นมาเองและเป็นตอนที่เล่นในเวลาไม่ยาวนัก และเล่นตอนยกรบต่อไปเพื่อให้ติดตาผู้ชมทั้งหมดใช้เวลา ๑ ชั่วโมง และหวังว่าเมื่อการแสดงจบลงผู้ชมจะประทับใจและอยากชมการแสดงโขนจากประเทศไทยอีก ม.ร.ว.จักรรถ กล่าวในตอนท้าย
           ทั้งนี้คณะนักแสดงโขนมีจำนวน ๔๐ คน พระราม รับบทโดย นายธีรเดช กลิ่นจันทร์ นักแสดงรุ่นใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง นางสีดา รับบทโดย นางสาวมณีรัตน์ บุญชู ทศกัณฑ์ รับบทโดย นายวัชรวัน ธนพัฒน์ และหนุมาน รับบทโดย นายกิตติ จาตุประยูร  ซึ่งคณะนักแสดงโขนชุดนี้ได้เคยแสดงถวายสมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีแห่งประเทศสเปนมาแล้ว เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีรับสั่งกับผู้แสดงหนุมานว่าแข็งแรงดี สร้างความปลาบปลื้มประทับใจแก่คณะนักแสดงเป็นอย่างยิ่ง และการแสดงโขนชุดนี้ จะทำการแสดงเพื่อซ้อมใหญ่เหมือนจริงครั้งสุดท้าย ก่อนเดินทางไปฝรั่งเศสในวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๙ เวลา ๑๕.๐๐ น. ณ โรงละครแห่งชาติ เปิดให้ผู้สนใจและสื่อมวลชนเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้  
โกวิท  ผกามาศ ข่าว


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: Malagao ที่ 10 ต.ค. 06, 08:55
ทำให้ใหม่
ถ้าไบ่เบื่อ จะทำให้อีกเรื่อยๆ เมื่อว่าง
แต่ถ้าไม่มีใครโพสต์กลับมาก็อาจจะไม่ทำ
เพราะไม่มีใครสนใจ


กระทู้: คุยกันเรื่องรามเกียรติ์
เริ่มกระทู้โดย: Malagao ที่ 10 ต.ค. 06, 08:56
รูปทศกัณฐ์ทำใหม่อีกคน