เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 11
  พิมพ์  
อ่าน: 9454 ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 105  เมื่อ 28 ก.ค. 23, 19:12

กลุ่มคนพวกนี้พอจะจัดได้ว่าเป็นพวกที่พอจะมีฐานะ คือมีฐานะดีพอที่จะซื้อหาที่ดินได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งก็ยังพอจะจำแนกออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือที่ดินในพื้นที่เมืองที่มีสาธารณูปโภคตามสมควร  กับที่ดินที่มีถนนและไฟฟ้าเข้าถึงที่อยู่ห่างจากจุดที่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยรวมกันของชุมชนหมู่บ้าน    ผมไม่อยู่ในพวกลักษณะแรก(อยู่ในเมือง) 

สภาพของสังคมที่เรียบง่ายแบบในพื้นที่เมืองนี้ อาจเห็นได้ทั้งในตัวพื้นที่ๆเป็นที่ตั้งของส่วนราชการระดับจังหวัดหรือในระดับของอำเภอ  แต่ก็มีที่ความสงบเงียบและสังคมที่เรียบง่ายกลับไปปรากฎอยู่ในตัวจังหวัด มิใช่ในตัวอำเภอ เช่น อ.เมืองประจวบฯ กับ อ.หัวหิน หรือ อ.เมืองสงขลา กับ อ.หาดใหญ่ เป็นต้น             
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 106  เมื่อ 29 ก.ค. 23, 18:57

ชีวิตในสังคมที่เรียบง่ายในอีกมุมมองหนึ่ง อาจจะหมายถึงลักษณะของการใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายของตนเองในสังคมที่ตนเองเห็นว่ามีความวุ่นวายน้อยกว่าสังคมที่ตนเองใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบัน   จึงอาจจะเป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากความต้องการที่จะหลุดพ้นหรืออยู่ห่างจากกรอบของกฎ กติกา มารยาท ที่ตนเองประสบอยู่ (วินัย etiquette ... ฯลฯ)   จะเป็นลักษณะใดก็ตาม ชีวิตในสังคมที่เรียบง่ายมีความเกี่ยวข้องกับความรู้สึกของการอยู่ได้ด้วยตนเอง หรือในความรู้สึกว่าอยู่ห่างจากการที่ต้องมีการแข่งขันหรือรีบเร่งไปเสียทุกเรื่อง   เลยกลายเป็นเรื่องปกติที่คนที่ใช้ชีวิตทำงานหรือประจำการอยู่ในต่างจังหวัด เมื่อพ้นวัยทำงานแล้วจึงมักจะนิยมเลือกใช้ชีวิตในวัยชราในต่างจังหวัด บ้างก็ในลักษณะของบ้านถาวร บ้างก็ในลักษณะของบ้านที่สอง บ้างก็ในลักษณะของพื้นที่เพื่อความสุขไนด้านการทำไร่ทำสวน  ซึ่งการเลือกพื้นที่ก็ดูจะไปขึ้นอยู่กับความรู้สึกที่ได้จากการเปรียบเทียบระหว่างความวุ่นวายกับความสงบเงียบ                 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 107  เมื่อ 29 ก.ค. 23, 20:11

ก็หมายถึงการมีเรื่องของที่ดินหรือมีบ้านที่อยู่อาศัยมาเกี่ยวข้อง   ซึ่งเชื่อว่า น่าจะทุกคนเลือกที่จะเป็นเจ้าของที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ๆมีธรรมชาติดูสวยงาม   ในเมืองกรุง ที่ดินอยู่อาศัยขนาด 50-100 ตรว. ก็ถือว่ากำลังพอดี แต่ดูจะเล็กไปสำหรับในต่างจังหวัดซึ่งก็อาจจะต้องนึกถึงในระดับ 100 ตรว.เป็นอย่างต่ำ ชานเมืองก็อาจจะนึกถึงระดับ 1 ไร่  แต่หากเป็นพื้นที่ในชนบทในเขตอำเภอต่างๆก็อาจจะนึกถึงในระดับประมาณ 5 - 10+/-ไร่ เพราะนึกไปถึงเรื่องของการปลูกไม้พืชผลด้วย 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 108  เมื่อ 30 ก.ค. 23, 19:31

สำหรับบ้านและที่ดินขนาดประมาณ 1 ไร่ สองตายายก็พอจะใช้ความขยันดูแลทั้งบ้านและต้นไม้ที่ปลูกไว้ให้ดูได้ดีและสะอาดเรียบร้อยได้  แต่ก็จะอยู่ในสภาพที่ต้องมีงานเต็มมือ    หากเป็นที่ในระดับประมาณ 5 ไร่ขึ้นไปถึงประมาณ 10 ไร่ ก็จะเข้าในลักษณะของการคิดทำสวนแบบสวนผสม คือปลูกต้นไม้ ไม้ผล ไม้ดอก หลากหลายพันธุ์ตามความอยากและความชอบ  จะเข้าเป็นลักษณะของบ้านสวน ซึ่งก็จะมีในแบบที่ไปใช้ชีวิตอยู่ประจำอยู่ที่นั่น กับแบบไปอยู่เป็นระยะๆตามที่วันว่าง/ช่วงเวลา  บ้านสวนนี้โดยนัยแล้วก็คือการหลบออกไปใช้ชีวิตนอกกรอบกติกาทางสังคมแบบคนในเมือง และ etiquette ต่างๆที่รู้สึกว่ารัดตัวที่พึงต้องระวังอยู่เสมอ  เป็นการหลบไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดูไม่วุ่นวาย เรียบง่าย เป็นอิสระ และสามารถเป็นตัวเองได้ตามความรู้สึกอยาก  ก็แน่นอนว่า พื้นที่ดินขนาดนี้ย่อมต้องอยู่ในพื้นที่นอกเมือง และย่อมต้องอยู่นอกพื้นที่อยู่อาศัยของชุมชนที่เป็นหมู่บ้าน    กรณีเป็นพื้นที่ขนาดมากกว่าประมาณ 10 ไร่ขึ้นไป ก็พอจะเดาได้ในสองลักษณะ คือการสะสมที่ดิน และการคิดทำไร่ทำสวน ผืนที่ดินเหล่านี้มักจะอยู่ไกลปืนเที่ยง ก็คือเกือบจะไม่คิดที่จะไปกินอยู่หลับนอนในพื้นที่นั้นๆเลย  สิ่งปลูกสร้างที่ทำขึ้นในพื้นที่มักจะเป็นในลักษณะที่เรียกว่ากระท่อม ขนำ เพิง โรงเก็บของ ....
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 109  เมื่อ 31 ก.ค. 23, 19:17

การก็เลยกลับกลายออกไปในทางว่า สังคมที่เรียบง่ายนั้นมีองค์ประกอบส่วนหนึ่งที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมาเองด้วย  หนึ่งในนั้นก็คือความรู้สึกทางใจที่ได้อยู่ห่างจากสังคมเดิมที่เราเห็นว่ามันมีความไม่สงบและไม่เรียบง่าย และอีกส่วนหนึ่งคือการที่ได้มีอิสระอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่รู้สึกว่ามันเป็นของเรากว้างขวางมากขึ้น

โดยสรุปแล้ว สาระทั้งมวลที่ได้เล่ามาก็คงพอจะทำให้นึกถึงภาพของการใช้ชีวิตในสังคมที่ดูว่าเรียบง่ายได้ว่ามันจะเป็นเช่นใด  ก็ทำได้ทั้งการอยู่นอกวง ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องใดๆ(ผู้คน ชุมชน งานหลวง งานราษฎร์ กิจกรรทางสังคมของพื้นถิ่น...) หรือเลือกเรื่องที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในสังคมนั้นๆ (ช่วยเหลือเจือจุน ลงแรง ให้ความเห็น...)  หรือเลือกที่จะต่อต้าน เป็นปฏิปักษ์ในเรื่องที่ชาวบ้านเขาทำกัน (วิจารณ์ ใส่ร้าย...)  หรือเลือกที่จะทำตนเป็นคนสำคัญ (ยกตนข่ม ทำรวย นักเลง...)

       
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 110  เมื่อ 01 ส.ค. 23, 19:20

ถึงตรงนี้ ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย จึงมีคุณสมบัติที่ประกอบไปด้วยลักษณะในทางนามธรรมและในทางรูปธรรมที่อยู่ในนึกคิดของตัวเรา ผสมผสานกับสิ่งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมที่มีปรากฎอยู่ในอิทธิพลของสังคมรอบข้างใกล้ตัวเรานั้นๆ

ได้เล่าความพอสังเขปกับชีวิตในสังคมที่เรียบง่ายของผู้คนฝ่ายที่อยู่ในพื้นที่ๆเราเห็นว่าเป็นสังคมที่เรียบง่ายมาแล้ว  ก็ลองมาดูชีวิตของคนนอกที่พยายามเข้าไปใช้ชีวิตในพื้นที่ๆเห็นว่าเป็นสังคมที่เรียบง่ายเหล่านั้นว่าจะเป็นเช่นใด   กรณีการไปใช้ชีวิตในพื้นที่เมืองคงเป็นเรื่องที่ไม่ต้องขยายความใดๆ ซึ่งดูจะมีอยู่ 3 เหตุผลหลัก คือ กลับไปใช้ชีวิตที่ภูมิลำเนาเดิมเมื่อเกษียณงานแล้ว  ติดพื้นที่เนื่องจากย้ายไปอยู่ ไปทำงานมานานมากจนฝังรากลึก  และเหตุผลสุดท้าย คือมีธุรกิจที่มั่นคงอยู่ที่นั่น     

ที่น่าสนใจก็คือกลุ่มที่ไปใช้ชีวิตในพื้นที่นอกเมืองในผืนดินขนาดมากกว่า 1 ไร่ ไปจนถึงประมาณ 10+ไร่ ซึ่งค่อนข้างจะเด่นชัดว่าเป็นผู้คนที่มีฐานะค่อนข้างจะดีมาก   กลุ่มคนพวกนี้จะพิจารณาเลือกไปอยู่และเป็นเจ้าของที่ดินในชนบทด้วยองค์ประกอบในการตัดสินใจ เช่น การคมนาคมสะดวก (เครื่องบิน รถไฟ) ระยะทางไปถึงที่ไม่ไกลมากนักจากสนามบิน สถานีรถไฟ (ควรจะน้อยกว่า 50+/- กม.) ถนนดี น้ำไฟถึง...เป็นต้น   กลุ่มพวกนี้ดูจะ hashtag ทุกอย่างที่ยังดูไม่ modern รวมทั้งกิจกรรมต่างๆทางสังคมที่เห็นว่าเป็นไปด้วยความเยิ่นเย้อ ว่า(ลักษณะเหล่านั้น)เป็นการแสดงถึงความยังคงอยู่ของสังคมที่มีความเรียบง่าย
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 111  เมื่อ 02 ส.ค. 23, 19:20

จัดหาที่ิดินได้แล้ว   วาระแรกก็คือการปรับพื้นที่ให้ดูดี พร้อมที่จะทำอะไรๆต่อไปตามที่ฝันว่าจะทำ แต่ไม่ว่าจะเป็นการทำเพื่อการอยู่แบบถาวรหรือการทำเพื่อเป็นบ้านหลังที่สองสำหรับการไปพักผ่อนได้ปีละหลายๆครั้งก็ตาม  ก็จะเริ่มพบปัญหาแรกที่ต้องแก้ใข คือเรื่องของน้ำกินน้ำใช้ว่าจะมีให้ใช้ได้อย่างพอเพียงหรือไม่ และควรจะทำได้อย่างไร    ด้วยที่ผืนดินแปลงขนาดใหญ่ส่วนมากจะอยู่ห่างไกลจากระบบประปาหมู่บ้าน ทางออกก็ดูจะมีเพียงการขุดบ่อน้ำตื้น การเจาะบ่อบาดาล การขุดสระน้ำ และการแบ่งปันขอใช้น้ำจากระบบคลองส่งน้ำเข้าพื้นที่เรือกสวนไร่นาของชาวบ้าน   เรื่องทั้งมวลนี้ล้วนทำให้ผู้มาอยู่ใหม่ต้องเข้าไปมีความสัมพันธุ์กับชาวบ้าน  แรกๆก็อาจจะเริ่มด้วยการมีผู้ใหญ่บ้านเข้ามาเยี่ยมเยียนสอบถามเพื่อการทำความรู้จักกับผู้ที่เข้ามาอยู่ใหม่ในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นประกายแรกของความรู้สึกของทั้งสองฝ่ายว่า ความสัมพันธ์เรื่องราวต่อไปจะเป็นไปในทางบวก (มิตร) หรือไปในทางลบ (ศัตรู) หรือจะเป็นแบบลุ่มๆดอนๆ   

ด้วยที่ ในทางที่ถูกที่ควรแล้ว ผู้ที่จะเข้ามาอยู่ใหม่เขตพื้นที่ใดๆ พึงจะต้องหาโอกาสสำแดงตนต่อผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านนั้นๆก่อนที่จะทำกิจกรรมใดๆในพื้นที่นั้นๆ  อย่างน้อยก็เป็นการแสดงถึงการให้ความเคารพกับสังคมที่ตนจะเข้าไปร่วมอยู่ด้วย   ซึ่งก็แน่นอนว่าอาจจะเกิดมีการเบ่งกล้ามโชว์ระหว่างกันบ้างว่า ไผเผ็นไผ 

ความสัมพันธุ์แรกๆระหว่างผู้มาอยู่ใหม่กับชุมชนชาวบ้านมักจะนึกถึงและยืนดีกับการได้สิ่งต่างๆแบบได้มาฟรีๆ เพราะนึกไปถึงเรื่องของความเอื้ออาทรและการมีน้ำใจของชาวบ้านที่ต่างไปอย่างสิ้นเชิงในความคิดของชาวบ้านที่แยกแยะระหว่างการมีน้ำใจ (เมตตา) และความเอื้ออาทร (กรุณา) ซึ่งเป็นเรื่องในทางนามธรรม กับการใช้แรงงานที่เป็นเรื่องในทางรูปธรรม   

ผู้ที่มาอยู่ใหม่นั้น หนีไม่พ้นที่จะต้องพึ่งพาชาวบ้านในเรื่องของแรงงานและในทักษะของงานในบางเรื่อง  ซึ่งชาวบ้านเขาก็พร้อมขายทักษะและแรงงานให้ ก็เป็นเรื่องบนฐานของเงิน   เรื่องที่เราคิดว่าเป็นเรื่องไม่ยาก/ไม่น่าจะมีอะไรเป็นพิเศษนั้น ในหลายๆกรณีอาจจะเป็นเรื่องที่จะต้องว่าจ้างผู้ที่มีความชำนาญเฉพาะทาง

ในมุมมองทางโครงสร้างเศรษฐกิจระดับรากหญ้า แสดงว่า ไทยเราดูจะมี micro entrepreneurship ในระดับรากหญ้ากระจายอยู่ทั่วไปในชุมชนต่างๆ       
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 112  เมื่อ 03 ส.ค. 23, 18:56

ขอขยายความกรณีเรื่องน้ำใช้สักเล็กน้อย    คิดว่าส่วนมากจะนึกถึงการเจาะบ่อบาดาล เพราะจะคิดกันในลักษณะของการเป็นทรัพย์สินเฉพาะของตน ซึ่งเมื่อเจาะลงไปแล้ว จะมีหรือไม่มีน้ำก็ไม่รู้ หากมี ก็ยังไม่รู้ว่าจะมีปริมาณน้ำสูบขึ้นมาได้มากน้อยเพียงใดสำหรับการใช้ในกรณีต่างๆที่ต่างกันไป (ทำสวนผลไม้ ทำพืชไร่ อยู่อาศัย...) ก็เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงพอสมควร   กรณีได้ปริมาณน้ำเป็นปริมาณมาก ไม่นานนักก็มักจะต้องมีชาวบ้าน/ชุมชนมาขอร่วมใช้ เพราะเป็นแหล่งน้ำสะอาดเพื่อการบริโภค

กรณีต้องใช้น้ำจากระบบร่องส่งน้ำของชาวบ้าน   ระบบร่องส่งน้ำนี้เกิดมาจากการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านหลายชุมชน(ตามเส้นทางที่จะทำให้ร่องน้ำๆหลผ่าน)ร่วมกันขุดเซาะทำให้เป็นร่องน้ำ  ต้นทางของร่องน้ำนี้อาจจะเริ่มต้นจากฝายกั้นน้ำในห้วยที่มีน้ำไหลเกือบตลอดปี(หุบห้วย ร่องเขา) หรือเริ่มจากจุดที่มีการทดน้ำจากห้วยใหญ่ คลอง หรือแม่น้ำ ที่มีน้ำไหลตอดปี  ร่องน้ำนี้ ภาษาเหนือเรียกว่า 'เหมือง'   ในสมัยก่อนก็เพื่อการส่งน้ำเข้าไร่นาและเพื่อเป็นน้ำอุปโภคสำหรับพื้นที่ที่อยู่อาศัยของชุมชน แต่ในปัจจุบันนี้จะเป็นเพื่อการส่งน้ำเข้าผืนนาเท่านั้น   

ตามนัยที่เล่ามานี้ จะเห็นว่าร่องน้ำนี้มีความเป็นเรื่องของส่วนรวม เป็นแบบกี่งๆสาธารณะกับนิติบุคคล  ก็จึงต้องมีผู้ดูแลที่เรียกว่ากรรมการ มีหน้าที่ตรวจสอบสภาพและประสิทธิภาพของการใช้งาน  ดำเนินการประสานเกี่ยวกับการลงแรงเพื่อช่วยกันทำการบำรุงรักษาประจำปีหรือในเรื่องอื่นๆ  มีการเรียกเก็บเงินเป็นรายปีในลักษณะคล้ายเป็นสมาชิกรายปีที่ผนวกกับการที่สมาชิกต้องร่วมลงแขกออกแรงช่วยกัน (มีการพัฒนาไปเป็นการออกเงินแทนการออกแรงแล้ว)   ร่องน้ำนี้มีระยะทางยาวหลายๆกิโลเมตรเลยทีเดียว   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 113  เมื่อ 03 ส.ค. 23, 20:00

งานที่ทำเกี่ยวกับเรื่องของการไหลของน้ำในร่องน้ำนี้ ในสังคมปัจจุบันจะเป็นการใช้การส่องกล้องเพื่อจับระดับและกำหนดเส้นทางการไหลของน้ำให้ไปตามเส้นทางที่มีความลาดเอียงที่ความเหมาะสมกับปริมาณของน้ำที่ต้องการจะให้ไหล   ในสมัยก่อนโน้น ชาวบ้านเขาทำได้เช่นใด?  ลองจินตนาการกันดูครับ

ในสมัยก่อน ชาวบ้านนิยมปลูกต้นมหาหงส์(สะเลเต)ตามแนวรั้วหน้าบ้านที่มีร่องน้ำเหมืองไหลผ่าน ช่วงเย็นใกล้ดวงอาทิตย์ตกในฤดูที่มีอากาศเย็น ความหอมเย็นของดอกมหาหงส์นี้ได้ให้ความรู้สึกที่สดชื่นจริงๆ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 114  เมื่อ 04 ส.ค. 23, 18:02

เมื่อเป็นเรื่องที่ต้องเป็นการขุดสระน้ำ   การขุดคงต้องใช้เครื่องจักรกล ช่วงเวลาของการขุดที่เหมาะก็น่าจะเป็นในฤดูแล้งจัดๆ เพราะจะได้ปลอดภัยมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี  ได้สระมีน้ำแล้วก็ต้องมีเครื่องสูบน้ำ ก็สุดแท้แต่ว่าจะเลือกใช้แบบเครื่องยนต์หรือแบบไฟฟ้า ต้องมีแท้งค์น้ำเพื่อพักน้ำให้เกิดการตกตะกอนบ้าง มีการวางระบบส่งน้ำ ....   

มีน้ำแล้วก็มีการปลูกพืชพรรณไม้ต่างๆ  ซึ่งจะตามมาด้วยการดูแลรดน้ำ ดายหญ้า ใส่ปุ๋ย แต่งกิ่ง พรวนดิน ....  ล้วนเป็นงานกลางแจ้งและใช้แรงทั้งนั้น

ทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการต้องจ้างแรงงาน ซึ่งหมายถึงว่า เป็นเรื่องที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้านในพื้นที่ใกล้ๆตัว  ชาวบ้านก็ดีใจที่มีรายได้เพิ่ม และหวังว่าจะได้รับการจ้างในลักษณะเป็นคนงานประจำ       
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 115  เมื่อ 04 ส.ค. 23, 19:13

การปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้มาอยู่ใหม่กับชาวบ้านในช่วงแรกเริ่มมักเป็นไปด้วยดี มีการเอื้อเฟื้อกันตามสมควร เป็นลักษณะของการเรียนรู้ซึ่งกันและกันในเรื่องต่างๆ แต่มีนัยลึกๆของการเรียนรู้กันคนละมุม  ที่คิดเหมือนๆกันก็จะอยู่ในเรื่องของการหลอกเอาประโยชน์ ความเชื่อใจ ความไว้วางใจ ความร่วมมือ ความช่วยเหลือ ความเสมอต้นเสมอปลาย ...

ไม่นาน ต่างคนต่างก็จะออกลาย ซึ่งลายแย่ๆที่ชาวบ้านไม่ยอมรับกันก็คือเรื่องของการไร้น้ำใจ ความตระหนี่ขี้เหนียว การผิดนัด ผิดคำสัญญา การเอาเปรียบ     หากเป็นกรณีที่ชาวบ้านเขาพอใจ รับได้ว่าเป็นคนหนึ่งในสังคมของเขา ข้อสังเกตแรกๆก็คือ เราจะได้รับข่าวสารการเคลื่อนไหวของเรื่องราวส่วนกลางต่างๆของชุมชน ซึ่งมีได้หลายลักษณะวิธีการ เช่นการแวะมาทักทาย เยี่ยมเยียนสอบถามทุกข์สุข ฯลฯ   หรือการเรียกเราด้วยการใช้คำสรรพนาม เช่นพ่อ แม่ น้า ลุง ตา อุ้ย พ่ออุ้ย พ่อใหญ่ นายหัว พ่อเลี้ยง แม่เลี้ยง ฯลฯ     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 116  เมื่อ 06 ส.ค. 23, 18:59

ผู้ที่จะไปมีที่ดินและบ้านอีกหลังหนึ่งในต่างจังหวัด หากมิใช่คนที่มีภูมิลำเนาเดิมในพื้นที่นั้นๆ ก็จะต้องเป็นผู้ที่มีสถานะทางการเงินที่ค่อนข้างจะดีกว่าคนปกติโดยทั่วไป  ก็หมายความว่าจะมีรสนิยมค่อนข้างจะออกไปในทางหรู ใช้ของดี ติดที่จะต้องอวดต้องโชว์ฐานะบ้างเมื่อมีโอกาส   หากเดินทางท่องเที่ยวในต่างจังหวัดแบบซอกซอน ก็จะสามารถสังเกตเห็นที่ดินและบ้านของผู้คนเหล่านี้ได้ไม่ยากนัก ซึ่งมักจะมีองค์ประกอบเหล่านี้ คือ มีรั้วที่สมบูรณ์รอบที่ดิน มีทั้งแบบก่ออิฐทึบและทาสี หรือเป็นแบบขึงลวดหนามในสภาพที่เรียบร้อย  มีพื้นที่หน้าบ้านที่เป็นสนามหญ้า ที่บริเวณตัวบ้านอาจจะมีการถมดินยกระดับ  หากเป็นบ้านปูนก็มักจะเป็นทรงผสมผสานระหว่างแบบสมัยใหม่กับแบบคลาสสิค  หากเป็นบ้านไม้ก็มักจะเป็นบ้านทรงพื้นบ้านที่จะเน้นโชว์ไม้และเสาบ้าน    ซึ่งเราพอจะดูออกได้ในทันทีเลยว่า ที่ดินและบ้านนั้นๆมีเจ้าของเป็นคนชาวเมือง ก็เป็นทรัพย์สินทางวัตถุที่เป็นไปตามความนึกฝันของผู้ที่เป็นเจ้าของ คนที่รู้สึกสุขใจจริงๆก็คือเจ้าของทรัพย์สินนั้นๆ   สำหรับคนนอกพื้นที่ๆเมื่อได้เห็นในระหว่างเดินทางผ่านไปผ่านมาก็จะรู้สึกว่าพื้นที่แถบนั้นๆดูมีความสงบ สวยงามและน่าอยู่  ซึ่งเป็นภาพแฝงเนื่องจากเป็นภาพของการอยู่แบบกระจาย อยู่กันแบบห่างๆ (เพราะความกว้างของแต่ละผืนที่ดิน) เป็นความรู้สึกแบบการใช้ชัวิตห่างจากสังคม ไม่รู้สึกอึดอัดแบบชีวิตเมืองที่แต่ละบ้านจะทำอะไรก็ได้ยินได้รู้กันไปทั่ว    ก็เป็นอีกมุมหนึ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นชีวิตที่เรียบง่ายในสังคมที่เรียบง่าย (ดูจะไปสัมพันธ์กับนัยของคำว่า social isolation)

           
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 117  เมื่อ 06 ส.ค. 23, 20:10

เมื่อที่ดินและบ้านสวย ก็น่าจะพอคาดได้ว่าเครื่องเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ตกแต่งภายใน และเครื่องใช้ต่างๆก็จะต้องเป็นของดีมีราคาตามไปด้วย ก็แน่นอนว่าต้องมีความรู้สึกรักและหวงแหน   บ้านระดับนี้ก็ต้องมีแม่บ้าน  เช่นกันก็ต้องมีคนดูแลบ้านเมื่อไม่อยู่  อาจจะต้องมีคนสวนเป็นการเฉพาะ   กลายเป็นเรื่องที่ต้องมีรายจ่ายประจำเป็นรายเดือน ซึ่งจะเป็นรายจ่ายที่สูงมากกว่ารายจ่ายที่จ่ายกันตามปกติสำหรับการอยู่อพาร์ตเมนต์หรือคอนโดมีเนียม   เป็นรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นที่อาจจะไม่คุ้มกับการใช้เพื่อการดูและทรัพย์สินที่ได้เพิ่มเติมขึ้นมา

การมีคอนโดฯที่ต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนกลางและอื่นๆ มีลักษณะเป็นรายจ่ายที่ค่อนข้างจะคงที่  แต่หากเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้เพื่อการดูแลที่ดิน ที่ สวน และบ้านในต่างจังหวัด ดูจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่คงที่ ดูจะออกไปทางบานปลายในแต่ละปี เพราะเป็นเรื่องที่ไปเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 118  เมื่อ 07 ส.ค. 23, 19:08

เท่าที่เห็นมา บ้านหลังที่สองนี้มักจะขาดลักษณะที่แสดงว่ามันมีชีวิตเป็นช่วงๆเวลา  ก็มีทั้งแบบเป็นช่วงเวลานานมากหลายๆเดือนในแต่ละปี และแบบเป็นช่วงสั้นๆสองสามเดือน   ไม่รู้ว่าจะอธิบายเช่นใดดี เลยจะขออธิบายความด้วยภาพที่เราเห็นและสามารถสังเกตได้ระหว่างที่ดินและบ้านร้าง กับที่ดินและบ้านที่มีคนอยู่อาศัย ภาพทั้งสองนี้น่าจะอธิบายความในเรื่องนี้ได้ดี    ที่ดินและบ้านที่ไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลใดๆในช่วงเวลาเพียงสองสามเดือนจะเริ่มแสดงภาพของการร้าง  ก็เป็นภาพที่ค่อนข้างจะแสดงถึงช่วงเวลาที่เจ้าของมาอยู่อาศัยได้เป็นอย่างดี

เรื่องหลังภาพก็คือ ที่เจ้าของเคยคิดว่าจะเดินทางมาพักในช่วงเวลาวันหยุดยาวบ้างหรือในช่วงเวลาสองสามเดือนครั้งบ้างนั้น เอาเข้าจริงๆมันมิใช่เป็นเช่นนั้น กลายเป็นส่วนมากจะออกไปทางปีละครั้งหรือนานมากกว่านั้นด้วยเหตุผลต่างๆ เช่นเรื่องของธุระกิจการงาน วิธีการเดินทาง ค่าใช้จ่ายในแต่ละครั้ง ระยะทางและระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทาง ...     

ในเรื่องการบริหารจัดการกับที่ดินและบ้านนั้นๆ จะพบว่าเกือบทั้งหมดจะเป็นเรื่องของการจ้างชาวบ้านให้ช่วยดูแลพื้นที่บริเวณนอกตัวบ้าน (เพราะปิดบ้านลงกลอน) เช่นพวกไม้ประดับ ไม้แต่งสวน รดน้ำ ตัดหญ้า ...    เมื่อเจ้าของไม่อยู่ คนงานรู้ช่วงเวลาที่เจ้าของจะมา หรือได้รับแจ้งล่วงหน้า ก็จะรีบดำเนินทำให้พื้นที่ต่างๆให้ดูสะอาดเรียบร้อย (ตัดหญ้า รดน้ำต้นไม้ เก็บกวาด...)  ส่วนในช่วงที่เจ้าของบ้านยังไม่มาก็จะละเว้นงานที่ต้องทำ หันไปให้เวลากับการทำงานหารายได้เพิ่มเติม   ดังนั้น เมื่อตัวเจ้าของมาอยู่ที่บ้านวันแรกๆ ก็เรื่องที่จะต้องทำ(เพราะปิดบ้านไว้)เกี่ยวกับการทำความสะอาดภายในบ้าน เครื่องเรือน อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ...  ก่อนที่จะพักอยู่ได้อย่างความรู้สึกสะอาดและปลอดภัยจากเชื้อโรคต่างๆ   สำหรับภาระก่อนกลับก็เช่นกัน ก็จะเป็นเรื่องของการเก็บและการคลุมผ้าป้องกันฝุ่น ปิดแกสหุงต้ม ตัดกระแสไฟฟ้า ...
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 119  เมื่อ 08 ส.ค. 23, 20:00

ชีวิตในสังคมที่เราจินตนาการว่าเรียบง่ายทั้งที่เป็นภาพภายนอกที่เราเห็นว่ามันเป็นเช่นนั้นและที่เป็นภาพภายในที่เกี่ยวกับตัวเราที่เห็นว่าน่าจะเป็นเช่นใดนั้น โดยเนื้อในของภาพทั้งสองฝั่งแล้ว ต่างก็มีความวุ่นวายอยู่ภายในวงสังคมของมัน     สังคมที่เรียบง่ายหรือสังคมที่วุ่นวายก็เลยดูจะเป็นความต่างในความรู้สึกที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากข่าวที่เผยแพร่อยู่ในสื่อต่างๆทั้งในเชิงปริมาณและในเชิงคุณภาพ    ข่าวที่คนในพื้นที่เมืองเสพอยู่นั้นได้มาจากสื่อหลายชนิด/หลายรูปแบบ ซึ่งส่วนมากจะเป็นข่าวเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมแบบเมืองที่วุ่นวายเกี่ยวโยงกันไปหมด แถมยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นในทางดีหรือในทางที่ไม่ดี    ส่วนข่าวที่เกี่ยวกับสังคมต่างจังหวัดและในพื้นที่นอกเมืองนั้น ส่วนมากจะเป็นข่าวที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอาญา   

ก็น่าจะพอเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้คนทั่วไปเห็นว่าในต่างจังหวัดนั้นมีความสงบเรียบง่ายมากกว่าในเมืองมากนัก       
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.066 วินาที กับ 18 คำสั่ง