เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: NT ที่ 08 พ.ค. 15, 14:25



กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NT ที่ 08 พ.ค. 15, 14:25
รบกวนท่านผู้รู้แห่งเรือนไทย อนุเคราะห์ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน พระบรมมหาราชวัง เป็นวิทยาทานครับ เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ผมไปกราบพระแก้วมรกตที่พระอุโบสถวัดพระแก้ว และเข้าชมปราสาทพระเทพบิดร มองไปทางทิศใต้พบว่ามีพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นกลาง-ในอยู่ไกลๆ มีสถาปัตยกรรมต่างๆ น่าสนใจ แต่สอบถามเจ้าหน้าที่แล้ว พบว่าไม่มีโอกาสที่คนทั่วไปจะเข้าไปได้เลยครับ ผมสืบค้นดูในกูเกิลก็มีอยู่บ้างแต่น่าจะยังไม่ครบถ้วน ขอขอบพระคุณล่วงหน้า


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 พ.ค. 15, 20:54
มีภาพพระตำหนักเจ้านายฝ่ายใน ในกระทู้เก่า  คุณเพ็ญชมพูพอจะหามาให้ดูได้ไหมคะ


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ค. 15, 21:07
พระตำหนักต่างๆฝ่ายในของพระบรมมหาราชวัง พรุ่งนี้จะมาลงให้ทั้งชุดครับ


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 พ.ค. 15, 21:22
เข้าไปดูภาพตัวอย่างที่คุณนวรัตนและคุณหนุ่มลงรูปประชันกันที่ พันทิป (http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/09/K8283395/K8283395.html) ไปพลาง ๆ ก่อน  ;D


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 พ.ค. 15, 06:34
พระตำหนัก สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 พ.ค. 15, 06:40
พระตำหนัก สมเด็จพระศรีสวรินทรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
ด้านหน้า


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 พ.ค. 15, 06:41
ด้านหลัง


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 พ.ค. 15, 06:46
พระตำหนัก สมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร (ทูลกระหม่อมแก้ว)


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 พ.ค. 15, 06:52
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าละม่อม กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าละม่อม กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร หรือ พระองค์เจ้าละม่อม (8 ธันวาคม พ.ศ. 2361 - 17 สิงหาคม พ.ศ. 2439) พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาทรัพย์ เมื่อวันอังคาร ขึ้น 11 ค่ำ เดือนอ้าย ปีขาล ตรงกับวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2361
พระองค์เจ้าละม่อมเป็นพระขนิษฐาร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกับ สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ พระองค์เจ้าศิริวงศ์ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ซึ่งเป็นพระบิดาของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระองค์เจ้าละม่อมจึงทรงมีศักดิ์เป็นเสด็จอาของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงพระอิสสริยยศเป็น สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ มีพระชนมายุได้ 8 พรรษา สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีได้เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2404 พระองค์เจ้าละม่อมก็ได้ทรงเลี้ยงดูพระองค์ พร้อมด้วยพระขนิษฐา และพระอนุชา ทุกพระองค์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเคารพพระองค์เจ้าละม่อม และยกย่องเสมอพระราชชนนี ทรงออกพระนามว่า เสด็จยาย และโปรดให้พระราชโอรสพระธิดาออกพระนามว่า ทูลหม่อมย่า ทรงสถาปนาพระองค์เจ้าละม่อมเป็น พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมพระสุดารัตนราชประยูร เมื่อ พ.ศ. 2411 และทรงเลื่อนเป็น พระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร มีศักดินาเสมอด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนีเมื่อ พ.ศ. 2416 ชาววังออกพระนามพระองค์ว่า ทูลกระหม่อมแก้ว

พระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร เสด็จสวรรคตเมื่อวันจันทร์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ปีวอก ตรงกับวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2439 สิริพระชนมายุได้ 77 พรรษา (เนื่องจากพระองค์เจ้าหญิงละม่อมได้รับพระราชทานฉัตร 7 ชั้น ในการนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้คำว่า "สวรรคต" เสมอด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี)
 
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้บรรจุพระอังคารสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าละม่อม กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร (พระเจ้าราชวงศ์เธอ พระองค์เจ้าละม่อม ซึ่งทรงอภิบาลเลี้ยงดูพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่พระเยาว์มา ประหนึ่งสมเด็จพระราชชนนี) ใต้ฐานพระธรรมจักร ณ.วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออกพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 พ.ค. 15, 07:02
ในกลุ่มพระตำหนัก สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี พระพันปีหลวง
มีพระตำหนักของพระองค์เจ้าอัพภันตรีปรีชา พระองค์เจ้าทิพยาลังการ และเจ้าจอมมารดาแส


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 พ.ค. 15, 07:05
ด้านหลังตำหนักเป็นส่วนของเจ้าจอมมารดาแส หรือ คลังสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 พ.ค. 15, 07:12
เจ้าจอมมารดาแส
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เจ้าจอมมารดาแส ในรัชกาลที่ 5 เกิดเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2411 เป็นธิดารุ่นเล็กของพระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ โรจนดิศ) กับคุณหญิง มีพี่น้องร่วมบิดาที่รับราชการฝ่ายใน ดังนี้
•   เจ้าจอมมารดาเที่ยง ในรัชกาลที่ 4
•   เจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ 4
•   เจ้าจอมมารดาทับทิม ในรัชกาลที่ 5

เมื่อท่านได้ถวายตัวเข้ารับราชการฝ่ายในแล้วนั้น ก็ได้มีประสูติกาลพระราชโอรสพระราชธิดา 3 พระองค์ คือ
•   พระองค์เจ้าชายเขจรจิรประดิษฐ ประสูติวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2431 สิ้นพระชนม์เมื่อพระชันษา 3เดือน
•   พระองค์เจ้าหญิงอัพภันตรีปชา ประสูติวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2432
•   พระองค์เจ้าหญิงทิพยาลังการ ประสูติวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2434

เจ้าจอมมารดาแสเป็นเจ้าจอมสำคัญคนหนึ่งในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรือนของท่านในพระบรมมหาราชวัง นั้นมีความกว้างขวางใหญ่โตเกือบเท่าพระตำหนักของพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี

เจ้าจอมมารดาแส ในรัชกาลที่ 5 ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2468

ในภาพ
เจ้าจอมมารดาแส และพระราชธิดา ซ้าย พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา ขวา พระองค์เจ้าทิพยาลังการ



กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 พ.ค. 15, 07:16
ตำหนักเจ้าดารารัศมี พระราชชายา


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 พ.ค. 15, 08:00
เจ้าดารารัศมี
ย่อความจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เจ้าดารารัศมี พระราชชายา มีพระนามเดิมว่า "เจ้าดารารัศมี" เป็นพระราชธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์กับเจ้าทิพเกสร เป็นพระราชธิดาในพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ และเจ้าอุษา พระมหาเทวี เจ้าดารารัศมีมีพระเชษฐภคินีร่วมพระโสทรหนึ่งพระองค์ คือ เจ้าจันทรโสภา ประสูติเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2416 ณ คุ้มหลวงกลางเวียง นครเชียงใหม่
ในปี พ.ศ. 2426 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร อุปราชมณฑลพายัพ ได้อัญเชิญพระกุณฑล และพระธำมรงค์เพชร ไปพระราชทานเป็นของเฉลิมพระขวัญแก่เจ้าดารารัศมี นัยว่าเป็นของทรงหมั้นนั่นเอง รวมทั้ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีโสกันต์ฯ พระราชทานเจ้าดารารัศมีตามแบบอย่างเจ้านายใน "ราชวงศ์จักรี" เป็นกรณีพิเศษ
 
 ในปี 2429 นั้น พระเจ้าอินทวิชยานนท์ได้เสด็จลงมายังกรุงเทพฯ เพื่อร่วมในพระราชพิธีลงสรงและสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เจ้าดารารัศมีได้โดยเสด็จพระราชบิดาลงมากรุงเทพฯในครั้งนี้ด้วย และได้รับราชการฝ่ายในเป็นเจ้าจอม ตำแหน่งพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เลยประทับอยู่ ณ กรุงเทพพระมหานครนับแต่นั้นมา

"เจ้าจอมดารารัศมี" มีพระประสูติกาลพระราชธิดา เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2432 ทรงพระนามว่าพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี ในคราวนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เลื่อนตำแหน่ง "เจ้าจอมดารารัศมี" ขึ้นที่ "เจ้าจอมมารดาดารารัศมี" แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า พระธิดามีพระชันษาเพียง 3 ปี 4 เดือน 18 วัน ก็สิ้นพระชนม์ลง

เมื่อเจ้าจอมมารดาดารารัศมีมีพระประสงค์จะเสด็จกลับไปเยือนนครเชียงใหม่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาพระอิสริยยศ "เจ้าจอมมารดาดารารัศมี" ขึ้นเป็นเจ้านายในราชวงศ์จักรี มีพระอิสริยยศเป็นพระมเหสีพระองค์หนึ่ง ออกพระนามว่า "เจ้าดารารัศมี พระราชชายา" เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2451 นับเป็นพระมเหสีลำดับที่ 5 ในเวลานั้น

พระราชชายาฯ ประทับอยู่ ณ นครเชียงใหม่ได้หกเดือนเศษ ก็เสด็จนิวัติพระนคร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานตำหนักสวนฝรั่งกังไส (พระราชวังดุสิต) ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ แต่หลังจากทรงรับใช้เบื้องพระยุคลบาทได้เพียง 10 เดือน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคต ในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453

นับแต่สิ้นรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชชายาฯยังทรงประทับในพระราชวังดุสิตมาโดยตลอด จนกระทั่งปี พ.ศ. 2457 จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกราบถวายบังคมลาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเสด็จนิวัตินครเชียงใหม่เป็นการถาวร  โดยประทับอยู่ที่พระตำหนักดาราภิรมย์ ณ สวนเจ้าสบาย อำเภอแม่ริม อันเป็นพระตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสร้างพระราชทาน โดยแวดล้อมด้วยพระประยูรญาติและข้าราชบริพารในพระองค์เป็นเวลานานถึง 20 ปี

วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2476 พระองค์เริ่มมีพระอาการประชวรด้วยพระโรคพระปัปผาสะ(ปอด)พิการ  แพทย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้พยายามถวายการรักษาอย่างเต็มที่ แต่พระอาการมีแต่ทรงกับทรุด พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 เมื่อเวลา 15.14 น. ณ คุ้มรินแก้ว สิริพระชนมายุ 60 ปี 3 เดือน 13 วัน





กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 09 พ.ค. 15, 08:52
พระตำหนัก สมเด็จพระศรีสวรินทรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
ด้านหน้า

หน้าต่างเล็กๆใต้ถุนตำหนักคือห้องใต้ดินใช่ไหมคะ


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 พ.ค. 15, 09:32
น่าจะเป็นช่่องให้อากาศระบายจากใต้ถุนมากกว่าครับ
สมัยก่อนพื้นเป็นไม้ ถึงจะเป็นไม้สักแต่หากถูกอบชื้น จะผุได้ง่าย จึงต้องให้อากาศใต้พื้นไม้โปร่งเข้าไว้ เพื่อระบายความชื้นออกไป


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 พ.ค. 15, 09:34
ตำหนัก พระองค์เจ้าประเวศวรสมัย (เจ้าจอมมารดาทับทิม)





กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 พ.ค. 15, 09:39
เจ้าจอมมารดาทับทิมในรัชกาลที่ ๕
ย่อความจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เจ้าจอมมารดาทับทิม เกิดเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2400 เป็นธิดา พระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ โรจนดิศ)  เริ่มต้นชีวิตภายในพระบรมมหาราชวังตั้งแต่อายุได้เพียง 6 ขวบ โดยเจ้าจอมมารดาเที่ยง ในรัชกาลที่ 4 ผู้เป็นพี่ใหญ่ได้พาไปฝากให้คุณท้าววรคณานันท์ (หุ่น) เป็นครูผู้ฝึกสอนการละคร และฟ้อนรำ จึงนับได้ว่าเจ้าจอมมารดาทับทิมได้ครูดี ได้โรงเรียนดี และได้สิ่งแวดล้อมทั้งมวลดีด้วย
ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้หัดละครในรุ่นเล็กขึ้น เจ้าจอมมารดาทับทิมจึงตั้งหน้าฝึกหัดฟ้อนรำพร้อมๆกับศึกษาวิชาอื่นๆคู่ควบไปด้วย เมื่อละครหลวงชั้นเล็กออกโรงปลายสมัยรัชกาลที่ 4 คนทั้งปวงก็พากันชมเชยว่าเจ้าจอมมารดาทับทิมสามารถรำได้งดงามกว่าคนอื่น ซึ่งเป็นละครชั้นเดียวกันเป็นอันมาก

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว เจ้าจอมมารดาทับทิมก็ยังเป็นละครหลวงอยู่ และมีลีลาการฟ้อนรำเป็นที่เลื่องลือกันทั่วไป จนได้ชื่อว่าเป็นนางเอกละครหลวงที่ดีที่สุดคนหนึ่ง ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯชุบเลี้ยงเจ้าจอมมารดาทับทิมเป็นเจ้าจอม  และจัดเรือนในบริเวณตำหนักหลังหนึ่งกับคนสำหรับใช้สอย เมื่อเจ้าจอมมารดาทับทิมมีครรภ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานตำหนักอย่างเจ้านายให้อยู่เป็นอิสระในฐานะเจ้าจอมมารดา ดังที่เห็นในภาพ

พระราชโอรสและธิดาทั้งหมดมีด้วยกัน 3 พระองค์ คือ
พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช (กรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช)
พระองค์เจ้าหญิงประเวศวรสมัย
พระองค์เจ้าวุฒิชัยเฉลิมลาภ (กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร)

เจ้าจอมมารดาทับทิมมีอัธยาศัยดี เป็นที่ชอบแก่บุคคลโดยทั่วไป โดยเฉพาะกิริยามารยาทถือกันว่าเป็นแบบฉบับแห่งหญิงชาววังที่ดี ในที่สุดทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานเครื่องยศ ยกย่องขึ้นเป็นพระสนมเอก นับว่าพระราชทานเกียรติยศอย่างสูง เจ้าจอมมารดาทับทิมดำรงชีพอยู่ในพระบรมมหาราชวัง จนกระทั่งกรมหลวงนครชัยศรีสุรเดชพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ทรงสำเร็จการศึกษาจากยุโรป กลับมาพร้อมกับกรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร พระราชโอรสพระองค์เล็ก ซึ่งเสด็จไปทรงศึกษาวิชาทหารเรือ เจ้าจอมมารดาทับทิมก็ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตออกไปพำนักอยู่ที่วังของพระราชโอรสทั้ง 2 โดยเฉลี่ยเท่า ๆกัน บางครั้งท่านก็ไปพำนักกับพระราชธิดาพระองค์เดียว ณ ตำหนักในสวนสุนันทา เป็นต้น
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เมื่อเจ้าจอมมารดาทับทิมมีอายุได้ 53 ปี หลังจากนั้นท่านก็ออกไปอาศัยอยู่กับพระราชโอรส-ธิดาเป็นการถาวร  และใช้เวลาให้หมดไปกับการบำเพ็ญธรรม ฟังเทศน์ ทำบุญและให้ทาน

เจ้าจอมมารดาทับทิมก็มีนิสัยแปลกกว่าคนอื่นอยู่อย่างหนึ่ง คือชอบไปเที่ยวตามหัวเมือง ถ้าอยู่กับบ้านกับวังนานๆคล้ายๆกับจะเจ็บป่วย แต่ถ้าได้ไปที่อื่นจะกลับฟื้น  ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อใดที่พระโอรสธิดาสังเกตเห็นว่า เจ้าจอมมารดามีอาการไม่สบายผิดปกติ ก็มักชวนไปพำนักที่อื่นอย่างน้อยปีละหนหนึ่ง

กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกรพระราชโอรสพระองค์เล็ก ทรงสร้างตำหนักไว้ที่หนองแก ทางใต้ของหัวหิน ซึ่งเจ้าจอมมารดาทับทิมมักจะไปอยู่ที่นั่นเป็นเวลานานๆในฤดูร้อนแทบทุกปี  หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เจ้าจอมมารดาทับทิมเคยไปเยี่ยมพระโอรสและธิดาถึงปีนัง ทั้งๆที่อายุเกือบจะ 80 อยู่แล้ว เมื่อเห็นว่าปีนังอากาศดี เลยพักอยู่ที่ตำหนักพระองค์หญิงประเวศฯถึง 13 เดือน

เมื่ออายุได้ 80 ปี ได้เริ่มต้นของโรคชราระดับยากที่จะกลับฟื้นดีได้ แต่เจ้าจอมมารดาทับทิมต้องการไปรักษาตัวที่บางปะอิน ผู้รักษาพยาบาลเห็นว่าอาการร้ายแรง อาจจะทำให้โรคกำเริบก็ทัดทานไว้ แต่ไม่สำเร็จ พระราชโอรสธิดาซึ่งรีบเสด็จมาจากปีนังเมื่อทราบเหตุ พยายามจะให้กลับกรุงเทพฯอีกก็ไม่เป็นผล  เจ้าจอมมารดาทับทิมอยู่ที่บางปะอินได้ถึง 79 วัน จึงได้ถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2480



กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 พ.ค. 15, 14:31
ซ้าย-ตำหนักพระองค์เจ้าอรประพันธุ์รำไพ พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา และเจ้าจอมมารดาอ่อน (ตำหนักแดง)
กลาง-เรือนก๊กออ
ขวา-ตำหนักพระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา พระองค์เจ้าสุจิตราภรณ์ และเจ้าจอมมารดาชุ่ม


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 พ.ค. 15, 14:49
เจ้าจอมมารดาอ่อน
ย่อความจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เจ้าจอมมารดาอ่อน เกิดในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2410 เป็นบุตรคนที่ 4 ของเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) ที่เกิดกับท่านผู้หญิงอู่ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 5 คน เมื่อเจ้าจอมมารดาอ่อนอายุได้ 12 ปี ได้เข้าร่วมขบวนแห่โสกันต์ของ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ สุนทรศักดิ์กัลยาวดี พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ) ผู้เป็นเจ้าจอมมารดาผู้ใหญ่ ทรงยกย่องเป็นหัวหน้าเจ้าจอมทั้งปวง และได้รับการฝากฝังโดย สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วงบุนนาค) ผู้มีศักดิ์เป็นลุง ให้อยู่กับเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ มีหน้าที่ช่วยตั้งเครื่องเสวย
ได้ถวายตัวเมื่อ พ.ศ. 2427 ขณะนั้นอายุ 17 ปี ให้ประสูติพระราชธิดา 2 พระองค์คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา

เจ้าจอมมารดาอ่อน พร้อมด้วยน้องๆ ทั้งสี่คน ในกลุ่มเจ้าจอมก๊กออ และพระราชธิดาทั้งสอง ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายงานใกล้ชิดพระองค์อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเมื่อครั้งประทับที่พระบรมมหาราชวัง หรือเมื่อเสด็จไปประทับที่พระราชวังดุสิต พระที่นั่งวิมานเมฆ หรือเมื่อครั้งเสด็จแปรพระราชฐาน ประพาสหัวเมืองเหนือ เมื่อ พ.ศ. 2444 หรือไปประทับที่พระราชวังบางปะอิน เมื่อ พ.ศ. 2445 และเสด็จประพาสต้นเมื่อ พ.ศ. 2447

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เจ้าจอมมารดาอ่อน และพระราชธิดา ได้ประทับอยู่ที่ตำหนักในวังสวนสุนันทา ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้ย้ายไปมาอยู่ที่ตำหนักสร้างใหม่ริมคลองสามเสน กับถนนราชสีมา สร้างบนที่ดินพระราชทานแก่เจ้าจอมก๊กออ เรียกว่า "สวนนอก" ตำหนักนี้เรียกว่า วังสวนปาริจฉัตก์
ท่านเจ้าจอมมารดาอ่อนถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2512 ในรัชกาลปัจจุบัน สิริอายุ 102 ปี



กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 พ.ค. 15, 14:51
(ตำหนักแดง)


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NT ที่ 09 พ.ค. 15, 16:16
ขอบพระคุณอาจารย์ Navarat C. ครับ ที่นำรูปมาลงมากมาย

ว่าด้วยท่านเจ้าจอมมารดาอ่อน เข้าใจว่าท่านอายุยืนจนถึงอสัญกรรมหลังจากพระองค์อรประพันธ์ฯ และพระองค์อดิสัยฯ สิ้นพระชนม์เสียอีก ผมเคยเห็นรูปท่านเจ้าจอม รับพระราชทานเครื่องราชฯ จุลจอมเกล้า จะมีสุภาพสตรีท่านหนึ่งอยู่ใกล้ชิดตลอด แต่ไม่ทราบว่าท่านเป็นใคร น่าจะเป็นคนสกุลบุนนาค ?


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 พ.ค. 15, 18:28
น่าจะใช่ภาพนี้


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 พ.ค. 15, 19:13
เจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ 5
ย่อความจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เจ้าจอมมารดาชุ่ม เป็นธิดาของพระมงคลรัตน์ราชมนตรี (ช่วง ไกรฤกษ์) เกิดเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2412 มีพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันกับท่าน 10 คน โดยท่านเป็นคนที่ 7

ต่อมาท่านได้ถวายตัวเข้ารับราชการฝ่ายใน และให้ประสูติกาลพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 2 พระองค์ คือ
พระองค์เจ้าหญิงอาทรทิพยนิภา ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2432
พระองค์เจ้าหญิงสุจิตราภรณี ประสูติเมื่อวันศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2433

เจ้าจอมมารดาชุ่ม เป็นเจ้าจอมที่ทรงโปรดมากคนหนึ่ง เพราะท่านสามารถพูดภาษาอังกฤษได้คล่อง จึงได้รับพระกรุณาธิคุณให้ตามเสด็จประพาสชวาถึงสองครั้ง
ครั้งแรกในปีพ.ศ. 2439 เจ้าจอมมารดาชุ่มได้ตามเสด็จพระราชดำเนินโดยรับหน้าที่เป็นนางสนองพระโอษฐ์ให้กับสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี

ครั้งที่ 2 ในปีพ.ศ. 2444 เจ้าจอมมารดาชุ่มได้ตามเสด็จพระราชดำเนินอีกครั้งพร้อมเจ้านายฝ่ายในอีกหลายองค์ โดยในครั้งนี้พระเจ้าลูกเธอของท่านโสกันต์แล้ว จึงได้ตามเสด็จพระราชดำเนินด้วยทั้งสองพระองค์ ส่วนสาเหตุที่เจ้าจอมมารดาชุ่มได้ตามเสด็จด้วยนั้นเป็นเพราะว่า "ท่านใส่ชุดฝรั่งขึ้น"

เจ้าจอมมารดาชุ่มถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2454 สิริอายุ 42 ปี



กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 พ.ค. 15, 20:05
พระตำหนักตึก


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 พ.ค. 15, 20:07
เจ้าจอมมารดาชุ่ม และพระราชธิดาเมื่อทรงพระเยาว์


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 พ.ค. 15, 20:08
เจ้าจอมมารดาชุ่ม และพระราชธิดาเมื่อทรงเจริญพระชนษาแล้ว


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 09 พ.ค. 15, 20:20
เรื่องโสกันต์หรือโกนจุกพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ที่พบในเอกสารจดหมายเหตุมีความปรากฏใน

ท้องตราพระราชสีห์  ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ผู้สำเร็จราชการกรมมหาดไทย  อัญเชิญกระแสพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัวไปถึง  พระยาราชสัมภารากร (เลื่อน  สุรนันทน์)  ข้าหลวงสามหัวเมือง ณ ศาลต่างประเทศเมืองนครเชียงใหม่  เมื่อวันอังคาร  เดือน ๑๒  แรม ๑๓ ค่ำ  ปีมะแมเบญจศก  จุลศักราช ๑๒๔๕ (วันที่  ๒๗  พฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๔๒๖) ความตอนหนึ่งว่า 
“...เมื่อพระเจ้าอินทวิไชยานนท์เจ้านครเชียงใหม่  เจ้าทิพเกสรลงมา ณ กรุงเทพฯ  ได้พาเจ้าดารารัศมีผู้บุตรเข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า  กราบถวายบังคมลาขึ้นไปถึงบ้านเมืองแล้ว  จะได้ทำการมงคลตัดจุกเจ้าดารารัศมี...”

นอกจากนั้ยังพบความในใบบอกของพระยาราชสัมภาราการ  ฉบับลงวันอังคาร  เดือน ๑๑  ขึ้น ๑ ค่ำ  ปีมะแมเบญจศก  จุลศักราช ๑๒๔๕ (วันที่  ๒  ตุลาคม  พ.ศ. ๒๔๒๖) มีความตอนหนึ่งว่า
“...เมื่อ ณ วัน ๖  เดือน ๑๐  แรม ๕ ค่ำ  ปีมแมเบญจศก   พระเจ้านครเชียงใหม่  กับเจ้านายมารับพระราชทานโต๊ะ  พร้อมด้วยข้าพระพุทธเจ้าที่ศาลต่างประเทศ  พระเจ้านครเชียงใหม่แจ้งความแก่ข้าพระพุทธเจ้าว่า  พระเจ้านครเชียงใหม่มีบุตรหญิงผู้เดียว  อายุศม์ก็สมควรที่จะทำการตัดจุกอยู่แล้ว  แต่การตัดจุกในเมืองนครเชียงใหม่ยังไม่เคยมีเลย  ขอให้ข้าพระพุทธเจ้าเปนธุระจัดการด้วย  ข้าพระพุทธเจ้าตอบว่าธรรมเนียมโกนจุกข้างเมืองไต้  ถ้าบุตรชายอายุศม์ได้ ๑๕ / ๑๗ / ๑๙  ก็โกนได้  แต่บุตรหญิงถ้าร่างใหญ่ต้องโกนในอายุศม์ ๑๑ / ๑๓  และเจ้าดาราบุตรหญิงพระเจ้านครเชียงใหม่  อายุศม์รูปร่างก็สมควรที่จะทำการตัดจุกอยู่แล้ว  ครั้นรุ่งขึ้นพระเจ้านครเชียงใหม่  ให้ข้าพเจ้าเข้าไปพร้อมด้วยเจ้าทิพเกสร  ถามข้าพระพุทธเจ้าว่า  จะจัดการอย่างไรบ้าง  ข้าพระพุทธเจ้าตอบว่า  ธรรมเนียมการโกนจุกมีมาแต่โบราณ  ท่านผู้ที่เปนเจ้าการก็ยักย้ายดัดแปลงไปต่าง ๆ กัน  เว้นไว้แต่เครื่องมณฑลที่รดน้ำเท่านั้น  ซึ่งจะทำการบัดนี้  ยังไม่ทราบว่าจะทำมากน้อย  ยังไรกำหนดเมื่อใดต้องให้ทราบก่อน  จึ่งจะช่วยชี้แจงได้ตามความเหน  เจ้าทิพเกสรว่ากำหนดในเดือน ๑๒ ข้างขึ้น   เครื่องแห่ก็ได้ทำไว้บ้างแล้ว  แต่ภูเขาที่รดน้ำ นั้นจะตั้งตรงไหนดี  กระบวนแห่จะเดินทางไหน  จะจัดยังไรจึ่งจะเรียบร้อยได้  ข้าพระพุทธเจ้าตอบว่าถ้าจะผูกเขามีกระบวนแห่ด้วย  กลัวจะไม่ทันเหนวันจวนนัก  อนึ่งไข้เจบก็ชุกชุม  จะต้องใช้คนมากทั้งผู้หญิงผู้ชาย  ที่พักโรงครัวก็จะต้องทำหลายหลัง  ของลเอียดปักเยบร้อยก็จะต้องทำมาก  เครื่องแต่งตัวก็จะต้องทำ  เจ้าทิพเกสรว่าของเหล่านี้ได้คิดไว้แล้วพอจะทำทันได้  ให้ข้าพระพุทธเจ้าช่วยให้ตัวอย่างชี้แจง  ข้าพระพุทธเจ้าเหนด้วยเกล้าฯ  ว่าจะทัดทานห้ามปรามไม่ฟังเปนแน่  จึ่งตอบว่าภูเขานั้นตั้งที่น่าคุ้มก็ได้  แต่กระบวนแห่นั้นไม่ใช่พนักงาน  ข้าพระพุทธเจ้า  เปนแต่ได้ดูจำได้บ้าง  จะกำหนดว่าสิ่งใดอยู่น่าหลังนั้นเปนแน่ไม่ได้  เจ้าทิพเกษรว่าคนในเมืองนครเชียงใหม่  ก็ไม่ได้เคยเหนการนี้เลย  คนเมืองไต้ที่ขึ้นขึ้นไปอยู่ได้ถามแล้วก็ไม่ทราบ  เปนแต่ดูจำก็ไม่ได้  ถึงจะขาดบ้างก็ไม่เปนไร  ขอให้ข้าพระพุทธเจ้าช่วยชี้แจงด้วย  ข้าพระพุทธเจ้าว่าจะพูดกันดังนี้จำไม่ได้  ต้องมีสมุดจดเปนตะรางกระบวน  และสิ่งของที่จะไช้ในการนี้  เมื่อสิ่งใดมีแล้วก็ให้กางด  ที่ยังไม่มีก็ให้ให้ทำขึ้น  สิ่งที่จะทำขึ้นนั้นบ่อน้ำทองเงินสำฤทแก้ว  และกะที่ผูกภูเขา  คนในกระบวนแห่รวมพันหกสิบหกคน  กระบวนเดินทางประตูช้างเผือกเข้าประตูท่าแพหลังศาลต่างประเทศ    ได้ลงมือทำของผูกเขาแต่ ณ วัน ๑  เดือน ๑๐  แรม ๗ ค่ำปีมแมเบญจศก...”   


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 09 พ.ค. 15, 20:24
ใบบอกของพระยราราชสัมภารากรอีกฉบับกล่าวว่า

“...เมื่อ ณ เดือน ๑๒ ปีมแมเบญจศก  จะทำการตัดจุกเจ้าดารารัศมี  พระเจ้านครเชียงใหม่ถามข้าพระพุทธเจ้าว่า  เมื่อจะตัดจุกนั้นทำประการใด  ข้าพระพุทธเจ้าบอกว่า  เมื่อจวนจะถึงฤกษต้องแยกจุกออกมุ่นเปนสามหมวก   ต้องหาคนที่ดีมีอายุมากมียศมากมาตัดหมวกละคน  พระเจ้านครเชียงใหม่ถามข้าพระพุทธเจ้าว่าจะได้ใคร  ข้าพระพุทธเจ้าตอบว่าพระเจ้านครเชียงใหม่คนหนึ่ง  อีกสองคนนั้นแล้วแต่จะหา  พระเจ้าเชียงใหม่ว่าให้ข้าพระพุทธเจ้าตัดด้วยหมวกหนึ่ง  เจ้านครลำพูน ตัดหมวกหนึ่ง  แล้วให้มีหนังสือไปเชิญเจ้านครลำพูนๆ มีหนังสือบอกป่วยตอบมา   ครั้นวันแห่วันแรกพระเจ้านครเชียงใหม่บอกข้าพระพุทธเจ้าว่าเจ้านครลำพูนบอกป่วย  ข้าพระพุทธเจ้าว่าให้เจ้านายผู้ใดไปบอกว่า  พระเจ้านครเชียงใหม่กับข้าพระพุทธเจ้าให้ไปเชิญมา  พระเจ้านครเชียงใหม่ก็ให้นายน้อยมหาวงษไปเชิญ  เจ้านครลำพูนก็มาถึงต่อวันแห่ที่สอง...”

อนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทราบความในใบบอกฉบับลงวันอังคาร  เดือน ๑๑  ขึ้น ๑ ค่ำ  ปีมะแมเบญจศก  จุลศักราช ๑๒๔๕ (วันที่  ๒  ตุลาคม  พ.ศ. ๒๔๒๖)  ที่พระยาราชสัมภารากรกราบบังคมทูลพระกรุณาเรื่องพระเจ้านครเชียงใหม่เตรียมการจัดจุกเจ้าดารารัศมีนั้นแล้ว  ก็ได้มีพระราชหัตถเลขาลงวันศุกร์  เดือน ๑๒  แรม ๙ ค่ำปีมะแมเบญจศก  จุลศักราช ๑๒๔๕ (วันที่  ๒๓  พฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๔๒๖) พระราชทานไปยังพระยาราชสัมภารากรให้อัญเชิญกระแสพระบรมราชโองการไปชี้แจงแก่พระเจ้าอินทวิชยานนท์ และเจ้าทิพเกสร ทราบ  ดังมีความในพระราชหัตถเลขานั้นว่า
 “...ถึงพระยาราชสัมภารากรข้าหลวงสามเมือง  ด้วยมีหนังสือฉบับที่ ๔  ลงวัน ๓  เดือน ๑๑  ขึ้น ๑ ค่ำปีมแมเบญจศก  บอกด้วยการซึ่งพระเจ้าเชียงใหม่คิดจะโกนจุกบุตร  แลมีใบบอกทางราชการแลใบบอกไปรเวศ  ถวายสมเดจพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เปนหลายฉบับ  ได้ทราบความตลอดแล้ว
บอกทางราชการแลบอกไปรเวตถวายสมเดจพระเจ้าบรมวงษเธอนั้น  ได้ถวายความไปให้ท่านทรงตอบตลอดแล้ว  แต่เรื่องโกนจุกนั้น  เมื่อพระเจ้าเชียงใหม่ลงมาอยู่กรุงเทพฯ  ทิพเกสรก็ได้บอกให้รู้  เรารับไว้ว่าจะทำขวัญ  จึ่งได้ส่งตุ้มหูระย้าเพชรคู่หนึ่งขึ้นมา  ให้พระยาราชสัมภารากรนำไปทำขวัญ  แต่ต้องชี้แจงให้ทราบ  ว่าธรรมเนียมเจ้าแผ่นดิน  ทำขวัญโกนจุกโดยทางราชการนั้นไม่มี  เปนแต่เมื่อบุตรข้าราชการที่ถวายตัวทำราชการอยู่ในวังทูลลาโกนจุก  ก็พระราชทานเงินพระคลังในที่ทำขวัญบ้าง  แต่บุตรข้าราชการที่ไม่ได้ทำราชการนั้น  ต่อทรงพระกรุณาบิดามาก  จึงได้พระราชทานบ้าง  มีน้อยราย  แต่ก็เปนของพระคลังข้างที่ทั้งนั้น  ไม่นับว่าเปนราชการแผ่นดิน  จึ่งไม่ได้มีศุภอักษรส่งของขึ้นมาตามทางราชการ

การซึ่งพระยาราชสัมภารากรได้ตริตรองโยกย้ายเหนี่ยวรั้ง  เพื่อจะไม่ให้พระเจ้านครเชียงใหม่รีบทำการโกนจุก  เพราะเกรงจะเปนธรรมเนียมกรุงเทพฯ  ก็เปนอัธยาไศรยตริตรองรอบคอบดีอยู่  แต่การโกนจุกนี้เปนน้ำท่วมทุ่ง  บางคนก็ทำมาก  บางคนก็ทำน้อยตามอัธยาไศรย  ไม่สู้เปนการสลักสำคัญอันใดนัก  ถึงจะทำการก็คงไม่เหมือนกรุงเทพฯ ทีเดียว  ซึ่งผ่อนผันไปไม่ให้เปนการขัดอกขัดใจกันในการไม่พอ  เรื่องดังนี้เปนการชอบแล้ว  อย่าให้มีความหวาดหวั่นอันใดเลย...”


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 พ.ค. 15, 20:57
เรือนตึกเจ้าจอมก๊กออ


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 พ.ค. 15, 21:03
เจ้าจอมก๊กออ
ย่อความจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เจ้าจอมก๊กออ เป็นชื่อที่ใช้เรียกพระสนมเอกทั้งห้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีนามขึ้นต้นด้วยอักษร อ. อ่าง อันได้แก่ เจ้าจอมมารดาอ่อน เจ้าจอมเอี่ยม เจ้าจอมเอิบ เจ้าจอมอาบ และเจ้าจอมเอื้อน ซึ่งทั้งหมดเป็นเป็นบุตรีของเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) กับท่านผู้หญิงอู่ ภริยาเอก
 
แรกเริ่มเจ้าจอมมารดาอ่อน ได้เข้าถวายตัวเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปีพ.ศ. 2428 และเจ้าจอมเอี่ยม ในปีพ.ศ. 2429 ตามมาด้วยเจ้าจอมเอิบในปีเดียวกัน เจ้าจอมอาบในปี พ.ศ. 2434 และเจ้าจอมเอื้อนในปี พ.ศ. 2447 ซึ่งเจ้าจอมท่านสุดท้ายนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสขอเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์และท่านผู้หญิงอู่เพื่อให้มีจำนวนครบห้าคน นอกจากเจ้าจอมก๊กออทั้งห้าแล้ว ยังมีน้องสาวต่างมารดาที่เข้ารับราชการฝ่ายในคือ เจ้าจอมแก้ว (เกิดแต่หม่อมพวง) และเจ้าจอมแส (เกิดแต่หม่อมทรัพย์)  ถวายตัวในปี พ.ศ. 2451

โดยเจ้าจอมมารดาอ่อนมีประสูติกาลพระราชธิดาสองพระองค์คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา ส่วนเจ้าจอมเอี่ยม ตั้งครรภ์พระองค์เจ้าแต่ตกเสียไม่เป็นพระองค์สองครั้ง  ขณะที่เจ้าจอมท่านที่เหลือมิได้ให้ประสูติกาลพระราชบุตรธิดาเลย

อย่างไรก็ตามเจ้าจอมก๊กออทั้งห้าเป็นพระสนมคนโปรดของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (มีเพียงเจ้าจอมอาบเท่านั้นที่มิได้เป็นพระสนมเอก) ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะความซื่อสัตย์และจงรักภักดีของเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญที่ผูกพระราชหฤทัยมิเสื่อมคลาย และทำให้เจ้าจอมก๊กออเป็นที่โปรดปรานเป็นระยะเวลามากว่า 30 ปี แม้บางท่านไม่มีพระเจ้าลูกเธอมาเป็นเครื่องผูกมัด  สิ่งนั้นก็คือคุณสมบัติพิเศษของเจ้าจอมก๊กออในแต่ละท่าน อาทิ เจ้าจอมเอี่ยม เป็นผู้ชำนาญงานนวด เพราะได้ศึกษาเกี่ยวกับกายภาพจนทราบดีถึงกล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกาย รู้จังหวะหนักเบาในการกดคลึง ทำให้หายขบเมื่อยและรู้สึกเบาสบาย ส่วนเจ้าจอมเอิบ เป็นผู้ที่มีไหวพริบและเอกอุในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มีหน้าที่ในการแต่งฉลองพระองค์ของพระราชสวามี  มีความสามารถในการถ่ายภาพ และสามารถทำอาหารได้พิถีพิถันต้องพระราชหฤทัยโดยเฉพาะการทอดปลาทู

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้แปรพระราชฐานมาประทับที่พระที่นั่งวิมาณเมฆ เจ้าจอมก๊กออได้ย้ายมาอยู่ที่วังสวนสุนันทาด้วย

แต่ด้วยความเป็นกลุ่มคนโปรดของพระปิยมหาราช จึงเป็นเหตุที่ทำให้สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระอัครมเหสี ไม่พอพระทัยนัก และปฏิเสธที่จะเสด็จตามพระราชสวามีไปยังเมืองเพชรบุรี ที่ซึ่งระยะหลังๆ พระราชสวามีได้เสด็จไปบ่อยดุจราชสำนักประจำ สมเด็จพระพันปีหลวงทรงตรัสกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมารว่า "จะให้แม่ไปประจบเมียน้อยของพระบิตุรงค์นั้น เหลือกำลังละ" แต่กลางปี พ.ศ. 2453 สมเด็จพระพันปีหลวงได้ตามเสด็จพระราชสวามีไปยังเมืองเพชรบุรีด้วย ครั้นหลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงทุพพลภาพมากขึ้น และไม่ได้เสด็จเพชรบุรีอีกเลยจนกระทั่งสวรรคต

หลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นพระราชสวามี เหล่าเจ้าจอมก๊กออและพระราชธิดาทั้งสองคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา ยังคงพำนักอยู่ในในวังสวนสุนันทา

แต่ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เจ้าจอมก๊กออได้ย้ายไปมาอยู่ที่เรือนสร้างใหม่ริมคลองสามเสนกับถนนนครราชสีมา โดยสร้างบนที่ดินพระราชทานกันคนละแปลงแบ่งเป็นสัดส่วน เรียกว่า "สวนนอก" ส่วนของเจ้าจอมมารดาอ่อนและพระราชธิดาเรียกว่า วังสวนปาริจฉัตก์ หรือ สวนท่านอ่อน
ส่วนที่เป็นของท่านเจ้าจอมน้องๆทั้งสี่ท่านที่เหลือ ก็เรียกตามชื่อตัวว่า สวนท่านเอิบ, สวนท่านอาบ และสวนท่านเอี่ยม ตามลำดับ และพำนักอยู่จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรม

เจ้าจอมก๊กออที่ถึงแก่อสัญกรรมเป็นลำดับท้ายสุดคือ เจ้าจอมมารดาอ่อน ที่ถึงแก่อสัญกรรมในรัชกาลปัจจุบันในปี พ.ศ. 2512



กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 พ.ค. 15, 06:39
ตำหนักพระองค์เจ้าศศิพงษ์ประไพ


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 พ.ค. 15, 06:51
พระองค์เจ้าศศิพงษ์ประไพ
ความจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ฯลฯ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศศิพงศ์ประไพ (26 เมษายน พ.ศ. 2424 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2477) เป็นพระราชธิดาลำดับที่ 31 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและ เจ้าจอมมารดาจันทร์ ผู้เป็นธิดาพระยาราชสัมภารากร (เทศ)และคุณหญิงอ่ำ มีพระธิดา 1พระองค์ ประสูติวันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2424

เมื่อทรงสร้างพระราชวังสวนดุสิตแล้ว เจ้าจอมมารดาจันทร์ และพระองค์เจ้าศศิพงษ์ประไพทรงย้ายจากพระตำหนักฝ่ายในของพระบรมมหาราชวัง ตามเสด็จมาประทับที่วังศศิพงศ์ประไพ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา

เจ้าจอมมารดาจันทร์ถึงแก่อสัญกรรมในปี 2463 ส่วนพระองค์เจ้าศศิพงษ์ประไพสิ้นพระชนม์วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 ในรัชกาลที่ 7 พระชันษา 53 พรรษา ด้วยพระอาการพระอันตะ (ลำไส้ใหญ่) อักเสบ



กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 พ.ค. 15, 07:37
ตำหนักพระองค์เจ้าจุฑารัตน์ราชกุมารี


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 พ.ค. 15, 07:40
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุฑารัตน์ราชกุมารี
ความจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ฯลฯ

เจ้าจอมมารดามรกฎ (พ.ศ. 2398 - พ.ศ. 2458) เป็นบุตรีของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) กับ ท่านผู้หญิงมหินทรศักดิ์ธำรง (หุ่น) ธิดาพระยานครอินทร์รามัญ
เจ้าจอมมารดามรกฎ มีพระโอรสธิดา 2 พระองค์ คือ
พระองค์เจ้าหญิงจุฑารัตนราชกุมารี
พระองค์เจ้าชายเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุฑารัตนราชกุมารี ประสูติวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2415 เป็นพระราชธิดา ลำดับที่ ๗ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีความสนพระทัยในด้านกาพย์กลอนจนเป็นที่ยกย่องในแวดวงวรรณกรรม ทรงสามารถใช้ภาษาได้อย่างเสนาะน่าฟังและเข้าใจง่าย ดังตัวอย่างที่ปรากฏในบทร้องพระนิพนธ์ เมื่อเสด็จเมืองเพชรบุรี พ.ศ.๒๔๗๒ ที่เปรียบเทียบสิ่งต่างๆ ได้อย่างไพเราะ และนิราศหัวหินที่งดงามทางด้านวรรณศิลป์

ในเรื่องความเป็นศิลปินนี้ เห็นได้จากสายสกุลทางบิดาของเจ้าจอมมารดามรกต ที่มีความสามารถในทางการประพันธ์ดนตรี ทั้งยังมีคณะละครและดนตรีวงใหญ่ ส่วนพระอนุชา พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ ก็มีวงพิณพาทย์ส่วนพระองค์ที่มีชื่อเสียง และจัดว่าเป็นนักประพันธ์ผู้หนึ่งที่มีความสามารถยิ่ง ตามสายพระโลหิต

ภายหลังเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมเหสี และทรงมีข้าราชบริพารฝ่ายในของพระองค์แล้ว บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในและเจ้าจอมคุณพนักงาน ในรัชกาลที่ ๕ จึงเริ่มออกมาประทับและมาพำนักกับพระโอรสหรือพระประยูรญาติ  พระองค์เจ้าจุฑารัตนราชกุมารี จึงได้ทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเข้ามาประทับ ณ ตำหนักในสวนสุนันทา นอกจากนี้ยังเสด็จไปประทับที่ตำหนักสุขสมหมาย ริมหาดหัวหิน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อสำราญพระอิริยาบถอยู่บ่อยครั้ง

พระองค์ประชวรพระโรคพระอันตะ (ลำไส้ใหญ่) และพระวักกะ (ไต) สิ้นพระชนม์วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2473 พระชันษา 58 พรรษา


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 พ.ค. 15, 09:22
ตำหนักกรมหลวงวรเสรฐสุดา


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 พ.ค. 15, 09:26
พระเจ้าอัยยิกาเธอ พระองค์เจ้าบุตรี กรมหลวงวรเสรฐสุดา
ความบางตอนจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ฯลฯ

พระเจ้าอัยยิกาเธอ พระองค์เจ้าบุตรี กรมหลวงวรเสรฐสุดา เป็นพระราชธิดาพระองค์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติเมื่อวันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2371  ในเจ้าจอมมารดาอึ่ง (สายสกุล กัลยาณมิตร) ผู่ที่ต่อมาได้เป็นท้าวสมศักดิ์ 

กรมหลวงวรเสรฐสุดาทรงเชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์และโบราณราชประเพณี และทรงรอบรู้ในพระไตรปิฎก นอกจากนี้ยังทรงเป็นผู้ถวายอุปการะเลี้ยงดูสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ขณะทรงเป็นหม่อมเจ้ารำเพย เนื่องจากทรงเป็นกำพร้าทั้งพระชนกและพระชนนีตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ 
หม่อมเจ้าหญิงรำเพยเป็นพระราชนัดดาที่รัชกาลที่ 3 ทรงมีพระเมตตาเป็นอย่างยิ่ง โปรดเกล้าให้ประทับกับพระองค์เจ้าบุตรี กรมหลวงวรเสรฐสุดา ณ ตำหนักต้นจำปี เพื่อทรงศึกษาอักษรวิธีและโบราณราชประเพณี ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 หม่อมเจ้าหญิงรำเพยทรงเข้ารับราชการเป็นพระภรรยาเจ้า พระราชโอรสที่สำคัญยิ่งคือสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์

นอกจากนี้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุตรี กรมหลวงวรเสรฐสุดา ผู้ทรงรอบรู้ด้านอักษรศาสตร์ และโบราณราชประเพณีอย่างยิ่ง ยังได้เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรแด่ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ และพระราชโอรส พระราชธิดาทุกพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สำหรับการศึกษาขั้นแรก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระยศเป็น พระเจ้าอัยยิกาเธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา เมื่อ ปี พ.ศ. 2439 ทรงกำกับดูแลด้านพิธีกรรมต่างๆ และโบราณราชประเพณีของวังหลวง
พระเจ้าอัยยิกาเธอ พระองค์เจ้าบุตรี กรมหลวงวรเสรฐสุดา ทรงดำรงพระชนม์ชีพเป็นองค์สุดท้ายและมีพระชนมายุมากที่สุดในจำนวนพระราชโอรสพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  โดยสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2450 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิริพระชันษา 80 ปี


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 พ.ค. 15, 10:15
ตำหนักพระองค์เจ้าวรลักษณาวดี


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 พ.ค. 15, 10:17
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรลักษณาวดี
ย่อความจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรลักษณาวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาสุด สุกุมลจันทร์ (ธิดาพระยาสุรินทรราชเสนี (จั่น) กับคุณหญิงกลิ่น) เมื่อวันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2415

พระองค์เจ้าวรลักษณาวดี สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 7 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2469 ปีขาล พระชันษา 55 ปี


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NT ที่ 10 พ.ค. 15, 13:24
เรียนถามว่า มีพระราชธิดา ร.5 พระองค์ใด ไม่มีตำหนักในเขตพระราชฐานชั้นในไหมครับ ผมเข้าใจว่าหากเป็นพระราชธิดารุ่นหลังๆ อาจจะเข้าสู่ช่วงการสร้างพระราชวังดุสิต จึงไปสร้างตำหนักที่เขตพระราชฐานใหม่เลย อย่างนี้หรือเปล่าครับ ?


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 พ.ค. 15, 19:24
ไม่มีครับ พระที่นั่งวิมานเมฆซึ่งเป็นพระที่นั่งถาวรองค์แรกในพระราชวังดุสิตนั้น สร้างเสร็จและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๔๔๕
แต่พระองค์เจ้าเหมวดี พระราชธิดาพระองค์สุดท้ายประสูติวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๔๓๕ ก่อนหน้าประมาณสิบปี


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 พ.ค. 15, 07:01
พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๕ มิได้เสด็จออกมาที่ประทับวังสวนสุนันทาทีเดียวพร้อมกัน แต่ทยอยกันมาส่วนใหญ่ก็หลังสิ้นรัชกาลแล้ว เสด็จไปประทับกับญาติก็มาก สุดท้ายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็ทรงย้ายออกไปกันเกือบหมด เหลือเพียงสองพระองค์ เท่าที่ผมหาเจอจากหน้าของชมรมคนรักวังและบ้านโบราณมีดังนี้

๑.วังสมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์  กรมหลวงเพชรบุรีราชสินธร (วังคันธวาส) ปัจจุบันคือบริเวณพื้นที่โรงแรมพลาซ่า แอธธินี
๒.วังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร (วังวาริชเวสม์) ปัจจุบัน เป็นอาคารอนุรักษ์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และครอบครองใช้ประโยชน์โดยบริษัทแม็ทชิ่ง สตูดิโอ จำกัด (มหาชน)
๓.วังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี (วังราชทัต) คือบริเวณหลังโรงแรมโฟร์ซีซั่น
๔.วังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ พระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา ในเจ้าจอมมารดาอ่อน (สวนปาริฉัจต์) ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของพระญาติ
๕.วังดาหาปาตี เมืองบันดุง/ตำหนักสายสุทธานพดล สวนสุนันทา ที่ประทับสุดท้ายของสมเด็จเจ้าฟ้านิภานพดล กรมขุนอู่ทองขัติยนารี
๖.สมเด็จเจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ ประทับ ณ ตำหนักสมเด็จ/ตำหนักริมน้ำ วังบางขุนพรหม
๗.พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพ ประทับ ณ ตำหนักในพระบรมมหาราชวัง
๘.ตำหนักพระองค์เจ้าอรพินธ์เพ็ญภาค ปัจจุบันอยู่ในสถานีตำรวจนครบาลดุสิต ติดกับเขตดุสิต
๙.ตำหนักพระองค์เจ้าศศิพงศ์ประไพ ปัจจุบันเป็นบ้านพักอาจารย์ ในบริเวณโรงเรียนอักษรเจริญ
๑๐.ตำหนักพระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา ปัจจุบันห้องสมุดและร้านกาแฟ  ในบริเวณที่ทำการพรรคชาติไทย และ บางส่วนเป็น สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย
๑๑.ตำหนักพระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา(ตำหนักทิพย์) สามเสน  ปัจจุบันอยู่ในบริเวณกลุ่มบ้านของสกุลไกรฤกษ์
๑๒.สมเด็จเจ้าฟ้ามาลินีนพดารา ประทับที่ตำหนักมาลินี (ตำหนักเล็ก)ในวังสวนสุนันทา
๑๓.พระองค์เจ้าหญิงเยาวภาพงศ์สนิท เดิมประทับที่ตำหนักเยาวภาในวังสวนสุนันทา ต่อมาย้ายไปประทับวังวิทยุกับพระอนุชา


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 พ.ค. 15, 07:03
รบกวนท่านผู้รู้แห่งเรือนไทย อนุเคราะห์ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน พระบรมมหาราชวัง เป็นวิทยาทานครับ เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ผมไปกราบพระแก้วมรกตที่พระอุโบสถวัดพระแก้ว และเข้าชมปราสาทพระเทพบิดร มองไปทางทิศใต้พบว่ามีพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นกลาง-ในอยู่ไกลๆ มีสถาปัตยกรรมต่างๆ น่าสนใจ แต่สอบถามเจ้าหน้าที่แล้ว พบว่าไม่มีโอกาสที่คนทั่วไปจะเข้าไปได้เลยครับ ผมสืบค้นดูในกูเกิลก็มีอยู่บ้างแต่น่าจะยังไม่ครบถ้วน ขอขอบพระคุณล่วงหน้า

ผมจะไม่ตามไปเก็บรายละเอียดนะครับ ขอทำการบ้านที่คุณNTให้มาตามข้างบนเท่านั้น


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 11 พ.ค. 15, 07:26
แผนที่ข้างล่างนี้เป็นแผนที่แสดงที่ดินที่พระราชทานเจ้าจอมมารดาและพระราชธิดาในรัชกาลที่ ๕  ระหว่างถนนราชวัตรเดิมกับคลองสามเสน 
ถนนราชวัตรเดิมปัจจุบันมีสภาพเป็นซอยตันหลังคณะเด็กเล็กโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยและที่เอกชนเช่าจากพระคลังข้างที่  รายพระนามและรายนามในแผนที่เป็นพระนามและนามผู้ครอบครองที่ดินนั้นใน พ.ศ. ๒๔๖๒ ซึ่งเป็นที่พระราชทานที่ดินผืนดังดล่าวแก่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง 
ถนนพุดตาน ปัจจุบันคือ ถนนพิชัย



กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 พ.ค. 15, 07:53
ตำหนักพระองค์เจ้าเหมวดี


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 พ.ค. 15, 08:00
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี
ความจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี และ น.พ.พูนพิศ อมาตยกุล ฯลฯ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี ประสูติวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2435 เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาเหม เดิมพระองค์ทรงพระนามว่า พระองค์เจ้ามัณฑนาภาวดี

เจ้าจอมมารดาเหม เป็นบุตรีคนโตของพระยาธรรมสารนิติวิชิตภักดี (พลับ อมาตยกุล) และท่านขรัวยายแสง เกิดที่บ้านหน้าวัดราชบูรณะ(วัดเลียบ)ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อเล็กได้เรียนหนังสือที่บ้านจนอ่านออกเขียนได้ดี ในบ้านของท่านมีวงเครื่องสายเล่นอยู่เป็นประจำ จึงคุ้นเคยกับดนตรีและการขับร้องมาแต่ยังเยาว์ เมื่ออายุได้ ๑๒ ปี บิดาได้นำไปฝากให้อยู่ในความดูแลของท้าวทรงกันดาล (วรรณ อมาตยกุล) ผู้เป็นอาแท้ ๆ และเป็นผู้บังคับการพระคลังฝ่ายในอยู่ในพระบรมมหาราชวัง พร้อมด้วยน้องสาวของท่านชื่อประคอง ได้เรียนวิชาที่กุลสตรีสมัยนั้นนิยม คือ การช่างการฝีมือ และการขับร้อง จนสามารถร้องเพลงกับมโหรีโบราณได้โดยตลอด โดยร้องเป็นต้นเสียงได้ดีเพราะแม่น รวมทั้งเรียนวิชาหมอนวดและปรุงน้ำอบไทย

ต่อมาได้ถวายตัวเป็นข้าราชการฝ่ายใน และได้เป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ 5 เมื่ออายุ 14 ปี  เจ้าจอมมารดาเหมก็มีพระองค์เจ้าชายประสูติองค์หนึ่ง แต่สิ้นพระชนม์ก่อนครบกำหนด แล้วจึงประสูติพระองค์เจ้าหญิงอีกพระองค์หนึ่งตามมา ทรงพระนามว่า พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้ามัณฑนาภาวดี ต่อมาขณะพระชันษาได้ 6 ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนพระนามใหม่เป็น พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเหมวดี  เมื่อพระองค์เจ้าประสูติแล้ว หน้าที่พนักงานมโหรีของเจ้าจอมมารดาเหมก็จบลงเพราะต้องเลี้ยงพระราชธิดา
 
ระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ ท่านป่วยเป็นมะเร็งที่เต้านม และยอมให้แพทย์ฝรั่งทำการผ่าตัดอย่างกล้าหาญ นับเป็นสตรีไทยคนแรกที่ได้รับการรักษามะเร็งที่เจ้านมเป็นผลสำเร็จ รอดชีวิตมาได้อีก ๒๕ ปี เจ้าจอมมารดาเหมถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ รวมอายุได้ ๖๗ ปีเต็ม

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี สิ้นพระชนม์วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2515 ด้วยพระโรคพระวักกะพิการ พระชันษา 80 ปี พระองค์ทรงเคยประทับที่วังราชทัต ปัจจุบันคือบริเวณหลังโรงแรมโฟร์ซีซัน ถนนราชดำริ กรุงเทพมหานคร


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 พ.ค. 15, 08:49
บังเอิญเพิ่งจะเห็นครับ ถ้าเห็นแต่แรกก็คงไม่ต้องทำงานหนักเช่นนี้

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%95%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%90%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%99_(%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%87)


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 พ.ค. 15, 14:28
ตำหนักพระองค์เจ้าพระองค์เจ้าแขไขดวง


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 พ.ค. 15, 14:31
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแขไขดวง
ความจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี  ฯลฯ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแขไขดวง ประสูติวันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2406 เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 8 ใน 10 พระองค์ของเจ้าจอมมารดาเที่ยง (สกุลเดิม โรจนดิศ)

เจ้าจอมมารดาเที่ยง เกิดเมื่อ พ.ศ. 2374 เป็นธิดาคนโตของ พระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ โรจนดิศ) และขรัวยายคล้าย มีน้องสาวที่เข้าถวายตัวเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยกัน คือ เจ้าจอมมารดาชุ่ม และ เจ้าจอมมารดาทับทิม (ธิดาขรัวยายอิ่ม) และเจ้าจอมมารดาแส (ธิดาขรัวยายบาง) เจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดปรานและไว้วางพระราชหฤทัยยกย่องเป็นพระสนมผู้ใหญ่ โปรดเกล้าฯให้บัญชาการห้องพระเครื่องต้น เจ้าจอมมารดาเที่ยงให้พระประสูติการพระราชโอรส พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึง 10 พระองค์ คือ

พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดี (พ.ศ. 2395-2474) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดา กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ์
พระองค์เจ้าชายเสวตรวรลาภ (พ.ศ. 2399-2402) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเสวตรวรลาภ
พระองค์เจ้าหญิงศรีนาคสวาดิ (พ.ศ. 2398-2456) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิ
พระองค์เจ้าชายกมลาสน์เลอสรรค์ (พ.ศ. 2399-2474) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากมลาสเลอสรรค์ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร
พระองค์เจ้าหญิงกนกวรรณเลขา (พ.ศ. 2400-2461) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากนกวรรณเลขา
พระองค์เจ้าหญิง (ประสูติเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2402 สิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชันษาได้ 8 วัน)
พระองค์เจ้าชายไชยานุชิต (พ.ศ. 2404-2478) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยานุชิต กรมหมื่นพงศาดิศรมหิป
พระองค์เจ้าหญิงแขไขดวง (พ.ศ. 2406-2472) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแขไขดวง
พระองค์เจ้าชายจรูญฤทธิเดช (พ.ศ. 2408 สิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชันษาได้ 9 วัน) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญฤทธิเดช
พระองค์เจ้าหญิงพวงสร้อยสอางค์ (พ.ศ. 2409-2493) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์

เจ้าจอมมารดาเที่ยง เป็นผู้สร้างวัดขึ้นที่ตำบลบางซื่อเมื่อ พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5 พระราชทานนามวัดว่า วัดมัชฌันติการาม ซึ่งมาจากคำว่า มัชฌันติก และ อาราม มีความหมายว่า "วัดของเจ้าจอมมารดาเที่ยง"

เจ้าจอมมารดาเที่ยง ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2456 อายุได้ 82 ปี 1 เดือน 6 วัน

พระองค์เจ้าหญิงแขไขดวงนั้น พระบรมราชชนกได้เสด็จสวรรคตเมื่อพระองค์มีพระชันษาได้เพียง 5 ปี ทรงจำได้ว่าพระราชบิดารับสั่งเรียกพระองค์ว่า "ลูกแขจ๋า" แต่ทรงจำพระพักตร์พระราชบิดาไม่ได้
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแขไขดวง สิ้นพระชนม์วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2472 สิริพระชนมายุ 66 พรรษา


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NT ที่ 11 พ.ค. 15, 15:24
รบกวนท่านผู้รู้แห่งเรือนไทย อนุเคราะห์ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน พระบรมมหาราชวัง เป็นวิทยาทานครับ เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ผมไปกราบพระแก้วมรกตที่พระอุโบสถวัดพระแก้ว และเข้าชมปราสาทพระเทพบิดร มองไปทางทิศใต้พบว่ามีพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นกลาง-ในอยู่ไกลๆ มีสถาปัตยกรรมต่างๆ น่าสนใจ แต่สอบถามเจ้าหน้าที่แล้ว พบว่าไม่มีโอกาสที่คนทั่วไปจะเข้าไปได้เลยครับ ผมสืบค้นดูในกูเกิลก็มีอยู่บ้างแต่น่าจะยังไม่ครบถ้วน ขอขอบพระคุณล่วงหน้า

ผมจะไม่ตามไปเก็บรายละเอียดนะครับ ขอทำการบ้านที่คุณNTให้มาตามข้างบนเท่านั้น

ขอบพระคุณ อจ. NAVARAT.C มากครับ ผมเองเป็นเด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้รู้จักมักคุ้นกับผู้ใหญ่ในเรือนไทยเป็นการส่วนตัว แต่กลับได้ความกรุณาให้ความรู้หลายต่อหลายครั้ง ;D


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 พ.ค. 15, 15:42
ด้วยความยินดีครับ ภาพพระตำหนักยังมีอีก จะค่อยๆลงให้ครับ


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 พ.ค. 15, 17:26
ตำหนักพระองค์เจ้าผ่อง


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 พ.ค. 15, 17:28
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพ
ความจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี  หม่อมหลวงศรีฟ้า ลดาวัลย์ ฯลฯ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพ หรือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงผ่อง ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2410  นับเป็นพระราชธิดาพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่เมื่อครั้งพระองค์ยังดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ พระชนมายุยังไม่ถึงสิบห้าพรรษา ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แข  ซึ่งเป็นพระพี่เลี้ยงซึ่งมีอายุมากกว่าสองสามปีของพระองค์เอง เมื่อความทราบถึงพระกรรณ  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกริ้วมากที่ทำให้พระราชโอรสทรงประพฤติเกินวัย แต่พระองค์ก็มิได้ทรงลงโทษผู้ใด

เจ้าจอมมารดาม.ร.ว.แข เป็นธิดาของหม่อมเจ้านก โอรสของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไกรสร กรมหลวงรักษณ์รณเรศร์ (ต้นราชสกุลพึ่งบุญ) ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีความผิดมหันตโทษ จึงถูกลดฐานันดรศักดิ์ลงเป็นหม่อมไกรสร  หม่อมเจ้านกก็ถูกลดเป็นหม่อมนก หม่อมราชวงศ์แขจึงเป็นแค่คุณแข แต่เมื่อเป็นนางห้ามในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ครั้นเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ ๕  คุณแขและหม่อมเจ้าหญิงที่ประสูติ จึงได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าจอมมารดาม.ร.ว.แข และ พระองค์เจ้าผ่องประไพตามราชประเพณี
 
มีเรื่องเล่าอีกเรื่องว่าเมื่อทรงประสูติใหม่ๆเจ้าจอมมารดาเที่ยงในรัชกาลที่ 4 ทรงอุ้มพระองค์ให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตร ทรงถามว่าใคร เจ้าจอมมารดาเที่ยงท่านก็ไม่ตอบแต่กราบบังคมทูลถามว่าเหมือนใคร ทรงตอบว่า "เหมือนแม่เพย" ซึ่งก็คือสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เป็นที่รู้กันว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดเจ้าจอมมารดาม.ร.ว.แขเลย ประกอบกับพระอุปนิสัยของพระองค์เจ้าผ่องค่อนข้างดื้อจึงถูกลดความสำคัญลง มิได้เป็นที่โปรดปรานของพระราชบิดา เมื่อยังทรงพระเยาว์นั้น แม้ทรงพระบังคนเสร็จก็มักไม่ใคร่ลุกขึ้นจากโถ พระพี่เลี้ยงจะตักเตือนอย่างไรก็ทรงฟัง เพราะความดื้อรั้นจึงถูกปล่อยให้ทรงนั่งเช่นนั้นหลายชั่วโมง

ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้เจ้านายทุกพระองค์ทรงยกเลิกการหมอบคลาน แต่ให้ยืนคำนับแบบตะวันตก ครั้งนั้นเจ้านายทุกพระองค์ทรงลุกขึ้นยืนหมดยกเว้นพระองค์เจ้าหญิงผ่องที่ยังทรงหมอบอยู่  พระพุทธเจ้าหลวงทรงกริ้วมากถึงกับเสด็จไปดึงพระเมาฬีให้ลุกขึ้น

ถึงแม้พระองค์เจ้าหญิงผ่องจะไม่เป็นที่โปรดปรานของพระราชบิดานัก แต่ความเป็นพ่อลูกก็ตัดกันไม่ขาด ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยุ่หัวมีกำหนดการเสด็จเยี่ยมฝ่ายใน ชาววังต่างก็เตรียมการรับเสด็จ พระองค์เจ้าผ่องก็ทรงทำพัดขนนกขนาดใหญ่เพื่อที่จะทูลเกล้าฯถวาย เมื่อถึงวันนั้น ขณะเสด็จไปตามลาดพระบาท ทรงทักทายเจ้านายฝ่ายในโดยทั่วกัน เมื่อเสด็จถึงตรงหน้าพระองค์เจ้าหญิงผ่อง ทรงหยุดทักและรับพัดขนนกไว้ พระองค์เจ้าหญิงผ่องกราบแทบพระบาทของสมเด็จพระบรมราชชนก ทรงรับสั่งถามว่าอยากได้อะไร พระองค์เจ้าผ่องกราบบังคมทูลว่า "อยากได้พระธำมรงค์เพคะ" จึงพระราชทานพระธำมรงค์เพชรแก่พระราชธิดาพระองค์แรกตามพระประสงค์ พระองค์เจ้าผ่องทรงกราบอีกครั้ง น้ำพระเนตรคลอ เพราะในชีวิตของพระองค์ไม่ได้มีโอกาสรับใช้ใกล้ชิดพระยุคลบาทเหมือนน้องๆพระองค์อื่นเลย แล้วพระเจ้าอยุ่หัวก็ทรงถือพัดชนนกและเสด็จพระราชดำเนินต่อไป สร้างความปลาบปลื้มให้แก่พระองค์หญิงผ่อง และเจ้านายพระองค์อื่นๆที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นเป็นอย่างมาก

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระราชวังสวนดุสิต พระมเหสี เจ้าจอมมารดา เจ้าจอม พระราชธิดา ต่างเสด็จออกไปมีตำหนักเพื่อเฝ้าใกล้ชิด แต่พระองค์เจ้าผ่องยังคงประทับอยู่ตำหนักเดิมในวังหลวง
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพ ทรงประทับในพระบรมมหาราชวังตลอดพระชนม์ชีพ จนถึงวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2485 สิริพระชนมายุ 75 พรรษา



กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 พ.ค. 15, 07:21
ตำหนักพระองค์เจ้าวารีรัตนกัญญา


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 พ.ค. 15, 07:24
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวารีรัตนกัญญา
ความจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี  ฯลฯ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาณีรัตนกัญญา ประสูติเมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2400 เป็นพระราชธิดาองค์ที่ 39 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแก้ว สายสกุลต่อมาได้รับพระทานนามสกุลว่า บุรณศิริ

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ทรงพากันอพยพออกจากพระบรมมหาราชวัง พระตำหนักฝ่ายในแทบไม่มีเจ้านายประทับอยู่เลย ครั้งนั้นพระองค์ยังคงประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ด้วยมีพระชันษาสูงและทรงอ้วน ทำให้เสด็จพระดำเนินไม่สะดวกนัก โดยพระองค์พำนักอยู่ร่วมกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพ พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระองค์เจ้าวารีรัตนกัญญาสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2478


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 พ.ค. 15, 07:46
เรือนเจ้าจอมเง็ก อดีตเรือนเจ้าจอมมารดา ม.ร.ว.จิ๋ว


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 พ.ค. 15, 07:50
เจ้าจอมมารดา ม.ร.ว.จิ๋ว
ความจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี  ฯลฯ

หม่อมราชวงศ์จิ๋วเป็นธิดาหม่อมเจ้าวัฒนา พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากปิตถา กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์(ต้นราชสกุล กปิตถา)
หม่อมเจ้าวัฒนาผนวชเรียนอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ต่อมาเมื่อเจริญพระชันษาขึ้นได้ทรงลาสิกขามารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ ซึ่งเป็นกรมในกำกับของกรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ และเป็นผู้ที่ได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท จึงได้นำหม่อมราชวงศ์จิ๋วเข้าถวายตัวเป็นเจ้าจอม และได้พระสูติพระราชธิดาพระองค์หนึ่ง แต่สิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมา
 
เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์จิ๋วยังคงเป็นเจ้าจอมคนโปรดที่ได้รับพระราชทานเรือนเป็นพิเศษในพระบรมมหาราชวัง จนอสัญกรรม
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯพระราชทานเรือนหม่อมราชวงศ์จิ๋วให้เจ้าจอมเง็กเข้าไปอยู่  น่าเสียดายที่ไม่ปรากฏข้อมูลอื่นๆของเจ้าจอมเง็ก


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 พ.ค. 15, 16:40
เรือนคุณท้าววรจันทร์


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 พ.ค. 15, 16:46
คุณท้าววรจันทร์ (เจ้าจอมมารดาวาด)
ความจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี  ฯลฯ

ท้าววรจันทร (เจ้าจอมมารดาวาด) เกิดเมื่อ 11 มกราคม พ.ศ. 2384 เป็นเจ้าจอมเอกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระเจ้าลูกยาเธอ 1 พระองค์ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา พระองค์ทรงเป็นต้นราชสกุลโสณกุล

พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต ทรงเริ่มรับราชการในออฟฟิศหลวง ราชองครักษ์ (ราชเอดเดอแกมป์ - Air-de-Camp) ต่อมา ใน พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนกรมขึ้นเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา เมื่อ พ.ศ. 2443 ทรงดำรงตำแหน่ง ข้าหลวงต่างพระเนตรพระกรรณ มณฑลพายัพ รับผิดชอบจัดการป้องกันหัวเมืองชายแดนด้านตะวันตกของเชียงใหม่

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา เมื่อเจริญพระชนม์พรรษาแล้ว ได้ออกจากตำหนักเจ้าจอมมารดามาประทับอยู่ที่วังปากคลองตลาด บ้านเดิมของเจ้าจอมมารดาวาด ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังตลาดน้อย ที่ถนนเจริญกรุงใกล้กับสะพานเหล็กล่าง จึงทรงย้ายไปประทับที่วังตลาดน้อยตลอดพระชนม์ชีพ และสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 6 เมื่อวันอังคาร เดือน 11 แรม 14 ค่ำ ปีฉลูเบญจศก จ.ศ. 1175 ตรงกับวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2456 พระชันษาได้ 50 ปี

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา ทรงมีพระโอรสที่มีชื่อเสียงพระองค์หนึ่ง คือหม่อมเจ้าเจ้าธานีนิวัต  ซึ่งภายหลังได้เลื่อนขึ้นเป็นพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าธานีนิวัต  กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากร

เจ้าจอมมารดาวาดนั้น มีนามเดิมว่า "แมว" เป็นบุตรของสมบุญ มหาดเล็กในรัชกาลที่ 3 สายสกุลงามสมบัติ กับท้าวปฏิบัติบิณฑทาน (ถ้วย) บิดาได้นำเข้าไปถวายตัวในวังหลวงตั้งแต่วัยเด็ก เข้าไปเป็นข้าหลวงในสมเด็จพระนางเจ้า โสมนัสวัฒนาวดี ในยามว่างก็ทรงให้ฝึกหัดละคร เคยรับบทเป็นพระเอกเรื่องอิเหนา เล่นได้ดีเยี่ยมจนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสเรียกเล่นๆว่า "แมวอิเหนา" อีกบทหนึ่งที่ท่านรำได้งามไม่มีใครสู้คือบทท้าวมาลีวราช   ต่อมาจึงได้เป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้เรียนภาษาอังกฤษกับนางแอนนา เลียวโนเวนส์ พร้อมกับพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกเธอทั้งหลาย
ในรัชกาลที่ 5 เจ้าจอมมารดาวาดได้เลื่อนตำแหน่งเป็นท้าววรจันทร บรมธรรมิกภักดี นารีวรคณานุรักษา เป็นตำแหน่งชั้นสูงของข้าราชการฝ่ายใน

 ตำแหน่งคุณท้าววรจันทร์นี้ คือ ผู้บังคับบัญชาท้าวนาง บรรดาข้าหลวงชาววังทั้งปวงล้วนนับถือและเกรงใจท่านมาก ไม่เว้นแม้กระทั่งพระมเหสีและพระเจ้าแผ่นดิน หม่อมศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยาได้เขียนไว้ถึงท่านว่า...กิตติศัพท์เขาเล่าลือว่าท่านดุมาก เด็กได้ยินก็คร้ามท่านมาก เขาว่าท่านจับคนใส่ตรวนได้ เด็กเลยกลัวตัวสั่น ท่านขึ้นเฝ้าได้บางเวลาเหมือนกัน ต้องยอมรับกันในพวกเด็กว่า ท่านน่าเกรงขามจริง ท่าเดินของท่าน แม้แก่แล้วก็ดูออกว่า เมื่อท่านเป็นสาวคงจะสวย...

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  คุณท้าววรจันทร์ได้ทำหมูหวานขึ้นถวายพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อเสวยเสร็จแล้ว มีพระราชกระแสรับสั่งลงมาว่า หมูหวานนี้สมัยก่อนเรียกว่า “หมูผัด” และโปรดเกล้าฯให้ตีฆ้องร้องป่าวทั่วพระบรมมหาราชวังว่า ได้เสวยหมูผัดฝีมือคุณท้าววรจันทร์ เหมือนที่ได้เสวยเมื่อยังทรงพระเยาว์ และยังโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า ถ้าผู้ใดสามารถทำ หมูผัดนี้ได้เหมือนท้าววรจันทร์แล้ว จะพระราชทานน้ำตาลเท่าลูกฟักเป็นรางวัล

ท่านได้เป็นท้าววรจันทร์เมื่ออายุ 45 ปี แล้วเป็นอยู่นานกว่า 40 ปี   ถึงแก่อนิจกรรมเมื่ออายุ 98 ปี นับว่าเป็นเจ้าจอมที่อายุยืนยาวมากท่านหนึ่ง



กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 12 พ.ค. 15, 17:21
ท่านอาจารย์ใหญ่กว่าครับ ผมมีคำถามครับ  คือพระตำหนักเหล่านี้ หลังจากที่เจ้านายเจ้าของพระตำหนักสิ้นพระชนม์ลง  ตำหนักเหล่านี้ถูกปิดตายลงเลยหรือยังมีการใช้ประโยชน์และยังมีคนอยู่ อย่างภาพที่เห็นเหมือนแต่ละตำหนักถูกปิดตายหมด  แล้วถ้าปิดตายใครเป็นผู้ดูแลบำรุงรักษาครับ สำนักพระราชวังหรือทายาทของเจ้านายแต่ละตำหนักครับ  และปัจจุบัน นอกจากเจ้าหน้าที่ข้าราชการข้างใน ยังมีชาววังหรือทายาทยังอาศัยอยู่บ้างหรือไม่ครับ

อีกคำถามคือ สามัญชนทั่วไปอย่างผม ถ้าอยากจะเยี่ยมชนนี่ จะมีความเป็นไปได้ไหม ก่อนนี้เคยไปยืนมองๆ ผ่านประตูเข้าไปจากแถวท่าช้างบ่อยๆ

ถามซะเยอะเลย   ???  ???


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 พ.ค. 15, 17:31
สมเด็จพระเทพรัตน์ฯท่านทรงให้ใช้ประโยชน์เป็นโรงเรียนช่างฝีมือครับ เรียกว่าวิทยาลัยในวัง(หญิง)

http://www.homeiam.com/blog_detail.php?t_id=1107000015 (http://www.homeiam.com/blog_detail.php?t_id=1107000015)

และวิทยาลัยในวัง(ชาย)

http://www.changsipmu.com/theRoyalCraftsmenCollege_page01.html (http://www.changsipmu.com/theRoyalCraftsmenCollege_page01.html)

ลองเข้าไปดูตามระโยงนะครับ

ส่วนใครจะเข้าไปเยี่ยมชมก็น่าจะเหมือนโรงเรียนทั่วๆไป ที่อยู่ๆใครอยากจะเข้าก็เดินเข้าไปเลยคงมิได้  ถ้ามีการติดต่อบอกวัตถุประสงค์ก่อนก็อาจได้รับอนุญาต


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ค. 15, 07:05
ตำหนักพระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ค. 15, 07:12
พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์
ความจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี  ฯลฯ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2409 เป็นพระราชธิดาองค์ที่ 77 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และเป็นองค์ที่ 10 ในเจ้าจอมมารดาเที่ยง มีพระเชษฐาและพระเชษฐภคินีร่วมพระอุทรได้แก่ พระองค์เจ้าโสมาวดี พระองค์เจ้าชายเสวตรวรลาภ พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิ พระองค์เจ้ากมลาสเลอสรรค์ พระองค์เจ้ากนกวรรณเลขา พระองค์เจ้าหญิง (ชันษา 8 วัน) พระองค์เจ้าไชยานุชิต พระองค์เจ้าไขแขดวง พระองค์เจ้าชายจรูญฤทธิเดช

ในเวลาประสูติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์นั้น พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ให้เอาช้างไปขายที่เมืองพม่า พระเจ้ามินดงจึงพระราชทานสังวาลย์เครื่องยศอย่างพม่ามาให้พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ พวกที่ไม่ชอบใจก็กล่าวหาว่าพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์เอาใจออกห่างไปเข้ากับพม่า พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์จึงเอาสังวาลย์ลงมาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กรุงเทพ แล้วทูลเรื่องราวตามจริง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงระแวงพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ แต่ไม่ทรงรับสังวาลย์ไว้ เพราะทรงรังเกียจว่าจะเป็นการรับเครื่องยศจากพม่า ฝ่ายพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ก็ไม่ยอมเอาสังวาลย์กลับไป เพราะเกรงจะเป็นมลทินว่ายังคบหาพม่าอยู่ จึงถวายสังวาลย์นั้นให้แก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ โดยให้ช่างปรับปรุงเป็นเครื่องแต่งพระองค์ เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระนามว่า "พวงสร้อยสอางค์"

พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์มีฝีพระหัตถ์ในการปรุงพระสุคนธ์ (น้ำอบ) จึงมีหน้าที่ปรุงพระสุคนธ์ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระองค์มีศักดิ์เป็นพระญาติของเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยพระองค์สืบเชื้อสายมาจากนายจำปา ณ เวียงจันทน์ ซึ่งเป็นพระญาติของเจ้าจอมมารดาทองสุก พระราชธิดาของพระเจ้าอินทวงศ์แห่งเวียงจันทน์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลปัจจุบัน เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2493 พระชันษา 84 ปี มีการจัดพิธีพระราชเพลิงพระศพ ณ ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2493 โดยใช้พระเมรุองค์เดียวกับพระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล หลังการถวายพระเพลิง


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ค. 15, 18:02
ตำหนักพระองค์เจ้าประพาฬรัศมี


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ค. 15, 18:04
พระองค์เจ้าประพาฬรัศมี
ความจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี  ฯลฯ

พระองค์เจ้าประพาฬรัศมี เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 71 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดาสุ่น ธิดาของพระยาสุรินทรราชเสนี (จั่น ) สายสกุลสุกุมลจันทร์ ต่อมารัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาเป็น ท้าววนิดาพิจาริณี

พระองค์เจ้าประพาฬรัศมีประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2408 สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2446 พระชันษา 37 ปี พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ค. 15, 18:25
ตำหนักพระองค์เจ้าอรุณวดี


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ค. 15, 18:27
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรุณวดี
ความจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี  ฯลฯ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรุณวดี ประสูติเมื่อ13 มิถุนายน พ.ศ. 2400 เป็นพระราชธิดาองค์ที่ 38 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหรุ่น ผู้ซึ่งเป็นหลานปู่ของ เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุญมา) สมุหพระกลาโหมในรัชกาลที่ 1
 
พระองค์เจ้าอรุณวดีสิ้นพระชนม์เมื่อ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2476 พระชันษา 76 ปี



กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ค. 15, 19:29
ตำหนักพระองค์เจ้าแม้นเขียน


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ค. 15, 19:31
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแม้นเขียน
ความจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี  ฯลฯ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแม้นเขียน ประสูติเมื่อวันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2366 เป็นพระราชธิดาลำดับที่ 72 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์เล็ก ธิดาเจ้าสุกเมืองหลวงพระบาง

เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์เล็กนั้น ท่านบิดาพามาถวายตัวในรัชกาลที่ 1 ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ พร้อมกับน้องสาวอีก 2 คน ได้เป็นละครหลวงรุ่นเล็กในรัชกาลที่ 1 ในบท“นางวิยะดา” เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 1 ท่านอายุได้เพียง 11 หรือ 12 ปี ได้เป็นละครหลวงรัชกาลที่ 2 ในบท “นางมะดีหวี” ต่อมาได้เป็นครูละครหลวงในรัชกาลที่ 4 และ 5 รวมทั้งเป็นครูละครสำคัญของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)ด้วย ถึงแก่อนิจกรรม พ.ศ.2431 สิริอายุ 90 ปี

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแม้นเขียน ทรงดำรงพระชนม์ชีพเป็นองค์สุดท้าย  มีพระชนมายุมากที่สุดในจำนวนพระราชโอรสพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และทรงดำรงพระชนม์ยืนยาวถึง 5 รัชกาล โดยสิ้นพระชนม์ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2456 สิริรวมพระชันษา 89 ปี


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: พนักงานชาวที่ ที่ 13 พ.ค. 15, 20:12
ตำหนักในฝ่ายพระราชฐานชั้นในปัจจุบันบางตำหนักมีผู้พักอาศัยอยู่ครับ บางตำหนักก็เป็นที่พักของนักเรียนศิลปาชีพหญิงเช้าก็มีรถมารับไปสวนจิตรลดา เย็นก็มาส่งประตูปิดสี่ทุ่มถ้าเกินเวลาเข้าไม่ได้ บางตำหนักเป็นที่เรียนของวิทยาลัยในวังหญิง ปกติมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายพระราชฐานชั้นในคอยนั่งเวรเป็นจุดๆถ้าเป็นสมัยก่อนก็คงเป็นพวกโขลน กลางวันก็จะมีชาวที่ กองสวน ผู้ชายเข้าไปทำงานปกติแต่ห้ามนอนค้าง ตอนงานพระศพสมเด็จกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงประทับที่ตำหนักสมเด็จพระพันวัสสาครับ พวกผู้ชายอยู่ได้แค่สองทุ่มต้องออกมานอนที่เต๊งนอกกัน


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ค. 15, 22:07
ขอบคุณคุณพนักงานชาวที่มากนะครับ ที่เข้ามาให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 พ.ค. 15, 06:22
ตำหนักพระองค์เจ้าประภัศร


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 พ.ค. 15, 06:25
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภัศร
ความจากวิกิพีเดีย สารานุรมเสรี  ฯลฯ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภัศร ประสูติวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2397 เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กับ เจ้าจอมมารดาเกษ สิ้นพระชนม์วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2469 พระชันษา 73 ปี

พ.ศ. 2436 เกิดกรณีพิพาทระหว่าง ประเทศสยาม กับ ประเทศฝรั่งเศส ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงษ์ จึงได้ชักชวนสตรีอาสาสมัครขึ้น และได้กราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ตั้ง "สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม" เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง "สภาอุณาโลมแดง" ขึ้น โดยมีคณะผู้ก่อตั้งดังนี้

ผู้บำรุงการอย่างสูงสุด
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ผู้บำรุงการ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าละม่อม กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร
สภาชนนี
สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
สภานายิกา
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภัศรได้ร่วมทำงานในคณะนี้ด้วย โดยทรงเป็นผู้ช่วยเลขานุการิณี ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 พ.ค. 15, 06:46
ท่านเจ้าของตำหนักทั้งหลาย จากซ้ายไปขวา

1.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี
2.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภัศร
3.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านารีรัตนา
4.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาณีรัตนกัญญา
5.พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์
6.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ์
7.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประสานศรีใส
8.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแขไขดวง


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NT ที่ 14 พ.ค. 15, 09:46
ตำหนักในฝ่ายพระราชฐานชั้นในปัจจุบันบางตำหนักมีผู้พักอาศัยอยู่ครับ บางตำหนักก็เป็นที่พักของนักเรียนศิลปาชีพหญิงเช้าก็มีรถมารับไปสวนจิตรลดา เย็นก็มาส่งประตูปิดสี่ทุ่มถ้าเกินเวลาเข้าไม่ได้ บางตำหนักเป็นที่เรียนของวิทยาลัยในวังหญิง ปกติมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายพระราชฐานชั้นในคอยนั่งเวรเป็นจุดๆถ้าเป็นสมัยก่อนก็คงเป็นพวกโขลน กลางวันก็จะมีชาวที่ กองสวน ผู้ชายเข้าไปทำงานปกติแต่ห้ามนอนค้าง ตอนงานพระศพสมเด็จกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงประทับที่ตำหนักสมเด็จพระพันวัสสาครับ พวกผู้ชายอยู่ได้แค่สองทุ่มต้องออกมานอนที่เต๊งนอกกัน

เรียนถามคุณพนักงานชาวที่ ว่าผู้ดูแลตำหนักต่างๆ นั้น ยังเป็นผู้สืบสกุลจากผู้ดูแลในยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือไม่ครับ หรือเป็นเจ้าหน้าที่ทั่วไปครับ


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 พ.ค. 15, 06:49
ตำหนักพระองค์เจ้าศรีสุดสวาดิ์


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 พ.ค. 15, 06:53
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีสุดสวาดิ์
ความจากวิกิพีเดีย สารานุรมเสรี  และ คุณแสนอักษร

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีสุดสวาดิ์ ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 19 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กับพระองค์ที่ 3 ในเจ้าจอมมารดาเที่ยง ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2398  มีพระพี่น้องร่วมพระอุทรได้แก่ พระองค์เจ้าโสมาวดี, พระองค์เจ้าชายเสวตรวรลาภ, พระองค์เจ้ากมลาสเลอสรรค์, พระองค์เจ้ากนกวรรณเลขา, พระองค์เจ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม, พระองค์เจ้าไชยานุชิต, พระองค์เจ้าไขแขดวง, พระองค์เจ้าชายจรูญฤทธิเดช และพระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์

พระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยา ดำรงราชานุภาพ เรื่อง คนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก เล่ม ๑ กล่าวถึง พระเจ้าบรมวงค์เธอ พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิ(ที่ถูกคือ ศรีสุดสวาดิ์)ว่า "....เมื่อทรงพระเยาว์  พระเจ้าบรมวงค์เธอชั้น ๑ พระองค์เจ้าพลับ ทรงพระเมตตารับไปทรงเลี้ยงดู  ตลอดพระชนม์มายุของพระองค์นั้น
พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิได้ทรงรับมรดก  และทรงรับหน้าที่ของพระองค์เจ้าพลับ  คือการร้อยตาข่ายดอกไม้สดประดับฐานพระพุทธรูปพระพุทธยอดฟ้จุฬาโลก ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  ในเวลามีงานพระราชพิธี  และร้อยพวงมาลัยประดับพระโกศพระบรมอัฐิในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ เป็นต้น ตลอดมา

....ส่วนพระองค์เจ้าศรีนาคสวาดินี้ นอกจากความรู้อันเป็นสามัญศึกษา ทรงชำนาญในนาฏศาสตร์  และโหราศาสตร์  ทั้งสองอย่างนี้

……พระอัธยาศัยมักท้อพระทัยในเหตุอันตราย   ทรงประชวรพระวักกะพิการมาแต่ในรัชกาลที่ ๕

.....ในรัชกาลที่ ๖ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงทราบพระปริวิตกของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในอาการประชวรของพระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิมาแต่ก่อน  จึงทรงเป็นพระราชธุระรับพระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิไปไว้ที่ตำหนักพญาไทให้ใกล้พระองค์  ทรงรักษาพยาบาลและเอาพระทัยมิให้ย่อท้อ...."

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีสุดสวาดิ์สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2456 พระชันษา 58 ปี


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 พ.ค. 15, 10:41
ตำหนักพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 พ.ค. 15, 10:44
พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา
ความจากวิกิพีเดีย สารานุรมเสรี ฯลฯ
 
พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าสาย (ลดาวัลย์) มีพระนามที่เรียกกันในครอบครัวว่า เป๋า ประสูติเมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2406 เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลดาวัลย์ กรมหมื่นภูมินทรภักดี ประสูติแต่หม่อมจีน ลดาวัลย์ ณ อยุธยา (ต่อมาหม่อมจีนได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น เจ้าจอมมารดาจีน)

หม่อมเจ้าสายประทับอยู่ที่วังของพระบิดา โดยมีสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ทรงเป็นผู้อภิบาล มีพระเชษฐภคินีที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจีนสองพระองค์ และได้รับราชการฝ่ายในเป็นพระอรรคชายาเธอใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมกันทั้งสามพระองค์ คือ หม่อมเจ้าบัว เมื่อเป็นพระมเหสี มีพระอิสริยยศเป็น พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค ต่อมาได้ทรงกรมเป็น กรมขุนอรรควรราชกัลยา และ หม่อมเจ้าปิ๋ว เมื่อเป็นพระมเหสี มีพระอิสริยยศเป็น พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 พ.ค. 15, 10:46
พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ทรงมีหน้าที่ควบคุมดูแลห้องพระเครื่องต้น ของเสวยคาวหวานทั้งในพระบรมมหาราชวัง และที่พระราชวังสวนดุสิตจนสิ้นรัชกาลที่ 5 ความรู้ในด้านอาหารนี้ทรงถ่ายทอดอย่างเต็มพระทัยให้แก่หลายท่าน เช่น พระราชชายาเจ้าดารารัศมี เจ้าจอมมารดาแพ เจ้าจอมก๊กออ เจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ ลดาวัลย์ ฯลฯ อาหารไทยหลายอย่างมีชื่อเสียงเกรียงไกรไปทั่วโลก ก็มาจากพระตำรับสูตรอาหารของพระนางตราบเท่าทุกวันนี้
 
งานกำกับควบคุมห้องพระเครื่องต้นดังกล่าว ถือเป็นงานหนักและเหนื่อยที่สุด เพราะต้องรับผิดชอบในพระราชภาระเกี่ยวกับเครื่องเสวยสำหรับพระมหากษัตริย์ ที่ทรงพิถีพิถันอย่างยิ่ง สำคัญที่สุดคือ ต้องทรงได้รับการไว้วางพระราชหฤทัย เพราะสิ่งที่มีพิษใดๆจะมีอยู่ในพระเครื่องต้นมิได้  แต่ความปลอดภัยจะต้องควบคู่ไปกับรสชาติและการจัดแต่งอย่างสวยงามด้วย

มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลี้ยงพระที่วัดเบญจมบพิตร แต่สำรับพระขาดไปหนึ่งที่ ทรงไม่พอพระทัยถึงกับพระราชดำเนินตรงไปที่พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏซึ่งยืนรับเสด็จอยู่ แล้วจับพระขนอง (แขน)ไปที่อาสนสงฆ์ ซึ่งพระนางทรงแก้ไขสถานการณ์โดยทรงบัญชาให้พนักงานเจ้าหน้าที่เอาชามใส่ถาดเท่าจำนวนของคาวหวานจากสำรับพระที่มีอยู่  และทรงแบ่งของคาวหวานจากสำรับพระอย่างละเล็กละน้อย ใส่ชามจัดเป็นสำรับแล้วให้ยกไปตั้งถวายพระองค์สุดท้ายได้ทันเวลา จนเรื่องนี้เป็นที่สรรเสริญถึงพระสติที่มั่นคง ทรงตัดสินพระทัยได้โดยฉับพลัน
ความจริงแล้วมิใช่ความบกพร่องในความควบคุมของห้องพระเครื่องต้นแต่อย่างใด เพราะนั่นเป็นหน้าที่ของพนักงาน “ทรงประเคน” ที่มีหน้าที่จัดของเลี้ยงพระถวาย แม้พระเจ้าอยู่หัวจะทรงเข้าพระทัยผิด พระนางก็มิได้ทรงปริพระโอษฐ์โทษพนักงานฝ่ายอื่น
 
อย่างไรก็ตามได้มีเรื่องที่ทรงได้รับการบีบคั้นพระหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง คือครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระเมตตา ชักชวนให้ฉายพระรูปร่วมกับพระองค์ สร้างความปลื้มปีติแก่พระนางเป็นอย่างยิ่ง แต่กลับเป็นเรื่องที่ “ไม่โปรด” ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินี พระนางจึงทรงตัดสินพระทัยถวายทั้งภาพและฟิล์มเนกาตีฟ แด่สมเด็จที่บนตามพระราชประสงค์ เพื่อให้ทรงทำลายเสีย ตัดปัญหาไม่ให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทรงหนักพระทัย นับว่าทรงเป็นผู้เสียสละ แม้จะทรงเศร้าสะเทือนพระหฤทัยเพียงใดก็ตาม


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 พ.ค. 15, 10:50
พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ทรงมีพระประสูติกาลพระราชโอรสและพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งหมด 4 พระองค์ เป็นพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียวกับพระราชธิดาสามพระองค์ ทั้งหมดเดิมมีพระอิสริยยศเป็น "พระองค์เจ้า" ภายหลังได้รับพระราชทานพระอิสริยยศขึ้นเป็น "สมเด็จเจ้าฟ้า" มีดังนี้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ เสกสมรสกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล มีพระโอรสสามพระองค์ ทรงเป็นต้นราชสกุลยุคล
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี ภัทรวดีราชธิดา (พระนามเดิม: พระองค์เจ้าเขจรจำรัส สิ้นพระชนม์ก่อนได้รับสถาปนาขึ้นเป็น "สมเด็จเจ้าฟ้า"
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามาลินีนภดารา ศิรินิภาพรรณวดี กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี

สำหรับพระราชธิดาพระองค์สุดท้องนี้ถือว่าเป็น “ลูกรัก” ที่สมเด็จพระราชบิดาทรงโปรดปรานเป็นอันมาก ทรงโปรดเกล้าฯให้รับราชการในหน้าที่ราชเลขานุการิณี และยังทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์เดียวที่ ทรงมีพระราชหัตถเลขามาถึงในคราวที่เสด็จประพาสยุโรป จนกลายเป็นที่มาของหนังสือพระราชนิพนธ์ “ไกลบ้าน”




กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 พ.ค. 15, 10:53
พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ได้ทรงเป็นผู้ตั้งโรงเลี้ยงเด็กขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย บริเวณสวนมะลิ ถนนบำรุงเมือง เพื่ออุทิศพระกุศลประทานพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ที่สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โดยทรงรับเด็กกำพร้าและเด็กยากจนมาอุปการะให้ความรู้ การศึกษาและยังฝึกอาชีพให้ทั้งหญิงชาย และทรงเป็นองค์อุปนายิกาสภาอุณาโลมแดง (สภากาชาดไทย) ในสมัยหนึ่งอีกด้วย

ทรงประชวรด้วยพระโรคเนื้อร้ายในช่องพระโอษฐ์ สิ้นพระชนม์ ณ พระตำหนักในสวนสุนันทา พระราชวังดุสิต ในปีพ.ศ.2472  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระโกศกุดั่นน้อยทรงพระศพ และทรงมีพระมหากรุณาโปรดเกล้าเฉลิมพระนามและเลื่อนกรม เป็น พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ได้รับพระราชทานพระโกศทองใหญ่ ซึ่งเป็นพระโกศชั้นสูงสุด สำหรับทรงพระบรมศพพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระอัครมเหสี ในวันออกพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพ เป็นพระเกียรติแด่พระวิมาดาเธอผู้ทรงเป็นผู้หญิงที่มีน้ำพระทัยกว้างขวาง เผื่อแผ่พระเมตตา ผูกมิตรและช่วยเหลือผู้ที่ด้อยกว่า และอ่อนน้อมต่อผู้ที่เหนือกว่า เป็นที่รักของผู้คนทั้งในราชสำนักและภายนอกทั่วไป
 
(วิมาดา แปลว่าแม่เลี้ยง(ในรัชกาลที่ 7) พระองค์เป็นเจ้านายพระองค์เดียวที่ได้รับการสถาปนาไว้ในพระอิสริยศักดิ์นี้อย่างเป็นทางการ ส่วนสร้อยพระนาม ปิยมหาราชปดิวรัดา นั้น คำว่า "ปดิวรัดา" (อ่านว่า ปะดิวะรัดดา) แปลว่า ภริยาที่ซื่อสัตย์และภักดีของสมเด็จพระปิยมหาราชนั่นเอง)


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 พ.ค. 15, 07:16
ภาพตำหนักเจ้านายฝ่ายในทางวังหลวงผมมีเท่าที่เห็นครับ แต่ยังเหลืออีกสองสามองค์ ซึ่งเป็นของเจ้านายวังหน้าซึ่งเสด็จมาประทับรวมกับฝ่ายวังหลวง จะทยอยนำลงให้จบ


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 พ.ค. 15, 07:20
เมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคตในปีพ.ศ. ๒๔๒๙ นั้น  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนา สมเด็จพระโอรสาธิราช เป็นมงกุฎราชกุมาร อย่างสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าตามราชประเพณีเดิม  จึงประกาศพระราชกฤษฎีกา เลิกตำแหน่งพระมหาอุปราชฝ่ายหน้าแต่นั้นมา 

ส่วนพระราชวังบวรสถานมงคลนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริจะไม่ให้เป็นที่ร้าง  จึงโปรดฯให้จัดที่ในเขตวังชั้นนอกมาเป็นโรงทหารรักษาพระองค์ โดยให้ทหารบกวังหน้ามาสมทบอยู่ในกรมนั้น  วังชั้นกลางโปรดฯให้จัดพิพิธภัณฑ์สถานที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน  ส่วนชั้นในยังมีเจ้านายสตรี ทั้งพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  และพระราชธิดากรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเสด็จอยู่ด้วยกันมาก  จึงโปรดฯให้คงจัดรักษาเป็นพระราชวัง  ให้มีเจ้าพนักงานรักษาหน้าที่อยู่อย่างเดิม  ทรงมอบหมายการปกครองให้พระองค์เจ้าดวงประภา พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงสำเร็จราชการฝ่ายในทั่วไป  และโปรดฯให้เสด็จขึ้นมาประทับอยู่ที่พระที่นั่งสาโรชรัตนประพาส (ปัจจุบันรื้อลงแล้ว)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระอุตสาหเสด็จขึ้นไปเยี่ยมเยียนเจ้านายวังหน้าเนืองๆ  ด้วยพระองค์ทรงเคารพนับถือในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมาก  ทรงอุปการะแก่พระราชโอรสพระราชธิดามาทุกพระองค์  ถึงลูกเธอในกรมพระราชวังบบวรวิไชยชาญซึ่งยังทรงพระเยาว์อยู่โดยมากนั้น  ก็ทรงจัดให้เล่าเรียน และเป็นพระราชธุระทำนุบำรุงต่อมา  ที่เป็นพระองค์ชายเมื่อทรงพระเจริญขึ้นได้มีตำแหน่งรับราชการแทบทุกพระองค์ 

เมื่อพระองค์เจ้าดวงประภาสิ้นพระชนม์  โปรดฯให้พระองค์เจ้าสุดาสวรรค์ พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวรองลงมา  ทรงสำเร็จราชการฝ่ายในวังหน้าต่อมา  เหมือนอย่างพระองค์เจ้าดวงประภา  และโปรดฯให้พระองค์เจ้าวงจันทร์ พระเจ้าน้องนางร่วมพระชนนีกับกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเสด็จขึ้นมาประทับที่พระที่นั่งบวรบริวัตรมาจนตลอดรัชกาลที่ ๕


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 พ.ค. 15, 07:29
พระราชโอรส-ธิดา ในกรมพระราชวังบวรฯ เดิมใช้คำนำหน้าพระนามว่า พระเจ้าบวรราชวงศ์เธอ และ พระบวรราชวงศ์เธอ  ครั้นถึงรัชกาลที่ ๖ ทรงมีพระบรมราชโอการ โปรดเกล้าให้เปลี่ยนกำหนดกฎเกณฑ์  โดยพระราชโอรส-ธิดาวังหน้านั้น ตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔  ใช้คำนำหน้าพระนามว่า  พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ  พระราชโอรส-ธิดาวังหน้าในรัชกาลที่ ๕ ใช้คำนำหน้าว่าพระราชวรวงศ์เธอ ไม่มีคำว่า “เจ้า”  
ส่วนพระราชโอรส-ธิดาวังหลวง  ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑-๕ ในเจ้าจอมมารดา  ใช้คำนำหน้าพระนามว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  

เมื่อพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุดาสวรรค์สิ้นพระชนม์  พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวงจันทร์ทรงสำเร็จราชการฝ่ายในวังหน้าแทนพระองค์เจ้าสุดาสวรรค์ต่อมา  จนปีขาล พ.ศ. ๒๔๕๙  พระองค์เจ้าวงจันทร์สิ้นพระชนม์  เจ้านายข้างในยังเหลืออยู่น้อยพระองค์  สมัครจะเสด็จไปอยู่ในพระบรมมหาราชวัง  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้เจ้านายฝ่ายในพระราชวังบวรฯเสด็จมาสมทบอยูในพระราชวังหลวง
  
หลังสงครามโลก เจ้านายฝ่ายในกลุ่มสุดท้าย ที่หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ ไปทูลเชิญให้ย้ายออกมาประทับภายนอกเพื่อซ่อมแซมพระตำหนักครั้งใหญ่ คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าให้สำนักงานพระคลังข้างที่จัดสร้างวังราชทัต ให้เพื่อเป็นที่พระทับตั้งอยู่ที่ซอยมหาดเล็กหลวง ถ.ราชดำริ  
อีกท่านหนึ่ง คือเจ้าจอม ม.ร.ว. สดับ (ลดาวัลย์)ในรัชกาลที่ ๕ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ได้ไปพำนักที่ทับสุข วัดเขาบางทราย จังหวัดชลบุรี หลังสงครามลูกหลานต่างแยกย้ายมาเรียนในกรุงเทพ เจ้าจอมม.ร.ว.สดับจึงขอให้ ม.ร.ว.แสงสูรย์ ลดาวัลย์ ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอกลับไปพำนักในเรือนของท่านในพระบรมมหาราชวังตามเดิม มีหลานๆธิดา ม.ร.ว. สนั่น ลดาวัลย์ ไปอยู่ช่วยดูแล ช่วงระยะที่ยังแข็งแรง ท่านจะมาสวดมนต์ที่วัดพระแก้วทุกวันพระ จนถึงแก่อสัญกรรมเมิออายุ 93 ปี


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 พ.ค. 15, 08:53
ตำหนักพระองค์เจ้าเฉิดโฉม


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 พ.ค. 15, 08:58
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉิดโฉม   
ความจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี Nicky Nick ม.ร.ว.เบญจาภา (จักรพันธุ์)ไกรฤกษ์ ฯลฯ

พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงเฉิดโฉม ทรงเป็นพระธิดาองค์ที่ ๔๗ ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ.2399 แต่เจ้าจอมมารดาสีดา ธิดาของน้องนายกองขุนราม ชาวลาวเมืองเวียงจันทน์ ซึ่งได้ถวายตัวเป็นข้าบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใฝ่พระทัยในวิชาการความรู้สาขาต่างๆอยู่มาก ฉะนั้นการศึกษาของพระราชโอรสพระราชธิดาก็คงจะได้ถูกสร้างพื้นฐานไว้อย่างดี พระองค์เฉิดโฉมทรงศึกษาภาษาอังกฤษจนอ่านและเขียนได้ จากนางสุวรรณ วิภาชน์วิทยาสิทธิ และยังทรงรอบรู้ทางโหราศาสตร์ นาฏศิลป์
และเพราะวังหน้าไม่ห้ามผู้หญิงฝรั่งเข้าวัง ท่านจึงได้ติดต่อกับแหม่มโคล์วังหลัง และมาดามแมคฟาร์แลนด์ (นางอาจวิทยาคม) หนังสือ Western Women in Eastern Lands แต่งโดย Helen Barrett Montgomerry ได้เล่าว่าพระองค์เจ้าหญิงเฉิดโฉม ได้ทรงใช้ตำหนักในพระบวรราชวังเป็นที่พบปะสังสรรค์กับบรรดาภรรยาขุนนางและผู้หญิงฝรั่งเป็นทำนองสโมสรสตรี

เรื่องการคบค้ากับผู้หญิงฝรั่งนี้ทำให้ทรงเป็นคนทันสมัย รู้เหตุการณ์บ้านเมือง  รู้ถึงการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและสังคม เป็นอย่างดี

เหตุการณ์ในบั้นปลายของพระชนมชีพ มีบันทึกอย่างละเอียดในหนังสือ แลวัง หลังตำหนัก โดย ม.ร.ว.เบญจาภา (จักรพันธุ์) ไกรฤกษ์ เล่าว่าในขณะนั้นคุณเพ็ญพักตร์ ไกรฤกษ์พี่สาวคุณพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยหัวหน้าตึกปัญจมราชินีอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ที่ตึกนั้นมีเจ้านายฝ่ายในมาประชวรอยู่พระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าพระองค์เจ้าหญิงเฉิดโฉม  พระราชธิดาองค์ที่ 47 ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่งอยู่ในระหว่างเสด็จนิวัติพระนคร ได้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่าพระองค์เจ้าเฉิดโฉมทรงประชวรอยู่ที่พระตำหนัก จึงมีพระราชประสงค์จะให้ทรงได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ จึงให้เสด็จออกจากพระบรมมหาราชวังไปเข้ารับการรักษาพยาบาลอยู่ที่ตึกปัญจมราชินี
ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ถวายการพยาบาลประจำพระองค์เจ้าเฉิดโฉมคือ คุณนิภา ตะละภัฎ
ในราวปลายเดือนเมษายน  พระองค์เจ้าเฉิดโฉมทรงมีเรื่องแปลกๆ มาเล่าให้คุณนิภาฟัง  ครั้งแรกทรงพระสุบินว่า“พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมา  และทรงแจ้งเหตุร้ายว่าในหลวงจะถูกปองร้าย  ทั้งได้รับพระราชทานคาถาให้แก่พระองค์เจ้าเฉิดโฉมคาถาหนึ่งเพื่อนำไปทูลเกล้าถวายในหลวง โดยทรงย้ำว่าขอให้ถวายกับระองค์โดยไม่ผ่านผู้ใด”

พระองค์เจ้าเฉิดโฉมจึงทรงขอร้องคุณนิภาให้นำความไปกราบทูลแก่สมเด็จพระราชชนนีให้ทรงทราบซึ่งคุณนิภาปฏิเสธ

ต่อมาในปลายเดือนพฤษภาคม  พระองค์เจ้าเฉิดโฉมทรงพระสุบินอีกเป็นครั้งที่สอง คราวนี้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทรงเขกพระเศียร  แล้วกริ้วว่า “ของแค่นี้ทำไม่ได้”

เมื่อบรรทมตื่นขึ้นมาจึงขอร้องคุณนิภาอีกให้หาทางเล่าเรื่องต่อไปให้ทรงทราบถึงพระกรรณในหลวงให้จงได้  ซึ่งคุณนิภาออกจะลำบากใจ เพราะพระองค์เจ้าเฉิดโฉมอาจจะทรงฟั่นเฟือนไปด้วยวัยอันแก่ชราก็เป็นได้

และแล้วหนึ่งวันก่อนสวรรคต  พระองค์เจ้าเฉิดโฉมก็ทรงรบเร้าคุณนิภาให้ไปเชิญพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียรมาเฝ้า  คราวนี้คุณนิภาเห็นว่าพอจะทำได้จึงปฏิบัติตาม  ท่านเจ้าคุณฯก็มาเฝ้าจริงๆ เสียด้วย  พระองค์เจ้าเฉิดโฉมจึงทรงมอบคาถาดังกล่าวให้ท่านเจ้าคุณฯ ไปเพื่อฝากทูลเกล้าฯ ถวายโดยเน้นว่า “คาถานี้ใช้ได้แต่กับในหลวงพระองค์เดียวหากผู้อื่นนำไปใช้ก็จะไม่เกิดประโยชน์อันใด”

ซึ่งท่านเจ้าคุณอนุรักษ์ก็ได้รับคาถานั้นมาหากเก็บไว้เองโดยมิได้ทูลเกล้าฯ ถวายแต่อย่างใด
แล้วในเวลาเช้าตรู่ของวันเกิดเหตุที่ 9 มิถุนายน พระองค์เจ้าเฉิดโฉมได้ทรงพระหมดสติไปชั่วครู่  เมื่อทรงฟื้นขึ้นมาก็ทรงร้องเอะอะโวยวาย บอกคุณนิภาว่าให้ช่วยด้วยเพราะเกิดเหตุใหญ่ขึ้นในพระบรมมหาราชวังแล้ว  ทรงเห็นแมลงวันไฟบินว่อนอยู่เต็มพระราชวังไปหมดเป็นที่น่ากลัว  จนเวลาสายของวันเดียวกันนั้นเองที่ทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ก็ได้รับแจ้งข่าวการสวรรคต  ทั้งยังขอให้ส่งคณะแพทย์ไปทำการเย็บแผลแต่งพระบรมศพอีกด้วย

สองวันต่อมาพระองค์เจ้าเฉิดโฉมก็สิ้นพระชนม์ตามเสด็จในหลวงไปในที่สุด  โดยมิได้ทรงล่วงรู้เลยว่าในหลวงได้เสด็จสวรรคตไปเสียก่อนแล้ว
คุณเพ็ญพักตร์ได้เป็นผู้เชิญพระศพของพระองค์เจ้าเฉิดโฉมจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์กลับเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง โดยพระศพของพระองค์เจ้าเฉิดโฉมถูกตั้งไว้ที่ตำหนักทรงธรรมที่อยู่ไม่ไกลจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ซึ่งใช้ประดิษฐานพระบรมโกศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเท่าใดนัก

พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉิดโฉม มีพระชนมายุยืนยาวยิ่งกว่าเจ้านายวังหน้าทุกพระองค์  สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2489  พระชันษา 90 ปี     

เรื่องเล่าชาววังมีอีกว่า ขณะทรงประชวรอยู่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  พวกที่ยังคงพักอาศัยอยู่ในวังหลวงเล่ากันว่า  ก่อนท่านสิ้นพระชนม์สักสี่ห้าวัน  ที่หอไว้พระอัฐิมีเสียงรื้อเสียงลากอะไรบางอย่าง ดังเกือบตลอดคืน ว่ากันว่า หากเจ้านายพระองค์ใดจะสิ้นพระชนม์  มักจะมีลางบอกให้พวกชาววังรู้  คือมีเสียงลากเสียงรื้อในหอไว้พระอัฐิ  คล้ายกับจัดที่ทางเตรียมไว้สำหรับท่านที่จะเสด็จมาอยู่ใหม่ แล้้วก็เกิดเหตุนั้นขึ้นจริงๆถึงสองพระองค์
 
เรื่องราวที่พระองค์เจ้าเฉิดโฉมทรงพยายามที่จะกราบบังคมทูลเตือนเหตุร้ายและถวายคาถาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นได้รับการโจษจันกันเป็นอย่างมากในหมู่พยาบาลจุฬาฯจนเป็นที่เพ่งเล็งของรัฐบาล  ทำให้ปรากฏมีตำรวจสันติบาลมานั่งเฝ้าอยู่ที่ตึกปัญจมหาราชินี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์อยู่พักใหญ่ เท่ากับเป็นการปรามให้หยุดโจษจันกันเสียที  บรรยากาศของประเทศไทยในขณะนั้นเต็มไปด้วยความเศร้าหมอง
       


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 พ.ค. 15, 09:00
ถือว่าตรงนี้เป็นของแถมก็แล้วกันนะครับ

สมัยก่อนสงคราม คนไทยติดนวนิยายเรื่องหนึ่งอย่างงอมแงมทั้งเมือง บางคนถึงกับไปเฝ้าโรงพิมพ์ในวันที่นิตยสารจะออกวางจำหน่าย ส่งผลให้โชติ แพร่พันธุ์เจ้าของนามปากกา ยาขอบ กลายเป็นนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่อมตะคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ เรื่องนั้นคือ ผู้ชนะสิบทิศ พิมพ์รวมเล่มไม่รู้จะกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ยุคต่อมาถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ไม่น้อยกว่า ๗ คราว

ผู้ชนะสิบทิศมีพระเอกชื่อจะเด็ด เจ้าของวลี "ข้าพเจ้ารักจันทราด้วยใจภักดิ์ แต่รักกุสุมาด้วยใจปอง"
ยาขอบเขียนเล่าว่า ผู้แต่งเป็นแค่ส่วนประกอบ เพราะเมื่อแต่งให้ตัวละครเปลี่ยนทิศทาง ผู้อ่านบอกว่าจะไม่อ่าน จะด่า บางท่านมาที่สำนักพิมพ์ อย่างตอนที่กุสุมาเสียตัว โทรไปถล่มสายแทบไหม้ นั่งรถรางไปด่าถึงที่ก็มี จนผู้แต่งต้องแต่งตามใจผู้อ่าน

ไม่เช่นนั้นกุสุมา คงได้แต่งพร้อมจันทราไปแล้ว กลายเป็นต้องเปลี่ยน ไปคล้ายประวัติศาสตร์ตรงที่ไม่ได้แต่งพร้อมกัน แบบโดยไม่ตั้งใจ

เบื้องหลังคำอธิบายนั้น คือพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉิดโฉม ผู้ทรงบันดาลให้กุสุมาไม่ได้แต่งงาน



กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 พ.ค. 15, 09:07
ตามเรื่องเดิมนั้น  “ยาขอบ” กำหนดให้จะเด็ดแต่งงานกับตละแม่จันทราและตละแม่กุสุมาพร้อมกันที่เดียวสองคน เมื่อเรื่องทำท่าจะเป็นเช่นนั้น ก็บังเกิดมีผู้อ่านท่านหนึ่งเดือดร้อนเป็นที่สุด  ถึงกับไปพบ “ยาขอบ” ที่สำนักงาน

เรื่องนี้ คุณเพ็ญชมพูเคยค้นหามาลงไว้ว่า

“ยาขอบ” ผู้ประพันธ์ เล่าไว้ในข้อเขียนเรื่อง เหตุที่กุสุมาไม่ได้แต่งงาน (นิตยสารรายปักษ์ โบว์แดง ฉบับ ๒๖ วันที่ ๑๖ ก.พ. ๒๔๙๐) ว่า

ในการเขียนผู้ชนะสิบทิศนั้น ขอเรียกตามความนึกคิดของข้าพเจ้าว่า พยายามเขียนให้บ้าที่สุดที่จะบ้าได้ พฤติการณ์ของตัวละครทุกตัวในเรื่อง ถ้ามีโอกาสมักจะถูกบังคับให้ทำ ในสิ่งที่มนุษย์ธรรมดาสามัญเขาไม่ค่อยทำ เช่น ให้นางเอกถูกข่มขืนเสียบ้าง พ่อเจ็บใจถึงกับแทงลูกเสีย ตายกับมือตนเองบ้าง ฯลฯ

และการดึงเอากุสุมาคนเดียวโดด ๆ มาแต่งงานพร้อมกัน ในท่ามกลางประยูรญาติของจันทราแต่ฝ่ายเดียวทั้งสิ้นนี้ ก็เป็นความบ้าชนิดที่ข้าพเจ้าเชื่อว่าคงไม่มีผู้ชายใดกระทำ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงให้จะเด็ดทำ

ฝ่ายหมอจะเด็ดนั่นก็ไม่เลว ตะล่อมทางโน้นตะล่อมทางนี้ ด้วยความคิดและอุบายอันแยบยล

จนกระทั่งจันทราก็ดี หรือพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ผู้ยิ่งใหญ่ น้องชายจันทราก็ดี ก็ยังเห็นชอบด้วยกัน ที่จะเด็ดจะเอาผู้หญิงอื่น (ซึ่งมีราคีถูกสอพินยาฉุดเอาไปเป็นเมียที่เมืองแปร) มาเข้าพิธีเทียมบารมีพระพี่นางของตนเอง

ยาขอบอธิบายว่า การแต่งงานพร้อมกันนี้ ย่อมเป็นเครื่องเน้นลักษณะนิสัย ให้จันทราเป็นยอดหญิงหรือนางแก้ว ซึ่งเปี่ยมไปด้วยเมตตาจิตและการแผ่พระคุณ ทั้งพยายามที่สุดที่จะเพิ่มความสุขใจให้คนรัก

เรื่องราวตอนนี้ ยาขอบคิดว่า ได้สร้างปราสาทที่งดงามได้สัดส่วนขึ้นหลังหนึ่ง จนเมื่อมีเหตุให้ต้องรื้อปราสาทหลังนี้เสีย จึงอกสั่นขวัญหายเป็นอย่างยิ่ง เมื่อถูกยื่นคำขาดว่า “พ่อยาขอบ จะเขียนอย่างนั้นไม่ได้เป็นอันขาด”

ในบ่ายของวันที่ผู้ชนะสิบทิศกำลังอยู่ในตอนที่จะเด็ดกำลังจะเข้าพิธีอุปภิเษกพร้อมด้วยสองนาง...บังตาห้องที่ยาขอบทำงาน ก็ถูกเปิดออก มีเสียงถามหา ...อาคันตุกะ เจ้าของเสียงเป็นหญิงร่างใหญ่วัยเกือบ ๗๐ ท่วงทีสง่า ผมตัด แต่งกายเรียบแต่สะอาดภาคภูมิสวมเสื้อขาวเกลี้ยง ๆ แบบผู้ใหญ่ เมื่อเดินเข้ามา ก็ควงพัดด้ามจิ๋วในมือเล่น มีคนเลื่อนเก้าอี้ให้นั่ง

“ไม่ต้องย่ะ สมัยหลีปับลิกผู้หญิงก็ยืนได้”

ข้าพเจ้าได้ยิน คำหลีปับลิก ก็วาบในหัวใจ นี่ใครหนอ มองไปที่คอเสื้อ เห็นเข็มทองคำลงยาขนาดใหญ่ ทำเป็นลายเซ็นด้วยตัวหนังสือเอน ๆ ยาวราวสักสี่นิ้ว “พระปิ่นเกล้า” เข้าด้วย ก็รู้สึกว่ายากที่จะพูดจา จะเป็นเจ้าหรือเป็นคนสามัญก็ไม่รู้

ก็พอดีอาคันตุกะเขยิบใกล้เข้ามาอีก “พ่อเอ๊ย ฉันนี่คราวย่าเห็นจะได้ละกระมัง” ว่าแล้วก็ลูบหัวข้าพเจ้าเอาดื้อๆ ยาขอบอยู่ในอาการละล้าละลัง ตั้งตัวไม่ถูกจนพี่สาวคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์มาบอกว่า

“พระองค์เฉิดโฉมนี่แหละ ตัวทศกัณฐ์ชั้นอาจารย์ละ”

ทูลว่า รู้แล้วว่าพระองค์ท่านเป็นใคร “เป็นใคร เป็นอะไรไม่สำคัญดอก เป็นคนเหมือนกัน สำคัญอยู่ที่กรรมชั่วและกรรมดี ” ท่านรับสั่ง แล้วก็บอกจุดประสงค์ว่า “ที่ฉันมานี่ เพราะอยากตักเตือนพ่อยาขอบให้ทำแต่กรรมดี”

“ไม่มีใครเขาจะพิเรนทร์หรอกพ่อเอ๋ย จะได้เอาผู้หญิงที่ถูกฉุดคร่าจนเสียเนื้อเสียตัวไปเข้ามาสู่พิธีแต่งงานเชิดหน้าชูตา พร้อมผู้หญิงที่เป็นพรหมจารี และดีอย่างเหลือแสนอย่างตะละแม่จันทรา”

ยาขอบจึงรู้ในบัดนั้น “กรรมชั่ว” ของเขา เกิดจากการเขียนเรื่องให้เอากุสุมาเข้าพิธีอุปภิเษกพร้อมกับจันทรานั่นเอง

ทูลไปว่า จะแก้ไขให้เป็นอื่นคงไม่ได้ เสด็จพระองค์หญิงผู้ชราหงุดหงิดพระทัย สุดท้ายก็ยื่นไม้ตาย “เอ้า ใครผิดใครถูก ไม่ต้องพูดกัน เอาแต่เพียงพ่อเปลี่ยนตามใจฉัน นึกว่าทำบุญให้คนแก่ตายสบายใจได้ไหม”

ข้าพเจ้างงงันเหมือนโดนทุบหัว อีกใจหนึ่งก็เศร้านัก เมื่อคิดว่า โอ้ปราสาทหลังงามของเราเอ๋ย ยาขอบรำพัน หลังการรับปากว่าจะเปลี่ยนถวาย ตามที่ประสงค์

กว่าจะดึงเอากุสุมามาแต่งงานกับจันทราได้ ก็ได้ผูกโยงเหตุผลแวดล้อมเสียแน่นหนา จนเป็นเงื่อนตาย ปัญหาก็คือ จะแก้เรื่องไม่ให้เสียรูปรส...แบบไหนดี

ตัวละครสำคัญ และมีน้ำหนักจะห้ามปรามจะเด็ด เช่นตัวตะละแม่จันทรา พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ หรือมังสินธูมหาเถรอาจารย์ ก็เอามาสนับสนุนข้างให้จะเด็ดแต่งงานพร้อมกันเสียแล้ว พวกนี้จะกลับความคิดข้างไม่ยอมขึ้นมา ก็บ้าเต็มทน จึงต้องหาตัวใหม่ ใครหนอ ที่จะมีความสำคัญและมีน้ำหนักพอ ข้าพเจ้าพบพระนมเลาชี มารดาของจะเด็ดเอง

ตามเรื่องที่ผ่านมาแล้ว แม้จะกล่าวถึงแม่เลาชีว่าเป็นคนซื่อทรงสัตย์ ทรงธรรม และภักดีในราชวงศ์ตองอูเต็มเปี่ยม แต่ก็ไม่มีพฤติกรรมอันใด ที่จะชูลักษณะนิสัยของแม่เลาชี ในข้อที่ว่านี้ได้เด่นชัดออกมาสักคราวเดียว

แม่เลาชีมีบทบาทน้อยเหลือเกินในผู้ชนะสิบทิศที่แล้วมา

ยาขอบเริ่มคิดได้ ครั้งนี้จะให้แม่เลาชีแสดงบทบาทให้เด่นชัด “ข้าพเจ้าวางแผนให้ตัวละครตัวนี้เข้าขัดขวางจะเด็ด”

ดังนั้น ปราสาทเก่าก็หายวับไป แต่มิใช่การรื้อทำลาย หากด้วยการสร้างอันใหม่ ครอบลงไปบนอันเก่า
บทบาทของแม่เลาชีที่ออกมาห้ามโดยขู่ว่า หากตละแม่กุสุมานั่งเสมอกับตละแม่จันทราเมื่อใด นางก็จะผูกคอตายเมื่อนั้นตอนนี้ ทำให้ข้าพเจ้าได้รับจดหมายจากผู้อ่านนับเป็นจำนวนร้อย ยินดีปรีดากับพฤติการณ์อันเป็นผู้มีใจซื่อถือธรรมของพระนมผู้เฒ่า บ้างก็บอกว่าถึงกับน้ำตาคลอเพราะตื้นตันใจ

แม่นมเลาชีมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

ยาขอบเขียนเรื่อง เหตุที่กุสุมาไม่ได้แต่งงาน ไว้ในวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๔๘๙ ในวันที่ได้ยินวิทยุประกาศกำหนดวันพระราชทานเพลิง เสด็จพระองค์เฉิดโฉม ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส

“ในฐานผู้น้อยด้อยศักดิ์ ข้าพเจ้าย่อมหมดโอกาสที่จะไปสักการะพระศพด้วยดอกไม้ธูปเทียน แต่นักประพันธ์เล็กคนหนึ่ง ไม่เคยลืม ความปรารถนาดีที่ใครๆเคยมีต่อมันเลย จึงขอสักการะพระศพด้วยปากกา ซึ่งไหลออกมาเป็นข้อเขียนชิ้นนี้ แทนดอกไม้ธูปเทียน”


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 พ.ค. 15, 09:14
^
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5218.msg108511#msg108511 (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5218.msg108511#msg108511)  ;D


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: พนักงานชาวที่ ที่ 16 พ.ค. 15, 11:28
ขออนุญาตแทรกเพื่อตอบคำถามคุณNTครับ ในสมัยปัจจุบันผู้ควบคุมดูแลฝ่ายพระราชฐานชั้นในคือคุณเพ็ญศรี เขียวมีส่วน ควบคุมดูแลกำกับการปฏิบัติงาน การดูแลความเรียบร้อยภายในเขตพระราชฐานชั้นในทั้งหมด ส่วนฝ่ายในในปัจจุบันมีทั้งที่สืบทอดต่อเนื่องกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นย่า ก็มีเป็นส่วนมาก ส่วนที่ได้เข้ามาโดยไม่เคยมีญาตพี่น้องเคยอยู่ในวังมาก่อนเลยก็มีแต่ก็เป็นส่วนน้อย อีกเรื่องที่ถามคือคนภายนอกจะมีโอกาสเข้าฝ่ายในมั้ยอันนี้ผมว่ายากที่จะเข้าไปเดินทั่ว ที่เปิดก็แค่บางตำหนักที่เป็นที่เรียนของวิทยาลัยในวังหญิงเท่านั้น  เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังเองถ้าไม่ได้มีงานที่จะต้องเข้าไปก็เข้าไม่ได้ ผมเคยมีโอกาสเข้าไปแค่สามครั้งก็ยังอยู่ได้แค่ที่ๆไปทำงานจริงๆ เดินไปเดินมาไม่ได้ ครั้งแรกที่ผมได้เข้าไปนานแล้วจำไม่ได้แล้วว่าปีไหนยังเคยไปกราบคุณท้าวโสภานิเวศน์ที่พระตำหนักสมเด็จพระพันวัสสาครับ


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 พ.ค. 15, 07:58
ตำหนักพระองค์เจ้าสุนทรีนาฏ


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 พ.ค. 15, 08:01
พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุนทรีนาฏ
ความจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี 

พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุนทรีนาฏ เป็นพระราชธิดาลำดับที่ 25 ในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ที่ประสูติแต่จอมมารดาสุ่นเล็ก ประสูติเมื่อวันอังคาร ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2423
ทรงมีพระชนมายุยืนมาก ถึง 90 พระชนษา สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2513

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เสด็จแทนพระองค์ไปในการพระราชทานเพลิงพระศพเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2514 ณ พระเมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 พ.ค. 15, 08:03
ตำหนักพระองค์เจ้าเทวีวิไลยวรรณ


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 พ.ค. 15, 08:05
พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเทวีวิไลยวรรณ
ความจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี และคุณกัมม์

พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเทวีวิไลยวรรณ เป็นพระราชธิดาลำดับที่ 20 ในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ประสูติเมื่อวันเสาร์ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2418 ในจอมมารดาสุ่นใหญ่ ในสกุลภมรมนตรี

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดา ปรากฏพระนามคล้องจองเรียงตามลำดับการประสูติคือ “ ปฐมพิสมัย  วิไลวรวิลาศ  กาญจโนภาสรัศมี  ภัทราวดีศรีราชธิดา  กัลยาณประวัติ   ธิดาจำรัสแสงศรี   ฉายรัศมีหิรัญพรรณ  กลิ่นแก่นจันทนารัตน์   สุทัศนนิภาธร   วรวุฒิอาภรณ์ราชกุมาร   โอภาสไพศาลรัศมี   อัปสรศรีราชกานดา   รุจาวรฉวี   เทวีวิไลยวรรณ   วิบูลยพรรณรังษี   รัชนีแจ่มจรัส   ไชยรัตนวโรภาส   วิมลมาศมาลี   สุนทรีนาฎ   ประสาทสมร   บวรวิสุทธิ์   กมุทมาลี   ศรีสุดสวาดิ” 
พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุนทรีนาฏ นับเป็นองค์ที่ 14 จากข้างต้น นั่นเพราะมีเจ้าพี่ 6 พระองค์ที่สิ้นพระชนม์ไปแต่ยังทรงพระเยาว์

พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงเทวีวิไลยวรรณ  สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2485 พระชันษา ๖๗ ปี


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 พ.ค. 15, 08:11
ภาพพระตำหนักและตำหนักของเจ้านายฝ่ายใน ของพระบรมมหาราชวัง ผมมีเพี่ยงเท่านี้
แต่แรกคิดจะลงแต่ภาพพระตำหนักและตำหนัก ทว่าพอไปค้นหาพระประวัติท่านผู้เป็นเจ้าของเข้า เห็นว่าน่าจะนำลงมาประกอบไว้ก็ดี คราวนี้เลยยาวอย่างที่เห็น

แต่หวังว่าผู้สนใจเข้ามาในกระทู้คงพอจะเห็นประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นนะครับ


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: unming ที่ 18 พ.ค. 15, 09:51
ขอบคุณมากค่ะ ติดตามอ่านตลอดนะค่ะ อย่าพึ่งจบได้ไหมค่ะ อยากให้ลงต่อเรื่อย ๆ นะคะ


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: พนักงานชาวที่ ที่ 18 พ.ค. 15, 10:58
ต้องขอบพระคุณท่านผู้ใหญ่ทุกท่านที่ร่วมกันเผยแพร่ข้อมูลประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ให้กับคนรุ่นหลังครับ เพราะแม้แต่คนสำนักพระราชวังเองยังไม่มีโอกาสได้รู้ได้เห็น เด็กรุ่นใหม่ๆทุกวันนี้ก็ไม่ค่อยสนใจจะศึกษาเรียนรู้กัน อาศัยว่าชอบคุยชอบถามกับคนเก่าๆจนตอนนี้ตัวเองก็เริ่มความจำเลอะเลือนไปเยอะแล้ว พอมาเข้าเรือนไทยอะไรหลายๆอย่างที่ลืมไปก็แวบกลับมา


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 พ.ค. 15, 07:31
ขอบคุณมากค่ะ ติดตามอ่านตลอดนะค่ะ อย่าพึ่งจบได้ไหมค่ะ อยากให้ลงต่อเรื่อย ๆ นะคะ

อ้างถึง
พนักงานชาวที่
ตำหนักในฝ่ายพระราชฐานชั้นในปัจจุบันบางตำหนักมีผู้พักอาศัยอยู่ครับ บางตำหนักก็เป็นที่พักของนักเรียนศิลปาชีพหญิงเช้าก็มีรถมารับไปสวนจิตรลดา เย็นก็มาส่งประตูปิดสี่ทุ่มถ้าเกินเวลาเข้าไม่ได้ บางตำหนักเป็นที่เรียนของวิทยาลัยในวังหญิง ปกติมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายพระราชฐานชั้นในคอยนั่งเวรเป็นจุดๆถ้าเป็นสมัยก่อนก็คงเป็นพวกโขลน กลางวันก็จะมีชาวที่ กองสวน ผู้ชายเข้าไปทำงานปกติแต่ห้ามนอนค้าง ตอนงานพระศพสมเด็จกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงประทับที่ตำหนักสมเด็จพระพันวัสสาครับ พวกผู้ชายอยู่ได้แค่สองทุ่มต้องออกมานอนที่เต๊งนอกกัน


ยังเหลืออาคารที่เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงผู้อ่านวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน คือ เต๊ง

.. เมื่อผ่านเข้าประตูศรีสุดาวงศ์ มาระยะหนึ่งพลอยสังเกตเห็นอาคารริมทางเดินเป็นตึกแถว ๒ ชั้น ยาวติดต่อกันแบ่งเป็นห้อง ๆ เมื่อพลอยถามแม่แช่มถึงตึกที่ว่านี้ แม่แช่มก็ตอบสัน ๆ ว่า "แถวเต๊ง"

แถวเต๊ง นี้ ในเน็ทมีอธิบายไว้สำนวนคล้ายๆกัน ผมขออนุญาตยกเอามาผสมผเสกันไปนะครับ ไม่ทราบว่าจะให้เครดิตใครดี

อาคารที่เรียกว่า "แถวเต๊ง" นี้เป็นที่อยู่ของพนักงานที่ทำหน้าที่ต่าง ๆ ภายในเขตพระราชสำนักฝ่ายใน  
สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ท่านสร้างเป็นอาคารแถวทิมชั้นเดียวก่ออิฐถือปูน ตั้งอยู่ขอบเขตพระราชฐานชั้นในทั้งด้านทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศใต้ เพื่อกั้นเขต ยังไม่เรียกว่า "แถวเต๊ง" ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ปรับปรุงใหม่  ต่อเติมขึ้นเป็นอาคาร ๒ ชั้น ชั้นล่างเป็นตึก ชั้นบนเป็นไม้ หลังคามุงกระเบื้องดินเผา แบ่งส่วนเป็นห้อง ๆ ด้วยฝาไม้ มีระเบียงโปร่งด้านหน้า ใช้เป็นที่อยู่ของพนักงานฝ่ายที่ไม่สังกัดเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ในเขตพระราชฐานชั้นใน เช่นข้าหลวง คุณพนักงาน คุณห้องเครื่อง คุณเฒ่าแก่ ชาววังเรียกอาคารลักษณะนี้ว่า "แถวเต๊ง"  สันนิษฐานว่า คำนี้น่ามาจากการเรียกของช่างก่อสร้างชาวจีนที่เรียกเรือนแถวไม้ ๒ ชั้นว่า "เหล่าเต๊ง"


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 พ.ค. 15, 07:36
แถวเต๊งในพระราชฐานชั้นในมีสามแถวดังนี้

แถวเต๊งนอกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงแถวเต๊งท่อ และเต๊งด้านกลาง นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเต๊งแถวนอกดังกล่าวนี้ขึ้นใหม่ ทางทิศใต้ของเขตพระราชฐานชั้นใน ลักษณะแถวเต๊งนอกเป็นอาคารก่ออิฐปูนสูงสองชั้น หลังคามุงกระเบื้องมอญทรงสูง ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบวิคตอเรียน มีโถงทางเข้าร่วมกันแต่ละคู่ที่ชั้นล่าง ประตูทางเข้าร่วมทำเป็นซุ้มโค้ง มีบันไดภายในเชื่อมชั้นล่างและชั้นบน มีการตกแต่งตอนมุมของอาคารเป็นเสาอิงเซาะร่อง มีบัวหัวเสาเป็นแบบตะวันตก ตอนหักมุมของอาคารทำเป็นรูปจั่วแบบตะวันตก (pediment) ตรงกลางมีลายปูนปั้นรูปวงกลมแถวเต๊งกลาง หรือโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบหรือเต๊งท่ออาณาเขตตั้งแต่เต๊งแดงถึงเต๊งท่อ เป็นที่พำนักข้าราชบริพารและข้าราชการฝ่ายใน ปัจจุบันเป็นที่ทำการโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มี 75 ห้อง
แถวเต๊งท่อเป็นอาคารสูงสองชั้น โครงสร้างก่ออิฐถือปูน แบ่งห้องพักเป็นคู่ ๆ มีสถาปัตยกรรมแบบเดียวกันแถวเต๊งกลาง สันนิษฐานว่าปรับปรุงขึ้นพร้อมกันในสมัยรัชกาลที่ 5

ที่เรียกเต๊งแถวท่อเพราะสร้างขึ้นตามแนวท่อที่ชักน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาใช้ในพระบรมมหาราชวัง และที่เรียกว่าเต๊งแดงก็เพราะทาด้วยสีแดง ส่วนเต๊งแถวนอก เป็นเต๊งที่อยู่ระหว่างเต๊งแถวท่อและเต๊งแดง เต๊งทั้งหมดรวมเรียกว่า "แถวเต๊ง"

ภาพโดยรวมแล้ว แถงเต๊งจึงเป็นอาคารสูง ๒ ชั้น โอบล้อมพระราชสำนักฝ่ายในอยู่ทั้งด้านทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศใต้ แถวเต๊งเป็นที่อยู่ของพนักงานหน้าที่ต่าง ๆ ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกรัชกาล จึงเป็นสถานที่ที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างแออัดคับคั่ง ดังที่ผู้ประพันธ์บรรยายบรรยากาศแถวเต๊ง โดยผ่านความนึกคิดของพลอยว่า "ตามแถวเต๊งนั้นมีคนอยู่เต็มไปหมดไม่มีที่ว่าง"


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 พ.ค. 15, 07:37
เต๊งเเถวนอกใช้กั้นเขตพระราชฐานชั้นใน  เเเต่ประตูทางเข้าเขตพระราชฐานชั้นในบางประตู ยั้งสร้างอยู่ระหว่างเเถวเต๊งเลย อย่างเช่นประตูพิศาลทักษิณ ประตูกัลยาวดี แถวเต๊งอยู่ส่วนท้ายสุดของพระบรมมหาราชวัง เพื่อเป็นที่กั้นเเบ่งเขตพระราชฐานปัจจุบันได้รับการบูรณะซ่อมแซมเหมือนกับอาคารอื่นๆ และคงถูกใช้ประโยชน์ต่อไป ถือว่าไม่ใช่ส่วนของเขตพระราชฐานชั้นใน  ยังเคยเป็นที่พักทหารมหาดเล็กเสียด้วยซ้ำ

ประตูศรีสุดาวงศ์และประตูช่องกุดยังเปิดอยู่เช่นกัน แต่สำหรับเจ้าหน้าที่ของสำนักพระราชวังใช้เข้าออก เรื่องเข้าชมนั้นอาจยากโดยเฉพาะผู้ชาย


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 พ.ค. 15, 07:47
ผมคิดว่ากระทู้นี้คงไปต่อไม่ไหวแล้ว จะเล่าต่อเรื่องประตูศรีสุดาวงศ์และประตูช่องกุด ก็จะซ้ำกับของเดิมที่เรือนไทยมีอยู่แล้ว หากคุณunmingยังคิดว่าไม่จุใจ อยากจะอ่านเพิ่ม ขอให้เข้าไปในกระทู้ที่ผมทำระโยงไว้ให้นะครับ  นี่ก็อีกยาว อ่านกันได้หลายวัน

คุณท้าวศรีสัจจา หรือเจ้าคุณประตูดิน

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4737.0 (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4737.0)


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: พนักงานชาวที่ ที่ 19 พ.ค. 15, 09:57
สมัยผมเป็นทหารมหาดเล็กช่วงปี2532 ถึง 2534 ผมต้องไปยืนเวรที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทจะมีกองรักษาการอยู่ตรงกลางชั้นล่างของพระที่นั่งจักรี ตอนนี้กองรักษาการณ์ย้ายไปอยู่ใกล้ๆประตูศรีสุดาวงศ์ เย็นๆนักเรียนศิลปาชีพหญิงกลับมาจากสวนจิตรก็จะออกมาเดินเล่น หรือผ่านเข้าออกก็จะเป็นโอกาสให้ทหารมหาดเล็กรุ่นหนุ่มๆได้เกี้ยวสาวกันบ้างเพราะช่วงเย็นๆหลังปิดจากการให้นักท่องเที่ยวเข้าชมแล้วการอยู่เวรจะไม่ค่อยเข้มงวดนัก ผมจะคุ้นตากับเรือนแถวท้ายวังมากกว่าเพราะอยู่นอกเขตฝ่ายใน สมัยนั้นท้ายวังยังอยู่กันอย่างแออัดเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานก็จับจองพื้นที่พักอาศัยกัน สภาพก็ชำรุดทรุดโทรมไปมาก ต่อมาสำนักพระราชวังได้สร้างแฟลตที่พักข้าราชบริพารขึ้นตรงท่าโรงโม่ จึงได้ทยอยย้ายเจ้าหน้าที่ที่พักอาศัยอยู่ท้ายวังออกไป ส่วนเรือนแถวท้ายวังก็ได้รับการปรับปรุงให้เป็นวิทยาลัยในวังชาย ช่างทองหลวง สถานรับเลี้ยงบุตรหลานข้าราชบริพาร หน่วยทันตกรรม กองแพทย์หลวง หน่วยงานพวงมาลาสำหรับพระราชทาน ฝ่ายช่าง งานเครื่องสูง


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: unming ที่ 22 พ.ค. 15, 08:22
เรียน อาจารย์ NAVARAT ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ สำหรับ ความรู้ต่าง ๆ ที่มอบให้ ในทุก ๆ ด้าน ประวัติศาสตร์ การเมือง .... ฯลฯ ติดตามอ่านตลอดนะคะ

เรียนอาจารย์ เทาชมพู
ไม่ทราบว่า ใช้คำว่า ค่ะ คะ ถูกหรือเปล่าคะ จำได้ว่า อาจารย์ได้เคยแนะนำการใช้คำว่า ค่ะ คะ ใน เวปนี้ แต่หนูจำกระทู้ไม่ได้นะคะ ต้องขอโทษด้วยคะ ใจจริงอยากจะใช้คำให้ถูกต้องเพราะเป็นภาษาของเรา
 

เคารพ
อันหมิง


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: unicorn9u ที่ 22 พ.ค. 15, 08:36
เรียน อาจารย์ NAVARAT ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ สำหรับ ความรู้ต่าง ๆ ที่มอบให้ ในทุก ๆ ด้าน ประวัติศาสตร์ การเมือง .... ฯลฯ ติดตามอ่านตลอดนะคะ

เรียนอาจารย์ เทาชมพู
ไม่ทราบว่า ใช้คำว่า ค่ะ คะ ถูกหรือเปล่าคะ จำได้ว่า อาจารย์ได้เคยแนะนำการใช้คำว่า ค่ะ คะ ใน เวปนี้ แต่หนูจำกระทู้ไม่ได้นะคะ ต้องขอโทษด้วยคะ ใจจริงอยากจะใช้คำให้ถูกต้องเพราะเป็นภาษาของเรา
 

เคารพ
อันหมิง

ต้องใช้ว่า "ต้องขอโทษด้วยค่ะ"
หรือ   "ต้องขอโทษด้วยนะคะ"    ครับ


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 พ.ค. 15, 08:49
ผมแน่ใจว่าคุณอ่านออกเสียงคำว่า คะ และ ค่ะ ได้อย่างถูกต้อง

ดังนั้น เวลาเราจะเขียนอะไร ก็ขอให้เขียนเหมือนอย่างที่ตนเองจะพูด จะเป็นนะคะ หรือ ค่ะ ก็ได้
คำว่าขอโทษนะคะ กับคำว่า ขอโทษค่ะ มีความหมายเดียวกัน ใช้ได้ทั้งสองกรณีย์ ถนัดอย่างไรก็ใช้อย่างนั้นครับ

อย่าเขียนออกมาเป็น ขอโทษนะค่ะ หรือ ขอโทษคะ เป็นอันขาด เด๋อด๋าสิ้นดีทีเดียว


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 พ.ค. 15, 09:44
ขออนุญาตร่วมวงด้วยคน  ;D

(http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2008/12/K7333938/K7333938-115.jpg)

ผลงานของ คุณจิงซีแห่งพันทิป  (http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2008/12/K7333938/K7333938.html#115)


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 พ.ค. 15, 10:40
อย่างที่คุณนวรัตนและคุณเพ็ญชมพูยกมา
ท่องไว้ง่ายๆ
- ถ้ามี นะ นำหน้า ต่อด้วย คะ  ไม่ใช่ ค่ะ
- ถ้าเป็นประโยคคำถาม  ลงท้ายด้วย คะ   เว้นแต่เป็นคำต่อท้ายคำเรียกชื่อ   เช่น คุณอันหมิงคะ
- ถ้าไม่ใช่ประโยคคำถาม ลงท้ายด้วย ค่ะ


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: unming ที่ 25 พ.ค. 15, 07:09
ขอบพระคุณอาจารย์ ทุก ๆ ท่าน มากคะ 
เคารพ
unming


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 พ.ค. 15, 07:33
ให้ภาพถ่ายทางอากาศ ถ่ายไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ บริเวณเขตพระราชฐานฝ่ายใน เลยทำบริเวณพื้นที่สีเหลืองไว้ให้เห็นว่า บริเวณดังกล่าวปัจจุบันนี้หายไปหมดแล้ว


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: pimpalux ที่ 25 พ.ค. 15, 12:30
สวัสดีค่ะ  ตำหนักน่าสนใจมาก อยากทำวิทยานิพนธ์ตำหนักในเขตชั้นในมาก แต่คงเข้าไม่ได้แน่นอน
อาจารย์ว่าในนั้นมี ผีท่านๆเยอะหรือเปล่า  เพราะมีที่อยู่เยอะก็ย่อมมีคนเยอะ  และช่วยเล่าให้หนูทราบตรงกรณีที่พวก
คุณๆทุกระดับในนั้นสิ้น เขาทำอย่างไร เผา ฝัง เอากระดูกไว้ไหนกัน


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 พ.ค. 15, 14:36
คุณคงยังไม่ทราบว่า ใครก็ตามที่ไม่ใช่พระมหากษัตริย์และพระราชินี ไม่มีสิทธิ์ตายในวัง

หากใครเจ็บป่วยมากจะต้องพาออกไปรักษาพยาบาลที่อื่น หาไม่แล้ว จะต้องแก้อาถรรพ์กันเป็นการใหญ่ด้วยการทำพิธีกลบบัตรสุมเพลิง ซึ่งในอดีตดูเหมือนจะมีครั้งหนึ่งคราวกบฏบวรเดช มีนักบินนำเครื่องบินหนีมาจากดอนเมืองจะมาลงที่ท้องสนามหลวง บังเอิญร่อนลงไม่พ้นหลังคาพระราชมณเฑียร เครื่องมาตกบนสนามหน้าประตูวัง ทหารนักบินตาย เลยต้องให้พราหม์มาทำพิธีดังกล่าวเป็นการใหญ่

เมื่อไม่มีใครตายในเขตพระราชฐานชั้นใน เรื่องอื่นๆตามที่สงสัยก็เป็นอันว่าไม่มี


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 พ.ค. 15, 14:39
อีกเรื่องหนึ่ง

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5116.0 (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5116.0)


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 พ.ค. 15, 14:48
อ้าว ตกลงไม่ใช่รายนี้ครับที่ตาย ผมจำมาเล่าผิดๆถูกๆ

  เครื่องบินตกในวังหลวงนักบินตาย   บ่ายวันที่  14  ตุลาคม เครื่องบินแบบ "นิเออปอ เดอลาส"  2 เครื่อง บินมาจากทิศใต้จะลงสู่

สนามหลวง  เครื่องหนึ่งผ่านพระบรมมหาราชวังในระดับต่ำมากขณะที่กำลังจะข้ามพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  จึงพุ่งเข้าชนมุมชายคาพระที่นั่ง องค์หนึ่งในเขตพระราชฐานชั้นใน  เครื่องบินตกลงพังพินาศ

สิบตรีแฉล้ม  นักบินสลบคาที่และกำลังจะตายเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังต้องรีบหามออกไปให้สิ้นใจภายนอกกำแพงวัง  เพื่อหลีกเลี่ยงการที่จะต้องประกอบพิธี "กลบบัตรสุมเพลิง"ณ จุดที่ถึงแก่กรรม  โดยพราหมณ์ราชพิธีจะต้องกระทำในเมื่อมีผู้ที่มิใช่พระราชวงศ์เข้ามาตายในเขตพระบรมมหาราชวัง เป็นการ "ปัดรังควาน" ตามประเพณีของราชสำนักมาแต่โบราณกาล

เครื่องบินอีกลำหนึ่งไปลงปะทะกิ่งมะขามที่สนามหลวง  แต่นักบินปลอดภัย  นักบินทั้งสองนี้บินหนีจากกองบินโคกกะเทียมมาสวามิภักดิ์ต่รัฐบาล

เป็นที่โจษขานกันในวังระยะนั้นว่า  เพราะนักบินผู้ตายกำลังจะบินข้ามองค์พระแก้วมรกต  และยังผ่านข้ามพระสยามเทวาธิราช ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณด้วย  จึงเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว

นักบินจากโคกกระเทียมจริงครับ แต่ไม่ได้บินตรงมาจากที่โน่น เครื่องมาแวะที่ดอนเมืองพอดีคืนนั้นกองทัพฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดชมายึดดอนเมือง เช้าวันรุ่งขึ้นนักบินบางคนฉวยโอกาสหนีมาเข้ากับฝ่ายรัฐบาล พวกหนีไม่ทันเลยถูกรัฐบาลตั้งข้อหาเป็นกบฏไปด้วย


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 พ.ค. 15, 14:53
ไม่ใช่แต่มนุษย์เท่านั้น แม้กระทั่งช้างเผือกที่ยืนโรงช้างอยู่เมื่อล้มลงในเขตพระบรมมหาราชวัง ก็ต้องกระทำพิธีกลบบัตรสุมเพลิงกันยกใหญ่

นอกจากนี้ยังมีกรณีเจ้าพนักงานฝ่ายในเกิดออกลูกในพื้นที่ฝ่ายใน ก็ต้องทำพิธีกลบบัตรสุมเพลิงด้วย


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: pimpalux ที่ 25 พ.ค. 15, 17:10
แต่อาจารย์ค่ะ  ในเขตชั้นใน มีเจดีย์ที่เป็นเหมือนที่เก็บอัฐด้วยมิใช่หรือ

และกรณีที่อาจารย์ว่า  ที่รู้มาจะไม่มีสิ่งใดๆ พิธีใด หรือพิธีกรรมใด ศาสนาใด เข้าไปได้ถึงเขตชั้นในได้เลย
แต่ทำไมถึงมีเรื่องเล่าจากข้างในเยอะแยะไปหมด


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 พ.ค. 15, 18:44
แต่อาจารย์ค่ะ  ในเขตชั้นใน มีเจดีย์ที่เป็นเหมือนที่เก็บอัฐด้วยมิใช่หรือ

และกรณีที่อาจารย์ว่า  ที่รู้มาจะไม่มีสิ่งใดๆ พิธีใด หรือพิธีกรรมใด ศาสนาใด เข้าไปได้ถึงเขตชั้นในได้เลย
แต่ทำไมถึงมีเรื่องเล่าจากข้างในเยอะแยะไปหมด
ไปเห็นเจดีย์อะไร ที่ไหนมา เล่าให้ฟังสิ  ??? ???


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: pimpalux ที่ 25 พ.ค. 15, 19:15
เป็นรูปเจดีย์แหลมๆ
ยังมีอะไรที่เขาไม่ได้เขียนอีกเยอะค่ะ
เพราะยังเป็นเขตลึก  และ  ลับ
เหมือนในหนังโบราณ
ไม่ได้ฟุ้งค่ะ  อาจารย์
วันก่อนไปดูความเป็นไปได้ที่จะเลือกงานมาทำ
ยังเห็นเด็กจุก มีปิ่น มีสายพาดไหล่  กวักมือชวนไปเล่นด้วยเลยที่ประตูเขตชั้นกลาง 
สามคน  มีนางนม หมอบที่พื้น  กลางวันแสกๆๆ
ไม่ได้ตลกหรือไร้สาระหรอกค่ะ
แต่บุญไม่อาจไปเล่นได้ เลยบอกท่านแบบในจิตว่าเข้าไม่ได้  โขลนดุ
อีกสักพักถ้าเข้าจะไปเล่นด้วยนะ
แล้วท่านก็หายไป
เลยไปไหว้พระแก้วสวดมนต์ให้
หนูถึงแน่ใจว่า
ทุกย่างก้าวของวัง  มีคน  มีตามอง  มีคนที่เยอะแยะที่ใช้ชีวิตเช่นเดิมแต่เราอยู่คนละมิติ


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 พ.ค. 15, 21:50
จาก fb ของ คนรักวัง บ้านโบราณ

ภาพจากมุมตึกใหม่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ

ซ้ายสุด - ตำหนักพระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา
ถัดมา - เรือนเจ้าจอม ก๊กออ
ถัดมา - ตำหนักพระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์
ถัดมา หลังคาส้ม - พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร
แนวตึกยาวๆขาวๆ - แถวเต๊งท่อ กับ ประตูกัลยาวดี
หลังคาเทาๆใหญ่ล่างสุด สระพระองค์เจ้าอรไทคับ


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: พนักงานชาวที่ ที่ 25 พ.ค. 15, 21:52
ให้ภาพถ่ายทางอากาศ ถ่ายไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ บริเวณเขตพระราชฐานฝ่ายใน เลยทำบริเวณพื้นที่สีเหลืองไว้ให้เห็นว่า บริเวณดังกล่าวปัจจุบันนี้หายไปหมดแล้ว
หลังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทปัจจุบันมีพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ตรงพื้นที่ว่างขาวๆหายไปแล้วครับ


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: พนักงานชาวที่ ที่ 25 พ.ค. 15, 21:58
เป็นรูปเจดีย์แหลมๆ
ยังมีอะไรที่เขาไม่ได้เขียนอีกเยอะค่ะ
เพราะยังเป็นเขตลึก  และ  ลับ
เหมือนในหนังโบราณ
ไม่ได้ฟุ้งค่ะ  อาจารย์
วันก่อนไปดูความเป็นไปได้ที่จะเลือกงานมาทำ
ยังเห็นเด็กจุก มีปิ่น มีสายพาดไหล่  กวักมือชวนไปเล่นด้วยเลยที่ประตูเขตชั้นกลาง 
สามคน  มีนางนม หมอบที่พื้น  กลางวันแสกๆๆ
ไม่ได้ตลกหรือไร้สาระหรอกค่ะ
แต่บุญไม่อาจไปเล่นได้ เลยบอกท่านแบบในจิตว่าเข้าไม่ได้  โขลนดุ
อีกสักพักถ้าเข้าจะไปเล่นด้วยนะ
แล้วท่านก็หายไป
เลยไปไหว้พระแก้วสวดมนต์ให้
หนูถึงแน่ใจว่า
ทุกย่างก้าวของวัง  มีคน  มีตามอง  มีคนที่เยอะแยะที่ใช้ชีวิตเช่นเดิมแต่เราอยู่คนละมิติ

ไปสมัครเรียนวิทยาลัยในวังหญิงเลยครับได้เข้าแน่ๆ แฟนผมก็จบจากวังหญิงตอนนี้มีหน้าที่ทำพวงมาลาสำหรับพระราชทานผู้เสียชีวิต


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: pimpalux ที่ 25 พ.ค. 15, 22:09
ไม่เชื่อก็ไม่เป็นไรค่ะ
เพราะของอย่างนี้เป็นความคิดเฉพาะคน
หัวเราะหนูได้
แต่อย่าขำ หัวเราะกับอะไรที่มองไม่เห็น     เลยน่ะค่ะ   ขอร้อง


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: พนักงานชาวที่ ที่ 25 พ.ค. 15, 22:17
จริงๆเขตพระราชฐานชั้นในก็ไม่ถึงกับลึกและลับอย่างที่คุณpimpalukคิดหรอกนะครับ ใครที่มีหน้าที่ มีราชการที่ต้องเข้าไปทำก็เข้าได้ ผู้ชายชาวที่ กองสวน ช่างไฟช่างแอร์ ก็เข้าไปทำงานได้ตามหน้าที่ของตนเอง เพียงแต่จะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายในคอยนั่งกำกับดูแลอยู่ด้วยเมื่อเสร็จงานก็คอยดูว่าเข้าไปกี่คนกลับออกมาครบมั้ย. ส่วนผู้หญิงที่อยู่ข้างในทั้งนักเรียนศิลปาชีพ เวรฝ่ายใน เด็กนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ ข้าราชบริพารก็ยังพักอาศัยกันอยู่ไม่น้อยเลย


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 26 พ.ค. 15, 02:30
นอกจากนี้ยังมีกรณีเจ้าพนักงานฝ่ายในเกิดออกลูกในพื้นที่ฝ่ายใน ก็ต้องทำพิธีกลบบัตรสุมเพลิงด้วย
[/quote]

เข้าใจผิดมาตลอดว่าเจ้าพนักงานฝ่ายในจะต้องเป็นโสดเท่านั้น


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: pimpalux ที่ 26 พ.ค. 15, 05:27
ตรงนั้น  เข้าใจอยู่แล้วทุกอย่าง  และรู้ดีด้วยค่ะ

ประเด็นไม่ใช่คน ณ ขณะนี้

คน ณ ขณะนั้นมากกว่า

ถ้าอย่างนั้น คุณพนักงานชาวที่ ดิฉันขอถามแบบถามและตอบนะค่ะว่า

ฝ่ายในทำบุญกันแบบไหน  ที่ตรงบริเวณไหน  ลักษณะการเป็นเช่นไร

ดิฉันจะรอคำตอบจากคนข้างในนะค่ะ :-X


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: พนักงานชาวที่ ที่ 26 พ.ค. 15, 08:37
ถ้าจะเอาคำตอบเรื่องสิ่งลี้ลับ วิญญาณอะไรอย่างนั้นโดยส่วนตัวผมไม่เคยเจอนะครับ จากปี2532 ที่เริ่มเข้าเวรที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท กิน นอน อยู่ชั้นล่างของพระที่นั่งมาเกือบสามปี ไม่เคยเจออะไรที่เหนือธรรมชาติ จากนั้นก็มาประจำที่สวนจิตรลดาก็ยังไม่เห็นอะไร ปัจจุบันอยู่วังสระปทุมก็ไม่เคยเจออะไร ส่วนเรื่องความเคารพในสถานที่ เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดวงวิญญาณเจ้าของสถานที่ผมถวายเคารพอย่างสูงที่สุดอยู่เสมอ จากการอ่านบทความหาความรู้จากอาจารย์หลายๆท่านในเรือนไทยก็ได้รู้ว่าเจ้านายหลายพระองค์ก็สิ้นพระชนม์อยู่ข้างในหลายพระองค์. พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็สิ้นพระชนม์ตั้งแต่มีพระชนมพรรษาไม่กี่เดือน ไม่กี่ปีก็หลายพระองค์ พิธีกลบบัติสุมเพลิงท่านผู้รู้ชี้แจงไว้แล้วว่าเป็นพิธีการของศาสนาพราหมณ์ ถ้าเราเชื่อแบบพุทธก็ไม่ผิดที่ยังจะมีดวงวิญญาณอยู่ข้างใน มีสถานที่ซึ่งคนทั้งในฝ่ายในเองและข้าราชสำนักทุกคนที่เข้าไปฝ่ายในให้ความเคารพศรัทธาก็คือศาลพ่อปู่ครับ เอาไว้ว่างๆจะหาข้อมูลประวัติศาลพ่อปู่ให้ครับ. หรือท่านใดทราบก็กรุณาขอข้อมูลด้วยครับ ป.ล.แต่แฟนผมเค้าเคยเจอนะตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนของวิทยาลัยในวังหญิง ปัจจุบันก็มาเล่าให้ฟังบ่อยๆว่าเจออย่างนั้นเจออย่างนี้


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 พ.ค. 15, 09:22
ขอให้จำกัดวิชาการในกระทู้นี้เอาไว้แค่เรื่อง พระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นในดีกว่าค่ะ


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 มิ.ย. 15, 21:11
เอาภาพถ่ายทางอากาศหมู่พระตำหนักฝ่ายในมาให้ชมกันครับ

เครดิตภาพ
FBของ เวียงวังและคลังประวัติศาสตร์


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 มิ.ย. 15, 21:11
2


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 มิ.ย. 15, 21:12
3


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 มิ.ย. 15, 21:13
4


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 มิ.ย. 15, 21:15
ส่วนที่ใดเป็นที่ใด ผมขอเวลาที่จะแกะจากแผนผังบ้างนะครับ มันจะดูยากหน่อย


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 มิ.ย. 15, 07:11
แผนผังเท่าที่มีเป็นอย่างนี้ ซึ่งอาคารที่ปรากฏหลายหลังถูกรื้อออกไปบ้าง ไม่เหมือนกับในภาพถ่ายที่ปรากฏ


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 มิ.ย. 15, 07:47
ผมให้ตำแหน่งของเลขหมายในภาพนี้เสียทีหนึ่งก่อน


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 10 มิ.ย. 15, 10:40
กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์นวรัตน์ดอทซีที่กรุณานำภาพมาให้ชมเจ้าค่ะ


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 มิ.ย. 15, 21:29
 ;D ขอบคุณครับ


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 มิ.ย. 15, 21:36
คราวนี้มาดูจากภาพจริงบ้าง


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 มิ.ย. 15, 22:02
ทางฝั่งตะวันออก


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 มิ.ย. 15, 22:04
เสียดายนะครับ โหลดภาพแล้วไม่ชัดเท่าต้นฉบับ แต่หวังว่าคงจะพอได้อาศัย


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: otto t ที่ 11 มิ.ย. 15, 20:06
ถือว่าตรงนี้เป็นของแถมก็แล้วกันนะครับ

สมัยก่อนสงคราม คนไทยติดนวนิยายเรื่องหนึ่งอย่างงอมแงมทั้งเมือง บางคนถึงกับไปเฝ้าโรงพิมพ์ในวันที่นิตยสารจะออกวางจำหน่าย ส่งผลให้โชติ แพร่พันธุ์เจ้าของนามปากกา ยาขอบ กลายเป็นนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่อมตะคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ เรื่องนั้นคือ ผู้ชนะสิบทิศ พิมพ์รวมเล่มไม่รู้จะกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ยุคต่อมาถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ไม่น้อยกว่า ๗ คราว

ผู้ชนะสิบทิศมีพระเอกชื่อจะเด็ด เจ้าของวลี "ข้าพเจ้ารักจันทราด้วยใจภักดิ์ แต่รักกุสุมาด้วยใจปอง"
ยาขอบเขียนเล่าว่า ผู้แต่งเป็นแค่ส่วนประกอบ เพราะเมื่อแต่งให้ตัวละครเปลี่ยนทิศทาง ผู้อ่านบอกว่าจะไม่อ่าน จะด่า บางท่านมาที่สำนักพิมพ์ อย่างตอนที่กุสุมาเสียตัว โทรไปถล่มสายแทบไหม้ นั่งรถรางไปด่าถึงที่ก็มี จนผู้แต่งต้องแต่งตามใจผู้อ่าน

ไม่เช่นนั้นกุสุมา คงได้แต่งพร้อมจันทราไปแล้ว กลายเป็นต้องเปลี่ยน ไปคล้ายประวัติศาสตร์ตรงที่ไม่ได้แต่งพร้อมกัน แบบโดยไม่ตั้งใจ

เบื้องหลังคำอธิบายนั้น คือพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉิดโฉม ผู้ทรงบันดาลให้กุสุมาไม่ได้แต่งงาน

อ่านถึงตอนดิฉันขนลุกซู่ขึ้นมาทั้งตัว อ่านผู้ชนะสิบทิศมาหลายรอบเพิ่งมารู้แจ้งถึงสาเหตุสำคัญที่ตะละแม่กุสุมาไม่ได้แต่งงานกับจะเด็ดพร้อมตะละแม่จันทราเปนด้วยสาเหตุนี้เองขอบพระคุณท่านอาจารย์นวรัตน์มากๆค่ะ


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 มิ.ย. 15, 21:13
อ่านถึงตอนดิฉันขนลุกซู่ขึ้นมาทั้งตัว อ่านผู้ชนะสิบทิศมาหลายรอบเพิ่งมารู้แจ้งถึงสาเหตุสำคัญที่ตะละแม่กุสุมาไม่ได้แต่งงานกับจะเด็ดพร้อมตะละแม่จันทราเปนด้วยสาเหตุนี้เองขอบพระคุณท่านอาจารย์นวรัตน์มากๆค่ะ


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: อาทิตยา ที่ 05 ก.ค. 15, 00:43
สวัสดีค่ะ  ได้ติดตามอ่านความรู้ต่างๆในเรือนไทยมานาน  แทบไม่เคยพิมพ์ข้อความใดๆเลยค่ะ   แต่วันนี้มีความสงสัยมากว่า ตำหนักเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ในพระบรมมหาราชวังอยู่บริเวณไหนคะ อ่านดูในกระทู้นี้หลายรอบแล้วแต่ไม่พบ  ไม่แน่ใจว่าอ่านไม่รอบคอบหรือเปล่า ได้ลองเสิร์ทหาจากกูเกิ้ลแล้วก็ไม่พบ  รบกวนท่านผู้รู้ไขปัญหาคาใจให้ด้วยนะคะ ขอบพระคุณค่ะ


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ก.ค. 15, 10:03
คำถามนี้มีคำตอบอยู่โดยพิศดาร โดยคุณกัมม์ ได้ค้นคว้าหามาลงไว้ตามระโยงนี้

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/K3401095/K3401095.html (http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/K3401095/K3401095.html)

กล่าวโดยย่อ เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ได้อยู่หลายตำหนักมาก ผมตัดตอนมาให้อ่านเป็นช่วงๆดังนี้

เมื่อแรกเข้าไปอยู่ในวัง

เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ก็ยังตอบยืนคำอยู่ว่าไม่สมัครจะเข้าไปอยู่ในวัง จนบิดาบอกให้เข้าใจว่ามิใช่จะส่งเข้าไปถวายตัวอยู่ในวังที่เดียว เป็นแต่จะให้ไปอยู่กับเจ้าจอมมารดา(เที่ยง)ให้ฝึกสอนกิริยามารยาท เมื่อบิดากลับจากยุโรปก็จะรับกลับไปอยู่บ้านอย่างเดิม ท่านเข้าใจเช่นนั้นจึงยอมเข้าไปอยู่ในวัง บิดาก็ให้ท่านผู้หญิงอ่วมผู้เป็นป้าพาเข้าไปฝากต่อเจ้าจอมมารดาเที่ยง(เห็นจะราวเมื่อเดือนยี่ปีขาล พ.ศ.๒๔๐๙ ใกล้ๆกับเมื่อเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัธน์ออกจากกรุงเทพฯไปยุโรป) เจ้าจอมมารดาเที่ยงก็รับอุปการะด้วยความยินดี แต่ปรารภว่าถ้าให้อยู่ด้วยกันกับท่านที่ตำหนัก ท่านเป็นผู้ใหญ่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ต้องเกรงใจท่านอยู่เสมอก็จะไม่สบาย  ก็ในเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดฯใช้สอยพระองค์หญิงโสมาวดี พระธิดาองค์ใหญ่ของท่านซึ่งเรียกกันว่า"พระองค์ใหญ่โสม"เป็นอุปถาก  ดำรัสสั่งให้ขึ้นไปอยู่ ณ พระที่นั่งมูลมณเทียร  ใกล้กับที่เธอเสด็จประทับในบริเวณพระอภิเนาวนิเวศ เจ้าจอมมารดาเที่ยงจึงให้เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ไปอยู่ด้วยกันกับพระองค์ใหญ่โสมที่พระที่นั่งมูลมณเทียร  เพราะเห็นว่ารุ่นราวคราวเดียวกันพระองค์ใหญ่โสมพระชันษาแก่กว่า ๒ ปี พออยู่ด้วยกันไม่ช้าก็ชอบชิดสนิทสนมกัน


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ก.ค. 15, 10:04
หลังจากที่เป็นหม่อมห้ามของสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์แล้ว

เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ออกไป อยู่พระตำหนักสวนกุหลาบได้สามเดือนเริ่มทรงครรภ์ ต้องคิดหาที่สำนักซึ่งจะคลอดพระหน่อเพราะจะคลอดในพระราชวังไม่ได้ ด้วยผิดพระราชประเพณีดังกล่าวมาแล้ว วังใหม่ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าก็ยังไม่ได้สร้าง แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานวัง อันทรงสร้างเป็นที่ประพาส ณ สวนนันทอุทยานที่ริมคลองมอญทางฝั่งธนบุรี แก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯไว้แต่ก่อน จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตึกซึ่งสร้างเป็นพระราชมณเทียรในสวนนั้นเป็นที่สำนัก เมื่อถึงเวลาที่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ต้องไปอยู่ที่สวนนันทอุทยาน กรมสมเด็จพระสุดารัตน์ก็เสด็จไปอยู่ด้วย ……

……เมื่อวันศุกร์เดือน ๑๐ ขึ้น ๔ ค่ำ ก็พาเจ้าคุณพระประยูรวงศ์กับพระหน่อย้ายเข้ามาอยู่พระตำหนักสวนกุหลาบตามเดิม


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ก.ค. 15, 10:05
หลังสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เสด็จขึ้นครองราชย์ 

กรมสมเด็จพระสุดารัตน์ฯกับเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ซึ่งเปลี่ยนฐานะเป็นเจ้าจอมมารดา และพระธิดาซึ่งฐานะเปลี่ยนเป็นพระเจ้าลูกยาเธอก็ย้ายเข้าไปอยู่ในพระราชวังในวันแรมค่ำหนึ่งนั้น  กรมสมเด็จพระสุดารัตน์ฯเสด็จกลับไปอยู่ที่พระตำหนักเดิม แต่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์กับพระธิดานั้นไปอยู่ที่เรือนเจ้าจอมมารดาผึ้ง



กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ก.ค. 15, 10:07
ตรงนี้จะพรรณนาแต่ประวัติเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ก่อน พิเคราะห์ดูเหมือนเมื่อแรกท่านได้เป็นพระสนมเอก แทนที่จะอิ่มใจกลับได้พบความลำบากใจมิใช่น้อย เริ่มต้นแต่การบรมราชาภิเษกก็ถวายนักสนมนารีสำหรับปฏิบัติบำเรอพระเจ้าอยู่หัวเป็นหมู่ใหญ่ ตัวท่านติดกับพระองค์มาเหมือนอย่างพระจันทร์โคจรอยู่รอบมนุษย์โลกแต่ดวงเดียว มากลายเป็นแต่ดาวดวงหนึ่งในจักรวาล อันรายล้อมดวงพระจันทร์อยู่ในท้องฟ้า นอกจากนั้นยังมีท้าวนางบังคับบัญชาฝึกหัดให้เข้าแบบแผนนางในครั้งรัชกาลที่ ๓ ตัวท่านเองเคยฝึกหัดอบรมมาแต่แบบแผนรัชกาลที่ ๔ และไม่เคยอยู่ในบังคับท้าวนางเหล่านั้นมาแต่ก่อน คงรังเกียจและเกิดความลำบากใจเป็นธรรมดา ตัวท่านมีพระเจ้าอยู่หัวเป็นที่พึ่ง ก็ได้แต่กราบทูลปรับทุกข์ร้อน ถ้าหากว่าเรื่องตามที่ฉันเคยได้ยินมาตรงตามความจริง น่าสรรเสริญเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ที่ท่านสามารถแก้ไข ให้พ้นความลำบากด้วยสติปัญญาของท่านในครั้งนั้น 

เขาเล่าว่าท่านกราบทูลพระเจ้าอยู่หัว ว่าพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์จะมีพระสนมกำนัลมากสักเท่าใด ท่านก็ไม่เคียดขึ้งหึงหวง และไม่ปรารถนาจะมีอำนาจว่ากล่าวบังคับบัญชาผู้หนึ่งผู้ใด ขอแต่ให้สนองพระเดชพระคุณเพียงเหมือนอย่างเมื่อเสด็จอยู่พระตำหนักสวนกุหลาบเท่านั้นก็พอใจ พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพรดังท่านประสงค์ ตรัสห้ามมิให้ท้าวนางไปว่ากล่าวรบกวนเจ้าคุณพระประยูรวงศ์และทรงสร้างพระที่นั่งเย็นเป็นที่สำราญพระราชอิริยาบถขึ้นหลังหนึ่งทางด้านตะวันออกพระที่นั่งมณเทียร ให้แต่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์คนเดียวเป็นผู้ปฏิบัติเมื่อเสด็จอยู่พระที่นั่งเย็นนั้น  ท่านเล่าว่ามีแต่ตัวท่านคนเดียวที่นุ่งโจงขึ้นเฝ้าได้เสมอ มิต้องเปลี่ยนเป็นนุ่งจีบตามแบบรัชกาลที่ ๓ นอกจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดฯให้สร้างตำหนักหมู่ใหญ่พระราชทานเจ้าคุณพระประยูรวงศ์อีกแห่งหนึ่ง ข้างหลังพระมหามณเทียรตรงที่เคยเป็นพระตำหนักพระสนมเอกครั้งรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ก.ค. 15, 10:09
จบหนังตัวอย่างที่ผมนำมาฉายแล้ว ถ้าชอบก็เข้าระโยงไปอ่านเรื่องของคุณกัมม์ต่อนะครับ สนุกทีเดียวสำหรับผู้ที่ชื่นชอบเรืองแนวนี้


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 05 ก.ค. 15, 14:51
อากาศร้อนเกินกว่าจะออกนอกบ้าน วันหยุดในช่วงนี้ก็ได้อาศัยเรือนไทยเป็นที่หลบร้อน ไล่อ่านกระทู้เก่าๆย้อนหลังรวมทั้งกระทู้ของคุณกัมม์ที่อาจารย์นวรัตนกรุณาโยงให้ด้วย..สนุกจริงๆค่ะ

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เจ้าของเรือน อาจารย์ทุกท่านที่กรุณานำความรู้มาแบ่งปัน อีกทั้งขอบคุณทีมงานทุกท่านด้วยค่ะ


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NT ที่ 05 ก.ค. 15, 19:20
ในฐานะผู้ตั้งกระทู้ ขอขอบพระคุณอาจารย์นวรัตน ซี และอาจารย์ทุกท่านครับ


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: อาทิตยา ที่ 08 ก.ค. 15, 21:49
ขอบพระคุณคุณNAVARAT.C นะคะที่กรุณามาตอบให้  ท่านเจ้าคุณฯท่านได้อยู่หลายตำหนักจริงๆ  แต่จากข้อความ "ทรงพระกรุณาโปรดฯให้สร้างตำหนักหมู่ใหญ่พระราชทานเจ้าคุณพระประยูรวงศ์อีกแห่งหนึ่ง ข้างหลังพระมหามณเทียรตรงที่เคยเป็นพระตำหนักพระสนมเอกครั้งรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒"  นี่น่าจะเป็นตำหนักที่สร้างเพื่อท่านจริงๆที่อยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน  แต่ทำไมไม่มีปรากฎในแผนที่ด้านบนล่ะคะ  ตำหนักหมู่ใหญ่ของท่านหายไปไหนหนอ????
ข้างหลังพระมหามณเฑียรนี่น่าจะแถวๆหมายเลข 2 ที่ระบุว่าเป็นตำหนักของเจ้าจอมมารดาแสหรือเปล่าคะ ตรงนั้นมีที่ว่างอยู่  หรือจะเคยมีตำหนักอยู่ตรงนั้น และถ้าใช่ ทำไมหายไปหนอ???  มีแต่คำถามนะคะ  แหะ แหะ


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ค. 15, 22:51
ในเขตพระราชฐานทั้งชั้นนอกและชั้นในมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง รื้อและสร้างไหม่อยู่เสมอ และหลายครั้งหลายหน ตำหนักดังกล่าวที่คุณสงสัยก็คงเป็นอย่างที่ว่าแหละครับ มีแต่หลักฐานเป็นบันทึกด้วยอักษร ส่วนแผนผัง รูปแบบ ฯลฯ คงหาไม่ได้แล้ว


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ค. 15, 10:38
เรื่องนี้ถ้าจะสันนิฐานกันก็ต้องตามข้อความนี้ไป

นอกจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดฯให้สร้างตำหนักหมู่ใหญ่พระราชทานเจ้าคุณพระประยูรวงศ์อีกแห่งหนึ่ง ข้างหลังพระมหามณเทียรตรงที่เคยเป็นพระตำหนักพระสนมเอก ครั้งรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒
สมัยรัชกาลดังกล่าว พระมหามณเทียรก็คือ พระที่นั่งจักรพรรดิ์พิมาน


ในภาพเก่าที่สุดที่มี เป็นภาพที่ฝรั่งนักบินถ่ายไว้เมือสงครามโลกเลิกใหม่ๆ จะเห็นพื้นที่ค่อนข้างรก อยู่บริเวณใกล้ๆกับพระมหามณเทียรในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งอยู่ด้านหลังของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
เป็นไปได้ว่าพื้นที่โล่งตรงนั้นจะเกิดขึ้นในรัชกาลต่อๆมา จากการรื้อตำหนักเก่าๆทิ้งเสียบ้าง


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ค. 15, 10:43
อีกมุมนึง


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ค. 15, 10:48
พระมหามณเทียรในสมัยรัชกาลที่ ๕ องค์ที่ถูกรื้อทิ้งไป


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ค. 15, 10:51
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้สร้างพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร และพระที่นั่งเทวารัณยสถาน ขึ้นใหม่แทนองค์เดิม พระที่นั่งทั้งสองนี้ซ้อนกันอยู่เสมือนเป็นอาคารเดียว


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: กะออม ที่ 09 ก.ค. 15, 11:26
แผนที่พระบรมมหาราชวัง ในรัชกาลที่ ๖


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: อาทิตยา ที่ 09 ก.ค. 15, 11:38
อ่าา เจอแล้ว   :D  ขอบพระคุณทุกท่านมากค่ะ


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ค. 15, 12:14
เป็นอันว่า ที่ถูก คือที่เคยอยู่บริเวณที่ว่างตรงนี้


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: Lonelybankz ที่ 13 ก.ค. 15, 00:08
อีกมุมนึง

คห ส่วนตัวคิดว่าพื้นที่โล่งตรงนี้ที่เป็นที่รกๆในภาพถ่ายทางอากาศของฝรั่ง คือพื้นที่เดิมของสวนสวรรค์ครับ  ซึ่งมีสะพานเชื่อมต่อระหว่าง
พระที่นั่งอมรพิมานมณีกับพระตำหนัก ที่ประทับของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี ฯ  :)


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ก.ค. 15, 08:02
นำภาพให้ชมครับ เป็นการแบ่งพื้นที่บริเวณท้ายพระที่นั่งไพศาลทักษิณและตำหนักสำคัญๆ


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ก.ค. 15, 15:19
๑๖ พฤษภาคม ๒๔๕๕ เกิดเพลิงไหม้ที่คลังเก็บสิ่งของในสมเด็จพระพันปีหลวง


กระทู้: ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เริ่มกระทู้โดย: PATAMA.M ที่ 06 ส.ค. 15, 15:22
ขอขอบพระคุณอาจารย์ทุกท่านมากค่ะที่กรุณาเข้ามาให้ความรู้  
มีความสุขทุกครั้งที่ได้อ่าน :D