เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์โลก => ข้อความที่เริ่มโดย: ประกอบ ที่ 30 พ.ย. 12, 00:18



กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 30 พ.ย. 12, 00:18
ตั้งชื่อแปลกๆ แบบนี้ไม่ได้จะพูดถึงจอร์จไหนหรอกครับ  ว่าจะเอาเรื่องของพระเจ้าจอร์จที่ 1 แห่งอังกฤษมาเล่าสู่กันฟังบ้าง


ก่อนหน้านี้ได้อ่านเรื่องโรแมนติคจากที่เรือนไทยนี่แหละ ระหว่างบอนนี่ปรินซ์ชาลี ที่มาทวงบัลลังก์อังกฤษแต่ก็พ่ายแพ้ ต้องระหกระเหเร่ร่อนหนีการตามล่าจากทหารอังกฤษเพื่อลงเรือหนีไปฝรั่งเศส โดยได้รับการช่วยเหลือและพาหลบหนีจากน้องนางสาวสวยชาวสก๊อต จนเป็นตำนานรักสุดหวานที่จบลงแบบทั้งคู่ต้องจากกันชั่วชีวิต   นำมาสู่ความประทับใจและสงสัยว่าเอ๊ะ กษัตริย์อังกฤษราชวงศ์ฮันโนเว่อร์นี้เค้ามาจากไหนกัน ไหงจู่ๆ มาครองบังลังก์ฝรั่งอังกฤษได้


ตามประสานักเรียนโข่ง นานๆ ครั้งขอเสนอหน้ามายืนรายงานหน้าชั้นหน่อย  และเพื่อเป็นการเพิ่มภาระท่านอาจารย์หลายๆ ท่านในเรือนไทยไปด้วย  โดยเฉพาะท่านอาจารย์ใหญ่เทาชมพูของกระผม ให้ท่านต้องคอยหาข้อมูล เกร็ดประวัติศาสตร์ เพลง คลิปต่างๆ มาเสริมในกระทู้ไปด้วย เป็นทุกขลาภยิ่งนัก  ก็รอเริ่มเรื่อง ณ บัดนี้   น่าน ไม่ทันไรนักเรียนสั่งการบ้านให้เหล่าท่านอาจารย์ก่อนแล้ว


กระทู้นี้คงไปแบบช้าบ้างเร็วบ้าง สะกดผิดๆ ถูกๆ บ้าง ตามประสานักเรียนขี้เกียจแถมขี้หลงขี้ลืมนะคร๊าบบ ขออภัยไว้ก่อนด้วย

ภาพของจอร์จส้มหล่น หรือพระเจ้าจอร์จที่ 1 แห่งอังกฤษ


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 30 พ.ย. 12, 00:27
จะเข้าใจระบบการสืบราชสมบัติของอังกฤษช่วงสมัยจอร์จที่ 1 ได้ อาจต้องเริ่มต้นทำความเข้าใจย้อนหลังกันไปซักเล็กน้อยร้อยกว่าปีก่อนสมัยของจอร์จ   คือตั้งแต่สมัยกษัตริย์ที่ใช้ราชินีเปลืองมากคือเฮนที่ที่ 8 ก่อน  เฮนที่ที่ 8 (1491 –1547) ขึ้นครองราชน์ในปี  1509  ตั้งแต่ก่อนยุคที่เฮนรี่เป็นกษัตริย์นั้น อังกฤษเป็นประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิก ดังนั้นจึงนับถือโป๊ปที่กรุงโรมด้วยในฐานะประมุขของศาสนจักร   ศาสนจักรคาธอลิกมีอำนาจและอิทธิพลไม่เบาในเกาะอังกฤษ   ราชินีองค์แรกของเฮนรี่ คือราชินีแคธเธอรินแห่งอารากอนก็มาจากสเปน และได้ชื่อว่าเป็นคริสตศาสนิกชนที่เคร่งครัดมาก


แคธเธอรินราชินีพระองค์แรกของพระองค์นั้นที่จริงเดินทางมาที่อังกฤษเพื่ออภิเษกกับเจ้าชายอาเธอร์ รัชทายาทของอังกฤษในขณะนั้น ซึ่งเป็นพี่ชายของเฮนรี่ที่ 8  แต่หลังแต่งงานไม่นาย เจ้าชายอาเธอร์ก็สิ้นพระชนม์ไป ทำให้เฮนรี่เจ้าชายหนุ่มได้เป็นรัชทายาทแทน และพ่วงรับเอามเหสีของพี่ชายมาด้วย  ต่อมาเฮนรี่ก็ขึ้นเป็นกษัตริย์ที่ขึ้นครองราชน์ตั้งแต่วัยยังหนุ่มแน่น แคทเธอรินก็กลายเป็นราชินีแคทเธอรินไป


ปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาเกิดขึ้น เมื่อเฮนรี่ต้องการหย่าขาดจากแคธเธอรีนแห่งอารากอน เพื่อไปแต่งงานกับเอ๊าะๆ แอนน์โบลีน  เนื่องจากแอนน์ตั้งเงื่อนไขไว้ว่า เธอจะยอมโอเคซิกกาแร็ตด้วยก็ต่อเมื่อเฮนรี่แต่งงานกับเธออย่างเป็นกิจลักษณะเท่านั้น  เมื่อความมักใหญ่ใฝ่สูงมาเจอกับตัณหา  ความเปลี่ยนแปลงที่จะต้องกระทบต่อคนจำนวนมากและประวัติศาสตร์อีกหลายร้อยปีให้หลังจึงเริ่มขึ้น

ภาพเฮนรี่ที่ 8 สมัยยังเอ๊าะๆ ขึ้นครองราชน์ใหม่ๆ อายุ 18 ปี ในปี 1509
ภาพแคทเธอรินแห่งอารากอน สมัยยังเอ๊าะๆ เช่นกัน


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 30 พ.ย. 12, 00:33
จริงๆ จะบอกว่าเฮนรี่ต้องการหย่าเพียงเพราะต้องการแต่งงานกับแอนน์ก็คงไม่เป็นธรรมนัก  เพราะแม้จะละโมภโลภมากเต็มไปด้วยตัณหาแต่เฮนรี่ไม่ใช่กษัตริย์ที่โง่เง่าหรือไร้ความสามารถ  แต่เป็นนักการเมืองรอบจัด อำมหิต และมีใคร่ครวญผลได้ผลเสียก่อนเสมอ 


ปัญหาของเฮนรี่ในขณะนั้นคือ แม้จะครองราชน์มานานกว่า 10 ปีแล้ว เฮนรี่ก็ยังไม่มีเจ้าชายรัชทายาทเลย  ที่จริงเฮนรี่มีบุตรชายหลายคน แต่ล้วนแต่เกิดจากนางสนมลับๆ ทั้งนั้น เช่นมีลูกชายลูกสาวกับแมรี่ โบลีน พี่สาวของแอนน์ โบลีน แต่เฮนรี่ไม่ได้ยอมรับออกหน้าออกตา  คนที่เฮนรี่ยอมรับว่าเป็นลูกชายออกหน้าออกตาคือเฮนรี่ ฟิตรอยซ์  แต่ก็มีสถานะเป็นเพียงลูกนอกสมรส   


รัชทายาทที่ถูกต้องตามกฏหมายมีเพียงเจ้าหญิงแมรี่ที่เกิดกับราชินีแคทเธอรีนองค์เดียวเท่านั้น   ในขณะที่ตัวเฮนรี่เองไม่เคยเชื่อความสามารถของผู้หญิงและต้องการแต่รัชทายาทชาย ซึ่งเฮนรี่คิดว่าจะช่วยค้ำบังลังก์ของเฮนรี่ให้มั่นคงได้มากกว่า แถมราชินีแคทเธอรีนก็อยู่ในช่วงวัยกลางคนไปแล้ว พระนางอายุมากกว่าเฮนรี่เสียอีก  ความหวังที่พระนางจะให้กำเนิดรัชทายาทได้อีกนั้นเลือนลางเต็มทน


ทางเลือกของเฮนรี่ในขณะนั้นจึงมี 3 ทาง 

ภาพของเฮนรี่ ฟิตรอยซ์ (1519 - 1536) ต่อมาได้เป็นดุ๊คแห่งริชมอนด์และซัมเมอร์เซ็ต  ตายตั้งแต่ยังหนุ่มอายุแค่ 17


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 30 พ.ย. 12, 00:39
ทางแรกคือการยกเฮนรี่ ฟิตรอยซ์ ลูกชายนอกสมรสของเฮนรี่ที่เกิดจากนางสนมขึ้นเป็นทายาทที่ชอบธรรม  แต่ทางเลือกนี้ค่อนข้างมีอุปสรรค เพราะเฮนรี่ ฟิตรอยซ์เป็นลูกนอกสมรสที่เกิดจากนางสนมเท่านั้น ถ้ายกขึ้นมาจะเกิดความขัดแย้งทั้งจากเหล่าขุนนางเอง และกับศาสนจักร ทางเลือกนี้จึงตกลงไป


ทางเลือกที่ 2 ก็คือ หาทางให้เจ้าหญิงแมรี่อภิเษกสมรส และหวังว่าเจ้าหญิงจะให้กำเนิดบุตรชาย เพื่อจะให้หลานชายองค์นี้เป็นทายาทบัลลังก์สืบไป  แต่ทางเลือกนี้ช่างไม่แน่นอนและรับประกันอะไรไม่ได้ มิหนำซ้ำขณะนั้นเจ้าหญิงแมรี่ยังเป็นเพียงเด็กผู้หญิงอยู่เลย (ซึ่งในเวลาต่อมา แม้จะอภิเษกสมรส  เจ้าหญิงแมรี่ก็ไม่เคยให้กำเนิดบุตรเลย ไม่ว่าจะชายหรือหญิง)


ทางเลือกที่ 3 หย่าซะ แล้วหาเอ๊าะๆ วันเจริญพันธุ์มาเป็นราชินีแทน แน่นอน ว่าเฮนรี่ต้องยินดีจะเลือกทางนี้แน่ๆ อยู่แล้ว


ภาพเจ้าหญิงแมรี่ (1515 - 1558) สมัยยังเอ๊าะๆ อีกเช่นกัน  ต่อมาได้ขึ้นครองราชน์เป็นราชินีแมรี่ที่ 1 แห่งอังกฤษ  (1515 - 1558)


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 30 พ.ย. 12, 00:51
แม้เฮนรี่จะเลือกทางเลือกที่ 3 แต่ก็ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ นัก เพราะการหย่าต้องได้รับประกาศรับรองจากศาสนจักรในโรม เฮนรี่ใช้ข้ออ้างว่าการแต่งงานเป็นโมฆะเพราะราชินีแคทเธอรีนเคยแต่งงานกับเจ้าชายอาเธอร์ พี่ชายของเฮนรี่มาก่อน ภายหลังอาเธอร์ตายเจ้าหญิงจึงมาแต่งงานกับเฮนรี่ การที่น้องชายแต่งงานกับอดีตภรรยาของพี่ชายทำให้การแต่งงานต้องเป็นโมฆะ  


แน่นอนว่าเมื่ออ้างกันดื้อๆ แบบนี้ ทางราชสำนักสเปนหรือคริสตศาสนจักรคาธอลิกย่อมไม่ยินยอม   ดังนั้นเฮนรี่จึงประกาศปฏิรูปคริสตจักรในอังกฤษโดยแยกตัวให้เป็นอิสระไม่ขึ้นกับศาสนจักรในโรมอีกต่อไป  ชาวคริสต์ในอังกฤษก็เลยแบ่งเป็นพวกคาธอลิกที่ยังยอมรับอำนาจของสันตปาปา กับพวกโปรแตสแตนท์ภายใต้ Church of England ไป ซึ่งทำให้เฮนรี่ยิงทีเดียวได้นกหลายตัว  คือสามารถหย่าและไล่ราชินีแคทเธอรินไปอยู่สำนักนางชี   ได้แต่งงานใหม่กับเอ๊าะๆ และได้ขจัดอำนาจของศาสนจักรในอังกฤษจากที่ขึ้นอยู่กับโป๊ป ให้มาอยู่ภายใต้อำนาจกษัตริย์แทน


พระนางแคทเธอรินยังคงยึดมั่นศรัทธาต่อคริสตจักรคาธอลิกอย่างเหนียวแน่น รวมถึงเจ้าหญิงแมรี่ด้วย ในขณะที่ขุนนางราษฎรส่วนใหญ่เปลี่ยนไปเป็นโปรแตสแตนท์ตามกษัตริย์เฮนรี่ไป แต่คนที่ยังศรัทธาต่อศาสนจักรเดิมก็ยังมีไม่น้อย รวมทั้งในราชสำนักเอง ดังนั้นความขัดแย้งทางศาสนาจึงยังคงมีอยู่  แถมการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปศาสนาคริสต์ในสมัยเฮนรี่ ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างสงบราบลื่นด้วย มีผู้ที่ต่อต้านทั้งนักบวชตำแหน่งสูงๆ หรือขุนนางถูกขับไล่ ริบทรัพย์ ทรมาน กักขังและถูกสังหารไปด้วย


เมื่อขับไล่ราชินีแคทเธอรินออกไปแล้ว เฮนรี่ก็ได้แต่งงานกับแอนน์ โบลีนสมใจในปี 1533 ทั้งสองครองรักกันอย่างมีความสุขสืบไป ทั้งสองมีพยานรักด้วยกัน 1 คน คือเจ้าหญิงอลิซาเบธ   อ้า จบแบบนี้มันนิทานแล้วครับ ไม่ใช่ของจริง

ภาพแอนน์ โบลีน สมัยยังเอ๊าะๆ อีกแล้วครับท่าน  จริงๆ แล้วมีแต่รูปสมัยเอ๊าะๆ เท่านั้นด้วย เพราะยังไม่ทันเลยวัยเอ๊าะ ราชินีแอนน์ โบลีนก็โดนตัดหัวซะแล้ว  อ้า หนีไปนอนก่อนครับ พรุ่งนี้ค่อยมาต่อ  ;D


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ย. 12, 09:46
มิเสียแรงที่คุณประกอบถูกเฆี่ยนตีอย่างหนักหลังไมค์มาหลายหน (ทั้งจากดิฉันและท่านอาจารย์ใหญ่กว่า)  เลยบรรลุเคล็ดวิชาได้เร็ว  ไม่ทันไรทำวิทยานิพนธ์ได้แล้ว
ระหว่างคุณประกอบไปพักผ่อนเอาแรง   ขอคั่นโปรแกรมด้วยเพลง I'm Henry the VIII  ของ- Herman's Hermits  เป็นกลุ่มนักร้องชาวอังกฤษในยุคเดียวกับสี่เต่าทอง คือช่วงทศวรรษ 1960s   วัยรุ่นไทยยุคโก๋หลังวังน่าจะรู้จัก แม้ไม่แพร่หลายเท่าสี่เต่าทอง   
ถ้าอยากรู้รายละเอียดคงต้องถามคุณ SILA ค่ะ   ตอนนี้เอาเพลงไปฟังฆ่าเวลาก่อนคุณประกอบกลับมา

http://www.youtube.com/watch?v=znv_sUPaKfE


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 30 พ.ย. 12, 18:17
ฮิฮิ สำหรับนักเรียนเด็กเก(ไม่ใช่เกย์)  ถึงจะโดนเฆี่ยนโดนตีก็ไม่ค่อยหลาบจำ  ไอ้นิสัยเสียๆ นี่แก้ไม่ค่อยได้  เห็นท่าว่าครูบาอาจารย์ยังต้องอบรมสั่งสอนเฆี่ยนตีกันอีกหลายยกหละครับ ตามประสาพวกดื้อตาใส แต่โดนตีเท่าไหร่ก็ไม่หนีไปไหน วนเวียนแถวนี้แหละครับ  8)


อ้า เข้าเรื่องกันต่อ

เมื่อได้แต่งงานกับแอนน์สมใจ จนได้บุตรสาวมาอีกหนึ่งคน คือเจ้าหญิงอลิซาเบธ เฮนรี่ก็เบื่อแอนน์อีกแล้ว   เพราะแอนน์ไม่สามารถมีรัชทายาทชายให้  แต่หลักๆ น่าจะเพราะหมดแรงจูงใจไร้แรงกระตุ้นกับแอนน์แล้ว คือพอได้แล้วมันก็เบื่อ มันไม่ท้าทายไม่เหมือนตอนยังไม่ได้ พระเจ้าเฮนรี่กับนายประกอบนี่มีอะไรเหมือนๆ กันอย่างน้อยก็ 2 อย่าง คืออ้วนกับขี้เบื่อเหมือนกันเลย   


หลังจากแอนน์แท้งบุตรชาย  เฮนรี่ก็หันไปเล็งสาวใหม่ๆ แทน ซึ่งทุกคนก็เห็นความสำเร็จของแอนน์แล้วว่าเป็นราชินีดีกว่าเป็นสนม   ในที่สุดเฮนรี่ก็หาเรื่องกล่าวหาว่าแอนน์คบชู้และก็ตัดหัวซะ จากนั้นเฮนรี่ก็แต่งๆ หย่าๆ  คือตกพุ่มม่ายเมียตายบ้าง หย่ากับราชินีใหม่บ้าง สั่งตัดหัวราชินีใหม่บ้าง ใช้ราชินีเปลืองมากๆ  จนเฮนรี่สิ้นพระชนม์ในปี 1547 แต่ก่อนหน้านั้นเฮนรี่ได้รัชทายาทชายสมใจ คือเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ที่เกิดจากราชินีคนที่ 3 คือเจน ซีมัวร์  ราชินีคนที่ 3 นี้ได้ชื่อว่าเป็นคนอ่อนหวานจิตใจดี สิ้นพระชนม์จากการคลอดบุตร คือเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด


หลังยุคสมัยเฮนรี่ เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด (1537 - 1553) ขึ้นครองราชน์เป็นยุวกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 6 ตั้งแต่พระชนม์แค่ 10 พรรษา จนสิ้นพระชนม์ในปี 1553 เมื่อมีพระชนม์ได้เพียง 16 พรรษาเท่านั้น ยังไม่ทันได้มีอำนาจจริงๆ เลย เพราะในยุคสมัยของเอ็ดเวิร์ดที่ 6 ยังเด็กนัก  อำนาจการปกครองอยู่ในมือของผู้สำเร็จราชการ   


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ย. 12, 18:41
วิทยานิพนธ์คุณประกอบโดดพรวดไปถึงรัชสมัยยุวกษัตริย์ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 6 เสียแล้ว  ยังเห็นหน้าพระมเหสีทั้ง 6 ของพระเจ้าเฮนรี่ที่แปดไม่ครบเลย    ดิฉันเลยไปหามาให้
คนแรกคือพระนางแคทเธอรีนแห่งอารากอน ที่ถูกหย่าขาดกลายเป็นแม่ร้างไปไม่รู้ตัว  แต่เธอก็ยังเคราะห์ดีกว่าคนอื่นๆ ตรงที่หัวยังตั้งอยู่บนบ่าได้ตามปกติตลอดชีวิต
คนที่สองคือแอนน์ โบลีนที่ถูกตัดสินประหารชีวิตข้อหาคบชู้   ซึ่งเธอไม่ยอมสารภาพจนแล้วจนรอด   ก็จะให้สารภาพยังไงในเมื่อเธอไม่ได้ทำ      หลังถูกประหารแล้ว วิญญาณของแอนน์ ก็ยังร่อนเร่ไปเยี่ยมบ้านโน้นบ้านนี้ที่เธอเคยอยู่ เป็นที่เลื่องลือไปทั่วอังกฤษมาสี่ศตวรรษแล้ว   
ดิฉันเคยยุให้คุณประกอบไปพักตามสถานที่พวกนั้นบ้าง เผื่อจะเจอ  ได้กลับมาเล่าให้พวกเราฟังกันบ้าง ดังกันละคราวนี้
คนที่สามคือเจน ซีมอร์ หรือซีมัวร์    คนนี้โชคดีที่ไม่เคยทำให้พระเจ้าเฮนรี่ขัดพระทัย เป็นที่โปรดปรานเพราะผลิตรัชทายาทให้ได้ แต่เธอก็บุญน้อย คลอดเจ้าชายแล้วก็สิ้นชีพไป
คนที่สี่คือเจ้าหญิงแอนน์แห่งคลีฟ  จากเยอรมัน  พระเจ้าเฮนรี่ไม่เคยเห็นตัวจริง  เห็นแต่รูปที่มีผู้วาดมาถวายให้ทอดพระเนตร  เป็นภาพงามมาก  ก็หลงรักเหมือนพระอภัยหลงรูปนางละเวง   ตกลงเสกสมรสด้วย   
แต่พอเจ้าหญิงเดินทางมาถึงอังกฤษ เจอตัวจริง พบว่าไม่งามอย่างรูป    พระเจ้าเฮนรี่ก็ไม่โปรดอย่างยิ่ง แทบว่าจะไม่อยากมองหน้า   แต่ทำไงได้ในเมื่อตกปากขอแต่งไปแล้วก็ต้องแต่ง   แต่งได้พักหนึ่งก็ทรงขอหย่าอย่างประนีประนอมว่าจะทรงเลี้ยงดูเธออย่างดีเหมือนพระญาติ   พระราชินีแอนน์เห็นตัวอย่างจากแอนน์โบลีนแล้วก็ทรงยินยอมโดยดี    จึงรอดจากขวานในหอคอยลอนดอนไปได้จนตลอดชีวิต
คนที่ห้าเป็นหญิงสาวสามัญชนที่หน้าตาสะสวยชื่อแคทเธอรีน ฮาเวิร์ด   พระเจ้าเฮนรี่โปรดหล่อนมาก ทั้งๆหล่อนมีแฟนอยู่แล้ว  พอถูกเลือกเป็นราชินีก็เลยต้องเลิกกับแฟน มาอยู่ในวังกับพระเจ้าเฮนรี่   อยู่ได้พักหนึ่งก็ถูกกล่าวหาว่าคบชู้   บางกระแสบอกว่าเป็นแฟนคนเดิมกำลังจะไปศึกเลยมาขอล่ำลากัน   มีปากหอยปากปูไปทูลฟ้อง เลยกริ้ว   พระนางก็ถูกประหารเรียบร้อยไปเป็นเพื่อนแอนน์ในปรโลกอีกคน      แต่คนนี้ไม่ได้ข่าวว่าเป็นวิญญาณเฮี้ยนอย่างแอนน์
คนที่หกหรือคนสุดท้ายชื่อแคทเธอรีน พาร์ เป็นแม่ม่ายของขุนนางผู้ดีมีตระกูลมาก่อน     อยู่กินกับพระเจ้าเฮนรี่มาได้ ไม่ได้มีข้อหาหนักๆอะไร จนพระเจ้าเฮนรี่สิ้นพระชนม์ไปก่อน   แต่ก็มีเสียงก๊อสสิปว่า ถ้าพระองค์มีอายุยืนยาวกว่านี้ก็ไม่แน่เหมือนกันว่าพระนางแคทเธอรีน พาร์จะรอดคมขวานไปได้      เพราะอย่างที่คุณประกอบว่า คือพระเจ้าเฮนรี่ท่านขี้เบื่อ
เมื่อพระเจ้าเฮนรี่สิ้นพระชนม์   เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดพระโอรสขึ้นครองราชย์   พระนางแคทเธอรีน พาร์ก็สมรสใหม่กับผู้สำเร็จราชการชื่อดยุคแห่งซอมเมอเซท   พี่ชายของพระราชินีเจน ซีมอร์   ซึ่งเป็นลุงของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 6 

คุณประกอบเข้าลอนดอน  เคยพาหนุ่มน้อย 7 ขวบไปดูพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งมาดามทุสโซด์หรือยังคะ  มีหุ่นพระเจ้าเฮนรี่กับพระมเหสีทั้งหกด้วย


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 30 พ.ย. 12, 19:00
ก่อนหน้าจะสิ้นพระชนม์ไม่นาน เมื่ออาการป่วยของเอ็ดเวิร์ดเริ่มเด่นชัดและมีท่าทางแสดงว่าไม่รอดแน่ๆ   รัชทายาทก็ไม่มี  ความวิตกเรื่องผู้ที่จะสืบทอดราชสมบัติจึงเริ่มขึ้น คณะผู้สำเร็จราชการเริ่มกลัวว่าถ้าให้พระพี่นาง เจ้าหญิงแม่รี่ขึ้นเป็นกษัตริย์ ประเทศอังกฤษจะกลับไปเป็นคาธอลิก และตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสันตะปาปาอีก ตัวเอ็ดเวิร์ดเองก็ไม่ต้องการให้เป็นแบบนั้นเช่นกัน แถมเอ็ดเวิร์ดมีแนวคิดเหมือนพระบิดา คือไม่เชื่อมั่นว่าผู้หญิงสามารถเป็นผู้ปกครองที่ดีได้ แต่ตัวเลือกที่เป็นชายขณะนั้นก็ไม่มี


ดังนั้นเอ็ดเวิร์ดจึงประกาศว่าผู้ที่จะสืบทอดราชสมบัติ ให้เป็นเลดี้เจน เกรย์ ลูกพี่ลูกน้องของเอ็ดเวิร์ด โดยข้ามลำดับของพระพี่นางทั้งสอง คือเจ้าหญิงแม่รี่ซึ่งเป็นคาธอลิก และข้ามเจ้าหญิงอลิซาเบธซึ่งเป็นโปรแตสแตนท์ไปด้วยเลย


ถึงตอนนี้บางคนอาจจะสงสัย เอ๊ะ ไหงข้ามกันไปได้แบบนี้ ก็ต้องบอกว่าการตัดสินใจนี้ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยการตัดสินใจของเอ็ดเวิร์ดคนเดียว แต่อยู่ภายใต้อิทธิพลของคณะที่ปรึกษาและผู้สำเร็จราชการด้วย และผู้ที่มีอิทธิพลมากขณะนั้นคือดุ๊คแห่งนอร์ทธัมเบอร์แลนด์  เพราะลอร์ดดัทลีย์ ลูกชายของท่านดุ๊คคนนี้ เป็นสามีของเลดี้เจน เกรย์ แต่งงานกันไม่ถึง 6 เดือนก่อนเอ็ดเวิร์ดจะสิ้นพระชนม์ ดังนั้นถ้าเลดีเจน ขึ้นเป็นราชินีเจน ผู้กุมบังเหียนอำนาจตัวจริงคือดุ๊คนั่นเอง แถมยังได้ปิดกั้นพวกคาธอลิกอีกด้วย



แล้วเลดี้เจน เกรย์นี่เป็นใครมาจากไหนอีก บางท่านอาจจะงง  เลนดี้เจน เป็นบุตรสาวของดุ๊คแห่งซัฟฟอร์ค ซึ่งสมรสกับเลดี้ฟรานซิส แบรนดอน เลดีฟรานซิสคนนี้เป็นบุตรสาวของแมรี่ ทิวดอร์ ราชินีแห่งฝรั่งเศส และเป็นน้องสาวของเฮนรี่ที่ 8 ด้วย   ดังนั้นเลดี้ฟรานซิสแม่ของเลดี้เจน  จึงมีศักดิ์เป็นหลานตาของกษัตริย์เฮนรี่ที่ 7 และเป็นหลานลุงของเฮนที่ที่ 8   ทำให้เลดีเจน เข้ามาอยู่ในลำดับการสืบสันตติวงศ์กับเค้าด้วย


ภาพ Devise for the succession เป็นเอกสารที่เอ็ดเวิร์ดเขียนว่าจะยกบัลลังก์ให้เลดี้เจน ถ้าไม่มีผู้สืบทอดที่เป็นชาย และข้ามสิทธิพระพี่นางทั้งสองไปโดยหาว่าเป็นลูกนอกสมรส ทั้งหมดภายใต้การดูแลและบริหารจัดการของดุ๊คแห่งนอร์ทธัมเบอร์แลนด์


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 30 พ.ย. 12, 19:16
โฮะโฮะ ข้อมูลท่านอาจารย์เรื่องผีของราชินีแคทเธอรีน ฮาเวิร์ดนี่ไม่แม่นซะแล้วครับ  ผีของแคทเธอริน ฮาร์เวิดนี่โด่งดังพอสมควร ผู้โชคดีจะได้เห็นเป็นหญิงสาววิ่งกรีดร้องไปตามห้องหับต่างๆ ในหอคอยลอนดอน เพราะตอนที่ถูกประหารชีวิต แคทเธอรินยังสาวยังสวยและไม่พร้อมจะตาย ไม่ได้นิ่งสงบยอมรับการประหารได้แบบแอนน์ โบลีน  ผมไปเที่ยวหอคอยแห่งลอนดอนมาหนนึง โชคไม่ดียังไม่ได้รับสิทธิพิเศษนั้น เลยยังไม่เจอผีๆ ที่นั่นเลย


ส่วนพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งมาดามทุสโซด์ยังไม่เคยไปครับ คิดว่าจะไม่ไปด้วยเพราะไปดูแค่หุ่นมันยังไงๆ ไม่รู้ ค่าเข้ามันแพงด้วย ไปดูหลุมศพได้อารมณ์ความรู้สึกว่าได้กระทบไหล่เหล่ากษัตริย์ ราชินีมากกว่าครับ แถมได้ปลงไปด้วยว่าชีวิตมันก็แค่นั้น


พูดถึงเรื่องผีๆ เลยเอาภาพมาฝากกัน เป็นภาพที่ได้จากกล้องวงจรปิดในพระราชวังแฮมตั้นชานเมืองลอนดอนเมื่อปี 2003 เป็นคนแต่กายชุดโบราณเปิดประตูออกมา ที่นี่เคยเป็นที่พำนักของเฮนรี่ที่ 8  มีเรื่องซุบซิบเกี่ยวกับผีๆ เยอะเลย ผมไปมาแล้วแต่ก็ยังไม่ได้รับสิทธิพิเศษได้เจออีกเช่นกัน


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 30 พ.ย. 12, 20:33
เจ้าหญิงแม่รี่มีหรือจำยอมง่ายๆ ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาปี 1553 เมื่อได้เห็นอาการป่วยของเอ็ดดี้และประเมินดูท่าทางแล้วว่าไม่รอดแน่ๆ เจ้าหญิงก็เดินทางไปนอร์ฟอร์คซึ่งเจ้าหญิงมีที่ดินและมีผู้สนับสนุนจำนวนมากที่นั่น ดุ๊คแห่งนอร์ทธัมเบอร์แลนด์เองก็ไม่ใช่โง่ รีบส่งเรือรบไประวังป้องกันไม่ให้เจ้าหญิงหนีไปแผ่นดินใหญ่ทวีปยุโรปซึ่งอาจจะไปหาผู้สนับสนุนและกองทัพจากที่นั่นได้


เมื่อเอ็ดเวิร์ดตัดช่องน้อยแต่พอตัวสิ้นพระชนม์ไปแล้ว  คณะผู้สำเร็จราชการนำโดยดุ๊คแห่งนอร์ทธัมเบอร์แลนด์ก็รีบจัดให้ลูกสะใภ้เลดี้เจน เกรย์ขึ้นครองบัลลังก์อังกฤษทันที  หลังรวบรัดทำพิธีแล้ว เลดี้เจนและพระสวามีก็ไปพักอาศัยอยู่ที่หอคอยแห่งลอนดอนเพราะสถานการณ์ทางการเมืองยังง่อนแง่นอยู่มาก แม่รี่เองก็ไม่ยอม และได้อ้างสิทธิของเธอเช่นกัน และแจ้งไปยังคณะผู้สำเร็จราชการให้รองรับเธอด้วย คณะซึ่งผู้สำเร็จราชการต่างตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของดุ๊คแห่งนอร์ทธัมเบอร์แลนด์จึงปฏิเสธ และอ้างว่าการตั้งเลดี้เจนเป็นไปตามเจตจำนงค์ของกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดผู้ล่วงลับ


แม้ว่าจะกังวลเรื่องการเป็นคาธอลิกของแม่รี่ แต่แมรี่มีผู้สนับสนุนมากกว่าและเห็นด้วยมากกว่าว่าเธอคือผู้มีสิทธิอันชอบธรรมในการครองบัลลังก์  ดุ๊คแห่งนอร์ทธัมเบอร์แลนด์เองก็คาดการณ์ผิดพลาดและประมาทแมรี่มากไป ไม่ได้จัดการจับกุมหรือกักขังแม่รี่ไว้ก่อนตั้งแต่ตอนที่เอ็ดเวิร์ดยังไม่ตาย  ถึงตอนนี้ก็สายเกินการณ์แล้ว เพราะแมรี่มีผู้สนับสนุนจำนวนมากทั้งจากขุนนางและผู้คนทั่วไปที่เห็นว่าแมรี่มีสิทธิอันชอบธรรมมากกว่า  ดุ๊คแห่งนอร์ทธัมเบอร์แลนด์จัดกองทัพมีกำลังพลประมาณ 3000 นายเตรียมไปจัดการแมรี่ แต่แมรี่มีกองทัพที่มีกำลังพลมากถึง 2 หมื่นนายรอรับมือ


เมื่อเห็นๆ อยู่แล้วว่ากระแสลมพัดไปทางไหน คณะผู้สำเร็จราชการ(จริงๆ นึกคำที่เหมาะสมไม่ได้ อาจจะเรียกว่าคณะองคมนตรีก็ได้ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Privy Council) ก็รีบยกมือสนับสนุนรัฐบาลแม้จะยังเป็นฝ่ายค้านอยู่ก็ตาม   อ้าว ไม่ใช่นี่  นี่มันคนละยุคคนละชาติกันแล้ว


คณะผู้สำเร็จฯ เริ่มมองเห็นอนาคตแล้วว่าได้สนับสนุนผิดฝ่ายไป ถ้าไม่รีบกลับลำมีหวังหัวหลุดจากบ่ากันเป็นแถว จึงประกาศใหม่รับรองให้แมรี่เป็นราชินี ทำให้เลดี้เจนซึ่งเป็นราชินีได้เพียง 9 วันต้องตกบังลังก์ดังพลั่กทันที  คณะ Privy Council เขียนจดหมายขออภัยไปยังแมรี่  แล้วแกนนำก็สั่งจับดุ๊คแห่งนอร์ทธัมเบอร์แลนด์ ซึ่งก็ถูกตัดหัวไปตามระเบียบหลังจากนั้นไม่นาน


เลดี้เจนและสามีซึ่งย้ายไปอยู่ในหอคอยแห่งลอนดอนหลังขึ้นครองบังลังก์ เลยไม่ต้องย้ายออกได้อยู่ที่เดิมต่อ เพียงแต่เปลี่ยนสถานะจากราชินีเป็นนักโทษแทน แบบนี้ก็ดีเหมือนกันไม่ต้องย้ายข้าวของกันบ่อย สุดท้ายเลดี้เจนและสามี รวมถึงบิดาของเลดี้เจน ดุ๊คแห่งซัฟฟอร์กต่างก็ถูกตัดหัว ได้ตามเอ็ดเวิร์ดและดุ๊คแห่งนอร์ทธัมเบอร์แลนด์ไปปรโลกด้วยกันทั้งหมด

ภาพนี้มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นภาพฉากการประหารเลดี้เจน ใครอยากดูของจริงไปดูได้ที่ The National Gallory London ดูได้ฟรีไม่ต้องเสียสตางค์ ห้องน้ำห้องท่าสะอาดสะอ้าน มีรูปเด็ดๆ โด่งดังมากมาย ไปลอนดอนห้ามพลาดที่นี่นะคร๊าบ
อีกรูปเป็นรูปหัวของดุ๊คแห่งซัฟฟอร์กที่ถูกตัดหัวตามลูกสาว หัวนี้ถูกค้นพบในปี 1851 ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ย. 12, 21:06
เมื่อไปอังกฤษครั้งแรก    เขามีนิทรรศการ Lady Jane Grey กัน เห็นโปสเตอร์ติดอยู่ข้างทาง   อาจจะเป็นวันครบรอบการตายหรืออะไรสักอย่างของเธอ  ตอนนั้นไม่รู้ว่าผู้หญิงคนนี้เป็นใคร   เพราะไม่เคยเรียนประวัติศาสตร์ส่วนที่เกี่ยวกับเธอ 
จากนั้นมีเวลาก็ไปเที่ยวหอคอยแห่งลอนดอน  จำได้รางๆซึ่งอาจจะผิดก็ได้  ว่าในห้องที่ลอร์ดดัดลีย์ถูกคุมขังอยู่  มีคำจารึกลงบนผนังหินว่า Ian  เป็นตัวสะกดแบบเก่า ตรงกับ Jane    น่าสงสารราชินีเก้าทิวา   ตอนถูกคุมขังเตรียมส่งประหาร  สามีเธอคงเป็นทุกข์ไม่น้อยกว่าเธอ

เพิ่งรู้จากคุณประกอบว่า วิญญาณของพระนางแคทเธอรีน ฮาเวิร์ดก็เฮี้ยนเหมือนกัน แต่อาจจะน้อยกว่าแอนน์ โบลีนเลยไม่ดังเท่า    ไปหาว่าเจน เกรย์ยังวนเวียนอยู่หรือเปล่า  ก็ได้คำตอบว่ายังอยู่เหมือนกันค่ะ
http://vdowww.dek-d.com/board/view.php?id=2412296

คุณประกอบอาจจะแจ๊กพ็อทแตก เจอเข้าสักครั้งก่อนกลับบ้านเกิดเมืองนอนนะคะ   เอาใจช่วย


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ย. 12, 21:27
อ้างถึง
เมื่อเห็นๆ อยู่แล้วว่ากระแสลมพัดไปทางไหน คณะผู้สำเร็จราชการ(จริงๆ นึกคำที่เหมาะสมไม่ได้ อาจจะเรียกว่าคณะองคมนตรีก็ได้ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Privy Council) ก็รีบยกมือสนับสนุนรัฐบาลแม้จะยังเป็นฝ่ายค้านอยู่ก็ตาม   อ้าว ไม่ใช่นี่  นี่มันคนละยุคคนละชาติกันแล้ว

Privy Council จะเรียกว่าคณะองคมนตรีก็ได้ค่ะ เพราะคณะองคมนตรีของไทย ก็เรียกว่าThe Privy Council of Thailand  หมายถึงคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดินของกษัตริย์ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราช   ในยุโรปก็มีกันทั้งนั้นไม่เฉพาะแต่อังกฤษ    ในเมื่ออังกฤษปกครองด้วยระบบราชาธิปไตย   คณะที่ปรึกษาฯจึงมีอำนาจมาก เพราะมีหน้าที่ถวายคำแนะนำทางกิจการต่างๆของราชอาณาจักร   ยิ่งถ้ากษัตริย์องค์นั้นเชื่อถือก็ยิ่งมีอำนาจกันใหญ่     แต่ถ้ากษัตริย์องค์นั้นแข็งแกร่ง รวบอำนาจมาไว้เสียองค์เดียว   คณะที่ปรึกษาฯก็อาจไม่ค่อยมีปากเสียงนัก
คณะที่ปรึกษาฯ เป็นคนละอย่างกับผู้สำเร็จราชการ (regent)  ผู้สำเร็จราชการเป็นตำแหน่งที่มีเฉพาะเมื่อแผ่นดินมีกษัตริย์ที่ยังทรงพระเยาว์   ยังไม่โตพอจะว่าราชการได้เอง    แต่ถ้าทรงเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่แล้ว ผู้สำเร็จราชการก็พ้นตำแหน่งไปเอง


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 30 พ.ย. 12, 21:51
ราชินีแมรี่เกิดในปี 1516 เป็นบุตรสาวของเฮนรี่ที่ 8 กับราชินีแคทเธอรินแห่งอารากอน ในวันเด็กแมรี่เป็นเด็กที่ฉลาดและเรียนรู้เร็วกว่าเด็กในวัยเดียวกัน แมรี่รู้ทั้งภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน และอาจจะภาษากรีกด้วย  กษัตริย์เฮนรี่ปลาบปลื้มและรักลูกสาวคนนี้ไม่น้อย และเคยชมเธอให้ทูตจากเวนิสฟังว่า แมรี่คือเด็กผู้หญิงที่ไม่เคยร้องไห้  นี่อาจบ่งบอกความฉลาด อำมหิต ใจเย็นยะเยียบเป็นน้ำแข็งที่ดูเหมือนเหล่าลูกสาวของเฮนรี่จะได้รับมาจากบิดากัน


เมื่อสิ้นยุคของเอ็ดเวิร์ดที่ 6 พระอนุชา   ด้วยความฉลาดเฉลียวและความสามารถทางการเมืองในการดึงเสียงสนับสนุน แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องการเป็นคาธอลิก แต่แมรี่ก็สามารถดึงเสียงสนับสนุนจากฝ่ายต่างๆ และขึ้นครองบัลลังก์อังกฤษได้ตามที่เล่าไว้ก่อนหน้านี้ เขี่ยเลดี้เจน เกรย์ให้พ้นทางไปได้อย่างรวดเร็ว  


เมื่อขึ้นเป็นราชินีแล้ว แม่รี่เองก็ต้องการมีรัชทายาท และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้พระน้องนางอลิซาเบท ที่นับถือคริสต์คนละนิกายขึ้นเป็นราชินีในอนาคต แมรี่เลือกอภิเษกสมรสกับกษัตริย์ฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน แม้จะเคยตั้งครรภ์แต่สุดท้ายทั้งคู่ไม่มีทายาทด้วยกัน และถึงเป็นคู่สมรส ฟิลิปก็ไม่มีสิทธิอ้างบังลังก์อังกฤษได้


ในยุคสมัยสั้นๆ แค่ 5 ปีของพระนางแมรี่ ได้มีการฟื้นฟูอำนาจของคริสตจักรคาธอลิกอีกครั้ง ในยุคสมัยนี้มีการเผาทั้งเป็นนักบวชหรือผู้ที่ต่อต้านคาธอลิก บังคับผู้คนให้กลับมาเป็นคาธอลิกอีก มีคนถูกเผาไปประมาณ 280 คน  จนศัตรูของพระนางขนามนามให้ว่า "แมรี่ผู้กระหายเลือด" (Bloody Mary)


สุดท้าย ราชินีแมรี่ที่ 1 ก็สิ้นพระชนม์ไปโดยไม่มีรัชทายาท ทำให้บัลลังก์ตกเป็นของพระน้องนาง คือเจ้าหญิงอลิซาเบธ ขึ้นครองราชน์เป็นราชินีอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ ซึ่งพระนางเป็นโปรแตสแตนท์  และทำให้อำนาจของคริสตจักรคาธอลิกในอังกฤษเสื่อมไปอีกครั้ง


ภาพราชินีแมรี่หลังขึ้นครองราชย์ วาดในปี 1554 ไม่เอ๊าะแล้ว


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 30 พ.ย. 12, 22:13
ต้องขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่มาไขข้อข้องใจครับ   ห้องเรียนนี้นักเรียนให้การบ้านอาจารย์จริงๆ  ;D

ที่ไม่แน่ใจเพราะเวลาอ่านจากพี่วิกิ หรือเวบอื่นๆ มักจะเรียกคณะพวกนี้ว่า Council ซึ่งในสมัยเอ็ดเวิร์ดที่ 6 นั้น มีทั้ง Council of Regency และ Privy Council  เวลาเอกสารเรียกว่า Council เฉยๆ จึงไม่ค่อยแน่ใจว่าควรจะอ้างไหนแน่ครับ


ในยุคสมัยของเอ็ดเวิร์ดที่ 6 นั้นมีผู้สำเร็จราชการสองคนแต่ต่างผลัดกันตกกระป๋องเพราะคนที่ได้ตำแหน่งก็มักเหลิมเอ๊ยเหลิงอำนาจ และมีผู้จ้องรอเสียบในตำแหน่งนี้กันอยู่  ผู้สำเร็จราชการ หรือถ้าให้ถูกน่าจะเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการคนเรกคือเอ็ดเวิร์ด ซีมัวร์ ดุ๊คแห่งซอมเมอร์เซ็ต ลุงแท้ๆ ของเอ็ดเวิร์ดที่ 6  ซึ่งแน่นอนว่าจบไม่สวย คือหัวหลุดจากบ่าตามธรรมเนียมผู้แพ้เกมส์อำนาจสมัยนั้น
คนที่สองคือจอห์น ดั๊ดลีย์ ดุ๊คแห่งนอร์ทธัมเบอร์แลนด์ คนที่อยู่เบื้องหลังการตั้งเลดี้เจน เกรย์เป็นราชินีนั่นแหละ ซึ่งก็ได้หัวหลุดจากบ่าตามเอ็ดเวิร์ด ซีมัวร์ไปเช่นกันเมื่อเจ้าหญิงแมรี่กลายเป็นราชินีแมรี่ที่ 1   ในยุคทิวดอร์นี่คนใหญ่คนโตเค้าหัวหลุดจากบ่ากันเป็นว่าเล่นจริงๆ


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 01 ธ.ค. 12, 17:16
ก่อนจะไปสมัยอลิซาเบธ ต้องย้อนไปในสมัยแมรี่อีกซักนิด


เมื่อขึ้นครองราชย์ แม่รี่เป็นสาวใหญ่วัย 37 แล้ว ไม่ใช่เอ๊าะๆ อีกต่อไป และสิ่งที่จำเป็นสำหรับกษัตริย์สมัยนั้นคือรัชทายาท  ถ้าแมรี่ไม่มีรัชทายาท เมื่อสิ้นเธอแล้วบังลังก์จะต้องตกเป็นของน้องสาวต่างมารดา ซึ่งนับถือศาสนาต่างนิกายกัน แมรี่ไม่ต้องการเช่นนั้น  ดังนั้นเมื่อขึ้นเป็นราชินีแล้ว แมรี่ก็ต้องเลือกเฟ้นหาเจ้าบ่าวทันที ถ้ายิ่งช้า โอกาสจะมีบุตรจะยิ่งเลือนลาง


แมรี่มีตัวเลือกหลายตัวเลือก ทั้งตัวเลือกที่เป็นขุนนางอังกฤษเอง หรือบรรดากษัตริย์เจ้าชายจากอาณาจักรหรือราชวงศ์อื่นๆ  ข้อเสนอที่น่าสนใจมาจากกษัตริย์ชาร์ลที่ 5 แห่งสเปน เสนอตัวลูกชายคือเจ้าชายฟิลิปแห่งสเปน  ส่งภาพที่วาดโดยศิลปินเอกของโลกคือไตตันมาให้ทอดพระเนตร  แมรี่เห็นภาพแล้วก็บอกโอเลย  ตัดสินใจจะเลือกฟิลิปเป็นพระสวามี แต่ทางขุนนางอังกฤษและสภาต่างไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ พยายามชักจูงแมรี่ให้เปลี่ยนใจ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมีทั้งพวกที่กลัวอิทธิพลของสเปน และพวกที่กลัวอำนาจของคาธอลิก


แต่แมรี่คือนางพญาสิงห์ ไม่ใช่คนหัวอ่อน ยืนกรานฉันจะเอาฟิลิปๆๆๆๆๆ ทำให้ผู้ไม่เห็นด้วยบางส่วนเตรียมปฏิวัติปลดแมรี่ออกและยกเจ้าหญิงอลิซาเบธขึ้นแทน แต่คณะปฏิวัติล้มเหลวแผนแตกซะก่อน เลยถูกตัดหัวกันไปหลายคน  ติดคุกก็ไม่น้อย  เจ้าหญิงอลิซาเบธเองถูกคุมขังไว้ในหอคอยลอนดอนเพราะสงสัยว่ารู้เห็นเป็นใจ หวุดหวิดจะหัวหลุดเช่นกัน  แต่เจ้าหญิงก็รอดมาได้


ระดับเขี้ยวแบบแมรี่ไม่ใช่หมู ก่อนแต่งฟิลิปต้องลงนามทำสัญญาไว้ก่อนว่า ฝ่ายเจ้าบ่าวไม่มีสิทธิในสินสมรสของเจ้าสาว แม้จะใช้นามว่าเป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษได้ แต่อำนาจบริหารใดๆ เป็นของแมรี่ทั้งหมด ฟิลลิปไม่พอใจนักแต่ก็ต้องยอม การแต่งงานสำหรับคนใหญ่คนโตไม่ใช่ด้วยความรัก ทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ทั้งสิ้น


ในที่สุดทั้งคู่ก็ได้แต่งงานกันสมใจ ฟิลิปไม่ได้รักแมรี่เลย แต่แมรี่คลั่งไคล้ฟิลิปไม่น้อย แมรี่มีอาการเหมือนจะตั้งท้องหนหนึ่งแต่สุดท้ายแล้วก็แท้งไป ฟิลิปถือโอกาสล่ำลาแมรี่ไปทำสงครามกับฝรั่งเศส สร้างความเศร้าโศรกให้แมรี่ยิ่งไปอีก  


หลังยุคสมัยสั้นๆ ของควีนแมรี่ เมื่ออลิซาเบธได้เป็นราชินีแห่งอังกฤษ ฟิลิปได้สิบทอดราชสมบัติสเปนเป็นกษัตริย์ฟิลลิปที่ 2 แห่งสเปน ซึ่งอยู่ในยุคทองเรืองอำนาจของสเปน สเปนแผ่อำนาจไปทั่วโลก ชื่อฟิลิปปินส์นี่ก็มีที่มาจากฟิลิปนี่แหละ  และฟิลิปนี่เองที่ลงทุดจัดสร้างกองเรือขนาดมหึมามาบุกเกาะอังกฤษ กะยึดเกาะในสมัยของอลิซาเบธ  แต่กองเรืออามาดาของสเปนเจอพายุถล่ม แถมแพ้กองเรืออังกฤษต้องแตกพ่ายเหลือเรือกลับสเปนไปได้ไม่กี่ลำ  งานนี้ทำให้ท้องพระคลังของสเปนแทบจะล่มจมเจ๊งจากการลงทุนครั้งมโหฬารนี้ จนไม่อาจฟื้นตัวเป็นมหาอำนาจใหญ่ได้อีก

ภาพฟิลิปวาดโดยไตตันครับ หล่อเหลาแค่ไหนดูเอาเอง


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 02 ธ.ค. 12, 03:11
รัชสมัยของอลิซาเบทเป็นช่วงที่รุ่งโรจน์ที่สุดอีกช่วงของอังกฤษ อังกฤษได้เริ่มแผ่อิทธิพลและอำนาจผ่านทางกองเรือในขณะที่อำนาจของสเปนเสื่อมลง ยุคนี้เป็นยุคที่ทั้งการค้า ศิลปวัฒนธรรมต่างๆ เช่นงานวรรณกรรมหรือการแสดงละครก็ได้รับความนิยม เป็นยุคทองจริงๆ การปกครองภายในก็มั่นคงดีมาก แต่ปัญหาคือราชินีอลิซาเบธไม่ได้แต่งงาน จึงไม่มีรัชทายาท แม้จะมีขุนนาง เจ้าชายหนุ่มๆ หรือกษัตริย์ ต่างๆ เสนอตัวมาให้เลือกแต่อลิซาเบทก็ไม่เลือกใคร


มีเรื่องซุบซิบนินทากันว่าแม้จะได้ชื่อว่าเป็นเวอร์จิ้นควีน  แต่ที่จริงอลิซาเบธก็มีชู้รักกับเค้าด้วย คือโรเบิร์ต ดัดลี้ย์ เอิร์ลแห่งเลสเตอร์ ซึ่งเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่วัยเด็ก เพียงแต่ไม่ได้แต่งงานกัน


เอ กระทู้นี้มันเรื่องของจอร์จส้มหล่น แต่ตอนนี้ยังไปไม่ถึงไหนเลย ทีแรกว่าจะย่อๆ รวบรัดไปเร็วๆ แต่ยิ่งอ่านเอกสารประกอบยิ่งพบว่ามีหลายเรื่องที่น่าสนใจและไม่เคยรู้  ท่าทางต่อไปอาจจะยาวพอสู้กับกระทู้อื่นๆ ได้เลยนะครับเนี่ย


เมื่ออลิซาเบธไม่มีรัชทายาท ผู้ที่อยู่ในลำดับการสืบสันตติวงศ์ลำดับถัดไปก็คือราชินีแมรี่แห่งสก๊อตแลนด์  เดี๋ยวเรามาทำความรู้จักกับอีกแมรี่กันหน่อย ราชินีแมรี่แห่งสก๊อต เพราะจะส่งผลไปถึงผู้สืบราชสมบัติในราชวงศ์ถัดไปด้วย

ภาพโรเบิร์ต ดัดเลย์ (1533 - 1588)


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 02 ธ.ค. 12, 05:03
ในยุคสมัยทิวดอร์นั้น อังกฤษและสก๊อตแลนด์เป็นคนละอาณาจักรแยกจากกัน ต่างฝ่ายต่างมีราชวงศ์ของตัวเองปกครองประเทศ และกษัตริย์ที่มีสีสันเรื่องราวมากหน่อยก็คือแมรี่แห่งสก๊อตนี่เอง

แมรี่แห่งสก๊อต หรือแมรี่ สจ๊วตเป็นบุตรสาวของกษัตริย์เจมส์ที่ 5 แห่งสก๊อตแลนด์ และมารีเดอกีส ซึ่งตระกูลเดอกีสเป็นตระกูลขุนนางที่มีอิทธิพลมากในฝรั่งเศส กษัตริย์เจมส์ที่ 5 สิ้นพระชนม์เมื่อแมรี่มีอายุได้เพียง 6 วัน ทำให้แมรี่ได้สืบทอดราชสมบัติเป็นราชินีแห่งสก๊อตแลนด์ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 1 ขวบ


เมื่อเป็นราชินีตั้งแต่อายุน้อย แมรี่จึงมีพระมารดา มารีแห่งกีสเป็นผู้สำเร็จราชการ  มารีส่งแมรี่ไปอยู่ในราชสำนักฝรั่งเศสของพระเจ้าอองรีที่ 2 และพระนางแคทเธอรินเดอเมดิซี่ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ เพื่อศึกษาเล่าเรียนในราชสำนักที่หวือหวาที่สุดในยุโรปขณะนั้น ต่อมาแมรี่ได้มั้นหมายกับดูแปง คือเจ้าชายฟรองซัวส์ รัชทายาทแห่งฝรั่งเศส


แมรี่เป็นผู้หญิงสวย สง่า พูดจาเก่ง ผมสีแดงตาสีน้ำตาล ร่างสูงถึง 180 ซม. เป็นที่ต้องตาต้องใจของผู้คน ใครๆ ก็รักใคร่นิยมแมรี่ ยกเว้นว่าที่แม่สามี คือแคทเธอรินเดอเมดิซี่  แมรี่ได้เข้าพิธีสมรสกับดูแปงในปี 1558 เป็นคู่บ่าวสาวที่หวานแหววรักใคร่กันดี แม้เจ้าหญิงจะสูง แต่เจ้าชายตัวเตี้ย


ในปี 1559 พระเจ้าอองรีที่ 2 ได้สิ้นพระชนม์อย่างกระทันหันจากการบาดเจ็บจากกีฬาดวลต่อสู้บนหลังม้าแบบอัศวิน ตรงนี้ใครเคยอ่านพวกคำทำนายนอสตราดามุสคงจำได้ ที่ทำนายไว้ว่าอองรีที่ 2 จะสิ้นพระชนม์ ราชสีห์หนุ่มสู้กับราชสีห์แก่อะไรเทือกนั้น


เมื่ออองรีที่ 2 สิ้นพระชนม์ ดูแปงก็ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 2 แห่งฝรั่งเศสเมื่อมีอายุเพียง 15 ปี แมรี่จึงมีสถานะเป็นควีนรีเจ้นท์ คือราชินีที่มีอำนาจปกครองด้วยตัวเองแห่งสก๊อตแลนด์ และควีนคอนสอร์ท คือราชินีที่เป็นราชินีจากการแต่งงานกับกษัตริย์  

ภาพคู่แต่งงานหวานแหวว กับภาพแม่สามีใจร้าย แคทเธอรินเดอเมดิซี่


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: noomxman ที่ 02 ธ.ค. 12, 15:05

 ขอบคุณทุกท่านมากเลยครับ  ;D ;D ;D


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 02 ธ.ค. 12, 16:08
           อ่านแล้วนึกถึงหนัง"ลิเกฝรั่ง" ที่นิยมหยิบเรื่องราวช่วงนี้มาสร้าง ครับ

           ล่าสุดเป็นซีรี่ส์ The Tudors


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 02 ธ.ค. 12, 16:16
             Mary,Queen of Scots

        หนังเก่านานมากแล้ว นำแสดงโดยสองนักแสดงใหญ่ของอังกฤษ Vanessa Redgrave
และ Glenda Jackson

       


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 02 ธ.ค. 12, 16:17
       ยูทูบมีให้รับชมด้วย

         http://www.youtube.com/watch?v=WthFp6cq464


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 02 ธ.ค. 12, 16:24
         นอกจากนี้ยังมี ราชินีพันทิวา,เก้าทิวา และอื่นๆ อีก ครับ

Cate Blanchett รับบทนำใน   Elizabeth   


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 02 ธ.ค. 12, 17:24
เนื่องจากกษัตริย์ฟรองซัวส์ยังเด็ก อายุเพียง 15 ปี การปกครองฝรั่งเศสจริงๆ จึงตกอยู่ภายใต้อำนาจของตระกูลกีส โดยมีพระนางแคธเธอรินร่วมมือด้วยอย่างไม่เต็มพระทัยนัก

แมรี่กับเจ้าหญิงอลิซาเบทแห่งอังกฤษมีศักดิ์เป็นญาติกัน ทั้งคู่ไม่มีปัญหาต่อจนมาก่อน จนกระทั่งเมื่อราชินีแมรี่ที่ 1 แห่งอังกฤษสวรรคต  ตามสิทธิโดยชอบธรรมเจ้าหญิงอลิซาเบทต้องขึ้นครองราชย์ต่ออยู่แล้ว  แต่แมรี่แห่งสก๊อตกลับอ้างสิทธิในการเป็นราชินีแห่งอังกฤษด้วย  ภายใต้แรงสนับสนุนจากฝรั่งเศส และขุนนางอังกฤษที่เป็นคาธอลิก เพราะแมรี่แห่งสก๊อตเป็นคาธอลิก เรื่องนี้จึงเป็นรอยร้าวในความสัมพันธ์ระหว่างแมรี่แห่งสก๊อต และอลิซาเบทแห่งอังกฤษ


แต่งงานกันหม้อข้าวไม่ทันจะดำ  ฟรองซัวส์เป็นกษัตริย์ได้เพียงปีกว่าๆ ก็สิ้นพระชนม์จากอาการหูอักเสบ ราชินีแมรี่จึงตกพุ่มม่ายตั้งแต่ยังสาวเอ๊ะๆ กษัตริย์ฝรั่งเศสพระองค์ต่อมาคือกษัตริย์ชาลส์ที่ 9 วัย 9 พรรษา พระอนุชาของฟรองซัวส์ โดยมีพระนางแคทเธอรินเป็นผู้สำเร็จราชการ


แมรี่จึงเดินทางกลับสก๊อตแลนด์ในปี 1561 ซึ่งในปีก่อนหน้านั้นเอง พระมารดาของเธอคือมารีเดอกีสก็ตายพอดีอีก  มารีเดอกีสทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองสก๊อตแลนด์ในระหว่างที่แมรี่ใช้ชีวิตในฝรั่งเศส  มารีปกครองสก๊อตแลนด์โดยอาศัยกองทหารจากฝรั่งเศส  แต่ในช่วงเวลานั้น อำนาจของโปรแตสแตนท์ในสก๊อตแลนด์ค่อยๆ เพิ่มขึ้น และเมื่อมารีตายลง อำนาจของพวกโปรแตสแตนท์ยิ่งเพิ่มมากขึ้น


ปัญหาเรื่องการปฏิรูปศาสนาไม่ได้มีแค่ในอังกฤษหรือสก๊อตแลนด์  แม้แต่ในฝรั่งเศสก็มีความพยายามปฏิรูปเช่นกัน  พวกโปรแตสแตนท์ในฝรั่งเศสเรียกว่าพวกอูโกโนทเลยเกิดความวุ่นวายเช่นกัน ทำให้ฝรั่งเศสต้องถอนทหารจากสก๊อตแลนด์ แมรี่จึงมาถึงสก๊อตแลนด์ในช่วงที่อำนาจกำลังสั่นคลอน


แม้แมรี่จะสวย แต่ในเชิงการเมืองแล้วอ่อนด้อยยิ่งนัก ไม่มีแบ็คอัพที่แข็งแกร่งเหมือนผู้นำหญิงบางประเทศที่ไม่ต้องรู้อะไรก็เป็นผู้นำได้ แค่ยิ้มสวยออกงานพิธีเป็นก็พอ   อายุก็เพียง 15 -16 ปี ไอ้จะไปรู้ทันเหลี่ยมพวกขุนนางเขี้ยวลากดินย่อมเป็นไปไม่ได้ แมรี่ไม่ได้รับความนิยมในสก๊อตแลนด์นัก แถมเธอเป็นคาธอลิกและเคยอ้างสิทธิบัลลังก์อังกฤษ ทำให้เสียงสนับสนุนเธอหายากเต็มทน น่าสงสารมากๆ


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ธ.ค. 12, 18:25
ว่ากันว่า แมรี่ สจ๊วต หรือพระราชินีแมรี่แห่งสกอตแลนด์เป็นสตรีที่ทรงโฉมงดงาม มีเสน่ห์ และมีชีวิตส่วนตัวที่มีสีสันมากกว่าพระราชินีแมรี่และเอลิซาเบธหลายเท่า


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ธ.ค. 12, 18:32
คุณ SILA เข้ามาแนะนำหนังอิงปวศ.อังกฤษ ที่ฮิทๆหลายเรื่องในยุคปัจจุบัน    ดิฉันจึงขอเสนอหนังเก่าเกี่ยวกับสมัยเอลิซาเบธที่ ๑ บ้าง   ชื่อ Young Bess   
ขอนำฉากหนึ่งในยูทูบมาให้ดูกัน  เป็นฉากที่เจ้าหญิงเอลิซาเบธปลอบใจน้องชายตัวน้อย  เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดกำลังหวาดหวั่นเสียขวัญที่พระบิดาสิ้นพระชนม์  ตัวเองต้องขึ้นเป็นกษัตริย์  ซึ่งเป็นภาระน่าสะพึงกลัวมากสำหรับเด็กวัยสิบขวบ
 จีน ซิมมอนส์ ดาราสาวฝีมือดีชาวอังกฤษเล่นเป็นควีนเอลิซาเบธสมัยรุ่นสาว   เล่าถึงชีวิตในวัยต้น เมื่อเกิดมาเป็นลูกชังของพ่อ   พบรักแรกกับโทมัส ซีมอร์ ดยุคแห่งซอมเมอเซท และหวุดหวิดจะถูกพระพี่นางส่งเข้าห้องประหารในหอคอยแห่งลอนดอน

http://www.youtube.com/watch?v=g4ZclVZd08I



กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 03 ธ.ค. 12, 17:05
เมื่อแมรี่มาถึงสก๊อตแลนด์ อำนาจของคาธอลิกกำลังเสื่อมลง ในขณะที่โปรแตสแตนท์กำลังผงาด เช่นคณะองคมนตรี 16 คนของแมรี่ มีที่เป็นคาธอลิกแค่ 4 คน และเรื่องศาสนายังคงเป็นประเด็นใหญ่  แมรี่ไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากต้องอดทน กำลังสนับสนุนจากฝรั่งเศสก็ไม่มีเพราะฝรั่งเศสเองก็มีปัญหา แถมอดีตแม่สามีก็ไม่ได้ปลื้มแมรี่นัก แมรี่อ้างตัวเป็นผู้สืบทอดราชสมบัติอังกฤษต่อจากราชินีอลิซาเบทด้วยซึ่งตามสิทธิแมรี่สามารถทำได้และมีสิทธิจริงๆ  


นี่ยิ่งเพิ่มความหวาดระแวงให้กับราชินีอลิซาเบทว่าอาจมีคนรวมตัวกันกบฏ ถอดอลิซาเบทออกจากตำแหน่งและยกแมรี่ขึ้นเป็นราชินีแห่งอังกฤษแทนได้ ดังนั้นถ้าต่อไปแมรี่จะหวังการสนับสนุนจากอังกฤษเพื่อต่อกรกับบรรดาขุนนางสก๊อตเองจะยิ่งเป็นเรื่องยากไปอีก ดังนั้นแมรี่ต้องหากำลังสนับสนุน วิธีที่ง่ายที่สุดคือต้องหาสามีที่มีอำนาจหน่อย แต่ก็ไม่ใช่ง่าย อลิซาเบทเสนอให้แมรี่แต่งงานกับโรเบิร์ต ดัดเลย์ ชู้รักของพระนางเอง ซึ่งจะทำให้แมรี่ได้รับการสนับสนุนจากอังกฤษ แต่แมรี่ก็ไม่เอา


ในที่สุดแมรี่เลือกเอาเฮนรี่ สจ๊วต หรือลอร์ดดาร์นเลย์ลูกพี่ลูกน้องซึ่งเป็นคาธอลิกด้วยกันเป็นคู่สมรส เพราะบิดาของท่านลอร์ดคือเอิร์ลแห่งเลนนอกซ์เป็นขุนนางที่ร่ำรวยและมีอิทธิพลมากทั้งในสก๊อตแลนด์และอังกฤษ  ทั้งคู่แต่งงานกันในปี 1565  ซึ่งยิ่งทำให้ราชินีอลิซาเบทหวาดระแวงแมรี่ยิ่งขึ้นไปอีก การแต่งงานนี้เชื่อว่าเป็นเรื่องของอารมณ์มากกว่าการคำนวณอย่างรอบคอบของแมรี่เพราะทำให้สถานะของเธอเสี่ยงมากขึ้นอีก


ดาร์นเลย์เองก็เป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง ไม่ต้องการป็นแค่คิง คอนสอร์ท คือกษัตริย์ที่ได้สถานะจากการแต่งงานกับราชินีที่มีอำนาจปกครองเอง แต่ดาร์นเลย์ต้องการเป็นผู้ปกครองเองด้วย แต่แมรี่ไม่ยินยอม ความรักของทั้งคู่จึงจืดจางอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ดานเลย์ยังขี้หึงอีก ได้ลงมือสังหารเดวิด ริซซิโอ เลขาส่วนตัวและชู้รักของแมรี่  ที่มีข่าวลือว่าอาจจะเป็นพ่อที่แม้จริงของลูกในท้องแมรี่ที่กำลังทรงพระครรภ์อยู่ในขณะนั้น


ภาพบนลอร์ดดาร์นเลย์  ภาพล่างริซซิโอชู้รัก



กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 03 ธ.ค. 12, 21:47
แมรี่ให้กำเนิดรัชทายาทชาย เจ้าชายเจมส์เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 1566 ที่ปราสาทเอดินเบอระ

ข้อดีของทารกที่มีมารดาเป็นควีนรีเจ้นท์ คือยังไงตัวก็เป็นลูกตามกฏหมาย ไม่ว่าพ่อที่แท้จริงจะเป็นใคร  ทารกนี้ได้ชื่อว่าลอร์ดดาร์นเลย์เป็นบิดา อันนี้ต่างจากลูกของกษัตริย์ ถ้ามารดาไม่ใช่ราชินีหรือมเหสี ลูกก็มีฐานะแค่ลูกนอกกฏหมาย หมดสิทธิเป็นรัชทายาท


ถ้าฟรองซัวส์ สวามีคนแรกของแมรี่ไม่ด่วนหูอักเสบตายซะก่อน แล้วทั้งสองมีรัชทายาทชายด้วยกัน  แถมราชินีอลิซาเบธไม่ได้แต่งงานและไม่มีทายาทแบบที่เป็นจริงในกระวัติศาสตร์ คิดไม่ออกเลยว่าประวัติศาสตร์ยุโรปจะเป็นยังไง เพราะรัชทายาทชายคนนั้นจะเป็นรัชทายาทของทั้งฝรั่งเศส อังกฤษ และสก๊อตแลนด์ ประวัติศาสตร์โลกต้องแตกต่างกว่าปัจจุบันแบบยากจะจินตนาการ


การมีรัชทายาทเป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้กษัตริย์องค์อื่นยกเว้นแมรี่ ที่การมีรัชทายาทชายยิ่งทำให้บัลลังก์ของกระนางสั่นคลอนมากไปกว่าเดิม เพราะตอนนี้กลายเป็นว่ามีตัวเลือกอื่นที่เหมาะสมและมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะครองบัลลังก์ได้ขึ้นมาเป็นหอกข้างแคร่ซะแล้ว สถานการณ์ยิ่งไม่ดีสำหรับแมรี่มากขึ้นไปอีก


ความสัมพันธ์ระหว่างลอร์ดดาร์นเลย์กับแมรี่ก็เรียกได้ว่าเตียงหักหลังการตายชองริซซิโอ้  แมรี่ไปสานสัมพันธ์กับเจมส์ เฮปเบิร์น เอิร์ลแห่งบอทเวลล์ ถึงกับยอมขี่ม้าวันละ 4 ชั่วโมงไปหา


ในเดือนกุมภาพันธ์ 1667 เกิดระเบิดขึ้นที่เคิร์ก โอ ฟิลด์ เป็นโบสก์เก่าที่ดาร์นเลย์นอนป่วยอยู่ ผลปรากฏว่าดาร์นเลย์นอนตายแหงแก๋อยู่ในสวน แมรี่และเอิร์ลแห่งบอทเวลล์เป็นผู้ต้องสงสัยว่าอยู่เบื้องหลังการตายครั้งนี้ แล้วในที่สุดแมรี่ก็ทำพิธีสมรสกับบอทเวลล์ที่เพิ่งหย่ากับเมียเก่า 12 วันก่อนหน้า ในโบสก์และพิธีแต่งงานแบบโปรแตสเตนท์  


ในเบื้องต้นแมรี่คิดว่าการแต่งงานนี้จะทำให้แมรี่ได้รับเสียงสนับสนุนจากพวกโปรแตสเตนท์ แต่แมรี่คาดการณ์ผิด เพราะทั้งชาวคาธอลิกและโปรแตสแตนท์ต่างรับไม่ได้ที่แมรี่แต่งงานกับไอ้ปื๊ดคนที่อยู่เบื้องหลังการสังหารสามีเก่าตัวเอง ตระกูลขุนนางสก๊อต 26 ตระกูลจับมือกันต่อต้านแมรี่ บีบให้แมรี่ต้องสละราชสมบัติให้เจมส์บุตรชายที่เพิ่งอายุขวบเดียว ส่วนบอทเวลล์ถูกเนรเทศ ต้องลี้ภัยไปอยู่เดนมาร์กและตายที่นั่นในปี 1578

ภาพเจ้าชายเจมส์ กับภาพไอ้ปื๊ดบอทเวลล์


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 03 ธ.ค. 12, 22:35
คนเคยมีอำนาจ จะให้ลงจากอำนาจไม่ใช่เรื่องง่าย แมรี่รวบรวมกำลังจากผู้สนับสนุนได้จำนวนหนึ่ง ยกทัพไปยึดบังลังก์คืน แต่กองทัพของแมรีพ่ายแพ้ต่อกองทัพของผู้สำเร็จราชการสก๊อตแสนด์ขณะนั้น คือเจมส์ สจ๊วต เอิร์ลแห่งมอเรย์ พี่ชายต่างมารดาเพราะเป็นลูกนอกสมรสของกษัตริย์เจมส์ที่ 5 แห่งสก๊อตแลนด์ พระบิดาของแมรี่เอง


คราวนี้แมรี่หมดหนทาง ต้องหนีลงใต้ไปพึ่งพิงญาติของนาง คือพระราชินีอลิซาเบธแห่งอังกฤษ หวังว่าอลิซาเบธจะช่วยพระนางกอบกู้บัลลังก์ แต่เนื่องจากแมรี่เองก็อาจจะเป็นภัยได้ในอนาคต อลิซาเบธจึงกักบริเวณแมรี่ไว้เป็นเวลาถึง 18 ปี แต่ก็ยกย่องให้เกียรติญาติผู้น้องไว้ในสถานะที่เหมาะสมตามสมควร แต่แมรี่เองก็เป็นภัยต่ออลิซาเบธจริงๆ  เพราะมีความพยายามจะล้มล้างอำนาจอลิซาเบธและยกแมรี่ขึ้นเป็นราชินีเองโดยการสนับสนุนของสเปน ผู้เกี่ยวข้องกับแผนนี้ถูกตัดหัวไปหลายคน


ในปี 1586 หลัง 18 ปีที่ถูกกักตัวไว้ แมรี่ก็ติดกับดักที่วอลเลซ วอลซิ่งแฮม ที่ปรึกษาของอลิซาเบธวางแผนไว้ สร้างแผนลอบสังหารปลอมหลอกให้แมรี่ลักลอบส่งจดหมายวางแผนลอบสังหารอลิซาเบธ  เมื่อกับดักถูกเปิดเผย แมรี่ไม่สามารถปฏิเสธการรับรู้ได้ ถูกตัดสินว่าผิดและต้องรับโทษประหาร


ราชินีอลิซาเบธเองไม่ต้องการประหารชีวิตแมรี่ แต่ไม่มีทางเลือก ในที่สุด พระราชินีแมรี่แห่งสก๊อตแลนด์ก็ถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 1587 ปิดฉากชีวิตเจ้าหญิงและราชินีสาวสวยที่เดินเกมส์การเมืองผิดพลาดตลอดชีวิตไปเมื่อายุได้เพียง 45 ปี


ฉากการประหารชีวิตแมรี่โดยการตัดหัวนั้นสยดสยองมาก  ดาบแรกที่ลงไปพลาดคอแมรี่แต่โดนด้านหลังของหัวแทน ดาบที่สองโดนคอแต่ยังไม่ขาด มีเส้นเอ็นยังยึดไว้จนเพชรฆาตต้องใช้ขวานตัดอีกทีถึงขาด เมื่อเพชรฆาตชูหัวของแมรี่ขึ้นมาประกาศการตาย ปรากฏว่าเพชรฆาตดึงผมของแมรี่ซึ่งที่จริงเป็นวิก ทำให้หัวจริงๆ หล่นล่วงลงไปเปิดเผยว่าที่จริงตอนนั้นแมรี่มีแต่ผมสีเทาสั้นๆ


ภาพฉากการประหารชีวิตแมรี่ และภาพ death mask คือหน้ากากที่หล่อจากหน้าของผู้เสียชีวิตหลังเสียชีวิตแล้วของแมรี่



กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 04 ธ.ค. 12, 09:22
ซีนประหารจาก BBC series 'Elizabeth R' (1971)

         http://www.youtube.com/watch?v=nOmd-ZX5f8g


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 04 ธ.ค. 12, 17:35
เมื่อราชินีแมรี่แห่งสก๊อตถูกประหารชีวิตไปแล้ว ลำดับผู้สืบราชสมบัติอังกฤษก็มีการเปลี่ยนแปลง เพราะเดิมแมรี่อยู่อันดับสอง ตอนนี้ กษัตริย์เจมส์ที่ 6 แห่งสก๊อตแลนด์ โอรสของแมรี่กับลอร์ดดาร์นเลย์ก็เลื่อนขึ้นมาอยู่ในลำดับถัดไปแทน


บางคนอาจจะสงสัยว่าเอ๊ะ ราชินีอลิซาเบธสั่งประหารราชินีแมรี่ พระมารดาของเจมส์ที่ 6 เจมส์ซึ่งตอนนั้นครองราชย์อยู่ในสก๊อตแลนด์จะไม่โกรธ ยกทัพมาบุกอังกฤษรึ


ต้องมาทำความรู้จักกับเจมส์กันซักนิด


กษัตริย์เจมส์ที่ 6 แห่งสก๊อตแลนด์  เกิดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 1566 เป็นโอรสของพระราชินีแมรี่กับลอร์ดดาร์นเลย์ ซึ่งเมื่อเกิดปุ๊บ เจมส์ก็กลายเป็นหอกข้างแคร่ของพระมารดาที่ไม่ได้รับความนิยมปั๊บทันที แมรี่เองก็แทบจะไม่ได้เลี้ยงดูเจมส์เลย  แม่ลูกมีโอกาสพบกันครั้งสุดท้ายเมื่อเจมส์มีพระชนม์แค่ 10 เดือนเท่านั้น  ดังนั้นอาจจะพูดได้ว่าเจมส์ไม่มีความทรงจำ หรือความผูกพันกับพระมารดาฉันแม่กับลูกเหมือนคนทั่วไปเลย


ราชินีแมรี่ถูกบีบให้สละราชสมบัติ และเจมส์ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์เจมส์ที่ 6 แห่งสก๊อตแลนด์ เมื่อมีพระชนม์แค่ 13 เดือนเท่านั้น หลังความพยายามชิงอำนาจกลับคืนมาล้มเหลว แมรี่ก็หนีไปอังกฤษและถูกขังไว้ที่นั่น 18 ปีจนกระทั่งถูกประหารชีวิต ดังนั้นชีวิตในวัยเด็กของเจมส์จึงโตมาโดยไม่มีแม่ และแม้พระมารดาจะเป็นคาธอลิก แต่เจมส์ถูกเลี้ยงดูในแบบโปรแตสแตนท์  เจมส์จึงเป็นโปรแตสแตนท์ในขณะที่พระมารดาเป็นคาธอลิก


ในวัยเด็กเจมส์ถูกเลี้ยงดูอย่างเข้มงวดเพื่อให้พร้อมสำหรับการเป็นกษัตริย์ โดนแม้แต่การเฆี่ยนตีจากพระอาจารย์ที่เข้มงวด แต่การเล่าเรียนอย่างหนักได้ปลูกฝังเจมส์ให้เป็นกษัตริย์ที่มีความรู้ รักการอ่านและงานวรรณกรรมต่างๆ เป็นนักการเมืองที่ฉลาด เจมส์ได้รับอำนาจเต็มในการปกครองสก๊อตแลนด์ตั้งแต่ปี 1583


เมื่อตอนที่เจมส์รู้ข่าวว่าพระมารดาถูกประหารชีวิตเจมส์ไม่ได้มีความรู้สึกอาลัยแต่อย่างใด กลับมองว่าเป็นโอกาสที่ทำให้เจมส์กลายเป็นรัชทายาทของบัลลังก์อังกฤษเพราะพระราชินีอลิซาเบธไม่ได้แต่งงาน และอยู่พ้นวัยที่จะมีรัชทายาทได้อีกแล้ว   ในปี 1588 เมื่อสเปนส่งกองเรือมาเตรียมโจมตีอังกฤษ เจมส์กลับเขียนจดหมายไปถึงอลิซาเบธแจ้งว่าเจมส์จะสนับสนุนอลิซาเบธ  โดยลงท้ายในจดหมายว่า "your natural son and compatriot of your country"


ภาพเจมส์ที่ 6 แห่งสก๊อตแลนด์ เลือกภาพนี้มาเพราะเจมส์ทำหน้าเบื่อโลกได้ใจมาก


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 04 ธ.ค. 12, 20:18
ในช่วงปี 1601 ซึ่งเป็นช่วงปลายรัชสมัยของอลิซาเบธที่ 1 เสนาบดีเซอร์โรเบิร์ต เซซิลลอบติดต่อกับเจมส์เพื่อตระเตรียมการสืบทอดตำแหน่งเมื่อสิ้นสมัยของอลิซาเบธ  ในเดือนมีนาคม 1603 เมื่ออห็นว่าอาการของพระราชินีไม่ดีและคงไม่มีรอดแน่ๆ เซซิลส่งร่างการประกาศสืบราชสมบัติให้เจมส์ไปเตรียมตัวไว้  จนวันที่ 24 มีนาคม 1603 พระราชินีอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษก็สวรรคต  เจมส์ที่ 6 แห่งสก๊อตแลนด์ก็อ้างสิทธิในราชบัลลังก์อังกฤษทันทีในวันเดียวกันนั้น


เจมส์อ้างสิทธิบัลลังก์อังกฤษโดยอ้างสายเลือดย้อนไปถึงสมัยกษัตริย์เฮนรี่ที่ 7 ของอังกฤษ พระบิดาของเฮนที่ที่ 8  โดยเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต ทิวดอร์ บุตรสาวของเฮนรี่ที่ 7 อภิเษกกับกษัตริย์เจมส์ที่ 4 แห่งสก๊อตแลนด์ ต่อมาทั้งสองมีโอรสด้วยกัน ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองราชน์เป็นพระเจ้าเจมส์ที่ 5 แห่งสก๊อตแลนด์  ซึ่งมีพระราชธิดาองค์เดียวซึ่งต่อมาคือพระนางแมรี่ที่ 1 แห่งสก๊อตแลนด์ ดังนั้นเจมส์จึงอยู่ในลำดับการสืบสันตติวงศ์อังกฤษด้วย


เจมส์ออกเดินทางจากสก๊อตแลนด์ในวันที่ 5 เมษายน 1603 เพื่อลงใต้ไปเป็นกษัตริย์อังกฤษ แทนที่จะรีบเร่งเดินทาง เจมส์กับค่อยๆ เดินทางช้าๆ เพื่อไม่ให้ชาวอังกฤษรู้สึกว่ากำลังถูกพวกสก๊อตแลนด์มายึดประเทศ และเพื่อประเมินสถานการณ์ไปในตัว ตลอดทางเจมส์ได้รับการต้อนรับขับสู้อย่างดีจากทั้งราษฎรและขุนนางอังกฤษ เจมส์เดินทางมาถึงลอนดอนในวันที่ 7 พฤษภาคม และทำพิธีสวมมงกุฏเป็นกษัตริย์เจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษเมื่อวันที่ 25 กรกฏาคม 1603 เป็นการเปิดฉากราชวงศ์ใหม่คือราชวงศ์สจ๊วตแห่งอังกฤษ และทำให้สก๊อตแลนด์และอังกฤษมีกษัตริย์องค์เดียวกัน แม้จะยังมีการบริหารและรัฐสภาที่เป็นอิสระกัน    


เจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ หรืออีกพระนามคือเจมส์ที่ 6 แห่งสก๊อตแลนด์เป็นกษัตริย์โปรแตสเตนท์ ดังนั้นอำนาจของคาธอลิกจึงไม่ได้รับการฟื้นฟูและเป็นที่ต้อนรับในหมู่ขุนนางโปรแตสแตนท์ชาวอังกฤษ


ภาพสาแหรกของเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษและ 6 แห่งสก๊อตแลนด์ ตัดมาจาก wikipedia ครับ


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 05 ธ.ค. 12, 18:11
การปกครองในสมัยของเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษเป็นยุคสมัยที่ยังคงเฟื่องฟูต่อเนื่องจากสมัยของอลิซาเบธ เนื่องจากเจมส์เป็นผู้ที่รักงานวรรณกรรม  งานเขียน กวีต่างๆ ได้รับการสนับสนุน นอกจากนี้เจมส์ยังให้แปลคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาอังกฤษอีกด้วย นอกจากนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นความรุ่งเรืองของอาณานิคมอเมริกาด้วย มีการสร้างเมืองใหม่ๆ ในอาณานิคมอเมริกาเช่นเจมส์ทาวน์  แต่การปกครองไม่ได้ราบลื่นเหมือนสมัยที่ปกครองสก๊อตแลนด์  ความขัดแย้งทางศาสนายังส่งผลรุนแรงต่อการปกครอง  นอกจากนี้เจมส์ยังขัดแย้งกับรัฐสภาอังกฤษเองด้วย


มีแผนการลอบสังหารกษัตริย์เจมส์หลายครั้ง ครั้งที่โด่งดังที่สุดคือแผนการระเบิดรัฐสภาของกาย ฟอคส์ กับผู้สมรู้ร่วมคิดซึ่งเป็นคาธอลิกได้แอบเอาถังดินปืนจำนวนมากวางไว้ในห้องใต้ดินรัฐสภาอังกฤษเพื่อจะระเบิดรัฐสภาในวันที่ 5 พฤศจิกายน 1605 ซึ่งจะมีการประชุมสภาที่กษัตริย์เจมส์จะเข้าร่วมด้วย แต่แผนการรั่วไหลเสียก่อน กาย ฟอคส์และผู้สมรู้ร่วมคิดส่วนใหญ่ถูกจับได้ และถูกประหารชีวิตอย่างเหี้ยมโหดสุดๆ ด้วยวิธีที่เรียกว่า hanged, drawn and quartered ซึ่งผู้ถูกประหารจะถูกลากไปตามท้องถนน แล้วแขวนคอจนเกือบหมดสติ จากนั้นถูกตอนทั้งเป็น  ถูกผ่าท้องควักเครื่องในออกมาทั้งเป็นๆ  แล้วถึงค่อยถูกตัดหัว  แค่นั้นยังไม่จบ  ร่างกายส่วนที่เหลือจะถูกตัดออกเป็น 4 ส่วนด้วย สยองมากๆ


เมื่อแผนการวางระเบิดรัฐสภาล้มเหลว ผู้คนต่างยินดีปรีดาออกมาฉลองกัน มีการจุดพลุเป็นที่ละลึกถึงเหตุการณ์นี้  จนกลายเป็นประเพณี bonfire night ที่จะมีการจุดพลุกันในช่วงวันที่ 5 พฤศจิกายนของทุกปีในประเทศอังกฤษ ซึ่งยังคงมีมาจนถึงปัจจุบันที่ทุกเมืองมักจะจัดให้มีการจุดพลุ ลูกเด็กเล็กแดงได้ไปดูกันเป็นที่สนุกสนาน ปีนี้ผมก็เพิ่งไปมา แต่ดันไปถึงที่เค้าจุดกันตอนจุดเสร็จแล้ว อดดูเลยเซ็งจริงๆ


ในปี 2005 ได้มีการทดลองสร้างอาคารรัฐสภาจำลองและเอาถังดินปืนเท่าที่กาย ฟอคส์ใช้ไปวางไว้ใต้ถุนแล้วลองจุดระเบิดดู ปรากฏว่าอาคารทั้งหลังพังทลายเรียบวุธ  ถ้าแผนการของกาย ฟอคส์สำเร็จ มีหวังว่ากษัตริย์เจมส์ได้ไปยมโลกก่อนวัยอันควรแน่ๆ


ภาพ hanged, drawn and quartered ครับ เอามาฝากขาโหดทั้งหลาย


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 05 ธ.ค. 12, 19:23
เพื่อให้เข้ากับกระแสชายเหนือชายในละครแรงเงาที่กำลังโด่งดังแต่ผมไม่เคยดู เห็นแต่ชาวบ้านพูดกัน มาดูเรื่องส่วนตัวของเจมส์ที่ 1 กันซักเล็กน้อย


เจมส์ที่ 1 สมรสกับเจ้าหญิงแอนน์แห่งเดนมาร์กเมื่อปี 1589 มีบุตรด้วยกัน 7 คน แต่มีที่โตรอดจนถึงวัยผู้ใหญ่แค่ 3 คือเจ้าชายเฮนรี่ เจ้าหญิงอลิซาเบธ และเจ้าชายชาลส์ซึ่งต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ


มีลูกมาขนาดนี้ไม่น่าจะมีเรื่องซุบๆ ซิบๆ กันได้ แต่ก็มี เพราะพระเจ้าเจมส์ชอบแวดล้อมอยู่กับหนุ่มๆ มากกว่าสาวๆ  คนโปรดของเจมส์คือจอร์จ วิลลิเออร์ ดุ๊คแห่งบักกิ้งแฮมซึ่งสร้างความร่ำรวยมหาศาลจากการเป็นคนสนิทของกษัตริย์ เจ้ากรมข่าวลือแจ้งว่าบักกิ้งแฮมเป็นคนรักอีกคนหนึ่งของเจมส์ที่ 1


พระเจ้าเจมส์ที่ 1 สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 1625 เมื่อพระชนม์ได้ 58 ปีด้วยโรครุมเร้าหลายโรค ทั้งไขข้อ เกาท์ และไตอักเสบ  เจ้าชายชาลส์สืบราชสมบัติอังกฤษ สก๊อตแลนด์ และไอร์แลนด์เป็นพระเจ้าชาลส์ที่ 1

ภาพแอนน์แห่งเดนมาร์กและบักกิ้งแฮม



กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ธ.ค. 12, 21:59
เรื่องของพระเจ้าเจมส์กับดยุคแห่งบัคกิ้งแฮมดูจะเป็นความลับที่ซุบๆซิบๆกันพอสมควรในประวัติศาสตร์อังกฤษ    ความจริง พระเจ้าเจมส์มี "พระสหายชาย" 3 คน ไม่ใช่ 1   แต่จะเป็นเพื่อนเกลอหรืออะไรกันนั้น ก็ยังเถียงกันอยู่  เพราะนักปวศ.บางคนก็ว่าเป็นการใส่ร้ายป้ายสี   บางคนก็ว่าเป็นเรื่องจริง
ที่แน่ๆคือในสมัยโน้นรักร่วมเพศถือเป็นบาปมหันตโทษ   เปิดปากสารภาพไม่ได้เป็นอันขาด  พระเจ้าเจมส์หลุดจากบัลลังก์แน่นอน
ใครสนใจก็อ่านดูได้ในนี้ค่ะ

http://www.freewebs.com/jupiter1024/james.htm


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 06 ธ.ค. 12, 17:11
คลิปตอนประหาร William Wallace ด้วยวิธีสุดโหด - แขวน ลาก สับสี่ จากหนังดัง Braveheart

           http://www.youtube.com/watch?v=i6zGEBhJMHA


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 07 ธ.ค. 12, 00:54
ต่อจากยุคของเจมส์ที่ 1 ก็เป็นยุคของชาลส์บ้าง


พระเจ้าชาลส์ที่ 1 (1600 - 1649) เป็นโอรสองค์ที่ 2 ของเจมส์ที่มีอายุยืนยาวจนถึงวัยผู้ใหญ่ โอรสองค์แรกของเจมส์ที่ 1 คือเจ้าชายเฮนรี่ เฟรดเดอริค (1594 - 1612) เจ้าชายแห่งเวลล์และรัชทายาทบัลลังก์อังกฤษคนก่อนชาลส์นั้นเป็นคนเก่ง ฉลาด สนใจทั้งวิทยาการต่างๆ การเมืองการปกครองและการทหาร เป็นที่รักใคร่ของผสกนิกรทั่วไป คุณสมบัติต่างๆ เหมาะสมที่จะเป็นกษัตริย์ยิ่งนัก   ความนิยมของผู้คนต่อเจ้าชายมีมากกว่าที่มีให้กษัตริย์เจมส์เสียอีก จนบางครั้งถูกมองว่าความนิยมของเจ้าชายเป็นภัยคุกคามต่อบัลลังก์ของเจมส์เอง


เจ้าชายเฮนรี่มักมีความคิดเห็นเกี่ยวกับบ้านเมืองขัดแย้งกับเจมส์ผู้พ่อ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกคู่นี้ตึงเครียดต่อกัน  เจ้าชายเฮนรี่ด่วนสิ้นพระชนม์เมื่ออายุได้เพียง 18 ปีจากไข้รากสาดน้อย ซึ่งนำความเสียใจมาสู่พสกนิกรทั่วไปมาก ฝูงชนนับพันร่วมขบวนงานฝังพระศพเจ้าชายที่วิหารเวสมินสเตอร์   การด่วนสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายเฮนรี่ทำให้เจ้าชายชาลส์ที่วัยเด็กเป็นคนขี้โรค และไม่ได้ปราดเปรื่องเท่าพี่ชายได้กลายเป็นรัชทายาทแทน

เจ้าชายเฮนรี่ เฟรดเดอริค


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 07 ธ.ค. 12, 01:30
เจ้าชายชาลส์ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ในปี 1625 โดยบุคลิกของชาลส์เองเป็นคนที่ดื้อรั้นและไม่ประนีประนอม  เชื่อในอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของกษัตริย์ ในขณะที่เขี้ยวเล็บหรือเหลี่ยมทางการเมืองและความฉลาดรู้จักโอนอ่อนผ่อนตามไม่เท่าพระบิดา ทำให้มีปัญหากับรัฐสภาเป็นประจำ 


ชาลส์สมรสกับพระนางเฮนเรียตตา มาเรีย พระราชธิดาองค์สุดท้องของพระเจ้าอองรีที่ 4 แห่งฝรั่งเศส และเป็นน้องสาวของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 แห่งฝรั่งเศส พระนางเป็นคาธอลิกแบบเหนียวแน่น และมีส่วนชักจูงชาลส์ให้เอนเอียงไปทางคาธอลิกด้วย ซึ่งยิ่งทำให้ชาลส์ยิ่งมีปัญหากับรัฐสภาเพราะความไม่ไว้วางใจต่อนโยบายทางศาสนาของชาลส์


ความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างคาธอลิกกับโปรแตสแตนท์ก่อให้เกิดสงครามในยุโรป เรียกว่าสงครามสามสิบปี ฝ่ายอังกฤษต้องการสนับสนุนพวกโปรแตสแตนท์ในขณะที่สเปนเป็นผู้สนับสนุนหลักของฝ่ายคาธอลิก ชาลส์จึงต้องทำสงครามกับสเปน และด้วยนโยบายการทำสงครามแบบเผชิญหน้ากับสเปนของชาลส์ที่มีแนวคิดต่างจากรัฐสภาที่เน้นใช้การตัดกำลังสเปนโดยการโจมตีเมืองท่าในอาณานิคมและยึดกองเรือขนสมบัติสเปนแทน ทำให้การทำสงครามชองชาลส์ไม่ได้รับการสนับสนุนจากสภา ชาลส์จึงใช้มาตรการขึ้นภาษีเพื่อไปใช้ในสงคราม และเมื่อมีปัญหากับสภามากๆ ชาลส์ก็ยุบสภาซะเลยแล้วปกครองเองโดยไม่ต้องมีสภาคอยท้วงติงในปี 1629  สงครามครั้งนี้ยุติไปเองเมื่อดุ๊กแห่งบักกิ้งแฮม กิ๊กเก่าของพระบิดาและแม่ทัพที่ไม่ค่อยได้เรื่องของอังกฤษถูกลอบสังหาร


นอกจากนั้นชาลส์ยังพยายามเพิ่มอำนาจให้คริสตจักร มีการตั้งศาลศาสนาซึ่งทำให้องค์กรคริสตจักรอังกฤษเริ่มมีลักษณะคล้ายคาธอลิกมากไปทุกที และชาลส์ยังพยายามจะปรับใช้หลักการเดียวกันกับคริสตจักรสกอตแลนด์ด้วย จนทำให้เกิดความขัดแย้งกับพวกเพรสไบทีเรียนในสกอตแลนด์จนเกิดความไม่สงบไปทั่ว


หลัง 11 ปีของการปกครองโดยไม่มีรัฐสภา เศรษฐกิจและสังคมย่ำแย่อย่างหนัก ชนชั้นสูงและขุนนางต่างไม่พอใจกษัตริย์ และต้องการเงินเพื่อไปใช้จ้างทหารไปรักษาความสงบในสกอตแลนด์ ในที่สุดชาลส์ก็ต้องเรียกประชุมเปิดสภาอีกในปี 1640 คราวนี้สภาได้ป้องกันการยุบสภาโดยออกกฏหมายให้ต้องมีการประชุมสภา 3 ปีต่อ 1 ครั้ง และถ้ากษัตริย์ไม่เรียกประชุมสภา  รัฐสภาสามารถเรียกประชุมกันเองได้


ชาลส์กับเฮนเรียตตา มาเรีย


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 09 ธ.ค. 12, 05:26
เมื่อมีสภาแล้ว ความขัดแย้งระหว่างพระเข้าชาลส์และสภาก็ดำเนินต่อไป โดยเฉพาะสภายกเลิกการเก็บภาษีบางอย่างที่ชาลส์เคยออกกฏหมายไว้ นอกจากนั้นสภายังแบ่งเป็นฝ่ายที่สนับสนุนและต่อต้านชาลส์ รัฐสภาพยายามจำกัดการใช้อำนาจทางทหารของกษัตริย์ ชาลส์ได้รับเสียงสนับสนุนจากทางเหนือและสกอตแลนด์มากกว่าทางใต้จึงเดินทางขึ้นเหนือไปรวบรวมกำลังพลทางตอนเหนือของอังกฤษ ในที่สุดก็เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างกษัตริย์และรัฐสภาที่นำโดยโอลิเวอร์ ครอมเวลล์


กองทหารฝ่ายกษัติย์นั้นไร้ระเบียบวินัยและขาดการฝึกฝนมากกว่าฝ่ายรัฐสภา หลังจากการทำสงครามระหว่างกันหลายครั้งระหว่างปี 1642 - 1648 ในที่สุดกองทัพของพระเจ้าชาลส์ก็พ่ายแพ้ต่อกองทัพรัฐสภา ชาลส์พยายามหาทางหนีแต่สุดท้ายก็ถูกรัฐสภาอังกฤษควบคุมตัวไว้


ทางรัฐสภาตั้งศาลขึ้นมาไต่สวนและสุดท้ายศาลตัดสินให้พระเจ้าชาลส์มีความผิดฐานกบฏต่อแผ่นดิน มีความผิดให้ประหารชีวิต และสุดท้ายพระเจ้าชาลส์จึงถูกบั่นพระเศียรที่พระราชวังไวท์ฮอลเมื่อวันที่ 30 มกราคม 1649


ภาพฉากการประหารชีวิตพระเจ้าชาลส์ที่ 1


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 09 ธ.ค. 12, 09:41
ฉากการประหารชีวิตพระเจ้าชาลส์ที่ 1 จากหนังเรื่อง Cromwell (1970)

      http://www.youtube.com/watch?v=6KvQooa-orU


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 09 ธ.ค. 12, 18:11
ชาลส์ที่ 1 มีโอรสธิดากับราชินีเฮนเรียตตา มาเรียที่มีชีวิตรอดจนเป็นผู้ใหญ่หลายคน 


องค์โตได้แก่เจ้าชายชาลส์(1630 -1685) ต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าชาลส์ที่ 2
องค์ที่ 2 พระธิดาเจ้าหญิงแมรี่(1631 - 1660) ต่อมาเสกสมรสกับเจ้าชายวิลเลียมแห่งออเรนจ์ ซึ่งปกครองเนเธอแลนด์ ต่อมาบุตรชายของเธอจะมีบทบาทมากต่ออังกฤษในอนาคต
องค์ที่ 3 เจ้าชายเจมส์(1633 - 1701) ต่อมาได้ครองราชย์เป็นพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ
องค์สุดท้าย เจ้าหญิงเฮนเรียตตา แอนนา(1644-1670)


ก่อนที่พระเจ้าชาลส์จะถูกบั่นพระเศียร ตั้งแต่ช่วงสงครามกลางเมือง ราชินีเฮนเรียตตา มาเรียได้เสด็จไปประทับในฝรั่งเศสก่อนแล้ว  เมื่อพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ถูกปลงพระชนม์แล้ว ในอังกฤษเองได้เข้าสู่ยุคสาธารณรัฐ  มีแต่จอมเผด็จการครอมเวลล์เป็นผู้นำ ไม่มีกษัตริย์ รัฐสภาไม่รับรองเจ้าชายชาลส์เป็นกษัตริย์อีกต่อไป แต่ทางสกอตแลนด์ได้ประกาศยกเจ้าชายชาลส์เป็นกษัตริย์ชาลส์ที่ 2 แห่งสกอตแลนด์  ดังนั้นในปี 1651 กษัตริย์ชาลส์ที่ 2 แห่งสกอตแลนด์จึงยกทัพบุกอังกฤษ แต่กองทัพของพระองค์พ่ายแพ้ต่อกองทัพอังกฤษของสาธารณรัฐอีก พระเจ้าชาลส์ต้องหลบหนีตายไปภาคพื้นทวีปยุโรป


ชาลส์ที่ 2 กลายเป็นกษัตริย์ตกกระป๋อง บางช่วงชาลส์ไปเป็นทหารรับจ้างให้กับสเปนส่วนเจมส์น้องชายที่ต้องตกกระป๋องพอกันไปเป็นทหารรับจ้างให้ฝรั่งเศสในขณะที่สเปนและฝรั่งเศสทำสงครามกัน   และเนื่องจากฝรั่งเศสและฮอลแลนด์ประกาศเป็นมิตรกับอังกฤษภายใต้ครอมเวลล์ขณะนั้น ชาลส์จะไปพึ่งฮอลแลนด์หรือฝรั่งเศสก็ไม่ได้อีก จึงต้องระหกระเหเร่ร่อนไปตามที่ต่างๆ  เดินทางไปโน่นนี่ พักค้างตามโรงเตี๊ยมโดยมีผู้ติดตามไม่กี่คน ใช้ชีวิตอย่างยากจน


ภาพชาลส์ที่ 2 ช่วงที่ยังตกกระป๋องอยู่


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 09 ธ.ค. 12, 21:35
อีตาโอลิเวอร์ ครอมเวลล์นี่ก็น่าสนใจว่าเป็นใครมาจากไหน ไหงถึงก้าวขึ้นมาเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง


โอลิเวอร์ ครอมเวลล์เกิดเมื่อปี 1599 ในครองครัวที่มีเชื้อสายผู้ดีปลายๆ แถวหน่อยเลยไม่ได้มีฐานะดีนัก แต่อย่างไรก็ตาม ครอมเวลล์ได้รับการศึกษาที่ดี เป็นศิษย์เก่าเคมบริดส์ซะด้วย ซึ่งนอกจากจบเคมบริดส์แล้ว ครอมเวลล์ยังได้รับแนวคิดเป็นพวกพิวริตันซึ่งเป็นคริสต์แบบเคร่งครัดสุดขั้วมาจากที่นั่นด้วย  ครอมเวลล์แต่งงานกับอลิซาเบธ บรูเชียร์ลูกสาวเศรษฐี ซึ่งทำให้ครอมเวลล์มีเส้นสายได้รู้จักคนใหญ่คนโต และต่อมาครอมเวลล์ได้รับมรดกจากลุง ทำให้มีเงินมีทองมากขึ้นเลยได้เข้าสู่วงการเมือง กลายเป็นสมาชิกรัฐสภา ซึ่งในช่วงแรกๆ ก็ไม่ได้มีความสามารถอะไรโดดเด่นนักจนกระทั่งชาลส์ที่ 1 ยกเลิกรัฐสภาไป 11 ปี


เมื่อสภาเปิดอีกครั้ง ครอมเวลล์ก็กลับมารับตำแหน่งสมาชิกสภาอีกและได้สร้างเส้นสายเชื่อมโยงกับพวกกลุ่มศรัทธาศาสนาในสภาให้แนบแน่นยิ่งขึ้น เมื่อกษัตริย์กับรัฐสภาเกิดความขัดแย้งกันอีกครั้งจนเกิดสงครามกลางเมือง ครอมเวลล์แม้จะแทบไม่มีประสบการณ์ทางทหารเลยก็ได้จัดตั้งกองทหารขึ้น และต่อมากองทหารของครอมเวลล์ประสบความสำเร็จหลายครั้งในสมรภูมิต่างๆ ซึ่งยิ่งทำให้ครอมเวลล์มีอิทธิพลมากยิ่งขึ้น ไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งสูงขึ้นๆ    จนกระทั่งในสงครามครั้งสุดท้ายระหว่างกษัตริย์กับรัฐสภาที่เมืองเพรสตั้น ครอมเวลล์เป็นแม่ทัพของกองทหารประมาณ 9000 คนแต่สามารถเอาชนะกองทัพของฝ่ายนิยมกษัตริย์ที่มีกำลังมากกว่า 2 เท่าได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด


เมื่อสำเร็จโทษกษัตริย์ชาลส์ที่ 1 ไปแล้ว อำนาจของครอมเวลล์ก็ก้าวขึ้นถึงจุดสูงสุด ครอมเวลล์เปลี่ยนประเทศอังกฤษเป็นสาธารณรัฐไม่มีกษัตริย์แต่ตั้งตัวเองเป็นเจ้าผู้พิทักษ์(Lord Protector) มีอำนาจเด็ดขาดเอง  อังกฤษเข้าสู่ยุคแห่งการเคร่งครัดทางศีลธรรมแบบพิวริตั้น งานรื่นเริง ความบันเทิงใจต่างๆ ถูกห้าม ต้องการแต่ให้ผู้คนสวดมนต์ภาวนาเท่านั้น  ครอมเวลล์กำราบไอร์แลนด์และสกอตแลนด์ได้อย่างราบคาบจนแม้แต่มหาอำนาจอย่างฝรั่งเศสหรือฮอลแลนด์ยังต้องเป็นมิตรกับอังกฤษ


หลังจากเป็นท่านผู้นำอยู่เกือบสิบปี ครอมเวลล์ก็ตายเมื่อปี 1658 ส่งต่ออำนาจและตำแหน่งเจ้าผู้พิทักษ์ให้ลูกชายริชาร์ด ครอมเวลล์  วิธีการไม่ต่างจากผู้นำเผด็จการในยุคหลังๆ เลย แต่เพราะริชาร์ดเป็นคนไร้ความสามารถ เพียงเวลาไม่นานระบบกษัตริย์ก็ได้รับการฟื้นฟู  พระเจ้าชาลส์ที่ 2 ที่ตกกระป๋องไปแล้ว กลับเข้ามาเป็นกษัตริย์อังกฤษอีกครั้ง ประเทศเข้าสู่ยุคเบิกบานสนุกสนานรุ่งเรืองอีกครา


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 09 ธ.ค. 12, 21:53
เมื่อพระเจ้าชาลส์ที่ 2 กลับมาเป็นกษัตริย์อังกฤษอีกครั้ง ภารกิจแรกๆ คือจัดการล้างแค้นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปลงพระชนม์พระบิดาเช่นผู้พิพากษาที่ตัดสินคดี ใครที่โชคดีตายไปก่อน ก็แค่ถูกขุดศพขึ้นมาแขวนคอ ตอน ตัดหัวแล้วสับเป็นสี่ส่วน  แต่ใครยังไม่ตายนี่โชคร้ายหนักเพราะจะได้รับสิทธิ์นี้แบบเป็นๆ มีคนโดนประหารทั้งแบบตายก่อนแล้วและแบบสดๆ ไปหลายคน  


ร่างของครอมเวลล์ก็ไม่พ้นถูกขุดขึ้นมาจากวิหารเวสมินสเตอร์ เอามาแขวนคอ ตอน ตัดหัว สับ เช่นกัน หัวของครอมเวลล์ถูกแขวนประจานไว้ที่เวสมินสเตอร์ ฮอลล์ตั้งแต่ปี 1659 จนกระทั่งปี 1685 เกิดพายุพัดหัวของครอมเวลล์หล่นลงมา หัวของครอมเวลล์เลยกลายเป็นสมบัติของนักสะสมของที่ละลึกไป จนปัจจุบันฝังไว้ที่ Sidney Sussex College ที่ครอมเวลล์เคยเป็นศิษย์เก่า


หัวนี้ได้รับการตรวจสอบหลายครั้งด้วยเทคนิคต่างๆ  คณะผู้ตรวจสอบเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นหัวของครอมเวลล์จริงๆ


ภาพการประหารร่างของครอมเวลล์  deathmask และหัวที่น่าจะเป็นของจริง


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ธ.ค. 12, 21:14
เมื่อสำเร็จโทษกษัตริย์ชาลส์ที่ 1 ไปแล้ว อำนาจของครอมเวลล์ก็ก้าวขึ้นถึงจุดสูงสุด ครอมเวลล์เปลี่ยนประเทศอังกฤษเป็นสาธารณรัฐไม่มีกษัตริย์แต่ตั้งตัวเองเป็นเจ้าผู้พิทักษ์(Lord Protector) มีอำนาจเด็ดขาดเอง  อังกฤษเข้าสู่ยุคแห่งการเคร่งครัดทางศีลธรรมแบบพิวริตั้น งานรื่นเริง ความบันเทิงใจต่างๆ ถูกห้าม ต้องการแต่ให้ผู้คนสวดมนต์ภาวนาเท่านั้น  ครอมเวลล์กำราบไอร์แลนด์และสกอตแลนด์ได้อย่างราบคาบจนแม้แต่มหาอำนาจอย่างฝรั่งเศสหรือฮอลแลนด์ยังต้องเป็นมิตรกับอังกฤษ
จะให้ประชาชนทนไหวได้ไง    ครอมเวลล์กับพวกพิวริตันเคร่งครัดศาสนาขนาดห้ามความบันเทิงทั้งหมด  จะร้องเพลงสักแอะก็ยังไม่ได้  ต้องกลับเข้าบ้านสวดมนตร์กันยันเต   บ้านเมืองเต็มไปด้วยความเงียบเหงา   บรรยากาศเคร่งเครียดแม้แต่ในวันคริสต์มาส ก็เงียบเชียบมีแต่เสียงสวดมนตร์ ผู้คนจำต้องเก็บตัวเงียบในบ้าน
ประชาชนทนอยู่ใต้เผด็จการเพราะไม่มีทางเลือก  พอครอมเวลล์ตาย    พระเจ้าชาร์ลส์จึงลอยลำกลับเข้ามาเป็นกษัตริย์อย่างที่ควรจะเป็น


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 12 ธ.ค. 12, 01:46
แหะๆ  มัวแต่ยุ่งๆ หายไปสองวันรู้สึกเหมือนท่านอาจารย์จะมาตามตัวแล้ว ต้องมาเพิ่มเติมซะหน่อย

เมื่อหมดยุคครอมเวลล์ พระเจ้าชาลส์ที่ 2 ก็กลับมาครองราชย์ที่อังกฤษต่อ คราวนี้ความรื่นเริงบันเทิงใจต่างๆ ก็หวนกลับมาอีกครั้ง
ชาลส์ที่ 2 นับได้ว่าเป็นกษัตริย์นักรักพลังม้าตัวจริง เพราะมีอีหนูเพียบ  ลูกๆ ก็ยั้วเยี้ย  เพียงแต่ไม่มีลูกในสมรสกับมเหสี คือราชินีแคทเธอรีนแห่งบราแกนซาแห่งโปรตุเกส(1638 – 1705)เลยแม้แต่คนเดียว เพราะพระนางแท้งไป 2 ครั้ง ซึ่งนำความวุ่นวายมาในภายหลัง


นอกจากการไม่มีโอรสธิดาในสมรสแล้ว การที่ชาลส์แต่งงานกับราชินีแคทเธอรินซึ่งเป็นคาธอลิก  สร้างความอิหลักอิเหลื่อให้กับชาวอังกฤษไม่น้อย แม้ความจริงราชินีแคทเธอรินออกจะน่าสงสารมาก ต้องหัวเดียวกระเทียมลีบเพราะเป็นคาธอลิก ที่แต่งงานได้เพราะสมัยนั้นโปรตุเกสรวย  เมื่อแต่งแล้วพระสวามีก็มีกิ๊กเยอะ พระนางต้องสู้รบปรบมือกับสนมตัวร้ายอย่างเลดี้แคสเซิลแมน แต่ทั้งสองพระองค์ก็มีความเกรงใจซึ่งกันและกัน พระเจ้าชาลส์ไม่ได้ถึงกับทอดทิ้งพระนางเสียทีเดียว ที่จริงก็ออกจะเคารพพระนางอยู่มาก เพราะเมื่อมีผู้เสนอให้หย่ากับพระนางเพราะพระนางไม่สามารถมีบุตรได้อีก พระเจ้าชาลส์ก็ไม่ทรงทำตาม ทรงยืนกรานจะให้พระนางเป็นราชินีต่อไป เมื่อช่วงปลายรัชสมัย พระเจ้าชาลส์ก็กลับไปสนิทสนมกับพระนางที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นคู่ทุกข์คู่ยากตัวจริงของพระองค์


หลังรัชสมัยพระเจ้าชาลส์พระนางยังคงประทับอยู่ในอังกฤษจนถึงรัชสมัยของพระราชินีแมรี่และพระราชาวิลเลี่ยม แต่เนื่องจากในสมัยหลังๆ ความเป็นคาธอลิกของพระนางยิ่งทำให้ต้องเป็นปฏิปักษ์กับโปรแตสแตนท์มากขึ้น เพราะในสมัยต่อมามีกฏหมายบังคับให้พระราชวงศ์ต้องเป็นโปรแตสแตนท์เท่านั้นจึงจะมีสิทธิสืบราชสมบัติ ทำให้พระนางถูกบีบให้ต้องเสด็จกลับโปรตุเกสจนสิ้นพระชนม์  นางเอกของเราช่างน่าสงสารยิ่งนัก


ภาพพระนางแคทเธอริน


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 12 ธ.ค. 12, 01:55
เรื่องราวของพระเจ้าชาลส์ที่ 2 นี่สนุกสนานมาก โดยเฉพาะเรื่องของเหล่ากิ๊กของพระองค์  ท่านอาจารย์เทาชมพูเคยเขียนเล่าไว้ในเว็บวิชาการเมื่อนานมาแล้ว เรื่อง ราชาเจ้าสำราญ : ชาร์ลส์ที่ ๒ แห่งอังกฤษ  มีทั้งหมด 4 ตอน ใครไม่ยอมตามลิงค์ไปอ่านต้องขอบอกเลยว่าจะพลาดของดีมาก ๆ  เชิญไปอ่านตามนี้ระหว่างที่กระผมขออู้ไปก่อน ช่วงนี้ซุปฯเรียกคุยทุกสัปดาห์เลย

http://www.vcharkarn.com/varticle/395

http://www.vcharkarn.com/varticle/396

http://www.vcharkarn.com/varticle/397

http://www.vcharkarn.com/varticle/398

อ้อ เกือบลืมภาพพระเอกนักรักของเรา ชาลส์ที่ 2 ไม่หล่อแต่เร้าใจ


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 12 ธ.ค. 12, 10:12
         เรื่องราวสมัย Restoration ของพระองค์ถูกนำมาถ่ายทอดเป็นหนังในชื่อเดียวกัน
ผ่านตัวเอกของเรื่องซึ่งเป็นแพทย์หนุ่ม(รับบทโดย Robert Downey Jr.)ที่ได้มีโอกาส
เข้าไปรับใช้ในราชสำนัก

คลิปตอนที่ 1/11 ครับ

         http://www.youtube.com/watch?v=ACwVOrRBabI


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 13 ธ.ค. 12, 22:55
แม้จะมีพระโอรสและธิดาเรียกได้ว่ายั้วเยี้ยไปหมดจากเหล่าสนมทั้งหลาย แต่ไม่มีซักคนที่เกิดจากพระราชินี ดังนั้นปัญหาเรื่องรัชทายาทจึงเป็นปัญหาใหญ่ในช่วงสมัยของชาลส์
พระอนุชาของชาลส์ คือเจ้าชายเจมส์ คนที่สมัยครอมเวลล์เรืองอำนาจแล้วต้องตกกระป๋องตามไปด้วย ต้องไปเป็นทหารรับจ้างในฝรั่งเศส เมื่อพระเจ้าชาลส์กลับมาครองบัลลังก์อังกฤษ และยังไม่มีรัชทายาท  เจ้าชายเจมส์ก็ต้องเป็นรัชทายาทแทน


แต่เจ้าชายเจมส์ไม่เป็นที่นิยมของชาวอังกฤษเพราะเจ้าชายเป็นพวกโปรฝรั่งเศส เนื่องจากเคยไปลี้ภัยในฝรั่งเศส แถมเจมส์ยังเปลี่ยนมานับถือนิกายคาธอลิกอีกด้วยจึงยิ่งไม่เป็นที่ชื่นชอบของเหล่าชาวอังกฤษ โดยเฉพาะรัฐสภาและขุนนาง แต่เมื่อไม่มีตัวเลือกอื่น เจมส์จึงยังอยู่ในตำแหน่งรัชทายาท


พระเจ้าชาลส์ที่ 2 สิ้นพระชนเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1685 โดยไม่มีรัชทายาทที่เป็นโอรสหรือธิดาถูกต้องตามกฏหมาย เจ้าชายเจมส์ จึงได้ขึ้นครองราชย์ต่อเป็นพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ และเจมส์ที่ 7 แห่งสก๊อตแลนด์ ในปี 1685


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 13 ธ.ค. 12, 23:40
เจมส์ที่ 2 ประสูติเมื่อปี 1633 เป็นโอรสองค์ที่ 2 ของพระเจ้าชาลส์ที่ 1  


ในช่วงต้นการฟื้นฟูราชวงศ์หลังจากครอมเวลล์ไปเยี่ยมยมพบาลแล้ว   เจมส์ได้พบรักกับเลดี้แอน ไฮด์ บุตรสาวของเอิร์ลแห่งคราเรนดอนและสัญญาว่าจะแต่งงานกับเธอถ้าแอนน์ยอม xxx ด้วย     ในปี 1660 เจมส์จึงสมรสกับเลดี้แอนน์ ไฮด์ ในขณะชาวบ้านซุบซิบกันว่าท้องก่อนแต่ง  เป็นการแต่งงานท่ามกลางเสียงคัดค้าน เพราะเป็นเรื่องแปลกในสมัยนั้นที่เจ้าชายเลือกจะสมรสกับหญิงสามัญชน แต่ก็พอเข้าใจได้เพราะแม้จะมีสถานะเป็นเจ้าชายรัชทายาทของพระเจ้าชาลส์ที่ 2 แต่ตอนนั้นชาลส์เองก็ยังหนุ่มแน่นอายุแค่ 30 โอกาสที่ชาลส์จะมีรัชทายาทสายตรงจึงมีสูง  เจ้าชายเจมส์จึงไม่ต้องคิดหน้าคิดหลังมากนัก   ทั้งคู่มีธิดาที่อยู่รอดมาจนโตด้วยกัน 2 องค์คือเจ้าหญิงแมรี่และเจ้าหญิงแอนน์ จนแอนตายไปในปี 1771 ด้วยมะเร็งเต้านม


เนื่องจากเจมส์เปลี่ยนไปเป็นคาธอลิก แม้จะพยายามเก็บเป็นความลับแต่ก็เป็นที่รับรู้กันในหมู่สาธารณะชนจนเกิดความขัดแย้งเรื่องศาสนาของเจ้าชายเจมส์จนกษัตริย์ชาลส์ที่ 2 ต้องลงมาจัดการ ชาลส์ที่ 2 อนุญาตให้เจมส์เป็นคาธอลิกต่อไปได้ และอนุญาตให้เจมส์แต่งงานกับเจ้าหญิงแมรี่แห่งโมดิน่าซึ่งเป็นคาธอลิกในปี 1673  แต่ธิดาทั้งสองของเจมส์คือเจ้าหญิงแมรี่และเจ้าหญิงแอนน์ต้องถูกเลี้ยงแบบโปรแตสแตนท์ ทำให้พ่อ แม่เลี้ยง และลูกครอบครัวนี้นับถือศาสนาต่างนิกายกัน


เมื่อครองราชย์แล้ว  รัชสมัยของเจมส์เป็นช่วงที่มีแต่ความวุ่นวาย เนื่องจากพระราชาและพระราชินีเป็นคาธอลิกในขณะที่คนส่วนใหญ่ในประเทศเป็นโปรแตสแตนท์ แถมเจมส์เองก็เป็นผู้ที่เชื่อในอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของกษัตริย์ และไม่ยืดหยุ่นเท่าพระเจ้าชาลส์พี่ชายทำให้เกิดความขัดแย้งกับรัฐสภาและคณะที่ปรึกษาที่พยายามจะจำกัดอำนาจของกษัตริย์

ภาพแอน ไฮน์และแมรี่แห่งโมดิน่า


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 14 ธ.ค. 12, 00:13
ในรัชสมัยของเจมส์ที่ 2 มีการกบฏเกิดขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกโดยอาชิบาล แคมเบลล์แห่งสก๊อตแลนด์ก่อความไม่สงบขึ้น แต่ถูกปราบลงได้ ครั้งที่สอง ดุ๊กแห่งมอนมัธ โอรสนอกกฏหมายของชาลส์ที่ 2 เห็นโอกาสที่พระราชาเป็นคาธอลิกและไม่ได้รับความนิยมจึงอ้างสถานะบุตรของพระเจ้าชาลส์และเป็นโปรแตสแตนท์  หวังจะได้รับเสียงและกำลังสนับสนุนจากชาวอังกฤษ แต่ไม่สำเร็จ กองกำลังเล็กๆ ของมอนมัธจึงถูกปราบและตัวมอนมัธเองก็ถูกตัดหัวไปอย่างง่ายดาย


แต่ปัญหาหลักจริงๆ ของเจมส์ที่ 2 คือเรื่องศาสนาของพระองค์  เจมส์ตั้งพวกคาธอลิกหลายคนเป็นผู้บังคับการกรมทหารต่างๆ ซึ่งขัดกับกฏหมายในขณะนั้น แต่งตั้งพวกคาธอลิกให้ดำรงตำแหน่งสูงๆ หลายตำแหน่ง  เมื่อรัฐสภาพยายามขัดขวางเจมส์ก็ยุบสภาซะเลย   แถมเจมส์ยังมีองค์รัชทายาทกับแมรี่แห่งโมดิน่าอีกทำให้พวกโปรแตสแตนท์ยิ่งวิตกว่าประเทศจะกลับไปสู่การอยู่ภายใต้อำนาจของคาธอลิกอีกครั้ง เมื่อเห็นความพยายามปฏิรูปศาสนา และหวั่นเกรงว่าอังกฤษจะกลับไปเป็นคาธอลิก  เสียงเรียกร้องหาอัศวินม้าขาวมาแก้ปัญหาก็ดังกระหึ่ม


ในปี 1688 ขุนนางอังกฤษจำนวนหนึ่งทูลเชิญเจ้าชายวิลเลี่ยมแห่งออเรนจ์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นทั้งลูกเขยและหลานแท้ๆ ของเจมส์มากำจัดคนพาล อภิบาลคนดี   เจ้าชายซึ่งขณะนั้นปกครองฮอลแลนด์อยู่เลยยกทัพจากฮอลแลนด์บุกอังกฤษในเดือนพฤศจิกายน และสามารถพิชิตอังกฤษได้อย่างไม่ยากเย็น  พระเจ้าเจมส์และพระราชินีต้องลี้ภัยไปฝรั่งเศสในเดือนธันวาคม 1688 นั่นเอง


อัศวันม้าขาว วิลเลี่ยมแห่งออเรนจ์


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 17 ธ.ค. 12, 01:33
วิลเลี่ยมส้มเป็นใครมาจากไหน หลายๆ คนอาจจะยังงงๆ หน่อย เพราะประวัติศาสตร์อังกฤษช่วงนี้ไม่ค่อยคุ้นกับคนไทยมากเหมือนที่เราได้ยิรชื่อเฉนรี่ที่ 8  ควีนอลิซาเบธที่ 1 หรือควีนวิคตอเรีย


ย้อนกลับไปสมัยชาลส์ที่ 1 ที่ถูกตัดหัวไป  อย่างที่เคยเล่าว่ากษัตริย์ชาลส์ที่ 1 มีโอรสธิดาที่มีพระชนม์จนเป็นผู้ใหญ่ 3 องค์ด้วยกัน


องค์โตคือชาลส์ที่ 2 ที่กลับมาเป็นกษัตริย์เจ้าสำราญ แต่สิ้นพระชนม์ไปโดยไม่มีองค์รัชทายาท
องค์ที่สองพระธิดา เจ้าหญิงแมรี่(1631 - 1660) ที่ต่อมาสมรสกับเจ้าชายวิลเลี่ยมที่ 2 แห่งออเรนจ์ (1626 - 1650) ผู้ปกครองฮอลแลนด์
องค์ที่ 3 เจ้าชายเจมส์ ที่ต่อมาครองราชย์ต่อจากชาลส์ที่ 2 เป็นพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ และมีปัญหาเนื่องจากพระเจ้าเจมส์เป็นคาธอลิก จนโดนขับไล่ตกบัลลังก์


เจ้าหญิงแมรี่ไปสมรสกับเจ้าชายวิลเลี่ยมเมื่อปี 1641 ตั้งแต่อายุ 15 ปี โดยเจ้าสาวเพิ่งมีอายุ 10 ปีเท่านั้น แต่กว่าทั้งคู่จะมีบุตรก็เมื่อเจ้าหญิงมาอายุได้  19 แล้ว แต่เจ้าชายวิลเลี่ยมก็ด่วนสิ้นพระชนม์ไปก่อนในวัยแค่ 24 ปีด้วยโรคฝีดาษ  เพียง 8 วันก่อนที่โอรสจะเกิด  ดังนั้นโอรสชายองค์เดียวของทั้งคู่ที่ใช้ชื่อเดียวกับบิดาคือเจ้าชายวิลเลี่ยมจึงเป็นเจ้าชายแห่งออเรนจ์ตั้งแต่เกิดเลย


ต้องเข้าใจก่อนว่าในสมัยศตวรรษที่ 17 นั้น อาณาจักรหรือประเทศต่างๆ ไม่ได้เหมือนกับในปัจจุบัน เช่นประเทศเยอรมันก็ยังไม่มี อาณาจักรหรือประเทศต่างๆ ในยุโรปยังแบ่งเป็นแคว้นเล็กแคว้นใหญ่เต็มไปหมด แต่ละแห่งก็มีเจ้าปกครองของตัวเอง แคว้นออร์เรนจ์ปัจจุบันอยู่ในประเทศเนเธอแลนด์กับบางส่วนในฝรั่งเศส แต่ในปี 1528 แคว้นต่างๆ ในฮอลแลนด์มีการรวมตัวกัน  และในปี 1572 ได้เลือกเจ้าชายวิลเลี่ยมที่ 1 แห่งออเรนจ์เป็นเหมือนผู้ปกครองแคว้นทั้งหมด  ดังนั้นพอจะเรียกได้ว่าตำแหน่งเจ้าชายแห่งออเรนจ์ก็เหมือนกับกษัตริย์ของฮอลแลนด์นั่นเอง


เจ้าชายวิลเลี่ยมที่ 2 แห่งออเรนจ์กับเจ้าหญิงแมรี่ มเหสี




กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 17 ธ.ค. 12, 01:54
เจ้าหญิงแมรี่นี่ว่าไปก็น่าสงสารมาก แต่งงานมาอยู่ต่างบ้านต่างเมืองตั้งแต่ยังเด็ก พอมีลูกคือเจ้าชายวิลเลี่ยมที่ 3 พระสวามีคือวิลเลี่ยมที่ 2 ก็ด่วนจากไปก่อนเสียอีก ตัวเองก็เพิ่งจะอายุ 18-19 ปี เขี้ยวเล็บอะไรก็ยังไม่มี แถมพระบิดาพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ก็เพิ่งถูกสำเร็จโทษไป  พี่ชายน้องชายก็ไปตกกระป๋องอยู่ในยุโรป  อำนาจวาสนา มือที่มองไม่เห็นหรือคนแดนไกลที่จะคอยช่วยเหลือก็ไม่มี ดังนั้นอำนาจการปกครองฮอลเลนด์จึงตกเป็นของแม่สามีคือพระมารดาของเจ้าชายวิลเลี่ยมที่ 2 แห่งออเรนจ์  


ตัวเจ้าหญิงเองก็ไม่ได้รับความนิยมนักเพราะอำนาจของครอมเวลล์ล้นยุโรป ใครๆ ก็ซูฮกขอไปเป็นมิตรด้วยทั้งฮอลแลนด์เองหรือแม้แต่ฝรั่งเศส แถมเจ้าหญิงก็มีความเห็นอกเห็นใจเจ้าพี่เจ้าน้องที่ตกกระป๋องอยู่ในยุโรปมาก ทำให้ไม่เป็นที่สบอารมณ์ของใครต่อใคร เพราะคิดว่าช่วยเจ้าไร้บัลลังก์ไปก็แค่นั้น ทำให้เจ้าหญิงเองให้ความช่วยเหลือเจ้าพี่เจ้าน้องไม่ได้มากนัก


อนิจจา อนิจจา อนิจจา  ถ้าเรื่องนี้เป็นนิยายก็ต้องถึงฉากบีบน้ำตา   ในที่สุดอีตาครอมเวลล์ก็ม้วยมรณาไป พระเจ้าชาลส์ที่ 2 ได้กลับมาครองราชย์เป็นกษัตริย์อังกฤษอีกครั้ง อำนาจของเจ้าหญิงก็จะเพิ่มขึ้นตาม แล้วฟ้าสีทองก็ผ่องอำไพ พี่น้องจะได้กลับมาพร้อมหน้ามีอำนาจวาสนากันอีกครั้ง


เจ้าหญิงเดินทางมาที่อังกฤษเมื่อเดือนกันยายน 1660 แต่แล้วเจ้าหญิงก็เป็นฝีดาษ และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 1660

เจ้าหญิงแมรี่


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 17 ธ.ค. 12, 02:32
เจ้าชายวิลเลี่ยมที่ 3 แห่งออเรนจ์เกิดเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 1650 เพียงสัปดาห์เดียวหลังพระบิดาสิ้นพระชนม์  ในวัยเด็กเจ้าชายเองไม่ได้ใกล้ชิดพระมารดาคือเจ้าหญิงแมรีนัก พระพระนางมักจะถอยห่างตัวเองออกจากแวดวงสังคมเจ้านายชาวดัชท์เพราะตัวเธอก็ไม่ได้รับความนิยมนัก แต่แม้จะห่างเหินกับพระมารดา เจ้าชายก็ได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอย่างดีและเข้มงวดตั้งแต่วัยเด็กเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นผู้ปกครองประเทศในอนาคต


เจ้าชายวิลเลี่ยมเองก็ได้ประสบการณ์เผชิญบททดสอบความสามารถทางการเมืองตั้งแต่วัยหนุ่ม เพราะความขัดแย้งระหว่างราชสำนักในฮอลแลนด์เองก็มีไม่น้อย  ดังนั้นเพื่อเพิ่มความมั่นคงให้กับสถานะของตน ทั้งเป็นการเพิ่มโอกาสของตนในการที่อาจจะได้สืบทอดบัลลังก์อังกฤษเองด้วย  เจ้าชายวิลเลี่ยมจึงเลือกที่จะสมรสกับเจ้าหญิงแมรี่ พระธิดาของเจ้าชายเจมส์ ดุ๊คแห่งยอร์ค คนที่ต่อมาจะขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเจมส์ที่ 2 นั่นเอง


เจ้าชายเจมส์ไม่ต้องการให้ธิดาของตนแต่งงานกับเจ้าชายวิลเลี่ยม แต่ไม่สามารถขัดพระเจ้าชาลส์ที่มองเห็นผลประโยชน์หลายๆ อย่างจากการสมรสครั้งนี้เช่นกัน  เจ้าชายวิลเลี่ยมจึงสมรสกับเจ้าหญิงแมรี่ ที่มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องของตนเมื่อปี 1677  เจ้าหญิงแมรี่ตั้งครรภ์ไม่นานหลังแต่ง แต่เด็กแท้ง และเจ้าหญิงไม่มีพระครรภ์อีกเลยหลังจากนั้น


เมื่อพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ขึ้นครองราชย์ ในระยะแรกวิลเลี่ยมยังมีแนวโน้มสนับสนุนพระเจ้าอาและพ่อตาของตนอยู่ แม้แต่ชวนมาร่วมมือกันเพื่อต่อต้านเพื่อลดอำนาจฝรั่งเศส แต่พระเจ้าเจมส์ไม่สนใจ ไม่ร่วมมือด้วย ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อตา-อา กับ ลูกเขย-หลาน คู่นี้ยิ่งแย่ลง แถมเจ้าหญิงแมรี่แห่งโมดินา มหสีชาวคาธอลิกของเจมส์เพิ่งให้กำเนิดพระโอรส  ยิ่งทำให้วิลเลี่ยมเองที่จ้องบัลลังก์อังกฤษตาเป็นมันอยู่เชนกันยิ่งไม่พอใจมากขึ้น   


เช่นเดียวกับขุนนางโปรแตสแตนท์ในอังกฤษเองที่ไม่พอใจกษัตริย์และรัชทายาทคาธอลิกของตน  หันไปมองเพื่อนบ้านเห็นเจ้าชายวิลเลี่ยม ทั้งเป็นโปรแตสแตนท์ มีสายเลือดสายตรงที่สามารถอ้างราชบัลลังก์อังกฤษได้ แถมสมรสกับเจ้าหญิงแมรี่ที่มีสิทธิลำดับต้นๆ ในบัลลังก์อังกฤษเช่นกัน    มองไปทางไหนไม่มีใครเหมาะสมกว่ายิ่งไปกว่านี้อีกแล้ว เสียงเรียกร้องให่วิลเลี่ยมบุกอังกฤษ ขับไล่เจมส์ออกไปเลยดังกระหึ่ม


หล่อ รวย ชาติตระกูลสูงปรี๊ด แถมฉลาดอีกต่างหาก เจ้าชายวิลเลี่ยมนี่ครบเครื่องจริงๆ  ภาพตอนอายุ 27


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 18 ธ.ค. 12, 04:32
วิลเลี่ยมของเราไม่ใช่โง่ ไม่ใช่ดุ่มๆ พอมีคนอังกฤษติดต่อให้บุกอังกฤษก็บุกเลย แต่ได้พิจารณาผลได้ผลเสียก่อนหลายประการ


อย่างแรกคือ พระเจ้าเจมส์เพิ่งมีพระโอรสองค์ใหม่ ซึ่งมาเบียดลำดับการสืบราชสมบัติอังกฤษของเจ้าหญิงแมรี่ มเหสีของวิลเลี่ยมให้ตกไป
อย่างที่สอง ฝรั่งเศสซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับเจมส์  แถมมีกษัตริย์หลุยส์ที่ 14 เป็นคาธอลิกอีกต่างหาก กำลังติดพันสงครามกับสเปนและแถวเยอรมัน ทำให้ไม่อาจจัดกำลังมาตีตลบหลังฮอลแลนด์ช่วงที่วิลเลี่ยมกำลังบุกยึดอังกฤษ
อย่างที่สาม นโยบายทางศาสนาของเจมส์ กำลังสร้างความขัดแย้งกับศาสนจักรโปรแตสแตนท์ในอังกฤษอย่างมาก มีการจับกุมนักบวชโปรแตสแตนท์ที่ต่อต้านเจมส์ สร้างความไม่พอใจกษัตริย์ของตนในหมู่ชาวอังกฤษมาก


ดังนั้นวิลเลี่ยมจึงเริ่มตระเตรียมกองทัพของตน ซึ่งข่าวการตระเตรียมทัพของวิลเลี่ยมก็เป็นที่รับรู้ของทางอังกฤษด้วย  วิลเลี่ยมเคลื่อนพลประกอบด้วยทหารราบราว 11000 คน ทหารม้าอีก 4000 คนข้ามช่องแคบอังกฤษยกพลขึ้นบอกเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 1588  เจมส์เองก็ไม่ต้องการให้วิลเลี่ยมบุก จัดกองทัพไปรอถล่มวิลเลี่ยมเช่นกัน แต่ทหารของเจมส์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโปรแตสแตนท์กลับไปเข้ากับทางฝ่ายวิลเลี่ยมเสียอีก


พระเจ้าเจมส์เห็นแล้วว่าไม่มีทางสู้ก็เลยต้องหนี  แต่ก็หนีไม่พ้นถูกฝ่ายวิลเลี่ยมจับตัวได้ โดนบังคับให้สละราชสมบัติและไปฝรั่งเศสได้ รอดพ้นคมขวานไปได้  ที่วิลเลี่ยมไม่ตัดหัวพ่อตาและอาของตัวเองที่อาจจะเป็นหอกข้างแคร่ในอนาคต ไม่ใช่เพราะความปราณีแต่อย่างใด แต่เนื่องจากไม่อยากให้ทางคาธอลิกไปยกเจมส์ให้เป็นนักบุญ หรือผู้ที่สละชีพของตัวเพื่อพระเจ้าอะไรทำนองนั้น


ภาพการยกพลขึ้นบกของวิลเลี่ยมแห่งออเรนจ์  คนนี้ส้มไม่หล่นแต่มาด้วยฝีมือล้วนๆ


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 18 ธ.ค. 12, 04:50
เมื่อขับไล่กษัตริย์องค์เก่าออกไปแล้วบัลลังก์ก็ว่างลง  ทีนี้ปัญหาคือใครจะมานั่งเป็นกษัตริย์กันบ้าง


ตัววิลเลี่ยมเองตั้งใจจะนั่งบัลลังก์เอง ปกครองประเทศอังกฤษเอง ไม่ต้องการเป็นแค่คิงคอนสอร์ท หรือกษัตริย์ที่ได้ตำแหน่งมาจากการแต่งงาน ที่จะตกบังลังก์ทันทีเมื่อราชินีของตนที่มีสถานะเป็นควีนรีเจนท์ หรือราชินีที่มีสิทธิปกครองสิ้นพระชนม์ลง แบบเดียวกับที่กษัตริย์ฟิลิปแห่งสเปนที่เคยแต่งงานกับราชินีแมรี่ที่ 1 แห่งอังกฤษเคยประสบ แต่ถ้าให้วิลเลี่ยมเป็นกษัตริย์มีอำนาจเต็มแบบนั้นก็จะขัดต่อแบบแผนประเพณีนิยม เพราะองค์รัชทายาทตัวจริงคือเจ้าหญิงแมรี่ก็ยังอยู่  มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับแผนการนี้


เพื่อเป็นการประสานผลประโยชน์ เลยตกลงกันได้ว่าจะให้วิลเลี่ยมและแมรี่เป็นกษัตริย์และราชินีปกครองร่วมกัน  และถ้าองค์ราชินีสิ้นพระชนม์ไปก่อนก็ให้วิลเลี่ยมอยู่ในสถานะกษัตริย์ต่อไปได้  รัชสมัยนี้จึงถูกเรียกว่ารัชสมัยของวิลเลี่ยมและแมรี่   วิลเลี่ยมก็เป็นกษัตริย์วิลเลี่ยมที่ 3 แห่งอังกฤษ วิลเลี่ยมที่ 2 แห่งสกอตแลนด์ ราชินีแมรี่ก็เป็นแมรี่ที่ 2 แห่งอังกฤษและสกอตแลนด์


งานแรกๆ ในรัชสมัยวิลเลี่ยมและแมรี่คือการออกกฏหมายการสืบสันตติวงศ์อังกฤษ กฏหมายนี้ห้ามไม่ให้ผู้ที่เป็นคาธอลิก หรือแม้แต่สมรสกับคาธอลิก รวมถึงผู้ที่นับถือศาสนาอื่นๆ ที่ไม่ใช่คริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ มีสิทธิในบัลลังก์อังกฤษไม่ว่าในกรณีใดๆ  ต่อให้อยู่ในลำดับการสืบสันตติวงศ์ที่สูงก็ให้ข้ามไปให้หมด นั่นทำให้กษัตริย์เจมส์ที่ 2 และเชื้อสาย รวมทั้งผู้มีเชื้อสายที่สามารถอ้างการสืบสันตติวงศ์อังกฤษได้ที่เป็นคาธอลิก หมดสิทธิ์โดยทันที ยกเว้นแต่จะยอมเปลี่ยนนิกาย


วิลเลี่ยมและแมรี่


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 19 ธ.ค. 12, 20:06
พระเจ้าเจมส์ที่ 2 เองก็พยายามที่จะกลับมาทวงบัลลังก์คืนเช่นกัน ในปี 1690 ได้ยกทัพที่ได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศส ขึ้นบกที่ไอร์แลนด์ซึ่งยังมีชาวคาธอลิกที่สนับสนุนเจมส์อยู่เป็นจำนวนมาก วิลเลี่ยมก็ส่งกองทัพไปรับมือ และเอาชนะกองทักของเจมส์ได้ที่สมรภูมิบอยน์ในไอร์แลนด์(Battle of the Boyne)  และหลังจากนั้นเจมส์ที่ 2 ไม่สามารถฟื้นฟูอำนาจได้อีกเลย


งานหลักในรัชสมัยของวิลเลี่ยมและแมรี่คือการพยายามหยุดยั้งการขยายอำนาจของฝรั่งเศสในพื้นทวีปยุโรป ทำให้วิลเลี่ยมไม่ค่อยจะว่างอยู่ในอังกฤษนักเพราะต้องเดินทางไปทำสงคราม ระหว่างที่วิลเลี่ยมไม่อยู่ ราชินีแมรี่ก็จะเป็นราชินีผู้ปกครองอังกฤษแทน  แต่การตัดสินใจต่างๆ ของพระนางจะอยู่ภายใต้การแนะนำของวิลเลี่ยมเสมอ  แมรี่รักภัคดีและยิมยอมเป็นช้างเท้าหลังวิลเลี่ยมเสมอ


วันที่ 28 ธันวาคม 1698 ราชินีแมรี่สิ้นพระชนม์ด้วยโรคฝีดาษ  สร้างความเศร้าโศกให้กับวิลเลี่ยมยิ่งนัก แต่ก็ทำให้วิลเลี่ยมได้ปกครองอังกฤษตามลำพังในสถานะพระเจ้าวิลเลี่ยมที่ 3 แห่งอังกฤษ วิลเลี่ยมไม่แต่งงานใหม่หลังจากการไปของราชินีคู่ชีวิต


เรื่องการไม่แต่งงานใหม่ของวิลเลี่ยมนี่ เจ้ากรมข่าวลือให้ความเห็นว่าวิลเลี่ยมอาจจะเป็นยอดชาย  คือชายเหนือชายหรือเกย์ก็ได้  เพราะตลอดรัชสมัยวิลเลี่ยมเองมีนางสนมแค่คนเดียว  แถมเมื่อราชินีแมรี่สิ้นพระชนม์แล้ว วิลเลี่ยมมีพฤติกรรมใกล้ชิดคนสนิทที่เป็นชาย มีการแต่งตั้งคนใกล้ชิดที่เป็นไอ้หนุ่มหน้าละอ่อนให้ดำรงตำแหน่งสำคัญอย่างรวดเร็ว  ศัตรูของวิลเลี่ยมเลยประโคมข่าวเรื่องนี้กันใหญ่ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ในยุคหลังก็ยังไม่อาจสรุปได้ ว่าตกลงใช่เกย์หรือไม่ใช่


ปัญหาตอนนี้ของวิลเลี่ยมที่กลับมาให้วิตกอีกคือเรื่องที่ว่าใครจะสืบราชสมบัติ เพราะวิลเลี่ยมกับแมรี่เองก็ไม่มีพระโอรสหรือธิดา  พระน้องนางของราชินีแมรี่คือเจ้าหญิงแอนน์แม้จะตั้งครรภ์และคลอดบุตรหลายหน แต่ไม่มีใครรอดชีวิตจนโตเลย  วิลเลี่ยมเองก็ไม่แต่งงานใหม่ จะมีทายาทสายตรงก็คงเป็นไปไม่ได้อีก ดังนั้นในปี 1701 รัฐสภาจึงออกกฏหมายมาหนึ่งฉบับชื่อว่า Act of Settlement 1701  เกี่ยวกับการสืบสันตติวงศ์ในกรณีที่วิลเลี่ยมไม่มีทายาทสายตรง และเจ้าหญิงแอนน์ก็ไม่มีทายาทสายตรงเช่นกัน โดยจะให้บัลลังก์ตกเป็นของเจ้าหญิงโซเฟียแห่งฮันโนเวอร์ ซึ่งเป็นญาติสายตรงที่สุดแล้วที่เป็นโปรแตสแตนท์  ข้ามพระญาติพระวงศ์สายตรงกว่าจำนวนมากมายที่ดันเป็นคาธอลิกหรือแต่งงานกับใครที่เป็นคาธอลิก


วิลเลี่ยมที่ 3 สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 1702 หลังการบาดเจ็บจากการตกม้า  เจ้าหญิงแอนน์  พระขนิษฐาหรือน้องสาวของราชินีแมรี่ที่ 2 แห่งอังกฤษขึ้นครองราชย์ต่อเป็นราชินีแอนน์แห่งอังกฤษ



ภาพเจ้าหญิงโซเฟียแห่งฮันโนเวอร์ ตัวเต็งอันดับต่อไปที่จะครองบังลังก์อังกฤษ


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 20 ธ.ค. 12, 19:13
ที่จริงกระทู้นี้ว่าจะพูดถึงเพราะเจ้าจอร์จที่ 1 แห่งอังกฤษ  เลยต้องเกริ่นไปถึงที่มาที่ไปว่าทำไมจอร์จที่นั่งอ้วนอยู่ในเยอรมัน จู่ๆ ราชรถมาเกย ข้ามห้วยมาเป็นกษัตริย์อังกฤษได้
กะว่าจะเกริ่นสั้นๆ   แต่นี่เล่นเกริ่นมา 50 กว่าความเห็นไปแล้ว กระทู้นี้เลยกลายพันธุ์เป็นการเล่าเรื่องย่อลำดับกษัตริย์อังกฤษไปซะฉิบ  ไปๆ มาๆ ท่าทางเรื่องที่ตั้งใจจะเล่า จะสั้นจุ๊ดจู๋กว่าตอนเกริ่นที่มาที่ไปซะอีก ราชาศัพท์ก็ใช้บ้างไม่ใช้บ้าง ไอ้ที่ใช้ก็ใช้ไม่ถูกต้อง   นี่ถ้าเขียนเป็นรายงานหรือหนังสือ ครูบาอาจารย์แถวนี้คงเปลืองไม้เรียวกันน่าดู  แถวนี้มีทั้งครูภาษาไทย ภาษาอังกฤษดุๆ ทั้งนั้น


พูดถึงครูภาษาไทยก็เลยเกิดสงสัยขึ้นมา ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์เพ็ญชมพูนี่ ถือถุงพุงป่องน่องทู่แบบที่เด็กรุ่นเก่าเค้าชอบแซวครูภาษาไทยกันรึเปล่าครับ


นอกเรื่องอู้ไปแล้วก็กลับเข้าเรื่อง กันหน่อย ราชินีแอนน์เป็นใครมาจากไหน


อังกฤษที่มีราชินีที่เป็นควีนรีเจนท์หลายพระองค์ด้วยกัน  ที่คุ้นๆ หูคนไทยก็คงจะมีแต่ควีนอลิซาเบธทั้งที่ 1 ที่ 2 และควันวิคตอเรีย  ส่วนควีนแมรี่ ควันแอนน์นี่น้อยคนที่จะรู้จัก ถ้าใครเคยไปเที่ยวมหาวิหารเซนต์ปอลที่ลันดั้นอาจจเห็นอนุสาวรีย์ราชินีที่ยืนอยู่หน้าวิหาร  นั่นคืออนุสาวรีย์ของควีนแอนน์นี่เอง


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ธ.ค. 12, 19:34
พูดถึงครูภาษาไทยก็เลยเกิดสงสัยขึ้นมา ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์เพ็ญชมพูนี่ ถือถุงพุงป่องน่องทู่แบบที่เด็กรุ่นเก่าเค้าชอบแซวครูภาษาไทยกันรึเปล่าครับ

ถ้าจะโดนยิ่งกว่าหวดด้วยไม้เรียว  กลายเป็นระดับโบยด้วยหวาย ก็ตรงที่สงสัยเรื่องนี้แหละค่ะ ;D


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 20 ธ.ค. 12, 19:42
พระราชินีแอนน์(1665 - 1714) เป็นพระธิดาองค์ที่ 2 ที่มีชีวิตรอดจนดป็นผู้ใหญ่ของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 กับเลดี้ไฮน์ มเหสี  ที่แม้พระบิดาและมารดาจะเป็นคาธอลิก แต่ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองทำให้พระธิดาของเจ้าชายเจมส์(ในขณะนั้น)ถูกเลี้ยงดูให้เป็นโปรแตสแตนท์  ดังนั้นเมื่อพระเจ้าเจมส์พระบิดาถูกขับไล่ตกบัลลังก์ไป พระธิดาทั้งสองจึงสามารถขึ้นครองราชย์ต่อได้


ในรัชสมัยวิลเลี่ยม-แมรี่ นั้น ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหญิงแอนน์กับพี่เขยไม่ค่อยดีนัก แต่เมื่อไม่มีรัชทายาทสายตรงและต้องเพิ่มความนิยมหลังจากราชินีแมรี่พระชายาสิ้นพระชนม์ไปแล้ว วิลเลี่ยมจึงปรับปรุงความสัมพันธ์กับแอนน์โดยการมอบตำแหน่งมอบเกียรติต่างๆ ที่เคยริดรอนไปก่อนหน้านี้


เมื่อพระเจ้าวิลเลี่ยมที่ 3 พี่เขยซึ่งเป็นกษัตริย์อังกฤษต่อจากรัชสมัยวิลเลี่ยม-แมรี่ สิ้นพระชนม์ไปโดยไม่มีรัชทายาท ทำให้เจ้าหญิงแอนน์ได้ครองราชย์ต่อเป็นพระราชินีแอนน์แห่งอังกฤษ ในปี 1702
ควีนแอนน์อภิเษกสมรสกับเจ้าชายจอร์จแห่งเดนมาร์กเมื่อปี 1683 ในสมัยที่ยังไม่ขึ้นครองราชย์  เจ้าหญิงทรงพระครรภ์มากกว่า 10 ครั้งแต่ไม่มีพระโอรสหรือธิดาที่มีชีวิตรอดจนเป็นผู้ใหญ่เลย


แอนน์ขึ้นครองราชย์ในช่วงที่ประเทศยังประสบปัญหามากมายที่จะกระทบกระเทือนความมั่นคงในอนาคต เช่นปัญหาเรื่องการออกกฏหมาย Act of Settlement 1701 นั้นทางรัฐสภาสกอตแลนด์บอกว่าไม่เอาด้วย ทำให้ในอนาคตอาจจะมีปัญหาที่อังกฤษและสกอตอาจจะมีกษัตริย์ต่างประองค์กัน และยังมีความขัดแย้งอื่นๆ ระหว่างอังกฤษกบสกอตแลนด์อีก  แต่ในที่สุดปัญหาก็ได้รับการคลี่คลายในปี 1707 เมื่ออังกฤษและสกอตแลนด์ตกลงรวมตัวกันเป็นอาณาจักรเดียวกันชื่อว่า เกรทบริเทน


พระราชินีแอนน์สวรรคตเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1714 โดยไม่มีรัชทายาท เป็นการปิดฉากราชวงศ์สจ๊วตที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษไป



กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ธ.ค. 12, 19:45
พูดถึงครูภาษาไทยก็เลยเกิดสงสัยขึ้นมา ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์เพ็ญชมพูนี่ ถือถุงพุงป่องน่องทู่แบบที่เด็กรุ่นเก่าเค้าชอบแซวครูภาษาไทยกันรึเปล่าครับ

เพิ่งเคยได้ยินนี่แหละ ทำไมครูต้อง "ถือถุง พุงป่อง น่องทู่" ด้วย

 ???


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 20 ธ.ค. 12, 19:59
แห่ะๆ สมัยผมเรียนมัธยม มันจะมี stereotype ของครูภาษาไทยไว้แบบนั้นกันหนะครับ  ครูภาษาไทยมักจะเป็นผู้หญิงวัยกลางคน  ร่างท้วม มักจะไปไหนมาไหนโดยมีถุงผ้าหรือกระเป๋าหนังใส่ข้าวของจุกจิก แถมมักจะดุกว่าครูวิชาอื่นๆ   โดยดุรองมาจากครูปกครอง ทำให้นักเรียนมักจะแซวบุคลิกครูภาษาไทยไว้ว่า ถือถุง พุงป่อง น่องทู่ครับ  ส่วนครูวิชาอื่นๆ จำไม่ได้ครับ เพราะไม่ค่อยดุ ทำให้เด็กเหลวไหลแบบผมมักจะไปนั่งหลับอย่างเดียว ส่วนภาษาไทยนี่ยังโดนตีแม้จะเรียนมัธยมแล้ว


เป็นการแซวแบบขำๆ ตามประสานักเขียนห่ามๆ  สมัยนั้น    แต่หัวใจนี่เคารพเทิดทูนครูทุกท่านนะคร๊าบบบบ ยิ่งใครตีมากยิ่งรักมาก




กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ธ.ค. 12, 08:54
สรุปว่าส้มยังอยู่บนต้นตามปกติ     ยังไม่หล่นลงที่เฮียจ๊อด...


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 21 ธ.ค. 12, 19:32
ส้มใกล้จะหล่นแล้วคร๊าบบบ ใกล้แล้นใกล้แล้น


ระหว่างที่สถานการณ์ในอังกฤษกำลังวุ่นวาย มีการตัดหัวพระราชามั่ง  กบฏมั่ง ขับไล่พระราชาบ้าง  กาลครั้งหนึ่ง  ณ ดินแดนอันไกลโพ้น  มีเจ้าชายและเจ้าหญิง.....
แหม่ ขึ้นต้นคล้ายๆ นิทานฝรั่งเลย  แต่เนื่องจากไม่ใช่นิทาน เลยต้องย้อนเวลากันอีกแล้ว


ถ้าใครยังจำได้ หลังรัชสมัยของพระราชินีอลิซาเบธที่ 1 สิ้นสุดลง  พระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์ก็เดินทางลงใต้มาสวมมงกุฏเป็นพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ เปิดฉากราชวงศ์สจ๊วตบนบัลลังก์อังกฤษเมื่อปี 1603
แม้จะมีข่าวเล่าลือกันว่าพระเจ้าเจมส์ของเราเป็นยอดชายคือชายเหนือชาย ชอบกุ๊กๆ กิ๊กๆ กับชาย  แต่พระเจ้าเจมส์ก็มีพระมเหสีคือราชินีแอนน์แห่งเดนมาร์ก  พระเจ้าเจมส์มีพระโอรสและธิดากับพระมเหสีที่มีชีวิตรอดจนถึงวัยผู้ใหญ่ 3 คนคือ

1. เจ้าชายเฮนรี่ ต่อมาได้เป็นรัชทายาท แต่สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่อายุ 18 ปี
2. เจ้าหญิงอลิซาเบธ(1596 - 1662)
3. เจ้าชายชาลส์ ต่อมาครองราชย์เป็นพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ที่โดนอีตาครอมเวลล์สั่งตัดพระเศียรไปนั่นแหละ


เจ้าหญิงอลิซาเบธเรียกได้ว่าแทบจะไม่มีบทบาทใดๆ เท่าไหร่กับประวัติศาสตร์อังกฤษ เพราะเจ้าหญิงสมรสไปกับกษัตริย์เฟรดเดอริกแห่งโบฮีเมียและเจ้าชายอิเล็กเตอร์แห่งพาลาไทน์ เจ้าหญิงเลยมีสถานะเป็นราชินีแห่งโบฮิเมียด้วย


ชื่อโบฮีเมียอาจจะคุ้นๆ หูแต่นึกไม่ออกว่ามันอยู่แถวไหน  อาณาจักรโบฮิเมียกับพาลาไทน์ ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมัน  แต่ในอดีตสมัยช่วงศตวรรษที่ 17 ดินแดนแถบนี้และส่วนใหญ่ในยุโรปแบ่งเป็นแว่นแคว้นต่างๆ มากมาย แต่ละแห่งก็มีพระราชาปกครองของตัวเอง อาจจะมีการเกี่ยวกันบ้างที่ถือว่าอาณาจักรแถบๆ เยอรมันนี้เรียกรวมๆ กันว่าโฮลี่ โรมัน เอ็มไพร์ เป็นดินแดนโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ผู้ปกครองแคว้นแถวๆ นี้จะมีสถานะเป็นเจ้าชายอิเล็กเตอร์ เช่นเจ้าชายอิเล็กเตอร์แห่งพาลาไทน์  เจ้าชายอิเล็กเตอร์แห่งฮันโนเวอร์ ดุ๊กแห่งแซกโซนี่  เป็นต้น  เจ้าเหล่านี้สามารถถูกเลือกให้เป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ได้ เป็นเสมือนตำแหน่งเกียรติยศอะไรแบบนั้น 


ในบรรดาอาณาจักรแถบๆ เยอรมันนั้น พวกตอนบนๆ และทางตะวันออกจะเป็นโปรแตสแตนท์กัน ในขณะที่ทางใต้ๆ หรือตะวันตกที่ใกล้ชิดกับฝรั่งเศสสเปนหรืออิตาลีจะเป็นคาธอลิก พระเจ้าเฟรดเดอริกนี่เป็นสู้สนับสนุนฝ่ายโปรแตสแตนท์ที่สำคัญคนนึง


ภาพราชินีอลิซาเบธแห่งโบฮีเมียและกษัตริย์เฟรดเดอริก


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 21 ธ.ค. 12, 21:09
ราชินีอลิซาเบธกษัตริย์เฟรดเดอริกมีพระโอรสและพระธิดาด้วยกัน 1 โขยง คือ 13 องค์ เยอะมากๆ และส่วนใหญ่อยู่รอดมาจนวัยผู้ใหญ่ซะด้วย มาดูกันหน่อยว่ามีใครบ้าง


1.  เจ้าชายเฟรดเดอริก เฮนรี่  (1614–1629) จมน้ำสิ้นพระชนม์ตั้งแต่อายุ 15

2.  เจ้าชายชาลส์ หลุยส์  (1617–1680) เจ้าชายเคยมาใช้ชีวิตในอังกฤษ แต่ต่อมาขัดแย้งกับพระเจ้าชาสล์ที่ 1 พระเจ้าลุง  ในสมัยสงครามกลางเมืองเจ้าชายเอนเอียงไปทางฝ่ายรัฐสภา ทำให้ไม่ได้รับความนิยมจากพระญาติพระวงศ์อังกฤษ  ต่อมาเจ้าชายครองตำแหน่งเจ้าอิเล็กเตอร์แห่งพาลาไทน์ในปี 1648  ทายาทของเจ้าชายถูกข้ามสายการสืบสันตติวงศ์อังกฤษเพราะไปแต่งงานกับคาธอลิกและเปลี่ยนไปเป็นคาธอลิก

3.  เจ้าหญิงอลิซาเบธ  (1618–1680) ไม่ได้สมรส

4.  เจ้าชายรูเพิร์ต (1619–1682) เจ้าชายมีบทบาทมากในสงครามกลางเมืองอังกฤษในฐานะแม่ทัพฝ่ายรอยัลลิสต์  ต่อมาในสมัยพระเจ้าชาลส์ที่ 2 ดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง เช่นแม่ทัพเรืออังกฤษ  องคมนตรี  เป็นคนที่ชีวิตมีสีสันมาก   แต่เจ้าชายไม่มีทายาทที่ถูกต้องตามกฏหมาย เพราะมีแต่นางสนม

5.  เจ้าชายโมเรซ (1620–1652) มีบทบาทในฝ่ายกษัตริย์ในสงครามกลางเมืองเช่นกัน ต่อมาเจ้าชายสิ้นพระชนม์จากเรือจมในพายุ ขณะล่องเรือไปหมู่เกาะเวสต์ อินดีส

6.  เจ้าหญิงหลุยซา (1622–1709) อันนี้ออกเสียงไม่ถูก ไม่แน่ใจว่าจะเป็นหลุยส์เซหรือเปล่า   เจ้าหญิงเป็นนักวาดภาพสมัครเล่นฝีมือดี ต่อมาเจ้าหญิงเปลี่ยนไปนับถือคาธอลิก

7.  เจ้าชายหลุยส์  (1624–1625) สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์

8. เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด (1625–1663) ต่อมาเปลี่ยนไปนับถือคาธอลิก

9. เจ้าหญิงเฮนเรียตตา มาเรีย (1626–1651) ไม่มีทายาท

10. เจ้าชายจอห์น ฟิลิป เฟรดเดอริก (1627–1650) ไม่มีทายาท
    
11. เจ้าหญิงชาลอตต์ (1628–1631) ไม่มีทายาท

12. เจ้าหญิงโซเฟีย (1630–1714) ต่อมาสมรสกับเจ้าชายเอิร์น ออกัสต์แห่งฮันโนเวอร์  เจ้าหญิงได้เป็นรัชทายาทบัลลังก์อังกฤษตามกฏหมาย  Act of Settlement, 1701

13. เจ้าชายกุสตาฟ (1632–1641) สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
  


จะเห็นได้ว่าเมื่อดูจากลำดับการเกิด เจ้าหญิงโซเฟียไม่น่าจะมีโอกาสได้เป็นรัชทายาทบัลลังก์อังกฤษเลย เพราะมีเจ้าพี่มากมาย แต่เจ้าพี่เจ้าน้อง ถ้าไม่ด่วนสิ้นพระชนม์ไปก่อน ก็ไปแต่งงานหรือเปลี่ยนไปนับถือคาธอลิก ทำให้เจ้าหญิงซึ่งเป็นบุตรลำดับท้ายๆ กลบได้เป็รรัชทายาทบัลลังก์ได้


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ธ.ค. 12, 12:14
เข้ามา Merry Christmas ท่านจ๊อดค่ะ


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 24 ธ.ค. 12, 23:08
ง่า กราบสวัสดีท่านอาจารย์ ทั้งอาจารย์เทาชมพู อาจารย์เพ็ญชมพู อาจารย์นวรัตน  อาจารย์ตั้ง  และท่านอื่นๆ ที่ไม่ได้กล่าวนามถึงเนื่องในเทศกาลคริสต์มาสครับ  แห่ะๆ แถวเมืองฝรั่งอังกฤษนี่ดูเค้าให้ความสำคัญกับคริสต์มาสมากกว่าปีใหม่ ช่วงนี้เลยเอาแต่นั่งอ้วนขี้เกียจ งานการไม่เดิน  ส้มของจ๊อดก็เลยยังไม่หล่นซะที คาแน่นบนต้นเหลือเกิน


ตัดภาพความวุ่นวายแถวๆ อังกฤษ ลองไปดูแถวๆ เยอรมันซึ่งมีแคว้นต่างๆ มากมายกันบ้าง  เรื่องชื่อต่างๆ ต่อจากนี้ไปจะใช้การออกเสียงแบบอังกฤษนะครับ เพื่อความสะดวกของผมเอง แต่บางทีก็อาจจะมีชื่อที่ออกเสียงแบบเยอรมันหลงๆ มาบ้าง ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้คร๊าบ


มีแคว้นอยู่แคว้นหนึ่ง ชื่อว่าแคว้นบรันสวิก-ลูนเบิร์ก(Brunswick-Lüneburg) อยู่ทางตอนเหนือๆ ของเยอรมันในปัจจุบัน  ที่มีเจ้าผู้ปกครองมีตำแหน่งดุ๊กแห่งบรันสวิก-ลูนเบิร์ก ซึ่งภายใต้ชื่อบรันสวิก-ลูนเบิร์กนี้ ยังอาจแบ่งแยกออกไปได้อีกเป็นเหมือนจังหวัดย่อยๆ เช่นคาเลนเบิร์ก กอตทิงเก้น ลูนเบอร์ก กรูเบนฮาเกน ซึ่งแต่ละจังหวัดก็จะมีเจ้าปกครองเองอีก   เช่นถ้าพ่อมีลูกชายหลายคน อาจจะยกจังหวัดโน้นให้คนโน้น จังหวัดนี้ให้คนนี้ปกครอง บางครั้งบางจังหวัดก็อาจจะกลับมาอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าชายอีกองค์ถ้าผู้ปกครองสิ้นชีวิตลงโดยไม่มีทายาท


ในปี 1641 จอร์จ  ดุ๊กแห่งบรันสวิก-ลูนเบิร์ก สิ้นชีวิตลง ตำแหน่งดุ๊กแห่งบรันสวิก-ลูนเบิร์ก ตกเป็นของลูกชายคนโตคริสเตียน หลุยส์ รับตำแหน่งดุ๊กนี้ไป พร้อมทั้งปกครองจังหวัดคาเลนเบิร์กและลูนเบิร์ก แต่คริสเตียนยกแคว้นคาเลนเบิร์กซึ่งเล็กกว่าให้จอร์จ วิลเลี่ยมน้องชายคนรองปกครอง  จนเมื่อปี 1665 คริสเตียนตายไปโดยไม่มีทายาท  จอร์จ วิลเลี่ยมก็ควรจะรับแคว้นลูนเบิร์กมาปกครองแทน


แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น  ในปี 1658  เจ้าหญิงโซเฟียแห่งพาลาไทน์ พระธิดาของราชินีอลิซาเบธกษัตริย์เฟรดเดอริกที่เคยบอกไปแล้วในความเห็นก่อนหน้าว่าคนนี้แหละต่อมาจะได้เป็นรัชทายาทบังลังก์อังกฤษ   เจ้าหญิงถูกจัดให้ต้องแต่งงานกับจอร์จ วิลเลี่ยมซึ่งเป็นตัวเต็งที่จะปกครองลูนเบิร์กต่อ ด้วยจุดประสงค์ทางการเมือง 


จอร์จซึ่งไม่ต้องการแต่งงานกับเจ้าหญิง เลยตกลงเอาดื้อๆ กับน้องชายลำดับที่ 4 เออร์เนสส์ ออกัส ซึ่งมีโอกาสริบหรี่ยิ่งนักที่จะได้ครองแคว้นใหญ่ๆ  ว่า ถ้าเออร์เนสยอมแต่งงานกับเจ้าหญิงโซเฟียแทน  จอร์จจะยกแคว้นลูนเบิร์กให้เออร์เนสปกครอง นอกจากนั้นยังลดแหลกแจกแถมพ่วงข้อตกลงต่อว่า นอกจากจะยกลูนเบิร์กให้แล้ว จอร์จจะไม่แต่งงานอีกด้วย เพราะการแต่งงานและมีทายาทอาจจะทำให้จอร์จมีมารหัวขน เอ๊ย ทายาทที่ถูกต้องตามกฏหมายที่อาจจะมาอ้างความชอบธรรมในการปกครองแคว้นต่างๆ ในอนาคต เพราะถือว่าจอร์จเป็นลูกชายคนโตกว่า ซึ่งจะนำพาความยุ่งยากมาให้กับเออร์เนสในอนาคตได้


ภาพจอร์จ วิลเลี่ยม คนมักน้อย แต่สงสัยจะวาดตอนแก่แล้ว


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 25 ธ.ค. 12, 01:01
เงื่อนไขดีขนาดนี้    ได้ทั้งสาว ได้ทั้งเมือง   ดีกว่าบ้านพร้อมที่ดินเยอะ   แถมได้มาโดยไม่ต้องลุ้นส่งชิ้นส่วนใดๆ ไปชิงรางวัล ไม่ต้องเปิดฝาชาเขียว  ไม่ต้องชิงโชค   นี่มันยิ่งกว่าส้มหล่นแล้ว  มีหรือเออร์เนสจะปฏิเสธ เออร์เนสตระครุบคว้าหมับไปทันที  ท่ามกลางความไม่พอใจของเจ้าหญิงโซเฟีย  ที่คงรำพึงรำพันในใจ เห็นชั้นเป็นอะไรยะ คิดจะยกให้คนโน้นคนนี้ก็ยกให้กันได้ง่ายๆ


ดังนั้น แทนที่เจ้าหญิงโซเฟียจะได้แต่งงานกับเจ้าชายจอร์จ วิลเลี่ยม เจ้าหญิงเลยต้องตกร่องปล่องชิ้นกับเจ้าชายเออร์เนส ออกัสแทน  และทำให้เจ้าชายเออร์เนสได้ปกครองจังหวัดลูนเบิร์กแทนในอนาคต  ในขณะที่เจ้าชายจอร์จ วิลเลี่ยม ไปปกครองจังหวัดเซลล์ ซึ่งเป็นจังหวัดเล็กๆ เทียบไม่ได้กับลูนเบิร์กเลย แต่ทำให้เจ้าชายวิลเลี่ยมมีอิสระที่จะได้อยู่กินกับเอลินอ ชื่อเรียกยากมาก (Éléonore d'Esmier d'Olbreuse)   สาวคนรักซึ่งมีพื้นเพมาจากลูกสาวขุนนางระดับล่างๆ แต่สวยกว่าเจ้าหญิงโซเฟียมาก


อย่างไรก็ตาม ต่อมาจอร์จ วิลเลี่ยมก็ได้แต่งงานกับเอลินอ ภายใต้การอนุญาตของเออร์เนส (นี่พี่จะแต่งงานแต่ต้องขออนุญาตน้องชาย) ทำให้ธิดาของทั้งคู่ เจ้าหญิงโซเฟีย โดโรเธีย ไม่เป็นบุตรนอกสมรส และได้ศักดิ์เป็นเจ้าหญิงโซเฟีย โดโรเธียแห่งเซลล์ไป 


อ้อ ดูเหมือนแถวๆ เยอรมันนี่เค้าจะนิยมชื่อโซเฟียกันมาก  มีเจ้าหญิงชื่อโซเฟีย และชื่อโซเฟีย โดโรเธียเยอะแยะเต็มไปหมด ดังนั้นเวลาจะพูดถึงคนไหนอาจต้องอ้างด้วยว่าโซเฟียแห่งอะไร เพราะมเหสีของเจ้าชายคริสเตียน หลุยส์ พี่ใหญ่ของทั้งจอร์จ วิลเลี่ยมและเออร์เนสก็ชื่อโซเฟีย โดโรเธีย  เจ้าหญิงที่มาแต่งงานกับเออร์เนส ก็ชื่อโซเฟีย    และต่อไปธิดาของโซเฟีย โดโรเธียแห่งเซลล์ ก็จะชื่อโซเฟีย โดโรเธียอีกนั้นแหละ อย่าเพิ่งงงนะคร๊าบ
 

ภาพเออร์เนส ออกัส หรือเอิร์นส์ ออกัสตามเสียงแบบเยอรมัน  คนนี้ส้มหล่นใส่ก่อนเป็นคนแรก ได้ทั้งสาว ได้ทั้งเมือง


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 ธ.ค. 12, 10:16
ขออนุญาตเสริมเรื่องชื่อ

อ้อ ดูเหมือนแถวๆ เยอรมันนี่เค้าจะนิยมชื่อโซเฟียกันมาก  มีเจ้าหญิงชื่อโซเฟีย และชื่อโซเฟีย โดโรเธียเยอะแยะเต็มไปหมด ดังนั้นเวลาจะพูดถึงคนไหนอาจต้องอ้างด้วยว่าโซเฟียแห่งอะไร เพราะมเหสีของเจ้าชายคริสเตียน หลุยส์ พี่ใหญ่ของทั้งจอร์จ วิลเลี่ยมและเออร์เนสก็ชื่อโซเฟีย โดโรเธีย  เจ้าหญิงที่มาแต่งงานกับเออร์เนส ก็ชื่อโซเฟีย    และต่อไปธิดาของโซเฟีย โดโรเธียแห่งเซลล์ ก็จะชื่อโซเฟีย โดโรเธียอีกนั้นแหละ อย่าเพิ่งงงนะคร๊าบ

ชื่อ Sophia (http://en.wikipedia.org/wiki/Sophia_(name)) มาจากภาษากรีกว่า Σοφíα แปลว่า ความฉลาด แตกแขนงออกเป็นหลายชื่อในวิธีเขียนหลายแบบเช่น Saffi, Safiye, Sofia, Sofie, Soficita, Sofka, Sofy, Sofya, Sophey, Sophie, Sophy, Zofia, Zofi, Žofia, Zofya, Zosia   ชื่อ Sonia (http://en.wikipedia.org/wiki/Sonia_(name)) ก็เป็นอีกแขนงหนึ่ง ซึ่งแตกเป็นแขนงย่อยอีกหลายชื่อ เช่น Sonja, Sonje, Sonni, Sonnie, Sonnjea, Sonya

จาก การสำรวจชื่อที่นิยมใช้ตั้งชื่อเด็กผู้หญิงที่อเมริกา ปี ๒๐๑๒  (http://www.usatoday.com/story/news/nation/2012/11/29/baby-names-top-2012/1730637/) ที่กำลังจะผ่านไป  ชื่อ Sophia มาเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วย Emma, Olivia, Isabella และ Ava

;D



กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 26 ธ.ค. 12, 02:09
เกือบลืมบอกไป บางคนอาจจะสงสัย ก็ไหนว่าจอร์จ วิลเลี่ยมปกครองคาเลนเบิร์กด้วยไม่ใช่หรือ ไหงมาลงเอยกับแคว้นเซลล์เล็กๆ เท่านั้น


จริงๆ แล้วจอร์จ วิลเลี่ยมปกครองคาเลนเบิร์ก แต่ในปี 1665  ที่พี่ใหญ่คริสเตียน หลุยส์ตายนั้น จอร์จที่ควรจะเป็นผู้ปกครองลูนเบิร์กต่อกลับยกลูนเบิร์กให้เออร์เนสน้องเล็กไป และยังยกคาเลนเบิร์กให้น้องสาม จอห์น เฟรดเดอริกไปอีกด้วย  ตัวเองขอแค่ไปปกครองแคว้นเซลล์เล็กๆ แทน


ในปี 1679 น้องสามจอห์น เฟรดเดอริกตายไปโดยไม่มีทายาทชาย มีแต่ทายาทหญิง แคว้นคาเลนบิร์กก็ไปตกอยู่ในมือของน้องสี่เออร์เนสอีก พ่วงตำแหน่งดุ๊กแห่งบรันสวิก-ลูนเบิร์กไปด้วย ทำให้เออร์เนสส้มหล่นอีกครั้งได้ทั้งเกียรติและอำนาจมากกว่าพี่รองผู้มักน้อยอย่างมาก


ภาพน้องสาม จอห์น เฟรดเดอริก


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 28 ธ.ค. 12, 05:34
เจ้าหญิงโซเฟียแห่งพาลาไทน์คนที่ตั้งใจมาแต่งงานกับจอร์จ วิลเลี่ยม แต่ลงท้ายแต่งกับเออร์เนสน้องชายแทนในปี 1658 การแต่งงานนี้มีแต่นำพาผลประโยชน์มาให้เออร์เนส และแม้จะเป็นเจ้าบ่าวสำรอง แต่โซเฟียก็เรียกได้ว่ารักและหลง สยบให้กับเออร์เนสเต็มที่ แม้เออร์เนสจะมีสนมอีกกี่คนโซเฟียก็ทำอะไรไม่ได้


บุคลิกส่วนตัวเจ้าหญิงโซเฟียเป็นคนฉลาด สนใจใฝ่หาความรู้ ชอบคบหานักปราชญ์ราชบัณฑิต คนดังที่โซเฟียคบหาได้แก่ก็อดฟรีด ไลบ์นิซสุดยอดนักคณิตศาสตร์ที่ถือได้ว่าเป็นบิดาของแคลคูลัสเช่นเดียวกับนิวตั้นอีกคนหนึ่ง


โซเฟียให้กำเนิดบุตรธิดากับเออร์เนสที่มีชีวิตรอดจนถึงวัยผู้ใหญ่มากถึง 7 คน ได้แก่


1. เจ้าชายจอร์จ (1660 - 1727)  คนนี้คือจอร์จส้มหล่นของเรา
2. เจ้าชายเฟรดเดอริก ออกัสตัส (1661 - 1691)
3. เจ้าชายแมกซิมิเลียน วิลเลี่ยม (1666–1726)
4. เจ้าหญิงโซเฟีย ชาร์ลอต (1668 - 1705) ชื่อโซเฟียอีกแล้ว  ต่อมาเป็นราชินีแห่งปรัสเซีย
5. เจ้าชายชาลส์ ฟิลิป (1669–90)
6. เจ้าชายคริสเตียน เฮนรี่ (1671–1703)
7. เจ้าชายเออร์เนส ออกัสตัส (1674–1728)
  

ตั้งแต่แต่งงานมีลูกมีเต้า เออร์เนส ออร์กัสก็เรียกได้ว่าชีวิตมีแต่ขาขึ้น ดวงพุ่งเอาๆ ปี 1665 ได้ปกครองลูนเบิร์ก ต่อมารับตำแหน่งดุ๊คแห่งบรันสวิก-ลูนเบิร์ก และแคว้นคาเลนบิร์กมาจากพี่สาม จอห์น เฟรดเดอริก คราวนี้โซเฟียก็เลยได้เปลี่ยนนามเป็นโซเฟียแห่งฮันโนเวอร์แทน และชื่อนี้เป็นที่จดจำและกล่าวถึงมากกว่าเวลานักประวัติศาสตร์อ้างถึงชื่อเจ้าหญิงโซเฟีย


ภาพเจ้าหญิงโซเฟียแห่งฮันโนเวอร์  ที่จริงหน้าตาก็ไม่เลว ทำไมจอร์จ วิลเลี่ยมไม่เอาหว่า ไม่เข้าใจ


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 29 ธ.ค. 12, 20:18
เจ้าชายจอร์จ หลุยส์ ลูกชายคนโตของเออร์เนสและเจ้าหญิงโดโรเทีย หรือจอร์จส้มหล่นของเราประสูติเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 1660 ที่เมืองฮันโนเวอร์ เมื่อแรกเกิดก็เรียกได้ว่าคาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิดเลย เพราะแรกเกิดเจ้าชายมีสถานะเป็นทายาทชายคนเดียวของแคว้นบรันสวิก-ลูนเบิร์กเลย เนื่องจากบรรดาพระเจ้าลุงทั้งหลายไม่มีใครที่มีรัชทายาทชายกันเลย และตามกฏหมายแถวๆ เยอรมันที่เรียกว่า Salic law รัชทายาทชายเท่านั้นที่จะได้สิทธิในการเป็นผู้ปกครองแผ่นดิน  ต่างจากในอังกฤษในยุคสมัยเดียวกันที่ผู้หญิงสามารถดำรงตำแหน่งได้


อย่างไรก็ตาม สถานะรัชทายาทของจอร์จ หลุยส์ในวัยเด็กก็ยังไม่มั่นคงนัก เพราะพระเจ้าลุงทั้งหลายอาจจะมีรัชทายาทชายในอนาคตได้  ดังนั้นความมั่นคงของจอร์จจึงยังไม่ชัดเจน แต่ในช่วงต่อๆ มา บรรดาลุงๆ ของจอร์จก็ค่อยๆ ทยอยตายกันทีละคนโดยไม่มีรัชทายาทชายเลย ความมั่นคงของจอร์จเลยเพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามในภายหลังจอร์จ หลุยส์ก็มีน้องชายเกิดตามมาอีกหลายคน และธรรมเนียมในตอนนั้นคือถ้ามีทายาทชายหลายคน บิดาก็จะแบ่งอาณาเขตให้ลูกชายแต่ละคนไปปกครอง


จอร์จน่าจะเรียกได้ว่าเป็นลูกรักลูกโปรดของพระบิดาเลย ดังนั้นเมื่ออนาคตยังไม่แน่นอน เออร์เนสพระบิดาก็หวังจะเพิ่มพูนประสบการณ์เพื่อให้เป็นนักปกครองที่ดี  ฝึกทั้งการขี่ม้า ล่าสัตว์จนถึงกับพาออกสงครามด้วยตั้งแต่จอร์จยังเด็กอายุแค่ 15 ปี


เมื่อบรรดาลุงๆ ตายไปเกือบหมดแล้ว ลุงคนเดียวที่เหลือคือจอร์จ วิลเลี่ยมที่ไปปกครองเมืองเซลล์เล็กๆ ที่ขออนุญาตน้องชายแต่งงานกับนางสนมลับๆ เพื่อให้บุตรสาวคนเดียวมีสถานะเป็นบุตรในสมรสได้สถานะเจ้าหญิง แต่ไม่มีบุตรชาย  สถานะของจอร์จที่จะครองแผ่นดินเลยมั่นคงมาก และยิ่งเสริมความมั่นคงมากไปกว่านั้นโดยเออร์เนสดำริว่าแทนที่จะต้องแบ่งอาณาจักรออกเป็นส่วนๆ ให้ลูกชายแต่ละคนปกครอง สู้เอาอย่างประเทศอื่นๆ เช่นอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน  คือยกให้ลูกชายคนโตคนเดียวไปเลยดีกว่า   ดังนั้น ท่ามกลางเสียงคัดค้านของบรรดาลูกชายอื่นๆ อีก 5 คน เออร์เนสตัดสินใจว่า ผู้ที่จะปกครองอาณาจักรทั้งหมดต่อไปจะต้องเป็นลูกชายคนโต คือจอร์จ หลุยส์คนเดียวเท่านั้น ไม่ต้องแบ่งใคร


ดังนั้น ส้มก็หล่นใส่จอร์จ หลุยส์ก่อนแล้ว 1 พวง

จอร์จสมัยหนุ่มๆ ส้มหล่นใส่บ้างแล้ว


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 29 ธ.ค. 12, 21:57
เมื่อถึงวัยหนุ่ม ก็ถึงเวลาที่จะต้องหาสาวมาตบแต่งกับตาจอร์จให้เป็นเรื่องเป็นราวซะที ทีนี้ปัญหาก็อยู่ที่ว่า ใครจะเป็นสาวเจ้าโชคดี(รึเปล่า)คนนั้น  เพราะถ้าพูดถึงรูปร่างหน้าตา จอร์จของเราก็เรียกไม่ได้ว่ารูปหล่อ รูปกี่รูปก็ไม่มีรูปไหนดูหล่อเลย จมูกโตๆ ขนาดชาวฮันโนเวอร์ให้สมญาว่า "จมูกหมู"  นิสัยก็ใช่ว่าจะแข็งนอกนุ่มในอ่อนโยนแบบเจ้าชายในเทพนิยาย แต่มีบุคลิกหยาบกระด้างหน่อยตามสไตล์เยอรมัน ชอบเข้าป่าล่าสัตว์ทำสงคราม  


และเพื่อให้เป็นการแต่งแบบเรือล่มในหนองทองจะไปไหน และเพิ่มความมั่นคงให้กับตำแหน่งรัชทายาทผู้ครองครองแคว้นทั้งหมดในอนาคต ออร์เนสเลยจัดการให้จอร์จแต่งงานกับลูกพี่ลูกน้องของจอร์จเอง คือเจ้าหญิงโซเฟีย โดโรเทียแห่งเซลล์  บุตรสาวคนเดียวของจอร์จ วิลเลี่ยม พี่รองของเออร์เนสนั่นเอง


ในตอนแรกเจ้าหญิงโซเฟียแห่งฮันโนเวอร์พระมารดาของจอร์จออกจะไม่เห็นด้วยกับการแต่งงานนัก เนื่องด้วยความรังเกียจเจ้าหญิงโซเฟีย โดโรเทียที่ถือได้ว่ามีเลือดเจ้าเข้มข้นน้อยกว่า เพราะมารดาเป็นเพียงหญิงสามัญชน แถมอีตาจอร์จ วิลเลี่ยมบิดาก็เคยปฏิเสธการแต่งงานกับพระนางเองมาแล้ว  แต่เมื่อดีดลูกคิดชั่งน้ำหนักแล้ว การแต่งงานนี้จะทำให้สถานะของจอร์จส้มหล่นมั่นคงขึ้นในอนาคต อีกทั้งสินสมรสของเจ้าสาวซึ่งมาจากเซลล์แต่ละปีก็ไม่น้อย ถ้าปล่อยให้สาวเจ้าไปแต่งกับคนอื่นก็อาจทำให้ต้องเสียสินทรัพย์ที่น่าจะเป็นของลูกชายตัวในอนาคต แถมเผลอๆ เจ้าหญิงอาจได้ไปแต่งงานเป็นราชินีของประเทศอื่นก็ได้ เพราะตอนนั้นก็มีการเตรียมการที่จะให้เจ้าหญิงโซเฟีย โดโรเทียไปแต่งงานกับรัชทายาทแห่งเดนมาร์ก แบบนี้คนที่เคยถูกปฏิเสธมาก่อนอย่างโซเฟียยิ่งยอมไม่ได้ หนอย ลูกของคนที่ไม่เห็นค่าอิชั้นจะไปเป็นถึงราชินีแห่งเดนมาร์กเรอะ ไม่ได๊ ไม่ได้   สู้เอามาเป็นลูกสะใภ้ซะ คอยกำราบไว้จะดีกว่า  ดังนั้นพระนางจึงยิมยอมตามสามี ให้จอร์จแต่งกับโซเฟีย โดโรเทียได้  แถมยังลอบบี้ขัดขวางการแต่งงานของโซเฟีย โดโรเทียกับว่าที่เจ้าบ่าวอื่นๆ ทั้งหมดอีก


ตัวโซเฟีย โดโรเทียเองก็ไม่มีความต้องการแต่งงานกับอีตาจอร์จเลยซักนิด ถึงกับลั่นคำว่า "ชั้นจะไม่แต่งงานกับไอ้จมูกหมูเด็ดขาด" แต่ก็โดนบังคับจากพ่อใจร้ายจอร์จ วิลเลี่ยม ที่ทีตัวเองไม่แต่งได้ แต่ลูกสาวจะไม่แต่งมั่งไม่ยอม  ไม่หัดเอาใจเขามาใส่ใจเราเอาเลย(ว้อย)


ดังนั้น การแต่งงานที่ทุกคนกำไรกันทั่วถ้วนหน้าโดยเฉพาะแม่สามีใจร้ายและอีตาจอร์จเอง ยกเว้นแต่ตัวเจ้าสาวโซเฟีย โดโรเทียแห่งเซลล์ผู้มีอายุน้อยกว่าจอร์จ 6 ปี เพราะเกิดในปี 1666 ก็ถูกจัดขึ้นในวันที่ 22 พฤศจิกายน 1682 ซึ่งเป็นการแต่งงานที่เป็นหายนะในชีวิตของเจ้าหญิงแสนงามโซเฟีย โดโรเทียยิ่งนัก


ภาพเจ้าสาวที่กลัวฝน น่าสงสารเหลือเกินกระซิกๆ


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 29 ธ.ค. 12, 22:28
การแต่งงานเป็นหายนะในชีวิตของโซเฟีย โดโรเทียจริงๆ  เพราะเธอถูกเกลียดชังและดูถูกจากแม่สามี โซเฟียแห่งฮันโนเวอร์  ที่มองแต่ผลประโยชน์ด้านการเงินจากการแต่งงานเท่านั้น  ตัวเจ้าบ่าวเองคือจอร์จส้มหล่นก็ปฏิบัติอย่างกักขระกับเธอ ชอบดูถูกหรือดุด่าภรรยาอีกต่างหาก แถมรูปร่างหน้าตาจอร์จเองก็ไม่มีส่วนใดน่าพิศมัย  ทั้งคู่จึงทะเลาะเบาะแว้งด่าทอกันเป็นประจำ


แต่แม้จะทะเลาะเกลียดกันขนาดนี้ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อคู่ผัวหนุ่มเมียสาวยังมีลูกด้วยกันได้ถึง 2 คน  คนโตเจ้าชายจอร์จ ออกัสตัสที่ต่อมาจะเป็นพระเจ้าจอร์จที่ 2 แห่งอังกฤษประสูติในปี 1683 และมีพระธิดาชื่อโซเฟีย โดโรเทียเช่นกันที่ต่อมาจะไปแต่งงานและเป็นราชินีแห่งปรัสเซียในปี 1686


เมื่อมีบุตรด้วยกันแล้ว ก็เหมือนหน้าที่ผลิตรัชทายาทสำหรับอาณาจักรจะจบลง จอร์จส้มหล่นก็หันไปคั่วกับนางสนมแทน ไม่สนใจใยดีภรรยาสาวอีกต่อไป  แม้เออร์เนสหรือโซเฟีย โดโรเทียจะตักเตือนว่าให้หัดสนใจภรรยาบ้าง เพราะเดี๋ยวถ้าต้องหย่าร้างไปสินสมรสรายปีจากทางเจ้าสาวปีละไม่น้อยมันจะลอยหนีไปด้วย จอร์จก็ไม่สน  เคยปฏิบัติกับภรรยาอย่างเลวร้ายอย่างไร ก็ยังเป็นเช่นนั้น


ภาพแม่และลูกๆ โซเฟียโดโรเทียกับเจ้าชายจอร์จ ออกัสตัสและเจ้าหญิงโซเฟีย โดโรเทีย


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 30 ธ.ค. 12, 05:06
เจ้าชายจอร์จ หลุยส์ ลูกชายคนโตของเออร์เนสและเจ้าหญิงโดโรเทีย หรือจอร์จส้มหล่นของเราประสูติเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 1660 ที่เมืองฮันโนเวอร์

แก้ไขนะครับ มารดาของจอร์จส้มหล่นคือโซเฟียแห่งฮันโนเวอร์  เผลอไปหน่อยใส่ชื่อผิด ชื่อโซเฟียมันเยอะจนเผลอไผลไป


บุคลิกส่วนตัวของจอร์จส้มหล่นของเรา ถ้าไม่นับว่าเกิดมาบนกองเงินกองทองก็เรียกได้ว่าไม่มีอะไรเด่นหรือดีเลย จากบันทึกของนักการทูตจากต่างแดน นิยามจอร์จไว้ว่าเป็นผู้ชายที่ไม่สูง หน้าตางั้นๆ แถมดูทึ่มๆ พูดง่ายๆ อะไรที่เจ้าชายรูปงามในนิทานมี จอร์จไม่มี


ก่อนจะแต่งงานในปี 1682 นั้น  ในปี 1680 จอร์จเคยเดินทางไปอังกฤษเพื่อไปดูตัวกับเจ้าหญิงแอนน์แห่งอังกฤษ เจ้าหญิงแอนน์คือคนที่ต่อมาเป็นพระราชินีแอนน์ ราชินีองค์สุดท้ายของราชวงศ์สจ๊วต ซึ่งก็แหงแก๋อยู่แล้วว่าผู้ชายทื่อๆ หล่อก็ไม่หล่อ ความเป็นสุภาพบุรุษก็ไม่มี ต่อให้เกิดบนกองเงินกองทอง หญิงสูงศักดิ์ฉลาดๆ ที่ไหนจะเอา  จอร์จเลยส้มไม่หล่น แห้วหล่นแทน ล้มเหลวกลับฮันโนเวอร์ไป  สุดท้ายก็ไปแต่งกับลูกพี่ลูกน้อง เจ้าหญิงโซเฟีย โดโรเทียแทน


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 30 ธ.ค. 12, 05:45
ชีวิตสมรสที่ไร้ความสุขของโซเฟีย โดโรเทียมาถึงจุดหักเหที่จะนำพาไปสู่ความพลัดพราก ความเศร้า ความตาย และความเกลียดชังกันในอนาคต  เมื่อเคานท์ฟิลิป ฟอน โคนิกส์มาร์ก ทหารหนุ่มสุภาพบุรุษรูปงามชาวสวีเดน ที่อดีตเคยรู้จักกันในสมัยที่ทั้งคู่ยังเป็นวัยรุ่น  ท่านเค้าท์เดินทางมายังฮันโนเวอร์อีกครั้งในฐานะเพื่อนสนิทของน้องของจอร์จส้มหล่นเองเพื่อมารับราชการทหารที่นั่น  ทำให้โซเฟีย โดโรเทีย ภรรยาผู้อาภัพรัก ได้พบกับหนุ่มหล่อผู้เคยเป็นเพื่อนกันมาอีกครั้ง


ภาพท่านเคานท์ หล่อเหลากว่าจอร์จส้มหล่นจริงๆ ด้วย


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 02 ม.ค. 13, 20:27
อีตาโคนิกส์มาร์กเคยพบกับโซเฟีย โดโรเทียตั้งแต่สมัยหมอนี่อายุแค่ 16 ปี ส่วนโซเฟียเพิ่งจะ 15 กำลังหวานๆ แหววๆ  และคงปิ๊งป๊างกันตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว ดังนั้นเมื่อทั้งคู่พบกันอีกครั้งในปี 1688 ถ่านไฟเก่าก็คุขึ้นทันที เพราะโซเฟีย โดโรเทียเองก็เป็นเพียงเจ้าหญิงที่สวามีไม่สนใจ กำลังเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยว อีตาโคนิกส์มาร์กก็หล่อล่ำสุภาพบุรุษ ทั้งคู่ส่งจดหมายติดต่อกันซึ่งเนื้อหาในจดหมายบ่งชี้ว่าความสัมพันธ์นี้ไม่ได้มีแค่ทางใจแต่มีทางกายด้วย แต่อย่างไรก็ตาม จดหมายเหล่านี้อาจเป็นจดหมายปลอมก็ได้หรือทั้งคู่จงใจเขียนขึ้นเพื่อปั่นหัวคนอื่น


ในปี 1692 มีอีกาคาบข่าวเอา จ.ม. รักของทั้งคู่ไปให้พ่อสามีเออร์เนส ออกัสอ่านดู เอิร์นเห็นว่าเรื่องอื้อฉาวนี้อาจจะสั่นคลอนตำแหน่งเจ้าชายอิเล็กเตอร์ของเออร์เนสที่เพิ่งได้รับมาใหม่ ได้ เออร์เนสเลยหาเรื่องส่งอีตาโคนิกส์มาร์กไปรบไกลๆ ซะเลย แล้วห้ามเข้ามาฮันโนเวอร์ซะด้วย แต่โคนิกส์มาร์กก็ยังแอบลักลอบมาหาเจ้าหญิงได้อีก


ส่วนอีตาจอร์จส้มหล่นที่โดนภรรยาสวมเขาก็เดือดไม่แพ้กัน ทั้งนี้ไม่ใช่ด้วยความรักใครหึงหวงแต่คงรู้สึกเสียหน้าโดนผู้คนหัวเราะเยาะที่ปล่อยให้ภรรยาคบชู้มากกว่า อีตาจอร์จถึงกับลงมือตบตีแล้วยังบีบคอภรรยาซะอีกด้วย ดีว่าพวกเหล่านางกำนัลช่วยกันดึงออกมา แต่ก็เล่นเอาโซเฟีย โดโรเทียเป็นแผลฟกช้ำดำเขียว  แต่ถ้าจะหย่าร้างอีตาจอร์จก็ไม่ยอมหย่าให้เพราะเงินได้สินสมรสที่ได้จากเจ้าหญิงแต่ละปีเป็นเงินไม่น้อย


อย่างไรก็ตาม ทั้งท่านเคานท์และเจ้าหญิงก็ไม่อาจตัดใจจากกันได้ ในหนังสือ Sex with Queen หรือเร้นรักราชินี ถึงกับบอกว่าทั้งคู่ลอบนัดหมายว่าโคนิกส์มาร์กจะพาเจ้าหญิงหนีตามไปใช้ชีวิตด้วยกันในดินแดนอันห่างไกลเลย  ดังนั้นเพื่อตัดปัญหาซะ เออร์เนส ออกัสก็เลยใช้วิธีที่แถวๆ บ้านเราช่วงนึงก็นิยมไม่น้อย คืออุ้มโคนิกส์มาร์กซะเลย


ดังนั้นในวันที่ 2 กรกฏาคม 1694   หลังจากแอบแว้บไปหาหาโซเฟีย โดโรเทียในตอนเช้า หลังจากนั้นก็ไม่มีใครได้เห็นโคนิกส์มาร์กตัวเป็นๆ อีกเลย คาดว่าโคนิกส์มาร์กถูกอุ้มและสังหาร ศพถูกทิ้งลงแม่น้ำหรือไม่ก็ฝังไว้แถวในวัง Leineschloss ที่เคานท์หนุ่มแอบลอบไปหาโซเฟีย โดโรเทียนั่นเอง


ขณะที่กำลังจะสิ้นใจในปี 1700 เคานท์เตสเพลเท่น อดีตนางสนมของเออร์เนส ออกัสได้สารภาพว่านางเองก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอุ้มสังหารเคานท์หนุ่มด้วยโดยความร่วมมือของทหารของเออร์เนสอีก 4 คนที่ได้ค่าจ้างสูงลิ่ว


ภาพวัง Leineschloss  ที่คาดว่าอีตาโคนิกส์มาร์กน่าจะถูกฝังไว้แถวๆ นี้มากกว่าทิ้งลงแม่น้ำ


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 02 ม.ค. 13, 20:50
หลังจากกำจัดโคนิกส์มาร์กไปแล้ว เจ้าหญิงโซเฟีย โดโรเทียถูกจับไปขังไว้ที่ Ahlden House เจ้าหญิงไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปไหน ไม่ได้รับอนุญาตให้พบหน้าลูกๆ ของตัว ต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้การจับตามองอย่างใกล้ชิด  มีความพยายามหลายครั้งทั้งจากมารดาของเจ้าหญิง หรือแม้แต่เจ้าชายจอร์จ พระโอรสของเจ้าหญิงที่ต่อมาเป็นพระเจ้าจอร์จที่ 2 ที่จะให้เจ้าหญิงได้รับการปล่อยตัว แต่เออร์เนส ออกัส และจอร์จส้มหล่นไม่เคยยอมที่จะผ่อนปรนเรื่องนี้เลย ซึ่งเจ้าหญิงอยู่ที่นี่นานกว่า 30 ปีจนถึงวาระสุดท้ายในปี 1727


Ahlden House


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 03 ม.ค. 13, 18:49
หลังจากจัดการเอาโซเฟีย โดโรเทียไปขังไว้ให้ไกลหูไกลตาแล้ว ดวงชะตาของจอร์จก็ยิ่งดูเหมือนจะดีเอาดีเอา


ในต้นปี 1698 เออร์เนส ออกัสตายไป ทิ้งแผ่นดินทั้งหมดให้จอร์จครอบครองแต่เพียงผู้เดียวโดยไม่ต้องแบ่งให้น้องๆ เลย จอร์จได้รับตำแหน่งๆ ต่างๆ ที่เดิมเคยเป็นของบิดาคนเดียวทั้งหมดเช่นตำแหน่งดุ๊กแห่งบรันสวิก-ลูนเบอร์กหรือตำแหน่งเจ้าชายอิเล็กเตอร์  ส่วนน้องๆ ของจอร์จไม่มีทางเลือกก็ต้องรับราชการในกองทัพกันไป  ราชสำนักภายใต้จอร์จก็เฟื่องฟูไม่น้อย  จอร์จเป็นผู้สนับสนุนคนเก่งๆ มากมายหลายคนอาทิเช่นคีตกวี เฟรดเดอริก แฮนเดล  นักคณิตศาสตร์ไลบ์นิซ เป็นต้น


ส่วนในอังกฤษขณะนั้นพระเจ้าวิลเลี่ยมที่ 3 เป็นกษัตริย์   รัชทายาทลำดับ 2 ของบัลลังก์อังกฤษคือเจ้าชายวิลเลี่ยม ดุ๊กแห่งกลอสเตอร์ พระโอรสเพียงคนเดียวที่ยังมีชีวิตของเจ้าหญิงแอนน์ รัชทายาทลำดับที่ 1 เกิดสิ้นพระชนม์ในปี 1700 และมีทีท่าว่าเจ้าหญิงแอนน์ไม่น่าจะให้กำเนิดรัชทายาทได้อีกจนต้องมีการออกกฏหมาย Act of Settlement ในปี 1701 เพื่อจำกัดให้เฉพาะผู้ที่เป็นโปรแตสแตนท์เท่านั้นถึงจะมีสิทธิขึ้นครองบัลลังก์อังกฤษได้  ทำให้เจ้าหญิงโซเฟียแห่งฮันโนเวอร์ พระมารดาของจอร์จกลายเป็นรัชทายาทอังกฤษทันทีเพราะถือว่าเป็นผู้สืบสายโลหิตบัลลังก์อังกฤษที่เป็นโปรแตสแตนท์ที่ใกล้ที่สุด ข้ามเหล่าพระญาติพระวงศ์อื่นๆ ทั่วยุโรปที่เป็นคาธอลิก หรือสมรสกับคาธอลิกแต่สายเลือดใกล้ชิดกว่าไปราว 50 พระองค์ ดังนั้นสถานะของจอร์จจากเจ้าชายผู้ปกครองดินแดนที่ห่างไกลเลยมามีความสำคัญกับอังกฤษไปด้วย


ภาพเจ้าชายวิลเลี่ยม ดุ๊กแห่งกลอสเตอร์กับเจ้าหญิงแอนน์


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 03 ม.ค. 13, 19:11
ดังนั้น แม้จะไม่ได้มีคุณงามความดีพิเศษอันใด ในปี 1701 จอร์จก็ส้มหล่นอีก ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของอังกฤษคือเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์ (Order of the Garter) เพื่อเป็นเกียรติยศ หลังจากนั้นไม่นาน อดีตพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษที่ถูกขับไล่ไปก็สิ้นพระชนม์  ปีถัดมาพระเจ้าวิลเลี่ยมที่ 3 ก็สิ้นพระชนม์อีก เจ้าหญิงแอนน์ขึ้นครองราชย์เป็นพระราชินีแอนน์   มีเจ้าหญิงโซเฟียแห่งฮันโนเวอร์เป็นรัชทายาทอันดับ 1 หนทางสู่ราชบัลลังก์อังกฤษของจอร์จก็ใสปิ๊งๆ ขึ้นเรื่อยๆ  เพราะเจ้าหญิงโซเฟียตอนนั้นก็พระชนม์ 71 แล้ว  แก่กว่าพระราชินีแอนน์ตั้ง 35 ปี ถ้าจอร์จรักษาตัวเองไม่ให้ตายก่อนพระราชินีแอนน์ได้ หนทางสู่บัลลังก์แทบจะไม่มีอะไรมาขวาง


ส่วนโซเฟียแห่งฮันโนเวอร์เองก็อย่างที่เคยบอกไปว่าเป็นผู้หญิงที่ฉลาด สนใจใฝ่รู้ไม่ใช่ทื่อทึมทึบ แม้จะสูงวัยถึง 71 แล้ว แต่ก็ยังฟิตปั๋งๆ  ดังนั้นภารกิจหลักของโซเฟียคือการทำทุกอย่างให้มั่นใจว่าหนทางสู่บัลลังก์อังกฤษของเธอและลูกจะต้องราบรื่นไม่มีอะไรมาขวาง เช่นการสร้างเครือข่าย ซื้อใจขุนนางอังกฤษ ฯลฯ  ส่วนจอร์จเองแม้จะไม่ได้ฉลาดแต่ก็ไม่ได้แปลว่าโง่เง่า  เขี้ยวเล็บก็มีเช่นกัน จอร์จเข้าใจความซับซ้อนของระบบการเมืองการปกครองอังกฤษดี จอร์จรู้ด้วยว่าระบบกษัตริย์ต่อไปของอังกฤษนั้นจะไม่ได้มีอำนาจเด็ดขาดเหมือนในอดีตด้วย


ในปี 1705 ส้มหล่นอีก จอร์จได้รับดินแดนเซลล์เพิ่มเติมอีกหลังจากพระเจ้าลุงและอดีตพ่อตาจอร์จ วิลเลี่ยมสิ้นพระชนม์


ภาพเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 03 ม.ค. 13, 19:38
บางคนอาจจะสงสัยว่าแล้วเด็กที่ถูกสปอยแบบจอร์จ พอเป็นผู้ปกครองแล้ววันๆ เค้าทำอะไรกัน?


แม้จะไม่โดดเด่นเป็นมหาราช แต่จอร์จก็เข้าใจเกมส์อำนาจในยุโรปดีและเป็นผู้เล่นที่เชี่ยวชาญด้วย  ไม่ได้เป็นผู้นำที่ทำตัวแบ๊ะ ๆ ๆ เน้นเดินสายออกงานเป็นพริตตี้อย่างเดียว  ส่วนเรื่องบริหารรอคนแดนไกลสั่งการหรือปล่อยให้ขุนนางบริหารกันไปเองอย่างเดียว จอร์จจึงพาตัวเองเข้าไปพัวพันเกมส์อำนาจในยุโรปด้วย เช่นการมีส่วนร่วมในการทำสงครามเพื่อหาผู้สืบราชสมบัติสเปน อยู่ฝ่ายเดียวกับอังกฤษและฮอลแลนด์ เพื่อลดทอนอำนาจฝรั่งเศส ด้วย


ในวันที่ 28 พฤษภาคม 1714 เจ้าหญิงโซเฟียแห่งฮันโนเวอร์สิ้นพระชนม์ด้วยวัย 83  จอร์จจึงเลื่อนขึ้นมาเป็นรัชทายาทลำดับหนึ่งของบัลลังก์อังกฤษทันทีแถมพระพลานามัยของราชินีแอนน์เองก็ไม่สู้ดี  จอร์จใช้อิทธิพลปรับเปลี่ยนคณะองคมนตรีอังกฤษเอาคนของตัวไปไว้เพื่อให้เส้นทางของตนราบรื่น


ในวันที่ 1 สิงหาคม  1714 พระราชินีแอนน์สินพระชนม์ ในขณะที่สภาองคมันตรีก็มีแต่คนของจอร์จที่ตั้งรอไว้แล้ว ดังนั้นจอร์จจึงอ้างสิทธิในราชบัลลังก์อังกฤษได้อย่างสะดวกโยทิน จอร์จเดินทางจากฮันโนเวอร์มาที่อังกฤษในเดือนกันยายน 1714 และทำพิธีสวมมงกุฏเป็นพระเจ้าจอร์จที่ 1 แห่งอังกฤษเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 1714 เป็นกษัตริย์อังกฤษพระองค์แรกและอาจจะพระองค์เดียวที่ตรัสภาษาอังกฤษไม่ได้


ส้มหล่นแล้วจ้า  จอร์จในปี 1714


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ม.ค. 13, 16:08
ยินดีด้วยเพคะ


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 08 ม.ค. 13, 17:45
อู้เรื่องจอร์จมาหลายวัน  ไปเที่ยวพม่าบ้าง ตามล่าหาทับทิมบ้าง ไปหาอะไรกินบ้าง สังหรณ์ใจว่าถูกตามตัวแล้ว ต้องมาเพิ่มเติมเรื่องซะหน่อย


อย่างที่บอกว่าจอร์จเดินทางจากฮันโนเวอร์มาอังกฤษอย่างพระราชามาเพื่อเป็นกษัตริย์ ตอนส้มลูกใหญ่ที่สุดหล่นนี่จอร์จก็อายุ 54 แล้ว   ดังนั้นจอร์จจึงไม่ได้มาตัวเปล่าหรือมีผู้ติดตามมาแค่ไม่กี่คน  แต่คณะของจอร์จากเยอรมันมากันเป็นขบวนใหญ่ทั้งขุนนางทั้งที่ปรึกษา ลูกเต้าญาติโกโหติกาข้าราชบริพารรวมถึงนางสนมด้วย  เอาเป็นว่าขนาดแค่กุ๊กจอร์จเอามาด้วย 18 คน  ยกเว้นคนเดียวที่ไม่ได้มาด้วยคือโซเฟีย โดโรเทียแห่งเซลล์ ที่ควรจะได้ตามมาเป็นพระราชินีอังกฤษด้วยแต่ยังถูกกักอยู่ที่เยอรมันโน่น


ในกระบวนผู้ติดตามของจอร์จก็มีนางสนมตามมาด้วย   จอร์จมีสนมหลักๆ 2 นาง  นางแรก Ehrengard Melusine Baroness von der Schulenburg ขอเรียกสั้นๆ ว่าชูเล็นเบิร์กร่างผอมสูง สูงกว่าจอร์จอีก ชาวบ้านให้สมญาว่า "the maypole" ขอแปลแบบไทยๆ ว่า "เสาไฟฟ้า"  นางที่สองลือว่าเป็นน้องสาวต่างมารดาของจอร์จ คือเกิดจากเออร์เนส ออกัสพ่อของจอร์จกับนางสนม นางนี้ชื่อว่า Sophia von Kielmansegg ขอเรียกว่าโซเฟียก็แล้วกัน  นางนี้ชาวบ้านให้สมญาว่า "ช้าง" เพราะอ้วนเตี้ย    สองสาว(จริงๆ ตอนมาอังกฤษนี่ไม่สาวกันแล้ว)ไม่คอยลงรอยกันนัก ต่างพยายามแย่งชิงหัวใจจอร์จกัน  แต่ชูเล็นเบิร์กดูจะได้ใจจอร์จมากกว่าเพราะตอนหลังได้รับยศถาบรรดาศักดิ์เป็นถึงดัชเชสแห่งเคนเดล และดัชเชสแห่งมันสเตอร์เลย


ว่าไปแล้วรสนิยมสาวๆ ของจอร์จนี่แปลกพิกลไม่น้อย สวยๆ ไม่ชอบ ขอแค่พอใช้การได้ก็พอแล้ว
ภาพ "เสาไฟฟ้า" กับ "ช้าง"



กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 08 ม.ค. 13, 18:21
ทางด้านการเมืองการปกครองนั้นแม้จอร์จจะพยายามหาหนทางที่จะควบคุมรัฐสภาแต่ก็ไม่สำเร็จ อำนาจของกษัตริย์ในยุคสมัยของจอร์จถูกลดทอนลงไปมาก


จอร์จมาอังกฤษแบบแทบจะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย แถมอายุอานามก็ 54 แล้วไอ้จะปรับตัวเรียนรู้ภาษาใหม่ก็คงเป็นไปได้ยาก ความนิยมในหมู่ประชาชนอังกฤษก็ไม่มี ชาวบ้านทั่วไปมองว่าจอร์จและหมู่มวลคนรอบตัวเข้ามาเพื่อหาผลประโยชน์มากกว่า  ชีวิตในอังกฤษของจอร์จเลยไม่ค่อยมีความสุขนัก ดังนั้นจอร์จจึงมักจะหาโอกาสกลับไปฮันโนเวอร์บ้านเกิดให้บ่อยที่สุดมากเท่าที่จะทำได้  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ยิ่งช่วยลดทอนอำนาจของระบบกษัตริย์ลงไป


เมื่อจอร์จเดินทางไปฮันโนเวอร์  จอร์จไม่ได้มอบหมายให้องค์รัชทายาท เจ้าชายจอร์จเป็นผู้สำเร็จราชการ เพราะพ่อลูกคู่นี้เรียกได้ว่าเกลียดกันมากเลยทีเดียว ทั้งคู่ไม่ลงรอยกันในแทบทุกเรื่อง  ดังนั้นเมื่อใดที่จอร์จะกลับฮันโนเวอร์  การบริหารประเทศจึงอยู่ภายใต้อำนาจของคณะรัฐมนตรี  ส่วนรัฐสภามีหน้าที่ในการออกกฏหมาย  ดังนั้นการบริหารประเทศอังกฤษจึงไม่ได้อยู่ภายใต้กษัตริย์อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้วแต่อยู่ภายใต้การบริหารของคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีที่เป็นเสมือนตัวแทนของกษัตริย์ในการบริหารงาน   นายกรัฐมนตรีคนแรกอย่างไม่เป็นทางการของอังกฤษคือ เซอร์โรเบิร์ต วาลโพ



ประเทศอังกฤษในยุคสมัยของจอร์จพยายามหลีกเลี่ยงการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งหรือสงครามในยุโรป แต่ในอังกฤษเองก็มีการกบฎของพวกจาโคไบต์ที่พยายามจะยกโอรสของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ที่ถูกขับไล่ไปให้มาเป็นกษัตริย์ของอังกฤษ แต่การกบฏก็ล้มเหลวไป หลังจากนั้นแล้วยุคสมัยของจอร์จได้ชื่อว่าเป็นยุคที่สงบสุขดี อังกฤษมีการไปตั้งอาณานิคมสร้างเมืองใหม่ๆ ในอเมริกา เงินทองไหลมาเทมา


ภาพเซอร์โรเบิร์ต วาลโพ


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 08 ม.ค. 13, 21:32
ในรัชสมัยของจอร์จ ตั้งแต่ปี 1714 ที่เป็นกษัตริย์เป็นต้นมาจนถึงปี 1727 จอร์จเดินทางกลับบ้านที่ฮันโนเวอร์บ่อยมาก คือในปี 1716, 1719, 1720, 1723 และ 1725 ซึ่งในช่วงที่จอร์จไม่อยู่ อำนาจการบริหารก็เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีไป  แต่แม้แต่ช่วงที่ยังอยู่ในอังกฤษ จอร์จก็ไม่ค่อยเข้าประชุมกับคณะรัฐมนตรีอยู่แล้ว ซึ่งต่างจากกษัตริย์องค์ก่อนหน้าคือพระราชินีแอนน์มาก ทำให้นายกรัฐมนตรีวาโพลมีอำนาจมาก มากขนาดสามารถเลือกคณะรัฐมนตรีเองได้เลย


ส่วนเรื่องลูกๆ ของจอร์จนั้นอย่างที่เคยบอกไป จอร์จมีบุตรตามกฏหมาย 2 คน ลูกนอกสมรสเป็นหญิงอีก 3   ลูกในสมรสคือเจ้าชายจอร์จที่ต่อมาเป็นพระเจ้าจอร์จที่ 2 แห่งอังกฤษ และบุตรสาวคือเจ้าหญิงโซเฟีย โดโรเทีย ชื่อเดียวกับพระมารดาคือโซเฟีย โดโรเทียแห่งเซลล์ ดังนั้นขอเรียกโซเฟียน้อยนี้ว่าโซเฟีย โดโรเทียแห่งฮันโนเวอร์แทน


เจ้าหญิงโซเฟีย โดโรเทียแห่งฮันโนเวอร์ (1687 - 1757) ต่อมาสมรสกับพระเจ้าเฟรดเดอริก วิลเลี่ยมที่ 1 แห่งปรัสเซีย (1688-1740)  ซึ่งก็คือแคว้นใหญ่แคว้นหนึ่งในเยอรมัน มีเมืองหลวงคือเบอร์ลิน ไม่ใช่รัสเซียนะจ๊ะ อย่าจำสับสน


ในปี 1726 โซเฟีย โดโรเทียแห่งเซลล์ ซึ่งถูกกักบริเวณไว้ที่ Ahlden House ป่วย ด้วยความเกลียดชังเป็นอย่างยิ่ง และรู้ตัวว่าวาระสุดท้ายของพระนางใกล้เข้ามาแล้ว พระนางได้เขียนจดหมายถึงจอร์จ  สาปแช่งไว้ว่าถ้าพระนางตายเมื่อไหร่ ขอให้จอร์จตายตกตามไปภายในหนึ่งปี  ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 1726 โซเฟีย โดโรเทียแห่งเซลล์ก็สิ้นชีวิตแสนเศร้าของพระนางหลังจากถูกคุมขังไว้ถึง 33 ปี พระศพถูกนำใส่หีบเก็บไว้ที่ห้องใต้ดินของปราสาท จนถูกขนย้ายอย่างเงียบๆ นำไปไว้ที่สุสาน Stadtkirche St. Marien ในเดือนพฤษภาคม ปี 1727


เมื่อทราบข่าวการเสียชีวิตของโซเฟีย โดโรเทีย  จอร์จสั่งห้ามการไว้ทุกข์ทั้งในราชสำนักอังกฤษและที่ฮันโนเวอร์   ดังนั้นจึงไม่มีพิธีการไว้อาลัยใดๆ ต่อการสิ้นพระชนม์ของโซเฟีย โดโรเทีย  จอร์จถึงกับโมโหโกรธาเมื่อรู้ว่าราชสำนักปรัสเซียในเบอร์ลินของลูกสาว คือโซเฟีย โดโรเทียแห่งฮันโนเวอร์จัดพิธีไว้อาลัยโดยการแต่งชุดดำกัน

Stadtkirche St. Marien


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 08 ม.ค. 13, 21:56
ด้วยความรักและคิดถึงฮันโนเวอร์  จอร์จจึงเดินทางกลับฮันโนเวอร์อีกครั้งในปี 1727  เป็นการกลับบ้านครั้งที่ 6 ของจอร์จ  ทิ้งให้วาลโพบริหารราชการงานเมืองในอังกฤษต่อไป 


การเดินทางครั้งที่ 6 ของจอร์จเป็นไปอย่างไม่ราบรื่นนักเพราะมีตำนานเล่าขานกันว่ามีมือดีเอาจดหมายสาบแช่งของโซเฟีย โดโรเทียส่งให้จอร์จอ่าน จอร์จอ่านแล้วตระหนกตกใจจนถึงกับความดันขึ้นสูงต้องล้มหมอนนอนเสื่อเลยทีเดียว  และสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมาไม่นานด้วยโรคหลอดเลือดในสมองเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 1727 พระชนม์ 67 พรรษา  ทั้งยังเป็นเวลาเพียงประมาณ 1 เดือนหลังจากที่โซเฟีย โดโรเทียถูกนำไปฝังอย่างเงียบๆ ที่ Stadtkirche St. Marien และเป็นเวลาไม่ถึง 1 ปีหลังการตายของโซเฟีย โดโรเทียตามที่โซเฟียสาปแช่งไว้ซะด้วย  ปิดตำนานคนที่ไม่ได้มีอะไรโดดเด่นแต่ได้ทุกอย่างมาด้วยบุญญาธิการล้วนๆ   


พระศพของจอร์จถูกฝังไว้ที่โบสถ์ในพระราชวัง Leineschloss  วังเดียวกันกับที่คาดว่าตาโคนิกส์มาร์กน่าจะถูกฝังไว้แถวๆ พื้นท้องพระโรงที่วังนั้นแหละ   ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 วัง Leineschloss ถูกทิ้งระเบิด โบสถ์รวมทั้งที่ฝังพระศพของจอร์จได้รับความเสียหาย    ซากชิ้นส่วนที่เหลือของอดีตกษัตริย์แห่งอังกฤษถูกย้ายนำไปไว้ที่ Berggarten Mausoleum  ในฮันโนเวอร์แทน


Berggarten Mausoleum


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ศุศศิ ที่ 14 ม.ค. 13, 13:52
ลงชื่อเข้าเรียน


กระทู้: เรื่องของจอร์จส้มหล่น
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 14 ม.ค. 13, 18:20
วิชานี้แค่รายงานหน้าชั้นเท่านั้นเอง ช่วงนี้คนรายงานมัวหนีไปเที่ยวเมืองพม่ารามัญอยู่ เลยเหลวไหลไม่มาต่อ  ใช้ไม่ได้ ใช้ไม่ได้  โดนตามตัวซะแล้ว

 

หลังจอร์จสิ้นพระชนม์ไป เจ้าชายจอร์จ เจ้าชายแห่งเวลส์ องค์รัชทายาทที่ไม่ถูกกับพระบิดาอย่างแรงก็ได้ขึ้นครองราชย์ต่อเป็นพระเจ้าจอร์จที่ 2 ในปี 1727 นั่นเอง
เรื่องการไม่ถูกกันระหว่างบิดากับบุตรนี่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปรกติมากในราชวงศ์ฮันโนเวอร์  เพราะในรัชสมัยต่อๆ มาเหตุการณ์แบบนี้ก็เกิดขึ้นซ้ำรอยไปเรื่อยๆ พระเจ้าจอร์จที่ 2 เองก็ไม่ถูกกับรัชทายาทของพระองค์เช่นกัน



ในสายตานักประวัติศาสตร์ ในแง่การปกครอง พระเจ้าจอร์จที่ 1 เป็นกษัตริย์อังกฤษที่ไม่ได้เลวร้าย แต่ก็ไม่ได้เป็นมหาราชแต่อย่างใด  แต่ถ้าเปรียบเทียบกับการปกครองในเยอรมันที่จอร์จมีสิทธิเด็ดขาดกว่า จอร์จนับว่าเป็นกษัตริย์ที่กดขี่และเป็นเผด็จการกว่าการปกครองในอังกฤษ ที่อำนาจส่วนใหญ่ถูกคานโดยรัฐสภา ทำให้จอร์จต้องปล่อยให้ระบบบริหารราชการแผ่นดินในอังกฤษเป็นไปตามระบบของมันเองโดยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวมากนัก   แต่การมีจอร์จเป็นกษัตริย์เป็นเหมือนหลักประกันว่าระบบกษัตริย์อังกฤษจะไม่กลับไปมีกษัตริย์ที่ไม่ใช่โปรแตสแตนท์อีกต่อไป ทำให้ปัญหาเรื่องความแตกต่างทางศาสนาค่อยๆ ลดความร้อนแรงในการเมืองอังกฤษลง แม้จะยังมีการพยายามปฏิวัติหลังจากนั้นบ้างประปราย



ถึงแม้จอร์จเป็นคนที่เห็นแก่ตัว ละโมภ แต่ในสายตานักประวัติศาสตร์ จอร์จยังเป็นตัวเลือกที่ดีกว่ามากๆ  เมื่อเทียบกับอีกตัวเลือกที่มีความเหมาะสมทางสายเลือดมากกว่า คือเจมส์ ฟรานซิส เอ็ดเวิร์ด สจ๊วต พระโอรสของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ที่ถูกขับไล่ไปฝรั่งเศส  เพราะเจมส์ ฟรานซิส เอ็ดเวิร์ด สจ๊วต ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกษัตริย์หลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสซึ่งพระเจ้าหลุยส์สามารถจะควบคุมสั่งการในเรื่องต่างๆ ได้ 



ในทางส่วนตัว จอร์จไม่เป็นที่ชื่นชมเลยสำหรับคนอังกฤษ  คนทั่วๆ ไปมักมองว่าจอร์จเป็นคนที่ไม่ฉลาด ทึ่มทึบ ไม่ชอบออกงานพิธีหรือปรากฏตัวในที่สาธารณะนัก การแสดงออกในที่สาธารณะก็แข็งทื่อ พูดภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ แต่ที่จริงจอร์จเข้าใจภาษาอังกฤษดี และยังสามารถใช้ภาษาเยอรมัน ฝรั่งเศสได้อย่างคล่องแคล่ว  รู้ภาษาละติน อิตาเลี่ยนและดัช  และแม้จะเสื่อมเสียเรื่องที่จอร์จปฏิบัติต่ออดีตภรรยาเจ้าหญิงโซเฟีย โดโรเธ๊ย แต่จอร์จยังหัวก้าวหน้ากว่านักการเมืองแถวๆ นี้เพราะอนุญาตให้สื่อต่างๆ ในอังกฤษสามารถวิพากษ์วิจารณ์พระองค์ได้โดยไม่มีการเซนเซอร์  อนุญาตให้นักคิดนักปรัชญาที่เป็นปฏิปักษ์กับประเทศตัวเองมาลี้ภัยได้



จดหมายที่จอร์จเขียนถึงพระธิดา เจ้าหญิงโซเฟีย โดโรเธียแห่งฮันโนเวอร์เปิดเผยอีกด้านของจอร์จที่เป็นพ่อที่รักและห่วงใยลูก ดูอบอุ่นอ่อนโยน ซึ่งแตกต่างจากภาพลักษณ์ที่แสดงออกในที่สาธารณะเหมือนคนที่ทื่อๆ เย็นชายิ่งนัก  พระมารดาของจอร์จเอง เจ้าหญิงโซเฟีย เคยให้นิยามของจอร์จไว้ซึ่งอาจจะตรงทีสุดว่า  ภาพลักษณ์ที่ดูเย็นชา ไม่สนใจใยดี เป็นแค่สิ่งอำพรางความอ่อนไหว ความจริงใจที่ซ่อนไว้ลึกๆ ข้างในใจของจอร์จ 



และนี่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำไมจอร์จจึงยังคงใจร้ายต่อเจ้าหญิงโซเฟีย โดโรเธียแห่งเซลล์ ที่แม้ผ่านมา 30 ปีแล้วยังคงไม่ให้อภัยเธอ