เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์โลก => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 24 มิ.ย. 20, 17:08



กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 มิ.ย. 20, 17:08
มีที่มาจากกระทู้ 2020 อเมริกาจลาจล  จากกระทู้ของคุณหมอ SILA ค่ะ
น่าสนใจมาก ขอบคุณคุณหมอ SILA ค่ะ  
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=7125.new#new

        มหกรรมโค่นล้มอนุสาวรีย์ในอเมริกาที่ระบาดตามหลังโควิดนี้ มีอนุสวารีย์เด่นๆ ที่ตกลงจากแท่นมากมาย
(วิกี้มีรวบรวมรายการ List of monuments and memorials removed during the George Floyd protests)
 เช่น      อดีตปธน. Ulysses Grant ผู้ยุติสงครามกลางเมือง - มีทาสในครอบครอง
        Francis Scott Key ผู้ประพันธ์เพลงชาติ Star Spangled Banner - มีทาสในครอบครอง
     และ เป็นข่าวล่าสุดคือ  Equestrian statue of Theodore Roosevelt ที่ the American Museum of Natural History, New York  ตั้งตระหง่านมาแต่ปี 1940 ถึงวันนี้ทางการนิวยอร์คจะดำเนินการย้ายออกไปเอง
         หลังจากทราบข่าวปธน. ทรัมป์ทวิตว่า  "Ridiculous, don't do it!"


กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มิ.ย. 20, 07:50
    ก่อนที่จะมาเป็นสหรัฐอเมริกา ที่ชูคำขวัญว่าดินแดนแห่งเสรีภาพ    ดินแดนแห่งนี้เคยเป็นอาณานิคมมาก่อน     ผลผลิตจากที่นี่ไม่ใช่อุตสาหกรรมแต่เป็นเกษตรกรรม  เ็ป็นไร่กว้างใหญ่ชนิดครอบคลุมภูเขาได้ทั้งลูก   จึงต้องใช้แรงงานคนจำนวนมหาศาล    แรงงานเหล่านี้คือคนผิวดำซึ่งมาจากคนพื้นเมืองในคาริบเบียน ทางใต้ของอาณานิคม  เป็นแรงงานเกษตรกรรมผลิตน้ำตาลมูลค่าสูงดำเนินงานโดยอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน และฮอลแลนด์หรือดัทช์
    แรงงานผิวดำจากคาริบเบียนถูกส่งขึ้นจากทางใต้ขึ้นมาสูอเมริกาเหนือ เพื่อทำงานใน 13 รัฐทางตะวันออกของอเมริกาที่ปกครองโดยคนอังกฤษ    ทาสอื่นนอกจากนี้คือชนพื้นเมืองผิวแดงของทวีปอเมริกาที่โคลัมบัสตั้งชื่อให้ว่า "อินเดียนแดง"   และที่ทยอยมาภายหลังคือคนผิวดำจากแอฟริกา    พวกนี้ไม่ได้สมัครใจมา  แต่ไปถูกจับตัวและกวาดต้อนมาแบบเดียวกับจับสัตว์มาเข้าสวนสัตว์  จากนั้นก็ถูกนำเข้าตลาดทาส  ซื้อขายกันเหมือนสินค้าชนิดหนึ่ง  ลูกที่เกิดจากแม่ทาสก็ต้องเป็นทาสโดยอัตโนมัติ   ทาสเหล่านี้เป็นอิสระได้ต่อเมื่อนายฉีกสัญญาทาสปลดปล่อยให้เป็นอิสระ   แต่ส่วนใหญ่ก็ตายไปในสภาพของทาสนั่นเอง
   เพราะฉะนั้น  ดินแดนแห่งเสรีภาพ จึงไม่ได้หมายถึงเสรีภาพของคนผิวดำและคนผิวแดง
  
   ภาพข้างล่างคือ slave sale  ขายกันในตลาดอย่างเปิดเผย เหมือนขายสัตว์เลี้ยง


กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 มิ.ย. 20, 08:53
ทาสอื่นนอกจากนี้คือชนพื้นเมืองผิวแดงของทวีปอเมริกาที่โคลัมบัสตั้งชื่อให้ว่า "อินเดียนแดง"  

"อินเดียนแดง" ถูกเข่นฆ่าเพื่อแย่งที่ทำกิน แต่ไม่น่าจะเคยถูกจับมาขายเป็นทาสในดินแดนของอเมริกา แต่มีบ้างที่ถูกจับไปขายเป็นทาสที่ยุโรป

คุณเจริญขวัญ แพรกทอง บลาฮาสสกี้ เล่าว่า

ใน พ.ศ. ๒๑๔๘ (ค.ศ. ๑๖๐๕) กัปตันเรือชาวอังกฤษจอร์จ เวย์เมาธ์  (George Weymouth) แล่นเรือผ่านแหลมคอดแล้วจับตัวอินเดียนแดงห้าคนกลับไปขายเป็นทาสที่อังกฤษ

นอกจากนี้ยังมีนักเผชิญโชคชื่อโทมัส ฮันท์ (Thomas Hunt) จับตัวอินเดียนแดง ๒๔ คนไปขายเป็นทาสที่สเปน โดยหลอกล่ออินเดียนแดงเหล่านั้นให้ลงเรือเพื่อจะได้แลกเปลี่ยนหนังตัวบีเวอร์ เมื่ออินเดียนแดงเหล่านั้นหลงกลจนลงเรือมาแล้วก็ถอนสมอแล่นจากไป  

https://www.naewna.com/columnonline/37195?fb_comment_id=2897394856952712_2902951886397009


กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มิ.ย. 20, 09:00
มีค่ะ คุณหมอเพ็ญ  
ขนาดคาริบเบียนอยู่ไกลออกไปนอกอาณานิคม    ชาวอาณานิคมยังอิมพอร์ตทาสผิวดำมาได้   อินเดียนแดงอยู่ในพื้นที่แท้ๆ แค่เอื้อม แถมยังด้อยกว่าทั้งกำลังคนและอาวุธ  ทำไมจะเอาตัวมาไม่ได้

ไปหาเรื่อง Pequot War อ่านนะคะ  

ไม่เล่าละค่ะ  เพราะไม่เกี่ยวกับหัวข้อกระทู้นี้


กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 25 มิ.ย. 20, 12:00
เข้ามานั่งหลังห้องครับ  :D


กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 25 มิ.ย. 20, 13:24
ผมมาแอบฟังด้วยคนครับ ยังรอดชีวิตจากโควิดอยู่ครับ


กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มิ.ย. 20, 15:48
หลังห้อง มีอาหารอเมริกันเสิฟค่ะ


กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มิ.ย. 20, 16:10
   แรงงานผิวดำเป็นที่ต้องการมากในโลกใหม่    เพราะราคาถูกและทำงานได้มากกว่าพวกผิวขาวด้วยกัน   อาณานิคมของอเมริกาที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของประเทศติดกับมหาสมุทรแอตแลนติค มีการทำมาค้าขายกับยุโรปอยู่แล้ว  หนึ่งในการค้านั้นก็คือค้ามนุษย์ 
    สเปนและโปรตุเกสทำธุรกิจนี้กันเป็นล่ำเป็นสัน ด้วยการไปหา "สินค้า" มาจากแอฟริกา  เข้าปล้นสะดมหมู่บ้าน เข่นฆ่าชาวบ้าน ที่เหลือก็ถูกจับเป็นทาสลงเรือเอามาขายในยุโรป  แล้วกระเส็นกระสายมาถึงโลกใหม่ที่เป็นตลาดแรงงานแห่งใหม่ด้วย  เริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา 
   หนึ่งในบรรดาพ่อค้าทาส ก็คือคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสนี่แหละ ไม่ใช่ใคร    ประวัติศาสตร์อเมริกายกย่องเขาในฐานะผู้ค้นพบทวีปอเมริกา  นักเรียนท่องกันเจื้อยแจ้วว่าโคลัมบัสค้นหาเส้นทางใหม่ไปอินเดียด้วยการเดินเรือมาทางตะวันตก เพราะเชื่อว่าโลกกลม     แต่ประวัติส่วนที่ว่าพี่แกค้าทาสด้วยการไปล่ามาจากเวสต์อินดีส   เห็นชีวิตคนต่างสีผิวเป็นผักเป็นปลานั้น   ถูกกวาดเอาเข้าไปไว้ใต้พรมแบบเดียวกับหลักฐานอีกหลายเรื่องที่แสดงว่า อเมริกาไม่ได้เป็นดินแดนแห่งเสรีภาพอย่างที่อวดอ้าง   
   


กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มิ.ย. 20, 16:17
แม่ลูกที่ถูกจับมาขาย  อาจถูกพรากจากกันโดยไม่มีโอกาสเห็นอีกจนตาย    ถ้าคนซื้อต้องการแต่แม่ไม่เอาลูก  หรือต้องการลูกไม่เอาแม่


กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 26 มิ.ย. 20, 10:28
แผนที่ประกอบ เส้นทางทาสสู่โลกใหม่

https://www.flickr.com/photos/elycefeliz/8266092909


กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 26 มิ.ย. 20, 11:18
เข้ามาอ่านค่ะ ตอนนี้ปัญหาที่เรื้อรังมานานกำลังแตกหักอีกครั้ง


กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มิ.ย. 20, 19:16
สวัสดีค่ะ คุณนางมารน้อย   เก้าอี้แถวหน้ายังว่างนะคะ

ก่อนตั้งประเทศ    อเมริกาไม่ได้กว้างขวางอย่างทุกวันนี้   ดินแดนหลักคืออาณานิคมอันประกอบด้วยรัฐเพียง 13 รัฐ  ทางฝั่งตะวันออกติดกับมหาสมุทรแอตแลนติค   
รัฐทั้งหมดคือนิวแฮมป์เชียร์   แมสสาชูเส็ตต์  คอนเนคติกัต  ไร้ดไอส์แลนด์ นิวยอร์ค นิวเจอร์ซี  เพนซิลเวเนีย   เดลาแวร์  เมรี่แลนด์   เวอร์จิเนีย  คาโรไลน่าเหนือ คาโรไลน่าใต้ และจอร์เจีย
ทางใต้มักเป็นรัฐที่ยึดเกษตรกรรมเป็นหลัก    ปลูกยาสูบ ข้าวสาลี  ฝ้ายและครามกันเป็นล่ำเป็นสัน   แรงงานจากแอฟริกาจึงหลั่งไหลไปสู่รัฐทางใต้มาก   ผิดกับทางเหนือซึ่งไม่ได้ยึดเกษตรกรรมเป็นหลัก   แรงงานคนดำจึงไม่ค่อยจะสำคัญนัก

อาณานิคมมีรายได้มาก ประเทศแม่คืออังกฤษก็เห็นเป็นบ่อเงินบ่อทอง ที่จะตักตวง    ทางอาณานิคมซึ่งประชากรส่วนใหญ่ก็มีเชื้อสายอังกฤษเช่นกันเริ่มไม่พอใจ   เห็นว่ามันเรื่องอะไรกัน  พวกเราทำงานกันแทบตาย  แต่กลับต้องมีเสียภาษีขูดเลือดขูดเนื้อเข้าท้องพระคลังประเทศแม่  ซึ่งไม่ได้ยื่นมือมาช่วยทำมาหากินเลยสักนิด
ดังนั้น สงครามปฏิวัติ(The Revolutionary War ) ซึ่งมีคนแปลอย่างเพราะพริ้งว่าสงครามประกาศอิสรภาพ ก็ระเบิดขึ้นระหว่างอาณานิคมกับสหราชอาณาจักร   กินเวลายาวนานตั้งแต่ ค.ศ. 1775 จนถึงค.ศ. 1783  โดยมีฝรั่งเศสหนุนหลังอาณานิคมอยู่อีกที

หนึ่งในบรรดาผู้นำฝ่ายอาณานิคม คือจอร์จ วอชิงตัน   





กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 มิ.ย. 20, 19:37
ก่อนตั้งประเทศ    อเมริกาไม่ได้กว้างขวางอย่างทุกวันนี้   ดินแดนหลักคืออาณานิคมอันประกอบด้วยรัฐเพียง 13 รัฐ  ทางฝั่งตะวันออกติดกับมหาสมุทรแอตแลนติค  รัฐทั้งหมดคือนิวแฮมป์เชียร์   แมสสาชูเส็ตต์  คอนเนคติกัต  ไร้ดไอส์แลนด์ นิวยอร์ค นิวเจอร์ซี  เพนซิลเวเนีย   เดลาแวร์  เมรี่แลนด์   เวอร์จิเนีย  คาโรไลน่าเหนือ คาโรไลน่าใต้ และจอร์เจีย

ทางใต้มักเป็นรัฐที่ยึดเกษตรกรรมเป็นหลัก    ปลูกยาสูบ ข้าวสาลี  ฝ้ายและครามกันเป็นล่ำเป็นสัน   แรงงานจากแอฟริกาจึงหลั่งไหลไปสู่รัฐทางใต้มาก   ผิดกับทางเหนือซึ่งไม่ได้ยึดเกษตรกรรมเป็นหลัก   แรงงานคนดำจึงไม่ค่อยจะสำคัญนัก

https://youtu.be/vd0fMpAIs1s


กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มิ.ย. 20, 17:53
  มาเริ่มต้นกันที่จอร์จ วอชิงตันนะคะ
  จอร์จเกิดมาในตระกูลของผู้มีฐานะมีอันจะกิน        ถ้าเป็นภาษาของฝ่ายซ้าย เห็นจะเรียกว่าพวก "กระฎุมพี" พ่อเขาเป็นเจ้าของไร่อยู่ที่เมาท์เวอร์นอน ในรัฐเทนเนสซี   มีทาสใช้งานอยู่ 10 คน ก็ถือว่าปานกลางค่อนข้างดี   แม้ว่าพ่อตายไปตั้งแต่เขายังอายุน้อยมาก แค้ 11ขวบ  แต่ฐานะเขาก็ไม่กระทบกระเทือน  ต่อมายังได้มรดกจากพี่ชายต่างมารดาซึ่งตายไปโดยไม่มีทายาท มาเพิ่มพูนทรัพย์สินเดิมอีกด้วย
     จอร์จเป็นคนปราดเปรื่อง  สามารถเข้าขั้นอัจฉริยะ ทำให้เขาก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้แทนรัฐเทนเนสซี  ต่อมาเมื่ออาณานิคมรวมหัวกันประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ  ทั้งๆไม่เคยเป็นทหารมาก่อน จอร์จได้รับเลือกให้เป็นแม่ทัพฝ่ายอาณานิคม     สามารถรวบรวมบรรดาชายฉกรรจ์ที่อ่อนหัดและไร้ระเบียบวินัยให้เป็นกองทัพ สู้ศึกกับทหารอาชีพจากอังกฤษ  ทำศึกอยู่อย่างทรหดอดทนถึง 8 ปี โดยมีฝรั่งเศสหนุนหลังอยู่อีกที   จนประสบชัยชนะ ปลดเปลื้องสภาพอาณานิคมเป็นประเทศอิสระขึ้นมาได้
     ระหว่างทำศึกอยู่นี้   แม่ทัพหนุ่มได้กลับมาเยี่ยมบ้านบ้างบางครั้ง  จึงได้ทำความรู้จักกับแม่ม่ายสาววัย 27 ปี  ชื่อมาร์ธา เคอร์ติส  สามีเธอเป็นมหาเศรษฐีเจ้าของไร่ยาสูบ 5 แห่ง รวมพื้นที่ถึง 1ึ7500 เอเคอร์  บวกกับทาสอีกเกือบ 300 คน  และเงินอีกมหาศาล   น่าเสียดายที่ตายเร็ว ทิ้งภรรยาสาวกับลูกเล็กๆไว้ 4 คน   พร้อมมรดกกองมหึมา
     เป็นธรรมดาในยุคนั้นที่แม่ม่ายสาว ไม่ว่าจะแม่ม่่ายทรงเครื่องหรือว่ายากจน จะแต่งงานใหม่หากอยู่ในวัยที่ยังแต่งงานได้     ไม่มีใครอยู่กับลูกๆตามลำพัง    มาร์ธาได้พบแม่ทัพหนุ่มหลังจากสามีตายจากไปปีเดียว   จากนั้นพบปะกันอีกไม่กี่หน เธอก็ตกลงใจแต่งงานกับเขา


กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 มิ.ย. 20, 08:32
  มาร์ธาพร้อมด้วยมรดกสามีเก่ากองมหึมา ทั้งไร่นาสาโท เงินทองและทรัพย์สินมีชีวิตคือกองทัพทาส 300 คน  ย้ายจากบ้านเดิมมาอยู่ที่เมาท์เวอร์นอนกับสามีใหม่     เริ่มต้นชีวิตผัวเมียมหาเศรษฐีแห่งรัฐเทนเนสซี   พร้อมกับเกียรติสูงสุดคือจอร์จได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศใหม่   
  ขอข้ามบทบาทของจอร์จในฐานะประธานาบดีนะคะ เพราะไม่เกี่ยวกับกระทู้นี้  เอาเป็นว่ามาปักหมุดเมื่อเขาครบสองวาระในฐานะผู้นำประเทศแล้ว ก็กลับมาอยู่บ้านเดิม  ดำเนินชีวิตอย่างเจ้าของธุรกิจการเกษตร  ที่ต้องอาศัยแรงงานทาสเป็นหลัก
   ถึงแม้ว่าจอร์จเป็นคนเชื่อในเสรีภาพ และชิงชังการเอารัดเอาเปรียบข่มเหงประชาชนจากประเทศแม่ จนทำให้ลุกขึ้นจับอาวุธสู้อังกฤษจนได้ชัยชนะ      แต่พอมาถึงการบริหารงานที่บ้าน    เขาก็หาได้นำทัศนคติทางการเมืองมาใช้ไม่    ตรงกันข้าม  จอร์จเป็นนายที่เข้มงวด ตามแบบนายงานในสมัยนั้นไม่ได้แตกต่างกันเลย
   ทาสของเขาได้รับอาหาร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม หยูกยา และที่อยู่อาศัยแบบเดียวกับทาสอื่นๆในยุคนั้น  ซึ่งหมายความว่ากระเบียดกระเสียรแร้นแค้น   ตรงข้ามกับนายซึ่งอยู่อย่างหรูหราอุดมสมบูรณ์
    พวกทาสต้องทำงานหนักทุกวันตั้งแต่ตะวันขึ้นจนตะวันตกดิน    หยุดได้วันเดียวคือวันอาทิตย์  ไม่ได้หมายความว่านายใจดีให้พักผ่อนได้  แต่ธรรมเนียมคริสตศาสนาในยุคนั้นกำหนดให้วันอาทิตย์เป็นวันห้ามทำงานใดๆ ไม่ว่าผิวขาวผิวดำต้องนั่งอยู่บ้านเฉยๆ 
   สามในสี่ของทาสทำงานในทุ่งนา แบบหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน   ส่วนอีกหนึ่งในสี่รับใช้งานในบ้านและทำงานช่างเช่นซ่อมบ้าน ทำรั้ว    พวกนี้ปลูกกระท่อมอยู่ของตัวเอง   หาเลี้ยงชีพเพิ่มเติมด้วยการดักสัตว์เล็กๆ ตกปลา ปลูกผัก พอกินและเหลือขายเป็นค่าประทังชีพ
   เช่นเดียวกับนายงานอื่นๆ   จอร์จใช้งานทาสแล้วแต่ว่าควรจะเอาใครไปทำงานที่ไร่ไหน   ไม่ได้คำนึงว่าจะต้องอยู่กับครอบครัวหรือไม่  ผลจึงเป็นว่าพ่อก็ต้องถูกพรากจากลูกเมีย   แม่ก็ต้องพรากจากลูกเล็กๆ  เด็กๆก็เหมือนกำพร้าทั้งๆมีพ่อแม่     ถ้าทำงานได้ไม่มากเท่าต้องการก็ถูกนายลงโทษเฆี่ยนตี   ไม่มีโอกาสจะไปร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากใคร     
   ด้วยเหตุนี้  นายผิวขาวจึงมองว่าการปกครองทาสเป็นเรื่องยาก   ต้องควบคุมเข้มงวดกันราวกับควบคุมสัตว์ป่า   คือถือว่าเผลอไม่ได้สัตว์เป็นต้องหนี   ทาสเหล่านี้ก็เช่นกัน   เมื่อหนีก็ต้องตามเอาตัวกลับมาให้ได้   


กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 มิ.ย. 20, 08:36
 :(


กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 มิ.ย. 20, 09:06
   ความเป็นอยู่ของนายผิวขาวและทาสผิวดำในอาณาเขตบ้านเดียวกัน แตกต่างกันเหมือนสวรรค์และนรก    นายผิวขาวมีความเป็นอยู่อุดมสมบูรณ์  ฟุ่มเฟือย  มีคนรองมือรองเท้าทุกกระดิก   คุณนายมาร์ธาเองมีบริวารหญิงเป็นโหลคอยทำงานบ้านให้ทุกชนิด รวมทั้งเลี้ยงคุณหนูน้อยๆ 4 คน   ไม่เคยรู้ว่าความลำบากลำบนเป็นอย่างไร
   ผิดกับทาสผิวดำที่ต้องทำงานสายตัวแทบขาดตั้งแต่ก่อนสว่างไปจนค่ำมืดดึกดื่น    ต้องพลัดพรากจากพ่อแม่ผัวเมีย แล้วแต่นายจะสั่ง    ความกดดันจึงเพิ่มขึ้นมหาศาลในความรู้สึกของคนดำ
    หนึ่งในจำนวนนั้นเป็นหญิงผิวดำชื่อโอน่า จัดจ์   เธอไม่ใช่ผิวดำแท้ แต่เป็นลูกครึ่ง เรียกว่า Mulatto  มาจากภาษาสเปนแปลว่า "เลือดผสม"   เด็กมูลัตโตมักจะเกิดจากพ่อซึ่งเป็นชาวยุโรปผิวขาว  พวกนี้เดินทางมาอเมริกาแล้วได้ผู้หญิงผิวดำเป็นนางบำเรอ    เด็กเกิดออกมาเป็นลูกครึ่ง ซึ่งไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผิวขาวตามพ่อ แต่ถูกตัดสินว่าเป็นผิวดำตามแม่   
      พ่อของโอน่าเป็นช่างตัดเสื้อชื่อแอนดรูว์ จัดส์  ว่ากันว่าเขาเป็นช่างเสื้อประจำตัวของจอร์จ วอชิงตัน เป็นคนตัดเครื่องแบบให้    เมื่อได้นางทาสผิวดำเป็นนางบำเรอ จนเกิดลูกออกมา   แอนดรูว์ก็ไม่เคยดูดำดูดีลูกเมีย และไม่เข้ามาข้องแวะใดๆกับลูกสาวนอกกฎหมายของเขาตลอดชีวิต
      กฎหมายสมัยนั้นกำหนดให้ลูกทาสต้องเป็นทาส  ไม่ว่าพ่อจะเป็นอิสรชนหรือไม่ก็ตาม   แม่ของโอน่าเป็นทาสของแดเนียล ปาร์ค เคอร์ติส  สามีคนแรกของมาร์ธา วอชิงตัน ดังนั้นโอน่าจึงตกเป็นทรัพย์สินของนายของแม่   และตกทอดมาเป็นทรัพย์สินของมาร์ธา วอชิงตัน ภรรยาม่ายนายอีกทอดหนึ่ง
     เมื่อมาร์ธาแต่งงานกับจอร์จ วอชิงตัน โอน่าก็กลายมาเป็นทาสของตระกูลวอชิงตัน   
    เมื่อโตเป็นสาว  โอน่าตัดสินใจหนีออกจากบ้านของนาย ลงเรือหนีข้ามรัฐไปอยู่ที่นิวแฮมป์เชียร์   ณ ที่นั้นมีครอบครัวคนผิวดำที่เป็นไทแก่ตัวอาศัยอยู่มากพอจะเป็นที่พึ่งพิงของเธอได้   
     เมื่อรู้ว่าทาสหนีไป   ประธานาธิบดีผู้ประกาศอิสรภาพแก่คนผิวขาวก็ส่งคนมาไล่ล่าเอาตัวเธอกลับไปบ้านด้วยกลอุบายต่างๆ หลายครั้งหลายหน   แต่โชคดีทำไม่สำเร็จ   โอน่าจึงมีชีวิตเป็นไทแก่ตัว อยู่จนกระทั่งแก่ชราถึงแก่กรรม  แม้ยากจนค่นแค้นสาหัส เธอก็ไม่เคยอยากจะกลับไปเป็นทาส  ทั้งที่ชีวิตในบ้านนาย อย่างน้อยถึงลำบากแต่ทาสก็ไม่ถึงกับอดตาย   


กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 มิ.ย. 20, 12:00
::)

https://youtu.be/gnCRsK6msww


กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ค. 20, 07:57
   ย้อนกลับมาที่ จอร์จ วอชิงตัน  เกี่ยวกับการเลิกทาส
   มีหลักฐานเอกสารว่าจอร์จ วอชิงตันเคยเขียนจดหมาย แสดงความเห็นอกเห็นใจชะตากรรมของบรรดาทาสผู้รับใช้  มองเห็นความทารุณและอยุติธรรม   มีท่าทีเหมือนจะเป็นหนึ่งในผู้รณรงค์นโยบายยกเลิกทาส  แต่..เปล๊า  เอาเข้าจริงแล้วท่านประธานาธิบดีก็หาได้แตะต้องประเด็นนี้จริงจังไม่
   ที่เห็นชัดคือโดยส่วนตัวเขาก็ยังเป็นนายงานตัวใหญ่ที่ปกครองทาสกลุ่มมหึมา    ยังซื้อขายแลกเปลี่ยนทาส ไม่ต่างจากนายทุนอื่นๆ  ยังไล่ล่าทาสของเขาที่หลบหนี    ตามกฎหมายสมัยนั้นอีกด้วย   ความจริงกฎหมายไล่ล่าทาสที่หลบหนีออกมาเมื่อปี 1793  สมัยเขาเป็นประธานาธิบดี   เขาจะใช้สิทธิ์ยับยั้งก็ได้ แต่ก็ไม่ทำ   เอออวยให้กฎหมายนี้ผ่านออกมาใช้  เมื่อรัฐเพนซิลเวเนียส่งร่างกฎหมายยกเลิกทาสของ เมื่อปี 1790  ประธานาธิบดีก็ปล่อยให้โดนตีตกไป  ไม่สนับสนุน
   มองได้ในแง่หนึ่งว่า เอาเข้าจริงจอร์จ วอชิงตันก็ทุ่มเทอุทิศแรงกายแรงใจให้ประเทศ   เพียงแต่ว่าประเทศอย่ามาทำให้เขาเสียผลประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้นก็พอ


กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ค. 20, 08:15
     ธุรกิจการเกษตรของจอร์จต้องพึ่งแรงงานทาสเป็นหลัก      ดังนั้นต่อให้จอร์จทำตัวเป็นนักอุดมคติ ปลดปล่อยทาสทั้งหมดเพื่อมนุษยธรรม    ก็ต้องเจอแรงปะทะอย่างหนักจากลูกเมียอยู่ดี    โดยเฉพาะมาร์ธา  เพราะมันหมายถึงการล้มละลายของครอบครัว     จอร์จจึงตัดสินใจเก็บอุดมคติไว้ในลิ้นชัก  แล้วใช้แรงงานทาสต่อไป
    ทาสของจอร์จ วอชิงตันแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ 1  ทาสดั้งเดิมที่เขาได้รับเป็นมรดกตกทอดจากพ่อและพี่ชาย  ทาสพวกนี้เป็นสินส่วนตัว   2  ทาสที่ได้มาเมื่อสมรส คือเป็นทาสของมาร์ธาที่เธอนำมาด้วยเมื่อมาอยู่ที่บ้านเขา  3 ทาสที่เขาซื้อหามาเพิ่มเติมในภายหลัง
     ทาสของวอชิงตันประเภท 1 และ 3  เกือบทั้งหมดไปแต่งงานอยู่กินตั้งครอบครัวกับทาสประเภทที่ 2  ดังนั้นจอร์จจึงไม่อาจปล่อยทาสของเขาเป็นอิสระได้ทันที เนื่องจากความพัวพันอีรุงตุงนังในสภาพสมรสนี่เอง     เขาก็เลยปล่อยทาสได้คนเดียวคือคนรับใช้ส่วนตัวของเขา   ส่วนทาสของเขาคนอื่นๆนั้นเขาตั้งเงื่อนไขไว้ในพินัยกรรมว่า ให้เป็นอิสระได้หลังจากมาร์ธา ภรรยาของเขาตายไปแล้ว   
     จอร์จตายไปก่อนมาร์ธา     เขาไม่มีลูกกับเธอ  ส่วนลูกทั้งสี่จากสามีเก่านั้นล้วนแต่อายุสั้น ตายไปก่อนแม่   ดังนั้นเมื่อจอร์จตายจากไปก่อน   ในบ้านเหลือแต่นายผู้หญิง  กล่าวกันว่ามาร์ธากลัวมากว่าทาสจะลุกฮือขึ้นมาเมื่อไม่มีนายผู้ชายให้ยำเกรง   เธอก็เลยปล่อยทาสของจอร์จประเภทที่ 1 และ 3 เป็นอิสระ   ไม่รอให้เธอตายก่อนตามที่จอร์จสั่งไว้ในพินัยกรรม   
     แต่ทาสประเภทที่ 2  เป็นทาสมรดกตกทอดของตระกูลสามีเก่าของมาร์ธา    ตามกฎหมายจะต้องส่งต่อไปให้ทายาทรุ่นต่อๆไป    มาร์ธาไม่มีสิทธิ์ปล่อย   ทาสกลุ่มนี้ก็เลยไม่มีโอกาสรับอิสรภาพอย่างทาสอื่นๆ ยังต้องก้มหน้าก้มตาเป็นทาสของหลานย่าหลานยายของมาร์ธา วอชิงตัน ต่อไป


กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ค. 20, 08:53
 รายต่อไปที่เข้าคิวอยู่ในกระทู้นี้คือประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ๊คสัน   ผู้นำลำดับที่ 7 ของสหรัฐอเมริกา  ได้รับเกียรติให้มีภาพอยู่ในธนบัตรใบละ 20 ดอลล่าร์จนปัจจุบัน
  แอนดรูว์เกิดในยุคที่อเมริกายังเป็นอาณานิคม    พ่อแม่เป็นชาวไอริสกับสก๊อต อพยพมาจากไอร์แลนด์    เติบโตมาด้วยความยากจนค่นแค้น  แต่มานะสร้างตัวเองขึ้นมาจนได้ด้วยการเป็นนักกฎหมาย จากนั้นเข้าสู่การรบกับอังกฤษ เพื่อปลดเปลื้องอาณานิคมให้เป็นอิสระ    แล้วก็เข้าสู่วงการเมือง ตั้งพรรคเดโมแครตขึ้นจนยั่งยืนมาถึงทุกวันนี้   ในที่สุดก็ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 7
ผลงานของแอนดรูว์ แจ๊คสันมีหลายเรื่อง ล้วนเป็นเกียรติประวัติให้เด็กนักเรียนอเมริกันได้เรียนกันจนถึงปัจจุบัน   อย่างหนึ่งคือสนับสนุนเสรีภาพของประชาชน    และอีกเรื่องคือสนับสนุนให้ชาวอาณานิคมไม่กระจุกตัวอยู่แค่ 13 รัฐ  แต่อพยพไปตั้งถิ่นฐานทางตะวันตกของอเมริกาให้มากขึ้น
เขาบอกว่าดินแดนทางตะวันตกนั้นกว้างใหญ่ไพศาล อุดมสมบูรณ์    มีพื้นที่มากมายที่จับจองได้ตามใจชอบ     ผู้คนก็เลยเฮละโลเดินทางไปตะวันตกกันยกใหญ่  ทำให้ดินแดนของประเทศกว้างใหญ่ขึ้นทันตาเห็น


กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ค. 20, 08:41
  แอนดรูว์สร้างตัวจนเป็นเศรษฐีขึ้นมาได้ นอกจากด้วยอาชีพนักกฎหมาย   เขายังทำธุรกิจการเกษตรเช่นเดียวกับจอร์จ วอชิงตัน   เขามีคฤหาสน์หลังงามบนที่ดินผืนมหึมา เป็นไร่ฝ้ายที่ทำรายได้มหาศาล      ด้วยเหตุนี้จึงต้องอาศัยแรงงานทาสจำนวนหลายร้อย    แอนดรูว์นอกจากใช้แรงงานทาสแล้ว เขายังซื้อขายแลกเปลี่ยนทาสซึ่งเป็นการค้าที่ได้ผลกำไรงาม
  ในเมื่อกฎหมายระบุว่าเด็กที่เกิดจากทาสต้องเป็นทาสโดยกำเนิด     ดังนั้นการซื้อทาสเอาไว้ จึงไม่ต่างอะไรกับซื้อม้า วัวหรือแกะ  เพราะระบบทาสทำให้เกิดการผลิตลูกไว้ให้ขายได้ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด     นายทาสอย่างแอนดรูว์ก็เลยมั่งคั่งอู้ฟู่ขึ้นมาจากการค้าทาสนอกเหนือจากค้าฝ้าย  ว่ากันว่าตลอดชีวิตเขามีทาสไม่ต่ำกว่า 300 คน
  แอนดรูว์เลี้ยงทาสของเขาค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับนายงานอื่นๆในยุคนั้น     ทาสมีที่อยู่อาศัยเป็นสัดเป็นส่วนในกระท่อมรายรอบคฤหาสน์ของนาย    ได้รับเครื่องมือสำหรับเลี้ยงชีพ เช่นปืนไว้ล่าสัตว์  เครื่องมือจับปลา เป็นต้น  แต่เขาก็เป็นนายงานที่เข้มงวด  ทาสต้องทำงานหนักโงหัวไม่ขึ้นเพื่อให้ได้ผลผลิตตามเป้าหมาย     ใครก็ตามที่ทำงานไม่เป็นที่พอใจจะถูกโบยตี    ทาสที่หนีจะถูกประกาศไล่จับตัวด้วยรางวัลงาม และมีรางวัลแถมให้ด้วยสำหรับคนจับได้แล้วเฆี่ยนตีซ้ำ

ภาพข้างล่างคือคฤหาสน์ The Hermitage ของแอนตรูว์ แจ๊คสัน   ปัจจุบันเปิดให้เข้าชมได้

 


กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ค. 20, 08:42
ภาพวาดแสดงถึงคฤหาสน์ในยุคของเขา


กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 06 ก.ค. 20, 11:36
คั่นรายการด้วย รายงานข่าวจาก nbcnews.com

            Trump denounces statue toppling during July Fourth celebration at Mount Rushmore


กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ค. 20, 09:06
หน้า 1 ใน 4  ที่เมาท์รัชมอร์ ที่เผลอๆอาจถูกโจมตีเข้าบ้าง คือประธานาธิดีคนที่ 3  โธมัส เจฟเฟอร์สัน

เล่าข้ามคนนี้ไปค่ะ ขอย้อนกลับมาอีกครั้ง
โธมัส เจฟเฟอร์สันได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งใน"บิดาผู้ก่อตั้งประเทศ"  เขาเป็นคนร่างคำประกาศอิสรภาพ  เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศคนแรก และก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำสูงสุด   ได้รับความนิยมยกย่องในผลงานให้เด็กนักเรียนเรียนกันมาจนทุกวันนี้

โธมัสเกิดในเวอร์จิเนียสมัยเป็นอาณานิคม  พ่อแม่เป็นเศรษฐีเจ้าของไร่เกษตรกรรม  ลูกชายจึงได้รับการศึกษาอย่างดีตามแบบกุลบุตรสมัยนั้น   มีครูมาสอนที่บ้านตั้งแต่เล็กจนกระทั่งโตก็ไปศึกษาด้านกฎหมาย แล้วเข้ารับราชการในรัฐเวอร์จิเนีย
เส้นทางของเขาก้าวสูงขึ้นเรื่อยๆจนได้เป็นผู้ว่าการรัฐเวอร์จิเนีย     ด้วยความปราดเปรื่องระดับนักปราชญ์ รอบรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ การเมือง การต่างประเทศ และเขียนอะไรต่อมิอะไรได้เฉียบแหลมลึกซึ้ง    โธมัสเกือบจะได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 2  แต่ไปแพ้คะแนนจอห์น อดัมส์ ก็เลยต้องรอมาจนได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่สาม



กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.ค. 20, 10:55
ผลงานของเจฟเฟอร์สันมีมากมาย รวมทั้งช่วยก่อตั้ง University of Virginia  ด้วย   เขาเป็นนักคิดนักเขียนที่เขียนผลงานไว้มากมาย  ล้วนฉลาดเฉียบแหลม   รวมทั้งข้อความอมตะ  "We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal".
แต่ในด้านส่วนตัว   มีหลายเรื่องที่เจฟเฟอร์สันหาได้ทำตามที่แสดงออกต่อประชาชนไม่    ทั้งๆกล่าวนักกล่าวหนาว่ามนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกัน  เขาก็มีทาสรองรับแรงงานถึง 600 คน ในคฤหาสน์และไร่นาสาโทอันไพศาล  ซึ่งนำเงินทองมาให้จนเป็นเศรษฐีระดับแนวหน้าของรัฐ
นอกจากนี้ เขายังให้กำเนิดบุตรลับๆกับนางทาสผิวดำ ชื่อแซลลี่ เฮมมิ่งส์ถึง 6 คน    โดยที่เธอเคยทำหน้าที่สาวใช้มาแต่ต้นยังไงก็เป็นอยู่แค่นั้นตลอดชีวิต

ขอขยายรายละเอียดประวัติของแซลลี่ เพิ่มจากกระทู้ อเมริกาจลาจล ค่ะ


กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.ค. 20, 11:17
    แซลลี่ เฮมิ่งส์เป็นลูกเสี้ยว  กล่าวคือมีเลือดผิวขาวอยู่ในตัว 75%  และผิวดำ 25%    เบตตี้ แม่ของเธอเป็นลูกครึ่งเกิดจากยายที่เป็นหญิงผิวดำ และตาที่เป็นกัปตันเรือชาวอังกฤษผิวขาว    ในเมื่อยายเป็นทาส  แม้ว่าได้สามีฝรั่ง แต่ลูกที่เกิดมาไม่ได้ถูกกฎหมายนับว่าเป็นชาวอังกฤษอย่างพ่อ  แต่ถูกนับว่าเป็นทาสอย่างแม่   เบตตี้จึงเป็นนางทาสแต่กำเนิด เช่นเดียวกับยาย
   นายผิวขาวของยายและเบตตี้มีลูกสาวชื่อมาร์ธา  เมื่อมาร์ธาแต่งงานก็พานางทาสทั้งสองมาอยู่บ้านใหม่ของสามี  ชื่อจอห์น เวลส์
   เบตตี้ตกเป็นนางบำเรอของนายผู้ชายเมื่อนายหญิงถึงแก่กรรม   มีลูกด้วยกัน 6 คน แซลลี่เป็นคนสุดท้อง
   ลูกสาวคนโตของจอห์น เวลส์ชื่อมาร์ธาเช่นเดียวกับแม่   พอโตเป็นสาวก็ได้คู่ครองคือโธมัส เจฟเฟอร์สัน   หลังจากบิดาตาย  มรดกก็ตกแก่ลูกสาวและลูกเขย อันได้แก่ทาส 135 คน และ ที่ดินกว้างใหญ่ไพศาลถึง 11,000 เอเคอร์
   ในจำนวนทาสที่กลายมาเป็นสมบัติของเจฟเฟอร์สันผู้เป็นลูกเขย  รวมหนูน้อยแซลลี่ที่ยังเด็กมาก    เธออยู่ในฐานะนางทาสผิวดำเต็มตัว  ทั้งๆมีเลือดยุโรปอยู่ในตัว 3 ใน 4    แต่ในเมื่อเกิดจากทาสก็ต้องเป็นทาสโดยอัตโนมัติ  มีหน้าที่รับใช้นายหญิงมาร์ธาผู้แก่กว่าเธอประมาณ 25 ปี   ทั้งๆโดยสายเลือดแล้ว  มาร์ธาคือพี่สาวต่างแม่ของแซลลี่


กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 16 ก.ค. 20, 11:34
มานั่งรอเรียนครับ  ;D  ;D  ;D  ;D


กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 16 ก.ค. 20, 12:10
          เกือบ 30 ปีมาแล้ว,มีหนังเรื่อง Jefferson in Paris เล่าเรื่องราวครั้งเมื่อเป็น US minister to France
ในหนังยังเล่าถึง Sally Hemings ที่ได้ไปปารีสเป็นผู้ติดตามลูกสาว

วิกี้, ในส่วน Historic basis กล่าวว่า

         It was the first portrayal in film of Sally Hemings, and at the time most Jefferson scholars disputed the rumors,
started in 1802 by a vengeful journalist named James Callender, that Jefferson had fathered a child by her.
         Since then, a 1998 Nature study found a match between the male lines of a Jefferson and one descendant of Hemings.
         In 2000, the Thomas Jefferson Memorial Foundation issued its own report on the DNA test results in light of other
historical evidence and said that it was likely that Thomas Jefferson was the father of Eston Hemings, the youngest child of Sally,
and "perhaps" the father of all six, four of whom lived to adulthood, although this claim is heavily disputed.                  


กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ค. 20, 14:15
   แซลลี่มาอยู่ที่คฤหาสน์ของเจฟเฟอร์สันตั้งแต่ยังเดินเตาะแตะ    เติบโตขึ้นมาเป็นเพื่อนเล่นและพี่เลี้ยงของมาเรีย ลูกสาวคนเล็กของนาย   
   เธอเป็นหญิงรับใช้อยู่จนกระทั่งอายุ 14   เจฟเฟอร์สันเดินทางไปฝรั่งเศส เอาลูกสาวไปด้วย   แซลลี่ได้รับคัดเลือกให้ติดตามไปรับใช้คุณหนู  อยู่ที่ปารีส 2 ปี  แซลลี่เติบโตเป็นสาววัย 16   เธอก็กลายเป็นนางบำเรอลับๆของนาย
   ในฝรั่งเศสยุคนั้น ไม่มีทาส   กฎหมายฝรั่งเศสเอื้ออำนวยให้แซลลี่เป็นอิสรชนได้ถ้าอยากจะเป็น     แต่แซลลี่ก็เลือกที่จะอยู่กับนายต่อไป โดยนายเสนอเงื่อนไขให้ว่าจะยอมให้เธอและลูกมีสิทธิ์ดีกว่าทาสอื่นๆ  และลูกเธอสามารถเป็นไทแก่ตัวได้   
   ในตอนนั้นแซลลี่เริ่มตั้งครรภ์แล้ว  ก็ไม่น่าสงสัยว่าทำไมเธอเลือกกลับไปอเมริกา  แทนที่จะอุ้มท้องอยู่ตามลำพังในปารีส   แต่เมื่อกลับไปถึงรัฐเวอร์จิเนีย ทารกน้อยคลอดออกมาแล้วตาย    ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับหนูน้อยมากไปกว่านี้   แซลลี่ก็ตกอยู่ในฐานะนางทาสและเมียลับของท่านรัฐบุรุษต่อไป
   แซลลี่ให้กำเนิดบุตรถึง 6 คน    รอดมาจนโต 4 คน เป็นชายสามหญิงหนึ่ง    ไม่มีใครเป็นไทแก่ตัวพ้นจากสภาพทาส  ตลอดเวลาที่เจฟเฟอร์สันยังมีชีวิตอยู่    เรื่องราวของเธอเป็นความลับ ไม่ได้เผยแพร่สู่สังคมภายนอกที่เชิดชูยกย่องสามีเธอกันว่าเป็นวีรบุรุษคนหนึ่งของประเทศ


กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ค. 20, 11:28
   กฎหมายในอเมริกายุคนั้นไม่ได้ให้สิทธิ์ใดๆแก่ทาสหญิง    เธอไม่มีสิทธิ์แม้แต่ปฏิเสธความสัมพันธ์ทางเพศ   อธิบายอีกทีคือกฎหมายเปิดทางให้ข่มขืนทาสหญิงได้โดยทาสไม่มีสิทธิ์จะขัดขืนหรือไปโวยวายกับใคร     ดังนั้นเมื่อกลับมาอยู่ที่เวอร์จิเนีย      แซลลี่ก็กลายเป็นลูกไก่ในกำมือของเจฟเฟอร์สันอีกครั้งหนึ่ง
   แซลลี่ยังคงใช้ชีวิตอย่างหญิงรับใช้อยู่ในคฤหาสน์ของเจฟเฟอร์สัน พร้อมกับมีลูกให้เขาคนแล้วคนเล่า เด็กๆเติบโตขึ้นมาอย่างทาสในบ้านเช่นกัน   ลูกชายได้ฝึกอาชีพสำหรับทำงานให้นาย  คือเป็นช่างไม้ประจำบ้าน  ส่วนผู้หญิงก็เป็นสาวรับใช้
   เจฟเฟอร์สันไม่ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับแซลลี่จนแล้วจนรอด  คือไม่ได้ฉีกสัญญาทาส  ปล่อยเธอเป็นไทแก่ตัว   แต่เมื่อลูกสองคนแรกรอดชีวิตมาจนโตเป็นหนุ่มสาว   เขาก็อนุญาตทั้งสอง (คือลูกชายชื่อเบฟเวอร์ลี่และลูกสาวชื่อแฮเรียต)ให้ออกจากบ้านไปใช้ชีวิตอิสระได้   แต่ไม่ยอมลงนามในสัญญาอนุญาตปลดปล่อยทาส    พูดง่ายๆคือยอมให้ออกจากบ้านไปตั้งถิ่นฐานที่อื่นได้โดยพฤตินัย   แต่โดยนิตินัยหรือตามกฎหมาย    หนุ่มสาวทั้งสองยังมีชื่ออยู่ในฐานะทาสของเขาเช่นเดิม
  เหตุผลนี้เองทำให้เบฟเวอร์ลี่และแฮเรียตเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนนามสกุล     ในเมื่อทั้งสองมีเลือดผิวขาวอยู่ถึง 87.5% มีเลือดผิวดำแค่ 12.5 % ( เพราะพ่่อผิวขาว 100%  และแม่มีเลือดผิวขาว 75% ผิวดำแค่ 25%)   ก็ตัดสินใจจะปกปิดเลือดผิวดำเอาไว้    แสดงตัวเป็นคนขาว เพื่อย้ายเข้าไปอยู่ในสังคมคนขาวได้โดยไม่มีใครสงสัย 
  ข้อนี้ทำให้เรื่องราวของลูกชายลูกสาวนอกกฎหมายของเจฟเฟอร์สันในส่วนนี้หายสาบสูญไปจากหน้าประวัติศาสตร์   ไม่มีใครแกะรอยได้ว่าเขามีลูกหลานสืบต่อมาหรือไม่ 


กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: pratab ที่ 17 ก.ค. 20, 15:47
เรียนคุณเทาชมพูู ผมไม่เคยได้ทราบหรืออ่านเกี่ยวกับทาสที่เคยมีในปรเทศไทย ไม่ทราบว่ามีสถานะเหมือนทาสในสหรัฐอเมริกาหรือในยุโรปหรือไม่ ขอความกรุณาเล่าให้ฟังบ้างครับ ขอบพระคุณมาก


กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ค. 20, 15:49
เล่ากระทู้นี้จบแล้วจะไปค้นเรื่องทาสในสยามมาให้อ่านนะคะ   
ขอให้คุณ Pratab อดใจรอหน่อยค่ะ


กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ค. 20, 09:31
  แซลลี่และลูกชายอีก 2 คนชื่อเมดิสันและเอสตัน ยังคงใช้ชีวิตใต้ใบบุญของเจฟเฟอร์สัน ในสถานะเดิม จนกระทั่งเขาถึงแก่กรรมในปี 1826  ในพินัยกรรมของเขาระบุไว้ว่าให้ปลดปล่อยทาสหนุ่มทั้งสองเป็นอิสระ     แต่ไม่ได้ระบุแซลลี่เอาไว้ด้วย  รวมทั้งทาสอื่นๆอีกนับร้อยก็ยังเป็นทาสอยู่ต่อไป
  มาร์ธาลูกสาวของเจฟเฟอร์สัน( ซึ่งถ้านับตามสายเลือดคือหลานน้าของแซลลี่)  อนุญาตให้เธอออกจากบ้านเป็นไทแก่ตัวได้ หลังจากเจฟเฟอร์สันถึงแก่กรรม    เธอก็ออกจากบ้านไปพร้อมกับลูกชายทั้งสอง  ไปอาศัยอยู่ในเมืองชาล็อตสวิลล์จนถึงแก่กรรมในปี 1835  คือ 9 ปีต่อมา  เป็นมรณกรรมของหญิงชาวบ้านคนหนึ่ง เงียบเชียบ  ปราศจากการรับรู้ใดๆของโลกภายนอก  
  หลังจากมารดาถึงแก่กรรม  ลูกชายทั้งสองก็ย้ายไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในรัฐโอไฮโอ    เมดิสันยังคงใช่นามสกุลแม่   ส่วนเอสตันเปลี่ยนมาใช้นามสกุลเจฟเฟอร์สัน   ทั้งสองเปิดเผยกับลูกหลานว่าเขาสืบสายเลือดมาจากประธานาธิบดีเจฟเฟอร์สัน  แต่ก็ไม่เคยมีสิทธิ์ใดๆในมรดกของตระกูล  หรือแม้แต่ได้รับการยอมรับจากพี่ๆคนละแม่ที่เป็นคนผิวขาวล้วน
  ลูกหลานตามกฎหมายของเจฟเฟอร์สันปฏิเสธเรื่องนี้   ไม่ยอมรับว่ามีพี่น้องคนละแม่อีกกลุ่มหนึ่งที่มีเลือดคนดำ  เวลาผ่านไปนับร้อยปีจนมีการพิสูจน์ DNA กันได้    ก็พบว่า DNA ของลูกหลานทั้งสองกลุ่มนี้เข้ากัน  
  ขยะใต้พรมจึงถูกเปิดเผยออกมา ในที่สุด

  รูปข้างล่างนี้คือหลานย่าและเหลนของแซลลี่ค่ะ



กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.ค. 20, 11:20
    ประธานาธิบดีหลายคนของอเมริกามีทาสในครอบครองเป็นจำนวนมาก   ซื้อขายทาสกันเป็นล่ำเป็นสัน  ในยุคที่การมีทาสยังเป็นเร่องถูกต้องตามกฎหมาย   ประธานาธิบดีบางคนก็ถึงขั้นต่อต้านร่างกฎหมายเลิกทาสเสียด้วยซ้ำ  ทั้งๆพูดกันเต็มปากในทำเนียบขาวว่า อเมริกาคือดินแดนแห่งเสรีภาพ 
    มาดูกันว่ามีใครบ้างนะคะ
    จอร์จ วอชิงตัน          มีทาส  317     คน
    โธมัส  เจฟเฟอร์สัน    มีทาส   600+    คน
     เจมส์ เมดิสัน            มีทาส  100+     คน
    เจมส์  มอนโร             มีทาส    75   คน
    แอนดรูว์  แจ๊คสัน        มีทาส   200    คน
    มาร์ติน  แวน บูเรน      มีทาส   1    คน
    วิลเลียม เฮนรี่ แฮรืสัน    มีทาส  11    คน
    จอห์น ไทเลอร์           มีทาส   70    คน
   เจมส์  เอ. โพลค์         มีทาส   25    คน
   แซคเคอรี่ เทเลอร์        มีทาส  150     คน
   แอนดรูว์   จอห์นสัน      มีทาส    8   คน
   ยูลิซิส   แกรนท์          มีทาส   1    คน


กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.ค. 20, 11:26
  ความขัดแย้งกันเรื่องมีทาสหรือไม่มีทาส ก่อตัวมาเรื่อยๆหลายสิบปีจนกระทั่งระเบิดขึ้นเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้     หลังจากฝายใต้(ที่สนับสนุนการมีทาส)พ่ายแพ้ฝ่ายเหนือ ที่ต้องการเลิกทาส   กฎหมายเลิกทาสก็ออกมาหลังสงครามสิ้นสุดลง   
   ทาสทั้งหลายที่ทนทุกข์ทรมานมานับร้อยปี ก็ได้รับอิสรภาพ 
   ถึงกระนั้น ความไม่เสมอภาคยังดำรงต่อมาอีกนานหลายทศวรรษ  จนกระทั่งมีการระเบิดออกมาหลายครั้ง   ครั้งล่าสุดคือคดีจอร์จ ฟลอยด์ ที่ถูกตำรวจผิวขาวทารุณจนตาย 

   เบื้องหลังประธานาธิบดีและคนสำคัญๆหลายคนในประวัติศาสตร์ ที่รูปปั้นถูกโค่นถูกทำลายในการประท้วงครั้งนี้ ก็คงจะทำให้หลายคนเข้าใจได้ดีขึ้น ถึงที่มาที่ไป
   หลายคนคงเรียนรู้ว่า เบื้องหลังวีรกรรมของคนสำคัญเหล่านี้ ผลประโยชน์ส่วนตัวย่อมมาก่อนประเทศชาติอยู่ดี


กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 24 ก.ค. 20, 14:49
          นอกจากอนุสรณ์ของปธน.ที่มีทาสในครอบครองถูกโค่นล้มลงไปแล้ว อนุสรณ์รำลึกการเลิกทาส(Emancipation Memorial)
ที่เป็นรูปปั้นท่าน Lincoln กับทาสที่ Washington, D.C. และ(แบบจำลอง) ที่ Boston’s Park Square ก็ยังโดนเพ่งเล็งเข้าข่าย
ควรย้ายลงด้วย
          ผ่านไปเกือบ 150 ปี, การออกแบบให้ทาสอยู่ในท่านั่งคุกเข่าหนึ่งข้างเบื้องหน้าท่านปธน.ที่ยืนยื่นมือขึ้นเหนือตัวทาส ก็ได้กลายมา
เป็นประเด็นในศตวรรษนี้ ด้วยการมองว่าเป็นลักษณาการแสดงถึงความต้อยต่ำจำนนของทาส และความเหนือกว่าของคนขาว
          แต่ ยังมีประเด็นอื่นอีกที่ทำให้ความคิดเห็นในเรื่องนี้ซับซ้อนและเป็นที่ถกเถียงว่าควรย้ายลงหรือคงไว้หรือให้ปรับ
          ทั้งในแง่การตีความว่า ทาสนั้นอยู่ในท่าที่กำลังจะลุกขึ้นยืนต่างหาก คุณค่าในแง่งานศิลปกรรม คุณค่าทางประวัติศาสตร์การสร้าง และ
เกียรติประวัติของตัวทาสต้นแบบผู้นั้นคือหนึ่งในผู้ประกอบวีรกรรมเสี่ยงชีวิตช่วยรักษาชีวิตคนอื่นมากมายในช่วงสงครามเลิกทาส


กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.ค. 20, 16:28
มองว่าช่างยังไม่สามารถจะทำให้ประธานาธิบดีและทาสยืนตัวตรงเสมอกันได้ค่ะ


กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 30 ก.ค. 20, 11:29
ผมมองว่า คิดมากไปครับ การทำงานศิลป์ (รูปปั้น รูปสลัก หรือภาพวาด) เกี่ยวกับเหตุการณ์การให้ความช่วยเหลือผู้ด้วยโอกาส โดยธรรมชาติงานนั้นก็ต้องสื่อได้ชัดว่า ผู้ที่มาช่วยคือคนไหน และผู้ที่ได้รับการช่วยคือคนไหน ขืนทำรูปปั้น มนุษย์สองคนแต่งกายดีเสมอกัน ยืนกอดคอกัน จะสื่อว่า นี่เป็นเหตุการณ์ปลดปล่อยทาสได้อย่างไรกันครับ

นี่ถ้ามีแนวคิดอย่างนี้ ผมหละเสียวแทนรูปปั้นหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะเคยมีคนแซวหลายทีแล้วว่า ขนาดรูปปั้นหน้ากรมยัง "อุ้ม" ประชาชนเลย (ฮ่า) ถ้าตีความตามตัวอักษรรูปปั้นนี้ เห็นที่จะได้ไปพักผ่อนในร่มแน่ครับ


กระทู้: ขยะสีดำใต้พรมทำเนียบขาว
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 30 ก.ค. 20, 13:42
ตลกของนักกฎหมายล้ำลึกยิ่งนัก ข้าน้อยขอคารวะ  ;D