เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 12, 05:43



กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 12, 05:43
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา  มีงานชุมนุมลูกหลานในสกุลหนึ่ง บำเพ็ญกุศลประจำปีให้บรรพบุรุษ  ในงานนี้มีบุคคลที่เป็นแกนกลางในการจัดงาน  ขอเรียกชื่อเล่นๆว่า "คุณหน่า" ตั้งใจจะทำหนังสือรวบรวมประวัติสกุลบรรพชนฝ่ายมารดาของเธอ พร้อมทั้งสาแหรกว่าใครเป็นลูกเต้าเหล่าใคร  เรียงลำดับกันใหม่จากที่ญาติๆ เคยทำกันมาครั้งหนึ่งประมาณสามสิบกว่าปีมาแล้ว  เพราะตอนนี้สมาชิกหนุ่มสาวและลูกเล็กเด็กแดงก็เพิ่มมากขึ้นอีกหลายสิบคน    สมควรจะชำระกันใหม่เสียที    

คุณหน่าขอร้องให้ดิฉันร่วมมือเขียนประวัติของสกุลเธอให้หน่อย     กะว่าจะพิมพ์หนังสือแจกทันปีหน้า    ดิฉันก็รับปาก     ล่วงเลยมาจนบัดนี้เราสองคนก็ต่างมีงานยุ่งจนไม่ได้เจอหน้ากันอีก    นึกขึ้นมาได้ ถึงเดือนก.ค.แล้ว   ถ้าไม่ลงมือทำอะไรลงไปเสียเดี๋ยวนี้ นึกได้อีกทีคงถึงเมษายนปีหน้าพอดี

ดิฉันก็ไปเปิดหนังสือประวัติ ซึ่งลอกจากของเก่า ที่คุณหน่าส่งมาให้    พบว่ามีข้อติดขัดบางอย่างที่สมาชิกเรือนไทยน่าจะช่วยเหลือได้ อย่างตำแหน่งขุนนางบางตำแหน่งในประวัติ ที่ดิฉันไม่มีรายละเอียด
ถ้าช่วยได้ก็จะเป็นพระคุณยิ่ง    
หนังสือเสร็จเป็นเล่มเมื่อไร  จะขอคุณหน่ามาจำนวนหนึ่ง   มอบให้ท่านที่เข้ามาช่วยเหลือในกระทู้นี้ท่านละ ๑ เล่ม ทุกท่าน  เป็นการตอบแทนน้ำใจไมตรีที่มีต่อกัน

ขอเริ่มเล่าในกระทู้เลยนะคะ  


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 12, 05:56
ตามหลักฐานที่บันทึกไว้    ต้นสกุลนี้ย้อนหลังไปได้ถึงสมัยปลายอยุธยา   แต่เพิ่งจะมีรายละเอียดให้บันทึกได้ก็เมื่อถึงสมัยธนบุรี   บรรพบุรุษคนแรกที่เป็นขุนนางมีนามเดิมว่า "ทองดี"   ท่านทองดีได้ติดตามเจ้าพระยาจักรีไปทำศึกที่พิษณุโลก ในคราวศึกอะแซหวุ่นกี้   ตอนนั้นยังเป็นสามัญชนไม่มีบรรดาศักดิ์
ต่อมาเมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ท่านทองดีเป็น หลวงอรรถคดีพินาจ  เจ้ากรมพระแสงต้น

กรมพระแสงต้น สังกัด วัง   ในรายชื่อทำเนียบขุนนางวังหลวง คุณ Art47 ระบุไว้ว่า

ขุนสำเรจพระขรรค  } เจ้ากรมพระแสงต้น ขวา  }                              นาคล ๘๐๐
นสรรพาวุทธ                                 ซ้าย
หมื่นทิพสุคนธ  } ปลัดกรมแสงต้น ขวา  }                                     นาคล ๖๐๐
หมื่นทณะเทพ                      ซ้าย
หมื่นช่างในกรม พนักงานพระแสงต้น                                            นา ๒๐๐
นายพกำนันพระแสงต้น                                                          นาคล ๒๐๐
เลวในกรมพระแสงต้น                                                           นาคล ๕๐

หลวงอรรถคดีพินาจ จะเป็นเจ้ากรมพระแสงต้นได้หรือไม่  หรือว่าเป็นเจ้ากรมอื่น  ?


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 12, 06:04
คำถามต่อไปคือบทบาทหน้าที่ของกรมพระแสงต้น

พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน และพระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง  ในกฎหมายตราสามดวง สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถระบุตำแหน่งของขุนนางและหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านอาวุธไว้ คือกรมแสงสรรพยุทธ กรมแสงต้น กรมแสงปืนโรงใหญ่ กรมกองแก้วจินดา กรมรักษาตึกดิน กองตำดิน ฯลฯ เป็นต้น
มีชื่อขุนนางตามนี้

ขุนสำเร็จพระขรรค  เจ้ากรมแสงต้น ขวา              นาคล ๘๐๐
ขุนสรรพาวุทธ      เจ้ากรมแสงต้น ซ้าย              นาคล ๘๐๐

ขุนช่างปืนในกรม ๓ คน                                นา ๓๐๐
หมื่นช่างในกรม ๕ คน                                 นา ๒๐๐
หัวสิบในกรมช่างปืน ๒๙ คน                          นา ๕๐


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 ก.ค. 12, 08:39
กรมพระแสงต้นคงมีหน้าที่เกี่ยวกับอาวุธ ไม่เข้ากับชื่อราชทินนามของหลวงอรรถคดีพินาจเลย

ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องเห็นจะเป็น "ยกกระบัตร"

ยกกระบัตร (โบ) น. ตำแหน่งข้าราชการสังกัดกระทรวงวัง มีหน้าที่ออกไปประจำอยู่ตามหัวเมืองเพื่อสอดส่องอรรถคดี; ตำแหน่งเจ้าพนักงานเกี่ยวกับอรรถคดี ตรงกับ พนักงานอัยการ หรือ อัยการ ในปัจจุบัน, ยกบัตร หรือ พนักงานรักษาพระอัยการ ก็เรียก; เจ้าหน้าที่ในการจัดหาเครื่องใช้ของทหาร; เขียนเป็น ยุกกระบัตร ก็มี.

 ;D


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 10 ก.ค. 12, 09:08
ในสมัยต้นกรุง (ร.๑-๔) ตำแหน่งยกกระบัตร ในบาดหมายราชการท่านจะเขียนไว้ว่า "หลวงยกกระบัตร"
น้อยนักที่จะบอกราชทินนามยกกระบัตรเมืองนั้นๆ

อย่างมาก็บอกเพียง "หลวงยกกระบัตร (ด้วง) เมืองราชบุรี" ดังนี้

เช่นเดียวกับ "พระยานครไชยศรี" "พระปลัดเมืองเพชรบุรี"




ราชทินนามนาม "หลวงอรรถ" มีส่วนที่จะเป็นตำแหน่งยกกระบัตรได้

แต่ส่วนมากจะเริ่มใช้ในช่วงรัชกาลที่ ๖-๗ ที่จะพระราชทานราชทินนามแก่อัยการประจำจังหวัดต่างๆ เป็นชุดๆ คล้องจองกัน

ซึ่งก่อนหน้านั้น ยังไม่เคยเห็นมากนัก  ;D


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 10 ก.ค. 12, 09:58
ยกระบัตร เป็นชื่อตำแหน่งหน้าที่  ไม่ใช่ราชทินนาม หรือบรรดาศักดิ์
ยกระบัตรเป็นตำแหน่งราชการหัวเมืองที่สำคัญ มีหน้าที่หลายอย่างซึ่งปรากฏอยู่ในกฎหมายตราสามดวง
ยกระบัตรเท่าที่เคยเห็นมา  มีชั้นบรรดาศักดิ์ตั้งแต่ขุนขึ้นไปจนถึงพระ
ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งยกระบัตรมักต้องผ่านการรับราชการมหาดเล็กมาแทบทั้งนั้น
เพราะต้องมาเรียนรู้ราชการและธรรมเนียมปฏิบัติจากส่วนกลางเมื่อมีความรู้แล้วเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยได้
ก็จะโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งมหาดเล็กเหล่านั้นไปรับราชการเป็นยกระบัตรหัวเมืองตามความเหมาะสม
ด้วยเหตุนี้ บรรดาตระกูลเจ้าเมืองจึงมักส่งลูกหลานมาเป็นมหาดเล็กเรียนรู้ราชการในส่วนกลาง
เพื่อที่จะได้ไต่ขึ้นไปเจ้าเมืองหรือกรมการเมืองที่ตระกูลนั้นปกครองอยู่ต่อไป

หลวงอรรถคดีพินาจ  เจ้ากรมพระแสงต้น  พิจารราตามชื่อบรรดาศักดิ์ กับ ชื่อตำแหน่งดูขัดๆ กันพิกล
ราชทินนามดูน่าจะอยู่กรมลูกขุน หรือนั่งศาลกรมต่างๆ แต่นี่มาเป็นเจ้ากรมพระแสงต้น สังกัดกรมวัง คงมีเหตุผลบางอย่าง
ชะรอยว่า  เมื่อต้นรัชกาล  ข้าราชการขุนนางยังมีตัวไม่พอกับตำแหน่งราชการ  จึงได้ทรงแต่งตั้งให้
ข้าราชการบางคนกำกับดูแลราชการมากกว่า ๑ ตำแหน่งไปจนกว่าจะหาคนมากินตำแหน่งได้



กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 10 ก.ค. 12, 10:42

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ท่านทองดีเป็น หลวงอรรถคดีพินาจ  เจ้ากรมพระแสงต้น



ยังติดใจอยู่ที่ราชทินนาม "หลวงอรรถคดีพินาจ"

"พินาจ" จักแปลว่าอะไรได้บ้าง

"พินาศ" หรือไม่

ถ้าใช่ "อรรถคดีพินาศ" - "ความคดีสูญสิ้นไป" ก็เข้าท่าเข้าทางอยู่ที่จะไปกินตำแหน่งในลูกขุน ณ ศาลหลวง


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ก.ค. 12, 11:03

        เอกสารประวัติสกุลทั้งหลายจะบันทึกเฉพาะลูกชายที่รับราชการ  หรือ ธิดาที่สมรสกับขุนนางเท่านั้น

มหามุขมาตยานุกูลวงศ์ ๒ เล่มใหญ่จะเป็นรายละเอียดของสกุลบุนนาค  ๑ เล่ม และสกุลฝ่ายจีน(เล่มนี้ไม่เคยอ่านค่ะ) ๑ เล่ม


        ได้ตรวจพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑  ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ  บุนนาค)

เรื่องการแต่งตั้งข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย  และข้าหลวงเดิมทั้งปวง    มีแต่จมื่นศรีสรลักษณ์  ที่นามเดิมทองดี   ต่อมาได้เป็นธรรมา


        การตรวจสอบบุคคลนั้น    ควรรู้จักสกุลต่าง ๆที่เกี่ยวพันด้วย  

ขอเรียนว่าได้พยายามหารายละเอียดของ สกุลชูโต  ที่เกี่ยวข้องกับบุนนาคอยู่     ติดขัดที่จุดนี้นานมาก   เพิ่งไปเจอในหนังสืออนุสรณ์  

ลำดับเครือญาติในสกุลสุนทรวาสี และ ณ มหาชัย ที่  พระยานรนาถภักดี(ปุย  บุนนาค) เรียบเรียง

เรื่องเครือญาตินี้     จะเห็นได้ว่าสกุลใหญ่ ๆ นั้นจะสมรสข้ามตระกูลกันไปมา



กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 ก.ค. 12, 11:15
       ได้ตรวจพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑  ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ  บุนนาค)

เรื่องการแต่งตั้งข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย  และข้าหลวงเดิมทั้งปวง    มีแต่จมื่นศรีสรลักษณ์  ที่นามเดิมทองดี   ต่อมาได้เป็นธรรมา

คุณวิกกี้ (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%94%E0%B8%B5_(%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%94%E0%B8%B5)) ให้ข้อมูลไว้ดังนี้

เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ทองดี) ต้นสกุลธรรมสโรช นามเดิมว่า ทองดี เป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยชั้นเดิมมีบรรดาศักดิ์เป็นจมื่นศรีสรรักษ์ แล้วเลื่อนขึ้นเป็นพระยาพิพัฒน์โกษาและได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็นเจ้าพระยาธรรมากรณาธิบดี เสนาบดีจตุสดมภ์กรมวังคนที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๑

 ;D


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 12, 21:12
ขอขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาช่วยเหลือในกระทู้นี้ค่ะ
ขอตอบเป็นข้อๆดีกว่า
๑  สงสัยเหมือนกันว่า อรรถคดีพินาจ แปลว่าอะไร    เชื่อว่าไม่ใช่ พินาศ  เพราะอะไรที่เหมาะจะพินาศเห็นทีจะไม่ใช่สิ่งดี    นึกออกตอนนี้คือราชทินนามปัจจนึกพินาศ    ถ้าอรรถคดีพินาศไปคุณหลวงเจ้ากรมเห็นทีจะโดนโทษหนัก  เพราะแปลว่างานการเจ๊งหมด
    ก็เลยนึกถึงคำว่า พินิจ ขึ้นมา   สมัยต้นรัตนโกสินทร์การเขียนสะกดคำฝีมืออาลักษณ์ยังลักลั่นกันอยู่มาก    เป็นได้ว่า พินิจ อาจกลายเป็น พินัจ แล้วยาวออกไปเป็น พินาจ     ถ้าพิจารณาความหมาย  อรรถคดีพินิจก็นับว่ามีความหมายลงตัวดี
    อย่างไรก็ตาม ความหมายของคำนี้ยังไม่ยุติ   ขอเชิญวิเคราะห์ตีความกันต่อไปตามสะดวก

๒  สงสัยว่าเป็นไปได้อย่างคุณหลวงเล็กว่า  คือสมัยรัชกาลที่ ๑  ตำแหน่งงานอาจจะมากกว่าอัตราคน   อาจเกิดจากคนน้อยกว่างาน เพราะเพิ่งสถาปนาอาณาจักรใหม่  ต้องแต่งตั้งคนใหม่มาแทนคนเก่าในอาณาจักรเก่าที่ถูกปลดกันไป ยังตั้งได้ไม่ครบ 
หรือว่ารบทัพจับศึกกันไม่เว้นว่าง  ขุนนางไปตายในสนามรบกันเยอะ   ที่รอดกลับมาทำงานต่อในเมืองหลวงก็อาจต้องควบสองตำแหน่งบ้างก็ได้     
     ความเป็นไปได้อีกอย่างคือย้ายมากินตำแหน่งใหม่ แต่คงราชทินนามเก่า   เพราะบรรดาศักดิ์เดิมสูงกว่าอยู่แล้ว   เช่นในกรณีนี้ คุณหลวงอรรถคดีอาจมากินตำแหน่งเจ้ากรมพระแสงต้น ในขณะที่เจ้ากรมพระแสงต้นแต่เดิมเป็นแค่ขุน   จะเลื่อนหลวงลงไปเป็นขุนก็ไม่ได้   เลยคงไว้เป็นคุณหลวงตามเดิม
     


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 12, 21:17
ชื่อคนไทยสมัยก่อนซ้ำกันมาก   จนน่าปวดหัวถ้าหากว่ารู้แต่เพียงชื่อเดิมและบรรดาศักดิ์   โดยไม่รู้เทือกเถาเหล่ากอมากกว่านั้น
ท่านทองดีในกระทู้นี้ไม่ได้นามสกุลธรรมสโรชค่ะ


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 ก.ค. 12, 21:28
หนังสือเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์

ในรัชกาลที่ ๑ มีเจ้าพระยาธรรมา ๓ ท่านคือ

เจ้าพระยาธรรมา บุญรอด (วังหลวง) สิ้นในรัชกาลที่ ๒

เจ้าพระยาธรรมา ทองดี (วังหลวง) สิ้นในรัชกาลที่ ๑
 
เจ้าพระยาธรรมา สด (วังหน้า) สิ้นในรัชกาลที่ ๒


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 ก.ค. 12, 21:50
ตำแหน่งเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ ต้องรู้เรื่องชาววังมาพอสมควร ดังเช่น  เมื่อครั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๑ มีหน้าที่กล่าวทูลถวายคือ

"ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย พระมหามณเฑียรปราสาทราชนิเวศน์มหาสถาน พระราเชนทราชยาน ทั้งเครื่องสูงเฉลิมพระเกียรติยศแด่พระบาทสมเด็จพระบรมนารถบพิตรพระเจ้าอยู่หัว"

ในการรบที่ทวาย รัชกาลที่ ๑ พร้อมด้วยวังหน้า เสด็จออกรบที่เมืองทวาย ปรากฎตำแห่ง "พระยาธรรมา (ทองดี)" เป็นผู้รักษาพระนคร ร่วมกับกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ พระยาพลเทพ (ปิ่น) พระยาเพ็ชรพิไชย พระยามหาธิราช


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 ก.ค. 12, 22:02
สังกัดกรมวัง

พระยาธรรมาธิกรณ์ (ทองดี) รับราชการในพระองค์ได้เป็นจมื่นศรีสรรักษ์ เมื่อปราบดาภิเษก แล้วเลื่อนเป็นพระยาพิพัฒนโกษา แล้งจึงได้เป็นพระยาธรรมาธิกรณ์ อสัญกรรมในรัชกาลที่ ๑


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 12, 22:06
เกิดความผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัย    ขออภัยท่านทั้งหลายเป็นอย่างยิ่งด้วย

ย้อนกลับไปอ่านเอกสารซึ่งถ่ายจากตัวพิมพ์รุ่นโบราณ  หน้าตาเหมือนตัวพิมพ์ดีดโบราณ (แต่อาจเป็นตัวหล่อตะกั่วก็ได้) อ่านยาก     สะกดก็แบบโบราณที่คุณเพ็ญชมพูมาเห็นคงอยากจะแก้ให้ถูกต้องตามรอยอินเสียทุกบรรทัด    
ความจริงมีอยู่ว่าเอกสารนี้เขียนขึ้นก่อนราชบัณฑิตยสถานจะถือกำเนิดมา  เลยไม่มีใครบอกได้ว่าสะกดแบบไหนถึงจะถูก

ราชทินนามของคุณหลวงทองดีนั้น ไม่ใช่อรรถคดีพินาจ    แต่เป็น  อรรคคีพินาจ เจ้ากรมพระแสงต้น
อรรคคีพินาจ = อัคคีพินาศ
หน้าที่ของท่านน่าจะเกี่ยวกับ
๑  ปืนไฟ   ถ้าหากว่าเป็นเจ้ากรมพระแสงต้นละก็   ???  ???
๒  ดับไฟ    ???  ???



กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 ก.ค. 12, 22:22
สะกดก็แบบโบราณที่คุณเพ็ญชมพูมาเห็นคงอยากจะแก้ให้ถูกต้องตามรอยอินเสียทุกบรรทัด    
ความจริงมีอยู่ว่าเอกสารนี้เขียนขึ้นก่อนราชบัณฑิตยสถานจะถือกำเนิดมา  เลยไม่มีใครบอกได้ว่าสะกดแบบไหนถึงจะถูก

คงไม่ถึงกับอย่างนั้นหรอก

ถึงแม้ปัจจุบันนี้ก็เถอะ มีหลายคำที่ยังไม่เห็นด้วยกับท่านรอยอิน

 ;)


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ก.ค. 12, 05:03


        ยังไม่สามารถจับตัวบุคคลวางลงในตำแหน่งได้ค่ะ

นึกถึง หลวงอัคคีพินาศ    จำได้ว่าท่านพาลูกน้องไปดับไฟ  โดยมี ถ้งตักน้ำ เชือก และ ตะกร้อ เอาไว้รื้อหลังคาสะกัดไฟ

ตะกร้อใช้เกี่ยวและดึง          เวลาไฟไหม้เจ้านายฝ่ายหน้าก็เสด็จออกมาและใช้สอยผู้คนของท่านเข้าร่วมปฎิบัติการดับไฟพร้อมกัน


        เอกสารที่พอจะเกี่ยว ๆ อยู่บ้าง มี

ทำเนียบนาม ภาคที่ ๒  พิมพ์ครั้งที่สาม ๒๕๑๑

และ  ทำเนียบข้าราชการวังหลัง   พิมพ์ครั้งที่ สี่   ๒๕๑๑


       


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 11 ก.ค. 12, 05:20
คัดมาจากกระทู้ พี่น้องของนางตรุศ มารดาของ ก.ศ.ร. กุหลาบ เห็นว่ามีกล่าวถึงพระอรรคีพินาศ


Wandee:


ขอบคุณคุณเพ็ญชมพูค่ะที่เอื้อเฟื้ออยู่เสมอ ๆ

สำหรับคุณหลวงเล็กที่นับถืออย่างยิ่ง      ต้องไปค้นที่เกวียนของ ก.ศ.ร.  หาเรื่องการทำงานของนายสิน หรือ พระยาสมุทรบุรารักษ์มานำเสนอ
คงพอจะอ่านได้

สยามประเภทเล่ม ๔  เล่าไว้ยืดยาว  จึงขอย่อตอนท้ายไว้ดังนี้
พระยาสมุทรบุรารักษ์และท่านผู้หญิงปริก  มีบุตร ๑๕ คน

บิดาของท่านผู้หญิงปริกชื่อ กุหลาบ  ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กหลวง  ได้เป็นหลวงพิพิธสมบัติ  แล้วเลื่อนเป็นพระนเรนทรรักษา
ปลัดจางวางกรมรักษาพระองค์ซ้าย
เป็นพระอัคคีพินาศ จางวางกรมพลพัน(ตำรวจหลัง)

มารดาของพระอัคคีพินาศ คือ พระนมน้อย  พระนมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
และได้ถวายกษิธาราต่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าด้วย

เรื่องนี้ยังมีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ที่ต้องตามเก็บ    สนุกดี   

ถ้านายกุหลาบไม่พิมพ์หนังสือ ขาดทุนเป็นหนักหนา  เพราะตามเก็บสตางค์ไม่ได้  ก็คงมีฐานะที่มั่นคงน้อง ๆ  นายสิน

ลืมบอกไปค่ะคุณหลวง   นายสินท่านถือแบบฝรั่ง คือมีภรรยาคนเดียว

และจากเรื่องประวัติตำรจดับเพลิง
งานป้องกันและระงับอัคคีภัยสำหรับประเทศไทย ได้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กล่าวคือ ในรัชสมัยพระราชาธิราช ประมาณ พ.ศ. 2057 – 2071 ได้จัดให้มีหมู่เวรยามรักษาการณ์ระวังภัย มีทั้งการสอดแนมระวังผู้ที่มารุกราน การก่อวินาศกรรม และวางเพลิงเผาเมือง ประจักษ์พยานที่เห็นได้อย่างชัดเจน ก็คือ การตั้งหอกลอง ขึ้นภายในกำแพงพระนคร สูงประมาณ 1 เส้น หอกลองที่สร้างขึ้นในสมัยนั้น มีอยู่ 3 ชนิด คือ


1. กองมหาฤกษ์ ใช้ตีเมื่อเวลามีข้าศึกหรือเกิดจลาจล มีขบถขึ้นกลางเมือง
2. กลองพระมหาระงับดับเพลิง ใช้ตีเมื่อเวลาไฟไหม้ในกำแพงเมืองให้ตี 3 รา ไหม้นอกกำแพงเมืองพนักงานจะตีกลองเป็นจังหวะสม่ำเสมอไปจนกว่าไฟจะดับ
3. กลองพระทีพาราตรี ใช้ตีบอกเวลาย่ำรุ่งและย่ำค่ำ
 กลองทั้ง 3 ชนิดนี้ ในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้เปลี่ยนเสียใหม่เป็นกลองนำพระสุริยศรี กลองอัคคีพินาศ และกลองพิฆาตไพรี  เพิ่งมาเลิกใช้กลองในสมัยรัชกาลที่ 5 นี่เอง




กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 12, 05:43
หลังจากไล่ต้อนไก่กลับเข้าเล้าไปแล้ว ก็ขอออกมาขอบคุณท่านทั้งหลายที่ทยอยกันเข้ามาร่วมมืออย่างดียิ่ง

ตำแหน่งหน้าที่ของพระอรรคคีพินาจ (อัคคีพินาศ) เห็นจะรับผิดชอบเรื่องดับเพลิง   ไม่ใช่ดูแลรักษาปืนไฟอย่างดิฉันนึกตอนแรก
แต่เหตุใดพระอรรคคีพินาจจึงมาเป็นเจ้ากรมพระแสงต้น  ไม่ใช่จางวางกรมพลพัน(ตำรวจหลัง)  นึกออกอย่างเดียวคือหน้าที่การงาน

สมัยรัชกาลที่ ๑ อาจจะยังไม่ลงตัวอย่างรัชกาลต่อๆมากระมัง     ตำแหน่งไหนว่างลงกะทันหัน อาจจะไปลงตำแหน่งนั้น  หรือแล้วแต่พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปลงตำแหน่งไหน

ส่วนกรมพระแสงต้น  ดิฉันสงสัยว่าจะพัฒนามาเป็นส่วนหนึ่งของกรมสรรพาวุธทหารบก   ด้วยการรวมกรมแสงสรรพยุทธ กรมแสงต้น กรมแสงปืนโรงใหญ่ กรมกองแก้วจินดา กรมรักษาตึกดิน กองตำดิน 
ข้อนี้แค่สงสัยเฉยๆ  ดูจากชื่อของกรม


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 12, 07:53
ขอต่อไปยังตำแหน่งใหม่ของบุคคลในตระกูลนี้ค่ะ  เพื่อจะดูปริศนาในตำแหน่งที่ ๒

ขอผ่านจากท่านทองดีลงไปถึงบุตรของท่าน  มีนามว่า ทองสุข  รับราชการอยู่ในรัชกาลที่ ๒
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงแต่งตั้งเป็น เจ้ากรมบัญชาการในกรมฝีพายหลวง  มีคำอธิบายขยายความสั้นๆว่า
"ซึ่งก็คือทหารเรือในปัจจุบันนี้"

กรมฝีพายขึ้นอยู่กับกรมพระตำรวจใหญ่ขวา  ข้าราชการกรมนี้มีไว้สำหรับพายเรือพระที่นั่ง พระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จทรงเรือเมื่อใด หรือจะมีเรือพระที่นั่งกระบวนเห่เสด็จกี่ลำ ก็มีคนกรมฝีพายเป็นคนพายทั้งสิ้น เจ้ากรมฝีพายเป็นผู้สั่งเรียกคน

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงเล่าถึงพวกฝีพายไว้ใน สาส์นสมเด็จ ภาค ๓๙ ตอนหนึ่งว่า

ตามประเพณีมีมาแต่โบราณการเลือกสรรฝีพายเรือพระที่นั่งเพื่อให้ได้คนมีกำลังและไว้ใจได้ จึงใช้คนกำหนดเป็นตำบลคือ บรรดาคนในตำบลที่กำหนดนั้นงดเว้นราชการอย่างอื่นหมด ให้เป็นแต่ฝีพายเรือหลวงอย่างเดียว เช่น คนในตำบลบ้านผักไห่ และบ้านตาลาน ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น และยังมีตำบลอื่นอีกเป็นฝีพายทั้งนั้น

แม้เรือดั้งคู่ชักก็มีฝีพายประจำตำบล ลำ ๑ ใช้คนบ้านใหม่แขวง จังหวัดอ่างทอง อีกลำ ๑ ใช้คนบ้านโพเรียงในแขวงจังหวัดอ่างทองเหมือนกัน เมื่อใดเรียกระดมฝีพายพวกนายหมวดนายกองต้องเลือกสรรคนฉกรรจ์ที่กำลังล่ำสันส่งเข้ามาให้พอพายเรือหลวง

ฝีพายเรือพระที่นั่งเดิมแต่งตัวนุ่งกางเกงมัสรู่ คาดผ้ากราบ ตัวเปล่าไม่ใส่เสื้อ และมีพระราชกำหนดว่า ถ้าฝีพายต้องรับพระราชอาญาห้ามมิให้เฆี่ยนหลัง เพราะจะทำให้เสียโฉมและมีประเพณีเนื่องต่อออกไป

อีกอย่าง ๑ ถ้าเสด็จพระราชทานผ้าพระกฐินวัดที่มีเจ้าของ เช่น วัดประยุรวงศาวาส เป็นต้น หรือวัดในหัวเมือง เช่น วัดเฉลิมพระเกียรติใน จังหวัดนนทบุรี เป็นต้น เจ้าของวัดและเจ้าเมืองย่อมแจกผ้าคาดสีนวลชุบน้ำหอมแก่ฝีพายเรือพระที่นั่ง สำหรับเช็ดเหงื่อและให้ชื่นใจด้วยกลิ่นหอม แล้วคาดผ้าเปียกนั้นไว้กับอกตามนิยมกันในสมัยนั้นพายเรือพระที่นั่งไม่ห้ามปราม

ฝีพายเรือพระที่นั่งได้ใส่เสื้อในรัชกาลที่ ๔ หรือรัชกาลที่ ๕ ไม่แน่ชัด แต่ครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังเป็นทหารมหาดเล็กเคยไปจอดเรือดูกระบวนพระราชวังบวรวิชัยชาญเสด็จไปทอดผ้ากฐิน ณ วัดสุวรรณารามครั้งหนึ่ง เห็นทรงเรือพระที่นั่งกราบหลังคากัญญาคาดกระแซง ฝีพายยังตัวเปล่าไม่ใส่เสื้อ

เสื้อฝีพายเรือพระที่นั่งนั้นแรกใส่เสื้อกระบอกผ้าขาว มาจนจัดฝีพายเป็นทหารจึงเปลี่ยนเป็นแต่งเครื่องแบบใส่หมวกทรงประพาส เสื้อสักหลาดสีแดงคาดเข็มขัดคันชีพ นุ่งกางเกงดำ แต่ตามจดหมายเหตุเรื่องแห่พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย ในรัชกาลที่ ๒ ฝีพายที่ก็ใส่เสื้อ ส่วนฝีพายที่ไม่ใส่เสื้ออาจจอยู่ในช่วงรัชกาลที่ ๓ ก็ได้ เพราะในรัชกาลนี้ไม่โปรดให้สวมเสื้อเข้าเฝ้า

สำหรับเครื่องแต่งกายของฝีพาย นาวาเอกพระยาศราภัยพิพัฒน์เล่าไว้ในเรื่อง ขบวนเรือพยุหยาตรา ตอนหนึ่งว่า เดิมทีเรือพระที่นั่งขึ้นอยู่กับกรมทหารฝีพายกระทรวงกลาโหม ซึ่งในสมัยนั้นแยกกันอยู่คนละกระทรวงกับทหารเรือ

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้โอนเรือพระราชพิธีมาขึ้นกับทหารเรือ เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๔ เพื่อเตรียมจัดกระบวนพยุหยาตราในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในเวลานั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ได้ทรงเปลี่ยนแปลงแก้ไขพิธีการหลายอย่าง ตลอดจนเครื่องแต่งกายฝีพายให้เหมาะกับการสมัยที่ใช้ทหารเรือประจำการ เช่น ฝีพายประจำเรือไชย เรือพระที่นั่งลำทรง เรือพลับพลา เรือพระที่นั่งรอง ซึ่งแต่เดิมนุ่งผ้าโจงกระเบงก็เปลี่ยนมาสวมกางเกงดำ เสื้อแดง หมวกทรงประพาสปิดหู ดาบขัดหลัง รองเท้าดำ สนับแข้งขาว เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในระเบียบเรือพระราชพิธีที่กำหนดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๗ ได้กล่าวถึงพวกฝีพายไว้ว่า พลฝีพายในเรือพระที่นั่งทรงพระที่นั่งรอง และเรือทรงผ้าไตร ๓ ลำนี้ ถ้าหมายกระทรวงวังสั่งให้ข้าราชการแต่งเต็มยศ หรือครึ่งยศรับเสด็จ ฝีพายต้องแต่งกายเต็มยศอย่างทุกวันนี้และใช้พายทองและพายเงิน ถ้าหมายกำหนดให้ข้าราชการแต่งกายปกติรับเสด็จ พลฝีพายเรือ ๓ ลำนี้ จะแต่งกายดำสวมหมวกกลีบลำดวนใช้พายทาน้ำมัน


ปัญหาที่ยังมืดมนสำหรับลูกหลานก็คือ   ไม่รู้ว่าท่านทองสุข เจ้ากรมบัญชาการในกรมฝีพายหลวงนี้ท่านมีบรรดาศักดิ์และราชทินนามว่าอะไรค่ะ


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ก.ค. 12, 08:22
ขอวกกลับไปที่หลวงอรรคคีพินาศ  เจ้ากรมพระแสงต้น อีกสักหน่อย
ผมสงสัยตั้งแต่เมื่อเริ่มกระทู้แล้วว่า  ราชทินนามนี้คงจะคัดหรือจำมาจนคลาดเคลื่อนไป
เนื่องจากราชทินนามกับตำแหน่งหน้าที่ไม่เหมาะสมกัน และไม่เคยมีะรรมเนียมปฏิบัติ
ที่จะข้าราชการฝ่ายศาลตระลาการไปกำกับดูแลกรมอื่น

คุณเทาชมพูมาแก้ไขว่าอ่านเอกสารพลาดไปจึงทำให้ได้ราชทินนามคลาดเคลื่อน
ครั้นได้ราชทินนามที่ถูกต้องแล้ว  ก็ควรวิเคราะห์ต่อไปอีกสักหน่อยว่า
กรมพระแสงต้นนั้น เป็นหน่วยงานที่ดูแลรักษาเครื่องราชูปโภคที่เป็นเครื่องราชศัสตราวุธ
กรมนี้เข้าใจว่าน่าจะสังกัดกรมวัง  กรมพระตำรวจนั้นมีหลายกรมมีชื่อต่างๆ กัน
กรมพระตำรวจนี้คือราชองครักษ์  ข้าราชการในกรมนี้ย่อมเชี่ยวชาญอาวุธ
ถ้าจะมาควบคุมดูแลกรมพระแสงต้นด้วยก็ไม่แปลก   เพราะกรมพระแสงต้นไม่ใช่กรมราชการใหญ่โต
มีข้าราชการในสังกัดไม่มากนัก  ผู้ดูแลรักษาพระแสงต้นควรจะเป็นผู้มีความรู้ด้านอาวุธ
ฉะนั้น  กรมพระตำรวจก็ถือว่าเหมาะแล้วที่จะได้รับหน้าที่นั้น

ข้าราชการกรมพระตำรวจ  เท่าที่เคยเห็นข้อมูลมา  มักจะมาจากพวกข้าราชการมหาดเล็กมาก่อน
อนึ่ง  ข้าราชการกรมพระตำรวจนั้น  นอกจากมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยถวายอารักขาพระเจ้าแผ่นดิน
และดูแลความเรียบร้อยเขตพระราชฐานแล้ว  ยังมีหน้าที่อื่นๆ อีก เช่น  ดับไฟในเวลาที่เกิดไฟไหม้
ในพระนคร  เป็นตระลาการศาลรับสั่ง  เป็นนายด้านสร้างพระเมรุ   สร้างวัด  สร้างพระัที่นั่ง
เป็นแม่ทัพนำไพร่พลไปปราบอั้งยี่  โจร  หรือผู้ก่อการกบฏตามหัวเมือง  และอื่นๆ อีกมากมาย
ตามแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสั่งให้ไปปฏิบัติ  


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ก.ค. 12, 09:20
ข้าพเจ้าก็เห็นคล้อยตามคารมคุณหลวงเล็ก ... หามิได้....หากแต่ความคิดในเบื้องต้นมีความคิดคล้ายกันคือ เจ้ากรมแสง สังกัดวัง ควรจะดูแลเกี่ยวกับเครื่องศาสตราวุธทั้งหลาย ซึ่งก็มีอยู่หลายเล่ม

ทั้งนี้ "อรรคคีพินาจ" หรือ อัคคีพินาจ ก็ยังชวนให้นึำถึงไฟไหม้พระที่่นั่งอัมรินทราภิเษกมหาปราสาท ที่ต้องสายฟ้าฟาดไหม้ไปทั้งหลัง บรรดาข้าราชการต่างรุดกันช่วยดับไฟ


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ก.ค. 12, 09:30


เสื้อฝีพายเรือพระที่นั่งนั้นแรกใส่เสื้อกระบอกผ้าขาว มาจนจัดฝีพายเป็นทหารจึงเปลี่ยนเป็นแต่งเครื่องแบบใส่หมวกทรงประพาส เสื้อสักหลาดสีแดงคาดเข็มขัดคันชีพ นุ่งกางเกงดำ แต่ตามจดหมายเหตุเรื่องแห่พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย ในรัชกาลที่ ๒ ฝีพายที่ก็ใส่เสื้อ ส่วนฝีพายที่ไม่ใส่เสื้ออาจจอยู่ในช่วงรัชกาลที่ ๓ ก็ได้ เพราะในรัชกาลนี้ไม่โปรดให้สวมเสื้อเข้าเฝ้า


การแต่งกายของฝีพายในกระบวนเสด็จทอดผ้าพระกฐิน ถ่ายโดยจอห์น ทอมป์สัน ฝีพายใส่เสื้อ


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ก.ค. 12, 09:35
ภาพวาดในสมัยรัชกาลที่ ๓ วาดโดยนักธรรมชาติวิทยา ฟินเลสัน เขียนภาพขบวนพยุหยาตราแห่งสยาม ยังคงวาดให้เห็นฝีพายสวมเสื้อพื้นแดง คาดเข็มขัด สวมหมวก

ภาพจากงานฉลองความสัมพันธ์ไทย-อังกฤษ งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พ.ศ. ๒๕๓๙


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ก.ค. 12, 09:43
ภาพวาดฝีพายหัวเรือรูปสัตว์ สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

ฝีพายไม่สวมเสื้อ มีผ้าพันคอผูกไว้เท่านั้น


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ก.ค. 12, 09:47
ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังในรัชกาลที่ ๕


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 11 ก.ค. 12, 11:33
ท่านอาจารย์ใหญ่ให้ข้อมูลเพิ่มเรื่องบุตรท่านทองดีที่ชื่อท่านทองศุข  ได้เป็นเจ้ากรมบัญชาการในกรมฝีพายหลวง  ในรัชกาลที่ ๒ เช่นนี้
พอจะจับเค้าได้ว่า หลวงอรรคคีพินาจ (ทอองดี) คงจะมีตำแหน่งราชการในกรมพระตำรวจเป็นแน่
เพราะในอดีตนั้นเมื่อบุตรหลานข้าราชการคนใดได้บวชเรียนรู้หนังสือแล้ว  ถ้าเป็นบุตรขุนนางหรือผู้มีตำแหน่งราชการ
ก็มักจะนำถวายตัวแล้วจัดเข้ารับราชการอยู่กับบิดา  เพื่อเรียนรู้วิชาจากบิดา  ตัวอย่างในเรื่องนี้ที่เห็นได้ชัดคือ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ นั้นทรงบัญชาการกรมพระคชบาลรวมทั้งกรมช่างสิบหมู่
เมื่อพระโอรสคือ หม่อมเจ้าขจรซึ่งต่อมาเป็นพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ ทรงเจริญพระชันษาก็ได้โปรด
ให้เข้ารับราชการในกรมพระคชบาลและกรมช่างสิบหมู่จนได้ทรงบัญชาการทั้งสองกรมนั้นต่อมา  ถึงรุ่นถัดมาคือ
เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม  มาลากุล) ก็ได้บัญชาการกรมพระคชบาลและเป็นอธิบดีกรมศิลปากรสืบต่อมา
ทั้งยังพบพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ ๖ ที่โปรดให้เจ้าพระยาธรรมาฯ รับตัว ม.ร.ว.โป๊ะ  มาลากุล (พระยาชาติเดชอุดม)
ผู้เป็นน้องชายซึ่งเวลานั้นถวายตัวเป็นมหาดเล็กมาแต่ก่อนเสด็จเสวยราชย์มาฝึกหัดราชการกรมพระคชบาลและงานช่างสิบหมู่
เพื่อสืบทอดวิชาของสายราชสกุลนี้มิให้สิ้นสูญ

การที่หลวงอรรคคีพินาจมีตำแหน่งในราชการกรมพระตำรวจแล้วไปเป็นเจ้ากรมพระแสงต้นอีกตำแหน่งก็อาจเป็นได้
แต่การที่ราชทินนามเป็นของกรมพระตำรวจนั้น  อาจจะเป็นไปได้ว่าเมื่อย้ายไปเป็นเจ้ากรมพระแสงต้นนั้นยังไม่ทันได้รับ
พระราชทานบรรดาศักดิ์และราชทินนามตามตำแหน่งใหม่  แล้วท่านเกิดเสียชีวิตไปก่อน  ดังเช่น หลวงอนุภาณสิศยานุสรรค์ (เรื่อ  หงสกุล)
ซึ่งกระทรวงธรรมการกราบบังคมทูลขอพระราชทานเลื่อนเป็นพระอนุภาณสิศยานุสรรค์  และพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว
แต่ยังมิทันส่งสัญญาบัตรไปพระราชทาน  คุณหลวงอนุภาณฯ เกิดเสียชีวิตเพราะไข้ไทฟอยด์เสียก่อน  ก็เลยคงเป็นแค่คุณหลวงฯ


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 11 ก.ค. 12, 11:53
กรมพระแสงต้น

มีหน้าที่รักษาเครื่องราชูปโภคที่เป็นศัสตราวุธ เช่น พระแสงดาบ พระแสงหอก พระแสงปืน

นอกจากนี้ยังมีหน้าที่เชิญพระแสงต่างๆ ตามเสด็จพระราชดำเนินที่ต่างๆ ด้วยตั้งแต่สมัยอดีตถึงปัจจุบัน

อย่างเมื่อคราวพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ เสด็จเลียบมณฑลพายัพ

ก็มีพนักงานพระแสงตามเสด็จด้วย เช่นเดียวกับกรมวัง หรือมหาดเล็ก


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ก.ค. 12, 15:04
กรมพระแสงต้น

มีหน้าที่รักษาเครื่องราชูปโภคที่เป็นศัสตราวุธ เช่น พระแสงดาบ พระแสงหอก พระแสงปืน

นอกจากนี้ยังมีหน้าที่เชิญพระแสงต่างๆ ตามเสด็จพระราชดำเนินที่ต่างๆ ด้วยตั้งแต่สมัยอดีตถึงปัจจุบัน

อย่างเมื่อคราวพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ เสด็จเลียบมณฑลพายัพ

ก็มีพนักงานพระแสงตามเสด็จด้วย เช่นเดียวกับกรมวัง หรือมหาดเล็ก

กรมพระแสงต้น  ดูแลรักษาพระแสงศัสตราวุธ ตลอดจนควบคุมดูแลการเบิกและคืนพระแสงต่างๆ
จากมหาดเล็กและข้าราชการกรมวัง

การเชิญพระแสงต่างๆ ในกระบวนเสด็จนั้น  เป็นหน้าที่มหาดเล็กมาแต่เดิม
ดังปรากฏหน้าที่ในตำราหน้าที่มหาดเล็กของเก่า  ต่อมาภายหลังจึงได้ให้ข้าราชการกรมวัง
ปฏิบัติหน้าที่

อนึ่ง พนักงานเชิญพระแสงตามเสด็จนั้น  ฝ่ายหน้าผู้เชิญคือมหาดเล็ก  และมีระเบียบวางไว้ว่า

"ถ้าจะถวายเครื่องแลพระแสง  ให้ผู้น้อยส่งผู้ใหญ่ถวาย  อย่าให้ผู้น้อยล่วงผู้ใหญ่ขึ้นไปถวาย
ถ้าจะเชิญเครื่องแลพระแสง แลรับต่อพระหัตถ์ก็ดี  ให้จบศีรษะเอางานเสียก่อน
จึ่งถวายพระแสงถวายเครื่องรับเครื่องเชิญเครื่อง   พระแสงแลเครื่อง ถึงลับพระที่นั่งให้เอางานก่อนจึ่งเชิญ
ถ้าเชิญพระแสงเข้ามาถวายแลตามเสด็จ  อย่าให้กลับคมกลับปลายพระแสงเข้ามาต่อพระที่นั่ง
ถ้าจะเชิญพระแสงดาบ พระแสงกระบี่ตามเสด็จ  ให้เชิญสองมือ ให้คมลงไว้ข้างบ่า
อย่าให้ถือมือเดียวพาดบ่าดุจแบกดาบขุนนาง   ถ้าจะเชิญเครื่องแลตามเสด็จในท้องพระโรง
แลที่เสด็จออกปูเสื่อปูพรม ให้คุกเข่าคลานอย่าให้เดิน...

"อนึ่ง  พระแสงง้าวทอดที่ข้างใน แลพระแสงกระบี่  พระแสงดาบทรงอยู่ที่ข้างในนั้น
เดือนหนึ่งสองเดือน  ให้หัวหมื่นนายเวรจ่าหุ้มแพร เชิญพระแสงคู่ผลัดเข้าไปกราบบังคมทูล
พระกรุณาผลัดออกมาชำระ...

"ถ้าแต่งพระบรรทมแลที่เสด็จออกพระตำหนักพลับพลาแห่งใดๆ นั้น 
มหาดเล็กพนักงานเชิญพระแสงง้าวล่วงไปทอดที่  ถ้าเสด็จทอดพระเนตรเสือนั้น
พระแสงหอกบั้งถอดฝักไว้  พระแสงง้าวถอดกัลเม็ดไว้

"อนึ่ง  ถ้าเสด็จไปประพาส  ถ้าแลทรงประพาสให้มหาดเล้กคอยรับพระแสงกระบี่
พระแสงดาบทรง  ครั้นทรงรัดพระองค์แล้วจึ่งถวายพระกั้นหยั่น  ต่อทรงเครื่องต้นพระมาลาฝรั่งแล้ว 
จึ่งถวายพระแสงดาบเชลยแล................................................(ขี้เกียจคัดต่อ)



ต่อมา  ระเบียบการเชิญพระแสงได้มีรายละเอียดเพิ่มเติมอีกมาก  ผู้ใคร่รู้ไปหาอ่านเอาเถิด
(จะไปถามท่านผู้อาวุโสก็ได้นะ เผื่อท่านจะใจดีอธิบายให้ฟัง ;D)


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ก.ค. 12, 15:16


มีหนังสืออีกเล่มหนึ่งค่ะ  ชื่อ  ประกาศ ตั้ง  ย้าย  เปลี่ยน  เสนาบดี  ผู้รั้ง  ผู้แทน  และรองเสนาบดี

(ตั้งแต้ พ.ศ. ๒๔๓๕ -  ๒๔๖๙)

พระยาราชพินิจฉัย  (อุไทยวรรณ  อมาตยกุล )  รวบรวมจากราชกิจจานุเบกษา
 

 เมษายน  พ.ศ. ๒๕๗๐   พิมพ์ที่โรงพิมพ์ โสภณพิพรรณธนากร   ตำบลถนนราชบพิธ   จังหวัดพระนคร

 ยังค้นไม่เจอเรื่องที่พวกเรากำลังหาอยู่ค่ะ


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ก.ค. 12, 15:22
ข้าพเจ้าก็เห็นคล้อยตามคารมคุณหลวงเล็ก ... หามิได้....หากแต่ความคิดในเบื้องต้นมีความคิดคล้ายกันคือ เจ้ากรมแสง สังกัดวัง ควรจะดูแลเกี่ยวกับเครื่องศาสตราวุธทั้งหลาย ซึ่งก็มีอยู่หลายเล่ม

ทั้งนี้ "อรรคคีพินาจ" หรือ อัคคีพินาจ ก็ยังชวนให้นึำถึงไฟไหม้พระที่่นั่งอัมรินทราภิเษกมหาปราสาท ที่ต้องสายฟ้าฟาดไหม้ไปทั้งหลัง บรรดาข้าราชการต่างรุดกันช่วยดับไฟ

กรมพระแสงต้นนั้นดูแลแต่เครื่องศัสตราวุธที่เป็นเครื่องราชูปโภค  ไม่ได้ดูแลเครื่องศัสตราวุธทั่วไป
ซึ่งหากเป็นเครื่องศัสตราวุธทั่วไปที่ใช้ในราชการสงครามหรือราชการในการเฝ้าระวังความปลอดภัย
จะมีหน่วยราชการกรมอื่นดูแล คือ กรมพระคลังแสงสรรพยุทธ เข้าใจว่าแต่เดิมน่าจะมีกรมนี้
ทั้งฝ่ายมหาดไทยและฝ่ายพระกระลาโหม  กรมท่ามีหรือเปล่าไม่แน่ใจ

อย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว  กรมพระตำรวจนั้น  ทำราชการได้หลากหลาย ไม่เฉพาะรักษาความปลอดภัยถวายพระเจ้าแผ่นดิน
การดับเพลิงไม่ว่าในหรือนอกกำแพงพระบรมมหาราชวัง  ก็เป็นกิจหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติด้วยเช่นกัน
ราชทินนาม อรรคคีพินาจ ย่อมบ่งบอกหน้าที่ดังกล่าวได้  แต่ที่มาว่าราชการกำกับกรมพระแสงต้น
เข้าใจว่า  เจ้ากรมคนก่อนคงจะวายชนม์กระทันหัน  จึงโปรดเกล้าฯ ให้คุณหลวงว่าที่แทนไปก่อน
แต่คงยังไม่ได้โปรดเกล้าฯ เปลี่ยนราชทินนามใหม่ให้เข้ากับหน้าที่   คุณหลวงอาจจะถึงแก่กรรมไปก่อนก็เป็นได้



กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ก.ค. 12, 15:22
พระแสง ศาสตราวุธ ในรัชกาลที่ ๑

ทวนทอง ลูกแก้วลงยาราชาวดี มีพู่จามรี

เสโล่ห์ถม

พระแสงของ้าว แสนพลพ่าย

พระแสงดาบเชลย

พระแสงดาบหน้ามนุษย์

พระแสงขอพก ฝักทองคำ

พระแสงทวน

พระแสงกั้นหยั่งฝังเพชรซีก

พระแสงหอก ทวนกะไหล่ด้ามถม

พระแสงหอก ทวนลงยาใบเทศ ด้ามไม้ไผ่


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ก.ค. 12, 15:28


มีหนังสืออีกเล่มหนึ่งค่ะ  ชื่อ  ประกาศ ตั้ง  ย้าย  เปลี่ยน  เสนาบดี  ผู้รั้ง  ผู้แทน  และรองเสนาบดี

(ตั้งแต้ พ.ศ. ๒๔๓๕ -  ๒๔๖๙)

พระยาราชพินิจฉัย  (อุไทยวรรณ  อมาตยกุล )  รวบรวมจากราชกิจจานุเบกษา
 

 เมษายน  พ.ศ. ๒๕๗๐   พิมพ์ที่โรงพิมพ์ โสภณพิพรรณธนากร   ตำบลถนนราชบพิธ   จังหวัดพระนคร

 ยังค้นไม่เจอเรื่องที่พวกเรากำลังหาอยู่ค่ะ

แหม  เล่มนี้ท่าจะดีนักนะคุณวันดี  เข้าใจว่าเล่มไม่หนาเท่าใด
นี่ก็เพิ่งไปได้หนังสืองานศพนายอุไทยวรรน  อมาตยกุล มา  (ท่านลาออกจากบรรดาศักดิ์)
ประวัติของท่านก็น่าสนใจดี  แต่อาจจะไม่ระทึกใจเท่าบิดา  
คุณวันดีคงได้อ่านมาเสียจนจำได้ทุกช่องไฟอักษรแล้วกระมัง ;D


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ก.ค. 12, 15:35

มี ๒๒๐  หน้าค่ะ       กระดาษดีมาก  ไม่กรอบ

มีหน้าว่าง ๖๐ หน้าให้เจ้าของบันทึกเองด้วย


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 12, 06:48
กรมฝีพายหลวง เข้าใจว่าสังกัดวัง   ไม่แน่ใจว่าเรียก "กรมฝีพาย" เฉยๆ ในบางแห่งหรือไม่
ถ้าหากว่าได้ชื่อเจ้ากรมมา ก็เป็นอันได้คำตอบถึงบรรดาศักดิ์ของท่านทองสุขค่ะ


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 12, 06:52
มีผู้อยู่ในสกุลนี้อีกท่านหนึ่ง   ได้ประวัติมาแล้ว  จึงไม่ขอลงซ้ำในกระทู้นี้
ในประวัติ ระบุตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณราชการว่า ปลัดบาญชี กระทรวงกระลาโหม
มีใครพอทราบตำแหน่งในกระทรวงกลาโหมบ้างไหมคะ ว่า ปลัดบาญชีที่ว่าตรงกับตำแหน่งอะไรในสมัยนี้   น่าจะเป็นตำแหน่งใหญ่พอสมควร   เพราะก่อนหน้านี้เป็นเจ้ากรม


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 12 ก.ค. 12, 09:02
ตำแหน่งปลัดบาญชีนั้น  ตำแหน่งนี่อย่างน้อยๆ ต้องเป็นพระยาเพราะเป็นผู้ถือหรือคุมบัญชีเลกไพร่กำลังพลสังกัดกรมพระกลาโหมทั้งหมด 
เทียบกับตำแหน่งเจ้ากรมพระสุรัสวดี ผู้มีหน้าที่เกณฑ์และสักเลกไพร่ทั่วทั้งแผ่นดินแล้ว  คงจะอยู่ในระนาบเดียวกันหรือสูงขึ้นไปอีกชั้น
ถ้าเทียบกับปัจจุบันน่าจะเป็นตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการกำลังสำรองหรือเดิมเรียกว่ากรมการรักษาดินแดน  ที่เคยมีผู้รู้เทียบว่า
เป็นแม่ทัพภาคที่ ๕ เลยทีเดียว


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 12 ก.ค. 12, 09:26
ปลัดบาญชี กระทรวงกลาโหมนั้น ต้องดูว่าเป็นในช่วงสมัยใดครับ

เพราะทำหน้าที่แตกต่างกันมากเลยทีเดียว

อย่างก่อนการปฏิรูประบบราชการของพระพุทธเจ้าหลวง
ตำแหน่งปลัดบาญชีในสมัยนั้น จะใช้อยู่แต่กรมใหญ่เท่านั้น เช่น มหาดไทย กลาโหม ถ้าเป็นกรมเล็ก ก็ใช้ สมุห์บัญชี
หน้าที่ก็ตรงตามชื่อ คือเรื่องควบคุมบัญชีกำลังเลกในสังกัด ว่าอยู่ครบจำนวนหรือไม่
เพื่อในทันสมัยต่อการเกณฑ์ใช้งานในยามทัพศึกหรือยามสงบ
(อย่างปลัดบาญชีกลาโหม ก็จะดูแลจำนวนเลกของกลาโหมอย่างเดียว ไม่เกี่ยวข้องกับกรมอื่นๆ)

พอสมัยตั้งเป็นกรมยุทธนาธิการ ถ้าจำไม่ผิดจะเปลี่ยนเป็นเรียกว่า "เจ้าพนักงานใหญ่ ผู้ช่วยผู้บัญชาการฝ่ายใช้จ่าย"
มีหน้าที่เรื่องเงินๆ ทองๆ
ส่วนการควบคุมกำลังคน ถูกแยกไปตั้งเป็น "กรมสัสดี"

ล่วงถึงสมัยรัชกาลที่ ๖-๗ ก็กลับเป็น "ปลัดบัญชี" มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงิน

ถ้าในปัจจุบันคงเทียบกับ "เจ้ากรมการเงินทหาร" หรือไม่ก็ "ปลัดบัญชีทหาร" กระมั้งครับ ขึ้นกับกองบัญชาการกองทัพไทย
มียศเป็น "พลโท" ทั้งสองตำแหน่ง
(ถ้าเป็นตำแหน่งในเหล่าทัพทั้งสาม จะเป็น "พลตรี" "พลเรือตรี" "พลอากาศตรี")


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 12, 09:28
ขอบคุณทั้งสองท่าน คุณ V_Mee และคุณ art47 มากค่ะ
เท่าที่ทราบ  ท่านผู้นี้ทำงานอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๖


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 12 ก.ค. 12, 09:40
ขอบคุณทั้งสองท่าน คุณ V_Mee และคุณ art47 มากค่ะ
เท่าที่ทราบ  ท่านผู้นี้ทำงานอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๖

เช่นนั้นคงเป็นเจ้าคุณท่านนั้น

ถ้าอาจารย์เทาดูประวัติรับราชการ ก็จะสังเกตว่า ช่วงแรกๆ ท่านรับราชการในกระทรวงพระคลังอยู่แล้ว
ภายหลังจึงย้ายไปรับราชการทางทหาร ก็เกี่ยวกับพัสดุ และเงินทองอยู่เหมือนเดิม จนปลดเกษียณ

แสดงว่าความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเงินของท่านน่าจะอยู่ในขั้นชำนาญ ไม่เช่นนั้นท่านคงไม่ย้ายไปรับราชการทหาร
เนื่องด้วยในสมัยนั้น องค์เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ท่านต้องการให้ผู้รู้วิชาแขนงต่างๆ เช่น แพทย์ หรือผู้รู้ภาษาต่างประเทศ
(กรมหมื่นพิทยาลาภฯ ท่านก็เคยถูกชักชวนเช่นกัน) ให้ไปรับราชการเป็นทหารจำนวนมาก
เพื่อพัฒนาความสามารถและความเจริญแก่กองทัพบกสยาม

ตัวเจ้าคุณเองอาจจะเข้าข่ายนี้ได้เหมือนกันครับ


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 12 ก.ค. 12, 12:45
ถ้าเป็นปลัดบาญชี กระทรวงกลาโหม ในสมัยรัชกาลที่ ๖  ก็คือเจ้าพนักงานใหญ่ฝ่ายการบัญชีและการเงินของกระทรวงกลาโหม
ซึ่งเวลานั้นกระทรวงกลาโหมบังคับบัญชาราชการฝ่ายทหารบก  ถ้าเทียบปัจจุบันซึ่งยังคงรักษาแบบธรรมเนียมเดิมของกองทัพอยู่
ตำแหน่งนี้ในปัจจุบันจึงตรงกับ ปลัดบัญชีทหารบก ครับ


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ก.ค. 12, 13:36

ถ้าอาจารย์เทาดูประวัติรับราชการ ก็จะสังเกตว่า ช่วงแรกๆ ท่านรับราชการในกระทรวงพระคลังอยู่แล้ว
ภายหลังจึงย้ายไปรับราชการทางทหาร ก็เกี่ยวกับพัสดุ และเงินทองอยู่เหมือนเดิม จนปลดเกษียณ


พนาย  กลับไปดูรายละเอียดประวัติเจ้าคุณคนนั้นใหม่เถิด
ตอนที่ท่านเริ่มรับราชการ  ท่านรับราชการเป็นทหารมหาดเล็กไม่ใช่หรือ และก็รับราชการอยู่นานราว ๑๒ ปี
แล้วจึงได้ย้ายไปทำราชการที่กรมพระคลังมหาสมบัติ (สมัยนั้นยังไม่ได้เปลี่ยนเป็นกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ)
เมื่อไปอยู่กรมพระคลังมหาสมบัติ/กระทรวงพระคลังมหาสมบัติก็เจริยในหน้าที่ราชการมาโดยลำดับ
ได้ออกไปรับราชการตามหัวเมืองด้วย  จนถึงปี ร,ศ, ๑๒๐  ถึงได้ย้ายโอนไปรับราชการที่ฝ่ายทหาร


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 12, 14:24
ขอบคุณท่านทั้งหลายที่ช่วยเหลืออย่างดียิ่งค่ะ
แต่เพื่อประหยัดเวลาของท่าน.  ไม่ให้ถกเถียงกันมากกว่านี้ ขอบอกว่าท่านที่เป็นปลัดบัญชีกลาโหม. ไม่ใช่ท่านที่ทำงานกรมพระคลังมหาสมบัติ
ดิฉันโดดข้ามไปถึงรัชกาลที่ ๖ แล้วค่ะ


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ค. 12, 06:41
ด้วยความช่วยเหลือของสมาชิกเรือนไทย  ข้อมูลก็ได้เพิ่มมากขึ้นพอสมควร    แจ้งให้คุณหน่าทราบแล้ว เจ้าตัวก็ดีใจมาก
มีคำถามอีกคำถามหนึ่ง
กรมพระตำรวจ กับกรมพระตำรวจใน  แตกต่างกันอย่างไรคะ   


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 14 ก.ค. 12, 08:42
กรมพระตำรวจเป็นกรมใหญ่  มีจางวางกำกับราชการ คือ พระยาอภัยรณฤทธิ์ กับพระยาอนุชิดทะราชา
ต่อมาในตอนต้นรัชกาลที่ ๖ มีจางวางคือ พระยาอภิชิตชาญยุทธ กับพระยาอนุชิตชาญไชย
กรมพระตำรวจแยกย่อยลงไปอีกหลายกรม อาทิ
กรมพระตำรวจใน  ขวา ซ้าย 
กรมพระตำรวจนอก  ขวา  ซ้าย
กรมพระตำรวจใหญ่  ขวา  ซ้าย
และกรมอื่นๆ อีก แต่ประทานโทษจำชื่อไม่ได้ครับ 

ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนชื่อกรมพระตำรวจเป็น กรมพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์
มีสมุหพระตำรวจหลวงรักษษพระองค์มีเกียรติยศเสมอสมุหราชองครักษ์เป็นผู้บังคับบัญชา
กับได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามกรมวังซึ่งมีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยในพระราชฐานเป็นกรมตำรวจวัง

กรมพระตำรวจใน ขวา ซ้าย นั้นเจ้ากรมมีบรรดาศักดิ์เป็น พระยามหามนตรีศรีองครักษ์สมุห  กับพระยามหาเทพกษัตรสมุห
เมื่อพูดถึงพระตำรวจใน  กับพระตำรวจนอก  ขอให้นึกถึงสี่พระตำรวจที่สวมหมวกทรงประพาส  เสื้อราชปะแตน  นุ่งโจง
สะพายกระบี่  เดิินนำเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  คู่ในคือคู่ที่อยู่ชิดพระองค์  เป็นหน้าที่เจ้ากรมพระตำรวจใน ขวา ซ้าย
ส่วนคู่หน้าที่อยู่นอกสุดคือ เจ้ากรมพระตำรวจนอก ขวา ซ้าย  พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง  สาคริก) เล่าไว้ว่า เวลาทรง
พระคชาธาร  สี่พระตำรวจนี้ก็คือ จตุรงคบาท ประจำตำแหน่งสี่เท้าช้าง  เวลาเข้าริ้วกระบวนพยุหยาตรา  เลกไพร่ในกรมพระตำรวจ
ก็ต้องเข้ากระบวนแห่เป็นร้วในริ้วนอกตามตำแหน่ง


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ค. 12, 09:44
ขอบคุณมากค่ะคุณ V_Mee
ลอกลงใน word โดยฉับพลัน


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ก.ค. 12, 09:44
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ใน "พระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน" มีความว่า
 
ส่วนที่เป็นทหารรักษาพระองค์นั้น คือกรมพระตำรวจ ๘ กรม กรมพลพัน กรมทนายเลือก กรมคู่ชัก กรมทหารใน กรมเหล่านี้เป็นทหารรักษาพระองค์ ต้องนอนประจำเวรในพระบรมมหาราชวัง เมื่อมีที่เสด็จพระราชดำเนินทางบกทางเรือ ในการสงครามหรือในการประพาสก็เป็นพนักงานที่จะแห่ห้อมล้อมประจำการในที่ใกล้เคียงพระองค์ จนที่สุดเวลาเสด็จออกท้องพระโรง กรมเหล่านี้ต้องเข้าเฝ้าก่อนขุนนางกรมอื่น ๆ เป็นผู้ซึ่งจะมีอาวุธเข้ามาในท้องพระโรงได้พวกเดียว
 
กรมพระตำรวจ ๘ กรมนั้น ได้แก่กรมตำรวจใหญ่ซ้ายขวา กรมตำรวจในซ้ายขวา กรมตำรวจนอกซ้ายขวา กรมตำรวจช่างทหารใน กรมตำรวจสนมทหารซ้าย ทุกกรมมีเจ้ากรม ปลัดกรม จ่า และนายเวร ขุนหมื่น รับพระราชทานเบี้ยหวัดเงินปี ส่วนพลตำรวจนั้นก็แบ่งเวรกันเข้าประจำการเป็นผลัด ๆ
 
โดยเฉพาะกรมพระตำรวจใหญ่ขวาได้บังคับบัญชากรมฝีพายมาแต่เดิมด้วย เมื่อมีราชการอันใด ซึ่งเป็นทางใกล้ก็ดีหรือไปในหัวเมืองไกลก็ดี เมื่อจะต้องมีข้าหลวงออกไปด้วยข้อราชการนั้น ๆ ก็ใช้กรมพระตำรวจโดยมาก เพราะฉะนั้นแม้ว่ากรมพระตำรวจแบ่งอยู่ในฝ่ายทหาร แต่ก็มิได้เกี่ยวข้องกับกรมพระกลาโหมเลยแต่เดิมมา ทั้งมีข้อห้ามมิให้เสนาบดีผู้ใดผู้หนึ่งขอให้ตั้งผู้ใดเป็นเจ้ากรมปลัดกรมพระตำรวจ ต้องแล้วแต่พระเจ้าแผ่นดินจะทรงตั้งได้พระองค์เดียว บรรดาพระราชอาญาทั้งปวงซึ่งพระเจ้าแผ่นดินจะลงโทษแก่ผู้หนึ่งผู้ใดย่อมใช้กรมพระตำรวจทั้งสิ้น จึงมิได้ให้กรมพระตำรวจอยู่ในบังคับผู้ใด ฟังคำสั่งจากพระเจ้าแผ่นดินโดยตรงแห่งเดียว
 
แต่กรมรักษาพระองค์นั้น ประจำรักษาพระเจ้าแผ่นดินในเวลาเมื่อมีที่เสด็จไปแห่งใดคล้ายกันกับตำรวจ แต่เมื่อถึงที่ประทับหรือเมื่อประจำอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เป็นผู้รักษาชั้นในใกล้เคียงชิดพระเจ้าแผ่นดินกว่ากรมพระตำรวจอีก เป็นผู้ซึ่งใช้ราชการได้ตลอดถึงพระบรมมหาราชวังชั้นในในการบางสิ่ง นับว่าเป็นผู้ใกล้ชิดชั้นที่สองรองจากชาวที่ซึ่งอยู่ในฝ่ายพลเรือนลงมา แต่ไม่ได้เป็นผู้พิจารณาความศาลรับสั่ง เป็นพนักงานการซึ่งจะเป็นที่สำราญพระราชหฤทัยต่าง ๆ มีพนักงานรักษาต้นไม้เลี้ยงสัตว์เป็นต้น เป็นนายด้านทำการในพระบรมมหาราชวังปนกันไปกับกรมวัง


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 ก.ค. 12, 10:33
กรมพระตำรวจมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ทำหน้าที่อย่างองค์รักษ์หรือ Body Guard คอยหมอบกราบอยู่หน้าพระราขบังลังก์ชั้นนอกถัดจากชั้นมหาดเล็ก ป้องกันไม่ให้ผู้ใดล่วงล้ำเข้ามาถึงองค์พระมหากษัตริย์

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตำแหน่งพระตำรวจไม่มีการแต่งตั้งมีแต่ตำแหน่งมหาดเล็กรักษาพระองค์ และเริ่มปรากฎในสมัยรัชกาลที่ ๕ ให้เริ่มมีตำแหน่งพระตำรวจ กำหนดยศบรรดาศักดิ์ดังนี้

นายจ่าห้าวยุทธการ กรมพระตำรวจในขวา

นายจ่าหาญยุทธกิจ กรมพระตำรวจในซ้าย

นายจ่าผลาญอริยพิศม์ กรมพระตำรวจใหญ่ขวา

นายจ่าแผลงฤทธิรอญราญ กรมพระตำรวจใหญ่ซ้าย

นายจ่าแรง กรมพระตำรวจนอกขวา

นายจ่าเร่ง กรมพระตำรวจนอกซ้าย


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 14 ก.ค. 12, 22:14
นายจ่าแรง กรมพระตำรวจนอกขวา

นายจ่าเร่ง กรมพระตำรวจนอกซ้าย

เสริมออกขุนอีกนิดหน่อย

จ่าแรงรับราชการ กรมพระตำรวจนอกขวา
จ่าเร่งงานรัดรุด กรมพระตำรวจนอกซ้าย

ปล. ไม่เคยเห็นโบราณท่านเรียกว่า "นายจ่า" เลย ท่านเรียก "จ่า" เท่านั้นนะขอรับ  ;D


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.ค. 12, 06:19
นอกจากจะได้รายละเอียดประกอบประวัติบรรพชนของคุณหน่าแล้ว   ทำท่าว่าจะได้นิยายอิงประวัติศาสตร์เล่มใหม่ขึ้นมาสักเรื่องหนึ่งด้วยค่ะ


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 15 ก.ค. 12, 07:15
ยศ "จ่า" มีใช้ทั้งในกรมมหาดเล็ก กมพระตำรวจ และกรมราชเลขาธิการ
แต่ก็เห็นท่านผู้ใหญ่ท่านออกนามประดาจ่าทั้งหลายกันแต่ "จ่า"
เช่น จ่าห้าวยุทธการ  ก็ออกนามกันสั้นๆ ว่า "จ่าห้าส"
จ่าเร่ง  มาจากนาม จ่าเร่งงานรัดรุด
มีอยู่ท่านหนึ่งเป็นจ่าเหมือนกัน  แต่ท่านไม่นิยมให้ออกนามท่านว่า จ่าดำริห์งานประจง
ซึ่งมียศเป็นหุมแพรพิเศษ เทียบเท่านายพันตรี  ท่านว่าเรียกจ่าแล้วเหมือนจ่าตำรวจ
ท่านจึงนิยมให้ออกชื่อท่านว่า นายประจวบ  จันทรเสวี


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 15 ก.ค. 12, 07:19
ขออนุญาตแปะภาพประกอบเรื่อง ภาพไม่ชัดเนื่องจากใช้วิธีถ่ายด้วยกล้องจากหนังสือครับ



กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 15 ก.ค. 12, 08:54
ยศ "จ่า" มีใช้ทั้งในกรมมหาดเล็ก กมพระตำรวจ และกรมราชเลขาธิการ
แต่ก็เห็นท่านผู้ใหญ่ท่านออกนามประดาจ่าทั้งหลายกันแต่ "จ่า"
เช่น จ่าห้าวยุทธการ  ก็ออกนามกันสั้นๆ ว่า "จ่าห้าส"
จ่าเร่ง  มาจากนาม จ่าเร่งงานรัดรุด
มีอยู่ท่านหนึ่งเป็นจ่าเหมือนกัน  แต่ท่านไม่นิยมให้ออกนามท่านว่า จ่าดำริห์งานประจง
ซึ่งมียศเป็นหุมแพรพิเศษ เทียบเท่านายพันตรี  ท่านว่าเรียกจ่าแล้วเหมือนจ่าตำรวจ
ท่านจึงนิยมให้ออกชื่อท่านว่า นายประจวบ  จันทรเสวี

"จ่า" ที่มีตำแหน่งอยู่ในกรมต่างๆ นั้น ถึงบรรดาศักดิ์เหมือนกัน แต่ฐานะไม่เท่ากัน

ในกรมมหาดเล็ก เช่น จ่าเรศ จ่ารง จ่ายง จ่ายวด มียศเป็น "เสวกตรี" ตำแหน่งจ่าเวรมหาดเล็ก

ในกรมวัง เช่น จ่าโชนเชิดประทีปใน จ่าช่วงไฟประทีปวัง มียศเป็น "รองเสวกเอก" ตำแหน่งจ่ากรมวังขวา-ซ้าย

ในกรมพระตำรวจ เช่น จ่าห้าวยุทธการ จ่าหาญยุทธกิจ มียศเป็น "นายตำรวจโท" ตำแหน่งจ่ากรมพระตำรวจ


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 ก.ค. 12, 09:26
กรมพระตำรวจมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ทำหน้าที่อย่างองค์รักษ์หรือ Body Guard คอยหมอบกราบอยู่หน้าพระราขบังลังก์ชั้นนอกถัดจากชั้นมหาดเล็ก ป้องกันไม่ให้ผู้ใดล่วงล้ำเข้ามาถึงองค์พระมหากษัตริย์

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตำแหน่งพระตำรวจไม่มีการแต่งตั้งมีแต่ตำแหน่งมหาดเล็กรักษาพระองค์ และเริ่มปรากฎในสมัยรัชกาลที่ ๕ ให้เริ่มมีตำแหน่งพระตำรวจ กำหนดยศบรรดาศักดิ์ดังนี้

นายจ่าห้าวยุทธการ กรมพระตำรวจในขวา

นายจ่าหาญยุทธกิจ กรมพระตำรวจในซ้าย

นายจ่าผลาญอริยพิศม์ กรมพระตำรวจใหญ่ขวา

นายจ่าแผลงฤทธิรอญราญ กรมพระตำรวจใหญ่ซ้าย

นายจ่าแรง กรมพระตำรวจนอกขวา

นายจ่าเร่ง กรมพระตำรวจนอกซ้าย

นายจ่าแรง กรมพระตำรวจนอกขวา

นายจ่าเร่ง กรมพระตำรวจนอกซ้าย

เสริมออกขุนอีกนิดหน่อย

จ่าแรงรับราชการ กรมพระตำรวจนอกขวา
จ่าเร่งงานรัดรุด กรมพระตำรวจนอกซ้าย

ปล. ไม่เคยเห็นโบราณท่านเรียกว่า "นายจ่า" เลย ท่านเรียก "จ่า" เท่านั้นนะขอรับ  ;D

บรรดาศักดิ์ข้าราชการในกรมพระตำรวจ ชั้น "จ่า" นั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้
ออกพระราชบัญญัติประกาศ ตั้งบรรดาศักดิ์ขุนนางชั้น จ่า ในกรมพระตำรวจ จำนวน  ๑๔  ตำแหน่ง
เมื่อปีฉลูเบญจศก  ๑๒๑๕  ดังนี้

ตำแหน่งจ่าจางวางกรมพระตำรวจ  จำนวน  ๒ ตำแหน่ง  คือ
จ่าจางวางในกรมพระตำรวจขวา  จ่าชำนิทั่วด้าน  
จ่าจางวางในกรมพระตำรวจซ้าย  จ่าชำนาญทั่วด้าว

ตำแหน่งจ่าเจ้ากรมพระตำรวจ  จำนวน ๘ ตำแหน่ง  (เฉพาะที่ไม่มีวงเล็บ)คือ
จ่าห้าวยุทธการ  ศักดินา ๖๐๐ ไร่  อยู่กรมพระตำรวจในขวา ฝ่ายพระบรมมหาราชวัง
(จ่าฤทธิพิไชย   ศักดินา  ๓๐๐ ไร่  อยู่กรมพระตำรวจในขวา ฝ่ายพระราชวังบวร)

จ่าหาญยุทธกิจ  ศักดินา ๖๐๐  ไร่  อยู่กรมพระตำรวจในซ้าย ฝ่ายพระบรมมหาราชวัง
(จ่ารณวิชิต  ศักดินา  ๓๐๐  ไร่  อยู่กรมพระตำรวจในซ้าย ฝ่ายพระราชวังบวร)

จ่าผลาญอริพิศม์  ศักดินา ๖๐๐ ไร่  อยู่กรมพระตำรวจใหญ่ขวา ฝ่ายพระบรมมหาราชวัง
(จ่าใจสุระแกว่น  ศักดินา  ๓๐๐  ไร่  อยู่กรมพระตำรวจใหญ่ขวา ฝ่ายพระราชวังบวร)

จ่าแผลงฤทธิรอนราญ ศักดินา ๖๐๐ ไร่  อยู่กรมพระตำรวจใหญ่ซ้าย  ฝ่ายพระบรมมหาราชวัง
(จ่าจิตรสรไกร  ศักดินา  ๓๐๐  ไร่  อยู่กรมพระตำรวจใหญ่ซ้าย  ฝ่ายพระราชวังบวร)

จ่าแรงรับราชการ  ศักดินา  ๖๐๐  ไร่  อยู่กรมพระตำรวจนอกขวา  ฝ่ายพระบรมมหาราชวัง
(จ่าแล่นผจญผลาญ  ศักดินา ๓๐๐  ไร่  อยู่กรมพระตำรวจนอกขวา  ฝ่ายพระราชวังบวร)

จ่าเร่งงานรัดรุด  ศักดินา ๖๐๐ ไร่  อยู่กรมพระตำรวจนอกซ้าย  ฝ่ายพระบรมมหาราชวัง
(จ่าไล่พลแสน  ศักดินา ๓๐๐  ไร่  อยู่กรมพระตำรวจนอกซ้าย  ฝ่ายพระราชวังบวร)

จ่าเขม็งสัตริยาวุธ  ศักดินา ๖๐๐ ไร่  อยู่กรมพระตำรวจสนมทหารขวา ฝ่ายพระบรมมหาราชวัง
(จ่าการประกอบกิจ  ศักดินา  ๓๐๐  ไร่ อยู่กรมพระตำรวจสนมทหารขวา ฝ่ายพระราชวังบวร)

จ่าเขม้นสรยุทธ์ยิ่ง  ศักดินา  ๖๐๐  ไร่  อยู่กรมพระตำรวจสนมทหารซ้าย ฝ่ายพระบรมมหาราชวัง
(จ่าแกว่นประกวดงาน  ศักดินา  ๓๐๐  ไร่  อยู่กรมพระตำรวจสนมทหารซ้าย ฝ่ายพระราชวังบวร)

ตำแหน่งจ่าตำรวจหลัง  จำนวน  ๒ ตำแหน่ง  คือ
จ่าเผ่นผยองยิ่ง ขวา   และ  จ่าโผนวิ่งชิงไชย  ซ้าย

ตำแหน่งจ่าตำรวจวัง  จำนวน  ๒  ตำแหน่ง  คือ
จ่าโชติประทีปใน ขวา  และ  จ่าช่วงไฟประทีปวัง ซ้าย

ตำแหน่งจ่ากรมพระตำรวจเหล่านี้  คนทั่วไปมักเรียกกันว่า  นายจ่า  
เช่นเดียวกันกับขุนนางชั้น จ่า ในกรมมหาดเล็ก  อย่าง  นายจ่าเรศ  นายจ่ารง  เป็นต้น  
ทั้งนี้เป็นเพราะจ่าเหล่านี้ มีตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชากำลังคนในกรม
ส่วนใครที่ไม่เคยเห็นคนโบราณเรียกว่า นายจ่า  ก็ขอให้ไปอ่านหนังสือนายกุหลาบ
และหนังสือราชการเก่าๆ มีปรากฏให้เห็นดาษดื่น


กระทู้: ยศและตำแหน่งขุนนางบางท่านในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 16 ก.ค. 12, 08:55
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (ทองดี)

ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (ทองดี) ได้เป็นเสนาบดีจตุสดม์กรมวัง บ้านเดิมบางลำเจียก ในคลองบางกอกใหญ่ ครับผม