เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ค. 08, 04:56



กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ค. 08, 04:56
"นักกลอน" เป็นคำเรียกหนุ่มสาวนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ที่มีใจรักและมีฝีมือในการแต่งบทร้อยกรอง  ถอยหลังกลับไปในอดีตทศวรรษ 2500 มาจนถึง 2516
มหาวิทยาลัยที่มีนักกลอนชุมนุมกันมากที่สุดคือ ธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ถ้าเป็นสมัยนี้  "นักกลอน" ก็คือคำที่เราเรียกกันทั่วไปสำหรับคนเขียนกลอนว่า "กวี"
แต่ในสมัยโน้น  กวีหมายถึงสุนทรภู่  ศรีปราชญ์ นายนรินทร์ธิเบศร์   หรืออย่างใหม่ที่สุดคือนายชิต บุรทัต
หนุ่มสาวที่เดินถือตำราเข้าประตูมหาวิทยาลัย  ยังไม่อหังการ์ถึงกับเรียกตัวเองว่า  "กวี"
ทั้งๆฝีมือหลายคนในที่นั้น  ถ้าอยู่ในสมัยนี้  ก็เรียกอย่างอื่นไม่ได้นอกจาก"กวี"

ขอเริ่มด้วยธรรมศาสตร์  ซึ่งเป็น"นักกลอน"ที่รู้จักเลื่องลือ ในนาม "สี่มือทอง"
คือ  เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์  ทวีสุข ทองถาวร  นิภา บางยี่ขัน และดวงใจ รวิปรีชา


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ค. 08, 05:11
เชิญอ่านเว็บนี้ค่ะ
http://wannasilp.bravehost.com/link1/history.htm

ในวันนี้ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ที่มีสมญาว่า "กวีรัตนโกสินทร์" เป็นกวีซีไรต์  เป็นศิลปินแห่งชาติ
แต่ย้อนหลังไปสี่สิบกว่าปี   เขาเป็น "นักกลอนมือทอง" ของธรรมศาสตร์  ที่ขึ้นชื่อลื่อเลื่องในแวดวงคนรักวรรณศิลป์
ในยุคนั้น  วรรณกรรมเพื่อชีวิตยังไม่เกิด    กลอนเป็นที่นิยมกันยิ่งกว่าคำประพันธ์แบบอื่น    หัวข้อที่นิยมที่สุดคือการแสดงอารมณ์ส่วนตัว 
เน้นความอ่อนไหว  พริ้งพรายในลีลาภาษา และสะท้อนอารมณ์รักของวัยหนุ่มสาว

อย่างบทกลอนที่ชื่อ "บนลานอโศก"   ภาษาสวยงามเหมือนแก้วเจียระไน

หยาดน้ำแก้วเกาะกลิ้งกิ่งอโศก
โลกทั้งโลกลอยระหว่างความว่างเปล่า
มีความรื่นร่มเย็นแผ่เป็นเงา
ลมแผ่วเบาบอกลำนำคำกวี

เราพบกันฝันไกลในความรัก
เริ่มรู้จักซึ้งใจในทุกที่
มีแต่เรามิมีใครในที่นี้
ใบไม้สีสดสวยโบกอวยชัย

อยากให้รู้ว่ารักสักเท่าฟ้า
หมดภาษาจะพิสูจน์พูดรักได้
เต็มอยู่ในความว่างกว้างและไกล
คือหัวใจสองดวงห่วงหากัน


หลับตาเถิดที่รักเพื่อพักผ่อน
ฟังเพลงกลอนพี่กล่อมถนอมขวัญ
ใจระงับรับใจในจำนรรจ์
ต่างแพรพันผูกใจห่มให้นอน

โอ้ดอกเอ๋ยดอกโศกตกจากต้น
เปียกน้ำฝนปนทรายปลายเกษร
โศกสำนึกหนาวกมลคนสัญจร
นกขมิ้นเหลืองอ่อนจะร่อนลง

เมตตาแล้วแก้วตาอย่าทิ้งทอด
ช่วยให้รอดอย่าปล่อยบินลอยหลง
จะหุบปีกหุบปากฝากใจปลง
จะเกาะกรงแก้วกมลไปจนตาย

งามเอยงามนัก
แฉล้มพักตร์ผ่องเหมือนเมื่อเดือนฉาย
งามตาค้อนคมเยื้องชำเลืองชาย
ลักยิ้มอายแอบยิ้มงามนิ่มนวล

จะห่างไกลไปนิดก็คิดถึง
ครั้นดื้อดึงโดยใจก็ไห้หวน
ถนอมงามห้ามใจควรไม่ควร
ให้ปั่นป่วนไปทุกยามนะความรัก

ผีเสื้อทิพย์พริบพร้อยลอยแตะแต้ม
เผยอแย้มยิ้มละไมใจประจักษ์
ทุกกิ่งก้านมิ่งไม้เหมือนทายทัก
ร้อยสลักใจเราให้เฝ้ารอ

ฝันถึงดอกบัวแดงแฝงผึ้งภู่
คล้ายพี่อยู่เป็นเพื่อนในเรือนหอ
ชื่นเสน่ห์เกษรอ่อนละออ
โอ้ละหนอหนาวนักเอารักอิง

ในห้วงความคิดถึงซึ่งเงียบเหงา
ใจสองเราเลื่อนลอยอย่างอ้อยอิ่ง
คอยคืนวันฝันเห็นจะเป็นจริง
โลกหยุดนิ่งแนบสนิทในนิทรา

ร่มอโศกสดใสในความฝัน
ร่มนิรันดร์ลานสวาทปรารถนา
ร่มลำธารสีเทาเจ้าพระยา
และร่มอาณาจักร.....ความรักเรา

ที่พิมพ์ตัวเอียงไว้ คือบทที่จำกันได้มากที่สุด  มักจะนำไปอ้างอิงกันแพร่หลาย


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ค. 08, 06:52
อีกบทหนึ่ง  ชื่อ "ใบศรี"

เหมือนเมื่อไข่มุกหล่นบนจานหยก
วณิพกพ่ายสิ้นเพียงยินเสียง
มธุรสโอษฐ์ฉะอ้อนประอรเอียง
ดาลเผดียงดาเรศเนตรอนงค์

รอยลักยิ้มริมแก้มเมื่อแย้มยิ้ม
พิศยิ่งพิมพ์ใจพึงตะลึงหลง
ช้อนชะม้ายชายมาพาพะวง
อยากผจงจุมพิตสนิทนวล

เกล้ากระหวัดรัดเกี้ยวเกลียวเกศแก้ว
รอยไรแนวเนียนระดับรับถี่ถ้วน
เจ้าปักปิ่นปัทมาค่าเคียงควร
ชดช้อนชวนเชยหวังระวังแวง

เทียบทุกคำที่เขียนคือเทียนไข
ผู้เผาไหม้ตัวเองเพื่อเปล่งแสง
ยิ่งค่าความงามเทิดเจิดแจรง
ยิ่งเสียดแทงหัทยางค์ให้ร้างเลย

อย่าให้เหมือนใบศรีที่เบิกขวัญ
พอเสร็จพลันเป็นใบตองนะน้องเอ๋ย
ถนอมหน่อยอย่าลอยร้างไปอย่างเคย
เก็บไว้เชยเมื่อช้ำเช็ดน้ำตา


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: agree ที่ 17 พ.ค. 08, 09:28
เห็นชื่อกระทู้แล้วสนใจครับเลยรีบแจ้นเข้ามาอ่าน  อ.เนาวรัตน์ แต่งสุดยอดมากเลยครับต้องยอมรับในฝีมือจริง ๆ  :)


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ค. 08, 12:16
ยกมาอีกบท ฝากคุณ agree   ฝีมือคุณเนาวรัตน์ เช่นกัน

นกขมิ้น

เขาคลอขลุ่ยครวญเสียงเพียงแผ่วผิว
ชะลอนิ้วพลิ้วผ่านจากมานหมอง
โอดสะอื้นอ้อยอิ่งทิ้งทำนอง
เป็นคำพร้องพริ้งพรายระบายใจ

โอ้ดอกเอ๋ยเจ้าดอกขจร
นกขมิ้นเหลืองอ่อน จะนอนไหน
ค่ำลงแล้วแนวพนาและฟ้าไกล
เจ้านอนได้ทุกเถื่อนท่าไม่อาทร

แล้วหวนเสียงเรียงนิ้วขึ้นหวิวหวีด
เร่งอดีตดาลฝันบรรโลมหลอน
ถี่กระชั้นสั่นกระชากใจจากจร
ระเรื่อยร่อนเร่มาเป็นอาจิณ

โอ้ใจเอ๋ยอ้างว้างวังเวงนัก
ไร้แหล่งพักหลักพันจะผันผิน
เพิ่มแต่พิษผิดหวังยังย้ำยิน
ระด่าวดิ้นโดยอนาถแทบขาดใจ

ข้าเคยฝันถึงฟ้ากว้างกว่ากว้าง
ฝันถึงปางทับเปลี่ยวเรี่ยวน้ำไหล
ถึงช่อเอื้องเหลืองระย้าคาคบไม้
ในแนวไพรนึกเหมือนเป็นเพื่อนเนา

รู้รสแรงแห่งทุกข์และสุขสิ้น
บนแผ่นดินแผ่นเดียวเปลี่ยวและเหงา
จิบน้ำใจจนทั่วเจียนมัวเมา
ไร้ร่มเงารังเรือนและเพื่อนตาย

เขาเคลียนิ้วเนิบนุ่มเสียงทุ้มพร่า
เหมือนหวนหาโหยไห้น่าใจหาย
เจ้าขมิ้นเหลืองอ่อนนอนเดียวดาย
จะเหนื่อยหน่ายหนาวน้ำค้างที่กลางดง

เสียงฉับฉิ่งหริ่งรับขยับเร่ง
จะพรากเพลงเพื่อนยินสิ้นเสียงส่ง
เขาเบือนนิ้วผิวแผ่วแล้วราลง
เสียงนั้นคงเน้นครางอย่างห่วงใย

เจ้าดอกเอยดอกขจรอาวรณ์ถวิล
นกขมิ้นเหลืองอ่อนจะนอนไหน
เขาวางขลุ่ยข่มน้ำตาว้าเหว่ใจ
ตอบไม่ได้ดอกหนาข้าคนจร


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 17 พ.ค. 08, 12:59
        ได้อ่านจากคอลัมน์คุณณรงค์ จันทร์เรือง ในมติชนสุดสัปดาห์ และ จากบทความเรื่องราวเกี่ยวกับอ.จำนง

          เล่าถึงกิจกรรมการกลอนในอดีตที่คึกคักกว่ายุคนี้มากมาย
          นามนักกลอนในอดีตที่จุฬาฯ เช่น คุณโกวิทย์ สีตลายัน ต่อมาเช่น คุณ จินตนา ปิ่นเฉลียว,ภิญโญ ศรีจำลอง,
ประยอม ซอมทอง
          ส่วนทางธรรมศาสตร์มี ๔ มือทอง คือ คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, ทวีสุข ทองถาวร เป็นต้น
          
          ไทยทีวีช่องสี่ โดยอ.จำนง ท่านก็จัดให้มีที่ทางสำหรับนักกลอนประชันกัน ทั้งระดับอาวุโส และต่อมาเป็น
หนุ่มสาวชาวมหาวิทยาลัยจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ในยุคนั้น

           นอกจากเป็นนักกลอนแล้ว คุณเนาวรัตน์ ในตอนนั้นยังเคยแสดงหนังทีวี ชุด พระอภัยมณี ให้ได้ชมด้วย
แน่นอนท่านรับบทเป็นพระอภัยมณี ครับ


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ค. 08, 13:01
"มือทอง" ที่ขอเอ่ยถึงต่อจากเนาวรัตน์ คือ ทวีสุข ทองถาวร  ฝีมือฉกาจฉกรรจ์ขนาดไหน อ่านได้จากบทนี้ เป็นบทแรกค่ะ

เหมือนนกขมิ้น

ความเป็นห่วงของใครก็ไม่รู้
มาซุกอยู่ใต้หมอนฉันนอนหนุน
พรางสื่อพจน์รสถ้อยร้อยละมุน
ซ้ำยังกรุ่นกลิ่นแก้มไว้แกมกัน

นี่รอยแก้มแต้มไว้..ของใครหนอ
แนบแก้มคลอเคลียครองข่มหมองขวัญ
ฉันว้าเหว่แรมหวังมาทั้งวัน
ขอฝากฝันพอแฝงสร้างแรงใจ

เดือนข้างแรมค้างรุ่งรอพรุ่งนี้
เหมือนใจที่ทุกข์ท้อรอวันใหม่
คืนพรุ่งนี้นี่จะนอนแนบหมอนใคร
เหลือบ้างไหมชายคาที่อาทร

"โอ้อกเอ๋ยหัวอกนกขมิ้น
เจ้าเสเพลพลัดถิ่นเที่ยวบินร่อน
นี่ดึกแล้วเตลิดหลงกลางดงดอน
จะเกาะคอนเคียงใครที่ไหนเอย"

นกขมิ้น น่าจะเป็นนกยอดฮิทในสมัยนั้น  เป็นสัญลักษณ์ของหัวใจพเนจร  ของชายหนุ่ม  ว้าเหว่  ร่อนเร่ หารังนอนไม่ได้
คงจะได้แรงบันดาลใจจากเพลงเก่าแก่ชื่อ "นกขมิ้น" ที่ขึ้นต้นว่า

ค่ำคืน  ฉันยืนอยู่เดียวดาย เหลียวมองรอบกาย มิวายจะหวาดกลัว
มองนภามืดมัว สลัวเย็นย่ำ ค่ำคืนเอ๋ย..


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ค. 08, 13:08
คุณจำนง รังสิกุลเป็นตำนานที่ยิ่งใหญ่ของวงการโทรทัศน์ยุคต้น    ดิฉันยังทันจำได้ถึงรายการดีๆ เสริมสร้างสติปัญญาหลายสิบหลายร้อยรายการที่ท่านคิดขึ้นมา สำหรับผู้ชม
ส่วนคุณเนาวรัตน์ จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าตอนหนุ่มๆหน้าตาดีไม่ใช่เล่น    ดูหล่อแบบเย็นๆ นิ่มนวล  สมเป็นศิลปิน  เป่าขลุ่ยก็เก่ง
มิน่า ถึงได้เล่นเป็นพระอภัยมณี

งานชิ้นนี้ของคุณทวีสุข  เป็นบทกลอนที่น่ารัก บรรยายตัวตนพระเอกในกลอนออกมาเป็นคาแรคเตอร์ที่ชัดเจนมาก   คารมคมคาย ลดเลี้ยว ชวนให้สาวหลงและใจอ่อนได้ไม่ยาก
ถ้าเขียนเป็นนิยาย  น่าจะเป็นพระเอกสาวๆกรี๊ดได้ทีเดียว

นี่ แ ห ล ะ ฉั น ล ะ

คนอย่างฉันถ้าใครทำให้โกรธ
ก็ใจโหดโกรธมากยากจะหาย
เช่นเดียวกันถ้าใครทำให้อาย
ใจฉันร้ายพอที่จะย้อนประจาน

อาจเห็นว่าอ่อนไหวและใจน้อย
สะกิดหน่อยแต่เลือดก็เดือดพล่าน
ใจกลับดำคำกลับกล้าวาจาพาล
และอาจรานให้อีกฝ่ายทลายลง

ตรงกันข้ามกับที่ใครทำให้รัก
ย่อมประจักษ์แก่ตาว่าฉันหลง
ทั้งจะห่วงท้วงทักพะวักพะวง
ยอมให้ทรงสิทธิ์สุขทุกสิ่งอัน

เธอก็รู้อยู่เต็มใจมิใช่หรือ
คนหัวดื้อคนนี้...นี่แหละฉัน
นี่แค่เรื่องเคืองคับลิ้นกับฟัน
เธอยกมันขึ้นมาเป็นอารมณ์

รู้ว่าโกรธยังกล้าท้าให้โกรธ
เลยลงโทษคนที่ท้าอย่างสาสม
ปล่อยให้สองตาฉ่ำน้ำตาตรม
รอยแค้นบ่มค้างอยู่ในใจฉันนี้

อยากแก้แค้นเธอนักที่รักเอ๋ย
อย่างที่เคยทำทุกคนจนผละหนี
แต่ฉันพบการแก้แค้นซึ่งแสนดี
คือการที่ฉันยอมให้อภัยเธอ....


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 17 พ.ค. 08, 16:38
ชอบกลอนของทั้งคุณทวีสุข ทองถาวร และคุณนิภา บางยี่ขันค่ะ อ่านบทนี่แหละคือฉันแล้วกรี๊ดลึกๆ เด็กสาวสมัยนั้นกรี๊ดไม่ได้ ไม่เป็นกุลสตรี


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 17 พ.ค. 08, 16:51
        บทกลอนเกี่ยวกับความรักซึ่งเป็นที่นิยมท่องจำและจดกันไว้ให้พบเห็นได้เสมอ ครับ

          คือน้ำผึ้งคือน้ำตาคือยาพิษ
คือหยาดน้ำอมฤตอันชื่นชุ่ม
คือเกสรดอกไม้คือไฟรุม
คือความกลุ้มคือความฝัน...นั่นแหละรัก

"ไฟรัก ไฟลา ไฟชัง" - รยงค์ เวนุรักษ์

             ตอนยังเล็กเคยอ่านเรื่องสั้นของเธอในชาวกรุง และได้อ่านพ็อคเกทบุ๊ครวมเรื่องสั้นของเธอ
ในชื่อว่า กระดังงากลีบไหน ซึ่งมีคำนิยมโดยคุณ 'รงค์ วงษ์สวรรค์  
         จำได้ว่าเป็นประสบการณ์ทางอักษรที่ประทับใจคล้ายๆ กับเมื่อได้อ่านงานเรื่องสั้นของ 'สุวรรณี สุคนธา'
เป็นครั้งแรก
         หลังจากนั้นเธอก็เงียบหายไป ไม่ได้เห็นผลงาน ไม่ได้ข่าวอีกเลย

         เมื่อนานนับสิบปีก่อน เคยฝากคนไปถามถึงเธอจากคุณ'รงค์ วงษ์สวรรค์ซึ่งมาที่ทำงาน ได้คำตอบว่า เธออยู่ที่อเมริกา  


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 17 พ.ค. 08, 16:54
        ย้อนกลับไปพบว่าพิมพ์นามสกุลอ.ประยอมผิด ชอบกลอนชิ้นนี้ของท่านครับ

      ธารทอง


ฟ้าที่นี่แผ้วผ่องก่องประภาส

ริ้วทองลาดแรรอบขอบคิ้วหาว

น้ำในธารสะท้อนแพรวดั่งแววดาว

กระพริบพราวเพียงภาพทาบเปลวทอง


แด่.....ผู้ที่เจ็บช้ำระกำรัก

ที่ทุกข์หนักพักตร์พริ้มมาปริ่มหมอง

ผู้สูญสิ้นดินฟ้าจะคว้าครอง

น้ำเนตรนองท่วมหทัยไร้ญาติมิตร


เพื่อ....พำนักพักนอนรอนความเศร้า

ที่รุมเร้าเรือนกายเป็นนายจิต

เพื่อวันใหม่ทางใหม่ในชีวิต

เลิกครุ่นคิดคร่ำโศกกับโลกลวง


เพื่อ....พักผ่อนนอนหลับในทับทิพย์

ชมดาววิบแวมวอมในอ้อมสรวง

รื่นรสรินกลิ่นผกาบุปผาพวง

ลิ้มผึ้งรวงหวานลิ้นด้วยยินดี


เพื่อ....อาบน้ำชำระกายในธารทอง

ฟังไผ่พร้องเสียงสังคีตขับดีดสี

ฟังลำนำนกร้อยถ้อยพาที

ระเรื่อยรี่จักจั่นกังวานไพร


เพราะ....ถิ่นนี้มีฟ้ากว้างกว่ากว้าง

มีความมืดที่เวิ้งว้างสว่างไสว

เป็นป่าเถื่อนแต่เป็นที่ไม่มีภัย

อยู่ห่างไกลแต่ก็ใกล้คุณธรรม


ประยอม ซองทอง


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 17 พ.ค. 08, 17:29
อ้างถึง
เหมือนเมื่อไข่มุกหล่นบนจานหยก

       วรรคนี้ทำให้นึกถึงคำบรรยายเสียงระนาดครูบุญยง ครับ
 
       ค้นดูพบว่า บทกลอนนี้ของคุณเนาวรัตน์อยู่ในหนังสือ คำหยาด ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2502 

         ในขณะที่ คุณสุเทพเมื่อครั้งเดินทางไปเชื่อมสัมพันธไมตรี กับสาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน เมื่อปี 2500
เล่าว่า ในการแสดงดนตรี ถึงตอนที่ครูบุญยงค์ เกตุคง บรรเลงตอนท่อนรับด้วยระนาดแล้ว ท่านประธานเหมา เจ๋อตุง และ
ท่านนายกรัฐมนตรี โจว เอิน หลาย ถึงกับเอ่ยปากว่า...เสียงระนาดที่ครูเล่นหยั่งกับไข่มุกหล่นบนจานหยกนั่นทีเดียว

         


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ค. 08, 19:29
คุณรยงค์ เวนุรักษ์เป็นนักเขียนหญิงรุ่นแรก(ละมั้ง) ที่เขียนเรื่องอีโรติค ถอดอารมณ์โหยหาลึกๆของหญิงสาวออกมา   ในสมัยที่ยังไม่มีผู้หญิงคนไหนกล้าเขียน
เรื่องของเธอ ใช้ภาษาได้หวานละเมียดละไม ซ่อนนัยเชิงเสน่หาเอาไว้แยบยล  อ่านให้คิดระหว่างบรรทัดได้ทุกฉาก
เป็นจินตนาการที่งดงามในอารมณ์เปล่าเปลี่ยวของหญิงสาว

ที่ดีคือ เรื่องอีโรติคของเธอไม่มีการบรรยายออกมาตรงๆจนคำเดียว   อย่าว่าแต่บอกลีลาทุกขั้นตอนราวกับเอาวิดีโอเข้าไปตามถ่าย  อย่างเรื่องอีโรติคปัจจุบันเลย  แม้แต่เฉียดก็ไม่มี   ไปเน้นที่อารมณ์และนัยยะ
มีวิธีเล่าที่ทำให้คนอ่านคิดต่อได้เอง  ลึกซึ้งกว่า
น่าเสียดายที่เธอเขียนไม่มากนัก   หายเงียบไปจากวงการนานหลายสิบปี  ไม่รู้ว่าเธอเป็นใครอยู่ที่ไหน    เดาว่าถ้าเธอยังอยู่ ก็คงอายุไม่ต่ำกว่า ๗๐ แล้วค่ะ

จากบทกลอนของคุณทวีสุข  ขอตามมาด้วยฝีมือของคุณนิภา บางยี่ขัน
นกเขาเอยเคยขันกระชั้นแจ้ว
เราโตแล้วหาตักอุ่นหนุนไม่ได้
ครั้นพบคนพอจะคุ้นอบอุ่นใจ
"เขา" ก็ไม่ไยดีเท่าที่ควร

                      นิภา  บางยี่ขัน
 
คนสุดท้ายของสี่มือทองธรรมศาสตร์คือคุณดวงใจ รวิปรีชา  เธอจากไปสู่สวรรค์ชั้นกวี  เมื่อพ.ศ. ๒๕๔๖ ค่ะ 
บทนี้เป็นบทที่รุ่นเพื่อนๆและรุ่นน้องๆจำกันได้มากที่สุด

ไม่อยากเป็นศรีใจคนหลายรัก
แม้ว่าจักเป็นเพชรเหนือเศษหิน
ไม่อยากเป็นดอกฟ้าเกินค่าดิน
ขอเป็นปิ่นฤทัยคนใจเดียว”


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ค. 08, 19:36
เว็บนี้ รวบรวมบทกลอนและวรรคทองของนักกลอนไว้หลายท่าน
http://www.geocities.com/pa_orn/kawee1.html
พบงานของคุณนิภา บางยี่ขันในนี้ด้วยค่ะ

ให้แก่ความรัก

มันไม่เคยได้อะไรในความรัก
รักสอนมันให้รู้จักแต่จะให้
ให้ความรักความหวงความห่วงใย
ให้อภัยเสียสละเสมอมา

รักของมันจึงมีสีมืดดำ
ด้วยกลืนกล้ำทุกข์เต็มอกวิตกผวา
เมื่อรักแปรแลลับลงกับตา
มันทายท้าความอ้างว้างอยู่อย่างคน......

และ
"วันที่ดอกไม้โรย"
นิภา บางยี่ขัน
24/01/2510

"ดอกโสนโรยร้าว
ดอกคัดเค้าโรยรา
ดอกประดู่ร่วงนักหนา
ไม่มัวันกลับมาแล้วเอย"

ทุกทุกสิ่งแล้วล้วนชวนถวิล
ดูด่วนสิ้นโรยราผกาเอ๋ย
ขอมองไว้อีกสักนิดไว้ชิดเชย
เมื่อยามเลยลาลับไม่กลับคืน

จะเก็บภาพประทับใจไว้ถวิล
ไว้แอบรินน้ำตาแอบสะอื้น
ไว้เยือกเย็นกับน้ำค้างที่พร่างชื้น
เก็บไว้ตื่นตาฝันนิรันดร

นับแต่นี้น้ำตาจะหาง่าย
ขาดคนหมายซับมันเหมือนวันก่อน
มือเย็นเยียบเมื่อสายัณห์ตะวันรอน
ใครจะซ้อนมือนุ่มเกาะกุมมัน

จะเดินเปลี่ยวเดียวดายในสายแดด
ชีวิตแวดด้วยความหลังและความฝัน
ฝันถึงวันที่ผกานานาพันธุ์
ปลิดดอกอันเหลืองอร่ามท่ามกลางเรา


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ค. 08, 19:59
ระรื่นรื่นชื่นชมด้วยลมพลิ้ว
ละลิ่วลิ่วริ้วคลื่นครืนผวา
ละลอกเรื่อยกระทบกระทั่งฝั่งสุธา
ละลานตาระวิวาบอาบนที

"ภาพพิมพ์ใจสองฝั่งเจ้าพระยา" - นิภา บางยี่ขัน
ขอให้สังเกตการเล่นคำ  ที่ทำให้เห็นภาพริ้วคลื่นเป็นระลอก ยามถูกลมพัดพลิ้วบนผิวน้ำ และประกายแดดบนผิวน้ำ
เราไม่ค่อยจะเล่นคำแบบนี้กันอีกแล้วในปัจจุบัน

ส่วนฝีมือของดวงใจ รวิปรีชา เห็นได้อีกจากนี้ค่ะ

กลอนบางบทใน " หยุดเวลาไว้ในฝัน"
โดย ดวงใจ รวิปรีชา

"เธอเหนื่อยอ่อนค่อนชีวีแล้วที่รัก
ควรหยุดพักเพื่อคลายล้าก่อนฟ้าค่ำ
ฟังนกร้องมองดอกไม่ดูสายน้ำ
งานตรากตรำเป็นตำนานแล้ววันนี้"

"นั่งนิ่งนิ่งตรงนี้เถิดที่รัก
เหนื่อยก็พักสักเพลาหลับตาฝัน
ถอดหัวโขนปล่อยวางไว้อย่างนั้น
เลิกผูกพันภาระใดในชีวา"


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ค. 08, 21:09
เพื่อน  ของ นิภา บางยี่ขัน

ทุกทุกแห่งที่เราเคยก้าวย่าง
ทุกทุกทางที่เราเศร้าและสุข
ทุกทุกหนเราซานซมล้มแล้วลุก
ทุกทุกครั้งที่เราปลุกปลอบแก่กัน

แม้ทั้งหมดจดจำไว้ล้ำลึก
นึกและนึกในใจยังไหวหวั่น
หวามวันที่จะมาถึงเข้าหนึ่งวัน
วันที่ผันเราพรากกันจากไกล

อีกบทหนึ่งที่คมมาก

http://www.thaipoem.com/forever/ipage/poem76789.html
กลอนวรรคนี้เขาว่ากันว่า(อีกแล้ว) เป็นวรรคหนึ่งที่เก๋มาก เป็นผลงานของ นิภา บางยี่ขัน
สมัยรุ่งเรืองที่ธรรมศาสตร์ เป็นการชุมนุมนักกลอนบนเรือ แล้วมีการประชันกลอนสดกัน
แบ่งฝ่ายเป็นผู้ชาย กับ ผู้หญิง อะไรทำนองนี้แหละ สำหรับกลอนบทนี้ หาได้เพียง
บทเดียว ว่าไว้อย่างนี้ครับ

ภาพคืนวันจันทร์พริ้มน้ำปริ่มเขื่อน
ลงลอยเลื่อนเรือรักนักภาษา
นั่งเท้าแขนบรรสานขานสักวา
ชนะกลอนแพ้ตาจึงปราชัย

เพลงปลาทองเพลงสุดท้ายชวนไห้หา
สักวา...ลาจาก...อยากร้องไห้
ร้องเพราะว่านาทีต่อนี้ไป
ในหัวใจมีเขาเป็นเจ้าครอง

จะด้วยเหตุนี้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ตอนหลัง นิภา บางยี่ขัน จึงเปลี่ยนนามสกุลเป็น ทองถาวร !
 แทนคุณแทนไท 06 ต.ค. 48 - 10:06 IP 61.19.227.2   


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ค. 08, 21:14
ขอบันทึกไว้เป็นเกียรติยศ แด่ นิภา บางยี่ขัน

คำประกาศเกียรติคุณ
นิภา  บางยี่ขัน
“บุษบาท่าพระจันทร์”(สมญานี้ "อิงอร" เป็นคนตั้งให้)
นักกลอนตัวอย่างสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ประจำปี ๒๕๕๐

    นิภา บางยี่ขัน เป็นนักกลอนนามอุโฆษในยุคตำนานนักกลอนสี่มือทองของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แก่เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ทวีสุข ทองถาวร (เสียชีวิต)ดวงใจ รวิปรีชา(เสียชีวิต)ปัจจุบันตำนานสี่มือทองเหลือเพียงสองตำนานที่ยังคงอยู่  โดยทั้งสองท่านเป็นเสาหลักในวงวรรณกรรม ส่งเสริมสนับสนุนให้นักกลอนรุ่นหลังได้เจริญรอยตามในแวดวงวรรณศิลป์ได้เป็นอย่างดี  นับเป็นแบบฉบับและตัวอย่างที่งดงามอย่างยิ่ง
           นิภา บางยี่ขัน (นามสกุลเดิม) เกิดเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๔๘๒ เรียนหนังสือระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดพระยาไอศวรรค์ แล้วมาต่อที่โรงเรียนสตรีประเทืองวิทย์  ศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเบญจมราชาลัย เรียนเตรียมอุดมศึกษาพิเศษที่โรงเรียนวัดพิชัยญาติ และโรงเรียนทวีธาภิเษก รุ่นเดียวกับเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์  พ. ศ.๒๕๐๒ จึงศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำเร็จการศึกษาแล้วประกอบอาชีพเป็นพนักงานธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาบางยี่ขัน กระทั่งปัจจุบันครบเกษียณหน้าที่การงานตามวาระในตำแหน่งเจ้าหน้าที่อำนวยบริการอาวุโส
       ชีวิตครอบครัวสมรสกับทวีสุข ทองถาวร นักกลอนอดีตหนึ่งในสี่มือทองของธรรมศาสตร์ มีบุตรหนึ่งคนชื่อเพลงพร ทองถาวร ปัจจุบันมีครอบครัวแล้วและย้ายไปประกอบอาชีพที่ประเทศอังกฤษ ต่อมาทวีสุข ทองถาวร ป่วยด้วยโรคเส้นโลหิตตีบในสมองรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๗ ก็เสียชีวิตเพราะเกิดอาการติดเชื้อและปอดอักเสบ ฌาปนกิจศพ ณ เมรุวัดน้อยนางหงส์ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๗
        ผลงานด้านวรรณกรรมของนิภา บางยี่ขัน
        ๑.หนังสือรวมกลอน สายขวัญ หางนกยูง ๑ – ๒  จำปี   คำหอม  ริ้วป่านสีทอง สักวาวิวิธ นิราศกรุงเก่า ฯลฯ
        ๒. “เพลงพร” รวมกาพย์กลอนกล่อมสมัย พ. ศ.๒๕๓๔
        ๓. ร่วมร้อยกรองหนังสืออาศิรวาท ครั้งสำคัญ เช่น หนังสือนวมราชสดุดีเนื่องในวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก  หนังสือบทกวีเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี กวีศรีประชา  ประชุมบทกวีนิพนธ์สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี เป็นต้น
        ๔. ควบคุมคอลัมน์กลอน “กังวานใจ” นิตยสารขวัญเรือน
        ๕. กรรมการตัดสินการประกวดอ่านทำนองเสนาะและประกวดแต่งคำประพันธ์ของกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ
         ๖. คณะกรรมการตัดสินการประกวดแข่งขันร้อยกรองในระดับประเทศ
เช่น กรรมการตัดสินหนังสือกวีนิพนธ์ดีเด่น รางวัลเซเว่น บุ๊ค อวอร์ด  กรรมการตัดสินประกวดร้อยกรองของกระทรวงศึกษาธิการ  กระทรวงวัฒนธรรม กรรมการตัดสินการประกวดกวีนิพนธ์โครงการร้อยกรองออนไลน์ ของสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย และกรรมการตัดสินการประกวดบทร้อยแก้วร้อยกรอง ขององค์กร หน่วยงาน ภาครัฐและภาคเอกชน เป็นจำนวนมาก ตลอดทั้งเป็นคณะกรรมการบรรณาธิการกิจหนังสือรวมบทร้อยกรอง กวีนิพนธ์ จัดพิมพ์โดยกระทรวง กรม กอง หน่วยงานต่างๆ
      ๗. วิทยากรสักวากลอนสด โดยร่วมสาธิตสักวากลอนสดกับกวีอาวุโสอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ  เช่น ประยอม ซองทอง  เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์  นภาลัย
ฤกษ์ชนะ อำพล สุวรรณธาดา  ม.ร.ว.อรฉัตร ซองทอง อเนก แจ่มขำ ประสพโชค เย็นแขประสิทธิ์ โรหิตเสถียร เป็นต้น
         นิภา บางยี่ขัน สนใจเขียนบทร้อยกรองตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาทั้งที่ตนเองชอบเล่นกีฬาเป็นชีวิตจิตใจ  เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งชมรมวรรณศิลป์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนักกลอนสดเชิงปฏิภาณกวีระดับแนวหน้าของเมืองไทยที่เข้าประกวดแข่งขันในระดับต่างๆ ทำให้กิจกรรมการแข่งขันประชันกลอนสดเผยแพร่ไปทั่วทุกภูมิภาค สร้างตำนานนักกลอนสี่มือทองมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์    ที่เล่าขานสืบต่อกันมาถึงปัจจุบัน กระทั่งได้รับฉายาว่า “บุษบา ท่าพระจันทร์” ผลงานเชิงประจักษ์ของนิภาทั้งด้านการเขียนร้อยกรอง การเป็นวิทยากร  กรรมการตัดสิน ผู้ควบคุมคอลัมน์ร้อยกรอง คณะทำงานวรรณกรรม ปรากฏอย่างต่อเนื่องมาประมาณสี่ทศวรรษ เป็นที่ยอมรับของวงการวรรณกรรมทุกระดับ 
    นิภา บางยี่ขัน เป็นผู้มีคุณูปการต่อสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ให้ความร่วมมือ ส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมของสมาคมมาโดยตลอด เป็นที่เคารพรักและ
ศรัทธาของผู้คนในวงการร้อยกรอง กวีนิพนธ์ ทั่วไป แบบเป็นแบบอย่างที่ดีที่นักกลอนได้ยึดถือเป็นแบบอย่างสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทยจึงเห็นสมควรที่ประกาศยกย่องให้นิภา บางยี่ขัน เป็นนักกลอนตัวอย่างประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๐


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ค. 08, 11:54
ชนะกลอนแพ้ตาจึงปราชัย
เรียกว่าวรรคทองได้เต็มปาก  วรรคเดียวเท่านั้น มีเนื้อเรื่อง( story) ตั้งแต่ต้นจนจบ บรรยายออกมาเป็นมิวสิควีดิโอได้เรื่องหนึ่งเต็มๆ
เหตุการณ์คือแข่งกลอนสักวาประชันกันระหว่างทีมหนุ่มสาว     ทีมหญิงสาวชนะ   แต่สายตาชายหนุ่มในทีมตรงข้าม มีอำนาจเหนือใจเธอเสียแล้ว
ชนะกลอน แต่แพ้สายตาอีกฝ่าย   ก็ไม่อาจเรียกว่าชัยชนะได้อยู่ดี  ต้องถือว่าแพ้ใจ

เรื่องนี้จบแฮปปี้เอนดิ้ง  สาวเจ้าผู้ชนะกลอนสักวา  แต่แพ้สายตาชายหนุ่ม ในที่สุดก็เปลี่ยนมาใช้นามสกุลฝ่ายชาย
ครองคู่กันมาจนความตายพรากจากกันไป


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ค. 08, 02:01
มองตัวตนของดวงใจ รวิปรีชา หรืออีกนามหนึ่งว่า "ปิ่นฤทัย รวิปรีชา" ผ่านงานของเธอ  เห็นจิตใจที่อ่อนหวานและอ่อนไหว ของหญิงสาวที่ยังไม่ประสีประสากับความรัก
ใช้กลอนระบายอารมณ์เจ็บปวดที่สวยงาม  ทำให้อาการอกหักมีคุณค่าเชิงวรรณศิลป์ขึ้นมา

เมื่อดอกไม้โรย

ดอกไม้สีม่วงร่วงตรงหน้า
น้ำตาพร่าพร่างกลางกลีบอ่อน
โอ้ใครไหนเลยจะเชยช้อน
ร้าวรอนแหลกเปล่าเฉาช้ำ

ลมหยุดพัดผ่านไปนานนัก
ไม่ทายทักใบไม้ไม่ชื่นฉ่ำ
ท้องฟ้าวันนี้เป็นสีดำ
สายน้ำนิ่งสงบซบเซา

โลกแตกดับแล้วหรือนี่
ทันทีที่สบตารู้ว่าเขา
สักนิดมิได้รักเรา
โศกเศร้าเจ็บปวดทั่วหัวใจ

โอ้ความใยดีที่มอบมั่น
เขาหยันหยามเราเท่าไหน
ซื่อนักโง่นักเมื่อรักใคร
เทิดเทินให้ได้ทั้งนั้น

ความทรงจำเมื่อวันวานอ่อนหวานยิ่ง
ทุกสิ่งงดงามคือความฝัน
เพียงกระพริบตาก็ดับฉับพลัน
ตื้นตันน้ำตาอาวรณ์

ดอกไม้สีม่วงร่วงต่อหน้า
รอเขามาเหยียบยับกับกลีบอ่อน
และหัวใจผู้หญิงเขลาซึ่งร้าวรอน
จะวางซ้อนอ่อนแอบอยู่แทบเท้า


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ค. 08, 08:04
นักกลอนอีกคนหนึ่ง  รุ่นหลัง "สี่มือทอง" ที่จะเอ่ยถึง  คือ "เฉลิม(ศักดิ์) (ศิลาพร)รงคผลิน" หรือ"หยก บูรพา"
เขาเป็นความภูมิใจของมหาวิทยาลัย ทั้งในฐานะนักเขียนเจ้าของเรื่อง "อยู่กับก๋ง"
และนักกลอนฝีมือเอก  เจ้าของวรรคทองในกลอนบทนี้

บทสุดท้ายของนิยายรัก

จริงหรือนี่ที่ว่ารักเราจักร้าว
นึกแล้วหนาวเหน็บนักแก้วรักเอ๋ย
รสสัมผัสอ่อนละมุนที่คุ้นเคย
ไยจึงเผยรสร้างจืดจางกัน

เราเคยร่วมใจฝันว่าวันหนึ่ง
เราจะถึงวันที่งามเหมือนความฝัน
ฟ้าสีทอง ดอกไม้บาน ธารพระจันทร์
และรักอันคงค่าสถาพร

ฉันเฝ้ารอคอยวันที่ฝันไว้
รอด้วยรักด้วยใจไม่ถ่ายถอน
แต่นี่สร้อยสายสวาทมาขาดตอน
เธอกล้ารอนลงด้วยมือเธอหรือไร

เมื่อเธอสิ้นเสน่หามาสนอง
รักที่ปองมอดหมดความสดใส
แผลรักร้ายบ่อนทั่วเนื้อหัวใจ
จะต้องปวดร้าวไปถึงไหนกัน

ดอกรักบานในหัวใจใครทั้งโลก
แต่ดอกโศกบานในหัวใจฉัน
และอาจเป็นเช่นนี้ชั่วชีวัน
เมื่อรักอันแจ่มกระจ่างกลับร้างไกล

นิยายรักยืดยาวของเรานั้น
คงไร้วันสดชื่นขึ้นบทใหม่
หมดความหมายที่จะรอกันต่อไป
เพราะเปลวไฟรักดับลงกับตา


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ค. 08, 13:00
ขอข้ามฟากมาที่รั้วจุฬาฯ 
คณะอักษรศาสตร์ ได้ชื่อว่ามีนักกลอนชุมนุมกันอยู่หนาแน่นกว่าคณะอื่นๆ     มีมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2500  หนึ่งในจำนวนนักกลอนเอก ยุคก่อน 2500 ที่สมควรเอ่ยชื่อไว้เป็นเกียรติในที่นี้ คือ อาจารย์ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา  เจ้าของนามปากกา" อุชเชนี"   ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. ๒๕๓๖ ปีเดียวกับเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
ปีนี้ท่านอายุ  89 แล้ว
ผลงานซึ่งเป็นที่จดจำมากที่สุด คือ "ขอบฟ้าขลิบทอง "  ภาษาที่เขียนเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ยังหวานและคมกริบ  เนื้อหาเป็นกลอนของปัญญาชน  ให้ข้อคิดและปรัชญาชีวิตต่อสังคม
มากกว่าจะมุ่งถึงอารมณ์ส่วนตัว

ขอบฟ้าขลิบทอง

    มิ่งมิตร........                   เธอมีสิทธิ์ที่จะล่องแม่น้ำรื่น
ที่จะบุกดงดำกลางค่ำคืน             ที่จะชื่นใจหลายกับสายลม
 จะร่ำเพลงเกี่ยวโลมเรียวข้าว     ที่จะยิ้มกับดาวพราวผสม
ที่จะเหม่อมองหญ้าน้ำตาพรม     ที่จะขมขื่นลึกโลกหมึกมน
ที่จะแล่นเริงเล่นเช่นหงษ์ร่อน     ที่จะถอนใจทอดกับยอดสน
ที่จะหว่านสุขไว้กลางใจคน         ที่จะทนทุกข์เข้มเต็มหัวใจ
ที่จะเกลาทางกู้สู่คนยาก            ที่จะจากผมนิ่มปิ้มเส้นไหม
ที่จะหาญผสานท้านัยน์ตาใคร     ที่จะให้สิ่งสิ้นเธอจินต์จง
ที่จะอยู่เพื่อคนที่เธอรัก              ที่จะหักพาลแพรกแหลกเป็นผง
ที่จะมุ่งจุดหมายประกายทะนง     ที่จะคงธรรมเที่ยงเคียงโลกา
เพื่อโค้งเคียวเรียวเดือนและเพื่อนโพ้น     เพื่อไผ่โอนพลิ้วพ้อล้อภูผา
เพื่อเรืองข้าวพราวแพร้วทั่วแนวนา     เพื่อขอบฟ้าขลิบทองรองอรุณ


อยู่เพื่ออะไร
ฉันอยู่เพื่อบุคคลที่ฉันรัก                  ซึ่งใจซื่อถือศักดิ์สุจริต
และรักฉันมั่นมานปานชีวิต               ในความผิดความหลงปลงอภัย
ฉันอยู่เพื่อหน้าที่ที่พันผูก                  เพื่อฝังปลูกความหวังพลังไข
เป็นท่อธารรักท้นล้นพ้นไป               หล่อดวงใจแล้งรื่นให้ชื่นบาน   
ฉันอยู่เพื่อค้นคว้าหาสัจจะ                กลางโมหะอาเกียรณ์เบียฬประหาร
เพื่อสื่อแสงแจ้งสว่างพร่างตระการ    กลางวิญญานมืดมิดอวิชชา 
ฉันอยู่เพื่อดวงใจที่ไร้ญาติ                ที่แร้นแค้นแคลนขาดวาสนา
เพื่อรอยยิ้มพริ้มยลปนน้ำตา              บนดวงหน้าโศกช้ำระกำกรม   
ฉันอยู่เพื่อเยื่อใยใจมนุษย์                 บริสุทธิ์สอดผสานงานผสม
เป็นเกลียวมั่นขันแกร่งแรงกลืนกลม     พายุร้ายสายลมมิอาจรอน
ฉันอยู่เพื่อความฝันอันเพริศแพร้ว        เมื่อโลกแผ้วหลุดพ้นคนหลอกหลอน
เมื่ออามิสฤทธิ์แรงแท่งทองปอนด์        มิอาจคลอนใจคนให้หม่นมัว
ฉันอยู่เพื่อยุคทองของคนยาก             ที่เขาถากทรกรรมซ้ำปั่นหัว
เพื่อความถูกที่เขาถมจมทั้งตัว             เพื่อความกลัวกลับบ้าบั่นอาธรรม
   
เพื่อโลกใหม่ใสสะอาดพิลาศเหลือ         เมื่อคนเอื้อไมตรีอวยไม่ขวยขำ
เพื่อแสงรักส่องรุ่งพุ่งเป็นลำ                  สว่างนำน้องพี่มีชัยเอย     
   
อุชเชนี
 ๒๔๙๓


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 21 พ.ค. 08, 13:59
ผมเกิดไม่ทันยุคทองของนักกลอนครับ ถึงในยุคสมัยของตัวเองก็เป็นคนหลังเขาในโลกของโคลงกลอนอยู่ดี

เมื่อได้มาสนใจหยิบจับขึ้นมาอ่านบ้าง ก็ประทับใจตามฉันทะและประสบการณ์ของตัวเอง

ขอบฟ้าขลิบทองของอุชเชนีเป็นงานที่จับใจผมมาก อ่านเมื่อไรก็รู้สึกลึกซึ้งตรึงใจ คำก็งาม ความก็จรรโลงใจ

กวีร่วมสมัยอีกท่านหนึ่งที่ผมชมชอบงานเขียนเป็นพิเศษคือ นายผี

   ในฟ้าบ่อมีน้ำ                 ในดินซ้ำมีแต่ทราย
น้ำตาที่ตกราย                   คือเลือดหลั่งลงโลมดิน
สองมือเฮามีแฮง                 เสียงเฮาแย้งมีคนยิน
สงสารอีศานสิ้น                 อย่าซุด,สู้ด้วยสองแขน
พายุยิ่งพัดอื้อ                    ราวป่ารื้อราบทั้งแดน
อีศานนับแสนแสน               สิจะพ่ายผู้ใดหนอ?



กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ค. 08, 05:52
มาฝากอีก ๒ บท  ค่ะ
สูงขึ้นไป
เหมือนสายแก้วแวววับระยับเยื้อง
ช้อยชำเลืองชมอุษาคราฉายแสง
พุน้ำหนึ่งผุดพุ่งรุ่งแจรง
ดั่งรุ้งแปลงแปลกฟ้าลงมาดิน

สูงขึ้นไปสูงขึ้นไปไม่ระย่อ
ไม่รู้ท้อรู้หน่ายคลายถวิล
ถึงแดดจ้าฟ้ามุ่นพิรุณริน
ไม่สูญสิ้นศรัทธาที่ตราใจ

สายน้ำแจ๋วแววแจ่มยะแย้มยิ้ม
รับลมพริ้มทอดระทวยอวยอ่อนไหว
อรชรเพียงช่อผกาไพร
ที่ลมไกวกิ่งกล่อมถนอมกัน

พอดาวพรมแผ่นฟ้าระย้าระยับ
สายน้ำกลับเกลื่อนดารากว่าสวรรค์
สะท้อนวาบปลาบพรายประกายพรรณ
เพียงจะหยันพัชราให้พร่ามัว

ความชดช้อยย้อยหยดและรสหวาน
คือทิพยทานแด่ดินถิ่นสลัว
โปรยความรื่นชื่นใจไว้รอบตัว
ดับกระหายคลายชั่วกลั้วกลี

เฉกน้ำมิตรจิตกวีที่บริสุทธิ์
ย่อมผาดผุดผ่องจรัสรัศมี
ผินฟ้าพุ่งมุ่งงามและความดี
หยิ่งในศรีศักดิ์ตนวิมลนาน

สูงขึ้นไปสูงขึ้นไปไม่ระย่อ
ประโยชน์ก่อเกิดล้ำเพียงคำหวาน
สร้างความหวังพลังหมายด้วยสายธาร
จากดวงมานกวีนั้นนิรันดร์เอย ๚

อุชเชนี
ขอบฟ้าขลิบทอง

ในนิมิต
กลีบกุหลาบฉาบชมพูพรูพรั่งฟ้า
ว่อนเมฆาเหมือนฝันขวัญพี่เอ๋ย
นภาพิศนิมิตหวามงามกว่าเคย
ชวนสังเวยบูชิตชีวิตนี้

แต่ละชีพต่างกลีบกุหลาบร่อน
ชะลอช้อนชุ่มรักเป็นสักขี
การุณยมานหวานล้ำฉ่ำฤดี
โลมปถพีทุกย่างทางครรไล

ฟ้าระริกเงาระรวยกลางห้วยกว้าง
ก็เหมือนอย่างเราฝังพลังไข
ว่าดวงรุ้งพุ่งผ่านม่านตาใจ
ลึกละไมละเมียดหวังตั้งตาคอย

เมื่อขอบฟ้าพร่าพราวหลาวทองทาบ
พุ่งปลายปลาบทะลวงถิ่นทมิฬถอย
ความมืดแมกแหลกเรื้อไม่เหลือรอย
อุทัยพร้อยแสงพร่างสว่างพราย

เพื่อฟากฟ้าสายัณห์อย่างวันนี้
จักปรายปรีดิ์เปี่ยมพ้นล้นความหมาย
เพื่อมรรคาประชาชนจักกล่นราย
ด้วยกลีบกรายกุหลาบแก้วผ่องแพรวใจ

อุชเชนี
ขอบฟ้าขลิบทอง


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ค. 08, 05:55
จาก"อุชเชนี"  นักกลอนชาวอักษรศาสตร์ท่านต่อไปที่จะเอ่ยถึงคือ ประยอม ซองทอง
เป็นทั้งสมาชิกวุฒิสภา  นิสิตเก่าดีเด่นของคณะอักษรศาสตร์ และ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2548

ธารทอง
ฟ้าที่นี่แผ้วผ่องก่องประภาส
ริ้วทองลาดแรรอบขอบคิ้วหาว
น้ำในธารสะท้อนแพรวดั่งแววดาว
กระพริบพราวเพียงภาพทาบเปลวทอง

แด่ผู้ที่เจ็บช้ำระกำรัก
ที่ทุกข์หนักพักตร์พริ้มมาปริ่มหมอง
ผู้สูญสิ้นดินฟ้าจะคว้าครอง
น้ำเนตรนองท่วมหทัยไร้ญาติมิตร

เพื่อพำนักพักนอนรอนความเศร้า
ที่รุมเร้าเรือนกายเป็นนายจิต
เพื่อวันใหม่ทางใหม่ในชีวิต
เลิกครุ่นคิดคร่ำโศกกับโลกลวง

เพื่อพักผ่อนนอนหลับในทับทิพย์
ชมดาววิบแวมวอมในอ้อมสรวง
รื่นรสรินกลิ่นผกาบุปผาพวง
ลิ้มผึ้งรวงหวานลิ้นด้วยยินดี

เพื่ออาบน้ำชำระกายในธารทอง
ฟังไผ่พร้องเสียงสังคีตขับดีดสี
ฟังลำนำนกร้อยถ้อยพาที
ระเรื่อยรี่จักจั่นกังวานไพร

เพราะถิ่นนี้มีฟ้ากว้างกว่ากว้าง
มีความมืดที่เวิ้งว้างสว่างไสว
เป็นป่าเถื่อนแต่เป็นที่ไม่มีภัย
อยู่ห่างไกลแต่ก็ใกล้ในคุณธรรม

ประยอม ซองทอง

http://chu21.exteen.com/20060405/entry-2


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ค. 08, 06:01
อีกบทหนึ่งของประยอม ซองทอง

ชีวิตเราถ้าเหมือนเรือ  (พ.ศ 2502)

ชีวิตเรา ถ้าเหมือนเรือ เมื่อออกท่า
ไม่รู้ว่า ค่ำนี้ นอนที่ไหน
จะลอยล่ม จมน้ำ คว่ำลำไป
หรือสมใจ จอดฝั่ง ..ก็ยังแคลง

ได้แต่ดื่ม น้ำตา เมื่อฟ้าร่ำ
ยิ่งยามย่ำ สายัณห์ ยิ่งกรรแสง
ถูกลมหวน หอบข่ม ระดมแรง
จึงรู้แล้ง หมดแล้ว น้ำแก้วตา

เพราะหากมัว มาร่ำ กำสรวลอยู่
ไหนจะรู้ ทรงเรือ บ่ายเมื่อหน้า
ต้องตักพาย หมายขืน ฝืนลมฟ้า
ไร้เวลา อาดูร พอกพูนใจ


สติตรง ตาแน่ว ดูแนวน้ำ
ไม่ลอยลำ ขวางเรือ เมื่อน้ำไหล
ถ้าไม่ล่อง ก็ท่องทวน สวนทันใด
เรือจึ่งได้ แนวดิ่ง ไม่ทิ้งทาง

ในโลกนี้ มีสิ่ง ต้องวิ่งแข่ง
ถ้าหย่อนแรง ราข้อ ต่อเข้าบ้าง
ก็จะแพ้ แย่ยับ ถึงอัปปาง
อย่าหมายร่าง เราจะอยู่ สู้หน้าใคร

ชีวิตเรา ถ้าเหมือนเรือ เมื่อออกท่า
ต้องรู้ว่า ค่ำนี้ นอนที่ไหน
ต่อรุ่งเช้า ก้าวอีกขั้น มรรคาลัย
กว่าวันชัย สมประสงค์ ถือธงชู..
 
และ

สงสารเดือน
ที่ขาดเพื่อน เคว้งคว้าง อยู่กลางหาว
มีเพียงแสง รุบหรู่ ของหมู่ดาว
เป็นเพื่อนคราว เดือนฉาย อยู่ดายเดียว

ยิ่งฟ้าหม่น มืดทะมึน เหมือนคืนนี้
อ้อมสรวงมี เดือนเศร้า อยู่เปล่าเปลี่ยว
เห็นเหงาหงอย ห้อยหาว รูปยาวเรียว
สีซีดเซียว เกี่ยวฟ้า ว้าเหว่ใจ


เคยฟ้าแผ้ว แวววาว ดาวประดับ
บัดนี้ลับ เร้นลี้ ไปที่ไหน
ปล่อยทุกห้อง หาวหน หม่นหมองไว้
ทิ้งเดือนให้ แขวนคว้าง กลางโพยม


ฟ้าคร่ำครืน ครวญคราง ออกอย่างนี้
หน่อยจะมี พายุ พัดพรูโหม
น้ำตาฟ้า จะพร้อยพรั่ง ลงหลั่งโลม
สงสารโคม คู่ฟ้า จะมืดมิด

คิดถึง"เดือน"
ผู้เสมือน เพื่อนใจ อันไพจิตร
เพื่อนเคยอยู่ คู่ขวัญ เป็นเพื่อนชิด
เป็นคู่คิด คู่ขวัญ ร่วมกันมา

"เดือนเอ๋ย"
ไม่โกรธเลย ที่เธอทำ ช้ำหนักหนา
ยังห่วงถึง ซึ้งสนิท ติดตรึงตรา
รอเธอมา ร่วมความหลัง อยู่อย่างมิตร

เธอหลงไหล ไฟเปลว ดิ่งเหวลึก
กว่าเมื่อใด  เธอรู้สึก สำนึกผิด
ไร้ใครอื่น หมื่นผู้ เชิดบูชิต
ขอให้คิด มิตรอย่างฉัน มั่นห่วงเดือน
http://forum.serithai.net/index.php?topic=11849.5;wap2


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ค. 08, 06:04
บทนี้ หวานไหวมากค่ะ

ในชีวิตมิดมนแม้หนใหน
เมื่อทุกข์จางจากใจเคยไหม้หมอง
ในม่านจิตจึงจะมีรุ้งสีทอง
เป็นค่าของชื่นชมที่ตรมทน

เราพบกันวันนี้จึงมีค่า
หลังจากฟ้าชุ่มฉ่ำด้วยน้ำฝน
หลังจากที่ชีวิตเรามิดมน
เราผ่านพ้นอุปสรรคที่รักไกล

ประยอม ซองทอง
http://www.geocities.com/pa_orn/kawee1.html


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 23 พ.ค. 08, 08:45
กลอนของชาวอักษร อ่านวันนี้ ก็ไม่มีเชย.. ;)


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ค. 08, 09:57
กลอนของประยอม ซองทอง มีกลิ่นอายอักษรศาสตร์  เป็นกลอนนิ่มนวล สีสันสุภาพ 
ใช้ภาษาบรรยายอย่างประณีตบรรจง  ไม่เล่นชั้นเชิง    และมักจะแฝงข้อคิดข้อเตือนใจเอาไว้ด้วย


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มิ.ย. 08, 08:02
ประยอม ซองทองสร้างชีวิตราวเทพนิยายไว้เป็นตำนานของชาวอักษรศาสตร์ คือความรักของเขากับดอกฟ้า  ม.ร.ว. อรฉัตร สุขสวัสดิ์   
ทั้งคู่พบกันเมื่อฝ่ายชายอยู่ปี ๔ และฝ่ายหญิงเข้าเป็นน้องใหม่ของคณะ    รู้จักกันนับแต่ครั้งนั้น แต่เพิ่งจะมาสนิทสนมกันหลังจากเรียนจบไปทำงานแล้วหลายปี
จาก อุชเชนี นักอักษรศาสตร์อาวุโส  ผู้กำหนดทีมงานให้ประยอมและม.ร.ว. อรฉัตรได้ทำงานร่วมกัน 
ด้วยความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกันมาก่อน มีใจรักในการกวีเหมือนกัน   ความรักของทั้งสองจึงก่อขึ้น และจบลงอย่างแฮปปี้ เอนดิ้ง
เป็นคู่ขวัญคู่หนึ่งของวงกวีอักษรศาสตร์ เป็นที่รู้จักกันในรุ่นน้อง รุ่นต่อรุ่น จนถึงปัจจุบันนี้

ม.ร.ว.อรฉัตร ซองทองเป็นนักกลอนสำคัญคนหนึ่งของตำนานอักษรศาสตร์     ค้นหางานของเธอในอินเทอร์เน็ต พบเพียงบางบท   จึงขอนำลงเท่าที่พบ

"ดาวรู้ไหม"

เมื่อเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าและว้าเหว่
ขวัญจะเร่ร่อนคว้างถึงกลางหาว
แล้ววอนถามความหมองของหมู่ดาว
ซ่อนแสงพราวพรุบหรู่อยู่ทำไม

เห็นใครคว้างอย่างนี้มีไหมเล่า
จะว่าเศร้าก็ไม่เศร้า ...ดาวรู้ไหม
หากแต่ว่าแพ้ตัวแพ้หัวใจ
ที่เฉยเมยซ่อนไว้ซึ่งไยดี

เห็นเคยเห็นดาวคว้างอย่างคนเคว้ง
ปลอบตัวเองอุ่นใจอย่างไรนี่
หรือแอบหมอกหยอกฟ้ามานานปี
จนดาวมีฟ้าเสมือนเป็นเพื่อนคิด

อิจฉาดาวพราวแสงเหมือนแสร้งเยาะ
กระทบเหมาะแววว้างตรงกลางจิต
ตาจึงวาบปลาบละห้อยเพียงน้อยนิด
แล้วเม้นมิดซ่อนหมายอยู่อย่างเดิม

เพราะรักสิทธิ์อิสระเกินจะทุกข์
จึงซ่อนซุกความรู้สึกไม่ฮึกเหิม
เมื่อดาวหมายปรายตามาเยาะเติม
ชีวิตเพิ่มสิ่งใด...รู้ไหมดาว

เพิ่มชีวิตเข้มแข็งให้แกร่งกล้า
ให้เชิดหน้าท้ามองถึงห้องหาว
ยิ้มเยาะโลกโชคชตามานานยาว
ซ่อนน้ำพราวท่วมทั่วรดหัวใจ

ม.ร.ว. อรฉัตร ซองทอง


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มิ.ย. 08, 08:39
ฝนซา  ฟ้าสาง  เป็นบทกลอนที่เขียนขึ้นจากแรงสะเทือนใจที่เห็นข่าวการสูญเสียจากพายุเกย์  เมื่อปี  2531   อยู่ในหนังสือรวมกลอนชื่อเดียวกัน
หนังสือเล่มนี้ได้รางวัลชมเชย  ประเภทบทกวี  จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ  ในปี 2534
   ม.ร.ว.อรฉัตรเล่าว่า
   “ฝนซา  ฟ้าสาง  นี่เขียนเพราะดูข่าวแล้วเกิดความสะเทือนใจ  คืนนั้นไม่ได้นอนเลย  ดึกแล้วยังลุกขึ้นมาเขียนจนจบ”

         ขยับขอนสะท้อนอกสะทกทั่ว
         อ้อมลำตัวเห็นมือแม่แค่แขนขวา
         อุ้มโอบน้องเหมือนเขาเห็นเช่นเคยมา
         แต่ทว่า... ทั้งร่างแม่เหลือแต่มือ


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 11 มิ.ย. 08, 15:08
เพราะมากค่ะ


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มิ.ย. 08, 04:11
นักกลอนที่เป็น"ตำนาน" อีกคนหนึ่งของคณะอักษรศาสตร์ คือจินตนา ปิ่นเฉลียว  เธอมีชื่อเสียงเลื่องลือออกไปนอกรั้วมหาวิทยาลัย   ดิฉันเคยอ่านกลอนของเธอมาตั้งแต่ตัวเองเรียนชั้นมัธยม
แต่คนรุ่นหลังอาจรู้จักเธอในนามปากกา จินตวีร์ วิวัธน์    เจ้าของเรื่องลึกลับสยองขวัญหลายๆเรื่อง เป็นละครโทรทัศน์ก็มี อย่างอมฤตาลัย ศีรษะมาร ฯลฯ

จินตนา ปิ่นเฉลียวเรียนจบไปก่อนที่ดิฉันจะเข้าคณะอักษรศาสตร์  ไม่ทันมีโอกาสได้พบหน้ากัน  น่าเสียดายมาก

เมื่อแดดยิ้มพริ้มพรายกับชายฟ้า
โลกก็จ้าแจ่มหวังด้วยรังสี
หยาดอรุณอุ่นหล้าเหมือนอารี
แพรรพีห่มภพอบหนาวคลาย

เพียงจะพลิกแผ่นฟ้าลงมาฝัน
กับแสงอันอ่อนอุ่นอรุณฉาย
เราคนท้อรอหวังซังกะตาย
หวังชีพพรายอุ่นบ้างอย่างอรุณ

จินตนา ปิ่นเฉลียว


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มิ.ย. 08, 04:15
จินตนา ปิ่นเฉลียวเขียนกลอนแสดงสำนึกต่อสังคมไว้หลายบท    น่าเสียดายที่หาไม่เจอ  ถ้าใครมี กรุณานำลงในกระทู้นี้ด้วยได้ไหมคะ
เจอแต่บทนี้ เป็นกลอนหวาน สะท้อนอารมณ์ อย่างที่นิยมกันในยุคทศวรรษ 2500

"แด่ดอกฟ้า" ...จินตนา   ปิ่นเฉลียว   
       
       ลวงทั้งตัวทั้งตาว่าฟ้าหยาด              แค่เอื้อมอาจโอบหาวเด็ดดาวเผย   
  สำนึกความ จริงได้ อายนักเอย                ใจหนึ่งเย้ย ใจตัว นี้ชั่วนัก   
     ที่ยกใจ จากดิน ถวิลฟ้า                     เพียงเพื่อล้มถลามาอกหัก   
  ความสมหวังดังดอกฟ้าชาวฟ้ารัก            มีหรือจักหยาดฟ้ามายาใจ   


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 12 มิ.ย. 08, 11:27
      กลอนวิพากษ์สังคม การเมือง ของคุณจินตนา ปิ่นเฉลียว เท่าที่ค้นมาได้ ครับ

          -  ข้าวยากหมากแพง  -

       วิปริตผิดวิสัยหรือไทยเอ๋ย
เมืองเราเคยครองสุขกลับทุกข์เศร้า
เคยชุ่มเย็นยิ่งกลุ้มรุ่มร้อนเร้า
คอยกรีดเข้าแทนถล่มร่มไม้บัง
      ชีวิตถูกของแพงแล้งน้ำจิต
และอากาศเป็นพิษคิดแล้วคลั่ง
ความชั่วหยาบ บาป บ้า ตีตราดัง
ยี่ห้อสังคมทู่ของหมู่เรา

            -  สงครามสุดท้าย  -

        แล้วสงครามก็สิ้นสุดตรงจุดเดือด             เลือดต่อเลือดชะโลมทั่วหัวระแหง
ขวาหรือซ้าย  ใต้หรือเหนือ ขาวเจือแดง            เลือดก็แดงไหลถั่งทั่วทั้งนั้น

        หยุดแล้วเสียงเปรี้ยงครืนปืนระเบิด            ความเงียบเกิดชั่วขณะที่ประหวั่น
แล้วสีแดงแห่งเลือดก็เหือดพลัน                       น้ำตาอันพิสุทธิ์ใสโลมไล้แทน ...

          -  ยักษ์ใหญ่-ตื่นเถิด       (ประพันธ์ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเขมร)

     โอ้กัมพุชดุจมหาอาณาจักร
ซากปรักพยานฤทธิ์มหิศร
ทิ้งอดีตกรีดเศร้าเป็นเงาซ้อน
ปัจจุบันนั้นร้อนระอุภัย

       สุริยวรมันจะกรรแสง
ศิลาแลงสี่พักตร์จักร้องไห้
เมื่อลูกขอมฆ่าขอมยอมยอบภัย
แล้วจะเหลืออะไรไว้ภูมิใจตน...


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 12 มิ.ย. 08, 11:28
และ       ความเรียงเรื่องตีน

      จากใจอันกตัญญุตาปสาทะ
คารวะตีนที่มีไว้ก้าว
โลกเจริญเดินหน้ามานานยาว
ก็ด้วยชาวโลกได้ใช้ตีนเดิน
      มันสำคัญแค่ไหนใครก็รู้
แต่มีผู้ว่าร้ายให้ขัดเขิน
ถ้ามันคิด... คงพลอยน้อยใจเกิน
คนประเมินค่าตีนสิ้นราคา
      โถ! ของดีมีค่าหาว่าต่ำ
ตีนด้านดำดั้นด้นอดทนฝ่า
ไม่ออเซาะเจ็บไข้ให้เยียวยา
ยังไม่เห็นคุณค่าน่าน้อยใจ
      คำด่าทอก็เอาตีนเข้าเปรียบ
ค่าเปรียบเทียบ “ไอ้ส้นตีน” ยินเสียวไส้
งานใดถ่อยด้อยค่าก็ด่าไป
ว่าเหมือนใช้ตีนทำ ช้ำเต็มที
      เราตีนหนาหน้าบางเพราะห่างสุข
ใช้ตีนทุกเวลาทำหน้าที่
จงรักมันหมั่นย่างสู่ทางดี
เลี้ยงชีวีโดยซื่อด้วยมือตีน
     ใช่แค่เราชนชั้นปัญญาหย่อน
พึงสังวร ปัญญาชน, คนมีศีล
เดินขบวนตีนใช้เข้าป่ายปีน
ฝรั่ง, จีน, แขก, เป็นกันเช่นนี้
      จึงขอเขียนคารวะตีน “สะอาด”
ที่ด้านดาดเดินกรำงานดำปี๋
ที่ไม่ข้ามคนล้มข่มคนดี
และตีนที่บางกว่าหน้าบางคน..


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 12 มิ.ย. 08, 12:49
ถูกใจกลอนฝีปากคุณจินตนา ปิ่นเฉลียวหลายบทครับ

ถึุงจะเป็นแฟนน้ำหมึกคุณจินตนามานาน แต่ไม่ใช่อุปาทาน เห็นชื่อแล้วชอบ ที่ชอบนั้น ชอบการใช้คำ ชอบความที่สื่อออกมาผ่านบทกลอนครับ


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 มิ.ย. 08, 10:40
ชอบมาก เช่นเดียวกันค่ะ
เธอลงท้ายได้คมมาก เป็นวรรคทองทีเดียว
เป็นกลอนที่ทุกวันนี้ก็ยังไม่ล้าสมัย  ถ้าไม่บอกก็คงนึกว่าเขียนในยุคนี้
นี่คือคุณสมบัติหนึ่งของบทกวี

น่าเสียดายมากที่เธอจากไปก่อนวัยอันควร    อีกคนหนึ่งที่ดิฉันเสียดายก็คือสุรศักดิ์ ศรีประพันธ์  เป็นอาจารย์หนุ่มคณะวิทยาศาสตร์ ที่ฝีมือกลอนระดับมือทอง
เขาเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุดินถล่มที่ภูกระดึง  คร่าชีวิตของมือกลอนชั้นดีไปอีก ๒ คน  เมื่อพ.ศ. ๒๕๑๒
ถ้าอาจารย์สุรศักดิ์ยังอยู่มาจนถึงวันนี้ น่าจะเป็นกวีสำคัญคนหนึ่งของประเทศ

นอกจากคุณประยอม ซองทอง และม.ร.ว. อรฉัตรแล้ว  ยังมีคู่ขวัญอีกคู่หนึ่งของนักกลอนจุฬา คืออำพล สุวรรณธาดา และนภาลัย ฤกษ์ชนะ
เป็นรุ่นพี่ของดิฉันทั้งสองท่าน

พี่นภาลัยเขียนกลอนหวานได้หวานมาก    ขอยกมาให้อ่านค่ะ 
เป็นการรำพึงถึง " รักต้องห้าม" อย่างละเมียดละไมและเจียมตัว  รู้ขอบเขตของตัวเอง  มีการหักห้ามทั้งกายและใจ 
น่าจะเป็นค่านิยมของสาวๆเมื่อ ๕๐ ปีก่อน   สาวยุคนี้คงเปลี่ยนไปแล้ว

ขอเพียงแค่นี้

แม้หัวใจไร้สิทธิ์จะคิดหวัง
แต่ก็ยังมีสิทธิ์จะคิดถึง
แม้เป็นสองของใครไม่คำนึง
ขอเป็นหนึ่งอยู่ในหัวใจเธอ

ไม่เคยคิดไขว่คว้าเพื่อหาสิทธิ์
ฉันเตือนจิตเตรียมใจไว้เสมอ
เราไม่มีวาสนาอย่าพร่ำเพ้อ
รักไม่เก้อเธอยังเกื้อบุญเหลือล้น

ขอให้คิดถึงฉันวันละหนึ่ง
ฉันคิดถึงเธอวันละพันหน
และมีจิตคิดถึงเพียงหนึ่งคน
ไร้กมลที่จะเหลือเผื่อผู้ใด

แม้นมาหาเธอได้จะไม่ยั้ง
นี่ต้องรั้งแม้จะรู้เธออยู่ไหน
ไม่อยากเห็นเธออยู่คู่กับใคร
คงขาดใจถ้าเธออยู่กับผู้นั้น

เมื่อคิดถึงฉันจนทนไม่ไหว
ก็จงไปยังที่ซึ่งมีฉัน
มิได้ชิดชื่นใจไม่สำคัญ
สบตากันสักครั้งก็ยังดี

นภาลัย (ฤกษ์ชนะ) สุวรรณธาดา




กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 18 มิ.ย. 08, 12:52
เขียนด้วยคำง่ายๆ ซื่อๆ แต่สวย
แบบนี้ค่ะ ที่ชอบมาก


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มิ.ย. 08, 16:28
อยากได้กลอนของพี่อำพล สุวรรณธาดามาลง แต่หาในอินเทอร์เน็ตไม่เจอ  เจอแต่สักวา
ใครมีกลอนของอำพล สุวรรณธาดา ช่วยอนุเคราะห์ด้วยได้ไหมคะ


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 08, 20:14
ไปได้ของนภาลัย ฤกษ์ชนะ มาอีกบท ค่ะ

เราพบกันวันนี้ไม่มีค่า
ไร้ความหมายจากสายตาเมื่อมาเห็น
ต่างเดินหลีกปลีกทางอย่างเยือกเย็น
เหมือนไม่เป็นอะไรกันก่อนวันนี้

ส่วนบทนี้ มีคนบอกให้เฉพาะบทเริ่มกับบทจบ ของ "เราร้องไห้กับตะวันพลบ"
จากฝีมือของสุรศักดิ์ ศรีประพันธ์
อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ที่ไปเสียชีวิตที่ภูกระดึง  ในเหตุวิปโยคครั้งใหญ่ เมื่อปี ๒๕๑๓

ตะวันพลบหลบลับกับความค่ำ
เหลือม่านดำดาษฟ้าคลุมหล้าแหล่ง
สายน้ำเอื่อยเรื่อยรินราวสิ้นแรง
กิ่งไม้แห้งให้เงาแต่เลาราง
................................
ตะวันพลบหลบลับกับความค่ำ
เหลือม่านดำดาษฟ้าลงมาคลี่
เราร้องไห้คล้ายพ้อต่อราตรี
หัวใจมีไว้ทำไมเพียงให้คอย


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 08, 20:30
นักกลอนมือทองอีกคนหนึ่งของจุฬา ฯ คือปิยพันธ์ จัมปาสุต   รองปลัดกระทรวงคมนาคมในปัจจุบัน
เขาได้รางวัล "เกียรตินิยม"ของชุมนุมวรรณศิลป์  ๒ ครั้ง สองปีซ้อน   จากบทกลอนชื่อ "ช่วงแห่งความมืดมิด"

(๒๕๐๙)   และ "มัน" (๒๕๑๐)

"ช่วงแห่งความมืดมิด"  ปิยพันธ์แต่งเมื่ออายุ ๑๘ ปี

คนดี                   มองสิที่ฟ้าไกลเห็นไหมนั่น
ดวงดาวทั้งใหญ่น้อยนับร้อยพัน      ต่างประชันขันแข่งแสงแวววาว
เหมือนดังจะประกาศอำนาจใหญ่   ว่าดวงใจแสงเด่นเป็นจอมหาว
และมองสิช่องว่างระหว่างดาว                ม่านมืดยาวพาดฟ้ายามราตรี
อาณาเขตห้วงหาวแม้ดาวผอง                กระพริบส่องแสงสว่างอย่างเต็มที่ 
แต่ความมืดรายล้อมดาวย่อมมี          รัศมีส่งไปไม่ถึงกัน
ดาวก็เหมือนกับกมลคนทั้งหลาย        มีแต่หมายแก่งแย่งและแข่งขัน
คนอื่นอยู่อย่างไรไม่สำคัญ                ตนเท่านั้นแหละที่ดีกว่าใคร
คุณธรรมสิ้นผู้ยอมรู้จัก                ขับความรักกระเจิงเหลิงความใคร่
ช่วงต่อของช่องว่างระหว่างใจ                 ยิ่งมืดไปกว่าฟ้ายามราตรี
ความมืดระหว่างดาวต่อดาวนั้น   เมื่อถูกแรงแสงตะวันมันก็หนี
แต่ความมืดระหว่างใจนั้นไม่มี                หนทางที่ขับไล่มันได้เลย


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 08, 20:45
" มัน"   ปิยพันธ์แต่งเมื่ออายุ ๑๙ ปี

เพื่อลบความหม่นหมองที่ท้องหิว      จนหน้านิ่วแสบไส้ให้หมดสิ้น
กลับแย้มยิ้มอิ่มพีด้วยมี"กิน"                  มันจึงดิ้นรนหาอาหารไป
ครั้นความอิ่มครอบครองท้องมันแล้ว                 เริ่มวางแนวชมชื่นสิ่งอื่นใหม่
อยากมีชีพรุ่งเรืองชื่อเฟื่องไกล      มันจึงหา"เกียรติ"ไว้ให้กับตน
เพียงสองอย่างที่หวังสุขยังขาด      จึงหมายมาดต่อไปใฝ่ฝังผล
หาตัวเปลื้องความใคร่ไว้เปรอปรน      ด้วยกมลมุ่งสร้างสุขทาง"กาม"
เพราะจิตมันนั้นมากด้วยอยากได้      จึงคว้าไขว่สมหวังสิ่งทั้งสาม
เพียงครั้งแรกแรกก็ยังพองาม                   เป็นไปตามปรารถนาอย่างสามัญ
แต่พอนานนานไปใจเริ่มทุกข์                   เกิดกลัวสุขสลายกลายเป็นฝัน
ด้วยแรงกลัวนี้เองเร่งผลักดัน                   ให้จิตพลันรุกข้ามความพอดี
เพื่อจะ "กิน" เรื่อยไปไม่ต้องอด      เพื่อปรากฏ " เกียรติ"อยู่ชูศักดิ์ศรี
เพื่อสุขในทาง "กาม"คงความมี      จึงผลที่สุดนั้น มันก็"โกง"


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 14 ก.ค. 08, 13:24
สงกะสัยว่าข้ามสมจิตร ภูมิศักดิ์ไปได้ยังงัยครับ
อักษรศาสตร์เหมือนกันนี่ครับ


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 14 ก.ค. 08, 23:57
พูดถึงวรรคประทับใจและแอบนำมาใช้  ผมก็มีบ้างเหมือนกัน  เป็นกลอนของคุณจินตนา  ปิ่นเฉลียว  ครับ ......  :-[
อยากบอกให้เธอรู้ว่า
แม้เวลาเลยผ่านนานแค่ไหน
ยังรักและห่วงใย
เธออยู่ใน...ใจฉันไม่ผันแปร

และ

ไม่มีอะไรมาฝาก
นอกจากความรักความคิดถึง
แม้อยู่ห่างไกลใจคะนึง
เฝ้ารำพึงถึงเธอเสมอมา


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ค. 08, 14:32
ปิยพันธ์ ทิ้งกลอนไปร่วม ๔๐ ปี  แต่เมื่อเขียนขึ้นอีกครั้ง  ฝีมือกลอนของเขาก็ยังไม่โรยราลงจากเดิม

การเดินทาง   แต่งเมื่อปี ๒๕๕๐

เราบันทึกชีวิตด้วยบทกวี                        จดจำคุณความดีของคนได้
แต่ละช่วงก้าวที่ยาวไกล                         ใจก็รู้ว่าใครมีไมตรี
เรากำลังจะเป็นผู้ซึ่งหลุดพ้น                    เดินสุดถนนสายพันธนาแห่งหน้าที่
เรารับรู้ว่ารุ่งวันพรุ่งนี้                              ได้เวลาเปลี่ยนวิถีและปลายทาง
โลกยังมีสีสันให้ซึมซับ                           ให้ประทับรอยเท้าทุกก้าวย่าง
ยังมีแสงอรุณในรุ่งราง                            ให้สว่างและไสวด้วยทิวา
และเรายังจะต้องเดินทางต่อ                    รู้ว่าอะไรรออยู่เบื้องหน้า
ฝันถึงดวงดาวฉายที่ชายฟ้า                     ปรารถนา-และจะไปให้ถึงดาว


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 09 ส.ค. 08, 12:39
เรือเร่

ในคืนมืดยืดยาวราวโลกดับ
ทั่วหล้าหลับลงซบสงบเหงา
แสงดาวเลือนเดือนลางกลางฟ้าเทา
ลมเบาเบาโบกไล้ทิวไม้เอน

รอวันใหม่ลอยมากับฟ้ารุ่ง
คอยวันพรุ่งพรายรวีเจิมสีเสน
เริ่มชีวิตกิจความตามกฎเกณฑ์
ก่อนสุเมรุหมื่นโยชน์ดับโชติดวง

เหมือนเรานำลำเรือหางเสือขาด
ถูกน้ำสาดซัดเร่ทะเลหลวง
ลู่ใบพับกับเสาอย่างเศร้าทรวง
นี่จะล่วงลอยคว้างไปทางใด

ไร้เข็มทิศลายแทงแสงเดือนส่อง
แม้แสงทองของเทียนหรี่เจียนไหม้
แม้แสงดาวเหนือนำเพียงรำไร
คงเร่ไปให้รับความอัปปาง

ฝ่าม่านดำค่ำคืนและคลื่นโหด
รอวันโรจน์รุ่งรวีที่ฟ้าสาง
พบท่าจอดทอดสมอรอกึ่งทาง
ก่อนจะกางกู้ใบใหม่อีกที

ในคืนมืดยืดยาวราวโลกดับ
เห็นน้ำกับฟ้ากว้างทุกทางที่
เราเหมือนเรือไร้ท่าคนปรานี
รอใบคลี่คลุมทบเหนือศพเรา

สุรศักดิ์ ศรีประพันธ์

http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=jomyutmerai&month=10-2007&date=19&group=1&gblog=4

เรือเร่ เป็นงานของ สุรศักดิ์ ศรีประพันธ์ อีกชิ้นที่ผมชอบมาก เลยขอนำมาแจมไว้ด้วยครับ


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 09 ส.ค. 08, 13:13
อดุลย์  จันทรศักดิ์ ถือเป็นนักกลอนในดวงใจผมอีกท่านหนึ่ง บทกลอนชิ้นหนึ่ง
ที่ผมชอบมาก คือ เพลงชาวเรือ ซึ่งท่านแต่งในนามปากกา ธารี ลองอ่านดูครับ

เพลงชาวเรือ

แช่มช้าเหมือนดอกไม้สยายกลีบ
ดาวแห่งชีพโคจรโดยร่อนเร่
กลางเปลวแดด แสงดาว แห่งชาวเล
ใสเสน่ห์ดาวเหนือเมื่อเดินทาง

วัยหนุ่มฉานโชนไฟให้ต่อสู้
วันนี้รู้แล้วว่าขอบฟ้ากว้าง
จุมพิตความจำเจ ทะเลร้าง
สัมผัสความอ้างว้างทั้นคืนวัน

ฟังดนตรีที่คลื่นสะอื้นอ้อน
แทนเพลงพรแผ่วในหัวใจฝัน
ฟังเสียงลมร่ายริ้วเลื่อนลิ่วนั้น
ต่างเสียงบรรจงปลอบจากขอบฟ้า

ช่อดอกไม้จากผู้อยู่บนฝั่ง
แทนถ้อยสั่งที่ให้กลับไปหา
หวิววิญญาณชาวเรือเมื่ออำลา
หวานแววตาเยือกเย็นอย่างเร้นลับ

ขอแสงนิลเนตรแห่งหนึ่งแรงห่วง
ส่องแทนดวงดาวเมื่อดาวเหนือหลับ
ขอเก็บช่อดอกไม้ที่ได้รับ
ไว้ประทับจูบสุดท้ายกลางสายน้ำ

...กองทัพคลื่นบ้าคลั่งกำลังโหด
พายุโลดเข้าปะทะโหมกระหน่ำ
ลูกน้ำเค็มประคองเรือเมื่อโยนลำ
มิอาจนำเรือพบที่หลบภัย

เพลงชาวเรือร่ำท้าความว้าเหว่
ก่อนทะเลหยุดบ้า ก่อนฟ้าใส
ดับดวงดาวสองดวงโดยห่วงใย
จูบดอกไม้สีขาวจากสาวน้อย...

ธารี ๒๕๑๒ (จากหนังสือ ใบไม้แห่งนาคร)


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 09 ส.ค. 08, 13:28
อำพล สุวรรณธาดา เป็นชาวมหาสารคาม เข้าจุฬาในคณะวิทยาศาสตร์ แล้วมาจบ
คณะครุศาสตร์ นอกจากเป็นนักกิจกรรมตัวยงแล้ว บทกลอนในนาม "ทิดก้อน  อินคำ"
ก็เสียดแทงผู้อ่านในยุคต้น พ.ศ. ๒๕๐๐ พอดู ขอยกตัวอย่างงานของ อำพล สุวรรณธาดา
สักชิ้นแล้วกัน ครับ

อยากเป็นอิฐ

เบื้องหน้าฉันนั้นเห็นเป็นน่านน้ำ
เหลือลึกล้ำแลไปกว้างไพศาล
รับน้ำมามากหลายจากสายธาร
แม้เนิ่นนานนับกัลป์ไม่ผันแปร

ไม่เคยท่วมท้นฝั่งสักครั้งหนึ่ง
ไม่งวดถึงแห้งขอดวอดกระแส
สัตว์น้ำชุกชุมเหลือหลากเรือแพ
มีมากแม้แร่เกลือเจือละลาย

เมื่อผิวน้ำสงบนิ่งไม่ติงไหว
อิฐทิ้งไปก็กระเด็นกระเซ็นสาย
ละลอกพริ้วผิวกระเพื่อมเป็นเลื่อมพราย
แล้วกลับกลายเกลื่อนกลบสงบไป

อิฐนั้นไม่อาจจมถมน่านน้ำ
ไม่อาจทำระดับเพิ่มกว่าเดิมได้
แต่พอทิ้งอิฐส่งลงเมื่อใด
ยังผลให้ไหวพริ้วผิวนที

ฉันอยากเป็นเช่นอิฐก้อนนิดหนึ่ง
คงไม่ถึงถอยค่าเสื่อมราศี
ไม่อาจเพิ่มเสริมส่งวงกวี
แต่พอที่จะทำให้เกิดไหวตัว

อำพล  สุวรรณธาดา 
ตุลาคม ๒๕๐๓


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ส.ค. 08, 18:14
สวัสดีค่ะ คุณจอมยุทธเมรัย
ขอบคุณสำหรับบทกวีของพี่อำพล สุวรรณธาดา  หามานานแล้ว ไม่เจอ

บทกวี "เพลงชาวเรือ" เคยเขียนเอาไว้ในกระทู้ "คนเขียนเพลง"
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2633.15
ว่า

อ้างถึง
ย้อนมาเรื่องเพลงสุนทราภรณ์ 
เขียนเนื้อเพลงให้สุนทราภรณ์หลายเพลงแล้ว     จะค่อยๆทยอยมาเล่าให้ฟัง   ขอส่งเพลงล่าสุดที่เพิ่งแต่งเสร็จไม่ถึงเดือนมานี้ให้อ่านกันค่ะ

ใครที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของสุนทราภรณ์คงจำเพลง "พรานทะเล" ได้   กองทัพเรือขอเพลงนี้ไปเป็นเพลงประจำ 
เนื้อร้องของเดิมแต่งด้วยฝีมือยอดขุนพลเพลงของสุนทราภรณ์ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล   แต่งออกมางดงาม ไม่มีที่เสมอเหมือน
แต่ที่มีเพลงใหม่ ชื่อ "เพลงชาวเรือ" ด้วยฝีมือ ว.วินิจฉัยกุล นั้น  มีความเป็นมา....

นานมาแล้ว  "พรานทะเล" เป็นเพลงโปรด ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กวีชาวจุฬาฯ คนหนึ่ง นำไปแต่งบทกวี ชื่อ "เพลงชาวเรือ" 

เมื่อดิฉันอ่านพบบทกวี" เพลงชาวเรือ" ที่ไพเราะมาก  เกิดแรงบันดาลใจ  แต่งเป็นเพลงสุนทราภรณ์ขึ้นใหม่อีกทีหนึ่ง  จึงได้รู้ถึงความเป็นมาเรื่องนี้ ตั้งแต่เริ่มลงมือแต่งเนื้อ
เมื่อเป็นเช่นนี้  เพลงใหม่นี้ ก็ไม่เหมาะจะใช้ทำนองอื่น นอกจาก "พรานทะเล" เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าของบทกวี   และเป็นอนุสรณ์ถึงที่มาตั้งแต่แรก
 
"เพลงชาวเรือ" ในทำนอง "พรานทะเล" จึงเกิดขึ้นมา

ใครอยากร้อง มีเพลงมิดี้อยู่ในเว็บนี้ค่ะ
http://www.music4thai.com/music/lyric/?sid=8798

เพลงชาวเรือ

   
ชีวิตเริ่มต้นสู่โพ้นทะเล                   
ลอยล่องร่อนเร่ก็คล้ายนาวา
สู้คลื่นลมแรงคน ทุกข์ทนก็ดิ้นรนฝ่า     
ปรารถนาขอบฟ้าไกล

ดาวเหนือดวงหนึ่งสวยซึ้งไม่จาง       
คอยส่องนำทางหว่างฟ้าอำไพ
จูบดอกไม้ไมตรี  น้ำใจคนดียื่นให้       
ค่อยแจ่มใสขึ้นอีกครา

* กระหน่ำคลื่นคม ลมแรง                 
ฟ้ามืดดังแกล้ง  ไร้แสงดารา
หวิวหวั่นความหวังลับฟ้า จะเหลียวมองหน้า 
สุดแลหาอีกไม่มี

ดอกไม้ขาวปลิด  โปรยสายปลายชล     
ฝากแก้วกมล       ฝั่งพื้นธาตรี
ก่อนนาทีสุดท้าย  ฝังกายลงใต้นที   
ส่งใจนี้มอบแด่เธอ


เอ็ม เชี่ยวชาญ กิจสมบัติไชย คลื่นลูกใหม่ของสุนทราภรณ์ เป็นคนขับร้องเพลงนี้
ดิฉันมีเพลง MP 3 แต่ไม่ทราบวิธีที่จะเอาขึ้นเว็บให้เปิดฟังกันได้   ไม่งั้นจะให้ลองฟังเสียงของเอ็ม ดูบ้าง


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ส.ค. 08, 13:28
เจอกลอนของประยอม ซองทอง ในนามแฝง "ปรง เจ้าพระยา"  เลยขอนำมาลงไว้ในกระทู้

http://www.naewna.com/news.asp?ID=98344

"เธอมีชื่อว่า "ข้าราชการ"
 สนองงานจอมราช "พระเจ้าอยู่หัว"
 ซึ่งทรงใช้อธิปไตยไว้แทนตัว
 ของปวงชนถ้วนทั่วประเทศไทย

เธอมิใช่ขี้ข้าบริษัท
ที่อยู่ใต้อาณัติสัตว์ป่าไหน
ให้ย่ำยีไร้เหตุผลผิดกลไก
คุ้มครองได้ ณ ที่นั่นศาลปกครอง"
.......................................

"เมื่อเธอถูกขับไล่ให้ต้องเลือก
จงตัดเชือกสายรักสมัครสมาน
บอกเขาไปว่าไม่อยู่ข้างหมู่มาร
ไม่เลือกข้างเผ่าพาลปล้นบ้านเมือง"


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 21 ส.ค. 08, 21:15
นักกลอนอีกท่านที่มีลีลากลอนเฉพาะตัว ที่ว่ากันว่าลีลากลอนของท่านบ่งบอกถึงบุคลิก
พิเศษของท่านอย่างชัดแจ้ง เป็นนักกลอนรุ่นเดียวกับ เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์ เรียนจบมา
ทางนาฏศิลป์ ก่อนมาเป็นอาจารย์ถ่ายทอดวิชานาฏศิลป์ที่สถาบันเดียวกัน นักกลอนท่านนี้
คือ สุรินทร์  ประสพพฤกษ์ ขอนำงานกลอนท่านมาวางไว้ในตำนานนักกลอนด้วย ครับ

เห่เรือหงส์

หงส์ระเหิดเฉิดฉายแหวกว่ายฟ้า
เลื่อนลงหล้าลอยฟ่องล่องกระสินธุ์
ละอาศน์พรหมล่มฟ้ามาสู่ดิน
ประทีปถิ่นแดนด้าวของชาวพุทธ

เสียเห่โห้โอ้ช้าแล้วว่าเห่
เชิญเสน่ห์แห่งสวรรค์อันพิสุทธิ์
มาสร้างสรรค์ขันแต่งแข่งมนุษย์
ให้ประดุจหงส์ทองฟ่องพิมาน

ช้าแลเรือแม่รามหาหงส์
เชิญอนงค์ชำระสระสนาน
ฝีพายเรียงเคียงคู่คอยอยู่งาน
ขับสำนานมูลเห่เพลาทรง

มโหรทึกแตรสังข์ทั้งบัณเฑาะว์
ประคองเคาะเรื่อยรับขับร้องส่ง
ศรีชัยเอยแม่ย่านางสำอางองค์
เชิญแม่ลงเรือประเทียบเลียบสาคร

จะเห่นำเรือทรงองค์กฐิน
ลอยวารินลิ่วเลื่อนเหมือนเก่าก่อน
ขวัญแม่เอยขวัญแก้วอย่าแคล้วจร
เชิญรับพรมงคลชัยไว้ชื่นเชย

เจ้าแม่ศรีสุพรรณหงส์ทรงสะอื้น
ทั่วภาคพื้นเจ้าพระยาจะผ่าเผย
สาครครืนครื้นคร่ำส่ำสังเวย
รอหงส์เกยเทียบท่าวาสุกรี

สุรินทร์  ประสพพฤกษ์


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 21 ส.ค. 08, 21:20
มาอ่านงานของนักกลอนอีกท่านครับ

สุรีย์ พันเจริญ เขียนกลอนในนามปากกา "ลาวแพน"  แต่บางครั้งก็ไม่ใส่ชื่อเมื่อเขียนบรรยายภาพใน
"อนุสารวรรณศิลป์" ปีแรก ๆ ของสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้จัดทำวารสารนั้น
และที่สำคัญอีกอย่างคือ ท่านได้ชื่อว่าเป็นประธานชุมนุมวรรณศิลป์คนแรกของระดับมหาวิทยาลัย
ในประเทศไทย ขอยกงานกลอนของท่านมาสักชิ้นแล้วกันครับ

หัวใจที่ชาเย็น

เธอแย้มเยื้อนเย้ากมลจนไหวหวั่น
ทุกทุกวันซึ้งสนิทเกินปลิดหาย
จะกี่เดือนกี่ปีไม่มีคลาย
เหมือนกับสายเจ้าพระยาตราบตาปี

เราจากกันแต่ตัวหัวใจซึ้ง
ครุ่นคะนึงห่วงถวิลทุกถิ่นที่
นานเหมือนนับกัปกัลป์พันทวี
เมื่อเรามีโอกาสใกล้ใหม่อีกครั้ง

หวิวและหวามความสัมพันธ์วันเก่าเก่า
รุกรุมเร้าหัวใจให้ความหวัง
หวังให้หวังครั้งนี้อยู่จีรัง
เสมือนดังตั้งจิตเตือนติดตา

คิดว่ารักจักอยู่เคียงคู่รัก
คิดว่าหลักคงไม่คลอนรอนคุณค่า
คิดว่าแกร่งเกินแผนแผ่นศิลา
และคิดว่ามั่นคงจำนงนัย

แต่ชีพกร้านกร้าวฉกรรจ์ทุกวันนี้
ไม่เหมือนที่จิตฉันเคยหวั่นไหว
กลับคล้ายลมพลิ้วเฉยผ่านเลยไป
ในหัวใจชาเย็นเหมือนเช่นเดิม

สุรีย์ พันเจริญ

ขอบคุณ คุณเทาชมพูมากครับที่ตั้งกระทู้นี้ขึ้นมา ทำให้ผมต้องหันกลับมาอ่านหนังสือกลอนเก่า ๆ ที่มีอยู
เลยพอมีข้อมูลมาแลกเปลี่ยนนิดหน่อยครับ และคงจะมีงานของนักกลอนท่านอื่นมาฝากเรื่อย ๆ ครับ 


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ส.ค. 08, 17:34
ขอบคุณคุณจอมยุทธเมรัย ที่มาช่วยทบทวนความจำถึงนักกลอนหลายๆท่าน
กลอนของคุณสุรินทร์ ลีลาสง่างามมาก    ยังไม่เห็นใครเขียนได้เหมือน
สงสัยอยู่ตอนเดียวว่าทำไมใช้คำนี้  หมายความว่าอะไร ยังไม่เข้าใจว่าเข้ากับวรรคที่สองอย่างไร

เจ้าแม่ศรีสุพรรณหงส์ทรงสะอื้น
ทั่วภาคพื้นเจ้าพระยาจะผ่าเผย

ดิฉันกำลังอ่าน " เงาสะท้อน" รวมบทกวีแห่งชีวิตของปิยะพันธ์ จัมปาสุต      เป็นบทกวีที่อหังการ์อีกแบบหนึ่ง ไม่ซ้ำกับลีลาของนักกลอนอื่นๆของจุฬาหรือธรรมศาสตร์
บทนี้  แต่งเมื่อ ๒๕๑๔  รวมอยู่ใน "ใบไม้แห่งนาคร" คุณจอมยุทธเมรัยมีเล่มนี้แล้ว  บทนี้ขอเอาลงให้คนอื่นๆที่ยังไม่มีหนังสือ ได้แวะเข้ามาอ่าน

จุดจบของปริญญาชน

เด็กสาวและเด็กหนุ่มผู้รุมร้อน                               ซึ่งซับซ้อนสับสนและค้นหา
ผ่านช่วงแห่งวัยวันสั้นสั้นมา                                  รอเวลาช่วงยาวก้าวต่อไป

จากจุดเริ่มเดินทางที่ย่างผ่าน                                ประสบการณ์คือครูผู้ยิ่งใหญ่
โดยสมองตรองตรึกบันทึกไว้                                 ถ่ายทอดสู่หัวใจในนานวัน

และคุมขังมันไว้ให้สงบ                                          กับการพบชวนทึ่งน่าพรึงพรั่น
มองทุกอย่างอย่างรับรู้และรู้ทัน                             เพื่อนาทีที่ฝันจะพลันจริง

เมื่อสาวหนุ่มรุมร้อนและอ่อนโลก                            เริ่มโชนโชกพร้อมสรรพกับทุกสิ่ง
รับการปลดปล่อยจากค่ายพักพิง                            โดยมีมิ่งปริญญาเป็นอาวุธ

เบื้องหน้าคือฝูงชนค้นบ้าคลั่ง                                ซึ่งกำลังทำลายไม่ยอมหยุด
ความป่าเถื่อน การแก่งแย่ง การแย้งยุทธ                 นับเป็นจุดพัฒนาที่น่าชม

ริ้วขบวนเหยียดยาวแห่งสาวหนุ่ม                            เสื้อครุยคลุมสวมร่างอย่างเหมาะสม
เคลื่อนสู้เกลียวคลื่นคลั่งของสังคม                          แล้วก็จมทีละคน..ทีละคน


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 26 ส.ค. 08, 14:33
ขอบคุณคุณจอมยุทธเมรัย ที่มาช่วยทบทวนความจำถึงนักกลอนหลายๆท่าน
กลอนของคุณสุรินทร์ ลีลาสง่างามมาก    ยังไม่เห็นใครเขียนได้เหมือน
สงสัยอยู่ตอนเดียวว่าทำไมใช้คำนี้  หมายความว่าอะไร ยังไม่เข้าใจว่าเข้ากับวรรคที่สองอย่างไร

เจ้าแม่ศรีสุพรรณหงส์ทรงสะอื้น
ทั่วภาคพื้นเจ้าพระยาจะผ่าเผย


ตรงนี้ผมก็ไม่มั่นใจว่าผู้แต่งต้องการสื่อถึงอะไร แต่ตามความเข้าใจของผมจากการอ่านกลอนชุดนี้
ที่ว่า เจ้าแม่ศรีสุพรรณหงส์ทรงสะอื้น คงแสดงถึงความเศร้าของ แม่ย่านาง
ประจำเรือสุพรรณหงส์ นะครับ ลองอ่านดูตรงนี้นะครับ

ศรีชัยเอยแม่ย่านางสำอางองค์
เชิญแม่ลงเรือประเทียบเลียบสาคร

จะเห่นำเรือทรงองค์กฐิน
ลอยวารินลิ่วเลื่อนเหมือนเก่าก่อน

จะเห็นว่าเรือสุพรรณหงส์ เป็นแค่เรือประเทียบ ไม่ใช่เรือพระที่นั่งหลัก ตรงนี้ก็คงเป็นที่น้อยใจของ
เจ้าแม่ศรีสุพรรณหงส์นะครับ แต่ถึงแม้จะน้อยใจหรือทรงสะอื้นอย่างกวีว่า แต่เรือสุพรรณหงส์ก็ยัง
ร่วมในขบวนแห่ จึงทำให้ "ทั่วภาคพื้นเจ้าพระยาจะผ่าเผย" อันเป็นวรรคถัดมาของกลอนชุดนี้

ผิดถูกอย่างไรไม่มั่นใจนะครับ

ว่างๆ จะมานำเสนอนักกลอนท่านอื่น ๆ ต่อไปครับ


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 26 ส.ค. 08, 22:07
ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๗ - พ.ศ. ๑๕๑๓ งานหลักอย่างหนึ่งของชมรมวรรณศิลป์
สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คืองานคัดเลือกรางวัลเกียรตินิยมวรรณศิลป์
โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการสนับสนุนส่งเสริมงานเขียนภายในมหาวิทยาลัย
แบ่งประเภทงานที่จะได้รับการพิจารณา ๕ ประเภทคือ เรื่องสั้น สารคดี กลอนเปล่า
บทร้อยกรองและบทวิจารณ์ทั่วไปเกี่ยวกับงานของนิสิตจุฬาฯ โดยงานประเภทบทกลอน
ชิ้นแรกที่ได้รับรางวัลเกียรตินิยมวรรณศิลป์ คือ บทกลอนที่ชื่อว่า น้ำค้างหยดเดียว
ซึ่งเป็นผลงานของ อัจฉรา  ตันสงวน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ผมขอคัดบทกลอนชุดนี้มา
ให้อ่านแล้วกันครับ

น้ำค้างหยดเดียว

น้ำค้างใสหยดเดียวบนเรียวหญ้า
ณ เบื้องหน้ากลอกกลิ้งประกายฉาย
ดังรวมรุ้งเพชราแววตาทราย
สะท้านพรายน้ำพร่างกระจ่างดวง

สุรีย์มาศแผดแสงเริ่มแรงกล้า
ฉันผวาหัตถ์ป้องเปรียบของหวง
แรงฤทธิ์ร้อนจะแผดเผาเจ้าตรมทรวง
ฉันเต็มดวงโศกประดังเกรงหวังวาย 

แม้หัตถ์ไหม้ให้แสงแรงกว่านี้
หรือลมปรี่ฉันไม่ร้างไปห่างหาย
แต่ตะวันแผดแสงอันแรงพราย
เหมือนมุ่งหมายบั่นเจ้าให้เศร้าลง

ฉันสุดหวงห่วงประกายสายน้ำนิ่ง
เห็นแล้วยิ่งบีบหทัยให้เป็นผง
น้ำค้างอ้อนซ้อนเศร้าเฝ้าพะวง
ดูเหมือนคงพูดด้วยว่า "ช่วยที"

อันน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟไม่สิ้นสุด
ไร้อาวุธต้านอำนาจมิอาจหนี
สุดจะกันเจ้าจากแสงแรงรวี
โอ้สุดลี้ความแกร่งแห่งกฎกรรม

อัจฉรา  ตันสงวน ๒๕๐๗

โดยรางวัลเกียรตินิยมวรรณศิลป์ ประเภทบทกลอนในปีต่อ ๆ มา ผู้ได้รับรางวัล คือ
ปี ๒๕๐๘  ผลงานชื่อ ความลับ ของ สุรศักดิ์  ศรีประพันธ์
ปี ๒๕๐๙  ผลงานชื่อ ช่วงแห่งความมืดมิด  ของ ปิยะพันธุ์  จัมปาสุต
ปี ๒๕๑๐  ผลงานชื่อ  จุดมืด  ของ พิบูลย์ชัย  พันธุลี
ปี ๒๕๑๑  ผลงานชื่อ  มัน  ของ ปิยะพันธุ์  จัมปาสุต
ปี ๒๕๑๒ ไม่มีรางวัลเกียรตินิยมโดยเหตุผลบางประการ
ปี ๒๕๑๓  ผลงานชื่อ หรือจะเป็นเพียงความฝัน (บรรพ ๑-๔) ของ พวงแสด
 
ปี ๒๕๑๓ เป็นปีสุดท้ายของรางวัลเกียรตินิยม

ที่มา หนังสือเกียรตินิยมวรรณศิลป์ จัดพิมพ์โดย ชมรมวรรณศิลป์ ส.จ.ม. ๒๕๑๖

ปล. ในวรรค  ฉันเต็มดวงโศกประดังเกรงหวังวาย  ไม่แน่ใจว่าหนังสือพิมพ์ผิดหรือเปล่า ผมว่าน่าจะแก้ ฉันเต็มดวง เป็น ฉันเป็นห่วง


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 27 ส.ค. 08, 16:21
       คุณอัจฉรา ตันสงวน เป็นพี่สาวของเพื่อนร่วมงาน(ผู้อาวุโส) ครับ
เป็นบุตรีของศาสตราจารย์เตียง ตันสงวน อดีตคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
(เพิ่งมีงาน ๑๐๐ ปี ศรีศตวรรษ เตียง ตันสงวนไปเมื่อปีที่แล้ว)
จบการศึกษาจากคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ และน่าจะเป็นลูกไม้ใต้ต้นคุณพ่อครับ เพราะ
อาจารย์เตียงท่านชอบแต่งกลอน(เป็นภาษาอังกฤษ)ไว้มากมาย
       ปัจจุบันทำธุรกิจส่วนตัวที่ภาคเหนือ และยังมีร้านอาหารในกรุงเทพฯ ด้วย


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 28 ส.ค. 08, 17:53
ขอบคุณ คุณ SILA ครับ ที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ คุณอัจฉรา  ตันสงวน
ไม่ทราบว่าเดี๋ยวนี้ท่านยังเขียนกลอนอยู่หรือเปล่า?

ถึงตรงนี้ขอนำทุกท่านมารู้จักกับนักกลอนอาวุโสอีกท่านหนึ่ง คือ คุณประสิทธิ์ โรหิตเสถียร
ซึ่งถือว่าเป็นนักกลอนรุ่นบุกเบิกของชมรมนักกลอน ก่อนจะเปลี่ยนเป็นสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย
ในปัจุบัน ขอยกผลงานกลอนที่ถือว่าดีเด่นชุดหนึ่งของท่านมานำเสนอแล้วกันครับ

 เลือดสุพรรณ

โอ้,สุพรรณวันนี้ไม่มีพิม
มาเยือนยิ้มพริ้มพรายให้ชายหลง
สิ้นขุนแผนแสนสะท้านชาญณรงค์
เหลือแต่พงศาวดารตำนานรัก

ขาดริปูคู่ศึกที่ฮึกหาญ
เคยรุกรานผลาญย่ำกระหน่ำหนัก
ไม่เห็นศพซบก่ายหมายพิทักษ์
เหลือเพียงหลักฐานชี้ความดีงาม

เป็นสุสานทหารผู้ไม่รู้ชื่อ
แต่เกียรติลือเลอลบจบสยาม
ทิ้งกองเถ้าเจดีย์นิรนาม
ประทับความดีอาบกำซาบใจ

เห็นหย่อมตาลลานตา ณ ครานี้
เสียดยอดชี้ฟ้าครามงามสดใส
ซ้ำรสตาลหวานติดสนิทใน
ด้วยเลือดไทยหลากทุ่งบำรุงตาล

เลือดสุพรรณวันก่อนเคยร้อนรุ่ม
หลั่งลงชุ่มฉาบดินทุกถิ่นฐาน
บัดนี้เย็นเป็นสุขทุกประการ
เพราะไทยหาญหวงถิ่นไว้ให้ไทยเอย

ประสิทธิ์  โรหิตเสถียร  ๒๕๐๕


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 29 ส.ค. 08, 14:18
      ตอบคุณจอมยุทธ ว่าหลังจบการศึกษาช่วงที่คุณอัจฉราเป็นอาจารย์สอนหนังสือ
ก็ยังเขียนกลอนอยู่บ้าง ตอนนี้ไม่ได้เขียนนานมากแล้ว ผลงานเก่าๆ ก็ไม่ทราบว่าเก็บอยู่ตรงไหน
ถาม(ทางโทรศัพท์)ถึงกลอนน้ำค้างหยดเดียว คุณอัจฉราจำได้แน่นอน แต่ตรงวรรคนี้
       
อ้างถึง
ฉันเต็มดวงโศกประดังเกรงหวังวาย

คุณอัจฉราจำรายละเอียดไม่ได้ ครับ
       โดยส่วนตัวอ่านแล้วเข้าใจว่า ความโศกประดังเข้ามาที่ฉันอย่างเต็มที่(เหมือนพระอาทิตย์เต็มดวง
ที่แผดเผาน้ำค้าง)

       
 


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 01 ก.ย. 08, 21:15
ลอยลำไปกับเรือเพลง

ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ สนธิกาญจน์  กาญจนนาสน์ ได้ประสานงานมิตรสหายนักกลอนในสมัยนั้นเพื่อนัดหมายลงเรือ
โดยเฉพาะในวันลอยกระทง โดยใช้ชื่อการชุมนุมนั้นว่า "ลอยลำไปกับเรือเพลง" การจัด "เรือเพลง" นั้น นอกจาก
จะเป็นที่ชุมนุมมิตรสหายนักกลอนส่วนมากแล้ว ยังเป็นที่ชุมนุมนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์อีกด้วย "เรือเพลง"
ดำเนินงานมาประมาณ ๑๒ ครั้ง แต่ละครั้งมีการประกวดกลอน ได้กลอนดี ๆ ได้พบเพชรงาม ๆ เช่น เนาวรัตน์
พงษ์ไพบูลย์ , นิภา  บางยี่ขัน , ทวีสุข  ทองถาวร , ศิริพงษ์  จันทร์หอม , วรา  จันทกูล , ปิ่นฤทัย  รวิปรีชา ,
สุรินทร์  ประสพพฤกษ์ เป็นต้น

บทกลอนดี ๆ จากการจัด "เรือเพลง" ทั้ง ๑๒ ครั้ง ผมขอคัดบางส่วนมาให้อ่านเท่าที่หาได้ในตอนนี้นะครับ

บทกลอนชุดแรกที่ผมจะขอคัดมาให้อ่าน คือชุด "เรือเพลง" ผลงานของ สนธิกาญจน์  กาญจนนาสน์ เจ้าของ Project
จากการ "ลอยลำไปกับเรือเพลง" เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙

เรือเพลง

โลดเถลิงเริงเล่นอยู่เป็นนิจ
ล้อชีวิตกับความจนอย่างคนเก่ง
ลอยอยู่กลางทะเลรักอย่างนักเลง
เล่นกับเพลงหลอกล่อมาพอควร

เคยมีรักหลายหนจนประจักษ์
แต่จากรักคราใดไม่เคยหวล
หลายครั้งที่รักชะลอก็รัญจวน
แต่มิครวญเมื่อรักลาถลาลอย

จะว่าหยิ่งก็หยิ่งเกินเมินดอกหญ้า
แต่ดอกฟ้าก็เฉยเฉยไม่เคยสอย
คราวจะไปใครให้รอก็ไม่คอย
ใครจะถอยหนีไปก็ไม่ตาม

ใครจะมีรักใหม่ไม่อยากรู้
ใครจะอยู่กับใครไม่อยากถาม
ใครจะกล่าวถางถากไม่อยากปราม
ใครจะห้ามเล่นกับไฟไม่อยากฟัง

มิหลงเหลิงกับความฝันของวันใหม่
มิเสียใจกับความทรามของความหลัง
ใครจะเลวเหลวไหลไม่อยากชัง
ใครมอบหวังดีให้ไม่อยากรับ

ใช้ชีวิตเหมือนเรือเพลงบรรเลงล่อง
เช้าก็ท่องลอยลำค่ำก็กลับ
ชมฟ้ารุ่งเดือนฉายประกายระยับ
ฟังคำขับร้อยกรองร้องเพลงเรือ

สนธิกาญจน์  กาญจนาสน์  ๒๕๐๙

จริง ๆ แล้ว บทกลอนชุดนี้มีเผยแพร่อยู่ในเน็ตเยอะพอสมควร สามารถ Search หาได้ไม่ยากนัก แต่เนื่องจาก
ตอนที่ผมคัดบทกลอนชุดนี้เผยแพร่ใน กระทู้ "บันทึกไว้ในวงวรรณ" ที่ถนนนักเขียน พันทิป เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖
กลอนบทสุดท้ายวรรคแรก ผมตกคำว่าเรือไปหนึ่งตัว กลายเป็นว่า " ใช้ชีวิตเหมือนเพลงบรรเลงล่อง"ดังนั้นกลอนชุดนี้
ที่ค้นเจอในเน็ตเลยตกคำว่า "เรือ" ในบทสุดท้ายวรรคแรก ตามกันไปหมด


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 01 ก.ย. 08, 21:17
บทกลอนชุดต่อไปที่ผมจะคัดมาให้อ่าน เป็นสำนวนชนะเลิศ "ลอยลำไปกับเรือเพลง ครั้งที่ ๑" เมื่อวันที่
๖ พ.ย. ๒๕๐๓ ได้รับรางวัลจากชมรมนักกลอน กรรมการตัดสิน คือ กิจจา  ปูรณัน , สวัสดิ์  ธงศรีเจริญ
และอนันต์  สวัสดิพละ

ภาพพิมพ์ใจสองฝั่งเจ้าพระยา

ระรื่นชื่นชมด้วยลมพริ้ว
ละลิ่วลิ่วริ้วคลื่นครืนผวา
ละลอกเรื่อยกระทบกระทั่งฝั่งสุธา
ละลานตารวิวาบอาบนที

พงอ้อออดพลอดพร่ำกับลำน้ำ
สลับซ้ำแซมใผ่ใบเสียดสี
เจ้าพระยาพาชื่นรื่นฤดี
สกุณีเวียนว่อนร่อนเริงลม

แลหมู่บ้านลานตาน่าชื่นจิต
กระท่อมนิดเรือนน้อยค่อยสุขสม
ไม่ใหญ่โตโอ่อ่าน่านิยม
ก็ชื่นชมว่าเป็นถิ่นแผ่นดินไทย

อารามหลวงอารามราษฎร์แลดาษดื่น
เจดีย์ยื่นเสียดฟ้าท้าไถง
เป็นภาพพิมพ์สลักซึ้งตรึงหว่างใจ
ฝังฤทัยระลึกอยู่มิรู้ลืม

นิภา  บางยี่ขัน  ๒๕๐๓


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 01 ก.ย. 08, 21:18
บทกลอนอีกชุด เป็นสำนวนชนะเลิศ "ลอยลำไปกับเรือเพลง ครั้งที่ ๔" เมื่อ ๒๘ ธ.ค. ๒๕๐๖ ให้แต่งภายในเรือ
(จำกัดเวลา) กรรมการตัดสินคือ อำนวย  สุขเจริญ , สมประสงค์  สถาปิตานนท์ , วิจิตร  ปิ่นจินดา , สวัสดิ์
ธงศรีเจริญ และนรี  นันทวัทน์

ลอยลำไปกับเรือเพลง

"เพลงความสุข" กังวาลใสไม่ขาดเสียง
ในเรือเพียงสวรรค์ล่องท่องน้ำกว้าง
แต่ใจเราเริ่มบรรเลง "เพลงรักร้าง"
เพราะขาดคนร่วมทางเหมือนอย่างเคย

ดูทิวทัศน์ริมทางอ้างว้างเหลือ
คนในเรือเล่าเกินทักมิตรรักเอ๋ย
ล้วนแปลกหน้าท่าทางวางเฉยเมย
เรือล่องเลยใจยิ่งร้างขวัญคว้างรอ

เคยสบตาตาสองเราจ้องสบ
จะไม่พบอีกหรือไรโอ้ใจหนอ
ตาเราเอ๋ยต้องแอบไว้น้ำใสคลอ
เกรงจะส่อความนัยให้อายคน

เรือเพลงล่องก็ยังรู้สู่หนไหน
แต่ใจเราล่องไปไม่รู้หน
ฝั่งรักสินับจะร้างห่างกมล
ยังสู้ทนฝากหวังจอดฝั่งใจ

ปิ่นฤทัย  รวิปรีชา  ๒๕๐๖


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 05 ก.ย. 08, 22:23
กลอนสำนวนต่อไป เป็นสำนวนชนะเลิศ " ลอยลำไปกับเรือเพลง ครั้งที่ ๗ " เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๑๐
ซึ่งเป็นผลงานของ วรา จันทกูล

ลำนำแห่งเจ้าพระยา

ล่องไปในสายน้ำและความหวัง
แว่วแว่วฟังฟองคลื่นฟื้นคำขาน
หอมบุปผาราตรีเมื่อคลี่บาน
ปลุกวิญญาณเจ้าพระยาขึ้นมาเยือน

คืนหนาวเย็นเพ็ญจันทร์อันไพจิตร
เคลิ้มเคลิ้มคิดคล้ายคล้ายภาพรายเลื่อน
ในฝันพร่าฟ้าพริ้มพิมพ์ดาวเดือน
มาตามเตือนใจตื่นจนตื้นตัน

ภาพวัดวาอารามตามริมฝั่ง
พระปรางค์ตั้งตรงสู่ประตูสวรรค์
เสมือนถูกทอดทิ้งให้นิ่งงัน
คอยคืนวันเวลามาทำลาย

โอ้ เมืองพุทธศาสนาเคยปรากฎ
รุ่งเรืองรสธรรมรัตน์จรัสฉาย
อย่าได้เป็นเช่นคำพุทธทำนาย
ขอเห็นชายผ้าเหลืองพระเรืองรอง

ภาพคืนที่ลอยกระทงทรงประทีป
สว่างชีพชื่นชมเชิญลมล่อง
สวยกระทงอธิษฐานส่งธารทอง
เดือนสิบสองแสงเดือนงามเตือนใจ

นี่นับวันจะวังเวงเพลงเรือเห่
เสื่อมเสน่ห์ประเพณีศรีสมัย
เพลงดอกสร้อยสักรวาฝากอาลัย
จะเลือนไกลไปจนสุดอยุธยา

ภาพวังเวียงเรียงตลอดยอดปราสาท
สวยประกาศศิลปกรรมอันล้ำค่า
โอ้ สยามงามระยับรองรับฟ้า
ภาวนาอย่าให้ยับเพราะรับคน

ล้วนต่างเชื้อต่างชาติศาสนา
ต่างภาษาแทรกสลับมาสับสน
ความโอ่อ่าอารยะที่ปะปน
จะซึมจนสายเลือดไทยเหือดลง

โอ้ เพลงแห่งความห่วงความหวงแหน
จงกล่อมแผ่นดินสยามพ้นความหลง
ร่ายมนต์รักแรงร่วมรวมเผ่าพงษ์
ให้มั่นคงสามัคคีเหมือนสี่แคว...

ริ้วเส้นไหมสายหมอกระลอกเรื่อย
ลมหนาวเฉื่อยโชยน้ำค้างคลี่ร่างแห
ห่มหัวใจเจ้าพระยา...หรี่ตาแล
ความเปลี่ยนแปรเป็นไปอย่างใจเย็น

วรา  จันทกูล   ๒๕๑๐


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ย. 08, 08:00
ไม่ได้ยินชื่อ วรา จันทกูลมานานมากแล้ว   อ่านกลอนแล้วนึกถึงฝีมือนักกลอนรุ่นเก่า ที่ให้ความสะเทือนอารมณ์จากวรรณศิลป์
ได้ข่าวคราวบ้างไหมคะ คุณจอมยุทธฯ

ผู้อ่านท่านหนึ่งจากอีกเว็บ  ไปเปิดกรุวรรณศิลป์จุฬา    ส่งกลอนสมัย ๒๕๑๐ กว่าๆมาให้
บทนี้ไม่รู้ว่าฝีมือใคร  เธอไม่ได้จดไว้
เดาว่า เป็นสุรศักดิ์ ศรีประพันธ์ แต่ไม่ใช่ของ "ธารี"

ถ้าเปรียบเธอเป็นทะเลเสน่หา
มีดวงตาแวววาวดุจดาวเหนือ
ตัวของฉันเร่เลื่อนลอยเหมือนเรือ
ยังชีพเพื่อพบเธอเสมอมา

แสนสงสารเข็มทิศชีวิตฉัน
มิอาจหันเหให้เรือใกล้ท่า
หากดาวเหนือมิเอื้อแววโอ้แก้วตา
แอบมองฟ้าแอบฝันหวั่นฤดี

โอ้ใจเอ๋ยมิอาจหักความรักหลง
เกรงแหลกลงไร้สง่าสิ้นราศี
ใจฉันคงพังภินท์หมดชิ้นดี
หากคนที่กู้ภัยมิใช่เธอ


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 09 ก.ย. 08, 21:33
ช่วงนี้คงขอคัดกลอนของนักกลอนรุ่นเก่าอีกท่านหนึ่งมาให้อ่านกัน นักกลอนท่านนี้คือ ถาวร  บุญปวัตน์

ฉันเสียใจ

อยากสอยดาวพราวพร้อยเป็นสร้อยศอ
อยากจะทอใยแขเป็นแพรสี
แต่เป็นเพียงภาพสร้างอย่างกวี
จึงสุดที่เสกสรรค์กำนัลเธอ

อยากจะร้อยสร้อยทองเป็นของขวัญ
อยากกำนัลแพรสีที่ขายเกร่อ
แต่เป็นคนจนยากกว่าหลากเกลอ
เกินบำเรอขวัญได้สมใจรัก

อยากประดิษฐ์คิดร้อยสายสร้อยเศร้า
สาวใยเหงาใยหงอยมาร้อยถัก
เป็นรูปพจน์บทกลอนสุนทรลักษณ์
เธอคงจักขำเยาะเพราะค่าไร้

มีเพียงรักสีมุกด์คราวขุกเข็ญ
พอร้อยเป็นสร้อยศอคล้องคอให้
พร้อมกับความหวังดีที่เปี่ยมใจ
ทอแทนไหมแพรห่มกันลมลวง

คนดี
รู้ไหมที่ฉันเร้นความเป็นห่วง
ซึ่งเคยเลวเหลวไหลเกินใครปวง
เหมือนไม่ห่วงเธอนั้น...ฉันเสียใจ

ถาวร  บุญปวัตน์


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 09 ก.ย. 08, 21:41
ตอบคุณเทาชมพูครับ

สำหรับ วรา จันทกูล ยังอยู่ในวงการกลอนครับ และอาจพบผลงานท่านบ้างจากหน้ากวีในในหนังสือรายสัปดาห์
เช่น มติชนสุดสัปดาห์ ครับ


ผู้อ่านท่านหนึ่งจากอีกเว็บ  ไปเปิดกรุวรรณศิลป์จุฬา    ส่งกลอนสมัย ๒๕๑๐ กว่าๆมาให้
บทนี้ไม่รู้ว่าฝีมือใคร  เธอไม่ได้จดไว้
เดาว่า เป็นสุรศักดิ์ ศรีประพันธ์ แต่ไม่ใช่ของ "ธารี"

ถ้าเปรียบเธอเป็นทะเลเสน่หา
มีดวงตาแวววาวดุจดาวเหนือ
ตัวของฉันเร่เลื่อนลอยเหมือนเรือ
ยังชีพเพื่อพบเธอเสมอมา

แสนสงสารเข็มทิศชีวิตฉัน
มิอาจหันเหให้เรือใกล้ท่า
หากดาวเหนือมิเอื้อแววโอ้แก้วตา
แอบมองฟ้าแอบฝันหวั่นฤดี

โอ้ใจเอ๋ยมิอาจหักความรักหลง
เกรงแหลกลงไร้สง่าสิ้นราศี
ใจฉันคงพังภินท์หมดชิ้นดี
หากคนที่กู้ภัยมิใช่เธอ


อันนี้ผมเองก็ไม่ทราบว่าเป็นผลงานของนักกลอนท่านไหนเหมือนกันครับ


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 10 ก.ย. 08, 22:25
วนิดา  สถิตานนท์  หรือ "นิด" เป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนกับ แรมจันทร์  อัฎฐมาศ และ มะเนาะ  ยูเด็น  ที่อักษรศาสตร์ จุฬา
อดีตเคยทำงานที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจนถึงระดับผู้บริหารระดับสูง
และผลงานทางด้านกวีของเธอก็พบเสมอจากอนุสาร อ.ส.ท.

มาอ่านงานของเธอสักชุด จากผลงานสมัยเก่า ๆ ของเธอ ที่ขอบันทึกไว้ในตำนานนักกลอน ครับ

เด็กเท้าเปลือย

วิทยาลัยใหญ่กว้างอยู่กลางทุ่ง
แนวโค้งรุ้งคุ้งสรวงคือปวงสาร
มีลมแดดแผดกล้าเป็นอาจารย์
ไม่ต้องอ่านเขียนท่องแต่ต้องทำ

ภูมิศาสตร์อาจรู้ดูจากฟ้า
ฝนจะมาพายุครวญหรือจวนค่ำ
จะหนาวแล้งแจ้งหมดโดยจดจำ
เมฆขาวดำนั้นนองผองดาวเดือน

มีสังคีตดีดพรมคือลมแผ่ว
วิหคแว่วกวีวรรณนั้นคงเหมือน
เสียงไก่ก้องร้องกู่คือครูเตือน
มิให้เบือนเชือนเฉยละเลยงาน

ชีววิทยาพฤกษาศาสตร์
ธรรมชาติวาดทางวางรากฐาน
มีหรีดหริ่งกรีดดังเป็นกังวาน
มีนาหว่านการไถไว้ทดลอง

เคยลอดซุ้มพุ่มไม้รายรอบข้าง
เมื่อฟ้ากว้างต่างลานงานฉลอง
ปุยเมฆพริ้วปลิวทาบอาบเปลวทอง
แทนไฟส่องระบายรายทิวทอง

เพื่อนสนิทมิตรสหายควายทุยเผือก
ไม่เคยเลือกเกลือกร่างอย่างใหลหลง
ฟางทุกเส้นเป็นขวัญที่มั่นคง
ทอดตาลงตรงไหนล้วนมวลเพื่อนตาย

จากเด็กเท้าเปล่าเปลือยที่เหนื่อยล้า
อยู่กลางนาฝ่าแดดแผดเป็นสาย
แล้วยิ่งยงองอาจสมชาติชาย
จิตและกายคล้ายเป็นส่วนมวลทิวทัศน์

ถือปริญญาสุขสันต์เป็นบัณฑิต
คือมี "สิทธิ์" คิดงามตามถนัด
และมี "ศักดิ์" รักแนบแอบมนัส
โลกซื่อสัตย์ของเจ้าเด็กเท้าเปลือย

วนิดา  สถิตานนท์


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ย. 08, 22:53
ได้กลอนของ อดุล จันทรศักดิ์ มาจากหนังสือรวมกลอนเก่า ชื่อ อารมณ์
เมื่อปี 2507  มีบทนี้รวมอยู่ด้วย
ตอนนั้น ท่านอยู่ปี 1 ก็อายุประมาณ 18 ปี

กัปตันเรือผุ

ระหว่างน้ำกับฟ้าคลื่นบ้าคลั่ง                             ฝั่งกับฝั่งกว้างไกลเกินไปถึง
เรือบอบบางถูกฉุดให้หยุดตรึง                           ถ้าดื้อดึงคงสะบั้นลงทันใด

ชีวิตเราคล้ายเรือหางเสือผุ                               สู้พายุรอบด้านอย่างหวั่นไหว
กลางทะเลเหว่ว้าทอดอาลัย                              หมดแรงใจสิ้นหวังซังกะตาย

กัปตันคือเธอผู้กู้เรือนี้                                       ไว้ก่อนที่เรือจะแหลกสลาย
ด้วยศรัทธากล้าแกร่งด้วยแรงกาย                       แทนความหมายจากจิตเป็นนิจมา

จนกัปตันเข้าประจำเรือลำใหม่                            ก็หลบหลี้หนีไกลความใฝหา
ทิ้งเรือน้อยลอยลำกับน้ำตา                                ทะเลบ้าเริ่มคลั่งอีกครั้งแล้ว

เรามองเห็นขอบฟ้ากว้างกว่าเก่า                         แต่ไร้เงารังรองซึ่งผ่องแผ้ว
และคล้ายกับเข็มทิศชี้ผิดแนว                             เรือจึงแน่วสู่ทิศมืดมิดนั้น

คือที่ไร้แสงพราวของดาวเหนือ                           เราเหมือนเรือร่อนเร่ทะเลฝัน
คงอับปางเพราะร้างรักลงสักวัน                          เมื่อกัปตันไม่ยอมตายพร้อมเรือ                         


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 14 ก.ย. 08, 21:33
ถึงตรงนี้ ผมขอนำบทกลอนซึ่งต่อมาได้นำมาใส่ทำนองเป็นบทเพลง มานำเสนอครับ

 จากเจ้าพระยา...ถึงฝั่งโขง

ไม่มีภาษาใดที่ในโลก
บรรยายโศกอกเราได้เศร้าเหมือน
เท่าน้ำตาพร่าอาบซับภาพเลือน
เก็บไว้เตือนใจว่า...แสนอาวรณ์

โอ้หวิวหวิวพริ้วแผ่วแล้วก็หาย
ฟังคล้ายคลัายเสียงฟ้ามาหลอกหลอน
ฟังคล้ายคล้ายเสียงลมพรมพริ้ววอน
เป็นบทกลอนว่ารักอยู่ทุกครู่ยาม

" แม้อยู่ห่างต่างถิ่นแผ่นดินไหน
ถ้าวันใดคิดถึงถิ่นแผ่นดินสยาม
จงมองดาวพราวพร้อยลอยฟ้างาม
เพราะทุกยามฝากใจไว้กับดาว "

ดังสำเนียงเสียงเพื่อนเตือนมาว่า
ทุกเวลาห่วงหวงกับห้วงหาว
คืนฟ้าหมองดาวอับแสงวับวาว
แต่ยังพราวโชติช่วงในดวงใจ

คือสำเนียงเสียงสั่งถึงฝั่งโขง
ผ่านรอบโค้งฟ้ากว้างสว่างไสว
เคลียสายลมพรมอุ่นละมุนละไม
เหมือนเสียงไห้เจ้าพระยา...พารัญจวน

โอ้หวิวหวิวพริ้วแผ่วแล้วก็หาย
น้ำตาพรายพร่าหลั่งยังไห้หวน
อยู่แผ่นดินถิ่นใดดวงใจครวญ
ไหลย้อนทวนความเศร้าเจ้าพระยา

สนธิกาญจน์  กาญจนนาสน์  ๒๕๑๐

บทกลอนชุดนี้ตรงที่เป็นสีน้ำเงิน ต่อมาได้นำมาใส่ทำนองเป็นบทเพลงที่ชื่อว่า จากเจ้าพระยา...ถึงฝั่งโขง


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 14 ก.ย. 08, 21:36
 เจ้าพระยาราตรี

เจ้าพระยาราตรีคลี่ม่านแก้ว
นวลจันทร์แวววาววับสลับสวย
คลื่นน้อยน้อยเลี้ยวลดระทดระทวย
ลมระรวยร่ายร่ำอยู่ร่ำไป

น้ำค้างค่ำฉ่ำชื้นสะอื้นหล่น
หนาวเหน็บจนกายสั่นทรวงหวั่นไหว
แว่วเพลงหวนครวญหามาไกลไกล
เสนาะในลำนำหวนคำนึง

ละอองหมอกขาวล่องลอยฟ่องคว้าง
คิดยิ่งอ้างว้างจิตยิ่งคิดถึง
หนาวอารมณ์ข่มจิตพิษรักตรึง
จากคนซึ่งกำลังไกลจากใจจำ

ธัญญา  ธัญญามาศ  ๒๕๐๗

สำนวนนี้เป็นสำนวนชนะเลิศ จาก "ลอยลำไปกับเรือเพลงครั้งที่ ๔"  ๑๙ ธันวาคม ๒๕๐๗
ได้รับรางวัลจาก "ดัทสัน บลูเบิร์ด" หนึ่งพันบาท และได้รับเกียรตินำไปใส่ทำนองเพลงอีกโดย แก้วฟ้า
กรรมการตัดสินคือ "อิงอร" "แก้วฟ้า" , ชอุ่ม ปัญจพรรค์ , ลมูล อติพยัคฆ์ และเสถียร วีรกุล


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 14 ก.ย. 08, 21:39
หยดน้ำเจ้าพระยา

จากหยดน้ำหยดน้อยหลายร้อยหยด
รวมกันหมดเป็นมหาชลาใส
จากปิงวังยมน่านผ่านมาไกล
แล้วรวมไหลกันเข้าเป็นเจ้าพระยา

คือสายเลือดร่วมไหลไทยทั้งชาติ
รวมน้ำใจใสสะอาดศาสนา
รวมภักดีสูงส่งองค์ราชา
รวมศรัทธาในเสน่ห์ประเพณี

เจ้าพระยาเรื่อยไหลไม่รู้สร่าง
ไหลแผ่กว้างคว้างไปในทุกที่
โอบถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงชีวี
รวมฤดีไทยผองเกี่ยวคล้องกัน

จากหยดน้ำหยดน้อยหลายร้อยหยด
จึงปรากฎเป็นมหานทีขวัญ
ขอความรักเรารวมร่วมผูกพัน
นานเท่าวันเจ้าพระยาไหลบ่านอง

ศิริพงษ์  จันทร์หอม

กลอนชุดนี้เป็นกลอนประกวดรางวัลชนะเลิศจากเรือเพลง เงินรางวัล ๑,๐๐๐ บาท โดย ครูเอื้อ สุนทรสนาน
เป็นกรรมการตัดสินชี้ขาด และได้นำมาใส่ทำนองเพลงในเวลาต่อมา


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 22 ก.ย. 08, 14:42
ผมห่างหายไปหลายวันเนื่องจากมีภาระต้องไปทำงานต่างพื้นที่ ๑ อาทิตย์เต็มๆ

ตอนนี้กลับมากรุงเทพแล้ว จึงขอบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับนักกลอนและบทกลอนที่น่าจะหาอ่านได้ยากในปัจจุบันต่อครับ

ในช่วงประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๐ - ๒๕๑๗ ชมรมวรรณศิลป์ สจม. ถือเป็นที่ชุมนุมของกลุ่มนักกลอน
หนุ่มสาวที่มีชื่อเสียงในสมียนั้นแห่งหนึ่ง หลายท่านยังมีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบัน แต่ก็ยังมีอีกหลายท่านที่ไม่เป็นที่
รู้จักมากนัก เพราะอาจจะร้างลาจากวงการกลอนไป

ปราโมทย์ สันตยากร ที่เป็นนักกลอนที่โดดเด่นของรั้วสีชมพู-จุฬาลงกรณ์ ในสมัยนั้นอีกคนหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบัน
อาจไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ตรงนี้ผมขอนำงานของนักกลอนท่านนี้มานำเสนอสัก ๒ ชิ้น ครับ

สำนึกสุดท้ายของคนทรนง

ฉันมาดูดวงดาวคราวย่ำค่ำ
ริมลำน้ำซึ่งไม่เคยไหลกลับ
เพชรน้ำค้างพร่างใสไหวระยับ
จูบประทับใบไม้ใกล้ลำธาร

เหงาที่สุดเมื่อห่างเธออย่างนี้
ยากนักที่จะดับพิษคิดถึงบ้าน
จำทุกถ้อยอำลา คำสาบาน
บอกกับเธอฉันต้องการความมั่นใจ

จะเก็บความอ่อนแอแค่วันนั้น
เพื่อเริ่มวันต่อสู้อย่างผู้ใหญ่
เธออาจต้องทรมานนานเกินไป
แต่ขอให้เชื่อมั่นฉันสักคราว

หากพรุ่งนี้ พรุ่งนี้ที่ฝันถึง
คือสิ่งซึ่งเกินรอต่อความสาว
บอกฉันเถิดฉันพร้อมยอมปวดร้าว
ต่อช่วงก้าวห่างไกลจากใจเธอ

ด้วยศักดิ์ศร้ลูกผู้ชายหวังไว้ว่า
จะกลับมาเพื่อมิให้ใครรอเก้อ
นำทุกความปรารถนามาปรนเปรอ
(คอยพิสูจน์ข้อเสนอ, ถ้าเธอรอ)

กับรอยเท้าไกลกันวันละก้าว
เธอเหน็บหนาวเหนื่อยหน่ายมากไหมหนอ
ฉันอ่อนแอเกินจะไปให้ตัดพ้อ
ขอโทษต่อผู้ซึ่งฉันผิดสัญญา

ดาวเอ๋ยดาวย่ำค่ำ ย้ำว้าเหว่
คนร่อนเร่ปวดร้าวหนาวซบหน้า
สงสารแต่เธอผู้อยู่โพ้นฟ้า
ไม่รูว่าคนทะนงล้มลงแล้ว

ปราโมทย์  สันตยากร


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 22 ก.ย. 08, 14:45
มาอ่านงานของ ปราโมทย์  สันตยากร อีกชิ้นครับ

ปราการศพ

อ่อนโยนแห่งละอองหมอกจูบดอกไม้
ความเงียบไล้โลมป่าเมื่อฟ้าสาง
ลำแรกของแสงตะวันอันเลือนลาง
โอบทุกร่างที่เรียงรายชายป่านั้น

ตัดภาพสู่เช้าวันก่อนอย่างอ่อนไหว
เด็กหนุ่มในท้องนาลาความฝัน
พบชีวิตแอบแฝงแรงกดดัน
และมืออันหยาบกร้านของการรบ

ข้าวที่ขายไม่พอค่าเช่านาเขา
ชีพว่างเปล่าหดหู่ไม่รู้จบ
หน่ายการรอโชคชะตาลอยมาพบ
เบื่อการทบเท้าท่องลานท้องนา

เมตตาธรรมคือฝันอันเร้นร้าง
หยาดน้ำกลางทะเลทรายหาง่ายกว่า
สังคมมีช่องว่างกว้างสุดตา
เหมือนแผ่นฟ้าไกลมากจากผืนดิน

เหงื่อ น้ำตา ราคาถูกในยุคเลือด
และจุดเดือดกลางใจดับไม่สิ้น
นกพิราบมิกล้าถลาบิน
ชวนถวิลสังเวชเศษชีวิต

สงครามหรือ สันติภาพทาบผืนหล้า
ชีพชาวนาก็ถูกย่ำอย่างอำมหิต
เป็นคนเพื่อคนอื่นขื่นความคิด
ไม่มีสิทธิ์เห็นวันอันชื่นตา

ปราการแห่งซากศพก่ายทบซ้อน
หรีดอาทรถูกวางกลางผืนป่า
วังเวงคำสดุดีเอื้อนลีลา
กล่อมคนกล้าซึ่งตายเพื่อนายทุน

ปราโมทย์  สันตยากร


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 22 ก.ย. 08, 15:10
ขอบคุณคุณjomyutmerai ที่นำบทกลอนของคุณปราโมทย์มาให้อ่าน ตอนนี้ทราบว่าปฏิบัติธรรมอยู่ และเป็นระดับครูเลย คนรู้จักในนามหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชชา


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 23 ก.ย. 08, 10:39
ขอบคุณ คุณกุงแห้งเยอรมันครับ ทีให้ข้อมูลเพิ่มเติมของ ปราโมทย์  สันตยากร

มาถึงนักกลอนจากชมรมวรรณศิลป์ สจม. อีกท่านหนึ่งครับ

อุบล  เพชรหนู เป็นนักกลอนหญิงจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และเป็นหัวหน้าทีมกลอน
ชมรมวรรณศิลป์ สจม. ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ที่พาทีมชนะเลิศได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระศรี
นครินทราบรมราชชนนี ในการแข่งขันร้อยกรองสดระหว่างสถาบัน

ตรงนี้ผมขอคัดผลงานกลอนของเธอมานำเสนอ ๒ ชิ้นครับ

หนาวน้ำป่า

ประกายแก้วแตกซ่านที่บ้านป่า
ท่องลงมาในความหนาวสีขาวหม่น
อ้อมป่าเขาพริ้วกระจายสายน้ำวน
นำทุกข์ท้นกลบระแหงแห่งดินดอน

เกลียวคลื่นคลั่งหลั่งไหลไปเบื้องหน้า
โพ้นชายป่า-บ้านของฉันเมื่อวันก่อน
ปลุกชีวิตขื่นขมให้ตื่นนอน
ซับความร้อนโดยน้ำหนาวขาวละไม

แพรดอกท้อกลีบหมองท่องน้ำหลาก
ซึ่งเปิดฉากเยาะย้ำเสียงร่ำไห้
เสียงโหยหาอาวรณ์ก่อนสิ้นใจ
ซ่านอยู่ในแววตาที่พร่าพราย

ฉันลงลุยน้ำป่าฝ่าคลื่นคลั่ง
คลื่นน้ำหลั่งหลากไหลไม่ขาดสาย
รับเพื่อนฉันส่งยังฝั่งสุดท้าย
รับเรือนกายเปียกชื้น เจ็บตื้นตัน

ไกลเหลือเกินไกลมากจากที่นี่
ไกลเกินที่จะหาใครไปปลอบขวัญ
แมร้องขอหรือเงียบเหงาก็เท่ากัน
สู้เก็บกลั้นน้ำตามาเนิ่นนาน

ฉันลงลุยน้ำป่าประกายแก้ว
เหนื่อยนักแล้วการรอให้น้ำใจผ่าน
หอมเอยหอมดอกท้อช่อแรกบาน
เอื้อรสหวานจูบร่ำ วันอำลา

อุบล  เพชรหนู


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 23 ก.ย. 08, 10:42
มาอ่านงานของ อุบล เพชรหนู อีกชิ้นครับ

ศรีตรัง

ศรีตรังได้โรยใบลงในป่า
ขณะฟ้าสีขาบเริ่มอาบแสง
เมื่อทุกอย่างได้เริ่มต้นจนเปลี่ยนแปลง
วันป่าแล้งป่าจึงเหงาเฝ้าแต่รอ

สีสันป่าคือใบไม้หลายหลายสี
ขณะที่คอยดอกไม้ให้ชูช่อ
คอยใบเขียว ยอดอ่อนแตกซ้อนกอ
ช่วยเติมต่อชีวิตใหม่ให้อีกครั้ง

วันอ้างว้างคว้างไหวใบไม้ร่วง
ปลิดความห่วงโหยไห้ในหนหลัง
ซบพื้นดินรอยระแหงที่แห้งกรัง
เหมือนวาดหวังแล้วร่ำลาอย่างอาลัย

ศรีตรังเป็นต้นไม้ในป่าร้อน
ธรรมชาติคือช่างอ้อนและอ่อนไหว
เมื่อหนาวหน่อยก็ผลิดอกและออกใบ
เปลี่ยนแปลงไปทั้งชอกช้ำก็จำยอม

ฉันเป็นต้นศรีตรังที่ยังอ่อน
ถูกไฟร้อนเพราะอับจนคนถนอม
สลัดใบทับถมฉันตรมตรอม
ป่าแวดล้อมคือป่าดำไกลลำน้ำ

ใบเล็กเล็กบอบบางเกลื่อนทางแล้ว
สัมผัสแผ่วสายลมรื้นมาชื่นฉ่ำ
หอบความเย็นช่วงสุดท้ายชายป่าดำ
กล่อมความช้ำให้สงบกับศพตน

อุบล  เพชรหนู


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 24 ก.ย. 08, 10:30
       วันนี้ได้รับจดหมายและบทกลอนที่คุณอัจฉรา ตันสงวนได้กรุณาไปค้นมาให้ ครับ

    ..บทที่ได้รางวัลได้นำไปลงหนังสือของคณะครุฯ รู้สึกเป็นหนังสือรุ่นทำกันเอง
เผอิญรุ่นพี่ไปเห็นเข้า ถ้าจำไม่ผิดก็เป็นพี่รัศมี เผ่าเหลืองทอง พี่เขาแนะให้แก้ไข ประแป้งแต่งตัวใหม่

    .. กลับไปค้นหากลอนเก่าๆ ได้บทดั้งเดิมของ "น้ำค้างใสหยดเดียว" มาฝาก

22 มิ.ย. 2507

             น้ำค้างหยดเดียว

    น้ำค้างใสหยดเดียวบนเรียวหญ้า
ณ เบื้องหน้ากลอกกลิ้งประกายฉาย
ดังรวมรุ้งเพชราดาราราย
สะท้อนพรายน้ำพร่างกระจ่างดวง

สุรีย์มาศสาดแสงเริ่มแรงกล้า
ฉันผวาหัตถ์ป้องเปรียบของหวง
เกรงฤทธิ์ร้อนจะกร่อนกัดกำจัดดวง
ละลายร่วงลับไปในชั่วพริบ

แม้หัตถ์ไหม้ให้แสงแรงกว่านี้
หรือลมปรี่ฉันกันไว้ไม่ไหวกริบ
อยากจะนำน้ำใสไปเสียลิบ
ครั้นจะหยิบเกรงจะหยดรินรดลง
 
ฉันสุดหวงห่วงประกายสายน้ำนิ่ง
เห็นแล้วยิ่งบีบหทัยให้เป็นผง
น้ำค้างอ้อนซ้อนเศร้าเฝ้าพะวง
ดูเหมือนคงพูดด้วยว่า "ช่วยที"

แม้ฉันช่วยชูช่วงดวงน้ำเอ๋ย
คงไม่เลยหลีกละหรือผละหนี
โอ้เวลาล่วงลับนับนาที
ทุกข์ทวีหทัยฉันหวั่นอาวรณ์

พอหวนมองอีกทีฤดีหาย
คงให้คลายคิดทาบว่าภาพหลอน
ผวาช้อนเรียวพฤกษานัยน์ตาวอน
โอ้เจ้าจรน้ำเนตรหยาดลงพาดตฤณ.


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 24 ก.ย. 08, 10:33
        .. อีกบทหนึ่งเรื่อง "โลกบ้า" เขียนเอง อ่านเอง ไม่เคยไปลงพิมพ์ที่ไหน..

11 มีนาคม 2551

               โลกบ้า
 
     โอ้เอ๋ย โอละเห่ ทะเลหวาน
ชมพู่ฝานเห็นหนอนมันบ่อนไส้
อันคนชั่วตัวผ่องเป็นยองใย
คนดีไซร้ปุ่มป่ำตามลำตัว

ดูเลือดมดสดดีเป็นสีชาด
คนสะอาดเปลี่ยนใจไปเป็นชั่ว
อันนวลนางสอางค์โฉมก็โทรมมัว
พระก็กลัวกุฏิพังจะคลั่งตาย

อาทิตย์เปลี่ยนขึ้นพลันตะวันตก
ฝูงคางคกหัวเราะกัน พระจันทร์หาย
โลกย่อยยับอัปรีย์ดังผีร้าย
ทั้งดินทรายเปื่อยยุ่ยเป็นปุยปลิว

นาฬิกาผันเปลี่ยนเป็นเวียนซ้าย
ฝูงกระต่ายโง่เง่า เต่าวิ่งฉิว
ทั้งนกกาเข้าแถวเป็นแนวทิว
คนยามหิวมืดหน้าคว้าอาจม

กฎุมพีรี่วิ่งชิงวังเจ้า
ใบสะเดากลายหวาน น้ำตาลขม
อันเพชรพลอยลอยหล่นจมโคลนตม
ความโสมมทั่วถนนแห่งหนทาง

ด้วยโลกบ้าอาภัพมันยับย่อย
สงครามพลอยซ้ำทรุดสุดจะขวาง
อีกฝูงชนบ่นซ้ำคร่ำครวญคราง
กลิ่นศพสางตราบทิวาจวบราตรี


ป.ล. นิดหนึ่งครับ - คุณปราโมทย์ > หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช < ครับ


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 25 ก.ย. 08, 22:21
อ่านกลอนของนักกลอนฝั่งจุฬาฯ มาหลายชุดแล้ว มาอ่านกลอนของนักกลอนฝั่งธรรมศาสตร์กันบ้างดีกว่าครับ

นักกลอนคนนี้ได้ฉายาว่า "ปากกาจุ่มน้ำผึ้งแล้วจึงเขียน" และเป็นหนึ่งในอดีตสี่มือทองของธรรมศาสตร์

ขอคัดกลอนของท่านมานำเสนอ ๒ ชิ้นครับ

คนช่างงอน

ก่อนแก้มนิ่มเธอแนบลงแทบหมอน
กราบขอพรเผื่อใครคนไหนหนอ?
ภายหลังหลับแล้วละเมอหลงเพ้อพ้อ
เขาผู้ก่อความฝันคนนั้นใคร?

แอบพลิกหมอนค่อนคืนเพื่อฟื้นฝัน
พอตื้นตันแล้วก็หมองแอบร้องไห้
หมอนข้างทอดกอดประทับแนบกับใจ
คิดถึงเขา...ใช่มิใช่อย่าไก๋เลย

กระนี้หนอนิดหนึ่งก็ขึ้งโกรธ
แท้ทำโทษใจตนอีกคนเฉย
เพราะอีกฝ่ายใจเย็นเห็นเสียเคย
แทบอยากเย้ยเอ๋ยคำแกล้งซ้ำเติม

รู้ไหมว่าเหตุผลคือมือแห่งรัก
จะคอยชักจูงใจมิให้เหิม
อารมณ์คือมือมารผลาญรักเดิม
ผู้ริเริ่มทำลายสายสัมพันธ์

ที่เง้างอนค้อนคว่ำจำไว้ว่า
แม้น่ารักบางเวลาก็น่าขัน
ลับหลังแล้วร้องไห้ทำไมกัน
เขารู้ทันทุกวลีที่อยากพ้อ

เมื่อแก้มนิ่มนิ่งแนบหลับแทบหมอน
คนช่างงอนฝันว่าได้อะไรหนอ?
รู้ว่าขนตาฉ่ำน้ำตาคลอ
จะไปง้อในฝันคืนวันนี้

ทวีสุข  ทองถาวร  ๒๕๑๐


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 25 ก.ย. 08, 22:23
มาอ่านกลอนอีกชิ้นของ ทวีสุข  ทองถาวร ต่อครับ ผมขอคัดงานชิ้นนี้มาให้อ่านแล้วกัน

ลาวกระทบไม้

เมืองผมมวยผ้าไหมสาวใจซื่อ
ผู้เยือนคือญาติสนิทใช่มิตรใหม่
โอ้เวียงจันทน์นั้นเพียงเป็นเวียงใจ
แม้จากไกลก็มิอาจขาดพันธะ

เสียงแคนครวญชวนรำเมื่อค่ำนั้น
โทนกระชั้นฉาบกระชับรับจังหวะ
หวานเพลงแอ่วแห่งความสุขทุกระยะ
เกินใจจะห้ามใจมิให้จำ

ตามแสงไต้ปลายชานที่บ้านสาว
เหมือนมนต์น้าวหนุ่มคะนึงถึงทุกค่ำ
เยี่ยมชานเรือนเพื่อนเย้าเฝ้าฝากคำ
จนเดือนคล้อยลอยต่ำจึงอำลา

ภาพของความสุขสันต์ในวันก่อน
เทียบทุกตอนกับวันนี้ยิ่งมีค่า
เยือนครั้งใหม่แม้นยิ่งเอ่ยว่าเคยมา
ยิ่งผิดท่าผิดใจเหมือนไม่เคย

สิ้นแคนครวญชวนรำโอ้ค่ำนี้
โทนเคยตีฉาบกระชับก็กลับเฉย
แสงไต้หรี่ราวจะดับลงลับเลย
โอ้เวียงเอ๋ยเวียงเทวษด้วยเหตุใด

เสียดายแต่ความหลังครั้งเก่าเก่า
เหลือเพียงเงางำอดีตชวนกรีดไหว
จะรอฟ้าลงโทษพิโรธใคร
ใจต่อใจต่างประจัญฆ่ากันเอง

ทวีสุข  ทองถาวร


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 25 ก.ย. 08, 22:26
ขอขอบคุณ คุณ SILA ครับ ที่นำบทกลอนของคุณ อัจฉรา  ตันสงวน มาให้อ่านกัน

ขอบคุณจริง ๆ ครับ


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 30 ก.ย. 08, 19:21
สรสิทธิ์  สุนทรเกศ ก้าวสู่การเป็นนิสิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
เมื่อพอศอสองพันห้าร้อยสิบสอง เป็นอดีตประธานชมรมวรรณศิลป์ของคณะบัญชีคนแรก อดีตรองประธาน
ชมรมวรรณศิลป์ ส.จ.ม. และเป็นอีกหนึ่งในทีมกลอนสดมหาวิทยาลัย

มาอ่านงานของเขาสัก ๒ ชิ้นครับ ซึ่งอาจจะสังเกตเห็นอิทธิพลในการใช้คำของ อดุล จันทรศักดิ์ เร้นแฝง
อยู่บ้าง ซึ่งก็เป็นธรรมดาของนักกลอนรุ่นน้องกับรุ่นพี่ที่มีความผูกพันสืบทอดกัน

สันติภาพยังไม่มี

ดาวแห่งชีพริมฟ้า เวิ้ง ว้าเหว่
โดยร่อนเร่ห่างแสงแห่งจันทร์ฉาย
พานักบินหมู่หนึ่งซึ่งกล้าตาย
สัมผัสสายลมริ้วพลิ้วแผ่วเบา

เดินทางกับลมเหนือเมื่ออ่อนล้า
จุดแววตาโชนไฟให้ร้อนเร่า
โลดทะยานผ่านระลอกทึบหมอกเทา
ข้ามขุนเขาสู่สุสานแห่งการรบ

บรรทุกดินระเบิดดำเต็มลำใหญ่
โดยสารดอกไม้ไฟไปทำศพ
จุดระเบิด-สาหัส,จุดนัดพบ
คือจุดจบจุดหนึ่งซึ่งต้องมี

อยากเห็นแสงสันติภาพ ทาบ สาดส่อง
เช็ดน้ำตาความหมองของที่นี่
อยากเก็บดวงดาราเต็มฟ้านี้
โปรยแทนที่ดอกไม้ไฟ ให้เป็นพร

แล้วหน้าที่ก็บังคับให้รับรู้
การต่อสู้-ยุทธวิธีที่สั่งสอน
การตอบโต้ช่วยเพิ่มรสอีกบทตอน
ร้ายและร้อนเข้มข้นบนผืนฟ้า

ดาวแห่งชีพหลับไหลเมื่อไกล้สาง
ริ้วควันจางร่วงลงไปถึงในป่า
โรยดอกไม้สีดำด้วยน้ำตา
ยืดเวลาเสรีที่รอคอย

สรสิทธิ์  สุนทรเกศ


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 30 ก.ย. 08, 19:23
มาอ่านงานของ สรสิทธิ์ สุนทรเกศ อีกสำนวนครับ

ขอบฟ้ายังกว้าง

ดวงพระจันทร์สว่างพรายโลมชายป่า
สัมผัสหญ้า สัมผัสดาวแสงขาวใส
อ้อมทะเลภูเขาทอดเงาไกล
ทาบแมกไม้สีดำยามค่ำคืน

สันโดษโดยว้าเหว่การเร่ร่อน
รินเพลงพรคลอขับ หลับ,สะอื้น
นกหลงป่าร้อนรนขนเปียกชื้น
เย็นหยาดรื้นน้ำค้างกลางหมู่ดาว

เมื่อขอบฟ้ารอบข้างยังกว้างอยู่
สำนึก-รู้ปีกเจ็บและเหน็บหนาว
รู้ว่าเหนื่อย รู้ว่าล้า กว่าทุกคราว
แต่การก้าวกลับหลังยังไม่มี

เปิดโอกาสให้ตามความจองหอง
หากจะต้องตายเพราะสู้บินอยู่นี่
ให้มันซ้ำ ให้มันสา มากกว่านี้
ทุกสิ่งที่ประทับรอยคับแค้น

เมื่อดวงดาวทิศนี้หรี่แสงโรจน์
ตัดสินแรงหฤโหดให้โลดแล่น
แสวงหาแม่บทไว้ทดแทน
แผลลึกแก่นสันดานที่ผ่านไป

ดวงพระจันทร์ต่ำลงตรงชายป่า
สุสานฟ้าเงียบเหงา,เศร้า,หวั่นไหว
กล่อมนกซึ่งหลงบินคว้างเดินทางไกล
ทั้งที่ลมหายใจไม่มีแล้ว

สรสิทธิ์  สุนทรเกศ


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 01 ต.ค. 08, 14:40
ขอบคุณ คุณกุงแห้งเยอรมันครับ ทีให้ข้อมูลเพิ่มเติมของ ปราโมทย์  สันตยากร

มาถึงนักกลอนจากชมรมวรรณศิลป์ สจม. อีกท่านหนึ่งครับ

อุบล  เพชรหนู เป็นนักกลอนหญิงจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และเป็นหัวหน้าทีมกลอน
ชมรมวรรณศิลป์ สจม. ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ที่พาทีมชนะเลิศได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระศรี
นครินทราบรมราชชนนี ในการแข่งขันร้อยกรองสดระหว่างสถาบัน

ส่งรูปประวัติศาสตร์มาให้ชมค่ะ คุณอุบล เพชรหนู คือคนที่ถือถ้วย คุณสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ยืนหลัง แอบปิดบังความหล่อ โผล่หน้ามานิดเดียว คุณปราโมทย์ สันตยากร ยืนข้างหลัง คนที่สองจากซ้าย
ไม่มีใครทราบอนาคต ว่า คุณสรสิทธิ์ ที่แสนเรียบร้อยวันนี้ เป็นผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และคุณปราโมทย์ กลายเป็นหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 01 ต.ค. 08, 15:05
งานเลี้ยงฉลอง สิ่งที่เป็นความทรงจำอันประทับใจ คือเมื่อฝ่าฟันดงกลอนระดับมหาวิทยาลัยที่ทุ่มเทกันทุกทีมมาได้
นักกลอนทีมเลือดสีชมพูทุกคนที่ออกแรงมีสิทธิ์สัมผัสรางวัลที่ภาคภูมิใจ
ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระราชชนนี จะถูกวนไปในมือของทุกคน ที่ไปร่วมงานเลี้ยง ทั้งน้องใหม่และพี่ๆ
มีการกล่าวกลอนสดโดยรุ่นพี่ที่เป็นกำลังใจมาตลอด แม้จะจบไปแล้ว
คุณอดุล จันทรศักดิ์ กำลังว่ากล่อนสด 


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 01 ต.ค. 08, 15:20
ถึงคิวของคุณภิญโญ ศรีจำลองดื่มฉลอง พร้อมกับกล่าวกลอนสดบ้าง
ทุกคนตั้งใจฟังกันเงียบกริบ
ข้างๆคือคุณพุทธ พรเพียรเลิศกุลจากคณะวิศวฯ คุณปิยพันธุ์ จัมปาสุต รุ่นพี่ที่จบไปแล้ว และคุณสมบุญ ศรีมีชัย จากคณะวิศวฯเช่นกัน


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 04 ต.ค. 08, 22:12
ชยศรี  สุนทรพิพิธ  เป็นอีกหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งชมรมนักกลอนก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นสมาคมนักกลอน
แห่งประเทศไทยในช่วงต่อมา เนื่องจากเป็นสายเลือดของนักปกครองตัวอย่าง-พระยาสุนทรพิพิธ
เธอจึงเดินทางเข้าสู่อาณาจักรสิงห์ดำอย่างสง่าผ่าเผย เป็นนางสิงห์รุ่นที่ ๒ ของรัฐศาสตร์จุฬา

ขอเลือกกลอนของ ชยศรี สุนทรพิพิธ มาเสนอ ๑ ชิ้นแล้วกันครับ

จนกว่าจะสิ้นใจ

เจิดจิต
มืดสนิทมิตระหนกวิตกว่า
ภราดรพรอำไพไม่คืนมา
แม้ดาวเดือนเลือนลานภาลัย

ฤๅสายฟ้าผ่าผางเปรี้ยงปร้างเสียง
ไร้สำเนียงวิเวกหวานกังวานใส
ไก่กระชั้นขันกระชากหลากฤทัย
สุวานใหญ่ไขว่เห่าหอนย้อนยอกยวน

แต่โอภาสอาจอำไพกลางใจนี้
ขับราตรีมืดสนิทวิกฤตผวน
ศรัทธานิตย์สถิตแน่มิแปรปรวน
ถึงทุกข์ทวนทรมานจะทานทน

โลกหมุนเวียนเปลี่ยนไปไม่ช้านี้
คงจักมีชั่วโมงสว่างกระจ่างหน
รำไรแจ้งแสงทองเรื่อเหนือสากล
ภพอำพนผ่องผุดมนุษยธรรม

เมื่ออยู่เดียวยามดื่นดึกระทึกอก
มืดโมงเยือนเหมือนจะปรกชีวิตถลำ
แว่วสำเนียงจำเรียงซร้องพร้องลำนำ
อักขราค่าเลิศล้ำจากดวงมาน

เทียบน้ำทิพย์ลิบอำลานภามาศ
ที่หยดหยาดย้อมกมลโกมลศานติ์
สองมือน้อยคล้อยสมองตรองวิญญาน
นำธรรมทานธรณิน...จนสิ้นใจ !

ชยศรี สุนทรพิพิธ ๒๔๙๖


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 13 ต.ค. 08, 13:44
ถ้าเอ๋ยถึงอดีต สองกุมารสยาม ในวงการนักกลอนสมัยเก่าก็เป็นที่รับรู้กันว่าหมายถึง ขรรค์ชัย  บุนปาน
และ สุจิตต์  วงษ์เทศ ซึ่งโด่งดังมากในแนวกลอนที่เรียกกันว่า กลอนลูกทุ่ง ซึ่งลักษณะกลอนเช่นนี้
มีผู้สันนิษฐานว่า น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากวรรณกรรมของ "ไม้เมืองเดิม" ถึงตรงนี้ผมคงไม่ต้องเกริ่น
อะไรมาก ของนำกลอนลักษณะกลอนลูกทุ่ง ของ สุจิตต์  วงษ์เทศ มานำเสนอไว้ในตำนานนักกลอน
สัก  2  สำนวน ครับ

มาลัยเสน่หา

จะขอเส้นเกศามาแทนไหม
เจ้าคงไม่หลงเสน่ห์เส้นเกศา
หอมกระแจะแตะกลิ่นประทิ่นทา
เพื่อนึกหน้าผมหอมเมื่อดอมดม

แม่ผมปอยปล่อยปลายคล้ายพู่หงส์
ดูเครื่องทรงสดใสสไบห่ม
มาลัยรักจักน้อมถนอมชม
ขอเพียงผมเส้นน้อยร้อยมาลัย

จะเชิญแก้วแพรวกล้ามาร้อยแก้ว
ครั้นตรองแล้วก็มิกล้าพูดจาได้
อันกลิ่นหอมจอมขวัญทุกวันไป
เป็นจอมใจจรุงรสจึงจดจำ

โอ้แก้วเจ้าพราวพริ้งยิ่งแก้วต้น
ประกายกลมณีแท้ที่แก่ก่ำ
หวาดว่าแก้วชูกิ่งยิ่งถ้อยคำ
แต่ร่ำร่ำร้อยแก้วไม่แล้วกัน

สวาทวาดมาดหมายสายสวาท
ยังมิอาจซาบซึ้งถึงสวรรค์
ศักดิ์เจ้าจอมหม่อมห้ามจึงคร้ามครัน
ถึงกระนั้นไพร่ฟ้าก็กล้าพอ


แก้วเสน่ห์เกศาถ้ามิให้
ตามแต่ใจจักจำไม่ซ้ำขอ
เถอะจะหามาลัยกรองมาคล้องคอ
ซึ่งเหมือนสร้อยพระศอนรกานต์

สุจิตต์  วงษ์เทศ


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 13 ต.ค. 08, 13:45
มาอ่านกันอีกสำนวน ซึ่งเป็นชิ้นหนึ่งที่ผมชอบมากและผมคิดว่าสำนวนนี้เป็นสำนวนกลอนชั้นครูอีกสำนวนหนึ่ง

รบทัพจับศึก

กาฬปักษ์นัคเรศเขตสวรรค์
กระต่ายหันตนห่างจนจางหาย
เพชรพโยมถมเถ้าเหงาประกาย
เทพฟูมฟายฝอยฟองเหมือนกองฟอน

โอ้ วังเวียงเสียงวับกับอากาศ
อันปรางค์มาศเอนพิงเหลี่ยมสิงขร
ละห้อยหอช่อฟ้าเฟี้ยมอาภรณ์
ห่วงสังหรณ์หางหงส์ฤๅคงทน

กระหนกเปราะเกาะปานจะพาลปรัก
เหลือห้ามหักหวามหายนับหายหน
กรุงศรีเอ๋ยเคยคึกศึกประจญ
เข้าขับช้างเสยชนพ้นศัตรู

ศึกครั้งนี้หนีรับทัพพม่า
ขุนกลับมาเหมือนหมดมันอดสู
ถ่อยตะเลงเก่งกล้าท้าประตู
อนาถกูกอดตนยืนคนเดียว

ปอยหางอาชาอยู่เยี่ยงคู่ขวัญ
พร้อมจักหันควบควับเข้าขับเคี่ยว
กราบพระองค์ทรงซูบดูรูปเรียว
โลหะเหี่ยวนิมิตเห็นว่าเป็นลาง

แต่สรวงยังสังเวชประเทศทัก
กาฬปักษ์แผ่นดินสิ้นสว่าง
พี่น้องกูดูทีคล้ายมีซาง
ท้องก็ป้างบ้างปานตานขโมย

ดาบคู่ขันสันทัดเอาขัดหลัง
น้ำตาขังอกแข่งกันแห้งโหย
โอ้ กูหนอรอโทษมาโปรดโปรย
จักร่วงโรยตรงรับทัพตะเลง

วาสนาถ้าหนุนถึงขุนศึก
อย่าพึงนึกนั่งก้มเจ้าข่มเหง
จะเกณฑ์พลด้นรบจนจบเพลง
เกี่ยงแต่เก่งกูประมาณทหารเลว

สุจิตต์  วงษ์เทศ


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 13 ต.ค. 08, 21:15
ถ้าพูดถึงนักกลอนที่มีวรรคทองโดดเด่นและเป็นที่รู้จักกันดี คงต้องนึกถึงนักกลอน
ท่านนี้อีกคนครับ สวัสดิ์  ธงศรีเจริญ นักกลอนจากเมืองน้ำเค็ม ชลบุรี โดยเฉพาะวรรคทอง
บาทนี้หลายท่านน่าจะได้ยินมาบ้างครับ

"อ้อมกอดพี่จะสงวนไม่ด่วนเสนอ      อ้อมตักเธอจงถนอมก่อนยอมสนอง"

สำหรับกลอนที่มีวรรคทองบาทที่ผมยกมาอยู่ในกลอนชิ้นที่ชื่อ "ภาษารัก" สามารถหาอ่านได้ในเน็ตครับ
ในที่นี้ผมเลยขอยกกลอนชุดอื่นของ สวัสดิ์  ธงศรีเจริญ มาฝากไว้ในตำนานนักกลอนครับ

แก้ว

ขอเขียนกลอนถึงแก้วที่แวววับ
ก่อนแก้วลับดับรักอีกสักหน
เก็บหวงแหนแขวนไว้เหนือใจตน
แหวะกมลออกมาผ่าดูที

ความเหลื่อมล้ำค้ำกลางระหว่างรัก
จะละศักดิ์สมรสก็หมดศรี
ทนรอท่ายาจกเกือบหกปี
ป่านฉะนี้ยังอาภัพน่าอับอาย

จะรักสัตย์ซื่อต่อก็เสียหน้า
จะร้างราเลิกรอก็เสียหาย
จะฝืนสาวเล่าหนอก็เสียดาย
กลืนหรือคายมันก็ฝืดพะอืดพะอม

เห็นใจแก้วเก้าสีที่สุดแล้ว
แก้วคู่แก้วโดยเฉพาะจึงเหมาะสม
หากลดเกียรติเกลือกกรวดอวดสังคม
แก้วจะจมกรวดจ้อยถอยราคา

ยอมคว้านใจจำฝืนคืนพันธะ
เสียสละแก้วขวัญแก้ปัญหา
ลืมเสียเถิดลืมอดีตกรีดน้ำตา
แก้วล้ำค่ายังพิสุทธิ์ประดุจดาว

ขอทอดใจใฝ่สูงอุ้งเท้าแก้ว
แก้วเหยียบแล้วขอให้ลือกันอื้อฉาว
เป็นประกาศนียบัตรขจัดคาว
ส่งแก้วสาวก้าวสู่สิ่งคู่ควร

สวัสดิ์  ธงศรีเจริญ ๒๕๐๗


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 16 ต.ค. 08, 22:27
นิรินธน์  ศรีรักษา  ลูกทัพฟ้าที่คลุกคลีกับวงการกลอนมาตั้งแต่มีชมรมกันที่บางขุนพรหม
และจัดรายการกลอนทางวิทยุกองทัพอากาศ เข้าร่วม "เรือเพลง" กับสนธิกาญจน์ จนกระทั่ง
มีเรือเพลงครั้งสุดท้าย เคยเป็นกรรมการ "ชมรมนักกลอน" หลายสมัย

มาอ่านผลงานของ นิรินธน์  ศรีรักษา ที่ผมขอบันทึกไว้ในตำนานนักกลอนกันครับ

แล้ววันนั้นก็มาถึง

กลับมาสู่ถิ่นเก่าของเราแล้ว
พร้อมกับแก้วโดยตำแหน่งแห่งศักดิ์ศรี
บนแผ่นดินประวัติศาสตร์เพื่อราชพลี
เคล้าดนตรีในอดีตของมีดคม

เราเดินผ่านปราสาทราชฐาน
อดีตกาลคืนวันอันขื่นขม
การสู้รบสงคราม ความล่มจม
ถูกถล่มทำลายเสียหายยับ

มือของเราชื้นเหงื่อเมื่อแลเห็น
ใจหนึบเน้นเต้นตีบเหมือนชีพดับ
สิ่งสุดท้ายคือใบหน้าก่อนลาลับ
เธอเอื้อมจับมือเราอย่างเข้าใจ

หลิวใบเรียวยืนเดี่ยวอยู่ริมหนอง
กำลังมองเราเหมือนผู้มาอยู่ใหม่
ในแวดวงแดนดินแห่งกลิ่นไอ
ของดอกไม้ สายน้ำและลำธาร

มองท้องฟ้าอึมครึมครึ้มเมฆฝน
บนถนนสายยาวที่ก้าวผ่าน
ด้วยความสุขเต็มหัวใจดอกไม้บาน
เดินกลับบ้านเคยอยู่คู่กับเธอ

วันแห่งความหวานชื่นและคืนรัก
แควป่าสักเรืองรองน้ำนองเอ่อ
หนาวน้ำค้างนกกลางคืนยืนละเมอ
เราต่างเผลอจูบจันทร์อันรัญจวน

นิรินธน์  ศรีรักษา


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 16 ต.ค. 08, 22:32
มาอ่านงานของ นิรินธน์  ศรีรักษา อีกชิ้นครับ งานกลอนชิ้นนี้อาจจะยาวหน่อย แต่อ่านแล้ว
ผมรู้สึกชอบเป็นการส่วนตัว เลยขอคัดมาเผยแพร่ด้วยครับ

ลำนำจาก....."มะลิป่า"

คืนพระจันทร์เต็มดวงบนห้วงหาว
มะลิขาวบานไสวใกล้บ้านป่า
ซึ่งกำลังชูช่อลออตา
แข่งกับกลิ่นดอกหญ้านานาพันธุ์

บนเนินดินผืนน้อยมีรอยแต้ม
หญ้าปรกแซมเบาบางกีดขวางกั้น
เมื่อราหูเข้าข่มอมพระจันทร์
มะลิขาวดอกนั้นเริ่มสั่นเทา

ยางจากกิ่งรินไหลเมื่อใกล้สาง
แว่วเสียงครางระงมแรงลมเป่า
แมลงหวี่แห่งสังคมผมดอกเลา
กำลังเฝ้าดื่มดอมหลอมดวงไฟ

กับหยาดฝนบางบางระหว่างถ้ำ
เริ่มชุ่มฉ่ำแผ่นพื้นการลื่นไหล
ในความหนาวเกี่ยวกระชับอย่างจับใจ
ความเคลื่อนไหวลึกซึ้งส่งถึงกัน

สว่างโรจน์โชติช่วงในห้วงนึก
วัดความลึกเคลื่อนไหวดวงใจสั่น
ปรารถนาเดินเรียบและเฉียบพลัน
ไฟสวรรค์แผดเผาในเตาทิพย์

อย่างอ่อนโยนคุกคามตามสภาพ
และเอิบอาบรสลิ้นกินดื่มจิบ
อัตราเร่งแห่งหัวใจไหวระยิบ
ล่องลอยลิบเลือนลางอย่างซาบซึ้ง

เกือบจะถึงจุดหมายอยู่หลายครั้ง
การหยุดยั้งรอไว้การไปถึง
โดยพร้อมเพรียงกับเวลาอันตราตรึง
ในที่ซึ่งเป้าหมายสุดสายธาร

แล้วบทเพลงจากสวรรค์ก็พลันจบ
สุขสงบเงียบงันจุดบรรสาน
การรอคอยดวงไฟในดวงมาน
ช่างเนิ่นนานที่สุด คนจุดไฟ.......

มะลิขาวดอกหนึ่งซึ่งไร้กลิ่น
เริ่มโบยบินจากก้านสู่บ้านใหม่
การเดินทางต่างถิ่นแผ่นดินไกล
สู่กลิ่นไออาภาและอาภรณ์

เงาลางลางสถานที่อันลี้ลับ
ความย่อยยับโหดเหี้ยมถูกเสี้ยมสอน
เป็นมะลิร้อยมาลัยดับไฟร้อน
ในสังคมสำส่อนอย่างเสรี

ด้วยราคาแพงมากจากบ้านป่า
ค่อยลดลงด้วยราคาค่อนข้างถี่
กลีบเริ่มด้านก้านเริ่มดำคร่ำราตรี
อยู่ที่นี่หรือที่ไหนไม่สำคัญ

มะลิยังเดินทางไปข้างหน้า
ในอัตราร้อนแรงแฝงรอยฝัน
ยิ้มสดใสโหยหาใต้ตาวัน
เพื่ออะไร...เพื่อใครกัน...วันยาวนาน...........

การเดินทางช่วงสุดท้ายในสายหมอก
ทุกระลอกลมหายใจวาบไหวหวาน
คลับคล้ายเป็นภาพฝันเมื่อวันวาน
มองเห็นบ้านแต่ไกลในสายตา

กลีบดอกนิ่มริมทางบางระยับ
ยิ้มต้อนรับการเยือนเพื่อนร่วมป่า
"....เอ็งทุกข์สุขอย่างไรไปใหนมา
ไม่เห็นหน้านึกหวั่นอันตราย...."

"ข้าเดินทางไปที่โน่นโพ้นขอบฟ้า
ไร้ต้นไม้ใบหญ้าข้าเหนื่อยหน่าย
ป่าคอนกรีตสับสนคนมากมาย
ข้าถูกขายเป็นสินค้าในป่าคน"

"เอ็งช่างเก่งช่างกล้าสารพัด
อยู่ป่าชัฏรับรองไม่หมองหม่น
ฟังเขาว่าคนที่นั่น (ปัญญาชน)
พวกข้าบ่นถึงเอ็งไม่เว้นวัน"

".......ข้ากลับมาวันนี้สู่ที่พัก
ด้วยความรักแผ่นดินถิ่นสุขสันต์
ความหลังข้าหากมีบ้าง ช่างหัวมัน
ข้าจะเป็น (ดวงจันทร์) แต่วันนี้......."

นิรินธน์  ศรีรักษา


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 17 ต.ค. 08, 16:11
ศิริวรรณ  ชลธาร  นักกลอนหญิงฝีมือดีจากเมืองตรังอีกคนหนึ่ง ที่มีชื่อเสียงมาในช่วงไล่เลี่ยกับกวีซีไรท์
จิรนันท์  พิตรปรีชา ปัจจุบันเธอก็ยังรับราชการในตำแหน่งศึกษานิเทศก์ที่จังหวัดตรัง

มาอ่านกลอนที่ถือว่าเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปของเธอชิ้นหนึ่งครับ

เพลงหนาว...ที่กันตัง

เรือตังเกเร่กลับฝั่งอีกครั้งหนึ่ง
ความคิดถึงเอ่อปริ่มอยู่ริมฝั่ง
โดยกลีบของมาลีนาม...ศรีตรัง
ซ่อนความหวังความหมายกับสายน้ำ

สบตากับดาวรายที่ปลายฟ้า
ซุกซบหน้าซานซมกับลมค่ำ
เมื่อบทเพลงกล่อมใบไม้ให้ร่ายรำ
ฟ้าสีก่ำเริ่มจางสีเป็นสีเทา

หัวใจเคยร่อนเร่ทะเลกว้าง
ยิ่งเหว่ว้างกับการคอยอย่างหงอยเหงา
เพลงหนาวที่กันตังยังซึมเซา
ไม่มีเงาเพื่อนใจมาใกล้ชิด

ลำน้ำตรังคืนนี้ไม่มีแก้ว
วันจะแผ่วน้ำตาเพื่อนสนิท
เงาสีดำคลุมคลี่ทางชีวิต
ด้วยความคิดเหงาหงอยและน้อยใจ

หนาวอารมณ์บ่มน้ำตาคนอาภัพ
แอบซุกหลับเร้นรอยหมองแอบร้องไห้
ปิดดวงตาว้าเหว่...ร่อนเร่ไป
กว้างและใหญ่...ฟ้าสีคราม...น้ำทะเล

ดาวรุ่งหรี่แสงจางหว่างใจหวั่น
ซึ่งความฝันจะเลือนล่มกลางลมเห่
หนาวเพลงหนาวทีกันตังยังรวนเร
ไม่อยากเร่ไกลฝั่งอีกครั้งเลย

ศิริวรรณ  ชลธาร


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 17 ต.ค. 08, 16:12
มาอ่านกลอนแนวหวานปนเศร้าของเธออีกชิ้นครับ

เพลงดวงดาว

สร้อยดวงดาวโยงระย้ากลางฟ้าหม่น
เพลงเริ่มต้นคืนหนาวเริ่มผ่าวแผ่ว
พรายระยับดวงดาวส่องพราวแพรว
ลำนำแว่วจากที่นี่ไปที่ไกล

โดยเทพแห่งดอกไม้สายน้ำผึ้ง
สบตาซึ้งแหนหวงดาวดวงใหม่
ระยับดาวพราวกระจ่างอยู่กลางใจ
อวลกลิ่นไอดอกไม้จากสายลม

หวิวและว้างคว้างเคว้งตามเพลงกล่อม
พรายดาวล้อมแววระยับหลับตาข่ม
เลือนบทเพลงแห่งน้ำตาและอารมณ์
น้ำค้างพรมคือน้ำมนต์จากคนธรรพ์

หนาวและหนาวสายลมแอบห่มเนื้อ
หนุนอกเอื้อต่างหมอนขวัญอ้อนขวัญ
ดับลมหนาวพราวพรายคืนไร้จันทร์
อุ่นรักอันอวลไอไว้ไม่คลาย

เพลงดวงดาวกระซิบแผ่วจากแนวฟ้า
กล่อมนิทราคนอ่อนแอคนแพ้พ่าย
ซุกหน้านอนเวียนซับความอับอาย
คนเดียวดายฝันคว้างคืนข้างแรม

สร้อยดวงดาวโยงระย้ากลางฟ้าหม่น
น้ำตาคนหมางหมองอาบสองแก้ม
สะท้อนแสงดาวจับอยู่วับแวม
น้ำค้างแกมน้ำตาทอพร่าพราย

ศิริวรรณ  ชลธาร


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 18 ต.ค. 08, 14:27
วันก่อนผมนั่งเปิดสมุดเล่มเก่าที่เคยจดกลอนบางบทที่ชื่นชอบเอาไว้ มาสะดุดใจกับกลอน 2 บทนี้ครับ

เดือนเพ็ญ....
ถึงไม่เด่นเดือนจ๋าอย่าร้องไห้
ใครเขาลืมเลือนห่างก็ช่างใคร
ง้อทำไมเมฆกลับกลอกแกล้งหลอกเชย

น้ำตาอุ่นอาบนองสองแก้มฉัน
ก็หัวอกเดียวกันแหละเดือนเอ๋ย
เคยทุกข์ครองหมองหม่นจนเกินเคย
อย่ากลัวเลยดวงเดือน.....เราเพื่อนกัน

จากกลอนชุด แด่เดือน ของ ประภาศรี  สุดบรรทัด

ผมมานั่งนึกตั้งนานว่าเคยอ่านเจอที่ไหน ทราบแต่ว่าผู้แต่งคือ ศ.ประภาศรี (สุดบรรทัด) สีหอำไพ
เป็นอดีตนักกลอนเก่าที่มีส่วนร่วมในการก่อตั้งชมรมวรรณศิลป์จุฬาฯ อีกท่านหนึ่ง

วันนี้ช่วงเช้ามีโอกาสค้นลังเก็บเอกสารเพื่อหาเอกสารสำคัญชิ้นหนึ่ง เลยได้เจอเอกสารที่เคยถ่ายสำเนา
จากหนังสือรวมกลอนของ ๑๒ นักกลอนหนุ่มสาว (ในปี ๒๕๐๖ นะครับ) ชื่อหนังสือว่า "รุ้ง" เลยรู้ว่า
ผมจดกลอนชุดข้างบนมาจากหนังสือเล่มนี้นี่เอง

เลยถือโอกาสคัดงานของนักกลอนท่านนี้มาฝากไว้ในตำนานนักกลอนด้วยครับ 

"......ซึ้ง......"

ตามองตาตาจึงตะลึงจ้อง
เพราะเจ้าของตามองสองความหมาย
คู่หนึ่งแข็งแรงกล้าทอดท้าทาย
ส่วนอีกฝ่ายปรายสบแล้วหลบเลย

ใจหนึ่งชินชาสิมิรู้สึก
คิดไม่ลึกนึกไม่ถึงจึงเมินเฉย
สบคนโน้นสบคนนี้ที่คุ้นเคย
แล้วเอื้อนเอ่ยคำ--มิตร--ปิดทางรัก

ใจหนึ่งคิดพิศซึ้งจึงเพลินอยู่
ต่างประตูดูหัวใจให้ประจักษ์
ฝืนทิฏฐิมิแยแสแต่ยากนัก
เพียงพบพักตร์ผ่านเผินยังเพลินมอง

ชีวิตเราเราลิขิตมีอิสระ
ไร้พันธะใดจะเข้าเป็นเจ้าของ
ชีวิตเขาเขาก็ชื่นคนอื่นครอง
แบ่งเป็นสองทางแยกจึงแยกทาง

ซึ้งสายตาพาสายใจใยดีต่อ
ซึ้งเมื่อก่อเกิดเกินจะเมินหมาง
ซึ้งเพราะคิดถึงอยู่มิรู้จาง
เธอคิดบ้าง สักครึ่ง ก็ซึ้งพอ

ประภาศรี  สุดบรรทัด


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 18 ต.ค. 08, 14:30
มาอ่านกลอนของท่านอีกชิ้นครับ

รอยลา

รอยยิ้มเยือนเหมือนสัญญาการลาจาก
รอยยิ้มฝากยากจะเลือนไม่เหมือนก่อน
รอยยิ้มเศร้าแทรกอาลัยใส่อาวรณ์
ใจรอนรอนรับยิ้มกว่าอิ่มรอย

ภาพฟางฝ้าน้ำตาปรอยค่อยค่อยหยาด
สองมือปาดยิ่งหยาดหยดมิลดถอย
ชีวิตใช่ความฝันอันเลื่อนลอย
น้ำตาย้อยยิ้มยังยลคนมันเคย

เธอดิ้นพราดขาดใจไปต่อหน้า
เสียน้ำตาไปบ้างพอวางเฉย
รู้นี่รู้อยู่เพื่อจากไม่อยากเลย
ยิ้มเย้ยเย้ยหยันชะตาไม่น่าทำ

มือกระชับจับกระชั้นสั่นไม่นับ
เขย่ารับรอยลากว่าจะหนำ
อัดอั้นอึงตะลึงเฉยสุดเอ่ยคำ
เป็นความจำภาพสุดท้ายก่อนกายไกล

ฟ้ายังกว้างทางยังก้าวจากคราวนี้
คงจะมีสักวันพบกันใหม่
ตายังช้ำชอกอยู่บ้างช่างปะไร
ประทับใจเอิบอิ่มรอยยิ้มลา

ประภาศรี  สุดบรรทัด


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 20 ต.ค. 08, 23:17
แววตา  สีมานันท์  นักกลอนรุ่นแรก ๆ ของชมรมวรรณศิลป์จุฬาฯ อีกท่านหนึ่ง จบจากคณะอักษรศาสตร์
เมื่อปี ๒๕๐๗ นักกลอนในสมัยนั้นเอ่ยถึง แววตา ว่าเขียนกลอนอ่อนหวานกระจุ๋มกระจิ๋มเหมือนนิสัยและ
บุคลิก เย็บปักถักร้อยได้ดีเท่า ๆ กับเขียนกลอน

มาอ่านกลอนของเธอกันดีกว่าครับ

มาลัยดอกรัก

พวงมาลัย......จะลอยร้างห่างไปหนใดหนอ
ล่องละลิ่วปลิวฟ้ามาเคียงคลอ
ให้ข้าพอชื่นจิตนิดเป็นไร

" เอ้อระเหยลอยมาเวลาค่ำ
ฟังพี่ร่ำเจรจาอย่าสงสัย
พี่รักพี่จึงตามแม่ทรามวัย
หวังดวงใจแม่ตาคมไว้ชมเชย "

สาวชะม้ายชายตาร้องว่า " พี่
มาเซ้าซี้น่าอายพี่ชายเอ๋ย
อย่าโป้ปดลดเลี้ยวเกี้ยวน้องเลย
น้องไม่เคยพบเห็นดอกเช่นนี้ "

" เอ้อระเหยลอยล่องท่องทุกถิ่น
พี่เจนจบจนสิ้นเจียวสาวศรี
มาจอดรักฝากใจให้คนดี
ไม่ลอยลี้ลับแล้วละแก้วตา "

สาวสะเทิ้นเมินมองพร้องคำหวาน
" ขอดวงมานน้องนี้หรือพี่ขา
นี่มาลัยรักร้อยสร้อยอุรา
ฝากพี่ยาแทนหทัย...ชื่นใจพอ "

พวงมาลัย.....
" หอมระรื่นชื่นใจกระไรหนอ
ลอยละลิ่วปลิวฟ้ามาเคียงคลอ
พี่จดจ่อรักน้องเจ้าของเอย "

แววตา  สีมานันท์


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 20 ต.ค. 08, 23:19
มาอ่านงานกลอนของเธออีกชิ้นครับ

ซึ้ง....

โอ้เสียงปี่ครวญคร่ำร่ำไห้หวน
ยิ่งฟังชวนหวิวไหวหัวใจหวาม
สำเนียงออดฉะอ้อนสั่งให้ฟังความ
กระซิบตามลมมาด้วยอาทร

" ป่านนี้แก้วแววตาคนน่ารัก
คงซบพักตร์พริ้มหลับอยู่กับหมอน
โถ...แก้มยังเปื้อนน้ำตาคงอาวรณ์
มาเถิดอรพี่จะรับซับให้พลัน

ด้วยจุมพิตฝากสายพระพายพลิ้ว
ล่องละลิ่วมาประทับเพื่อรับขวัญ
ถึงตัวไกลเกินกว่าจะพบกัน
แต่ใจมั่นมอบไว้ให้ทั้งดวง

ที่พลัดพรากจากกันทุกวันนี้
ใจยังปรี่เปี่ยมรักทั้งห่วงหวง
อยากกลืนแก้วเข้าไว้เสียในทรวง
เพื่อพ้นปวงกรรมวิบากที่พรากเรา

แต่ทำได้เพียงฝากวากย์วจี
กับเสียงปี่กล่อมใจพอคลายเหงา
ความคิดถึงแก้วนั้นมิบรรเทา
ยิ่งวันเศร้าใจขมตรมฤดี

เฝ้าแต่เร่งสุริยาให้ลาลับ
แล้วคืนกลับมาใหม่ให้เร็วรี่
เมื่อไหร่หนอตาวันผ่านผันปี
จะคืนสู่ขวัญพี่มิรอรา "

โอ้เสียงปี่ระรี่ไกลไปทุกหน
สงสารคนเพ้อรักเสียหนักหนา
เราเดียวดายไกลมิตรชิดอุรา
จึงน้ำตาคลอคลองทั้งสองนัยน์

แววตา  สีมานันท์


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 26 ต.ค. 08, 19:53
แพรวพรรณ อุดมธนะธีระ ก้าวสู่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ เมื่อปี ๒๕๑๔
และเป็นอีกหนึ่งนักกลอนแห่งชมรมวรรณศิลป์จุฬาฯ

แม้ว่าเธอจะเขียนงานหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น กลอนเปล่า เรื่องสั้น แต่ผลงานด้านกลอน
ก็สร้างชื่อเสียงให้เธออย่างมาก จนได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมเป็นนักกลอนสดในรายการ
ชิงชัยถ้วยพระราชทานของ ส.จ.ม. อีกคนหนึ่ง

มาอ่านงานของเธอกันครับ 

ความหลังที่แม่ปิง

ฝังใจกับภาพพิมพ์ที่ริมเขื่อน
รอยยิ้มเยือนทักทายในความเหงา
แสงแดดส่องจัดจ้าทาบฟ้าเทา
ระบายเงาเลื่อมลายบนสายน้ำ

แม่ปิงกว้างยาวไกลออกไปมาก
เก็บใจฝากมานานจนหวานฉ่ำ
กลับมาเยือนทุกครั้งฝังใจจำ
ถึงกลิ่นร่ำดอกรักที่หักลง

ยังคงเงียบ ยังคงเหงา ในเงาบ่าย
มันท้าทาย มันเย้ย ครั้งเคยหลง
หัวใจที่เคยคิดจะทรนง
ไม่มั่นคงได้สักทีเหมือนที่คิด

แม่ปิงยังขลังมนต์เหมือนคนเก่า
มาก็เหงาให้ภาพฝันมันสะกิด
ความหลังที่รุนแรงมันแผลงฤทธิ์
รอยแผลพิษมันนานจนป่านนี้

อยู่ที่ไหนไปที่ไหนก็ใจหาย
มันวาบวายหวนคะนึงถึงที่นี่
แล้วก็เก็บความหม่นไหม้ไว้ทุกที
ประสาคนเจ็บที่ไม่มีใจ

มาดูกลีบรักเกลื่อนริมเขื่อนแก้ว
จวบจนแนวแดดอ่อนสะท้อนไหว
ดอกรักคว้างปลิวว่อน,ใบซ้อนใบ
จมดิ่งในความหมองของแม่ปิง

แพรวพรรณ  อุดมธนะธีระ


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 26 ต.ค. 08, 19:58
ผมขอยกงานของ แพรวพรรณ อุดมธนะธีระ มาให้อ่านอีกชิ้นแล้วกันนะครับ

จุดดับ

ฟ้าที่โค้งลงต่ำ-น้ำกับฟ้า
อยากรู้ว่าสุดลงที่ตรงไหน
หัวใจมันทะยานอยากจากหัวใจ
ถึงความฝันซึ่งมันไม่เคยได้มี

ธารทะเลปริ่มน้ำเมื่อยามค่ำ
ฟ้าสีดำหว่านฟ้ามาถึงนี่
แวมดาวหม่นภาพพิมพ์ริมนที
เมื่อดนตรีชาวเรือมันเฝือนัก

ลมทะเลเห่คลื่นคืนวันก่อน
พัดมาย้อนในกมลคนอกหัก
คลื่นม้วนตัวห่มหัวใจให้หยุดพัก
มันสำลัก, อดทนจนเจียนตาย

เรือลำนี้ แล่นผ่านธารชีวิต
ทุกความคิดเร่งรุดสู่จุดหมาย
สัมผัสน้ำ, สัมผัสฟ้า, ดาราราย
แต่ก็คล้ายหลงทางหว่างน้ำวน

มันออกมาไกลมากไกลจากฝั่ง
ทุกทุกครั้งอาศัยดาวสีขาวหม่น
หัวใจที่หวาดฝันมันทุกข์ทน
เมื่อหยาดฝนหนาวสะท้านคลี่ม่านมา

โอ้เรือเร่ เร่ไปถึงไหนหนอ
ใจมันท้อ มันขลาด ความปรารถนา
ฟ้าที่โค้งลงต่ำ-น้ำกับฟ้า
ได้รู้ว่าจะไม่มีในชีวิต

แพรวพรรณ  อุดมธนะธีระ



กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 04 พ.ย. 08, 15:55
นำเสนอนักกลอนจากฝั่งวรรณศิลป์จุฬาฯ มาหลายท่านแล้ว กลัวฝั่งท่าพระจันทร์จะน้อยใจ
ในตอนนี้จึงขอยกผลงานกลอนจากฝั่งวรรณศิลป์ธรรมศาสตร์ มานำเสนอบ้างครับ

รณ  นราลักษณ์
ถือเป็นสมาชิกชมรมวรรณศิลป์ธรรมศาสตร์ยุคแรกๆ (ประมาณปี ๒๕๐๕ - ๒๕๐๖)
ถ้าจะนับรุ่นน่าจะไล่เลี่ยกับ จินตนา ปิ่นเฉลียว แห่งฝั่งวรรณศิลป์จุฬาฯ

มาอ่านกลอนของ รณ  นราลักษณ์  ดีกว่า ผมขอคัดมาฝากไว้ในตำนานนักกลอนสัก ๒ ชิ้นครับ

เชิญซี...โชค

รุ้งแค่คืบ
จรัสรายสายสืบพันหลืบหล้า
สีใสสดงดงามที่ตามมา
คือสัญญายื่นหวังก่อนพังภินท์

ก่อนเคยพ้อต่อชะตาเมื่อฟ้าหมอง
ทุกข์ปิดป้องผองพลังและหวังสิ้น
ทุกข์กระหน่ำย้ำผลาญสายธารจินต์
ทุกข์ข่มวิญญ์ราวแกล้งดูแรงใจ

ต่อนี้เชิญชะตาลองมาเหยียด
รุ้งที่เสียดฟ้าเด่นนั่นเห็นไหม
แม้คืบหนึ่งพึงรอดูต่อไป
เพราะมันใช่หยุดสืบแค่คืบนั้น

สีทั้งเจ็ดเกล็ดรุ้งครอบคุ้งฟ้า
แต้มนภาพิไลเกินใครสรรค์
แต่ละสีที่ประดับสลับชั้น
เรียงลดหลั่นฉันเฉิดแลเพริศพราย

ฟ้าเคยชืดมืดหม่นหลังฝนแล้ว
พลันผ่องแผ้วเพราะรุ้งรุดนำจุดหมาย
รวมพลังหวังไปกับใจกาย
ร่วมเรียงสายศรัทธ์ธรรมนำประทาน

ถ้าสมองสองแขนขาดไม่อาจสู้
เชิญทุกข์ลู่ชีพลงอย่าสงสาร
ริดพลังหวังจินต์ให้สิ้นมาน
เชิญทุกข์ลาญชีพลงเป็นผงคลี

แต่หากหวังยังมั่นมันสมอง
พลังครองคงกายไม่หน่ายหนี
รวมมนัสศรัทธาแกร่งกล้านี้
ร่วมราวีกับโชคในโลกทราม

เชิญซีโชคโขกสับให้ยับอีก
ถ้าทุกข์หลีกข้าก็จะขอหยาม
ไม่เก่งจริงยิ่งใหญ่แต่ในนาม
จะให้ขามอีกครานั้นอย่าคิด

รณ  นราลักษณ์


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 04 พ.ย. 08, 15:56
มาอ่านกลอนของ รณ  นราลักษณ์ อีกชุดครับ

มนุษย์-สัตว์

....มนุษย์
เราวางจุดสำคัญที่มันสมอง
ส่วนส่ำสัตว์จัดไว้ให้เป็นรอง
ตามทำนองของชีวิตเกิดผิดกัน

พวกสัตว์ต้องต่อสู้เพื่ออยู่รอด
จิตจ่อจอดขจัดทุกข์เพื่อสุขสันต์
ถึงสิ้นคิดทฤษฎีของชีวัน
แต่สัตว์นั้นสู้เพื่อสิทธิไม่ผิดคน

ต่างเกิดมาหน้าที่สืบชีวิต
ไม่เห็นแปลกแผกผิดหวังผลิตผล
เพื่อแพร่พันธุ์เพิ่มพูนตระกูลตน
ตั้งอยู่บนรากฐานสันดานเดียว

กามารมณ์เหนือจิตชีวิตผอง
ถึงคนต้องเกาะแก่นกามแน่นเหนียว
ศีลธรรมกำหนดคนลดเลี้ยว
ให้ข้องเกี่ยวกันลับตาดับอาย

แต่ทว่า...หน้าที่อื่นถูกยื่นให้
คั้นหัวใจบีบชนม์สิทธิคนสลาย
ยอมถูกย่ำเหยียบหัวเยี่ยงวัวควาย
จนตัวตายยอมต่อไป...มิใช่คน

รณ  นราลักษณ์


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 11 พ.ย. 08, 20:38
ประยอม  ซองทอง อีกหนึ่งศิลปินแห่งชาติที่ทุกท่านรู้จักกันดี ผมคงไม่ต้องเกริ่นอะไร
เกี่ยวกับท่านมากนัก คงคัดกลอนของท่านนำเสนอไว้ในตำนานนักกลอนสัก ๒ ชิ้น

มาอ่านชิ้นแรกกันเลยครับ

อรุณรุ่งริมฝั่งกก

ในความหนาวเยือกยะเยียบเฉียบสำนึก
แรกรู้สึกเสียงจ้าไก่ป่าขัน
แว่วดุเหว่าเร้าสำเหนียกเพียกไพรนั้น
ก่อนตาวันแหวกม่านหมอกมามอง

รื่นลมเช้าเรไรกลิ่นไม้ป่า
วักน้ำใสไล้หน้าขวัญอย่าหมอง
อธิษฐานผ่านนทีธารสีทอง
ให้พานพ้องภาพพิศอิฏฐารมณ์

เสียงโห่รับนกร้องดังก้องป่า
บอกอำลาราตรีที่สุขสม
ด้วยแรงถ่อหลายถ่อรอระดม
แพไม้ไผ่ไล่ลมริ้วริ้วมา

โอ้ป่าเขาลำเนาไพรเมืองไทยเอ๋ย
ทุกครั้งเคยสงบสันติ์สุขหรรษา
แต่อดีตนับนิรันดร์เช่นนั้นมา
เป็นศรัทธาสีทองของคนไทย

แม่น้ำกกวกไหลวนไปทั่ว
ผ่านหมอกมัวทุ่งกว้างและป่าใหญ่
กระซิบฝากรัก-หวังริมฝั่งไป
กระทั่งในอนาคตจงงดงาม

ขอความงามทั้งสิ้นแผ่นดินนี้
อย่าให้มีเลือนพรากจากสยาม
เป็นเมืองไทยแสนสงบสบสมนาม
เพื่อคงความเป็นไทยไปนิรันดร์

ประยอม  ซองทอง
พฤษภาคม ๒๕๑๘


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: jomyutmerai ที่ 11 พ.ย. 08, 20:40
มาอ่านงานของ ประยอม ซองทอง อีกชิ้นครับ

คิดถึง

แทบร้องไห้ทุกครั้งที่คิดถึงบ้าน
ที่จากมาแสนนานเพราะขวัญเสีย
บ้านของฉันถูกไฟไหม้ลามเลีย
ใครจะเขี่ยผงเขม่าที่เข้าตา

วันแห่งความเยาว์วัยอันใหลหลง
ฉันเคยแนบหน้าลงราบพงหญ้า
ฟังนกเขาคูเคล้าริมราวนา
หอมกลิ่นดอกไม้ป่ามารวยริน

ควันไฟลอยอ้อยอิ่งทิ้งชายไร่
ไก่ป่าคุ้ยขุยไผ่แล้วผกผิน
ฝนชะช่อมะม่วงกรายกรุ่นไอดิน
ว่าวตุ๊ยตุ่ยดุ่ยดิ้นบินฟ้อนฟ้า

เคยเข้าป่าหาหน่อไม้ใบผักหวาน
สิ้นสายฝนชะลานเก็บเห็ดป่า
ป่ายปีนเก็บมะขามหวานกลางลานนา
ยามดอกจานบานจ้าเริ่มหน้าร้อน

กลางเปลวแดดแผดพริบระยิบไหม้
วันหนึ่งไฟไหม้ลามตามไม้ขอน
แล้วแลบเลียเคลียประกายปรายดงดอน
พอไฟฟอนจึ่งซึ้งค่า...น้ำตาริน...

'ผักหวานงาม มะขามหวาน ข้าวสารขาว
ผู้สาวสวย คนรวยธรรม'...ย้ำถวิล
โอ้คืนวันอันสงบนอนซบดิน
อยู่หรือสิ้นแล้วสมญา...แห่ง 'นาแก' ?

ประยอม  ซองทอง
ตุลาคม  ๒๕๑๘


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.ย. 09, 15:40
ไปขุดกรุ  พากระทู้นี้ขึ้นมาอีกครั้ง  
เพราะเสียดายถ้าจะปล่อยให้จบไว้ค้างๆคาๆ แค่นี้
นักกลอนที่กลายเป็นตำนานของวงกวี   ส่วนใหญ่วางมือกันหมดแล้ว
ที่ยังมีผลงานสม่ำเสมอในหน้าหนังสือ   เหลืออยู่  3 คน คือเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์  ประยอม ซองทอง(ราตรี ประดับดาว)  และอดุล จันทรศักดิ์(อัคนี หฤทัย)
ทั้งสามท่านในวันนี้  ล้วนเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์

ขอคัดผลงานในปัจจุบัน  มายืนยันถึงคำว่า กวีฤๅแล้งแหล่งสยาม
 
ผู้จัดการออนไลน์ 6 กันยายน 2552 10:13 น.
 http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9520000102710
 
 
พระวิหาร ประหาร @ โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 
  @ พระวิหาร ประหาร @
      
       @ ปางเมื่อ พระวิหารบุราณบุรม
       ทลายถล่มศรัทธามหาสถาน
       เอาศรัทธามหาชนบันดลดาล
       มาประหารศรัทธาประชาชน
      
       มรดกแผ่นดินอจินไตย
       พ้นวิสัยสำแดงแสวงผล
       ควรแก่ค่าสักการะพระภูวดล
       มิใช่ค้นขุดควักลาภสักการ
      
       มิใช่เครื่องต่อรองสนองโลภ
       ลาภละโมบทรัพยามหาศาล
       ถึงร่ำรวยล้นฟ้าสุธาธาร
       สุดท้ายเหลือแค่วิหารลานศิลา
      
       ควรแต่สังเวชนียสถาน
       เตือนเหล่ามารกาลี พวกผีบ้า
       ให้นอบน้อมถ่อมตนพ้นมายา
       อย่าเป็นเหยื่ออัตตาเข่นฆ่ากัน
      
       จงปราสาทพระวิหารประหารโหด
       ล้างโขมดโมหา พวกตาหัน
       จงโยงยุคอารยะ ณ ปัจจุบัน
       จงสัมพันธ์ ขะแมร์ – ไทย ไพบูลย์เทอญฯ
      
       เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
       พ.๒/๙/๕๒.
        
 


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.ย. 09, 15:43
http://www.naewna.com/news.asp?ID=179538
รักเมืองไทย (กวีวิพากษ์)   

 "พ่อของผมเคยเป็นทูตอยู่ที่นี่

เราจึงมีความผูกพันและรักใคร่

รักประเทศนี้ยิ่งอย่างจริงใจ

เป็นห่วงใยชาติแสนดีนี้เรื่อยมา

ทั้งพ่อผม-แม่ผมและตัวผม

น้องหญิงชายสนิมสนมรักนักหนา

พ่อของผมเฝ้าใกล้ชิดปิ่นราชา

ทั้งผู้นำที่ใครว่า "เผด็จการ"

ท่านนั่นคือจอมพล ส.ธนะรัชต์

นักปฏิวัติผู้เด็ดขาดยอดทหาร

แต่รักชาติอย่างมีปฏิภาณ

เรียกใช้งานนักปราชญ์ที่มีภูมิรู้

ถึงวันนี้ที่มีคนอวดเอ่ยอ้าง

ว่าต้องสร้าง"ประชาธิปไตย"ให้เลิศหรู

อ้างสีเสื้อเพื่อชุมนุมต้มคนดู

แท้ต่อสู้เพื่อประโยชน์คนคนเดียว

คนที่ย่ำทำลายระบบรัฐ

แอบประพฤติปฏิบัติเชิงชาญเชี่ยว

สั่งสมพลังพรรคพวกไว้ให้กลมเกลียว

เพื่อเกาะเกี่ยวกับประโยชน์โภชผลตน

คือทางลัดสู่อัครมหาเศรษฐี

กล้ากอบโกยโดยวิถีที่ฉ้อฉล

"คอร์รัป"เชิงนโยบายได้แยบยล

ร่ำรวยเร็วเหลือล้นพ้นประมาณ

อย่างทรัพย์สินที่รัฐ "อายัด"ไว้

เพียงน้อยนิดปิดส่วนใหญ่มหาศาล

ถามว่ามาจากไหนในผลงาน

หรือจากการ "เบี่ยงเบนอธิปไตย"

ที่จับได้ไล่ทันนั้นก็มาก

แต่หลายหลากที่ยังสืบค้นไม่ได้

ที่ซุกซ่อนนอกประเทศอีกเท่าใด

น่าสงสารประเทศไทยที่ถูกโกง

โดยผู้นำของประเทศดุจเปรตหิว

ผู้พลิกพลิ้วดั่งปีศาจผีตายโหง

แสนห่วงหนักพวกรากหญ้ามาผูกโยง

ถูกหัวขวดหมวดเด็กโค่งหลอกโกงฟรี... "

โอ้ฝรั่งยังรักหวงห่วงเมืองไทย

ผิดทาสเงินเพลินจัญไรหัวใจผี

อ้างเรื่องเก่าเผาบ้านเมืองเฟื่องคดี

เมื่อไรหนอ "ธรณีสูบ" พวกมัน!!!


ราตรี ประดับดาว 
 
วันที่ 20/9/2009
[/color]


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.ย. 09, 15:46
เรื่องของน้องหม่อง ทองดี

 

1…เมื่อหนูเริ่มลืมตามาดูโลก

ธงไทยก็สะบัดโบกอยู่เหนือหัว

พ่อแม่หนูจำทิ้งถิ่นแผ่นดินตัว

ไฟสงครามลามทั่วจนกลัวภัย

 

  หนูกำเนิดอย่างคนไทยในสยาม

ในแดนดินถิ่นไทยงาม  จำความได้

หนูมองเห็นตัวตนเป็นคนไทย

เพียงเชื้อสายไทใหญ่ในก่อนกาล

 

เกิดเมืองไทยก็หวังอยู่คู่เมืองไทย

ไม่เคยคิดหลบหนีไปไกลจากบ้าน

ไม่ทำร้ายแผ่นดินไทยให้ร้าวราน

ไม่เคยก่อความร้าวฉานให้ประชา

 

หวังใช้เพียงมันสมองสองมือน้อย

  ไว้ค่อยค่อยสร้างสรรค์งานสานคุณค่า

สร้างชื่อเสียงด้วยสติและปัญญา

เพื่อเชิดชูหน้าตาประเทศไทย

 

อนิจจา ผู้ใหญ่เห็นเป็นปัญหา

หนูถูกเรียกว่าพม่า ใช่ไทยไม่

หนูน้ำตานองหน้า ด้วยเสียใจ

เหมือนหนูถูกขับไล่ ไม่น่าเป็น

 

ขอวิงวอนให้เมตตาอย่าผลักไส

เด็กอย่างหนู มีค่าไหม  โปรดได้เห็น

พิจารณาให้เข้าใจในประเด็น

เด็กดีเด่น ควรหรือขาด สัญชาติไทย?

                                        “ณ ปลายฟ้า”

 

2....หนูคือคุณค่าของแผ่นดิน

เป็นทรัพย์สินทางปัญญาแห่งยุคสมัย

หนูจึงอย่าสะทกสะเทือนใจ

กับผู้ใหญ่ที่ขาดพุทธิปัญญา

 

ผู้อ้างแต่ตัวบทของกฎหมาย

ผู้ทำเรื่องง่ายง่าย  ให้เป็นปัญหา

ผู้อ้างข้อขัดข้องอันค้างคา

ผู้ตีความรายมาตราเอาตามใจ

 

หนูผิดที่เกิดในประเทศนี้

บางอย่างที่ไม่น่าเกิด  ก็เกิดได้

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม หนูต้องไป

สู่ความใฝ่ความฝันอันงดงาม

 

ไปเป็นตัวแทนประเทศไทย

ไปเด็ดดอกไม้ในดงหนาม

ไปชิงชัย ไปสร้างชื่อ ให้ลือนาม

ไปด้วยความสามารถของ หม่อง ทองดี

 

ซึ่งบทเพลงพร้องขับ วันกลับบ้าน

จะขับขานคอยหนูอยู่ที่นี่

ด้วยฝีมือทั้งหมดที่หนูมี

วันพรุ่งนี้จะเป็นของหนู เมื่อสู้มัน

                                         อัคนี  หฤทัย

ลงในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 51  ศุกร์ที่  11– พฤหัสบดี ที่ 17 กันยายน  2552

 
 


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.ย. 09, 20:52
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์มีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน    คือฝ่ายพันธมิตร   กลอนบทนี้สะท้อนความคิดเห็นทางการเมืองได้ว่า เขาเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยในเรื่องใดบ้าง

http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9520000086591
@เจ้ากรรม-นายเวร @
       
      @ เจ้าก่อกรรม ทำกรรม เป็นความผิด
       ทุจริต บ้านเมือง ถึงเคืองเข็ญ
       ล้วนสาหัส มากมาย หลายประเด็น
       เจ้าจึ่งเป็น “เจ้ากรรม” มิใช่ใคร
       
       ผู้รับกรรม ซ้ำซาก อยู่หนักหนา
       คือประชา ตาดำดำ ถูกยำใหญ่
       ส่วนนายผู้ รู้เห็น ความเป็นไป
       แต่ไม่ยอม ทำอะไร แหละ“นายเวร”
       
       เจ้าก่อกรรม จะ“ตัดกรรม” กระไรได้
       ตกกระได พลอยโจน โดนตาเถร
       เล่นคว่ำบาตร หงายบาตร ประหลาดพิเรนทร์
       ไม่เคยมี ก็มาเกณฑ์ ให้เป็นมี
       
       มารับผล กรรมเก่า เถิด “เจ้ากรรม”
       มารับโทษ ที่กระทำ ขะลำผี
       เทวดา ฟ้าดิน ได้ยินดี
       เป็นเศรษฐี ฟอกถ่าน อายบ้านเมือง
       
       ส่วน“นายเวร” เล่นอะไร ยังไม่รู้
       จะออกหมู่ ออกจ่า ล้วนหน้าเหลือง
       กระดานเก่า หมากเก่า ก็เปล่าเปลือง
       เป็นขิงอ่อน เคี้ยวเอื้อง เยื้องยึกยัก
       
       สงสารแต่ ปวงประชา ต้องหน้าดำ
       ทั้งโรคซ้ำ กรรมซัด วิบัติหนัก
       ระวังเถิด “นายเวร” เล่นล้วงลัก
       จะถูกผลัก ให้เป็น.... ไอ้เวรตะไล!
       
       เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
       จ. ๒๗ / ๗ / ๕๒
       


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 09, 19:17
ขอนำบทความ "เทวาลัย" ของคุณประยอม ซองทอง  มาลงไว้
เป็นบันทึกถึงนักกลอนจุฬา เห็นบรรยากาศเมื่อ ๕๐ ปีก่อน  หาอ่านได้ยากแล้วในยุคนี้   
จะได้เห็นถึงฝีมือกลอน ที่อาจหาอ่านไม่ได้แล้วในบรรดากวีรุ่นปัจจุบัน

เทวาลัย

         เมื่อปีการศึกษา ๒๔๙๙ เด็กหนุ่มคนหนึ่งเดินเข้าสู่ตำหนักอักษรศาสตร์  พร้อมเพื่อนชายประมาณ ๒๕ คน  ซึ่งเป็นรุ่นที่มีผู้ชายมากเป็นประวัติการณ์  นอกนั้นเป็นสาว ๆ ส่วนมากสวย ๆ และเรียนเก่ง ๆ ทั้งนั้น  ความที่เป็นเด็กมาจากโรงเรียนประจำ  ซึ่งมีแต่เด็กผู้ชาย  แถมเป็นคนขี้อายและรู้สึกตัวเองว่าทำอะไรไม่ทันเพื่อน  เพราะเป็นเด็กยากจนจากต่างจังหวัดมาก่อน  ทำให้เขาสงบเสงี่ยมมาก  การแสดงออกของเขาจึงเป็นทางด้านการเขียนหนังสือ  โดยเฉพาะบทกลอน
        เขาเป็นคนฝังใจบทกลอนที่ได้อ่านมาตั้งแต่เด็ก ๆ เมื่อแรงเชียร์จากอาจารย์คนหนึ่งที่จบจากคณะอักษรศาสตร์ ( ซึ่งสมัยก่อนมีแต่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งเดียว ) ทำให้เขาฝันอยากเรียนในคณะที่อาจารย์ที่เขาเคารพนับถือมากนั้นเคยเรียนมา  พอเรียนจบจากโรงเรียนฝึกหัดครู  แทนที่เขาจะกลับไปสอนเด็กตามภาระนักเรียนทุนจังหวัดจะต้องทำ  เขากลับสอบเข้าเรียนในคณะอักษรศาสตร์ และสอบได้  ทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้ว่าพี่ ๆ จะมีกำลังส่งให้เรียนหรือไม่
       จากคนขี้อายที่ต่อมากลายเป็นคนที่ใคร ๆ รู้จัก  เพราะการเขียนกาพย์กลอนประกอบกับมีรุ่นพ่อแม่  รุ่นพี่มีชื่อเสียงทางการเขียนหนังสือเป็นแรงจูงใจ  ยิ่งมีเพื่อน ๆ ในรุ่นใกล้เคียงกันเขียนบทกลอน - เล่นสนุกกับการเขียนกลอนกัน  เขาก็เลยเป็นคนหนึ่งที่มุ่งมั่นเอาดีทางเขียนกลอน


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 09, 19:20
แล้วอยู่มาวันหนึ่งเมื่อเขาอยู่ชั้นปีที่ ๓ - พ.ศ.๒๕๐๑ ในขณะที่เขาเป็นสาราณียกรของสโมสรนิสิตทั้งมหาวิทยาลัย  เขาก็รับหน้าที่สาราณียกรทำหนังสือให้เพื่อนที่เป็นนายกชุมนุมนิสิตหญิงด้วย
          มีหน้ากระดาษว่างอยู่ครึ่งหน้า  เขาจึงหยิบกลอนที่เขียนไว้จากแรงบันดาลใจ  ที่อยู่คณะมาถึง ๓ ปี  ลงพิมพ์ในหนังสือ " ชุมนุมนิสิตหญิง ๒๕๐๑ " โดยที่กลอนชิ้นนั้นเขาเคยส่งไปลงให้นิตยสาร "สตรีสาร " พิจารณา  แต่ยังไม่ได้คำตอบ  และในช่วงนั้นเองมิตรผู้อาวุโสในวงการหนังสือ  ซึ่งคุมคอลัมน์กลอนในนิตยสารรายสัปดาห์เล่มใหม่ของ บริษัท ไทย-พณิชยการชื่อ " เพื่อนบ้าน " ขอให้เขาส่งกลอนไปให้  เขาเลยหยิบกลอนชิ้นนั้นส่งไป  เมื่อ ได้ลงใกล้เคียงกับที่ตีพิมพ์ใน " สตรีสาร " กลอนชิ้นนั้นจึงทำให้เขาดังขึ้นมาทันที
        ความจริงกลอนชิ้นนั้น  ถ้าพิจารณาในยุคนี้ก็คงไม่น่าตื่นเต้นอะไรมาก  แถมยังมีข้อบกพร่อง คือ มีสัมผัสซ้ำถึง ๒ แห่ง  แต่ " ความ " ในบทกลอนชิ้นนั้นคงจะ " กระทบใจ " คนอ่าน  ซึ่งอยู่ในรุ่น - และยุคนั้น ( ซึ่งเรียกกันว่า " ยุคสายลม-แสงแดด " ) จึงทำให้มีคนชอบ  และเป็นกลอนที่คนที่มาเข้าเรียนในคณะอักษรศาสตร์รุ่นต่อ ๆ มา  นำมาท่องกันเล่นได้อย่างขึ้นใจ   


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 09, 19:24
        กลอนชิ้นนั้นมีชื่อว่า " เพื่อและจาก...เพื่อนใจ " ซึ่งเพื่อนรักของเขา ซึ่งเป็นนักกลอนมีชื่อคือ เจษฎา วิจิตร ( บัดนี้จากไปยังภพไกลโพ้นแล้ว ) และ รงค์ วิษณุ เคยพูดถึงไว้ในรายการวิทยุ " คนเขียนฝัน " ว่า
        " และแล้วข้าพเจ้าก็ได้บทกลอนชิ้นหนึ่ง  ที่เห็นว่าดีเด่นที่สุดเท่าที่เคยอ่านกลอนยุคใหม่ ๆ นี้มา  ดูเหมือนจะเป็นในหนังสือชุมนุมนิสิตหญิงของจุฬา...จากกลอนชิ้นนี้ข้าพเจ้าไม่ลังเลใจเลย  ในการยอมรับว่า ( เขา ) เป็นคนหนึ่งที่เขียนกลอนได้ดีที่สุด... "
        นั่นคือคำวิพากษ์จากคนที่มีประสบการณ์ในการเขียน  และควบคุมคอลัมน์กลอนมานาน  พูดและเขียนถึงเขาไว้ในปี ๒๕๐๕
         " เพื่อและจาก...' เพื่อนใจ ' " ขึ้นต้นปูบรรยากาศดังนี้
         ยินระฆังยามค่ำย่ำโครมครึก                       ความรู้สึกสับสนปนโศกศัลย์
       พิกุลทองพร้องพร่ำร่ำจาบัลย์      " รอรับวันเธอเยือนเป็น ' เพื่อนใจ ' "
          เพื่อนชีวิต                                   เมื่อโลกมิดเช่นนี้อยู่ที่ไหน
      จะกระเจิงเหลิงหลงกลางพงไพร   หรือ ' อ้อมใจ ' สุขสถิตในนิทรา
      จะอยู่ไหนขอให้นึกระลึกถึง      คนที่ซึ่งห่วง - รักเธอหนักหนา
      แม้ปีกาลผ่านเลือนไม่เคลื่อนคลา   รอเธอมาชื่นชมสู้ตรมทน
        มิ่งมิตรเอ๋ย      แม้ไม่เคยเอ่ยคำรักเลยสักหน
      แต่แววตาที่กล้าหวังด้วยกังวล      นฤมลน่าจะแจ้งจากแรงใจ..."

      เพียงเท่านั้นยังบีบหัวใจไม่ชัดเจนนัก  เขาได้ใช้จินตนาการผสมลงไปเสมือนมีภาพจริง  จนคนเขียน - อ่านกลอนรุ่นหลัง ๆ ในอาณาจักร " สีชมพู " ได้ทำในทำนองเดียวกันนั้น...โดยบทสะเทือนใจตอนท้ายนั้นมีว่า

                               " อย่าลืมร่ม ' จามจุรี ' ที่เคยนั่ง
      ' เทวาลัย ' ในความหลังยังสดใส
      ' สวนอักษร ' ตอนนี้ไม่มีใคร
      คอย ' เพื่อนใจ ' กลับไปเยือนเหมือนอย่างเคย
      ชงโคบานข้างบันไดปีใหม่นี้
      ใครจะชี้ชวนชิดเล่ามิตรเอ๋ย
      ใครคนอื่นหมื่นแสนไม่แม้นเลย
      รอรักเชยชื่นจิตนิจนิรันดร์ "


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 09, 21:48
นั่นจึงเกิดคำถามจากน้อง ๆ ว่า " เทวาลัย " ในความหมายของชาวอักษรศาสตร์รุ่นเก่านั้น  มีความหมายลึกซึ้งเพียงไร
     คนเก่าคนแก่เล่าว่า  ผู้มีความหลังที่ตึกอักษรศาสตร์  ซึ่งเป็นอาคารหลังแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสืบทอดพระเจตนารมณ์ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระราชบิดาของพระองค์ในการประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้แก่ไพร่บ้านพลเมืองทุกชั้น  นับแต่พระราชโอรสพระ-
ราชธิดาของพระองค์ลงไปจนถึงประชาสามัญชน  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงวางศิลาพระฤกษ์อาคารแห่งนั้น  ณ วันที่ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๘ โดยมีพระราชดำรัสในครั้งกระนั้นว่าดังนี้ : -
     " วันนี้เรายินดีที่ได้รับอัญเชิญให้มาวางศิลาฤกษ์สำหรับมหาวิทยาลัยนี้  ซึ่งเป็นกิจอันหนึ่งซึ่งเราปรารถนาอยู่นานแล้ว  ที่จะยังการให้เป็นผลสำเร็จ  ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระองค์ได้ทรงพระราชปรารถนามานานแล้วในเรื่องที่จะให้มีมหาวิทยาลัยขึ้น  สำหรับเป็นสถานอุดมศึกษาของชาวสยาม...ตัวเราเป็นรัชทายาทจึงรู้สึกเป็นหน้าที่อันหนึ่ง  ที่จะต้องทำการนั้นให้สำเร็จตามพระราชประสงค์...เรามีความยินดีที่ได้เห็นการดำเนินล่วงมาได้มากแล้ว  ในบัดนี้เราได้วางศิลาฤกษ์ด้วยความหวังที่ได้แลเห็นความดีงามในอนาคตกาลแห่งมหาวิทยาลัยนี้..."
       นั่นเป็นพระราชดำรัสซึ่งยืนยันพระราชดำริของ " สมเด็จพระปิยมหาราช " ที่ทรงมีพระราชหัตถเลขาดำรัสไว้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๒๗ ไว้ตอนหนึ่งว่า
         " เจ้านายราชตระกูลตั้งแต่ลูกฉันเป็นต้นลงไป  จนถึงราษฎรที่ต่ำที่สุด  จะให้ได้มีโอกาสเล่าเรียนได้เสมอกัน  ไม่ว่าเจ้าว่าขุนนาง  ว่าไพร่  เพราะฉะนั้นจึงขอบอกไว้ว่าการเล่าเรียนในบ้านเมืองเรานี้  จะเป็นข้อสำคัญที่หนึ่ง  ซึ่งฉันจะอุตส่าห์จัดให้เจริญขึ้นให้จงได้ "
        อาคารหลังแรกทรงไทยอันงดงาม  ประดับด้วยศิลปลายไทย  อันเป็นเอกลักษณ์เชิดชูฝีมือช่างของชาติ  จึงปรากฏเป็นตึกแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เป็นที่กำเนิดของคณะวิศวกรรมศาสตร์  คณะวิทยาศาสตร์ ในกาลต่อมา
          ครั้งแรกที่สร้างตึกที่เคยเป็นตึกคณะอักษรศาสตร์ ๑ สำเร็จ  ยังไม่มีการก่อสร้างช่องทางเดินระหว่างตึกอักษรศาสตร์ ๑ ไปยังตึกหอสมุดกลาง ( ซึ่งต่างมาสร้างขึ้นภายหลังหลายปีต่อมา ) ตึกอักษรศาสตร์จึงเป็นตึกโดดเดี่ยว  มีมุขร้างก่อนจะเป็นที่ต่อทางเดินไปสู่หอสมุดกลาง  มุขร้างแห่งนั้นชาวอักษรศาสตร์เก่า ๆ พากันขนานนามว่า " เทวาลัย " ซึ่งหมายถึง " สถานที่สิงสถิตของเทวดา "
        " แต่เราหาได้หมายความว่าพวกเราเป็นเทวดาไม่  หากมีนัยประหวัดไปถึงเทวสถาน  ' เทวาลัย ' อันเป็นสถานศักดิ์สิทธิ์ที่สำหรับบวงสรวงเทวดาในเรื่อง กามนิต  นิยายอมตะที่ท่านอาจารย์ที่เคารพ  และภาคภูมิใจที่ได้เป็นศิษย์ของท่าน คือ " ท่านอาจารย์เจ้าคุณ "หรือ " พระยาอนุมานราชธน " ได้รจนาไว้ในนาม " เสฐียรโกเศศ " ร่วมกับมิตรรักของท่าน
ในนามแฝง " นาคประทีป " หรือนามจริงว่า พระสารประเสริฐ... ใคร ๆ ที่อ่านอมตนิยายเรื่องนี้คงจำได้ว่า วาสิฏฐีได้พบกามนิตที่นั่น  เป็นความตรึงใจจากนิยายเอกเรื่องนั้น  ชาวอักษรศาสตร์จึงขนานนามมุขร้างของตึกมุมนั้นว่า ' เทวาลัย ' ซึ่งกลายเป็นตำนานทั้งความซาบซึ้ง - ความอบอุ่นและขมขื่นนานัปการ...เป็นที่เกิดของนิยาย เข่น " พระจันทร์ขึ้นที่ตึกอักษร "  " ความทรงจำที่เทวาลัยร้าง " และรวมทั้งกลอนของหนุ่มวัย ๒๔ ปีคนหนึ่ง  ซึ่งจารึกความฝังใจไว้ที่ตึกนั้น...เป็นตำนานอันยากลืมเลือนของใคร ๆ ที่ผ่านมาในตำหนักอักษรศาสตร์  แม้ " เทวาลัย " แห่งนั้นจะไม่ร้างแล้วในยามนี้  เพราะกลายเป็นทางเดินอันพลุกพล่านมีชีวิตชีวา  แต่ทุกคนก็จะรับเอานัยของ " เทวาลัย " ไว้แทนความรู้สึกที่มีต่อตึกอักษรศาสตร์แห่งนั้นไว้ตราบนิรันดร..."


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 09, 21:50
    เยาวสตรีที่ถามคำถามถึงกลับนั่งนิ่งไปนาน  ก่อนจะรำพึงออกมาเบา ๆ ว่า
    " แต่บัดนี้คำว่า ' เทวาลัย ' นอกจากจะหมายถึงตึกเก่าแก่แห่งแรกของมหาวิทยาลัย  หมายถึง คณะอักษรศาสตร์  และยังหมายถึงบริเวณลานระหว่างเสา ๔ ต้นหน้าตึก " บรมราชกุมารี " ตึกใหม่ที่เปลี่ยนศักราชใหม่ในอาณาจักรอักษรศาสตร์  แทบจะโดยสิ้นเชิง ! "
     ใครเลยจะนึกว่า  เวลาผ่านไปนานเหลือเกิน...๘๑ ปีแล้ว  ที่ตึกอักษรศาสตร์หรือ" เทวาลัย " ที่รักของชาวอักษรและชาวจุฬาลงกรณ์ทั้งมวล  หลังจากผลิตบัณฑิตอักษรศาสตร์ออกไปถึง ๖๐ รุ่นแล้ว  นับจำนวนคนเป็นหมื่น  เทวาลัยได้ทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา...
     มีรอยแยกของตึกตรงโน้นตรงนี้  มีรอยทรุดของฐานบางแห่ง  สีที่เคยฉาบอาบอิ่มขรึมขลัง  กลับเป็นคราบเป็นรอยด่าง  รอยแตกร้าว  บ้างก็มีตะไคร่น้ำจับบอกความชรา...
     บางครั้งดวงไฟบนเพดานที่มีดอกดวงงดงาม  ก็หลุดหล่นลงมาเกือบทำร้ายบุคลากรในตึก  ก่อนที่เรื่องเศร้าของตึกจะทรุดเพราะความโทรม...มหาวิทยาลัยจึงสร้างตึกใหม่ให้อาจารย์และนิสิตไปสิงสถิตบนแห่งใหม่  แล้วมหาวิทยาลัยก็จะดำเนินการซ่อมแซมตึกอันน่าภาคภูมิใจนั้นอย่างจริงจัง     ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลานานกว่าจะซ่อมแซมได้สำเร็จ  เพราะคงต้องใช้อุปกรณ์การซ่อมแบบสมัยใหม่  ที่จะล้วงลึกไปสู่ฐานราก  ไปจนถึงเพดานและหลังคา   ...คงจะต้องการงบประมาณเป็นเงินไม่น้อย  นับสิบนับร้อยล้าน  เพื่อซ่อมแซมแล้วสถาปนาขึ้นใหม่  ไว้เป็นศูนย์ข้อมูลอันควรศึกษาค้นคว้าของชาวไทยและชาวโลก  เพื่อเป็นอนุสรณ์อันน่าภาคภูมิใจ  ของอาคารแห่งแรกแห่งมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ  และแห่งเดียวที่มีที่มาอันเกี่ยวเนื่องด้วยพระบรมมหากษัตริยาธิราชถึง ๒ พระองค์  ตึกแรกของมหาวิทยาลัยที่สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรก  ได้ทรงศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของไทย  ด้วย ช่วงเวลาอันงดงามในพระชนมชีพ  ที่ทรงมีความสุข ความอบอุ่น ความประทับใจพระทัย ยากยิ่งที่จะทรงลืมเลือน  และเป็นความภาคภูมิใจของชาวสีชมพูอย่างไม่รู้ลืมบูชาในพระ-องค์  และแหล่งสถานศึกษาแห่งนี้...


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 09, 21:54
       สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์  และคณะอักษรศาสตร์ได้ริเริ่มขึ้นแล้ว  ในการระดมทุนเพื่อการซ่อมแซมและปฏิสังขรณ์ตึกอันเป็นมรดกล้ำค่าของชาติแห่งนี้  ตึกอักษรไม่เพียงแต่เป็นสมบัติของชาวอักษร  หากเป็นสมบัติของมหาวิทยาลัย  ที่ชาวจุฬาทั้งปวงจะต้องช่วยกันระดมทุนมาช่วยกันซ่อม  ขณะเดียวกันก็เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติ  ที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ของไทย  ที่ควรแล้วที่ชาวไทยทั้งหลายจะเหลียวมอง  และมีส่วนร่วมกันจรรโลงไว้...
       มิใช่เพื่อชาวอักษรศาสตร์เท่านั้น  หากเพื่อชาวจุฬา...เพื่อประชาชาติไทย  และเพื่อชาวโลกทั้งมวลจะได้ใช้ประโยชน์จากการศึกษาหาความรู้จากตึกนั้นต่อไปในอนาคต  เพราะตึกนั้นจะเป็นแหล่งสะสมวิทยาการนานัปการจะพึงมีในอนาคตไว้  เพื่ออนุชนของโลกในภายภาคหน้า
        ไม่ว่าท่านจะเป็นชาวอักษร  ชาวจุฬา  หรือชาวไทยทั่วไป  ท่านย่อมมีสิทธิที่จะร่วมจรรโลงสมบัติของชาติแห่งนั้นไว้  โดยบริจาคคนละเล็กละน้อยตามกำลังศรัทธา  ไปยังคณะอักษรศาสตร์  จุฬา ฯ โดยจะติดต่อไปยังคณะอักษรศาสตร์ ๒๑๘-๔๘๕๔-๕๕ , ๒๑๘-๔๘๗๙  หรือฝากเงินบริจาคเข้า " กองทุนบรมราชกุมารี " บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกสิกรไทย สาขาสยามสแควร์  เลขที่ ๐๖๒-๒-๔๒๖๐๖-๘ ย่อมจะได้กุศลผลบุญไม่แพ้กัน...ไม่ว่าจะบริจาคมากหรือน้อย

         ความทรงจำรำลึกถึง ' เทวาลัย ' ของใคร ๆ ที่มีต่อสถานแห่งนั้น  อาจจะมากน้อยต่างกัน  อย่างชายหนุ่มคนนั้นซึ่งหลังจากเดินออกจากคณะไปเมื่อปี ๒๕๐๓ แล้วไปเป็นครูอยู่ต่างจังหวัดแดนไกล  เขาได้เขียนถึง " เทวาลัย " ไว้  ทำให้คนได้ท่องกลอนนั้นอีกครั้ง  ในบทกลอนชื่อ " ถึง - เทวาลัย " ดังนี้ :
                " กระดึงดังวังเวงดั่งเพลงขับ          ทุกคืนที่ได้สดับก่อนหลับใหล
      สะท้อนจิตนิมิตเหมือนเสียงเพื่อนใจ       มาติดตามถามไถ่ถึงความทุกข์
      มิ่งมิตรเอ๋ย             อย่าถามเลยว่าอยู่นี่มีหรือสุข
      เมื่อทุกอย่างหนักเบาต้องเข้าคลุก      เหมือนมาซุกชีพให้ป่นอยู่คนเดียว
      ยามเจ็บไข้ไหนจะมีเพื่อนชีวิต         ยามพลาดผิดไหนจะได้ใครแลเหลียว
      ทุกวันนี้ยากเข็ญตัวเป็นเกลียว         ทั้งเปล่าเปลี่ยวไร้มิตรคู่คิดกลอน
      ถึงที่นี่จะมีหางนกยูงอยู่         ไหนจะสู้ชงโคบานลานอักษร
      ถึงริมโขงจะเป็นบ้านเมืองมารดร      ให้อาวรณ์หรือจะเท่าเจ้าพระยา
      ทั่วโลกนี้จะหาได้ที่ไหนบ้าง         จะสุขอย่าง ' เทวาลัย ' อย่าใฝ่หา
      วันที่ตัดใจจากจำพรากมา         เหมือนชีวาจะยับแยกแหลกยามนั้น
      กระดึงดังวังเวงดั่งเพลงขับ                 ทุกคืนนี้ได้สดับแม้หลับฝัน
      ก็สะอื้นฝืนระงับเฝ้านับวัน         ใจยังมั่น..ชีพไม่ดับจะกลับคืน


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ย. 09, 20:23
      กลอนบทนี้จารึกไว้ในหนังสือรวมบทกลอนชื่อ " สุดสงวน " ว่าเขียนเมื่อ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๐๓ 
      ทุกวันนี้ชายหนุ่มคนนั้นเริ่มมีผมสีดอกเลา  และหล่นหายไปหลายเส้นเหมือนหนุ่ม ๆ ชาวอักษรส่วนมาก  แต่ก็ยังขยันผ่านตึกอักษรอยู่บ่อย  เพื่อจะได้ยกมือคารวะตึก - คารวะวิญญาณของตึก...คารวะบุญคุณครูบาอาจารย์ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นตึกที่เรียก " เทวาลัย "
     โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระบรมฉายาลักษณ์ของ พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช และ
พระบาทสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ผู้ทรงมี " พระคุณยิ่ง " ให้ชาวจุฬา " แนบไว้นิรันดร... "


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ต.ค. 09, 19:34
กวีทั้งสาม ยังคงมีไฟแรงอยู่ในวันนี้   เขียนบทกวีลงเป็นประจำในหน้าหนังสือพิมพ์ สะท้อนสังคมและแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ด้วยจุดยืนอย่างเป็นตัวของตัวเอง
คุณเนาวรัตน์เขียนในเดลินิวส์ นำลงในผู้จัดการออนไลน์       คุณประยอม  เขียนลงในแนวหน้าและไทยโพสต์   ส่วนคุณอดุล เขียนลงในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์
ยังคงมีแฟนประจำติดตามอยู่อย่างเหนียวแน่น
ขอยกของประยอม ซองทองมาให้อ่านกันค่ะ

http://www.naewna.com/news.asp?ID=180537

กรรมติดจรวด (กวีวิพากษ์) 
 
 
 

นิยายจีนว่าไว้ "ใครชักดาบ
ย่อมตายราบด้วยดาบ" เป็นแม่นมั่น
ตำนานเก่าเล่าให้เห็นเป็นสำคัญ
"ปลูกพืชใดได้ผลอันนั้นแน่นอน"

ใครใช้ "เงิน" หว่านซื้อเสียงเลี่ยงกฎหมาย
ยังไม่ตาย "เงิน"ก็ย้ำกรรมสังหรณ์
ยิ่งทวง "เงิน" เงินยิ่งเชือดให้เดือดร้อน
ผลเจ็บย้อนคมยับอัปมงคล

คนผู้ใดเคยใช้ "ม็อบ" ก่อกอปรการ
มีผลงานพอใจได้หลายหน
ย่อมผลกรรมทำไว้นั้นมักผันวน
หนีไม่พ้นผล"ม็อบ" กลับมาสับตัว

ใครก่อกรรมใช้ "อำนาจตำแหน่ง"ปล้น
เวรจักดลผลกรรมตามจิกหัว
ต่อให้พ้นตำแหน่งไปไม่ต้องกลัว
ผลแห่งชั่วจะพัวพันตัวมันเอง

ใครกล้าโกง "สมบัติชาติ"กวาดเข้าตน
กรรมพลิกผลเห็นทันใจไม่ต้องเร่ง
ต่อใช้เงินผูกทาสไว้ให้ยำเยง
ทาสแหละเร่งให้ "ตอ"โผล่โชว์ทันใจ

ใครพลิกแพลงบ่ายเบี่ยงเลี่ยงกติกา
"ฟ้ามีตา" จักธำรงความโปร่งใส
อาจยักยอกหลอกรากหญ้าบังตาไว้
แต่ "สัจจริง"ย่อมยิ่งใหญ่ในพิภพ

คนยักยอก "ที่ดิน" ทรัพย์สินวัด
ย่อมวิบัติผลแห่งกรรมนำบรรสบ
นรกเรียกร้องร่ำทุกคำรบ
ยากบรรจบสุขได้จริงใจเลย

ใคร "ฉ้อราษฎร์บังหลวง" ตวงทรัพย์สิน
ทรัพย์แผ่นดินอย่าหวังได้ไปเฉยเฉย
ยิ่งกินแรงลูกน้องจนงอกเงย
กรรมจักเกยกวาดโคตรยับอัปรมาน

เพราะ "กรรมยุคดิจิทัล" มันติดจรวด
จักตามกวาดต่อติดปีกหลีกถิ่นฐาน
เทวดาฟ้าดินเห็นเป็นพยาน
ถูกซาตานกวักมือให้ไปใช้กรรม !!!


ราตรี ประดับดาว 
 


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ต.ค. 09, 19:38
บทกวีในเดือนตุลา ๒๕๕๒  ของคุณเนาวรัตน์
http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9520000117684

@ปณิธานพันธมิตร @
โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

       @ พลังแห่งมวลมหาประชาชน
       พลังของผู้คนทุกหนแห่ง
       พลังความเป็นธรรมอันสำแดง
       พลังแรงที่รวมใจเป็นใจเดียว

       ใจที่จับมือกันประสานชัย
       ใจต่อใจสัมพันธ์อันแน่นเหนียว
       ใจประชาธิปไตยใจกลมเกลียว
       ใจเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นใจพันธมิตร
       
       @ เราจะถือธงธรรมเป็นอำนาจ
       ร่วมกู้ชาติกู้ประชาคือภารกิจ
       สร้างประชาธิปไตยให้ถูกทิศ
       ขจัดพิษแสบเผ็ดเผด็จการ

       ร่วมสร้างการเมืองใหม่ให้เป็นผล
       การเมืองภาคประชาชนบันดลผสาน
       อหิงสาสันติพิชิตพาล
       นี่คือปณิธานของพันธมิตร
       
       เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์     
 
 


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ต.ค. 09, 19:45
http://www.thaipoet.net/index.php?lay=boardshow&ac=webboard_show&WBntype=1&Category=thaipoetnet&thispage=1&No=1240611
ส่วนบทนี้ ของ อดุล จันทรศักดิ์

ดอกไม้แทบพระบาท

1   แต่ละวรรค แต่ละวรรค ค่อยวาดไหว
เป็นดอกไม้ เป็นบทเพลง แห่งพรศรี
แต่ละบทรจนาภาษากวี
ล้วนภาพพระจักรี  อยู่กลางใจ

ไม่ต้องรอให้ใครมาบอกกล่าว
เพียงรู้ข่าวที่ทรงประชวรไข้
แม้มิได้มากราบเพราะอยู่ไกล
ใจก็แล่นไปใกล้พระอาการ

หลับตาอยู่หน้าภาพ ค่อยพึมพำ
พุทธคุณแต่ละคำค่อยสวดขาน
เอามโน และศิระกราน
แผ่วช้า เนิ่นนาน ภาวนา

ภาษาใจจักร่ำอาศิรวาท
กราบเบื้องยุคลบาท พระเจ้าข้า
บันทึกไว้ ใน “เหนือกาลเวลา”
จากหัวใจ  “ณ ปลายฟ้า” และ  “อัคนี”

อัคนี  หฤทัย

2...... ดอกไม้เหลืองเรียงรายใกล้พระบาท
คือดวงใจประชาราษฎร์ทุกถิ่นที่
ทั้งใกล้ไกล   ถวายด้วยรักและภักดี
อยู่ใต้ร่มพระบารมีตลอดมา

จะเป็นสุข  เมื่อเห็นทรงเป็นสุข
เมื่อทรงทุกข์  ก็พลอยทุกข์กันถ้วนหน้า
เมื่อโรคภัยทรงมี  มาบีฑา
ก็เหมือนว่าไข้จับทั่วทุกตัวคน

เหมือนเมฆมืดผ่านมาบนฟ้ากว้าง
พยับฝนปิดทางกลางฟ้าหม่น
แถลงการณ์แต่ละครั้งใจกังวล
เฝ้ารอคอยเมฆลอยพ้นหนทางจร

ขอไหว้วอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทุกทิศา
พระสยามและเทวาสโมสร
โปรดดับทุกข์ในหัวอกพสกนิกร
ที่รุมร้อนให้กลับเย็นเช่นก่อนกาล

ถวายกุศลผลบุญเท่าที่มี
ถวายเป็นราชพลีสมัครสมาน
ถวายใจผ่านบรรดาสุมามาลย์
ถวายบทสาธุการมาบูชา

“ณ   ปลายฟ้า”


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ต.ค. 09, 12:21
แด่...ความฝันของคนหนุ่มสาว

1   ชายหนุ่มและหญิงสาว         มีถนนไปสู่ดวงดาวอยู่เบื้องหน้า
ให้เธอบันทึก ถึงเรื่องราวและกาลเวลา      ที่เธอเดินทางมา และมุ่งไป
   เธอมีเรี่ยวมีแรง กล้าปลุกเร้า      หกล้ม ก็ชันเข่า ขึ้นมาใหม่
ด้วยว่าเธอปฏิเสธจะท้อใจ         เมื่ออยู่ในวิถีนักเดินทาง
   เธอมีรุ่งพรุ่งนี้ของชีวิต         โดยรู้ทางรู้ทิศทุกก้าวย่าง
เคยร้าวเคยรอนก็ซ่อนพราง         รู้ปล่อย รู้วาง ในบางที
   เธอมีใจและมีจินตนาการ      เป็นความหวังความหวานซึ่งไหวถี่
เป็นนักสู้ผู้เสพสุนทรีย์            เชื่อมั่นว่ายังมีดอกไม้บาน

2   ซึ่งความงามความฝันจะบรรเจิด      พาไปสู่ความเป็นเลิศในทุกด้าน
จะค่อยเริ่มนฤมิตจิตวิญญาณ         ประสบการณ์ก็จะเกื้อเป็นเชื้อไฟ
สร้างดาวคนละดวงให้ช่วงแสง         ยิ่งไฟแรง ดวงดาวยิ่งวาวไสว
ใช้ความรักเป็นน้ำเลี้ยงกำลังใจ         เดินผ่านดงดอกไม้ลดามาลย์
   เธอจะเขียนคำกวี วาดและไหว      เล่าเรื่องแห่งหัวใจ สวย อ่อนหวาน
ณ คืนวัน ที่ช่วงวัยโชติชวาล         เป็นทิพย์ธารน้ำใสให้ซึมซับ
   มีแสงนิลเนตรแห่งหนึ่งแรงห่วง      ส่องแทนดวงดาวเมื่อดาวเหนือหลับ
มีความรักรินหยาด ระยิบระยับ         เป็นแรงขับ จากใครเพียงหนึ่งคน

3   เธอต้องเติบตนจากต้นกล้า      ผ่านยุคการแสวงหาอันสับสน
พบต้นแบบ ผ่านบทการอดทน         จนรู้เหตุรู้ผลโดยพ้องพาน
   ต้องรู้ ผ่านร้อนและผ่านหนาว      หล่อหลอมจนเป็นหนุ่มสาว กร้าวและกร้าน
หลุดพ้นจากพันธนาการ                         โดยเสรี จะโลดทะยานผ่านกาลเวลา
   เดินทางไปตามความคิดฝัน      ให้ชีวิตมีสีสัน ตามปรารถนา
พบดวงดอกไม้ในดวงตา         ซึ่งจะมาประดอกในดวงใจ
   ขอให้เธอก้าวผ่านและหลุดพ้น      ผ่านถนนของหนุ่มสาวร่วมสมัย
ขอให้เธอมีฝันและมีไฟ            เป็นแรงส่งให้เธอไปถึงดวงดาว

ลงในคอลัมน์ กวีลีลา  นิตยสาร ALL Magazine ปีที่ 4 ฉบับที่ 5 / กันยายน 2552



กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 09 ต.ค. 09, 10:10
          ช่วงนี้หน้าแวดวงหนังสือของ นสพ. เขียนถึงบทกวีของ นภาลัย สุวรรณธาดา (ฤกษ์ชนะ)
ที่ออกอากาศเผยแพร่ทางโทรทัศน์

             นอกจากประเด็นเรื่องคุณค่าของเนื้อหากระแทกใจ และความไพเราะแล้ว ยังมีประเด็นเรื่อง
การนำไปใช้โดยไม่ได้บอกกล่าวขออนุญาต หรือระบุชื่อของผู้แต่งเลย ทั้งที่เป็นการดำเนินการของภาครัฐ
ซึ่งน่าจะรู้ควร ไม่ควร

บทกวีนี้คือ                            
                                          เพลงชาติ

      ธงชาติไทยไกวกวัดสะบัดพลิ้ว
แลริ้วริ้วสลับงามเป็นสามสี
ผ้าผืนน้อยบางเบาเพียงเท่านี้
แต่เป็นที่รวมชีวิตและจิตใจ

      ชนรุ่นเยาว์ยืนเรียบระเบียบแถว
ดวงตาแน่วนิ่งตรงธงไสว
"ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย"
ฟังคราวใดเลือดซ่านพล่านทั้งทรวง

      ผืนแผ่นดินถิ่นนี้ที่พำนัก
เราแสนรักและแสนจะแหนหวง
แผ่นดินไทยไทยต้องครองทั้งปวง
ชีพไม่ล่วงใครอย่าล้ำมาย่ำยี

      เธอร้องเพลงชาติไทยมั่นใจเหลือ
พลีชีพเพื่อชาติที่รักทรงศักดิ์ศรี
เพลงกระหึ่มก้องฟ้าก้องธาตรี
แม้ไพรีได้ฟังยังถอนใจ

      แต่สิ่งหนึ่งซึ่งไทยร้าวใจเหลือ
คือเลือดเนื้อเป็นหนอนคอยบ่อนไส้
บ้างหากินบนน้ำตาประชาไทย
บ้างฝักใฝ่ลัทธิชั่วน่ากลัวเกรง

      ทุกวันนี้ศึกไกลยังไม่ห่วง
แต่หวั่นทรวงศึกใกล้ไล่ข่มเหง
ถ้าคนไทยหันมาฆ่ากันเอง
จะร้องเพลงชาติไทยให้ใครฟัง!


         ข้อมูลระบุว่าบทกลอนนี้แต่งขึ้นในปี ๒๕๑๐ เมื่อครั้งคุณนภาลัยเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  
         เวลาผ่านไปแสนนาน เกิดเหตุการณ์สำคัญในบ้านเมืองหลายครั้งหลายครา กลอนบทนี้ก็ยังคงเป็นที่กล่าวถึงและ
ถูกนำมาใช้กระตุก ปลุกสำนึกคนไทยในวันนี้

ภาพจากนสพ. คมชัดลึก


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 09 ต.ค. 09, 10:15
กิเลน ประลองเชิง เขียนไว้ในไทยรัฐ

กลอน (เพลง) ชาติ

         การเล่นกลอนสด สมัยนี้พอมีประปราย สมัยก่อนกลอนธรรมศาสตร์เป็นมหาอำนาจ มาเสียท่าทีมจุฬาฯ
สมัยคุณ อดุลย์ จันทรศักดิ์ กับคุณปิยะพันธ์ จัมปาสุต ตอนหลัง

         เรื่องลึกๆอย่างนี้ นักกลอนบ้านนอกไม่เคยรู้ ผมก็เพิ่งมารู้ เอาตอนอ่าน ณ กาลเวลา รวมบทกวีของท่านอดุลย์ จันทรศักดิ์
เมื่อสองสามปีมานี่เอง
         ทีมจุฬาฯใช้แม่ไม้...ชิงแชมป์กลอนสดจากธรรมศาสตร์ไปได้อย่างไร เด็กรุ่นใหม่ที่สนใจกลอนอยากได้วิชา
ต้องไปหาหนังสืออ่านกันเอาเอง

         ก็เพิ่งรู้อีกล่ะครับ งานแข่งกลอนสดเลิกไปหลัง 14 ตุลาฯ 16... ผมแปลกใจ วันที่ฟ้าสีทองผ่องอำไพแล้ว...งานแข่งกลอน
สืบสานวิถีชีวิตแบบไทยๆ น่าจะรุ่งโรจน์โชติชัชวาลต่อไปอีก

ทำไม กลับวูบวับดับหายไปเสีย

            ถ้าจะให้เดา...ก็ต้องเดา...เนื้อหาในบทกลอนตอนนั้น มีบางคนอย่าง โฉม ปาริษา เขียนค่อนขาดว่า
"เขียนหาผัวเมียกันเท่านั้นเอง"

หลัง 14 ตุลาฯ แนวกลอนรักหวาน ก็ดูจะเปลี่ยนเป็นแนวกลอนเพื่อชีวิต ถ้าไม่เขียนแบบ
            "คนกับควายทำนาประสาควาย คนกับควายความหมายมันลึกล้ำ" แล้วถือว่าเป็นพวกศักดินาล้าหลัง

แต่เด็กบ้านนอกที่ต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอด ไม่ประสีประสากับการเมืองกับเขาอย่างผม ก็ยังติดอยู่กับท่วงทำนองรักหวานๆ แบบเดิมๆอยู่

              ทวนบท "ลำนำจากเจ้าพระยามากล่อมใจ คิดถึงใครคนหนึ่งซึ่งไม่มี" กลอนยุคแรกๆ ของอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
ทีไร หันมาเขียนกลอนเอง ก็อาย ต้องเลิกเขียนไปเป็นแรมปี

               สุภาพ คลี่ขยาย เขียนถึงกลอนของ "ธารี"  "ความหนาวเย็นรวมตัวเต็มหัวใจ คิดถึงใครคนหนึ่งซึ่งไม่มา"
แล้วตั้งคำถาม "สมองส่วนไหนของเขาหนอ ที่คิดคำเรียงร้อยออกมาได้กินใจถึงปานนี้"

ผมพยายามเทียบเคียง ระหว่างบาท "คิดถึงใครคนหนึ่ง ซึ่งไม่มี" ของเนาวรัตน์ กับ "คิดถึงใครคนหนึ่งซึ่งไม่มา" ของธารี...
ใครไพเราะกว่าใคร...อ่านบาทอื่นๆประกอบแล้ว...ก็ตัดสินไม่ถูก

               ถ้าถามว่า กลอนบทไหน...มีคนอ่านแล้วจำได้มากกว่า "ดอกรักบานในหัวใจใครทั้งโลก แต่ดอกโศกบานในหัวใจฉัน"
ผมเชื่อว่า วรรคทองวรรคนี้ของเฉลิมศักดิ์ ศิลาพร (หยก บูรพา) คะแนนมากกว่า

แต่หากจะวัดกันด้วยเนื้อหา ที่ให้คุณค่าต่อจิตใจคนไทยทุกยุคทุกสมัย กลอนบทหนึ่ง ซึ่งตอนนี้มีเสียงเด็กอ่านออกทีวีทุกวัน

             "ทุกวันนี้ศึกไกลยังไม่ห่วง แต่หวั่นทรวงศึกใกล้ไล่ข่มเหง ถ้าคนไทยหันมาฆ่ากันเอง จะร้องเพลงชาติไทยให้ใครฟัง"

            กลอนของคุณนภาลัย ฤกษ์ชนะ (สุวรรณธาดา) วรรคนี้ เป็นกลอนอมตะ ไม่มีวันตาย ผมเองอ่านมาตั้งแต่สมัยเป็นวัยรุ่น
จนผมหงอกเต็มหัวแล้ว ก็ยังจำได้ไม่เคยลืม

สักปีที่แล้ว ผมเพิ่งเห็นหน้าคุณนภาลัย ในงานกลอนสักวาพระอภัยมณี ที่สวนผักกาด อีกไม่กี่วันต่อมา ก็มีข่าวว่าท่านอดุลย์ จันทรศักดิ์
ซึ่งเล่นสักวาอยู่ด้วย ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ

             ผมไม่รู้ว่าคุณนภาลัยมีงานอื่นที่มีคุณค่าอยู่กี่มากน้อย แต่คนที่เขียนกลอนให้คนจำได้ น้องๆเพลงชาติ...ขนาดนี้
น่าจะได้รับการเชิดชูให้เป็นอะไรๆดีๆ แบบท่านอดุลย์บ้าง

             เนื้อหากลอนบทนี้ ให้ความรู้สึกลึกซึ้งมาก คนที่ จำกลอนบทนี้ได้ ผมเชื่อว่ารักบ้านเมืองมากกว่าคน คนที่ถูกเกณฑ์
ไปร้องเพลงชาติตอนหกโมงเย็นหลายเท่า.

กิเลน ประลองเชิง


กระทู้: ตำนานนักกลอน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 09 ต.ค. 09, 10:54
        ยังมีบทกลอนอีกชิ้นหนึ่งของคุณนภาลัย ที่ได้รับการถ่ายทอดกันมาโดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคม

      งานวันเกิดยิ่งใหญ่ใครคนนั้น               
ฉลองกันในหมู่ผู้ลุ่มหลง   
หลงลาภยศสรรเสริญเพลินทะนง           
วันเกิดส่งชีพสั้นเร่งวันตาย   
               
       อีกมุมหนึ่งซึ่งเหงาน่าเศร้าแท้           
หญิงแก่แก่นั่งหงอยและคอยหาย     
โอ้วันนี้ในวันนั้นอันตราย                 
แม่คลอดสายโลหิตแทบปลิดชนม์
   
      วันเกิดลูกเกือบคล้ายวันตายแม่       
เจ็บท้องแท้เท่าไรก็ไม่บ่น                                   
เจ็บท้องแท้เท่าไรก็ไม่บ่น                                      (บางแห่งเป็น  .... มิได้บ่น)
เติบโตจนบัดนี้นี่เพราะใคร
             
      แม่เจ็บเจียนขาดใจในวันนั้น         
กลับเป็นวันลูกฉลองกันผ่องใส   
ได้ชีวิตแล้วก็เหลิงระเริงใจ           
ลืมผู้ให้ชีวิตอนิจจา 
                     
      ไฉนเราเรียกกันว่าวันเกิด             
วันผู้ให้กำเนิดจะถูกกว่า               
คำอวยพรที่เขียนควรเปลี่ยนมา   
ให้มารดาคุณเป็นสุขจึงถูกแท้
       
      เลิกจัดงานวันเกิดกันเถิดนะ         
ควรแต่จะคุกเข่ากราบเท้าแม่         
รำรึกถึงพระคุณอบอุ่นแด             
อย่ามัวแต่จัดงานประจานตัว