เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 15991 เพลงชาติไทย
ทิด ramty001@camtech.net.au
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 03 มี.ค. 02, 13:28

วันนี้มีเรื่องประวัติ และลำดับเวลา ขั้นตอนการพัฒนาของเพลงชาติไทยมาเล่าสู่กันฟังนะครับ เพื่อไม่ให้เป็นการยืดเยื้อเริ่มเลยก็แล้วกันนะครับ
......................................................
ประวัติการกำหนดเพลงใดเพลงหนึ่งขึ้นมาเป็นเพลงชาตินั้นมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัยนะครับ ก่อนหน้าที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศสยามยังคงมีพระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกครอง และทรงมีอำนาจสูงสุด ประเทศเราจึงได้เคยใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นเพลงชาติอยู่ระยะเวลาหนึ่ง คือตั้งแต่แต่สมัยปี พ.ศ. ๒๔๓๑ จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๕  โดยผู้ประพันธ์ทำนองคือ ปโยตร์ สซูโรฟสกี้ นักประพันธ์เพลงชาวรัสเซีย โดยมีสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศานุวัตติวงศ์ทรงนิพนธ์บทร้อง ดังนี้  

@ ข้าวรพุทธเจ้า
เอามโนและศิรกราน
นบพระภูมิบาลบุญญะดิเรก
เอกบรมจักริน
พระสยามินทร์พระยศยิ่งยง
เย็นศิระเพราะพระบริบาล
ผลพระคุณธรักษา
ปวงประชาเป็นศุขสานต์
ขอบันดาล ธประสงค์ใด
จงสฤษดิ์ดังหวังวรหฤทัย
ดุจจะถวายชัย ฉะนี้ ฯ

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงดำริเปลี่ยนคำในตอนจบของเพลงสรรเสริญพระบารมีจาก “ฉะนี้” เป็น “ไชโย” แทน นอกจากบทร้องฉบับนี้แล้วยังมีฉบับที่พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ทรงนิพนธ์ไว้เช่นกัน บทร้องดังกล่าวมีดังนี้

 @ ข้าวรพุทธเจ้า
เหล่ายุทธพลนาวา
ขอถวายวันทา วรบดทะบง (บทบงส์)
ยกพลถวายไชย
ให้สยามจงอิสระยิ่งยง
เย็นศิระเพราะพระบริบาล
ใจทหารทั้งบ่าวนาย
ยอมขอตายถวายท่าน
ชอบันดาล ธ ประสงค์ใด
จงสิทธิ์ดังหวังพระหฤทัย
ดุจถวายไชย ฉะนี้

ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ รัฐบาลในขณะนั้นโดยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้ดำริแต่งเพลงชาติขึ้น เพื่อปลุกใจให้คนไทยรักชาติ และสามัคคี ตลอดจนให้เลื่อมใสในรัฐธรรมนูญ โดยใช้ทำนองเพลงมหาชัย ซึ่งมีเนื้อร้องดังนี้

@ สยามอยู่คู่ฟ้าอย่าสงสัย
เพราะชาติไทยเป็นไทยไปทุกเมื่อ
ชาวสยามนำสยามเหมือนนำเรือ
ผ่านแก่งเกาะเพราะเพื่อชาติพ้นภัย

เราร่วมใจร่วมรักสมัครหนุน
วางธรรมนูญสถาปนาพรรษาใหม่
ยกสยามยิ่งยงธำรงชัย
ให้คงไทยตราบสิ้นดินฟ้า ฯ
..................................

ต่อมาจึงดำริจะให้มีเพลงชาติแบบสากล จึงได้ให้พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยกร) แต่งทำนองเพลงขึ้น โดยให้ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) แต่งคำร้อง ดังนี้

@ แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง
ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตแดนสง่า
สืบชาติไทยดึกดำบรรพ์โบราณลงมา
ร่วมรักษาเอกราษฎร์ชนชาติไทย

บางสมัยศัตรูจู่มารบ
ไทยสมทบสวนทัพเข้าขับไล่
ตะลุยเลือดหมายมุ่งผดุงไผท
สยามสมัยบุราณรอดตลอดมา

อันดินแดนสยามคือว่าเนื้อของชาติไทย
น้ำรินไหลคือว่าเลือดของเชื้อข้า
เอกราชคือกระดูกที่เราบูชา
เราจะสามัคคีร่วมมีใจ

ยึดอำนาจกุมสิทธิ์อิสระ เสรี
ใครย่ำยีเราจะไม่ละให้
เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินไทย
สถาปนาสยามให้เชิดชัย ชโย ฯ
……………………………………….

ในปีพุทธศักราช ๒๔๗๗ รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเพลงชาติขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงเป็นประธาน มีกรรมการท่านอื่นๆดังนี้คือ พระเรี่ยมวิรัชพากย์ พระเจนดุริยางค์, หลวงชำนาญนิติเกษตร, จางวางทั่ว พาทยโกศล และนายมนตรี ตราโมท คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่พิจารณาเกี่ยวกับเพลงชาติโดยเฉพาะ ผลการตัดสินปรากฎว่า เพลงที่ชนะเลิศได้แก่ ฉบับที่ประพันธ์โดยของจางวางทั่ว พาทยโกศล  สำหรับเพลงชาติแบบไทยฉบับนี้ ซึ่งต่อมาถูกเรียกว่าเพลงชาติ "แบบไทย” นั้น ท่านผู้แต่งได้ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงหน้าพาทย์สำคัญของไทยที่มีชื่อว่าเพลง “ตระนิมิตร” ให้สามารถบรรเลงเป็นทางสากล ซึ่งเพลงตระนิมิตรนี้ เป็นเพลงที่ถือว่าเป็นเพลงครู นักดนตรีจะใช้บรรเลงในพิธีสำคัญต่างๆ เช่น งานไหว้ครู บรรเลงเป็นการอัญเชิญครูบาอาจารย์ เทวดาทั้งหลายมาประชุมกันเพื่อความเป็นสิริมงคล ดังนั้นจึงมีความหมายอันควรแก่การเคารพนับถือเป็นสิริมงคล จึงควรที่จะเหมาะสมที่จะเป็นเพลงชาติไทยได้ แต่อย่างไรก็ตาม และไดใช้เป็นเพลงบรรเลงออกอากาศทางวิทยกระจายเสียงของกรมโฆษณาการอยู่ระยะหนึ่ง ส่วนเพลงชาติในแบบสากลฉบับของพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยกร) นั้นก็ยังคงนำมาใช้บรรเลงอยู่ด้วยในหลายๆ โอกาสเช่นกัน จึงอาจจะกล่าวได้ว่า ในยุคนั้นชาติไทย หรือประเทศสยาม ณ เวลานั้น ของเรามีเพลงชาติไทยถึง ๒ แบบ ๒ ทำนอง

ต่อมาภายหลังคณะกรรมการชุดเดียวกันนี้ ได้มีการพิจารณาว่า เพลงชาตินั้นคงจะมีลักษณะที่บ่งบอกถึงความศักดิ์สิทธิ์ ถ้ามีสองเพลงอาจทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ลดลง จึงร่วมกันพิจารณาใหม่ ในที่สุดตกลงว่าให้มีทางสากลเพลงเดียวคือ แบบทำนองสากลของพระเจนดุริยางค์ สำหรับเหตุผลในการยกเลิกเพลงชาติ “แบบไทย”และเลือกเพลงชาติตามแบบ “สากล” คงไว้ใช้ต่อไปนั้น ไม่ปรากฏว่ามีเหตุผลพิเศษอื่นใด นอกจากความเห็นจากหลายฝ่ายที่เข้าใจว่า ทำนองเพลงชาติ “แบบไทย” นั้นอาจจะดูเป็นไทยเกินไป และอาจจะดูเชยเหมือนกับว่าไม่มีวัฒนธรรม

เมื่อสรุปทำนองหลักของเพลงชาติไทยได้แล้ว ทางคณะกรรมการฯ จึงได้จัดให้มีการประกวดบทร้องขึ้นใหม่ ซึ่งผลจากการประกวดบทร้องในครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาให้รางวัลแก่บทร้อง ๒ ฉบับ คือบทร้องของนายฉันท์ ขำวิไล และบทร้องของขุนวิจิตรมาตรา และตัดสินให้บทร้องของขุนวิจิตรมาตราได้รับรางวัลชนะเลิศ และได้ประกาศใช้บทร้องที่ได้รับรางวัลชนะเลิศนี้เป็นบทร้องของเพลงชาติไทยอย่างเป็นทางการตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อย่างไรก็ตามสำหรับเพลงชาติแบบไทยฉบับของจางวางทั่ว พาทยโกศลนั้น ก็ยังคงมีบรรเลงอยู่ในกองดุริยางค์ทหารเรือ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๒  

บทร้องที่คณะกรรมการคัดเลือกมีดังนี้  

บทร้องเพลงชาติไทยของนายฉันท์ ขำวิไล
 
@ เหล่าเราทั้งหลายขอน้อมกายถวายชีวิต
รักษาสิทธิ์อิสระ ณ แดนสยาม
ที่พ่อแม่สู้ยอมม้วยด้วยพยายาม
ปราบเสี้ยนหนามให้พินาศสืบชาติมา

แม้ถึงไทยไทยด้อยจนย่อยยับ
ยังกู้กลับคงคืนได้ชื่นหน้า
ควรแก่นามงามสุดอยุธยา
นั้นมิใช่ว่าจะขัดสนหมดคนดี

เหล่าเราทั้งหลายเลือดและเนื้อเชื้อชาติไทย
มิให้ใครเข้าเหยียบย่ำขยำขยี้
ประคับประคองป้องสิทธิ์อิสระเสรี
เมื่อภัยมีช่วยกันจนวันตาย

จะสิ้นชีพไว้ชื่อให้ลือลั่น
ว่าไทยมั่นรักชาติไม่ขาดสาย
มีไมตรีดียิ่งทั้งหญิงชาย
สยามมิวายอยู่มุ่งหมายเชิดชัย ไชโย ฯ
……………………………………

บทร้องเพลงชาติไทยของขุนวิจิตรมาตรา

@ แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง
ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตแดนสง่า
สืบเผ่าไทยดึกดำบรรพ์บุราณลงมา
ร่วมรักษาสามัคคีทวีไทย

บางสมัยศัตรูจู่โจมตี
ไทยพลีชีพร่วมรวมรุกไล่
เข้าลุยเลือดหมายมุ่งผดุงไผท
สยามสมัยบุราณรอดตลอดมา

อันดินแดนสยามคือว่าเนื้อของเชื้อไทย
น้ำรินไหลคือว่าเลือดของเชื้อข้า
เอกราษฎร์คือเจดีย์ที่เราบูชา
เราจะสามัคคีร่วมมีใจ

รักษาชาติประเทศเอกราชจงดี
ใครย่ำยีเราจะไม่ละให้
เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินไทย
สถาปนาสยามให้เทอดไท ไชโย ฯ
…………………………………………..

ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๘๒ ในช่วงยุคการปกครองโดยนายกรัฐมนตรีจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจากคำว่า “สยาม” มาเป็น “ไทย” ตามนโยบาย “รัฐนิยม” ของท่านผู้นำในสมัยนั้น ทำให้จำต้องแก้ไขบทร้องในเพลงชาติด้วย รัฐบาลจึงได้จัดประกวดบทร้องเพลงชาติไทยขึ้นใหม่ ผลการประกวดบทร้องเพลงชาติไทยครั้งนั้นได้แก่ บทร้องซึ่งประพันธ์โดยนายพันเอกหลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ซึ่งส่งเข้าประกวดในนามกองทัพบก และให้ใช้ขับร้องร่วมกับทำนองเพลงชาติไทย ของพระเจนดุริยางค์ ตามแบบที่มีอยู่ ณ กรมศิลปากร ซึ่งมีเนื้อร้องดังนี้

@ ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน
อยู่ดำรงไว้ได้ทั้งมวล
ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี

ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด
เอกราาชจะไม่ให้ใครข่มขี่
สละเลือดทุถกหยาดเป็นชาติพลี
เถลิงประเทศชาติไทยทวี มีชัย ชโย ฯ

และบทร้องเพลงชาติไทยบทนี้ก็ได้กลายมาเป็นบทที่พวกเราคนไทยได้ใช้ร้องกันมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับเกียรติที่ได้รับในครั้งนี้ท่านพันเอกหลวงสารานุประพันธ์ มีความปลาบปลื้มและภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับได้สั่งเสียบุตร ธิดา ไว้ว่า “ ฉันได้สั่งบุตรธิดาของฉันไว้ทุกคนว่า ในกาลภายหน้าเมื่อถึงวาระที่ฉันจะต้องเกษียรอายุลาโลกไปแล้ว ขณะจะใกล้จะขาดอัสสาสะ ขอให้หาจานเสียงเพลงชาติอันนี้ มาเปิดให้ฟังให้จงได้ เพื่อบังเกิดความชุ่มชื่นระรื่นใจ อันไม่มีเสื่อมคลายตราบสิ้นปราณ “
…………………………………………………..
เรียบเรียงจาก
1.   บทความเรื่อง “เพลงชาติไทย” www.dontrithai.com
2.   บทความจากหนังสือ “สยามสังคีต" โดย นพ.พูนพิศ อมาตยกุล
3.    www.thaimain.org
4.    www.nevy.mi.th
........................................................................
มีโน๊ตบรรทัดห้าเส้น เพลงชาติไทย ฉบับของท่านครูจางวางทั่ว พาทยโกศลมาฝากนะครับ โดยท่านผู้บันมึกโน๊ตฉบับนี้คือครูเทวาประสิทธ์ พาทยโกศล บุตรชายของท่านครูจางวางทั่ว ซึ่งทั้งท่านครูจางวางทั่ว ละครูเทวาประสิทธิ์ ถือว่าเป็นหนึ่งในอัจฉริยะนักดนตรีคนสำคัญในยุครุ่งเรืองสุดท้ายของการดนตรีไทย ก่อนที่จะถูกรัฐาบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม สั่งห้ามเล่นห้ามร้องดนตรีไทยเป็นเวลานานถึง 15 ปีนะครับ
 
บันทึกการเข้า
ทิด
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 21 ก.ย. 00, 00:00

พลาด!!! รูปไม่เข้าแฮะ ส่งใหม่ครับ
http://vcharkarn.com/reurnthai/uploaded_pics/thaisong.jpg'>
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 21 ก.ย. 00, 00:00

ขอบคุณมากค่ะ
เคยอ่านมาบ้างแต่ไม่ละเอียดเท่านี้  จะsave ไว้นะคะ
บันทึกการเข้า
นนทิรา
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 21 ก.ย. 00, 00:00

ขอบคุณคุณทิดค่ะ อุตส่าห์รวบรวมเรียบเรียงมาให้อ่านกัน  
บันทึกการเข้า
Caeruleus
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 21 ก.ย. 00, 00:00

Thank you, too!! Mr. Tid
บันทึกการเข้า
ทิด
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 21 ก.ย. 00, 00:00

_/\_ ไหว้งามๆ หนึ่งครั้ง ขอบคุณๆ เว็บมาสเตอร์มากครับ ที่ช่วยใส่รูปให้
.........
คุณเทาชมพู ที่อ่านมีอะไรแตกต่างหรือยังไง ช่วยเพิ่มเติมด้วยนะครับ
.........
สวัสดีครับ คุณนนทิรา ไม่ได้พบกันทางกระดานข่าวนานแล้วนะครับ สบายดีรึ
.........
คุณ Caeruleus ด้วยความยินดี ขอบคุณเช่นกันครับ
บันทึกการเข้า
แพร -
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 21 ก.ย. 00, 00:00

เรียนคุณทิด

พี่อ๊อฟ โปรแกรมเมอร์ฝากมาบอกว่า เนื่องจากชื่อไฟล์ที่คุณทิดใส่ตอนแรก เป็นภาษาไทย
และโปรแกรมของเรา ยังไม่สามารถจัดการได้ (แสดงให้เห็นถึงความยังไม่เป็นมืออาชีพของพวกเรา แฮะ ๆ)
แต่ข้อผิดพลาดนี้ได้จัดการแก้ไขเรียบร้อยแล้วค่ะ

ต้องขอขอบคุณคุณทิดมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ
 
บันทึกการเข้า
Homesick USA
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 21 ก.ย. 00, 00:00

Thanks a lot, Khun Tid.  

It's very useful.

I hope you would come to give good stuff like this to us again.
บันทึกการเข้า
นนทิรา
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 22 ก.ย. 00, 00:00

สวัสดีเช่นกันค่ะ คุณทิด ดิฉันสบายดี แต่ที่มองอดีตเงียบเหงา ดิฉันเลยพลอยเงียบไปด้วย คุณทิดสบายดีนะคะ
บันทึกการเข้า
ลุงแก่
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 23 ก.ย. 00, 00:00

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี  
   ว่าด้วยรัฐนิยมฉะบับที่ ๖
   เรื่องทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติ

   ด้วยรัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า ทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติ ซึ่งได้ประกาศไว้
ณ วันที่ ๒๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ นั้น ทำนองเพลงเป็นที่นิยมแพร่หลาย
พอสมควรแล้ว แต่เนื้อร้องจะต้องมีใหม่ เพราะชื่อประเทศได้เรียกว่าประเทศไทยแล้ว
จึ่งได้ประกาศให้ประชาชนเข้าประกวดแต่งมาใหม่ บัดนี้ คณะกรรมการได้พิจารณา
คัดเลือกเนื้อร้องบางบทเสนอให้คณะรัฐมนตรีวินิจฉัย คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษา
พิจารณาแล้ว ลงมติพร้อมกันตกลงตามบทเพลงของกองทัพบกโดยได้แก้ไขเล็กน้อย
   จึ่งประกาศเ)้นรัฐนิยมไว้ดั่งต่อไปนี้
   ๑. ทำนองเพลงชาติ ให้ใช้ทำนองเพลงของพระเจนดุริยางค์ตามแบบที่มีอยู่ ณ
กรมศิลปากร
   ๒. เนื้อร้องเพลงชาติ ให้ใช้บทเพลงของกองทัพบก ดั่งต่อไปนี้

   ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน
อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล
ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี
ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด
เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่
สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี
เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย
   
   ประกาศมา ณ วันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒

   พิบูลสงคราม

   นายกรัฐมนตรี
 
บันทึกการเข้า
โอ๊ท
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 24 ก.ย. 00, 00:00

เยี่ยม!! เยี่ยมจริง ๆ
ยกนิ้วให้สองมือเลยครับ
ผมพิมพ์เก็บไว้แล้ว
บันทึกการเข้า
ทิด
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 25 ก.ย. 00, 00:00

มีโน๊ตเพลงชาติไทยฉบับของท่านครูจางวางทั่ว พาทยโกศลมาฝากอีกครับ

เป็นการบันทึกแบบไทยคือจะแบ่งแต่ละบรรทัดออกเป็นแปดห้องนะครับ

โน๊ตชุดนี้เขียนโดยคุณเลอเกียรติ มหาวินิจฉัยมนตรีศิลปินของกรมศิลปากร

โดยเอาไปลงไว้ที่กระดานข่าวของ www.thaikids.com นะครับ

ผมก็เพิ่งจะทราบว่าเพลงนี้มีอีกชื่อว่า "เพลงมหานิมิตร" ก็คราวนี้เองครับ

.........................................................................................................

เพลงมหานิมิตร

- - - - / - - - ท / - - - ท / - - - ม / - - - ร / - - - ท / - ล ท รํ / - ท - ล /

- ซ - ม / - ร - รํ / - - - มํ / - - - ล / - - - ท / - -ล ซ / - ฟ#-ม / - ร - ท /

- ร ม ฟ#/ ซ ล ล# ท / - - - - / - - - ม / - - - ร / - - -ท / - ล ท รํ / - ท - ล/

- ซ - ม / - ร - รํ / - - - มํ / - - - ล / - - - ท / - - ล ซ / -ฟ# -ม / - ร - ท /

- - - - / - - - ท / - - - ท / - - - มํ / - - - ซํ / - - มํ ซํ / - ฟํ# -มํ / - รํ - ท /

- - - - / - - - ม / - - - ม / - - - ท / - - - รํ / - - ท รํ / - ดํ - ท / - ล - ซ /

- ร - ม / - - ร ท / - - - - / - - - ม / - - ซ ม / - ร - ซ / - - ล ท / - รํ - มํ /

- - - ซํ / - - - รํ / - - - - / - - - ท / - - - ล / - - ท ดํ / - - - ล / - - ซ ซ //

...........................................................................................................

จากข้อความในกระทู้ที่ว่านี้มีบอกไว้ด้วยนะครับว่าเพลงได้ได้มีการบันทึกไว้

ใน CD ของวงฟองน้ำ ชุด "Ancient - Contemporary music of Thailand"

บรรเลงโดยวงโยธวาทิตของโรงเรียสุทธิวราราม น่าเสียดายที่ไม่มีขายในไทยนะครับ

แต่เห็นว่าคุณเลอเกียรติ จะส่งไฟล์ midi ให้ทาง thaikids อีกไม่นานคงได้ฟังกัน

URL ของกระทู้คือ http://www.thaikids.com/cgi-bin/wb/displayitem.asp?id=981' target='_blank'>http://www.thaikids.com/cgi-bin/wb/displayitem.asp?id=981



 
บันทึกการเข้า
ทิด
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 26 ก.ย. 00, 00:00

เอาลิงค์ URL สำหรับดาวน์โหลดเพลง "มหานิมิตร" มาฝากครับ

เป็นการบรรเลงโดยวงโยธวาธิตของวงโรงเรียนวัดสุทธิวราราม

http://www.thaikids.com/transfer/jon/mahanimit.wma' target='_blank'>http://www.thaikids.com/transfer/jon/mahanimit.wma

ประเภทของไฟล์เป็น file.wma สามารถเปิดได้กับโปรแกรม mp3 ทั่วไปครับ

แต่ถ้าเปิดไม่ได้ก็คงจะต้องเข้าไป set ค่าการอ่านไฟล์ของโปรแกรมใหม่ก่อน

เอื้อเฟื้อไฟล์เพลงโดยคุณเปาบุ้นจิ้น แห่งไทยคิดนะครับ ส่วนเรื่องลิขสิทธิ์

คงจะไม่มีปัญหาเพราะคุณเปาบุ้นจิ้นเองก็สนิทสนมกันดีกับทางวงฟองน้ำอยู่แล้ว



ถ้าไม่สามารถ D/L ได้ก็ลองไปคลิกที่ ชื่อ เพลงมหานิมิตร

จากกระทู้ความเห็นที่ 5 ใน thaikids.com ได้ที่ URL ข้างล่างนี้นะครับ

http://www.thaikids.com/cgi-bin/wb/displayitem.asp?id=981' target='_blank'>http://www.thaikids.com/cgi-bin/wb/displayitem.asp?id=981

 
บันทึกการเข้า
โม
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 03 มี.ค. 02, 17:32

กำลังหาอยู่ขอบคุณมากค่ะ
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 04 มี.ค. 02, 01:28

ละเอียดดีจังค่ะ  ขอบคุณที่เขียนมาเป็นวิทยาทาน  คุณทิดยังยุ่งมากรึเปล่าคะ  มาเยี่ยมบ่อยๆนะคะ คิดถึงจัง
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.077 วินาที กับ 17 คำสั่ง