เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: CrazyHOrse ที่ 16 ก.ย. 07, 19:19



กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 ก.ย. 07, 19:19
สืบเนื่องจากกระทู้ ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว) (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2344.0) ผมศึกษาเส้นทางช่วง "บางกอก" แล้วติดลม แล่นใบตามเรือขทิงทองไปตลอดเส้นทาง เลยคิดว่าน่าจะแยกออกมาเปิดเป็นกระทู้ใหม่ได้ เพราะมีประเด็นที่น่าสนใจอยู่มากครับ

กำสรวลสมุทรนี้ มีผู้เรียกว่ากำสรวลศรีปราชญ์ เพราะถูกผูกเข้ากับตำนานศรีปราชญ์สมัยพระนารายณ์ ว่ากันว่าศรีปราชญ์แต่งขึ้นขณะถูกเนรเทศไปนครศรีธรรมราช แต่เนื้อความในกำสรวลสมุทรนี้ขัดกับเรื่องราวและยุคสมัยของศรีปราชญ์มากจนเชื่อได้ว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกัน
เชื่อว่าอาจเป็นพระราชนิพนธ์ของพระรามาธิบดีที่ ๒ ซึ่งหมายความว่ากำสรวลสมุทรนี้มีอายุมากกว่า ๕๐๐ ปีแล้ว

ขอชวนกันมาลงเรือขทิงทองล่องแม่น้ำเจ้าพระยาย้อนอดีตกึ่งสหัสวรรษกันดีกว่าครับ


กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 07, 20:42
คุณอาชาเล่นเรื่องยาก ::)

ตำนานเดิมที่เชื่อว่านิราศโคลงดั้นเรื่องนี้ แต่งโดยศรีปราชญ์ เมื่อถูกสมเด็จพระนารายณ์เนรเทศไปเมืองนครศรีธรรมราช น่าจะจุประกายขึ้นมาโดยนายนรินทร์ธิเบศร์ เมื่อสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ไม่ปลายรัชกาลที่ ๑ ก็สมัยรัชกาลที่ ๒

ตำนานศรีปราชญ์มีมาก่อนแล้ว  ก่อนที่พระยาปริยัติธรรมธาดาจะมารวบรวม
แต่นายนรินทร์ธิเบศร์ไปได้ชื่อ"ศรีปราชญ์"มาจากไหน  ไม่รู้      อาจจะมาจากข้อความในโคลงที่ย้ำไว้หลายตอนว่า ผู้แต่งชื่อ"ศรี"
นายนรินทร์ธิเบศร์ไปได้โคลงกำสรวลมาอ่านจากที่ไหนไม่ทราบอีกเหมือนกัน    น่าจะได้จากที่บรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิตรวบรวมงานเขียนต่างๆที่เหลือรอดได้จากกรุงแตก  มาเก็บรักษาไว้ในเมืองหลวง 
มหาดเล็กวังหน้าท่านนี้  มีความรู้ภาษาไทยแตกฉาน     อ่านโคลงดั้นภาษาเมื่อ ๓๐๐ ปีก่อนหน้า ได้รู้เรื่องดี   มองเห็นความไพเราะของบทโคลง จนนำมาเป็นแบบในการแต่งนิราศของท่านเอง
เสียดายที่เราไม่รู้ประวัติของนายนรินทร์ธิเบศร์มากกว่านี้    หลังจากแต่งนิราศนรินทร์แล้ว ก็หายเงียบไป  ไม่ปรากฏชื่อที่ไหนอีก


กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 ก.ย. 07, 21:55
กำสรวลสมุทรเป็นยาขมหม้อใหญ่สำหรับคนปัจจุบัน เพราะศัพท์แสงที่ใช้ เป็นศัพท์ที่เลิกใช้กันไปนานแล้ว ความเก่าแก่ของภาษานี้เป็นหนึ่งในข้อบ่งชี้ว่ากำสรวลสมุทรไม่ใช่วรรณกรรมสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เพราะภาษาที่ใช้เก่ากว่าวรรณคดีในยุคนั้นมากครับ

วรรณคดีที่ใช้ภาษาใกล้เคียงกันจะเป็น ยวนพ่าย และทวาทศมาส ซึ่งอาจเป็นผลงานของกวีกลุ่มเดียวกันครับ

ยุคต้นรัตนโกสินทร์ นอกจากนิราศนรินทร์ที่ได้รับอิทธิพลจากกำสรวลสมุทรแล้ว ยังมีนิราศแม่น้ำน้อย โดยกวีที่ใช้ชื่อว่า "ศิษย์ศรีปราชญ์" เห็นได้ชัดว่าบางบทแต่งล้อกำสรวลสมุทร เช่น

จักฝากโฉมแม่ไว้           ธรณี
เกรงกริ่งกรุงภาลี           ลอบเล้า
จักฝากนทีศรี               สาคเรศ ท่านนา
กลัวเกลือกพระสมุทรเจ้า   ท่าเที้ยรทารุณ ฯ

แต่งล้อบทนี้ในกำสรวลสมุทร (เขียนแบบปัจจุบัน)

โฉมแม่จักฝากฟ้า           เกรงอินทร์ หยอกนา   
อินทร์ท่านเทอกโฉมเอา    สู่ฟ้า   
โฉมแม่จักฝากดิน           ดินท่าน แล้วแฮ   
ดินฤขัดเจ้าหล้า             สู่สมสองสม ฯ

นายนรินทร์ธิเบศร์มาแต่งล้อบทเดียวกันดังนี้

โฉมควรจักฝากฟ้า          ฤาดิน ดีฤา
เกรงเทพไท้ธรณินทร์       ลอบกล้ำ
ฝากลมเลื่อนโฉมบิน        บนเล่า นะแม่
ลมจะชายชักช้ำ             ชอกเนื้อเรียมสงวน ฯ

นิราศแม่น้ำน้อยนี้ แต่งก่อนนิราศนรินทร์ ๑๘ ปี  มีบางบทในนิราศแม่น้ำน้อยที่นานนรินทร์แต่งล้อด้วย แสดงให้เห็นว่ากวียุคก่อนมีการศึกษางานเก่ากันมาอย่างต่อเนื่องครับ


กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 07, 22:08
มาช่วยคุณอาชา ปั่นเรตติ้ง
http://www.pramot.com/lalitemain.html

โคลงนิราศตามเสด็จลำน้ำน้อย
พระยาตรังเป็นผู้แต่งโคลงนิราศตามเสด็จลำน้ำน้อย เมื่อคราวตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชไปตีเมืองทวาย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๐ โดยเดินทางไปถึงลำน้ำน้อย ซึ่งเป็นแม่น้ำในแขวงเมืองกาญจนบุรีและเป็นเส้นทางเดินทางครั้งนั้น

ลักษณะการแต่ง เริ่มต้นร่ายดั้น ๑ บท และโคลงดั้นบาทกุญชรอีก ๑๙๗ บท มีร่ายดั้นแทรกในเรื่องอีก ๒ บท

เนื้อเรื่อง เริ่มต้นยอพระเกียรติพระมหากษัตริย์และชมบ้านเมือง แล้วกล่าวถึงการเดินทางผ่านคลองบางหลวง คลองมหาชัย แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง ตำบลบางช้าง ตำบลเจ็ดเสมียน โพธาราม ผ่านไทรโยคและแม่น้ำน้อย แล้วเดินทางต่อทางบก ในระหว่างการเดินทางได้กล่าวชมผลไม้ ชมปลา ชมป่า โดยแทรกบทคร่ำครวญไว้ด้วย

ตัวอย่าง

ยอพระเกียรติพระมหากษัตริย์
      อยุธยายิ่งไท้        ทั้งสาม ภพฤา
องค์อดิศรสวม          สุขหล้า
บูชิตศาสนราม          เรืองทะ วีปเฮย
บุญพระตวงฟ้าค้า     ค่าสวรรค์

ชมปลา
      กริมกรายกา         กดสร้อย ซิวเสือ
เบือนบู่ปูปนเพียน       ภาบน้ำ
สลิดสลาดหลด          ไหลเขือ คโฮ่
ดุกขะโดแก้มช้ำ         ซ่อนหมอ

สั่งความถึงนางอันเป็นที่รัก
       สารนี้สวาสดิเจ้า           จงสงวน ไว้แม่
แทนพี่แทนถนอมองค์          แอบพร้อง
ไป่ควรแม่อย่าควร               คำพี่ แพร่งเลย
เช้าค่ำเพื่อนห้องน้อง           ณ ศรี


กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 ก.ย. 07, 22:12
เพื่อความสะดวก ผมจะใช้ กำสรวลสมุทร (http://www.geocities.com/thailiterature/ks.htm) ในเว็บ ว่ายเวิ้งวรรณศิลป์ (http://www.geocities.com/thailiterature/) เป็นหลัก เทียบกับฉบับที่อ.ล้อม เพ็งแก้วและคณะฯ ชำระไว้ ส่วนเรื่องสถานที่ในเส้นทาง จะยึดแนวทางบทความ ตำนานศรีปราชญ์ตามเรือใบขทิงทอง ของ อ.มานิต วัลลิโภดม

เนื้อความกำสรวลฯฉบับอ.ล้อม และบทความอ.มานิต อยู่ในหนังสือ "กำสรวลสมุทรหรือกำสรวลศรีปราชญ์เป็นพระราชนิพนธ์ต้นกรุงศรีอยุธยา" ตีพิมพ์โดยมติชนครับ



กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 ก.ย. 07, 22:16
โธ่....เห็นๆอยู่ ว่ารัชกาลที่ 4 แต่งปลอมขึ้น

เพื่อสร้างข้ออ้างว่า คนใหญ่คนโต ก็เที่ยวท่องล่องนิราศได้ ท่านจะตรวจราชการไงครับ
ม่ายงั้น พวกหัวเก่า จะตื่นตกใจว่าท่านเที่ยวถี่เหลือเกิน รับไม่ได้
แต่งเมื่อวันจันทร์ขึ้นสี่คำเดือนหก ปีลิงหลอกเจ้า
ใช้กระดาษเพลาเก่าที่จ้างขุนมะเดื่อสุกทำขึ้น
ชุบเส้นหมึกโดยนายแกว่นปากหาเสี้ยน ที่วัดบวร กุฎีฝั่งใต้
ทำอยู่สามวันก็เสร็จ

ทำเสร็จพลันนึกขึ้นได้ จึงแต่งนิราศนรินทร์ขึ้นมารองรับ แล้วกระดาษยังเหลือก็เลยแต่งโคลงกวีโบราณของพระยาตรังกานูอภิศักดิ์
อ้อ สังข์ทองและไกรทอง ก็แต่งปลอมหลังจากนี้หน่อยหนึ่ง
แล้วเสอร์ยอนเบาริ่งนี่ ความจริงเป็นฝรั่งรับจ้างนะครับ ท่านอุปโลกเป็นฑูตเข้ามา ค่าจ้างแพงเชียว
ท่านร่วมมือกับหลอดคาลันดั้ล.....เรื่องนี้ผมอุบไว้ ยังไม่เผยแพร่

อันที่จริงไม่น่าจะต้องค้นคว้าอะไรให้เรื่องมากเลย อะไรอะไรที่พบในบ้านเมืองนี่ ถ้าก่อนรัชกาลที่ 4
เป็นการปลอมขึ้นสมัยพระจอมเกล้าทั้งนั้นละครับ  

เข้าเจยไม่เข้าเจย


กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 07, 22:42
ผิดกระทู้ค่ะ  คุณพิพัฒน์


กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 ก.ย. 07, 23:07
แฮ่ม... งั้นขอหลับหูหลับตาเชื่อไว้ก่อนครับว่ากวีพูดจริง ยึด 99.99% ไว้ก่อน ม่ายงั้นจั่วลมครับ ลงแรงไปหลายแล้ว  ;D

กำสรวลสมุทรใช้ร่ายเปิด แล้วดำเนินเรื่องโดยใช้โคลงสี่ดั้น ซึ่งมีสัมผัสระหว่างบท ลดความสับสนเรื่องลำดับโคลงไปได้บ้าง

เนื้อความเปิดฉากด้วยการพรรณนาความอลังการของอยุธยา โคลงในช่วงต้นนี้ขาดๆหายๆ หลายบทไม่ต่อเนื่องกัน น่าสงสัยว่าโคลงบางบทตกหล่นหายไป หรืออาจมีการแทรกเข้าไปเองระหว่างคัดลอก

แต่ไม่ว่าเป็นอย่างไร โคลงพรรณนาอยุธยาในช่วงต้นนี้ไพเราะจับใจผมมาก อ่านเมื่อไหร่ก็ขนลุกทุกที ขอคัดมาให้อ่านเต็มๆดังนี้

ทั้งนี้จะปริวรรตการสะกดเป็นแบบปัจจุบันทั้งหมดเพื่อความสะดวกในการอ่าน และจะทำอย่างนี้กับโคลงจะยกมาหลังจากนี้ด้วยครับ

อยุธยายศยิ่งฟ้า              ลงดิน แลฤา
อำนาจบุญเพรงพระ          ก่อเกื้อ
เจดีย์ลอออินทร์              ปราสาท
ในทาบทองแล้วเนื้อ          นอกโสรม ฯ
 
พรายพรายพระธาตุเจ้า       เจียนจันทร์ แจ่มแฮ
ไตรโลกเล็งคือโคม           ค่ำเช้า
พิหารระเบียงบัน              รุจิเรข เรืองแฮ
ทุกแห่งห้องพระเจ้า           นั่งเนือง ฯ

ศาลาอเนกสร้าง              แสนเสา โสดแฮ
ธรรมาสน์จูงใจเมือง          สู่ฟ้า
พิหารย่อมฉลักเฉลา          ฉลุแผ่น ไส้นา
พระมาศเลื่อมเลื่อมหล้า      หล่อแสง ฯ

ตระการหน้าวัดแหว้น         วังพระ
บำบวงหญิงชายแชรง         ชื่นไหว้
บูรพาท่านสรรค์สระ           สรงโสรจ
ดวงดอกไม้ไม้แก้ว            แบ่งบาล ฯ

กุฎีดูโชติช้อย                 อาศรม
เต็มร่ำสวรรค์ฤาปาง           แผ่นเผ้า
เรือนรัตน์ภิรมย์ปราง          สูรยปราสาท
แสนยอดแย้มแก้วเก้า        เฉกโฉม ฯ

สนมสนวนสอาดตั้ง           ตรีมุข
อร่ามเรืองเสาโสรม           มาศไล้
เรือนทองเทพแปลงปลุก      ยินยาก
เยียวฟ้ากู้ไซ้                  ช่วยดิน ฯ

อยุธยายศโยกฟ้า             ฟากดิน
ผาดดินพิภพเดียว             ดอกฟ้า
แสนโกฎิบ่ยลยิน              หยาดเยื่อ
ไตรรัตน์เรืองรุ่งหล้า           หลากสวรรค์ ฯ

อยุธยาไพโรจน์ใต้            ตรีบูร
ทวารรุจิเรียงหอ               สรหล้าย
อยุธยายิ่งแมนสูร             สุรโลก รังแฮ
ถนัดดุจสวรรค์คล้ายคล้าย    แก่ตา ฯ

ขอไม่แปลนะครับ ใช้ใจอ่านเอางามกว่าครับ


กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 17 ก.ย. 07, 17:10
๑๗ สรเนาะน้ำควั่งควั้ง        ควิวแด
สมดอกแดโหยหล            เพื่อให้
จากบางกระจะแล             ลิวโลด
ลิวโลดขวัญน้องไข้           ข่าวตรอม ฯ

บางกะจะ เป็นชื่อตำบลแรกที่ปรากฎในกำสรวลสมุทร และดูเหมือนจะเป็นต้นทางของกำสรวล ปัจจุบัน ตำบลที่เรียกว่าบางกะจะนี้เป็นจุดที่แม่น้ำป่าสักไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาตรงทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเมืองตรงหน้าป้อมเพชร

ดูแผนที่ประกอบนะครับ (ภาพถ่ายทางอากาศจาก Google Earth)


กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 17 ก.ย. 07, 18:07
ปัญหาอยู่ที่ว่า บางกะจะ ต้นทางกำสรวลสมุทรคือตรงไหนกันแน่ เรื่องนี้ต้องไปดูการเปลี่ยนแปลงของเส้นทางน้ำในสมัยโบราณ

ใน "ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา" น. ณ ปากน้ำ ตั้งข้อสังเกตว่าวัดพุทไธสวรรย์ซึ่งอยู่ตรงข้ามเกาะเมือง ริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้านใต้ ระหว่างปากคลองตะเคียนกับบางกะจะ แผนผังของวัดตั้งหันไปทางทิศตะวันออก ซึ่งผิดวิสัยวัดริมน้ำในยุคสมัยเดียวกันที่จะหันหน้าเข้าหาลำน้ำ น่าจะเป็นวัดเก่ามาก่อนที่จะมีแม่น้ำเจ้าพระยาตอนนั้น โดยลำเจ้าพระยาเดิมน่าจะเป็นคลองตะเคียน ซึ่งเห็นเป็นลำแม่น้ำในแผนที่ฝรั่งเศสสมัยอยุธยา ตามพงศาวดารพระเจ้าอู่ทองเคยประทับอยู่ที่พระราชวังเก่าที่วัดพุทไธสวรรค์นี้ระหว่างที่สร้างกรุงศรีอยุธยา เมื่อสร้างกรุงเสร็จทรงยกพระราชวังนี้ให้เป็นวัดพุทไธสวรรย์ อาจารย์ น. คาดว่าแม่น้ำเจ้าพระยาตอนนี้อาจถูกขุดขึ้นหลังจากสถาปนาวัดพุทไธสวรรค์เพื่อให้เป็นคูเมืองด้านใต้ แล้วใช้ดินที่ขุดขึ้นมาตั้งกำแพงเมืองในทิศนั้น

อาจารย์ น. ตั้งข้อสังเกตแบบเดียวกันที่วัดพนัญเชิง ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสักตรงบางกะจะ ทิศเหนือและทิศตะวันตกของวัดติดกับแม่น้ำ แต่วัดพนัญเชิงก็หันหน้าไปทิศตะวันออก เข้าหาคลองสวนพลู

พิจารณาจากแผนที่ คคห.ก่อนหน้านี้จะเห็นว่าลำแม่น้ำป่าสักเดิม(ในแผนที่เป็นลำน้ำเล็ก)ไหลมาเกือบถึงทางทิศตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยาแล้วอ้อมออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ก่อนจะวกกลับมาใหม่ผ่านหน้าวัดพนัญเชิงตามแนวคลองสวนพลู แล้วไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมที่ปากคลองตะเคียน

ผมเข้าใจว่าแม่น้ำป่าสักสายเก่านี้ตื้นเขินไปเมื่อแม่น้ำป่าสักเปลี่ยนทางไหลมารวมกับแม่น้ำลพบุรี แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นฝีมือธรรมชาติหรือมนุษย์เป็นผู้ขุดเปลี่ยน ที่แน่ๆน้ำจากแม่น้ำป่าสักมารวมกับแม่น้ำลพบุรีมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะเมือง

พงศาวดารบอกว่าในรัชกาลพระมหาจักรพรรดิ์มีการขุดคูขื่อหน้า จากแม่น้ำป่าสักตรงหัวรอลงมายังบางกะจะ แม่น้ำป่าสักเปลี่ยนทางไหลอีกครั้ง คราวนี้ไหลตรงลงใต้มา ผมคิดว่าลำน้าไหลผ่านทางเหนือของวัดพนัญเชิงก็คราวนี้แหละครับ

อ่าความโดยรวมแล้ว ผมคิดว่าบางกะจะน่าจะเป็นลำน้ำเดิมที่แยกจากแม่น้ำป่าสักสายเก่า ตรงจุดที่คลองสวนพลูมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน โดยคลองนี้ไหลขึ้นเหนือแล้ววกโค้งไปทางตะวันตกในแนวแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นคูเมืองด้านใต้

แม่น้ำเจ้าพระยาที่ถูกตัดเส้นทางใหม่จากปากคลองตะเคียนที่เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมเพื่อเป็นคูเมืองด้านใต้น่าจะถูกขุดมาบรรจบกับบางกะจะเดิมครับ เคยเห็นคนเรียกแม่น้ำบางกะจะก็น่าจะหมายถึงแม่น้ำเจ้าพระยาตอนนี้นี่เอง

กำสรวลสมุทรคงเริ่มต้นจากจุดใดจุดหนึ่งตั้งแต่ปากคลองตะเคียนลงมาถึงปากคลองสวนพลูนี้เองครับ แต่น่าจะเป็นช่วงคูเมืองด้านใต้เสียมากกว่า

จบตำบลแรกไปอย่างเหน็ดเหนื่อยเช่นนี้เอง


กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 17 ก.ย. 07, 18:32
บทต่อมา

๑๘ จากมาไห้สั่งโกฎ     เกาะเรียน
เรียมร่ำทั่วเกาะขอม        ช่วยอ้าง
จากมามืดตาเวียน          วองว่อง
วองว่องโหยไห้ช้าง         ช่ำงือ ฯ

บทนี้อ.มานิตว่ามีสองตำบลปรากฏ คือเกาะเรียนกับเกาะขอม
เกาะเรียนนั้นไม่มีปัญหา เป็นเกาะฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาใต้ปากคลองตะเคียนลงมา ชื่อนี้ยังปรากฏอยู่จนปัจจุบัน นิราศยุคหลังเอ่ยชื่อบ่อยๆ เป็นตำบลสำคัญ
แต่เกาะขอมอยู่ที่ไหน?

ข้างใต้วัดพนัญเชิงลงมาเล็กน้อยมีวัดขอมอยู่ พิจารณาสภาพพื้นที่ตรงนั้นด้านตะวันออกและด้านใต้เป็นคลองสวนพลู(แม่น้ำป่าสักสายเดิม) ด้านเหนือเป็นแม่น้ำป่าสัก(คูขื่อหน้า) ด้านตะวันตกเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา(บางกะจะ) เรียกได้ว่าเป็นเกาะเหมือนกัน

แต่ถ้าเชื่อว่าคูขื่อหน้าและลำน้ำตอนเหนือวัดพนัญเชิงขุดขึ้นสมัยพระมหาจักรพรรดิ์ กว่าตรงนั้นจะมีสภาพเกาะก็ต้องถึงสมัยนั้นแล้ว ขัดกับข้อสันนิษฐานที่ว่ากำสรวลสมุทรแต่งขึ้นสมัยพระรามาธิบดีที่ ๒

ที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ กำสรวลฯกล่าวถึงเกาะเรียนก่อนเกาะขอมครับ ในขณะที่ล่องลงมาตามลำบางกะจะ น่าจะเจอเกาะขอม(ถ้ามี) ก่อนเกาะเรียน

ครั้นจะมองหาเกาะที่อยู่ใต้ลงไป ถึงมีเกาะพระ(ซึ่งในกำสรวลไม่เอ่ยถึง) แต่โคลงบทต่อมาก็ระบุชื่อตำบลที่อยู่ก่อนถึงเกาะพระ เป็นอันว่าไม่น่าเป็นไปได้อีก

ข้อนี้ผมขอเสนอข้อสันนิษฐานใหม่ว่า "คัดลอกมาผิด" ความจริงควรเป็น "ชอม" ไม่ใช่ "ขอม" เขียนใหม่ทั้งหมดดังนี้

๑๘ จากมาไห้สั่งโกฎ     เกาะเรียน
เรียมร่ำทั่วเกาะชอม        ช่วยอ้าง
จากมามืดตาเวียน          วองว่อง
วองว่องโหยไห้ช้าง         ช่ำงือ ฯ

คำว่า ชอม พจนานุกรม ร.บ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายว่า จ่อม หรือ จม
นอกจากจะแปลได้ความดีแล้ว ยังทำให้โคลงบทนี้เข้ากลบทโตเล่นหางด้วยครับ


กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 17 ก.ย. 07, 19:01
๑๙ จากมาลำหั้นล่อง       ลุขนอน
ขนอนบ่ถือเลยละ           พี่แคล้ว
จากมากำจรจันทน์            จรุงกลิ่น
จรุงกลิ่นแก้มน้องแก้ว       ไป่วาย ฯ

๒๐ จากมานักนิ่นเนื้อ       นอนหนาว
หนาวเหนื่อยเพราะลมชาย  ซาบชู้
จากมาทรนาวนาว           นมแม่
หนาวเหนื่อยมือแก้วกู       มุ่นมือ ฯ

ขอยกมาสองบทซ้อน อ.มานิตว่ามีสองตำบล คือ ขนอน และ ตะนาว(ทระนาว)
ขนอนนี้อ.มานิตขยายความเพิ่มเติมว่าคือขนอนหลวงวัดโปรดสัตว์ ซึ่งเป็นขนอนหลวงที่มีมาแต่โบราณ ในขณะที่ตะนาว อ.มานิตละไว้ ไม่ได้อธิบายอะไร

คณะอ.ล้อมฯ อธิบายว่าตะนาวนี้คือ บางตะนาวในพงศาวดาร ซึ่งเรียกว่าบางตะนาวศรีในชั้นหลัง จนใจผมหาข้อมูลส่วนนี้ไม่ได้ แต่อยากตั้งข้อสังเกตไว้ประการหนึ่ง

ในบทที่ ๑๙ บาทสาม-สี่ ความว่า
จากมากำจรจันทน์            จรุงกลิ่น
จรุงกลิ่นแก้มน้องแก้ว       ไป่วาย ฯ

ผมคิดเอาเองว่าที่ขนอนนั้น เรือสินค้าที่ผ่านมาน่าจะมีสินค้าหลักที่สำคัญของอยุธยาอย่างหนึ่งคือ ไม้จันทน์ ซึ่งหอมตรลบอบอวลชวนให้กวีที่ล่องเรือผ่านนึกไปถึงสตรีที่รัก

ซึ่งหากพิจารณาความดังนี้ ในบทถัดมา ทรนาว นี้ อาจจะไม่ได้หมายความถึงชื่อสถานที่ แต่หมายถึง ตระนาว หรือ ตะนาว ที่เป็นกระแจะชนิดหนึ่งได้หรือไม่

ฝากให้คิดกันครับ


กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 17 ก.ย. 07, 21:29
๒๑ จากมามาแกล่ไกล้       บางขดาน
ขดานราบคือขดานดือ        ดอกไม้
มาเกาะกำแยลาญ            ลุงสวาท กูเอย
ถนัดกำแยย้าใส้              พี่คาย ฯ

บทนี้มีสองตำบล บางขดาน และ เกาะกำแย

ชื่อบางขดานปรากฏในพงศาวดารบางฉบับ แต่เกาะกำแย หรือที่ฉบับอ.ล้อมชำระว่าเกาะตำแยนี้ ไม่เคยได้ยินมาก่อน และทั้งสองตำบลนี้ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนแล้ว

พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ มีความตอนหนึ่งว่า

ศักราช ๙๔๘ จอศก (พ.ศ.๒๑๒๙) ณวันจันทร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๒ พระเจ้าหงษางาจีสยางยกพลลงมาเถิงกรุงพระนครศรีอยุทธยา ณวันพฤหัสบดี ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๒ แลพระเจ้าหงษาเข้าล้อมพระนคร แลตั้งทัพตำบลขนอนปากคู  แลทัพมหาอุปราชาตั้งขนอนบางตนาวแลทัพทั้งปวงนั้นก็ตั้งรายกันไปล้อมพระนครอยู่ แลครั้งนั้นได้รบพุ่งกันเปนสามารถและพระเจ้าหงษาเลิกทัพคืนไปในศักราช ๙๔๙ (พ.ศ.๒๑๓๐) นั้นวันจันทร์ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ เสด็จโดยทางชลมารคไปตีทัพมหาอุปราชา  อันตั้งอยู่ขนอนบางตนาวนั้นแตกพ่ายลงไปตั้งอยู่ ณบางกระดาน วันศุกร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๖  เสด็จพระราชดำเนินออกไปตีทัพมหาอุปราชา  อันลงไปอยู่ณบางกระดานนั้นแตกพ่ายไป  วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๗ เสด็จพระราชดำเนินพยุหบาตราออกตั้งทัพไชยณวัดเดชะ      แลตั้งค่ายขุดคูเปนสามารถ    วันพฤหัสบดี ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๗    เอาปืนใหญ่ลงสำเภาขึ้นไปยิงเอาค่ายพระเจ้าหงษาๆ ต้านมิได้ก็เลิกทัพไปตั้งณป่าโมกใหญ่ วันจันทร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๔เสด็จพระราชดำเนินออกไปตีทัพข้าเศิก ๆ  นั้นแตกพ่าย  แลไล่ฟันแทงข้าเศิกเข้าไปจนค่ายพระเจ้าหงษานั้น    วันอังคาร แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๒   เสด็จพระราชดำเนินออกตั้งเปนทัพซุ่มณทุ่งหล่มพลี    แลออกตีทัพข้าเศิก    ครั้งนั้นได้รบพุ่งตลุมบอนกันกับม้าพระที่นั่ง    แลทรงพระแสงทวนแทงเหล่าทหารตาย  ครั้นข้าเศิกแตกพ่ายเข้าค่าย    แลไล่ฟันแทงข้าเศิกเข้าไป  จนถึงน่าค่าย     วันจันทร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ เพลานาฬิกาหนึ่งจะรุ่ง     เสด็จยกทัพเรือออกไปตีทัพพญานคร    ซึ่งตั้งอยู่ณปากน้ำมุทุเลานั้น    ครั้งนั้นเข้าตีทัพได้เถิงในค่าย แลข้าเศิกพ่ายหนีจากค่ายแลเผาค่ายข้าเศิกเสียสิ้นแลพระเจ้าหงษาก็เลิกทัพคืนไป  แลพญาลแวกมาตั้งณบางซาย  ครั้งนั้นเสด็จออกไปชุมพลทั้งปวงณบางกระดาน    เถิงวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๓ เพลาอุษาโยค    เสด็จพยุหบาตราจากบางกระดานไปตั้งทัพไชยณซายเคืองแล้วเสด็จไปลแวก  ครั้งนั้นได้ช้างม้าผู้คนมาก

ความในพงศาวดารตอนนี้กล่าวถึงขนอนบางตนาว และบางกระดาน เป็นไปได้ว่า ทรนาว ในโคลงบทที่ ๒๐ และ บางขดาน ในบทที่ ๒๑ ก็คือทั้งสองที่นี้เอง


กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 17 ก.ย. 07, 22:27
อยุธยาไพโรจน์ใต้            ตรีบูร
ทวารรุจิเรียงหอ               สรหล้าย
อยุธยายิ่งแมนสูร             สุรโลก รังแฮ
ถนัดดุจสวรรค์คล้ายคล้าย    แก่ตา ฯ

หนูขอเทียบโคลงกับบันทึกฝรั่ง เพื่อขยายความโคลงที่ยกมาค่ะ

หมอแกมเฟอร พรรณนาสภาพกรุงศรีอยุธยาที่เกี่ยวกับตัวเมืองตรงกับที่กวีบรรยายไว้ว่า
“ตัวเมืองมีกำแพงที่ก่อก้อนอิฐล้อมรอบ ด้านใต้และด้านเหนือสูงประมาณ 4 ฟาทัม (7.32 เมตร)
มีเชิงเทินหอรบมั่นคงแข็งแรง ลางด้านชำรุดไปบ้าง ตามกำแพงมีประตูเล็กๆ หลายแห่ง
เปิดลงแม่น้ำ ในกำแพงบนเชิงเทินวางปืนใหญ่เป็นระยะ...”


กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 17 ก.ย. 07, 22:29
สนมสนวนสอาดตั้ง           ตรีมุข
อร่ามเรืองเสาโสรม           มาศไล้
เรือนทองเทพแปลงปลุก      ยินยาก
เยียวฟ้ากู้ไซ้                  ช่วยดิน ฯ

ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ บรรยายว่า ตรงกับที่พระเพทราชาตรัสให้สร้างเรือนสนมท้ายที่นั่งเป็นประภาษราชการ ปรากฏในพระราชพงศาวดารที่ยกมาข้างต้นนี้แล้ว ส่วนคำ “เรือนทองท่านเพรงปลุก ยินยาก” นั้น เห็นจะได้แก่การสร้างพระที่นั่งบรรยงกรัตนาศน์ เป็นพระที่นั่งองค์ใหม่ในรัชสมัยของพระองค์

เรื่องอันเกี่ยวกับปราสาทราชมณเทียรแห่งกรุงศรีอยุธยานั้น เลื่องลือในความสวยงามวิจิตบรรจง
บาทหลวงเดอ ชัวซี เขียนชมไว้ว่า
“ปราสาทราชมณเทียร ก็ใหญ่โตรฐาน ดูสง่างามสุกใสไพโรจน์ ทางขวามือมีพระมหาปราสาทองค์หนึ่งมีหลายยอด ทาสีเหลือง ดูคลับคล้ายคลับคลาว่า จะทำด้วยทองคำเสียด้วย กำแพงพระมหาปราสาทสีขาว ที่มุมกำแพงย่อลดหลั่นเป็นมุมเป็นเหลี่ยมมาก ประดับประดาด้วยกระเบื้องลายครามสีต่างๆ มีสขาว สีเหลือง สีน้ำเงิน เป็นต้น สลับสีกันเป็นลวดลายงดงาม….” ซึ่งกวีพรรณาได้งดงามตรงความเป็นจริง


กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 17 ก.ย. 07, 22:38
แต่ความในพงศาวดารก็ไม่ได้ระบุตำแหน่งขนอนบางตนาวและบางกระดานไว้อยู่ดี จำต้องสอบหาจากทางอื่น

ชื่อบางขดานนี้ปรากฏในวรรณคดีร่วมสมัยอีกเรื่องหนึ่งคือทวาทศมาส กล่าวถึงพิธีไล่ชล

ชลธีปละปลั่งคว้าง    ทางสินธุ์
นาเวศนาวาวาง       วาดน้ำ
ตกบางขดานดิน      สดือแม่
ดลฤดูสั่งล้ำ           ไล่ชล ฯ

ทำกันที่บางขดานนี่แหละครับ อ่านจากโคลงตรงนี้เป็นสะดือแม่น้ำ คงจะมีน้ำวนอยู่ตรงนี้แหละ

เห็นน้ำวนก็นึกถึงที่อาจารย์ น. เขียนไว้ในห้าเดือนฯ สันนิษฐานเรื่องตำบลสำเภาล่ม ว่าน่าจะอยู่ตรงบางกะจะ ที่แม่น้ำป่าสักมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงนั้นมีน้ำวน สำเภาคงจะมาล่มที่นี่ ทำให้ได้ชื่อว่าตำบลสำเภาล่ม

เรื่องนี้ผมตรวจสอบกับนิราศยุคต้นรัตนโกสินทร์หลายเรื่อง ระบุตำแหน่งของตำบลสำเภาล่มไว้ต่างจากข้อสันนิษฐานของอาจารย์ น.

นิราศเวียงจันท์ของสมเด็จกรมพระเดชาดิศร สมัย ร.๓ ระบุตำบลที่ผ่านไว้ดังนี้
เกาะเกิด-บ้านแป้ง-อรอินทร์(บางปะอิน)-เกาะพระ-ตลาดเกรียบ-สำเภาล่ม-บ้านกลิ้ง-โปรดสัตว์-บ้านรุน-บางหวาย-เกาะเรียน

นิราศพะเนียดของสมเด็จกรมพระบำราบปรปักษ์ เข้าใจว่าเป็นสมัย ร.๕ ระบุตำบลดังนี้
เกาะเกิด-บางปอิน-เกาะพระ-สะเภาล่ม-โปรดสัตว์-เกาะเรียน

พอจะยืนยันตำแหน่งของตำบลสำเภาล่มได้ว่าอยู่ระหว่างเกาะพระกับวัดโปรดสัตว์

ในขณะที่ในกำสรวลสมุทร ระบุตำบลดังนี้ (ใต้ขึ้นเหนือตามอย่างนิราศทั้งสองข้างต้น) เกาะกำแย-บางขดาน-ทรนาว-ขนอน

เกาะที่มีโอกาสเป็นเกาะกำแยได้มี ๓ เกาะ คือ เกาะเกิด เกาะบางปะอิน และเกาะพระ ผมไม่กล้าฟันธงว่าเป็นเกาะใด แต่เกาะเกิดมีขนาดเล็ก แผนที่ฝรั่งเศสสมัยพระนารายณ์ไม่ระบุเกาะเกิดในแผนที่ แต่ระบุเกาะปางปะอินไว้ในนาม I. Royall พร้อมระบุตำแหน่ง Pagoda Royal และ Palace Royal ไว้บนเกาะ ส่วนเกาะพระ ระบุชื่อว่า I. Chinoise น่าจะหมายถึงเกาะ(คน)จีน ดังในแผนที่นี้


กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 19 ก.ย. 07, 21:52
นิราศพระบาทกล่าวถึงสำเภาล่มไว้ดังนี้

ถึงเกาะพระที่ระยะสำเภาล่ม            เภตราจมอยู่ในแควกระแสไหล
ถึงเกาะเรียนโอ้เรียมยิ่งเกรียมใจ       ที่เพื่อนไปเขาก็โจษกันกลางเรือ

อ่านกลอนตรงนี้ เหมือนว่าสำเภาล่มนี่น่าจะอยู่ตรงเกาะพระเลย ซึ่งถ้าเทียบกับนิราศพะเนียดที่กล่าวถึงเกาะพระแล้วจึงเป็นสำเภาล่ม แต่นิราศกรุงเก่ามีตลาดเกรียบมาแทรกก่อนอีกตำบลหนึ่ง

ตลาดเกรียบนี้อยู่ตรงฝั่งปากคลองหัวเกาะพระทางด้านเหนือ เป็นไปได้ว่าสำเภาล่มจะอยู่ตรงหัวเกาะด้านเหนือแถวๆหน้าตลาดเกรียบไปหน่อยนั่นเอง

หวังว่าไม่มีกวีท่านไหนเขียนผิดไว้นะครับ แหะๆ

ผมไปค้นพงศาวดารภาค ๖๓ เรื่องกรุงเก่า อธิบายภูมิสถานที่ของบางตะนาวศรีว่า

ขนอนบางตะนาวสี หรือนัยหนึ่งเรียกขนอนหลวงอยู่ที่ข้างวัดโปรดสัตว์ เป็นด่านภาษีใหญ่กวาทุกแห่ง เพราะสำหรับตรวจผู้คนและเรือลูกค้า กับเก็บภาษีสินค้าที่เข้าออกทางหัวเมืองชายทะเลและต่างประเทศ


ถ้าข้อมูลนี้ไม่ผิดพลาด ขนอนวัดโปรดสัตว์ก็คือที่เดียวกับขนอนบางตะนาวศรีนี้ ดูในแผนที่ใต้วัดโปรดสัตว์ลงไม่เล็กน้อยมีลำบางแยกออกไปทางตะวันออก เห็นทีบางนี้น่าจะเป็นบางตะนาวศรี ทรนาว ในกำสรวลสมุทร

ส่วนขนอนหลวง คงอยู่ระหว่างวัดโปรดสัตว์กับบางตะนาวนี้เอง

เอาข้อมูลทั้งหมดมาปักหมุดใน Google Earth พอได้ดังนี้ครับ





กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 19 ก.ย. 07, 22:01
ดูในแผนที่ ลำน้ำเจ้าพระยาช่วงเหนือเกาะพระจะค่อนข้างแคบกว่าช่วงอื่นเล็กน้อย โดยหลักการน้ำตรงนี้ต้องไหลเชี่ยวกว่าบริเวณอื่นๆ ก็เป็นไปได้อยู่ว่าจะเป็นเหตุให้สำเภาล่มได้

ตรงหัวเกาะนี้แม่น้ำผายออกและมีเกาะมาขวาง ก็เป็นไปได้อีกว่าจะมีน้ำวน

เหนื่อยหน่อยครับ ต้องใช้จินตนาการ(มั่ว)สูงมาก

มีลำบางแยกไปทางตะวันตกตรงนี้ ถ้าตรงนี้คือบางขดาน เกาะพระก็น่าจะเป็นเกาะตำแยครับ

เนื่องจากความแน่นอนคือความไม่แน่นอน เราต้องมองหาต่อไป

ทางฝั่งตะวันออกข้างเกาะพระมีลำคลองอีกสายหนึ่ง เผื่อใจไว้ว่าในอดีต 500 ปีก่อนอาจจะยังไม่มีเกาะพระ ลำบางทางตะวันออกนี้อาจจะเป็นบางขดาน ดังนั้นเกาะกำแยก็ต้องลงไปเป็นเกาะบางปะอินหรือไม่ก็เกาะเกิดครับ

สรุปได้ว่าสรุปไม่ได้  :-\

ขอผ่านตรงนี้ไปก่อนจนกว่าจะเจออะไรที่บ่งชี้ได้ครับ


กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 19 ก.ย. 07, 22:11
๒๒ พระใดบำราศแก้ว       กูมา
มาย่านขวางขวางกาย        ดั่งนี้
จากมาเลือดตาตก           เต็มย่าน
เต็มย่านบรู้กี้                 ถั่งแถม ฯ
   
๒๓ จากมาอกน่านน้ำ        นองกาม
กามกระเวนแรมรศ           ร่วงไส้
จากมาราชครามคราม        อกก่ำ
อกก่ำเพราะชู้ให้              ตื่นตี ฯ

ราชคราม ไม่มีปัญหา เป็นยังมีตำบลนี้อยู่ในปัจจุบัน ในแผนที่ฝรั่งก็ปรากฏเป็นพยานอยู่ จะอยู่ตรงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงแยกแม่น้ำน้อย หรือบางไทร หรือ สีกุก มีหลายชื่อ

แต่ย่านขวางเป็นอีกตำบลหนึ่งที่เป็นปริศนา ชื่อนี้มีเอ่ยถึงในอีกเรื่องหนึ่งในนิราศวัดเจ้าฟ้า แต่อยู่คนละที่กัน ย่านขวางนั่นอยู่ระหว่างเกรียนสวายกับเชียงราก แต่ย่านขวางในกำสรวลนี้อยู่เหนือราชครามขึ้นมา แต่ถ้าดูลักษณะภูมิประเทศแล้วคล้ายกัน คือเป็นคุ้งแม่น้ำหักศอก เดาว่าย่านขวางคงอยู่แถวๆเกาะเกิดครับ


กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 23 ก.ย. 07, 12:12
กระทู้นี้แป้กไปนาน เพราะราชครามที่คิดว่าไม่มีปัญหากลับมีปัญหา เพราะหลักฐานไม่ตรงกัน

จากกำสรวลฯไม่สามารถระบุตำแหน่งแน่นอนได้

นิราศหลายเรื่องต้นรัตนโกสินทร์ระบุราชครามเป็นชื่อเกาะในแม่น้ำเจ้าพระยา
แต่แผนที่ฝรั่งหลายฉบับเขียนตรงกัน(แต่อาจจะลอกการบ้านกัน) ชี้ว่าราชครามอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในขณะที่เกาะบนแม่น้ำนั้นเขียนว่าเกาะ Bantran อ่านว่าอะไรไม่ทราบ และยังหาชื่ออะไรคล้ายๆอย่างนี้ในบริเวณนั้นไม่เจอ นอกจากนี้ชื่อ Bantran นี้ปรากฏเป็นตำบลอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาใต้เกาะ Bantran ด้วยครับ

ทราบว่ามีเพลงยาวหม่อมภิมเสนที่ใช้เส้นทางนี้ราวสมัยพระบรมโกศ อาจจะมีชื่อพวกนี้ระบุอยู่ ท่านใดมีอยู่ในมือ กรุณาบอกทางให้จะขอบพระคุณอย่างสูงครับ ไม่อย่างนั้นผมคงต้องไปหาที่หอสมุดแห่งชาติดูสักครั้ง


กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 24 ก.ย. 07, 17:15
ระหว่างที่ไม่มีเพลงยาวหม่อมภิมเสนมาสอบ ขอล่องเรือต่อไปตามข้อมูลที่มีอยู่ก่อน ถ้าหลักฐานขัดกันค่อยมาแก้อีกทีก็แล้วกันครับ

ราชคราม เป็นชื่อที่น่าสงสัย นิราศตลาดเกรียบช่วงต้นรัตนโกสินทร์เขียนว่า ราชคาม แต่เรื่องอื่นๆรวมทั้งหลักฐานฝรั่งเขียนว่าราชครามทั้งนั้น

ราชครามในนิราศช่วงต้นรัตนโกสินทร์ให้ข้อมูลดังนี้
นิราศตลาดเกรียบ ของพระเทพโมลี (ท่านจันทร์ว่าผิดทั้งชื่อนิราศและชื่อคนแต่ง เพราะปลายทางเลยตลาดเกรียบไปมาก แถมพระเทพโมลีเป็นพระ ไม่เข้ากับความในนิราศ ประชุมวรรณคดีเรียกเรื่องนี้ว่านิราศพเนียด) ระบุว่าราชครามเป็นเกาะอยู่เหนือบ้านกระบือ แต่ใต้คลองบางไทรลงมา

นิราศทัพเวียงจันทน์ (กรมพระยาเดชาดิศร) ไม่ได้ออกชื่อราชครามว่าเป็นเกาะ แต่อยู่เหนือบ้านกระบือและใต้บางไทร

นิราศพะเนียด (กรมพระยาบำราบปรปักษ์) ระบุว่าเป็นเกาะ อยู่เหนือบางกระบือ เหนือขึ้นไปเป็นลานเทและบางไทร

นิราศกรุงเก่า (หลวงจักรปาณี-มหาฤกษ์) ไม่ออกชื่อราชคราม แต่ระบุชื่อว่าเกาะใหญ่ อยู่เหนือบางกระบือ ถัดขึ้นไปเป็นลานเทและบางไทร

นิราศพระบาท (สุนทรภู่?) ออกชื่อเกาะราชคราม อยู่เหนือบางกระบือ ถัดขึ้นไปเป็นบางไทร

นิราศภูเขาทอง (สุนทรภู่) ออกชื่อเกาะใหญ่ราชคราม อยู่เหนือบ้านงิ้ว ไม่ระบุตำบลใดอีกเพราะตัดเข้าคลองลัดทุ่งนาจนถึงกรุงเก่า

นิราศวัดเจ้าฟ้า (เณรหนูพัด สุนทรภู่) ออกชื่อเกาะหาดราชครามถัดจากโพแตง เลยขึ้นไปเป็นบางไทร

เห็นได้ชัดว่าโลกทัศน์ของคนยุคต้นรัตนโกสินทร์ รู้จักราชครามในนามของเกาะใหญ่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ระหว่างบางกระบือกับบางไทรครับ


กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 24 ก.ย. 07, 17:39
ก่อนจะพาท่านดำดิ่งลงสู่อดีตที่ลึกไปกว่านี้ เชิญท่านทั้งหลายพักหายใจด้วยการขึ้นมาดูราชครามยุคปัจจุบันก่อน

กลางภาพจะเห็น ต.ราชคราม อยู่ตรงคุ้งน้ำฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาตรงที่แม่น้ำน้อยไหลมาบรรจบครับ

ส่วนเกาะราชครามนั้น หลังจากไล่หาอย่างงุนงงว่าอยู่ที่ไหน ก็ได้ความว่าควรจะอยู่ตรงที่เป็นเครื่องหมาย ? อยู่นั่นแหละครับ

คุณวรณัยเขียนไว้ใน Blog http://www.oknation.net/blog/voranai/2007/08/24/entry-1 (http://www.oknation.net/blog/voranai/2007/08/24/entry-1) บอกว่าเกาะราชครามโดนดูดทรายไปขายจนเกาะกำลังจะหายไปทั้งเกาะอยู่แล้ว ถ้าคุณวรณัยผ่นเข้ามาในกระทู้นี้ รบกวนมาเล่าวีรเวรของลูกหลานที่ขายแผ่นดินของบรรพบุรุษ(อย่างเป็นรูปธรรม)ให้ฟังจะขอบพระคุณมากครับ



กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 24 ก.ย. 07, 17:53
ทีนี้เราจะไปที่สมัยปลายอยุธยากันบ้าง

หลักฐานของไทยเองผมยังหาไม่เจอ สงสัยอยู่ว่าอาจจะมีกล่าวถึงในเพลงยาวหม่อมภิมเสน แต่ไม่มีอยู่ในมือตอนนี้ ดังนั้นจะไปดูข้อมูลฝรั่งก่อนครับ รูปที่ลงไว้ในคคห. 15 คือแผนที่ฝรั่งเศสที่เชื่อว่ามาจากต้นฉบับในสมัยพระนารายณ์ ตรงบริเวณที่เป็นต.ราชครามปัจจุบัน ระบุชื่อไว้ว่า Rayjacram ในขณะที่ตรงเกาะราชครามเขียนว่า I. Bantran และระบุตำบลใต้เกาะราชครามว่า Bantran

แผนที่ฮอลันดาปี ค.ศ.1724 ใหม่กว่าของฝรั่งเศสนิดหน่อย เขียนตรง ต.ราชครามไว้ว่า Radja kram ในขณะที่ตรงเกาะราชครามระบุชื่อว่า 't Lang Eyland ในขณะที่ตำบลใต้เกาะระบุชื่อว่า Ban Frang

ดูรายละเอียดที่นี่ http://www.nationaalarchief.nl/amh/detail.aspx?page=dafb&lang=en&id=5682 (http://www.nationaalarchief.nl/amh/detail.aspx?page=dafb&lang=en&id=5682)

ถึงจะระบุแน่นอนไม่ได้ว่าฝรั่งสมัยปลายอยุธยาเรียกชื่อเกาะนี้ว่าอย่างไร แต่เห็นได้ชัดว่าไม่น่าจะเรียกว่าเกาะราชครามครับ

ราชครามสมัยนั้นเป็นพื้นที่ตรงต.ราชครามปัจจุบันครับ


กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 24 ก.ย. 07, 18:12
ทีนี้ไปดูราชครามในกำสรวลสมุทรใหม่

๒๓ จากมาอกน่านน้ำ     นองกาม   
กามกระเวนแรมรศ         ร่วงไส้   
จากมาราชครามคราม     อกก่ำ   
อกก่ำเพราะชู้ให้           ตื่นตี ฯ   

ในโคลงไม่ได้ระบุว่าเป็นเกาะหรือไม่ แต่โคลงบทต่อๆมาระบุชื่อตำบลอื่นไว้ดังนี้

๒๖ จากมาเรือร่อนท้ง     พญาเมือง   
เมืองเปล่าปลิวใจหาย      น่าน้อง   
มาจากเยียมาเปลือง       อกเปล่า   
อกเปล่าว่ายฟ้าร้อง        ร่ำหา รนหา ฯ

๒๗ จากมาเมืองเก่าเท้า   ลเท ท่านรา   
เทท่าบึงบางบา            บ่าใส้   
จากมาอ่อนอาเม          บุญบาป ใดนา   
เมืองมิ่งหลายเจ้าไว้       เรียกโรย ฯ

ท้งพญาเมือง หรือทุ่งพญาเมือง อ.มานิตบอกว่าปัจจุบันคือทุ่งพระยาบันลือ ผมไม่ทราบว่าอ.มานิตสอบมาจากไหน แต่หาข้อมูลไม่ได้เหมือนกัน ดังนั้น "ขอเชื่อไว้ก่อน"

คลองพระยาบันลือนั้นแยกออกไปทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเหนือหัวเกาะราชครามขึ้นมาเล็กน้อยครับ

ในขณะที่เมืองเก่าท้าวลเท ผมไม่รู้อยู่ไหนเหมือนกัน แต่น่าจะเป็นอันเดียวกับลานเท ซึ่งมีบางคนปักหมุดไว้ใน PointAsia.com ว่าอยู่แถวๆเกาะราชคราม

ดังนั้นพอจะสรุปอย่างกะพร่องกะแพร่งไปได้ว่าราชครามที่กล่าวถึงในกำสรวลฯ น่าจะเป็นต.ราชครามในปัจจุบันนั่นเอง

เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ตำบลหนึ่งที่ผมแอบข้ามไป ดังในโคลงบทนี้

๒๔ จากมาแก้วกูค่ำ         ซรอกแขวะ
โพรงซรอกโซรมแขวะศรี    โศรกศร้อย
จากมาพี่ปูนแบะ             ปูนแม่
ปูนแม่ลห้อยไห้              ข่าวตรอม ฯ

เห็นที ซรอกแขวะ จะเป็นตรงที่แม่น้ำน้อยมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยานี่เองครับ


กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 24 ก.ย. 07, 18:28
ืำป้ายถัดไปคือ เชียงราก ดังนี้

๒๙ ไก่ใดขันขิ่งน้อง                 นางเฉลย
เชิญท่านทยานเป็นฝัน               ฝากแก้ว   
เยียมาบลุเสบย                      เชิงราค   
ไฟราคดาลแพร้วแพร้ว              พร่างตา ฯ

อีกบทหนึ่งคือ

๓๑ เยียมาเรือเก้ากู่                  การุญ ย่านนา
นบเทพอรชุนบน                     บอกถ้อย   
มือพันพ่อมีบุญ                      แลส่อง ดูรา   
เชิญพ่อเด็จดวงช้อย                 ซาบศรี สมศรี ฯ

อ.มานิตว่าเก้ากู่เป็นชื่อตำบล แต่ไม่รู้อยู่ไหน คณะอ.ล้อมว่า แก้วกู้ หมายถึง (น้อง)แก้วกู้ ไม่ใช่สถานที่ ผมผ่าน เพราะตีความไม่ถูกเหมือนกัน

และเนื่องจากบทถัดไประบุชื่อเกรียนสวายดังนี้

๓๒ เยียมาเรือล่องใกล้               เกรียนสวาย
สวายสวาสดิ์ธรณีนาง                 มิ่งไม้   
เพล็จพวงดุจดวงถวาย                ทุกกิ่ง ไซ้แฮ   
แม้นม่วงรศฟ้าไล้                     ลูกหวาน ฯ

เชียงราคอยู่เหนือลัดเกร็ดใหญ่ ในขณะที่เกรียนสวายอยู่ใต้ลัดเกร็ดใหญ่ลงมา เป็นอันว่าเรือขทิงทองผ่านเกร็ดใหญ่ลงมาโดยไม่ได้พูดถึง และไม่มีตำบลที่จะระบุได้ด้วยว่าแล่นไปทางแม่น้ำสายเก่าหรือคลองลัดครับ


กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 24 ก.ย. 07, 18:40
๓๓ มุ่งเห็นน้ำหน้าวิ่ง         เวียนตา แลแม่   
ถนัดม่วงมือนางฝาน          ฝากเจ้า   
เททรวงทุเรมา                บางภูด พี่แม่   
หมากพูจรู้ลับเล้า             พูจพราง ฯ

อันนี้ไม่มีปัญหา บางภูจคือบางพูดแน่ เป็นคลองแยกไปทางตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เนือปากเกร็ดเล็กน้อยครับ

๓๖ เยียมานิราษร้อน        ไฟกาม   
ลุบมีเลยแล                  เรียกฟ้า   
ศรีมาสำโรงงาม              อายแก่ พี่แม่   
ถนัดสำโรงเจ้าถ้า             อกโรง

เรือมาถึงสำโรง ไม่รู้ว่าอยู่ไหน แต่ไม่ใช่สำโรงใกล้พระประแดงแน่ๆ อ.มานิตว่าเป็นคลองสำโรงอยู่ใกล้ปากเกร็ด ปากคลองมีวัดบัว ผมหาจนตากลับแล้วก็ยังหาไม่เจอทั้งคลองสำโรงและวัดบัว แต่มีน่าสงสัยคือคลองพระอุดมในคลองอ้อมเกร็ด(ลำแม่น้ำเก่า) ซึ่งเป็นคลองใหญ่ มีวัดอยู่ปากคลอง ช่วงใกล้ปากคลองคดเคี้ยวดูเป็นคลองธรรมชาติ อาจเป็นบางสำโรงเก่าก็เป็นได้


โปรดสังเกตว่ากวีเริ่มเรียกตนเองว่าศรีแล้ว นี่แหละครับที่ทำให้กำสรวลสมุทรกลายเป็นกำสรวลศรีปราชญ์

๓๘ ศรีมาพิโยคพื้น          รัตนภูมิ
ถนัดดุจพระภูมิผจง           แผ่นแผ้ว   
เล็งแลเยียฟ้าฟูม             ชลเนตร   
เพราะพี่เจ็บเจ้าแคล้ว         คลาศไกล ฯ   

ตรงนี้อ.มานิตว่า รัตนภูมิคือบางภูมิ

บางภูมิเป็นคลองแยกจากแม่น้ำอ้อมเกร็ด อยู่ถัดจากปากคลองพระอุดมมาไม่ไกล  แต่ผมยังสงสัยอยู่ว่ามีร่องรอยการตั้งชุมชนที่บางภูมิเก่าแก่ขนาดไหน บางภูมิจะใช่รัตนภูมิหรือไม่?

แถวนี้ เมื่อก่อนนี้ไกลปืนเที่ยงขนาด แต่ไม่กี่เดือนมานี้สะพานพระราม ๔ ข้ามไปลง มีสะพานข้ามคลองบางภูมิและคลองพระอุดมครับ


กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 24 ก.ย. 07, 19:05
๓๙ ศรีมาเทวศศร้อย         สงสาร
ทุกย่านอกฟูมไฟ             น่าน้อง   
ศรีมาอังคารฉมัก             ฉมวยใหญ่   
แลลบับไล้ท้อง               ท่งเขียว ฯ

ตรงนี้เดาไม่ออกจริงๆ อังคารฉมักฉมวยใหญ่ ในวลีนี้นะจะมีบางส่วนหรือไม่ก็ทั้งวลีนี่แหละที่เป็นชื่อสถานท แต่จนปัญญาจริงๆี่ แ่านบทถัดไปเล่นๆก็แล้วกันครับ

๔๐ เนื้อเบื้อละไล่ล้ำ         สังขยา   
ควายประชลเพราะเพรียว     ตื่นเต้น
กวางทรายประนังหา          หวงเถื่อน
บางลาบบ้างเหล้นบ้าง        ง่าเงย ฯ

นี่อยู่ไม่ใกล้ๆม่ไกลจากปากเกร็ดนะครับ ถ้าเป็นสมัยนี้ลองหลุดมาแถวห้าแยกปากเกร็ด อาจเจอรถติดสักชั่วโมงนึงได้


กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 24 ก.ย. 07, 19:29
๔๓ ฝ่ายเสียงสุโนกไห้       หานาง แม่ฮา   
เรียมทันทึงแทงโลม          ลิ่นเล้า   
มาดลบำหรุคราง              ครวญสวาสดิ์
ให้บำหรุหน้าเหน้า             จอดใจ ฯ   
   
๔๔ บำหรุบำราษแก้ว         กูมา
จักบำรุงใครใคร               ช่วยได้   
บรับบเริ่มอา                   บ่ร่าง ละเลย
โอ้บเริ่มน้องให้      ใฝ่เห็น สองเห็น ฯ

ตรงนี้สำคัญ เพราะพูดถึงบำหรุ เราก็นึกถึงบางบำหรุ หนังสือบทกวีนิราศตามคลองบางกอกน้อยถึงบางใหญ่ ของคุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ ก็พูดถึงโคลงตอนนี้ในกำสรวล

ปัญหามันอยู่ที่ว่า ตอนนี้เรือขทิงทองทำท่าจะวิ่งอยู่ในแม่น้ำอ้อม นนทบุรีนี่เอง ยังไม่ได้เข้าคลองบางกอกน้อยซึ่งมีบางบำหรุอยู่เลยครับ

เป็นไปได้สองประการคือ
- คนละบำหรุกัน หรือ
- บำหรุเดียวกันนี่แหละ แต่คนละฟาก

ถ้าเป็นคนละบำหรุกันก็จบ ไม่ต้องคุยต่อ แต่ผมสงสัยว่าจะเป็นอย่างหลัง เพราะคลองบางบำหรุปัจจุบันแยกจากฝั่งเหนือของคลองบางกอกน้อยขึ้นไปจนถึงทางรถไฟสายใต้แล้วกลายเป็นคลองบางละมุดไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาแถวเชิงสะพานพระรามหก

แต่ผมไม่คิดว่าคลองบางละมุดจะเป็นบำหรุในกำสรวลเพราะเส้นทางกำสรวลหลังจากนี้จะผ่านบางเขน ซึ่งจะอยู่เหนือปากคลองบางละมุดขึ้นไป

เป็นไปได้ว่าคลองบางบำหรุนี้อาจมีบางช่วงที่ตื้นเขินไปแล้ว หรืออีกประการหนึ่งที่เป็นไปได้คือคลองลัดวัดชะลอฝั่งวัดชะลอนี่แหละที่อาจจะเป็นบางบำหรุึแต่เดิม การขุดคลองลัดสมัยพระเจ้าจักรพรรดิ์ที่ว่าไว้ในพงศาวดารอาจจะขุดต่อจากกลางคลองบางบำหรุเดิมจนมาชนแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้านที่วัดขี้เหล็กครับ



กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 24 ก.ย. 07, 22:32
๔๗ มาทุ่งทุเรศพี้         บางเขน   
เขนข่าวอกนมเฉลา       พี่ตั้ง   
ปืนกามกระเวนหัว         ใจพี่ พระเอย
ฤาบให้แก้วกั้ง             พี่คง คืนคง ฯ

เจออย่างนี้ คนส่วนมากจะงงว่ากวีกำสรวลท่านล่องเรืออีท่าไหนถึงไปโผล่บางเขนได้ หรือบางเขนในกำสรวลจะเป็นคนละบางกับบางเขนในปัจจุบัน

ตอบได้เลยว่าบางเดียวกันนี่แหละ และประเด็นนี้ตอกย้ำความหมายของคำว่า "บาง" ให้ชัดเจนขึ้นด้วย

เพราะปากคลองบางเขนอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เหนือสะพานกรุงธนขึ้นไปหน่อยเดียวครับ มีสองคลองเรียกว่าบางเขนเก่า และบางเขนใหม่ แต่ทั้งสองคลองนี้เข้าไปรวมกันแล้ววิ่งยาวทะลุไปถึงต.บางเขนแถวเรือนจำกลางบางเขน นนทบุรี และต่อไปถึงเขตบางเขนของกรุงเทพ

คนปัจจุบันซึ่งไม่เห็นความสำคัญของคลองแล้วจึงมองคำว่าบางเป็นตำบลที่อยู่ และเห็นบางเขนเป็นพื้นที่ที่ไม่ผูกพันกับชื่อคลองอีกต่อไป

แต่กวีกำสรวลไม่เป็นอย่างนั้นครับ ล่องเรือผ่านปากคลองบางเขนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก็เห็นบางเขนอยู่ตรงนั้นเอง


กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 24 ก.ย. 07, 22:42
ลืมสรุปไปว่า เรือใบขทิงทองแล่นผ่านเกาะเกร็ดโดยไม่สามารถยืนยันชัดแจ้งได้ว่ามาทางแม่น้ำลัดเกร็ด(เจ้าพระยาสายใหม่) หรือไปตามแม่น้ำอ้อมเกร็ด(สายเก่า) ยกเว้นจะเชื่อว่าบางภูมิคือรัตนภูมิ ซึ่งแปลว่าเรือไปตามแม่น้ำอ้อมเกร็ดซึ่งเป็นเจ้าพระยาสายเก่าก่อนขุดคลองลัดเกร็ดน้อยครับ

ลำดับถัดมาก็เช่นเดียวกัน หากไม่สามารถยืนยันได้ว่าบำหรุที่พูดถึงคืออีกฟากหนึ่งของบางบำหรุในปัจจุบัน ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเรือแล่นไปทางแม่น้ำสายเก่า ไม่ได้ลงมาทางแม่น้ำสายใหม่ที่ผ่านหน้าศาลากลางจังหวัดนนทบุรีหลังเก่าครับ

ทั้งนี้กวีไม่พูดถึงการมีอยู่ของเกาะพวกนี้ รวมถึงตำบลสำคัญที่ปรากฏในแผนที่ฝรั่งทุกฉบับอย่างตลาดแก้วตลาดขวัญ ดูเหมือนจะไม่มีตัวตนในสำนึกของกวีกำสรวลสมุทรเลย


กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 24 ก.ย. 07, 23:01
๕๑ เยียมาสมดอกแห้ง       ฤทัย ชื่นแฮ   
เครงย่อมถงวลถงมอก        ค่ำเช้า   
เยียมาเยียไกลกลาย         บางกรูจ   
ถนัดกรูจเจ้าสระเกล้า         กลิ่นขจร ฯ   

๕๓ เยียมาพิเศศพี้            บางพลู   
ถนัดเหมือนพลูนางเสวย       พี่ดิ้น   
เรียมรักษ์เมื่อไขดู             กระเหนียก นางนา
รศรำเพยต้องมลิ้น             ลั่นใจ ลานใจ ฯ

๕๔ เรือมาเจียรเจียดใกล้     ฉมังราย
ฉมังนอกฉมังใน               อกช้ำ   
ชาวขุนสรมุทรหลาย           เหลือย่าน   
อวนหย่อนยังท่าน้ำ            ถูกปลา ฯ   

จากบางเขนลงมาเจออีกสามตำบลคือ บางกรูด บางพลู และฉมังราย
อ.มานิตว่าฉมังรายคือสมอราย ตรงวัดราชาธิวาส
บางพลูนี่ไม่มีปัญหา (หวังว่ายังอยู่ที่เดิม)
ส่วนบางกรูดไม่รู้บางไหนสักบาง ผมปักหมุดมาให้ดู เชิญเลือกตามสบาย เพราะจากบางเขนลงมามีอีกสิบกว่าบางก่อนถึงบางพลูครับ



กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 24 ก.ย. 07, 23:17
๕๕ กล้วยอ้อยเหลืออ่านอ้าง     ผักนาง   
จรหลาดเลขคนหนา               ฝั่งเฝ้า   
เยียมาลุดลบาง                    รมาต
ถนัดรมาตเต้นเต้า                 ไต่เฉนียร ฯ

จากฉมังรายเรือใบขทิงทองเลี้ยวขวาเข้าคลองบางกอกน้อย แล่นพรวดเดียวมาถึงบางระมาดเลย

ถ้าเทียบกับนิราศสมัยต้นรัตนโกสินทร์ แค่จากปากคลองบางกอกน้อยไปถึงตรงวัดขี้เหล็กปากคลองลัดไปวัดชลอ ใครบรรยายน้อยกว่า ๕ ตำบล คิดว่าเพื่อนล้อขนาดกลับบ้านไม่ถูกแน่นอน

ที่สำคัญกวีไม่พูดถึงบางบำหรุแถมไม่พูดถึงคลองลัดวัดชลอสักกะแอะ อย่าลืมนะครับว่าพงศาวดารบอกว่าคลองลัดวัดชลอนี่ขุดสมัยพระมหาจักรพรรดิ์ ก่อนเสียกรุงครั้งแรกเสียอีก

ที่น่าสนใจคือสุนทรภู่เคยผ่านมาตรงหน้าวัดขี้เหล็ก มุ่งหน้าเข้าคลองลัดวัดชะลอ และพูดถึงคลองที่เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าว่า บางระมาด แปลว่าโลกทัศน์ของสุนทรภู่ แม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่ากลายเป็นบางระมาดไปเสียแล้ว

แต่ความเป็นจริง บางระมาดอยู่ลึกเข้าไปในลำแม่น้ำสายเก่านี้อีกเยอะเลยครับ


กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 24 ก.ย. 07, 23:27
ในช่วงที่เรือแล่นอยู่ในลำแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่า จากบางกอกน้อยมาออกบางกอกใหญ่ ระบุชื่ออีก ๒ ตำบลคือ บางฉนังและบางจาก ดังนี้

๖๐ เยียมาแอ้วไส้ย่อน     บางฉนัง
ฉนังบ่มาทันสาย            แสบท้อง   
ขนมทิพย์พงารัง            รจเรข มาแม่   
ยินข่าวไขหม้อน้อง         อิ่มเอง ฯ

๖๒ มลักเห็นน้ำหน้าไน่     ไนตา พี่แม่   
เรียมตากตนติงกาย         น่าน้อง
ลันลุงพี่แลมา               บางจาก
เจียรจากตีอกร้อง           เรียกนาง หานาง ฯ   

ดูแผนที่นะครับ บางกอกสมัยนั้นท่าจะเหงาน่าดู



กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 24 ก.ย. 07, 23:39
๖๔ เสียดายหน้าช้อยชื่น    บัวทอง กูนา   
ศรีเกษเกศรสาว             ดอกไม้
มาดลบรรลุนอง             ชลเนตร   
ชลเนตรชู้ช้อยไห้            ร่วงแรง โรยแรง ฯ   

นอง ตรงนี้มาลอยๆคำเดียว อ.มานิตว่าบางนางนอง แล้วระบุว่าเรือคงแล่นเข้าคลองด่าน ไม่ได้ไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ผมเห็นว่านอง ซึ่งน่าจะเป็นบางนอง ที่กวีกำสรวลผ่านคืออีกด้านหนึ่งของบางนองต่างหาก นั่นคือตรงที่เราเรียกว่าปากคลองดาวคะนองครับ ซึ่งแปลว่าเรือใบขทิงทองล่องมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยาโดยตลอด ไม่เจออะไรเลย รวมทั้งขนอนบางกอกซึ่งควรจะอยู่ใต้ปากคลองบางกอกใหญ่ลงมาเล็กน้อยครับ


กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 25 ก.ย. 07, 00:04
๖๕ ขอมเพรงบังเหตุเต้น       ตัดหวาย   
หวายเท่าแทงตนขอม          ตอกต้อง   
ขอมถือทอดตนตาย            ดด่าว   
เหี้ยมว่าเพรงใดพร้อง           ที่นั้นหวายยัง ฯ   

โคลงบทนี้เป็นบทปริศนา เพราะโผล่มาแบบจับต้นชนปลายไม่ถูก ได้แต่เดาว่าคงมีตำบลชื่ออะไรขอมๆตัดๆหวายๆอยู่แถวนั้น อ.มานิตว่าขอมตัดหวาย แต่ไม่รู้อยู่ไหน ผมก็นึกไม่ออกเหมือนกันครับ

แต่ตำบลถัดไปคือบางผึ้ง ปัจจุบันเรียกบางพึ่งเป็นคลองลัดตรงบางกะเจ้า อันนี้คิดว่าไม่มีอะไรซับซ้อนครับ

๗๑ เยียมาบางผึ้งแผ่           รวงเรียง
ถนัดแผ่นธรณีปาน              แผ่นผึ้ง   
เหิรหวรทรหึงเสียง              ตัวต่าง   
เยียวว่าตัวแตนขึ้ง               ต่อแตน ฯ

จากนี้ไปก็ยาวไปถึงปากพระวาล ออกอ่าวไทยเลยครับ

๘๑ เยียมาปิ้มปิ้มปาก           พระวาล   
พระหากวานวังสินธุ์              คว่างคว้าง   
สมุทรพิศารลิว                   คิวควั่ง แลนา   
แลชรเลลานท้าง                 ทุลาย ฯ

๘๒ ล่วงลึกสุดหยั่งพ้น           คณนา
รลอกเพรียนพรายดู              แพร่งน้ำ
เยียมาเยียสุดตา                 แสนโยชน์   
เรือแล่นผ้ำผ้ำผ้าย                ผ่าวใจ ฯ

น่าสังเกตว่าจากปากน้ำไปถึงอยุธยามีขนอนอยู่แห่งเดียวอยู่เกือบถึงเกาะเมืองโน่นแน่ะครับ


กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 25 ก.ย. 07, 01:16
๖๐ เยียมาแอ้วไส้ย่อน       บางฉนัง
ฉนังบ่มาทันสาย            แสบท้อง   
ขนมทิพย์พงารัง            รจเรข มาแม่   
ยินข่าวไขหม้อน้อง          อิ่มเอง ฯ

บางฉนัง นี้ หมายถึง บางเชือกหนัง หรือเปล่าครับ ? (แขวงบางเชือกหนัง เขตตลิ่งชัน)
ถ้าใช่ คนบัญญัติชื่อ "บางเชืองหนัง" ก็ทำไปได้ ... ดีที่ยังมีหลักเป็นตัวหลังสืออยู่ ไม่อย่างนั้นคงมีตำนาน สมัยก่อนเขตนี้ มีคน "ทำเชือกหนัง" อยู่เยอะ  ;D

คำเขมร "ฉนัง" แปลว่า "หม้อ"  ก็ดูเข้ากำกับวรรคด้านล่างดี ที่กวีท่านเล่นคำ "ยินข่าวไข หม้อ น้อง"

========================================
๖๔ เสียดายหน้าช้อยชื่น    บัวทอง กูนา   
ศรีเกษเกศรสาว             ดอกไม้
มาดลบรรลุนอง             ชลเนตร   
ชลเนตรชู้ช้อยไห้            ร่วงแรง โรยแรง ฯ

อันนี้ ตรงตามลำดับ สถานที่หรือเปล่าครับ ผมก็ไม่แม่นเรื่อง บางต่างๆ แถวนี้เสียด้วย
คือ อ่านตอนแรก คิดว่า เป็น "นอง" คือ หมายถึง น้ำตานอง (นองชลเนตร) และไปนึกถึง "บางบัวทอง" แทน ซึ่งอยู่นนทบุรีโน้น  ;D

คือ ถ้าเป็น "บางนอง" กวีก็ไม่น่าตัดคำว่า "บาง" ทิ้ง เพราะเท่าีที่อ่านผ่านมาคราวๆ เห็นกวีจะคงคำว่า "บาง" ไว้ครบ (หรือมีตัด ???)

แต่ถ้าเป็นสถานที่ตามลำดับการล่องเรือจริง เหตุผลของคุณ CrazyHOrse ก็น่าเชื่ออย่างยิ่งครับว่า "นอง" ตรงกับ "ดาวคะนอง"

==================================
๖๕ ขอมเพรงบังเหตุเต้น       ตัดหวาย   
หวายเท่าแทงตนขอม          ตอกต้อง   
ขอมถือทอดตนตาย            ดด่าว   
เหี้ยมว่าเพรงใดพร้อง          ที่นั้นหวายยัง ฯ

ข้อนี้ ผมเห็นกวีเล่นคำอยู่ สามคำครับคือ ขอม, เพรง, หวาย
จะเป็น "ขอมเพรง" หรือ "บางหวาย" ได้หรือไม่ .... มั่วมานะครับ กลอนพามา อิอิ  :-[

แต่ถ้ากวีบอกตรงๆ แบบไม่ต้องตีความ ผมว่าก็อาจเป็นชื่อ "ขอมเพรง" มั้งครับ แต่ถ้าบอกแบบต้องถอดรหัส "บางหวาย" ก็เข้าทีอยู่

อย่างไรก็ตาม คงต้องเทียบกับชื่อสถานที่ปัจจุบันด้วยอีกทางครับ


กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 25 ก.ย. 07, 10:54
บางฉนังคือบางเชือกหนังครับ ผมรวบรัดไปหน่อย ลืมบอก ขออภัย



นอง นี่ไม่รู้ว่าอะไรนอง แต่ผมคิดว่าชื่อดาวคะนองก็เป็นชื่อใหม่ที่เพี้ยนมาแล้ว และเป็นไปได้สูงว่าดาวคะนองก็คือบางนองหรือบางนางนองนี่แหละ ไม่ว่าจะเป็นตรงวัดบางนางนองอย่างอ.มานิตว่า หรือ เป็นตรงปากคลองดาวคะนอง (ที่ทะลุกัน ความจริงน่าจะเป็นคลองเดียวกัน) ก็ลำดับถูกต้องตามเส้นทางครับ คงไม่ใช่บางบัวทอง ซึ่งอยู่เหนือไปเยอะครับ

เรื่อง บาง เคยมีที่ละไว้หรือไม่ เรื่องนี้ตอบยากจริงๆครับ เพราะไม่รู้ แต่ระหว่างทางที่ผ่านมานี้ มีสองตำบลที่อาจโยงมาถึงชื่อสถานที่ที่ขึ้นด้วยบางในปัจจุบัน คือ ทรนาว (บางตะนาวศรี) และ บำหรุ (บางบำหรุ) แต่ผมไม่กล้าฟันธงว่าเป็นที่เดียวกันครับ จึงไม่กล้ายืนยันด้วยว่าเคยละ บาง ไว้บ้างหรือเปล่า



ความจริงต้องโควต อ.มานิตมาแบบครบๆ อ.มานิตว่า บ้านขอม(ตัดหวาย)
บางหวายก็อาจจะเป็นได้ครับ ปัญหาคือแถวนั้นไม่มีชื่อทำนองนี้เลย น่าจะสูญไปหมดแล้ว


กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 25 ก.ย. 07, 12:30
สถานที่ถัดไป อ.มานิตว่าคือ สํมุก หมายถึง เขาสามมุก แต่ผมงง เพราะหาไม่เจอว่าอยู่ตรงไหนในโคลง ชักสงสัยว่าอ.มานิตใช้ฉบับที่แปลกไปจากที่เคยเห็น ที่เจอใกล้เคียงก็บทนี้

๘๖ มุ่งเห็นอันถ้ำท่ง        ทิวเขา   
เขาโตกอำภิลจอม          แจกฟ้า
สรมุทรเงื่อนเงามุข          เมียงม่าย
ดูดุจมุขเจ้าถ้า               สั่งศรี ฯ

อ่านความก็ยังไม่ชัด แต่บทถัดไปพูดถึงเกาะสีชัง ก็พอจะเข้าเค้าอยู่

๘๗ มุ่งเหนลล่ายน้ำ         ตาตก แม่ฮา   
เกาะสรชังชลธี              โอบอ้อม   
บลักเหนไผ่เรียงรก          เกาะไผ่ พูนแม่   
เขียวสระดือล้ำย้อม         ญอดคราม ฯ

เป็นอันว่าเรือใบขทิงทองออกปากน้ำมุ่งหน้ามาถึงเกาะสีชังเกาะไผ่แล้ว ท่านที่เคยได้ยินว่าพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงพระราชนิพนธ์กำสรวลสมุทรเมื่อคราวเสด็จไปตีทวายอย่างเพิ่งรีบงง การเดินทางโดยเรือใบ เมื่อออกปากน้ำแล้วเขาจะแล่นเลียบชายฝั่งตะวันออกมาจนถึงแถวๆสัตหีบแล้วรับลมตะวันออกเฉียงเหนือแล่นตัดอ่าวไทยข้ามมาครับ

๘๘ ระลึกรสน้องไน่         ในตา พี่แม่   
เอวสมุทรเอียงกาม          กล่อมเหน้า
เยียแลลันลุงมา              บางค่อม
ถนัดค่อมน้อยข้าเจ้า         สั่งจันทน์ ฯ

บางค่อมนี่ก็ไม่รู้ว่าอยู่ไหน แต่น่าจะเป็นปากคลองที่ไหลลงทะเลในอ่าวจอมเทียนหรือไม่ก็แถวสัตหีบ(ไม่แน่ใจว่ามีคลองไหม) เผลอๆอาจเป็นคลองนาจอมเทียนก็เป็นได้ครับ

หลังจากนี้เรือก็แล่นตัดอ่าวไทยข้ามไปคาบสมุทรภาคใต้แล้วครับ


กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 25 ก.ย. 07, 12:46
๙๘ ฝ่ายสยงสุโนกไห้      หานาง   
วว่องเวียนตาศรี          ผ่าวพ้น
มาลุดำบลบาง              นายหญี่
นายหญี่โซรเหล้าต้น        ช่างโซร ฯ

ข้ามอ่าวไทยมา แค่ตำบลแรกก็มึนแล้ว บางนายหญี่ ไม่รู้อยู่ที่ไหน แต่น่าจะแถวๆปราณบุรีลงมาถึงกุยบุรีแถวนี้
คณะอ.ล้อมว่า นายญี่ แปลว่าหลงจู๊โรงเหล้า แต่พจนานุกรมบอกว่าคนโบราณนิยมตั้งชื่อลูกชายคนที่สองว่าญี่ ไม่รู้นายญี่ที่มาชื่อบางนี้เป็นใครนะครับ

๑๐๑ เรือมามาที่ท้าง         สวาโถกน
ครั่นพี่ถึงโถกนไท            แม่เต้า
บเหนยิ่งไฟโรน               รุ่นสวาดิ์
อกพี่ดาลร้อนเร้า             ยิ่งราม ไกรราม ฯ

อ่านตรงนี้ สวาโถกน เป็นชื่อสถานที่แน่ แต่ชื่อนี้ไม่ปรากฏแล้ว ผมสงสัยว่าน่าจะเป็นคลองหว้าโทน ต.คลองวาฬ อ.เมือง ประจวบฯ ร.๔ เคยเสด็จผ่านที่นี่ตอนเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่หว้ากอครับ

๑๐๙ โออกสดวกไส้          เสาโขดง
ลมโบกใบบินเอียง            แล่นผ้ำ   
ขทิงทองรันทดโยง           เลียวแล่ง   
ลมช่วยขวาซ้ายล้ำ            แล่งเรือ ฯ

บทนี้ไม่เกี่ยวกับสถานที่ แต่ระบุชื่อเรือไว้ว่า ขทิงทอง น่าคิดว่า ขทิง หมายถึงกระทิง หรือจะเป็นสทิง, ชรทึง ที่แปลว่าแม่น้ำนะครับ


กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 25 ก.ย. 07, 13:24
๑๒๕ เรียมมาเรือร้อนท่ง         บางสบู
ถนัดดั่งสบูบังใบ                  แม่เร้น
เรียมรักษ์พูดโดยดู               สายสวาดิ์
มาย่อมหลายชู้เหล้น              เพื่อนตน ฯ

บางสบู ไม่รู้อยู่ไหนเช่นกัน ใต้ประจวบลงมามีบางสะพาน บางสะแก แต่ไม่มีบางสบู เป็นไปได้ว่าชื่อกลายไปแล้ว

๑๒๖ กระไดเอาอาตมแก้ว        พรีเพา ไซ้แม่   
เจียรจากบางคลครวญ            ใช่น้อย   
กระใดเงื่อนเงาเดือน              โดยย่าง   
นอนนั่งนางพร้องถ้อย             ดุจเดียว ฯ

๑๒๗ ถนัดแก้วกู้ต่าง              เรือตาม   
แครงย่อมพรายเหลียวหยุด        อยู่ถ้ำ
ลุขนบดุจขนบกาม                 พระพี่ พี่แม่   
เรือเยียมาช้าชู้                     เยิยนาน ฯ

ความเท่าที่ยังเหลืออยู่ระบุชื่อขนบเป็นตำบลสุดท้าย ชื่อนี้ก็หายอีก อ่านจากโคลงไม่น่าจะไกลจากบางคลมาก

ชื่อบางคลนี้ก็ไม่มีแล้ว แต่มีชื่อหนึ่งที่น่าสนใจคือบางคอย เป็นแยกจากแม่น้ำท่าตะเภาที่ไหลไปยังศูนย์กลางเมืองชุมพรที่เป็น ต.ท่าตะเภา เป็นร่องรอยให้เห็นว่าเรือสำเภาเข้ามาจอดถึงที่ตรงนี้ จึงเป็นไปได้ว่าบางคลจะเป็นบางคอย และขนบ อาจจะเป็นเมืองชุมพรนี่แหละ

ชุมพรมีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านของนครศรีธรรมราชมานานมากแล้ว บางตำนานว่าชุมพรมาจาก ชุมพล หรือชุมนุมพล เพราะชุมพรเป็นที่ชุมนุมพลเวลาทำศึก ก็เข้าเค้าอยู่มากครับ หากมาตั้งหลักที่่ชุมพรเพื่อตีทวาย

พอจะสรุปแบบตีขลุมได้ว่าปลายทางเรือใบขทิงทองน่าจะเป็นชุมพรนี่เองครับ

ขอจบดื้อๆลงตรงนี้ครับ


กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 25 ก.ย. 07, 15:14
ล่องเรือจนสุดทาง เพิ่งจะสังเกตเห็นว่าอ้างกวีเป็นพระรามาธิบดีที่ ๒ มาตลอด

ความจริงท่านจันทร์ทรงสันนิษฐานว่าเป็นพระบรมราชาที่ ๓ ครับ เป็นพระเชษฐาของพระรามาธิบดีที่ ๒

เรื่องนี้ผมขอไม่แตะ แต่สรุปจากที่เห็นคือกำสรวลสมุทรน่าจะแต่งขึ้นในช่วงเวลาที่แม่น้ำเจ้าพระยายังไม่ได้ถูกขุดลัดอย่างทุกวันนี้ และน่าจะก่อนยุคพระนารายณ์นานพอที่จะทำให้ตำบลสำคัญเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากครับ


กระทู้: ตามรอยกำสรวลสมุทร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 26 ก.ย. 07, 23:18
กลับไปดูฉบับที่อ.ล้อมชำระ ตรงทรนาวเขียนว่า จากบางทรนาวนาว ในขณะที่ฉบับที่แพร่หลายในเน็ตเป็น จากมาทรนาวนาว

ดูภาพสมุดไทยที่อ.ล้อมยกมาก็เขียน บางทรนาว จริง

สงสัยต้องทำฉบับสมุดไทชุดนี้ขึ้นมาออนไลน์ไว้ให้เทียบกันอีกสักชุด



ขนบ ที่สงสัยว่าจะเป็นชุมพร พจนานุกรม ร.บ.๒๕๔๒ ว่าอย่างนี้
ขนบ    [ขะหฺนบ] น. แบบอย่าง, แผน, ระเบียบ; กลีบ, รอยที่พับ (ของ
   สมุดข่อย หรือผ้าจีบ หรือจีวร เป็นต้น); ชั้น เช่น ขนบหิน.
   (ข. ขฺนบ่ ว่า สิ่งที่อยู่ในห่อ, ที่หมก).


ในแม่น้ำท่าตะเภา เลยบางคอยขึ้นไปก่อนถึงตัวเมือง แม่น้ำคดเคี้ยวเหมือนผ้าจีบจริงๆ แต่คงใช้เป็นข้อสรุปไม่ได้ เพราะแม่น้ำในภาคใต้มักจะคดเคียวอย่างนี้อยู่แล้ว



ผมลองสอบเส้นทางนิราศนรินทร์เพื่อเทียบเส้นทางเดินทัพ แต่พบว่ามีอะไรมั่วๆอยู่พอสมควร อาจจะมีการวางโคลงสลับบทกัน เพราะนายนรินทร์ฯไปถึงอู่ตะเภา (ไม่รู้ที่ไหน แต่น่าสงสัยเหมือนกันว่าจะเป็นที่เดียวกับท่าตะเภา คือชุมพร) แต่หลังจากนั้นกลับพูดถึงเมืองเพชรเฉยเลย ทั้งๆที่ก่อนหน้าไปอู่ตะเภา ได้ผ่านชะอำ ปราณ สามร้อยยอด และบางสะพานไปแล้ว

ลักษณะเดียวกันอาจเป็นกับกำสรวลก็ได้ ดูจากคำนำของคณะอ.ล้อมเก็นว่ามีการพยายามจัดเรียงโคลงใหม่อยู่เหมือนกัน โคลงบทหนึ่งเล่นคำชรอ่ำ คณะอ.ล้อม(และผมด้วย)ผ่านบทนี้ไป ไม่คิดว่าเป็นสถานที่ แต่นายนรินทร์ฯแต่งล้อบทนี้ตอนผ่านชะอำ น่าสงสัยว่ากำสรวลอาจจะผ่านชะอำด้วยก็เป็นได้ครับ

ที่ผมผ่านชรอ่ำไป ไม่คิดว่าชะอำ เพราะบทนี้มาก่อนถึงบทเกาะสระชังเกาะไผ่ครับ สลับลำดับกัน

ถ้าตรงนี้สลับได้ บางบำหรุก็อาจจะอยู่ตรงที่ปัจจุบันได้ ขอสอบโคลงก่อนครับ