เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์โลก => ข้อความที่เริ่มโดย: SILA ที่ 10 ธ.ค. 19, 16:06



กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 10 ธ.ค. 19, 16:06
ก่อนที่คุณ superboy จะไปสายบันเทิง ขอแทรกข้อความ -

          คห.ก่อนได้ข้ามเรื่องใหญ่ใกล้บ้านไปเพราะเป็นมหากาพย์ยาวเหยียดข้ามทศวรรษ เพื่อจะได้เข้าเรื่องวิกฤตนิวเคลียร์คิวบา ช่วงนี้ขอแวะแว้บเรื่องนั้น คือ

          สงครามเวียดนาม หรือ สงครามอเมริกา ที่ชาวเวียดนามเรียก

          หลังจากยุทธการเดียนเบียนฟูที่ฝรั่งเศสยอมจำนนต่อกองกำลังคอมมิวนิสต์เวียดมินห์ในเดือน พ.ค. 1954
 มหาอำนาจอเมริกา-รัสเซียก้าวเข้ามาคลี่คลายสถานการณ์ จัดการเจรจาหยุดยิงและคืนเอกราชแก่กัมพูชา ลาวและ
เวียดนาม
          โดยที่เวียดนามถูกแบ่งเป็นสองด้วยเส้นขนานที่ 17 ตามข้อตกลงเจนีวา ฝ่ายเหนือ - ใต้ร่มโซเวียต,จีน และ
ใต้ - ในร่มสหรัฐ
          ปี 1956 โง ดินห์ เดียม นักต่อต้านคอมมิวนิสต์ชนะการเลือกตั้ง ขึ้นเป็นประธานาธิบดีเวียดนามใต้และดำเนินการกวาดล้างคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง จนกลุ่มคอมมิวนิสต์ใต้เรียกร้องขอให้พรรคคอมมิวนิสต์เหนือใช้วิธีการรุนแรงโค่นล้มรัฐบาลของเดียม แต่ในที่สุดปธน.เคเนดี้ได้สนับสนุนทหารโค่นล้มรัฐบาลนี้ที่มีปัญหาคอรัปชั่นรุนแรงร่วมด้วย ทั้งยังได้ทยอยส่งทหารมาเวียดนามมากมายจนมีจำนวนถึง 540,000 นายในปี 1969
          ในช่วงเวลาราวสิบปีของสงครามนี้(อเมริกาเริ่มวิธีการทิ้งระเบิดเวียดนามเหนือ*อย่างต่อเนื่องในปี 1965 - การลงนามข้อตกลงสันติภาพในปารีสเมื่อปี 1973) มีทหารเมกันมาเสียชีวิตในสมรภูมินี้รวมแล้วราว 58,000 นาย


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 10 ธ.ค. 19, 16:08
* ประมาณว่า 80% ของระเบิดเหล่านั้นออกจากสนามบินของฐานทัพในไทย


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ธ.ค. 19, 16:21
สงครามเวียตนามเป็นเรื่องใหญ่มาก    พูดได้หลายประเด็น
ขออนุญาตแยกกระทู้ค่ะ


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ธ.ค. 19, 16:24
มาแปะป้ายโฆษณา เชิญชวนเข้ากระทู้


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 10 ธ.ค. 19, 17:00
สมัครเป็นคนอ่าน มหากาพย์สงครามเวียดนาม

https://www.youtube.com/watch?v=5KUi6NzLBqM
 


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ธ.ค. 19, 17:39
อ้าว  ทำไมคุณหมอ SILA ไม่เล่าล่ะคะ
ดิฉันจะช่วยเสริมให้


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 11 ธ.ค. 19, 10:26
เอ๊ะ ห้องนี้ฉายหนังสงคราม ผมต้องแวะเข้ามาดูด้วย


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 11 ธ.ค. 19, 10:54
ตั้งใจแค่สรุปคร่าวๆ แทรกในเรื่อง 1950s 
งานระดับมหากาพย์นี้, ขอผ่าน ครับ


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ธ.ค. 19, 10:56
ระหว่างรอคุณหมอ SILA และคุณ Superboy   ขอคั่นโปรแกรมด้วยการฉายความทรงจำเก่าๆสมัยไทยยุคสงครามเวียตนาม
ตอนนั้นยังเรียนหนังสือ    ไม่รู้เรื่องอะไรมากไปกว่าอยู่ๆทหารอเมริกันก็นั่งรถทหารเข้ามากันคึกคักในเมืองหลวง    แต่คนไทยก็เฉยๆไม่ได้ตื่นเต้น  ยังคงดำเนินชีวิตไปตามปกติ  เพราะได้รับคำบอกเล่าว่านี่ไม่ใช่สงคราม  เขารบกันในประเทศอื่น แค่ผ่านมาเท่านั้น
โอเค   ไม่มีสงครามก็ดีแล้ว  

ช่วงนั้นเป็นการเปลี่ยนผู้นำรัฐบาล จากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์มาเป็นจอมพลถนอม กิตติขจร    แต่ก็เปลี่ยนแบบไม่มีผลกระทบต่อการเมือง  เพราะจอมพลถนอมเป็นรองนายกฯ  พอนายกฯ ถึงแก่กรรมท่านก็เลื่อนตำแหน่งขึ้นมาแทน  กองทัพก็ดำเนินไปตามปกติ
จำเหตุการณ์ได้อย่างเดียว คือมีประกาศทางทีวีว่าไทยอนุญาตให้อเมริกาตั้งฐานทัพในประเทศไทย   จากนั้น
 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ออกมาตั้งคำถามต่อรัฐบาลว่า ทำแบบนี้เท่ากับไทยเสียสิทธิ์ในอาณาเขตของเราหรือเปล่า (อาจใช้คำไม่ตรงนัก แต่ความหมายก็ทำนองนี้ละค่ะ) จอมพลถนอมออกมาตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่า ก็มีบ้าง

จากนั้นก็ได้ข่าวว่ามีสนามบิน 2 แห่งในไทย คือที่อู่ตะเภา กับตาคลี   สำหรับทหารอเมริกันมาประจำการ   เอาเครื่องบินขึ้นลง ไปรบที่เวียตนาม
สองแห่งนี้เดิมไม่มีใครได้ยินชื่อ  แต่พอมีทหารอเมริกันมา  ก็คึกคักมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศ   แต่ไม่ใช่ในฐานะแหล่งท่องเที่ยวของประชาชนทั่วไป


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ธ.ค. 19, 10:57
ตั้งใจแค่สรุปคร่าวๆ แทรกในเรื่อง 1950s 
งานระดับมหากาพย์นี้, ขอผ่าน ครับ

อ้าว คุณหมอ  ทำกันได้นะคะ
ช่วยเล่าเรื่องในภาพประกอบของคุณหมอหน่อยเถอะค่ะ


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 11 ธ.ค. 19, 19:13
มีกระทู้นี้ด้วยเหรอ อูยยยย...ซี๊ด

จริงๆ สงครามเวียดนามมีความเกี่ยวพันกับสงครามคอมมิวนิสต์ในไทยยุคบุกเบิกเล็กน้อย ไล่จนมาจนถึงยุคกลาง แต่จบก่อนยุคนักศึกษาหนีเข้าป่า เหมือนว่าจะรุ่งเรืองสุดท้ายกลับต้องโรยรา แต่ผมไม่ทันนะครับตอนนั้นเด็กเกินไป

เสียดายเหมือนกันที่หนังสือเก่าๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้แทบไม่เหลือ สมัยเด็กๆ มีเยอะแบบอ่านทิ้งอ่านขว้าง พออยากอ่านจริงจังหายไปเกือบหมด

ตอนประถมเพื่อนพาไปเที่ยวบ้านพี่คนหนึ่ง แกมีห้องสำหรับหนังสือการ์ตูน 1 ห้อง สำหรับนิตยาสารและนิยายอีก 1 ห้อง ตื่นเต้นยิ่งกว่าแข่งบอลกินตังแล้วชนะลูกโทษเสียอีก

ตอนมาเรียนหนังสือในกรุงเทพเพื่อนบ้านมีห้องสมุดภายในบ้าน ผมนี้อยากทำแบบเขาบ้างใจจะขาดรอนๆ ไม่น่าเชื่อว่าถึงตอนนี้ร้านหนังสือหายไปหมดแล้ว หนักยิ่งกว่าโดนคอมมิวนิสต์บุกเสียอีก เพราะทางนั้นบุกมายังมีแพ้มีชนะ แต่แบบนี้ัมันแพ้แล้วแพ้เลย :(


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ธ.ค. 19, 19:41
https://youtu.be/ilR9EcBpPPE


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ธ.ค. 19, 20:08
ท่าทางกระทู้จะยาว
ขอบคุณคุณเพ็ญชมพูค่ะ  รออยู่ว่าเมื่อไรจะเข้ามาร่วมวง
เชิญคุณ Superboy ต่อเลยค่ะ

ดิฉันไม่ค่อยแม่นเรื่องสงครามเวียตนาม   เพราะช่วงแพ้ชนะกันเด็ดขาด  เราอยู่ไกลปืนเที่ยง    เลยไม่รู้ว่าเขาเป็นยังไงกันบ้าง


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ธ.ค. 19, 21:23
จากนั้นก็ได้ข่าวว่ามีสนามบิน 2 แห่งในไทย คือที่อู่ตะเภา กับตาคลี   สำหรับทหารอเมริกันมาประจำการ   เอาเครื่องบินขึ้นลง ไปรบที่เวียตนาม
สองแห่งนี้เดิมไม่มีใครได้ยินชื่อ  แต่พอมีทหารอเมริกันมา  ก็คึกคักมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศ   แต่ไม่ใช่ในฐานะแหล่งท่องเที่ยวของประชาชนทั่วไป

ไม่ใช่มีเพียง ๒ แห่งที่อู่ตะเภาและตาคลี หากมีถึง ๗ แห่ง

สหรัฐอเมริกาได้เข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทยระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๔ - ๒๕๑๘ ในช่วงสงครามเวียดนาม เพื่อใช้เป็นฐานปฏิบัติการโจมตีเวียดนามเหนือ  ๗ แห่ง คือ

๑. ฐานทัพอากาศดอนเมือง
๒. ฐานทัพอากาศโคราช
๓. ฐานทัพเรือนครพนม
๔. ฐานทัพอากาศตาคลี
๕. สนามบินทหารเรืออู่ตะเภา
๖. ฐานทัพอากาศอุบลราชธานี
๗. ฐานทัพอากาศอุดรธานี

การทิ้งระเบิดกว่าร้อยละ ๘๐ ต่อเวียดนามเหนือมาจากฐานทัพเหล่านี้ในประเทศไทย

ข้อมูลจาก https://th.wikipedia.org/wiki/กองทัพอากาศสหรัฐในประเทศไทย (https://th.wikipedia.org/wiki/กองทัพอากาศสหรัฐในประเทศไทย)


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ธ.ค. 19, 22:28
จริงๆ สงครามเวียดนามมีความเกี่ยวพันกับสงครามคอมมิวนิสต์ในไทยยุคบุกเบิกเล็กน้อย ไล่จนมาจนถึงยุคกลาง แต่จบก่อนยุคนักศึกษาหนีเข้าป่า เหมือนว่าจะรุ่งเรืองสุดท้ายกลับต้องโรยรา แต่ผมไม่ทันนะครับตอนนั้นเด็กเกินไป

รัฐบาลไทยตั้งแต่ต้นทศวรรษ ๑๙๕๐ ได้สนับสนุนให้สหรัฐเข้ามาป้องกันคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนเพราะต้องการป้องกันพรมแดนด้านตะวันออกให้ปลอดจากคอมมิวนิสต์ ผู้นำรัฐบาลทหารไทยยังเชื่อด้วยว่าเวียดนามเหนือต้องการขยายอิทธิพลคอมมิวนิสต์เข้ามาไทยโดยได้รับการสนับสนุนจากจีน ในกลางทศวรรษ ๑๙๕๐ ภัยคุกคามจากเวียดนามเหนือที่ผู้นำทหารมักอ้างถึง คือการรุกเข้าไปในดินแดนลาวของกองกำลังคอมมิวนิสต์เวียดนามและการเผยแพร่อิทธิพลคอมมิวนิสต์ในหมู่ชาวเวียดนามในภาคอีสาน อย่างไรก็ตาม เหตุผลอื่นที่สำคัญเท่าเทียมกัน คือ ผู้นำทหารไทยคาดหวังความช่วยเหลือด้านการทหารและอื่น ๆ จากสหรัฐ

ความร่วมมือกับสหรัฐในสงครามเวียดนามซึ่งเกี่ยวข้องกับทั้งเรื่องอธิปไตย ความมั่นคง และเกียรติภูมิแห่งชาติเกิดจากการกำหนดนโยบายในวงแคบที่สุดและมีลักษณะไม่เป็นทางการ ในช่วงเวลานี้ รัฐบาลทหารยังคุมอำนาจภายในได้มั่นคง นโยบายด้านความมั่นคงก็ถูกจำกัดในกลุ่มทหาร การตัดสินใจเรื่องเวียดนาม รวมทั้งการให้สหรัฐใช้สิ่งเกื้อหนุนการทำสงครามในประเทศไทยเกิดในกลุ่มผู้นำทหารและโดยเฉพาะผู้นำสูงสุด ๓ คน คือ  จอมพลถนอม กิตติขจร (นายกรัฐมนตรี  รัฐมนตรีกลาโหม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด),  จอมพลประภาส จารุเสถียร (รองนายกรัฐมนตรี, ผู้บัญชาการทหารบกและรัฐมนตรีมหาดไทย) และ พล.อ. ทวี จุลทรัพย์ (รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารอากาศ และรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย) การเจรจาทำข้อตกลงต่าง ๆ แทบทั้งหมดเกิดขึ้นระหว่างผู้นำทหารและสถานทูตสหรัฐในประเทศไทย ข้อตกลงสำคัญโดยเฉพาะการใช้ฐานทัพส่วนใหญ่ไม่มีลายลักษณ์อักษรและไม่เปิดเผยในเวลานั้น เป็นไปได้ว่า การตัดสินใจนี้ในแง่หนึ่ง บุคคลเหล่านี้มีความเชื่ออย่างลึกซึ้งต่อภัยจากจีนและเวียดนามเหนือ และการส่งทหารไปรบในเวียดนามถูกอธิบายว่าเป็นการป้องกันคอมมิวนิสต์ให้ห่างไกลจากดินแดนไทยให้มากที่สุด ในอีกแง่หนึ่ง การสนับสนุนสหรัฐในเวียดนามช่วยเสริมสร้างความมั่นคงแก่รัฐบาลทหารเพราะความช่วยเหลือจากสหรัฐมุ่งเป้าที่ความมั่นคงและโดยเฉพาะการเสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่ทหารไทย ยิ่งกว่านั้น การลงทุนมหาศาลในไทยในด้านอุปกรณ์เกื้อหนุนสงครามทำให้สหรัฐต้องช่วยรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศกับรัฐบาลไปด้วย เมื่อนโยบายเวียดนามถูกกำหนดจากทัศนะและผลประโยชน์ของทหารเช่นนี้จึงไม่น่าแปลกใจว่า ประเทศไทยแทบไม่ได้ปรับตัวเลยเมื่อสหรัฐส่งสัญญาณปรับเปลี่ยนนโยบายการทำสงครามซึ่งเห็นชัดตั้งแต่ปี ๒๕๑๒ แต่ผู้นำทหารไทยยังเรียกร้องต่อไปให้สหรัฐใช้นโยบายแข็งกร้าวในสงคราม

อย่างไรก็ตาม สงครามเวียดนามได้ก่อกระแสการคัดค้านและต่อต้านในกลุ่มนักคิด นักเขียน นักวิชาการ และนักศึกษามหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งซึ่งจะขยายวงกว้างและรุนแรงขึ้นพร้อม ๆ กับการขยายตัวของสงคราม ในทัศนะคนเหล่านี้ รัฐบาลทหารร่วมมือกับสหรัฐทำสงครามที่ไร้ความชอบธรรมและไร้ศีลธรรม การต่อสู้ของชาวเวียดนามและอินโดจีนเป็นการต่อสู้เพื่อเอกราช ยิ่งกว่านั้น ฐานทัพและทหารอเมริกันในไทยได้ทำให้ไทยเสียเอกราชและอธิปไตย อีกทั้งสร้างความเสื่อมโทรมในสังคมด้วย

เมื่อสงครามเวียดนามยุติตามข้อตกลงปารีสในเดือนมกราคม ๒๕๑๖ และสหรัฐถอนทหารจากไทยในเวลาต่อมานั้น ประเทศไทยได้รับผลสะเทือนมากที่สุด ทั้งเพราะได้ร่วมในสงครามและได้ผูกพันความมั่นคงของประเทศไว้กับสหรัฐมายาวนาน และเหนืออื่นใดคือความโกรธแค้นเกลียดชังไทยของชาวอินโดจีน ๓ ประเทศ ชัยชนะของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในดุลอำนาจด้านภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย รัฐบาลพลเรือนในยุคหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ จึงต้องเผชิญกับภาวะยากลำบากยิ่งในการปรับตัวให้อยู่กับประเทศเพื่อนบ้าน

จาก สงครามเวียดนาม เรียบเรียงโดย  จุฬาพร เอื้อรักสกุล

http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=สงครามเวียดนาม (http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=สงครามเวียดนาม)


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 12 ธ.ค. 19, 07:35

สงครามอินโดจีนเฟสสุดท้าย
จบปี​ 2518  ครับ
ไซ่ง่อน​ กับ​ พนมเปญแตก
ถูกยึดโดยเวียดกงและเขมรแดง
อเมริกันถอนทหารออกจากไทย
และนำไปสู่ปฏิกิริยา​ตุลาทมิฬ​ 19


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ธ.ค. 19, 11:50
อเมริกันถอนทหารออกจากไทย
และนำไปสู่ปฏิกิริยา ตุลาทมิฬ 19

เครดิตส่วนหนึ่งสำหรับเรื่องนี้ต้องยกให้ขบวนการนักศึกษาหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ / ก่อนเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙

http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=นักศึกษาเดินขบวนประท้วงที่สถานฑูตสหรัฐอเมริกา (http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=นักศึกษาเดินขบวนประท้วงที่สถานฑูตสหรัฐอเมริกา)

https://youtu.be/cEshmEJ5MKs


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 12 ธ.ค. 19, 20:58

"The​ answer, is​ blowin' in​ the​ wind."  Bob  Dylan

ประชาชนชาติใดประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนามมากที่สุด? -​--> USA

หลังปี​ 23  ผู้นำนักศึกษากลับออกมาจากป่า
หลายคนไปเรียนต่อที่อเมริกา
กระแสต่อต้านอเมริกาจางลงไป​ เป้าหมายเปลี่ยน
กลับมาก็แบ่งฝ่าย​ ต่อสู้กันทางความคิดต่อไป
หยิบเป้าหมายใหม่ขึ้นมาโจมตีกันอีกเป็นทอดๆ

ปี​ 24-35 ศึกแย่งอำนาจในกองทัพระหว่าง
ศิษย์เก่าสงครามเวียดนาม
จีนมุ่งสู่การเป็นทุนนิยมพรรคเดียว
พคท.ปรับตัวไม่ทันและล่มสลาย
สิงคโปร์พอใจกับการมีฐานทัพสหรัฐในประเทศ
ใช้ประโยชน์จากภูมิยุทธศาสตร์ได้อย่างเต็มที่
เวียดนาม​ ลาว​ กัมพูชา​ พัฒนาการเมืองในประเทศที่มีเสถียรภาพ​ กลับมาเป็นสมาชิกอาเซียนเต็มตัว


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ธ.ค. 19, 06:36
"The​ answer, is​ blowin' in​ the​ wind."  Bob  Dylan

https://youtu.be/Odv81WzRmLM


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ธ.ค. 19, 07:31
ประชาชนชาติใดประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนามมากที่สุด? -​--> USA

เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ ชาวอเมริกันกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คนได้ร่วมชุมนุมประท้วงที่วอชิงตัน ดี.ซี. คัดค้านการร่วมสงครามเวียดนามของสหรัฐ แต่รัฐบาลยังคงเพิกเฉยต่อการเรียกร้อง  หากเสียงคัดค้านสงครามเวียดนามของคนอเมริกันเริ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อจำนวนทหารอเมริกันที่ได้รับบาดเจ็บ, สูญเสียอวัยวะ และเสียชีวิต มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงงบประมาณจำนวนมากจากภาษีของพวกเขาที่ใช้ในสงคราม

วันเสาร์ที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๒ ผู้คนกว่า ๕๐๐,๐๐๐ คน ได้มาชุมนุมประท้วงอย่างสันติที่วอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อคัดค้านการส่งทหารอเมริกันไปร่วมสงครามเวียดนาม ประชาชนได้มาออกมารวมตัวกันตั้งแต่ช่วงเย็นวันพฤหัส จำนวนผู้ชุมนุมเพื่อขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดทั้งคืนและวันถัดไป ผู้คนกว่า ๔๐,๐๐๐ คนมารวมตัวกันเพื่อเดินขบวนไปตามถนนเพนซิลเวเนียเพื่อไปยังทำเนียบขาว พร้อมกับการประกาศชื่อทหารที่เสียชีวิตในสงคราม ถึงวันศุกร์  การประท้วงยังคงเป็นไปอย่างสงบแม้เจ้าหน้าที่จะใช้แก๊สน้ำตาเพื่อสลายผู้ชุมนุม ขณะที่โรงเรียนและพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียนเปิดให้พวกเขาได้เขาไปพักผ่อน สุดท้ายประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ก็เริ่มฟังเสียงประชาชน เกิดการผ่อนคลายความตึงเครียดในช่วงสงครามเย็นกับสหภาพโซเวียต และประเทศจีน จนนำไปสู่การถอนตัวออกจากสงครามเวียดนามในที่สุด

https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_41717

ภาพยนตร์เรื่อง Forrest Gump (พ.ศ. ๒๕๓๗) พระเอกของเรื่องที่แสดงโดย ทอม แฮงค์ส ก็อยู่ในเหตุการณ์สำคัญนี้ด้วย  ;D

https://youtu.be/g2zmW_-j3SE


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 13 ธ.ค. 19, 15:41
ฟังอย่างนี้แล้ว ก็ให้ชวนสงสัยนะครับ ในเมื่ออเมริกันไม่เห็นด้วยกับการส่งทหารไปรบในเวียตนาม ทำไมตอนสงครามโลกครั้งที่สอง สงครามเกาหลี สงครามอ่าว สงครามอัฟกานิสถาน ไม่มีชนชาวอเมริกันออกมาคัดค้านบ้างนะ หรือเป็นเพราะว่า ถ้าชนะโอเค ถ้าทำท่าว่าจะไม่ชนะ ถึงค่อยประท้วง

สงครามเวียตนาม จะบอกว่าเป็นสงครามภายในของชนชาวเวียตนามเอง ก็อาจพูดเช่นนั้นได้อยู่ แต่ในเวลานั้น มีเวียตนามเหนือซึ่งมีระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย กับเวียตนามใต้ที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย การที่รัฐประชาธิปไตยกำลังจะถูกทำลาย แล้วชาติประชาธิปไตยอื่นๆเข้าไปช่วยเพื่อธำรงรักษาประชาธิปไตยไว้ ทำไมถึงถูกต่อต้านจากประชาชนของประเทศที่รักในประชาธิปไตย ไม่ว่าจะ ไทย หรือ อเมริกา ได้หละครับ

ถ้าเช่นนั้นคราวสงครามเกาหลี รัฐซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตย กำลังจะทำลายรัฐประชาธิปไตยเช่นกัน เหตุใดอเมริกาไม่ปล่อยวางแล้วมองว่าเป็นสงครามรวมชาติเกาหลีบ้าง

ใกล้กว่านั้นคือ ฮ่องกง การที่จีนซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตย พยายามริดรอนเสรีภาพฮ่องกง (ซึ่งเขาเชื่อว่าตัวเขาเป็นประชาธิปไตย) ด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งเบากว่าการกรีฑาทัพเข้ายึดเหมือนคราวเกาหลีหรือเวียตนามเยอะ เมื่ออเมริกาพยายามเข้าแทรกแซงกระบวนการนี้ ทำไมชาวอเมริกัน หรือแม้แต่นักเคลื่อนไหวชาวไทยไม่มีทีท่าจะคัดค้านเลย 


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 13 ธ.ค. 19, 20:23
ใช่สงครามนี้ไหมคะที่ทำให้ไทยต้องรีบพัฒนาภาคอีสานเพื่อกันคอมมิวนิสต์หรือดิฉันจำผิด


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 13 ธ.ค. 19, 20:26
ฟังอย่างนี้แล้ว ก็ให้ชวนสงสัยนะครับ ในเมื่ออเมริกันไม่เห็นด้วยกับการส่งทหารไปรบในเวียตนาม ทำไมตอนสงครามโลกครั้งที่สอง สงครามเกาหลี สงครามอ่าว สงครามอัฟกานิสถาน ไม่มีชนชาวอเมริกันออกมาคัดค้านบ้างนะ หรือเป็นเพราะว่า ถ้าชนะโอเค ถ้าทำท่าว่าจะไม่ชนะ ถึงค่อยประท้วง

สงครามเวียตนาม จะบอกว่าเป็นสงครามภายในของชนชาวเวียตนามเอง ก็อาจพูดเช่นนั้นได้อยู่ แต่ในเวลานั้น มีเวียตนามเหนือซึ่งมีระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย กับเวียตนามใต้ที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย การที่รัฐประชาธิปไตยกำลังจะถูกทำลาย แล้วชาติประชาธิปไตยอื่นๆเข้าไปช่วยเพื่อธำรงรักษาประชาธิปไตยไว้ ทำไมถึงถูกต่อต้านจากประชาชนของประเทศที่รักในประชาธิปไตย ไม่ว่าจะ ไทย หรือ อเมริกา ได้หละครับ

ถ้าเช่นนั้นคราวสงครามเกาหลี รัฐซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตย กำลังจะทำลายรัฐประชาธิปไตยเช่นกัน เหตุใดอเมริกาไม่ปล่อยวางแล้วมองว่าเป็นสงครามรวมชาติเกาหลีบ้าง

ใกล้กว่านั้นคือ ฮ่องกง การที่จีนซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตย พยายามริดรอนเสรีภาพฮ่องกง (ซึ่งเขาเชื่อว่าตัวเขาเป็นประชาธิปไตย) ด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งเบากว่าการกรีฑาทัพเข้ายึดเหมือนคราวเกาหลีหรือเวียตนามเยอะ เมื่ออเมริกาพยายามเข้าแทรกแซงกระบวนการนี้ ทำไมชาวอเมริกัน หรือแม้แต่นักเคลื่อนไหวชาวไทยไม่มีทีท่าจะคัดค้านเลย 

ลองแยกดูนะครับ
1.​ Political​ socialization
2.​ Political​ will
3.​ Public​ opinion
4.​ Ideology
5.​ Propaganda
6.​ Ignorance


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ธ.ค. 19, 08:16
บางคำตอบ  ;D

ทำไม! สหรัฐฯถูกฝ่ายประชาชนต่อต้านสงครามเวียดนาม เพราะอะไร

https://pantip.com/topic/35480797?


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 17 ธ.ค. 19, 11:13
เรื่องราวมหากาพย์ สงครามเวียดนาม นั้น,ซับซ้อนหลากประเด็นหลายแง่มุมมากมาย (เ)กินเวลา
ไม่สามารถ
               แต่วันนี้ ขอแว่บมาเรื่อง เวียดนาม  หรือ  เวียตนาม

               เชื่อว่าคนรุ่นก่อน จะคุ้นเคยกับการสะกดว่า เวียตนาม ตามภาษาอังกฤษ - Vietnam แต่
เมื่อดูในเว็บไซต์ต่างๆ ณ ปัจจุบันนี้จะพบว่ามีแต่ เวียดนาม
               เท่าที่พอจะมีตกค้างเหลืออยู่ให้สืบค้น(ในเวลาจำกัด)ก็คือ คำบรรยายในโปสเตอร์หนังเรื่อง
ทอง ปี 2516 ซึ่งมีข้อความบนใบปิด,ที่แม้สไตล์การเขียนจะดูยากแต่ก็สามารถแยกได้ระหว่าง ด กับ ต รวมทั้ง
ข้อมูลจากฟบ.หนังเก่า ถอดอักษรว่า

มิส ถ่ำถุยหั่ง สายลับสาวจากเวียตนาม

และ สรุปลงที่ รอยอิน เลือกใช้คำว่า เวียดนาม ในพจนานุกรมปี พ.ศ. ๒๕๕๔

คุณเพ็ญฯ น่าจะเป็นรุ่นที่ใช้ เวียตนาม มาก่อนเช่นกัน?


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ธ.ค. 19, 08:46
คุณเพ็ญฯ น่าจะเป็นรุ่นที่ใช้ เวียตนาม มาก่อนเช่นกัน?

สมัยเรียนมัธยมเคยทำรายงานเรื่อง "สงครามเวียตนาม" โดยตัดภาพข่าวจากหนังสือพิมพ์ติดลงในสมุดภาพ ครานั้นก็ใช้ ต เต่า สะกดในคำว่า "เวียต" มาตลอด

หนังสือ "สงครามเวียตนาม" โดย 'เชษฐ' พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ธ.ค. 19, 09:24
อันที่จริงคำว่า Vietnam ในสมัยนั้นก็ทับศัพท์เป็น ๒ เวอร์ชั่น ทั้ง "เวียตนาม" และ "เวียดนาม"  ;D

เหรียญพระราชทานผู้ไปสงครามเวียดนาม พ.ศ. ๒๕๑๐


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 18 ธ.ค. 19, 09:58
หนังสือเก่าของคุณเพ็ญฯ ทำให้นึกถึงหนังสือเก่าอีกเล่ม

          เวียดกง พิมพ์พ.ศ. ๒๕๑๑


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ธ.ค. 19, 10:35
หนังสือ สงครามเวียตนาม / สงครามเวียดนาม โดย หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ / พ.ศ. ๒๕๕๗


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ธ.ค. 19, 11:05
ในเว็บเรือนไทย  ใครจะสะกด เวียดนาม ตามท่านรอยอิน
หรือจะสะกด เวียตนาม ทับศัพท์จาก Vietnam ก็ตามสะดวกนะคะ


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ธ.ค. 19, 15:06
หนังสือรวมเรื่องสั้นเวียตนาม "ด้วยเลือดและชีวิต" แปลโดย จิตร ภูมิศักดิ์ พิมพ์ครั้งที่ ๒ มกราคม ๒๕๓๗ (พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม ๒๕๑๙)


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ธ.ค. 19, 15:25
ตัวอย่างสำนวนแปลของจิตร  ;D


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ธ.ค. 19, 18:10
ในห้วงที่ความขัดแย้งระหว่างเวียดกง และเวียดนามใต้ได้ปะทุขึ้น เวียดนามใต้ได้ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย ให้ช่วยฝึกนักบินของกองทัพอากาศเวียดนามใต้ที่ส่งเข้ามาฝึกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๗

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ รัฐบาลเวียดนามใต้ได้ขอความช่วยเหลือทางทหารจากไทยเพิ่มเติม โดยขอให้จัดส่งเรือไปช่วยปฏิบัติการลำเลียง และเฝ้าตรวจบริเวณชายฝั่ง และป้องกันการแทรกซึมทางทะเลให้แก่เวียดนามใต้ และในปีเดียวกัน ก็ได้ขอกำลังจากกองทัพไทยและประเทศพันธมิตร เพื่อช่วยยับยั้งการคุกคามของเวียดนามเหนือ

คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลไทย ได้ลงมติอนุมัติหลักการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่รัฐบาลเวียดนามใต้ และได้จัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจขึ้นเรียกว่า "กรมทหารอาสาสมัคร" (กรม อสส.) ถือว่าเป็นกองกำลังทหารไทยหน่วยแรก ที่ปฏิบัติการรบในเวียดนาม มีสมญานามว่า "จงอางศึก"(Queen's Cobras Regiment)

https://youtu.be/xVKLZqpZeEM

หลังจากที่ กรมทหารอาสาสมัคร เดินทางไปปฏิบัติการรบในสาธารณรัฐเวียดนาม เป็นเวลา ๑ ปี กองทัพบกได้มอบให้คณะกรรมการพิจารณา เตรียมการส่งกำลังไปผลัดเปลี่ยนกรมทหารอาสาสมัคร และเพิ่มเป็น ๑ กองพลทหารอาสาสมัคร

เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๑ จึงมีคำสั่งจัดตั้ง "กองพลทหารอาสาสมัคร " บรรจุมอบเป็นหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก มีที่ตั้งปกติ ณ ค่ายกาญจนบุรี ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี และไปปฏิบัติการรบในสาธารณรัฐเวียดนาม เป็นที่รู้จักกันในนามว่า "กองพลเสือดำ"(Black Panther Division)

ที่มา: กรมยุทธศึกษาทหาร,ประวัติการรบของทหารไทยในสงครามเวียดนาม, (กรุงเทพฯ: กรมยุทธศึกษาทหาร, ๒๕๔๑), ๕๓

ชายหนุ่ม ๒ คน กำลังอ่านประกาศรับทหารอาสาสมัครไป "สงครามเวียนาม" เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐  ;D


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ธ.ค. 19, 19:03
ความในใจของทหารผ่านศึกสงครามเวียดนามคนหนึ่ง

https://youtu.be/-MhbgR3JjWU

https://www.bbc.com/thai/thailand-43947999


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ธ.ค. 19, 20:30
เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๑ จึงมีคำสั่งจัดตั้ง "กองพลทหารอาสาสมัคร " บรรจุมอบเป็นหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก มีที่ตั้งปกติ ณ ค่ายกาญจนบุรี ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี และไปปฏิบัติการรบในสาธารณรัฐเวียดนาม เป็นที่รู้จักกันในนามว่า "กองพลเสือดำ"(Black Panther Division)

กองพลเสือดำลงจากเรือที่ท่าเรือไซง่อนเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๒

เวียนามขอต้อนรับด้วยความยินดี
  ;D


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 20 ธ.ค. 19, 10:20
ไม่ได้เข้ามานาน ขอส่งเรื่องราวสงครามเวียดนาม  พร้อมภาพสวยๆ
https://www.youtube.com/watch?v=7tNTh6KlXXU


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 20 ธ.ค. 19, 10:55
ช่วงหนึ่งเพื่อนพาไปเที่ยวบ้านเขา   ที่บ้านฉาง
ครอบครัวเขาเปิดเป็นบ้านพักให้ทหารอเมริกาเช่าอยู่
เป็นเรือนบังกาโล ยกพื้นสูง หลังเล็ก พื้นที่หลายไร่
ได้คุยกับทหารอเมริกาที่ประจำเครื่องบินทิ้งระเบิด  นิดหน่อย
กลางคืนเพื่อนพาไปเที่ยวที่บาร์ทหารอเมริกาไปเที่ยว
จำรายละเอียดไม่ค่อยได้  ที่จำได้มีแสงสีเสียงคึกคัก
เป็นถนนแคบๆ สองข้างเป็นร้านเรียงกันเป็นแถวยาว
ไปวันเดียวรุ่งขึ้นก็กลับ กทม. 


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ธ.ค. 19, 13:53
เดาว่าคุณ visitna คงไปเที่ยวบ้านฉางราว พ.ศ. ๒๕๑๑ แถวหมู่บ้านนิวแลนด์ บทความข้างล่างนี้คงช่วยฉายภาพเมื่อ ๕๐ ปีก่อน ให้เห็นความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจสวนทางกับความตกต่ำทางศีลธรรมของ "นิวแลนด์" ได้ดี

พลวัตจากฐานทัพของสหรัฐอเมริกาที่สนามบินอู่ตะเภาใน พ.ศ. ๒๕๐๔ รัฐบาลไทยและสหรัฐอเมริกาได้มีโครงการร่วมกัน โดยคณะรัฐมนตรี ได้ลงมติให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาปรับปรุงสนามบินอู่ตะเภาใน พ.ศ. ๒๕๐๘ เพื่อเป็นหน่วยในการลำเลียงหน่วยรบไปยังจุดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ภายในประเทศ การให้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกาในการสร้างสนามบินอู่ตะเภา เป็นกิจกรรมของสงครามเย็นที่สหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนแก่ประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยอาศัยข้อตกลงของสนธิสัญญาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ซีโต้ (South East Asia Treaty Organization - SEATO) กับประเทศไทย ในช่วงสงครามเวียดนาม ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๖-๒๕๑๕ ทหารอเมริกันมาตั้งฐานทัพอู่ตะเภาในพื้นที่บ้านหนองม่วง ตำบลพลา ซึ่งติดกับพื้นที่บ้านสัตหีบ ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างเห็นได้เด่นชัด คือสองฝั่งของถนนสุขุมวิทนั้นมีการอพยพของคนนอกพื้นที่ เพื่อมาทำธุรกิจร้านค้าและบริการ เพราะทหารอเมริกันกลับจากการรบแต่ละครั้ง (ที่เขาเรียกว่า On tour) พอได้รับเงินค่าจ้างก็จะใช้เงินเหล่านั้นกันเต็มที่แบบไม่คิดจะเหลือเก็บ ทั้งนี้เพราะไม่รู้ว่าพอออกไปปฏิบัติหน้าที่ครั้งต่อไปแล้วจะได้กลับมาใช้เงินที่เก็บเอาไว้หรือไม่ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่บริเวณดังกล่าวจะเต็มไปด้วยสถานบริการต่าง ๆ มากมาย บาร์แห่งแรกอยู่ที่ คลองไผ่ เส้นแบ่งเขตจังหวัดชลบุรีกับจังหวัดระยอง ตรงกิโลเมตรที่ ๑๑ ชื่อ บาร์สวีทฮาร์ท และบาร์เบรนดาลี ตอนนั้นใครทำบาร์ก็ได้ทั้งนั้นถ้ามีเงิน ยังไม่มีความยุ่งยาก ยังไม่มีเงื่อนไขกฎเกณฑ์ทางกฎหมายอย่างไร ชื่อบาร์ก็สรรหามาจากคนดังในฮอลลีวู้ด หรือสถานที่ดัง ๆ ในสหรัฐ ยกเว้นชื่อ บ๊อบ ไดแลน นักร้องเพื่อชีวิตที่ต้านสงคราม คนแถวนั้นบอกชื่อไม่เป็นมงคล เพราะพวกเขากำลังทำมาหากินกับสงคราม ขณะที่ทุกคนแสวงหาความมั่งคั่งจากอเมริกันทาวน์สัตหีบ

วิถีชีวิตของคนบ้านฉางก็เปลี่ยนไป เมื่อคณะรัฐมนตรีรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ได้มีคำสั่งให้ย้ายสถานบันเทิงออกจากเขตปลอดภัยทหารเรือ เมื่อวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๑ ทำให้เกิดอเมริกันทาวน์แห่งใหม่ที่เรียกว่าหมู่บ้านแผ่นดินทอง หรือฟรีแลนด์ (นิวแลนด์) ทางฝั่งอำเภอบ้านฉาง จังหวัดะยอง เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๑ ทำให้บ้านฉางมีธุรกิจบริการเกิดขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจของบ้านฉาง กลับมาคึกคักอีกครั้งมีธุรกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้นโดยเฉพาะธุรกิจบริการ เพื่อให้กับทหารอเมริกาและครอบครัว ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากที่เดิม คือ มีไนต์คลับ ภัตตาคาร หญิงขายบริการ พาร์ทเนอร์ เมียเช่า บ้านเช่า บังกะโล

ผู้คนที่เข้าไปทำงานหน้าค่ายทหาร สามารถหารายได้จากอาชีพต่าง ๆ ได้มากมาย คนใดรู้จักเก็บออมก็สามารถนำเงินมาจับจ่ายใช้สอยในครอบครัว และมีเงินเก็บได้อย่างสบาย แต่หลายคนก็หลงมัวเมาอยู่กับอบายมุขนานาชนิด ทั้ง สุรา ยาเสพติด หญิงบริการ และการพนัน คนเหล่านี้ไม่รู้คุณค่าของเงินทอง เพราะเชื่อว่าใช้จ่ายออกไปแล้วพรุ่งนี้ก็หาใหม่ได้ไม่ยาก เหล่าบรรดาเมียเช่าจะทำตัวฟุ้งเฟ้อจับจ่ายใช้สอยอย่างสุรุ่ยสุร่ายกับการแต่งตัว ทานอาหารก็จ่ายแบบไม่ต้องทอน เข้าร้านเสริมสวย และเสพยาเสพติด ชาวอำเภอบ้านฉางและผู้คนที่อพยพมาทำงานจำนวนไม่น้อยรับค่านิยมตะวันตกจากทหารอเมริกันโดยไม่มีการยับยั้งชั่งใจก่อน ไม่รู้ถึงความแตกต่างของวัฒนธรรมประเพณีระหว่างสังคมชาติตะวันตกกับสังคมชนบท การยอมรับวัฒนธรรมแบบอเมริกันและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตไปตามอย่างอเมริกันอย่างเห็นได้ชัดที่บ้านฉาง โดยเฉพาะสถานบันเทิงยามค่ำคืน ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อผ่อนคลายความเครียดสำหรับบริการทหาร นายทุนท้องถิ่นจึงได้เปิดกิจการบาร์เบียร์ ไนท์คลับ อาบอบนวด และบังกะโล ที่หมู่บ้านนิวแลนด์ ซึ่งเกิดจากนโยบายควบคุมสถานบันเทิงในขณะนนั้ เป็นยุคเฟื่องฟูของวัฒนธรรมแบบอเมริกันที่ชุมชนบ้านฉางรับมา คือ ฟังเพลง เต้นรำ แต่งตัวตามแฟชั่น แต่สหรัฐอเมริกาเองก็ได้ให้ความช่วยเหลือในด้านการศึกษา การสาธารณสุข อุตสาหกรรม และพลังงาน เป็นต้น แต่หลักมุ่งไปที่การคมนาคม เนื่องจากสหรัฐอเมริกาได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาการคมนาคมเพื่อใช้ในการเดินทางและการขนย้ายยุทโธปกรณ์ได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น เส้นทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๓๐๔ และหมายเลข ๓๐๑ รวมถึงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ทุ่งโปรงและจุกเสม็ด

ระยะเวลากว่า ๑๐ ปี ที่สหรัฐอเมริกาตั้งฐานทัพอยู่ที่อู่ตะเภาทำให้ชุมชน บ้านฉางมีสถานะทางเศรษฐกิจที่ดีมาก จากกิจการสถานบันเทิงหน้าค่ายทหาร เติบโตและสร้างรายได้อย่างมหาศาลให้แก่นายทุนทั้งหลาย จนกระทั่งสงคราม เวียดนามสิ้นสุดลงพร้อมกับการถอนกำลังทหารของสหรัฐอเมริกา คนบ้านฉางยังคงจำภาพบาร์รำวงหรือบาร์นิวแลนด์ และภาพทหารอเมริกันหลั่งไหลมาโยนดอลลาร์ทิ้งไว้ให้มากมาย ซื้อชีวิตกลางคืนของพวกเขาให้ผ่านไปอย่างชุ่มโชก ทั้งเหล้าและผู้หญิง ร้องเพลงคันทรีบนเวทีรำวง กิจการสถานบันเทิงยามราตรีทั้งหลายได้ปิดตัวลงอย่างรวดเร็ว เพราะสถานบันเทิงส่วนใหญ่เป็นสถานบันเทิงแบบตะวันตก คนไทยไมน่านิยมเที่ยวอย่างฝรั่งอเมริกัน

จากดุษฎีนิพนธ์เรื่อง พลวัตทางสังคมและเศรษฐกิจของชุมชนในพื้นที่อำเภอบ้านฉางจังหวัดยอง (พ.ศ. ๒๔๙๘-๒๕๖๐) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

https://www.tci-thaijo.org/index.php/husojournal/article/download/137991/102647/


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ธ.ค. 19, 15:57
https://youtu.be/_J6jd2xidxU


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: c136 ที่ 01 ก.ค. 20, 12:17
ผมยังเรียน ป.1 ป.2 ได้มั้ง  ฝรั่งตัวใหญ่เดินกันเต็มบ้านเต็มเมือง ครั้งแรกที่เห็นนิโกร ตัวดำมากๆ ดูน่ากลัว คุณพ่อกับคุณแม่พาผมไปส่งพี่ชายที่ดอนเมือง (นร.นายร้อยชั้นปีที่ 5 ถูกส่งไปเวียดนามหมด)


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ค. 20, 12:28
จำอะไรได้อีกคะ


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: THOReN ที่ 08 ก.ค. 20, 15:37
สวัสดีครับทุกท่าน ไม่ได้เข้ามาชมหลายปีแล้ว พอเข้าโควิท เลยตามพี่ Navarat C. เข้ามาเยี่ยมตามกระทู้ต่างๆที่พี่เขาเขียน
พอรู้เรื่องอะไรตามหัวข้ออื่นบ้าง เลยมาสนทนาครับ

เรื่องการค้าขายกับฝรั่งอเมริกัน ฟังจากท่านหนึ่ง ที่เจ้าตัวเล่าเอง ยี่สิบกว่าปีมาแล้ว ตอนนี้ท่านเสียไปแล้ว จึง(แอบ)เอามาเล่าสู่กันฟัง

เจ้าของเรื่องท่านเล่าเรื่องนี้จบ ก็ตบท้ายว่า ของที่เบียดเบียนคนอื่นมาน่ะ มันอยู่ไม่ทนหรอก เพราะท่านก็ใช้สุรุ่ยสุร่ายหมดเช่นกัน
ท่านเล่าว่า ท่านค้าขายกับอเมริกัน โดยรับจัดหาสินค้าไปส่งที่ในฐานทัพอากาศ ห่างออกไปจากตลาดราวชั่วโมงเศษ

ฝรั่งสั่งถ่านไฟฉาย แทนที่ท่านจะส่งไปเป็นกล่องๆ ลังๆ ท่านก็แกะออกจากห่อ จากกล่องทั้งหมด เทเป็นก้อนๆใส่หลังรถหกล้อเข้าไป ใครมันจะไปนับ
ฝรั่งสั่งสังกะสี มุงหลังคา ท่านกะให้ไปถึงบ่ายนิดๆ แดดกำลังเปรี้ยง แล้วไปให้ฝรั่งนับ ใครมันจะไปนับไหว มือไม้พองหมด
ด้วยวิธีแบบนี้ ฝรั่งก็เลยไม่เคยได้ของครบเลยสักเที่ยว ท่านนั้นก็อู้ฟู่ทันใจ
ฟังมาว่า "ใครๆ" เขาก็ทำแบบนี้กันทั้งนั้น ฟังถึงตรงนี้ก็ละเหี่ยใจ



กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ค. 20, 15:59
ขอบคุณสำหรับเรื่องเล่าค่ะ  ฟังแล้วก็คิดว่าไม่มีแค่รายเดียวที่ทำแบบนี้ 
สงครามเวียตนามยังเป็นฉากหลังของความรักที่จบด้วยการพลัดพรากอีกหลายเรื่อง เช่นเรื่องนี้เป็นต้น

ยิ่งกว่านิยาย! ทหารอเมริกันพลัดพรากสาวไทยยุคสงครามเวียดนาม ญาติเผยยังรักตราบสิ้นลม วอนช่วยหาตัว
วันที่ 20 มกราคม 2560 -


https://www.matichon.co.th/social/news_435024


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.ค. 20, 20:59
ขออนุญาตแทรกเข้ามาเพื่อช่วยเติมเรื่องเรื่องราวเล็กๆน้อยๆที่ได้ประสบมาด้วยตนเองในบางช่วงเวลาที่เกี่ยวข้องกับสงครามเวียดนาม

ในช่วงวันและเวลาที่กรุงไซ่ง่อนของเวียดนามแตกนั้น ผมผมกำลังเรียนในระดับ Post Grad. อยู่ที่สหรัฐฯ  ในช่วงเวลานั้นก็มีนักศึกษาทั้งของไทย เวียดนาม ลาว และกัมพูชา ได้รับทุนไปเรียนหรือฝึกอบรมกระจายอยู่ในหลายมลรัฐทางด้านตะวันออก เข้าใจว่าเป็นทุนของ USAID หรือไม่ก็ของ UNDP   ผมมีเพื่อนชาวอเมริกันที่เป็นทหารอากาศฝ่ายส่งกำลังบำรุงของกองทัพสหรัฐฯซึ่งเคยมาประจำการอยู่ในเมืองไทย เรียนอยู่ ม.เดียวกัน เขาชอบคนไทย มีน้ำใจชอบมาช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ก็เลยค่อนข้างจะสนิทกันมาก

ก็มีสาวเจ้าเวียดนามนางหนึ่งที่เพื่อนอเมริกันของผมได้รู้จัก ซึ่งหมู่นักเรียนทุนที่เป็นข้าราชการกลุ่มเล็กๆพวกผมก็เลยได้รู้จักด้วย  สาวเจ้าผู้นั้นมาเดี่ยว อยู่เดี่ยว อยู่ในสภาวะที่มีความจำกัดต่างๆ   พวกเราก็สงสารชวนเข้ากลุ่มเฮฮาบ้างสองสามครั้ง ครั้งหนึ่งก็ที่บ้านเพื่อนอเมริกันของผม    แล้วไม่นานก็มีข่าวออกทางทีวีถึงวาระสุดท้ายที่ไซ่ง่อน  คนที่สาวเจ้าติดต่อแต่แรก(ส่วนหนึ่ง)ก็คือเพื่อนอเมริกันและตัวผม  มันเป็นการสนทนาที่สั้น เศร้า สุดจะบรรยาย สงสารและเข้าใจคนที่อยู่ในสภาพการณ์เช่นนี้  วิถีชีวิตและบริบทต่างๆของชีวิตที่ดำเนินมาถูกทำให้หยุดแบบฉับพลัน ไม่รู้เลยว่าก้าวแรกที่จะก้าวออกไปต่อจากนั้นจะต้องก้าวอย่างไร ก้าวไปทางใหน ไปหาอะไร ปฏิบัติอย่างไร....  ความสับสนเหมือนคนกำลังจะจมน้ำที่จะทำทุกอย่างอันที่จะยังให้ชีวิตอยู่รอดได้ ที่ทำกันได้ก็คือการ encourage มิใช่การ take advantage ดั่งที่มีการกระทำปรากฏอยู่ในบ้านเมืองเราในปัจจุบันนี้           


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.ค. 20, 21:17
ฝรั่งสั่งถ่านไฟฉาย แทนที่ท่านจะส่งไปเป็นกล่องๆ ลังๆ ท่านก็แกะออกจากห่อ จากกล่องทั้งหมด เทเป็นก้อนๆใส่หลังรถหกล้อเข้าไป ใครมันจะไปนับ
ฝรั่งสั่งสังกะสี มุงหลังคา ท่านกะให้ไปถึงบ่ายนิดๆ แดดกำลังเปรี้ยง แล้วไปให้ฝรั่งนับ ใครมันจะไปนับไหว มือไม้พองหมด
ด้วยวิธีแบบนี้ ฝรั่งก็เลยไม่เคยได้ของครบเลยสักเที่ยว ท่านนั้นก็อู้ฟู่ทันใจ
ฟังมาว่า "ใครๆ" เขาก็ทำแบบนี้กันทั้งนั้น ฟังถึงตรงนี้ก็ละเหี่ยใจ

ผมเคยได้ยินมาอีกเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับใบมีดโกนหนวด  ก็อย่างที่ว่าแหละครับ ใบมีดโกนหนวดบรรจุมาในหนึ่งกล่องใหญ่ จะมีจำนวนกี่แพ็คเล็กๆก็ไม่รู้ คนเมืองซื้อกันเป็นแพ็คเล็กๆ แต่ชาวบ้านซื้อกันเป็นใบๆ ถีบลงหนึ่งกล่องใหญ่เพียงกล่องเดียว เอาไปขายก็จะได้เงินอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.ค. 20, 19:51
สงครามเวียดนามสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2518 ไม่นานนักเวียดนามก็ก้าวเข้าสู่สังคมโลก ทั้งในด้านทวิภาคิ พหุภาคี รวมทั้งในรูปขององค์กรความร่วมมือหลายฝ่าย (Plurilateral)  องค์กรค์ความร่วมมือระหว่างรัฐ (Intergovernmental ) และอื่นๆ

ผมได้มีส่วนเข้าไปทำงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับงานและตัวผู้แทนของเวียดนามขององค์กรเหล่านั้นในบางเรื่อง ได้รับทราบเรื่องราวบางอย่างที่พอจะนำมาขยายความได้ เป็นฉากหนึ่งในช่วงเวลาของการทำสงครามที่อาจจะเป็นที่น่าสนใจสำหรับบางท่าน   

โปรยประเด็นไว้ก่อนว่าเป็นเรื่องของธรณีวิทยาในการสงคราม จะเรียกว่า Geological Warfare หรือ Geology and Warfare หรือ Military Geology ก็ได้ทั้งนั้น


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.ค. 20, 18:50
ประมาณ 15 ปีต่อมาหลังจากสงคราม เวียดนามก็ได้กลายเป็นประเทศที่ค่อนข้างจะ active ในกิจกรรมต่างๆระหว่างประเทศในภูมิภาค  เวียดนามได้เสนอให้ใช้ประเทศของตนเป็นสถานที่สำหรับการจัดการประชุมนานาๆชาติต่างๆมากมาย 

ก็มีองค์กรหนึ่ง เป็นองค์กรเล็กๆระหว่างรัฐบาลของกลุ่มประเทศที่อยู่รอบๆพื้นที่ทะเลจีนใต้ ชื่อ CCOP ตั้งขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. 2509 ซึ่งรวมตัวกันเพื่อช่วยกันและกันในการสำรวจ แสวงหา และแบ่งปันข้อมูลพื้นฐานทางวิชาการที่เกี่ยวกับแหล่งทรัพยากรธรณีในท้องทะเล (ไม่ขยายความต่อนะครับ)   ซึ่งในช่วงเวลาที่สงครามเวียดนามยังไม่ยุตินั้น องค์กรนี้(เวียดนามใต้ในขณะนั้น เป็นสมาชิก) ได้จัดประชุมประจำปีที่กรุงไซ่ง่อนครั้งแรกเมื่อ 2513

หลังสงคราม เวียดนามก็เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของ CCOP ขึ้นอีกครั้งหนึ่งในปี 2535 จัดขึ้นที่ฮานอย ในครั้งนี้ผมได้ไปร่วมและได้ทำหน้าที่เป็นประธานฝ่ายไทยเพื่อส่งมอบภารกิจต่อให้กับฝ่ายเวียดนาม   


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.ค. 20, 19:58
ตามธรรมเนียมปฏิบัติทั่วๆไปในการประชุมนาๆชาตินั้น ฝ่ายเจ้าภาพเขาจะจัดงานเลี้ยงรับรองแยกออกมาเฉพาะหัวหน้าคณะในลักษณะที่เป็นกันเอง (informal) เรียกกันง่ายๆว่า Head of delegate meeting จัดขึ้นในคืนก่อนวันที่จะมีเริ่มมีการประชุม ในงานครั้งนี้ประธานฝ่ายเวียดนามไม่ได้มาร่วมด้วยเพราะติดภารกิจสำคัญ  (แต่ก็ได้ทราบว่าผู้นั้นคือรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งภายหลังได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 2540 - 2549)  งานเลี้ยงรับรองเช่นนี้เขาจัดกันเพื่อให้ได้มีการพูดคุยกันแบบค่อนข้างจะเปิดเผยถึงจุดยืนของแต่ละฝ่าย เพื่อจะได้พอมีเวลาไปเตรียมตัวและปรึกษาหารีอกับฝ่ายรัฐของตนเพื่อกำหนดท่าทีสนองตอบต่างๆ  ก็คงพอจะได้เห็นภาพที่มาที่ไปของภาษาดอกไม้ต่างๆในวงการเมืองระหว่างประเทศได้บ้างนะครับ

ก่อนขึ้นเวทีก็ได้มีโอกาสพบกับประธานฝ่ายเวียดนามโดยตรง คุยกันแบบผ่านล่ามแปล  ก็เลยได้รู้ว่าท่านเองเป็นนักธรณีฯ  ท่านเองเป็นผู้ที่เดินสำรวจทำแผนที่ธรณีฯครอบคลุมพื้นที่เวียดนามตอนใต้และเขมรทั้งหมด (ก็ช่วงเวลาที่มีข่าวหนาหนูว่าเวียดนามจะบุกไทยนั้นแหละครับ)   เมื่อพิธีการเป็นทางการบนเวทีเสร็จสิ้นแล้ว จากที่ต้องใช้ล่ามในการสนทนากัน ก็กลายเป็นการใช้ภาษาอังกฤษแบบ well educated ทั้งคำและสำเนียง   


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ก.ค. 20, 19:07
ช่วงพักการประชุม ก็ได้มีโอกาสเดินชมนิทรรศการและโพสเตอร์ต่างๆซึ่งส่วนมากจะเป็นแผนที่ทางธรณีวิทยาและ Thematic map ต่างๆ    ด้วยที่ตนเองเป็นนักธรณีฯที่ทำงานอยู่ในภาคสนามเป็นหลัก  เมื่อเห็นสิ่งต่างๆที่นำมาแสดง ก็รู้ได้ในทันทีเลยว่าเวียดนามได้ใช้ความรู้ทางธรณีฯอย่างมากมายในระหว่างการสู้รบในสงคราม มีการสำรวจและใช้ประโยชน์ของความรู้ด้านนี้อยู่มากโขตลอดช่วงระยะเวลาของการรบ   

เคยมีความสงสัยบ้างหรือไม่ ว่า กองทัพอเมริกันได้ทิ้งระเบิดจำนวนมหาศาลแต่กลับไม่สามารถหยุดยั้งกิจกรรมที่ใช้ระบบ network ใต้ดินของเวียดนามเหนือได้ ทั้งๆที่มีความรู้(ชั้นสูง) มีเครื่องมือและอุปกรณ์ทางธรณีฟิสิกส์มากมาย ที่จะใช้ในการวัดค่าหาความค่าความผิดปกติหรือค่าเบี่ยงเบนบนผิวโลกต่างๆ เช่น สนามแม่เหล็กโลก ด้วย Magnetometer  ความหนาแน่นของพื้นดิน ด้วย Gravimeter   การนำพาของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่ต่ำมาก ด้วยเครื่องมือชุดวัด VLF EM   ความร้อน/ความเย็นของพื้นดิน ด้วย Infrared sensor  อุปกรณ์ขยายคลื่น Geophone ... ฯลฯ ซึ่งค่าต่างๆเหล่านี้วัดได้ด้วยทั้งวิธีการบินและการวัดบนพื้นดิน    ความรู้ทางธรณีฯช่วยซ่อนเร้นและลดการสูญเสียได้มากเลยทีเดียว


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ก.ค. 20, 20:45
เรื่องธรณีวิทยากับการสงครามนั้น ผมไม่มีความรู้แน่ชัดว่ามีการสอนกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในโรงเรียนทหารต่างๆ(ทั่วโลก)หรือไม่  ที่แน่นอนก็มีแต่ว่า มีการนำความรู้มาใช้ในกระบวนยุทธวิธีในการรบในทุกๆสงคราม มากบ้างน้อยบ้าง  ซึ่งทั้งหลายก็เป็นลักษณะเหมือนกับที่เลือกใช้หลักการบางอย่างในตำราพิชัยสงครามของซุ่นวูในการสงครามต่างๆทั่วโลก

เมื่อครั้งที่กำลังเรียน Post Grad. อยู่นั้น ได้รับรู้เรื่องทางวิชาการธรณีต่างที่มีที่มาและมีพัฒนาการโยงกันไปมาระหว่างภาคทฤษฎี/วิชาการ  การทหาร/ความมั่นคง และ ภาควิจัย/พัฒนา  ก็เลยพอจะมีความรู้เกี่ยวกับด้านธรณีฯกับการสงครามอยู่เล็กๆน้อยๆ   แล้วก็เคยได้มีโอกาสรวบรวมความรู้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวไปสอน นนร. แผนที่ และบรรยายในบางหลักสูตรก่อนการเลื่อนระดับชั้นยศทางทหาร

คงจะต้องขอยุติการแทรกเรื่องไว้เพียงเท่านี้ครับ ที่เหลือคงจะต้องเป็นเรื่องเล่าหลังไมค์


กระทู้: สงครามเวียตนาม
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.ค. 20, 09:27
ย้อนกลับมาอ่านที่ตนเองได้เขียนไป เกิดความไม่สบายใจ เกรงว่าข้อความที่การเขียนไปนั้นจะสื่อไปว่า ไม่มีความรู้อะไรแล้วไปสอนได้อย่างไร   

หัวข้อหลักที่สอนคือ การใช้แผนที่ในทางธรณีวิทยา เนื้อหาหลักก็คือ ความหมายทางธรณีวิทยาจากแผนที่ภูมิประเทศ (Topographic map) จากภาพถ่ายทางอากาศ (Aerial photograph)  จากข้อมูลทางธรณีฟิสิกส์ (Geophysical anomaly) ลักษณะของพื้นที่ผิวดิน ใต้ดิน การกำเนิด และคุณสมบัติ (Geomorphology) และการประยุกต์ใช้ความรู้เหล่านั้น  ซึ่งได้แทรกตัวอย่างของการใช้ประโยชน์และศักยภาพอื่นๆในทางการทหารเท่าที่มีปรากฎเพื่อให้เห็นภาพต่างๆ