เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: azante ที่ 04 ก.ย. 18, 15:31



กระทู้: เจ้าหญิงแสนหวี
เริ่มกระทู้โดย: azante ที่ 04 ก.ย. 18, 15:31
ได้อ่านประวัติ เจ้าดารารัศมี มีช่วงหนึ่งที่เสด็จออกตามพระพุทธเจ้าหลวง ให้เจ้าหญิงแสนหวีเฝ้า
อยากทราบว่า เจ้าหญิงองค์นี้มีพระนามและพระประวัติอย่างไร มีรูปถ่ายหรื่อไม่ ครับ เพราะกล่าวกันว่า
ทรงพระสิริโฉมนัก งามกว่า เจ้าดารารัศมี

แสนหวีเป็นรัฐเหมือนเชียงใหม่ หรือไม่ครับ


กระทู้: เจ้าหญิงแสนหวี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ก.ย. 18, 16:29
จากหนังสือ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับในรัชกาลที่ ๕

พิธีเสด็จออกรับเจ้าต่างประเทศฝ่ายใน : เจ้าหญิงแสนหวี *

ถ้าข้าพเจ้าอย่าโคมลอยมากก็จะได้รับความรู้เล่าสู่กันฟังไม่น้อย เช่นพิธีเสร็จออกรับเจ้าต่างประเทศฝ่ายใน  คือเจ้าหญิงแสนหวี จะให้เล่าว่าเจ้านั้นชื่ออะไรและทรงปฏิสันถารว่าอะไรบ้าง เจ้ากราบบังคมทูลว่าอะไรบ้างไม่ได้ความเลย ข้าพเจ้าจำไม่ได้ จำได้แต่ว่าประทับเก้าอี้ตั้งหน้าพระที่นั่งพุดตานทอง แต่ไม่ใช่บนพระเศวตฉัตร ตั้งข้างหน้าพระที่นั่งเศวตฉัตรออกมาสัก ๕-๖ วา หันพระพักตร์ออกพระทวาร หน้าพระที่นั่งเจ้าจอมเฝ้า ซ้าย ขวา พระเก้าอี้มีลักษณะดังนี้

___________________________________________________________

* สถานที่ ท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

บันทึกนี้เป็นบันทึกทำนองอัตชีวประวัติที่เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับได้เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖
ฉะนั้นจึงเป็นบันทึกเหตุการณ์ย้อนหลังจากความทรงจำของผู้มีอายุ


กระทู้: เจ้าหญิงแสนหวี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ก.ย. 18, 16:30
หน้า ๖๒ - ๖๓


กระทู้: เจ้าหญิงแสนหวี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ก.ย. 18, 16:55
การที่สมัยนั้นเรียกกันว่า ‘เจ้าหญิงแสนหวี’ ก็คงหมายถึงเจ้าหญิงเมืองเชียงรุ้งนั่นเอง เพราะเวลานั้น (พ.ศ. ๒๔๕๑) แม้สิบสองปันนาจะใกล้ชิดกับจีน ก็ยังมิได้เป็นของจีนเต็มที่ เจ้าแผ่นดินเชียงรุ้งยังมีสัมพันธไมตรีนับถือพระเจ้าแผ่นดินไทยอยู่ แต่ก็นับว่าเจ้าหญิงเป็น ‘เจ้าต่างประเทศ’ มิใช่ เจ้าเมืองขึ้น

 ‘เจ้าแผ่นดินเชียงรุ้ง' นั้น เรียกกันว่า ‘เจ้าแสนหวีฟ้า’ เมื่อเจ้าหญิงเชียงรุ้งเข้ามาเฝ้า อาจพลอยเรียกเจ้าหญิงว่า ‘เจ้าหญิงแสนหวี’ ไปด้วย


จากบทความเรื่อง เรื่องของเชียงรุ้งที่เกี่ยวข้องกับ "เวียงวังไทย" เมื่อ ๑๐๐กว่าปีก่อน (https://writer.dek-d.com/dek-d/story/viewlongc.php?id=524172&chapter=202)


กระทู้: เจ้าหญิงแสนหวี
เริ่มกระทู้โดย: azante ที่ 05 ก.ย. 18, 07:59
ขอบคุณมากครับ สำหรับข้อมูล



กระทู้: เจ้าหญิงแสนหวี
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ก.ย. 18, 08:17
เห็นเรื่องนี้แล้วคิดถึงนวนิยายของหลวงวิตรวาทการที่เคยอ่านเมื่อเด็กๆ

https://talk.mthai.com/inbox/442176.html


กระทู้: เจ้าหญิงแสนหวี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 ก.ย. 18, 08:49
อีกเรื่องหนึ่งอันเกี่ยวกับ ‘เจ้าหญิงแสนหวี’ นั้น

คนที่มีอายุพอจำความได้ ในสมัย พ.ศ. ๒๔๘๓ - ๒๔๘๔ ราว ๆ นั้น คงจำเพลงจากละครเรื่อง ‘เจ้าหญิงแสนหวี’ บทละครของหลวงวิจิตรวาทการได้ที่ว่า

“พวกชาวแสนหวี เราแสนยินดีรับรองเจ้าชายมาจากเขมรัฐ เราพากันจัดงานถวาย สมโภชเจ้าชายจากบ้านเมืองมา...ฯลฯ...”

และเจ้าชายร้องตอบว่า

“พวกชาวเขมรัฐ นี้ล้วนแต่พลัดบ้านเมืองเข้ามาบุกป่าฝ่าดงมุ่งตรงมานี่ เพื่อเห็นแสนหวีเมืองศรีสง่า...ฯลฯ...”

ผู้เล่าจำได้เพียงแค่นี้ เข้าใจว่าหลวงวิจิตรวาทการ ผู้ประพันธ์ละครเรื่องนี้ คงสมมุติเอาเมือง ๒ เมือง คือ ‘เชียงตุง’ เป็นเขมรัฐ และ ‘เชียงรุ้ง’ เป็น แสนหวีนั่นเอง ด้วยทั้งเชียงตุงและเชียงรุ้ง นั้น ว่าที่จริงเป็นไตลื้อหรือไทยลื้อด้วยกัน แม้ว่าพวกเชียงตุงจะเรียกพวกตนว่า ‘ไทยใหญ่’ ก็ตาม


จากบทความเรื่อง เรื่องของเชียงรุ้งที่เกี่ยวข้องกับ "เวียงวังไทย" เมื่อ ๑๐๐กว่าปีก่อน (https://writer.dek-d.com/dek-d/story/viewlongc.php?id=524172&chapter=202)


กระทู้: เจ้าหญิงแสนหวี
เริ่มกระทู้โดย: นโม ตสฺส ที่ 20 พ.ค. 21, 15:03
เจ้าหญิงแสนหวีที่เจ้าดารารัศมีออกรับ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นหม่อมนางแว่นทิพย์ ธิดาเจ้าฟ้าโชติกองไท น้องสาวเจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง เจ้าฟ้าเชียงตุง

หม่อมนางแว่นทิพย์มีประวัติที่โลดโผนมาก เคยเป็นราชเทวีของเจ้าหม่อมฅำลือ (เท่าเซิ้นเอิ่น 刀承恩) เจ้าแสนหวีฟ้าสิบสองพันนา แต่นางสนมเมียน้อยต่างอิจฉาริษยา เเละหม่อมนางแว่นทิพย์ก็ไม่ชอบบรรดานางสนมเช่นกันจึงหนีกลับไปเมืองเชียงตุง เมื่อถึงเมืองหุน เหนือสนามเชียงรุ่งส่งคนไปอาราธนาเชิญกลับมา หม่อมนางจึงกลับมาเมืองเชียงรุ่งอีกครั้งหนึ่ง

พ.ศ ๒๔๓๔ เจ้าเมืองแช่ก่อกบฎ เจ้าหม่อมฅำลือจึงนำทัพออกไปถึงเมืองราย แต่ต่อมาเจรจาตกลงกันแล้วจึงไม่รบกัน ระหว่างนั้น หม่อมนางแว่นทิพย์ลักลอบเป็นชู้กับเจ้าฟ้าเชียงเดือน (ဝဵင်းၵဵင်းလိူၼ်) ที่มาพำนักอยู่ที่เวียงปราคราง เมื่อเจ้าหม่อมฅำลือทราบเรื่องทั้งสองก็ผิดใจกัน หม่อมนางแว่นทิพย์ไปชักนำทหารจากเมืองเชียงแข็ง เมืองยู้ เมืองวะ เมืองหลวย เมืองยอง มีพญาหลวงพิชชวงศ์เป็นแม่ทัพ จะมาทำสงครามกับเจ้าหม่อมฅำลือ เจ้าหม่อมฅำลือหนีไปอยู่ที่ป่าแอ้น ต่อมาพวกเจ้าเมืองพากันไปเจรจากับหม่อมนางแว่นทิพย์เพื่อหย่าศึก เจ้าหม่อมคำลือจึงได้กลับมาเมืองตามเดิม

พ.ศ.๒๔๓๙ เหนือสนามเชียงรุ่งทูลเชิญหม่อมนางแว่นทิพย์ให้กลับมาอยู่กับเจ้าหม่อมคำลือ หม่อมนางแว่นทิพย์ยินยอมแต่มีข้อแม้ว่า ต้องสร้างหอใหม่ให้เพราะไม่อยากอยู่รวมกับนางสนมคนอื่น เหนือสนามจึงสร้างหอใหม่ถวายหม่อมนางแว่นทิพย์ที่เชียงดอนหลวง แต่จากนั้นเพียงสองปีหม่อมนางแว่นทิพย์ก็กลับเมืองเชียงตุงและไม่หวนกลับมาเมืองเชียงรุ่งอีกเลย นอกจากนี้ หม่อมนางแว่นทิพย์ยังเคยเข้ามาค้าขายที่กรุงเทพ เชียราย และแพร่ด้วย

อนึ่ง แสนหวีฟ้า มาจาก 宣慰使 เป็นตำแหน่งที่จีนตั้งให้กับประมุขชนกลุ่มน้อย เจ้าแผ่นดินสิบสองพันนามีตำแหน่งเป็น 車里宣慰司


กระทู้: เจ้าหญิงแสนหวี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 พ.ค. 21, 12:16
เจ้านางแว่นทิพย์ ราชธิดาใน เจ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง เจ้าฟ้าเชียงตุงองค์ที่ ๖ ประสูติแต่เจ้านางบัวทิพย์หลวง

เจ้านางเข้าเรียนที่ St. Michael's School  ในเมืองพินอูลวิน (Pyin U Lwin) และย้ายไปศึกษาต่อที่เมืองกะลอว์ (Kalaw) เมืองตากอากาศของอังกฤษสมัยอาณานิคม เมื่ออายุ ๑๖ ปี พระนางเข้าพิธีเสกสมรสกับเจ้าห่มฟ้าแห่งแสนหวี ในพิธีแต่งงานเจ้าห่มฟ้าประทับบนหลังช้างตามประเพณี แห่ขันหมากเข้ามาจัดพิธีสมรสที่หน้าหอหลวงเมืองเชียงตุง มีมโหรสพสมโภช ๓ วัน ๓ คืน อย่างไรก็ตามการสมรสของทั้งสองพระองค์ไม่ได้เกิดจากความรัก แต่หากเกิดจากการเมืองระหว่างรัฐ และเชียงตุงในตอนนั้นก็มั่งคั่งมาก ท้ายที่สุดชีวิตรักของทั้งสองพระองค์จึงสิ้นสุดโดยการหย่าขาดจากกัน

ในภาพ เจ้านางสวมสร้อยคอรูปนกยูง ที่เรียกว่า “ปยั๊ด” และสร้อยไข่มุกหลายเส้น มวยผมประดับปิ่นทองคำหลายรูปแบบ บางชิ้นสั่งผลิตที่ มัณฑะเลย์

ภาพลงสีจาก S. Phormma’s Colorizations (https://www.facebook.com/587664078031088/posts/1747682112029273/?d=n)


กระทู้: เจ้าหญิงแสนหวี
เริ่มกระทู้โดย: นโม ตสฺส ที่ 24 พ.ค. 21, 13:59
เจ้านางแว่นทิพย์ ราชธิดาใน เจ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง เจ้าฟ้าเชียงตุงองค์ที่ ๖ ประสูติแต่เจ้านางบัวทิพย์หลวง

เจ้านางเข้าเรียนที่ St. Michael's School  ในเมืองพินอูลวิน (Pyin U Lwin) และย้ายไปศึกษาต่อที่เมืองกะลอว์ (Kalaw) เมืองตากอากาศของอังกฤษสมัยอาณานิคม เมื่ออายุ ๑๖ ปี พระนางเข้าพิธีเสกสมรสกับเจ้าห่มฟ้าแห่งแสนหวี ในพิธีแต่งงานเจ้าห่มฟ้าประทับบนหลังช้างตามประเพณี แห่ขันหมากเข้ามาจัดพิธีสมรสที่หน้าหอหลวงเมืองเชียงตุง มีมโหรสพสมโภช ๓ วัน ๓ คืน อย่างไรก็ตามการสมรสของทั้งสองพระองค์ไม่ได้เกิดจากความรัก แต่หากเกิดจากการเมืองระหว่างรัฐ และเชียงตุงในตอนนั้นก็มั่งคั่งมาก ท้ายที่สุดชีวิตรักของทั้งสองพระองค์จึงสิ้นสุดโดยการหย่าขาดจากกัน

ในภาพ เจ้านางสวมสร้อยคอรูปนกยูง ที่เรียกว่า “ปยั๊ด” และสร้อยไข่มุกหลายเส้น มวยผมประดับปิ่นทองคำหลายรูปแบบ บางชิ้นสั่งผลิตที่ มัณฑะเลย์

ภาพลงสีจาก S. Phormma’s Colorizations (https://www.facebook.com/587664078031088/posts/1747682112029273/?d=n)

เจ้าแว่นทิพย์ธิดาเจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลงที่เสกสมรสกับเจ้าเสือห่มฟ้า เจ้าฟ้าแสนหวี เป็นคนละองค์กับเจ้าแว่นทิพย์น้องสาวของเจ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลงที่เสกสมรสกับเจ้าแสนหวีฟ้าหม่อมฅำลือ และไม่เคยเข้ามาเมืองไทยด้วยครับ คิดว่าเจ้าหญิงแสนหวีที่เจ้าดาราออกรับน่าจะเป็นเจ้าแว่นทิพย์น้องสาวเจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลงมากกว่าครับ


กระทู้: เจ้าหญิงแสนหวี
เริ่มกระทู้โดย: ธสาคร ที่ 24 พ.ค. 21, 14:27
พม่าเสียเมือง สมัยร.๕
เจ้านางแว่นทิพย์(คนลูก) เรียนรร.ฝรั่งในพม่า กว่าจะเรียนจบ จนได้เข้าเฝ้า น่าจะล่วงเข้าสู่รัชกาลที่ ๖
ผู้ที่ได้เข้าเฝ้าร.๕ จึงน่าจะเป็นเจ้านางแว่นทิพย์(คนน้อง)(แต่ผมว่าเป็นพี่สาวของเจ้าก้อนแก้วฯนะ)


กระทู้: เจ้าหญิงแสนหวี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 พ.ค. 21, 17:48
เจ้านางแว่นทิพย์มี ๒ พระองค์ ส่วน เจ้าหม่อมคำลือ มีมากกว่านั้น

ในลำดับกษัตริย์ ๔๑ พระองค์ แห่งอาณาจักรเชียงรุ่ง สิบสองพันนา มี เจ้าหม่อมคำลือ อยู่ ๓ พระองค์ ลำดับที่ ๓๙ คือ เจ้าหม่อมคำลือ (เท่าเซิ้นเอิ่น 刀承恩, ๒๔๐๗ - ๒๔๖๗) อดีตสวามีของหม่อมนางแว่นทิพย์ 'เจ้าหญิงแสนหวีในตำนาน' ที่เคยเสด็จมายังสยามสมัยรัชกาลที่ ๕


จาก หนังสือเชื้อเครือเจ้าแสนหวี ๑๒ พันนา (http://webpac.library.mju.ac.th:8080/mm/north/E-contents/2553/Oct_Dec2009/CBT_B106332.pdf)


กระทู้: เจ้าหญิงแสนหวี
เริ่มกระทู้โดย: นโม ตสฺส ที่ 24 พ.ค. 21, 19:05
รูปถ่ายของเจ้าหม่อมฅำลือ (เท่าเซิ้นเอิ่น 刀承恩) เจ้าแผ่นดินสิบสองพันนา ผู้เป็นอดีตสวามีของหม่อมนางแว่นทิพย์

เจ้าหม่อมฅำลือผู้นี้เป็นโอรสของเจ้าหม่อมส้อ (เท่าชิ่นอ่าน 刀均安) นัดดาของอุปราชา (เท่าเซิ้นชู่ง 刀正綜) ซึ่งเคยหนีความวุ่นวายในสิบสองพันนามาไทยสมัย ร.๓ ทำให้เกิดสงครามเชียงตุง ๓ ครั้ง หลักฐานไทยออกนามว่า อรำมาวุทะ


กระทู้: เจ้าหญิงแสนหวี
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 24 พ.ค. 21, 19:31
ขอเรียนถามหน่อยค่ะการเดินทางจากสิบสองปันนามาไทยในสมัยนั้นยากลำบากมากไหมคะ ดิฉันเข้าใจว่าคงจะไกลมากถ้าท่านเคยมาไทยคงจะใช้เวลาหลายวัน


กระทู้: เจ้าหญิงแสนหวี
เริ่มกระทู้โดย: นโม ตสฺส ที่ 24 พ.ค. 21, 21:35
พม่าเสียเมือง สมัยร.๕
เจ้านางแว่นทิพย์(คนลูก) เรียนรร.ฝรั่งในพม่า กว่าจะเรียนจบ จนได้เข้าเฝ้า น่าจะล่วงเข้าสู่รัชกาลที่ ๖
ผู้ที่ได้เข้าเฝ้าร.๕ จึงน่าจะเป็นเจ้านางแว่นทิพย์(คนน้อง)(แต่ผมว่าเป็นพี่สาวของเจ้าก้อนแก้วฯนะ)

ใช่ครับ พอดูข้อมูลดีๆ แล้ว หม่อมนางแว่นทิพย์เป็นพี่สาวของเจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง ผมพิมพ์ผิดไปครับ


กระทู้: เจ้าหญิงแสนหวี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 พ.ค. 21, 08:34
สตรีที่โพกศีรษะ ๒ ท่าน ทางซ้ายคือ เจ้านางแว่นทิพย์ ทางขวาคือน้องสาว เจ้านางทิพย์ธิดา ทั้ง ๒ ท่านเป็นพี่สาวของเจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง


กระทู้: เจ้าหญิงแสนหวี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 พ.ค. 21, 08:43
ภาพเต็ม


กระทู้: เจ้าหญิงแสนหวี
เริ่มกระทู้โดย: ธสาคร ที่ 25 พ.ค. 21, 14:50
รูปนี้หาดูยาก และมีขนาดใหญ่ด้วย คุณเพ็ญชมพูพอจะบอกลายแทงได้ไหมครับ ผมอยากตามไปค้นต่อ


กระทู้: เจ้าหญิงแสนหวี
เริ่มกระทู้โดย: ธสาคร ที่ 25 พ.ค. 21, 15:09
รูปภาพในราชสำนักไทใหญ่ ไทเขิน ในอินทรเนตร ส่วนใหญ่จะเป็นรุ่นลูกของเจ้าฟ้าก้อนแก้ว
ส่วนในรุ่นเจ้าฟ้าก้อนแก้วจะปรากฏรูปน้อยกว่า เจ้านายสตรีในรุ่นนี้ที่เรามักเห็นจนชินตาคือ เจ้านางนวลพิมพา กับ เจ้านางทิพย์ธิดา
นี่เพิ่งเคยได้เห็นเจ้านางแว่นทิพย์
.
สตรีเชียงตุงมีบทบาทการเมืองสูง
เจ้านางแว่นทิพย์ - ตามที่คุณนโม ตสฺส เล่าไว้ข้างต้น
เจ้านางทิพย์ธิดา - เป็นตัวแทนเชียงตุงเข้าประชุมประเทศในเครือสหราชอาณาจักร (Durbar) ที่อินเดีย และเจ้านางค้าขายเก่ง
เจ้านางบัวสวรรค์ - สตรีเปิ๊ดสะก๊าด ล้ำสมัยแห่งเชียงตุง เป็นเลขานุการส่วนพระองค์เจ้าฟ้าก้อนแก้ว และได้บริหารการเงินการคลังในรัชกาลต่อมา
เจ้านางอ่องยุ้น - คนนี้เป็นไทใหญ่(รัฐสีป่อ) นางติดตามเจ้าแม่ไปทำอะไรที่อังกฤษไม่ทราบ ฝรั่งเกิดต้องตา ขอวาดรูปไว้เป็นสิบ และได้ฉายาว่า โมนาลิซ่าแห่งเอเชีย


กระทู้: เจ้าหญิงแสนหวี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 พ.ค. 21, 15:51
รูปนี้หาดูยาก และมีขนาดใหญ่ด้วย คุณเพ็ญชมพูพอจะบอกลายแทงได้ไหมครับ ผมอยากตามไปค้นต่อ

ลายแทง : เชียงใหม่ที่คุณไม่เคยเห็น (https://www.facebook.com/1592746451040106/posts/2040170346297712/?d=n) ดูในความคิดเห็นของคุณมนตรี ปัญญาฟู  ;D


กระทู้: เจ้าหญิงแสนหวี
เริ่มกระทู้โดย: นโม ตสฺส ที่ 21 มิ.ย. 21, 17:08
ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๒๓ ตอน ๓๔ วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๔๙ หน้า ๘๗๑-๘๗๒


เจ้าสลีแว่นทิพย์เมืองเชียงตุงเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท

ด้วยเจ้าสลีแว่นทิพย์ ซึ่งเปนพี่สาวเจ้าเมืองเชียงตุง ได้ลงมาเที่ยวในกรุงเทพฯ มีความประสงค์จะใคร่เฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท จึงได้กราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ขอให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาศ เฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทตามความประสงค์

ครั้นวันที่ ๒ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๕ เวลาเช้า ๓ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท ข้าราชการฝ่ายในเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทพร้อมกันแล้ว พระยาจ่าแสนบดีแทนราชปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย นำเจ้าสลีแว่นทิพย์มาขึ้นทางอัฒจันท์พระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาทแล้ว ท้าววรจันทร์นำเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชปฏิสันถารแก่เจ้าสลีแว่นทิพย์ตามสมควรแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้นำเจ้าสลีแว่นทิพย์ไปพระราชทานเลี้ยงที่พระที่นั่งมูลสถานบรมอาศน์ด้วย แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จทรงรถพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปประทับวัดบวรนิเวศวิหารในการเลื่อนกรมต่อไป ๚

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2449/034/871_1.PDF


กระทู้: เจ้าหญิงแสนหวี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 มิ.ย. 21, 17:26
คำว่า สลี อ่านว่า สะ-หลี มาจากคำว่า ศรี เจ้าสลีแว่นทิพย์ หากเรียกในภาษาไทยกลางก็คือ เจ้าศรีแว่นทิพย์ นั่นแล


กระทู้: เจ้าหญิงแสนหวี
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 21 มิ.ย. 21, 17:38

สนับสนุนภาพประกอบ
Shan Princess 1907 Rangoon

(https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/9/98/Shan_princess_in_1907.jpg)


กระทู้: เจ้าหญิงแสนหวี
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 21 มิ.ย. 21, 18:13

ภาพเจ้านางพิมพา (พี่สาว) กับเจ้านางแว่นทิพย์ (น้องสาว)


กระทู้: เจ้าหญิงแสนหวี
เริ่มกระทู้โดย: นโม ตสฺส ที่ 21 มิ.ย. 21, 18:38
คนที่โพกผ้าไม่ใช่เจ้านางแว่นทิพย์ครับ แต่เป็นเจ้านางทิพย์ธิดาครับ


กระทู้: เจ้าหญิงแสนหวี
เริ่มกระทู้โดย: นโม ตสฺส ที่ 21 มิ.ย. 21, 18:39
“...การบวงสวงผีเสื้อเมืองเชียงราย ทำเปนครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ส. 2455 ไนปี 2455 นั้นมีแขกเมืองมาสืบสัญชัยไมถี 2 เมือง คือเมืองเชียงตุงกับเมืองแสนหวี (แสนหวีเชียงรุ่งสิบสองพันนา) และรวมมาเป็นขบวนเดียวกัน...

...ไนสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงมีลูกหยิงชื่อ “เจ้าแว่นทิพ” (ความจริงเป็นพี่สาว) ได้เปนแม่นางเมืองของเมืองแสนหวี (แสนหวีเชียงรุ่งสิบสองพันนา) เจ้าแว่นทิพนิยมการค้าขายจึงลงมาตั้งทำป่าไม้สักหยู่ไนเมืองแพร่และค้าขายติดต่อกับกรุงเทพฯ ไนขนะที่เดินทางไปมาระหว่างเมืองแสนหวีกับเมืองแพร่ ต้องผ่านเมืองเชียงราย เจ้าแว่นทิพย์ได้วิสาสะคุ้นเคยกับพวกพ่อเมืองเชียงรายเปนกานญาติพี่น้อง และไนการที่เจ้าแว่นทิพลงมาค้าขายหยู่เมืองแพร่นั้น เจ้าฟ้าแสนหวีจัดเสนาอำมาจนำเงินลงมาส่งไห้ไช้จ่ายปีหนึ่งหลายหมื่นรูปี มีผู้คนควบคุมมาด้วยทั้งหยิงชายคราวละไม่น้อยกว่า 200 คน และมาผ่านเมืองเชียงรายไนรึดูขึ้นปีใหม่ทุกครั้ง เจ้าฟ้าแสนหวีและเจ้าแว่นทิพจึงไห้เสนาอำมาจพวกนี้ทำพิธี “สืบสัญไจยไมถี” กับเมืองเชียงรายในงานพิธีบวงสวงผีเสื้อเมือง

การสืบสัญชัยไมตรีที่เมืองแสนหวีและเมืองเชียงตุงรวมทำกันนี้ ก็คือนำเครื่องอุปโภคบริโภคและเงิน 1,500 รูปีพร้อมด้วยดอกไม้ทองเงินทำเปนเถากล้วยไม้มาสังเวยผีปู่ย่า กับไห้สิ่งของและดอกไม้เงินทองทำเปนดอกบัวหย่างละดอกแก่พ่อเมืองเชียงราย ไนวันบวงสวง หรือ สืบสัญชัยไมตรี นั้น แขกเมืองตั้งขบวนแห่สิ่งของจากสาลาที่พักไปสังเวยผีเสื้อเมือง เปนขบวน “กลองมองเซิง” คือ กลองสองหน้าไป 1 ฉาบและฉิ่งหย่างละ 1 กับค้องเถามีตั้งแต่ค้องหมุ่ยลงไปจนค้องเล็กเท่าฝ่ามือนับจำนวนกว่า 50 ใบ ตีขัดจังหวะกับกลองและฉาบฉิ่ง ประกอบด้วยโยธาทหานฟ้อนหอกฟ้อนดาบกว่า 20 คู่

ฝ่ายพ่อเมืองพร้อมด้วยยสบริวารเสนาอำมาจคอยรับที่หอเสื้อเมือง และมีขบวน “กลองเจิง-เถิดเทิง” ประกอบด้วยทหานฟ้อนหอกฟ้อนดาบที่นอกรั้วตาแสงหน้าหอผีเจนเมือง กับจัด “ขุนนาง” คือพวกหนุ่มสาวลูกหลานคหบดี คอยเปลี่ยนมือรับหาบหามสิ่งของของแขกเมืองเข้าไปตั้งที่แท่นบูชา พวกฟ้อนทั้งสองฝ่ายนำกันเข้าสู่ข่วงลูกกุย ขึงเส้นเชือกแบ่งสนามนั้นหยู่คนละครึ่ง แล้วฟ้อนรำหอกดาบ “ประชัน” กัน ตอนนี้น่าดูยิ่งนัก ต่างฝ่ายต่างแสดงเต็มฝีมือ ทำท่าล้อหลอกกันคล้ายกับจะทำร้ายกันจิงๆ เปนเวลาราว 1 ชั่วโมงจึงยุตติ

เมื่อหยุดการฟ้อนรำแล้ว หัวหน้าแขกเมืองจุดธูปเทียนบูชาถวายเครื่องสังเวยแก่ผีปู่ย่า และตั้งสัจจาธิถานขอพรเอาเอง แม่มดซึ่งยืนประจำแท่นบูชาประพรมน้ำ “ทิพมนต์” ตอบแทน แล้วเลี้ยงอาหารเย็นแด่แขกเมือง รื่นเริงกันหยู่จนราว 18 นาลิกาจึงเลิก เวลาแขกเมืองเดินออกจากสาลผีเสื้อเมือง อาจารย์หลวงกับโหราหลวงพรมน้ำทิพมนต์ที่ประตูรั้วทั้งสองข้างประตู ต่อจากนี้ไปไนวันอื่นแขกเมืองจึงนำดอกบัวคำดอกบัวเงินและสิ่งของไปบรรณาการแก่พ่อเมืองที่คุ้มหลวงหย่างกันเอง...”

เรื่องผีของชาวลานนาไทยโบราณ โดย นายแก้วมงคล ชัยสุริยันต์ (เจ้าแก้วมงคล ณ เชียงใหม่) เรียบเรียง พ.ศ. 2486

(เจ้าแก้วมงคล ณ เชียงใหม่ ท่านนี้ เป็นบุตรของขุนพฤฒิเพทย์พัฒนา (เจ้าหนานเหลา ณ เชียงใหม่) กับเจ้ากุยคำ คนละคนกับเจ้าแก้วมงคล ณ เชียงใหม่ ที่เป็นบุตรของเจ้าราชวงศ์ (เลาแก้ว ณ เชียงใหม่))

ภาพ พระยารัตนาณาเขตร์ (เจ้าน้อยเมืองไชย) พ่อเมืองเชียงราย ที่กล่าวในพิธีสืบสัญชัยไมตรีเชียงราย-เชียงตุง


กระทู้: เจ้าหญิงแสนหวี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 มิ.ย. 21, 18:45
ภาพเจ้านางพิมพา (พี่สาว) กับเจ้านางแว่นทิพย์ (น้องสาว)
คนที่โพกผ้าไม่ใช่เจ้านางแว่นทิพย์ครับ แต่เป็นเจ้านางทิพย์ธิดาครับ

จากหนังสือ เจ้าฟ้าแห่งอาทิตย์อัสดง ความทรงจำจากรัฐฉาน โดย มอริส คอลลิส แปลโดย สุทธิศักดิ์ ปานโพธิ์


กระทู้: เจ้าหญิงแสนหวี
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 22 มิ.ย. 21, 13:19

เสียใจด้วยที่ท่านทายผิด   ;D