เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ค. 10, 08:34



กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ค. 10, 08:34
เมื่อเรียนอยู่ปี 4  พวกเราจัดมีตติ้งใหญ่ เป็นการส่งท้ายชีวิตนิสิตไปด้วยในตัว   ยกโขยงกันไปฉลองที่ชะอำ   ค้างที่บ้าน "แสงทอง" ซึ่งเป็นบ้านพักตากอากาศริมทะเล    
เพื่อนคนหนึ่งของเราเป็นหลานตาของ"แสงทอง"   พวกเพื่อนๆที่เรียนวรรณคดีด้วยกันมากระซิบบอก     ทำเอาตื่นเต้นไปหลายวัน เพราะเรียนกันมา 4 ปีแล้วเพิ่งจะรู้   พอรู้ก็เรียนใกล้จบพอดี
ไม่มีโอกาสรู้จักคุณตาของเพื่อน   ท่านถึงแก่กรรมไปตั้งแต่ก่อนดิฉันเข้ามหาวิทยาลัย

ตอนเด็กๆ แม่เคยเล่าเรื่อง "อติรูป" ที่เป็นงานดังที่สุดของ "แสงทอง" ให้ฟัง  แต่ไม่มีหนังสือที่บ้าน
อยากอ่านก็ไปหาอ่านงานของ "แสงทอง" เอาจากห้องสมุด   อีกนานหลายสิบปีจึงไปหาผลงานของท่านมาเป็นสมบัติส่วนตัวได้
งานของท่านเป็นหนังสือแปล รวมเล่ม  ในแต่ละเล่มมีหลายเรื่อง รวมเป็นชุด  
ท่านเรียกงานของท่านว่า "วรรณวิจิตร"  ซึ่งเป็นคำที่เหมาะสมอย่างยิ่ง

หนังสือชุดนี้เหลืออยู่ในกรุหนังสือหลังวังบูรพา  ขายด้วยราคาหายากมาก คือ 20 บาท ซื้อมาได้ 2 เล่ม  ลูกศิษย์ไปเจอเล่มสุดท้าย  ซื้อมาฝากครูด้วยราคาหายากยิ่งกว่า  คือ 10 บาท

เก็บหนังสือไว้ในตู้เหล็ก   เพราะกลัวที่สุดว่าถ้าปลวกมาเยือนแล้วจะหาที่ไหนไม่ได้อีก  ใช้สอนประกอบวรรณกรรมแปลให้นศ.ปริญญาโท ทั้งที่ม.ศิลปากรและม.มหิดล มาหลายปี
เสียดายอย่างเดียวคือหาต้นฉบับภาษาอังกฤษไม่ได้   ครั้งหนึ่งโทร.ไปหาเพื่อนคนนั้น เธอก็ใจดีมาก  ถ่ายเอกสารบางเรื่องส่งมาให้  เธอมีอยู่แค่นั้นเอง
จนกระทั่งเกิดโลกไซเบอร์ขึ้นมา   ดิฉันก็ไปท่องเที่ยวอยู่ในนั้น หาวรรณกรรมอังกฤษเก่าๆมาอ่าน   แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่เจอต้นฉบับภาษาอังกฤษของ "วรรณวิจิตร"
จนกระทั่งมาเจอเมื่อไม่กี่วันนี้เอง  ว่ามีเว็บหนึ่งเขาเอามาลงแล้ว    แม้ว่ายังไม่ครบทุกเรื่อง ก็มากพอจะเอามาเล่าสู่กันฟังได้ค่ะ


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ค. 10, 09:00
ดิฉันเคยถามเพื่อนด้วยความทึ่ง ว่า คุณตาของเธอเรียนจบจากเมืองนอกหรือ ถึงเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษขนาดแปลงานได้อย่างวิจิตรถึงเพียงนี้    
เพื่อนบอกว่าคุณตาไม่ได้ไปเรียนเมืองนอก แต่ท่านเป็นคนสนใจใฝ่รู้เรื่องหนังสือหนังหา   เคยไปดูงานรอบโลกมาแล้วสมัยรับราชการ
ไปเปิดประวัติของท่านดู     นึกถึงที่ผู้ใหญ่เคยเล่าว่า นักเรียนในโรงเรียนดังๆของกรุงเทพ ในยุครัชกาลที่ ๖ หรือที่ ๗    แค่จบมัธยมปลาย  ก็แตกฉานภาษาอังกฤษ   สามารถแปลหนังสือและบทหนังได้สบาย  
นึกถึงคำบอกเล่านี้ได้อีกครั้ง เมื่ออ่านประวัติท่าน" แสงทอง"  

" แสงทอง "มีชื่อจริงว่า อรุณ บุณยมานพ  เป็นบุตรคนแรกของมหาอำมาตย์ตรี พระยาสัตยพรตสุนันท์ (บุ๋น บุณยมานพ) กับคุณหญิงปุก  เกิดเมื่อ  ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๖
ท่านได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนแหม่มศรี ซึ่งอยู่ใกล้บ้านเป็นแห่งแรก แล้วย้ายไปศึกษาต่ออีกหลายแห่งคือ ที่โรงเรียนบำรุงสตรีวิทยา โรงเรียนมัธยมวัดราชบูรณะ โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ และไปจบมัธยมศึกษาปีที่ ๘ ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ปากคลองตลาด จากนั้นจึงเข้าศึกษาต่อที่ โรงเรียนกฏหมาย ของกระทรวงยุติธรรม ในช่วงพ.ศ.๒๔๕๖ - ๒๔๖๒

*ท่านเป็นศิษย์เก่าร.ร.เดียวกับท่านตนกูอับดุล เราะห์มาน ด้วย* ;D

เริ่มรับราชการในโรงภาษี หรือ กรมศุลกากร กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔ จากนั้นได้ย้ายไปทำงานในกระทรวงยุติธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเศรษฐการ แล้วโอนไปเป็นหัวหน้ากองการสังคีต และที่ปรึกษาการละครกรมศิลปากร ซึ่งขึ้นตรงกับ สำนักนายกรัฐมนตรี ต่อมาโอนไปเป็น หัวหน้ากองกระจายเสียง กรมประชาสัมพันธ์ จากนั้น  ลาออกจากราชการมาประกอบอาชีพส่วนตัว


เนื่องจาก"แสงทอง" เป็นคนชอบอ่านหนังสือตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักเรียน เมื่อไปรับราชการที่กรมศุลกากร ในปี พ.ศ.๒๔๗๔  จึงได้เริ่มทดลองประพันธ์ โดยสมัยนั้นละครปรีดาลัย และคณะปราโมทัย เป็นมหรสพที่ได้รับความนิยมมาก โดยมีพระโสภณอักษรกิจ (เล็ก สมิตศิริ) แห่งคณะปราโมทัยซื้อบทประพันธ์ในราคาเรื่องละ ๕๐บาท แสงทองจึงได้แต่งบทละครชื่อว่า "ซ้อนกล" ส่งไปชิ้นแรกและปรากฏว่าใช้ได้

ในประวัติของท่านที่ลงในเว็บไซต์ร.ร.เทพศิรินทร์  เล่าถึงนามปากกาของท่านผิดเพี้ยนไปเล็กน้อย คือเล่าว่า
"หลวงประสานอักษรพรรณ ผู้ตรวจบทละคร ได้ถามว่าจะใช้นามปากกาว่าอะไร จึงตอบไปว่า "แสงทอง" และใช้นามปากกานี้เรื่อยมา"
ความจริง "แสงทอง" เล่าถึงนามปากกาของตัวเองว่า
"เมื่อข้าพเจ้าแต่งละครไปให้โรงปราโมทัยเล่น   ข้าพเจ้ายังไม่มีนามปากกา    หลวงประสานอักษรพรรณ(ช่วง อิศรภักดี) ผู้ตรวจรับบทละครถามว่า จะให้ลงนามปากกาว่าอะไร    ข้าพเจ้าตอบว่าอะไรๆที่คล้ายนามตัวข้าพเจ้า คือ อรุณ ก็ได้    คุณหลวงประสานฯ ก็ตั้งให้ว่า "แสงทอง"  และได้เริ่มเป็นนามปากกาของข้าพเจ้ามาตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๕๕"

สมัยนั้นหนังสือพิมพ์สนามมวย ออกเป็นรายเดือนประกาศค่าเขียนหน้าละ ๑บาท แสงทองจึงแปลเรื่อง "นักสืบสตรี" ส่งไปเป็นเรื่องแรก และมีกำลังใจเขียนต่อไปเพราะทุกๆเรื่องได้พิมพ์หมด ถึงขนาดที่รับเงินเดือนจากกรมศุลกากร ๕๐  บาทแต่ได้รับจากบทละครเดือนละ ๒๕๐ บาทเลยทีเดียว

ดิฉันก็ไม่รู้ว่าค่าของเงินสมัยรัชกาลที่ ๗ เมื่อเทียบกับสมัยนี้ จะต้องคูณเข้าไปกี่เท่า    ลองสมมุติบนพื้นฐาน  ว่าคุณหลวงเป็นข้าราชการกรมศุลกากร  ทำงานจนอายุสามสิบปลายๆ  ถ้าเป็นปัจจุบัน เงินเดือนอาจจะประมาณสองหมื่นห้าพันบาท
๕๐ อดีต  = ๒๕,๐๐๐ ปัจจุบัน
๒๕๐ คือ ๕ เท่าของเงินเดือน   เท่ากับท่านได้ค่าบทละคร  ๑๒๕,๐๐๐ บาท ต่อเดือน   :o


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 29 พ.ค. 10, 09:45
           ดีใจมากครับ ที่อาจารย์ตั้งกระทู้นี้
       ตอนเป็นเด็กมัธยมเคยอ่าน "วรรณกรรมของแสงทอง" จากห้องสมุดโรงเรียน
ยังประทับใจมาจนปัจจุบัน

        มีอยู่เรื่องหนึ่ง ที่ตัวเอกคือนางเอกนั้นฉลาดล้ำ ชายใดตั้งปัญหาที่เธอตอบไม่ได้จึงจะ
คู่ควรสมเป็นคู่ครองเธอ
        หลากชายหลายคนต่างผิดหวังกลับไป เหลือแต่พระเอกคนเดียวที่เฝ้าขบคิดหาคำถาม
จนในที่สุดก็สำเร็จ ด้วยคำถามที่เหมือนหญ้าปากคอก
       นางเอกชื่อ อปราชิตา ซึ่งในอรรถกถามีข้อความแก้อรรถว่า - อันใครๆ ให้แพ้ไม่ได้
   
 


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ค. 10, 10:08
ใจชื้นว่าได้กองเชียร์มา ๑ คนแล้ว   เป็นคนที่เคยอ่านวรรณกรรมของแสงทองเสียด้วย  ;D
อาจจะเลี้ยวแยกซอย ออกนอกเรื่องไปบ้างนะคะ   โปรดคิดเสียว่า มีแต่ข้าวผัดล้วนๆก็หนักท้อง  ต้องมีแกงจืด  ซดแก้ฝืดคอ

ชื่อ อปราชิตา  = invincible   ความหมายตรงกับชื่อผู้หญิงอังกฤษว่า Victoria    ถ้าเป็นชายชื่อ อปราชิต   แกก็ต้องชื่อ Victor  ถ้าแปลงสัญชาติเป็นอังกฤษ
*********************
แสงทองเป็นนักประพันธ์คุณภาพแถวหน้า ที่มีความสามารถหาตัวจับยากอีกอย่างคือผลิตงานวรรณศิลป์ได้ทุกประเภท     
นักเขียนส่วนใหญ่จะถนัดแนวเดียว หรืออย่างดีก็ ๒ แนว   เช่นเขียนนวนิยายกับเรื่องสั้น  หรือเขียนบทกวีกับบทความ   บางคนเริ่มมาแนวหนึ่งแต่พอไปจับอีกแนว ถูกใจกว่า ก็เลิกแนวแรกไป 

แสงทองเขียนได้ถึง ๕ แบบ คือ
๑  เรื่องสั้น
๒  บทละคร
๓  เรื่องแปล
๔  กวีนิพนธ์
๕  บทความด้านภาษาและหนังสือ

ในที่นี้ขอเล่าเรื่องสั้นกับเรื่องแปล


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ค. 10, 15:53
เรื่องสั้นที่ดังที่สุดของ "แสงทอง" คือเรื่อง "เงินฟุบ"
เรื่องมีอยู่ว่า  ยุคหนึ่ง  เกิดภาวะวิกฤตการเงินของประเทศไทย   เงินเฟ้อจนฉุดไม่อยู่   รัฐบาลก็เลยสร้างนโยบายใหม่เฉียบคม   คือ "เงินฟุบ" พลิกล็อคให้เงินกลายเป็นหนี้    แทนที่คนไทยจะเป็นหนี้สิน  หาเงินไม่พอใช้กันทั้งประเทศ  นโยบายนี้สั่งให้จ่าย จ่ายและจ่าย เพื่อการอยู่รอด
รัฐบาลจ่ายเงินให้ประชาชนใช้   โดยกำหนดว่าจะต้องจ่ายให้มากที่สุดจนไม่มีเหลือ     ไม่งั้นใครมีเงินมากเกินไป จะล้มละลาย
เปิดฉากขึ้นมา สามีภรรยาตัวละครเอก นั่งทุกข์ร้อน  มีเงินกองกันอยู่เต็มโต๊ะ      ค้นคิดกันหัวแทบผุว่าจะจ่ายยังไงให้หมด  เพราะมีแต่รายรับเข้ามาเกินรายจ่าย
เมียบ่นว่าไปตลาด   ซื้อของกิน ต้องต่อรองกับแม่ค้าเอาเป็นเอาตาย     จะซื้อปลาทูเข่งละ ๑๐ บาท  ขอต่อว่ารับเงินจากแม่ค้าแค่ ๖  บาทได้ไหม   แม่ค้าไม่ยอม จะจ่ายให้ลูกค้าเข่งละ ๘ บาทอย่างต่ำ      ในที่สุดลูกค้าต้องยอมรับมาในราคา ๘ บาท  ไม่งั้นอดกิน
เมียต่อว่าสามีว่าไม่รู้จักหาวิธีใช้เงินให้หมด    จ่ายยังไม่ทันหมด รัฐบาลจ่ายมาให้อีกแล้ว  จนฐานะรวยจะแย่  สู้เพื่อนบ้านไม่ได้ เขาหาทางจ่ายหมดไม่เหลือสักสตางค์     เลยสบายกันทั้งผัวเมีย  
มีรายละเอียดอีกค่ะ แต่จำได้แค่นี้

เป็นเรื่องตลกที่ขำ ด้วยวิธีคิด  ไม่ใช่ตลกแบบเหยียบเปลือกกล้วยลื่นหกล้ม    
อ่านแล้วทำให้ต้องคิดต่อยอดไปว่า ถ้ามันเกิดกับตัวเราจะทำยังไงดี    ไม่ว่าจะไปช็อปปิ้งที่ไหน   มีแต่เงินกลับมาบ้านเป็นกระสอบ    ทำยังไงจะหมดตัวให้ได้
จะโกงรัฐบาลด้วยวิธีเอาเงินยัดที่นอนหรือใส่ตุ่มฝังดิน  หลอกว่าไม่มีเงิน   ก็ผิดกฎหมาย   มีสิทธิ์ถูกจับถูกปรับได้เงินมาอีกหลายเท่าตัว

" แสงทอง" เป็นนักเขียนอารมณ์ขัน     นอกจากเรื่องนี้ก็มีเรื่องสั้นชุดคุณถึก สิขาทร กับเพื่อนๆอีกชุด  จี้เส้นไม่แพ้สามเกลอ พล นิกร กิมหงวน 


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ค. 10, 16:44
จำได้อีกตอนหนึ่งใน "เงินฟุบ" คือสามีถูกภรรยาไล่ออกจากบ้าน ให้ไปหาหนทางใช้เงินให้หมด ไม่งั้นไม่ต้องกลับบ้าน
เดินๆไป ขอทานตามมาฉุดชายเสื้อ   อ้อนวอนขอให้รับเงินไปหน่อย   เพราะใครๆก็ให้เงินแก   จนแกรวยจะแย่   ทำให้คุณสามีต้องสะบัดหนี  กลัวแกจะเอาเงินมายัดเยียดให้  ตาขอทานคนนี้คงจะมีเงินในตัวเป็นหมื่นๆแล้ว  
ขึ้นรถเมล์  มีป้ายเตือน "ระวังถูกยัดกระเป๋า" (ไม่ใช่ ระวังถูกล้วงกระเป๋า) ผู้โดยสารโหนรถเมล์ ยืนหน้าเคร่งเครียด เหลียวลอกแลก กลัวว่าถ้าเผลอ ใครจะเอาเงินมายัดกระเป๋าตัวเองได้ง่ายๆ


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 29 พ.ค. 10, 23:53

อยากฟังคุณเทาชมพูเล่าเรื่องงานแปลของแสงทองอันแสนไพเราะหมดจดงามสง่า


เรื่องสั้นของแสงทองดิฉันชอบเรื่อง ที่นั่งอิ่ม  ที่ท่านขุนสภาธรรมสารต้องแย่งที่นั่งในโต๊ะอาหาร กับเรื่องขออีกจาน ที่มีในสามเกลอรู้สึกว่าจะเป็นเรื่องกินจุ

ตลกร้ายจริง ๆ ค่ะ       


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ค. 10, 07:56
ขอต้อนรับมานั่งคุยกันในกระทู้นี้ค่ะ     นึกแล้วว่าคุณวันดีต้องรู้จักงานของ "แสงทอง" ทั้งเรื่องสั้นและเรื่องแปล 
เรื่องสั้นที่คุณเล่า อยู่ในชุดคุณถึก  ดิฉันจำรายละเอียดไม่ได้แล้ว     
จำได้แต่ เรื่อง "เห็ดเพาะ" ซึ่งเป็นเรื่องกระต่ายตื่นตูม จากฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด

เรื่องแปลนั้นมีแน่   แต่ต้องค่อยๆเล่าไปทีละนิดทีละหน่อย   เพราะต้องพิมพ์ฉบับภาษาไทยให้เห็นทีละย่อหน้า   ไม่สามารถลาก copy&paste อย่างฉบับภาษาอังกฤษที่มีในเว็บได้ค่ะ
วรรณวิจิตรของท่านแสงทอง อ่านงามสง่า แต่พิมพ์ยากเหลือเกิน    :(


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 30 พ.ค. 10, 09:52


ขออนุญาตรับฟังวรรณวิจิตรไปก่อนนะคะ  เพราะคงไม่มีโอกาสที่ดีปานนี้ที่ไหน

คุณหลวงเล็กที่นับถือของดิฉันเพิ่งอธิบายเรื่องการใช้พจนานุกรมสันกฤต-อังกฤต     ให้ฟังเมื่อหลายวันก่อน
ดิฉันเคยถามคุณหลวงว่า แสงทอง ก็ไม่ได้บวชเรียนนาน  ทำไมภาษางามปานนี้


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ค. 10, 10:04
ตอบไปแล้วถึงค่อยฉลาดขึ้นมาได้   จะไปเสียเวลาพิมพ์อยู่ทำไม  ก็สแกนทั้งหน้ามาลงให้อ่านกันดีกว่า
เสียแต่ว่า ดิฉันมักใช้เวลาสแกนนานมาก เกือบเท่าๆกับพิมพ์     คุณวันดี สนทนาเรื่องสันสกฤต-อังกฤษกับคุณหลวงเล็กไปก่อนนะคะ


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 30 พ.ค. 10, 10:27

คุณหลวงป่วยเล็กน้อยค่ะเพราะท่านขนย้ายสมบัติ(หนังสือ)เข้าบ้านทุกวัน

สายลับมารายงานค่ะ

ขอเวลาสักครู่  เดี๋ยวจะมาคุยเรื่องหนังสืออนุสรณ์ ๓ เล่ม ของแสงทอง ซึ่งแน่นอนที่เป็นหนังสือน่าอ่าน


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 30 พ.ค. 10, 13:51

หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ  หลวงบุณยมานพพาณิชย์  เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๘     มี  ๓  เล่มค่ะ


เล่ม ๑  เป็นของครอบครัว

ภรรยา คือ  สาย  กุลวัลลกี  ธิดานายสังวาลย์และนางเขียน กุลวัลลกี
บุตรธิดา ๑๐ คนมี

นายอาสา
น.ต.ศศี
ด.ช. เถา
นางพรรณี  อุดมศิลป
เด็กหญิงระพา
นางสาวรพี
นางพัฒนา
นายเสมา
ร.ท. ชาลี
นายกองกูณฑ์

มีบทความและเรื่องสั้นหลายเรื่อง



เล่ม ๒ ขจร  สุขพานิช  พิมพ์แจก ชื่อ ก้าวแรกของหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย 
                         
ในหน้า ๗๒   อาจารย์ขจร เล่าเรื่อง โทมัส น้อกซ์      แบบย่อ และได้เล่าไว้ว่า

"หนังสือเรื่อง Fanny(Knox) and the Regent เป็นนวนิยายในเนื้อเรื่อง  ห่างไกลจากความจริง  ไม่ควรเชื่อถือเป็นเอกสารประวัติศาสตร์"




เล่ม ๓    "แสงทอง" มิตรานุสรณ์      พิมพ์โดย เพื่อนสมาชิกในสมาคมภาษาและหนังสือ   เล่มบางเพียง ๔๕ หน้า    ค่อนข้างจะหายากไปแล้ว

เพราะไม่เห็นใครนำอะไรที่น่าสนใจ มาเล่าไว้เลย         ชมรมนักอ่านทั้งหลายก็ไม่เห็นนำมาเล่า  เรื่องเหล่านี้เล่าออกไปแล้ว   มิตรรักนักอ่านจะไม่มีวันลืม

ขอแนะนำเรื่องที่ดิฉันชอบอ่าน



เสฐียรโกเศศ     เขียนเรื่อง กระทงชีวิต

     "กระทงแห่งชีวิตของแสงทองจะลับหายไปจากพื้นน้ำแล้ว            แต่สิ่งอันเป็นสาระของกระทง  ข้าพเจ้าเชื่อว่ายังคงอยู่

ไม่หนีหายไปไหน          เปรียบเหมือนดวงไฟในหลอดไฟฟ้า      เมื่อปิดสวิทช์ไฟฟ้าก็ดับ         แต่ถึงเวลาอันควรเปิดสวิชต์อีก

ไฟก็กลับติดใหม่ฉะนั้น         สาระของไฟฟ้า  แม้จะปิดสวิชต์แล้ว    ก็ยังมีอยู่นั่นเอง          จะไปรวมอยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับมวลไฟฟ้าแห่งสกลจักรวาฬ

หรืออย่างไร   เป็นเรื่องลึกลับ          ไม่มีใครซึ่งเป็นมนุษย์ปุถุชนจะทราบได้      ขืนทราบก็เป็นไม่ทราบแหละแน่

จะแน่ได้ก็เป็นแต่แน่ของใจในความเชื่อของเรา   เป็นเฉพาะตัวใครตัวใคร"



เรื่อง  แสงทองจับไก่ 

อาจารย์จินตนา  ยศสุนทรเล่าไว้

(คำนำหน้านามในเวลานั้น)

       ท่านไปงานนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา  นั่งโต๊ะนายกสมาคมคุณพระพิศาลสุขุมวิท      มีคนบอกว่าเอกอัครราชทูตฟิลิปปีนส์ก็นั่งโต้ะนี้ด้วย

อาจารย์ได้นั่งข้างสุภาพบุรุษสูงอายุ  ท่าทางอย่างที่ฝรั่งก็ต้องว่า "distinguished"

ท่านทั้งสองสนทนากันด้วยภาษาอังกฤษ

"ท่านสุภาพบุรุษท่าทางน่ารักใจเย็นผู้นั้นก็ร่วมการสนทนาพาทีเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามธรรมเนียม      พอคุ้นเคยกันสักหน่อยดิฉันก็ถามท่านเรื่องประเทศของท่าน

ท่านก็ยิ้ม             ดิฉันถามถึงภาษาพื้นเมืองของท่าน  ท่านก็ยิ้ม            ดิฉันพูดต่อว่าคงมีโอกาสได้ไปเยี่ยมประเทศของท่านบ้าง  ท่านก็ยิ้ม

ดิฉันนึกท้อใจอยู่  ว่าเห็นจะจนปัญญาที่จะล่อสืบให้รู้ได้แน่แล้วว่า  ท่านผู้นี้ชาติภาษาใด


พอดีท่านถามขึ้นว่า

"คุณคืออาจารย์จินตนา  ใช่ไหม?"

อารามตกอกตกใจดิฉันมัวละล่ำละลักขอโทษขอโพยท่าน     ซึ่งได้ยินแว่วๆที่ท่านพูดว่า       "ผมคือหลวง ..........."


       ปลายสัปดาห์นั้น  คอลัมน์ของแสงทอง แห่งสยามสมัย  มีบทความทำนอง "แปลกแต่จริง"  ว่า

       ที่งานรื่นเริงของเอยูเอ ปีนี้   จินตนา ยศสุนทร  ส่งภาษาฝรั่งอยู่กับ "แสงทอง" เกือบครึ่งชั่วโมง
กว่าจะรู้ว่าไม่ใช่พูดอยู่กับทูตฟิลิปปินส์!"


     


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ค. 10, 14:02
เอาออเดิฟมาเสิฟก่อน
จาก วนวัลลรี  หรือ In the Great God's Hair  ของ F.W.Bain

In the Great God's Hair.
PROLOGUE.
INVOCATION

Adoration to the Four Eightfold Divinities: the Eight Forms of the Lord of Time: the Eight Cardinal Points of Space: the Eight Sections of the Revelation of Panini: and the Eight Pairs of Petals of the Lotus of the World
ท่านแปลว่า

ปรารัมภ
สดุดี

ขอไหว้อัษฎคุณแห่งไทวัตว์ทั้งสี่    หนึ่งคืออัษฏมูรตตี  อีศวร    หนึ่งคือแปดเทพประจำทิศ    หนึ่งคือแปดบทวยากรณ์ของปานินิ     หนึ่งคือแปดคู่กลีบปัทมา


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ค. 10, 14:30
อุตส่าห์พิมพ์  พอส่งพบว่าโพสต์ไม่ติด  :'(


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ค. 10, 14:43
FAR away, in the quarter of the north, there stands a mighty mountain: of supereminence so transcendent, that even the Mother of the World  was willing to call him father: of hue so pure, that even the snowy swans haunting the lake of Mánasa blush in his presence as if ashamed of their own inferiority: of size so gigantic, that the rising and the setting sun throws his shadow on the sky, and
the seven Rishis  in their daily revolution turn their eyes upwards to his peak, glowing like a tongue of flame at sunset or at dawn.
 


ไกลออกไปทางภาคเหนือ   มีภูเขาหนึ่งใหญ่ยิ่ง  มีความสูงยอดเยี่ยม   แม้มารดาโลกก็ยังเต็มใจเรียกว่าบิดา   มีสีบริสุทธิ์  จนทำให้หิมหงส์ซึ่งสิงอยู่ในทะเลมานัสเผือดไปต่อหน้าผานั้น   เหมือนหนึ่งอายความด้อยของมัน   มีขนาดมหึมาจนแสงอาทิตย์อุทัย แลอัสดงสาดเงาเขาขึ้นฟ้า    เมื่อดาวหมีกระทำการอาวรรตน์อยู่เป็นทินจรรยานั้น    ถึงแก่ต้องเหลือกตาขึ้นดูยอด  ซึ่งเรืองดังลิ้นไฟแลบอยู่ในเวลาอรุณแลสายัณห์

ขอให้สังเกตการแปลคำพวกนี้
snowy swans                   =      หิมหงส์   หิม คือ   หิมะ
rising and the setting sun  =      แสงอาทิตย์อุทัย แลอัสดง
the seven Rishis  in their daily revolution  =   ดาวหมีกระทำการอาวรรตน์อยู่เป็นทินจรรยา

อย่าว่าแต่จะคิดว่าแปลจากอังกฤษเป็นไทยเลย   แม้คิดคำไทยล้วนๆไม่ต้องแปล  ก็ต้องอาศัยทั้งพื้นความรู้ทางภาษาและจินตนาการชั้นยอด


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ค. 10, 19:42
    ก่อนจะถึงวรรณวิจิตร  มีเกร็ดเล็กน้อยที่อยากเล่าถึง "แสงทอง" เสียก่อน      
    เคยอ่านพบว่าสมัยจอมพล ป. ปฏิวัติภาษาไทยในยุค "วัธนธัม" ช่วงสงครามโลก     มีการถามกันในคณะรัฐมนตรีถึงการใช้สรรพนาม "ดิฉัน" ว่าคำนี้มาจากอะไร    " แสงทอง" ตอบว่า ได้ยินว่ามาจาก ดีรัจฉาน
ที่ประชุมจะหัวเราะ ก็หัวเราะไม่ออก

    ท่านไขปริศนาคำนี้ในคอลัมน์ ภาษาและหนังสือ ที่ลงในนิตยสารสยามสมัย  
  "พูดถึงคำแทนชื่อ  ข้าพเจ้าเผอิญพบคำว่า ดิฉัน ในปทานุกรมของกรมตำรากระทรวงธรรมการ พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ. ๒๔๗๐    ให้แปลว่า " คำแทนชื่อสำหรับผู้ใหญ่พูดกับผู้น้อย แทนคำว่า เรา ข้า ฉัน" ซึ่งคงจะทำให้ท่านผู้อ่านคอลัมน์นี้เดี๋ยวนี้พิศวง    เพราะสมัยนี้คำว่า ดิฉัน  ล้วนแต่ผู้หญิงใช้เป็นสรรพนามเรียกตนเองทั้งนั้น    มีเจ้านายบางองค์ที่ใช้คำนี้ หมายความถึงตัวท่านเอง พูดกับบุคคลบางประเภทที่ไม่ใช่เจ้า
ในกลอนสุนทรภู่  มีในเรื่องพระอภัยมณี  เป็นต้น   ข้าพเจ้าเคยเห็นใช้ทั้งดิฉันและดีฉาน    เลยทำให้นึกต่อไปถึงเรื่องว่าด้วยประเทศไทย ซึ่งเซอร์ยอน เบาว์ริง   ผู้เคยเป็นทูตเข้ามาในประเทศไทยสมัยปลายรัชกาลที่ ๔   หรือต้นรัชกาลที่ ๕  ซึ่งข้าพเจ้าจำได้ไม่แน่นัก     ได้เขียนถึงสรรพนามที่คนไทยเรียกตนเอง  เป็นข้าของขี้ฝุ่นที่เท้าบ้าง    เอาของสูงในตัวเราเช่นเกล้าเป็นเครื่องหมายแทนตัว    เราพูดแก่สิ่งต่ำที่สุดใต้เท้าของผู้อื่นเป็นต้น       กล่าวเรื่อยเจื้อยต่อไปจนถึงว่า  บางทีก็เรียกตัวเองเป็นสัตว์ไปเลย คือ หนู   และดิฉันหรือดีฉานนั้นก็เป็นคำย่อมาจากดีรัจฉาน     ความตอนหลังนี้   ข้าพเจ้ายังสงสัยว่าเซอร์ยอน   เบาว์ริง  จะรู้ถึงศัพท์ลึกซึ้งจนสันนิษฐานได้อย่างนั้น     หรือได้หลักฐานมาจากไหน   หรือใครคิดวิตถารบอกให้แกเขียนไว้ดังนั้น"


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 31 พ.ค. 10, 06:11
วิ่งตึก ๆ ตามคุณเทาชมพูมาพร้อมกับข้อความหนึ่งที่เพิ่งอ่านเจอเมื่อคืนค่ะ

ไปตามหาหนังสือของแสงทองที่กระจายอยู่หลายตู้ได้มาหนึ่งเล่ม


ใน "ภาษาและหนังสือ" ฉบับรวมเล่มของ สำนักพิมพ์รวมสาส์น ๒๔๙๖  หน้า  ๙ - ๑๐

กล่าวถึง น.ม.ส.

     "ข้าพเจ้าทราบว่ากรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ ซึ่งในกรมหมื่นพิทยาลงกรณทรงเป็นอธิบดีอยู่ในขณะนั้น
มีตำแหน่งว่าง   ข้าพเจ้าจึงขอให้บิดานำไปฝากเข้าทำงาน

      ในฐานะที่ในกรมทรงคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับบิดาของข้าพเจ้า  เมื่อครั้งเป็นนักเรียนในประเทศอังกฤษสมัยเดียวกัน"


   เอ่อ...แสดงว่าพระยาสัตยพรตสุนันท์(คงบุ๋น  บุณยมานพ) เป็นนักเรียนอังกฤษ

ดังนั้นบรรยากาศในบ้านคงเอื้อเฟื้อแก่การเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง

ตำราที่มี แจ้งว่า ท่านอยู่กระทรวงยุติธรรม

บ้านอยู่ถนนบำรุงเมือง  สี่กั๋กเสาชิงช้า


นามเดิมของท่านเจ้าคุณสับสนอยู่ระหว่างบุ๋น กับ คงบุ๋น   แต่ก็สมควรจะใช้หนังสืออนุสรณ์ของ แสงทองเป็นหลัก  คือ คงบุ๋น

เรียนมาแบบทะเลิ่กทะลั่ก  ชออภัยคุณเทาชมพูด้วยค่ะ  ดูจะขาดมารยาทอยู่สักหน่อย เห็นกำลังเล่าเรื่องเกร็ด  ตั้งใจจะรับฟังและคิดตามให้ชุ่มฉ่ำอุรา  

เลยอ่าน "ภาษาและหนังสือ"  เพลินไป

      
ในฐานะนักพยายามอ่าน  อดคิดไม่ได้ว่าบ้านท่านคงมีตู้หนังสือที่ แหะ ๆ....หนังสือเยอะ




กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 พ.ค. 10, 09:35
ขอบคุณค่ะ   ข้อมูลนี้ ไม่ทราบมาก่อน    
เจ้าคุณพ่อเป็นนักเรียนเก่าอังกฤษ   ลูกชายคงโตขึ้นมาท่ามกลางตำรับตำราฝรั่ง  พ่อคงสอนลูกชายมาแต่เล็ก   ให้อ่านหนังสือฝรั่งจนแตกฉาน    ท่านถึงแปลงานของ Bain ได้
ก่อนจะถึงเรื่องของ Bain   ขอโยกโย้ไปพูดเรื่องที่มาของคุณถึกก่อน     ว่าที่มาของหัสนิยายเรื่องนี้คือ Pickwick Papers ของ Charles Dickens  นักเขียนนวนิยายมือทองของยุควิคตอเรียน  คือยุคที่เจ้าคุณพ่อของท่านแสงทองไปเรียน
Pickwick Papers เป็นเรื่องอารมณ์ขันแบบฝรั่ง    ดิกเกนส์เขียนเรื่องได้หลายแบบ    เรื่องรันทดบีบคั้นหัวใจ  สะท้อนชีวิตเด็กกำพร้าและความยากจนข้นแค้นในสังคม อย่าง Oliver Twist   ก็เป็นเรื่องดังเรื่องหนึ่ง
David Copperfield ที่มีพื้นฐานจากชีวิตของผู้ประพันธ์เอง ก็ขมขื่นลำเค็ญไม่น้อยกว่ากัน   แล้วก็ยังมีเรื่องกดดันหัวใจ อย่าง Great Expectations อีกด้วย
แต่ PP เป็นข้อยกเว้น     เมื่อแสงทองนำมาดัดแปลงเป็นไทย  ก็ได้เรื่องตลกที่ทำให้คนอ่านเบิกบาน ลืมทุกข์ไป   มัวแต่หัวเราะท้องคัดท้องแข็ง


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 31 พ.ค. 10, 13:31
เอาลิงก์หนังสือของCharles Dickens  มาให้ครับ

เล่ม ๑

http://books.google.com/books?id=Ugj2HJU_HgYC&pg=PA19&hl=th&source=gbs_toc_r&cad=8#v=onepage&q&f=false


เล่ม ๒

http://books.google.com/books?id=9v0KAAAAYAAJ&pg=PA7&hl=th&source=gbs_toc_r&cad=8#v=onepage&q&f=false


เล่ม ๓

http://books.google.com/books?id=_UooAAAAMAAJ&pg=PA111&hl=th&source=gbs_toc_r&cad=8#v=onepage&q&f=false


และหนังสือชีวประวัติของCharles Dickens 

http://www.archive.org/details/lifeofcharlesdic01mack


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 31 พ.ค. 10, 14:29

คุณหลวงอย่าลืมเล่าการใช้พจนานุกรมสันกฤต  อังกฤษนะคะ

คอยให้คุณเทาบรรยายจบเรื่องก่อน   น่าจะทำให้เพื่อน ๆ เห็นแนว

ดิฉันเองต้องอ่านอีกหลายเที่ยวค่ะ


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 พ.ค. 10, 17:16
อุบัติเหตุอีกครั้ง  พิมพ์เสร็จ ส่ง  ขัดข้อง หายหมด  :'(

"วรรณวิจิตร "ของแสงทอง  แปลจากวรรณกรรมของ F.W.Bain ด้วยกันทั้งหมด 13 เรื่อง  เรียกว่าเรื่องสั้นขนาดยาวหรือเรื่องยาวขนาดสั้นก็ได้ค่ะ
F.W. Bain เป็นใคร   หาอยู่หลายสิบปีถึงพบว่าเขาไม่ใช่นักเขียนหรือกวีอาชีพของอังกฤษ   จบจากออกซฟอร์ด   เป็นคนรู้ภาษาสันสกฤต   ทำงานสอนวิชาประวัติศาสตร์อยู่ที่Deccan College ที่ Poonah ในอินเดีย
เบนเล่าถึงที่มาของวรรณกรรมว่า เขาแปลมาจากต้นฉบับโบราณของฮินดู  เป็นนิทานและเรื่องราวของเทพเจ้า ซึ่งเก็บรักษาไว้อย่างดี   
ได้มาจากพราหมณ์ผู้หนึ่งในเมืองพาราณสี    เมื่อเกิดโรคระบาด   พราหมณ์ผู้นั้นมอบให้เขาไว้ก่อนตาย  เป็นสมบัติที่เก็บรักษากันมาในตระกูล
เขาก็เลยเอามาแปลเป็นภาษาอังกฤษ  พิมพ์จำหน่ายในอังกฤษ

ขอยกชื่อเรื่องมาให้ดูกันบางเรื่อง  ชื่อหยดย้อยมากค่ะ
A Digit of the Moon
 Syrup of the Bees,
Bubbles of the Foam,      อติรูป
Essence of the Dusk,       นางนาครี
Ashes of a God,
Mine of Faults,               ขุมความลวง
Heifer of the Dawn          ทินมาลี
In the Great God's Hair    วนวัลลรี
A Draught of the Blue      อลิจุมพิตา




กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 พ.ค. 10, 17:29
ชาววิคตอเรียนชอบวรรณกรรมต่างชาติ  ยิ่งเรื่องตะวันออก  ยิ่งเป็นเรื่องน่าทึ่งสำหรับพวกเขา   
งานของเบนทั้ง ๑๓ เรื่อง เป็นเรื่องเกี่ยวกับเทพเจ้าฮินดู เป็นที่ชื่นชอบของคนอ่าน ในความไม่ซ้ำแบบกับรามเกียรติ์หรือมหาภารตะ     
เพราะเป็นนิทานที่เล่าโดยพระศิวะให้พระอุมาฟัง   มีแง่คิดปรัชญาและคติ  กับบทบาทกระจุ๋มกระจิ๋มระหว่างพระศิวะและพระอุมา ซึ่งถูกนำเสนอในรูปแบบของหญิงสาวแสนงอน  เพิ่งจะวิวาห์มาได้ไม่นาน

เมื่อผลงานแพร่หลายออกไป  นักวิจารณ์และนักวิชาการวรรณกรรมก็ตามล่าหาที่มาของเรื่องกันเป็นการใหญ่    ว่ามาจากวรรณคดีเรื่องไหนของฮินดู
ในที่สุด  หากันจนอ่อนใจก็ไม่พบว่า "ต้นฉบับ"ลึกลับของพราหมณ์ผู้มอบให้ก่อนตายนั้น   ตาพราหมณ์แกคัดลอกมาจากวรรณคดีโบราณเรื่องไหน    ผ่านไปหลายสิบปีก็ไม่พบ ก็เลยฟันธงลงไปว่า เบนเป็นคนแต่งขึ้นมาเองทั้งหมด    รวมทั้งตำนานเรื่องได้มรดกจากคนตายด้วย

ดิฉันเคยเรียนถามศ.ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา ผู้สอนวิชาสันสกฤตที่อักษรฯ จุฬา ฯ ว่า เบนแต่งเองหรือเปล่า  ท่านหัวเราะ แล้วตอบว่าแต่งเอง    แต่ว่าก็มีเค้าๆจากนิทานเรื่องโบราณบ้าง  เช่นเอาเทคนิคนิทานซ้อนนิทานมาใช้
ท่านบอกว่าชื่อตัวละครในงานของเบน  ไม่ใช่แบบฉบับใช้กันในวรรณคดีสันสกฤต    ของแท้ ชื่อเขาไม่ยาวเฟื้อยแบบนี้


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 พ.ค. 10, 19:32
ถ้าคุณหลวงเล็กและคุณวันดี สนใจเรื่องการแปลภาษา  ขอให้ติดตามตรงนี้
เบนมีเชิงอรรถถี่มาก  ในแต่ละหน้า เขาจะขยายความว่าคำที่ใช้ในนิยาย  มีความหมายถึงใครหรืออะไร
ปานประหนึ่งว่าเขาแปลมาจากศัพท์สันสกฤต คำต่อคำ  แล้วมาทำคำอธิบายเพิ่มไว้อีกที
เช่น
and the Eight Pairs of Petals of the Lotus of the World  a.
เชิงอรรถของเขาคือ:
a The Lord of Time is Shiwa. Panini's grammar is believed to have been revealed to him by the deity. The Lotus of the world is the goddess of beauty.

แสงทอง ไม่ได้แปลเชิงอรรถ  แต่ว่าท่านอาศัยความหมายที่เบนขยายความ มาแปลให้ตรงตัวอีกที

ขอไหว้อัษฎคุณแห่งไทวัตว์ทั้งสี่    หนึ่งคืออัษฏมูรตตี  อีศวร    หนึ่งคือแปดเทพประจำทิศ    หนึ่งคือแปดบทวยากรณ์ของปานินิ     หนึ่งคือแปดคู่กลีบปัทมา

เบนบอกว่า The Lotus of the world is the goddess of beauty.หมายถึงพระลักษมี
แสงทองแปลว่า ปัทมา  ซึ่งแปลได้ ๒ อย่าง คือ ดอกบัว กับ เป็นพระนามหนึ่งของพระลักษมี


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 พ.ค. 10, 20:19
the seven Rishis เบนแปลในเชิงอรรถว่า The Great Bear.
แสงทองแปลสั้นๆว่า ดาวหมี
Richis ถอดศัพท์ออกมาว่าอะไร   ฝากถามคุณหลวงเล็ก


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 พ.ค. 10, 20:28
นี่ก็อยู่ในเชิงอรรถของเบน
As, if we may believe Bhartrihari,  they often do, for the lives of men.
คำนี้ถอดออกมาว่าอะไรคะ    ภารตริหริ?


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 31 พ.ค. 10, 20:43
ขอบพระคุณค่ะ    นิ่งอ่านแทบไม่ไหวติงเลยค่ะ


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 พ.ค. 10, 20:51
กลับมาที่ตัววรรณกรรม    ดิฉันแบ่งเป็นประโยค  เพื่อจะให้เห็นฝีมือการแปล ของแสงทอง

   And there on his northern face is the home of the Lord of Creatures animate or inanimate.
   บนเขานี้ ทางมุขเหนือ  ประดิษฐานเทวาลัยพระบดีแห่งปวงประชา

(ถ้าให้นักเรียนแปล คงจะออกมาว่า ทางหน้าทิศเหนือคือบ้านของพระเจ้าของสิ่งมีชีวิต เคลื่อนไหวและไม่เคลื่อนไหว)

There one evening, when the light of day was flying before the shadows that rose up pursuing it out of the abysses of the valleys along the mountain sides, the Daughter of the Mountain was playing at dice with her lord.
ณ ที่นี้ เวลาเย็นวันหนึ่ง  ขณะที่แดดกำลังร่นหนีเงาซึ่งกระเถิบขึ้นจากลุ่มลึกแห่งเหวแลหุบเขา   เขยิบขึ้นไปตามข้างผา   ธิดาแห่งขุนเขานี้กำลังทรงสกาอยู่กับพระสวามี
 And she won from him, first his elephant skin, and next his rosary of skulls. And finally she said: Now, then, I will play thee for that which thou dost carry on thy head.
บรรพตีชนะพระอิศวร    ครั้งแรกเทวีได้หนังช้างที่เทวะห่ม    ต่อไปได้สร้อยประคำหัวกระโหลก   ในที่สุดเทพีก็ตรัสว่า " เอาละ   ตานี้ข้าจะพนันเอาสิ่งที่ท่านทูนเศียร"

แสงทอง เชี่ยวชาญเรื่องเทพเจ้าของฮินดูมากพอจะเลือกคำมาใช้ได้ไม่ขัดเขิน   ภาษาอังกฤษ ใช้  she won from him  แทนที่จะแปลดื้อๆว่า นางชนะพระองค์  ท่านแปลว่า "บรรพตีชนะพระอิศวร"  บรรพตีก็คืออีกนามหนึ่งของพระอุมา  ท่านเลือกชื่อนี้มาให้สมกับคำเรียกตอนแรกว่า ธิดาแห่งขุนเขา    
บรรพตีแปลว่านางแห่งขุนเขา เพราะนางเป็นธิดาของท้าวหิมวัต หรือเขาหิมาลัย


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 พ.ค. 10, 20:58
คนที่แปลงานของเบนได้ ต้องมีพื้นความรู้เรื่องเทพเจ้า แน่นเอาการ  ถึงจะเลือกศัพท์มาใช้ได้ถูกต้อง   นอกจากนี้ต้องมีคลังคำประเภทอลังการ อัดแน่นอยู่ในภูมิหลัง  ถึงจะหยิบมาใช้ได้ตามเจตนารมณ์
นิทานเหล่านี้ ถ้าคำไม่อลังการ  เรื่องจะจืดชืด

พูดถึงความอลังการแล้ว   นอกจากแสงทอง ก็มีพระสารประเสริฐ หรือนาคะประทีป ที่ดิฉันเห็นว่าเล่นกับศัพท์ร้อยแก้วได้แพรวพราย
วิธีการแปลแบบนี้น่าจะหมดไปแล้วในยุคปัจจุบัน

ถามคุณวันดีว่า เคยอ่านงานของ "จาฤก" ที่แปลงานชุดนี้ของเบน เช่นเดียวกันไหมคะ     
ดิฉันมีหนังสืออยู่ในมุมใดมุมหนึ่งของห้อง   แต่ยังหาไม่เจอ  ถ้าเจอต้องรื้อหมดทั้งห้อง เลยกำลังรอปาฏิหาริย์อยู่


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 31 พ.ค. 10, 21:58
ไม่มีค่ะ

ใครคือจาฤกคะ



กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 มิ.ย. 10, 07:29
เมื่อคืนรื้อตู้  ได้  ลูกสาวคนที่ ๕  ที่ แสงทองแปลมาจาก Fifth Chinese Daughter  ของ Jade Snow Wong
เป็นเรื่องของเด็กผู้หญิงจีนที่โตมาในนครซานฟรานซิสโกในครอบครัวเคร่งวัฒนธรรม
สำนักพิมพ์อุดมพิมพ์ไว้ เมื่อ ๓๐ พ.ย. ๒๔๙๕  ราคาในตอนนั้น ๑๔ บาท
เป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ หนา  ๒๖๓ หน้า

เข้าใจว่า สำนักข่าวสารอเมริกัน กวาดซื้อแจก เพราะมีตราประทับว่า ด้วยอภินันทนาการ ประทับไว้ที่รองปกหน้าและรองปกหลัง
แต่ที่ประทับไว้ที่กลางหน้า ๔๓ ไม่ทราบว่าทำไม
อภินันทนาการแล้ว ยังเกรงคนที่ได้ไปลืมหรือ


แสงทองแปลได้นุ่มนวล เพราะท่านใช้คำว่า "อ่อน"  แทน  เง็กเซาะ
จำได้ว่าคุณศุภร  ก็ใช้ศัพท์นี้

ให้ความรู้สึกที่นุ่มนวลอย่างยิ่ง


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 01 มิ.ย. 10, 08:30
the seven Rishis เบนแปลในเชิงอรรถว่า The Great Bear.
แสงทองแปลสั้นๆว่า ดาวหมี
Richis ถอดศัพท์ออกมาว่าอะไร   ฝากถามคุณหลวงเล็ก


Rishi =  ฤษิ  (เขียนอย่างไทยใช้  ฤษี) 

the seven Rishis = สปฺตรฺษิ  (เขียนอย่างไทยใช้ สัปตฤษี ) 
ฤษีทั้ง ๗ ตน เป็นฤษีที่มีความสำคัญ  และมักปรากฏชื่อในคัมภีร์พระเวท ว่าเป็นผู้จดจำและถ่ายทอดพระเวทจากพระพรหม  ฤษิทั้ง ๗ เป็นมานัสบุตร   คือบุตรที่เกิดแต่ใจของพระพรหม  ในทางพราหมณ์ ถือว่า  ฤษีทั้ง ๗ ตน เป็นครูสำคัญ  ปรากฏในท้องฟ้า  เป็นกลุ่มดาวฤกษ์ ๗ ดวง คือดาวหมีใหญ่ (ฤกฺษ แปลว่า หมี )

ในยุคแรก  ฤษีทั้ง ๗  ตน ประกอบด้วย  วสิษฺฐ  ภรทฺวาช  ชมทคฺนิ  เคาตม   อตฺริ  วิศฺวามิตฺร  และ อคสฺตฺย -ว่าตามคัมภีร์ไชมินียพราหมณะ   (แต่ในพฤหทารัณยกะอุปนิษัท  ว่าประกอบด้วย  เคาตม  ภรทฺวาช  วิศฺวามิตฺร  ชมทคฺนิ  วสิษฺฐ   กศฺยป   และ  อตฺริ  ในโคปถะพราหมณะ ว่าต่างออกไปเล็กน้อย)

นอกจากนี้  ฤษีทั้ง  ๗ ตน  ในแต่ละมานวันดรนั้น  ก็มีชื่อไม่เหมือนกัน  ดังนี้

Second Manvantara - the interval of Swarochisha Manu
Urja, Stambha, Prańa, Dattoli, Rishabha, Nischara, and Arvarívat.


Third Manvantara - the interval of Auttami Manu
Sons of Vashishtha: Kaukundihi, Kurundi, Dalaya, Śankha, Praváhita, Mita, and Sammita.


Fourth Manvantara - the interval of Támasa Manu
Jyotirdhama, Prithu, Kavya, Chaitra, Agni, Vanaka, and Pivara.

Fifth Manvantara - the interval of Raivata Manu
Hirannyaroma, Vedasrí, Urddhabahu, Vedabahu, Sudhaman, Parjanya, and Mahámuni.


Sixth Manvantara - the interval of Chakshusha Manu
Sumedhas, Virajas, Havishmat, Uttama, Madhu, Abhináman, and Sahishnnu.

The present, seventh Manvantara - the interval of Vaivasvata Manu
Kashyapa, Atri, Vashishtha, Vishvamitra, Gautama, Jamadagni, Bharadwaja

ถ้าต้องการทราบรายละเอียดมากกว่านี้  กรุณาค้นในวีกิฯ  ;)


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 01 มิ.ย. 10, 08:45
นี่ก็อยู่ในเชิงอรรถของเบน
As, if we may believe Bhartrihari,  they often do, for the lives of men.
คำนี้ถอดออกมาว่าอะไรคะ    ภารตริหริ?

Bhartrihari  =  ภรฺตฺฤหริ  เขียนอย่างไทยว่า  ภรรตฤหริ  

ภรรตฤหริ  เป็นนักประพันธ์มีชื่อเสียงในชมพูทวีป  แต่งหนังสือไว้ดังนี้  ตำราไวยากรณ์  ชื่อ วากยปทียะ   และกวีนิพนธ์ ชื่อ ศตกัตรายะ


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 01 มิ.ย. 10, 08:55
อ้างถึง
แสงทอง เชี่ยวชาญเรื่องเทพเจ้าของฮินดูมากพอจะเลือกคำมาใช้ได้ไม่ขัดเขิน   ภาษาอังกฤษ ใช้  she won from him  แทนที่จะแปลดื้อๆว่า นางชนะพระองค์  ท่านแปลว่า "บรรพตีชนะพระอิศวร"  บรรพตีก็คืออีกนามหนึ่งของพระอุมา  ท่านเลือกชื่อนี้มาให้สมกับคำเรียกตอนแรกว่า ธิดาแห่งขุนเขา   
บรรพตีแปลว่านางแห่งขุนเขา เพราะนางเป็นธิดาของท้าวหิมวัต หรือเขาหิมาลัย

นางปารวตี ไม่ใช่ บรรพตี อันนี้ถ่ายทอดพลาดกันได้  เพราะหนังสือบางเล่มไม่ได้ใช้อักษรโรมันเขียนภาษาสันสกฤตตามหลักเกณฑ์นิยม


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มิ.ย. 10, 12:13
แสงทอง เรียกพระอุมา ว่าบรรพตี  หรือปารวตี    คำหลังนี้ใช้ในต้นฉบับ
ดิฉันเคยได้ยินคำเรียกว่า อุมาบรรพตี   


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 01 มิ.ย. 10, 12:40
แสงทอง เรียกพระอุมา ว่าบรรพตี  หรือปารวตี    คำหลังนี้ใช้ในต้นฉบับ
ดิฉันเคยได้ยินคำเรียกว่า อุมาบรรพตี   

ปรฺวต  ภูเขา   ปารฺวตี  ลูกสาวของภูเขา (ปรฺวต + ณี ปัจจัยตัทธิต)


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มิ.ย. 10, 13:18
ตอบคุณวันดี
จาฤก เป็นนามปากกาของหลวงอรรถโกวิทวที (นิจ  โกวิทวที  สกุลเดิม นาครทรรพ) (๒๔๔๓-๒๕๒๔) จบวิชากฎหมาย   ทำงานอยู่กรมอัยการ
ท่านแปลงานของเบน เช่นเดียวกับแสงทอง  คือแปล Digit of the Moon, Desert  of the Sun  และ
The Substance of A Dream   สำนวนโวหารไม่อลังการเท่าแสงทอง แต่ก็แปลออกมาไพเราะดีค่ะ


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 มิ.ย. 10, 17:13
โอ!   ขอบคุณค่ะ


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มิ.ย. 10, 19:30
อ่านๆไปดิฉันคิดว่าท่านแสงทอง น่าจะชำนาญภาษาบาลีมากกว่าสันสฤต    แต่ต้องค่อยๆดูไปก่อน อาจจะได้คำตอบภายหลัง
ขอบคุณคุณหลวงที่เข้ามาแจม  พร้อมคำอธิบายเสียละเอียดลออ

ต่อ
And Maheshwara perceived her intention. But he answered: Very well.
พระมเหศวรมองเห็นเจตนา   แต่ตรัสว่า " ดีละ"
So the Goddess threw the dice, and won. And she exclaimed in delight: Ha! I have won. Pay me the stake."
แล้วเทพีก็ทรงสกาแลชนะ  จึงออกอุทานดีพระทัย ว่า " อา! ข้าชนะแล้ว  เอาสินพนันมา"
Then Maheshwara gave her his moon. Thereupon the goddess exclaimed in a rage:
พระมเหศวรจึงส่งพระจันทร์ให้    บัดนั้นเทพีก็ออกอัตถ์พิโรธหึง ว่า
Thou art a deceiver. Thou dost owe me Ganga?, and yet offer me only thy moon.
พระองค์นี้ขี้ฉ้อ   เป็นหนี้คงคาสิให้ข้าเพียงจันทร์
What do I care for thy moon?
ข้าจะไปยี่หระอะไรแก่พระจันทร์
Then said the god: Why, O fair one, art thou angry? Is it not this moon which I carry on my head?
เทวะตรัสว่า " ไฉนสุทธิเทพีจึงพิโรธ   มิใช่จันทร์นี้หรือที่ข้าทูนไว้"
But Uma turned away from him in a pet.
แต่พระอุมาก็เบือนไปเสียด้วยความเคือง

ภาษาของแสงทอง
Maheshwara               =     พระมเหศวร
exclaimed in a rage     =     ออกอัตถ์พิโรธหึง
What do I care for thy moon?  =    ข้าจะไปยี่หระอะไรแก่พระจันทร์
fair one                      =    สุทธิเทพี


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มิ.ย. 10, 10:20
ถ้าแปลมากไปเดี๋ยวจะกลายเป็นกระทู้สอนการแปล  ขอหยุดไว้ก่อน  เล่าด้านอื่นดีกว่านะคะ

วรรณกรรมของเบน  ส่วนใหญ่เป็นนิทานซ้อนนิทาน  แบบเดียวกับนิทานเวตาล    พื้นหลังคือเป็นเรื่องพระศิวะเล่านิทานให้พระอุมาฟัง
เทพเจ้าทั้งสององค์ ถูกนำเสนอในรูปแบบใหม่ คือดูเป็นมนุษย์มีชีวิตจิตใจ  มีรักโลภโกรธหลง   ไม่ใช่เทพเจ้าเต็มตัวอย่างพระอิศวรอย่างในรามเกียรติ์
เรื่องราวมักจะจับตั้งแต่พระศิวะเพิ่งจะเสกสมรสกับพระอุมาได้ไม่นาน      พระอุมายังเป็นสาวน้อยแสนงอน มีจริต ช่างฉอเลาะ    ส่วนพระศิวะมีลักษณะเป็นหนุ่มใหญ่ ใจเย็น ทรงอำนาจแต่ก็เต็มไปด้วยเมตตา
นิทานที่เล่าให้พระอุมาฟัง หลายเรื่องจบลงด้วยคำถามคล้ายๆนิทานเวตาล  คือใครผิด   ใครสมควรถูกตำหนิ 
ตัวการในเรื่องคือใคร   อ่านแล้วได้ความคิดอะไรขึ้นมาบ้าง
คนอ่านก็พลอยได้ขบคิดไปกับปรัชญา และความผิดถูกในเรื่องด้วย

ขอยกมาเรื่องหนึ่ง คือ   A Draught of the Blue   แสงทองให้ชื่อในภาคไทยว่า   อลิจุมพิตา เป็นชื่อนางเอกของเรื่อง

พระเอกของเรื่องชื่อพระราชารุทราลก    มีคุณสมบัติครบถ้วน แบบหนุ่มไฮโซรูปหล่อพ่อรวยสมัยนี้   เจ้าชายก็เลยประพฤติตนเป็นเพลย์บอย   ชนะหัวใจหญิงในอาณาจักรมานับไม่ถ้วน ด้วยความคึกคะนอง   แต่ไม่จริงจังกับผู้หญิงคนไหนทั้งสิ้น
วันหนึ่งพระราชาหนุ่มเสด็จออกล่าสัตว์   พลัดจากข้าราชบริพาร ไปพบหญิงสาวบุตรีดาบสเข้า  ก็พานางกลับมาสู่เมือง อภิเษกเป็นชายาของพระองค์
นางทำให้ทรงเกิดรักแท้ขึ้นมา  จนเลิกนิสัยเดิมได้เด็ดขาด     ใจจดจ่ออยู่กับนางแต่ผู้เดียว   นางก็รักพระสวามีมาก    พระราชาละเลยราชกิจจนกระทั่งปรปักษ์เก่าที่เคยสืบตระกูลทำศึกกันมา ยกมาประชิดชายแดน   
พระราชารุทราลกก็จำต้องทิ้งนางไว้ในวัง ยกทัพไปปราบปรามข้าศึกเสร็จแล้วก็รีบกลับมา    แต่ช้าไปแล้ว   ก็ได้ทราบจากขุนนางว่า  พระนางสิ้นพระชนม์เสียแล้วด้วยความตรอมใจ
พระราชาเศร้าโศกจนไม่เป็นอันว่าราชการ  ตั้งสติไม่อยู่   คลุ้มคลั่งอยู่ด้วยความคิดถึงนาง

คืนหนึ่งพระศิวะทรงอุ้มพระอุมา เสด็จมาทางอากาศ   ก็ได้ยินเสียงร้องไห้คร่ำครวญบอกความทุกข์โศกสาหัส   ก็เสด็จลงไปดูว่าใคร
จึงเจอสตรีนางหนึ่ง อยู่ในสถานะที่แสงทองเรียกว่า "สิทธา" 
เรื่องนี้ยังหาภาคอังกฤษไม่ได้  ยังไม่ได้ลงในเน็ต   ก็เลยไม่รู้ว่า สิทธา มาจากคำว่าอะไร   แต่ดูบริบทแล้วคล้ายๆพวกนักสิทธิ์  แต่เป็นเพศหญิง
ต้องรบกวนความรู้ของคุณหลวงอีกแล้วค่ะ


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 02 มิ.ย. 10, 11:46
ผมเอาลิงก์  A Draught of the Blue   ฉบับภาษาอังกฤษ  มาให้ครับ  เชิญโหลดอ่านได้ตามอัธยาศัยเลยครับ   หรือจะเซฟเก็บเป็นไฟล์ไว้อ่านก็ดีเหมือนกัน   ;D

http://www.archive.org/details/draughtofblueto00bain


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มิ.ย. 10, 13:13
ดีจริง  ไม่ทันนึกว่างานของ Bain ลงในเว็บมากกว่า ๑ เว็บ   เลยไม่ได้หาในเว็บอื่นว่ามีเรื่องนี้
ไฟล์ PDF   copy&paste ไม่ได้    เลยต้องแค็ปจากหน้าจอมาให้อ่านกันค่ะ
ชื่อของพระราชา  Rudralaka  แสงทองถอดออกมาว่ารุทราลก   เบนให้คำแปลว่า เส้นผมของพระศิวะ
เชิญคุณหลวงถอดศัพท์ตามอัธยาศัย

เบนมีเชิงอรรถแบบนี้อยู่บ่อยมาก  ทำให้คนอ่านเชื่อสนิทว่ามีต้นฉบับสันสกฤตอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง เบนถึงได้อ้างที่มาของศัพท์ อยู่บ่อยๆ


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มิ.ย. 10, 13:40
คำว่า สิทธา  แสงทองถอดจาก Siddha
เบนอธิบายไว้ (โปรดอ่านในไฟล์ท้ายค.ห.)
ดวงจันทร์ ตามที่เมธีบางท่านอธิบายไว้ เป็นที่สิงสถิตของดวงวิญญาณฝ่ายดีงามบางดวง ที่ในชาติภพก่อนได้บำเพ็ญบุญมากพอจะได้เสวยสุขในระดับนี้

จากคำอธิบาย  พอประมาณได้ว่า สิทธา หมายถึงเทพบุตรและเทพธิดาชั้นดวงจันทร์      ยังเดาไม่ออกว่าพอเทียบได้กับชั้นไหนในฉกามาพจร    เพราะไม่เคยเรียนมาก่อนว่าพระจันทร์อยู่ชั้นไหน


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: bookaholic ที่ 02 มิ.ย. 10, 20:37
แสงทองเป็นผู้สนใจวรรณคดีเก่า  ท่านเคยบันทึกโคลงเก่าไว้ 2 บท  ผมไม่เคยเห็นที่อื่นอีก
ท่านบอกว่าได้ยินเล่ากันมาว่าผู้แต่งคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์  ขณะทรงเป็นผู้สำเร็จราชการ
โคลงว่าอย่างนี้ครับ
ไม้ใดอุบัติเบื้อง             บรรพต
สูงแต่พอสมยศ             เยี่ยงไม้
กว่าไปกิ่งใบลด             แหลกเพราะ ลมนา
เขาบ่อาจบังได้             เพราะไม้สูงเกิน

และบทที่ว่าเป็นพระราชนืพนธ์ร. 5
เฮ้ยเฮ้ยใครอย่าเย้ย         หยามเด็ก
พริกก็พริกเม็ดเล็ก           เผ็ดล้ำ
ใครใครจะกินเหล็ก          ห่อนเล่า ลือนา
โคแก่มีเขาง้ำ                 เด็กขึ้นขี่คอ
ขอขัดจังหวะแค่นี้ละครับ


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: kui045 ที่ 02 มิ.ย. 10, 20:59
แอบมาอ่าน
เพิ่มจะได้ รวมเรื่องสั้น ของแสงทอง
มาไม่นาน กำลังทยอยอ่านอยู่พอดีเลย
ก็มีกระทู้นี้ให้ได้ข้อมูลเพิ่มขี้นอีก
ได้แต่แอบมาอ่านอยู่เงียบๆ
ไม่ได้ร่วมวงเสวนาด้วย
เพราะว่ายังด้อยความรู้ ;D


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 03 มิ.ย. 10, 08:13
รุทฺราลก  มาจาก  รุทฺร  +  อลก

รุทฺร  ในยุคแรกหมายถึงเทพจำพวกหนึ่ง จำนวน  ๑๑  องค์  มีเทพ ศิวะ  หรือ ศังกร  เป็นหัวหน้าคณะเทพรุทร    ครั้นต่อมา  คำว่า รุทฺร  ได้กลายมาเป็นพระนามหนึ่งของพระศิวะ

อลก  ๑.ผมหยิก ผมเป็นลอน  เส้นผม
        ๒.ผมหยิกด้านหน้าผาก
        ๓.หญ้าฝรั่นที่ใช้ทาบนร่างกาย

รุทฺราลก  หมายความว่า  เส้นผมของพระศิวะ  คงหมายเอาส่วนที่สูงสุดของพระศิวะ   เส้นผมของพระศิวะเป็นที่ให้พระคงคาจากสวรรค์ไหลเวียนไปตามเส้นผมนั้นก่อนปล่อยให้กระแสน้ำคงคาไหลตกลงมาบนพื้นโลก   ทั้งนี้เพื่อลดความรุนแรงของพระคงคา  พอพ้นจากเส้นเกศาของพระศิวะแล้ว   พระคงคายังไหลผ่านไปอีกหลายที่  อันเป็นตำนานแม่น้ำคงคาในฮินดูปกรณัม


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 03 มิ.ย. 10, 08:28
siddha (สิทฺธ)  -  Asemi divine being supposed  to be of great purity  and holiness  and said to be particularly  characterized  by eight  supernatural  faculties called Siddhis   /  An insPired  sage  or seer , a prophet. ???


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มิ.ย. 10, 10:22
สงสัยว่า สิทธฺ  และสิทธา    ของไทยเราใช้คำว่า "นักสิทธิ์"  คือเป็นกึ่งๆเทพประเภทหนึ่ง  สำเร็จในวิชาระดับสูงกว่ามนุษย์    หน้าตาเป็นยังไง ต้องไปหาจากภาพผนังโบสถ์  จำได้ว่าคล้ายๆฤาษี     เรียกรวมกับวิทยาธร ว่า นักสิทธิ์พิทยาธร
พวกนี้ไม่ค่อยมีบทบาทนักในวรรณคดีไทย     จำได้ว่าเวลาต้นนารีผลออกลูกโตเต็มที่  นักสิทธิ์พิทยาธรก็เหาะมาเก็บเอาไปเชยชม   แสดงว่าอาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์หรือสวรรค์ขั้นต้นๆ
นักสิทธิ์
พจนานุกรมให้ความหมายว่า
นักสิทธิ์   น. ผู้สําเร็จ, ฤษี, ลักษณนามว่า ตน.
 


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มิ.ย. 10, 19:59
กลับมาเรื่องอลิจุมพิตา

เทพธิดาสิทธา เล่าให้พระศิวะและพระอุมาฟังว่า เธอระลึกชาติได้ว่าเคยเกิดเป็นชายาพระราชารุทราลก   มองลงไปที่มนุษยโลกก็ยังเห็นพระสวามียังอาลัยอาวรณ์เธออย่างหนัก   ทำให้เธอเศร้าโศกมาก  จึงขอพระศิวะว่า

" บัดนี้ข้าพเจ้าขอสละกุศลที่ได้สร้างสมไว้ เป็นบุญกองใหญ่แลกอดีตกาล แม้ไม่นานกว่าชั่วพริบตา   ความเป็นสิทธาหรือสิ่งใดๆก็ตาม   จะเป็นประโยชน์อันใดแก่ข้าพเจ้าถ้าปราศจากสามี     มิฉะนั้นก็เหตุใดข้าพเจ้าถึงถูกสาปให้มีความรำลึกชาติ แลไม่ได้รับรางวัลด้วยความลืม?   เพราะความทรงจำได้มัดวิญญาณเข้าเกี่ยวด้วยโซ่แดงด้วยไฟแห่งความยินดีที่ด้านแล้ว"


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 05 มิ.ย. 10, 08:55
ไม่เคยอ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษมาก่อนค่ะ   วนเวียนอ่านหลายรอบ

ไม่เข้าใจ คำว่า  unexhausted   ถามตัวเองว่า  ทำไม จะ ไม่มีวันหมดสิ้นฤา

กลับไปอ่าน ตีความเองว่า การเข้าสู่สภาวะสิทธานั้น จะเกิดเพราะได้สร้างกองบุญไว้  และเมื่อเข้าสู่ความเป็นสิทธาแล้ว กองบุญนั้นมหาศาล



       มีเล่มที่พิมพ์ ทินมาลี และนาครีคำฉันท์ ไว้ด้วยกัน  ฉบับ ร.พ. อุดม  ๒๔๙๖ 

มีลายเซ็นของ คุณหลวง  มอบให้ คุณหลวงอีกท่านหนึ่ง  ลงวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๐๒



อ่านคำฉันท์ไม่ออกค่ะ   ความสามารถไม่ถึง



แต่ชอบทินมาลีมานานมากแล้ว

ทินมาลีพิมพ์ครั้งแรกรวมกับ ยถาภูตธัมม์  เป็นหนังสืออนุสรณ์ บิดามารดาของ คุณสว่าง  สามโกเศศ เมื่อ เดือนเมษายน ๒๔๙๖

นาครีคำฉันท์ใช้เวลาแปล ๓๖ วัน และลงใน วรรณคดีสารรายเดือน จบ ๒๔๘๖





กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 06 มิ.ย. 10, 11:05
มีเรื่องแปล ชื่อ มายาสา-ไฐย   ของ แสงทองอยู่เล่มหนึ่ง

ไม่ได้บอกว่าแปลมาจากเรื่องอะไร   ใช้คำว่า เรียบเรียง  พ.ศ. ๒๔๗๓  พิมพ์ที่โรงพิมพ์ศรีกรุงปีเดียวกัน

ใช้ชื่อไทยทั้งสิ้น  บ้านในชนบทก็อยู่นครปฐม   มีเพื่อนมาพักแบบบ้านในชนบทของต่างประเทศ

จะว่าเป็นงานแปลแรก ๆ ก็ไม่เชิง เพราะ อติรูปแปลประเดิมใน ๒๔๖๔


อ่านแล้วก็ขำที่ตัวเอกของเรื่อง ตัดเครื่องแต่งกายที่ เงี่ยลอย

นางเอกนั้น นุ่งผ้าตาโก้งไหมตาโตสีขาวสลับโศกอ่อน  สงเสื้อแคร๊บเดอชีนสีขาวสอาด  คอสวมสร้อยแปลตตินำห้อยจี้มรกต
ข้อมือซ้ายสวมสร้อยเพ็ชร์  ขวาสวมนาฬิกาข้อมือทองขาว

ฉีดผมด้วยน้ำเคลเคอเฟลอร์



กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 10, 07:46
อ้างถึง
ไม่เข้าใจ คำว่า  unexhausted   ถามตัวเองว่า  ทำไม จะ ไม่มีวันหมดสิ้นฤา

กลับไปอ่าน ตีความเองว่า การเข้าสู่สภาวะสิทธานั้น จะเกิดเพราะได้สร้างกองบุญไว้  และเมื่อเข้าสู่ความเป็นสิทธาแล้ว กองบุญนั้นมหาศาล

unexhausted  นอกจากแปลว่า ไม่รู้จักหมด  (คือมีอย่างมหาศาล) ยังแปลได้อีกอย่างว่า remaining  คือส่วนที่ยังไม่หมด  ได้แก่ส่วนที่เหลืออยู่
จะเป็นอย่างไหนก็ตาม  สิทธานางนี้ขออุทิศบุญกุศลทั้งหมดที่นางยังมีอยู่  เพื่อช่วยพระสวามีให้พบนางอีกครั้ง


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 07 มิ.ย. 10, 09:45
         Or why am I cursed with reminiscence, and not rather rewarded with oblivion?
        
อ้างถึง
เหตุใดข้าพเจ้าถึงถูกสาปให้มีความรำลึกชาติ แลไม่ได้รับรางวัลด้วยความลืม?

         เรียนถามอาจารย์ มีข้อสงสัย ครับ

         จากที่อ่านดูเพียงเท่านี้ - โดยไม่ทราบรายละเอียดเรื่องราว - ความหมายตรงนี้เข้าใจเป็นแบบว่า  

                   เหตุใดข้าพเจ้าถึงถูกสาปให้มีความรำลึกชาติ (แล) แทนที่จะได้ความลืมเป็นรางวัล   หรือ

                   เหตุใดข้าพเจ้าถึงถูกสาปให้มีความรำลึกชาติ แล้ว (เหตุใด) จึงไม่ได้ความลืมเป็นรางวัล (ด้วย)                                                              

         สงสัยอีกข้อด้วย ครับ ตรง ความลืม หรือ การลืม          


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 10, 21:43
ข้อแรกค่ะ

ครูภาษาไทยชั้นมัธยม เคยสอนว่า ความกับการใช้ต่างกัน    คำว่าการ  ใช้กับอากัปกิริยา  เช่น กิน  นอน  ดื่ม   ลุก  นั่ง
ส่วนความ ใช้กับคำที่ไม่บ่งชี้ว่าเป็นอากัปกิริยา  เช่น  เป็น  ตาย  รัก  ใคร่  จริง  เท็จ
ถ้าเป็นตามนี้ ก็น่าจะเป็น "ความลืม"  คู่กับ "ความจำ"


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มิ.ย. 10, 10:54
กลับมาต่อเรื่อง
พระอุมาอ้อนพระศิวะจนกระทั่งทรงยินยอมให้เทพธิดาสิทธา และรุทราลกได้พบกันอีกครั้งในรูปของความฝัน      เพราะไม่สามารถจะหมุนกาลเวลาให้ถอยกลับไป  แต่พระองค์ก็ทรงเตือนว่าการได้กลับไปเจอกันอีกครั้งเป็นความเขลาของทั้งสองคน      ควรจะปล่อยให้เป็นอย่างที่เป็นอยู่ จะดีกว่า


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มิ.ย. 10, 19:48
คำเตือนของพระศิวะ  พัดผ่านหูสิทธาและพระอุมาไป     เหตุการณ์ต่อมาจึงเป็นว่า ในเมืองของพระราชา  ขณะที่รุทราลกยังเศร้าโศกถึงพระชายาอยู่ไม่คลาย    ไม่ว่าจะฟังดนตรี  หรือทอดพระเนตรเพชรพลอยที่พ่อค้านำมาถวาย  จิตก็ประหวัดถึงนางตลอดเวลา
ในจำนวนพ่อค้าเหล่านี้  มีพ่อค้าประหลาดคนหนึ่ง มาเสนอขายความฝันให้  ในรูปของน้ำในขวดแก้วเจียระไน
เมื่อพระราชาทรงดื่มเข้าไป  ก็หลับสนิท 
ในฝันนั้นทรงกลับไปพบพระชายาสุดที่รักอีกครั้ง   เหตุการณ์ในอดีตตั้งแต่พบครั้งแรกก็กลับคืนมา เหมือนทรงกลับเข้าไปในอดีตอีกครั้ง

พระชายามีชื่อว่า อลิจุมพิตา   นางเป็นธิดาของพระดาบสชรา เกิดจากนางอัปสรที่พระอินทร์ส่งมาทำลายตบะ  เมื่อคลอดลูกสาวออกมาแล้วก็กลับสวรรค์ไป
พระดาบสก็เลี้ยงนางไว้ในป่า   มีสิงห์สาราสัตว์เป็นเพื่อนเชื่องๆคอยดูแลนาง    แต่นางไม่เคยเห็นมนุษย์คนใดนอกจากบิดา ซึ่งนับวันก็เข้าฌานจนมีสภาพเหมือนต้นไม้หรือก้อนหิน    ไม่พูดไม่จากับลูกสาวอีก
นางมาพบพระราชา  เป็นชายหนุ่มคนแรก

เรื่องราวของพระฤๅษีชีไพร บำเพ็ญตบะแก่กล้าจนเทวดาเกรงกลัว   เลยส่งนางอัปสรมาทำลายตบะ  และเกือบทั้งหมด พระฤๅษีก็มักจะเสียทีแก่นางอัปสร จนมีลูกด้วยกัน   เป็นแนวนิยม  เอ่ยถึงในวรรณคดีอินเดียอยู่หลายเรื่อง   
เรื่องที่คนไทยรู้จักกันก็คือพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ เรื่องศกุนตลา   นางเอกเกิดจากนางฟ้าชื่อเมนกา พ่อคือพระฤๅษีวิศวามิตร   

นางอัปสรพวกนี้ไม่มีสัญชาตญาณของความเป็นแม่  จึงไม่เลี้ยงลูก    ถูกส่งมากระทำมิชชั่น อิมพอสสิเบิ้ลจบแล้วก็แล้วกัน    ก็กลับคืนสู่เฮดควอเตอร์ของตัวบนสวรรค์ 
ส่วนทางโลกมนุษย์   พระฤๅษีก็เลี้ยงลูกสาวต่อไป  และบำเพ็ญตบะต่อได้ด้วย    เพราะฤๅษีไม่เหมือนพระสงฆ์ในพุทธศาสนาที่เสพเมถุนแล้วต้องปาราชิก   พ้นจากความเป็นสงฆ์ตลอดกาล  บวชอีกไม่ได้
แต่พระฤๅษีชีไพรเหล่านี้ ตบะแตกแล้วต่อได้  บำเพ็ญได้ต่อไปจนถึงบรรลุเป้าหมาย   ส่วนลูกสาวซึ่งเป็นลูกครึ่งนางฟ้ากับมนุษย์ ก็มักจะได้สามีเป็นพระราชาหรือเจ้าชายที่เสด็จประพาสป่า


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มิ.ย. 10, 20:15
อย่างไรก็ตาม  อลิจุมพิตาไม่เหมือนแม่   เธอเป็นผู้หญิงดีงาม รู้หน้าที่ของสตรีและภรรยา    รู้ด้วยสัญชาตญาณและการสั่งสอนจากดาบสชราผู้เป็นพ่อ    พูดง่ายๆว่าเธอเป็นสตรีสมบูรณ์แบบสำหรับเป็นพระราชินีของอาณาจักรไหนๆ 
เรื่องก็ย้อนกลับไป รุทราลกได้พบอลิจุมพิตาอีกครั้งในความฝันซึ่งย้อนกลับไปเริ่มต้นตั้งแต่แรกพบกัน   จนกระทั่งพานางกลับเมือง    ทุกบททุกตอนปรากฏละเอียดถี่ถ้วนอยู่ในความฝัน  ทำให้ทรงเป็นสุขมากที่สุด
เหตุการณ์ในฝันก็ดำเนินไปจนครบทุกขั้นตอน   จนถึงขั้นตอนสุดท้ายที่อลิจุมพิตาตายจากไปเป็นครั้งที่สอง
คือตายในความฝัน เช่นเดียวกับตายในความจริง
พระราชาก็ทรงตื่นขึ้น     ด้วยความตระหนกและโทมนัสยิ่งกว่าครั้งแรกที่พระชายาจากไป  เพราะเป็นการจากกันครั้งที่สอง  จึงเท่ากับความทุกข์ครั้งแรก ถูกคูณเป็นสองเท่าด้วยทุกข์ครั้งที่สอง
พระราชาเหลือจะทนทุกข์ต่อไปได้อีก  พระทัยก็แตกสลายลง

นี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมพระศิวะทรงห้ามปราม  มิให้สิทธาอธิษฐานขอสิ่งที่ฝืนความเป็นไปของโลก   แต่ก็ไม่มีใครฟัง
ถ้าหากว่าอลิจุมพิตาและรุทราลกปล่อยทุกอย่างให้เป็นไปตามวิถีของโลก  คือยอมรับว่าเมื่อพบกันแล้วก็ต้องจากกันอยู่ดี     ถึงทุกข์ ก็ทุกข์น้อยกว่านี้  อย่างน้อยพระราชาก็ยังดำเนินชีวิตต่อไปได้
แต่นี่ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของนาง   ตั้งใจจะช่วยพระสวามีให้พบนางอีก เพื่อจะได้คลายทุกข์   ก็กลับไปเพิ่มทุกข์ให้หนักขึ้นเป็นทวีคูณ   เพราะการพบกันก็ต้องจบกันด้วยการจากกันอีก
แทนที่จะเสียใจหนเดียว  ก็เสียใจสองหน   ซึ่งหนักหน่วงเกินกว่าจะแบกรับไหว  พระราชาก็ต้องพระทัยแตกสลาย


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: rin ที่ 17 มิ.ย. 10, 12:07
วรรณกกรรมชองแสงทองเป็นรวมเรื่องมีประมาณ 13เรื่อง ที่จำได้คือ ปทุมทีป(น.ม.ส.แต่งเป็นเรื่องกนกนคร)  อนังคราคา  อติรูป อลิจุมพิตา มีอีกหลายเรื่อง มีบทกวีแทรกบางเรื่องด้วย  สำนวนไๆพเราะมาก  เข่น
นางเป็นมฤคโลจนาเพราะนาเจ้า มีแววเร้าแววหวั่นแววมันหวาน
มีแสงชวนเชยยวนมาน     แสงงามปานเนตรเนื้อเมื่อแหนงภัย....
เป็นมัณฑนาลีลาโลลดา    เพราะดวงตาเพชรตระการสะท้านสั่น
ขนงยักโยกเคหะเทวัญ         สมสมัญภรูฏูฏีจลา.....
สมกับเป็นนานารูปินี            เป็นสตรีศรีในมไหสูรยิ์
สมที่ใครได้เป็นเป็นอาดูร               เปรียบยังไม่ไพบูลย์ปูนนางงาม

ยาวกว่านี้มาก  แต่จำไม่ค่อยได้ค่ะ  อ่านตั้งแต่เรียนชั้นประถม  กลอนนี้จากเรื่อง อนังคราคา  ถ้าอยากรู้จะค้นมาเขียนให้เต็มทีหลัง
ริน



กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: rin ที่ 17 มิ.ย. 10, 12:14
ขอแก้หน่อยนะคะ
นางเป็นมฤคโลจนาเพราะตาเจ้า
ริน


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 มิ.ย. 10, 20:28
กลับมาขุดกระทู้นี้ขึ้นอีกครั้ง เพราะยังไม่จบ
ขอบคุณคุณรินค่ะ

ผลงานของเบน  อีกเรื่องหนึ่ง คืออนังคราคา เป็นเรื่องเจ้าหญิงเจ้าปัญญาที่ตั้งปริศนาคำถามแก่ผู้ประสงค์จะเป็นคู่ของนาง ใครตอบได้ก็ชนะไป 
แต่ในเรื่องยังไม่มีใครตอบได้  นอกจากพระเอก (อยู่แล้ว!)

นิทานปริศนาแบบนี้  มีอยู่ในวรรณคดีอินเดียภาคภาษาอังกฤษหลายเรื่องด้วยกัน    ที่เรารู้จักกันดีก็คือนิทานเวตาลของน.ม.ส.   แปลมาจาก Vikram and the Vampire ของ Sir Richard Burton
ตัวเวตาลที่เป็นปีศาจค้างคาวขี้เล่นนั้น   เบอร์ตันเรียกง่ายๆว่า vampire   คำนี้เราเคยชินกันในนิยายสยองขวัญของบราม สโตเกอร์  คือ Dracula   เป็นนิยายอมตะที่ตัวนิยายดังกว่าคนเขียน    เอ่ยชื่อผู้เขียนขึ้นมาไม่มีใครจำได้    แต่พอเอ่ยถึงแดรกคูล่า ก็ร้องอ๋อไปตามๆกัน
ท่านเคานต์แดรกคูล่ากับเวตาล อยู่สปีชี่ส์เดียวกันคือ vampire  ต่างกันที่เวตาลไม่กินเลือด  แต่ชอบตั้งคำถามให้ตอบ   ส่วนท่านเคานต์ไม่เสียเวลาตั้งคำถาม  ดูดเลือดอย่างเดียว

ส่วนเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวกับการตั้งคำถามโดยนางเอกให้พระเอกตอบได้นี้   มีอยู่ในเรื่องจีนที่กลายเป็นอุปรากรฝรั่ง ชื่อก้องโลก คือ Turandot
เพลงโอเปร่าในเรื่องนี้ที่โด่งดังมาก  คือ Nessun Dorma  เป็นเพลงประจำตัวของ Luciano Pavarotti นักร้องโอเปร่า ขวัญใจแฟนโอเปร่าทั่วโลก
เสฐียรโกเศศ แปล Turandot ไว้ในหนังสือ พันหนึ่งทิวา    โดยถอดชื่อ ตูรานด๊อท ซึ่งเป็นนามเจ้าหญิงจีนสำเนียงฝรั่ง  มาเป็น ธุระทต
แยกซอยไปไกลแล้ว ขอกลับมาที่เดิมค่ะ

ในเรื่อง อนังคราคา  พระราชาหนุ่มสูรยกานต์ เป็นหนึ่งในผู้เข้าชิงชัยเพื่อจะถามปัญหาที่เจ้าหญิงอนังคราคาตอบไม่ได้   แต่ถึงวันจริง  เจอหน้าเจ้าหญิงเข้า  พระราชาหนุ่มก็ตกตะลึงในความงามจนนึกอะไรไม่ออก พูดอะไรไมถูก
ร้อนถึงพี่เลี้ยงของพระราชา  เกรงเจ้านายจะเสียท่าถูกตัดหัวเหมือนคนอื่นๆ   ต้องรีบเล่านิทานขัดจังหวะเสียก่อน
เล่าไปหลายเรื่อง   เจ้าหญิงก็ตอบคำถามได้ทุกเรื่อง


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 ก.ค. 10, 15:26

วรรณกรรมของแสงทองชอบเรื่อง  ทินมาลี  หรือ  A Heifer of the Dawn     อ่านซ้ำได้หลายครั้ง


พระราชาเกลียดผู้หญิงเพราะจับได้ว่าพระราชินีทรยศ

เมื่อศัตรูอีกเมืองหนึ่งเสนอสันติภาพและพระราชธิดา  พระราชายอมรับว่าจะแต่งตั้งให้เป็นพระราชินี  แต่อย่ามายุ่งเกี่ยวกับพระองค์

เจ้าหญิงยกขบวนมาพักที่ใกล้เทวาลัยที่พระราชพำนัก  และส่งนางสาวใช้นำดอกไม้มาถวาย  สนทนาเล็ก ๆ น้อย ๆ

สิบสองวันเท่านั้นค่ะ  พระราชาที่เกลียดผู้หญิง  เลิกเกลียด


       "ครั้งหนึ่งข้าเคยคิดว่าข้ามีความรัก   แต่ครั้งนั้นข้าไม่รู้สึกอย่างที่รู้สึกอยู่บัดนี้

ถ้าครั้งนั้นข้ามีความรักครั้งนี้ข้าก็ไม่มี         แลถ้าครั้งนี้ข้ามี  ข้าก็หามีไม่ในครั้งโน้น"


       ในวันแรกที่นางมา ทรงภูษาสีนิลเข้ม   ในมือถือดอกมะม่วง

วันที่สองนางถือดอกกระบอกสีชมพู             วันที่สามดอกมาลตี หรือมะลิดอกใหญ่

วันต่อมานางหายไป                  อีกวันหนึ่งมามีดอกจัมปาดอกหนึ่ง  บรรยากาศคลุ้งไปด้วยคันธรส

ไม่กี่วันต่อมา  พระราชาคิดออก


     "นางทำให้ข้าเวทนาสาหัส   ข้าไม่ยี่หระอะไรแล้ว  เห็นหรือไม่  ข้าเป็นชาย  ชายชาตรี  นางเป็นสตรี  แล้วก็ร่างน้อย

แต่นี้ต่อไปนางไม่ต้องไปไหนอีก        เพราะนางกำชีวิตข้าไปด้วย"



กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ค. 10, 16:00
ยังไม่ทันเล่าถึง อนังคราคา ต่อ  เจอค.ห.คุณวันดีเรื่องทินมาลี  ก็ถูกใจ
จำกลอนบทนี้ ได้ไหมคะ

ไฟแรงแสงร้อนล้ำ               ย่อมแพ้น้ำเป็นนิจมา
เหล็กแข็งและแกร่งกล้า        ยังพาอ่อนเมื่อร้อนไฟ
ลมโบกสะบัดแรง                ต้นไม้แข็งย่อมโค่นไป
ชายเรืองฤทธิไกร                ย่อมจะพ่ายอิสตรี

ก็เจ้าหญิง นอกจากโฉมงาม   ยังเก่งจิตวิทยาจะตายไป  นิทานแต่ละเรื่องที่มาพร้อมกับดอกไม้ประจำวัน   กล่อมพระราชาให้เห็นความดีของผู้หญิงทั้งนั้นเลย

กระทู้นี้จำต้องถูกแช่แข็งไว้พักหนึ่ง  เพราะหาหนังสือตอน "อนังคราคา" ไม่เจออีกแล้ว  ในกองหนังสือ   เจอแต่เล่มที่ไม่ต้องการ อีก ๒ เล่ม  (ตามหลักของเมอร์ฟี่)*
เลยขอนำบางตอนจาก ขุมความเท็จ มาแก้ตัวสำหรับผู้เปิดเข้ามาอ่านค่ะ

" ถ้ารักอีกเพศหนึ่งละก็   รักเพราะมีบางสิ่งควรให้อภัย    เพราะไม่มีอะไรจะเพิ่มความปฏิพัทธ์ได้มากเท่าการให้อภัยผู้ถูกปฏิพัทธ์      และเครื่องทดลองความรักก็มีอยู่แต่เพียงสองเท่านั้น   คือ อำนาจแห่งความรำลึกได้  กับสมรรถภาพที่จะให้อภัย     เพราะรักลวงนั้นลืมเร็ว    แลไม่อาจให้อภัยเลย    แต่รักที่เป็นความรักแท้นั้นให้อภัยได้เสมอ  แลไม่ลืมเลย"

* หลักของเมอร์ฟี่  หรือ Murphy's Law  หมายถึงอะไรที่มันไม่น่าเกิด ก็เจ้ากรรมดันมาเกิด ราวกับแกล้ง
เช่น ถ้าขับรถเปลี่ยนเลนเมื่อไร  เลนที่เราเลือกมักจะติดไม่ขยับ มากกว่าเลนเดิม     ถ้าเอาร่มไปด้วย ฝนไม่ตก  วันไหนไม่เอาร่มไป ฝนจะตก     เสื้อตัวสำคัญพอจะต้องใส่ เกิดเอาไปซัก ยังไม่แห้ง ฯลฯ


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: rin ที่ 06 ก.ค. 10, 14:40
อนังคราคาเป็นเรื่องที่เจ้าหญิงจะตอบปัญหาที่เจ้าชายจากต่างเมืองที่ต้องการแต่งงานกับนางตั้งคำถามขึ้นจากนิทานที่เจ้าชายเป็นฝ่ายเล่าเล่า  หากเจ้าหญิงตอบได้ทุกคำถามจนครบจำนวนวันที่กำหนด  เจ้าชายจะถูกประหาร แต่หากเจ้าหญิงตอบไม่ได้ก็จะยอมแต่งงานด้วย  ตอนจบของเรื่องพระราชาสามารถถามปัญหาที่เจ้าหญิงตอบไม่ได้  คือถามว่าพระราชาเล่านิทานว่ามีเจ้าหญิงงามองค์หนึ่งมีปัญญามาก  ชายใดที่หวังจะแต่งงานด้วยต้องเล่านิทานและตั้งคำถามที่เจ้าหญิงตอบไม่ได้เธอจึงจะยอมแต่งงานด้วย  แต่ที่ผ่านมาไม่มีชายใดสามารถตั้งคำถามที่เจ้าหญิงตอบไม่ได้เลยสักคนเดียวเพราะเธอตอบได้หมดและทุกชายก็ถูกประหารชีวิต  พระราชาจึงถามเจ้าหญิงว่าควรถามคำถามอะไรเจ้าหญิงจึงจะตอบไม่ได้ คราวนี้เจ้าหญิงเป็นฝ่ายแพ้เพราะตอบไม่ได้จึงยอมแต่งงานด้วย แต่เมื่อทั้งคู่กำลังเดินทางกลับบ้านเมืองของพระราชาเพื่อไปแต่งงาน  มีความสุขมากจนรู้สึกว่าไม่อยากให้เวลาล่วงผ่านไป  ร่างกายของทั้งคู่กับถูกเผาผลาญด้วยไฟจากแสงตาที่สามของพระศิวะจนมอดไหม้ จบเรื่องค่ะ่


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ส.ค. 10, 11:14
ดึงกระทู้ขึ้นมา พลางๆก่อน
นิทานซ้อนนิทานในอนังคราคา   ล้วนแต่เป็นนิทานเชิงปรัชญา แฝงข้อคิดคติธรรม      เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจจะเล่าสู่กันฟัง คือ เรื่องที่ ๓  ยุวราชา
เรื่องมีอยู่ว่าพระราชาสิ้นพระชนม์ไปขณะพระโอรสยังเป็นทารก   พระอนุชาประสงค์จะได้ราชบัลลังก์เอง ก็คิดว่าจะกำจัดพระราชาน้อย  ซึ่งคงทำได้ไม่ยากอะไร  เพราะอีกฝ่ายเป็นแค่ทารกยังไม่รู้ความ
แต่หาทางครั้งแล้วครั้งเล่า ก็กำจัดไม่ได้   
ครั้งแรกไปจ้างโจรมาจากต่างเมือง   โจรลอบเข้าไปในวัง  เห็นทารกน้อยเล่นผลไม้อยู่ก็นึกเอ็นดู  ทารกเล่นด้วยก็เล่นกันง่วนอยู่ จนมหาดเล็กมาเห็น  โจรอ้างว่ามีพระราชสาส์นมาถวายพระราชา  มหาดเล็กก็ตอบว่าพระราชาองค์เดิมสิ้นพระชนม์ไปแล้ว มีแต่พระราชาองค์ใหม่คือทารกน้อย
โจรรู้ว่าตัวเองถูกจ้างมาให้ฆ่าเด็ก ก็ทำไม่ลง  ก็ขอถอนตัวไป   เป็นอันว่าล้มเหลวไปหนหนึ่ง
หนที่สองพระเจ้าอาจ้างโจรทั้งกลุ่มมาดักฆ่าทั้งขบวนเสด็จของพระราชาน้อย    มีหนีรอดไปได้คนหนึ่ง โจรเห็นทารกไร้เดียงสาก็เลยไม่ฆ่า   มหาดเล็กที่หนีไปได้ย้อนกลับมาอุ้มทารกเดินทางต่อไป  ผ่านด่านโจร โจรเข้าใจว่าเป็นขอทานเข็ญใจก็ปล่อยให้ผ่าน
หนที่สาม  พระเจ้าอาวางยาพิษในนม  แต่พระราชาน้อยทำถ้วยนมหล่นแตก  ก็เลยรอดไปได้
ส่วนพระเจ้าอาก็กรรมสนองกรรม ถูกคนอื่นฆ่าตายในที่สุด

รศโกศถามว่า ทำไมพระเจ้าอาจึงพ่ายแพ้หลาน  ทั้งๆหลานก็เป็นทารกไร้ทางสู้รบด้วย    นางอนังคราคาตอบเป็นคติว่า
" ความเป็นทารกนั้นเอง  ทำความพ่ายให้พระเจ้าอา เปรียบเหมือนแก้วที่วางไว้เปิดเผยบนพื้นดิน  ย่อมปราศภัยกว่ามณีมีค่าที่เก็บงำไว้ในกรงเหล็กอันมั่นคงแข็งแรง   เพราะแก้วไม่มีราคา  ไม่มีความเร้าใจคน 
ข้อนี้มีอุปมาฉันใด  บุคคลอ่อนแอมีความอ่อนแอของเขาป้องกันอยู่     จึงไม่มีอะไรทำอันตรายร้ายแรงเท่าผู้เข้มแข็งที่มีศัตรูมาก    แม้ป้องกันด้วยพลตั้งพัน  ก็มีอุปไมยฉันนั้น
ไม่มียาพิษใดดีเมื่อไม่มีพิษ     ไม่มีเกียรติใดดีเมื่อไม่มีคุณ     ไม่มีป้อมใดดีเมื่อไม่มีปัจจนึก    ไม่มีการป้องกันใดดี   เหมือนความอ่อนแอของทารก   เพราะบัวโรยนั้นมีศัตรูที่ไหน

เดี๋ยวจะหาฉบับภาษาอังกฤษมาเทียบค่ะ


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ส.ค. 10, 13:02
เทียบกันทีละประโยค

It was its  very childhood that baffled him.
ความเป็นทารกนั้นเอง  ทำความพ่ายให้พระเจ้าอา
For just as a stone, lying openly on the ground,
เปรียบเหมือนแก้วที่วางไว้เปิดเผยบนพื้นดิน 
is more secure than a costly jewel, though protected by adamantine bars, because it is worthless and arouses no cupidity ;
ย่อมปราศภัยกว่ามณีมีค่าที่เก็บงำไว้ในกรงเหล็กอันมั่นคงแข็งแรง   เพราะแก้วไม่มีราคา  ไม่มีความเร้าใจคน 
so is a thing so feeble that none would attack it more powerfully protected by its very feebleness than strength possessed of many enemies though defended by a thousand guards.
ข้อนี้มีอุปมาฉันใด  บุคคลอ่อนแอมีความอ่อนแอของเขาป้องกันอยู่     จึงไม่มีอะไรทำอันตรายร้ายแรงเท่าผู้เข้มแข็งที่มีศัตรูมาก    แม้ป้องกันด้วยพลตั้งพัน  ก็มีอุปไมยฉันนั้น
No antidote so good as the absence of poison;
ไม่มียาพิษใดดีเมื่อไม่มีพิษ   
 no fortification so good as the absence of enemies;
ไม่มีป้อมใดดีเมื่อไม่มีปัจจนึก
no virtue so good as the absence of beauty;
ไม่มีเกียรติใดดีเมื่อไม่มีคุณ
and no guard so potent as the helplessness of a child.
ไม่มีการป้องกันใดดี   เหมือนความอ่อนแอของทารก   
For where are the enemies of the fragile lotus ?
เพราะบัวโรยนั้นมีศัตรูที่ไหน


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 29 ส.ค. 10, 14:55

ขอบพระคุณค่ะ   ตั้งใจอ่าน


เข้าใจที่ ท่านแปล the fragile lotus  และ  the absence of enemies

ไม่ค่อยเข้าใจ the absence of beauty  ค่ะ   


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ส.ค. 10, 16:04
ดิฉันก็กำลังรอผู้รู้มาอธิบายเหมือนกันค่ะ

no virtue so good as the absence of beauty;
ไม่มีเกียรติใดดีเมื่อไม่มีคุณ

ดิฉันแปลว่า ไม่มีคุณธรรมใดดี (สำหรับสตรี) เท่ากับไร้ความยวนตา
แปลไทยเป็นไทยคือผู้หญิงสวยมักรักษาตัวให้ดีงามได้ยาก    ถ้าไม่สวยเสียอย่าง  จะทำตัวให้ดีก็ง่ายกว่า
คำว่า virtue อาจหมายถึงความบริสุทธิ์ผุดผ่อง  ไร้มลทิน  ก็ได้   ถ้าโยงกับคำว่า beauty ก็อาจแปลได้อีกทางว่า
ไม่มีพรหมจรรย์ใด(จะรักษาได้) ดีเท่ากับไร้ความยวนตา

ส่วน fragile แปลว่าบอบบาง  ไม่ได้แปลว่าโรย  แต่คุณหลวงท่านแปลว่า บัวโรย  ก็เลยตีความไปคนละทาง
ของท่านหมายความว่า บัวโรยย่อมไม่มีใครมาเด็ด  ก็คือปลอดภัยอยู่ในบึง     แต่ดิฉันแปลว่าดอกบัวเป็นพืชที่กลีบบางน่าทะนุถนอม ก็เลยไม่มีใครมาถากถางอย่างที่จะทำ ถ้ามันแข็งกระด้างอย่างพงหนาม


กระทู้: หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ย. 10, 12:31
For just as a stone, lying openly on the ground,
เปรียบเหมือนแก้วที่วางไว้เปิดเผยบนพื้นดิน 

ท่านแสงทองแปล stone ว่าแก้ว ท่านคงหมายถึง precious stone  หรือ  gems  แต่ดิฉันแปลว่า ก้อนหิน  หรืออาจจะหมายถึงกรวดก็ได้
เพราะมีคำขยายว่า  because it is worthless and arouses no cupidity ;  ถ้าเป็นแก้ว น่าจะมีราคา
ขอแค่นี้ก่อน จะรีบส่งข้อความ