เรือนไทย

General Category => ทันกระแส => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.พ. 19, 18:28



กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.พ. 19, 18:28
สืบเนื่องจากกระทู้ http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5776.msg166846;topicseen#msg166846
ของคุณตั้ง
ท่านได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

เคยคิดว่าน่าจะมีกระทู้คุยกันในเรื่องของคนในวัย สว. (ส.ว. ??)  เพราะคิดว่ามีเรื่องที่จะคุยกันได้อย่างหลากหลาย และน่าจะเป็นประโยชน์กับทุกๆคน

ดิฉันก็เลยมาตั้งกระทู้นี้ สำหรับท่านที่ยังจำความหลังเมื่อ 50 ปีก่อน หรือยาวนานกว่า 50 ปีขึ้นไปก็ได้
ส่วนท่านที่ยังเกิดไม่ทัน  ก็อาจได้รับคำบอกเล่าของญาติผู้ใหญ่ จนจดจำมาเล่าสู่กันฟัง หรือจะมาตั้งคำถามให้ตอบกันบ้างก็ได้ค่ะ

ส่วนตัวเอง ก็จะเล่าไปเรื่อยๆเท่าที่จะนึกออก  คงไม่ออกมาละเอียดอย่าง "เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก"  แต่ก็น่าจะให้ภาพถึงสังคมและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่สูญหายไปจากบ้านเมืองของเรา ว่ามีอะไรบ้าง


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.พ. 19, 18:39
เมื่อกว่า 50 ปีก่อน (รวม 60-70 ปีด้วย)  เรามีอะไรบ้างที่ยุคนี้ไม่มีแล้ว
- ระบบการศึกษา  เด็กส่วนใหญ่ไม่ต้องเข้าเรียนอนุบาล   รออายุ 8 ขวบแล้วเข้าเรียนประถม 1 เลย  ถ้าเรียนตามเกณฑ์     แต่ถ้าจะเรียนเร็วกว่าเกณฑ์ ก็เข้าป. 1 เมื่ออายุ 6 ขวบ
- ภาคบังคับของรัฐคือเรียนจบประถม 4     มีเด็กอยู่มากที่จบเพียงแค่นั้น    ส่วนเด็กที่เรียนต่อคือมัธยม 1 ถึงมัธยมปีที่ 6  ถือว่ามีความรู้พอจะออกมาประกอบอาชีพได้แล้ว
  ถ้ายังเรียนต่อก็คือเรียนชั้นมัธยมปีที่ 7 และ 8 เป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียน   เมื่อจบแล้วสมัครเข้ารับราชการได้เลย  มีส่วนน้อยที่เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย โดยมากเป็นเพศชาย
- การเรียนต่อในระดับอาชีวะ คือจบมัธยมปีที่ 6  ไปต่ออีก 2 หรือ  3 ปี   ผู้หญิงนิยมเรียนโรงเรียนการเรือน และโรงเรียนฝึกหัดครู


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 ก.พ. 19, 19:39
ระบบการศึกษาของไทยมีเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ที่คุ้นเคยคือระบบ ๔-๓-๓-๒

ประถมต้น  ป. ๑ - ป. ๔
ประถมปลาย  ป. ๕ - ป. ๗
มัธยมต้น ม.ศ. ๑ - ม.ศ. ๓ (ลำดับห้องใช้อักษร ก ข ค ...)
มัธยมปลาย ม.ศ. ๔ - ม.ศ. ๕ (ลำดับห้องใช้ / ตามด้วยตัวเลข ๑ ๒ ๓ ...)

จากนั้นก็ถึงทางแยกของชีวิต คือการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นระบบ entrance (เรียกสั้น ๆ ว่า "เอ็น") ให้เลือกได้ ๖ อันดับ ซึ่งต้องเลือกคณะที่คะแนนสูงเป็นอันดับต้นไปหาคณะที่คะแนนต่ำกว่า คณะที่มีคะแนนสูงสายวิทยาศาสตร์ก็คือแพทย์และวิศวะ สายศิลป์คืออักษรศาสตร์ วันประกาศผลการสอบเป็นวันที่ตื่นเต้นแฝงด้วยความสนุกสนาน ต้องเตรียมไฟฉายกับดูผลการสอบที่ติดบอร์ดที่สนามหน้าหอประชุมจุฬาฯ ตั้งแต่หัวค่ำ

คนที่สอบ ม.ศ. ๕ ได้ที่ ๑ ของประเทศทั้งสายวิทย์และสายศิลป์ รวมทั้งคนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้คะแนนสูงสุด จะได้รับการลงข่าวหน้า ๑ ทางหนังสือพิมพ์ และทางทีวี มีนักข่าวไปสัมภาษณ์เจ้าตัวและผู้ปกครองว่าทำอย่างไรจึงได้เก่งกาจอย่างนั้น  ;D


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.พ. 19, 20:51
ผมคุ้นอยู่กับระบบ
  ประถม ป.1 - ป.4 สอบข้อสอบกลาง ? ได้ประกาศนียบัตรประโยคประถม
  มัธยมต้น ม.1 - ม.6  สอบข้อสอบกลาง ? ได้ประกาศนียบัตรประโยคมัธยมต้น

แล้วก็เริ่มสับสนในการเปรียบเทียบกับที่เป็นระบบ มศ.1 - มศ.5  แล้วก็ยิ่งสับสนเข้าไปใหญ่กับระบบที่ใช้กันในปัจจุบัน


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: choo ที่ 03 ก.พ. 19, 22:37
ผมจำได้ว่าเข้าเรียนชั้นมูลเมื่ออายุ 5 ขวบพอ 6 ขวบขึ้นไปเรียนชั้น ป 1 พอถึง ป 4 สอบข้อสอบกลางพอผ่านจะขึึ้นชั้น ม 1พอถึง ม 6 สอบข้อสอบกลางพอผ่านแล้วถ้าใครจะเรียนต่อถ้าโรงเรียนเดิมมีชั้น ม 7-ม 8 จะเรียนต่อก็ได้หรือไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมก็ได้ พอถึง ม 8 สอบข้อสอบกลางอีกต่อจากนั้นไปเข้ามหาวิทยาลัยสมัยผมแต่ละมหาวิทยาลัยจะสอบคัดเลือกกันเองสนุกสนานมากถ้าสอบได้หลายที่จะเลือกที่ใดดีทำให้เกิดความยุ่งยากขึ้นคือบางมหาวิทยาลัยมีคนสละสิทธิ์ก็ต้องเรียกรอบสอง(ที่มีคะแนนรองๆลงมา)เข้าแทน ต่อมาถึงได้มีการสอบรวม ไม่ทราบปัจจุบันเป็นอย่างไรแล้ว


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 04 ก.พ. 19, 07:17
จำได้ว่านักเรียนอนุบาลและประถมยุคนั้นทั้งชายหญิงมีหมวกกะโล่สีขาวเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแบบนักเรียนทุกคน


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ก.พ. 19, 07:37
ระบบการศึกษาของไทยมีเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ที่คุ้นเคยคือระบบ ๔-๓-๓-๒

พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๓

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2503/A/086/1.PDF


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 04 ก.พ. 19, 09:26
วิชานี้ ผมนั่งฟังได้อย่างเดียวเลยครับ แฮ่ๆ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.พ. 19, 16:09
อ้างถึง
คนที่สอบ ม.ศ. ๕ ได้ที่ ๑ ของประเทศทั้งสายวิทย์และสายศิลป์ รวมทั้งคนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้คะแนนสูงสุด จะได้รับการลงข่าวหน้า ๑ ทางหนังสือพิมพ์ และทางทีวี มีนักข่าวไปสัมภาษณ์เจ้าตัวและผู้ปกครองว่าทำอย่างไรจึงได้เก่งกาจอย่างนั้น

คนที่สอบได้ 50 อันดับแรกทั้งสายวิทย์และสายศิลป์  เรียกว่า "ติดบอร์ด"   มีรายชื่อและชื่อร.ร. ลงในหนังสือพิมพ์ด้วย
ร.ร. ที่มีชื่อปรากฏใน 50 อันดับแรกมากที่สุดคือร.ร.เตรียมอุดมศึกษา    ถือว่าไม่แปลก  เพราะร.ร.นี้ได้ชื่อว่าเปิดสอบคัดเลือกเอานักเรียนหัวกะทิจากร.ร.ต่างๆเข้าไปเรียนมัธยมปลาย       จนบางร.ร.ต้องหาทางออกกฎไม่ให้เด็กของตนไปสอบเข้าเตรียมอุดม  ไม่งั้นเดี๋ยวไม่เหลือจำนวนเด็กเก่ง ที่จะทำชื่อเสียงให้ร.ร.
แล้วชื่อเสียงของร.ร.ก็วัดกันตอนสอบม.ปลายเสียด้วย    ไม่ค่อยมีข่าวสำหรับเด็กประถมและเด็กม.ต้น

50 อันดับนี้ นอกจากร.ร.เตรียมอุดมศึกษา ยังมีร.ร.สวนกุหลาบ   และร.ร.ชื่อฝรั่งอีก 2-3 ร.ร.สำหรับสายวิทย์
ส่วนสายศิลป์  ก็แน่ละค่ะว่าร.ร.เตรียมอุดมศึกษาแทบจะเหมาไปตามเคย    นอกนั้นก็มีร.ร.สตรีชื่อฝรั่ง แลร.ร.ราชินี ติดอันดับด้วย


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.พ. 19, 16:16
คุณ Choo พูดถึงม. 8  เพราะฉะนั้นต้องอยู่ก่อนดิฉันแน่ๆ
ดิฉันเป็นยุคหัวเลี้ยวเข้าสู่ มศ.  หรือมัธยมศึกษา   ซึ่งเปลี่ยนจากม.1-8  มาเป็นมศ.1-5
สมัยดิฉัน  สอบเข้ามหาวิทยาลัย  มีกรรมการการศึกษาชุดหนึ่งชื่ออะไรลืมไปแล้ว (คุณเพ็ญชมพูคงหาเจอ) มีหน้าที่จัดให้ว่าคะแนนสอบของพวกเรานั้นจะได้ติดที่ไหน   ให้เลือกได้ 5 อันดับ  ในมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ 5 แห่ง 
ติดที่เดียว มหาวิทยาลัยเดียว   ไม่มีให้ไล่สอบตามมหาวิทยาลัยต่างๆ  ซึ่งเปิดโอกาสให้เด็กเก่งติดได้หลายแห่ง  และเด็กฝีมือรองๆหรือโหล่ๆ ไม่ติดเลย แล้วต้องมาเรียกรอบสองกัน

ร.ร.กวดวิชามีแล้ว  แต่ไม่เป็นล่ำเป็นสันเหมือนสมัยนี้
สถานที่กวดวิชาคือทีมอาจารย์ติวเตอร์ไปเช่าร.ร.เล็กๆ ในกรุงเทพ ในเวลาเลิกเรียนและเสาร์อาทิตย์ เป็นสถานที่สอนชั่วคราว   พอหมดช่วงเวลากวดวิชาก็หมดเวลาเช่าสถานที่กันไป


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.พ. 19, 16:44
 พูดถึงบ้านที่อยู่อาศัยในกรุงเทพบ้างค่ะ
     เมื่อ 50+ ปีก่อน   หมู่บ้านจัดสรรเป็นยังไงชาวบ้านยังไม่รู้จัก     ดูเหมือนจะมีอยู่ที่เดียวทางฝั่งธนแถวบางแค ชื่อ"หมู่บ้านเศรษฐกิจ" ดำเนินงานโดยคุณไถง สุวรรณทัต    เคยไปตอนก่อสร้างใหม่ๆจำได้ว่าเป็นตึกแถวยาวๆ สร้างใหม่ ทาสีเหมือนลูกกวาด  แต่ไม่มีคนมาเช่าเลย  เพราะสถานที่ตั้งอยู่ไกลมากแม้แต่กับชาวฝั่งธนด้วยกัน
     บ้านเดี่ยวมีให้เห็นมากมายตามถนนหนทาง     ไม่จำเป็นต้องเป็นบ้านคนมีฐานะดี  แม้คนมีฐานะไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่ก็ยังมีบ้านเดี่ยวพร้อมกับสนามหญ้ารอบบ้านให้ลูกๆวิ่งเล่นได้      เพราะที่ดินราคายังราคาไม่พุ่งเป็นร้อยล้านพันล้านเหมือนสมัยนี้     คนซื้อที่ดินปลูกบ้านมักซื้อแปลงเล็กๆ เพราะขี้เกียจตัดหญ้า  บริเวณกว้างเกินไปก็รกเปล่าๆ ดูแลยาก   ขนาดแปลงเล็กๆนั้นก็คือ 200 ตารางวา
    บ้านในกรุงเทพ ประมาณ 80% เป็นบ้านไม้ ส่วนใหญ่เป็น 2 ชั้น  เพื่อมีเนื้อที่เพียงพอสำหรับครอบครัวที่อยู่รวมกันหลายคน  มีปู่ย่าหรือตายาย ลุงป้าน้าอาอาศัยรวมอยู่กับพ่อแม่และลูกๆหลายคนใต้หลังคาเดียวกัน       คนกรุงเทพมีลูก 5 คนถือว่าปานกลาง จำนวนไม่มากมายอะไร 
    ส่วนตึก หรือบ้านที่ก่ออิฐฉาบปูน ถ้าไม่ใช่อาคารพาณิชย์ ก็คือบ้านของเศรษฐี    สุขุมวิทนับแต่ข้ามทางรถไฟช่องนนทรีไปถือเป็นชานเมือง  ไกลออกไปถึงซอยพร้อมพงษ์  ซอบไปดีมาดี ซอยเอกมัย  มีบ้านสวยๆมากมาย   โดยมากจะสร้างรั้วโปร่งอวดบ้านแก่คนภายนอกได้    เพราะขโมยไม่มี   โอ่งลายครามใส่ต้นไม้หรือไม้ดัดยังวางล่อสายตาอยู่ที่สนามได้   ไม่มีใครคิดจะปีนข้ามรั้วไปแบกออกมา
   อ้อ! แต่ละบ้านไม่มีเหล็กดัดที่หน้าต่างนะคะ     บ้านทันสมัยหน่อยมีหน้าต่างลวด    แต่ถ้าบ้านทั่วไปก็กางมุ้งนอน   เปิดหน้าต่างโล่งในตอนกลางคืนให้ลมพัดเข้ามาได้เต็มที่   ไม่ต้องใช้พัดลม  เพราะบ้านแต่ละบ้านอยู่ห่างกันพอจะไม่บังทางลม 


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.พ. 19, 20:07
  สิ่งที่มีมากเมื่อ 50+ ปีก่อนแต่ปัจจุบันหายากมากในกรุงเทพ คือกระแสลมที่พัดโกรกเข้ามาในบ้าน    ถ้าบ้านไหนมีระเบียง   ที่ตรงนั้นเป็นสวรรค์ดีๆนี่เองเวลาไปนั่งนอนเล่น   เพราะลมพัดตึงๆผ่านได้ตลอด   ชื่นใจยิ่งกว่าลมจากพัดลมเสียอีก
  ระเบียงบ้านมักถูกออกแบบให้ยื่นไปทางทิศใต้   เพราะได้รับลมตลอด    ไม่ค่อยเห็นบ้านไหนทำระเบียงยื่นทางตะวันตก  เนื่องจากจะร้อนไอแดดตั้งแต่บ่ายไปจนเย็น  นั่งไม่ลง 
  ความสบายของคนกรุงเทพเมื่อครึ่งศตวรรษก่อนและนานกว่านั้น อาศัยพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก   การดำเนินชีวิตจึงกลมกลืนไปกับธรรมชาติ   อย่างเช่นปลูกบ้านให้ถูกทางลม   ปลูกต้นไม้ไว้ให้เงาร่ม
  บ้านที่ใต้ถุนสูง ลมก็พัดผ่านได้ดี   ทำให้พื้นห้องที่อยู่ข้างบนพลอยเย็นไปด้วย     บางบ้านกั้นใต้ถุนสูงเป็นห้อง แต่ไม่ตีผนังทึบ   ใช้ไม้ตีกั้นผนังบางส่วนแบบโปร่งๆ ก็เพื่อให้มีแสงและลมผ่านเข้าไปได้นั่นเอง
  อีกอย่างที่มีน้อยเมื่อ 50+ ปีก่อนแต่มีเยอะในปัจจุบัน  คือฝุ่น
  เมื่อก่อนไม่ใช่ว่าบ้านไม่มีฝุ่น  แต่ฝุ่นน้อยกว่ายุคนี้มาก  เป็นฝุ่นจากดินที่ไม่มีพิษภันจากการเผาไหม้     เพราะฝุ่นน้อย การถูพื้นกระดานให้มันจึงเป็นเรื่องไม่เกินความสามารถของเด็กๆ ในบ้าน
  ยุคนี้ลมหายไปแล้ว เพราะทิศทางลมถูกบังด้วยอาคารสูงแน่นขนัดพื้นที่      ฝุ่นจากถนนก็เหนียวหนับจับบ้าน  จึงต้องใส่กระจกทั้งบ้านแล้วเปิดแอร์รับความเย็นแทน   กับป้องกันฝุ่นจากภายนอก     ต้นไม้ใหญ่ๆให้ร่มเงาหายไป เพราะบ้านไม่มีพื้นที่่บริเวณ   


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 04 ก.พ. 19, 22:51
จองที่นั่งริมหน้าต่างครับ จะได้แอบดูสาวๆ ห้องอื่นได้ด้วย  ;D


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.พ. 19, 07:55
บ้านเรือนริมถนนในยุคนั้นเป็นแบบนี้ค่ะ
หลังซ้ายเป็นบ้านเดี่ยวที่อยู่อาศัย   ลักษณะคือบ้านไม้สองชั้น มีหน้ามุขและปีกซ้ายหรือขวา
หลังขวาคือห้องแถวไม้สองชั้น  ชั้นล่างเป็นร้าน เปิดค้าขาย  ชั้นบนใช้อยู่อาศัย


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.พ. 19, 07:56
ดูภาพมุมกว้าง


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.พ. 19, 08:16
เมื่อ 50+ ปีก่อน บ้านอย่างข้างล่างนี้มีให้เห็นมากมายในกรุงเทพ   มักจะอยู่ในซอยต่างๆ   แม้แต่ตามริมถนนที่ไม่ใช่สายการค้าใหญ่ก็ยังมีให้เห็นเหมือนกัน
เกิดทันเห็นบ้านพวกนี้   เห็นแล้วก็เฉยๆ   เพราะเป็นบ้านที่ค่อนข้างเก่าแล้วในยุคนั้น  ไม่ได้รู้สึกว่ามีเสน่ห์ชวนมองหรือชวนอยู่อาศัยตรงไหน    ไปไหนๆก็เห็น จนชินตา
ผิดกับยุคปัจจุบัน  ถ้ามีโอกาสเป็นเจ้าของบ้านแบบนี้ได้คงปลื้มมาก    ทาสีตกแต่งบูรณะให้อยู่ในสภาพดี   รับรองว่าสื่อต้องมาสัมภาษณ์ และกองถ่ายละครต้องมาขอใช้เป็นฉาก
บ้านหลังนี้ถ้าอยู่มาจนปัจจุบันน่าจะอายุเกือบ 100 ปี    อยู่ที่ถนนประดิพัทธ์ สพานควาย   เป็นบ้านของพันเอกพระยาทรงสุรเดชค่ะ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 ก.พ. 19, 08:32
บ้านเรือนริมถนนในยุคนั้นเป็นแบบนี้ค่ะ
หลังซ้ายเป็นบ้านเดี่ยวที่อยู่อาศัย   ลักษณะคือบ้านไม้สองชั้น มีหน้ามุขและปีกซ้ายหรือขวา
หลังขวาคือห้องแถวไม้สองชั้น  ชั้นล่างเป็นร้าน เปิดค้าขาย  ชั้นบนใช้อยู่อาศัย


(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=6978.0;attach=70214;image) (http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=6978.0;attach=70213;image)

น่าจะเป็นภาพชุดเดียวกัน

ข้างบนคือมุมที่มาจากถนนราชวิถีครับ
ด้านล่าง จากถนนพหลโยธิน


(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=6560.0;attach=62542;image)

ถ้าจำไม่ผิด เจ้าของภาพนี้ (ยังอยู่ในเฟสบุ๊ค) บอกว่าเป็นตัวเขาเองกับพี่สาวถ่ายภาพที่ริมถนนหน้าบ้านริมถนนพหลโยธิน ราวๆ ปี 2502-2503 เป็นนักเรียนสวนกุหลาบรุ่นเดียวกันและเรียนห้องเดียวกันกับอดีตรัฐมนตรี 3 ท่าน คือ เนวิน ชิดชอบ, วัฒนา เมืองสุข และอีกท่านหนึ่ง ผมจำชื่อไม่ได้ ตัวเจ้าของภาพจบวิศวะ จุฬาฯ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 ก.พ. 19, 09:37
ภาพถ่ายมุมสูงอีกด้านหนึ่งของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถนนพญาไทเมื่อ ๗๓ ปีก่อน มีบ้านเรือนไม่มากนัก

ตอนต้นของถนนทางซ้ายมือคือบริเวณที่เป็นโรงพยาบาลราชวิถี (ชื่อเก่าคือโรงพยาบาลหญิง) ในปัจจุบัน เคยเป็นแปลงเลี้ยงสัตว์ โรงพยาบาลสัตว์ และอาคารเรียน แผนกสัตวแพทยศาสตร์ (ขณะนั้นเป็นแผนกอิสระเช่นเดียวกับแผนกเภสัชกรรมศาสตร์ และแผนกสถาปัตยกรรมศาสตร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๙


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.พ. 19, 11:32
บ้านสองหลังนี้อยู่ในบยุคเดียวกัน เป็นบ้านยุคหลังสงครามโลก  คือประมาณ 2490s  ถึง 2500s   บ้านขวาน่าจะสร้างก่อนบ้านทางซ้าย
เป็นบ้านสมัยใหม่ในยุคนั้น  เห็นได้จากหลังคาค่อนข้างลาดแบน  ไม่สูงชันอย่างหลังคาบ้านรุ่นก่อนๆ 
หลังคาสมัยใหม่แบบนี้ทำให้แดดส่งความร้อนลงมาที่ห้องชั้นบนได้มากกว่าบ้านทรงไทยโบราณที่หลังคาสูงชัน    แต่หลังคาเตี้ยๆแบนๆ  ก็เป็นที่นิยมกันหนาตาทีเดียวค่ะในกรุงเทพ 
บ้านในยุคนี้ยังคงนิยมสร้างด้วยไม้ ซึ่งราคาถูกกว่าตึก   สร้างเสร็จแล้วก็ไม่ปล่อยเนื้อไม้ไว้เฉยๆ  แต่ทาสีสวยๆทับ   เช่นบ้านสีเหลืองหน้าต่างเขียว    หรือตัวบ้านทาสีนวล หน้าต่างน้ำตาล   ไม่ค่อยมีสีขาว  อย่างอ่อนสุดคือสีครีม 
ตัวบ้านออกแบบง่ายๆ รูปทรงเหมือนกล่องสี่เหลี่ยมสองใบซ้อนกัน   บางบ้าน มีปีกซ้ายหรือขวา
บานประตูยังคงเป็นไม้ทึบ   บานกระจกยังไม่เข้ามาในความนิยม   ขอให้สังเกตบ้านทางขวาซึ่งเก็บหน้าต่างประตูเอาไว้แบบเดิม  ส่วนบ้านทางซ้ายชั้นล่างเปลี่ยนไปเป็นบานกระจกแล้ว


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.พ. 19, 19:17
ผมเป็นเด็กบ้านนอก เข้ามากรุงเทพฯก็กินนอนอยู่แต่ในโรงเรียนประจำ เดือนหนึ่งได้กลับบ้าน 2 วัน (ออกจากโรงเรียน) ปิดเทอมจึงจะได้กลับบ้านเกิด ภาพบ้านเรือนในอดีตในกรุงเทพจึงจำกัดมาก   เมื่อออกจากโรงเรียนตอนสิ้นเดือนก็จะไปพักอยู่กับคุณลุงซึ่งเป็นนายทหาร บ้านอยู่ในบริเวณสี่แยกประดิพัทธ์ ก็เลยมีความคุ้นเคยอยู่บ้างกับลักษณะของบ้านในยุคจอมพล ป.

ในยุคนั้นมีการนำที่ดินด้านฝั่งตะวันออกของคลองประปามาจัดสรร ที่จัดทำเป็นรูปของหมู่บ้านก็คือหมู่บ้านพิบูลวัฒนา ใช้ถนนเลียบคลองประปา(ถนนพระราม 6)เป็นถนนหลักสำหรับการสัญจรเข้าออกพื้นที่กลางเมือง สำหรับพื้นที่ชายเขตหมู่บ้านก็จะเป็นที่ดินจัดสรร ซึ่งคิดว่าแปลงละประมาณ 100 ตารางวา ไม่แน่ใจว่ากินพื้นที่ถึงหลังโรงพยาบาลพระมงกุฎหรือไม่ แต่ในพื้นที่รอบๆสี่แยกประดิพัทธ์นั้นใช่แน่ๆ   


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.พ. 19, 19:38
อารัมภบทมาเสียยืดยาวก็เพียงเพื่อจะขยายความว่า บ้านในยุคนี้มีลักษณะที่มีความเป็นเอกลักษณ์ เห็นบ้านลักษณะนี้ที่ใหนก็พอจะบอกได้ว่าสร้างมาในยุคใด  ในกรุงเทพฯก็จะเห็นมีกระจายอยู่ในย่านที่สำคัญๆ (สุขุมวิท สีลม สาทร..) ในต่างจังหวัดก็จะเห็นอยู่ในเขตตัวเมืองของจังหวัดสำคัญๆทางการทหาร (เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ พิษณุโลก...)

ท่านที่เป็นสถาปนิกจะช่วยบรรยายได้ดีกว่าผม   สำหรับผมก็เห็นภาพแต่เพียงว่า เป็นบ้านยกพื้นสูง(อาจจะโปร่งหรือทึบ) เล่นระดับ ความสูงของห้องประมาณ 2.5 เมตร มีห้องนั่งเล่น/ห้องรับแขกที่มีหน้าต่างเป็นทรงยาว


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.พ. 19, 19:47
คุณตั้งหมายถึงบ้านแบบใดแบบหนึ่งใน 2 แบบนี้หรือคะ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.พ. 19, 20:07
ส่วนมากจะเป็นบ้านปูน หรือปูนผสมไม้ พื้นและระเบียงจะยกสูงประมาณ 1+/- เมตร และเล่นระดับกัน ครับ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.พ. 19, 20:11
น่าจะเป็นบ้านครึ่งตึกครี่งไม้
ชั้นล่างก่ออิฐฉาบปูน   ชั้นบนเป็นไม้
ยังหารูปไม่เจอค่ะ  เจอเมื่อไรจะเอามาลง


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.พ. 19, 20:14
เจอแล้วค่ะ
เมื่อก่อนเรียกว่าบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้
เดี๋ยวนี้เรียกครึ่งปูนครึ่งไม้
ป.ล.บ้านนี้น่าจะปรับปรุงดัดแปลงใหม่ ที่ชั้นล่าง


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.พ. 19, 20:49
ใช่เลยครับ

ผมชอบ style ของบ้านในยุคนี้ คิดว่าสักวันหนึ่งคงจะมีเงินและมีโอกาสได้สร้าง  บ้านใน style นี้เหมาะที่จะสร้างในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 100 ตารางวา และจะเหมาะมากในพื้นที่ขนาดประมาณ 1+ ไร่  แล้วจัดให้มีสนามเขียวที่ขจีด้วยหญ้าลิ้นควายหรือหญ้ามาเลย์ มีต้นไม้ใบและผลพันธุ์ต้นสูงปานกลาง (10-15 เมตร) ปลูกเป็นต้นๆอยู่ห่างๆกัน(ตรงนี้บ้างตรงนั้นบ้าง)    ;D


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.พ. 19, 21:29
ตัวอย่างแบบบ้านยุค 2500 หรือ 60+ ปีก่อน ที่งดงามที่สุดหลังหนึ่งในกรุงเทพ   ออกแบบโดยพลเรือตรีสมภพ ภิรมย์ ศิลปินแห่งชาติ
บ้านหลังนี้คือวังรื่นฤดี ที่ประทับในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6  อยู่ที่สุขุมวิท ซอย 38


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 ก.พ. 19, 07:06
ในยุคนั้นมีการนำที่ดินด้านฝั่งตะวันออกของคลองประปามาจัดสรร ที่จัดทำเป็นรูปของหมู่บ้านก็คือหมู่บ้านพิบูลวัฒนา ใช้ถนนเลียบคลองประปา(ถนนพระราม 6)เป็นถนนหลักสำหรับการสัญจรเข้าออกพื้นที่กลางเมือง สำหรับพื้นที่ชายเขตหมู่บ้านก็จะเป็นที่ดินจัดสรร ซึ่งคิดว่าแปลงละประมาณ 100 ตารางวา ไม่แน่ใจว่ากินพื้นที่ถึงหลังโรงพยาบาลพระมงกุฎหรือไม่ แต่ในพื้นที่รอบๆสี่แยกประดิพัทธ์นั้นใช่แน่ๆ    

บ้านในโครงการพิบูลวัฒนา พ.ศ. ๒๔๙๙ บนถนนพระราม ๖ สามเสน เป็นบ้านไม้ชั้นเดียว ใต้ถุนโล่ง ที่ดินเฉลี่ยหลังละ ๑๓๐ ตารางวา บ้านในโครงการมีทั้งหมด ๒๘๘ หลัง บนเนื้อที่ ๒๕ ไร่ เป็นหมู่บ้านจัดสรรโครงการที่ ๒ โดยภาครัฐของประเทศไทย (โครงการแรกคือ โครงการพิบูลเวศม์ พ.ศ. ๒๔๙๘ ที่พระโขนง คลองตัน โครงการที่ ๓ คือ โครงการทุ่งมหาเมฆ พ.ศ. ๒๕๐๑)

http://site001.ap.tu.ac.th/VMthaiResident_site/VM_2.html
http://site001.ap.tu.ac.th/VMthaiResident_site/VM_2a.html


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 06 ก.พ. 19, 16:36
บ้านไม้ในกรุงเทพ 50+ ปีก่อน


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.พ. 19, 16:36
บ้านพักข้าราชการ ชนิดบ้านเดี่ยว ยุค 2510


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.พ. 19, 16:38
ภาพนี้อยู่แถวไหนคะ คุณหนุ่มสยาม
สังเกตดูว่าเป็นบ้านเดี่ยว แบบโอ่โถงมั่นคง  แสดงถึงเจ้าของว่ามีฐานะดี


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ก.พ. 19, 18:05
ในยุคนั้นมีการนำที่ดินด้านฝั่งตะวันออกของคลองประปามาจัดสรร ที่จัดทำเป็นรูปของหมู่บ้านก็คือหมู่บ้านพิบูลวัฒนา ใช้ถนนเลียบคลองประปา(ถนนพระราม 6)เป็นถนนหลักสำหรับการสัญจรเข้าออกพื้นที่กลางเมือง สำหรับพื้นที่ชายเขตหมู่บ้านก็จะเป็นที่ดินจัดสรร ซึ่งคิดว่าแปลงละประมาณ 100 ตารางวา ไม่แน่ใจว่ากินพื้นที่ถึงหลังโรงพยาบาลพระมงกุฎหรือไม่ แต่ในพื้นที่รอบๆสี่แยกประดิพัทธ์นั้นใช่แน่ๆ    

บ้านในโครงการพิบูลวัฒนา พ.ศ. ๒๔๙๙ บนถนนพระราม ๖ สามเสน เป็นบ้านไม้ชั้นเดียว ใต้ถุนโล่ง ที่ดินเฉลี่ยหลังละ ๑๓๐ ตารางวา บ้านในโครงการมีทั้งหมด ๒๘๘ หลัง บนเนื้อที่ ๒๕ ไร่ เป็นหมู่บ้านจัดสรรโครงการที่ ๒ โดยภาครัฐของประเทศไทย (โครงการแรกคือ โครงการพิบูลเวศม์ พ.ศ. ๒๔๙๘ ที่พระโขนง คลองตัน โครงการที่ ๓ คือ โครงการทุ่งมหาเมฆ พ.ศ. ๒๕๐๑)

เห็นภาพแล้วก็อดสงสัยตัวเองไม่ได้ว่าตาฝาดไปได้มากขนาดนั้นเชียวหรือ นึกไม่ออกเลยว่าได้เคยเห็นบ้านใต้ถุนสูงในระดับนั้น รวมทั้งแบบรั้วของบ้าน และถนนก็ว่าเป็นถนนลาดยางแล้ว   

ผมเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯเมื่อ 2498 แต่ก็ไปๆมาๆบ้านลุงก่อนนั้นอยู่บ้าง


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ก.พ. 19, 18:42
บนถนนเลียบคลองประปานี้ ห่างจากการประปาสามเสน (โรงกรองน้ำสามเสน) ไปไม่ไกลก็ไม่ค่อยจะมีรถวิ่งกันแล้ว กระนั้นก็ยังมีช่วงถนนที่พังเป็นช่วงๆสั้นๆ   

คิดว่าจนกระทั่งประมาณ 2501 จึงเห็นมีรถสามล้อเครื่องวิ่งกันขวักไขว่  ต่อมาก็เห็นรถแทกซี่ ซึ่งดูจะมีอยู่สองยี่ห้อที่ใช้กันอยู่ คือ รถดัทสันบลูเบิร์ดแข่งกันกับยื่ห้อเรโนลต์ (ซึ่งใช้เครื่องท้ายคล้ายรถโฟล์เต่า มีสี่ประตู ประตูหลังเปิดอ้าไปทางด้านหน้ารถ)     


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 06 ก.พ. 19, 21:36
ผมคุ้นๆ มาตลอดว่าหมู่บ้านมิตรภาพ อ่อนนุช เป็นหมู่บ้านจัดสรรแรกๆ ของกรุงเทพ ค้นไปค้นมาปรากฏว่าเจอประมาณนี้ครับ

https://web.facebook.com/pg/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E-1425517597706130/photos/?tab=album&album_id=1428359490755274 (https://web.facebook.com/pg/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E-1425517597706130/photos/?tab=album&album_id=1428359490755274)

'ตามเอกสารโครงการONNUJ PROJECTของ USAID ในหมวด ARTICLE3 ได้ระบุถึงกองทุนในการบริหารจัดการสาธารณูปโภคสำหรับโครงการบ้านอ่อนนุช ซอยอ่อนนุช ๑ ( ในสมัยนั้น ) การเป็นหมู่บ้านจัดสรรในยุคแรกก่อนการมี พรบ จัดสรร มีปัญหาในการบริหารสาธารณูปโภคหลังการขาย ทำให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการนี้ แต่เงินกองทุนคือเงินของผู้ซื้อ มิใช่เงินของผู้ขาย และระหว่างปี ๒๕๑๒_๒๕๓๕ ชาวหมู่บ้านมิตรภาพต้องตั้งองค์กรขึ้นมาเรียกว่า บริษัท บ้านอ่อนนุช จำกัด โดยผู้ซื้อบ้านนหมู่บ้านมิตรภาพเป็นผู้ถือหุ้น เมื่อได้มีการผ่อนชำระบ้านจนครบถ้วนแล้ว บริษัท กรุงเทพธนาธร จำกัด ได้มอบเงินที่หักไว้จากผู้ซื้อเป็นจำนวนเงิน๒๓ ล้านเศษให้แก่สมาคมชาวหมู่บ้านมิตรภาพ โยมีคุณชาติชาย มหธร นายกสมาคม และผู้จัดการธนาคารที่รับมอบเงินไปเปิดบัญชีในนามสมาคมชาวหมู่บ้านมิตรภาพ การดำเนินการทั้งกระบวนการมีกรรมการจำนวนมากร่วมเป็นสักขีพยาน'

และในลิงค์ของคุณ เพ็ญชมพู มีข้อมูลเชียนถึงไว้ว่า

http://site001.ap.tu.ac.th/VMthaiResident_site/VM_3.html (http://site001.ap.tu.ac.th/VMthaiResident_site/VM_3.html)

พ.ศ. 2504 - 2511
ยุคที่ 3 ยุคเอกชนตอกหมุดหมายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

'เมื่อภาครัฐได้นำร่องและปูแนวทางเรื่องโครงการที่พักอาศัยขนาดใหญ่ในชุมชนอย่างประสบความสำเร็จ ภาคเอกชนก็เริ่มเล็งเห็นช่องทางและขยับเข้ามามีบทบาทในการดำเนินการด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยกันมากขึ้น โดยเริ่มลงทุนในธุรกิจหมู่บ้านจัดสรรเต็มรูปแบบแห่งแรกในประเทศไทยคือ โครงการหมู่บ้านมิตรภาพ ในปี พ.ศ. 2509 เป็นบ้านเดี่ยวประมาณ 800 หลัง โดยบริษัท เซาท์อีสท์เอเชียก่อสร้าง จำกัด (Southeast Asia Construction Co., Ltd.) และได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา สำหรับประชาชนที่มีรายได้น้อยให้มีบ้านเป็นของตนเอง สามารถยื่นขอกู้เพื่อนำไปเช่าซื้อบ้านในโครงการนี้ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ มีระยะเวลาผ่อนชาระคืน 20 ปี ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก ธุรกิจการสร้างหมู่บ้านจัดสรรผ่อนส่งระยะยาวของเอกชนนั้นเริ่มมีหนทางที่สดใส จากนั้นเอกชนอีกหลายรายก็เริ่มหันมาจับธุรกิจสร้างบ้านจัดสรรกันมากขึ้น และเริ่มเกิดรูปแบบที่อยู่อาศัยใหม่ๆ เช่น ทาวน์เฮ้าส์ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองขีดความสามารถในการถือครองบ้านพักของผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ในสังคมกรุงเทพมหานครช่วงนั้นเป็นอย่างมาก'

(http://site001.ap.tu.ac.th/VMthaiResident_site/VM/03/03_5.jpg)

หมู่บ้านมิตรภาพ (พ.ศ. 2509)



รวมทั้งเอกสารฉบับนี้ได้กล่าวถึงว่า

https://cuir.car.chula.ac.th/dspace/bitstream/123456789/37132/5/Chomkwan_ch_ch3.pdf (https://cuir.car.chula.ac.th/dspace/bitstream/123456789/37132/5/Chomkwan_ch_ch3.pdf)

(https://i.imgur.com/h5JGLKg.jpg)



ฉะนั้นจึงพอจะพูดได้ว่า...หมู่บ้านมิตรภาพ (ของผมหรือของใครก็ตาม) เป็นหนึ่งในรุ่นบุกเบิกของหมู่บ้านจัดสรรของเอกชน แต่มาทีหลังของส่วนราชการอยู่หลายปี :D


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.พ. 19, 13:08
หมู่บ้านเอกชนที่ดิฉันจำได้คือหมู่บ้านเศรษฐกิจ  ที่บางแค    แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จ  จากนั้นก็มีหมู่บ้านเกิดขึ้นในชานเมืองกรุงเทพหลายแห่งด้วยกัน
ในยุค 50+ ปีก่อน  ลาดพร้าวเป็นชานเมืองอยู่ไกลแสนไกล   ขนาดสะพานควายยังเรียกว่าสุดขอบกรุงเทพ   ลึกจากริมถนนลาดพร้าวเข้าไปเป็นทุ่งนาแดดเปรี้ยง มีถนนลูกรังตัดเข้าไปจากปากทาง  จากนั้นบ้านก็ค่อยๆทยอยกันเข้ามากลางทุ่งนา   เป็นบ้านเดี่ยวปลูกห่างๆกัน   บ้านจัดสรรค่อยตามมาอีกที   ที่ดินแต่ละแปลงก็ประมาณ 100 ตารางวา   บ้านเป็นครึ่งตึกครึ่งไม้ คือชั้นล่างก่ออิฐฉาบปูน ข้างบนเป็นไม้   
บ้านก่ออิฐฉาบปูน ค่อยๆมีให้เห็นกันมากขึ้น แทนบ้านไม้อย่างเมื่อก่อน

รูปข้างล่างคือบ้านยุคใหม่ในสมัยนั้นค่ะ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ก.พ. 19, 19:21
ทำให้นึกถึงชื่อ ปากคลองสาน มหาชัย ท่าฉลอม บ้านแหลม แม่กลอง  เป็นชื่อของสถานีและชุมชนตามเส้นทางรถไฟสายแม่กลอง  ผมรู้จักเส้นทางรถไฟสายนี้เพราะคุณลุงและคุณแม่พาไปเยี่ยมคุณยายที่แม่กลองหลายครั้งตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก ตั้งแต่เมื่อครั้งรถไฟยังใช้หัวจักรไอน้ำ เก้าอี้นั่งของโบกี้รถนั่งยังใช้ไม้สัก ที่นั่งมีเว้าโค้งตามสรีระพอสมควร

ต้นทางเริ่มที่สถานีปากคลองสาน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทางตะวันออกของวงเวียนเล็ก นั่งดมกลิ่นควันจากปล่องควันรถไฟไปเรื่อยๆ แวะตามสถานีต่างๆจนถึงสถานีมหาชัย(ท่าฉลอม) แล้วขนสัมภาระลงจากรถไฟ รีบเดินไปยังท่าเรือเพื่อขึ้นเรือข้ามฟากแม่น้ำท่าจีนไปยังฝั่งบ้านแหลมเพื่อต่อรถไฟที่จอดรออยู่ที่นั่น   ที่ต้องรีบกันลงเรือ รีบขึ้นรถไฟ ก็มิได้มีอะไรมากไปกว่าการจองที่นั่งบนรถไฟ   จากนั้นก็นั่งดมกลิ่นควันของรถไฟต่อไป ซึ่งบางทีก็ได้พวกเถ้าไฟเป็นของแถม ช่วยเจาะรูเล็กๆบนเสื้อผ้า

ไปแต่เช้า ไปถึงแม่กลองเอาก่อนเที่ยง(ประมาณ 10+น. กระมัง)  จำได้แต่ว่า ขากลับใช้รถไฟเที่ยวที่ออกจากแม่กลองเวลาประมาณ 14.00 น.  รถไฟสายแม่กลองนี้ ในแต่ละวันมีอยู่หลายเที่ยว     


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ก.พ. 19, 19:51
สมัยเมื่อยังเยาว์ไม่เคยมีประสบการณ์ขึ้นรถไฟอย่างคุณตั้ง เคยแต่ขึ้นรถรางไปโรงเรียน  ;D

ดิฉันเคยทันขึ้นรถราง  จำได้ว่าแม่พาไปขึ้น บอกว่า "นั่งซะ อีกไม่นานเขาก็จะเลิกแล้ว"    
รถรางไม่ค่อยมีคนขึ้นแล้วค่ะตอนนั้น  นั่งสบายไม่แออัดยัดเยียด   มีเบาะปูบนที่นั่งด้วย   นั่งชมถนนไปเรื่อยๆ ไม่ร้อน  คงเป็นเพราะลมโกรกเข้าได้ทั้งสองทาง

เคยขึ้นรถรางไปโรงเรียน ประสบการณ์คนละอย่างกับคุณเทาชมพู นั่งไม่ใคร่สบาย ลุกขึ้นมาที ต้นขาต้องบวมแดงไม่หมดด้วยฤทธิ์ของตัวเรือดใต้ที่นั่ง

รถรางวันสุดท้ายในกรุงเทพมหานคร วันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๑๑ ผลงานของคุณแท้ ประกาศวุฒิสาร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้สร้างภาพยนตร์) ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๒

https://youtu.be/gfM45N-LSPs


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ก.พ. 19, 19:53
คุณยายของผมเป็นแพทย์แผนโบราณ มีร้านขายยาอยู่ฝั่งตรงข้ามวัดบ้านแหลม  ผมก็เลยพอจะมีความคุ้นเคยกับตัวยาและสรรพคุณของสมุนไพรทางยาบ้างเล็กน้อย  ซึ่งก็เป็นอะไรที่ยังฝังอยู่ในตัวผมจนในปัจจุบัน อาทิ ชอบอ่านหรือศึกษาสรรพคุณของพืชทางยาชนิดต่างๆและส่วนผสมที่นำมาประกอบกันทำเป็นยา เก็บตำรายาสมุนไพรเก่าที่เป็นของสถาบันทางราชการ .... เป็นต้น  แต่ผมกลับไม่นิยมใช้ยาแผนโบราณ หรือกินเพื่อเป็นอาหารเสริม ยกเว้นเฉพาะพวกยาบรรเทาอาการเฉียบพลันชั่วคราวเท่านั้น เช่น ครีมไพลแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ยาจิบแก้ไอมะขามป้อม เม็ดอมมะแว้ง ก้านชะเอม น้ำตรีผลาเพื่อปนับสมดุลย์(บางครั้ง) เสลดพังพอนแก้ยุงกัด น้ำขิงเพื่อไล่ลม เหล่านี้เป็นต้น      


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 ก.พ. 19, 19:31
เมื่อรถรางเลือนหายไป

ภาพจาก http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6905.0


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.พ. 19, 20:50
  รถโดยสารที่คุ้นตามากที่สุดในกรุงเทพ คือรถเมล์ขาว ของบริษัทนายเลิด  (พระยาภักดีนรเศรษฐ์)  เป็นรถเมล์สภาพดี  ไม่คร่ำคร่าผุพัง แล่นชิดซ้ายเสมอ  ไม่วิ่งปาดซ้ายป่ายขวา       ทั้งๆถนนในกรุงเทพรถไม่ติด 
  วันธรรมดาพอสายเข้า ถนนก็โล้ง เพราะคนเข้าทำงานกัน   ก็ไม่เคยเห็นรถเมล์ขาวซิ่ง


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 17 ก.พ. 19, 02:51
หนึ่งในหลายๆเส้นทางของรถเมล์ขาวบริษัทนายเลิดนั้น มีสายหนึ่งวิ่งไปถึงลาดพร้าว ซึ่งจัดว่าเป็นชนบทตอนเหนือของกรุงเทพ หมดระยะที่สถานีดับเพลิงลาดพร้าว  หมายเลขประจำสาย คือ สาย 8 ลาดพร้าว - สะพานพุทธ ต้นทางอยู่ที่ใต้สะพานพุทธยอดฟ้า ฝั่งพระนคร นับว่าเป็นรถเมล์สายยาวสายหนึ่ง ปัจจุบันรถเมล์สาย 8 เป็นรถร่วมชื่อเสียงกระฉ่อนกรุง วิ่งเส้นทางเดิม แต่ยืดปลายทางถึงแฮปปี้แลนด์ บางกะปิ. ส่วนเส้นทางด้านใต้ ของรถเมล์ขาว คือ สาย 2 บางนา - ปากคลองตลาด ยังไม่ได้ข้ามเขตไปสำโรง ต้นทางอยู่ที่สามแยกบางนา (ถนนบางนา - ตราด ยังไม่ได้ตัด) มีเมล์ขาวสายสั้นๆรับช่วงต่อเข้าไปตามถนนสรรพาวุธ จนถึงท่าน้ำสรรพาวุธ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 2 กม.ค่าโดยสารไม่เกิน 1 สลึง นัยว่าให้บริการแก่ทหารเรือที่มี่ที่ตั้งหน่วยที่นั่น นอกเหนือจากบริการของรถรางสายปากนำ้ ที่หยุดบริการเมื่อต้นปี 2503


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 ก.พ. 19, 07:15
พ.ศ. ๒๔๕๓ รถบรรทุกยี่ห้อฟอร์ดจากต่างประเทศ คือ ตัวเลือกที่นายเลิศตัดสินใจนำเครื่องยนต์และโครงรถ เข้ามาต่อตัวถังเป็นรถเมล์ในเมืองไทยที่ทำด้วยไม้ทั้งคัน ซึ่งนายเลิศออกแบบเอง

https://youtu.be/-axgO-pZktw

รถเมล์ขาวนายเลิศรุ่นแรก  ;D


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.พ. 19, 08:26
     วิกิ บอกว่า
    กิจการรถเมล์นายเลิศ ดำเนินการมานานถึง 70 ปี ได้รับสัมปทานเดินรถประจำทางในกรุงเทพฯ ถึง 36 สาย มีรถประมาณ 700 คัน มีพนักงาน 3,500 คน นับเป็นบริษัทรถเมล์ที่ใหญ่ที่สุด แต่ได้เลิกกิจการลงในปี พ.ศ. 2520 เมื่อรัฐบาลมีนโยบายรวมกิจการรถเมล์ทุกสายในกรุงเทพมหานครมาอยู่ในความดูแลของ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ

     สวัสดีค่ะคุณ Jalito    สงสัยว่าหายไปไหน  เพิ่งได้ฤกษ์เข้ามาร่วมวงหรือคะ   


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 17 ก.พ. 19, 08:54
สวัสดีครับ อาจารย์เทาชมพู เข้ามาติดตามอ่านทุกวันครับ
เพียงแต่ไม่ได้แสดงตัว


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.พ. 19, 08:57
  ขอเล่าถึงถนนเพลินจิตและราชประสงค์ เมื่อ 50+ ปีก่อน  เพลินจิตเป็นถนนที่คุ้นเคยที่สุดเพราะบ้านและร.ร.อยู่ที่ถนนสายนี้
  ถนนเพลินจิตเริ่มจากสี่แยกราชประสงค์ ไปสิ้นสุดที่ทางรถไฟช่องนนทรี   ข้ามไปก็เป็นถนนสุขุมวิท ซึ่งเขตถนนสุขุมวิทเมื่อ 50+ ปีก่อนเรียกว่าบางกะปิ   พระโขนงหมายถึงปลายๆสุขุมวิทตรงต่อกับสะพานพระโขนง
  สี่แยกราชประสงค์ในสมัยนั้นเป็นสี่แยกไม่ค่อยมีอะไรมาก   เช่นเดียวกับสี่แยกปทุมวัน    ที่ว่าไม่ค่อยมีอะไรมากคือไม่มีตึกรามบ้านช่องคับคั่งอย่างเดี๋ยวนี้   ส่วนที่เป็นเซนทรัลเวิร์ลด์มีร้านอาหารแบบบ้านทุ่งมาตั้งอยู่พักหนึ่งแล้วเลิกกิจการไป    ด้านตรงข้าม ริมถนนราชดำริ เป็นตึกแถวสองชั้นเก่าๆ เรียงรายไปจนจดสะพานเฉลิมโลก  ถนนค่อนข้างว่าง มีรถผ่านไปมาไม่มากนัก  
  ตึกแถวริมถนนราชดำริเหล่านี้เปิดเป็นร้านค้าเล็กๆ  หนึ่งในนั้นเป็นร้านทำผมที่แม่เคยมาทำผม แล้วจูงลูกไปกินอาหารที่ร้านใกล้ๆ  เป็นร้านขายอาหารตามสั่ง และมีอาหารใส่ถาดวางไว้ในตู้กระจก    หน้าตาร้านเรียบๆไม่ตกแต่งประดับประดาอะไร แต่ดูสะอาด มีโต๊ะเก้าอี้ตั้งอยู่สัก 5-6 ชุด    เจ้าของร้านเป็นสตรีวัยกลางคน  พูดจากิริยาเรียบร้อย ราวกับออกมาจากวังไหนสักวังหนึ่ง   เห็นเธออยู่คนเดียวในร้าน
  แม่ถามว่าขายที่นี่เป็นอย่างไรบ้าง  เธอก็ตอบว่า พอไปได้ค่ะ  
  หลังจากนั้นอีกหลายปี   ไปแถวนั้นพบว่าห้องแถวเปลี่ยนไปหมดแล้ว   ร้านอาหารนั้นก็เลิกไป   ราชดำริฝั่งนี้กลายเป็นร้านรวงทันสมัยขึ้นมาอย่างรวดเร็วเมื่อห้างไดมารูห้างแรกเข้ามาตั้งที่ฟากตรงข้าม  ตรงเซนทรัลเวิร์ลด์


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.พ. 19, 09:09
   ถนนเพลินจิตในสมัยหลังสงครามเป็นถนนสายสั้นๆ ที่สวยงามมาก    เริ่มต้นด้วยโรงแรมเอราวัณที่เป็นตึกสีขาวสามชั้นหลังคาไทยประยุกต์  มีศาลพระพรหมที่เป็นหน้าเป็นตา  แม้ว่าไม่คับคั่งเท่าทุกวันนี้ก็ตาม  ก็มีคนนับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่ตั้งศาล    ถัดจากโรงแรมเป็นบ้านของคุณหญิงมณี สิริวรสาร  ด้านหน้าติดถนนมีร้านขายขนมเค้กชื่อ "มณียา" ที่โก้หรูเอาการ     ถัดไปก็คือโรงเรียน
   ฟากตรงข้ามร.ร. เอราวัณนั้นซอยเกษรยังไม่เกิด  มาเกิดเอาตอนกลางๆทศวรรษ 2510s   มีห้องแถวเล็กๆสร้างด้วยไม้ปลูกติดๆกันหลายห้อง    แล้วก็ถึงที่ทำการของไฟฟ้าเพลินจิต   จากนั้นเป็นบ้านที่อยู่อาศัยหลังใหญ่ๆเรียงรายไปจนจดทางรถไฟช่องนนทรี 
    ตรงที่เป็นเซนทรัลชิดลมเดี๋ยวนี้ก็เคยเป็นตึกใหญ่สวยงามมาก   มีห้องระเบียงด้านบนกว้าง  มารู้ทีหลังในเรือนไทยนี้เองว่าเป็นวังของหม่อมเจ้าวิมวาทิตย์ ระพีพัฒน์    มีซอยอยู่สองสามซอย ถ้าเดินเข้าไปจะพบบ้านหลังใหญ่ๆ มีบริเวณเป็นสัดส่วน   มีหลังหนึ่งเป็นบ้านสามชั้นทาสีเทา หลังคาสูงชันสีแดง ราวกับบ้านในหนังสือภาพเทพนิยาย อยู่ด้านหลังเซนทรัลพอดี   พอเซนทรัลมา บ้านนั้นก็หายไปจากสายตา
     บรรยากาศในซอยสงบเงียบ   ปลูกต้นไม้ใหญ่ร่มรื่นทั้งซอย ชนิดเดินได้สบายไม่โดนแดดเลย 


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ก.พ. 19, 09:13
กิจการรถเมล์ขาวรุ่งเรือง บริการดีเป็นอันดับหนึ่งด้วยฝีมือของผู้จัดการชื่อนายใช้ หงษ์เหิร ผู้ซึ่งทำงานให้บริษัทมานานตั้งแต่สมัยนายเลิดยังอยู่ มาตรฐานของรถเมล์ขาวทั้งตัวรถและมารยาทของผู้ให้บริการแตกต่างกับรถเมล์สายอื่นๆมาก โดยเฉพาะถ้าเปรียบเทียบกับรถเมล์ของบริษัทขนส่งอันเป็นรัฐวิสาหกิจ(เรียกว่ารถบขส.สีส้ม)นั้น ทั้งคนขับและกระเป๋าราวกับเพิ่งทะลุออกมาจากจอหนังคาวบอย

ครั้นรัฐบาลคึกฤทธิ์มีนโยบายให้เลิกสัมปทานเดินรถในกรุงเทพทั้งหมด ชดเชยให้กับทุกบริษัทแล้วรวบกิจการมาเป็นของรัฐ ตั้งชื่อว่าขสมก. แล้วแต่งตั้งเจ้าของบริษัทนายเลิดให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมเพื่อกำกับดูแลเรื่องการรวมรถเมล์ให้ได้ในมาตรฐานเดียวกันโดยเฉพาะ นับเป็นรัฐมนตรีหญิงคนแรกของเมืองไทย ส่วนนายใช้อายุมากแล้วก็ได้รับเงินชดเชยแล้วเกษียณไปในตอนนั้น

ผลก็คือ คนกรุงเทพได้ใช้บริการรถเมล์ในมาตรฐานเดียวกันหมดจริงๆ แต่เป็นมาตรฐานของรถสีส้ม


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.พ. 19, 10:15
      ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ เจ้าของกิจการรถเมล์ขาว ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในสมัยรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียรค่ะ   เป็นหนึ่งในรัฐมนตรีหญิงสองคนแรกของประเทศไทย อีกคนคือคุณวิมลศิริ ชำนาญเวช
      รัฐบาลคึกฤทธิ์พ้นหน้าที่ไปก่อนหน้านี้แล้วค่ะ    ต่อมาคือพรรคประชาธิปัตย์ของม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 19   แล้วทหารนำโดยพล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ก็เข้ามาปฏิรูปประเทศ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.พ. 19, 10:47
   เล่าถึงหน้าตาของโรงเรียนบ้างนะคะ   เผื่อใครนึกถึงโรงเรียนเก่าของตัวเองจะถ่ายทอดสู่กันบ้างก็ดี   เพราะผ่านมาหลายทศวรรษ  โรงเรียนของทุกคนคงเปลี่ยนไปบ้างแล้ว ไม่มากก็น้อย
   โรงเรียนดิฉันอยู่ระหว่างบ้านของคุณหญิงมณี สิริวรสาร กับถนนหลังสวนซึ่งยุคนั้นเรียกว่าซอยหลังสวน   ตัวโรงเรียนมีพื้นที่เท่าไรไม่ทราบ  เดาว่าประมาณ 20 ไร่  เพราะด้านลึกมีมากกว่าด้านกว้าง      ด้านหน้าโรงเรียนยังไม่ต่างจากยุคนี้มากนัก คือพอผ่านประตูใหญ่เข้าไปก็เจอสนามกว้าง  ไว้เป็นที่หัดพละในชั่วโมงพละ และนั่งเล่นเดินเล่นได้ เช้าๆเย็นๆ  เด็กนักเรียนก็เล่นกันอยู่ริมสนามนี่แหละ ไม่มีใครห้าม

  ถนนอ้อมสนามไปถึงอาคารเรียนเป็นเรือนไม้ขนาดใหญ่สองชั้น มีระเบียงแล่นตลอด  หน้าต่างกว้าง และอีกด้านที่ติดกับระเบียง เปิดโล่งไม่กั้นผนัง  ทำให้เย็นสบายอยู่ทั้งวันแม้ในยามบ่าย   ต้นไม้ใหญ่ครึ้มขึ้นอยู่่บนลานหน้าโรงเรียน    เลยจากนั้นไปทางด้านติดกำแพงบ้านคุณหญิงมณีเป็นหอประชุมเดิมซึ่งเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวรูปยาว คล้ายๆโบสถ์ฝรั่ง    เดินเข้าทางด้านข้างซึ่งเปิดโล่งตลอด  พืนปูกระเบื้องหรือกระเบื้องหินแผ่นใหญ่ๆ   ไม่มีเก้าอี้  นักเรียนต้องนั่งกับพื้นเวลาเข้าประชุม

    อาคารมีเวทีซึ่งใช้สารพัดประโยชน์ตั้งแต่ประชุม แจกรางวัลและการแสดงของนักเรียน มีม่านสีน้ำเงินเข้มกั้นไว้    พื้นผนังสองข้างซ้ายขวาเวทีเพ้นท์เป็นรูปฝูงนกพิราบสีขาวบนพื้นสีแสดอ่อน   เกาะกลุ่มและบินมาบรรจบกัน   หน้าทางเข้าหอประชุมปลูกต้นรำเพยสองสามต้น  ออกดอกสีแสดอ่อนๆก็มี ขาวก็มี สวยมาก     มีลูกสีเขียวห้อยระย้า  เคราะห์ดีไม่มีใครมือบอนไปเด็ดมากิน  ไม่งั้นคงต้องส่งไปร.พ.เพราะลูกมันเป็นพิษ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ก.พ. 19, 10:57
ถูกต้องครับ รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้มีมติของคณะรัฐมนตรี ให้รวมรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานคร เป็นบริษัทเดียว เรียกว่า "บริษัทมหานครขนส่ง จำกัด เป็นรูปรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัท จำกัด มีรัฐถือหุ้นอยู่ 51% และเอกชนถือหุ้น 49% แต่การรวมและการจัดตั้งเป็นบริษัทมหานครขนส่ง จำกัด ในขณะนั้นมีปัญหาเรื่องกฎหมาย กระทบไปถึงการบริหารจัดการที่ควบคุมไม่ได้  ต่อมาในสมัยรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จึงได้ออกพระราชกฤษฎีกา การจัดตั้งเป็นองค์การขอรัฐให้ชื่อว่า "องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ"  โดยรวมกิจการรถโดยสารทั้งหมด จากบริษัทมหานครขนส่ง จำกัด มาขึ้นอยู่กับ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

ขออภัยในข้อมูลที่ผิดพลาดที่ผมเขียนจากความจำที่ว่าตั้งแต่รวมรถเมล์  ทุกอย่างแทนที่จะดีขึ้นกลับเลวลง  ต่อมาเมื่อทหารปฏิวัติได้แล้วให้จัดตั้งรัฐบาลพลเรือนขึ้น  หลังฟอร์มดรีมทีมแล้วรัฐมนตรีหญิงที่ผมกล่าวจึงได้เข้าไปดำรงตำแหน่ง รมต.คมนาคม เพื่อแก้ปัญหารถเมล์ที่คนกรุงเดือดร้อนมาก  คนกรุงก็หวังจะได้เห็นท่านนำมาตรฐานรถเมล์ขาวกลับมา  แต่ท่านก็แก้ไม่ได้ เพราะปัญหาคอร์รัปชั่นในระบบราชการและรัฐวิสาหกิจมันยิ่งใหญ่กว่าบริษัทเอกชน สุดท้ายรัฐบาลนั้นก็ไปไม่รอดตามคาด


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ก.พ. 19, 10:59
เชิญต่อเรื่องโรงเรียนครับ ผมคงมีเท่านี้


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.พ. 19, 11:25
  ปัญหาการเมืองในยุค 2519-20  เป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่อง ที่พัลวันยุ่งเหยิงอยู่ตลอดปีค่ะ     หวังว่าผ่านไป 40 กว่าปีแล้วคงจะไม่ย้อนรอยกลับมาอีก

   เอารูปโรงเรียนมาให้ดูอีกทีค่ะ
   ทางที่ทอดมาด้านซ้ายของภาพคือถนนจากประตูโรงเรียนทอดมาสู่อาคารเรียนสำหรับเด็กชั้นมัธยม    ลานตรงนี้คือที่นั่งรอพ่อแม่มารับตอนเย็น    ดิฉันนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ทางขวาเป็นประจำ
   เด็กบางคนพ่อแม่มารับเย็นมาก   หลังจากนั่งรออยู่สัก 1 ชม.  เหลือกันอยู่ไม่กี่คน   มาแมร์ก็ต้อนพวกเราขึ้นไปนั่งรอในห้องเรียนชั้นล่างในอาคารเรียนในรูป  ให้นั่งทำการบ้านเงียบๆอยู่ในนั้น จนกว่าผู้ปกครองจะมาถึงค่ะ
   อาคารนี้ใช้เป็นที่เรียนของนักเรียนตั้งแต่มัธยม 2 ไปจนชั้นสูงสุด   มีชั้นละ 2 ห้อง   ตัวห้องมีผนัง 3 ด้าน ด้่านติดถนนมีหน้าต่างกว้างติดๆกันเกือบตลอดผนัง   ด้านติดระเบียงไม่มีผนัง ลมจึงพัดผ่านจากสระน้ำของโรงเรียนมาเข้าห้องเรียนได้ตลอด    ในเมื่อเปิดหน้าต่าง ลมก็แล่นผ่านเป็นทางลมโกรก   ไม่ต้องอาศัยพัดลม   ฝุ่นถึงมีก็มีน้อยมาก  ต้นไม้ใหญ่ๆรอบอาคารช่วยกรองฝุ่นและผลิตออกซิเจนให้อยู่แล้ว
  เครื่องแบบนักเรียนเป็นเสื้อคอบัวปิดแค่คอ  มีโบหูกระต่ายห้อยอยู่ตรงกระดุมเม็ดแรก  แขนยาวมิดชิด  ตอนโน้นก็ไม่รู้สึกอะไร  ผ่านมานาน   นึกได้ว่าไม่เคยรู้สึกร้อนจนอยากถลกแขนเสื้อขึ้นมาเลย    แสดงว่าอากาศในโรงเรียนกำลังสบายจริงด้วย


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.พ. 19, 14:57
 ถัดจากอาคารไม้ลึกเข้าไป   ถ้ามองจากรูปอาคาร ส่วนลึกอยู่ทางด้านขวาอาคาร   มีสระน้ำรูปยาว ที่น่าจะมีทางระบายออกไปที่ซอยหลังสวนได้   เพราะซอยหลังสวนยังมีคูน้ำข้างถนนอยู่     น้ำในสระสะอาด มีปลาตัวโตๆอยู่เต็มสระ  แหวกว่ายไปมามองเห็นได้เวลาเดินข้ามสะพาน
  สะพานในรูปข้างล่างนี้ทอดไปสู่ตัวอาคารไม้สองชั้นทาสีครีม   ส่วนที่เห็นเป็นห้องกว้างๆด้านหน้าคือสถานที่สำหรับประกอบพิธีมิสซา    เวลาจะขึ้นก็ขึ้นทางบันไดโค้งทางขวามือของภาพ      หรือถ้าไม่มีมิสซาจะขึ้นไปสวดก็ได้  ไม่จำกัดเฉพาะนักเรียนที่นับถือศาสนาคริสต์   แม้แต่พุทธถ้าอยากขึ้นไปสวดก็ไม่มีใครห้าม     แต่สวดนานๆไม่ได้เพราะเมื่อย ต้องคุกเข่าอยู่นานๆ  ไม่สามารถนั่งพับเพียบอย่างเวลาไปฟังสวดที่วัดไทย
   ส่วนอื่นๆของอาคารหลังนี้ใช้ทำอะไรบ้าง บอกไม่ค่อยถูกค่ะ เพราะไม่เคยไปสำรวจให้ทั่วถึง  จำได้แต่ว่าบางส่วนเป็นออฟฟิศหรือห้องใช้งานของมาแมร์    นักเรียนจะไม่ล่วงล้ำเข้าไป   
   ชั้นล่างที่เป็นใต้ถุนนั้นเดินลอดทะลุไปสู่อาณาเขตด้านหลังที่เป็นเขตเรียนของนักเรียนประถมและอนุบาล   ส่วนทางขวาเป็นห้องเล็กๆ เคยไปซื้อคริสต์มาสการ์ดที่นั่น   ห้องพยาบาลอยู่ติดกับด้านหลัง   ใครไม่สบายก็ไปนอนที่นั่นได้ มีเก้าอี้ผ้าใบให้นอน


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.พ. 19, 14:59
สถานที่เดิม แต่เห็นมุมกว้างขึ้น


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: tita ที่ 17 ก.พ. 19, 16:07
  มีหลังหนึ่งเป็นบ้านสามชั้นทาสีเทา หลังคาสูงชันสีแดง ราวกับบ้านในหนังสือภาพเทพนิยาย อยู่ด้านหลังเซนทรัลพอดี   พอเซนทรัลมา บ้านนั้นก็หายไปจากสายตา

จำได้ค่ะ  เคยไปทานอาหารที่เซ็นทรัลชิดลม  ถ้าจำไม่ผิดน่าจะประมาณปี พ.ศ. 252x ต้นๆ  ตอนนั้นบ้านหลังนี้ยังอยู่  คือบ้านอยู่ด้านหลังเซ็นทรัลชิดลมพอดี  มองจากหน้าต่างกระจกห้องอาหารไปจะเห็นถนัดเพราะอยู่ติดกันเลย  เป็นบ้านสูงๆ สามชั้น  ด้านที่ชิดมาทางเซ็นทรัลมีต้นไม้สูงใหญ่เกินบ้านอยู่ 1 ต้น  ตัวบ้านด้านที่ชิดต้นไม้มีระเบียง  อยู่ในร่มเงาของต้นไม้  ดูเป็นภาพชีวิตที่สงบร่มรื่นมากค่ะ  เวลาไปทานอาหารที่เซ็นทรัลจะขอโต๊ะริมหน้าต่าง  จะได้ทานไปชื่นชมบ้านไป

เคยถามพนักงานห้องอาหาร  เขาบอกว่าเป็นบ้านของตระกูล บี.กริมม์  


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.พ. 19, 16:18
ดีใจที่เจอคนทันเห็นบ้านหลังนั้นร่วมกันค่ะ
ใช่ค่ะ บ้านนั้นยังมองเห็นได้จากหน้าต่างกระจกร้านอาหารในเซนทรัล จำชื่อร้านไม่ได้ อาจจะ The Terrace มั้ง
แต่เห็นได้พักเดียว บ้านก็หายไป  ตอนนี้ที่ตรงนั้นเป็นอะไรแล้วไม่ทราบค่ะ  ไม่ได้กลับไปดูอีกเลย
ตระกูลบี.กริมม์   หรือคะ  น่าจะเป็นเจ้าของห้างบี.กริม แอนโก  ดิฉันเคยได้ยินชื่อห้างนี้ตอนเด็กๆ  มีอีกห้างคือห้างดีทแฮล์ม  แต่ขายสินค้าอะไรไม่ได้จดจำทั้งสองห้างค่ะ     


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: tita ที่ 17 ก.พ. 19, 16:35
เมื่อครู่ลองเข้าไปดูแผนที่ว่าปัจจุบันพื้นที่ตรงนั้นเป็นอะไร  สรุปว่าเป็นอาคารอัลม่า ลิงค์ ค่ะ  เข้าไปดูประวัติอาคารได้ความว่า

"..ประวัติอาคาร อัลม่า ลิงค์
มร.เฮอร์เบิร์ต ลิงค์ มีเชื้อสายเยอรมันที่กำเนิดในประเทศไทยเมื่อปี 2460 ต่อมาได้สมรสกับ มิสอัลม่า ในปี 2482 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มร. เฮอร์เบิร์ตพำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย และเข้าร่วมงานกับ ห.ส.น. บี.กริม แอนด์ โก ในตำแหน่งผู้จัดการ

มิสอัลม่า เป็นชาวอังกฤษโดยกำเนิดและเป็นหัวหน้าพยาบาลที่ บ้านพยาบาลกรุงเทพ หรือ บางกอกเนิร์สซิ่งโฮม สถานรักษาพยาบาลเอกชนแห่งแรกของชาวต่างชาติ

หลังจากสมรสได้ไม่นาน มิสซิสอัลม่าได้อุทิศตนช่วยเหลืองานสังคม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นอกเหนือจากงานพยาบาลซึ่งเป็นงานประจำ และยังได้ช่วยเหลืองานของสามีในการรับรองแขกทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ มิสซิสอัลม่ายังได้แนะนำให้ มร. เฮอร์เบิร์ตซื้อบ้านหลังหนึ่งในเขตที่อยู่อาศัยในซอยชิดลม 25 บนถนนเพลินจิต

ในสมัยนั้น ซอยชิดลม 25 ตั้งอยู่ระหว่างคลอง 2 สาย ซึ่งเป็นบริเวณที่มีความสงบร่มรื่น จนบุคคลที่มีชื่อเสียงในหลายตระกูลดังของเมืองไทย อาทิ ปันยารชุน และ ทวีสิน ตัดสินใจเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในบริเวณนั้น ซึ่งอยู่ถัดจากที่ดินของ พระยาเลิศ เศรษฐบุตร (โรงแรมปาร์ค นายเลิศ) และสถานทูตอังกฤษ

ในช่วงปี 2513 กลุ่มบริษัทเซ็นทรัล ได้ตัดสินใจสร้างห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ขึ้นบริเวณหัวมุมถนนเพลินจิตและชิดลม นับเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาที่ดินในเชิงพาณิชย์และยังคงดำเนินต่อเนื่องสู่สหัสวรรษใหม่ ต่อมาภายหลังพื้นที่ส่วนใหญ่ในบริเวณนั้นได้ถูกพัฒนาให้เป็นอาคารสูง ซอยเล็กๆ ได้ถูกขยายออกให้กลายเป็นถนน คลองทั้งสองในซอยชิดลมถูกถมหายไปในสุด ซึ่งทำให้พื้นที่บริเวณนั้นเริ่มยากแก่การอยู่อาศัย

ดังนั้น ในปี 2532 มร. เฮอร์เบิร์ต และ มิสซิสอัลม่า ลิงค์ จึงได้ตัดสินใจสร้างอาคารสำนักงานอัลม่า ลิงค์ ในบริเวณที่ดินของตน และในวันที่ 28 ตุลาคม 2534 โดยมี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคารอย่างเป็นทางการ.."

อ่านแล้วเหมือนกับ มร. เฮอร์เบิร์ต ลิงค์ ก็ซื้อต่อบ้านมาอีกที  เจ้าของเดิมเป็นใครไม่ได้ระบุไว้

(http://)


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.พ. 19, 16:44
คุณอัลม่า ลิงค์   ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้่าฝ่ายใน   เป็นคุณหญิงอัลม่า ลิงค์ ค่ะ  เสียดายหารูปเธอยังไม่พบ
ไม่แน่ใจว่าที่ดินบริเวณนั้นเป็นของพระยาภักดีนรเศรษฐ์มาแต่เดิม ด้วยหรือเปล่านะคะ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.พ. 19, 18:38
       เมื่อเดินลอดชั้นใต้ถุนของอารามไป  ก็คือส่วนหลังของโรงเรียน   เป็นลานปูนกว้างๆสำหรับเด็กเล่นกัน   มีทางเดินซึ่งมีหลังคาทอดผ่านลานปูนนี้ไปสู่อาคารเรียนของอนุบาลและประถม   ลึกเข้าไปอีกคือโรงอาหารทำด้วยไม้
อาคารประถมเป็นอาคารชั้นเดียวกว้างๆ  ดูโล่งสบาย มีทางเดินเลียบด้านข้างเข้าไปในห้องเรียนแต่ละห้องซึ่งไม่มีผนังกั้น    ส่วนชั้นอนุบาล 1-2 เรียนในอาคารใหญ่มีหลังคาคลุม  และมีผนัง   ด้านติดกับทางเดินมีรั้วเตี้ยๆกั้นไม่ให้เด็กเล็กๆพลัดหลงออกมาข้างนอก
      หลังลานปูนเป็นสวนมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นเขียวครึ้ม  มีรั้วต้นไม้กั้นทำให้มองไม่เห็นว่าข้างในมีต้นอะไรบ้าง    เห็นแต่ว่ามีประติมากรรมกางเขนอันมหึมาและพระเยซูคริสต์ขนาดเท่าคนถูกตรึงอยู่บนกางเขน     ความร่มรื่นของต้นไม้ทำให้ไม่รู้สึกร้อนกับลานปูน 
      ฟากตรงข้ามกับลานปูนที่อยู่ตืดกับซอยหลังสวน มีรั้วต้นไม้หน้าตาเหมือนพู่ระหงหรือชบา กั้นอาณาเขตโรงเรียนกับซอยหลังสวน     มีประตูด้านหลังโรงเรียนที่เปิดรับให้ผู้ปกครองเข้ามารับเด็กได้หลังเลิกเรียน    เป็นประตูแคบๆ เปิดมาสู่ลานที่ไม่ได้เทปูน แต่ดูเหมือนจะเป็นลานดินธรรมดา   เด็กๆก็เล่นกันอยู่ตรงนี้ละค่ะ   
      เคยกลับไปอีกหนหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน    พบว่าบริเวณทั้งหมดที่บรรยายมาไม่เหลือแล้ว    มีแต่ตึกเรียนหลายชั้นผุดขึ้นมาแทนที่   ในพื้นที่เท่าเดิม อาคารเรียนมีมากกว่าเดิมหลายเท่าค่ะ 
 


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.พ. 19, 18:56
  อาคารหลังนี้เป็นอาคารใหม่   สร้างติดรั้วด้านซอยหลังสวน     พวกเราย้ายไปเรียนกันตอนอยู่ชั้นมัธยม 5  ซึ่งกระทรวงเปลี่ยนหลักสูตรใหม่ให้กลายเป็นมศ. 2   
  ตึกหลังนี้พื้นห้องเป็นไม้ขัดมัน  นักเรียนต้องถอดรองเท้าก่อนเข้าห้อง   เดินในห้องได้ไม่นานถุงเท้าก็เริ่มมอม  เปิดเทอมต้องซื้อใหม่ทุกที


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.พ. 19, 19:36
    โรงเรียนนี้ก่อตั้งโดยคุณแม่ มารี เบอร์นาร์ด มังแซล ผู้เป็นแม่ชีนิกายโรมันคาทอลิค    สังกัดคณะอุร์สุลิน  ท่านเดินทางจากอินโดนีเซียมาเผยแพร่ศาสนาในสยามตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 6   ท่านซื้อที่ดินผืนหนึ่งที่ถนนเพลินจิตซึ่งตอนนั้นยังเป็นชานเมืองไกลอยู่มาก แล้วตั้งร.ร.ขึ้นสำหรับเด็กผู้หญิง   ชื่อว่า Mater Dei  เป็นภาษาลาติน   ถ้าแปลเป็นอังกฤษก็คือ Mother of God   หมายถึงพระแม่มารี มารดาของพระเยซูคริสต์
     สมัย 50+ ปีก่อน  นักเรียนเรียกแม่ชีเหล่านี้ว่า มาแมร์ (Ma Mere) เป็นภาษาฝรั่งเศสตรงกับคำว่า my mother ในภาษาอังกฤษ  ส่วนมาเซอร์ (Ma Sour) หมายถึงชีฝึกหัดซึ่งยังเป็นนักเรียนอยู่   มาเรียนพร้อมกับพวกเราในเครื่องแต่งกายสีขาวล้วน    แต่เดี๋ยวนี้คำว่ามาแมร์ถูกยกเลิกไปแล้ว  นักเรียนเรียกท่านว่า"คุณแม่"แทน

   แต่เดิมมาแมร์นิกายนี้ เมื่ออยู่ต่างประเทศโดยเฉพาะในยุโรปอันเป็นแหล่งกำเนิด  สวมชุดที่เรียกว่า habit เป็นเสื้อแขนยาวและกระโปรงสีดำยาว  ผ้าคลุมศีรษะก็สีดำ  มีเพียงกระบังหน้าและแผ่นรองคอ เป็นผ้าลงแป้งแข็งเท่านั้นที่สีขาว   แต่อากาศเมืองไทยคงจะร้อน  สวมสีดำแล้วยิ่งร้อนใหญ่    ชุดของท่านก็เลยเปลี่ยนเป็นสีขาวแทน   
   แต่ตอนหลัง ชุดของแม่ชีก็เปลี่ยนไปอีก เป็นเสื้อกระโปรงที่สั้นและรัดกุมขึ้น คล้ายกับเสื้อผ้าของคนทั่วไป  ผ้าคลุมศีรษะก็สั้นลง 


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 ก.พ. 19, 20:46
เครื่องแต่งกายของแม่ชีคณะอุร์สุลิน  ที่ยังแต่งกายด้วยชุดดำ มีผ้าคลุมศีรษะมิดชิด มีกรองคอเป็นแผ่นลงแป้งแข็ง แบบเดียวกับที่แต่งในยุโรป น่าจะก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

ภาพจาก http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1476.msg24846#msg24846


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.พ. 19, 20:57
ในภาพข้างล่างนี้ ถ่ายประมาณ พ.ศ.2474   แม่ชียังสวมชุดดำอยู่    แต่พอถึงพ.ศ. 2500 กว่าๆ เปลี่ยนเป็นสีขาวแล้วค่ะ
จำเจ้านายพระองค์น้อยในภาพได้ไหมคะ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.พ. 19, 20:12
 ซอยหลังสวนเมื่อ 50+ ปีก่อน แคบกว่าเดี๋ยวนี้เพราะมีคูน้ำริมทางกินเนื้อที่อยู่ด้วย    เป็นคูกว้างๆที่เจ้าของบ้านต้องสร้างสะพานให้รถแล่นข้ามเข้าออกบ้าน    คูนี้แล่นตลอดไปจนถึงปลายซอย จากนั้นไปเชื่อมกับทางน้ำที่ไหนนึกไม่ออกแล้วค่ะ     
  ในยุค 50+ ปีก่อน   เพลินจิตยังมีร่องรอยของทางน้ำที่เคยใช้เป็นทางสัญจรก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2   ก่อนถนนเข้ามาแทนที่   นอกจากเป็นทางสัญจรยังเป็นทางระบายน้ำอีกด้วย 
   บ้านบางหลังในซอยขุดสระน้ำข้างตัวบ้าน ตักน้ำขึ้นมาใช้ซักล้างบนบ้าน    น้ำในสระพวกนี้ไม่เน่าเหม็นสกปรก  ตักขึ้นมาแกว่งสารส้มก็สะอาดพอสมควร เพราะมีน้ำไหลเข้าออกจากคูน้ำในซอยได้   
   แต่เมื่อถนนเข้ามาแทนที่ คูคลองถูกถม  น้ำที่เหลือในสระหรือคูพวกนี้ก็เริ่มสกปรกจนต้องถมทิ้ง เอาเนื้อที่มาใช้      จำได้ว่าน้ำในคูริมถนนของซอยหลังสวน เป็นสีเขียวเข้มข้นคลั่กราวกับขนมเปียกปูนใบเตยขนาดยักษ์   จากนั้นอีกไม่นาน เมื่อทางการขยายพื้นที่ซอย  คูน้ำพวกนี้ก็หายไปตามระเบียบ
  มองลงมาจากตึกเรียน เห็นบ้านสวยมากในซอยหลังสวนหลังหนึ่งเป็นตึกหลังกะทัดรัด ปลูกตามแบบบ้านสมัยใหม่ของยุคกึ่งพุทธกาล  คือเป็นตึกสองชั้นรูปทรงสี่เหลี่ยม มีส่วนกว้างมากกว่าลึก  หลังคาลาดแบน   ทาสีเขียวก้านมะลิอ่อนๆ  มีสนามหญ้าอยู่ด้านหน้า    บ้านนี้ปลูกอยู่หลังปั๊มน้ำมันซึ่งอยู่ตรงปากทางเข้าซอยหลังสวน   
  แม่เล่าให้ฟังว่ารู้จักเจ้าของบ้านหลังนี้  เป็นเพื่อนนักเรียนเก่ากันมา เธอชื่อคุณเอมิลี่ พวง  สามีเป็นคุณหลวงชื่ออะไรจำไม่ได้แล้วค่ะ  เป็นอดีตประธานกรรมการของบริษัทอาคเนย์ประกันภัย     คุณเอมิลี่เป็นคนไทยชื่อพวง นับถือคริสตศาสนา   เธอก็เลยมีชื่อรองเป็นชื่อฝรั่ง คือชื่อจากพระคัมภีร์  เคยเจอคุณเอมิลี่ พวงหนหนึ่งเมื่อเธอมามีตติ้งกับเพื่อนนักเรียนเก่า    เธอถึงแก่กรรมไปหลายสิบปีแล้ว


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.พ. 19, 15:47
    ขอย้อนกลับมาเล่าถึงแม่ชีที่สอนหนังสืออีกครั้ง     ไม่เคยเจอหนังสือที่เล่าถึงพวกท่านอย่างละเอียด เจอแต่ประวัติสั้นๆเกี่ยวกับโรงเรียนเท่านั้น
    แม่ชีที่สอนเมื่อ 50+ ปีก่อนเป็นฝรั่ง   ( หรือภาษาสมัยนั้นเรียกผู้หญิงฝรั่งว่า "แหม่ม" คำว่า "ฝรั่ง" ใช้ในความหมายว่า่ผู้ชายผิวขาวชาวอเมริกัน ยุโรปและออสเตรเลีย)     แม่ชีที่เป็นแหม่มนี้มาจากหลายชาติ   มีทั้งยุโรปและอเมริกา  อายุอานามก็มีหลายวัยด้วยกัน ตั้งแต่สาวไปจนสูงวัย
    มาแมร์สาวๆบางท่านสวยมาก    ในสายตาของเด็กนักเรียน สวยราวกับนางเอกในหนังสือนิยายฝรั่ง  ทั้งๆสวมชุดขาวรุ่มร่ามปกปิดมิดชิดตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า  ไม่เห็นแม้แต่เส้นผม   เห็นแต่ดวงหน้าซึ่งไม่มีการตกแต่งใดๆ แม้แต่ผัดหน้า    ก็ยังสวยมากๆ 
   ส่วนแม่ชีไทยมีคนเดียว  ชื่อมาแมร์บุญประจักษ์ ทรรทรานนท์    แต่งกายอย่างแม่ชีอื่นๆ   ท่านทำหน้าที่อาจารย์ใหญ๋ที่เรียกว่าคุณแม่อธิการิณีด้วย  ท่านจบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬา มีชีวิตยืนยาวมากจน 100 ปีจึงจากไป
    แม่ชีคือสตรีที่อุทิศชีวิตให้พระเจ้าและคริสตศาสนาอย่างสมบูรณ์    ไม่ใช้ชีวิตของผู้ครองเรือน แต่เข้าไปอยู่ในวัดเพื่อบำเพ็ญกิจทางศาสนา รวมทั้งการอุทิศตนพยาบาลดูแลผู้ยากไร้   ให้การศึกษาแก่เด็กๆ   และเผยแพร่พระธรรมคำสั่งสอนของพระเยซูคริสต์เป็นหลัก
     มาแมร์มีชื่อเดิมว่าอะไรก็ตาม แต่เมื่อบวชแล้วจะได้รับชื่อใหม่เป็นชื่อของนักบุญหญิงท่านใดท่านหนึ่ง  แล้วก็ใช้ชื่อนั้นตลอดไป    พวกนักเรียนไม่มีใครรู้ชื่อและสกุลเดิมของมาแมร์   รู้แต่ชื่อทางศาสนา   ทั้งนี้ยกเว้นแม่ชีที่เป็นคนไทย  ยังคงใช้ชื่อและนามสกุลเดิม   พิมพ์มาถึงตรงนี้เพิ่งนึกแปลกใจว่าทำไมพวกเราจึงไม่เคยรู้ชื่อทางศาสนาของท่านเลย   
     มาแมร์ที่อยู่ในโรงเรียนมีทั้งอยู่ประจำและหมุนเวียนกันไป    เพราะโรงเรียนในเครือเดียวกันในประเทศไทยมีหลายแห่ง เชียงใหม่ก็แห่งหนึ่ง และในกรุงเทพอีก 2 แห่ง      บางท่านก็ย้ายไปทำงานที่โรงเรียนอื่น   บางท่านก็อยู่ที่เดียวที่นี่จนถึงแก่กรรม
     มาแมร์ที่เป็นฝรั่ง พูดไทยได้  และรู้ภาษาอังกฤษทุกท่าน แม้ว่าเดิมท่านไม่ใช่คนอังกฤษหรืออเมริกัน   แต่เวลาสื่อสารกันท่านพูดภาษาฝรั่งเศส    อาจประสงค์ไม่ให้นักเรียนมาเงี่ยหูฟังเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเตัวเองก็เป็นได้    จำได้ว่ามีมาแมร์ท่านหนึ่งเป็นชาวยูโกสลาเวีย    และอีกท่านหนึ่งเป็นอเมริกัน   
     น่าจะมีบางท่านมาจากไอร์แลนด์ และสก๊อตแลนด์      เพราะในเวลาสอนร้องเพลง  ท่านสอนให้ร้องเพลง Killarney  และ Skye Boat Song  ชื่อเพลงแรกเป็นชื่อเมืองในไอร์แลนด์   ส่วนเพลงหลังเป็นเพลงตำนานของสก๊อตแลนด์  หมายถึง Bonnie Prince Charlie  ซึ่งเคยเล่าไว้แล้วในกระทู้ประวัติศาสตร์ 


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.พ. 19, 15:52
https://www.youtube.com/watch?v=MAqmmul4XGg


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.พ. 19, 15:56
https://www.youtube.com/watch?v=XBSqQPP4aVM


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.พ. 19, 18:10
    จบเรื่องโรงเรียนแล้วค่ะ   
    เม่ือ 50+ ปีก่อน  ถ้าอยากกินขนมเค้กต้องรอโอกาสพิเศษตอนปีใหม่  ช่วยปลายเดือนธันวาคม  ร้านขายของชำจึงจะผลิตขนมเค้กอันกลมๆเหมือนเขียง  ราดหน้าด้วยครีมสีขาวหรือสีนวล  มีตัวอักษรสวัสดีปีใหม่อยู่บนหน้าเค้ก และมีดอกกุหลาบสีแดง ขาว ชมพูทำด้วยน้ำตาลอย่างแข็ง วางประดับอยู่ด้วย
     แต่เค้กพวกนี้ไม่ค่อยอร่อย    ส่วนใหญ่เนื้อเค้กหยาบร่วน   ครีมก็มันๆเลี่ยนๆ  ไม่มีรสกลมกล่อมอย่างเค้กยุคหลัง       ถึงกระนั้นก็เป็นของขวัญปีใหม่ยอดนิยมอยู่ดี  เหมือนกันเป็นธรรมเนียมว่า ปีใหม่ต้องมอบเค้กให้กัน   ส่วนจะกินอร่อยหรือไม่ก็อีกเรื่อง

      เบเกอรี่ไม่ได้มีมากมายทุกถนนอย่างยุคนี้    ร้านขึ้นชื่อที่สุดคือ Little Home Bakery  มีร้านอยู่ที่สะพานดำ 
    ใครอยากกินขนมเค้ก เอแคลร์ ขนมปังนุ่มๆหอมๆ ต้องออกจากบ้านไปหาถึงที่นี่      ต่อมาเมื่อถนนเกษร หรือสมัยนั้นเรียกว่าซอยเกษรเปิดขึ้นที่สี่แยกราชประสงค์    ลิตเติ้ลโฮมก็ไปเปิดสาขาที่นั่น มีทั้งขนมเค้กและไอศกรีมแบบหรูหรากว่าธรรมดา เรียกว่าไอศกรีมซันเดย์    จำได้ว่าถ้วยละ 26 บาท ถือว่าแพงมาก  เพราะข้าวแกงและก๋วยเตี๋ยวราคาแค่จานละ 1 บาทเท่านั้น
    ส่วนขนมไทยและของว่างไทยๆ มีอยู่ทุกตลาดก็ว่าได้     อยากกินอะไรมีหมด ขนมยอดฮิทคือพวกทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมชั้น  ขนมเปียกปูนซึ่งยังเป็นสีดำโรยหน้าด้วยมะพร้าวขูด   ยังไม่มีเปียกปูนใบเตย     ของว่างอย่างข้าวเกรียบปากหม้อและสาคูไส้หมูหาซื้อได้ง่ายมาก    ไส้กรอกปลาแนมก็มีให้กินเช่นกัน 
    ขนมเบื้องในสมัยนั้นไม่มีครีมขาวฟูบีบลงไปเป็นไส้ขนม    ถ้าเป็นขนมเบื้องอย่างหวานก็หวานน้ำตาลทาๆเอาไว้บางๆบนเนื้อแป้ง  แล้วโรยฝอยทอง มีมะพร้าวขูดเสริมด้วย     ถ้าอย่างเค็มก็มีกุ้งบดละเอียดเป็นไส้   กลิ่นและรสเป็นกุ้งแท้
    ที่อร่อยอีกอย่างคือขนมเบื้องญวน  มีเจ้าหนึ่งขายที่ตลาดวัดมหรรณพ์ แป้งสีเหลืองสดเหมือนไข่  กรอบและบางเฉียบเนื้อโปร่งดูเผินๆ เหมือนผ้าลูกไม้  ไส้กุ้งสีแสดสด พร้อมกับถัวงอกและเต้าหู้  รสชาติอร่อยมาก     พิมพ์ไปคิดถึงไปค่ะ



กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ก.พ. 19, 19:57
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เล่าเกี่ยวกับเรื่องขนมเค้กไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ ว่า

ปีใหม่นี้ที่ผู้เขียนได้สังเกตเห็นอะไรหนาตากว่าแต่ก่อนอยู่อย่างหนึ่ง สิ่งนั้นคือการให้ของขวัญปีใหม่ ไม่ว่าจะมองไปทางไหนมีแต่คนเดินถนนหรือขึ้นรถไปในทิศทางต่าง ๆ ในมือถือห่อกระดาษหรือหีบกระดาษมีริบบิ้นสีต่าง ๆ ผูกไว้อย่างสวยงาม หรือมิฉะนั้นก็มีกระเช้าดอกไม้กระเช้าโต ๆ ทั้งหมดนี้แสดงว่าต่างคนต่างก็ออกให้ของขวัญวันปีใหม่กัน ของขวัญปีใหม่ที่ให้กันมากที่สุด นอกจากกระเช้าดอกไม้ก็เห็นจะได้แก่ขนมของฝรั่งที่เรียกว่า “ขนมเค้ก” แต่ก่อนนี้เคยเห็นคนจีนเที่ยวนำไปให้ใครต่อใครในเทศกาลตรุษจีนหรือปีใหม่ทางจันทรคติของจีน แต่เดี๋ยวนี้คนไทยเราอุปโลกน์เอาพิธีแจกขนมเค้กมาเป็นของไทย และสั่งทำมาเที่ยวให้กันมากมายในเทศกาลปีใหม่ ผู้เขียนกล้ายืนยันได้ว่าตามบ้านผู้มีบุญวาสนาทุกบ้านในปีใหม่คราวนี้ จะต้องมีขนมเค้กตกค้างบ้านหนึ่ง ๆ ไม่ต่ำกว่าสามสิบหรือสี่สิบ ดูออกจะเหลือกินเหลือทำบุญให้ทาน ขนมเค้กเหล่านี้ราคาตั้งแต่ ๔๐ บาทไปถึงร้อยหรือสองร้อย คิดดูที่ให้ปันกันทั้งหมดในระยะ ๒-๓ วันนี้ ก็เห็นจะเป็นเงินร่วมล้านกระมัง คนที่ได้รับผลประโยชน์ร่ำรวยที่สุดก็คงจะได้แก่ผู้ทำขนมเค้กนั้นเอง ซึ่งในขณะนี้ก็มีอยู่ไม่กี่เจ้า เห็นรายใหญ่ ๆ มีชื่อก็แต่ร้านกวนเซี่ยงเฮียง กับร้านท่านหญิงเป้า แต่ใครก็ไม่รู้ดอดเข้าไปยิงนายห้างกวนเซี่ยงเฮียงตายเมื่อก่อนปีใหม่ไม่กี่วัน เห็นจะไม่ใช่ท่านหญิงเป้าเป็นแน่

การทั้งหมดนี้จะว่าดีก็ดีอยู่ เพราะเป็นการช่วยอาชีพทำขนมและปลูกดอกไม้ แต่ถ้ามองในแง่หมดเปลืองไม่เป็นประโยชน์ก็จะเห็นได้ว่าเปลืองเต็มที เพราะทั้งดอกไม้และขนมเป็นของน่ารับน่ายินดี ถ้าหากว่าได้รับในปริมาณอันน้อย แต่ถ้าหากว่าประดับประดาเข้ามาพักเดียวจนเต็มบ้าน ทั้งสองอย่างก็ดูจะน่าระอิดระอาอยู่


จาก https://siamrath.co.th/n/28915


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 20 ก.พ. 19, 19:59
อูยยย.....ขนมเบื้องญวนแบบนี้ผมเคยกินสมัยเด็กน้อย กุ้งสีแสดจริงๆ ด้วย กินตอนร้อนๆ ทั้งลำบากทั้งอร่อยเป็นที่สุด เดี๋ยวนี้มองซ้ายมองขวามีแต่ของทอดที่อมน้ำมัน ผมเลยกินแต่ขนมปังเป็นฝรั่งบักสีดาไปเลย


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.พ. 19, 21:30
ไส้กรอกปลาแนม เป็นของว่างที่แม่ค้าหาบมาขาย   แถวหน้าพระลานเมื่อยี่สิบปีก่อนยังพอหาซื้อได้   เดี๋ยวนี้ไม่เห็นแล้วค่ะ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.พ. 19, 21:38
ของว่างอีกอย่างหนึ่งที่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเจอกันแล้ว  ผิดกับครึ่งศตวรรษก่อนที่มีทุกตลาดก็ว่าได้ คือ ปั้นสิบ     แม่เรียกว่า "แป้งสิบ"
เดี๋ยวนี้เรียกเพี้ยนไปเป็น ปั้นขลิบ 

ปั้นสิบทำจากแป้งพับครึ่ง ขอบเป็นเกลียว นำไปนึ่งจนสุก   ไส้เป็นหมูก็มี ปลาก็มี  ค่ะ 


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 20 ก.พ. 19, 22:04
ไส้กรอกปลาแนม เป็นของว่างที่แม่ค้าหาบมาขาย   แถวหน้าพระลานเมื่อยี่สิบปีก่อนยังพอหาซื้อได้   เดี๋ยวนี้ไม่เห็นแล้วค่ะ
ที่ตลาดปากน้ำสมุทรปราการแถวใกล้ท่าเรือข้ามฟากไปพระสมุทรเจดีย์มีป้ามาต้ังขาย ผักแนมเป็นใบชะพลูกับผักกาดหอม ขายคู่กับหมี่กระทิ มีโอกาสผ่านไปก็อุดหนุนทุกครั้ง สอบถามได้ความว่าขายทุกวัน เว้นวันหมอนัด (ประมาณว่าเช็คน้ำตาล)


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.พ. 19, 13:26
ผ่านไปเมื่อไหร่ เห็นจะต้องไปตามลายแทงที่คุณ Jalito ให้มาค่ะ  ขอบคุณค่ะ
ถามเชฟกู๊กดู  ได้คำตอบว่าในกรุงเทพ ถ้าอยากกินไส้กรอกปลาแนมต้องไปตลาดนางเลิ้ง    

ของว่างหรือที่โบราณเรียกว่า "ของกินเล่น" อีกอย่างที่หาได้ยากคือขนมจีบไทย     เดี๋ยวนี้พอพูดถึงขนมจีบ มักจะมีภาพติ่มซำลอยขึ้นมาแทน    
ขนมจีบไทยมักจะถูกจัดกลุ่มเดียวกับสาคูไส้หมู และข้าวเกรียบปากหม้อ  เพราะเป็นของกินเล่นห่อด้วยแป้งแผ่นบาง   มีไส้ข้างในเหมือนกัน
การปั้นขนมจีบถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่งของสาวชาววัง   ต้องแผ่แป้งที่ต้มแล้วให้บาง คลึงในมือ หมุนไปเหมือนปั้นหม้อ จนแป้งห่อตัวเป็นรูปหม้อ แล้วค่อยใส่ไส้อีกทีค่ะ  เป็นหมูหรือปลาก็ได้    


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ก.พ. 19, 14:04
ใครมีสูตรทำข้าวต้มนกกระทาบ้างครับ เอาแบบที่เสิร์ฟในเหลานะ ไม่ใช่ร้านข้าวต้ม


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.พ. 19, 16:12
ไม่มีค่ะ  ไม่แน่ใจว่าเคยกินหรือเปล่าด้วยซ้ำไป
ใครมีสูตร ช่วยส่งลงด้วยนะคะ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ก.พ. 19, 18:30
ข้าวต้มนกกระทา เป็นซุปข้นชนิดหนึ่ง ใสๆคล้ายซุปรังนกแต่ถูกกว่ามาก  อยู่ในเมนูของสีฟ้าเรื่อยมาจนสักสิบปีนี้หายไป นึกว่าคนสมัยก่อนหากผ่านมาหรือมีตำราทำอาหารสมัยโน้น ผมก็อยากขอความกรุณาครับ จะลองทำเพื่อระลึกความหลัง


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.พ. 19, 18:35
เจอสูตรนี้ค่ะ

https://www.youtube.com/watch?v=r4chEfCF2Uk


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.พ. 19, 18:38
 หรือจะลองสูตรฝรั่งก็ได้ค่ะ

https://www.youtube.com/watch?v=S1vnRpFSAfs


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.พ. 19, 18:59
    ยุคนี้ ถ้าเสิฟส้มตำ จะต้องตามมาด้วยข้าวเหนียว ไก่ย่าง ลาบหมูหรือเนื้อ       แต่เมื่อ 50+ ปีก่อน  ส้มตำขึ้นโต๊ะแบบที่ชาวกรุงเทพรู้จัก จะจัดมาเป็นชุด   คือข้าวมันหุงด้วยกะทิ หอมมัน   เสิฟพร้อมกับส้มตำที่รสไม่จัดจ้าน   และมีเนื้อเค็มผัดหวาน ฉีกเป็นฝอยตามมาในชุดเดียวกันด้วย
    เมื่อข้าวเหนียวส้มตำแพร่หลายจนมึทุกถนนแล้วในตอนนี้    ข้าวมันส้มตำก็ถดถอย   จนหายไปจากร้านอาหาร  เขียนมาถึงตรงนี้ต้องไปเปิดกูเกิ้ลหาเสียแล้วละค่ะ   ว่ามีขายที่ไหนบ้าง


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ก.พ. 19, 19:46
ข้าวมันส้มตำ ตำรับสายเยาวภา

เครื่องประกอบข้าวมันส้มตำ
 
๑. ผักดิบ มีใบไม้ต่าง ๆ เช่น ใบทองหลางไทย ใบชะพลู ใบมะยม ใบมันสำปะหลัง ใบคูน ฯลฯ
๒. ผักทอด คือใบไม้ ดอกไม้ต่าง ๆ ชุบแป้งทอดอย่างเครื่องน้ำพริกขนมจีน และใบทองหลาง ใบมนทอด
๓. น้ำพริกส้มมะขามเปียก ใช้พริก ๕ เม็ด กระเทียม ๕ กลีบ กุ้งแห้ง เกลือ น้ำตาลหม้อ น้ำปลาดี กะปิ โขลกและผสมตามชอบรส
๔. เนื้อฉีกฝอยผัดหวาน ใช้เนื้อเค็มแผ่น ๆ ล้างน้ำปิ้งพอสุก ทุบให้นุ่ม จนเส้นกระจาย แล้วฉีกให้เป็นฝอย ซอยหอมพอควร ตักน้ำมันใส่กะทะเจียวหอม พอเหลืองตักขึ้นแล้วใส่เนื้อลงผัดจนกรอบ โรยน้ำตาลทรายตามต้องการ คนพอทั่วตักขึ้น โรยหอมที่เจียวไว้
๕. ปลาแห้งทอด ล้างปลาแห้งแล้วปิ้งพอสุก ทุบพอนุ่มเป็นปุยแล้วตัดเป็นชิ้นพองาม ทอดให้กรอบ
๖. ปลากุเลาทอด ล้างปลากุเลาสะอาดแล้ว แล่เนื้อออกหั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม ขนาด ๑ ซม. ชุบไข่ทอด
๗. แกงเผ็ดไก่หรือแกงเผ็ดเนื้อ

ขอให้รับประทานข้าวมันส้มตำให้อร่อย
  ;D

ภาพจาก https://krua.co/food-story/food-old-days/177/ข้าวมันส้มตำตำรับโบราณ-ความพิถีพิถันกับรสชาติแสนลงตัว (https://krua.co/food-story/food-old-days/177/ข้าวมันส้มตำตำรับโบราณ-ความพิถีพิถันกับรสชาติแสนลงตัว)


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ก.พ. 19, 20:43
เจอสูตรนี้ค่ะ

ถ้าหาในเน็ตคงไม่เจอครับ ผมเคยค้นหาทั่วหมดแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นซุปไข่นกกระทา หรือซุปที่ใส่เนื้อนกลงไปทั้งชิ้น

ข้าวต้มนกกระทาใช้น้ำเคี่ยวกับนกทั้งตัวจนได้ที่ แล้วนำนกที่เปื่อยยุ่ยมาแกะ เอาแต่เนื้อมาบทให้ละเอียดแล้วใส่กลับลงไป ตั้งไฟ คนให้เข้ากันก่อนเติมแป้งให้มีความเหนียวเล็กน้อย แล้วเติมไข่ขาว คนให้กระจายไม่จับเป็นก้อน เป็นอันเสร็จ

ข้าวต้มนกกระทาเป็นอาหารเสริมสุขภาพ ย่อยง่าย ตอนคุณตาผมนอนเจ็บทานอะไรไม่ค่อยจะได้ แม่ต้องไปซื้อข้าวต้มนกกระทา เอามาใส่กาเล็กๆแล้วป้อนให้ท่าน ส่วนที่เหลือเป็นของผม(ตอนนั้นสัก ๓ ขวบ)

ข้าวต้มนกกระทาจึงเป็นอาหารโปรดของผมรายการหนึ่ง เวลาไปสีฟ้าก็จะต้องสั่งมารับประทานเสมอ จนเขาเลิกขาย เพราะเหตุใดก็ไม่ทราบ

ผมเคยทำตามวิธีการข้างบน แต่เทคนิกคงผิด อร่อยสู้ที่ร้านไม่ได้


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: choo ที่ 21 ก.พ. 19, 21:31
ที่ตลาดนางเลิ้งมีใส้กรอกปลาแนมรสชาติแบบที่ สว.อย่างเราคุ้นเคยขายทุกวันครับและยังมีข้าวมันส้มตำขายด้วยผมแวะไปซื้อเสมอจอดรถยากหน่อยต้องเข้าไปอาศัยจอดในวัดแล้วข้ามถนนมาพอได้


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: tita ที่ 22 ก.พ. 19, 08:02
ใครมีสูตรทำข้าวต้มนกกระทาบ้างครับ เอาแบบที่เสิร์ฟในเหลานะ ไม่ใช่ร้านข้าวต้ม

สูตรนี้ได้ไหมคะ  ดิฉันตัดเก็บไว้นานมากแล้ว
สูตรนี้ปรับใช้เนื้อไก่แทน  ท่านเจ้าของสูตรบอกวิธีทำคร่าวๆ  ไม่ได้บอกมาตราส่วนละเอียดกี่ถ้วยตวงกี่ช้อนโต๊ะช้อนชา  คงต้องประมาณการปรุงรสกันเองตามชอบ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 ก.พ. 19, 08:12
ร่วมด้วยช่วยโพสต์  ;D


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: tita ที่ 22 ก.พ. 19, 08:18
ขอบคุณคุณเพ็ญชมพูมากค่ะ  ความที่ไม่ประสาเทคโนโลยี  กว่าจะสแกนได้  สแกนออกมาไฟล์ก็ใหญ่เกินส่งไม่ได้เสียอีก  กว่าจะย่อได้  :-\


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 ก.พ. 19, 08:28
ด้วยความยินดี  ;D

จากสูตรข้างบน ทำออกมาแล้วหน้าตาน่าจะประมาณนี้

ภาพจาก https://www.wongnai.com/restaurants/2533ut-รสดี-สุขุมวิท-95/photos/e0fa7359cae54bf7838eddf615d4b0a1 (https://www.wongnai.com/restaurants/2533ut-รสดี-สุขุมวิท-95/photos/e0fa7359cae54bf7838eddf615d4b0a1)


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ก.พ. 19, 08:53
ขอบคุณทั้งสองท่านมากครับ

แม้ภาพที่เห็นจะใกล้โจ๊กไปหน่อย ในความจำแต่จะลองทำดูครับ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: tita ที่ 22 ก.พ. 19, 09:15
ภาพซุปของร้านรสดี  ดูข้นและเหมือนเนื้อไก่ยังเป็นก้อนๆ
ถ้าดูจากรูปที่ท่านใหม่ทำ  (อาจจะด้วยแสงเงาของภาพนะคะ)  เนื้อซุปดูจะเหลวใสกว่านี้  เนื้อไก่จะฝอยบางขาวเนียนไปกับไข่ขาวและน้ำซุป  ดูแล้วเหมือนข้าวต้มขาวจริงๆ เพียงแต่เปลี่ยนจากข้าวมาเป็นเนื้อไก่ค่ะ  คงต้องเคี่ยวจนเนียน  ไข่นกกระทานั้นผ่าครึ่งมองเห็นจางๆ ลอยกระจายอยู่ในซุป
เสียดายที่ภาพสีสแกนแล้วไฟล์ใหญ่ส่งไม่ได้  สแกนเป็น black&white ก็มองไม่ชัด


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.พ. 19, 09:43
ที่ตลาดนางเลิ้งมีใส้กรอกปลาแนมรสชาติแบบที่ สว.อย่างเราคุ้นเคยขายทุกวันครับและยังมีข้าวมันส้มตำขายด้วยผมแวะไปซื้อเสมอจอดรถยากหน่อยต้องเข้าไปอาศัยจอดในวัดแล้วข้ามถนนมาพอได้
เส้นทางเดียวกันค่ะ   จอดรถที่วัดโสมนัสแล้วเดินไปตามซอยด้านหลัง ข้ามถนนนางเลิ้งไปที่ตลาด   
สงสัยจะเจ้าเดียวกันด้วย
ไม่ได้ไปซื้อมาหลายปีแล้ว   ดีใจที่ยังอยู่ค่ะ
ขอบคุณคุณ choo ค่ะ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.พ. 19, 13:07
   เมื่อ 50+ ปีก่อน    ยังไม่มีใครรู้เรื่องโรคไขมันในเส้นเลือด  ไม่มีใครเคยได้ยินคำว่า CHOLESTEROL หรือ TRIGLYCERIDE    มีแต่คำว่า "กินไข่วันละฟอง ไม่ต้องหาหมอ"  ก็เลยกินไข่กันเป็นอาหารประจำวัน
   เช้าขึ้นมาพ่อบ้านกินไข่ลวกดิบๆสุกๆ  เด็กๆกินไข่ตุ๋น  แม่กินไข่เจียว  ใครชอบแบบฝรั่งก็กินไข่ดาวหมูแฮม  และไส้กรอก   กลางวันยังมีไข่พะโล้   ไข่ยัดไส้  ผัดไทยใส่ไข่   เย็นแม่ครัวทำแกงเผ็ด ทอดปลาเค็มชุบไข่เป็นของเคียง  ผัดบวบใส่ไข่ด้วย
   ในนวนิยายรุ่น 2500 อย่างเรื่อง "ตำรับรัก"ของคุณชูวงศ์ ฉายะจินดา   นางเอกตื่นมาลวกไข่  ทำอาหารเช้าให้พระเอกกิน  แสดงว่าไข่ลวกเป็นหนึ่งในอาหารเช้ายอดนิยมสมัยนั้น
   แต่พอคำว่าคลอเรสเตอรอลเข้ามาในวงการแพทย์ไทย  เกิดการตื่นตระหนกกันว่าไข่แดงเป็นตัวการเสริมไขมันในเส้นเลือด    ไข่ก็เลยถดถอยลงไปจากเมนูอาหารประจำวัน   ไข่ลวกพลอยหายไปจากอาหารมื้อเช้า  รวมทั้งไข่ดาวหมูแฮมด้วย 
   ตอนนี้ มีการพิสูจน์กันใหม่ว่าไข่ไม่ได้เป็นตัวการให้เกิดคลอเรสเตอรอล แต่ถ้ามีอยู่่แล้วในเส้นเลือดก็ไม่ควรกินไข่แดง จะเป็นตัวเร่งเช่นเดียวกับไส้กรอกและเบคอน 
   อาหารเช้าที่ถือกันว่าโก้ของชาวกรุง เมื่อ 50+ ปีก่อน คือไข่ลวก ขนมปังปิ้งทาเนย และกาแฟ  ก็เลยทำท่าเหมือนจะไม่หวนกลับมาอีกค่ะ 


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.พ. 19, 13:15
ทุกวันนี้ ใครกินอาหารเช้าแบบนี้เป็นประจำบ้างคะ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 22 ก.พ. 19, 14:39
สำหรับผม คงทานนานๆครั้ง ได้ประมาณในกระทะนี้เท่านั้นครับ ท่านอาจารย์

(https://food.mthai.com/app/uploads/2014/12/iStock-613888570.jpg)


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: choo ที่ 23 ก.พ. 19, 07:09
ผมกินไข่วันละฟองเป็นอาหารเช้ามาตั้งแต่เด็กจนบัดนี้เจ็ดสิบกลางๆแล้วไม่มีปัญหาเรื่องไขมันตัวเลวในเลือดทั้งๆที่ใช้ชีวิตตามปกติไม่ได้ออกกำลังเป็นพิเศษอะไร สำคัญคือต้องเลือกหาซื้อไข่ที่เลี้ยงแบบธรรมชาติไม่ใช้อาหารและยาสำเร็จรูปแบบในฟาร์มซึ่งค่อนข้างหาซื้อยากหน่อยส่วนแฮม เบคอน และใส้กรอกเลิกกินนานแล้วเพราะเนื้อสัตว์แปรรูปพวกนี้มากไปด้วยโซเดียมและสารปรุงแต่งอื่นๆ ขนมปังและเนยแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์พร้อมสลัดผักก็ยังทานประจำ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 ก.พ. 19, 08:09
อาหารไทยเมื่อ ๕๐+ ปีก่อน

https://youtu.be/LpWq9vB_ZDI


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.พ. 19, 15:33
   เมื่อ 50+ ปีก่อน อาหารเช้าเป็นมื้อเบา   มื้อกลางวันเป็นขนาดกลางๆ   ส่วนมื้อเย็นเป็นมื้อหนักที่สุด  จัดมาเต็มเพียบที่สุด เพราะเป็นมื้อที่สมาชิกทุกคนในบ้านมานั่งพร้อมหน้ากัน   
    อาหารเช้าแบบไทยๆคือข้าวต้มเป็นหลัก  ถ้าเป็นข้าวต้มเครื่องก็คือข้าวต้มหมูหรือข้าวต้มปลา    ถ้าเป็นแบบฝรั่งก็อย่างที่บอกคือไข่ลวก ขนมปัง กาแฟ    มื้อกลางวันมักนิยมอาหารจานเดียว เช่นข้าวคลุกกะปิ   ข้าวผัด  ขนมจีนน้ำยา ขนมจีนน้ำพริก ขนมจีนแกงเผ็ด   
   แกงเผ็ดที่อร่อยที่สุดคือแกงเนื้อ     ส่วนแกงเขียวหวานนั้นได้รับความนิยมรองลงไป ผิดกับยุคนี้ที่แกงเขียวหวานนำหน้า มีอยู่ในเมนูร้านอาหารไทยทุกร้าน   แกงเผ็ดกลับมีน้อยลงไปโดยเฉพาะแกงเผ็ดเนื้อ คงเป็นเพราะคนไทยจำนวนมากไม่กินเนื้อวัวกันอีกแล้ว   
   มื้อเย็นเป็นมื้อที่เสิฟกันเพียบ  กินกันอิ่มก่อนพักผ่อนเข้านอน  ทำให้คนไทยสมัยก่อนมีรูปร่างอ้วนกว่าคนไทยยุคนี้  ผู้หญิงอายุ 30 ขึ้นไปก็เริ่มน้ำหนักเกิน 55 กก.แล้ว     เช่นเดียวกับผู้ชายที่พอถึงวัยกลางคน คนไหนกินดีอยู่ดี ก็จะเริ่มลงพุง แล้วอ้วนเรื่อยไปจนวัยชรา   หรือบางคนก็ผอมแห้งไปเลย    ไม่เคยเห็นหนุ่มใหญ่หุ่นดีจนอายุ 60 +  อย่างคุณนิรุตติ์  ศิริจรรยา 
   


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.พ. 19, 16:22
   นอกจากอาหารมื้อเช้า กลางวัน เย็น แล้ว บางวัน คนเมื่อ 50+ ปีก่อนอาจกินมากกว่า 3 มื้อ   
  มื่อที่ 4 คืออาหารว่างตอนบ่าย     ปัจจุบันมาในรูปของขนมกินกับน้ำชาหรือกาแฟตอนมีประชุมรอบบ่าย    แต่เมื่อกว่าครึ่งศตวรรษก่อน   มื้อบ่ายมีของว่างสารพัด เช่นขนมจีบ   ข้าวเกรียบปากหม้อ   สาคูไส้หมู   ฯลฯ 
  กินเมื่อกลับจากงานมาถึงบ้านราวๆสี่หรือห้าโมงเย็น     รองท้องก่อนถึงมื้อเย็นซึ่งจัดกันทุ่มหนึ่งถึงสองทุ่ม
 
  อาหารมื้อเย็นเป็นมื้อหนักสุด อาจถือว่าหลังจากทำงานมาเหนื่อยทั้งวัน ก็ต้องกินให้อิ่มๆ     กับข้าวไทยสมัยนั้นมีอย่างน้อย 4 อย่างคือแกงน้ำข้นอย่างแกงเผ็ด    แกงน้ำใสอย่างแกงจืด   น้ำพริกผักจิ้ม     ผัดหรือยำอีกอย่างหนึ่ง มีมากกว่านี้ก็ไม่เป็นไร   เพราะครอบครัวสมัยนั้นอยู่กันเป็นครอบครัวขยาย  มีพ่อ แม่ ลูกๆ ปู่ย่า ตายาย และพ่วงด้วยญาติฝ่ายพ่อแม่     อาหารจึงวงใหญ่มากๆ
   เมื่อจบอาหารคาวแล้ว ก็ต้องตามด้วยของหวาน เรียกว่า "เอาไว้ล้างปาก"

   ส่วนมื้อที่ 5 คืออาหารมื้อดึก   เป็นมื้อไม่เคร่งครัดนัก    วันไหนอยู่กันดึก จะเป็นเพราะมีกิจกรรมต้องทำหรือไปเที่ยวกลับมา  ยังไม่เข้านอน ก็จะมีของว่างกินอีกมื้อหนึ่ง
   ส่วนใหญ่เป็นอาหารที่ปรุงง่ายๆ ไม่ซับซ้อนและไม่เสียเวลามาก   เช่นข้าวต้มหมูหรือข้าวต้มปลา     ถ้าไปงานศพ  เจ้าภาพก็มักจะเลี้ยงข้าวต้มเครื่องแบบนี้ค่ะ   
 


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.พ. 19, 18:45
อาหารของคนในเมืองก็คงเป็นดั่งที่ อ.เทาชมพู บรรยายไว้  สำหรับคนนอกเมืองจะออกไปทางกลับกัน

อาหารเช้าของชาวบ้านที่ทำอาชีพด้านเกษตรกรรมและในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ส่วนมากจะเป็นมื้อสาย (8-9 น.) หรือมื้อควบเช้ากับเที่ยง (10+น.) มื้อนี้เป็นมื้อที่นั่งกินแบบตั้งเป็นสำรับชุดเล็ก 

สำหรับอาหารเที่ยงจะกินในเวลาคล้อยไปทางประมาณบ่ายโมงกว่าๆ เป็นอาหารในลักษณะที่กินเพื่อเสริมพลังงานหรือแก้หิว คือเป็นอาหารที่พกพาติดตัวไปทำงาน เป็นในลักษณะอาหารจานเดียว และนิยมที่จะเป็นข้าวกินกับของแห้งที่ออกรสเค็ม ซึ่งก็มีความถูกต้องอยู่ เพราะได้เกลือ Electrolyte เข้าไปช่วยส่วนที่สูญเสียไป มื้อนี้เป็นมื้อนั่งพัก ก็เลยจะมีผลไม้ที่ออกรสเปรี้ยวมาเป็นของขบเคี้ยวร่วมด้วย โดยเฉพาะพวกที่มีวิตามินซีสูงๆ เช่น มะขาม มะขามป้อม มะกอก มะม่วง มะคอแลน ฯลฯ

อาหารเย็น จะเป็นการกินแบบตั้งสำรับ เป็นมื้อที่คล้ายกับอาหารเช้าแต่มีอาหารจานที่แปลกออกไปเป็นพิเศษ เช่น แกงกบ แกงปลาไหล ผัดนกสับ .... รวมทั้งมีผักจิ้มน้ำพริกที่ต่างออกไป เช่น ผักกูด ยอดหวายเผา ต้นบุกคางคกเผา ยอดเถากะทกรกไทยนึ่ง ....  ชาวบ้านมักจะทานอาหารเย็นในช่วงเวลาก่อนฟ้าจะมืด ช่วงเวลาก็จึงแปรผันไปกับฤดูกาล หน้าหนาวก็กินเร็วหน่อย (ประมาณ 5 โมงเย็น)  หน้าร้อนก็ช้าหน่อย (ประมาณ 6 โมงเย็น)


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.พ. 19, 18:56
ผมมีข้อสังเกตอยู่เรื่องหนึ่งว่า ข้าวต้มในสมัยก่อนนั้น จะต้องมีการเหยาะหน้าด้วยกระเทียมเจียว ผักที่โรยหน้าก็จะเป็นต้นคื่นช่ายและต้นหอมสดซอย มีผีกชีรวมอยู่ด้วยเล็กน้อย  ในปัจจุบันนี้ดูจะเน้นเป็นผักชีเพียงอย่างเดียว (ฤๅ ต้องการจะให้สอดคล้องกับคำว่า ผักชีโรยหน้า)   


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.พ. 19, 20:36
ใช่ค่ะ เมื่อก่อนข้าวต้มมีอะไรโรยหน้าอยู่หลายอย่าง  ตอนเด็กๆ ไม่ชอบผัก ก็ค่อยๆเขี่ยออกไป    สงสัยคนคงเขี่ยกันเยอะ  ของโรยหน้าเลยค่อยๆหายไปหมด

เอารูปแกงน้ำข้นที่นิยมกันในสมัย 50+ ปี มาเตือนความหลัง    ไม่ได้กินแกงเผ็ดตามร้านมานานมากแล้ว  อยากกินต้องทำเองที่บ้าน   แกงคั่วยังพอหาได้ในเมนูร้านอาหารไทยในต่างจังหวัด    แกงมัสมั่นกับแกงกะหรี่นั้นตอนเล็กๆจำไม่ค่อยถูกว่าอย่างไหนมัสมั่นอย่างไหนกะหรี่   เพราะรสชาติมันคล้ายๆกันคือฉุนด้วยเครื่องเทศ
เดี๋ยวนี้ทั้งสองอย่างก็หาตามร้านอาหารไทยไม่ค่อยได้เหมือนกัน   คงเป็นเพราะกะทิเป็นของต้องห้ามต่อสุขภาพละมัง?


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.พ. 19, 09:48
    กรุงเทพเมื่อ 50+ ปีก่อน  บรรยากาศเหมือนต่างจังหวัดขนาดใหญ่สักแห่ง    บ้านเรือนทำด้วยไม้มีให้เห็นทั่วไป  อาคารตึกสูงไม่เกินสามชั้นอยู่ริมถนนสายใหญ่ๆ     ตามถนนรถราวิ่งกันสะดวก   สี่แยกมีตำรวจจราจรยืนอยู่บนแท่นที่มีสัญญาณป้ายหมุนหันให้ไปหรือให้หยุด  ตอนกลางคืนตำรวจจราจรไม่อยู่   รถก็วิ่งผ่านสี่แยกกันไปแบบจัดคิวกันเอง
    คนกรุงเทพกลับถึงบ้านกันก่อนค่ำ  โดยเฉพาะเด็กนักเรียน เลิกเรียนก็กลับบ้านซึ่งอยู่ในละแวกใกล้ๆ  ใช้เวลาอย่างช้าที่สุดไม่เกินห้าโมงเย็นก็ถึงบ้าน   
   เมื่อพลบค่ำ  ผู้คนเริ่มน้อยลงมาก ผู้คนรีบเร่งกันกลับบ้าน  ตามถนนหนทางไม่เห็นเด็กนักเรียนเดินอยู่เลย   การเรียนพิเศษ หรือสถาบันกวดวิชาเป็นอะไรไม่มีใครรู้จัก    แสงไฟตามบ้านเริ่มสว่างขึ้นเพราะสมาชิกในบ้านกลับถึงบ้านกันหมดแล้ว   จากหกโมงเย็น  สังคมคนเมืองหลวงก็เริ่มขึ้นที่บ้าน เพราะเป็นเวลาที่สมาชิกกลับมาถึงพร้อมหน้าพร้อมตากัน   
    วัยรุ่นและวัยเด็กไม่มีที่เที่ยวหลังหกโมงเย็น แม้ว่ามีหนังรอบค่ำ ก็ไม่ค่อยได้ไป เพราะผู้ใหญ่ไม่อนุญาต
   ช่วงกลางคืนเป็นเวลาของพวกผู้ใหญ่     กรุงเทพมีสถานบันเทิงอยู่บ้าง ที่จำได้คือถนนราชดำเนิน มีไนท์คลับอยู่หลายแห่ง  เท่าที่จำชื่อได้คือ Moulin Rouge, Lolita   และมีไนท์คลับของคุณสุวัฒน์ วรดิลก หรือ "รพีพร" ชื่อ "ศกุนตลา"  เป็นที่ของพวกผู้ใหญ่เขาไปกินเหล้าฟังเพลงและเต้นรำกัน    เพลงในสมัยนั้นเป็นเพลงลาตินและบอลรูม  จึงมีผู้หญิงทำงานรับจ้างเป็นคู่เต้นรำและชงเหล้า เรียกอาชีพนี้ว่า "พาร์ตเนอร์"   ผู้หญิงคนไหนเป็นพาร์ตเนอร์ก็ถูกมองในแง่ไม่ดี
    ศัพท์นี้น่าจะสูญไปจากความเข้าใจของหนุ่มสาวปัจจุบันแล้ว    กลายเป็นความหมายว่า "หุ้นส่วนธุรกิจ"
 


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 27 ก.พ. 19, 14:09
   พอดีผมอ่านหนังสือชื่อ 'วิญญาณแห่งสายลมพัดพาฉันมา' ซึ่งเป็นชีวิตในวัยเด็กของคุณ 'วิมล ไทรนิ่มนวล' มีอยู่ตอนหนึ่งอธิบายถึงห้วยขวางในปี 2510 ไว้ดังนี้ ขออนุญาติคุณวิมลด้วยนะครับ

   พ่อกับแม่อพยพเข้ามาอยู่ในตำบลห้วยขวาง ซึ่งตอนนี้เป็น 'เขต' ไปแล้ว ตอนนั้นห้วยขวางยังเป็นชานเมือง มีถนลาดยางสายเล็กๆ จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิผ่านเข้ามาทางดินแดง และเข้ามาสิ้นสุดที่ห้วยขวาง ถนนอีกสายหนึ่งมาจากสะพานควาย ผ่านสุทธิสารเข้ามาสิ้นสุดห้วยขวางเช่นกัน ตอนนั้นถนนซูเปอร์ไฮเวย์ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นถนนวิภาวดีรังสิต)ยังไม่ได้ตัด ยังเป็นทุ่งนาให้ฉันกับเพื่อนไถลไปช้อนปลากัดเล่นอยู่ ต่อจากห้วยขวางไปทางทิศตะวันออกก็มีเพียงถนลูกรังเส้นเล็กทอดผ่านทุ่งนาไปยังโรงเรียนจันทร์หุ่นบำเพ็ญสายหนึ่ง กับอีกสายหนึ่งทอดไปยังโรงเรียนประชารัฐอุปถัมภ์ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่มีถนนรัชดาภิเษก และเมื่อฉันไปโรงเรียนก็จะเดินตัดทุ่งนาไป ดังนั้นห้วยขวางจึงเป็นศูนย์รวมอู่รถเมล์ต้นสายสายต่างๆ เช่น 'เมล์เหลือง' ตัวรถมีสีเหลือง 'เมล์เขียว' ตัวรถมีสีเขียว 'เมล์แดง' ตัวรถมีสีแดง

   สมัยก่อนผมอยู่ลาดพร้าวมาทำงานที่ซอยอารีย์ ขับรถเส้นทางสุทธิสาร-สะพานควายแทบทุกวัน แต่นึกภาพห้วยขวางในปี 2510 ไม่ออกจริงๆ พอจะคุ้นๆ กันบ้างไหมครับ


(https://scontent-fbkk5-7.us-fbcdn.net/v1/t.1-48/1426l78O9684I4108ZPH0J4S8_842023153_K1DlXQOI5DHP/dskvvc.qpjhg.xmwo/w/data/919/919692-img.rhq4ex.3.jpg)

       ในภาพบอกว่า ถนนประติพัทธ์ สะพานควายเมื่อปี 2511 (ซึ่งต้องมาสิ้นสุดที่ห้วยขวางตามที่คุณวิมลว่าไว้) ตึกขวามืออยู่แถวๆหน้าโรงแรม Liberty เลยไปทางซ้ายมือตอนนั้นมีไนท์คลับดัง ชื่อ เฮนเนสสี ไนท์คลับ ขวามือตกขอบมุมขวาคือโรงหนัง ถนนใหญ่พอสมควรเลยนะครับ รถหกล้อหัวยาวหลังคาผ้าใบของทหารไหมเอ่ย  :D

https://board.postjung.com/919692 (https://board.postjung.com/919692)



กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.พ. 19, 17:34
    แถวห้วยขวางไม่ใช่ถิ่นดิฉัน ก็เลยจำไม่ค่อยได้ นอกจากความรู้สึกเลือนๆว่า สะพานควายอยู่ไกลมาก เป็นชายเขตสุดท้ายของเมืองหลวงทางด้านเหนือ  จากนั้นไปก็คือนอกเมืองแล้ว  ลาดพร้าวลึกเข้าไปจากปากซอยมีแต่ทุ่งนาแดดเปรี้ยง 
    ดินแดงเป็นอีกแห่งที่อยู่ห่างไกลมากเช่นกัน     เป็นแหล่งทิ้งขยะ ที่ขนมาจากในเมือง   มีแต่กองขยะสูงเป็นภูเขา  รอบๆมีกระต๊อบปุปะสำหรับคนที่เก็บขยะไปกินและไปขาย    ปลูกอยู่กันตามมีตามเกิด    กลายเป็นปัญหาระดับชาติว่าจะแก้ไขกันอย่างไร     


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: tita ที่ 27 ก.พ. 19, 18:13
    สี่แยกมีตำรวจจราจรยืนอยู่บนแท่นที่มีสัญญาณป้ายหมุนหันให้ไปหรือให้หยุด  ตอนกลางคืนตำรวจจราจรไม่อยู่   รถก็วิ่งผ่านสี่แยกกันไปแบบจัดคิวกันเอง

สมัยนั้นจะมีภาพน่ารักของตำรวจจราจร  โดยเฉพาะตำรวจจราจรที่อำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภับให้เด็กๆ หน้าโรงเรียน  คือช่วงปีใหม่จะได้รับของขวัญกองพะเนินเทินทึกอยู่แถวจุดที่ยืนค่ะ  รถผู้ปกครองผ่านก็จะยื่นของขวัญออกมาให้  เด็กๆ ก็นำของขวัญมาสวัสดีปีใหม่คุณตำรวจ  ดูว่าใครป๊อบปูล่าร์ก็ตรงขนาดกองของขวัญค่ะ  สมัยนั้นสัมพันธภาพชาวบ้านกับตำรวจยังใกล้ชิดกลมเกลียวอยู่  เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเห็นของขวัญกองใหญ่ๆ นี้เท่าไร


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.พ. 19, 18:28
  นึกภาพออกเช่นกันค่ะ
  ตำรวจจราจรหน้าโรงเรียน ได้ของขวัญกองอยู่รอบตัวตอนใกล้ปีใหม่   ลูกสาวได้เข้าเรียนในร.ร.ด้วยค่ะ   รายที่ฮิทมากจนสื่อนำไปลงในนสพ. คือตำรวจจราจรที่เชิงสะพานพุทธ    ได้ของขวัญกองเบ้อเริ่มรอบตัว     ข่าวลงว่า เจ้าของรถบางรายส่งแบ๊งค์ร้อยให้เลย 
  เงินเดือนบัณฑิตปริญญาตรีในยุคนั้น ไม่ถึงหนึ่งพันบาท   ประมาณ 880 บาท   100 บาทพอจะเทียบกับเท่าไหร่ในพ.ศ.นี้ก็ลองคิดดู


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.พ. 19, 18:41
    งานสังสรรค์เมื่อ 50+ ปีก่อนไม่ได้จัดตามโรงแรมหรือร้านอาหาร    แต่ว่าจัดกันที่บ้าน  ไม่ว่างานปีใหม่ งานขึ้นบ้านใหม่ งานวันเกิดฯลฯ 
    โดยมากผู้จัดมักจะมีบ้านที่มีบริเวณกว้างพอสมควร    ก่อนหน้าวันงานหนึ่งวัน  มีคนมาติดไฟสีตามต้นไม้ที่สนาม และพาดเป็นสายยาวอยู่ริมรั้ว    แล้วก็ทดลองเปิดล่วงหน้า   พอเห็นไฟกระพริบเขียวๆแดงๆ  พรึ่บพรั่บไปทั่วบริเวณ     เพื่อนบ้านเป็นอันรู้ว่าวันรุ่งขึ้นหรือไม่ก็ตอนกลางคืน เจ้าของบ้านนี้จะจัดงานเลี้ยง
    ต่อมา ภัตตาคารก็เอารถกระบะหกล้อขนโต๊ะเก้าอี้เหล็กที่พับได้เข้ามาตั้งบนสนาม    จัดเป็นหมู่ๆ  ปูด้วยผ้าขาวลงแป้งรีดเรียบ    พนักงานมาวางจานชาม แก้วน้ำ ตะเกียบ ถ้วย   หรือไม่ถ้าเป็นอาหารไทยก็มีจาน ช้อนส้อมและแก้วน้ำ   กระดาษเช็ดมือใส่ถ้วยแก้ววางกลางโต๊ะ  ไม่มีกล่องทิชชู
    งานเลี้ยงสังสรรค์ขาดดนตรีไม่ได้     ลำโพงเป็นสิ่งจำเป็น  ติดตั้งอยู่ตามคาคบไม้     อาจเป็นเพลงจากแผ่นเสียง หรือถ้าหรูกว่านี้ก็จ้างวงดนตรีมาเล่นเพลงเต้นรำ   มีนักร้องทั้งชายหญิงมายืนอยู่บนยกพื้นเวทีชั่วคราว ที่มีไมโครโฟนแบบตั้งพื้น  ไม่มีไมค์ลอย
    อาหารการกินถ้าหรูสุดก็คือซุ้มอาหาร   เรียกกันว่า "ฟรีบาร์"   ถ้าเป็นอาหารจากภัตตาคารจีนก็เสิฟแบบโต๊ะจีนเหมือนทุกวันนี้   


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.พ. 19, 19:29
เคยไปงานเลี้ยงที่จัดในลักษณะนี้อยู่ ก็เป็นดั่งภาพที่จาจารย์ได้บรรยายไว้ 

งานเลี้ยงจัดที่บ้านได้ในระดับนี้ เจ้าของบ้านอาจจะมิใช่เป็นผู้จัดเอง หากแต่จะเป็นพวกที่ให้ความเคารพนับถือเป็นผู้ดำเนินการต่างๆ งานลักษณะนี้จะต้องมีเครื่องปั่นไฟทำหน้าที่จ่ายไฟให้กับบรรดาไฟประดับและเครื่องเสียงทั้งหลาย เพราะว่ากำลังไฟที่การไฟฟ้าจ่ายลงผ่านมิเตอร์ให้กับแต่ละบ้านนั้นไม่เพียงพอ    งานแบบนี้พอตกดึกก็ดูจะมี surprise ที่ตื่นตาตื่นใจให้ชม


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.พ. 19, 19:54
  สมัยที่ไปงานเลี้ยงแบบนี้ ยังเด็กเกินกว่าจะอยู่ดึกได้ค่ะ   พอรับประทานอาหารเสร็จ พ่อแม่ก็พากลับบ้าน    เลยไม่รู้ว่าเขามีรายการเด็ดๆอะไรรออยู่ในตอนดึก  เพิ่งรู้จากคุณตั้งนี่ละค่ะ

  ในยุค 1950s-1960s   คนไทยแต่งกายกันเรียบร้อยเป็นงานเป็นการ    เวลาไปงานเลี้ยงช่วงค่ำก็จะแต่งกันโก้ทั้งหญิงชาย    ไม่ได้ตามสบาย   เสื้อตัว กางเกงตัวอย่างยุคนี้
  ไม่มีผู้หญิงคนไหนไปงานเลี้ยงแล้วนุ่งกางเกง   กางเกงมีเอาไว้ไปเที่ยวทะเล หรือจ่ายตลาด    ถ้าไปงานเลี้ยง สาวหรือไม่สาวนุ่งกระโปรงกันหรูหราเสมอ

 


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.พ. 19, 19:56
ยุคเดียวกันค่ะ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.พ. 19, 19:58
ส่วนภาพนี้คือยุค 1960s  มีเอกลักษณ์ที่กระโปรงหดสั้นขึ้นไปเหนือเข่า  และผมยีโป่งฉีดสเปรย์แข็งปัง   โดนพายุยังไม่สะเทือน


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 19, 20:14
กระทู้นี้แยกไปเป็นกระทู้  "รถยนต์ในเมืองไทยเมื่อ ๕๐+ ปีก่อน"
อ่านได้ที่นี่ค่ะ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6985.0


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 มี.ค. 19, 20:16
ผมว่า Alfa Romeo  น่าจะเป็นรถสปอร์ตที่หนุ่มสาวทุกคนในยุคนั้นมีความรู้สึกว่าอยากจะเป็นเจ้าของกันสักคันหนึ่ง  คิดว่าน่าจะเข้ามาในช่วงเวลาใกล้ๆกันกับ Ford Mustang ซึ่งก็เป็นรถเปิดประทุนในฝันของหนุ่มสาวเช่นกัน   รถ Alfa ยังคงที่การผลิตและใช้กันอยู่ในอิตาลี

รถ Austin Mini Cooper และ Morris Mini Minor เป็นรถอีกคันหนึ่งที่เป็นรถขนาดเล็ก น่าใช้ และน่ารัก ผู้คนก็ยังดูจะชอบอยู่เหมือนเดิมนะครับ  อะไหล่ก็ยังพอหาได้ในเมืองไทย ซึ่งเท่าที่พอจะรู้ หลายอย่างก็พอจะสลับสับเปลี่ยนใช้กันได้กับพวก 1300   


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 มี.ค. 19, 08:22
ภาพนี้คงไม่เหมาะที่จะลงในกระทู้ "รถยนต์ฯ" แต่ในโลกคู่ขนานอีกโลกหนึ่งในชั่วโมงเร่งด่วนของผู้ใช้รถเมล์เมื่อ ๔๐-๕๐ ปีก่อน  การแสดงกายกรรมตรงประตูทางขึ้นลงของรถเมล์เกิดขึ้นเป็นปรกติอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน  ;)


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: คำบรรณ ที่ 06 มี.ค. 19, 17:53
ในยุคนั้นมีการนำที่ดินด้านฝั่งตะวันออกของคลองประปามาจัดสรร ที่จัดทำเป็นรูปของหมู่บ้านก็คือหมู่บ้านพิบูลวัฒนา ใช้ถนนเลียบคลองประปา(ถนนพระราม 6)เป็นถนนหลักสำหรับการสัญจรเข้าออกพื้นที่กลางเมือง สำหรับพื้นที่ชายเขตหมู่บ้านก็จะเป็นที่ดินจัดสรร ซึ่งคิดว่าแปลงละประมาณ 100 ตารางวา ไม่แน่ใจว่ากินพื้นที่ถึงหลังโรงพยาบาลพระมงกุฎหรือไม่ แต่ในพื้นที่รอบๆสี่แยกประดิพัทธ์นั้นใช่แน่ๆ    

บ้านในโครงการพิบูลวัฒนา พ.ศ. ๒๔๙๙ บนถนนพระราม ๖ สามเสน เป็นบ้านไม้ชั้นเดียว ใต้ถุนโล่ง ที่ดินเฉลี่ยหลังละ ๑๓๐ ตารางวา บ้านในโครงการมีทั้งหมด ๒๘๘ หลัง บนเนื้อที่ ๒๕ ไร่ เป็นหมู่บ้านจัดสรรโครงการที่ ๒ โดยภาครัฐของประเทศไทย (โครงการแรกคือ โครงการพิบูลเวศม์ พ.ศ. ๒๔๙๘ ที่พระโขนง คลองตัน โครงการที่ ๓ คือ โครงการทุ่งมหาเมฆ พ.ศ. ๒๕๐๑)

http://site001.ap.tu.ac.th/VMthaiResident_site/VM_2.html
http://site001.ap.tu.ac.th/VMthaiResident_site/VM_2a.html
หมู่บ้านนี้ผมรู้จัก เพราะอยู่เยื้อง รร.สามเสนวิทยาลัย
สมัยที่ผมเรียนที่สามเสน เพื่อนๆมักชวนไปกินนํ้าที่ร้านค้าหน้าหมู่บ้านนี้
สมาชิกคนหนึ่งของหมู่บ้านนี้คือ คุณชะอุ่ม ปัญจพรรค์ ท่านอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านนี้
ปัจจุบันบ้านในหมู่บ้านนี้ ประกาศขาย ราคาตารางวาละ 350,000 บาท
บ้านที่มีเนื้อที่ 152 ตรว. ราคาขาย 54 ล้านบาท  ราคาแพงมากๆ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มี.ค. 19, 19:21
ในย่านเก่าแก่ของกรุงเทพอย่างถนนพิชัย   ยังไม่ได้ไปดูว่าราคาที่ดินประเมินไว้ตารางวาละเท่าไร    แต่บ้านหลังนี้เนื้อที่ 3 งาน 39 ตารางวา   ให้เช่าเดือนละ 90,000 บาท
บ้านนี้ดูจากแบบบ้านแล้ว  อายุ 50+ ปี ค่ะ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 06 มี.ค. 19, 22:57
ภาพนี้คงไม่เหมาะที่จะลงในกระทู้ "รถยนต์ฯ" แต่ในโลกคู่ขนานอีกโลกหนึ่งในชั่วโมงเร่งด่วนของผู้ใช้รถเมล์เมื่อ ๔๐-๕๐ ปีก่อน  การแสดงกายกรรมตรงประตูทางขึ้นลงของรถเมล์เกิดขึ้นเป็นปรกติอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน  ;)
ภาพแถวบน เป็นรถเมล์เอกชน ส่วนภาพล่างรวมเป็นรถเมล์องค์การแล้ว ซึ่งก็มีสภาพไม่ต่างกัน นึกไม่ออกแล้วว่ารถเมล์กรุงเทพปิดประตูเมื่อใด โดยคำสั่งรัฐมนตรีคมนาคมท่านใด


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 มี.ค. 19, 09:35
วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ เริ่มใช้รถเมล์ครีมแดง มีประตูปิดเปิดอัตโนมัติป้องกันการห้อยโหน ค่าโดยสาร ๓ บาท ตลอดสาย ขณะที่รถครีมน้ำเงินรุ่นเก่าเก็บค่าโดยสาร ๒ บาทตลอดสาย

จากนั้นเป็นต้นมาภาพการห้อยโหนรถเมล์จึงค่อย ๆ เลือนหายไป
  ;D

ภาพจาก FB Bangkokbusclub.com ชุมชนคนรักรถเมล์

https://www.facebook.com/bangkokbusclubpage/photos/a.422915507823356/534968036618102?type=3&sfns=mo
https://www.facebook.com/326789607435947/posts/2109927379122152?sfns=mo


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 07 มี.ค. 19, 12:48
ขอบคุณครับ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: choo ที่ 07 มี.ค. 19, 14:26
วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ เริ่มใช้รถเมล์ครีมแดง มีประตูปิดเปิดอัตโนมัติป้องกันการห้อยโหน ค่าโดยสาร ๓ บาท ตลอดสาย ขณะที่รถครีมน้ำเงินรุ่นเก่าเก็บค่าโดยสาร ๒ บาทตลอดสาย

จากนั้นเป็นต้นมาภาพการห้อยโหนรถเมล์จึงค่อย ๆ เลือนหายไป
  ;D

ภาพจาก FB Bangkokbusclub.com ชุมชนคนรักรถเมล์

https://www.facebook.com/bangkokbusclubpage/photos/a.422915507823356/534968036618102?type=3&sfns=mo
https://www.facebook.com/326789607435947/posts/2109927379122152?sfns=mo

ผมจำได้ว่าขึ้นรถเมล์ครั้งแรกเมื่อปี 2496 เป็นเด็กโตแล้วต้องจ่ายค่าโดยสาร มากน้อยตามระยะทาง ระยะสั้นๆที่ผมขึ้นเสีย 25 สตางค์ เป็นรถเมล์ที่เอาไม้มาต่อเป็นตัวถังและที่นั่งสองแถวยาวตามตัวรถครับ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: กิมซัว แซ่ตั้ง ที่ 07 มี.ค. 19, 18:41
สถานีบริการน้ำมันในอดีตครับ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มี.ค. 19, 19:31
ปั๊มน้ำมันสามทหาร   เป็นอดีตไปนานแล้ว
ไม่ทราบประวัติของปั๊มสามทหาร เดาว่าเป็นของไทยผลิตเอง   จำได้แต่ผู้ใหญ่บอกว่าราคาน้ำมันถูกกว่ายี่ห้ออื่นๆ
เมื่อ 50+ ปีก่อน มีปั๊มเชลล์  คาลเทกซ์  และก่อนมีเอสโซ่  มีปั๊มน้ำมันตราม้าบิน ชื่อ Mobil oil  
ต่อมาม้าบินหายไป  ปั๊มที่บริการม้าบินกลายเป็นปั๊มเสือ   มีชื่ออื่นๆก่อนจะมาเป็น ESSO  คือ Enco  Exxon แล้วก็มาเป็น ESSO


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มี.ค. 19, 19:37
หารุปปั๊มน้ำมันตราม้าบินไม่ได้ค่ะ  หาได้แต่โลโก้


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 มี.ค. 19, 20:02
ช่วง พ.ศ. ๒๔๘๙ - ๒๕๐๐ สัมพันธมิตรห้ามไทยขายน้ำมันสามทหารแข่งกับ เชลล์, โมบิล/เอสโซ่ และคาลเท็กซ์ ทำให้ปั๊มสามทหารที่หลักเมืองซึ่งออกแบบโดยอาจารย์นารท โพธิประสาท (เปิดบริการ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๓) ต้องให้โมบิลเช่า ตอนหลัง พ.ศ. ๒๕๐๐ สามทหารก็เข้ามารับช่วงอีกครั้งและก็เปลี่ยนแปลงกลายเป็น ปตท.ในช่วง พ.ศ. ๒๕๒๑ - ๒๕๒๒  และถูกทุบทิ้งตอนฉลองกรุง ๒๐๐ ปีในที่สุด

ข้อมูลจาก https://www.facebook.com/199476353430283/posts/237310513053884?sfns=mo

ภาพปั๊มน้ำมันตราม้าบินหน้าวัดพระแก้วถ่าย พ.ศ. ๒๔๙๓ ม้าบินปั๊มนี้ ก็เป็นปั๊มเดียวกับสามทหารข้างบนนั่นแล  ;D


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 07 มี.ค. 19, 20:10
ส่วนอันนี้ปั้มหลอดเหมือนบ้านเก่าแม่ผมเองครับ ยังไปช่วยเขาขายน้ำมันอยู่บ่อยๆ เลย  :) ขายน้ำมันโซล่าสีแดงถ้าจำไม่ผิด เดี๋ยวนี้กลายเป็นปั้มน้ำมันหยอดเหรียญไปหมดแล้ว (มีล้างรถมอเตอร์ไซค์หยอดเหรียญด้วยน่ารักดี)


(http://topicstock.pantip.com/chalermthai/topicstock/2008/03/A6430058/A6430058-4.jpg)

ต่างจังหวัดปั้มน้ำมันมีน้อยมาก บรรดาโรงสี โรงงาน หรือชาวสวนฐานะดีจะซื้อน้ำมันทีละหลายถังใหญ่ แล้วใช้ปั้มหลอดเติมเองตลอด (ลูกชายเวลาหนีเที่ยวจะแอบเข็นรถมาเติมน้ำมันไม่ให้พ่อรู้ ถ้าเป็นรถเก๋งก็เหนื่อยหน่อยล่ะ) น้ำมันสมัยก่อนยังไม่สะอาดเท่าสมัยนี้ ส่วนถังน้ำมันก็สกปรกจะตายมีสนิมเกาะข้างนอกด้วย บางทีสกปรกเกินไปต้องล้างภายในถังด้วยน้ำมันนี่แหละ แต่รถหกล้อหรือรถกระบะสมัยนั้นไม่มีปัญหา ลองเอามาเติมรถเก๋งดีเซลปัจจุบันสิ รับรองได้กินข้าวลิงกันทุกคันแน่


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: กิมซัว แซ่ตั้ง ที่ 07 มี.ค. 19, 20:14
ถนนดูกว้างมากครับ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 มี.ค. 19, 20:19
เด็กปั๊ม (สามทหาร) ยุค ๕๐+ ปีก่อน  ;D


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 19, 10:41
ถ้าเป็นสมัยนี้  เจ้าของปั๊มเจอกฎหมายแรงงานเด็กแน่
หนูน้อยในภาพ คงเป็นย่ายายหรือทวดไปแล้วในปี 2562


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 08 มี.ค. 19, 11:23
ผมยังทันเห็นปั๊ม 3 ทหารนะครับตอนยังเด็กมากๆ แต่มาถึงตอนนี้เริ่มไม่แน่ใจว่า ที่เคยเห็นนั่นเป็นปั๊มจริงๆ ที่ยังเปิดให้บริการอยู่ หรือเคยเห็นเพียงป้ายที่ติดไว้หน้าปั๊มที่หยุดให้บริการไปแล้ว หรือเปลี่ยนมาให้บริการในนาม ปตท. ไปแล้ว แต่ยังไม่ได้เปลี่ยนป้ายกันแน่

เมื่อดูจากปี 2520 ผมเกิด 2518 น่าจะไม่เคยเห็นปั๊ม 3 ทหารที่ยังให้บริการอยู่หรอกครับ (หรือถึงตอนนั้นจะมีผมก็ไม่น่าจะจำความได้) แนวโน้มว่าปั๊มที่ผมเคยเห็นน่าจะเป็น 2 อย่างหลังเสียมากกว่าครับ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 มี.ค. 19, 11:48
คุณนริศน่าจะเคยเห็นเมื่อเป็นปั๊ม ปตท. แล้ว


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 มี.ค. 19, 13:39
เด็กปั๊มคนสวย คุณอารีย์ นักดนตรีถือหัวจ่ายน้ำมันโฆษณา "สามทหาร" ทางทีวีช่อง ๔ บางขุนพรหม  ;D


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 19, 15:00
เรื่องคนหล่อคนสวยสมัย 50+ ปีก่อนเป็นหัวข้อคุยกันอีกได้ยาวค่ะ  คุณอารีย์ นักดนตรีก็เป็นหนึ่งในตำนานนั้น

ภาพนี้คือสี่แยกราชประสงค์สมัยยังโปร่งโล่ง   มองเห็นฟ้าและถนนกว้างกว่าตอนนี้   ศาลพระพรหมยังมองเห็นได้ชัดเจน ไม่แออัด
ตำรวจจราจรยืนบนแท่นคอยพลิกสัญญาณป้ายเขียวป้ายแดงกลับไปกลับมา     ตอนนั้นไฟจราจรยังไม่่มี


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 19, 15:02
รถเมล์แดงและรถเมล์ขาวในกรุงเทพ   บนถนนราชดำเนินในตอนกลางวัน ที่คงสภาพโล่งตาอย่างไม่น่าเชื่อ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 19, 19:08
     สมาชิกประจำของกระทู้นี้คงเคยซื้อผลไม้ดองจากรถเข็นในรูปข้างล่างนี้มาแล้ว   สมัยนั้นเรียกง่ายๆว่า รถเข็นฝรั่งดอง
    จริงๆแล้วรถเข็นก็มีผลไม้หลายอย่าง  ทั้งดองและไม่ดอง  ฝรั่งดอง มะม่วงดอง พุทรา สับปะรด แช่น้ำแข็งเอาไว้ในตู้กระจก  ชั้นบนเป็นช่องๆขายขนมและของเล่นเล็กๆน้อยๆ  จำได้ 2 อย่างคือหมากฝรั่งและลูกหิน ที่เป็นลูกแก้วใสๆมีริ้วลายสวยงามมาก
    รถเข็นพวกนี้ตอนแรกๆใช้แรงคนขายเดินเข็นจริงๆ  จึงเรียกว่ารถเข็น   แต่ต่อมาดัดแปลงมีล้อให้ถีบได้ เบาแรงกว่าเข็น       รถเข็นมักเข้าไปตามซอกซอยต่างๆ   หรือไม่ก็จอดใกล้ประตูโรงเรียนใกล้เวลาเลิกเรียน   
    รถเข็นหายไปจากท้องถนนเมื่อใดก็ไม่ทราบ     ใครนึกออกช่วยบอกด้วยนะคะ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 มี.ค. 19, 19:57
ยังเห็นเข็นขายอยู่หลายเจ้า แม้รถจะไม่สวยเท่า  ;D


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 19, 21:20
เดี๋ยวนี้รถเข็นโบราณ ราคาหลายหมื่นแล้วค่ะ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 มี.ค. 19, 07:30
เห็นรถขายผลไม้ดองแล้วนึกถึงลุงเทียมมี่พ่อค้าผลไม้ดอง คนดังของจุฬาฯ เมื่อ ๔๐-๕๐ ปีก่อน  ;D

ชื่อจริงของลุงเทียมมี่คือ เทียมซ้ง แซ่ลิ้ม ลูกค้าคนสำคัญคือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ซึ่งขณะศึกษาอยู่ที่จุฬาฯ ทรงโปรดเสวยมะม่วงดองเทียมมี่เป็นอย่างมาก หากไม่มาซื้อด้วยพระองค์เองก็จะต้องให้พระสหายสนิทมาซื้อให้ แม้เมื่อจบไปแล้วก็ยังทรงรับสั่งถามหาตาแป๊ะแก่ ๆ  ที่ขายผลไม้ดองสมัยทรงเป็นนิสิต ลุงเทียมมี่จึงได้เข้าเฝ้าฯ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ซึ่งเป็นวันครบรอบ ๖๘ ปีของจุฬาฯ ด้วยชุดสูทสากลที่แปลกตาไปจากเดิม เพราะชุดประจำตัวของเขาคือเสื้อแขนสั้น กางเกงขาสั้น ไม่สวมรองเท้าเป็นส่วนใหญ่

จาก FB หอประวัติจุฬาฯ
https://www.facebook.com/MemorialHallOfChulalongkornUniversity/photos/a.102930363199043/266781320147279?type=3&sfns=mo


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 มี.ค. 19, 07:49
รุ่นลูกของลุงเทียมมี่คือ ลุงฟรุตตี้ ไม่ได้เข็นรถขายแล้ว แต่ขับเวสป้ามีถังสเตนเลสบรรจุผลไม้แช่เย็นขายในจุฬาฯ

https://youtu.be/9dunn6tIu0g


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 มี.ค. 19, 12:14
บรรยากาศการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๑๔ ใช้ต้นมะขามสนามหลวงเป็นที่ติดโปสเตอร์หาเสียง ความจริงนอกจากต้นมะขามแล้วตามเสาไฟฟ้า กำแพง และผนังอาคาร ล้วนมีชะตากรรมเดียวกัน  ;D

ขอใหสังเกตวันเลือกตั้งในโปสเตอร์เป็นวันศุกร์ไม่ใช่วันอาทิตย์ และอีก ๓ เดือนต่อมาก็มี รัฐประหาร (https://th.m.wikipedia.org/wiki/รัฐประหารในประเทศไทย_พ.ศ._2514)
 :(


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 มี.ค. 19, 10:11
กล่าวกันว่า การเลือกตั้ง ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐  "สกปรกที่สุดในประวติศาสตร์" (https://www.facebook.com/siamhistory/photos/a.435240936530190/472992822755001?type=3&sfns=mo)  :o

ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีนวัตกรรม "ผ้าเช็ดหน้าหาเสียง" ผู้สมัครผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร พรรคมนังคศิลา  ๙ คน  ซึ่งน่าจะใช้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์เช่นกัน


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 มี.ค. 19, 10:20
อีกเวอร์ชั่นหนึ่ง แถลงนโยบายบนผ้าเช็ดหน้า ห้อยท้ายด้วยการหาเสียงเป็นผู้แทนจังหวัดนครนายกของท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม  ;D


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มี.ค. 19, 17:12
62  ปีมาแล้ว
นี่คือภาพขบวนหาเสียงลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรของ เจ้าประดิษฐ์ ณ น่าน ในนามพรรคเสรีมนังคศิลา ที่มีการฟ้อนเพื่อเรียกความสนใจจากประชาชนประมาณต้นปี พ.ศ. 2500


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มี.ค. 19, 17:15
คู่มือประชาชนในเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2500

หนังสือเชิญชวนให้ประชาชนไปเลือกตั้งเมื่อ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500
ขั้นตอนที่ต่างจากปัจจุบันเห็นจะเป็นวิธีการลงคะแนน สมัยนั้นใช้วิธีฉีกตามรอบปรุและทากาวแล้วปิดไปที่ใบ "เครื่องหมายประจำตัวผู้สมัคร" เบอร์ที่อยู่ตรงกลางแผ่นคงฉีกยากหน่อย

อ่านรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=klongrongmoo&month=11-05-2011&group=17&gblog=2


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 มี.ค. 19, 19:12
หนังสือเชิญชวนให้ประชาชนไปเลือกตั้งเมื่อ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500
ขั้นตอนที่ต่างจากปัจจุบันเห็นจะเป็นวิธีการลงคะแนน สมัยนั้นใช้วิธีฉีกตามรอบปรุและทากาวแล้วปิดไปที่ใบ "เครื่องหมายประจำตัวผู้สมัคร" เบอร์ที่อยู่ตรงกลางแผ่นคงฉีกยากหน่อย

เป็นวิธีที่ยุ่งยากมาก ใครเป็นคนคิดวิธีนี้หนอ  ;D


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มี.ค. 19, 20:45
บุคคลสำคัญแถวหน้าของประเทศ เมื่อ 62 ปีก่อน
จอมพล ป. พิบูลสงคราม   พลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์(ยศในขณะนั้น)  และพล.อ.อ. บุญชู จันทรุเบกษา


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: choo ที่ 10 มี.ค. 19, 20:54
หนังสือเชิญชวนให้ประชาชนไปเลือกตั้งเมื่อ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500
ขั้นตอนที่ต่างจากปัจจุบันเห็นจะเป็นวิธีการลงคะแนน สมัยนั้นใช้วิธีฉีกตามรอบปรุและทากาวแล้วปิดไปที่ใบ "เครื่องหมายประจำตัวผู้สมัคร" เบอร์ที่อยู่ตรงกลางแผ่นคงฉีกยากหน่อย

เป็นวิธีที่ยุ่งยากมาก ใครเป็นคนคิดวิธีนี้หนอ  ;D
 

คนที่อ่านหนังสือไม่ออกเขียนไม่ได้ถ้ามาลงคะแนนจะทำอย่างไรจะเลือกเบอร์แปะถูกตามต้องการไหมหนอ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 11 มี.ค. 19, 07:18
ถ้าแปะกาวไม่ติด หรือเลอะออกมาทับเครื่องหมาย หรือแปะเอียงๆ ไปบ้าง จะถือเป็นบัตรเสียไหมครับ เพราะผมคงมีปัญหาเรื่องนี้แน่นอน


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 11 มี.ค. 19, 09:43
คงเป็นเพราะปัญหาการไม่รู้หนังสือแหละครับ เลยให้ใช้แปะเอา เพราะสามารถนับจุด เพื่อบ่งบอกหมายเลขเอาได้

แต่... ถ้าทำเพื่อผู้ลงคะแนนที่ไม่รู้หนังสือ แล้วผู้ลงคะแนนเหล่านั้น จะอ่านคำอธิบายแล้วทำถูกวิธีได้อย่างไรกันหละครับ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 มี.ค. 19, 10:26
เทคโนโลยีตัดแปะถูกใช้ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในอดีต อาจเนื่องมาจากสมัยนั้น "ปากกาลูกลื่น" ยังไม่มีขายในเมืองไทย

ปากกาลูกลื่นเป็นผลงานของ ๒ พี่น้องฮังกาเรียนตระกูล Biro จดสิทธิบัตรเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๘ ที่อเมริกาผลิตออกขายเชิงพาณิชย์ในยี่ห้อ "Reynolds" ราคาด้ามละ ๑๐ ดอลลาร์ พ.ศ. ๒๔๙๒ ที่ฝรั่งเศสผลิตขายในยี่ห้อ "Bic" ขายในยุโรป  อีกสิบปีต่อมาจึงส่งไปขายที่อเมริกาในราคาเพียง ๒๙ เซนต์

http://www.rmutphysics.com/charud/howstuffwork/howstuff1/ballpen/penthai2.htm
https://en.wikipedia.org/wiki/Ballpoint_pen


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มี.ค. 19, 20:46
ใช้ดินสอดำได้ไหมคะ
ถ้ามีรอยลบ ขูดขีด ก็ถือเป็นบัตรเสีย


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 มี.ค. 19, 20:58
การใช้ดินสอน่าจะมีปัญหาหลายอย่าง คือไส้ดินสอหักและกุดได้ อีกทั้งคุณภาพของไส้ดินสอบางแท่งอาจไม่เข้มพอและเลือนได้ง่าย  ;D


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 มี.ค. 19, 20:59
ปากกาลูกลื่นยี่ห้อแรกที่ขายในเมืองไทยคือยี่ห้อ Schneider สั่งมาจากเยอรมันโดยบริษัท ดี. เอช. เอ. สยามวาลา จำกัด (DHAS) เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ ปากกายี่ห้อนี้ถือเป็นพระเอกที่ช่วยให้ธุรกิจของครอบครัวสยามวาลาพลิกฟื้นจากที่ประสบปัญหาตลาดซบเซาหลังสงครามและชดใช้หนี้สินจากเหตุการณ์โรงงานไฟไหม้ แต่ Schneider มีชื่อเสียงโด่งดังอยู่เพียงเพียง ๒ ปี ก็ถูกปากกาลูกลื่นยี่ห้อ Bic ชิงตลาดไป

โฆษณาปากกาลูกลื่นชไนเด้อร์ จากหนังสือ "งานแสดงศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ ๒๕ ครบรอบ ๕๐ ปี" ธันวาคม ๒๕๐๕

ผู้บัญญัติศัพท์ "Ballpoint pen" ว่า "ปากกาลูกลื่น" ก็คือ DHAS นี่เอง


http://www.forbesthailand.com/people-detail.php?did=2037
https://www.facebook.com/1823599227854580/posts/2160680670813099?sfns=mo


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มี.ค. 19, 09:06
  เมื่อ 50+ ปีก่อน  นักเรียนชั้นประถมใช้ดินสอดำ  จนจบป. 4 ขึ้นม. 1 ทางโรงเรียนจึงให้ใช้ปากกาแทน    ปากกาสมัยนั้นเมื่อเทียบกับสมัยนี้มันก็แสนยุ่งยาก    เพราะปากกาลูกลื่น (ballpoint pen)  มีแล้วก็จริงแต่ทางร.ร.ไม่ให้ใช้     ให้ใช้ปากกาหมึกซึม (fountain pen) 
   ปากกาหมึกซึมต้องเติมหมึกเป็นระยะ  เพราะหมึกในหลอดมันจะพร่องลงไปเรื่อยๆ  จนหมด    นอกจากนี้ถ้าปากของปากกาไม่ดี   พอเติมหมึกใหม่ หมึกจะออกมากจนเลอะกระดาษ ต้องใช้กระดาษซับ    กระดาษซับนี่ก็เป็นอะไรอีกอย่างที่น่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว    เป็นกระดาษหนาๆคล้ายๆผ้าสักหลาดอย่างบาง  สามารถซับหมึกที่กองจากปลายปากกาลงมาเป็นหยดเเบ้อเร่อบนกระดาษสมุดให้ซึมหายเข้าไปในกระดาษได้  กลายเป็นด่างดวงหมึกบนกระดาษซับ  พอเต็มกระดาษก็ต้องเปลี่ยนแผ่นใหม่     นอกจากนี้ก็ต้องพกขวดหมึกเล็กๆติดกระเป๋านักเรียนไปด้วยสำหรับเติมหมึก 
   สรุปว่าปากกาด้ามเดียวต้องมีอุปกรณ์พ่วงอีก 2 อย่างคือกระดาษซับและขวดหมึก       ถ้าใครปิดขวดหมึกไม่แน่น  หมึกก็หกเลอะก้นกระเป๋าและหนังสือเรียน   ถูกครูทำโทษหนักเข้าไปอีก
   ความยุ่งยากอีกอย่างคือปากกาหมึกซึมสวยๆนั้นอาจหายได้ง่าย  ด้วยฝีมือนักหยิบ   นักเรียนจึงนิยมเหน็บปากกากับกระเป๋าเสื้อ   ถ้าปิดปลอกไม่แน่นหมึกก็ซึมออกมาเลอะเสื้อ    เป็นปัญหาในการซักเพราะหมึกซักออกยากมาก
   ปัญหาเหล่านี้ไม่มีเลยถ้าใช้ปากกาลูกลื่น

   แต่ปากกาหมึกซึมดีกว่าปากกาลูกลื่น  ตรงที่ช่วยให้ลายมือสวย    ยิ่งการคัดอักษรภาษาอังกฤษ ที่แต่ละตัวมีเส้นหนักเส้นเบา (เด็กยุคนี้คงไม่รู้จักว่า A B C D มีเส้นหนักเบาด้วย) ปากกาหมึกซึมช่วยคัดได้สวยมาก  เพราะพลิกปลายปากกาเป็นเส้นหนาเส้นบางได้   แต่ถ้าคัดด้วยปากกาลูกลื่นจะทำไม่ได้เลยค่ะ
   ครูบอกว่าปากกาลูกลื่นทำให้ลายมือเสียหมด   เหมาะจะเอาไว้เขียนหรือจดอะไรหวัดๆ  ไม่ต้องประณีตบรรจง


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มี.ค. 19, 09:25
  ปากกาหมึกซึมมีหลายราคา    เด็กนักเรียนใช้ปากกาด้ามละไม่กี่บาท    ยี่ห้อแพง อย่าง Sheaffer และ Parker เป็นของสำหรับผู้ใหญ่   
  ที่แพงที่สุดคือปากกาปลอกทอง    นิยมเหน็บกระเป๋าเสื้อ เห็นปลอกทองหรู โชว์ฐานะเจ้าของ

 พอเปลี่ยนโรงเรียน ใช้ปากกาลูกลื่นได้  สะดวกทุกอย่าง ก็เลยเลิกใช้ปากกาหมึกซึม    จนบัดนี้ยังไม่เคยใช้อีกเลยค่ะ


  ข้างล่างนี้คือปากกาปลอกทอง


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: choo ที่ 12 มี.ค. 19, 09:51
 เมื่อ 50+ ปีก่อน  นักเรียนชั้นประถมใช้ดินสอดำ  จนจบป. 4 ขึ้นม. 1 ทางโรงเรียนจึงให้ใช้ปากกาแทน    ปากกาสมัยนั้นเมื่อเทียบกับสมัยนี้มันก็แสนยุ่งยาก    เพราะปากกาลูกลื่น (ballpoint pen)  มีแล้วก็จริงแต่ทางร.ร.ไม่ให้ใช้     ให้ใช้ปากกาหมึกซึม (fountain pen)  
   ปากกาหมึกซึมต้องเติมหมึกเป็นระยะ  เพราะหมึกในหลอดมันจะพร่องลงไปเรื่อยๆ  จนหมด    นอกจากนี้ถ้าปากของปากกาไม่ดี   พอเติมหมึกใหม่ หมึกจะออกมากจนเลอะกระดาษ ต้องใช้กระดาษซับ    กระดาษซับนี่ก็เป็นอะไรอีกอย่างที่น่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว    เป็นกระดาษหนาๆคล้ายๆผ้าสักหลาดอย่างบาง  สามารถซับหมึกที่กองจากปลายปากกาลงมาเป็นหยดเเบ้อเร่อบนกระดาษสมุดให้ซึมหายเข้าไปในกระดาษได้  กลายเป็นด่างดวงหมึกบนกระดาษซับ  พอเต็มกระดาษก็ต้องเปลี่ยนแผ่นใหม่     นอกจากนี้ก็ต้องพกขวดหมึกเล็กๆติดกระเป๋านักเรียนไปด้วยสำหรับเติมหมึก  
   สรุปว่าปากกาด้ามเดียวต้องมีอุปกรณ์พ่วงอีก 2 อย่างคือกระดาษซับและขวดหมึก       ถ้าใครปิดขวดหมึกไม่แน่น  หมึกก็หกเลอะก้นกระเป๋าและหนังสือเรียน   ถูกครูทำโทษหนักเข้าไปอีก
   ความยุ่งยากอีกอย่างคือปากกาหมึกซึมสวยๆนั้นอาจหายได้ง่าย  ด้วยฝีมือนักหยิบ   นักเรียนจึงนิยมเหน็บปากกากับกระเป๋าเสื้อ   ถ้าปิดปลอกไม่แน่นหมึกก็ซึมออกมาเลอะเสื้อ    เป็นปัญหาในการซักเพราะหมึกซักออกยากมาก
   ปัญหาเหล่านี้ไม่มีเลยถ้าใช้ปากกาลูกลื่น

   แต่ปากกาหมึกซึมดีกว่าปากกาลูกลื่น  ตรงที่ช่วยให้ลายมือสวย    ยิ่งการคัดอักษรภาษาอังกฤษ ที่แต่ละตัวมีเส้นหนักเส้นเบา (เด็กยุคนี้คงไม่รู้จักว่า A B C D มีเส้นหนักเบาด้วย) ปากกาหมึกซึมช่วยคัดได้สวยมาก  เพราะพลิกปลายปากกาเป็นเส้นหนาเส้นบางได้   แต่ถ้าคัดด้วยปากกาลูกลื่นจะทำไม่ได้เลยค่ะ
   ครูบอกว่าปากกาลูกลื่นทำให้ลายมือเสียหมด   เหมาะจะเอาไว้เขียนหรือจดอะไรหวัดๆ  ไม่ต้องประณีตบรรจง
 
โรงเรียนที่ผมเคยเรียนเมื่ออยู่ชั้นมูล(เตรียมประถม)ใช้กระดานชนวนและดินสอหิน ป.1-ป.4 ใช้ดินสอดำ พอขึ้น ม.1 ปากกาหมึกซึมคุณครูยังไม่ให้ใช้ให้นักเรียนใช้ปากกาจุ่มหมึกซึ่งมีสองชนิดคือแบบหัวแหลมเรียกว่าปากกาคอแร้งแลแบบหัวแบนเรียกว่าปากกาเบอร์ห้าใช้กับหมึกตราสิงโตขวดกลมๆมีหมึกน้ำเงินและแดง กระดาษซับเป็นของที่ขาดไม่ได้เป็นอันขาดถึงกระนั้นสมุดจะเลอะเทอะไปด้วยหมึกแดงและน้ำเงิน เมื่อเลิกเรียนเสื้อจะเปื้อนหมึกกันเกือบทุกคน พอขึ้น ม.2 ได้ใช้ปากกาหมึกซึมผู้ปกครงส่วนมากจะซื้อปากายี่ห้อ Pilot ให้ใช้เพราะราคาถูกและมาเรื่มใช้ปากกาลูกลื่นเมื่อโตแล้ว


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มี.ค. 19, 10:22
ใช่แล้ว มีปากกาคอแร้งอีกอย่างค่ะ ลืมไปเลย     โรงเรียนให้ใช้ในชั่วโมงวาดเขียน  เอาไว้ตัดเส้น
ปากกาคอแร้งประกอบด้วยด้ามกับหัว  หัวถอดเปลี่ยนได้    เป็นอุปกรณ์การเขียนที่ยุ่งยากอีกแบบหนึ่ง  ที่เจอบ่อยที่สุดคือเขียนๆไป ปลายปากกาซีกหนึ่งหักเปีาะ  ใช้ไม่ได้อีก ต้องเปลี่ยนหัว   นอกจากนั้นหมึกก็ออกมาเลอะเทอะยิ่งกว่าปากกาหมึกซึม   ทำเอารูปที่วาดไว้ดีๆแล้วเจ๊งไปหมดทั้งแผ่นตอนตัดเส้นนี่เอง

ทีแรกนึกชื่อปากกาหมึกซึมที่ใช้ประจำไม่ออก    จนคุณ Choo พูดถึงยี่ห้อ pilot จึงนึกออกว่าเคยใช้กันกว้างขวางในหมู่นักเรียน     ดิฉันก็ใช้เหมือนกันค่ะ   
เป็นปากการาคาเยา ที่มีสีสวยๆให้เลือกมากกว่าเชฟเฟอร์กับปาร์คเกอร์ซึ่งมีสีดำเป็นส่วนใหญ่
ปากกา pilot ที่เคยใช้  สีแดงเหมือนในรูปข้างล่างนี้ค่ะ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 มี.ค. 19, 10:51
โฆษณาปากกาหมึกซึมและน้ำหมึก


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 มี.ค. 19, 10:53
อีกยี่ห้อหนึ่ง


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มี.ค. 19, 11:00
หมึกยอดนิยมในโรงเรียนไม่ใช่เกฮา แต่เป็นหมึก Quink 
หมึกควิ้งค์มีหลายเฉดสี   ทางร.ร.ไม่อนุญาตให้ใช้สีอื่นนอกจากน้ำเงิน  แต่น้ำเงินก็ยังมี royal blue  สีน้ำเงินสด  เขียนลงกระดาษขาวแล้วอ่านสบายตา สวยมาก     อีกสีคือ blue black  สีน้ำเงินแก่เกือบดำ   สีนี้เหมาะกับผู้ใหญ่ใช้เซ็นหนังสือ       


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 12 มี.ค. 19, 11:14
สะดุดตาที่คำว่า "มีดหลาวดินสอ" ครับ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มี.ค. 19, 11:27
คงสะกดตามเสียงเรียกค่ะ  ไม่ได้ดูจากพจนานุกรม (ในยุคนั้น มีแต่พจนานุกรมปี 2493    ซึ่งเก็บคำนี้ไว้หรือเปล่าก็ไม่ทราบ)
เหลา เป็นเสียงสั้น    หลาว เป็นเสียงยาว

ถ้าออกเสียงตามเสียงเรียกในสมัยนั้น   จะเป็นว่า "หลาวดินสออยู่ในเหลา"  ไม่ใช่ "เหลาดินสออยู่ในเหลา"
แต่พจนานุกรมไปกำหนดให้เขียนว่า เหลา  แทนค่ะ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มี.ค. 19, 11:39
ปากกาลูกลื่นยอดนิยมเมื่อ 50+ ปีก่อน คือปากกา BIC  สมัยออกวางจำหน่ายมีแบบเดียวสีเดียวคือเป็นแท่งผอมๆ ยาวๆ สีเหลืองอ๋อย มีปลอกสีน้ำเงินสด    ไม่รู้สึกว่าสวยทั้งสีด้ามและสีปลอก   แต่ว่าใช้ง่าย สะดวกสบาย ไม่เลอะเทอะ  หมึกแห้งก็บรรจุเยอะมาก ใช้เท่าไหร่ไม่หมด  ไม่เหมือนหมึกซึมที่ต้องเติมทุกวัน   


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มี.ค. 19, 12:36
พูดถึงอุปกรณ์การเรียนแล้วก็ขอเล่าต่อถึงหนังสือเรียน   50+ ปีก่อน มีหนังสือเรียนดีๆ มีคติสอนใจ  แต่ออกแบบไม่สวยเลย
เหมือนกำหนดไว้ว่าหนังสือเรียนต้องหน้าตาเคร่งขรึมเอางานเอาการ  จะมาทำสวยๆงามๆเหมือนหนังสืออ่านเล่นไม่ได้
เช่นเรื่องนกกางเขน

สมัยนั้นเรียกระดับว่า ประโยค
ประโยคประถม  ประโยคมัธยม


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มี.ค. 19, 12:43
เคยคุยเรื่องหนังสือเรียนภาษาไทยในยุคก่อนกันมาแล้ว ในกระทู้นี้ค่ะ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6005.90


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: choo ที่ 13 มี.ค. 19, 19:58
เมือพูดถึงการเรียนเมื่อ 50+ ปีก่อนเด็กที่เรียนในชั้นที่ไม่ใช่อยู่ในชั้นระดับประโยค(คือ ป 4,ม 3,ม 6)ถ้าเรียนดีมากถึงระดับที่กำหนดจะสามารถ pass ชั้นคือข้ามไปเรียนในชั้นถัดไปได้หลังประกาศผลสอบเทอมต้นแล้ว ไม่ทราบว่าในปัจจุบันยังมีอีกหรือไม่


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 มี.ค. 19, 20:04
   โรงเรียนดิฉันไม่มี pass ชั้นค่ะ มีแต่ซ้ำซั้น      ไม่ทราบโรงเรียนอื่นๆเป็นยังไง
   จำได้รางๆว่ามีการสอบเทียบ  เป็นคนละแบบกับ pass ชั้น    สองเทียบนี้คือโดดข้ามชั้นเรียนไปเลยเหมือนเรียน กศน.
   เรียกสั้นๆว่า  4 3 6  8    คือสอบเทียบป. 4  แล้วมาสอบเทียบม. 3  แล้วก็สอบเทียบม. 6  แล้วไปสอบเทียบม. 8
   พวกหัวดี เลือกสอบเทียบ แล้วสอบเข้ามหาวิทยาลัยไปเลย      มีหลายคนสอบติดแพทย์ด้วย


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 มี.ค. 19, 15:18
   พวกที่สอบเทียบ 4 3 6 8  ถูกกำหนดข้อสอบเฉพาะบางวิชา ไม่ได้สอบทุกวิชาเหมือนเรียนตามหลักสูตรปกติ เพราะฉะนั้นพวกที่หัวดีท่องจำเก่ง ก็เลือกท่องเฉพาะวิชาที่สอบ    สอบได้ก็ลอยลำไปเรื่อยๆจนเข้ามหาวิทยาลัยได้ด้วยอายุที่น้อยกว่าพวกเรียนไปทีละชั้น    มีถึงขั้นตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยยังเป็นเด็กชายอยู่ก็มี 
   สอบเทียบแบบนี้ถูกยกเลิกไปยาวนาน จนมาถึงยุคเปิดเรียนกศน. เพื่อแก้ปัญหาการไม่รู้หนังสือของเด็กหนุ่มสาวในชนบท     ผลคือเด็กในเมืองหลวงมาสมัครเรียนเพื่อสมัครสอบข้ามชั้นเรียนไปเข้ามหาวิทยาลัย  บางคนเรียนอยู่ ม. 4 มาสมัครสอบ ม. 6   สอบได้ก็สอบเข้าปี 1 ไปเลย     แต่ส่วนใหญ่เรียนอยู่ม. 5  แล้วสมัครสอบม. 6 ได้ก็สอบเข้าคณะต่างๆไป  ทำให้บางร.ร.มีเด็กเรียนม. 6 กันโหรงเหรงแทบว่าจะต้องปิดห้องเรียน
   ขอเล่าถึงการเรียนในคณะอักษรศาสตร์เมื่อ 50+ ปีค่ะ  แต่ละคณะมีวิธีวัดคะแนนไม่เหมือนกัน     แต่เหมือนกันอยู่อย่างคือใช้ระบบ %  ไม่มีตัดเกรด A B C D F
   คณอักษรศาสตร์แบ่งวิชาเป็นกลุ่มๆ   เช่นวิชาภาษาไทย  ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส   ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ฯลฯ   แต่ละกลุ่มประกอบด้วยหลายวิชา เช่นวิชาภาษาไทยก็มีภาษา เช่นการเขียน   วรรณคดี แบ่งเป็นยุคต่างๆ รวมแล้วกลุ่มหนึ่งก็ 5-6 วิชา    ภาษาอังกฤษก็เช่นกัน
   นิสิตจะเรียนแต่ละวิชาได้คะแนนเท่าใดก็ตาม แต่ถ้านำวิชามารวมกันในแต่ละกลุ่มแล้ว  ต้องเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 60% ถึงจะผ่าน    ไม่งั้นก็ซ้ำชั้นไป ก้มหน้าก้มตาเรียนทุกวิชาไปอีก 1 ปี     
   ความโหดอยู่ที่ว่า บางวิชานิสิตทำคะแนนได้ดีถึง 80%  แต่ถ้าอีกวิชาคะแนนต่ำมาก ได้สัก 30%   มันก็จะฉุดวิชาที่ได้คะแนนดี หล่นกราวรูดลงมากันหมด    เคราะห์ร้ายกว่านี้  พอหารเฉลี่ยกันแล้ว เกิดได้ 59%   คณะไม่มีนโยบายปัดเศษ    59  ก็ 59  คือตก
   ตก 1 กลุ่มวิชา ให้รีเอ๊กแซม สอบแก้ตัวเฉพาะวิชาที่ไม่ถึง 60% แต่ไม่เกิน 2 วิชา   แต่ถ้าตกเกิน 1 กลุ่มเป็น 2 กลุ่ม ก็รีพีท หรือตกซ้ำชั้นไปเลย   ไม่มีอุทธรณ์ฎีกาใดๆ
   ถ้าซ้ำชั้นเป็นครั้งที่สอง ก็คือตกให้ออก  หรือรีไทร์
   มีรุ่นพี่คนหนึ่งเรียนอยู่ในคณะถึง 8 ปี   คือชั้นละ 2 ปี จนถึงปี 4 ที่เรียนมาเป็นครั้งที่สองแล้ว เกิดไม่ผ่าน 60% ก็ต้องรีไทร์ออกไป โดยไม่ได้อะไรติดมือไปเลย เพราะคณะไม่มีอนุปริญญา
   


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: choo ที่ 14 มี.ค. 19, 15:56
ในสมัยก่อนไม่มีระบบสอบเทียบ คนที่เรียนแล้วได้ pass ชั้นบ่อยๆบางคนโดยเฉพาะเด็กชายเมื่อจบมัธยมบริบูรณ์เพิ่งจะเป็น"นาย"ได้ไม่กี่เดือนเอง ผมก็เคยเรียนมาด้วยระบบ % เช่นกันคือต่ำกว่า 60 %เป็น F, 85% ขึ้นไปเป็น A อะไรทำนองนี้ มีระยะหนึ่งรุ่นลูกๆเรียนเขาว่าวัดผลเป็นแบบอิงกลุ่มถามแล้วไม่ได้ความชัดว่าอย่างไรเอาคนที่ได้คะแนนวิชานั้นสูงสุด= 100% ใครได้รองๆลงมาก็เอาไปคิดเป็น % ถ้าเป็นแบบนี้จริงคนที่ได้คะแนนสูงสุด100%เมื่อวัดผลแบบเดิมมีความรู้ไม่ถึง 60% แล้วคนที่ได้  % รองๆลงมาจนถึง 50% พวกเขาจะมีความรู้อะไร ผมอาจไม่เข้าใจคำอธิบายและไม่เคยคิดเข้าไปค้นหาว่าจริงๆเป็นอย่างไรเพราะไม่เปิดใจรับกับการวัดผลแบบนี้


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 มี.ค. 19, 21:59
  อ่านที่คุณชูพูดถึงการวัดผลแบบอิงกลุ่ม  น่าจะหมายถึงการตัด curve  เป็นวิธีประเมินผลการสอบอีกแบบหนึ่งเพื่อตัดเกรด A B C D
  แบบเดิม    ครูจะกำหนดระดับว่า เปอร์เซ็นต์เท่าไหร่ถึงจะจัดอยู่ในเกรดอะไร  
  เช่น   80-100  = A
          79-70   = B
          69-60   = C

  แต่การตัด curve นั้นดูว่าผลจากการสอน  ว่าเด็กทำข้อสอบได้มากน้อยแค่ไหน     เอาความสามารถของเด็กเป็นตัววัด  ไม่ใช่เอาความรู้ที่ครูถ่ายทอดให้เป็นตัววัด  
  ถ้าวัดแบบเดิม   ไม่มีเด็กคนไหนได้ถึง 80   ก็หมายความว่าวิชานั้นไม่มีเด็กได้ A  มีแต่ได้ B อย่างมากสุด
  แต่ถ้าวัดแบบอิงกลุ่ม     เอาเด็กที่ได้คะแนนสูงสุดในชั้นไว้ปลายข้างหนึ่ง   เด็กที่ได้ต่ำสุดไว้ปลายอีกข้างหนึ่ง   เด็กที่ได้คะแนนกลางๆไว้ตรงกลาง  ซึ่งส่วนใหญ่คะแนนจะเทไปอยู่ตรงกลุ่มตรงกลาง    มันจะออกมาเป็นรูปเส้นโค้ง
หรือ curve
  ตรงกลางนี้คือคะแนนระดับกลาง เช่น B หรือ C    ส่วนปลายข้างหนึ่งเป็น A   อีกข้างเป็น D  
  ดังนั้นกลุ่มเด็กที่ได้คะแนนสูงสุดในชั้นเรียน  แม้ว่าได้แค่ 60 จาก 100  ก็จะได้ A    เพราะไม่มีใครได้มากกว่านี้อีกแล้ว
  รองลงมาก็คือกลุ่ม B  อาจจะได้คะแนนประมาณ 50 จาก 100  ก็ได้
  ความจริงเขามีวิธีคำนวณกันละเอียดกว่านี้ ว่าใครเหมาะจะได้ A  หรือ B  เรียกว่าตัด curve  แต่ดิฉันอธิบายแล้วจะงงกันเปล่าๆ
  ขอบอกง่ายๆแบบนี้  ถ้าผิดเดี๋ยวคุณเพ็ญชมพูคงเข้ามาแก้ให้เองละค่ะ

  



กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: choo ที่ 14 มี.ค. 19, 22:32
ขอบคุณมากครับอาจารย์ พอจับเค้าได้ว่าถ้ากลุ่มที่เรียนไม่มีคนเก่งๆ(วัดแบบวิธีเก่า)มากคนที่ได้ A อาจไม่ใช่คนที่มีความรู้ในวิชานั้นมากก็ได้ วิธีการตอบข้อสอบของการเรียนสมัยนี้เป็นแบบปรนัยมีหลายตัวเลือกตามความคิดผมน่าจะง่ายและมีโอกาสทำคะแนนได้สูงกว่าที่ผมเคยเรียนซึ่งเป็นแบบอัตนัยต้องเขียนบรรยายคำตอบการได้คะแนนขึ้นอยู่กับอาจารย์ผู้ตรวจข้อสอบ ดังนั้นผู้เรียนสมัยนี้ถ้าไม่แย่จริงๆจะมีโอกาสเรียนจบง่ายได้เกรดดีกว่า


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มี.ค. 19, 08:50
    สมัยก่อน นักเรียนตอบข้อสอบแบบอัตนัยตั้งแต่อยู่ชั้นประถม   ทำให้รู้จักการสร้างประโยค  ลำดับความคิด เริ่มต้น สรุปความ  เขียนอะไรยาวๆได้   พอเปลี่ยนระบบเป็นปรนัย  ติ๊กคำตอบอย่างเดียว  ทักษะของการเขียนแบบอัตนัยก็เลยหายไปมากค่ะ

    เมื่อ 50+ ปีก่อน  มีบทเรียนเป็นคำร้อยกรองง่ายๆ ให้ข้อคิดเตือนใจ   อย่างเรื่องนี้   ท่านฟ. ฮีแลร์แต่งได้ไพเราะมาก


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มี.ค. 19, 08:51
รำลึกถึงถนนในกรุงเทพ ที่เดี๋ยวนี้หาต้นไม้อย่างในรูปอีกไม่ได้แล้ว  คอนกรีตแย่งเนื้อที่หมด


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 มี.ค. 19, 10:23
เมื่อ 50+ ปีก่อน  มีบทเรียนเป็นคำร้อยกรองง่ายๆ ให้ข้อคิดเตือนใจ   อย่างเรื่องนี้   ท่านฟ. ฮีแลร์แต่งได้ไพเราะมาก

ท่านฟ. ฮีแลร์มิได้แต่ดอก แต่เป็นของโบราณนานมาแล้ว  ;D

http://www.human.nu.ac.th/jhnu/file/journal/2014_07_24_09_06_52-06%20รศ.ดร.สุภาพร.pdf (http://www.human.nu.ac.th/jhnu/file/journal/2014_07_24_09_06_52-06%20รศ.ดร.สุภาพร.pdf)
http://www.assumptionmuseum.com/th-th/content/ว-ชาเหม-อนส-นค-า-แต-ทว-า-ฟฮ-แลร-ไม-ได-แต-ง/ (http://www.assumptionmuseum.com/th-th/content/ว-ชาเหม-อนส-นค-า-แต-ทว-า-ฟฮ-แลร-ไม-ได-แต-ง/)


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มี.ค. 19, 10:59
ความรู้ใหม่นะเนี่ย  ขอบคุณคุณเพ็ญชมพูค่ะ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 21 มี.ค. 19, 13:36
มีข้อสงสัยครับ

ตำแหน่ง "ล้าต้า" ผมลองค้นดูเบื้องต้น พบว่า เป็นตำแหน่ง ผู้ตรวจสอบบัญชีประจำเรือสำเภาครับ
การมอบหมายให้ผู้ตรวจบัญชีไปดูทิศทางลม ออกจะแปลกอยู่นะครับ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มี.ค. 19, 14:36
ล้าต้า   น. คนถือบัญชีเรือสำเภา.
ตั้งเข็ม, ตั้งเป้าหมาย   ก. กำหนดจุดมุ่งหมาย เช่น ล้าต้าต้นหนก็มุ่งมอง ตั้งเข็มส่องกล้องสลัด (ม. ร่ายยาว กุมาร).

https://dict.longdo.com/search/%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%B2
ตีความได้ 3  ทางค่ะ

1  เจ้าจงเอาหูตา...................เป็นล้าต้าฟังดูลม
    แปลว่า  เจ้าจงเอาหูตา มากำหนดจุดมุ่งหมาย  ดูลมทิศต่างๆ
2  ล้าต้าในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ทำหน้าที่ต้นหนด้วย
3  กวีเข้าใจผิด หรือแต่งผิด  เอาล้าต้ามาใช้ในความหมายของต้นหนเรือ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 มี.ค. 19, 16:52
ฟังหาเสียงและไปเลือกตั้ง ๑๕ ธันวาคม ๒๕๐๐

ชาวกรุงเทพฯ สมัยนั้นเมื่อออกจากบ้านแต่งตัวเรียบร้อย ไม่เห็นใส่เสื้อยืดสักคน  ;D

ภาพจาก https://www.facebook.com/100006028902334/posts/1041262492751371?sfns=mo


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มี.ค. 19, 17:11
 เมื่อ 50+ ปีก่อน   เสื้อสีขาวเป็นที่นิยมมากที่สุดทั้งผู้หญิงผู้ชาย    ข้าราชการสมัยนั้นถ้าไม่ต้องแต่งเครื่องแบบสีกากีก็สวมเชิ้ตแขนสั้นสีขาว    ไปดูหนังวันหยุดก็เชิ้ตขาวอีกเหมือนกัน   ผู้หญิงก็มักสวมเสื้อขาวหรือสีเรียบๆ  ไปเล่นสีสันลวดลายที่กระโปรงบาน  

  ข้างล่างนี้คือแผงขายหนังสือที่ริมคลองหลอด


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มี.ค. 19, 17:21
  ถ้าหนุ่มสาวยุคนี้ไม่รู้ว่าตรอกแตกต่างจากซอยอย่างไร  ขอเชิญดูภาพนี้นะคะ
  นี่คือตรอกแถวบางรัก   ถ่ายเมื่อพ.ศ. 2503  เป็นทางเดินแคบๆแยกจากถนนใหญ่   รถเข้าไม่ได้
  ตรอกเป็นทางเข้าบ้านช่องของประชาชนที่ปลูกอยู่ด้านหลังถนนสายใหญ่    ตรอกในภาพนี้พัฒนาแล้วเพราะเทคอนกรีตเรียบร้อย   ถ้าเป็นตรอกดั้งเดิมจะเป็นทางเดินที่ปูด้วยไม้กระดานเหนือพื้นดินที่เฉอะแฉะด้วยน้ำครำ  ทอดผ่านหน้าบ้านใหญ่น้อยไปจนสุดทาง  
  ตรอกมักจะอยู่ในส่วนเก่าแก่ของกรุงเทพ
  ส่วนซอยใหญ่กว่าตรอก  เป็นถนนสายเล็กแยกจากถนนใหญ่    ส่วนใหญ่รถเข้าได้ค่ะ   ซอยมักจะเกิดทีหลังตรอก ส่วนใหญ่อยู่รอบนอกของเมือง

   โปรดสังเกตว่า ผู้หญิงสองคนที่นุ่งผ้าถุง เห็นแต่ด้านหลัง ไม่สวมรองเท้า  ส่วนหญิงสาวที่เดินสวนทางมาแต่งกายทันสมัยทีเดียวสำหรับยุคนั้น  หอบเอกสารอะไรสักอย่างมาด้วยในมือขวา    เธอคงทำงานเอกชน  ข้าราชการไม่แต่งตัวแบบนี้     


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 มี.ค. 19, 09:11
หลังจากว่างเว้นการเลือกตั้งไป ๑๒ ปี นับจาก พ.ศ. ๒๕๐๐ ก็มีการเลือกตั้งอีกครั้งในวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒

วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๑๑ คุณมิตร ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล ในนามกลุ่มหนุ่มได้เบอร์ ๘๑ หาเสียงในเขตบางรัก ยานนาวา สัมพันธวงศ์ ป้อมปราบ แต่ก็ไม่ได้รับเลือก ดังนั้น ในปี ๒๕๑๒ ก็ได้ลงสมัครอีกครั้งแต่เป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พระนคร ได้เบอร์ ๓๔ คู่กับ คุณปราโมทย์ คชสุนทรเบอร์ ๓๕ แต่ก็ไม่ได้รับเลือกอีก

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันอังคารที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๑๒ ลงรูปมิตร ชัยบัญชา พระเอกยอดนิยมตลอดกาลขึ้นเวทีหาเสียงเป็น ส.ส. เขตพระนคร ท่ามกลางประชาชนนับแสนที่สนามหลวง (ตามพาดหัวข่าว)

ปี ๒๕๑๒ หนังสือพิมพ์ราคาเพียงฉบับละ ๑ บาท  ก่อนจะแพงขึ้น ๑๐ เท่าในอีก ๕๐ ปีต่อมา


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 มี.ค. 19, 17:00
ได้เวลาปิดหีบแล้ว ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ออกมาแล้ว แต่เป็นผลการเลือกตั้ง เมื่อ ๕๐ ปีก่อน

ชมบรรยากาศการประกาศผลการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ บริเวณกระทรวงมหาดไทย  ผลงานถ่ายทำของบริษัทไทยโทรทัศน์จำกัด

คนกรุงเทพฯ เมื่อ ๕๐ ปีก่อนก็ยังคงนิยมใส่เสื้อขาวอยู่เหมือนเดิม  ;D

https://www.facebook.com/ThaiFilmArchivePage/videos/815781258787355/

จาก  FB หอภาพยนตร์ (https://www.facebook.com/110731632310379/posts/2308103969239790?sfns=mo)


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 25 มี.ค. 19, 14:15
เคยใช้งานกันบ้างไหมครับ  :)

(https://1.bp.blogspot.com/-qCBKVIFrIrM/WRK8IHqPH9I/AAAAAAAACPc/L0HhqaGqcp4p3l2zk-S3w7R4f0Y9rQhsQCEw/s1600/Ja72.jpg)

วันที่ 26 ธันวาคม 2485 รัฐบาลไทยประกาศให้ น้ำตาลทรายขาว ไม้ขีดไฟ และน้ำมันก๊าดเป็นสินค้าปันส่วน เพื่อเฉลี่ยสินค้าสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง แต่ในทางปฎิบัติมีปัญหาพอสมควร อาทิเช่น คนในพื้นที่ลดลงแต่ได้ปันส่วนเท่าเดิม สินค้าขาดหายไประหว่างเดินทาง มีการกักตุนไว้ขายต่อในตลาดมืด ทำเอาประชาชนเดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มี.ค. 19, 16:09
ใครยังจำถ่านไฟฉายตรากบได้บ้างคะ

https://www.youtube.com/watch?v=FM_1-jis-Ks


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 26 มี.ค. 19, 09:37
ผมยังทันเห็นครับ ทั้งตรากบ และถ่านตราแมว ตราห้าแพะ ถ้ายุคต่อมาก็ ถ่านเนชั่นแนลครับ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: unicorn9u ที่ 26 มี.ค. 19, 11:07
ผมยังทันเห็นครับ ทั้งตรากบ และถ่านตราแมว ตราห้าแพะ ถ้ายุคต่อมาก็ ถ่านเนชั่นแนลครับ

พอทันอยู่ตอนเด็กๆครับ ชอบแกะเอาก้นถ่านมาเจาะรูแล้วร้อยเชือก ปั่นใส่กัน

นึกออกอีกยี่ห้อนึง เหมือนจะเป็นโลหะสีเขียวๆ ของทหารมังครับ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 มี.ค. 19, 08:00
ตลาดสดในกรุงเทพเมื่อ 2500 ค่ะ   ไม่ได้บอกว่าที่ไหน


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 มี.ค. 19, 08:18
ค่านิยมหนุ่มหล่อเมื่อ 50+ ก่อน กับค่านิยมหนุ่มหล่อปัจจุบัน

สำหรับสมาชิกที่เกิดไม่ทัน    แถวบน มิตร ชัยบัญชา  แมน ธีระพล ชนะ ศรีอุบล  และลือชัย นฤนาท
ส่วนแถวล่างคงไม่ต้องบอกชื่อนะคะ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 มี.ค. 19, 11:33
นึกถึงตอนเรียนวิชาจิตวิทยา มีทฤษฎีว่าคนเราแบ่งออกเป็น ๓ พวกคือ ectomorph, mesomorph และendomorph จากชั้นเนื้อเยื่อตัวอ่อน (ectoderm, mesoderm และendoderm) ที่จะพัฒนาไปเป็นส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

พวก ectomorph จะผอมเพรียว แต่จะฉลาดมากกว่าพวกอื่น เพราะสมองและระบบเส้นประสาทพัฒนาการมาจาก ectoderm (เนื้อเยื่อชั้นนอก)

พวก mesomorph รูปร่างสมส่วน กำยำ เพราะกล้ามเนื้อจะพัฒนามาจาก mesoderm (เนื้อเยื่อชั้นกลาง)

พวกสุดท้ายคือ endomorph เป็นคนอ้วนง่าย เกี่ยวกับอวัยวะภายในซึ่งเจริญมาจาก endoderm (เนื้อเยื่อชั้นใน)

พระเอกเมื่อ ๕๐+ ปีก่อนเป็นแบบ mesomorph ปัจจุบันเป็นแบบ ectomorph  ต้องมีสักวันที่พวก endomorph จะได้เป็นพระเอกกับเขาบ้าง  ;D


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มี.ค. 19, 08:41
ฮอลลีวู้ดมี endomorph  เป็นทั้งพระเอกและนางเอกแล้ว     ของไทยเรายังมีแต่ดารานำ แบบโก๊ะตี๋อยู่ค่ะ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มี.ค. 19, 16:42
  เมื่อ 50+ ปีก่อน   ถนนเพชรบุรีทอดจากยมราชไปถึงประตูน้ำ  แล้วหยุดอยู่แค่นั้น    ต่อจากนั้นไปเป็นทุ่งนา  ต่อมาทางการตัดถนนขนานไปกับสุขุมวิท ชื่อถนนเพชรบุรีตัดใหม่    เป็นถนนโล่งๆผ่าเข้าไปกลางทุ่งนา จนถึงเอกมัยแล้วหยุดอยู่แค่นั้น   
  ถนนเพชรบุรีตัดใหม่เป็นถนนที่เติบโตเร็วมาก    โดยเฉพาะในช่วงสงครามเวียตนาม ซึ่งรัฐบาลไทยอนุญาตให้อเมริกามาตั้งฐานทัพที่อู่ตะเภา เพื่อนำเครื่องบินไปทิ้งระเบิดในเวียตนาม    ในกรุงเทพ แหล่งหย่อนใจของทหารอเมริกันอยู่ที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่    ตอนกลางวันถนนเพชรบุรีก็ไม่มีอะไรมาก   มีตึกแถวสองข้างทางเหมือนถนนทั่วไป  แต่ตอนกลางคืน กลับคึกคักมีชีวิตชีวา แพรวพราวด้วยแสงไฟ  มีสาวๆจำนวนมากมาทำงานกลางคืนที่นี่    จนพ่อแม่ห้ามลูกสาวว่าอย่าได้มีกิจธุระผ่านไปแถวนั้นเป็นอันขาด เพราะอาจถูกเข้าใจผิดได้
  เมื่อเวียตนามแตก   ทหารอเมริกันถอนทัพกลับไป   ถนนเพชรบุรีก็เข้าสู่สภาพถนนธุรกิจทั่วไปสายหนึ่ง  มีอาคารธุรกิจใหม่ๆเกิดขึ้น หนึ่งในนั้นคือสถานีที่วีสีช่อง 3   


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 19, 15:26
    50+ ปีก่อน  ศูนย์การค้ากลางแจ้งใหญ่สุดของกรุงเทพคือสนามหลวง    เปิดเฉพาะเสาร์-อาทิตย์    ตรงริมสนามหลวงสองฟากทางเดิน พ่อค้าแม่ค้ามาเปิดร้านที่มีหลังคาผ้าใบ ขายของกันสารพัดชนิดทั้งของกิน สดและแห้ง ของใช้
อย่างหลังนี้ครอบคลุมของใช้ทุกอย่างในบ้านก็ว่าได้  ขาดแต่โทรทัศน์กับตู้เย็นซึ่งเป็นของหายากราคาแพง
    ครอบครัวคนกรุงเทพนิยมไปจ่ายตลาดกันที่นั่น   ซื้อของกินทีละมากๆจะได้ประหยัด พอใช้ไปทั้งเดือนเช่นบรรดาของแห้งประจำครัวทั้งหลาย    เด็กๆชอบติดสอยห้อยตามไปดูของเล่น  เพราะร้องขอพ่อแม่ก็ไม่ค่อยจะขัด เนื่องจากถูกกว่าของเล่นตามห้างมาก

https://www.dek-d.com/board/view/2766660/

   ใครมีความทรงจำดีๆถึงสนามหลวงในอดีต มาแชร์กันได้นะคะ
    


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 19, 15:46
สนามหลวงมีหาบเร่ตั้งอยู่ทุกช่วงก็ว่าได้   แม่ค้าพ่อค้าหาบของกินมาให้เลือกเยอะแยะจนจำไม่ได้ว่ามีอะไรบ้าง


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 19, 16:24
     เสน่ห์อีกด้านหนึ่งของสนามหลวงคือฟากตรงข้าม บริเวณแม่พระธรณีบีบมวยผม   ตรงนั้นเป็นแผงขายหนังสือเก่า มีหนังสือสารพัดชนิด แต่กระจัดกระจาย  ไม่เป็นหมวดเป็นหมู่    ต้องไปนั่งยองๆบ้าง หรือยืนขาแข็งบ้าง  คุ้ยเลือกเอาเอง จากหนังสือที่วางเป็นตั้งๆหรือกองแผ่กระจายอยู่หลังแผง
     มนตร์ขลังที่อยู่ท่ามกลางหนังสือแปลกๆ คาดเดาไม่ได้ว่าจะเจออะไรเข้าบ้างนี่ละค่ะ เป็นความประทับใจเหมือนขุดค้นหาขุมทรัพย์   คือไม่รู้ว่าจะเจอทอง เงิน ดีบุก หรือกรวดหินดินทราย  แต่ยังไงก็ต้องเจออะไรเข้าสักอย่าง
    ปัจจุบันไปค้นหาหนังสือเก่าในบูธงานหนังสือ  เขาจัดไว้เรียบร้อยเป็นระเบียบ    ค้นหาง่าย  ถามเจ้าของร้านก็ได้   แต่ความสนุกมันไม่เหมือนสมัยไปคุ้ยเองแถวแม่พระธรณีอีกแล้ว
   


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 19, 16:27
     ที่ร้านหนังสือเก่านี่เอง  เคยเจอหนังสือแค็ตตาล็อคสินค้าของ Sears ซึ่งไม่มีห้างมาตั้งในไทย  เป็นหนังสือเล่มหนาปึก ลงรูปถ่ายสินค้าบางหน้าเป็นสีซีเปีย บางหน้าก็หลากสีสวยสด  ตอนนั้นยังเป็นเด็กนักเรียน  ไม่รู้ว่ามันคืออะไร เพราะเมืองไทยยังไม่มีแค็ตตาล็อคสินค้า 
     รูปถ่ายสินค้าที่โชว์ไว้ในเล่มหนาปึกนั้นน่าตื่นตาตื่นใจมาก  โดยเฉพาะของเล่นและเสื้อผ้าเด็ก  เห็นแล้วเพลิดเพลิน   ดูแล้วดูเล่าไม่เบื่อเลยทีเดียว     ตัวหนังสือราคาถูก แค่ 5 บาท  ก็เลยขอเงินแม่ซื้อมาเปิดดูเล่นอยู่นานเป็นปี
     มารู้เอาเมื่อโตขึ้นว่ารูปถ่ายของเล่นและเสื้อผ้าสวยๆในหนังสือ มีขายที่ห้างชื่อ Sears  แต่กว่าจะรู้ก็โตเกินกว่าจะเล่นของเล่นหรืออยากได้เสื้อผ้าอย่างในหนังสืออีกแล้ว


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 19, 16:33
    เมื่ออายุมากขึ้น  เรียนอยู่มหาวิทยาลัย  มีเวลาไปเดินดูหนังสือเก่า  เจอแม็กกาซีนฝรั่งเล่มใหญ่ๆ อย่าง Good Housekeeping, Better Living , Ladies'Home Journal ,Better Homes เล่มเก่าๆที่สภาพยังดี  เอามาเทขายด้วยราคาเล่มละไม่กี่บาทเช่นกัน   
    แมกกาซีนพวกนี้ ปกหน้าจะถูกตัดออกครึ่งหนึ่ง  ไม่รู้ทำไมนะคะ   ข้างในมีภาพห้องหับบ้านช่องสวยๆของอเมริกา  รูปนางแบบและดาราฮอลลีวู้ดงามๆในยุคนั้น    ตำราทำขนม  รูปถ่ายเค้กชนิดต่างๆน่ากินมาก  และที่สำคัญคือมีเรื่องสั้นที่อ่านง่ายๆ  ลองอ่านแล้วรู้เรื่อง  ก็เลยแปลส่งไปลงสตรีสาร 
    สมัยนั้นไม่มีคำว่าลิขสิทธิ์ค่ะ  ใครใคร่แปลแปล


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: tita ที่ 01 เม.ย. 19, 11:10
ความทรงจำที่สวยงามของตลาดนัดสนามหลวงสำหรับเด็กน้อยในวันนั้น  คือตุ๊กตานางระบำบัลเล่ต์ค่ะ 55
เธอนุ่งกระโปรงกระดาษเยื่อสีฉูดฉาด  โยงห้อยไว้กับไม้ก้านที่เสียบบนเสา  จำได้ว่าคิดอยู่ว่าช่างสวยงามไปทุกสีเลือกไม่ถูก  ตัวละเท่าไรนึกไม่ออกแล้ว
กระโปรงกระดาษนั่นยังไม่ทันกลับถึงบ้านโดนน้ำก็สีตกขาดลุ่ย  ผู้ใหญ่ต้องแสดงฝีมือตัดเสื้อให้ตุ๊กตาใส่กันใหม่  ยุคนั้นผู้หญิงส่วนใหญ่ยังตัดเสื้อใส่กันเองได้  การตัดเสื้อให้ตุ๊กตาจึงไม่ใช่งานยาก
สมัยนั้นยังไม่มีตุ๊กตาบาร์บี้  ที่มีชุดเซ็ตเสื้อผ้าเครื่องประดับขายเป็นชุดๆ  ชุดละแพงๆ
เด็กเล็กทั่วไปสมัยนั้นจึงต้องวาดตุ๊กตาลงกระดาษแข็ง  วาดเสื้อผ้า  ดีไซน์ระบายสีสันกันเอง  เอาใส่คั่นไว้ในสมุดน่ะค่ะ  ถ้าจะมีตุ๊กตาเป็นตัวๆ ก็มักเป็นพลาสติกถูกๆ หน้าตาหลอกๆ  เด็กคนไหนมีฝีมือตัดเย็บก็พัฒนามาตัดเย็บเสื้อผ้าให้ตุ๊กตาใส่ประดิดประดอยให้ดูสวยงาม 
ถ้าเป็นลูกสาวผู้มีฐานะจึงจะมีตุ๊กตาฝรั่งหน้าตาสวยงามผมสีทองเป็นหลอดๆ เล่น  จำได้ว่าราคาแพงเฉียบ  ต้องเล่นอย่างทะนุถนอม


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: jungo ka ที่ 01 เม.ย. 19, 13:43
ร้านขายแสตมป์สะสมที่ฝั่งร้านขายหนังสือด้วยค่ะ ตอนเด็กๆ ช่วงหนึ่งจะชอบไปเดินวนไปวนมาเป็นค่อนวัน บางทีฟลุคเจอดวงละ 4 บาท ซึ่งเป็นราคาที่หายากของแต่ละชุด ปะปนมาในกองดวงละ 25 สต. กับ 75 สต. แต่สภาพอาจจะเก่ากว่า หรือมีร่องรอยชำรุด เลยทำให้ราคาตก เวลาหาเจอสะสมได้ครบชุดจะดีใจมาก ตอนหลังๆ เริ่มเบื่อไม่รู้หายไปไหนหมด


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 เม.ย. 19, 18:27
เคยสะสมแสตมป์เหมือนกันค่ะ    ตอนนี้ก็คงอยู่ที่ใดที่หนึ่งในห้องเก็บของ  :( :( :(

ตุ๊กตาราคาแพงในยุค 50+ ปีก่อนผลิตจากเมืองฝรั่งล้วนๆ  ยังไม่มีของเมดอินไชน่า โคเรีย ไต้หวันหรือเจแปน   หลังวังบูรพามีอยู่ 2-3 ร้าน ที่ขายของเล่นสวยๆ     ผ่านไปทีไรก็ไปชะเง้อมองทุกทีละค่ะ
ตุ๊กตามีอยู่ 2 วัยคือวัยทารก  กับวัยเด็กหญิงอายุไม่เกิน 5 ขวบ  มีเส้นผมทำจากอะไรไม่รู้เป็นเส้นเหมือนผมจริงๆ ดวงตาฝังแก้วใสสีสวยเหมือนลูกตาคน  หลับตาลืมตาได้    ตุ๊กตาหญิงสาวอย่างบาร์บี้ยังไม่เคยเห็นค่ะ
พวกนี้จะมาในกล่องด้านหน้าเป็นพลาสติคใส  มีของประกอบเช่นเสื้อผ้า รองเท้า  หวี แปรง กระจก  มีเสื้อผ้าสวยๆ บางร้านมีเสื้อผ้าตุ๊กตาขายด้วยค่ะ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 เม.ย. 19, 19:21
เข้าคิมหันต์ยามเย็นไปเล่นว่าว
เด็กหนุ่มสาวชาวประชาสารขัณฑ์
ทั้งปักเป้าเจ้าจุฬาท้าแข่งกัน
เวลาผันเปลี่ยนไปไม่เปลี่ยนแปลง


พ.ศ. ๒๕๐๖ มาร์ลอน แบรนโด ใช้เวลาว่างจากการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง The Ugly American (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3438.msg69470#msg69470) ไปเล่นว่าวที่ท้องสนามหลวง


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 เม.ย. 19, 22:03
สนามหลวง หน้าว่าว  คนที่มาชมเขาเล่นว่าวกันจะต้องกินเมี่ยงคำไปด้วย   ไม่รู้ทำไม 
เป็นความนิยมในยุคนั้นค่ะ
มีแม่ค้าหาบเมี่ยงคำมาขาย   คนกินก็ปูเสื่อกันกันบนพื้นสนาม  ชมว่าวที่ลอยฟ่องอยู่เต็มท้องฟ้าเหนือสนามหลวง 


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: choo ที่ 03 เม.ย. 19, 18:41
สนามหลวงเมื่อ 50+ ปีก่อนยังมีจักรยานให้เช่าสำหรับการหัดขี่หรือขี่เล่นได้ทุกวันเว้นเสาร์-อาทิตย์ ที่มีตลาดนัด ราคาค่าเช่าถ้าจำไม่ผิดชั่วโมงละ 1 บาท


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 เม.ย. 19, 19:02
ขี่จักรยาน ความบันเทิงที่พอหาได้อย่างหนึ่งสำหรับเด็กกรุงเทพฯ ที่สนามหลวง พ.ศ. ๒๕๑๕  ;D


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 เม.ย. 19, 15:42
    ย้อนอดีต
   ว่าวสนามหลวงเริ่มเมื่อลมว่าวมาเยือน    ฟ้าโปร่งไม่มีเมฆฝน   อากาศกลางวันร้อนแต่พอแดดร่มลมตกก็เริ่มเย็นสบาย
   ผู้คนทยอยกันมาที่ท้องสนามหลวง    ซึ่งกว้างขวางมาก เพราะมองไปไม่มีสิ่งก่อสร้างใหญ่ๆมาบดบัง  เห็นฟ้าเวิ้งว้าง
   แม่ค้าหาบเมี่ยงคำมาขาย  มีลูกมือตัวน้อยๆวิ่งยกถาดเมี่ยงคำไปบริการลูกค้าที่นั่งบนเสื่อริมสนาม
   ว่าวหลายแบบค่อยๆทยอยขึ้นฟ้า   ถ้าเป็นว่าวตัวเล็กตัวน้อยก็ไม่ค่อยมีใครสนใจเท่าไหร่    สนใจกับแต่ว่าวใหญ่ 2 แบบคือจุฬากับปักเป้า    เป็นว่าวเบ้อเริ่มมองเห็นได้แต่ไกล   มีคนชักคนหนึ่ง(หรือสองคนช่วยกัน)และคนส่งว่าวอีกคนหนึ่ง    พอว่าวติดลมพุ่งขึ้นสูงได้ก็มีเสียงเฮฮาเชียร์กันแว่วมา    จากนั้นอีกแป๊บ ว่างก็ไต่ระดับขึ้นสูงลิ่ว    ทุกคนก็แหงนมองตาม ตื่นเต้นเพลิดเพลินกับว่าวที่ถลาไปมาตามแรงลม
   จุฬากับปักเป้าจะเคลื่อนเข้าไปใกล้ๆกัน เพื่อดูว่าใครจะคว้าใครลงมาได้      วิธีคว้าเท่าที่จำได้คือสายป่านจะพาดผ่านกัน   กระตุกได้จังหวะ ว่าวที่ถูกคว้าก็ขาดร่วง หัวปักลงมา เป็นอันว่าแพ้    วงพนันขันต่อที่สนามก็เฮฮากันใหญ่
   ตอนเล็กๆชอบว่าวจุฬา  ไม่รู้ทำไม   อาจเห็นว่าสวยกว่าปักเป้าก็ได้ค่ะ 
   


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 เม.ย. 19, 09:41
วันอาทิตย์แล้ว ไปเดินดูของที่ตลาดนัดสนามหลวงกันดีกว่า  ;D


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 เม.ย. 19, 09:46
 ;D


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 เม.ย. 19, 10:16
ของกินของใช้ทุกชนิดมีที่สนามหลวง ขาดแต่ตู้เย็นกับโทรทัศน์เท่านั้น


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 เม.ย. 19, 10:50
แต่ในวันธรรมดา ที่ไม่มีตลาด สนามหลวงก็โล่งกว้างแบบนี้ละค่ะ




กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 เม.ย. 19, 10:51
ตำนานหนึ่งของสนามหลวงที่ยาวนานหลายทศวรรษ  คือหมอดูสนามหลวง บางคนก็เรียกว่าหมอดูโคนต้นมะขาม
หมอดูส่วนใหญ่เป็นชายอยู่ในวัยกลางคน หรือวัยชรา  เสื้อผ้าเก่าๆ  เขาเหล่านี้มาจากไหน  ทำไมจึงยึดโคนต้นมะขามเป็นโอเพ่นแอร์ออฟฟิศ   ไม่มีใครทราบประวัติ
ในวันธรรมดา    พวกเขามายึดที่นั่งใต้ต้นมะขามแต่ละต้น  มีเสื่อปูให้ลูกค้าแวะนั่ง   มีกระดาษแข็งเขียนว่า
" รับพยากรณ์โชคชะตาราศี"  หรือ " หมอดูแม่นๆ"
คนเดินผ่านไปมา ถ้าสนใจก็แวะนั่ง    ปรึกษาหารือกัน    หมอดูพวกนี้ดูทั้งดวง และลายมือ     ส่วนหมอดูลายเท้า ดูไพ่เจ็ดตัว ไพ่ฝรั่ง หรือดูโหงวเฮ้งยังไม่ก่อกำเนิดในยุค 50+ ปีก่อน
หมอดูเหล่านี้มักจะถูกมองด้วยสายตาไม่เชื่อถือนัก   เศรษฐีหรือคนระดับกลางมักจะไปหาพระ หรือหมอดูที่มีสำนักโอ่อ่าน่าเชื่อถือ    ลูกค้าส่วนใหญ่ก็ชาวบ้านที่กำลังทุกข์ใจ ตกงาน มีหนี้สิน หรือมีปัญหาครอบครัว      ราคาค่าดูหมอก็ถูก ไม่กี่บาท   พวกเขาเป็นที่ปรึกษาทางใจของลูกค้าผ่านทางคำทำนาย

ยุคก่อนโน้น   คนกรุงเทพมีน้อยกว่าเดี๋ยวนี้ ประมาณ 1ใน 12    ปัญหาก็น้อยลงไปตามส่วน  ลูกค้าจึงมีน้อย นานๆแวะมาที  ไม่เคยเห็นหมอดูเจ้าไหนมีลูกค้าเข้าคิวรอ

เมื่อสนามหลวงย้ายไปจตุจักในพ.ศ. 2525   นึกว่าหมอดูจะย้ายไปที่อื่นแล้ว    เปิดกูเกิ้ลดูถึงรู้ว่ายังมีอยู่ค่ะ    บางรายบอกว่ารายได้ดีเสียด้วย


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 เม.ย. 19, 10:55
วันอาทิตย์แล้ว ไปเดินดูของที่ตลาดนัดสนามหลวงกันดีกว่า  ;D
เดินเมื่อยแล้ว  แวะหาอะไรกินกันด้วยนะคะ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: jungo ka ที่ 10 เม.ย. 19, 12:54
คิดถึงสนามหลวงเหมือนกันค่่ะ ตอนเด็กๆ ชอบไปดูและซื้อสัตว์เลี้ยง ช่วง เสาร์-อาทิตย์ บางครั้งก็เคยแวะไปนั่งดูพวกแสดงปาหี่เร่ขายยา ที่ชอบพูดว่า "อับดุล มีอะไรบอกมา" ค่ะ นั่งดูกับพี่สาวสองคน กลัวก็กลัว แต่ก็ทนนั่งดูเป็นชั่วโมง พอโตขึ้นมาถึงได้รู้ว่าหลอกลวงทั้งนั้น ตลกดี


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 เม.ย. 19, 19:48
ไม่เคยดูปาหี่ขายยาที่สนามหลวงค่ะ  อับดุลคืออะไรคะ?

ในยุค 50+ ปีก่อน  มีหนังฮอลลีวู้ด 2 เรื่องมาถ่ายทำในไทย    เป็นข่าวเกรียวกราวในหนังสือพิมพ์อยู่หลายวัน
เรื่องแรกคือ The Bridge on the River Kwai  แปลชื่อเป็นไทยตรงๆว่า "สะพานข้ามแม่น้ำแคว"
เป็นเรื่องของเชลยศึกฝรั่งในสงครามโลกครั้งที่ 2  ที่ถูกควบคุมตัวในค่ายเชลยที่จังหวัดกาญจนบุรี  
เรื่องนี้เป็นหนังใหญ่ มีดาราตุ๊กตาทองเล่นถึง 2 คนคือเซอร์อเลกซ์ กินเนส และวิลเลียม โฮลเดน

ส่วนดาราสาวชาวไทยของเราได้เข้าไปเป็นตัวประกอบอยู่ในหนังเรื่องนี้ 4 คน  จำได้ว่ามีวิไลวรรณ วัฒนพานิช ซึ่งเป็นนางเอกดังอยู่ในยุคนั้น

เรื่องนี้ออกฉายในพ.ศ. 2500   ในยุคที่ชาวบ้านฝรั่งทั้งยุโรปและอเมริกาไม่รู้ว่าไทยแลนด์อยู่ส่วนไหนในโลก  ถือเป็นปรากฎการณ์ใหญ่ในกรุงเทพ

https://www.youtube.com/watch?v=yHqIJbv741w


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 เม.ย. 19, 20:07
ได้รายชื่อดาราไทยมาครบ 4 คนแล้วค่ะ
วิไลวรรณ วัฒนพานิช  งามตา ศุภพงศ์  เยาวนารถ ปัญญะโชติ และ กรรณิการ์ ดาวคลี่


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 เม.ย. 19, 20:08
อีกภาพหนึ่ง


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: jungo ka ที่ 13 เม.ย. 19, 23:02
ตอบอาจารย์เทาชมพูค่ะ

จะเป็นโชว์ของคณะขายยาและใบ้หวยค่ะ มีการแสดงงูสู้กับพังพอนประกอบ แต่ไฮไลท์จะอยู่ที่การเสกวิญญาณอับดุลเข้าร่างตัวแสดงค่ะ ตอนเด็กๆ เราก็ดูแบบไม่รู้เรื่องอะไร นึกว่าคนถูกผีเข้าจริงๆ แต่ทาร์เก็ตเค้าคือผู้ใหญ่ที่หลงเชื่อยอมควักเงินซื้อสินค้าของเค้า มีพวกคณะตลกเอามุกนี้มาใช้หากินกันหลายคณะอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ตอนนี้ไม่น่าจะฮิตแล้ว

(ตามตัวอย่างลิงก์นี้นะคะ ต้องขออภัยที่หนูแปะยูทูปไม่เป็นค่ะ  https://www.youtube.com/watch?v=6PFSktxJHWk )

เสิร์ชดูในกูเกิ้ลก็ยังมีคณะเร่พวกนี้ตามชานเมืองและต่างจังหวัดค่ะ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 เม.ย. 19, 08:48
เป็นแบบนี้เอง
ขอบคุณค่ะ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 เม.ย. 19, 21:11
มาดูดาราสาวสวยเมื่อ 50+ ปีก่อนกันค่ะ

https://www.youtube.com/watch?v=ZwGC4bn8KWo


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 เม.ย. 19, 21:15
ดาวตลกเมื่อ 50+ ปีก่อน ค่ะ
เขาและเธอเคยสร้างเสียงหัวเราะได้ทั่วประเทศ
 
https://www.youtube.com/watch?v=c0UsiMwA4YE


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 เม.ย. 19, 09:31
สมาชิกเรือนไทยหลายท่านคงเกิดทัน  ผ่านตาโฆษณาไทยเหล่านี้นะคะ

https://www.youtube.com/watch?v=_ARnBMxXlwk&t=36s


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 เม.ย. 19, 11:52
ในเทศกาลสงกรานต์ กิจกรรมหนึ่งที่นิยมจัดกันคือการประกวดนางงาม การประกวดเทพีสงกรานต์วิสุทธิกษัตริย์เป็นการประกวดที่เก่าแก ยิ่งใหญ่ และยังคงมีสืบมาจนปัจจุบัน

สงกรานต์ที่ถนนวิสุทธิกษัตริย์เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ เกิดจากการจัดงานของชาวบ้านในละแวกบ้านพานและชาวบ้านรอบ ๆ เช่น บ้านหล่อ บ้านพานถม วัดตรีทศเทพ ซอยนามบัญญัติไปจนถึงบางขุนพรหม เทเวศร์ วัดอินทรวิหาร วัดสามพระยา วัดใหม่อมตรส  มาร่วมกันทำบุญใส่บาตร ปล่อยนก ปล่อยปลาในวันสงกรานต์ กลางคืนมีมหรสพต่าง ๆ ให้ดูฟรี และได้รับการอุปการะจากเจ้าคุณวิเศษธรรมธาดา อดีตอธิบดีศาลฎีกา ตลอดจนอดีตข้าราชการและผู้อาวุโสสมัยนั้นช่วยสนับสนุน
 
ต่อมาการจัดงานได้ระงับไป ๔ ปีในระหว่างสงครามโลกจนถึงราว พ.ศ. ๒๔๘๙ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ทรงพระราชทานเงินสมทบการจัดงานขึ้นอีกครั้งโดยใช้ชื่องานว่า “งานรับขวัญชาววิสุทธิกษัตริย์” และเริ่มมีการประกวดเทพีสงกรานต์เป็นครั้งแรก
 
เล่ากันว่าการประกวดนั้นเริ่มแต่เช้าตรู่ผู้เข้าประกวดทุกคนจะมาใส่บาตรข้าวสารอาหารแห้งพร้อม ๆ กับชาวบ้านละแวกถนนวิสุทธิกษัตริย์ แล้วการประกวดเริ่มขึ้นในเวลา ๗ โมงเช้า ซึ่งแตกต่างไปจากเวทีประกวดอื่น ๆ ที่มักจัดกันในช่วงเย็นค่ำ  ของรางวัลที่มอบในสมัยนั้นก็เป็นพานลงยา ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากตรอกบ้านพานนั่นเอง

ภาพการประกวดเทพีวิสุทธิกษัตริย์ พ.ศ. ๒๔๙๙ ลงสีโดย คุณหนุ่มสยาม (https://www.facebook.com/780950968608377/posts/2127452267291567?sfns=mo)

ภาพต้นฉบับจาก https://www.facebook.com/929668850556369/posts/1035292176660702?sfns=mo

ข้อมูลจาก http://lek-prapai.org/home/view.php?id=5136


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 เม.ย. 19, 12:05
๑๓ เมษายน ๒๕๐๘ รายงานการประกวดเทพีสงกรานต์ ที่บริเวณถนนวิสุทธิกษัตริย์

https://www.youtube.com/watch?v=bHOnyEn4Dpk


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 เม.ย. 19, 12:08
การประกวดเทพีสงกรานต์วิสุทธิกษัตริย์ พ.ศ. ๒๕๐๘

https://youtu.be/7GO2Ea8Y8Oc

คำบรรยายจากคลิปซึ่งเสนอในรายการคุณพระช่วย

ที่บริเวณถนนวิสุทธิกษัตริย์ ตอนเช้าวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๐๘ ประชาชนเนืองแน่นเป็นพิเศษ เพราะได้มีการประกวดเทพีสงกรานต์ ซึ่งคณะกรรมการจัดงานจัดให้มีขึ้น

สุภาพสตรีสาวผู้เข้าประกวดเทพีสงกรานต์วิสุทธิกษัตริย์ ประจำปี ๒๕๐๘ มีอยู่ด้วยกันรวม ๓๐ คน แต่ละคนมีความงามไม่แพ้กันเลย รวมทั้งเนาวรัตน์ วัชรา รองนางสาวไทยประจำปี ๒๕๐๘ ก็เข้าประกวดเทพีสงกรานต์วิสุทธิกษัตริย์­ด้วย
 
ตอนนี้บรรดาสุภาพสตรีผู้เข้าประกวด ก็พากันนวยนาฏบนเวทีเพื่อให้คณะกรรมการพิจ­ารณาสัดส่วน และประชาชนที่ไปชมได้พิจารณาความงามของเธอ­อย่างใกล้ชิด โดยออกเดินโชว์ตัวรวม ๓ รอบด้วยกัน แล้วก็เข้าไปยังที่พัก เมื่อเดินเสร็จแล้วก็ไปนั่งให้คณะกรรมการพิจารณาความงามของเธออีกครั้งหนึ่ง

คณะกรรมการผู้ตัดสินซึ่งประกอบด้วยหญิงและ­ชาย โดยมีคุณหญิงละออ สุคนธทรัพย์ เป็นประธานกรรมการตัดสิน
 
ภาพยนตร์นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการภาพยนต­ร์ข่าว ๓๖๖ วันนี้ในอดีต ฉลอง ๓๐ ปี หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ๒๕๒๗-๒๕๕๗


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 เม.ย. 19, 10:38
เครื่องแบบพี่ตำรวจสมัยก่อนนี่หล่อจริงๆ เลย  8)

ชุดตำรวจฉลามบก พ.ศ. ๒๔๙๗

ภาพจาก https://www.facebook.com/929668850556369/posts/1039941649529088?sfns=mo


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 เม.ย. 19, 10:40
ชุดตำรวจสมัยใกล้เคียงกัน จากภาพยนตร์เรื่องโหมโรง  ;D


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 เม.ย. 19, 14:08
เครื่องแบบตำรวจยุค 60+ ปีก่อน
รูปซ้ายอยู่ในละครเรื่อง มาลัยสามชาย ค่ะ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 เม.ย. 19, 16:11
     50+ปีก่อนมีห้างสรรพสินค้าไฮโซ ที่ชาวกรุงเทพรู้จักดี    มีโฆษณาออกทางทีวีช่องบางขุนพรหม  เจ้าของห้างชื่อคุณณัฐ นิยมวานิช มาเอง ด้วยคำขวัญคล้องจองกันว่า "คลังแห่งเครื่องกีฬา ราชาแห่งเครื่องดนตรี ราชินีแห่งเครื่องสำอาง"
    คือ ห้างไนติงเกล โอลิมปิค อยู่ที่ย่านวังบูรพา   ปัจจุบันนี้ก็ยังอยู่   ครั้งนั้นเป็นห้างใหญ่ มีสินค้าดีๆ หรูๆสารพัดชนิด     ถ้าจะซื้อของแพงแต่ดีสมราคาก็ต้องไปที่ห้างนี้

  


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 19, 12:11
บ้านเมืองเมื่อ 71 ปีก่อน
https://www.youtube.com/watch?v=1rpnaOw2J6U


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 19, 12:14
บ้านเมืองเมื่อ 54 ปีก่อน

https://www.youtube.com/watch?v=bPsWwfdAMo8


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 19, 08:31
สาวงามที่สุดของไทยเมื่อ 50+ ปีก่อน   อาภัสรา หงสกุล และจีรนันท์ เศวตนันทน์
คนแรกได้ตำแหน่งนางงามจักรวาล  คนที่สองได้รองนางงามจักรวาลอันดับ 2


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 เม.ย. 19, 14:55
หลังจากงดการประกวดนางสาวไทยไปเป็นเวลา ๑๐ ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ การประกวดนางสาวไทยก็จัดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในงานวชิราวุธานุสรณ์ ที่วังสราญรมย์

วันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ ผู้ได้ตำแหน่งมีดังนี้

จากซ้ายไปขวา รองอันดับ ๔ ละอองดาว กิริยา, รองอันดับ ๒ เนาวรัตน์ วัชรา (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%99%E0%B9%8C_%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%8A%E0%B8%A3%E0%B8%B2), นางสาวไทย อาภัสรา หงสกุล (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B2_%E0%B8%AB%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B8%A5), รองอันดับ ๑ อรัญญา นามวงศ์ (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2_%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C) และรองอันดับ ๓ เสาวนีย์ วรปัญญาสกุล

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5927.0;attach=24876;image)


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 19, 15:25
การประกวดนางงามจักรวาล มิสยูนิเวอร์ส พ.ศ. 2507  คือ 55 ปีมาแล้ว

https://www.youtube.com/watch?v=9-OPz19_7Ak


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 เม.ย. 19, 19:20
หลังจากได้รับตำแหน่งนางงามจักรวาลในการประกวดที่ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๐๘ ในวันเดินทางกลับเมืองไทย คุณอาภัสรา หงสกุลอยู่ในรถเปิดประทุนแห่จากสนามบินดอนเมืองไปตามท้องถนนจนถึงสนามหลวง ท่ามกลางประชาชนให้การต้อนรับอย่างมืดฟ้ามัวดิน  ;D


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 เม.ย. 19, 09:12
คนไทยตื่นเต้นกันมาก เพราะในยุคนั้น ไม่มีใครเข้าใจว่าการประกวดนางงามจักรวาลเป็นเพียงธุรกิจหนึ่งของเอกชน ในสหรัฐอเมริกา   มีการประกวดทำนองนี้กันอยู่หลายเจ้าด้วยกัน
ผู้รับตำแหน่งก็จะมีสัญญาผูกมัดให้ไปเป็นพรีเซนเตอร์สินค้าที่มีสัญญากับบริษัทผู้จัดประกวด
มีการประชาสัมพันธ์ว่านางงามจักรวาลคือทูตสันถวไมตรี  ได้เดินทางไปหลายๆประเทศ เพื่อเผยแพร่ผลงาน  ซึ่งเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงให้ประเทศด้วย
อาภัสราจึงเป็นผู้นำเกียรติยศชื่อเสียงมาให้ประเทศเล็กๆในเอเชียอาคเนย์ซึ่งผู้คนในโลกตะวันตกยังไม่รู้จัก  ได้มีโอกาสรู้จัก


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 เม.ย. 19, 09:15
ชุดว่ายน้ำของดาราไทย(และสาวไทย)เมื่อ 50+ ปีก่อน
มิดชิดกว่าชุดไปงานปาร์ตี้ของดาราสาวไทยบางคนในยุคนี้เสียอีก

https://www.youtube.com/watch?v=s4lpeSFct1c


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 เม.ย. 19, 20:58
สาวไทยในชุดว่ายน้ำบนเวทีนางงามจักรวาลเมื่อ ๕๐+ ปีก่อน  ;D

ทั้งคุณอมรา, อาจารย์สดใส และคุณอาภัสรา นับเป็นผู้เปิดประตูให้สาวไทยสู่เวทีประกวดนางงามจักรวาล

ในปี ๒๔๙๖ เป็นปีที่ “อนงค์ อัชวัฒนา” ได้รับตำแหน่งนางสาวไทย แต่ด้วยความไม่พร้อมหลายอย่างทางกองประกวดจึงได้ส่ง “อมรา อัศวนนท์” รองนางสาวไทยอันดับ ๑ ซึ่งมีความพร้อมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษาที่เธอสามารถพูดได้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส กับใบหน้าสวยคมตามแบบฉบับสาวลูกครึ่งและคุณสมบัติอันเพียบพร้อมแบบกุลสตรีไทย ไปช่วงชิงความงามอันดับหนึ่งบนเวทีนางงามจักรวาลในนาม “มิสไทยแลนด์” การเดินทางไปประชันโฉมในครั้งนั้นเป็นไปอย่างไม่เป็นทางการ อมราต้องเดินทางไปประกวดด้วยทุนส่วนตัว และยังเดินทางด้วยความยากลำบากเพราะเธอต้องเดินทางสู่อเมริกาด้วยเรือเดินทะเล กว่าการเดินทางจะสิ้นสุดก็ใช้เวลากว่าครึ่งเดือน การเดินทางไปสู่เวทีการประกวดในครั้งนั้นอมราพลาดตำแหน่งนางงามจักรวาล

ในปีถัดมารัฐบาลไทยไม่ให้การสนับสนุนการประกวดนางสาวไทย แม้จะมีการวิ่งเต้นต่อรองด้วยเหตุผลก็ไม่ได้รับความสนใจ กองประกวดนางสาวไทยจึงต้องยุติบทบาทในการคัดเลือกสาวงามไปประกวดในต่างประเทศเรื่อยมา

ปี ๒๕๐๒ มีสาวไทยเข้าร่วมประกวดนางงามจักรวาลครั้งที่ ๒ ต่อจากอมรา อัศวนนท์ แต่สาวคนนี้ไม่มีตำแหน่งนางงามหรือมงกุฎการันตีจากเวทีความงามใด ๆ มาเลย เธอเข้าประกวดเนื่องจากเพราะกำลังศึกษาอยู่ที่สหรัฐอเมริกาพอดี ทำให้  “สดใส วานิชวัฒนา”  ตัดสินใจหาประสบการณ์ด้วยตัวเองบนเวทีระดับโลก และเธอก็ไม่ได้กลับมามือเปล่า เพราะเธอสามารถคว้าตำแหน่งนางงามมิตรภาพมาครองได้สำเร็จ

ปี ๒๕๐๗  “อาภัสรา หงสกุล” นักเรียนสาวจากปีนัง ได้รับคัดเลือกให้เป็นยอดพธูไทย  หลังจากที่เชือดเฉือนตำแหน่งกับ “อรัญญา นามวงศ์” เพียงเส้นยาแดงผ่าแปด เธอจะต้องทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนของสาวไทยขึ้นประชันความงามบนเวทีนางงามจักรวาลที่ “ไมอามี่” สหรัฐอเมริกา การประกวดบนเวทีระดับโลกในครั้งนั้นมีสาวงามจากประเทศต่าง ๆ นับร้อยคนเข้าร่วมชิงตำแหน่งนี้ นับตั้งแต่ทราบข่าวการเดินทางไปประกวดของนางสาวไทย ทุกคนต่างก็ตั้งใจรอฟังข่าว โดยเฉพาะผู้ที่หวังในตัวของอาภัสรา ว่าจะต้องคว้าตำแหน่งมาครองอย่างแน่นอน และแล้วในคืนตัดสินรอบสุดท้าย คือวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๐๘ “อาภัสรา หงสกุล” ก็เป็นสาวไทยคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนางงามจักรวาล

อมรา อัศวนนท์ พ.ศ. ๒๕๙๗ >> สดใส วานิชวัฒนา พ.ศ. ๒๕๐๒ >> อาภัสรา หงสกุล พ.ศ. ๒๕๐๘


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 พ.ค. 19, 10:34
เมื่อ 50+ ปีก่อน  สาวไทยไปฮอลลีวู้ดมาแล้ว    มีทั้งการแสดงในหนังทีวี และร้องเพลงบันทึกลงแผ่นให้ฝรั่งฟังมาด้วย
เธอคือสดใส วานิชวัฒนา หรือรศ.สดใส พันธุมโกมล  ศิลปินแห่งชาติ

https://www.youtube.com/watch?v=KTYpwy5Ss0Y


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 พ.ค. 19, 10:35
https://www.youtube.com/watch?v=VANYDhK70A4&list=PLBKDZAtkCE37u6JFv0K9PMErovv_eo14K&index=2


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 พ.ค. 19, 10:36
https://www.youtube.com/watch?v=l0QrNimKtis&list=PLBKDZAtkCE37u6JFv0K9PMErovv_eo14K&index=3


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 พ.ค. 19, 11:52
สดใส พันธุมโกมล : ครูใหญ่ผู้เป็นที่รักของนักเรียนการละครทุกคน

ตอนที่ ๑ https://adaymagazine.com/yesterday-45/

ตอนที่ ๒ https://adaymagazine.com/yesterday-46/

ตอนที่ ๓ https://adaymagazine.com/yesterday-47/

ตอนที่ ๔ https://adaymagazine.com/yesterday-48/

จากคอลัมน์ a day with a view นิตยสาร a day ปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 พ.ค. 19, 12:09
โชคดีมากที่ได้เรียนวรรณคดีเชคสเปียร์กับอาจารย์สดใส     ไม่มีใครสอน Macbeth ได้ดีเท่าอาจารย์อีกแล้ว   
ยังจำได้จนทุกวันนี้

https://www.youtube.com/watch?v=mXFxvSp5wFQ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 พ.ค. 19, 13:58
วันแห่งความหวังเมื่อ ๕๐+ ปีก่อน  ;D

การออกตัวเลขของสลากกินแบ่งรัฐบาลที่จังหวัดนนทบุรี พ.ศ. ๒๔๙๖ โดยให้ลูกบอลตัวเลขหมุนในโลหะทรงกลมแล้วมีสลักกลไกให้บอลตกลงมาเอง โดยลูกบอลแต่ละลูกจะทำการชั่งน้ำหนักเพื่อพิสูจน์ว่ามีมวลเท่ากันทุกลูก การออกสลากรางวัลในสมัยก่อนออกประมาณ ๕-๖ ครั้งต่อเดือน

ลงสีและอธิบายภาพโดยคุณหนุ่มสยาม
https://www.facebook.com/780950968608377/posts/2109244312445696?s=100006582436536&v=i&sfns=mo

ภาพต้นฉบับจาก
https://www.facebook.com/929668850556369/posts/1030702073786379?s=100006582436536&v=i&sfns=mo


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 พ.ค. 19, 14:03
ลงทุนฉบับละ ๕ บาท... ไม่ทราบว่ามีขายเกินราคาเหมือนสมัยนี้หรือเปล่า  ;D


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 พ.ค. 19, 19:56
พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เมื่อ ๕๐+ ปีก่อน

ภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์เมื่อปี ๒๕๐๓ มีการรื้อฟื้นพระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นมาใหม่ หลังจากห่างหายไป ๒๓ ปี  พระราชพิธีพืชมงคลซึ่งเป็นพิธีพุทธจัดขึ้นในอุโบสถวัดพระแก้ว เย็นวันที่ ๑ พฤษภาคม  ๒๕๐๓ และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์ จัดขึ้นในเช้าวันต่อมา ณ ท้องสนามหลวง

https://youtu.be/l3atNfCftps


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 19, 08:48
ได้มาจาก FB เมืองไทยในอดีต
คลองพระโขนง บ้านเรือนและผู้คนบนฝั่งน้ำ พระโขนง กรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2480 หรือ 82 ปีก่อน
ปากคลอง มองไปทางทิศเหนือ
++++
เครดิต :: ดร. โรเบิร์ต ลาริมอร์ เพนเดิลตัน (Dr. Robert Larimore Pendleton) นักวิทยาศาสตร์ทางดินและการเกษตร ชาวอเมริกัน ซึ่งเข้ามาปฏิบัติงานในฐานะที่ปรึกษาของกรมเกษตรและการประมง กระทรวงเกษตราธิการในขณะนั้น. University of Wisconsin-Milwaukee Libraries, ประเทศไทย 2500


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 19, 08:54
คลองพระโขนง ปัจจุบัน

https://www.youtube.com/watch?v=3WjKJtMOVBM


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 24 พ.ค. 19, 09:54
เห็นภาพคลองในอดีตแล้วอยากย้อนเวลากลับไปเที่ยว
โดดลงคลองเล่นน้ำ น่าจะชื่นใจดีครับ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 19, 17:03
ชีวิตสมัยโดดลงเล่นน้ำในคลอง มีองค์ประกอบอีกหลายอย่างที่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว   
เช่น เข้านอนต้องกางมุ้ง    แอร์ไม่ต้องพูดถึง มีพัดลมก็ไฮโซมากแล้ว

นี่คือโฆษณาสมัยคนไทยยังนอนในมุ้งอยู่ค่ะ  สิ่งที่ตามมาชุกชุมคือยุง   สินค้าที่ทุกบ้านรู้จักก็คือยากันยุง

https://www.youtube.com/watch?v=aUI6bsBESqk



กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 19, 17:28
https://www.youtube.com/watch?v=_ARnBMxXlwk&t=65s


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 19, 17:31
ใครทันบ้าง?

https://www.youtube.com/watch?v=07ICPlyFq5U


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 25 พ.ค. 19, 20:46
เกือบทันครับอาจารย์ คือรถที่ผมเคยนั่งสมัยเด็กน้อยหน้าตาประมาณนี้ แต่ผู้คนแต่งตัวทันสมัยขึ้นมาหน่อย หรือถนนขยายจาก 2 เลนเป็น 4 เลนแล้วอะไรแบบนี้ เข้าใจว่าเป็นช่วงคาบเกี่ยวกันมากกว่า

แต่ภาพชัดมากครับ เพลงก็เพราะ อดีตเป็นอะไรที่นั่งมองได้ทั้งวันโดยไม่มีเบื่อ ส่วนปัจจุบันทำไมถึงได้ร้อนนรกแตกขนาดนี้หนอ  :'(


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 พ.ค. 19, 08:28
มีคลิปมาพาคุณ superboy และท่านอื่นๆไปเที่ยวอดีตเมื่อ 50+ ปีอีก 2 คลิปค่ะ

https://www.youtube.com/watch?v=UG1Ai20YOTs


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 พ.ค. 19, 08:28
https://www.youtube.com/watch?v=jE4DZ97MPeQ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 26 พ.ค. 19, 14:54
ดูแล้วเหงาครับ...คิดถึงอดีต (เฉพาะวันนี้นะ)

ผมไม่เคยไปสายใต้เลยสักครั้ง ไม่ว่าจะย้ายไปอยู่ที่ไหนก็เถอะ แต่หมอชิตกับเอกมัยใช้บริการบ่อยมาก เคยนั่งรถเมล์แดงไปหาเพื่อนที่ชลบุรีแล้วก็กลับใช้เวลาเป็นวันแต่สนุกมาก ต่อมามีรถขับใช้เวลารวมแค่ 3 ชั่วโมงกว่าแต่อารมณ์ต่างกันลิบลับ

ผมมีเป้าหมายว่าสักวันจะนั่งรถไฟไปลงหาดใหญ่หรือเชียงใหม่ แต่ยังหาโอกาสกับคนไปด้วยไม่ได้เสียที มันคงเสียเวลามากสินะเมื่อเทียบกับเครื่องบิน


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ค. 19, 09:47
คลิปข้างล่างมาจากหนังฝรั่งเศสแต่ดารานำเป็นชาวอเมริกัน ชื่อ Kerwin Mathews เป็นเรื่องของสายลับ OSS 117 แบบเดียวกับเจมส์ บอนด์  มีหลายตอนด้วยกัน   
ตอนนี้ชื่อ  Panic in Bangkok  ออกฉายค.ศ. 1964 ค่ะ

เพราะฉะนั้นกรุงเทพในคลิปนี้ก็คือกรุงเทพเมื่อ 55 ปีมาแล้ว
ส่วนพระเอกรูปหล่ออำลาโลกไปเมื่อปี 2007  อายุได้ 81 ปี   

ป.ล. เห็นสวมสูท ขับรถเปิดประทุนฝ่าแดดในเมืองกรุงแล้วสงสารแกจริงๆ  หวังว่าตอนถ่ายทำคงเทคเดียวหรือสองเทคอย่างมาก

https://www.youtube.com/watch?v=wL0sK6qbWWw


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 29 พ.ค. 19, 19:43
ภาพชัดมากครับอาจารย์ ในคลองไม่รู้จ้างเรือมาแล่นหรือเปล่า แต่ชอบบรรยากาศบนท้องถนนมากกว่า เสาไฟฟ้ายังไม่มีสายระเกะระกะแบบทุกวันนี้  :-X


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ค. 19, 10:42
ถนนในกรุงเทพ ในค.ศ. 1965  หรือ พ.ศ. 2508
https://www.youtube.com/watch?v=W9D3y5uMka4


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ค. 19, 10:43
ดูจากคลิปข้างบนนี้    อย่างหนึ่งที่หายไปกับกาลเวลา คือ พ่อค้าหาบของเล็กๆน้อยๆ เร่ขายไปตามถนน
เรียกว่า "เจ๊กป๋องแป๋ง"


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ค. 19, 10:54
คลิปนี้บอกแต่ว่าเป็นประเทศไทยยุค 1960s  ไม่ระบุว่าค.ศ.ไหน
ดูจากแฟชั่นในภาพน่าจะเป็น 1965 ขึ้นไปค่ะ
สาวในตอนต้นคลิป ขับรถสปอร์ตแดง คือม.ร.ว. สุพินดา จักรพันธุ์

https://www.youtube.com/watch?v=O4bXObX_coI


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 31 พ.ค. 19, 12:55
มีเขียนไว้ที่สเลทค่ะ ว่า 28/2/68


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 19, 16:08
ขอบคุณค่ะ
มุมนี้คุ้นๆเหมือนแถวราชประสงค์   ใครนึกออกบ้างคะ  ถ่ายในปี 2503
(เครดิตภาพ :  Facebook เมืองไทยในอดีต)


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 19, 16:14
กรุงเทพเมื่อประมาณ  60 ปีก่อน

https://www.youtube.com/watch?v=ciOqLAF1QH0&t=324s


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 09 มิ.ย. 19, 14:26
ขอบคุณค่ะ
มุมนี้คุ้นๆเหมือนแถวราชประสงค์   ใครนึกออกบ้างคะ  ถ่ายในปี 2503
(เครดิตภาพ :  Facebook เมืองไทยในอดีต)

ภาพนี้ เป็นภาพของสี่แยกราชประสงค์ครับ

ผู้ถ่ายภาพ จะต้องยืนที่หัวมุมฝั่งโรงพยาบาลตำรวจ แล้วหันกล้องตรงไปที่ว่างฝั่งถนนเกษร (ซึ่งต่อมาภายหลัง ตึก BOAC สูง7ชั้น จะสร้างที่ตรงนี้)
ส่วนตึกแถวตรงกลางภาพ ห้องหัวมุม นั่นคือ ร้านขายของเล่นชื่อดังในสมัยนั้นครับ "ห้างอมร"

และผมได้นำภาพตำแหน่งเดียวกัน ปี 2560 จากกูเกิล มาเปรียบเทียบอ้างอิงไว้ครับ

(เครดิตภาพ :  Facebook เมืองไทยในอดีต และ Google Map)


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มิ.ย. 19, 17:00
นึกออกแล้ว  ขอบคุณมากค่ะ
หลังตึกแถวที่มีห้างอมร คือซอยเกษร ซึ่งเป็นส่วนเริ่มต้นยุคนำสมัยของสี่แยกราชประสงค์   ในนั้นมีซุปเปอร์มาร์เก็ตเล็กๆ ที่ยังไม่เคยมีในกรุงเทพ    มีลิตเติ้ลโฮมเบเกอรี่มาเปิด มีร้านอาหาร  ตึกแถวด้านหน้ามีร้านเครื่องแก้ว Scandia  ที่มีเครื่องแก้วหรูเริ่ดจากยุโรป    ไม่เหมือนเครื่องแก้วแถวสะพานหัน 


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: choo ที่ 24 มิ.ย. 19, 12:23
อยากให้ดูภาพเก่า การก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่เริ่มขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ซึ่งสมัยนั้นถือเป็น"วันชาติ" (ตั้งแต่ปี 2481จนถึง 2503 จึงเปลี่ยนเป็นวันที่ 5 ธันวาคม)และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 ในสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี
https://youtu.be/187SaqsiUq0


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ก.ค. 19, 07:07
ภูเขาทอง ชุมชนป้อมพระกาฬ และจอมโจรอาร์แซนลูแปงที่ศาลาเฉลิมไทย เมื่อ ๖๒ ปีก่อน พ.ศ.๒๕๐๐

Photographer : Fabrizio La Torre
Image Source : François Bayle, Italy

ยามเช้า


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ก.ค. 19, 07:08
ยามสาย


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ค. 19, 10:24
สวนผัก ย่านสนามเป้า เมื่อพ.ศ. 2491
ภาพจาก facebook เมืองไทยในอดีต

เครดิต:ดร. โรเบิร์ต ลาริมอร์ เพนเดิลตัน (Dr. Robert Larimore Pendleton) นักวิทยาศาสตร์ทางดินและการเกษตร ชาวอเมริกัน ซึ่งเข้ามาปฏิบัติงานในฐานะที่ปรึกษาของกรมเกษตรและการประมง กระทรวงเกษตราธิการในขณะนั้น. University of Wisconsin-Milwaukee Libraries, ประเทศไทย 2481


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 04 ก.ค. 19, 21:02
ถนนแทบไม่มีคนเลย หนังสือจอมโจรลูแปงภาษาไทยเคยมีขายไหมครับอาจารย์ ทำไมผมไม่เคยผ่านตาแฮะ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ค. 19, 21:55
เรื่องนี้แปลมาหลายสิบปีแล้วค่ะ  ช่วงทศวรรษ 2500  


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 ก.ค. 19, 17:45
อาร์แซนลูแปงเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓

จาก http://paifarlovebook.lnwshop.com/product/180/อาร์แซนลูแปง (http://paifarlovebook.lnwshop.com/product/180/อาร์แซนลูแปง)


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 ก.ค. 19, 17:46
 ;D


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 05 ก.ค. 19, 20:58
โห ราคา 80 บาทปี 2503 ถือว่าแพงไหมครับ สมัยก่อนผมซื้อหนังสืออ่านนอกเวลา 15 บาทเอง เสียดายหายไปเกือบหมดตอนน้ำท่วม


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ค. 19, 21:16
แพงค่ะ 
ยุค 2503  จำได้ว่าก๋วยเตี๋ยวขายในร.ร. ชามละ 1 บาท


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 19, 13:33
หนังสือนวนิยายที่สมัยนี้ขายกัน 300+ บาทขึ้นไป  สมัยโน้นขายเล่มละ 30 บาทโดยเฉลี่ย
เรียกว่าเล่มหนึ่งซื้อก๋วยเตี๋ยวได้ประมาณ 30 ชาม
เดี๋ยวนี้เทียบสัดส่วนก็คงพอกันละค่ะ
แต่อัตราเงินต่างหากที่เปลี่ยนไป
นึกได้ว่า ในยุค 1970s ของอเมริกา  เสื้อถักไหมพรมธรรมดาๆ ไม่ใช่แบรนด์ ซื้อที่ห้างสรรพสินค้าแบบบิ๊กซี  ราคา 11 เหรียญ
ผ่านไปถึงทศวรรษ 2010s  ไปซื้อเสื้อถักไหมพรมในห้างแบบบิ๊กซี  ก็ยังราคา 11 เหรียญอยู่   ไม่ได้กลายเป็น 110 เหรียญ


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 ก.ค. 19, 10:34
ภูเขาทอง มุมเดียวกัน ถ่ายห่างกัน ๖๑ ปี

ภาพอดีต     ถ่ายภาพ พ.ศ. ๒๕๐๐ ช่างภาพ Fabrizio La Torre

ภาพปัจจุบัน ถ่ายภาพ พ.ศ. ๒๕๖๑  ช่างภาพ Bangkok Pulse By Pisut Jarintippitack

ภาพจาก https://www.facebook.com/532544466865594/posts/2256075734512450?s=100006582436536&sfns=mo


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 ก.ค. 19, 10:28
อีกมุมหนึ่งของถนนราชดำเนินเมื่อ ๖๑ ปีก่อน  สาวงามหน้ากองสลาก พ.ศ. ๒๕๐๑

ภาพจาก https://www.facebook.com/1433459853562013/posts/2156575231250468?s=100006582436536&sfns=mo


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ก.ค. 19, 07:11
ผลการออกสลากงวดเดือนพฤศจิกายน ๒๕๐๑

สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ถนนราชดำเนิน กรุเทพมหานคร (พระนคร)  พ.ศ. ๒๕๐๑

Photographer : Jack Metzger Image
Image Source : ETH-Bibliothek, Switzerland

ภาพจาก https://www.facebook.com/77PPP/photos/a.123471934427651/1063485470426288?type=3&sfns=mo


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ก.ค. 19, 07:31
;D


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ค. 19, 09:08
งานตลาดนัดเกษตรกลางบางเขน “เกษตรแฟร์” เมื่อ 70 ปีก่อน
http://www.rilc.ku.ac.th/_2016/59-01-08-ku/index.html


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ค. 19, 08:16
ถนนราชดำเนิน เมื่อ 50+ ปีก่อน
สงบ และงามในยามเช้า


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 19, 11:04
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อพ.ศ. 2516

https://www.youtube.com/watch?v=5PvY8DAfykE


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 19, 11:07
ฉากหนังไทย สภาพท้องถนนของกทม. เมื่อพ.ศ. 2511

https://www.youtube.com/watch?v=17I_oZkf0WI


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 19, 11:08
จากภาพยนตร์ไทยเรื่อง น้ำตาลไม่หวาน ซึ่งเข้าฉายเมื่อปีพ.ศ.2507

https://www.youtube.com/watch?v=xRC9p_XquOc


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 ส.ค. 21, 09:36
รุ่นลูกของลุงเทียมมี่คือ ลุงฟรุตตี้ ไม่ได้เข็นรถขายแล้ว แต่ขับเวสป้ามีถังสเตนเลสบรรจุผลไม้แช่เย็นขายในจุฬาฯ

https://youtu.be/9dunn6tIu0g

และแล้วเจ้าของตำนานอีกท่านหนึ่ง ก็ถูกพรากจากไป......ด้วยความโหดร้ายของเพชฌฆาตใจทราม นาม โควิด-๑๙  :'(

เรียนลูกค้าลุงฟรุตที่เคารพทุก ๆ ท่าน ขณะนี้ลุงฟรุตได้จากไปเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลาประมาณ ๒.๔๐ น. เนื่องจากติดเชื้อโควิด-๑๙

ขอทุกท่านช่วยภาวนาร่วมส่งดวงวิญญาณของลุงฟรุตสู่สุคติ พบทางสว่างสงบนิรันดร

ขอบคุณมากครับ

ข่าวสีเศร้าขาวดำจาก ผลไม้ลุงฟรุต by ลูกหลานเทียมมี่ (https://www.facebook.com/1615082378713157/posts/3076227952598585/)

ขอแสดงความเสียใจในความเศร้า
ที่เพิ่งเข้าสู่ครอบครัวและลูกหลาน
ขอคุณลุงฟรุตตี้สุขสราญ
ในสถานสุคติพิมานแมน


กระทู้: บ้านเมืองเมื่อ 50+ ปีก่อน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ส.ค. 21, 09:56
ขอให้ลุงไปสู่สุคติค่ะ