เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: pipat ที่ 12 ส.ค. 07, 22:29



กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 12 ส.ค. 07, 22:29
ในกลอนมีกล่าวถึงขุนช้างเข้าหอ
ตอนที่นายแสงคนนำทางหนีหายไปแล้ว
และกำลังจะเข้าบ้านกล่ำ

ขุนช้างขุนแผนมาสร้างกันเมื่อในรัชกาลที่ 2
หรือท่านใดมีหลักฐานว่า ในรัชกาลที่ 1 ตอนปลายรัชกาล
เสภาเรื่องนี้ ได้แพร่หลาย.....
จนขุนนางปลายแถวสามคน เอามาร้องบันเทิงระหว่างการเดินทางได้

กว่าเสภานี้ จะแพร่ออกนอกวัง ต้องการเวลาและสื่อที่เหมาะสม
ผมเชื่อว่าขุนนางสามคน(ซึ่งไม่ใช่สุนทรภู่แน่ๆ)
คงร้องเสภานี้ ในวันที่การพิมพ์แพร่หลายแล้ว คงจะจำความสนุกมาจากสมุดที่หมอสมิทพิมพ์

ขอคำค้านด้วยครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ส.ค. 07, 08:23
เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนเกิดตั้งแต่สมัยอยุธยา  เป็นไปได้ไหมว่าแพร่หลายในรูปขอมุขปาฐะมาตั้งแต่ปลายอยุธยา
รู้จักในหมู่คนไทยสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นอย่างดี   
มีคนแต่งไว้หลายสำนวน   อาจจะมีสำนวนใดสำนวนหนึ่ง เป็นที่รู้จักกันมาก่อนสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงรวบรวมชำระไว้เป็นเสภาขุนช้างขุนแผนฉบับหอพระสมุดก็ได้นี่คะ

เสนอไว้พิจารณาอีกมุมหนึ่ง


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ส.ค. 07, 10:50
ยังไม่เห็นมีใครมาแจม     เลยมาเพิ่มเรตติ้ง
น่าเสียดายที่เรารู้เพียงกระท่อนกระแท่นว่าขุนช้างขุนแผนบางตอน  ใครแต่ง แม้แต่แต่งปีไหนก็ไม่รู้
ถ้าตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้างแต่งในสมัยรัชกาลที่ ๒  ตอนขุนช้างเข้าหอ ก็เป็นได้ว่าแต่งไม่เกินรัชกาลที่ ๒   
ถ้านิราศเมืองแกลงแต่งในรัชกาลที่ ๒ หรือช้ากว่านั้นคือรัชกาลที่ ๓  ประวัติที่เคยมีก็ต้องรื้อออกมาชำระใหม่กันหมด

หมุดเวลาอีกดอก คือการพูดถึงไม้ดัด
เห็นพฤกษาไม้มะค่ามะขามข่อย         ทั้งไทรย้อยยอดโยนโดนตะโขง
เหมือนไม้ดัดจัดวางข้างพระโรง          เป็นพุ่มโพรงสาขาน่าเสียดาย
เดินพินิจเหมือนคิดสมบัติบ้า             จะใคร่หาต้นไม้เข้าไปถวาย
นี่เหน็ดเหนื่อยเลื่อยล้าบรรดาตาย       แสนเสียดายดูเดินจนเกินไป

ไม้ดัดเป็นที่นิยมกันสมัยรัชกาลที่ ๒    พระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย ซึ่งใช้เป็นท้องพระโรง ตั้งกระถางไม้ดัดไว้โดยรอบ
ถ้ากวีหนุ่มของเราคุ้นกับไม้ดัด  จนเห็นไม้ป่าปุ๊บนึกถึงไม้ดัดข้างท้องพระโรงปั๊บ จนอยากจะหาไปถวาย 
ก็เป็นไปได้ไหมว่า เป็นมหาดเล็กวังหลวง  ไม่ใช่มหาดเล็กของเจ้านายวังหลัง
เว้นแต่ว่าวังหลัง หรือวังเจ้านายระดับพระองค์เจ้าก็มีท้องพระโรงในวัง ตั้งไม้ดัดเหมือนกัน?
 


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 14 ส.ค. 07, 11:30
อาจารย์จุลทัศน์ แห่งราชบัณฑิตสถาน อธิบายเรื่องไม้ดัดไว้ ขอนำบางส่วนมาเสนอนะครับ
เจ้านายที่มีชื่อเรื่องไม้ดัด ได้แก่
กรมหลวงพิทักษ์มนตรี (สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี (จุ้ย) พระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต้นสกุลมนตรีกุล) กรมพระพิพิธ (พระองค์เจ้าชายพนมวัน กรมพระพิพิธภูเบนทร์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ต้นสกุล พนมวัน ณ อยุธยา) กรมพระพิทักษ์ (พระองค์เจ้าชายกุญชร กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหน้านภาลัย ต้นสกุล กุญชร ณ อยุธยา) พระด้วง (นายด้วง  ขุนท่องสื่อ) (นายช่วง  ไกรฤกษ์) ฯลฯ โดยเฉพาะขุนท่องสื่อนั้น เป็นผู้รวบรวมและรจนาตำราไม้ดัดตามแบบแผนแต่โบราณขึ้นใหม่ในช่วงรัชกาลที่ ๓ คือ “ตำราไม้ดัดฉบับขุนท่องสื่อ” ซึ่งเป็นแบบแผนไม้ดัดอันเป็นที่ยอมรับและเป็นมาตรฐานในการทำไม้ดัดในยุคต่อมาจวบจนปัจจุบัน

          ในการทำไม้ดัดแต่ก่อนนั้น นักเล่นและนักทำไม้ดัดนิยมใช้ไม้มะสัง ข่อย ชา โมก มาทำไม้ดัดและที่นิยมมากคือไม้ตะโก ไม้ที่จะนำมาทำไม้ดัดนั้นจะใช้ไม้ที่ไปหามาจากป่า หรือจะเพาะชำต้นขึ้นจากเมล็ดก็ได้ ไม้ที่เลือกขุดมาจากป่านั้นต้องขุดหลุมชำไม้ให้ฟื้นตัวก่อนแล้วจึงตัดแต่งกิ่ง ดัดกิ่ง แต่งพุ่มใบให้เป็นแบบแผนตามต้องการ พวกที่ใช้เมล็ดเพาะขึ้นเป็นต้น ต้องรอให้ต้นโตได้ขนาดตามต้องการจึงตัดแต่ง ดัดให้เป็นรูปทรงแบบต่าง ๆ ตามแต่ใจนิยม




กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 14 ส.ค. 07, 11:35
http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=1058
ลืมให้ลิ้งค์
รายพระนามนี้ มีเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี (จุ้ย) เท่านั้น ที่เป็นรุ่นรัชกาลที่ 1
นอกนั้น เป็นผู้มีบทบาทในรัชกาลที่ 2-3 ทั้งสิ้น
โคลงไม้ดัด มีอยู่ที่นี่
http://www.panmai.com/TemplePo/Title2.shtml

คงต้องเรียนถามไปในวรรณคดีละครับ ว่าคำประพันธ์ครั้งรัชกาลที่ 1 นั้น
ให้น้ำหนักกับไม้ดัดเพียงใด


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 15 ส.ค. 07, 02:28
อืม..บทกลอนและนิทานเรื่องขุนช้างขุนแผนมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา  บทเสถาก็มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจากเวปนี้ครับ
http://www.duangden.com/EthicalLecture/531-8.html
แต่จะถึงขนาดฮิตแพร่หลายในวังหรือนอกวังด้วยหรือเปล่า  และในครั้งรัชกาลที่ 1  จะแพร่หลายจนติดปากคนได้เพียงใดยังหายืนยันได้ชัดๆไม่ได้ครับ  อันนี้ต้องยกประโยชน์ให้ท่านพิพัฒน์

เห็นพฤกษาไม้มะค่ามะขามข่อย         ทั้งไทรย้อยยอดโยนโดนตะโขง
เหมือนไม้ดัดจัดวางข้างพระโรง          เป็นพุ่มโพรงสาขาน่าเสียดาย

บทนี้ไม่แปลกครับเป็นหมุดเวลาไม่ได้ครับ  ไม้ดัดมีในวังตั้งแต่ครั้งกรุงศรีฯแล้วครับ  และในรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็มีได้ครับ  แม้แต่ในวังระดับวังหลังวังหน้า  มีได้ครับไม่ใช่ของเฉพาะที่ใครจะมีไม่ได้  และพระโรงนี่คงไม่ได้หมายถึงแต่วังหลวงอย่างเดียวกระมังครับ  พระราชวังย่อมมีพระโรงไม่ใช่หรือครับ  หรือผมเข้าใจผิด.......... :-X


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 15 ส.ค. 07, 15:38
ไม้ดัดมีมาแต่โบราณนั้น ไม่เถียงครับ
แต่ที่นิยมกันขนาดขุนนางน้อย(หรือกลางๆ ก้อได้) ออกไปเห็น หรือออกไปหามาถวายเจ้านายนี่ เป็นอีกประเด็น
ขุนแผนโจนลงชานเรือนขุนช้าง ดูไม้กระถางอันเป็นตอนลือลั่น ก็สะท้อนความนิยมนี้

จึงเรียนถามท่านนักวรรณดคิอีกครั้งว่า บทประพันธ์สมัยรัชกาลที่ 1 มีเรื่องนี้รึไม่อย่างไร
วานบอก....


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 07, 21:10
นึกไม่ออกว่ามีวรรณคดีรัชกาลที่ ๑ เรื่องไหนพูดถึงไม้ดัด   แต่วรรณคดีรัชกาลที่ ๒ ขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม
ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงฯทรงวิเคราะห์ว่าสุนทรภู่เป็นคนแต่ง ดูจากสำนวนกลอน   
มีเอ่ยถึงไม้ดัด  ลักษณะตรงกับพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ค่ะ

ครานั้นพลายงามทรามสวาท          แหลมฉลาดเลขผาปัญญาขยัน
อยู่บ้านท่านหมื่นศรียินดีครัน           ทุกคืนวันตามหลังเข้าวังใน
เธอนั่งเฝ้าเจ้าก็นั่ง บังไม้ดัด            คอยฟังตรัสตรึกตราอัชฌาศัย
ค่อยรู้กิจผิดชอบรอบคอบไป           ด้วยมิได้คบเพื่อนเที่ยวเชือนแช

แล้วก็อีกตอน เมื่อขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง ที่เชื่อว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒  ขุนช้างแกเล่นไม้ดัดโดยตรง




กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 16 ส.ค. 07, 01:03
บทประพันธ์คงไม่มีล่ะครับท่าน  มีแต่เค้าว่าสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าทรงให้จัดไม้ดัด  แบบสมัยกรุงเก่าประดับที่วัดพระเชตุพนฯ  มีโคลงของหลวงมงคลรัตน์(ช่วง) กล่าวไว้  คงแต่งในชั้นหลังถือเป็นแม่แบบไม้ดัดไทย  แต่มีให้ชมที่วัดโพธิ์  แต่จะนิยมเพียงใดในสังคม  หรือบทเสภาขุนช้างขุนแผนจะฮิตแค่ไหนในสังคมรัชกาลที่ ๑  ซึ่งเชื่อว่ากลอนและนิทานเรื่องนี้  เป็นสิ่งสืบเนื่องมาจากกรุงศรีฯมีการเล่าขานและมีบทกลอนที่กล่าวกันมาบ้าง  อันนี้ตามตำราครับ  ขออภัยไม่มีหลักฐานแบชี้ชัด  เป๊ะๆ........ :-[


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 ส.ค. 07, 09:43
นำมาลงไว้ จะได้ไม่ต้องไปค้นใหม่ครับ
ตำราไม้ดัดของหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์)

@ พระบาทบรมนารถเจ้า  จอมสยาม 
ทรงแบบไม้ดัดงาม  เรียบร้อย 
ขบวนดัดคัดจัดตาม  กรุงเก่า มาแฮ 
โปรดแบบบรรยายถ้อย  ถูกแล้วเกณฑ์หา 
@ กรมหลวงพิทักษ์สร้อย  มนตรี ทรงเฮย 
เขนกับญี่ปุ่นที  ป่าข้อม 
หกเหียนพับดัดดี  ถวายเทียม แบบแฮ 
สิบเอ็ดกิ่งพริ้งพร้อม  แยกใช้กิ่งสาม 
@ พระด้วงรองบาทไท้  กรมหลวง 
ฝึกหัดสันทัดปวง  ปลูกแก้ 
แสดงบอกบ่หันหวง  สอนหัด ชินเฮย 
จึงประจักษ์เหตุแท้  ท่านอ้างออกองค์ 
@ ไม้ขบวนวาดเอี้ยว  วงเวียน ต้นนา 
ตอต่ำตัดเรือนเจียน  เรียบร้อย 
ที่กิ่งชอบใช้เนียน  สนิทช่อง ไฟแฮ 
ทรงพุ่มชิดเชิดช้อย  ช่องชั้นจังหวะวาง 
@ ฉากแบบโคนทอดน้อย  หนึ่งงาม 
ที่คดคบขดตาม  หักค้อม 
ตอย่อกิ่งต่อสาม  สมแบบ เดิมนอ 
ต้นขอเค้ากิ่งย่อม  อย่าซ้ำเสียคม 
@ หกเหียนเห็นดัดคู้  คัดทับ 
ตอเพล่เร่เรือนรับ  ลอดพริ้ว 
ที่ยอดทอดทวนทับ  ทบกิ่ง กลแฮ 
ดูดุจหมัดมวยงิ้ว  ผงาดง้ำผงกหงาย 
@ ไม้เขนเบนกิ่งท้าย  ทวนลง 
โคนปุ่มภูค้นตรง  เกร่อเก้อ 
ที่ยอดทอดหวนหง  เห็นขด คู้แฮ 
ดุจมฤคเหลียวชะเง้อ  ชะโงกเงื้อมมาหลัง 
@ ป่าข้อมโคนปุ่มต้น  ตามตรง 
คบแยกสามกิ่งจง  จัดเก้า 
จังหวะระยะวง  เวียนรอบ กลมแฮ 
จัดช่องไฟให้เท่า  ส่วนต้นตัดเรือน 
@ ไม้ญี่ปุ่นรวมทั้ง  กำมะลอ 
ตลกรากเอนชายมอ  มากใช้ 
ท่วงทีที่ขันพอ  พูมตลก 
คงกิ่งจัดจังหวะได้  ช่องพร้อมเรือนเสมอ 
@ เก้าชนิดนับชื่ออ้าง  ออกนาม ไม้เฮย 
โดยบุราณเรียกตาม  ต่อถ้อย 
คิดดัดแต่งตัดงาม  คงเงื่อน นั้นนา 
พอประจักษ์นามน้อย  เนื่องไม้มีเดิม 
@ ขุนท่องสือเก่าแจ้ง  จำถนัด 
ลิขิตโคลงไม้ดัด  แต่งไว้ 
เคยฝึกเล่นโดยจัด  จวบพระ ด้วงนา 
เพื่อจักดัดคงไว้  ดุจถ้อยกลอนแถลง 
@ ผู้มีวิริยะพร้อม  เพลินเพียร 
เย็นกระมลเนาเนียร  เนิ่นแท้ 
เล่นดัดตัดแต่งเจียน  จัดพุ่ม เรือนเฮย 
โดยประณีตนับแท้  ท่านนั้นจิตรเสมอ 
@ ทำจนกลบบาทได้  นับถือ 
จึงจักชมฝีมือ  แม่นไม้ 
แผลบาดอุจาดคือ  รอยตัด คงนอ 
เป็นที่ตำหนิได้  คัดค้านคำฉิน 
@ พระบัณฑูรโปรดไม้  นามเขน 
กับป่าข้อมชายเอน  ออกตั้ง 
โรงหุ่นแต่งทุกเวร  วางเทียบ งามแฮ 
สมฉากสมเขาทั้ง  เทียบพื้นไพรระหง 
@ กรมพระพิพิธได้  ทรงมา 
กรมพระพิทักษ์หา  เช่นบ้าง 
เอนชายป่าข้อมตรา  ตรงชื่อ เดิมเฮย 
พอประจักษ์จิตรอ้าง  ออกให้เห็นพยาน 
@ ไม้ขบวนฉากแบบทั้ง  สองชนิด 
ในพระราชวังสถิตย์  เกิดพร้อม 
พระบาทพระนั่งเกล้าสฤษฎิ์  รังรุกข์ ไว้นา 
มาบัดนี้ทรงสร้อม  แทรกฟื้นพรรคขบวน 
@ หกเหียนฉากแบบนี้  นานสูญ 
เพราะบ่เห็นสมบูรณ์  เริศร้าง 
สุดงามสุดยากปูน  ปานเช่น กันแฮ 
สองรุกข์แถวบางช้าง  เชิดคล้ายพอแปลง 
@ รอบกลมกว้างต้นคลี่  ยาววัด 
สี่ส่วนประจงตัด  แต่งได้ 
ตอสองส่วนเสร็จชัด ชาม่อ หมายเฮย 
พับท่อนหนึ่งสองให้  หักรู้ส่วนเดิม 
@ ขาดตัววัดหยั่งพื้น  พูนดิน บนเฮย 
พับสี่ปันสองจิน  ตนะไว้ 
เป็นตอต่ำพอผิน  ผันเล่น แลพ่อ 
ทีดัดหนึ่งสองให้  หักซ้ำส่วนเดิม 
@ ดูงามจังหวะคล้อง  ฉันใด 
บิดผลักหักเพล่ไผล  ไพล่พลิ้ว 
ทีแรงท่าเพลงไถล  ถลาเผ่น โผนแฮ 
หงายหมัดซัดมวยงิ้ว  ชะโงกเอี้ยวอาจถลา 
@ ที่ยอดหวนหกให้  เห็นแรง 
ทีกิ่งสอดพลิกแพลง  เพลี่ยงต้น 
ทีเรือนตัดเรือนแสดง  ดุจกระ ทุ่มเฮย 
ทีวัดจังหวะค้น  คิดเท้าต้นเสมอ 
@ เขียนไว้หวังวัดเค้า  ควรตรอง 
ฝึกหัดดัดดูลอง  เล่ห์นั้น 
กะคงหนึ่งสองสอง  สมเหตุ ใช้นา 
กิ่งสิบเอ็ดคาดคั้น  คิดไม้หกเหียน 

คัดจากบทความเรื่อง ไม้ดัดและก่อเขามอ เรียบเรียงโดย รังสฤษฎ์ ทองสวัสดิ์
จากหนังสือ บอนไซ 01 ของชมรมบอบไซ ( ไม้แคระ ) แห่งประเทศไทย ( พ.ศ.2520 ) 

http://www.greenthailand.net/tbonsai/lesson11/poetry.htm


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 07, 10:02
โคลงที่คุณพพ.ยกมา  แต่งรัชกาลไหนคะ

เห็นมีพระนามรัชกาลที่ ๓ ด้วย
ไม้ขบวนฉากแบบทั้ง               สองชนิด 
ในพระราชวังสถิตย์                เกิดพร้อม 
พระบาทพระนั่งเกล้าสฤษฎิ์             รังรุกข์ ไว้นา 
มาบัดนี้ทรงสร้อม                   แทรกฟื้นพรรคขบวน 

กับคำว่าพระบัณฑูร  ซึ่งใช้กับวังหน้า  มีโรงหุ่นด้วย เลยนึกถึง วังหน้ารัชกาลที่ ๕ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ
พระบัณฑูรโปรดไม้                   นามเขน 
กับป่าข้อมชายเอน                    ออกตั้ง 
โรงหุ่นแต่งทุกเวร                     วางเทียบ งามแฮ 
สมฉากสมเขาทั้ง                      เทียบพื้นไพรระหง 

แต่กรมหลวงพิทักษ์มนตรีท่านสิ้นพระชนม์ไปก่อนรัชกาลที่ ๕ นี่นา   


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 ส.ค. 07, 10:46
น่าจะแต่งเมื่อในรัชกาลที่ 4 เพื่อรักษาตำราของกรมหลวงพิทักษ์มนตรีไว้
ขุนท่องสื่อ ช่วง ภายหลังเป็นหลวงมงคลรัตน์ ท่านอยู่ในสกุลไกรฤกษ์ครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 07, 11:07
งั้นไม้ดัดก็มีกันมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑
มหาดเล็กเจ้าของนิราศเมืองแกลง อยู่ในรัชกาลไหนก็ได้ตั้งแต่ ร.๑ ถึงร. ๕


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 ส.ค. 07, 18:57
ไม้ดัดมีมาแต่ยุธยาแล้วครับ
แต่มาบ้าเล่นกันถึงวางตำราอาจจะในรัชกาลที่ 2

แต่ขุนช้างขุนแผนน่ะ
กว่าจะแพร่หลายออกมาให้ขุนนางปลายแถวสามคน จำเอามาว่าเล่นริมชายหาดได้
ต้องเป็นยุคที่ตัวบทหาอ่านได้ง่ายๆแล้วเท่านั้น

เจ้าหนุ่มทั้งสามนี่ คงไม่บิ๊กพอได้อ่านสมุดไทยที่คัดลอกกันแพงๆดอก
อ่านเอาจากสมุดเล่มบางๆของหมอสมิท นั่นล่ะเข้าเค้า
กวีที่แต่งนิราศนี่น่ะ อาจจะได้จับต้องสมุดดำมาบ้าง
แต่ประเด็นมันอยู่ที่คนพายเรือ ลูกน้องแหละครับ ที่สามารถว่ากลอนได้
ผมเพ่งที่สองคนนี้ตะหาก


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 07, 19:19
ลบทิ้งค่ะ ถูกวางยา :-\



กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 ส.ค. 07, 19:36
ยาแรงไป อาจารย์ตอบผิดกระทู้แฮะ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 17 ส.ค. 07, 23:48
ง่ะ..ใครหนอมาวางยาท่านอาจารย์เทาชมภูได้

ไม้ดัด กับ ขุนช้างขุนแผน  คิดได้เหมือนกันครับ  ก็ตำราบอกชัดแล้วไงครับว่าไม้ดัดมีมาตั้งแต่อยุธยา  แพร่หลายมาถึงรัตนโกสินทร์ เพราะรัตนโกสินทร์รับเอาทุกอย่างของครั้งกรุงศรีมาทั้งหมด  แม้แต่นิยายปะรำปะราเรื่องขุนช้างขุนแผน  ที่เล่าสืบกันมาทั้งแบบนิทานบอกเล่าและแบบบทกลอน  ไม่แปลกนี่ครับที่จะแพร่หลายบ้างในหมู่คนชอบนิทานหรือกลอน  แล้วก็มารวบรวมกันเป็นเรื่องเป็นราวในสมัยยุคทองของกวี  เป็นไปได้ครับ .......... ;D


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: มีนา ที่ 25 ส.ค. 07, 22:43
น่าจะแต่งเมื่อในรัชกาลที่ 4 เพื่อรักษาตำราของกรมหลวงพิทักษ์มนตรีไว้
ขุนท่องสื่อ ช่วง ภายหลังเป็นหลวงมงคลรัตน์ ท่านอยู่ในสกุลไกรฤกษ์ครับ


ขุนท่องสื่อนั้น หนังสือ สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา ของ จิตร ภูมิศักดิ์ บอกไว้ว่าเป็นตำแหน่งล่าม โดยเดิมเป็นตำแหน่งขุนนางจีน ทง ซือ แปลว่า ล่าม


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ส.ค. 07, 10:15
ต้นสกุลไกรฤกษ์ เป็นจีนฮกเกี้ยนมาแต่เดิม ลูกหลานเป็นล่ามจีนก็ไม่แปลกอะไร สมัยนั้นจีนฮกเกี้ยนมีความรู้  ร่วมแปลพงศาวดารจีนเอาไว้หลายเล่ม สามก๊กนี่ก็ฮกเกี้ยนแปล

ขุนท่องสื่อ มีหลายคน  ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑-๔    แล้วแต่ว่าใครจะรับตำแหน่งนี้  พอเจริญในราชการเลื่อนไปสู่ตำแหน่งสูงกว่า  คนใหม่ก็เข้ามาเป็นขุนท่องสื่อแทนค่ะ



กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ต.ค. 07, 16:59
ดึงกระทู้นี้ขึ้นมาอีกครั้ง ยังติดใจบางประเด็นอยู่


กลับไปเปิดพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ  ว่าด้วยเรื่องประวัติของขุนช้างขุนแผนอีกครั้ง

"ข้าพเจ้าสังเกตสำนวนกลอนเห็นว่า  ตอนนางวันทองหึงกับนางลาวทอง เมื่อขุนแผนกลับมาถึงบ้าน   ดูเหมือนจะเป็นพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ 
ส่วนพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  เข้าใจว่าเป็นตอนขุนช้างขอนางพิม  และตอนขุนช้างพานางวันทองหนี  อยู่ต่อพระราชนิพนธ์ทั้ง ๒ ตอน"

ถ้าเป็นตามนี้  นิราศเมืองแกลงตอนที่บอกว่า

ดูครึ้มครึกพฤกษาป่าสงัด              ทะลุลัดตัดทะเลแหลมทองหลาง
ต่างเพลิดเพลินเดินว่าเสภาพลาง    ถูกขุนช้างเข้าหอหัวร่อเฮ

จะต้องแต่งอย่างเร็วสุดก็ในรัชกาลที่ ๒   ไม่ใช่รัชกาลที่ ๑    เพราะผู้แต่งตอนขุนช้างเข้าหอ  คือ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์
ส่วนเสภาแพร่หลายออกมานอกวังเมื่อไร   สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าไว้เองว่า แพร่หลายในรัชกาลที่ ๓

" เมื่อในรัชกาลที่ ๓ นั้น  ถึงสมเด็จพระนั่งเกล้าฯไม่โปรดการฟ้อนรำขับร้องก็จริง   แต่ก็ไม่ทรงขัดขวางห้ามปราม มิให้ผู้อื่นเล่น
การเหล่านั้น เจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เล่นกันขึ้นหลายแห่ง   เล่นละครบ้าง มโหรีปี่พาทย์บ้า   เสภานับว่าเป็นส่วนอันหนึ่งของปี่พาทย์ เพราะเป็นต้นบทส่งลำ
จึงเล่นเสภากันแพร่หลายต่อมา"

ตีความได้ว่าอะไร
๑)กวีหนุ่มเจ้าของนิราศเมืองแกลง ตลอดจนเพื่อนรุ่นน้องสองหนุ่ม เดินขับเสภากันเฮฮา  ในรัชกาลที่ ๓  หรืออย่างเร็วก็รัชกาลที่ ๒
๒)ถ้าเป็นรัชกาลที่ ๒ ก็แสดงว่ากวีหนุ่มของเรา และเพื่อนต้องใกล้ชิดกับวังหลวงมาก ถึงรู้เรื่องเสภาอย่างดีขนาดจำขึ้นใจได้
๓)ถ้าเป็นรัชกาลที่ ๓  กวีหนุ่มเรื่องนี้ยังไม่ทันแต่งงาน   มาถึงนิราศพระบาท แต่งงานแล้วกำลังงอนกับเมีย  ถ้าเป็นคนเดียวกัน  นิราศเมืองแกลงแต่งก่อน
นิราศพระบาทก็จะต้องแต่งในรัชกาลที่ ๓ หรือหลังจากนั้น
 
หมายเหตุ  คำว่า "ถ้า" เยอะมากค่ะ  เป็นเงื่อนไขที่ทำให้ตีความยากจริงๆ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 01 ต.ค. 07, 19:02
ตีไม่ยากเลยครับ
ขอบคุณที่ขุดทั้งกระทู้ และขุดข้อมูลมาเสริม

ผมเองไม่ใคร่เข้าใจเรื่องการประพันธ์ ก็เลยนึกเทียบแบบละคอนทีวี
การที่ขุนนางชั้นล่าง 3 คน มาเดินว่าเสภากันริมหาด ย่อมต้องหมายความว่า ช่ำชองกับความตอนนั้นจนขึ้นใจ
แความตอนนั้น ต้องเป็นของยอดนิยมด้วย

ถ้าเป็นคนวงใน แกก็อาจจะได้อ่านได้ฟังตัวบทมา และอาจจะเคยร่วมขับมาบ้างกระมัง
แต่เท่าที่อ่านๆ มา ทั้งกวี และศิษย์ ดูเหมือนจะรับราชกาลกับเจ้านายที่ไม่สูงศักดิ์นัก
และไม่หนิดหนมด้วย...สังเกตจากที่อ้างถึงเจ้านาย ไม่ไคร่จะแสดงความผูกพันธ์เท่าใดนัก

และเจ้านายก็ไม่น่าจะเกี่ยวข้องอะไรกับละคอนเสภา เพราะงานที่สามหนุ่มมาทำ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องทางหัวเมือง
ทีนี้ สามหนุ่มจะไปจำบทเสภามาจากใหน ผมก็ขอเดาว่าจำมาจากฉบับพิมพ์ของหมอสมิธ

จึงยังยืนกรานว่า นิราศเมืองแกลงแต่งราวรัชกาลที่ 4 ครับ หลังหมอสมิธตั้งโรงพิมพ์แล้ว


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ต.ค. 07, 19:13
ถ้าจะปักหมุดลงไปในรัชกาลที่ ๓  ก็พอจะมีเหตุผลประกอบได้
๑) เสภาที่หนุ่มๆขับกันเฮฮา เป็นส่วนหนึ่งของปี่พาทย์ที่เล่นกันแพร่หลายนอกวังหลวง ในรัชกาลที่ ๓
๒) เจ้านายของสามหนุ่ม โปรดปี่พาทย์   จึงมีเสภาขับกันให้ฟังอยู่เป็นประจำในวังของท่าน เพราะเสภาเป็นส่วนหนึ่งของปี่พาทย์
๓) ตอนขุนช้างเข้าหอ  เป็นตอนที่น่าจะขับกันหลายครั้งในวัง
๔) เป็นได้ว่ามหาดเล็กสามคนนี้ ขับเสภาถวายเจ้านายมาก่อน  จึงว่ากลอนตอนนี้กันแม่น  ตอนอื่นๆก็คงแม่นเหมือนกัน
๕) ตอนขุนช้างเข้าหอ เป็นตอนตลกทะลึ่ง   ถูกใจหนุ่มๆกันมาก
๖) ถ้าเป็นหนุ่มมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๔  หมอสมิธ "พิมพ์"ขุนช้างขุนแผนให้คน"อ่าน"   ไม่ใช่ให้"ขับ"  พวกนี้ไม่น่าจะได้" อ่าน" แล้วมา"ขับ" ทีหลัง
แต่ว่าจะต้องได้ยิน "การขับเสภา" โดยตรง  ถึงจำมาขับ  ไม่ได้มาว่าเป็นกลอนอย่างคนอ่านพึงจำ
๗) ลักษณะการจำอะไรเป็นตอนยาวๆ มาขับ  น่าจะเป็นคุณสมบัติในยุคที่ฟังด้วยหูแล้วจำขึ้นใจ  มากกว่าจะอ่าน แล้วจำ ค่ะ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 ต.ค. 07, 20:40
๋๋หลังจากที่คณะแบบติสต์มิสชันยุบแผนก    แสมูเอ็ล์ เจ. สมิท  เปิดโรงพิมพ์บางคอแหลมในปี ๒๔๑๑ เพื่อทำงานเลี้ยงชีวิต   
หนังสือที่พิมพ์แจกในงานเปิดโรงพิมพ์ ๑๐๐ เล่ม คือ สามก๊กเล่มสอง ตั้งแต่เรื่อง ๒๕ จบ ๔๘ สมุดไทย


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 01 ต.ค. 07, 22:23
วินิจฉัยของอาจารย์มีเหตุผลครับ
ขอน้อมรับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ต.ค. 07, 22:48
ถ้างั้น  ก็มีให้คิดได้  ๒ ข้อ
๑) สุนทรภู่ไม่ได้แต่งนิราศเมืองแกลง  คนแต่งเป็นมหาดเล็กหนุ่มในรัชกาลที่ ๓ ชื่อเรียงเสียงไรไม่ปรากฏ
๒) สุนทรภู่คือคนแต่งนิราศเมืองแกลง  แต่ไม่ได้มีชีวิตอยู่ในรัชกาลที่ ๑ อย่างที่เชื่อกันมา   เป็นคนเกิดสมัยรัชกาลที่ ๒ หรือรัชกาลที่ ๓   
อาจจะไม่ได้ตายสมัยรัชกาลที่ ๔ แต่อยู่มายาวนานกว่านั้น

ถ้างั้น("ถ้า" อีกครั้ง) จะอลหม่าน   ชนเปรี้ยงเข้ากับหลักฐานหลายข้อ

- ท่านแต่งกำเนิดพลายงามในรัชกาลไหนกันแน่
- ถ้าเป็นมหาดเล็กหนุ่มน้อย  ยังไม่ทันมีเมียในรัชกาลที่ ๓    ก็จะเป็นกวีเอกในรัชกาลที่ ๒ ขนาดต่อพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ไม่ได้ เพราะเกิดไม่ทัน
- เรื่องวิวาทหน้าพระที่นั่งกับกรมหมื่นเจษฏาบดินทร์ ก็เป็นไปไม่ได้  เกิดไม่ทัน หรือเกิดแล้วแต่โตไม่ทัน
- จะเอาเวลาช่วงไหนไปเป็น "อาลักษณ์เดิม" ของเจ้าฟ้าอาภรณ์
- ไม่ทันเป็นมหาดเล็กพระองค์เจ้าปฐมวงศ์แน่ๆ
- แม่ของสุนทรภู่ต้องไม่ทันเป็นแม่นมพระธิดากรมพระราชวังหลัง
- ก็จะไปขัดกับนิราศสุพรรณ ที่เอ่ยถึงวังหลังเอาไว้อย่างสนิทสนม
ฯลฯ
เหนื่อย
เอาเป็นว่าคนแต่งนิราศเมืองแกลง เป็นคนละคนกับสุนทรภู่จะง่ายกว่า   แต่ขืนเผยแพร่ออกไป   ชาวระยองเอาตาย!


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 02 ต.ค. 07, 00:29
ถ้าสุนทรภู่ เป็นกวีที่แต่งนิราศเมืองแกลง
เราก็ต้องวางอายุให้ท่านใหม่
ในปีแต่งนิราศนี้ ผู้แต่งต้องยังหนุ่มพอควร ไม่น่าจะเกิน 35 บวกลบได้นิดหน่อย
เพราะท่านต้องมีเสน่ห์พอที่หลานสาวจะหึงหวงกัน
และตลอดทั้งเรื่อง ไม่มีตรงใหนบ่นว่าตัวเองแก่

วันเวลาเดินทาง ก็ต้องเป็นช่วงรัชกาลที่ 3 เมื่อเสภาแพร่จากวังหลวง มาสู่วังเจ้านาย
ความจริงตอนที่เรือออกปากน้ำ ครั้งรัชกาลที่ 3 มีการสร้างป้อมวิเชียรโชฏก ไว้ปากคลองมหาชัย ปี 2371
ท่านมิได้เอ่ยไว้ น่าจะเป็นหมุดเวลาได้ว่าแต่งตอนต้นรัชกาล ก่อนป้อม
(แต่ไม่รับรองว่าเป็นดังนั้น ท่านไม่เอ่ย อาจจะมีป้อมแล้วก็ได้)

ตีเสียว่า ท่านเป็นหนุ่มฉกรรจ์เมื่อปีนั้น ท่านก็จะเป็นอาลักษณ์มิได้ และท่านก็มิได้ออกบวชหนีโอษฐ์ภัย
แต่ไปเป็นข้าในวังเจ้านายพระองค์หนึ่ง ที่มีวงเสภาประจำ และมีราชการดูแลท้องถิ่นฝั่งระยองนี้
โอ้...แล้วท่านจะเอาชีวิตช่วงใหนไปทำตัวให้ตรงกับเพลงยาวถวายโอวาทที่ว่าเป็นอาลักษณ์เดิมเล่า

นี่ผมทำอะไรไปเนี่ยะ
มีทางเดียวที่จะคงประวัติท่านสุนทรไว้ตามเดิม อ้อ 2 ทางครับ
1 ข้อความผิดพลาด คนรุ่นหลังมาแต่งใส่
2 สมัยรัชกาลที่ 1 ตอนปลายนั้น เสภาเป็นของยอดนิยมแล้ว ว่ากันสนุกทั่วทุกหัวระแหง
จนราชสำนัก ต้องนำเข้ามาปรุงแต่งเป็นของสูง

คิดเข้าข้างคนระยองได้เพียงนี้แหละครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ต.ค. 07, 12:38
นิราศเมืองแกลง ดิฉันให้อายุกวีมากที่สุด  25 หรือลดลงแค่ 20 ต้นๆด้วยซ้ำ     เพราะว่ายังไม่ได้แต่งงาน มีแต่คนรัก
ผู้ชายสมัยนั้นอายุครบ 20 ก็บวช  บวชเสร็จแล้วก็แต่ง 
พ่ออายุ 35 ลูกก็เป็นวัยรุ่นแล้ว

นอกจากนี้  ลักษณะผิวบางเหยาะแหยะ  ทนลำบากไม่ไหว  บอกถึงว่ายังอ่อนประสบการณ์ชีวิตอยู่มาก

ทุกเช้าเย็นเห็นแต่หลานที่บ้านกร่ำ              ม่วงกับคำกลอยจิตขนิษฐา
เห็นเจ็บปวดนวดฟั้นช่วยฝนยา                   ตามประสาซื่อตรงเป็นวงศ์วาน
ครั้นหายเจ็บเก็บดอกไม้มาให้บ้าง               กลับระคางเคืองข้องกันสองหลาน
จะว่ากล่าวน้าวโน้มประโลมลาน                  ไม่สมานสโมสรเหมือนก่อนมา
ก็จนจิตคิดเห็นว่าเป็นเคราะห์                      จึงจำเพาะหึงหวงพวงบุปผา
ต้องคร่ำครวญรวนอยู่ดูเอกา                       ก็เลยลาบิตุรงค์ทั้งวงศ์วาน

หลานสาวที่ว่า คงจะอายุไม่ต่างจากกวีหนุ่มมากนัก  ถึงได้หึงหวงกัน ตามประสาสองสาวกับหนึ่งหนุ่ม
ตัวเธอเองก็คงจะยังสาวรุ่น ถึงยังไม่ออกเรือน 
ตามธรรมเนียม พอลูกสาวโตเป็นสาว พ่อแม่ก็จัดการให้มีเหย้าเรือนไปเสียตั้งแต่อายุไม่เกิน 18  ไม่ปล่อยเป็นสาวแก่อยู่คาบ้าน
ถ้าคุณน้า(หรือคุณอา) อายุ 30 กว่า   สาวน้อยสองคนนี้คงจะมองเห็นเป็นญาติผู้ใหญ่ ไม่มาหึงกันแน่ๆค่ะ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 02 ต.ค. 07, 12:47
กลอนเปิดของนิราศเมืองแกลง บอกไว้เรียบร้อยว่าใครแต่ง
                                  ๏ โอ้สังเวชวาสนานิจจาเอ๋ย
จะมีคู่มิได้อยู่ประคองเชย        ต้องละเลยดวงใจไว้ไกลตา
ถึงทุกข์ใครในโลกที่โศกเศร้า    ไม่เหมือนเราภุมรินถวิลหา
จะพลัดพรากจากกันไม่ทันลา    ใช้แต่ตาต่างถ้อยสุนทรวอน ฯ
ที่น่าสนใจคือ ในกระบวนนิราศที่เชื่อ(หรือสงสัย)ว่าเป็นงานของสุนทรภู่ เรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวที่ประกาศชื่อไว้ตั้งแต่ตอนต้นแบบนี้ รำพันพิลาปยังออกแค่ชื่อ "สุนทร" คงมีเพียงนิราศเณรหนูพัดกับนิราศเณรกลั่นที่ออกชื่อโจ่งแจ้งกว่านี้ครับ



พิจารณาในเชิงกลอน กลอนในนิราศเมืองแกลงเป็นแบบสุนทรภู่เป๊ะ ถึงขนาดที่ว่าบางท่านที่เชื่อว่านิราศทั้งหมดเป็นงานของสุนทรภู่ถึงกับต้องดิ้นรนสลับนิราศพระบาทไปอยู่หน้านิราศเมืองแกลง เพราะทางกลอนนิราศเมืองแกลงเป็นแบบสุนทรภู่ ชัดกว่านิราศพระบาทแบบเทียบกันไม่ได้ จนถึงกับต้องสร้างข้อสันนิษฐานว่านิราศพระบาทแต่งเมื่อทางกลอนของสุนทรภู่ยังไม่ลงตัว (และลงตัวในอีกหนึ่งปีต่อมาเมื่อแต่งนิราศเมืองแกลง)

มองจากแง่มุมนี้ ถ้านิราศเมืองแกลงไม่ใช่งานของสุนทรภู่ ก็ต้องเป็นงาน "ตั้งใจ" ทำเทียม และทำได้เหมือนเสียด้วยซีครับ



ผมสอบเส้นทางนิราศเมืองแกลง เจอความยากอีกอย่างหนึ่งคือ หานิราศอื่นที่ใช้เส้นทางนี้ได้ยาก ที่ใกล้เคียงที่สุดก็คือนิราศฉะเชิงเทรา พระนิพนธ์กรมหลวงภูวเนตร์นรินทรฤทธิ์ ( พ.ศ. ๒๓๖๙ ?) นิราศเรื่องนี้ใช้เส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วเลี้ยวเข้าคลองสำโรงเหมือนนิราศเมืองแกลง แต่เมื่อออกแม่น้ำบางปะกงแล้วทวนน้ำขึ้นไปทางเหนือ ในขณะที่นิราศเมืองแกลงล่องลงใต้ออกปากแม่น้ำบางปะกง แล้วเลียบชายทะเลไปถึงบางปลาสร้อย แล้วจึงเดินบกไปถึงเมืองแกลง

(ปล. ไม่ได้ออกไปทางท่าจีนออกมหาชัยนาครับอาจารย์พิพัฒน์ ดังนั้นต้องไม่ผ่านป้อมวิเชียรโชฏกแน่ๆครับ)

ที่ใกล้เคียงรองลงมาจากนิราศฉะเชิงเทรา  ก็เป็นนิราศที่ล่องมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่เลี้ยวเข้าคลองบางกอกใหญ่ไปเสียก่อน ได้แก่
- กำสรวลสมุทร ซึ่งยุคสมัยต่างกันมาก และกล่าวถึงสถานที่ในเส้นทางนี้น้อยมาก ไม่เหมาะที่จะนำมาเปรียบเทียบ
- นิราศพระยาตรัง ซึ่งก็ใช้เส้นทางเดียวกันแค่จากกรุงเทพลงมาถึงปากคลองสำโรง แล้วล่องลงไปจนถึงปากน้ำ แต่งราว ๒๓๕๒
- นิราศชุมพร ของพระพิพิธสาลี ซึ่งก็ใช้เส้นทางเดียวกันแค่จากกรุงเทพลงมาถึงปากคลองสำโรง เหมือนนิราศพระยาตรัง แต่งเมื่อใดไม่ปรากฏ ท่านจันทร์ทรงวินิจฉัยว่าสำนวนด้อยกว่านิราศทวายซึ่งแต่ง ๒๓๓๔ น่าจะแต่งก่อน แต่ผมพบว่านิราศชุมพรกล่าวถึงวัดราชบุรณะ ซึ่งน่าจะได้ชื่อนี้เมื่อบูรณะเสร็จ (พ.ศ. ๒๓๓๙ ?) ดังนั้นนิราศชุมพรน่าจะแต่งขึ้นหลังจากนั้น
- โคลงนิราศท้าวสุภัติการภักดี พระราชนิพนธ์ ร.๕ ล่องตามแม่น้ำเจ้าพระยาไปออกปากน้ำเช่นเดียวกัน กล่าวถึงสถานที่ในแม่น้ำเจ้าพระยาน้อย และยุคสมัยใหม่กว่าเรื่องอื่นๆ

ดังนั้นจะขอเปรียบเทียบโดยอิงนิราศฉะเชิงเทรา, นิราศพระยาตรังและ นิราศชุมพรครับ

(โปรดติดตามตอนต่อไปครับ)


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 02 ต.ค. 07, 13:23
ที่ผมกำหนดอายุนิราศชุมพรด้วยวัดราชบุรณะเห็นจะไม่ได้ความแล้วครับ โคลงออกชื่อวัดราชบุรณะ แต่ตำแหน่งดันเป็นวัดราษฎร์บูรณะ
เรื่องนี้มีประเด็นที่น่าสนใจมากกว่านี้ เดี๋ยวจะเอามาขยายอีกทีครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 02 ต.ค. 07, 13:32
รับแซ่บครับ...รอฟังต่อไป


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ต.ค. 07, 13:36
กลอนตอนนี้ ให้ภาพสำเพ็งในสมัยนั้น ว่า
๑) มีเก๋งตั้งริมแม่น้ำ
๒) มีเรือนแพจอดอยู่มาก  
๓) มีตรอกในสำเพ็ง เป็นถิ่นของโสเภณี มีมโหรีจีน  นางนักร้องขับร้องตอนยามสอง คือหลังสามทุ่มถึงเที่ยงคืน  เสียงแว่วมาถึงเรือกลางแม่น้ำ

ถึงสำเพ็งเก๋งตั้งริมฝั่งน้ำ                    แพประจำจอดเรียงเคียงขนาน
มีซุ้มซอกตรอกนางเจ้าประจาน           ยังสำราญร้องขับไม่หลับลง

ดูเหมือนคุณส.พลายน้อย หรือไม่ก็ใครสักคนที่เล่าเรื่องเก่าๆของกรุงเทพ เคยพูดถึง" เก๋งจีน"  จำไม่ได้ว่ารัชกาลไหน  แต่ไม่น่าจะถอยไปถึงรัชกาลที่ ๑
คุณพพ.และคุณอาชาฯ พอจะดูออกไหมคะ ว่าเป็นสำเพ็งตั้งแต่รัชกาลไหน


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 02 ต.ค. 07, 14:59
นิราศเมืองแกลงมีดีที่ไม่ได้ "ครวญ" อย่างเดียว แต่เล่าเรื่องราวประกอบหลายตำบลที่ผ่าน น่าเสียดายที่กวีออกเดินทางตอนกลางคืน จึงบรรยายภาพช่วงที่ล่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาไว้ไม่มากนัก สำเพ็งเป็นตำบลแรกที่มีการบรรยายไว้ จากกลอนทีี่่อาจารย์ยกมาจะเห็นภาพสำเพ็งในแง่ลบ ลองดูนิราศอื่นๆอีกสามเรื่องนะครับ (จะเรียงลำดับจากเก่าไปหาใหม่นะครับ)

นิราศชุมพร
สามเพ็งเพ็งพักตร์เพี้ยง   ดวงเดือน แม่ฤๅ
แขแข่งคิงคมเหมือน      แว่นฟ้า
รำลึกเกลื่อนใจเตือน      ดาลดื่น
เพ็งว่าเพ็งพักตร์หน้า      แม่หน้านวลจันทร์ ฯ

นิราศพระยาตรัง
ไม่กล่าวถึงสำเพ็ง

นิราศฉะเชิงเทรา
สามเพ็งเพ็งพักตร์แผ้ว    ผิวขวัญ แม่เอย
เพ็ญพักตร์พิบูลย์จันทร์   แจ่มฟ้า
สามภพพี่เล็งสรร         แสนพักตร์ ก็ดี
พิศบ่เพ็ญบูรณ์หน้า       หนึ่งหน้านางเดียว ฯ

สามเพ็งเพ็ญพักตร์น้อง   นวนผจง
เพ็งยิ่งเพ็ญจันทร์วง       วาดแต้ม
โอ้ศรีสวัสดิทรง           สรรพลักษณ์ กูเอย
เพ็ญพักตร์พิมลแย้ม      ยั่วยิ้มยวนใจ ฯ

จะเห็นว่าสองเรื่องที่เอ่ยถึงสำเพ็ง มาแนวครวญ

ผมไม่อยากจะเอามาตรฐานตัวเองไปใส่คนอื่น แต่ถ้าเป็นผม คงไม่เอาสาวคนรักไปสวมครวญกับแหล่งหญิงงามเมืองเป็นแน่ครับ
อ้อ... ย้ำตรงนี้อีกหน่อยครับ นิราศฉะเชิงเทรา ทะเบียนวรรณคดีว่าแต่ง ๒๓๖๙ นะครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ต.ค. 07, 15:16
นิราศชุมพรกับนิราศฉะเชิงเทรา มาแนวนิราศนรินทร์  เอาชื่อสถานที่โยงเข้ากับนาง หรืออารมณ์ครวญเป็นหลัก   บรรยายสถานที่น้อยกว่า

ตามข้อสังเกตของคุณอาชา     เลยทำให้เกิดคำถามว่า สำเพ็งสมัยกวี ๒ ท่าน  ยังไม่มีโสเภณีหรือไร 
กวีถึงเทียบคำว่าเพ็งกับหน้างามของสาวคนรัก  แบบไม่ตะขิดตะขวงถึงแหล่งโสเภณีเสียเลย


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 02 ต.ค. 07, 15:32
ขอแวะข้างทางย้อนกลับไปหนึ่งป้ายนะครับ สามปลื้มครับ

นิราศชุมพร
ถึงสาวปลื้มพี่ปล้ำ           ปลอบใจ
ปลอบประโลมอาลัย        คะค้อย
สาวปลื้มห่อนเห็นไฉน       ราแม่
ปลื้มแต่นามละห้อย         ห่อนปลื้มใจเรียม ฯ

นิราศพระยาตรัง
ถึงวัดสามปลื้มยิ่ง            อาไลย์
คิดแม่ปลื้มใจใจ             จักขว้ำ
นับวันจะคอยใคร            ครวญปลอบ นางนา
โอ้ที่ปลื้มกลับปล้ำ           ม่อน้อยนางแกง ฯ

นิราศฉะเชิงเทรา
สามปลื้มปลื้มจิตต์เปลื้อง    ปลิดไกล มาแม่
ปลื้มกลับเปลี่ยนเปลี่ยวใจ   จากเจ้า
ปลื้มสามสิ่งสามไฉน         ศักดิ์หนึ่ง น้อยรา
สองปลีกเปล่าทรวงเศร้า     สิ่งปลื้มฤๅมี ฯ

นิราศเมืองแกลง
ถึงสามปลื้มพี่นี้ร่ำปล้ำแต่ทุกข์      สุดจะปลุกใจปลื้มให้ลืมหลัง
ขออารักษ์หลักประเทศนิเวศน์วัง   เทพทั้งเมืองฟ้าสุราลัย

น่าสังเกตว่าในนิราศชุมพร พระพิพิธสาลีเรียกชื่อตำบลว่า สาวปลื้ม ผิดกว่าใครๆ และไม่ใช่คัดลอกผิดแน่ เพราะบริบทบอกความอยู่ครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 02 ต.ค. 07, 15:49
อีสำเพ็ง เป็นคำด่าสมัยหลัง คือใช้กันอยู่ในยุคที่กาญจนาคพันธ์ยังเป็นเด็ก
ส่อว่า การโยงสำเพ็งเป็นแหล่งหญิงงามเมือง น่าจะเกิดใหม่กว่ารัชกาลที่ 2-3 เสียด้วยซ้ำ

อ่านของสกินเนอร์แล้วก็ยังไม่พบว่า มีการสั่งสาวจีนมาทำอาชีพพิเศษในครั้งใด
แต่เมื่อพระยาราชาเศรษฐี ถูกไล่ที่ทำวังไปอยู่สำเพ็ง
ไม่คิดว่าจะมีอย่างว่าแล้ว

ต้องรอจนแรงงานจีน อพยพเข้ามาเป็นปึกแผ่นอยู่ในกรุงเทพ ธุรกิจนี้จึงค่อยจะเฟื่องฟู
คนจีนอพยพรุ่นแรกๆ จะไม่ได้เข้ามาอยู่ในกรุงครับ
งานมีรออยู่ตามไร่อ้อย โรงน้ำตาล แถวแปดริ้วมากกว่า


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 02 ต.ค. 07, 15:54
จากสำเพ็งไป นิราศเมืองแกลงไปโผล่อีกทีที่ดาวคะนองเลย ระหว่างเส้นทางนี้ นิราศเรื่องอื่นๆเอ่ยถึงสถานที่ต่างๆกันดังนี้ครับ

นิราศชุมพร
ฉางพริก, ฉางเกลือ, คลังฝาง, คอกควาย, บางลำพู

นิราศพระยาตรัง
ฉางเกลือ, วัดทอง, คอกควาย

นิราศฉะเชิงเทรา
วัดทอง, บางรัก, คอกควาย, บางลำพู

ดูเล่นสนุกๆก็แล้วกันครับ เพราะนิราศเมืองแกลงไม่เอ่ยถึงเลย


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 02 ต.ค. 07, 16:19
จากดาวคะนองเป็นต้นไป นิราศเมืองแกลงเอ่ยถึงสถานที่หลายแห่ง คือ ดาวคะนอง, วัดดอกไม้, บางผึ้ง น่าเสียดายว่าเป็นการครวญอย่างเดียว
นิราศเรื่องอื่นๆเอ่ยถึงสถานที่ดังนี้ครับ

นิราศชุมพร
ดาวคะนอง, บางโคล่, วัดราชบุรณะ, วัดดอกไม้

นิราศพระยาตรัง
ดาวคะนอง, วัดราชบุรณะ, บางผึ้ง, วัดดอกไม้

นิราศฉะเชิงเทรา
ดาวคะนอง, คอแหลม, บางปะแก้ว, วัดดอกไม้

ล้วนแล้วแต่เป็นบทครวญทั้งสิ้นครับ (บางผึ้ง ปัจจุบันเขียนว่า บางพึ่ง)

ขอแวะข้างทางเรื่องวัดราชบุรณะหน่อยครับ นิราศชุมพรกับนิราศพระยาตรังเอ่ยถึงวัดราชบุรณะ ทั้งๆที่โดยตำแหน่งต้องเป็นวัดราษฎร์บูรณะ เมื่อลงไปดูรายละเอียด นิราศชุมพรมีกล่าวถึงวัดเลียบมาก่อนหน้านี้แล้ว เป็นไปได้ว่าคัดลอกกันมาผิด ในขณะที่นิราศพระยาตรัง ตั้งแต่ "ลงสู่สำเภาจร จากคุ้ง" ก็เอ่ยถึงชื่อวัดสามปลื้มเลย โคลงบทที่กล่าวถึงวัดราชบุรณะเนื้อความดังนี้

วัดราชบุรณะเบื้อง       บุญใคร ทำนา
นามราชฤๅราชใด       สืบสร้าง
อ้าแม่นิโทไหน          นะนาฎ เรียมเอย
เหมือนราชให้เรียมร้าง  ไป่รู้วันสม ฯ

ดูเนื้อความแล้วว่าจะเอ่ยถึงวัดราชบุรณะถูกต้องอยู่แล้ว อาจจะมือดีไปสลับบทให้ระหว่างการคัดลอกครับ

น่าสังเกตว่าปลายรัชกาลที่ ๓ มีการบูรณะวัดดอกไม้ แต่นิราศเมืองแกลงก็ไม่ได้เอ่ยถึงเลยครับ เป็นบทครวญดอกไม้เหมือนนิราศเรื่องอื่นๆ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ต.ค. 07, 16:34
สมัยรัชกาลที่ ๕ มีโสเภณีที่สำเพ็งแล้ว แต่เริ่มจากรัชกาลไหนยังไม่รู้

ดิฉันคาดคะเนว่า ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อคนจีนเข้ามากันคราวละมากๆ  มีระบบเจ้าภาษีที่ทำให้พวกเสื่อผืนหมอนใบกลายเป็นเถ้าแก่กันแยะ    
ธุรกิจบันเทิงที่สำเพ็งน่าจะเริ่มเปิดกิจการแล้ว เพราะหาลูกค้ากระเป๋าหนักมีเงินทองพออุดหนุนได้
ลักษณะที่บรรยาย น่าจะเป็นกิจการคึกคัก อุ่นหนาฝาคั่ง อยู่ตัวแล้วทีเดียว    
เพราะสาวๆพวกนี้ขับร้องเพลงดังมาถึงแม่น้ำ แสดงว่ามีหลายโรง   ลำพังแต่นางคนเดียวหรือในโรงเดียว คงร้องได้ยินไม่ไกลขนาดนั้น

มีซุ้มซอกตรอกนางเจ้าประจาน           ยังสำราญร้องขับไม่หลับลง

นอกจากนี้มีคำว่า "ซุ้ม" "ซอก" "ตรอก" ด้วย  แสดงว่าเป็นชุมชนที่คับคั่ง มีเส้นทางสัญจรทางบก  นอกเหนือจากทางน้ำ    
กวีหนุ่มของเราเห็นทีจะรู้จักถิ่นนี้ดี  บรรยายด้วยคำกะทัดรัด แต่เก็บความได้เห็นภาพ
สงสัยว่า "ตรอกนางเจ้าประจาน" หมายถึงตรอกที่มีสำนักโคมเขียว  สมัยนั้นเขาเรียก "นางเจ้าประจาน" งั้นหรือคะ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 02 ต.ค. 07, 16:59
พ้นจากวัดดอกไม้มา นิราศเมืองแกลงเอ่ยถึงปากลัด บางระเจ้า (ปัจจุบันเรียก บางกะเจ้า) และศาลพระประแดง มาถึงตรงนี้ก็เช้าพอดี
ถึงปากลัดแลท่าชลาตื้น           ดูเลื่อมลื่นเลนลากลำละหาน
เขาแจวจ้วงล่วงแล่นแสนสำราญ   มาพบบ้านบางระเจ้ายิ่งเศร้าใจ
จากนี้รอน้ำขึ้นก็เลี้ยวเข้าคลองสำโรงครับ

นิราศเรื่องอื่นๆเอ่ยถึงสถานที่ดังนี้ครับ
นิราศชุมพร
ปากลัด, บางยอ, บางรัก, ช่องนนทรี, บางเตย, พระแผดง, บางสาน, คูแหลม, บางขนง, บางผึ้ง, บางนา, บางวัว, สำโรง

นิราศพระยาตรัง
ปากลัด, ช่องนนทรี, พระแผดง, บางขนง, สำมะโรง

นิราศฉะเชิงเทรา
บางขมิ้น, ปากลัด, ขนอนเขื่อนขันธ์, บางยอ, พระผะแดง, พระขนง, บางงัว, บางกะบัว, บางนา, สำโรง

ตรงนี้นิราศฉะเชิงเทราเอ่ยถึงขนอนเขื่อนขันธ์ ตามพงศาวดารว่านครเขื่อนขันธ์สร้างในปี ๒๓๕๗-๒๓๕๘ และให้ครัวมอญไปตั้งบ้านเรือน (เดี๋ยวนี้เรียกมอญปากลัด-มอญพระประแดง)

นิราศเมืองแกลงไม่เอ่ยถึงนครเขื่อนขันธ์ หรือมอญปากลัดเลย ซึ่งน่าสังเกตว่าค่อนข้างแปลก เพราะรู้สึกว่าสาวมอญนี่เป็นของชอบของสุนทรภู่เลย ผ่านที่ไหนเป็นต้องเอ่ยถึงครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ต.ค. 07, 20:27
ถึงศาลเจ้าอ่าวสมุทรที่สุดหาด             เลียบลีลาศขึ้นตามช่องที่คลองขวาง
ถึงบ้านแกลงลัดบ้านไปย่านกลาง         เห็นฝูงนางสานเสื่อนั้นเหลือใจ
แต่ปากพลอดมือสอดขยุกขยิก             จนมือหงิกงอแงไม่แบได้
เป็นส่วยบ้านสานส่งเข้ากรุงไกร             เด็กผู้ใหญ่ทำเป็นไม่เว้นคนฯ

พอจะหาหลักฐานได้ไหมคะ  ว่าระบบส่วยแบบนี้มีในรัชกาลไหน   สานเสื่อส่งเข้าเมืองหลวงเป็นส่วย


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 02 ต.ค. 07, 20:44
ระบบส่วยน่าจะเก่าแก่มากแล้วนะครับ โดยเฉพาะอยุธยาตอนปลายที่การค้าทางทะเลสร้างผลกำไรให้ท้องพระคลังได้มาก หลวงไม่ต้องการแรงงานคน รับเป็นส่วยมากขึ้น ไพร่เองก็พอใจ เพราะมีโอกาสในการทำมาหากินมากกว่า

และก็เป็นเหตุให้ระบบไพร่หละหลวมจนเกิดปัญหาในการระดมไพร่เพื่อรับศึกพม่า และเสียกรุงในที่สุดครับ

ยุครัตนโกสินทร์ อ่านพงศาวดาร ตั้งแต่สมัยร.๑ ก็มีการเกณฑ์ข้าวของปรากฏเป็นปกติครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 02 ต.ค. 07, 22:14
จากปากคลองสำโรง เราต้องโบกมือลาพระยาตรังกับพระพิพิธสาลีที่ล่องเรือต่อไปในแม่น้ำเจ้าพระยา เหลือแต่นิราศเมืองแกลงกับนิราศฉะเชิงเทราที่จะเลี้ยวเข้าคลองสำโรงต่อไปครับ

คลองสำโรงเป็นคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาแถวพระประแดงไปออกแม่น้ำบางปะกง เส้นทางใกล้เคียงกับถนนเทพารักษ์ แต่พอถึงบางบ่อแล้วไปเข้าบางนา-ตราดนะครับ

นิราศเมืองแกลงบรรยายสภาพคลองสำโรงช่วงต้นดังนี้
ถึงปากช่องคลองสำโรงสำราญใจ     พอน้ำไหลขึ้นเช้าก็เข้าคลอง
เห็นเพื่อนเรือเรียงรายทั้งชายหญิง     ดูก็ยิ่งทรวงช้ำเป็นน้ำหนอง
ไม่แม้นเหมือนคู่เชยเคยประคอง      ก็เลยล่องหลีกมาไม่อาลัย
กระแสชลวนเชี่ยวเรือเลี้ยวลด         ดูค้อมคดขอบคุ้งคงคาไหล
แต่สาชลเจียวยังวนเป็นวงไป          นี่หรือใจที่จะตรงอย่าสงกา
ถึงด่านทางกลางคลองข้างฝั่งซ้าย     ตะวันฉายแสงส่องต้องพฤกษา
ออกสุดบ้านถึงทวารอรัญวา           เป็นทุ่งคาแฝกแขมขึ้นแกมกัน
ลมระริ้วปลิวหญ้าคาระยาบ            ระเนนนาบพลิ้วพลิกกระดิกหัน
ดูโล่งลิ่วทิวรุกขะเรียงรัน               เป็นเขตคันขอบป่าพนาลัยฯ


นิราศฉะเชิงเทราบรรยายสภาพคลองสำโรงช่วงต้นแนวครวญ แต่พอบรรยายให้เห็นสภาพบ้างดังนี้
๕๕ สำโรงเรือลุเลี้ยว       ระทึกขวัญ เนตรเอย
โรงเล่ห์หลงโรงกัน          เกี่ยวก้อย
สองร่วมร่วมสินสรรพ์       สมรส ระคนนา
อยู่ไป่ยืนเยียวคล้อย        คลาดห้องหอโรง ฯ

๕๖ สำโรงยลแยบแม้น     เมินเหนียม ใจนา
ผักกระแหน่แนวเทียม       เทียบคล้าย
ชื่อโรงเล่ห์โรงเรียน          ลงร่วม โรงแม่
จากแม่เมิลไม้ลม้าย         มุ่งไม้สำโรง ฯ

๕๗ สามสิบสองโคกเบื้อง   เบาราณ มานา
ยลไป่เป็นเรือนชาน          ชัฎไม้
คิดโคกคฤหาดาล            แดสวาท แม่เอย
สนุกนิ์แผ้วเพียงไล้          แหล่งน้อยนางสงวน ฯ

๕๘ สามสิบสองโคกล้วน    แลดิน ดอกฤๅ
คำว่าโคกควรยิน             ย่านบ้าน
จรจากพี่จำถวิล              หวาดคิด คนึงแม่
คิดพี่คิดโคกสอ้าน           อกโอ้อายใจ


นิราศฉะเชิงเทราออกแนวอีโรติกหน่อย แต่บรรยายภาพคล้ายกันว่าคลองช่วงแรกคดเคี้ยว หลังจากนั้นก็เป็นป่า แต่นิราศเมืองแกลงบอกว่ามีด่านอยู่ทางซ้ายมือด้วยครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 02 ต.ค. 07, 22:52
พ้นช่วงแรกมาก็มาถึงทับนาง นิราศเมืองแกลงว่า
๏ ถึงทับนางวางเวงฤทัยวับ         เห็นแต่ทับชาวนาอยู่อาศัย
นางชาวนาก็ไม่น่าจะชื่นใจ          คราบขี้ไคลคร่ำคร่าดังทาคราม
อันนางในนคราถึงทาสี              ดีกว่านางทั้งนี้สักสองสาม
โอ้พลัดพรากจากบุรินแล้วสิ้นงาม   ยิ่งคิดความขวัญหายเสียดายกรุง

ในขณะที่นิราศฉะเชิงเทราเอ่ยถึงทับนางแต่เป็นบทครวญล้วนๆ ไม่เห็นภาพเลยครับ

ตำบลต่อไปคือบางพลี นิราศเมืองแกลงว่า
ถึงบางพลีมีเรือนอารามพระ       ดูระกะดาษทางไปกลางทุ่ง
เป็นเลนลุ่มลึกเหลวเพียงเอวพุง   ต้องลากจุงจ้างควายอยู่รายเรียง
ดูเรือแพแออัดอยู่ยัดเยียด       เข้าเบียดเสียดแทรกกันสนั่นเสียง
แจวตะกูดเกะกะปะกระเชียง      บ้างทุ่มเถียงโดนดุนกันวุ่นวาย

ส่วนนิราศฉะเชิงเทราว่า
๖๔ ลิ่วลิ่วลุล่วงบ้าน    บางพลี
ศาลเทพสิทธิศักดิ์มี    มดท้าว
สรวมไท้เทพอารี       อาราธน์ ราพ่อ
ตบัดพลีบวงจ้าว        จุ่งคุ้มภัยสมร


แถบบางพลีมีอยู่สามวัดที่เป็นไปได้ว่าจะเป็นวัดที่ปรากฏในนิราศเมืองแกลง คือวัดบางพลีใหญ่ใน วัดบางพลีใหญ่กลาง และวัดคงคาราม
วัดบางพลีใหญ่ในเป็นวัดเก่าสมัยอยุธยา วัดบางพลีใหญ่กลางสร้างเมื่อ ๒๓๖๗ ส่วนวัดคงคารามหาข้อมูลไม่ได้ ปัจจุบันร้างไปแล้ว

นิราศฉะเชิงเทราไม่พูดถึงวัด แต่พูดถึงศาล ไม่รู้หมายถึงศาลอะไรแต่ข้อมูลอ.บางพลีบอกว่ามีศาลเจ้าพ่อเก่าแก่เดิมอยู่ตรงข้ามวัดบางพลีใหญ่กลาง ไม่ทราบอายุแน่นอน แต่ประมาณว่าน่าจะมาพร้อมชาวจีนราว ๒๔๐๐ แต่นิราศฉะเชิงเทราเก่ากว่านั้นสามสิบปีครับ ถ้าหมายถึงศาลนี้ก็แปลว่าเป็นศาลที่เก่ากว่าที่คิด ถ้าไม่ใช่ศาลนี้ก็คงสูญหายไปแล้วครับ

จากนจุดนี้ไปเรือนิราศเมืองแกลงติดตื้น ถ่อกันแทบแย่ พ้นที่ติดตื้นไปก็เป็นบางโฉลง คลองขวาง บางกระเทียม ซึ่งนิราศฉะเชิงเทราไม่เอ่ยถึงครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 02 ต.ค. 07, 23:24
จากนั้นก็มาถึงหัวตะเข้ นิราศเมืองแกลงกล่าวถึงไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
ถึงชะแวกแยกคลองสองชะวาก     ข้างฝั่งฟากหัวตะเข้มีมะขาม
เข้าสร้างศาลเทพาพยายาม         กระดานสามแผ่นพิงไว้บูชา
ตะลึงแลแต่ล้วนลูกจระเข้           โดยคะเนมากมายทั้งซ้ายขวา
สักสองร้อยลอยไล่กินลูกปลา       เห็นแต่ตากับจมูกเหมือนตุ๊กแก

นิราศฉะเชิงเทราก็พูดถึงเหมือนกัน แต่คนละแนวกันเลย
๖๕ ลุเศียรจรเข้เขตต์         คเมกาล ก่อนนา
เกรียกเกียรติไกรทองชาญ   เชี่ยวแกล้ว
ตัดเศียรจรเข้ขนาน           นามสืบ ไว้รา
ตัดดั่งตัดสวาทแคล้ว          คลาดร้างแรมสมร ฯ

จากนี้ไปนิราศเมืองแกลงเอ่ยถึงสถานที่ต่อไปนี้
บางบ่อ, บ้านระกาด, บางสมัคร, บ้านมะพร้าว, บางวัว แล้วออกแม่น้ำบางปะกง

นิราศฉะเชิงเทราเอ่ยถึงสถานที่ต่อไปนี้
บ้านหอมสิน, บ้านพร้าว แล้วออกแม่น้ำบางปะกง น่าเสียดายที่ช่วงเส้นทางนี้นิราศฉะเชิงเทรา "ครวญ" อย่างเดียว ไม่มีบอกรายละเอียเอะไรไว้เลย

แต่มีประเด็นที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ บ้านหอมสิน(หอมศีล) อยู่ระหว่าง บ้านระกาด(ระกาศ)กับบางสมัคร นิราศเมืองแกลงเล่าการเดินทางช่วงนี้ไว้ดังนี้
๏ ถึงหย่อมย่านบ้านระกาดต้องลงถ่อ      ค่อยลอยรอเรียงลำตามน้ำไหล
จนล่วงเข้าหัวป่าพนาลัย                    ล้วนเงาไม้มืดคล้ำในลำคลอง
ระวังตัวกลัวตอตะเคียนขวาง               เป็นเยี่ยงอย่างผู้เฒ่าเล่าสนอง
ว่าผีสางสิงนางตะเคียนคะนอง             ใครถูกต้องแตกตายลงหลายลำ
พอบอกกันยังมิทันจะขาดปาก             เห็นเรือจากแจวตรงหลงถลำ
กระทบผางตอนางตะเคียนดำ              ก็โคลงคว่ำล่มลงในคงคา
พวกเรือพี่สี่คนขนสยอง                    ก็เลยล่องหลีกทางไปข้างขวา
พ้นระวางนางรุกขฉายา                     ต่างระอาเห็นฤทธิ์ประสิทธิ์จริง
ขอนางไม้ไพรพฤกษ์เทพารักษ์            ขอฝากภัคนีน้อยแม่น้องหญิง
ใครสามารถชาติชายจะหมายชิง           ให้ตายกลิ้งลงเหมือนตอที่ตำเรือ
จนล่วงล่องมาถึงคลองที่คับแคบ           ไม่อาจแอบชิดฝั่งระวังเสือ
ด้วยครึ้มครึกพฤกษาลัดดาเครือ            ค่อยรอเรือเรียงล่องมานองเนือง
ลำพูรายพรายพร้อยหิ่งห้อยจับ             สว่างวับแวววามอร่ามเหลือง
เสมอเม็ดเพชรรัตน์จำรัสเรือง               ค่อยประเทืองทุกข์ทัศนาชม
ถึงบางสมัครเหมือนพี่รักสมัครมาด          มาแคล้วคลาดมิได้อยู่กับคู่สม
ถึงยามนอนนอนเดียวเปลี่ยวอารมณ์        จะแลชมอื่นอื่นไม่ชื่นใจ

ยาวหน่อยนะครับ แต่ดูเหมือนที่ๆควรจะเป็นบ้านหอมสินในนิราศเมืองแกลงเป็นป่ารกเสือชุม ไม่มีวี่แววชุมชนเลย แต่จะฟันธงลงไปว่าบ้านหอมสินยังไม่มีก็พูดยาก เพราะระยะจากบ้านระกาศมาบางสมัครก็ไกลราว ๑๗-๑๘ กม.ได้ ชวงที่เป็นป่าทึบอาจจะอยู่ระหว่างบ้านหอมสินกับบ้านระกาศหรือบางสมัครก็เป็นได้ครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 02 ต.ค. 07, 23:30
ถึงตรงนี้กรมหลวงภูวเนตร์ท่านทรงล่องเรือทวนแม่น้ำบางปะกงขึ้นไป ในขณะที่กวีนิราศเมืองแกลงล่องเรือลงมาปากแม่น้ำบางปะกงซึ่งอยู่ห่างไปไม่ไกลแล้วครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ต.ค. 07, 13:33
คุณอาชาใช้กูเกิ้ลเอิร์ธทำเส้นทางนิราศเมืองแกลงได้ไหมคะ
เส้นทางนิราศเมืองแกลง  ดิฉันรู้สึกว่ากระโดดๆชอบกล  แต่ยังวาดภาพไม่ชัดเจนนัก

ลองทำเส้นทางดูบ้าง   ขอท่านผู้รู้เส้นทางช่วยตรวจสอบให้ด้วยค่ะ
 - เริ่มที่แม่น้ำเจ้าพระยา  วัดแจ้ง  สำเพ็ง   ดาวคะนอง วัดดอกไม้(วัดบุปผาราม)
บางผึ้ง  ปากลัด  บางระเจ้า   พระประแดง  สำโรง   อรัญวา
ทับนาง  บางพลี  บางโฉลง  หัวป่า  บ้านไร่
บางกระเทียม  หัวตะเข้  คลองขวาง
ปากตะครอง  คลองบางเหี้ย  บางบ่อ  บ้านระกาด
บางสมัคร  บ้านมะพร้าว  บางวัว
บางมังกง(บางปะกง?) ปากช่อง  บางปลาสร้อย
เขาสำมุก(เขาสามมุข บางแสน?)
ไปพักอยู่ที่บ้านขุนจ่าเมืองที่บางปลาสร้อย  บ้านลาน  บ้านไร่  บางพระ  ศรีมหาราชา(ศรีราชา?) ทุ่งสงขลา
บางละมุง บ้านนาเกลือ  พัทยา  เขาขวาง  นาจอมเทียน
ห้วยขวาง  ปากช่อง  บางไผ่  ห้วยพะยูน  ห้วยพร้าว
บ้านทับม้า   ปากช่อง ถึงระยอง อยู่ ๒ วัน
บ้านนาตาขวัญ  บ้านแสง คลองกรุ่น  คลองขวาง  บ้านแกลง
ตะพานยายเหม  บ้านกร่ำ  จบการเดินทาง


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 03 ต.ค. 07, 14:09
ได้ครับ แต่ขอเวลาหน่อยครับ

พอดีผมตามเส้นทางด้วย PointAsia.com ซึ่งมีข้อมูลสถานที่ในประเทศไทยมากกว่า GoogleEarth ครับ แต่ปักหมุดที่นั่นไม่ถนัด จะมาปักใน GoogleEarth ก็เปิดสองโปรแกรมนี้พร้อมกันไม่ได้ ลำบากหน่อยครับ

แต่โดยภาพรวม นิราศเมืองแกลง ล่องจากกรุงเทพลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา แต่พอถึงพระประแดงก็เลี้ยวเข้าคลองสำโรง พอออกแม่น้ำบางปะกง ก็ล่องลงมาปากน้ำบางปะกงพายเรือริมทะเลช่วงหนึ่งจนถึงบางปลาสร้อย แล้วเดินเท้าไปแกลงครับ

จะว่าไปการเดินทางไปภาคตะวันออกในยุคหลังจากนั้นก็ไม่ต่างกันมากครับ เข้าใจว่ามีถนนสุขุมวิทก่อน เส้นสขุมวิทนี่จะเลียบชายฝั่งตะวันออกไปตลอด ส่วนถนนเทพารักษ์ที่มาทีหลัง ยึดแนวคลองสำโรงตลอดทาง แต่ไปได้เพียงครึ่งทางคลองสำโรงเท่านั้นเองครับ


กระทู้: นิราศเมืองแกลงไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ 1
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 05 มี.ค. 11, 10:55
ผมมีข้อสังเกตุอย่างนึงครับว่า ในนิราศเมืองแกลงไม่มีการกล่าวถึงเมืองใหม่ที่ชื่อ เมืองนครเขื่อนขันธ์ เพราะหากนิราศนี้เป็นการแต่งขึ้นหลังสมัยรัชกาลที่ ๑ (เมืองนครเขื่อนขันธ์สร้างในปี ๒๓๕๘) ก็ควรจะมีการกล่าวไว้บ้าง เพราะเป็นการก่อสร้างเมืองที่ค่อนข้างสำคัญ มีป้อมปราการสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีทหารมอญมาตั้งรกราก และมีการขุดคลองลัดแห่งใหม่ความยาว ๓ กม. ซึ่งผู้แต่งนิราศเมืองแกลง ก็น่าจะใช้ประโยชน์จากทางลัดนี้ แทนที่จะแจวเรืออ้อมไปอีกหลายกิโลเมตร