เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 44 45 [46] 47 48 49
  พิมพ์  
อ่าน: 71188 ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 675  เมื่อ 24 มี.ค. 16, 18:26

เมื่อเรื่องราวพอจะปะติดปะต่อกันได้ รู้จำนวนคนว่าน่าจะมากกว่าครึ่งกองร้อยแน่ๆ ได้เห็นลักษณะการแต่งกายที่มีลักษณะเป็นเครื่องแบบ มีอาวุธประจำกายที่เหมือนกัน ที่ดูจะแปลกๆก็คือพูดไทยได้ สนทนากันได้ ใช้ภาษากลาง สำเนียงก็ไม่เพี้ยนมาก มีเสียงเหน่อปนอยู่บ้างเป็นธรรมดา   

หลายคนในคณะเริ่มเกิดความกลัว อยากจะกลับออกไปในทันใด   ผมก็ว่านอนต่ออีกคืนหนึ่ง พรุ่งนี้ค่อยออกตอนเช้าก็แล้วกัน ด้วยว่าพวกจรยุทธกลุ่มนั้นเขาเห็นเราหมดใส้หมดพุงแล้ว คงไม่มาสนใจทำอะไรมิดีมิร้ายหรอก    ความกลัวมันถึงระดับที่พวกเขาจะต้องออกไปให้ได้จากจุดนี้ทันที ผมเลยต้องยอม จะปล่อยให้คณะแยกออกเป็นสองกลุ่ม หากเกิดอะไรขึ้นมาผมต้องรับผิดชอบตายเลย   ว่าแล้วก็ช่วยกันเก็บแคมป์ ออกเดินมุ่งหน้ากลับ ก็เดินไปจนใกล้มืดจึงพักแรม รุ่งเช้าก็เดินต่อ พอออกมาถึงที่รถจอด ก็ได้พบกับ จนท.นอกเครื่องแบบ 2 คน ไม่รู้ว่าเป็นทหารหรือตำรวจ  มาสอบถามว่าพบใครในห้วยขาแข้งบ้างใหม ก็ให้ข้อมูลกันไปตามจริง   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 676  เมื่อ 24 มี.ค. 16, 19:07

เรื่องการเผชิญกับกลุ่มจรยุทธนี้  อาจจะเป็นเพียงเรื่อง excitement ของท่านผู้อ่าน  แต่สำหรับผมแล้วเป็นเรื่องของจุดเปลี่ยนในวิธีการทำงานของผมในพื้นที่ทั้งหลายต่อมา

จะขอเว้นวรรคไปหนึ่งวัน เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ลองวิเคราะห์ข้อมูลเรื่องกลุ่มจรยุทธ ตามรายละเอียดและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องที่ผมได้เล่ามา  แล้วลองโยงไปให้กว้างและไกลเข้าไปในเรื่องของความมั่นคงทั้งภายในและที่เกี่ยวข้องกับประเทศข้างเคียง (ทั้งที่เกิดก่อนและหลังช่วงเวลาที่ผมได้นำมาเล่านี้)     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 677  เมื่อ 25 มี.ค. 16, 18:46

ข้อมูลหรือความรู้ทั่วไปที่ผมพอจะมีสะสมอยู่ในขณะนั้น เพื่อใช้ประเมินความเสี่ยงในการเข้าสำรวจในพื้นที่ป่าเขาทางตะวันตกของไทย ก็รวบรวมมาจากการพูดคุยและเรื่องที่ได้ประสบมาด้วยตนเองตั้งแต่ปลายปี '12 

ช่วงเวลานั้น มีเหตุการณ์ความรุนแรง/การปะทะกันระหว่างสองฝ่ายอุดมการณ์ในระดับที่รุนแรงทั่วไปในไทยและพื้นที่ๆเรียกว่าอินโดจีน   ก็มีกลุ่มชาติพันธ์ุที่หนึ่ง คือ ชาวม้ง ที่ตั้งรกรากอยู่ในประเทศลาว เข้าไปพัวพันอยู่ในการสู้รบด้วย ซึ่งต่อมาก็ต้องหาทางรอดด้วยการย้ายถิ่นหนีภัย   

ประสพการณ์พิเศษครั้งหนึ่งได้ทำให้ผมพอได้รู้ว่า  พวกม้งเป็นพวกที่นิยมใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ป่าเขาสูง ได้เริ่มแสวงหาที่อยู่ใหม่และมุ่งเคลื่อนลงใต้  จะลงมาอยู่ในเทือกเขาแถวเขตต่อเนื่องระหว่างภาคเหนือกับภาคอิสาน (พิษณุโลก แพร่ น่าน) ก็เป็นพื้นที่ไม่สงบ มีแต่การสู้รบ  จะเป็นป่าเขาในเขตเชียงราย ก็มีพวกอดีตกองพล 93 ของจีนคณะชาติครองอยู่ (สมัยก่อนนั้นเราเรียกว่าพวกจีนฮ่อ..มาจากจีนฮั่น..)  จะเข้าไปเขตแม่ฮ่องสอนก็ติดพม่า มีแต่คนกลุ่มน้อยถืออาวุธต่อสู้กับพม่า  เลื่อยลงมาแถวช่วงระหว่าง อ.แม่สอด กับ อ.อุ้มผาง นี้แหละ น่าจะลงตัวมากที่สุด  เพราะมีความห่างไกลและโดดเดี่ยว (Isolated)  เข้าถึงยากและเกือบจะไม่ต้องยุ่งกับใคร   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 678  เมื่อ 25 มี.ค. 16, 19:26

ครับ.. เราจึงพบชาวม้งอยู่อาศัยในพื้นที่ช่วงปากนกแก้วบนเส้นทางหลวงเลียบชายแดนระหว่าง อ.แม่สอด กับ อ.อุ้มผาง ไม่เหนือและไม่ใต้ไปกว่านี้ (??) และก็พบอยู่ในพื้นที่ทางตะวันตกของ จ.กำแพงเพชร แถบพื้นที่ตีนเขามอโกจู (อ.คลองลาน ??)   

ที่จริงแล้ว ผมเคยเกือบจะพบจ๊ะเอ๋กับพวกจรยุทธลักษณะคล้ายพวกนี้ ประมาณ 20 คน ในละแวกพื้นที่น้ำตกคลองลานในช่วง พ.ศ. '13 /'14  คลาดกันนิดเดียว ซึ่งในครั้งนี้นอนอยู่ต่อได้อีกคืนหนึ่งแล้วก็รู้สึกว่าต้องถอย แต่ถอยเพราะผนวกด้วยว่ามีเสือเดินผ่านหัวเต้นท์นอน (ช่วงนี้ผมยังกางเต้นท์นอนแยกกันคนละหลัง)     พื้นที่นี้เองมีความน่ากลัวขนาดตำรวจยังต้องถอดเครื่องแบบใช้ผ้าขาวม้าคาดพุงเข้าพื้นที่ แม้จังหวัดเองก็ยังขอฝากสิ่งของให้ผมไปช่วยแจชาวบ้านให้ด้วย     
พื้นที่แถบนี้แหละครับ ที่ผมได้รับการต้อนรับเสมอต้นเสมอปลายด้วยปืนยาววางพาดที่ระบียงบ้านแบบพร้อมยิง จะเข้าบ้านใหนก็จะเจอบ้านนั้นทั้งนั้น   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 679  เมื่อ 25 มี.ค. 16, 20:09

เรื่องที่เล่ามานี้ ก็คงพอจะทำให้พิเคราะห์ได้บ้างนะครับ ว่าอะไรเป็นอะไร    ผมเชื่อว่าในช่วงที่ผมประสบกับเหตุการณ์เหล่านี้ (ก่อนปีที่เครื่องเฮลิคอปเตอร์ตก กรณีล่าสัตว์ในทุ่งใหญ่) กลุ่มคนติดอาวุธในลักษณะที่ผมเล่ามานี้ยังไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของอุดมการณ์ทางการเมือง เมื่อเกิดเหตุเครื่องเฮลิคอปเตอร์ตกกรณีดังกล่าว จนเกิดการปิดป่าอย่างแท้จริงแล้ว นั่นแหละครับจึงมีเรื่องของกลุ่มคนมีอุดมการณ์เข้ามาพักพิงและทำงานอยู่ในพื้นที่เหล่านี้   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 680  เมื่อ 26 มี.ค. 16, 19:27

เรื่องน่ากลัวก็ผ่านไปอีกเรื่องหนึ่ง   ผมก็ยังกลับเข้าพื้นที่ เลาะทำงานต่อไปอยู่ในพื้นที่บริเวณตีนเขาก่อนข้ามสันเขาเข้าห้วยขาแข้ง  โดยใช้เส้นทางพื้นฐานเพื่อเข้าพื้นที่ที่บ้านหนองเบน (จากนครสวรรค์ประมาณ 15 กม.บนเส้นทางหลวงไป จ.กำแพงเพชร) 

เส้นทางทำงานแยกจากบ้านหนองเบนนี้  ก็จากหนองเบนเข้าไปก็ผ่านบ้านและสถานที่ต่างๆ อาทิ  ตลุกข่อยหนาม ลาดยาว ศาลเจ้าไก่ต่อ ทุ่งหมาใน เขาขาด แม่วงก์ มะม่วงสามพัน (อยู่ติดตีนเขา ซึ่งมีข้อมูลว่าพบกลองมโหรทึก) เรียงลำดับสถานที่ไม่แม่นแล้วละครับ

เส้นทางนี้เป็นตัวกระตุ้นให้ผมเริ่มสนใจในเรื่องของภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และเรื่องในองค์รวมทางสังคม วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของไทย   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 681  เมื่อ 26 มี.ค. 16, 21:41

บนเส้นทางเข้าพื้นที่ทำงานเส้นนี้ ไม่มีสิงสาราสัตว์หลากหลายและมากมายนัก  แต่ก็มีภาพที่สร้างความประทับใจอยู่เหมือนกันและอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกันอีกด้วย   

ภาพน่ารักแรกก็คือ แย้ที่วิ่งกันเพ่นพ่าน ชุกชุมไม่แพ้กับที่พบในพื้นที่ บ.ชะลาดระฆัง (16 กม.จากตากบนเส้นทางตาก-สุโขทัย) ต่อกับพื้นที่ในเขต อ.บ้านตาก ของ จ.ตาก ซึ่งเป็นพื้นที่ๆพบเศษซากไม้กลายเป็นหินจำนวนมาก (petrified wood)

แล้วก็ภาพของหมาในที่กำลังวิ่งไล่งับนกที่อยู่บินระดับต่ำอยู่เหนือปากของมัน ห่างจากปากไม่มากนัก  ภาพนี้ได้เห็นที่นี่ในช่วงตอนบ่ายแก่ๆครั้งเดียวเท่านั้น สวยจริงๆครับ   

เลยขอยกเอาเรื่องคำว่า"หมา" ที่ว่าเป็นคำไม่ค่อยจะสุภาพนัก กับ คำว่า "สุนัข" ที่ว่าสุภาพนั้น  หากว่าเราจะต้องเปลี่ยนไปใช้คำว่า สุนัข แทนคำว่า หมา    จากคำว่า หมาป่า ไปเป็น สุนัขป่า มันก็พอฟังได้ จาก หมาจิ้งจอก ไปเป็น สุนัขจิ้งจอก ก็ได้อยู่ แต่หากจะเปลี่ยนจาก หมาใน เป็น สุนัขใน ก็คงจะต้องใช้เวลาอีกสักพักหนึี่งกระมัง กว่าที่จะกลายเป็นคำสุภาพปรกติ

เรามี อีกา ก็เรียกว่า นกกา ไม่เรียกว่า นางกา เหมือนกับที่เรียก อีเห็น ว่า นางเห็น   นกอีลุ้ม ก็ยังคงใช้อีเหมือนเดิม ไม่เรียกว่า นางลุ้ม หรือ  ฯลฯ...
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 682  เมื่อ 27 มี.ค. 16, 19:31

ที่ว่าในพื้นที่นี้ได้ทำให้ผมเริ่มให้ความสนใจกับเรื่องทางสังคมมากขึ้นนั้น ก็มีอาทิ ความต่างระหว่างคำว่า ห้วย ลำธาร คลอง หรือระหว่างคำว่าปลัก ตลุก มาบ หนอง บึง หรือคำว่า ซับ กับ พุ    ซึ่งในภาษาอังกฤษก็มีคำศัพท์ที่มีความหมายและลักษณะจำเพาะทางกายภาพที่ตรงกันกับคำเหล่านี้ของเรา เช่น brook, creek, canal, wallow, swamp, bog, seepage, spring..เป็นต้น 

ในเชิงวัฒนธรรมนั้น มีอยู่เยอะแยะมากมาย   ซึ่งในความเห็นของผมนั้น ก็พอจะแบ่งออกได้เป็นกลุ่มพื้นที่ทางตะวันตกของแม่น้ำปิงที่ชิดไปทางตีนเทือกเขาทางตะวันตกของเรา    กลุ่มพื้นที่บริเวณแม่น้ำปิงครอบคลุมพื้นที่ไปทางตะวันออกจนถึงลุ่มน้ำยม   กลุ่มพื้นที่ของแม่น้ำน่าน  และกลุ่มพื้นที่แม่น้ำป่าสัก

ในเชิงของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนั้น (ที่จริงผมน่าจะใช้คำว่าความโยงใยของผู้คนของถิ่นต่างๆ)  ก็มีทั้งเรื่องเล่าทางตำนานและเรื่องของวงศาคณาญาติและญาติโกโหติกาที่กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ (ดังเช่นเรื่องที่ผมได้กล่าวถึงคน อ.แม่สอด อยู่หลายครั้ง)   ถ้าเดินทางผ่านทุ่งโฮ้ง แดนเสื้อหม้อฮ่อมของ จ.แพร่ หรือ บ.น้ำอ่าง จ.อุตรดิตถ์ หรือ บ.หาดเสี้ยว อ.ศรีสัชนาลัย สุโขทัย หรือ พวกลาวโซ่งในเพชรบุรี ลองหาโอกาสคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ดูนะครับ จะเห็นว่ามีทั้งที่เป็นพวกชาติพันธุ์เดียวกันและที่ต่างกัน   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 683  เมื่อ 27 มี.ค. 16, 19:53

ออกจากป่านอกเรื่องไปไกลเลยครับ   

เอาเป็นว่า ผมมีความเห็นส่วนตัวว่า ความเชื่อมโยงระหว่างคนและประวัติศาสตร์ของเราในภาคกลางตอนล่างกับตอนบนนั้น ดำเนินผ่านเส้นทางเลาะชายทิวเขาทางตะวันตกของเรา เราจึงเห็น บ้านเก่า เมืองเก่า คนเก่าเหล่านั้น ไล่เรื่องลงมาได้ตั้งแต่แม่สอดลงมาจนถึงเพชรบุรี (เลยไปถึงแถว อ.ทับสะแกของ จ.ประจวบฯ)      ส่วนสำหรับความเชื่อมโยงระหว่างภาคเหนือกับภาคกลางของเรานั้น ดำเนินผ่านลุ่มน้ำปิงและวัง 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 684  เมื่อ 28 มี.ค. 16, 19:19

คิดว่าได้เล่าภาพและสภาพของห้วยขาแข้งในสมัยก่อน ตั้งแต่การเข้าถึงสถานที่มาจนถึงสภาพที่อันตรายมากเกินกว่าที่พึงจะเข้าไปเดินทำงานต่อไป    หลายเรื่องได้ลงไปในรายละเอียดพอสมควร หลายเรื่องก็ไม่ลงรายละเอียด  และก็มีที่เว้นข้ามไม่เล่าไปหลายเรื่อง    บางเรื่องก็เล่าไว้ในกระทู้อื่นแล้ว เช่น เรื่องหมาป่าหอนในคืนพระจันทร์เต็มดวง (+/-) ส่งเสียงต่อกันหลายคุ้งน้ำ   

พอหอมปากหอมคอนะครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 685  เมื่อ 28 มี.ค. 16, 19:43

พื้นที่ป่าห้วยขาแข้งส่วนมากมีลักษณะออกไปทางแห้ง แต่ก็จะดูชุมชื้นขึ้นในพื้นที่ทางตอนเหนือ  พอเข้าเขตผืนป่าแม่วงก์ ป่าจะมีลักษณะเป็นป่าชื้นอย่างเห็นได้ชัด  เช่น ระหว่างโคนต้นไม้ใหญ่บางพื้นที่จะคลุมไปด้วยต้นกระชาย เป็นดงสวยงามครับ รู้สึกร่มเย็นกว่าห้วยขาแข้งมากเลยทีเดียว   

แม่วงก์เป็นป่าที่มีสัตว์ป่าอยู่ชุกชุมไม่น้อยไปกว่าห้วยขาแข้ง    ผมพบรอยเสือมากกว่าขาแข้ง รวมทั้งเดินตามมันและถูกมันเดินตาม   ช้างก็มีแต่เป็นโขลงขนาดเล็ก   ได้พบเห็นนกสีสวยสดใสหลายชนิด รวมทั้งนกกก นกแกง    พบรอยเท้าพวกสัตว์นักล่าตระกูลแมว  และยังพบแมวบ้านที่ไม่ยอมกลับบ้าน ชอบอยู่ป่ามากกว่า     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 686  เมื่อ 28 มี.ค. 16, 19:56

บรรยายภาพของป่าแม่วงก์มาเพียงเท่านี้  ก็คงพอจะทำให้ท่านทั้งหลายได้รู้สึกถึงความต่างทางนิเวศน์วิทยาของป่านี้กับป่าขาแข้งได้บ้างแล้วนะครับ

ป่าแม่วงก์นี้ เจ้าพ่อ/เจ้าแม่/เจ้าที่/เจ้าทาง แรงเอาเรื่องอยู่ครับ   เมื่อใดทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ เมื่อนั้นเป็นต้องมีฝนตกลงมาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย   ไม่นานเกินรอเลยครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 687  เมื่อ 29 มี.ค. 16, 18:32

พื้นที่ป่าแม่วงก์นี้ มีบริเวณหนึ่งที่ผมเห็นว่ามีความสวยงามมากๆ  มันเป็นพื้นที่ราบรอยต่อกับส่วนที่เป็นพื้นที่ภูเขา  มีน้ำแม่วงก์กว้างประมาณ  5-7 ม. ไหลตัดผ่าน เป็นการไหลตัดผ่าน flood terrain ที่ตนเองสร้างขึ้นมา ไม่มีสันคันคลองตามธรรมชาติ (natural levee)ให้เห็นอยู่ทั้งสองฝั้่งน้ำ เป็นพื้นที่ราบที่มีวัชพืชคลุมดินเขียวขจี พื้นท้องห้วยแบนราบ (ไม่เป็นลักษณะ V shape ดังทั่วๆไป) ปูด้วยกรวดและหินก้อนกลม มีน้ำใสไหลค่อนข้างแรง     ผมคงจะบรรยายได้ไม่ดีเท่ากับการนึกถึงภาพของแม่น้ำลำธารในอลาสกา หรือในญี่ปุ่น 

ผมก็ตั้งแคมป์ในบริเวณนี้แหละครับ  ใช้ผ้าใบปูพื้นผืนนึง ทำหลังคาผืนนึง วางของทำครัว นั่งเล่น นั่งกินข้าวผืนนึง    อากาศเย็นสบายเหมาะสำหรับการมาพักผ่อนมากกว่าการมาทำงาน    ที่นี่แหละครับที่ได้เจอกับเสือลำบากที่ได้เล่าไว้แต่ต้นกระทู้   เรื่องของปลาร้าขี้ค่างก็ที่นี่เช่นกัน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 688  เมื่อ 29 มี.ค. 16, 19:03

ผมเดินทำงานในป่าทุกวัน ก็ได้พบนกกกและนกแกงทุกวัน บินมาเหนือหัวก็รู้ทันทีด้วยเสียงกระพือปีกอันดังของพวกมัน    ในประสพการณ์ของผมเท่าที่เดินป่ามาในหลายพื้นที่ ผมพบว่านกกก นกแกง และนกขนาดใหญ่อื่นๆ (อาทิ นกกุลุมพู นกเขาเปล้า เหยี่ยวอีรุ้ง นกถึดทือ ฯลฯ) มีชุกชุมอยู่ในผืนป่าแห่งนี้มากที่สุด และก็ดูจะพบพวกมันมากในพื้นที่ๆมีความชื้นสูง ซึ่งก็เป็นพื้นที่ๆมีพวกพืช อาทิ ต้นกระชาย ต้นกระดาษ ต้นบอน ต้นข่าลิง ต้นเร่ว ต้นบุก ต้นเปราะ ต้นค้างคาวดำ ฯลฯ   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 689  เมื่อ 29 มี.ค. 16, 19:35

ในพื้นที่ป่าแม่วงก์นี้ก็พบว่ามีหมีควายอยู่มากเลยทีเดียว  รอยเล็บไต่ขึ้นต้นไม้ไปกินผึ้งนั้นพบได้อยู่ทั่วไปตามต้นยางใหญ่ทั้งหลาย   ผึ้งนั้นชอบทำรังอยู่ตามกิ่งของต้นยาง ซึ่งอยู่สูงจากพื้นดินลิ่วเลยทีเดียว    ก็แปลกอยู่นะที่ในพื้นที่นี้เกือบจะไม่เห็นลูกทอยตามต้นไม้ที่มีรังผึ้ง (ลูกทอย = ไม้สั้นๆที่ชาวบ้านเขาเอามาตีปักกับต้นไม้ ในลักษณะเป็นขั้นบันใด เอาไว้ปีนขึ้นไปเอาน้ำผึ้ง)   ถามชาวบ้านก็ได้ความว่า สู้หมีมันไม่ไหว มันก็หวงของมันอยู่

น้ำผึ้งป่านั้น เป็นของมีค่าของชาวบ้าน เพราะใช้เป็นยา ทั้งใช้ในลักษณะของการเข้ายาและในลักษณะของการทำอาหาร ซึ่งน้ำผึ้งที่สุดยอดจริงๆตามความเชื่อ ก็คือน้ำผึ้งเดือน 5      สำหรับที่กินเป็นอาหารนั้น ในลักษณะหนึ่งก็คือ เป็นรางวัลของความเหนื่อยอ่อนเมื่อยล้า ก็คล้ายกับที่เราไปซื้อของหวาน/ลูกกวาดมากินกัน ในอีกลักษณะหนึ่งก็เอามาปรุงเป็นกับข้าวเลย โดยเฉพาะการใช้รังส่วนที่มีตัวอ่อน เอามาแกงกิน (เช่น ทำแกงส้มรังผึ้ง)   
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 44 45 [46] 47 48 49
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.039 วินาที กับ 19 คำสั่ง