เรือนไทย

General Category => ชั้นเรียนวรรณกรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: Wu Zetian ที่ 26 เม.ย. 17, 15:43



กระทู้: "เพื่อนำประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง" คือบุคลาธิษฐานไหมครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wu Zetian ที่ 26 เม.ย. 17, 15:43
นำมาจาก หน้า ฉ แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560 - 2579
......เพื่อนำประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง
และความเหลื่อมล้ำภายในประเทศลดลง

ผมสงสัยว่า
1. ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เป็นบุคลาธิษฐาน
Personification คือ การพูดถึงสิางที่ไม่ใช่คน ให้ทำกิริยาของคน เพื่อสื่ออารมณ์
แก่ผู้อ่าน ใช่ไหมครับ
 
2. การติดกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (หน้า 72 แผนการศึกษาแห่งชาติ)
คำว่า การติดกับดัก ในข้อความดังกล่าว มีความหมายโดยนัย แปลว่า
การที่ประเทศไทยต้องจมอยู่ในวังวนของความยากจนอยู่ร่ำไป ใช่ไหมครับ

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ


กระทู้: "เพื่อนำประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง" คือบุคลาธิษฐานไหมครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 17, 16:27
เดี๋ยวคุณเพ็ญชมพูคงเข้ามาตอบ
ตอนนี้ คั่นเวลาไปพลางๆ
1)
....เพื่อนำประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง
และความเหลื่อมล้ำภายในประเทศลดลง
    ประโยคนี้มีประธาน ซึ่งคุณ Wu ไม่ได้บอกว่าคือใคร  ใครเป็นคนนำประเทศไทยให้ก้าวข้ามกับดัก    เข้าใจว่าน่าจะเป็น"แผนการศึกษาแห่งชาติ"
    ประเทศไทยเหมือนผู้ถูกจูงไปอีกที
    แต่จะจูงหรือถูกจูง ก็ทำกิริยาอาการเหมือนคน  เพราะฉะนั้นเห็นว่าเป็นบุคลาธิษฐานได้ค่ะ

2)
   รายได้ปานกลางค่ะ ไม่ใช่รายได้น้อย
   แสดงว่าประเทศไทยไม่จนแล้ว   เพียงแต่ยังไม่รวย


กระทู้: "เพื่อนำประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง" คือบุคลาธิษฐานไหมครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 เม.ย. 17, 18:47
1. ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เป็นบุคลาธิษฐาน
Personification คือ การพูดถึงสิางที่ไม่ใช่คน ให้ทำกิริยาของคน เพื่อสื่ออารมณ์
แก่ผู้อ่าน ใช่ไหมครับ

เมื่อเอ่ยถึงคำว่า "ประเทศ" คุณอู่นึกถึงอะไร คงไม่ใช่ดินแดนว่างเปล่าไร้ซึ่งผู้คน ท่านรอยอินให้ความหมายของคำนี้ไว้ว่า "บ้านเมือง, แว่นแคว้น, ถิ่นที่อยู่" ฟังดูก็เหมือนไร้ชีวิต จริง ๆ แล้ว คำว่า "ประเทศ" มีความหมายเดียวกับ "ชาติ" คนไทยก็มักใช้ ๒ คำนี้ควบกันเสมอเป็น "ประเทศชาติ"  

คำว่า "ชาติ" ตามที่ท่านรอยอินอธิบายว่าหมายถึง "กลุ่มชนที่มีความรู้สึกในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน หรืออยู่ในปกครองรัฐบาลเดียวกัน" ดูจะมีชีวิตชีวาขึ้นมาหน่อย

"ประเทศไทย"  จึงประกอบไปด้วยดินแดนและคนไทย คงไม่ใช่สิ่งที่ไร้ชีวิตเสียทีเดียว ดังนั้นตัวอย่างที่คุณอู่ยกมาจึงไม่ใช่บุคลาธิษฐาน


2. การติดกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (หน้า 72 แผนการศึกษาแห่งชาติ)
คำว่า การติดกับดัก ในข้อความดังกล่าว มีความหมายโดยนัย แปลว่า
การที่ประเทศไทยต้องจมอยู่ในวังวนของความยากจนอยู่ร่ำไป ใช่ไหมครับ

คำว่า "กับดักของประเทศรายได้ปานกลาง" เป็นศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์ มาจากภาษาอังกฤษว่า "middle income trap"  หมายถึง สภาพของประเทศกำลังพัฒนาที่เริ่มถีบตัวจากความยากจน สร้างรายได้จากการพัฒนาอุตสาหกรรมและการส่งออก จนทำให้ประชาชนในประเทศมีความกินดีอยู่ดีในระดับหนึ่ง แต่กลับไม่สามารถพัฒนาตัวเองไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วที่มีฐานะร่ำรวย (high income countries) ได้ เหตุเพราะไม่สามารถสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิผลในการผลิต เพิ่มมูลค่าของสินค้าได้

http://www.siamintelligence.com/middle-income-trap/


กระทู้: "เพื่อนำประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง" คือบุคลาธิษฐานไหมครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wu Zetian ที่ 26 เม.ย. 17, 20:56
ขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพู และท่านอาจารย์เพ็ญชมพูเป็นอย่างสูงครับ


กระทู้: "เพื่อนำประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง" คือบุคลาธิษฐานไหมครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 เม.ย. 17, 09:49
ประธานของประโยคคือประเทศ ไม่ใช่ประเทศชาติ   แม้แต่คำว่าชาติในที่นี้ ถ้าไม่ใช่ชนชาติ ก็ถือว่าไม่ใช่บุคคล 
สรุปว่าเป็นบุคลาธิษฐานค่ะ