เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: kwang satanart ที่ 10 พ.ค. 11, 04:43



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: kwang satanart ที่ 10 พ.ค. 11, 04:43
สมัยเด็กอยู่กับคุณแม่  ท่านมักจะใช้คำพูดที่ฟังแล้วโบราณ  ตัวเองก็ติดมาพูดกับลูกๆโดยไม่รู้ตัว  เช่น

=ขนมถุงนี้มี สะไอ แล้ว หรือ เหม็นโอ่  แล้ว   หมายความว่า   มีกลิ่นใกล้ๆ บูด

=คนอะไรไม่รู้จัก  สำเหนียก ซึ่งก็หมายถึงว่า ไม่ฟังและไม่คิดตาม

= มาเดิน ทอดน่อง อะไรแถวๆนี้  ซึ่งหมายถึง เดินช้าๆ มองดูโน่นนี่อย่างสบายอารมณ์ 

ยังมีคำอีกมากมายที่เด็กๆ เดี๋ยวนี้พูดไม่เป็น  และไม่รู้จักเมื่อมีคนพูดให้ได้ยิน  เช่น   แง้มประตู    หับหน้าต่าง

เด็กๆ ใช้คำที่ง่ายต่อการใช้มากกว่า   เช่น  เหม็น   เปิด  ปิด  ทำให้วัฒนธรรมทางภาษาหายไปมาก   

อยากให้ช่วยๆกันนึกว่า  มีคำไทยใดบ้างที่แสดงถึงความละเมียดละไมทางภาษา   แต่คนสมัยนี้ไม่รู้จักใช้น่ะค่ะ



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 10 พ.ค. 11, 05:38
คำว่า "ฉิว" ในความหมายว่า โกรธเคืองเล็กๆ หรือไม่พอใจในการกระทำของผู้อื่น คำนี้ป้าผมใช้เป็นประจำ


"ผ้าถุง" คำนี้ สาวๆ ชาวกรุงยุคใหม่คงจะไม่รู้จักกันแล้ว เคยดูจากละครโทรทัศน์ นางเอกนุ่งผ้าถุงลงว่ายน้ำในคลอง ยัง "กลัด" ผ้าคาดกับหน้าอกไม่เป็นเลย ต้องใช้เข็มกลัดหรือเข็มขัดรัดเอาไว้ เลยทำให้ได้อีกคำหนึ่งขึ้นมา คือ "ตีโปง"

"ยามเย็นเดินเล่นชายทุ่ง ผ้าขะม้าคาดพุง นุ่งกางเกงขายาว, แต่งตัวไปอวดสาวๆ นุ่งกางเกงขายาว ผ้าขะม้าคาดพุง"
คำไหนครับที่ถูกต้อง ระหว่าง "ผ้าขะม้า" กับ "ผ้าขาวม้า"

คุณประยูร จรรยาวงศ์ หรือ "ศุขเล็ก" ท่านเคยเขียนการ์ตูนไว้ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเมื่อสักเกือบสี่สิบปีแล้วมั้ง เรื่องประโยชน์ของผ้าขะม้า
ผมจะประโยคสุดท้ายได้ประโยคเดียวคือ "แสนยากยุ่ง ผูกคอ มรณา" ท่านใดจำประโยคต้นๆ ได้ กรุณานำลงไว้ด้วยครับ

ส่วนประโยคนี้ คงไม่เกี่ยวกับคำถามของกระทู้นี้นัก
สมัยที่ผมเรียนชั้นมัธยม มีเพื่อนนักเรียนในห้องคนหนึ่งเป็นคนสุรินทร์หรือศรีษะเกศจำไม่ได้ ด่าเพื่อนอีกคนหนึ่งว่า "มึงสิเป็นลูกอีแม่หญิงสำเพ็ง" ตอนนั้นไม่เข้าใจความหมาของคำด่านี้เลย มาเข้าใจเมื่อตอนใกล้จะแก่ เมื่อได้ทราบว่า "สำเพ็ง" เมื่อสมัยก่อนนั้นเป็นอย่างไร ...


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ค. 11, 11:52
ตัวอย่างข้างบนนี้ มีทั้งคำไทย และสำนวนไทย  นะคะ  งั้นเอาเป็นว่าเราคุยกันไปทั้ง ๒ แบบ ได้หาคำไทยมาใส่ในกระทู้ได้เยอะๆ

ในกระทู้ใกล้ๆกันนี้ พูดถึงหนวดของชายไทย   คำไทยที่ประกอบลักษณะของหนวด  คนรุ่นใหม่คงไม่รู้จักกันแล้ว เช่น หนวดโง้ง   หนวดเฟิ้ม  หนวดหยิม  หนวดจิ๋ม     

หนวดโง้งก็คือหนวดที่ปลายงอนชี้ขึ้นข้างบน
หนวดเฟิ้ม เป็นหนวดดกหนาอยู่เหนือริมฝีปาก
หนวดหยิม เป็นหนวดบางๆ เหมือนไม่ได้โกนหนวดมาสัก ๒-๓ วัน 
หนวดจิ๋ม เป็นหนวดเล็กๆบางๆ และสั้น

เรายังใช้คำว่า สั่นเทา สั่นระริก สั่นไหว   แต่สั่นเทิ้ม  หายไปนานแล้วละมัง

อ้างถึง
คำไหนครับที่ถูกต้อง ระหว่าง "ผ้าขะม้า" กับ "ผ้าขาวม้า"
ผ้าขาวม้าเป็นภาษาเขียน   ผ้าขะม้าเป็นภาษาพูด  เป็นคำกร่อนมาจากคำแรก ค่ะ




กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: kwang satanart ที่ 11 พ.ค. 11, 01:41
1.  พอพูดถึง ผ้าขาวม้า ชวนให้นึกถึงคำว่า  ถกเขมร ค่ะ  คุณพ่อ หรือ คุณน้าผู้ชายรุ่นก่อนๆ  เวลานุ่งผ้าขาวม้า  แล้วต้องไปทำอะไรที่ต้องแบก หาม  ท่านมัก เอาชายผ้าขาวม้าลอดใต้หว่างขา  ไปเหน็บไว้ที่บริเวณหลัง แถวๆบั้นเอว  ซึ่งคนสมัยนั้นเรียกว่า   ตรงกระเบนเหน็บ  ทำให้ดูทะมัดทะแมงขึ้น

      อ้อ..ตัวเองก็เป็นคนที่เรียก ผ้าขาวม้า ว่า  ผ้าขะม้าด้วยเหมือค่ะ

2.  คำว่า  กระเบนเหน็บ  ก็เหมือนกันค่ะ  เด็กๆไม่รู้เลยว่า  มาจากการที่คนไทยนุ่งโจงกระเบน  แล้วตวัดชายผ้าลอดไปเหน็บไว้ที่บริเวณด้านหลังเอว  ก็เลยเรียกร่างกายช่วงหลัง  แถวๆ เอวว่า  กระเบนเหน็บ

3.  คำว่า   เชิงกราน   ก็มาจาก กระดูกบริเวณสะโพก  ที่มีรูปร่างเหมือนเตาเชิงกราน  คนโบราณก็เลยเรียกอวัยวะนั้นว่า  บริเวณเชิงกราน

4.  คำว่า  ร้อยหวาย  ก็คือบริเวณถัดจากตาตุ่ม  ค่อนไปทางหลังเท้า คำนี้เกิดจาก  เมื่อสมัยก่อนเชลยที่ถูกกวาดต้อนจะถูกเจาะบริเวณนี้  แล้วเอาไม้ไผ่ร้อยไว้ให้ติดกันหลายๆคน เดินไปพร้อมๆกัน    เพื่อป้องกันการหลบหนี  น่ะค่ะ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: kwang satanart ที่ 11 พ.ค. 11, 01:53
คุณลุงไก่ คะ   นอกจากคำว่า  สำเพ็ง แล้ว  มีคำที่พูดถึงผู้หญิงในเชิงลบ ของคนโบราณอีกคำนะคะ   ผู้หญิงหยำฉ่า น่ะค่ะ  คำ หยำฉ่า นี้ เป็นภาษากวางตุ้ง  แปลว่า   ดื่มน้ำชา อาจเป็นเพราะเมื่อก่อน มีผู้หญิงบางอาชีพนั่งรับแขก  แล้วก็ดื่มน้ำชากับแขก   แล้วก็อาจต่อด้วยอย่างอื่น  คนสมัยนั้น จึงเรียกผู้หญิงบางอาชีพนั้น   หรือผู้หญิงที่ถูกมองว่าไม่ดี นั้นว่า   ผู้หญิงหยำฉ่า   เพื่อให้มีนัยยะไปในทางลบน่ะค่ะ  แต่สมัยนี้ไม่มีคำนี้ให้ได้ยินแล้ว   ในครอบครัวกวางตุ้งแท้ๆ   เวลาเราพูดว่า   หยำฉ่า  หรือไปหยำฉ่ากันไหม   ก็แปลได้แต่ว่า  ดื่มน้ำชา    หรือไปกินอาหารที่ภัตตาคารจีน  แล้วสั่งอาหารประเภทติ่มซ้ำมาทานกันไปพร้อมๆ กับการดื่มน้ำชา เท่านั้นเอง


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 พ.ค. 11, 08:20
กลับไปคิดได้อีกหลายคำ  ที่น่าจะหายไปแล้ว  เช่นคำว่า เปิ่น และ เพิ้ง

เปิ่น เป็นคำที่มีมาก่อนคำว่า เชย   คำว่าเชยแต่ดั้งเดิมหมายถึง เชยชม    แต่กลายความหมายมาเป็นเชย ที่แปลว่าล้าสมัย จนตลกน่าหัวเราะ ก็เพราะตัวละคร ลุงเชย ในนิยายสามเกลอที่ป.อินทรปาลิตสร้างขึ้น     แกโด่งดังจนชื่อแกกลายมาเป็นความหมายของเชยอย่างที่เรารู้จัก    คำว่า "เปิ่น" ซึ่งหมายถึงเชย หรือเฉิ่ม  ก็เลยหายไป    พบได้ก็ในหนังสือเก่าๆสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒

เพิ้ง ใช้ประกอบคำเรียกผู้หญิง  เป็น ยายเพิ้ง   ยังไม่เคยเห็นคำว่า ตาเพิ้ง หรือนายเพิ้ง   
มีความหมายถึงผู้หญิงทำตัวเชยๆ น่าสมเพช น่าขบขัน    เข้าใจว่าจะมาจากเรื่องสั้น "คุณย่าเพิ้ง" ของ ครูเทพ หรือเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี    คุณย่าเพิ้งเป็นตัวละครเอกในเรื่อง   มีพฤติกรรมดังที่ว่า


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 พ.ค. 11, 10:29
คำว่า โก๋ ในสมัย ๒๕๐๐ กว่าๆ หมายถึงหนุ่มวัยรุ่นแต่งตัวสไตล์เอลวิส   ชุมนุมกันเป็นกลุ่ม แบบ โก๋หลังวัง

คำนี้ตัดมาจากคำว่า จิ๊กโก๋     ส่วนจิ๊กโก๋เพี้ยนมากจาก  gigolo เดิมหมายถึงหนุ่มๆที่รับจ้างเต้นรำกับหญิงสูงอายุ ซึ่งมางานโดยไร้คู่เต้น   ต่อมาก็กลายเป็นว่านอกจากบริการเต้นรำด้วยแล้ว  ยังบริการอะไรต่อมิอะไรอย่างอื่นด้วย      แต่เมื่อเอามาใช้ในภาษาไทย  ความหมายเปลี่ยนไป กลายเป็นหนุ่มวัยรุ่นแต่งตัวระคายตาผู้ใหญ่ทั้งหลายในสมัยนั้น

แต่ย้อนไปสมัยรัชกาลที่ ๕  มีคำว่า โก๋ เป็นคำวิเศษณ์  หมายถึงหลงๆลืมๆ  แบบคนแก่  เพราะฉะนั้นในรัชกาลที่ ๕ คุณตาคุณยายก็โก๋ได้


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 พ.ค. 11, 15:35
ค่อยๆทยอยนึกได้เรื่อยๆ
 ๑   กินโต๊ะ        =   รุมสกรัม
 ๒   แจกหมาก    =   ต่อยปาก
 ๓   ชะรอย        =   มีท่าทีว่าจะ, น่าจะ, อาจจะเป็นได้ว่า
 ๔   วุ้ย             =  เป็นคำอุทานของสาวๆสมัยคุณย่าคุณทวด     ถ้าเป็นสมัยนี้ พิมพ์คำว่า "กรี๊ด" แทน


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: kwang satanart ที่ 12 พ.ค. 11, 18:25
1. ตะแคงหูฟัง    =  การฟังอะไรอย่างตั้งอกตั้งใจ  มักใช้ในกรณีที่ผู้ฟังไม่ควรมีส่วนรู้เห็นด้วย
2. หัวบันได    = บันไดขั้นบนสุด                ตีนบันได   =  บันไดขั้นล่างสุด
3. เอนหลัง   =  นอนพักสักครู่
4. ราไฟ   =  ทำให้ไฟที่เตาอ่อนลงจนเกือบดับ
5. ตัวรุมๆ  =  อาการที่ร่างกายเริ่มมีความร้อนจากอาการไข้
6. เดินลอยชาย  =   คนที่เดินโดยไม่สนใจความเป็นไปรอบๆตัว




กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 12 พ.ค. 11, 20:28
คำว่า "ฝิ่น" ในความหมายที่ว่า แอบนำบทคัดย่อตำราหรือสูตรต่างๆ เข้าไปในห้องสอบ, ปัจจุบันยังใช้กันอยู่หรือไม่?

คำว่า "กำปั่น" ในความหมายที่ว่าเป็นหีบใส่ของ

คำว่า "ยากะแร็ต" ที่แปลงมาจากภาษาต่างประเทศ

คำว่า "โคมเขียว" "โคมแดง" อันหมายถึง ซ่องโสเภณีในสมัยก่อน? ทำให้นึกถึงคำว่า "จาโบ๊ห่วง" (ภาษาพูด) ขึ้นมาได้ ซึ่งคงไม่ใช่คำไทยแน่นอน แต่หมายความว่า โรคที่ติดต่อจากการมีเพศสัมพนธ์กับหญิงบริการ

"นังแจ๋ว" คำนี้ใครๆ ก็ทราบความหมายอยู่แล้ว และยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่จะใครบ้างที่ยังไม่ลืมคำว่า "อีเอี้ยง" จากละครโทรทัศน์เรื่องหนึ่งเมื่อเกือบสามสิบปีมาแล้ว (นอกเรื่องไปนิด)


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 พ.ค. 11, 21:25
ฝิ่น ในความหมายนี้ ไม่เคยได้ยินเลยค่ะ
กำปั่น บางทีก็ใช้คู่กับหีบ เป็นหีบกำปั่น
โคมแดง ไม่รู้จัก เคยอ่านพบแต่โคมเขียว

มีคำอื่นๆที่นึกได้อีก
๑  ตอกหน้า   =  โต้กลับไป
๒  หน้าหงาน  =  หน้าแตก


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ค. 11, 21:55
โซม  =  เปียกทั่ว  ใช้กับเหงื่อ   เหงื่อโซมกาย    เมื่อก่อนเห็นหนังสือบางเล่ม สะกดว่า โทรม  แต่รอยอินให้ใช้ โซม    เดี๋ยวนี้หายไปแล้วทั้งสองคำค่ะ   เห็นแต่โทรมในความหมายของทรุดโทรม

เจ้าทุย        =  ควาย
หัวทุย         =  รูปศีรษะที่ด้านหลังกลมนูน
หน้าผากโหนก  =  หน้าผากนูน

เอ คำว่า "นูน" หายไปจากความเข้าใจของคนไทยด้วยรึเปล่า  ;)


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: kwang satanart ที่ 13 พ.ค. 11, 23:50
1. ฝิ่น  เคยได้ยินอยู่เหมือนกันค่ะ  คุณพ่อเป็นนักเรียนอำนวยศิลป์ รุ่นลมหวน  ซึ่งอยู่แถวๆรุ่น พลเอก ชวลิต  ยงใจยุทธ   เคยได้ยินท่านพูดอยู่เหมือนกัน  ทำนองนี้ล่ะค่ะ   น่าจะนิยมใช้ในหมู่นักเรียนชายสมัยนั้นน่ะค่ะ
2. ต้องขอแก้คำว่า   หน้าหงาน   เป็น  หน้าหงาย  ค่ะอาจารย์  ความหมายก็อย่างที่อาจารย์ว่ามาน่ะค่ะ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 พ.ค. 11, 09:08
1. ฝิ่น  เคยได้ยินอยู่เหมือนกันค่ะ  คุณพ่อเป็นนักเรียนอำนวยศิลป์ รุ่นลมหวน  ซึ่งอยู่แถวๆรุ่น พลเอก ชวลิต  ยงใจยุทธ   เคยได้ยินท่านพูดอยู่เหมือนกัน  ทำนองนี้ล่ะค่ะ   น่าจะนิยมใช้ในหมู่นักเรียนชายสมัยนั้นน่ะค่ะ
2. ต้องขอแก้คำว่า   หน้าหงาน   เป็น  หน้าหงาย  ค่ะอาจารย์  ความหมายก็อย่างที่อาจารย์ว่ามาน่ะค่ะ

พิมพ์ผิดเหมือนกันค่ะ ขอบคุณที่แก้ให้


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 พ.ค. 11, 09:17
ขอยกมืออีกคนว่า สมัยที่เรียนเคยได้ยินคำว่าฝิ่นในความหมายว่าที่ลุงไก่อธิบาย

แต่ไม่เคยพกฝิ่น

 ;)


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 พ.ค. 11, 09:22
มีคำเรียกอวัยวะต่างๆในร่างกาย ในสมัยก่อน ที่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีใครรู้จักกัน ทำให้คำที่เรียกพลอยหายไปด้วย

๑  ขวัญ    ส่วนใหญ่รู้จักแต่ "ขวัญใจ"  หรือ "ขวัญหาย"  แต่ไม่รู้ว่าขวัญบนร่างกายอยู่ตรงไหน   มันอยู่บนหัว เป็นส่วนที่เส้นผมขึ้นวงเป็นก้นหอย
๒  ตีนผม   ปลายผมส่วนที่ต่อกับหน้าผาก หรือข้างแก้ม
๓  โหนกแก้ม  = cheek bone
๔  ขากรรไกร  = กราม
๕  ไหปลาร้า  = หลุมที่ต่ำจากคอลงมา เหนือเนินอก
๖  บั้นเอว      =  เอว
๗  เอวอ่อน  เอวกลม  =  เอวเล็ก
๘  เอวแบน    = เอวใหญ่
๙  ขาอ่อน     = ต้นขา
๑๐ ปลีน่อง    =  น่อง  เดี๋ยวนี้เรียกว่าเรียวขา

คำว่า หน้าหัก  ไม่เห็นใครใช้อีกแล้ว    คนที่หน้าผากลาดและยื่นออกมาเหนือเบ้าตา แต่ส่วนดั้งจมูกทรุดแบน  เรียกว่าหน้าหัก    ถ้านึกหน้าคนไม่ออก ขอให้นึกถึงหมาปักกิ่ง   เมื่อก่อนเขาเรียกว่าหมาหน้าหัก
ตาปลาดุก  เคยอ่านพบในหนังสือสามเกลอของป.อินทรปาลิต   หมายถึงตาเล็กเรียว   เห็นตาดำขนาดเล็ก ลอยอยู่ในตาขาว


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: suseela ที่ 15 พ.ค. 11, 17:00
คำว่า "ฉิว" ในความหมายว่า โกรธเคืองเล็กๆ หรือไม่พอใจในการกระทำของผู้อื่น คำนี้ป้าผมใช้เป็นประจำ


"ผ้าถุง" คำนี้ สาวๆ ชาวกรุงยุคใหม่คงจะไม่รู้จักกันแล้ว เคยดูจากละครโทรทัศน์ นางเอกนุ่งผ้าถุงลงว่ายน้ำในคลอง ยัง "กลัด" ผ้าคาดกับหน้าอกไม่เป็นเลย ต้องใช้เข็มกลัดหรือเข็มขัดรัดเอาไว้ เลยทำให้ได้อีกคำหนึ่งขึ้นมา คือ "ตีโปง"

"ยามเย็นเดินเล่นชายทุ่ง ผ้าขะม้าคาดพุง นุ่งกางเกงขายาว, แต่งตัวไปอวดสาวๆ นุ่งกางเกงขายาว ผ้าขะม้าคาดพุง"
คำไหนครับที่ถูกต้อง ระหว่าง "ผ้าขะม้า" กับ "ผ้าขาวม้า"

คุณประยูร จรรยาวงศ์ หรือ "ศุขเล็ก" ท่านเคยเขียนการ์ตูนไว้ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเมื่อสักเกือบสี่สิบปีแล้วมั้ง เรื่องประโยชน์ของผ้าขะม้า
ผมจะประโยคสุดท้ายได้ประโยคเดียวคือ "แสนยากยุ่ง ผูกคอ มรณา" ท่านใดจำประโยคต้นๆ ได้ กรุณานำลงไว้ด้วยครับ

ส่วนประโยคนี้ คงไม่เกี่ยวกับคำถามของกระทู้นี้นัก
สมัยที่ผมเรียนชั้นมัธยม มีเพื่อนนักเรียนในห้องคนหนึ่งเป็นคนสุรินทร์หรือศรีษะเกศจำไม่ได้ ด่าเพื่อนอีกคนหนึ่งว่า "มึงสิเป็นลูกอีแม่หญิงสำเพ็ง" ตอนนั้นไม่เข้าใจความหมาของคำด่านี้เลย มาเข้าใจเมื่อตอนใกล้จะแก่ เมื่อได้ทราบว่า "สำเพ็ง" เมื่อสมัยก่อนนั้นเป็นอย่างไร ...
ขอแก้คําผิดนิดหน่อยค่ะ "ศรีสะเกษ" คือชื่อที่สะกดถูกต้องค่ะ ไม่แปลกใจที่เห็นหลายท่านสะกดผิดอยู่บ่อยครั้ง เพราะว่าแม้กระทั่งลูกหลานศรีสะเกษแท้ ที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ก็ยังสะกดผิดให้เห็นอยู่ค่ะ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: Rangson Boontham ที่ 15 พ.ค. 11, 21:09
พอพูดถึงเรื่อง พล นิกร กิมหงวน ของ ป.อินทรปาลิต ก็นึกถึงคำว่า
"หน้าม้าน" ว. มีสีหน้าเผือดด้วยความละอายจนไม่กล้าสบตาคน.  :-[


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: Rangson Boontham ที่ 15 พ.ค. 11, 21:16
อีกคำที่คุณหญิงวาดชอบพูดบ่อยๆ คือ คำว่า เซี้ยว (จ.) ว. บ้า.
"ยายประไพ แกชักจะเซี้ยว(บ้า)ใหญ่แล้วนะ"


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: kwang satanart ที่ 16 พ.ค. 11, 01:55
        ยิ้มเจื่อนๆ  หรือ  ทำหน้าเจื่อนๆ   คือ การที่ใครคนหนึ่งพูดกับบุคคลที่สอง ถึงบุคคลที่สามในทางไม่ดี   แล้วเจ้าตัวผู้ถูกพูดถึงโผล่มาพอดี  ทำให้ผู้ที่พูดถึงยิ้มไม่ค่อยออก  หรือทำหน้าไม่ถูก

        รสปร่า   ใช้กับรสชาดของอาหารที่ไม่สามารถแยกรสได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะกับอาหารที่ควรมีตั้งแต่สองรสขึ้นไป  เช่นแกงส้ม ซึ่งควรจะต้องมีรส เปรี้ยว  เค็ม  หวาน เผ็ด  แต่กลับมีรสชาดแปลกๆ ไม่สามารถแยกได้ว่ามีรสชาดใดบ้าง



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: kwang satanart ที่ 20 พ.ค. 11, 00:52
 รู้จักเผิน


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: kwang satanart ที่ 20 พ.ค. 11, 00:54
รู้จักเผินๆ  คือรู้จักแบบผิวเผิน คือพอรู้จัก แต่ไม่สนิทสนมด้วย


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 พ.ค. 11, 10:17
       รสปร่า   ใช้กับรสชาดของอาหารที่ไม่สามารถแยกรสได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะกับอาหารที่ควรมีตั้งแต่สองรสขึ้นไป  เช่นแกงส้ม ซึ่งควรจะต้องมีรส เปรี้ยว  เค็ม  หวาน เผ็ด  แต่กลับมีรสชาดแปลกๆ ไม่สามารถแยกได้ว่ามีรสชาดใดบ้าง

รสชาดหายไปแล้ว เหลือแต่รสชาติ

ร่วมด้วยช่วยกันค่ะ   ;D

มีอีกหลายคำที่มักเขียนกันผิดค่ะ
เทิด         มักเขียนผิดเป็น     เทอด
ทูนหัว       มักเขียนผิดเป็น     ทูลหัว
ทระนง      มักเขียนผิดเป็น     ทรนง
บุคลากร    มักเขียนผิดเป็น     บุคคลากร
บุคลิกภาพ  มักเขียนผิดเป็น     บุคคลิกภาพ
บูชายัญ     มักเขียนผิดเป็น    บูชายันต์
โพทะเล     มักเขียนผิดเป็น    โพธิ์ทะเล
แมงมุม      มักเขียนผิดเป็น    แมลงมุม
แมลงสาบ   มักเขียนผิดเป็น    แมลงสาป
รสชาติ      มักเขียนผิดเป็น    รสชาด
ไอศกรีม    มักเขียนผิดเป็น    ไอศครีม
อุกกาบาต   มักเขียนผิดเป็น    อุกาบาต
วิ่งเปี้ยว     มักเขียนผิดเป็น    วิ่งเปรี้ยว
.......


 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 พ.ค. 11, 10:37
นึกถึงคำว่า รสแหลม  ขึ้นมาได้   ใครยังเคยได้ยินบ้าง
บางทีก็ประกอบคำว่า หวาน   เป็นรสหวานแหลม
หมายถึง จัด
รสหวานแหลม หรือรสแหลม  มันไม่ใช่แค่รสจัดธรรมดา   แต่แฝงด้วยความรู้สึกว่า โดดเด่น   และอร่อย
รสหวานจนเอียน หรือหวานแสบไส้ ไม่เรียกว่าหวานแหลม

ในพระราชนิพนธ์กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน  มีบทหนึ่งว่า

หมูแนมแหลมเลิศรส         พร้อมพริกสดใบทองหลาง
พิศห่อเห็นรางชาง            ห่างห่อหวนป่วนใจโหย


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 พ.ค. 11, 10:53
รสแหลม ใครยังใช้กันบ้างคะ?
บางทีก็ประกอบคำว่า หวาน   เป็นรสหวานแหลม
หมายถึง จัด
รสหวานแหลม หรือรสแหลม  มันไม่ใช่แค่รสจัดธรรมดา   แต่แฝงด้วยความรู้สึกว่า โดดเด่น   และอร่อย 
รสหวานจนเอียน หรือหวานแสบไส้ ไม่เรียกว่าหวานแหลม

คำว่า "รสแหลม" นี้ เคยได้ยินครับ แต่ไม่เคยใช้เอง จำไม่ได้ว่าได้ยินที่ไหน จะเป็นคุณแม่พูดตอนทำอาหารหรือเปล่า หรือจะเป็นจากรายการทำอาหาร สมัย "คุณชายถนัดศรี" ถ้าจำไม่ผิด จะมี คุณเด๋อ ดอกสะเดา ร่วมชูโรงด้วย

ราชบัณฑิตยสถานว่าไว้ว่า
แหลม    [แหฺลม] ว. มีปลายเสี้ยมคม เช่น มีดปลายแหลม; ไว, ฉลาด, เช่น ปัญญา
   แหลม; ชํานาญจนรู้ได้ทันทีว่าอะไรจริงอะไรไม่จริง เป็นต้น เช่น
   ตาแหลม; มีระดับสูง เช่น เสียงแหลม; จัด เช่น รสหวานแหลม.
        น. แผ่นดิน หรือ ภูเขา ที่ยื่นลํ้าออกไปในทะเล หรือ มหาสมุทร. ก. ล่วงลํ้า.

ถ้าเป็นในเชิงคำคะนอง จำได้ว่าสมัยรัฐประหารโดย รสช. จะมีกลุ่ม "ไอ้แหลม" คอยก่อกวนคลื่นวิทยุของตำรวจ และทหาร
หรือ ใช้ในความหมายว่า "ยุ่งไม่เข้าเรื่อง" เช่น นี่ๆ อย่าแหลม อย่าแหลม อันนี้ไม่รู้เป็นสำนวนเฉพาะกลุ่มหรือเปล่า แต่ตอนเด็กๆ เห็นเพื่อนใช้กัน


มีอีก ๒๓ หน้าให้อ่านกัน

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2564.0

 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: Youzen ที่ 21 พ.ค. 11, 17:21
ได้ความรู้เยอะเลยค่ะ เพื่อนของหนูก็ใช้ภาษาไทยผิดกันเป็นประจำ แล้วก็ไม่สนใจว่ามันผิดด้วย ไม่ชอบเลยค่ะ แก้ให้บ่อยๆ แต่มันเยอะเกินไป แต่บางครั้งหนูก็ตั้งใจพิมพ์ผิดน่ะค่ะ ในเฟซบุค  ;D ถ้าเป็นตามเวบบอร์ดจะพยายามพิมพ์ไม่ผิด ถ้าไม่แน่ใจจะพิมพ์ดูในกูเกิ้ล

จากที่อ่านนี่พิมพ์ผิดไปหลายคำเหมือนกัน  แต่หลายๆ คำสมัยนี้ก็ยังใช้กันอยู่ค่ะ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ค. 11, 19:18
อวัยวะส่วนที่ยังอยู่ แต่คำเรียกหายไป คือคำว่า "ท้อง" ที่ประกอบแขนขา   ท้องแขน  หมายถึงส่วนใต้ของท่อนแขน     ท้องน่อง
หมายถึงส่วนหลังของน่อง

รักแร้  เห็นทีจะหายไปแล้ว  มีคำว่า ใต้วงแขน เข้ามาแทนที่
ตีนผม  ก็ไม่เห็นใครใช้มาหลายปีแล้ว


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: kwang satanart ที่ 22 พ.ค. 11, 22:44
ความจริงอยากให้เป็นประเด็นคำไทยโบราณ มากกว่าคำที่เขียนผิดมากกว่านะคะ  แต่ก็ขอบคุณสำหรับการแก้คำว่า รสชาติค่ะ

       เอามืออังดู =   การที่บุคคลที่หนึ่งเอาหลังมือ ( ด้านที่ไม่ใช่อุ้งมือ ) สัมผัสกับร่างกายของบุคคลที่สอง  ซึ่งมักเป็นบริเวณหน้าผาก  ซอกคอ  เพื่อดูว่าบุคคลนั้นมีอาการผิดปกติ (ซึ่งมักจะเป็นเรื่องของอาการไข้) หรือไม่
           
       ชื่นชมโสมนัส  = มักอ่านพบในนวนิยายโบราณ  ใช้ในทำนองที่คนใดคนหนึ่งทั้งดีใจ  ชื่นใจ  ภาคภูมิใจกับความสำเร็จของบุคคลอันเป็นที่รัก

       บิดตะกูด  = คำที่ผู้ใหญ่สมัยก่อนมักใช้ว่ากล่าวเด็กๆที่ชอบอิดเอื้อนในการทำสิ่งใดๆ   เช่น อย่ามัวบิดตะกูดอยู่เลย รีบๆไปถูบ้านเสียเดี๋ยวนี้

       ลำประโดง  =  ชาวสวนมักใช้เรียกร่องน้ำที่เล็กกว่าคลอง  แต่ใหญ่กว่าท้องร่อง

       หิวเสียท้องกิ่ว   =   หมายถึงอาการที่หิวมากกว่าปกติ

       รู้สึกโกรธตะหงิดๆ   =  เริ่มรู้สึกโกรธ  หรือเริ่มรู้สึกไม่พอใจบางสิ่งบางอย่าง



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 พ.ค. 11, 22:56
เอาคำบ่นของอาจารย์ภาษาไทยมาให้อ่านกัน

บทความเรื่อง คำไทยที่หายไป โดย ศิริวรรณ์ ฉายะเกษตริน หัวหน้าโครงการหมอภาษาพัฒนาเยาวชน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (http://www.morphasa.com/pdf/A27.pdf)

ณ วันนี้ พุทธศักราช ๒๕๔๗ ชาวเขาบนดอยตุงคนหนึ่ง (อายุประมาณใกล้ ๆ หกสิบปี) บ่นให้เราฟังว่า ทุกวันนี้สตรอเบอรี่ในไร่ของแกมีออเดอร์มาก แพ็คไม่ทันบางครั้งต้องแคนเซิลไป แกพูดคำว่า "ออเดอร์" "แพ็ค" "แคนเซิล" อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ ทั้ง ๆ ที่แกไม่เคยเรียนภาษาอังกฤษจนนิดเดียว จึงไม่น่าประหลาดใจที่คนเมืองของเราในกรุงเทพมหานคร จะใช้คำว่า ฮัลโหล โอเค ฮอลิเดย์ ช็อปปิ้ง เช็คอิน เช็คเอ้าท์ เคาน์ดาวน์ รีเควส ดินเนอร์ วีคเอ็นด์ พรีเซ็นต์ สคริปต์ รูสต๊อก แกรนด์เซล แท็กซี่ เทสต์เสียง เช็คบิล ไดเอท แบรนด์เนม มีทติ้ง คอนเสิร์ต คอมเม้นต์ บอสส์ สตัฟฟ์ เก็ตหรือยัง โปรแกรม ซีร็อกซ์ รีไซเคิล ปรู๊ฟ ชีท แฮร์ เคลียร์ ฮอลล์ หมดมู้ด เฟล ฟอร์ม แดนเซอร์ โปรดิวเซอร์ บ๊ายบาย ซุปเปอร์มาเก็ต มินิมาร์ท เรสเตอรอง ฟรีแรนซ์ แฮนด์เมด รีเซ็บชั่น ไฮคลาส ไฮโซ โลว์เทสต์ สปิริต ออฟฟิศ สปอร์ตคลับ เซอร์ไพรส์ โหวต โพล ฯลฯ

ทั้งนี้ไม่ได้รวมศัพท์เทคนิคต่าง ๆ ของบางวงการ เช่น แพทย์ ธนาคาร เศรษฐศาสตร์ หรือศัพท์เฉพาะของศาสตร์สาขาต่าง ๆและไม่รวมคำที่ไม่มีใช้ในภาษาไทยจึงต้องใช้ทับศัพท์แต่จะขอเรียกร้องเฉพาะคำที่มีใช้ในภาษาไทย แต่ไม่ต้องการใช้ พอใจที่จะใช้คำภาษาต่างด้าวมาแทน อาจจะด้วยเหตุผลนานาจิตตัง เช่น คิดคำไทยไม่ออก เข้าใจยาก ติดภาษาฝรั่ง เคยชิน ดูเก๋ ทันสมัย ได้อารมณ์ ดูมีการศึกษาสูง ดูฐานะดี ฯลฯ อะไรก็ว่ากันไป

จะขอยกตัวอย่างประโยคที่นิยมใช้กันหนาหู เช่น เวลาจัดรายการวิทยุ "เบรคหน้าขอให้ทุกสายรีเควสเข้ามานะครับ” และในชีวิตประจำวันเราก็จะได้ยินบทสนทนาเหล่านี้ เช่น ปีใหม่นี้จะไปเคาน์ดาวน์ที่ไหน, วีคเอ็นด์นี้จะไปฮอลิเดย์ที่ไหน, ช่วงนี้บีซซี่มากเห็นทีจะไปช็อปปิ้งแค่ซุปเปอร์มาร์เก็ตใกล้ ๆ คอนโด เท่านั้นพอ, วันนี้ขอเคลียร์กันหน่อย, ขืนฟอร์มมากโดนเช็คบิลแน่, ทำอะไรให้มันแฟร์ ๆ หน่อย, วันนี้ปวดเฮดจังสงสัย ซีเรียสไปหน่อย ไปรีแลกซ์ ย่านสยามสแควร์แถวเซ็นเตอร์พ้อยท์กันเถอะ โอ.เค.?

ณ วันนี้ปีพุทธศักราช ๒๕๔๗ เช่นกัน ท่านลองวิเคราะห์บทสนทนาต่อไปนี้ดูว่าคำไทยของเรา มีเหลืออยู่กี่คำในวิถีชีวิตของคนเมือง

"วันนี้ เราจะเอาโปรเจ็คต่าง ๆในมาสเตอร์แพลนมาพรีเซนต์ดูกันในบอร์ดเพื่อจะได้

เบรนสตอร์มมิ่ง และแชร์ไอเดียกัน รวมทั้งช่วยกันแอพพรู้ฟก่อน ถ้าโอ.เค.ไม่มีคอนฟลิคท์อะไรก็จะได้ฟอร์ม กรุ๊ฟทำงาน และขอตั้งบัดเจทไว้เสียแต่เนิ่น ๆ จะได้ชัวร์ และอย่าลืมงบเอ็นเทอร์เทนแอดเข้าไปด้วยล่ะงานจะได้สมู้ธ เข้าใจ ? อึ…ม ! แล้วก้ออย่าลืมไปดีลกับเซ็คชั่นต่างๆ ให้หมดล่ะ ฮาร์ตแวร์ ซอฟแวร์ที่จะเตรียมไปก็คอนเฟิร์มให้เรียบร้อย งานจะได้เพอร์เฟค และโฟลว์เสียที ฟอร์มแล้วเฟล ฟอร์มแล้วเฟล หมดมู้ด ยังไง ๆ จ๊อบนี้ขอแฮบปี้สักจ๊อบนะ โอ.เค.

แล้วลองหันมาดูเรื่องชื่อของคนไทยกันบ้าง โดยเฉพาะการตั้งชื่อเล่น (ก็มักไม่ค่อยเรียกชื่อเล่นกันแล้ว มักใช้ว่า "นิคเนม") เดี๋ยวนี้คนไทยเขามีชื่อเล่นกันดังต่อไปนี้

น้องแคท น้อยจอย น้องบอย น้องเปิ้ล น้องเบิร์ด น้องบ๊อบ น้องท็อป น้องไทด์ น้องไมด์ น้องนัท น้องแนน น้องแคน น้องโค้ก น้องฮาย น้องมาย น้องเมร์ ฯลฯ บางทีก็นิยมมากกว่าพยางค์เดียว เช่น ญาญ่า ชาช่า นีโน่ วิลลี่ บ๊อบบี้ โทนี จิ๊กกี๋ จีจี้ พอลล่า มาช่า บิลลี่ นาตาชา คริสติน่า บาบาร่า ฯลฯ ถ้ามีเชื้อสายก็ไม่ว่ากัน แต่ถ้าคนไทยแท้ ๆ …… ขอร้อง ๆ โดยเฉพาะวงการดารา นักร้อง ด้วยแล้ว ถ้าชื่อเป็นไทย อาจถึงกับไม่มีใครดู ไม่มีใครฟังกันทีเดียว หรือแม้แต่หน้าตา ถ้าหน้าไทย ๆ ก็ไม่เป็นที่นิยม หากินไม่ได้ต้องไปเสริมดั้ง เหลาคาง ทำตาหลาย ๆ ชั้น แบบฝรั่ง จึงจะเข้าตากรรมการ

อาหารไทยซึ่งกำลังจะรณรงค์ให้เป็นครัวของโลก คนต่างประเทศนิยมรับประทานทอดมันปลา ต้มยำกุ้ง ข้าวผัดกะเพรา ฯลฯ แต่คนไทยกลับนิยมพิซซ่า แซนวิช แฮมเบอร์เกอร์ เค้ก พาย สลัด สเต็ก บาร์บีคิว ฯลฯ ถึงขนาดนี้แล้วคงไม่ต้องเสียเวลาไปเชิญชวนให้ฟังเพลงไทยเดิม สองชั้น สามชั้น เพลงเกา เพลงตับ ให้ป่วยการเปล่า หรือไม่ต้องเรียกร้องให้นุ่งกระโจมอกอาบน้ำ แบบอังศุมาลินหรือนุ่งผ้าซิ่น อยู่กับบ้าน แต่ขอร้องเพียงแค่จะกินจะอยู่ จะนุ่งจะห่ม จะพูดจะจา ก็ดูให้งามอย่างไทย ไว้หน้าบรรพบุรุษ หรือให้เกียรติบรรพชนไทยบ้าง ทุกวันนี้เราขายวัฒนธรรมที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร ที่บรรพบุรุษไทย สั่งสม สืบทอด มาให้เป็นต้นทุน หากเราไม่รักษาไว้กลับไปเอาของใหม ๆ เข้ามาปะปนมากลบกลืน จนไม่รู้ว่าของเดิมเป็นอย่างไร ของแท้คืออย่างไร เราก็จะถึงวันที่เรียกว่า "ทุนหายกำไรจม" ไม่มีใครเขาจะเสียเงินค่าเครื่องบินเดินทางมาดูของหาง่าย หาดูที่ไหนก็ได้ ทำไมต้องมาดูถึงเมืองไทย ที่เขามาเพราะเขาต้องการมาดู "ความเป็นไทย" มาดูคนไทย ดูวัฒนธรรมไทย ดูรำไทย ดูวัดไทย ดูเมืองไทย ชิมอาหารไทย ฟังภาษาไทย ฟังเพลงไทย สัมผัสบรรยากาศแบบไทย ๆ ชนบทไทย น้ำใจคนไทย ฯลฯ ซึ่งทุกอย่างที่กล่าวมานี้ เป็นเอกลักษณ์ เป็นสมบัติวัฒนธรรมของไทยที่ไม่มีที่อื่นในโลกเป็นมรดกโลก เราต้องภูมิใจ ต้องอนุรักษ์รักษาไว้อย่างเหนียวแน่นมั่นคง ช่วยกันกอบกู้วิกฤติวัฒนธรรมของชาติ เรียกร้องให้ค่านิยมแบบไทย ๆ กลับคืนมาสู่หัวใจของคนไทยอีกครั้ง โดยเริ่มต้นเสียแต่วันนี้ ก่อนที่จะสายเกินไป เริ่มต้นที่ตัวเรา ใช้สินค้าไทย รับประทานอาหารไทย อนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ชื่นชมวิถีชีวิตไทย ยกย่องคนที่ใช้ภาษาไทยถูกต้อง ชัดเจน สนับสนุนสื่อที่นำเสนอความเป็นไทย ปลูกฝังสั่งสอนลูกหลานของเราให้นิยมไทย ให้มีความเป็นไทยมากที่สุด ถึงแม้จะมีหลายคนหัวเราะ และคิดว่า "เราจะขวางโลกได้อย่างไร" เราก็คงจะมีคำตอบอยู่ในใจอย่างสงบเสงี่ยมเจียมตัว และมีสติว่าอย่างน้อยเราก็จะช่วยชะลอวันเวลาที่จะได้ยินว่า นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ชื่อ วิลเลี่ยม, แอนดรู หรือไมเคิล……… ให้ช้าลงบ้าง

หวังว่าบทความจากความรู้สึกนึกคิดฉบับนี้จะช่วยสะกิดใจคนไทยด้วยกันบ้าง อย่างน้อยก็ช่วยกันรื้อฟื้นทวงเอาคำไทยของเราคืนมา

 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ค. 11, 08:20
  ดิฉันเห็นด้วยบ้างไม่เห็นด้วยบ้างกับเจ้าของบทความ

  ภาษาที่ยังไม่ตาย  ย่อมมีคำใหม่ๆเพิ่มเข้ามาในภาษาได้ทุกวันตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง   ภาษาใหม่นั้นก็ล้วนแต่มาจากการถ่ายทอดวัฒนธรรมจากภาษาอื่นทั้งนั้น    ไม่ได้เป็นแต่ยุคนี้ มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นอย่างน้อย   อาจจะถอยไกลไปถึงบ้านเชียงหรือเปล่ายังไม่ทราบเพราะไม่มีหลักฐาน  แต่ถ้าบ้านเชียงติดต่อกับคนถิ่นอื่นเป็นประจำ ก็ต้องรับภาษาเขามาบ้าง     ตัวอย่างการรับภาษาอื่นก็เช่นพ่อขุนบางกลางหาว กลายเป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์จากอิทธิพลภาษาเขมร ที่รับมาจากอินเดียอีกที      แม้แต่ชื่อและนามสกุลของอาจารย์เจ้าของบทความนี้ ก็มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต  ไม่ใช่ไทยเลยสักคำ
   ดังนั้นถ้าคนไทยจะใช้ภาษาอังกฤษปะปนอยู่ในกลุ่มของเขา   เพื่อความสะดวกคล่องตัว อย่างกลุ่มคนทำงานที่ใช้ศัพท์เฉพาะในแวดวงอาชีพพวกเขา    ดิฉันก็ไม่ค้าน    ภาษาคือการสื่อสาร  ถ้าสื่อด้วยศัพท์จากภาษาอื่นแล้วคล่องกว่า เข้าใจง่ายกว่า เป็นที่เข้าใจกันดีระหว่างคนพูดและคนฟังก็ใช้ไปเถิด   อย่างคุณลุงชาวเขาคนนั้น   อย่างน้อย แกก็รู้ศัพท์ฝรั่งที่จำเป็นสำหรับการค้าขายผลไม้ของแก    ไม่เสียหายอะไร
   ชื่อเด็กไทยที่เป็นภาษาฝรั่ง  เมื่อก่อนมีเฉพาะเด็กไทยที่เกิดในเมืองฝรั่ง หรือเด็กไทยที่พ่อแม่ตั้งใจว่าโตขึ้นจะส่งไปเรียนต่อเมืองนอก   ต้องเตรียมชื่อไว้ให้ฝรั่งเรียกได้ง่าย  เพราะชื่อไทย(และนามสกุลไทย) มีอยู่มากที่เต็มกลืนสำหรับอาจารย์ฝรั่ง     ต่อมาก็เป็นแฟชั่นว่าเด็กไทยต้องมีชื่อเล่นเป็นภาษาฝรั่ง     แต่ชื่อจริงก็เป็นไทยอยู่นั่นเอง เพราะเรายังถือหลักการตั้งชื่อให้ถูกโฉลกแบบไทยๆอยู่    ข้อนี้ดิฉันก็ไม่เห็นเสียหายอะไร      มีประสบการณ์จากตัวเองว่าตั้งชื่อลูกเป็นไทยทั้งชื่อจริงชื่อเล่น   พอไปเรียนต่อเมืองนอก   ฝรั่งออกเสียงได้ยากมาก จนสงสารอาจารย์และเพื่อนๆของลูก    ชื่อประหลาดๆ เรียกยากก็มีผลเสียกับเจ้าตัว ถ้าต้องการติดต่อคบหาสมาคมหรือทำงานติดต่อกับคนชาติอื่น  เหมือนกัน 
   แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเชียร์(เห็นไหม ใช้ศัพท์ฝรั่งจนได้) เอ่อ..สนับสนุนให้ใช้ภาษาฝรั่งกันไม่ลืมหูลืมตา     เรื่องอะไรที่เขียนอย่างเป็นทางการ ก็ต้องใช้ภาษาประจำชาติของเราอย่างเคร่งครัดระมัดระวัง  ไม่ว่าเขียนจดหมายถึงราชการ  เขียนบทความ สารคดี  บทบรรยายในนิยาย เรื่องสั้น บทกวี  ใช้ภาษาไทยจะงามที่สุด
   ชื่อจริงที่เป็นภาษาฝรั่ง พบได้เป็นปกติในคนไทยที่นับถือคริสตศาสนา    พวกนี้มีชื่อรองเป็นชื่อทางศาสนา ส่วนใหญ่มาจากชื่อนักบุญ     ไม่ได้เป็นเรื่องอวดความโก้เก๋หรืออะไร     ตัวอย่างเช่นอาจารย์ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ  ท่านมีชื่อรองว่า เออแชนนี  (Eugenie)  ซึ่งกลายมาเป็นนามปากกา อุชเชนี    ส่วนคนไทยที่ตั้งจริงของชื่อลูกให้เป็นภาษาฝรั่ง ทั้งๆไม่ได้นับถือคริสต์ ก็ลองชั่งใจดูอีกที


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 พ.ค. 11, 08:27
  ชื่อจริงที่เป็นภาษาฝรั่ง พบได้เป็นปกติในคนไทยที่นับถือคริสตศาสนา    พวกนี้มีชื่อรองเป็นชื่อทางศาสนา ส่วนใหญ่มาจากชื่อนักบุญ     ไม่ได้เป็นเรื่องอวดความโก้เก๋หรืออะไร     ตัวอย่างเช่นอาจารย์ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ  ท่านมีชื่อรองว่า เออแชนนี  (Eugenie)  ซึ่งกลายมาเป็นนามปากกา อุชเชนี    ส่วนคนไทยที่ตั้งจริงของชื่อลูกให้เป็นภาษาฝรั่ง ทั้งๆไม่ได้นับถือคริสต์ ก็ลองชั่งใจดูอีกที

ความนิยมชื่อฝรั่งคงมีมาตั้งแต่ เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4248.0) แล้วกระมัง

 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: bangplama ที่ 23 พ.ค. 11, 09:20
เส็งเคร็ง
สวิงสวาย
โกโรโกโส


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ค. 11, 09:31
  ชื่อจริงที่เป็นภาษาฝรั่ง พบได้เป็นปกติในคนไทยที่นับถือคริสตศาสนา    พวกนี้มีชื่อรองเป็นชื่อทางศาสนา ส่วนใหญ่มาจากชื่อนักบุญ     ไม่ได้เป็นเรื่องอวดความโก้เก๋หรืออะไร     ตัวอย่างเช่นอาจารย์ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ  ท่านมีชื่อรองว่า เออแชนนี  (Eugenie)  ซึ่งกลายมาเป็นนามปากกา อุชเชนี    ส่วนคนไทยที่ตั้งจริงของชื่อลูกให้เป็นภาษาฝรั่ง ทั้งๆไม่ได้นับถือคริสต์ ก็ลองชั่งใจดูอีกที

ความนิยมชื่อฝรั่งคงมีมาตั้งแต่ เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4248.0) แล้วกระมัง

 ;D

สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯท่านมิได้ทรงพระราชทานพระนามว่า "ยอร์ช" นะคะ   คุณเพ็ญชมพู  ท่านพระราชทานว่า "ยอร์ช วอชิงตัน" ถือว่าเป็นชื่อเฉพาะ เป็นวิสามานยนาม  ไม่ใช่ชื่อเลียนแบบฝรั่งโดยทั่วไปตามแฟชั่น       
แล้วพระองค์เจ้ายอร์ช วอชิงตัน  ก็ทรงมีพระนามนี้อยู่ไม่นาน  เห็นได้จากเมื่อสมเด็จพระจอมเกล้าฯพระราชทานพระนามใหม่ว่า พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ  ก็เป็นอันยอมรับกันว่านี่คือพระนามจริง

พูดเรื่องนี้ก็นึกได้ว่า  เมื่อสมัยโน้น ถ้าจะนำชื่อฝรั่งมาตั้งให้ลูกหลานไทย   ก็มีการดัดแปลงให้เป็นสำเนียงไทยๆ
หม่อมเจ้าลุอิสาณ์ จักรพันธุ์   มาจาก Louisa
คุณหญิง ทรัพย์สิดี ถาวรฉันท์  ท่านเคยให้สัมภาษณ์ว่าชื่อท่านมาจากภาษาอังกฤษว่า Subsidy


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 พ.ค. 11, 09:40
พูดเรื่องนี้ก็นึกได้ว่า  เมื่อสมัยโน้น ถ้าจะนำชื่อฝรั่งมาตั้งให้ลูกหลานไทย   ก็มีการดัดแปลงให้เป็นสำเนียงไทยๆ
หม่อมเจ้าลุอิสาณ์ จักรพันธุ์   มาจาก Louisa

หม่อมเจ้าลุอิสาณ์ จักรพันธุ์  ทรงมีพระนามลำลองว่า "หลุยส์" ตามพระนามของสมเด็จพระบรมราชินีหลุยส์ ในสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ ๑๕ แห่งสวีเดนและนอร์เวย์  ทรงเป็นพระขนิษฐภคินี (น้องสาว) ของ หม่อมเจ้าคัสตาวัส จักรพันธุ์ (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%AA_%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%B8%E0%B9%8C) พระบิดาคือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าออศคาร์นุทิศ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%AD_%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%8C)

แล้วยังมี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบีเอตริศภัทรายุวดี (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%AD_%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%B5) พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ค. 11, 10:30
พระนามไทย  กับชื่อฝรั่ง
ลุอิสาณ์     =  Louisa
คัสตาวัส    =  Gustave
ออศคาร์นุทิศ       =  Oscar
บีเอตริศภัทรายุวดี  =  Beatrice


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 11, 08:25
มีคำมาเพิ่มค่ะ
ฟั่นเฝือ      =   รกชัฏ, ยุ่งเหยิง, ปนคละกันยุ่ง, เคลือบคลุม เช่น สำนวนฟั่นเฝือ. (จากรอยอิน)
ฟั่นเฟือน =   หลงใหล, เคลิบเคลิ้ม, เผลอสติ, คุ้มดีคุ้มร้าย, เช่น มีสติฟั่นเฟือน   จิตใจฟั่นเฟือน   
                เดี๋ยวนี้น่าจะเป็น บ๊อง  หรือ เพี้ยน
แน่งน้อย   เมื่อก่อนเป็นชื่อผู้หญิง    หมายถึงรูปร่างบอบบาง    ความหมายตรงกับ อ้อนแอ้น  อรชร    บัดนี้ หายไปแล้วทั้งสามคำ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 24 พ.ค. 11, 09:08
ชื่อผักผลไม้พวกนี้ ขืนไปพูดให้เด็กสมัยนี้ฟัง คงทำหน้าเอ๋อ กันหมดค่ะ  ;D

ผักทอดยอด
ผักสามหาว
ผักรู้นอน
ผลอุลิด
ถั่วเพาะ

เอ!!! ใครทราบบ้างคะว่าหมายถึงผักผลไม้ อะไร... ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 พ.ค. 11, 09:26
ศัพท์พวกนี้เป็นคำสุภาพ ได้ยินมาตั้งแต่สมัยเรีียนหนังสือ แต่ไม่เคยเห็นใครใช้ในชีวิตประจำวันสักที

ผักทอดยอด -ผักบุ้ง
ผักสามหาว - ผักตบ
ผักรู้นอน - ผักกระเฉด
ผลอุลิต - แตงโม
ถั่วเพาะ - ถั่วงอก

ถ้า่ชื่อข้างไม่สุภาพ ไม่สุภาพอย่างไร

และชื่อข้างหลัง สุภาพตรงไหน

 ???


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 11, 09:49
รู้แต่ว่าบางคำที่ท่านไม่ให้ใช้  เพราะเอามาผวนแล้วไม่น่าฟัง


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 พ.ค. 11, 10:15
ความผิดฐานผวนแล้วไม่สุภาพมี ๒ คำคือ ผักบุ้ง และ ถั่วงอก

ผักตบ และ ผักกระเฉด คงผิดข้อหาใช้ความรุนแรง  ตบ และ เฉด (หัว)

คำสุดท้าย ได้ยินร้องขอความเป็นธรรมจาก แตงโม ว่า

หนูทำผิดอะไร หนูผิดข้อหาอะไร

 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 24 พ.ค. 11, 19:59
ดอกสลิด น่าจะเป็น ดอกขจร หรือไม่คะ
แล้ว ปลาสลิด คำสุภาพว่าอะไร  นึกเท่าไร นึกไม่ออกค่ะ

อาจารย์รู้เข้า ต้องโดนตีแน่เลย


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 11, 20:01
ปลาสลิด = ปลาใบไม้ ค่ะ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 24 พ.ค. 11, 20:05
โอ๊ะ พอเฉลยแล้วก็นึกออกทันที อาจารย์อย่าเพิ่งตีนะคะ
แล้วคำว่า สลิด หยาบตรงไหนคะ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 พ.ค. 11, 20:23
คุณ POJA พอนึกออกไหมว่าปลาช่อนถูกเปรียบกับอวัยวะส่วนไหนของผู้ชาย จึงกลายเป็นคำไม่สุภาพถูกเรียกเสียใหม่ให้สุภาพว่า ปลาหาง

ส่วนปลาสลิดนั้นก็ถูกเปรียบคู่กับปลาช่อน

จึงไม่สุภาพพอกันนั่นแล

 ;D 



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 พ.ค. 11, 20:41
อีกอย่างหนึ่ง คำว่า สลิดดก ในภาษาเหนือแปลว่า (ผู้หญิง) แรด  

แรด ก็ไม่สุภาพสำหรับผู้หญิงเหมือนกัน

เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นอะไรดี

 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 24 พ.ค. 11, 20:43
พอจะเดาออกแล้วค่ะ คุณเพ็ญชมพู  ;D  ;D

แต่เพิ่งรู้จักคำว่า ปลาช่อน = ปลาหาง
อย่างนี้ ทั้ง 2 ปลา จะเรียกว่า เป็นคำไทยที่หายไป
หรือความหมายของคำที่หายไปดีคะ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 24 พ.ค. 11, 20:50
แรด มีคำสุภาพไหมคะ
สัตว์ประเภทนี้ไม่มีในเมืองไทย น่าจะมาจากคำว่า Rhino
เอ...เพี้ยนเป็น แรด ไปได้อย่างไร

แล้วเพี้ยนต่ออีกทีเป็นคำต่อว่าผู้หญิงได้อีก แปลกดี


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 พ.ค. 11, 20:57
แรดมีในไทย เพียงแต่หาตัวในป่่ายากเย็นนัก

นึกออกแล้ว คำสุภาพสำหรับคำว่า "แรด"

เขาใช้คำว่า "สิบเอ็ดรอดอ"

 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 25 พ.ค. 11, 10:30
แหม ถ้าเขียนก่อนหน้านี้สักหนึ่งอาทิตย์ อาจจะใช้คำว่า "เรยา" แทน



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 พ.ค. 11, 19:08
พยายามหาคำในอดีต ที่มีความหมายทำนองเดียวกับ แรด แต่ปัจจุบันหายไปแล้ว ตรงตามหัวข้อกระทู้
นึกได้ถึงคำว่า ก๋ากั่น 
รอยอินแปลว่า อวดกล้า   จริงๆแล้วต้องมีคำขยายมากกว่านี้   ผู้หญิงที่อวดกล้าว่าตัวเองจะสมัครเป็นทหารออกไปรบแนวหน้า  ไม่เรียกว่าก๋ากั่น    ก๋ากั่นคืออวดกล้าในความประพฤติทางเพศ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 พ.ค. 11, 08:20
นึกถึงเพลงนี้

http://www.youtube.com/watch?v=GgYolfQaHhc

ยังสงสัยอยู่ว่า ก๋ากั่นคืออวดกล้าในความประพฤติทางเพศ ?

เนื้อเพลงตอนหนึ่งว่า มองความสวยตลอดวัน เห็นความก๋ากั่นแล้วรักไม่ลง

พูดว่า ก๋ากั่น สาวเจ้าคงโกรธน้อยกว่าว่า แรด

เบาลงมากว่า ก๋ากั่น น่าจะเป็น แก่แดด
 
แก่แดดนี่หายไปหรือยังหนอ

 :)


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 พ.ค. 11, 10:44
สมัยยังไม่มีคำว่า แรด ในความหมายอื่นนอกเหนือไปจากสัตว์มีเขา    เรียกผู้หญิงว่าก๋ากั่น เขาก็โกรธอยู่ดีละค่ะ   แรงพอๆกับดัดจริต
ส่วนคำว่าแก่แดดใช้กับเด็กที่มีท่าทีหรือพูดจาอะไรเกินเด็ก   แต่ไม่จำเป็นต้องน่าเกลียด   เรียกด้วยความเอ็นดูก็ได้   
แต่ถ้าคนนั้นโตเป็นหนุ่มสาวเต็มตัวแล้ว   ไม่อาจเรียกได้ว่าแก่แดดอีกต่อไป   ต้องไปใช้คำอื่นแทน


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 27 พ.ค. 11, 15:55
คนไทยยุคใหม่ที่หุงข้าวด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้า ทั้งชนิดเดิมที่กดสวิทซ์อย่างเดียวและมีโปรแกรมต่างๆ ซับซ้อนวุ่นวาย คงจะไม่รู้จักการ "หุงข้าวเช็ดน้ำ" และ "การดงข้าว" แน่นอน
ผมยังเกิดมาทันที่ได้เห็นแม่ผมหุงข้าวด้วยวิธีนี้ และสิ่งที่ได้มาด้วยคือ "น้ำข้าว"

และอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้อีกอย่างหนึ่งที่ต้องใช้ประกอบการ "ดงข้าว" คือ "ไม้ขัดหม้อ" ซึ่งมีคุณอนันต์ คือใช้ขัดฝาหม้อหุงข้าว และมีโทษมหันต์ คือพ่อหรือแม่ใช้มันแทนไม้เรียวตีทำโทษเรา
ใครเคยถูกตีด้วยไม้ขัดหม้อบ้าง ยกมือขึ้น ... ผมขอถือโอกาสนี้ยกมือนำก่อนเลยนะครับ

แต่ก่อนสมัยที่จะมีหม้อโลหะ เราใช้หม้อดินหุงข้าว ฝาหม้อดินจะไม่มีหูเหมือนหม้อโลหะแต่จะเป็นจุกขึ้นมา เมื่อเวลาดงข้าวจะใช้ผ้ารัดปากหม้อให้แน่นกับจุกของฝาหม้อแล้วขันเป็นเกลียวด้วยไม้ขัดหม้อ ผมใช้ศัพท์นี้ไม่ถูกว่าเรียกว่าอะไร เพราะตอนนั้นยังเด็กมาก จำไม่ได้





กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 27 พ.ค. 11, 16:17
คิดถึง น้ำข้าว อุ่นๆ ข้นๆ ใส่เกลือ หรือ น้ำตาลหน่อยๆ ...เฮ้อ..

คำที่เลือนๆ ไปมีอีกหลายคำค่ะ
- ฝาละมี ในความหมายว่า ฝาหม้อ หายไปแล้ว เหลือแต่ความหมายว่า สามี... ;D
- กระโจม ในความหมายว่า โถมเข้าไป  หายไปแล้ว ส่วนใหญ่พูดเป็น กระโจน กันหมดเลย
- กระจ่า
- กระบวย
- กระแชง
- หมาตักน้ำ
- หยักรั้ง
- ยักกระสาย
- เคียนผ้า


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 27 พ.ค. 11, 17:00
- หมากเก็บ เด็กยุคนี้รู้จักหรือเปล่าก็ไม่รู้
- จ้ำจี้มะเขือเปราะกระเทาะหน้าแว่น.. ร้องกันได้หรือเปล่าจ๊ะ หรือรู้จักแต่ จ้ำจี้อื่น....
- อยู่ไฟ ยังมีอยู่หรือเปล่า
- พิพักพิพ่วน เป็นยังไงนะ
- น้ำมะเน็ด อร่อยแค่ไหนเอ่ย
- ยุคนี้ยังมีใคร นัดยานัตถุ์  อยู่อีกไหมคะ สงสัยจังทำไมต้อง นัด ทำไม่ไม่เรียก ดูด หรือ สูด
- อับ ในความหมายว่า ตลับ ก็ไม่ค่อยมีคนใช้แล้วนะคะ
- กลักไม้ขีด เมือ่ก่อนยังใช้กันบ้าง เดี๋ยวนี้กลายเป็น กล่องไม้ขีด ค่ะ
- คด เช่นคำว่า คดข้าว เดี๋ยวนี้ใช้ ตักข้าว กันหมดแล้ว


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 27 พ.ค. 11, 17:51
- ฉิว ในความหมายว่า เคือง ก็ไม่ค่อยได้ยินแล้ว
- ฉม เหลืออยู่แต่ในวรรณคดี
- ฉลัก ก็ไม่อยู่แล้วค่ะ เป็นสลัก แทน
- กระฉอก ก็ไม่ค่อยได้ยินคนพูดกันแล้ว
- บ่ง ก็ไม่ค่อยได้ยินคนพูดกันแล้ว


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 27 พ.ค. 11, 17:59
สำนวนที่เคยฮิตติดปากในยุคสมัยหนึ่ง พอถึงวันนี้กลับไม่มีใครพูดแล้ว
- ปลงซะเถิดแม่จำเนียร
- หมอนั่นมันประเทืองชัดๆ
- เริดสะแมนแตน
- ชาวบ้านเขาจะเดือดร้อน (ต้องพูดเสียงยานๆ )
- เด๊ดสะมอเร่
- เปิ้ดสะก้าด
- ห้อแรด
- หอเจี๊ยะ
- ช้าไปต๋อย
- แม่ไม่ปลื้ม
- ม่ายล่ายลั่งใจ
- แล้วจะหาว่าหล่อไม่เตือน
- ขี้ปะติ๋ว



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: nakor ที่ 27 พ.ค. 11, 18:08

คำสุดท้าย ได้ยินร้องขอความเป็นธรรมจาก แตงโม ว่า

หนูทำผิดอะไร หนูผิดข้อหาอะไร

 ;D

อุลิด มาจากภาษาเขมรครับ "อูฬึก"



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: nakor ที่ 27 พ.ค. 11, 18:09
คำที่ฮิตเฉพาะช่วงสั้นๆ

เด็กฮาร์ต

ผมทรงฮาร์ต




กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 27 พ.ค. 11, 18:35
คิดถึง น้ำข้าว อุ่นๆ ข้นๆ ใส่เกลือ หรือ น้ำตาลหน่อยๆ ...เฮ้อ..

คำที่เลือนๆ ไปมีอีกหลายคำค่ะ
- ฝาละมี ในความหมายว่า ฝาหม้อ หายไปแล้ว เหลือแต่ความหมายว่า สามี... ;D
- กระโจม ในความหมายว่า โถมเข้าไป  หายไปแล้ว ส่วนใหญ่พูดเป็น กระโจน กันหมดเลย
- กระจ่า
- กระบวย
- กระแชง
- หมาตักน้ำ
- หยักรั้ง
- ยักกระสาย
- เคียนผ้า

เข้าใจและรู้จัก ยกเว้นหมาตักน้ำ ที่ไม่เข้าใจและไม่รู้จัก ช่วยอธิบายด้วยครับ จักเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

ขอแสดงความนับถือ

(ถือโอกาสใช้ภาษาราชการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีซักหน่อย)


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: bangplama ที่ 27 พ.ค. 11, 18:50
แสดงว่าลุงไก่ไม่เคยใช้หมาตักน้ำแน่ๆ ::)


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 พ.ค. 11, 21:45
เรียนคุณลุงไก่

ส่งรูปและคำอธิบายเรื่องหมาตักน้ำมา

จึงเรียนมาเพื่อทราบ

ขอแสดงความนับถือ

 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 28 พ.ค. 11, 03:49
เหอะ เหอะ ... ไม่รู้จักจริงๆ ครับ กับหมาตักน้ำนี้ บัดนี้ก็ได้ทราบและรู้จักแล้ว

ผมไม่เคยใช้หมาตักน้ำจริงๆ เพระไม่รู้จัก เคยตักน้ำจากบ่อด้วยตัวเอง ตามในภาพ แต่ใฃ้ถังสังกะสีผูกเฃือกที่หูถัง แล้วหย่อนลงไปตักครับ

ผมเคยทำแต่หาข้าวให้หมา แล้วก็ตักน้ำใส่ขันให้มันกินน่ะครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 พ.ค. 11, 19:53
คำที่บอกการเคลื่อนไหวของร่างกาย  ไม่เห็นในคำบรรยายมานานแล้ว
- ยงโย่ยงหยก
- โก้งโค้ง
- ชะเง้อชะแง้
- ย่างสามขุม
- เสือกตัว
- คลานเข่า  
- คลานศอก
- เอี้ยว
- ผงก


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 29 พ.ค. 11, 06:23
ขอเพิ่มอีกคำค่ะ

นอนหวด

เพิ่งเห็นเจ้าเหมืยวมันนอนอยู่ เลยนึกได้


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ค. 11, 16:22
เบ่ง               =  กร่าง
เมาลม            =  ปลื้ม
ตกม้า             =  อกหัก


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ค. 11, 13:40
แก่นแก้ว  = ซุกซน     มักใช้กับเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 30 พ.ค. 11, 15:21
หลากใจ ค่ะ แปลว่า แปลกใจ, ประหลาดใจ
เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้ยินใครพูดนะคะ
(ไปได้ยินคุณ luanglek จากกระทู้นู้นมาค่ะ ;D)


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 พ.ค. 11, 10:10
หูดับตับไหม้     =  เสียงดังอย่างประทัด
หูฉี่               =  ใช้ประกอบคำว่าแพง
จิ้มลิ้ม            =  หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู    เดี๋ยวนี้ใช้ หน้าใส
ปากนิดจมูกหน่อย   =  หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู
อ้อนแอ้น         =  รูปร่างระหง เดี๋ยวนี้ใช้ ร่างบาง


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 31 พ.ค. 11, 10:28
ราไฟ  = ทำให้ไฟในเตาลดความร้อนลงโดยการดึงฟืนหรือถ่านออกบางส่วน
ปัจจุบันใช้เตาแก๊สกะเตาไฟฟ้า จากราไฟ จึงกลายเป็นหรี่ไฟ ลดไฟ....


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 01 มิ.ย. 11, 12:19
- ภูธร
- นครบาล
- ไกลปืนเที่ยง
- กระแทะ
- ทิด
- สมี
- อำแดง
- จังกอบ
- ให้ท่า


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 มิ.ย. 11, 09:56
นึกถึงชื่อไทย ๆ อยู่ชื่อหนึ่ง ที่คำยังอยู่แต่ความหมายหายไปเสียแล้ว

คื่อ "เชย"

ความหมายเดิม รอยอินท่านว่าไว้ดังนี้

เชย  ก. สัมผัสเบา ๆ หรือช้อนขึ้นเบา ๆ ด้วยความเอ็นดูหรือรักใคร่ เช่น เชยแก้ม เชยคาง; โปรยปรายลงมา ในคําว่า ฝนเชย; พัดมาเฉื่อย ๆ (ใช้แก่ลม); สกัดงาเอานํ้ามันเรียกว่า เชยนํ้ามันงา.

ความหมายแรกแทบไม่ไม่ใครรู้จักเสียแล้ว ความหมายเลื่อนไปอยู่ที่บุคลิกของลุงเชยในเรื่อง พล นิกร กิมหงวน  รอยอินท่านว่า

เชย (ปาก) ว. เปิ่น, ไม่ทันสมัย.

 ;D





กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 มิ.ย. 11, 12:16
เห็นภาพนี้จากกระทู้โน้น

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3462.0;attach=20950;image)

คำบรรยายบรรทัดสุดท้ายมีว่า อาจารย์ เพี้ยน สมบัติเปี่ยม ศิษย์เก่าสวนกุหลาบฯเป็นสถาปนิก

เกิดความสงสัยว่า คำว่า เพี้ยน นี้อาจจะไม่ได้มีความหมายอย่างที่เราใช้ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับคำว่า เชย

หรือเปล่า

 ???


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มิ.ย. 11, 12:24
รอยอินตอบคุณเพ็ญชมพู ว่า

เพี้ยน   ว. ผิดแปลกไปเล็กน้อย เช่น หน้าเพี้ยน, คลาดเคลื่อน เช่น พูดเพี้ยน
   เสียงเพี้ยน, ผิดเพี้ยน ก็ว่า, โบราณใช้ เพียน ก็มี; (ปาก) ไม่ค่อยปรกติ
   (มักใช้แก่คน) เช่น เขามีท่าทางเพี้ยน ๆ.

         โบราณใช้ในความหมายว่า ผิดเพี้ยน  = ไม่เหมือนต้นแบบเสียทีเดียว  มากกว่าใช้อย่างปัจจุบัน


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มิ.ย. 11, 22:44
กล้องแกล้ง   คำนี้หายไปนานแล้ว
รอยอินให้ความหมายว่า   มีรูปร่างเอวเล็กเอวบาง, อ้อนแอ้น; มีท่าทางเป็นเชิงเจ้าชู้.   กวีบรรยายโฉมพระลอว่า  พระองค์กลมกล้องแกล้ง เอวอ่อนอรอรรแถ้ง ถ้วนแห่งเจ้ากูงาม บารนี ฯ   
แปลว่าพระลอเป็นชายหนุ่มรูปงาม  หุ่นบอบบาง  ไม่ใช่ผอมบาง แต่บอบบางอย่างอ้อนแอ้นสะโอดสะอง(คำนี้ก็เป็นอีกคำที่หายไป)  พระเอกในปัจจุบันที่ลักษณะค่อนไปทางนี้ นึกออกแต่ไชยา มิตรชัย 
พระเอกวรรณคดีไทยไม่ว่าขุนแผน อิเหนาหรือพระลอ  ล้วนแต่กล้องแกล้งกันทั้งนั้น    ใครวาดภาพว่าขุนแผนน่าจะหุ่นเหมือนผู้พันเบิร์ด  โปรดทราบว่าเข้าใจผิด 


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: kwang satanart ที่ 03 มิ.ย. 11, 17:51
เอายาหม่องมาเกลื่อน  ก็คือทายาหม่องบริเวณที่ถูกแมลงกัด แล้วไล้เบาๆบริเวณที่ถูกกัด
พิพักพิพ่วน     รู้สึกพะอืดพะอม
กระอักกระอ่วน    เป็นความรู้สึกของคนที่เห็นใครทำ  หรือพูด  หรือแสดงกิริยาที่ไม่สมควร


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มิ.ย. 11, 19:17
งั้นเวลานี้ เวลารู้สึกกระอักกระอ่วน หรือพิพักพิพ่วน  คนรุ่นใหม่เขาใช้คำว่าอะไรคะ
 


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: kwang satanart ที่ 05 มิ.ย. 11, 00:37
คำว่า  พิพักพิพ่วน  กับ กระอักกระอ่วน  น่าจะคงยังใช้อยู่กับคนอายุกว่า 40 หรือน่าจะ 50 นะคะอาจารย์ ในความเห็นของดิฉัน น่าจะเป็นคนที่มีพื้นเพเป็นไทยแท้แต่โบราณด้วยซ้ำไป    เคยพูดให้ลูกสาวอายุ 18 ฟัง แกบอกว่า หนูฟังเข้าใจ เพราะอยู่กับแม่ที่ใช้ศัพท์โบราณจนชินหู  แต่เป็นเพื่อนๆ อย่างเก่งก็น่าจะรู้จักแค่  พะอืดพะอม  แทนคำว่า พิพักพิพ่วน   ส่วนกระอักกระอ่วน  น่าจะใช้แค่ว่า  รู้สึกแปลกๆ 

ก็เลยมาลองนึกๆดู ว่าเคยได้ยินน้องๆที่ทำงาน เคยพูดอย่างนี้เหมื่อนกัน  คือ ใช้คำว่า   รู้สึกแปลกๆ  ซึ่งตัวเองก็เข้าใจว่าเขารู้สึกกระอักกระอ่วนนั่นละค่ะอาจารย์

ความจริงแล้ว การกระทำ  ความรู้สึก  หรือความเห็นที่มีต่ออะไรสักอย่างของเราก็คงยังอยู่กันเกือบครบน่ะค่ะ  แต่คำจำกัดความที่มีต่อการกระทำ  ความรู้สึก  หรือความเห็นนั่นต่างหาก  ที่มันเลือนๆไป  คนรุ่นใหม่หยิบเอาคำเหล่านี้มาใช้น้อยลง  แล้วเอาคำง่ายๆมาใช้แทน  อาจเป็นเพราะเรามีชีวิตที่เป็นเอกเทศกันมากขึ้น   ใกล้ชิดผู้ใหญ่น้อยลง  เด็กรุ่นใหม่รู้ศัพท์เก่าๆน้อยลง   ศัพท์แสงต่างๆจึงพลอยเลือนๆกันไป


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มิ.ย. 11, 09:03
รู้สึกแปลกๆ  เป็นคำที่ใช้กันในขอบเขตกว้างขวางมากค่ะ   นอกจากความหมายที่คุณ POJA ให้มาแล้ว  มันน่าจะรวมไปถึงความรู้สึกเคลือบแคลง น่าสงสัย   ไม่เชื่อถือ   ความรู้สึกในทางดี ทางร้าย  ประเภทครอบจักรวาลฯลฯ

-  ฟังเรื่องเพื่อนเคยเจอมนุษย์ต่างดาวแล้วรู้สึกแปลกๆ
-  เธอว่ายำจานนี้ กินแล้วรู้สึกแปลกๆไหม
-  เราเจอแฟนครั้งแรก  ก็รู้สึกแปลกๆ ว่าเค้าไม่เหมือนคนอื่น
ฯลฯ

นึกได้อีกคำตอนตอบอีกกระทู้ คือ คำว่า ยืนพื้น    = หลัก 

มีอีก
-  กะลิ้มกะเหลี่ย  =  แสดงอาการให้รู้ว่าอยากได้.
-  กะเรี่ยกะราด    =  เรี่ยราย, กระจัดกระจาย, หกเรี่ยราด; วางหน้าไม่สนิท.


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 มิ.ย. 11, 11:35
อ้างถึง
ริมคลองด้านซ้ายภาพเป็นหมู่ห้องแถวชอกการี ในสมัยก่อนครับ

คุณหนุ่มสยามใช้ภาษาเก่าพอๆกับห้องแถว    ต้องเอาไปรวมไว้ในกระทู้คำไทยที่หายไป  ;)

ชอกการี เป็นคำที่ไม่สุภาพ ค่อนไปทางหยาบ เป็นคำใช้เรียก โสเภณี ที่กล่าวว่าหยายคาย คือ การนำคำนี้มาเรียกด่าทอกัน  ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 07 มิ.ย. 11, 14:11
- ผ้าเวสปอยท์
- ผ้าเสิท
- จับสม็อก
- กางเกงเซลเลอร์

ก็ชักจะเลือนๆ ไปแล้ว เด็กเดี๋ยวนี้ไม่รู้จักหรอกค่ะ  ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 11, 14:24
คัทเวิร์ค ก็คงไม่รู้จักเหมือนกัน


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 11, 14:28
เด็กๆเดี๋ยวนี้ยังเรียกถักแท็ตกันอยู่หรือเปล่า


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มิ.ย. 11, 14:06
ได้คำนี้มาจากคุณหนุ่มสยามและคุณ Takae  จากกระทู้รูปเก่าเล่าเรื่อง
เปรี้ยวปาก   แปลว่า อยากเล่า อยากพูด

คุณหนุ่มสยามรู้จักศัพท์เก่าๆ มากทีเดียว  ชักสงสัยหนุ่มคนนี้อายุ 30 ได้ไหม     อีก 30  จะครบ 100  ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 09 มิ.ย. 11, 09:20
คำว่า ชวเลข ก็น่าจะหายไปแล้วนะคะ
ทั้งๆ ที่เมื่อไม่นานมานี้ เป็นคุณสมบัติที่จำเป็นเหลือเกินสำหรับเลขานุการ
ปัจจุบันยังมีเรียนกันอยู่หรือเปล่าคะ...


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 09 มิ.ย. 11, 09:52
คำว่า ชวเลข ก็น่าจะหายไปแล้วนะคะ
ทั้งๆ ที่เมื่อไม่นานมานี้ เป็นคุณสมบัติที่จำเป็นเหลือเกินสำหรับเลขานุการ
ปัจจุบันยังมีเรียนกันอยู่หรือเปล่าคะ...

เท่าที่ทราบ โรงเรียนเซนต์เทเรซา กับกรุงเทพการบัญชียังสอนอยู่ครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 09 มิ.ย. 11, 10:02
เห็นภาพนี้จากกระทู้โน้น

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3462.0;attach=20950;image)

คำบรรยายบรรทัดสุดท้ายมีว่า อาจารย์ เพี้ยน สมบัติเปี่ยม ศิษย์เก่าสวนกุหลาบฯเป็นสถาปนิก

เกิดความสงสัยว่า คำว่า เพี้ยน นี้อาจจะไม่ได้มีความหมายอย่างที่เราใช้ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับคำว่า เชย

หรือเปล่า

 ???

ผมยังจำท่านได้ติดใจจนทุกวันนี้ครับ หาภาพมาให้ชมไม่ได้ ท่านเป็นชายรูปร่างเล็ก ใบหน้าค่อนข้างสี่เหลี่ยม สูงประมาณ ๑๖๐ ซม. รอยยิ้มบนใบหน้าแบบคนแก่อารมณ์ดี ตอนนั้นท่านก็วัยใกล้เกษียณแล้วครับ

ไม่แปลกหรอกครับกับชื่ออาจารย์เพี้ยน ... ชื่ออาจารย์ก๊องส์ยังมีเลยครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: กะออม ที่ 09 มิ.ย. 11, 10:13
มีท่านผู้ใหญ่ชื่อ เพี้ยน  ท่านเล่าว่าได้ชื่อเช่นนี้ เนื่องจากท่านมีผิวคล้ำกว่าพี่ ๆ
เพี้ยน จึงมีความหมายว่าไม่เหมือน มากกว่า
เช่นเดียวกับ แปลก เด็กก็อาจจะมีหน้าตา หรือ ผิวพรรณ แตกต่างจากพ่อแม่ พี่น้อง


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 มิ.ย. 11, 10:23
ผมยังจำท่านได้ติดใจจนทุกวันนี้ครับ หาภาพมาให้ชมไม่ได้ ท่านเป็นชายรูปร่างเล็ก ใบหน้าค่อนข้างสี่เหลี่ยม สูงประมาณ ๑๖๐ ซม. รอยยิ้มบนใบหน้าแบบคนแก่อารมณ์ดี ตอนนั้นท่านก็วัยใกล้เกษียณแล้วครับ

คุณลุงไก่แน่ใจหรือว่าเป็นอาจารย์เพี้ยนคนเดียวกับที่เป็นสถาปนิกออกแบบหอประชุมสวนกุหลาบรำลึก  เท่าที่ทราบสวนกุหลาบมีอาจารย์เพี้ยน อีกคนหนึ่ง นามสกุลอะไรเอ่ย

คุณลุงไก่จำได้ไหม

 ;)



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: kwang satanart ที่ 09 มิ.ย. 11, 21:53
หน้าตากรุ้มกริ่ม   คนที่มีหน้าตาเหมือนจะยิ้มอยู่เสมอ   อย่างที่เราเรียกกันอีกอย่างว่า  ยิ้มอยู่ในหน้า  มักใช้กับผู้ชาย    ส่วนใหญ่มักเป็นผู้ชายที่ค่อนข้างจะมีแววตา แบบที่เรียกกันว่า  นัยน์ตายิ้มได้

ท่าทางกรุ้มกริ่ม  มักใช้กับผู้ชายที่มีท่าทีเจ้าสำราญ  โดยเฉพาะเวลาอยู่ใกล้ผู้หญิง แล้วมักทำท่าทางเหมือนจะชอบหญิงนั้นทางชู้สาว 


เคยเห็น แม่เลื่อน  ซึ่งเป็นนักแสดงละครร้องสมัยเก่า  แสดงละคร  หน้าตาท่าทางท่านเวลาแสดงละคร เหมาะกับคำๆนี้มากที่สุด ถ้าเป็นสมัยใหม่ ก็น่าจะดู อาจารย์ ดร.ศุภชัย  จันทร์สุวรรณ  เวลาท่านแส่่ดง หรือรำละคร  แบบมีบทเข้าพระเข้านาง  ก็ดูจะเหมาะกับสองคำนี้เหมือนกัน


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 มิ.ย. 11, 22:03
ได้คำนี้มาจากคุณหนุ่มสยามและคุณ Takae  จากกระทู้รูปเก่าเล่าเรื่อง
เปรี้ยวปาก   แปลว่า อยากเล่า อยากพูด

คุณหนุ่มสยามรู้จักศัพท์เก่าๆ มากทีเดียว  ชักสงสัยหนุ่มคนนี้อายุ 30 ได้ไหม     อีก 30  จะครบ 100  ;D

เดี๋ยวจะแก่จน "ตะบันหมาก" ไม่ทัน ;)


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 มิ.ย. 11, 22:07
"ไหว้พระเถิดพ่อคุณ" คำตอบรับการไหว้จากผู้ใหญ่ พูดแก่ผู้น้อย สมัยนี้ไม่พูดกันแล้ว

"อกอีแป้นจะแตก"  เป็นการพูดเมื่อตกใจ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มิ.ย. 11, 22:07
ถ้าเปลี่ยนเป็นผู้หญิง  จะมีคำว่าอะไรที่พอเทียบได้กับ กรุ้มกริ่ม ไหมคะ

ชนกลางอากาศกับคุณแก่สยาม  
เขาเรียกว่า แก่จนต้องตะบันน้ำกิน ค่ะ

สำนวนเกี่ยวกับหมากดูเหมือนจะหายไปจากความเข้าใจของคนไทย    เพราะเราไม่กินหมากกันอีก
ชั่วเคี้ยวหมากแหลก = เดี๋ยวเดียว  ครู่เดียว


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 มิ.ย. 11, 22:10
หมากยังไม่ทันจืด อ.เทาชมพูก็ตอบปุ๊บ  ;) = รวดเร็ว ทันใจ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 มิ.ย. 11, 22:13
ระวังนะ ทำอะไรไม่ดีเอาไว้ เดี๋ยวเขาจะ "เอาปูนหมายหัวไว้"

เอาลูกเสือลูกตะเฆ่มาเลี้ยงไว้ อย่าไปเอาเมี่ยงเขามาอม


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: kwang satanart ที่ 09 มิ.ย. 11, 22:29
หูตาแพรวพราย  น่าจะเป็นคำสำหรับผู้หญิง  พอเทียบได้กับ  กรุ้มกริ่ม  กระมังคะ

สะเด็ดน้ำ   วางของที่ล้างไว้ อาจเป็นทั้งของที่รับประทานได้หรือไม่่ได้ให้น้ำแห้งก่อน

สะเด็ดน้ำมัน  ตักอาหารที่ทอดขึ้นจากกระทะ  โดยต้องรินเอาน้ำมันที่ทอดออกให้หมด จนไม่มีน้ำมันติดอยู่จนนองบนภาชนะที่ใส่อาหารนั้น

วางผึ่งไว้   การวางของสิ่งใดไว้โดยมีจุดประสงค์ให้สิ่งของนั้นแห้ง  จากความชื้นจากน้ำ  โดยมีจุดประสงค์ให้แห้งด้วยลมธรรมชาติ   เช่น วางปลาแห้ง ที่ยังไม่แห้งดี  ไว้กลางแดด   หรือ เสื้อผ้าที่ใส่แล้วจะถอดมาซัก  แต่เสื้อนั้นยังชื้นด้วยเหงื่อ  ผู้ใหญ่มักบอกว่า ให้วางผึ่งไว้ที่  ปากตะกร้า  ให้แห้งก่อน  ซึ่งก็หมายถึงให้แผ่เสื้อนั้นไว้กับขอบตะกร้า  อย่าใส่ลงไปในตะกร้า ในทันทีที่ถอดออกจากตัว

ปากตะกร้อ   ชาวสวนมักเรียก มะม่วงที่เริ่มมีสีเหลือง เริ่มจากส่วนหัว  ( เนื้อบริเวณใกล้ๆขั้ว )  ว่า ปากตะกร้อ   เพราะตะกร้อคือเครื่องมือในการเก็บผลไม้ของชาวสวน  ลูกที่เริ่มเหลืองใกล้ๆจะสุก  จะถูกเก็บลงมาก่อน  จึงมักเรียกผลไม้   โดยเฉพาะมะม่วงว่า   ปากตะกร้อ   ถ้าได้ยินใครใช้คำนี้ล่ะก็   ชาวสวน แน่นอนค่ะ  มักเป็นชาวสวนโบราณด้วยนะคะ

เข้าไคล    ผิวของมะม่วงที่มีคราบสีขาวๆเกาะ   มักเป็นก่อนระยะปากตะกร้อ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: kwang satanart ที่ 09 มิ.ย. 11, 22:43
ท้าวคาง   เห็นจากกระทู้อื่นน่ะค่ะ   คือกิริยาที่นั่งเอาฝ่ามือรองรับคางไว้  แต่ผู้ใหญ่มักห้ามนั่ง  บอกว่าดูไม่ดี

ท้าวแขน  ก็คือนั่งพับเพียบ  (ยังรู้จักกันหรือเปล่าก็ไม่ทราบนะคะสำหรับเด็กๆบางคน)  แล้วใช้ฝ่ามือข้างใดข้างหนึ่งวางไว้บนพื้นข้างๆตัว  โดยทิ้งน้ำหนักตัวลงบนฝ่ามือข้างน้้นด้วย

มือห่าง ตีนห่าง   ผู้ใหญ่มักว่าเด็กที่ทำอะไรไม่เรียบร้อย  เข้าทำนองซุ่มซ่าม  ทำอะไรก็ตกหล่น ให้เสียหาย

มือไม่มีเอ็น   เคยได้ยินคุณพ่อดุ เวลาที่ทำของตกหล่นเสียหาย

ปั้นจิ้มปั้นเจ๋อ   ผู้ใหญ่อีกนั่นแหละค่ะ  ที่ใช้ว่าเด็กที่ชอบพูด  ถาม  หรือแสดงความเห็นในเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของตัว   หรือถึงเป็นเรื่องของตัว  แต่ก็ไม่ใช่โอกาสที่ตนจะพูดได้  เพราะเด็กสมัยก่อนไม่ค่อยมีสิทธิแสดงความคิดเห็น หรือพูดได้มากเท่าเด็กสมัยนี้

อย่าสอด   ผู้ใหญ่อีกแล้ว  ที่ดุเด็กที่ชอบพูดแซงขึ้นมาในขณะที่ผูํใหญ่กำลังพูดอยู่  มักจะใช้อีกคำหนึ่งด้วยค่ะว่า   อย่าทะลุกลางปล้อง  คำนี้เข้าใจว่าคงเปรียบเทียบกับตาของไม้  ที่แตกทะลุออกมากลางปล้อง  เช่นต้นไผ่ อะไรทำนองนี้     ข้อนี้ผิดถูกอย่างไร  รบกวนอาจารย์เทาชมพู  แก้ไขนะคะ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 มิ.ย. 11, 08:32
เอาลูกเสือลูกตะเฆ่มาเลี้ยงไว้ อย่าไปเอาเมี่ยงเขามาอม

ที่ถูกต้องคือ

ลูกเสือลูกตะเข้  น. ลูกของคนอื่นที่เอามาเลี้ยงไว้แล้วกลับทำร้ายคนเลี้ยงในภายหลัง.

เอาลูกเขามาเลี้ยงเอาเมี่ยงเขามาอม (สำ) ก. เอาลูกของคนอื่นมาเลี้ยงเป็นลูกเป็นภาระรับผิดชอบ ที่หวังผลตอบแทนแน่นอนไม่ได้.

สำหรับ ตะเฆ่ คงไม่มีลูกไว้ให้เลี้ยง

ตะเฆ่ น. เครื่องลากเข็นของหนัก รูปเตี้ย ๆ มีล้อ.
 
 ;D


 
 


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มิ.ย. 11, 08:55
อ่านกระทู้นี้แล้วเพลิดเพลินจำเริญใจ   ได้เห็นคำและสำนวนไทยหลายหลากมากมี   ที่บางอย่างก็เลือนๆ ไปแล้วเพราะไม่ได้ผ่านตามานาน  ;D

เดี๋ยวนี้คนรุ่นใหม่เขาไม่ผึ่งเสื้อผ้าแล้ว   ถอดเสร็จก็โยนลงตะกร้า เอาไปซักเครื่องได้เลย     อาหารการกินจะผึ่งแดดก็ไม่มีเพราะอยู่ในห้องคอนโด ไม่มีนอกชาน  คำนี้เลยหายไป  อาจจะเหลือแต่คำว่า ตาก เพราะยังตากผ้ากันอยู่ที่ระเบียง

คำว่าปัดกวาดเช็ดถู ก็ไม่เห็นมานานแล้ว  มีแต่คำว่า ทำความสะอาด

หมาด  ก็เป็นอีกคำที่น่าจะหายไปแล้ว

หมาด   = แห้งไม่สนิท, เกือบแห้ง เช่น ผ้านี้ยังหมาดอยู่.
แต่ถ้าเติมไม้ยมก เข้าไป เป็น หมาด ๆ ความหมายเปลี่ยนไปเป็นคนละคำ  =  ที่เพิ่งได้หรือเสร็จเป็นต้นมาใหม่ ๆ เช่น เขาเพิ่งได้เลื่อนตำแหน่ง   มาหมาด ๆ.



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 มิ.ย. 11, 09:02
"มุ้งสายบัว" ก็ไม่มีใครใช้กันแล้ว หมายถึง ติดคุก

"หับเผย" นี่ก็โบราณเก่าหนักกว่ามุ้งสายบัว ไม่มีใครรู้จักแปลว่า คุก

"ติดสนม" นี่ก็โบราณพอกัน วัยรุ่นรู้จักแต่ติดขนม ติดสนม ใช้กับเจ้านายเชื้อพระวงศ์ที่ถูกให้จองจำ แต่การจองจำไม่ถุกขังคุก แต่ให้ขังอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ตามอัตราโทษ ห้ามออกไปภายนอก และทำการล่ามโซ่ไว้ โซ่ที่ล่ามก็เชิญบนพาน ปูไว้ด้วยผ้าขาวอีกชั้นหนึ่ง


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 10 มิ.ย. 11, 10:29
- ตระพัง
- ถลกบาตร
- ตีตรวน
- เฆี่ยน
- จำตรุ
- จำบับ

 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 10 มิ.ย. 11, 10:38
ถลกบาตร ก็ยังใช้อยู่ครับ ยังไม่หายไปไหน เห็นกันอยู่ทุกเช้า

ตีตรวน ก็ยังใช้อยู่เหมือนกัน เห็นได้ทุกวันราชการที่ศาลแผนกคดีอาญา


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 10 มิ.ย. 11, 10:47
หนูดีดี คงห่างวัดน่ะค่ะ เลยไม่ค่อยรู้จักคำพวกนี้... ;D

อีกชุดค่ะ
- เจว็ด
- จับเจี๋ยว
- จับยี่กี่
- จิ่ม
- เจ้าจำนวน
- เจ้าจำนำ
- เจ้าเบี้ย นายเงิน


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มิ.ย. 11, 10:49
ทุกวันนี้เรายังวิ่งกันอยู่   โดยเฉพาะออกกำลังกาย เห็นบ่อยตอนเช้าตรู่และตอนเย็นๆ
แต่คำประกอบ  หายไปแล้ว

วิ่งเหยาะ, วิ่งเหย่าๆ   = จ๊อกกิ้ง
วิ่งจี๋                    =  วิ่งเร็วมาก
วิ่งแจ้น                 =  วิ่งอย่างรีบเร่ง
วิ่งตะโพง              =  วิ่งโขยกเขยก   (คำนี้รอยอินไม่เก็บเอาไว้)

เดิน   ก็ยังเดินกันอยู่   แต่ลีลาท่าเดิน หายไปแล้ว
เดินลอยชาย, เดินชมนกชมไม้  = เดินเอื่อยๆ ไม่รีบร้อน
เดินกรีดกราย           =  ผู้หญิงเดินด้วยจริตกิริยาให้ชวนมอง
เดินเหมือนควายหาย   =  เดินรีบเร่ง  ,จ้ำ
เดินลงส้น               =  เดินแรง  กระแทกส้นเท้า   พื้นเรือนสมัยก่อนปูด้วยไม้  ถ้าเดินแรงจะเกิดเสียงฝีเท้าดังตึงๆ  ทำให้โดนเคาะตาตุ่มลงโทษ   ว่าเดินดังเสียกิริยามารยาท      สมัยนี้พื้นบ้านเป็นแกรนิต หรือคัมพานา    เดินลงส้นเท่าใดก็ไม่ดัง   คำนี้เลยหายไป


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 10 มิ.ย. 11, 10:56
หนูดีดี คงห่างวัดน่ะค่ะ เลยไม่ค่อยรู้จักคำพวกนี้... ;D

อีกชุดค่ะ
- เจว็ด
- จับเจี๋ยว
- จับยี่กี่
- จิ่ม

จับยี่กี  เป็นการพนันแทงหวย  ซึ่งมีเลขให้เลือกแทงตั้งแต่ ๑  ถึง ๑๒
         จับยี่  แปลว่า ๑๒  หวยจับยี่กี  โดยมากมักออกหวยกันละ ๓ เวลา
         หรือมากกว่านั้น   ตามแต่ละท้องถิ่นที่เล่น 
         การเล่นหวยจับยี่กีเป็นการการพนันผิดกฎหมายเช่นเดียวกับหวยใต้ดิน


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: bkk88 ที่ 10 มิ.ย. 11, 10:58
สมาชิกใหม่ครับ   ได้ความรู้มากๆๆเลย


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 10 มิ.ย. 11, 11:02
ปัจจุบันยังมีการเล่นหวย จับยี่กี่ กันอยู่หรือไม่คะ  ;D

- เจียดยา ก็เลิกพูดกันไปแล้ว เพราะเดี๋ยวนี้รักษาฟรีทุกโรคไม่ต้องเจียดยา...


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มิ.ย. 11, 11:30
ปรุง   = ประสมหรือประกอบให้เหมาะส่วน   มีทั้งปรุงอาหาร  (เดี๋ยวนี้ใช้ ทำอาหาร)   ปรุงยา และปรุงไม้ สำหรับปลูกเรือน  อย่างหลัง เราไม่ได้ปลูกเรือนไม้กันแล้ว ก็เลยไม่มีช่างมาปรุงไม้อีก

นั่งเอี้ยมเฟี้ยม   =   อาการที่นั่งเก็บมือเก็บเท้าอย่างเรียบร้อย, อาการที่หมอบเฝ้าหรือหมอบคอยรับใช้อย่างเรียบร้อย


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: puyum ที่ 10 มิ.ย. 11, 22:04
  หน้านี้หาตาลเฉาะ ตาลเชื่อม ได้ง่าย
  คำว่า ตาลเฉาะ   ยังใช้เปรียบเทียบกับอะไรบ้างครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 11 มิ.ย. 11, 08:20
หายหน้าหายตาไปสองเดือน  กลับมาอีกทีมีกระทู้สนุกๆ เยอะแยะไปหมดจนอ่านไม่ทัน  ขอร่วมวงด้วยคนครับ

อย่าหาว่าผม "เสือกกระโหลก" เลยนะครับ
อ้าว พูดอย่างนี้เคย "อมหมาก" หรือเปล่า
ถ้ายังข้องใจอยู่ละก็ "เมื่อเอยก็เมื่อนั้น" บอกได้ทันที
ส่งเสียง "โบ๊เบ๊" อยู่ได้ เดี๋ยวแม่ตีตายเลย
จะมัว "ชี้โบ๊ชี้เบ๊" อยู่ทำไม  จะทำอะไรก็รีบทำซะ
ดูแม่นั่นสิ ทำตัว "หัวสมัย/หัวใหม่" จนน่าหมั่นไส้
โธ่ ผมน่ะเหนื่อยจน "หูตูบ" แล้ว  ใช้คนอื่นบ้างซี่
ร้อนๆ อย่างงั้นกินเข้าไปได้ยังไง /  ก้อ "กะล่อมกะแล่ม" เอา
อื้อหือ  มืออ่อนเป็น "ฝักถั่ว" เชียว
อย่ามา "ปะเหลาะ" หน่อยเลย  เค้ารู้ทันหรอก
ขืนเสี่ยงบ้าๆ อย่างนี้  ไม่นานก็คง "เด๊ดสะมอเร่" แน่
พอเขาบอกอย่างนี้  ผมละ "งงเต่ด" ไปเลย


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 มิ.ย. 11, 09:56
ขืนเสี่ยงบ้าๆ อย่างนี้  ไม่นานก็คง "เด๊ดสะมอเร่" แน่

มาจากเพลง That’s Amore ของ Dean Martin ในภาพยนตร์เรื่อง The Caddy เมื่อพ.ศ. ๒๔๙๖ คุณเทิ่ง สติเฟื่อง หรือ บรรยงค์ เสนาลักษณ์ ผู้บุกเบิกวงการโฆษณาสมัยเริ่มแรกมีรายการโทรทัศน์ (เสียชีวิตแล้ว) แผลงเป็น "เด้ด-สะ-มอ-เร่" หมายความว่า death ที่แปลว่าตายนั่นแหละ  

Amore  มาจากภาษาอิตาเลียน หมายความว่า love; a feeling of great affection

ความรักของฝรั่ง เป็นความตายของไทย  

ประหลาดไหมล่ะ  

พอเขาบอกอย่างนี้  ผมละ "งงเต่ด" ไปเลย

งงเต้ก ละมั้ง

 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 11 มิ.ย. 11, 10:17
ขอบพระคุณอาจารย์เพ็ญชมพูสำหรับข้อมูลครับ  ผมขอเพิ่มเติมอีกนิดว่าเพลง That's Amore นี้ ต่อมาคุณ นคร มงคลายน นำมาดัดแปลงเป็นภาษาไทย
ชื่อเพลง "รักรวนเร" ด้วยครับ

อีกคำคือ "งงเต่ก" ถูกของอาจารย์  ผมไม่ทันได้ตรวจทาน  ขออภัยครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 มิ.ย. 11, 11:56
ต้นฉบับของฝรั่ง - That’s Amore

http://www.youtube.com/watch?v=rtmsIq0-T54&feature=related

ดัดแปลงมาเป็นแบบไทย ๆ - รักรวนเร

http://www.youtube.com/watch?v=Ovahpm4_2a0

 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 11 มิ.ย. 11, 12:12
นี่เธอ ชั้นว่าไปยืนตรงที่มันสว่างกว่านี้น่าจะดีกว่า  เดี๋ยวใครมาเห็นเข้าจะหาว่าเราเป็น "นางบังเงา" ไป อับอายเขาตาย
ไม่รู้แกงภาษา "ตวักกระบวย" อะไรกัน  น้ำแกงมันถึง "โหลงโจ้ง" หยั่งงี้
พอเขาปล่อยให้เป็น "โต้โผ" อวดสาวเข้าหน่อย "หน้าบานเป็นจานเชิง" ทีเดียว  เพี้ยง ขอให้จ่ายจน "หมดตูด" ไปเลย
ทำเป็นเก่งกับอ้าย "จิ๊กโก๋" ตัวนั้นไปเถอะ  ระวังจะโดนมัน "ล้วงตับ" เอาไม่รู้ตัว  เดี๋ยวจะมาหาว่า "หล่อไม่เตือน"
ก็มัว "ตะบี้ตะบัน" ทำเป็น "หน้าตึง" อยู่ทั้งวัน  หนุ่มที่ไหนเขาจะมากล้าง้อตัววะ
"แม่มึง" พ่อว่าเอา "ตะปิ้ง" ไปใส่ให้อีหนูมันหน่อยดีกว่า  ยืนเปลือยอยู่อย่างเงี้ยมันน่าเกลียด
ไอ้หนู  เอ็งขยับไปอยู่ทางโน้นหน่อยไป๊ "ยืนโด่เด่" อยู่ได้  ยืนค้ำหัวผู้ใหญ่มันไม่ดี รู้มั้ย
ถีอว่าตัวเองเป็นลูกเฉลิมหรือยังไง  ถึงได้ "กร่าง" ไปทั่ว  พ่อเอ็งข้ายังเคย "โซ้ย" มาแล้ว อย่า "เหิม" ให้มากนัก
ตัวว่า คู่นั้นเขามีอะไร "กุ๊กกิ๊ก" กันอยู่หรือเปล่า เราไม่กล้าถาม  กลัวเขาหาว่าเรา "สะแหล๋น"
ก็ตัวจะ "หลอแหล" สอดรู้ไปทำไม  มันเรื่องของเขา
ไอ้ลูกคนนี้มันจะเอายังไงกันแน่  ด่าเท่าไหร่ก็เหมือน "ตักน้ำรดหัวสากหัวตอ" ไม่มีผิด
แหม น่าทุเรศ  พอได้นั่งเก๋งเข้าหน่อยก็เชิดหน้าเป็น "แม่ย่านาง" เลยทีเดียว


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 11 มิ.ย. 11, 12:29
แหม  อาจารย์เพ็ญชมพูครับ  เห็น ดีน มาร์ติน โดยไม่ได้คีบ cigar กับถือแก้ว brandy มันเหมือนกับขาดอะไรไปนะครับ
ให้ความรู้สึกที่ต่างกันมาก  ราวกับขาดวิญญาณอย่างนั้นแหละ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มิ.ย. 11, 19:39
อ้างถึง
อื้อหือ  มืออ่อนเป็น "ฝักถั่ว" เชียว
ฝักถั่ว น่าจะแปลว่าสลอน    สื่อเคยใช้คำว่า สภาฝักถั่ว คือเวลาโหวต ผู้แทนยกมือกับพรึ่บพร้อมเพรียง   คุณ willyquiz เคยได้ยินไหมคะ

เคยได้ยินคำว่า กะร่อยกะหริบ     ในเพลงแม่ครัวจ๋าของสายัณห์ สัญญา ก็มีคำนี้  แต่ยังหาคำจำกัดความที่ถูกใจไม่ได้
ใครพอทราบบ้างคะ

ในครัวอนงค์            นั้นมันตรงบ้านพี่
แอบมองคนดี           ตั้งเกือบปี แล้วนาง
.มือน้อยน้อย            น้องกระร่อย กระหริบ
มือซ้ายหยิบ             ส่งมามือขวาวาง
ถ้าได้นงคราญ          เป็นแม่บ้านหนึ่งนาง
ฟ้าไม่แจ้งจางปาง      ไม่ตื่นไปถางไร่มัน


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 12 มิ.ย. 11, 08:43
สวัสดีท่านอาจารย์เทาชมพูครับ  ช่วงที่ผมห่างหายไปนี่ผมรำลึกถึงอาจารย์กับคุณม้าอยู่ตลอดเลยครับ (ผมยังติดค้างงานท่านอยู่) แต่มันจำเป็นครับ

คำว่า "มืออ่อนเป็นฝักถั่ว" ได้มาจากป้าเมื่อราวห้าสิบปีที่แล้วครับ (ภรรยาของลุงซึ่งเป็นพี่ชายของแม่) กับอีกคำหนึ่งคือ "บุญรักษา"   ครั้งหนึ่ง เมื่อ
แม่พาไปหาลุงกับป้า  เราเด็กๆ ก็เข้าไปกราบไหว้ท่าน  ท่านได้พูดว่า "บุญรักษานะลูกนะ"  และ {อื้อหือ "มืออ่อนเป็นฝักถั่ว" เชียว} ตามที่ผมได้
โพสท์เอาไว้ทุกคำ  ที่จำได้ฝังใจเพราะผมนึกภาพไม่ออกว่า มือกับฝักถั่ว เหมือนกันตรงไหน?
ส่วนคำว่า "บุญรักษา" ผมได้นำมาใช้อยู่ในปัจจุบัน  ผมไม่เคยตอบรับการไหว้ของลูกหลานตัวเล็กๆ ด้วยคำว่า "ไหว้พระเถอะลูก" เลย  แต่ผมจะใช้
คำว่า "บุญรักษา" ตามแบบฉบับของป้าและลุงที่ผมเคยได้ยินมาตั้งแต่หัวเท่ากำปั้นครับ

คำว่า "กะร่อย กะหริบ" ตามความหมายที่ผมเข้าใจไม่ตรงกับเนื้อเพลงที่อาจารย์โพสท์เอาไว้ จึงไม่กล้าแสดงความเห็นครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 12 มิ.ย. 11, 10:02
ผมเล่าถึงลุงกับป้าแล้วเหมือนไปสะกิดความทรงจำเก่าๆ ในอดีตให้พร่างพรูออกมาทันที  เราเด็กๆ ซึ่งเกิดและเติบโตในพระนคร  ใช้ภาษาพูดแบบ
ชาวพระนคร  พอได้ยินภาษาแปลกๆ จากญาติผู้ใหญ่ในชนบท บางครั้งเราสงสัย บางครั้งเราก็ขำ  อย่างเช่น เราพูดว่า ห้อยต่องแต่ง  แต่ป้าผมจะ
พูดว่า ห้อยกะต่องกะแต่ง ซึ่งผมจะขำทุกที  ตะกรุดที่พ่อผูกห้อยไว้ที่เอวผม  ลุงก็เรียก กะตุด (ออกเสียงตามที่เขียน) ผมก็งงงวยว่า เอ มันชิ้นไหน
กันนะ  จนโตเป็นผู้ใหญ่แล้วจึงจะเข้าใจ

แต่มีอยู่คำหนึ่งคือ "กะซี้" เป็นหมากชนิดหนึ่งที่เสียหรือแกนที่ป้าจะไม่กิน  แต่ผมสารภาพเลยว่าผมนึกภาพของ "หมากกะซี้" ไม่ออกเสียแล้วว่าเป็น
สภาพใด  อ. เทาชมพู พอจะอธิบายภาพพอให้เห็นได้ไหมครับ  หมากที่เนื้อข้างในแหยะๆ นิ่มๆ นั่นเรียกว่า หมากกระซี้ ด้วยหรือเปล่าครับ  เพราะ
ป้าก็บอกแต่เพียงว่าหมากกะซี้เขาไม่กินกัน โบราณถึอ  โบราณของป้าก็คงจะเกินร้อยปีขึ้นไปแล้วกระมัง  เพราะผู้ใหญ่ชอบอ้างโบราณหลอกเด็กอยู่
เสมอ บางครั้งใช้เป็นการตัดบทเพื่อไม่ให้เด็กซักถามอีกต่อไปเพราะตัวผู้ใหญ่เองก็อาจจะไม่รู้คำตอบ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: bangplama ที่ 12 มิ.ย. 11, 11:40
แม่ถนิมสร้อย

เออ...คำนี้ใช้กับบุรุษบ้างหรือไม่ครับ :D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: bangplama ที่ 12 มิ.ย. 11, 11:55
ไขว่(อี)เกก  ไขว่ห้าง  = ไขว้ขา


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 มิ.ย. 11, 12:04
แม่ถนิมสร้อย

เออ...คำนี้ใช้กับบุรุษบ้างหรือไม่ครับ :D

ชื่อหนังสือของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์

(http://www.tuneingarden.com/image/book/snim1_150.jpg)

"ทำไมใช้ชื่อเรื่องว่าสนิมสร้อย"

"อันนี้ผมก็นึกไม่ออกนะ มันมีวลีโบราณ ๆ คนสนิมสร้อย จะเป็นถนิม สนิมอะไรก็แล้วแต่ มันหมายถึงคนหยิบโหย่ง เป็นคนไม่จริงจัง ก็เลยเอามาตั้งชื่อประชดประชันอะไรทำนองนั้น ความจริงโสเภณีเป็นคนจริงจังกับชีวิตมาก เป็นงานที่หนักที่สุดเลย หนักมากกว่าการเป็นรัฐมนตรีหญิงสักคน รู้สึกจะตั้งด้วยความประชด ๆ เพราะคนแก่ชอบด่าเด็กผู้หญิงที่หยิบโหย่งหรือขี้เกียจ ๆ ว่าอีนี่สนิมสร้อยหรือ อ้อยอิ่งเหลือเกิน นวยนาด ยืดยาด ต้วมเตี้ยม เป็นอย่างนั้น"

http://www.tuneingarden.com/work/b-04sn-bk001.shtml




กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: bangplama ที่ 12 มิ.ย. 11, 12:16
ู^
ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็คงใช้กับบุรษได้ คือโรคบุรุษ 8)


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 12 มิ.ย. 11, 14:22
กำลังดูภาพยนตร์ DVD อยู่  บังเอิญมีฉากที่มารดากำลังจะให้กำเนิดบุตรทำให้นึกศัพท์ได้อีกคำที่กำลังจะหายไปจากสารบบ  คือคำว่า
"น้ำทูนหัว"  แต่ผมเป็นบุรุษที่ไม่ค่อยจะสุภาพจึงกระดากที่จะเขียน  งานนี้จึงเรียนเชิญคุณสุภาพสตรีให้บรรเลงแทนครับ  ท่านใดที่คิดว่า
จะอธิบายให้คนรุ่นใหม่เข้าใจได้ผมขอเชิญเลยครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 13 มิ.ย. 11, 09:07
"ไข่เหี้ย" เจ้านี้ "ไม่เอาอ่าว" จริงๆ  "แข็งเป็นหัวโจร" เลย
ไม่รู้จะทน "ทู่ซี้" กับผัวเฮงซวยหยั่งงั้นทำไม  ทำตัวเป็น "ผีไม่มีศาล" "เด็กอมมือ" มันยังรู้
โอ้ย  จะมา "มะรุมมะตุ้ม" ยายทำไม  ยิ่งปวดขา "หนุบๆ" อยู่
โถ "หนุ่มทั้งแท่ง" หยั่งงี้  คงเป็น "หมูในอวย" ให้แม่ "เชือด" เสียละมั้ง
ทีแรกก็ทำเป็น "ก๋า" พอรู้ว่าเจอ "พี่เบิ้ม" เข้าให้  "หน้าม่อย" ไปเลย


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 13 มิ.ย. 11, 11:15
สืบเนื่องมาจากข่าวอีโคไล..
- โรคป่วง


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 13 มิ.ย. 11, 12:30
สืบเนื่องมาจากข่าวอีโคไล..
- โรคป่วง
คำนี้ยังไม่หายไปไหนนี่ครับ  คนลงท้องหนักๆ (ออกปากออกก้น) คือทั้งถ่ายทั้งอาเจียร เราก็บอกว่าเป็นอาการของ "โรคท้องป่วง"


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 มิ.ย. 11, 12:39
กำลังดูภาพยนตร์ DVD อยู่  บังเอิญมีฉากที่มารดากำลังจะให้กำเนิดบุตรทำให้นึกศัพท์ได้อีกคำที่กำลังจะหายไปจากสารบบ  คือคำว่า
"น้ำทูนหัว"  แต่ผมเป็นบุรุษที่ไม่ค่อยจะสุภาพจึงกระดากที่จะเขียน  งานนี้จึงเรียนเชิญคุณสุภาพสตรีให้บรรเลงแทนครับ  ท่านใดที่คิดว่า
จะอธิบายให้คนรุ่นใหม่เข้าใจได้ผมขอเชิญเลยครับ

น้ำทูนหัวเป็นคำเรียกอีกคำหนึ่งของ น้ำคร่ำ   หมายถึงน้ำในมดลูกที่หล่ออยู่รอบตัวทารกในครรภ์ ป้องกันการกระทบกระแทกจากภายนอก   เวลาใกล้คลอด น้ำคร่ำจะออกมาก่อนเพื่อหล่อลื่นให้ทารกเลื่อนออกมาได้สะดวก 


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 13 มิ.ย. 11, 13:37
 
[/quote]

น้ำทูนหัวเป็นคำเรียกอีกคำหนึ่งของ น้ำคร่ำ   หมายถึงน้ำในมดลูกที่หล่ออยู่รอบตัวทารกในครรภ์ ป้องกันการกระทบกระแทกจากภายนอก   เวลาใกล้คลอด น้ำคร่ำจะออกมาก่อนเพื่อหล่อลื่นให้ทารกเลื่อนออกมาได้สะดวก 
[/quote]

     แต่เท่าที่ผมทราบจากหมอตำแย (จากอยุธยา) ไม่เป็นดังนั้นครับ  จะมีสามอย่างคือ  น้ำทูนหัวก่อน  น้ำคร่ำตามมา  และน้ำคาวปลาปิดท้ายครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 13 มิ.ย. 11, 13:44
ต้องรีบแก้ก่อน  ผมรีบปิดเกินไป  น้ำคาวปลา ที่บอกว่าปิดท้าย หมายถึงเมื่อการคลอดเสร็จสิ้นไปแล้วสักวันหรือสองสามวัน แล้วแต่บุคคลน่ะครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 มิ.ย. 11, 14:16
ไปหาหลักฐานมาประกอบ  ได้จากพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานค่ะ

น้ำทูนหัว   น. นํ้าที่อยู่ในถุงนํ้าครํ่าซึ่งอยู่รอบลูกในท้อง ช่วยหล่อลื่นในการคลอด.
น้ำคร่ำ        น. ของเหลวในถุงเยื่อหุ้มลูกในมดลูกของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม      ทำหน้าที่ลดผลการกระทบกระแทก และช่วยหล่อลื่นในตอนคลอด  เป็นต้น เรียกถุงเยื่อหุ้มที่บรรจุน้ำคร่ำว่า ถุงน้ำคร่ำ.

ส่วนน้ำคาวปลาออกมาทีหลัง เมื่อคลอดแล้ว     
ไม่มีความรู้ทางแพทย์พอจะตอบได้ว่า 1 2 และ 3   เป็นอย่างเดียวกันหรือเปล่า    แต่ถ้าดูจากพจนานุกรม  1 และ 2 เป็นอย่างเดียวกันค่ะ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 13 มิ.ย. 11, 15:15
อาจารย์อ้างถึงพจนานุกรมผมเลยต้องอึ้งเลยครับ  ผมเป็นผู้ชายพูดเรื่องนี้ไม่สะดวกปาก  แต่ผมเคยพูดคุยกับหมอตำแยถึงขั้นตอนการทำคลอด (ไม่พูดถึงพิธีกรรม)
เริ่มตั้งแต่ปากมดลูกเปิด  ไปจนถึงล้วงปากเด็ก ใช้ไม้รวก (หรือไผ่) ตัดสายสะดือเด็ก  จนถึงอยู่ไฟ  ผมยืนยันกับอาจารย์ว่า  หมอตำแยเรียก "น้ำทูนหัว" แยกจาก
"น้ำคร่ำ" จริงๆ ครับ

อาจารย์อาจเห็นผมมีข้อขัดแย้งกับอาจารย์เสมอ  แต่ผมขอเรียนว่าผมติดตามกระทู้และข้อเขียนของอาจารย์มาตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกเรือนไทย  เพราะผมนับถือ
ความรู้อันกว้างขวางของอาจารย์และสำนวนการเขียนที่น่าอ่านนั่นเอง  แต่ไม่ได้หมายความว่าผมจะเห็นด้วยไปหมดเสียทุกเรื่องนะครับ  บางเรื่องผมก็เฉยๆ ไม่คัดค้าน
เพราะเห็นว่าถึงอย่างไรเรื่องนั้นๆ ก็มีประโยชน์อยู่ดี  ผมขอรบกวนใช้เนื้อที่ตรงนี้ยกตัวอย่างสักหน่อย

(ถ้าจะเอาของเก่ามาสอน ครูก็ต้องหาตัวอย่างมาให้ดูให้ได้ อย่างกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน   ล่าเตียงเป็นไง มัศกอดเป็นไง ต้องหาสูตรออกมาให้เห็นกันเลยว่าเขาทำ
กันอย่างไร   จะได้โยงไปสู่คำถามว่า มันมีส่วนคล้ายอาหารอะไรที่นักเรียนรู้จักบ้างไหม  อย่างน้อยมันก็ต้องมีส่วนผสมอะไร ที่เด็กรู้จักสักอย่างสองอย่างบ้างละ    เป็น
การจุดประกายต่อไปให้นักเรียนคิด และสนใจใคร่รู้)

นี่เป็นส่วนหนึ่งใน คคห. ของอาจารย์ในหัวข้อ "ความไม่ชอบวรรณคดีไทยของคนรุ่นใหม่" ครับ  และผมจะขอยกกลอนดอกสร้อยที่ถูกสอนให้ท่องจำไว้ตั้งแต่เด็กมาสัก
บทหนึ่ง  แต่เนื่องจากมันกว่าห้าสิบปีแล้ว จึงอาจคลาดเคลื่อนไปบ้าง  ถ้าผิดพลาดต้องขออภัยด้วย

     โอ้เอ๋ยโอ้ละเห่                       คิดถ่ายเทตื่นนอนแต่ก่อนไก่
ทำ "ขนมแชงม้า" หากำไร               เกิดขัดใจในครัวทั้งผัวเมีย
ผัวตืเมียเมียก็ด่าท้าขรม                  ลืมขนมทิ้งไว้ให้ไก่เขี่ย
ก้นหม้อเกรียมไหม้ไฟลวกเลีย           ขนมเสียเพราะวิวาทขาดทุนเอย  ฯ

จนบัดนี้ผมยังไม่รู้จัก "ขนมแชงม้า" เลยครับ  แต่ผมก็จำกลอนดอกสร้อยบทนี้ได้และคิดว่าคงจะจำได้ไปจนถึงวันสุดท้ายในชีวิตผม  ความหมายของผมก็คือ  อะไรคือ "แก่น"
หรือหัวใจของกลอนบทนี้ "ขนมแชงม้า" หรือ "ความปรองดองสามัคคี" 

เมื่ออาจารย์ใช้พจนานุกรมเป็นหลักฐานยืนยัน  ผมคงต้องยอมจำนนครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 มิ.ย. 11, 16:04
ดิฉันไม่ได้ถือว่าการแสดงความเห็นที่แตกต่าง หรือแม้แต่คำตอบที่แตกต่างกัน เป็นความขัดแย้งนะคะคุณ willyquiz  และไม่ได้ถือว่าเอาชนะคะคานกันด้วย
แต่ถือว่ายิ่งมีข้อมูลหลายๆอย่างมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นประโยชน์แก่คนอ่านมากเท่านั้น  เขาจะเลือกเชื่อข้อมูลไหนก็แล้วแต่เขา   ไม่มีการบังคับกัน  มีแต่การเสนอ เพื่อให้คิดเห็น  ใคร่ครวญ และสรุปเอาเอง

ถ้าเห็นแตกต่างก็เขียนอีกได้เลย ไม่ต้องเกรงใจ      ตราบใดที่เรายังจำกัดความแตกต่างไว้ที่ประเด็นของเรื่อง  ไม่เปลี่ยนจากเรื่องมาเป็นตัวบุคคล    ความแตกต่างนั้นก็ไม่นำไปสู่ความเป็นปรปักษ์หรอกค่ะ

เรื่องขนมแชงม้านั้นดิฉันไม่เข้าใจประเด็นค่ะ ว่าจะถามว่าอะไร    แต่จะเป็นอะไรก็ตาม    มันก็มองได้ทั้ง ๒ ทางละค่ะ ทั้งความรู้เรื่องขนมแชงม้า กับความสามัคคี   
ถ้านักเรียนเห็นทั้ง ๒ ทางได้ก็ดี คือรู้ว่าขนมแชงม้าคืออะไร  หรือคิดว่าคืออะไร  กับรู้ว่าทะเลาะกันเมื่อไรก็เกิดความเสียหาย
ดีกว่าเห็นทางเดียว หรือไม่เห็นเลยสักทาง







กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: kwang satanart ที่ 14 มิ.ย. 11, 23:13
อยากให้อยู่ในประเด็น  ....คำไทยที่หายไป....จังเลยค่ะ

    กระเถิบ  เลื่อนตัวไปจากจุดเดิมที่นั่งอยู่หรือยืนอยู่   แต่เท่าที่สังเกตมักใช้กรณีที่นั่งอยู่ 
    เขยิบ    ใช้กรณีเดียวกับกระเถิบ
    กระถด   มักใช้กรณีที่ผู้กระทำกริยานั่งอยู่กับพื้น  แล้วเคลื่อนตัวห่างออกไปจากบุคคลหนึ่งโดยมิได้ลุกขึ้น แต่ใช้มือยันพื้น  ยกสะโพกขึ้น ค่อยๆเคลื่อนที่ไป
    จาระไน  แจกแจงความต้องการ , สิ่งที่รู้มาให้บุคคลอื่นรับรู้
    แจงสี่เบี้ย   อธิบายโดยละเอียด
    ก้อร่อก้อติก   ผู้ชายที่ทำทีประหนึ่งว่าสนใจในตัวผู้หญิงในทางชู้สาว
    เหม็นเปรี้ยว   กลิ่นเหงื่อที่ฉุนๆจากร่างกาย
    เหม็นเขียว    กลิ่นเหม็นคล้ายเวลาเราเอามือไปขยี้ใบไม้บางชนิด
   
   


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มิ.ย. 11, 19:57
หน่วยก้าน  = ท่าทาง,ท่วงทีม  แวว   
เด็กคนนี้หน่วยก้านดีกว่าเพื่อนๆ

จ้าละหวั่น   =  ชุลมุน  วุ่นวาย

คนในบ้านหาของหายกันจ้าละหวั่น


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 17 มิ.ย. 11, 21:16
จาก คคห. ที่ 110 ของ อ. เพ็ญชมพู ที่กล่าวว่า "เด้ดสะมอเร่" เป็นคำที่คุณ เทิ่ง สติเฟื่อง บัญญัติ ขึ้น  ทำให้ผมรำลึกถึงอีกคำหนึ่งที่คุณ เทิ่ง ได้บัญญัติ
เอาไว้เช่นกันนั่นคือคำว่า "เริ่ดสะแมนแตน"
ต๊ายตาย หายไปไม่กี่ปี กลับมาคราวนี้  "เริ่ดสะแมนแตน"  เชียว
อย่างนี้ถ้าซอยกระเทียมเพิ่มไปนิด  บีบมะนาวใส่ลงไปหน่อยละก้อ  "เริ่ดสะแมนแตน"  แน่

นอนหุบแขนหุบขาหน่อยลูก  "แผ่กระจาด"  เต็มบ้านอย่างนี้ไม่น่าดูเลย
ลูกคนนี้ก็อีกคน  หลบๆ ให้พ้นทางหน่อย  นอนเป็น  "ไอ้เข้ขวางคลอง"  เชียว

อย่ามาทำ  "บ่อน้ำตาตื้น"  กะแม่นะ   พูดแค่นี้น้ำตาหก  "กะเรี่ยกะราด"

"สวาปาม"  ซะจน  "รากแตกรากแตน"  เรื่องตะกละละก้อไม่มีใครเท่า

ให้รู้ตัวมั่งว่าเริ่มเป็นสาวแล้ว  ไป  "ขลุกขลุ่ย"  อยู่ที่บ้านนั้นทั้งวัน  ระวังจะเป็น  "ขี้ปาก"  ชาวบ้านเขา

สงสารหมอนั่นจัง  โดน  "เจี๊ยะพรึ่บ"  ทีเดียว  "กองเป็นผ้าขี้ริ้ว"  ไปเลย

ลื้อแกงเป็น  "น้ำคาวปลา"  หยั่งงี้  อั๊ว  "เจี๊ยะบ่โล๊ะ"  หรอก

ลื๊ออย่ามา  "แผลงฤทธิ์"  กะอั๊วนะ  เดี๋ยวก้อ  "เจ็กอั่ก"  หรอก
(จริงๆ แล้ว  ผมก็ไม่รู้ว่า "เจ็กอั่ก" แปลว่าอะไร  แต่สมัยเป็นเด็กได้ยินบ่อยจนชินหู  ใครทราบความหมายกรุณาขยายความด้วยครับ)


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 มิ.ย. 11, 22:28

สงสารหมอนั่นจัง  โดน  "เจี๊ยะพรึ่บ"  ทีเดียว  "กองเป็นผ้าขี้ริ้ว"  ไปเลย

เจี๊ยะพรึ่บ แปลเหมือนคำว่า "กินโต๊ะ" หรือเปล่าคะ?


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 17 มิ.ย. 11, 22:58
ครับผมอาจารย์  หมายถึงถูกรุมกินโต๊ะครับ  อาจารย์แย่งคำ  "กินโต๊ะ"  ที่ผมเตรียมเอาไว้มาลงเสียแล้ว

ง่วงก็ไปนอนซะลูก  อย่ามานั่ง  "สับเงา"  อยู่เลย
ตัว  "หนักเป็นตัน"  อย่างนี้  ยายอุ้มไม่ไหวแล้วลูก

มัว  "เอ้อเร้อเอ้อเต่อ"  อยู่นั่นแหละ  เดี๋ยวก็สายกันพอดี

จะนั่ง  "แช่เบ้า"  อยู่ตรงนี้ทั้งวันหรือยังไง   "ย้ายก้น"  ไปทำอย่างอื่นเสียบ้างซี่
พูดแบบนี้ไม่  "หนักปาก"  ไปหน่อยหรือ

เรื่องแบบนี้ต้องรอให้ใครมา  "ง้างปาก"  ด้วยเหรอ    ทำเป็นคน  "ปากหนัก"  ไปได้

นี่พ่อหนุ่ม  อย่าขับให้มัน  "สะวี้ดสะว้าด"  นักเลย  ยายกลัว

ร้อง  "วี้ดว้ายกะตู้วู้"  ไปได้กะอีแค่แมงมุมตัวเดียว



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 21 มิ.ย. 11, 14:59
พี่น้องคู่นี้มันยังไงกันนะ  "กะหงองกะแหงง"  กันทั้งวัน

นี่แม่พูดภาษาคนอยู่นะบอกว่าไม่ให้ไป  ขืนมา  "ง่อดแง่ด"  อีก เดี๋ยวได้  "โดนดี"  แน่

เรื่องตั้งแต่  "ปีมะโว้"  แล้ว  จะขุดขึ้นมาพูดทำไม

ชั้นน่ะหิวจน  "ไส้จะเป็นน้ำเหลือง/ไส้กิ่ว/ ท้องกิ่ว"  อยู่แล้ว  เมื่อไหร่จะได้กินสักที (ปกติธรรมดา)
ชั้นน่ะหิวแทบ  "ลากไส้"  แล้ว  (ไม่สุภาพ)

ข้าวปลาน่ะกินเสียมั่ง  รู้ตัวมั้ยว่าผอมจน  "ท้องติดสันหลัง"  แล้ว

หุ่นหยั่งกะพวกติด  "ไอระเหย"  หยั่งงี้  อย่ามา  "แหยม"  ดีกว่า

ดูสิ  ก็เพราะเธอมัวแต่อืดอาดยืดยาด  "ไม่ทันก้าวขาก็ลาโรง"  ซะแล้ว  เขาไปกันหมดไม่เหลือสักคน

เอา  "น้ำมันหม่อง"  มาให้หน่อย  ยุงกัดจนลายพร้อยไปหมดแล้ว

ก็  "สะเหร่อ"  ไปแทรกกลางหยั่งงั้น  ไม่โดน  "แหกอก"  ก็  "บุญโข"  แล้ว

ดูแม่สะโพก  "สุดเสียงสังข์"  นั่นสิ  เดินส่ายอย่างกับ  "ดอกไม้ไหว"
(ไม่ทราบว่าคุณสุภาพสตรียุคก่อนจะทราบหรือไม่ว่า  หนุ่มยุคนั้นเขาเสียดสีกันอย่างนี้  หุ่นขวด Coca-cola เขาเรียกว่า สะโพกสุดเสียงสังข์
เดินส่ายสะโพก  เขาเรียกว่า สะโพกดอกไม้ไหว)



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 21 มิ.ย. 11, 15:02
สมัยพระเจ้าเหา


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 21 มิ.ย. 11, 15:06
ยังไม่สมบูรณ์ครับ คุณ D.D. ต้องบอกว่า  "สมัยพระเจ้าเหายังนุ่งกางเกงหูรูด"    จึงจะสมบูรณ์


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 21 มิ.ย. 11, 15:55
"สมัยพระเจ้าเหายังนุ่งกางเกงหูรูด" ไม่เคยได้ยินค่ะ คงจะเป็นสำนวนที่เก่ามากนะคะ
เคยได้ยินแค่ สมัยพระเจ้าเหา ค่ะ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 21 มิ.ย. 11, 16:14
คำนี้ก็กำลังหายไปกับกาลเวลาค่ะ "โทรเลข"


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มิ.ย. 11, 16:16
ได้ยินแบบเดียวกับคุณ DD ค่ะ     พระเจ้าเหาของดิฉันไม่มีเครื่องทรงประกอบ  มีแต่"สมัย" เฉยๆ
มีอีกคำหนึ่ง คือ "สมัยดึกดำบรรพ์"

เกเรเกตุง    =  เฮ้ว
ไม่เอาถ่าน  = ไม่เอาไหน

สำนวนเปรียบเทียบ เกี่ยวกับของใช้   เป็นคำที่หายไปเพราะของใช้พวกนี้เราไม่ใช้กันอีกแล้ว
- แม่กระเชอก้นรั่ว
- หน้างอเป็นจวัก
- ก้นหม้อยังไม่ทันดำ (เลิกกันแล้ว)
- ซี่โครงเหน็บฝา    ใครเคยได้ยินบ้าง  ผัวเมียทะเลาะกันก็มักจะยกคำนี้มาขู่
- ใส่ตะกร้าล้างน้ำ




กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 21 มิ.ย. 11, 16:23
ผมคิดว่าไม่น่าจะใช่นะครับ  เดิมคงจะมีแต่ "สมัยพระเจ้าเหา" เฉยๆ   แต่คนไทยมักจะเจ้าบทเจ้ากลอน  เพื่อให้สะใจและแสดงถึงความเก่ากว่านั้น
จึงเติม "ยังนุ่งกางเกงหูรูด" ลงไปด้วบ  พอนานเข้าก็เลยเป็น  ตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหายังนุ่งกางเกงหูรูด ไป  คุณ D.D. เคยได้ยินเด็กๆ  พูดต่อว่าคนที่
แส่เข้ามายุ่งในเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของเขาในประโยคนี้ไหมครับ "อย่าสะแหล๋น เดี๋ยวสลบ ฟ้องสฤษฎิ์ ปรับสลึง"  ถ้าเกิดไม่ทันยุคของจอมพลสฤษฎิ์ ก็
อาจจะไม่เคยได้ยิน  แต่ผมมุ่งหมายถึงความเป็นเจ้าบทเจ้ากลอนของคนไทยมาตั้งแต่เด็กๆ
ในยุคนั้นแม้แต่การล้อเลียนก็ยังเป็นคำคล้องจองไปหมด  ผมจะลองยกตัวอย่างการล้อเลียนเด็กที่นับถือศาสนาคริสต์ให้ดู
     "พระเยซู ผู้เป็นเจ้า กินน้ำข้าวกับหัวปลาทู  
     กินแล้วขึ้นสวรรค์ แคะขี้ฟันให้พระอินทร์ดู
     พระอินทร์บอกว่าเหม็น เตะกระเด็นไปลงรูปู
     ปูบอกว่าเปรี้ยว กินน้ำเ_ _วกับหัวปลาทู"
แล้วก็ล้อวนไปวนมาอยู่อย่างนั้น
โปรดทราบ :- ผมมิได้ตั้งใจจะดูหมิ่นคริสตศาสนิกชนนะครับ  เป็นเพียงยกตัวอย่างความคะนองและเจ้าบทเจ้ากลอนของเด็กสมัยนั้นเท่านั้น



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มิ.ย. 11, 16:31
กางเกงหูรูด คือกางเกงขาสั้นที่ตรงเอวร้อยเชือก ดึงให้รวบเข้าไปหรือคลายออกก็ได้ ใช่ไหมคะ
งั้นสำนวนนี้คงเกิดในสมัยเด็กไทยนุ่งกางเกงหูรูด   ซึ่งใหม่กว่านุ่งโจงกระเบนมาก


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 21 มิ.ย. 11, 16:40
- แม่กระเชอก้นรั่ว

สำนวนนี้น่าจะมาจาก  แม่ผู้หญิง  แม่ผู้ยัง  "แม่กระชังก้นรั่ว"  แม่ก้นตะกั่ว  แม่ขนครัวลงล่าง  แม่ย่างม้าเหาะ  แม่เลาะขอบรั้ว

แต่กระชังนั้นเขาเอาไว้ใส่ปลามิใช่หรือ???  ส่วนกระเชอนั้นเขาเอาไว้ตวงข้าวใช่หรือเปล่านะ?


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 มิ.ย. 11, 16:50
- แม่กระเชอก้นรั่ว

สำนวนนี้น่าจะมาจาก  แม่ผู้หญิง  แม่ผู้ยัง  "แม่กระชังก้นรั่ว"  แม่ก้นตะกั่ว  แม่ขนครัวลงล่าง  แม่ย่างม้าเหาะ  แม่เลาะขอบรั้ว

แต่กระชังนั้นเขาเอาไว้ใส่ปลามิใช่หรือ???  ส่วนกระเชอนั้นเขาเอาไว้ตวงข้าวใช่หรือเปล่านะ?


ผมเคยเห็นเขาสะกดแบบนี้ครับ "กระเฌอ" แล้วคุณ willyquiz รู้จัก "ติ้ว" ตวงข้าวไหม  ???


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มิ.ย. 11, 16:57
อ้างถึง
ผมเคยเห็นเขาสะกดแบบนี้ครับ "กระเฌอ"

ดิฉันก็เคยเรียนมาว่า  ฌ กระเฌอ   แต่ว่ารอยอินท่านฌาปนกิจ  ฌ ไปตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่ทันเฉลียวใจ
เข้าไปในเว็บของราชบัณฑิตฯ พิมพ์คำว่า กระเฌอ ก็ไม่มี   เปลี่ยนเป็น กะเฌอ  ก็ไม่มีอีก  ตัดลงไปอีกเหลือ เฌอ  ก็ปรากฏว่าเว็บขัดข้องกะทันหันกับคำนี้  มีตัวหนังสือขึ้นมาว่า
Microsoft JScript runtime error '800a138f'
'word20[...]' is null or not an object
/new-search/word-search-all-x.asp, line 961

มีแต่คำว่า
กระเชอ   น. ภาชนะสานคล้ายกระจาดขนาดเล็ก แต่สูงกว่า ก้นสอบ    ปากกว้าง ใช้กระเดียด; อัตราตวงของโบราณ มีพิกัดเท่ากับ   ๕ ทะนาน, และ ๕ กระเชอ เป็น ๑ สัด, กันเชอ ก็เรียก.

ไปค้นในกูเกิ้ล เจอในกระทู้เก่าของเรือนไทย  คุณ Hotacunus  บอกว่ามีในพจนานุกรม แต่เป็นคำว่า เฌอ เฉยๆ

ค้น : เฌอ
คำ : เฌอ
เสียง : เชอ
คำตั้ง : เฌอ
ชนิด : น.
ที่ใช้ :
ที่มา : (ข. เฌี ว่า ไม้, เฎิมเฌี ว่า ต้นไม้)
นิยาม : ไม้, ต้นไม้.

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=515.0


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 21 มิ.ย. 11, 17:08
อ. เทาชมพู นี่สงสัยจะอยู่แต่ในรั้วในวัง   อย่างนี้หวานเลย  หลอกตีกินได้อีกหลายยก (กระโดดหนังยางยังไม่เป็น ฮิ ฮิ)

เฌอ แปลว่าต้นไม้ ส่วนคำว่ากะเฌอ หรือ กระเฌอ คงไม่มีหรอกครับ

ผมเคยเห็นเขาสะกดแบบนี้ครับ "กระเฌอ" แล้วคุณ willyquiz รู้จัก "ติ้ว" ตวงข้าวไหม  ???


อันนี้ไม่รู้จักครับ  แต่ถ้าเป็นติ้วที่เขาใช้นับจำนวนกระสอบที่กรรมกรแบกตามท่าเรือ  อันนี้รู้จัก

และมีติ้วที่คนจีนใช้แจกในงานศาลเจ้า หรืองานล้างป่าช้า (เหมือนโปรยทาน) นี่ก็รู้จักครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 21 มิ.ย. 11, 17:29
รู้จักแต่ "กระบอกติ้ว" ที่อยู่ตามวัด  ;D
เวลาคนเสี่ยงใบเซียมซี จะเขย่ากระบอกให้ติ้วที่มีเลขตกลงมา
แล้วไปหยิบใบเซียมซีตามหมายเลขนั้นมาอ่านค่ะ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: kwang satanart ที่ 22 มิ.ย. 11, 00:53
เด็กคนนี้ ขี้เกียจจนเหลือกำลังลาก  ให้ทำอะไรก็ไม่ทำ
มีดบาดเพียงแค่นี้  มาทำเป็นร้อง พิโอดพิโอย อยู่ได้
เด็กสมัยนี้ อ่านหนังสือไม่แตก    อ่านผิดอ่านถูก คำยากๆก็อ่านกันไม่ค่อยจะได้
ทำไมช่าง กระด้างกระดางลาง อย่างนี้ ใครตักเตือนทำเป็น เถียงคำไม่ตกฟาก
คนอะไรช่าง ท้องยุ้งพุงกระสอบ  กินเท่าไหร่ไม่รู้จักอิ่ม
ดื้อเป็นวัวเขาเกก 



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 22 มิ.ย. 11, 02:58
- แม่กระเชอก้นรั่ว

สำนวนนี้น่าจะมาจาก  แม่ผู้หญิง  แม่ผู้ยัง  "แม่กระชังก้นรั่ว"  แม่ก้นตะกั่ว  แม่ขนครัวลงล่าง  แม่ย่างม้าเหาะ  แม่เลาะขอบรั้ว

แต่กระชังนั้นเขาเอาไว้ใส่ปลามิใช่หรือ???  ส่วนกระเชอนั้นเขาเอาไว้ตวงข้าวใช่หรือเปล่านะ?


ผมเคยเห็นเขาสะกดแบบนี้ครับ "กระเฌอ" แล้วคุณ willyquiz รู้จัก "ติ้ว" ตวงข้าวไหม  ???

ลุงไก่หายหัวเข้าวัดไปนานแสนนาน แต่ก็ยังรู้จัก "ติ้ว"
ผมว่าในภาพที่ลุงกำลัง "สาน" อยู่นั้น เพื่อใช้ตวงข้าวน่าจะเรียกว่า "กระชุ" นะครับ
สำหรับ "ติ้ว" นั้น จะเป็นไม้คล้ายๆ ตะเกียบ แต่ปลายด้านหนึ่งจะแบน ลักษณะคล้ายไม้แคะขนมถ้วย แต่ใหญ่กว่า ปัจจุบันนี้ก็ยังมีการใช้อยู่ตามท่าเรือ สำหรับใช้ในการนับจำนวนกระสอบสินค้าจากโกดังบนฝั่งลงในระวางเรือ หรือนับจำนวนกระสอบจากระวางเรือขึ้นสู่ฝั่ง สังเกตไม้เล็กๆ ในภาพ ที่คนงานถืออยู่ นั่นแหละครับคือ "ติ้ว"
และเป็นประโยชน์สำหรับกรรมกร เพื่อการนับจำนวนเที่ยวที่แบกกระสอบ สำหรับไปเบิกค่าแรงจากนายจ้างหรือ "เถ้าแก่"
คุณ  :D :D  เอาติ้วนี้มาเขย่าไม่ได้นะครับ เพราะว่ามันไม่มีกระบอกใส่


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 22 มิ.ย. 11, 05:35
เมื่อกล่าวถึง "ติ้ว" (ต-เต่า ) ก็ทำให้นึกถึงคำ "ดิ้ว" (ด-เด็ก) ซึ่งก็เป็นไม้อย่างหนึ่งเช่นกัน แต่ใหญ่กว่า "ติ้ว" (ต-เต่า) มากนัก
เท่าที่จำได้ "ดิ้ว" เป็นอาวุธประจำมือของนักเลงในยุคหนึ่ง เข้าใจ่ว่าจะเป็นในยุคของ "โก๋หลังวัง" 
เริ่มจากยุคโบราณ ที่นักเลงจะต้องถือ "ไม้ตะพด" สำหรับนักเลงรุ่นใหญ่สำหรับประกาศศักดา ตามต่อมาด้วย "ไม้คมแฝก" สำหรับนักเลงรุ่นกลาง และ "ไม้หน้าสาม" สำหรับนักเลงในยุคหลังๆ และ "ไม้ที" สำหรับนักเรียนนักเลงระดับอาชีวะศึกษา
ผมนึกภาพของ "ดิ้ว" ได้ แต่อธิบายไม่ถูก คงต้องรอท่านผู้ชำนาญการมาช่วยอธิบาย
และสำหรับนักเลงประเภทไม่ค่อยจะมีศักดิ์ศรีของความเป็นนักเลงเท่าใดนัก ก็มักจะใช้ "เหล็กขูดชาร์ฟ" เป็นอาวุธไว้ห้ำหั่นกัน เท่าที่ทราบ คำว่า "ชาร์ฟ" ในภาษาไทย ก็ทับศัพท์มาจากภาษาอังกฤษคำว่า "Shaft"

ขอแก้ไขเรื่องลักษณะของ "ติ้ว" ที่ผมอธิบายในความเห็นก่อน ว่าคล้ายกับไม้ตักขนมถ้วย - ว่ากันตามจริงแล้ว มันเหมือนกับไม้ตะเกียบมากกว่า แต่จะสั้นกว่าไม้ตะเกียบเล็กน้อย

ตอนที่ผมไปฝึกงานที่โกดังสินค้าเกษตรริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งหนึ่งแถวพระประแดง ก็ดูพวกคนงานแบกกระสอบจากโกดังลงเรือ สมัยนั้นไม่ได้ใช้ชื่อเรียกว่า "คนงาน" หรือ "กรรมกร" แต่เรียกว่า "กุลี"
ทางต้นทางหน้าโกดัง เมื่อกุลีแบกกระสอบผ่านโต๊ะเสมียน เสมียนจะส่งไม้ดิ้วให้กุลีไปหนึ่งอัน เมื่อไปถึงปลายทางที่ระวางเรือ กุลีจะคืนไม้ดิ้วให้กับเสมียนในเรือที่ยืนดักอยู่ที่ปากระวาง

เรือขนสินค้าเกษตรจะเป็นเรือโป๊ะเหล็กแบบเดียวกับเรือขนน้ำตาลที่ล่มในแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยุธยานั่นแหละ มีขนาดระวางอย่างเล็กก็ห้าร้อยตัน จนถึงขนาดใหญ่สุดที่หนึ่งพันห้าร้อยตัน ปัจจุบันคงจะมีขนาดสูงสุดถึงสองพันตัน


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 มิ.ย. 11, 07:26
นำภาพติ้ว ไว้สำหรับจ่ายให้กับกุลี เพื่อนับจำนวนรอบ ให้ชมครับ ผมยังมีหลงเหลือติ้วอยู่กำหนึ่ง ซึ่งลุงไก่เปรียบไว้น่ารักว่า เหมือนกับไม้แคะขนมถ้วย
ที่จริงเขาจะเหลาให้ออกแบน ๆ ไม่กลม ที่ปลายจะจักเหลี่ยมไว้ครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 มิ.ย. 11, 07:31
เดี๋ยวนี้มาตราตวงข้าวไม่ค่อยมีใครรู้จักกันแล้ว

๑ กระโหลก ๑ ทะนาน ๑ สัด

จำนวน ๑ สัด บรรจุเต็มถังไม้ขนาดนี้ปาดให้เรียบ ตรงกับกี่ลิตรก็ไม่ทราบ แต่ทางราชการได้กำหนดพิกัดขนาดไว้

โดยถังไม้มีหลายขนาด เคยเห็นแผ่นทองเหลือตีตราปิดไว้ข้างถังสัดตวงข้าว ระบุว่าตวงข้าวได้จำนวนคิดเป็นปริมาตรกี่ลิตร ระบุไว้

ทางบ้านผมเรียกว่า "ถังสัดข้าว"


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 22 มิ.ย. 11, 08:50
เดินไปเดินมาเพื่อทวนความจำเรื่องการนับจำนวนด้วยไม้ติ้ว ก็รื้อฟื้นขึ้นมาได้นิดหน่อยว่า การจ่ายค่าจ้างแบกกระสอบของกุลีนั้นไม่ได้คิดเป็นค่าจ้างรายวัน แต่จะจ่ายค่าจ้างตามจำนวนกระสอบที่กุลีแต่ละคนจะแบกได้ คือ กุลีแต่ละคนจะได้รับบัตรหมายเลขประจำตัวของตัวเองที่เสมียนแจกให้ก่อนริ่มงาน เมื่อกุลีรับไม้ติ้วจากเสมียนจะต้องบอกหมายเลขประจำตัวของตนให้เสมียนบันทึกไว้ เมื่องานเสร็จแล้ว เสมียนจะจ่ายค่าจ้างตามจำนวนเที่ยวที่กุลีแบกนั้นโดยเรียกจ่ายตามหมายเลขของกุลีคนนั้น คนไหนขยันมากไม่ค่อยพักก็จะแบกได้มากเที่ยว ก็จะได้ค่าแรงมาก คนไหนพักบ่อยๆ ก็จะแบกได้น้อยเที่ยว ค่าแรงก็จะได้น้อยกว่าคนอื่น

ในช่วงเช้ากุลีก็จะรีบมาเข้าแถวกันเพื่อให้ได้อยู่หัวแถว ซึ่งหมายความว่าอาจจะได้จำนวนเที่ยวมากกว่าคนอื่น เรื่องของชื่อเสียงเรียงนามนั้นไม่สำคัญกว่าหมายเลขประจำตัวที่ได้รับจากเสมียน เมื่อถึงเวลาจ่ายค่าแรง กุลีก็จะนำบัตรหมายเลขที่เสมียนจ่ายให้มาแสดงเพื่อรับค่าแรง ที่นี่ไมมีใครพูดถึงค่าแรงขั้นต่ำและค่าล่วงเวลาที่จะได้รับตามกฎหมายแรงงาน วันไหนไม่มีของให้แบกก็หมายความว่าวันนั้นไม่มีรายได้


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 มิ.ย. 11, 09:10
ลุงไก่รู้จักคำว่า "ล่มน้ำ" ไหมครับ คำนี้คงสูญพันธุ์ไปแล้ว


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: bangplama ที่ 22 มิ.ย. 11, 09:37
ล่มน้ำก็ต้องที่นี่
แม่น้ำเพชรบุรี
ล่มปากอ่าวก็
เป็นได้ทุกที่
(ที่มีปากแม่น้ำ) :D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 มิ.ย. 11, 10:36
การ "ล่มน้ำ" หมายถึง การนำเรือไปตักน้ำใส่เรือมา การนำน้ำใส่เรือจะไม่ใช้วิธีการตักน้ำใส่กระแป๋ง แต่ใช้วิธีโล้เรือไปซ้ายที ขวาทีให้เรือเอียงปริ่มน้ำ เพื่อวักจ้วงน้ำให้เข้ามาภายในเรือจนกว่าจะได้น้ำในปริมาณที่ต้องการ ทั่วไปจะล่มน้ำจืด เพื่อนำไปใช้สอย

การล่มน้ำจะให้เรือข้าวขนาดใหญ่ เมื่อถึงบริเวณน้ำจืดที่ต้องการแล้วก็โล้บริเวณกราบเรือ เรือจะโยนตัวและพยายามให้กราบเรือจมน้ำนิดหน่อยแล้วรีบโล้กลับ ก็จะได้น้ำเข้าเรือมาพอสมควร เป็นเทคนิคที่ต้องรีบทำไม่เช่นนั้นเรืออาจล่มได้


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 มิ.ย. 11, 11:24
คำว่า "จืด" หมายถึงไม่มีรสชาติ แต่โบราณนำมาผสมเป็นคำดังนี้ "เรื่องนี้จืดเต็มที"

คงหมายถึง เรื่องเหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีเบาะแสหรือเรื่องราวอะไรให้ต่อยอดได้ เพียงแค่รับทราบเรื่องราว จะสืบค้นหาต่อก็ไม่ได้ เรื่องนี้จึงจืดเต็มที


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 22 มิ.ย. 11, 11:33
ได้อ่านหนังสือชื่อ Only paranoid survive ทำให้นึกถึงประโยคที่ครูเคยพูดไว้เมื่อหลายสิบปีก่อนว่า "ใฝ่ร้อนจะนอนเย็น ใฝ่เย็นจะดิ้นตาย"


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 22 มิ.ย. 11, 11:47
ลุงไก่รู้จักคำว่า "ล่มน้ำ" ไหมครับ คำนี้คงสูญพันธุ์ไปแล้ว

แหะ แหะ ... ผมรู้จักแต่ "ล่มปากอ่าว" เหมือนกับคุณพี่บางปลาม้าหละครับ

กับ "อืดเป็นเรือเกลือ" นี้เข้าใจในความหมาย แต่ไม่ทราบที่มาของคำนี้ครับ

ทำให้นึกถึงเรื่องศพลอยน้ำได้ว่า สมัยก่อนเวลาที่มีศพคนตายลอยขึ้นอืดมาตามแม่น้ำ สภาพศพขึ้นพองเต็มที่ แบบที่ว่า "ดูไม่จืด" เขาก็สันนิษฐานเพศของคนตายด้วยวิธีสังเกตง่ายๆ ว่า "ถ้าศพลอยคว่ำหน้าก็เป็นศพผู้ชาย ถ้าศพลอยหงายก็เป็นศพผู้หญิง" และมักจะถูกต้องซะด้วย ถามว่าทำไม?



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 มิ.ย. 11, 13:38
"ถ้าศพลอยคว่ำหน้าก็เป็นศพผู้ชาย ถ้าศพลอยหงายก็เป็นศพผู้หญิง" และมักจะถูกต้องซะด้วย ถามว่าทำไม?

จริงดังว่านี้หรือครับลุงไก่ ผมว่าไม่เกี่ยวกันนะ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 22 มิ.ย. 11, 15:15
การล่มน้ำจะให้เรือข้าวขนาดใหญ่ เมื่อถึงบริเวณน้ำจืดที่ต้องการแล้วก็โล้บริเวณกราบเรือ เรือจะโยนตัวและพยายามให้กราบเรือจมน้ำนิดหน่อยแล้วรีบโล้กลับ ก็จะได้น้ำเข้าเรือมาพอสมควร
เป็นเทคนิคที่ต้องรีบทำไม่เช่นนั้นเรืออาจล่มได้

น้ำท่วมท้องนาจนจมมิดนี่เรียกว่า  นาล่มน้ำ ด้วยหรือไม่ครับคุณ Siamese
จำได้ว่าเคยอ่านหนังสือผ่านตาในทำนองว่า  เทพยดาองค์นี้มีฤทธีเพียง "ล่มน้ำล่มฟ้า" ซึ่งผมคิดว่าอยู่ในความหมายเดียวกับ "พลิกฟ้า คว่ำแผ่นดิน"
จะถูกต้องไหมครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 22 มิ.ย. 11, 15:21
แถวบ้านผม ถ้าปีไหนน้ำมากจนท่วมนาข้าวปีนั้นจะเรียกว่าปี น้ำล่ม


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 22 มิ.ย. 11, 16:24
ทำตัวเป็น  "ฆ้องปากแตก"  "แจกหมาก"  ซักทีดีมั้ยเนี่ย

เรื่องนี้ดัง  "ซู่ซ่า"  อยู่พักเดียว  แล้วก็  "เงียบจ้อย/หายจ้อย"  ไปเลย

แต่งตัวเสียเกินหน้า  ทำท่ายังกับ  "แม่ยั่วเมือง"

รู้เรื่องของชั้นได้ยังงายยย   เธอเป็น  "พยาธิในท้อง"  ชั้นเหรอออออ

นี่มันงานของนายนะ  เลิก  "โยนกลอง"  เสียทีเหอะ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 มิ.ย. 11, 16:31
เห็นคุณ willyquiz กล่าวเรื่องเครื่องดนตรีไทย เลยนึกได้คำหนึ่งดังนี้

เคยไหมที่เราจัดบ้าน หรือ ทำงานอะไรสักอย่าง แล้วเกิดอาการพัวพันต่อเนื่อง จากจุดหนึ่งต่อไปเรื่อยๆ จนขยายออกไปไม่จบสิ้น เช่น อยากจะจัดเก้าอี้ตรงมุมห้องสักหน่อย กลายเป็น จัดโต๊ะไปด้วย ลามไปถึงจัดห้องรับแขกใหม่ทั้งหมด แบบนี้เราเรียกว่า "ยุ่งเหมือนดีลูกฆ้องวงระนาด"  คือ ตีลูหนึ่ง ก็ต้องตีต่ออีกลูก ๆ ต่อกันไป


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 22 มิ.ย. 11, 17:11
เห็นคุณ willyquiz กล่าวเรื่องเครื่องดนตรีไทย เลยนึกได้คำหนึ่งดังนี้

เคยไหมที่เราจัดบ้าน หรือ ทำงานอะไรสักอย่าง แล้วเกิดอาการพัวพันต่อเนื่อง จากจุดหนึ่งต่อไปเรื่อยๆ จนขยายออกไปไม่จบสิ้น เช่น อยากจะจัดเก้าอี้ตรงมุมห้องสักหน่อย กลายเป็น จัดโต๊ะไปด้วย ลามไปถึงจัดห้องรับแขกใหม่ทั้งหมด แบบนี้เราเรียกว่า "ยุ่งเหมือนดีลูกฆ้องวงระนาด"  คือ ตีลูหนึ่ง ก็ต้องตีต่ออีกลูก ๆ ต่อกันไป

จริงๆ นะ คุณ Siamese นี่  ผมขำกลิ้งกับ ๑๐๐ คำถาม ยังไม่พอ  ต้องมาท้องคัดท้องแข็งกับ ตะล๊อกต๊อกแต๊ก อีกที  แล้วนี่ยังมาเรื่อง
เครื่องดนตรีไทยอีก     ไม่เคยได้ยินครับ  เคยได้ยินแต่  "ยุ่งเหมือนมุ้งพัน"  กับ  "ยุ่งเหมือนยุงตีกัน"  โธ่ นึกภาพไม่ออกเลยว่า
ตีลูกฆ้องวงระนาดนี่มันยุ่งอย่างไร


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 22 มิ.ย. 11, 17:48
ได้อ่านหนังสือชื่อ Only paranoid survive ทำให้นึกถึงประโยคที่ครูเคยพูดไว้เมื่อหลายสิบปีก่อนว่า "ใฝ่ร้อนจะนอนเย็น ใฝ่เย็นจะดิ้นตาย"

(ไม่รู้อ่านผ่านตาไปได้อย่างไร)  ตามที่คุณ pathuma นำสำนวนเก่ามาบอกเล่า  น่าจะมีความหมายในทำนองนี้ครับ

    เด็กเอ๋ยเด็กน้อย                        ความรู้เรายังด้อยเร่งศึกษา
เมื่อเติบใหญ่เราจะได้มีวิชา                 เป็นเครื่องหาเลี้ยงชีพสำหรับตน
ได้ประโยชน์หลายสถานเพราะการเรียน    จงพากเพียรไปเถิดจะเกิดผล
ถึงลำบากตรากตรำก็จำทน                 เกิดเป็นคนควรหมั่นขยันเอย....

หรือคุณ pathuma ว่ายังไงครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: rainbowrozen ที่ 22 มิ.ย. 11, 18:11
มีหลายอย่างที่หลายคนว่าหาย

แต่จริง ๆ ก็ไม่ไ่ด้หายไปนะ

เพราะหลายคำ เราเอง ที่เพิ่งอายุ 17 ก็ยังใช้อยู่

เพื่้อนก็ยังใช้อยู่้



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 22 มิ.ย. 11, 19:12
แล้วคำว่าโรค ฝีในท้อง ยุคนี้ยังมีใครใช้อยู่ไหมคะ  ;D

เจอคำว่าฆ้องวงของ ท่านSiamese ทำให้นึกถึงตอนเขียนรายงาน
เพื่อนชอบค่อนว่า"กางตำราวางกองเป็นฆ้องวง" เชียวนะ...


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มิ.ย. 11, 19:18
โรคท้องร่วง  ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น โรคอุจจาระร่วง หรือยังคะ
ชื่อโรคโบราณในกระทู้เก่านี้ ล้วนเป็นคำที่หายไป
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3127.15


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 22 มิ.ย. 11, 19:52
แล้วคำว่าโรค ฝีในท้อง ยุคนี้ยังมีใครใช้อยู่ไหมคะ  ;D

ผมขอยกมือครับ  ผมยังใช้อยู่  แต่ใช้ในทำนองล้อเลียนครับ  ไม่ได้หมายถึงวัณโรคจริงๆ  ผมมี pen friend  (แต่น่าจะเรียกว่า E-mail friend น่าจะดีกว่า)
ที่ผมเพิ่งจะใช้คำนี้ด้วยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี่เอง

มีความสุขจากการอ่าน Mail ของคุณจริงๆ  ทำให้มีเรื่องเขียนอีกเยอะเลย  ดูๆ แล้วคุณนี่เหมือนฝีในท้องผมซะแล้ว  ผมขอเพลงนึง คุณก็นึกถึงอีกเพลงนึงได้ทันที โดยผมไม่ต้องขอ 
ผมนึกแทบเป็นแทบตายว่าอีกเพลงมันคือเพลงอะไรนะ  แต่นึกจนหัวแทบแตกก็นึกไม่ออก  พอปล่อยวาง คุณก็ส่งไปให้  ขอบคุณอย่างหลายๆ เพลงพวกนี้ทำให้ผมนึกย้อนอดีตได้ทุกครั้ง 
ไม่รู้คุณจะรู้จักคณะ The Cats ของเรามั้ย  มันร่วมสมัยกัน  มันมาก่อนที่ผมจะรู้ภาษาอังกฤษจนพอที่จะฟังได้รู้เรื่องนานนม  แต่ถึงแม้ไม่รู้เรื่องผมก็ชอบฟังอยู่ดีไม่แพ้ สุนทราภรณ์ 
นริศ อารีย์  ชรินทร์ ฯลฯ เลย จนพวกพี่ๆ ผมหมั่นไส้ผมไปตามๆ กัน

โพสท์มาให้ดูเพื่อยืนยัน


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 มิ.ย. 11, 19:55
ฝีในท้อง

ฝีในปอด

ตานขโมย

ฝีในตับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 มิ.ย. 11, 20:02
ยกข้อความที่โยกไปนำมาวางให้

โดยคุณ Willy Quiz

ขอโทษครับ  ผมมี  "เงินปลีก"  ไม่พอ

ไอ้ลูกคนนี้  "อยู่ไม่ติดบ้าน"  ซักวัน  "หัวหายสะพายขาด"  อยู่ที่ไหนไม่เคยมีใครรู้

"ช้าไปแล้วต๋อย"  ก็มัวแต่  "ป้อไปป้อมา"  อย่างนี้  สุนัขคาบไปรับประทานเรียบร้อยแล้ว

ไม่รู้จะรีบไป  "ตามควาย"  ที่ไหน  รอด้วยซี่

เดิน  "จ้ำพรวด"  หยั่งกะ  "ควายหาย"  ใครจะไปตามทัน

เราไป  "สี"  คนอื่นดีกว่า  คนนี้ถูก  "ตีทะเบียน"  เอาไว้แล้ว

ทำหยั่งกะ  "ตัวเปล่าเล่าเปลือย"  เห็นหนุ่มหล่อเข้าหน่อย  "ระริกระรี้"  เป็น  "กระดี่ได้น้ำ"  เชียว

ดูซิ พูดแค่นี้ทำเป็น  "เดินสะบัดก้น"  หนี  เดี๋ยวแม่  "เขวี้ยง"  "หัวร้างข้างแตก"

แย่จังเธอ  เรา  "พูดผิดหู"  แม่หน่อยเดียว  โดนด่าเสีย  "อ่วมอรทัย"  ไปเลย
อี๊! เรื่อง  "จิ๊บจ๊อย"  น่า   แค่นี้ไม่  "กระเทือนซาง"  เธอหรอก
 
 
 ไปถูกใครเขา  "รุมสกรัม"  มาล่ะ  ปากคอเจ่อไปหมด

ปล่อยให้  "เจ๊กลากไปไทยลากมา"  อย่างนี้  เดี๋ยวก็  "วินาศสันตะโร"  กันพอดี

พักนี้  "ลมไม่ดี"  บ่อยจังนะ  ทำหยั่งกับสาววัยทองไปได้

มันก็  "เป็นลมๆ"  ไป  อารมณ์ดีก็ทำ อารมณ์ไม่ดีก็ไม่ทำ

โอ้ย เหนื่อย  "หัวกระไดไม่แห้ง"  เลย

เชอะ คิดจะมาขอลูกสาวฉันน่ะเหรอ  รอให้  "น้ำท่วมหลังเป็ด"  เสียก่อนเถอะ
"ขี้ตู่กลางนา ขี้ตาตุ๊กแก ขี้มูกยายแก่ อรแร้อรชร"
"ไอ้เข้ไอ้โขง มาโรงไม้สัก ไอ้เข้ฟันหัก กัดคนไม่เข้า"


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 มิ.ย. 11, 20:05
อ. เทาชมพู

ราศี  = ออร่า

คุณ siamese ก็ช่างสรรหาคำมาจริงๆ
พยายามเดา
อุทัจ น่าจะมาจาก อุทธัจจะ หมายถึงความฟุ้งซ่าน อึดอัดกลัดกลุ้ม กังวล ทำให้เกิดความเครียด
มะลึกตึก คำนี้มาจากเรื่องพระมะเหลเถไถ ของคุณสุวรรณ ที่ว่าเป็นกวีหญิงไม่เต็มเต็งนัก (คำว่าไม่เต็มเต็ง เป็นคำที่หายไปเหมือนกัน)
ในเรื่องนี้คุณสุวรรณบรรยายว่า

วันหนึ่งพระจึงมะหลึกตึก             มะเหลไถไพรพรึกมะรึกเข   
แล้วจะไปเที่ยวชมมะลมเต.          มะโลโตโปเปมะลูตู

คุณสุวรรณดำเนินเรื่องตาม"ขนบ" ของวรรณคดีบทละครสมัยนั้น  คือเริ่มด้วยตัวเอกเป็นเจ้าชายหรือเจ้าหญิงอยู่ในวังดีๆ ก็เกิดเบื่อ อยากจะไปเที่ยวป่า    เหมือนเราไปเที่ยวรีสอร์ตกันในสมัยนั้น
ไพรพรึกมะรึกเข    เป็นการเขียนตามแบบคุณสุวรรณ  ไพรพรึก=ไพรพฤกษ์     มะรึกเข = แผลงศัพท์จาก มฤค  (กวาง)  ในเมื่อกวีอื่นแผลงเป็นมฤคา  มฤคี ได้   คุณสุวรรณก็แผลงเป็นมะรึกเข  (มฤเข) ได้  ใครจะทำไม
กลับมาที่มะหลึกตึก อาจจะแผลงจากตรึก   = ตรอง  คือนึกตรึกตรอง

อ้างถึง
..ให้นึกมะลึกตึกไปว่า ประวัตินั้นแต่งยาก ถ้าไม่จืดช่ำมะร่าท่า ผู้ตายก็เป็นเทวดา..."

"...ประการที่ 1 ข้าพเจ้าไม่เคยแต่งประวัติคนเป็น ครั้นลองแต่งเข้า จะเป็นด้วยเหตุใดก็หาทราบไม่ให้เกิดอุทัจ ได้เริ่มแต่งหลายครั้งก็หาลุล่วงไม่..."
ให้นึกตรึกตรองไปว่า....
จะเป็นด้วยเหตุใดก็หาทราบไม่   ให้เกิดความฟุ้งซ่าน กังวล 

ส่วนจืดช่ามะร่าท่า  ไม่เคยเห็น   เดาจากบริบท น่าจะได้ความว่า จืดชืดเป็นน้ำยาเย็น อะไรทำนองนั้น
ตีขลุม    = ตู่หรือหยิบฉวยเอาของผู้อื่นโดยทึกทักเอาว่าเป็นของตน, แสดงอาการเป็นเชิงรับสมอ้างเพื่อประโยชน์แก่ตน.

คำอธิบายนี้มาจากรอยอิน     คำว่า "ตู่ "ที่รอยอินใช้ น่าจะเป็น "คำที่หายไป" อีกคำหนึ่ง
ละล้าละลัง   ยังใช้กันไหมคะ  มีอีก ๒ คำ คือพะว้าพะวัง และพะวักพะวน

ลองสร้างประโยคดูบ้าง

แค่นั่ง" สัปหงก" หลังห้อง  ไม่ได้หลับ    ครูกลับเทศน์เอา "หลายกระบุงโกย"
เป็นผู้หญิง  ไม่ควรพูด "มึงมาพาโวย" อย่างผู้ชายเขา
แม่เรือนสมัยก่อนมักจะขยัน  ทำโน่นทำนี่ทั้งวัน   ไม่ใช่คน "ก้นหนัก"
ไปแต่งงานกับแม่ม่าย ระวังลูกเลี้ยงจะกลายเป็น "หอกข้างแคร่" ของพ่อเลี้ยง




กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 มิ.ย. 11, 20:06
ภาษาเมื่อ พ.ศ. 2483 ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตรัสเรื่องการแต่งประวัติอัตชีวิตบุคคล ดังนี้

"...ให้นึกมะลึกตึกไปว่า ประวัตินั้นแต่งยาก ถ้าไม่จืดช่ำมะร่าท่า ผู้ตายก็เป็นเทวดา..."

"...ประการที่ 1 ข้าพเจ้าไม่เคยแต่งประวัติคนเป็น ครั้นลองแต่งเข้า จะเป็นด้วยเหตุใดก็หาทราบไม่ให้เกิดอุทัจ ได้เริ่มแต่งหลายครั้งก็หาลุล่วงไม่..."


มะลึกตึก

จืดช่ำมะร่าท่า

อุทัจ

ใครช่วยแปลถึงความหมายด้วยครับ 

ขอบคุณ อ.เทาชมพูครับที่แกะรอยรากศัพท์ให้กระจ่าง

คำต่อมา
๑. "ตกร่องปล่องชิ้น" คงหมายถึง เป็นคู่สามีภรรยากัน

๒. "ชิ้น" คำโบราณมีไว้เรียกการเป็นคู่ ในทางกิ๊กหรือแฟน ใช้ว่า "คู่นี้เป็นชิ้นกัน"

๓. "เฮโลสาระพา" รวมกลุ่มกันทำกิจกรรม ทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งให้สำเร็จ

๔. "เดินดินกินข้าวแกง"

๕. "ข้าวแดงแกงร้อน"

๖. "เส้นวักตั๊กกะแตน"

๗. "จ้างผีโม่แป้ง" คำนี้มาจากสำนวนจีนอีกทอดหนึ่ง หมายถึง สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ กลับสามารถทำได้โดยง่ายโดยใช้อำนาจของเงิน เช่น เงินทองสามารถซื้อได้ทุกสิ่ง แม้กระทั่งจ้างผีโม่แป้งได้ เป็นต้น = เงินง้างได้ทุกอย่าง

นัยว่า การโม่แป้งนั้นเป็นงานหนัก ต้องนำข้าวสาลีมาแช่น้ำค้างคืน แล้วนำมาหยอดในโม่หินแล้วหมุนเพื่อบดข้าวสาลีให้เป็นผงพร้อมกับหยอดน้ำ น้ำที่ได้นำมาใส่ถุงผ้า เอาหินกดทับไว้เพื่อไล่น้ำออก จะเหลือแป้งคาอยู่ในถุง ซึ่งเป็นแป้งสดมีความชื้น ดังนั้นการทำงานโม่แป้งจึงเหนื่อยยาก ดังนั้นแล้ว "จ้างผีโม่แป้ง" เขาจะเปรียบเทียบกันว่า ขนาดว่าผี เราเห็นตัวได้ยาก ยังสามารถเรียกออกมาใช้เงินเป็นค่าจ้างในการโม่แป้งที่ยากกว่าได้
 
 
 


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 มิ.ย. 11, 20:07
ของคุณ kwang satanart

ทำงานหนักจน " หัวไม่วาง  หางไม่เว้น " คงจะเหนื่อยแย่
ยังทำงานไม่เสร็จเลย  " สะบัดก้น" ไปเสียแล้ว
เจ้าหล่อนถูกแฟนทิ้ง  แอบไปนั่ง  " ร้องไห้น้ำตาเป็นเผาเต่า "  อยู่ในห้องนอน
ยังไม่รู้เลยว่า จะได้เงินล้านหรือเปล่า  ทำ " ตีปีก " เสียแล้ว
ใครนะ  มาทำท่าใหญ่โต  มาเดิน   " วางก้าม "  อยู่บนตึก
"หน้างอก " แบบนี้ ท่าทางจะเจ้าปัญญา  ( ส่วนของหน้าผาก ที่โหนกนูนออกมากว่าปกติ)
ใครทำให้โกรธอีกล่ะ  มานั่งทำหน้าเป็น " ม้าหมากรุก "  อยู่ตรงนี้ 
เด็กคนนี้ อ่านหนังสือ " ไม่แตก " อ่าน "ตะกุกตะกัก " ไม่คล่องแคล่ว ไม่น่าฟังเลย ( ไม่แตก = ไม่แตกฉาน )
พระเอกคนนี้ ผอมมากไปหน่อย  อย่างที่คนโบราณเรียกว่า  " หุ่นกล้องแกล้ง " 
เด็กผู้หญิงคนนั้น  เอวบางร่างน้อย  "หุ่นอ้อนแอ้น " เสียจริงๆ
 
 
 


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 มิ.ย. 11, 20:08
ของคุณเพ็ญชมพู

"ไอ้เข้ไอ้โขง มาโรงไม้สัก  ไอ้เข้ฟันหัก กัดคนไม่เข้า"

ตอนเด็ก ๆ เคยได้ยินว่า "มะโรงไม้สัก"

 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 มิ.ย. 11, 21:11
คุณ Willyquiz เคยได้ยินคำนี้อีกไหม  "เชือกกุนเชียง"

คำนี้เป็นทำนองการยืมมาจากภาษาจีนอีกทอดหนึ่ง "เชือกกุนเชียง"  หมายถึง ไร้ค้า ไร้ประโยชน์ มันใช้ในทางกล่าวว่าแก่บุคคล ส่วนคำไทยก็ออกไปทาง ตัดหางปล่อยวัด ผสมกับ ไร้น้ำยา รวมกัน

ที่มาคือ เชือกกุนเชียงนั้นมีประโยชน์สำหรับแขวนกุนเชียง แต่เมื่อนำมาทำกับข้าวแล้ว ต้องตัดเชือกกุนเชียงออกแล้วทิ้งไป ตัวกุนเชียงเป็นของมีค่า ส่วนเชือกกุนเชียงกลับถูกทิ้งแบบไร้ค่า จึงเป็นที่มาของคำดังกล่าว


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 22 มิ.ย. 11, 21:31
ยอมจำนนกับคุณ Siamese แล้วครับ  ยกมาแต่ละคำผมถึงกับหาวเรอซะทุกที  จริงสินะ เชือกกุนเชียงมันจะมีประโยชน์อะไร  เอาไปใช้อะไรก็ไม่ได้
เอาไปผูกมัดของรังแต่จะเป็นเหยื่อของมดปลวก อาจจะเป็นการเรียกหนูเสียด้วยซ้ำ  คำนี้เข้าท่า  มองเห็นภาพพจน์เลย


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 มิ.ย. 11, 21:50
ยอมจำนนกับคุณ Siamese แล้วครับ  ยกมาแต่ละคำผมถึงกับหาวเรอซะทุกที  จริงสินะ เชือกกุนเชียงมันจะมีประโยชน์อะไร  เอาไปใช้อะไรก็ไม่ได้
เอาไปผูกมัดของรังแต่จะเป็นเหยื่อของมดปลวก อาจจะเป็นการเรียกหนูเสียด้วยซ้ำ  คำนี้เข้าท่า  มองเห็นภาพพจน์เลย

มิได้ ๆ

ต่อมาคำนี้ก็คงหายไปแช่นกัน "ดงข้าว"

ปัจจุบันส่วนมากหุงข้าวซื้อทาน หรือไม่ก็กดด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้า เป็นการหุงข้าวแบบไม่เช็ดน้ำ แต่ในสมัยก่อนจะหุงข้าวแล้วเทน้ำข้าวออก ต่อมาค่อยทำการ "ดงข้าว" คือราไฟให้ดี เอาหม้อข้าวดงไว้ให้ระอุ

การดงข้าวถือเป็นศิลป์อย่างหนึ่ง หากดงข้าวไม่ดีข้าวจะไม่สุก หรือแฉะ แต่ถ้าดีเกินไปก็ข้าวไหม้


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 22 มิ.ย. 11, 21:57
"ไม้ขัดหม้อ"  ดงข้าวแล้วไม่ใช้ไม้ขัดหม้อแล้วจะดงกันอย่างไรล่ะพ่อคุณ  แต่ไม้ขัดหม้อนี่เป็นของแสลงสำหรับเด็กจริงๆ นะ
แล้วถ้านึ่งด้วยหม้อดินเผาล่ะ  คุณ Siamese จะดงอย่างไร


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มิ.ย. 11, 22:02
คุณ Willyquiz เคยได้ยินคำนี้อีกไหม  "เชือกกุนเชียง"

คำนี้เป็นทำนองการยืมมาจากภาษาจีนอีกทอดหนึ่ง "เชือกกุนเชียง"  หมายถึง ไร้ค้า ไร้ประโยชน์ มันใช้ในทางกล่าวว่าแก่บุคคล ส่วนคำไทยก็ออกไปทาง ตัดหางปล่อยวัด ผสมกับ ไร้น้ำยา รวมกัน

ที่มาคือ เชือกกุนเชียงนั้นมีประโยชน์สำหรับแขวนกุนเชียง แต่เมื่อนำมาทำกับข้าวแล้ว ต้องตัดเชือกกุนเชียงออกแล้วทิ้งไป ตัวกุนเชียงเป็นของมีค่า ส่วนเชือกกุนเชียงกลับถูกทิ้งแบบไร้ค่า จึงเป็นที่มาของคำดังกล่าว

ภาษาไทย มีคำว่า "นั่งร้าน" ค่ะ

สุนทรภู่เปรียบเทียบว่า

เหมือนบายศรีมีงานท่านสนอม
เจิมแป้งหอมน้ำมันจันทน์ให้หรรษา
พอเสร็จการท่านเอาลงทิ้งคงคา
ต้องลอยมาลอยไปเป็นใบตอง

จาก รำพันพิลาป


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 มิ.ย. 11, 22:20
"ไม้ขัดหม้อ"  ดงข้าวแล้วไม่ใช้ไม้ขัดหม้อแล้วจะดงกันอย่างไรล่ะพ่อคุณ  แต่ไม้ขัดหม้อนี่เป็นของแสลงสำหรับเด็กจริงๆ นะ
แล้วถ้านึ่งด้วยหม้อดินเผาล่ะ  คุณ Siamese จะดงอย่างไร

หม้อข้าวดินเผา มีฝาละมีปิดอยู่ การเอาน้ำข้าวออกจากหม้อข้าว ก็จะทำได้สองวิธี คือ วางบนหม้อใหญ่กว่าพันด้วยผ้าไว้ ตัวฝาละมีมีหน้าที่ขัดไว้ตามหน้าที่มันเอง ส่วนอีกวิธีก็จัดโต๊ะไม้ตั่งเตี้ยๆ เหมือนเก้าอี้นั่งขนาดเล็กมีไม้ปะหัว ท้าย เว้นช่องกลางไว้ เอาหม้อข้าวพร้อมฝาละมีมาวางคว่ำไว้ให้น้ำข้าวไหลออกมา

ส่วนการดงข้าวหม้อดินเผาก็วางที่เตาเชิงกรานได้ เกลี่ยขี้เถ้ายังระอุอยู่ได้ ส่วนเตาอั้งโล่ก็ราไฟเอาขี้เถ้ากลบ คงไป หมุนไป ครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 22 มิ.ย. 11, 23:12
ผมมัวแต่ไปรื้อหลังหนังสืออยู่  เลยไม่ทันคุณ Siamese เลย

แล้วทีนี้เวลาเทน้ำข้าว  คุณ Siamese คิดว่า  ผู้หญิงนั่งท่าไหน  ผู้ชายนั่งท่าไหน  เลยไปถึงท่านั่งเวลาขูดมะพร้าวด้วยกระต่ายขูดมะพร้าวด้วยก็ได้


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: kwang satanart ที่ 22 มิ.ย. 11, 23:16
@ คุณ siamese ความเห็นที่  176 ข้อ 6  :: เซ่นวักตั๊กแตน    ละมังคะ
@ คุณความเห็นที่  177   จำได้ว่า  เขียนไว้เอง แต่ตอนแรกดูแล้วเห็นหายไป  แล้วไปโผล่ที่คุณได้ยังไงกันคะ  ไม่เข้าใจ  แต่ก็ขอบคุณค่ะ  ที่เก็บไว้ให้  นึกว่าหายแล้ว หายเลยเสียอีก


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 22 มิ.ย. 11, 23:43
โอม  "มะลึกกึ๊กกึ๋ย"  ขอให้คิด คำไทยที่หายไป ออกด้วยเถิด  ชัก  "หมดไส้หมดพุง"  แล้ว  เพี้ยง!

โอ้ย เดี๋ยวนี้เขา  "ขึ้นหม้อ"  แล้ว  อย่าไป  "เทียบไหล่/กระทบไหล่"  เขาดีกว่า

ทำตัว  "ต๊อกต๋อย"  อย่างนี้เสียสง่าราศีหมด

ดูสิ ถูกแค่เลขท้ายสองตัว ก็ทำเป็น  "มะพร้าวตื่นดก"  ซะแล้ว

โทงเทงเป็นถุง  "ตะเคียว"  เชียว

จะไปทางไหนก็ไม่ไป  เดิน  "รีๆ ขวางๆ"  อยู่ได้  (อนุสนธ์จาก รีรีข้าวสาร ของคุณ D.D.)


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 22 มิ.ย. 11, 23:50
@ คุณความเห็นที่  177   จำได้ว่า  เขียนไว้เอง แต่ตอนแรกดูแล้วเห็นหายไป  แล้วไปโผล่ที่คุณได้ยังไงกันคะ  ไม่เข้าใจ  แต่ก็ขอบคุณค่ะ  ที่เก็บไว้ให้  นึกว่าหายแล้ว หายเลยเสียอีก

เกิดจากการที่ อ. เทาชมพู แยกกระทู้การละเล่นของเด็กไทยเป็นอีกหนึ่งกระทู้ต่างหาก  และข้อความของคุณ kwang ติดไปด้วย  คุณ Siamese ได้เมตตาย้ายกลับมาไว้ในกระทู้ของ
คุณ kwang ดังเดิมครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 มิ.ย. 11, 07:41
ผมมัวแต่ไปรื้อหลังหนังสืออยู่  เลยไม่ทันคุณ Siamese เลย

แล้วทีนี้เวลาเทน้ำข้าว  คุณ Siamese คิดว่า  ผู้หญิงนั่งท่าไหน  ผู้ชายนั่งท่าไหน  เลยไปถึงท่านั่งเวลาขูดมะพร้าวด้วยกระต่ายขูดมะพร้าวด้วยก็ได้

ถึงกับไปรื้อหนังสือมาเลยหรือครับ  ;D เรียกได้ว่า "หยิบเบี้ยใกล้มือ"  เอามาใช้นะครับ

มาถึงอารมณ์เทน้ำข้าว จะให้เย้ายวนออกลีลาพากำหนัดแบบท่าขูดมะพร้าวมิได้ ด้วยความร้อนประการหนึ่ง ด้วยต้องเอาจวักคนข้าวไม่ให้ติดก้นหม้อประมาณหนึ่ง ท่าที่สะดวกที่สุด คงไม่พ้นท่านั่งยอง ๆ ด้วยต้องออกกำลังแขนยกหม้อข้าวข้ามเตา ขยับเยื้องวางบน "เสวียน"  ก่อนรินน้ำข้าวทิ้งไป เมื่อเตาว่างลงก็ต้องรีบยกสิ่งหนึ่งสิ่งใดวางบนเตาต่อไป ไม่พลอยให้เสียเวลา

อันว่า "เสวียน" คำนี้เชื่อว่าไม่มีใครรู้จักกันแล้ว อ่านว่า สะ - เหวียน เป็นเชือกหวายถักขึ้นเป็นวงกลม ไว้สำหรับรองภาชนะที่ร้อน ๆ เช่น หม้อข้าว และหม้อแกง หรือ หม้อคะนน บางครั้งก็ทำหูยาวดั่งสาแหรก ไว้สำหรับยกได้


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: bangplama ที่ 23 มิ.ย. 11, 08:35
"...ปัจจุบันส่วนมากหุงข้าวซื้อทาน หรือไม่ก็กดด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้า เป็นการหุงข้าวแบบไม่เช็ดน้ำ แต่ในสมัยก่อนจะหุงข้าวแล้วเทน้ำข้าวออก ต่อมาค่อยทำการ "ดงข้าว" คือราไฟให้ดี เอาหม้อข้าวดงไว้ให้ระอุ

การดงข้าวถือเป็นศิลป์อย่างหนึ่ง หากดงข้าวไม่ดีข้าวจะไม่สุก หรือแฉะ แต่ถ้าดีเกินไปก็ข้าวไหม้"

 " "ไม้ขัดหม้อ"  ดงข้าวแล้วไม่ใช้ไม้ขัดหม้อแล้วจะดงกันอย่างไรล่ะพ่อคุณ  แต่ไม้ขัดหม้อนี่เป็นของแสลงสำหรับเด็กจริงๆ นะ
แล้วถ้านึ่งด้วยหม้อดินเผาล่ะ  คุณ Siamese จะดงอย่างไร "


การดงข้าวจริงๆแล้วจะไม่ใช้ไม้ขัด(ฝา)หม้อก็ได้ แต่เนื่องจากเป็นการทำต่อเนื่องจากการเช็ดน้ำ ก็เป็นการสะดวกที่จะขัดฝาหม้อไว้อย่างเดิมเพราะเราจะต้องจับหม้อตะแคงไปมาให้ทั่วเพื่อให้ข้าวละอุและสุกทั่วกัน กรรมวิธีนี้เรียกว่า  การหุงข้าวเช็ดน้ำ มีกระบวนการทำต่อเนื่องกันคือ  ซาว หุง เช็ด(น้ำ) และ  ดง


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 มิ.ย. 11, 08:54

แล้วถ้านึ่งด้วยหม้อดินเผาล่ะ  คุณ Siamese จะดงอย่างไร "


ภาพการหุงข้าวนึ่ง คือ หุงข้าวเหนียว


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 มิ.ย. 11, 08:54
ขอเสริมตรงนี้หน่อย

คำว่า "เข้า" หายไป ได้คำใหม่ว่า "ข้าว" มาแทน

คำว่า "เข้า" เป็นคำเดียวกับคำว่า "ข้าว" ครับ
ในเอกสารเก่าสมัยรัชกาลที่ ๖ ยังใช้ "เข้า" อยู่  มาเปลี่ยนเป็น "ข้าว" สมัยใดไม่ทราบชัด  แต่ภาษาพูดของชาวอีสานยังออกเสียง "เข้า" อยู่

ขออนุญาตดำเนินรายการภาษาไทยวันละคำ

 ;D

ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชหลักที่ ๑ มีคำว่า "เข้า" อยู่ ๕ ความหมาย คือ

เข้า ๑ น.   ข้าว เช่นในน้ำมีปลา ในนามีเข้า (ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๑๙) เยียเข้า (ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๒๓)

เข้า ๒ น.   ข้าวของ เช่น เห็นเข้าท่านบ่ใคร่พึน (ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๒๗)

เข้า ๓ น.   ปี, ขวบ, เช่น เมื่อกูขึ้นใหญ่ได้สิบเก้าเข้า (ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๔) ปลูกไม้ตาลนี้ได้สิบสี่เข้า (ด้านที่ ๓ บรรทัดที่ ๑๒) ให้ขุดเอาพระธาตุออก ทั้งหลายเห็นการทำบูชาบำเรอแก่พระธาตุได้เดือนหกวัน จึงเอาฝังลงในกลางเมืองศรีสัชนาลัย ก่อพระเจดีย์เหนือ หกเข้าจึ่งแล้ว ตั้งเวียงผาล้อมพระมหาธาตุ สามเข้าจึ่งแล้ว (ด้านที่ ๔ บรรทัดที่ ๔ - ๘)

(คำว่า "เข้า" ทั้ง ๓ ความหมายที่ใช้ ข ไข่ และสระเอาไม้โท เหมือน กันหมด แต่เครื่องหมายวรรณยุกต์โท ในสมัยนั้นเขียนเป็นรูปวรรณยุกต์จัตวา)

เข้า ๔ ก., ว. เข้า เช่น ขุนสามชนเกลื่อนเข้า (ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๖) กูขับเข้าก่อนพ่อกู (ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๗) เมื่อจักเข้ามาเวียง (ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๑๗) เข้ามาดูท่านเผาเทียนท่านเล่นไฟ (ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๒๒)

เข้า ๕ ก.    เข้าข้าง, เป็นฝักฝ่าย, เช่น บ่เข้าผู้ลักมักผู้ซ่อน (ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๒๖)

(คำว่า "เข้า" ในความหมายที่ ๔ และที่ ๕ ซึ่งเป็นคำกริยานั้น ในศิลาจารึกใช้ ฃ ขวด และใช้สระเอา วรรณยุกต์โทเช่นกัน)

คำว่า "ข้าว" นั้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ - ๕ ยังเขียนเป็น "เข้า" อยู่ เข้าใจว่ามาแยกเขียนเป็น "เข้า" ในสมัยรัชกาลที่ ๖ นี้เอง พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ จึงได้เก็บคำว่า "เข้า ๒" ไว้ และบอกว่าเป็นคำโบราณ หมายความว่า "ข้าว; ขวบปี" ส่วนที่เป็นชื่อไม้ล้มลุก ในวงศ์ Gramineae (แกรมินีอี) เมล็ดใช้เป็นอาหารนั้น เขียนว่า "ข้าว"

ข้อมูลจากบทความในรายการวิทยุภาษาไทย ๕ นาที โดย ศ. จำนงค์ ทองประเสริฐ  ๒๗  มกราคม  ๒๕๓๕ และ๒๗ ธันวาคม ๒๕๓๖



 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 มิ.ย. 11, 09:02
"ไม้ขัดหม้อ" ที่ว่าแสลงกับเด็ก คงหมายถึง เป็นไม้ฟาดมือ ฟาดก้นได้ทุกเวลาใช่ไหมครับ  ;)

สำหรับไม้ขัดหม้อ เท่าที่ทราบมาจะใช้ไม้ไผ่เหลาแบนบาง เวลาคว่ำหม้อดินเผาก็ต้องไม้ช่วยขัด ไม่เช่นนั้นข้าวจะดันฝาละมีให้ทะลักออกมาได้ การใช้ไม้ขัดหม้อกับหม้อดินเผาทำได้โดยให้ใช้ผ้าผืนยาวพันปากหม้อไว้ แล้วตวัดควั่นไม้ขัดหม้อก็ใช้การได้แล้ว


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 มิ.ย. 11, 09:06
ไม่เช่นนั้นข้าวจะดันฝาละมีให้ทะลักออกมาได้

คำว่า ฝาละมี ของคุณหนุ่มก็น่าจะหายไปแล้วเหมือนกัน เหลือแต่ความหมายว่า "สามี" ให้ใช้กันเท่านั้นเอง

 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: bangplama ที่ 23 มิ.ย. 11, 09:11
ผมตั้งชื่อลูกสาวว่า "เข้าปั้น"  (หมายถึงเข้าเหนียวปั้น ที่ไม่ใช่อาหารญี่ปุ่น)
ตามความหมายที่1


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 มิ.ย. 11, 09:16
หาภาพมาให้ชม โดยเฉพาะคุณ Willyquiz ต้องการท่าหุงข้าว ท่านั่งยองนี้จะให้เกิดกิเลสก็ทำได้นะ ต้องใช้ Effect ช่วย ควันช่วย แสงช่วย ด้วยนะ  ;D ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 มิ.ย. 11, 09:19
หุงข้าว จะใช้ตองปิด น่าจะมีข้อดีตรงที่ ไม่ทำให้ฝาละมีร้อนเกินไป และไม่ให้ฟองข้าวล้นออกมา


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 มิ.ย. 11, 09:27
ต่อมาคำนี้ก็น่าจะใช้กันน้อยเริ่มหายไป "ตะกรับ"

ตะกรับ เป็นดินเผาเจาะรู คล้ายรวงผึ้ง มีหน้าที่รองรับถ่าน และให้อากาศถ่ายเทในเตาอั้งโล่ และให้ขึ้เถ้าหล่นลงไป ตะกรับใช้ไปนาน ๆ โดนน้ำ โดนความร้อนจะแตก แต่ก่อนมีคนเดินขายตามบ้านคอยรับหน้าที่ซ่อมตะกรับ เอามาวางใหม่ ยาแนวรอบด้วยดินผสมแกลบ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 มิ.ย. 11, 09:48
ผู้ชายในกระทู้นี้ น่าจะหุงข้าวกันเก่ง  :)

เมื่อเล่าถึงหุงข้าวแบบเช็ดน้ำ    ก็อยากถามว่าหุงข้าวแบบไม่เช็ดน้ำ ทำยังไงคะ  จำได้ไหม   


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 มิ.ย. 11, 10:03
ผู้ชายในกระทู้นี้ น่าจะหุงข้าวกันเก่ง  :)

เมื่อเล่าถึงหุงข้าวแบบเช็ดน้ำ    ก็อยากถามว่าหุงข้าวแบบไม่เช็ดน้ำ ทำยังไงคะ  จำได้ไหม   

ที่บ้านยาย อยู่ต่างจังหวัดก่อเตาดินเตี้ย ๆ วางกะทะใบบัวหุงข้าวเลี้ยงคน มีอยู่ ๒ กะทะ เป็นการหุงข้าวแบบไม่เช็ดน้ำ ต้องใส่น้ำพอท่วมข้าวหนาประมาณหลังฝ่ามือ แล้วใช้ไม้พายกวนข้าวจนกว่าจะสุก ราไฟ ปล่อยให้ข้าวระอุดี จึงใช้ได้

ทำให้นึกถึงเรื่อง "เจ๊สัวเตากะทะ" หุงข้าวเลี้ยงคนงาน ๓๐ กว่าเตาเรียงรายกันของตระกูลหวั่งหลีในอดีต


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 มิ.ย. 11, 10:07
ผลพวงที่ได้จากข้าวแห้งติดกะทะใบบัว คือ "ข้าวตัง" ครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 มิ.ย. 11, 10:25
เห็นข้าวตังติดก้นกระทะแล้ว  คิดถึง "น้ำข้าวตัง" ขึ้นมาได้     คำนี้ คนรุ่นใหม่ก็คงไม่รู้กันแล้วว่าคืออะไร

ขูดข้าวตังที่ติดกันเป็นแผ่นๆออกมาปิ้งใหม่จนเหลือง    แล้วชงน้ำร้อน   เติมรสด้วยน้ำตาลกรวดพอให้หวานหน่อยๆ  กินเป็นเครื่องดื่ม มีรสหวานและหอมไหม้ๆของข้าวตัง


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: bangplama ที่ 23 มิ.ย. 11, 10:43
เคยต่อรอง ไม่ให้แม่ตี ด้วยการจะเอาอิฐขว้างก้นกระทะใบบัว คิดว่ามันจะไม่แตก
พอแม่เงื้อไม้เราก็ขว้างก้อนอิฐใส่ก้นกระทะที่หงายอยู่บนพื้นดิน กระทะแตกเป็นรอยยาว
เลยโดนหวดไม่นับ ยังจำได้จนทุกวันนี้


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 23 มิ.ย. 11, 10:48
ผมมัวแต่ไปรื้อลังหนังสืออยู่  เลยไม่ทันคุณ Siamese เลย

แล้วทีนี้เวลาเทน้ำข้าว  คุณ Siamese คิดว่า  ผู้หญิงนั่งท่าไหน  ผู้ชายนั่งท่าไหน  เลยไปถึงท่านั่งเวลาขูดมะพร้าวด้วยกระต่ายขูดมะพร้าวด้วยก็ได้

ถึงกับไปรื้อหนังสือมาเลยหรือครับ  ;D เรียกได้ว่า "หยิบเบี้ยใกล้มือ"  เอามาใช้นะครับ

มาถึงอารมณ์เทน้ำข้าว จะให้เย้ายวนออกลีลาพากำหนัดแบบท่าขูดมะพร้าวมิได้ ด้วยความร้อนประการหนึ่ง ด้วยต้องเอาจวักคนข้าวไม่ให้ติดก้นหม้อประมาณหนึ่ง ท่าที่สะดวกที่สุด คงไม่พ้นท่านั่งยอง ๆ ด้วยต้องออกกำลังแขนยกหม้อข้าวข้ามเตา ขยับเยื้องวางบน "เสวียน"  ก่อนรินน้ำข้าวทิ้งไป เมื่อเตาว่างลงก็ต้องรีบยกสิ่งหนึ่งสิ่งใดวางบนเตาต่อไป ไม่พลอยให้เสียเวลา

อันว่า "เสวียน" คำนี้เชื่อว่าไม่มีใครรู้จักกันแล้ว อ่านว่า สะ - เหวียน เป็นเชือกหวายถักขึ้นเป็นวงกลม ไว้สำหรับรองภาชนะที่ร้อน ๆ เช่น หม้อข้าว และหม้อแกง หรือ หม้อคะนน บางครั้งก็ทำหูยาวดั่งสาแหรก ไว้สำหรับยกได้


นั่นแน่  คุณ Siamese นำสำนวนมาโมเมหลอกตีกินเฉยเลย  มีที่ไหนกันครับ หยิบเบี้ยใกล้มือ  เขามีแต่  “สิบเบี้ยใกล้มือ”  ฮิ ฮิ  แต่คำว่า “เสวียน” ทำให้ คำที่หายไป ในอดีตหลั่งไหล
กลับมาอีกหลายคำเลยทีเดียว
เมื่อตอนอายุราว ๘-๙ ขวบ ได้เห็นคุณตาท่านหนึ่งนั่งถัก เสวียน อยู่บนศาลาวัด แต่ท่านไม่ได้ใช้เชือกหวายเหมือนของคุณ Siamese หรอกนะครับ ท่านใช้เชือกกล้วยชุบน้ำถัก ลักษณะ
เหมือนมงคลสวมศีรษะขยายขนาด
ต่อมาราวปี 2534-35 ผมอยู่ที่ทองผาภูมิ ได้เห็นคนงานชาวมอญถัก เสวียน อีกครั้ง  ครั้งนี้ถักด้วยหญ้าแฝก  แน่นและสวยงามไม่แพ้ถักด้วยเชือกกล้วยเลย

และหม้อคะนนทำให้ผมหวนนึกถึงหม้ออีกชนิดหนึ่งเหมือนหม้อคะนน  นั่นคือ  “หม้อพะเนียง”  สำหรับบรรจุน้ำ

สมองเตลิดเปิดเปิงไปถึงวัยเด็กที่เมื่อถึงเวลาปิดเทอมชีวิตก็จะตะลอนหัวหกก้นขวิดอยู่ตามหัวไร่ปลายนา  นึกถึงภาพการนวดข้าวที่ก่อนนวดต้องมีการเตรียมลานนวดให้พร้อมโดยการใช้ขี้ควาย
(ใครจะเรียกมูลควายผมก็ไม่เกี่ยง) ผสมน้ำฉาบบนลานแล้วปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง  เมื่อถึงเวลาก็นำข้าวที่เกี่ยวแล้วมาสุมไว้บนลานนวดเกลี่ยให้กระจายสูงพอประมาณแล้วจูงควายที่สวมตะกร้อปาก
แล้วขึ้นมาเหยียบย่ำบนกองข้าว  เดินวนไปวนมาอยู่อย่างนั้น  ระหว่างนั้นจะมีคนคอยเอาไม้สองชิ้นยาววาเศษ  ลักษณะโค้งงอ  ปลายคล้ายตะขอคอยสงฟางให้ฟูกระจายเป็นระยะๆ  ไม้สองชิ้นนี้
เรียกว่า  “ไม้กระดองหาย”  ไม่ทราบว่าคุณ Siamese พอจะนำภาพ ไม้กระดองหายมาให้ดูได้ไหมครับ เพราะผมบรรยายลักษณะไม่เป็นเขียนไปตามภาพความทรงจำของสมองเท่านั้น


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 มิ.ย. 11, 11:01
"ไม้กระดองหาย"

ขอฉาย มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น คันฉาย ไม้สงฟาง กระดองหาย ดองหาย หรือดองฉาย ของฉายเป็นเครื่องมือของชาวนาชาวไร่ในการสงฟาง สงต้นถั่วในเวลานวด
ของฉายทำจากลำไม้ไผ่ลำเล็ก ๆ มือจับได้รอบ ลำไม้ไผ่จะต้องแก่จัด ตัดไม้ไผ่ยาวประมาณ 2 เมตร หาลำไม้ไผ่ที่มีแขนงโค้ง ๆ และแข็งแรง เพื่อจะได้ดัดเป็นขอใช้สงฟางหรือสิ่งต่าง ๆ ได้ ส่วนแขนงที่แตกออกมาตามข้อไม้ไผ่ข้ออื่น ๆ จะเหลาให้เรียบ เหลือเพียงแขนงที่ทำเป็นขอเท่านั้น เหลาปลายขอสำหรับสงฟางหรือเกี่ยวให้แหลม การที่ทำให้ขอโค้งขอตามความต้องการ ชาวนาจะใช้ขอลนไฟแล้วค่อย ๆ ดัด จนขอไม้ไผ่นั้นโค้งตามต้องการ แขนงไผ่ที่แตกมาตามข้อเพื่อทำเป็นขอบางที่หายาก ก็จะใช้เหล็กมาดัดเป็นขอแทน โดยใช้เหล็กส่วนที่เป็นโคนตอกเข้าไปในรูไม้ไผ่ หรือใช้ไม้เนื้อแข็งเป็นด้ามถือก็มี ตัวขอจะแน่นยิ่งขึ้นถ้าใช้ครั่งลนไฟเชื่อม พอครั่งเย็นจะยึดเหล็กที่ทำเป็นขอจนแน่น ปลายเหล็กเป็นขอเผาไฟให้แดงใช้ค้อนทุบให้แหลมคม บางทีก็ใช้ตะไบถู การใช้ขอฉายจะใช้ในเวลานวดข้าว หรือนวดถั่ว การนวดในสมัยก่อนจะใช้ควายหลาย ๆ ตัว เดินวนไปตามฟ่อนข้าวหรือฟ่อนถั่ว พอจะคาดคะเนว่าเมล็ดข้าวเปลือกหรือถั่วร่วงหล่นจากรวงมากแล้ว ก็จะใช้ขอฉายส่วนเป็นขอสงฟางสงตัวถั่วกลับไปมา เพื่อให้เมล็ดข้าวเปลือกหรือเมล็ดถั่วหล่นมากองที่ลาน หากควายเดินเหยียบจนเมล็ดออกจากรวงหมดแล้ว ก็ใช้ขอฉายสงฟางออกให้หมด จะเหลือข้าวเปลือกกองในลานเท่านั้น ข้าวเปลือกกองอยู่อาจมีเศษฟาง เศษข้าวลีบปนอยู่ จะนำไปวีข้าว หรือใช้พลั่วสาดข้าวอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะขนเก็บขึ้นยุ้งฉาง


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 มิ.ย. 11, 11:09
หาภาพเสวียนที่มีหูหิ้วมาให้ชมครับ คุณ Willyquiz

ส่วนหม้อพะเนียง คงจะคล้ายหม้อน้ำอย่างทางเมืองนนทบุรีที่ใช้กันนะครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 23 มิ.ย. 11, 11:34
อื้อหือ  ไม่รู้จริงๆ นะนี่ว่าไม้กระดองหายจะมีหลายรูปแบบและหลายชื่ออย่างนี้  ไม้สงฟางน่ะใช่  เพราะบางครั้งก็เรียกไม้สงฟางเช่นกัน  แต่คำอื่นๆ
ไม่รู้จักเลย  ขอบคุณ คุณ Siamese มากครับ  ไม้กระดองหายที่บ้านลุงผมสวยกว่าในภาพที่นำมาลงครับ  เมื่อหนีบเข้ารักแร้ซ้ายขวาแล้วเท่ไม่เบา

ส่วนหม้อพะเนียงจะมีลักษณะส่วนป่องแบนเตี้ยกว่าหม้อคะนน  เวลาทำครัวจะนำมาใส่น้ำตั้งเตรียมไว้ในครัวเพื่อความสะดวก

เมื่อสักครู่เข้าไปอ่านกระทู้ใหม่  และได้เห็นโคลงกระทู้ที่คุณ art 47 นำมาลงไว้ คือกระทู้ "พาโลโสเก"  ทำให้ผมรู้ว่าผมเข้าใจผิดมาตลอดว่าคำนี้คือ
"พาโลโฉเก"  เพราะไพล่ไปนึกถึงอีกคำหนึ่งที่ว่า "เฉโก" ในความหมายเดียวกัน (ใช้ในการแต่งร้อยกรอง) คำนี้ก็หายไปแล้วเหมือนกัน เหลือแต่คำว่า
"พาลพาโล"


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 23 มิ.ย. 11, 12:21
ต่อมาคำนี้ก็น่าจะใช้กันน้อยเริ่มหายไป "ตะกรับ"

ตะกรับ เป็นดินเผาเจาะรู คล้ายรวงผึ้ง มีหน้าที่รองรับถ่าน และให้อากาศถ่ายเทในเตาอั้งโล่ และให้ขึ้เถ้าหล่นลงไป ตะกรับใช้ไปนาน ๆ โดนน้ำ โดนความร้อนจะแตก แต่ก่อนมีคนเดินขายตามบ้านคอยรับหน้าที่ซ่อมตะกรับ เอามาวางใหม่ ยาแนวรอบด้วยดินผสมแกลบ

ผมสองจิตสองใจว่าจะพูดถึงคำนี้ดีหรือไม่น้าาา  เพราะไม่แน่ใจว่าตนเองจะเข้าใจหรือจำได้ถูกต้องหรือไม่  แต่ลองตัดสินใจถามคุณ Siamese ดู ท่าจะดีกว่าเก็บไว้คนเดียว
ผมเข้าใจว่าตะกรับยังหมายถึงเหล็กย่าง/ปิ้งเนื้อปิ้งปลาย่างพริกอีกด้วย  ลักษณะเป็นเหล้กดัดเป็นซี่ๆ รูปสี่เหลี่ยม  มีด้ามจับยื่นยาวออกมา  ผมจำได้ลางๆ ว่าเรียกว่า "ตะกรับ"
เหมือนกัน  และไม้ไผ่ที่แผ่ออกเป็นซี่ๆ กางออกแล้วขัดด้วยไม้เหมือนรูปพัด  เอาไว้ใช้สำหรับปิ้งข้าวเกรียบว่าวในสมัยก่อน ก็เรียกว่า "ตะกรับ" เหมือนกัน  ผมเข้าใจถูกหรือไม่
ผมไม่รู้จะไปหาข้อมูลที่ไหน  เลยอาศัยคุณ Siamese นี่ละ  เพราะคุณ Siamese เป็นผู้ยกคำนี้ขึ้นมา


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 มิ.ย. 11, 13:18
ทั้งนี้ "ตะกรับ" ยังเป็นชื่อปลาน้ำเค็มชนิดหนึ่ง มีลายจุดดำวงกลมบนพื้นขาว เหมือนตะกรับเตาอั้งโล่ครับ  ;)


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 23 มิ.ย. 11, 14:19
"ไม้กระดองหาย"

ขอฉาย มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น คันฉาย ไม้สงฟาง กระดองหาย ดองหาย หรือดองฉาย ของฉายเป็นเครื่องมือของชาวนาชาวไร่ในการสงฟาง สงต้นถั่วในเวลานวด
ของฉายทำจากลำไม้ไผ่ลำเล็ก ๆ มือจับได้รอบ ลำไม้ไผ่จะต้องแก่จัด ตัดไม้ไผ่ยาวประมาณ 2 เมตร หาลำไม้ไผ่ที่มีแขนงโค้ง ๆ และแข็งแรง เพื่อจะได้ดัดเป็นขอใช้สงฟางหรือสิ่งต่าง ๆ ได้ ส่วนแขนงที่แตกออกมาตามข้อไม้ไผ่ข้ออื่น ๆ จะเหลาให้เรียบ เหลือเพียงแขนงที่ทำเป็นขอเท่านั้น เหลาปลายขอสำหรับสงฟางหรือเกี่ยวให้แหลม การที่ทำให้ขอโค้งขอตามความต้องการ ชาวนาจะใช้ขอลนไฟแล้วค่อย ๆ ดัด จนขอไม้ไผ่นั้นโค้งตามต้องการ แขนงไผ่ที่แตกมาตามข้อเพื่อทำเป็นขอบางที่หายาก ก็จะใช้เหล็กมาดัดเป็นขอแทน โดยใช้เหล็กส่วนที่เป็นโคนตอกเข้าไปในรูไม้ไผ่ หรือใช้ไม้เนื้อแข็งเป็นด้ามถือก็มี ตัวขอจะแน่นยิ่งขึ้นถ้าใช้ครั่งลนไฟเชื่อม พอครั่งเย็นจะยึดเหล็กที่ทำเป็นขอจนแน่น ปลายเหล็กเป็นขอเผาไฟให้แดงใช้ค้อนทุบให้แหลมคม บางทีก็ใช้ตะไบถู การใช้ขอฉายจะใช้ในเวลานวดข้าว หรือนวดถั่ว การนวดในสมัยก่อนจะใช้ควายหลาย ๆ ตัว เดินวนไปตามฟ่อนข้าวหรือฟ่อนถั่ว พอจะคาดคะเนว่าเมล็ดข้าวเปลือกหรือถั่วร่วงหล่นจากรวงมากแล้ว ก็จะใช้ขอฉายส่วนเป็นขอสงฟางสงตัวถั่วกลับไปมา เพื่อให้เมล็ดข้าวเปลือกหรือเมล็ดถั่วหล่นมากองที่ลาน หากควายเดินเหยียบจนเมล็ดออกจากรวงหมดแล้ว ก็ใช้ขอฉายสงฟางออกให้หมด จะเหลือข้าวเปลือกกองในลานเท่านั้น ข้าวเปลือกกองอยู่อาจมีเศษฟาง เศษข้าวลีบปนอยู่ จะนำไปวีข้าว หรือใช้พลั่วสาดข้าวอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะขนเก็บขึ้นยุ้งฉาง

วีข้าวที่คุณ Siamese พูดถึงหมายถึง"ฝัดข้าว"หรือเปล่าครับ ที่บ้านผมเวลานวดข้าวเสร็จก็จะแยกเมล็ดข้าวลีบออกจากข้าวโดยการนำข้าวไปเทลงบนสีฝัด แล้วหมุนวงล้อให้สีฝัดทำงาน สีฝัดจะแยกส่วนที่เป็นเศษฟางหรือเมล็ดลีบออกไปเหลือแต่ข้าวเมล็ดเต็มๆ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 มิ.ย. 11, 14:36
มาตราตวงแบบโบราณ
  ๑๕๐ เมล็ดข้าว เป็น ๑ หยิบมือ   
  ๔ หยิบมือ เป็น ๑ กำมือ   
  ๔ กำมือ เป็น ๑ ฟายมือ   
  ๒ ฟายมือ เป็น ๑ กอบ   
  ๒ กอบ เป็น ๑ แล่ง   
  ๒ แล่ง เป็น ๑ ทะนาน   
  ๕ ทะนาน เป็น ๑ กระเชอ   
  ๕ กระเชอ เป็น ๑ สัด   
  ๕ สัด เป็น ๑ กระชุก   
  ๔ กระชุก เป็น ๑ ตะลอง   
  ๒ ตะลอง เป็น ๑ บั้น   
  ๒ บั้น เป็น ๑ เกวียน   
  ๔ เกวียน เป็น ๑ ตะล่อม   
  ๕ ตะล่อม เป็น ๑ ยุ้ง


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 23 มิ.ย. 11, 14:39
สมัยก่อนจะทำนากัน 2 แบบ คือ นาหว่าน กับ นาดำ ที่บ้านผมทำ นาดำ ต้องใช้น้ำมากหน่อย ต้องเตรียมแปลงเพาะกล้า ก่อนจะหว่านพันธุ์ข้าวลงแปลงต้องวิดน้ำออกให้แห้งจำได้ว่าใช้ "ชงโลง" เรียกกันเพี้ยนเป็น ชะโลง ตั้งไว้ที่มุมนาแล้ววิดน้ำออก ชงโลงจะถูกแขวนไว้บนขาหยั่งสามขา เวลาวิดน้ำก็จับด้ามแล้ววิดน้ำออกไปจนแห้งแล้วค่อยหว่านเมล็ดข้าวที่เพาะไว้ลงไป


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 มิ.ย. 11, 15:20
สมัยก่อนจะทำนากัน 2 แบบ คือ นาหว่าน กับ นาดำ ที่บ้านผมทำ นาดำ ต้องใช้น้ำมากหน่อย ต้องเตรียมแปลงเพาะกล้า ก่อนจะหว่านพันธุ์ข้าวลงแปลงต้องวิดน้ำออกให้แห้งจำได้ว่าใช้ "ชงโลง" เรียกกันเพี้ยนเป็น ชะโลง ตั้งไว้ที่มุมนาแล้ววิดน้ำออก ชงโลงจะถูกแขวนไว้บนขาหยั่งสามขา เวลาวิดน้ำก็จับด้ามแล้ววิดน้ำออกไปจนแห้งแล้วค่อยหว่านเมล็ดข้าวที่เพาะไว้ลงไป

นำภาพชงโลง มาให้ดูครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 23 มิ.ย. 11, 15:39
สมัยก่อนจะทำนากัน 2 แบบ คือ นาหว่าน กับ นาดำ ที่บ้านผมทำ นาดำ ต้องใช้น้ำมากหน่อย ต้องเตรียมแปลงเพาะกล้า ก่อนจะหว่านพันธุ์ข้าวลงแปลงต้องวิดน้ำออกให้แห้งจำได้ว่าใช้ "ชงโลง" เรียกกันเพี้ยนเป็น ชะโลง ตั้งไว้ที่มุมนาแล้ววิดน้ำออก ชงโลงจะถูกแขวนไว้บนขาหยั่งสามขา เวลาวิดน้ำก็จับด้ามแล้ววิดน้ำออกไปจนแห้งแล้วค่อยหว่านเมล็ดข้าวที่เพาะไว้ลงไป

นำภาพชงโลง มาให้ดูครับ

แบบนี้ผมเรียก "ตะโพง/ กระโพงวิดน้ำ" ครับ

คุณSiamese ข้ามคำถามของคุณ pathuma เรื่อง วีข้าวไป ผมขออนุญาตตอบแทนนะครับ

การวีข้าวสมัยนี้ใช้เครื่องกันหมดแล้ว  แต่สมัยผมยังเด็ก การวีข้าวจะใช้เครื่องมือที่เหมือนพัดขนาดยักษ์พัดหรือโบกเพื่อไล่เมล็ดข้าวลีบออกไป
หลังจากนั้นจะใช้เครื่องมืออีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า  "กะโห้"  ลักษณะเหมือนจอบแต่ทำด้วยไม้คราดข้า้วมาเป็นกองเพื่อดำเนินการอย่างอื่นต่อไป


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 23 มิ.ย. 11, 16:05
ข้าวที่ผ่านการนวดและฝัดแล้วจะถูกนำไปเก็บไว้ใน "ยุ้งข้าว" หรือบางแห่งจะเก็บไว้ใน "พ้อม" หรือ "กระพ้อม" ซึ่งเป็นภาชนะที่สานด้วยไม้ไผ่ยาด้วยดินใช้ใส่ข้าวเปลือก มีขนาดใหญ่มากขนาดคนลงไปนั่งได้สบายๆ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 มิ.ย. 11, 16:10
เอาภาพ "วี" เพื่อมา "วีข้าว" มาฝากครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 23 มิ.ย. 11, 16:14
ชอบมากเลยครับ ไม่เคยเห็นจริงๆ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 มิ.ย. 11, 16:25
มาต่อเรื่องคำไทยหายไปกันดีกว่า วกไปนานมาก

จากพระราชหัตถเลขา คราวเสด็จประพาสราชบุรี ร.ศ. ๑๒๘

"..ได้หยุดพักเลี้ยงดูกันแล้วเป็นที่ร่ม มีต้นไม้ใหญ่มาก ต้นทางที่จะขึ้นไปถ้ำใหม่ หยุดพักเลี้ยงดูกันแล้วได้ลงเรือแล่นต่อขึ้นไป ข้ามแก่งหลวง แก่งน้อย ซึ่งไม่มีอะไรสังเกตุได้นอกจากกรุย  ช่างไม่ขบขันเสียจริง ๆ ขึ้นไปหยุดพักจอดเรือ กินกลางวันที่วังหมึก..."


"กรุย" ควรจะหมายถึงอะไร  ???


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 23 มิ.ย. 11, 16:31
คุณSiamese นี่พึ่งได้เสมอเลยครับ  เนื่องจากผมค่อนข้างซัดเซพเนจรมาตั้งแต่เด็ก  พวกภาษาต่างๆ เช่นเครื่องมือเครื่องใช้
บางครั้งจำผสมปนเปกันไปหมด  ไม่รู้ว่าเป็นภาษาของภาคไหนกันแน่  แต่มีเครื่องมือชิ้นหนึ่งซึ่งค่อนข้างแน่ใจว่าเป็นภาษาจีนแน่ๆ
ก็คือ  "จับเจี๋ยว"  เป็นภาชนะหม้อดินที่ป้าเอาไว้ต้มสมุนไพร  ลักษณะเป็นหม้อดินเล็กๆ มีกรวยยื่นออกมาเหมือนกาต้มน้ำ  และมี
ด้ามจับด้วย  ต้องพึ่งคุณ Siamese อีกแล้วครับ  จัดหาภาพให้หน่อย


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 23 มิ.ย. 11, 16:35
มาต่อเรื่องคำไทยหายไปกันดีกว่า วกไปนานมาก

จากพระราชหัตถเลขา คราวเสด็จประพาสราชบุรี ร.ศ. ๑๒๘

"..ได้หยุดพักเลี้ยงดูกันแล้วเป็นที่ร่ม มีต้นไม้ใหญ่มาก ต้นทางที่จะขึ้นไปถ้ำใหม่ หยุดพักเลี้ยงดูกันแล้วได้ลงเรือแล่นต่อขึ้นไป ข้ามแก่งหลวง แก่งน้อย ซึ่งไม่มีอะไรสังเกตุได้นอกจากกรุย  ช่างไม่ขบขันเสียจริง ๆ ขึ้นไปหยุดพักจอดเรือ กินกลางวันที่วังหมึก..."


"กรุย" ควรจะหมายถึงอะไร  ???

นี่มีการลองภูมิอะไรกันหรือเปล่านี่  กรุย จะหมายถึงอะไรได้นอกจากไม้รวกที่ชาวบ้านเขาปักเรียงรายเอาไว้แบ่งเขต  หรือเป็นเครื่องหมายบอกอะไรสักอย่าง


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 มิ.ย. 11, 16:36
คุณSiamese นี่พึ่งได้เสมอเลยครับ  เนื่องจากผมค่อนข้างซัดเซพเนจรมาตั้งแต่เด็ก  พวกภาษาต่างๆ เช่นเครื่องมือเครื่องใช้
บางครั้งจำผสมปนเปกันไปหมด  ไม่รู้ว่าเป็นภาษาของภาคไหนกันแน่  แต่มีเครื่องมือชิ้นหนึ่งซึ่งค่อนข้างแน่ใจว่าเป็นภาษาจีนแน่ๆ
ก็คือ  "จับเจี๋ยว"  เป็นภาชนะหม้อดินที่ป้าเอาไว้ต้มสมุนไพร  ลักษณะเป็นหม้อดินเล็กๆ มีกรวยยื่นออกมาเหมือนกาต้มน้ำ  และมี
ด้ามจับด้วย  ต้องพึ่งคุณ Siamese อีกแล้วครับ  จัดหาภาพให้หน่อย


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 23 มิ.ย. 11, 16:43
ใช่แล้วครับคุณ Siamese หน้าตาต่างกันนิดหน่อย  แต่ก็ใช่  "จับเจี๋ยว"  นั่นแหละ  ไม่รู้เด็กยุคปัจจุบันจะเคยเห็นหรือเปล่า


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 มิ.ย. 11, 16:45
ต่อมาจากพระราชหัตถเลขา คราวเสด็จประพาสราชบุรี ร.ศ. ๑๒๘  ลงวันที่ ๑๕ กันยายน

ทรงเสด็จพระราชดำเนินวัดใหญ่สุวรรณาราม ทรงทอดพระเนตรภาพจิตรกรรมฝาผนัง

"...รูปภาพเทพชุมนุมที่นั่งเป็นชั้น ๆ ในผนังอุโบสถดูได้ทุกตัว แลเห็นว่าไม่มีฝีมือแห่งใดในกรุงเทพ ๆ เหมือนเลย ... แต่อย่าเข้าใจว่าเป็นภาพกาก เขียนแบบแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่เขียนนั้นรู้ความคิดเดิม ว่ายักษ์หมายถึงว่าเป็นคนชนิดใด เทวดาเป็นคนชนิดใด การนุ่งหุ่มเครื่องแต่งกายรู้ว่าจะสอดสวมอย่างไร ไม่ได้เขียนพุ่งๆ  อย่างเช่นทุกวันนี้.."

"เขียนพุ่ง ๆ"  ???


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 มิ.ย. 11, 16:47
ใช่แล้วครับคุณ Siamese หน้าตาต่างกันนิดหน่อย  แต่ก็ใช่  "จับเจี๋ยว"  นั่นแหละ  ไม่รู้เด็กยุคปัจจุบันจะเคยเห็นหรือเปล่า


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 23 มิ.ย. 11, 16:52
รูปนี้ดูพิลึก  น่าจะเป็นของคนถนัดมือซ้ายนะครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 23 มิ.ย. 11, 16:57
ต่อมาจากพระราชหัตถเลขา คราวเสด็จประพาสราชบุรี ร.ศ. ๑๒๘  ลงวันที่ ๑๕ กันยายน

ทรงเสด็จพระราชดำเนินวัดใหญ่สุวรรณาราม ทรงทอดพระเนตรภาพจิตรกรรมฝาผนัง

"...รูปภาพเทพชุมนุมที่นั่งเป็นชั้น ๆ ในผนังอุโบสถดูได้ทุกตัว แลเห็นว่าไม่มีฝีมือแห่งใดในกรุงเทพ ๆ เหมือนเลย ... แต่อย่าเข้าใจว่าเป็นภาพกาก เขียนแบบแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่เขียนนั้นรู้ความคิดเดิม ว่ายักษ์หมายถึงว่าเป็นคนชนิดใด เทวดาเป็นคนชนิดใด การนุ่งหุ่มเครื่องแต่งกายรู้ว่าจะสอดสวมอย่างไร ไม่ได้เขียนพุ่งๆ  อย่างเช่นทุกวันนี้.."

"เขียนพุ่ง ๆ"  ???

จากความหมายของรูปประโยค  ผมคิดว่าน่าจะหมายถึง "เขียนสั่วๆ" (ขอใช้คำไทยที่หายไปมาอธิบายคำไทยที่หายไปอีกคำ หิ หิ)


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 23 มิ.ย. 11, 17:07
ไม่ค่อยสบายใจกับคำว่า  "สั่วๆ "  เลย  ขอเปลี่ยนเป็นใช้คำว่า  "ชุ่ยๆ"  "สุ่มๆ"  ดีกว่า  หมายถึงทำอะไรแบบขอไปที


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 23 มิ.ย. 11, 17:28
เนื่องจากเมื่อสักครู่มีเด็กโทรศัพท์มาถามถึงคำว่า  "กรุย"  ของคุณ Siamese และคำอธิบายของผม แต่ยังไม่เข้าใจว่าทำไมต้องปักไว้ด้วย  ไม่รู้หรือว่า
เขตที่ของตนอยู่ที่ใด  ผมขอนำมาอธิบายใหม่อีกครั้ง  หากมีข้อผิดพลาดขอท่านผู้รู้กรุณาช่วยแก้ไขให้ด้วยครับ

ชาวนาบางคนมีที่นาหลายไร่  บางคนมีที่นาอยู่ไกลจากบ้าน  จึงปักกรุยเอาไว้เพื่อเป็นที่หมายตาของตนว่าเขตนาของตนอยู่ที่ใด  เป็นจุดสังเกตุโดยไม่ต้องเดิน
เข้าไปใกล้  และกะระยะได้โดยสายตา ส่วนใหญ่จะใช้ไม้รวกทั้งลำปักไว้เป็นระยะเพื่อให้เห็นได้แต่ไกล


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 24 มิ.ย. 11, 09:23
ยังติดใจคำว่า "ล่ม" ขอต่ออีกหน่อยครับ  นอกจากจะใช้ในความหมายที่เกี่ยวกันน้ำเช่น ล่มน้ำ น้ำล่ม ล่มปากอ่าว แล้ว ในทางเทคนิคก็มีการนำไปใช้อยู่หลายกรณีเช่น ถ้า Server ในระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ทำงาน จะพูดว่า "Server ล่ม" กรณีของโทรศัพท์ ถ้าสายโทรศัพท์เสียเป็นเหตุให้โทรศัพท์ใช้งานไม่ได้เป็นจำนวนมากๆ ก็มักจะเรียกว่า "เคเบิลล่ม" ถ้าเครื่องชุมสายโทรศัพท์ทำให้โทรศัพท์ใช้งานไม่ได้ช่างมักจะเรียกว่า "ชุมสายล่ม"เป็นต้น


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 24 มิ.ย. 11, 09:49
สมัยก่อนตามทุ่งนา เวลาดำนาใหม่ๆมักจะมีไม้ "เฉลว" มาปักไว้ในนาเพื่อปัดรังควาน ระยะหลังๆไม่เห็นเลย


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 มิ.ย. 11, 10:00
สมัยก่อนตามทุ่งนา เวลาดำนาใหม่ๆมักจะมีไม้ "เฉลว" มาปักไว้ในนาเพื่อปัดรังควาน ระยะหลังๆไม่เห็นเลย

เรื่อง "เฉลว" นี้เป็นวัฒนธรรมความเชื่อที่แทรกซึมกับคนไทยอยุ่หลายเรื่องเลยนะครับ ไม่แต่ที่ปักตามทุ่งนา ยังปักที่คลองก็มี ปักที่หน้าบ้านก็มี ทำขวัญข้าวก็มี ทำบุญเลี้ยงผีตั้งร้านผีก็ปักเฉลว ต้มยาหม้อก็ปักเฉลว แม้กระทั่งเงินตราไทยสมัยก่อนก็ยังมีตราเฉลว มากมายจริงๆครับ

ปักเฉลว "กันผี" ดีนักแลครับ  ;)


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 มิ.ย. 11, 12:15
รอยอินให้คำจำกัดความ
ล่ม   =  กิริยาที่ทรงตัวไม่อยู่ เอียงจนตะแคง คว่ำ หรือจม เช่น เรือล่ม   เกวียนล่ม, ทำให้ตะแคง คว่ำ หรือจม เช่น ล่มเรือ; ได้รับความเสียหายมากเพราะน้ำท่วมหรือพายุพัดเป็นต้น เช่น นาล่ม สวนล่ม โป๊ะล่ม; ไม่สำเร็จ, ไม่รอดฝั่ง, เช่น โครงการล่ม

ในนิราศนรินทร์  ใช้คำว่า ล่ม   ในโคลงบทที่ว่า
อยุธยายศล่มแล้ว                 ลอยสวรรค์ ลงฤๅ
โคลงบทนี้นายนรินทร์ธิเบศร์เลียนแบบมาจากกำศรวลศรีปราชญ์    ที่ว่า
อยุธยายศยิ่งฟ้า                   ลงดิน แลฤๅ.

กำลังอ่าน พม่าเสียเมือง เพื่อเอามาตอบกระทู้     พบคำที่หายไปอยู่หลายคำ เช่น มักน้อย = ปรารถนาน้อย,สันโดษ   คำนี้ตรงกันข้ามกับ มักมาก 
ส่ำสม  ไม่เจอในพจนานุกรม  มีแต่คำว่า สั่งสม = สะสม, รวบรวมให้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ, เช่น พระโพธิสัตว์สั่งสมบารมี.


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 24 มิ.ย. 11, 12:49
สมัยก่อนตามทุ่งนา เวลาดำนาใหม่ๆมักจะมีไม้ "เฉลว" มาปักไว้ในนาเพื่อปัดรังควาน ระยะหลังๆไม่เห็นเลย

เรื่อง "เฉลว" นี้เป็นวัฒนธรรมความเชื่อที่แทรกซึมกับคนไทยอยุ่หลายเรื่องเลยนะครับ ไม่แต่ที่ปักตามทุ่งนา ยังปักที่คลองก็มี ปักที่หน้าบ้านก็มี ทำขวัญข้าวก็มี ทำบุญเลี้ยงผีตั้งร้านผีก็ปักเฉลว ต้มยาหม้อก็ปักเฉลว แม้กระทั่งเงินตราไทยสมัยก่อนก็ยังมีตราเฉลว มากมายจริงๆครับ

ปักเฉลว "กันผี" ดีนักแลครับ  ;)

คงไม่นำมาปักไว้ที่กระท่อมเรือนไทยหลังนี้นะครับ  ผมกลัวคุณ Siamese จะเข้ามาไม่ได้  แล้วผมจะอดหัวเราะอดยิ้ม  เซ็งตายเลย

เมื่อตอนเป็นเด็ก  พี่กับผมเดินไปเจอรูงูเห่าเข้า  เขาก็เอาใบมะพร้าวมาฉีกออกเป็นสองซีก  ดัดๆ พับๆ เป็นรูปดาวห้าแฉกเล็กๆ  แล้วเอามาผูกกับไม้ปักไว้ใกล้ๆ รูงู เพื่อบอกตำแหน่ง
เขาบอกว่าเป็น "เฉลว"  แต่ดูคำอธิบายของคุณ Siamese แล้ว ไม่น่าจะเรียกว่า เฉลว ได้เลย


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 24 มิ.ย. 11, 12:53
ไปได้คำมาจากกระทู้นู้น...ค่ะ เขาพูดกันถึงการเล่นว่าว... ;D

คำที่ไม่ค่อยได้ยินแล้ว...ลมข้าวเบา...ลมว่าว


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 24 มิ.ย. 11, 13:10
ขอคั่นรายการครับเพื่อให้ตรงกับกระทู้บ้าง

อย่ามา  "เกาะแกะกอแก"  กะฉันนะ  ฉันน่ะแก่คราวแม่คุณแล้ว

"ตะบอย"  กินอยู่นี่เอง  เมื่อไหร่ถึงจะอิ่มสักที

โน่น ไอ้หนูมันวิ่ง  "ปุเลงๆ"  อยู่กลางทุ่งโน่นไง

มันจะ  "ตะแบง"  ไปถึงไหน  เถียงข้างๆ คูๆ อยู่ได้

จะ  "ทะร่อทะแร่"  เข้ามาทำไม  เธอไม่มีหน้าที่อะไรในนี้

ปล่อยให้  "กระดกกระดนโด่"  หยั่งงั้น  เดี๋ยวได้สะดุดหัวทิ่มกันบ้างละ

ช่างเถอะ  อย่างดีก็แค่ไปอาศัย  "ข้าวก้นบาตร"  ท่านสมภารกิน


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 มิ.ย. 11, 13:20
สมัยก่อนตามทุ่งนา เวลาดำนาใหม่ๆมักจะมีไม้ "เฉลว" มาปักไว้ในนาเพื่อปัดรังควาน ระยะหลังๆไม่เห็นเลย

เรื่อง "เฉลว" นี้เป็นวัฒนธรรมความเชื่อที่แทรกซึมกับคนไทยอยุ่หลายเรื่องเลยนะครับ ไม่แต่ที่ปักตามทุ่งนา ยังปักที่คลองก็มี ปักที่หน้าบ้านก็มี ทำขวัญข้าวก็มี ทำบุญเลี้ยงผีตั้งร้านผีก็ปักเฉลว ต้มยาหม้อก็ปักเฉลว แม้กระทั่งเงินตราไทยสมัยก่อนก็ยังมีตราเฉลว มากมายจริงๆครับ

ปักเฉลว "กันผี" ดีนักแลครับ  ;)

คงไม่นำมาปักไว้ที่กระท่อมเรือนไทยหลังนี้นะครับ  ผมกลัวคุณ Siamese จะเข้ามาไม่ได้  แล้วผมจะอดหัวเราะอดยิ้ม  เซ็งตายเลย

เมื่อตอนเป็นเด็ก  พี่กับผมเดินไปเจอรูงูเห่าเข้า  เขาก็เอาใบมะพร้าวมาฉีกออกเป็นสองซีก  ดัดๆ พับๆ เป็นรูปดาวห้าแฉกเล็กๆ  แล้วเอามาผูกกับไม้ปักไว้ใกล้ๆ รูงู เพื่อบอกตำแหน่ง
เขาบอกว่าเป็น "เฉลว"  แต่ดูคำอธิบายของคุณ Siamese แล้ว ไม่น่าจะเรียกว่า เฉลว ได้เลย

จะว่าไปแล้ว ก็เปรียบเหมือนสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง ซึ่งไปปักไว้ดังเช่น "กรุย" นั่นแล บางครั้งเฉลวจะร่ายมนต์คาถาเสกกำกับไว้ ด้วยธรรมเนียมไทยเกี่ยวข้องกับเรื่องลี้ลับทั้งปวง


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 24 มิ.ย. 11, 13:24
ได้มาจากกระทู้นู้นนนน..เหมียนกัลล์  ของคุณ D.D. เองเสียด้วย

ใบ  "ช้าพลู"  ปัจจุบันไม่มีใครเรียกกันอีกแล้ว  นอกจากคุณยาย คุณทวด


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 มิ.ย. 11, 13:26
คุณ Willyquiz พูดถึง "ข้าวก้นบาตร" ยังไม่เลือนหายไปไหน แต่คำนี้น่าจะไม่ค่อยได้ยินกันแล้ว "ผูกปิ่นโต"

ผูกปิ่นโต หมายถึง การที่ร้านอาหารจัดเตรียมอาหารใส่ปิ่นโตเป็นชุด แล้วบริการส่งให้ตามบ้าน ไม่ต้องซื้อกับข้าวถุงพลาสติกกิน


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 24 มิ.ย. 11, 13:37
คุณ Willyquiz พูดถึง "ข้าวก้นบาตร" ยังไม่เลือนหายไปไหน แต่คำนี้น่าจะไม่ค่อยได้ยินกันแล้ว "ผูกปิ่นโต"

ผูกปิ่นโต หมายถึง การที่ร้านอาหารจัดเตรียมอาหารใส่ปิ่นโตเป็นชุด แล้วบริการส่งให้ตามบ้าน ไม่ต้องซื้อกับข้าวถุงพลาสติกกิน
 

น่าจะจริงเนอะ  เมื่อผมต้องไปทำงานต่างถิ่นผมยังผูกปิ่นโตอยู่เหมือนกัน  แล้วคำนี้ล่ะยังพูดกันอยู่ไหม  "เอาน้ำเย็นลูบท้อง" (ก็อาศัยข้าวก้นบาตรไม่ได้แล้วนี่
คุณ Siamese มากระชากบาตรไปซะแล้ว)


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 มิ.ย. 11, 13:44
เคยนะ ตอนเด็ก ๆ ได้ยินให้เอาน้ำเย็นลูบท้อง ด้วยความไม่รู้ก็หยิบน้ำแข็งมาใส่น้ำ แล้วมาลูบท้องตัวเองเล่น มันก็ไม่เห็นหิวอย่างที่เขาว่า  ;D ;D

"ขมิ้นกับปูน" ไม่ถูกกัน เข้ากันไม่ได้ ก็ไม่ค่อยได้ยินเท่าไรแล้ว

"ลำยอง" เป็นกระแสการว่าคนอยู่พักหนึ่ง ตอนนี้หายไปแล้ว



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 มิ.ย. 11, 13:48
อ้างถึง
แล้วคำนี้ล่ะยังพูดกันอยู่ไหม  "เอาน้ำเย็นลูบท้อง"
คุณ willyquiz น่าจะผสม 2 สำนวนเข้าเป็น 1  แล้วละค่ะ
"เอาน้ำลูบท้อง" แปลว่ากินน้ำแก้หิว เมื่อไม่มีข้าวกิน     กับ  "เอาน้ำเย็นเข้าลูบ" แปลว่าปลอบประโลมอีกฝ่ายให้หายโมโห

ไปเที่ยวกับเพื่อนจนดึก  ต้องรีบโทร.มาบอกแม่บ้าน "เอาน้ำเย็นเข้าลูบ" กันไม่ให้หงุดหงิด  ไม่งั้นเธอเทข้าวปลาทิ้งหมด จะต้องกลับบ้าน "เอาน้ำลูบท้อง"


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 24 มิ.ย. 11, 13:58
ผมหัวเราะคุณ Siamese จนน้ำลายหกใส่แป้นคีย์บอร์ด  เลยเสียเวลาเช็ดไปหน่อย  ก็คุณ  "เดินแต้ม"  เหนือผมตลอด

เดินแต้ม  ยังพูดกันอยู่หรือเปล่าเอ่ย

พอดีเห็นข้อความของ อ. เทาชมพู เลยขอรวมกันเลย
รับรองความถูกต้องครับ  "เอาน้ำลูบท้อง" กร่อนมาจาก "เอาน้ำเย็นลูบท้อง" แน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ (ครูสอนคำนี้พอดี  ถ้าเป็นข้อสอบก็ "โป๊ะเช๊ะ")


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 24 มิ.ย. 11, 13:59
"หูช้าง" ในความหมายว่ากระจกเล็กๆ ในรถยนต์ เปิดให้ลมเข้ามาข้างในได้


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 มิ.ย. 11, 14:02
"ลำยอง" เป็นกระแสการว่าคนอยู่พักหนึ่ง ตอนนี้หายไปแล้ว

"ลำยอง" มาจากชื่อตัวเอกในเรื่อง "ทองเนื้อเก้า" ของ "โบตั๋น"

ได้ข่าวว่าจะกลับเยี่ยมแฟน ๆ ทางทีวีอีกแล้ว

โปรดคอยติดตาม

 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 มิ.ย. 11, 14:07
หยิบยกภาษาไทยที่สูญพันธุ์ไปแล้ว นำมาโลดแล่นให้ได้อ่านกัน

อเลเพ ใช้กับ ทิ้งอเลเพ คือ การทิ้ง ขว้างไป

อะลินเท ทางเข้าห้องโถง

อะเหลื๋อยเจื๋อย ใช้กับอาการป่วย เกือบตรีทูต

อะเลือย เจื้อย  แปลว่า ใหญ่ หรือ ยาว

บั้น แปลว่า ชิ้น เช่น ขายปลากี่ปั้นเฟื้อง คือ ขายปลาชิ้นละกี่เฟื้อง



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 มิ.ย. 11, 14:25
โบกขรพัท แปลว่า ฝนกำลังมาใช้เฉพาะฝนที่ขึ้นจากหนองบึง ตกหลังภูเขา

ปากจาบ ใช้กับ ข้าวงอกเป็นปากจาบ (คงแหลมเล็กๆ ดังปากนกกระจาบ)

จำโหนฎ

โจตนา

จำน่วย  คำนี้กลายเป็น ชำร่วย หรือ ของชำร่วย

จะแต๋


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 24 มิ.ย. 11, 14:43
^ ขอทราบความหมายด้วยคร้าบ...จะแต๋ ....โจตนา


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 24 มิ.ย. 11, 14:51
คุณ Siamese คร้าบบบบ คำไทยที่หายไปนะคร้าบบบบ  ไม่ใช่คำไทยที่ระเหิดไปคร้าบบบบ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 24 มิ.ย. 11, 16:19
รถออกตั้งบ่ายโมง จะรีบไปไหน  ทำเหมือน  "ไฟจุกก้น"  ไปได้

เอาละเหวย เอาละวา คราวนี้ได้ดู  "ศึกหน้าหม้อ"  แน่ๆ

อยู่ว่างๆ เรามา  "รำพัด"  กันเถอะ / เอาซี  "กบ" หรือ "นกกระจอก"  ดีล่ะ

เรานี่มัน  "หูผีจมูกมด"  หรือยังไงนะ  แม่ซ่อนตรงไหนรู้ไปหมด

เฮ้ย นั่นมันฝีหรือริดสีดวงกันแน่  ทำไมมัน  "บานทะโรค"  ขนาดนี้


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 มิ.ย. 11, 16:30
เคยได้ยินแต่ " ไฟลนก้น" ไม่เคยได้ยิน "ไฟจุกก้น"
ศึกหน้าหม้อ  แปลว่าอะไรคะ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 มิ.ย. 11, 16:36
โบกขรพัท แปลว่า ฝนกำลังมาใช้เฉพาะฝนที่ขึ้นจากหนองบึง ตกหลังภูเขา

ฝนโบกขรพรรษ เป็นฝนวิเศษ มีอยู่ในพุทธประวัติ มีความมหัศจรรย์คือ
    ๑. มีเม็ดน้ำฝนแดงเรื่อเหมือนแก้วทับทิม
    ๒. ผู้ใดปรารถนาได้เปียกก็เปียก ผู้ไม่ปรารถนาแม้ละอองก็ไม่สัมผัสผิวกาย
    ๓. ไม่เลอะเทอะขังนอง ก่อให้เกิดโคลนตมอันปฏิกูล พอฝนหาย แผ่นดินก็สะอาด
    ๔. ตกลงเฉพาะในสมาคมพระญาติ  ไม่มีผู้อื่นอยู่ร่วมประชุมด้วย

ที่มา ฝนโบกขรพรรษตกเมื่อคราวพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระราชบิดาและพระญาติวงศ์ที่เมืองกบิลพัสดุ์   ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ปราบพยศพระญาติวงศ์ผู้ใหญ่ที่กระด้างกระเดื่อง   เกิดฝนโบกขรพรรษตกลงมา  ทำให้พระญาติเหล่านั้นละทิฐิมานะ ถวายมนัสการแด่พระองค์โดยทั่วกัน
พระสงฆ์สาวกเห็นอัศจรรย์จึงทูลถามขึ้น พระพุทธองค์ทรงตรัสว่าฝนนี้เคยตกมาก่อน เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรโพธิสัตว์พระสงฆ์ทูลอาราธนา จึงตรัสเล่าเรื่องเวสสันดรชาดก 


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 24 มิ.ย. 11, 16:38
เคยได้ยินแต่ " ไฟลนก้น" ไม่เคยได้ยิน "ไฟจุกก้น"
ศึกหน้าหม้อ  แปลว่าอะไรคะ

ไฟลนก้น  =  นั่งไม่ติดที่

ไฟจุกก้น  =  มีสิ่งหรืองานรีบด่วนที่จะต้องรีบไปกระทำ

ศึกหน้าหม้อ  = เป็นคำแสลงของเด็กยุคก่อน มาจาก "ศึกชิงนาง หรือ ศึกหน้านาง"  อะไรทำนองนี้ละครับอาจารย์


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 24 มิ.ย. 11, 16:43
"ลำยอง" เป็นกระแสการว่าคนอยู่พักหนึ่ง ตอนนี้หายไปแล้ว

"ลำยอง" มาจากชื่อตัวเอกในเรื่อง "ทองเนื้อเก้า" ของ "โบตั๋น"

ได้ข่าวว่าจะกลับเยี่ยมแฟน ๆ ทางทีวีอีกแล้ว

โปรดคอยติดตาม

 ;D

ฝีมือการแสดงจะสู้ "อีลำยอง" อภิรดี ภวภูตานท์ ณ มหาสารคาม ได้ไหหนอ?


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 24 มิ.ย. 11, 16:51
เคยได้ยินแต่ " ไฟลนก้น" ไม่เคยได้ยิน "ไฟจุกก้น"

เพื่อวิชาการนะครับ ผมไม่ตั้งใจจะให้หยาบ  ผมตั้งใจจะเลี่ยงใช้คำว่า "ไฟจุกตูด"  จึงใช้  "ไฟจุกก้น" แทน น่ะครับ
ถ้าพูดโดยทั่วไปที่ไม่ต้องเอาข้อความมาลงผมจะใช้คำแรกครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 24 มิ.ย. 11, 17:21
เคยได้ยินแต่ " ไฟลนก้น" ไม่เคยได้ยิน "ไฟจุกก้น"
ศึกหน้าหม้อ  แปลว่าอะไรคะ

ไฟลนก้น  =  นั่งไม่ติดที่

ไฟจุกก้น  =  มีสิ่งหรืองานรีบด่วนที่จะต้องรีบไปกระทำ


ไฟลนก้น หมายถึง จวนตัว จวนเจียน ใช้เมื่อมีงานมากๆ จนทำแทบไม่ทันกำหนดเวลาส่งงานนั้นๆ
คำนี้ปัจจุบันก็ยังพูดกันอยู่ค่ะ ยังไม่หายไปไหน...
ส่วนคำว่า ไฟจุกก้น ไม่เคยได้ยินค่ะ...

[เพื่อวิชาการนะครับ ผมไม่ตั้งใจจะให้หยาบ  ผมตั้งใจจะเลี่ยงใช้คำว่า "ไฟจุกตูด"  จึงใช้  "ไฟจุกก้น" แทน น่ะครับ
ถ้าพูดโดยทั่วไปที่ไม่ต้องเอาข้อความมาลงผมจะใช้คำแรกครับ

"ไฟจุกตูด" ที่บอกว่าหมายถึง มีสิ่งหรืองานรีบด่วนที่จะต้องรีบไปกระทำ ก็ไม่เคยได้ยิน

เคยได้ยินแต่ "หางจุกตูด" ค่ะ
ใช้เปรียบเทียบกับคนที่มีอาการกลัวมากๆ ว่ากลัวจนหางจุกตูด เหมือนกับกริยาของสุนัขเวลากลัวสุนัขตัวอื่น


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 24 มิ.ย. 11, 17:48
ไฟลนก้น หมายถึง จวนตัว จวนเจียน ใช้เมื่อมีงานมากๆ จนทำแทบไม่ทันกำหนดเวลาส่งงานนั้นๆ
คำนี้ปัจจุบันก็ยังพูดกันอยู่ค่ะ ยังไม่หายไปไหน...
ส่วนคำว่า ไฟจุกก้น ไม่เคยได้ยินค่ะ...

อ.เพ็ญชมพู ยังอยู่ไหมครับ  ขอความช่วยเหลือหน่อยครับ

ไฟจุกก้น  เป็นการเลี่ยงการใช้คำของผมเพื่อให้ดูดีหน่อย จึงไม่แน่ใจว่าจะมีหรือไม่  แต่ "ไฟจุกตูด" นี่ผมเอาคอขึ้นวางบนเขียงพร้อมให้อาจารย์สับเลยถ้าไม่มี
ส่วน ไฟลนก้น ในความหมายที่อาจารย์อธิบายนั้นรู้กันโดยทั่วไป  แม้ในปัจจุบันก็ยังใช้กันอยู่  แต่ในความหมายของคนที่มีอาการผลุดลุกผลุดนั่ง  กระวนกระวาย
นั่งไม่ติดที่  เราก็บอกว่าเหมือนไฟลนก้นเช่นกัน  แต่ความหมายนี้ชักจะเลือนไป  กลายเป็นเด็กนักเรียนใช้ตอนจะส่งการบ้านไม่ทันส่งครูไปแล้ว


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 24 มิ.ย. 11, 18:01
ประสบการณ์คนเราไม่เท่ากัน บางคนอาจจะเคยได้ยิน บางคนอาจจะไม่เคยได้ยิน ก็ได้ค่ะ  ;D
ไม่ต้องถึงกับเอาคอขึ้นวางบนเขียงหรอกค่ะ นึกถึงเวลาท่านเปาปุ้นจิ้นร้องว่า เครื่องประหารหัวสุนัข...
ไปค้นดูในเน็ทแล้ว ไฟจุกตูด มีคนใช้กันอยู่ค่ะ ในความหมายว่า มีธุระร้อน เร่งด่วนค่ะ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 24 มิ.ย. 11, 18:08
โธ่  คุณ D.D.ก็  หัวเสือก็ยังดีนะ  อย่าถึงขั้นหัวสุนัขเลย  มันอายเขาน่ะ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 24 มิ.ย. 11, 18:22
คำไทยชุดนี้เป็นคำไทย สมัยใหม่ที่หายไปค่ะ ไม่ใช่คำไทยโบราณที่เลือนหายไปเพราะกาลเวลา
เป็นคำที่ราชบัณฑิตบัญญัติขึ้นมาเพื่อใช้แทนภาษาต่างประเทศ ค่ะ  
แต่หายไปเพราะไม่ได้รับความนิยม นิยมใช้ทับศัพท์มากกว่า ;D

- เครื่องตรวจกวาด  = scanner
- บัตรเก่ง = smart card
- สัญรูป = icon
- สื่อหลายแบบ = Multimedia
- ก้านควบคุม = Joystick
- รายการเลือกแบบผุดขึ้น = Pop-up Menu
- หน้าต่างแบบผุดขึ้น = Pop-up Window
- เกณฑ์วิธี = Protocal
- เขต = zone และ domain ผู้ใช้ต้อง ใช้คำทับศัพท์ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน
- สื่อประสมเชิงโต้ตอบ = Interactive Multimedia
- คณิตกรณ์ = computer
- จุดบกพร่อง = bug

 


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 24 มิ.ย. 11, 19:03
Joystick เขาแปลว่า แท่งหรรษาไม่ใช่หรือ?

software แปลว่า ละมุนภัณฑ์

hardware แปลว่า กระด้างภัณฑ์



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 24 มิ.ย. 11, 19:20
ที่คุณลุงไก่ ยกมาไม่ได้บัญญัติโดยราชบัณฑิต ค่ะ  ;D

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B9%8C%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B9%8C (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B9%8C%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B9%8C)



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 มิ.ย. 11, 19:31
Joystick เขาแปลว่า แท่งหรรษาไม่ใช่หรือ?



แท่งหฤหรร เลยครับลุงไก่ ;)


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 มิ.ย. 11, 19:33
"เอาขี้เถ้ายัดปาก"

"หน้างอคอหัก"

"สาวน้อยร้อยชั่ง"



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 24 มิ.ย. 11, 19:36
"เอาขี้เถ้ายัดปาก"

"หน้างอคอหัก"

"สาวน้อยร้อยชั่ง"



"หน้างอคอหัก" ก็ต้องหมายถึงปลาทูแม่กลองแน่ๆ ครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 มิ.ย. 11, 19:41
"ข้าวไม่มียาง"

"ก่ออิฐถือปูน" และ "ก่ออิฐสอปูน"

"สามใบเถา"



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 มิ.ย. 11, 20:47
- แตงร่มใบ     = ผิวนวลสวย
- แตงเถาตาย  = แม่ม่าย


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 มิ.ย. 11, 21:07
อ.เพ็ญชมพู ยังอยู่ไหมครับ  ขอความช่วยเหลือหน่อยครับ

ไฟจุกก้น  เป็นการเลี่ยงการใช้คำของผมเพื่อให้ดูดีหน่อย จึงไม่แน่ใจว่าจะมีหรือไม่ แต่ "ไฟจุกตูด" นี่ผมเอาคอขึ้นวางบนเขียงพร้อมให้อาจารย์สับเลยถ้าไม่มี

คอคุณวิลลี่ยังคงอยู่บนบ่า เพราะว่ารอยอินท่านรู้จ้ก

ไฟจุกตูด (ปาก) ว. มีธุระร้อนมาก.

สำหรับตนเอง เช่นเดียวกับคุณเทาชมพูและคุณดีดี

ไม่เคยได้ยินเช่นกัน

 ;D


 
 


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 24 มิ.ย. 11, 21:20
อ.เพ็ญชมพู ยังอยู่ไหมครับ  ขอความช่วยเหลือหน่อยครับ

ไฟจุกก้น  เป็นการเลี่ยงการใช้คำของผมเพื่อให้ดูดีหน่อย จึงไม่แน่ใจว่าจะมีหรือไม่ แต่ "ไฟจุกตูด" นี่ผมเอาคอขึ้นวางบนเขียงพร้อมให้อาจารย์สับเลยถ้าไม่มี

คอคุณวิลลี่ยังคงอยู่บนบ่า เพราะว่ารอยอินท่านรู้จ้ก

ไฟจุกตูด (ปาก) ว. มีธุระร้อนมาก.

สำหรับตนเอง เช่นเดียวกับคุณเทาชมพูและคุณดีดี

ไม่เคยได้ยินเช่นกัน

 ;D


 
 


ขอบพระคุณ อ. เพ็ญชมพู ครับ  ผมเจ็บใจตัวเองที่ค้นหาอะไรไม่เป็นเพราะไม่มีความรู้ทางคอมพิวเตอร์เลย  ใช้เป็นก็แค่พิมพ์เหมือนพิมพ์ดีดเท่านั้น
ผมนึกอิจฉาคนที่เอารูปนั่นรูปนี่มาลงให้ดูได้  แต่ผมทำไม่ได้เลย  ไม่รู้วิธี

ส่วน "เอาคอขึ้นวางบนเขียง" อย่าไปจริงจังครับ  ผมแกล้งเขียนให้เพี้นไปจาก "เอาคอพาดเขียง" ที่กำลังจะหายไปเพื่อให้ คุณ Siamese ทักท้วงมา
อยากเล่นสนุกกับคุณ Siamese น่ะครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 มิ.ย. 11, 21:27
Joystick เขาแปลว่า แท่งหรรษาไม่ใช่หรือ?

software แปลว่า ละมุนภัณฑ์

hardware แปลว่า กระด้างภัณฑ์

นางกาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิตและนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการโพสความหมายของคำศัพท์คอมพิวเตอร์ในอินเทอร์เน็ต โดยอ้างว่าเป็นคำศัพท์ที่ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติขึ้น อาทิ

ละมุนพรรณ หมายถึง ซอฟต์แวร์ (Software) และกระด้างพรรณ หมายถึง ฮาร์ดแวร์ (Hardware)

ซึ่งได้สร้างความเข้าใจผิดให้แก่ประชาชนอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีการแปลศัพท์คอมพิวเตอร์ที่ไม่ถูกต้องอีกหลายคำ เช่น คำว่า

จิ๋วระทวย แปลมาจากคำว่า ไมโครซอฟท์ (Microsoft) โดย Micro แปลว่า เล็ก จิ๋ว และ soft แปลว่า อ่อนนุ่ม
แท่งหฤหรรษ์ แปลจาก จอยสติ๊ก (Joystick)
พหุบัญชร แปลจาก วินโดวส์ (Windows)
จุดอิทธิฤทธิ์ แปลจาก พาวเวอร์พอยท์ (Power Point)
พหุอุบลจารึก แปลจาก โลตัส โน้ต (Lotus Notes)
ภัทร แปลจาก เอ็กซ์เซล (Excel)
ปฐมพิศ แปลจาก วิชวลเบสิก (Visual Basic)
พหุภาระ แปลจาก มัลติทาสก์กิ้ง (Multitasking)
แท่งภาระ แปลจาก ทาสก์บาร์ (Taskbar)
สรรค์ใน แปลจาก บิลต์อิน (Build In) และ
ยืนเอกา แปลจาก สแตนอโลน (Standalone) เป็นต้น
   
"ขอยืนยันว่าศัพท์ดังกล่าวไม่ใช่การแปลความโดยราชบัณฑิต ซึ่งในการบัญญัติคำศัพท์คอมพิวเตอร์ของราชบัณฑิต จะมีคณะกรรมการบัญญัติศัพท์คอมพิวเตอร์ เป็นผู้ดูแลโดยเฉพาะ และการแปลความจะเน้นว่าต้องไม่ใช้ภาษากำกวม หยาบคาย หรือสองแง่สองง่าม ซึ่งตามหลักการแล้วจะมีบางคำศัพท์ที่ต้องบัญญัติขึ้นใหม่ แต่ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการเรียกทับศัพท์" นางกาญจนา กล่าวและว่า การโพสคำศัพท์คอมพิวเตอร์และอ้างว่าเป็นคำที่ ราชบัณฑิตบัญญัติขึ้น เป็นเรื่องที่น่าห่วง ซึ่งตนขอเตือนผู้ที่โพสข้อความ ในลักษณะดังกล่าวให้เลิกทำ อย่างไรก็ตามตนจะเสนอให้ราชบัณฑิตออกประกาศทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำศัพท์คอมพิวเตอร์ เพื่อป้องกันความสับสนในการใช้ภาษาไทยของประชาชนต่อไป

http://www.thaipoet.net/index.php?lay=boardshow&ac=webboard_show&WBntype=1&Category=thaipoetnet&thispage=32&No=1227522

 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 มิ.ย. 11, 21:39
อ.เพ็ญชมพู ยังอยู่ไหมครับ  ขอความช่วยเหลือหน่อยครับ

ไฟจุกก้น  เป็นการเลี่ยงการใช้คำของผมเพื่อให้ดูดีหน่อย จึงไม่แน่ใจว่าจะมีหรือไม่ แต่ "ไฟจุกตูด" นี่ผมเอาคอขึ้นวางบนเขียงพร้อมให้อาจารย์สับเลยถ้าไม่มี

คอคุณวิลลี่ยังคงอยู่บนบ่า เพราะว่ารอยอินท่านรู้จ้ก

ไฟจุกตูด (ปาก) ว. มีธุระร้อนมาก.

สำหรับตนเอง เช่นเดียวกับคุณเทาชมพูและคุณดีดี

ไม่เคยได้ยินเช่นกัน

 ;D


 
 


ขอบพระคุณ อ. เพ็ญชมพู ครับ  ผมเจ็บใจตัวเองที่ค้นหาอะไรไม่เป็นเพราะไม่มีความรู้ทางคอมพิวเตอร์เลย  ใช้เป็นก็แค่พิมพ์เหมือนพิมพ์ดีดเท่านั้น
ผมนึกอิจฉาคนที่เอารูปนั่นรูปนี่มาลงให้ดูได้  แต่ผมทำไม่ได้เลย  ไม่รู้วิธี

ส่วน "เอาคอขึ้นวางบนเขียง" อย่าไปจริงจังครับ  ผมแกล้งเขียนให้เพี้นไปจาก "เอาคอพาดเขียง" ที่กำลังจะหายไปเพื่อให้ คุณ Siamese ทักท้วงมา
อยากเล่นสนุกกับคุณ Siamese น่ะครับ

อุเหม่.!! จะเอาคออะไรขึ้นเขียงหรือขอรับ ทั้งนี้การประหารชีวิตอย่างไทยถ้าเจ้านาย ก็ทุบด้วยท่อนจันทน์ ส่วนทั่วไปก็จับผูกหลักฟันคอ ดินเหนียวอุดหู ผูกตา ไม่ได้เอาคอมาพาดบนเขียงเหมือนอย่างทางยุโรป หรือว่า คอหมู คอปลา  ???


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 มิ.ย. 11, 21:46

 ขอบพระคุณ อ. เพ็ญชมพู ครับ  ผมเจ็บใจตัวเองที่ค้นหาอะไรไม่เป็นเพราะไม่มีความรู้ทางคอมพิวเตอร์เลย  ใช้เป็นก็แค่พิมพ์เหมือนพิมพ์ดีดเท่านั้น
ผมนึกอิจฉาคนที่เอารูปนั่นรูปนี่มาลงให้ดูได้  แต่ผมทำไม่ได้เลย  ไม่รู้วิธี

ส่วน "เอาคอขึ้นวางบนเขียง" อย่าไปจริงจังครับ  ผมแกล้งเขียนให้เพี้นไปจาก "เอาคอพาดเขียง" ที่กำลังจะหายไปเพื่อให้ คุณ Siamese ทักท้วงมา
อยากเล่นสนุกกับคุณ Siamese น่ะครับ

การแนบภาพไม่ยากหรอกครับ ทำได้โดยกดบริเวณหมายเลข 1 ในหัวข้อ "ตัวเลือกเพิ่มเติม" แล้วช่องมันจะขยายให้เห็นดังภาพครับคุณ Willyquiz

ต่อมาเอาเมาส์มาคลิกบริเวณแถบสีแดง "แนบไฟล์" และกด Browse เพื่อเลือกไฟล์ภาพ ซึ่งมีขนาดไม่เกิน 250 กิโลไบท์ นามสกุลภาพที่นิยมคือ JPGE ครับ

เมื่อเลือกไฟล์ภาพได้แล้วก็กด "ส่งข้อความ"

คุณ Willyquiz ลองทำดูครับ ไม่นานก็คุ้นเคย ชินไม้ชินมือ เหมือนใช้มีดทำครัว กะทะใบเก่า ดินสออันเดิม ย่อมถนัดมือในไม่ช้า


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 24 มิ.ย. 11, 21:50
มีอีกคำคือ เอนกระรัว (Multivibrator) ไม่รู้บัญญัติ ขึ้นมาทำไม อ่านแล้วเหนื่อย


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 มิ.ย. 11, 21:59
"เบี้ยน้อยหอยน้อย" เงินทองไม่ค่อยมี

"ซอมซ่อ"  แต่งตัวมอมแมม

"แม่สายบัวแต่งตัวเก้อ" หรือ "แม่สายบัวรอเก้อ"

"ชายสามโบสถ์"

"ลูบหน้าปะจมูก"


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 มิ.ย. 11, 22:12
มีอีกคำคือ เอนกระรัว (Multivibrator) ไม่รู้บัญญัติ ขึ้นมาทำไม อ่านแล้วเหนื่อย

ไม่เคยเห็นคำนี้ค่ะ  อ่านผ่านๆทีแรก เป็นเอน-ระรัว   สงสัยว่าออกแรงมากจนเอ็นระรัวทีเดียวหรือ  ต้องย้อนกลับมาสะกดทีละตัว
เอนก-ระรัว  น่าจะสะกดว่า อเนก-ระรัว นะคะ  แต่สะกดยังไงก็ตาม  ไม่อยากใช้อยู่ดี


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 มิ.ย. 11, 22:45
ตามปกติแล้วราชบัณฑิตยสถานมีหลักเกณฑ์ในการบัญญัติศัพท์เชิงวิชาการใหม่ ๆ ที่เป็นภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยว่า

๑. ถ้าศัพท์ใดสามารถผูกคำขึ้นใหม่ได้ ก็พยายามใช้คำไทยก่อน
๒. ถ้าหาคำไทยที่เหมาะสมและตรงกับความหมายของศัพท์ไม่ได้แล้ว ให้หาคำบาลี-สันสกฤตที่มีใช้อยู่แล้วในภาษาไทย มาผูกเป็นศัพท์ขึ้น
๓. ถ้ายังหาคำเหมาะสมไม่ได้อีก จึงใช้วิธีบัญญัติแบบทับศัพท์

ขอยกตัวอย่างศัพท์ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี คำว่า “asynchronous” ซึ่งบัญญัติไว้ว่า -ไม่ประสานเวลา, -อสมวาร*, -อะซิงโครนัส ซึ่งเป็นคำพิเศษตรงที่มีศัพท์บัญญัติทั้งสามแบบ คือ แบบคำไทยพื้นๆ แบบคำบาลีสันสกฤต และแบบคำทับศัพท์ ในการนำไปใช้ ผู้ใช้ก็สามารถเลือกใช้ได้ตามบริบท ตามความชอบ ตามความเหมาะสม

และจาก “จุดยืน” ในการบัญญัติศัพท์ ๓ ประการข้างต้น จะเห็นว่าศัพท์ตลกขบขัน หรือศัพท์แปลก ๆ อย่างคำว่า “เวทนารมณ์เชิงเพทนาการ” (sensory perception), “สดมภ์รงคเลข” (column chromatography), “ปรัศวภาควิโลม” (lateral inversion) หรือ “วงจรอเนกระรัว” (multivibrator circuit) ที่บางท่านอาจเคยเห็นผ่านตาหรือยังใช้กันอยู่บ้างนั้น ราชบัณฑิตยสถานคงจะไม่บัญญัติขึ้นใช้เป็นแน่แท้

บางส่วนจากบทความเรื่อง ศัพท์บัญญัติ ตอนที่ ๑ โดย ดร. ชนินทร์  วิศวินธานนท์ กรรมการบัญญัติศัพท์วิศวกรรมไฟฟ้า ราชบัณฑิตยสถาน  (http://www.ee.eng.chula.ac.th/eecu/article/?p=431)

 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 24 มิ.ย. 11, 23:33
ตอนนี้หนูดีดี กำลังอึ้งทึ่งกับการอ่านงานวิจัยการวิเคราะห์อภิมาน(Mata Analysis)
การวิจัยชาติพันธ์วรรณานาอภิมาน (Meta – Ethnography) ค่ะ
(ได้ยินครั้งแรกนึกว่าวิจัยเกี่ยวกับเชื้อชาติของคนซะอีก..)
มีคำแปลคำศัพท์ชวนอึ่งเยอะเลยค่ะ อ่านไปต้องชำเลืองคำภาษาอังกฤษไป
การวิจัยกรณีเดี่ยว(single case study research)
การวิจัยพหุกรณี (muti case study research)
ขนาดอิทธิพล (effect size)
สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (correlation coefficient)
การสังเคราะห์อภิมาน (Meta – Synthesis).....


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 25 มิ.ย. 11, 09:05
คำว่า "บูรณาการ" ถูกบัญญัติมานานแสนนาน จนทุกวันนี้ผมยังไม่เข้าใจความหมายเลยครับ ใครช่วยอธิบายให้ผมเข้าใจได้ จักขอบพระคุณอย่างยิ่ง


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 มิ.ย. 11, 09:43
ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ไม่มีคำนี้ มีแต่คำว่า "บูรณาการรวมหน่วย"

บูรณาการรวมหน่วย น. การนําหน่วยที่แยก ๆ กันมารวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.

แต่ไปปรากฏใน พจนานุกรมคำใหม่ (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%88%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88) เล่ม ๑ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (ที่คนชอบเรียกกันว่าพจนานุกรมแอ๊บแบ๊ว เพราะมีศัพท์แอ๊บแบ๊ว ศัพท์วัยรุ่นเยอะ) ให้ความหมายไว้ว่า

บูรณาการ น. การรวมวิชาหรือกิจกรรมต่าง ๆ เข้าด้วยกันและจัดการสอนให้สัมพันธ์ต่อเนื่องกัน เช่น หลักสูตรนี้ส่งเสริมการสอนแบบบูรณาการ ก. นำส่วนย่อย ๆ มาประสานให้สอดคล้องกันอย่างเป็นระบบ เช่น รัฐบาลจะบูรณาการแผนการปราบปรามผู้ก่อการร้ายให้สอดคล้องกับสถานการณ์

มีอีกคำหนึ่งที่น่าสนใจคือคำว่า บูรณาโกง พจนานุกรมเล่มนี้เก็บคำไว้ด้วย ให้ความหมายว่า

บูรณาโกง ก. โกงทุกรูปแบบ,โกงทั้งครอบครัว เช่น นักการเมืองบางคนไม่ใช่แค่โกงแต่บูรณาโกง

 ;D



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 25 มิ.ย. 11, 11:03
อย่างนี้ไม่ต้อง "เอาคอพาดเขียง" หรอกครับ

"หัวหลุดจากบ่า" แน่นอน



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 25 มิ.ย. 11, 20:01
สามสิบกว่าปีที่แล้ว รอยอิน เคย บัญญัติศัพท์ในหมวดจิตวิทยาคำหนึ่งคือ  พหุภริยัตต์ เอาไว้ แต่ผมไม่เคยเห็นใครใช้เลย


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: kwang satanart ที่ 25 มิ.ย. 11, 20:46
ไฟจุกตูด       เคยได้ยินอยู่เหมือนกันค่ะ สมัยที่คุณพ่อท่านยังอยู่  ท่านมักพูดเวลามีเรื่องเดือดร้อนชนิดที่ต้องแก้ไขในทันทีทันใด

มือไม่มีเอ็น      หยิบจับอะไรเป็นหล่นเสียงดังเปรื่องปร่างอยู่บ่อยๆ

เด็กๆเดี๋ยวนี้ ไม่รู้จักเด็ก ไม่รู้จักผู้ใหญ่  ไม่รู้จักกิ่งก้อย  หัวแม่มือ

กินข้าวให้หมดเร็วๆเข้า  ตักให้คำโตๆหน่อย  มัวละเลียดตักคำเล็กๆอย่างนี้  เมื่อไหร่จะกินเสร็จเสียที

ปกตินอนกินบ้านกินเมือง  ตื่นเสียสายโด่ง  พอจะไปเที่ยวล่ะก็ตื่นเสียไก่โห่เชียวนะ

เวลาโพล้เพล้  จวนเจียนพระอาทิตย์จะตกอย่างนี้  อากาศช่างดูมัวซัวจริงๆ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 มิ.ย. 11, 21:09
^
เมื่อ "โพล้เพล้" แล้วยังมีอีกคำหนึ่ง คือ "ผีตากผ้าอ้อม"


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 มิ.ย. 11, 21:38
รอยอินท่านอธิบายไว้ดังนี้

โพล้เพล้ น. เวลาพลบคํ่า, เวลาจวนคํ่า, เวลาเข้าไต้เข้าไฟ, เพล้โพล้  ก็ว่า, ใช้ว่า พี้โพ้ ก็มี.

"โพล้เพล้" ยังมีคนใช้พูดอยู่  แต่คำว่า "เพล้โพล้" และ "พี้โพ้" มีใครเคยได้ยินบ้าง

 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 มิ.ย. 11, 21:59
ปกตินอนกินบ้านกินเมือง ตื่นเสียสายโด่ง พอจะไปเที่ยวล่ะก็ตื่นเสียไก่โห่เชียวนะ

ตื่นเสียสาย (ตะวัน) โด่ง ตรงกันข้ามกับ ตื่นแต่ไก่โห่



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 25 มิ.ย. 11, 22:21
คำว่า นอนทับตะวัน  เคยได้ยินไหมคะ...
คำว่า ผัวหาบเมียกระเดียด ก็แทบจะไม่ได้ยินแล้วนะคะ...
แล้วคำว่า เฉ่งปี๋ ยังพูดกันอยู่หรือเปล่าเอ่ย...
คำว่า เฉนียน  ใครรู้บ้างว่า แปลว่าฝั่งน้ำ ชายฝั่ง...


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 26 มิ.ย. 11, 03:36
นอนจน ตะวันโด่ง ตะวันส่องก้น  แล้วยังไม่ลุกขึ้นอีก

ก็มันสบายนี่นา มีผ้าผวย  ห่มแล้วอุ่นดี ไม่อยากจะลุกขึ้นหรอก

ไม่ลุกเรอะ เดี๋ยวแม่ก็จะ หวดให้หลังลาย  ซะนี่


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 มิ.ย. 11, 08:33
คำว่า ผัวหาบเมียกระเดียด ก็แทบจะไม่ได้ยินแล้วนะคะ...

เคยได้ยินแต่ ผัวหาบเมียคอน

 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มิ.ย. 11, 09:49
คำว่า นอนทับตะวัน  เคยได้ยินไหมคะ...

ไม่เคยได้ยินค่ะ   เคยแต่ได้ยินว่า "ตะวันทับตา" หรือ" ตะวันชอนตา"  โบราณเตือนคนที่นอนหลับตอนบ่ายแก่ๆไปตื่นเอาเย็นว่า ระวังตะวันทับตา หรือตะวันชอนตา   เพราะคนที่นอนหลับช่วงนี้ตื่นมามักจะปวดศีรษะ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 มิ.ย. 11, 10:59
คำว่า นอนทับตะวัน  เคยได้ยินไหมคะ...

ไม่เคยได้ยินค่ะ   เคยแต่ได้ยินว่า "ตะวันทับตา" หรือ" ตะวันชอนตา"  โบราณเตือนคนที่นอนหลับตอนบ่ายแก่ๆไปตื่นเอาเย็นว่า ระวังตะวันทับตา หรือตะวันชอนตา   เพราะคนที่นอนหลับช่วงนี้ตื่นมามักจะปวดศีรษะ

เคยได้ยินทั้ง "นอนทับตะวัน" และ "ตะวันทับตา"

คำว่า "ตะวัน" มีอีกหลายคำที่เดี๋ยวนี้มักไม่ใคร่ใช้พูดในชีวิตประวจำวัน แต่ไปปรากฏเป็นชื่อนวนิยายหรือชื่อเพลง ที่นึกออกก็มี ตะวันชิงพลบ (http://www.youtube.com/watch?v=8HKoNgAouyE), ตะวันยอแสง (http://www.youtube.com/watch?v=GXc2v5XPMOY), ตะวันรอน (http://www.youtube.com/watch?v=EQstJRXHRSI&feature=related)

 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 26 มิ.ย. 11, 12:28
เมื่อคืนวันที่ 24 มิ.ย. ราวสี่ทุ่ม  ขณะกำลังโพสท์ข้อความ หน้าเว็บได้หายไปเฉยๆ และไม่สามารถเปิดหน้าเว็ยของเรือนไทยได้จนถึงเจ็ดโมงเช้า
แต่เมื่อตรวจสอบ cashed copy ดู ปรากฎว่ายังมี่ท่านอื่นเข้ามาเขียนกระทู้ได้ตามปกติจนถึงราวเที่ยงคืน
เมื่อผมกลับมาจากทำงานราวสี่ทุ่มครึ่งของคืนวันที่ 25 มิ.ย. ได้เข้ามาเปิดหน้าเว็บอีก ครั้งนี้สามารเปิดได้  แต่เมื่อโพสท์ข้อความเสร็จคลิ๊ก ส่งข้อความ
ปรากฎข้อความขึ้นว่า Internal Server Error และข้อความที่ผมได้เขียนเอาไว้สูยหายไปหมด  ผมจึงย้ายไปที่กระทู้ ร่ายคำกลอนวันทอง และครั้งนี้
สามารถส่งข้อความได้ตามปกติในเวลาราวเที่ยงคืน
ขอเรียนถามว่าอาการเช่นนี้เกิดจากความผิดปกติของคอมพิวเตอร์ของผมหรือโมเด็มของผมเองหรือเปล่าครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 26 มิ.ย. 11, 13:37
เขาเดินกันมาถูกทางแล้ว  พอเธอมาก็พากันเดิน  "เข้ารกเข้าพง"  กันหมด

ถูก  "ลูบคม/ลบเหลี่ยม"  กันอย่างนี้ผมทนไม่ได้หรอก

หมอนี่พก  "ร่มชูชีพ"  มาทำงานตลอด  "ร่มไม่กาง"  วันไหนเป็นได้รู้สึกแน่

ก็มัวแต่เดิน  "กระปั้วกระเปี้ย"  บ่น  "กระปอดกระแปด"  ตลอดทาง  เพราะฉะนั้นถ้าไม่ทันแล้วอย่ามาพูดทีหลังนะ

พ่อแม่มาเยี่ยมแต่ละที  "ดีเนื้อดีใจ"  จน  "เนื้อเต้น"   (ปัจจุบันเห็นใช้  "ดีอกดีใจ"  เพียงอย่างเดียว  ยังมีใครใช้ "ดีเนื้อดีใจ" อยู่ไหมครับ?)

ทำตัวเป็น  "ว่าวเหลิงลม"  อย่างนี้  คงลืมนึกเผื่อถึงวัน  "หมดวาสนา"

พูดไม่ฟัง  เดี๋ยวพ่อจะ  "ถลกหนัง"  ให้ดู
   "             "       "กระชากหลัง"  ให้ขาด



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มิ.ย. 11, 13:39
ถ้าท่านอื่นๆเข้าเรือนไทยได้ ปัญหาอาจอยู่ที่ศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตที่คุณวิลลี่ใช้อยู่ ว่าขัดข้องเป็นระยะ   ศูนย์บริการอื่นเขาทำงานได้ปกติ  คนอื่นเลยเข้าได้
แต่ถ้าเข้าไม่ได้เฉพาะเว็บเรือนไทย  แต่คุณวิลลี่ลองเข้าเว็บอื่น ก็เข้าได้เป็นปกติ  แสดงว่า server ของเรือนไทยมีปัญหาขัดข้อง

ดิฉันก็เจอ Internal Server Error เข้าหลายทีเหมือนกัน สองสามวันนี้

สำหรับข้อความที่ศูนย์หาย  ถ้าพิมพ์เสร็จแล้วส่งเจอคำว่า Internal Server Error  ขอให้คุณวิลลี่รีบกดลูกศรตรงมุมซ้ายบนของจอ  ย้อนหลังกลับไปหน้าก่อน ข้อความที่พิมพ์อยู่จะกลับมา   สามารถ copy แล้ว paste ลงใน text file หรือ word pad เพื่อเก็บไว้ค่ะ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 26 มิ.ย. 11, 14:19
ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ไม่มีคำนี้ มีแต่คำว่า "บูรณาการรวมหน่วย"

บูรณาการรวมหน่วย น. การนําหน่วยที่แยก ๆ กันมารวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.

แต่ไปปรากฏใน พจนานุกรมคำใหม่ (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%88%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88) เล่ม ๑ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (ที่คนชอบเรียกกันว่าพจนานุกรมแอ๊บแบ๊ว เพราะมีศัพท์แอ๊บแบ๊ว ศัพท์วัยรุ่นเยอะ) ให้ความหมายไว้ว่า

บูรณาการ น. การรวมวิชาหรือกิจกรรมต่าง ๆ เข้าด้วยกันและจัดการสอนให้สัมพันธ์ต่อเนื่องกัน เช่น หลักสูตรนี้ส่งเสริมการสอนแบบบูรณาการ ก. นำส่วนย่อย ๆ มาประสานให้สอดคล้องกันอย่างเป็นระบบ เช่น รัฐบาลจะบูรณาการแผนการปราบปรามผู้ก่อการร้ายให้สอดคล้องกับสถานการณ์

มีอีกคำหนึ่งที่น่าสนใจคือคำว่า บูรณาโกง พจนานุกรมเล่มนี้เก็บคำไว้ด้วย ให้ความหมายว่า

บูรณาโกง ก. โกงทุกรูปแบบ,โกงทั้งครอบครัว เช่น นักการเมืองบางคนไม่ใช่แค่โกงแต่บูรณาโกง

 ;D


บูรณาโกง ไม่ทราบว่าบัญญัติมาตั้งแต่ยุคไหน แต่ยังทันสมัยและใช้ได้ดีมากสำหรับยุคนี้เลยครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 26 มิ.ย. 11, 14:31
โอ้ ขอบพระคุณ อ. เทาชมพู มากครับ  ผมเบื่อพิมพ์ข้อความที่ต้องพิมพ์ซ้ำซากจนไม่อยากจะโพสท์อะไรแล้ว  ถ้ารู้วิธีแก้ไขอย่างนี้ ค่อยยังชั่ว

แล้วอาการที่เวลาเปลี่ยนหัวข้อกระทู้แล้วหน้าเว็บหายไปเลย  ใช้ browser ไหนก็ไม่ได้ผล เข้าหน้าเว็บเรือนไทยไม่ได้เช่นกัน  แต่เว็บอื่นเป็นปกติดี
บางครั้งไปนั่งดื่มกาแฟสักถ้วย กลับมาก็เข้าได้เป็นปกติ  แต่บางครั้งถึงแม้เปิดหน้าเว็บได้  แต่พอโพสท์ส่งข้อความหน้าเว็บก็หายไปอีก  อาการนี้เริ่ม
เป็นตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย. แล้วครับ แต่นานๆ ครั้ง  เริ่มเป็นหนักในวันที่ 22-23 พอถึงคืนวันที่ 24 ตอนช่วงสี่ทุ่มก็ล่มไปเลย  แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าจะ
เป็นปกติแล้ว (แค่คาดเดาครับ)


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 26 มิ.ย. 11, 15:46
"พักน้อย" ไม่รู้ตามโรงเรียนมีพักแบบนี้อีกหรือเปล่า พักในช่วงประมาณบ่ายๆ สัก 15-20 นาที พอให้เด็กได้หายร้อนหรือหายเครียด


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 26 มิ.ย. 11, 15:48
ชั้นน่ะเบื่อหัวหน้าเต็มที จะขอลางานแต่ละทีต้องมีของไป  "จิ้มก้อง"  ถึงจะเซ็นอนุมัติ

อย่าห่วง  ร้านนี้ชั้น  "เซ็น"  ได้  เครดิตดีซะอย่าง

อีตาคน  "แซ่หลี"  ไปแล้วเหรอ  ชั้นเกลียดขี้หน้าชะมัด

คงไปสร้าง  "วีรเวรวีรกรรม"  เอาไว้ที่นั่นน่ะสิ  พอผ่านไปแถวนั้นเลย  "โดนจนอ่วม"  ขนาดนั้น

ทำไมจึง  "เร่อร่า"  ขนาดนี้  ครูก็ทำเครื่องหมายออกจะเห็นชัดแล้วนะ  ยังเดินชนจนได้


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 26 มิ.ย. 11, 15:55
ขณะนั่งคิดหา คำไทยที่หายไป สมองได้หวนนึกไปหาภาพแมลงชนิดหนึ่งที่เรียกว่า  "หมาร่า"  ที่เกาะทำรังอยู่ตามข้างฝาบ้านผมในอดีต
ผมจำไม่ได้แล้วว่าไม่เคยได้เห็น หมาร่า มานานแล้วสักเท่าใด  ถ้าคุณ Siamese กลับมาแล้ว ผมขอชมภาพหน่อยนะครับ คิดถึงจริงๆ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 26 มิ.ย. 11, 16:46
ขณะนั่งคิดหา คำไทยที่หายไป สมองได้หวนนึกไปหาภาพแมลงชนิดหนึ่งที่เรียกว่า  "หมาร่า"  ที่เกาะทำรังอยู่ตามข้างฝาบ้านผมในอดีต
ผมจำไม่ได้แล้วว่าไม่เคยได้เห็น หมาร่า มานานแล้วสักเท่าใด  ถ้าคุณ Siamese กลับมาแล้ว ผมขอชมภาพหน่อยนะครับ คิดถึงจริงๆ

แหม...ทักทายกัน ช่างสรรหาเอาหมาร่า อยากเห็นซะงั้น แบบนี้ต้องลดความอยากด้วยการ "เอาเงินฟาดหัว" ดีไหม


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 26 มิ.ย. 11, 16:48
หมาร่า

ชื่อวิทยาศาสตร์ Sphex viduatus Christ
หมาร่าเป็นชื่อต่อหลายชนิดในวงศ์ Sphecidae ใช้ดินเหนียวทํารังขนาดกําปั้นหรือ
เล็กกว่าติดตามฝ้า คาน เสาบ้าน หรือบริเวณที่ร่มอื่น ๆ ในรังมีหนอนหรือ
เหยื่อที่ถูกต่อยให้สลบเพื่อเป็นอาหารของลูกอ่อน เช่น ชนิด Eumenes
petiolata


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 26 มิ.ย. 11, 16:59
ไม่ได้เห็นมานานจริงๆ ขอบคุณครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 มิ.ย. 11, 17:01
หมาร่า

ชื่อวิทยาศาสตร์ Sphex viduatus Christ
หมาร่าเป็นชื่อต่อหลายชนิดในวงศ์ Sphecidae ใช้ดินเหนียวทํารังขนาดกําปั้นหรือ
เล็กกว่าติดตามฝ้า คาน เสาบ้าน หรือบริเวณที่ร่มอื่น ๆ ในรังมีหนอนหรือ
เหยื่อที่ถูกต่อยให้สลบเพื่อเป็นอาหารของลูกอ่อน เช่น ชนิด Eumenes
petiolata  

หมาร่าไม่ใช่ชื่อต่อชนิดเดียวแต่เป็นชื่อรวมของต่อหลายชนิด รอยอินให้คำจำกัดความดังที่คุณหนุ่มได้ให้ไว้ข้างบน

หมาร่า น. ชื่อต่อหลายชนิดในวงศ์ Sphecidae ใช้ดินเหนียวทํารังขนาดกําปั้นหรือเล็กกว่าติดตามฝ้า คาน เสาบ้าน หรือบริเวณที่ร่มอื่น ๆ ในรังมีหนอนหรือเหยื่อที่ถูกต่อยให้สลบเพื่อเป็นอาหารของลูกอ่อน เช่น ชนิด Eumenes petiolata.

คุณวิลลี่จะดูหมาร่าชนิดต่าง ๆ ในประเทศไทยได้ในเว็บข้างล่างนี้

http://www.malaeng.com/blog/?cat=168

 ;D




กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 26 มิ.ย. 11, 17:34
ขอบพระคุณ อ. เพ็ญชมพู ครับ ผมค่อยๆ พิจารณาภาพแต่ละภาพ  หลายภาพเคยเห็นจนคุ้นเคย  แต่ส่วนใหญ่ไม่เคยเห็น หรือจำไม่ได้ว่าเคยเห็น
สมัยก่อนผมเรียกรวมกันไปหมด  ถ้าเอวคอดกิ่วยาวๆ ผมก็เรียกว่าแตน  ถ้าเอวหนาๆ หรือค่อนข้างหนาผมก็เรียกว่าต่อ  ส่วน หมาร่า มีลักษณะ
แตกต่างไปจากทั้งต่อและแตน (โดยความเข้าใจในขณะนั้น) ไม่ค่อยน่ากลัว

เมื่อที่บ้านยังมีต้นขนุนอยู่  เวลาลูกขนุนงอมและหล่นลงมาตกแตก  จะมีแตนมาชุมนุมกันเป็นจำนวนมากเพื่อกินเนื้อขนุน  แตนชนิดนั้นจัดเข้าเป็น
จำพวกของหมาร่าด้วยหรือไม่ครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 26 มิ.ย. 11, 17:41
เห็นฟ่อนนั้นของคุณ Siamese แล้ว แฮ่ม! โดนฟาดสักทีคงดีเหมือนกัน  ขอบคุณสำหรับภาพสวยๆ ครับ

ทีนี้เพื่อแก้ตัว หมาร่า ผมขอภาพ แมลงทับ ก็ได้ ต้องมีทั้งคุณผู้หญิงและคุณผู้ชายด้วยนะครับ

-:เขียวเหมือนพระอินทร์ บินเหมือนนก ศรปักอก นกก็ไม่ใช่ ?:-


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 มิ.ย. 11, 18:17
สมัยก่อนผมเรียกรวมกันไปหมด  ถ้าเอวคอดกิ่วยาวๆ ผมก็เรียกว่าแตน  ถ้าเอวหนาๆ หรือค่อนข้างหนาผมก็เรียกว่าต่อ  ส่วน หมาร่า มีลักษณะ
แตกต่างไปจากทั้งต่อและแตน (โดยความเข้าใจในขณะนั้น) ไม่ค่อยน่ากลัว

เมื่อที่บ้านยังมีต้นขนุนอยู่  เวลาลูกขนุนงอมและหล่นลงมาตกแตก  จะมีแตนมาชุมนุมกันเป็นจำนวนมากเพื่อกินเนื้อขนุน  แตนชนิดนั้นจัดเข้าเป็น
จำพวกของหมาร่าด้วยหรือไม่ครับ

ต่อ กับแตน ต่างกันอย่างไร

ต่อ เป็นแมลงที่มีพิษเพศเมีย (หมายถึง Queen และ Worker) เพราะต้องมีเหล็กไนอยู่ที่ปลายท้องเพื่อต่อยเหยื่อและไว้ป้องกันรัง มีปีกบางใสสองคู่ ปีกคู่หลังมีขนาดเล็กกว่าปีกคู่หน้ามาก มีปากแบบแมลงโบราณซึ่งมีเขี้ยวที่กางออกทางข้างสองข้าง ทำให้ต่อสามารถสร้างรังจากดินได้ในรูปแบบต่าง ๆ จัดอยู่ในวงศ์ Vespidae อันดับ Hymenoptera มีขนาดใหญ่ ลำตัวอ้วน มีความยาวตั้งแต่ ๑๕ มิลลิเมตรขึ้นไป  

ส่วน แตน เป็นแมลงในวงศ์เดียวกันกับต่อ (Vespidae) แต่มีขนาดเล็กกว่า ลำตัวผอมเรียว มีความยาวสั้นกว่า ๑๕ มิลลิเมตร ส่วนใหญ่ต่อจะสร้างรังรูปทรงกลม ในขณะที่แตนสร้างรังได้หลายรูปแบบ ทั้งรูปทรงคล้ายฝักบัว เป็นแผ่นบาง หรือเป็นเส้นยาว ตัวอย่างต่อที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันดี คือต่อหัวเสือบ้าน Vespa affinis (Linnaeus, 1764) เป็นต่อหัวเสือที่พบทุกภาคของประเทศไทย มีการทำรังเป็นรังรูปทรงกลมใหญ่ มักอยู่ตามใต้ต้นไม้ใหญ่ เป็นต่อที่มีบทบาทมาก และเคยมีข่าวรุมต่อคนถึงตายได้ถ้าคนไปรบกวนทำร้ายต่อก่อน แต่ปกติต่อจะหากินไปทั่ว เช่นตามผลไม้สุกงอม ตามเศษอาหารที่คนทิ้งไว้ เป็นต้น

หมาร่า อยู่ในวงศ์ Sphecidae ไม่ได้อยู่ในวงศ์ Vespidae เหมือนต่อทั่ว ๆ ไป แต่ก็ยังเรียกว่าต่อ

นอกจากนี้ก็ยังมีแมลงอีกหลายชนิดที่อยู่ในวงศ์อื่นแต่เราเรียกว่าต่อ เช่น ต่อแมงมุม อยู่ในวงศ์ Pompilidae มีขายาว ตัวผอม ๆ ซี่งบางทีก็อาจหลงไปเรียกแตนได้ง่าย ๆ ต่อกาเหว่า อยู่ในวงศ์ Chrysididae มีสีเขียวตัวป้อม ๆ สั้น ๆ  ต่อรู อยู่ในวงศ์ Scoliidae มีขนมีตัวเรียว ๆ อาศัยอยู่ในรูใต้ดิน และต่อฟันเลื่อย อยู่ในวงศ์ Tenthredinidae

คุณวิลลี่สามารถดูหน้าตาของต่อและแตนในเมืองไทยและคำอธิบายเพิ่มเติมได้ในเว็บข้างล่าง

http://www.malaeng.com/blog/?cat=75

 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 26 มิ.ย. 11, 18:43
โอ้โห ขอบพระคุณ อ. เพ็ญชมพู  ด้วยใจจริงครับ  อายุขนาดนี้ผมยังแยกประเภท ต่อ-แตน ผิดๆ ถูกๆ อยู่เลย  รายละเอียดน่าศึกษาจริงๆ
คืนนี้ตอนดึกๆ ต้องทำตัวเป็นนักกีฏวิทยาเสียแล้ว เพราะมีเรื่องของมด และแมลงอื่นๆ อยู่ใน link นี้ด้วย

มีมดอยู่ชนิดหนึ่ง ตัวขนาดมดแดงบนต้นมะม่วง  แต่ตัวสีดำ ก้นใส เวลากัดจะปวดมาก ผมเรียกว่า "มดอ้ายชื่น" แต่กลับไม่มีคนรู้จัก  ขนาดอายุ
ตั้งสี่สิบห้าสิบแล้วยังไม่รู้จักกันเลย  ผมเลยสงสัยว่าผมเรียกชื่อผิดหรือเปล่า  ไม่ทราบว่า อ. เพ็ญชมพู พอจะกรุณาอธิบายหรือหาภาพมาให้ดูได้
หรือไม่ครับ  ผมจะได้หายสงสัยเสียที  (อาจารย์คงพอนึกภาพออกนะครับ มดดำตัวใหญ่ๆ บางตัวก้นใสเหมือนบรรจุน้ำอยู่ข้างใน)


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 มิ.ย. 11, 19:25
รอยอินท่านอธิบายไว้ดังนี้

อ้ายชื่น น. ชื่อมดหลายชนิดในวงศ์ Formicidae ตัวสีดํา ขนาดไล่เลี่ยกับมดแดง อาศัยเป็นกลุ่มอยู่ตามต้นไม้ เช่น ต้นส้ม มักจะเลี้ยงเพลี้ยซึ่งอาจเป็นเพลี้ยแป้งหรือเพลี้ยหอย เมื่อถูกรบกวนมักรวมกลุ่มต่อยและกัด เช่น พวกที่อยู่ในสกุล Camponotus, Diacamma และPolyrachis, ชื่น ก็เรียก.

ในลิ้งก์ที่ให้ไว้ข้างล่าง คุณวิลลี่สามารถพบมดอ้ายชื่นได้ในนาม "มดไอ้ชื่น" และมดชนิดต่าง ๆ ในประเทศไทยอีกมากมาย

(http://www.pantown.com/data/53815/board1/25-20100707195446.jpg)

http://www.malaeng.com/blog/?p=5935

 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 26 มิ.ย. 11, 20:11
ขอบคุณ อ. เพ็ญชมพู ครับ วันนี้มีความสุขจริงๆ  นอกจากสนุกแล้วยังได้ความรู้เกี่ยวกับมดและแมลงมากมาย
ผมคิดว่า มดอ้ายชื่น อาจเป็นเพียง คำไทยที่หายไป  แต่กลับได้ความรู้ตอบแทนคืนมามากมาย คุ้มค่าครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 26 มิ.ย. 11, 20:56
ปล่อยหุ่นเป็น  "พะโล้"  อย่างนี้ ผู้ชายที่ไหนใครเขาจะมา  "เหล่"  เธอ

ไปกิน  "หัวใจเสือดีหมี"  ที่ไหนมา ถึงได้กล้าขนาดนี้

ขืนทำ  "อ้อยอิ่ง"  อย่างเธอ ไม่ทันรับประทานแน่
         อ้อยอิ่ง    = มัวชักช้าร่ำไร

ขืนทำ  "อ้อยส้อย"  อย่างเธอ  "ชวด"  แน่  เดี๋ยวเขาก็ไปหาสาวอื่นหรอก
         อ้อยส้อย  = เสแสร้งทำเป็นเศร้าเสียใจ
         ชวด       = ไม่ได้สมใจหวัง

จะ  "ระเห็จ"  ไปไหนก็ไป  แม่ชักเกลียดขี้หน้าแล้ว

ไหนลอง  "กล่าวตอบสนองไข"  ไปซิ  เรื่องราวมันเป็นไงมาไงกันแน่
         กล่าวตอบสนองไข  = อธิบาย

ชั้นไม่เข้าใจเลยว่าคู่นี้เขาได้กันยังไง  หยั่งกะ  "พ่อไก่แจ้แม่ไก่อู"  งั้นแหละ
  "               "              "        "      "   ไหกับตุ่ม    "      "


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 26 มิ.ย. 11, 21:16
เห็นฟ่อนนั้นของคุณ Siamese แล้ว แฮ่ม! โดนฟาดสักทีคงดีเหมือนกัน  ขอบคุณสำหรับภาพสวยๆ ครับ

ทีนี้เพื่อแก้ตัว หมาร่า ผมขอภาพ แมลงทับ ก็ได้ ต้องมีทั้งคุณผู้หญิงและคุณผู้ชายด้วยนะครับ

-:เขียวเหมือนพระอินทร์ บินเหมือนนก ศรปักอก นกก็ไม่ใช่ ?:-

แมลงทับ ชอบจับมาเล่น มักอยู่ใต้ต้นมะขามเทศ บริเวณโคนต้นก็คุ้ยเขียดินหา "ไข่แมลงทับ" สีเหลือง กระเด้งกระดอนได้ไกล นำมาเป็นของเล่นได้สนุกสนานครับ
ไม่น่าเชื่อว่าธรรมชาติจะสร้างสรรค์เปลือกสีเขียวให้งดงาม เหลือบฟ้าได้เช่นนี้ บางตัวก็เหลือบเขียว เหลือบทองครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 26 มิ.ย. 11, 21:21

ขืนทำ  "อ้อยอิ่ง"  อย่างเธอ ไม่ทันรับประทานแน่
         อ้อยอิ่ง    = มัวชักช้าร่ำไร


คุณ Willyquiz ลองกลับคำจะกลายเป็น "อิ่งอ้อย" ครับ ไม่ทราบว่าเคยเล่นหรือไม่ครับ นำมาจุ่มน้ำมะนาว แล้วอิ่งอ้อยจะเดินได้ครับ

หลักการ อิ่งอ้อยเป็นองค์ประกอบของ แคลเซียมคาร์บอเนต พบในเปลือกหอย และเมื่อโดนกรดมะนาว ก็จะเกิดฟองทำให้เดิน กระดึ๊บ ๆ ได้ ถ้าบีบมะนาวมาก ๆ ก็จะ กระดึ๊บ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ เด็กน้อยสนุกสนานอย่างมากครับ

บางพื้นที่ถือว่า อิ่งอ้อย เป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์ และมีอีกชื่อว่า ดวงตาพระศิวะ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 26 มิ.ย. 11, 21:50
คุณ Siamese เข้ามาที ทำตัวเหมือน ซึงหงอคง เห็นแต่เมฆ ไม่เห็นตัว

ไม่เคยเล่นเลยครับ  แม้แต่ชื่อก็ไม่เคยได้ยิน  ไม่ทราบว่านิยมเล่นกันในภาคไหนครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 26 มิ.ย. 11, 22:03
คุณ Siamese เข้ามาที ทำตัวเหมือน ซึงหงอคง เห็นแต่เมฆ ไม่เห็นตัว

ไม่เคยเล่นเลยครับ  แม้แต่ชื่อก็ไม่เคยได้ยิน  ไม่ทราบว่านิยมเล่นกันในภาคไหนครับ

มิใช่ "ขอมดำดิน" นะครับที่เจอวาจาสิทธิ์แห่งพระร่วงเจ้าเป็นหิน

ภาคตะวันออกบ้านผมเล่นกันครับ  ;)


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 26 มิ.ย. 11, 22:06
คุณ Willyquiz รู้จักคำนี้ไหมครับ "ปลาตัวเดียวกินทั้งปี"  ;)

"พี่น้องคลานตามกันมา"



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 26 มิ.ย. 11, 22:15
เห็นฟ่อนนั้นของคุณ Siamese แล้ว แฮ่ม! โดนฟาดสักทีคงดีเหมือนกัน  ขอบคุณสำหรับภาพสวยๆ ครับ

ทีนี้เพื่อแก้ตัว หมาร่า ผมขอภาพ แมลงทับ ก็ได้ ต้องมีทั้งคุณผู้หญิงและคุณผู้ชายด้วยนะครับ

-:เขียวเหมือนพระอินทร์ บินเหมือนนก ศรปักอก นกก็ไม่ใช่ ?:-

แมลงทับ ชอบจับมาเล่น มักอยู่ใต้ต้นมะขามเทศ บริเวณโคนต้นก็คุ้ยเขียดินหา "ไข่แมลงทับ" สีเหลือง กระเด้งกระดอนได้ไกล นำมาเป็นของเล่นได้สนุกสนานครับ
ไม่น่าเชื่อว่าธรรมชาติจะสร้างสรรค์เปลือกสีเขียวให้งดงาม เหลือบฟ้าได้เช่นนี้ บางตัวก็เหลือบเขียว เหลือบทองครับ

ได้ภาพมาแต่คุณสุภาพสตรีแสนสวย แล้วคุณสุภาพบุรุษสุดหล่อไม่มีหรือครับ

คุณ Siamese ไปเล่นไข่แมงทับที่ไหนกันครับ  สำหรับผมเอง ยอมรับว่าไม่เคยเห็นแมงทับในกรุงเทพมาอย่างน้อยก็สี่สิบปีแล้ว  อย่าว่าแต่แมงทับเลย  แม้แต่นกแซงแซว
นกกางเขน  นกเอี้ยง  นกขุนทอง  ผมก็ไม่เคยเห็นในกรุงเทพมาหลายสิบปีเช่นกัน
(แมลงทับ เป็นแมลงชนิดที่อาจเรียกเป็นคำพูดว่า แมง ได้โดยไม่ถือว่าผิด = คุณครูสอนเอาไว้ในอดีต)
ส่วนเหลือบปีกของแมงทับตัวเดียวกัน  แต่ดูตอนต่างเวลากัน  สีเหลือบของปีกก็เปลี่ยนไปตามเวลาได้ซึ่งน่าแปลกมาก  ผมเห็นคนจับเอาแมงทับมาแล้วเอาเข็มหมุดปักตรึง
มันไว้เรียงกันเพื่อดูเหลือบสีของปีกมันคราวใด  ผมอารมณ์เสียทุกที  ถึงแม้ว่าสมัยนั้นหาได้ง่ายมากก็ตาม  สัตว์แสนสวยอย่างนี้น่าจะปล่อยมันไว้ตามธรรมชาติน่าจะเหมาะกว่า


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 26 มิ.ย. 11, 22:31
คุณ Willyquiz รู้จักคำนี้ไหมครับ "ปลาตัวเดียวกินทั้งปี"  ;)

"พี่น้องคลานตามกันมา"



เคยได้ยินครับ แต่ไม่เคยเข้าใจมาจนปัจจุบันนี้  สมัยนั้นคิดว่าเขาเปรียบเทียบกับคนตระหนี่  ว่าขี้เหนียวจนกระทั่งเวลากินข้าวก็เอาปลาเค็มแขวนเอาไว้
กลางวงข้าว  เวลาจะกินก็เอาช้อนไปแตะๆ ตัวปลาเค็มแล้วก็กินข้าวตามไป  แต่ตอนนี้ไม่แน่ใจว่าเคยเข้าใจถูกต้องหรือไม่ครับ

ส่วนพี่น้องคลานตามกันมา หมายถึงพี่น้องท้องเดียวกันครับ

และคุณ Siamese มีอิทธิฤทธิ์เกินขอมดำดินเยอะ  ผมมิบังอาจไปลดศักดิ์ศรีลงมาหรอก  แต่นึกไม่ออกว่าจะมีอะไรที่มาเหนือเมฆเกินคุณ Siamese ไปได้
นอกจากเห้งเจีย


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 26 มิ.ย. 11, 23:30
"ปลาตัวเดียวกินทั้งปี" เป็นการสอนให้รู้จักแบ่งปันผู้อื่นค่ะ  ;D
รู้จักมีน้ำใจให้ผู้อื่น แล้วเราก็จะได้รับน้ำใจจากผู้อื่นตอบกลับมา
เหมือนเรามีปลาอยู่หนึ่งตัว เรามีน้ำใจทำอาหารแบ่งปันไปให้บ้านอื่นๆ ด้วย
วันหลังบ้านอื่นๆ ก็มีน้ำใจตอบแทนกลับมา อาจจะเป็น พืช ผัก ผลไม้ ไข่ หมู ฯลฯ
เปรียบเหมือน "ปลาตัวเดียวกินทั้งปี"


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: kwang satanart ที่ 27 มิ.ย. 11, 01:34
ผัวหาบเมียกระเดียด  มีนะคะ   เป็นบทร้องในละครเรื่องราชาธิราชไงคะ

มาจะกล่าวถึงมอญใหม่ ตกมาอยู่เมืองไทยนานหนักหนา

ตัวของมอญชื่อมะเทิ่ง เมียชื่อเม้ยเจิงงามโสภา

รุ่งแจ้งแสงทอง พระอาทิตย์สอดส่องขึ้นขอบฟ้า
ร้องเรียกแม่เม้ยมังคยา สายแล้วหล่อนจ๋าไปขายแป้งน้ำมัน

ฝ่ายแม่เม้ยนารี พอได้ยินสามีร้องเรียกหา
จัดแจงแป้งน้ำมันมิทันช้า รีบออกไปหาสามี

ผัวหาบเมียกระเดียด ก็มิได้รังเกียจทั้งสองศรี
ตะวันก็สายบ่ายเต็มที รีบจรลีทั้งสองรา

ผัวหาบเมียกระเดียด  ก็มิได้รังเกียจทั้งสองศรี

คำว่า กระเดียด  ใช้กับ กระจาดค่ะ   ส่วนคำว่า  คอน  มักใช้เมื่อเราต้องใช้ไม้คานในการหาบค่ะ  เช่น  แม่ค้ากำลังคอนหาบขนมขึ้นบ่า

ในภาพ  คือการกระเดียดกระจาดค่ะ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: kwang satanart ที่ 27 มิ.ย. 11, 01:47
นอนทับตะวัน  ก็อาจจะมี  แต่  ตะวันทับตา    นี่จะคุ้นหูมากที่สุด   ผู้ใหญ่มักพูดทักท้วง ถ้าเห็นใครสักคน นอนตอนเย็นๆ ใกล้ค่ำ  ว่านอนให้

ตะวันทับตา ไม่ดี  ท่านคงหมายถึง เรานอนอยู่ แม้  ตะวันจะชิงพลบ  คือตะวันใกล้ตกเต็มที  แต่ก็อยู่สูงกว่าตัวเรา  จึงกลายเป็นตะวันทับตา ความจริง

ท่านคงหมายถึง  แสงตะวันน่ะค่ะ  ท่านเชื่อว่า นอนตอนนี้จะทำให้ปวดศีรษะ  อันนี้ยืนยันได้  เพราะได้ยินมาแทบจะทั้งชีวิต  คุณแม่ท่านเรียกบ่อย  เวลา

นอนตอนบ่าย ๆ  เพิ่งมาห่างหายตอนท่านจากไปนี่เอง   ตัวเองก็พูดกับลูกอยู่บ่อยเหมือนกัน   แต่เด็กสมัยนี้  ไม่ค่อยว่างเหมือนสมัยก่อน  เพราะต้องออกไปเรียน

พิเศษกันทุกเสาร์อาทิตย์  เลยไม่มีเวลามานอนให้ตะวันทับตา  ไม่เหมือนสมัยก่อน  ว่างมาก นอนยามบ่าย เชื่อมต่อตอนใกล้เย็น  ให้คุณแม่เรียกบ่อย ๆ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 27 มิ.ย. 11, 02:11
นั่งอ่าน link ของ อ. เพ็ญชมพู จนหมด ว่าจะนอนแล้วเชียว เหลียวมาเห็นว่ามีใครบางคนเข้ามาที่กระทู้นี้ ที่แท้ก็เป็นคุณ D.D. กับคุณ kwang นี่เอง
ขอบคุณ คุณ D.D. มากครับ  หญ้าปากคอกแท้ๆ โง่อยู่นาน  แต่อย่างผมนี่ต้องบอกว่า กล้วยหวีเดียว ได้ดื่มน้ำอัญชันทั้งปี แทนแล้วละ
คุณ kwang ก็ช่างกระไร ไม่ค่อยหาคำมาลงเลย  ผมน่ะจะหมดกรุอยู่แล้วเพราะยื้อกระทู้นี้อยู่แทนคุณ kwang  ตอนนี้กว่าจะคิดได้แต่ละคำก็แทบแย่
มาช่วยๆ กันหน่อยครับ  ผมเองก็อยากรู้จักคำที่ผมไม่เคยพบมาก่อนเช่นกันครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 มิ.ย. 11, 07:11
"ปลาตัวเดียวกินทั้งปี" เป็นการสอนให้รู้จักแบ่งปันผู้อื่นค่ะ  ;D
รู้จักมีน้ำใจให้ผู้อื่น แล้วเราก็จะได้รับน้ำใจจากผู้อื่นตอบกลับมา
เหมือนเรามีปลาอยู่หนึ่งตัว เรามีน้ำใจทำอาหารแบ่งปันไปให้บ้านอื่นๆ ด้วย
วันหลังบ้านอื่นๆ ก็มีน้ำใจตอบแทนกลับมา อาจจะเป็น พืช ผัก ผลไม้ ไข่ หมู ฯลฯ
เปรียบเหมือน "ปลาตัวเดียวกินทั้งปี"


ถูกต้องแล้วครับ คุณดีดี นี่คือความหมายที่แท้จริงของ "ปลาตัวเดียวกินทั้งปี"


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 27 มิ.ย. 11, 08:39
"ปลาตัวเดียวกินทั้งปี" เป็นการสอนให้รู้จักแบ่งปันผู้อื่นค่ะ  ;D
รู้จักมีน้ำใจให้ผู้อื่น แล้วเราก็จะได้รับน้ำใจจากผู้อื่นตอบกลับมา
เหมือนเรามีปลาอยู่หนึ่งตัว เรามีน้ำใจทำอาหารแบ่งปันไปให้บ้านอื่นๆ ด้วย
วันหลังบ้านอื่นๆ ก็มีน้ำใจตอบแทนกลับมา อาจจะเป็น พืช ผัก ผลไม้ ไข่ หมู ฯลฯ
เปรียบเหมือน "ปลาตัวเดียวกินทั้งปี"


ถูกต้องแล้วครับ คุณดีดี นี่คือความหมายที่แท้จริงของ "ปลาตัวเดียวกินทั้งปี"

ยอมรับว่าตัวเองโง่แล้ว  ยังจะมา  "ตีวัวกระทบคราด"  กันอีก  ฮือ ฮือ ฮือ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: bangplama ที่ 27 มิ.ย. 11, 08:59
คอนก็คอน
หาบก็หาบ

การคอนต้องใช้ไม้คานเช่นกัแต่ไม่ใช่การหาบ
มักพบตอนขากลับที่ขายของหมดแล้ว จะเอากระจาดและสาแหรกทั้งสองข้างมารวมกัน
แล้วเอาปลายไม้คานสอดสาแหรกเอาขึ้นบ่าโดยเอามือกดปลายคานด้านห้าให้ตำไว้เพื่อสร้างสมดุล


"คอน  น. ไม้ที่ทําไว้ให้นกหรือไก่จับ. ว. หนักข้างหนึ่งเบาข้างหนึ่ง. ก. เอา
 สิ่งของห้อยที่ปลายไม้คานหรือปลายไม้เพียงข้างเดียวแล้วแบกบ่า
 พาไป; เหยียดแขนข้างหนึ่งแล้วเอามือจับปลายของที่หนักยกขึ้น. "
 
 



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 มิ.ย. 11, 09:09
รอยอินท่านว่า

ผัวหาบเมียคอน (สํา) ช่วยกันทํามาหากินทั้งผัวทั้งเมีย, ชายหาบหญิงคอน ก็ว่า.

หาบ   ก. เอาของห้อยปลายคาน ๒ ข้างแล้วแบกกลางคานพาไป.

คอน  ก. เอาสิ่งของห้อยที่ปลายไม้คานหรือปลายไม้เพียงข้างเดียวแล้วแบกบ่าพาไป.

คุณบางปลาม้าช่วยอธิบายให้เห็นภาพ

ตอนขาไปเอาของไปขายมีของอยู่เต็มกระจาดทั้งสองข้าง เป็นหน้าที่ของผู้ชายต้องหาบเนื่องจากมีน้ำหนักมาก  พอตอนขากลับขายของหมดแล้วเหลือแต่กระจาดเปล่า ตอนนี้แหละเป็นหน้าที่ของผู้หญิงจะคอนกลับบ้าน

 ;D
 
 


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 27 มิ.ย. 11, 09:09
นั่งอ่าน link ของ อ. เพ็ญชมพู จนหมด ว่าจะนอนแล้วเชียว เหลียวมาเห็นว่ามีใครบางคนเข้ามาที่กระทู้นี้ ที่แท้ก็เป็นคุณ D.D. กับคุณ kwang นี่เอง
ขอบคุณ คุณ D.D. มากครับ  หญ้าปากคอกแท้ๆ โง่อยู่นาน  แต่อย่างผมนี่ต้องบอกว่า กล้วยหวีเดียว ได้ดื่มน้ำอัญชันทั้งปี แทนแล้วละ
คุณ kwang ก็ช่างกระไร ไม่ค่อยหาคำมาลงเลย  ผมน่ะจะหมดกรุอยู่แล้วเพราะยื้อกระทู้นี้อยู่แทนคุณ kwang  ตอนนี้กว่าจะคิดได้แต่ละคำก็แทบแย่
มาช่วยๆ กันหน่อยครับ  ผมเองก็อยากรู้จักคำที่ผมไม่เคยพบมาก่อนเช่นกันครับ

นำมาแนบไว้ในกระทู้นี้ จากกระทู้การละเล่นของเด็กไทย เป็นคำที่คุณ willyquiz นำมาเสนอเอง "เรียบร้อยอย่างกับผ้าพับไว้ในโรงจำนำ"

ผมเองจัดอยู่ในประเภท "กระโดกกระเดก"


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 27 มิ.ย. 11, 09:55
ภาพ ผัวหาบเมียคอนค่ะ ... ;D
ส่วนภาพล่าง ผัวหาบเมียกระเดียดค่ะ ...


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 27 มิ.ย. 11, 10:32
คำชุดนี้ มาจากกฏหมายโบราณค่ะ เดี๋ยวนี้ไม่น่าจะใช้กันแล้วนะคะ ... ;D

- เมียกลางเมือง
- เมียกลางนอก
- เมียกลางทาษี
- หลบฝาก
- ฝากบำเรอ
- บังกัด
- แม่เจ้าเรือน
- แม่หม้ายงานท่าน
- นมบกอกพร่อง
- เชิงกระยาดอกเบี้ย
- สินหัวบัวนาง

ใครทราบความหมายบ้างเอ่ย..... ;)


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 มิ.ย. 11, 10:53
เมียกลางเมือง หมายถึง หญิงอันบิดา มารดา กุมมือให้เป็นเมีย คำว่า กุมมือให้ แปลว่า บิดามารดาได้ยินยอมหรือผู้ที่เป็นญาติมีอำนาจยอมยกให้
 
เมียกลางนอก หมายถึง หญิงที่ชายขอมาเลี้ยงดูเป็นอนุภรรยา มีฐานะเป็นรองหลั่นจากเมียหลวงลงมา
       
เมียกลางทาษี หมายถึง หญิงที่ทุกข์ยากชายช่วยไถ่ตัวมาและรับเลี้ยงดูเป็นเมียทาษภรรยา (คำว่า ทาษ, ทาษี เป็นคำโบราณ ปัจจุบันเขียนว่า ทาส, ทาสี ซึ่ง ทาส หมายถึง บ่าวผู้ชาย ทาสี หมายถึง บ่าวผู้หญิง)
       
หลบฝาก เป็นคำโบราณ ความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ หมายความว่า ประเพณีที่ชายเข้าไปอาศัยรับใช้การงานให้กับหญิง ตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย หมายถึง เป็นผัวเมียกันแล้วแต่ยังไม่ออกหน้า
       
ฝากบำเรอ เป็นคำโบราณ ความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ หมายความว่า ประเพณีที่หญิงชายได้เสียกันเองในเวลาที่ผู้ชายยังอยู่ในระหว่างฝากตัวรับใช้พ่อแม่ผู้หญิง ตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย หมายถึง ได้เลี้ยงดูเป็นสามีภรรยากัน คนที่ 3 เข้ามาเกี่ยวข้องทางชู้สาวไม่ได้
       
บังกัด ความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ หมายความว่า ปิดบัง, อำพลาง
 
แม่เจ้าเรือน หมายถึง หญิงที่ปกครองบ้านเรือน หรือ ภริยาหลวง
       
แม่หม้ายงานท่าน หมายถึง หญิงที่มีสามีเป็นภรรยาของข้าราชการผู้มีบรรดาศักดิ์ แต่สามีตายหรือร้างกัน แม่หม้ายงานท่านจะมีสามีใหม่ไม่ได้ ตามกฎหมายลักษณะอาญาหลวง มาตรา ๘๕ เว้นไว้แต่จะได้รับพระบรมราชานุญาต ปัจจุบันกฎหมายลักษณะอาญาหลวงได้ถูกยกเลิกไปแล้ว

นมบกอกพร่อง ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ หมายความว่า ลักษณะของหญิงที่ชายทำให้เสียความบริสุทธิ์แล้วทอดทิ้งไป เช่น แลมันทำชู้แล้วมันทอดหญิงนั้นเสีย ท่านว่ามันทำให้ลูกหลานท่านนมบกอกพร่องให้ไหมชายผู้เลมิดพ่อแม่ผู้เถ้าผู้แก่นั้นโดยขนาฎ, มักใช้เพี้ยนไปเป็น นมตกอกพร่อง  นมบกอกพร่อง ในกฎหมายโบราณ หมายถึง หญิงเสียความบริสุทธิ์ให้แก่ชายแล้ว

กระยาดอกเบี้ย ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ หมายความว่า สิ่งที่ส่งชำระแทนดอกเบี้ย เช่น กู้เงินเขามาแล้ว มอบที่นาให้ทำหรือมอบบุตรภริยาให้รับใช้การงาน  เชิงกระยาดอกเบี้ย ในกฎหมายโบราณ หมายถึง การทำงานต่างดอกเบี้ย

สินหัวบัวนาง ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ หมายความว่า สินสอดที่ตกเป็นของหญิงในกรณีที่หญิงได้เสียตัวแก่ชายและชายนั้นได้ตายไปโดยยังมิได้แต่งการมงคล ตามข้อความที่ว่า ถ้าหญิงได้เสียตัวแก่ชาย ชายตายสีนสอดนั้นให้ตกหญิงจงสิ้น เพราะว่าสีนนั้นเป็นสีนหัวบัวนาง  สินหัวบัวนาง ในกฎหมายโบราณ หมายถึง สินสอดอันเป็นทรัพย์สิ่งของที่บิดามารดาหรือผู้ปกครองหญิงเรียกเอาจากชายที่มาแต่งงานเป็นค่าที่ได้เลี้ยงดูตัวหญิงมา

 ;D







กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 มิ.ย. 11, 10:54
อ้างถึงกฏหมายเมืองไทย พิมพ์โดยหมอบรัดเลย์

เมียกลางเมือง = หญิงอันบิดา มารดากุมมือให้เป็นเมียชาย

เมียกลางนอก = ชายที่ขอหญิงมาเลี้ยงเป็นอนุภรรยาหลั่นเมียหลวงลงมา

เมียกลางทาษี = หญิงใดมีทุกข์ยาก และช่วยไถ่มาได้ แล้วเอามาเลี้ยงเป็นเมีย



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 มิ.ย. 11, 11:05
มีอีกเยอะ

เอามาให้คุณดีดีทายความหมายสนุก ๆ

สธัมมชาตบุตร

อธัมมชาตบุตร

ชู้เหนือขันหมาก

ชู้เหนือผัว

ชู้เหนือผี

 ;)


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 27 มิ.ย. 11, 11:11
ศัพท์แปลกๆ สนุกดีค่ะ... ;D

สธัมมชาตบุตร = บุตรอันเกิดจากบิดามารดาซึ่งได้เป็นสามีภริยากันโดยถูกต้องตามกฎหมาย สธัมมชาตบุตร จึงเป็นบุตรที่เกิดถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่บุตรบุญธรรม หรือลูกลับหรือลูกไม่ปรากฏชื่อพ่อ หรือลูกชู้

อธัมมชาตบุตร = บุตรอันเกิดจากบิดามารดาที่ไม่ได้เป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย

ชู้เหนือขันหมาก = ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายความว่า ชายที่ลอบได้เสียกับหญิงคู่หมั้นของชายอื่น
ในกฎหมายโบราณ หมายถึง ผิดเมียในขันหมาก

ชู้เหนือผัว = ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายความว่า ชายที่ลอบได้เสียกับหญิงซึ่งสามียังมีชีวิตอยู่
ในกฎหมายโบราณ หมายถึง ชายที่ลอบได้เสียกับเมียผู้อื่นซึ่งผัวยังมีชีวิตอยู่

ชู้เหนือผี= ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายความว่า ชายที่ลอบได้เสียกับหญิงที่สามีตาย ขณะที่ศพสามียังอยู่บนเรือน
ในกฎหมายโบราณ หมายถึง ชายที่ลอบได้เสียกับหญิงที่ผัวตาย เมื่อศพผัวยังอยู่บนเรือน


แล้วคำว่า...
- เด็กเจ็ดเข้าเท่าเจ็ดสิบ
- ไหมปลูกตัว
- โจรลักเลียบ
- ประกันเชิงลา
พอจะมีใครทราบความหมายไหมคะ... ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 มิ.ย. 11, 11:21
เด็กเจ็ดเข้าเท่าเจ็ดสิบ  คำว่า เข้า ภาษาในสมัยสุโขทัย เรียกคำว่า “เข้า” แทนคำว่า “ปี” คนในชนบทใช้คำอื่นอีกหลายคำแทนจำนวนปี เช่น เกิดมามีอายุหลายฝนแล้ว คำว่า หลายฝน หมายถึง หลายปีแล้ว  เด็กเจ็ดเข้า หมายถึง เด็กที่อายุไม่เกิน ๗ ปี หากกระทำความผิดท่านว่ายังไม่รู้ผิดและชอบ อย่าให้ลงอาญามันเลย  เท่าเจ็ดสิบ หมายถึง คนที่มีอายุ ๗๐ ปีล่วงแล้ว มักเป็นคนหลงไหล หากกระทำความผิดห้ามมิให้ปรับไหม
 
ไหมปลูกตัว หมายถึง ค่าทำขวัญที่ได้ถูกทำร้ายหรือค่าเสียหายในการรักษาพยาบาล

โจรลักเลียบ หมายถึง โจรที่เอาสิ่งของทรัพย์สินเรือเกวียนของผู้อื่นไปโดยไม่บอกเจ้าของทำที่เล่นที่จริง พอเจ้าของเผลอก็ขโมยเอาไป หากเจ้าของพบเห็นมักจะกล่าวว่า หยอกยืม ความผิดต้องขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้เอาไป

ประกันเชิงลา เป็นภาษาโบราณ หมายถึง การประกันคนที่ถูกจำคุกให้กลับบ้านได้ หรือออกมาจากที่คุมขังได้ เป็นคราว ๆ คราวละ ๓ วัน หรือ ๗ วัน โดยผู้ต้องหา หาคนมาเป็นประกันได้


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 27 มิ.ย. 11, 11:27
เยี่ยมอีกแล้วค่ะ (http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=4423.0;attach=21721;image)
คำว่า โจรลักเลียบ เห็นครั้งแรก หนูนึกว่า โจรที่ขโมยเรียบ ไม่มีเหลือ...


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 มิ.ย. 11, 11:32
ถามคุณกุ๊กเรื่อง "ปรัศนี..ทีละคำ?" (http://www.google.co.th/search?hl=th&q=%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%A8%E0%B8%99%E0%B8%B5..%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%B3%3F&btnG=%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%B2&oq=%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%A8%E0%B8%99%E0%B8%B5..%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%B3%3F&aq=f&aqi=&aql=undefined&gs_sm=s&gs_upl=139187l141391l0l1l1l0l0l0l0l78l78l1l1) รับรองได้รู้จักคำในกฎหมายโบราณอีกเยอะ

 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 27 มิ.ย. 11, 13:16
- หมวกกะหลาป๋า  ค่ะ  ;D
หมวกชนิดหนึ่งสานด้วยไม้ไผ่ อย่างละเอียด รูปทรงสูง ผู้หญิงนิยมใช้ในเวลาแข่งเรือ  
 มีดอกไม้จีนเสียบ เป็นของเก่าในสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ ขึ้นไป
 - ขวดกะหลาป๋า เรียกขวดแก้วสำหรับใช้ใส่น้ำอบ  
 ทรงกระบอกแปดเหลี่ยม มีสีต่าง ๆ มีจุกแก้ว เถาหนึ่งมี ๓ ใบ  
 
ใครมีภาพ หมวกกะหลาป๋า และ ขวดกะหลาป๋า กรุณาลงให้ชมเป็นบุญตา ด้วยนะคะ... ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 มิ.ย. 11, 13:51
- ขวดกะหลาป๋า เรียกขวดแก้วสำหรับใช้ใส่น้ำอบ  
 ทรงกระบอกแปดเหลี่ยม มีสีต่าง ๆ มีจุกแก้ว เถาหนึ่งมี ๓ ใบ  
 
ใครมีภาพ หมวกกะหลาป๋า และ ขวดกะหลาป๋า กรุณาลงให้ชมเป็นบุญตา ด้วยนะคะ... ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 27 มิ.ย. 11, 13:57
ขอบคุณค่ะ(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=4423.0;attach=21721;image)
แล้วหมวกกะหลาป๋า มีให้ชมบ้างไหมคะ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 27 มิ.ย. 11, 14:46
พิมพ์รัวเร็วเป็น  "ข้าวตอกแตก"  อย่างนี้  ต้องยอมยกไว้ให้เขาสักคน

จะพูดก็พูดไปสิ  ทำไมต้อง  "ขึ้นไม้ขึ้นมือ"  "ชี้หน้าชี้ตา"  กันด้วย

"กระเป๋าตังค์"  พกให้มันมิดชิดหน่อย  เดี๋ยวจะโดน  "จิก"  ไปไม่รู้ตัว

วันๆ ไม่ยอมทำอะไร  "คิดสมบัติบ้า"  มัน  "ลูกเดียว"  คงจะรวยเพราะความคิดนั่นหรอกนะ

มี  "แค่เฟื้องแค่สลึง"  ก็มาทำท่าทำทางเป็นลูกเศรษฐีเสียแล้ว

  โฆษณาตู้นิรภัยยี่ห้อหนึ่งในอดีต
แต่ก่อน    "มีทองเท่าหนวดกุ้ง นอนสะดุ้งจนเรือนไหว"
เดี๋ยวนี้     "มีทองเท่าหัวช้าง นอนจนสว่างก็ไม่เป็นไร"

2554     "จะหาทองเท่าเศษก้าง ทำงานจนตาถ่างก็ไม่มีทางได้ไป"


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 มิ.ย. 11, 15:05
"กระเป๋าตังค์"  พกให้มันมิดชิดหน่อย  เดี๋ยวจะโดน  "จิก"  ไปไม่รู้ตัว

เคยได้ยินว่า เดี๋ยวจะโดน  "จิ๊ก"   ไปไม่รู้ตัว

มี  "แค่เฟื้องแค่สลึง"  ก็มาทำท่าทำทางเป็นลูกเศรษฐีเสียแล้ว

อ่านในหนังสือเกี่ยวกับเรื่องเก่า เขาว่า มี "แค่สลึงเฟื้อง"

 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 มิ.ย. 11, 15:17
พิมพ์รัวเร็วเป็น  "ข้าวตอกแตก"  อย่างนี้  ต้องยอมยกไว้ให้เขาสักคน

จะพูดก็พูดไปสิ  ทำไมต้อง  "ขึ้นไม้ขึ้นมือ"  "ชี้หน้าชี้ตา"  กันด้วย

"กระเป๋าตังค์"  พกให้มันมิดชิดหน่อย  เดี๋ยวจะโดน  "จิก"  ไปไม่รู้ตัว

วันๆ ไม่ยอมทำอะไร  "คิดสมบัติบ้า"  มัน  "ลูกเดียว"  คงจะรวยเพราะความคิดนั่นหรอกนะ

มี  "แค่เฟื้องแค่สลึง"  ก็มาทำท่าทำทางเป็นลูกเศรษฐีเสียแล้ว

  โฆษณาตู้นิรภัยยี่ห้อหนึ่งในอดีต
แต่ก่อน    "มีทองเท่าหนวดกุ้ง นอนสะดุ้งจนเรือนไหว"
เดี๋ยวนี้     "มีทองเท่าหัวช้าง นอนจนสว่างก็ไม่เป็นไร"

2554     "จะหาทองเท่าเศษก้าง ทำงานจนตาถ่างก็ไม่มีทางได้ไป"

มีแค่ "อัฐฬศ" พอให้ "ยาไส้" มิให้ถูกกล่าวหาได้ว่าเป็นพวก "ไส้แห้ง" ให้เขา "ค่อนแคะ" ได้หรอกครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 27 มิ.ย. 11, 15:21
"กระเป๋าตังค์"  พกให้มันมิดชิดหน่อย  เดี๋ยวจะโดน  "จิก"  ไปไม่รู้ตัว

เคยได้ยินว่า เดี๋ยวจะโดน  "จิ๊ก"  ไปไม่รู้ตัว

มี  "แค่เฟื้องแค่สลึง"  ก็มาทำท่าทำทางเป็นลูกเศรษฐีเสียแล้ว

อ่านในหนังสือเกี่ยวกับเรื่องเก่า เขาว่า มี "แค่สลึงเฟื้อง"

 ;D

คงเป็นการเลือกใช้คำที่ผิดพลาดของผมเองครับอาจารย์  ผมเคยได้ยินเขาใช้ทั้งคำว่า "จิก" และ "จิ๊ก"  เช่นเดียวกับคำว่า มี "แค่เฟื้องแค่สลึง"
ผมเคยได้ยินทั้งคำว่า "มีแค่เฟื้องแค่สลึง" "มีเฟื้องมีสลึง" และ "มีแค่สลึงเฟื้อง"  ทั้งสามคำ  ผมเองก็ไม่รู้ว่าคำใดถูกต้องแต่ที่เลือกคำ
มี "แค่เฟื้องแค่สลึง" เพราะเห็นว่าเข้าใจง่าย และฟังดูเป็นสำนวนปากชาวบ้านเท่านั้นเองครับ  ขอบพระคุณอาจารย์ที่ช่วยแนะนำครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 มิ.ย. 11, 15:24
^
มีให้เลือกหลายสลึง พึงระวังการใช้จ่ายเงินทองให้มาก... ระวัง "เป็นเบี้ยหัวแตก"   ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 27 มิ.ย. 11, 15:33
^
มีให้เลือกหลายสลึง พึงระวังการใช้จ่ายเงินทองให้มาก... ระวัง "เป็นเบี้ยหัวแตก"   ;D

เงิน "อัฐ"  เงิน "แป"  เงิน "เบี้ย" ผมไม่พกให้หนักกระเป๋าหรอก  ผมชอบพกเงิน "กลม"


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 มิ.ย. 11, 15:40
^
มีให้เลือกหลายสลึง พึงระวังการใช้จ่ายเงินทองให้มาก... ระวัง "เป็นเบี้ยหัวแตก"   ;D

เงิน "อัฐ"  เงิน "แป"  เงิน "เบี้ย" ผมไม่พกให้หนักกระเป๋าหรอก  ผมชอบพกเงิน "กลม"

เงิน "กลม" เขาเลิกใช้ไปนานแล้ว "ตั้งแต่ปีมะโว้"  สมัยนี้ต้องทันสมัยอะไร ๆ ต้อง "เปิ๊ดสะก๊าด"  เข้าไว้ก่อน เดี๋ยวจะส่ง "ตะแล๊บแก๊ป" ที่ "โพสท์ออฟฟิศ"สักหน่อย


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 27 มิ.ย. 11, 15:51
^
มีให้เลือกหลายสลึง พึงระวังการใช้จ่ายเงินทองให้มาก... ระวัง "เป็นเบี้ยหัวแตก"   ;D

เงิน "อัฐ"  เงิน "แป"  เงิน "เบี้ย" ผมไม่พกให้หนักกระเป๋าหรอก  ผมชอบพกเงิน "กลม"

เงิน "กลม" เขาเลิกใช้ไปนานแล้ว "ตั้งแต่ปีมะโว้"  สมัยนี้ต้องทันสมัยอะไร ๆ ต้อง "เปิ๊ดสะก๊าด"  เข้าไว้ก่อน เดี๋ยวจะส่ง "ตะแล๊บแก๊ป" ที่ "โพสท์ออฟฟิศ"สักหน่อย

ใช้คำ  "สะเปะสะปะ"  ออกเสียงก็ไม่ถูก เค้าเรียก  "โป๊ดออฟฟิด" ย่ะ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 มิ.ย. 11, 15:56
^
"หน้าแตก หมอไม่รับเย็บ" ระวังเถิดจะพาไป "โรงหมอ"  ไปดู "ผีโลงเย็น"  เสียให้ "ขี้แตกขี้แตน"  จะได้กลัว "ขี้ขึ้นสมอง" เลยดีไหม


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 27 มิ.ย. 11, 16:18
^
"หน้าแตก หมอไม่รับเย็บ" ระวังเถิดจะพาไป "โรงหมอ"  ไปดู "ผีโลงเย็น"  เสียให้ "ขี้แตกขี้แตน"  จะได้กลัว "ขี้ขึ้นสมอง" เลยดีไหม

"โซ่ยจ๋าย" ด้วย  ผมมันคน  "หน้าหนา"  เข็มหมอแทงไม่เข้าอยู่แล้ว   "ซ่าหน่อซ้านด่อ" ไม่มีใครเทียบผมหรอก


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 มิ.ย. 11, 16:23
^
"หน้าแตก หมอไม่รับเย็บ" ระวังเถิดจะพาไป "โรงหมอ"  ไปดู "ผีโลงเย็น"  เสียให้ "ขี้แตกขี้แตน"  จะได้กลัว "ขี้ขึ้นสมอง" เลยดีไหม

"โซ่ยจ๋าย" ด้วย  ผมมันคน  "หน้าหนา"  เข็มหมอแทงไม่เข้าอยู่แล้ว   "ซ่าหน่อซ้านด่อ" ไม่มีใครเทียบผมหรอก

ขอขยายความหมายด้วยครับ ไม่เคยได้ยินจริงๆ

"โซ่ยจ๋าย"

"ซ่าหน่อซ้านด่อ"


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 27 มิ.ย. 11, 16:52
^
"หน้าแตก หมอไม่รับเย็บ" ระวังเถิดจะพาไป "โรงหมอ"  ไปดู "ผีโลงเย็น"  เสียให้ "ขี้แตกขี้แตน"  จะได้กลัว "ขี้ขึ้นสมอง" เลยดีไหม

"โซ่ยจ๋าย" ด้วย  ผมมันคน  "หน้าหนา"  เข็มหมอแทงไม่เข้าอยู่แล้ว   "ซ่าหน่อซ้านด่อ" ไม่มีใครเทียบผมหรอก

ขอขยายความหมายด้วยครับ ไม่เคยได้ยินจริงๆ

"โซ่ยจ๋าย"

"ซ่าหน่อซ้านด่อ"

โซ่ยจ๋าย   = เสียใจ
ซ่าหน่อซ่านด่อ  = เป็นรหัสกลุ่มของเด็กสมัยผมใช้พูดนัดแนะกันโดยไม่ต้องการให้ผู้ใหญ่รู้ว่าเรากำลังคุยอะไรกันอยู่  กลุ่มใครก็ตั้งรหัสกันเอาเอง
                    แต่ฟังกันเข้าใจเพราะอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน  คุณ Siamese ลองผวนคำแล้วตัดรหัส "ซ" ออก ก็จะเข้าใจครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 27 มิ.ย. 11, 18:06
^
"หน้าแตก หมอไม่รับเย็บ" ระวังเถิดจะพาไป "โรงหมอ"  ไปดู "ผีโลงเย็น"  เสียให้ "ขี้แตกขี้แตน"  จะได้กลัว "ขี้ขึ้นสมอง" เลยดีไหม

เห็นสำนวน "ขี้" ของคุณ Siamese แล้วผมมานั่งนึกถึงสำนวน "ขี้" คำอื่นๆ ได้อีกหลายคำ  เลยนำมาลงต่อยอดไปอีก

ขี้หดตดหาย    = กลัวมากๆ
ขี้ไม่ให้หมากิน  = ขี้เหนียวเกินขนาด
ขี้แพ้ชวนตี      = แพ้แล้วไม่ยอมรับ  จะเอาชนะด้วยการชวนวิวาท
ขี้ใหม่หมาหอม  = เห่อไปตามเรื่อง เห็นของใหม่เป็นไม่ได้
ขี้เป้/ขี้กะโล้โท้  = ของไม่ดี,  ของไม่มีคุณภาพ (ของห่วย)
                    (คำนี้ไม่ใช่สำนวน  แต่เห็นว่ากำลังจะหายไปเช่นกัน)


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 มิ.ย. 11, 22:10
^
ชอบทานอาหารไทยแบบ "กะทิขี้โล้" ไหมครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 27 มิ.ย. 11, 22:11
(ต่อ)
เห็นขี้ดีกว่าไส้            = เห็นแก่ผู้อื่นมากกว่าญาติพี่น้องของตนเอง
เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง     = เห็นคนรวยทำอย่างไรก็พยายามทำตามอย่างทั้งที่ไม่มีกำลังทรัพย์
เลี้ยงช้าง กินขี้ช้าง       = หาประโยชน์โดยมิชอบจากงานที่ตนกระทำ
เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ        = ทำงานจับจด  ไม่ทำสิ่งใดอย่างจริงจัง
หมาขี้ไม่มีใครยกหาง    = ยกยอปอปั้นตนเอง
สัญชาติหมา อดขี้ไม่ได้  = คนชั่ว ถึงแม้จะอบรมสั่งสอนสักเท่าใดก็อดทำชั่วไม่ได้
                             (สำนวนนี้ไม่ยุติธรรมต่อหมาเลย)


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 27 มิ.ย. 11, 22:18
^
ชอบทานอาหารไทยแบบ "กะทิขี้โล้" ไหมครับ

เอ่อ  เหมือนน้ำมันขี้โล้ไหมครับ  ธ่อ ไม่รู้จักเลย  เคยกินแต่กะทิสายบัว (กับปลาทูตัวงามๆ)


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 27 มิ.ย. 11, 22:33
"แก" ร้องดีกว่า ขืน "กัน" ร้องแข่งกะแกก็เหมือน  "เป็ดขันประชันไก่"  นั่นแหละ

บอกไม่ฟัง  งั้นก็  "ตามใจแป๊ะ"  เหอะ

อย่ามาหว่านล้อมเลย ให้  "พระอินทร์มาเขียวๆ"  กันก็ไม่เชื่อ

ไม่เหลือ  "กะตังค์"  ซักกะบาท  ก็เลยต้องเดิน  "ย่ำต๊อก"  มาถึงนี่

มันก็  "ขนมผสมน้ำยา"  นั่นแหละ  ไม่มีใครดีกว่าใครหรอก

ก็รู้หรอกน่าว่าเรียนมาเสียเปล่า  ก็มัน  "เข้าพุง"  ไปหมดแล้วทำไงได้

ไม่รู้เป็นไง คิดอะไรไม่ค่อยออก  "เซ็งมะก้องด้อง"  จริงๆ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 28 มิ.ย. 11, 10:22
^
"หน้าแตก หมอไม่รับเย็บ" ระวังเถิดจะพาไป "โรงหมอ"  ไปดู "ผีโลงเย็น"  เสียให้ "ขี้แตกขี้แตน"  จะได้กลัว "ขี้ขึ้นสมอง" เลยดีไหม

"โซ่ยจ๋าย" ด้วย  ผมมันคน  "หน้าหนา"  เข็มหมอแทงไม่เข้าอยู่แล้ว   "ซ่าหน่อซ้านด่อ" ไม่มีใครเทียบผมหรอก

ขอขยายความหมายด้วยครับ ไม่เคยได้ยินจริงๆ

"โซ่ยจ๋าย"

"ซ่าหน่อซ้านด่อ"

โซ่ยจ๋าย   = เสียใจ
ซ่าหน่อซ่านด่อ  = เป็นรหัสกลุ่มของเด็กสมัยผมใช้พูดนัดแนะกันโดยไม่ต้องการให้ผู้ใหญ่รู้ว่าเรากำลังคุยอะไรกันอยู่  กลุ่มใครก็ตั้งรหัสกันเอาเอง
                    แต่ฟังกันเข้าใจเพราะอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน  คุณ Siamese ลองผวนคำแล้วตัดรหัส "ซ" ออก ก็จะเข้าใจครับ
พี่คิ รักคัก น้องค้อง มากคัก เคยใช้อยู่ครั้งหนึ่งตอนหนุ่มๆ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 28 มิ.ย. 11, 23:07
แอบมายืน  "เต๊ะจุ๊ย"  อยู่นี่เอง  ไป  "ร่อน"  กันที่ กินรีนาวา ดีกว่า

หุ่นเหมือน  "กุ้งแห้งเยอรมัน"  ยังมาทำท่าทาง  "สะดีดสะดิ้ง"  นึกว่าสวยตายละ

โอ๊ยโหยฺ  น้ำเชี่ยวอย่างนี้ขืนว่ายข้ามก็  "ซี้ม่องเท่ง/ซี้ม่องเซ็ก"  แหง๋ๆ

ได้เจ้านายอย่างนี้  ผมทำงาน  "ถวายหัว"  ให้เลย

"กระดูกอ่อน"  หยั่งงี้ ยังคิดจะมา  "วัดรอยเท้า"  อีก  คงอยากม้วยเต็มแก่

ได้ผัวขี้เมาก็ต้อง  "กินน้ำตาต่างข้าว"  อย่างนี้แหละ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 29 มิ.ย. 11, 14:45
ไปตอบกระทู้ที่พันทิบ เลยนึกขึ้นได้อีกสองคำ แม้จะไม่เป็นคำไทยแท้ก้ตาม ... หยวน หยวนน่า กากี่นั้ง ราคากังเอง

ซี้แหงแก๋ กับ ซี้บ้องเซ็ก (ออกเสียงแบบไทยๆ แบบที่จำได้และเคยพูดสมัยเด็ก) ก็หมายความว่า ตาย นั่นแล


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 29 มิ.ย. 11, 15:19
เจอพวก "เมาดิบ" ในวงเหล้าแล้วเซ็งเป็นที่สุด พวกนี้มีวัตถุประสงค์หลายอย่างในการแกล้งเมาเช่น แกล้งเมาจนฟุบเพื่อไม่ต้องจ่ายค่าเหล้า แกล้งเมาเพื่อหนีจากวงเหล้า แกล้งเมาจนหลับแต่คอยเงี่ยหูฟังว่าเพื่อนๆพูดอะไรกัน  ตอนเด็กเคยเจอผู้ใหญ่เมาดิบ ขอพระจากคอไปดูแล้วเอาใส่คอตัวเองจากนั้นก็แกล้งเมาจนหลับ สูญพระเครื่องดีๆที่พ่อให้ไว้ห้อยคอไปหลายองค์


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 29 มิ.ย. 11, 17:06
คุณลุงไก่กล่าวถึงคำจีนสำเนียงไทย  ผมว่ายังมีอีกหลายคำที่ค่อยๆ หายไปทีละน้อยนะ  อย่างเช่น

เก๊ะ    = ลิ้นชัก
โต้หลง = คงจะเหมือนกับ หยวนๆ ของคุณลุงไก่


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 30 มิ.ย. 11, 05:19
ขอเพิ่มคำว่า "ซี้มะก้องด้อง" เข้ามาอีกคำหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นคำแผลง
กับคำว่า "เลี่ยงบาลี" ที่ได้มาจากเวปพันทิบ

นึก "ครึ้มอกครึ้มใจ" อยากจะตั้งกระทู้ใหม่เรื่อง "คำผวน" ขึ้นมา แต่ก็เกรงว่าจะเป็นกระทู้ติดเรท 18+ เดือดร้อนถึง กบว หรือคุณระเบียบรัตน์ ที่จะต้องเข้ามา "จัดระเบียบ" เวปเรือนไทยเข้า
จะทำให้ลุงไก้ต้องร้องว่า "ซี้เลี้ยวอา"



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 30 มิ.ย. 11, 07:28
ปัจจุบันไม่ค่อยได้ยินแล้ว "อับข้าว" คือ ภาชนะมีฝาปิดบรรจุข้าวไว้กิน ...คิดถึงอับข้าวใส่ไข่ดาว หรือไข่ต้ม ตามด้วยกุนเชียง ช้อนหอยคันโตๆ พกไปโรงเรียน


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 30 มิ.ย. 11, 08:33
ปัจจุบันไม่ค่อยได้ยินแล้ว "อับข้าว" คือ ภาชนะมีฝาปิดบรรจุข้าวไว้กิน ...คิดถึงอับข้าวใส่ไข่ดาว หรือไข่ต้ม ตามด้วยกุนเชียง ช้อนหอยคันโตๆ พกไปโรงเรียน

ลูกคนมีกะตังค์ใช้อับข้าว  ลูกคนจนอย่างผม ข้าวห่อใบตอง "ยันเต"


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: bangplama ที่ 30 มิ.ย. 11, 08:40
ไม่ได้ใช้แบบนี้ เคยใช้แต่กล่องข้าวแบบอลูมีเนียม(ปีเนียม?)


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 30 มิ.ย. 11, 09:08
แบบนี้หรือเปล่าค่ะ คุณbangplama ...
ข้างในมีกล่องเล็ก แยกกับข้าว หรือขนมด้วย... ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 มิ.ย. 11, 09:15
^
^
สมัยเรียนอยู่ชั้นประถม ใช้อย่างนี้เลย ใส่ข้าวและกับไปรับประทานเป็นอาหารกลางวันทุกวัน

พูดถึงเรื่องกล่องข้าว ทุกวันนี้ที่ประเทศญี่ปุ่น ตามสำนักงานพอถึงเวลากลางวัน พนักงานก็จะเอากล่องข้าว (เบนโต๊ะ) มาเปิดเพื่อรับประทานอาหารกัน

วัฒนธรรมนี้ไม่มีในคนไทย (ผู้ใหญ่)

 ;)


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 30 มิ.ย. 11, 09:43
คุณดีดี ช่วยหาภาพอับข้าว ปีเนียม ที่เป็นทรงวงรีให้ทีซิครับ  :-[


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 30 มิ.ย. 11, 09:48
แบบนี้หรือเปล่าค่ะ คุณbangplama ...
ข้างในมีกล่องเล็ก แยกกับข้าว หรือขนมด้วย... ;D

ลุงไก่ใช้กล่องข้าวอลูมิเนียมอีกแบบหนึ่ง เก่ากว่าแบบนี้ ข้างในไม่มีช่องแบ่ง แต่จะมีกล่องใบเล็กไม่มีฝาอีกชิ้นหนึ่งด้วย สำหรับใส่กับข้าวแยกจากข้าว
ใช้ไปนานๆ หูรัดข้างกล่องมันหัก ก้ใช้หนังยางเส้นใหญ่รัดเอาไว้แทน


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 30 มิ.ย. 11, 10:14
คุณดีดี ช่วยหาภาพอับข้าว ปีเนียม ที่เป็นทรงวงรีให้ทีซิครับ  :-[

ได้มาแต่ตัวค่ะ ฝาไปไหนรู้...
อีกอันเป็นแบบสมัยใหม่ ค่ะ... ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 30 มิ.ย. 11, 10:21
ปัจจุบันไม่ค่อยได้ยินแล้ว "อับข้าว" คือ ภาชนะมีฝาปิดบรรจุข้าวไว้กิน ...คิดถึงอับข้าวใส่ไข่ดาว หรือไข่ต้ม ตามด้วยกุนเชียง ช้อนหอยคันโตๆ พกไปโรงเรียน

ลูกคนมีกะตังค์ใช้อับข้าว  ลูกคนจนอย่างผม ข้าวห่อใบตอง "ยันเต"

"ยันเต" คืออะไร รบกวนช่วยขยาย ๆ ความให้ด้วยครับ ???


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 มิ.ย. 11, 10:32
รอยอินให้ความหมายไว้แต่คำว่า "ยัน"

ยัน  (ปาก) ว. เสมอ, ตลอด, เช่น โกหกยันเลย นอนยันเลย.

ต้องดูในพจนานุกรมแปลภาษา

Thai-English: NECTEC's Lexitron-2 Dictionary

ยันเต [ADV] always, See also: constantly, invariably, continuously, periodically, continually, incessantly, Syn. เสมอ, Example: ใคร ๆ ก็โทษว่าเป็นความผิดของเขายันเต, Notes: (ปาก)

 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 30 มิ.ย. 11, 11:00
เวลาวิ่งเล่นเหนื่อยๆ เปิดตู้เย็นกินน้ำจาก กระป๋องนมตราหมี เย็นชื่นใจ... ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 30 มิ.ย. 11, 11:28
คุณหนู  :D  :D  นำกระป๋องนมผงตราหมีมาให้ชม  ลุงไก่จิ๊กมาเป็นมรดกได้ ๓ ใบ ยังใช้แช่น้ำในตู้เย็นอยู่

ช่วยหาตลับครีมไม่มุกกวนอิม ของนายห้างประจวบ จำปาทอง มาให้น้องๆ รุ่นหลังได้รู้จักหน่อย

กวนอิม ... กวนอิม...


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 30 มิ.ย. 11, 11:37
มีคำเกี่ยวกับ เรือ และ ท่าน้ำ ที่ใช้กันมาแต่โบราณ ในความหมายอื่นๆ มาเล่าสู่กันฟังคะ...
บางคำก็ยังใช้กันอยู่ในปัจจุบัน แต่หลายคนอาจจะไม่รู้ที่มาของคำ ว่ามีความเป็นมาอย่างไร  ;D

- เริ่มกันตั้งแต่เรือเริ่มออกจากท่า ซึ่งจะต้องใช้เท้าถีบหัวเรือส่งออกมา เรือถึงจะแล่นต่อไปได้ กลายเป็นที่มาของคำว่า "ถีบหัวเรือส่ง" หรือ "ถีบหัวส่ง" ค่ะ
- เมื่อเรือแล่นออกจากท่าไปแล้ว ก็จะมีการนำเอาไม้มาปักจองไว้เป็นสถานที่จอดเรือ ห้ามคนอื่นมาจอด อันเป็นที่มาของคำว่า "กันท่า"
- เมื่อพ่อบ้านออกเรือไปแล้ว ก็เป็นโอกาสของหนุ่มๆ ที่จะเข้าไปเกี้ยวสาวในบ้าน หากลูกสาวบ้านไหนเป็นใจรู้กันกับไอ้หนุ่มก็จะแอบไปเอาไม้ที่ปักจองกันท่าไว้ออก เป็นที่มาของคำว่า "ให้ท่า"
- จากนั้นก็จะเอาสะพานไม้มาวางพาดให้ไอ้หนุ่มขึ้นจากเรือแล้วเดินเข้ามาหา จึงเป็นที่มาของคำว่า "ทอดสะพาน"
- การเดินทางไปยังต่างจังหวัดในสมัยก่อนจะใช้ทางน้ำเป็นหลัก ซึ่งระยะเวลาแต่ละเที่ยวคงจะห่างกันมาก หากผู้โดยสารมาไม่ทันขึ้นเรือที่ท่านี้ ก็จะต้องรอจนกว่าจะได้ไปอีกรอบ  หรืออาจจะต้องเดินทางไปดักขึ้นยังท่าถัดไป เป็นที่มาของคำว่า "พลาดท่า"
- ไม้กันท่า หากปักไว้ไม่แน่น ไม้หลุดไหลไปตามน้ำ ก็จะถูกเรือลำอื่นมาจอดแทนที่ เป็นที่มาของคำว่า "เสียท่า"
- เมื่อถูกเรือลำอื่นมาเสียบแทนแล้ว แถมยังตามไปเอาไม้หลักที่หลุดไปคืนมาไม่ได้ ก็เท่ากับว่า "หมดท่า"
- เวลาเอาเรือเข้าจอดที่ท่า จะพูดว่า เรือ "เข้าท่า"
- เมื่อจะเข้าเทียบท่า หากคนถ่อ คนถือหางเสือ ไม่สามัคคีกัน จอดเรือไม่ได้สักที ก็จะทำให้เรือ "ไม่เข้าท่า"

ส่วนสำนวนที่ มีที่มาจากการจับปลา...
- สุ่มสี่สุ่มห้า  และ "เดาสุ่ม" มาจากการใช้สุ่มจับปลา ซึ่งกว่าจะได้ปลาแต่ละตัว ต้องเอาสุ่มลงครอบหลายๆ ครั้ง
- "คว้าน้ำเหลว" มาจากการครอบสุ่มลงไปแล้วเอามือควานหาตัวปลาในสุ่ม แต่ไม่มีปลาได้มาแต่ขี้โคลน
- "ลอบกัด" มาจากการดับลอบจับปลา แต่คนจับไม่ระวังตัว มือเลยไปถูกเอางาที่อยู่ในลอบ ได้รับบาดเจ็บไป
- "ลักลอบ" ถูกมือ(ไม่)ดีแอบขโมยปลาในลอบที่ดักไว้ไป


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 11, 11:46
วันนี้มาเพิ่มให้คำเดียว จากรอยอิน

มะงุมมะงาหรา =  เที่ยวป่า เช่น ก็จะพาดวงใจไคลคลา ไปมะงุมมะงาหราสำราญ. (อิเหนา).
                      อาการที่ดั้นด้นไปโดยไม่รู้ทิศทาง     โดยปริยายหมายถึงงุ่มง่าม.


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 30 มิ.ย. 11, 11:50
ช่วยหาตลับครีมไม่มุกกวนอิม ของนายห้างประจวบ จำปาทอง มาให้น้องๆ รุ่นหลังได้รู้จักหน่อย

กวนอิม ... กวนอิม...


กวนอิมรุ่นนี้ยังเห็นวางขายตามห้างค่ะ...
ส่วนสบู่ จำปาทอง ฝากลุงไก่ ค่ะ.... ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 30 มิ.ย. 11, 12:31
คุณ D.D. เก่งจังครับ มองเห็นภาพเลย แถมยังรู้ที่มาที่ไปของคำอีกด้วย

ตอนนี้เริ่มมีโฆษณาแฝงเข้ามาแล้ว ผมเลยขอร่วมวงด้วย โดยจะยกเอาข้อความของคุณ SILA จาก "หนังเก่า" มาต่อยอด

และ ทันได้ดูโฆษณา แป้งน้ำทางทีวี ที่ใช้แคแร็คเตอร์ราชินีแม่เลี้ยงสโนวไวท์ ถามกระจกว่า

                    กระจกวิเศษบอกข้าเถิด       ใครงามเลิศในปฐพี

                    อ๋อ ใช่สโนวไวท์น่ะซี          ทั่วพื้นปฐพีไม่มีใครงามเกิน

เมื่อถึงตอนนี้แม่เลี้ยงสโนวไวท์ก็จะอุทานว่า

                    "อุเหม่!"  ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นไปได้

คำว่า "อุเหม่" ก็หายไปแล้ว

   ไม่ทราบว่าคุณ D.D. ทันโฆษณา  "หนูหล่อ พ่อเขาพาไปดูหมีที่ตาหมอหลอ  หนูหล่อแสนซนเอาไม้ไปแหย่ก้นหมี....." มั๊ยครับ?


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 30 มิ.ย. 11, 12:43
"หนูหล่อ พ่อหลอพาไปดูหมี ที่นาตาหมอหลอ หนูหล่อแสนซน เอาไม้ไปแหย่หมี
หมีโมโห กะโชกใส่ (โฮก โฮก )
หนูหล่อตกใจ ร้องไห้จ้า  บอกว่าก้นพัง ก้นพัง พ่อหนูหล่อบอกว่า
ไม่เป็นไรเอาบริบูรณ์บาล์มทาให้ แล้วสอนว่า ที่หลังอย่าซน ทีหลังอย่าซน"


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 30 มิ.ย. 11, 12:53
"หนูหล่อ พ่อหลอพาไปดูหมี ที่นาตาหมอหลอ หนูหล่อแสนซน เอาไม้ไปแหย่หมี
หมีโมโห กะโชกใส่ (โฮก โฮก )
หนูหล่อตกใจ ร้องไห้จ้า  บอกว่าก้นพัง ก้นพัง พ่อหนูหล่อบอกว่า
ไม่เป็นไรเอาบริบูรณ์บาล์มทาให้ แล้วสอนว่า ที่หลังอย่าซน ทีหลังอย่าซน"

เยี่ยมจริงๆ ครับ สมบูรณ์แบบ  ไม่ทราบเก็บมาได้อย่างไร  ผมเองก็ยังลืมๆ เลย


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 30 มิ.ย. 11, 13:02
หามาจากอินทรเนตร ค่ะ  ;D
หาอะไรก็เจอ ยกเว้นคำตอบเรื่องรามเกียรติ์ ของคุณluanglek....ฮิฮิ...


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 30 มิ.ย. 11, 13:55
หามาจากอินทรเนตร ค่ะ  ;D
หาอะไรก็เจอ ยกเว้นคำตอบเรื่องรามเกียรติ์ ของคุณluanglek....ฮิฮิ...

สำหรับเรื่องนี้ คน  "บ้องตื้น"  อย่างผมขอยืน  "ท้องคัดท้องแข็ง"  อยู่รอบนอกดีกว่า  ปล่อยให้เป็นเรื่องของมืออาชีพ
อย่างคุณ D.D. คุณ Siamese ฯลฯ  "โม่" กันไปตามสบายครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 30 มิ.ย. 11, 14:36
หามาจากอินทรเนตร ค่ะ  ;D
หาอะไรก็เจอ ยกเว้นคำตอบเรื่องรามเกียรติ์ ของคุณluanglek....ฮิฮิ...

สำหรับเรื่องนี้ คน  "บ้องตื้น"  อย่างผมขอยืน  "ท้องคัดท้องแข็ง"  อยู่รอบนอกดีกว่า  ปล่อยให้เป็นเรื่องของมืออาชีพ
อย่างคุณ D.D. คุณ Siamese ฯลฯ  "โม่" กันไปตามสบายครับ

นอกเวที

ของนอก

นอกใน

นอกรอบ

นอกขอบ

นอกวิสัย


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 30 มิ.ย. 11, 15:15
ผมจำเป็นต้องยืนอยู่ "นอกเวที" เพราะอยู่ "นอกวิสัย" ความสามารถของผม  ปริศนาชวน  "ประสาทกลับ" ของคุณ luanglek แต่ละข้อ
ทำเอาผม  "พลิกตำราไม่ทัน"


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: ภูมิ ที่ 30 มิ.ย. 11, 15:22
สงสัยเรื่องเข่าท่า. ว่าจะเ้าเซ็ทกับตัวอื่นๆหรือเปล่า

เพราะผมรู้สึกว่าจะเยใช้เป็น เข้าท่าเข้าทาง ซึ่งน่าจะมาจากพวก ท่าทางรูปแบบ มากกว่าจะมาจากท่าเรือ

แต่ถ้าจะบอกว่ามันคล้ายๆกับไม่เอาอ่าวก็พอเข้าใจได้


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 30 มิ.ย. 11, 15:33
ผมจำเป็นต้องยืนอยู่ "นอกเวที" เพราะอยู่ "นอกวิสัย" ความสามารถของผม  ปริศนาชวน  "ประสาทกลับ" ของคุณ luanglek แต่ละข้อ
ทำเอาผม  "พลิกตำราไม่ทัน"

อันปริศนาของคุณหลวงเล็กนั้น ไม่ต้องพลิกตำราหรอกครับ ขนาน "พลิกแผ่นดิน" ยังแก้ปริศนาแทบไม่ทัน  ;D ;D :P


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 30 มิ.ย. 11, 15:37
จาฟ้องคุณหลวง.... ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 01 ก.ค. 11, 00:10
ช่างคุณสยามเขาเถอะ  "รอยโครอยเกวียน"  ถึงเวลาก็คง  "เหยียบเท้า"  ตนเองหกล้มเข้าสักวัน

งานเที่ยวนี้  "งอมพระราม"  เลย ต้อง  "อดตาหลับขับตานอน"  กว่าจะเสร็จ

รู้จักทำเองเสียบ้างไม่ต้องให้บอก  จะต้องให้แม่  "ไขลาน"  กันอยู่เรื่อย

เดี๋ยวเถอะ ชักจะเอาใหญ่แล้ว  มาทำ  "แง่นๆ"  กะแม่ได้เหรอ

ก่อนจะมารับงานนี้ เขาคง  "ดีดลูกคิด"  ไว้เรียบร้อยแล้ว

มัว  "ดีดลูกคิดรางแก้ว"  อย่างเดียว  ไม่หา  "ทางหนีทีไล่"  เผื่อเอาไว้  เจ๊งขึ้นมาแล้วจะ  "จุก"

ทำไงดี  พรุ่งนี้จะไปหา  "เบี้ยต่อไส้"  ที่ไหนดีน้าาา  คงต้องไปหาคุณสยาม


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 ก.ค. 11, 07:36

ทำไงดี  พรุ่งนี้จะไปหา  "เบี้ยต่อไส้"  ที่ไหนดีน้าาา  คงต้องไปหาคุณสยาม

แบบนี้ต้องเจอ "ไล่เบี้ย" แบบไม่ให้ "เบี้ยหงาย" เลยดีไหม แล้วอย่ามาน้อยใจทำหน้าแบบ "หน้างอเป็นม้าหมากรุก" นะครับ แล้วอย่ามา "เฉไฉ" มาขู่ "ล้มกระดาน" นะครับมันไม่ดี  ;)


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 ก.ค. 11, 07:42

มัว  "ดีดลูกคิดรางแก้ว"  อย่างเดียว 

อย่ามัวแต่ดีดลูกคิดรางแก้วอยู่เลย ให้มีหัว "เซ็งลี้ / เซ็งลี้ฮ้อ" บ้างนะ หัดใช้จ่ายให้ระวังจะได้ไม่เป็น "เบี้ยหัวแตก" ต้องรีบขยันทำมาหากิน "หนักเล็กเบาหน่อย" ก็ต้องอดทน จะมัวช้าต้องมารอ "เผาหัว" คงจะ "ช้าเกินแกง" เสียนะครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 01 ก.ค. 11, 09:12
ดีดลูกคิด...เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีใครดีดกันแล้ว ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 01 ก.ค. 11, 13:29

ทำไงดี  พรุ่งนี้จะไปหา  "เบี้ยต่อไส้"  ที่ไหนดีน้าาา  คงต้องไปหาคุณสยาม

แบบนี้ต้องเจอ "ไล่เบี้ย" แบบไม่ให้ "เบี้ยหงาย" เลยดีไหม แล้วอย่ามาน้อยใจทำหน้าแบบ "หน้างอเป็นม้าหมากรุก" นะครับ แล้วอย่ามา "เฉไฉ" มาขู่ "ล้มกระดาน" นะครับมันไม่ดี  ;)

เห็นเป็นมวย  "รองบ่อน"  เข้าหน่อย  ก็มาต่อว่า  "ร้อยสีพันอย่าง"   ไม่ยอม  "ลดราวาศอก"  ให้เลย      ระวังเหอะ  ไปเที่ยว  "เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน"  มาใช้  จะอุดร่องกระดานเสียให้หมด  แล้วอย่ามา  "ร้องแรกแหกกระเชอ"  ให้ได้ยินนะ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 ก.ค. 11, 13:56

ทำไงดี  พรุ่งนี้จะไปหา  "เบี้ยต่อไส้"  ที่ไหนดีน้าาา  คงต้องไปหาคุณสยาม

แบบนี้ต้องเจอ "ไล่เบี้ย" แบบไม่ให้ "เบี้ยหงาย" เลยดีไหม แล้วอย่ามาน้อยใจทำหน้าแบบ "หน้างอเป็นม้าหมากรุก" นะครับ แล้วอย่ามา "เฉไฉ" มาขู่ "ล้มกระดาน" นะครับมันไม่ดี  ;)

เห็นเป็นมวย  "รองบ่อน"  เข้าหน่อย  ก็มาต่อว่า  "ร้อยสีพันอย่าง"   ไม่ยอม  "ลดราวาศอก"  ให้เลย      ระวังเหอะ  ไปเที่ยว  "เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน"  มาใช้  จะอุดร่องกระดานเสียให้หมด  แล้วอย่ามา  "ร้องแรกแหกกระเชอ"  ให้ได้ยินนะ

อย่ามา "ไก๋" ให้เหนื่อยเลย แล้วนี่จะต้องทำตัวแบบ "เบี้ยโรงบ่อน" ไหม....หาก "เกลอ" ทำด้วยก็ไม่เป็นไร


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 01 ก.ค. 11, 14:09
"เบี้ยโรงบ่อน" หมายความว่าไงคะ... ???


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 ก.ค. 11, 14:16
"เบี้ยโรงบ่อน" หมายความว่าไงคะ... ???

"หยิบผิด"  :-[ ต้องเป็น "เบี้ยรองบ่อน" ครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 01 ก.ค. 11, 14:19

ทำไงดี  พรุ่งนี้จะไปหา  "เบี้ยต่อไส้"  ที่ไหนดีน้าาา  คงต้องไปหาคุณสยาม

แบบนี้ต้องเจอ "ไล่เบี้ย" แบบไม่ให้ "เบี้ยหงาย" เลยดีไหม แล้วอย่ามาน้อยใจทำหน้าแบบ "หน้างอเป็นม้าหมากรุก" นะครับ แล้วอย่ามา "เฉไฉ" มาขู่ "ล้มกระดาน" นะครับมันไม่ดี  ;)

เห็นเป็นมวย  "รองบ่อน"  เข้าหน่อย  ก็มาต่อว่า  "ร้อยสีพันอย่าง"   ไม่ยอม  "ลดราวาศอก"  ให้เลย      ระวังเหอะ  ไปเที่ยว  "เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน"  มาใช้  จะอุดร่องกระดานเสียให้หมด  แล้วอย่ามา  "ร้องแรกแหกกระเชอ"  ให้ได้ยินนะ

อย่ามา "ไก๋" ให้เหนื่อยเลย แล้วนี่จะต้องทำตัวแบบ "เบี้ยโรงบ่อน" ไหม....หาก "เกลอ" ทำด้วยก็ไม่เป็นไร

อ้าว  ไหงมาชวนไปเดิน  "ลอยชาย"  ใกล้  "ซังเต"  นักล่ะ   ขอ  "ถอยฉาก"  ละผม  ไป  "บรรเลง"  หน้าวันทองดีกว่า  เดี๋ยวจะตกขอบเสียก่อน


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 01 ก.ค. 11, 14:24
คำว่า "ถอยฉาก" มีที่มาจากการแสดงโขน ค่ะ  ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 01 ก.ค. 11, 14:26
"เบี้ยโรงบ่อน" หมายความว่าไงคะ... ???

"หยิบผิด"  :-[ ต้องเป็น "เบี้ยรองบ่อน" ครับ

มวย  "รองบ่อน" คือ ประจำอยู่ที่นี่

"ไก่รองบ่อน"  คือ  ตัวสำรอง  ตัวแทน

แต่  "เบี้ยรองบ่อน" ยังไม่เคยได้ยินครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 01 ก.ค. 11, 14:53
โดนมีดบาดมือ "เบ้อ" เลย


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 ก.ค. 11, 15:36
"เบี้ยโรงบ่อน" หมายความว่าไงคะ... ???

"หยิบผิด"  :-[ ต้องเป็น "เบี้ยรองบ่อน" ครับ

มวย  "รองบ่อน" คือ ประจำอยู่ที่นี่

"ไก่รองบ่อน"  คือ  ตัวสำรอง  ตัวแทน

แต่  "เบี้ยรองบ่อน" ยังไม่เคยได้ยินครับ

นอกจากนี้ ยังมี

"ม้ารองบ่อน"

"ปลากัดรองบ่อน"

ส่วน "เบี้ยรองบ่อน" คล้าย ๆกับเป็นตัวรอง ถูกกดขี่ร่ำไป


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 01 ก.ค. 11, 16:00

มัว  "ดีดลูกคิดรางแก้ว"  อย่างเดียว 

อย่ามัวแต่ดีดลูกคิดรางแก้วอยู่เลย ให้มีหัว "เซ็งลี้ / เซ็งลี้ฮ้อ" บ้างนะ หัดใช้จ่ายให้ระวังจะได้ไม่เป็น "เบี้ยหัวแตก" ต้องรีบขยันทำมาหากิน "หนักเล็กเบาหน่อย" ก็ต้องอดทน จะมัวช้าต้องมารอ "เผาหัว" คงจะ "ช้าเกินแกง" เสียนะครับ

เรื่องกินเรื่องอยู่ใครไม่สู้พ่อ    เรื่องพายเรื่องถ่อพ่อไม่สู้ใคร


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 01 ก.ค. 11, 17:29
อุ๊ย ตายจริง  "น่าเกลียดน่าชัง"  อะไรขนาดนี้   อ้วน  "กระปุกหลุก"  เชียว

โธ่เอ๋ย ปล่อยให้ผู้ชายเขาคุยบ้างเหอะ  ชอบมา  "คัดฉาก"  ให้เรือเหอยู่เรื่อย

อีหนู  ไปหยิบ  "ไฟชุด"  ให้หน่อย  หิ้ว  "กระแป๋ง"  มาด้วย

จะไป  "ออกงิ้วออกโขน"  ที่ไหนก็ไป  เมาแล้วเป็นอย่างนี้ทุกที

มาพอดีเลย มาช่วย  "คันขา"  ให้หน่อย  "ขาขาด"  อยู่พอดี


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: bangplama ที่ 02 ก.ค. 11, 09:56
royin...

กระปุกหลุก, กระปุ๊กลุก    ว. อ้วนกลมน่าเอ็นดู.
 
คัดฉาก     ก. ถือท้ายเรือ.
 
คันขา       ก. คานขา.
 
ไฟแช็ก     น. เครื่องขีดไฟชนิดหนึ่ง เวลาใช้ต้องทําให้จักรโลหะครูดกับถ่าน ไฟแช็ก
                    เกิดประกายไฟติดไส้ที่ชุ่มด้วยนํ้ามันหรือแก๊สที่บรรจุอยู่ลุกเป็นเปลวไฟขึ้น.

เคยใช้ ทั้ง ไฟชุด และ กะชุด หรือ ซิปโป้ ก่อนจะมาเก็บคำไว้ว่าไฟแช็ก



 


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 02 ก.ค. 11, 12:55
ทั้งนี้คุณ bangplama และคุณ willyquiz เคยเห็น "ตะบันไฟ" ไหมครับ  ???


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 02 ก.ค. 11, 13:14
ทั้งนี้คุณ bangplama และคุณ willyquiz เคยเห็น "ตะบันไฟ" ไหมครับ  ???

ไม่ใช่เคยเห็นเพียงอย่างเดียว  แต่กระแทกจนมือแหกก็เคยมาแล้ว  มีหลายแบบ  ทั้งแบบสวยๆ และแบบหยาบๆ
คุณ Siamese กล่าวถึงก็ดีแล้ว  ช่วยหารูปมาลงให้ดูสัก สองสาม แบบสิครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 02 ก.ค. 11, 14:06
มา  "ปะเหลาะปะแหละ"  แม่นี่ จะขอตังค์อีกละซีถ้า

สลึงสองสลึงก็ให้ไปเหอะ  "ซื้อรำคาญ"

ก็น้องมา  "กระตุ๊ก"  หูหนูจนอื้อก่อนนี่  หนูก็เลย  "หลังมือ"  เข้าให้

แม่สอนว่าอย่ารังแกน้องจน  "ปากเปียกปากแฉะ"  ก็ไม่เคยจดเคยจำ  ต้องตีให้  "เนื้อขาด"

ต่อให้โอดเป็น  "พญาโศก"  คราวนี้แม่ก็ไม่ซื้อให้หรอก


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 02 ก.ค. 11, 22:53
ภาพ ตะบันไฟ ค่ะ  ;D
เพิ่งเคยเห็น ใช้อย่างไรคะ...
เคยได้ยิน "ตะบันไฟตะไลเพลิง" เหมือนกันไหมคะ...


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 ก.ค. 11, 23:06
เรื่องนี้รอยอินท่านช่วยได้

ตะบันไฟ น. ของอย่างหนึ่งรูปคล้ายตะบัน ทําด้วยเขาควายเป็นต้น มีลูกตะบันสําหรับตบลงไปในกระบอกโดยเร็วเพื่อให้เกิดไฟติดเชื้อที่ปลายลูกตะบันนั้น.

ตะบัน น. เครื่องตําหมากของคนแก่ มีรูปคล้ายกระบอก โดยมากทําด้วยทองเหลือง มีลูกตะบัน สําหรับตําและมีดากอุดก้น. (เทียบ ข. ตฺบาล่). 

 ;D


 


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 ก.ค. 11, 23:11
เมื่อตบลูกตะบันเข้าไปในกระบอก อย่างแรงและรวดเร็ว ปริมาตรของอากาศภายในจะลดลง และความด้นจะเพิ่มขึ้น เกิดความร้อนขึ้นทันทีจนทำให้เชื้อไฟติดได้ แล้วรีบขักออก จะเกิดไฟที่ปลายลูกตะบัน

(http://www.vcharkarn.com/uploads/85/85746.gif)

http://www.vcharkarn.com/vcafe/142419

 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 03 ก.ค. 11, 08:29
เรื่องนี้รอยอินท่านช่วยได้

ตะบันไฟ น. ของอย่างหนึ่งรูปคล้ายตะบัน ทําด้วยเขาควายเป็นต้น มีลูกตะบันสําหรับตบลงไปในกระบอกโดยเร็วเพื่อให้เกิดไฟติดเชื้อที่ปลายลูกตะบันนั้น.

ตะบัน น. เครื่องตําหมากของคนแก่ มีรูปคล้ายกระบอก โดยมากทําด้วยทองเหลือง มีลูกตะบัน สําหรับตําและมีดากอุดก้น. (เทียบ ข. ตฺบาล่).  

 ;D


  


คุณหนู  :D  :D  สาวน้อยไฟแรงเสนอ ตะบันไฟประลัยเพลิง  แล้ว อ้าว ... ตะบันไฟตะไลเพลิง  ตะหาก ขอลุงโอกาสลุงไก่ หนุ่มใหญ่เหนียงยาน เสนอ ตะบันหมาก บ้าง นะ

เมื่อมีตะบันหมากอย่างเดียว จะทานหมากให้เปรี้ยวปากได้อย่างไร ก็ต้องมีเครื่องอุปกรณ์อย่างอื่นเสริมด้วยจึงจะสบายปาก

ตลับปูนแดงป้ายใบพลู เรียกว่า เต้าปูน ก็ได้ใช่ไหมครับอาจารย์




กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 03 ก.ค. 11, 08:32
จะทานหมากแต่ละที จะให้มันง่ายเหมือนสูบบุหรี่ได้ยังไง เครื่องเคราต่างๆ ต้องครบ ... อะไรบ้าง บรรยายไม่ถูก ลุงไก่ไม่เคยทานหมาก

บรรพบุรุษที่ท่านทานหมาก ท่านก็จากไปจนหมแล้ว อีกไม่นานลุงไก่คงจะตามไปถามท่าน

และอย่าได้ไปเข้าใจว่าใบชะพลูก็คือใบพลูนะครับ แม้จะคล้ายกันแต่ก็ไม่ใช่ใบเดียวกัน



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 03 ก.ค. 11, 11:43
ภาพ ตะบันไฟ ค่ะ  ;D
เพิ่งเคยเห็น ใช้อย่างไรคะ...
เคยได้ยิน "ตะบันไฟตะไลเพลิง" เหมือนกันไหมคะ...

ขอบคุณ คุณ D.D. และ อ. เพ็ญชมพู มากครับ ที่นำภาพสวยๆ หู ดูได้ยากมาลงให้ชมกัน  แต่คงจะไม่มีภาพ ตะบันไฟบ้านป่า มาให้ดูเป็นแน่  ภูมิปัญญาชาวบ้าน
นี่เป็นอะไรที่น่าทึ่งนะครับแม้แต่ชาวดงชาวดอยที่ไม่รู้หลักการของวิทยาศาสตร์อะไรเลยก็ตาม
ส่วน "ตะไลเพลิง" ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ "ตะบันไฟ" โดยตรง อาจจะใช้ตะบันไฟเพื่อไปจุดตะไลเพลิงก็เป็นได้  แต่ที่แน่ๆ ก็คือเป็นชื่อของภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่ง
ที่ออกฉายที่โรงภาพยนตร์แห่งหนึ่งแถวประตูน้ำในอดีตช่วง พ.ศ. 2520


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ก.ค. 11, 11:55
เครื่องมือกินหมาก กินตามสถานะภาพเท่าที่เอื้ออำนวย แต่โดยพื้นแล้ว มี ๓ สิ่ง

๑. พลู
๒. ปูนแดง
๓. ผลหมาก

ของเสริม
๑. พิมเสน
๒. ยาฉุน / ยาจืด


อุปกรณ์ประกอบ
๑. ผ้าแดง
๒. กระโถนบ้วนน้ำหมาก
๓. ตะบันหมาก / ครกตำหมาก
๔. เชี่ยนหมาก
๕. มีดไว้ตัดหั่น

เคยช่วยคุณยายตำหมาก ด้วยฟันปลอมทั้งปาก ถ้าฟันดีก็ไม่ต้องตะบันหรือตำหมากให้เมื่อย ตำแหลกไปก็ไม่ชอบ ต้องตำให้พอนิ่มเพื่อจะได้เคี้ยวได้ต่อไป

เลือกพลูใบงามใบใหญ่ ๆ ถ้าใบเล็กก็จัดให้ ๒ ใบ เอามีดตัดก้านออกเสียหน่อย จากนั้นป้ายปูนแดง (ดั่งกับทาแยมบนขนมปัง) ป้ายบาง ๆ

หั่นลูกหมากออก ผ่ากลางหมาก นำเนื้อหมากสีส้มลาย ๆ ออกมาหั่นบาง ๆ เป็นครึ่งวงกลมเสี้ยว มาห่อกับหมากที่ป้ายปูนแดงไว้

ม้วนพลูให้ยายทานต่อไป หากวันไหนยายบอกให้ตำ ก็นำลงครกตำพอให้ยี ๆ แล้วควักด้วยช้อน ใส่ปาก

เคี้ยวไปมาสักหน่อย ก็คว้ายาฉุนมาสักกระจุก อุดเข้าไปข้างปาก กั้นน้ำหมากให้หก แถมยังรับน้ำหมากให้นุ่มเพื่อเคี้ยวให้สะดวก ก่อนที่จะหยิบขวดพิมเสน
เขย่า ๆ ออกมาสองสามเกล็ด เคี้ยวอีกครั้ง

มองเห็นยายมีอารมณ์ ความสุขทุกครั้งที่กินหมาก ใคร่จะอยากลองบ้าง จึ่งป้ายปูน หั่นหมาก มาลองกิน ...พอเข้าปากเท่านั้นแล บ้วนทิ้งแทบไม่ทัน ความเผ็ดร้อน ความเปรี้ยวอยู่ในที
ผสานกับน้ำลาย พร้อมกับกลิ่นเฉพาะตัว ติดปากเสียหลายชั่วโมง


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 03 ก.ค. 11, 12:00
เรื่องนี้รอยอินท่านช่วยได้

ตะบันไฟ น. ของอย่างหนึ่งรูปคล้ายตะบัน ทําด้วยเขาควายเป็นต้น มีลูกตะบันสําหรับตบลงไปในกระบอกโดยเร็วเพื่อให้เกิดไฟติดเชื้อที่ปลายลูกตะบันนั้น.

ตะบัน น. เครื่องตําหมากของคนแก่ มีรูปคล้ายกระบอก โดยมากทําด้วยทองเหลือง มีลูกตะบัน สําหรับตําและมีดากอุดก้น. (เทียบ ข. ตฺบาล่).  

 ;D


  


อ. เพ็ญชมพู ทำให้ผมนึกถึง คำไทยที่หายไป อีกคำหนึ่งขึ้นมาได้คือ "ดากอุดก้น"

เมื่อตอนที่ผมยังไม่ได้ตัดต้นขนุนทิ้ง  ผมนำลูกขนุนขนาดใหญ่ลงมาเพราะกลัวกิ่งจะทานน้ำหนักไม่ไหว  แล้วผมก็เหลาไม้ไผ่เพื่อจะทำ "ไม้ดากเสียบก้น" ขนุน
เมื่อแม่บ้านผมถาม ผมก็ตอบไปอย่างที่กล่าว  ผมกลับถูกกล่าวหาว่าผมพูด หยาบคาย   แสดงถึงว่า แม้แต่คนรุ่นเก่าบางคนก็ไม่รู้จัก "ไม้ดาก" เสียด้วยซ้ำ  แต่
ไพล่ไปรู้จักในความหมายของ "รูทวาร" (ขออภัยครับ) เพียงอย่างเดียว




กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ก.ค. 11, 12:03
การกินหมากให้อร่อย ต้องเลือกพลูให้ดีด้วย พลูมีหลายแบบ พลูไทย และพลูจีน ขายเป็น "เรียง" ยายชอบทานพลูจีนมากกว่า ไม่รู้ทำไม

ส่วนหมากชอบกินหมากสด มากกว่า หมากแห้งที่ตากแดกจนแห้งแข็ง คงมีไว้เก็บตากแดดไว้ยามหมากแพง

เปลือกหมาก นำมาจักด้วยมีด ให้เส้นฝอยเหมือนแปรงสีฟัน นำมาขัดฟันให้สะอาดอีกด้วยครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 03 ก.ค. 11, 12:14
อุปกรณ์ประกอบ ในชุดเชื่ยนหมากของคุณ Siamese ข้อ 5 มีดไว้ตัดหั่น  เป็นมีดที่มีลักษณะเฉพาะตัว (คมมาก)
และถ้าจะให้สมบูรณ์ก็น่าจะมีตะไกรอีกเล่มหนึ่ง  มีลักษณะเฉพาะเช่นกัน  คุณ Siamese น่าจะหาภาพมาให้ชมกันเล่นได้


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ก.ค. 11, 12:16
อุปกรณ์ประกอบ ในชุดเชื่ยนหมากของคุณ Siamese ข้อ 5 มีดไว้ตัดหั่น  เป็นมีดที่มีลักษณะเฉพาะตัว (คมมาก)
และถ้าจะให้สมบูรณ์ก็น่าจะมีตะไกรอีกเล่มหนึ่ง  มีลักษณะเฉพาะเช่นกัน  คุณ Siamese น่าจะหาภาพมาให้ชมกันเล่นได้

มีดแบบนี้ คมนักแล


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ก.ค. 11, 12:19
กรรไกรใหญ่ ไว้หั่นหมาก


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 03 ก.ค. 11, 12:25
เห็นแม๊ะ คุณ Siamese ก็คือ คุณ Siamese แกล้งทำลืมเป็นประจำ  ต้องทวงกันจึงจะได้ภาพงามๆ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ก.ค. 11, 12:31
เมื่อมี "ตะบัน" ที่เกี่ยวเนื่องกัน

"ตะบันหน้า"

"ตะบันน้ำ"

"ตะบี้ตะบัน"


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 03 ก.ค. 11, 12:37
เมื่อมี "ตะบัน" ที่เกี่ยวเนื่องกัน

"ตะบันหน้า"

"ตะบันน้ำ"

"ตะบี้ตะบัน"

ตะบันหน้า  ก็ต้อง  "ตั๊นหน้า" กันน่ะแหละ

ตะบันน้ำ   ทั้งผมและคุณ Siamese ก็คงใกล้แล้วละ

ตะบี้ตะบัน  ก็ผมนี่แหละ พิมพ์ก็ไม่ค่อยเป็น ยังนั่ง "หลังขดหลังแข็ง" จิ้มทีละตัวอยู่ได้


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 03 ก.ค. 11, 13:22
จากความเห็น ๔๑๐

เลือกพลูใบงามใบใหญ่ ๆ ถ้าใบเล็กก็จัดให้ ๒ ใบ เอามีดตัดก้านออกเสียหน่อย จากนั้นป้ายปูนแดง (ดั่งกับทาแยมบนขนมปัง) ป้ายบาง ๆ

หั่นลูกหมากออก ผ่ากลางหมาก นำเนื้อหมากสีส้มลาย ๆ ออกมาหั่นบาง ๆ เป็นครึ่งวงกลมเสี้ยว มาห่อกับหมากที่ป้ายปูนแดงไว้

ทำให้นึกถึงคำว่า "เจียน" ขึ้นมาได้ เขา "เจียน" หมากหรือใบพลูกันแน่ครับ และ "เจียน" ยังไง





กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 ก.ค. 11, 13:39
วัฒนธรรมการกินหมากของไทยเป็นเรื่องของคนแก่ กำลังจะเลือนหายไป

แต่ไปรุ่งเรืองและเป็นเรื่องของวัยรุ่นในดินแดนใหม่ที่ชื่อคล้ายกัน Taiwan

http://www.youtube.com/watch?v=b9-UNOJcmUM&feature=related

http://www.youtube.com/watch?v=pINhS6W2qL0&feature=player_embedded#at=539

 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 03 ก.ค. 11, 14:24
เชี่ยนหมากของย่า จะมีตลับสีผึ้งอยู่เสมอ บางทีหน้าหนาว ย่าก็จะใช้สีผึ้งนี่แหละทาปากให้ผม


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ก.ค. 11, 14:34
จากความเห็น ๔๑๐

เลือกพลูใบงามใบใหญ่ ๆ ถ้าใบเล็กก็จัดให้ ๒ ใบ เอามีดตัดก้านออกเสียหน่อย จากนั้นป้ายปูนแดง (ดั่งกับทาแยมบนขนมปัง) ป้ายบาง ๆ

หั่นลูกหมากออก ผ่ากลางหมาก นำเนื้อหมากสีส้มลาย ๆ ออกมาหั่นบาง ๆ เป็นครึ่งวงกลมเสี้ยว มาห่อกับหมากที่ป้ายปูนแดงไว้

ทำให้นึกถึงคำว่า "เจียน" ขึ้นมาได้ เขา "เจียน" หมากหรือใบพลูกันแน่ครับ และ "เจียน" ยังไง





นี่ครับลุงไก่ วิธีเจียนหมาก จีบพลู คลิกไปชมเลยครับ
http://www.dhamma5minutes.com/webboard.php?id=17&wpid=0037


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 03 ก.ค. 11, 14:36
จาก "ตะบันไฟ ตะไลเพลิง" ก็ต่อมาถึงวัฒนธรรมการกินหมาก
ขอบคุณคุณพี่ siamese ที่นำมาแสดงให้ทราบ ก็ได้รู้ว่า "จีบพลู" นี่ไม่เหมือนกับ "จีบปากจีบคอ"

ผมกล่าวอย่างนี้ จะมีท่านใด "แจกหมาก" ให้ผมไหนนี่?



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ก.ค. 11, 14:43
จาก "ตะบันไฟ ตะไลเพลิง" ก็ต่อมาถึงวัฒนธรรมการกินหมาก
ขอบคุณคุณพี่ siamese ที่นำมาแสดงให้ทราบ ก็ได้รู้ว่า "จีบพลู" นี่ไม่เหมือนกับ "จีบปากจีบคอ"

ผมกล่าวอย่างนี้ จะมีท่านใด "แจกหมาก" ให้ผมไหนนี่?



แจกหมาก เป็นสำนวนแปลว่า ต่อยปาก

อย่างลุงไก่ ต้องเชื้อเชิญ หยิบน้ำ หยิบเชี่ยนหมาก ปูเสื่อสาดรอท่า สนทนาปราศรัย ครับ  ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 ก.ค. 11, 15:20
วัฒนธรรมหมากของไทยมาสะดุดหยุดกึกโครมใหญ่ในยุควัธนธัมของจอมพลป.พิบูลสงคราม ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2     คนไทยถูกห้ามกินหมาก  

สวนหมากถูกโค่น   การบ้วนน้ำหมากในที่สาธารณะจะถูกจับและปรับ

หลังจากนั้นหมากก็สูญหายไปจากคนหนุ่มสาว  แม้ว่าต่อมายุควัธนธัมจบสิ้นลง  ใครจะกินหมากก็ได้ไม่มีใครห้าม  

หนุ่มสาวไทยยุคหลังสงครามโลกก็ไม่นิยมกินหมากกันอีกแล้ว  

ถ้ายังกินกันอยู่  ตอนแม่หญิงเรไรกับสองสามหนุ่มต่อเพลงกันอยู่ในกระทู้ อาจมีการ"แจกหมาก"กันว่อนไปแล้วก็ได้ค่ะ

ถ้าวัฒนธรรมหมากของไทยผ่านพ้นยุควัธนธัมไปได้

เราอาจได้เห็นภาพสาวขายหมากอย่างในไต้หวัน

วัฒนธรรมมีการถ่ายเทไปมา

จากไทยไปไต้หวัน และจากไต้หวันย้อนกลับมาประเทศไทย

หากเป็นเช่นนั้นเราจะดีใจหรือเสียใจกันดี

 ;D



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 04 ก.ค. 11, 09:29
มีภาพ ขายหมาก มาฝากคุณลุงไก่ กะท่านsiamese ค่ะ  ;D
จากพม่า อินเดีย และไต้หวัน เชิญเลือกชิม นะคะ...
ดูเครื่องประกอบหมาก แปลกไปจากไทยนะคะ...


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 04 ก.ค. 11, 09:53
ขอบคุณครับ คุณดีดี เคยเห็นข่าวห้ามขายหมาก กลางถนนที่กรุงไทเป ไต้หวัน อันทำให้รถติดมากมาย บางส่วนก็อยากจะกินทั้งหมาก กินทั้งคนขายไปในเวลาเดียวกัน  ;D ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ค. 11, 10:16
ถ้าคนไทยยังกินหมากกันอยู่ เพราะไม่มียุควัธนธัมมาเบรค    คงโพสต์ข้อความกันไปเคี้ยวหมากกันไป   อาจจะมีการออกตัวว่า
" ขอไปกินหมากซักคำก่อนนะครับ  เดี๋ยวจะมาโพสต์ต่อ" - siamese
หรือ
" วันนี้หิวหมากแต่เช้า   ขอตอบสั้นๆก่อนละกัน " - เพ็ญชมพู

หรืออาจมีกระทู้ต่อไปนี้
" เมืองที่ผมอยู่ไม่มีหมากขาย   ใครทราบบ้างครับว่าจีนมีหมากของไทยขายที่เมืองไหนบ้าง" han_bing
" สั่งหมากทาง ebay หรือ amazon ดีกว่ากันคะ" - : D : D
" ขอแนะนำวิธีปลูกพลูกินเอง   ในยุคพลูขายแพงมาก" -ลุงไก่
" คุณวันดีคะ   อยากจะขอตำราอบปูนหอมของคุณหญิงภักดีบทมาลย์ค่ะ" - Ruamrudee



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 04 ก.ค. 11, 10:26
ถ้าคนไทยยังกินหมากกันอยู่ เพราะไม่มียุควัธนธัมมาเบรค    คงโพสต์ข้อความกันไปเคี้ยวหมากกันไป   อาจจะมีการออกตัวว่า
" ขอไปกินหมากซักคำก่อนนะครับ  เดี๋ยวจะมาโพสต์ต่อ" - siamese


จะมาโพสต่อด้วย "วิธีการปรุงปูนแดง ให้หอมนุ่มละมุนลิ้น ได้สูตรลับจากมาใต้ถุนวัง"  ;D ;D

"การเคี้ยวหมากอย่างไรให้อร่อย" หรือ

"การจีบพลูไฮโซทำอย่างไร"


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 04 ก.ค. 11, 10:55
ใครกินหมากไม่เป็นระวัง "ยันหมาก" นะครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 04 ก.ค. 11, 11:07
คำว่า ขันหมาก  ก็ยังเกี่ยวข้องกับหมาก เป็นขันใส่หมากพลู เพื่อแสดงความเคารพพ่อแม่ของฝ่ายหญิง
แล้ว เตะผ่าหมาก  กะ ข้าวหมาก  เกี่ยวกับหมากตรงไหน ... ???
ยังมี หมากรุก  กะ หมากกระดาน อีก เกี่ยวกับหมากไหมหนอ...


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 04 ก.ค. 11, 11:56
เชื่อว่าหลายๆ ท่าน คงจะรู้วิธีการเก็บ "ทะลายหมาก" จากต้นหมากในสวนแล้ว จึงไม่ขออธิบายนะครับ

เกรงว่าหากอธิบายผิดแล้ว อาจจะถูก "เตะผ่าหมาก" ทำให้ต้องพิการ กลายเป็น "หม้ายขันหมาก"



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 04 ก.ค. 11, 12:03
ถ้าคนไทยยังกินหมากกันอยู่ เพราะไม่มียุควัธนธัมมาเบรค    คงโพสต์ข้อความกันไปเคี้ยวหมากกันไป   อาจจะมีการออกตัวว่า
" ขอไปกินหมากซักคำก่อนนะครับ  เดี๋ยวจะมาโพสต์ต่อ" - siamese
หรือ
" วันนี้หิวหมากแต่เช้า   ขอตอบสั้นๆก่อนละกัน " - เพ็ญชมพู

หรืออาจมีกระทู้ต่อไปนี้
" เมืองที่ผมอยู่ไม่มีหมากขาย   ใครทราบบ้างครับว่าจีนมีหมากของไทยขายที่เมืองไหนบ้าง" han_bing
" สั่งหมากทาง ebay หรือ amazon ดีกว่ากันคะ" - : D : D
" ขอแนะนำวิธีปลูกพลูกินเอง   ในยุคพลูขายแพงมาก" -ลุงไก่
" คุณวันดีคะ   อยากจะขอตำราอบปูนหอมของคุณหญิงภักดีบทมาลย์ค่ะ" - Ruamrudee



ที่เขตหนองแขม กทม มีชื่อแขวง "หนองค้างพลู" สมัยก่อนคงจะเป็นแหล่งปลูกพลูกระมัง ตัดแล้วก็คงนำมาส่งขายที่ "ตลาดพลู" คงจะพายเรือไปส่งทางคลองภาษีเจริญ?

เรื่องของพลูที่ตลาดพลู หาอ่านได้จากหนังสือเรื่อง "เด็กบ้านสวน"

ขอบคุณอาจารย์ที่แนะนำอาชีพใหม่ให้ผมครับ

http://www.oknation.net/blog/print.php?id=443622





กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 04 ก.ค. 11, 15:20
นำเสนอคำว่า ชั่ว ที่ไม่ได้แปลว่า ชั่ว ค่ะ  ;D

- ชั่วพริบตาเดียว
- ชั่วอึดใจเดียว
- ชั่วลัดนิ้วมือเดียว
- ชั่วหม้อข้าวเดือด
- ชั่วเคี้ยวหมากจืด



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 04 ก.ค. 11, 15:28
^
- ชั่วคราว
- ชั่วคืน
- ชั่วประเดี๋ยว
- ชั่วคน
- ชั่วปู่ย่าตายาย
- ชั่วพ่อชั่วแม่
- ชั่วโมง
- ชั่วยาม
 ;)


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 04 ก.ค. 11, 15:31
นำเสนอคำว่า ชั่ว ที่ไม่ได้แปลว่า ชั่ว ค่ะ  ;D

- ชั่วพริบตาเดียว
- ชั่วอึดใจเดียว
- ชั่วลัดนิ้วมือเดียว
- ชั่วหม้อข้าวเดือด
- ชั่วเคี้ยวหมากจืด



ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์
ดีเข้าตัว ชั่วเข้าคนอื่น
ชั่วโมงเร่งด่วน (ช่วงเช้าของคนกรุงเทพฯ)

ขอแทรกสักนิดว่า อย่างนี้เรียกว่าอย่างไรดีครับ
ถอนรากถอนโคน, ล้มทั้งยืน, ...



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 04 ก.ค. 11, 15:38
^
เข้าทำนอง "ไม้ใกล้ฝั่ง" เชียวครับ ลุงไก่  ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 04 ก.ค. 11, 15:41
นึกถึงคำเก่าแก่ได้คำหนึ่ง น้อยคนจะเรียกกัน "ชั้ว"

ชั้ว ใช้เรียกเครื่องเรือนของไทย ที่เราเรียกกันง่าย ๆ ว่าตู้หมู่พระพุทธรูป มักจะเห็นในพระบรมมหาราชวัง บ้านเรือนไทยเก่า ๆ และพิพิธภัณฑ์ดังภาพ

และอีกความหมายหนึ่ง ของ "ชั้ว" ตามรอยอินกล่าวว่า วิธีแทงโปวิธีหนึ่ง ถ้าลูกค้าแทงชั้วไว้ ๑ ประตู และขาย ๑ ประตู  โปออกประตูที่ลูกค้าแทงชั้วไว้ เจ้ามือจ่าย ๑ ต่อ ถ้าออกประตูที่  ลูกค้าขายเจ้ามือกิน ถ้าออกประตูอื่น นอกจากนั้น ไม่ได้ไม่เสีย


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 04 ก.ค. 11, 15:56
^
เข้าทำนอง "ไม้ใกล้ฝั่ง" เชียวครับ ลุงไก่  ;D

มันน่าจับ "ตีเข่า เขย่าศอก ตอกด้วยแข้ง แทงด้วยหลังมือ" นัก



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 04 ก.ค. 11, 16:03
^
อุ๊ย !!! เห็นไม้หลักปักเลน เอนไปเอนมา


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 04 ก.ค. 11, 16:08
ยัง ชั่ว อยู่ค่ะ  ;D

- ชั่ววูบ
- ชั่วขณะจิต
- ชั่วครู่ชั่วยาม
- ชั่วแล่น
- ชั่วกัลปาวสาน
- ชั่วนิรันดร
- ชั่วกัปชั่วกัลป์
- ชั่วนาตาปี
- ชั่วตาปีสีตาชาติ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ก.ค. 11, 19:56
นำเสนอคำว่า ชั่ว ที่ไม่ได้แปลว่า ชั่ว ค่ะ  ;D

- ชั่วพริบตาเดียว
- ชั่วอึดใจเดียว
- ชั่วลัดนิ้วมือเดียว
- ชั่วหม้อข้าวเดือด
- ชั่วเคี้ยวหมากจืด  

คุณดีดีว่า ชั่วหม้อข้าวเดือด และ ชั่วเคี้ยวหมากจืด อย่างไหนเร็วช้ากว่ากัน

 ::)



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ค. 11, 21:12
เคยได้ยินแต่สำนวน ชั่วเคี้ยวหมากแหลก   เพราะเวลามันสั้นนิดเดียว
ส่วนเคี้ยวหมากกว่าจะจืด  ใช้เวลานานนะคะ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 04 ก.ค. 11, 23:18
มีการถกกันเกี่ยวกับเรื่องนี้หลายกระทู้ในพันทิปค่ะ... ;D

- ชั่วเคี้ยวหมากแหลก น่าจะประมาณไม่เกิน 2-3 นาที นะคะ
- ชั่วหม้อข้าวเดือด ถ้าเป็นปัจจุบันใช้หม้อหุงข้าวไฟฟ้า ขนาดที่ใช้กันตามบ้าน น่าจะประมาณ 10-15 นาทีนะคะ แต่หม้อหุงข้าวแบบโบราณต้องเช็ดน้ำ ต้องราไฟ ดงข้าวน่าจะกินเวลามากกว่า..
- ชั่วเคี้ยวหมากจืด น่าจะใช้เวลาสัก 30-45 นาที เคี้ยวไปเรื่อยๆ เพลินๆ เผลอๆ เคี้ยวไปเม้าส์ไป กว่าจะรู้ตัวว่าหมากจืดอาจจะปาเข้าไปเป็นชั่วโมงมังคะ
- ชั่วนกกระจอกกินน้ำ.....จิ๊บ...จิ๊บ...


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: ภูมิ ที่ 04 ก.ค. 11, 23:27
คำว่า ขันหมาก  ก็ยังเกี่ยวข้องกับหมาก เป็นขันใส่หมากพลู เพื่อแสดงความเคารพพ่อแม่ของฝ่ายหญิง
แล้ว เตะผ่าหมาก  กะ ข้าวหมาก  เกี่ยวกับหมากตรงไหน ... ???
ยังมี หมากรุก  กะ หมากกระดาน อีก เกี่ยวกับหมากไหมหนอ...

เตะผ่าหมาก
เข้าใจเอาเองว่าตรงนั้นมันหน้าตาเหมือนลูกหมาก จริงเท็จแค่ไหนใครช่วยเฉลยที


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 05 ก.ค. 11, 00:37
พูดจ๋อแจ๋        = พูดอย่างเด็กๆ

พูดจ้อย         = พูดคล่อง

พูดจ๋อย         = พูดไม่หยุดปาก

หน้าจ๋อย        = หน้าสลด

เหลืองจ๋อย/อ๋อย    = สีเลืองเข้ม

หวานจ๋อย      = รสหวานจัด

นั่งจ๋อย         = นั่งเหงาหงอย

นั่งจ๋อง               

นั่งจองหง่อง

นั่งหงอยก๋อย


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 ก.ค. 11, 07:58
คุณดีดีว่า ชั่วหม้อข้าวเดือด และ ชั่วเคี้ยวหมากจืด อย่างไหนเร็วช้ากว่ากัน

 ::)

อาจารย์กาญจนา นาคสกุล ท่านว่าใช้เวลาเท่ากัน

ชั่วหม้อข้าวเดือด

           เป็นสำนวนที่กล่าวถึงระยะเวลาอีกสำนวนหนึ่ง โดยเทียบกับเวลาที่ใช้หุงข้าวหม้อหนึ่ง คนไทยกินข้าวเป็นอาหารหลัก การหุงข้าวจึงเป็นสิ่งที่คนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงไทยแต่ก่อนเรียนรู้กันทุกคน วิธีหุงข้าวนั้นต้องนำข้าวมาล้างเอาฝุ่นและรำข้าวออก เรียกว่า ซาวข้าว แล้วใส่น้ำให้มากพอควร ยกหม้อขึ้นตั้งไฟ เมื่อเดือดแล้วต้องคนไม่ให้เมล็ดข้าวติดกัน และเคี่ยวไปจนข้าวสุกเกือบทั่ว จึงรินน้ำข้าวออก เรียกว่า เช็ด เมื่อน้ำข้าวไหลออกหมดเรียกว่า ข้าวสะเด็ดน้ำ แล้ว ก็นำหม้อข้าวมาตั้งไฟอ่อน ๆ หมุนหม้อข้าวบ่อย ๆ ให้ข้าวร้อนระอุทั่วทั้งหม้อ เรียกว่า ดง ระยะเวลาที่ตั้งหม้อข้าวจนข้าวเดือดนานประมาณ ๒๐-๓๐ นาที ซึ่งเป็นระยะเวลาช่วงหนึ่ง คนสมัยก่อนจึงนำมากำหนดเวลาต่าง ๆ เช่น เราเดินไปชั่วหม้อข้าวเดือดก็พบหมู่บ้านหนึ่ง เขามานั่งคุยอยู่สักชั่วหม้อข้าวเดือดนั่นแหละถึงได้ไปบ้านกำนัน

ชั่วเคี้ยวหมากจืด

           เป็นสำนวนที่ใช้บอกเวลาอีกสำนวนหนึ่ง โดยเทียบกับระยะเวลาในการเคี้ยวหมาก ๑ คำ ตั้งแต่เริ่มเคี้ยวจนหมากจืดหมดคำ การเคี้ยวหมากของคนแต่ก่อนเรียกว่า กินหมาก แต่ไม่ได้กินจริง ๆ ส่วนมากจะนำหมาก ใบพลูที่บ้ายปูนแล้ว เคี้ยวรวมไปกับเกล็ดพิมเสน กานพลู ยาจืด และเครื่องหอมอื่น ๆ เคี้ยวไปพอหมากพลูผสมกับน้ำลายกลายเป็นน้ำหมากสีแดงก็บ้วนทิ้งเสียครั้งหนึ่ง แล้วเคี้ยวต่อไป พอมีน้ำหมากก็บ้วนน้ำหมากทิ้ง ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนหมากหมดรสฝาด เรียกว่า หมากจืด จึงคายชานหมากทิ้ง คนโบราณกะระยะเวลาที่เคี้ยวหมากคำหนึ่ง ๆ จนจืด ซึ่งเป็นเวลาประมาณ ๒๐-๓๐ นาที มาใช้อธิบายช่วงเวลาหนึ่ง เช่น เรารออยู่นานชั่วเคี้ยวหมากจืดเห็นจะได้ กว่าเขาจะพาเราเข้าไปพบท่านเจ้าคุณ จากนี่ถ้าจะเดินไปบ้านผู้ใหญ่ ก็ไกลชั่วเคี้ยวหมากจืดนั่นแหละ ในสมัยโบราณยังไม่มีนาฬิกาบอกเวลา จึงมักคำนวณเวลาด้วยการเปรียบเทียบกับสิ่งที่ทำอยู่เป็นประจำ สำนวน ชั่วเคี้ยวหมากจืด ปัจจุบันคนที่ไม่เข้าใจแผลงใช้คำว่า ชั่วเคี้ยวหมากแหลก ก็มี

จากนิตยสารสกุลไทยฉบับที่ ๒๔๗๘ ปีที่ ๔๘ ประจำวันอังคารที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๔๕  (http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetail.asp?stcolumnid=1348&stissueid=2478&stcolcatid=2&stauthorid=19)

 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 05 ก.ค. 11, 09:42
มีการถกกันเกี่ยวกับเรื่องนี้หลายกระทู้ในพันทิปค่ะ... ;D

- ชั่วเคี้ยวหมากแหลก น่าจะประมาณไม่เกิน 2-3 นาที นะคะ
- ชั่วหม้อข้าวเดือด ถ้าเป็นปัจจุบันใช้หม้อหุงข้าวไฟฟ้า ขนาดที่ใช้กันตามบ้าน น่าจะประมาณ 10-15 นาทีนะคะ แต่หม้อหุงข้าวแบบโบราณต้องเช็ดน้ำ ต้องราไฟ ดงข้าวน่าจะกินเวลามากกว่า..
- ชั่วเคี้ยวหมากจืด น่าจะใช้เวลาสัก 30-45 นาที เคี้ยวไปเรื่อยๆ เพลินๆ เผลอๆ เคี้ยวไปเม้าส์ไป กว่าจะรู้ตัวว่าหมากจืดอาจจะปาเข้าไปเป็นชั่วโมงมังคะ
- ชั่วนกกระจอกกินน้ำ.....จิ๊บ...จิ๊บ...

คุณหนู  :D :D  ที่เคารพ นกกระจอกในภาพมันมาอาบน้ำตะหาก ขืนกินน้ำขนาดนั้น ๓ วันจะหมดไหมน่ะ?  

"ชั่วพริบตาเดียว" เมียสุดที่รักก็จากฉันไปเสียแล้ว (เป็นไปตามแผน ฮ่า ฮ่า ฮ่า)

เรื่องนี้คงจะเล่ากันไม่จบไปจน "ชั่วลูก ชั่วหลาน"





กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 06 ก.ค. 11, 00:06
มัวไป  "งมโข่ง"  อยู่ที่ไหน  เขาได้นายกคนใหม่แล้ว

ก็ไม่อยากโตอ่ะ ขอเป็น  "เด็กโข่ง"  หยั่งงี้ละ ใครจะทำไม

อย่ามา  "เสความ"  นะ  พูดกันให้รู้เรื่องก่อน

เรื่องมันก็จบไปแล้ว  จะมา  "ฟื้นฝอยหาตะเข็บ"  อะไรกันอีก

โอย เถียงกันอยู่ได้ ยายจะเป็นลม  ขอ  "เยี่ยวอูฐ"  ให้ยายหน่อยเร้วววววว..


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 06 ก.ค. 11, 07:20
เป็นเพราะคุณ Wandee ท่านเปิดครัวแท้ๆ เชียว กลิ่นอาหารหอมฉุยจึงลอยออกมาสัมผัสจมูก จึงทำให้ต้อง "แจกหมาก" อีกครั้งกับกระทู้เก่าๆ เรื่องราวของ "หมาก"


http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2017.0


http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1094.0

 :P   ;D






กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: kwang satanart ที่ 06 ก.ค. 11, 21:47
 อึดใจพระพุทธ  นี่สงสัยจะนานโขอยู่นะ 
เดินยักย้ายส่ายสะโพกอยู่นั่นล่ะ   จะทำอะไรก็ไม่ทำ
กลับมาเหนื่อยๆ  นั่งพักให้เหงื่อแห้งก่อนค่อยอาบน้ำ   
หน้าหนาวๆอย่างนี้  อาบน้ำแล้วอย่าให้โดนลมแรงๆนะ  เดี๋ยวตะพ้านกิน     


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ค. 11, 18:46
นึกถึงคำนี้ขึ้นมาได้ ว่าไม่ได้ผ่านตามานานมากแล้ว  คิดว่าคนอายุต่ำกว่า 40 ลงมาคงไม่เคยได้ยิน
คือคำว่า จักแหล่น ออกเสียงว่า  จักกะแหฺล่น   บางทีก็สะกดว่า  จั๊กแหล่น(จั๊กกะแหฺล่น)  แปลว่าจวนเจียน  เกือบ หวุดหวิด

วันนี้ตื่นสาย   จักแหล่นจะมาไม่ทันโรงเรียนเข้า


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ค. 11, 08:53
เมื่อวันที่ 10 ก.ค.2554      ศ.กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิตและนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยของคนไทย โดยเฉพาะนักเรียนนอกที่ชอบใช้ภาษาฝรั่งคำไทยคำนั้น ในส่วนของราชบัณฑิตเอง ก็เป็นห่วงในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน โดยจะพยายามที่จะส่งเสริมให้คนไทยรู้สึกภาคภูมิภาคใจ และใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้รวบรวมคำต่างๆ มาจัดพิมพ์เป็นหนังสือ เช่น หนังสือคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ หนังสือภาษาต่างประเทศที่ใช้ในปัจจุบัน เพื่อให้คนไทยได้ใช้ภาษาให้ถูกต้อง และไม่หลงลืมรากศัพท์เดิม และส่งเสริมให้สื่อมวลชน และบุคคลสาธารณะเป็นแบบอย่างในการใช้ภาษา

ราชบัณฑิต กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูล สถานการณ์การใช้ภาษาไทยของคนไทย พบว่า อยู่ในภาวะวิกฤติและน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ที่พบว่า ใช้ภาษากันอย่างไม่ระมัดระวังเปลี่ยนไปตามแฟชั่น พูดไทยคำอังกฤษคำและเปลี่ยนไปตามยุคสมัย โดยเฉพาะภาษาที่ใช้กันในสังคมอินเทอร์เน็ต ที่มักใช้คำง่ายๆ สั้นกะทัดรัด แต่ไม่ถูกอักขระ จนกลายเป็นค่านิยม ที่ส่งผลให้ความประณีตของภาษาหายไป และหากเป็นเช่นนี้ต่อไป เด็กไทยก็จะไม่ทราบความหมายของรากศัพท์ทางภาษาที่แท้จริง ไม่รู้จักความสุนทรีย์ของภาษา และใช้คำที่ง่ายๆ ได้อย่างเดียว

"ปัจจุบันเด็กไทยไม่รู้ความหมายของภาษาในหลายคำ บางคนไม่สามารถถ่ายทอดความหมายของคำบางคำได้ เช่น อาการของคำว่า ซาบซึ้งใจ บางคนไม่รู้จัก ชื่อขนมไทย ชื่ออาหาร ดอกไม้ แม้กระทั่งสิ่งที่แสดงถึงอารมณ์ความรู้สึก หรือ คำกริยา เช่น การปิ้ง ย่าง ทอด ที่นำมาใช้กันอย่างสับสน บางครั้งเด็กนึกไม่ออกว่า จะใช้ศัพท์นี้กับประโยคใดบ้าง และทำให้ใช้ภาษาผิดเพี้ยนไป" ศ.กิตติคุณ ดร.กาญจนา กล่าว

ศ.กิตติคุณ ดร.กาญจนา กล่าวอีกว่า ขณะนี้ราชบัณฑิตยสถาน ได้รวบรวมคำใหม่ที่คนไทยใช้ในปัจจุบัน ที่ส่วนมากเป็นภาษาปากที่ใช้แทนภาษาพูด คำสแลง ทั้งคำไทย และต่างประเทศ ได้แก่ คำว่า งดงาม หรือ มโหฬาร ก็จะใช้กันว่า อลังการงานสร้าง, โทรศัพท์ ก็จะใช้คำว่า ต่อสาย, พบปะ ใช้ว่า กระทบไหล่, ผนึกกำลัง ใช้คำว่า สนธิกำลัง ,เงินสนับสนุน ใช้ว่า น้ำเลี้ยง

ส่วนคำต่างประเทศ ที่นิยมใช้ทับศัพท์ ได้แก่ คำว่า แอกซิเดนต์ (accident) สามารถใช้คำไทยว่า อุบัติเหตุ หรือ เหตุขัดข้อง , เช็ก (check) คำไทย คือ ตรวจสอบ สอบถาม หาข้อมูล ,ฟรี (free) คำไทยใช้ว่า ว่าง, ไม่เสียเงิน , อินดอร์ (indoor) ในร่ม ,ในอาคาร , โลโก (logo) ตราสัญลักษณ์ , โพล (poll) สำรวจประชามติ

ราชบัณฑิต กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีคำที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี สังคมอินเทอร์เน็ตที่นิยมใช้ เช่น อีเมล ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ ส่งอีเมล (ส่งไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์) เน็ตเวิร์ค เครือข่าย ,โครงข่าย , วงจรข่าย, search เสิร์ต ค้นหา การค้นหา , laptop computer แล็ปท็อปคอมพิวเตอร์ หรือ คอมพิวเตอร์วางตัก , overload โอเวอร์โหลด โหลดเกิน ,ภาระเกิน, , adapter อแดปเตอร์ ตัวปรับต่อ ,ตัวปรับ ซึ่งคำดังกล่าวส่วนใหญ่จะใช้ในสังคมวงการสื่อมวลชน และในทางการเมือง

ไทยรัฐออนไลน์    โดย ทีมข่าวการศึกษา
8 กรกฎาคม 2554, 17:30 น.


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 ก.ค. 11, 11:47
ดูจะมีเจตนารมณ์เดียวกับอาจารย์ภาษาไทยคนข้างล่าง

เอาคำบ่นของอาจารย์ภาษาไทยมาให้อ่านกัน

บทความเรื่อง คำไทยที่หายไป โดย ศิริวรรณ์ ฉายะเกษตริน หัวหน้าโครงการหมอภาษาพัฒนาเยาวชน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (http://www.morphasa.com/pdf/A27.pdf)

 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 09 ก.ค. 11, 18:13
เจ้าหมอนั่นสงสัยหลงยุคเสียแล้ว  ดูเค้ากล้าหวีผม  "ตกแสก"  ออกมาเดินถนน

พูดแค่นี้ก็ทำเป็นอาย  "ม้วนต้วน"

กลับมาเหนื่อยๆ ก็ไป "ลูบเนื้อลูบตัว"  เสียก่อนไป

ไปล้างหน้าล้างตาเสีย  "กระมอมกระแมม"  เต็มทน

พอแล้ว พอแล้ว  มาร่าย  "คาถาพัน"  อย่างนี้ ฉันฟังไม่เข้าใจหรอก


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ค. 11, 19:02
คำว่าแห้ง  มีคำขยายหลายคำที่ไม่ค่อยเห็นอีกแล้ว
- แห้งผาก   = แห้งสนิท
- หน้าแห้ง  = หน้าตาอิดโรย ไม่แจ่มใส 
- แห้งเกราะ =  แห้งจนกรอบ  โดยมากเกิดจากความร้อน
- ยิ้มแห้ง   = ยิ้มฝืนๆ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 16 ก.ค. 11, 08:35
Admin กรุณาตรวจสอบด้วยครับ

คำถามเยอะแยะไปหมด  ... พับผ่าสิ ... พับเผื่อยสิ  ...




กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 ก.ค. 11, 09:50
พับผ่า..พับเผื่อย..พับผี่

พับผ่า เป็นอุทาน น่าจะมาจาก ให้ฟ้าผ่า

พับผี่  ก็น่าจะมาจาก ฟ้าผี่ แปลความหมายเดียวกับข้างบน

ท้าวสามนต์เข้าไปเห็นพระสังข์ในกระท่อม อุทานว่า ฟ้าผี่

ผิวเนื้อเรื่อเรืองเหลืองประหลาด
ดั่งทองคำธรรมชาติหล่อเหลา
ฟ้าผี่เถิดเอ๋ยลูกเขยเรา
งามจริงนะเจ้านางมณฑา

 ;D



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: kwang satanart ที่ 16 ก.ค. 11, 22:00
สิ้นเดือนแบบนี้ จนกรอบเลย มีเงินอยู่ไม่กี่บาท

ผ้าสวยๆอย่างนี้ ชิ้นละกี่อัฐฬสกันล่ะนี่

งานการมีไม่ทำ มานั่งท้าวแขนแอ่นระแน้ อยู่แถวนี้

ถูกดุอย่างนี้  หน้าไม่มีสลด  ทำหน้าระรื่นอยู่ได้

เด็กอะไร ท้องยุ้งพุงกระสอบ  กินข้าวยังกะยัดทะนาน

ของพรรณอย่างนี้ ปรบมือข้างเดียวไม่ดังหรอก 

ตัวแค่นี้  ริอ่านเป็นขโมยเสียแล้ว

ตอนแรกก็ว่าเรื่องจบไปแล้ว   แต่กลับมาโอละพ่อวุ่นวายรื้อฟื้นกันขึ้นมาใหม่

ยากจนจนไส้จะเป็นน้ำเหลืองอยู่แล้ว  ยังมาทำวางท่ายโส





กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 16 ก.ค. 11, 22:14
อ่านอิเหนาแล้วนึกขึ้นได้อีกคำหนึ่งค่ะ... ;D

"มะงุมมะงาหรา"


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 ก.ค. 11, 23:07
^
^
นึกขึ้นได้อีกหลายคำ

วิลิศมาหรา
ดวงยิหวา
คู่ตุนาหงัน
ยาหยี

 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 17 ก.ค. 11, 20:51
จากคำว่า "คาถาพัน" ที่มาจากการเทศน์มหาชาติเป็นภาษาบาลี  ทำให้ถูกแปลงมาใช้เป็นสำนวนที่หมายถึง
คนที่พูดจาฟังไม่เป็นภาษา พูดจายืดยาวแต่ฟังแล้วไม่เข้าใจ  ว่า "ร่ายคาถาพัน"
ทำให้นึกได้อีกคำหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับการสวดมหาชาติเช่นกัน  และกำลังจะหายไป  คือคำว่า "โอ้เอ้วิหารราย"
อันหมายถึงการทำอะไรที่ชักช้า ยืดยาด ไม่ทันชาวบ้าน


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ก.ค. 11, 06:21
‘โอ้เอ้วิหารราย’ (หรือ ‘โอ้เอ้พิหารราย’)  เป็นสำนวนหมายถึง ยืดยาด อ้อยอิ่ง ล่าช้า

เรื่องนี้พบใน ‘สาส์นสมเด็จ’ ฉบับลงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๔ ท่านว่า เค้ามูลการสวดโอ้เอ้วิหารรายนั้น มาจากเมืองนครศรีธรรมราช

การที่มีเด็กสวดตามศาลารายในวัดพระแก้วนั้น เพิ่งมีขึ้นในรัชกาลที่ ๓ ด้วยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงตั้งโรงเรียนสอนหนังสือไทยขึ้นเป็นปฐมที่โรงทานข้างประตูต้นสน ครั้นถึงเทศกาลที่ขุนทินขุนทานสวดมหาชาติคำหลวงในโบสถ์วัดพระแก้ว จึงโปรดฯให้จัดเด็กนักเรียนที่โรงทานมาสวด ‘โอ้เอ้วิหารราย’ อย่างโบราณที่ศาลาราย เลยเป็นธรรมเนียมมาจนในรัชกาลที่ ๔ และที่ ๕ จนกระทั่งเลิกโรงเรียนที่โรงทาน มีโรงเรียนชั้นประถมของหลวง จึงจัดเด็กตามชั้นประถมที่ต่างๆ มาสวดโอ้เอ้วิหารรายแทนเด็กโรงทานโรงเรียนละศาลา

เมื่อเปลี่ยนเป็นสวดตามศาลา มิได้สวดตามวิหารรายอย่างเดิม บางทีอาจมีผู้เรียกเพี้ยนไปเป็นอย่างอื่น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงทรงมีพระบรมราชาธิบายประกาศว่า

“สวดหนังสือสวดอย่างเช่นเด็ก ๆ สวดนั้น เรียกชื่อว่าสวดโอ้เอ้พิหารราย จะสวดที่พิหารรายก็ดี สวดที่พระระเบียงก็ดี สวดที่พิหารใหญ่ ที่ศาลา กุฎี ที่ใด ๆ ก็ดี ก็คงเรียกชื่อยืนอยู่อย่างเดียวว่า โอ้เอ้พิหารราย ไม่ยักย้ายไปตามที่สวดเลย”

ต่อมานำคำว่า ‘โอ้เอ้วิหารราย’ มาเป็นสำนวนหมายถึงช้าอ้อยอิ่ง เพราะการสวดแบบนี้สวดช้า ๆ มีเอื้อนมีสร้อยประกอบยืดยาว ยิ่งเด็ก ๆ สวดก็ยิ่งลากเสียงยานยาว

http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp?stcolumnid=1990&stissueid=2522&stcolcatid=2&stauthorid=13

อยากทราบมากกว่านี้ อ่านเพิ่มเติมได้ที่

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/08/K5738300/K5738300.html
http://www.stou.ac.th/study/projects/training/culture/oaeviharai.htm

 ;D



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ก.ค. 11, 06:32
ของฝากจาก กระทู้พันทิปข้างบน (http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/08/K5738300/K5738300.html)

๑. แทะโลม ว่าหายไปแล้ว คำที่ความหมายเหมือนกัน แพะโลม ใครเคยได้ยินบ้าง

๒. แม่สายบัวแต่งตัวเก้อ ทำไมต้องเป็นแม่สายบัวเกี่ยวอะไรกับ มุ้งสายบัว หรือเปล่า

 ::)


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 18 ก.ค. 11, 08:31
^
คำว่าสายบัว น่าจะมาจาก สายบัวที่นำมาประกอบอาหาร
ในสมัยก่อนชาวบ้านหาอาหารจากธรรมชาติ การค้าขายแลกเปลี่ยนมีน้อย
บางวันได้สายบัวมา ตั้งใจว่าจะทำต้มหรือแกง ก็จัดแจงเตรียมสายบัว
โดยการเด็ดลอกใย ตกแต่งให้พร้อมที่จะปรุงเป็นอาหาร
แต่บังเอิญโชคไม่ดี หากุ้ง ปลา ที่จะมาประกอบต้มแกงไม่ได้
สายบัวที่เตรียมไว้ ก็เลยต้องลดอันดับจากที่หวังว่าจะได้เป็นเอกในหม้อแกง
ก็ต้องมาเป็นเครื่องจิ้มน้ำพริก รวมกับผักอื่นๆ แทน

...สายบัวก็เลยแต่งตัวเก้อ...ด้วยประการละฉะนี้..... ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 18 ก.ค. 11, 11:46
‘โอ้เอ้วิหารราย’ (หรือ ‘โอ้เอ้พิหารราย’)  เป็นสำนวนหมายถึง ยืดยาด อ้อยอิ่ง ล่าช้า

เรื่องนี้พบใน ‘สาส์นสมเด็จ’ ฉบับลงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๔ ท่านว่า เค้ามูลการสวดโอ้เอ้วิหารรายนั้น มาจากเมืองนครศรีธรรมราช

การที่มีเด็กสวดตามศาลารายในวัดพระแก้วนั้น เพิ่งมีขึ้นในรัชกาลที่ ๓ ด้วยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงตั้งโรงเรียนสอนหนังสือไทยขึ้นเป็นปฐมที่โรงทานข้างประตูต้นสน ครั้นถึงเทศกาลที่ขุนทินขุนทานสวดมหาชาติคำหลวงในโบสถ์วัดพระแก้ว จึงโปรดฯให้จัดเด็กนักเรียนที่โรงทานมาสวด ‘โอ้เอ้วิหารราย’ อย่างโบราณที่ศาลาราย เลยเป็นธรรมเนียมมาจนในรัชกาลที่ ๔ และที่ ๕ จนกระทั่งเลิกโรงเรียนที่โรงทาน มีโรงเรียนชั้นประถมของหลวง จึงจัดเด็กตามชั้นประถมที่ต่างๆ มาสวดโอ้เอ้วิหารรายแทนเด็กโรงทานโรงเรียนละศาลา

เมื่อเปลี่ยนเป็นสวดตามศาลา มิได้สวดตามวิหารรายอย่างเดิม บางทีอาจมีผู้เรียกเพี้ยนไปเป็นอย่างอื่น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงทรงมีพระบรมราชาธิบายประกาศว่า

“สวดหนังสือสวดอย่างเช่นเด็ก ๆ สวดนั้น เรียกชื่อว่าสวดโอ้เอ้พิหารราย จะสวดที่พิหารรายก็ดี สวดที่พระระเบียงก็ดี สวดที่พิหารใหญ่ ที่ศาลา กุฎี ที่ใด ๆ ก็ดี ก็คงเรียกชื่อยืนอยู่อย่างเดียวว่า โอ้เอ้พิหารราย ไม่ยักย้ายไปตามที่สวดเลย”

ต่อมานำคำว่า ‘โอ้เอ้วิหารราย’ มาเป็นสำนวนหมายถึงช้าอ้อยอิ่ง เพราะการสวดแบบนี้สวดช้า ๆ มีเอื้อนมีสร้อยประกอบยืดยาว ยิ่งเด็ก ๆ สวดก็ยิ่งลากเสียงยานยาว


 ;D



ขออนุญาตเพิ่มเติมจาก อ. เพ็ญชมพูครับ


          การสวดมหาชาติสมัยโบราณ  สวดเป็นภาษาบาลีล้วนๆ เรียกว่าสวด “คาถาพัน” เพราะมีประมาณ ๑๐๐๐ คาถา   ถึอกันว่าถ้าได้ฟังครบ ๑๓ กัณฑ์  จะบังเกิดบุญกุศล
ยิ่งนัก   ต่อมาเกิดความคิดขึ้นว่า  การฟังสวดภาษาบาลีไม่ซาบซึ้งในอรรถรสพียงพอ   จึงมีผู้แปลมหาชาติเป็นภาษาไทย  ฉบับที่ปรากฏหลักฐานเรื่องแรกคือ “มหาชาติคำหลวง”     
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๕  ใช้สำหรับสวดเป็นทำนองต่างๆ  เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สวดโอ้เอ้พิหารราย”  รัชกาลที่ ๕ ทรง
สันนิษฐานว่าใช้ข้าราชการสวด  และฝึกคนสวดไว้มาก  ผู้ใดสวดได้ดีก็ได้สวดถวายทรงฟังในวิหารใหญ่ในวัดพระศรีสรรเพชญ  บุคคลนอกจากนั้นไปสวดตามวิหารรายรอบ   
เนื่องจากพวกนี้สวดดีบ้างไม่ดีบ้างจึงเรียกว่า “โอ้เอ้พิหารราย”    การสวดมหาชาติเป็นทำนองหรือสวดโอ้เอ้พิหารรายยังทำกันต่อมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์    ในรัชกาลที่ ๔  มี
เปลี่ยนไปแต่เพียงสวดในอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามแห่งเดียวตามศาลารายจัดนักเรียนไปสวดแทน
          ต่อมาพระเจ้าทรงธรรมได้ราชสมบัติ   ทรงพระราชนิพนธ์ “กาพย์มหาชาติ” เมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๐ ใช้สำนวนโวหารราบเรียบเข้าใจได้ง่าย    ภิกษุจึงนำไปเทศน์   แต่ยัง
เทศน์เป็นทำนองต่างๆ อนุโลมตามแบบสวดมหาชาติคำหลวง...................เสนีย์ วิลาวรรณ อ.บ.,ป.ม.,ศ.บ. จากหนังสือ "ประวัติวรรณคดีและการประพันธ์"


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: konkao ที่ 18 ก.ค. 11, 23:15
สวัสดีครับ  สมัยจอมพล ป.  ตัวหนังสืออ่านแปลกๆ ผมถ่ายรูปมาให้อ่านกันครับ


(http://image.ohozaa.com/i/0b4/dsc05407.jpg)

(http://image.ohozaa.com/i/c56/dsc05405.jpg)


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ค. 11, 08:13
นึกได้อีกคำ เลยเข้ามาลงไว้ก่อนจะลืม

เอะอะมะเทิ่ง

ในข้อเขียนยุคนี้คงไม่มีคำนี้อีกแล้ว


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 19 ก.ค. 11, 10:17
ได้มาจาก "พระสุธนคำฉันท์" กลัวลืม เลยนำมาลงเสียก่อน

"กล้องแกล้ง"   รอยอินท่านอธิบายว่า

กล้องแกล้ง   [กฺล้องแกฺล้ง] ว. มีรูปร่างเอวเล็กเอวบาง, อ้อนแอ้น; มีท่าทาง
เป็นเชิงเจ้าชู้.


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 20 ก.ค. 11, 14:38
หวนนึกถึงคำไทยอีกคำหนึ่งคือคำว่า  "โอ้โลมปฏิโลม"  จึงเข้าไปค้นหาใน รอยอิน   แต่ไม่พบคำว่า "โอ้โลม"   พบแต่คำว่า  "ปฏิโลม"
ซึ่งรอยอินให้ความหมายว่า

ปฏิโลม   ว. ทวนกลับ. (ป. ปฏิโลม ว่า ทวนขน คู่กับ อนุโลม ว่า ตามขน).

สมัยก่อนเคยได้ยินคำตัดพ้อทำนองว่า   "เมื่อด่าฉันไปแล้วจะมา โอ้โลมปฏิโลม อยู่อีกทำไม" ของสามี-ภรรยา อยู่บ่อยๆ คงจะคล้ายกับว่า
เมื่อ ตบหัว แล้วมาจะมา ลูบหลัง อีกทำไม    แต่ทำไมคำว่า "โอ้โลม" จึงไม่มีบรรจุไว้ในพจนานุกรมฉบับใหม่ซึ่งใช้หนุนหัวนอนได้สบายอยู่เลย

ระยะหลังผมไม่ค่อยอยากกรายเข้ามาที่กระทู้นี้  เพราะถูกพรรคพวกบางคนที่ร่ำเรียนจบจากยอดตาลกล่าวหาว่านำเอาคำที่ไม่มีในพจนานุกรมมาใส่ไว้  แล้ว โมเม
เอาว่า  มีใช้อยู่จริง  อย่างเช่นคำว่า "รอยโครอยเกวียน" เป็นต้น   การที่พจนานุกรมไม่บรรจุคำนี้เอาไว้กลายเป็นว่าผม ยกเมฆ เอาคำนี้ขึ้นมาอ้างเองเสียแล้ว
ผมจึงขออนุญาตนำ link หนึ่งมาลงไว้ที่นี่ฝากผ่านไปถึง "นักรบยอดตาล" ผู้นี้  ว่าลงมาเล่นกันในกระทู้ดีกว่ามัวใช้ปากอย่างเดียวอยู่เลย

http://www.youtube.com/watch?v=DSaGT8_jPmo





กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 20 ก.ค. 11, 14:52
นึกเรื่องเก่าแก่ได้เรื่องหนึ่ง คำนี้คงไม่ได้ยินอีกแล้ว "น้ำเต้าล่อล่อ"

เสมือนว่าคำนี้คล้ายกับ "เอากุ้งฝอยตกปลากะพง" คือ การที่ยื่นผลตอบแทนเล็กน้อยมาเสนอ เพื่อผลประโยชน์ที่จะตามมาอีกมาก แต่ "น้ำเต้าล่อล่อ" ใช้ไนเชิงเตือนให้ระวังในเรื่องการถูกโกงเป็นหลัก



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 20 ก.ค. 11, 15:16
เฮ้อ! อ่านแต่ละคำของขุนสยามที่นำเสนอที่ไรต้องเอามือเกาคางกุมขมับเสียทุกที  นึกอย่างไรก็นึกไม่ออกว่าเคยเห็นหรือได้ยินมาก่อนหรือเปล่า?

ถ้าเป็น น้ำเต้า ปู ปลา เอามาฝัดเล่น ยังพอจะนึกออกได้บ้าง   ขยายให้อีกหน่อยสิครับ (อยากรู้จัง)


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 20 ก.ค. 11, 15:30
เฮ้อ! อ่านแต่ละคำของขุนสยามที่นำเสนอที่ไรต้องเอามือเกาคางกุมขมับเสียทุกที  นึกอย่างไรก็นึกไม่ออกว่าเคยเห็นหรือได้ยินมาก่อนหรือเปล่า?

ถ้าเป็น น้ำเต้า ปู ปลา เอามาฝัดเล่น ยังพอจะนึกออกได้บ้าง   ขยายให้อีกหน่อยสิครับ (อยากรู้จัง)

ให้ยกสองมือกุมเลยครับ  ;D ;D

"น้ำเต้าล่อล่อ" เหมือนเวลาเล่นการพนัน เมื่อผู้เล่น ๆ เป็นครั้งแรกจะได้เงินมามาก ต่อเมื่อเล่นต่อไปเรื่อย ๆ ก็หมดตัว ซึ่งการได้ครั้งแรก ๆ จึงเสมือนเอาน้ำเต้าล่อล่อ


ก็คือ เอาผลประโยชน์ "วางเบ็ด" ให้เหยี่อติดใจ เพื่อจะได้ผลประโยชน์อย่างอื่นในเวลาต่อมา


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 20 ก.ค. 11, 15:42
ฮี่ธ่อ! หยั่งงี้เขาเรียกว่า "ตุ๋น" กัน  หลอกให้อยากรู้แทบตาย   ที่แท้ก็มาจากการพนัน น้ำเต้า ปู ปลา นั่นแหละ  ใช่ไหมล่ะ?


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 20 ก.ค. 11, 15:55
คำว่า เรือนเครื่องผูก และคำว่า เรือนเครื่องสับ  ค่ะ... ;D
แทบไม่รู้ความหมายแล้วค่ะ....


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 20 ก.ค. 11, 16:00
อ้อ! ก่อนผมจะลืม  ขอเรียนถามขุนสยามว่า ทำนองเพลงไทยเดิม "กล่อมพญา" นี่มีทำนองเป็นอย่างไร

ผมลองค้นดูใน Youtube ก็ไม่มี  ลองค้นหาใน รอยอิน ก็ไม่มีเช่นกัน  แลัวคำนี้ "จับพลัดจับผลู" เข้ามา

เป็นคำไทยโดยหลงหูหลงตาของเหล่าราชบัณฑิตไปได้อย่างไรกัน?  หรือปัจจุบันไม่มีทำนองเพลงนี้อยู่อีกแล้ว?


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 20 ก.ค. 11, 16:01
บ้านเรือนปัจจุบันเป็นบ้านสำเร็จรูป ก่ออิฐถือปูนซะป็นส่วนใหญ่
ทำให้คำเรียกส่วนต่างๆ ของบ้าน ตามแบบโบราณเลือนหายไป... ;D

คนรุ่นใหม่ใครยังรู้จัก...บ้างหนอ...
รู้จักแบบไม่ต้องถามอากู๋หรือท่านรอยอินน่ะนะ...

- ฝาประกน
- ฝาสายบัว
- ฝาสำหรวด
- ฝาขัดแตะ
- ฝาไหล
- ฝาเกล็ด
- ฝาหุ้มกลอง
- ฝาหน้าถัง
- ฝาหับเผย
- ฝาหอยโข่ง
ฯลฯ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 20 ก.ค. 11, 16:18
อย่าว่าแต่คนสมัยใหม่เลยครับคุณ D.D.  คนสมัยเก่าก็ยังแยกไม่ถูกเลยครับ   เอาแค่ให้ชี้บอกว่า

ส่วนไหนของบ้านเรียกว่า  "จันทัน"  "ขื่อ"  "ตง"  "แป"  ฯลฯ  ยังเรียกไม่ถูกกันอีกเยอะแยะเลยครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 20 ก.ค. 11, 16:20
ใครเคยใช้คำว่า เฝือก บ้างคะ...นั่นแน่ยกมือกันเป็นแถวเลย.. ;D
ส่วนใหญ่จะใช้คำว่า เฝือก ในความหมายว่า อุปกรณ์ที่ใช้ในการแพทย์ เพื่อดามกระดูกและข้อ ซึ่งมีหลายประเภทตามวัสดุที่ใช้เช่น เฝือกปูน เฝือกไม้ ฯลฯ

แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า เฝือก ยังใช้ในความหมายอื่นได้อีก...
เฝือก นอกจากความหมายข้างบนแล้ว ยังหมายถึง เครื่องมือจับสัตว์น้ำ ใช้กั้นน้ำดักปลา ทำด้วยไม้ไผ่ผ่าและเหลาเป็นซีก ขนาดใหญ่เท่ากับก้านตับจากมุงหลังคา หรือใหญ่กว่าเล็กน้อย แล้วถักด้วยหวายให้เป็นแผง ตามปรกติแผงหนึ่งยาวประมาณ ๘ - ๑๐ เมตร ขนาดสูงของเฝือกนั้นสุดแท้แต่จะใช้ในน้ำลึกเท่าใด และยังมีชื่อต่างๆ กันไปอีกหลายชนิด ได้แก่
- เฝือกกางกั้น
- เฝือกโขด
- เฝือกรัง
- เฝือกล้อม


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 20 ก.ค. 11, 16:30
อ้อ! ก่อนผมจะลืม  ขอเรียนถามขุนสยามว่า ทำนองเพลงไทยเดิม "กล่อมพญา" นี่มีทำนองเป็นอย่างไร

ผมลองค้นดูใน Youtube ก็ไม่มี  ลองค้นหาใน รอยอิน ก็ไม่มีเช่นกัน  แลัวคำนี้ "จับพลัดจับผลู" เข้ามา

เป็นคำไทยโดยหลงหูหลงตาของเหล่าราชบัณฑิตไปได้อย่างไรกัน?  หรือปัจจุบันไม่มีทำนองเพลงนี้อยู่อีกแล้ว?

เพลงกล่อมพญา เป็นเพลงเก่า ความเร็วจังหวะ ๒ ชั้น คือ เพลงไทยมีจังหวะ ๑ ชั้น ๒ ชั้น และ ๓ ชั้น โดย เพลง ๓ ชั้นจะช้าสุด  ลักษณะของเพลงกล่อมพญาไว้สำหรับเล่นละคร ซึ่งแสดงความสง่าผ่าเผยหรือแสดงอำนาจราชศักดิ์ ฟังแล้วยืดอกได้สบาย ๆเลย


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 20 ก.ค. 11, 16:41
ได้อ่านแล้วค่อยสบายใจหน่อย  ขอถามขุนสยามอีกเพลงหนึ่งนะครับ คือ "บุล่ง" (ไม่มีใน รอยอิน อีกเช่นเคย)  ผมดูใน Youtube แล้ว

มีเพลง "มุล่ง"       ตกลงว่า  เรียกชื่อเพลงไทยเดิมนี้ว่าอย่างไร บุล่ง หรือ มุล่ง ครับ?


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: kwang satanart ที่ 21 ก.ค. 11, 22:06
กลับมาเรื่องคำไทยค่ะ   ฝาเฟี้ยม  ฝาที่ทำเป็นบานประตูหลายๆบานติดๆกัน  บางบ้าน ฝาทั้งสี่ด้านของห้อง ทำเป้นฝาเฟี้ยม พอมีงานที่ต้องอาศัยห้องกว้างๆ ก็จะเปิดฝาประตูทั้งสี่ด้านนี้พร้อมๆกัน  ทำให้บ้านกว้างมากขึ้น  รับแขกได้เยอะขึ้น  ยังพอมองเห็นได้บ้าง จากตึกแถวโบราณสมัยเก่า


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 ก.ค. 11, 07:48
ได้อ่านแล้วค่อยสบายใจหน่อย  ขอถามขุนสยามอีกเพลงหนึ่งนะครับ คือ "บุล่ง" (ไม่มีใน รอยอิน อีกเช่นเคย)  ผมดูใน Youtube แล้ว

มีเพลง "มุล่ง"       ตกลงว่า  เรียกชื่อเพลงไทยเดิมนี้ว่าอย่างไร บุล่ง หรือ มุล่ง ครับ?

เพลงมุล่ง เป็นเพลงที่ใช้สำหรับฝึกหัดการตีระนาดเอก

http://www.youtube.com/watch?v=orfiv0qB_bQ&feature=related


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 ก.ค. 11, 07:51
กลับมาเรื่องคำไทยค่ะ   ฝาเฟี้ยม  ฝาที่ทำเป็นบานประตูหลายๆบานติดๆกัน  บางบ้าน ฝาทั้งสี่ด้านของห้อง ทำเป้นฝาเฟี้ยม พอมีงานที่ต้องอาศัยห้องกว้างๆ ก็จะเปิดฝาประตูทั้งสี่ด้านนี้พร้อมๆกัน  ทำให้บ้านกว้างมากขึ้น  รับแขกได้เยอะขึ้น  ยังพอมองเห็นได้บ้าง จากตึกแถวโบราณสมัยเก่า

เรื่องฝาเฟี้ยมแล้ว สิ่งที่ใกล้กัน ก็เห็นจะเป็นหน้าต่างแบบฝาเฟี้ยม ไม่ทราบว่าเคยเห็นกันหรือไม่ เป็นบานหน้าต่างทำด้วยไม้ เว้นช่องไว้ ๑ ช่อง เหมือนอย่างทางม้าลาย จำนวน ๒ ชิ้นเข้าประกบด้วยกัน  เวลาเลื่อนปิด แผงไม้ก็จะทำหน้าที่เลื่อนบังกัน ถ้าเปิดก็เลื่อนไม้เพื่อเปิดหน้าต่างเหมือนทางม้าลาย คือ ช่อง เว้น ช่อง ครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 ก.ค. 11, 09:19
ยาย : ไปหยิม "หม้ออวย" มาให้หน่อยซิ

เด็ก : อวย ไหน  ???

หม้ออวยเป็นภาชนะเคลือบ ทำทรงหม้อป่อง ๆ มีหลายขนาด เล็กเท่าลูกแตงโม ไล่ขนาดขึ้นไป นิยมเคลือบสีฟ้าอมเขียว, สีน้ำตาลอมแดง, สีเขียว


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 ก.ค. 11, 09:23
ยาย : ไปหยิบ "หม้อหยวนโล้" ติดมือมาด้วยนะ

เด็ก : หยวนโล้ ?

หม้อหยวนโล้ หรือเรียกหม้อไฟ หรือ หม้อโป๊แตก เป็นภาชนะที่สามารถใส่ถ่านไฟทำให้อาหารนั้นร้อนแล้วนำมาตั้งไว้บนโต๊ะได้ เป็นวัฒนธรรมการกินอาหารของจีนที่ต้องกินของร้อน ๆ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 22 ก.ค. 11, 09:23
กลับมาเรื่องคำไทยค่ะ   ฝาเฟี้ยม   ฝาที่ทำเป็นบานประตูหลายๆบานติดๆกัน  บางบ้าน ฝาทั้งสี่ด้านของห้อง ทำเป้นฝาเฟี้ยม พอมีงานที่ต้องอาศัยห้องกว้างๆ ก็จะเปิดฝาประตูทั้งสี่ด้านนี้พร้อมๆกัน  ทำให้บ้านกว้างมากขึ้น  รับแขกได้เยอะขึ้น  ยังพอมองเห็นได้บ้าง จากตึกแถวโบราณสมัยเก่า

เรื่องฝาเฟี้ยมแล้ว สิ่งที่ใกล้กัน ก็เห็นจะเป็นหน้าต่างแบบฝาเฟี้ยม ไม่ทราบว่าเคยเห็นกันหรือไม่ เป็นบานหน้าต่างทำด้วยไม้ เว้นช่องไว้ ๑ ช่อง เหมือนอย่างทางม้าลาย จำนวน ๒ ชิ้นเข้าประกบด้วยกัน  เวลาเลื่อนปิด แผงไม้ก็จะทำหน้าที่เลื่อนบังกัน ถ้าเปิดก็เลื่อนไม้เพื่อเปิดหน้าต่างเหมือนทางม้าลาย คือ ช่อง เว้น ช่อง ครับ

ที่คุณ siamese ว่า เรียกว่า ฝาไหล ค่ะ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 ก.ค. 11, 09:27
ยาย : ควัก "งาปิ" มาให้ยายสักช้อนหอยซิ

เด็ก : รู้แต่งาดำ งาขาว แต่งาปิ ?

งาปิ เป็นการเรียกเพี้ยนเสียงของ กะปิ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ คนไทยนิยมเรียก งาปิ, เยื่อเคย จนเพื้ยนไปหมด จึงมีพระราชบัญญัติให้เรียกชื่อให้ถูกต้องว่า "กะปิ"


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 ก.ค. 11, 09:33
กลับมาเรื่องคำไทยค่ะ   ฝาเฟี้ยม   ฝาที่ทำเป็นบานประตูหลายๆบานติดๆกัน  บางบ้าน ฝาทั้งสี่ด้านของห้อง ทำเป้นฝาเฟี้ยม พอมีงานที่ต้องอาศัยห้องกว้างๆ ก็จะเปิดฝาประตูทั้งสี่ด้านนี้พร้อมๆกัน  ทำให้บ้านกว้างมากขึ้น  รับแขกได้เยอะขึ้น  ยังพอมองเห็นได้บ้าง จากตึกแถวโบราณสมัยเก่า

เรื่องฝาเฟี้ยมแล้ว สิ่งที่ใกล้กัน ก็เห็นจะเป็นหน้าต่างแบบฝาเฟี้ยม ไม่ทราบว่าเคยเห็นกันหรือไม่ เป็นบานหน้าต่างทำด้วยไม้ เว้นช่องไว้ ๑ ช่อง เหมือนอย่างทางม้าลาย จำนวน ๒ ชิ้นเข้าประกบด้วยกัน  เวลาเลื่อนปิด แผงไม้ก็จะทำหน้าที่เลื่อนบังกัน ถ้าเปิดก็เลื่อนไม้เพื่อเปิดหน้าต่างเหมือนทางม้าลาย คือ ช่อง เว้น ช่อง ครับ

ที่คุณ siamese ว่า เรียกว่า ฝาไหล ค่ะ

ขอบคูณมากครับ ตอนเด็ก ๆ อยู่บ้านริมแม่น้ำ อากาศเข้าดีนักครับ ชอบเล่นเลื่อนไป เลื่อนมา  ;)

คนจีนแต้จิ๋วเรียกว่า "ทัวะเทง" ทัวะ = เลื่อน เทง = หน้าต่าง


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 ก.ค. 11, 09:52
ยาย : เดี่ยวยายจะทำกับข้าว แล้วใส่ "ขันโอ" ถวายพระนะ .. ไปหยิบขันโอมาให้ที

เด็ก : ถ้วยโถโอชาม...ขันโอคืออะไร  ???

ขันโอ เป็นภาชนะทำด้วยไม้ไผ่เคลือบรัก เรียกว่า เครื่องเขิน ทรงโอ คือ รูปร่างอย่างขันปากงุ้ม มีฝาปิด


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 22 ก.ค. 11, 09:52
อันนี้เรียกว่า หน้าต่างบานกระทุ้ง...


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 ก.ค. 11, 09:55
เด็ก : ยาย ๆ นี่จ๊ะขันโอ

ยาย : ไม่ใช่ ๆ นี่มัน "เตียบประดับมุก" ไม่ใช่ขันโอ

เตียบ น. ตะลุ่มปากผาย มีฝาครอบ สําหรับใส่ของกิน


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 ก.ค. 11, 10:00
เด็ก : ยาย ๆ แล้วเตียบ กับ ตะลุ่ม ต่างกันอย่างไร

ยาย : ตะลุ่มเป็นทรงคล้ายพาน ส่วนเตียบจะมีขาสิงห์ เตี้ยจ่อมกว่า มีฝาปิดได้ทั้งสองอย่าง


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 23 ก.ค. 11, 13:48
 วันพระหรืองานทำบุญที่วัดเด็กวัดจะไป "ยกตะลุ่ม" กัน แต่ระยะหลังการยกสำรับกับข้าวที่นำมาถวายพระไม่ได้ใช้ ตะลุ่ม แต่จะใส่ชามโอ วางบนถาด แต่ยังเรียกกันว่า "ยกตะลุ่ม "


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 23 ก.ค. 11, 21:48
คำว่า อินังขังขอบ ค่ะ  ;D
ความหมาย: เอาใจใส่, เอาใจช่วย, ดูแล, เหลียวแล, นำพา,
(มักใช้ในความปฏิเสธ) เช่น ไม่อินัง ไม่อินังขังขอบ หมายความว่า ไม่เอาใจใส่

ท่านใดทราบที่มาของคำบ้างคะ... ???


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 ก.ค. 11, 22:13
คุณโฮเคยอธิบายไว้ใน พันทิป (http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K5012639/K5012639.html#5)

อินังขังขอบ แต่เดิมคงเป็น อีนังขังข้อ

คำที่ต่างกัน คือ ข้อ และ ขอบ ต่างกันที่เสียงตัวสะกด สำนวนเดิมไม่ออกเสียงตัวสะกด สำนวนปัจจุบันออกเสียงตัวสะกดเป็น /พ/ สาเหตุที่เพิ่มเสียงตัวสะกดเข้าไป อาจจะเป็นเพราะว่าเป็นพยางค์สุดท้ายของสำนวน ซึ่งเน้นเสียงหนักการออกเสียงตัวสะกด ทำให้เสียงของคำหนักแน่นขึ้น

ส่วนในด้านความหมายนั้น ทั้งคำว่า ข้อ และ ขอบ ไม่ได้มีความหมายเกี่ยวข้องกับสำนวนเลย ความหมายของสำนวนนี้อยู่ที่คำว่า "อีนัง" ส่วนคำ "ขังข้อ" หรือ "ขังขอบ" เป็นคำที่ต่อออกไปให้คล้องจองกันเท่านั้น

กาญจนาคพันธุ์ได้อธิบายสำนวนนี้ไว้ว่า

สำนวนนี้มักใช้กับคำว่า "ไม่" คือ ไม่อีนังขังข้อ ลางทีก็พูด "อีนัง" คำเดียว เช่น ไม่อีนัง คำว่า "นัง" คงจะมาจาก "นุงนัง" แปลว่า ยุ่งเกี่ยวพัน "ขังข้อ" หมายไปทางว่า อยู่ในความเกี่ยวข้อง

จากคำอธิบายนี้ กาญจนาคพันธุ์ได้อธิบายว่า "ขังข้อ" หมายถึงอยู่ในความเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการอธิบายแบบตีความไม่ได้อธิบายตามคำศัพท์ ดังนั้น คำว่า "ขังขอบ" ก็คงอธิบายได้ตามแบบเดียวกัน
 
หมายเหตุ สำนวนนี้มีการเปลี่ยนเสียงวรรณยุกต์จากเสียงโทเป็นเสียงเอกด้วย

 ;D



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 23 ก.ค. 11, 22:37
คำประเภทเดียวกันค่ะ มีคำที่ต่อออกไปให้คล้องจองกัน... ;D

- อีนุงตุงนัง
- อีลุ่ยฉุยแฉก
- เกี่ยวดองหนองยุ่ง
- วุ่นวายขายปลาช่อน



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 ก.ค. 11, 22:55
มีอีกหลายอี

อีล่อยป่อยแอ
อีหน็องอีแหน็ง
อีหลักอีเหลื่อ
อีหลุกขลุกขลัก
อีเหละเขละขละ
อีโหน่อีเหน่
อีโหลกโขลกเขลก

ที่น่าสนใจก็คำว่า อีหรอบ

มีที่มาอย่างไรเอ่ย

 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 23 ก.ค. 11, 23:14
คำว่า อีหรอบ เป็นคำที่คนไทยโบราณออกเสียงคำว่า ยุโรป (Europe)  ;D
ใช้หมายถึงประเทศทางตะวันตกหรือทวีปยุโรป
เช่น ดินอีหรอบ หมายถึงดินปืนที่ได้มาจากยุโรป
เข้าอีหรอบ หมายความว่า ทำตามอย่างฝรั่ง
 
ต่อมาความหมายของคำว่า อีหรอบ เปลี่ยนไป หมายความว่า แบบ แนว ทำนอง หรือ ลักษณะ
เข้าอีหรอบเดิม หรือ ลงอีหรอบเดิม หมายความว่า กลับเป็นลักษณะเดิม เป็นแบบเดิม หรือเป็นแนวเดิม
อีหรอบเดียวกัน หมายความว่า ลักษณะเดียวกัน แบบเดียวกัน ทำนองเดียวกัน


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 25 ก.ค. 11, 09:28
คำว่า แม่ซื้อ ค่ะ... ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ค. 11, 11:21
คำว่า "แอ้งแม้ง" เอามาลงในกระทู้หรือยังคะ
"ตะครุบกบ" ที่แปลว่าหกล้ม   ยังใช้กันอยู่หรือเปล่า
เฮโลสาระพา = เสียงร้องพร้อม ๆ กัน เพื่อบอกจังหวะให้ออกแรงพร้อมกันเมื่อเวลาลากหรือยก
   ของหนักเป็นต้น
รอยอินเก็บคำว่า เฮ้ว เอาไว้  แปลว่า คําที่เปล่งออกมาเพื่อเยาะให้เก้อ, เอ๊ว ก็ว่า    คำนี้เป็นอีกคำหนึ่งที่หายไป
ไม่รู้พจนานุกรมใหม่ที่เก็บคำสะแลงเอาไว้ มีคำว่า "เฮ้ว" ตามความหมายปัจจุบันหรือเปล่า


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ค. 11, 08:05
คำว่าเหม็น  เมื่อก่อนจำแนกชนิดออกไปได้หลายอย่าง 
เหม็นตุๆ          =  กลิ่นเหม็นจากเนื้อสัตว์ เช่นปลา ที่ไม่ได้ตากแดด หรือว่าเก่าจวนขึ้นรา
เหม็นเขียว        =  กลิ่นเหม็นของผัก หรือใบไม้
เหม็นสาบเหม็นสาง   =   กลิ่นเหม็นของซากศพ  หรือเหม็นคล้ายซากศพ
     


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 27 ก.ค. 11, 08:40
มีคำว่าเหม็นแล้วก็ต้องมีคำว่าหอมเป็นของคู่กันค่ะ... ;D

คำว่า ฉม เดี๋ยวนี้ไม่มีใครพูดแล้วนะคะ...


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: Iris ที่ 27 ก.ค. 11, 21:25
สวัสดีครับ ผมเพิ่งเข้ามาสมัครสมาชิกได้ไม่นาน ขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยครับ

ผมอยากทราบว่าระหว่างคำว่า "ดอกไม้เบ่งบาน" และ "ดอกไม้แบ่งบาน" คำไหนเป็นคำที่ถูกต้องครับ
จริงๆ แล้วผมเองคิดว่าคำแรกน่าจะถูก แต่ระยะหลังอ่านเจอคำหลังในหนังสือแปลของสำนักพิมพ์ใหญ่แห่งหนึ่งบ่อยๆ
ครั้งแรกที่อ่านเจอ ก็คิดว่าพิมพ์ผิด พอเจอครั้งที่สอง ก็ชักจะรู้สึกแปลกๆ แต่วันนี้อ่านเจอเป็นครั้งที่สาม
เลยไม่แน่ใจว่าราชบัณฑิตฯ ท่านบัญญัติใหม่หรืออย่างไรครับ

อีกคำหนึ่งที่เห็นเขียนกันบ่อยๆ ก็คือคำว่า "มีดปลอกผลไม้"
ผมเองเขียนว่า "มีดปอกผลไม้" มาตลอด
แต่พอมาเจอ "ปลอก" บ่อยๆ เข้า ก็เริ่มจะเสียความมั่นใจ หรือว่าผมจะเขียนผิดมาตลอด
กรุณาให้ความกระจ่างด้วยครับ ขอบพระคุณครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 04 ส.ค. 11, 09:31
คำว่า พัดด้ามจิ้ว  ค่ะ  ;D
สมันนี้ยังมีใครพอทราบความหมายบ้างเอ่ย.....


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ส.ค. 11, 09:56
ตอบคุณ Iris
ในพระราชนิพนธ์เรื่องศกุนตลา   พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  มีตอนชมโฉมนางศกุนตลาว่า
งามโอษฐ์ดังใบไม้อ่อน           งามกรดังลายเลขา
งามรูปเลอสรรขวัญฟ้า           งามยิ่งบุปผาเบ่งบาน

แต่ก็มีบางเล่มที่เป็นฉบับเก่า  พิมพ์เป็น  งามยิ่งบุปผาแบ่งบาน   อาจารย์ของดิฉันอธิบายว่าหมายถึงดอกไม้แย้ม คือบางกลีบบานแล้ว บางกลีบยังไม่บาน
แต่ฉบับที่ดิฉันใช้อยู่ พิมพ์ว่า เบ่งบาน   ก็เลยไม่รู้ว่าฉบับไหนถูกต้องกันแน่   ต้องรอคุณ V_Mee  มาอธิบาย

มีดปอกผลไม้   ถูกต้องค่ะ    ปอก เป็นคำกริยา
ปลอก เป็นคำนาม   ปลอกมีด   คือซองเล็กๆใส่มีด 

ตอบคุณ DD พัดด้ามจิ้ว ก็คือพัดแบบพัดญี่ปุ่นที่คลี่ออกไปเกือบครึ่งวงกลม     ฝ่ายพิสูจน์อักษร หรือคนพิมพ์ตามสนพ. ไม่รู้จักคำนี้กันมาก  พิมพ์เป็นพัดด้ามจิ๋ว อยู่บ่อยๆ
เดิมคนไทยไม่มีพัดแบบนี้  พัดที่เราใช้คือพัดที่มีด้ามจับอยู่ข้างล่างด้านเดียว


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ส.ค. 11, 09:58
พัดแบบไทย


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: Iris ที่ 12 ส.ค. 11, 21:35
ขอบพระคุณอาจารย์มากครับที่กรุณาอธิบาย
แต่ถ้าคำว่า "แบ่งบาน" คือบานไม่หมด
ถ้าเช่นนั้น ในภาพข้างล่าง คำนี้ก็แปลว่าทุกคนที่นั่นไม่ได้รู้สึกเหมือนกันใช่ไหมครับ

(http://u2.popcornfor2.com/show/SOs2f787_thumb.jpg) (http://u2.popcornfor2.com/view/SOs2f787.jpg)


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ส.ค. 11, 22:16
ไม่เห็นประโยคภาษาอังกฤษ เลยไม่รู้ว่ามาจากคำว่าอะไร
แต่ถ้าคนอื่นๆรู้สึกอย่างเดียวกับโรบินสัน  ก็ควรใช้คำว่า "เบ่งบาน"  ค่ะ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 11, 19:44
คำว่า "ขวนขวาย"
เห็นผู้อ่านข่าวหรือพิธีกรจำไม่ได้แล้ว อ่านออกเสียงทางทีวี ว่า ขวันขวาย  เลยคิดว่าเป็นคำไทยอีกคำที่หายไป

ขอถามในเรือนไทย
ว่าคำ "ขวน" ออกเสียงว่าอย่างไร    น่าแปลกที่รอยอินไม่ยักให้เสียงคำแรกเอาไว้   ทั้งๆเป็นคำที่ออกเสียงผิดพลาดได้มากกว่าคำหลัง

ขวนขวาย   [-ขฺวาย] ก. หมั่นเสาะแสวงหาเพิ่มเติมโดยไม่ยอมอยู่นิ่ง,
   ขวายขวน ก็ว่า.



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ส.ค. 11, 08:35
ขอถามในเรือนไทย
ว่าคำ "ขวน" ออกเสียงว่าอย่างไร    น่าแปลกที่รอยอินไม่ยักให้เสียงคำแรกเอาไว้   ทั้งๆเป็นคำที่ออกเสียงผิดพลาดได้มากกว่าคำหลัง

ขวนขวาย   [-ขฺวาย] ก. หมั่นเสาะแสวงหาเพิ่มเติมโดยไม่ยอมอยู่นิ่ง,
   ขวายขวน ก็ว่า.

ทั้ง ขวน และ ขวาย เป็นคำควบกล้ำออกเสียงวิธีเดียวกัน ไม่น่าออกเสียงยาก

มาหาความรู้เรื่องคำควบกล้ำประกอบเพลงกันดีกว่า

http://www.youtube.com/watch?v=ohUa6UdnbYY&feature=related

 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ส.ค. 11, 19:53
วันนี้ตอบกระทู้หนึ่งในนี้  เกือบพิมพ์คำว่า จ้ำม่ำ ลงไป  พอดีนึกได้ว่าอาจเป็นคำที่หายไปแล้ว   ก็เลยเก็บมาตอบในนี้ดีกว่า
คำที่หมายถึงรูปร่างอ้วน หรือค่อนข้างอ้วน มีหลายคำ   เช่น ท้วม  อวบ ยุ้ย  เจ้าเนื้อ และจ้ำม่ำ  คำหลังนี้มักใช้กับทารก ในความหมายว่าอ้วนอย่างน่าเอ็นดู
แก้มเด็กที่อ้วน เรียกว่าแก้มยุ้ย หรือ แก้มเป็นพวง


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 29 ส.ค. 11, 19:21
คำไทยหายไป

สานหลวง = เรือนหลวง


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 ส.ค. 11, 19:30
คำไทยหายไป

สานหลวง = เรือนหลวง

สานหลวง = เรือนหลวง ?

นึกถึงอีกคำหนึ่งคือ ข้าวสาร ซึ่งหมายถึง ข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียวที่ได้สีหรือตำเอาเปลือกออกจนหมดแล้วเหลือแต่เนื้อในเป็นสีขาว ถ้าเป็นข้าวเจ้า เรียกว่า ข้าวสารเจ้า ถ้าเป็นข้าวเหนียว เรียกว่า ข้าวสารเหนียว แต่โดยทั่วไปมักใช้ว่า ข้าวสาร และข้าวเหนียว  คำว่า สาร ในคำว่า ข้าวสาร นั้น พระยาอนุมานราชธนได้เคยสันนิษฐานว่า มาจากคำไทยเดิมว่า สาน แปลว่า เอาเปลือกออก ข้าวสาน คือข้าวที่เอาเปลือกออกแล้ว ที่เขียนใช้ ร สะกด เพราะไม่ทราบที่มาแต่เดิมจึงได้ลากเข้าวัดให้เป็นภาษาบาลีไป สาร ภาษาบาลี แปลว่า แก่น ส่วนที่สำคัญ ข้าวที่สำคัญที่สุดของไทยจึงโยงไปหาคำว่า สาร และเขียนว่า ข้าวสาร ดังปัจจุบันนี้

จาก บทความของ ศ. ดร. กาญจนา นาคสกุล ลงในนิตยสารสกุลไทย ฉบับที่๒๔๙๓ ปีที่ ๔๘ ประจำวันอังคารที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ (http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetail.asp?stcolumnid=1562&stissueid=2493&stcolcatid=2&stauthorid=19)

 ;D



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: kwang satanart ที่ 31 ธ.ค. 11, 22:34
ฟ้าแจ้ง   หมายถึง  ท้องฟ้าที่เริ่มมีแสงจากดวงอาทิตย์ ในตอนเช้า


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 31 ธ.ค. 11, 22:42
ได้ยิน ฟ้าแจ้ง แล้วนึกถึง ฟ้าแจ้งจางปาง

จางปาง  (ปาก) ว. สว่างจ้า, สว่างโล่ง; อีสานว่า จ่างป่าง.

ผู้ใหญ่ลีถอดแว่นตาดำ แล้วฟ้าแจ้งจางปาง

http://www.youtube.com/watch?v=ZMf5IY1lnvQ

 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ม.ค. 12, 12:35
ฮักอ้ายโจงโปง

http://www.youtube.com/watch?v=OzN6dbPqaC8

นอกจาก จางปาง ยังมี โจงโปง จิงปิง แจงแปง ให้สืบค้นความหมาย

 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 ก.พ. 12, 10:21
จังหล่อ, จำหล่อ, จั้นหล่อ

รอยอินท่านว่าคำนี้อาจเขียนได้หลายอย่าง จังหล่อ, จำหล่อ, จั้นหล่อ มาจากภาษาจีนว่า จั้งโหล่ว (จั้ง - กีด, ขวาง, โหล่ว - ถนน)

อาจารย์กาญจนา นาคสกุล อธิบายเพิ่มเติมว่า

จังหล่อ-จำหล่อ (http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=382)

จังหล่อ หรือ จำหล่อ เป็นคำเก่าที่มีความหมายว่า เครื่องกีดกั้นทาง.

วิธีทำจังหล่อนั้นเจ้าหน้าที่จะปักไม้เป็นเสาสูงประมาณ ๒ ศอกขวางทางไว้, มีไม้ราวตีทับหลัง. ไม้ที่ปักนี้ทำเป็น ๒ แนว วางเหลื่อมกัน. เมื่อคนเดินมาถึงจังหล่อจะผ่านไปไม่ได้ต้องเดินไปจนสุดแนวข้างหนึ่ง, แล้วย้อนกลับไปทางปลายของอีกแนวหนึ่ง จึงจะผ่านไปได้. จุดประสงค์ที่มีจังหล่อก็เพื่อตรวจตราผู้ที่สัญจรผ่านไปมา เป็นต้น.

ปัจจุบันไม่มีใครใช้คำนี้ ใช้แต่คำว่า ที่กั้น เครื่องกั้น ไม้กั้น เช่น ที่กั้นถนนตรงทางรถไฟ. น่าจะนำคำว่า จังหล่อ มาใช้เพื่อรักษาศัพท์ไว้.

ผู้เขียน  ศ. ดร.กาญจนา  นาคสกุล  ราชบัณฑิต  ประเภทวรรณศิลป์  สาขาวิชาภาษาไทย สำนักศิลปกรรม

 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: kwang satanart ที่ 23 มี.ค. 12, 01:07
เลื่อนเปื้อน   =  เขาชอบพูดจาเลื่อนเปื้อน    เข้าทำนองพูดจาเฉไฉ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: kwang satanart ที่ 31 ต.ค. 12, 23:11
 หายใจรดต้นคอ  การยืนที่ใกล้กันมากขนาดคนยืนหน้ารู้สึกถึงลมหายใจของคนยืนหลัง  มักใช้กับการทำคะแนนที่ใกล้เคียงกัน

 กระต่ายตื่นตูม    ทำตัววุ่นวาย หรือตื่นเต้นเกินกว่าเหตุ

 ของหาย ตะพายบาป    เวลามีของหาย  แล้วเกิดการสงสัย หรือหลงลงโทษผู้บริสุทธิ์

   แร้งลง    การแย่งชิงสิ่งของ  หรือทรัพย์มรดก

  เอากระเบนกรางหน้าไม่เจ็บ โบราณเอาหนังกระเบนถูทองคำ เพื่อพิสุจน์ความเป็นทอง  จึงเอามาเปรียบเทียบว่า ถ้าหน้าใครเอาหนังกระเบนมาถูแล้ว
  ไม่เจ็บ  ถึงความเป็นคนหน้าหนา  เป็นคำด่าแบบโบราณ   คล้ายกับ ไม่มียางอาย  แต่น่าจะเจ็บแสบกว่า

  ข้าวไม่มียาง   ข้าวโบราณมีความหนึบของเนื้อข้าวเมื่อหุงแล้วมากกว่าสมัยนี้  โบราณเอามาเปรียบโดยนัย หมายถึง คนอกตัญญู 



กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 พ.ย. 18, 12:01
ข่าวข้อสอบเด็ก ป. ๑ (https://www.facebook.com/1401896636800994/posts/2240381379619178/) อันลือลั่น

"ใครไปคูนา"

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5536.0;attach=69700;image)

ครูลิลลี่-กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์ ครูสอนวิชาภาษาไทยชื่อดัง ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อไว้ว่า...คำว่าว่า "คูนา" นั้น ครูก็ไม่เคยพบ แต่จากบริบทก็เข้าใจได้ว่าอาจจะหมายถึงคันนา”

ได้ครูภาษาไทยที่ไม่รู้จักคูนา อีกคนหนึ่งละ

จาก พระราชบัญญัติคันนาและคูนา พุทธศักราช ๒๔๘๔ (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2484/A/1296.PDF)

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5536.0;attach=69708;image)

คำง่าย ๆ อย่าง "คูนา" ไม่เป็นที่รู้จักกันเสียแล้ว  ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 21 พ.ย. 18, 14:14
พระราชบัญญัติคันนาและคูนา พุทธศักราช 2484 ถูกยกเลิกโดย พระราชบัญญัติคันและคูน้ำ พ.ศ. 2505 (ประกาศราชกิจจาฯ เล่ม 79 ตอน 29 วันที่27 มีนาคม 2505) ใน พรบ. ฉบับใหม่ มีแต่นิยามคำว่า "คัน" กับ "คูน้ำ" ครับ มิได้จำเพาะว่าเป็น คันของอะไร หรือ คูต้องเป็นคูสำหรับนาเท่านั้น เรื่องนี้ปรากฎในหลักการและเหตุผลท้ายกฎหมายว่า พรบ. เดิม ไม่มีผลตามเจตนาเดิม เพราะการเกษตรกรรมในบางท้องทีไม่ได้ทำนาอย่างเดียว มีทั้งการทำสวนทำไร่ในที่ดินแปลงเดียวกัน (ผมเข้าใจว่า เพราะเหตุนี้ ถ้าใช้คำว่า คันนา หรือ คูนา ก็อาจมีความหมายไม่ครอบคลุม คันดินรอบสวน หรือร่องคูในไร่ อะไรแบบนั้นครับ)

ด้สนเหตุนี้ คูนา จึงหายไป ตั้งแต่ปี 2505 นั้นแล.. 


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 พ.ย. 18, 14:27
เรื่องนี้ปรากฎในหลักการและเหตุผลท้ายกฎหมายว่า พรบ. เดิม ไม่มีผลตามเจตนาเดิม เพราะการเกษตรกรรมในบางท้องทีไม่ได้ทำนาอย่างเดียว มีทั้งการทำสวนทำไร่ในที่ดินแปลงเดียวกัน

พระราชบัญญัติคันและคูน้ำ พ.ศ. ๒๕๐๕

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2505/A/029/435.PDF


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ย. 18, 18:15
คำว่า "แน่งน้อย" ในสมัยเมื่อ 70-80 ปีก่อน เป็นชื่อผู้หญิงที่แพร่หลายพอสมควร     มีความหมายถึง ผู้หญิงเอวบางร่างน้อย
ตัวละครของป.อินทรปาลิต มีชื่อนี้ด้วย  เป็นสาวของเสือดำ แต่ทรยศหักหลังพระเอก
ยุคนี้เห็นจะสาบสูญไปจากการตั้งชื่อเด็กผู้หญิงเสียแล้วค่ะ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 22 พ.ย. 18, 10:46
"ฟ้าแจ้ง" แถวพิจิตรบ้านผมยังพูดกันอยู่นะครับ "จะออกไปซื้อของรึยัง" "รอเดี๋ยวก็ได้ ยังไม่แจ้งเลย" ก็คือยังไม่สว่างเลยนั่นเองครับ
พูดถึงคำพวกนี้ มีคำว่า "แจ่ม" ที่หมายถึงชัดเจนด้วยครับ "โทรทัศน์เป็นอะไรเนี่ยภาพไม่แจ่มเลย" (ถ้าสมัยก่อนต้องออกไปหมุนเสาอากาศหาคลื่นกันหละครับ)
มีคำว่า "แหงะ" ที่หมายถึง หัน "นี่ๆ แหงะมาทางนี้หน่อยซิ" คือให้หันมาหน่อย 

ส่วน "แน่งน้อย" นี่ ยุคผมยังพอมีได้ยินชื่อนี้อยู่นะครับ 


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 พ.ย. 18, 11:43
ส่วน "แน่งน้อย" นี่ ยุคผมยังพอมีได้ยินชื่อนี้อยู่นะครับ

คู่ชีวิตคุณอาจินต์ ปัญจพรรค์


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 พ.ย. 18, 20:23
คุณแน่งน้อยน่าจะเป็นเด็กหญิงแน่งน้อยในยุคกว่า 70 ปีมาแล้ว     
ผู้หญิงอายุต่ำกว่า 50 มีใครชื่อนี้ไหมคะ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 24 พ.ย. 18, 13:44
บังเอิญได้เคยมีแฟนชื่อ แน่งน้อย เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้วครับอาจารย์ แต่เนื่องจากบ้านอยู่ไกลต่างจังหวัดกัน ส่วนใหญ่จึงส่งสาส์นกันไปมา นานๆจึงมีโอกาสพบกัน สุดท้ายก็ซาบซึ้งกับวลี "รักแท้แพ้ใกล้ชิด" ได้พบกันอีกเมื่อสองสามปีที่แล้ว สภาพเธอไม่ได้"แน่งน้อย"อีกแล้ว


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 พ.ย. 18, 09:50
คุณแน่งน้อยเป็นสาวเมื่อ 40 กว่าปีก่อน   เธอก็คงเกิดประมาณ 60 กว่าปีก่อน    สมัยที่ชื่อแน่งน้อยยังเป็นที่รู้จักของสังคมอยู่


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 พ.ย. 18, 09:56
นึกถึงชือสำหรับผู้หญิงสมัยก่อน เป็นชื่อตระกูล "ส้ม" นิยมกัน เป็นระดับคุณหญิงคุณนายก็มิใช่น้อย อย่าง "คุณหญิงส้มจีน" "คุณนายส้มลิ้ม"

ชื่อคุณนายส้มลิ้ม กับ ชื่อเจ้าส้มฉุนของคุณแก้วเก้า รอยอินท่านว่ามีความหมายเหมือนกัน แต่จริง ๆ แล้วต่างกัน ดังได้เคยวิสัชนาไว้ในกระทู้นี้

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5087


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 28 พ.ย. 18, 12:36
อีกคำที่ค่อยๆหายไป ที่คนรุ่นอายุต่ำกว่า 40 ไม่พูดกันแล้ว คือ โรงพัก
น่าจะมาจาก โรงพักพลตระเวน
ต่อมาพลตระเวน กลายเป็นตำรวจ เลยเหลือแค่ โรงพัก
สมัยนี้อาจจะติดอยู่บ้างในคลิปหนังไทยเก่าๆ "คุมตัวไปโรงพักให้หมด" "ไปให้ปากคำที่โรงพัก"
ภาพโรงพักที่ติดตาอยู่ (เคยผ่าน หรือแจ้งความเอกสารสำคัญหาย) คืออาคารไม้ใต้ถุนสูง ทาสีเทาๆ มีหน้ามุขยื่นออกมา มีบันไดขึ้นลงสองข้าง (นี่เป็นรูปแบบโรงพักภูธรแถวบ้าน)
โรงพักสมัยนี้หรูเกินกว่าจะใช้ว่า "โรงพัก" อีกต่อไป
 


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: aaax ที่ 28 พ.ย. 18, 15:41
คำว่า "แล้วใจ" ยังมีใครใช้กันอยู่ไหมครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 พ.ย. 18, 18:11
ช่วยยกประโยคที่ใช้ "แล้วใจ" ให้เห็นหน่อยได้ไหมคะ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 29 พ.ย. 18, 07:45
ในต่างจังหวัดก็ยังเรียกสถานีตำรวจว่า โรงพัก นะครับ ต่างจากในกรุงเทพที่นิยมเรียกตามตัวย่อว่า สน.


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: aaax ที่ 29 พ.ย. 18, 10:56
ช่วยยกประโยคที่ใช้ "แล้วใจ" ให้เห็นหน่อยได้ไหมคะ

ปกติที่เคยได้ยิน ใช้ในความหมายว่า ยังไม่พอใจ ในเชิงว่า น่าจะทำให้มากขึ้น ดีขึ้น สุดขึ้น ได้อีก ครับ

เช่น งานที่เขียนมาวันนี้ อธิบายเข้าใจง่ายแล้ว แต่น่าจะทำให้ชัดได้มากขึ้นอีก มันยังไม่แล้วใจ เป็นต้นครับ


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ย. 18, 11:45
คำนี้หายไปจริงๆน่ะแหละ  ไม่เคยได้ยินเลยค่ะ
หรือว่าจะเป็นสำนวนท้องถิ่น?

เคยได้ยินแต่คำว่า "แล้ว" แปลว่า เสร็จ  หมดสิ้น จบ
การบ้านยังไม่แล้วอีกหรือ?  = การบ้านยังไม่เสร็จอีกหรือ?
เรื่องมันแล้วไปแล้ว  อย่าพูดถึงอีก  = เรื่องมันจบไปแล้ว อย่าพูดถึงอีก
พูดไม่รู้จักแล้ว   = พูดไม่รู้จักจบสิ้น


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: aaax ที่ 29 พ.ย. 18, 11:55
คำนี้หายไปจริงๆน่ะแหละ  ไม่เคยได้ยินเลยค่ะ
หรือว่าจะเป็นสำนวนท้องถิ่น?

เคยได้ยินแต่คำว่า "แล้ว" แปลว่า เสร็จ  หมดสิ้น จบ
การบ้านยังไม่แล้วอีกหรือ?  = การบ้านยังไม่เสร็จอีกหรือ?
เรื่องมันแล้วไปแล้ว  อย่าพูดถึงอีก  = เรื่องมันจบไปแล้ว อย่าพูดถึงอีก
พูดไม่รู้จักแล้ว   = พูดไม่รู้จักจบสิ้น


ทราบว่าทางภาคเหนือมีการใช้สำนวนนี้อยู่ครับ

แต่ที่ได้ยินคนใช้ไม่ได้เป็นคนเหนือเลยครับ นี่ผมก็ติดมาด้วย ไม่แน่ใจว่าเป็นคำภาษาถิ่น หรือคำยุคก่อนกันแน่ครับ.


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 29 พ.ย. 18, 12:37
ในต่างจังหวัดก็ยังเรียกสถานีตำรวจว่า โรงพัก นะครับ ต่างจากในกรุงเทพที่นิยมเรียกตามตัวย่อว่า สน.

จริงด้วยครับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังไม่ทิ้งคำนี้ เป็นคำขวัญแปะไว้ข้างหน้า สนฺ

  " โรงพักเพื่อประชาชน"


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ย. 18, 12:55
 ;D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 29 พ.ย. 18, 15:16
เห็นแล้วรู้สึกอบอุ่นดีนะครับ 8)


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 ธ.ค. 18, 10:38
ชื่อ "กระสือ" นี้ปรากฎพร้อมกับชื่อผีอีก ๓ ตน คือ ฉมบ, จะกละ และกระหาง ในกฎหมายตราสามดวง หมวด ๗ ของ "พระอายการเบดสรจ" ลงมหาศักราช  ๑๑๔๖ ปีมะแม ตรงกับพุทธศักราช ๑๗๖๘ เก่ากว่าศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงเสียอีก

ปัจจุบันถ้าเรียกชื่อผีว่า "ฉมบ" คงไม่มีใครรู้จัก แต่ถ้าเรียกว่า "ผีปอบ" ทุกคนร้อง "อ๋อ" แน่นอน

พจนานุกรมฉบับมติชนบอกเราให้ทราบว่า ผีฉมบ = ผีปอบ นั่นเอง


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ธ.ค. 18, 11:08
 :D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ธ.ค. 18, 11:11
 :D


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 28 ม.ค. 19, 13:04
เอ่อ คลายกรด ลดแน่นเฟ้อ ... อีโน


กระทู้: คำไทยที่หายไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ส.ค. 22, 16:07
ดึงกระทู้นี้ขึ้นมาอีก  เพราะเจอคำไทยหลายคำในโซเชียลมิเดีย ที่มีคนเข้าไปบอกว่า "ไม่รู้จัก" 
เร็วๆนี้ ก็คือคำว่า "รวยริน"
กลิ่นหอมรวยริน  กลายเป็นคำถามว่ามันคือกลิ่นอะไร
พจนานุกรมราชบัณทิตยฯ ให้ความหมายว่า  . เรื่อย ๆ, ชื่น ๆ.
กลิ่นหอมรวยริน คือกลิ่นหอมที่โชยมาอ่อนๆ  ชื่นใจ