เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: chupong ที่ 26 พ.ค. 11, 14:04



กระทู้: ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 26 พ.ค. 11, 14:04
เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู และทุกๆท่าน ณ เรือนไทยแห่งนี้ครับ

   เมื่อไม่นานมานี้ google พาผมหลุดเข้าไปในเว็บไซต์เด็กดีดอดคอม แล้วก็ให้เผอิญเหลือเกินที่ไปเจอกระทู้อันเปิดประเด็นถึงสาเหตุแห่งการไม่ชอบวรรณคดีไทยของเยาวชน ผมอ่านเหตุผลของคนที่ไม่ชอบแล้ว บ้างก็ว่า รับไม่ได้ที่พระเอกวรรณคดีไทยมีเมียมาก (ทั้งๆยุคโน้น เสรีทางเพศ ความโสมมแห่งกามารมณ์ ชั้นเชิงโลกีย์ซับซ้อนยังมิเท่ายุคนี้) บ้างว่าเนื้อหาเชย บ้างว่าพระเอกเก่งเกินไป บ้างว่าเพราะถูกบังคับให้เรียนจึงต่อต้าน บ้างว่าโครงเรื่องซ้ำ แถมจบแบบไม่หักมุม บ้างว่าเบื่อแปลไทยเป็นไทย ฯลฯ เอาหละครับ สำหรับตัวผม คิดว่าเยาวชนคือผืนผ้า เมื่อถูกสิ่งใดชุบย้อมก็ย่อมแปรสี แน่หละ ในยุคที่สายธารวัฒนธรรมเทศไหลเชี่ยวกรากรวดเร็ว รับง่าย เสพติดง่าย เปลี่ยนแปลงไว สร้างความเร้าใจตลอดเวลา ก็น่าเห็นใจพวกเขาอยู่หรอกที่จะเตลิดไปกับมัน ปัญหาคือ ในเมื่อเราปิดกั้นกระแสเทศไม่ได้ เราจะสร้างกระแสไทยอย่างไร ปลูกจิตสำนึกให้พวกเขาตระหนักรู้ถึงมรดกล้ำค่าของชาติด้วยวิธีใด จะสร้างสะพานเชื่อมให้พวกเขาเข้าใจถึงความเชื่อ ขนบธรรมเนียม ความรู้สึกนึกคิดของบรรพบุรุษคนละยุคแบบไหนเล่า

ถ้าจะหวังให้สถาบันครอบครัวช่วย สมัยนี้คงมีน้อยเต็มทีแล้วกระมัง สำหรับครอบครัวที่พ่อแม่จะร้องเพลงกล่อมเด็กให้ลูกฟังก่อนนอน อ่านหนังสือโคลงฉันท์กาพย์กลอนดังๆให้ลูกได้ยิน หรือวานให้ลูกอ่านวรรณคดีให้ หรือซื้อหนังสือวรรณคดีเก็บไว้ที่บ้านสำหรับลูก (อย่าว่าแต่ลูกเลย พ่อแม่ยุคใหม่จะซื้อหนังสือวรรณคดีเก็บไว้อ่านเองก็คงหาไม่ง่าย) ครั้นหวังให้โรงเรียน/คุณครูช่วย ยุคแข่งกันเรียน แข่งกันสอบ เอาเร็วเข้าว่าเยี่ยงนี้ หวังได้หรือ พูดถึงคุณครู โดยเฉพาะครูรุ่นใหม่บางท่าน ผมมีเรื่องหนึ่งจะเล่าขยายความให้ฟังครับ เคยถามครูสอนภาษาไทยท่านหนึ่ง อายุท่านยังมิถึงสามสิบปีว่า ก่อนจะสอนวรรณคดีเรื่องใดเรื่องหนึ่งแก่นักเรียน ครูจำเป็นจะต้องอ่านวรรณคดีเรื่องนั้นในรูปแบบดั้งเดิมจนเจนจบเสียก่อนหรือเปล่า คำตอบคือ “ไม่จำเป็น” เอาแค่รู้เรื่องโดยสรุปพออธิบายให้เด็กฟังได้ก็พอแล้ว ผมฟังจบ อึ้งครับ พูดไม่ออกจริงๆเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓ ผมก็เคยคุยกับครูภาษาไทยอีกท่าน อายุราวๆห้าสิบกว่าๆ สอนนักเรียนชั้นมัธยมต้น คำถามของผมคือ
   “อาจารย์มีหนังสือราชาธิราช ของท่านเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ฉบับสมบูรณ์ไหมครับ” (ตอนนั้น ผมตามหาหนังสือเล่มนี้อยู่ครับ ปัจจุบันได้มาครอบครองแล้ว) แหละนี่คือคำตอบ
   ”ไม่มีค่ะ มีเฉพาะในตำราที่ใช้สอนนักเรียน”

   สมัยผมศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาเอกภาษาไทย อาจารย์ผู้มีพระคุณท่านหนึ่งเคยปรารภว่า “เดี๋ยวนี้นักศึกษาลงเรียนเอกภาษาไทยน้อยลงทุกทีๆ” ทำเอาผมถอนใจยาวเมื่อได้ยินครับ

   ผมบ่นมาเสียนานหลายบรรทัด สืบไป ขอรับฟังทัศนะของท่านผู้อ่านกระทู้ครับ ว่า เราจะคลายปมปัญหาหลายเปลาะอันทำให้ยุวชนไม่ชอบ (บางคนถึงขั้นเกลียด) วรรณคดีไทยได้อย่างไรบ้าง ทุกท่านโปรดชี้หนทางด้วยเถิดครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ



กระทู้: ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 พ.ค. 11, 20:17
รอฟังความเห็นท่านอื่นๆ   
ส่วนตัวดิฉันรู้สึกว่า การศึกษาของเราก้าวไปถึงขั้นวรรณคดีถูกมองว่า เป็นวิชาไม่จำเป็นไปเสียแล้ว   ในสายตาครูและนักเรียนจำนวนมาก   เพราะเรียนไปแล้วก็เอาไปประกอบอาชีพไม่ได้
ครูเองก็ไม่รู้ว่าสอนไปทำไม   นักเรียนก็ไม่รู้ว่าจะเรียนไปทำไม

การวางหลักสูตรวิชาอะไรก็ตาม    หลักเกณฑ์อย่างแรกที่ผู้วางหลักสูตรจะต้องตอบให้ได้คือ  วิชานี้ถูกบรรจุเข้ามาด้วยจุดมุ่งหมายอะไร
คุณชูพงศ์และท่านอื่นๆตอบได้ไหมว่า จุดมุ่งหมายของการเรียนการสอนวรรณคดีทั้งในระดับมัธยมและมหาวิทยาลัย คืออะไรคะ
ถ้าตอบไม่ได้ หรือไม่แน่ใจในคำตอบ  ก็จะนำไปสู่ปัญหาอย่างที่ตั้งกระทู้นี้ละค่ะ


กระทู้: ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 27 พ.ค. 11, 09:02
เรียนท่านอาจารย์เทาชมพูครับ

   อ่านความเห็นของอาจารย์แล้ว รู้สึกว่า สถานการณ์วิกฤตวรรณคดีจะรุนแรงขึ้นในอนาคตเป็นแน่ เราไม่มีแสงแห่งความหวังบ้างเลยหรือครับ สำหรับผมยังคิดว่าวรรณคดีเป็นวิชาสำคัญอยู่ เพราะเป็นการศึกษาอดีตเพื่อเก็บสิ่งสวยงาม เช่น ความพริ้งพรายของภาษา ซึมซับประเพณีไทยอันเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ สิ่งใดปรับแปรให้เข้ากับยุคสมัยได้ก็น่าจะประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์  ข้อสำคัญคือแง่คิด คติสอนใจซึ่งเก็บเกี่ยวไปเป็นแนวทาง แนวธรรมในการดำเนินชีวิต เนื่องด้วย การเรียนวรรณคดี ก็คือการเรียนรู้ชีวิตนั่นเอง ดี เลว ถูก ผิด ฯลฯ ล้วนถูกสะท้อนถ่ายผ่านตัวอักษรทั้งสิ้น แต่ก็นั่นแหละครับ ถ้าคนลงไม่ชอบเสียอย่าง เขาก็จะเถียงทันควัน ฉันหาสิ่งเหล่านี้อ่านจากหนังสือประเภทอื่นก็ได้ ไม่เห็นจะต้องเฉพาะเจาะจงตรงวรรณคดีเลย เฮ่อ... หรือทุกอย่างจะต้องดำเนินไปตามกฎไตรลักษณ์ครับอาจารย์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ท้ายสุด...ดับไป สารภาพกับอาจารย์ตรงๆว่า ผมทนรับความสูญสิ้นของวรรณคดีไม่ได้ครับ
 


กระทู้: ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 27 พ.ค. 11, 14:43
เรียนวรรณคดี เพื่อให้เกิดความซาบซึ้ง ก่อให้เกิดรสนิยมทางศิลปะ 
คล้ายกับการเรียนวิชาวาดเขียน  เราไม่ได้เรียนเพื่อเป็นจิตรกร แต่เรียนเพื่อให้ได้รู้จักงาน

การรู้จักศิลปะที่ดี  ก่อให้เกิดรสนิยมที่ดี  สิ่งใดๆในชาติก็จะสวยงามไม่รกรุงรังเช่นทุกวันนี้

เสียดายที่การเรียนวรรณคดีในปัจจุบัน ละเลยบทกวีอันแสนไพเราะไปมาก นำมาเล่าเป็นร้อยกรองแบบใหม่ อ้างว่าทำให้เด็กไม่เบื่อ
เด็กไทยรุ่นใหม่เลยไม่ได้รับรู้ภาษาวรรณศิลป์ ขาดรากฐานทางวัฒนธรรม แล้วจะต่อยอดไปได้อย่างไร

ยังมีอีกเรื่องหนึ่งค่ะ  เด็กสมัยใหม่ ไม่ได้เรียนวิชาเรียงความ ย่อความกันแล้ว เลยเขียนหนังสือ สรุปความกันไม่ค่อยเป็นด้วย



กระทู้: ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 28 พ.ค. 11, 09:35
เรียนคุณ POJA
 ครับ

   เดี๋ยวนี้ หนังสือประเภท “คุยเฟื่อง” หรือ “เล่าเรื่อง” วรรณคดีเรื่องต่างๆ มีมากเล่มครับ นำวรรณคดีมาเรียบเรียงเป็นร้อยแก้ว ผมเองไม่ได้มีปัญหากับหนังสือกลุ่มนี้หรอกครับ มีไว้ก็ดี แต่ ควรมีฉบับร้อยกรองดั้งเดิมวางอยู่บนแผงคู่กันด้วย นี่ร้อยกรองหายากขึ้นทุกทีแล้ว คนรักกลอนกานท์ต้องไปดั้นด้นค้นตามแผงหนังสือเก่า สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์กรมศิลปากรซึ่งรับผิดชอบอนุรักษ์ ตลอดจนพิมพ์วรรณคดีจำหน่ายเผยแพร่สู่สาธารณชนก็ออกหนังสือวรรณคดีกวีนิพนธ์น้อยลงอย่างน่าใจหาย ผมห่อเหี่ยวใจจริงๆครับ
 


กระทู้: ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 28 พ.ค. 11, 12:28
ผมขออนุญาตเพิ่มเติมความเห็นสักหน่อยครับทุกๆท่าน เยาวชนที่รักวรรณคดีไทยนั้นยังมี แต่ เราเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงออกมากน้อยแค่ไหน สื่อสารมวลชนแขนงต่างๆมีรายการให้พวกเขาฉายความสามารถหรือไม่ ผมรู้จักน้องอยู่คนหนึ่ง เป็นคนจังหวัดน่าน น้องคนนี้แต่งฉันท์ได้ตั้งแต่อยู่ ม.๓ ครับ โทรศัพท์คุยกันทีไร เขาจะบ่นให้ฟังทุกทีว่าจังหวัดน่านหาวรรณคดีอ่านยากเหลือเกิน ร้านหนังสือที่นั่นไม่เห็นเอามาขายเลย ลงกรุงเทพฯ เมื่อไร น้องเขาต้องแวะศึกษาพัณฑ์ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์กรมศิลปากร ศูนย์หนังสือจุฬา ทุกครั้ง ได้หนังสืออะไรมาก็มาเล่าให้ผมฟัง ปะเหมาะผมเจอหนังสือกวีนิพนธ์ซึ่งเขาไม่มี ผมก็ซื้อส่งไปให้ นี่คือข้อยืนยันว่าวัยรุ่นรักวรรณคดียังมีอยู่ และผมเชื่อว่าหากจะรวมเป็นกลุ่มได้ก็จะเกิดพลัง (จะมากหรือน้อยนั้นอีกเรื่องหนึ่ง) นี่พวกเขากระจายกันตามแหล่งต่างๆ เว็บไซต์นานา ก็เลยต่างคนต่างชอบ ผมเคยฝันไว้ครับ ว่ารัฐบาล (สักชุด)   น่าจะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการสักครั้งนะครับ ในหัวข้อ “การเรียนการสอนวรรณคดีไทย เราจะไปทางไหนกัน” อาจเลือกอิมแพคเมืองทองธานี หรือไบเทคบางนาเป็นสถานที่จัดงาน เชิญตัวแทนครูอาจารย์ รวมถึงตัวแทนนักเรียน นักศึกษาทั้ง ๗๗ จังหวัดมาหารือ อาจใช้เวลาหนึ่งถึงสองสัปดาห์ ฟังเสียงทุกฝ่าย พอประชุมเสร็จก็สรุปผล ปัญหามันอยู่ตรงไหน มีกี่ข้อ วิธีแก้ไขซึ่งที่ประชุมเสนอมีกี่ประการ แล้วปรับปรุงหลักสูตร นี่คือความฝันของคนตัวเล็กๆอย่างผมครับ
ขอทิ้งท้ายความเห็นที่ ๕ ด้วยประโยคในภาพยนตร์ “โหมโรง” ที่ผมยังจำฝังใจ เป็นบทรำพึงของพระประดิษฐ์ไพเราะ รู้สึกจะอยู่ท้ายๆเรื่องกระมังครับ

   “หวังจะเป็นประเทศอารยะ แต่ลืมรากเหง้าตัวเองกระนั้นหรือ?”
 


กระทู้: ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 พ.ค. 11, 19:44
คุณ POJA ตอบถูกแล้วค่ะ
แต่เดิมมา   วรรณคดีจัดเป็นหนึ่งในวิจิตรศิลป์  เรียกว่าวรรณศิลป์ (แปลว่าศิลปะอันเกิดจากตัวหนังสือ)   อย่างอื่นคือจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม และดนตรี   ต่อมาก็แตกแขนงไป มีนาฏศิลป์และละครรวมด้วย   ต่อมาก็จัดกันใหม่ หนักไปทางเขียนวาดและปั้นล้วนๆ    แต่อย่างไรก็ตาม  ศิลปฺะทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นมา เพื่อความจรรโลงใจ

ถ้าเอาภาษาวิชาการออกไป   ก็พูดง่ายๆ ว่าศิลปะสาขาต่างๆที่ว่ามานี้ เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นอาหารใจของมนุษย์    เพราะมนุษย์เติบโตและพัฒนาได้ ไม่เฉพาะแต่หาอาหารมาบำรุงบำเรอกายให้เติบโตเท่านั้น   ต้องการอาหารใจเพื่อช่วยให้ยกระดับจิตใจด้วย       วรรณคดีเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อบำรุงจิตใจ ผ่านทางตัวอักษร    เกิดจากความตั้งใจของกวีที่จะสร้างสรรค์ความงดงาม  ความดี ความรื่นรมย์  ออกมาประดับสังคม      สิ่งเหล่านี้เป็นคุณค่าที่เหนือกว่า และไม่อาจวัดได้ด้วยประโยชน์ใช้สอย หรือเงินตราค่าตอบแทน

ก็เพราะเหตุนี้  หนังสือที่เป็นวรรณคดีจึงไม่ใช่แค่บรรจุเนื้อเรื่องเอาไว้เต็มเล่ม  ก็นับเป็นวรรณคดีได้แล้ว     แต่ต้องมีความงามในหนังสือนั้นด้วย  มิฉะนั้น พระอภัยมณีฉบับเล่าเรื่อง  ก็คงได้ชื่อว่าเป็นวรรรณคดีพอๆกับพระอภัยมณีฉบับเต็มของสุนทรภู่       หนังสือคู่มือการอ่านลิลิตพระลอก็คงมีคุณสมบัติเป็นวรรณคดีพอๆกับลิลิตพระลอของเดิม       ความจริงไม่ใช่      เพราะหนังสือที่เล่าเรื่องวรรณคดี หรือคู่มืออธิบายวรรณคดีนั้น ไม่มีสุนทรียะหรือความงามที่เป็นหัวใจของวรรณคดี     ไม่เห็นฝีมือแต่งของกวี   ไม่เห็นความคิดที่กวีสอดแทรกไว้   มองไม่เห็นความคิดสร้างสรรค์บางอย่างของกวี  ที่ไม่ซ้ำแบบกับคนอื่นๆ  หรือกวีชาติอื่นๆ

จุดมุ่งหมายของการเรียนการสอนวรรณคดี จึงควรจะมีข้อนี้เป็นอันดับแรก  คือทำให้นักเรียนเข้าถึงความดีเด่นของวรรณคดี    ทำให้รู้จักว่ากวีไทยมีฝีมือดีขนาดไหน จึงเรียกได้ว่าเป็นกวี     มีความโดดเด่นไม่ซ้ำแบบกับเกาหลี ญี่ปุ่น จีน อเมริกา ยุโรปฯลฯ ยังไงบ้าง ผ่านทางตัวหนังสือ    และทำให้นักเรียนภูมิใจที่เรามีหนังสือของเราเองที่น่ารู้จัก    ได้ไม่ไปภูมิใจกับหนังสือของชาติอื่น มากเสียจนเห็นเรื่องของไทยนั้นน่าเบื่อ


กระทู้: ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ค. 11, 10:29
ข้อนี้จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมตำราของกระทรวงศึกษาธิการจึงคัดเอาตอนเล็กตอนน้อยในวรรณคดีเรื่องนั้นเรื่องนี้มาลง  ก็เพราะอยากให้นักเรียนได้อ่านถึงความงามทางภาษาและสาระให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้    จะเอาลงหมดทุกเรื่องก็ไม่ไหว  จะเอามาเฉพาะแค่เรื่องเดียวสองเรื่อง  วรรณคดีใหญ่ๆของไทยก็มีมากกว่านั้น    ตำราจึงต้องใช้วิธีเก็บดอกไม้รายทางมาเรื่อยๆ    
ต่อจากนั้น ก็เป็นหน้าที่ของครูที่จะอธิบายให้นักเรียนมองเห็นความพิเศษของวรรณคดีในแต่ละตอน   ถ้าหากว่าครูสามารถอธิบายได้ว่าวรรณคดีตอนนี้ดีเด่นอย่างไร ทั้งภาษา ทั้งความหมาย ทั้งโวหารภาพพจน์ และสาระที่แฝงอยู่    นักเรียนก็จะได้ซึมซับคุณค่าติดตัวไปบ้างไม่มากก็น้อย เมื่อผ่านชั้นนี้ไปแล้ว

ดิฉันไม่ทราบว่าตำราปีล่าสุดของกระทรวงเป็นแบบไหน   แต่เคยเปิดตำราเรียนชั้นมัธยมของลูกมาอ่าน  พบว่าเนื้อที่ของวรรณคดีน้อยลงไปกว่าสมัยดิฉันเรียนม.ปลายมาก     อาจเป็นเพราะมีวิชาอื่นๆเพิ่มขึ้นมาเบียดเนื้อที่ในแต่ละสัปดาห์   อีกอย่างคือไม่รู้ว่าครูสอนอย่างไร    
เมื่อก่อนนี้  ตำราภาษาไทยจะมีคำอธิบายศัพท์อยู่ท้ายเรื่อง อย่างละเอียด   ถ้าอ่านไม่เข้าใจตรงคำไหนก็เปิดดูศัพท์ได้ทันที   ทำให้เข้าใจเรื่องได้ง่าย      ถ้าอ่านล่วงหน้ามาก่อนเข้าชั้นเรียนแล้วจะตามคำบรรยายได้ง่ายมาก   หรือถ้าไม่ได้อ่าน  ครูสอนไม่เข้าใจ ไปเปิดศัพท์ท้ายเรื่องก็เข้าใจขึ้นได้     สิ่งนี้เป็นการทลายกำแพงทางภาษาลงไป ทำให้เข้าถึงตัวเนื้อหาวรรณคดีได้ง่าย      
แต่เดี๋ยวนี้  เห็นการบ้านของนักเรียนที่เข้ามาถามในเว็บเรือนไทย    เหมือนยังปีนข้ามกำแพงภาษาไปไม่ได้เลยสักคน      เด็กๆจนมุม งงงันอยู่กับศัพท์ที่ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร    เมื่อไม่เข้าใจศัพท์ ก็ไม่เข้าใจเรื่อง    ยิ่งครูสอนแบบให้ไปทำรายงานกันเอง ก็ยิ่งจับทิศจับทางไม่ถูก

มีตัวอย่างจากกระทู้เก่าให้เข้าไปอ่าน   เป็นคำขอให้ช่วยถอดคำประพันธ์กาพย์เห่ชมปลา

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2237.0

คำตอบของเด็กนักเรียน เอามาอ่านให้สยองกันเล่น

ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 31 พ.ค. 07, 19:00
   
นี่ ถ้าไม่ช่วยก็อย่ามาว่า ถ้าแปลได้ก็แปลไปนานแล้ว มันเป็นงานกลุ่ม แล้วไม่มีเพื่อนคนไหนช่วยสักคน มีการบ้านอีกเป็นตั้ง ทำไม่ทันแล้ว
อีกอย่างนะ เราก็ไม่ได้อยากจะเลือกชมปลานักหรอก คนที่มันเลือกนั้นมันไม่ยอมทำ ใครจะไปตรัสรู้ น้ำเงินคือเงินยวง ก็รู้ว่า น้ำเงินคือปลาเนื้ออ่อนชนิดหนึ่ง เงินยวงก็คือ สีดังสีเงินที่อยู่ในเบ้า ใครมันจะไปแปลออก อีกอย่างนะ เราไม่เก่งไทย ถ้าเป็น จีนหรืออังกฤษนี่จะไม่ขอให้ช่วยเลย แล้วแมร่งแช่งคนอื่น  ถ้าไม่ช่วยก็กรุณาไปไกลๆ  ขอบคุณ จะไม่มาอีกแล้วเว็บบ้าๆ นี้ ขอให้ช่วยแล้วก็กรุณาช่วยหน่อยไม่ได้ มาแช่งมาด่ากันฉอดๆๆ งี่เง่าสิ้นดี


กระทู้: ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 30 พ.ค. 11, 12:00
อ่านจบแล้ว พยายามหาคำตอบ แต่มันอื้ออีงมึนงงไปหมดค่ะ

 :'(   :'(   :'(


กระทู้: ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ค. 11, 12:34
เด็กนักเรียนที่เบื่อวรรณคดีมีจุดเริ่มต้นมาจากไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ    พอไม่รู้เรื่องก็เบื่อ   พอเบื่อแล้วก็หลับ  พวกเราเองก็เหมือนกัน  ถ้าถูกบังคับให้ไปดูหนังอะไรที่มืดๆทึมๆ พูดภาษาประหลาดๆแล้วไม่มีบทบรรยาย   ไม่ถึงสิบนาทีก็คงหลับในโรงหนัง
นักเรียนคนที่โพสเข้ามาอาละวาดในกระทู้เก่านั้น  กำลังเบื่อสุดขีดกับวรรณคดีไทยที่เธอไม่รู้เรื่อง แต่หลับไม่ได้  เพราะถูกกำหนดให้ทำรายงานเอาคะแนน      เพื่อนๆก็ไม่ช่วย(เพราะคงไม่รู้เรื่องพอกัน)  เธอก็เลยมาขอให้ชาวเว็บนี้ทำการบ้านให้พอเอาตัวรอดไปได้  เมื่อไม่ได้   แล้วเจอคนตอบคนหนึ่งที่ตอบแบบไม่มีจิตวิทยา  ยั่วโทสะเข้าอีก   เธอก็เลยระเบิด

ดังนั้น  เมื่อสอนวรรณคดีไทย  ก็ต้องเริ่มจากทำให้เด็กเข้าใจเนื้อหาที่สอนให้กระจ่างที่สุดเท่าที่จะทำได้     ถ้าสอนว่าวรรณคดีไทยเป็นคำประพันธ์ที่ไพเราะ  ก็ต้องทำให้เด็กเข้าใจให้่ได้  ว่าภาษาอะไรที่เรียกว่าไพเราะ     อะไรที่เรียกว่าไม่ไพเราะ   
ภาษาไม่ใช่สักว่าเป็นแค่ภาษาแล้วก็จบกัน    ภาษามีระดับของมัน หลายชั้นและหลายเชิง       อย่างตอนขุนแผนเข้าห้องนางแก้วกิริยา   ฝ่ายชายเกี้ยวพาราศี  แต่ฝ่ายหญิงปฏิเสธ     เมื่อได้ยินคำปฏิเสธ  แทนที่จะมีปฏิกิริยาโกรธ   ลุกขึ้นด่าสวนกลับไปว่าไม่ง้อ    ผู้ชายก็ตอบอย่างไพเราะอ่อนหวานว่า

น้อยหรือวาจาช่างน่ารัก    เสนาะนักน้ำคำร่ำเสียดสี
ปิ้มจะกลืนชื่นใจในวาที    เสียดายแต่ยังไม่มีคู่ภิรมย์
แม้นชายใดได้อยู่เป็นคู่ครอง    จะแนบน้องเชยชิดสนิทสนม
พี่จะอยู่สู้รักไม่แรมชม    มิใช่ลมลวงน้องอย่างหมองใจ

ส่วนข้างล่างนี้เป็นปฏิกิริยาจากคำปฏิเสธเหมือนกัน     แต่เป็นภาษาที่หาความไพเราะไม่ได้เอาเลยทีเดียว

ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 31 พ.ค. 07, 19:15
   
อ้างถึง
ภาษามันก็ใช้เซ็นส์น่ะค่ะ บทกลอนก็เหมือนๆกันในนิราศ เห็นสถานที่ เห็นปลา เห็นขนมเครื่องคาวหวาน ก็เตือนใจให้คิดไปถึงคนรัก
สังเกตดูสิคะ ว่าเป็นแบบนั้นหรือเปล่า เห็นปลาแล้วนึกถึงอะไร   -

แหวะ รู้ตั้งนานแล้ว ไม่อยากจะsaid ช่างมันเถอะ เรามันโชคร้ายเองที่โดนให้อยู่กับบุคคลต่างๆ ที่ไม่เอาการเอางาน เราก็ต้องทำคนเดียว ครูว่าก็คงต้องว่าเราคนเดียวเพราะเราเป็นหัวหน้า ขอบคุณสำหรับคำแช่งคำด่า ถ้าเป็นชมไม้ เราก็จะไม่ถามเรย นี่เราไม่ได้เราเรยถาม มาว่ากันอย่างนี้ ทำให้ยิ่งเกลียด ภาษาไทย ขอบคุณที่ทำให้เรายิ่งเกลียดความเป็นไทย มีแต่คนไร้น้ำใจ มีแต่คนแช่ง  ขอบอกตรงๆว่า โคตรงี่เง่าของงี่เง่าเรย

ถ้าครูหาตัวอย่างมาเปรียบเทียบให้เห็นความไพเราะและไม่ไพเราะได้   นักเรียนก็จะแยกแยะภาษาของวรรณคดีได้ว่าเกิดจากการบรรจงขัดเกลาถ้อยคำให้รื่นหูได้อย่างไร   แตกต่างจากภาษาในชีวิตประจำวัน ที่แสดงออกแบบไม่ขัดเกลา อย่างไรบ้าง 
ครูอาจจะสอนต่อไปว่า ถ้าขุนแผนฉุนเฉียวปากไว สวนกลับแก้วกิริยากลับไปว่าไม่รับรักก็ไม่เห็นจะง้อ   แถมแช่งด่าส่งท้ายไปอีก  ก็คงไม่สามารถชนะใจผู้หญิงได้โดยดีอย่างที่เป็นอยู่     ข้อคิดจากวรรณคดีในตอนนี้ ทำให้พวกเธอได้คิดอะไรบ้างจากภาษาที่แตกต่างกัน และเอาไปใช้กับชีวิตประจำวันได้บ้างไหม
อย่างนี้เด็กอาจจะได้ใช้ความคิด  ไม่ใช่ท่องจำอย่างเดียว   และนำไปต่อยอดความคิดได้ด้วย

เรื่องต่อไปจะพูดถึงการถอดคำประพันธ์  ยาหม้อใหญ่ของการเรียนวรรณคดี


กระทู้: ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 30 พ.ค. 11, 13:30
ปูเสื่อรอค่ะ อาจารย์

เอาแบบยาเย็นนะคะ อากาศยิ่งร้อน ๆ อยู่


กระทู้: ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ค. 11, 13:42
ตอนค่ำๆจะมาตอบค่ะ  ระหว่างนี้อากาศร้อนจัด  เอาน้ำใบบัวบกเย็นเจี๊ยบไปดื่มพลางๆก่อนนะคะ


กระทู้: ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ค. 11, 20:53
เมื่อก่อนนี้ เรือนไทยมีนักเรียนเข้ามาถามการบ้านอยู่หลายครั้ง ให้ถอดความกลอนจากวรรณคดี     เมื่อเจอครั้งแรกๆก็ไม่ชอบใจว่าทำไมเด็กพวกนี้ไม่ทำการบ้านเอง   เลยไม่ตอบ ให้กลับไปตอบเองแล้วกลับมาโพส จะแก้ไขให้   ส่วนใหญ่ก็หายหน้าไปเลย
หลายปีเข้า สังเกตว่า เรื่องที่เด็กไม่เข้าใจก็คือเรื่องอิเหนาตอนศึกกระหมังกุหนิง     

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2162.msg40504;topicseen#msg40504

เจ้าตัวสารภาพออกมาตามนี้ค่ะ

อยากได้คำแปลเหมือนกันอ่ะ
เอาทั้งตอน ศึกกะหมังกุหนิงเลย
เราปวดหัวกับอะไรที่เป็นกลอนอย่างแรงอ่ะ
อุส่าห์ฟังครูนะ แต่ไม่เข้าหัวเลย
ถ้าเรื่องที่เป้นร้อยแก้ว อ่านรอบเดียวก็จำได้หมดแล้วTT_TT

ใครมีคำแปลหรือถอดความได้ก็ช่วยเราหน่อยนะ
ใกล้จะสอบแล้ว...


มีสมาชิกเรือนไทยใจดีเข้าไปทำการบ้านให้   ซึ่งดิฉันเองก็ไม่เห็นด้วย   แต่ก็ดูออกอีกอย่างว่านักเรียนคนนี้เป็นโรค"แพ้กลอน"  อ่านกลอนไม่รู้เรื่อง แต่อ่านร้อยแก้วรู้เรื่อง     อย่างน้อยก็ดีตรงที่อ่านหนังสือวรรณคดีฉบับถอดความได้
แต่พร้อมกันนั้นก็สงสัยว่าในตำราเรียน ไม่ได้แปลศัพท์ไว้ให้ทั้งหมดหรอกหรือ 


กระทู้: ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: sirinawadee ที่ 31 พ.ค. 11, 10:44
ขอออกความเห็นในฐานะที่เคยเป็นนักเรียนเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วค่ะ

ส่วนตัวเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาก ได้หนังสือเรียนภาษาไทยมาจะอ่านจบเล่มตั้งแต่ยังไม่เปิดเทอม และเอามาอ่านซ้ำบ่อยๆ น่ากลุ้มใจตรงที่ว่า บางตอนที่แทรกเรื่องวรรณคดี เช่น เมขลาล่อแก้ว โสนน้อยเรือนงาม พระร่วงสวรรคโลก ฯลฯ นั้น รู้เรื่องได้เพราะสนใจ จึงอ่านจนเข้าใจและท่องจำได้ ในขณะที่ในห้องเรียน คุณครูจะให้ยืนขึ้นอ่านทีละย่อหน้า ทีละคน และให้สอบเขียนตามคำบอก

สมัยเรียนกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน ตอน ม.3 สารภาพเลยว่ามึนมาก เพราะสุดปัญญาที่จะทราบว่า ล่าเตียงหรือมัสกอดเป็นอย่างไร ทั้งห้องไม่รู้ซักคน อาจารย์ไม่ได้อธิบาย ถามพ่อแม่ๆ ก็ว่าไม่เคยได้ยิน กูเกิ้ลก็ไม่มี แถมมีสอบให้อ่านกาพย์เป็นทำนองเสนาะ ถูกอาจารย์บ่นว่าอ่านไม่ได้อารมณ์... หนูไม่รู้ว่ามันคืออะไร หนูจะมีอารมณ์ร่วมได้อย่างไรคะ...

กฎหมายมีหลักอยู่ว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิเหนือผู้โอน ฉันใดก็ฉันนั้นค่ะ ถ้าผู้ถ่ายทอดเองยังไม่เข้าใจ ไม่ซาบซึ้ง ไม่เห็นค่า การถ่ายทอดก็เป็นไปอย่างแกนๆ และแห้งแล้ง


กระทู้: ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: sirinawadee ที่ 31 พ.ค. 11, 10:58
เพิ่มเติมค่ะ

ใช่แล้วค่ะ เด็กๆ ปัจจุบันไม่ชอบวรรณคดีหรือวรรณกรรมที่มีคุณค่า แต่ไพล่ไปอ่านนิยายเรทต่างๆ เพราะว่า “หาง่าย + ราคาไม่แพง” ค่ะ

สิ่งหนึ่งที่ไม่เข้าใจในบ้านนี้เมืองนี้คือ ทำไมไม่พิมพ์หนังสือดีๆ ออกมาขายให้มากๆ แต่กลับกลายเป็นของหายาก กลายเป็นของสะสมเล่มละเป็นพันเป็นหมื่น อยากอ่านจัดๆ ก็ต้องไปหาตามห้องสมุดมหาวิทยาลัย กระดาษเหลืองกรอบ ใจอยากขโมยเป็นที่สุด แต่ก็ละอายใจ เราอยากได้ คนอื่นก็คงอยากได้ (เราเองก็กลายเป็นคนงก หนังสือที่มีก็ไม่อยากให้ใครยืม เพราะกลัวไม่ได้คืน)

ร้านหนังสือในต่างประเทศเขามีวรรณกรรมดีๆ ขายเต็มไปหมด ฉบับนักเรียน ฉบับปกอ่อนปกแข็งปกหนังเดินทองมีขายอยู่ตลอดเวลา เด็กๆ ก็อ่านฉบับเด็กไป พอเข้าใจเนื้อหาแล้วสนใจก็ไปซื้อฉบับสมบูรณ์มาศึกษา มาเก็บไว้ ทำไมบ้านเราจึงทำไม่ได้ นักเขียนดีๆ เรามีมากมาย แต่ชื่อของท่านกลายเป็นคลาสสิคค่ะ เพราะหาซื้อหนังสือท่านไม่ได้

(ขออภัยที่บ่นค่ะ)


กระทู้: ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 พ.ค. 11, 11:21
ฟังคำบ่นด้วยความยินดี และเห็นด้วยค่ะ      รัฐน่าจะลดภาษีกระดาษให้เรามีหนังสือดีๆราคาถูกอ่านมากกว่าเดี๋ยวนี้   
อย่างไรก็ตาม  ด้วยการสื่อสารอีเล็กโทรนิคส์   ทางออกใหม่จะมาถึง     ต่อไปสนพ.จะง้อกระดาษน้อยลงทุกที  เพราะ e-books จะเข้ามาแทนที่    ไม่ว่า ipad หรือ kindle จะเป็นคำตอบของนักอ่าน    คุณอาจจะหาผลงานของมาลัย ชูพินิจ   ดอกไม้สด ยาขอบ ศรีบูรพา ลาวคำหอม  ทั้งชุด อ่านทาง kindle ได้ในอนาคต   ไม่ต้องไปเดินหาหนังสือนานเป็นช.ม.ๆ ให้หน้ามืดตาลายในงานสัปดาห์หนังสือ

หนังสือเก่าที่คุณอยากอ่าน อาจจะลองค้นหาจาก amazon ดูก่อนก็ได้ค่ะ

กลับมาเรื่องยาหม้อใหญ่ ที่ปรุงรสเป็นน้ำใบบัวบกเย็นส่งให้คุณ POJA เมื่อวาน      ดิฉันขอยืนยันว่าการถอดคำประพันธ์ไม่ใช่การสอนวรรณคดี  แต่เป็นขั้นตอนแรกที่ครูควรจะทำให้ชัดเจนในห้องเรียนว่า ศัพท์ยากๆและความหมายในเนื้อหาคืออะไร   ครูเป็นคนทำ ไม่ใช่ให้การบ้านเด็กไปทำ
เมื่อเด็กผ่านกำแพงภาษา ข้ามไปได้แล้ว  จากนั้นก็ถึงตัววรรณคดี    ไม่ใช่มาติดตะเกียกตะกายปีนกำแพงอยู่ตรงนั้นจนจบเทอม 

เมื่อก่อนนี้อยากให้เด็กที่เข้ามาถามในเว็บบอร์ดลองทำการบ้านเองก่อนแล้วโพสให้อ่าน  เพื่อจะได้ดูว่าไม่เข้าใจตรงไหน   เขาและเธอถอดความผิดๆถูกๆก็ไม่เป็นไร   ผิดหมดก็ไม่เป็นไร  ไม่สำคัญ   เพราะอ่านแล้วจะดูออกว่าติดขัดตรงไหน  จะได้อธิบายให้ฟัง  แล้วเลยไปถึงอธิบายวรรณคดีตอนนั้นให้ฟังว่าน่าอ่านยังไง
น่าเสียดายว่าเด็กๆที่เข้ามาถาม ถ้าไม่ได้คำตอบกลับไปแบบสำเร็จรูป ก็หายไปเลย  ไม่มีใครพยายามตอบ     จึงรู้ว่าวรรณคดีเป็นวิชาไม่พึงประสงค์ของนักเรียนจำนวนมาก   นับว่าน่าเสียดาย  เพราะในบรรดามรดกของชาติ ที่เหลืออยู่ไม่กี่อย่าง  วรรณคดีเป็นหนึ่งในนั้น


กระทู้: ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 พ.ค. 11, 11:54
ถ้าหากว่าจัดหลักสูตรวรรณคดีใหม่ได้ ก็จะรื้อถอนประเพณีการถอดคำประพันธ์ยาวๆยากๆ ออกไปจากการบ้านเด็ก  แต่ให้ครูอธิบายให้ฟังให้หมด   จากนั้นก็เลือกวรรณคดีตอนที่สามารถสื่อสารความคิดกับเด็กรุ่นหนุ่มสาวปัจจุบันได้     ไม่ใช่วรรณคดีที่เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีอะไรก็ไม่รู้   เกิดมาอย่าว่าแต่นักเรียนไม่เคยเห็นเลย  ครูก็ไม่เคยเห็น  แล้วจะสอนให้มีรสชาติน่าสนุกน่าสนใจได้ยังไง
อย่างค.ห. 10 ในกระทู้นี้   เห็นการบ้านแล้วสงสารเด็ก

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2162.msg40504;topicseen#msg40504

ถ้าจะเอาของเก่ามาสอน ครูก็ต้องหาตัวอย่างมาให้ดูให้ได้ อย่างกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน   ล่าเตียงเป็นไง มัศกอดเป็นไง ต้องหาสูตรออกมาให้เห็นกันเลยว่าเขาทำกันอย่างไร   จะได้โยงไปสู่คำถามว่า มันมีส่วนคล้ายอาหารอะไรที่นักเรียนรู้จักบ้างไหม  อย่างน้อยมันก็ต้องมีส่วนผสมอะไร ที่เด็กรู้จักสักอย่างสองอย่างบ้างละ    เป็นการจุดประกายต่อไปให้นักเรียนคิด และสนใจใคร่รู้

ที่อดคิดไม่ได้อีกอย่างคือ การสอนวรรณคดีไทยในชั้นเรียน อย่าว่าแต่เด็กที่เบื่อแทบตาย    แม้ครูก็คงมีจำนวนหนึ่งที่เบื่อเหมือนกัน   จึงไม่สามารถสร้างสรรค์ความมีชีวิตชีวาให้ได้


กระทู้: ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 พ.ค. 11, 13:27
เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู และทุกๆท่าน ณ เรือนไทยแห่งนี้ครับ
   เมื่อไม่นานมานี้ google พาผมหลุดเข้าไปในเว็บไซต์เด็กดีดอดคอม แล้วก็ให้เผอิญเหลือเกินที่ไปเจอกระทู้อันเปิดประเด็นถึง
สาเหตุแห่งการไม่ชอบวรรณคดีไทยของเยาวชน ผมอ่านเหตุผลของคนที่ไม่ชอบแล้ว บ้างก็ว่า รับไม่ได้ที่พระเอกวรรณคดีไทยมีเมียมาก  (ทั้งๆยุคโน้น เสรีทางเพศ ความโสมมแห่งกามารมณ์ ชั้นเชิงโลกีย์ซับซ้อนยังมิเท่ายุคนี้) บ้างว่าเนื้อหาเชย บ้างว่าพระเอกเก่งเกินไป
       บ้างว่าเพราะถูกบังคับให้เรียนจึงต่อต้าน บ้างว่าโครงเรื่องซ้ำ แถมจบแบบไม่หักมุม บ้างว่าเบื่อแปลไทยเป็นไทย ฯลฯ
หลายปมปัญหาหลายเปลาะอันทำให้ยุวชนไม่ชอบ (บางคนถึงขั้นเกลียด) วรรณคดีไทยได้อย่างไรบ้าง ทุกท่านโปรดชี้หนทางด้วยเถิดครับ

      ขออธิบายก่อนว่า  วรรณคดีมีหลายประเภท  วรรณคดีหลายเรื่องไม่ได้มีเอาไว้สอนศีลธรรม   แต่ว่าด้วยความเป็นมนุษย์    มีผิดถูกชั่วดีให้เห็นกัน   วรรณคดีที่สอนศีลธรรมก็มี เช่นวรรณคดีทางศาสนา อย่างมหาเวสสันดรชาดก   เรื่องนี้สอนถึงการบำเพ็ญทานขั้นสูงสุด คือลูกเมียที่คนรักดังแก้วตาดวงใจก็สละให้ได้เพื่อหวังพระโพธิญาณ     แต่วรรณคดีเรื่องอื่นๆอย่างอิเหนา ขุนช้างขุนแผน ฯลฯ ไม่ใช่วรรณคดีศาสนา  กวีผูกเรื่องขึ้นจากชีวิตมนุษย์ปุถุชนที่เห็นกันอยู่รอบๆตัว           คนโบราณท่านรู้  จึงไม่มีใครสอนลูกสอนหลานให้ทำตัวอย่างขุนช้างหรือขุนแผน    ไม่มีใครเห็นว่านางวันทองทำถูกต้องแล้วที่ไม่รู้จะเลือกสามีคนไหนดี      
     ตรงกันข้าม  ถ้าพระเอกนางเอกในวรรณคดี อย่างเรื่องอิเหนาและขุนช้างขุนแผนทำตัวถูกต้องดีงามเคร่งครัด  เนื้อเรื่องก็ไม่เกิด   หรือเกิดก็จบแค่ตอนต้นๆ     ลองคิดดูว่าเมื่อพลายแก้วได้แต่งงานกับนางพิม  ขุนช้างอกหัก แต่ทำใจได้เพราะมีน้ำใจรู้แพ้รู้ชนะเป็นนักกีฬา  ขุนช้างก็ลากลับบ้านไม่กลับมายุ่งกับสองคนนี้อีก      ขุนช้างขุนแผนก็จบลงแค่นี้เอง  พลายแก้วกับนางพิมก็อยู่กันไปจนแก่เฒ่าตายไปตามอายุขัย   เรื่องทั้งเรื่อง กวีก็ไม่ต้องเขียนกันอีก   เพราะไม่รู้จะเอาอะไรมาเขียน
     หรือถ้าอิเหนาถอนหมั้นบุษบาไปแต่งงานกับจินตะหรา      กลับมาช่วยศึกเมืองดาหาเสร็จ  บุษบาจะงามกว่ายังไง อิเหนาก็มีศีลธรรมประจำใจ  รักใครรักจริง ก็ไม่แย่งชิงคู่หมั้นเก่ามาจากจรกา    แต่ลากลับไปอยู่กับจินตะหราเหมือนเดิมอย่างที่ควรทำ   เรื่องอิเหนาก็คงจบลงแค่นี้   ไม่มีบทบุษบาเสี่ยงเทียน  ไม่มีอิเหนาเผาเมือง  ไม่มีบทลมหอบและไม่มีอุณากรรณ    ไม่มีอะไรอีกตั้งครึ่งค่อนเรื่อง   ทำให้ผลพลอยได้จากบทเหล่านี้  เช่นนาฏศิลป์และเพลงไทยเดิมลาวเสี่ยงเทียน กับอะไรอื่นๆอีกมาก  พลอยหายไปจากวัฒนธรรมไทยด้วย
     คนที่ไม่ชอบวรรณคดีไทยเพราะไม่ถูกใจด้านศีลธรรม  ไม่ถือว่าคิดผิด   แต่เข้าใจผิด   เพราะตั้งสมมุติฐานผิดว่าวรรณคดีมีเอาไว้สอนศีลธรรม    ถ้าคุณชูพงศ์อ่านพบก็อย่าท้อใจ แต่ควรกระตุ้นให้คนคิดอย่างนี้ คิดต่อยอดไปว่า  ความเจ้าชู้หลายเมียของขุนแผน ก่อผลดีหรือผลเสียกับตัวเองและคนรอบตัวยังไงบ้าง     ทำให้เราได้ข้อคิดอะไรบ้างจากชีวิตของขุนแผน     ปัจจุบันความคิดนี้ยังใช้กันได้อยู่หรือไม่  ฯลฯ   นี่คือการเรียนวรรณคดีเพื่อสร้างสรรค์ความคิดให้ต่อยอดไป ไม่หยุดนิ่งแค่อ่านแล้วไม่ชอบพระเอก  ก็โยนหนังสือทิ้งไป    อย่างนั้นเป็นการอ่านวรรณคดีแบบสูญเปล่า ไม่ได้อะไรขึ้นมา    


กระทู้: ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: sirinawadee ที่ 31 พ.ค. 11, 16:12
"..ดิฉันขอยืนยันว่าการถอดคำประพันธ์ไม่ใช่การสอนวรรณคดี  แต่เป็นขั้นตอนแรกที่ครูควรจะทำให้ชัดเจนในห้องเรียนว่า ศัพท์ยากๆและความหมายในเนื้อหาคืออะไร   ครูเป็นคนทำ ไม่ใช่ให้การบ้านเด็กไปทำ เมื่อเด็กผ่านกำแพงภาษา ข้ามไปได้แล้ว  จากนั้นก็ถึงตัววรรณคดี    ไม่ใช่มาติดตะเกียกตะกายปีนกำแพงอยู่ตรงนั้นจนจบเทอม.."

อยากกด like ให้อาจารย์สัก 10 หน

เห็นด้วยค่ะว่าหากนักเรียนอ่านพอเข้าใจแล้ว วรรณคดีเป็นเรื่องสนุก เพียงแต่บริบททางสังคมบางอย่างอาจจะไม่เหมือนปัจจุบัน (ซึ่งวรรณกรรมของน้องๆ วันนี้ถือไปอ่านอีก 50 ปีข้างหน้า หลานๆ ก็ร้องว่าโบราณ ไม่เข้าใจเหมือนกัน) แต่สุดท้ายแล้วมันก็สะท้อนเรื่องของปุถุชน รักโลภโกรธหลงวนเวียนอยู่อย่างนี้ 

ฉากต่อปากต่อคำกันแรงๆ ในรามเกียรติก็ด่ากันถึงอกถึงใจไม่แพ้เรยาหรอกค่ะ

ถ้าบอกว่าน้องอ่านภาษาอังกฤษไม่เก่ง จีนไม่ได้ ฝรั่งเศสไม่รู้เรื่อง หนังสือไทยดีๆ ก็ไม่น่าจะพลาดเลย เสียดายเหลือเกินที่ "กำแพงภาษา" อย่างที่อาจารย์เปรียบไว้มันทำให้เด็กๆ ผ่านไปไม่ได้


กระทู้: ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 01 มิ.ย. 11, 13:14
กระผม นายชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ ขอใช้ตัวอักษรต่อไปนี้ต่างธูปเทียนและมาลีกราบบูชาท่านอาจารย์เทาชมพูครับ ผมตั้งกระทู้ขึ้นก็ด้วยความวิตก กลัดกลุ้ม ครั้นได้อ่านอนุศาสน์อันล้ำค่าจากอาจารย์ ก็ดั่งเมฆหมอกในใจถูกกวาดให้แผ้ว แม้ผมจะมิได้เป็นครูสอนภาษาไทยตามความฝัน แต่ก็จะนำคำแนะนำของอาจารย์ไปใช้ประโยชน์ในโอกาสภายหน้าอย่างแน่นอนครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ



กระทู้: ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มิ.ย. 11, 20:08
ขอบคุณค่ะ คุณชูพงศ์   
ขอถือโอกาสนี้ เล่าถึงการเรียนการสอนวรรณคดีต่อไปนะคะ

วรรณคดีเป็นการเรียนสุนทรียะหรือความงามทางภาษา ส่วนหนึ่ง   อีกส่วนหนึ่งคือเรียนเนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับมนุษย์ในวรรณคดีนั้น    วรรณคดีที่ดีทำให้เราเข้าใจโลก เข้าใจมนุษย์มากขึ้น      เข้าใจความรู้สึกนึกคิดอันละเอียดอ่อนที่กวีแฝงไว้ในภาษา    คนที่เป็นกวีคือคนที่สามารถเขียนอย่างที่คนทั่วไปรู้สึก แต่เขียนไม่ได้     งานที่เข้าขั้นคืองานที่ทำให้คนอ่านรู้สึกว่า..ใช่เลย   อยากพูดอย่างนี้แต่พูดไม่ถูก   เคยรู้สึกอย่างนี้แต่เรียงลำดับออกมาไม่เป็น    กวีเป็นคนที่ตีแผ่หัวใจของคนอ่านออกมาให้เห็น     เป็นคนที่ทำให้โลกในหนังสือเกิดมีชีวิตขึ้นมาจริงๆ   ให้คนอ่านก้าวเข้าไปสัมผัสได้ บางครั้งก็อยู่ในนั้นได้อย่างเพลิดเพลินจนกระทั่งถึงหน้าสุดท้าย  จึงก้าวกลับออกมา

ความประทับใจในวรรณคดี บางครั้งเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะติดอยู่ในใจคนอ่านต่อมาอีกนานแสนนาน  แม้พ้นวัยเรียนไปนานแล้วก็ตาม  เป็นแรงบันดาลใจ  ก่อผลงานอันวิเศษยิ่งในภายหลัง


ตำนานศรีปราชญ์ ที่เล่าถึงชีวิตศรีปราชญ์ตอนยังเด็ก  เห็นโคลงของสมเด็จพระนารายณ์ทรงแต่งค้างอยู่แค่บาทที่ ๒  ที่พระราชทานมาให้พระโหราธิบดีต่อให้จนจบ  แต่พระโหราฯวางไว้  ไม่ทันต่อ     ลูกชายมาเห็นก็เขียนต่อให้จนจบ ว่า
     อันใดย้ำแก้มแม่                 หมองหมาย
ยุงเหลือบฤๅริ้นพราย                 ลอบกล้ำ
 
  ศรีปราชญ์ต่อให้ว่า
    ผิว(ะ)ชนแต่จะกราย             ยังยาก
    ใครจักอาจให้ช้ำ                 ชอกเนื้อเรียมสงวน
   
  นักเรียนชายร.ร.กรุงเทพคริสเตียนคนหนึ่ง ประทับใจกับโคลงบทนี้ และบทอื่นๆในตำนานศรีปราชญ์อย่างมาก     ต่อมาเมื่อเรียนจบถึงวัยทำงาน    ได้ร่วมงานกับศิลปินนักแต่งทำนองเพลงที่เก่งฉกาจอีกคนหนึ่ง      แรงบันดาลใจจากบทกวี ก็กลายมาเป็นเพลงไพเราะประดับวงการเพลงไทยสากลมาจนทุกวันนี้   คือเพลง นวลปรางนางหมอง ของครูแก้ว อัจฉริยะกุล

http://www.youtube.com/watch?v=q4N7P3LdsQo


กระทู้: ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มิ.ย. 11, 18:31
(ต่อ)

การเรียนการสอน วรรณคดีนอกจากนำไปใช้เป็นแรงบันดาลใจในสาขาอื่นๆของศิลปะ และนอกเหนือจากศิลปะ  มีอีกหลายอย่าง   บางประเทศที่เป็นสังคมนิยมก็เคยเอาวรรณคดีมารับใช้สังคม   ประธานเหมายกเรื่องวีรบุรุษเขาเหลียงซาน มาอธิบายลัทธิยอมจำนนของการเมืองจีน     ของไทยเราก็เหมือนกัน ในยุคซ้ายขวาพิฆาตกันก็มีการหยิบยกวรรณกรรมบางเรื่อง ที่สอดคล้องกับอุดมการณ์มายกย่อง   หรือประณามวรรณคดีไทยที่ขัดแย้งกับอุดมการณ์ของตัวเอง    ถึงได้เกิดความคิดจะเผาวรรณคดีเก่ากันก็ในยุคนั้น    เคราะห์ดีที่ไม่มีการเผาหรือต้องห้ามวรรณคดีไทยกันจริงๆ  แต่เคราะห์ร้ายอีกอย่างคือ วรรณคดีกลายเป็นยาหม้อใหญ่ที่นักเรียนอยากเททิ้ง   เป็นเคราะห์ที่ไม่เบากว่าถูกเผา

ถ้าทำให้วรรณคดีเป็นที่อยากเรียน  ไม่ถูกหลงลืมทันทีที่สอบเสร็จ  คำตอบก็คือทำให้เป็นเรื่องสนุก   เป็นเรื่องที่กระตุ้นสมองให้ขบคิด ไม่ใช่ฝังลงในสมองให้จำ   
เด็กนักเรียนจะจดจำเรื่องที่เขาประทับใจ และลืมเรื่องที่เขาเบื่อ   ครูก็ต้องพยายามทำให้วรรณคดีสนุกขึ้นมา   ข้อนี้ไม่เกี่ยวกับถอดคำประพันธ์แน่นอน


กระทู้: ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 11, 16:02
ที่จริง สอนวรรณคดีให้สนุกมีได้หลายแบบ   ขอยกมาสักแบบหนึ่ง คือการสอนแบบวิจารณ์

การเรียนการสอนของเรา มักจะออกมาในรูปของการให้คำถามและคำตอบที่ตายตัว   พลิกแพลงไม่ได้ เช่นสอนว่า 2+2 = 4   มันจะเป็น 1  2  หรือ 3  หรือ 5  6 อะไรไม่ได้  ต้องเท่ากับ 4  จึงจะถูกต้อง
วรรณคดีเป็นวิชาที่สอนว่า  2+2 = 4  ก็จริง แต่ไม่ใช่ว่า "ต้อง" มีคำตอบเดียว    2+2 = 1+3  ก็ได้    หรือจะเป็น 2+2= 5-1 ก็ได้     หรืออะไรอีกก็ได้ที่เท่ากับ 4  
ยิ่งหาตัวเลขมาได้หลากหลายเท่าไร ก่อนจะถึงคำตอบสุดท้ายคือ 4  ก็ยิ่งดีเท่านั้น

ดังนั้นวรรณคดีจึงไม่ใช่วิชาเอาไว้ท่องจำ  แต่เป็นวิชาเอาไว้เพิ่มปัญญา
ถ้าสอนเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนกำเนิดพลายงาม  (ดิฉันเรียนตอนอยู่ม.ปลาย   สมัยนี้ไม่รู้เอาออกจากหลักสูตรหรือยัง)  ขอยกมาเพื่อให้เห็นว่า ขุนช้างขุนแผนตอนนี้ไม่ได้ยากเกินสมองของเด็กม.ปลาย  
วรรณคดีไม่ใช่วิชาสอนให้ตอบว่าพลายงามอยู่บ้านที่จังหวัดไหน  และเดินทางไปหาย่าที่จังหวัดไหน   เจออะไรบ้างก่อนถึงบ้านย่า    แต่ควรสอนให้คิดว่า ถ้าเธอเป็นพลายงาม เจอพ่อเลี้ยงคิดร้ายแบบขุนช้าง  จะหาทางออกแบบเดียวกับพลายงาม คือหนีตายไปพึ่งย่า    หรือว่ามีทางออกอย่างอื่น  อะไรบ้าง ที่เด็กจะทำได้
เด็กแต่ละคนจะถูกกระตุ้นให้ใช้สมองคิดหาคำตอบ   คิดค้นหาเหตุผลมาตอบครู     เราอาจจะแปลกใจถ้าพบว่าเด็กมีความคิดบางอย่างเข้าท่า   อย่างที่ผู้ใหญ่เองไม่ได้คิดมาก่อน  

คำตอบที่ถูกต้องไม่มีชนิดตายตัว  ที่สำคัญคือกระตุ้นให้นักเรียนคิด  ไม่ใช่กระตุ้นให้จำรายละเอียดในหนังสือ
การกระตุ้นให้คิด จะทำให้เด็กโตขึ้นมีความคิดสร้างสรรค์    ถ้ากระตุ้นให้จำ โตขึ้นจะลอกเลียนแบบได้เก่ง  ถ้ามีคำตอบในตำราแล้วตอบได้เท่าไรเท่ากัน   แต่คิดอะไรใหม่ๆเอง จะทำได้ยากเย็น  ส่วนใหญ่จะเป็นคนไม่กล้าทำอะไรใหม่ๆ  เพราะกลัวผิด  


กระทู้: ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 08 มิ.ย. 11, 15:05
(ต่อ)

การเรียนการสอน วรรณคดีนอกจากนำไปใช้เป็นแรงบันดาลใจในสาขาอื่นๆของศิลปะ และนอกเหนือจากศิลปะ  มีอีกหลายอย่าง   บางประเทศที่เป็นสังคมนิยมก็เคยเอาวรรณคดีมารับใช้สังคม   ประธานเหมายกเรื่องวีรบุรุษเขาเหลียงซาน มาอธิบายลัทธิยอมจำนนของการเมืองจีน     ของไทยเราก็เหมือนกัน ในยุคซ้ายขวาพิฆาตกันก็มีการหยิบยกวรรณกรรมบางเรื่อง ที่สอดคล้องกับอุดมการณ์มายกย่อง   หรือประณามวรรณคดีไทยที่ขัดแย้งกับอุดมการณ์ของตัวเอง    ถึงได้เกิดความคิดจะเผาวรรณคดีเก่ากันก็ในยุคนั้น    เคราะห์ดีที่ไม่มีการเผาหรือต้องห้ามวรรณคดีไทยกันจริงๆ  แต่เคราะห์ร้ายอีกอย่างคือ วรรณคดีกลายเป็นยาหม้อใหญ่ที่นักเรียนอยากเททิ้ง   เป็นเคราะห์ที่ไม่เบากว่าถูกเผา

ถ้าทำให้วรรณคดีเป็นที่อยากเรียน  ไม่ถูกหลงลืมทันทีที่สอบเสร็จ  คำตอบก็คือทำให้เป็นเรื่องสนุก   เป็นเรื่องที่กระตุ้นสมองให้ขบคิด ไม่ใช่ฝังลงในสมองให้จำ   
เด็กนักเรียนจะจดจำเรื่องที่เขาประทับใจ และลืมเรื่องที่เขาเบื่อ   ครูก็ต้องพยายามทำให้วรรณคดีสนุกขึ้นมา   ข้อนี้ไม่เกี่ยวกับถอดคำประพันธ์แน่นอน

โชคดี ที่ได้เรียนกับ อจ.สอนวรรณคดีเก่ง ๆ หลายคน
แต่ยังไม่เคยเรียนวิชาการถอดคำประพันธ์เลยค่ะ สมัยก่อนคงไม่มีเรียน เด็กสมัยนี้เรียนกันยาก ๆ ทุกวิชา เคมี ชีวะ เรียนตั้งแต่ชั้นประถม
จริง ๆ แล้ว วรรณคดีสนุกเหมือนดูละคร


กระทู้: ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 11 มิ.ย. 11, 01:56
     เพิ่งกลับมาถึงบ้าน  ถึงแม้ยังเหนื่อยและง่วง  แต่ได้อ่านกระทู้ของคุณชูพงศ์กระทู้นี้แล้วตาสว่างทันทีเลย  ขอบคุณที่ตั้งกระทู้ดีๆ อย่างนี้มาให้ขบคิดกัน
     ถ้าเอ่ยถึงวิชาวรรณคดีแล้วละเว้นไม่กล่าวถึงวิชาการประพันธ์ควบคู่กันไป  ก็ดูจะขาดความสมบูรณ์เป็นแน่  คนที่จะรักการอ่านวรรณคดีจำเป็นจะต้องรู้
หลักวิชาการประพันธ์ไปด้วยจึงจะซาบซึ้ง
     ผมเคยเอื้อนบทอาขยานเป็นเพลงให้หลานตัวเล็กๆ ฟัง  เป็นบท "แมวเอ๋ยแมวเหมียว.....,  มดเอ๋ยมดแดง.... ฯลฯ"  พวกเด็กนั่งฟังตาแป๋วและดูจะไม่
ค่อยสนใจมากเท่าไหร่ เพราะครูไม่เคยสอนมาก่อน    แต่พอร้อง "ชูมือขึ้นแล้วหมุน หมุน...."  พวกเด็กๆ พร้อมใจกันออกลีลาท่าทางทันที  เราพวกผู้ใหญ่
เคยหวนคิดกันบ้างหรือไหมว่า  ทำไม?
     ผมโตมากับบทอาขยานเหล่านี้  ไล่มาจนถึง "บัดเดี๋ยวดังหง่างเหง่งวังเวงแว่ว......" จนบัดนี้จะเข้าโลงอยู่รอมร่อแล้วก็ยังไม่เคยลืม  ทำไม?
     เมื่อยังเป็นนักเรียน  ผมเคยอ่าน "สามัคคีเภทคำฉันท์" ด้วยความเหนื่อยหน่าย  แต่พอครูแนะวิธีอ่านให้  ตัวอย่างเช่น เมื่อพบ วสันตดิลกฉันท์ หรือ
อินทรวิเชียรฉันท์ ให้ลองอ่านเป็นทำนองสรภัญญะดู โดยออกเสียงเบาๆ  ก็กลับกลายเป็นอ่านสนุกไปเลย  ทำไม?
     เมื่ออ่านวรรณคดีเรื่องใดไม่เข้าใจ  ติดขัด  ไม่แน่ใจ  ครูมีคำตอบให้เสมอ  ทำให้ผมมีใจชอบวิชาวรรณคดีและการประพันธ์  นี่เป็นเพราะครูผู้สอนมีส่วน
สำคัญใช่หรือไม่?
     ปัจจุบันนี้เด็กมาเรียนวิชาวรรณคดีกันตอนโตแล้ว   โดยไม่ได้ถูกปลูกฝังให้รักการอ่านบทประพันธ์ประเภทร้อยกรองกันมาตั้งแต่เล็กอย่างสมัยก่อน  แล้ว
จะให้เด็กเข้าใจและรักการอ่านวรรณคดีไปได้อย่างไร  แม้แต่การอ่านเบื้องต้นเด็กก็ถูกสอนให้เรียนแบบสำเร็จรูปโดยจำเป็นคำๆ ไปเลย  ไม่ต้องมาประสมคำ
แบบ กอ อะ กะ กอ อา กา กันอีกแล้ว   รากฐานของการเขียนเบื้องต้นเพื่อไต่ไปสู่การประพันธ์ถูกละเลยไปเสียสิ้น
     พวกเราเคยลองถามราชบัณฑิตยสภาดูหรือไม่ว่าให้ความสำคัญกับวรรณคดีเก่าๆ มากเพียงใด  คุณลองไปอ่านวรรณคดีหรือบทประพันธ์ในสมัยอยุธยา
แล้วเปิดดูคำศัพท์ที่คุณไม่เข้าใจในพจนานุกรมดูเอาเถิดว่ามีบรรจุเอาไว้สักกี่คำกัน   สิ่งนี้ต่อเนื่องมาถึงครูผู้สอนไปจนถึงนักเรียนเป็นลูกโซ่  ถ้าครูไม่เข้าใจ
และหาความหมายของคำศัพท์ไม่ได้เสียเองแล้ว  นักเรียนจะหวังพึ่งใครเล่าครับ
(ยังมีต่อ)


กระทู้: ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 11 มิ.ย. 11, 07:37
     อาจารย์ท่านใดสอนอยู่ในมหาวิทยาลัย  ลองเอาคำศัพท์ ๑๒ คำนี้ไปถามนิสิตนักศึกษาของท่านดูหน่อยว่าจะแปลได้ไหม แปลได้กี่คำ
     มกร-กุมภ์-มีน-เมษ-พฤษภ-มิถุน-กรกฎ-สิงห-กันย์-ตุลา-พฤศจิก-ธนู
     หรือท่านที่กำลังอ่านอยู่จะลองแปลดูก็ได้  แล้วลองนึกย้อนไปถึงสมัยที่ท่านยังเป็นนักเรียน  ครูได้สอนท่านไว้หรือไม่  ทั้งๆ ที่ท่านต้องใช้อยู่
ทุกวี่วันในรูปของเดือนต่างๆ
     ใน คคห. 22 ของอาจารย์เทาชมพูย่อหน้าสุดท้าย  ผมทั้งเห็นคล้อยตามด้วย  และไม่สอดคล้องด้วยเช่นกัน  ที่คล้อยตามคือการกระตุ้นให้เด็ก
รู้จักคิดด้วยเหตุผลของตนเอง เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์  ที่ไม่สอดคล้องคือ ก่อนที่จะกระตุ้นให้เด็กรู้จักคิดหาเหตุผลด้วยตนเอง  น่าที่จะกระตุ้นให้เด็ก
รู้จักการท่องจำเสียก่อน  เพราะการท่องจำเป็นการเรียนรู้เบื้องต้นสำหรับเด็ก  เด็กควรที่จะถูกกระตุ้นให้ท่องจำ ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก ให้ได้เสียก่อน
ก่อนที่จะกระตุ้นให้เด็กคิดหาเหตุผลว่า ทำไมต้องเป็น ก ไก่ เป็น ก กุ้ง ไม่ได้หรือ  ทำไมต้องเป็น ข ไข่ เป็น ข ขา จะผิดไหม  อะไรทำนองนี้  พ่อแม่
ควรจะกระตุ้นให้เด็กท่องจำให้ได้เสียก่อนว่า ไม้ขีดไฟ มีคุณอย่างไร มีโทษอย่างไร  ไม่ใช่ยื่นกล่องไม้ขีดไฟไปให้แล้วกระตุ้นให้เด็กคิดหาเหตุผลเอาเอง
ว่าไม้ขีดไฟมีคุณอย่างไร มีโทษอย่างไร นั่นอาจจะสายเกินไป  ดูตัวอย่างกระทู้คดีน้ำอบ ของอาจารย์ก็ได้   บุคคลท่านนี้อาจไม่เคยถูกกระตุ้นให้ท่องจำ
ถึงคุณและโทษของไม้ขีดไฟมาก่อน   เลยลองไปเล่นกับไม้ขีดไฟด้วยตนเอง  ผลออกมาก็เป็นดังที่อาจารย์เขียนไว้ในกระทู้นั่นแหละครับ
     และระบบการท่องจำก็ยังมีประโยชน์อื่นๆ อีก  เด็กที่สามารถท่องจำ "ใฝ่ใจให้ทานนี้ นอกในมีแลใหม่ใส..." จะสามารถใช้ไม้ม้วนไม้มลายได้ถูกต้อง
มากกว่าเด็กที่ไม่ท่องจำเอาไว้   คำอย่าง แมงป่อง  แมงมุม  บางครั้งก็จำเป็นต้องท่องจำเอาไว้เช่นกัน  จะหวังให้เด็กคิดแยกหาเหตุผลว่า  แมงมีแปดขา
ถ้ามีหกขาเรียกว่าแมลงคงจะยาก  เด็กยุคใหม่เห็นควายในท้องนาแล้วเรียกว่าวัวก็ยังมีให้เห็นอยู่
     น้อยคนนักที่ชอบวิชาวรรณคดีเพราะนอกจากอ่านเข้าใจยากแล้วคะแนนก็ยังน้อยกว่าวิชาอื่นๆ ส่วนใหญ่  แต่คนที่ชอบการประพันธ์มักจะอ่านวรรณคดี
รู้เรื่องและเข้าใจมากกว่าคนไม่ชอบ   คนที่เริ่มต้นแต่งร้อยกรอง  เมื่อแต่งไปเรื่อยๆ ก็อยากแสวงหาคำศัพท์แปลกใหม่ที่ไพเราะมากยิ่งขึ้น  คำศัพท์เหล่านี้
ก็อยู่ในบทวรรณคดีแทบทั้งนั้น  เป็นเหมือนการบังคับอยู่ในทีให้ต้องอ่านถ้าอยากแต่งเก่งๆ   เมื่ออ่านไปมากๆ ความชำนาญก็เกิดขึ้นเอง   ปัญหาก็อยู่ที่ว่า
ทำอย่างไรจึงจะสามารถชักจูงให้คนรุ่นใหม่หันมาให้ความสนใจกับการแต่งบทประพันธ์ร้อยกรองกันให้มากขึ้น  เพื่อให้พวกเขาได้ไต่เต้าขึ้นไปสู่การรักการ
อ่านวรรณคดีไทยต่อไปในภายภาคหน้า  หรือมีมุมมองวรรณคดีไทยได้กว้างขวางขึ้น


กระทู้: ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 13 มิ.ย. 11, 18:05
"ถ้าเห็นแตกต่างก็เขียนอีกได้เลย ไม่ต้องเกรงใจ      ตราบใดที่เรายังจำกัดความแตกต่างไว้ที่ประเด็นของเรื่อง  ไม่เปลี่ยนจากเรื่องมาเป็นตัวบุคคล    ความแตกต่างนั้น
ก็ไม่นำไปสู่ความเป็นปรปักษ์หรอกค่ะ

เรื่องขนมแชงม้านั้นดิฉันไม่เข้าใจประเด็นค่ะ ว่าจะถามว่าอะไร    แต่จะเป็นอะไรก็ตาม    มันก็มองได้ทั้ง ๒ ทางละค่ะ ทั้งความรู้เรื่องขนมแชงม้า กับความสามัคคี   
ถ้านักเรียนเห็นทั้ง ๒ ทางได้ก็ดี คือรู้ว่าขนมแชงม้าคืออะไร  หรือคิดว่าคืออะไร  กับรู้ว่าทะเลาะกันเมื่อไรก็เกิดความเสียหาย
ดีกว่าเห็นทางเดียว หรือไม่เห็นเลยสักทาง"

ขอบพระคุณ อ.เทาชมพู มากเลยครับที่เปิดโอกาสให้ได้แสดงความเห็นที่แตกต่าง  ผมขอชื่นชมด้วยใจจริง  ผมคิดว่าความเห็นที่แตกต่างมีคุณมากกว่ามีโทษ  เพราะจะขยาย
ความคิดให้กว้างขึ้น   แต่ผมขอติดค้างไว้ก่อน  ผมจำเป็นต้องห่างหายไปอีกสักพักยังไม่รู้ว่าจะกลับมาเมื่อใด  เมื่อกลับมาผมจะอธิบายความคิดที่แตกต่างของผมให้ทราบครับ


กระทู้: ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 มิ.ย. 11, 19:01
คุณชูพงศ์กับดิฉันจะรออ่านความเห็นของคุณ willyquiz ค่ะ     เสร็จงานเมื่อไรก็เชิญกลับมาต่อกระทู้นี้ด้วยนะคะ


กระทู้: ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Miss Candela ที่ 13 มิ.ย. 11, 21:59
เข้ามาอ่านกระทู้นี้แล้ว รู้สึกว่ามีความคิดเห็นที่หลากหลายและมีประโยชน์ ตัวดิฉันเป็นอีกคนที่หลงใหลในวรรณคดีไทย เพราะความไพเราะ สละสลวยของการเรียงร้อยถ้อยคำให้คล้องจองกันได้อย่างน่ามหัศจรรย์ ก่อเกิดเป็นเรื่องราวอันหลากหลาย มีครบทุกรสชาติ น่าจะส่งเสริมให้เด็กสมัยใหม่หันมาสนใจวรรณคดีไทยกันเยอะๆ แต่ดิฉันไม่อยากให้มันเป็นแค่กระแส แปบเดียวก็หายไป แล้วก็มีกระแสใหม่ๆขึ้นมา อย่างตอนหนังเรื่อง โหมโรงออกฉาย เด็กๆ ก็พากันไปเรียนดนตรีไทยกันอยู่พักหนึ่ง เพราะเห็นตัวอย่างจากในหนัง แต่พอหนังจบกระแสเรื่องดนตรีไทยก็จางหายไป

สมัยก่อนตอนดิฉันอยู่มัธยมปลาย ดิฉันเป็นคนที่เรียนภาษาไทยได้ดีในระดับหนึ่ง ทั้งๆที่เรียนทางด้านสายวิทย์ - คณิต ดิฉันรู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยชอบวิทยาศาสตร์lydเท่าไหร่ ดิฉันชอบทางด้านภาษามากกว่า เพราะดิฉันชอบอ่านหนังสือ ตอนเด็กๆ จำได้ว่าอ่านหนังสือเป็นเร็วจนแม่ยังแปลกใจ เพราะท่านไม่เคยสอนดิฉันอ่านหนังสือเลย ดิฉันอยากอ่านก็หัดอ่านเอง ติดหนังสือมาก นอนอ่านได้ทั้งวัน  ด้วยเหตุนี้ดิฉันจึงชอบเรียนภาษาไทย เพราะว่าจะได้อ่านหนังสือ อ่านบทความ นิทาน นวนิยาย ร้อยกรอง ร้อยแก้ว สนุกๆเยอะแยะมากมาย

ดิฉันไม่แปลกใจหรอกค่ะ ว่าทำไมเด็กรุ่นใหม่สมัยนี้ไม่ค่อยชอบวรรณคดีไทย เพื่อนๆดิฉันเอง(ตอนเรียนมัธยมปลาย) ก็ไม่ค่อยชอบและไม่ค่อยใส่ใจวิชานี้เท่าไหร่ กลับไปให้ความสนใจวิชาคณิตศาสตร์ - วิทยาศาสตร์มากกว่า เพราะเรียนจบแล้วก็สามารถนำไปใช้สอบเข้าคณะที่ตัวเองอยากเข้าได้ อย่างเช่น แพทย์ศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เภสัชศาสตร์ฯลฯ พ่อแม่เองก็สนับสนุนให้เด็กเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ - คณิตศาสตร์ มากกว่าจะบอกให้เด็กสนใจเรียนวิชาภาษาไทย ส่วนใหญ่ก็บอกว่า สอบแค่พอผ่าน แค่นั้นพอ

อาจารย์ที่สอนดิฉันบางท่านสั่งให้ดิฉันและเพื่อนๆแปลกลอน แปลโคลง แต่ว่าท่านให้ไปแปลเอง อธิบายคำศัพท์ให้เล็กน้อย เพราะมีเวลาสอนน้อย คาบเรียนภาษาไทย อาทิตย์หนึ่งมีแค่ไม่กี่คาบ ไม่ได้เรียนแทบทุกวันเหมือนวิทยาศาสตร์  เพื่อนบางคนที่แปลไม่ได้ ก็มาขอร้องให้ดิฉันแปลให้ ดิฉันเองก็ยอมตามใจเพื่อน ช่วยถอดกลอนให้ แปลให้ ส่วนหนึ่งก็เพราะความชอบส่วนตัวด้วย แล้วอาจารย์ก็มักจะให้เด็กไปสอบท่องอาขยาน เด็กบางคนก็เบื่อไม่อยากจะท่อง เพราะว่ายาก ต้องท่องเป็นกลอนใส่ทำนอง ครูสั่งให้ไปท่อง ก็ไม่ไปท่องจนใกล้จะหมดเทอม ครูถึงต้องบังคับให้ไปท่อง เด็กก็ท่องๆไปสอบพอให้ผ่านแค่นั้น ไม่ได้ซึมซับรสชาติของวรรณคดีแต่อย่างใด



กระทู้: ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Miss Candela ที่ 13 มิ.ย. 11, 22:08
ต่อค่ะ (ขอโทษคะ ยาวไปหน่อย)

คนที่จะซื้อหนังสือวรรณคดีไทยอ่านก็มีน้อยลงทุกที เพราะอ่านไม่รู้เรื่อง อ่านแล้วไม่เข้าใจ ซื้อไปก็เสียดายเงิน สู้ไปซื้อหนังสือนิยายที่อ่านง่ายๆ หรืออ่านการ์ตูนไปเลยไม่ดีกว่าหรือ  ดิฉันคิดว่าเด็กยุคใหม่ชอบอะไรที่ไม่ยุ่งยาก สะดวกสบาย เนื่องจากการรูปแบบการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน  ดิฉันตอนเด็กๆชอบอ่านการ์ตูน ติดมาก โดยเฉพาะหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น อ่านได้เป็นวรรคเป็นเวร อ่านจนสายตาสั้น ยอมเสียเงินเสียทองทั้งเช่าอ่าน และซื้ออ่าน เหตุผลที่เด็กๆชอบอ่านการ์ตูนมากกว่าหนังสือที่มีแต่ตัวอักษร ก็เพราะว่ามันสนุกกว่า และจินตนาการได้ง่ายกว่า มีภาพประกอบคำพูด อธิบายอากัปกิริยาของตัวละครชัดเจน แต่พออ่านหนังสือที่มีแต่ตัวอักษร ก็จะบ่นว่าอ่านยาก ตาลาย และก็เลยไม่ค่อยชอบอ่าน อ่านได้แต่เล่นบางๆ เล่มหนาๆอ่านแล้วก็หลับคาหนังสือ

ตัวดิฉันเองก็ยอมรับว่าแรกๆไม่ชอบอ่านหนังสือที่มีแต่ตัวอักษร ยกเว้นตำราเรียน ตอนมัธยมปลายไปยืมหนังสือในห้องสมุดมาอ่าน เจอแต่นวนิยายไทย ดิฉันก็เปิดดูแค่ผ่านๆ เพราะอ่านไม่รู้เรื่อง และคิดว่าคงไม่สนุกเท่าอ่านการ์ตูน ยอมไปเสียเงินเช่าการ์ตูนอ่านดีกว่า แต่มีเหตุการณ์หนึ่งที่ช่วยเปลี่ยนแปลงทัศนคติของดิฉัน อาจารย์ของดิฉันท่านหนึ่ง บังคับให้นักเรียนทุกคนอ่านนวนิยายเรื่อง จดหมายจากเมืองไทยของ โบตั๋น เพื่อสอบปลายภาค ดิฉันถึงจำใจต้องอ่านนิยายเล่มหนาๆเป็นครั้งแรก  แต่พอได้อ่านแล้วก็ติดใจ ชอบมาก เพราะว่าหนังสือที่มีแต่ตัวอักษรมันกระตุ้นให้เราเกิดจินตนาการ ค่อยๆอ่าน ค่อยๆคิด และซึมซับถึงคุณค่าที่นักเขียนพยายามถ่ายทอดให้แก่ผู้อ่าน ตั้งแต่นั้นมา ดิฉันก็อ่านหนังสือได้หลากหลาย แทบจะทุกประเภท ไม่เลือกที่รักมักที่ชังเหมือนแต่ก่อนอีก

ดิฉันคิดว่าอย่างที่อาจารย์เทาชมพูพูดนั้นถูกต้อง การสอนภาษาไทยต้องสอนให้เด็กคิดด้วย ดีกว่าท่องจำเพียงอย่างเดียว ก็เหมือนกับวิชาวิทยาศาสตร์ ต้องสอนให้เด็กตั้งคำถามและลองหาคำตอบด้วยตนเอง เด็กจึงจะเข้าใจและเรียนรู้ได้ถึงคุณค่าของสิ่งนั้นๆ สามารถต่อยอดเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆได้อีกเยอะ แต่ที่คุณ willyquiz อธิบายแย้งมา ก็ไม่ผิด การท่องจำจะช่วยให้เด็กรู้ว่าสิ่งนี้คืออะไร ใช้อย่างไร ไม่นำไปใช้อย่างผิดๆ แต่การสอนให้เด็กคิดจะช่วยให้เด็กเข้าใจว่า ทำไมจึงต้องเป็นเช่นนี้ ทำไมถึงไม่เป็นอย่างนั้น สามารถพลิกแพลงเป็นอย่างอื่นที่ดีกว่าได้ไหม ทั้งการท่องจำและการคิดหาเหตุผลต้องใช้ควบคู่กันไป จึงจะได้ผลที่ดี เปรียบได้กับวิทยาศาสตร์และศาสนา วิทยาศาสตร์ที่ปราศจากศีลธรรมก็อาจจะก่อให้เกิดเรื่องเลวร้ายได้ แต่ศาสนาที่ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ ก็จะกลายเป็นเรื่องที่งมงาย

อันนี้เป็นความคิดเห็นของตัวดิฉันเองนะคะ ไม่ทราบว่าผิดถูกประการใด


กระทู้: ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 18 มิ.ย. 11, 06:44
ถ้าจะเอาของเก่ามาสอน ครูก็ต้องหาตัวอย่างมาให้ดูให้ได้ อย่างกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน   ล่าเตียงเป็นไง มัศกอดเป็นไง ต้องหาสูตรออกมาให้เห็นกันเลยว่า
เขาทำกันอย่างไร   จะได้โยงไปสู่คำถามว่า มันมีส่วนคล้ายอาหารอะไรที่นักเรียนรู้จักบ้างไหม  อย่างน้อยมันก็ต้องมีส่วนผสมอะไร ที่เด็กรู้จักสักอย่างสองอย่างบ้างละ    เป็น
การจุดประกายต่อไปให้นักเรียนคิด และสนใจใคร่รู้

สวัสดีครับ อ. เทาชมพู ผมกลับมาแสดงความเห็นต่างดังที่ได้เคยกล่าวไว้แล้วครับ
ข้อความเกือบทั้งหมดที่อาจารย์ได้แสดงไว้  ผมเห็นด้วยเกือบทั้งสิ้นยกเว้นส่วนนี้  เพราะผมคิดว่าส่วนนี้ไม่ใช่ส่วนสำคัญที่สุดของบทเรียนที่นักเรียนจะต้องเรียนรู้  แต่เป็นเพียง
ส่วนประกอบที่จะดึงไปหาส่วนที่สำคัญกว่า  เปรียบได้กับกระพี้ที่ห่อหุ้มแก่นเอาไว้   ครูคงไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะให้นักเรียนเป็นพ่อครัว-แม่ครัว  หรือเมื่อเรียนนิราศ  ครูก็คง
ไม่ได้มุ่งหวังให้นักเรียนไปเป็นมัคคุเทศก์เป็นแน่  หัวใจของบทเรียนนี้อยู่ที่ใด?  จริงอยู่นักเรียนที่รู้จักส่วนประกอบของอาหารอาจจะเรียนได้เข้าใจรวดเร็วกว่า  แต่นักเรียนที่ไม่รู้
จักอาหารชนิดนี้ก็เข้าถึงหัวใจของเรื่องได้เช่นกัน  แต่ผมขอพักส่วนนี้เอาไว้ก่อน
     ในราวปีที่ผ่านมาก่อนหน้าที่ผมจะเป็นสมาชิกของเรือนไทย    ผมจำได้ว่าเคยอ่านพบข้อเขียนของอาจารย์ในกระทู้หนึ่งซึ่งกล่าวไว้ว่าเคยถูกครูบังคับให้ท่องบทกลอน (คงเป็น
อาขยาน) จนจำได้ขึ้นใจ  ผมก็เช่นกัน ได้เรียนบทกลอนดอกสร้อย-สักวาจนจำไม่ได้แล้วว่ามีมากสักกี่บท  อาจารย์เคยสังเกตุหรือไม่ว่า  กลอนดอกสร้อยชั้นต้นๆ จะไม่ซับซ้อนนัก
เด็กสามารถคิดได้สมวัย (ถ้าได้ครูที่สอนเก่งๆ)  คิดเพียงสองชั้น  โจทย์บทแรกจะเป็น สัตว์ สิ่งของ สถานที่ คน...สัตว์ก็อย่างเช่น  นกเอ๋ยนกเขา,  สิ่งของก็อย่างเช่น  โพงเอ๋ย
โพงพาง,  สถานที่ก็อย่างเช่น  เท้งเอ๋ยเท้งเต้ง,  คนก็อย่างเช่น  เด็กเอ๋ยเด็กน้อย  เป็นต้น  บทแรกนี้จะนำไปหาบทที่สองที่เป็นหัวใจของเรื่องคือแก่นซึ่งเป็นคติสอนใจ  วนเวียน
อยู่อย่างนี้  เด็กไม่จำเป็นต้องรู้จักสัตว์ สิ่งของ สถานที่ ก็สามารถเข้าใจบทเรียนได้ดี  ผมขออนุญาตยกตัวอย่างเพิ่มอีกสักบทครับ
     นกเอ๋ยนกเขา                ขันแต่เช้าหลายหนไปจนเที่ยง
สามเส้ากุกแกมแซมสำเนียง      เสนาะเสียงเพียงจะรีบงีบระงับ
อันมารดารักษาบุตรสุดถนอม     สู้ขับกล่อมไกวเปลเห่ให้หลับ
พระคุณท่านซาบซึมอย่าลืมลับ    หมั่นคำนับค่ำเช้านะเจ้าเอย  ฯ (ถ้าผิดพลาดต้องขออภัย)

     นักเรียนไม่จำเป็นต้องรู้จักนกเขา หรือสามเส้าซึ่งเป็นนกเขาอีกประเภทหนึ่ง  นักเรียนก็สามารถเข้าใจได้ถึงความรักของแม่โดยผ่านคำอธิบายของครูผู้สอน  นักเรียนอาจลืม
นกเขาที่เป็นส่วนประกอบได้  แต่จะลืมแม่ที่เป็นส่วนสำคัญไม่ได้

     เมื่อโตขึ้นมาอีกหน่อยก็จะเริ่มเรียนบทกลอนดอกสร้อยรำพึงในป่าช้า   คราวนี้ก็จะซับซ้อนขึ้นอีกนิดตามวัยที่เติบใหญ่ขึ้นของเด็ก  แต่ก็ยังไม่พ้น สัตว์ สิ่งของ สถานที่ คน
เป็นโจทย์อยู่นั่นเอง เช่น  นกเอ๋ยนกแสก, ดวงเอ๋ยดวงมณี, ป่าเอ๋ยป่าละเมาะ, ชาวเอ๋ยชาวนา  โจทย์เหล่านี้ก็จะดึงไปถึงหัวใจของเรื่องที่สอนให้เด็กใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ
ไม่เห่อเหิมทะเยอทะยาน  รู้จักเคารพสถานที่บางแห่งเช่นอนุสาวรีย์  หลุมฝังศพ เป็นต้น

     คราวนี้ย้อนกลับมายังจุดที่พักเอาไว้  เมื่อมาถึงชั้นมัธยม โจทย์ก็ยังคงที่อยู่นั่นเอง  แต่คราวนี้ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น  นักเรียนจะต้องคิดหาเหตุผลที่ซับซ้อนมากขึ้น  เช่นแต่งขึ้นใน
โอกาสใด  มีจุดมุ่งหมายอะไร  ยกย่องชมเชยใครหรือเปล่า  เอ่ยถึงใคร ส่วนใดที่เป็นจุดเด่น เป็นต้น 
     ในบทเห่แต่ละชุดแต่ละตอนมีอาหารมากมายไม่ต่ำกว่าสิบอย่าง  ถ้าครูมัวแต่ไปสอนสูตรอาหารละก็เป็นอันไม่ไปถึงไหนกันละครับ  ยิ่งถ้าเป็นนิราศละก็เสร็จกันพอดี  ถ้ายก
ล่าเตียง มัศกอด เป็นตัวอย่างออกจะดูยากไป  ลองบทใหม่ดู
     มัสมั่นแกงแก้วตา          หอมยี่หร่ารสร้อนแรง
ชายใดได้กลืนแกง              แรงอยากให้ใฝ่ฝันหา
ถ้าครูให้ความสนใจกับสูตรการปรุงมัสมั่น  อาจจะมีปัญหาขึ้นได้  อย่างน้อยที่สุดก็มีบุคคลแตกต่างกันแล้วหลายกลุ่ม  คือเคยกิน ไม่เคยกิน ชอบกิน ไม่ชอบกิน เคยทำ ไม่เคยทำ
พวกที่ไม่ชอบกินจะมีปัญหามากที่สุดเพราะเหมือนถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่ชอบ  ก็ฉันไม่กินจะให้ฉันรู้สูตรไปทำไมอะไรทำนองนี้  และถ้าผมจำไม่ผิด บทเห่บทนี้มีอาหารอยู่สิบห้าอย่าง
จบชั่วโมงแล้วผมว่าสูตรอาหารที่ครูจะอธิบายคงไปไม่ถึงครึ่ง   แต่ถ้าครูมุ่งประเด็นไปที่ให้นักเรียนไปลองค้นคว้าดูว่าใครเป็นผู้ปรุงอาหารจานนี้ที่อร่อยจนถึงขั้น "แรงอยากให้ใฝ่ฝันหา"
ปัญหาเรื่องมัสมั่นก็จะหมดไป   ผมจึงบอกว่าผมมีความเห็นแตกต่างในส่วนนี้ครับ


กระทู้: ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มิ.ย. 11, 20:53
ยินดีรับฟังความเห็นที่แตกต่างของคุณ willyquiz ค่ะ   
อยากจะฟังความเห็นของท่านอื่นๆด้วยนะคะ


กระทู้: ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: nakor ที่ 23 มิ.ย. 11, 00:25
ขอบคุณครับ ทุกท่าน  ;D


กระทู้: ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ค. 11, 18:55
ขุดกระทู้กลับขึ้นมาอีกครั้ง

ดิฉันก็ยังยืนยันว่าเป็นหน้าที่ของครูที่จะอธิบายความหมายของศัพท์ ในวรรณคดีที่ตัดตอนมาให้นักเรียนอ่าน    ส่วนเรื่องท่องขึ้นใจ ไม่ใช่ภาคบังคับ  แต่ครูอาจจะเลือกส่วนที่เป็นคติสอนใจ สั้นๆ  เช่นกลอนหรือโคลงสักบทหนึ่ง  มาเล่าให้นักเรียนประทับใจ  ถ้าจำได้ก็ยิ่งดี เพราะจะเป็นสิ่งที่เตือนใจพวกเขาได้ในอนาคต


กระทู้: ขออนุญาตเปิดประเด็น เรื่อง ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่ ครับ
เริ่มกระทู้โดย: polkien ที่ 19 ก.ค. 11, 15:23
ผมสมัครเว็บนี้มาเพื่อบอกว่าเห็นด้วยกับกระทู้นี้ครับ ^^