เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: นทีสีทันดร ที่ 05 มิ.ย. 05, 08:00



กระทู้: วันที่ 9 มิถุนายน วันอานันทมหิดล
เริ่มกระทู้โดย: นทีสีทันดร ที่ 05 มิ.ย. 05, 08:00

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
พระผู้พระราชทานกำเนิด
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  


กระทู้: วันที่ 9 มิถุนายน วันอานันทมหิดล
เริ่มกระทู้โดย: นทีสีทันดร ที่ 05 มิ.ย. 05, 08:01
พระราชประวัติ
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร


เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ ตรงกับวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีฉลู จุลศักราช๑๒๖๗ ทเวลา ๐๑.๔๕ นาฬิกา ณ เมืองไฮเดลเบอร์ก ประเทศเยอรมนี เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (ขณะที่ทรงดำรงพระราชอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์)และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (ขณะนั้นทรงเป็นหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา) ทรงมีสมเด็จพระเชษฐภคินี ๑ พระองค์ และสมเด็จพระอนุชา ๑ พระองค์ คือ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช


กระทู้: วันที่ 9 มิถุนายน วันอานันทมหิดล
เริ่มกระทู้โดย: นทีสีทันดร ที่ 05 มิ.ย. 05, 08:02
เมื่อครั้นประสูติทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นหม่อมเจ้า โดยได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "อานันทมหิดล (Ananda Mahidol)"เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๖๘ ทางโทรเลขถึงสถานทูตเอกอัครราชฑูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน จากนั้นได้เสด็จไปพำนัก ณ สถานทูตเอกอัครราชฑูตไทย กรุงปารีส, ที่เมืองโลซานน์ ใน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเมืองบอสตัน มลรัฐแมสสาชูเสตต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ครั้นในวันที่ ๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๐ พระบาทสมเด็จสมเด็จพระปกเกล้า เจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระโอรสและพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ดำรงพระอิสริยยศเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า


กระทู้: วันที่ 9 มิถุนายน วันอานันทมหิดล
เริ่มกระทู้โดย: นทีสีทันดร ที่ 05 มิ.ย. 05, 08:06
ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ได้ตามเสด็จฯสมเด็จพระบรมชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนีไปทุกหนทุกแห่ง ได้เสด็จฯไปยังประเทศฝรั่งเศส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และได้ไปประทับที่เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา ระหว่างที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงศึกษาวิชาการแพทย์ในมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๖๙-๒๔๗๑ เมื่อพระชนมายุ ๓ พรรษาจึงได้เสด็จกลับประเทศไทย พร้อมด้วย สมเด็จพระบรมราชชนก และ สมเด็จพระบรมราชชนนี และได้ประทับ ณ วังสระปทุม จนกระทั่ง สมเด็จพระบรมราชชนกประชวรด้วยพระโรคฝีบิดในพระยกนะ(ตับ) และ สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๒ ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลทรงมีชนมายุเพียง ๔ พรรษา และทรงอยู่ในพระอภิบาลของ สมเด็จพระบรมราชชนนีแต่เพียงพระองค์เดียว


กระทู้: วันที่ 9 มิถุนายน วันอานันทมหิดล
เริ่มกระทู้โดย: นทีสีทันดร ที่ 05 มิ.ย. 05, 08:07

ปีพุทธศักราช ๒๔๗๓ ขณะมีพระชนมายุ ๕ พรรษาได้ทรงเข้าศึกษาชั้นอนุบาล ณ โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย ต่อมาใน ปีพุทธศักราช ๒๔๗๕ ทรงเข้าศึกษาชั้นประถมปีที่ ๑ ณ โรงเรียนเทพศิรินทร์ ทรงศึกษาอยู่เพียงปีเดียว ก็ต้องเสด็จฯไปรักษาพระองค์ในต่างประเทศ เนื่องจากพระพลานามัยไม่ทรงสมบูรณ์ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ( สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ) ทรงเห็นว่า “... ด้วยสภาพบ้านเมืองไม่เรียบร้อย และเป็นโอกาสที่จะไปศึกษา และรักษาสุขภาพอนามัยที่ต่างประเทศ ...” ดังนั้น เมื่อวันที่ ๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๖ สมเด็จพระบรมราชชนนี จึงทรงพาพระธิดาและพระโอรส ทั้ง 3 พระองค์ เสด็จฯไปทรงพำนักและศึกษาต่อ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์


กระทู้: วันที่ 9 มิถุนายน วันอานันทมหิดล
เริ่มกระทู้โดย: นทีสีทันดร ที่ 05 มิ.ย. 05, 08:08
 ในปีพุทธศักราช ๒๔๗๗ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ ในวันที่ ๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ ตามนัยแห่งกฏมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช ๒๔๖๗ สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ ให้อัญเชิญ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นครองราชย์สืบราชสันตติวงศ์ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๘ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อมีพระชนมายุเพียง ๙ พรรษา ขณะยังคงประทับศึกษาอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์


กระทู้: วันที่ 9 มิถุนายน วันอานันทมหิดล
เริ่มกระทู้โดย: นทีสีทันดร ที่ 05 มิ.ย. 05, 08:10

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เสด็จนิวัติเยี่ยมประชาชนชาวไทยเป็นครั้งแรกในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๑ ขณะที่ทรงมีพระชนมายุ ๑๔ พรรษา และได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่ปวงชนชาวไทยความว่า

"ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีที่ได้เดินทางกลับสู่ประเทศอันเป็นที่รักของข้าพเจ้าและ ในอันที่จะได้เห็นบรรดาประชาราษฎร์ของข้าพเจ้าเองข้าพเจ้าหวังว่า บรรดาประชาราษฎร์ของข้าพเจ้าคงอยู่เย็นเป็นสุขสบายดีทั่วกัน"

ระหว่างที่ประทับอยู่ในประเทศไทย ได้ทรงประกอบพระราชพิธีและเสด็จเยี่ยมสถานที่สำคัญหลายอย่าง พระราชจริยาวัตรอันงดงามเป็นที่ชื่นชมโสมนัสของอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวง จนกระทั่งถึงวันที่ ๑๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๒ จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับได้มีกระแสพระราชดำรัสทางวิทยุกระจายเสียงความตอนหนึ่งว่า


“...ข้าพเจ้าจะตั้งใจเรียนจนสำเร็จเพื่อจะกลับมาสนองคุณชาติที่รักของเรา...”


กระทู้: วันที่ 9 มิถุนายน วันอานันทมหิดล
เริ่มกระทู้โดย: นทีสีทันดร ที่ 05 มิ.ย. 05, 08:10

เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาสงบลงในเดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๘ ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจและการเมืองหลายประการ ขวัญและจิตใจของประชาชนอยู่ในสภาพว้าเหว่ ระส่ำระสาย ในช่วงระยะนี้เอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนีและสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ได้เสด็จนิวัติเยี่ยมประชาชนชาวไทยเป็นครั้งที่สอง เสด็จพระราชดำเนินถึงประเทศไทยในวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘ เป็นขวัญและกำลังใจให้ปวงชนชาวไทยมีพลังที่จะต่อสู้กับภาวะความเดือดร้อนลำเค็ญที่เกิดขึ้นในขณะนั้น


กระทู้: วันที่ 9 มิถุนายน วันอานันทมหิดล
เริ่มกระทู้โดย: นทีสีทันดร ที่ 05 มิ.ย. 05, 08:11

ระหว่างที่ประทับอยู่ในประเทศไทยเพียงไม่กี่เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานับประการ ทั้งงานพระราชพิธี งานรัฐพิธี งานด้านการศาสนาและการศึกษา เสด็จพระราชทานปริญญาบัตร เสด็จเยี่ยมโรงพยาบาล หน่วยทหาร และสถานที่สำคัญอื่นๆ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ข้าราชการ ชั้นผู้ใหญ่จากหน่วยงานต่างๆ ผลัดกันเข้ามากราบบังคมทูลกิจการของหน่วยงานของตน และทรงสนพระทัยศึกษาหลักธรรมของพระพุทธศาสนา เพื่อเตรียมพระองค์จะทรงผนวชเมื่อเสด็จกลับมาประเทศไทยเป็นการถาวร

พระราชกรณียกิจด้านการศึกษาและการแพทย์ที่สำคัญ ได้แก่ เมื่อพระองค์เสด็จพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญา แก่แพทย์และพยาบาล คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ณ หอประชุมราชแพทยาลัย ศิริราชพยาบาล เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ได้พระราชทานพระราชปรารภอันมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า พระองค์ท่านมีพระราชประสงค์ให้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ผลิตแพทย์ผู้ได้ศึกษาสำเร็จตามหลักสูตรให้มีปริมาณมากขึ้นเพื่อออกมาช่วยเหลือประเทศชาติและประชาชน เพื่อสนองพระราชประสงค์ดังกล่าวศาสตราจารย์ หลวงเฉลิมคัมภีรเวชช์ (เฉลิม พรมมาส) ผู้บัญชาการมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จึงเจรจาขอความร่วมมือกับสภากาชาดไทยในการเปิดโรงเรียนแพทย์แห่งที ๒ ของประเทศ ภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยผ่านทางศาสตราจารย์อุปการคุณ พลตรี พระยาดำรงแพทยคุณ(ชื่น พุทธิแพทย์) ผู้อำนวยการโรงพยาบาล เมื่อทั้งสองฝ่ายเห็นชอบจึงนำเสนอต่อรัฐบาลในขณะนั้นเพื่อตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ซึ่งต่อมาได้วิวัฒน์เป็น คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีกำหนดจะเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในวันที่ ๑๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ เพื่อทำปริญญาเอก สาขานิติศาสตร์ที่ยังค้างอยู่ให้สำเร็จ โดยมีพระราชกระแสรับสั่ง

"ปริญญาด็อกเตอร์ ทางกฏหมายนั้นฉันรู้สึกว่าสำคัญต่อฉันมากรู้บ้างไหมว่า วิทยาลัยไหนที่ทำดีกรีด๊อกเตอร์กฏหมายได้เร็วๆ ฉันอยากจะรีบเรียนให้ เสร็จแล้วจะได้กลับ .....ฉันเป็นห่วงเมืองไทยนัก..... เห็นจะไม่มีวิทยาลัย ไหนที่ฉันจะทำปริญญาด๊อกเตอร์ได้เร็วกว่าที่สวิตอีกปีครึ่งฉันก็จะเสร็จอยู่ แล้วตกลงฉันจะกลับไปเรียนที่เดิมแล้วฉันจะรีบมาเมืองไทย..."

แต่พระองค์ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน เมื่อประมาณ ๙ นาฬิกา ของวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ ขณะที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาเพีบง ๒๑ พรรษา ปวงชนชาวไทยทุกคนต่างตื่นตระหนกตกใจ เศร้าโศกาอาดูร แต่ถึงกระนั้น ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปนานเท่าไร พสกนิกรชาวไทยทุกคน ยังคงจดจำรำลึกตราตรึงใน พระราชจริยาวัตร พระราชอัฉริยภาพ และ พระมหากรุณาธิคุณ อันมีเป็นอเนกประการอยู่เสมอ ตลอดมา ไม่เสื่อมคลาย ตราบเท่าทุกวันนี้


กระทู้: วันที่ 9 มิถุนายน วันอานันทมหิดล
เริ่มกระทู้โดย: นทีสีทันดร ที่ 05 มิ.ย. 05, 08:12

ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๙ ซึ่งเป็นปีมหามงคลสมัยพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เป็นพระปรมาภิไธยอันวิเศษตามแบบแผนโบราณราชประเพณีว่า

"พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อดุลยเดชวิมลรามาธิบดี จุฬาลงกรณราชปรียวรนัดดา มหิตลานเรศวรางกูร ไอศูรยสันตติวงศวิสุทธ์ วรุตมขัตติยศักตอรรคอุดม จักรีบรมราชวงศนิวิฐ ทศพิธราชธรรมอุกฤษฎนิบุณ อดุลยกฤษฎาภินิหารรังสฤษฎ์ สุสาธิตบูรพาธิการ ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ ธัญอรรคลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมงคประณตบาทบงกชยุคล อเนกนิกรชนสโมสรสมมต ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร สรรพรัฐทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวไศรย พุทธาทิไตรรัตน สรณารักษ์วิศิษฎศักตอัครนเรศรามาธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการ สกลไพศาลมหารัษฎาธิบดี พระอัฐมรามาธิบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร"


และในการขานพระปรมาภิไธยอย่างมัธยม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขานว่า
"พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล สกลไพศาล มหารัษฎธิบดี พระอัฐมรามาธิบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร"


และอย่างสังเขปว่า
"พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร"  


กระทู้: วันที่ 9 มิถุนายน วันอานันทมหิดล
เริ่มกระทู้โดย: นทีสีทันดร ที่ 05 มิ.ย. 05, 08:15
 "...เราเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ซึ่งนับว่าเป็นสถานที่ศึกษาที่สูงและมีเกียรติ ย่อมต้องรู้ผิดและชอบแล้วว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว ละสิ่งใดควรประพฤติและไม่ควรเพียงใด ตลอดจนกิริยามารยาทเราต้องบังคับใจของเราให้เป็นผู้ที่อยู่ในศีลธรรมอันดีงามเสมอ จึงจะได้ชื่อว่า เป็นนักศึกษาที่ดีของชาติ..."

พระบรมราโชวาท
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
ในโอกาสเสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ที่สำเร็จการศึกษาประจำปีการศึกษา ๒๔๘๗
วันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙ เวลา ๑๔.๐๐ น.
ณ หอประชุมจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย


กระทู้: วันที่ 9 มิถุนายน วันอานันทมหิดล
เริ่มกระทู้โดย: นทีสีทันดร ที่ 05 มิ.ย. 05, 08:25

ภาพพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย  


กระทู้: วันที่ 9 มิถุนายน วันอานันทมหิดล
เริ่มกระทู้โดย: นทีสีทันดร ที่ 05 มิ.ย. 05, 08:28

ภาพพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย  


กระทู้: วันที่ 9 มิถุนายน วันอานันทมหิดล
เริ่มกระทู้โดย: นทีสีทันดร ที่ 05 มิ.ย. 05, 08:51
 ข้อมูลทั้งหมดนำมาจากเวบไซต์ของสโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครับhttp://smcu.md.chula.ac.th/modules.php?name=News&file=article&sid=76 (ได้ขออนุญาตผู้จัดทำแล้ว)


กระทู้: วันที่ 9 มิถุนายน วันอานันทมหิดล
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 05 มิ.ย. 05, 16:41
 ขออนุญาตเข้ามาเรียนถามท่านผู้รู้หน่อยครับ
คือ ผมสังเกตเห็นว่าช่วงปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ท่านจะทรงฉลองพระเนตรด้วย เหมือนรูปที่ท่านพระราชทานปริญญาบัตร ในความเห็นที่ 12 ของพี่นทีหนะครับ
เลยอยากเรียนถามครับ ว่าท่านเริ่มทรงฉลองพระเนตรเมื่ไหร่เหรอครับเวลาเห็นพระบรมฉายาลักษณ์จะได้คะเนได้ถูกว่าอยู่ในช่วงไหนหนะครับ


ปล. นึกถึงตอนเป็นนิสิตปีหนึ่งจัง ถ้าใส่ชุดพิธีการแล้วฝนตกล่ะก็..... หวังว่าคงไม่มีใครเผลอใส่เครื่องในที่ไม่ใช่สีขาวนะครับ หุหุ


กระทู้: วันที่ 9 มิถุนายน วันอานันทมหิดล
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 07 มิ.ย. 05, 16:49
 ผมว่ารัชกาลที่  8  เริ่มทรงฉลองพระเนตร  ในช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่  2  นะครับ  เพราะพระบรมฉายาลักษณ์ในหนังสือเจ้านายเล็กๆ  -  ยุวกษัตริย์  จะมีภาพพระองค์ทรงฉลองพระเนตรในช่วงนั้นอ่ะครับ


กระทู้: วันที่ 9 มิถุนายน วันอานันทมหิดล
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 15 ธ.ค. 05, 23:06
 ค.ห. ของคุณ สมมติ ย้ายมาจากกระทู้การสืบสันตติวงศ์ ค่ะ

*********
อันที่จริงแล้วผมก็ได้อ่านมาและได้พอเข้าใจว่าตามจริงผู้ที่มีสิทธิ์ในราชบัลลังนั้นมักจะเป็น
เจ้าฟ้าที่ประสูติจากครรภ์พระมเหสีเพื่อจะได้มีอิศริยศอิศริยศักดิ์เจ้าฟ้าที่จะสืบทอดราชบัลลัง
ยกเว้นรัชกาลที่3น๊ะ เพราะประสูติในเจ้าจอมมารดาแต่เหล่าพระบรมวงศ์
ทูลเกล้าถวายราชบัลลังแต่สังเกตุดูว่ารัชกาลที่3ไม่โปรดเกล้าที่จะสถาปนาพระมเหสี
เพราะไม่ทรงอยากให้มีพระโอรสที่เป็นเจ้าฟ้าเสมอเหมือนเจ้าฟ้ามงกุฎก็เพราะว่าคงเข้าใจกันดีน๊ะ
ขี้เกียจอธิบาย แต่ในรัชกาลที่5มีพระมเหสีในพระองค์ถึง3พระองค์คือ
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สมเด็จนางเจ้าสว่างวัฒนาบรมราชเทวี
สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีบรมราชีนีนาถ

แสดงว่าจะต้องมีเจ้าฟ้าสืบทอดราชบัลลังถึง3สายแต่ว่าเจ้าฟ้าในพระนางเรือล่มได้ทิวงคต
ตอนเรือล่มนั้นแล้วก็สิ้นสุดส่วน ของพระพันปีหลวงก็ได้สิ้นสุดลงตอนรัชกาลที่7 แต่ที่เหลืออยู่ก็มี
พระเจ้าภคินีเธอที่เป็นราชธิดาในรัชกาลที่6 สว่นรัชกาลปัจจุบันและรัชกาลที่8
คือสายสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาบรมราชเทวีแต่ไม่ว่าเจ้าฟ้าพระองค์อื่นที่อยู่สายนี้
จะถูกข้ามไปหรือยังแต่ว่าการสืบทอดราชบัลลังนั้นไม่ทราบว่าสมัยนี้ยังมีมลเฑียรบาลด้วยเหรอ
แต่เห็นว่ายกเลิกไปแล้วมีแต่รัฐธรรมนูญว่าด้วยหมวดของพระมหากษัตริย์ที่มีวรรคนึง
บอกว่าเป็นพระวินิจฉัยของพระมหากษัตริ์หรือการเห็นชอบของพระบรมวงศ์ไม่ใช่เหรอ
แต่ว่าเรื่องของอิศริยายศอิยศักย์อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งในการเลือกแต่ก็มีปัจจัยอื่นด้วย
เช่นการเหมาะสมและเป็นที่เห็นชอบในเครือพระบรมวงศ์จะเห็นได้จากรัชกาลที่3และรัชกาลปัจจุบัน
จะเห็นว่าในเมือพระราชชนกในรัชกาลปัจจุบันได้สิ้นพระชนแล้วแต่ก็ยังมีเจ้าฟ้าพระองค์ถัดลงมาอีก
แต่ทำไมพระบรมวงศ์ถึงอัญเชิญรัชกาลที่8และรัชกาลปัจจุบันขึ้นครองราชหละทั้งที่ขณะนั้น
ยังดำรงค์พระยศเป็นพระองค์เจ้าหลานเธออยู่เลย

วันที่ 15 ธ.ค. 2548 - 21:07:29
โดย: สมมติ  [IP: 58.64.102.167,,]


กระทู้: วันที่ 9 มิถุนายน วันอานันทมหิดล
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 16 ธ.ค. 05, 08:02
 การสืบสันตติวงศ์ในสมัยรัชกาลที่  5

สายที่  1  สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชีนีนาถ  (สิ้นสุดสายนี้เมื่อรัชกาลที่  7  ทรงสละราชสมบัติ)
สายที่  2  สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา  พระบรมราชเทวี  (ราชสกุล "มหิดล")
สายที่  3  พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี  พระราชเทวี  (ราชสกุล "บริพัตร")
สายที่  4  พระอัครชายาเธอ  พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์  (ราชสกุล "ยุคล")
...

พระมเหสีเทวีทั้ง  4  พระองค์นี้  ทรงมีพระราชโอรสเป็น "เจ้าฟ้า"

...

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช  2540

หมวดที่  2  พระมหากษัตริย์

มาตรา 22 ภายใต้บังคับมาตรา 23 การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467  (กฎมณเฑียรบาลนี้ตราขึ้นในสมัยรัชกาลที่  6)

มาตรา 23 ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์พระพุทธศักราช 2467 แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบ และให้ประธานรัฐสภา

...


กระทู้: วันที่ 9 มิถุนายน วันอานันทมหิดล
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 16 ธ.ค. 05, 08:07
 กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467

หมวด 4 ว่าด้วยลำดับชั้นผู้ควรสืบราชสันตติวงศ์

มาตรา 8 ถ้าหากว่ามีเหตุอันไม่พึงปรารถนา คือสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตลงโดยมิได้ทรงสมมุติพระรัชทายาทไว้ก่อน ท่านว่าให้เป็นหน้าที่ ท่านเสนาบดีอัญเชิญเสด็จเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์พระองค์ที่ 1 ในลำดับสืบพระราชสันตติวงศ์ ดังได้แถลงไว้ใน มาตรา 9 ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ สนองพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ที่ได้เสด็จสวรรคตลงแล้วนั้นต่อไป แต่ผู้ที่จะอัญเชิญขึ้นทรงราชย์เช่นนี้ต้องมิใช่ผู้ที่ตกอยู่ในเกณฑ์ ยกเว้นที่ปรากฏอยู่ ใน มาตรา 11 และ มาตรา 12 แห่งกฎมณเฑียรบาลนี้

มาตรา 9 ลำดับชั้นเชื้อพระบรมราชวงศ์ซึ่งจะควรสืบราชสันตติวงศ์ ได้นั้น ท่านว่าให้เลือกตามสายตรงก่อนเสมอ ต่อไม่สามารถจะเลือกทางสายตรง ได้แล้ว จึงให้เลือกตามเกณฑ์ที่สนิทมากและน้อย

เพื่อให้สิ้นสงสัย ท่านว่าให้วางลำดับสืบราชสันตติวงศ์ไว้ดังต่อไปนี้

(1) สมเด็จหน่อพุทธเจ้า
(2) ถ้าแม้ว่าสมเด็จหน่อพุทธเจ้าหาพระองค์ไม่แล้ว ให้อัญเชิญ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จหน่อพุทธเจ้าและพระอัครชายาของสมเด็จ หน่อพุทธเจ้าพระองค์นั้นขึ้นทรงราชย์ หรือถ้าพระราชโอรสพระองค์ใหญ่หา พระองค์ไม่แล้ว ก็ให้อัญเชิญพระราชโอรสพระองค์รอง ๆ ต่อไปตามลำดับ พระชนมายุ
(3) ถ้าแม้ว่าสมเด็จหน่อพุทธเจ้าหาพระองค์ไม่แล้ว และไร้พระราช โอรสของท่านด้วย ก็ให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่ 2 ในสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอัครมเหสี
(4) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่ 2 หาพระองค์ ไม่แล้ว แต่ถ้ามีพระโอรสอยู่ ก็ให้อัญเชิญพระโอรส โดยอนุโลมตามข้อความใน ข้อ 2 แห่งมาตรานี้
(5) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระอัครมเหสี หาพระองค์มิได้แล้ว และไร้พระราชโอรสของท่านด้วย ก็ให้อัญเชิญ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์อื่น ๆ ในสมเด็จพระอัครมเหสี หรือพระโอรส ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น ๆ สลับกันไปตามลำดับ โดยอนุโลมตาม ข้อความในข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 4 แห่งมาตรานี้
(6) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในพระอัครมเหสีหาพระองค์ ไม่แล้ว และพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอนั้น ๆ ก็หาไม่ด้วยแล้ว ให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในพระมเหสีรองถัดลงไปตามลำดับชั้น พระอิสริยศแห่งพระมารดา หรือถ้าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอหาพระองค์ไม่แล้ว ก็ให้อัญเชิญพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอนั้น ๆ สลับกันตามลำดับ โดยอนุโลมตามข้อความในข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 4 แห่งมาตรานี้
(7) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในพระมเหสีรองหาพระองค์ ไม่สิ้นแล้ว และพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอนั้น ๆ ก็หาไม่ด้วยแล้ว ให้อัญเชิญพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่มีพระชนมายุมากที่สุด หรือถ้าพระเจ้า ลูกยาเธอพระองค์นั้นหาพระองค์ไม่แล้ว ก็ให้อัญเชิญพระโอรสพระองค์ใหญ่ของ พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น แต่ถ้าแม้ว่าพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่มีพระชนมายุ มากที่สุดนั้นหาพระองค์ไม่แล้ว และพระโอรสของท่านก็หาไม่ด้วยแล้ว ก็ให้อัญเชิญพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่มีพระชนมายุถัดลงมา หรือพระโอรสของ พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น ๆ สลับกันไปตามลำดับ โดยอนุโลมตามข้อความ ในข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 4 แห่งมาตรานี้
(8) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไร้พระราชโอรสและพระราชนัดดา ท่านว่าให้อัญเชิญสมเด็จพระอนุชาที่ร่วมพระราชชนนีพระองค์ที่มีพระชนมายุถัดลง มาจากพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์
(9) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระอนุชาพระองค์ที่ควรได้ทรงเป็นทายาทนั้นหา พระองค์ไม่เสียแล้ว ท่านว่าให้อัญเชิญพระโอรสของสมเด็จพระอนุชาพระองค์นั้น ตามลำดับ โดยอนุโลมตามข้อความในข้อ 2 แห่งมาตรานี้
(10) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระอนุชาพระองค์ใหญ่หาพระองค์ไม่แล้ว และ พระโอรสของท่านก็หาพระองค์ไม่อีกด้วย ท่านว่าให้อัญเชิญสมเด็จพระอนุชา ที่ร่วมพระชนนีพระองค์ที่ถัดลงมาตามลำดับพระชนมายุ หรือพระโอรสของสมเด็จ พระอนุชาพระองค์นั้น ๆ สลับกันไปตามลำดับ โดยอนุโลมตามข้อความในข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 4 แห่งมาตรานี้
(11) ถ้าแม้สมเด็จพระอนุชาร่วมพระชนนีหาพระองค์ไม่สิ้นแล้ว และพระโอรสของสมเด็จพระอนุชานั้น ๆ ก็หาไม่ด้วยแล้ว ท่านว่าให้อัญเชิญ สมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระอนุชาต่างพระชนนี หรือพระโอรสของสมเด็จ พระเชษฐาและสมเด็จพระอนุชานั้น ๆ สลับกันไปตามลำดับ โดยอนุโลมตาม ข้อความในข้อ 2 ข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 6 แห่งมาตรานี้
(12) ถ้าแม้สมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระอนุชาต่างพระชนนีก็หา พระองค์ไม่สิ้นแล้ว และโอรสของสมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระอนุชานั้นก็หา ไม่ด้วยแล้ว ท่านว่าให้อัญเชิญพระเจ้าพี่ยาเธอและพระเจ้าน้องยาเธอ หรือพระโอรสของพระเจ้าพี่ยาเธอและพระเจ้าน้องยาเธอตามลำดับสลับกัน โดยอนุโลมตามข้อความในข้อ 7 แห่งมาตรานี้
(13) ต่อเมื่อหมดพระเจ้าพี่ยาเธอและพระเจ้าน้องยาเธอ อีกทั้งหมด พระโอรสของท่านนั้น ๆ แล้วไซร้ ท่านจึงให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอและพระเจ้าบรมวงศ์เธอ หรือพระโอรสและเชื้อสายของท่านพระองค์นั้น ตามลำดับแห่งความสนิทมากและน้อย โดยอนุโลมตามข้อความที่กล่าวมาแล้ว ตั้งแต่ข้อ 1 ถึงข้อ 12 แห่งมาตรานี้

วันที่ 17 ส.ค. 2548 - 01:56:17
โดย: UP  [IP: 210.246.74.57,,]
----

ถ้าคุณอ่านโดยละเอียด  ผมว่าคุณสมมติน่าจะเข้าใจมากอะไรขึ้นนะครับ


กระทู้: วันที่ 9 มิถุนายน วันอานันทมหิดล
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 16 ธ.ค. 05, 08:10
 *โทษทีคับพิมพ์ผิด

ลองทำความเข้่าใจดดีๆ  นะครับ  แล้วคงจะเข้าใจมากขึ้น