เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: Wandee ที่ 13 ธ.ค. 09, 07:44



กระทู้: ราชทินนามกับงานที่ทำ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 13 ธ.ค. 09, 07:44
สนใจ ราชทินนาม มานานแล้ว เพราะอ่านแล้วก็เข้าใจสังกัดและงานได้ทันที
ส่วนมากคุ้นเคยกับราชทินนามของทหารหรือข้าราชการปกครองเพราะหนังสือประวัติศาสตร์เอ่ยถึง



มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่ง ชื่อ พิพิธภัณฑ์สัพพะสยามกิจ   ปีพิมพ์ที่ปกหน้าแจ้งว่า ศักราช ๒๔๗๔

หมายความว่า ข้อมูลในเล่มเป็นของปี ๒๔๗๔
หนังสือเล่มนี้ออกมาในต้นปี ๒๔๗๕  ซึ่งเป็นระยะเปลี่ยนแปลงการปกครอง   ไม่มีผู้ใดกล้าเก็บหนังสือไว้เพราะข้อมูลเปลี่ยนไปมาก
หนังสือก็โดนทำลายไปแทบทั้งหมด
ยกเว้นผู้กล้าหาญท่านหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นเจ้าของโรงพิมพ์เล็ก ๆ  ได้เปลี่ยนปกเป็นปกแข็งสีน้ำตาลเข้ม เดินทอง
แล้วเก็บไว้  (ตามที่เล่าต่อกันมา) ในตู้ไม้เนื้อหนา  อัดกันอยู่เป็นเวลานาน  กระดาษกรอบไปตามกาล
หนังสือหนา  ๑๖๙๔  หน้า
ให้ข้อมูลข้าราชการในสมัยรัชกาลที่ ๗  และ ข้าราชการบำนาญบางท่านที่มีชีวิตอยู่ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔


วันนี้จับหนังสือมาอ่านอีก
เห็นข้อมูลของกระทรวงเกษตราธิการ และกรมต่าง ๆ    อ่านแล้วพออกพอใจและนับถืออาลักษณ์ที่คิด ราชทินนาม ที่เหมาะเจาะไพเราะมีความหมายที่เข้าใจตำแหน่งงานที่ทำ
จึงนำมาฝากดังต่อไปนี้



ขอเริ่มที่กรมชลประทานก่อนนะคะ

แผนกบัญชาการ

อธิบดี                                                      ม.อ.ต. พระยาชลมารคพิจารยณ์
ผู้ช่วยอธิบดี                                                อ.อ. พระยาชลขันธ์พินิต
เลขานุการ                                                 อ.ต. หลวง สิริธารารักษ์
นายเวรผู้ช่วยอธิบดี                                       ร.อ.อ. หลวงประสารสินธุ์

น้ำทั้งนั้นนะคะ


กระทู้: ราชทินนามกับงานที่ทำ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 13 ธ.ค. 09, 08:07
กรมสารบรรณ

ปลัดกรม                                                       อ.ต. พระนิติเกษตรสุนทร
ล่าม                                                            อ.ต. หลวงสรกิจเกษตรการ
นายเวรเก็บ                                                    ร.อ.ท. ขุนโกวิทเกษตรสาส์น
นายเวรรับส่ง                                                  ร.อ.ท. ขุนสารบรรณเกษตรกิจ



กรมบัญชี

เจ้ากรม                                                        อ.อ. พระยาเกษตรรักษา
ปลัดกรม                                                       ร.อ.อ. หลวงวิสิฐเกษตร
นายเวรกองค่าใช้สรอย                                       ร.อ.อ. หลวงพิศาลโลหพรรค
นายเวรกองเงินเดือน                                         ร.อ.อ. ขุนบรรณสารสุทธิเขต
นายเวรกองรักษาเงิน                                         ร.อ.ท. ขุนสมานเกษตรภัณฑ์




กรมโลหกิจและภูมิวิทยา

เจ้ากรม                                                         อ.อ.  พระยาพิทักษ์โลหพิตร
พนักงานราชโลหกิจ                                           อ.ท.  พระพิสิษฐโลหการ
                                                                 ร.อ.อ. หลวงสังวรโลหสิทธิ์
ผู้ช่วยพนักงานราชโลหกิจ                                    ร.อ.ท. ขุนเพียรโลหพิทย์
                                                                 ร.อ.ท. ขุนวิจารณ์โลหศาสตร์
                                                                 ร.อ.ท. ขุนถาวรบุตต์โลหกิจ
นายเวร                                                        ร.อ.ท. ขุนสุจินต์โลหสาร                                                                 




กระทู้: ราชทินนามกับงานที่ทำ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 13 ธ.ค. 09, 21:57
กองรักษาสัตว์น้ำ

อ.ท. หลวงจุลชีพพิชชาธร
ร.อ.อ.   หลวงมัศยจิตรการ
ร.อ.อ.  หลวงอนันต์มัตสยพิทักษ์



กรมรังวัดที่ดิน

อ.อ. พระยาวิภาคภูวดล
ร.อ.อ. หลวงมิลินทานุชนิติเกษตร



กองรังวัดแผนที่
อ.ต. หลวงประกาศพิภัชนภาค
ร.อ.ท. ขุนพิสูจย์ภูมิลักษณ์



กองสำรวจแผนที่
อ.ต. หลวงสถิตภูมิวิจารณ์
ร.อ.ท. ขุนพรหม้ขตคำนวณ


แผนกบัญชี, พัสดุและพาหนะ
อ.อ. พระยาชลปทานธนารักษ์
ร.อ.อ. หลวงประมูลกระแสสินธุ์
ร.อ.อ. หลวงชำนาญชลวิทยา
ร.อ.อ. หลวงเชาวนกระแสสินธุ์
ร.อ.อ. หลวงสมมุติพิรุฬชาญ
ร.อ.ท. ขุนพินิจบรรณสินธุ์
ร.อ.อ. หลวงพิพัฒน์ชลเกษม
ร.อ.ท. ขุนวารีพาหกิจ



ยกมาพอเป็นตัวอย่างว่า ราชทินนามไพเราะ เหมาะกับงานในหน้าที่  มีความหมายที่ดี 



กระทู้: ราชทินนามกับงานที่ทำ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 14 ธ.ค. 09, 07:00
ผมก็เพิ่งพบราชทินนามที่น่าจะระบุหน้าที่การงานมา ๒ ชื่อ

พระยาประดิษฐอมรพิมาน  ท่านผู้นี้เดิมมีบรรดาศักดิ์เป็นพระประดิษฐ์นวกรณ์  เป็นนายช่างผู้จัดสร้างหมู่พระที่นั่งพระราชวังพญาไท  เสร็จแล้วจึงได้เลื่อนเป็นพระยา  มีตำแหน่งราชการในกรมศิลปากร

อีกท่านหนึ่งชื่อว่า ขุนบำรุงนาวา ตำแหน่งหน้าที่การงานเป็นอะไรไม่ปรากฏ  ทราบแต่ว่าต่อมาได้เลื่อนเป็นหลวงและพระในนามเดิม  แต่ได้ชื่อว่าเป็นนักแบดมินตันและเป็นแชมป์เทนนิสในยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ทั้งสองท่านนี้ไม่ทราบชื่อนามสกุลเดิม  ขอรบกวนคุณ Wandee ตรวจสอบและบอกกล่าวด้วยครับ


กระทู้: ราชทินนามกับงานที่ทำ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ธ.ค. 09, 09:02
หน้า ๑๐๓๔

ประดิษฐอมรพิมาน   พระยา  (ม.ร.ว. ชิต  อิศรศักดิ์)  เสวกเอก เบี้ยบำนาญกระทรวงวัง
บ้านถนนสาทร   พระนคร




หน้า ๑๐๐๕

บำรุงนาวา   พระ  (ชุบ  สุนทรสารทูล) อำมาตย์ตรี  สมุหบัญชี   กรมเจ้าท่า





ถ้าคุณ เงินปุ่นศรี  ว่าง  กรุณาแถมข้อมูลให้ด้วยค่ะ
ดิฉันอาจจะหา ราชสกุล อิศรศักดิ์ ได้บ้าง




คุณ V_mee  กรุณาอย่าเอ่ยว่า รบกวน เลยค่ะ   ถือว่าเป็นการแลกข้อมูลจะดีกว่า
นั่งกอด ข้อมูล อยู่กับบ้านไม่ทำให้ความคิดแล่นแต่อย่างใด

ด้วยความเคารพทุกท่าน  การโต้แย้งทางข้อมูลที่ไม่ตรงกัน ถือเป็นการประลองฝีมือให้แต่ละคนแม่นยำและคล่องแคล่ว
บางคนมีการจัดการข้อมูลที่ดีเลิศ  ก็หาคำตอบได้เร็ว   

ดิฉันมีหนังสืออยู่กับเขาหนึ่งเล่ม  ก็พออาศัยวิ่งตามสหายแถวนี้ได้....ห่างหน่อยก็ไม่เป็นไร


กระทู้: ราชทินนามกับงานที่ทำ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ธ.ค. 09, 09:27
เอาข้อมูลมาเสนอคุณวันดี

รัชกาลที่ ๖ ทรงบัญญัติราชทินนามนักดนตรีไทยให้เป็นทำเนียบชื่อ

ชุดใหญ่มี ๕๕ ชื่อ

ประสานดุริยศัพท์ - ประดับดุริยกิจ - ประดิษฐ์ไพเราะ - เสนาะดุริยางค์ - สำอางดนตรี -
ศรีวาทิต - สิทธิ์วาทิน - พิณบรรเลงราช - พาทย์บรรเลงรมย์ - ประสมสังคีต - ประณีตวรศัพท์ -
คนธรรพวาที - ดนตรีบรรเลง - เพลงไพเราะ - เพราะสำเนียง - เสียงเสนาะกรรณ - สรรเพลงสรวง -
พวงสำเนียงร้อย - สร้อยสำเนียงสนธิ์ - วิมลวังเวง - บรรเลงเลิศเลอ - บำเรอจิตรจรุง -
บำรุงจิตรเจริญ - เพลินเพลงประเสริฐ - เพลิดเพลงประชัน - สนั่นบรรเลงกิจ - สนิทบรรเลงการ -
สมานเสียงประจักษ์ - สมัคเสียงประจิต - วาทิตสรศิลป์ - วาทินสรเสียง - สำเนียงชั้นเชิง -
สำเริงชวนชม - ภิรมย์เร้าใจ - พิไรรมยา - วีณาประจินต์ - วีณินประณีต - สังคีตศัพท์เสนาะ -
สังเคราะห์ศัพท์สอาง - ดุริยางค์เจนจังหวะ - ดุริยะเจนใจ - ประไพเพลงประสม - ประคมเพลงประสาน -
ชาญเชิงระนาด - ฉลาดฆ้องวง - บรรจงทุ้มเลิศ - บรรเจิดปี่เสนาะ - ไพเราะเสียงซอ - คลอขลุ่ยคล่อง -
ว่องจรเข้รับ - ขับคำหวาน - ตัตตริการเจนจิต - ตันตริกิจปรีชา - นารถประสาทศัพท์ - คนธรรพประสิทธิสาร

ชุดเล็กมี ๔ ชื่อ

เจนดุริยางค์ - จัดดุริยางค์ - ถนัดดุริยางค์ - ถนอมดุริยางค์


ตัวจริง เสียงจริง ของแต่ละท่านคือใคร  

รศ. ณรงค์ชัย  ปิฎกรัชต์ เฉลยไว้ในบทความ ราชทินนามของนักดนตรีไทย

 http://www.smusichome.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=424306&Ntype=4

 ;D


กระทู้: ราชทินนามกับงานที่ทำ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ธ.ค. 09, 10:41
ขอบคุณค่ะ คุณเพ็ญชมพู   น้อมรับไว้ด้วยความขอบคุณอย่างยิ่ง


ขอ ตอบแทน ด้วยกลอนอันยิ่งใหญ่ที่ ใครคนหนึ่งในดวงใจของคุณ เพ็ญชมพูเขียนไว้ในราว ๒๔๙๔  เขียนไปถามปัญหา คึกฤทธิ์  ปราโมช

(ที่จริงตั้งใจว่าจะหาทางส่งให้อยู่แล้วค่ะ)   ถ้าคุณเพ็ญฯ มีแล้ว     จะไปหางานของ เขา ผู้นี้ส่งมาอีกให้ได้




         "ถึงคึกฤทธิมิตรหม่อมผู้จอมปราชญ์
ขอโอกาสไต่ถามความสงสัย
คือเรื่องนามสยามรัฐผมอัดใจ
หนังสือไทยพาหลงงจนงงงม
ได้ยินท่านอ่านว่า  "สยา - มะ - รัฐ"
คล้ายจะคัดเป็นบาลีมี่ขรม
"สยามะ" แปลว่าทองต้องนิยม
แปลคารมชื่อเรื่องว่าเมืองทอง
แต่ผมรักศักดิ์ไทยมิใช่แขก
ได้ยินแหกกระเชอ "มะ" ใคร่จะถอง
ชื่อไทยไทยไพล่ไปเปลี่ยนให้เพี้ยนคลอง
เหมือนจองหองชืื่อไทยไม่ไพเราะ
ผมเองอ่านขนานนาม "สยาม - รัฐ"
แปลความชัด "เมืองไทย" ได้เสนาะ
จะเถียงเขาเล่าก็คร้านรำคาญทะเลาะ
จึงเขียนเคาะถามสหายให้คลายใจ

         เมื่อเดิมดั้งตั้งชื่อหนังสือพิมพ์
หม่อมหงุมหงิมคิดแปลกันแค่ไหน
มีจำนงจงจำแนกแขกหรือไทย
มี "มะ" ไหม  ไทยหรือทองที่ปองแปล
อย่าตีขลุมคลุมทั้งสองคลองระบิล
โปรดตัดสินถ้อยแถลงให้แดงแจ๋
ถ้าปรองดอง "สองนัยใช้ได้แล"
เป็นโกรธแน่ไม่รู้หายให้ตายซี
ที่ดักคอก็เพราะเห็นเคยเล่นลิ้น
ดูผันผินกลอกกลับจริงพับผี่
อย่าตอบยวนเลยข้อนี้ขอที
ตอบดีดีให้คนอื่นพลอยชื่นใจ


         ข้อที่สองรองลงมาเมตตาบอก
ชื่อเมืองนอกเมืองนารถราไหน
ที่พากเพียรเรียนวิชาภาษาไทย
มีหรือไม่น้อยหรือมากอยากรู้จัง
จงทุกพาราฝรั่งและอังกฤษ
มหาวิทยาลัยที่ไหนมั่ง
จงตีแผ่แม้สักนิดอย่าปิดบัง
อย่าดันทุรังตอบชุ่ยคุยนะเออ

         เป็นสิ้นความถามหม่อมน้องเพียงสองข้อ
ตอบอย่ารอลืมไว้จะไผลเผลอ
ขอขอบคุณล่วงหน้ามาบำเรอ
หวังเสมอว่ายินดีช่วยชี้แจง
จะรออ่านสารตอบทุกรอบวัน
กว่าจะผันมาพบคำรบแถลง
(ตอบสักหน้าอย่าได้หวาดกระดาษแพง
ขอแสดงความนับถือ(นี่สื่อกานต์)"

                  จิตร  ภูมิศักดิ์

ค่ายจักรพงษ์ดงพระราม
ปราจีนฯ คามนามนิยมกรมทหาร
ศกสองสี่เก้าสี่ปีพุทธกาล
พุทธวารยี่สิบห้าเมษายน



กระทู้: ราชทินนามกับงานที่ทำ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ธ.ค. 09, 10:59
ขออภัยที่ออกอ่าวไทยไปหน่อยเพราะต้องทักทายเพื่อนฝูงที่แวะมาสนับสนุนกระทู้ค่ะ



คำตอบ


         "พูดถึงนาม "สยามรัฐ" อัดใจแท้
เป็นสองแง่สุดจะอ้างถูกข้างไหน
"รัฐ นั้นคำแขกแปลกกว่าไทย
นำมาใช้ควบ "สยาม" นามกร
แขกอยู่ข้างหลังไทยอยู่ข้างหน้าท่าไม่งาม
ปราชญ์ท่านห้ามผิดตำรามาแต่ก่อน
จะเรียกให้ถูกแท้เป็นแน่นอน
ควรผันผ่อนเติมอะ "สยามะรัฐ"

         ส่วนข้อสองขอสนองความสงสัย
ภาษาไทยที่เขาเรียนเพียรฝึกหัด
จนฝรั่งพูดไทยได้ชัดชัด
มีอยู่ที่สหรัฐอเมริกา
ณ สำนักศึกษาทันสมัย
ชื่อ "ฮาวาร์ด" มหาวิทยาลัย
หลักสูตรไทยมีอยู่พึงรู้เอย"


         น่ารักจัง  ถามว่าหม่อมหงุมหงิม   


กระทู้: ราชทินนามกับงานที่ทำ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ธ.ค. 09, 11:59
อ่านจดหมายจากจักร ภูมิสิทธิ์
ถามคึกฤทธิ์จอมปราชญ์องอาจหลาย
ขอบพระคุณ คุณวันดี มิมีคลาย
จากสหายถึงสหายด้วยใจจริง

ขออนุญาตนำเรือจากอ่าวเข้าสู่ท่า ด้วยกระทู้เก่ามีปราชญ์ให้ความรู้อยู่หลายท่าน

ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1503.0


กระทู้: ราชทินนามกับงานที่ทำ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 15 ธ.ค. 09, 07:37
ขอบพระคุณ คุณ Wandee เป็นอย่างสูงครับ

คำตอบที่กรุณาค้นมาให้นั้น  นอกจากตอบข้อสงสัยเรื่องนามเดิมของทั้งสองท่านแล้ว  ยังช่วยขยายความเรื่องบรรดาศักดิ์ของหลวงสถิตย์นิมานการ (คนแรก) ลงได้  เพราะเคยพบแต่ว่า หลวงสถิตย์ฯ นามเดิมว่า ม.ร.ว.ชิต แล้วก็ไม่มีข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับท่านผู้นี้อีก  คำเฉลยข้างต้นจึงยืนยันว่า ท่านผู้นี้ต่อมาได้เป็นพระดิษฐนวกรณ  แล้วเป็นพระยาประดิษฐ์อมรพิมาน ตามลำดับ

อีกท่านคือ พระบำรุงนาวา นั้น  อ่านชื่อแล้วก็นึกสงสัยอยู่ว่า น่าจะเป็นข้าราชการกรมเจ้าท่า  เพราะราชทินนามที่ลงท้ายว่า "นาวา" จะไม่มีใช้ในกระทรวงทหารเรือ


กระทู้: ราชทินนามกับงานที่ทำ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 ธ.ค. 09, 08:25
เข้ามาอ่านหลายครั้งแต่ยังไม่เคยนำเสนอ วันนี้ขอสำแดงข้อมูลบ้าง

ราชทินนามข้าราชการชั้นประทวนในกรมแผนที่ กระทรวงเกษตราธิการ เมื่อ ร.ศ. ๑๒๐ รัชกาลที่ ๕

บรรดาศักดิ์ขุน-ทวีปวิจารณ์-ชำนาญรัถยา-นานาภูวดร-อำภรพินิจ-ประดิษฐรัฐเขตร์-วิเศษรัฐการ-วิจารณ์รัฐขันธ์-ขยันแยกประเทศ-นิเวศวิภัชน์-นิวัทธมรรคา-เลขานุวัตร์-ทัศนวิภาค-มารคประเมิน-ดำเนินประเทศ-เขตรประมาณ-ชาญวิถี-การีนภดล-สถลภูมสถิตย์-พินิจภูมสถาน-ตระการภูวกรรม์-ขันธ์ภูมพิภัชน์-รังวัดวิถี-ปถวีประจักษ์-สำนักเลขกิจ-วิจิตรเลขการ-ประสานสีสอาด-วาดวิถีงาม  ข้าราชการทั้งหมดนี้ได้ศักดินาคนละ ๓๐๐

บรรดาศักดิ์หมื่น-จงรังวัด-จัดแพนก-แยกสถล-ภูวดลพินิจ-สิทธิมรรคา-พนานุมัติ์-พิภัชน์สถาน-หาญพนม-อุดมภูวกิจ-สถิตย์วิจารณ์-อนุมานวิถี-ธารีรัถยา-เวหาพินิจ-นภางค์ชำนิ-วุฒฺรัฐการ-ปริมาณนิวาศ-อาจมรรคา-เทศานุกิจ-พิศพิจารณ์-การประจง-จำนงภูมพิภัชน์-วิวัตรภูมเวทย์-เดชพนาวาศ-ราษฎร์รังสิต-นิมมิตรสถล-ไพรสณฑ์สำรวจ-ตรวจมรรคา-อุปรมานักขัตร์-วัดอัมพร-เขจรวิจารณ์-นิมมาณประเทศ-เขตรคำนวน  ข้าราชการทั้งหมดนี้ได้ศักดินาคนละ ๒๐๐



กระทู้: ราชทินนามกับงานที่ทำ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ธ.ค. 09, 08:43
อ่านราชทินนามข้าราชการในกรมแผนที่ แล้วสะดุดอยู่ชื่อหนึ่ง ขุนขยันแยกประเทศ

ชื่อนี้มีอยู่ในทะเบียนนามสกุลพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ขุนขยันแยกประเทศ (ฃาว) ผู้ช่วยแม่กองวางหมุดสามเหลี่ยม  กรมแผนที่  ปู่ชื่อพรม  บิดาชื่อขุนภักดี (หลำ) ต้นสกุล พรหมลัมภัก


ราชทินนามนี้ ถ้ามีในปัจจุบันคงหาคนรับยาก

 ;D


กระทู้: ราชทินนามกับงานที่ทำ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 ธ.ค. 09, 09:23
ราชทินนามขุนขยันแยกประเทศ เมื่อ ร.ศ. ๑๒๐ ชื่อนายเชย ครับ  ราชทินนามนี้ค่อนข้างน่ากลัว  แต่หน้าที่เป็นผู้ช่วยแม่กองวางหมุดสามเหลี่ยม  ก็สื่อความหมายได้ชัดดี 



กระทู้: ราชทินนามกับงานที่ทำ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 15 ธ.ค. 09, 09:24
อิอิอ่ะอ่ะ   ขำ   ร่วมวงคุยกันก็สนุก     ชี้ชวนกันดูข้อมูลที่น่าสนใจ


ดูกองทัพเรือสมัย หลวงศุภชลาศัย เป็น นายทหารฝ่ายเสนาธิการนะคะ



ในที่นี้จะแสดงแต่ ราชทินนามที่แสดงหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างเห็นได้ชัด

แม่ทัพเรือ                               พล.ร.ต. พระยาปรีชสชลยุทธ

หมวดเรือยามฝั่ง                       ร.อ. หลวงสวัสดิ์วรฤทธิ์,  ร.อ. หลวงนาวาวิจิต

กองเรือพระที่นั่งรักษาพระองค์        น.ท. พระฤทธิศักดิ์ชลเขตต์,  น.ต. หลวงวิทยุกลจักร,  ร.อ. หลวงประกิตกลจักร

กองเรือปืน                             น.ท. พระมงคลนาวาวุธ


ร.ล. สุโขทัย                            น.ต. หลวงศรจักรรณชิต

กองเรือใช้ตอรปิโด                     น.ท. พระพิชัยชลสินธุ์

ร.ล. เสือคำรณสินธุ์                    น.ต. หลวงยุทธกิจพิลาส

ร.ล. ตอรปิโด ๓                        น.ต. หลวงสำแดงพิชชาโชติ

ร.ล. ตอรปิโด ๔                        ร.อ. หลวงมงคลยุทธนาวี



            คุณหลวง สำแดงพิชชาโชติ    นามนี้สง่านัก เป็นมงคลยิ่ง


กระทู้: ราชทินนามกับงานที่ทำ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 15 ธ.ค. 09, 09:28
นามเดิมของคุณหลวง คือ แดง
ท่านใช้ราชทินนาม  พิชชาโชติ เป็นนามสกุลค่ะ


กระทู้: ราชทินนามกับงานที่ทำ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 ธ.ค. 09, 10:50
ต่อไปราชทินนามข้าราชการชั้นประทวนในกรมพระคชบาล กระทรวงกระลาโหม พ.ศ.๒๔๕๕ รัชกาลที่ ๖

บรรดาศักดิ์ขุน-พิบาลคชศักดิ์-พิทักษ์คชยุทธ-บริรักษ์คชรุด-บริคุตคชสาร-คชาธารพิทักษ์-บริรักษ์คชเรศร์-ทรงสิทธิบาศ-คชศักดิ์ชาญวิทย์-คชสิทธิชาญเวช-คชฤทธิ์พิเชต-คชเดชพิไชย-คเชนทรสันทัด  ศักดินาคนละ ๓๐๐

บรรดาศักดิ์หมื่น-ไสคชยาน-บริหารกุญชร-ปรนนิบัติคชสาร-ปรุงปรนไอยเรศ-ผดุงเดชไอยรา-พิเศษคชสิทธิ์-พิจิตร์คชสาร-คชพลบริบาล-วรหัตถาภิบาล-มนินคชรักษ์-สมัคโพนกุญชร-สัญจรโพนช้าง-ชาญทางคชจร-ชำนาญกะรีฤทธิ์-ครรชิตคเชนทร์รณ-ทรงประกัน-อนันตโยธา-สิทธิคชสาร-หาญคชกัน-รามคชไกร-ไกรคชสาร-วิเศษคชสาร

-ศรีคชสาร-ศรีชุมพล-ศรีสิทธิกัน-ชำนิคชสาร-คเชนทร์ทวยหาญ-พิทักษ์คชสาร-จ่ารัตนาเคนทร์-กลางกเรนทศักดิ์-ไชยมนตรี-ชำนาญ-ศรีคชเคนทร์-วิไชยจำนงค์-วิไชยสงคราม-จ่าคชประสิทธิ์-จ่าคชประเสริฐ-อาจคชกัน-กลางรวางคชนารถ-กลางรวางคชรักษา-ก้อนแก้ว-กระสันนาเคนทร์-นุภาพเรืองภพ-จบไตรจักร์-พิทักษ์ไอยเรศ-วิเศษอัยรา-คชาชาญภพ-นพกุญชร-กำจรคชฤทธิ์-อิศรเทพ-นรินทร์คชลักษณ์-จักรคชประจง

-จำนงสระประจอง-จำนองนาเคนทร์-จิตรคชสาร-ชำนาญคชศิลป์-คชินทร์บริรักษ์-ภักดีคีรีคช-สนิทคชลักษณ์-ชนะคชกัน-เสพสรศิลป์-กรินภัชชา-เชี่ยวหัศดินทร์-ชินคชบาล-ชาญคชไพร-ไชยโขลงคช-พยศคชฝึก-ตฤกตรวจคชสาร-คชฤทธิ์ทรมาน-บริบาลคชพลัง-ประคองคชผดุง-บำรุงคชรักษ์-พำนักคชพล-อนนต์คชพ่าย-นิกายกรีเวท-สังเกตกรีการ

-คชยานสำรวจ-สกัดกวดคชวัช-คชาชำนิศิลปื-คชินทร์ชำนิสาร-กรินทร์สิทธิการ-กรีชาญศุภลักษณ์-บริคุตหัศดี-กรีพนศักดิ์-หัศดีรักษ์รณไชย-เกรียงไกรกระบวนคช-หัตถาจารโกศล-สาธรคชลักษณ์-ชำนาญหัศดิน-คชเศรษฐ์พิทักษ์

เฮ่อ...รวม ๑๐๒ นาย (กว่าจะพิมพ์เสร็จ)


กระทู้: ราชทินนามกับงานที่ทำ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ธ.ค. 09, 11:42
ในรัชกาลที่ ๖    กรมคชบาล ทำหน้าที่อะไรบ้างคะ
ชั้นประทวน มีเป็นร้อย  น่าจะเป็นกรมใหญ่


กระทู้: ราชทินนามกับงานที่ทำ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ธ.ค. 09, 11:59
ในสมัยอยุธยากรมพระคชบาลขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ แบ่งการบังคับบัญชาเป็น ๒ กรมย่อยคือ

๑.กรมพระคชบาลขวา มี ออกพระเพทราชาธิบดีศรีสุริยาภิชาติ สุริวงษ์องคสมุหพระคชบาล ว่าที่ตำแหน่งจางวางขวา

๒.กรมพระคชบาลซ้าย มี ออกพระสุรินทราชานราบดีศรีสุริยศักดิสมุหพระคชบาล ว่าที่ตำแหน่งจางวางซ้าย

ข้าราชการในกรมพระคชบาล ประกอบด้วยจางวาง เจ้ากรม และปลัดกรม แบ่งเป็นฝ่ายต่าง ๆ คือ

๑. ฝ่ายคชศาสตร์ คือครูผู้สอนเกี่ยวกับการฝึกช้าง

๒. ฝ่ายควาญช้าง มีรายนามพนักงานคล้องจองไพเราะน่าฟัง เช่น นายเสพกะเชน นายกะเรนทภัชชา นายมหาคชรัตน์ นายสวัสดิคชฤทธ์ นายจิตรคชลักษณ์ นายจักคชศรี นายคีรีคชแกว่น นายแม่นคชสาร นายบาลกีรีอาจ นายราชกีรียง เป็นต้น

๓. ฝ่ายหมอปะกำหรือผู้ประกอบพิธีกรรม

๔.ฝ่ายกำลังพลหรือทหารที่ติดตามในกระบวนช้าง

นอกจากกองทหารช้างชาวสยามแล้วยังมีกองทหารช้างข้างฝ่ายมอญด้วย โดยแบ่งเป็น ๒ กรมย่อยเหมือนกันคือ กรมโขลงขวา มีพญาอนันตโยทังเป็นเจ้ากรม และกรมโขลงซ้าย มีพระยาอนันตจ่อสู่เป็นเจ้ากรม มีหน้าที่ควบคุมไพร่พลกองทหารช้างที่น่าจะได้แก่พวกมอญและกะเหรี่ยงที่มีความชำนาญในการใช้ช้าง

ข้อมูลจากบทความเรื่อง ช้างเป็นสินค้า ค้าช้าง ในสมัยอยุธยา โดย ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์
http://www.thaichang.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=480828
  



กระทู้: ราชทินนามกับงานที่ทำ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 15 ธ.ค. 09, 21:42
ราชทินนาม สุรินทราชา  ในรัชกาลที่ ๖ กลายมาเป็นราชทินนามสำหรับตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลภูเก็ต
มีผู้ที่ได้ครองราชทินนามนี้ ๒ ท่าน คือ

พระยาสุรินทราชา (ม.ร.ว.สิทธิ์  สุทัศน์)  ท่าผ฿นี้เดิมเป็น นายพลตรี พระยาพิไชยสงคราม  แล้วเลื่อนเป็นนายพลโท พระยาสุรินทราชา เมื่อเป็นเทศามณฑลภูเก็ตแล้ว 

พระยาสุรินทราชา (นกยูง  วิเศษกุล) เปลี่ยนราชทินนามจากพระยาอจิรการประสิทธิ์ อธิบดีกรมไปรษณย์โทรเลข  เมื่อย้ายมาดำรงตำแหน่งเทศามณฑลภูเก็ต  ส่วนพระยาสุรินทราชาคนเดิมที่ย้ายมาเป็นแม่ทัพน้องที่ ๑ (ปัจจุบันคือ แม่ทัพภาคที่ ๑) เปลี่ยนราชทินนามเป็น พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร ซึ่งเป็นราชทินนามเฉพาะบุคคลในราชสกุล สุทัศน์


กระทู้: ราชทินนามกับงานที่ทำ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 16 ธ.ค. 09, 15:35
อ้างถึง
ในรัชกาลที่ ๖    กรมคชบาล ทำหน้าที่อะไรบ้างคะ
ชั้นประทวน มีเป็นร้อย  น่าจะเป็นกรมใหญ่

กรมพระคชบาลในสมัยรัชกาลที่ ๖ น่าจะมีหน้าที่จับช้าง เลี้ยง ดูแล และฝึกช้าง สำหรับใช้งานในราชการ  แต่คงไม่ได้เอาช้างไปใช้ในการรบอย่างยุทธหัตถีอย่างเก่า  สมัยรัชกาลที่ ๖ คงน่าจะเอาช้างไว้สำหรับใช้บรรทุกหรือเป็นพาหนะเดินทางระหว่างหัวเมืองไกลๆ  เพราะช่วงต้นรัชกาลที่ ๖ ถนนหนทางและทางรถไฟยังมีไม่มาก รถที่จะใช้เป็นพาหนะตามกระทรวงยังไม่มีมากอย่างสมัยหลัง การเดินทางไปหัวเมืองไกลๆ น่าจะต้องอาศัยช้างเป็นพาหนะสำคัญ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทางที่ต้องผ่านป่าฝ่าดง  แต่พอพ้นกลางรัชกาลไปแล้วกรมพระคชบาลในกระทรวงกระลาโหมน่าจะมีบทบาทความจำเป็นลดลง


กระทู้: ราชทินนามกับงานที่ทำ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 17 ธ.ค. 09, 06:23
ในสมัยรัชกาลที่ ๖ กรมพระคชบาลย้ายมาสังกัดกีทรวงวัง  และลดบทบาทลงเป็นอย่างมากแล้วครับ  ราชทินนามที่มีอยู่จำนวนมากนั้นน่าจะเป็นข้าราชการที่ตกค้างมาแต่รัชกาลก่อน  เมื่อเสียชีวิตหรือลาออกจากราชการก็ยุบเลิกตำแหน่งและราชทินนามนั้นไป เพราะแม้แต่บรรดาศักดิ์พระยาสุรินทราชา ยังเปลี่ยนไปเป็นราชทินนาเทศาฯ มณฑลภูเก็ต  ส่วนพระยาเพทราชานั้นคงมีตัวอยู่  แต่เมื่อหมดตัวแล้วก็ไม่มีการตั้งใครแทน

ในรัชกาลที่ ๖ กรมพระอัศวราชซึ่งมี พระยาอัศวบดีศรีสุรพาหน เป็นอธิบดี  มีส่วนราชการในสังกัด คือ กรมอัศวราช  กรมรถยนต์หลวง และกรมเรือยนต์หลวง เริ่มมีบทบาททดแทนกรมพระคชบาล


กระทู้: ราชทินนามกับงานที่ทำ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 ธ.ค. 09, 08:45
ตำแหน่ง ออกพระเพทราชา ลาลูแบร์เขียนไว้ในจดหมายเหตุว่าเป็นตำแหน่งเดียวกับ ออกพระพิพิธราชา แต่เรียกเพี้ยนเป็น เพทราชา (Petratcha) เป็นเจ้ากรมพระคชบาล มีหน้าที่บังคับบัญชาเหล่าช้างและเหล่าม้าทั้งปวง กรมพระคชบาลสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนับเป็นกรมที่ใหญ่โตกรมหนึ่ง เนื่องด้วยช้างเป็นกำลังสำคัญของพระมหากษัตริย์ ลาลูแบร์กล่าวว่ามีบางคนอ้างว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเลี้ยงช้างไว้ถึงหมื่นเชือก ซึ่งลาลูแบร์ก็ไม่ค่อยเชื่อเสียทีเดียว โดยให้เหตุผลว่าด้วยความทะนงในศักดิ์ศรีทำให้คนเหล่านั้นกล่าวเท็จต่อตนอยู่บ่อย ๆ การเลี้ยงช้างแต่ละเชือกต้องใช้คนถึง ๓ คน ถ้าหากมีช้างถึงหมื่นเชือกจริง เฉพาะคนเลี้ยงก็ต้องใช้ถึง ๓๐,๐๐๐ คนแล้ว

ออกพระพิพิธราชาแม้มีบรรดาศักดิ์เป็นเพียงออกพระ ก็ยังมีอำนาจยิ่งใหญ่ ประชาชนพลเมืองก็รักมา เพราะเป็นคนรู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา และเชื่อว่าอยู่ยงคงกระพันด้วย และด้วยความแกลัวกล้าในการศึกทำให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงโปรดปรานยิ่งนัก


กระทู้: ราชทินนามกับงานที่ทำ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 17 ธ.ค. 09, 12:02
อ้างถึง
ในสมัยรัชกาลที่ ๖ กรมพระคชบาลย้ายมาสังกัดกระทรวงวัง  และลดบทบาทลงเป็นอย่างมากแล้วครับ  ราชทินนามที่มีอยู่จำนวนมากนั้นน่าจะเป็นข้าราชการที่ตกค้างมาแต่รัชกาลก่อน  เมื่อเสียชีวิตหรือลาออกจากราชการก็ยุบเลิกตำแหน่งและราชทินนามนั้นไป เพราะแม้แต่บรรดาศักดิ์พระยาสุรินทราชา ยังเปลี่ยนไปเป็นราชทินนาเทศาฯ มณฑลภูเก็ต  ส่วนพระยาเพทราชานั้นคงมีตัวอยู่  แต่เมื่อหมดตัวแล้วก็ไม่มีการตั้งใครแทน

๑.กรมพระคชบาลที่ผมเอาราชทินนามข้าราชการมาลงนี่  สังกัดกระทรวงกระลาโหม  ดูแลเรื่องช้างที่ให้เป็นพาหนะในราชการฝ่ายกระทรวงกระลาโหม และคงอยุ่สังกัดกับกระทรวงกระลาโหมจนกระทั่งถูกยุบรวมกับกรมที่ดูแลสัตว์พาหนะอื่นๆที่อยู่ในสังกัดกระทรวงกระลาโหม  แล้วเรียกชื่อใหม่เป็นกรมจเรสัตว์พาหนะทหารบกและการทหารม้าสมัยต่อมา  กระนั้นก็ยังคงมีข้าราชการที่ทำหน้าที่ดูแลช้างพาหนะอยู่ เพียงแต่ความสำคัยในระยะหลังอาจจะลดลงไปเมื่อมีรถเข้าแทนที่   นอกจากนี้กรมพระคชบาลหรือกรมจเรสัตว์พาหนะฯ ยังมีหน้าที่ดูแลช้างป่าด้วย   ภายหลัง หน้าที่ดูแลช้างป่าถูกโอนไปให้กระทรวงมหาดไทยดูแลแทน เมื่อ ปี ๒๔๖๗   ส่วนกรมช้างต้น ซึ่งสังกัดกระทรวงวังนั้นดูแลเฉพาะช้างสำคัญ และแยกกรมกันกับกรมพราหมณ์พฤฒิบาศด้วย แต่สังกัดกระทรวงวังเหมือนกัน   การแยกกรมที่มีหน้าที่ดูแลช้างออกไปอยู่ตามกระทรวงทั้งสองนี้ คงเป็นมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อทรงจัดราชการกรมกองต่างๆ ให้เป็นกระทรวงอย่างใหม่เมื่อ ปี ๒๔๓๕

๒.ราชทินนามข้าราชการในกรมพระคชบาลนี้ ไม่ใช่ข้าราชการที่ตกค้างมาแต่รัชกาลก่อน แต่เป็นข้าราชการที่รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กระทรวงกระลาโหมออกตราประทวนตั้งข้าราชการ เมื่อปี ๒๔๕๕ ดังปรากฏในราชกิจจานุเบกษาได้ลงประกาศมีวันเดือนปียืนยันเป็นหลักฐาน (กรูณาดูภาพประกอบ)  หลังจากนั้ก็มีการออกประทวนตั้งข้าราชการดูแลช้างในกระทรวงกระลาโหมอยู่บ้างแต่ไม่มากเท่านี้


กระทู้: ราชทินนามกับงานที่ทำ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 17 ธ.ค. 09, 12:05
เอกสารการออกประทวนตั้งข้าราชการในกรมพระคชบาล กระทรวงกระลาโหม จากราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๒๙ เอามาเฉพาะหน้าแรกและหน้าท้ายสุดของประกาศ


กระทู้: ราชทินนามกับงานที่ทำ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 มิ.ย. 15, 16:02
ผู้อ่านท่านหนี่งได้อ่านกระทู้นี้ ต่อมาได้อ่านบทความเกี่ยวกับเรือนไทย  ส่งคำถามผ่านบรรณาธิการนิตยสารสกุลไทยมาให้ดิฉัน ว่า

" เรือนไทยนี้มีมนต์ขลัง ฉบับที่ 3152 หลังจากอ่าน ได้มีโอกาสเข้าไปสมัคร และอ่านกระทู้ "ราชทินนามกับงานที่ทำ" เขียนโดย Wandee (เมื่อ 13 ธ.ค.09) พบราชทินนาม อ.ต.หลวงสรกิจเกษตรการ เป็นล่ามในกรมสารบรรณ กระทรวงเกษตราธิการ อยากถามผู้เขียนกระทู้เพิ่มเติม แต่สารภาพว่าไม่ทราบว่าจะทำได้อย่างไร จึงเรียนถามมาทางคุณหญิง เผื่อจะมีคำตอบ


คำถาม
;-  ราชทินนามสมัย ร.7 นั้น ได้มาอย่างไร (เช่น มารับตำแหน่ง ก็ได้นามตามตำแหน่ง หรือเป็นขั้นเหมือนข้าราชการในปัจจุบัน เป็นต้น)
;- อ.ต. ย่อมาจากอะไร และ หลวงสรกิจเกษตรการ มีความหมายว่าอะไร
;- ขอคำแนะนำว่าจะค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากที่ไหน หรือใครคะ

พอตอบได้ แต่สั้น   จึงขอแรงท่านสมาชิกที่มีความรู้ด้านนี้มาช่วยขยายความให้ผู้ถามได้รับทราบด้วย  แล้วจะส่งผ่านบรรณาธิการไปให้เธอ
ที่จริงเธอจะสมัครเข้ามาถามโดยตรงก็ยินดีค่ะ

ราชทินนาม ในสมัยรัชกาลที่ 7 หรือก่อนนี้  มีควบมากับตำแหน่ง     ใครมีตำแหน่งอะไรก็ได้ราชทินนามที่แสดงความรับผิดชอบในตำแหน่งนั้น   บางทีตำแหน่งบวกกับราชทินนามมีอยู่ในทำเนียบเรียบร้อยแล้ว ใครเลื่อนขึ้นมารับตำแหน่งก็จะได้ราชทินนามพร้อมบรรดาศักดิ์ที่กำหนดไว้ ไปด้วย 
อ.ต. ย่อมาจาก อำมาตย์ตรี เป็นยศทางพลเรือน  ยกเลิกไปแล้วค่ะ
หลวงสรกิจเกษตรการ  ราชทินนามแสดงว่าท่านมีหน้าที่การงานเกี่ยวกับการเกษตร   ในกระทู้บอกว่าท่านอยู่กรมสารบรรณ กระทรวงเกษตราธิการ

ปลัดกรม                                                       อ.ต. พระนิติเกษตรสุนทร
ล่าม                                                            อ.ต. หลวงสรกิจเกษตรการ
นายเวรเก็บ                                                    ร.อ.ท. ขุนโกวิทเกษตรสาส์น
นายเวรรับส่ง                                                  ร.อ.ท. ขุนสารบรรณเกษตรกิจ

ใครพอทราบบ้างว่า ทำไมกรมชลฯ มีล่ามด้วย ?


กระทู้: ราชทินนามกับงานที่ทำ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 25 มิ.ย. 15, 07:40
ที่กรมชลประทานต้องมีล่าม  เพราะในยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นนายช่างในกรมชลฯ มีทั้งที่เป็นชาวต่างประเทศและชาวไทยครับ
และในการสำรวจวางแผนระบบชลประทานในเวลานั้นยังต้องพึ่งพานายช่างชาวต่างประเทศอยู่ครับ  จึงต้องพึ่งล่ามในการเจรจากับชาวบ้าน

ส่วนที่ถามมาว่า อ.ต.คืออะไร?
คำตอบ คือ คำย่อสำหรับยศข้าราชการพลเรือน  ย่อมาจากอำมาตย์ตรี ซึ่งเทียบเท่าพันตรีของทหารบก

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ - ๗ ข้าราชการพลเรือนนั้นมียศเช่นเดียวกับข้าราชการทหาร
ยศข้าราชการพลเรือนเรียกว่า อำมาตย์  เมื่อเทียบกับยศทหารจะเป็นดังนี้
มหาอำมาตย์นายก  เทียบ  จอมพล
มหาอำมาตย์ เอก โท ตรี  เทียบ  นายพล เอก โท ตรี
อำมาตย์  เอก โท ตรี  เทียบ  นายพัน เอก โท ตรี
รองอำมาตย์ เอก โท ตรี  เทียบ  นายร้อยเอก โท ตรี
ราชบุรุษ  เทียบ  นายดาบ

ยศ บรรดาศักดิ์และตำแหน่งเป็นของคู่กัน  เช่น เป็นเสนาบดีจะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา  ได้รับพระราชทานยศเป็นมหาอำมาตย์เอก 
เป็นปลัดทูลฉลองหรือปลัดกระทรวงในปัจจุบัน  และอธิบดี  มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา  มียศเป็นมหาอำมาตย์โท หรือตรี แล้วแต่กรณี  แล้วก็ลดหลั้นกันลงไป

ยศนั้นในสมัยก่อนผูกติดกับตำแหน่งและเงินเดือน  กล่าวกันว่าในสมัยรัชกาลที่ ๖ ข้าราชการไม่ได้รับเงินเดือนเพิ่มกันทุกปีเช่นปัจจุบัน  บางปีรับพระราชทานยศแล้ว  พอถัดมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์  ถัดมาได้รับเครื่องราชอิิสริยาภรณ์  แล้วจึงจะได้เลื่อนเงินเดือน  เรียกว่าเงินไม่ได้แต่ได้รับเกียรติยศก็เป็นที่พอใจแล้ว