เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ย. 03, 10:33



กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ย. 03, 10:33
 กระทู้นี้สืบเนื่องมาจากกระทู้ เจ้าดาราทอง
 http://www.vcharkarn.com/snippets/vcafe/show_message.php?Pid=16239
คุณพวงร้อยอ่านพระนิพนธ์ "เกิดวังปารุสก์" แล้วสนใจอยากจะทราบชีวิตต่อจากนั้นของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ผู้นิพนธ์
คุณทองรักก็มาสนับสนุนอีกรายหนึ่ง
ดิฉันก็เลยมาเล่าให้ฟังในกระทู้นี้
แต่ขอเท้าความย้อนไปตั้งแต่จุดเริ่มต้น  เผื่อผู้ที่ไม่เคยรู้เรื่องชีวิตของพระองค์จุลฯมาก่อนจะได้มองเห็นภาพตั้งแต่ต้นจนจบได้ง่ายเข้า
คุณพวงร้อยและคุณทองรักเคยอ่านชีวิตของท่านตอนต้นแล้ว  ก็ขอให้คิดว่าดูหนังดีๆซ้ำอีกรอบก็แล้วกันนะคะ
แล้วจะบอกรายชื่อหนังสืออ้างอิงไว้ตอนท้าย เพื่อผู้สนใจไปค้นคว้าต่อได้เอง

เริ่มเรื่องละค่ะ

ขอย้อนอดีตไปถึงพ.ศ. 2448  ห้าปีก่อนสิ้นรัชกาลที่ 5  
สถาปนิกชาวยุโรปสามคนออกแบบบ้านแบบอิตาเลียนวิลล่า หลังหนึ่งเสร็จ
สถาปัตยกรรมแบบอิตาเลียนเป็นที่นิยมว่าสง่างามที่สุดสำหรับสยามในยุครับอิทธิพลตะวันตกเพื่อการอยู่รอดของประเทศ
และยังดีตรงที่มีนายช่างอิตาเลียนเดินทางมาออกแบบและควบคุมการสร้างให้ถึงกรุงเทพอีกด้วย

อิตาเลียนวิลลาสองชั้นทาสีครีม สร้างขึ้นใกล้พระที่นั่งอัมพรสถาน  ได้ชื่อว่า "วังปารุสกวัน" มาจากชื่อสวนดอกไม้บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระอินทร์  
ด้านหลังของวังเป็นสวนดอกไม้ จัดอย่างมีระเบียบ แวดล้อมด้วยไม้ใหญ่ร่มรื่น ราวกับสวนในอังกฤษ  
บรรยากาศสวยงามน่าอยู่สำหรับครอบครัวเล็กๆประกอบด้วยพ่อแม่ลูก  แต่มีมหาดเล็กเด็กชาข้าราชบริพารจำนวนมาก
เพื่อสมพระเกียรติเจ้าของวังผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน   ประสูติแต่สมเด็จพระบรมราชินีนาถ
คือเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ  กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ย. 03, 11:36

ขอเริ่มที่ "เจ้าวังปารุสก์"  พระองค์แรกก่อน  คือ
เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกฯ
ฐานะในสังคมของเจ้าฟ้าพระองค์นี้สำคัญในลำดับต้นๆ เมื่อเทียบกับพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์อื่นๆ  ในรัชกาลที่ 5
เพราะนอกจากทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระบรมราชินีนาถแล้ว
ยังเป็นพระราชอนุชาลำดับถัดมาจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธอีกด้วย

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ซึ่งดิฉันขอเอ่ยในที่นี้เพียงสั้นๆว่า "สมเด็จพระพันปี" ทรงมีพระราชโอรสธิดา ทั้งหมด 9 พระองค์ ตามลำดับดังนี้
1. สมเด็จเจ้าฟ้า(หญิง)พาหุรัดมณีมัย พ.ศ. 2421-2430 ในรัชกาลที่หก
ทรงสถาปนาเป็นกรมพระเทพนารีรัตน์
         2. พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
         3. สมเด็จเจ้าฟ้าชายตรีเพชรุตม์ธำรง  
         4. สมเด็จเจ้าฟ้าชายจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
         5. สมเด็จเจ้าฟ้าชายศิริราชกกุธภัณฑ์
         6. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์ในวันที่ประสูติ
         7. สมเด็จเจ้าฟ้าชายอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา
         8. สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย
         9. พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จเจ้าฟ้าชายตรีเพชรุตม์ธำรง สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์มาก แค่พระชนม์ได้ 7 พรรษา  ก็เท่ากับเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกฯทรงเป็นลำดับต่อมาในการสืบราชสันตติวงศ์  
หากว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชไม่มีพระโอรส

เพราะสมเด็จพระพันปีทรงทูลขอพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้ว่า
ขอให้ลำดับการสืบราชสมบัติตกอยู่กับสายพระราชินีนาถก่อนจะไปถึงสายพระมเหสีเทวีพระองค์อื่น  
มิได้ลำดับตามอายุของเจ้าฟ้าแม้ต่างพระราชชนนีอย่างแต่แรกเริ่ม  เมื่อสถาปนาเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชโอรสในสมเด็จพระศรีสวรินทราฯ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสธิราชพระองค์แรก

เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกเสด็จไปศึกษาต่อที่อังกฤษ เมื่อพระชนม์ได้ 14  
พระนิสัยเป็นอย่างไร พอจะมองเห็นได้จากพระราชหัตถเลขาในสมเด็จพระบรมราชชนก  พระราชทานไปยังพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์  ผู้ดูแลพระราชโอรสทั้งปวงที่เสด็จไปศึกษาในยุโรป

"ชายบริพัตร( หมายถึงเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์  กรมพระนครสวรรค์วรพินิต  พระราชโอรสในพระนางสุขุมาลมารศรี)  แลชายเล็ก( เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลก) นั้นเป็นคนคิดไม่นิ่ง
ชายเล็กกล้ากว่าชายบริพัตร  แต่มีพุ่งได้บ้าง
ชายบริพัตรหย่อนข้างกล้าแต่ระวังมาก  ความสังเกตทรงจำเข้าใจว่าเหมือนกัน  
แต่ถ้าในกระบวนเข้าสมาคมโต้เถียงเล่นฤาจริง  เล็กคล่องกว่า  แต่ชายบริพัตรละเอียดลออกว่า ทั้งในความคิดแลฝีมือทำการ  
ทางที่จะเสียของลูกชายเล็กมีอย่างเดียวแต่เรื่องจองหอง  เพราะเป็นผู้ที่ไม่ใคร่จะได้เคยถูกปราบปราม แต่ก็เห็นว่าถ้ากลัวลานหนักไปก็ไม่ดีีเหมือนกัน"

พระยาวิสุทธฯกราบบังคมทูลตอบว่า
"ข้าพระพุทธเจ้าได้ไปฟัง(โต้วาที) วันเสาร์หนึ่ง เห็นทูลกระหม่อมเล็กเก่งเต็มที่ ในการสปีชว่องไว เฉียบแหลม เกินคาดหมายที่จะทรงสปีชในภาษาอังกฤษดีดังนั้น ทำให้ข้าพระพุทธเจ้ามีความปีติยินดีขึ้นมา
ไม่ต้องสงสัยว่าข้างหน้าต่อไปสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์์นี้จะไม่่ปราดเปรื่องเฉียบแหลมในราชการบ้านเมือง"

แล้วก็เป็นจริงดังที่พระยาวิสุทธฯตั้งข้อสังเกตไว้ ต่อมาเสด็จไปศึกษาต่อในประเทศรัสเซีย ตามที่สมเด็จพระเจ้านิโคลัสที่ ๒ จักรพรรดิรัสเซียได้ทรงขอไว้
ทางประเทศรัสเซียได้ถวายการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ ทั้งได้มอบให้ผู้บัญชาการโรงเรียนมหาดเล็ก และนายร้อยเอก นายทหารม้ารักษาพระองค์ เป็นนายทหารช่วยเหลือในการศึกษา และคอยถวายความสะดวกดูแลทุกประการ
การเรียนทหารในรัสเซียหนักไม่ใช่เล่น  สมเด็จพระจักรพรรดิ ได้รับสั่งใหัเข้าศึกษาวิชาในโรงเรียนมหาดเล็ก ซึ่งเป็นโรงเรียนนายทหารบกที่มีอยู่ ๙ ชั้น ให้สอบไล่ได้ในกำหนด ๔ ปี
เพราะฉะนั้นในการศึกษาชั้นต้นๆ จึงจำเป็นจะต้องให้ได้รับการศึกษาวิชาเพื่อเตรียมพระองค์เข้าเป็นนักเรียนชั้น ๖ ทีเดียว คือ เริ่มจัดครูมาสอนในที่ประทับไปพลางก่อน
ต่อมาจึงได้เริ่มทรงศึกษาเพื่อให้เป็นไปตามกำหนด ๔ ปี (คือให้ได้ชั้น ๙) เมื่อครบตามกำหนดแล้ว จากผลการสอบ ได้ทรงสอบไล่ได้เป็นที่ ๑ ของนักเรียนทั้งหลายในโรงเรียนนั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ และทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยทหาร ทรงสอบไล่ได้เป็นที่ ๑ ของโรงเรียนอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘
สมเด็จพระเจ้านิโคลัสที่ ๒ ทรงพอพระทัยยิ่ง ได้ทรงแต่งตั้งให้เป็น พันเอกพิเศษในกองทัพบกรัสเซีย และเป็นนายทหารพิเศษในกรมทหารม้าฮุสซาร์ของสมเด็จพระจักรพรรดิ
กับพระราชทานสายสะพายเซนต์อันเดรย์ ซึ่งเป็นตราสูงสุดของประเทศรัสเซียสมัยนั้น รวมทั้งตราเซนต์วลาดิเมียร์อีกด้วย


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ย. 03, 13:21
 เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานารถเสด็จกลับสยาม  เมื่อพ.ศ. 2449
เมื่อสำเร็จการศึกษา  พร้อมเกียรติประวัติงดงาม
เป็นที่ปลาบปลื้มพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระพันปียิ่งนัก
จนกระทั่งมีข่าวแพร่เข้ามาว่า  ณ เมืองสิงคโปร์มีหญิงสาวตะวันตก เพิ่งมาพำนักอยู่ ใช้ชื่อว่า มาดาม เดอ พิษณุโลก
พระเจ้าอยู่หัวทรงสอบถามพระราชโอรสว่า  เจ้าฟ้าชายทรงมีหม่อมเป็นชาวตะวันตก หรือ
ก็ได้รับคำทูล ว่าเป็นความจริง  ทำให้ทั้งพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระพันปีกริ้วมาก

แต่ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าซาร์ หรือพระเจ้าแผ่นดินสยาม  หรือความเป็นตะวันตกและตะวันออกที่ขวางกั้นกันครึ่งโลก ก็ไม่ทำให้เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกฯหวั่นไหวได้
ทรงพาหม่อมคัทริน หญิงสาวชาวรัสเซียที่รักกันตั้งแต่ทรงศึกษา เข้ามาในสยาม  อย่างไม่ปิดบังอีกว่าเป็นชายา    
จัดให้พักที่วังปารุสกวันร่วมกัน ในฐานะเจ้าของวังร่วมกันกับพระองค์

แต่ปีทั้งปี แคทยาก็แทบจะไม่ได้ย่างเท้าออกจากวัง   เว้นแต่ไปนั่งรถยนต์เล่นในตอนค่ำคืน
เธอไม่มีโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ อย่างสะใภ้หลวง   ทั้งสองพระองค์มิได้ทรงยอมรับเธอ  
แต่ก็มิได้พระทัยร้ายถึงกับขับไล่ไสส่งหรือยื่นคำขาดให้พระราชโอรสทรงละทิ้งหม่อม

ชีวิตในวังปารุสกวันผ่านไปด้วยความราบรื่น   เจ้าฟ้าชายเห็นพระทัยหม่อมคัทริน  ก็ทรงทำทุกอย่างที่จะให้เธออยู่อย่างเป็นสุขและสะดวกสบายที่สุดเท่าที่จะทำได้
ผู้ที่ช่วยเป็นกำลังใจสนับสนุนอีกแรงหนึ่งคือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  
แคทยาเคารพและมองพระองค์ท่านด้วยความเชื่อมั่นในหลายๆด้าน


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 10 พ.ย. 03, 13:48
 ขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งด้วยค่ะ  ที่คุณเทาชมพูกรุณาปลีกเวลามาเล่าให้ฟังอย่างรวดเร็วทันใจ  ขอกราบลาไปนอนก่อนแล้วพรุ่งนี้จะมาอ่านต่อนะคะ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ย. 03, 14:24
 ชะตาของแคทยาดีขึ้นมากในสองปีต่อมา    เมื่อ" เจ้าวังปารุสก์" พระองค์ที่สองประสูติ ในพ.ศ. 2451 สองปีก่อนสิ้นรัชกาลที่ 5

เจ้าชายสยามองค์น้อยมีพระพักตร์เหมือนตุ๊กตาฝรั่ง  แปลกไปจากพระญาติทางฝ่ายพระบิดาทั้งหมด  ทรงสมบูรณ์แข็งแรงน่ารักน่าเอ็นดู
เป็นที่รักในสมเด็จพระพันปีมาก เป็น" หลานย่า" โดยตรงองค์แรก    และองค์เดียวตลอดพระชนม์ชีพที่ยืนยาวมาไม่กี่ปีหลังในรัชกาลที่ 6   ไม่ทันจะได้ทอดพระเนตรเห็นพระเจ้าหลานเธอองค์อื่นๆที่ประสูติหลังจากนั้น

สมเด็จพระพันปีฯโปรดที่จะรับเจ้าชายน้อย ซึ่งตอนนั้นมีพระนามสั้นๆว่า "หนู" เข้าไปอยู่ด้วยในพระราชวังที่ประทับเป็นประจำ   แทบว่าจะทรงแยกห่างด้วยไม่ได้
ความสัมพันธ์ระหว่างแม่ผัวลูกสะใภ้ ก็ลดความตึงเครียดลงมาก
แต่เธอมิได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวจนสิ้นรัชกาล  


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ย. 03, 14:36

พ่อแม่ลูก  


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ย. 03, 14:43
 ขอให้สังเกตพระฉายาลักษณ์ของพระองค์จุลฯภาพแรก
ทรงแต่งกายแบบเด็กไทย  คือเด็กทารกสมัยนั้นไม่สวมเสื้อนุ่งผ้าอย่างสมัยนี้
แต่ผู้ดีมีตระกูลเรื่อยขึ้นไปถึงเจ้านายจะนิยมแต่งเครื่องประดับให้เด็กทั้งข้อมือข้อเท้า
 รอบเอว(หรือที่จริงคือสะโพก) จะมีสร้อยคาดอีกที  ห้อยเครื่องปิดอวัยวะเพศไว้     ถ้าเป็นของผู้ชายภาษาชาวบ้านเรียกว่าปลัดขิก  ส่วนผู้หญิงเรียกว่าตะปิ้ง

ส่วนภาพที่สอง เป็นการแต่งพระองค์แบบยุโรป   เด็กผู้ชายเล็กๆจะแต่งตัวนุ่งกระโปรงเหมือนเด็กผู้หญิง  ผมเผ้าก็คล้ายเด็กผู้หญิง  เป็นความนิยมติดติดต่อกันมา นานนับศตวรรษ  จนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ย. 03, 14:49
 ในพ.ศ. 2453  เปลี่ยนแผ่นดินใหม่ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกฯ ทรงอยู่ในฐานะลำดับต่อไปในการสืบสันตติวงศ์  เพราะว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯยังเป็นโสด มิได้มีรัชทายาท

ในรัชกาลนี้ ฐานะความสำคัญของเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกฯก็ยิ่งทวีมากขึ้น  ทรงรับพระราชภารกิจทางการทหารมาเต็มมือตั้งแต่แรก  เริ่มด้วยทรงเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ กระทรวงกลาโหม เป็นผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบก  เสนาธิการทหารบก  เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก
ทรงเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

ในขณะที่ทรงรับตำแหน่งเสนาธิการทหารบก อันเป็นตำแหน่งสำคัญในการรบก็ได้ทรงปรับปรุงเสนาธิการให้กว้างขวางเพิ่มขึ้น ทรงริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนเสนาธิการ เพื่อให้การศึกษาแก่นายทหารที่จะทำหน้าที่ฝ่ายเสนาธิการบรรจุตามงานในหน้าที่เสนาธิการที่ได้ปรับปรุงขึ้น
นอกจากนั้นยังทรงเรียบเรียงตำราเรื่อง พงษาวดารยุทธศิลปะ และเอกสารอื่น ๆ ซึ่งใช้เป็นตำราศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการยุคต้น อีกจำนวนมาก
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาของ โรงเรียนเสนาธิการ สืบจนถึงปัจจุบัน

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ ทรงจัดส่งทหารอาสาไปร่วมรบในสงครามโลก ครั้งที่๑ ในทวีปยุโรป
ในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ทรงก่อตั้งกองบินทหารบก ซึ่งต่อมาได้รับการปรับปรุงขยับขยายเป็นกองทัพอากาศ
ทรงริเริ่มก่อสร้าง ค่ายจักรพงษ์ที่จังหวัดปราจีนบุรี
นอกจากนี้พระองค์ยังได้เป็นผู้กำกับการก่อสร้างสถานที่โรงพยาบาล จุฬาลงกรณ์ซึ่งเป็นที่ตั้งสภากาชาดสยามอีกด้วย
เมื่อได้ตั้งเป็นกาชาดสยามขึ้นแล้ว พระองค์ยังได้ทรงรับตำแหน่งเป็นอุปนายกผู้อำนวยการ สภากาชาด  


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ย. 03, 18:19
 ความสุขของแคทยาดำเนินต่อไปเหมือนเทพนิยายอยู่หลายปี  จนกระทั่งเหตุการณ์ภายนอกเข้ามากระทบเธออย่างหนัก
เริ่มด้วยการล่มสลายของราชวงศ์โรมานอฟ  ที่ทำให้เจ้านายและขุนนางในรัสเซียต้องหลบลี้หนีภัยการเมืองออกนอกประเทศ
ความหวังของแคทยาที่จะได้กลับไปเยี่ยมบ้านเดิมก็จบสิ้นลง  บ้านเกิดเมืองนอนกลายเป็นดินแดนต้องห้ามสำหรับเธอไปเสียแล้ว

สิ่งที่ตามมาคือสงครามโลกครั้งที่ 1  พระเจ้าอยู่หัวตัดสินพระทัยประกาศสงครามกับฝ่ายเยอรมัน   ผู้นำทางการทหารของสยามก็คือเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกฯ  ทรงรับภารกิจด้านนี้ไว้เต็มมืออีกครั้ง

ชีวิตสมรสดำเนินมาถึง  12 ปี  ใต้ความกดดันเพิ่มขึ้นทีละน้อยในปีหลังๆ สุขภาพของแคทยาก็เสื่อมโทรมลง      เธอแท้งติดต่อกัน 2 ครั้ง  ในที่สุดเธอก็ตัดสินใจเดินทางไกล เพื่อรักษาสุขภาพกายและใจให้ดีขึ้น   ด้วยการไปเยี่ยมพี่ชายที่อยู่ในปักกิ่ง  เลยไปญี่ปุ่นและเดินทางต่อไปถึงแคนาดา

ส่วนทางนี้  เมื่อไม่มีแคทยาอยู่ด้วย  เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกทรงมีเวลาว่างพอจะได้คุ้นเคยกับพระญาติสตรีจากวังอื่นๆมากขึ้น   คือพระธิดาของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ผู้เป็นพระเชษฐาต่างชนนีกันนั่นเอง
ในจำนวนหม่อมเจ้าหญิงจากราชสกุลรพีพัฒน์    หม่อมเจ้า(หญิง)ชวลิตโอภาส เพิ่งเข้าสู่วัยสาว พระชนม์ 15   เป็นเด็กสาวสวยน่ารัก  ร่าเริงเบิกบาน มีเสน่ห์ ขี้เล่น และทันสมัย
กลายเป็นเสน่ห์ของหญิงไทยที่จับพระทัยเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกอย่างที่ไม่เคยเกิดกับผู้หญิงคนไหนเว้นแต่หม่อมคัทริน

กว่าแคทยาจะเดินทางกลับมาสยาม   ความรู้สึกของพระองค์ก็เปลี่ยนเกินกว่าจะถอยกลับมาที่จุดเดิมได้อีกแล้ว

ความรู้สึกของเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกฯและแคทยาสวนทางกัน ในเรื่องนี้
เจ้าฟ้าจักรพงษ์ทรงมองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาหนักหน่วงเรื่องหนึ่งที่แคทยาอาจจะช่วยพระองค์ ทำให้ลุล่วงไปได้
ด้วยการยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้น  เพื่อจะนำไปสู่ทางออกที่ลงตัว
ส่วนแคทยามองว่าเป็นแผลร้ายที่ควรจะผ่าตัดให้เด็ดขาด เพื่อรักษาโรคมิให้ลุกลามไป  

เธออ้อนวอนให้พระสวามีเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นบาดแผลหนักสำหรับเธอเพียงใด
แต่เจ้าฟ้าจักรพงษ์กลับเห็นว่า ถ้าหากว่าจะยอมทำตามใจแคทยา ก็เท่ากับยอมให้เธอเอาแต่ใจและบงการพระองค์ได้ในทุกสิ่งทุกอย่าง  
ไม่ยุติธรรมสำหรับหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส  
ในกรณีนี้   ถึงอย่างไรก็ต้องทรงปกป้องท่านหญิงตามสมควรอยู่แล้ว

รอยร้าวระหว่างเจ้าฟ้าจักรพงษ์และแคทยาเป็นเรื่องที่พระญาติใกล้ชิดจับพระเนตรมองด้วยความห่วงใย  รวมทั้งสมเด็จพระพันปี
ทรงเวทนาสงสารเจ้าชายน้อยอย่างยิ่ง  ถึงกับทรงเรียกสมเด็จเจ้าฟ้าฯและหม่อมไปไกล่เกลี่ย  แต่ผลก็คงเดาได้...คือไม่สำเร็จ
เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ทรงมีลายพระหัตถ์ไปแสดงความเห็นใจแคทยา และรับสั่งว่าจะช่วยเหลือเธอเท่าที่ทำได้     แสดงว่าก็คงจะทรงเดาได้ว่าตอนจบจะออกมาในรูปใด


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 10 พ.ย. 03, 19:04
 มาตามอ่านด้วยความระทึกในดวงหทัยพลัน...
(ยืมสำนวน มติชน มาครับ)

ขอบพระคุณคุณเทาชมพูครับ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 10 พ.ย. 03, 19:37
 มีข้อสังเกตเรื่องสถาปัตยกรรมอิตาเลียน ว่า สมัยนั้นเป็นเรื่องจริงเสียด้วยซิครับ ที่สยามเราจำเป็นต้องสร้างตึกเลียนแบบฝรั่ง ให้ฝรั่งเห็นว่าเราก็ศรีวิไลแล้ว ไม่ยังงั้น ฝรั่งนักล่าอาณานิคมก็จะหาเหตุยึดเมืองเราเพื่อมาสร้างความศิวิไลซ์ให้

เมื่อเราจำเป็นต้องสร้างบ้านแปงเมืองเป็นฝรั่งให้ฝรั่งเห็นกันทั้งทีแล้ว ในหลวง ร. 5 และผู้ใหญ่ไทยสมัยโน้นท่านก็ฉลาดพอที่จะเอาของดีของงามของฝรั่งเขาเข้ามา เป็นแบบฝรั่งอย่างสวยเลย ไม่ใช่ฝรั่งแบบน่าเกลียด หรือฝรั่งแบบขอไปที เอานายช่างอิตาเลียนมาเลย เพราะในสมัยนั้น ฝรั่งด้วยกันเองก็นับถือสกุลอิตาเลียนเป็นครู ว่าเป็นแบบแผนที่งดงามอย่างฝรั่ง

เมื่อตอนประชุมเอเปก ผมไปยุ่งกับเขาอยู่ด้วยนิดหนึ่ง วันหนึ่งก่อนประชุมจริงก็มีรายการซ้อมกัน เจ้าหน้าที่นั่งรถตู้ไปดูสถานที่ที่ทำเนียบรัฐบาล แล้วก็เลยต่อไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเคยเป็นรัฐสภา ซึ่งกำหนดไว้ให้เป็นสถานที่ที่ผู้นำเอเปกเขาจะมาประชุมกันทั้งสองที่ ดูเสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่ตัวหนึ่ง (คือตัวที่กำลังเขียนอยู่นี่แหละ) ก็ปากบอน รำพึงข้อสังเกตขึ้นมาคนเดียวโดยไม่มีใครถามเลยว่า ถ้าไม่รู้ประวัติศาสตร์เมืองไทยมาก่อน เอาแต่สถาปัตยกรรมเป็นเกณฑ์ มีสิทธิที่แขกเมืองเขาจะเข้าใจผิดนะเนี่ย ว่าไทยแลนด์เคยเป็นเมืองขึ้นของอิตาลี...

ก็ดูสิครับ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลไทยแลนด์ ก็เป็นตึกแบบอิตาเลียน ตึกทรงคล้ายๆ ยังงี้แหละที่ผมเคยเห็นที่เวนิศ แถมตึกที่เคยเป็นรัฐสภาไทยแลนด์ก็ยังเป็นตึกแบบอิตาเลียนซะอีกตึกด้วย แต่เป็นตึกฝรั่งที่งดงามอลังการมาก สวยมากๆ ครับ (แต่สวยแบบอิตาเลียนนะครับ)

ถึงวันจริงผมไม่ห่วงหรอกว่าจะมีใครเข้าใจผิดอย่างที่ผมแกล้งตั้งข้อสังเกตเล่น เพราะกระบวนพยุหยาตราทางเรือของเรา ซึ่งมีแห่งเดียวเท่านั้นในโลกและเป็นไทยอย่างคลาสสิกที่สุดนั้น เล่นเอาผู้นำเอเปกอ้าปากค้างด้วยความอัศจรรย์ใจมาตามๆ กันแล้ว

แต่ก็ยังทำให้ผมนึกอยู่ดีว่า ในสมัยที่ลัทธิล่าอาณานิคมผ่านไปแล้ว เราไม่ต้องแต่งเป็นฝรั่งกันแล้ว น่าจะมีอาคารสาธารณะอะไรที่สำคัญระดับชาติ เป็นสถาปัตยกรรมไทยๆ ไว้อวดฝรั่งสักหลัง เพิ่มจากวัดพระแก้วและวังหลวงน่ะครับ (กระทั่งพระตำหนักจิตรลดารโหฐานก็มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นวิลลาแบบฝรั่งสมัยนั้น คือราวต้นศตวรรษที่ 20) รัฐสภาใหม่จะไปสร้างที่แก่งเสือเต้นหรือดอนเมือง หรือที่ไหนก็เถิด จะลองหาทางออกแบบให้เป็นไทย แต่เป็นไทยสมัยใหม่ "สถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 9" ทำนองนั้นได้ไหม หรืออย่างสนามบินสุวรรณภูมิแห่งใหม่ เงื่อนไขสำหรับการออกแบบก็ระบุแล้วว่าให้มีเอกลักษณ์ไทย แต่ผมไม่ทราบว่าแบบสุดท้ายเป็นอย่างไร เคยได้ข่าวสมาคมสถาปนิกสยามออกมาคัดค้านอยู่พักหนึ่งว่าแบบสนามบินใหม่ไม่มีลักษณะเป็นไทยตามข้อกำหนด แต่ไม่ได้ตามสถานะสุดท้าย

ที่จริงแล้ว เราอาจพอถือได้ว่าศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์มีลักษณะเป็นไทยพอสมควรเหมือนกัน รวมทั้งการตกแต่งภายในด้วย เป็นไทยประยุกต์ เพราะจะไทยเดิมแท้ๆ เป็นเรือนฝากระดานเก้าห้องไม่ติดแอร์ก็คงไม่เหมาะกับสมัยนี้

ไถลจากเรื่องอิตาเลียนวิลล่าหลังหนึ่ง ชื่อวังปารุสก์ ออกนอกเรื่องมาเสียไกล ขอเชิญกลับเข้าเรื่องเจ้าวังปารุสก์ต่อครับ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 10 พ.ย. 03, 20:04
 แถมครับ

ใกล้ๆ วังปารุสกวัน อาคารทั้งของพระมหากษัตริย์ทรงใช้และของเจ้านายในบริเวณนั้น ที่สร้างในสมัยเดียวกันนั้น เอาชื่ออุทยานพระอินทร์บนสวรรค์มาใช้กันหลายชื่อครับ

วังปารุสกวัน ก็ใช่หนึ่งละ

วังสวนจิตรฯ หรือพระตำหนักจิตรลดารโหฐานก็ใช่ จิตรลดาเป็นชื่อสวนบนสวรรค์เหมือนกัน

บริเวณนั้นทั้งหมด ตั้งแต่พระที่นั่งวิมานเมฆ พระที่นั่งอภิเษกดุสิต พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน จนถึงวิทยาลัยสวนดุสิตหรือสถาบันราชภัฏสวนดุสิตเดี๋ยวนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ "พระราชวังดุสิต" ดุสิต ก็เป็นชื่อมาจากบนสวรรค์อีก (รวมทั้งศาลาดุสิตาลัยในพระตำหนักจิตรลดาฯ ด้วย) จะเป็นชื่อสวนด้วยรึไม่ ผมไม่แน่ใจ แต่ที่แน่ๆ เป็นชื่อสวรรค์ชั้นดุสิต  คนละชั้นกับสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระอินทร์ เชื่อกันว่าพระโพธิสัตว์ก่อนเสด็จลงมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้าในพระชาติสุดท้ายนั้น ประทับอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต (ตราประจำพระราชวังดุสิตจึงเป็นรูปพระโพธิสัตว์นั่งแท่น ใครอยากเห็นก็ซื้อผลิตภัณฑ์นมอัดเม็ดของฟาร์มโคนมสวนจิตรฯ มาดูได้ ตราเดียวกันครับ เพราะพระตำหนักจิตรลดารโหฐานอยู่ในพระราชวังดุสิต ตรานี้ปรากฏอยู่หลายแห่งในพระที่นั่งวิมานเมฆด้วย เพราะเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังเดียวกัน)

สวนมิสกวัน ก็เป็นชื่อสวนบนสวรรค์อีก ถ้าผมจำไม่ผิดน่าจะเป็นสวนของพระอินทร์อีกเหมือนกัน ดูเหมือนพระอินทร์จะเป็นเทวดาที่โปรดทำสวน มีเทวอุทยานหลายแห่ง (มี Green Thumbs แต่หนักยิ่งกว่านั้น คือไม่ได้เขียวเฉพาะนิ้ว เขียวทั้งองค์เลย!)

เลอะเทอะเรื่อยเปื่อยออกนอกเรื่องไปไกลลิบครับ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ย. 03, 09:45
 สวนของพระอินทร์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  มี 4 แห่งคือ  มิสกวัน  ปารุสกวัน จิตรลดาวัน และนันทวัน
หน้าตาน่าจะเป็นสวนป่า    เพราะคำว่า วัน ที่ลงท้าย มาจาก วนะ หรือวนา ที่แปลว่าป่า
เทียบกับสมัยนี้น่าจะเหมือนเศรษฐีที่มีรีสอร์ทส่วนตัวไว้พักผ่อน
ชื่อวัง "นันทวัน" ที่ขาดหายไป ดิฉันยังค้นไม่พบว่ามีวังไหนในสยามที่ชื่อนี้ ค่ะ

สถาปัตยกรรมแบบไทยประยุกต์ ในรัชกาลที่ 9  แบบต้นๆ  ที่นึกออกคือโรงละครแห่งชาติใกล้เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า
ค้นเอกสารเก่าๆมาอ่าน  พบว่าหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้นด่าขรมว่าเป็นรูปแบบการก่อสร้างที่ไม่เอาไหน  ไร้ฝีมือทั้งภายนอกและภายใน
ไม่นานมานี้ก็มีข่าวว่าจะรื้อ  แต่แล้วก็เงียบหายไป


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: ทองรัก ที่ 11 พ.ย. 03, 11:50
 ขอบพระคุณ คุณเทาชมพูมากค่ะ
ได้อ่านทันใจดีจัง


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ย. 03, 12:27
ตั้งแต่แคทยากลับมาวังปารุสก์   หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาสก็มิได้ย่างกรายเข้ามาเป็นแขกประจำเหมือนเดิม  
แต่ความสัมพันธ์ของเธอกับสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์แนบแน่นยิ่งกว่าเก่า   เสด็จไปเยี่ยมเธอทุกวัน   ไม่หวั่นไหวต่อใครหน้าไหน

แคทยาตกอยู่ในห้วงความระทมขมขื่นเพียงไหน  สมเด็จเจ้าฟ้าฯมิได้ทรงรู้ (หรืออาจจะรู้แต่ไม่รับรู้)  เธอแยกห้องบรรทมออกมาพักอยู่ในห้องนอนที่จัดไว้สำหรับแขก  
ในตอนเช้าเธอตื่นขึ้นมาสั่งงานมหาดเล็กและนางข้าหลวงในวังตามหน้าที่   ตกเที่ยงสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์เสวยพระกระยาหารที่วัง  พอบ่ายก็เสด็จไป "ที่นั่น" (ตามที่แคทยาเรียก  หมายถึงที่ประทับของม.จ. ชวลิต)
แล้วก็ทรงงานอยู่ ณ ที่ทำงาน    ไม่กลับจนกระทั่งดึกดื่นค่อนคืน  
ชีวิตก็วนเวียนซ้ำซากกันอย่างนี้ทุกวัน

แคทยาตกอยู่ในความโดดเดี่ยวเดียวดายยิ่งกว่าครั้งใดๆ   ไม่รู้จะหันหน้าไปปรึกษาใคร    เธอเผชิญปัญหาหนักหน่วงกลุ้มรุมอยู่รอบด้าน

อย่างแรกคือถ้าเธอยินยอมให้สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์รับหม่อมเจ้าหญิงชวลิตเป็นชายาอย่างเปิดเผย   ตามพระประสงค์    อย่างที่เมียหลวงคนไทยจะพึงทำถ้าเจอปัญหาเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อรักษาสถานภาพตนเองเอาไว้
เธอก็รู้ว่าจุดอ่อนของเธอคือเป็นผู้หญิงต่างชาติ  ที่ถูกรังเกียจโดยอคติทางเชื้อชาติจากคนรอบด้านอยู่แล้ว ส่วนม.จ.ชวลิตเป็นเจ้านายในราชตระกูล   การยอมรับนับถือของบุคคลโดยรอบจะผิดกันมาก

ถ้าท่านหญิงกลายเป็นพระชายาของเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกอย่างถูกต้องเมื่อไร   หม่อมแคทยาก็จะถูกต้อนให้ถอยเข้าสู่มุมอับเมื่อนั้น  
ฐานะของเธอจะลดลงจนไร้ความหมาย    ถ้าหม่อมเจ้าหญิงชวลิตมีโอรส  สายเลือดสยามแท้ขึ้นมา "หนู" ของเธอก็จะไร้ความสำคัญอีกเช่นกัน

ข้อสองคือถ้าเธอทนภาวะบีบคั้นจิตใจต่อไปอีกไม่ได้  การหย่าก็เป็นทางเดียวที่จะรักษาศักดิ์ศรีเอาไว้
แต่เธอจะทำอย่างไรกับโอรสวัย 11 ที่เป็นดังแก้วตาดวงใจของสมเด็จพระพันปี
แม่ผัวผู้ทรงอำนาจราชศักดิ์จะไม่มีวันยอมให้เธอพาพระนัดดาองค์เดียวของท่านออกไปพ้นอ้อมพระกร
ส่วนพระบิดาก็ต้องคิดอย่างเดียวกัน เพราะ"หนู" เป็นพระโอรสองค์เดียวในตอนนั้น
นอกจากนี้เธอเองก็เป็นแค่หญิงรัสเซียที่บ้านเมืองล่ม  ไร้ญาติขาดมิตรที่จะพึ่งพา    ไร้เงินทองเกียรติยศที่จะมอบให้โอรสสมพระเกียรติของเจ้าชาย
ถ้าเธอพึ่งกฎหมาย   ศาลที่ไหนจะตัดสินให้เธอชนะสมเด็จเจ้าฟ้าและสมเด็จพระชนนีของพระเจ้าแผ่นดิน

ทางออกของเธอผู้สิ้นหวังคือเช้าวันหนึ่ง    เจ้าชายน้อยตื่นบรรทมขึ้นมาพบความว่างเปล่าเหงาเงียบในวังปารุสก์
หม่อมมารดาได้จากไปเมื่อไรก็ไม่รู้้    ไร้เยื่อใย  ไม่มีแม้แต่คำอำลา
เธอหายไปกับสายลม   ทิ้งไว้แต่ความว่างเปล่า

ตลอดทั้งวันเจ้าชายได้แต่ดำเนินไปมาอยู่ในสวนดอกไม้ ว่างเปล่า เหมือนหัวใจขาดลอยไปจากตัว ไม่อาจจะเข้าพระทัยได้ว่าเหตุใดหม่อมแม่ซึ่งรักลูกสุดหัวใจ ทำเช่นนี้ได้  
ไม่มีคำอธิบายจากข้าราชบริพาร    พระบิดาก็ขังพระองค์เงียบอยู่ในห้องทำงานทั้งวัน
ความเจ็บปวดกัดกร่อนกินพระทัยต่อมาอีกนาน ไม่มีใครเยียวยาได้

เมื่อพบกันอีกครั้งหลายปีต่อมา  เจ้าชายเจริญพระชนม์ขึ้นเป็นหนุ่ม   แคทยาอธิบายให้โอรสฟังว่าเธอจำต้องผละจากไป มิใช่ว่าไร้เยื่อใย
แต่เป็นเพราะเธอไม่อาจทนใจแข็งเห็นหน้าลูกขณะกล่าวคำลา   มันปวดร้าวเกินกว่าเธอจะทนทาน  เธอจึงต้องหายไปโดยไม่มีคำลา

อย่างไรก็ตาม  แม้่ว่ามีคำอธิบาย   บาดแผลของเจ้าชายน้อยก็บาดลึกเป็นแผลเรื้อรังเกินกว่าจะทุเลาเสียแล้ว
ความรู้สึกนั้นมีผลกระทบต่อมาตลอดพระชนม์ชีพ และยังมีผลบั่นทอนความสัมพันธ์ของแม่ลูกในระยะยาวด้วย


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ย. 03, 12:29
 หยุดแค่นี้ก่อนนะคะ   ก่อนจะเล่าถึงเจ้าวังปารุสก์ องค์ที่สาม
คือหม่อมเจ้าชวลิตโอภาส
ช่วยกระแอมกระไอให้เสียง  ออกความเห็นกันบ้างนะคะ  
เล่าคอแห้งอยู่คนเดียว


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 11 พ.ย. 03, 14:51
 ตามมาอ่านต่อค่ะ  เมื่อคืนอ่านสองความเห็นแรกเลยยังไม่มีอะไรจะคุยด้วย  ชอบรูปพระองค์ท่านตอนเล็กๆมากเลยค่ะ  น่ารักมาก  แต่ยังไงก็ยังนึกภาพ "ปลัดขิก" ไม่ออกเลยน่ะค่ะ  อย่าหาว่าลามกเลยนะคะ

ตามที่อ่านใน "เกิดวังปารุสก์"  จำไม่ได้ว่าท่านได้ทรงเอ่ยถึงว่าหม่อมแม่หนีหายหน้าไปเฉยๆรึเปล่า  ดูเหมือนจะทรงเว้นว่างข้อมูลไว้มากเลยค่ะ  ขอบพระคุณคุณเทาชมพูมากที่เติมข้อมูลในช่องว่างให้เต็มขึ้นมาได้  อ่านแล้วสงสารหม่อมแคทยามากยิ่งไปอีก

จำได้ว่า  จากหนังสือ  ที่พระองค์จุลฯทรงกล่าวถึงท่านหญิงชวลิต  ก็ทำให้ได้ความรู้สึกว่า  ท่านก็ยังเป็นเด็กมาก  พูดตรงๆว่าดูเหมือนไม่ค่อยมีความคิดความอ่านเท่าไหร่เสียด้วยซ้ำ   ตอนนั้นนึกไม่ออกว่า  กรมขุนฯจะทรง "ติด" ได้อย่างไร  แต่ก็คิดว่า  คงเป็นช่วงที่การเมืองเมืองไทยในสมัยนั้น  เครียดมากๆ  ท่านคงจะทรงต้องการที่พักทางใจในขณะที่หม่อมไม่อยู่   แล้วก็คงบานปลายไปเพราะต่างฝ่ายต่างเป็นคนรักศักดิ์ศรีของตัวเอง  และความแตกต่างทางวัฒนธรรมมีมากจนไม่อาจประนีประนอมกันได้  คนที่มาจากพื้นฐานวัฒนธรรมต่างกัน  ยังไงก็ไม่มีวันที่จะมีอะไรตรงตามที่อีกฝ่าย "คาดหมาย" ไว้ไปทุกประการได้

คิดว่า  ทั้งสองฝ่ายตอนนั้น  ต่างก็มีแต่ความเครียดจัด  เลยต้องแตกแยกกันไปในที่สุด  คิดแล้วสะท้อนใจค่ะ  เพราะมีเพื่อนหลายๆคู่  ที่แม้แต่เป็นคนชาติเดียวกัน  แต่ภาระทั้งในบ้านนอกบ้าน  ทำให้เครียดจัดจนต้องหย่าร้างกันไปในที่สุด  หากมองกลับไปแล้ว  ก็มีทางประนีประนอมกันได้  แต่อารมณ์เป็นเรื่องว่ากันยากนะคะ  ใครไม่ตกอยู่ในบ่วงอารมณ์เช่นกันนั้นแล้ว  ก็ยากที่จะมองออกว่า  จะมีความรู้สึกอย่างไรน่ะค่ะ

ดีใจที่คุณเทาชมพูกรุณาสนองตอบความอยากรู้  และมีเมตตาสละเวลาเขียนมาให้ได้กระจ่างใจในหลายๆเรื่องเป็นอย่างยิ่งเทียวค่ะ  เพราะก่อนหน้านี้  กลับไปอ่าน เกิดวังปารุสก์ อีกสองรอบ  ก็ยังไม่เห็นภาพช่วงนั้นได้ชัดเจนเท่าไร  คงเป็นเพราะจากจุดที่พระองค์จุลฯทรงมองเห็นได้เท่านั้น  ยังไม่อาจให้ภาพที่สมบูรณ์ได้น่ะค่ะ  เป็นพระคุณอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมารับรู้ภาพเต็มๆจากคุณเทาชมพู  ขอขอบพระคุณอย่างสูงด้วยค่ะ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ย. 03, 15:20
 ขอบคุณค่ะคุณพวงร้อย  ที่ไม่ได้แค่กระแอมกระไอ  แต่ช่วยพูดคุย เสียงใสเชียว  
ปลัดขิกที่ว่า มีอธิบายไว้ในเว็บ    เข้าไปดูเองนะคะ
 http://ezthailand.com/Prakruang/Pladkik.html
พระองค์จุลในรูปท่านจะสวมปลัดขิกหรือเปล่าไม่ทราบ  แต่เด็กผู้ชายชาวบ้านภาคกลางสมัยนั้นน่ะมีแน่    
คลับคล้ายคลับคลาว่าลูกผู้ดีมีตระกูลเพศชายจะสวมอะไรคล้ายๆกระจับของนักมวย  ส่วนผู้หญิง เป็นตะปิ้งรูปสามเหลี่ยม ถักด้วยโลหะก็มี หรือเป็นแผ่นก็มี

เรื่องราวของแคทยาเพิ่งมาเปิดเผยเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง   ก่อนหน้านี้ เมื่อเธอหย่าจากเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกแล้ว   ข่าวคราวก็สูญหายไปจากเมืองไทยราวกับไม่เคยมีตัวตน     ไม่มีใครพูดถึงเธอ    แม้แต่ผู้อยู่ในแวดวงก็ปิดปากกันเงียบ
ประชาชนไม่รู้ว่าเธอเป็นตายร้ายดีอย่างไร   จนมาพบกันทีหลังว่าเธอยังมีชีวิตอยู่อีกยืนยาวทีเดียวค่ะ  จะทยอยเล่าต่อ อย่าเพิ่งง่วงนะคะ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ย. 03, 15:41
 เมื่อแคทยาจากไปแล้ว      วังปารุสกวันก็ได้เจ้าของคนใหม่ เป็น "เจ้าวังปารุสก์"องค์ที่่สาม
คือหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส รพีพัฒน์

ท่านหญิงอยู่ในราชตระกูล "ระพีพัฒน์"ของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์  กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเช่นเดียวกับเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลก แต่ว่า ประสูติแต่เจ้าจอมมารดา จึงดำรงฐานันดรศักดิ์เป็นพระองค์เจ้า

กรมหลวงราชบุรีฯ ทรงเป็นพระราชโอรสรุ่นใหญ่ พระชนม์มากกว่าเจ้าฟ้าจักรพงษ์  นอกจากนี้ก็ทรงมีเกียรติประวัติดีไม่น้อยหน้าใคร  
ทรงเรียนเก่ง  ศึกษาที่เคมบริดจ์จนจบวิชากฎหมาย  กลับมาวางรากฐานกฎหมายไทยให้ทันสมัยจนได้ชื่อว่าเป็น "พระบิดาแห่งกฎหมายไทย"

กรมหลวงราชบุรีทรงมีพระโอรสธิดาหลายองค์  เป็นหม่อมเจ้าทั้งหมด  มีพระนามคล้องจองและมีความหมายในทำนองเดียวกับพระนามของพระบิดา คือ  เกี่ยวกับพระอาทิตย์  

1 พิมพ์รำไพ= แบบพระอาทิตย์
2 ไขแสงรพี=  พระอาทิตย์เริ่มฉายแสง
3 สุรีย์ประภา = แสงอาทิตย์
4 วิมวาทิตย์  =  วิมว --> พิมพฺ+ อาทิตยฺ   แบบพระอาทิตย์
5 ชวลิตโอภาส = แสงอาทิตย์
6 อากาศดำเกิง = ลูกไฟในอากาศ หมายถึงพระอาทิตย์
7 เพลิงนภดล = ไฟในอากาศ  หมายถึงพระอาทิตย์

ผูู้้สนใจวรรณกรรมไทยย่อมเคยได้ยินพระนามหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์มากกว่าองค์อื่นๆ
เพราะทรงเป็นนักประพันธ์แถวหน้าคนหนึ่งในวงวรรณกรรม  เป็นผู้เริ่มต้นผลงานนิยายรูปแบบตะวันตก อย่าง ละครแห่งชีวิต  ผิวขาวผิวเหลือง วิมานทลาย

แต่ในที่นี้ขอกลับมาส่องไฟสปอตไลท์จับที่หม่อมเจ้าชวลิตโอภาสองค์เดียวก่อนนะคะ

เมื่อแคทยาตกลงหย่าขาดและเดินทางออกจากสยามไป    เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกก็ทรงตั้งพระทัยจะอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าชวลิตโอภาสอย่างยิ่งใหญ่ให้สมพระเกียรติ     แต่ว่าทรงเจออุปสรรคขวางกั้นใหญ่อย่างที่นึกไม่ถึง
คือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเกิดไม่ทรงยินยอมให้มีพิธีอภิเษกสมรส   ทรงอ้างว่า ไม่สมควรเพราะหม่อมเจ้าชวลิตอยู่ในฐานะหลานสาวของเจ้าฟ้า่จักรพงษ์
พูดง่ายๆอีกทีคือไม่ทรงเห็นด้วยกับการอภิเษกนั่นแหละค่ะ

เจ้าฟ้าจักรพงษ์ไม่ยอมแพ้  ทรงหันไปพึ่งสมเด็จพระพันปีซึ่งตอนแรกก็ไม่เห็นด้วยกับพระราชโอรส  แต่เมื่อเจ้าฟ้าจักรพงษ์อ้อนวอนหนักเข้าก็พระทัยอ่อน ยอมรับที่จะเจรจากับพระเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงยืนกรานเช่นเดิม  สมเด็จพระพันปีกริ้วเป็นฟืนเป็นไฟ แต่ก็ไม่อาจทำให้ทรงโอนอ่อน ลงได้
ผลคือไม่ใช่แต่แม่กับลูกชายเท่านั้นที่แตกร้าวกัน   ความสัมพันธ์ของพี่ชายกับน้องชายก็ร้าวฉานกันลึกด้วย
ถึงกระนั้นก็ไม่มีสิ่งใดขวางกั้นได้  เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกก็ทรงรับหม่อมเจ้าชวลิตเป็นพระชายาอย่างเปิดเผย  เป็นที่รับรู้กันว่าทรงเข้ามาเป็นเจ้าของวังปารุสกวัน

ข้าราชบริพารอยู่ในวังนั้นด้วยความปกติสุขกับเจ้านายผู้หญิงองค์ใหม่  ด้วยพระชนม์ 15  เธอไม่ได้เปลี่ยนแปลงระเบียบแบบแผนใดๆในวังให้ยุ่งยาก   เคยใช้ธรรมเนียมกันมาอย่างไรก็อยู่กันต่อไปอย่างนั้น
เธอเข้ากับพระองค์จุลได้เหมือนเป็นพี่น้องกันมากกว่าแม่กับลูก  

ความสนิทเสน่หาที่เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกมีต่อหม่อมเจ้าชวลิต พระชายาที่อ่อนกว่า 20 ปี และแก่กว่าพระโอรสแค่ 4 ปี   มากมายแค่ไหน พอจะมีหลักฐานให้เห็นได้จากพินัยกรรม
ทรงมอบทรัพย์สินมรดกทุกอย่างให้มจ.ชวลิตเพียงผู้เดียว  ทรงมอบพระโอรสให้อยู่ในความดูแลของท่านหญิง  และจะมีสิทธิ์ในมรดกก็ในเมื่อท่านหญิงสิ้นชีพิตักษัยแล้วเท่านั้น
ไม่มีการเอ่ยถึงแคทยาในพินัยกรรม    ไม่มีการแบ่งปันทรัพย์สินใดๆให้เธอ นอกจากเงินปีละ 1200 ปอนด์( เดือนละ 100 ปอนด์)ที่ทรงให้ไปเมื่อหย่าขาดจากกัน  
ไม่มีการมอบหมายให้พระโอรสอยู่ในความดูแลของหม่อมแม่ที่แท้จริง   ไม่มีอะไรทั้งสิ้นที่แสดงให้เห็นว่ามีความผูกพันหลงเหลืออยู่ระหว่างพระองค์กับแคทยา
ความรักฉันชายหญิง ทรงมอบให้หม่อมเจ้าชวลิตโอภาสองค์เดียว ด้วยความเชื่อมั่นว่าเธอจะดูแลโอรสได้อย่างดี
ส่วนแคทยา  เมื่อเธอจากสยามไปก็เหมือนตายจากกันไปจากพระองค์
แล้วก็ตายจากกันจริงๆ    ไม่มีโอกาสกลับมาพบหน้ากันอีกเลย

แค่ปีกว่าๆต่อมาไม่ถึง 2 ปี   เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกเสด็จสิงคโปร์พร้อมกับพระชายาและพระโอรส
เกิดประชวรด้วยโรคไข้หวัดใหญ่กะทันหัน   แล้วเสด็จทิวงคตกลางทางก่อนกลับมาถึงสยาม  โดยไม่มีใครคาดคิด
พระชนม์ได้แค่ 37 พรรษา เท่านั้นเอง  หม่อมเจ้าชวลิตทรงเป็นม่ายเมื่อพระชนม์ได้ 17  พระองค์จุลกำพร้าพ่อเมื่อพระชนม์ได้ 13 พรรษา


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 11 พ.ย. 03, 17:27
 ขอบคุณครับคุณเทาชมพู

ผมพอจะเข้าใจรางๆ แล้วว่า ที่มาที่ไปของการที่ในหลวง ร. 6 ท่านออกจะทรงตึงๆ กับพระอนุชาองค์นี้ เป็นมายังไง ยิ่งได้อ่าน "ประวัติต้นรัชกาลที่ 6" ก็จะยิ่งเห็นว่า มองจากมุมของในหลวง ร. 6 ท่านไม่ค่อยทรงโปรดเจ้าฟ้าพระอนุชาองค์นี้เท่าไรเลย และพลอยไม่ทรงลงกันกับสมเด็จพระพันปีด้วยเรื่องเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกด้วย เป็นความร้าวฉานในความสัมพันธ์แม่-ลูก และพี่-น้อง จริงอย่างว่า นอกจากเรื่องจะมีชายาแล้ว ดูเหมือนจะปักพระราชหฤทัยเชื่อว่าเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลก เอาแต่พระทัยองค์เอง และทรงทำอะไรได้ทุกอย่างเพื่อบรรลุพระประสงค์ แม้แต่ทรงเกลี้้ยกล่อมสมเด็จแม่ด้วยเล่ห์กลประการต่างๆ

สิ่งที่ในหลวง ร. 6 ทรงเห็นในพระนิสัยพระอนุชา ว่าเป็นการเอาแต่พระทัยตนเอง นั้น อาจเกี่ยวพันกับสิ่งที่สมเด็จพ่อท่าน คือในหลวง ร. 5 ทรงพระราชวิจารณ์พระโอรสองค์นี้ไว้ว่าออกจะ "จองหอง" และถ้ามองจากสายตาคนสมัยใหม่ อาจเป็นเพียงความเชื่อมั่นในพระองค์เองของกรมหลวงพิษณุโลกเท่านั้นก็ได้ เพราะกรมหลวงพิษณุโลกท่านทรงพระปรีชาสามารถสูง เป็นคนกล้าและเก่งมาก (สมเด็จพ่อก็ทรงเห็นในข้อนี้) และรู้พระองค์ด้วยว่าท่านเก่ง

ตามมุมมองของในหลวง ร. 6 ในพระัราชบันทึกที่มาเป็น "ประวัติต้นรัชกาลที่ 6" ดูเหมือนก็จะทรงมีอะไรในพระทัยอยู่บ้างกับเจ้าพี่ต่างมารดา คือกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เหมือนกัน จะเป็นด้วยเหตุนี้ประกอบด้วยหรือไม่ ไม่ทราบ ที่เมื่อน้องร่วมแม่ของท่าน คือกรมหลวงพิษณุโลก จะทรงเข้าไปเป็นลูกเขยของกรมหลวงราชบุรี (ว่าง่ายๆ ภาษาธรรมดา) ท่านจึงไำม่ทรงโปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาต แต่ถึงกระนั้นก็ห้ามไม่สำเร็จอยู่ดี

ผมเคยนึกอยู่เมื่อ ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 พิมพ์ออกมาใหม่ๆ ว่า หนังสือเรื่องนี้อ่านคู่กับหรือเทียบกับ เกิดวังปารุสก์ คงได้รสชาติดี เพราะเป็นการมองจากคนละมุม เท่าที่นึกออก (ไม่ได้อ่านเกิดวังปารุสก์นานแล้ว) พระองค์จุลฯ ในฐานะที่ทรงเป็นลูก ไม่ได้ทรงให้ภาพความร้าวฉานที่ชัดเจนนักระหว่างพระเจ้าอยู่หัว ร. 6 คือพระเจ้าลุงของท่าน กับพ่อของท่าน แต่ผมก็เข้าใจว่าแม้ผู้ใหญ่จะตึงๆ กันอยู่ แต่ดูเหมือนพระเจ้าลุงคือ ร. 6 ก็จะทรงพระเมตตาหลานกำพร้า (แม่ทิ้งร้างไป ต่อมาพ่อก็สิ้นพระชนม์ไปอีก) ไม่น้อย จำเนื้อความใน เกิดวังปารุสก์ ไม่ค่อยได้แล้วครับแต่จำได้ว่าอ่านแล้วรู้สึกอย่างนั้น


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ย. 03, 18:50
 เรื่องที่คุณนิลกังขาปรารภเกี่ยวกับพระเจ้าอยูหัวรัชกาลที่ 6   มีเกร็ดประวัติเล่าต่อไปได้อีกเยอะเหมือนกันค่ะ   เพราะว่าทรงยื่นมือเข้ามาช่วยเรื่องของพระองค์จุลด้วยพระองค์เอง  หลังจากเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกทิวงคตแล้ว  
ดิฉันค่อนข้างเชื่อว่าพระองค์ท่านรักหลานกำพร้าคนนี้ไม่น้อย   คือไม่พอพระทัยพ่อก็ถือว่าส่วนพ่อ  ไม่ได้มีผลกระทบมาถึงลูก

ขอผัดไปเล่าทีหลังนะคะ
ตอนนี้ขอต่อเรื่องมจ.ชวลิตโอภาสก่อน

เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกคงจะรักพระชายาของท่านอย่างลึกซึ้งมาก   แต่หม่อมเจ้าชวลิตจะรู้สึกตอบมากเท่ากันหรือเปล่า  ไม่มีหลักฐานให้ดิฉันค้นพบได้

รู้แต่ว่าหลังจากพระองค์ท่านทิวงคตได้หนึ่งปี  ท่านหญิงก็เสด็จเข้าสู่ประตูวิวาห์กับหม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ กิติยากร  พระโอรสในพระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์  กรมพระจันทบุรีนฤนาถ
กรมพระจันทบุรีฯเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รุ่นใหญ่ พระชนม์สูงกว่ากรมหลวงราชบุรีฯ
ก็ถือกันว่าเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ในแผ่นดินรัชกาลที่ 6

กรมพระจันทรฯ ท่านก็ไม่ได้คัดค้านอะไรกับการเสกสมรส  เพียงแต่ยื่นคำขาดว่า ให้ท่านหญิงคืนมรดกทั้งหมดของเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกกลับไปให้พระองค์จุลเสียก่อน
เพื่อความยุติธรรมแก่พระองค์จุล และไม่ให้เกิดเสียงครหานินทา เสียหายถึงหม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ ที่จะได้ครอบครองมรดกของพระสวามีเก่า
ท่านหญิงก็ทรงคืนมรดกทั้งหมดให้พระองค์จุลไป  
แล้วเสกสมรสกับหม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์   ก็อยู่กันมาได้ด้วยดี มีโอรสธิดาหลายคน

จนกระทั่งพระชนมายุมากขึ้น   ทรงป่วยด้วยวัณโรค   พระสวามีพาไปรักษาองค์ที่ปารีส  แล้วก็เลยสิ้นพระชนม์ที่นั่น
ในตอนนั้นแคทยาอาศัยอยู่ในปารีส   เธออยากจะมาเยี่ยม   แต่ก็ถูกทัดทานจากเอกอัครราชทูตไทยว่าจะทำให้อาการป่วยของท่านหญิงทรุดลง
จึงไม่มีโอกาสพบกันจนกระทั่งท่านหญิงสิ้นชีพิตักษัย


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 12 พ.ย. 03, 13:30
 อืมม ตอนย้ายเข้าวังท่านหญิงได้ ๑๕ พรรษา  ก็แสดงว่า  ใกล้ชิดกับกรมขุนฯตั้งแต่ยังไม่เต็ม ๑๕  ความรู้สึกของเด็กผู้หญิงอายุ ๑๔ ปี  ต่อผู้ชายอายุแก่กว่าถึง ๒๐ ปี  ก็คงจะเป็นความชื่นชมทำนองมองเป็นฮีโร่มากกว่านะคะ  ฟังดูคิดว่าท่านคงมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมากกว่าหญิงไทยทั่วไป  จุดนี้คงเป็นที่จับพระทัยกรมขุนฯได้  

ตามที่อ่านจากหนังสือ เกิดวังปารุสก์  ร๖ ทรงเอ็นดูรักใคร่พระองค์จุลฯมาก  คงเป็นเพราะท่านไม่มีราชบุตรธิดา  และได้เอ็นดูกันมาตั้งแต่พระองค์จุลฯกำเนิด  ความผูกพันคงมีลึกซึ้งมาก  หาก ร ๖ ยังไม่ทรงครองราช  พระองค์จุลก็คงเป็น มิสเตอร์ ดังที่พระบิดากราบทูลพระอัยกาไว้  แต่ ร ๖ ได้ทรงตั้งให้ท่านเป็นพระองค์เจ้า  ที่มีศักดิ์สูงกว่าพระองค์เจ้าธรรมดา  พระองค์จุลทรงบรรยายไว้อย่างละเอียด  ว่าตำแหน่งพระองค์เจ้า  มีความสูงต่ำแตกต่างกันที่คำนำหน้าว่า  พระบรมวงศ์เธอ, พระเจ้าวรวงศ์เธอ, พระวรวงศ์เธอ ฯลฯ รึไงเนี่ยค่ะ  ดิฉันก็เอาหนังสือไปเก็บในโรงรถแล้ว  ว่าจากความจำอย่างเดียวก็ชักไม่ค่อยแน่ใจแล้วค่ะ เดี๋ยวนี้ หึๆๆ

ส่วนพระพันปีหลวง  ดิฉันว่า  ก็ประสาแม่  แม้จะรักหลานชายคนเดียวอย่างไร  แต่กรมขุนฯท่านดูจะเป็น "ลูกรัก" ของพระพันปีนะคะ  ก็คงทรงอยากให้ลูกรักมีความสุขก่อนสิ่งใด  คิดว่าสมเด็จฯท่านไม่ค่อยทรงโปรดปราน ร ๖ อย่างพิเศษเช่นกรมขุนฯ  และคิดว่า  ร๖ กับ กรมขุณฯ มีพฤติกรรมคล้ายกับที่ฝรั่งเรียกว่า sibling rivalry น่ะค่ะ  แต่คิดว่าทั้งสองพระองค์มีความใกล้ชิดกันมากกว่าเชษฐาคู่ใด  เลยมีความกระทบกระทั่งกันมากกว่า  แบบพี่น้องใกล้ชิดโตมาด้วยกัน  ก็ไม่ค่อยยอมกันน่ะค่ะ  ดิฉันก็มีตัวอย่างอยู่ที่บ้านคู่นึงค่ะ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 พ.ย. 03, 15:12
 อย่างที่คุณพวงร้อยตั้งข้อสังเกตละค่ะ  ความรักที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 มีต่อพระองค์จุล  นับว่ามากเอาการ  มีหลายอย่างที่แสดงว่าทรงห่วงใยเอาใจใส่เป็นพิเศษกว่าหลานอื่นๆ
เมื่อเจ้าฟ้าจักรพงษ์ทิวงคต  พระเจ้าอยู่หัวก็กลายมาเป็นผู้ปกครองพระองค์จุลอย่างเป็นทางการ (ไม่ใช่ท่านหญิงชวลิตผู้มีพระชนม์เพียง 17)
สิ่งที่ท่านทำคือสถาปนาหม่อมเจ้าจุลจักรพงษ์ เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักพงษ์    นี่ก็เรื่องหนึ่งละ

เรื่องที่สองคือ  ทรงยื่นมือเข้ามาขวางพินัยกรรมของพระราชอนุชา   ไม่ให้มรดกทั้งหมดตกเป็นของท่านหญิงชวลิตโอภาส โดยพระองค์จุลแทบไม่มีสิทธิ์

ขอคัดข้อความในพินัยกรรมให้อ่านกันนะคะ

"...บรรดาทรัพย์สินที่เคลื่อนที่ได้หรือมิิได้ก็ดี   ซึ่งเป็นของข้าพเจ้าอยู่ในขณะนี้...ข้าพเจ้ามีความประสงค์ยกให้หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาสทั้งสิ้นจนตลอดชีวิตของเธอ
แลในระหว่างที่เธอยังมีชีวิตอยู่  ต้องเลี้ยงดูหม่อมเจ้าจุลจักรพงษ์บุตรของข้าพเจ้าให้มีความสำราญสุขเท่ากับเวลาที่ข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่  
เมื่อหม่อมเจ้าจุลจักรพงษ์จะมีครอบครัวภายหน้า ก็เป็นหน้าที่ของหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาสจะเลี้ยงดูให้พอสมควรกับฐานะเหมือนกัน  
เมื่อหม่อมเจ้าชวลิตโอภาสสิ้นชีพิตักษัยและหม่อมเจ้าจุลจักรพงษ์ยังอยู่     ทรัพย์สมบัติที่ว่ามาแล้วก็ให้ตกเป็นของหม่อมเจ้าจุลจักรพงษ์ต่อไป"

อ่านพินัยกรรมนี้แล้วก็อดเสียใจแทนพระองค์จุลไม่ได้ ว่า   เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกทรงตั้งท่านหญิงชวลิตโอภาสเป็นทายาทของท่านเกือบ 100%  ส่วนเลือดเนื้อเชื้อไขของท่าน  ท่านมอบให้อยู่ในมือของแม่เลี้ยง    ไม่มีสิทธิ์ได้ทรัพย์สมบัติของพ่อ  แล้วแต่แม่เลี้ยงจะให้  
ต่อให้โตเป็นหนุ่มไปจนกระทั่งแก่  ก็ไม่มีวันมีทรัพย์สินของตัวเอง  โดยอิสระ ถึงมีลูกเมียแล้วก็ต้องพาลูกเมียมาพึ่งพาแม่เลี้ยงอย่างเก่า
ต่อให้ท่านหญิงมีพระชนม์ยืนยาวไปจน 80 พระองค์จุลผู้ล่วงเข้า 76 ปี ก็ยังต้องพึ่งพาท่านหญิงเหมือนเดิมอยู่ดี

นอกจากความรักที่มีต่อท่านหญิงมากที่สุดแล้ว
เป็นไปได้ว่า เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกอาจจะเชื่อว่าพระองค์คงมีชีวิตอยู่อีกยาวนาน  เพราะฉะนั้นก็น่าจะมีพระโอรสธิดาได้อีกหลายองค์ จากหม่อมเจ้าหญิงชวลิต
ความเสน่หาที่มีต่อท่านหญิงทำให้ท่านเชื่อว่าควรมอบทรัพย์สินทั้งหมดให้พระชายา ก็เพื่อจะให้พระโอรสธิดาได้มั่นคงที่สุด  แม้ว่าพระองค์ท่านไม่อยู่แล้ว

ส่วนพระองค์จุลเมื่อถึงตอนนั้นก็เป็นเพียงหนึ่งในโอรสธิดา  ถ้าจะตกลงแบ่งมรดกให้เด็ดขาดเสียตอนนี้ก็ไม่ยุติธรรมกับพระโอรสธิดาอื่นๆที่พระองค์ท่านเองก็ไม่รู้ว่าจะมีอีกกี่องค์    สัดส่วนการแบ่งปันอาจจะมากน้อยกันเกินไปก็ได้
เพราะงั้นก็ยกให้ท่านหญิงเสียองค์เดียวหมดเรื่องหมดราวไป แล้วก็ขอให้ช่วยเลี้ยงดูพระองค์จุลต่ออย่าให้ลำบาก  เลี้ยงไปจนกระทั่งมีลูกมีเมีย เลี้ยงไปจนตายกันไปข้างหนึ่ง

เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกคงไม่ทรงนึกเผื่อเอาไว้ ถึงตัวแปรหลายอย่าง
เช่นถ้าหม่อมเจ้าหญิงชวลิตไม่สามารถจะอุปการะพระองค์จุลได้อย่างดี   พระองค์จุลจะทำอย่างไร

หรือว่าถ้าหม่อมเจ้าหญิงชวลิตทรงมีพระสวามีใหม่    ทรัพย์สินนั้นก็ย่อมตกในมือเจ้าของรายใหม่  แล้วพระองค์จุลจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน
ข้อนี้เชื่อว่าทรงนึกไม่ถึงเอาเลย  เพราะคงไม่มีลางใดๆให้สังหรณ์ว่าหม่อมเจ้าหญิงชวลิตจะเป็นม่ายตั้งแต่ยังสาวมาก  พระชนม์แค่ 17 ปี

ผลกระทบอีกอย่างหนึ่งคือเมื่อพระองค์จุลต้องพึ่งพาหม่อมเจ้าชวลิตไปอีกนานเท่าพระชนม์ของอีกฝ่าย
ก็ไม่สามารถจะเกื้อหนุนค้ำจุนใครได้ง่ายๆ  
ใครเหล่านั้นก็อาจจะรวมหม่อมแม่ที่แท้จริงไว้ด้วยคนหนึ่ง

พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นด้วยกับพินัยกรรมเอามากๆ    ความไม่เห็นด้วยสะท้อนมาจาก ทรงยับยั้งพินัยกรรมไม่ให้มีผลบังคับใช้  
แทนที่หม่อมเจ้าหญิงชวลิตจะเข้าครอบครองทรัพย์สินมหาศาล  ก็กลายเป็นว่าทั้งแคทยา ท่านหญิงและพระองค์จุล ต่างได้รับเงินปันผลจากผลประโยชน์ของกองมรดกทั้งหมด แต่มรดกส่วนใหญ่ยังอยู่เฉยๆ
ต่อมาคือทรงเรียกวังปารุสกวันกลับคืนมาเป็นของพระมหากษัตริย์  ส่วนท่านหญิงชวลิตต้องย้ายไปพำนักที่วังเล็กๆที่ท่าเตียน ซึ่งเคยอยู่มาก่อนจะไปเป็นชายา  

หนึ่งปีต่อมา เมื่อหม่อมเจ้าหญิงชวลิตจะเสกสมรสใหม่กับท่านอมรสมานลักษณ์  พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเห็นชอบที่จะให้คืนมรดกกลับไปให้พระองค์จุลเสียก่อน จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เสกสมรสได้
กรมพระจันทรบุรีฯ และพระเจ้าอยู่หัว คงจะตกลงและรู้พระทัยกันในเรื่องนี้

หลังจากนั้น พระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็น Fairy Godfather ของพระองค์จุล ก็ส่งพระองค์ไปศึกษาต่อที่อังกฤษ เพื่อจะไปเรียนที่โรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิร์สต์
ไม่ทรงมีพระบรมราชนุญาตให้แคทยาไปอยู่อังกฤษเพื่อดูแลโอรส  แต่ทรงยอมให้เธอมาเยี่ยมได้ในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน

แคทยากลับมาร่วมงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกก่อนจะกลับไปเมืองจีนตามเดิม
จบตอนแค่นี้ละค่ะ  แล้วจะมาเล่าถึงชีวิตของแคทยา และ "หิน" สามีคนที่สองของเธอ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: ทองรัก ที่ 13 พ.ย. 03, 11:07
 อ่านแล้วอึ้งมากค่ะ สงสารแคทยา ชีวิตเธอรันทดยิ่งกว่านวนิยายจริง ๆ นะคะ ส่วนเรื่องมรดกเห็นใจพระองค์จุลฯ คะไม่เข้าใจว่าเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกท่านคิดอย่างไร... แต่เคยมีผู้ใหญ่บางท่านพูดให้ฟังว่า ผู้ชายนั้นถ้าหมดรักแม่ของลูกแล้ว ก็จะพลอยหมดรักลูกหรือรักน้อยลงตามไปด้วย (ถึงจะเป็นลูกตัวเองก็ตามที) ที่ผู้ใหญ่ท่านนั้นพูดมาจะเป็นจริงในกรณีนี้คะ

รอฟังเรื่องราวของ "หิน" ต่อนะคะ ขออนุญาตแสดงความโลภมากไว้ล่วงหน้าได้ไหมคะว่าอยากรู้ไปถึงเรื่องราวของคุณหญิง  นริศราด้วยได้ไหมคะ ทองรักชื่นชมเธอมากค่ะ ค่าที่เธอใช้ชีวิตเกือบทั้งชีวิตอยู่ต่างประเทศ แต่ยังรักษาความเป็นไทยไว้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเรื่องภาษาไทย


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 13 พ.ย. 03, 13:11
 เห็นด้วยกับคุณทองรักค่ะ  ถ้าคุณเทาชมพูยังมีภารกิจด้านอื่นก็ไม่ต้องเร่งนะคะ  จะรออ่านค่ะ

พรุ่งนี้มีธุระสำคัญและต้องตื่นแต่เช้ามืด  เลยแจมไม่ได้มาก  ขอรออ่านตอนต่อไปนะคะ  ไม่ทราบจะขอบพระคุณคุณเทาชมพูอย่างไรค่ะ  อิ่มอกอิ่มใจมากที่ได้รับรู้สิ่งที่กระหายหิวอยากทราบมาแต่เด็กทีเดียวค่ะ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 พ.ย. 03, 09:49
 ก็ว่าจะค่อยๆเล่าไปตามสบายค่ะ     ไม่รีบร้อน   เรื่องจะได้ระทึกใจให้ตามอ่านอยู่นานๆ ไงคะ

ย้อนมาเล่าถึงชีวิตช่วงต่อไปของแคทยา คนไทยเพิ่งจะมารู้จากการเปิดเผยของม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ ธิดาของพระองค์จุล เมื่อไม่กี่ปีมานี้เองว่า  เส้นทางของแคทยายังมีอะไรต่อมิอะไรให้ติดตามอีกมาก
ก่อนหน้านี้เหมือนเธอสาบสูญไปเฉยๆ  หลังแยกทางเดินกับเจ้าฟ้าจักรพงษ์แล้ว

นับแต่เธอเดินทางออกจากสยาม แคทยาก็ไปหาพี่ชายที่ปักกิ่ง  พักอยู่ด้วยไม่นาน ก็ย้ายไปพำนักอยู่ที่เซี่ยงไฮ้  
เธอกลับไปใช้นามสกุลเดิม ใช้ชื่อว่า มาดามเดสนิทสกี้ อาศัยค่าเลี้ยงดูเดือนละ 100 ปอนด์อันน้อยนิดที่เจ้าฟ้าจักรพงษ์ทรงให้เธอ   เช่าบ้านเล็กๆได้หลังหนึ่ง แล้วใช้ชีวิตตามลำพังด้วยความเข้มแข็งเท่าที่ผู้หญิงสาวตัวคนเดียวจะทำได้
แคทยาไม่ได้ปล่อยชีวิตตัวเองให้หมกมุ่นน้อยอกน้อยใจโชคชะตา  แต่ว่าเธอเข้าไปช่วยงานของสมาคมการกุศลของชาวรัสเซียเพื่อช่วยเหลือผู้อพยพ    แคทยาเคยฝึกงานเป็นนางพยาบาลมาก่อน  จึงช่วยงานได้มาก ทำให้วันๆผ่านไปรวดเร็ว
แต่พอกลับมาบ้านในตอนกลางคืน ความเปล่าเปลี่ยวเศร้าหมองก็กลับมาอีกสำหรับผู้หญิงตัวคนเดียว

พี่ชายแนะนำว่าหญิงสาวอย่างเธอไม่ควรอยู่คนเดียว จะอันตรายเกินไป   ควรมีคนอยู่ด้วยเป็นเพื่อนในบ้าน  จะมีรายได้เพิ่มด้วย   เธอก็เลยแบ่งห้องชั้นบนในบ้านให้คนเช่า  

หนึ่งในคนเช่าห้องชั้นบนเป็นวิศวกรชาวอเมริกันชื่อแฮรี่ คลินตัน  สโตน  

แฮรี่ สโตน เป็นผู้ชายที่ตรงกันข้ามกับเจ้าฟ้าจักรพงษ์ทุกอย่างก็ว่าได้   เขาเป็นผู้ชายธรรมดา  ไม่เก่งกาจปราดเปรื่อง  บ้านเดิมอยู่ที่พอร์ทแลนด์  ออเรกอนซึ่งสมัยนั้นถือว่าบ้านนอกมาก
พบปะกันตั้งแต่แรก  เขาก็หลงรักแม่ม่ายสาวสวยชาวรัสเซียอย่างถอนตัวไม่ขึ้น   เมื่อรู้จักกันดีขึ้น  เขาขอแต่งงานกับเธอ
แต่ว่าแคทยาขอผัดผ่อนคำตอบไว้ก่อน ตอนได้ข่าวว่าเจ้าฟ้าจักรพงษ์สิ้ิ้นพระชนม์    เธอเดินทางกลับมาร่วมงานพระศพในกรุงเทพ
เมื่อกลับมาเธอพบว่า โอรสของเธออยู่ในความดูแลของ "ทูลกระหม่อมลุง" เธอได้รับเงินส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นจากเดิม จากมรดกของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ ด้วยพระเมตตาของพระเจ้าอยู่หัว
แต่ว่ากรุงเทพไม่มีที่อยู่ให้เธออีกต่อไปแล้ว  เธอกลายเป็นคนแปลกหน้าสำหรับทุกคน

แคทยาเดินทางกลับไปแต่งงานกับแฮรี่ สโตน   แล้วเดินทางไปอเมริกากับเขา
ทิ้งอดีตทุกอย่างในสยามให้จบสิ้นไปพร้อมกับการเสด็จทิวงคตของอดีตพระสวามี  


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: ทองรัก ที่ 15 พ.ย. 03, 18:52
 แคทยาเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็งและใจเด็ดจริง ๆค่ะ
เมื่อคิดว่าเธอมีชีวิตอยู่เมื่อเจ็ด-แปดสิบปีมาแล้ว
การที่ตัดสินใจแต่งงานกับคนที่แตกต่างกันทุกอย่าง แล้วตามคนรักมาอยู่ในอีกซีกโลกหนึ่งนี่ก็ว่าเก่งแล้วนะคะ แต่เมื่อถูกทอดทิ้งเธอก็ยังดำรงชีวิตอยู่และเริ่มต้นใหม่ได้อีกครั้งนี่นับว่าเก่งยิ่งไปกว่าเดิมอีกค่ะ ผู้หญิงยุคปัจจุบันที่เพียบพร้อมกว่าเธอตั้งมากมาย พอล้ม พอพลาดแล้วลุกขึ้นอีกไม่ได้นี่น่าจะศึกษาปรัชญาการใช้ชีวิตของเธอเป็นแบบอย่างนะคะ

ขอบคุณคุณเทาชมพูอีกครั้งค่ะ สำหรับเรื่องราวที่ยิ่งกว่าเทพนิยายเรื่องนี้ จะรออ่านตอนต่อไปนะคะ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 17 พ.ย. 03, 00:39
จากที่อ่านใน เกิดวังปารุสก์ แคทยาต้องถูกทิ้งให้อยู่ที่สิงคโปร์คนเดียวอยู่ถึงปี  กว่าจะได้เข้ามาร่วมหอกับสามีเจ้าฟ้าไทย   และกว่าแม่สามีจะเลิกมึนตึงยอมให้เข้าเฝ้าได้  ก็เป็นเวลาหลังจากเข้ามาอยู่เมืองไทยเป็นแล้ว   แต่เมื่อได้เข้าเฝ้าสมเด็จฯ  แคทยาก็พูดภาษาไทยได้คล่องแคล่ว  เป็นที่ประทับพระทัยของสมเด็จฯ  จนทรงเอ็นดูมาได้  ก็แสดงว่า  แคทยาเป็นคนเข้มแข็ง  และเป็นคนมีความกระตือรือร้นที่จะใช้เวลาให้เป็นประโยชน์  ไม่เคยปล่อยเวลาให้ผ่านไปหรือมัวนั่งสงสารตัวเองน้อยใจในโชคชะตาเลย  

ความกดดัน  และเรื่องร้ายๆต่างๆที่ผ่านมาในชีวิต  แคทยาก็ดูไม่ย่อท้อ  เดินหน้าทำตัวให้เป็นประโยชน์  เป็นคนที่น่าชื่นชมมากเลยค่ะ  แต่ในด้านเป็นเมียของผู้ชายไทยในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช  แม้กรมขุนฯ จะนับได้ว่ามีความคิด "ก้าวหน้า" กว่าชายไทยร่วมสมัยเป็นจำนวนมาก  ที่ทรงสละอภิสิทธิที่จะมีหม่อมเล็กหม่อมน้อย  ใช้ชีวิตแบบผัวเดียวเมียเดียวมาเป็นเวลานาน  อย่างไรก็คงจะมีความโหยหาผู้หญิงที่มีความ "เป็นผู้หญิง" บ้าง  แต่คิดว่า  ความที่แคทยาต้องใช้ความมานะปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม  ทำใจให้เข้มแข็ง  ความอ่อนโยนของผู้หญิงที่มัดใจชายได้  คงต้องลดน้อยถอยลงไปตามกาลเวลา  ยิ่งเมื่อมีลูกก็ยิ่งทุ่มเทให้ลูกมากขึ้น  จากประสบการณ์ของตัวเอง  ผู้หญิงเราในบางครั้ง  เมื่อมีลูกแล้ว  ก็ให้ความสำคัญกับ "ความเป็นแม่" มากกว่า "ความเป็นเมีย" คงจะเป็นไปตามกฎธรรมชาติ

ได้อ่านรายละเอียดของแคทยาเพิ่มมากขึ้น  ก็ยิ่งสงสารท่านจับใจ  แต่ก็พยายามมองด้วยสายตาเป็นกลาง  ก็คิดว่า  กรมขุนฯ ท่านก็ทรงพยายามอย่างเต็มที่ที่จะให้ความสนับสนุน  ทำหน้าที่ของสามีที่ดี  โดยไม่คำนึงถึงความต้องการส่วนตัว  แต่เมื่อแคทยาจากไปเป็นเวลานานร่วมปี  สามีภรรยาที่ไม่เหลือด้านที่อ่อนโยนของความรักไว้สมานใจ  อารมณ์รักค่อยเหือดแห้งไป  สำหรับกรมขุนฯ  พระองค์ท่านคงเหลือแต่เพียงความมานะพยายาม  ที่จำต้องฟันฝ่าอุปสรรคที่เกิดจากทางเลือกของตัวเอง  เหมือนกับคนที่อยู่เพื่อทำตามหน้าที่เท่านั้น  พอมีฝ่ายที่สามแทรกเข้ามา  ที่มีความสามารถแต่งเติมเสริมสิ่งที่ขาดหายไปได้  กรมขุนฯท่านก็คงเหมือนทำนบทลาย  พูดได้ว่า  ทรง "หลงเอามาก"  อย่างที่คุณเทาชมพูได้อธิบายไว้นะคะ

ยังไม่มีโอกาสได้เห็นหนังสือที่คุณหญิงนริศราเขียนเลยค่ะ  ทำให้อยากไปหามาอ่านซะแล้ว


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ย. 03, 17:23
 ชีวิตของแคทยาในวัยกลางคน ทำท่าว่าจะไปด้วยดี   สมกับรอดพ้นจากมรสุมลูกใหญ่ที่ซัดเธอล่มลงไปครั้งหนึ่งแล้วในสยาม

แต่ชีวิตมนุษย์ก็มักมีอะไรกระท่อนกระแท่นไม่ลงตัวอยู่เสมอละค่ะ

ทั้งที่อเมริกาเป็นดินแดนในฝันของบรรดาผู้คนหนุ่มสาวจำนวนมากในยุโรป  ที่จะละทิ้งถิ่นเดิมไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า  จนหลั่งไหลข้ามแอตแลนติกกันไปไม่ขาดสาย
แคทยากลับพบว่า เธอแปลกแยกกับอเมริกา น่าจะยิ่งกว่าสยามเสียด้วยซ้ำ

เแคทยาไม่ชอบอเมริกา   ยิ่งกว่านั้นเธอเข้ากับพ่อผัวแม่ผัวอเมริกันไม่ได้    
ความสุขของเธอมีอย่างเดียวคือได้เดินทางไปอังกฤษ พบโอรสซึ่งย่างเข้าวัยรุ่นหนุ่ม
ในที่สุดเธอกับสโตนก็ตัดสินใจอพยพโยกย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่ปารีส  เพื่อจะได้พบพระองค์จุลซึ่งข้ามจากอังกฤษมาพักด้วยตอนปิดเทอม    แคทยาเองก็อบอุ่นจากการได้รวมญาติชาวรัสเซียซึ่งลี้ภัยมาอยู่ในฝรั่งเศสอีกครั้ง

แฮรี่ สโตน  หรือ "หิน "ตามที่พระองค์จุลฯทรงเรียก  เป็นสามีที่อาจจะเรียกได้ว่าตรงกันข้ามกับเจ้าฟ้าจักรพงษ์ ในหลายๆด้าน
หนังสือประวัติของแคทยาไม่ได้ให้ภาพเขาเป็นพระเอกตัวจริงเลยสักนิด  ถ้าเป็นหนัง ดาราที่รับบทน่าจะเป็นระดับรองๆ
มีอะไรน่าสมเพชแฝงอยู่   ด้านหนึ่งคือเขายอมแคทยาทุกอย่าง    แบบไทยๆอาจเรียกว่ากลัวเมียก็ว่าได้
เขาทิ้งบ้านเดิม ทิ้งอาชีพการงานตามภรรยาไปอยู่ปารีสตามความประสงค์ของเธอ   แม้ว่าเขาไม่มีความสุขที่นั่นเลยก็ตาม

นิสัยอีกอย่างที่ตรงข้ามกับเจ้าฟ้าจักรพงษ์คือสโตนไม่โรแมนติก  เขามัธยัสถ์จนน่าจะเรียกว่าขี้เหนียว   แม้แต่กับเงินที่พระองค์จุลประทานให้เพื่อให้หม่อมแม่สุขสบาย
เขาก็พยายามจะใช้ให้น้อยที่สุด    อย่างเช่นประทานเงินให้ซื้อรถใหม่  เขาก็ไปซื้อรถเก่าแทนแล้วเก็บเงินที่ประหยัดเอาไว้   รถมันเก่าขนาดออกวิ่งครั้งแรกบานประตูก็หลุดผลัวะออกมาเสียแล้ว

ส่วนพระองค์จุลฯทรงเข้าเรียนที่โรงเรียนแฮร์โร่ ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำของลูกผู้ดีมีตระกูล อีกแห่งหนึ่งนอกเหนือจาก อีตัน
แต่ว่าไม่ได้ทรงเข้าเรียนทหารตามพระราชประสงค์ของทูลกระหม่อมลุง  หากแต่เบนเข็มไปเรียนวิชาประวัติศาสตร์ที่เคมบริดจ์   ทรงเรียนจบได้เกียรตินิยมอย่างน่าชื่นชม


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ย. 03, 17:44
 ในอังกฤษ  พระองค์จุลฯพบหญิงสาวสวย ลูกผู้ดีชื่อเอลิซาเบธ ฮันเตอร์     หรือเรียกชื่อเล่นว่า "ลิสบา" เธอเป็นเพื่อนสนิทของหม่อมซีริล ในพระองค์พีระฯ
หลังจากรักกันยาวนานหลายปีในที่สุดก็ พระองค์จุลก็เสกสมรสกับหม่อมลิสบา    ทรงรอถึง 18 ปีกว่าจะได้ธิดาคนเดียว คือม.ร.ว. นริศรา จักรพงษ์  
ชื่อคุณหญิงนริศรา  อ่านว่า "นะ-ริ-ศา " นะคะ  ไม่ใช่ "นะริดสะรา" อย่างที่เข้าใจกันตามตัวสะกด
ศร ในนี้ออกเสียงเป็น ศ  เหมือนในคำว่า "ศรี"

เราคงจะเห็นจากประวัติว่าแคทยาไม่ใช่ผู้หญิงอ่อนหวานนิ่มนวล  แต่เป็นหญิงใจเด็ด และมีพลังบุคลิกอันแข็งแกร่งในตัว
เพราะงั้นก็ไม่อาจหวังได้เมื่อวัยมากขึ้น  เธอจะกลายเป็นคุณยายแก่ๆใจดี  
คิดแต่จะถักเสื้อไหมพรมเป็นของขวัญให้ลูกชายลูกสะใภ้

พระองค์จุลรักหม่อมแม่ของท่านมาก   แต่ในความรัก ก็ไม่ค่อยจะมีความราบรื่นระหว่างกันนัก  
เธอเป็นแม่ประเภทที่ไม่อยากเห็นลูกชายไปให้ความสำคัญกับใครมากกว่าแม่    
อยากให้ลูกอยู่ในโอวาท   อะไรที่เธอเห็นว่าดีเธอก็อยากให้ลูกชายเห็นตาม  
เหมือนสามีคนที่สองที่คล้อยตามเธอ
โดยเฉพาะ เธอจะมองหญิงอื่นที่ได้ความรักจากลูกชายว่าเป็นคู่แข่งตัวฉกาจ
ส่วนหม่อมลิสบาก็เป็นผู้หญิงที่พรั่งพร้อมทั้งความสวยสง่า มาจากตระกูลดี  ต้อนรับแขกเหรื่อได้เก่ง
  ไม่ใช่ผู้หญิงที่แม่ผัวจะข่มได้
เพราะยังงั้น ไม่แปลกที่ แม่ผัวกับลูกสะใภ้ไม่กลมเกลียวกัน
การที่แคทยาปฏิเสธไม่มาร่วมงานสมรสของพระองค์จุลและหม่อมลิสบา แม้มีข้อแก้ตัว แต่ก็น่าจะบอกอะไรได้ไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม ชีวิตสมรสของเธอกับสโตนผู้ไม่มีปากเสียงก็ดำเนินไปได้  
แต่จะสุขแค่ไหนก็ไม่รู้เหมือนกัน  
แคทยากลับไปอเมริกาในช่วงอังกฤษเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง    ช่วงนี้ไม่มีอะไรจะเอ่ยถึงนัก จนกระทั่งเธอถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 72 ปี  อย่างสงบ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 17 พ.ย. 03, 21:37
 คุณครูเทาชมพูครับ  มีคำถาม
1. ผมจำได้ว่าหลายปีมาแล้วตอนที่เขาโปรโมทเกี่ยวกับเจ้าดาราทองนี่ มี  ม.ร.ว. นริศรา ออกมาให้สัมภาษณ์ด้วยใช่ท่านรึเปล่าที่ผมทองเป็นฝรั่งเลย แต่พูดไทยชัดแจ๋ว แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี่ท่านยังอายุสัก 20-30 อืมม  แต่ท่านเป้นพระธิดาองค์จุลฯเลยเหรอครับ
อายุห่างกันมากเลยนะครับ แค่สงสัยครับ

2. ทำไมโรงอาหารที่จุฬาถึงได้ชื่อว่าตึกจุลจักรพงษ์ครับ เกี่ยวข้องยังไงกับท่านเจ้าของนามครับ


ขอเป็นฝ่ายค้านคุณทองรักนิดนึงตรงที่ว่าหม่อม Katja เป็นผู้หญิงที่เข้มแข็งใจเด็ดเพราะกล้าตามสามีมาในที่ๆไม่รู้จัก
อืม  .... อาจจะถูกถ้า...ถ้าผู้สามีเป็นชายธรรมดา
แต่นี่เป็นถึงเจ้าชายแห่งราชอาณาจักรไทย   ไม่ว่าสาวจะเข้มแข็งรึอ่อนแอเท่าไหร่เขาก็อยากจะมากันทั้งนั้นแหละคู้นนนนน
อิอิอิ  ล้อเล่นนิดหน่อยนะ ผมจอมเสียดสีอยู่แล้ว
ถ้า สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าหม่อม Katja or Katya เป็นผู้เข้มแข็งเด็ดเดี่ยวละก็คงเป็นอย่างหลังที่คุณทองรักว่ามามากกว่าครับ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 18 พ.ย. 03, 08:30
 ขอแย้งครับ ถือว่าเราโต้กันสนุกๆ

สยามในสมัยโน้น ในสายตาของชาวจักรวรรดิยุโรปที่ยิ่งใหญ่อย่างรัสเซีย เป็นไปได้ว่าจะมองเมืองเราเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนเล็กๆ อยู่ไหนก็ไม่รู้ ถ้าคุณเป็นสาวรัสเซียหรือสาวฝรั่งชาติอื่นสมัยนั้น ต่อให้มีเจ้าชายสยามมาขอแต่งงานด้วย เจ้าชายก็เจ้าชายเถอะ แต่มาจากเมืองอะไรก็ไม่รู้ ไม่ใช่เจ้าชายเมืองอังกฤษนี่ คุณยังยอมตามไปได้ก็ต้องนับว่าใจเด็ดเอาการ นึกเล่นๆ ว่าสาวไทยปัจจุบันถ้ามีลูกชายหัวหน้าเผ่าในแอฟริกามาชอบ แล้วเธอยอมรับรักยอมตามไปผจญชีวิตใหม่ในแอฟริกา ต่อให้ได้เป็นลูกสะใภ้หัวหน้าเผ่าด้วย ก็ยังต้องนับถือว่าเธอใจกล้ารักผจญภัยเอาการทีเดียว

ตึกจักรพงษ์หลังหอนาฬิกาเล็ก หน้าสระว่ายน้ำจุฬาฯ เคยเป็นที่ทำการสโมสรนิสิตจุฬาฯ (สจม. ซึ่งต่อมา สมัยผม เรียกใหม่ว่า อบจ. - องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ) ผมไม่ทราบชัดว่าทำไม แต่เข้าใจว่าเจ้าฟ้าจักรพงษ์เคยทรงมีพระประวัติเกี่ยวข้องกับโรงเรียนข้าราชการพลเรือน (หรือที่มาเป็นจุฬาฯ) อยู่

ส่วนตึกจุลจักรพงษ์นั้นเห็นจะสร้่างใหม่สมัยหลังผมจบแล้ว จึงนึกไม่ออก ใช่ตึกที่เป็นโีีรงอาหารหลังศาลาพระเกี้ยวหรือเปล่าครับ ถ้าใช่ก็อาจจะเกี่ยวๆ กับตึกจักรพงษ์เดิมอยู่บ้าง คือตอนหลังตึกจักรฯ กลายเป็นพิพิธภัณฑ์จุฬาไปแล้ว เขาก็ย้ายชมรมกิจกรรมนิสิตทั้งหลายทั้งปวงมาอยู่ที่ตึกใหม่หลังศาลาพระเกี้ยวหมด รวมทั้งที่ทำการ สจม. ในเมื่อสโมสรนิสิตเดิมอยู่ตึกชื่อจักรพงษ์ สโมสรนิสิตใหม่ย้ายมาที่ใหม่ ก็ควรได้ชื่อตามลูกท่าน อย่างนั้นหรือเปล่าไม่ทราบ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ย. 03, 09:03
 ขอตอบคุณ paganini เรื่องตึกจักรพงษ์ก่อนนะคะ   มีประวัติอยู่ในเว็บของจุฬา

ลอกมาให้อ่านกันที่นี่เลย

ในสมัยเมื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังเป็นโรงเรียนมหาดเล็กนั้น บรรดานักเรียนได้ขอก่อตั้ง "สมาคมนักเรียนโรงเรียนมหาดเล็ก" ขึ้นเพื่อจัดกิจกรรมต่างๆ นักเรียนได้รับอนุญาตให้ก่อตั้งสมาคมได้และได้รับการสนับสนุนให้ปกครองกันเอง เรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่น จัดกิจกรรมด้านสันทนาการและด้านความเป็นผู้นำ
เมื่อโรงเรียนมหาดเล็กเปลี่ยนเป็นโรงเรียนข้าราชการ พลเรือนฯ สมาคมของนักเรียนก็ยังคงอยู่ภายใต้ชื่อว่า "สโมสรนักเรียนโรงเรียนข้าราชการ พลเรือนฯ"
และเมื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการสถาปนาขึ้น สโมสรนี้ก็กลายมาเป็น "สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"

  ที่ทำการของสโมสรนิสิตมีอยู่ ๒ แห่ง แห่งหนึ่งอยู่ปทุมวันซึ่งเป็นศูนย์กลางสำหรับนิสิตทุกคน อีกแห่งหนึ่งอยู่ที่ศิริราชสำหรับนิสิตแพทย์

ในปี พ.ศ.๒๔๖๕ มหาวิทยาลัยได้ปรับปรุงการบริหารงานของสโมสรนิสิตให้ดีขึ้น โดยสโมสรนิสิตประกอบด้วยนายกสโมสร ประธานฝ่ายและประธานชมรมต่างๆ และคณะกรรมการกลางที่ประกอบด้วยผู้แทนจากคณะต่างๆ
ในตอนแรกสโมสรนิสิตยังไม่มีตึกที่ทำการของตนเองและใช้ปีกหนึ่งของหอพักเป็นสถานที่ทำการ ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านไม้สองชั้นใกล้กับหอพัก
ในปีพ.ศ.๒๔๗๕ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ได้ทรงรับพระราชดำริของสมเด็จพระบรมราชชนก เกี่ยวกับการสนับสนุนกิจกรรมของสโมสรนิสิต

พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ได้ประทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นเงินสองหมื่นบาทเพื่อสร้างตึกที่ทำการของสโมสรนิสิตและเพื่อเฉลิมพระเกียรติ แด่เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ ผู้ทรงมีพระดำริเกี่ยวกับการบริหาร ปกครองโดยนิสิตด้วยกันเอง

ตึกจักรพงษ์ ปัจจุบันคือหอประวัติ ของจุฬาฯ ค่ะ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 18 พ.ย. 03, 09:58
โอ้โห ... ภาพข้างบนนี่เก่ามากเลยครับ เดาไม่ถูกว่าถ่ายไว้ตั้งแต่สมัยไหน สระนำจุฬาก็ยังไม่มี ผมเดาว่าน่าจะซัก 40 ปีมาแล้ว ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากเลยครับ

ตึกรูปทรงสี่เหลี่ยมสีขาวที่เห็นอยู่ด้านหลังของตึกจักรพงษ์ในภาพนั้น ปัจจุบันคือตึกฟิสิกส์ 1 ซึ่งเมื่อก่อนใช้เป็นตึกเรียนรวมของคณะวิทยาศาสตร์ครับ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ย. 03, 10:14
 ภาพนี้ถ่ายเมื่อพ.ศ. 2475 ค่ะ  ตอนนั้นคุณจ้อยังเป็นวุ้นอยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบ

คุณทองรักถามถึงม.ร.ว. นริศรา   ก็คงตอบได้บ้างเล็กๆน้อยๆตามนี้ค่ะ

-คุณหญิงนริศรา  เกิดเมื่อ พ.ศ. 2499   สิบแปดปีหลังการเสกสมรส
-ชื่อของเธอได้มาจากพระนามทรงกรมของเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์   ต้นราชสกุล "จิตรพงศ์"  ซึ่งเป็นผู้ที่พระองค์จุลฯทรงเคารพรักและเลื่อมใสในฝีพระหัตถ์ด้านศิลปะ

- เลือดยุโรปที่ปนอยู่ในตัวถึง 3/4 ทำให้คุณหญิงเป็นสมาชิกราชตระกูลคนเดียวที่ผมทอง หน้าตาเป็นฝรั่งแท้

- เมื่อคุณหญิงอายุได้ 7 ขวบ  พระองค์จุลฯก็สิ้นพระชนม์ด้วยโรคมะเร็ง พระชนม์แค่ 55 ชันษา
หลังจากนั้น หม่อมลิสบาก็จากไปอีกคนด้วยโรคมะเร็งเช่นกัน

- ตอนที่คุณหญิงอายุได้ 2 ขวบ  เธอได้เดินทางไปเยี่ยมหม่อมย่าที่ฝรั่งเศส    ตอนนั้นแคทยาเริ่มป่วยด้วยโรคหอบหืด   จะมาหาหลานที่อังกฤษ อากาศชื้นก็ไม่เป็นใจ   ในที่สุดก็จากไปเมื่อคุณหญิงอายุได้ 4 ขวบ

- คุณหญิงเคยมีพี่เลี้ยงสาวสวยคนหนึ่ง เป็นลูกผู้ดีไทย อยู่กับเธอที่อังกฤษ  ต่อมาเธอผู้นั้นเดินทางมาประกวดนางสาวไทย  ได้ตำแหน่งนางสาวไทยและรองนางงามจักรวาลอันดับ 2 เธอชื่อจีรนันท์ เศวตนันทน์

- คุณหญิงนริศรา สมรสครั้งแรกกับมิสเตอร์อัลเลน เลวี่ มีบุตรชายชื่อฮิวโก หรือจุลจักร  
ครั้งที่สองกับคุณกอสวัสดิ์  สวัสดิ  มีบุตรชายชื่อภูวสวัสดิ์
บุตรชายทั้งสองใช้นามสกุลของเสด็จตา คือจักรพงษ์  แต่เนื่องจากบิดาไม่ใช่สายราชตระกูลโดยตรง  จึงไม่มีคำว่า ณ อยุธยาต่อท้ายนามสกุล "จักรพงษ์"

-คุณหญิงนริศราไปๆมาๆ ระหว่างอังกฤษและไทย  มีที่พำนักทั้งสองแห่ง    เธอได้รับการอบรมให้รู้จักวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีไทยอย่างดีเยี่ยม    พูดไทยชัด ใช้ราชาศัพท์คล่องแคล่ว    ส่วนภาษาอังกฤษก็พูดได้อย่างผู้ดีมีการศึกษาชาวอังกฤษ

-ไม่กี่ปีมานี้  คุณหญิงนริศราก็เคยนำรถแข่งอีกคันหนึ่งของพระองค์พีระฯมาโชว์ไว้ในไทย    ตอนนั้นจำได้ว่าบิิ๊กจิ๋ว พลเอกชวลิตเป็นนายกฯ ท่านก็ร่วมมือสนับสนุนอย่างดี    
คุณป้าของบิ๊กจิ๋ว คือหม่อมเล็ก ยงใจยุทธ เป็นหม่อมแม่ของพระองค์พีระ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ย. 03, 11:21
 ภาพที่เห็นนี้คือ วังจักรพงษ์
สมเด็จฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงสร้างขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2411-พ.ศ.2453 ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอังกฤษ ชื่อ เอ็ดเวิร์ด ฮีย์ลีย์ (Edward Heyly) เป็นอาคารใหญ่มีหอคอยสูง ตามแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นที่นิยมใน อังกฤษ ในยุคนั้น
อยู่ริมน้ำเจ้าพระยา  

วังนี้เคยเป็นที่อยู่ของหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส มาก่อนที่จะย้ายเข้าไปอยู่ในวังปารุสก์
เมื่อพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เสด็จกลับมายังประเทศไทย ก็ประทับอยู่ ณ วังนี้
ปัจจุบันเป็นของม.ร.ว. นริศรา  


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 18 พ.ย. 03, 14:08
 เมื่อคืนเข้ามาอ่านแต่ไม่มีโอกาสนั่งคุยด้วย  วันนี้ก็ออกไปทั้งวันเลย  เพิ่งจะมีเวลาแจมด้วยน่ะค่ะ  เห็นความเห็นของคุณ paganini ก็นึกว่าจะขอมาคุยต่อในประเด็นนั้นสักหน่อย  แต่มาเห็นความเห็นของคุณนิลกังขาแล้วชอบมากค่ะ  ตอบได้ตรงใจ  แต่ออกความเห็นได้นิ่มสลวยสวยเก๋กว่าที่ดิฉันซึ่งเป็นผู้หญิงแท้ๆจะสามารถมาตอบได้  ขอขอบคุณจากใจด้วยค่ะ  และก็นับว่า  เป็นโชคดีของคุณ paganini ไป ฮ่าๆๆ  ล้อเล่นน่ะค่ะ

ขอเพิ่มเติมอีกสักหน่อยนะคะ  นอกจากที่จะเห็นด้วยกับคุณ นกข.ในแง่สายตาของชาวยุโรปที่มีต่อเมืองไทยในสมัยนั้นแล้ว  ก็ยังมีอีกประเด็นที่ว่า  สิ่งที่ผู้หญิงจะเห็นเป็นประเด็นสำคัญประเด็นแรกที่จะเลือกคู่ครอง  ก็มิได้เหมือนกันไปหมดทุกคนไปหรอกค่ะ  ยิ่งในสังคมตะวันตก  แม้จะเป็นสมัยนานมาแล้ว  อย่างน้อยๆ  ก็ยังมีผู้หญิงที่ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยให้สามีหามาเลี้ยงเสมอไปหรอกมังคะ  แคทยาเอง ก็เป็นบุตรีเจ้าของที่ดิน  ซึ่งก็ไม่คิดว่าจะอัตคัตขัดสนจนขนาดต้องหาสามีมาเลี้ยง  ยิ่งดูจากความแกร่งของเธอแล้ว  เรื่องต้องตกยากดูจะไม่ใช่เรื่องที่เธอจะเดือดร้อนอะไรด้วยมากหนัก  หญิงชาวตะวันตกยังมีโอกาสทางสังคมมากมายกว่าหญิงเอเชียร่วมสมัย  ที่หากไม่หาสามี หรือตกเป็นหม้ายแล้ว  อนาคตถ้าไม่อดตายก็เหมือนตกนรกทั้งเป็น  มันก็ถูกสภาพแวดล้อมบังคับ  หรือไม่ก็เป็นผลตกทอดจากสภาพแวดล้อมเช่นนั้น  ที่ทำให้ผู้หญิงที่ขาดโอกาสทางสังคมที่จะพึ่งตัวเองได้  ต้องไปคิด "หวังพึ่ง" ผู้ชายน่ะค่ะ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 18 พ.ย. 03, 14:31
กลับมาคุยต่อค่ะ



ดิฉันได้มีโอกาสรู้จักใกล้ชิดกับแหม่มอายุมากๆมาหลายคน  ได้เรียนรู้อะไรมากมาย  เพราะความที่หลงไหลเรื่องชุด บ้านเล็ก มาแต่เด็ก  พอพบคนแก่แม่ย่าแม่ยาย  ก็ชอบไปซักถามความเป็นไปสมัยคุณย่ายังเด็ก  คุณย่าคุณยายเหล่านี้ก็ดีใจถ่ายทอดอะไรให้มาก  แต่ก็สังเกตอยู่อย่างหนึ่งว่า  ผู้หญิงฝรั่งแก่ๆนี่มักจะมีเรื่องกระทบกระทั่งกับลูกสาวหลานสาวมากอย่างไม่น่าเชื่อเลยค่ะ  จนมีสำนวนว่า  It's a mother-daughter relationship  ซึ่งไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบแม่กับลูกสาวแบบไทยๆ  กลับเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นทั้งรักทั้งชังปนกันไปแล้วแต่ว่า  ฝ่ายแม่จะบ็อสซี่จัดขนาดไหนค่ะ



แล้วไปนานๆก็ได้เห็นฤทธิ์แม่เฒ่าฝรั่งเยอะค่ะ  เท่าที่เจอ  ผู้หญิงฝรั่งจะเข้มแข็งต่อสู้ชีวิตได้ดีมาก  แต่แหม่มรุ่นย่ารุ่นยายที่โตมากับสังคมที่ยังมีความหัวโบราณอยู่มาก  ต้องยอมเก็บกดความทะเยอทะยานที่จะพัฒนาศักยภาพส่วนตัวเอาไว้  ต้องมาเลี้ยงลูกทำกับข้าวตามประเพณี  จนมาสักครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา  ผู้หญิงตะวันมีสิทธิมากขึ้น  ไปเรียนสูงๆได้  ไปทำงานนอกบ้านก็ได้เงินพึ่งตัวเองได้ไม่ต้องง้อสามี  สามีไม่ซื่อก็หย่ากันแล้วยืนด้วยลำแข้งตัวเองได้  ผู้หญิงฝรั่งรุ่นย่ารุ่นยาย  ที่ต้องเก็บความเจ็บแค้นยามสามีนอกใจ  กล้ำกลืนหน้าชื่นอกตรมอยู่กันไปนี่ มีมากอย่างไม่น่าเชื่อทีเดียวค่ะ  แต่พอมาเห็นผู้หญิงรุ่นลูกรุ่นหลาน  มีชะตาชีวิตพลิกผันจากหลังเท้ามาเป็นหน้ามือเข้า  ความน้อยเนื้อต่ำใจในวาสนาที่เก็บกดมาตลอด  ก็ปะทุขึ้นมา  โดยเฉพาะในคนที่อายุยืนมากๆ  โรคชรามาเยือน  ซึ่งไม่ได้ทำให้หลงๆลืมๆเท่านั้น  แต่มักจะเกิดความหวาดระแวง  มองคนในแง่ร้าย  ผู้หญิงฝรั่งอายุมากๆนี่  บทจะร้ายก็ร้ายจริงๆเลยค่ะ  แต่ส่วนมากเป็นเพราะความที่โรคชราย่างมา  ความสามารถที่จะเก็บงำความรู้สึกก็ลดน้อยลงน่ะค่ะ  ทำให้คุณย่าคุณยายบ้านเรานี่  เอามาเทียบกันแล้วยังกับนางฟ้าเลยค่ะ



ดิฉันคะเนว่า  แคทยา ซึ่งเป็นคนแข็งแกร่ง  และก็มีความหัวแข็งไม่น้อย(ตรงนี้คงทำให้กรมขุนฯทรงกริ้วโกรธกันมากปานนั้นนะคะ)  แต่ก็ต้องจำยอมเก็บกดอดทนกับสภาพที่ไม่เป็นที่ให้ความสุขนัก  นานไปหลายๆปีก็คงเครียดจัดได้มาก  การที่เป็นภรรยาที่คงจะค่อนข้างบ็อสซี่ของสามีใหม่  ก็คงจะชดเชยกับที่ต้องเก็บกด  "ยอมลง" ให้สามีเจ้า  และสภาพแวดล้อมของสามีที่ตนเองไม่มีส่วนกำหนดเลยแม้แต่น้อย  อ่านแล้วก็ถอนใจไปหลาย  แต่ก็ได้แง่คิดอะไรมามากเชียวค่ะ



และก็ไม่ทราบมาเลยค่ะว่า  นอกจากพระองค์จุลฯจะสิ้นไปตั้งแต่คุณหญิงนริศรายังเยาว์วัยแล้ว  หม่อมแม่ก็สิ้นไปในเวลาไม่นานเช่นกัน  ไม่ทราบตอนที่สิ้นหม่อมแม่  คุณหญิงฯท่านอายุได้เท่าไหร่แล้วคะ  ถ้ายังอายุน้อยอยู่  ไม่ทราบใครเป็นผู้ปกครองท่านคะ  เป็นที่น่าชื่นชมในความพยายามของพระองค์จุลฯ  ที่ทรงปลูกฝังให้คุณหญิงมีความเข้าใจวัฒนธรรมไทยอย่างลึกซึ้งได้ปานนี้  แต่ท่านคงต้องมีผู้ปกครองที่สายตากว้างไกลด้วยนะคะ  ถึงได้เจริญเติบใหญมีความคิดอันน่าชื่นชมเช่นนี้น่ะค่ะ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 18 พ.ย. 03, 14:35
 อ้อ ลืมถามไปอย่างนึงด้วยค่ะ  ไม่ทราบคุณเทาชมพูพอจะหาภาพของคุณหญิงนริศรามาให้ชมกันบ้างได้มั้ยคะ  อยากจะขอรบกวนสักหน่อยนะคะ  

นานมาแล้ว  ดิฉันแวะไปร้านหนังสือไทยในแอลเอ  ไปพลิกๆดูนิตยสารผู้หญิงเข้า  ฉบับไหนจำไม่ได้แล้วค่ะ  ในนั้นมีสัมภาษน์ คุณ ฮิวโก ด้วย  อ่านผ่านๆเห็นชื่อ ฮิวโก จักรพงษ์ ก็คิดว่า  ต้องเกี่ยวข้องเป็นลูกหลานพระองค์จุลฯแน่ๆ  เสียดายจริงๆไม่ได้ซื้อมาค่ะ  คุณฮิวโก ที่เห็นเท่าที่พอจะจำได้  ก็ดูไม่เป็นฝรั่งมากเกินไปนะคะ  คิดว่ายังพอดูออกบ้างว่ามีเชื้อสายเอเชียอยู่น่ะค่ะ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ย. 03, 14:37
 ขอบอกรายชื่อหนังสืออ้างอิง เผื่อไปหาอ่านค่ะ

Katya and The Prince of Siam  
ชีวิตเหมือนฝัน  เล่ม 1 ของคุณหญิงมณี สิริวรสาร
เจ้าชายดาราทอง ของ ม.ร.ว. มาลินี จักรพันธ์

ผู้ชาย 2 คนในชีวิตของแคทยา ดูแตกต่างกันสุดโต่งกันเลยก็ว่าได้
คนแรกเป็นเจ้าชาย เก่งกาจ  ฉลาดเฉลียว   ร่ำรวย   โรแมนติก  มีความรักที่แรงกล้าและความเข้มแข็งพอจะฝ่าฟันอุปสรรคทุกอย่างจนได้ตามเป้าหมาย
ทรงให้แคทยาได้ทุกอย่าง ยกเว้นหัวใจที่ซื่อตรงต่อผู้หญิงคนเดียว

ส่วนคนที่สองเป็นผู้ชายธรรมดาๆ  ไม่โรแมนติกเลย   ติดดิน ประหยัด ออดออม  ไม่สามารถจะวางตัวให้ใครเคารพนับถือได้   ออกจะเป็นช้างเท้าหลัง
แต่มีได้อย่างเดียวที่คนแรกไม่มี คือหัวใจที่ซื่อตรง

อ่านระหว่างบรรทัดก็รู้สึกว่า แคทยายังรักคนแรกมากกว่าคนที่สองอยู่ดี
ผู้หญิงอย่างเธอคงเหมาะกับผู้ชายที่มีสีสันมากกว่า "หิน" น่ะค่ะ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ย. 03, 14:52
 คุณจ้อ  ดิฉันเจอภาพเก่าๆของจุฬา เลยเอามารวมกันไว้ในกระทู้นี้ด้วย
นี่คือหน้าตาตึกอักษรศาสตร์ 1 เมื่อ พ.ศ. 2456 สมัยรัชกาลที่ 6  

 ดิฉันพยายามดู ว่าหน้าตึกที่หันมาทางนี้เขาถ่ายจากมุมไหน  ก็ยังไม่แน่ใจ

จะเป็นการถ่ายจากมุมตรงที่เป็นตึกวิศวะในปัจจุบันหรือเปล่าคะ
หรือว่าถ่ายจากด้านหน้าสมัยที่ยังไม่มีอาคารอักษรศาสตร์ 2 คะ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ย. 03, 15:09
 ม.ร.ว. นริศราเกิด 1956  พระองค์จุล ฯ สิ้นใน ค.ศ. 1964  เมื่อธิดาอายุได้ 8 ขวบ
หลังจากนั้นเธออยู่อังกฤษกับหม่อมแม่   หม่อมเอลิซาเบธถึงแก่กรรมด้วยมะเร็งเช่นกันใน ค.ศ. 1976  เมื่อคุณหญิงนริศราอายุได้ 20 ปีค่ะ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 18 พ.ย. 03, 15:09
 ท่านอาจารย์เทาชมพูครับผมได้ทำตามที่ท่านบัญชาแล้วนะ แหมพอ ความเห็นของ ปากานินี่มาแล้วนี่ตามมาเป็นขบวนเลย ภูมิใจครับ 5555  เรียกผมว่าปากานินี่ผู้โยนกระเบื้องล่อหยก ได้เลยนะครับ

อืม..คุณนิลฯและคุณพวงฯครับเรื่องพวกนี้เป็นแค่ความเห็นคงหาข้อยุติไม่ได้พวกเราก็ได้แต่เดาเท่านั้นไม่มีใครรู้ว่าสภาพของ Katja ในตอนนั้นเป็นอย่างไร แม้เป็นลูกเจ้าที่ดินแต่อาจมีปัญหากับครอบครัวจนต้องหนีไปไกลๆดีกว่า(ตรงนี้นี่จินตนาการล้วนๆนะครับ อิอิอิ....เผื่อว่าจะแต่งนิยาย)

ข้อที่คุณพวงร้อยว่าในสมัยนั้นหญิงยุโรปมีโอกาสมากกว่าหญิงเอเชียนี่ก็ไม่แน่นะครับ ยกตัวอย่างเช่นในวงการฟิสิกส์ในสมัยใกล้ๆกันนั้นเขากีดกันผู้หญิงเป็นให้เป็น lecturer ในมหาวิทยาลัยนะครับ(กรณีของ Emmy Noether) เพราะฉะนั้นผมก็ไม่แน่ใจที่ท่านพวงร้อยว่ามาเท่าไหร่
ถ้าจำไม่ผิดผู้หญิงอังกฤษมีสิทธิ์เลือกตั้งเมื่อไม่ถึงร้อยปีมานี่เอง
แย้งคุณนิลฯต่อนะ จริงๆไม่เต็มใจแย้งหรอก แต่เพื่อความแตกฉานนะผมว่าสมัยนั้นน่าจะเป็นหลังจากที่ ร.5 เสด็จประพาสรัสเซียแล้วเป็นไปได้ว่า Katja อาจจะเคยเห็นรึได้ข่าวการต้อนรับที่ยิ่งใหญ่สมพระราชบารมีมาก่อนฉะนั้นสยามประเทศในมโนคติของ Katja อาจจะไม่ใช่สวาซิแลนด์  ทิมบักตู มูตู้ อะไรก็ได้
จริงๆจุดที่ผมต้องการจะเสนอคือบางทีเรายกย่องใครคนใดคนหนึ่งจากความรู้สึกส่วนตัว จากคุณสมบัติร่วมกัน จากภูมิหลังของเรา จากการทาบตัวตนของเรา ลงไปยังบุคคลสาธารณะนั้นๆ โดยที่อาจจะหลงลืมข้อเท็จจริงไปผมเลยอยากหน่วงไว้แย้งให้อภิปรายกัน เพราะจริงๆแล้ว Katja จะเป็นหญิงแกร่ง ยิ่งใหญ่ใจกล้า น่ารัก ยังไงก็มิมีใครจะไปรู้
---ผมเป็นอ่านประวัติศาสตร์แบบหลงๆลืมๆนะ ใครเจอที่ผิดกรุณาแก้ให้ด้วยนะครับ----------

อ้อ อาจารย์เทาครับ คำถามเกี่ยวกับ ม.ร.ว. นริศรา น่ะ เป็นของผมนะครับ ไม่ใช่ของคุณทองรัก 5555

สงสัยว่าตอนที่ผมเห็นท่านในทีวีนี่คงเป็นตอนที่เอารถของ องค์พีระมาแข่งนั่นแหละครับ
สงสัยอีกครับคุณครู
1.ทำไมต้องอ่าน นะ-ริด-สา  ในเมื่อตั้งมาจาก กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  ซึ่งผมเข้าใจว่าอ่านว่า นะริดสะรานุววัดติวง
2.ถ้าอ่านแบบนี้จะต่างกับอ่านว่านะริดสะรายังไงครับ  ในแง่ความหมายหรือเหตุผลเบื้องหลัง


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 18 พ.ย. 03, 15:23
 จากความเห็นที่ 39  ผมเห็นด้วยว่าผู้หญิงที่ไหนก็ชอบผู้ชายที่มีสีสันทั้งนั้นแหละครับ ไม่งั้นเราจะไม่ได้ยินเวลาที่ผู้หญิงเขามักจะปฏิเสธชายหนุ่มว่า "คุณดีเกินไปสำหรับฉัน" หรอกครับ 5555

ขอถามท่านผู้หญิงทั้งหลายว่าให้เลือกจะเลือกแบบไหนครับ

ปล.1. ผมชอบภาพ ใน คคห 32 มากเลย  มองเห็นตึกอันสำคัญยิ่งด้วย 5555
2. ใค คคห ที่ 37 ของคุณพวงร้อย อืม น่าฟังมากครับแจกแจงได้ชัดเจนดีครับ แม่สามีกับลูกสะใภ้นี่เป็นปัญหาดึกดำบรรพ์ครับมีมาตั้งแต่สมัยพจมาน พินิจนันท์ สว่างวงศ์ เอ้ยไม่ใช่...
อย่างแม่ผมนะ แกยังไม่ทันมีลูกสะใภ้เลยแกก็บอกแล้วว่าจะระวังลูกสะใภ้ 555555


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ย. 03, 16:03
ตำแหน่งชอบลืม ยกให้ดิฉันดีกว่าค่ะคุณpaganini  เพราะจำคุณผิดเป็นคุณทองรักเสียนี่

ชื่อคุณหญิงนริศรา  ก็น่าจะอ่านว่า นะริดสะราตามพระนามเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรา   แต่ชื่อคนนี่ อนุโลมให้สะกดและออกเสียงได้เฉพาะตัวค่ะ

ชื่อคุณหญิงทำไมถึงเลือกออกเสียงเฉพาะว่า นะริสา  ดิฉันก็ยังค้นหาหลักฐานไม่พบ  แต่แน่ใจว่าออกเสียงแบบนี้  ในหนังสือ Katya and the Prince of Siam ก็เรียกเธอว่า Narisa
 อาจจะตั้งใจตั้งเป็นชื่อฝรั่งมาแต่แรกแล้วก็ได้  แล้วในเวอร์ชั่นภาษาไทย สะกดแบบพระนามสมเด็จกรมพระยาท่าน เพื่อให้ดูสละสลวยและเป็นสิริมงคลด้วย

ถ้ามีนางสาวนริศราอีกคนหนึ่ง คุณพ่อคุณแม่ตั้งชื่อนี้แล้วออกเสียงว่า นะริดสะรา  ก็ทำได้  ไม่มีกฎระเบียบบังคับ หรือจำแนกการสะกดให้แตกต่างกัน

การตีความบุคคล ก็คงแล้วแต่มุมมองละค่ะ   คนสำคัญในประวัติศาสตร์ก็ถูกมองกันมาหลายแง่มุม ไม่ชี้ขาด   อย่างจักรพรรดินโปเลียนจะถูกมองว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ก็ได้  หรือเป็นตัวร้ายก็ได้  แล้วแต่คุณยืนอยู่ในมุมอังกฤษหรือฝรั่งเศส
เพราะงั้นแคทยาอาจเป็นได้ทั้งผู้หญิงเข้มแข็งโรแมนติก   หรืออาจจะเป็นผู้หญิงเอาแต่ใจ  ชอบเอาชนะลูกเดียว ก็ไม่มีใครรู้
เราทุกคนต่างก็เจือปนด้วยอคติมากบ้างน้อยบ้าง เวลาตัดสินใคร     วิธีจะทำให้มันเบาบางลงก็คือเจือปนด้วยเหตุผลและหลักฐานพยานต่างๆ เพื่อเป็นกลางมากขึ้น

คำตอบสุดท้าย-ดิฉันเป็นคนไม่มีสีสัน เลยไม่ชอบผู้ชายมีสีสันเท่าไหร่
ถ้าเกิดเป็นลูกสาวเจ้าของที่ดินของรัสเซียยุคพระเจ้าซาร์นิโคลัส   อย่างมากก็คงแต่งกับนายสกี้อะไรสักคน  ลูกชายเจ้าของที่ดินใกล้ๆบ้านที่เห็นกันมาแต่เล็ก    เจ้าชงเจ้าชายไม่เอาละ กลัว
ชาตินั้นทั้งชาติคงไม่ได้เห็นสยามกะเขาหรอก   มีโอกาสเห็นปารีสก็คงตอนหอบของลี้ภัยออกนอกรัสเซียเท่านั้นละค่ะ

ตั้งแต่ได้คุณ paganini มาช่วยปั่นเรตติ้ง  กระทู้นี้พุ่งพรวดเชียว


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 18 พ.ย. 03, 18:10
 คุณเทาฯ ครับ ปี 2475 อย่าว่าแต่ผมเลยครับ คุณแม่ผมก็ยังไม่เกิดเลยครับ

รูปตึกอักษรนี่คิดว่าน่าจะถ่ายจากทางด้านวิศวะเหมือนกันครับแต่ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน เพราะไม่มีอะไรให้เป็นที่สังเกตุเลย

หนังสือเรื่อง เกิดวังปารุสก์ และ Katya and the Prince of Siam ยังพอจะหาซื้อได้ที่ไหนบ้างครับ อยากจะซื้อเก็บไว้
ถามที่ศูนย์หนังสือจุฬาบอกขายหมดไปตั้งแต่ปีมะโว้แล้วครับ ฮือๆๆ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ย. 03, 08:55
มีฉบับแปลภาษาไทย ชื่อ แคทยากับเจ้าฟ้าสยาม  เคยลงในนิตยสารพลอยแกมเพชร
จัดจำหน่ายโดยริเวอร์บุ๊ค
น่าจะยังมีขายอยู่นะคะ
ถ้าคุณจ้อสนใจ ลองโทรถามได้ที่  02 222 1290


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ย. 03, 09:05
 คุณพวงร้อย  ดิฉันนับผิดค่ะ  เข้าใจว่าหม่อมเอลิซาเบธถึงแก่กรรมหลังพระองค์จุลไม่กี่ปี   เอาเข้าจริงไปตรวจสอบแล้ว  หลังกันถึง 12 ปี
ตอนนั้น คุณหญิงนริศรา โตเป็นสาวอายุได้ 20 แล้ว เธอก็คงจะได้รับการอบรมเรื่องขนบธรรมเนียมไทยจากหม่อมแม่ด้วย     อีกอย่างหม่อมเอลิซาเบธก็เปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนา  คงจะรู้สึกใกล้ชิดกับประเทศไทยยิ่งขึ้นไปอีก

พูดถึงพระองค์จุล   ทรงใช้ความรู้จากเคมบริดจ์ มานิพนธ์และวิจารณ์หนังสือเป็นที่ยกย่องของคนไทยในสมัยนั้น   นอกจาก เกิดวังปารุสก์ ก็มี เจ้าชีวิต อีกด้วย
นอกจากนี้ทรงวิจารณ์นิยายสำคัญๆหลายเรื่องของไทย อย่างเช่น หญิงคนชั่วของก.สุรางคนางค์   เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่ทำให้ ก.สุรางคนางค์เกิดในวงวรรณกรรม    ไม่ใช่ บ้านทรายทอง
มีเรื่องราวทำให้ทรงหยุดการวิจารณ์ไป คือเมื่อทรงวิจารณ์พระนิพนธ์ของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์  จำไม่ได้ว่าละครแห่งชีวิตหรือผิวเหลืองผิวขาว  
ท่านอากาศดำเกิงไม่พอพระทัยข้อวิจารณ์บางอย่าง ที่พระองค์จุลชี้ให้เห็นว่าเป็นจุดอ่อนของเรื่อง ก็ทรงออกมาโต้ตอบ  ทำให้พระองค์จุลประหลาดพระทัยมาก
เพราะทรงเข้าใจว่าการวิจารณ์เป็นเรื่องปกติ   ใครเขียนหนังสือออกมา คนอ่านก็ติชมได้   ทำไมจะต้องกริ้ว
ท่านก็เลยหยุดวิจารณ์ไป  อาจจะด้วยความเกรงพระทัย ท่านอากาศดำเกิงผู้เป็นอนุชาแท้ๆของท่านหญิงชวลิตโอภาส  หรือจะเป็นเพราะเห็นว่าวัฒนธรรมการวิจารณ์ไม่เหมาะสมกับเมืองไทย  ก็ไม่ทราบแน่


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 19 พ.ย. 03, 10:29
 ขอบคุณคุณเทาชมพูที่ให้เกียรติครับ  แหมถ้ากระทู้นี้เรทติ้งดีก็เพราะคนตั้งกระทู้มากกว่าที่เขียนเรื่องสนุกๆน่าสนใจมาให้อ่านกัน
รูปใน คคห 40 น่ะ ผมว่าเป็นไปได้ว่าถ่ายจากฝั่งศิลปกรรมเหมือนกันเพราะผมว่าน่าจะเป็นด้านข้างตึกใช่มั้ยครับ และถ้ามันสมมาตรมองจากอีกด้านก็เป็นไปได้นะครับ
ต้องให้ใครที่อยู่แถวจุฬาแวะไปดูเทียบกันหน่อย
อ้อ ผมเคยอ่านจากหนังสือเกี่ยวกับท่านปรีดี สายราชสกุลจักรพงษ์นี้มีความสำคัญเพราะว่าครั้งหนึ่งเกือบจะได้สืบพระราชบัลลังก์เมือในหลวง ร.7 สละราชสมบัติ แต่เนื่องจาก การแต่งงานกับคนต่างชาติรึมีเชื้อสายต่างด้าวนี่แหละก็เลยต้องเปลี่ยนไปเป็นสายเดิมคือสายของพระบรมชนกเราก็เลยมีพระปิยะมหาราชอย่าง ร.9 ในปัจจุบัน


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ย. 03, 14:59
 เรื่องสืบสันตติวงศ์เป็นเรื่องที่อาจจะแสดงความเห็นกันได้อีกยาว
ในที่นี้ขอยกข้อความในกฎมณเฑียรบาลที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงตราขึ้นไว้ในพ.ศ. 2467 มาให้ดูก่อนค่ะ

" ลำดับขั้นเชื้อพระบรมราชวงศ์ ซึ่งจะควรสืบราชสันตติวงศ์นั้น ท่านว่าให้เลือกตามสายตรงก่อนเสมอ
ต่อไม่สามารถเลือกทางก็ตรงได้แล้ว จึงให้เลือกตามเกณฑ์ที่สนิทมากและน้อย"
   ลำดับที่ ๑ พระราชโอรสหรือพระราชนัดดา
   ลำดับที่ ๒ กรณีซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไร้พระราชโอรสและพระราชนัดดา แต่ทรงมีสมเด็จอนุชาที่ร่วมพระราชชนนี หรือพระราชโอรสของสมเด็จพระอนุชา
   ลำดับที่ ๓ กรณีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไร้พระราชโอรสและพระราชนัดดา กับไร้ทั้งสมเด็จพระอนุชาร่วมพระราชชนนี แต่ทรงมีสมเด็จพระเชษฐา หรือสมเด็จพระอนุชาต่างพระราชชนนี หรือพระโอรสของสมเด็จพระเชษฐาหรือพระอนุชา
   ลำดับที่ ๔ กรณีซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไร้พระราชโอรสและพระราชนัดดา กับทั้งไร้สมเด็จพระอนุชาร่วมพระราชชนนี และไร้สมเด็จพระเชษฐา หรือพระอนุชาต่างพระราชชนนี แต่ทรงมีพระเจ้าพี่ยาเธอหรือพระเจ้าน้องยาเธอ หรือพระโอรสของพระเจ้าพี่ยาเธอหรือพระเจ้าน้องยาเธอ
   ลำดับที่ ๕ กรณีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไร้พระราชโอรสและไร้พระราชนัดดา พระอนุชาร่วมพระราชชนนีและพระอนุชาต่างพระราชชนี พระเจ้าพี่ยาเธอ น้องยาเธอ แต่ทรงมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอหรือพระโอรส
   ดังกล่าวนี้คือลำดับพระองค์ ผู้มีสิทธิ์สืบราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล มาตรา ๙ แต่มีข้อบังคับว่าด้วยผู้ที่ต้องยกเว้นจากการสืบราชสมบัติไว้ในหมวด ๕ มาตรา ๑๑ ว่าดังนี้
   ๑. มีพระสัญญาวิปลาศ
   ๒. ต้องราชทัณฑ์ เพราะประพฤติผิดพระราชกำหนดกฎหมายในคดีมหันตโทษ
   ๓. ไม่สามารถทรงเป็นอัครพุทธศาสนูปถัมภก
   ๔. มีพระชายาเป็นนางต่างด้าว กล่าวคือนางที่มีสัญชาติเดิมเป็นชาวประเทศอื่น นอกจากชาวไทยโดยแท้
   ๕. เป็นผู้ที่ได้ถูกถอดถอนออกแล้ว จากตำแหน่งพระรัชทายาท ไม่ว่าการถูกถอดถอนจะได้เป็นไปในรัชกาลใด ๆ
   ๖. เป็นผู้ที่ได้ถูกประกาศยกเว้นออกเสีย จากลำดับสืบราชสันตติวงศ์

นอกจากนี้ ทรงมีพระบรมราชโองการลงวันที่ ๒ กันยายน ๒๔๘๖ ถึงเสนาบดีวัง เกี่ยวกับองค์รัชทายาท ที่จะสืบสัตติวงศ์ต่อจากพระองค์ท่าน (ขณะนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสุวัฒนาพระวรราชเทวี กำลังทรงพระครรภ์ ยังไม่แน่ว่าจะเป็นพระราชโอรสหรือพระราชธิดา)
พระบรมราชโองการมีความตอนหนึ่งว่า ดังนี้  
     "...ให้ข้ามหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัช ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณ์อินทราไชยนั้นเสียเถิด เพราะหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัชมีแม่ที่ไม่มีชาติสกุล เกรงว่าจะไม่เป็นที่เคารพแห่งพระบรมวงศานุวงศ์...

เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 6  พระอนุชาร่วมพระราชชนนี เหลือแต่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ประชาธิปกกรมขุนสุโขทัยธรรมราชาพระองค์เดียว ซึ่งเป็นพระอนุชาองค์สุดท้อง
มีหลานลุงสององค์ คือ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์  กับหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัช โอรสของกรมขุนเพชรบูรณ์อินทราไชย (ต่อมาเลื่อนขึ้นเป็นพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช)

น่าสังเกตว่า แม้พระองค์จุลและหม่อมเจ้าวรานนท์ อยู่ในฐานะ "หลานลุง" ของสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เท่ากัน
แต่โปรดให้ตัดหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัชออกไปจากลำดับการสืบสันตติวงศ์ เพียงองค์เดียว   ไม่มีการรวมพระองค์จุลว่าอยู่ในข่าย"ถูกตัดออก" ด้วย

ก็อาจจะมองได้ว่าทรงมีสิทธิ์ในการสืบสันตติวงศ์ด้วย ในสายตาของทูลกระหม่อมลุง  
การมีแม่เป็นนางต่างด้าว  ไม่อยู่ในข้อห้าม  ถือว่าห้ามแต่มีชายาเป็นนางต่างด้าวเท่านั้น   ถ้าถือว่าการมีแม่เป็นต่างด้าวอยู่ในข้อห้ามน่าจะบอกไว้ชัดแล้ว

ในข้อ 2   เจ้าฟ้าประชาธิปกฯ และพระองค์จุล อยู่ในคุณสมบัติตามข้อนี้ทั้งสองพระองค์
แต่อย่างไรก็ตาม   ถ้าถือตามข้อ 2 ว่าพระอนุชา อยู่ในลำดับมาก่อน  ราชสมบัติก็ย่อมตกอยู่กับสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก่อนพระองค์จุล


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ย. 03, 15:12
 ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯสละราชสมบัติ โดยไม่มีพระราชโอรส  รัฐบาลก็หยิบกฎเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง เพื่อจะดูว่าใครจะเป็นพระมหากษัตริย์
ถ้ายึดถือตามหลักเกณฑ์เดิม   สายสมเด็จพระพันปี  ก็ยังมีพระองค์จุลอยู่ในข่ายอีกองค์หนึ่ง   เป็น" หลานอา" ของสมเด็จพระปกเกล้าฯ

ส่วนข้อความต่อไปนี้  ดิฉันเรียบเรียงจากบทความของนายสุพจน์ ด่านตระกูล
ว่า
ในการประชุมคณะรัฐมนตรีระหว่างวันที่ ๒-๗ มีนาคม ๒๔๗๗  นายปรีดี พนมยงค์ ได้บันทึกไว้ในหนังสือ บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีความตอนหนึ่งว่าดังนี้
   "(๑) พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งเป็นพระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ที่ทรงเป็นรัชทายาทในรัชกาลที่ ๖ ครั้นแล้วจึงพิจารณาคำว่า "โดยนัย" แห่งกฎมณเฑียรบาล ๒๔๖๗ นั้น พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์จะต้องยกเว้นตามมาตรา ๑๑ (๔) แห่งกฎมณเฑียรบาลหรือไม่
เพราะมารดามีสัญชาติเดิมเป็นต่างประเทศ ซึ่งตามตัวยากโดยเคร่งครัดกล่าวไว้แต่เพียง ยกเว้นผู้สืบราชสัตติวงศ์ที่มีพระชายาเป็นคนต่างด้าว (ขณะนั้นพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ยังไม่มีพระชายาเป็นนางต่างด้าว)

รัฐมนตรีบางท่านเห็นว่าข้อยกเว้นนั้นใช้สำหรับรัชทายาทองค์อื่น แต่ไม่ใช่กรณีสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ซึ่งขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ สถาปนาเป็นรัชทายาทนั้น ก็ทรงมีพระชายาเป็นนางต่างด้าวอยู่แล้ว และทรงรับรองเป็นสะใภ้หลวงโดยถูกต้อง
แต่ส่วนมากของคณะรัฐมนตรีตีความคำว่า "โดยนัย" นั้น ย่อมนำมาใช้ในกรณีที่ ผู้ซึ่งจะสืบราชสัตติวงศ์ มีพระมารดาเป็นนางต่างด้าวด้วย"
   รัฐมนตรีส่วนข้างมากที่ตีความคำว่า "โดยนัย" ดังกล่าวนี้ มีนายปรีดี  ร่วมอยู่ด้วย และเป็นคนสำคัญในการอภิปรายชักจูง ให้รัฐมนตรีส่วนข้างมากมีความเห็นร่วม

   ที่ประชุมจึงได้พิจารณาถึงพระองค์อื่น ๆ ตามกฎเกณฑ์ของกฎมณเฑียรบาลที่ระบุไว้ว่า "...ต่อไม่สามารถเลือกทางสายตรงได้แล้ว จึงให้เลือกตามเกณฑ์ที่มีสนิทมากและน้อย"

   ในบรรดาพระองค์ที่สนิทมากและน้อยนี้มีอาทิ กรมพระนครสวรรค์ และ
พระโอรส พระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้ายุคล ตามการชี้นำของนายปรีดี  ที่เห็นสมควรสถาปนาพระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ คือ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ ๘ สือต่อจากพระปกเกล้าฯ อันเป็นการกลับคืนเข้าสู่สายเดิม คือสายสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหัสสยามมกุฎราชกุมาร

   การสถาปนาพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ นอกจากจะเป็นการกลับสู่สายเดิมโดยชอบธรรมแล้ว ยังเป็นไปตามพระดำริของพระปกเกล้าฯ อีกด้วย

บันทึกลับที่จดโดยเจ้าพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ว่าดังนี้
   "วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เวลา ๑๗.๑๕ น. โปรดเกล้าฯ ให้พระยามโนปกรณ์ฯ พระยาศรีสารฯ พระยาปรีชาชลยุทธ พระยาพหลฯกับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม มาเฝ้าฯ ที่วังสุโขทัย มีพระราชดำรัสว่า อยากจะสอบถามความบางข้อและบอกความจริงใจ ฯลฯ อีกอย่างหนี่ง อยากจะแนะนำเรื่องสืบสันตติวงศ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า และพระพุทธเจ้าหลวงได้เคยทรงพระราชดำริ ที่จะออกจากราชสมบัติ เมื่อทรงพระชราเช่นเดียวกัน ในส่วนพระองค์พระเนตรก็ไม่ปกติ คงทนงานไปได้ไม่นาน เมื่อการณ์ปกติแล้ว จึงอยากจะลาออกเสีย ทรงพระราชดำริเห็นว่า พระโอรสสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณ์ ก็ถูกข้ามมาแล้ว ผู้ที่จะสืบสันตติวงศ์ต่อไป ควรจะเป็นพระโอรสสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงสงขลานครินทร์ ฯลฯ"

ถ้าเป็นตามนี้จริง ก็แปลว่า พระองค์จุล ถูกข้ามไป ไม่ใช่จากกฎมณเฑียรบาล แต่โดยความไม่เห็นชอบของรัฐบาลหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: นนทิรา ที่ 19 พ.ย. 03, 22:06
 สวัสดีค่ะคุณเทาชมพู เพิ่งได้แวะเข้ามาเห็น ยังอ่านไม่หมดเลยค่ะ แต่มาลงชื่อทักทายคุณเทาชมพูก่อน แล้วจะค่อยตามอ่านจนครบทุกความเห็น

ตอนนี้ดิฉันกำลังอ่าน เจ้าชีวิต อยู่ค่ะ คงอีกนานพอดูกว่าจะจบ แต่พยายามติดตามอ่านพระนิพนธ์ในพระองค์จุลฯและเรื่องราวของราชสกุลจักรพงษ์เท่าที่มีให้อ่าน เพราะอ่าน เกิดวังปารุสก์ เมื่อตอนเด็กๆ ได้ เกิดวังปารุสก์ นี่ล่ะค่ะ จุดประกายเรื่อยมาก เจ้าชีวิต นี่เพิ่งได้มาน่ะค่ะ

เดี๋ยวจะต้องขอตัวออกไปธุระก่อน แล้วจะกลับมาโพสต์ภาพคุณหญิงนริศรา ให้พี่พวงร้อยชมนะคะ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 19 พ.ย. 03, 22:28
 ไม่ผิดหวังจริงๆครับที่ถามคุณเทาชมพู
พวกหนังสือ เกิดวังปารุสก์นี่ผมไม่เคยอ่านครับ แต่รู้สึกอยากอ่านแล้วสิไม่ใช่คลั่งไคล้เจ้าอะไรหรอกนะ แต่พอเราอ่านแล้วรู้สึกซึมซาบความเป็นไทย
ผมว่าความเป็นไทยของเรานี้ส่วนหนึ่งผูกพันแนบแน่นเกี่ยวกับเรื่องราวของเจ้านายทั้งหลาย


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 19 พ.ย. 03, 22:52
 ตามคำบอกเล่าของพระองค์จุลฯเอง  ท่านย้ำว่าไม่ทรงต้องการที่จะครองราชย์ด้วย  ใน เกิดวังปารุกส์  ก็ยังได้เล่าด้วยว่า  ร ๗ สั่งห้ามไว้อย่างเด็ดขาดไม่ให้พระองค์จุลฯคิดที่จะขึ้นครองราชย์  อันทำให้พระองค์จุลฯทรงน้อยพระทัยอยู่ไม่น้อย  

เคยอ่านประวัติของท่านปรีดี  จากไหนก็จำไม่ได้แล้ว  ก็จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า  ท่านมีความมุ่งมั่นที่จะให้ ร ๘ สืบราชสมบัติ  ก็แสดงว่า  ทั้งรัฐบาลและ ร ๗ ก็มีความประสงค์ต้องกันด้วยนะคะ

ขออภัยที่มาช้าค่ะ  หาเวลามานั่งหน้าคอมพ์ได้ยากมากๆเลยค่ะ  ขอบคุณน้องนนทิราล่วงหน้าไว้ด้วยนะคะ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 19 พ.ย. 03, 22:59
 คุณเทาชมพูคะ  มจ.อมรสมานลักษณ์ทรงเกี่ยวข้องอย่างไรกับสมเด็จฯของเราคะ  

คุณ paganini คะ ขออภัยค่ะ  คืดดิฉันก็พูดไม่ละเอียด  ไม่ได้คิดว่า  ผู้หญิงตะวันตกเมื่อร้อยปีก่อนมีสิทธิเท่าเทียมทุกประการกับผู้ชายหรอกค่ะ  เพียงแต่เปรียบเทียบว่า  ผู้หญิงตะวันตกยุคนั้น  ที่มีฐานะเลี้ยงตัวได้  ก็คงยากที่จะรับให้สามีมีเมียน้อยได้หรอกค่ะ  ในขณะที่หญิงชาวเอเชียร่วมสมัยนั้น  ความยอมรับทำใจได้คงมีมากกว่ากันน่ะค่ะ  คือในตอนนั้นกำลังพูดกันในเรื่องที่ว่า  ทำไมแคทยาถึงรับท่านหญิงชวลิตร่วมพระสวามีไม่ได้น่ะค่ะ  บริบทครอบคลุมเพียงเท่านั้นน่ะค่ะ

ต้องไปก่อนแล้วค่ะ  จะพยายามหาเวลาเข้ามาอ่านใหม่นะคะ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: นนทิรา ที่ 20 พ.ย. 03, 00:07

หม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ เป็นพระเชษฐาร่วมพระบิดาพระมารดาเดียวกันกับ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (พระนามเดิม ม.จ.นักขัตรมงคล กิติยากร) ซึ่งเป็นพระบิดาสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถของเราค่ะ

หม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ และ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ ทรงเป็นพระโอรส พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาท (พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) พระมารดาคือ หม่อมเจ้าหญิงอัปษรสมาน (พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุทัยวงศ์ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ต้นราชสกุล เทวกุล)

มีภาพคุณหญิงนริศนามาฝากพี่พวงร้อยด้วยค่ะ

ข้อมูลและภาพจากหนังสือ จุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์ พระบรมราชวงศ์แห่งประเทศไทย

หนังสือเล่มนี้หนามาก แต่ก็อุตส่าห์หอบมาจากเมืองไทยด้วยค่ะ ผู้ริเริ่มโครงการทำหนังสือเล่มนี้ ก็คือคุณหญิงนริศราเองน่ะค่ะ ก่อนที่เธอจะตั้งสำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คด้วยซ้ำ จัดพิมพ์ในประเทศไทยในนาม บริษัท พิษณุโลกการพิมพ์ จำกัด และจัดพิมพ์ในประเทศอังกฤษในนาม White Mouse Editions "หนูขาว" คาดว่าน่าจะเป็นสำนักพิมพ์ที่พระองค์จุลฯเคยทรงตั้งไว้จัดพิมพ์พระนิพนธ์ส่วนพระองค์นะคะ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 พ.ย. 03, 07:51
 ขอบคุณและมาทักทายคุณนนทิราด้วยพร้อมๆกันค่ะ  ดีจังมาช่วยตอบให้ ดิฉันจะได้รอดตัวไป ไม่ต้องเปิดตู้ค้นหาอีกนาน
หนังสือ เล่มนั้น  น่าเสียดายมาก มัวชักช้าเลยหมดเสียก่อนไม่ทันซื้อ  แล้วก็ไม่เห็นว่าจะพิมพ์อีก   จะไปหาตามร้านหนังสือเก่า  ราคาก็แพงมากเลยละค่ะ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: ทองรัก ที่ 20 พ.ย. 03, 09:01
 มาลงชื่ออ่านคะ
สวัสดีคุณนนทิราด้วยค่ะ
ขอบคุณสำหรับรูปของคุณหญิงนริศรานะคะ

ส่วนความเห็นค้านของคุณ paganini เรื่องที่หม่อมแคทยาตาม
เจ้าฟ้าจักรพงษ์ ฯ มาเพราะเห็นท่านเป็นเจ้าชายนั้น
สงสัยว่างๆ  ต้องไปเปิดกระทู้ใหม่ถกกันสักหน่อยกระมังคะ
ก็คุณบอกนี่ว่า ผู้หญิงทีไหนเค้าก็ตามกันทั้งนั้นแหละ
ระวังพวกสตรีศึกษามาอ่านเจอเข้า เขาจะประท้วงเอานะคะ อิอิ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 20 พ.ย. 03, 10:10
 ก็แหม ผมเป็นผู้ชายคนเดียวในกระทู้ช่วงนี้ก็ต้องสร้างสีสันให้ถกเถียงกันหน่อยสิครับ  5555
อย่าซีเรียสครับผมไม่ได้ดูหมิ่นเพศหญิงหรอกนะครับผู้หญิงที่เก่งกาจพึ่งตัวเองได้มีเยอะแยะ  ที่ผมบอกว่าผู้หญิงที่ไหนก็ตามทั้งนั้นมันเป็นวิธีพูดแบบภาษาไทยครับ ผมพูดในแง่ "แนวโน้ม" ครับ  มันบอกโดยนัยว่าไม่จำเป็นต้องเป็นผู้หญิงทุกคนหรอก แค่พูดให้มันดูมีอารมณ์ร่วม
ผมรู้ว่าท่านทั้งหลายคงไม่ค่อยชอบ  แต่ว่าถ้าบรรยากาศที่นี่มันหวานกันเกินไปก็ไม่น่าสนใจสิครับ 5555
คุณทองรักไปทราบความนัย รึความคิดของ Katya ได้ยังไงล่ะครับ ผมเองก็ไม่ทราบ ดังนั้นมันก็ตัดสินไม่ได้ใช่ไหมครับว่าตกลงเธอตามมาเพราะ
- คนรักเป็นเจ้าชาย
- รักกันเกินกว่าที่จะแยกจากกัน
- ฯลฯ
ดังนั้นผมจึงรู้สึกว่ามันไม่ค่อยจะปลอดภัยในแง่ของความถูกต้องที่จะไปบอกว่าเธอเป็นยังโง้นยังงี้ แหะๆๆๆๆ
ผมเองแม้แก่แต่หัวใจยังเด็กครับชอบเล่นชอบแหย่ไปเรื่อยแหละครับ ก็อย่าถือกัน
คุณพวงร้อย  รับทราบครับ ผมเห็นด้วยเลยที่คุณพูดมา
อยากถามคุณพวงร้อยหรือคุณเทาชมพูด้วยนะครับว่าทำไม ในหลวง ร.7 ถึงมีรับสั่งไม่ให้องค์จุลฯคิดที่จะเป็นกษัตริย์ เพราะมีเชื้อต่างด้าวเหรอครับ (คิดว่าน่าจะเป็นไปได้มากที่สุด)

อ้อ มีคุณเทาชมพูตอบผมคนเดียวเองใน คคห.
เรื่องชอบผู้ชายที่มีสีสันแต่เจ้าชู้ หรือผู้ชายที่เรียบง่ายไร้สีสันแต่ภักดี  ท่านอื่นคิดว่าไงครับ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 พ.ย. 03, 13:18
 ดิฉันก็ไม่ทราบเหมือนกันค่ะว่าทำไมสมเด็จพระปกเกล้าฯ ถึงเห็นว่าควรข้ามพระองค์จุลไป
พูดถึงคุณสมบัติอื่นๆท่านก็มีครบ   เฉลียวฉลาด  เรียนเก่ง  ความประพฤติไม่เคยได้ยินว่าเสียหาย   ถ้าหากว่าคุณสมบัติเหล่านี้ไปอยู่ในตัวเจ้านายองค์อื่น ก็น่าจะเป็นที่ชื่นชมกันมาก
ถ้าจะเดาก็เหลือข้อเดียวคือเรื่องสายเลือดต่างชาติ  

ดิฉันยังสะกิดใจอยู่นิดหน่อยในอีกเรื่อง  ถ้าย้อนไปดูกฎการสืบสันตติวงศ์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงตราขึ้น
บุคคลที่อยู่ในข่ายต้องห้าม ข้อ 4 มีว่า

"มีพระชายาเป็นนางต่างด้าว กล่าวคือนางที่มีสัญชาติเดิมเป็นชาวประเทศอื่น นอกจากชาวไทยโดยแท้ "

ข้อห้ามข้อนี้   ดิฉันมองไปที่ว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงคำนึงถึงจุดประสงค์อะไร  
ถ้าหากว่าไม่ต้องการชาวต่างชาติเข้ามาใกล้ชิดราชบัลลังก์  เพราะเหตุผลทางความมั่นคงหรืออะไรก็ตาม
ก็ทรงครอบคลุมว่า "มีชายาหรือมารดาเป็นนางต่างด้าว"  ไม่ดีกว่าหรือ

แต่นี่ทรงระบุแค่ "มีพระชายาเป็นนางต่างด้าว"  
เอ  แล้วถ้าไม่มีชายาเป็นนางต่างด้าวแต่มีหม่อมแม่เป็นต่างด้าว  ตัวอย่างก็มีให้พระเจ้าอยู่หัวเห็นอยู่โต้งๆ ใกล้ราชบัลลังก์ ทำไมไม่ระบุไว้ว่าอยู่ในข่ายต้องห้าม ทั้งที่ชัดเจนกว่าเป็นกอง
คำตอบของดิฉันคือพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6  มิได้ทรงเห็นว่าพระองค์จุลอยู่ในฐานะต้องห้าม     ไม่งั้นก็คงตราเอาไว้ชัดเจนแล้ว    

การที่มีพระบรมราชโองการให้ข้ามหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัช ผู้มีหม่อมแม่เป็นหญิงไทยสามัญชน  ก็แสดงว่าทรงคำนึงถึงลำดับผู้สืบราชสันตติวงศ์เผื่อเอาไว้อย่างถี่ถ้วน ว่าใครอยู่ในเกณฑ์ ใครไม่อยู่
ถ้าหากว่าพูดตามลำดับแล้ว    พระองค์จุลก็ทรงอยู่ในลำดับก่อนหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัช  เพราะว่าพระชนกของพระองค์จุลเป็นพระเชษฐาของพระชนกของหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัช
ถ้าพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าพระองค์จุลไม่อยู่ในเกณฑ์   ก็คงจะคำนึงถึงและห้ามเสียก่อนจะมาถึงหม่อมเจ้าวรานนท์
ถ้าทรงเห็นว่าหม่อมแม่ของหม่อมเจ้าวรานนท์ฯเป็นสามัญชน จะไม่เป็นที่ยอมรับของพระบรมวงศานุวงศ์   งั้นหม่อมแม่ที่เป็นชาวรัสเซีย ก็เป็นที่ยอมรับได้   ไม่งั้นคงทรงบอกไว้แล้วว่า หม่อมแม่ที่เป็นสามัญชน(ไม่ว่าไทยหรือชาติไหน) ไม่เป็นที่ยอมรับ

ข้อนี้แหละที่เป็นที่ถกเถียงกันในรัฐบาล    หลายคนก็คงจะมองตรงกันอย่างที่ดิฉันมอง  ว่าพระองค์จุลไม่ได้อยู่ในข่ายต้องห้าม
แต่ผู้ใหญ่หลายคน รวมทั้งปรีดี พนมยงค์  ไปอ้างคำว่า "โดยนัย"  คือ มีชายาเป็นต่างด้าวก็รวมความถึงมีแม่เป็นต่างด้าวด้วย
บวกกับการอ้างความเห็นของสมเด็จพระปกเกล้าฯ  อีกด้วย   รัฐบาลจึงตกลงใจ หันไปทางสายสมเด็จพระพันวัสสา
ทำให้เราได้มีพระมหากษัตริย์ที่ประเสริฐสุดในโลก อย่างที่ทูตานุทูตถวายพระสมัญญาว่า  King of Kings มาจนทุกวันนี้

ถ้าหากว่ามีใครถามถึงความสัมพันธ์ของสมเด็จพระปกเกล้าฯ กับพระองค์จุล ว่าราบรื่นกันแค่ไหน
ดิฉันก็มองไม่เห็นความขัดแย้งหนักๆ อะไร    ระหว่างประทับอยู่ที่อังกฤษหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
แต่มีเรื่องเล็กๆเรื่องหนึ่ง จาก "เจ้าดาราทอง" คือพระปกเกล้าฯไม่พอพระทัยที่พระองค์พีระ ผู้ที่ทรงอุปถัมภ์อยู่ ขอย้ายไปอยู่ในอุปถัมภ์ของพระองค์จุล
แต่ก็ทรงยินยอม  ต่อมาก็ทรงได้พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯมาแทน  เป็นที่รักและเมตตาดังพระราชโอรสแท้ๆ
หม่อมมณี  ได้พูดไว้ว่ารัฐบาลเองก็มองๆอยู่เหมือนกันว่าพระองค์เจ้าจิรศักดิ์จะมีสิทธิ์ในการสืบราชบัลลังก์ได้หรือไม่   จึงตัดไฟเสียแต่ต้นลมด้วยการยืนยันให้พระองค์เจ้าจีรศักดิ์ใช้นามสกุล " ภาณุพันธ์"   ไม่ยอมให้ใช้ ศักดิเดชน์  เพื่อตัดปัญหาในการเป็นทายาทของพระปกเกล้าฯ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 20 พ.ย. 03, 21:59
 ผมว่าที่บัญญัติไว้นี่ผมว่าท่านอาจจะลืมมั้งครับ เพราะสมัยนั้นราชนิกูลที่เป็นลูกครึ่งคงมีเพียงองค์เดียว ท่ามกลาง หลายสิบถึง 100 องค์  แต่ถ้ามาถึงลำดับของพระองค์จุล แล้วผมว่าท่านคงทรงไม่เห็นชอบแน่ๆ ตามความคิดผมนะ เพราะเขาต้องระวังเกี่ยวกับเชื้อสายมากๆ ใช่ไหมครับ
แต่ผมเห็นด้วยว่ถ้าคิดตามคติดั้งเดิมแบบไทยๆ ในหลวง ร.9 เราทรงมีบุญญาธิการอันหาที่เปรียบไม่ได้ เพราะมีใครตั้งหลายองค์อยู่ก่อนที่จะถึงท่านแต่สุดท้ายมาถึงท่านจนได้ (ผมใช้คำไม่เป็นครับ ขออภัยด้วย)

แล้วองค์จิรศักดิ์นี่เป็นมายังไงครับ  ตอนนี้ก็ต้องเล่านะครับๆ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 21 พ.ย. 03, 02:38
ขอบคุณน้องนนทิรามากค่ะ  ที่ช่วยค้นมาให้  มีหนังสืออีกหลายเล่มที่ยังไม่มี  ไปค้นในอเมซอนหาหนังสือเรื่อง แคทยา ของคุณหญิงนริศรา  แต่ก็ไม่มีขายแล้วค่ะ  อย่าว่าแต่หนังสือภาษาไทยเลย  ไม่ทราบจะไปหาได้ที่ไหนค่ะ ฮือๆๆ

ดูเหมือนว่า (ไม่แน่ใจเพราะรูปที่เคยเห็นไม่ค่อยชัด)  คุณหญิงมีส่วนคล้ายบิดาท่านมากนะคะ  แต่วงหน้าได้ทางมารดาอยู่สักหน่อย

สำหรับเรื่อง ทำไม ร ๗ ไม่ต้องการให้พระองค์จุลฯสืบราชสมบัติ  คิดว่า  พระองค์ท่านไม่ทรงโปรดพระองค์จุลฯมาแต่แรก  (แม้จะรักอย่างหลาน  แต่ความรังเกียจก็ยังทรงมีอยู่)  ทรงขัดเคืองพระทัยในพระเชษฐาที่เอาหญิงต่างชาติมาเป็นชายา  คิดว่า  พระองค์ท่านทรงมองว่า  พระเชษฐา คือกรมขุนพิษณุโลก  เอาแต่พระทัยทำให้พระราชบิดาและสมเด็จพระมารดาต้องขุ่นเคืองพระทัย  ร ๗ ทรงมีวินัย สมถะ และทรงมีความเสียสละต่อส่วนรวมอย่างสูง  เลยประเมินเอาว่า  ทรงไม่พอพระทัยกับการที่ใครจะทำอะไรตามแต่ใจตนเองดังที่พระเชษฐาทรงกระทำ  

จุดนี้  พระองค์จุลฯทรงบรรยายว่า  พระบิดาทรงบอกท่านไว้ว่า  ในด้านหน้าที่  หากกระทำหน้าที่การงานได้ด้วยความรับผิดชอบอย่างดีไม่มีใครตำหนิได้แล้ว  ชีวิตส่วนตัวจะทำอะไร หากไม่เป็นที่เดือดร้อนของใคร  ก็ทรงมีสิทธิที่จะทำได้  ดูเหมือนว่า  ทรงมีความคิดไปทางรักษาสิทธิส่วนบุคคลอย่างตะวันตกไม่น้อยทีเดียว  แต่ ร ๗ คงไม่ทรงเห็นด้วย  แต่ความที่เป็นพระอนุชา  จึงมิได้แสดงความเห็นอะไร  และทรงเก็บงำความรู้สึกมาตลอด  แต่กับหลานนั่นก็อีกอย่าง  ยิ่งเป็นหลานที่อยู่ใต้ปกครองแล้ว  คิดว่า  ในความรู้สึกส่วนพระองค์  คงจะทรงมองว่า  คนที่มีสายเลือดไม่บริสุทธิ์อย่างพระองค์จุลฯ  ไม่ควรจะขึ้นครองราชย์ให้มีปัญหาตามหลังมาได้  เลยขอคัดลอกลายพระหัตถ์ที่ ร ๗ ทรงพระราชทานพระองค์จุลฯ เป็นภาษาอังกฤษ  และพระองค์จุลฯทรงแปลไว้ดังนี้  (จากเกิดวังปารุสก์  บทที่ ๑๓ หลังจากกลับบ้านครั้งแรก)

"แกอาจจะอยากทราบว่าความรู้สึกของฉันที่มีต่อแกเป็นอย่างไร  ฉันบอกแกได้ทันทีว่า  ความรู้สึกของฉันต่อแกในฐานญาติในฐานเป็นอา  ย่อมมีแต่ความรัก  และฉันจะพยายามทุกวิถีทางที่จะให้แกได้รับความเจริญ  แต่ยังมีความรู้สึกอีกด้านหนึ่ง  คือความรู้สึกของฉันที่มีต่อแกในฐานที่ฉันเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  และแกเป็นพระราชวงศ์  ฉันจะพูดกับแกตรงๆ  และหวังว่าแกจะพยายามเข้าใจความคิดของฉัน  ฉันรู้สึกสะอิดสะเอียนอย่างยิ่งที่ต้องเอามาพูด  แต่เป็นการจำเป็นและแกก็รู้ตัวอยู่ดี  คือแกเป็นครึ่งชาติ  และเพราะเหตุนั้นจึงถูกยกเว้นจากการสืบราชสมบัติ  

(ในต้นฉบับข้อความติดต่อกันไป  แต่ดิฉันขอยกมาขึ้นบรรทัดใหม่เพื่อให้อ่านง่ายขึ้นค่ะ - พวงร้อย)

คนบางคนเขาว่า  การถือเลือดต่างชาติกันนั้นเป็นของเหลวไม่เป็นสาระ  แต่ที่จริงความรู้สึกมันก็ยังมีอยู่  ฉันจึงต้องบอกแกว่า  ฉันเห็นด้วยสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการที่แกถูกยกเว้น  จนถึงกับมีคนเขารู้กันอยู่แล้วว่า  ฉันเคยพูดดย่างเปิดเผยว่า  ถ้าแกพยายามที่จะคบคิดขึ้นบัลลังก์ไทย  ฉันจะยิงแกด้วยมือของฉันเอง  เอาสิ  ฉันขอบอกย้ำแก่ตัวแกเอง  เพราะฉันเห็นว่า (การคบคิดกระทำเช่นนั้น - จ.จ.)  จะเป็นของที่ทนไม่ได้  ฉันรู้ดีว่าแกไม่เคยทำผิดอะไร  มันเป็นเรื่องความผิดของพ่อมาตกแก่ลูก  พ่อแกทำความผิดอย่างใหญ่หลวง  และฉันมีความอับอายที่สุด  แกอาจจะว่าฉันยกย่องพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์อื่นๆ  อย่างดิบดีกว่าแก  ฉันรับว่า  ฉันทำเช่นนั้นเพราะแกยกเว้นจากการสืบราชสมบัติแลฉันจะทำอย่างเดียวกันกับ...ฉันไม่ต้องการให้แกได้เข้าเฝ้าพระเจ้ายอร์ช(แห่งอังกฤษ - จ.จ.)  เพราะแกไม่อยู่ในขอบเขตสืบสันตติวงศ์  ฐานะของแกในเมืองไทยคือเป็นเจ้านายและเป็นหลานแท้ๆของฉัน  แต่ต้องถูกยกเว้นจากได้ขึ้นราชบัลลังก์โดยไม่มีปัญหา  เดี๋ยวนี้เราต่างคนต่างรู้ใจกันดีแล้ว  ถ้าแกกลืนถ้อยคำของฉันได้ก็จะดีไป

ฉันเองเห็นว่า  พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ก่อน (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว - จ.จ.)  ท่านทำผิดในการที่ทรงตั้งแกเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ  เพราะท่านได้ตั้งพระทัยยกเว้นแกมาแต่แรก  การเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอมีแต่จะทำให้ฐานะของแกครึ่งๆกลางๆ แต่เดี๋ยวนี้แก้ไขไม่ได้เสียแล้ว"

(และก็ยังมีตัวอย่างพระราชหัตถเลขา  แสดงความกังวลพระทัยว่า  พระองค์จุลฯอาจจะคิดมักใหญ่ใฝ่สูงต้องการเป็นรัชทายาทอีก  จนถึงกับทรงอักษรมา "ปราม" อีก)


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 21 พ.ย. 03, 03:05
พระองค์จุลได้รับพระราชหัตถเลขาฉบับนี้ระหว่างปี ๒๔๗๒-๗๓  ทรงมีอายุราวๆ ๒๒-๒๓ พรรษา  แม้จะทรงยืนยันย้ำแล้วย้ำอีกว่า  พระราชหัตถเลขาฉบับนี้  มิได้ทำให้ทรงน้อยพระทัยต่อทูลกระหม่อมอา(ร๗)แต่ประการใด  แต่ตามความรู้สึกของดิฉันเองแล้ว  ขนาดมาอ่านซ้ำอีกไม่ทราบเป็นรอบที่เท่าไรก็ยังรู้สึกกระเทือนใจไม่น้อย  สำหรับพระองค์ท่านเอง  หากได้ทรงอ่าน  ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่สะเทือนใจเป็นอย่างยิ่ง  ท่านทรงบอกว่ามิได้น้อยพระทัยต่อทูลกระหม่อมอา  แต่ก็มิได้ทรงเอ่ยถึงว่า  จะมิทรงน้อยพระทัยในโชคชะตาบันดาลให้มารับชะตาชีวิตเช่นนี้  ดิฉันเอาความรู้สึกของตัวเองล้วนๆมาวัด  หากอยู่ในที่นั่งอย่างนั้น  ก็คงโศกเศร้าเสียใจไม่น้อยแหละค่ะ

ส่วนความที่มีเลือดต่างชาติ  เจ้านายพระราชวงศ์จำนวนไม่น้อย  ก็มีสายเลือดต่างชาติเจือปนอยู่  เช่น จีน ลาว ฯลฯ  แต่ก็มิเคยเป็นอุปสรรคขวางทางชีวิตและความก้าวหน้าแต่ประการใด  ด้วยสาเหตว่า  สายเลือดชาวเอเชียต่างชาติเหล่านั้น  เมื่อผสมกันแล้ว  ก็ดูไม่ออกแยกไม่ได้กับความเป็นไทย  จึงกลมกลืนกันไป  และได้พิสูจน์มามากมายแล้วว่า  สายโลหิตมิได้ทำให้ความจงรักภักดีต่อชาติต่อพระมหากษัตริย์ด้อยลงไปแต่ประการใด  

แต่เราพูดถึงโลกทัศน์ของคนเมื่อเจ็ดแปดสิบปีก่อน  ย่อมเอาสิ่งที่คนสมัยปัจจุบันไม่ถือเป็นเรื่องใหญ่  ไปเทียบกันไม่ได้  ดิฉันเห็นว่า  ถึงแม้จะมิได้มีการกล่าวกันออกมาตรงๆ  พระองค์จุลฯก็คงไม่มีโอกาสได้ขึ้นครองราชย์แม้แต่น้อย  แต่ที่คนข้องใจสงสัย  ก็เพราะมิได้มีการเอ่ยถึงสาเหตุกันออกไปตรงๆ  มีแต่พูดกันอย่างกำกวม  แต่ความรังเกียจเลือดต่างชาติอย่างนี้  ในสมัยที่เรายอมรับความคิดตะวันตกมาบ้างแล้ว  ก็คงเป็นสิ่งที่ไม่สมควรกล่าวออกไป  คือในทางเหตผลก็รู้ว่ามันเป็นเหตุผลที่ไร้สาระ  แต่ในทางอารมณ์ก็ยังรู้สึกรุนแรงต่อกัน  ความขัดแย้งทางใจเป็นสิ่งที่ไม่อาจเปิดเผยได้  เพราะเกรงว่า  คนจะดูถูกเอา  นี่เป็นสิ่งที่ดิฉันตั้งสมมติฐานเอาเท่านั้นนะคะ  แต่จากพระราชหัตถเลขาก็ชัดอยู่แล้ว

ความขัดแย้งระหว่างเหตุผล กับความรู้สึก  จนไม่อาจเปิดเผยต่อที่สาธารณะได้  ก็มีกันอยู่ทั้งนั้นแหละค่ะ  ยกตัวอย่างฝรั่งอเมริกัน  ที่ยอมรับสิทธิเสมอภาคของคนผิวดำ  ยอมเรียนร่วมกัน ทำงานร่วมกัน ฯลฯ  แต่ในครอบครัวฝรั่งผิวขาวแล้ว  โดยเฉพาะครอบครัวที่มีฐานะ  หากลูกสาวไปมีแฟนเป็นคนผิวดำ  พ่อแม่ก็ยังไม่สนับสนุน  แหม่มเพื่อนสนิทของดิฉันคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า  ในสมัย ค.ศ. ๑๙๗๐ ตอนปลายๆ  ซึ่งเป็นยุควัฒนธรรมฮิปปี้  ความคิดยอมรับสิทธิมนุษยชน ฯลฯ กำลังเบ่งบานสุดขีด  พ่อแม่ของเพื่อนคนนี้ชอบอวดว่า  ตัวเองเป็น bleeding heart liberal พ่อแม่เค้าเคยอยู่นิวยอร์คก็เข้าพวกโบฮีเมียน  ซึ่งเป็นพวกหัวเสรีก่อนหน้ายุคฮิปปี้  แต่วันหนึ่งเพื่อนดิฉันพาเพื่อนชายผิวดำมาที่บ้านให้พ่อแม่รู้จัก  ก็เพียงแต่คบกันเป็นเพื่อน  ยังไม่ได้คิดจะเป็นแฟนกัน  เพียงแต่จะไปงานปาร์ตี้ด้วยกันเท่านั้น  พอพ่อแม่ของเค้าเห็นก็ช็อค  พ่อเค้าเป็นเอาขนาดที่ว่า  โกรธจนไม่ยอมพูดกับเพื่อนของดิฉันเป็นเดือนทีเดียว  พฤติกรรมจากความรู้สึกล้วนๆ  ที่ขัดกันกับเหตุผล-ระบบคิดที่ตัวเองรับมาแล้วเชื่อมาแล้วแบบนี้  เค้าไม่ค่อยเอามาประกาศกัน  ถ้าเพื่อนไม่บอกดิฉันก็คงไม่มีนึกออกว่า  เค้ายังรังเกียจรับไม่ได้กับการที่จะมีเขยหรือสะใภ้ผิวดำได้

และก็มีคนรู้จักบางคนที่แต่งงานข้ามผิว  คนก็ยังตั้งข้อสังเกต  แต่ก็เพียงแต่ซุบซิบกันข้างหลังเท่านั้น  ไม่มีใครกล้าเปิดเผยยอมรับกันตรงๆว่ายังตะขิดตะขวงใจอยู่  เพราะประวัติการแบ่งผิวอันยาวนาน  ก็สร้างรอยประทับที่ยากจะลบเลือนให้ใจคนผกผันตามได้ง่ายๆ

เรื่องของพระองค์จุลฯกับการสืบราชสันตติวงศ์ปลายรัชกาลที่ ๗  ก็เป็นสิ่งสะท้อนสภาพรอยต่อทางวัฒนธรรมสมัยไทยเราเริ่มรับความคิดตะวันตกมา  แต่ก็ยังไม่ราบเรียบสนิทดีนักนะคะ  ถ้าเรามองกันที่วิวัฒนาการทางพฤติกรรมของสังคมใดสังคมหนึ่ง

มาสมัยนี้คงคิดกันยากนะคะว่า  ความรังเกียจที่พระองค์จุลฯมีเลือดฝรั่ง  จะเป็นสิ่งสำคัญจนต้องมีการกระทำที่ดิฉันไม่ทราบจะเรียกภาษาไทยอย่างไรให้ตรงกัน  แต่เป็นแบบ bend over backward ที่จะสร้างเหตุผลรับรองสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคนั้นนะค่ะ  ที่ว่าคนสมัยนี้นึกไม่ถึง  เพราะลูกครึ่งไทย-ฝรั่งผิวขาวเป็นที่นิยมกันขนาดหนัก  จนดิฉันเองก็ยังนึกไม่ถึงเหมือนกันค่ะ  หลายปีก่อนกลับไปเมืองไทยเห็นละครทีวีต่างก็มีแต่ลูกครึ่งกันทั้งนั้น  มาถึงปัจจุบันนี้  ก็ดูจะยังเป็นกันมากอยู่นะคะ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 21 พ.ย. 03, 09:13
 ขอบคุณพี่พวงร้อยที่อุตส่าห์มาพิมพ์ให้อ่านตั้งยาวดีมากๆเลย  โหผมก็ตะลึงเหมือนกันที่ในหลวง ร.7 ทรงพระราชดำริแบบนั้น น่าสงสารพระองค์จุล ท่านคงโดนกดดันมาก  เห็นทีต้องไปยืมหนังสือเกิดวังปารุสก์มาอ่านซะแล้ว

ผมว่านะในเรือนไทยนี่หลายๆกระทู้มีค่าในตัวของมันเอง น่าจะมีใครสักคนดัดแปลงให้กระชับแล้วคงจะเป็นหนังสือได้เลยล่ะครับ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ย. 03, 10:57
 อ่านแล้วอึ้ง   hurt แทนพระองค์จุลสุดๆเลยค่ะ   ขอบคุณคุณพวงร้อยมากที่อุตส่าห์นั่งพิมพ์ข้อความยาวๆมาให้อ่านกัน    

Racial discrimination จริงๆนะคะ  ไม่แปลกว่าทำไมพระองค์จุลถึงเลือกที่จะอยู่อังกฤษมากกว่า

เรื่องพระองค์จิรศักดิ์ เอ่ยเอาไว้นิดหน่อยในกระทู้เจ้าดาราทองค่ะ แต่จะมาตั้งกระทู้ใหม่ให้นะคะ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 21 พ.ย. 03, 14:15
 ผมขอไม่เห็นด้วยกับครูเทาชมพูนิดหนึ่งว่า มันไม่ถึงขนาดแบ่งแยกสีผิวหรอกนะครับ ผมว่าท่านคงไม่รังเกียจถ้าเป็นสามัญชน แต่นี่เป็นกษัตริย์ที่มีการสืบทอดกันมาเป็นร้อยปี ความเป็นชาติคงมีอยู่เยอะ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ย. 03, 19:36
 ก็กลับไปคิดย้อนทบทวนเหมือนกันค่ะว่าถึงขั้น racial discrimination  ไหม
คือมีกฎหมายออกมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ห้ามหญิงไทยไปเป็นภรรยาฝรั่ง  และถ้าจำไม่ผิดมีชาติอื่นๆด้วย ยกเว้นจีน ไม่อยู่ในข่าย
แต่ชายไทยไปมีเมียแหม่มหรือไม่  ไม่ได้ห้ามเอาไว้  อาจเป็นเพราะผู้หญิงแหม่มโสดๆหาไม่ได้ในสยามสมัยนั้น เลยไม่ต้องห้าม เพราะไม่มี
โสเภณีฝรั่ง ก็รับแต่พวกฝรั่งด้วยกัน

ในเมื่อคนไทยก็เต็มใจจะเรียนวิชาการจากฝรั่ง สร้างบ้านเรือนแบบฝรั่ง  จะกินอยู่ก็เปลี่ยนมาใช้ช้อนส้อม ใส่เสื้อนุ่งกางเกงแบบฝรั่ง  เห็นโก้ด้วยซ้ำที่ทำอะไรเกี่ยวกับฝรั่ง
แต่พอมาถึงแต่งงานกับฝรั่งเท่านั้น    รังเกียจขึ้นมาเลย
ดิฉันก็เลยสงสัยว่าจะคล้ายๆกับแบบที่คุณพวงร้อยเล่า   คือความรู้สึกที่ฝังลึกก็คือรังเกียจสีผิวนั่นแหละ  ถ้าเป็นผิวเหลืองด้วยกันอย่างจีน ไม่เห็นจะรังเกียจอะไร

ดิฉันยังสงสัยต่อไปเสียด้วยว่า จริงหรือที่สมเด็จพระปกเกล้าฯท่านทรงแบ่งแยกได้เด็ดขาด ระหว่างความรักที่อาพึงมีต่อหลาน  กับความรู้สึกปกป้องที่กษัตริย์พึงมีต่อราชบัลลังก์เมื่อเห็นว่าบุคคลไม่สมควรเฉียดเข้ามา
ดิฉันว่ามันอาจจะปนกันไปด้วยซ้ำ   แม้พระองค์ท่านจะไม่รู้สึกว่าปนกันก็ตาม
แต่สมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯเสียอีก  ดิฉันคิดว่าท่านไม่แบ่งแยก   ท่านรักหลานชายองค์นี้แน่ มีการกระทำหลายๆอย่างพิสูจน์อยู่ในตัว    แม้แต่เรื่องราชบัลลังก์ ถ้าท่านไม่อยากให้พระองค์จุลมีสิทธิ์  ท่านคงระบุไว้ชัดเจน

สมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯเป็นคนที่ทำอะไรๆ แบบมีโครงการและแผนล่วงหน้า   เพราะฉะนั้นจะว่าท่านวู่วาม หรือเผลอไผลไม่ทันคิด   เป็นไปไม่ได้
การตั้งเป็นพระเจ้าวงวงศ์เธอพระองค์เจ้าก็เป็นเรื่องที่ทรงตั้งพระทัยแน่นอน   รูปการณ์ไม่มีเลยว่าจะมีใครผลักดันให้ทรงทำด้วยความไม่เต็มพระทัย  หรือต้องรีบร้อนตั้งแบบจำยอม
การตั้งกฎการสืบสันตติวงศ์ก็เหมือนกัน   ไม่ใช่เรื่องรีบร้อนต้องให้เสร็จในวันสองวัน จนอาจจะลืมโน่นข้ามนี่ได้ง่าย
พระบรมราชโองการเรื่องหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัชก็อีกเรื่อง แสดงว่าทรงคิดละเอียดลออ

เพราะงั้นที่สมเด็จพระปกเกล้าฯ ตรัสว่าพระเชษฐาของท่านเองก็คิดตรงกันว่าไม่อยากให้เป็น   ดิฉันจึงมีเครื่องคำถามอันโตอยู่ในใจ อยู่ดีละค่ะ

พูดมาถึงตอนนี้แล้วก็คิดเรื่อยเปื่อยไปถึงเจ้านายอีกองค์ที่มีชายาเป็นนางต่างด้าวเหมือนกัน
คือกรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 อีกองค์หนึ่ง
แต่องค์นี้ ท่านทรงอยู่ของท่านเงียบๆ  ไม่ได้อื้อฉาวอย่างเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลก
พระนามท่านเป็นที่รู้จักกันในฐานะเจ้านายที่เคราะห์ร้ายที่สุดองค์หนึ่งในรัตนโกสินทร์  เมื่อหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อมาหลายปี
ทรง ถูกจับ  กลายเป็นนักโทษการเมือง ถูกส่งเกาะตะรุเตา   ทั้งที่มิได้ทรงทำผิดประการใด  เพียงแต่รัฐบาลหาความเท่านั้น
เมื่อพ้นโทษก็ทรงกลับมาหาหม่อมของท่าน      ทรงอยู่ร่วมกันอย่างสงบ จนกระทั่งสิ้นพระชนม์

พระโอรสท่านคือหม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต หน้าตาคมสันเป็นลูกครึ่งฝรั่งทีเดียว
ทรงเป็นพระสวามีของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงวิภาวดี รังสิต
ผู้นิพนธ์เรื่อง"ปริศนา"
อดคิดไม่ได้ว่าท่านชายปิยะรังสิตนี่แหละน่าจะเป็น "ท่านชายพจน์" องค์จริง

เรื่องพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ ตามที่คุณ paganini ขอ    แล้วจะไปตั้งกระทู้ใหม่ค่ะ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 24 พ.ย. 03, 22:49
 ว้ามาช้าไปหน่อย กระทู้ไม่ active ซะนานเลย ท่านอาจารย์เทาชมพูครับผมรออ่านเรื่องอยู่ครับ อิอิอิอิ

อาจารย์เทาชมพูท่านได้เคยเขียนหนังสือเรื่องเกี่ยวกับพระราชสำนักแบบนี้รึเปล่าครับ ผมว่าท่านเขียนแล้วคงอ่านสนุกน่าติดตามนะครับ  ช่วยเชียร์กันหน่อยพวกเรา!


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: ทองรัก ที่ 25 พ.ย. 03, 08:50
 คุณ paganini  ลองไปอ่านเรื่อง บูรพา ดูนะคะ
แล้วจะรู้ว่าสนุกและน่าติดตามขนาดไหน
ส่วนความเห็นเรื่องความรู้สึกนึกคิดของแคทยานั้น
ตอนนี้ขอ "เคาะ" ค่ะ ไม่วิเคราะห์ต่อดีกว่า
อย่าลืมไปอ่าน บูรพา นะคะ ยินดีให้ยืมหนังสือด้วยค่ะ

อ้อ ! ทองรักถามเรื่องคุณหญิงนริศรา ไว้ก่อนแล้วตังแต่ความเห็นแรก ๆ นะคะ คุณเทาชมพูไม่ได้ขี้ลืมหรอกค่ะ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 25 พ.ย. 03, 10:58
 มัวไปเป็นแม่งานอยู่หลายวันไม่ได้เข้ามาเลยค่ะ  ต้องขออภัยด้วย  สำหรับข้อสังเกตของคุณเทาชมพูเกี่ยวกับ ร ๗ นั้น  ดิฉันเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งเลยค่ะ  ว่ามีหลายสิ่งที่ไม่ consistant กับประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นอยู่บ้าง  

รู้สึกว่า  พระองค์จุลฯนั้น  ทรงเก็บงำความโทมนัสไว้ไม่น้อย  อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งก็ได้  เพราะเคยได้ยินหมอหลายท่านบอกว่า  ความเครียดมากๆ  เป็นเหตุสำคัญที่ไปกระตุ้นให้โรคมะเร็งออกมาสำแดงอาการได้ง่ายขึ้นมากทีเดียว  

ดิฉันเองก็เก็บความเห็นเรื่องนี้ไว้นานแล้ว  เพราะไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องที่เอามาพูดกันได้หรือไม่  ดีใจมากค่ะที่คุณเทาชมพูเปิดโอกาสให้ได้มาคุยกัน  ขอบอกแต่ในส่วนที่กระทบความรู้สึกส่วนตัวของดิฉันก็แล้วกันนะคะ  ตามที่ได้บอกแล้วว่า  ดิฉันอ่านหนังสือเรื่อง เกิดวังปารุสก์ ในตอนอายุได้ ๑๓ ปี  กำลังเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ  กำลังเริ่มมีความสับสนเกี่ยวกับปรัชญาชีวิต  เรียกว่า  เริ่มรู้สึกถึงแรงกดในรูปแบบของ หน้าที่ต่อครอบครัว  กับความต้องการส่วนตัว  สิ่งที่ได้รับการสั่งสอนอบรมมานั้น  ก็คือการคิดถึงความต้องการส่วนตัวแม้แต่น้อย  เป็นความเห็นแก่ตัว  เป็นลูกก็ต้องทำตามพ่อแม่ต้องการ  ความต้องการของตัวเองให้ละเลยไม่ใส่ใจจึงจะเป็นลูกที่ดี  เป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว

คำพูดที่กรมขุนฯได้ทรงสั่งสอนพระโอรสว่า  ชีวิตส่วนตัวเป็นกิจต่างหากจาก "หน้าที่" ต่อสังคมหรือครอบครัว  หากทำหน้าที่เหล่านั้นได้ดีแล้ว  เราก็มี "สิทธิ" ที่จะใช้ชีวิตส่วนตัวในวิถีที่ตัวเองเลือกได้  แต่ในสภาวะที่สังคมรอบข้างยังแตกต่างกันมาก  และรับปรัชญาการมองชีวิตเช่นนั้นไม่ได้  และตัวเองก็ไม่ได้ "ต้องการ" สิ่งที่ตัวเองเลือกอย่างมั่นคงเพียงพอ  ก็ก่อให้เกิดความเจ็บปวดมากมายตามมา  ส่งผลตกทอดถึงลูกที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรเลย  สิ่งเหล่านี้วนเวียนอยู่ในความคิดความสับสนของเด็กที่กำลังโตอย่างดิฉันมาอยู่หลายปีทีเดียวแหละค่ะ  และบอกไม่ถูกว่าเป็นเพราะอะไรถึงทำให้มีจิตผูกพันอยากทราบความเป็นไปของครอบครัวพระองค์ท่านอยู่เสมอมาค่ะ

ขอบคุณคุณเทาชมพูจากใจจริงอีกครั้งที่ช่วยให้ความกระจ่าง  และคลายปมที่ฝังไว้มานานแล้วไปได้มากเลยค่ะ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 25 พ.ย. 03, 13:33
 ขอบคุณครับคุณทองรัก แล้ว เรื่องบูรพา นี่ใครแต่งและเกี่ยวกับเรื่องอะไรครับ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะยืมจากคุณทองรักครับ แต่จะยืมยังไงล่ะครับ
ผมเป้นหนอนหนังสือแค่ครึ่งเดียวเองครับ ยังไม่ได้อ่านหนังสือเยอะแยะมากมายหลายด้าน


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: นนทิรา ที่ 25 พ.ย. 03, 16:21
 จะเป็นไปได้ไหมคะคุณเทาชมพู ที่คุณหญิงนริศราอาจจะมีพี่เลี้ยงเป็นคนไทยในช่วงชีวิตวัยเด็กที่อังกฤษ เพราะคุณหญิงสามารถรักษาความเป็นไทยไว้ได้อย่างเต็มเปี่ยม ต้องเล่าให้ฟังถึงตอนที่คุณหญิงทำโครงการหนังสือจุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์ คุณหญิงน่ารักมาก เป็นที่ประทับใจกันไปตามๆกันค่ะ

เนื่องจากการทำหนังสือเล่มนี้ คุณหญิงจะต้องติดต่อสมาชิกในราชสกุลที่สืบเชื้อสายจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทั้งหมด เพื่อให้ได้ข้อมูลส่วนพระองค์และส่วนตัวโดยละเอียด  ท่านแม่ของเพื่อนดิฉัน(ประสูติเป็นม.จ.หญิง ต่อมาสมรสกับชายสามัญ) ประทับใจมากกับคุณหญิงนริศรา คุณหญิงโทรศัพท์มาพูดคุยกับท่านแม่ของเพื่อนดิฉันอย่างน่ารักมาก โทรมาบอกขอทูลสายท่านอา....  พูดคุยอย่างเป็นกันเองอย่างน่ารักโดยที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน และใช้ราชาศัพท์ทั้งหมด ท่านแม่ของเพื่อนดิฉันประทับใจมาก คุยถึงคุณหญิงไปหลายวันว่าช่างน่ารักเหลือเกิน


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 25 พ.ย. 03, 17:07
 ผมเห็นใจทั้งฝ่ายพระองค์จุลฯ และในหลวง ร. 7 ครับ

ถ้าเราเอากรอบสมัยนี้ไปจับ คงจะเรียกพระราชทัศนะของในหลวง ร. 7 ได้ว่าเป็นการแบ่งแยกเชื้อชาติ แต่ผมก็คิดว่าในราชประเพณีไทยดั้งเดิมนั้น ตามอุดมคตินับถือความบริสุทธิ์หรือความรู้สึกว่าบริสุทธิ์ทางสายเลือดค่อนข้างมาก (แม้ว่า ตามข้อเท็จจริง ไม่มีใครบอกได้ว่าตนมีสายเลือดบริสุทธิ์ก็ตาม) อย่างน้อยก็มีหลัก อุภโตสุชาติ แปลว่ากำเนิดดีทั้งสองฝ่าย คือทั้งทางพ่อและทางแม่ ปรากฏอยู่เป็นเกณฑ์พิจารณาข้อหนึ่ง ซึ่งผมเข้าใจว่าไทยเราจะเอาคติข้อนี้มาจากอินเดีย เจ้านายโบราณสมัยก่อนที่ท่านทรงถือหลักต้องให้ลูกหลานมีกำเนิดดีทั้ง 2 ฝ่ายอย่างเคร่งครัด จนไม่ยอมเสกสมรสปนระคนศักดิ์กับสายเลือดอื่นต้องเสกสมรสกันเองอยู่ในพระราชตระกูลก็มีอยู่ (ซึ่งสมัยนี้ กลายเป็นว่า ความรู้ทางแพทย์สมัยใหม่บอกว่าแต่งกันเองระหว่างพี่น้องกลายเป็นไม่ดีไป) เรื่องนี้ ในหลวง ร. 6 ท่านทรงถือว่า จะไม่ทรง "เอาน้องสาวเป็นเมีย" (คำของท่านเอง อยู่ในประวัติต้นรัชกาลที่ 6) เป็นอันขาด ถ้าจำเป็นจะต้องทรงเสกสมรสกับเจ้านายในราชตระกูลอย่างน้อยก็ขอให้ห่างออกไปหน่อย เป็นลูกพี่ลูกน้่องก็ยังดีั

ถ้าถือหลักอุภโตสุชาติเป็นความคิดพื้นฐาน แม้ว่าพระราชพินัยกรรมหรือพระบรมราชโองการในพระเจ้าอยู่หัว ร.6 จะไม่ชัดเจนในกรณีพระองค์จุลฯ ที่ทรงมีพระมารดาเป็นต่างชาติ ก็ไม่ใช่ว่าท่านปรีดีและท่านอื่นใน ครม. ที่โต้แย้งสิทธิในการครองราชสมบัติของพระองค์จุลฯ ท่านจะไม่มีหลักอ้างอิงเสียเลย เพราะมีหลักโบราณข้อนี้เป็นเกณฑ์อยู่ กล่าวไม่ได้ว่าพระองค์จุลฯ ทรงมีอุภโตสุชาติ ในเมื่อฝ่ายพระมารดาไม่ใช่เจ้า ที่ซ้ำยิ่งกว่าคือไม่ใช่คนไทย ผมไม่ได้บอกว่าผมเห็นด้วยกับ ร. 7 ครับ เพียงแต่พยายามลองทำใจคิดแบบที่ท่านอาจจะทรงคิดเท่านั้น แต่นั่นแหละความในพระทัยท่านผมก็ไม่รู้ได้

อาจมีคนเถียง (ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าถูกตามข้อเท็จจริง) ว่า ก็พระมารดาพระองค์จุลฯ เป็นสายเลือดฝรั่งแล้วยังไง ใช่ว่าพระบรมราชจักรีวงศ์จะเป็นสายเลือดไทยบริสุทธิ์หรือก็เปล่า ก็มีเลือดมอญ เลือดจีน เลือดแขก ฯลฯ ผสมอยู่เหมือนกัน มีมาก่อนยุคของพระองค์จุลฯ แต่ครั้งกรุงเก่าก็มี แล้วก็เป็นอย่างที่คุณเทาชมพูว่า คือเจ้านาย หรือแม้ขุนนางก็เถอะ ที่มีสายเลือดอื่นเจือปนเหล่านี้ ก็ได้แสดงความจงรักภักดีต่อพระราชบัลลังก์และประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยหน้าคนไทยเชื้อสายไทย

แต่ผมคิดว่า เรื่องข้อเท็จจริงตามภาววิสัยเป็นเรื่องหนึ่ง และเรื่องความรู้สึกเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ความแตกต่างที่เห็นชัดมากเกินไป ทำให้ "รู้สึก" ว่าเป็นต่างพวกได้ง่าย จะถือว่าเป็นเรื่องรังเกียจผิวสีต่างกันก็เอาเถิดครับ จะเรียกอย่างนั้นก็ได้ผมไม่เถียง แต่ผมคิดว่า เชื้อสายที่เคยได้มาผสมอยู่ในพระราชวงศ์ไทยแต่ก่อน ยังไงๆ ก็ยังเป็นเอเชียนเหมือนกัน ไม่โดดออกมามาก แต่พระองค์จุลฯ ที่พระพักตร์เป็นฝรั่งชัดมากขนาดนั้น จะให้เป็นเจ้าชายไทยผมคิดว่าพระเจ้าอยู่หัว ร.7 ก็อาจยังไม่ทรงตะขิดตะขวงมากเท่ากับให้ขึ้นเป็นกษัตริย์ไทย (ถ้าท่านจะทรงตะขิดตะขวงพระทัยเรื่องไม่ทรงอยากให้พระองค์จุลฯ เป็นแม้แต่พระองค์เจ้า ผมว่าก็น่าจะเป็นเพราะท่านทรงเกรงว่าจะโยงไปถึงเรื่องสิทธิการสืบราชสันตติวงศ์มากกว่า ซึ่งในข้อนี้ แม้พระเจ้าอยู่หัว ร. 6 ก็ทรงทราบ เมื่อทรงตั้งเจ้าฟ้าจักรพงษ์เป็นพระรัชทายาทช่วงสั้นๆ ตอนต้นรัชสมัยนั้น ท่านระบุเลยว่า ที่ตั้งเช่นนั้นก็เป็นทำนองประกันภัย ตั้งเผื่อไว้เท่านั้น ถ้าท่านทรงมีทายาทเองแล้วก็เป็นอันว่าเพิกถอนพระราชฐานะเจ้าฟ้าจักรพงษ์ในที่รัชทายาท และเจ้าฟ้าจักรพงษ์ต้องปฏิญาณด้วยว่า จะไม่ทรงตั้งผู้สืบเชื้อสายของท่าน - ซึ่งก็คือพระองค์จุล - เป็นรัชทายาทสืบต่อไป แต่พอดีเจ้าฟ้าจักรพงษ์สิ้นเสียก่อนในหลวง ร. 6 ก็เป็นอันพับไป)

ในข้อนี้ ผมพูดไม่ได้ว่าตัวเองเห็นด้วยกับในหลวง ร. 7 เต็มที่ พูดได้แต่ว่าผมคิดว่าผมเข้าใจ พระมหากษัตริย์ไทยในอุดมคติของคนไทยสมัยนั้นหลายคน ไม่ควรจะทรงพระรูปโฉมเป็นฝรั่งอย่างนั้น ไม่ว่าพระปรีชาสามารถส่วนพระองค์ (ซึ่งผมเองไม่สงสัยเลย) จะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่การยอมรับของคนไทยน่าจะยังเกิดได้ยากในสมัยนั้น ถ้าเป็นตำแหน่งประธานาธิบดีก็ไปอย่าง (ผมนึกถึงสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเหมือนกัน นั่นท่านก็ลูกจีน แต่ก็ปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ไทยได้ - จริง แต่ 1. สถานการณ์กรุงแตกและการกองกู้อิสรภาพเป็นอะไรที่เป็นข้อยกเว้นพิเศษมาก 2. จีนกับไทยดูกันจริงๆ ก็ยังไม่รู้สึกว่าต่างกันชัดๆ 3. แล้วในที่สุดพระเจ้าตากสินมหาราชท่านก็หนีไปไม่พ้นการไม่ยอมรับของกลุ่มชนผู้ดีไทยกรุงเก่าเหมือนกัน)

เหตุผลที่ผมนึกว่าอาจจะสำคัญอีกข้อ คือ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลางนั้น (ที่จริงตั้งแต่ปลาย ร. 3) เป็นสมัยที่คนไทยรวมทั้งเจ้านายส่วนหนึ่งรู้สึกกันแล้วว่า ภัยคุกคามพระราชอาณาจักรนั้นมาจากฝรั่ง โดยที่ญวนหรือพม่าเลิกเป็นข้าศึกกับเราไปนานแล้ว (กลายเป็นเมืองขึ้นฝรั่งไปหมด) ถึงเราจะเรียนรู้ทำตัวเป็นฝรั่งก็เพื่อการระวังป้องกันตัวด้วยส่วนหนึ่ง ไม่ใช่เป็นความนิยมชมชื่นล้วนๆ แต่ความเจ็บช้ำน้ำใจต่อฝรั่งชาติต่างๆ โดยเฉพาะฝรั่งเศสที่ทำกับไทยนั่น อาจยิ่งทำให้คนไทยรู้สึกแปลกแยกต่อ "ลูกฝรั่ง" หนักยิ่งไปกว่าที่เคยรู้สึก (หรือไม่รู้สึก) ต่อลูกจีน หลานมอญ ฯลฯ ที่เคยครองราชบัลลังก์ ที่จริงว่ากันตามทางรัฐประศาสโนบาย ฝรั่งชาติรัสเซียนั้นช่วยเราจากการรุกรานจากฝรั่งชาติอังกฤษฝรั่งเศสด้วยซ้ำ แต่พักตร์พระองค์จุลฯ คนไทยดูก็ยังเป็นหน้าฝรั่งอยู่ดี

แต่ผมก็ต้องยอมรับว่า เห็นใจพระองค์จุลฯ มาก เชื่อได้ว่าท่านคงรู้สึกเจ็บปวดไม่น้อยเลย โดยเฉพาะในเมื่อเรื่องนี้ถ้าว่าไปตามเนื้อผ้าตามข้อเท็จจริงแล้วไม่ใช่ความผิดของท่านเลย เป็นเรื่องที่เจ้านายพระญาติผู้ใหญ่ของท่านลงความเห็น หรือความรู้สึกกันว่าพ่อท่านผิด แต่ผลมาตกกับลูก


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 พ.ย. 03, 18:02
 อ่านแล้วก็รู้สึกว่า ค่านิยมกับความจริงมันต่างกันตรงนี้เอง  ค่านิยมเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัย  แต่ความจริงคือความจริง ไม่ว่าเวลาเปลี่ยนไปกี่สมัยความจริงก็ไม่เปลี่ยนตาม

ส่วนความเห็นของคุณพวงร้อย  อ่านแล้ว ความคิดแตกกิ่งก้านไปไกลทีเดียวละค่ะ   ที่โดนใจเพราะมันเผอิญไปตรงกับคำถามที่เราถามตัวเองมานานแล้ว
คำพูดว่า "ชีวิตส่วนตัวเป็นกิจต่างหากจาก "หน้าที่" ต่อสังคมหรือครอบครัว หากทำหน้าที่เหล่านั้นได้ดีแล้ว เราก็มี "สิทธิ" ที่จะใช้ชีวิตส่วนตัวในวิถีที่ตัวเองเลือกได้ "
ดิฉันสงสัยว่าคำพูดนี้ เป็นจริงได้ด้วยหรือ   เป็นไปได้หรือว่า เรามีสิทธิ์แบ่งแยกเรื่อง "ส่วนตัว" ออกได้เด็ดขาดจาก"ส่วนรวม" คือจากสังคมใดๆที่เราสังกัด  แม้แต่เป็นสังคมหน่วยเล็กที่สุดคือครอบครัวก็ตาม
เหมือนเดี๋ยวนี้เรานิยมพูดกันว่า ถ้าทำอะไร ที่ไม่ได้เดือดร้อนคนอื่น ก็ทำไปเถอะ   มันเป็นสิทธิ์ส่วนตัวของเรา
จริงๆน่ะมันมีกะเขาได้ด้วยหรือ  อะไรที่ส่วนตัวเสียจนไม่กระทบกระเทือนคนอื่นเลย   ตราบใดเรายังไม่ได้อยู่ในป่าลึกตามลำพังคนเดียว

ถ้าเป็นลูกที่ดี  ตั้งใจเรียน เรียบร้อย ไม่เกเร  ดีเก่งสารพัด ทำตัวสมกับความคาดหวังของพ่อแม่ได้ครบถ้วนทุกกระบวนความ   แล้วเผอิ๊ญเผอิญ  มันมีเรื่องความต้องการส่วนตัวอยู่เรื่องหนึ่งที่พ่อแม่ไม่เห็นด้วยอย่างแรงล่ะคะ
ถ้าเป็นแบบนี้  พ่อแม่ควรถอยไป หลีกทางให้ลูกทำ
หรือว่าลูกควรจะหักห้ามความต้องการนั้นเสียแล้วอยู่อย่างออมชอมกับพ่อแม่ให้ดีที่สุด  
คำตอบคงไม่มีตายตัว  บางบ้านพ่อแม่อาจโอนอ่อนตามใจลูก  แต่บางบ้านลูกก็ต้องฝืนใจตัวเองตามใจพ่อแม่
บางบ้านไม่อ่อนให้กันทั้งสองฝ่าย  ถ้าไม่แตกหักแยกกันเดินคนละทาง  ก็อยู่กันอย่างหวานอมขมกลืนกันไป

ข้อนี้ทำให้ดิฉันเดาต่อในเรื่องเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกฯ  ผิดถูกยังไงขอรับผิดเองผู้เดียว
คือความเป็นรัชทายาทน่าจะมีส่วนเร่งเร้าให้ท่านทรงคำนึงถึงภาระรับผิดชอบมากขึ้นทุกที    เพราะปีแล้วปีเล่า พระเจ้าอยู่หัวก็ไม่ทรงอภิเษกสมรสมีรัชทายาท
หากว่าเกิดกลายเป็นว่าจนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีพระราชโอรส     มันจะกลายเป็นเรื่องน่าเสียดาย สำหรับเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกฯ ที่ทรงถูกให้พ้นจากการลำดับสืบสันตติวงศ์   เพราะหม่อมชายาแคทยาเป็นเหตุ

แต่ถ้าอภิเษกสมรสใหม่อีกครั้งกับเจ้านายสตรีในราชตระกูล  พระโอรสที่จะประสูติมาก็จะมีสายเลือดสูงส่งเหมาะสมกับเป็นลำดับต่อไป  ไม่มีใครค้านได้ถึงเลือดไทยบริสุทธิ์   และก็ไม่ขัดต่อเกณฑ์การสืบสันตติวงศ์    หากว่าแคทยาพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว
เพราะเหตุนี้หรือเปล่า  เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกฯ จึงไม่อาจจะทำได้ เมื่อแคทยายื่นคำขาดให้ทรงตัดหม่อมเจ้าชวลิตโอภาสออกไปเสียในฐานะบุคคลที่สาม    ทรงเห็นว่าเธอเอาแต่ใจมากไป  จะมาบงการพระสวามีได้ทุกอย่าง
จริงๆแล้ว  แคทยาต่างหากคือบุคคลที่สาม ไม่ใช่ท่านหญิง

พระปรีชาสามารถของกรมหลวงพิษณุโลกฯ ก็มีมากพอที่จะเหมาะสมในฐานะรัชทายาท  ข้อหนึ่งละ ข้อสอง การเสกสมรสกับเจ้านายสตรี ก็อาจเป็นการสมานรอยร้าวที่เคยมีในความรู้สึกของพระญาติผู้ใหญ่ทั้งหลาย   เหมือนกับทรงหันกลับมาจากเส้นทางเดิม ผิดทางไป  กลับมาสู่เส้นทางที่ควรเดิน เรียบร้อยแล้ว

เราก็ไม่มีโอกาสรู้ว่าหากเกิดทรงมีพระโอรสกับหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาสจริงๆขึ้นมา   เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 6 แล้วพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียว   และเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกยังมีพระชนม์พร้อมพระโอรสเลือดไทยเต็มตัว อยู่
การสืบสันตติวงศ์จะเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ช่วงนั้นหรือเปล่า?


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 28 พ.ย. 03, 12:55
 ขอประชาสัมพันธ์ครับ
กำลังจะมีบัลเล่ต์คณะบอลชอยของรัสเซียเข้ามาเล่นในเมืองไทย เรื่อง แคทยากับเจ้าฟ้าสยาม ราววันที่ 13-14 ธ.ค. นี้แหละครับ ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ใครสนใจเรื่องของเจ้าฟ้าจักรพงษ์และแคทยาเชิญติดต่อได้


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 28 พ.ย. 03, 16:26
 แก้ข่าวครับ
ไม่ใช่บัลเล่ต์บอลชอย แต่เป็นคณะบัลเลต์รัสเซียเหมือนกัน คณะไหนผมก็จำชื่อไม่ได้
เขาจะเปิดแถลงข่าวงานนี้ วันจันทร์ที่ 1 ธ.ค. นี้แหละครับ ท่านที่สนใจ โปรดติดตามรายละเอียดได้ครับผม

ผมสงสัยว่าผมจะไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ ช่วงนั้น ดังนั้นคงจะอดดูบัลเลต์นี้ เสียดาย สงสัยเหลือเกินว่ารัสเซียคนไหนหนอ จะเต้นเป็นปรินซ์จักรพงษ์?


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 29 พ.ย. 03, 02:20
 โห เค้าเอาไปแต่งเล่นบัลเล่ต์เชียวเหรอคะ  อยากดูมั่งจริงๆ  คณะบัลเล่ต์อีกกลุ่มนึงที่เคยได้ยินก็เป็นกลุ่ม เคียรอฟ รึไงเนี่ยะค่ะ  บอลชอยเค้าชอบเล่นเรื่องพวกคลาสสิคมากกว่า  

จะคอยเปิดหูเปิดตารอดูว่าจะมีใครเอามาจัดที่นี่บ้าง  แต่คงยากน่าดูเหมือนกัน  ขอบคุณคุณนิลกังขาที่เอามาบอกค่ะ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: รตา ที่ 12 ม.ค. 04, 15:51
 เข้ามาคุยเรื่องนี้ด้วยคนนะคะ ช้าหน่อยเพราะไม่ค่อยได้เข้าเวบนี้นัก

เกิดวังปารุสก์เป็นหนังสือที่ดิฉันชอบมาก อ่านเล่มนี้แล้วเลยอ่านต่อไปถึงหนังประวัติศาสตร์อีกเล่มนึงของพระองค์จุล เล่มหนาๆหน่อยนะคะ จำชื่อได้ว่า สยามประเทศ เป็นประวัติศาสตร์ชาติไทยเริ่มตั้งแต่สมัยสุโขทัยเรื่อยมา

เมื่อตอนเดือนธันวาคม ก็ไม่ลังเลเลยค่ะที่จะตีตั๋วดูบัลเล่ต์เรื่องแคทยาและเจ้าฟ้าสยาม ก่อนไปก็คว้าหนังสือเรื่องนี้มาอ่าน ทวนความจำอีกครั้ง เขียนโดยคุณหญิงนริศราและคุณไอรีน ฮันเตอร์ ดีใจที่รัสเซียนำเอาประวัติศาสตร์และชีวิตรักโรแมนติกไปทำเป็นบัลเล่ต์ เขาทำฉากได้สวยงามมากจริงๆ โดยเฉพาะฉากหิมะตก

ที่คุณนนทิราปรารภว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่คุณหญิงนริศรามีพี่เลี้ยงคนไทย ทำให้คุณหญิงรักษาความเป็นไทยได้อย่างเต็มเปี่ยม ดิฉันพอทราบเรื่องราวมาบ้าง เลยนำมาเล่าสู่กันฟังค่ะ

คุณหญิงนริศรานั้นเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนจิตรลดา รุ่นเดียวกับทูลหม่อมจุฬาภรณ์ เธอไปๆมาๆอังกฤษและกรุงเทพ พอมากรุงเทพฯก็เข้ามาเรียนที่โรงเรียนนี้ ด้วยความที่ไปๆมาๆเรียนขาดบ้าง พระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานครูจากโรงเรียนไปสอนเสริมให้ที่วังจักรพงษ์ ท่าเตียนค่ะ

สำหรับฮิวโก้ จุลจักร จักรพงษ์ ดาราชื่อดังที่เป็นบุตรชายของคุณหญิงนั้น ก็เคยเรียนอนุบาลที่จิตรลดาเหมือนกัน ดิฉันจำได้ตอนเด็กๆเราเรียกเด็กฝรั่งผมทอง ตัวเล็กๆ พูดไทยได้ชัดเจนว่า น้องเล็ก ค่ะ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 14 ม.ค. 04, 13:56
 ขอบคุณคุณรตามากค่ะ  เป็นอย่างนี้นี่เอง  ที่ว่าคุณหญิงพูดภาษาไทยได้ชัดเจนนั้น  ลำพังแต่มีครูไทยไปสอนที่อังกฤษ  ก็ไม่คิดว่าจะพูดได้ชัด  และใช้ภาษาไทยได้คล่องหรอกค่ะ  ถ้าไม่กลับมาใช้ชีวิตในเมืองไทยด้วยตอนเด็กๆ  เพราะคิดว่าการหัดภาษาให้คล่อง  ต้องทำกันตอนเด็กๆ  และต้อง immerse ไปในสังคมนั้นด้วย  คือต้องมีคนรอบกายพูดอยู่ด้วย  แม้แต่เด็กไทยที่มาเกิดที่นี่  อยู่บ้านพ่อแม่คนไทยพูดไทยต่อกัน  และพูดไทยต่อเด็ก  เด็กก็ยังไม่คล่องเลยค่ะ  เพราะลำพังพ่อแม่พูดให้ฟังเท่านั้นยังไม่พอเลยค่ะ  

และก็เป็นเกร็ดน่ารู้อีกอย่างหนึ่ง  ที่แสดงให้เห็นว่า  ในหลวงท่านทรงมีความผูกพันกับพระองค์จุลฯ และครอบครัวอยู่  จำได้ว่า  ใน เกิดวังปารุสก์  พระองค์จุลฯท่านทรงสนิทสนมและมีสายสัมพันธ์เหนียวแน่นกับสมเด็จพระราชชนก  ทรงอ้างถึงพระราชชนกด้วยความรักความเคารพอย่างสูงส่งในทุกบททุกตอนด้วยค่ะ  ดีใจที่สายวงศ์ของพระองค์ท่าน  ยังผูกพันกับสังคมไทยอย่างไม่จืดจางอยู่ค่ะ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 13 พ.ค. 05, 11:31
 ขออนุญาตย้อนไปกล่าวถึงเรื่องลำดับการสืบราชสันนติวงศ์ที่เริ่มกันที่
"...นอกจากนี้ ทรงมีพระบรมราชโองการลงวันที่ ๒ กันยายน ๒๔๘๖ ถึงเสนาบดีวัง เกี่ยวกับองค์รัชทายาท ที่จะสืบสัตติวงศ์ต่อจากพระองค์ท่าน (ขณะนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสุวัฒนาพระวรราชเทวี กำลังทรงพระครรภ์ ยังไม่แน่ว่าจะเป็นพระราชโอรสหรือพระราชธิดา)
พระบรมราชโองการมีความตอนหนึ่งว่า ดังนี้
"...ให้ข้ามหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัช ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณ์อินทราไชยนั้นเสียเถิด เพราะหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัชมีแม่ที่ไม่มีชาติสกุล เกรงว่าจะไม่เป็นที่เคารพแห่งพระบรมวงศานุวงศ์...

เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 6 พระอนุชาร่วมพระราชชนนี เหลือแต่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ประชาธิปกกรมขุนสุโขทัยธรรมราชาพระองค์เดียว ซึ่งเป็นพระอนุชาองค์สุดท้อง
มีหลานลุงสององค์ คือ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ กับหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัช โอรสของกรมขุนเพชรบูรณ์อินทราไชย (ต่อมาเลื่อนขึ้นเป็นพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช)

น่าสังเกตว่า แม้พระองค์จุลและหม่อมเจ้าวรานนท์ อยู่ในฐานะ "หลานลุง" ของสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เท่ากัน
แต่โปรดให้ตัดหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัชออกไปจากลำดับการสืบสันตติวงศ์ เพียงองค์เดียว ไม่มีการรวมพระองค์จุลว่าอยู่ในข่าย"ถูกตัดออก" ด้วย

ก็อาจจะมองได้ว่าทรงมีสิทธิ์ในการสืบสันตติวงศ์ด้วย ในสายตาของทูลกระหม่อมลุง
การมีแม่เป็นนางต่างด้าว ไม่อยู่ในข้อห้าม ถือว่าห้ามแต่มีชายาเป็นนางต่างด้าวเท่านั้น ถ้าถือว่าการมีแม่เป็นต่างด้าวอยู่ในข้อห้ามน่าจะบอกไว้ชัดแล้ว

ในข้อ 2 เจ้าฟ้าประชาธิปกฯ และพระองค์จุล อยู่ในคุณสมบัติตามข้อนี้ทั้งสองพระองค์
แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าถือตามข้อ 2 ว่าพระอนุชา อยู่ในลำดับมาก่อน ราชสมบัติก็ย่อมตกอยู่กับสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก่อนพระองค์จุล..."

เริ่องพระราชบันทึกที่อ้างถึงตอนต้น  ตรงนี้ขอแก้วันที่และปี พ.ศ. นะครับ  น่าจะเป็นพระราชพินัยกรรมลงวันที่  ๑๕  กันยายน  ๒๔๖๘ มากกว่าครับ   ส่วนเรื่องที่มีพระบรมราชโองการให้รัชกาลที่ ๗ ทรงรับรัชทายาทในกรณีที่พระเนางเจ้าสุวัทนา ประสูติพระราชธิดา  โดยให้ข้ามพระองค์เจ่าจุลจักรพงษ์ไปนั้น  มีคำตอบในประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ ครับ ที่ทรงตั้งทูลกระหม่อมจักรพงษ์ พระบิดาของพระองค์จุลเป็นรัชทายาทโดยโปรดให้ทูลกระหม่อมให้สัคย์สาบาลไว้ว่า หากได้ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินจะไม่ให้พระองค์จุลเป็นรัชทายาทโดยเด็ดขาด  

เรื่องการมีชายาเป็นนางต่างด้าวนี้  พระยาปฏิพัทธภูบาล เคยเล่าไว้ว่า  เมื่อครั้งรับพระบรมราชโองการรัชกาลที่ ๕ ไปคอยรับเสด็จสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ (รัชกาลที่ ๖) ที่ประเทศญี่ปุ่นคราวเสด็จกลับจากทรงศึกษานั้น  ในระหว่างที่ประทับที่ประเทศญี่ปุ่น  พระเจ้าจักรพรรดิได้ทรงมีพระดำริที่จะถวายเจ้าหญิงญึ่ปุ่นให้เป็นพระชายา  แต่ล้นเกล้าฯ ไม่ทรงทรงรับ  และทรงตอบปฏิเสธแบบนักการทูตว่า เป็นธรรมเนียมต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อนจะทรงตัดสินพระทัยโดยลำพังไม่ได้  และได้โปรดมีพระบรมราชาธิบายพระราชทานแก่ข้าราชบริพารไทยที่ไปรับเสด็จว่า ที่ต้องทรงตอบปฏิเสธนั้นเกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงของชาติ  หากทรงมีพระมเหสีเป็นนางต่างด้าวแล้ว  เกิดมีเหตุบาดหมางกันขึ้นตามธรรมดาของสามีภรรยา  แล้วเกิดภรรยาบอกไปทางบ้านเมืองของจัวให้ส่งเรือรบเข้ามาปิดอ่าว  ก็จะเป็นการชักศึกเข้าบ้าน  ดังตัวอย่างที่ทรงเห็นมาในประเทศยุโรป  จึงทรงระวังเรื่องนี้มาก  อีกประการเรื่องที่ทูลกระหม่อมจักรพงษ์ทรงมีหม่อมแคทยานั้น  รัชกาลที่ ๕ ก็ไม่ทรงยอมรับแคทยาเป็นสะใภ้รสมทั้งพระองค์จุลก็ไม่ทรงรับเป็นพระนัดดาตราบจนสวรรคต  หากแต่รัชกาลที่ ๖ ทรงพระเมตตาพระองค์จุลฯ เป็นการส่วนพระองค์ต่อมาจึงยกขึ้นเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า  แต่ไม่ทโปรดให้รวมไปถึงทายาท  ทายาทของพระองค์จุลจึงเป็นเพียงหม่อมราชวงศ์  ไม่ได้เป็นหม่อมเจ้าดังเช่นพระโอรส พระธิดา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทั้งหลาย

เรื่องการสืบราชสันนติวงศ์ต่อจากรัชกาลที่ ๖ ลงมานั้นขอให้อ่านในประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ จะมีคำตอบชัดเจนครับ  โดยเฮพาะในเรื่องพระชัยนวโลหะรัชกาลที่ ๕  ซึ่งทรงกล่าวถึงว่า รัชกาลที่ ๕ ทรงกำหนดลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ไว้  ซึ่งไม่ตรงกับที่มีการกล่าวอ้างกัน


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระพริบ ที่ 13 พ.ค. 05, 23:01
 เคยได้ยินว่า การที่พระองค์จุลฯ ท่านจะสมรสกับหม่อมลิสบา
ร.7 ก็ทรงไม่พอพระทัยนักนะคะ  พระองค์เหมือนมีรับสั่งว่า จะทำความผิดแบบเดียวกับพ่อของเธออีกหรืออย่างไร

ชีวิตท่านดูน่าเศร้านะคะ เพราะเหมือนจะไม่ได้รับการยอมรับจากพระญาติเท่าไหร่ และยิ่งเป็นทายาทคนเดียว ยิ่งเหงามากขึ้นไปอีกด้วย


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: Lepus ที่ 18 พ.ค. 05, 02:24
 เพิ่งเห็นกระทู้นี้ครับ

ในสามัคคีสารฉบับที่ 1/2547 (ออกมาไล่ๆ กับกระทู้นี้พอดี กอง บก. ได้อ่านกระทู้นี้หรือเปล่าก็ไม่รู้) มีบทสัมภาษณ์ ม.ร.ว. นริศรา จักรพงษ์ ครับ (พร้อมรูปสี) เอามาฝากพี่พวงร้อย กับ อ.เทาชมพู ละกันครับ

>
ชีวิตที่น่าสนใจของ ม.ร.ว. นริศรา จักรพงษ์ (สามัคคีสาร ฉบับที่ 1 ประจำปี 2547. สามัคคีสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์)

เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ ม.ร.ว. นริศรา จักรพงษ์ พระธิดาองค์เดียวของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ อนุญาตให้เข้าสัมภาษณ์ในเช้าวันหนึ่งที่ร้านลานนา (Lanna, 3 Denbigh Road) ภายในร้านตกแต่งอย่างสวยงาม ด้วยผ้าไหมสีสันต่างๆ และมีของกระจุกกระจิกที่น่ารักมากมาย ม.ร.ว. นริศรา (หรือน้าศา) ได้กล่าวภายหลังว่าเป็นของที่นำมาจากเมืองไทยทั้งนั้น ส่วนชั้นใต้ดินจะเป็นสำนักงานของน้าศา ซึ่งถ้ามองจากข้างนอกร้าน จะไม่ทราบว่ามีสำนักงานอยู่ในร้านเลย

ถ้าดูผิวเผินหลายคนอาจคิดว่า น้าศาเป็นฝรั่งที่พูดภาษาไทยได้คล่อง "ถึงหน้าจะออกฝรั่ง แต่ก็มีเชื้อไทยถึง 1 ใน 4 นะคะ" น้าศากล่าวด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้ม "ต้องขอเล่าก่อนว่า ทางฝั่งท่านพ่อนั้น ทูลกระหม่อมปู่ (สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ) ทรงอภิเษกกับย่า (หม่อมคัทริน) ซึ่งเป็นชาวรัสเซีย ส่วนทางฝั่งแม่ก็มีเชื้อสาย English Scottish"

ขอทราบประวัติของน้าศาคร่าวๆ ค่ะ

น้าเกิดที่อังกฤษ แต่โตที่ทั้งไทยและอังกฤษใช้ชีวิตสองประเทศมาตลอด ตอนอยู่เมืองไทยได้เข้าเรียน ที่โรงเรียนจิตรลดา ต่อมาก็มาเข้าเรียนที่ Cornwall ชีวิตตั้งแต่มัธยมจะอยู่ที่อังกฤษเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาก็เข้าเรียนระดับอุดมศึกษาด้านภาษาจีน แต่ไม่ชอบ เลยเปลี่ยนมาเป็นประวัติศาสตร์ศิลป์แทน ต่อมาแต่งงาน มีลูกชายหนึ่งคนคือ จุลจักร จักรพงษ์ (หรือฮิวโก้) ได้เปิดพิพิธภัณฑ์ของเล่น แต่ชีวิตไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่จึงตัดสินใจกลับเมืองไทยพร้อมลูกชาย

ช่วงที่กลับมาอยู่เมืองไทย น้าศาได้ทำอะไรบ้างคะ

ช่วงนั้นน้าได้สอนประวัติศาสตร์ศิลป์ที่มหาวิทยาลัยศิลปาการ และสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนจิตรลดา น้าได้ทำงานกับทางทหารเป็นโครงการป้องกันตัวเองตามชายแดน โครงการนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากทาง สหรัฐอเมริกา ซึ่งน้าเองก็ต้องเดินทางไปทั่วประเทศ เพื่อไปดูค่ายต่างๆ ตามชายแดนรวมถึงหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากผู้อพยพเข้ามา นอกจากนี้น้าก็ได้เริ่มทำหนังสือเกี่ยวกับเมืองไทย มีสำนักพิมพ์คือ สำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์ (Riverbooks) เดิมชื่อสำนักพิมพ์พิษณุโลกซึ่งตั้งตามพระนามทูลกระหม่อมปู่

ทราบมาว่าน้าศาให้ความสนใจเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมาก

ใช่ค่ะ น้าได้ตั้งมูลนิธิโลกสีเขียว (Green World Foundation, GWF) ซึ่งเป็นศูนย์ที่ให้การศึกษา และข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม จะมีหนังสือ "โลกสีเขียว" ออกทุกๆ 2 เดือนมีการฝึกทักษะในการดูแลสิ่งแวดล้อมแก่สาธารณชนไทย และโครงการต่างๆ เช่นที่แม่น้ำปิง มีโครงการคุณภาพของน้ำ โดยใช้แมลงเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านสามารถทำเองได้ ทั้งมูลนิธิโลกสีเขียวและสำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์ตั้งอยู่ในบ้านจักรพงษ์(เดิมเป็นวังของทูลกระหม่อมปู่) แต่ตอนนี้เป็นบ้านพักอาศัยส่วนบุคคลและเปิดให้คนนอกเข้าพักด้วย คล้ายๆ Bed and Breakfast น้าเองก็ไม่ได้โฆษณาอะไร ก็มีแค่ปากต่อปากหรือบางทีก็มาขอถ่ายนำไปลงหนังสือบ้างเท่านั้น

ชีวิตในอังกฤษเป็นอย่างไรบ้างคะ

หลังจากกลับไปอยู่เมืองไทยช่วงนั้น ก็มีโอกาสได้พบกับ คุณกอสวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ ทอมสัน ซึ่งเป็นลูกครึ่งไทย อังกฤษจึงทำให้เข้าใจอะไรได้มากกว่า ตอนนี้ลูกชายคนที่สองคือ ภูวสวัสดิ์ จักรพงษ์ หรือน้องกู้ อายุ 12 ปี สามารถพูดได้ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ เค้ามีความฝันที่อยากจะทำหนังเกี่ยวกับพี่เล็กของเค้า (ยิ้ม) ส่วนที่ร้านลานนา น้าได้ขายของราคาไม่แพงนักซึ่งสามารถนำไปเป็นของขวัญได้ ของในร้าน เอามาจากประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ สำนักงานข้างล่างจะเป็นที่ที่น้ามานั่งทำงานพวกเขียนหนังสือ

พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงเคยเป็นสภานายกของสามัคคีสมาคมฯ ในปี พ.ศ. 2473 ท่านเคยเล่าอะไร[ให้]น้าศาฟังไหมคะ

ไม่ได้เล่าเรื่องนี้เลย ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายมาก เท่าที่จำได้ เคยไปงานชุมนุมตอนเด็กๆ แต่ด้วยความที่ว่าเป็นเด็กขี้อาย จึงไม่ค่อยชอบไปงานโน้นงานนี้ ตอนเรียนอยู่ที่ Cornwall อยากมีพ่อแบบคนอื่น เลยไม่ชอบที่มีพ่อเป็นเจ้าชาย น้าเลยไม่เอาใจใส่กับเรื่องนี้

น้าศาได้เขียนหนังสืออะไรบ้างคะ

หนังสือชื่อแคทยาและเจ้าฟ้าสยาม เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับทูลกระหม่อมปู่ ท่านย่า และทูลกระหม่อมพ่อซึ่งตอนนี้กำลังจะแปลเป็นภาษารัสเซีย

ตอนนี้มีโครงการหนังสืออะไรบ้างคะ

ตอนนี้ก็มีพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย ทำร่วมกับ Oxford University Press และทีมงานจากศูนย์การแปลจุฬาฯ ทำมา 12 ปีแล้วค่อยๆ ทำเรื่อยๆ เพราะต้องตรวจดูอย่างละเอียด พจนานุกรมฉบับนี้จะเน้นความทันสมัย มีคำศัพท์เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ภาษาพูดด้วย ซึ่งตอนนี้เกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว ส่วนอีกเล่มชื่อ "ถึงลูกชายเล็ก" เป็นพระราชหัตถเลขารัชการที่ 5 ถึงทูลกระหม่อมปู่ เดิมจดหมายเหล่านี้อยู่ในการครอบครองของตระกูล แต่อาจสูญหายตอนที่น้ายังไม่บรรลุนิติภาวะ หลังจากที่แม่ของน้าเสีย น้าก็อยู่คนเดียว เอกสารอาจมีการสูญหายหรือโดนขโมยไปบ้าง จึงต้องตามซื้อคืน เมื่อไม่นานมานี้ก็มีโอกาสเจอญาติชาวรัสเซีย ซึ่งเค้าได้ค้นหอจดหมายเหตุของรัสเซีย แล้วพบเอกสารเกี่ยวกับทูลกระหม่อมปู่ เป็นที่น่าแปลกใจมากที่ประเทศที่ปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์อย่างรัสเซียจะเก็บเอกสารต่างๆ ของเจ้าชายไทยเมื่อ 80-90 ปีที่แล้วเป็นอย่างดี

ขอข้อคิดถึงเด็กไทยที่มาโตที่อังกฤษ แล้วทำให้เกิดปัญหาก็คือใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้องด้วยค่ะ

ก่อนอื่นเราต้องฝืนตัวเองให้หัดอ่านภาษาไทย ส่วนมากพอกลับไปเมืองไทยก็จะดีขึ้นเอง ไม่ต้องอายที่จะสะกดผิด เช่นกับฮิวโก้เอง น้าก็จะพยายามพูดภาษาไทยด้วย ตั้งแต่เด็ก อาชีพของเค้าในตอนนี้ก็ต้องใช้ภาษาไทย แต่โชคดีที่เล็กความจำแม่น เค้าจึงสามารถ จำบทได้ทั้งๆ [ที่]อ่านภาษาไทยไม่คล่อง น้าได้คุยกับคุณหญิงหน่อย (ม.ร.ว. สายสวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ ทอมสัน) ซึ่งอยากจะฝากข้อคิดอีกเรื่องถึงนักเรียนไทย ที่อยู่ในอังกฤษ ว่าไม่ว่าจะมาอยู่กี่ปีก็ตาม ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของสิ่งแวดล้อมรอบตัวเท่าที่ควร หลายคนเอาแต่เรียน โดยไม่ยอมออกไปเปิดหูเปิดตาที่ไหนเลยเรียกว่าไม่ได้รู้จักสิ่งแวดล้อมของอังกฤษเท่าไหร่ ถ้ามีโอกาสก็ลองเข้าพิพิธภัณฑ์บ้าง บางทีก็เปิดให้ชมฟรี หรือดูละครซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องแพงเสมอไป


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: Lepus ที่ 18 พ.ค. 05, 02:26

ภาพประกอบครับ  


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 18 พ.ค. 05, 12:47
 ขอบคุณคุณหมอ มากที่สุดเลยค่ะ  ที่อุตส่าห์ไปหามาให้อ่าน  ดีใจจริงๆค่ะที่มีโอกาสได้อ่านแล้วยังได้เห็นรูปท่านอีกด้วย  พอดีช่วงนี้คุณเทาชมพูก็ไม่อยู่ด้วยค่ะ  ไว้กลับมาแล้วคุณเทาชมพูคงยินดีที่ได้เห็นบทสัมภาษน์นี้ด้วยค่ะ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: ส้มสีน้ำเงิน ที่ 25 ก.ค. 05, 22:28
 อยากรู้ว่าตอนนี้หนังสือเรื่องเกิดวังปารุสมีขายที่ไหนบ้างคะ หาซื้อมาตั้งนานแล้วยังหาไม่ได้เลยค่ะ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 26 ก.ค. 05, 00:11
 สำนักพิมพ์ริเวอร์บุคครับ

เล่มใหญ่ปกแข็ง กระดาษเนื้อดี พร้อมภาพประกอบ ราคาไม่สูงมากเมื่อเทียบกับหนังสือเล่มอื่นที่อยู่ในมาตรฐานเดียวกันครับ


ปล. เหมือนโฆษณาขายเลย อิๆ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: ส้มสีน้ำเงิน ที่ 26 ก.ค. 05, 01:01
 ขอคุณคุณ ติบอ มากนะคะที่แนะนำให้


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: ฟ้าหม่น ที่ 28 ก.ค. 05, 10:22
 รบกวนขอที่อยู่ ของสำนักพิมพ์ริเวอร์บุค หรือ website ด้วยค่ะ
( ถ้าจะให้ดีขอเป็น website นะค่ะ ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ)


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: ดารากร ที่ 31 ก.ค. 05, 01:39
 สำนักพิมพ์ริเวอร์บุค อยู่ที่วังจักรพงษ์น่ะค่ะ  สำนักงานอยู่ติดถนน(ดิฉันจำชื่อถนนไม่ได้) อยู่ไม่ห่างจากท่าเตียนเท่าไรค่ะ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: sareela ที่ 16 ส.ค. 05, 11:40
 เราพึงซื้อมาเมื่อวานนี้เองที่ B2S Fashion Island ราคา 895 บาทยังเหลืออีก2-3เล่มแนะ ลองสอบถามที่สาขาใกล้บ้านซิ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: Chanavorn ที่ 17 ส.ค. 05, 20:39
 www.riverbooksbk.com
บริษัท สำนักพิมพ์ ริเวอร์บุ๊คส์ จำกัด
396/1 ถนน มหาราช ท่าเตียน
กรุงเทพมหานคร 10200


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: ฟ้าหม่น ที่ 19 ส.ค. 05, 10:31
 ขอบคุณทุกท่านมากค่ะ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 30 ส.ค. 05, 18:44
 ดิฉันอ่านเรื่องวังปารุสก์หลายปีแล้วค่ะ จำคลับคล้ายคลับคลาว่าพระองค์หนูทรงเรียนหนังสือไทยเพียงแค่ถึง 13 ชันษาเท่านั้นใช่ไหมค่ะ แต่ทำไมถึงทรงพระนิพนธ์ได้สละสลวยเหลือเกิน


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: N.P. ที่ 18 พ.ย. 05, 09:23
 สืบเนื่องจากความเห็นที่ 12
เคยเห็นชื่อสถานที่ "พระราชวังนันทอุทยาน" ที่ปัจจุบันอยู่ในเขตการปกครองของฐานทัพเรื่อกรุงเทพ ฝั่งธนบุรี อาจจะมีความเกี่ยวข้องกันได้บ้างไหมครับ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: Histor ที่ 23 พ.ย. 05, 03:40
 อยากทราบว่าคุณ จุลจักร  จักรพงษ์ (ฮิวโก้) เป็นลูกหลานของใครครับ สืบสกุลจักรพงษ์ทางสายใด


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: Histor ที่ 23 พ.ย. 05, 03:50
 พอดีเพิ่งได้อ่านความเห็นที่82เลยทราบแล้วครับ สำหรับเรื่องของคุณฮิวโก้
ขอบคุณครับ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: ช่อม่วง ที่ 21 มิ.ย. 06, 21:05
 หาซื้อหนังสือยังไม่ได้เลยค่ะ  กลัวหนังสือหมดก่อนแล้ว - -* ทำไงดีเนี่ย


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: Japonica ที่ 22 มิ.ย. 06, 03:32
 ไม่ต้องกลัวหมด เขาพิมพ์ครั้งใหม่แล้ว ราคา 730 บาทครับ ทั่วไปประมาณ 800 บาท สุดคุ้มฮะ


กระทู้: เจ้าวังปารุสก์
เริ่มกระทู้โดย: unming ที่ 25 พ.ย. 14, 11:23
ค้นกระทู้ เก่า ๆ มาอ่าน ชอบมากเลยคะ ค่อย ๆ อ่าน ทุก ๆ บรรทัด แล้วก็พิจารณาตาม