เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: phat ที่ 27 พ.ย. 14, 12:10



กระทู้: ตำเเหน่งประธานศาลฎีกา
เริ่มกระทู้โดย: phat ที่ 27 พ.ย. 14, 12:10
ในปัจจุบันนั้น อำนาจเเบ่งออกเป็น 3 อำนาจคือ1.อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งมีหัวหน้าคือประธานรัฐสภา 2.อำนาจฝ่ายบริหารซึ่งมีหัวหน้าคือ คือนายกรัฐมนตรี และ3.อำนาจฝ่ายตุลาการซึ่ง มีหัวหน้าคือประธานศาลฎีกา
 ซึ่งจากฐานข้อมูลของสถาบันพระปกเกล้ามีใจความว่า ประธานรัฐสภา ถือเป็นตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายนิติบัญญัติมีฐานะและศักดิ์ศรีเทียบได้กับนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร และประธานศาลฎีกาซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายตุลาการ ประธานรัฐสภามีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และดำเนินกิจการของรัฐสภาในกรณีประชุมร่วมกันให้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา นอกจากนี้ยังมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ทั้งยังเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายรัฐสภาทั้งข้าราชการรัฐสภาสามัญและข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
หากเป็นเช่นนี้ผมจึงมีคำถามว่า ตำเเหน่งประธานศาลฎีกาซึ่งเป็นหัวหน้าของฝ่ายตุลาการ มีฐานะและศักดิ์ศรีเทียบเท่ากับนายกรัฐมนตรีหรือไม่


กระทู้: ตำเเหน่งประธานศาลฎีกา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 พ.ย. 14, 13:15
สมาชิกเรือนไทยท่านใดเป็นนักกฎหมาย หรือมีความรู้เรื่องระบบตุลาการ กรุณาตอบด้วยนะคะ


กระทู้: ตำเเหน่งประธานศาลฎีกา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 พ.ย. 14, 13:46
คำถามว่า ตำเเหน่งประธานศาลฎีกาซึ่งเป็นหัวหน้าของฝ่ายตุลาการ มีฐานะและศักดิ์ศรีเทียบเท่ากับนายกรัฐมนตรีหรือไม่

อ้างถึง
สมาชิกเรือนไทยท่านใดเป็นนักกฎหมาย หรือมีความรู้เรื่องระบบตุลาการ กรุณาตอบด้วยนะคะ

ผมไม่ได้เป็นนักกฏหมาย และไม่มีความรู้เรื่องระบบตุลาการ หากเคยอ่านพบมาว่า โดยนิตินัย ตำแหน่งทั้งสามนี้ถือว่ามีศักดิ์ศรีเท่ากัน แต่โดยพฤตินัยยังมีการเรียงลำดับขั้น จะเห็นได้จากในพระราชพิธีอันสำคัญๆ ที่หัวหน้าฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ มีหน้าที่จะต้องเข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคล  จะกระทำโดยเรียงลำดับก่อนหลังตามนี้

๑ นายกรัฐมนตรี
๒ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
และ ๓ ประธานศาลฎีกา

อย่างนี้ ผู้ตั้งคำถามคงจะพอเข้าใจนะครับ


กระทู้: ตำเเหน่งประธานศาลฎีกา
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 27 พ.ย. 14, 16:21
นักกฎหมายชั้นผู้น้อย ขออนุญาตเสนอข้อมูลเพื่องต้นก่อนนะครับ ผิดถูกประการใด ขอได้โปรดชี้แนะและแก้ไขให้ด้วยครับ

โดยรัฐธรรมนูญ ตำแหน่งทั้ง 3 มีฐานะเป็นหัวหน้าของ 3 อำนาจอธิปไตยเหมือนกันครับ

ในทางการกำหนดค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ หากไม่นับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มอื่นๆ ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันบ้างแล้ว ค่าตอบแทนในระบบราชการทั้งหมด ยึดโยงกันโดยตำแหน่ง ทั้ง 3 นี้ หมายความว่า ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี และประธานศาลฎีกาจะต้องได้รับเงินเดือนเท่ากัน ส่วนตำแหน่งอื่นๆในแต่ละฝ่ายก็ค่อยลดหลั่นกันลงมาตามลำดับ

ในทางการบริหารราชการ ตำแหน่งทั้งสามมีฐานะเป็น "ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งบรรจุ" ของข้าราชการสามัญในสังกัดฝ่ายของตนตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแต่ละประเภทเช่นกัน เป็นประธานของคณะกรรมการบริหารงานบุคคลของข้าราชการในฝ่ายตน (เช่น นายกรัฐมนตรี มีฐานะเป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นต้น)

ในทางเกียรติยศ ข้อนี้ผมไม่แน่ใจครับ แต่เข้าใจว่า ตำแหน่งทั้ง 3 มีสิทธิได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดเท่ากัน (แต่อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลได้นะครับ)   


กระทู้: ตำเเหน่งประธานศาลฎีกา
เริ่มกระทู้โดย: phat ที่ 27 พ.ย. 14, 20:06
ทางด้านเครื่องราชนั้น ชั้นสูงสุดคือชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือกครับผม


กระทู้: ตำเเหน่งประธานศาลฎีกา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 พ.ย. 14, 21:26
     ในปีพุทธศักราช 2475 ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ราชการศาลยุติธรรมได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมแก่กาลสมัยและก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้น ในเบื้องแรกได้มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแยกการศาลทางตุลาการออกเป็นสัดส่วนจากการบริหาร ได้ประกาศใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พุทธศักราช 2477 ปรับปรุงศาลตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พุทธศักราช 2451 และประกาศจัดระเบียบราชการกระทรวงยุติธรรม ลงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2455 โดยแบ่งศาลออกเป็น 3 ชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา (ศาลสูงสุด) มีอธิบดีศาลฎีการับผิดชอบในงานของศาลฎีกา
      และต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2482 ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พุทธศักราช 2482 เปลี่ยนชื่ออธิบดีศาลฎีกา เป็น ประธานศาลฎีกา ตำแหน่งอธิบดีศาลฎีกาหรือตำแหน่งประธานศาลฎีกานี้ ไม่ใช่เป็นตำแหน่งแต่หัวหน้าส่วนราชการในศาลฎีกาเท่านั้น ยังเป็นประธานในราชการฝ่ายตุลาการและเป็นอิสระจากเสนาบดีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีอำนาจวางระเบียบราชการฝ่ายตุลาการของศาลทั้งหลาย เพื่อให้กิจการของศาลดำเนินไปโดยเรียบร้อยและเป็นระเบียบเดียวกัน ภายใต้เงื่อนไขตามที่กฎหมายบัญญัติและมีเสียงอันสำคัญในการแต่งตั้งโยกย้ายและเลื่อนตำแหน่งผู้พิพากษาทั้งกระทรวงด้วย
      พระบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิ์วัตนวิศิษฐ์ ได้ทรงเรียกตำแหน่งนี้ว่า "ประมุขตุลาการ" ในสมัยที่เจ้าพระยามหิธรเป็นอธิบดีศาลฎีกานั้น หนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของชาวอังกฤษเรียกตำแหน่งนี้ว่า "Lord Chief Justice" ซึ่งแปลว่า ประมุขตุลาการ*

          นับจากอดีตถือได้ว่า ประธานศาลฎีกา มีบทบาทอย่างสำคัญต่ออำนาจตุลาการของประเทศ เนื่องจากประธานศาลฎีกามีฐานะเป็นประมุขของฝ่ายตุลาการที่มีหน้าที่ในการคานและดุลกับอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติ และนับจากวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา บทบาทของประธานศาลฎีกามีความโดดเด่นและชัดเจนยิ่งขึ้น จากการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 275 ได้บัญญัติให้ศาลยุติธรรมมีหน่วยธุรการที่เป็นอิสระ บทบาทเบื้องต้นของประธานศาลฎีกาที่ชัดเจน ได้แก่ การรักษาตามพระราชบัญญัติสำคัญรวม 3 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 พระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543**

http://www.museum.coj.go.th/pratan/pratan.html (http://www.museum.coj.go.th/pratan/pratan.html)