เรือนไทย

General Category => หน้าต่างโลก => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 05 มิ.ย. 02, 07:12



กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มิ.ย. 02, 07:12

ไปเจอภาพเทพเจ้าของฮินดู ที่ไทยเรารับเข้ามาในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง
เลยเอามาให้ชมกันค่ะ ว่าแตกต่างจากภาพของไทยมากน้อยแค่ไหน
ประเดิมด้วยพระคเณศ (Ganesha)
เทพเจ้าองค์นี้ผิดจากองค์อื่นๆที่รูปร่างเป็นมนุษย์  ตรงที่ท่านมีเศียรเป็นช้าง ร่างเป็นคน
เป็นเทพแห่งความรู้   ศิลปวิทยาการ    เทพแห่งอุปสรรค    ใครมีอุปสรรคบูชาพระคเณศก็จะข้ามพ้นไปได้
เป็นเครื่องหมายของมหาวิทยาลัยศิลปากร และกรมศิลปากร
ในวรรณคดีไทยบอกว่าเป็นโอรสพระอิศวรกับพระอุมา
มีบทละครเรื่อง พระคเณศร์เสียงา เป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖  


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ค. 02, 09:48

ส่วนภาพนี้คือพระพรหมค่ะ  


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ค. 02, 09:50

พระอิศวรกับพระอุมา
พระอิศวร หรือศิวะ ทรงเกล้าผมแต่งหนังเสือแบบโยคี
ทัดพระจันทร์เสี้ยวเป็นปิ่น  มีสายน้ำขาวๆคือแม่พระคงคาอยู่บนผม
ถือตรีศูล
ตรงกับที่วรรณคดีไทยบรรยายไว้ค่ะ  


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ค. 02, 09:52

พระราม พระลักษมณ์ นางสีดา และหนุมาน  


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: สร้อยสน ที่ 23 พ.ค. 02, 12:09
 จำได้ว่าพาหนะของพระคเณศ(หรือพระพิฆเณศ?) เป็นหนูใช่มั้ยคะ ก็แปลกดีนะคะ เพราะตามธรรมดา ธรรมชาติของช้างจะกลัวหนู
รูปของไทยรู้สึกจะมีทีรัดเอวด้วยมังคะ เคยมีใครบอกไม่ทราบว่า พระพิฆเณศชอบขนมต้ม เสวยจนท้องแตกเลยต้องมีสายรัดท้อง(รู้สึกว่าฟังจากคุณย่าน่ะค่ะ)


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: สร้อยสน ที่ 23 พ.ค. 02, 12:21
 อ้อ คุณเทาชมพูคะ ดิฉันได้อ่านห้องสิน พงศวาดารจีน ยุคราชวงศ์เชียวตอ่ราชวงศ์จิว รู้สึกว่าท่านผู้ประพันธ์ภาษาไทย คงชินกับคตินิยม เทพเจ้าฮินดู ก็เลยระบุถึงพระอิศวรเข้าใจว่าแทนเง็กเชียนฮ่องเต้  และกล่าวถึงพญานาคแทนมังกรค่ะตรงนี้เห็นว่าแปลกดีเลยนำมาเรียนให้ทราบเป็นข้อน่าสังเกต  แต่เดาว่าคุณเทาชมพูคงเคยอ่านพงศาวดารชุดนี้แล้ว


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: ทองรัก ที่ 23 พ.ค. 02, 12:30
 เคยทราบเหมือนคุณสร้อยสนค่ะว่าพระคเณศชอบขนมต้ม ยังจำได้ว่าตอนที่เรียนอยู่ที่ศิลปากร เวลาที่ใกล้สอบที่เทวาลัยพระคเณศจะมีนักศึกษานำขนมต้มมาบูชาเต็มไปหมด (สงสัยจะอธิษฐานด้วยว่าขอให้สอบได้ )


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ค. 02, 13:18
 เคยอ่านพบใน คนแซ่หลี ของอาจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์  ท่านสันนิษฐานว่าเง็กเซียนฮ่องเต้ก็คือพระอิศวรนั่นเองละค่ะ เป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรมจากอินเดียมาจีน
เง็กเซียนฮ่องเต้หมายถึง พระผู้เป็นเจ้าบนภูเขาหยก   หยกในที่นี้สีขาวไม่ใช่เขียวค่ะ

พระอิศวร มีชื่อเรียกอื่นๆหลายชื่อ  หนึ่งในจำนวนนี้ ในโองการแช่งน้ำเรียกว่า พระจอมผาเผือก  หมายถึงพระเจ้าบนภูเขาขาว
เขาขาวหมายถึงเขาไกรลาสน์

นาค มังกร  คือตัวเดียวกันค่ะ  อยู่อินเดียเป็นนาค อยู่จีนเป็นมังกร  แต่มีการดัดแปลงต่อเติมภายหลังจนพฤติกรรมและรายละเอียดต่างกันไป
เรื่องขนมต้ม  ปกติใช้บวงสรวงเทวดาอยู่แล้วค่ะ ถือเป็นของหวานๆ กินแล้วเย็น ไม่ร้อน  ไม่มีเนื้อสัตว์เจือปน

ห้องสินเป็นเกร็ดพงศาวดารจีนที่หาอ่านยากมาก    ดิฉันเคยทำเปรียบเทียบเรื่องอภัยนุราชของสุนทรภู่ซึ่งได้อิทธิพลจากห้องสิน
แม่ทัพฝ่ายดีชื่อเกียงจูแหย ค่ะ


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: Linmou ที่ 23 พ.ค. 02, 22:20
 เข้ามาอ่านเทพฮินดูด้วยคนค่ะ
ไม่เคยอ่านห้องสิน จึงไม่ทราบเช่นกันว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร อยู่ยุคไหน  

แต่เรื่องมังกรนี่ คิดว่าเป็นคนละชนิดกันนาคนะคะ
เคยอ่านหนังสือ "ประวัติศาสตร์จีน" ที่เขียนโดยศ.ป๋ายโซ่วอี๋ ท่านเขียนไว้ว่ามังกรของจีนมีวิวัฒนาการมาจากจระเข้ ดังนี้

"จุดกำเนิดของมังกรคือ เผ่าไท่เฮ่า ซึ่งตั้งรกรากอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงและแม่น้ำหวยเหอ

เนื่องจากเผ่าไท่เฮ่า(ฟ้าใหญ่ ที่เป็นเผ่าพันธมิตรของชือโหยว เผ่าที่เป็นศัตรูกับเผ่าจักพรรดิเหลือง ซึ่งอยู่ในประวัติศาสตร์เมื่อไม่ต่ำกว่า ๕,๐๐๐ ปีก่อน)เผชิญคุกคามจากอุทกภัยมาเป็นเวลานาน ด้วยความสามารถอันจำกัด ทำให้พวกเขามิอาจป้องกันภาวะอุทกภัยนี้ได้

 เหล่าจระเข้ที่อาศัยอยู่บริเวณตอนกลางและตอนล่างแม่น้ำแยงซีเกียงจึงกลายเป็นสัตว์ที่ผู้คนกลัวเกรงมากที่สุด เพราะกลัว จึงได้กราบไหว้ มังกรจึงถือกำเนิดจากจระเข้ด้วยประการฉะนี้"

อ่านมาแค่นี้ล่ะค่ะ    


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: คุณพระนาย ที่ 24 พ.ค. 02, 00:42
 มีกระทู้ไหนไม่ทราบ บอกว่ามังกรเป็นสัตว์ผสมที่ผสมมาจากสัตว์หลายชนิดเลยครับ
ส่วนพระคเนศของอินเดียนี่วาดให้ดูหล่อกว่าพระคเนศของไทย
ตำนานพระคเนศ ที่ผมทราบนั้น เสียศรีษะแล้วก็งา นั้นเกี่ยวเนื่องมาจากพระนารายณ์ตลอด
ถ้าจำไม่ผิดพระคเนศ เสียหัวเพราะพระนารายณ์ครับ มีอยู่สองอย่างที่ได้ยินมา อันแรกคือ พระอิศวร มีเรื่องจะต้องการคุยกับพระนารายณ์ ซึ่งพระนารายณ์ท่านเวลาปกติไม่มีเรื่องอะไร ท่านจะบรรทมหลับอยู่ที่เกษียรสมุทรตลอดเวลา อันนี้น่าจะเป็นสาเหตุนึงที่พระนารายณ์ไม่มีลูกเป็นเทพครับ แต่จะมีลูกเวลาอวตารลงไปเกิดเป็นมนุษย์พร้อมกับพระลักษมี
ทีนี้พระอิศวรใช้ พระคเนศซึ่งยังเป็นเด็กอยู่ไปปลุกพระนารายณ์ขึ้น เข้าใจว่าพระคเนศยังเด็กอยู่ ไม่รู้จักฤทธิ์พระนารายณ์ ไปปลุกยังไงไม่ทราบ ไม่ถูกวิธี พระนารายณ์ตื่นขึ้นมา ก็เลยทรงกริ้ว แล้วก็ปล่อย จักรของพระองค์ออกไปทันที โดนหัวพระคเนศขาดไปเลยครับ ทีนี้ ก็เลยต้องไปตามสัตว์ที่เพิ่งตายในวันนั้นมาต่อ แล้วก็ได้หัวช้างนี่แหละครับที่มาต่อ
ทีนี้อีกตำนานที่ได้ยินมา คือ พอพระเคนศ โตขึ้น พระอิศวรกับพระอุมา ก็จะจัดงานโกนจุกให้ลูกชาย แล้วก็จะเชิญ เทวดาใหญ่น้อยทั้งปวงมาร่วมงาน แล้วก็ส่งเทวดาไปเชิญพระนารายณ์มาด้วย แต่ว่าพอไปปลุกพระนารายณ์ขึ้นมา ท่านก็ไม่พอใจเพราะปกติพระนารายณ์จะตื่นนอนเนี่ย ต้องเรื่องใหญ่ จะไปช่วยโลกหรืออะไรทำนองนั้นน่ะครับ พระนารายณ์ก็เลยตรัสมาว่า แค่เรื่องตัดผมของเด็กคนเดียวต้องมาปลุกเรา ถ้าเด็กนี่ไม่มีหัวคงไม่ยุ่งขนาดนี้
ทีนี้วาจาพระนารายณ์นั้น เป็นศํกดิ์สิทธิ สิครับ พูดว่าไม่มีหัวปั้บ หัวพระคเนศ ก็หายไปทันที จะแก้คำพูดคืนก็ไม่ได้
แล้วก็เลยต้องไปหาคนหรือสัตว์ที่เพิ่งตาย ในวันนั้นมาต่อให้ ก็เลยได้ หัวช้างขึ้นมาแทน
ไว้เดี๋ยวมาเล่าเรื่องงา พระคเนศต่อ ครับ ตอนนี้มันยาวแล้ว


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 24 พ.ค. 02, 00:55
 มาสวัสดีแม่นางหลินครับ

เคยเห็นเรื่องจีนเก่าๆ ในภาษาไทยแปลเทวดาจีนเป็นพระอิศวรเหมือนกัน อีกองค์หนึ่งคือพระอินทร์ พงศาวดารจีนรุ่นเก่าตั้งแต่ครั้งสร้างโลก คือเรื่องที่ไทยเรียกว่า ไคเภ็ก นั้น พูดถึงปฐมเทวดาที่สร้างโลกขึ้นดูเหมือนชื่อ คุนต่อเป็งชาน้า และแปลให้ตำแหน่งไว้ด้วยว่าคือ "ท้าวโกสีย์" ก็คือคนแปลลากให้เป็นพระอินทร์ แต่ผมยังค้นไม่เจอว่าไคเภ็กตรงกับตำนานจีนเรื่องอะไร ไม่ใช่เรื่องเจ้าแม่ Nu Wa สร้างโลกซ่อมท้องฟ้าครับคุณหลิน (มีตำนานเรื่องท้องฟ้ารั่ว เจ้าแม่ Nu Wa ต้องปะฟ้า) เป็นเรื่องอะไรก็ไม่รู้


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: สร้อยสน ที่ 24 พ.ค. 02, 06:54
 มารอฟังเรื่องพระพิฆเณศต่อค่ะ
งาของพระคเนศต้องมีข้างขวาข้างเดียวใช่ไหมคะ

เคยคุยกันว่า เทพเจ้าของกรีก ก็ดูจะมีส่วนคล้ายเทพเจ้าฮินดู นะคะ อาจจะมีพื้นฐานเดียวกันหมดแต่แตกออกไปเมื่อเวลานานเข้าก็เลยเป็นคนละองค์ไป

ทางจีนมีเทพเจ้าที่หัวเป็นช้างไหมคะ ดิฉันคลับคล้ายคลับคลาว่าเคยเห็นรูปพระคเนศแต่งเสื้อแบบจีนค่ะ


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 02, 09:02
 ตำนานเรื่องนาค จระเข้ มังกร  มีที่มาเดียวกัน ได้มาจากคำวิเคราะห์ของเสฐียรโกเศศค่ะ  
พอเปลี่ยนสัญชาติไปอยู่คนละประเทศก็ต่อเติมกันภายหลังจนรูปร่างและบทบาทแตกต่างออกไป

เรื่อง ห้องสิน ต้นฉบับขาดหายไปในหน้าต้น   จึงไม่ทราบชื่อผู้แปล ตลอดจนปีพ.ศ. ที่แปล   แต่มีการอ้างถึงไว้ในพงศาวดารจีนเรื่อง เลียดก๊ก  ว่า  หลวงลิขิตปรีชาเจ้ากรมอาลักษณ์เป็นผู้ชำระ     นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
 
     เนื้อเรื่องของห้องสิน มีอยู่ว่า สมัยปลายราชวงศ์แฮ่  พระเจ้าติวอ๋องเสด็จไปคำนับศาลเจ้าของเทพธิดาหนึงวาสีตามธรรมเนียมที่กษัตริย์ก่อนหน้านี้เคยปฏิบัติมา   พระเจ้าติวอ๋องเห็นรูปเทพธิดาหนึงวาสีงดงามมาก  จึงเขียนโคลงชมเชยว่าถ้าเป็นนางมนุษย์จะรับไปเป็นมเหสีครองเมือง  
เทพธิดาหนึงวาสีโกรธว่าเป็นการลบหลู่ดูหมิ่น  นางจึงเรียกปีศาจเสือปลา ปีศาจไก่  ปีศาจพิณมา  ให้ไปทำอุบายให้พระเจ้าติวอ๋องลุ่มหลงจนเสียบัลลังก์เป็นการลงโทษ  
ปีศาจเสือปลาจึงไปฆ่านางงามชื่อนางขันกี ซึ่งถูกส่งตัวจากหัวเมืองเข้ามาเป็นนางสนมในวัง แล้วเข้าสิงในตัวนาง  
เมื่อนางเดินทางมาถึงในวัง  พระเจ้าติวอ๋องเห็นนางมีหน้าตางดงามคล้ายเทพธิดาหนึงวาสีก็โปรดปรานมาก  
นางขันกีทำมารยาให้พระเจ้าติวอ๋องลุ่มหลง  สั่งประหารขุนนางเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะขุนนางที่ล่วงรู้ว่านางเป็นปีศาจเสือปลา  
นอกจากนี้  ยังยุยงให้ควักนัยน์ตานางเกียงฮองเฮามเหสีเอกจนถึงตาย  อินหองอินเฮาราชบุตรทั้งสองถูกสั่งประหารชีวิต  แต่เทพยดามาช่วยให้หนีไปได้  
หลังจากนั้นแผ่นดินเสื่อมโทรมลงอย่างหนัก  ปีศาจทั้งหลายจับคนในวังกินเป็นอาหาร  บ้านเมืองเดือดร้อน  เกิดศึกสงคราม  
มีผู้วิเศษชื่อเกียงจูแหยเป็นแม่ทัพฝ่ายตรงข้าม  สามารถปราบปีศาจทางฝ่ายนางขันกีได้  จนพระเจ้าติวอ๋องต้องสูญเสียบัลลังก์และสิ้นพระชนม์ในที่สุด   นางปีศาจขันกีก็ถูกเทพธิดาหนึงวาสีลงโทษที่กระทำการชั่วร้ายเกินกว่าเหตุ                                                            

     เรื่อง  ห้องสิน คงจะเป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่กวีไทยร่วมสมัย   และกลุ่มคนที่แปลก็คงเป็นกวีช่วยแต่งวรรณคดีเรื่องอื่นๆด้วย  จึงมีการเอ่ยอ้างถึงใน เสภา ขุนช้างขุนแผน ตอน ๔๓ พลายชุมพลปราบจรเข้เถรขวาด    
กล่าวถึงประชาชนที่มามุงดูการต่อสู้ระหว่างพลายชุมพลกับจระเข้แปลงด้วยความตื่นเต้นที่เห็นอิทธิปาฏิหาริย์พันลึกพิสดาร ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน   จนคนจีนที่มาดูออกปากเปรียบเทียบว่า
 
          เมื่อครั้งเกียงจูแหยแก้กลศึก        ก็รบกันครืนครึกกระบวนผี
     แต่เป็นการนานช้ากว่าพันปี         เราได้เห็นครั้งนี้เป็นบุญตา

ไม่ทราบว่าสำเนียงจีนที่ถอดออกมาในเรื่องนี้เป็นสำเนียงฮกเกี้ยนหรืออะไรคะ


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: อ้อยขวั้น ที่ 24 พ.ค. 02, 09:41
 เหมือนเคยได้ยินมาว่าพระนารายณ์โกรธอะไรพระคเนศสักอย่าง  เลยตรัสว่า "ไอ้ลูกหัวหาย......."  ศีรษะพระคเนศเลยหายตามคำ  จนต้องไปหาหัวอื่นมาแทน  คนที่ไปหาหัวเดินไปเจอหัวช้างก็เลยเอามาใส่ให้แทน  คล้ายๆ จะมีเวลาเป็นเงื่อนไขด้วยว่าต้องหามาให้ทันเวลาที่จำกัดน่ะค่ะ


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: ศศิศ ที่ 24 พ.ค. 02, 10:03
 เรื่องห้องสิน คงคุ้นกับเรื่อง "นาจา" น่ะครับผมคงได้ดูกันนะครับสำหรับเรื่องนี้ อยู่ในปลายสมัยราชวงศ์ซาง/อิน/อินซาง
"ราชวงศ์ซางมีกษัตริย์ ๓๐ องค์ กษัตริย์องค์สุดท้ายชื่อ พระเจ้าอินโจวหรือโจ้ว (ติวอ๋อง) ซึ่งในประวัติศาสตร์ประณามไว้ว่า เป็นคนโหดร้ายทารุณมาก นิยมการสงคราม และหลงใหลในอิสตรี โดยเฉพาะสนมเอกชื่อ ต๋าจี หรือขันกี ซึ่งเป็นคนวิปริตผิดมนุษย์ คอยยุยงให้โจ้วฆ่าคนเป็นผักปลา สร้างสระเหล้าดงเนื้อขึ้น (เอาน้ำเหล้ามาใส่ในสระ แล้วเอาเนื้อสัตว์มาห้อยไว้ตามต้นไม้) ต่อมา โจวอู่หวัง เจ้าผู้ครองแคว้นโจว ทางตะวันตก ได้ยกทัพมาปราบโจ้วอ๋อง โดยอ้างว่า ได้รับ "อาณัติ" หรือ "เทียนมิ่ง" จากสวรรค์ให้มาปราบ และได้ชัยชนะ โจ้วอ๋องจึงฆ่าตัวตายโดยกระโดดลงกองไฟ แต่จริงๆ แล้ว นักประวัติศาสตร์ยังไม่แน่ใจนัก ว่าโจ้วอ๋องจะโหดร้ายเช่นนั้นจริงหรือไม่ เพราะไม่มีหลักฐานชัดเจน รวมทั้งเรื่องเกี่ยวกับต๋าจีด้วย
      เรื่องราวในตอนท้ายราชวงศ์ซางนี้ ได้มีการนำไปแต่งเป็นนิยายหลายเรื่อง หนึ่งในเรื่องนั้นก็คือ "นาจา" นั่นเอง และหนังสือพงศาวดารชื่อว่า "ฮ่องสิน" โดยจะเน้นหนักไปทางอิทธิปาฏิหาริย์เสียมาก"

จาก http://jthai.virtualave.net/liofan/history.htm

ส่วนเรื่องพระพระพิฆเณศ
เคยได้ยินเพิ่มมาอีกเรื่องหนึ่ง คือ ครั้งเมื่อพระแม่อุมา ได้ทรงอาบน้ำ ได้ขัดถูขี้ไคล และทรงเอาขี้ไคลนั้นมาปั้นเป็นกุมารคนหนึ่ง ซึ่งก็คือ พระพิฆเณศ นั่นเอง (สงกะสัย จะชอบซักแห้ง อาบน้ำทีขี้ไคลมาปั้นได้เลยนิ อิอ) พระแม่อุมา เลยให้ พระพิฆเณศ เฝ้าหน้าห้องประจำ ครั้งหนึ่ง จำไม่ได้ว่าพระแม่กำลังทำอะไรอยู่ ได้สั่งให้พระพิฆเณศ ว่าห้ามให้ใครเข้าพบ
ส่วนพระอิศวรก็ได้มาหาพระแม่ พอดี พระอิศวรก็ไม่ทราบว่า พระพิฆเณศ บุตร (อันเกิดจากขี้ไคล...)ของพระแม่ พระองค์จะเข้าไปหา แต่ถูกพระพิฆเณศห้ามไว้ไม่ให้เข้าไปด้วยความซื่อ
พระอิศวรถูกขัดขวางก็โกรธ จึงบั่นหัว พระพิฆเณศ หัวกระเด็นไปตกที่ไหนไม่ทราบ แต่พอทราบเรื่องราวจากพระแม่ พระองค์จึงออกตามหาหัวที่บั่นนั้น แต่หาอย่างไรก็หาไม่พบ แต่พบช้างเชือกหนึ่ง นอนตายหันหัวไปทางทิศตะวันตก (เขาจึงห้ามนอนหันหัวไปทางทิศตะวันตก เพราะเป็นทิศของคนตาย) จึงตัวหัวช้างนั้น มาต่อ
ผิดถูกอย่างไรก็ขออภัยด้วยนะครับผม เพราะได้ยินมาอย่างนี้เพิ่มอีกแบบหนึ่ง แต่ตำนานข้างบนก็เคยได้ยินมาเหมือนกัน ๆ


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: สร้อยสน ที่ 24 พ.ค. 02, 11:51
 ใช่ค่ะคุณศศิศ  ในห้องสินระบุชื่อนาจาว่า โลเฉีย เนื้อเรื่อง โกมินทร์ของบ้านเราตอนต้นๆแทบจะไม่ต่างจากเรื่องของ โลเฉียเลย
ดิฉันดูเรื่อง นาจาในทีวีด้วยค่ะ หลายตอนคงมาจากห้องสินนี่เอง
แต่ไปเน้นที่ นาจามากกว่า


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: bookaholic ที่ 24 พ.ค. 02, 12:33
 ที่มาของพระคเณศของอินเดียมีแตกต่างกันหลายเรื่องครับ   คงจะแล้วแต่ที่มาว่ามาจากตำนานไหน
ตำนานหนึ่งบอกว่าเป็นโอรสพระศิวะองค์เดียว หรือไม่ก็พระอุมาองค์เดียว   พูดยังงี้ไม่ใช่อยากให้เวียนหัวเล่น  แต่เขาว่ากันว่าเทวดาท่านมีลูกได้โดยไม่ต้องมีเมีย หรือมีผัว  
เอ  พูดงัยดีหว่า  คืออยู่คนเดียวจะสร้างลูกขึ้นมาก็ได้ครับ   แห่งหนึ่งก็บอกว่าพระศิวะสร้าง  อีกแห่งบอกว่าพระอุมาสร้างเอง

ส่วนเรื่องทำไมมีเศียรเป็นช้าง  ก็คล้ายๆกับไทย   คือตำนานหนึ่งบอกว่าพอเกิดมา พ่อแม่ก็จัดงานเชิญเทวดาใหญ่น้อยมายินดีกัน  มีพระเสาร์ได้รับเชิญมาbaby shower กะเขาด้วย แต่พระเสาร์ท่านเป็นเทวดาที่มองใครไม่ได้ จะเกิดความวิบัติแก่คนนั้น  ท่านก็ไม่ยอมมองทารก
พระอุมารู้เข้าก็บอกว่าไม่เป็นไรหรอก   มองก็มองเถอะ  ฉันมีฤทธิ์คุ้มกันลูกได้
พระเสาร์ก็เลยมอง  ด้วยอำนาจของพระเสาร์ หัวของกุมารก็ถูกทำลายลงไป    พระอุมาเสียใจมาก ร้อนถึงพระศิวะต้องให้เทพไปตามหาหัวมาใส่แทนใหม่  
ก็เลยไปได้หัวช้างมา   กลายเป็นพระคเณศ

พระคเณศเสียงาข้างขวาในตอนรบกับปรศุรามครับ  ปรศุรามขึ้นไปเฝ้าพระศิวะตอนบรรทมหลับ  พระคเณศเฝ้าประตูอยู่ไม่ยอมให้เข้า  เกิดรบกัน ปรศุรามขว้างขวานใส่  พระคเณศเห็นเป็นขวานของพระศิวะก็ไม่กล้าต่อต้าน   เอางารับไว้จึงถูกตัดงาหัก    ลองไปหาบทละครเรื่องพระคเณศเสียงาในรัชกาลที่ ๖ อ่านดูซิครับ
แต่เครื่องหมายของกรมศิลปากรสับสนกันในยุคหนึ่ง  เป็นงาซ้ายหักบ้าง ขวาบ้าง  ที่ถูกต้องงาขวาหักครับ


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: bookaholic ที่ 24 พ.ค. 02, 12:34
 เอ๋ ทำไมในรูปข้างบน  งาซ้ายหักหว่า


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: ภูมิ ที่ 24 พ.ค. 02, 19:23
ฮองสินเข้าใจว่าจะเป็นเรื่องนี้ละครับ
ตอนนี้ก็มีการ์ตูนเรื่องนี้ลงอยู่ (เข้าใจว่ายังไม่จบ)
แต่เนื้อเรื่องก็แปลงไปจากต้นฉบับจนกู่ไม่กลับแล้ว

*ภาพที่เอามาให้ดู ตั้งใจจะให้ดูตัวหนังสือจีนเฉยๆ
เป็นภาพของเกมส์ play station  ไม่ใช่ภาพการ์ตูน


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: คุณพระนาย ที่ 25 พ.ค. 02, 00:19
 ใช่แล้วครับ พระคเนศเฝ้าประตูห้องตอนที่ พระอิศวรทรงสำราญกับพระอุมา แล้วปรศุรามจะมาขอเฝ้าพระอิศวร พระคเนศไม่ยอมให้เข้าจึงเกิดสู้กัน พระคเนศนั้น เก่งกว่าจับปรศุรามสองขาฟาดไปเลย ปรศุราม พราหมณ์นักรบก็เลยโมโหขว้างขวานวิเศษที่ได้รับประทานจากพระอิศวรเข้าใส่พระคเนศ
พระคเนศ ไม่กล้าที่จะทำอะไรกับขวานเพราะเป็นเทวะอาวุธที่ประทานจากพระอิศวร จึงโดนงาหักไป เสียงงาหักดังไปให้ทั้งพระอิศวรกับพระอุมาได้ยิน พระอุมาออกมาเห็นเข้าก็โกรธ แล้วสาปให้ปรศุราม หมดพลังนอนแข็งเหมือนท่อนหินไปเลย พระอิศวรนั้น ทรงเป็นต้นแบบของผู้ชายที่ดีครับ ทรงกลัวเมีย จึงไม่สามารถแก้คำสาปให้ปรศุราม หรือช่วยซึ่ง ๆ หน้าได้ ก็เลยแนะให้ปรศุราม สำรวมจิตขอให้พระนารายณ์มาช่วย
ปรศุรามต้องสำรวมจิตอยู่นานครับกว่าพระนารายณ์จะมาดำเนินอุบายช่วยปรศุรามให้พ้นคำสาปของพระอุมา
ปรศุรามนี้เป็นพราหมณ์นักรบครับ บางตำราว่าเป็นปางหนึ่งของพระนารายณ์ ที่อวตารลงมาปราบพวกกษัตริย์ ที่หยาบช้าไม่เคารพพวกพรามห์ ปรศุรามนั้นไล่ปราบบรรดากษัตริย์ทั่วไปหมด มีฤทธิ์มากทีเดียว แล้วก็ยังได้ขวานจากพระอิศวรด้วย แต่มาหมดฤทธิ์ตอนโดนพระอุมาสาปนี่แหละครับ
ดูจากตำนานเทพแล้ว เทพที่เกี่ยวข้องในโลกีย์วิสัยมากที่สุดเห็นจะเป็นพระอิศวร
พระพรหมนั้นท่านมีชายา ก็จริง ๆ แต่ไม่มีเรื่องอะไรเล่าไว้มากนัก พระพรหมมีลูกมากก็เพราะว่าท่านสร้างขึ้นมาเพื่อนช่วยท่านสร้างโลก
พระนารายณ์นั้น ตำนานบอกว่า ถ้าไม่มีเรื่องอะไรท่านจะบรรทมอยู่ที่เกษียรสมุทรเป็นหลัก พระลักษมีคอยปรนนิบัติพัดวีเวลาหลับ ท่านเลยไม่มีลูกเป็นเทพเลยครับ จะมีลูกเยอะหน่อยก็ตอนอวตารลงมาเกิดเป็นพระกฤษณะ กับพระราม
ส่วนพระอิศวรเนี่ย มีชายาหลวงถึงสองคน คนแรกคือพระสตี แต่นางเผาตัวตายไป แล้วก็มาเกิดใหม่เป็นพระอุมา แล้วพระอิศวรกํบพระอุมานี่ก็มีเรื่องกุ๊กกิ๊กกันเยอะครับ มีลูกเป็นเทพอยู่ที่ผมจำได้นี่ก็ พระสทันกุมาร พระคเนศ
พระอุมากับพระอิศวร มีทะเลาะกันงอนกันบ่อยด้วยครับ


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 25 พ.ค. 02, 00:47
 เทพธิดาหนึงวาสีที่พระเจ้าติวอ๋องไปดูถูกดูหมิ่น คือทะลึ่งเขียนกลอนชวนมาเป็นผัวเมียกันนั้น คือเจ้าแม่ Nu Wa ในภาษาจีนกลางครับ ตัวแรกออกเสียงยากหน่อยทำนอง "หนู่ว - หนยิ่ว... (ห นำ น กล้ำ ย ไม่ใช่ หน - ยิ่ว ครับ)" อะไรทำนองนั้น ตัวหลังเป็น วา ธรรมดา Nu นี่ตรงกับ หนึง  Wa ก็ตรงกับวา ส่วน สีนั้น เป็นคำลงท้ายชื่อผู้หญิงจีนให้รู้ว่าเป็นหญิง

ต้องขอให้คุณมนุษย์ปักกิ่งหรือคุณหลินมาเล่าเรื่องการสร้างโลกของเจ้าแม่องค์นี้ แต่ที่สำคัญคือเป็นเจ้าแม่ที่ไม่ธรรมดาครับ ไม่ใช่เทพธิดาหรือนางไม้หรือนางอัปสรเฉยๆ เป็นเจ้าแม่ผู้สร้างโลกเชียวแหละ และถ้าผมจำตำนานไม่ผิด เป็นเทวมาตาของมนุษย์ทั้งปวงด้วย  พระเจ้าติวอ๋องถือว่าเป็นฮ่องเต้ไปพระหัตถ์บอนและพระทัยทะลึ่งอย่างนั้นกับใครไม่เล่น ไปเล่นกับมหาเทวี ก็สมควรที่จะโดนหรอก

เทียบทางแขก หรือทางไทยได้ว่า เหมือนกษัตริย์อินเดียเข้าไปในวิหารของพระนางทุรคาหรือพระอุมาแล้วไปเขียนข้อความอย่างนั้นไว้ ถ้าไม่โดนสาปก็ประหลาดละครับ ในเมื่อพระอุมานั้นทรงเป็นศักติหรือชายาของหนึ่งในสามมหาเทพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของฮินดู


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 พ.ค. 02, 08:45
 ไปดูตรารุ่นเก่าตั้งแต่ปี ๒๔๗๙ ของกรมศิลปากร  พระคเณศ  งาข้างขวาหักค่ะ


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 พ.ค. 02, 10:36

ภาพพระคเณศอีกภาพหนึ่ง  สังเกตว่างาที่หักคืองาข้างขวาเหมือนกันค่ะ  


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 พ.ค. 02, 10:38

พระวิษณุหรือพระนารายณ์  


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 พ.ค. 02, 10:40

พระลักษมี อีกรูปหนึ่ง  


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: ทองรัก ที่ 27 พ.ค. 02, 18:02
 พระลักษมีเทวีนี่เกิดจากการกวนเกษียรสมุทรใช่ไหมคะ


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 พ.ค. 02, 08:54
 ใช่ค่ะ  มีกำเนิดคล้ายกับวีนัส ซึ่งผุดขึ้นมาจากทะเลเช่นกัน  เป็นเจ้าแม่แห่งความงามเหมือนกันด้วย


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 พ.ค. 02, 10:27

เอาภาพ The Birth of Venus  โดย Botticelli มาเทียบให้ดูกันค่ะ  


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: ทองรัก ที่ 28 พ.ค. 02, 19:01
 ถ้าโดยส่วนตัวแล้วชอบภาพพรลักษมีมากกว่าค่ะ
คงเป็นเพราะทองรักชอบศิลปะแบบอินเดียมังคะ
(ไม่มีเหตุผลอย่างอื่นหรอกค่ะ)


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: สร้อยสน ที่ 29 พ.ค. 02, 06:32
 บางตำรายังอ้างว่า กามเทพเป็นโอรสของพระลักษมีเลยค่ะ ทำให้คล้ายวีนัสมากขึ้น แต่ที่ต่างมากๆคือพระสวามีของพระลักษมีรูปงามและยิ่งใหญ่ ตรงกันข้ามกับวีนัสอย่างสิ้นเชิง

ตรงนี้ดิฉันมองไม่ตรงกับคุณทองรักค่ะ ดิฉันชอบงานวาดทางตะวันตกมากกว่า แต่เรื่องเทพเจ้านี่ ชอบทุกสายเลยค่ะ ทั้งอินเดีย กรีก โรมัน จีน(ทราบน้อยมาก)


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: สร้อยสน ที่ 29 พ.ค. 02, 06:36
 อ้อเคยอ่านมาว่า พระอุมาคือเทวีแห่งศักดิ์
พระลักษมีคือเทวีแห่งศรี
พระสุรัสวดีคือเทวีแห่งศาสตร์

แต่ละองค์มีความงามต่างกัน พระอุมาจะงามคมเข้ม พระลักษมีจะงามแบบเย้ายวนอ่อนหวาน พระสุรัสวดีจะงามแบบเรียบนุ่มนวลค่ะ
คนเปรียบนี่ต้องผู้ชายแน่ๆเลยค่ะ


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: คุณพระนาย ที่ 30 พ.ค. 02, 03:04
 เทพเจ้าของจีน นี่กลายเป็นมีเยอะมากครับ
เง็กเซียนฮ่องเต้ เป็นผู้ปกครองสวรรค์ แล้วมีตำนานเจ้าแม่ เจ้าพ่อ แล้วก็เซียนเยอะไปหมด
อย่างแปดเซียนนี่ก็ดัง
จี้กง ก็อีกอันนึง แล้วก็เทพ อย่างฮก ลก ซิ่วที่เป็นที่นับถือของคนจีนในไทย
แล้วก็ไซอิ๋ว เป็นตำนานเกี่ยวกับเรื่องเทพ ที่น่าสนใจอันนึงของจีน มีพระยูไลเป็นคนเก่งที่สุดในเรื่องไซอิ๋ว
เจ้าแม่กวนอิม ก็อีกนึงล่ะ
เอของจีนมีอะไรอีกหว่า
พระกามเทพของฮินดู นั้นเทพบุตร ขี่นกแก้ว ทรงศรดอกไม้ แต่เป็นเทพที่น่าสงสารครับ โดนพระอิศวรใช้ตาที่สามเผาไปเลยไม่มีรูปร่างเหลืออยู่


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: สร้อยสน ที่ 30 พ.ค. 02, 14:58
 ใช่แล้วค่ะคุณพระนาย ยังโป๊ยเซียนอีกไงคะ
แต่รู้สึกกามเทพของจีนเป็นผู้ชายแก่ๆใช่ไหมคะ เคยดูในหนังมีด้ายแดงผูกข้อเท้าหนุ่มสาว
(แอบไปผูกคุณหลวงนิลบ้างหรือยังก็ไม่รู้นะคะฮิ ฮิ)


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: Linmou ที่ 30 พ.ค. 02, 21:47
 ไปถามเรื่องเกี่ยวกับเรื่องมังกรมาแล้วค่ะ(ขี้เกียจอ่านเอง ไหนๆเพื่อนเขาก็เรียน ป.เอกด้านโบราณคดีอยู่)

มังกรมีมาตั้งแต่สมัยของจักรพรรดิเหลือง(หวงตี้) โดยเป็นสัญลักษณ์ของ "ชือโหยว"

ในตอนนั้น สังคมจีนได้พัฒนาไปถึงขั้นสหเผ่า คือการที่เผ่าเล็กๆมารวมตัวเป็นพันธมิตร แล้วให้ผู้นำของเผ่าที่เข้มแข็งที่สุดเป้นผู้นำเผ่าพันธมิตร

เผ่าพันธมิตรในยุคนั้น(ประมาณ ๕,๐๐๐ กว่าปีก่อน)มี ๓ เผ่า คือ เผ่าของจักรพรรดิเหลือง เผ่าของเทพกสิกร(เหยียนตี้) และเผ่าของชือโหยว

Totem ของเผ่าจักรพรรดิเหลือง คือ หมี
Totem ของเผ่าเทพกสิกร คือหงส์
Totem ของเผ่าชือโหยว คือมังกร

เผ่าของชือโหยวอยู่แถบตอนกลางและตอนใต้ลุ่มแม่น้ำฮวงโห "มังกร" นี้ได้มาจากการรวม Totem ของเผ่าในอาณัติต่างๆเข้าด้วยกัน มีรูปภาพยืนยันในหลักฐานทาง ปวศ.ของราชวงศ์โจว(ประมาณ ๓,๐๐๐ ปีก่อน) โดยประกอบด้วย กวาง(หัว) งู(ลำตัว) ปลา(เกล็ด) นกอินทรี(กรงเล็บ)...จำได้แค่นี้ ดูเหมือนจะมีอีก

เวลาเผ่าใหญ่กลืนเผ่าเล็กได้ ก็จะเอา Totem ของทั้งสองเผ่ามารวมกัน จึงเกิดเป็นมังกรขึ้นมา

หลังจากจักรพรรดิเหมือลได้เป็นจักรพรรดิเหลืองแล้ว คงรู้สึกว่า หมี หงส์ และมังกรนี่มันรวมกันยาก จึงทิ้งเอาไว้เป้นสัญลักษณ์กษิตริย์ทั้งอย่างนั้น ไม่เอามารวมกัน

มังกรมีหน้าตาเปลี่ยนไปในแต่ละยุค เช่นเมื่อมาถึงราชวงศ์ฮั่น เขาเอามังกรไปรวมกับหมู(น่าเกลียดมาก) มังกรในยุคราชวงศ์ฮั่นจึงออกมาเป็นลูกครึ่งมังกรหมู เป็นต้น


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: Linmou ที่ 30 พ.ค. 02, 22:09
 สำหรับเรื่องฮ่องเต้ไปเขียนลวนลามนางฟ้านั่น
ดูเหมือนจะเป็นฉินอะไรหวางสักคนต่างหากนะคะ
(อ๋องแห่งแคว้นฉิน คนก่อนหน้าจิ๋นซีฮ่องเต้หลายๆคนหน่อย)
แล้วคนที่เขาลวนลามคือ เจ้าแม่หวางหมู่ ล่ะ ไม่รู้เจ้าแม่หวางหมู่ประจำทิศไหนแล้ว

ส่วนนี่คือตำนานการสร้างโลกของหนวี่วา(Nu wa)ค่ะ

ตำนานหนวี่วา(Nu wa)สร้างมนุษย์

กล่าวกันว่า นับแต่ผานกู่เบิกฟ้าผ่าพิภพเป็นต้นมา บนแผ่นดินนั้นปราศจากมนุษย์ ไร้ซึ่งกลิ่นไอแห่งความมีชีวิต ทำให้เทพธิดาอีกองค์นามว่าหนวี่วารู้สึกเดียวดายอย่างยิ่ง

อยู่มาวันหนึ่ง หนวี่วาได้พบสระน้ำใสกระจ่างแห่งหนึ่ง จึงทรุดนั่งลงริมสระ คว้าดินเหลืองริมสระมาปั้นหตุ๊กตาเลียนแบบตนเอง ครั้นนางวางตุ๊กตาดินปั้นลงบนพื้น ตุ๊กตาก็กลับกระโดดโลดเต้นมีชีวิตขึ้นมา หนวี่วาชอบใจมาก จึงปั้นตุ๊กตาชายหญิงขึ้นมาอีกมากมาย  มนุษย์เปลือยเหล่านี้ได้มาห้อมล้อมกระโดดโลดเต้นรอบกายหนวี่วา แสดงความขอบคุณนางอย่างสุดซึ้ง จากนั้นพากันแยกย้ายกระจายไปยังสถานที่ต่างๆ

แต่มนุษย์นั้นยังไงก็ต้องตาย เพื่อไม่ให้มนุษย์สูญพันธุ์ มารดาแห่งมวลมนุษย์นางนี้จึงได้กำหนดความสัมพันธ์ด้วยการแต่งงานให้แก่มวลมนุษย์ สั่งให้มนุษย์ชายหญิงจับคู่กัน กำเนิดบุตรสืบเชื้อสายไปรุ่นแล้วรุ่นเล่า


ส่วนนี่เป็นตำนานหนวี่วาปะฟ้า จากคัมภีร์ "หวยห่ายจิง"(Huai hai jing)ซึ่งถือเป็นตำราด้านภูมิศาสตร์เล่มแรกสุดของจีน ไม่ทราบผู้แต่ง

หนวี่วาปะฟ้า

ในอดีตกาลนานมา เสาค้ำพสุธาทั้งสี่หักทลาย เจ็ดทวีปแตกสลาย ผืนฟ้ามิอาจคลุมพิภพ พิภพมิอาจแบกรับสรรพสิ่ง เปลวเพลิงลุกโรจน์เผาผลาญไม่ดับมอด น้ำท่วมทุกแห่งหนโดยไม่ลด สัตว์ร้ายกัดกินสุชน นกยักษ์โฉบจิกผู้เฒ่าและผู้อ่อนแอ ด้วยเหตีนี้ หนวี่วาจึงหลอมหินห้าสีไว้ปะผืนฟ้า หักขาเต่าไว้ค้ำยันมุมโลกทั้งสี่ สังหารมังกรดำเพื่อช่วยชีวิตจี้โจว(เก้าทวีป) สะสมกองขี้เถ้าไว้อุดน้ำท่วม แผ่นฟ้าถูกปะ สี่เสาตั้งตรง น้ำท่วมลด จี้โจวปลอดภัย มังกรร้ายตายลง สุชนอยู่รอด

มาทักทายคุณนิลกังขาเช่นกันค่ะ
อวยพรท่านผู้เฒ่าอายุยืนหมื่นปี
         


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: สร้อยสน ที่ 31 พ.ค. 02, 07:07
 สนุกดีค่ะขออนุญาตเรียกว่าแม่นางหลินตามคุณหลวง

ฮ่องเต้ที่ว่านั่น สมัยนั้นยังเรียกแค่อ๋องค่ะ เพราะฮ่องเต้รู้สึกจะเกิดขึ้นสมัยจิ๋นซี  
ในห้องสิน เรียกออกเสียงว่าติวอ๋องราชวงศ์เสี่ยงทาง(คงเป็นการเรียกให้เป็นไทยๆ) คิดว่าคงจะเป็นราชวงศ์เซียว ก่อนพุทธกาล๒๑๕๔ปี  ในหนังสือออกชื่อเจ้าแม่หนี่ฮัวว่า เทพธิดาหนึงวาสี แบบที่คุณหลวงกล่าวไปนั่นแหละค่ะ


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: สร้อยสน ที่ 31 พ.ค. 02, 07:32
 คุณเทาชมพูคะ หรือท่านไหนก็ได้ค่ะ

ดิฉันถกปัญหากันแถวนี้เรื่องกำเนิดศิวลึงค์ น้องคนหนึ่งเธออ้างว่าเธออ่านมาว่า วันหนึ่งพระศิวะกับพระอุมากำลัง......กันน่ะค่ะแล้วมีเทพองค์ไหนไม่ทราบโผล่เข้ามาพอดี พระศิวะอายมากจนอกแตกตาย กลายเป็นศิวลึงค์
ดิฉันจนใจไม่เคยได้ยินประวัติแบบนี้เลย ขอภัยนะคะ ถ้าเป็นคำถามที่ออกจะล่อแหลมไปหน่อย แต่อยากทราบข้อเท็จจริงมากกว่านี้


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: ทองรัก ที่ 01 มิ.ย. 02, 07:21
 ช่างสงสัยอะไรก็ไม่รู้ คุณสร้อยสนเนี่ย


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: ทองรัก ที่ 02 มิ.ย. 02, 09:57
 เช้านี้ได้อ่านกรุงเทพธุรกิจ Section กรุงเทพวันอาทิตย์นะคะ
คุณสัจภูมิ ละออ เขียนในคอลัมน์ต้นทางที่กรุงเทพ เล่าถึงเรื่องการไปเยือนโบราณสถานชื่อว่า "กบาลสเปียล" ในเขมรค่ะ (อยู่เลยนครวัดไปทางเหนือประมาณ 10 กม.เศษ ๆ ค่ะ) ผู้เขียนพูดถึงเรื่องพระศิวะกับพระอุมาไว้อย่างที่คุณสร้อยสนถามพอดีเลยค่ะ เลยเก็บความมาเล่าสู่กันฟัง ผู้เขียนบอกว่าคนที่เล่าขานเรื่องนี้ไว้คือคุณธีรภาพ โลหิตกุล (นักเขียนสารคดีชื่อดังอีกคนหนึ่งของไทย) เล่าไว้ว่าทวยเทพในชั้นฟ้าพากันไปเยี่ยมเยือนพระศิวะกับพระอุมาในขณะที่กำลังแสดงบทรักต่อกันอยู่ ก็เลยนำเรื่องไปเยาะเย้ย คงทำนองล้อเลียนมังคะ เป็นเหตุให้พระศิวะกริ้วจัดจึงประกาศว่าจะขอเกิดใหม่เป็นรูปศิวลึงค์ให้ทวยเทพกราบไหว้บูชาเสียเลย  กับอีกตำนานหนึ่งค่ะเขาบอกว่าเป็นความเชื่อที่ว่า พระศิวะกับพระอุมาแยกกันไม่ได้บ้านเมืองจะวิบัติ เมื่อสร้างศิวลึงค์เลยต้องสร้างแท่นโยนีไว้เป็นฐานเป็นของคู่กันค่ะ
พิมพ์มาถึงตรงนี้แล้วทำให้นึกถึงสมัยที่เรียนอยู่ที่คณะอักษรฯ ทองรักโชคดีที่ได้มีโอกาสเรียนวิชาโบราณคดีไทยและประเทศใกล้เคียงกับท่านอาจารย์ มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล พวกเราได้มีโอกาสตามเสด็จท่านไปดูโบราณสถานในประเทศไทยหลายแห่ง เรียกว่าไปกันทุกวันหยุดเลยค่ะทั้งเทอม และที่ขาดไม่ได้ก็ปราสาทหิน ต่าง ๆ ทางภาคอีสานนี่แหละ ยังจำได้ว่าเวลาท่านชี้ให้ดูศิวลึงค์กับแท่นโยนี นี่สาว ๆ สมัยนั้นหน้าแดงอายม้วนกันเป็นแถว


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มิ.ย. 02, 10:14
 ตำนานที่ว่าคงเป็นชั้นหลังมั้งคะ
การบูชาศิวลึงค์ กำเนิดจากไศวนิกาย    ยึดศิวลึงค์เป็น symbol หรือสัญลักษณ์ของพระอิศวร
ถือว่าเป็นเครื่องหมายของการก่อกำเนิด   หรือการสร้าง  ตั้งอยู่บนฐานที่เรียกว่าโยนี   ซึ่งก็คือสัญลักษณ์ของเพศหญิง
เพราะการก่อกำเนิดหรือการสร้างก็มาจากสัญลักษณ์ทั้งสองอย่างนี่ละค่ะ
เวลานิกายนี้เผยแพร่ไปที่ไหน เช่นที่นครวัดในยุคหลังจากพระเจ้าสุริยวรมัน   ก็ขนเอาศิวลึงค์เข้าไปตั้งประดับไว้เต็มไปหมด
ของไทยเราก็ในปราสาทหินต่างๆทางอีสานละค่ะ เพราะว่าครั้งหนึ่งอิทธิพลของพราหมณ์เข้ามาถึงบริเวณนี้


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 03 มิ.ย. 02, 04:13
 Xiexie Lin Xiaojie.



I think 10000 years would probably be too long for me...



I have the feeling that the Thai legend "Kaiphek" is probably a translation from the story of Pan Gu, who cut open the world and the heaven with his mighty axe. But why the translator call the Chinese Pan Gu "Kosee" or the God Indra, I don't know.


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: สร้อยสน ที่ 03 มิ.ย. 02, 07:07
 ขอบคุณทุกท่านค่ะ
ดิฉันคุยจนเครื่อง แฮงค์มาหลายครั้งแล้ว โดนแซวตลอดเลย

ตอนเรียนมัธยมต้น เคยอยากเรียนต่อโบราณคดีมากค่ะ เพราะติดใจครั้งที่ติดตามท่านชายปาน(มจ.สุภัทรฯ) ตอนที่ท่านจัดทัวร์ บังเอิญถูกคุณพ่อเบรคไว้ พร้อมกับคำแนะนำที่มีเหตุผลก็เลยได้แต่และเล็มเมื่อมีโอกาส ดีที่คนแวดล้อมเป็นประเภทคล้ายกัน(วิศวะชอบอ่านวรรณคดี)ก็เลยได้คุยกันเรื่อยค่ะ


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: สร้อยสน ที่ 05 มิ.ย. 02, 06:22
 คุณเทาชมพูเบื่อจะคุยเรื่องเทพเจ้าฮินดูแล้วหรือคะ รู้สึกพระอิศวร ท่านก็มีเรื่องอะไรๆสนุกอีกเยอะนะคะ

ดิฉันเดินผ่านร้านแขก(เพลงกระหึ่มเลยค่ะ) เห็นรูปพระอิศวร พระอุมา สไตล์ที่คุณทองรักชอบ ที่ตักพระอุมา มีพระพิฆเณศ องค์เล็กๆขาดเด็ก ไม่ครบขวบ นุ่งผ้าอ้อม มีงาเล็กๆครบสองข้าง น่าเอ็นดูจังค่ะ เห็นแล้วต้องชี้ให้สาวน้อยอีกสองที่ตามไป ช่วยกันอมยิ้ม


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: ทองรัก ที่ 05 มิ.ย. 02, 15:47
 ร้านแขกร้านไหนหรือคะ จะได้ตามไปดูบ้างค่ะ
ทองรักยังอยากฟังเรื่องเทพเจ้าฮินดูต่อเหมือนกันค่ะ
โดยเฉพาะเรื่องพระอุมาปางเจ้าแม่กาลีน่ะค่ะ
หรือพระอิศวรปางศิวะนาฏราช (เขียนถูกหรือเปล่าก็ไม่ทราบค่ะ)


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: สร้อยสน ที่ 06 มิ.ย. 02, 07:12
 แถวที่ทำงานค่ะ ต่างจังหวัดเหลือเกิน แต่แถวสีลมน่าจะมีนะคะ เสาร์อาทิตย์ลองเดินๆดูซีคะ สาวๆของดิฉันเธอชอบกำไลแขกเลยไปเลาะๆดูกัน (หนุ่มแขกไม่ชอบค่ะ)


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: Malagao ที่ 09 ต.ค. 06, 19:00
 ศักติ ออนทัวร์"คู่มือสักการะเจ้าแม่ศรีมหาอุมาเทวีฉบับสมบูรณ์
โดย ผู้จัดการออนไลน์
23 กันยายน 2549 13:18 น.

      ไม่ว่าค่ำคืนของวันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม 2549 ท้องฟ้าจะปลอดโปร่ง ,มีฝนพรำ หรือฝนตกหนัก ขบวนแห่เจ้าแม่ศรีมหาอุมาเทวียังคงดำเนินต่อไปตามกำหนดการ ไม่มีเลื่อน ไม่มีงด สเตปบายสเตปตามแบบที่เคยปฏิบัติดังเช่นทุกปี เพราะประเพณีนี้ดำเนินมากว่าร้อยปีบนถนนย่านธุรกิจ “สีลม” การงดแห่แทบจะนับครั้งได้ อย่างเช่นในสมัยสงครามครั้งที่ 2 หรือในช่วงที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะชุลมุน วุ่นวาย
       วันนี้เรียก “วิชัยทัสมิ” เป็นวันฉลองชัยให้กับพระแม่เจ้า ผู้เป็นศักติแห่งพระเทวาธิเทพ ศิวะ ศังกร
       ศักติ หมายถึงความสูงส่ง,อำนาจ,ความสามารถ หรือเครื่องสนับสนุนชีวิตให้คงอยู่ อุดมคติของลัทธินี้ แสดงภาพบุคลาธิษฐานในรูป “อิสตรี” เพื่อสนับสนุนภารกิจของมหาเทพ มีฤทธิ์อำนาจเช่นเดียวกับเทพเจ้า และในบรรดารูปสตรีหรือศักติที่มีบทบาทมากที่สุดคือ “พระแม่ศักติ (ศักติศิวา) ”ผู้เป็นปฐมกำเนิดแห่งพระนางสตี, นางปารวตี (พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี) และปางอวตารอื่นๆ
      METRO LIFE ร่วมประกาศพระนามสรรเสริญพระแม่เจ้าศรีมหาอุมาเทวี และตั้งใจให้เป็นคู่มือแนะนำสำหรับคนที่ตั้งใจไปร่วมงาน , เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของอินเดียสไตล์ที่คนไทยไม่ค่อยรู้ ทั้งเปิดใจและของสะสมของบรรดาแฟนพันธุ์แท้ “เทพเจ้า” รวมถึงแนะจุดนัดพบเพื่อนฝูงก่อนเดินเข้าร่วมงานด้วยกัน
      ผู้ไม่มีธุระต้องผ่านในย่านนั้น กรุณาหลีกเลี่ยงเส้นทางดังกล่าว
      เทศกาลนวราตรี
       วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม) พราหมณ์สายอินเดียใต้ นิกายศักติ นับถือ “พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี” เป็นใหญ่, วัดเทพมณเฑียร สมาคมฮินดูสมาช เสาชิงช้า พราหมณ์สายอินเดียเหนือ ไวณพนิกาย นับถือ “พระวิษณุเทพ” เป็นใหญ่ ครั้นถึงเทศกาลนวราตรี (วันขึ้น 1 – 9 ค่ำเดือน 11) ต่างก็ประกอบพิธีกรรมที่แตกต่างกันไป เกี่ยวข้องกันว่า เมื่อพระราม ซึ่งเป็นนารายณ์อวตารก่อนกรีธาทัพรบกับอสูรทศกัณฐ์นั้น ได้ตั้งแท่นบูชาขอพรจาก “เจ้าแม่ทุรคา” (ปางหนึ่งของพระอุมา) เพราะฉะนั้น สายอินเดียเหนือจึงระลึกถึงมหากาพย์รามายนะพร้อมกันไป
       “มารีอามัน” คือพระนามของพระแม่เจ้าที่ผู้ประธานของวัดแขกสีลม นางคือ เทวีผู้ปัดเป่าและรักษาไข้ทรพิษ เป็นเทพสตรีที่ชาวอินเดียใต้ให้ความนับถือมาก เมื่อชาวอินเดียเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร และได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ตั้งศาลสถิตพระแม่เจ้าได้ จึงได้ตั้งศาลไม้เล็กๆขึ้นที่ใต้ต้นสะเดา กลางไร่อ้อย ย่านหัวลำโพง ต่อมาศาลไม้ได้ทรุดโทรมลงตามกาลเวลา นายไวตีฯและญาติมิตรศรัทธาพระแม่เจ้าจึงตั้งใจสร้างวัดพระศรีมหาอุมาเทวีขึ้น โดย นายไวตรีประเดียอะจิ นายนารายเจติ นายโกบาระตี ได้ขอแลกที่ดินกับสวนผักของนางปั้น ที่ริมถนนสีลมเพื่อสร้างวัดตามลัทธิศักติ ใช้สถาปัตยกรรมของอินเดียตอนใต้เป็นแบบในการก่อสร้าง และจดทะเบียนในรุปของมูลนิธิ ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2458
     
       วันวิชัยทัสมิ “ม้าทรง”ในขบวนแห่ปัจจุบันมี 3 พระองค์ ในนามของ พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี (ทูนหม้อกลาฮัม ), เจ้าแม่กาลี (เสียบตรีศูลที่กระพุ้งแก้ม) และพระขันทกุมาร (เสียบเหล็กแหลมที่แก้ม เกี่ยวผลมะนาวตามร่างกายและแบกกาวาดี)
       คนส่วนใหญ่คิดว่า หลังขบวนแห่กลับเข้าวัด แล่นลูกธนูปลดธงสิงห์ที่เสาเอกหน้าโบสถ์ เป็นอันเสร็จกิจ แต่น้อยคนที่จะรู้ว่า หลังจากนั้น ไม่เกิน 3 - 5 วัน (สอบถามได้จากวัด) สานุศิษย์จะร่วมกันสรงน้ำพราหมณ์ และพราหมณ์ผูกด้ายมงคลสีแดงให้นั่นแหละถึงจะเรียกว่า “ฟินนาเล่” ของแท้

      10 ถาม – ตอบที่ควรรู้
      1. ไปวัดเวลาไหน
     
      - ปกติ วัดพระศรีมหาอุมาเทวีจะเปิดให้บูชาตั้งแต่ 06.00 – 20.00 น. เฉพาะวันศุกร์ถึง 21.00 น.
     
      - วันศุกร์ที่ 22 กันยายน เวลา 19.30 น. อัญเชิญองค์พระพิฆเนศวรออกแห่รอบโบสถ์ 3 รอบ – คนแน่นเอี๊ยด เนื่องจากวัดคับแคบ ยืนอยู่ตรงไหนต้องอยู่กับที่ตรงหน้า ห้ามเดินเข้า-ออก จนกว่าพิธีจะเสร็จสิ้น อยากร่วมพิธีควรอยู่ในวัดตั้งแต่ 5 โมงเย็น
     
      - ระหว่างวันที่ 23 กันยายน – 1 ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลนวราตรี วัดจะตกแต่งอย่างสวยงาม คึกครื้น และขยายเวลาปิดถึงเที่ยงคืน ผู้นับถือพระแม่ศรีมหาอุมาเทวี ควรมาสักการะสักครั้ง ส่วนวันวิชัยทัสมิค่อยว่าและตัดสินใจกันอีกทีก็ได้
     
      - ระหว่างนี้ ช่วงกลางคืนจะมีผู้คนจะมาสักการบูชากันมากกว่ากลางวัน
     
      - อยากมาชมแค่ซุ้มและไหว้พระแม่ศรีมหาอุมาเทวีที่วัด แต่ไม่อยากร่วมขบวนแห่ในวันที่ 2 ตุลาคม ควรเลือกช่วงเวลา 3 ทุ่ม เมื่อขบวนเคลื่อนเข้าสู่ถนนปั้นเพื่อออกสาทรเหนือแล้ว ช่วงนี้ถนนสีลมฝั่งถนนปั้นคนจะเบาลง เดินชมได้สะดวก
     
      - อย่าลืม อยากได้ด้ายมงคลผูกข้อมือ อย่าลืมเช็กกับเจ้าหน้าที่วัดว่า หลังวันแห่สรงน้ำพราหมณ์กันวันไหน
     
      2. ขบวนแห่วันวิชัยทัสมิ
      - พิธีกรรม ภายในวัดเวลา 15.00 – 16.00 น. (โดยประมาณ) ระหว่างที่พราหมณ์อาบน้ำคนทรง และประกอบพิธีอัญเชิญเทพประทับ “ม้าทรง” เพื่อความเรียบร้อย มีกฎว่า คนในห้ามออก – คนนอกห้ามเข้า คนในวัดจะแน่นมากที่สุด เมื่อเสร็จสิ้นพิธีกรรมจึงเปิดวัดให้เข้า-ออกตามปกติ
      - ขบวนแห่จะเริ่มออกจากวัด เวลา 19.00 น. ตั้งต้นที่หน้าวัดพระศรีมหาอุมาเทวีฝั่งถนนปั้น เลี้ยวขวาออกถนนสีลม เลี้ยวกลับที่แยกเดโชเข้าถนนปั้น ถนนสาทรเหนือ เข้าถนนสุรศักดิ์ ออกถนนสีลมกลับสู่พระโบสถ์ เป็นอันเสร็จพิธีในคืนนี้
      3. ต้องกินเจหรือเปล่า
      - ทุกปีนั้นวันวิชัยทัสมิ ยังอยู่ในช่วงกินเจ หรือกินเจวันสุดท้าย (กินเช้ามื้อเดียว) จึงถือโอกาสกินให้ครบทุกมื้อแล้วมางานแห่พระแม่ศรีมหาอุมาเทวีก่อนจะลาเจ
      - ปีนี้ปฏิทินจีนมีเดือน 7 (2 หน) กินเจเลยขยับเลื่อนไปวันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม เพราะฉะนั้น ถ้าเคร่งครัดมากก็อาจจะกินล่วงหน้าสัก 3 วัน หรือกินเฉพาะวันแห่ก็ได้ แต่สำหรับคนมือใหม่ ไม่ต้องก็ได้ ไม่มีสูตรตายตัว
     
      4. แต่งกายอย่างไรดี
      - ปกติที่เห็นคนแต่งขาวกันนั้น เพราะพ่วงมาจากเทศกาลกินเจ ไม่มีกฎบังคับว่าต้องเป็นสีขาว
      - เน้นสีสันสดใสได้ เพราะเป็นงานเฉลิมฉลอง บางคนในช่วงระหว่าง 22 กันยายน – 1 ตุลาคม ใส่สาหรีมาก็ยังได้ หรือจะมาในชุดปัญจาบีก็ได้
      - อยากใส่ส่าหรีอีกเรื่องต้องรู้ อย่าใช้ส่าหรีขาวทั้งผืน เพราะประเพณีคนอินเดียจริงๆแล้ว เค้าใช้สำหรับใส่เพื่อไปร่วมงานศพเท่านั้น คนไทยไม่รู้คิดว่าสีขาวแทนความบริสุทธิ์
      - ประเภทโชว์โน่นนี่ ควรงด เพราะนี่คืองานวัด สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพียงแต่ใส่ให้ถูกกาลเทศะเท่านั้นก็พอ
      - เลือกเนื้อผ้าที่ระบายลมได้ดี เพราะคนเยอะ อบอ้าว และร้อนมาก
      - อยากแต่งแบบอินเดียสไตล์ พุ่งตรงไปที่ตรงแขก พาหุรัดมีให้เลือก ใส่สบายได้อารมณ์แขกๆ เท่จะตาย
     
      - ไม่ควรหิ้วอะไรให้เป็นภาระ กระเป๋าใบเดียวพอแล้ว แต่ระวังเรื่องมิจฉาชีพที่แฝงตัวมายืมเงินไปใช้โดยไม่บอกกล่าวเท่านั้น เดินสักพักมือแตะกระเป๋าหน่อย เพื่อความไม่ประมาท เดี๋ยวกลับบ้านไม่ได้ไม่รู้ด้วย
      - ไม่ควรนุ่งกระโปรงสั้น อาจจะเดินเหินสะดวก แต่อย่าลืมว่า ระหว่างขบวนผ่านต้องถอดรองเท้าคุกเข่าลงกับพื้น เพื่อแสดงความเคารพและขอพร
      - กางเกงสะดวกสุด ทั้งชาย - หญิง
      - รองเท้า เน้นมากๆเพราะงานนี้เดิน เดินและเดิน ส้นสูง,รองเท้าหุ้มส้นทั้งหลายอาจจะไม่เหมาะ เพราะฉะนั้น ไม่ชาย – หญิง คีบแตะเหมาะที่สุด
      - ไม่ควรพกหรือใส่เครื่องประดับของมีค่า เอาไว้แต่งโชว์ที่บ้านปลอดภัยกว่า
      - ควรทำใจสำหรับเสื้อผ้าชุดนี้ เพราะอาจจะเลอะผงศักดิ์สิทธิ์ (สีฝุ่นและสีแดง) ที่ม้าทรงโปรยประทานพรให้ บางคนนิยมพับเก็บชุดนี้ไว้ในที่อันควร เพื่อเป็นที่ระลึก
      5. เดินทางแบบไหนสะดวก
      - รถไฟฟ้า BTS ลงที่สถานีช่องนนทรี แล้วทอดน่องมาเรื่อยๆ เดินสัก 2 ป้ายรถเมล์ก็ถึง
      - รถไฟฟ้ามหานคร ต่อ BTS ที่ศาลแดง หรือมอเตอร์ไซค์ ค่ารถประมาณ 30 บาท
      - เรือด่วนเจ้าพระยา ขึ้นท่าสะพานตากสิน ต่อรถไฟฟ้า BTS ลงสถานีศาลาแดง หรือรถเมล์ หรืออื่นๆตามสะดวก
      - แท็กซี่สะดวกที่สุด ปิดถนนตรงไหน เดินตรงนั้น
      - รถประจำทาง สาย 79, 63, 15, 77 ฯลฯ รถปรับอากาศสาย 504, 514, 177, 79

      6. ที่จอดรถยนต์
- โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ข้ามสะพานลอย เดินเข้าถนนปั้น
- ริมถนน บริเวณสถานีรถไฟฟ้า BTS ช่องนนทรีย์
- ที่จอดรถโรงแรม อาทิ โรงแรมนารายณ์, โรงแรมโซฟิเทล
             - ต้นถนนสีลม อาทิ ห้างโรบินสัน (สีลม) ชั่วโมงละ 20 บาท ปิด 4 ทุ่ม, ตึกซีพีทาวเวอร์ ชั่วโมงละ 30 บาท เกิน 8 ชั่วโมงเหมาจ่าย 240 บาท ปิด 5 ทุ่ม แล้วเดินทางต่อด้วยพาหนะตามความสะดวก
     
      หมายเหตุ ไม่ควรนำรถยนต์มาทั้งนี้เพื่อความสะดวก ตอนกลับ เส้นทางที่เหมาะกับการเรียกรถที่สุดคือ สาทรเหนือ ส่วนฟากสีลม เรียกรถยากมาก ถึงมากที่สุด
      7. ชวนเพื่อนไปดีมั้ย
             - อยากชวนเพื่อนไปเดินเป็นเพื่อน คิดให้ดี ควรเลือกเพื่อนที่มีศรัทธาเหมือนกัน ซี้ซั้วชักชวนไปจะโดนค่อนขอดว่า งมงายไสยศาสตร์ หรือประเภทเพื่อนขี้บ่น ไม่ชอบเดิน ไม่ชอบเบียดกับผู้คนแออัด ประเภทนี้อย่าชวนไป เสียอารมณ์เราเปล่าๆ
             - ถ้าได้เพื่อนพันธุ์แท้ “เทพเจ้า” ก็จะสนุกและได้อารมณ์ร่วม มีประเด็นให้คุยกันเมื่อผ่านซุ้มบูชา เพราะพันธุ์แท้ยังไงก็ไม่กลัวเหน็ดเหนื่อย ดึกดื่นแค่ไหน ฝนตกหรือเปล่า สู้ตายอยู่แล้ว
             - เดินคนเดียวสบายใจที่สุด ไม่ต้องห่วงหน้า พะวงหลัง จะกลับเมื่อไหร่ก็ได้ ตัดสินใจง่าย
             หมายเหตุ พ่อ แม่อยากพาลูกเด็กเล็กแดงไปด้วย ควรเลือกช่วงระหว่างเทศกาลดีกว่างานแห่ ช่วงเช้าสาย แดดยังไม่เปรี้ยงของวันเสาร์ – อาทิตย์ที่ 23,24,30 กันยายน และ1 ตุลาคม ดีกว่ามั้ง
      8. ที่บ้านมีเทวรูปพระอุมา อยากตั้งซุ้ม
     
      - วัตถุประสงค์ของการตั้งซุ้มบูชา ประการแรก. เพื่อถวายสักการะต่อพระแม่เจ้าที่ตนศรัทธา เคารพนับ
      ถือ ประการที่สอง . เทวรูปบางองค์ที่เช่ามานั้น อาจจะยังได้ผ่านพิธีเบิกเนตร (เนื่องจากวัดแขกจะเบิกเนตรให้กับเทวรูปที่เช่าบูชาในวัดเท่านั้น) หรือเทวรูปที่เบิกเนตรแล้ว แต่อยากนำมาชาร์จแบตฯเพิ่มเพื่อเสริมพลัง ก็ใช้งานนี้แหละ
      - กรณีที่มีเทวรูปแต่ไม่ได้เบิกเนตรและไม่ได้มาตั้งซุ้มเอง หากมีเพื่อนมาตั้งซุ้มอยู่ อาจจะขอเพื่อนนำเทวรูปมาร่วมประดิษฐานก็ได้ (แต่อย่าลืมช่วยเรื่องปัจจัยค่าใช้จ่ายด้วย)
             - ปกติคนนิยมมาจับจองที่ตั้งแต่ 9 โมงเช้า บางคนยึดหัวหาดกันตั้งแต่ตี 5 – 6 โมงเช้า และเปลี่ยนผลัดแตะมือเพื่อนเปลี่ยนกะในตอนเที่ยง
             - จะพ่นสีฉีดสเปรย์ปักเขตจองลงพื้นถนน หรือขึงเชือกจองตั้งแต่ตี 3 ไม่ผิดกติกา บางรายมาทีหลังแต่อยากได้พื้นที่ตรงขึงเชือก เอากรรไกรตัดซะเลย เจ้าของเดิมมา ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ บอกว่า “ไม่เห็นเชือกเลยนี่คะ” อย่างนี้ก็มีวิวาทะเล็กๆเรียกน้ำย่อย เรื่องนี้วัดไม่เกี่ยวไปว่ากันเอง
              - เลือกพื้นที่ เมื่อขบวนออกจากถนนปั้น จะเลี้ยวขวา ไปยังถนนเดโช เพราะฉะนั้น ซุ้มบริเวณเกาะกลางถนนและร้านค้า คือจุดแรกที่ขบวนผ่านในลำดับแรก ลำดับสองคือ สองฟากฝั่งในถนนปั้น ลำดับสามคือ สาทรเหนือ ลำดับสี่คือถนนสุรศักดิ์ บริเวณหน้าโรงแรมฮอลิเดย์อิน จนกลับวัด คือลำดับสุดท้าย
       - พื้นที่สุดเจ๋ง คนนิยม ไม่ต้องพะวงเรื่องรถราจะวิ่งมาเสย คือ ถนนปั้น เพราะปิดการจราจรตั้งแต่หัววัน
              - หน้าบ้านและร้านค้าที่ขบวนจะผ่านห้ามจับจอง
              - การจัดซุ้มเป็นงานเหนื่อย ต้องมีคนช่วยทำงานกันจริงๆ จะต้องวางแผน กำหนดหน้าที่แต่ละคนให้ดีที่สุด !!
              - รถบรรทุกเทวรูป, แท่นตั้งบูชา (โต๊ะ), ดอกไม้, เครื่องบวงสรวง รวมถึงผู้ช่วย ทุกอย่างต้องพร้อมสรรพกำลัง นัดหมายต้องตรงเวลา การจัดและตกแต่งควรแล้วเสร็จเมื่อเวลา 17.00 น. โดยประมาณก่อนที่ขบวนจะเคลื่อนออกจากวัด
             - เครื่องบวงสรวง นอกเหนือจากถาดผลไม้มงคลแล้ว สิ่งที่จะขาดไม่ได้เลย คือ มะพร้าวห้าว (จำนวนมาก) บวกจำนวนไม่จำกัด วัดกันที่จำนวนเงินและกำลังคนที่จะช่วยทุ่ม ต่ำสุดน่าจะประมาณ 100 ลูกขึ้นไป / ซุ้ม ขาดไม่ได้อีกเช่นกัน การบูร – ธูปหอม - กำยาน ซื้อไว้เลยอย่าไปอั้น จุดธูป ถวายกำยาน และโหมไฟบูชาตลอดจนกระทั่งเก็บโต๊ะ
      - ผลไม้สักการะ อาจจะใช้ 1 – 2 ถาดก็ได้ ที่หิ้งบูชาประจำซุ้มหนึ่ง อีกถาดสำหรับถือไปถวายบูชาเมื่อรถขบวนผ่าน (อนุโลมใช้ถาดเดียวกันได้) อย่าลืมมาลัยดอกดาวเรือง 1 พวง
      - ถาดที่ต้องเดินไปถวายบูชานั้น เพื่อความสะดวก ควรงดภาชนะที่ทำด้วยแก้ว หรือประเภทของเหลวที่
      อาจจะกระฉอกเลอะเทะ เช่นน้ำแดง นมสดขวดใหญ่ เป็นต้น ที่สำคัญต้องมีมะพร้าวห้าวผ่าซีก ใส่ใบพลู หมากแห้ง (เป็นแว่น) พร้อมการบูร ที่จุดติดไฟแล้ว ของเติมแต่งในมะพร้าวผ่าซีก อาจจะมีกำยาน,ดอกไม้ที่ฉีกแล้ว(เล็กน้อย) และบางคนก็นิยมซุกใบกะเพรา(ตากแห้ง) 2-3 ใบกับกานพลู 2-3 ก้านอยู่ในถาดผลไม้ด้วย
      - งบประมาณ มากกว่า หนึ่งหมื่นบาทแน่นอน สวยงาม อลังการงานสร้างมากเท่าไหร่ หมายถึงเม็ดเงินต้องดับเบิลเป็นทวีคูณ เตรียมเงินสดใส่กระเป๋าไว้เลย เพราะซื้อของประเภทนี้งดรับบัตรเครดิต
       - ถามว่า เจ้าของซุ้มกลัวอะไรที่สุด คำเดียวสั้นๆ “ฝน” !! เพราะจัดตั้งแท่นบูชาอยู่กลางแจ้ง ไม่มีที่กำบังหลบฝนโดยเฉพาะในช่วงปลายฝนอย่างเดือนตุลาคม เอาแน่เอานอนกับธรรมชาติไม่ได้ซะด้วย

      9. สัญลักษณ์ที่ควรรู้
     
       กล้วยน้ำว้า แทนความอุดมสมบูรณ์
       มะพร้าว ผลไม้กลางหาว แทนความเยือกเย็น และเป็นน้ำที่บริสุทธิ์ จึงนิยมตอกมะพร้าวเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์บนท้องถนนตลอดเส้นทางยาตราของเหล่าทวยเทพ
       อ้อย แทนความหวานชื่น ความเจริญเติบโต
       ผลมะนาว เป็นสื่อกลางของพระเจ้า ใช้กำจัดภูตผี วิญญาณสิ่งชั่วร้ายได้
       การบูร เผาผลาญให้เกิดความบริสุทธิ์
       ไม้สะเดา (แขก) เป็นไม้สัญลักษณ์ของพระศรีมหาอุมาเทวี ม้าทรงวันวิชัยทัสมิจะใช้ใบสะเดาแขก (ควินิน) เป็นเครื่องประดับ และประพรมเทวมนต์ให้กับสานุศิษย์
     
      10. อื่นๆ
            - ไม่ควรนำเด็กไปร่วมงานแห่ด้วยในทุกกรณี เพราะคนแน่นเอี๊ยดขนาดนี้ คุณต้องอุ้มเด็กตลอดเวลาจะสร้างภาระให้แก่คุณ และสร้างความลำบากให้แก่ลูก
      - ควรพกถุงพลาสติกติดตัวไว้ในกระเป๋ากางเกงสักใบ เผื่อฝนตกจะได้เก็บโทรศัพท์มือถือและเอกสารสำคัญต่างๆ
      - เนื่องจากคนแน่นมาก บางขณะต้องเบียดกับคนอยู่กับที่นานๆ อาจเป็นลมได้เพราะฉะนั้น ต้องมียาดมติดตัวไว้ หน้ามืด วิงเวียน งัดขึ้นมาสูดดมทันที
      - ถ้ามีคนเป็นลม กรุณาช่วยเหลือหรือแหวกทางให้ด้วย
      - ขณะที่นั่งจับจองพื้นที่เพื่อรอขบวนเทพมาประทานพร ประพรมน้ำมนต์ และโปรยฝุ่นศักดิ์สิทธิ์ อย่าบังหน้าโต๊ะของซุ้มต่างๆ เพราะเทพจะเข้าไปประทานพรไม่สะดวก และเป็นชนวนให้เกิดเรื่องวิวาทได้
      - ผู้มาใหม่ เจอะใครทายทัก พึงพิจารณาให้ถี่ถ้วน เพราะมีเจ้าตำหนักทั้งหลายมาหาศิษย์ใหม่ที่นี่ เก๊บ้าง จริงบ้าง มือใหม่ด้อยประสบการณ์อาจโดนต้มตุ๋นได้ง่าย เพราะฉะนั้น ... เข้าวัด จำไว้อย่างหนึ่งว่า “เมื่อเราก้มกราบท่าน ท่านก็ให้พรแล้ว”


      กลัศบูชา
       กลัศบูชา คือ การถวายบูชา “เทพประธาน” ด้วยมะพร้าว
              อุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้ 1. หม้อ (ภาชนะสำหรับใส่น้ำ), ใบมะม่วง 5 ใบ (คัดขนาดใบที่ใกล้เคียงกัน ใบไม่มีรอยขาดแหว่ง หรือกัดแทะจากแมลง), มะพร้าวห้าว 1 ลูก(เหลาเนื้อเนียน ยอดแหลม), ผงเจิมสีแดง (บางแห่งใช้เพียงเท่านี้)
              สูตร METRO LIFE ใช้เป็นภาพประกอบ มีของเพิ่มเติม อาทิ ใบพลู 1 ใบ, หมากลูกแห้งจากอินเดีย 1 ลูก(ซื้อได้จากตรอกแขก พาหุรัด ร้านขายหมากพลูไม่มี) เงิน 1 บาท และดอกไม้ประดับ
             หมายเหตุ - บางแห่งใช้ผ้า(ดิบ) แดงหุ้มมะพร้าว ผูกยอดด้วยกลุ่มด้ายศักดิ์สิทธิ์
       ภาชนะสำหรับกลัศบูชาเช่น หม้อดิน หรือ หม้อทองเหลืองหรือหม้อทองแดง หม้อแต่ละใบจะมี
      ลวดลาย บ่งบอกถึงเทพประธาน
      หมายเหตุ คนไทยไม่รู้เรียก “บายศรีแขก”
      ขั้นตอนทำกลัศบูชา
             1. เทน้ำบริสุทธิ์ใส่ในหม้อ
      2. นำหมากแห้ง พร้อมเหรียญบาท วางไว้บนใบพลูและหย่อนใส่หม้อ
      3. นำใบมะม่วงที่เตรียมไว้วางเรียงรายรอบหม้อ
      4. นำมะพร้าวห้าววางไว้เหนือหม้อ ขณะวางลูกมะพร้าวด้วยมือขวา ให้กล่าวว่า “ ข้าพเจ้าขอบูชาต่อกลัศ
      โดยขออัญเชิญพระวิษณุเทพอยู่บนปากแห่งภาชนะ อัญเชิญพระศิวะเทพประทับอยู่ที่คอของภาชนะ และอัญเชิญพระพรหมเป็นฐานของภาชนะ ขออัญเชิญพระแม่ศักติและพระโอรสประทับอยู่ใจกลางภาชนะใบนี้ ข้าพเจ้าขอน้อมบูชาเทพทุกพระองค์ที่ข้าพเจ้าได้กล่าวนี้
     
      จากนั้นสั่นระฆัง และรำลึกน้อมบูชาต่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ โดยกล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอบูชา โดยอัญเชิญพระแม่คงคา,พระแม่ยมุนา,พระแม่โคทวรี,พระแม่สรัสวดี,พระแม่นรมัท,พระแม่สินธุ และพระแม่กเวรีมาประทับอยู่ ณ น้ำบริสุทธิ์ในภาชนะนี้เพื่อให้เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์
      สุดท้าย กล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอน้อมบูชาเทพเจ้าผู้เป็นประธาน (เอ่ยพระนาม) เหนือกลัศนี้ ด้วยการกราบไหว้ ถวายผงเจิมและประดับด้วยดอกไม้เพื่อเป็นเทวบูชา”
      5. จัดเรียงใบมะม่วงให้สวยงาม
      6. ใช้ผงเจิมที่ลูกมะพร้าวด้วยนิ้วนาง
      7. ตกแต่งด้วยดอกไม้ มาลัยให้สวยงาม
      8. นำกลัศนั้นขึ้นทูนบนศีรษะ และตั้งกลัศนี้ไว้ในที่อันควร เป็นเวลา 1 วัน
      9. ถือว่า น้ำในหม้อกลัศนี้คือ น้ำศักดิ์สิทธิ์ ใช้อาบเพื่อเป็นสิริมงคล เหรียญบาทเก็บไว้เป็นขวัญถุง หรือสะสมไว้เพื่อทำบุญ
      10. มะพร้าวเก็บไว้จนแห้ง แล้วจำเริญในน้ำในโอกาสต่อไป
      หมายเหตุ - หากมีผ้า(ดิบ) แดงหุ้มมะพร้าวอยู่
      ต้องแก้ด้ายมงคล แล้วนำผ้า – ด้าย และมะพร้าวจำเริญน้ำไป
       - ช่วงนำไปจำเริญน้ำ เหลียวซ้ายและขวาให้ดี ว่าไม่มีเทศกิจอยู่ ไม่งั้นอาจจะต้องโดนเสียค่าปรับ
      - หม้อรูปพระคเณศ และขนานข้างด้วย อักษร “โอม” และรูปตรีศูล
      - หม้อพระลักษมี 8 ปาง มีรูป ธนลักษมี,ไอศวรรยลักษมี,วิชัยลักษมี,สันทนลักษมี,คชลักษมี,วีรลักษมี, ธัญญลักษมีและอธิลักษมี
      - หม้อนารายณ์ 10 ปาง มีรูป มัตสยาวตาร,กูรมาวตาร,วราหาวตาร, นรสิงหาวตาร,วานาวตาร,ปรศุรามวตาร, รามาวตาร,กฤษณาวตาร,พุทธาวตาร,กาลกิยาวตาร
      - หม้อเทพนพเคราะห์
      - ส่วนพระอุมา นิยมตั้งเป็นหม้อดิน !! หรือถ้าใครไม่มีหม้อทองเหลือง,ทองแดง อนุโลมใช้เป็นหม้อดินได้หมด แล้วกำหนดเทพประธานเอา
      หมายเหตุ หม้อกลัศ มีขนาดให้เลือกทั้งเล็ก,กลาง,ใหญ่ ราคาแตกต่างกันไป หม้อทองเหลือง ราคาแพงกว่าหม้อชนิดอื่น

      เทวพัสตราภรณ์
     
       ชาวฮินดูหรือชาวไทยที่มีเทวรูปเทพเจ้าฮินดูไว้บูชา นิยมตกแต่งเทวรูปให้มีความสวยงาม ด้วยการนุ่งห่มผ้า อีกทั้งเนื้อผ้าที่ใช้นั้นก็ต้องให้เหมาะสมกับฤดูกาลด้วย การนุ่งผ้าที่หลากหลายนั้น ผู้สันทัดกรณีท่านหนึ่งบอกผ่านเมโทรไลฟ์ว่า การนุ่งห่มอาภรณ์ให้แก่องค์เทพแบ่งออกเป็น4 ชนิดใหญ่ๆ คือ
      1.ปัตยรา - ลักษณะคล้ายๆ กางเกงอินเดีย สวมคู่กับเสื้อและมีผ้าคลุมไหล่
             2. ส่าหรี - นุ่งถวายองค์เทวี ต้องจีบหน้านางด้านหน้าให้ได้ขนาดตามที่ต้องการและสวยงาม
             3. แหล่งการ์ - กระโปรงที่เย็บสำเร็จแล้ว ใช้ผ้าชิ้นๆ จับให้เป็นรูปกระโปรงตามที่ต้องการ
             4. โชตี - นุ่งให้กับองค์เทพที่เป็นเพศชายเท่านั้น ลักษณะคล้ายนุ่งผ้าของพราหมณ์ นุ่งชนิดนี้ต้องมีผ้า “จุนนะลี” คือผ้าคล้องคอประกอบ ถึงจะสมบูรณ์
       หน้าร้อน ใช้เนื้อบางเบาหน่อยเช่นผ้าไหมแคชเมียร์ หรือชีฟองเนื้อบาง หน้าหนาวใช้ผ้าที่เนื้อหนาขึ้นมาหน่อยเช่นผ้าฝ้าย เป็นต้น
     
       ก่อนที่จะนุ่งห่มเทวพัสตราภรณ์ชำระล้างองค์เทวรูปเทพเจ้าด้วยน้ำมงคล 9 ชนิดคือ
     
      1. น้ำผสมผงเจิมสีแดงที่เรียกกันว่า “กุมกัม”
      2. น้ำผสมผงเจิมสีเหลืองที่ได้มาจากต้นจันดารา
      3. น้ำผสมการบูร
      4. น้ำผสมน้ำผึ้งป่าบริสุทธิ์
      5. น้ำผสมน้ำมันเนย
      6. น้ำผสมผงขี้ธูปและกำยาน
      7. น้ำมันจันทน์
      8. น้ำมะพร้าว
      9. น้ำนมวัวบริสุทธิ์ที่ผสมน้ำหอมจากธรรมชาติ
     
      เสร็จแล้วโรยงาดำ แทนสัญลักษณ์เพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้าย จากนั้นล้างด้วยน้ำเปล่าให้เรียบร้อย
      เช็ดเทวรูปให้แห้งสนิท แล้วจึงเริ่มแต่งเทวพัสตราภรณ์

      นวราตรี บูชาเจ้าแม่ปางไหน
       เทศกาลนวราตรี ตลอดทั้ง 9 วัน 9 คืนนั้น ในแต่ละวันจะบูชาปางอวตารต่างๆของพระแม่ศรีมหาอุมาเทวี ซึ่งแตกต่างกันไป ดังนี้
       วันแรก – เจ้าแม่มหากาลี
       วันที่สอง - เจ้าแม่ทุรคา สังหารมหิงสาสูร
       วันที่สาม – เจ้าแม่จามุนดา สังหารยักษ์สองพี่น้อง จันทรและมุนดา
       วันที่สี่ – เจ้าแม่กาลี สังหารและดูดเลือดอสูรมาธู
       วันที่ห้า – เจ้าแม่นันทา ลูกสาวของคนเลี้ยงสัตว์
       วันที่หก – รักธาฮันตี สังหารอสูรด้วยการใช้ฟันกัดจนตาย
       วันที่เจ็ด - เจ้าแม่สักกัมพารี
       วันที่แปด - เจ้าแม่ทุรคา สังหารยักษ์ทุรคา
       วันที่เก้า - เจ้าแม่ลัคภรมาธี สังหารยักษ์อรุณา
      อุแม่เจ้า !!
       UMA เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า OMA นางเมนกา แม่ของนางปารวตีอุทานขึ้นเพื่อลูกสาวบอกว่า จะไปบำเพ็ญตบะเพื่อให้พระศิวะรับเป็นชายา ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา เรียก “อุมาไหมวตี” ชาวบ้านทั่วๆไปรู้จักกันในนาม “เจ้าแม่ศรีอุมาเทวี” นอกจากนี้คำนี้ ยังเป็นรากศัพท์ของคำอุทานในภาษาไทยว่า “อุแม่เจ้า”
      ขบวนแห่เริ่มเคลื่อนออกจากหน้าโบสถ์ เวลา 19.00 น.
      ขบวนที่ 1 คือ ขบวนของคนทรงองค์เจ้าแม่ศรีมหาอุมาเทวี (Sri Maha Uma Devi)
      ขบวนที่ 2 คือ ขบวนราชรถของพระกัตตรายัน (Lord Kathavarayan)
      ขบวนที่ 3 คือ ขบวนคนทรงพระขันธกุมาร (โอรสของเจ้าแม่อุมาเทวี)
      ขบวนที่ 4 คือ ขบวนราชรถของพระขันธกุมาร (Lord Subrammanya)
      ขบวนที่ 5 คือ ขบวนบุษบกขององค์เจ้าแม่ศรีมหาอุมาเทวี ,พระพิฆเนศวร และพระกฤษณะ (Sri Maha Uma Devi, Lord Ganesh, Lord Krishna)
             **************
             คธา เพิ่มทรัพย์
      ภารตดนตรี
      คธา เพิ่มทรัพย์เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนจิตรลดา ก่อนที่จะได้รับทุนไปศึกษาต่อระดับ High School ที่สหรัฐอเมริกา เขาสนใจศิลปะการดนตรีตั้งแต่ตอนที่สมัยวัยเด็ก และได้มีโอกาสศึกษาดนตรีเพิ่มเติมเมื่ออยู่ที่สหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ยังสนใจการปฏิบัติธรรม ฝึกสมาธิ และการฝึกโยคะ รับประทานมังสวิรัติมากว่า 15 ปี
     
      คธา เพิ่มทรัพย์ มีความสามรถเล่นดนตรีคลาสสิกของอินเดียประเภท “กลองทรับบล้า (TABLA)” ได้อย่างเชี่ยวชาญ การเล่นกลองดังกล่าวเป็นศิลปะชั้นสูงของอินเดียที่ต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ผสมผสานกัน กลองทรับบล้าเป็นเครื่องดนตรีที่ต้องใช้พลังนิ้วในการเล่น ดังนั้น ผู้เล่นจึงจำเป็นต้องมีสมาธิมาก เขาบอกว่า กลองทรับบล้านี้จะนำมาแสดงเฉพาะในงานพิธีมงคลใหญ่ๆ หรือการบวงสรวงเทพเจ้าชั้นสูงเท่านั้น....
       คธาได้ศึกษากลองทรับบล้าขั้นพื้นฐานจากคุรุที่มีชื่อเสียงของอินเดีย คือ ดร. ชาลีนิวาส ราโอ เป็นเวลา 2 ปี และเรียนต่อระดับสูงสุดกับศิลปินแห่งชาติชาวอินเดีย “บัณฑิต สุเรช ทาลวอร์คก้าร์” ที่เมืองตักศิลา (PUNE) ซึ่งต้องใช้เวลาเรียนทั้งหมด 5 ปี ปัจจุบัน คธาต้องเรียนอีก 3 ปีถึงจะสำเร็จขั้นสูงสุด ดังนั้น เขาจึงเป็นคนไทยคนแรกและเป็นชาวต่างชาติคนเดียวที่ได้ศึกษากลองทรับบล้าชั้นสูง
      ดนตรีอินเดียมีไว้สำหรับเล่นเพลงสรรเสริญเทพเจ้า อาทิ พระคเณศ พระกฤษณะ พระศิวะโดยปรัชญาแล้ว ดนตรีจะทำหน้าที่เป็นตัวนำหรือตัวเชื่อมที่พามนุษย์ไปเป็นส่วนหนึ่งกับเทพเจ้าฮินดู โดยผ่านการสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าด้วยการ “ร้อง เล่น และเต้น” ถึงจะครบสูตร
      “ดนตรีอินเดียไม่ใช่แค่เล่นได้และเล่นเป็นเท่านั้นนะครับ การเรียนดนตรีที่นั่นต้องเป็นไปทีละขั้น จะไม่มีการก้าวข้ามขั้นเด็ดขาด พอได้เทคนิคทุกอย่างแล้ว คุรุทุกๆ ท่านจะสอนว่า ให้ทิ้งเทคนิคเหล่านั้นให้หมด เพื่อที่จะได้ก้าวข้ามไปสู่ความรู้และความสามารถทางจิตวิญญาณ เรียกง่ายๆ ว่าทำทุกอย่าง ฝึกทุกอย่างก็เพื่อที่จะบรรลุจุดสูงสุดทางจิตวิญญาณครับ” คธา เพิ่มทรัพย์กล่าวกับ METRO LIFE
      “ ความงดงามของดนตรีอินเดีย ไม่ใช่แค่การลืมเทคนิคเท่านั้น หากแต่ต้องลืมความเชื่อและศรัทธาด้วย ลึกซึ้งมากนะครับ” ศิลปินหนุ่มกล่าวต่อไป
      ดนตรีเหนือ - ใต้ต่างกัน
      “ดนตรีทางตอนเหนือจะเน้นที่อารมณ์ของการเล่นเป็นสำคัญไม่ค่อยมีแบบแผนตายตัว จังหวะสามารถยืดได้ หดได้ตามใจของผู้เล่นที่เห็นว่าเหมาะสม แต่ถ้าเป็นดนตรีจากทางใต้จะมีแบบแผนและจารีตตายตัว เน้นการเล่นแบบลงจังหวะที่ถูกต้องตามแบบที่ถูกถ่ายทอดมา ว่าง่ายๆ คือดนตรีทางใต้มีจังหวะที่เเน่นกว่า เป็นอย่างไรแต่เดิมมาก็จะเป็นอย่างนั้น” หนุ่มผู้หลงใหลในดนตรีจากชมพูทวีปยืนยัน
      “อินเดียตอนใต้จะเด่นในเรื่องกลอง ซึ่งเรียกกันเป็นภาษาพื้นถิ่นว่า “โคลน” เป็นกลองสองหน้า นอกจากนั้นก็จะมี “มาจิงกรัม” เป็นกลองสองหน้าอีกประเภทหนึ่งชนิดที่ให้เสียงดังกังวานมากๆ ซึ่ง “มาจิงกรัม” นี้ในคัมภีร์พระเวทระบุว่า พระคเณศทรงเล่นเป็นประจำ... ส่วนอินเดียตอนเหนือจะ โชว์ความสามารถในการดีไซน์รูปแบบการเล่นที่โดดเด่นด้วยตัวเอง โดยอิงแบบแผนเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เสน่ห์อยู่ที่ไม่ซ้ำซากจำเจ” คธา เพิ่มทรัพย์อธิบาย
     
      “ผม” – อินเดียตอนกลาง
      “สำนักที่ผมไปเรียนนี้จริงๆ อยู่ทางอินเดียตอนกลาง แต่คุรุจิ อาจารย์ของผม ท่านเป็นคนที่สามารถรวบรวมเอาเอกลักษณ์ทั้งทางเหนือและใต้มารวมกันได้ รูปแบบการเล่นดนตรีของผมจึงถ่ายแบบจากท่านมาคือจะเป็นเหนือก็ไม่ใช่ จะว่ามาจากอินเดียใต้ก็ไม่เชิง อยู่ตรงกลางๆครับ ”
       “ผมใช้วิธีเรียนแบบที่เรียกกันว่า คุรุศิชาปรัมปรา คือเอาตัวเองเข้าไปรับใช้คุรุในอาศรม ไม่ได้เรียนในห้องอย่างสมัยปัจจุบันนี้ คุรุศิชาปรัมปราเป็นรูปแบบของการศึกษาที่เก่าแก่มากๆ ครับ ปรากฏมาตั้งแต่สมัยพระเวทแล้ว ว่าง่ายๆ คือ ผมใช้ชีวิตอยู่กับครูทั้งวัน เพื่อจะได้ซึมซาบดนตรีอินเดียเข้าไปข้างในถึงตัวจิตวิญญาณ”
              วีณา ผกาวัต ต้นแบบดนตรีอินเดีย
      ดนตรีอินเดียเสียงวีณาที่หนักแน่นแต่ทว่าแอบซ่อนความอ่อนหวานอยู่ในที คธา เพิ่มทรัพย์พูดถึงเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า
      “วีณาเป็นเครื่องดนตรีอินเดียที่เก่าแก่มาก อายุก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 2,000 ปีเป็นอย่างน้อย การเล่นจะใช้กลองที่เรียกว่า ผกาวัต เป็นเครื่องประกอบจังหวะ มันจึงมีข้อสันนิษฐานว่า เครื่องดนตรีอินเดียทั้งสองชิ้นนี้น่าจะเป็นต้นแบบให้กับเครื่องดนตรีในสมัยต่อๆมา ทั้งพัฒนามาเป็น ทรับบล้า และ ซิต้าร์ เมื่อ 400– 500 ปีผ่านมา ”
       
      มาห่ม “ส่าหรี” กันมั้ย
      อินเดียสไตล์ทั้งที ไม่พูดถึงส่าหรีคงจะไม่ครบสูตร การนุ่งและห่มส่าหรีก็เป็นภูมิปัญญาอินเดียที่ชาญฉลาดมาก เพราะสามารถนำผ้ามาขึ้นคลุมศีรษะกันแดดเปรี้ยงร้อนระอุได้ ใช้ผ้าหนาหน่อยป้องกันความหนาวเย็นของอากาศได้ แล้วสาหรีก็เป็นเอกลักษณ์ที่แสดงถึงชนชาตินี้ได้ชัดเจนที่สุด
              ผ้าส่าหรีแต่ละผืนจะมีความยาว โดยประมาณ 5 หลา ส่วนที่เป็นปลายผ้าด้านหนึ่งจะต่อด้วยผ้าพื้นสีกลมกลืนกันกับท้องผ้ามาอีกประมาณครึ่งหลา ผ้าพื้นนี้มีไว้สำหรับนำไปตัดเป็นเสื้อตัวในที่เรียกว่า “เสื้อเบลาท์” ในลักษณะเสื้อเอวลอยรัดรูป
      การนุ่งส่าหรีนั้นเริ่มจาก....
             1. นำชายผ้าด้านหนึ่งมาห่อลำตัวให้ผ้าด้านซ้ายสั้นกว่าด้านขวามือ คล้ายๆ กับการใส่ผ้าซิ่น จากนั้นก็ขมวดให้แน่นๆที่สุด ไว้ที่เอว ขั้นตอนนี้สำคัญที่สุดเพราะการนุ่งจะหลุดหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับขั้นตอนนี้ค่ะ...
      2. จับจีบชายผ้าด้านขวามือ ชายผ้าด้านที่เหลือเป็นจีบหน้านางขนาดกว้างประมาณไม่เกิน 3 นิ้วฝ่ามือเรา หน้านางที่ว่านี้ต้องจีบทบประมาณ 3-5 ทบจะเป็นขนาดที่กำลังดีและสวยเวลาที่ก้าวเดิน...
      3. ยัดจีบหน้านางเข้าไปในชายพกซึ่งขมวดไว้ที่เอว...
      4. นำชายผ้าด้านที่เหลือพันรอบตัวก่อน 1 รอบ แล้วจึงพาดขึ้นบนไหล่ซ้าย...
      5. ง่ายๆ ไม่ยากเลย แต่สวยสง่าแบบสาวภารตะ
      6. ส่วนเครื่องประดับ ไม่ว่าจะเป็นต่างหู ,สร้อยคอ,กำไล และบันดิ (ติดหน้าผาก)
            คู่หูแฟนพันธุ์แท้ “ตำนานเทพเจ้า”





       กลายเป็นคู่มิตร หลังตกรอบ “แฟนพันธุ์แท้” ป้อม - เขมกร สิงหกันต์กับ โจ – ดนัย นาควัชระ ที่มักจะไปไหนต่อไหนด้วยกัน เหมือนๆกัน แม้จังหวะการเริ่มต้นของแต่ละคนจะแตกต่างกัน แต่เหมือนกันตรงที่ชื่นชอบและศรัทธาใน “เทพเจ้า”
     
       ป้อม เขมกร สิงหกัน


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: ลำดวนเอ๋ยพี่จะด่วนไปก่อนแล้ว ที่ 21 ต.ค. 06, 23:37
 เรื่องการเสียงาของพระคเณศนี่เป็นเรื่องที่พูดกันเสมอๆ ว่าตกลงงาข้างไหน ซ้ายหรือว่าขวา ผมเองก็ไม่ได้อยู่ในเหตุการตอนที่พระคเณศเสียงา แต่ก็คงวิเคราะห์ได้ว่า ในการต่อสู้แบบประจันหน้าถ้าปศุรามถือขวานด้วยมือขวาแล้วใช้ขวานจามใส่พระคเณศ  พระคเณศก็ย่อมที่จะเอางาข้างซ้ายรับขวาน เพราะถ้าเอางาขวารับโอกาสที่พระคเณศจะเสียทั้งงวงและงาคงเป็นไปได้สูง
และในทางกลับกัน ถ้าปศุรามถือขวานด้วยมือซ้ายแล้วหมายใจจะพิฆาตพระคเณศด้วยขวาน โดยการจามขวานไปด้านหน้า พระคเณศก็ย่อมที่ต้องงาด้านขวารับขวานไว้
อันนี้ผมวิเคราะห์ตามประสาของผมเอง ไม่ได้อิงตำหรับตำราอะไร แค่คิดตามหลักความน่าจะเป็น


กระทู้: เทพเจ้าของฮินดู
เริ่มกระทู้โดย: thawankesmala ที่ 22 ต.ค. 06, 01:05
 เป็นเทพลำบากนะ มีกี่มือก็ต้องถือนั่นถือนี่เป็นคนอย่างเราดีกว่ามีสองมือไม่ต้องถืออะไร