เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: nuttaput ที่ 23 ก.ย. 07, 11:12



กระทู้: ราชสกุล ต่างกับ ราชนิกุล หรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: nuttaput ที่ 23 ก.ย. 07, 11:12
เมื่อปี พ.ศ. 2455 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้น บัญญัติว่าผู้ที่สืบเชื้อสายทางบิดามาจากบรรพบุรุษคนเดียวกันให้ใช้ "นามสกุล" เดียวกัน ทำให้คนไทยทุกคนมีนามสกุลใช้ และทำให้ทราบว่าใครเป็นพี่น้องหรือสืบเชื้อสายมาจากผู้ใด สำหรับพระราชวงศ์นั้น ผู้ใดสืบเชื้อสายมาจากพระราชโอรสพระองค์ใดของพระมหากษัตริย์ ก็โปรดให้ใช้พระนามของพระราชโอรสพระองค์นั้นเป็น "ราชสกุล"[1]

ราชตระกูล หมายถึง สกุลที่มิได้สืบเชื้อสายโดยตรงจาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยมีการสืบสายจากสมเด็จพระเชษฐภคินี พระอนุชา และพระขนิษฐา ผู้เป็นพระโอรสและพระธิดาในสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก สำหรับสายพระพี่พระน้องนี้ บางครั้งก็เรียกกันว่า ราชตระกูลสายพระปฐมวงศ์ หรือ พระปฐมบรมราชวงศ์

ราชสกุล หมายถึง สกุลของผู้ที่สืบเชื้อสายโดยตรงจากพระมหากษัตริย์แห่ง ราชวงศ์จักรี ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงปัจจุบัน โดยมักจะเป็นพระนามของพระราชโอรส

บวรราชสกุล หมายถึง สกุลของผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า, วังหลัง)

ราชนิกุล หมายถึง สกุลที่เป็นพระญาติของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน นับทางฝ่ายสมเด็จพระบรมชนกนาถ (นับทางพระบิดา) โดยมากแล้วจะเป็นเชื้อเจ้า เพราะสืบสายลงมาจากเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ในพระราชวงศ์ร่วมสกุลอันเดียวกัน ดั่งใช้นามสกุลว่า ณ อยุธยา อยู่ในปัจจุบันนี้

ราชินิกุล หมายถึง สกุลที่เป็นพระญาติของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน นับทางฝ่ายสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง (นับทางพระมารดา)

     ถ้าบทความข้างบนถูกต้อง ก็แสดงว่า   ราชสกุล  ไม่มี ณ อยุธยา หรือครับ โดยใช้พระนามของพระราชโอรส  ใช้หรือไม่ครับช่วยหน่อยเถอะนะครับ  เพราะผมกับลังดูเรื่อง  ไพฑูรย์  และ ไพฑูรย์  ณ อยุธยา  งง มากเลยครับ  เพราะที่ทราบมา   มี ไพฑูรย์  ณ กรุงเทพ ด้วย


กระทู้: ราชสกุล ต่างกับ ราชนิกุล หรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 23 ก.ย. 07, 12:42
ผมไม่ใคร่จะเห็นด้วยกับบทความในวิกิพิเดียข้างต้นครับ

ผมเห็นว่า "ราชสกุล" กับ "ราชตระกูล" นั้น ไม่ได้แตกต่างกันในลักษณะว่าสืบเชื้อสายมาจากต่างสายกันครับ

"ราชสกุล" และ "ราชตระกูล" ล้วนแต่หมายถึงสกุลและผู้สืบเชื้อสายในพระบรมราชจักรีวงศ์ทั้งสิ้น ไม่ได้แยกว่าคำนี้เป็นสายรัชกาลที่ ๑ ลงมา คำนี้เป็นสายพระปฐมวงศ์หรือสายกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ฯลฯ

แต่ราชสกุล มีบริบทอย่าง "นามสกุล" ส่วนราชตระกูล มีบริบทอย่าง "ครอบครัว" หรือ "วงศ์ญาติ" เช่น นาย ก. เป็นสมาชิกราชสกุลมหาสาขารัชกาลที่ ๕ หมายถึง นาย ก. เป็นสมาชิก "นามสกุล" ที่สืบสายมาจากรัชกาลที่ ๕, หม่อมเจ้า ก. ประสูติมาในราชตระกูล หมายถึง หม่อมเจ้า ก. ประสูติมาใน "วงศ์เจ้านาย"

...................

ส่วนคำว่า "ราชสกุล" กับ "ราชนิกุล" นั้น แตกต่างกันครับ

"ราชนิกุล" หมายถึง "บุคคล" ผู้เป็นสามัญชนในราชสกุล ซึ่งมีเงื่อนไข ๒ ประการดังนี้

๑. ราชนิกุลโดยกำเนิด
คือบุคคลผู้เป็นทายาทในราชสกุลในลำดับชั้น "หม่อมราชวงศ์" และ "หม่อมหลวง" เช่น หม่อมราชวงศ์เฉลิมลักษณ์ เป็น "ราชนิกุล" ใน "ราชสกุล" จิตรพงศ์

๒. ราชนิกุลโดยการถวายตัวทำราชการ
คือบุคคลผู้เป็นทายาทในราชสกุลในลำดับต่อจากหม่อมหลวง คือบรรดา นาย นาง นางสาว เด็กชาย เด็กหญิง ทั้งหลายที่มีสร้อยนามราชสกุลต่อท้ายว่า "ณ อยุธยา" ที่ได้ถวายตัวทำราชการ ถ้าไม่ได้ถวายตัวทำราชการ จะไม่นับเป็น "ราชนิกุล" แต่นับเป็น "สมาชิกราชสกุล" ซึ่งก็คือสมาชิกในสกุลที่สืบเชื้อสายจากเจ้านายคนหนึ่งเท่านั้น

ส่วน "ราชสกุล" ไม่ได้หมายถึงตัวบุคคล แต่หมายถึง "สกุล" เช่น ราชสกุล งอนรถ ณ อยุธยา, ราชสกุล กาญจนะวิชัย ณ อยุธยา เป็นต้น

ตัวอย่างเช่น ถ้าจะพูดว่า หม่อมราชวงศ์บุตรี เป็น "ราชสกุล" กฤดากร เช่นนี้ไม่ได้ ผิด เพราะคนคนหนึ่งจะเป็น "สกุล" ไม่ได้

ที่ถูกจึงต้องพูดว่า หม่อมราชวงศ์บุตรี เป็น "ราชนิกุล" ใน "ราชสกุล" กฤดากร
หรือ หม่อมราชวงศ์บุตรี เป็น "สมาชิกราชสกุล" กฤดากร เช่นนี้ก็ได้


กระทู้: ราชสกุล ต่างกับ ราชนิกุล หรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: nuttaput ที่ 23 ก.ย. 07, 14:07
      ถ้าอย่างนั้น    การที่  ราชสกุล กับ ราชนิกุล  นั้น ไม่ได้ต่างกัน     ล้วนแต่หมายถึงสกุลและผู้สืบเชื้อสายในพระบรมราชจักรีวงศ์
ดีจังครับที่ได้รู้เกี่ยวกับ 
๑. ราชนิกุลโดยกำเนิด
คือบุคคลผู้เป็นทายาทในราชสกุลในลำดับชั้น "หม่อมราชวงศ์" และ "หม่อมหลวง" เช่น หม่อมราชวงศ์เฉลิมลักษณ์ เป็น "ราชนิกุล" ใน "ราชสกุล" จิตรพงศ์

๒. ราชนิกุลโดยการถวายตัวทำราชการ
คือบุคคลผู้เป็นทายาทในราชสกุลในลำดับต่อจากหม่อมหลวง คือบรรดา นาย นาง นางสาว เด็กชาย เด็กหญิง ทั้งหลายที่มีสร้อยนามราชสกุลต่อท้ายว่า "ณ อยุธยา" ที่ได้ถวายตัวทำราชการ ถ้าไม่ได้ถวายตัวทำราชการ จะไม่นับเป็น "ราชนิกุล" แต่นับเป็น "สมาชิกราชสกุล" ซึ่งก็คือสมาชิกในสกุลที่สืบเชื้อสายจากเจ้านายคนหนึ่งเท่านั้น
     นั้นก็อาจเป็นได้ว่า  นามสกุล  ไพฑูรย์    กับ   ไพฑูรย์  ณ  อยุธยา  อาจจะเกี่ยวโยงกัน   ผมจะติดตามต่อไป   ขอบพระคุณมาครับ   


กระทู้: ราชสกุล ต่างกับ ราชนิกุล หรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ย. 07, 14:19
อ้างถึง
ก็อาจเป็นได้ว่า  นามสกุล  ไพฑูรย์    กับ   ไพฑูรย์  ณ  อยุธยา  อาจจะเกี่ยวโยงกัน   ผมจะติดตามต่อไป   ขอบพระคุณมาครับ   


ขอให้คุณสังเกตตามนี้
๑ ถ้าบุคคลนั้น เป็นนาย นางสาว หรือดญ.ดช.  ชื่ออะไรก็ตาม แต่นามสกุลตามในบัตรประชาชนว่า ไพฑูรย์ ณ อยุธยา  ไม่ว่าเขารับราชการหรือทำงานเอกชน หรือยังเป็นนักเรียนอยู่ก็ตาม
บอกได้ว่า เขาเป็นเชื้อสายราชสกุล ไพฑูรย์    คือสืบมาจาก พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าไพฑูรย์  กรมหมื่นสนิทนเรนทร์  พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒

๒  ถ้าหากว่าเป็นนาง   นามสกุล ไพฑูรย์ ณ อยุธยา  หมายความว่าเธอแต่งงานกับสามีที่อยู่ในราชสกุลไพฑูรย์

๓  ถ้าคนที่คุณรู้จัก นามสกุล ไพฑูรย์  ไม่มี ณ อยุธยา  เขาต้องมีคำนำหน้าว่า ม.ร.ว. หรือ ม.ล. ถึงจะเป็นราชสกุลนี้
แต่ลูกหลานที่มีเชื้อสายมาถึงวันนี้   น่าจะถึงชั้นนายและนางสาวแล้วละค่ะ   ไม่เหลือหม่อมเจ้าหรือหม่อมราชวงศ์   แม้แต่หม่อมหลวงก็น่าจะแก่หง่อมเต็มทีแล้ว

๔ ถ้าคนที่คุณรู้จัก นามสกุล ไพฑูรย์  ไม่มี ณ อยุธยา   และคำนำหน้าเป็นนาย นางสาว หรือดช. ดญ. แปลว่า เขาเป็นสามัญชนที่มีนามสกุลซ้ำกับราชสกุลนี้   ซึ่งมีกรณีเกิดขึ้นได้หลายครั้งแล้วว่า ทางอำเภอให้จดทะเบียนซ้ำกับราชสกุล ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ไพฑูรย์ ณ กรุงเทพ ไม่มีนะคะ     เดิม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า ผู้สืบสกุลเนื่องมาจากบรมราชจักรีวงศ์ ให้มีคำ ณ กรุงเทพต่อท้าย   แต่ต่อมาทรงเปลี่ยนจาก ณ กรุงเทพ เป็น ณ อยุธยา

เปรียบเทียบง่ายๆอีกตัวอย่าง

อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย  ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล สืบเชื้อสายจากสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรประการ ต้นราชสกุล เทวกุล
คุณชายปรีดิยาธร  ท่าน เป็นม.ร.ว. ไม่ต้องมีคำว่า ณ อยุธยาต่อท้าย นามสกุล
ลูกชายของคุณชาย คือคุณปลื้ม หรือม.ล. ณัฏฐกรณ์ เทวกุล   ก็ไม่ต้องมีคำว่า ณ อยุธยาต่อท้าย นามสกุลเช่นกัน

สมมุติว่าวันหนึ่ง คุณปลื้มแต่งงาน มีลูก    ลูกคุณปลื้ม ก็มีชื่อในทะเบียนเกิด ว่า ดช.หรือดญ.  นามสกุล เทวกุล ณ อยุธยา   โตเป็นหนุ่มสาวก็เป็นนาย หรือนางสาว..........นามสกุล เทวกุล ณ อยุธยา

สมมุติอีกเช่นกันว่า คุณปลื้มเกิดไปจดทะเบียนรับเด็กคนหนึ่งเป็นบุตรบุญธรรม  ถูกต้องตามกฎหมาย   เด็กคนนั้นมีสิทธิ์ใช้ "เทวกุล" ตามคุณปลื้ม  แต่ไม่มีสิทธิ์ใช้ ณ อยุธยา ต่อท้ายนามสกุล    เพราะมิได้เป็นเชื้อสายราชสกุล  เพียงแต่มีสิทธิ์ใช้นามสกุลของบิดาบุญธรรมตามกฎหมาย


กระทู้: ราชสกุล ต่างกับ ราชนิกุล หรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: nuttaput ที่ 23 ก.ย. 07, 14:45
     ขอบคุณครับ เจ้าเรือน  เทาชมภู  ที่ออกมาให้ความกระจาง     ไพฑูรย์  เป็นนามสกุล มาจาก  พระองค์เจ้าชาย ไพฑูรย์   ในสมัยราชการที่ 2 พระบรมราชจักรกรีวงศ์   เป็นไปได้ ทั้ง  ข้อ 3 และ ข้อ 4  เพราะผมรู้จัก  คน นามสกุล นี้ ขอเรียกบรรพระบุรุษ ละกันนะครับ  ใช้สกุลนี้มาก่อนก็ว่าเก่าแก่พอสมควร  และเข้าร่วมรบสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านสงคราม เกาหรี  เอเชียบูรพา  สงครามเวียตนาม และ ปัจจุบัน ก็มี รุ่น หลาน รับราชการทหารบก แต่ก็ไม่ได้   มี  ต่อท้าย  ณ อยุธยา แต่ประการใด   ในเมื่อรับราชการทหารต่อเนื่อง  มาโดยตลอด  คงจะถูกต้องใน ข้อ 4    ทางอำเภอ  สมัยก่อนอาจจะตรวจสอบไม่ได้หรือไม่ได้ตรวจสอบ  เลยวันนี้คงชีชัดว่า  สกุลนี้  คล้ายกัน         


กระทู้: ราชสกุล ต่างกับ ราชนิกุล หรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ย. 07, 14:58
ไม่เข้าใจว่า ทำไมสมาชิกเรือนไทย  ถึงสะกดชื่อดิฉันว่า เทาชมภู ผิดเหมือนกันเลย     นี่รายที่ ๓ แล้วนะคะ
คนเดียวกันหรือเปล่า

เป็นไปได้มากว่า  เมื่อมีผู้ไปยื่นขอจดทะเบียนนามสกุล ไพฑูรย์    เมื่อหลายสิบปีก่อน  คือก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒  ก็คือหกสิบกว่าปีย้อนหลังไป อาจจะถึงเจ็ดสิบแปดสิบปี   
เจ้าหน้าที่ไม่รู้ว่ามีราชสกุลนี้ (โดยเฉพาะถ้าเป็นอำเภอในต่างจังหวัด ก็จะยิ่งไม่รู้ เพราะการสื่อสารไม่ง่ายเหมือนสมัยนี้)  ก็ตกลงอนุญาต   ลูกหลานก็ใช้กันต่อๆมา  ไม่มีใครไปคัดค้าน
ราชสกุลไพฑูรย์ อาจมีลูกหลานเหลือมาถึงทุกวันนี้น้อยมาก   อาจไม่มีโอกาสเจอพอจะไต่ถามกัน

ดิฉันเคยเจอหลายนามสกุล ที่มีผู้ใช้ซ้ำกับราชสกุล  เช่นสิงหรา  ชุมสาย   นิลรัตน์   กรณีนี้ก็อาจเป็นแบบเดียวกัน


กระทู้: ราชสกุล ต่างกับ ราชนิกุล หรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: nuttaput ที่ 23 ก.ย. 07, 17:14
   ขออภัยครับ คุณ (เจ้าเรือน) เทาชมพู   ที่ผมพิมพ์ผิดไป  ครับเป็นกันเองดีครับ  ขอบพระคุณครับผม   


กระทู้: ราชสกุล ต่างกับ ราชนิกุล หรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 24 ก.ย. 07, 15:54
เหมือนเราจะเคยคุยกันเรื่องนี้ ในกระทู้ฮิวโก้ จักรพงษ์ ที่ใดที่หนึ่งในเรือนไทยนี่แหละครับ ซักพักหนึ่งมาแล้ว คุณ UP เป็นผู้ไปให้ความรู้ในกระทู้นั้นด้วยเช่นกัน

คำว่าชมพู ซึ่งเป็นชื่อสีเชอรี่พิ้งค์ อันเป็นส่วนหนึ่งของนามปากกาท่านเจ้าเรือน และเป็นสีประจำวันอังคาร วันพระราชสมภพในหลวง ร. 5 (และจึงเป็นยสีประจำมหาวิทยาลัยของจุฬาฯ ด้วย) นั้น ผมก็เห็นคนเขียนเป็น "ชมภู" กันบ่อย ที่จริงตามความหมายดั้งเดิมแท้ๆ นั้น ชัมพุ ชมพู แปลว่าลูกหว้า ต้นหว้า อย่าง ชมพูทวีป เป็นภาษาบาลีครับ สี "ชมพู" เดิมในภาษาแขกดั้งเดิม จึงไม่เชิงจะเป็นสี pink แต่ออกไปทางสีลูกหว้า คือชมพูๆ ม่วงๆ แดงๆ ชมพูปนม่วงอย่างนั้น แต่ต่อมา ในภาษาไทยความหมายเลื่อนที่ไปนิดหน่อย กลายเป็นสีชมพูอย่างที่เรารู้จักเดี๋ยวนี้

ผมออกจะเชื่อด้วยว่า ชื่อ ชัมพุ ชมพู ซึ่งเป็นลูกหว้านั้น น่าจะมีอิทธิพลต่อการที่เราเรียกต้นไม้ของทางเรา (ไม่ใช่ทางเมืองแขกของเดิม) ชนิดหนึ่งว่า "ชมพู่" ด้วย (ซึ่งบางพันธุ์ก็มีสีชมพูด้วยจริงๆ แต่บางพันธุ์สีเขียว) ถึงแม้ชมพู่กับหว้าจะเป็นคนละพันธุ์กันก็เถอะ ดูเหมือนคำนี้จะกลายเป็นชื่อของต้นไม้ลักษณะคล้ายๆ ยังงี้ไปทั่วทั้งแหลมทอง ไม่เฉพาะแต่ในภาษาไทย ภาษาอินโดนีเซียก็มีคำเรียกต้นไม้ว่า jambu เหมือนกัน

มีคำว่า ทองชมพูนุท นัยว่าเป็นทองที่เกิดจากลูกหว้า ที่หล่นลงมาจากต้นหว้าศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นหลักชมพูทวีป ผมเดาเอาเองว่าน่าจะเป็นแร่ทองคำที่อาจจะมีลักษณะพิเศษคือ สีออกไปทางแดงหรือชมพูเจือ มากกว่าสีของแร่ทองคำที่อื่น เผลอๆ จะเป็นทองบางตะพานที่ประจวบคีรีขันธ์ซะก็ไม่รู้ อินเดียโบราณรู้จักชื่อเสียงของแหล่งแร่ทองคำในแถบบ้านเราดี ถึงกับเรียกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า สุวรรณภูมิ แปลว่า แดนทอง มีนิทานเก่าเล่าเรื่องพ่อค้าอินเดียมาแสวงโชคทางการค้าขายทางทะเลกับสุวรรณภูมิมานมนาน หลายเรื่อง เรื่องที่เรารู้จักกันดีคือ เรื่องพระมหาชนก

นอกเรื่องราชนิกุลไปแล้วครับ


กระทู้: ราชสกุล ต่างกับ ราชนิกุล หรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.ย. 07, 16:25
อย่าเพิ่งหยุดนะคะ กำลังเพลินกับการเดินแยกซอย ตามคุณนกข.ไป

ดิฉันเลือกนามแฝงที่คิดว่าอ่านง่าย สะกดง่ายที่สุดแล้ว     ก็เพิ่งมารู้ว่ายากกว่าที่คิด     
เห็นจะต้องเปลี่ยนใหม่เป็นอะไรที่ง่ายกว่านี้  แต่เป็นอะไรยังนึกไม่ออก

ทองชมพูนุท  รู้แต่ว่าแปลว่าทองคำบริสุทธิ์     เหมือนทองเนื้อเก้า หรือทองนพคุณ
เอ แล้วทองเนื้อแปดนี่อะไร


กระทู้: ราชสกุล ต่างกับ ราชนิกุล หรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.ย. 07, 19:12
ตอนนี้แยกกระทู้ไปตั้งใหม่ เป็นกระทู้ ชมพู แล้วค่ะ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2378.msg43800;topicseen#msg43800


กระทู้: ราชสกุล ต่างกับ ราชนิกุล หรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 24 ก.ย. 07, 20:57
พระราชหัตถเลขา ร. 4 เกี่ยวกับทอง มีว่า “เมืองเชียงแสนแต่ก่อนมีเงินใช้น้อย มีทองคำใช้มาก ทองคำจึงราคาถูก”
ทองเนื้อต่ำหนักบาทหนึ่ง ขายเป็นเงิน 4 บาท เรียกว่า “เนื้อสี่”
ทองคำหนักบาทหนึ่ง ขายเป็นราคาเงิน 6 บาท เรียกว่า “เนื้อหก”
ทองคำหนักบาทหนึ่ง เป็นราคาเงิน 7 บาท เรียกว่า “เนื้อเจ็ด”
ทองคำหนักบาทหนึ่ง เป็นราคาเงิน 8 บาท เรียกว่า “เนื้อแปด”

ทองบางตะพาน เป็นทอง 100% เนื้อเก้า เรียก “ทองนพคุณ”
รองลงมาเป็นเนื้อกษัตริย์ เรียกว่าทองเนื้อแปด เป็น 100 % เหมือนกัน
แต่สีไม่สุกอร่ามเท่ากับทองเนื้อเก้า


กระทู้: ราชสกุล ต่างกับ ราชนิกุล หรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: nuttaput ที่ 29 ก.ย. 07, 21:40
เจ้าเรือนผมเสียใจกระทู่ผม  เปลี่ยนไปได้ไงครับ


กระทู้: ราชสกุล ต่างกับ ราชนิกุล หรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 01 ต.ค. 07, 09:42
ทองเนื้อแปดนี่คือทองดอกบวบหรือเปล่าครับ


กระทู้: ราชสกุล ต่างกับ ราชนิกุล หรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ต.ค. 07, 10:53
ทองดอกบวบ  คือทองเนื้อหกค่ะ  เกรดต่ำกว่าทองเนื้อแปด


กระทู้: ราชสกุล ต่างกับ ราชนิกุล หรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: vajarindra ที่ 29 ก.พ. 08, 05:13
ชอบครับ
ได้รับความรู้เยอะดี


กระทู้: ราชสกุล ต่างกับ ราชนิกุล หรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: opel1969 ที่ 05 มี.ค. 08, 18:50
ขอถามท่านผู้รู้บ้างนะครับว่า  ถ้ามีของผมใช้นามสกุล สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ถ้าผมประสงค์จะใช้นามสกุลของแม่ จะต้องใช้เป็น สนิทวงศ์ หรือ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา 


กระทู้: ราชสกุล ต่างกับ ราชนิกุล หรือไม่ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 08, 19:08
ถ้ามีของผมใช้นามสกุล สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ถ้าผมประสงค์จะใช้นามสกุลของแม่ จะต้องใช้เป็น สนิทวงศ์ หรือ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา 

มีของผม น่าจะเป็น แม่ของผม
คุณต้องใช้ สนิทวงศ์ เฉยๆ ไม่มี ณ อยุธยา ค่ะ   เพราะคุณไม่ใช่สนิทวงศ์ ทางคุณพ่อของคุณ
ลองเทียบฮิวโก กับคลาวเดีย ดูเป็นตัวอย่าง  ดาราทั้งสองก็ใช้นามสกุลแม่ เหมือนกัน  ไม่มี ณ อยุธยา ต่อท้าย