เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ค. 12, 09:52



กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ค. 12, 09:52
ผู้สร้างบอกว่าจะเป็นกลาง และไม่ชี้นำ
สารคดีนี้จะมี๓ตอน ออกอากาศช่วงดึก๓คืนติดต่อกัน

ขอเชิญท่านที่สนใจคลิ๊กเข้าไปชมตอนที่๑ ที่ออกอากาศเมื่อคืนที่ผ่านมาได้เลยครับ

http://www.youtube.com/watch?v=qDv96W5Yba4


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: bomoo ที่ 27 ก.ค. 12, 10:04
สวัสดีค่ะอาจารย์NAVARAT.C เพิ่งสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่ ขอฝากตัวเป็นศิษย์อีกคนนะคะ :)
เพราะได้อ่านกระทู้"ชะตากรรมของท่านพระยาทรงสุรเดช" แล้วก็ติดเลย
ชอบมากๆ เพราะเป็นเรื่องเบื้องลึก เบื้องหลัง ที่ไม่เคยรู้มาก่อน
ทีนี้ติดใจนักโทษประหารท่านหนึ่งที่ชื่อว่า "ร.ท.ณเณร  ตาละลักษณ์" เพราะงงตรงที่ท่านทำใจเผชิญกับความตายอย่างกล้าหาญได้อย่างไร
และสงสัยอีกว่าหลังจากนั้นครอบครัว พ่อแม่ ลูกเมีย ได้รับการเยียวยาบ้างไหมคะ
และแค่ความคิดเห็นต่างเท่านั้นหรือคะ ถึงขนาดที่โดนตัดสินรุนแรงขนาดนั้น มีเบื้องลึกมากกว่านั้นหรือเปล่า
อยากเห็นรูปและอยากทราบประวัติของท่านด้วยน่ะค่ะ

หาซื้อหนังสือที่เกี่ยวเนื่องมาอ่านก็จบแค่ตรงที่ท่านโดนประหาร
หลังจากนั้นก็ไม่เอ่ยถึงอีกเลย ขอความกรุณาอาจารย์NAVARAT.C ด้วยนะคะ


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 27 ก.ค. 12, 10:08
ขอบคุณครับ วันนี้ จะรอชมตอนต่อไป.....

ชอบเสียงคนดำเนิรเรื่อง คุณสุรัสวดี เชื้อชาติ (แหม่ม มาม่า บลูส์) เสียงทุ้ม น่าฟังจัง  ......เธอพากษ์เสียงเอง และกำกับเองด้วย ชื่นชมครับ


ไม่ไ้ด้ฟังเสียงเธอนาน ก็เลยอดนึกถึงเพลงของเธอในสมัยเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อน (ไม่มีอะไรเกี่ยวกับสารคดีเลย)






กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ค. 12, 10:51
อ้างถึง
ติดใจนักโทษประหารท่านหนึ่งที่ชื่อว่า "ร.ท.ณเณร  ตาละลักษณ์" เพราะงงตรงที่ท่านทำใจเผชิญกับความตายอย่างกล้าหาญได้อย่างไร
และสงสัยอีกว่าหลังจากนั้นครอบครัว พ่อแม่ ลูกเมีย ได้รับการเยียวยาบ้างไหมคะ

และแค่ความคิดเห็นต่างเท่านั้นหรือคะ ถึงขนาดที่โดนตัดสินรุนแรงขนาดนั้น มีเบื้องลึกมากกว่านั้นหรือเปล่า
อยากเห็นรูปและอยากทราบประวัติของท่านด้วยน่ะค่ะ

ณ เณร ตาละลักษณ์มีลูกสาวคนหนึ่ง หลังจากที่หัวหน้าครอบครัวได้ชื่อว่าเป็นกบฏและถูกประหารชีวิต ทั้งแม่และลูกถูกสังคมบีบคั้นมาก แม้แต่ในกลุ่มพี่น้องเองก็ยังตีตนออกห่างเพราะไม่อยากตกเป็นเป้าของสายลับสันติบาล ในที่สุดลูกสาวต้องออกจากโรงเรียนและต้องเปลี่ยนไปใช้นามสกุลแม่เพื่อหาที่เรียนใหม่

ญาติทางมารดาของผมมีสายตาละลักษณ์อยู่ด้วย ทุกปีในช่วงสงกรานต์จะไปทำบุญให้บรรพบุรุษร่วมกัน ผมทราบจากพวกพี่ๆสายโน้นว่าลูกสาวของ ณ เณร ทุกวันนี้ยังมีชีวิตอยู่แบบตัวคนเดียว เรียบง่ายและยังปกปิดตนเอง ผมไม่เคยพบเห็นเลย  เมื่อสองสามปีที่ผ่านมา ผมเคยฝากไปเรียนว่าผมอยากรู้จัก จะไปหา แต่ได้รับคำตอบปฏิเสธกลับมา

ส่วนเบื้องลึกที่นำ ณ เณรไปสู่หลักประหารมีประการเดียว คือเป็นมนุษย์ที่ขาดสำนึกของความกลัว เป็นคนเดียวทั้งในสภาและนอกสภาที่กล้าท้าทายผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าอย่างเปิดเผย ในสมัยที่คนอื่นๆเขาเลือกที่จะหดหัวเข้าไปอยู่ในกระดองเพื่อความปลอดภัย


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: bomoo ที่ 27 ก.ค. 12, 11:07
อ้างถึง
ติดใจนักโทษประหารท่านหนึ่งที่ชื่อว่า "ร.ท.ณเณร  ตาละลักษณ์" เพราะงงตรงที่ท่านทำใจเผชิญกับความตายอย่างกล้าหาญได้อย่างไร
และสงสัยอีกว่าหลังจากนั้นครอบครัว พ่อแม่ ลูกเมีย ได้รับการเยียวยาบ้างไหมคะ

และแค่ความคิดเห็นต่างเท่านั้นหรือคะ ถึงขนาดที่โดนตัดสินรุนแรงขนาดนั้น มีเบื้องลึกมากกว่านั้นหรือเปล่า
อยากเห็นรูปและอยากทราบประวัติของท่านด้วยน่ะค่ะ

ณ เณร ตาละลักษณ์มีลูกสาวคนหนึ่ง หลังจากที่หัวหน้าครอบครัวได้ชื่อว่าเป็นกบฏและถูกประหารชีวิต ทั้งแม่และลูกถูกสังคมบีบคั้นมาก แม้แต่ในกลุ่มพี่น้องเองก็ยังตีตนออกห่างเพราะไม่อยากตกเป็นเป้าของสายลับสันติบาล ในที่สุดลูกสาวต้องออกจากโรงเรียนและต้องเปลี่ยนไปใช้นามสกุลแม่เพื่อหาที่เรียนใหม่

ญาติทางมารดาของผมมีสายตาละลักษณ์อยู่ด้วย ทุกปีในช่วงสงกรานต์จะไปทำบุญให้บรรพบุรุษร่วมกัน ผมทราบจากพวกพี่ๆสายโน้นว่าลูกสาวของ ณ เณร ทุกวันนี้ยังมีชีวิตอยู่แบบตัวคนเดียว เรียบง่ายและยังปกปิดตนเอง ผมไม่เคยพบเห็นเลย  เมื่อสองสามปีที่ผ่านมา ผมเคยฝากไปเรียนว่าผมอยากรู้จัก จะไปหา แต่ได้รับคำตอบปฏิเสธกลับมา

ส่วนเบื้องลึกที่นำ ณ เณรไปสู่หลักประหารมีประการเดียว คือเป็นมนุษย์ที่ขาดสำนึกของความกลัว เป็นคนเดียวทั้งในสภาและนอกสภาที่กล้าท้าทายผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าอย่างเปิดเผย ในสมัยที่คนอื่นๆเขาเลือกที่จะหดหัวเข้าไปอยู่ในกระดองเพื่อความปลอดภัย

[/quoteขอบพระคุณอาจารย์มากๆค่ะ ที่กรุณาตอบข้อสงสัย แหะๆ ถ้าเป็นไปได้อยากเห็นรูปด้วยค่ะ
เป็นยุคที่ "เชื่อผู้นำ แล้วพ้นภัยจริงๆ" เฮ้อ น่าเห็นใจครอบครัวของท่านและนักโทษประหารท่านอื่นๆนะคะ
ยิ่งสมัยก่อน การสื่อสารไม่มากเท่าสมัยนี้ คนมักจะเชื่อในสิ่งที่ได้ยิน ได้เห็น แม้สิ่งนั้นอาจจะเป็นภาพลวงตา เสียงลวงใจก็เหอะ

คนที่เหลืออยู่ โดยเฉพาะลูกเมีย ต้องเข้มแข็งมากจริงๆถึงจะผ่านวิกฤตมาได้
มาถึงปัจจุบันนี้ ขนาดแค่อ่านไม่ได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ ก็ยังคิดว่าต้องจับแพะแน่ๆ
จะยังไงก็แล้วแต่ ขอยกย่องในความกล้าที่จะชนกับอำนาจที่ไม่สุจริตของ "ท่านณเณร" นะคะ


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: bomoo ที่ 27 ก.ค. 12, 11:12
ขอบพระคุณอาจารย์มากๆค่ะ ที่กรุณาตอบข้อสงสัย แหะๆ ถ้าเป็นไปได้อยากเห็นรูปด้วยค่ะ
เป็นยุคที่ "เชื่อผู้นำ แล้วพ้นภัยจริงๆ" เฮ้อ น่าเห็นใจครอบครัวของท่านและนักโทษประหารท่านอื่นๆนะคะ
ยิ่งสมัยก่อน การสื่อสารไม่มากเท่าสมัยนี้ คนมักจะเชื่อในสิ่งที่ได้ยิน ได้เห็น แม้สิ่งนั้นอาจจะเป็นภาพลวงตา เสียงลวงใจก็เหอะ

คนที่เหลืออยู่ โดยเฉพาะลูกเมีย ต้องเข้มแข็งมากจริงๆถึงจะผ่านวิกฤตมาได้
มาถึงปัจจุบันนี้ ขนาดแค่อ่านไม่ได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ ก็ยังคิดว่าต้องจับแพะแน่ๆ
จะยังไงก็แล้วแต่ ขอยกย่องในความกล้าที่จะชนกับอำนาจที่ไม่สุจริตของ "ท่านณเณร" นะคะ


ยังงงๆกับการใช้งานอยู่ส่งซ้ำไปสองครั้งขออภัยนะคะ


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ค. 12, 11:29
เคยเห็นรูปของณ เณรในเครื่องแบบร้อยโทสมัยผมยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมครับ เป็นหนังสือที่อยู่ในห้องสมุด

ณ เณร จะร่างท้วมสักหน่อย แต่หน้าตาสมชายชาตรี

ที่พยายามติดต่อกับลูกสาวของท่าน ก็อยากได้รูปถ่ายเก่าๆนี่แหละครับ ตอนนี้ยังไม่ได้


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ค. 12, 11:43
รูปพี่ชายคนโตของณ เณรครับ

พลโท ปาระณี ตาละลักษณ์
ก็เจริญรุ่งเรืองด้วยดีทั้งยุคสมัยหลวงพิบูลและจอมพลป.

รูปร่างหน้าตาของณ เณรก็ออกแนวนี้


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: bomoo ที่ 27 ก.ค. 12, 11:50
พี่ชายรอดพ้น น้องชายไม่รอดพ้นเกมการเมือง

จริงๆแล้วหลังจากที่รู้ว่าจับแพะไปประหาร
น่าจะมีอะไรชดเชยให้กับครอบครัว และลบคำว่า "กบฎ" ออกนะคะ
อ่านแล้วมีอารมณ์ร่วมเลย สงสารชะตากรรมของผู้ที่ทั้งโดนตัดสินประหาร
และโดนไปอยู่เกาะเต่า เกาะตะรุเตา จริงๆ ไม่เห็นภาพในอดีตของเกาะ
แต่ก็พอจะเดาความทุกข์ยากได้

ขอบคุณอาจารย์มากๆนะคะ


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 27 ก.ค. 12, 18:02
คิดตามชมมา ๒ คืน พอจะสรุปได้ว่าทุกท่านที่มานำเสนอความคิดเห็นต่างก็ยึดติดกับตำราที่เขียนขึ้นในยุค ๒๔๗๕ 
โดยบางท่านถึงกับยกย่องกลุ่มกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ ว่าเป็นต้นธารของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ เลยทีเดียว
ในขณะที่บางท่านก็หยิบยกความไม่พร้อมของราษฎรมาอ้างว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครอง  ทั้งยังกล่าว
เลยไปถึงการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ ๕  ว่าเป็นการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง  แต่ไม่เห็นนักวิชาการ
ท่านใดกล่าวถึงการลดอำนาจของมหาดไทยโดยกระจายอำนาจตัดสินใจไปไว้ที่อุปราชภาคและสมุหเทศาภิบาลใน
สมัยรัชกาลที่ ๖  รวมถึงการแยกศาลซึ่งเป็นหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตยออกจากอำนาจบริหาร  ให้ศาลมีอิสระในการ
พิจารณาพิพากษาอรรถคดีในสมัยรัชกาลที่ ๖  ซึ่งดูไปแล้วเป็นขั้นตอนของการเตรียมการวางรากฐานประชาธิปไตย
แบบอังกฤษ

จากที่ได้ติดตามชมมา ๒ คืน  ก็เชื่อว่า จบ ๓ คืนในคืนนี้แล้วผู้ชมก็คงจะยังแบ่งฝักแบ่งฝ่ายตามธงที่ตนเชื่อกันอยู่
เพราะไม่มีการศึกษาแบบเจาะลึกลงไปถึงการวางรากฐานการปกครองท้องถิ่นในสมัยรัชกาลที่ ๖  ตัวอย่างเช่น
วิทยากรยังเข้าใจว่า ดุสิตธานีเป็นเพียงเมืองตุ๊กตาที่วิทยากรท่านนั้นก็ยังคิดแต่เพียงว่า เป็นเพียงเมืองตุ๊กตา
แต่แก่นแท้ของการสร้างเมืองจำลองนั้นท่านกลับมองไม่เห็น  คำถามคือ เมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงตั้งเมือง
จำลองดุสิตธานีนั้นมีคนไทยสักกี่คนที่รู้จักการเลือกตั้ง  มีคนไทยกี่คนที่รู้จัก สิทธิและหน้าที่ ของประชาชน
ในระบอบประชาธิปไตย

การสอนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่เป็นเรื่องนามธรรมนั้น  จะสอนกันอย่างไรให้คนที่ไม่เคยรู้เรื่องเข้าใจได้
วิธีการที่ทรงนำมาใช้คือ วิธีที่รู้จักกันในชื่อ Play to Learn ที่เรียนรู้ได้ด้วยการเล่น  ได้เรียนพร้อมกับการปฏิบัติ
ส่วนบ้านตุ๊กตานั้นนอกจากจะเป็นอุปกรณ์ช่วยการเรียนการสอนแล้ว  หากมองอีกมุมหนึ่งว่าเมืองจำลองนี้ถือกำเนิด
ในวันครบรอบปีของการประกาศเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ ๑  ล้นเกล้าฯ ย่อมทรงหวังไว้แล้วว่า เมื่อสงครามสงบลง
ชาวยุโรปคงจะหลั่งไหลมาหาซื้อสินค้าไปฟื้นฟูบ้านเมืองที่ย่อยยับเพราะสงคราม  และการเดินทางในสมัยนั้นต้องนั่งเรือกันมา
เป็นแรมเดือน  เมื่อมาถึงแล้วก็ต้องเที่ยวให้คุ้ม  เมืองจำลองที่จำลองสถาปัตยกรรมที่หลากหลายแห่งแรกของโลกนี้
ก็จะเป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อีกทาง 

ในขณะเดียวกันเมื่อลองย้อนดูว่า เมื่อทรงรับราชสมบัตินั้นทรงตระหนักแน่ในพระราชหฤทัยแล้วว่า ประชาชนไทยยัง
ไม่พร้อมที่จะปกครองตนเอง  ต้องเร่งให้การศึกษาเสียก่อน  จึงทรงเร่งรัดให้จัดแผนการศึกาาชาติ  เร่งฝึกหัดครู
เมื่อพร้อมแล้วจึงโปรดให้ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา  ซึ่งมอบอำนาจให้ท้องถิ่นเป็นผู้จัดการศึกษา  จะว่าไป
แนวความคิดในการให้ท้องถิ่นจัดการศึกษากันเอง  ก็คือการเตรียมการไปสู่การปกครองตนเองในระดับท้องถิ่น
ที่มีเรื่องเล่ากันว่า มีรับสั่งว่าจะพระราชทานการปกครองให้คนไทยเมื่อขึ้นครองราชย์ครบ ๑๕ ปี  แต่กระทรวงธรรมการ
ทำงานล่าช้า  เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงธรรมการจึงถูกกริ้วเสียยกใหญ่

แต่พยานที่ว่าทรงเตรียมการพระราชทานการปกครองท้องถิ่นนั้นน่าจะเห็นร่องรอยจากการพระราชทานอภัยโทษก่อนกำหนด
แก่กลุมกบฏ ร.ศ.๑๓๐ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ เนื่องในวโรกาสที่ทรงครองราชย์ครบ ๑๕ ปี (นับเรียงปี)  และเดือนมีนาคม ๒๔๖๗
นั้นเอง  ที่เริ่มมีนักเรียนเริ่มจบชั้นประถมศึกษาตาม พรบ.ประถมศึกษา เป็นครั้งแรก  ซึ่งตามกำหนดอีก ๙ เดือนต่อมาจะ
มีการสมโภชสิริราชสมบัติเสมอรัชกาลที่ ๒  จะมีการจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์และชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งแรกในงาน
สยามรัฐพิพิธภัณฑ์  ก็ยิ่งชวนให้เชื่อว่า คงจะมีพระบรมราชโองการพระราชทานการปกครองท้องถิ่นแก่ปวงชนชาวไทย
ในช่วงงานดังกล่าว  แต่ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อนที่จะถึงกำหนดนั้นเพียงเดือนเศษ  พระราชกรณียกิจหลายๆ เรื่องที่ทรง
เตรียมการไว้จึงเป็นอันล้มเลิกไปหมด  ไม่แน่ถ้าสวรรคตช้ากว่านั้นประเทศไทยเราคงจะมีประชาธิปไตยโดยเริ่มจาก
การปกครองท้องถิ่นแล้วค่อยขยับขึ้นสู่ระดับชาติ  แทนที่จะเป็นจากบนลงล่างดังเช่นที่เป็นอยู่มนทุกวันนี้



กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 ก.ค. 12, 19:34
ขอบคุณครับ การบรรยายในช่วงต้นเป็นการบรรยายที่ลึกซึ้งมาก เราถูกยัดเยียดให้จำ และลืมในสิ่งที่ควรจำ ดังเพลงอยากจำ กลับลืม อยากลืม กลับจำ


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ค. 12, 19:45

ณ เณร ตาละลักษณ์มีลูกสาวคนหนึ่ง หลังจากที่หัวหน้าครอบครัวได้ชื่อว่าเป็นกบฏและถูกประหารชีวิต ทั้งแม่และลูกถูกสังคมบีบคั้นมาก แม้แต่ในกลุ่มพี่น้องเองก็ยังตีตนออกห่างเพราะไม่อยากตกเป็นเป้าของสายลับสันติบาล ในที่สุดลูกสาวต้องออกจากโรงเรียนและต้องเปลี่ยนไปใช้นามสกุลแม่เพื่อหาที่เรียนใหม่

ญาติทางมารดาของผมมีสายตาละลักษณ์อยู่ด้วย ทุกปีในช่วงสงกรานต์จะไปทำบุญให้บรรพบุรุษร่วมกัน ผมทราบจากพวกพี่ๆสายโน้นว่าลูกสาวของ ณ เณร ทุกวันนี้ยังมีชีวิตอยู่แบบตัวคนเดียว เรียบง่ายและยังปกปิดตนเอง ผมไม่เคยพบเห็นเลย  เมื่อสองสามปีที่ผ่านมา ผมเคยฝากไปเรียนว่าผมอยากรู้จัก จะไปหา แต่ได้รับคำตอบปฏิเสธกลับมา

คนเรามีวิธีเยียวยาตัวเองจากบาดแผลในใจคนละแบบกัน     บางคนเลือกที่จะไม่แตะต้องแผลนั้นอีก เพราะเคยเจ็บมากเกินกว่าจะอยากนึกถึง   แต่บางคนก็ใช้วิธีรักษาด้วยการเผชิญความเป็นจริง  เพื่อรู้ว่ามันไม่ใช่โรคร้ายอย่างที่คนอื่นประณาม  จากนั้นแผลจะได้ทุเลา หรืออาจถึงขั้นหายสนิท



กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ค. 12, 19:46
ค.ห. 9 ของคุณ V_Mee ทำให้ดิฉันยิ่งเชื่อว่า ความเป็นกลางไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย ค่ะ


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ค. 12, 20:00
ผมขอเป็นผู้ชม และผู้อ่านความเห็นของนักวิชาการเช่นคุณวีหมีไปก่อนนะครับ ขออนุญาตที่จะงดวิจารณ์ไว้ก่อน

ตอบคำถามของคุณbomoo

พอปลายสงครามโลกครั้งที่๒ หลวงพิบูลถูกแซะออกจากเก้าอี้ นายควงได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีแทนเพื่อรับหน้ากองทัพญี่ปุ่น แต่สิ่งแรกที่รัฐบาลใหม่ได้กระทำก็กลับกลายเป็น การตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมนักโทษการเมืองทุกรุ่นทุกสมัย เมื่อ๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๗ มีผลให้ผู้ต้องคดีทางการเมืองทุกคนพ้นโทษ ทั้งจากเรือนจำบางขวางและเกาะเต่า

แต่การเมืองไทยยังพลิกผันอีกหลายตลบ

จนกระทั่งเกิดรัฐประหาร ๖ เมษายน ๒๔๙๑ ที่เรียกกันว่า"รัฐประหารเงียบ"ทำให้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม กลับมามีอำนาจทางการเมือง และขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นไม่นานก็มีการไถ่บาปครั้งใหญ่โดยประกาศคืนยศแก่อดีตนักโทษการเมืองที่ได้รับนิรโทษกรรมไปแล้ว และให้สามารถตกเบิกเงินเดือนข้าราชการย้อนหลังได้เสมือนไม่เคยมีความผิดใดๆมาก่อน

ขอประทานโทษที่ผมไม่ทราบจริงๆว่าผู้ที่ถูกประหารชีวิตไปแล้วจะมีโอกาสได้รับอานิสงส์เป็นตัวเงินด้วยหรือไม่ แต่เรื่องยศและบรรดาศักดิ์คงได้คืนแน่

ในช่วงปลายปีนั้นเอง ที่พลโทพระยาเทพหัสดิน ก็ได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นพลเอก และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๑


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ค. 12, 20:17
ตอน๒ครับ

http://www.youtube.com/watch?v=MNh2W-hV29Y


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 ก.ค. 12, 20:38
การวางศิลาฤกษ์ ที่แยกถนนดินสอ ก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิไตย


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ค. 12, 21:31
ต่อจากข้างบน


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ค. 12, 21:32
ช่วงก่อสร้าง


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ค. 12, 21:34
อนุสาวรีย์สร้างเสร็จ แต่ประชาธิปไตยยังสร้างไม่เสร็จ


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ค. 12, 10:18
เอาวาทะที่มีชื่อเสียงของคนดังในอดีตของประเทศแม่บททางประชาธิปไตยมาให้อ่านเล่นๆครับ ภาษาไทยที่กำกับนั้นไว้ผมถอดความเอง ใครที่เห็นว่าผมบิดเบือนตรงไหนก็ลองแปลมาประกบไว้ก็ได้นะครับ ไม่ว่ากัน


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ค. 12, 10:24
A democracy is always temporary in nature; it simply cannot exist as a permanent form of government. A democracy will continue to exist up until the time that voters discover that they can vote themselves generous gifts from the public treasury. From that moment on, the majority always votes for the candidates who promise the most benefits from the public treasury, with the result that every democracy will finally collapse due to loose fiscal policy, which is always followed by a dictatorship.

ธรรมชาติของประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งชั่วคราว ไม่สามารถดำรงอยู่ได้โดยถาวรไม่ว่าในรัฐบาลไหนๆ ประชาธิปไตยจะถึงที่สุดเมื่อผู้มีสิทธิ์ออกเสียงค้นพบว่าตนสามารถลงคะแนนเสียงเพื่อให้ได้มาซึ่งของแจกที่เอามาจากทรัพย์สินของชาติ  ซึ่งเมื่อนั้น เสียงของประชาชนส่วนใหญ่ก็จะเลือกผู้สมัครที่สัญญาว่าจะใช้เงินงบประมาณมาอวยประโยชน์ให้ตนมากที่สุด ทำให้ให้ประชาธิปไตยไม่ว่าที่ใดก็จะต้องม้วนเสื่อเพราะความแหลกเหลวทางนโยบายการเงินการคลัง แล้วที่จะติดตามมาก็คือรัฐบาลเผด็จการ


1787, Alexander Tyler (a Scottish history professor at The University of Edinborough)


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ค. 12, 10:28
"The end of democracy and the defeat of the American Revolution will occur when government falls into the hands of lending institutions and moneyed incorporations."
 
จุดจบของประชาธิปไตยและความพ่ายแพ้ในการปฏิวัติของคนอเมริกันจะเกิดขึ้นต่อเมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลตกอยู่ในกำมือของกลุ่มเงินและกลุ่มทุน
 
Thomas Jefferson
ประธานาธิบดีคนที่๓ ของสหรัฐอเมริกา


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ค. 12, 10:32
Democracy is two wolves and a lamb voting on what to have for lunch. Liberty is a well-armed lamb contesting the vote.
ประชาธิปไตยคือ การโหวตของหมาจิ้งจอกสองตัวกับแกะตัวนึงว่าจะกินมื้อกลางวันอะไรกันดี เสรีภาพคือแกะที่ถืออาวุธอย่างครบเครื่องมาโหวตกับเค้า
                                   ................................

When the people find that they can vote themselves money, that will herald the end of the republic.
เมื่อใดประชาชนพบว่าสามารถจะลงคะแนนเสียงเพื่อให้ตนได้เงินได้ เมื่อนั้นคือการแจ้งจุดจบของประเทศชาติ


Benjamin Franklin
นักคิด นักวิทยาศาสตร์


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 28 ก.ค. 12, 12:03
รู้สึกหนาวขึ้นมาฉับพลัน....


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 28 ก.ค. 12, 13:45
รู้สึกต้อง ฉุกคิดขึ้นมา เช่นกัน ....... ขอบคุณ คุณ NAVARAT.C  มากครับ น่าสนใจมากๆ


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 28 ก.ค. 12, 17:40
ประชาธิปไตยที่นำเสนอผ่านสารคดีทั้ง ๓ ตอนนั้นเป็นประชาธิปไตยแบบตะวันตก
แต่สำหรับสังคมไทย  เรามีประชาธิปไตยในทางพระพุทธศาสนาที่เราถือปฏิบัติกันมานับร้อยนับพันปีเหมือนกัน
แต่ไม่ยักมีใครฉุกคิดถึงหลักพระศาสนากันบ้างเลย


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ค. 12, 18:11
อ้างถึง
ประชาธิปไตยในทางพระพุทธศาสนาที่เราถือปฏิบัติกันมานับร้อยนับพันปี

? ? ?
อยากให้คุณวีหมีช่วยกรุณาขยายความตรงนี้หน่อยครับ


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 28 ก.ค. 12, 18:19
ในทางพระพุทธศาสนาไม่มีชนชั้นวรรณะ  เคารพอาวุโสตามพรรษกาล  เวลาญัตติต่างๆ มีการถามความเห็นของที่ประชุมสงฆ์
หากมีสงฆ์แม้เพียงรูปหนึ่งคัดค้าน  สังฆกรรมนั้นก็อาจจะดำเนินต่อไปไม่ได้  เรียกว่าเคารพเสียงส่วนน้อยครับ  มิใช่พวกมาลากไป 


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 28 ก.ค. 12, 18:24
ก่อนจะจบสารคดีในคืนที่ ๓  มีการนำเสนอบทสัมภาษณ์ของหลวงประดิษฐมนูธรรมในบั้นปลายของชีวิต
ชวนให้นึกถึงพระราชบันทึกในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ที่ทรงพระราชวิจารณ์เรื่อง "คอนสิตูชั้น" ไว้ใน
สมุดจดพระราชบันทึกรายวัน (ไดอารี) ส่วนพระองค์  หลังจากเกิดเกตุ ร.ศ. ๑๓๐ ไม่นาน
พระราชบันทึกนี้ทรงพระราชวิจาร์ไว้ทั้งระบบประชาธิปไตยและบอลเชวิก  แต่จะขอคัดมาเฉพาะที่ทรง
กล่าวถึงคอนสติตูชั้น

มีนาคม

.....เรื่องราวของผู้อื่นก็จะเห็นฃันอยู่บ้าง  คือจะเห็นฃันว่าคนยังมีความฤศยาหยุมหยิมอยู่ฉนี้ฤา  จะเปนผู้ที่จัดการปกครองชาติบ้านเมืองอย่างริปับลิคได้  อย่าว่าแต่ริปับลิคเลย  ถึงแม้จะปกครองอย่างลักษณเจ้าแผ่นดินมีคอนสติตูชั่นก็ไม่น่าจะทำไปได้  ยังไม่รู้จักเอาความรักชาติเข้าฃ่มความฤศยาในใจตนเองแล้ว  จะทำการให้เปนประโยชน์แก่ชาติฝ่ายเดียวอย่างไร

ถ้ามีผู้ต้องการ “คอนสติตูชั่น” จริงๆ และเปนไปได้จริง  จะเปนคุณอย่างใดฤาไม่  แต่ถ้าแม้ต่างว่ามีคนอยู่จำพวก ๑  ซึ่งตั้งใจดีจริง  มีความมุ่งดีต่อชาติจริง จะมาร้องฎีกาขึ้นโดยตรงๆ ขอให้มีคอนสติตูชั่น  เราเองจะไม่มีความแค้นเคืองเลย  ตรงกันข้าม  เราจะยอมพิจารณาดูว่า  จะสมควรยอมตามคำขอร้องของคนนั้นฤาไม่  ถ้ายิ่งมีคอนสติตูชั่นได้จะยิ่งดี  เพราะเรารู้สึกอยู่แล้วเหมือนกัน  ว่าการที่มอบการปกครองไว้ในมือเจ้าแผ่นดินคนเดียวผู้มีอำนาจสิทธิ์ฃาดนั้น  ดูเปนการเสี่ยงบุญเสี่ยงกรรมอยู่  ถ้าเจ้าแผ่นดินเปนผู้ที่มีสติปัญญาสามารถและมีความตั้งใจมั่นอยู่ว่า  จะทำการให้บังเกิดผลอันดีที่สุดแก่ชาติบ้านเมืองฉนี้แล้วก็จะเปนการดีที่สุด  จะหาลักษณปกครองอย่างใดมาเปรียบปานได้โดยยาก  แต่ถ้าแม้เจ้าแผ่นดินเปนผู้ที่โฉดเขลาเบาปัญญา  ฃาดความสามารถ  ฃาดความพยายาม  เพลิดเพลินไปแต่ในความศุขส่วนตัว  ไม่เอาใจใส่ในน่าที่ของตน  ฉนี้ก็ดี  ฤาเปนผู้ที่มีน้ำใจพาลสันดานหยาบดุร้ายและไม่ตั้งอยู่ในราชธรรม  เห็นแก่พวกพ้องและบริวารอันสอพลอและประจบ  ฉนี้ก็ดี   ประชาชนก็อาจจะได้รับความเดือดร้อน  ปราศจากความศุข  ไม่มีโอกาศที่จะเจริญได้  ดังนี้จึงเห็นได้ว่าเปนการเสี่ยงบุญเสี่ยงกรรมอยู่

แสดงคุณแห่งลักษณปกครอง  โดยมี “คอนสติตูชั่น”  ส่วนการมีคอนสติตูชั่นนั้น  เปนอันตัดความไม่แน่นอนไปได้มาก  เพราะอำนาจมิได้อยู่ในมือคนๆ เดียว  ซึ่งถึงแม้ว่าจะดีฤาชั่วปานใดก็เปลี่ยนไม่ได้  ประชาชนได้มีเสียงในการปกครองชาติบ้านเมืองของตนเอง  เสนาบดีผู้รับตำแหน่งน่าที่ปกครองก็รับผิดรับชอบต่อประชาชน  จำเปนต้องทำการให้เปนไปอย่างดีที่สุดที่จะเปนไปได้  เพราะถ้าแม้ว่าทำการในน่าที่บกพร่อง  ประชาชนไม่เปนที่ไว้วางใจต่อไป  ก็อาจจะร้องขึ้นด้วยกันมากๆ จนเสนาบดีต้องลาออกจากตำแหน่ง  คนที่ประชาชนไว้วางใจก็จะได้มีโอกาศเฃ้ารับตำแหน่งน่าที่  ทำการงานให้ดำเนินไปโดยทางอันสมควรและถูกต้องตามประสงค์แห่งประชาชน  เช่นนี้เปนการสมควรอย่างยิ่ง  และถ้าแม้จะกล่าวไปแต่โดยทางว่าเปนแบบแผนดีฤาไม่คงไม่มีใครเถียงเลย  คงต้องยอมรับว่าดีทั้งนั้น  แต่แบบอย่างใดๆ ถึงแม้ว่าจะดีที่สุดเมื่อเขียนอยู่ในกระดาษ  เมื่อใช้จริงเฃ้าแล้วบางทีก็มีที่เสียหายปรากฏขึ้น  ดังปรากฏอยู่แก่ผู้ที่ได้ศึกษาและรู้เหตุการณ์ที่เปนไปในนานาประเทศ  เพราะเหตุหลายประการ  จะยกมาว่าแต่พอเปนสังเขปก็มีอยู่คือ


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 28 ก.ค. 12, 18:25
แสดงโทษอันอาจจะมีมาได้  แม้เมื่อใช้ลักษณปกครองมี “คอนสติตูชั่น”  ๑.  ประชาชนยังไม่มีความรู้พอที่จะทำการปกครองตนเองได้  เพราะฉนั้นอาจที่จะใช้อำนาจอันอยู่ในมือตนในหนทางที่ผิดวิปลาศ  บางทีสิ่งซึ่งต้องการให้มีขึ้นฤาให้เปนไป  จะไม่เปนสิ่งที่ซึ่งนำประโยชน์มาสู่ชาติ  ฤากลับจะให้โทษ  แต่ประชาชนมีความเห็นพร้อมๆ กันมาก  ก็ต้องเปนไปตามความเห็นของพวกมาก  ต่อเมื่อกระทำไปแล้วจึ่งแลเห็นว่าให้ผลร้ายเพียงใด  จะยกอุทาหรณได้อย่าง ๑  คือต่างว่ามีสาเหตุเกิดวิวาทบาดหมางกันกับชาติอีกชาติ ๑  ซึ่งถ้าแม้ทำความเฃ้าใจกันเสียแล้วก็อาจจะเปนที่เรียบร้อยไปได้  แต่ประชาชนพากันเห็นไปว่า  ถ้าแม้ยอมผ่อนผันให้จะเปนการเสียเกียรติยศเสียรัศมีของชาติ  ก็อาจจะพากันร้องเซ็งแซ่ให้ทำสงครามได้  การทำสงครามนั้นในขณที่กำลังรบพุ่งกันอยู่ไม่สู้จะกระไรนัก  เพราะใจประชาชนกำลังฮึกเหิม  คิดแต่ถึงส่วนการต่อสู้และหวังเอาไชยแก่สัตรูเท่านั้น  ต่อเมื่อสงบศึกแล้ว  จึ่งจะรู้สึกโทษแห่งการสงคราม  คือการทำมาหาเลี้ยงชีพจะฝืดเคือง  การค้าขายซึ่งต้องงดไว้ในระหว่างสงครามนั้น  มาจับลงมือทำขึ้นอีกก็ย่อมจะไม่สดวกเหมือนแต่ก่อน เปรียบเหมือนเครื่องกลไกอันจักร์และใยเคลื่อนที่เสียหมดแล้ว  กว่าจะแก้ไขให้เดินดีและเรียบร้อยอย่างเดิมก็เปนการยากนัก  ทั้งการปกครองท้องที่ก็ต้องจัดการเอาลงระเบียบอีก เมื่อแลเห็นผลแห่งสงครามฉนี้แล้ว  ประชาชนจึ่งรู้สึกตัว  ถ้ายิ่งในกาลสงครามนั้นได้พ่ายแพ้แก่สัตรูภายนอกด้วย  ความลำบากยากเข็ญต่างๆ อันจะมีมาเปนเครื่องตามหลังก็จะยิ่งมากขึ้นเปนทวีคูณเปนแน่แท้  ที่กล่าวมาแล้วนี้เปนโทษแห่งการที่ประชาชนอันไม่รู้จักใช้อำนาจจะใช้เองในที่ผิด  แต่ยังมีอยู่อีกประการ ๑  ซึ่งควรคำนึงและพิจารณาดูเหมือนกันคือ

๒. ประชาชนรู้สึกตนว่าไม่มีความสามารถพอที่จะถืออำนาจและใช้อำนาจทุกๆ คน  จึ่งไว้ใจมอบอำนาจให้บุคคลบางคนถืออำนาจและใช้อำนาจนั้นแทน  บุคคลเหล่านี้คือที่เลือกสรรให้เฃ้าไปนั่งในรัฐสภา (ปาร์ลิย์เมนต์) เปนผู้แทนประชาชน  ผู้แทนเช่นนี้  ถ้าแม้ว่าประชาชนรู้จักจริง  รู้แน่นอนว่าเปนคนดีจริงแล้ว  จึ่งเลือกเฃ้าไปเปนผู้แทนตน  ดังนี้จะไม่มีที่เสียหายจะบังเกิดขึ้นได้เลย  แต่ตามความจริงหาเปนเช่นนั้นไม่  ตามความจริงนั้น  ประชาชนโดยมากก็มีกิจธุระทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่ด้วยกันทุกคน  จะมัวสละเวลาเพื่อกระทำความวิสาสะกับผู้ที่จะเปนผู้แทนตนในรัฐสภาก็ไม่ได้อยู่เอง  เพราะฉนั้นแบบธรรมเนียมจึ่งมีอยู่ว่า  เมื่อถึงเวลาจะต้องเลือกผู้แทนเฃ้านั่งในรัฐสภา  ก็มีคน๒ คน ฤา ๓ คน มายืนขึ้นให้เลือก  ว่าจะชอบคนไหนใน ๒  ฤา ๓ คนนั้น  เมื่อชอบคนไหนก็เลือกคนนั้นโดยต่างคนต่างให้คะแนนของตน  ใครได้คะแนนมากก็ได้เฃ้าไปนั่งในรัฐสภาดังนี้  แต่ถ้ามีผู้ที่มารับเลือกแต่คนเดียว  ก็นับว่าไม่เปนปัญหา  ประชาชนไม่ต้องลงคะแนน  คนๆ นั้นเปนอันได้เฃ้านั่งในรัฐสภาทีเดียว  ส่วนการที่จะจัดให้มีคนมารับเลือกนั้น  ตามคอนสติตูชั่นว่า  ให้มีผู้ใดผู้ ๑ ในเขตรนั้นๆ เปนผู้นำขึ้นว่าผู้ใดควรได้รับเลือก  ถ้าไม่ผู้อื่นนำเสนอนามใครขึ้นอีกคน ๑ แล้ว  คนที่ ๑  ก็เปนอันได้เฃ้ารัฐสภาอยู่เอง  แต่ถ้ามีผู้เสนอนามบุคคลขึ้นอีกคน ๑  จึ่งต้องนัดวันให้ประชาชนในเขตร์นั้นลงคะแนนในระหว่างคน ๒ คน  ที่ได้มีผู้เสนอนามขึ้น ดูเผินๆ เพียงนี้ก็ยังดีอยู่  แต่ตามความจริงนั้น ไม่ใช่ว่าใครๆ สักแต่เปนมนุษย์แล้วก็จะมีโอกาศได้รับเลือกได้  ผู้ที่หยิบยกตัวบุคคลมาให้ราษฎรเลือกนั้น  คือคณะฤาปาร์ตี  ซึ่งมีแบ่งกันอยู่ตั้งแต่ ๒ ขึ้นไป  การที่ต้องมีปาร์ตีนั้น  เพราะถ้าแม้ผู้ที่เฃ้าไปนั่งประชุมในรัฐสภา  ต่างคนต่างพูดไป  แสดงความเห็นไปตามอัตโนมัตของตนๆ ทุกคน  ก็คงจะไม่มีความตกลงกันได้ในเรื่องใดเลยสักเรื่องเดียว  จึ่งต้องเกิดใช้วิธีจัดรวมเปนคณะ  คือผู้ที่มีความเห็นพ้องกันในปัญหาสำคัญๆ รวมกันเฃ้าเปนคณะฤาปาร์ตี  เพื่อจะได้ช่วยกันลงความเห็นเหมือนๆ กันมากๆ  ในเมื่อเฃ้าที่ประชุมรัฐสภา  ดังนี้เปนที่ตั้ง  ครั้นเมื่อเวลาจะมีการเลือกสมาชิกเฃ้ามาใหม่  ต่างคณะก็ย่อมจะต้องมีความประสงค์ที่จะให้ผู้มีความเห็นพ้องกับคณะตนได้รับเลือก  ต่างคณะจึ่งต่างจัดหาบุคคลอันพึงประสงค์ไปให้รับเลือก  และต่างคณะจึ่งต่างคิดดำเนินการให้คนของตนได้รับเลือก  วิธีดำเนินอันถูกต้องตามกฎหมายนั้น  คือแต่งสมาชิกแห่งคณะไปเที่ยวพูดจาเกลี้ยกล่อมราษฎรให้แลเห็นผลอันดีที่จะพึงมีมา  โดยทางที่ให้คณะได้มีโอกาสทำการโดยสดวก  เมื่อกล่าวมาถึงแค่นี้แล้ว  ก็ยังไม่มีสิ่งไรที่นับว่าเสียหายอันจะบังเกิดมีมาได้จากการใช้วิธีเช่นนี้  และถ้าความจริงเปนไปแต่เพียงเท่านี้  ก็เปนอันไม่มีที่ติ  แต่ความจริงมิได้หมดอยู่เพียงแค่นี้  คือการเกลี้ยกล่อมมิได้ใช้แต่เฉพาะทางเที่ยวพูดจา  ไม่ได้ใช้ฬ่อใจราษฎรแต่ด้วยถ้อยคำเท่านั้น  ยังมีฬ่อใจโดยทางอื่นๆ อีก  ตั้งแต่ทางเลี้ยงดู  จัดยานพาหนะให้ไปมาโดยสดวกและไม่ต้องเสียทุนทรัพย์  จนถึงติดสินบนตรงๆ เปนที่สุด  คณะใดมีทุนมากจึ่งได้เปรียบมากอยู่  ก็ตกลงรวบรวมใจความว่า  ราษฎรไม่ได้เลือกผู้แทนของตน  เพราะรู้แน่ว่าเปนคนดี  สมควรจะเปนผู้แทนตนด้วยประการทั้งปวงฉนี้เลย  ตามจริงเลือกบุคคลผู้นี้เพราะมีผู้บอกให้เลือกฤาติดสินบนให้เลือกเท่านั้น  เมื่อเปนเช่นนี้แล้ว  ก็นับว่าผิดความมุ่งหมายเดิมของคอนสติตูชั่นแล้ว  คืออำนาจไม่ได้อยู่ในมือประชาชนจริงๆ  แต่ไปอยู่ในมือแห่งคนส่วน ๑  ซึ่งเปนส่วนน้อยแห่งชาติเท่านั้น  แต่ถ้าคนเหล่านี้มีความตั้งใจดีอยู่  และเปนผู้ที่มีความรักชาติบ้านเมืองของตน  ก็คงจะอุส่าห์พยายามกระทำการงานไปตามน่าที่อันได้รับมอบไว้นั้นโดยสุจริต  แต่ผู้ที่มีความคิดซื่อตรงต่อชาตืฝ่ายเดียว  ไม่คิดถึงตนเองฤาผลประโยชน์ของตนเองมีอยู่บ้างฤาเฃ้าใจว่าถึงจะมีก็จะไม่มากปานใด  คนโดยมากถึงว่าจะรักชาติบ้านเมืองก็มักจะมีความคิดถึงประโยชน์ส่วนตัวเจือปนอยู่เปนอันมาก  คงยังมีความต้องการอำนาจและต้องการผลอันจะพึงมีมาแต่การเปนผู้มีอำนาจต้องการโอกาศที่จะได้อนุเคราะห์แก่ญาติพี่น้องฤาคนชอบพอกันบ้างเปนธรรมดาอยู่  ความประสงค์อันนี้ทำให้เกิดมีผลอัน ๑  ซึ่งเชื่อว่าผู้ที่ริเริ่มคิดวิธีปกครองด้วย “คอนสติตูชั่น”  มิได้ตั้งใจไว้ว่าจะให้มี คือ



กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 28 ก.ค. 12, 18:27
๓. เกิดมีคนจำพวก ๑  ซึ่งเอาการบ้านเมือง (ปอลิติค) เปนทางหาชื่อเสียง  เอาเปนงานประจำสำหรับทำ เอาเปนทางเลี้ยงชีพทีเดียว  ที่มีบุคคลทำเช่นนี้ได้ถนัดก็เพราะเหตุผลอันได้กล่าวมาแล้วในข้อ ๒  คือโดยเหตุที่ประชาชนโดยมากมีธุระและกิจการประจำต้องกระทำอยู่  ไม่มีเวลาพอที่จะดูแลฤาดำริหในทาง “ปอลิติค”  จึ่งยอมให้ผู้ที่เฃามีเวลาจะดำริห์ทาง “ปอลิติค” นั้น  นึกแทนพูดแทนไป  การที่มีบุคคลจำพวก ๑  ซึ่งทำการคิดการทาง “ปอลิติค” ขึ้นนี้  ถ้าจะว่าไปตามตำราก็ต้องว่าไม่สมควร  เพราะตำราว่าการบ้านเมืองให้เปนไปตามแต่ประชาชนจะเห็นชอบพร้อมกันต่างหาก  การที่มีบุคคลจำพวก ๑ ซึ่งหาชื่อทาง “ปอลิติค” มาเปนผู้คิดแทนดังนี้  ก็กลายเปนอำนาจอยู่ในมือคนจำพวกนี้โดยเฉภาะ  จำพวกอื่นถึงจะต้องการอะไรๆ ก็ไม่ได้สมประสงค์  นอกจากที่ความปรารถนาจะไปตรงเฃ้ากับพวกนักเลงปอลิติค  ถ้าจะเถียงว่า  การที่เปนเช่นนี้มีทางแก้ได้ง่ายๆ คือจัดหาคนที่ไม่ใช่พวก “ปอลิติเชียน”  เฃ้าไปรับเลือกเสียบ้างก็แล้วกัน  ฉนี้ไซร้ก็ต้องตอบว่า  ขอให้ดูความเปนจริงว่าเปนไปได้ฤาไม่  บุคคลที่เรียกตนว่า “อิศระ” (อินดิเปนเดนท์)  คือไม่ได้อยู่ในปาร์ตีใดปาร์ตี ๑ นั้นนานๆ จะหลุดเฃ้าไปนั่งเปนสมาชิกแห่งรัฐสภาได้สักคน ๑ ฤา ๒ คน  แต่ถึงเฃ้าไปได้แล้วก็ไม่เฃ้าไปทำประโยชน์อะไร เพราะการงานใดๆ ที่จะบรรลุถึงซึ่งความสำเร็จได้ก็โดยปรากฏว่าคนโดยมากเห็นชอบพร้อมกัน  คือเมื่อตั้งเปนปัญหาขึ้นในที่ประชุมปาร์ลิยเมนต์แล้ว  เมื่อถึงเวลาลงคะแนนกัน  ก็ต้องเปนไปตามความเห็นของคะแนนฃ้างมากเสมอ  ก็ผู้ที่จะลงคะแนนนั้น  โดยมากก็คงจะลงคะแนนตามๆ กัน  สุดแต่หัวน่าแห่งคณะฃองตนจะบอกให้ลงทางไหน  ผู้ที่เรียกตนว่า “อิศระ” นั้น  ไม่มีพวกมีพ้องที่จะนัดจะแนะกัน  เพราะฉนั้นถึงแม้ว่าจะมีความคิดความเห็นดีปานใดก็ตาม  แต่ก็คงไม่สามารถจะบันดาลให้การเปนไปตามความคิดความเห็นของตนได้  เมื่อการเปนอยู่เช่นนี้แล้ว  จะหาผู้ที่สมัคเฃ้าไปเปนสมาชิกอิศระเช่นนั้นก็ยาก  ผู้ที่ประสงค์เฃ้าปาร์ลิยเมนต์โดยมากจึ่งมักแสดงตนว่าเปนผู้เห็นพ้องด้วยปาร์ตีใดปาร์ตี ๑  แล้วแต่จะเปนการสดวกและตรงความเห็นของตนในขณะนั้น  ลักษณะปกครองเช่นนี้จึ่งมีนามปรากฏว่า “ปาร์ตี สิสเต็ม” (ลักษณะปกครองด้วยคณะ)  คณะผลัดเปลี่ยนกันเฃ้ารับน่าที่ปกครอง  ฤาเรียกตามภาษาของเขาว่าเปน “รัฐบาล” (เคาเวอร์นเมนต์)  อีกคณะ ๑ เรียกว่าเปน “ผู้คัดค้าน” (ออปโปสิชั่น)  คณะที่เปนรัฐบาลนั้นคือคณะที่มีพวกมากในที่ประชุมปาร์ลิย์เมนต์  สามารถที่จะเชื่อใจได้อยู่ว่าการใดๆ ที่จะคิดจัดขึ้น  แม้ว่าจะเกิดเปนปัญหาขึ้นในที่ประชุมบ้าง  ก็สามารถที่จะท้าให้ลงคะแนนกันได้  โดยไม่ต้องวิตกว่าจะต้องแพ้กันในทางจำนวนคะแนน  พอเมื่อใดไม่มีความเชื่อได้แน่นอนในข้อนี้แล้ว  ฤาเมื่อท้าลงคะแนนกันแล้วแพ้ฃ้างฝ่ายผู้คัดค้าน ฝ่ายรัฐบาลก็ลาออกจากตำแหน่ง  ผู้คัดค้านเฃ้ารับตำแหน่งแทนต่อไป  กลับกันไปมาอยู่เช่นนี้  อีกประการ ๑  ในขณะเมื่อปาร์ตีใดได้รับน่าที่ปกครอง  ฤาพูดตามศัพท์อังกฤษว่า “ถืออำนาจ” (อินเปาเวอร”)  ปาร์ตีนั้นก็เลือกเอาแต่คนที่มีความเห็นพ้องกับตนไปตั้งแต่งไว้ในตำแหน่งน่าที่ต่างๆ ในรัฐบาล  เปนทางรางวัลผู้ที่เปนพวกพ้องและที่ได้ช่วยเหลือปาร์ตีในเมื่อกำลังพยายามหาอำนาจอยู่นั้น  พอเปลี่ยนปาร์ตีใหม่ได้เฃ้าถืออำนาจ  เจ้าน่าที่ต่างๆ ก็เปลี่ยนไปด้วยทั้งชุด  ตั้งแต่ตัวเสนาบดีลงไป  การเปลี่ยนเจ้าน่าที่ทำการงานของรัฐบาลทั้งชุดเช่นนี้  ถ้ายิ่งเปลี่ยนบ่อยเท่าใดก็ยิ่งชอกช้ำมากเท่านั้น  การงานก็อาจที่จะเสียหายไปได้มากๆ  เพาะบางทีคนพวก ๑ ได้เริ่มคิดไว้แล้ว  แต่ยังมิทันจะได้กระทำไปให้สำเร็จก็มีคนอื่นเฃ้ามารับน่าที่เสียแล้ว  จึ่งต้องจัดให้มีคนจำพวก ๑  ซึ่งเรียกว่า “ฃ้าราชการประจำ” (“เปอรมะเนนต์ ออฟฟิเชียล”) ไว้ในกระทรวงและกรมต่างๆ ทุกแห่ง  เพื่อเปนผู้ดำเนินการงานของรัฐบาลไปตามระเบียบเรียบร้อย  ซึ่งไม่ผิดอะไรกันกับวิธีจัดระเบียบราชการในรัฐบาลแห่งเมืองอันพระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจเต็มเปนผู้ปกครองนั้นเอง  เสนาบดีฤาพวกหัวน่ากรมกระทรวงที่ผลัดกันเฃ้าออกอยู่นั้น  เปนแต่ผู้คิดทางการที่จะดำเนินต่อไปอย่างไร  เมื่อคิดแล้วก็ต้องมอบให้พวกฃ้าราชการประจำเปนผู้ทำต่อไป  จะทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น  พวกฃ้าราชการประจำเหล่านี้คือผู้ที่ต้องเหน็จเหนื่อยจริง กรากกรำลำบากจริง  นั่งออฟฟิซจริง  ทำการงานของรัฐบาลจริง  แต่พวกเหล่านี้ฤาได้รับบำเหน็จรางวัลลาภยศฤาถานันดรศักดิ์  หามิได้เลย  ผู้ที่ได้รับบำเหน็จรางวัลคือผู้ที่มาขี่หลัง  คือผู้ที่เฃ้ามาครอบ  คือผู้ที่เปนพวกพ้องของหัวน่าปาร์ตีที่ถืออำนาจ  ถ้าแม้ว่าใครๆ ที่มีความรู้พอและพยายามพอที่จะอ่านหนังสือพิมพ์ต่างประเทศอยู่เนืองๆ  และหมั่นตรวจดูอยู่ว่าผู้ที่ได้รับบำเหน็จมีเลื่อนยศ  รับยศใหม่  รับตรา เปนต้นเหล่านี้  คือใครบ้าง  แล้วและสืบสาวดูว่าบุคคลนั้นๆ  ได้กระทำความชอบแก่บ้านเมืองอย่างไร  คงจะได้แลเห็นว่า  ในจำพวกที่รับบำเหน็จนั้น  มีผู้ที่ปรากฏว่าได้ทำประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองจริงๆ เปนส่วนน้อย  (และทหารบกทหารเรือนานๆ จะมีนามอยู่ในหมู่ผู้รับบำเหน็จสูงๆ สักคราว ๑)  โดยมากเปนผู้มีทรัพย์เท่านั้น  ซึ่งเห็นได้ว่าการมีทรัพย์นั้นแลเปนเครื่องที่จะบันดาลให้คนได้รับบำเหน็จ  ดูๆ ไปก็คล้ายๆ ซื้อบำเหน็จกันได้  วิธีซื้อนั้น  ไม่ใช่ซื้อกันตรงๆ มักเปนไปทางอ้อม  คือทางส่งเงินไปเฃ้าเรี่ยรายในเงินกองกลางของปาร์ตี  ปาร์ตีใช้เงินกองกลางนี้สำหรับใช้จ่าย  ในเมื่อจัดให้คนพวกของตนไปรับเลือกเปนเมมเบอร์ปาร์ลิยเมนต์  นับว่าเปนอันได้ช่วยโดยทางอ้อมเพื่อให้ปาร์ตีได้ถืออำนาจ  ยกเอาว่าเปนความชอบแก่รัฐบาล  จึ่งให้บำเหน็จเพื่อแสดงความพอใจของปาร์ตี  เมื่อเปนเช่นนี้แล้ว  ก็ไม่ผิดอะไรกันกับเจ้าแผ่นดินบำเหน็จรางวัลแต่พวกพ้องของตนที่ประจบประแจง  บำเหน็จรางวัลก็คงเปนอันไปได้แก่คนหัวประจบอีก  ไม่ใช่ได้แก่ผู้ที่ทำการงานจริงๆ  คราวนี้ก็จะต้องแก้ขึ้นว่าถึงแม้ว่าจะเปนไปได้เช่นนั้นก็ตาม  แต่ถ้าเมื่อใดปรากฏขึ้นว่าคณะซึ่งเปนรัฐบาลมีความลำเอียงฤาประพฤติไม่เปนยุติธรรม  ราษฎรก็อาจจะร้องขึ้นได้  และอาจที่จะร้องให้คณะนั้นออกจากน่าที่รัฐบาลเสียได้  เพราะฉนั้น คณที่เปนรัฐบาลจำจะต้องระวังอยู่  ข้อนี้จริงและถูกต้องทุกประการตามตำรา  แต่ตามความจริงนั้นเปนอยู่อย่างไร?  ประชาชนจะร้องทักท้วงขึ้นได้ก็โดยอาไศรยปากแห่งผู้แทนซึ่งได้เลือกให้เข้าไปเปนสมาชิกแห่งรัฐสภาอยู่แล้ว  ก็ในที่ประชุมปาร์ลิยเมนต์นั้น  แล้วแต่คะแนนมากและน้อยมิใช่ฤา  พวกรัฐบาลเฃามีอยู่มาก  ถึงใครๆ จะร้องจะว่าเฃาอย่างไรๆ  เมื่อท้าลงคะแนนกันเฃ้าเมื่อใดก็ต้องแพ้เฃาเมื่อนั้น  อีกประการ ๑ การให้บำเหน็จรางวัลผู้ที่ให้เงิน “ลงขัน” กองกลางของปาร์ตีนั้น  มิใช่ว่าจะกระทำอยู่แต่เฉภาะปาร์ตีเดียว  ย่อมจะกระทำอยู่ด้วยกันทุกปาร์ตี  เพราะฉนั้นปาร์ตีใดจะร้องติเตียนอีกปาร์ตี ๑  ก็ไม่ใคร่ถนัด  เปนเรื่อง “ไก่เห็นตีนงู  งูเห็นนมไก่” อยู่ฉนี้  จึ่งเปนการยากที่จะแก้ไขให้หายไปได้  ข้อที่แสดงมาแล้วนี้  ก็นับว่าร้ายอยู่แล้ว  แต่ยังมีต่อไปอีกขั้น ๑ คือ


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 28 ก.ค. 12, 18:28
๔. คณะฤาปาร์ตีทั้ง ๒ ฝ่ายต่างตกลงกันเสียว่าจะผลัดเปลี่ยนกันเฃ้าเปนรัฐบาล  ผลัดเปลี่ยนกันมีโอกาศได้อุดหนุนพวกพ้องของตน  เมื่อได้ตกลงกันเช่นนี้แล้วเมื่อใด  ก็แปลว่าถึงที่สุดแห่งความเลวทราม  เพราะเปนอันหมดทางที่แก้ไขได้  ในระหว่างที่ปาร์ตี “ก” เปนรัฐบาล  ก็อุดหนุนพวกพ้องของตนเสียเต็มที่  ฝ่ายปาร์ตี “ข”  ก็ไม่คัดค้านจริงจังอันใด  จะคัดค้านบ้างก็แต่พอเปนกิริยา  เพราะนึกอยู่ว่าไม่ช้าก็จะถึงคราวฝ่ายตนได้เฃ้าไปนั่งกินบ้าง  ความเสียหายอันนี้มีอยู่แก่ปาร์ลิยเมนต์แทบทุกเมือง  แม้แต่ที่เมืองอังกฤษซึ่งนิยมกันว่าเปนประเทศซึ่งมีปาร์ลิย์เมนต์อันดีที่สุด  ก็ยังมีคนอังกฤษเองร้องติอยู่ว่า ในเรื่อง “ฃายบำเหน็จ” นั้น  ถึงแม้ใครๆ จะร้องขึ้นในปาร์ลีย์เมนต์ก็ไม่เปนผลอันใด  เพราะทั้งคณะลิเบอรัลและคอนเซอร์วะติฟพากันตัดรอนปัญหาเสีย  มิได้ทันต้องถึงได้ปฤกษากันฤาลงคะแนนกันเลย  ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินนั้น  ถึงแม้ว่าจะทรงทราบเรื่องนี้  ก็ไม่มีอำนาจจะทรงแก้ไขอย่างใดได้  การที่จะประทานบำเหน็จรางวัลแก่ผู้ใด  ก็ต้องเปนไปตามความแนะนำของเสนาบดีเปนพื้น  จะมีที่เลือกประทานเองได้บ้างก็แต่พวกฃ้าราชการในราชสำนักนี้เท่านั้น  ก็เมื่อในประเทศอังกฤษเปนเช่นนี้แล้ว  ในประเทศอื่นจะเปนอย่างไร
การมีปาร์ลีย์เมนต์  ฤาเปนรีปับลิคไม่ตัดการฉ้อโกงฤาการไม่สม่ำเสมอให้หมดได้  แต่ว่า-ข้อความที่ได้กล่าวมาแล้วนี้  ก็เปนแต่หัวข้อบางข้อ  ซึ่งตามความเห็นของเราเห็นว่าเปนสำคัญ  และโทษทั้งปวงที่ได้แสดงมาแล้วนั้น  อาจจะมีได้ไม่เฉภาะแต่ที่ในประเทศซึ่งใช้ลักษณปกครองเปน “ลิมิเต็ดมอนาร์คี”  ถึงในประเทศที่ใช้ลักษณปกครองเปน “รีปับลิค” ก็มีได้เหมือนกัน  การมีปาร์ลิยเมนต์ก็ดี  ฤาถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนลักษณปกครองเปนรีปับลิคไปทีเดียวก็ดี  ไม่ตัดการฉ้อโกงฤาการไม่สม่ำเสมอให้หมดไปได้เลย  ถ้าผู้ถืออำนาจยังมีทางที่เลือกให้บำเหน็จรางวัลแก่ใครๆ ได้ตามใจอยู่ตราบใด  คนสอพลอและหัวประจบก็คงยังต้องมีอยู่ตราบนั้น  จะผิดกันก็แต่ชื่อที่เรียกผู้มีอำนาจเท่านั้น  แต่ว่ามันก็มีข้อที่ควรคำนึงต่อไปอยู่บ้าง  และถึงแม้ว่าจะเปนข้อที่ไม่พึงใจก็จำจะต้องมองดูตรงๆ คือ
“เสียงประชาคือเสียงของเทวดา”   ความนิยมของคนโดยมากในสมัยนี้ทั่วไปมีอยู่ว่า  การที่มอบอำนาจไว้ในมือบุคคลคนเดียว  ให้เปนผู้จัดการปกครองชาติบ้านเมืองคนเดียวนั้น  ต้องได้คนที่ ดีจริง เก่งจริง สามารถจริง  จึ่งจะควรไว้ใจให้เปนผู้ครอบครองได้  โดยไม่ต้องเกรงว่าบุคคลผู้นั้นจะใช้อำนาจในที่ผิดและไม่เปนประโยชน์ฤาความศุขแห่งประชาชน  แต่การที่จะหาคนเช่นนี้ก็มิใช่ง่าย  และถ้าพระเจ้าแผ่นดินไม่เปนผู้ที่เหมาะแก่น่าที่แล้ว  จะเปลี่ยนตัวก็ยาก  นอกจากที่เจ้าแผ่นดินนั้นเองจะมีความรู้สึกว่าตนไม่มีความสามารถพอที่จะทำน่าที่ได้  และมีความรักชาติพอ  มีใจเด็ดเดี่ยวพอที่จะสละอำนาจ  สละลาภยศและราไชสวรรย์จึ่งหลีกไปเสีย  เพื่อให้ผู้ที่ประชาชนนิยมมากกว่าได้มีโอกาศทำการเพื่อบังเกิดผลอันใหญ่ยิ่งขึ้นแก่ชาติบ้านเมือง  แต่เจ้าแผ่นดินที่จะรู้สึกตัวว่าไม่สามารถนั้นก็หายาก  และถึงแม้ว่าจะมีบ้าง  การที่จะออกจากน่าที่ก็ใช่ว่าจะทำไปได้โดยง่าย  อาจจะมีเครื่องขัดขวางอยู่หลายประการ  เมื่อเปนเช่นนี้แล้ว  มหาชนจึ่งได้พากันค้นหาทางแก้ไขความไม่แน่นอนแห่งลักษณปกครองโดยมีเจ้าแผ่นดินถืออำนาจสิทธิ์ฃาดนั้นโดยวิธีใดวิธี ๑  บางเมืองก็แก้ไปทางมี “คอนสติตูชั่น” ขึ้น  และตัดอำนาจเจ้าแผ่นดินเสียทั้งหมด  คงเหลือให้ไว้แต่อำนาจที่จะห้ามกฎหมาย (“วีโต”) บางครั้งบางคราว  กับการทำสงครามและเลิกสงคราม  แต่ถึงแม้อำนาจทั้ง ๓ นี้  ก็ไม่ได้ใช้โดยลำพัง  คงต้องใช้ได้ด้วยความแนะนำของคณะเสนาบดีโดยมาก  แต่ถึงแม้ตัดอำนาจเจ้าแผ่นดินลงไปปานนี้แล้ว  บางชาติก็เห็นไม่พอ  จึ่งเลยเปลี่ยนเปนรีปับลิคไปอีกชั้น ๑  จึ่งเห็นได้ว่า  ความนิยมของมหาชนเวลานี้เดินไปหาทางประชาธิปตัย  คือทางให้อำนาจอยู่ในมือของประชาชนเอง  ต้องการที่จะมีเสียงฤามีส่วนในการปกครองชาติบ้านเมืองของตนเองให้มากที่สุดที่จะเปนไปได้  และเมื่อความเห็นของคนมากๆ ตรงกันเฃ้าแล้ว  ก็ยากที่จะทัดทานฤาคัดค้านไว้ได้  คงจะต้องเปนไปตามความเห็นอันนั้นคราว ๑  จะผิดกันก็แต่เวลาจะช้าฤาเร็วเท่านั้น  นักปราชญ์โรมันจึ่งได้แสดงเปนภาษิตไว้ว่า “Vox populi vox dei”  แปลว่า “เสียงประชาคือเสียงเทวดา”  ขยายความว่าเทวดาเปนผู้ที่นิยมกันว่ามีอานุภาพใหญ่สามารถจะบันดาลให้สิ่งทั้งปวงเปนไปตามปรารถนาทุกประการ  อันประชาชนซึ่งมีความประสงค์ตรงกันอยู่แล้วโดยมาก  และได้แสดงความประสงค์อันนั้นให้ปรากฏชัดแล้ว  ก็ไม่มีผู้ใดจะสามารถทัดทานได้  จึ่งนับว่ามีอานุภาพเปรียบด้วยเทวดาฉนี้  เมื่อปรากฏอยู่เช่นนี้แล้ว  ก็ไม่มีข้อควรสงไสยเลยว่า  เมืองไทยเรานี้คงจะต้องเปนไปอย่างประเทศอื่นๆ ได้เปนมาแล้ว  คงจะต้องมี “คอนสตูติชั่น”  อัน ๑ เปนแน่แท้  ถึงแม้การมี “คอนสตูติชั่น” จะมีโทษเช่นที่กล่าวมาแล้วก็ตาม  แต่ลักษณะปกครองโดยมอบอำนาจไว้ในมือพระเจ้าแผ่นดินผู้เดียวก็มีโทษอยู่เหมือนกัน  (ซึ่งในเวลาบัดนี้มีผู้แลเห็นและรู้สึกอยู่หลายคน!)  จึ่งตกอยู่ในปัญหาว่าจะเลือกเอาอย่างไหน  และคำตอบปัญหาอันนี้  ก็มีอยู่ว่าแล้วแต่ประชาชนจะเห็นชอบและประสงค์ทั่วกันเถิด  ส่วนตัวเราเองนั้นย่อมรู้สึกอยู่ดีว่า  การเปนเจ้าแผ่นดินมีความลำบากปานใด  คับใจเพียงใด  ที่ยังคงอุส่าห์ทำการไปโดยเต็มสติกำลังและความสามารถก็โดยหวังใจให้บังเกิดผลอันดีที่สุดแก่ชาติบ้านเมืองของเราเท่านั้น  การใดๆ ที่เราจะทำไปให้บรรลุถึงซึ่งความสำเร็จได้  ก็ด้วยอาไศรยความพร้อมใจแห่งฃ้าราชการอันเปนผู้รับน่าที่ทำการงานของรัฐบาล  ตั้งแต่เสนาบดีลงไปจนถึงผู้มีตำแหน่งน่าที่น้อยๆ  อาไศรยความไว้ใจแห่งท่านเหล่านี้อันมีอยู่ในตัวเรา  ไว้ใจว่ามีความมุ่งดีและมีความสามารถพอที่จะเปนหัวน่าเปนนายเหนือเฃาทั้งหลายได้  ถ้าเมื่อใดความไว้ใจอันนี้เสื่อมถอยลงไป  ฤาสิ้นไปแล้ว  ตัวเราก็เท่ากับท่อนไม้อัน ๑  ซึ่งบุคคลได้ทำขึ้นไว้เปนเตว็ดตั้งไว้ในศาล  จะมีผู้เคารพนับถือก็แต่ผู้ที่มีปัญญาถ่อยปราศจากความคิดเท่านั้น.


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ค. 12, 20:26
 V_Mee
อ้างถึง
ประชาธิปไตยในทางพระพุทธศาสนาที่เราถือปฏิบัติกันมานับร้อยนับพันปี
ผมยังไม่ค่อยแจ้งในคำอธิบายของคุณวีหมี จึงได้เข้าไปค้นคว้าต่อในเน็ทและเจอบทความนี้ อ่านแล้วค่อยเข้าใจความที่ท่านพยายามสื่อ ขออนุญาตเอามาลงให้อ่านกัน แต่ทั้งนี้มิใช่หมายความว่าผมได้เห็นด้วยกับประชาธิปไตย(หรือควรจะเรียกว่าสังฆาธิปไตย)ที่ท่านว่าทั้งหมด

ประชาธิปไตยในพุทธศาสนา
พระมหาประเสริฐ ธมฺมเสฏฺโฐ

เมื่อสองอาทิตย์ที่ผ่านมาได้รับนิมนต์เป็นวิทยากรในหัวข้อ"ประชาธิปไตยในพุทธศาสนา"ของสภาเด็กและเยาวชน อ.ไชยปราการ  ในตอนแรกที่ได้รับทราบหัวข้อที่ต้องบรรยายก็รู้สึกว่า เอ.. จะบรรยายยังไงดีหนอ  ก็มานั่งขบคิดปัญหาพิจารณาเรื่องราวในพุทธศาสนา  จึงทำให้กระจ่างแจ้งว่า อ้อ..ที่จริงประชาธิปไตยนี้มีในพุทธศาสนาตั้ง ๒,๐๐๐ กว่าปีผ่านมาแล้ว  
ประชาธิปไตยหรือ "Democracy"เป็นคำที่ใช้มานานตั้งแต่สมัยกรีกโบราณรุ่งเรือง ซึ่งมุ่งแสดงถึงการปกครองที่ให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการแสดงออก มีส่วนร่วมในการปกครองโดยเลือกผู้แทนเข้าไปนั่งในสภาบริหารและสภานิติบัญญัติ  ผู้ให้คำนิยามแก่การปกครองแบบประชาธิปไตยที่กระชับและสั้น คือ ลินคอล์น ที่ว่าประชาธิปไตย คือ การปกครองของประชาชน  โดยประชาชน และเพื่อประชาชน
ในพุทธศาสนานั้นพระพุทธเจ้าเองทรงปกครองดูแลเหล่าพุทธสาวกด้วยประชาธิปไตยเช่นกัน แม้ในยุคสมัยนั้นมีการแบ่งชั้นวรรณะกันอย่างรุนแรง  แต่เมื่อพระองค์ก็ทรงเลือกที่จะให้เหล่าพุทธสาวกที่มาจากต่างชนชั้นกันอยู่ร่วมกันอย่างผู้ที่มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมเสมอกัน  ด้วยพระองค์ทรงเห็นว่า มนุษย์มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเสมอกันไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร  พระองค์จึงทรงบัญญัติพระวินัยเพื่อเป็นแนวในการประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ แต่การบัญญัติวินัยนั้นก็ทรงบัญญัติเป็นพระสงฆ์มิได้บัญญัติตามลำพัง ต้องให้เกิดเรื่องก่อน แล้วประชุมสอบสวนแล้วบัญญัติพระวินัยท่ามกลางพระสงฆ์ ด้วยความเห็นชอบของพระสงฆ์ต่างพร้อมใจกันนำไปปฏิบัติ การทำกรรมต่างๆ ของสงฆ์ ยกเว้นอปโลกนกรรม ล้วนให้ทำเป็นการสงฆ์ทั้งสิ้น กล่าวคือ
ญัตติกรรม-ทำด้วยสงฆ์จตุวรรค คือ ๔ รูปขึ้นไป เช่นการสวดปาติโมกข์              
ญัตติทุติยกรรม-ทำด้วยสงฆ์ปัญจวรรคคือ ๕ รูปขึ้นไป เช่น เรื่องกฐิน
ญัตติจตุตถกรรม-ทำด้วยสงฆ์ ทสวรรค คือ ตั้งแต่ ๑๐ รูปขึ้นไปยกเว้นในที่กันดาร เช่นการอุปสมบท
การให้มานัตต์ การสวดอัพภาน ก็ต้องใช้สงฆ์ตั้งแต่ ๒๑ รูปขึ้นไป จึงกล่าวได้ว่า
พระวินัย คือ รัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่างๆ
พระสงฆ์ คือ สมาชิกสภาผู้แทน
คุณสมบัติของพระสงฆ์ คือ คุณสมบัติของสมาชิก
อำนาจพระสงฆ์ คือ อำนาจอธิปไตย

อธิกรณ์สงฆ์ทั้ง ๔ คือ

ก. วิวาทาธิกรณ์-การขัดแย้งกันเกี่ยวกับธรรมวินัย
ข. อนุวาทาธิกรณ์-การโจทก์กันด้วยอาบัติต่างๆ
ค. อาปัตตาธิกรณ์-การละเมิดอาบัติต่างๆ
ง. กิจจาธิกรณ์-กิจของสงฆ์ที่เกิดขึ้นที่จะพึงทำด้วยสงฆ์จำนวนต่างๆ

ต่างก็จะต้องระงับด้วยวิธีการที่เรียกว่า อธิกรณสมถะ ๗ คือ

๑. สัมมุขาวินัย ระงับต่อหน้าสงฆ์ต่อหน้าบุคคลต่อหน้าวัตถุ
๒. สติวินัย การระงับด้วยการให้เกียรติแก่พระอรหันต์ ผู้มีสติสมบูรณ์
๓. อมูฬหกวินัย การระงับเหตุด้วยการยกเว้นให้แก่ผู้ทำผิดในขณะที่เป็นบ้า คือได้หลงไปแล้ว
๔. เยภุยยสิกา ระงับด้วยเสียงข้างมากลงมติ
๕. ปฏิญญาตกรณะ ระงับด้วยการทำตามปฏิญญา
๖. ตัสสปาปิยสิกากรรม ระงับด้วยการลงโทษศัตรูผู้ถูกสอบสวนแล้วพูดไม่อยู่กับร่องกับรอย ให้การรับแล้วปฏิเสธ ปฏิเสธแล้วรับเป็นต้น
๗. ติณวัตถารกวินัย ระงับด้วยการประนีประนอมทั้งสองฝ่าย ดุจเอาหญ้าทับสิ่งสกปรกไว้ไม่ให้มีกลิ่น
 ทั้งอธิกรณ์และการระงับต้องทำเป็นการสงฆ์เป็นส่วนใหญ่ ดุจการตั้งกรรมาธิการฝ่ายต่างๆ ฉะนั้นจึงเป็นการทำงานเป็นกลุ่มเป็นทีม และในการประชุมทำกรรมต่างๆ เป็นการสงฆ์นั้น ต้องมีมติเป็นเอกฉันท์ จริงๆ ถ้ามีข้อข้องใจมีสิทธิ ยับยั้ง (Veto) ได้
แม้เพียงเสียงเดียวสงฆ์ทั้งหมดก็ต้องฟังดังท้ายกรรมวาจาว่า
"ยสฺสายสฺมโตขมติ...
.........โส ตุณฺหสฺสยสฺส น ขมติ โส ภาเสยฺย"
"ถ้ากรรมนี้ ชอบใจต่อท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเงียบ ถ้าไม่ชอบใจต่อท่านผู้ใดท่านผู้นั้นพึงพูดขึ้น"
อนึ่งการทำกรรมอันใดก็ตาม พระวินัยจะต้องพร้อมเพรียงกัน ดังคำขึ้นต้น ของกรรมวาจาว่า
"ยทิ สงฺฆสฺสปตฺตกลฺลํ"
ซึ่งแปลว่า "ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ พร้อมแล้ว... สงฆ์พึงทำ..." ดังนี้

นี่แหละคือ ประชาธิปไตยที่มีในพุทธศาสนามาเนิ่นนานแล้ว


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ค. 12, 21:51
เนื่องจากมีงานนอกเรือนไทยเข้ามาคั่นเป็นระยะ กว่าดิฉันจะตามดูคลิปทั้ง 2 ตอนได้กระทู้ก็วิ่งฉิวไปไหนๆ จนถึงหน้า 3 เข้าไปแล้ว 
ดูแล้ว คลิปในตอนแรกตัดต่อเร็วมาก อาจเป็นเพราะเป็นตอนเกริ่นเข้าสู่เรื่อง  ก็เลยตัดคำพูดของนักวิชาการแต่ละท่านเหลือคนละ 2-3 ประโยค   บางทีก็เหมือนยังพูดไม่จบ  เลยฟังไม่ค่อยจะรู้เรื่องว่าตัดต่อเร็วไปหรือท่านพูดผิดกันแน่

ขอต่อพรุ่งนี้นะคะ


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ก.ค. 12, 08:06
ตอนที่๓ครับ

http://www.youtube.com/watch?v=InzygM1WSVU


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ก.ค. 12, 09:14
ผมนั่งดูสารคดีทั้งสามตอนนี้อย่างมีสมาธิ และพยายามคิดตามไปกับวิทยากรทุกท่าน ซึ่งมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ใช่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับจุดยืนแต่ละท่านนั้นโดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ดี พอถึงบทสรุปของสารคดีนี้ ไฉนจึงมาตรงกับที่ผมเห็นด้วยอย่างหมดจรด ซึ่งผมพยายามจะสื่อออกไปในกระทู้ที่ผมเขียนๆมาโดยตลอด ก็ไม่ทราบได้เหมือนกัน

ขอบคุณThai PBSและผู้นำเสนอสารคดีดีๆชุดนี้ครับ


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ค. 12, 10:02
ดูครบทั้ง 3 ตอนแล้วค่ะ
ดูตอนแรกค่อนข้างอึดอัด   เพราะฟังผู้ให้สัมภาษณ์บางท่านแล้วตะหงิดๆในใจ    แต่ยกประโยชน์ให้ว่า มีการตัดต่อจนเหลือประโยคสั้นๆอาจทำให้คนดูฟังไม่ถนัด  ได้ใจความไม่ครบ เลยฟังเหมือนพูดผิดไป
เช่นคุณสุลักษณ์พูด( นาทีที่ 32.16 ) ถึงการมองจากข้างบนกับข้างล่างว่าไม่เหมือนกัน  ข้างบนพระราชกรณียกิจดูดี  มีพระมหากษัตริย์ที่ประเสริฐ แต่ข้างล่างเราไม่มีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ซึ่งเป็นข้อเสียเปรียบข้อหนึ่งของสนธิสัญญาเบาริง   จากนั้นก็ตัดไป
เลยฟังเหมือนกับว่า สิทธิสภาพนอกอาณาเขตเป็นขยะซุกใต้พรม เป็นปัญหาหนึ่งในสังคมที่ไม่ยอมรับโดยผู้บันทึกประวัติศาสตร์รุ่นเก่า จนนำไปสู่ปฏิบัติ 2475   แต่ความจริงในรัชกาลที่ 7 เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไปแล้ว เพราะสยามได้สิทธิสภาพกลับคืนมาตั้งแต่รัชกาลที่ 6   หลังสยามตัดสินใจเข้ากับฝ่ายพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1    ทหารไทยไปร่วมเดินสวนสนามอยู่ที่ประตูชัยของฝรั่งเศส    แม้ไปเอาตอนเขารบกันเสร็จก็ถือว่าเราส่งทหารไปร่วมกับฝ่ายชนะ เลยได้ผลดี ยกเลิกสนธิสัญญาเบาริงได้

ความอึดอัดอีกอย่างคือ  รู้สึกว่านักวิชาการหลายๆท่าน มองประชาธิปไตยตรงแค่ถ้อยคำ   เช่นกบฏ ร.ศ. 130 ก็ถือกันว่าเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตยขั้นนำร่องของ 2475   แต่ไม่ได้มองลึกลงไปว่า ที่เรียกว่าประชาธิปไตยนั้น มันจริงหรือเปล่า     
ที่มาของกบฏพวกนี้ ก็เห็นชัดจากคำให้การเมื่อแผนแตกเพราะเกลือเป็นหนอน ว่าเกิดจากความไม่พอใจพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นส่วนตัว     จึงคิดล้มล้างด้วยการวางแผนลอบปลงพระชนม์  และวางแผนจะยกสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกฯขึ้นนั่งบัลลังก์แทน    แต่ในเมื่อตัวเองเป็นคนก่อการ จะยกกษัตริย์พระองค์ใหม่ให้มีอำนาจแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ทำไม่ได้อยู่ดี  หัวจะขาดกันหมด    จึงตั้งข้อแม้ว่าเป็นระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ คือถูกจำกัดพระราชอำนาจ   แล้วเรียกระบอบใหม่นี้ว่าประชาธิปไตยซึ่งเป็นระบบศิวิลัยซ์ในตะวันตกในยุคนั้น
ทั้งหมดนี้พวกกบฏเพียงแต่พูดถึงประชาธิปไตยอย่างผิวเผิน   ไม่ได้มีการวางแผนว่า ทำอย่างไรอำนาจการปกครองจะกระจายไปถึงชาวบ้านชาวเมือง  ด้วยวิธีการอย่างเป็นรูปธรรม   กล่าวคือไม่ได้เน้นตรงนี้เป็นหลัก  หากไปเน้นการเปลี่ยนแปลงจากพระเจ้าอยู่หัวพระองค์เก่าเป็นหลัก
นอกจากนี้ ก็ไม่มีใครพูดว่าเมื่อพวกนี้ได้รับอภัยโทษแล้ว ก็เขียนหนังสือสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และทำบุญถวายประจำปีทุกปี     


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ก.ค. 12, 10:05
วิทยากรเกือบจะชุดเดียวกัน พูดกันแบบเต็มๆ

http://www.youtube.com/watch?v=7yRoyB0xoZU&feature=related


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 29 ก.ค. 12, 12:02
เรื่องการเจรจาแก้ไขสิทธิสภาพนอกอาณาเขตนั้น  เื่องจากสนธิสัญญาที่ทำไว้กับ ๑๔ ชาติโดยใช้สัญญาเบาริงเป็นต้นแบบนั้น  เป็นสนธิสัญญาที่ไม่มีกำหนดสิ้นสุด  ไม่เปิดช่องให้แก้ไข  ในการแก้ไขแต่ละครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงต้องมีการให้ประโยชน์แลกเปลี่ยนกับการแก้สัญญาทุกครั้ง

ในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อสยามเป็นหนึ่งในชาติผู้ชนะสงคราม  จึงได้เปิดเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญากับทั้ง ๑๔ ประเทศนั้น  และได้มีการลงนามในสนธิสัญญาฉบับใหม่ที่มีเงื่อนไขว่า ทั้ง ๑๓ ประเทศยินยอมยกเลิกอำนาจศาลต่างประเทศหรือศาลกงสุลเมื่อสยามประกาศใช้ประมวลกฎหมายคือ ประมวลกฎหมายอาญา  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  และประมวลกฎหมายวิธีความอาญา ครบทั้ง ๔ ฉบับแล้ว  อีก ๑ ประเทศคือเยอรมันนั้นได้มีการทำสัญญาฉบับใหม่ยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตไปตั้งแต่การเจรจาสงบศึกหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ แล้ว

สนธิสัญญาฉบับใหม่ที่ทำกันมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ นั้นติดพันมาจนถึงต้นรัชกาลที่ ๗  จึงได้มีการให้สัตยาบันสนธิสัญญา ๒ ฉบับสุดท้ายในวันที่  ๓๐  มีนาคม  พ.ศ. ๒๔๖๙  และในวันนั้นล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ ได้จัดให้มีการพระราชทานเลี้ยงวันเสมอภาคของกรุงสยามที่พระที่นั่งอัมพรสถาน  โดยโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระบรมอัฐิในรัชกาลที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖ ซึ่งทรงร่วมกันดำเนินพระบรมราชวิเทฌศบายในการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมนี้มาทรงเป็นพยานในการฉลองครั้งนั้นด้วย

เมื่อรัฐบาลสยามประกาศใช้ประมวลกฎหมายทั้ง ๔ ฉบับครบถ้วนใน พ.ศ. ๒๔๗๗ แล้ว  ต่อมาวันที่ ๑ ตุลาคม  พ.ศ. ๒๔๗๘ จึงมีการตราพระธรรมนูญศาลยุติธรรมฉบับใหม่  ที่มีผลให้ยกเลิกศาลต่างประเทศหรืออีกนัยหนึ่งคือเป็นการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตไปจากอป่นกินไทยโดยสมบูรณ์  และบรรดาคดีความที่ค้างอยู่ในศาลต่างประเทศได้โอนมาพิจารณาต่อในศาลยุติธรรม

เมื่อยกเลิกศาลต่างประเทศไปแล้ว  เพื่อให้ผลของการแก้ไขสนธิสัญญาในสมัยรัชกาลที่ ๖ มีผลสมบูรณ์  รัฐบาลในสมัยประชาธิปไตยจึงมีการเจรจาทำสนธิสัญญาฉบับใหม่กับ ๑๓ ประเทศโดยเดินตามสนธิสัญญาที่รัฐบาลรัชกาลที่ ๖ ทำกับเยอรมันเมื่อเจรจาสงบศึก  และมีการลงนามและให้สัตยาบันเสร็จสมบูรณ์ใน พ.ศ. ๒๔๘๒  จึงมีการฉลองประเทศพ้นจากสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในวันที่  ๒๔  มิถุนายน  พ.ศ. ๒๔๘๒ เป็นการใหญ่โต  และมีประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาว่า การแก้ไขสนธิสัญญาเพื่อยกเลิกสิทธินอกอาณาเขตครั้งนี้เป็นผลงานอันใหญ่ยิ่งของหลวงประดิษฐมนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

เพราะเหตุดังได้กล่าวมา  จึงเป็นคำตอบที่ท่านอาจารย์ใหญ่กล่าวไว้ว่า " สิทธิสภาพนอกอาณาเขตเป็นขยะซุกใต้พรม เป็นปัญหาหนึ่งในสังคมที่ไม่ยอมรับโดยผู้บันทึกประวัติศาสตร์รุ่นเก่า"


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ค. 12, 12:15
หรืออีกนัยหนึ่ง   
มีการถือว่าเป็นผลงานยิ่งใหญ่ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม  ไม่ใช่ผลงานที่พยายามแก้ไขกันมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5  จนสัมฤทธิ์ผลเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่ 6   และมีการฉลองความสำเร็จไปแล้วเมื่อพ.ศ. 2469   หกปีก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ค. 12, 12:37
คลิปทั้ง 3 ชุดนี้ ชุดที่ 3 ดีที่สุดในความเห็นดิฉัน   ตอบอะไรหลายอย่างได้กระจ่าง แม้ว่าออกมาในรูปความเห็น  แต่ก็เป็นความเห็นที่ให้คำตอบชัดเจน
ความคิดที่เกิดขึ้นจากการดูตอนท้ายๆ ฟังความเห็นของคุณรสนา โตสิตระกูลและผู้บรรยาย ก็เกิดความคิดขึ้นมา(ซึ่งเคยกล่าวไว้ ณ ที่ใดที่หนึ่งในเรือนไทยก่อนหน้านี้แล้ว ) ว่า ถ้าเราเปลี่ยนคำว่าระบอบประชาธิปไตย เป็นระบอบรัฐสภา (parliamentary system) บางทีจะมองเห็นภาพในอดีตชัดกว่านี้ ว่าคณะราษฎร์ทำอะไร   และเหตุการณ์ทางการเมืองในยุคต่อๆมา คืออะไรกันแน่

ทั้งนี้เพราะประชาธิปไตย เป็นคำที่ขลังและศักดิ์สิทธิ์ในความรู้สึกของคนไทย     เป็นคำที่ยกขึ้นมาครั้งใดก็ให้ความรู้สึกที่ดีงามน่าเลื่อมใส   ไม่มีใครกล้าคัดค้านหรือพูดว่าไม่เอา   เพราะเชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบดีที่สุดของการปกครอง   แม้แต่คอมมิวนิสต์เองก็บอกว่าเป็นระบอบของมวลชน  คือประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน     ถ้าพูดอย่างนี้คอมมิวนิสต์ก็เป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน เช่นเดียวกับประชาธิปไตยของไทย      ส่วนทางปฏิบัติเป็นอย่างไร เหมือนกันหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่ถ้าดิฉันลองเปลี่ยนคำนี้เป็นระบอบรัฐสภา   อย่างแรกคือความรู้สึกยึดมั่นในความขลังก็จะหายไป    ทำให้ออกความเห็นได้สะดวกใจขึ้น
ก็จะลองใช้คำนี้อธิบายเหตุการณ์ 2475 ดูสักครั้ง  หลังจากดูคลิปชุดนี้จบแล้ว

นักเรียนไทยหนุ่มๆอายุ 26-29 กลุ่มหนึ่งชุมนุมกันที่ฝรั่งเศส แล้วเห็นว่าระบบการเมืองของไทยที่ตระกูลเดียวปกครองกันมาหนึ่งร้อยกว่าปี  ล้าสมัยไปแล้ว  ถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนเป็นปกครอง กระจายไปในกลุ่มคนที่ไม่ได้มาจากตระกูลเดียวกัน    แต่เป็นคนต่างกลุ่ม ต่างอาชีพ ต่างอะไรกันหลายๆอย่าง เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองบ้านเมือง เรียกว่ารัฐสภา  เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาด เพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มเดียว   แต่จะเป็นประโยชน์ที่กระจายกว้างออกไป
ต่อมาเมื่อนักเรียนไทยกลุ่มนี้ทำสำเร็จอย่างง่ายดาย     ก็พยายามตั้งรัฐสภาขึ้น   แต่พบว่ามันไม่ง่ายอย่างที่คิด  คือเลือกคน กระจายจากอาชีพการงานและถิ่นที่อยู่ต่างๆ มาช่วยบริหารบ้านเมืองจริงก็ได้   แต่ก็ต้องไม่ลืมพรรคพวกที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายร่วมงานกันมาด้วยว่า เมื่อทำสำเร็จแล้วจะทอดทิ้งกันได้กระไร   ก็ต้องดึงกันมาช่วยงานต่อไป
นอกจากนี้ก็นึกขึ้นได้ว่า ประชาชนทั่วไปยังไม่รู้จักไม่เข้าใจระบบใหม่นี้เลย    จึงต้องให้เรียนระยะยาวเสียก่อน  ยังเอาตัวเข้ามาบริหารบ้านเมืองไม่ได้เพราะเขายังไม่รู้จักกันด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร   ระหว่างนี้ก็ต้องเอาคนมีวิชาความรู้มาช่วยงานไปก่อน  จนกว่าประชาชนจะพร้อม

รัฐสภาใหม่จึงมีทั้งสภาที่แต่งตั้งและสภาที่เลือกตั้ง   เพราะความจำเป็นที่มารู้กันภายหลังเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเสร็จแล้ว  ผ่านมา 80 ปี  ความจำเป็นนี้ก็ยังดำรงอยู่  เพราะก็ยังมี 2 สภาเหมือนเดิม


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ค. 12, 13:15
จากนั้น   ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองบางท่านพบว่า สืบเนื่องจากการยึดอำนาจเป็นสิ่งง่ายกว่าที่คิด    การรักษาอำนาจใหม่ไว้ก็ง่ายเหมือนกัน  เห็นได้จากความล้มเหลวในการยึดอำนาจกลับไประบอบเก่าในปีพ.ศ.  2476      บางคนจึงค้นพบว่าคำตอบอยู่ที่"อำนาจ"  ไม่ใช่ "รัฐสภา"    ความคิดเรื่องอำนาจนิยมจึงงอกงามขึ้น  ส่วนระบอบรัฐสภาเป็นเพียงตัวเสริม
ประกอบกับเหตุการณ์ทางโลกตะวันตกก่อนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2   อำนาจนิยมเฟื่องฟูเป็นความหวังใหม่อยู่ในเยอรมนีและอิตาลี   ก็มีส่วนจุดประกายความคิดขึ้นมาเช่นกัน    จากนั้น การชิงอำนาจจึงเกิดขึ้น เพราะใครได้ "อำนาจ" คนนั้นก็พาประเทศไปตามความประสงค์ได้รวดเร็วทันใจกว่าหลายๆคนคิดกันไปคนละทางสองทางอย่างระบอบรัฐสภา
   
ส่วนบรรดาผู้ที่อยู่ในระบอบรัฐสภา ก็ไม่รู้เท่าทันว่าบัดนี้กระแสการเมืองเปลี่ยนไปแล้ว  ยังนึกว่าตราบใดยังมีรัฐสภาอยู่ให้เห็นโต้งๆ   ประเทศก็ต้องอยู่ในระบอบนี้   ที่จริงแล้ว การปกครองมันเปลี่ยนไปโดยไม่ได้ประกาศเป็นทางการ   มารู้ชัดๆ เมื่อระบอบอำนาจนิยมแสดงตัวให้เห็นในเหตุการณ์กบฏพระยาทรงสุรเดช และประกาศผลอย่างเป็นทางการในคดีนักโทษประหาร 2482   จึงได้รู้กันว่าระบอบรัฐสภาต้องหลีกทางให้อำนาจนิยมแล้ว

จาก พ.ศ.2482  ถึงพ.ศ. 2516  ระบอบอำนาจนิยมก็เข้ามาแทนที่   รัฐสภาก็มีบ้างไม่มีบ้าง คั่นอยู่เป็นช่วงๆ    ถึงมีรัฐสภา ก็มีบทบาทไม่กี่มากน้อย   เพราะอำนาจนิยมเป็นตัวนำมากกว่า    ผู้ใช้อำนาจจะเป็นผู้ชี้ถูกชี้ผิดเองว่าอะไรดีอะไรไม่ดีสำหรับประชาชน
จากพ.ศ. 2516-2519 ประชาชนเริ่มแสดงสิทธิ์แสดงเสียงว่าต้องการอะไรบ้าง    แต่ความเห็นของประชาชนก็แตกออกเป็น 2 ส่วน  จนเกิดขวาพิฆาตซ้ายกันขึ้น   จากนั้นระบอบรัฐสภาก็มีบ้างไม่มีบ้างเช่นในอดีตกันเรื่อยมา  จนถึงปัจจุบัน

นี่คือประวัติศาสตร์ของระบอบรัฐสภาของเราเอง ซึ่งไม่จำเป็นต้องไปซ้ำกับแม่แบบรัฐสภาของตะวันตกที่ผู้ก่อการฯไปได้แนวคิดมา   กระแสของโลกคือทุนนิยมในปัจจุบันก็มีผลกระทบต่อสังคมไทยอยู่เช่นกัน     ส่วนจะทำให้ระบอบรัฐสภาเดินต่อไปในแนวไหน  สะท้อนความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่หรือไม่   และข้อสำคัญเป็นผลดีต่อประเทศมากกว่าผลเสียหรือไม่   เราก็ต้องรอดูผลนี้ด้วยกัน  ไม่มีใครตอบล่วงหน้าได้


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 29 ก.ค. 12, 16:48
ขอบคุณ อ. NAVARAT.C อีกตครั้งหนึ่งที่นำมาให้ชม

การพระราชทานคอนสติติ้วชั่นในสยาม ทรงมีพระราชกระแสจะพระราชทานในเดือน กรกฎาคม ๒๔๗๕ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ให้องค์พระมหากษัตริย์มาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และหรือ มีคณะรัฐมนตรีมาช่วยแบ่งเบาพระราชาภาระในการบริหารประเทศนั้นมีแนวคิดแบบนี้มานานแล้ว แต่ผมว่าน้ำพระทัยของรัชกาลที่ ๗ นั้นหากศึกษาดี ๆ แล้วจะพบว่าพระองค์เลือกที่จะคิดดี ทำดีต่อบ้านเมืองและประชาชนเป็นที่ตั้ง แม้ว่าบางอย่างพระองค์จะสงวนสิทธิ์แห่งพระเกียรติยศบ้างในบางเรื่องก็ตาม

พระองค์ทรงพระกรรแสงและพระวาโยกว่าสองวัน ทรงเสียพระทัยในเรื่องที่คณะราษฎร์ทำการณ์นี้ เนื่องจากพระองค์ก็ทรงมีแนวคิดเช่นเดียวกัน ควรจะหารือกันได้เสมือนการหักหน้ากัน พระองค์ทรงมองราษฎรของพระองค์ยังไม่ค่อยมีความรู้เรื่องประชาธิไตยดีเท่าที่ควร แต่การณ์นั้นได้พลิกผันไปเสียแล้วเมื่อ ๖.๐๕ ย่ำรุ่ง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 29 ก.ค. 12, 17:32
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ได้มีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ขอให้ทรงรือฟื้น "รัฐมนตรีสภา" ที่เคยตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ อีกครั้ง
ลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลและพระราชหัตถเลขาทรงตอบนั้นมีความยืดยาวมาก  ขอคัดมาให้อ่านบางตอนที่แสดงถึงแนวพระราชดำริในรัชกาลที่ ๖ ดังนี้

“ถึงน้องชายเล็ก
จดหมายลงวันที่  ๒๐  เมษายน  ได้รับแล้ว,  ขอตอบเปนข้อๆ ตามความเห็นดังต่อไปนี้  แลจะพูดความจริงไม่อำพราง.

ข้อ ๑ ขอให้เข้าใจว่า  ในส่วนตัวฉันไม่มีความตั้งใจที่จะเกี่ยงหรือหวงอำนาจอย่างหนึ่งอย่างใดเลย,  แลฉันเองก็รู้ดียิ่งกว่าใครๆ ว่าราชการในสมัยนี้มีมากกว่าแต่ก่อนเปนอันมาก,  แลสมัยที่จะใช้แบบปกครองอย่างที่เคยใช้กันมาแล้วใกล้จะล่วงเลย.
อีกประการ ๑  ฉันขอบอกตามตรงแลไม่บอกเธอเปนคนแรกด้วยว่า  อาศรัยเหตุที่ฉันได้เคยไปศึกษาในสำนักนิ์อังกฤษ,  ได้เรียนลัทธิปกครองตามแบบอังกฤษ,  แลลัทธิอันนั้นฝังอยู่แน่นในใจ,  จนรู้สึกว่าเปนลัทธิดีที่สุดที่จะใช้ได้สำหรับเมืองราชาธิปตัย,  แลไม่ใช่พึ่งคิดขึ้นเช่นนี้,  ได้คิดมาตั้งแต่รัชการที่ ๕ แล้ว.

ข้อ ๒. ฉันได้รำพึงมามากแล้ว  ว่าเมื่อไรจะควรจัดให้เมืองไทยมีปาร์ลิเมนต์ขึ้นได้,  ถ้าฉันจะดันเอาตามลัทธิ (          )  ไม่เหลียวดูทางการ (         )  ฉันคงจะประกาศ (         ) เสีย ๕ ปีมาแล้ว,  แต่มีปัณหาสำคัญอยู่อย่างหนึ่งซึ่งจะหลับตาเสียไม่คำนึงดูไม่ได้,  คือ คนไทยเราโดยทั่วไป (ไม่ใช่จำเภาะคนหมู่ ๑ ซึ่งชอบเล่นกับหนังสือพิมพ์) พร้อมอยู่หรือยังที่จะใช้อำนาจเลือกผู้แทนของตัวเองทำการปกครองตนเอง,  มีความเสียใจที่ยังแลไม่เห็นว่าจะทำการเช่นนั้นสำเหร็จได้,  เพราะแม้แต่เลือกกรรมการศุขาภิบาลประจำตำบลซึ่งเปนคั่นแรกแห่งการเลือกผู้ปกครองตนเองก็ยังทำไปไม่ได้จริงจัง,  เจ้าน่าที่ฝ่ายเทศาภิบาลต้องคอยเซี่ยมสอนอยู่ทุกแห่งไป,  การเลือกกำนันผู้ใหญ่บ้าน  ซึ่งต่ำลงไปกว่านั้นแลทำได้ง่ายกว่านั้น,  ก็ยังทำกันเหมือนเล่นลครตลก.

ข้อ ๓. การที่จะให้รัฐมนตรีสภากลับได้มีงานทำขึ้นอีกนั้น,  กล่าวโดยลัทธิก็พอดูได้,  แต่ปัณหาก็คงยังมีอยู่ว่า,  ถ้าหากว่าคนไทยเราต้องการมีเสียงในการปกครองหรือในการปฤกษากฎหมายจริงๆ  การที่จะจัดให้มีรัฐมนตรีสภาซึ่งสมาชิกเปนผู้ที่พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งเอาตามพระไทย  หรือซึ่งทรงตั้งตามคำแนะนำของนายกแห่งรัฐมนตรีสภานั้น  จะเปนการเพียงพอละหรือ,  ผู้ที่ตั้งตัวเปนปากราษฎรอยู่เวลานี้,  ต้องการจะเห็นสภาอะไรอันหนึ่งมีอำนาจกัดพระเจ้าแผ่นดินหรืออย่างน้อยก็กัดเสนาบดี,  เพราะฉนั้นถ้าหากว่ารัฐมนตรีสภาปฤกษาร่างพระราชบัญญัติตกลงไปเสมอๆ  คงไม่เว้นการถูกด่าว่า “ป.จ.” หรืออีกนัยหนึ่งก็คงกล่าวอีกว่า  ฉันเลือกตั้งเอาแต่คนที่ฉันรู้ว่าอยู่ในเงื้อมมือของฉัน,  ไม่ได้คำนึงถึงความต้องการหรือความนิยมของประชาชน,  พวกรัฐมนตรีจึงได้แต่มานั่งพยักหงับๆ อยู่ไม่มีประโยชน์อไร,  ไม่ได้ตั้งใจระวังผลประโยชน์ของประชาชนเลยจนนิดเดียว,  มัวแต่หวงผลประโยชน์ของตัวที่จะได้รับในตำแหน่งรัฐมนตรี,  จึงมัวแต่ระวังไม่ให้ต้องถูกถอดจากตำแหน่งเท่านั้น.

ข้อ ๔. การที่ระงับเรื่องรัฐมนตรีที่พูดมาครั้งก่อนนั้น,  เปนเพราะกรมหลวงราชบุรีขัดข้องอย่างหนึ่ง,  กับอีกอย่างหนึ่งซึ่งเธอจะทราบหรือไม่ทราบก็ไม่แน่,  คือพระยากัลยาณไมตรี ซึ่งเวลานั้นเปนที่ปฤกษาราชการทั่วไปได้สแดงความเห็นคัดค้านไม่เห็นชอบด้วย  โดยกล่าวย่อๆ ว่าไม่พอหรือมากเกินไป (                     )  รวมความว่าถ้ายังจะมีปาร์ลิเมนต์ไม่ได้แล้ว,  ก็ไม่ควรจะมีอะไรที่เปนของเลียน (               ) ขึ้นไว้สำหรับตบตา,  เพราะคนที่เขารู้จริงว่าปาร์ลิเมนต์เปนอย่างไร,  เขาก็ไม่เชื่อว่าของนั้นจะแทนปาร์ลิเมนต์ได้,  และผู้ที่ไม่เข้าใจเสียเลยถึงวิธีปกครองอย่างคอนสติตูชั่นก็คงไม่เข้าใจเช่นนั้น,  ว่าประโยชน์ของรัฐมนตรีนั้นอะไร,  นี่เปนความเห็นของพระยากัลป์ยาณไมตรี  ซึ่งฉันเล่ามาตามที่เขาพูดเท่านั้น,  ไม่ใช่สำหรับยกมาเปนข้อคัดค้านความคิดของเธอหามิได้

ในวงเล็บที่เว้นว่างไว้เป็นไปตามต้นฉบับ 
พระยากัลยาณไมตรีในพระราชหัตถเลขาคือ เจนส์ ไอ. เวสตเตนการ์ด  ที่ปรึกราชการแผ่นดินชาวอเมริกัน


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ค. 12, 10:02
แปดสิบปีที่ผ่านมา  ถามตัวเองว่าการที่รัฐสภาไทยล้มลุกคลุกคลานขาดหายไปเป็นช่วงๆ นี้ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยมองว่าระบอบรัฐสภาไม่เข้มแข็งพอจะเป็นที่พึ่งของประชาชนหรือเปล่า    หรือว่าเป็นเพราะรัฐสภามีข่าวออกมาในแต่ละยุคซ้ำๆกันว่า เกิดการคอรัปชั่นกันอยู่เสมอ   ทำให้ประชาชนไม่ผูกพันพอจะลุกขึ้นปกป้องรัฐสภา  จะเห็นได้ว่าการรัฐประหารแต่ละครั้งทำกันง่ายมาก  
คำถามนี้ก็ขอทิ้งไว้ให้ตอบกันเอง   อาจได้ความคิดหลากหลายขึ้น

ประชาธิปไตย หมายความว่าอำนาจอยู่กับประชาชน  ความจริงก็มีวิธีหลายวิธีที่ทำได้ ไม่ใช่มีแต่รัฐสภาอย่างเดียว  เช่นทำให้อำนาจกระจายไปถึงท้องถิ่น  ทำให้ชุมชนท้องถิ่น (หรือแม้แต่ในเมือง) เข้มแข็งขึ้น   สามารถสร้างระบบจัดการและดูแลตัวเองได้    เมื่อก่อนนี้ แม้หลัง 2475 เราก็ยังใช้ระบบรวมอำนาจจากศูนย์กลาง คือกระทรวงในเมืองหลวง แล้วปกครองท้องถิ่นให้ขึ้นกับศูนย์กลาง  จำกัดประชาธิปไตยให้อยู่ที่เลือกผู้แทนไปนั่งในรัฐสภา      ส่วนท้องถิ่นก็ขึ้นกับจังหวัด  จังหวัดขึ้นกับมหาดไทย  มหาดไทยขึ้นกับรัฐบาล  
ตอนนี้ อำนาจกระจายลงไปถึงองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นแล้ว    ประเทศไทยอาจได้ประชาธิปไตยในอีกแบบหนึ่ง ตามแบบของตัวเองก็ได้ค่ะ   
ตัวแปรเท่าที่นึกออกตอนนี้คือ AEC ที่คุณ Naitang  ตั้งไว้ในอีกกระทู้หนึ่ง   การอพยพย้ายถิ่นอย่างเสรีของคนต่างถิ่นเมื่อเปิดเสรีอาเซียน อาจทำให้มีคนต่างชาติอพยพเข้ามาในชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น    ถ้าชุมชนเดิมเข้มแข็ง ผู้มาใหม่ก็จะมาเป็นกำลังให้เป็นปึกแผ่น  มีเสียงต่อรองมากขึ้น    แต่ถ้าชุมชนเดิมไม่แข็งพอ   คนอพยพย้ายถิ่นก็จะทำให้ทิศทางของชุมชนเดิมเป๋ไป    ในอนาคตอาจมีทั้ง 2 แบบ  ต้องรอดูภายใน 5 ปีว่าจะเป็นแบบไหนมากกว่ากัน


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ก.ค. 12, 15:48
ก่อนจะถึงอนาคตเราต้องเข้าใจอดีต   ผมอยากแสดงความเห็นในเรื่องนี้บ้าง  แต่บอกอีกครั้งหนึ่งว่าผมไม่ใช่นักวิชาการ หรือเป็นอาจงอาจารย์ตามที่อุปโลกย์กันในเว็บ หากจะเป็นอะไรกับเขาบ้างในเรื่องของประวัติศาสตร์แล้ว ผมก็คงเป็นแค่นักอ่านและนักเขียนเรื่องจริงแบบสนุกๆแบบเล่าสู่กันฟัง พอให้ได้สาระและบันเทิงควบคู่กันไปเท่านั้น 

อันว่าประชาธิปไตยไทยตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่เขาอยากให้เรียกว่าอภิวัติ๒๔๗๕แทนคำว่าปฏิวัตินั้น ผมก็เห็นด้วยนะ ถ้าไม่หลงๆลืมๆก็จะพยายามใช้ต่อไป  เพราะอย่างไรเสียผมก็นึกถึงบุญคุณของคณะราษฎรในเรื่องของความกล้าหาญ และความคิดของพวกท่านที่จะไม่ล้างเจ้าดังที่ผู้ก่อการสายทหารคนสำคัญเสนอที่ปารีส แบบที่ท่านอาจารย์สุลักษณ์บอกในทีวีว่านายปรีดีเล่าให้ท่านด้วยตนเองและทำท่าเอานิ้วปาดคอประกอบด้วยนั่นแหละ
การเลือกให้สยามมีรัฐธรรมนูญโดยพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขนั้น ถูกต้องกับขนบวัฒนธรรมประเพณีและจริตของคนไทยมากกว่าการเป็นสาธารณรัฐ ซึ่งถ้าจะเอาอย่างนั้นจริงก็คงต้องฆ่ากันเลือดท่วมแผ่นดินเหมือนกับที่เกิดในเขมรและลาว และที่แน่ๆคือ พวกคณะราษฏรนั่นเองแหละก็ใช่จะรอดด้วย


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ก.ค. 12, 15:53
ในฐานะที่ผมเป็นวัยรุ่นในยุค๑๔ตุลา ยังจำถึงบรรยากาศทางการเมืองหลังจากที่รัฐบาลถนอมประภาสขึ้นมาครองอำนาจแทนจอมพลสฤษฎ์ได้ดี  แรกๆก็พอทนอยู่หรอก แต่พอนานเข้าๆ ข่าวเรื่องการโกงกินผ่านสมุนบริวารก็เริ่มถี่ขึ้นและหนักขึ้น ลูกท่านหลานเธอจะทำอะไรก็ใหญ่คับฟ้า ที่เลวร้ายที่สุดคือการพยายามจะสืบสันตติวงศ์ โดยจัดให้พันเอกณรงค์ ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของคนหนึ่งแต่งงานกับลูกสาวของอีกคนหนึ่ง พันเอกณรงค์คนนี้ติดยศจ่อนายพลในขณะที่เพื่อนๆส่วนใหญ่ยังเป็นนายร้อยกันอยู่หรืออย่างสูงก็แค่พันตรี ความรู้ความสามารถถ้าไม่มีพ่อก็คงจะอยู่หางๆแถว แต่มีตำแหน่งทั้งทางทหารและทางการเมืองปูทางไปสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างใสแจ๋ว พันเอกณรงค์มีนิสัยเสียหลายอย่างที่คนทั้งหลายรับไม่ได้ จึงทำลายความดีที่พ่อพอจะมีอยู่บ้างจนแทบจะไม่เหลือหรอ และบ่มวิญญาณปฏิวัติให้เกิดขึ้นในใจปัญญาชนทุกคนเมื่อคิดว่าหน้าอย่างนี้แหละหรือ จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ก.ค. 12, 16:05
คืนวันหนึ่งในปีท้ายๆของการเป็นนิสิต ได้ยินข่าววิทยุว่าได้เกิดการปฏิวัติขึ้นแล้ว แต่ตอนนั้นยังไม่ทราบนะว่าใครปฏิวัติ  พวกเราก็กระดี๊กระด๊ารอฟังประกาศกัน  ตอนนั้นคิดว่าจะเป็นใครก็ได้ที่กล้าไล่ถนอมประภาสไปเสียที ครองอำนาจมาสิบกว่าปีแล้ว  พอข่าวภาคค่ำวิทยุทุกสถานี ทีวีทั้งสองช่องก็ออกอากาศพร้อมกัน ข้อความตอนต้นก็เดิมๆน่าสังหรณ์ใจอยู่แล้ว พอลงท้ายว่าจอมพลถนอมเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติเท่านั้นแหละ ทุกคนก็โห่ออกมาดังๆ

ครั้งนั้นจอมพลถนอมปฏิวัติรัฐบาลที่ตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี โดยอ้างว่าทนฤทธิ์เดชของพวกส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง ปากอ้างประชาชนแต่แบมือขอโน่นขอนี่แลกกับการชูแขนให้ในสภาไม่ไหว จึงปฏิวัติล้างสภาแล้วเอาพวกที่ตนคิดว่าจะควบคุมได้เข้าไปนั่งแทน มีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งดองกันไปดองกันมาทำให้เห็นชัดๆว่า ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งอีกไม่รู้ว่าจะนานสักกี่ชาติ  นี่แหละเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การปฏิวัติของนิสิตนักศึกษาในเดือนตุลาคม ๒๕๑๔

ที่ข้ามไปเล่าถึงตอนนี้ก็เพราะพยายามจะเข้าใจความรู้สึกของคณะราษฏรซึ่งอ้างว่ารอไม่ได้ที่จะให้รัฐธรรมนูญพระราชทานลงมาเองจากเบื้องบน ซึ่งนอกจากไม่ทราบว่าจะเป็นเมื่อไรแล้ว เงื่อนไขจะเป็นอย่างไรก็เดาทางไม่ถูกอีกด้วย


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ก.ค. 12, 16:19
เรามาดูหน่อย คำว่าประชาธิปไตยมีองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดอย่างไร

ตามความเข้าใจของผม หนึ่งคือ ทุกคนมีเสรีภาพเท่าเทียมกันที่จะแสดงความคิดเห็นของตนในที่ประชุมที่มีความเห็นแตกต่างกัน และเคารพมติของที่ประชุม ที่ต้องผสมผสานความคิดของคนส่วนใหญ่เป็นหลักโดยไม่ให้มีปัญหากับประเด็นที่คนส่วนน้อยกลัว
 
และสอง ทุกคนมีเสรีภาพเท่าเทียมกันที่จะเลือกใครคนใดคนหนึ่ง ให้เป็นผู้แทน หรือหัวหน้า หรือผู้นำ หรือประธาน สุดแล้วแต่ระดับไหน เพื่อทำหน้าที่ที่บัญญัติไว้

หากสองข้อนี้ใช่องค์ประกอบสำคัญ พระพุทธศาสนาก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยโดยนัยยะดังกล่าว ด้วยความเคารพ ความจริงแล้วแนวทางที่ใช้ในพระพุทธศาสนาไม่สมควรจะถูกทำให้ด้อยลงด้วยการไปเรียกว่าประชาธิปไตยด้วยซ้ำ พระพุทธศาสนามีความลงตัวโดยสมบูรณ์แบบอยู่แล้วจึงผ่านพ้นวัฏจักรมาได้กว่า๒๕๕๕ปี  ไม่จำเป็นต้องไปอ้างอิงวิทยาศาสตร์หรือทฤษฎีการเมืองใดๆเพื่อเรียกร้องความเชื่อถือศรัทธาเลย


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ก.ค. 12, 16:23
ถ้ามองประชาธิปไตยในมุมมองที่คณะเจ้าและคณะราษฎร์ต่างก็มีความเห็นเดียวกันว่า พื้นฐานของพลเมืองสยามยังด้อยในเรื่องที่จะยืนขึ้นมาแสดงความคิดเห็นในการปกครองตนเอง หรือมีความรู้เข้าใจไม่พอที่ควรจะเลือกคนอย่างไรเข้าสภามาเป็นผู้แทนของตน  เรื่องนี้ คณะเจ้าได้ตัดสินใจที่จะเลื่อนเวลาที่จะมีสภาผู้แทนไปก่อน จนกว่าพลเมืองจะพร้อม ซึ่งเลื่อนลอยมากว่าแล้วเมื่อไหร่จะพร้อม ขณะที่คณะราษฎร์ตัดสินใจทำทันที แล้วเลือกคนเข้าสภาไปทำหน้าที่โดยไม่ต้องมีการเลือกตั้ง เพราะคณะราษฎร์ก็เห็นว่าพลเมืองไม่พร้อมเหมือนกัน ถึงกับมีบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญสยามฉบับแรกว่าห้ามจัดตั้งพรรคการเมืองไว้ก่อนทีเดียว

แต่ผลก็ครือกัน คณะราษฎร์โดนนินทาด้วยข้อหาเดียวกับที่เคยนินทาคณะเจ้าว่าเลือกเอาแต่คนของตนไปใช้งาน(ทั้งในสภาและหน้าที่ราชการ)โดยไม่ได้คัดเลือกความเหมาะสม และไม่เป็นประชาธิปไตย


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ก.ค. 12, 16:29
ถามว่า ถ้าเช่นนั้น หากคณะเจ้าได้ตัดสินใจตั้งสภาผู้แทนขึ้นมาก่อน โดยใช้วิธีการแต่งตั้งแทนเลือกตั้งดังเช่นที่คณะราษฏร์ทำแล้ว  จะหลีกเลี่ยงการปฏิวัติ เอ้ย.ขอโทษ อภิวัติได้ไหม

ผมก็เห็นว่า คงไม่ได้อยู่ดี เพราะติดที่บทพระราชอำนาจในรัฐธรรมนูญนี่แหละ

ผมเคยเขียนไว้แล้ว การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์  อันเป็นกิเลศตัวใหญ่ๆของมนุษย์ทั้งนั้น ผู้ที่ยังทิ้งกิเลศอย่างไม่ใยดีมิได้ก็ต้องต่อสู้แย่งชิงกันไป ผมจึงไม่อยากให้เอาพระพุทธศาสนาไปเปรียบเทียบกับทฤษฎีการเมืองไง เพราะที่สุดของพระพุทธศาสนาก็คือการไม่เอา แต่การเมืองคือการเอาให้ได้มากที่สุด เชื่อเถอะ แม้นักการเมืองบางคนมิได้มุ่งประโยชน์เพื่อตน แต่ก็ไม่พ้นเพื่อพวกพ้อง ไปจนถึง เพื่อชนชาติพันธุ์เดียวกับตนนั่นแล

จึงไม่มีวันหรอกที่คณะราษฎร์จะยอมให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจเหนือพวกตน และเป็นที่มาของพระราชหัตถเลขาที่ว่า

"ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร"


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ค. 12, 17:47
ถ้าหากว่าคณะราษฎร์ยึดอำนาจไม่สำเร็จ   สยามอยู่มาจนถึงเวลาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญด้วยพระองค์เอง   เราคงได้เรียนรู้ประชาธิปไตยในอีกแบบหนึ่งก็เป็นได้

ย้อนมาถึงเรื่องพุทธศาสนา  ดิฉันเข้าใจจากที่อ่านบทความของพระมหาประเสริฐในค.ห. 32 ว่าประชาธิปไตยในกลุ่มพระสงฆ์สมัยพุทธกาล  หมายถึงการดำเนินงานด้านพระวินัย   ไม่ใช่จุดมุ่งหมายของพุทธศาสนา      กล่าวคือการจะกำหนดพระวินัยขึ้นมาสักข้อก็ต้องฟังเสียงของที่ประชุมสงฆ์ว่าเห็นพ้องต้องกันหรือไม่    ไม่ใช่เป็นการกำหนดจากเบื้องบนคือพระพุทธองค์ลงมาให้เบื้องล่างคือพระภิกษุทั้งหลายปฏิบัติ


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 30 ก.ค. 12, 17:53
แวะเข้ามาหลังจากไม่ได้มาซะหลายวัน ง่า ท่านอาจารย์นวรัตนไม่ยอมเป็นอาจารย์ซะแล้ว ยังไงผมก็ถือว่าเป็นศิษย์หละ ฮ่าฮ่า

อ่านบางข้อความที่ปราชญ์ตะวันตกว่าไว้เกี่ยวกับประชาธิปไตย หันมามองบ้านเรา  แบบนี้นี่แปลว่าไทยแลนด์เรากำลังเข้าสู่จุบจบของประชาธิปไตยแล้วใช่ไหมครับนี่
เพราะเราแจก แจก แจก กันเหลือเกิน เอาเงินในอนาคตมาแจกกันซะตั้งแต่วันนี้ แจกทั้งทางตรงทางอ้อมผ่านนโยบายต่างๆ  โดยมีนักการเมืองระดับต่างๆ กินหัวคิวไปด้วยเป็นชั้นๆ กันไป ไชโย


ง่า อ่านเรื่องพันเอกณรงค์   อดไม่ได้ต้องคิดถึงยุคนี้ ซึ่งก็มีการปูทางให้ลูกชายกันแบบไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม โจ๋งครึ่มกันเหลือเกิน เป็นนายทหารกันได้ง่ายๆ ย้ายเหล่ากันได้ง่ายดาย
แล้วก็สงสัย ทำไมลูกคนดังๆ  ไม่ได้จบนายร้อย ไม่ได้จบมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้วยซ้ำ ได้เข้ารับราชการเป็นทหารตำรวจกันได้ง่ายๆ เหลือเกิน เค้าเปิดรับกันตอนไหนนี่
แถมคนเหล่านี้ไปอเมริกาบ้าง ไปโน่นนี่บ้างกันได้คราวละนานๆ ไม่รู้ว่าต้องลาราชการหรือเปล่า เห็นบางคนตามภรรยาดาราตามลูกไป ตปท ทีเป็นเดือนๆ
สงสัยจริงๆ ว่างานราชการนี่ เคยต้องเซ็นชื่อหรือนั่ง office บ้างไหม  เห็นมีลูกคนดัง ประเภทพ่อเป็นปลัดกระทรวงเก่า นายทหารใหญ่ หรือมาเฟียยักษ์ ส่งลูกเป็นนายทหารกันนับได้มากมาย
อำนาจนี่มันหอมหวล ดลบันดาลอะไรต่างๆ นาๆ ได้ง่ายจริงๆ เค้าถึงแย่งชิงกันนัก


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ก.ค. 12, 18:16
อ้างถึง
ย้อนมาถึงเรื่องพุทธศาสนา  ดิฉันเข้าใจจากที่อ่านบทความของพระมหาประเสริฐในค.ห. 32 ว่าประชาธิปไตยในกลุ่มพระสงฆ์สมัยพุทธกาล  หมายถึงการดำเนินงานด้านพระวินัย   ไม่ใช่จุดมุ่งหมายของพุทธศาสนา      กล่าวคือการจะกำหนดพระวินัยขึ้นมาสักข้อก็ต้องฟังเสียงของที่ประชุมสงฆ์ว่าเห็นพ้องต้องกันหรือไม่    ไม่ใช่เป็นการกำหนดจากเบื้องบนคือพระพุทธองค์ลงมาให้เบื้องล่างคือพระภิกษุทั้งหลายปฏิบัติ

ไม่มีครับ พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยหลังจากที่มีผู้มาฟ้องว่าพระสงฆ์ประพฤติไม่ชอบเช่นนั้นเช่นนี้ เมื่อทรงเห็นด้วยก็ทรงบัญญัติห้ามทีละข้อสองข้อ จนเป็น๒๒๗ข้อ โดยไม่เคยให้คณะสงฆ์โหวตเอาหรือไม่เอาเลย

ครั้งหนึ่งเทวทัตเคยเสนอให้ทรงบัญญัติข้อห้ามสี่ข้อ ทรงไม่เห็นด้วย เทวทัตก็แยกตัวออกไปพร้อมสงฆ์จำนวนหนึ่ง ก็ทรงปล่อยไป ซึ่งก็ถูกแล้ว หากเห็นว่าสังคมนี้ไม่น่าอยู่ก็ออกไปได้ไม่มีใครว่า แต่ถ้าจะอยู่ก็ต้องทำตามข้อบัญญัติของพระองค์

พุทธศาสนาเลือกคนที่จะเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุ มีข้อแม้หลายประการ ถ้าผ่านจึงจะยอมให้บวช แต่ถ้ามีสงฆ์ค้านแม้แต่องค์เดียวระหว่างการบวช ก็ถือว่าเป็นโมฆะ ปัจจุบันเวลาพระสวดญัตติ องค์อื่นที่นั่งหัตถบาตจะต้องอยู่ในอาการนิ่งสำรวม ถ้าขยับตัวยุกยิก ท่านจะหยุดเพื่อถามว่าท่านคัดค้านหรือ หากไม่ก็ต้องเริ่มต้นสวดกันใหม่

วิธีการเช่นนี้ ไม่ถือว่าใช่ประชาธิปไตยนะครับ


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ก.ค. 12, 18:19
ส่วนคุณประกอบ ถือว่าแวะมาทักทาย และบ่นไปด้วยตามสมัยนิยม ไม่มีคำถามด้านประวัติศาสตร์ให้ตอบนะครับ


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ค. 12, 18:44
งั้นดิฉันเข้าใจผิดเอง  เพราะอ่านจากบทความใน
ทั้งอธิกรณ์และการระงับต้องทำเป็นการสงฆ์เป็นส่วนใหญ่ ดุจการตั้งกรรมาธิการฝ่ายต่างๆ ฉะนั้นจึงเป็นการทำงานเป็นกลุ่มเป็นทีม และในการประชุมทำกรรมต่างๆ เป็นการสงฆ์นั้น ต้องมีมติเป็นเอกฉันท์ จริงๆ ถ้ามีข้อข้องใจมีสิทธิ ยับยั้ง (Veto) ได้
แม้เพียงเสียงเดียวสงฆ์ทั้งหมดก็ต้องฟังดังท้ายกรรมวาจาว่า
"ยสฺสายสฺมโตขมติ...
.........โส ตุณฺหสฺสยสฺส น ขมติ โส ภาเสยฺย"
"ถ้ากรรมนี้ ชอบใจต่อท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเงียบ ถ้าไม่ชอบใจต่อท่านผู้ใดท่านผู้นั้นพึงพูดขึ้น"
อนึ่งการทำกรรมอันใดก็ตาม พระวินัยจะต้องพร้อมเพรียงกัน ดังคำขึ้นต้น ของกรรมวาจาว่า
"ยทิ สงฺฆสฺสปตฺตกลฺลํ"
ซึ่งแปลว่า "ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ พร้อมแล้ว... สงฆ์พึงทำ..." ดังนี้

แต่ไม่ใช่การบัญญัติพระวินัย  ซึ่งพระพุทธองค์ทรงบัญญัติแต่ผู้เดียว ไม่ได้ถามความเห็นคณะสงฆ์


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ก.ค. 12, 18:55
อ้างถึง
ถ้าหากว่าคณะราษฎร์ยึดอำนาจไม่สำเร็จ   สยามอยู่มาจนถึงเวลาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญด้วยพระองค์เอง   เราคงได้เรียนรู้ประชาธิปไตยในอีกแบบหนึ่งก็เป็นได้

ผมไม่นิยมที่จะถกกันด้วยเรื่องอจินไตย คือเรื่องที่เริ่มต้นด้วยคำว่า ถ้า หรือประโยคที่ฝรั่งเรียกว่า if-clause เพราะมันยังต้องประกอบด้วยปัจจัยอีกหลายอย่าง บางที่ อาจจะโชคตะตาของบ้านเมืองก็ได้ ที่มีเหตุทำให้ชาติอยู่รอดมาถึงวันนี้ แต่เป็นแบบนี้

ในสมัยโน้น ศัตรูของระบอบสมบูรณาณาสิทธิราชไม่ใช่ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข แต่เป็นระบอบสาธารณรัฐ และที่เลวร้ายที่สุดคือระบอบคอมมิวนิสต์ที่แสดงความโหดเหี้ยมให้เห็นแล้วในรัสเซีย นักเรียนไทยในฝรั่งเศสตอนนั้นมีพวกที่นิยมสองลัทธินี้อยู่พอๆกัน และได้กลายมาเป็นพวกผู้ก่อการด้วยจำนวนหนึ่ง ภัยจากลัทธิคอมมิวนิสต์นี้มีจริงดังจะเห็นได้จากพ.ร.บ.ป้องกันคอมมิวนิสต์ที่รัฐบาลพระยามโนรีบออกมาอย่างด่วน ซึ่งโดนท่านอาจารย์สุลักษณ์สับแหลกในทีวี

ผมว่า คณะราษฎรได้เป็นกันชนให้คณะเจ้าในเรื่องนี้ได้มาก แม้จะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 30 ก.ค. 12, 19:28
ถ้าเราได้รับพระราชทานประชาธิปไตย ไม่ได้เรียนลัดเปลี่ยนเอาแบบทันทีทันใดในปี 2475

ผมว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ ก็ยังคงเป็นแบบตอนนี้หรือไม่แตกต่างจากตอนนี้มากนักครับ ในแง่ที่ว่าชนชั้นนำยังคือผู้มีบทบาทหลักในการกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวของประเทศ
สิ่งที่ต่างกันคือที่มาของชนชั้นนำที่มาเป็นผู้ปกครอง ซึ่งอาจจะมีจำนวนของพวกที่สืบเชื้อสายกันมา เป็นพวกผู้ดีมีตระกูล มากกว่าผู้ที่เป็นนักการเมืองผ่านการเลือกตั้งแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


ปัญหาหนึ่งที่ผมนั่งเทียนคิดเอาเองในเรื่องประชาธิปไตยของไทยเรา ผ่านการอ่านนิยายไทย วรรณคดี และละครหลังข่าวที่สะท้อนตัวตนและวิธีคิดแบบไทยๆ ก็คือ เรามีการปลูกฝังเรื่องการยอมรับอำนาจที่เหนือกว่า  มีระบบชนชั้นแบบกลายๆ  การยอมรับลัทธิดลบันดาลที่ผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นเทพเจ้า เทวดา หรือคนที่มีอำนาจเหนือกว่า บันดาลสิ่งต่างๆ ให้ตามความประสงค์ โดยที่เราไม่ต้องลำบากเสาะหาหรือพึ่งพาตัวเองในการได้มา   ทำให้คนไทยมีแนวโน้มที่จะยอมตามผู้มีอำนาจเหนือกว่าได้ง่าย ไม่ค่อยโต้แย้ง โดยเฉพาะยิ่งถ้าผู้มีอำนาจนั้นสามารถให้คุณให้โทษตัวเราได้โดยตรง เราจะยิ่งไม่กล้าค้านหรือขัดมากยิ่งขึ้น


ดังนั้น ถ้าผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะมีที่มาอย่างไร  ไม่สำคัญว่าจะมาอย่างมีความชอบธรรมแค่ไหน โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่มักจะมีแนวโน้มยอมรับและยอมปฏิบัติตามได้ง่ายอยู่แล้ว ไม่ค่อยกล้าคัดค้านหรือไม่เห็นด้วยมากนัก  การผัดเปลี่ยนผู้นำ มักจะมาจากการแย่งชิงอำนาจกันเอง มากกว่าจากการเคลื่อนไหวของมวลชน  เพราะแม้มีการเคลื่อนไหวของมวลชนเป็นตัวเร่ง สุดท้ายการเปลี่ยนแปลงก็มาจากชนชั้นนำเช่นเดิม  เพียงแต่อาจจะเป็นการเปลี่ยนแค่กลุ่มอำนาจเท่านั้น


นอกจากนั้นเราถูกสอนให้ยอมรับเรื่องความเชื่อ หรือสิ่งที่สั่งสอนกันมา แม้มันจะไม่มีเหตุผลก็ตาม มากกว่าการใช้เหตุและผลตรึกตรอง ชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียอย่างมีเหตุมีผล ดังนั้นเวลามีความขัดแย้งในสังคม โดยเฉพาะเรื่องที่มีความสลับซับซ้อน คนส่วนใหญ่มักจะไม่เข้าใจ  และเลือกที่จะเชื่อฝ่ายที่ตัวเองถูกใจ หรือพูดในสิ่งที่ตัวอยากรู้อยากฟังมากกว่า ดังนั้นฝ่ายใดที่สามารถปลูกฝังความเชื่อให้มวลชนได้ ก็จะได้ฐานมวลชนเป็นกำลังสนับสนุนของตัว 


ส่วนเรื่องศาสนาพุทธ ผมเห็นด้วยกับท่าน(อาจารย์)นวรัตนนะครับว่าศาสนาพุทธ ถ้าใช้นิยามคำว่าประชาธิปไตยแบบสมัยปัจจุบัน ศาสนาพุทธคงไม่ใช่ศาสนาประชาธิปไตย  เพราะไม่ได้ใช้หลักความเห็นของคนหมู่มากในการตัดสินทุกสิ่งทุกอย่าง
แต่สิ่งที่ต่างกันคือศาสนาพุทธจะเป็นศาสนาแห่งการใช้เหตุผล  อย่างพระวินัยต่างๆ ที่พระพุทธองค์บัญญัติขึ้น  บัญญัติขึ้นอย่างไม่เป็นประชาธิปไตย คือพระพุทธองค์ไม่ได้ถามความเห็นจากคณะสงฆ์  ไม่มีการโหวตหรืออภิปราย แต่ทุกข้อจะมีที่มาที่ไป และทรงมีเหตุผลกำกับเสมอ ว่าเพราะเหตุใดจึงต้องทรงบัญญัติพระวินัยข้อนั้นๆ ขึ้นมา

ถ้ามีประชาธิปไตย แต่ไม่มีเหตุผล สุดท้ายสังคมประชาธิปไตยนั้นก็ต้องล่มสลายไป ดูตัวอย่างการขึ้นครองอำนาจของฮิตเลอร์ได้ ขึ้นมาจากระบอบประชาธิไตย แต่สุดท้ายคนส่วนใหญ่ในสังคมไม่มีเหตุผล ไม่มีสติ เป็นที่มาของการฆ่าฟันนองเลือดเดือดร้อนไปทั้งโลก

แต่ถ้าทั้งสังคมใช้แต่เหตุผล  ทุกคนมองผลประโยชน์ของส่วนรวมก่อนเป็นหลัก เคารพซึ่งกันและกัน  ประชาธิปไตยก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับสังคมนั้นๆ


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ค. 12, 19:47
ขอเชิญอ่านลิ้งค์ข้างล่างนี้

ธรรมาธิปไตยไม่มา จึงหาประชาธิปไตยไม่เจอ- พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) (http://www.fringer.org/wp-content/writings/dharmatiptai.pdf)

ขอยกตัวอย่างบางตอน
อำนาจตัดสินใจ เป็นหัวใจของระบบการปกครอง    ใครมีอำนาจตัดสินใจสูงสุด นั่นคือตัวกำหนดระบบการปกครองนั้น
ถ้าเป็นระบบเผด็จการ ก็คือบุคคลเดียว ที่เรียกว่าผู้เผด็จการหรือผู้นำ มีอำนาจในการตัดสินใจ
ถ้าเป็นคณาธิปไตย ก็คือหมู่คณะหรือกลุ่มบุคคล เป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ
ถ้าเป็นประชาธิปไตย ก็คือ ประชาชนมีอำนาจในการตัดสินใจ   หรือว่า ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจตัดสินใจ
ทีนี้ ใครมีอำนาจในการตัดสินใจ ก็ต้องให้คนนั้นตัดสินใจบนฐานของธรรมาธิปไตย คือตัดสินใจด้วยเกณฑ์ของธรรมาธิปไตย

ตัดสินใจด้วยปัญญา โดยมีเจตนาเป็นธรรม คือ ธรรมาธิปไตย
เมื่อเป็นประชาธิปไตย หลักบอกว่าอำนาจตัดสินใจอยู่ที่ประชาชน  
เมื่ออำนาจตัดสินใจอยู่ที่ประชาชน ก็ต้องให้ประชาชนตัดสินใจอย่างถูกต้อง คือต้องมีธรรมาธิปไตย
ก็จึงต้องมีการพัฒนาคุณภาพของประชาชน เพื่อให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจในการตัดสินใจนั้น ทำการตัดสินใจด้วยปัญญา
โดยมีเจตนาที่เป็นธรรม และตรงนี้แหละคือ ธรรมาธิปไตย


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ก.ค. 12, 20:45
^
สาธุ ที่ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาองค์นี้กล่าวนั้นชอบแล้ว

นี่เป็นเหตุหนึ่งที่พระปฐมบรมราชโองการที่ประกาศว่า

"เราจักปกครองแผ่นดินโดยธรรม"

จึงโดนใจปวงชนชาวไทย
และเป็นฐานแห่งพระราชอำนาจที่ไม่มีตัวตน แต่มีเดชานุภาพที่รัฐธรรมนูญมิอาจกำหนดได้


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ก.ค. 12, 20:55
อ้างถึง
ถ้าเราได้รับพระราชทานประชาธิปไตย ไม่ได้เรียนลัดเปลี่ยนเอาแบบทันทีทันใดในปี 2475

ผมว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ ก็ยังคงเป็นแบบตอนนี้หรือไม่แตกต่างจากตอนนี้มากนักครับ

คุณประกอบครับ ยังมีถ้าอีกหลายถ้า

อย่าลืมว่า อีกไม่กี่ปีหลัง๒๔๗๕ สงครามโลกก็เกิด
ผมไม่อยากเดาว่า รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตอนนั้นจะเลือกฝ่ายใด และจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น ประเทศนี้อาจจะไม่ได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ แต่ไปคล้ายกับประเทศข้างๆบ้านก็ได้


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ก.ค. 12, 22:07
มาวิจารณ์หนังสารคดีที่ว่าต่อดีกว่า

ผู้ก่อการในคณะราษฎรมีอยู่ด้วยกันหลายสายพันธุ์ มีจุดมุ่งหมายที่ต่างกัน ที่ผ่านมาได้รวมตัวอย่างหลวมๆเฉพาะกิจ ส่วนหนึ่งเห็นว่าที่ได้รัฐธรรมนูญและรัฐสภามาง่ายๆก็ดีแล้ว ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งเห็นว่ายังไม่พอ จึงเป็นที่มาของ “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” เสนอโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรมขึ้น และนำไปสู่ข้อขัดแย้งกับพระมหากษัตริย์ในฐานะที่พระองค์ทรงมีหน้าที่จะต้องเห็นชอบด้วย ที่สุดแล้วก็นำความแตกแยกมาสู่คณะราษฏรเอง

ท่านอาจารย์สุลักษณ์ยกย่องเค้าโครงเศรษฐกิจนี้ในทีวีเหลือเกินว่าจะช่วยลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนในสังคมสยามแน่นอน แต่น่าเสียดายที่ถูกคณะเจ้าต่อต้าน จึงทำให้ทุกวันนี้สังคมไทยจึงยังมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงอยู่มากมาย


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ก.ค. 12, 22:11
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงแสดงความเห็นอย่างชัดๆว่าที่ทรงไม่เห็นด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจนี้เพราะเป็นวิธีการของพวกคอมมิวนิสต์ หลวงประดิษฐ์ไปลอกนายสตาลินมา ถ้าหลวงประดิษฐ์ยืนยันว่าไม่ได้ลอก ก็คงจะเป็นนายสตาลินเอง ที่ลอกหลวงประดิษฐ์ไปใช้ในรัสเซีย

ผมไม่มีสติปัญญาพอจะวิเคราะห์เรื่องนี้ได้ ขออ้างอิงความเห็นนักวิชาการคนดังๆจะดีกว่า

จากเว็บของสถาบันพระปกเกล้าฯ

http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B9%8C_%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B9%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เสนอว่า “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ของปรีดี พนมยงค์นั้น เสนอในสิ่งใหม่สุดของสังคมสยาม นั่นคือการที่รัฐบาลจะใช้พันธบัตรซื้อที่ดินสำหรับการเพาะปลูกทั้งหมด ยกเว้นที่อยู่อาศัย ดังนั้น ชาวไร่ชาวนาก็จะกลายเป็นลูกจ้างของรัฐบาล ได้รับเงินเดือน รัฐบาลคุมกิจการค้าใหญ่ที่สุดของประเทศ คือ ข้าว ทั้งในด้านการผลิตและในด้านการค้าขาย เป็นการตัดคนกลาง ในขณะเดียวกัน ระบบกำไรขาดทุนก็จะถูกขจัดออกไป ประชาชนจะซื้อข้าวของเครื่องใช้จากร้านค้าของรัฐบาล หากพิจารณาตามตัวอักษร แผนการเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่โตมาก เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ในการผลิตและปัจจัยการผลิตของคนทั้งชาติ และที่สำคัญที่สุดก็คือ มีผลกระทบโดยตรงและรุนแรงต่อเจ้าและขุนนางในระบอบเก่าซึ่งส่วนใหญ่มีฐานทางเศรษฐกิจจากการเป็นเจ้าของที่ดินจำนวนมาก อันจะนำมาซึ่งการต่อต้านอย่างรุนแรง

ขณะที่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เสนอว่า แม้ปรีดี พนมยงค์จะยืนกรานว่า “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ของเขา “ดำเนินวิธีละม่อม”, “อาศัยการร่วมมือระหว่างคนมั่งมีและคนจน” และ “ไม่ประหัตประหารคนมั่งมี”, “ถ้าหากพวกคอมมิวนิสต์มาอ่าน จะติเตียนมากว่ายังรองรับคนมั่งมีให้มีอยู่” ก็ตาม แต่ข้อเสนอใน “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ของ ปรีดี พนมยงค์ ไม่เพียงแต่เป็นหลักการที่ปฏิบัติไม่ได้เท่านั้น หากยังไม่สมควรปฏิบัติด้วย ทั้งนี้เนื่องจากมีลักษณะที่อาจเรียกตามภาษาสมัยใหม่ว่า “ซ้ายจัด” คือ “ซ้าย” ยิ่งกว่าพวกบอลเชวิคในรัสเซียก่อนสมัยสตาลินเสียอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายต่อชาวนา เนื่องจากหัวใจสำคัญที่สุดของ “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” คือการทำให้ชาวนารวมหมู่โดยการบังคับ เห็นได้ชัดจากการที่ ปรีดี พนมยงค์ เสนอให้รัฐบาลใช้อำนาจบังคับ “ซื้อ” ที่ดินทำกินทั้งหมดของชาวนามาเป็นของรัฐ ชาวนาสามารถมีกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลได้เฉพาะที่ตั้งบ้านอยู่อาศัยเท่านั้น และเมื่อที่ดินทำกินกลายเป็นของรัฐแล้ว พวกเขาก็จะกลายเป็นคนงานของรัฐไปด้วย


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ค. 12, 22:17
อ้างถึง
ถ้าเราได้รับพระราชทานประชาธิปไตย ไม่ได้เรียนลัดเปลี่ยนเอาแบบทันทีทันใดในปี 2475
ผมว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ ก็ยังคงเป็นแบบตอนนี้หรือไม่แตกต่างจากตอนนี้มากนักครับ



พิมพ์ตอบไว้ยาว พอคลิกส่ง เน็ตขัดข้องเลยหายหมด  เอาคืนไม่ได้  :'(
ลองพิมพ์ใหม่
ดิฉันมีความเห็นคล้ายๆคุณประกอบแต่คงไม่ตรงกันหมดเสียทีเดียว     ที่ว่าคล้ายๆคือเชื่อว่า ต่อให้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในพ.ศ. 2475  ก็ต้องมีปฏิวัติเกิดขึ้นอีกในพ.ศ.ใดพ.ศ.หนึ่งหลังจากนั้น      มันมีช่องว่างทางความคิดห่างไกลกันพอสมควรระหว่างทหารและปัญญาชนรุ่นใหม่   กับเจ้านายซึ่งกลายเป็นคนรุ่นเก่าไปโดยปริยาย    
จะเห็นได้ว่าความเข้าใจของคนสองกลุ่มนี้ไม่ได้ทันกันเลย     เมื่อกลุ่มคนรุ่นใหม่คบคิดกันปฏิวัติ  เรื่องนี้ก็จะเรียกว่าลับก็ไม่ได้   เพราะรั่วไหลขนาดพระยาอธิกรณ์ประกาศอธิบดีตำรวจแน่ใจ  ถึงขั้นไปทูลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ในฐานะเสนาบดีมหาดไทย  ขอประทานพระอนุญาตจับกุม   กรมพระนครสวรรค์ฯกลับมิได้ระแวงแม้แต่น้อย     แม้แต่จะให้สอบสวนสักนิดก็ยังไม่มี   ก็แสดงว่าด้วยน้ำพระทัยสะอาด ปราศจากโทสาคติ  และภยาคติ   มิได้ทรงนึกเลยว่าความคิดของนายทหารใต้บังคับบัญชานั้นออกนอกทางไปถึงไหนๆแล้ว
เมื่อผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครองมีความคิดที่ห่างไกลต่อการรับรู้กันขนาดนี้    ดิฉันจึงคิดว่าถึงไม่มี 2475  ก็น่าจะมีปีไหนสักปีที่เกิดปฏิวัติขึ้นมาจนได้    และทำได้สำเร็จด้วย


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ค. 12, 22:25

ท่านอาจารย์สุลักษณ์ยกย่องเค้าโครงเศรษฐกิจนี้ในทีวีเหลือเกินว่าจะช่วยลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนในสังคมสยามแน่นอน แต่น่าเสียดายที่ถูกคณะเจ้าต่อต้าน จึงทำให้ทุกวันนี้สังคมไทยจึงยังมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงอยู่มากมาย


เค้าโครงเศรษฐกิจแบบปรีดี  จะดีงามอย่างไรพอมองเห็นตัวอย่างได้จากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่สมัยเหมาเจ๋อตุง  ที่ชาวนาไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน   รัฐเป็นเจ้าของ  โดยใช้แรงงานชาวนาผลิต     ทุกคนได้รับแบ่งสันปันส่วนเท่ากัน  ไม่มีความเหลื่อมล้ำด้านรวยจน  เพราะทุกคนจนเท่ากันหมด 
เมื่อสิ้นสุดยุคประธานเหมา   เติ้งเสี่ยวผิงผงาดขึ้นมาแทน  โครงสร้างเศรษฐกิจของจีนก็เปลี่ยนไปทันตาเห็น     เดี๋ยวนี้มีคนจีนคนไหนอยากกลับไปอยู่แบบเดิมกันบ้าง
ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมไทยปัจจุบันนี้ เป็นข้ออ้างที่ถูกยกขึ้นมาบ่อยมากเวลาโจมตีฝ่ายตรงข้าม     แต่ก็ประหลาดว่าคนโจมตีนั้นหลายคนก็ไม่ได้อยู่อย่างคนจนเลยสักนิด   


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 30 ก.ค. 12, 22:26
กลับมาที่เค้าโครงเศรษฐกิจฉบับหลวงประดิษฯ  ผมได้ยินมานานแต่เพิ่งได้อ่านจริงๆ จังๆ จากกระทู้นี้นี่แหละครับ ต้องขอบพระคุณท่านอาจารย์อีกครั้ง
โดยความเห็นส่วนตัวผม มันก็คอมมิวนิสต์จริงๆ นั่นแหละ ให้รัฐเป็นเจ้าของ ชาวนาเป็นลูกจ้าง
ไม่แปลกที่จะโดนถล่มยับ

นายปรีดีเองคงไม่ใช่คอมมิวนิสต์ หรือผู้นิยมคอมมิวนิสต์หรอกครับ  แต่ขณะที่เสนอร่างนี้ เป็นช่วงเวลาที่แกเพิ่งมีอำนาจ แต่ยังไม่รู้จักคน ไม่รู้จักสังคมไทย ไม่เข้าใจกิเลสของมนุษย์
ยังเป็นหนุ่มใสซื่อ มุ่งหวังจะสร้างสังคมที่เป็นธรรมขึ้นมา  เพราะแกยังไม่เข้าใจโลกพอนี่เอง เรื่องประสบการณ์ ความเข้าใจโลกของผู้ผ่านโลกมานานกว่าจึงสำคัญจริงๆ
ช่วงหลังๆ แก่วัดขึ้น เข้าใจโลกขึ้น ไม่เคยเห็นแกจะพยายามเอาแนวความคิดเก่าๆ ตอนหนุ่มๆ มาปัดฝุ่นเท่าไหร่เลย อาจจะรู้แล้วว่ามันเป้นไปไม่ได้


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ก.ค. 12, 22:32
นั่นน่ะซีครับท่านทั้งสอง

ผมเองไม่เข้าใจว่า ถ้าทำตามเค้าโครงเศรษกิจนี้บ้านเมืองจะหลีกเลี่ยงทุรยุคไปได้อย่างไร การบังคับซื้อที่ดินจากประชาชนด้วยพันธบัตรอายุ๑๐ปี หมายความว่าประชาชนเสียที่ดินทำกินในวันนี้แลกกับกระดาษ๑ใบ อีก๑๐ปีข้างหน้าจึงจะได้เงินที่ระบุตามหน้าพันธบัตร แต่จะได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ส่วนได้มาแล้วเงินดังกล่าวจะมีอำนาจซื้อเท่ากับวันนี้หรือไม่ คำตอบมีอยู่แล้วว่าไม่ แต่จะเลวร้ายแค่ไหนยังไม่อาจระบุได้ ยิ่งถ้าเอาเรื่องจริงไปเทียบ สิบปีต่อมาเป็นภาวะสงคราม เงินบาทมีค่าเหมือนเศษกระดาษเพราะญี่ปุ่นพิมพ์ออกมาใช้เองได้ ถ้าเกิดอภิวัติเศษฐกิจขึ้นจริงคนไทยคงจะเป็นบ้าตายกันทั้งประเทศ ที่ยังไม่ตายก็จนเท่ากันหมด สมกับที่ท่านอาจารย์สุลักษณ์หวัง

และผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไม หลวงประดิษฐ์จึงไปมุ่งจะเอาที่ดินที่มีเจ้าของ ในขณะที่สมัยนั้น ที่รกร้างว่างเปล่าสามารถพัฒนาได้ยังมีอีกเยอะแยะมากๆ รัฐจะจิ้มนิ้วลงไปตรงไหนก็ได้ ตั้งงบหลวงบุกเบิกเอามาจัดสรรเป็นคอมมูนให้ชาวนาได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาทะเลาะกับใคร

แต่บนเวทีคืนนั้น ไม่ยักมีใครขัดคอท่านอาจารย์สุลักษณ์แฮะ


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ก.ค. 12, 22:48
อยากให้ท่านเข้าไปอ่านในตัวเชื่อมที่ผมทำไว้ให้เหมือนคุณประกอบน่ะครับ จะทำให้เข้าใจอะไรๆดีขึ้น บทความที่ว่านั้นส่งท้ายดังนี้

นอกจากนี้ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ยังเสนอด้วยว่า ความสำคัญของสภาพการณ์ดังกล่าวก็คือ เมื่อคณะราษฎรยึดอำนาจในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น มีความเป็นไปได้ที่จะวางรากฐานให้กับการเมืองแบบรัฐสภาที่มีเสถียรภาพ ที่มีการเลือกตั้ง และที่พลเรือนมีบทบาทนำ เนื่องจากถ้าไม่นับความขัดแย้งที่มีต่อ “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” แล้ว โดยแท้จริงหาได้มีความขัดแย้งในลักษณะที่สำคัญระหว่างผู้ก่อการด้วยกัน และระหว่างผู้ก่อการ, ขุนนางอาวุโส กับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่อย่างใด กล่าวอีกอย่างก็คือ มีความเป็นไปได้ที่จะสร้างแนวร่วมที่กว้างขวางที่สุดในหมู่ผู้นำไทยในขณะนั้น เพื่อวางรากฐานให้แก่ระบอบรัฐสภาประชาธิปไตย แต่วิกฤตการณ์อันเกิดจาก “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ของ ปรีดี พนมยงค์ ทำให้ความเป็นไปได้นี้ หมดไป แม้จะเป็นความจริงที่ว่า ปรีดี พนมยงค์ มีสิทธิเต็มที่ที่จะเสนอความคิดเห็นและแผนการทางเศรษฐกิจของตนได้ แต่ถ้าอภิปรายถึงเรื่องนี้ในฐานะที่เป็นวิจารณญาณทางการเมืองของ ปรีดี พนมยงค์ แล้ว ข้อสรุปก็ควรเป็นว่า “ปรีดีได้ทำความผิดพลาดทางการเมืองครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์”  


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ค. 12, 22:53
คนที่สนับสนุนลัทธิคอมมูนอย่างสุดตัวนั้น ก็ไม่เห็นว่าในชีวิตเขาจะยอมพาลูกเมียและตัวเองไปดำเนินชีวิตอยู่ในคอมมูนอย่างชาวไร่ชาวนาเลยนี่คะ   มันคงมีไว้ให้ชาวบ้านอย่างเราๆอยู่กันเท่านั้นมั้ง

อ้างถึง
แต่บนเวทีคืนนั้น ไม่ยักมีใครขัดคอท่านอาจารย์สุลักษณ์แฮะ
ถ้าคุณนวรัตนอยู่หน้าเวทีในคืนนั้น ดิฉันก็คงขอให้นั่งเฉยๆ     ก็สติปัญญาท่านออกปราดเปรื่อง  ขืนไปเถียงท่านเข้า   เกิดปราดเปรื่องขึ้นมาใกล้เคียงท่าน  เดี๋ยวจะกลับเรือนไทยลำบาก  
คุณประกอบก็จะเสียอาจารย์ไปหนึ่งคนน่ะซีคะ


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ก.ค. 12, 23:02
โห ข้าน้อย มิบังอาจ มิบังอาจ


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ก.ค. 12, 08:10
ถ้าให้ผมไปเถียงกับท่านอาจารย์สุลักษณ์บนเวทีผมคงไม่กล้าหรอกครับ เพราะท่านมีความจำได้หมายมั่นของท่านบรรจุไว้เต็มสมอง ส่วนผมมีแต่ความจำเลอะๆเลือนๆ ครั้นได้ฟังท่านบางเรื่องที่เคยผ่านตามาว่าไม่ใช่อย่างนี้นี่นา แต่จริงแล้วเป็นอย่างไรก็จำรายละเอียดไม่ได้หมด ต้องกลับมาย้อนอ่านอีกนานจึงจะแย้งท่านได้

อย่างเช่น ท่านบอกทำนองว่านายปรีดีถูกพวกเจ้าใส่ร้ายเรื่องคดีสวรรคต จนต้องเนรเทศตนเองไปอยู่เมืองจีนและฝรั่งเศสและไม่มีโอกาสกลับมาเมืองไทย ครั้นท่านเสียชีวิต ประธานองคมนตรีคนปัจจุบัน ก็บอกเพียงว่าเสียใจ…

คำพูดเช่นนี้มีนัยยะแฝงเร้นไปถึงเจ้าระดับไหนไม่อยากเดา ผมจึงอยากเสนอข้อมูลอีกด้านหนึ่งให้ท่านอ่าน แล้วเลือกกันเอาเองว่าจะเชื่ออะไร


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ก.ค. 12, 08:21
ปีพ.ศ.๒๔๙๐ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๙ ยังกำลังทรงศึกษาอยู่ในสวิสเซอร์แลนด์ คณะรัฐประหารประกอบด้วยพล.ท.ผิณ  ชุณหะวัน  พ.อ.กาจ  กาจสงคราม  พ.ท.ขุนจำนงภูมิเวทฯ  ซึ่งมีพ.อ.สฤษดิ์  ธนะรัชติ์  ผู้อาวุโสน้อยแต่เป็นคุมกองกำลังทหารสำคัญร่วมมือด้วย  ได้ทำการยึดอำนาจสำเร็จ  และออกแถลงการณ์ว่า  ประเทศกำลังเผชิญวิกฤติหลายด้าน เช่น ของแพง  ศีลธรรมเสื่อมโทรม ฯลฯ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข

นายปรีดี ได้เล่าเหตุการณ์การรัฐประหารจนถึงการลี้ภัยไปพำนักที่ประเทศจีนเป็นเวลา ๒๑ ปี ไว้ดังต่อไปนี้


“เมื่อเดือน พ.ย. ๒๔๙๐ เกิดการรัฐประหารของฝ่ายทหารโดยการสนับสนุนของพวกอนุรักษ์นิยมขวาจัด  และพวกคลั่งชาติ  โค่นล้มรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายของพล.ร.ต.ถวัลย์ฯ  ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นพรรคพวกของข้าพเจ้า  พวกรัฐประหารบุกเข้าไปในบ้าน เพื่อจะเอาชิวิตข้าพเจ้า รวมทั้งภรรยาและบุตรเล็กๆ โดยกล่าวหาว่าข้าพเจ้าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในกรณีสวรรคต 

จอมพล ป.ซึ่งถูกปล่อยตัวก่อนหน้านั้นไม่กี่เดือนเพราะกฎหมายอาชญากรสงครามไม่มีผลย้อนหลัง  ได้รับแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารให้เป็นผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย 

คณะรัฐประหารได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่  โดยมีหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นผู้รับสนองพระราชโองการ รัฐบาลใหม่ประกอบด้วยพวกอนุรักษ์นิยมขวาจัดเป็นส่วนใหญ่  แต่ต่อมาไม่กี่เดือนทหารก็จี้ให้รัฐบาลชุดนี้ลาออก  และจอมพล ป.ก็เข้าดำรงตำแหน่งนายกฯอีกครั้ง 

คืนเดียวกันที่เกิดรัฐประหาร ข้าพเจ้าได้หลบหนีทหารที่ล้อมรอบบ้านพักไปได้อย่างหวุดหวิด   และข้าพเจ้าได้ไปพักอยู่กับเพื่อนทหารเรือที่สัตหีบอยู่ระยะหนึ่ง เพื่อลี้ภัยไปสิงคโปร์ก่อน แม้ว่ารัฐบาลอังกฤษจะให้สิทธิแก่ข้าพเจ้าในการลี้ภัยทางการเมือง  ...ข้าพเจ้าก็ทราบดีว่าสิทธิดังกล่าวนี้จะมีอยู่ตราบเท่าจนกว่าอังกฤษจะรับรองระบอบการปกครองใหม่ของสยามเท่านั้น

... ดังนั้นข้าพเจ้าจึงเดินทางออกจากสิงคโปร์ไปยังฮ่องกง  จากฮ่องกงเราเดินทางต่อไปยังเซี่ยงไฮ้  เราคิดกันว่าจะเดินทางไปเม็กซิโกโดยเดินทางผ่านซานฟรานซิสโก ขณะที่เรายื่นหนังสือเดินทางแก่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของจีนอยู่นั้น  ได้มีชาวอเมริกันหนุ่มคนหนึ่ง ชื่อนอร์แมน  ฮันนาห์  ซึ่งเป็นรองกงสุลอเมริกาประจำเซี่ยงไฮ้ ได้ตรงเข้ามากระชากหนังสือเดินทางของข้าพเจ้าจากมือเจ้าหน้าที่จีนผู้นั้น  และได้ขีดฆ่าวีซ่าอเมริกา

ข้าพเจ้าจึงตระหนักว่ารองกงสุลอเมริกาหนุ่มผู้นี้ช่างมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่จีน และแม้กระทั่งเอกอัครราชทูตเอง  ..อิสริยาภรณ์และคำประกาศเกียรติคุณที่รัฐบาลสหรัฐฯมอบให้แก่ข้าพเจ้า  ไม่มีค่าอันใดเลย เพราะข้าพเจ้ากลับถูกมองว่าเป็นอาชญากรสงครามเสียด้วยซ้ำ  อันเป็นข้อกล่าวหาที่สร้างขึ้นโดยผู้ที่เป็นศัตรูระหว่างสงครามของสหรัฐเอง  ทั้งนี้โดยการปฏิเสธไม่ให้ข้าพเจ้าแวะผ่านผืนแผ่นดินอเมริกา

...ต่อมาไม่นานนายนอร์แมน  ฮันนาห์  กงสุลอเมริกาประจำเซี่ยงไฮ้ได้ย้ายไปกรุงเทพฯ  องค์กรซี.ไอ.เอ.นี้เอง  ที่เป็นผู้สนับสนุนให้ตำรวจสันติบาลไทยจับกุมภรรยาและบุตรชายคนโตข้าพเจ้า  ภรรยาของข้าพเจ้าถูก “ควบคุมตัว” ที่สันติบาลเป็นเวลา๘๔วัน ส่วนปาลบุตรชาย ซึ่งขณะนั้นอายุ๒๐ปี ถูกตัดสินจำคุก๒๐ปี  โดยข้อหากบฏในพระราชอาณาจักร  ปาลได้รับการปล่อยตัวตามกฎหมายนิรโทษกรรมเมื่อคราวครบรอบกึ่งพุทธกาล๒๕๐๐

ต่อมาในปี๒๕๑๓  ข้าพเจ้าได้ข่าวว่านายฮันนาห์ได้พ้นจากตำแหน่งในกรุงเทพฯ และเดินทางกลับไปสหรัฐแล้ว  ข้าพเจ้าไม่ได้มีความโกรธเคืองนายฮันนาห์เพียงแต่อยากให้ผู้เสียภาษีชาวอเมริกันตระหนักว่า เงินค่าใช้จ่ายของพวกสายลับซี.ไอ.เอ.นั้น  บางทีก็สูญเสียไปกลับรายงานที่บิดเบือน 

วันที่๑ ต.ค.๒๔๙๑ ข้าพเจ้าได้ข่าวว่ารัฐบาลจอมพล ป. ได้จับกุมนายทหารและนักการเมืองหลายคนซึ่งวางแผนจะก่อการยึดอำนาจรัฐบาล กบฏครั้งนี้เรียกชื่อว่า “กบฏ ๑ต.ค.๒๔๙๑ ”  ส่วนคนที่หลบหนีการจับกุมได้ส่งตัวแทนของเขามาพบข้าพเจ้าเพื่อก่อการอภิวัฒน์โค่นรัฐบาล  เราได้ตกลงกันว่าจะให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำก่อการอีกครั้งหนึ่ง  โดยร่วมมือกับเพื่อนๆทหารเรือ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง  ผู้รักชาติประชาธิปไตย  ...”


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ก.ค. 12, 08:28
“วันที่๒๖ก.พ. ๒๔๙๖  เวลา๒๑น. ข้าพเจ้าพร้อมด้วยบรรดามิตรได้ออกจากบ้านที่ข้าพเจ้าหลบซ่อนอยู่ในกรุงเทพฯเพื่อมุ่งหน้าไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งผู้ร่วมขบวนการอันประกอบด้วยลูกศิษย์ลูกหาของข้าพเจ้าจำนวนหนึ่ง และผู้รักชาติคนอื่นๆ  ข้าพเจ้าได้สั่งให้กองหน้าเข้าไปปลดกองทหารซึ่งรักษาพระบรมมหาราชวัง  เพื่อที่เราจะได้เข้าไปตั้งกองบัญชาการขึ้นที่นั่น

...พร้อมกันนั้นก็ได้มีการยิงต่อสู้กันโดยฝ่ายขบวนการได้ใช้ปืนครกยิงสู้กับรัฐบาล เรายึดสถานีวิทยุกระจายเสียงและกรมประชาสัมพันธ์ไว้ได้  เวลา๖โมงเช้าของวันที่๒๗ก.พ. ทหารฝ่ายรัฐบาลภายใต้บังคับบัญชาของพล.ต.สฤษดิ์ฯ ได้รับคำสั่งให้ยิงถล่มที่มั่นของฝ่ายขบวนการ  เมื่อเห็นว่าฝ่ายสนับสนุนมาไม่ทัน ข้าพเจ้าได้สั่งถอย  การก่อการในวันที่๒๖ก.พ. ๒๔๙๒ของข้าพเจ้า จึงประสบความพ่ายแพ้  ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า “กบฏวังหลวง”...”

คือ การเมืองฉากสุดท้ายที่นายปรีดีท่านแสดงไว้ในประเทศไทยนั้น คือท่านเป็นผู้นำในการใช้กำลังทหารมาปฏิวัติจอมพล ป.แต่ไม่สำเร็จ และตกอยู่ในฐานะกบฏครับ ไม่หนีก็ติดคุกหรือโดนเขายิงตาย

และหลังจากนั้น นายปรีดีก็มิได้กลับมาเมืองไทยอีกเลย


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ก.ค. 12, 08:37
ถามว่า อดีตผู้ก่อการคณะราษฎรเช่น พล.ท.ผิณ  ชุณหะวัน  พันเอกกาจ  กาจสงคราม  พ.ท.ขุนจำนงภูมิเวทฯ  แม้จะมีพ.อ.สฤษดิ์  ธนะรัชติ์เข้าร่วมด้วย และเป็นกำลังสำคัญยึดอำนาจจากรัฐบาล แล้วผลสุดท้ายไปคุกเข่าส่งให้จอมพลป.นั้น เป็นพวกเจ้าหรือครับท่านอาจารย์

การที่หัวหน้าผู้ก่อการสำคัญของคณะราษฎรสายพลเรือนถูกกำจัดออกไปคราวนี้ ถามว่าใครได้ประโยชน์โดยตรงขอรับกระผม
 
ถามอีกว่า การที่๔รัฐมนตรีสายนายปรีดีถูกสังหารหลังจากหัวหน้าผู้ก่อการกบฏเผ่นหนีไปแล้ว ทั้งๆที่อยู่ในสภาพผู้ต้องหามีตำรวจคุมตัวไป โดยอ้างว่าเป็นฝีมือโจรจีนนี้ ท่านไม่ทราบหรือว่าเป็นฝีมือใคร และไอ้โม่งตัวนี้เป็นพวกเจ้ากระนั้นหรือครับ ท่านจึงเอาชื่อนายเตียง ศิริขันธ์ส.ส.จังหวัดอุบลราชธานี  นายจำลอง ดาวเรือง ส.ส.จังหวัดมหาสารคาม มายกย่องต่อจากประโยคและอนุประโยคที่ท่านป้ายพวกเจ้า

ผมว่า การที่นายปรีดีท่านกลับมาเมืองไทยไม่ได้ เพราะท่านมีศัตรูทางการเมืองแยะมาก และผมก็เชื่อว่า ท่านก็เห็นแก่ความสงบสุขของประชาชนในชาติ ยอมรู้แพ้รู้ชนะ นั่นเป็นคุณธรรมของท่าน ไม่เกี่ยวอะไรกับคดีสวรรคตที่ท่านและนายสุพจน์ ด่านตระกูลศิษย์ผู้กตเวฑิตาของท่านสู้ยิบตาโดยใช้อำนาจศาลเป็นที่พึ่ง ลงโทษผู้กล่าวหาจนไม่มีใครกล้าพูดกล้าเขียนอะไรพล่อยๆอีกแล้ว เรื่องนี้ท่านอาจารย์สุลักษณ์จะเอาเรื่องนี้ไปใช้ประโยชน์อะไรอีก การตายของนายปรีดี พลเอกเปรมท่านจะเสียใจ หรือเฉยๆ มันก็เป็นเรื่องส่วนตัวของปัจเจกบุคคล น่าจะเข้าใจว่า พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยนั้น ท่านอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมืองภายใน และหากนายปรีดีเคยมีเรื่องกับหม่อมราชวงศ์ที่เป็นนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามคนใด ก็ว่ากันไป อย่าพูดกำกวมให้คนฟังตีความว่านายปรีดีขัดแย้งกับพวกเจ้า เพราะมันอาจจะเพี้ยนไปจากความจริงก็ได้

ผมมิอาจใช้คำว่า"กระล่อน" อันเป็นคำที่ท่านชอบใช้ด่ากราดคนอื่น  แต่เกรงว่าวันหนึ่ง“ความกล้าหาญทางจริยธรรม” ที่ท่านอ้างเสมอจะถูกตั้งข้อสงสัยเข้าให้บ้างเท่านั้น



กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ก.ค. 12, 09:07
ทบทวนความทรงจำ
จำได้ว่าประโยคที่คุณสุลักษณ์พูด  และมีคนอื่นๆพูดตามกันแพร่หลาย  ดิฉันได้ยินครั้งแรกเมื่ออยู่อเมริกา  เป็นช่วงหลังวันที่ 14 ต.ค. 2516     ในยุคที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน   อย่านึกว่าคนไทยในอเมริกาอยู่ไกลปืนเที่ยงไม่รู้อะไรในเมืองไทย  ตรงกันข้าม อะไรที่พูดกันไม่ได้ในไทย ออกข่าวไม่ได้ในไทย  เขาทำกันได้ที่อเมริกา   แม้แต่ข่าวสารคดีในทีวีอเมริกันข่าวหนึ่งก็ออกอากาศอย่างเปิดเผยถึงขบวนการค้ายาเสพติดในไทยที่มีนักการเมืองสำคัญเข้าไปเอี่ยวด้วย
ส่วนหนังสือพิมพ์ไทยในอเมริกาก็ลงข่าวอะไรต่อมิอะไรได้มากกว่าไทยรัฐเดลินิวส์     จึงมีคำพูดขึ้นมาอย่างแพร่หลาย เชิดชูท่านปรีดี พนมยงค์  และเน้นว่าคนดีๆแบบนี้อยู่ในประเทศไทยไม่ได้เพราะถูกใส่ร้ายป้ายสีกรณีสวรรคต    มีนักเขียนแก่คนหนึ่งที่เคยติดคุกมาแล้ว   ไปตะโกนคำนี้อยู่ในชุมชนคนไทย    ตอนนั้นกรณีสวรรคตถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อเป็นเรื่องชี้นำให้คิดอะไรคงไม่ต้องบอก
ตอนนั้นชื่อเสียงของท่านปรีดีถูกเชิดชูถึงขนาดที่ว่าเป็นผู้นำคณะราษฎร์   ชื่อพระยาพหลฯ พระยาทรงฯ คุณหลวงประศาสน์ฯ พระยาฤทธิ์ฯ หายไปเลยรวมทั้งหลวงพิบูลด้วย   เหมือนท่านปรีดีท่านทำของท่านอยู่คนเดียว      ท่านเป็นผู้นำด้านประชาธิปไตย  ท่านเป็นผู้นำเศรษฐกิจสังคมนิยม    ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงถูกใส่ร้ายป้ายสีด้วยผู้เสียประโยชน์จนอยู่เมืองไทยไม่ได้   
พวกที่เชิดชูท่านปิดปากเงียบเรื่องกบฎวังหลวง    ไม่เคยพูดเลยว่าท่านปรีดีผู้มีจิตวิญญาณประชาธิปไตย  เป็นผู้นำเสรีไทย   นั้นก็เคยแก้ปัญหาการเมืองด้วยการทำรัฐประหาร
แปลกมากที่พวกนี้ไม่รู้สึกเลยว่าศัตรูการเมืองของท่านปรีดีคือจอมพลป. อย่างเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์บันทึกเอาไว้    จอมพลป.ท่านถูกมองข้ามไปเลยเหมือนไม่เคยเกี่ยวข้องอะไรกัน       น่าน้อยใจแทนท่านจอมพลนัก


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 31 ก.ค. 12, 09:48

ส่วนเรื่องศาสนาพุทธ ผมเห็นด้วยกับท่าน(อาจารย์)นวรัตนนะครับว่าศาสนาพุทธ ถ้าใช้นิยามคำว่าประชาธิปไตยแบบสมัยปัจจุบัน ศาสนาพุทธคงไม่ใช่ศาสนาประชาธิปไตย  เพราะไม่ได้ใช้หลักความเห็นของคนหมู่มากในการตัดสินทุกสิ่งทุกอย่าง
แต่สิ่งที่ต่างกันคือศาสนาพุทธจะเป็นศาสนาแห่งการใช้เหตุผล  อย่างพระวินัยต่างๆ ที่พระพุทธองค์บัญญัติขึ้น  บัญญัติขึ้นอย่างไม่เป็นประชาธิปไตย คือพระพุทธองค์ไม่ได้ถามความเห็นจากคณะสงฆ์  ไม่มีการโหวตหรืออภิปราย แต่ทุกข้อจะมีที่มาที่ไป และทรงมีเหตุผลกำกับเสมอ ว่าเพราะเหตุใดจึงต้องทรงบัญญัติพระวินัยข้อนั้นๆ ขึ้นมา

ถ้ามีประชาธิปไตย แต่ไม่มีเหตุผล สุดท้ายสังคมประชาธิปไตยนั้นก็ต้องล่มสลายไป ดูตัวอย่างการขึ้นครองอำนาจของฮิตเลอร์ได้ ขึ้นมาจากระบอบประชาธิไตย แต่สุดท้ายคนส่วนใหญ่ในสังคมไม่มีเหตุผล ไม่มีสติ เป็นที่มาของการฆ่าฟันนองเลือดเดือดร้อนไปทั้งโลก

แต่ถ้าทั้งสังคมใช้แต่เหตุผล  ทุกคนมองผลประโยชน์ของส่วนรวมก่อนเป็นหลัก เคารพซึ่งกันและกัน  ประชาธิปไตยก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับสังคมนั้นๆ


ขออนุญาตร่วมสนทนาครับ

ในประชาธิปไตยเอง ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบไม่มีขอบเขตนี่ครับ เพราะถึงที่สุดแล้วประชาธิปไตยก็ต้องมีรัฐธรรมนูญ , พระราชบัญญัติ, พระราชกำหนด, พระราชกฤษฏีกา, กฎกระทรวง ฯลฯ
ซึ่งถ้าว่ากันตามจริง กฎหมายทุกประเภทที่ว่ามานี้ ก็ไม่ได้ผ่านการรับฟังประชามติ หรือไม่ได้มีการให้ประชาชนลงคะแนนเสียงว่าจะเลือกรับหรือไม่รับกฎหมายเหล่านี้ทุกประเภท

รัฐธรรมนูญมีการให้ลงคะแนนยอมรับหรือไม่ก็จริง แต่กฎหมายอื่นไม่มีการให้ลงคะแนนเลย ถ้ามองในมุมที่ว่าประชาชนต้องมีส่วนร่วม ผมเดาว่าก็ยังไม่ใช่ประชาธิปไตยอยู่ดีครับ

ย้อนกลับมาเรื่องพระวินัย จริง ๆ แล้วในตอนต้น พระสงฆ์ทั้งหลายท่านมีจุดประสงค์บวชเข้ามเพื่อละกิเลส เพราะฉะนั้นท่านเหล่านั้นก็จะมุ่งทำหน้าที่ละกิเลสอย่างเดียว โอกาสที่จะไปทำอะไรที่มันนอกลู่นอกท่าก็น้อย ภายหลังสมมติสงฆ์ที่เป็นปุถุชน ที่ไม่ได้ต้องการจะละกิเลสจริงจัง แต่มาหากินกับพระพุทธศาสนาบวชเข้ามามากขึ้น บุคคลเหล่านี้ก็ย่อมหาทางทำในสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำ เพราะว่าไม่มีกฎบังคับไว้
จึงทำให้เกิดเป็นที่มาของพระวินัยขึ้น

เพราะฉะนั้น การที่จะมองว่าเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ผมคิดว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่จะต้องมองครับ


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ก.ค. 12, 10:57
เหตุให้พระศาสนาดำรงอยู่ไม่นานและอยู่ได้นาน
            ครั้งนั้น พระสารีบุตรได้ไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นว่า ศาสนาของพระผู้มีพระภาคทั้งหลาย พระองค์ไหนไม่ดำรงอยู่นานและพระองค์ไหนดำรงอยู่นาน  จึงได้เข้าไปทูลถามพระผู้มีพระภาค
            พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มีพระศาสนาของพระพุทธเจ้าอยู่สามพระองค์ที่ไม่ดำรงอยู่นาน และอีกสามพระองค์ที่ดำรงอยู่นาน
            พระสารีบุตรจึงทูลถามถึงสาเหตุปัจจัยที่เป็นเช่นนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า การที่ศาสนาที่ไม่ดำรงอยู่ได้นาน เพราะพระผู้มีพระภาคทั้งสามพระองค์ ทรงท้อพระทัยที่จะแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวกทั้งหลาย  อนึ่ง  สุตตะ  เคยยะ  เวยยากรณะ  คาถา อุทาน  อิติวุตตกะ  ชาดก  อัพภูตธรรม  เวทัลละ  ของพระผู้มีพระภาคทั้งสามมีน้อย สิกขาบทก็มิได้ทรงบัญญัติ ปาติโมกข์ก็มิได้แสดงแก่สาวก เพราะอันตราธานแห่งพระผู้มีพระภาคเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตาม สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน  ต่างโคตรกัน  ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงยังพระศาสนานั้นให้อันตรธานโดยฉับพลัน เหมือนดอกไม้ต่างพรรณที่กองไว้ ยังไม่ได้ร้อยด้วยด้าย ลมย่อมกระจาย กำจัดดอกไม้เหล่านั้นได้
            การที่พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ได้นาน เพราะพระผู้มีพระภาคทั้งสาม มิได้ทรงท้อพระทัย  เพื่อจะทรงแสดงพระธรรมโดยพิสดารแก่สาวกทั้งหลาย  อนึ่ง  สุตตะ  เคยยะ  เวยยากรณะ  คาถา  อุทาน  อิติวุตตกะ  ชาดก  อัพภูตธรรม  เวทัลละ ของพระผู้มีพระภาคทั้งสามพระองค์นั้นมีมาก สิกขาบทก็ทรงบัญญัติ ปาติโมกข์ก็ทรงแสดงแก่สาวก เพราะอันตรธานพระผู้มีพระภาคเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามเหล่านั้น สาวกชั้นหลังจึงดำรงพระศาสนา ไว้ได้ตลอดระยะกาลยืนนาน เหมือนดอกไม้ต่างพรรณที่กองไว้ ใช้ด้ายร้อยไว้ดีแล้ว ลมย่อมกระจาย กำจัดดอกไม้เหล่านั้นไม่ได้


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ก.ค. 12, 13:44
ขอเป็นเรื่องสุดท้าย

ผมฟังๆเขาอภิปรายกัน พยายามทำใจเปิดรับความคิดเห็นของแต่ละท่านมาวิเคราะห์ว่า ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา อะไรทำให้ประชาธิปไตยของไทยสะดุดอยู่เสมอ คำตอบก็คือ การปฏิวัติของทหาร ถ้าจะพูดให้ถูก ต้องพูดว่า ทหารการเมืองทำการปฏิวัติ เพราะเอาชนะนักการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ นอกจากจะใช้กำลังอาวุธ
ทว่าสมัยหลังๆมานี่ ทหารถูกต้อนเข้ากรมกอง มิได้ออกมาเล่นการเมืองวุ่นวายอยู่ในสภาเหมือนเมื่อก่อนแล้ว แต่คุณภาพของนักการเมืองก็มิได้ดีขึ้น เป็นเหตุให้ทหารสามารถใช้เป็นข้ออ้างที่ออกจากกรมกองมาขับไล่ออกไป และประชาชนนับเป็นเปอร์เซนต์ไม่น้อยเลยเห็นด้วย

แทนที่จะช่วยกันชำระนักการเมืองปากมอมทั้งหลาย ป้องกันไม่ให้เข้ามาโกงกินชาติ นักวิชาการและกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่าเป็นพวกหัวก้าวหน้าจำนวนหนึ่งกลับพุ่งเป้าไปที่พระราชอำนาจ
ในสารคดีทางทีวีที่กำลังพูดถึงกันอยู่นี้ วิทยาการบางท่านก็ได้พูดถึงพระราชอำนาจที่เกินมาจากรัฐธรรมนูญปี๒๔๗๕ ฟังประหนึ่งว่าเป็นสิ่งที่เกินจากขอบเขตที่ระบอบประชาธิปไตยกำหนด

ผมเพิ่งจะสนใจในคราวนี้ว่า มันมีที่มาที่ไปอย่างไร จึงเข้าเน็ทไปค้นคว้ามาให้ดูด้วยกัน สงสัยว่าจะมีที่มาจากอันนี้

"สาร" (message) จากปรีดี พนมยงค์ ถึง ในหลวงภูมิพล เมื่อปี 2516: "พระราชปิตุลาทรงให้สัตยาธิษฐานไว้แล้วว่า พระราชปิตุลาและพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีองค์ต่อๆไปทุกพระองค์ จะต้องพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และไม่ลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญที่ได้มาจากการยึดอำนาจที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ"

จากบทความของ
"สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทความเดิม :
http://www.tfn5.info/board/index.php?topic=18143.0


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ก.ค. 12, 13:50
ผมขอนำความเห็นของท่านผู้หนึ่งที่ผมอ่านแล้วคิดว่าผมมีความเห็นเหมือนกันแทบทั้งหมดมาลงแทนที่ผมจะเขียนเอง ดังนี้ครับ

Submitted by บางกอก (visitor) on Mon, 2010-12-06 11:43.

http://prachatai.com/journal/2010/12/32177

ผมได้อ่านบทความของปรีดี จากที่สมศักดิ์เจียมlinkไว้ให้แล้วครับ...ขอบคุณมาก อยากจะให้ความเห็นต่างจาก สมศักดิ์เจียมบ้างดังนี้

ร.๗ พระยาพหล พระยามโน และปรีดี ได้ร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญ๑๐ธค.๒๔๗๕ ขึ้นมาเพื่อหวังไว้ใช้ปกครองสยาม ร.๗ท่านทรงงานนี้ละเอียดมากเพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะการเมืองสังคมเศรษฐกิจในยุคนั้นอย่างแท้จริง
ปรีดีเองหลังจากเฟอะฟะเขียนประกาศคณะราษฏรฉบับที่๑ ก็พึ่งได้มีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับพระองค์ท่าน ทำความเข้าใจเจตน์จำนงของพระองค์ท่าน และยอมรับความคิดเห็นทุกประการของพระองค์ท่าน
..กรณีกบฎบวรเดชนั้นชัดเจนยิ่ง และ ต้องถือว่า ร.๗ได้ใจคณะราษฏรฝ่ายประชาธิปไตย
แต่กรณีกบฏบวรเดชนั้นในขณะเดียวกันก็สร้างฐานอำนาจให้คณะราษฎรฝ่ายเผด็จการทหาร ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้กันเองภายในคณะราษฎร ตั้งแต่บัดนั้นมาจน จอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจ

ในหลวงรัฐกาลที่๗ ท่านรักษาสัตย์ต่อรัฐธรรมนูญที่พระองค์ท่านมีส่วนร่วมร่าง คือฉบับเต็ม๒๔๗๕ เท่านั้นครับ จะเหมารวมว่าพระองค์ท่านต้องการให้กษัตริย์พระองค์อื่นต้องกระทำเช่นเดียวกันกับรัฐธรรมนูญฉบับอื่นนั้น เห็นจะเป็นตรรกะที่รับไม่ได้

ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า..
ตั้งแต่ ร.๗ สละราชย์ยาวนานมาจนก่อนตุลา๑๖นั้น สถาบันกษัตริย์นั้นไม่ได้มีส่วนร่วมโดยตรงกับระบอบการปกครองไทยเลยครับ เรื่องร่วมร่างรัฐธรรมนูญนั้นยิ่งเป็นไปได้ยากมาก คณะราษฏร คณะทหาร และคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่แต่งตั้งกันขึ้น ล้วนแอบอ้างสถาบันกษัตริย์ เอาไปใช้หลอกลวงประชาชนทั้งสิ้น ปรีดีกับจอมพลป.นั้น ก็พระเอกกับผู้ร้ายแบบผลัดกันเป็น ก่อน๒๔๘๙ ปรีดีเล่นบทพระเอก อ้าว หลังจากนั้น ดันถูกหาว่าเป็นผู้ร้ายไปแล้ว

ตุลา๑๖นั้น..........แท้จริงแล้วมหาประชาชนทั้งสิ้นครับไม่ใช่นักการเมืองหรือทหาร ที่ได้ร่วมกัน นำเอาสถาบันกษัตริย์กลับมาเป็นหลัก ให้กับประเทศไทยอีกครั้ง.....ความสำเร็จของสถาบันกษัตริย์ไทยนั้น ไม่ได้เกิดมาแบบฟลุ๊กๆ หรือมีเทพอุ้มสมแต่ประการใด แต่ด้วย พระราชกรณียกิจ ที่ทำให้มหาประชาชน เป็นเวลา ๒๗ปี ก่อนเหตุการณ์นั้น ที่ทำให้ประชาชนยอมรับว่า ประชาชนหวังพึ่งสถาบันกษัตริย์ได้ ในยามบ้านเมืองไม่มีทางออก.......

อนึ่ง...ตัวบทความของปรีดีนั้นยกตัวอย่างกรณีของอิตาลี และญี่ปุ่น ที่สถาบันกษัตริย์ใช้อำนาจจอมทัพ อย่างได้ผลเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่มหาประชาชน อะไรไปบังตาสมศักดิ์เจียมหรือครับ ถึงกล่าวถึงเฉพาะกรณี ภูฐาน ประเทศกระจ้อยร่อยนักถ้าเอามาเทียบกับประเทศไทย..
บทความของปรีดียังพูดถึงการใช้ระบบแต่งตั้งพฤฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ๒๔๗๕ ที่ทั้งปรีดีและร.๗ มีความเห็นสอดคล้องกันว่าให้ใช้เป็นบทเฉพาะกาล ซึ่งก็คล้ายคลึงกับวุฒิสภาแบบแต่งตั้งของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน.......สมศักดิ์ น่าจะพูดถึงด้วยไหมครับ.........

ประวัติศาสตร์นั้นถ้าถูกบันทึกไว้ถูกต้องแน่นอน มันก็ขึ้นอยู่กับการตีความของผู้ทำการศึกษาว่า ปัจจัยและผลลัพธ์ของแต่ละเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์นั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร มีผลต่อเนื่องอย่างไร ในทัศนะของผู้ศึกษาแต่ละคน.....
คงไม่มีใครผิดทั้งหมดถูกทั้งหมดได้ ในมุมมองของคนอื่น......ซตพ.


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ก.ค. 12, 13:55
ขอเพิ่มเติมว่า ผมเห็นด้วยกับวิทยากรหลายท่านที่กล่าวว่า ระบอบประชาธิปไตยไม่มีรูปแบบตายตัว รัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศจึงหลากหลายไปด้วยบทบัญญัติที่เหมาะสมสำหรับประเทศนั้นๆ ประเทศไทยที่มีอายุความของระบอบนี้มา๘๐ปี ก็น่าจะมีรูปแบบของเราเองที่เอาไว้ป้องกันปัญหาเดิมๆ ที่ประชาชนมีการศึกษาไม่พอที่จะทันเล่ห์ของนักการเมือง ทำให้ผู้ที่ด้อยคุณภาพทางจริยธรรมซื้อเสียงเข้ามาสู่สภาและจัดตั้งรัฐบาลได้

แต่ถ้าหลุดเข้ามาแล้ว จะใช้อะไรถ่วงดุลได้โดยทหารไม่ต้องออกมาทำลายบรรยากาศบ้านเมืองเล่า  ก็หากประเทศเรามีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เข้มแข็ง มีคณะองคมนตรีที่ซื่อสัตย์สุจริตตามชีวประวัติอันเป็นที่พิสูจน์แล้ว คงจะทำหน้าที่กลั่นกรองเรื่องต่างๆที่จะต้องมีพระบรมราชวินิจฉัย เพื่อถวายความเห็นก่อนจะทรงลงพระปรมาธิไภยให้บังคับใช้ตามกฎหมาย ไม่ได้เป็นตรายางเหมือนที่สมัยหลวงพิบูลกระทำกับคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ผลดีนั้นย่อมเกิดกับประชาชนใช่หรือไม่

ถ้าจะให้ประชาชนเชื่อใคร ระหว่างพระมหากษัตริย์กับนักการเมือง  ผมขอตะโกนออกมาจากหน้าประวัติศาสตร์ ให้ดังมาถึงปัจจุบันเลยครับ ว่า

“เรารักในหลวง”


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ก.ค. 12, 14:01
^


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 31 ก.ค. 12, 14:27
มีคุณ samun007 มาร่วมสนทนาอีกท่าน

เรื่องของประชาธิปไตยเองมีขอบเขต จริงอยู่ที่ว่ากฏหมายแต่ละประเภทที่ออกก็ไม่ได้ผ่านประชามติ แต่สิ่งที่แตกต่างจากศาสนาพุทธคือกฏหมายต่างๆ ที่สำคัญ ยกเว้นระดับพวกกฏกระทรวงซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นแค่ระเบียบปฏิบัติถูกออกโดยผ่านตัวแทนที่คนส่วนใหญ่เลือกเข้าไปทำหน้าที่แทนไงครับ  เพราะการให้มหาชนลงมติทุกครั้งเป้นเรื่องที่สิ้นเปลืองและเป็นไปไม่ได้ เราจึงมีระบบการเลือกตัวแทน เลือก ส.ส.  เลือก ส.ว.  ผู้บริหารมีการหมดวาระ
แต่ศาสนาพุทธไม่มีการเลือกตัวแทนโดยณะสงฆ์  พระวินัยทุกข้อพระพุทธองค์ทรงออกเองเมื่อมันมีเหตุให้ต้องมีพระวินัยข้อนั้นๆ  ซึ่งถ้าเทียบกับระบบการออกกฏหมายในสังคมประชาธิปไตยแล้วจะเห็นว่าแตกต่างกัน  

ผมเองเป็นสมาชิก facebook ของ ............ เพราะผมเองติดตามทั้งฝ่ายไม่นิยมสถาบันฯ และฝ่ายนิยมสถาบันฯ  ผมเองก็แปลกใจว่าทำไม อ. แกมีความเกลียดชังมากขนาดนั้น คือแกมองทุกอย่างของสถาบันฯเป็นลบไปหมด ซึ่งอคติเหล่านี้ทำให้แกมองมุมอื่นๆ ที่ดีของสถาบันฯไม่เห็น และโยนปัญหาทุกอย่างไปที่ฝ่ายเจ้าหมด ในขณะที่ออกจะเกรงใจและไม่วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายการเมืองฝั่งแดงๆ เช่นพวก นปช.  ซึ่งมีภาพลักษณ์ไม่นิยมสถาบัน แต่สมประโยชน์เข้ากับความชอบส่วนตัวของแก ดังนั้นแกจะยั้งๆ ไม่วิจารณ์ฝั่งนี้รุนแรงเท่าที่แกแสดงออกต่อสถาบัน ทั้งเรื่องการคอรัปชั่น แกไม่เคยพูดถึง  หรือการปล่อยให้แนวร่วมที่โดนเล่นงานด้วยกฏหมายหมิ่นฯอยู่ในคุก เห็นแกได้แต่บ่นน้อยอกน้อยใจ แต่ไม่กล้าต่อว่ารุนแรงทั้งที่ฝั่งที่แกเชียร์กำลังมีอำนาจในตอนนี้ แต่แกกล้าประชดประชันสถาบันฯแบบไม่เกรงกลัว ทำให้ไม่มีสมดุลในความเห็นต่างๆ ของแก


และแบบที่ผมเคยแสดงความเห็นมาก่อนหน้า ปัญหาของประชาธิปไตยแบบไทยๆ ตอนนี้คือคนจำนวนมากนิยมฟังหรือเชื่อสิ่งที่ตัวเองอยากฟังอยากเชื่อ มากกว่าไปล้วงลึกหาข้อเท็จจริงหรือเหตุผลมาชั่งน้ำหนัก แถมสื่อในบ้านเราก็แทบจะพึ่งพาไม่ได้ โดยเฉพาะสื่อกระแสหลัก เพราะมักจะนำเสนอข้อมูลด้านเดียว คือด้านที่ผู้บริหารสื่อนั้นๆ สังกัดหรือนิยม และเลี่ยงที่จะนำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่อาจจะสร้างความไม่พอใจแก่ผู้มีอำนาจฝ่ายต่างๆ ในสังคมซะอีก ทำให้โอกาสในการเข้าถึงข้อมูลของคนในสังคมมีน้อยมากๆ และเป็นที่มาของประเทศหยุดพัฒนาในขณะนี้ ในขณะที่ประเทศรอบๆ บ้านเราปรับตัวกันขนานใหญ่เพื่ออนาคต แต่ประเทศเรากำลังใช้เกมส์การเมืองและนโยบายประชานิยมทำลายตัวเองอย่างขนานใหญ่


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ก.ค. 12, 14:29
หวังว่ากระทู้นี้คงไม่ก่อความให้เกิดซีเรียสกันมากนัก  
ขอความเห็นใจท่านนวรัตน และท่านอื่นๆที่เข้ามาอ่าน   กรุณาอย่าซีเรียส หรือถือเป็นจริงเป็นจังกับบุคคลใด -ไม่ว่าได้ชื่อว่าเป็นนักวิชาการหรือไม่ใช่นักวิชาการ- ที่มีพฤติกรรมดังต่อไปนี้
- เชิดชูสังคมนิยมในไทย   โดยไม่รู้ว่าประเทศแม่ของสังคมนิยมอย่างจีนและรัสเซีย เขาเลิกระบบคอมมูนกันไปนานแล้ว   ตอนนี้รัสเซียก็รูดม่านเหล็ก   เปิดประเทศให้คนเข้าไปท่องเที่ยว   ชื่อเมืองเลนินกราดที่ตั้งเป็นอนุสรณ์ถึงเลนินผู้นำคอมมิวนิสต์ก็เลิกใช้ตั้งแต่พ.ศ. 2534  เปลี่ยนกลับเป็นเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กที่สร้างโดยพระเจ้าซาร์ปีเตอร์มหาราช ตามเดิม    ส่วนจีนนั้นก็พัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี่ไม่หยุดยั้ง  ขายสินค้าทั่วโลกรวมทั้งอเมริกา  นำความมั่งคั่งมาสู่ประเทศ จนบัดนี้ว่ากันว่ามหาเศรษฐีจีนเกิดใหม่เฉลี่ยแล้ววันละคน
- เทิดทูนนายทุนบิ๊กๆ  ควบคู่ไปกับแนวคิดสังคมนิยม  โดยไม่รู้ว่าอีกน่ะแหละ   ว่าของสองอย่างนี้มันตรงกันข้ามเหมือนน้ำกับน้ำมัน   อยู่รวมกันไม่ได้
- ยังมีความจำเป็นต้องใช้ชีวิตอย่างชาวเมืองหลวง  ไม่อาจไปตั้งถิ่นฐานทำเกษตรกรรมอยู่ในที่ห่างไกล    จำเป็นต้องไปธุระ หรือดูงานต่างประเทศในบางครั้ง  โดยเฉพาะประเทศของนายทุน
- พูดซ้ำๆ เป็นพิมพ์เดียวกันเหมือนท่องตามกันมา  จากก๊อปปี้เมื่อกว่า 30 ปีมาแล้ว


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 31 ก.ค. 12, 14:33
ฮิฮิ  สงสัยจะรุนแรงไป ต้องให้ท่านอาจารย์ใหญ่เอาไม่เรียวมาตี :-[


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ก.ค. 12, 15:24
อ้างถึง
หวังว่ากระทู้นี้คงไม่ก่อความให้เกิดซีเรียสกันมากนัก    ขอความเห็นใจท่านนวรัตน

ผมมีจุดยืนที่มั่นคง คือเน้นประวัติศาสตร์ที่นิ่งแล้ว และหลีกเลี่ยงที่จะแสดงความเห็นกับการเมืองที่ยังไม่นิ่งจนใสเห็นพื้นในปัจจุบัน โดยให้ความเคารพต่อความเห็นของปัจเจกบุคคลที่แสดงออกมาจากใจจริง หากแต่ละท่านแสดงออกอย่างไม่เสแสร้ง

และสิ่งที่ผมอยากจะเขียนตามสิทธิที่เป็นพลเมืองในประเทศประชาธิปไตย ก็จบไปตั้งแต่บรรทัดโน้นแล้วครับ


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 31 ก.ค. 12, 17:20
ปัญหาที่ท่านอาจารย์ใหญ่ยกมาน่าจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากลัทธิบูชาหนังสือหรือตำราจนเกินเหตุ
ข้างฝ่ายนักวิชาการก็มีทฤษฎีที่ร่ำเรียนมาจากตะวันตก  แล้วก็นำทฤษฎีนั้นมาใช้วิเคราะห์ปัญหาแบบไทยๆ
ทั้งที่สังคมไทยกับสังคมตะวันตกนั้นต่างกัน  อีกทั้งยังขาดสำนึกที่จะขวนขวายศึกษาเอกสารหลักฐาน
ทางประวัติศาสตร์เพิ่มเติม  ผู้ใดเขียนอะไรไว้ก็หลับหูหลับตาเชื่อตามกันเป็นลัทธิเอาอย่าง  เราจึงได้ดู
สารคดีที่จบไปแบบแปร่งๆ เช่นนั้น


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ก.ค. 12, 17:40
ความเห็นของคุณ V_Mee ทำให้ดิฉันนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมาได้   เป็นหนังสือเก่าแก่ เดิมเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส โดยนักเขียนชาวอิตาเลียน   มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้รู้เท่าทันการรัฐประหาร จะได้ไม่เสียท่าให้อีกฝ่ายรัฐประหารเอาได้    แต่เป็นความเคราะห์ร้ายของนักเขียน ที่หนังสือเล่มนี้กลายเป็นมีดสองคม    เพราะมุสโสลินีกลับมองเห็นว่า นี่คือหนังสือบอกเคล็ดลับวิธีรัฐประหารกันชัดๆนี่นา    ก็เลยจับนักเขียนเข้าคุกอยู่หลายเดือน ก่อนจะเนรเทศปล่อยเกาะอีกหลายปี
หนังสือเล่มนี้ไม่มีขายตามร้าน    มีผู้สั่งเพื่อนฝูงให้ซื้อส่งเข้ามาในประเทศไทยโดยให้ฉีกปกออกเสียก่อน เพราะชื่อมันอันตราย   แล้วมอบให้จอมพลป. ด้วยมิตรภาพอันดีต่อกันในสมัยที่ยังเป็นมิตรกันอยู่   คนสั่งคือดร.ปรีดี พนมยงค์        ว่ากันว่าจอมพลป.ท่านอ่านแล้วก็ได้แนวคิดมาบริหารบ้านเมือง  รวมทั้งบริหารเพื่อนผู้ส่งหนังสือให้ท่านด้วย  จริงเท็จอย่างไรไม่แจ้ง เขาเขียนเล่าอย่างนี้มาอีกต่อหนึ่ง

ชื่อฝรั่งเศสของหนังสือเล่มนี้แปลเป็นไทยว่า กลวิธีของการรัฐประหาร   มีคนนำมาแปลเป็นไทย  แต่ขอไม่ลงฉบับแปล  เพราะไม่อยากให้เป็นการโฆษณาขายหนังสือในเรือนไทยค่ะ


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 31 ก.ค. 12, 18:45
บังเอิญไปเจอพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ เรื่อง "โคลนติดล้อ" ซึ่งเมื่อผมอ่านแล้วทำให้รู้สึกว่า ภูมิใจที่มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาและห่วงใยบ้านเมือง

โคลนติดล้อ

ในการกระทำความติดต่อซึ่งกันและกันในหมู่นานาประเทศนั้น บางทีก็เหลือที่จะแก้ไขป้องกันมิให้เครื่องกีดขวางต่าง ๆ มาติดล้อแห่งความเจริญของชาติได้ ของกีดขวางเหล่านี้ ในชั้นต้นก็ดูไม่สู้จะสลักสำคัญอะไรนัก แต่ครั้นเวลาล่วงไปก็กลับกลายเป็นของใหญ่โตขึ้นทุกที จนถึงวันหนึ่งเราจึ่งรู้สึกว่าแทบจะทนทานไม่ได้

ธรรมดารถซึ่งขับเร็วไปในถนนซึ่งมีโคลน โคลนนั้นก็ย่อมกระเด็นเปรอะเปื้อนรถเป็นธรรมดา และบางทีก็เป็นอันตรายได้โดยเหตุที่ม้าพลาดหรือล้มลง แต่ล้อแห่งรถนั้นในเวลาที่ถึงที่หยุดแล้ว จะมีโคลนก้อนใหญ่ๆ ติดอยู่ก็หาไม่ เพราะว่าโคลนซึ่งติดล้อในระหว่างที่เดินทางนั้นได้หลุดกระเด็นไปเสียแล้วด้วยอำนาจความเร็วแห่งรถนั้น ส่วนรถที่ขับช้า ๆ ไปในถนนซึ่งมีโคลนทางเดียวกันย่อมไม่สู้จะเปรอะเปื้อนหรือเป็นอันตรายด้วยเหตุที่ม้าพลาดหรือล้มนั้นจริง แต่ล้อแห่งรถนั้นย่อมจะเต็มไปด้วยโคลนอันใหญ่และเหนียวเตอะตัง ซึ่งนอกจากแลดูไม่เป็นที่จำเริญตาแล้ว ยังสามารถเป็นเครื่องกีดขวางและทำให้ล้อเคลื่อนช้าลงได้

ข้อนี้ย่อมได้แก่ประเทศซึ่งดำเนินไปสู่ความเจริญ หรือซึ่งโดยมากชอบเรียกกันว่า "ความศิวิไลซ์" ยกตัวอย่างที่เห็นได้ง่าย คือ ญี่ปุ่นเขาได้ดำเนินขึ้นสู่ความเจริญด้วยความรวดเร็วยิ่งนัก ประเทศญี่ปุ่นมีรอยโคลนเปรอะเปื้อนอยู่เป็นอันมาก แต่เราต้องยอมว่าล้อของเขาไม่ใคร่จะมีก้อนโคลนติด

ส่วนประเทศสยามของเรานั้นเล่าเป็นอย่างไรบ้าง ?

เราได้ดำเนินขึ้นสู่ความเจริญด้วยความระวังระไว เพราะว่าเราเห็นควรที่จะใช้สติและความไตร่ตรองดูโดยรอบคอบ และถึงแม้เมื่อเปรียบเทียบกับญี่ปุ่น ความเจริญของเรานั้นช้าก็จริงอยู่ แต่ดูเราไม่สู้จะเปรอะเปื้อนมากนัก และตัวรถของเราก็นับได้ว่ายังสะอาดดีอยู่

ส่วนล้อของเรานั้นเป็นอย่างไรเล่า ?

ล้อของเรานั้นหรือมีก้อนโคลนติดกรังไปทั้งล้อ ! รถของเรายังเคลื่อนไปได้จริง แต่ก้อนโคลนเหล่านั้นช่างกีดขวางเสียจริง ๆ เพราะฉะนั้นวันจะมาถึงเข้าวันหนึ่ง ซึ่งเราจะรู้สึกว่า ถึงแม้เราจะต้องเดินเร็วจริงๆ เพื่อให้รอดอันตราย เราก็จะไม่สามารถไปเร็วได้เสียแล้ว

เจ้าของรถที่เขามีสติปัญญา เมื่อได้เห็นโคลนติดล้อของเขามากมายเช่นนั้น ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่เขาจะต้องขวนขวายจัดการเปลื้องโคลนออกเสียจากล้อ ก่อนที่เขาจะเริ่มออกเดินทางต่อไปในที่อันสำคัญไม่ใช่หรือ ?

เราทั้งหลายควรจะลืมตาของเรา และพิจารณาดูก้อนโคลนต่าง ๆ ซึ่งติดอยู่กับล้อแห่งความเจริญของชาติเรา เราจะเห็นได้ว่าโคลนเหล่านี้ บางก้อนได้ติดมานานแล้ว และเป็นการลำบากที่จะเปลื้องออกให้เกลี้ยงได้ในคราวเดียว แต่ถ้าประกอบด้วยวิริยภาพและความบากบั่น เราก็สามารถที่จะชำระโคลนนั้นออกได้หมดในเวลาอันควรเหมือนกัน ของย่อมมีอยู่ บางอย่างที่เราจะเปลี่ยนแปลงได้ทันใดตามความพอใจ เพราะไม่เกี่ยวข้องแก่ผู้ใดนอกจากตัวเราเอง แต่ย่อมมีของบางอย่างเหมือนกัน ซึ่งยากจะเปลี่ยนแปลงได้ ด้วยเหตุว่ามีผู้อื่นเขามาเกี่ยวข้องอยู่ด้วย

เราควรจะพิจารณาในสิ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับตัวเราเองก่อน และในการพิจารณานี้เราจะได้เห็นของอัศจรรย์ต่าง ๆ มาก ซึ่งจะทำให้เรานึกพิศวงว่าเหตุใดเราจึงคงมีหรือคงทำสิ่งนั้น ๆ อยู่


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 31 ก.ค. 12, 18:52
พระราชนิพนธ์อีกบทหนึ่งคือ





หลักราชการ

"ในสมัยปัจจุบันนี้ใคร ๆ ก็ย่อมทราบอยู่แล้วว่า การศึกษาเจริญขึ้นมากกว่าในเวลาก่อน ๆ นี้เป็นอันมาก และมีตำรับตำราสำหรับสอนศิลปและวิทยาแทบทุกอย่าง เหตุฉะนี้ จึงทำให้คนบางจำพวกหลงไปว่า "รู้อะไรก็ไม่สู้รู้วิชา" และด้วยความหลงอันนี้จึงเลยทำให้หลงเลยนึกต่อไปว่า ไม่ว่าจะทำการในหน้าที่ใด ๆ ข้อสำคัญมีอยู่อย่างเดียวแต่เพียงจะพยายามให้ได้คะแนนมาก ๆ ทุกคราวที่สอบไล่ในโรงเรียน และให้ได้ประกาศนียบัตรหลาย ๆ ใบ แล้วพอออกจากโรงเรียนก็เป็นอันจะไม่ต้องพยายามทำอะไรอีกต่อไป ทั้งลาภ ทั้งยศ ทั้งทรัพย์ จำจะต้องหลั่งมาไหลมาทีเดียว

บุคคลจำพวกที่คิดเห็นว่าวิชาเป็นแก้วสารพัดนึกเช่นนี้เมื่อเข้าทำการแล้ว ถ้าแม้นไม่ได้รับตำแหน่งสูงเพียงพอแก่ที่ตนตีราคาของตนไว้ และลาภยศทรัพย์หลั่งไหลมาไม่ทันใจ ก็บังเกิดความหลากใจ แล้วบังเกิดความไม่พอใจ เมื่อบังเกิดความไม่พอใจแล้วก็บังเกิดความริษยา เมื่อเกิดความริษยาขึ้นแล้วก็หมดความสุข

แท้จริงบุคคลจำพวกนี้ลืมนึก หรือไม่เคยนึกทีเดียวว่ามีภาษิตโบราณ ท่านได้กล่าวไว้แล้วว่า "วิชาท่วมหัวเอาตัวไม่รอด" คำที่ท่านกล่าวไว้เช่นนี้ควรที่จะหวนคำนึงดูบ้างว่าท่านมุ่งความกระไร ? ท่านย่อมมุ่งความว่า วิชานั้นเปรียบเหมือนเครื่องแต่งตัว ซึ่งใครมีทุนแล้วก็อาจจะหาแต่งได้เท่ากัน แต่ถึงแม้ว่าจะนุ่งหางหงส์ผัดหน้าใส่ชฎาทอง ถ้าแม้ว่ารำไม่งามเขาก็ไม่เลือกเอาเป็นตัวอิเหนาเป็นแน่ละ ถ้าคนเราต้องการแต่วิชาอย่างเดียวเป็นเครื่องนำไปสู่ความเป็นใหญ่ ป่านนี้พวกครูบาอาจารย์ทุกคนคงต้องเป็นคนใหญ่คนโตไปด้วยกันหมดแล้ว แต่แท้ที่จริงศิษย์ที่ดีกว่าครูมีถมไป ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วไม่ควรที่จะเป็นไปได้ เพราะครูเป็นผู้สอนวิชาให้แก่ศิษย์ เหตุใดศิษย์จึงจะวิ่งไปดีกว่าครูเล่า ถ้าลองไตร่ตรองดูข้อนี้ให้ดีหน่อยจะเห็นได้ว่า ไม่ใช่เพราะวิชาอย่างเดียวเสียแล้ว ต้องมีคุณวิเศษอื่นประกอบด้วยอีก ฯลฯ"

อ่านแล้วรู้สึกว่า เป็นเรื่องที่อกาลิโกจริงๆครับ อ่นเมื่อไร สมัยใดก็ได้ประโยชน์เมื่อนั้น





กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 31 ก.ค. 12, 19:54
ชื่นชม การคุยเรื่องการเมืองในอดีตแล้วเทียบกับปัจจุบันในห้องเรือนไทยแห่งนี้มากครับ โดยเฉพาะ อ นวรัตน์ ซี และ อ เทาชมพู

โดยส่วนตัวเชื่อว่าทุกท่านในห้องที่คุย คุยด้วยความบริสุทธิ์ใจและพยายามมองอย่างเป็นกลาง(ในแบบที่ไม่ใช่กลางแบบเพิกเฉย) ไร้อคติหรือไม่ก็มีน้อยที่สุดแล้วล่ะครับ ด้วยเหตุนี้จึงต้องชื่นชม


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 31 ก.ค. 12, 20:00
คุณประกอบครับ ความเห็นที่ 81  ไม่รู้จะใช่ อจ คนเดียวกันหรือเปล่านะครับ  แต่ผมเองที่ชื่นชอบและเห็นด้วยกับแกหลายๆประการก็ยังถามคำถามเดียวกับที่คุณประกอบถามเลยครับ

อจ ใหญ่ที่สุด ท่านนั้น ท่านบอกว่าท่านเป็นกัลยาณมิตรของเจ้าจึงต้องติติงตามความจริง (ซึ่งผมเห็นด้วยครับ) แต่ผมก็สงสัยต่อว่าทำไมเวลา เจ้า หรือสถาบัน ถูกใส่ร้ายป้ายสี ทำไมกัลยาณมิตรท่านนี้จึงไม่ออกมาอธิบายปกป้อง ชี้แจงผู้ที่ตนบอกว่าเป็นกัลยาณมิตรด้วยเลย?  หรือ อจ ใหญ่ที่สุดท่านนั้นเห็นด้วยกะเขาไปเสียหมด?


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ก.ค. 12, 20:37
อจ ใหญ่ที่สุด ท่านนั้น ท่านบอกว่าท่านเป็นกัลยาณมิตรของเจ้าจึงต้องติติงตามความจริง (ซึ่งผมเห็นด้วยครับ)
เรื่องอื่นไม่มีความเห็นนะคะ เพราะไม่รู้ว่าคุณผกานินีพูดถึงใคร  แต่สะดุดนิดหนึ่งตรงคำที่ขีดเส้นใต้   คือดิฉันได้รับการสั่งสอนมาว่า อย่าตั้งตัวเองเป็นกัลยาณมิตรของใคร    ต้องให้อีกฝ่ายเขาเป็นคนตั้ง  หรืออย่างน้อยเขาต้องเป็นฝ่ายออกปากเรียกเราเอง ถึงจะผ่านการรับรองว่าเป็นกัลยาณมิตรจริง  
ยิ่งถ้าอีกฝ่ายท่านอยู่ในฐานะสูงกว่า จะด้วยวุฒิใดๆก็ตาม   เรายิ่งไม่ควรปริปาก    จะถูกเข้าใจผิดได้ว่าเป็นการยกตัวเองมากกว่ายกท่าน  
คนเป็นมิตรนั้น ติติงกันได้เสมอ แต่ถ้ารักกันจริงก็หาทางส่งสารกันเงียบๆได้   ไม่ต้องประกาศให้คนทั่วโลกที่ไม่ใช่มิตร พลอยได้ฟังไปด้วย  โดยเฉพาะเมื่ออีกฝ่ายไม่อยู่ในฐานะจะมาถกมาเถียงอะไรด้วยได้
แต่ก็อย่างว่าละค่ะ  การสั่งสอนอบรมใดๆนั้นเป็นค่านิยมเฉพาะกลุ่ม    คนเราคิดไม่เหมือนกัน   ไม่งั้นในพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕ คงไม่เขียนว่า
ฝูงชนกำเนิดคล้าย              คลึงกัน
ใหญ่ย่อมเพศผิวพรรณ          แผกบ้าง
ความรู้อาจเรียนทัน             กันหมด
ยกแต่ชั่วดีกระด้าง              อ่อนแก้ฤๅไหว
        


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 31 ก.ค. 12, 21:23
กด LIKE  ความเห็น 91

ทำให้ผมเข้าใจความหมายของคำว่า กัลยาณมิตร ลึกซึ้งเข้าไปอีก


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: Diwali ที่ 01 ส.ค. 12, 03:54
เข้ามาลงชื่อว่ายังคงตามอ่านอยู่ครับ


ขอบพระคุณทุกๆท่านครับผม


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ส.ค. 12, 05:36
ขอบคุณคุณผกานินี.     และมาทักทายคุณ Diwali. ค่ะ
ก็คงไม่มีอะไรจะพูดมากกว่านี้.  รอท่านอื่นๆออกความเห็นดีกว่า


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 01 ส.ค. 12, 10:21
มีคุณ samun007 มาร่วมสนทนาอีกท่าน

เรื่องของประชาธิปไตยเองมีขอบเขต จริงอยู่ที่ว่ากฏหมายแต่ละประเภทที่ออกก็ไม่ได้ผ่านประชามติ แต่สิ่งที่แตกต่างจากศาสนาพุทธคือกฏหมายต่างๆ ที่สำคัญ ยกเว้นระดับพวกกฏกระทรวงซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นแค่ระเบียบปฏิบัติถูกออกโดยผ่านตัวแทนที่คนส่วนใหญ่เลือกเข้าไปทำหน้าที่แทนไงครับ  เพราะการให้มหาชนลงมติทุกครั้งเป้นเรื่องที่สิ้นเปลืองและเป็นไปไม่ได้ เราจึงมีระบบการเลือกตัวแทน เลือก ส.ส.  เลือก ส.ว.  ผู้บริหารมีการหมดวาระ
แต่ศาสนาพุทธไม่มีการเลือกตัวแทนโดยณะสงฆ์  พระวินัยทุกข้อพระพุทธองค์ทรงออกเองเมื่อมันมีเหตุให้ต้องมีพระวินัยข้อนั้นๆ  ซึ่งถ้าเทียบกับระบบการออกกฏหมายในสังคมประชาธิปไตยแล้วจะเห็นว่าแตกต่างกัน  


เรื่องการลงมติมหาชน

ส่วนตัวผมมองว่า เรามักจะไปติดกับคำว่า "เป็นไปไม่ได้" ซึ่งมักจะไปผูกโยงกับคำว่า "งบประมาณ" และ "ตัวแทนของปวงชน"

ซึ่งถ้าว่ากันตามจริงแล้ว เป็นเพราะบรรดาผู้มีอำนาจตั้งแต่ยุคอดีตจนถึงปัจจุบันต่าง ละเลย และ เมินเฉย ต่อขนบเดิม ๆ ของคนไทย

เราได้ทำลายรากเหง้าของ "สังคมชนบท" เสียเละเทะ แล้วมุ่งทุกอย่างให้ไปเป็น "สังคมเมืองอย่างยุโรป"  ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง

ความเป็นสังคมชนบทมันได้ซึมอยู่ใน DNA ของคนไทยจนแยกไม่ออกแล้ว ดังจะเห็นได้จากนิสัยการแสดงออกของคนไทยที่ไม่ได้เกิดในกรุงเทพ แต่อพยพเข้ามาทำงานใน
กรุงเทพนั่นเอง (รวมถึงนิสัยของนักการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ตลอดจนข้าราชการทั้งหลายโดยส่วนมาก)

ถ้าเรานำข้อดีของความเป็นสังคมชนบทตรงนี้มาใช้ได้ ประชาชนก็จะมีส่วนร่วมในการปกครองมากขึ้น รู้สึกหวงแหน "อำนาจอธิปไตยของตน" มากขึ้น

ผู้แทนก็จะมีโอกาส "งาบ" น้อยลง , ทหารก็จะไม่มีข้ออ้างออกมาเพ่นพ่านอีก , ข้าราชการที่ไม่ดีก็จะอดอยากปากแห้งกันมากขึ้น ฯลฯ

ตัวอย่างที่ดีที่เห็นได้ว่าสามารถทำได้โดยที่ประชาชนมีส่วนร่วมก็คือ การออกเสียงลงประชามติในการรับร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. ๒๕๕๐  ซึ่งมีการลงไปให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ
กับประชาชน ก่อนที่ประชาชนจะลงมติต่อไป แม้ว่าจะมีการบังคับกลาย ๆ จากผู้มีอำนาจอื่น ๆ ให้รับก็ตาม แต่ผมมองว่าก็ดีกว่าปล่อยให้อำนาจทุกอย่างอยู่กับคนที่มักจะอ้างว่าเป็นตัวแทนประชาชน
ทั้งในส่วนของฝ่ายรัฐหรือฝ่ายค้านซึ่งก็ไม่ได้ดีกว่ากันเท่าไรเลย เพราะจะกลายเป็นว่า มันจะไม่ใช่ประชาธิปไตยจริง ๆ จะกลายเป็น "คณาธิปไตย" แทนครับ

=================================================================

เรื่องของพระพุทธศาสนา

ตามจริงแล้ว พระพุทธศาสนาไม่ได้ให้ความสำคัญกับระบบการปกครองแบบใดแบบหนึ่งมากนัก แต่เน้นไปที่เรื่องของ "ธรรมาธิปไตย" ซึ่งประกอบไปด้วยพระธรรมและพระวินัยมากกว่า

ดังจะเห็นได้ว่า พระพุทธองค์ทรงประทาน ทศพิธราชธรรม สำหรับการปกครองแบบราชาธิปไตย , จักรวรรดิวัตร ๑๒ สำหรับการปกครองแบบจักรวรรดิ หรือจะเป็น อปริหานิยธรรม ๗
สำหรับการปกครองในแบบคณาธิปไตย

ซึ่งก็เป็นจริงตามสัพพัญญุตญาณของพระพุทธองค์ เพราะในหน้าประวัติศาสตร์ ไม่มีระบอบการปกครองไหนจะยั่งยืนและดีที่สุด ทุกระบอบมีขึ้นมีลง มีเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป
ขึ้นแล้วกับว่าผู้ปกครองในแต่ละระบบจะสามารถประพฤติตัวตามธรรมาธิปไตยที่เหมาะกับรูปแบบการปกครองนั้น ๆ ได้ดีมากน้อยแค่ไหน  ถ้ายึดถือและปฏิบัติได้ดีมาก ผู้ปกครอง
ก็จะปกคกรองได้นาน แต่ถ้าเมื่อไรที่ละเลย ก็จะอยู่ได้ไม่นาน จนสุดท้ายก็จะสลายตัวไปในที่สุดครับ



กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 05 ส.ค. 12, 16:50
รับฟังทุกความเห็น แต่บางคนความคิดฟิกซด์เป็นแผ่นเสียงตกร่อง น่าเบื่อ
เราอ่านหนังสือพอๆกับท่าน รู้เห็นเหมือนท่าน
เรียนมาไม่น้อยกว่าท่านแม้ไม่ใช่ด้านการเมืองการปกครองโดยตรง
จึงพอมีความเห็นเป็นของตัวเองเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องไปตามก้นท่าน
การปฎิวัติ การกบถ การใช้กำลัง ล้วนเพื่ออำนาจตัวเองทั้งนั้น
ไอ้ที่อ้างโน้นอ้างนี้ อ้างเพื่อประชาชน มันการแก้ตัว   
สุดท้ายคงหนีไม่พ้นความจริงไปได้


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 มิ.ย. 16, 08:47
จากวันนั้น ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ถึง วันนี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๙

เจ็ดรอบนักษัตร      อธิปัตย์ของประชา
มุ่งมั่นฝ่าฟันหา       ยังไม่ครบจบกระบวน


อนุสาวรีย์สร้างเสร็จ แต่ประชาธิปไตยยังสร้างไม่เสร็จ

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5246.0;attach=34219;image)


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 มิ.ย. 16, 11:02
การปฏิวัติมิได้จบแค่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เห็นไหมครับ เดี๋ยวนี้ถึงแม้ตัวแสดงจะเปลี่ยนไป แต่การสู้รบกันเองที่ทุกฝ่ายต่างอ้างว่าเพื่อประชาธิปไตยในเมืองไทยยังไม่เคยจบได้สนิทเลย ยังจะต้องมีการเสียเลือดเสียเนื้ออีกหรือเปล่าก็ไม่รู้
   
ผมขออัญเชิญพระบรมราโชวาทที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯพระราชทานแก่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๗๕ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วมาให้อ่าน ท่านคงจะเข้าใจได้ว่า การขาดการศึกษาของคนไทยนั้นไม่ได้มีความหมายแค่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ หากขาดพื้นฐานที่จะสามารถเข้าใจความเป็นประชาธิปไตย ดังที่ประเทศต้นแบบเขาปลูกฝังให้ประชาชนตั้งแต่วัยเรียน

"เมื่อเราจะปกครองแบบรัฐสภาแล้ว  ก็ต้องมีคณะการเมืองเป็นธรรมดา  เกมการเมืองก็ย่อมต้องมีกฎของเกมเหมือนกัน  ถ้าเราเล่นผิดกฎการเมืองก็ย่อมจะมีผลเสียหายได้มากทีเดียว  เพราะการปกครองแบบเดโมคราซีย่อมต้องมีการแพ้และชนะ  ซึ่งถือเอาตามเสียงของหมู่มากว่าฝ่ายใดแพ้และชนะ  เพราะคณะการเมืองย่อมมีความเห็นต่างๆ กันเป็นธรรมดา  ต่างฝ่ายก็ต้องมุ่งที่จะให้หมู่มากเห็นด้วยกับตน  และเลือกตนเข้าเป็นรัฐบาล  ฝ่ายไหนประชาชนส่วนมากเห็นด้วยฝ่ายนั้นก็เป็นผู้ชนะ  เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เมื่อเวลาจะพูดชักชวนให้ประชาชนลงความเห็นด้วยกับตนนั้น  ถ้าเราใช้วิธีโกงต่างๆ เช่นติดสินบนหรือข่มขืนน้ำใจก็ต้องเรียกว่าเล่นผิดเกมการเมืองโดยแท้  ต้องพูดให้คนอื่นเห็นตามโดยโวหารและโดยชอบธรรมจึงจะถูกกฎของเกม  การปกครองแบบเดโมคราซีนั้น  ผู้ที่ชนะแล้วได้เข้ามาปกครองบ้านเมือง  ก็ควรจะต้องนึกถึงน้ำใจของฝ่ายน้อยที่แพ้เหมือนกัน  ไม่ใช่ว่าเราชนะแล้วก็จะหาวิธีกดขี่ข่มเหงผู้ที่เป็นฝ่ายแพ้ต่างๆนานาหาได้ไม่  ย่อมต้องมุ่งปกครองเพื่อประโยชน์ของคณะต่างๆ ทั้งหมด  ส่วนผู้ที่แพ้ก็เหมือนกัน  เมื่อแพ้แล้วก็ต้องยอมรับว่าตนแพ้ในความคิดในโวหาร  แพ้เพราะประชาชนส่วนมากไม่เห็นด้วย  เมื่อแพ้แล้วถ้าตั้งกองวิวาทเรื่อย  บอกว่าถึงแม้คะแนนโหวตแพ้ กำหมัดยังไม่แพ้ เช่นนั้นแล้วความเรียบร้อยจะมีไม่ได้  คงได้เกิดตีกันหัวแตกเต็มไป  ฝ่ายผู้แพ้ควรต้องนึกว่า  คราวนี้เราแพ้แล้วต้องไม่ขัดขวางหรือขัดคอพวกที่ชนะอย่างใดเลย  ต้องปล่อยให้เขาดำเนินการตามความเห็นชอบของเขา  ต่อไปภายหน้าเราอาจเป็นฝ่ายที่ชนะได้เหมือนกัน  น้ำใจที่เป็นนักกีฬาที่เป็นของสำคัญอีกอย่างหนึ่ง  ก็คือว่าเราต้องเล่นสำหรับคณะเป็นส่วนรวม  แม้ในโรงเรียนเรานี้แบ่งออกเป็นคณะต่างๆ  เมื่อเล่นแข่งขันในระหว่างคณะ  เราก็เล่นสำหรับคณะของเราเพื่อให้คณะของเราชนะ  แต่เมื่อโรงเรียนทั้งโรงเรียนไปเล่นเกมกับโรงเรียนอื่น  ไม่ว่าคณะใดก็ตามต้องร่วมใจกันเล่นเพื่อโรงเรียนอย่างเดียวเท่านั้น  เวลานั้นต้องลืมว่าเราเคยแบ่งเป็นคณะ  เคยแข่งขันกันมาในระหว่างคณะอย่างไรต้องลืมหมด  ต้องมุ่งเล่นเพื่อโรงเรียนอย่างเดียวเท่านั้น  สำหรับประเทศชาติความข้อนี้เป็นของสำคัญอย่างยิ่งเหมือนกัน  เพราะตามธรรมดาย่อมต้องมีคณะการเมืองคณะต่างๆ ซึ่งมีความเห็นต่างๆ กัน  แต่เมื่อถึงคราวที่จะต้องนึกถึงประเทศแล้ว  ต่างคณะต้องต่างร่วมใจกันนึกถึงประโยชน์ของประเทศอย่างเดียวเป็นใหญ่  ต้องลืมความเห็นที่แตกต่างกันนั้นหมด  ถึงจะเคยน้อยอกน้อยใจกันมาอย่างไร  ต้องลืมหมด  ต้องฝังเสียหมด  ต้องนึกถึงประโยชน์ของประเทศของตนเท่านั้น  จะนึกเห็นแก่ตัวไม่ได้  อย่างนี้จึงจะเรียกว่ามีใจเป็นนักกีฬาแท้  เป็นของจำเป็นที่จะต้องปลูกให้คนมีน้ำใจอย่างนั้น  จึงจะปกครองอย่างแบบเดโมคราซีได้ดี"
   
ประชาธิปไตยในพระบรมราโชวาทคงไม่มีโอกาสได้เห็นในประเทศนี้ เพราะต้นประชาธิปไตยที่คณะราษฎรนำมาปลูกให้กับสยามนั้น เล่นกันแบบกติกามวยวัด
และตราบใดที่การศึกษาของชาติยังล้าหลัง เราก็คงจะเล่นมวยวัดกันไปทุกเรื่อง ไม่เฉพาะแต่การเมืองด้วยครับ


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 24 มิ.ย. 16, 13:38
พระบรมราโชวาทที่ท่านอ.นวรัตน์ดอทซียกมาช่างตรงกับใจดิฉันเหลือเกินค่ะ ทุกวันนี้คนไทยยังเอาตนเอง พวกตนเอง กลุ่มตนเองเป็นหลัก ไม่เคยคิดถึงประเทศชาติเลย ดิฉันมองการเมืองไทยเคยนึกถึงประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่านักการเมืองฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลจะมีความเห็นที่ขัดแย็งกันอย่างไร แต่พอมีอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของประเทศชาติแล้ว ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นแก่ประเทศชาติบ้านเมืองตัวเองก่อนเป็นหลัก ฝ่ายค้านยอมถอยให้กับรัฐบาลเมื่อเห็นว่านั่นเป็นผลประโยชน์ของชาติ ไม่มีการดื้อดึงจะเอาชนะให้ได้เพราะเห็นว่ารัฐบาลกำลังเพลี่ยงพล้ำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ดิฉันไม่เคยเห็นในการเมืองไทยเลย ดิฉันเห็นแต่เมื่อฝ่ายใดล้มอีกฝ่ายพร้อมจะเหยียบซ้ำให้มันจมดิ แล้วประเทศชาติจะไปอยู่ได้อย่างไร ทุกวันนี้คืออยู่โดยวางอุเบกขา ถือเสียว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรมค่ะ :'(


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 มิ.ย. 17, 08:58
จากวันนั้น ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ถึง วันนี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๐

ขวบปีแปดสิบห้า             ประทับตรามิลืมเลือน
ยักย้ายคลายคล้อยเคลื่อน  มิสะเทือนเตือนให้จำ


บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้านั้น ด้านทิศเหนือจะเป็นพระที่นั่งอนันตสมาคม ด้านทิศตะวันตกจะเป็นสวนอัมพร
ด้านทิศตะวันออกจะเป็นสนามเสือป่า และด้านทิศใต้เป็นถนนราชดำเนินนอก

บนพื้นทางด้านขวาของพระบรมรูปทรงม้าจะมีเส้นตีไปทางขวาเข้าหาประตูทางเข้าสนามเสือป่า

บนแนวเส้นนั้นจะมีหมุดโลหะฝังอยู่บนพื้นถนน  นิยมเรียกกันว่า หมุดคณะราษฎร เป็นตำแหน่งที่พระยาพหลพลพยุหเสนาอ่านประกาศคณะราษฎร มีข้อความว่า

"ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ"


(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=4423.0;attach=22205;image)



กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 28 มิ.ย. 17, 22:11
ขอเสนอความเห็นในแง่อาถรรพ์วิทยาครับ

เป็นไปได้มั้ยครับว่า ประชาธิปไตยในประเทศไทยนั้นไม่พัฒนาสักทีล้มลุกคลุกคลานอยู่เรื่อยเพราะการสร้างอนุสาวรีย์นี่เอง(ฮาาาา)

เพราะตามธรรมเนียมการสร้างอนุสาวรีย์ จะสร้างเพื่อเป็นที่ระลึกถึงความยิ่งใหญ่ในด้านต่างๆของบุคคล"ที่ล่วงลับไปแล้ว"

แต่ประเทศไทยเรากลับสร้างอนุสาวรีย์เพื่อรำลึกถึงประชาธิปไตย แล้วประชาธิปไตยของไทยล่วงลับไปแล้วยังงั้นหรือ? 

นี่มันเหมือนกับทำเพื่อแช่งชักการปกครองของประเทศชัดๆ  (ฮาๆๆๆ)


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 29 มิ.ย. 17, 09:36
ผมลอง search google ด้วยคำว่า 'democracy monument'

ผลที่ได้ ฌ เวลานี้ ดูเหมือนจะมีที่เดียวในโลกนะครับ
คือ ที่ถนนราชดำเนิน บ้านเรา


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ค. 17, 07:52
บุคคลทั้งสามในภาพ คือผู้มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475
จากซ้าย นายควง อภัยวงศ์ หรือหลวงโกวิทอภัยวงศ์  อดีตนายกรัฐมนตรี 4 สมัย   คนกลาง  นายปรีดี พนมยงค์      และขวา นายชม จารุรัตน์ หรือหลวงคหกรรมบดี  อดีตรัฐมนตรี
ทั้งสามคนเป็นนักเรียนไทยในปารีส   เป็นเพื่อนสนิทซึ่งวางแผนเปลี่ยนแปลงการปกครองมาด้วยกัน


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 01 ก.ค. 17, 09:56
มีบางท่านได้นำมาเล่าสู่กันฟังแล้ว
ยังคงมีหลายท่านน่าจะนำมาเล่ากันต่อไป
ที่นี้หรือที่อื่นๆ


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 มิ.ย. 18, 07:12
จากวันนั้น ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ถึง วันนี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๑

ปีที่แปดสิบหก   โอ้โอ๋อกปวงประชา
ยี่สิบสี่มิถุนา      ยังสลัวมัวมิคลาย


(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5929.0;attach=59933;image)


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 มิ.ย. 18, 17:19
เอาหนังสือน่าสนใจมาฝาก

https://www.academia.edu/34731509/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%AA%E0%B8%A0%E0%B8%B2_2475-2502


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: ราชปักษา ที่ 25 มิ.ย. 18, 09:11
พวกคณะชิงสุกก่อนห่ามนี่เอง  จริงๆ เมื่อวานไปทำอะไรนิดหน่อย เกี่ยวกับวันที่ว่า

แต่เพื่อความสงบสุขของเว็บบอร์ด ไว้บอกท่านๆอาจารย์หลังไมค์ดีกว่า


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มิ.ย. 18, 10:57
 ดิฉันเคารพความคิดเห็นต่างของสมาชิกเรือนไทย  ใครจะสนับสนุนหรือคัดค้านคณะราษฎร์  ไม่ว่าทั้งนั้น
 แต่อยากให้คุณราชปักษาแก้ไขถ้อยคำ โดยเฉพาะในข้อ  7  หน่อยได้ไหมคะ  คงความเห็นเดิมแต่เปลี่ยนแค่ภาษาที่ใช้     มิฉะนั้นอาจจะกลายเป็นก่อชนวนวิวาทขึ้นในเรือนไทย ระหว่างฝ่ายชอบคณะราษฎร์กับฝ่ายไม่ชอบคณะราษฎร์
  โพสคำแก้ไขในค.ห.ใหม่ก็ได้ค่ะ   ถ้าเข้าไปแก้ไขในค.ห.เดิมไม่ได้


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: ราชปักษา ที่ 25 มิ.ย. 18, 14:18
โพสแก้ไขใหม่อีกครั้ง โดยกรองคำไม่เหมาะสมออกไป

แม้จะประกาศสวยหรูดูดี มีอนาคตใหม่ แต่สุดท้าย คณะราษฎร ได้ทำตามหลักการที่ตัวเองประกาศไว้หรือไม่ ประเทศไทยถูกคณะราษฎร์นำพาไปยัง อนาคตใหม่ หรือ อนาคตไหม้ กันแน่


5​ ประเด็นประวัติศาสตร์​ 24​ มิถุนายน​ 2475​ ที่​ "ธรรมศาสตร์" และนักวิชาการหัวก้าวหน้าผู้รักประชาธิปไตย​ ไม่ได้สอน

1.​ ไม่เรียกว่าเป็น​ "การยึดอำนาจ" แต่เรียกหรูๆว่าเป็นการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย​ ทั้งๆที่จริงๆแล้วมันก็คือการยึดอำนาจนั่นแหละ​ มีความพยายามจะใช้ถ้อยคำสวยๆว่า​ "การปฏิวัติ" ทั้งๆที่แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆในทางโครงสร้างสังคมเลย

2.​ ไม่เรียกคณะราษฏร์​ว่า​ "คณะรัฐประหาร" แต่ทะลึ่งมาเรียกผู้ก่อรัฐประหารหลังจากนั้นว่าคณะรัฐประหารหมด​เรียกกันมาจนถึงปัจจุบัน​ แต่กลับทำเป็นลืมๆว่า​คณะราษฏร์ที่แท้จริงก็คือต้นแบบของคณะรัฐประหาร​ และเป็นคณะรัฐประหารคณะแรกของประเทศไทย

3.​ ไม่เรียกคณะราษฏร์​ว่า​ "เผด็จการ" แต่เรียกผู้ก่อรัฐประหารหลังจากนั้นว่า​เผด็จการหมด​ ทั้งๆที่พฤติกรรมของคณะราษฏร์ก็ไม่ได้ต่างจาก​ "เผด็จการ" อื่นๆคือใช้อำนาจยึดสมบัติของพระมหากษัตริย์มาเป็นของตน​ กำจัดศัตรูทางการเมืองอย่างโหดเหี้ยม​ และไม่เคยส่งผ่านอำนาจให้ถึงมือประชาชนตามที่กล่าวอ้าง(โม้)​ได้อย่างแท้จริง

4.​ ไม่สอนว่าคณะราษฏร์​คือต้นแบบของความเละตุ้มเป๊ะ​ ความเหลวแหลก​ เฮงซวยของระบบประชาธิปไตย​ แกนนำแตกกันทะเลาะเบาะแว้ง​ คือ​ นายปรีดี​ กับ​ จอมพล.ป.​ ใช้สารพัดวิธีผลัดกันแย่งอำนาจจนเป็นแบบอย่างให้เผด็จการรุ่นน้องตั้งตนเป็นใหญ่ ยึดอำนาจมาจากคณะราษฏร์อีกที​ จนนำไปสู่ความล่มสลายของคณะราษฏร์ในที่สุด

5.​ ไม่สอนว่าคณะราษฏร์ก่อการคุกคามทั้งทางอ้อมและทางตรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และเหล่าเชื้อพระวงศ์

6.​ ไม่สอนว่าแกนคณะราษฏร์ทั้งก๊กไม่มีใครฟังประชาชนเลย​ นายปรีดีก็จะเอาความคิดของตัวเองเรื่องเปลี่ยนเศรษฐกิจจนต้องถูกระเห็จออกไปพักหนึ่ง​ จอมพล.ป​ ก็พยายามยกตนขึ้นเป็นสัญลักษณ์ประเทศแทนในหลวง​ แต่การกระทำของคณะราษฏร์กลับถูกเอามาอ้างว่าเป็นการทำเพื่อประชาธิปไตยเฉยเลย​ ทั้งๆที่ทำเพื่อตัวเองล้วนๆ

7.​ ไม่สอนว่า​ ภาพด้านดีของคณะราษฏร์และนายปรีดีซึ่งพอจะมีบ้างในบางเรื่องถูกทำลายหมดสิ้นด้วยฝีมือของเหล่า​ "คณะราฎษร์" ด้วยการยกย่องคณะราษฏร์แบบเกินความเป็นจริง


แบบนี้รึครับ อาจารย์หญิง  แต่ข้อความที่มีปัญหาเดิมมันก็ไม่ถูกลบออกนะครับ


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มิ.ย. 18, 14:51
ดิฉันเห็นว่าใช้ได้ค่ะ
ใครเห็นต่างในเนื้อหา ก็แสดงความคิดเห็นได้แลกเปลี่ยนกันได้
ขอแต่ว่าอย่าเปลี่ยนประเด็นจาก"ข้อความ" มาเป็นตัว "คุณราชปักษา" เอง   เมื่อใดที่เปลี่ยนจาก "เรื่อง" มาเป็น "ตัวบุคคล"  จะกลายเป็นทะเลาะกัน
ดิฉันก็จำเป็นต้องลบค่ะ


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 25 มิ.ย. 18, 16:15
เคยมีคำถาม ถามว่า ในบรรดาของวิเศษของโดราเอมอน คุณอยากได้อะไรมากที่สุด สำหรับผม ผมอยากได้ “โทรศัพท์สารพันนึก” มากที่สุด ซึ่งของวิเศษชนิดนี้ ทำงานโดยการเข้าไปในตู้โทรศัพท์ แล้วพูดถึงโลกที่ตนต้องการลงไป เมื่อออกมาจากตู่ โลกก็จะเปลี่ยนไปตามที่ตนเองได้โทรสั่งไปนั้น ถ้าต้องการกลับโลกเดิม ก็เข้าตู้อีกครั้ง และโทรยกเลิกก็เรียบร้อย

เหตุที่ผมไปพูดเรื่องตู้นี้ ก็เพราะผมมักสงสัยว่า ถ้าโลกเรา ไม่เกิดเหตุการณ์ A ขึ้น แต่มีเหตุการณ์ B เกิดขึ้นแทน โลกของเราจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
 
สมมุติว่า ผมมีตู้โทรศัพท์นี้ แล้วโทรสั่งไปว่า “ขอประเทศไทยที่การปฏิวัติคณะราษฎร์ 2475 ไม่เคยเกิดขึ้น” เมื่อผมออกมาจากตู้ ผมจะได้พบกับอะไรบ้าง ประเทศไทยจะยังคงเป็นราชาธิปไตย์ 100% และก้าวหน้ากว่าปัจจุบันมาก หรือ จะไม่เกิดอะไรขึ้นเลย เพราะแม้จะไม่เกิดการปฏิบัติ 2475 แต่หลังจากนั้นอีก 10 ปี ความไม่พอใจของประชาชนก็ถึงที่สุด สุดท้ายก็เกิดการปฏิวัติ 2485 อยู่นั่นเอง และคราวนี้ รุนแรงกว่าถึงขนาดไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศไทยอีกต่อไป นั่นหมายความว่า เมื่อผมออกมาจากตู้ ประเทศไทยก็เป็นสาธารณรัฐไปแล้ว หรือเมื่อไม่เกิดการปฏิวัติ 2475 รัชการที่ 7 จึงทรงครองราชย์อย่างยาวนาน และทรงมีพระรัชทายาท นั่นหมายความว่า ประเทศไทย ไม่เคยมีรัชกาลที่ 9 ที่เรารู้จักมาก่อน โครงการในพระราชดำริทั้งหลายที่ผมเคยรู้จัก ล้วนหายไปหมดสิ้น เมื่อผมออกมาจากตู้ ถามถึงแก้มลิง ฝนหลวง กังหันน้ำชัยพัฒนา ก็ไม่มีใครรู้จักเลย

นั่นสิ ประเทศไทยที่ไม่มีการปฏิวัติ 2475 จะเป็นอย่างไรหนอ   


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 25 มิ.ย. 18, 17:23

เคยมีคำถาม ถามว่า ในบรรดาของวิเศษของโดราเอมอน คุณอยากได้อะไรมากที่สุด สำหรับผม ผมอยากได้ “โทรศัพท์สารพันนึก” มากที่สุด ซึ่งของวิเศษชนิดนี้ ทำงานโดยการเข้าไปในตู้โทรศัพท์ แล้วพูดถึงโลกที่ตนต้องการลงไป เมื่อออกมาจากตู่ โลกก็จะเปลี่ยนไปตามที่ตนเองได้โทรสั่งไปนั้น ถ้าต้องการกลับโลกเดิม ก็เข้าตู้อีกครั้ง และโทรยกเลิกก็เรียบร้อย


 ;D


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 26 มิ.ย. 18, 09:32
แฮ่ๆ แป้นพิมพ์อยู่ใกล้กันเฉยๆ ครับ มิได้มีนัยแต่อย่างใด


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: ราชปักษา ที่ 12 ก.ค. 18, 21:59
น่าสนนะ ถ้าได้ตามนี้จริง สงสัยนักโทษประหาร 18 คน(หรือมากกว่า) คงเปลี่ยนตัวเป็นพวกแกนนำคณะราษฎร์หมด  ;D


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: ราชปักษา ที่ 12 ก.ค. 18, 22:05
ซ้ำ  แจ้งลบขอรับ


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 มิ.ย. 20, 11:29
จากวันนั้น ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ถึง วันนี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๓

แปดสิบแปดปีผ่าน    หมุนเวียนกาลเนิ่นนานมา
ยี่สิบสี่มิถุนา           ยังมีค่าควรจดจำ


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 มิ.ย. 20, 21:20
๘๘ ปีประชาธิปไตยไทย*

เดินถอยหน้าถอยหลังอยู่อย่างนี้
แม้อีกสักร้อยปีก็เป็นไม่ได้
ระลึกวันก่อนเก่าด้วยเข้าใจ
คนหนุ่มในยุคสมัยปฏิวัติ
ช่วยกันคิดช่วยกันซ่อนด้วยร้อนรุ่ม
ช่วยกันคุมช่วยกันเปิดให้เจิดจรัส
เรียกสองสี่เจ็ดห้าวันอภิวัฒน์
ยี่สิบสี่มิถุนาชัดชัดฟังอีกที
จนบัดนี้ยังถอยย่ำรอยเดิม
พอจะเติมก็ตัดถนัดถนี่
พอจะเรียนก็คว่ำกระดานกันอีกที
ดอกไม้ใกล้บานคลี่ก็ยับเยิน
เดินถอยหน้าถอยหลังอย่างเศร้าเศร้า
มองบ้านเมืองอย่างเหงาเหงาเขลา ขลาด เขิน
มีแต่ความแตกแยกแปลกเหลือเกิน
ไม่รู้จะก้าวเดินไปกับใคร

เฮ้ย  จะเขียนอย่างนี้ ไม่ได้นะ
ต้องสดใสใจกระจะรับวันใหม่
วันนี้เป็นวันแห่งประชาธิปไตย
ต้องเปล่งเสียงออกไปว่า ไชโย  โฮ ๆ โฮ ๆ


* ชมัยภร  แสงกระจ่าง เขียนไว้เมื่อ ๔ ปีก่อน ชื่อกลอนบทนี้คือ ๘๔ ปีประชาธิปไตยไทย ขออนุญาตเปลี่ยนชื่อเพื่อให้เข้ากับกาลเวลาปัจจุบัน


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มิ.ย. 20, 07:05
กองทัพบกจัดพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย พล.อ.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และบำเพ็ญกุศลแก่ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๓

วันนี้ (๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๓) เวลา ๑๕.๐๐ น. ณ กองบัญชาการกองทัพบก พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก ผู้แทนกองทัพบก เป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย พล.อ.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และบำเพ็ญกุศลแก่ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของนายทหารที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันและยังเป็นนายทหารประชาธิปไตย

ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่า คณะราษฎร ถือเป็นการรัฐประหารเพื่อล้มราชบัลลังก์ ครั้น พ.ศ. 2476 ได้เกิดการกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 โดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช โดยมีพระยาศรีสิทธิสงครามเป็นแม่ทัพ มีชื่อเป็นที่รู้จักกันว่า "กบฏบวรเดช" เนื่องจากพระองค์ทรงไม่เห็นด้วยกับแนวทางการปกครองของพระยาพหลพลพยุหเสนา ที่มีลักษณะเป็นเผด็จการ โดยเรียกร้องให้ รัฐบาลของพระยาพหลฯ ดำเนินตามแนวทางที่เสนอคือ ให้รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ และให้รัฐบาลมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยให้อำนาจฝ่ายรัฐสภาในการตรวจสอบมากขึ้นและจำกัดอำนาจของรัฐบาลมิให้คณะราษฎรกลายเป็นคณะเผด็จการ แต่ในที่สุดการก่อกบฏไม่เป็นผลฝ่ายรัฐบาลปราบปรามคณะกบฏลงได้ วีรกรรมที่กล้าหาญและเสียสละของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และพระยาศรีสิทธิสงครามควรแก่การยกย่องในฐานะที่ทรงปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยความจงรักภักดี และทรงมุ่งหวังให้ประเทศชาติดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๓


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มิ.ย. 20, 10:14
จาก  facebook ของคุณ  Nantiwat Samart อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

อย่าผิดซ้ำรอย​ 2475

เมื่อวานนี้​ 24 มิถุนายน​ กลุ่มนักศึกษาและประชาชนจำนวนหนึ่ง​ (น้อยนิด)​ ออกมาชุมนุมแสดงอุดมการ 2475​ บอกว่าจะสานต่อภารกิจ 2475​

ประวัติศาสตร์ไม่ได้มีหน้าเดียว​ อ่านให้หมดทุกหน้า​ จะได้ไม่ถูกแกนนำผลักออกมาสู้แต่แกนนำหลบอยู่ข้างหลัง​ อย่าให้เหมือนที่พระยาทรงสุรเดชเขียนก่อนตาย​ ว่า​ "ไม่มีความผิดครั้งใดในชีวิตของฉันจะใหญ่หลวง​ เท่ากับนำคนหิวเงินหิวอำนาจ​ เข้าเปลี่ยนแปลงการปกครอง​ 24​ มิถุนายน​ 2475

คณะราษฏรไม่เคยให้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์​ นอกจากการยึดอำนาจจากพระมหากษัตริย์เป็นอำนาจของตนเอง​ และหวงอำนาจ​ รัฐธรรมนูญครึ่งใบ​ มีสมาชิกสภามาจากการแต่งตั้งครึ่งหนึ่ง​ ยุบเลิกโรงเรียนและการศึกษา​ เพราะกำหนดว่า​ ต้องให้คนไทยจบชั้นประถมครึ่งประเทศถึงให้มีประชาธิปไตยเต็มใบ​

ประเทศไทย.. บหายเพราะนักการเมืองคอรัปชั่นโกงกิน​ พระมหากษัตริย์ส่งคนไทยไปเรียนต่างประเทศ​ ทรงเตรียมคนเพื่อการพัฒนาประเทศ​ แต่คนเหล่านั้นส่วนใหญ่ถูกจับ​ ขังเกาะตารุเตา​ ฆ่าทิ้ง​ ไทยต้องเสียปัญญาชนดีๆไปมาก

เคยถามตัวเองมั้ยว่า​ ทำไมคนไทยถึงรักในหลวง​ ทำไมคนไทยจำนวนมากถึงออกมาปกป้องสถาบัน​ เพราะในหลวงรักประชาชน​ ทรงมีพระเมตตาโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน​ ไม่เคยแบ่งแยกคนไทย​ ตรงกันข้าม​ ทรงตรัสให้คนไทยรู้รักสามัคคี.
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1369465466572765&set=a.119074358278555&type=3


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 25 มิ.ย. 20, 10:27
จาก  facebook ของคุณ  Nantiwat Samart อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

อย่าผิดซ้ำรอย​ 2475

เมื่อวานนี้​ 24 มิถุนายน​ กลุ่มนักศึกษาและประชาชนจำนวนหนึ่ง​ (น้อยนิด)​ ออกมาชุมนุมแสดงอุดมการ 2475​ บอกว่าจะสานต่อภารกิจ 2475​

ประวัติศาสตร์ไม่ได้มีหน้าเดียว​ อ่านให้หมดทุกหน้า​ จะได้ไม่ถูกแกนนำผลักออกมาสู้แต่แกนนำหลบอยู่ข้างหลัง​ อย่าให้เหมือนที่พระยาทรงสุรเดชเขียนก่อนตาย​ ว่า​ "ไม่มีความผิดครั้งใดในชีวิตของฉันจะใหญ่หลวง​ เท่ากับนำคนหิวเงินหิวอำนาจ​ เข้าเปลี่ยนแปลงการปกครอง​ 24​ มิถุนายน​ 2475

คณะราษฏรไม่เคยให้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์​ นอกจากการยึดอำนาจจากพระมหากษัตริย์เป็นอำนาจของตนเอง​ และหวงอำนาจ​ รัฐธรรมนูญครึ่งใบ​ มีสมาชิกสภามาจากการแต่งตั้งครึ่งหนึ่ง​


เอาเข้าจริง ตัวปัญหามันก็มีอยู่ไม่กี่คนครับ อ่านในกระทู้เจ้าคุณทรงก็จะรู้ว่าใครเป็นตัวปัญหา และพฤติกรรมของตัวปัญหาก็ส่งต่อมายังรุ่นน้อง รุ่นหลาน ในที่ทำงานเดียวกัน  กลายเป็นวัฒนธรรมประจำองค์กรไปเสียอย่างนั้น

โลกมันเปลี่ยนไปทุกวัน  แน่นอนว่าคนจะมาคิดเห็นและชอบไปในทางเดียวกันไม่ได้ทั้งหมด  แต่ถ้าทุกคนเคารพในความเห็นต่าง ทุกอย่างมันก็จบ  ปัญหามันเกิดมาจากไม่ยอมรับความเห็นต่างจากตนเอง  เลยต้องไปทำลายอีกฝ่ายให้สูญสิ้นไป  ฝ่ายไหนก็ฝ่ายนั้น เหมือนกันหมด  

ทำไมไม่เปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่ว่า  ทำความดีแข่งกันจะดีกว่า ถ้าคิดแบบนี้ได้ จะปกครองแบบไหนก็เจริญทั้งนั้น




กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 มิ.ย. 20, 11:28
๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ คณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ลดอำนาจของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
 
เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์นี้มีความพยายามทำให้ถูกลืมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ด้วยเหตุผลใดก็ตาม ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เป็นวาระที่ถูกพูดถึงเสมอในทุกปี และยิ่งถูกพูดถึงมากขึ้นอย่างเข้มข้นในช่วงสำคัญของเหตุบ้านการเมือง
 
คณะราษฎร มีมรดกหลายอย่างที่ทิ้งไว้ ในขณะเดียวกันก็มีข้อบกพร่องจนไม่อาจลงหลักปักฐานระบอบประชาธิปไตย และความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดให้คงอยู่อย่างมั่นคง

https://youtu.be/K8ygPO4X_fU


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มิ.ย. 20, 11:46

ทำไมไม่เปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่ว่า  ทำความดีแข่งกันจะดีกว่า ถ้าคิดแบบนี้ได้ จะปกครองแบบไหนก็เจริญทั้งนั้น
ความเห็นต่างเป็นเรื่องธรรมดาโลกค่ะ    ไม่มีสังคมไหนทำให้คนเห็นในทางเดียวกันได้หมดโดยไม่ต้องบังคับ
ฝ่ายที่แตกต่างทั้งสองฝ่ายก็มีทัศนะว่าตัวเองกำลังทำดีให้สังคม   
ในเรือนไทยก็เหมือนกัน   คุณเพ็ญชมพู ดิฉัน และท่านอื่นๆ ก็ไม่ได้มีความเห็นตรงกันในหลายๆเรื่อง   แต่ถ้าแสดงความเห็นกันไป โดยไม่มีใครพยายามปิดปากใคร แบบไม่ยอมให้ออกความเห็น  ดิฉันก็ถือว่าที่นี่ประชาธิปไตยพอแล้วนะคะ


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 มิ.ย. 20, 16:12
๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ คณะราษฎรได้ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย เหตุการณ์สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทยนี้ นอกจากจะได้รับการบันทึกผ่านเอกสาร จดหมายเหตุ ข้อเขียน และภาพถ่ายต่าง ๆ ซึ่งตกทอดมาสู่คนรุ่นหลังแล้ว ยังมีภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวที่ถ่ายทำโดยพี่น้องตระกูลวสุวัต แห่งบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบัน ภาพยนตร์อันมีค่าชุดนี้ได้หายสาบสูญไป

อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังของปฏิบัติการถ่ายหนังในวัน “พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน” ยังปรากฏให้เห็นอยู่ในข้อเขียนของ ขุนวิจิตรมาตรา หรือ สง่า กาญนาคพันธุ์ นักเขียนและผู้กำกับภาพยนตร์ของศรีกรุง ซึ่งได้บันทึกเรื่องราวในวันนั้นไว้อย่างเห็นภาพ


วันที ๒๔ มิถุนายน พ.ศ ๒๔๗๕ ตอนบ่ายรถยนต์ภาพยนตร์เสียงศรีกรุงมารับผู้เขียน บอกว่าให้ไปช่วยกะถ่ายหนัง ผู้เขียนถามถึงหลวงกล (หลวงกลการเจนจิต-เภา วสุวัต) เขาบอกว่าอยู่ในพระที่นั่งอนันต์แล้ว คุณกระเศียร ไปถ่ายรอบ ๆ นอก ระหว่างนั่งไปในรถยนต์คุณกระแสหยิบปลอกแขนมาสองอัน และส่งให้ผู้เขียนอันหนึ่งสำหรับเป็นใบเบิกด่าน สองฟากถนนราชดำเนินมีทหารบก ทหารเรือ พลเรือน เป็นหย่อม ๆ ประชาชนพลเมืองเป็นกลุ่ม ๆ ตลอดไป รถหยุดที่มุมสวนมิสกวันซึ่งมีทหารยืนปิดกั้นถนน เราลงจากรถยนต์แสดงปลอกแขนให้ดูแล้วก็ผ่านเข้าไปทางถนนซอยมีแถวทหารเรือตั้งอยู่ เราเดินผ่านตรงไปลานพระบรมรูปซึ่งมองเห็นรถตีนตะขาบ รถถัง รถเกราะ จอดอยู่เรียงราย เห็นรถยนต์ทหารวิ่งไปมาขวักไขว่ คันหนึ่งเป็นรถเก่า ๆ ย่อม ๆ สวนออกมาสู่ถนนราชดำเนิน ในรถมีท่านจอมพลป.พิบูลสงคราม กับนายทหารอีกสองสามคน นั่ง ๆ ยืน ๆ มาด้วยท่าทางทะมัดทะแมงและรีบร้อน พอเข้าถึงลานพระบรมรูป ก็พบบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ศรีกรุงเดินออกมา พวกเราถามถึงเหตุการณ์ เขายิ้มบอกว่าสงบไม่มีอะไร คุณมานิตกับหลวงกลอยู่ข้างใน เวลานี้ไม่ได้ถ่าย พวกเราจึงตกลงไปโรงถ่ายสะพานขาวเพื่อพบนายกระเศียร วสุวัต ซึ่งเป็นผู้ถ่ายภาพเหตุการณ์รอบ ๆ นอก


ไปถึงโรงถ่ายสะพานขาว รถยนต์สำหรับถ่ายหนังจอดนิ่งอยู่หน้าโรง กล้องใหญ่มิตเชลยังอยู่บนรถ ในสำนักงานเกลื่อนกลาดไปด้วยฟิล์มหนังและอะไรต่ออะไรยุ่งไปหมด ตัว “แคมเมอร่าแมน” นั่งคอพับอยู่บนเก้าอี้นวม มีท่าทางบอกว่าอ่อนเปลี้ยเต็มที พอผู้เขียนไปถึง แคมเมอร่าแมนก็รายงานว่า ถ่ายหนังเงียบใช้กล้องใหญ่มิตเชลบ้าง เบลโฮเวลบ้าง กล้องมืออายโมบ้าง ถ่ายอะไรต่ออะไรไว้มากมาย สิ้นฟิล์มไปร่วม ๒,๐๐๐ ฟุต ยังอยู่ที่กล้องอายโมที่หลวงกลอีก และว่าจะควรถ่ายอะไรต่อไปอีก ผู้เขียนเห็นว่าถ่ายเก็บเหตุการณ์ต่าง ๆ ไว้มากแล้วก็ไม่ถ่ายอะไรอีก คืนนั้นก็ลงมือล้างเนกาติฟ


รุ่งขึ้นตอนบ่าย ผู้เขียนไปตรวจเนกาติฟที่ถ่ายทั้งหมด เป็นฟิล์มรวม ๓,๐๐๐ ฟุต บางตอนมัวไปบ้าง และเสียบ้างเล็กน้อยเลยตกลงพิมพ์เป็นโปซิทิฟทั้งหมด


ตกเย็นได้รับโทรเลขจากบริษัทหนังในอเมริกา ๒ บริษัท มีข้อความยืดยาวแต่คล้ายกัน ซึ่งรวมเป็นใจความว่า ให้ถ่ายหนังคุปเดต้าต์ในสยามไว้มีเท่าไรเอาหมด คิดราคาให้ตามอัตราพิเศษ ส่งเนกาติฟทางเรือบินด่วน พวกเราทุกคนมองหน้ากันแล้วก็ยิ้ม แล้วเราก็ดื่มไชโย

พอค่ำ พิมพ์โปซิทิฟเสร็จก็ทดลองฉายดู ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ตัดต่อ จบแล้วผู้เขียนกับนายกระเศียรก็เข้าห้องต่อหนัง ตัดเนกาติฟแล้ว คัดซีน (Scene) ที่จะทำเป็นเรื่องสำหรับของเราไว้ให้ครบชุดพวกหนึ่ง ตัดแบ่งซีนยาว ๆ และเลือกซีนคล้าย ๆ กันออกมารวมไว้อีกพวกหนึ่ง สำหรับแบ่งแยกส่งให้สองบริษัทฝรั่ง เสร็จแล้วผู้เขียนเอาโปซิทิฟ (สำหรับเนกาติฟ) ที่จะส่งฝรั่งมาตรวจด้วยเครื่องมูฟวิโอล่า ดูภาพสำหรับเขียนคำอธิบายเป็นภาษาอังกฤษ แล้วรีบจัดส่งไปอเมริกาทางเรือบินให้บริษัททั้งสองทันที


เสร็จเรื่องทางฝรั่งแล้วก็มาจัดทำทางเรา คือทำไตเติ้ลนำเรื่องและไตเติ้ลอธิบายภาพเหตุการณ์ทุกตอน ที่จริงเวลานั้น ภาพยนตร์เสียงศรีกรุงทำหนังพูดได้แล้ว แต่ถ่ายเป็นหนังพูดไม่ทันก็ต้องทำเป็นหนังเงียบ ถ่ายไตเติ้ลแล้วก็ตัดต่อลำดับภาพ พิมพ์เป็นโปซิทิฟเสร็จสมบูรณ์เป็นหนังข่าวเปลี่ยนแปลงการปกครอง วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕

ประมาณอีก ๓ วันต่อมา ภาพยนตร์เสียงศรีกรุงก็ได้รับโทรเลขจากอเมริกา เป็นของบริษัทหนึ่งที่เราส่งหนังไปให้ เขาตอบมาเป็นใจความว่า คุปเดต้าต์เมืองไทยไม่เห็นมียิงกันสักหน่อย บริษัทไม่เอา


มิหนำซ้ำข้างท้ายโทรเลขยังบอกมาอีกว่า ถ้าจะเอาหนังคืนก็ให้ส่งเงินไปสำหรับเป็นค่าส่งกลับ พวกเราทุกคนมองหน้ากันแล้วก็พยักหน้าแล้วเราก็ดื่มเงียบ ๆ


แต่การที่บริษัทนี้ยังมีแก่ใจตอบมาก็ต้องนับว่าดี เพราะทำให้เราได้รู้ถึงความเข้าใจของเขาในเรื่องดุปเดต้าต์ ส่วนอีกบริษัทหนึ่งเงียบหายไม่ตอบเลย บางทีเขาจะโกรธว่าเอาหนังคุปเดต้าต์อะไรไปให้ก็ไม่รู้

จาก หนังไทยในอดีต หนังเงียบวันปฏิวัติ (https://www.fapot.or.th/main/information/article/view/290) โดย ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์)
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสารปาริชาต ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๒

ภาพ : มานิต และ เภา วสุวัต ถ่ายรูปร่วมกับคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ที่บ้านศรีกรุง บางกะปิ
แถวหน้า   : พันเอก ทวน วิชัยขัตคะ, มานิต วสุวัต, เภา วสุวัต (หลวงกลการเจนจิต)
แถวกลาง  : พลเรือตรี สงวน รุจิราภา, นาวาตรี หลวงนิเทศกลกิจ, ควง อภัยวงศ์
แถวหลัง   : หลวงนฤเบศมานิต, จอมพล ป. พิบูลสงคราม, พลโท ประยูร ภมรมนตรี, พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัย


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 25 มิ.ย. 20, 19:27

ทำไมไม่เปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่ว่า  ทำความดีแข่งกันจะดีกว่า ถ้าคิดแบบนี้ได้ จะปกครองแบบไหนก็เจริญทั้งนั้น
ความเห็นต่างเป็นเรื่องธรรมดาโลกค่ะ    ไม่มีสังคมไหนทำให้คนเห็นในทางเดียวกันได้หมดโดยไม่ต้องบังคับ
ฝ่ายที่แตกต่างทั้งสองฝ่ายก็มีทัศนะว่าตัวเองกำลังทำดีให้สังคม   
ในเรือนไทยก็เหมือนกัน   คุณเพ็ญชมพู ดิฉัน และท่านอื่นๆ ก็ไม่ได้มีความเห็นตรงกันในหลายๆเรื่อง   แต่ถ้าแสดงความเห็นกันไป โดยไม่มีใครพยายามปิดปากใคร แบบไม่ยอมให้ออกความเห็น  ดิฉันก็ถือว่าที่นี่ประชาธิปไตยพอแล้วนะคะ

ต้องขออภัยที่ทำให้เข้าใจผิดครับ  ผมกำลังหมายถึงผู้ที่มีบทบาทในทุกฝ่ายครับ  ควรแข่งกันทำความดี  ในที่นี้หมายถึงว่า อะไรที่ดีกว่าฝ่ายตรงข้ามเคยทำไว้ / เคยไปวิจารณ์เขาไว้ ก็ควรเร่งทำให้ออกมาเป็นรูปธรรม ขอไม่ยกตัวอย่างนะครับ  เพราะคิดว่าสิบกว่าปีมานี้  ก็น่าจะพอทราบกันดีอยู่แล้วว่า อะไรควรทำบ้าง




กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 25 มิ.ย. 20, 21:39
เหมือนกับว่าช่วงนี้มีข่าวว่าสิ่งต่างๆที่เกี่ยวกับคณะราษฎรจะหายไป เช่นแท่นหมุด รูปปั้น แถมกองทัพก็มีสร้างอาหารตั้งชื่อห้องที่เกี่ยวกับกฏบวรเดช มีพูดชื่นชมอีก ทำให้งงกับการเมืองสมัยนี้จริงๆว่าจะทำอะไร


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 25 มิ.ย. 20, 22:47
เหมือนกับว่าช่วงนี้มีข่าวว่าสิ่งต่างๆที่เกี่ยวกับคณะราษฎรจะหายไป เช่นแท่นหมุด รูปปั้น แถมกองทัพก็มีสร้างอาหารตั้งชื่อห้องที่เกี่ยวกับกฏบวรเดช มีพูดชื่นชมอีก ทำให้งงกับการเมืองสมัยนี้จริงๆว่าจะทำอะไร

ความจริงก็ยังมีเหมือนเดิมไงครับ หมายถึงตัวข้อมูลไม่มีใครไปทำลายหรือเปลี่ยนแปลงแต่การตีความนั้นจะเปลี่ยนไปเพราะมีการศึกษารอบด้านขึ้น ตีความด้วยมุมมองตามสภาวการณ์มากขึ้น อย่าพึ่งไปปักใจที่รู้มาแต่เดิมนั้นผิด ก็ต้องใช้เหตุผลมาคุยกัน


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 มิ.ย. 20, 14:26
๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๓ เวลา ๑๕.๐๐ น. ณ กองบัญชาการกองทัพบก พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก ผู้แทนกองทัพบก เป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย พล.อ.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และบำเพ็ญกุศลแก่ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของนายทหารที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันและยังเป็นนายทหารประชาธิปไตย

บางคนอาจจะเห็นด้วยกับกองทัพ บางคนไม่เห็นด้วย หนึ่งในนั้นคือ คุณเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

กองทัพบกในประเทศประชาธิปไตยอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน ต้องพึงระวังการแสดงออกทางการเมืองที่ไม่เหมาะสม และขัดกับบทบาทหน้าที่ การจัดงานรำลึกกบฎบวรเดชในวันรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรในวันที่ ๒๔ มิถุนายน นั้น ยิ่งเป็นการเมืองอย่างยิ่ง เอกสารของสำนักงานเลขานุการกองทัพบก ซึ่งถือเป็นแถลงการณ์ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรถือเป็นการรัฐประหารเพื่อล้มราชบัลลังก์ นับเป็นคำประกาศที่น่าละอายและสร้างความแตกแยกของกองทัพในศตวรรษที่ ๒๑ และจะสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ๒๔๗๕ ของคณะราษฎร เป็นการปฏิวัติสยามซึ่งเป็นการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจการปกครองจากระบอบกษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตยอันเป็นมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ Constitutional Monarchy ทำให้เกิดระบบรัฐสภา และรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้เช่นเดียวกับ อังกฤษ เดนมาร์ก สวีเดน นอรเวย์ ฟินแลนด์ และญี่ปุ่น และวิกฤตเศรษฐกิจโลกในขณะนั้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการปฏิวัติ ไม่ใช่การรัฐประหารรัฐบาลประชาธิปไตยเหมือนในช่วงหลั ๘๘ ปีประชาธิปไตยไทยที่ผ่านมา

หากกองทัพบกยังจำได้ ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๔๗๙ ได้มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์ปราบกบฏหรืออนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญขึ้นที่บริเวณหลักสี่ บางเขน ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่สู้รบเพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดชเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นนักโทษทางการเมืองส่วนหนึ่งถูกส่งไปเกาะตะรุเตา และต่อมามีการนิรโทษกรรมทางการเมืองทั้งหมด แต่วันนี้อนุสาวรีย์หายไปไหน ⁉️

https://www.facebook.com/750777768351249/posts/2986136641482006/


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 มิ.ย. 21, 09:05
ร่วมรำลึก ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

แปดสิบเก้าขวบปีที่ผันผันผ่าน    
หมุนเวียนกาลนานเนิ่นเชิญค้นหา
วันชาติเดิมยี่สิบสี่มิถุนา          
ทรงคุณค่าร่วมสมัยให้จดจำ


https://youtu.be/Ussdg4abMJ0


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 มิ.ย. 22, 10:35
จากวันนั้น ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ถึง วันนี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๕

วันนั้นถึงวันนี้           เก้าสิบปีล่วงเลยมา
อธิปัตย์ของประชา     ยังไม่ครบจบกระบวน


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 มิ.ย. 22, 10:43
ขอร่วมรำลึก

พุฒ วินิจฉัยกุล”ผู้ถูกจับตายคนแรกสังเวยการเริ่มต้นของยุคทมิฬ 2475 – ม.ล. ชัยนิมิตร นวรัตน

http://www.siammanussati.com/%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A7/


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 มิ.ย. 22, 11:35
พุฒ วินิจฉัยกุล”ผู้ถูกจับตายคนแรกสังเวยการเริ่มต้นของยุคทมิฬ 2475 – ม.ล. ชัยนิมิตร นวรัตน (http://www.siammanussati.com)

ต้นฉบับจาก เฟซบุ๊กของคุณนวรัตน (https://www.facebook.com/1174884455908584/posts/pfbid0cBEQ3EVuoR2bcRtbRPqyCJg8nXbAeUYGA53Y4qpkwGxGcWKNdTjhcSb5wQodwJR6l/?d=n)


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 มิ.ย. 22, 13:58
“ไม่มีความผิดครั้งใดในชีวิตของกันจะใหญ่หลวง​ เท่ากับการนำ “คนหิวเงิน หิวอำนาจ”​ เข้าเปลี่ยนแปลงการปกครอง​ 24​ มิ.ย. 75”
~ พันเอก พระยาทรงสุรเดช 1 ใน 4 ทหารเสือที่ร่วมก่อการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ได้บอกกับ ท.ส. ก่อนเสียชีวิต ~


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มิ.ย. 22, 08:46
7 บทเรียนปฏิวัติ 2475 'ปรีดี' รับเมื่อมีอำนาจก็ขาดประสบการณ์ ถ้ารู้อย่างนี้ก็ไม่ทำ
25 มิถุนายน 2565 เวลา 7:13 น.


25 มิ.ย.2565 - พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า ขอร่วมระลึกถึงวันครบรอบ 90 ปีของการปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ภายใต้การนำของคณะราษฏร เสียหน่อยครับ

มีหลายแง่มุมที่เราจะดูเรื่องนี้ แต่อาจยาวเกินไป ผมจึงขอพามาดูแค่แง่มุมเดียว ก็น่าจะพอบอกได้ว่า การทำปฏิวัติในครั้งนั้น ส่งผลดี หรือ ผลเสีย ต่อประเทศไทย
ก่อนเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติ ในรัชสมัยของ ร.5 และ ร.6 นั้น พระมหากษัตริย์ไทยทั้ง 2 พระองค์ ได้ทุ่มเทต่อ การพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง ทั้งในการสร้าง “คน" และ "โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ” จนครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ ไฟฟ้า น้ำประปา โรงงานปูนซิเมนต์ ขุดคลองส่งน้ำ สร้างสพาน ถนน หนทางฯลฯ โดย ร.6ทรงกู้เงินจากต่างประเทศเข้ามาร่วมด้วย แต่ก็สามารถส่งคืนเงินกู้ได้อย่างรวดเร็ว แค่ในปีแรกของ ร.7 เท่านั้น

เมื่อคณะราษฎร ปฏิวัติสำเร็จภายใต้การส่งเสริมของ ร.7 แล้ว คณะราษฏร ได้บริหารประเทศ แบบไร้ประสบการณ์ เล่นพรรคเล่นพวก จนทำลายโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ของประเทศลงเกือบทั้งหมด โดยไม่ตั้งใจ เพราะมุ่งแต่คิดจะต้องการรักษาอำนาจไว้เท่านั้น เช่น

(1) นักเรียนทุนต่างประเทศ ของ ร.5 ละ ร.6 จำนวน 510 คน ไม่มีโอกาศที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาประเทศเลย เพราะทุกกระทรวงเต็มไปด้วยคนของคณะราษฏร โดยอ้างเรื่องความมั่นคง แม้กระทั่งในพระมหาราชวังก็ส่งคนเข้าไปคุมไว้ นักเรียนทุน ส่วนหนึ่งต้องคอยหลบหนีการจับกุม เพราะเห็นต่างไปจากแกนนำคณะราษฏร บางคนก็ถูกจับ ไปขังคุก บางคนก็ต้องหลบอยู่เฉยๆ การลงทุนสร้าง ทรัพยากรมนุษย์ของ ร.5 และ ร.6 จึงล้มเหลวลงโดยสิ้นเชิง คนเก่งที่สุดของประเทศจึงไม่มีโอกาศได้เข้ามาช่วยเหลือประเทศชาติ ในขณะนั้น( ญี่ปุ่นส่งนักเรียนทุนไปเรียนเหมือนไทยในจำนวนไกล้เคียงกัน แต่พวกเขากลับมาทำงานให้ชาติ ส่วนของไทยดันกลับมาทำปฏิวัติ คนที่ส่งตัวเองไปเรียน แบบซึ่งๆหน้า นอกจากนั้นยังกีดกั้นคนเก่งไม่ให้เข้ามาช่วยชาติอีกด้วย )

(2) การทำลายการเรียนทางวิทยาศาสตร์ หันไปผลิตบัณทิตทางสังคมศาสตร์แทน เพื่อสร้างฐานอำนาจทางการเมือง แทนประชาชนซึ่งไม่ยอมรับ บทบาทของ คณะราษฏร นักทำให้ประเทศไทยต้องล้าหลังกว่าญี่ปุ่น เมื่อเวลาผ่านไปได้แค่ 5 ปีเอง เท่านั้นเอง

(3) สร้างวิธีแก้ปัญหาทางการเมือง แบบผิดพลาดมาตลอดด้วยการใช้ อำนาจเงิน และ ปืน (การรัฐประหาร) จนส่งผลกระทบต่อค่านิยมที่ผิดพลาดทางการเมืองมาจนถึงในปัจจุบันนี้

(4) สร้างวัฒนธรรมการเล่นพรรค เล่นพวกขึ้นมา เป็นผลทำให้คนดี มีความรู้ในระบบราชการ อยู่ไม่ได้ หรือถูกให้ออก (ร.7 ทรงตั้ง กพ.ขึ้นมาดูแลเรื่องนี้แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจากแกนนำคณะราษฏร หลายคน)

(5) มีการแย่งชิงอำนาจกันตลอดเวลา 25 ปีที่คณะราษฎรผลัดกันขึ้นมา บริหารงาน แย่งชิงกัน เสมือนไม่ได้เคยเป็นเพื่อนร่วมทำงานใหญ่กันมาก่อน ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เลวร้ายมากในห้วงเวลานั้น จนเป็นผลทำให้เรื่องดีๆ คือ “ เป้าหมาย 6 ประการ “ของคณะราษฏร ที่ประกาศว่าจะทำหลังการปฏิวัติก็ทำไม่สำเร็จเลย สักข้อเดียว

(6) ทำลายขบวนการยุติธรรม จนประชาชนพึ่งพาไม่ได้ เช่น การจัดตั้งศาลพิเศษ เพื่อเอาผิดฝ่ายตรงข้าม ซึ่งมีขึ้นเป็นประจำ, การสร้างรัฐตำรวจ, ไม่รักษาแบบธรรมเนียมที่ถูกต้องเช่น รมว.มท.ซึ่งเป็นคนคุมตำรวจ ลงมาเป็นพยาน ให้ผู้ต้องหาคดี ร.8 เรื่องบ้าๆแบบนี้มีอีกแยะครับ

(7) บริหารงานบ้านเมืองจนเกิดความแตกแยกขึ้นภายในชาติอย่างมากมาย เพียงต้องการ ลดบทบาทของพระมหากษัตริย์ลงมาให้เท่ากับ” รัฐธรรมนูญ “ เท่านั้น

ยังมีอีกหลายสิบเรื่อง ซึ่งทางแกนนำคณะราษฎร์เองก็ทยอยกันออกมายอมรับในข้อผิดพลาดดังกล่าวโดยเฉพาะฝ่ายทหาร หลายคนบอกว่า “ไม่น่าจะทำเลย”จอมพล ป.ก็ออกมายอมรับเช่นกัน ส่วน อ.ปรีดีนั้นยอมรับว่า “เมื่อมีอำนาจก็ขาดประสบการณ์ “( สมเด็จพระนางรำไพพรรณี ได้ทรงเล่าว่า อ.ปรีดี ไปขอเข้าเฝ้าฯกราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าตอนนั้นยังเด็ก คิดอะไรหัวมันรุนแรงเกินไป ไม่นึกว่าจะลำบากยากเย็นถึงเพียงนี้ ถ้ารู้ยังงี้ก็ไม่ทำ…”)

การปฏิวัติ 2475 จึงควรเป็นบทเรียนสำคัญของประเทศชาติมากกว่า เพื่อจะได้กลับไปเริ่มต้นทำงานให้บ้านเมืองกันอย่างจริงๆซะที ส่วนการนำเรื่องนี้มาปลุกระดม นั้น ไม่น่าจะมีผลอะไรในปัจจุบันนี้ เช่น เรื่องของหมุดคณะปฏิวัตินั้น ยิ่งเป็นเรื่องที่ไร้สาระเข้าไปใหญ่ ก็เหมือนกับการพยายามสร้าง“รูปปั้นรัฐธรรมนูญ”ไว้ให้ประชาชนกราบไหว้กันทุกจังหวัดในยุคของคณะราษฏร นั้นเอง เหลวไหลจริงๆครับ

พลโท นันทเดช / 24 มิถุนายน 2565 (อ้างอิงจาก หนังสือ วิวัฒน์รัตนโกสินทร์ /ศูนย์หนังสือจุฬาฯ)


https://www.thaipost.net/hi-light/168573/?fbclid=IwAR3vAh_89Ls6BoJSah6u3WJKVr104S8bL1xXOOoVZtX3JK3DHfprWneJg-w


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มิ.ย. 22, 09:40
ขอเชิญอ่านข้อเขียนถึงประวัติพระยาศราภัยพิพัฒ  ประกอบด้วยค่ะ จะเห็นภาพการเมืองหลัง 2475  ได้ชัดขึ้น

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=7307.msg181282;topicseen#msg181282


กระทู้: สารคดี ๒๔๗๕ ออกอากาศทาง Thai PBS
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 มิ.ย. 23, 11:35
ร่วมรำลึก ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

ยี่สิบสี่มิถุนามาอีกหน
เป้าหมายชนธิปไตยใจสุขสันต์
เก้าสิบเอ็ดปีพ้นผ่านเนิ่นนานครัน
วันสำคัญผองชนล้วนควรจดจำ