เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 8
  พิมพ์  
อ่าน: 59001 ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 19 ก.พ. 06, 13:34

 คณะกรรมการลงความเห็นเรื่องราชาศัพท์ไว้อย่างหนึ่ง แต่มี"ผู้ใหญ่"บางท่าน เห็นอีกอย่าง แล้วประธานในที่นั้นชี้ขาดกันไม่ได้ว่าควรจะมีคำตอบยังไงกันแน่
เลยมี ๒ ทาง คำตอบของกรรมการอยู่ในเล่ม คำตอบของ"ผู้ใหญ่" ไว้ในใบแทรก
พอผู้ใหญ่ท่านนั้นล่วงลับไป ใบแทรกก็เลยถูกยกเลิก ใช้แต่ในเล่ม
ดิฉันเข้าใจถูกไหมคะ?

คำตอบสำหรับประเด็นนี้  ท่านว่า คณะกรรมการเอกลักษณ์ให้ใช้ตามใบแทรกไปจนเมื่อท่านผู้ใหญ่ท่านนั้นสิ้นบุญไปแล้ว  จึงได้ยกเลิกใบแทรกแล้วกลับมาใช้ตามที่พิมพ์ในเล่มครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 19 ก.พ. 06, 13:59

 เอ  งั้นดิฉันก็เข้าใจถูกน่ะสิคะ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 20 ก.พ. 06, 10:26

 ถูกต้องแล้วครับท่านอาจารย์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 20 ก.พ. 06, 10:32

 เป็นการตัดสินตามแบบวัฒนธรรมไทย
เข้าใจแล้วค่ะ
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 20 ก.พ. 06, 16:48

 พอจะได้ทราบความเกี่ยวกับหนังสือราชาศัพท์ของคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติเล่มนั้นอยู่เหมือนกันครับ ไม่ทราบว่าเท็จจริงแค่ไหน แต่เห็นว่าผู้เป็นหลักเป็นประธานในพระราชสำนักบางท่านก็ไม่ใคร่จะเห็นงามกับหนังสือเล่มนี้นัก หลายคำก็ไม่ต้องด้วยพระราชนิยม หลายคำก็นำมาจากวรรณคดี ซึ่งเป็นคำที่วิจิตรพิสดารมากจนเจ้านายเองก็ไม่ทรงทราบว่าคำเหล่านั้นหมายถึงอะไร บางครั้งในพระราชสำนักจึงปฏิเสธที่จะใช้ราชาศัพท์ที่ยืมจากคำภาษามคธซึ่งฟังดูประดักประเดิดพิลึกพิลั่นต่อการสะกดและออกเสียงอย่างไทยๆ เสียหลายคำ

ผมเคยมีโอกาสได้ยิน ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา อดีตกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ และอดีตประธานอนุกรรมการจัดทำบทความและเอกสารชุดสดุดีบุคคลสำคัญ ในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ท่านปรารภว่า การทำหนังสือราชาศัพท์นั้นเป็นการ "หาเรื่องแท้ๆ" เพราะราชาศัพท์นั้นไม่เคยหยุดนิ่ง ยังมีวิวัฒนาการ และเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ตลอดจนตามพระราชนิยมอยู่เสมอ ฉะนั้น ไม่มีวันที่จะมีหนังสือราชาศัพท์เล่มใดสมบูรณ์ ๑๐๐ เปอร์เซนต์ได้

เมื่อลองค้นพระราชหัตถเลขาของพระมหากษัตริย์ในอดีตดูหลายองค์ก็พบว่า เมื่อขึ้นต้น ทรงใช้อย่าง พอท้ายพระราชหัตถ์ฯ กลับทรงใช้อีกอย่าง จะหาแบบแผนหรือมาตรฐานที่ "นิ่ง" ไม่ได้เลย

เมื่อกล่าวถึงในพระราชสำนักเอง การใช้ราชาศัพท์ของสำนักพระราชวัง และสำนักราชเลขาธิการก็มีที่แตกต่างกัน ส่วนพระนิยมของเจ้านายแต่ละวังก็ต่างกันอีก หากที่เป็นหลักมักจะถือตามหนังสือ "รวมเรื่องและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับราชสำนัก" ซึ่งพิมพ์โดยสำนักพระราชวัง
บันทึกการเข้า
ชื่นใจ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 136

นักศึกษาปริญญาเอก University of East Anglia England


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 21 ก.พ. 06, 03:37

 ขอบคุณทุกท่านค่ะ ที่นั่งคุยกันบนเรือนแล้วให้โอกาสอิฉันเข้ามานั่งฟัง
ได้รู้เบื้องลึกเบื้องหลังเกี่ยวกับราชาศัพท์ขึ้นมาอีกเยอะ
...
ขออนุญาตบ่นนิดนะคะ
จากความเห็นที่ 43 เรื่อยมาถึงความเห็นที่ 48 อิฉันเห็นด้วยกับอาจารย์ว่า
"ความยุ่งยากมันเกิดขึ้นยังไงถ้าหากว่ามีการเกรงใจออมชอมกันแบบนี้"
และโดยส่วนตัวแล้วก็ไม่คิดว่าการออมชอมหรือการเกรงใจผู้ใหญ่ในทำนองนี้ จะถือเป็น "วัฒนธรรม"
เพราะ "วัฒนะ" คือความงอกงาม แต่การออมชอมแบบนี้ไม่ได้รังสรรค์ความวัฒนะที่ตรงไหนเลย
ออกจะชวนให้คนที่ต้องใช้คำเหล่านี้รู้สึกประดักประเดิดซะด้วยซ้ำ

ว่าไปเรื่องการยอมตามผู้ใหญ่ (ทั้งๆ ที่มีเหตุผลที่ไม่น่าจะยอมตาม)
ก็มีให้เห็นได้ทั่วไปและค่อนข้างเยอะพอสมควร
โอนอ่อนผ่อนตามไป แล้วก็มารู้สึกอิหลักอิเหลื่อทีหลัง
อันที่จริงถ้า...ถ้า ผู้น้อยสามารถใช้ปิยวาจาแจงเหตุผลกับผู้ใหญ่อย่างมีสัมมาคารวะ
และถ้า...ถ้าผู้ใหญ่ก็ไม่ยึดมั่นในอัตตาของตนเกินไปนัก
และ (อีกทีค่ะ) ถ้า...ทั้งสองฝ่ายถกกัน-รับฟังกัน-ตัดสินกัน ด้วยเหตุผล
(ไม่ใช่ด้วยความอาวุโสหรืออำนาจบารมี)
เราคงได้เห็นความวัฒนะ (สำหรับทุกๆ เรื่องแหละค่ะ) ต่างๆ เจริญงอกงามขึ้นในสังคมไทย

บ่นจบแล้วค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 21 ก.พ. 06, 11:41

 ถ้าทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้  ก็ไม่ต้องใช้ทางออกแบบนี้น่ะสิคะ คุณชื่นใจ  
*********************************
ดิฉันมีหนังสือเล่มนี้อยู่บนชั้น       พอฟังคำบอกเล่าของคุณ UP ก็เลยไปหยิบมาเปิดดู
ศัพท์ที่นี่เยอะจริงๆ  แพรวพราวไปหมด  
บางคำ สงสัยว่าชาตินี้บวกชาติหน้า  จะได้มีโอกาสอ่านเห็นในเอกสารไหนสักแห่งหรือเปล่านะนี่

ขอยกตัวอย่าง
สมเด็จพระบรมปัยกาธิบดี
สมเด็จพระบรมชนกาธิบดี
สมเด็จพระบรมชนกาธิราช
สมเด็จพระโสทรเชษฐภาดา
สมเด็จพระโสทรเชษฐภคินี

ราชาศัพท์ต่อไปนี้  คุณหมอหรือนักเทคนิคการแพทย์ รู้เอาไว้บ้างก็ดี
พระสีสกฏาหะ
พระภมู
พระกำโบล
พระทาฒิกะ
พระกัณฐมณี
พระชัตตุ
พระองคุลีบัพ
พระปโยธร
พระจูจุกะ
พระครรภมล
พระผาสุกะ
พระโคปผกะ

วันนี้เอาไว้แค่นี้ก่อน
น่าให้ครูเอาไปออกข้อสอบเอนทรานซ์วิชาภาษาไทย  เห็นจะดี
ครูลิลลี่เธอเคยติวบ้างไหมคะ
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 21 ก.พ. 06, 11:51

 มึนครับ

คุ้นๆ อยู่คำเดียวว่า พระทาฒิกะ ใช่แปลว่า เครา (หนวดเครา) หรือเปล่าก็ไม่ทราบ (หนวด ว่า พระมัสสุ)

คำอื่นๆ ยอมแพ้ครับ
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 21 ก.พ. 06, 11:53

 เพิ่งเห็นว่า วี-ทีมให้ผมมีเทพประจำกายด้วยแฮะ เป็นเทพีไอสิสซะด้วย ตามข้อเสนอในกระทู้โน้นของคุณติบอกระมัง

เทพประจำกายเนี่ย เรียกว่า Guardian Angel ได้รึเปล่าครับ?
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 21 ก.พ. 06, 12:09

 อ้าว คุณนิลกังขาจะเล่นบท Guardian Angel เสียแล้ว
บทพระเอกในเรือนไทยมีอาถรรพณ์ หาคนเล่นไม่ได้เลยจริงๆ
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 21 ก.พ. 06, 16:06

 เป็นเช่นนั้นแหละครับคุณเทาชมพู

โดยเฉพาะกับเจ้านายบางพระองค์ซึ่งคณะแพทย์และพยาบาลต้องทำรายงานพระอาการประชวรขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นั้น จะเป็นปัญหามาในเวลาเรียบเรียงรายงาน เคยมีบางคราวที่มานั่งเปิดหนังสือราชาศัพท์ดู แล้วก็เขียนไปตามแบบแผนที่ตำราเล่มนั้นกำหนดให้ใช้ ครั้นลองอ่านทวนอีกครั้งก็แทบไม่เข้าใจเลยว่าเจ้านายพระองค์นั้นมีพระอาการอย่างไรบ้าง

ฉะนั้น หากเป็นคำที่แพรวพรายมากๆ แล้ว จะไม่ใช้คำนั้นจดบันทึกลงรายงานแพทย์ จะใช้ พระ...แล้วบวกด้วยคำสามัญแทน เช่น เส้นพระโลหิตในพระมัตถลุงค์ ในรายงานแพทย์จะใช้ว่า เส้นพระโลหิตพระสมอง เป็นต้น หรือหากไม่แพรวพรายจนเกินไป แต่ก็ฟังไม่ใคร่จะเข้าใจนัก ก็จะใช้วิธีวงเล็บคำสามัญควบคู่ไปด้วย

มีเรื่องเล่ากันว่า แพทย์บางท่านที่เคร่งครัดธรรมเนียมราชาศัพท์ก็กราบบังคมทูลพระกรุณาเจ้านายผู้ทรงพระประชวรว่าทรงพระประชวรบริเวณนั้นบริเวณนี้ โดยใช้ราชาศัพท์ตามแบบ ปรากฏว่าทรงถามกลับมาในทันทีว่าทรงเป็นอะไรที่ไหนกันแน่ เพราะคำศัพท์โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับอวัยวะนั้นก็ไม่ทรงทราบเหมือนกันว่าแปลว่าอะไร

ยิ่งคำบางคำ นอกจากความหมายจะชวนให้อมยิ้มแล้ว เสียงของคำยังชวนหัวเสียด้วยซ้ำไป มี พระจูจุกะ เป็นอาทิ
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 21 ก.พ. 06, 16:10

 ขอแก้ไขข้อความในความเห็นที่ ๕๕ จาก "เส้นพระโลหิตพระสมอง" เป็น "เส้นพระโลหิตในพระสมอง" ครับ

อนึ่ง เรื่องเสียงของคำนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยมีพระราชปรารภกับศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ เครืองาม เมื่อกราบบังคมทูลพระกรุณาถามเรื่องพระราชนิยมในการเลือกใช้คำว่า "พระราชลัญฉกร" หรือ "พระราชลัญจกร" ซึ่งถูกทั้งสองคำ ความว่า

"คำใดที่มีเสียงไพเราะกว่า..ให้เลือกใช้คำนั้น"
บันทึกการเข้า
นนทิรา
มัจฉานุ
**
ตอบ: 77


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 21 ก.พ. 06, 16:32

 เห็นรายการราชาศัพท์ของอ.เทาชมพูแล้วมึนไปด้วยค่ะ แต่ก็อดไม่ได้ เลยต้องไปค้นดูว่าแปลว่าอะไรกันบ้าง แต่ละคำฟังดูประดักประเดิด

ตัวอย่างเช่น พระกัณฐมณี คนมีความรู้ภาษาไทยขั้นพื้นฐานอย่างดิฉัน เห็นแล้วมึนตึ้บ ไม่ทราบเลยว่าหมายถึงอะไรกันแน่ ไปค้นดู พบว่าเป็นคำที่เพิ่งปรากฏในตำราราชาศัพท์ ซึ่งสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่คุณ V_Mee กล่างถึง จัดพิมพ์เผยแพร่

กัณฐ แปลว่า คอ มณี แปลว่า แก้ว กัณฐมณี แปลว่า แก้วที่คอ หมายถึง ลูกกระเดือก

จะเรียกว่าพระลูกกระเดือก ก็ฟังไม่เข้าทีเอาซะเลย จะเรียกว่าพระกัณฐมณี ก็ฟังแล้วต้องไปหาคำแปล ก็คงเป็นแบบคำราชาศัพท์อื่นๆอีกมากน่ะค่ะ ที่ต้องรู้คำแปลมาก่อน ฟังแล้วจึงจะเข้าใจ

นอกจาก พระกัณฐมณี แล้ว พบว่า พระภมู แปลว่าคิ้วค่ะ ตั้งแต่เล็กแต่น้อย เรียนมาว่า พระขนง แปลว่าคิ้ว เลยไม่ทราบว่า พระภมู ต่างจาก พระขนง อย่างไร

แต่ยอมแพ้กับ พระจูจุกะ จากคุณ UP ค่ะ ฟังแล้วจั๊กจี้ค่ะ แต่ฟังอีกทีก็เหมือนภาษาญี่ปุ่น ชินจูกุ จูจุกะ สรุปแล้ว พระจูจุกะ แปลว่าอะไรคะ รอคุณ UP มาเฉลยค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 22 ก.พ. 06, 12:48

 มาไขปริศนาชุดแรกให้คุณนนทิราและคุณนกข.ค่ะ
ส่วนแขกประจำเรือนไทยซึ่งเข้าใจว่าคงเปิดเข้ามาอ่านกันบ้างละน่ะ
อ่านแล้วก็หายกันไปหมด
อาจจะไปหาพาราเซตตามอลกันอยู่ก็ได้


พระสีสกฏาหะ..............กระโหลกศีรษะ
พระภมู.......................อย่างที่คุณนนทิราค้นเจอค่ะ  คิ้ว
พระกำโบล..................กระพุ้งแก้ม
พระทาฒิกะ................เครา คุณนกข.ถูกต้องค่ะ
พระกัณฐมณี...............ลูกกระเดือก (คุณนนทิราเอาไป ๑๐๐ เต็ม)
พระชัตตุ.....................คอต่อ
พระองคุลีบัพ...............ข้อนิ้วมือ
พระปโยธร..................เต้านม
พระจูจุกะ...................ให้คุณ UP ไขปริศนาเอง  
พระครรภมล.................รก ที่ติดมากับสายสะดือ  (ไม่ได้แปลว่าข้าวของรก)
พระผาสุกะ..................ซี่โครง
พระโคปผกะ................ตาตุ่ม

ยังมีอีกแยะเชียวที่กรรมการท่านหามาประดับไว้ในเล่มนี้ค่ะ
บันทึกการเข้า
นิลกังขา
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1012

ทำงานราชการ


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 22 ก.พ. 06, 16:11

 ขอบคุณครับ

ฮืม

งง

พระภมู แปลว่าคิ้ว ยังงั้นก็เลิกใช้คำว่าพระขนงแล้ว อย่างนั้นหรือครับ?

พระองคุลีบัพ เห็นคำว่าองคุลีก็พอจะนึกถึงนิ้วได้บ้าง และเห็นคำว่า บัพ ก็พอจะนึกถึงคำว่า บรรพ ที่แปลว่า ตอนๆ บทๆ ได้บ้าง แต่ผมก็เคยเห็นคำว่าข้อนิ้วพระหัตถ์เหมือนกัน และรู้สึกว่าคำหลังจะเข้าใจง่ายกว่าด้วย

รก เหมือนกับว่าเคยเห็นคำราชาศัพท์เป็นอีกคำหนึ่ง ไม่ใช่พระครรภมล - เอ หรือจะเป็นสายสะดือก็ไม่ทราบครับ จำได้คล้ายๆ พระตระกูลหรืออะไรสักอย่าง
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 8
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.051 วินาที กับ 19 คำสั่ง