เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: นิลกังขา ที่ 25 มี.ค. 06, 10:11



กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 25 มี.ค. 06, 10:11
 ฮิวโก้ คือ คุณจุลจักร จักรพงษ์ ส่วนชื่อเรียกเล่นเห็นเรียกกันทั่วไปว่าฮิวโก้ แต่เจ้าตัวบอกว่าชื่อเล่นจริงๆ ที่ถูกต้องคือ เล็ก ไม่ใช่ฮิวโก้

คุณฮิวโก้เป็นลูกชาย มรว. หญิง นริศรา จักรพงษ์ และดูเหมือนจะเป็นศิลปินด้านร้องเพลงหรือแสดงหนังอะไรนี่แหละอยู่ด้วย (แฟนคุณจุลจักรอย่าโกรธผมเลยที่จำรายละเอียดไม่ได้ ผมเชย ไม่ค่อยมีเวลาดูหนังฟังเพลงเท่าไหร่)

วันนี้เองมีรายงานข่าวใน นสพ. ไทยฉบับหนึ่ง คือมติชน อ้างคำให้สัมภาษณ์ของคุณฮิวโก้ เอ๊ยคุณเล็ก แถวๆ เวทีกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองกลุ่มหนึ่งที่คุณฮิวโก้ไปร่วมกะเขาด้วย ผมจะไม่บอกละครับว่าคุณฮิวโก้ไปร่วมอยู่ฝ่ายไหน เพราะไม่ได้ตั้งใจจะพูดเรื่องนั้น

สะดุดใจตรงที่คุณฮิวโกให้สัมภาษณ์ ขอยกมาเลยนะครับ ว่า "ผมไม่ใช่ราชนิกุล เพราะแม่ผมเป็นหม่อมราชวงศ์หญิง ความเป็นราชนิกูลสิ้นสุดแค่ตัวแม่ผมเท่านั้น"

จริงหรือ?

ผมพยายามจะเข้าใจคุณฮิวโก้ว่า กำลังจะบอกว่าตนเองไม่ได้มีฐานัดรศักดิ์แห่งราชตระกูลแล้ว ซึ่งก็ถูกเพราะคุณฮิวโก้ - (ว้า ลืมไปว่าเจ้าตัวบอกให้เรียกเขาว่าเล็ก ไม่ใช่ฮิวโก้ เอาว่าคุณจุลจักรก็แล้วกัน) เพราะคุณจุลจักรเป็นเพียงนาย ธรรมดา มาตั้งแต่เกิดแล้ว อันนี้ผมไม่เถียง

แต่ยังสงสัยอยู่ที่ว่า ความเป็นราชนิกุลนั้นหมดลงตรงไหน? ในเมื่อบรรพชนฝ่ายมารดาของคุณจุลจักรสืบเชื้อสายมาจากองค์พระมหากษัตริย์ไทยอย่างแน่ชัด ผมลืมไปแล้วว่า ท่านแม่ของคุณเล็กท่านแต่งงานกับใคร คือใครเป็นคุณพ่อของคุณเล็ก แต่คุณเล็กเองก็ยอมรับใช้นามสกุล จักรพงษ์ อยู่ ชื่อตัวของคุณเล็กเองก็เป็นอนุสรณ์ถึงเสด็จตาและสมเด็จทวด กระทั่งชื่อเล่น (จริงๆ) ก็ใช่ด้วย

พจนานุกรมราชบัณฑิตฯ บอกว่า ราชนิกุล แปลว่า "ตระกูลฝ่ายพระมหากษัตริย์" เท่านั้นเอง ผมคิดประสาผมว่า ในเมื่อสืบย้อนขึ้นไป ต้นตระกูลไปเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์รัชกาลใดรัชกาลหนึ่งแล้ว ไม่ว่าจะสืบสายต่อลงไปกี่ชั่วๆ จนลูกหลานกลายเป็นคนธรรมดาไม่ใช่เจ้าไปแล้ว ก็น่าจะยังมีสิทธิที่จะเรียกตัวเองได้อย่างภูมิใจว่า เป็นราชนิกุล อยู่ดี แต่เป็นสามัญชน อันนี้ผมเข้าใจผิดหรือไม่ครับ

เมื่อสงสัย ก็เลยต้องมาขอถามท่านผู้รู้ในที่นี้ครับ


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มี.ค. 06, 10:29
 ตอบตามความเข้าใจแบบชาวบ้านนะคะ    ถ้าแถวนี้มีชาววังผ่านมาอ่าน  กรุณามาแก้ไขด้วย
ดิฉันว่าคุณจุลจักรพูดมาก็มีน้ำหนัก   เพราะโดยทั่วไป เรานับการสืบสกุลทางสายพ่อ  ไม่ใช่แม่
เว้นแต่จะเป็นกรณีพิเศษ ที่นับการสืบสกุลตามแม่   ข้อนี้จะไม่อธิบายต่อเพราะเดี๋ยวแยกซอยไปไกลเลี้ยวกลับไม่เจอ

คุณจุลจักรเธอมีคุณพ่อเป็นชาวอังกฤษ  ชื่อมิสเตอร์อะไรยังไม่ได้ลุกไปเปิดหนังสือดู
รู้แต่ว่าเป็นคนธรรมดา ไม่ได้มีเชื้อสายเจ้านาย
ดังนั้นเมื่อสังคมอังกฤษและสังคมไทยนับการสืบสกุล  และนับคำนำหน้าชื่อ อิงจากทางสายพ่อ  แบบเดียวกัน
คุณจุลจักรเธอก็เป็นสามัญชนเช่นเดียวกับทางพ่อของเธอ   แต่เธอเพียงแต่มาใช้นามสกุลแม่   ฐานะเธอก็ทำนองเดียวกับบุตรบุญธรรมของราชสกุลจักรพงษ์
ความเป็นราชตระกูลก็จบลงแค่ม.ร.ว.นริศรา  ไม่ได้ลงมาถึงคุณจุลจักร

ตอนอ่านลอดลายรั้ววินด์เซอร์ของคุณวิวันดา   จำได้ว่าร้อยเอกมาร์ค ฟิลลิปส์ พระสวามีคนแรกของเจ้าฟ้าหญิงแอนน์
ไม่ยอมรับตำแหน่งฐานันดรใดๆ ทั้งสิ้น  ก็ยังเป็นร้องเอกมาร์ค โดดๆอยู่ยังงั้น
ลูกชายหญิงที่เกิดก็เลยเป็นสามัญชน   ทั้งที่แม่เป็นเจ้าฟ้า
ผิดกับพระโอรสของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ที่แม่คือเลดี้ไดอะน่าก็เป็นสามัญชน  
แต่นับทางพ่อ  เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮรี่ก็เป็นเจ้าชายโดยกำเนิด
ทั้งที่ทั้งเจ้าชาย และลูกชายหญิงของเจ้าฟ้าหญิงแอนน์ ก็เป็นหลานของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ  เท่ากัน  เรียกท่านว่าเป็น grandmother เท่ากัน


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มี.ค. 06, 10:31
ขอแซวหน่อยเถอะ
ถ้ามีเชื้อสายของกษัตริย์ที่เคยปกครองดินแดนใดดินแดนหนึ่ง  ไม่นับว่าทางพ่อหรือแม่ หรือว่ายาวนานเท่าไร  นับเป็นราชตระกูล หรือราชนิกุล
ดิฉันก็ต้องถือว่าคุณนกข. เป็นราชตระกูลหรือราชนิกุลสุลต่านน่ะซิเพคะ


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 25 มี.ค. 06, 10:40
 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ว่า

"การที่นับว่าเป็นราชนิกุล หรือราชินิกุล นั้น แต่ก่อนมาหาได้ถือเอาข้อที่เกิดในวงศ์พระญาติอย่างเดียวไม่ ยังต้องอาศัยฐานะอย่างอื่นประกอบ คือฝ่ายราชนิกุล นับโดยกำเนิดแต่ชั้นที่ทรงศักดิ์เป็น ‘หม่อมราชวงศ์’ และ ‘หม่อมหลวง’ ทว่าต่อจากหม่อมหลวงลงไป ต้องถวายตัวทำราชการ จึงจะนับว่าเป็นราชนิกุล"

ดังนั้น ราชนิกุล โดยกำเนิดจึงหมายถึง หม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวง

ส่วนบรรดาผู้สืบเชื้อสายราชสกุลถัดจากหม่อมหลวงลงมา เป็นบรรดา ณ อยุธยา ทั้งหลาย จะต้องถวายตัวทำราชการเท่านั้นจึงจะได้ชื่อว่าเป็น "ราชนิกุล"

ส่วนคุณฮิวโก้นั้นผมเห็นว่าไม่ใช่ราชนิกุลทั้งโดยกำเนิด หรือแม้ว่าจะทำราชการในอนาคตผมก็ว่ายังไม่เข้าข่ายราชนิกุลอยู่ดีครับ เพราะหากจะถืออย่างโบราณและในกรณีปกติ การสืบราชสกุลต้องมาทางฝ่ายบิดาเป็นหลัก (ตัวอย่างประกอบก็เช่นการรับตราจุลจอมเกล้าสืบตระกูลจะเป็นไปได้ก็เฉพาะฝ่ายชายเท่านั้น)


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 25 มี.ค. 06, 10:44
 ขอบพระคุณครับ เรื่องของคุณเล็ก

แต่อ้า...
เรื่องของผมเอง ไม่นับครับ แหะๆ
ผมเผอิญเป็นคนหนึ่งในคนไทยอีกไม่รู้กี่หมื่นแสนคน ที่เป็นผู้ "สืบสายสกุล" หรือสืบเชื้อสายจากท่านสุลต่านสุไลมานจริงตามข้อเท็จจริงตามประวัติศาสตร์ แต่รัฐอิสระสงขลานั้นไม่มีมานานแล้ว ถูกกลืนหรือถูกปราบเข้าไปในรัฐสยามตั้งแต่ครั้งอยุธยาแล้ว ลูกหลานเหลนโหลนท่านสุลต่านจึงไม่ได้เป็นเจ้านายมาตั้งแต่นานแสนนานก่อนผมเกิด เพราะตั้งแต่ปู่ทวดๆๆ ฯลฯ ของผมก็เป็นสามัญชนแล้ว

กลับมาเรื่องคุณเล็ก ถ้าถือมาตรฐานว่านับทางพ่อ ก็คงเป็นอันว่าตัดข้อสงสัยได้ ผมอาจจะเขวหรืองงนิดหน่อยที่คุณเล็กใช้นามสกุลว่า จักรพงษ์ เลยเบลอไป (เข้าใจว่าเป็นการเลือกใช้นามสกุลตามท่านแม่ ซึ่งก็คงทำได้กระมัง แต่ก็เป็นไปได้ด้วยที่ที่จริงคุณเล็กอาจจะมีนามสกุลตามทะเบียนทางกฏหมายเป็นอย่างอื่น เช่น จักรพงษ์-สมิธ หรืออะไรทำนองนั้น อันนี้ก็เป็นเรื่องส่วนตัวของคุณจุลจักร)


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 25 มี.ค. 06, 10:47
 แต่ยังสงสัยอยู่ว่า ยกเว้นกรณีคุณเล็กแล้ว (เพราะถือว่าหมดแค่ท่านแม่ของคุณเล็ก ทางสายคุณพ่อเป็นฝรั่ง จึงไม่นับ) ผมก็ยังได้ยินที่เรียกกันในเมืองไทยว่า ราชนิกุลสายบางช้าง ราชนิกุลรัชกาลที่ 3 ที่ 4 ที่ 5... โดยนับต่อลงมาทางพ่อ นับลงไปได้เรื่อยๆ รึเปล่าครับ?


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 25 มี.ค. 06, 10:48
 เพิ่งเห็นคำอธิบายของคุณ UP ครับ
ชัดเจนครับ ขอบพระคุณครับ


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 25 มี.ค. 06, 10:52
 ขออนุญาตเรียนคุณนิลกังขาเรื่องการใช้นามราชสกุลตามมารดาสักเล็กน้อยครับ

ผมเข้าใจว่าคุณเล็กใช้นามสกุลว่า "จักรพงษ์" เท่านั้นแหละครับ แต่เป็นจักรพงษ์แบบไม่มี "ณ อยุธยา" เพราะเป็นการใช้นามราชสกุลตามมารดา หรือการขอร่วมใช้นามสกุลที่เป็นราชสกุล จะไม่ต่อท้ายด้วย "ณ อยุธยา" เช่น คลาวเดีย จักรพันธ์ ศีกัญญา ศักดิเดชน์ ภาณุพันธ์


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มี.ค. 06, 10:56
ขอแถมเกร็ดเรื่องสามัญชนที่ใช้นามสกุลฝ่ายมารดาซึ่งอยู่ในราชสกุล
ก็ยังนับเป็นสามัญชน และใช้ราชสกุลโดยไม่มี ณ อยุธยาต่อท้าย

เท่าที่นึกออกคือ
คลาวเดีย จักรพันธุ์
พล ต.ท. เฉลิมเดช  ชมพูนุท
อรุโณชา ภาณุพันธ์
ซาร่า มาลากุล


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 25 มี.ค. 06, 11:20
 "บางช้าง" เป็น "ราชินิกุล" คือสกุลฝ่ายพระราชินี ครับ บรรดาราชินิกุลก็เช่น ณ บางช้าง บุนนาค ศิริสัมพันธ์ สุรคุปต์ สุจริตกุล ซึ่งไม่ใช่ราชนิกุล

สำหรับราชินิกุลนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ทรงอธิบายไว้ทำนองเดียวกัน กล่าวคือ

"ส่วนทางฝ่ายราชินิกุล ก็ถือเอาการถวายตัวทำราชการเป็นสำคัญ ทำนองเดียวกัน ถ้ามิได้อยู่ในฐานะดังกล่าวมา ถึงเกิดเป็นเชื้อสายพระญาติวงศ์ ก็หาได้นับในทางราชการว่าเป็นราชิกุล หรือราชินิกุลไม่"

การนับลงไปเรื่อยๆ ที่คุณนิลกังขาสงสัยในความเห็นที่ ๕ นั้น ผมเห็นว่าน่าจะเรียกว่าบรรดา ณ อยุธยา ทั้งหลายนั้นมีกำเนิดในราชตระกูล หรือเป็นสมาชิกราชสกุลมหาสาขารัชกาลที่ ๑, ๒, ๓, ๔, ๕ จะถูกต้องมากกว่าจะเรียกเป็นราชนิกุลครับ


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: บัวอื่น ที่ 25 มี.ค. 06, 17:26
 ไม่ค่อยอ่านเรื่องเจ้าๆ เท่าไหร่  แต่ถ้าสนใจเรื่องฮิวโก้ แนะนำคุณนิลกังขาลองหนังสือ เกิดวังปารุสก์(ไม่ทราบเขียนถูกรึเปล่า)นะคะ


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: เหลนนางพญา ที่ 25 มี.ค. 06, 19:33
 อ่านแล้วสดุดใจตรงข้อความที่ว่า "ส่วนทางฝ่ายราชินิกุล ก็ถือเอาการถวายตัวทำราชการเป็นสำคัญ"

เลยขอยกมือเรียนถามหน่อยครับว่า

"การถวายตัวทำราชการ" หมายถึงอะไรหรือครับ และในปัจจุบันนี้ยังมีอีกหรือไม่ครับ ถ้ามีต้องผ่านพิธีกรรมอะไรบ้างหรือครับ

หรือว่าการได้ทำงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาท ในหน่วยงานต่างๆ ที่ขึ้นตรงกับพระองค์ท่าน ถือเป็นการถวายตัวรับราชการ

แล้วไม่ทราบว่า ข้าราชการที่รับราชการที่สังกัดกระทรวงต่างๆ อยู่ทั่วประเทศ ถือว่าเป็นการถวายตัวทำราชการหรือเปล่าครับ

ขอบคุณมากครับ


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: เฟื่องแก้ว ที่ 25 มี.ค. 06, 22:18
 เห็นหัวข้อตอนแรก คิดว่าพูดถึงวิคเตอร์ ฮิวโก แหะๆ

ได้ความรู้อีกแล้ว เพราะข้องใจมานานแล้วเรื่องของหลายๆ คน
ที่ไม่ได้เป็นราชนิกุล
แต่ใช้ราชสกุลต่อท้ายโดยไมมี ณ อยุธยา นะค่ะ

ชอบคุณเล็กค่ะ ไม่ได้เป็นแฟนแต่หน้าตาเธอน่ารักดี


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: เฟื่องแก้ว ที่ 25 มี.ค. 06, 22:19
 กรี๊ดดดดดดดด ได้ลูกโป่งสวรรค์แล้ว ดีใจจัง (เพิ่งเห็นค่ะ)


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: ชื่นใจ ที่ 26 มี.ค. 06, 04:08
 มาช่วยคุณเฟื่องแก้วกรี๊ดค่ะ
รับรองได้ว่าลูกโป่งของคุณเฟื่องแก้ว จะลอยสูงลิ่วนำหน้าอิฉันไปในไม่ช้า
ยินดีให้นำไปก่อนเลยนะคะ
ช่วงนี้อิฉันถูกการบ้านทับอยู่ อาการร่อแร่

(ขออภัยนะคะ...คหพ นี้ ไม่ได้มีสาระอะไรเล้ยยยยย...แต่อยากทักทายหนะค่ะ
อย่างน้อยก็ถือว่าส่งเสียงบอกให้ทุกท่านได้รู้ว่า อิฉันแอบฟังอยู่เจ้าค่า   )


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 26 มี.ค. 06, 07:37
 หลักการเรื่องการถวายตัวทำราชการที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้นั้นโบราณถือว่าต้องได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำราชการ

สมัยโบร่ำโบราณก่อนปฏิรูประบบราชการในรัชกาลที่ ๕ นั้น การปฏิบัติราชการก็อยู่ในวงแคบ ส่วนมากจะอยู่ในพระเนตรพระกรรณของพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น การรับราชการก็เท่ากับว่าได้ถวายตัวรับใช้การของพระราชา

พิธีกรรมการถวายตัวที่เคร่งครัดสักหน่อยก็เฉพาะการเป็นข้าราชสำนัก โดยเฉพาะเหล่ามหาดเล็ก (สมัยก่อนการเริ่มรับราชการก็เริ่มด้วยการเป็นข้าราชสำนักหรือการเป็นมหาดเล็กแทบทั้งสิ้น จนอาจจะเรียกได้ว่าข้าราชสำนักกับข้าราชการสมัยก่อนนั้นแยกกันแทบไม่ออก เพราะราชการในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ขึ้นกับราชสำนักเป็นหลัก)

ส่วนพิธีการถวายตัวก็คือการเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายดอกไม้ธูปเทียน (แพ-โบราณเรียกเพียงดอกไม้ธูปเทียน..ไม่ต้อง "แพ") นั่นแหละครับ

สมัยปัจจุบันนี้ จะใช้หลักเกณฑ์ใดมานิยามคำว่า "ทำราชการ" ตามบริบทอย่างโบราณคงยากอยู่ครับ

ท่านใดมีความเห็นอย่างไร ช่วยกันอภิปรายด้วยเถิดครับ


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 26 มี.ค. 06, 07:51
 เรื่องอภิสิทธิ์ของราชนิกุลและราชินิกุลที่รับราชการในปัจจุบันนั้น ผมยังนึกที่เป็นรูปธรรมในยามที่คนเหล่านั้นยังมีชีวิตไม่ออก

จะนึกออกก็เกียรติยศพิเศษเมื่อสิ้นชีวิตไปแล้ว!  

คือเรื่องหีบโกศบรรดาศักดิ์

ตามเกณฑ์ปกติ ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์มงกุฎไทย, ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ หรือทุติยจุลจอมเกล้า นั้น จะได้รับพระราชทาน "โกศโถ" บรรจุศพ

แต่หากเป็นราชนิกุลหรือราชินิกุล จะได้รับพระราชทาน "โกศราชินิกุล" ซึ่งมีเกียรติสูงกว่าแทน

นอกจากนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาซึ่งถึงแก่กรรมขณะดำรงตำแหน่ง ตลอดจนผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก/มงกุฎไทย, จตุตถดิเรกคุณาภรณ์, ตริตาภรณ์ช้างเผือก/มงกุฎไทย, ตติยดิเรกคุณาภรณ์, ตติยจุลจอมเกล้า (สืบตระกูล), ตติยานุจุลจอมเกล้า, และจตุตถจุลจอมเกล้า ตามเกณฑ์ปกติจะได้รับพระราชทาน "หีบก้านแย่ง" บรรจุศพ

แต่หากเป็นราชนิกุลหรือราชินิกุล จะได้รับพระราชทาน "หีบกุดั่น" ซึ่งมีเกียรติสูงกว่าแทน

เกียรติยศพิเศษในปัจจุบันที่พระราชทานแก่ราชนิกุลหรือราชินิกุลผู้รับราชการนอกเหนือจากนี้ ยังนึกไม่ออกครับ


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มี.ค. 06, 08:00
 ขอถามคุณ UP
ญาติของดิฉันเป็นอาจารย์มีลูกศิษย์ลูกหาทั่วเมือง    
เคยเล่าให้ฟังว่าลูกศิษย์หัวกะทิคนหนึ่งได้ "ถวายตัว"เป็น"ข้าหลวงเรือนนอก"
ในสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ
แต่ข้อนี้ไม่เกี่ยวกับอาชีพการงานประจำ

อย่างนี้พอจะเทียบกับถวายตัวรับราชการแบบโบราณได้ไหมคะ
คงต้องถวายดอกไม้ธูปเทียนแบบที่เล่าข้างบนนี้ด้วย?


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 26 มี.ค. 06, 08:44
 เอ..จะเป็นลูกศิษย์คนที่ผมเข้าใจหรือไม่ก็ไม่ทราบ คิดว่าน่าจะเดาได้ถูกคนนะครับ    

ทราบมาว่าการถวายตัวเป็น "ข้าราชบริพารเรือนนอก" ในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ นั้น มีการทูลเกล้าฯ ถวายดอกไม้ธูปเทียนตามประเพณีครับ เมื่อเสด็จออกทรงรับดอกไม้ธูปเทียนแล้วก็จะพระราชทานเข็มอักษรพระนามเป็นเครื่องหมายแห่งพระกรุณา ในลำดับชั้นสูงต่ำสุดแต่แต่พระอัธยาศัยและความเหมาะสม

(จริงๆ ข้าราชบริพารของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ก็ไม่มี "เรือนใน" หรอกครับ เพราะวังรื่นฤดีไม่มีที่พักเฉพาะของข้าราชบริพาร จะมีก็แต่สำหรับพนักงานประจำเช่น สารถี กรมวัง คนสวน พยาบาล คุณพนักงานฝ่ายในจากวังหลวง พนักงานห้องเครื่อง ข้าหลวง--ข้าหลวงในที่นี้หมายถึง "สตรี" ผู้รับใช้ในพระองค์)

สมัยก่อน วังเจ้านายฝ่ายในจะมี "ข้าหลวงเรือนใน" คือสตรีผู้ถวายตัวปฏิบัติงานสนองพระเดชพระคุณซึ่งพำนักประจำอยู่ในวังนั้น กับ "ข้าหลวงเรือนนอก" คือสตรีผู้ถวายตัวปฏิบัติงานสนองพระเดชพระคุณซึ่งพำนักอยู่นอกวัง เหมือนกับว่าบิดามารดาหรือญาติผู้ใหญ่ของสตรีผู้นั้นได้ส่งมาถวายงานเจ้านายหรือเข้าเรียนงานอย่างในราชสำนักแบบไปกลับ หรือมาเป็นครั้งคราวแล้วแต่โอกาสนั่นแหละครับ

เมื่อกาลสมัยเปลี่ยนไป ธรรมเนียมก็คลี่คลายมีวิวัฒนาการไป กิจการบางอย่างก็ต้องพึ่งบุรุษ หรือบ้างก็สุดแต่พระกรุณาของเจ้านายแต่ละวัง จึงทำให้มีการรับบุรุษเข้าเป็นข้าราชบริพารปฏิบัติงานสนองพระเดชพระคุณเป็นครั้งคราวได้

แต่ครั้นจะเรียกบุรุษว่าเป็น "ข้าหลวง" ก็ฟังดูจะเป็นฝ่ายในไปหน่อย และหน้าที่ปฏิบัติก็ไม่ใช่เป็นเชิงรับใช้โดยตรง จะเรียก "มหาดเล็ก" ก็ดูไม่ตรงหน้าที่ หากแต่จะเป็นในลักษณะเฝ้าแหน ตามเสด็จ การประสานงาน จัดกิจกรรมร่วมกับองค์กรในพระอุปถัมภ์ หรืองานบรรณาคม และการจัดการความเรียบร้อยสวยงามต่างๆ ในวัง

อย่างกรณีของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ก็ทรงพระเมตตารับเด็กชายที่เป็นพระญาติบ้าง เป็นบุตรหลานข้าราชบริพารบ้าง ไว้ในพระอุปการะ หรือพระราชทานโอกาสให้ได้ปฏิบัติงานถวายในส่วนที่เหมาะสม

ตั้งแต่สมัยประทับ ณ ประเทศอังกฤษ ได้พระราชทานพระอนุญาตให้บุรุษมาทำหน้าที่เป็นสารถีบ้าง จัดการผลประโยชน์ ธุรกิจการงานส่วนพระองค์บ้าง ฯลฯ แต่จะไม่โปรดให้พำนักประจำถาวรในตำหนัก ถึงมีเหตุจำเป็นจริงๆ ก็จะโปรดให้ประทับแยกจากสัดส่วนที่สตรีพักอย่างเป็นเอกเทศ เพราะยังทรงถือธรรมเนียมฝ่ายในอย่างโบราณ ทำให้คนไทยในอังกฤษทั้งหลายสรรเสริญพระเกียรติคุณของทั้งสองพระองค์เป็นอันมากว่า ทรงดำรงพระชนมชีพอยู่ได้อย่างเจ้านายฝ่ายใน ไม่เคยด่างพร้อยแม้ประทับในต่างประเทศ

แต่งานที่ข้าราชบริพารฝ่ายหน้า (ผู้ชาย) จะปฏิบัตินั้น หากไม่จำเป็นอย่างยิ่งยวด เช่น เพราะเหตุผลทางพระอนามัย หรือเป็นกรณีฉุกเฉินแล้ว ต้องไม่ใช่งานที่จะสามารถจับต้องพระวรกาย หรือเข้าใกล้ชิดพระองค์ของเจ้านายฝ่ายในจนเกินงามเป็นอันขาด ทราบมาว่าธรรมเนียมฝ่ายหน้าฝ่ายในในวังรื่นฤดียังคงมีอยู่เข้มงวดพอสมควร ซึ่งต้องถวายพระเกียรตินี้แด่ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ผู้ทรงวางแนวทางไว้

ส่วนจะเป็นการถวายตัวทำราชการหรือไม่ ผมไม่อาจสรุปได้ หากจะเปรียบ เห็นเข้าทางอย่างแม่พลอยไปถวายตัวแด่เสด็จฯ หรือนายศรถวายตัวแด่สมเด็จวังบูรพา (ต่างก็แต่ไม่ได้นอนอยู่ในวัง) มากกว่ากระมังครับ


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มี.ค. 06, 09:19
 นายศร ชาววังบูรพาเรียกว่า จางวางศร

เคยทราบมาว่า สมัยก่อนโน้นมีจางวาง  คือข้าราชบริพารชาย   แต่ไม่ได้เข้าไปอยู่ใต้ชายคาอย่างนางข้าหลวงสตรี
มีหน้าที่ดูแลงานการต่างๆที่ต้องอาศัยผู้ชายทำ หรือเป็นความถนัดของผู้ชาย   จัดผู้หญิงทำแทนไม่ได้
เช่นออกไปตรวจตราเก็บผลประโยชน์เงินทองค่าเช่า นอกวัง  ตามเสด็จไปในที่ต่างๆนอกวัง     ดูแลความปลอดภัยใครจะเข้าใครจะออก  เวลามีงานในวังเช่นงานทำบุญ ก็ไปนิมนต์พระ  จัดสถานที่ ยกแบกหามจัดข้าวของเครื่องใช้ที่หนักแรง

ถ้างั้นข้าราชบริพารเรือนนอกในปัจจุบัน พอจะเทียบกับ จางวาง ได้ไหมคะ?
สูงขึ้นถึงชั้นหัวหน้าก็เป็นกรมวัง?


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 26 มี.ค. 06, 10:02
 อืมม..พูดยากอยู่ครับ ขออนุญาตวิสัชนาเท่าที่สติปัญญาจะอำนวย ดังนี้

กรมวังปัจจุบันนี้เป็นข้าราชการสังกัดสำนักพระราชวัง ซึ่งหน่วยงานต้นสังกัดส่งมาประจำเจ้านายแต่ละวัง ไม่ได้มีสังกัดขึ้นตรงต่อสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ในขณะที่ข้าราชบริพารเรือนนอกของวังรื่นฤดีนั้นไม่ได้สังกัดอยู่ในระบบราชการ ขึ้นตรงต่อสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ

เรียกได้ว่าคนละสายงานบังคับบัญชา

ฉะนั้น การทำงานร่วมกันจึงเป็นไปอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ปรึกษาหารือกัน ไม่ได้เป็นหัวหน้าหรือลูกน้อง แต่เท่าที่ปรากฏ กรมวังมักจะเกรงใจผู้มีหน้าที่บังคับบัญชาในสำนักผู้บริหารงานในพระองค์ ตลอดจนข้าราชบริพาร และจะนอบน้อมมากต่อข้าราชบริพารที่อยู่มานาน ฉะนั้น กรมวังจะไม่สั่งงานข้าราชบริพาร  

ส่วนข้าราชบริพารก็จะไม่สั่งงานกรมวัง เพราะเขาไม่ใช่ลูกน้องโดยนิตินัย แต่จะเป็นแนวๆ ปรารภงาน ซึ่งก็อาจเท่ากับการขอให้กรมวังทำโดยพฤตินัย แต่จะไม่ทำตามที่ข้าราชบริพารปรารภก็ได้ ไม่ผิดอะไร แต่ก็ไม่ส่งผลดีต่อบรรยากาศ

สรุปว่า ในปัจจุบัน ข้าราชบริพารไม่อาจเทียบได้กับ "จางวาง" เพราะโดยนิตินัยนั้น ข้าราชบริพารอยู่ในสถานภาพที่ไม่อาจชี้ชัดได้ว่าสูงหรือต่ำกว่ากรมวัง

การบริหารงานในพระองค์ (อย่างงานเลขาธิการ) นั้นเป็นลักษณะงานเอกชนขึ้นตรงต่อเจ้านาย ทั้งนี้ ข้าราชบริพารจะฟังการสั่งงาน หรือการขอแรงช่วยงานจากผู้ใหญ่ในส่วนนี้ ไม่ได้ฟังจากกรมวัง

อนึ่ง ผู้บริหารงานในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนั้น มีหน้าที่โดยตรงที่จะรับรับสั่งไปแจ้งแก่บุคคลต่างๆ ตลอดจนแจ้งให้ผู้มีหน้าที่ในสำนักพระราชวังดำเนินการต่างๆ ได้ตามพระประสงค์ กล่าวโดยสรุปคือมีหน้าที่ในระดับการตัดสินใจ และเชิงนโยบาย

จากนั้น

กรมวัง (สังกัดสำนักพระราชวัง) คือพ่อบ้านก็จะปฏิบัติหน้าที่ หรือทำหน้าที่ประสานงานกับสำนักพระราชวัง (ในระดับปฏิบัติ) ตลอดจนทำหน้าที่เชิญของพระราชทาน นำเสด็จ ดูความเรียบร้อยในสถานที่ที่จะเสด็จไป ต้อนรับผู้มาเฝ้า จัดสถานที่และระเบียบการเฝ้า เบิกตัวผู้เฝ้า ฯลฯ ซึ่งเป็นงานอย่าง Chamberlain ไม่ใช่ Secretariat

อนึ่ง ตามความเห็นส่วนตัวของผม ผมเห็นว่าแท้จริงแล้ว คำว่า "ข้าราชบริพาร" ไม่ใช่ตำแหน่งแห่งที่ที่ชัดเจน แต่เป็นคำเรียกรวมๆ ของบริวารในเจ้านาย เมื่อบุคคลได้ถวายตัวเข้าทำหน้าที่ที่ไม่รู้จักเรียกว่าอะไรดี (ข้าหลวงก็ไม่ใช่ มหาดเล็กก็ไม่เชิง พนักงานก็ฟังดูต่ำไป) ก็เรียกว่าเป็นข้าราชสำนักบ้าง เป็นข้าราชบริพารบ้าง ซึ่งไม่สามารถเข้าใจได้ชัดเจนว่าจริงๆ มีหน้าที่อะไร การปฏิบัติก็คงเป็นลักษณะงาน job ไม่ใช่งาน routine

ในขณะที่กรมวังและจางวาง เป็นตำแหน่งที่ชัดเจนแน่นอนในระบบราชการ

ผมจึงจนด้วยเกล้าที่จะเปรียบเทียบครับ เมื่อเล่ามาถึงตอนนี้ก็เริ่มงงๆ เสียเองแล้วครับ


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มี.ค. 06, 10:32
 อ่านทวนไปทวนมาอยู่ ๓ ครั้งก็เริ่มจะเข้าใจ(บ้างเล็กน้อย)
ทำให้นึกได้ว่า อาจารย์ในค.ห. ๑๗ ก็มีญาติคนหนึ่ง ทำงานคล้ายๆกันแบบนี้
คือไม่ได้รับราชการ  ไม่มีตำแหน่งใดๆ แต่ว่าทำงานถวายเป็น job ไม่ใช่ routine แล้วแต่จะโปรดเกล้าฯลงมา และบางครั้งก็ทำถวายขึ้นไป ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

คนที่ทำงานแบบนี้มีหลายสิบคน   มักทำกันเงียบๆไม่เป็นข่าว

ดิฉันก็ยังเรียกไม่ถูกเหมือนกันว่าเป็นอะไร  เคราะห์ดีว่าไม่มีใครเคยถามคำถามนี้  อาจจะเป็นเพราะไม่ค่อยทราบกัน
จะนับเนื่องเป็นข้าราชบริพารได้หรือไม่   น่าจะได้นะคะ


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 26 มี.ค. 06, 10:56
 ถูกเผงทีเดียวครับ

ท่านเหล่านั้นนับว่าเป็นข้าราชบริพารได้แน่ แต่ท่านก็มีงานประจำของท่าน

ตัวอย่างนอกเหนือจากอาจารย์ท่านที่เอ่ยในความเห็นที่ ๑๗ แล้วก็ยังมี เช่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบางท่านก็รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทของเจ้านายบางพระองค์ คอยตามเสด็จ ดูงานเอกสารและหนังสือต่างๆ อยู่ตลอดเวลา แต่แท้จริงแล้ว หน้าที่การงานประจำและตำแหน่งบริหารของท่านประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัย ดั่งนี้เป็นต้น

แม้แต่สมาชิกในเรือนไทยบางท่านในที่นี้ ตามหลักที่เราได้คุยกันมาข้างต้นนี้ ผมก็อาจเรียกได้ว่าท่านเป็นข้าราชบริพารของเจ้านายบางพระองค์ได้เช่นกัน


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มี.ค. 06, 11:39
ค.ห.ท้ายๆนี้ มีการเอ่ยปริศนาตัวบุคคลประหนึ่งว่าเป็นเกมทศกัณฐ์ที่ไม่มีใบหน้ามาโชว์
อาจจะถือเป็นการลับสมองก็ได้ หรือก่อความเวียนหัวให้ผู้อ่านอื่นๆที่แวะเข้ามาอ่านก็ได้
ถ้าใครปวดเศียรเวียนเกล้า มาขอยาได้ฟรีที่นี่ค่ะ

ดิฉันอยากจะเดาว่าผศ. ท่านนั้นมีคำนำหน้าระบุว่าเป็นราชนิกุลอยู่ด้วยนะคะ  คุณ UP
ตอนนี้ท่านไปรับตำแหน่งในบัณฑิตวิทยาลัยแล้ว

ส่วนอาจารย์ลูกศิษย์ลูกหาทั่วเมืองในค.ห. ๑๗ นั้น เป็นข้าราชบริพารแน่นอน
และสมาชิกเรือนไทยบางท่านที่แวะเข้ามาบ่อยๆก็เป็นข้าราชบริพารเหมือนกัน


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 26 มี.ค. 06, 12:36
 ขอเวลานอกท่านทั้งหลาย เล่นเกมทศกัณฐ์กับคุณเทาชมพูอีกแล้ว

..ถ...ผถ....ผิดคร้าบ...

ท่านที่ผมหมายถึงนั้น ไม่ใช่ราชนิกุลท่านที่ไปประจำอยู่บัณฑิตวิทยาลัยครับ

ผมหมายถึงท่านที่ตอนนี้ท่านยังเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประจำอยู่คณะอักษรศาสตร์ สมัยผมเรียน ก็มีโชคดีได้ลงเรียนวิชาเลือกเสรีเกี่ยวกับพุทธศาสนาของท่านด้วย สมัยนั้นท่านยังเป็น อาจารย์ ดร. (ท่านเป็นอาจารย์ ดร.มานานแสนนานเหลือเกิน) และเห็นว่าท่านเพิ่งได้รับตำแหน่งทางวิชาการเป็น "ผู้ช่วยศาสตราจารย์" เมื่อไม่นานมานี้

ขออนุญาตใบ้คำด้วยการแปลนามสกุลท่านจากภาษามคธเป็นภาษามคธว่า "อัสสวิโรฒการ" ครับ


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: เฟื่องแก้ว ที่ 26 มี.ค. 06, 14:26
แปลภาษามคธจากภาษามคธ  
ปริศนาดาราทายครั้งนี้ ขอผ่านค่ะ

เฟื่องก็อ่าน ๆ แล้วก็เสนอหน้าเหมือนกันค่ะ
หวังว่าคงไม่ถือนะคะ แหะๆ

ขอมานั่งฟังเป็นเพื่อนคุณชื่นใจ
เดี๋ยวเดือนหน้าจะข้ามช่องแคบไปช่วยทำการบ้านนะคะ โถ


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: กอประกาญจน์ ที่ 26 มี.ค. 06, 15:00
 ขอมาทายด้วยคนค่ะ ตอบว่าอาจารย์ประพจน์ค่ะ เห็นท่านในโทรทัศน์บ่อยๆ ยังแปลกใจว่าทำไมท่านดูเหมือนอายุเท่าสมัยดิฉันยังเรียนอยู่เลย (ซึ่งผ่านมานานหลายปีแสงแล้วค่ะ)


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 26 มี.ค. 06, 15:25
 จุ๊ๆๆๆ...คุณกอประกาญจน์ ไปออกนามอาจารย์ท่านโจ่งแจ้งอย่างนั้น เดี๋ยวท่านเกิดไม่อยากเผยตัวแล้วผมจะโดนถอนเกรดคืนย้อนหลัง โทษฐานไขข้อมูลให้แพร่หลาย

เอาเป็นว่าผมไม่เฉลยก็แล้วกันว่าผมหมายถึงอาจารย์ท่านใด

จบข่าว


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 26 มี.ค. 06, 16:26
 เออ... เผลอเดาคนเดียวกับ อ.เทาชมพู ด้วยสิครับ
ที่ไหนได้ คุณอัพพูดถึงอีกท่าน แหะๆ


กลับไปหน้าแตกต่อครับ เหอๆ


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มี.ค. 06, 16:49
 ถ้าไม่ได้คุณกอประกาญจน์มาเป็นทีม   ก็ตกรอบไปแล้วค่ะ
ไม่อยากให้บอกนามสกุลจริง  ก็บอกแค่อักษรบางตัวก็ได้
ศ ฬ ห  


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: Karine!! ที่ 26 มี.ค. 06, 18:29

โอ้...สับสน...เห็นอาจารย์เทาชมพูบอกขอยาได้
การีนขอยาล่ะกันนะค่ะ...
อยากเล่นเกมเหมือนกัน....แต่ตอบไม่ได้เลย...
ท่าทางจะเป็นคนนอกวงการแฮะเรา 55+

ได้ความรู้หลายๆเรื่องเลย...ขอบคุณทุกๆท่านนะค่ะ

แต่การีนยังรู้สึกเสมอว่าแค่เพียงมีนามสกุลเป็นราชนิกูล
การีนก็รู้สึกว่าเขาคนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นเจ้าแล้วละค่ะ
ไม่ได้หมายความว่าเขาคนนั้นจะต้องเป็นเจ้าเป็นนายมียศนะค่ะ...แต่แค่เพียงสืบเชื้อสายมาก็รู้สึกแล้วว่า นี่คือคน....
ว้า....การีนบอกไม่ถูกละค่ะ...มันเป็นความรู้สึก
มันเป็นความรู้สึกที่แตกต่าง ต่างไปในทางที่พิเศษกว่าทั่วไปอ่ะค่ะ....
ซึ่งการีนคิดว่า มันเป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจ และก็ไปภูมิใจแทนเขาเสียด้วยอ่ะสิ

 


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 26 มี.ค. 06, 19:12
 ที่จริงผมก็ไม่ได้รู้อะไรเลยครับ แค่ไปค้นวิทยานิพนธ์บ่อยๆหาเรื่องที่ตัวเองสนใจ
เลยพอผ่านตาชื่อผู้ช่วยศาสตราจารย์ท่านที่ผมเข้าใจผิดว่าใช่อยู่บ้างครับ
(แทบจะเรียกได้ว่ารู้จักอยู่ท่านเดียวในคณะอักษรศาสตร์ก็ว่าได้ล่ะครับ)


แต่เข้าใจว่าในเรือนไทย มีสมาชิกหลายคนเป็นลูกศิษย์พี่ชายท่านที่รับเชิญมาสอนวิชาเลือกที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์อยู่นะครับ
(ผมเข้าใจถูกหรือเปล่าครับเนี่ยะ อิอิ)


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 27 มี.ค. 06, 09:34
 คุณบัวอื่นจ๋า
ผมไม่กล้า "สนใจ" คุณฮิวโก้หรอกครับ กลัวสาวๆ แฟนคุณเล็กแกค้อนเอาว่าไปแย่งกรี๊ดดาราหนุ่มๆ หล่อๆ อิอิ

ผมขอกรี๊ดดาราสาวๆ สวยๆ ต่อไปตามเดิมดีกว่าจ้ะ

เกิดวังปารุสก์ กับเจ้าชีวิต พระนิพนธ์ทูลหม่อมตาของคุณเล็ก ผมอ่านแล้วครับ ขอบคุณครับ ขอแนะนำต่อสำหรับท่านผู้สนใจว่า ถ้าอ่านเทียบกับ ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 จะได้รสชาติแปลกๆ ดีครับ


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: Karine!! ที่ 27 มี.ค. 06, 13:21
 "...ถ้าอ่านเทียบกับ ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 จะได้รสชาติแปลกๆ ดีครับ"

โดย: นิลกังขา  [IP: hidden]  

โอ้...จริงๆด้วยค่ะ เห็นด้วยๆ นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การีนคิดว่าการจะเป็นราชนิกูลหรือไม่ ไม่ใช่แค่นามสกุลและสายเลือดที่สืบทอด แต่ต้องเป็นเพราะความรู้สึกแบบคนไทยแท้ ที่เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยแน่ๆ ดังนั้นการที่เราเห็นใครสักคนที่มีนามสกุลสืบทอดจากเจ้านาย ก็ทำให้เรารู้สึกยกย่องแล้ว...ยิ่งทำให้การียรู้สึกสนใจประวัติศาสตร์ชาติไทย และสรใจเรียนสังคมมากขึ้น อิ อิ
นี่ที่เข้าใจเรื่องคุณฮิวโก้ได้...ก็เพราะอาจารย์ที่สอนเล่าเรื่องฮิวโก้ที่เป็นดารา สืบขึ้นไปจนกลายเป็นความรู้ในวิชาสังคม ...
จึงเห็นด้วยอย่างยิ่งถ้าเราอ่านประวัติศาสตร์ เปรียบเทียบกับใครสักคนที่เราสนใจในปัจจุบัน แล้วเราก็จะทำให้เรารับรู้เรื่องนั้นๆได้ดีขึ้น

(งงภาษาตัวเองแฮะ...เข้าใจกันไหมค่ะนี่?)


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: B ที่ 27 มี.ค. 06, 14:11
 เข้าใจว่าคุณหลวงนิลฯท่านหมายถึงการได้มุมมองที่แตกต่างออกไปน่ะค่ะ คุณการีน

คุณการีนยังเรียน ป.ตรี นับว่าเด็กกว่าดิฉันมาก ถือว่าเป็น รุ่นพี่คุยกับรุ่นน้อง เถอะนะคะ

ทำไมแค่การได้เห็นว่าใครสักคน มีนามสกุลที่บอกให้รู้ว่ามีเชื้อมีสาย แล้วคุณต้องยกย่องเขาล่ะคะ? สงสัยจริงๆค่ะ เราไม่ได้ยกย่องหรือนับถือคนที่การกระทำของเขาหรือคะ?


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: Karine!! ที่ 27 มี.ค. 06, 14:47
 ใช่แล้วค่ะ...ยกย่องและนับถือคนที่การกระทำถูกแล้ว
แต่ที่บอกว่าเชื้อสายก็ยกย่อง มิใช่การยกย่องแบบยกย่อง (เออ....อย่างไรเนี้ย อธิบายไม่ถูก)
แต่เป็นความรู้สึกที่ว่าการที่ใครสักคนมีเชื้อสายสืบทอดมาจากเจ้านาย เป็นความรู้สึกที่อ้างอิงไปถึงอดีตอันยิ่งใหญ่ของเขา และยกย่องในจุดนั้น ไม่ใช่ว่ายกย่องในปัจจุบันของเขา
(ว้า...สับสน...บอกอย่างไรดี)

เอาเป็นว่าเรารู้สึกไปสนใจเขาในปัจุจบัน โดยที่เราสนใจสายเลือดเจ้านายของเขา เข้าทำนองเกรงใจ ภูมิใจ ดีใจ ที่เห็นสายเลือดเจ้านายที่สืบทอดมาจนปัจจุบัน

เอ้า....พอเห็นเข้าสืบสายเลือดมาจากเจ้านายในอดีต...ก็เหมือนเห็นความป็นเจ้าเป็นนาย น่าสรรเสริญว่างั้นเถอะ....

เฮ้อ...ออกงงตนเอง...ใครจะเข้าใจหนูไหมนี่
เฮอะๆๆๆ อย่างไรก็ตาม เข้าเรื่องเถอะค่ะ...ดูเหมือนการีนจะพาออกนอกเรื่องไปเสียเอง ขอโทษคะ คนไม่มีความรู้เท่าไหร่อย่างการีน ออกความเห็นมันเลยแปลกๆแบบนี้ล่ะค่ะ
 


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: ศรีปิงเวียง ที่ 27 มี.ค. 06, 16:36
 ผมขอเทียบเรตครับ
ความรุนแรงของเนื้อหา เรียงจากมากไปหาน้อย
สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น>ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖>เกิดวังปารุสก์>เจ้าชีวิต
ป.ล. เกิดวังปารุสก์ มี 3 เล่ม (ตีพิมพ์ครั้งล่าสุด เฉพาะเล่ม 1-2 ไม่ทราบเพราะเหตุใด)
สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น มี 2 เล่ม
และ....ยังนึกไม่ออกว่าจะคุยอะไรดี พี่การีนช่วยคิดหน่อยครับ    


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 มี.ค. 06, 13:21
 สิ่งที่คุณการีนรู้สึก เรียกว่า "ปลื้ม" ได้ไหมคะ
ถ้าเป็นคนรุ่นคุณแม่ดิฉัน  เรียกความรู้สึกนี้ว่า "เห่อ"
(ขอออกตัวไว้ก่อนว่า "เห่อ" ไม่ได้มีความหมายในทางลบ)

คนโบราณนั้นมีอยู่มากที่เข้าใจความรู้สึกแบบคุณการีน  จึงตั้งใจสร้างคุณงามความดี
เพื่อผลดีส่วนหนึ่งได้ตกทอดให้ลูกหลานได้อานิสงส์แห่งความดีของบรรพบุรษด้วย
ผู้คนที่นิยมชมชื่นปู่ย่าตาทวด เมื่อเห็นหลานเหลน ก็มักจะให้เครดิตแก่หลานเหลนโดยอัตโนมัติ
ถ้าหลานเหลนทำตัวได้ดีสมกับคะแนนิยม  ผลดีก็ตกทอดไปถึงลูกหลานเหลนเขาต่อไป ไม่สิ้นสุด
แต่ในทางตรงกันข้าม  ถ้าหลานเหลนพวกนี้ทำตัวไม่สมกับเครดิต  เครดิตก็หมดไปไม่ช้าก็เร็ว
ลูกหลานเขารุ่นต่อๆไปก็หมดอานิสง์ข้อนี้ไปโดยปริยาย


กระทู้: ความเป็นราชนิกุลของฮิวโก้ สิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
เริ่มกระทู้โดย: Karine!! ที่ 28 มี.ค. 06, 14:07
 โอ้...ขอบคุณค่ะ
นั่นล่ะ...คำนั้นที่ข้าพเจ้าต้องการ
เอิ๊กๆๆๆ
ปลื้ม...เห่อ

ถึงน้องศรีเวียงปิง....พี่เป็นพวกด้อยปัญญาทางนี้ ทางประวัติศาสตร์ไทย(เศร้าเน้อ...) ที่มาโผล่ที่เรือนไทยบ่อยๆก็เพื่อหาความรู้ดีเข้าหัวนี่ล่ะค่ะ....ให้พี่เสนอเรื่องที่จะคุย พาลจะล้มเสียเปล่าๆนะค่ะ อิ อิ