เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 7
  พิมพ์  
อ่าน: 5015 ขัติยราชปฏิพัทธ รักเร้นในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 27 ธ.ค. 23, 10:36

  กระทู้นี้เรียบเรียงจากเรื่อง“ขัติยราชปฏิพัทธ” ซึ่งของเดิมเป็นต้นฉบับสมุดฝรั่ง เขียนเส้นหมึก เป็นสมบัติส่วนพระองค์ในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์  ทรงมีบันทึกไว้บนหน้าปกว่า
   “หนังสือนี้ เรื่องที่ 1 ใครแต่งไม่ทราบ เปนหนังสือซึ่งรู้จักกันทั่วๆ ไป ในพวกเล่นหนังสือ ดูเหมือนไม่เคยพิมพ์ ได้คัดไว้จากต้นฉบับของใครก็จำไม่ได้ เพราะคัดไว้หลายสิบปีแล้ว”
     นอกจากฉบับของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์แล้ว ยังมีหนังสือเรื่องนี้อีกฉบับหนึ่ง เป็นสมบัติของ หม่อมเจ้าประภากร ในกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ เจ้ากรมอาลักษณ์ คุมหอหลวง “คลัง” หนังสือสำคัญของพระมหากษัตริย์     ต้นฉบับเล่มนี้ไม่ได้ระบุชื่อผู้แต่งไว้อีกเช่นกัน
     เมื่อพิจารณาเนื้อความ  เป็นไปได้ว่าผู้แต่ง “ไม่ประสงค์ออกนาม” คือไม่ให้ใครรู้ตัวตน  เพราะเป็นเรื่อง “ส่วนพระองค์” ของเจ้านายชั้นสูง โดยสำนวนภาษานั้นมีเค้าลางบอกได้ว่าเป็นสำนวนประมาณรัชกาลที่ 5 และไม่เก่าว่ารัชกาลที่ 4 เพราะเรียกพระนามเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดว่า กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ อันเป็นการเฉลิมพระนามาภิไธยในรัชกาลที่ 4   ต่อมาจึงเป็นสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ 6      
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 27 ธ.ค. 23, 10:38

 ตัวละครสำคัญในเรื่องนี้ นอกจาก เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร และ เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด ยังมี กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี พระพี่นางพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ชาววังเรียกว่า “เจ้าคุณพระตำหนักใหญ่” กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางองค์เล็ก ชาววังเรียกกันว่า “เจ้าคุณพระตำหนักแดง”
    พระนามเจ้านายที่ระบุไว้ในบันทึก มีดังนี้
    1  กรมหลวงเทพหริรักษ์ พระนามเต็มคือสมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์  มีพระนามเดิมว่า ตัน เอกสารเวียดนามออกพระนามของพระองค์ไว้ว่า "เจียวตัง" (Chiêu Tăng, จีน 昭曾) เป็นพระโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ กับเจ้าสัวเงิน แซ่ตัน คหบดีจีนในสมัยปลายอยุธยา
      ประสูติในสมัยอาณาจักรอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2302 ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้านายในพระราชวงศ์จักรีเมื่อ พ.ศ. 2325
      กรมหลวงเทพหริรักษ์ประชวรสิ้นพระชนม์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2348 สิริพระชันษา 47 ปี
      ทรงเป็นต้นราชสกุลเทพหัสดิน

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 27 ธ.ค. 23, 11:04

    2   กรมหลวงพิทักษมนตรี พระนามเต็มคือ สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี พระนามเดิมว่า จุ้ย  เป็นพระโอรสลำดับที่ 5 ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ กับเจ้าขรัวเงิน แซ่ตัน  เป็นพระอนุชาในกรมหลวงเทพหริรักษ์   ประสูติในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2313

      ในปี พ.ศ. 2325    ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าจุ้ย ถึง พ.ศ. 2346 ได้เลื่อนเป็นกรมขุนพิทักษ์มนตรี   และเลื่อนเป็นกรมหลวงพิทักษ์มนตรี ตามลำดับ
       ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์มีพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ โปรดให้กำกับกรมวังและกรมมหาดไทย
       ทรงเชี่ยวชาญด้านงานช่างและนาฏศิลป์ รวมทั้งทรงเป็นกวี พระองค์ทรงเป็นผู้ที่คิดค้น เกรินบันไดนาค ที่ใช้ในงานพระราชพิธีพระบรมศพซึ่งเป็นงานฝีพระหัตถ์ทรงประดิษฐ์ ของพระองค์ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์
       กรมหลวงพิทักษ์มนตรีประชวรเปนพระยอดในพระศอ    สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2365 พระชันษา 52 ปี
       ทรงเป็นต้นราชสกุลมนตรีกุล
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 27 ธ.ค. 23, 11:09

     3  สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี (พระนาม สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าบุญรอด)  เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ กับเจ้าขรัวเงิน แซ่ตัน มีพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2310[2] ณ ตำบลอัมพวา เมืองราชบุรี (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดสมุทรสงคราม) เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ กับเจ้าขรัวเงิน แซ่ตัน
      ทรงมีพระภราดาและพระภคินี รวม 6 พระองค์ ได้แก่
       สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ (ต้นราชสกุลเทพหัสดิน ณ อยุธยา)
       สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอนัคฆนารี
       สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้าขุนเณร (สิ้นพระชนม์เมื่อพระชันษา 7 ปี)
       สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
       สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี (ต้นราชสกุลมนตรีกุล ณ อยุธยา)
       สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ (ต้นราชสกุลอิศรางกูร ณ อยุธยา)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 27 ธ.ค. 23, 13:33

    สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์น้อย กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ ทรงมีพระตำหนักที่ประทับอยู่เบื้องหลังหมู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และพระวิมานรัตยา เรียกว่าพระตำหนักแดง  เจ้าฟ้าหญิงบุญรอดพระธิดาก็ทรงอยู่ที่พระตำหนักนี้ด้วย
    กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์มีพระชนม์ยาวนานมาจน 60 เศษ ถึงพ.ศ. 2342  ก็ทรงพระประชวรพระโรคชรา จนพระอาการหนัก   กรมหลวงเทพหริรักษ์ กรมหลวงพิทักษมนตรี  และกรมขุนอิศรานุรักษ์ พระโอรสทั้ง 3 องค์เสด็จเข้าไปประจำอยู่ที่ตำหนักเพื่อกำกับหมอถวายพระโอสถรักษาพระโรค  ส่วนเจ้านายอื่นๆผลัดเปลี่ยนกันเข้าไปเยี่ยมเยียนฟังพระอาการ   พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็เสด็จลงเยี่ยมประชวรอยู่แทบทุกวัน

     หนึ่งในเจ้านายที่เสด็จไปเยี่ยมพระอาการคือเจ้าฟ้าฉิม กรมหลวงอิศรสุนทร พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ  วันหนึ่งเมื่อเข้าไปในตำหนักแดง  ทอดพระเนตรเห็นเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดเชิญพระอาการมาเล่าถวาย  ก็ถูกพระทัย นึกปฏิพัทธ์รักใคร่แต่นั้นมา แต่ในเมื่อเป็นเวลาเศร้าโศกอยู่  ก็ต้องนิ่งไว้แต่ในพระทัย ทั้งทรงยำเกรงกรมหลวงเทพหริรักษ์พระเชษฐาเจ้าฟ้าบุญรอดอยู่ด้วย
    สิ่งที่ทรงทำได้คือหมั่นเสด็จเข้าไปฟังพระอาการบ่อยเกินปกติ เพราะมีพระประสงค์จะใคร่ทอดพระเนตรเห็นเจ้าฟ้าบุญรอด   เว้นวันหนึ่งสองวันเสด็จเข้าไปครั้งหนึ่ง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 28 ธ.ค. 23, 08:49

  ความจริงทั้งสองพระองค์ไม่ใช่หนุ่มสาวแรกรุ่น  แต่พระชนม์ถึง 32 แล้ว  เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรมีเจ้าจอมหม่อมห้ามมากมาย พระโอรสธิดาก็เกือบ 30 องค์  ถึงกระนั้นก็ทรงปฏิพัทธ์เจ้าฟ้าบุญรอดเป็นอย่างมาก 
  เสด็จเข้าไปที่ตำหนักแดงครั้งใดประทับอยู่นานๆ บางวันก็ได้ทอดพระเนตรเห็นเจ้าฟ้าบุญรอด   บางวันก็ไม่ได้ทอดพระเนตรเห็น ด้วยตำหนักแบ่งเป็นฝ่ายหน้าและฝ่ายในอย่างเคร่งครัด   ตามธรรมเนียมในสมัยโน้นที่ชายหญิงจะต้องแยกกันเด็ดขาด    เจ้านายผู้ชายเข้าไปได้ก็จริง  แต่พักอยู่แต่เพียงห้องข้างหน้า จึงไม่ใคร่จะได้เห็นกัน ต่อเจ้าฟ้าบุญรอดเชิญพระอาการมาเล่าเวลาใดจึงจะได้เห็นกันเวลานั้น 

   ต่อมาอาการประชวรหนักลง จนกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ทิวงคต เชิญพระศพไปไว้ที่พระที่นั่งดุสิตมหาประสาท   เจ้าฟ้าบุญรอดเสด็จไปบำเพ็ญกุศลถวายพระมารดา  มีเทศนาและสดัปกรณ์  เจ้าฟ้าอิศรสุนทรได้ทราบว่าเจ้าฟ้าบุญรอดเสด็จออกไปทำบุญวันใด ก็เสด็จขึ้นไปบนปราสาทวันนั้น ช่วยจัดพระและสิ่งของให้เรียบร้อย
     การจัดแจงแบบนี้ทำให้มีโอกาสเข้าใกล้เจ้าฟ้าบุญรอด  ช่วยรับของส่งของถวายพระ ได้คุ้นเคยกันทีละน้อย จนได้ตรัสแก่กันเปนธรรมดา แต่ยังไม่ได้ตรัสต่อกันในเชิงชู้สาว   เพราะยังอยู่ในระยะเวลาเศร้าโศก
      ต่อมาก็ทรงหาทางใหม่ที่จะเข้าสนิทกับเจ้าฟ้าบุญรอด ด้วยอาศัยสินค้าในสำเภาที่ทรงค้าขายเองเป็นสื่อ   เมื่อสำเภากลับจากเมืองจีนมาเมื่อใด  ก็ทรงจัดสินค้าที่เข้ามา ให้เป็นเครื่องทำบุญบ้าง เป็นเครื่องเลี้ยงพระเลี้ยงคนบ้าง   รับสั่งให้นางข้าหลวงนำไปถวายเจ้านายฝ่ายใน 2 พระองค์ที่เป็นพระกนิษฐภคินีของพระองค์  คือเจ้าฟ้าแจ่ม กรมหลวงศรีสุนทรเทพ และเจ้าฟ้าประไพวดี(พระนามเดิม เอี้ยง) กรมหลวงเทพยวดี ให้นำไปถวายเจ้าฟ้าบุญรอด
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 28 ธ.ค. 23, 10:06

      เจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์ทรงทราบว่าพระเชษฐาทรงมีพระทัยปฏิพัทธ์เจ้าฟ้าบุญรอดมาตั้งแต่สมเด็จพระศรีสุดารักษ์ทรงพระประชวร    ท่านก็มีพระทัยยินดี ด้วยเห็นว่าคู่ควรกัน   แม้ว่าเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรมีเจ้าจอมหม่อมห้ามมากมายก็จริง แต่ก็ยังไม่มีพระชายาเอก  เจ้าฟ้าหญิงทั้งสองพระองค์จึงนำสิ่งของไปถวายเจ้าฟ้าบุญรอดเป็นหลายครั้ง   แล้วค่อยตรัสเลียบเคียงทีละน้อย   จนเห็นชัดว่าเจ้าฟ้าบุญรอดเองก็มีพระทัยให้เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรเช่นกัน  แต่ช่วงนั้นยังเป็นเวลาเศร้าโศก และต้องวุ่นวายในการที่จะจัดของทำบุญให้ทานอยู่นั้น ก็ต้องสงบเรื่องนี้ไว้ก่อน

      ครั้นถวายพระเพลิงกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์แล้ว  วันไหนเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรเสด็จเข้าไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ    เสด็จกลับออกมาแล้ว  ก็เสด็จแวะเข้าไปที่ตำหนักพระกนิษฐภคินีทั้งสองพระองค์ ตรัสแก่กรมหลวงเทพยวดีให้รับสั่งใช้ข้าหลวงไปเชิญเสด็จเจ้าฟ้าบุญรอดมาทรงสะบ้าบ้าง ต่อแต้มบ้าง สะกาบ้างด้วยกันที่พระตำหนัก
      เมื่อเจ้าฟ้าบุญรอดเสด็จมาถึง  เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรก็เข้าไปซ่อนพระองค์อยู่หลังฉาก  รอจนเจ้าฟ้าบุญรอดเล่นสะบ้า หรือต่อแต้ม หรือสะกาเพลินแล้ว  จึงเสด็จออกมาจากที่แอบพระองค์อยู่ เสด็จเข้าร่วมวงเล่นด้วย
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 ม.ค. 24, 09:31 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 28 ธ.ค. 23, 16:00

    วันแรกๆ เจ้าฟ้าบุญรอดทรงเห็นเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรเข้าร่วมวงเล่นด้วย ท่านก็กระดาก  เลิกเสียไม่เล่นบ้าง กลับไปเสียตำหนักบ้าง ครั้นวันหลังๆ ค่อยคุ้นเคยกันเข้า เหตุเพราะสมเด็จพระกนิษฐภคินีทั้งสองพระองค์เปนผู้ชักสื่อให้ค่อยสนิทกันเข้า จนทรงเล่นด้วยกันได้
    บางวันเจ้าฟ้าบุญรอดเสด็จไปเล่นอยู่ก่อน    ครั้นเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรเสด็จออกจากที่เฝ้าพระเจ้าอยู่หัว  ก็เสด็จเข้าไปพบทรงเล่นสะกาอยู่บ้าง ต่อแต้มบ้าง ท่านก็เข้าช่วยเจ้าฟ้าบุญรอดเล่น   ค่อยเข้าใกล้เคียงกันได้ทีละน้อย จนคุ้นเคยสนิทสนมกัน

   เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรประทับอยู่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา  ณ พระราชวังเดิมฝั่งธนบุรี   ร่วมกับพระราชมารดา   ซึ่งคนทั่วไปถือว่าเป็นพระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ   แต่ไม่ได้เฉลิมพระนามขึ้นเป็นเจ้านายอย่างพระราชโอรสธิดาทุกพระองค์   คงเป็น " ท่านผู้หญิงนาค" หรือ "คุณหญิงนาค" ตามบรรดาศักดิ์เดิมเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯยังทรงดำรงตำแหน่งเจ้าพระยา
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 ม.ค. 24, 09:32 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 28 ธ.ค. 23, 16:06

    เรื่องนี้ต้องขอแยกซอย   อธิบายต่อไปอีกหน่อยว่า  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯและคุณหญิงได้แยกทางกันตั้งแต่สมัยธนบุรี    สาเหตุด้วยว่าท่านไปได้อนุภรรยามาคนหนึ่งเมื่อกลับจากศึกเวียงจันทน์  ชื่อ "แว่น" เป็นที่โปรดปราน  
     ก่อนหน้านี้ว่ากันว่าคุณหญิงท่านหึงหวงสามีมาก   จนสามีมิได้มีเมียน้อยมากมายอย่างขุนนางอื่นๆ   หลักฐานบางแห่งว่ามีอนุภรรยาเพียงคนเดียวแต่ไม่มีบุตร  บางแห่งก็ว่าไม่มีเลย   อย่างไรก็ตาม เมื่อได้คุณแว่นมา เป็นที่โปรดปรานมากมาย  คุณหญิงก็หึงถึงขั้นถือดุ้นแสมไปดักตีหัวคุณแว่นในคืนหนึ่ง เมื่อลงมาจากเรือนใหญ่  คุณแว่นร้องให้สมเด็จเจ้าพระยาช่วย  ท่านก็โกรธถึงขั้นถือดาบลงจากเรือน ไล่ตามภรรยาหลวง  
      คุณหญิงนาควิ่งหนีเข้าเรือนปิดประตูลั่นดาล   สามีเข้าไม่ได้ ก็เอาดาบฟันประตูเป็นรอยหลักฐานอยู่จนปัจจุบันนี้     ลูกชายเห็นท่าไม่ดีรีบเอาสากตำข้าวมารอรับใต้หน้าต่างให้มารดาปีนหนีลงจากเรือน   ออกจากบ้านไปพึ่งลูกสาวคนโตชื่อเจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ที่พระราชวังเดิม    หลังจากนั้น ท่านทั้งสองก็ขาดจากกัน
   เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์  พระราชโอรสธิดาทุกพระองค์ได้เป็นเจ้าฟ้า    มีแต่คุณหญิงนาคเท่านั้นที่มิได้เฉลิมพระยศขึ้นเป็นเจ้านาย    และมืได้เข้ามาอยู่ในวัง  คงอยู่ในที่เดิมของท่านฝั่งธนบุรี
   ท่านจะเข้ามาเยี่ยมเจ้าฟ้าพระราชธิดาบางครั้งบางคราว   ไม่เคยใช้ราชาศัพท์  เรียกสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าว่า "เจ้าคุณ"  บรรดาเจ้าฟ้าทั้งหลายท่านก็เรียกพระนามเดิม อย่างที่เคยเรียกสมัยธนบุรี เช่น พ่อฉิม พ่อจุ้ย แม่เอี้ยง แม่แจ่ม  แล้วกลับออกจากวังก่อนประตูวังปิดเมื่อย่ำค่ำทุกครั้ง  ไม่เคยค้่างในพระบรมมหาราชวัง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 29 ธ.ค. 23, 11:19

    เมื่อก่อนนี้ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรมาเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว เสร็จข้อราชการแล้วก็เสด็จข้ามฟากกลับวังแต่วัน เป็นเรื่องปกติ   แต่หลังๆนี้กว่าจะเสด็จกลับถึงวังก็เกือบพลบค่ำ  บ่อยเข้าพระมารดาก็เกิดสงสัย   วันหนึ่งก็เสด็จข้ามแม่น้ำจากพระราชวังเดิม เข้าไปตำหนักพระธิดาทั้งสองพระองค์
    เมื่อคุณหญิงนาคมาอย่างเงียบๆ ไม่มีใครในตำหนักรู้ตัวล่วงหน้า   พอขึ้นบันไดตำหนักมา  ข้าหลวงที่อยู่นอกตำหนักเห็นเข้าก็วิ่งเข้าไปทูลกรมหลวงศรีสุนทรเทพ กรมหลวงเทพยวดี ว่าพระมารดาเสด็จเข้ามา กรมหลวงเทพยวดีรีบออกหน้าเสด็จวิ่งออกมารับ   ร้องขึ้นดังๆให้ได้ยินทั่วกันว่า "คุณแม่มา"
    ขณะนั้นเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรทรงเล่นต่อแต้มอยู่กับเจ้าฟ้าบุญรอดและกรมหลวงศรีสุนทรเทพ ได้ยินพระสุรเสียงกรมหลวงเทพยวดีร้องขึ้นดังนั้น   วงก็แตกฮือ   จวนตัวเต็มทีไม่มีทางอื่นเพราะพระมารดาเข้ามาทางประตูหน้า   ก็วิ่งหนีเข้าไปในห้องบรรทม
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 ม.ค. 24, 09:33 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 29 ธ.ค. 23, 11:42

      คุณหญิงนาคตาไว  เห็นหลังคนคนวิ่งไวๆ หายวับเข้าไปในห้องบรรทม  จึงถามกรมหลวงศรีสุนทรเทพว่าใครวิ่งเข้าไปในห้อง กรมหลวงศรีสุนทรเทพทูลว่า คนเข้าไปปัดที่นอน  คุณหญิงนาคยังไม่หายแคลงใจ  ก็ปรารภว่า ข้าเห็นเหมือนผู้ชายวิ่งเข้าไป แลเห็นแต่หลังไวๆ ไม่เห็นหน้า

      ทั้งๆเหตุการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานเต็มที  กรมหลวงศรีสุนทรเทพและกรมหลวงเทพยวดีก็ทรงมีปฏิภาณไวเอาการ  ทรงทราบดีว่าเรื่องนี้จะสารภาพให้พระมารดารู้ไม่ได้เป็นอันขาด  ความแตกแน่นอน  จึงช่วยกันเถียงว่า
      "คุณแม่เอาอะไรมาพูด ผู้ชายรายเรือที่ไหนจะเข้ามาอยู่ในที่นี้ได้ คนอยู่เป็นกองสองกอง พูดเอาแต่ร้ายมาใส่"
      เท่านั้นยังไม่พอ  ทั้งสองพระองค์แสร้งทำเปนทรงขัดเคืองพระทัย    คุณหญิงนาคเห็นพระธิดาใช้ไม้แข็งยืนกราน   ก็ชักเสียงอ่อนลงว่า
      "หรือตาข้าจะเห็นไปเอง ขอโทษเสียเถิด"
      แล้วก็หันไปทักทายเจ้าฟ้าบุญรอดว่าดีแล้ว พี่น้องรู้จักรักกัน หมั่นไปหมั่นมาเล่นหัวด้วยกันเถิด และตรัสไต่ถามอื่นๆอีก
     อย่่างไรก็ตาม   คุณหญิงนาคก็ยังมีเรื่องข้องใจอยู่  จึงถามพระธิดาทั้งสองพระองค์ ว่า
     " ข้าประหลาดใจหลายวันมาแล้ว พ่อฉิมออกจากเฝ้ากลับไปบ้านจนพลบค่ำทุกวัน จะเป็นเรื่องราวอะไรก็ไม่รู้"
      พระธิดาทั้งสองพระองค์ทูลเบนความสงสัยไปว่า   เห็นจะเปนข่าวทัพข่าวศึก ต้องประชุมปรึกษาราชการดอกกระมัง ไม่ควรคุณแม่จะวิตกวิจารณ์
      คุณหญิงนาคก็ตอบว่า
     " แต่ก่อนๆ มาการศึกก็มีหลายครั้ง ไม่เห็นอยู่จนพลบหลายวันเช่นนี้ เป็นแต่เพียงสองวันสามวันจึงอยู่จนพลบค่ำ    เกรงว่าจะไปเที่ยวติดผู้หญิงริงเรืออยู่ที่ไหนดอกกระมัง"
     ความจริงแล้ว คุณหญิงนาคฉลาดพอจะเดาพระนิสัยพระโอรสได้    แล้วก็ยังสงสัยว่าคนที่วิ่งไวๆ หายเข้าไปในห้องเมื่อตะกี้ เกรงจะเป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ด้วยเห็นไม่มีผ้าห่ม ถ้าผู้หญิงวิ่งเข้าไปคงจะมีผ้าห่ม  มิหนำซ้ำท่านเห็นเจ้าฟ้าบุญรอดเสด็จอยู่ที่นั่นด้วย ก็ยิ่งแหนงพระทัย แต่ไม่รู้ที่จะตรัสประการใด เลยเสพูดเรื่องอื่นๆ ไป
    จนได้เวลาก็กลับไปพระราชวังเดิม

    ตอนนี้ต้องขอขยายความนิดหนึ่งว่า  ยุครัชกาลที่ 1  (ซึ่งก็รวมไปถึงธนบุรีและอยุธยาตอนปลาย) ผู้ชายไม่ได้แต่งตัวหล่อสวมเสื้อมิดชิดรัดกุม อย่างพี่โป๊ปหรือพี่ปั้นจั่น   แต่ว่านุ่งโจงกระเบนไม่สวมเสื้อ   ยิ่งเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวแล้วห้ามสวมกันทีเดียว   เพราะเป็นเหตุให้ซุกอาวุธได้ง่าย    ส่วนผู้หญิงที่เป็นผู้ดีอย่างนางใน ห่มสไบ   พวกที่ต้องใช้แรงงานจึงห่มตะแบงมานเพื่อรัดกุม ตักน้ำตำข้าวผ้าไม่หลุดง่าย    ถ้าทำงานบ้านเบาหน่อยเช่นทำครัวก็ห่มผ้าแถบ
   เมื่อเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรออกจากท้องพระโรงที่เข้าเฝ้า มาที่ตำหนัก  ก็แต่งองค์อย่างเข้าเฝ้าคือนุ่งโจง มีผ้ากราบคาดเอว  ไม่สวมเสื้อ   ส่วนเจ้านายสตรีทั้งสามไม่ได้ออกแรงทำงานอะไรมาก  ก็ห่มสไบแบบหญิงผู้ดีสมัยศรีอยุธยาตอนปลาย  


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 ม.ค. 24, 09:34 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12604



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 29 ธ.ค. 23, 14:35

ว่าด้วยเรื่อง คุณหญิงนาค และ เจ้าจอมแว่น ยิงฟันยิ้ม

เรื่องนี้ต้องขอแยกซอย   อธิบายต่อไปอีกหน่อยว่า  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯและคุณหญิงได้แยกทางกันตั้งแต่สมัยธนบุรี    สาเหตุด้วยว่าท่านไปได้อนุภรรยามาคนหนึ่งเมื่อกลับจากศึกเวียงจันทน์  ชื่อ "แว่น" เป็นที่โปรดปราน

บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 31 ธ.ค. 23, 20:21

สนุกดีครับอาจารย์  ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 12 ม.ค. 24, 09:26

คุณหญิงนาคแม้จะรู้เท่าทัน  ก็ได้แต่ระแวง  แต่ทำอะไรไม่ได้ถนัดเพราะท่านก็ตัดขาดกับทางวังหลวงมานานแล้ว   จะมีสายสัมพันธ์ก็แต่ไปเยี่ยมเจ้าฟ้าหญิงทั้งสองพระองค์   ใจท่านก็กลัวพระราชอาญาแทนเจ้าฟ้าอิศรสุนทร
ในหนังสือใช้คำว่า " กลัวจะได้ความผิดดังเช่นครั้งเจ้าคุณที่ต้องรับพระราชอาญา"
ตรงนี้ ไม่มีการขยายความว่าเรื่องอะไร  ทำให้ต้องกุมขมับตีความตอนโพส   ฝากท่านสมาชิกเรือนไทยช่วยขยายความให้ด้วย
เจ้าคุณ ในที่นี้ถ้าหมายถึงเจ้าพระยาสุรสีห์  ก็น่าจะหมายถึงเรื่องต้องรับพระราชอาญาพระเจ้าตาก ถูกเฆี่ยน 60 ที  เพราะเข้าไปใกล้ที่ประทับด้วยความเข้าใจผิด  
https://www.silpa-mag.com/history/article_25694
แต่ถ้า "เจ้าคุณ" หมายถึง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ   ตามที่คุณหญิงนาคเรียกแม้ว่าทรงขึ้นครองราชย์แล้ว  ก็ต้องมีเหตุการณ์สมัยธนบุรีอะไรสักอย่าง ที่เจ้าพระยาจักรีต้องพระราชอาญาจากพระเจ้าตากเช่นเดียวกับคนอื่นๆ  

 ในเมื่อท่านไม่วางใจ  จึงไม่วางใจ  หมั่นถามข้าหลวงคนโน้นบ้างคนนี้บ้าง เขาก็ช่วยกันปกปิด  คุณหญิงนาคจึงไม่ได้ความเป็นประการใด ก็จำต้องนิ่งอยู่

ฝ่ายเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร  วิ่งหนีเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในห้องบรรทมได้สำเร็จ  ครั้นเห็นพระมารดากลับไปแล้ว  ก็เสด็จออกมาจากห้อง    หลังจากนั้นก็เฮฮาร่าเริงกันใหญ่ที่ตบตาแม่ได้สำเร็จ  แล้วรับสั่งกันว่าถ้าคุณหญิงเกิดเข้ามานอนอยู่ที่นี่ท่านจะทำเป็นประการใด   เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ก็รับสั่งไม่ติดไม่ขัดว่า ถ้าคุณแม่มาประธมค้างอยู่ที่นี่  ฉันออกมาไม่ได้ ฉันก็นอนอยู่ในห้องสบายไปเสียอีก ท่านทั้งสามพระองค์ก็ทรงพระสรวล
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 ม.ค. 24, 09:35 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 12 ม.ค. 24, 16:23

      ความจริงในช่วงเวลานั้น เจ้าฟ้าบุญรอดไม่ใช่เด็กสาวแล้ว   พระชันษาถึง 32 ปี แก่กว่าเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรสุนทรเล็กน้อย  แต่เมื่อดูจากเหตุการณ์  ชวนให้คิดว่าท่านต้องเป็นผู้หญิงที่สวยมาก และยังสาวมากด้วย   ชนิดที่เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรผู้มีหม่อมอยู่แล้วจำนวนมาก พระโอรสธิดาก็มากมาย  ยังเห็นแล้วพึงพอพระทัยทันที   จากนั้นก็เพียรพยายามอย่างมากมายที่จะเอาชนะพระทัยเจ้าฟ้าบุญรอดจนสำเร็จ
     ตอนเกิดเหตุการณ์นี้  เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรมีพระโอรสธิดาแล้วกี่องค์ ผู้เขียนยังไม่ได้นับ     แต่จนสิ้นรัชกาล ทรงมีพระเจ้าลูกยาเธอและลูกเธอ 73 องค์
    พระราชโอรสได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ 2 พระองค์   คือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ 3  และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4    และได้รับการยกย่องเทียบเท่าพระมหากษัตริย์อีก 1 พระองค์ คือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 ม.ค. 24, 09:35 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.065 วินาที กับ 19 คำสั่ง