เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: สุรัชน์ ที่ 12 ม.ค. 01, 13:01



กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: สุรัชน์ ที่ 12 ม.ค. 01, 13:01
หมายถึงพลูที่จัดไว้เป็นมัดเล็กๆ พร้อมเคี้ยวใช่หรือไม่ครับ
คำกริยาที่ใช้ คือ จีบ ใช่ไหมครับ แล้วลักษณะนามของพล฿ที่จีบแล้วนี่เป็น ชิ้น อัน จีบ หรือว่าอย่างไรครับ
เรียนถามผู้ที่เคยเคี้ยวหมากครับ :-) ต้นฉบับภาษาอังกฤษเขาว่า jeebing the ploos


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ม.ค. 01, 19:44
ป้ายปูนลงบนใบพลูแล้วม้วนเข้าเป็นหลอด เรียกว่าจีบพลูค่ะ   ทำทีละใบไม่ใช่ทีละมัด
เวลากินก็กัดพลูที่ม้วนไว้ ทีละคำ  ไม่ใช่ใส่เข้าปากทีเดียวหมดม้วน
ลักษณะนาม คิดว่าน่าจะเป็น "ใบ" นะคะ
jeebing the ploos เป็นการทับศัพท์มากกว่าจะแปล  เพราะไม่มีคำนี้ในภาษาอังกฤษ
จีบพลู= to roll the betal leaf


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: สุรัชน์ ที่ 02 ม.ค. 01, 21:20
นึกออกแล้วครับ เคยเห็นครับ
เพราะฉะนั้น คำว่า จีบพลู ก็เป็นคำกริยา
to jeeb ก็คือ to roll นั่นเอง
แล้วพลูที่จีบแล้ว คือ หลังจากป้ายปูนลงบนใบพลูแล้วม้วนเข้าเป็นหลอดแล้ว
ใบพลูนั้นยังเรียกว่า ใบพลู อยู่เหมือนเดิม หรือว่ามีชื่อเรียกเป็นอื่นครับ

jeebing the ploos นั้นหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ท่านเขียนไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งของท่านครับ
กำลังเขียนบทความถึงท่านอยู่ครับ ขอถามท่านผู้รู้อีกนิกครับ ท่านเสียเมื่อปีไหนครับ
ผมทราบเพียงว่าท่านเกิดเมื่อพ.ศ. 2446  เอกสารที่ผมมีอยู่คงจะเขียนในขณะที่ท่านยังอยู่
จึงไม่มีข้อมูล คงจะใช้คำผิดแน่เลย หม่อมหลวงเมื่อเสีย ต้องใช้คำใดจึงจะถูดต้องครับ

ขอบคุณครับ


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 03 ม.ค. 01, 07:51
ตอนเด็กมียายข้างบ้านทานหมาก  ก็ชอบไปนั่งดูเค้าน่ะค่ะ  หาได้ยากมากแล้วค่ะ คนที่ทานพลูเนี่ยะ  ไม่แน่ใจว่า เค้าจะมีกรรมวิธีเหมือนกันทุกคนรึเปล่านะคะ

ใบพลูนี่ไม่ทราบภาษาอังกฤษเรียกว่าอะไรนะคะ  แต่หมากนี่คิดว่าเรียกว่า betel nut นะคะ  ต้นและใบหมากก็คล้ายๆมะพร้าวน่ะค่ะ  betel leaf นี่คงไม่ใช่ใบพลูมังคะ

ก่อนเอามาจีบ คุณยายจะตัดขั้วใบออก  และเจียนให้ได้รูป  เวลาจีบจะได้พอดีๆคำ  แล้วป้ายปูน  เอาหมากที่ฝานเป็นแว่นใส่  ดูเหมือนจะมีเครื่องอย่างอื่นด้วยนะคะ  ไม่แน่ใจว่าจะเป็นไม้สีเสียดหรือเปล่า แล้วจีบให้เป็นกรวยค่ะ  ไม่ได้เป็นหลอด  ถ้าทำเป็นหลอดคงจะเรียกว่า ม้วนมากกว่าค่ะ  อย่างม้วนใบยา หรือ roll tobacco น่ะค่ะ  หลังๆพอยายอายุมากขึ้นก็ต้องตะบันหมากแล้ว  แปลกที่ที่ตะบันหมากนี่  เป็นกระบอกทองเหลืองเล็กๆ  ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณเซ็นต์ครึ่ง  และด้ามตะบันก็ปีปลายเหมือนใบไขควงมากกว่า  พอตะบันแหลกแล้ว  คำหมากมันจะอัดตัวกันเหมือนจุกคอร์ก  อ้อ ที่ปลายตะบันดูเหมือนจะมีจุกปิดอยู่  จำไม่ได้ว่าเป็นจุกทำด้วยไม้คอร์กหรือเปล่า  ท่านจะดึงจุกออก  แล้วดันคำหมากออกทางท้ายตะบันใส่ปากได้เลย

ต้นฉบับที่คุณสุรัชน์แปลอยู่นี่เล่าถึงการกินหมากรึเปล่าคะ  ถ้ามีบรรยายละเอียด  อยากรบกวนให้เล่าให้ฟังหน่อยได้มั้ยคะ  พี่ก็จำไม่ค่อยได้แล้วค่ะ  ตอนนั้นยังเด็กมาก  คุณยายนั้นเสียเมื่อตอนพี่ยังอายุไม่ถึงสิบขวบดีเลยค่ะ  ก็นานโขมาแล้ว เหอๆๆ


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: สุรัชน์ ที่ 03 ม.ค. 01, 08:45
ขอบคุณครับ ได้คำมาอีกคำ .เจียน. ที่ไม่ค่อยมีคนใช้แล้ว
ใช่แล้วครับ เคยเห็นเป็นกรวย หลอดของคุณเทาชมพู คงจะหมายถึงกรวยนั่นละครับ
เอ๊ะ หรือว่าเขาทำกันหลายแบบ แล้วแต่ภูมิภาค ... แล้วประเทศไทยไหนเขากินหมากเหมือนเราบ้างครับ

เห็นคนกินหมากอีกครั้ง ก็จากหนังบางระจันครับ

ไม่มีเรื่องการกินหมากหรอกครับ ในหนังสือผมพยายามจับเอาตอนที่เกี่ยวกับความสามารถทางคณิตศาสตร์
ของท่าน มล.ปิ่น มาลากุลครับ  ยกมาให้อ่านกัน ดังนี้ครับ

My First Problem. However, theres is a problem that I do not remember even vaguely.
It was my first problem-a practical problem my mother gave me before I could read or write-very likely before I could count numbers.
Simple division it was. This is what my mother told me years afterwards. One day a person had been jeebing the ploos (จีบพลู) and
left them on the floor of the room in a pile of about 50 or 60. My mother asked me to bring them for her.
"Shall I bring the whole lot, mother?"
"No, I want only half of it."
There I was. How should I do it? Some minutes later my mother followed me into the room to see why it took me so long to
perform the act of bringing the ploos. Quietly she watched me using my two hands picking up one ploo in each hand at a time and
putting them down separately to make two new piles of ploos of equal numbers. In doing so, my first problem was slowly but correctly solved.

จะเห็นว่าท่านไม่ธรรมดาครับ


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ม.ค. 01, 11:52
ตอบคุณพวงร้อย
คำว่า จีบพลู  to roll a betal leaf  ที่แปลไว้  มาจาก Thai-English Dictionary ของGeorge Bradley McFarland M.D.หรือ อำมาตย์เอก พระอาจวิทยาคม ค่ะ
เมื่อคุณพวงร้อยสงสัย  ดิฉันก็เกิดสงสัยขึ้นมาเหมือนกัน  เลยไปค้นว่าคำว่า"พลู" เพิ่มอีกในพจนานุกรมไทยเป็นอังกฤษ ๒ เล่ม คือพจนานุกรมไทย-อังกฤษของสอ เสถบุตร และพจนานุกรมไทย-อังกฤษของดำเนิน การเด่น และเสฐียรพงษ์ วรรณปก
ก็ให้ความหมายตรงกันว่า betal leaf  แต่เล่มหลังให้เพิ่มมาอีกคำว่า betal vine
ในพจานุกรมของแม็คฟาร์แลนด์ เรียกหมากว่า betal fruit  แต่ของอ.ดำเนินและอ.เสฐียรพงษ์ เรียก ๓ อย่างคือ betal palm, areca nut, betal nut
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตฯ  อธิบายว่าหมากอยู่ในวงศ์ Palmae โดยเฉพาะชนิด Areca catechu Linn.ค่ะ

ตอบคุณสุรัชน์
จีบพลู เป็นกรวย ถูกแล้วค่ะ   มานึกคำนี้ออกหลังจากตอบไปแล้วหลายชั่วโมง
กรรมวิธีการเตรียมหมากพลูไว้กิน กับวิธีการกินหมากของไทย  มีขั้นตอนประณีต  ถือเป็นวัฒนธรรมการกินที่สลายไปแล้วอีกอย่างหนึ่งในสังคมไทย
ผู้ที่บรรยายไว้ได้ดีมากคือม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ใน "สี่แผ่นดิน" ค่ะ  ถ้าสนใจลองไปหาอ่านดูในแผ่นดินที่ ๑

พณฯม.ล.ปิ่น มาลากุล ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๘
ท่านเป็นบุคคล "ไม่ธรรมดา" จริงๆละค่ะ
ได้ทุนของกระทรวงธรรมการ(ศึกษาธิการ)ไปเรียนที่อังกฤษ  เข้าเรียนที่Brasenose College , Oxford U. เอกสันสกฤต โทบาลี  จนได้เกียรตินิยม B.A. สาขาภาษาโบราณตะวันออก
ได้เป็นร.ม.ต. ว่าการกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๐๐ ถึง ๒๕๑๒


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ม.ค. 01, 11:53
ชาวต่างชาติที่กินหมาก เท่าที่ทราบก็มีอินเดีย ไม่แน่ใจว่าจีนกินด้วยหรือเปล่า


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: สุรัชน์ ที่ 03 ม.ค. 01, 13:18
ขอบคุณมากครับ

http://triamudom.moe.go.th/min/as/pin.html

พบเรื่องของท่านที่นี่ครับ ผู้สนใจอ่านเพิ่มเติมได้


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: อ้อยขวั้น ที่ 03 ม.ค. 01, 13:55
เคยได้อ่านและได้ชมทางทีวีว่าไต้หวันนิยมเคี้ยวหมากกันอยู่นะคะ  มีสาวๆ หน้าตาดี  แต่งตัวจ๊าบๆ นั่งขายให้ลูกค้าที่มาจอดรถซื้อ  ทำนองว่าเป็นของขบเคี้ยวแทนบุหรี่


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ม.ค. 01, 19:26
เคยอ่านพบใน "ถกเขมร" ว่าคนเขมรกินหมากแบบเคี้ยวแล้วอมน้ำหมากไว้  จนชานจืด เวลาออกเสียงบางคำ อย่าง ศรี  ก็ต้องห่อปากไม่ให้น้ำหมากกระจาย
ผิดกับคนไทยที่กินหมากไปบ้วนน้ำหมากลงกระโถนไป ก็เลยออกเสียงได้น้ำหมากไม่เลอะเทอะ
พยายามนึกว่าชาวไต้หวันกินหมากแบบไหนค่ะ จึงจะสอดคล้องกับวิธีออกเสียงของเขา


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: สุรัชน์ ที่ 03 ม.ค. 01, 19:58
สงสัยเหมือนกันครับว่ามันมีสารเสพติดตัวไหนอยู่ครับ มีโทษต่อร่างกายอย่างบุหรี่ไหมครับ
สงสัยจะผิดห้องอีกแล้วละครับ ใครมีรูป เอามาลงให้ชมหน่อยนะครับ


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ม.ค. 01, 21:12
เคยอ่านพบจากบันทึกของฝรั่ง ที่เข้ามาในประเทศไทย แต่เป็นใครลืมชื่อไปแล้ว
บอกว่าหมาก มีสารอย่างหนึ่งลักษณะคล้ายสารเสพย์ติดอ่อนๆ  เมื่อเคี้ยวเข้าไปแล้ว จะกล่อมอารมณ์ให้เพลิดเพลิน อารมณ์ดี   รสชาติของหมากจึงทำให้คนกินหมาก ติดหมาก  ไม่ได้กินก็หาวเรอน้ำหูน้ำตาไหลแทบทนไม่ได้
แต่ไม่พบว่ามีผลเสียหายต่อสุขภาพอย่างยาเสพย์ติด อย่างบุหรี่
อ้อ มีกรณีที่แพทย์พบเหมือนกันค่ะว่าทำให้เกิดมะเร็งในช่องปากได้  จากการที่หมากหรือปูนก็ไม่ทราบ กัดปากซ้ำซากจนเป็นแผลและเนื้อร้าย
แต่ก็ไม่ใช่เป็นกันเกือบทุกคนอย่างคนติดบุหรี่ ที่จะต้องเจอถุงลมปอดพอง หรือมะเร็งปอด ไม่ช้าก็เร็ว
ทั้งหมดนี้ตอบแบบคนภายนอก ใครเรียนสายวิทย์ เรียนเรื่องนี้มาบ้างช่วยชี้แจงด้วยค่ะ


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 03 ม.ค. 01, 23:17
คนจีนบางภูมิภาคกินหมากครับ เช่นที่ไต้หวันดังที่กล่าวมาแล้ว (ผมมีความรู้สึกว่าอาจจะเป็นพวกชาวเกาะไต้หวัน คือคนเผ่าพื้นถิ่นของไต้หวันเอง อาจจะไม่ใช่คนจีนที่อพยพไปจากแผ่นดินใหญ่จีน)
คนจีนเรียกหมากว่า ปินหนัง เสียงวรรณยุกต์อาจจะไม่แม่นครับแต่ทำนองนี้แหละ เป็นไปได้ว่าจีนอาจจะรับคำนี้ไปจากภาษามลายู หรือไม่มลายูก็รับไปจากจีนเพราะ 2 ภาษานี้เรียกหมากคล้ายๆ กัน แต่ผมค่อนข้างเชื่อว่าคนจีน แต่เดิมมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนจีนทางจีนเหนือ ไม่กินหมากและไม่รู้จักต้นหมาก ต่อเมื่อล่องเรือมาทางใต้ (ใต้ของจีน) แล้วจึงรู้จักต้นหมากที่ขึ้นอยู่แถวบ้านเรานี้ ดังนั้น คำว่าปินหนังน่าจะเป็นคำที่จีนได้ไปจากมาเลย์
ภาษามลายูเรียกหมากว่าอะไรผมไม่แน่ใจนัก รู้แต่ว่า เกาะปีนัง ในมาเลเซีย แปลว่า เกาะหมาก และแต่ก่อนนี้คนไทยเก่าๆ ท่านก็เรียกปีนังว่า เกาะหมาก เกาะพลูจะมีคู่กับเกาะหมากไหม และถ้ามีอยู่ไหน ผมก็ไม่ทราบ มีบางกระแสว่า "เกาะพลู" คือภูเก็ต ?


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 04 ม.ค. 01, 01:23
โลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน ภาษาก็เปลี่ยน คำกริยา จีบพลู เจียนพลู กลายเป็นเรื่องที่ต้องมาโพสต์ถามกันแล้ว
ถามเล่นๆ ลองภูมิอีกคำครับ คำนี้ผมได้มาจากคุณยาย (เสียไปแล้ว) สมัยรุ่นคุณแม่ผมก็ยังพูดกันอยู่ คำว่า เกรียก แปลว่าอะไรครับ และใช้กริยานี้กับอะไร
สมัยนี้มีเตาแก๊สเตาไฟฟ้า คำนี้เลยหายไปเสียแล้ว


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 04 ม.ค. 01, 02:48
ที่กินหมากนี่  มีคนลาว โดยเฉพาะทางอีสาน และลาวภาคใต้ คนมอญ  คนพม่าเข้าใจว่าคงจะทานด้วยมังคะ  เคยไปที่เจดีย์ชะเวดากอง  มีร้านของของเก่ารอบๆเจดีย์  จำได้ว่าเห็นเชียนหมากเก่าๆด้วย  แต่คนพม่าคงสูบยา(สูบ) มากด้วย  เพราะคนไทยใหญ่ มักจะสูบยามากกว่าทั้งผู้หญิงผู้ชาย  และยังมีอมเมี่ยงอีก  คนเมืองกับคนลาวทางเหนือ และคนพม่าทางเหนือแถวนั้น  ก็เลยสูบยา อมเมี่ยงกันมังคะ  ส่วนพม่าทางใต้ใกล้คนมอญ  ก็คงเคี้ยวหมากเหมือนกัน

คุณยายที่ว่าจะซื้อหมากมาทีละเครือ(ไม่ทราบเค้าเรียกเครือรึเปล่านะคะ)  เป็นหมากสดเปลือกยังเขียวอยู่  แล้วฝานปอกเอาเมล็ดออก  ส่วนเปลือกนั้นดิฉันชอบเอามาเล่นหม้อข้าวหม้อแกง  สมมติว่าเป็นกะลามะพร้าว  คิดว่าต้นหมากนี่  คนละต้นกับต้นพลูเลยค่ะ  ไม่ใช่ต้นเดียวกัน    แต่ฝรั่งสมัยก่อนไม่รู้ก็เรียกเป็นคำเดียวกันว่า betel ไปเลย  ในดิคฯของเว็บสเต้อร์ให้คำจำกัดความไว้ว่า

betel  fr. Tamil verrilai(1553)  : a climbing pepper (Piper betel) whose leaves are chewed together with betel nut  and mineral lime as a stimulant masticatory esp. by southeastern Asians.

betel nut (fr. its being chewed with the betel leaves)(1681)  the astringent seed of the betel palm

betel palm n (1875)  an Asian pinnate-leaved palm (Areca catechu)  that has an orange-colored drupe with an outer fibrous husk.

จะเห็นว่า  คำว่า betel ที่ใช้คำเดียวกัน ใน betel leaves กับที่ใช้ใน betel palm หรือ nut  ทำให้สับสน  ทั้งๆที่เป็นคนละต้นกัน  ต้นหมากนี่ดิฉันเคยเห็นค่ะ  เหมือนต้นมะพร้าว  เป็นปาล์มแน่ๆเลย  ส่วนพลูเคยได้ยินว่าเป็นไม้เลื้อย  แต่ไม่เคยเห็นต้นค่ะ

คำว่า เกรียก ของคุณ นกข.  นี่คลับคล้ายคลับคลา  มาจากเตาถ่านส่วนที่เป็นตะแกรงรองถ่านที่มีรูให้ขี้เถ้าตกไปข้างล่างรึเปล่าคะ  ไม่ค่อยแน่ใจเหมือนกันค่ะ  ตอนเด็กๆนี่ดิฉันมีหน้าที่ติดไฟเตาถ่านหุงข้าว  แล้วพี่สาวเป็นคนทำกับข้าว  เค้าโตกว่าหลายปีก็เลยเหมือนกับเป็นแม่อีกคนน่ะค่ะ หึหึ


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: อ้อยขวั้น ที่ 04 ม.ค. 01, 09:13
คล้ายๆ กับจะเคยอ่านเจอว่า  คำเต็มๆ คือเกรียกฟืน  ใช่ไหมคะ  ถ้าใช่ก็น่าจะเป็นการผ่าฟืนดุ้นใหญ่ๆ ให้เป็นชิ้นเล็กๆ พอวางในเตาหรือสามเส้าได้  มั้ง!

ส่วนต้นพลูที่กินกับหมากนี่เคยเห็น  หน้าตาน่าจะเป็นไม้เลื้อยตระกูลเดียวกับต้นพริกไทย  ใบก็คล้ายกันแต่ทรงใบออกจะเรียวกว่า

ต้นหมากเป็นไม้ตระกูลปาล์ม  น่าจะเรียกว่า  ทะลาย นะคะ


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: แจ้ง ใบตอง ที่ 04 ม.ค. 01, 13:06
ตะแกรงในเตาเตาถ่าน เรียกว่ารังผึ้งครับ ทำด้วยดินเผา (เตาก็เป็นดินเผาเหมือนกันแต่เอาสังกะสีหุ้มไว้ภายนอก บางเตามีหูหิ้วด้วย) รังผึ้งจะแตกง่าย ร้านขายเตาจึงมักมีรังผึ้งไว้ขายเป็นอะไหล่ด้วย
คำว่าเกรียก ผมกลับบ้านเมื่อตอนปีใหม่ก็ยังได้ยินแม่พูดอยู่  ลอง
เปิดพจนานุกรมฉบับออนไลน์แล้ว "เกรียก" เป็นคำกริยา หมายความว่า เอามีดสับ ผ่า หรือจักชิ้นไม้ให้ฉีกออกไปตามเนื้อไม้ เพื่อให้เป็นซีกเป็นเสี้ยวน้อยๆ เช่น เกรียกฟืน


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 04 ม.ค. 01, 13:31
ขอบคุณคุณอ้อยขวั้นและคุณแจ้งมากค่ะ  ใช่แล้วค่ะ ทะลายหมาก  ทะลายมะพร้าว

สมัยเด็กดิฉันทำอยู่ประจำเลยค่ะ เกรียกฟืน เนี่ยะ  แต่จำไม่ได้ว่าเรียกอะไร  แต่ว่างๆก็ต้องไปสับไม้ฟ้นเป็นชิ้นเล็กๆแบบนี้ใส่ลังใหญ่ไว้  เวลาก่อไฟเรียงถ่ารอบนอก  แล้วจุดขี้ไต้ไว้่ตรงกลาง  แล้วใช้เกรียกฟืนสุม  แล้วค่อยเอาถ่านโรยทับข้างบนอีกที  กว่าจะมีเตาแก๊สใช้ก็เกือบเป็นสาวแล้วค่ะ


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ม.ค. 01, 14:15
อ่านเรื่องพลูได้ที่นี่ค่ะ

http://www.ittm.or.th/herbals/hrbal02-2.htm

หน้าตาเป็นยังงี้ค่ะ


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ม.ค. 01, 14:25
ใน สี่แผ่นดิน  กล่าวถึงพลอยตอนมีความรักครั้งแรกกับพี่เนื่อง   ส่งหมากพลูไปให้ฝ่ายชาย  
ในนี้มีศัพท์หลายคำ ที่สูญไปจากวัฒนธรรมไทยหมดแล้ว
ใครยังจำได้ถึงคุณย่าคุณยาย    หรือพอทราบว่าของพวกนี้เป็นยังไง ช่วยอธิบายด้วยเถอะค่ะ
ทางบ้านดิฉัน ผู้ใหญ่ไม่กินหมาก  เลยนึกไม่ออกค่ะ

"พลอยเย็บซองใส่หมากพลูอย่างประณีตบรรจง จนแทบจะสุดสิ้นฝีมือ   เจียนหมากชนิดเปลือกเป็นฝอย จีบพลูยาวใช้ปูนใส่ใบเนียมอบหอมกรุ่น และยาฝอยอบแล้วเช่นเดียวกัน   รุ่งเช้า ก็เอาหมากพลูและยาฝอยที่เตรียมไว้ใส่ซอง  เอาผ้าเช็ดปากใหม่ที่อบควันเทียน และดอกไม้ไว้เหน็บซองพร้อมกับดอกจำปาอีกสามดอก  แล้วก็แอบเอาส่งให้ช้อยในตอนเช้าโดยไม่ยอมพูดจาว่ากระไร"


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: สุรัชน์ ที่ 04 ม.ค. 01, 20:43
ที่อยากเห็นรูปคือตอนที่ทำเป็นกรวยแล้วครับ เออ...ถามต่ออีกนิด ทาปูนด้านไหนครับ ด้านไม่มันใช่ไหมครับ


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: ชานเรือน ที่ 04 ม.ค. 01, 21:51
ดิฉันเคยตำหมากให้คุณยายตอนเด็ก
 แต่ก็จจำได้ลางเลือนเต็มที
เพราะคุณยายแก่เลยไม่ได้กินหมากด้วยการจีบพลูแบบทั่วไป
พอจำได้ว่าเวลาทำบุญบ้าน จะต้องมีจัดพานหมากพลูให้พระผู้ใหญ่
ลักษณะคล้ายที่บรรยายในสี่แผ่นดินค่ะ
ที่เจียนหมากเป็นฝอย ต้องเป็นหมากสดค่ะ
 ถ้าจำไม่ผิด เป็นพราะตกแต่งเปลือกหมากส่วนที่สีเขียวให้เป็นฝอย เพื่อความสวยงาม
 ส่วนที่กินคือส่วนเนื้อในสีแดงค่ะ
 ถ้าเป็นหมากแห้งจะซอยเนื้อส่วนที่แดงให้บางๆ  ตากแดดให้แห้งค่ะ


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 05 ม.ค. 01, 03:33
มาแล้วค่ะ  ขออภัยที่มาตอบช้า  มัวแต่เบี้ยวต้นฉบับไปเล่นย่ี่เกเสียเพลิน  จนทนไม่ไหว  เกรงใจคุณจ้อบอกอใจดีแย่แล้ว  
เลยต้องป่ันต้นฉบับกุดๆให้เสร็จ  แล้วแว่บกลับมาเนี่ยะค่ะ

ว่ากันจากความทรงจำแสนลางเลือนนะคะ  ผิดถูกยังไงไม่แน่ใจ หึหึ  อนิจจัง วัฏสังขารา

ปกติแล้วคนทานหมากที่ไม่มีสาวๆหรือบ่าวไพร่เตรียมให้  ก็ห่อกินทีละคำ  ไม่ต้องมีพิธีรีตรองอะไรมากหรอกค่ะ  หยิบใบพลูป้ายหมาก (เห็นคุณยายป้่ายด้านล่างใบค่ะ คุณสุรัชน์  ไม่ใช่ด้านมัน)  เฉือนหมากสดใส่ แต่ส่วนมากจะใช้หมากแห้งที่หั่นตากเป็นแว่น  เพราะเค้าซื้อเป็นทะลาย  ทิ้งไว้นานไม่ได้มันจะเสีย  ก็ฝานตากแห้งเป็นแว่น  หมากสดนี่เป็นของพิเศษค่ะ  นานๆได้ทานทีนึง  คุณยายใส่เปลือกไม้สีเสียดด้วย  หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ  แล้วก็ห่อเหมือนเมี่ยงคำใส่ปากเคี้ยว  เคี้ยวไปก็คว้ากระป๋องที่ใช้เป็นกระโถน  บ้วนนำ้หมากปรี๊ดๆใส่   ไม่ต้องจีบพลู เจียนหมากกันให้ลำบาก  พอเคี้ยวหมากได้ที่แล้ว  ก็ปั้นยาสูบเป็นก้อนขนาดหัวแม่มือ  อมตามไปด้วย  ท่านว่ามันแก้หมาก "ยัน"  (เดี๋ยวจะเล่าเรื่องหมากยันนะคะ)  พอก้อนยาสูบอมนำ้ลายชุ่มฉำ่ดีแล้ว  ท่านก็เอามาถูฟันสองสามที  พอให้เนียนขี้ฟันดีแล้ว  ก็เอามาจุกไว้ระหว่างริมฝีปากกับฟันบน  ท่่านชอบเหน็บก้อนยาไว้ข้างซ้ายนะคะ  ไม่ทราบว่าต้องเป็นซ้ายตลอดหรือเปล่า  อย่างบทชมโฉมนางประแดะ (ไม่แน่ใจว่าใช่หรือเปล่า)  ที่ว่า "เสวยสลายาจุกพระโอษฐ์อม" น่ะค่ะ

อย่างที่ว่าหมากเป็นยากระตุ้นอย่างหนึ่ง  แล้วมันมีรสเผ็ดด้วยค่ะ  ดิฉันเคยลองเคี้ยวครั้งหนึ่ง  จำได้ไม่ลืมเลยว่า  รู้สึกเหมือนมีเข็มเป็นร้อยๆเล่มทิ่มแทงล้ินจนคายแทบไม่ทัน  คุณยายก็หัวเราะนำ้หมากกระเซ็นว่า  นั่นแหละ หมากมัน "ยัน" เอา  จริงเท็จอย่างไรไม่แจ้ง  แต่คิดว่า  คนที่ทนเคี้ยวไปครั้งแรกๆ  คงจะเมามังคะ  แล้วยาสูบมันคงทำให้รสชาติกลมกล่อมขึ้น

แต่เวลาจะไปใส่บาตรถวายพระ  ก็จะจัดพานหมากพลูทำกันสวยเลยค่ะ  คุณยายเป็นมอญจากโพธาราม  มาแต่งกะซินแสช่างทองข้างบ้าน (ดิฉันก็รู้เรื่องทำทองมาหมด  เกือบได้ไปเป็นลูกตะใภ้นายห้างขายทองซะแล้ว  วันหลังจะมาเล่าให้ฟังค่ะ)   โพธารามสมัยก่อนเป็นบ้านป่าเมืองนาค่ะ  เจ้านายไปกันไม่ค่อยจะถึง  ชาวบ้านคนมอญทั้งนั้น  ก็ยังรักษาประเพณีเดิมเหนียวแน่น  สมัยเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย  ท่านตามไปฟันต้นพลูไม่ถึง  เพราะมันบ้านนอกเหลือเกิน  เลยยังมีคนหลงเหลือเคี้ยวหมากกันอยู่

อ้าว เฉไปคุยเรื่องทั่นผู้นำแล้วเพลิน  ไปได้หนังสือมาหลายเล่มเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุคนั้นน่ะค่ะ  กลับมาคุยเรื่องเจียนหมาก จีบพลูก่อนดีกว่า

เพราะว่าคนทานหมากใส่ "เครื่อง" ไม่เหมือนกัน  แล้วเครื่องอย่างอื่นมีอะไรบ้างก็จำไม่ได้แล้วค่ะ  ไม่ทราบคุณเทาฯมีข้อมูลมั้ยคะ  เผื่อจะเตือนความจำ  และหมากสดนี่  เค้าไม่หั่นไว้ก่อน  ว่ายางมันจะออกมาทำให้เสียรส  จะหั่นก็เฉพาะจะจับเข้าปากเท่านั้น  เวลาปอกหมากนี่  ที่เรียกว่า "เจียน" หมาก  ก็เพราะ  ลูกหมากสด  มันคล้ายลูกมะพร้าวขนาดจิ๋ว  ขนาดทั้งเปลือกเส้นผ่าศูนย์กลางสัก  1 1/2 - 2 นิ้วได้  แต่เปลือกมันจะหนาประมาณ ครึ่ง ซม ผิวนอกมันๆสีเขียว  ข้างในเข้าไปหน่อยมันเป็น fibrous ไม่เป็นเส้นหยาบขนาดเปลือกมะพร้าวนะคะ  เนื้อมันจะแน่นกว่า  แล้วก็ชั้นในเป็นเนื้อเยื่อเหนียวๆ  แต่บางมากกว่า 1 มม เสียอีก  เค้าไม่บาดลูกหมาก  คือไม่ให้ลูกหมากถูกคมมีด  เพื่อไม่ให้ยางมันออก  เวลาจะ "เจียน" หมาก  จะใช้มีดคมๆ  ฝานผิวตรง equator ของมันให้ใกล้ลูกหมาก  จนเหลือเนื้อเยื่อบางๆ  แล้วจึงหันคมมีดกรีดลงบนเนื้อเยื่อด้วยความชำนาญ  กะให้ขาดตรงที่ติดกับลูกหมากพอดี  แต่จะไม่ตัดเข้าเนื้อหมาก  ทำไม่เป็นตัดเข้าแล้วหมากจะเสีย  กินสดไม่ได้  ต้องเอาไปฝานตากแห้งเป็นหมากแห้งไป  ตากแห้งแล้วยางมันก็เหือด  ไม่เหลือไว้ฝาดปาก  จึงตัดได้ไม่เป็นไร  แต่หมากสด  พอผ่าเปลือกออกครึ่งแล้ว  ก็แกะเปลือกออกขึ้นหนึ่ง  เหลือเนื้อหมากนั่งอยู่ในเปลือกครึ่งซีก  เหมือนปอกมังคุดน่ะค่ะ  ตรงนี้แหละที่เค้าจะตกแต่ง สลักเสลาเปลือกหมากอย่างไรก็ตามแต่ความถนัด  ฝีมือที่แม่พลอยว่า  คือฝีมือที่เจียนได้สนิท  เนื้อหมากไม่ถูกคมมีดน่ะค่ะ  วางจัดเรียงไว้ในช่องหนึ่งของเชี่ยนหมาก  อีกข้างก็เรียงพลูที่จีบใส่ซองไว้แล้ว  

เห็นว่าเค้าจะไม่แตะต้องลูกหมาก  การ "ผ่าหมาก"  เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำค่ะ  ไม่ว่าจะเป็นหมากลูกหรือหมากคน คิกๆๆ

เรื่องของพลูนี่  ที่จีบให้เป็นกรวยนี่  เพื่อให้คนทานใส่เครื่องจากเชี่ยนหมากตามใจชอบน่ะค่ะ  จึงทำเป็นกรวย  แล้วใส่ซองที่ทำด้วยใบตองกลัดด้วยไม้กลัดทางมะพร้าว  เพื่อไม่ให้กรวยพลูคลายตัว  เหมือนไอสกรีมโคนน่ะค่ะ  แต่จะแบนลง  ไม่เป็นกรวยกลมอย่างไอสกรีมโคน   ที่เค้าเจียนพลูก็เพื่อให้ด้านบนของมันเสมอเป็นขอบตรงเวลาจีบเป็นกรวยแล้ว  เค้าเอาพลูเจียน ป้ายปูน ทำเป็นกรวย แล้วเสียบเข้าซอง วางเรียงไว้  พอพร้อมจะทาน ก็เอากรวย มาใส่หมากใส่เครื่อง แล้วห่อเป็นคำเหมือนเมี่ยงใส่เข้าปากเลย

ยาฝอยก็คือยาสูปหั่นฝอยน่ะค่ะ  ดิฉันเคยหั่นใบยาสูบสใัยไปออกชนบท  ไปลองสูบยากะพ่อใหญ่ พ่อตู้ น่ะค่ะ(ด้วยความซุกซน)  ใบยาสูบตากลมกำลังดี จะเหนียว ไม่แห้ง  เวลาซอยต้องซอยด้วยมีดคม  ต้องชำนาญจึงจะซอยให้ฝอยมากๆได้  ถ้าหยาบแล้วมันจะติดดับ ติดดับ เวลาสูบแล้วหงุดหงิดค่ะ   และหากเอายาที่หั่นไม่ฝอยมาอม มันบ่ม่วนปากน่ะค่ะ  ใบเนียมนี่ดิฉันไม่ทราบว่าเป็นอะไร  แต่เข้าใจว่า  ทำให้มันลดความแรงของกลิ่นยาสูบลงไปหน่อย

ซองใส่จำปาก็ทำด้วยใบตองแบบเดียวกับซองพลูเลยค่ะ  เอาใบตองมาเจียนแล้วจีบเป็นกรวย  กลัดด้วยไม้กลัดทางมะพร้าว  ทางมะพร้าวที่กลัด  มันจะบังคับให้กรวยแบนลงได้เองค่ะ  ไม่เหลือเป็นกรวยกลม  แล้วเสียบดอกจำปาได้สี่ห้าดอก  บ้านคุณยายที่บ้านนอกมีต้นจำปาเยอะ  เวลาลูกหลานมาเยี่ยม  เค้าจะเอาดอกจำปามาฝาก  คุณยายชอบเอามาใส่ประดับเชี่ยนหมากค่ะ

เอ ไม่ทราบยังขาดตกหล่นตรงไหนอีก  ยังไงก็ถามมาใหม่ก็แล้วกันนะคะ


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: โสกัน ที่ 05 ม.ค. 01, 08:38
หลายปีเต็มทีมาแล้ว โสกันนั่งหลับๆตื่นๆ บนรถไฟสายอุบลหัวลำโพงและลดกระจกหน้าลงรับลมแรงที่สะบัดเข้ามา  ก็สะดุ้งตกใจเพราะมีรู้สึกมีของเหลวอุ่นๆปะทะเต็มหน้า เอามือปาดออกก็ยิ่งตกใจยิ่งขึ้น เพราะมีอะไรไม่รู้สีแดงฉานเลอะเต็มมือ  โผล่หน้าออกไปนอกหน้าต่าง จึงหายตกใจ เพราะเห็นว่าที่แถวที่นั่งถัดไป มีคุณยายคนหนึ่งเคี้ยวหมากหยับๆ และบ้วนน้ำหมากออกออกหน้าต่าง...


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 05 ม.ค. 01, 09:11
ฮ่าๆๆ  ฟังคุณโสกันแล้วนึกขึ้นมาได้

สิบปีก่อนดิฉันกลับไปเมืองไทย ก็อยากออกไปบ้านนอกอีก  คิดถึงการได้ไปคลุกคลีกับชาวบ้านน่ะค่ะ    
ไม่มีเวลาติดต่อใครเลยไม่ได้วางแผนให้ดีไปล่วงหน้า  ก็ไม่กล้าไปรบกวนคนที่รู้จัก  พอดีไปสระผมที่ร้านใกล้ๆบ้านพี่สาวที่ไปพัก  
เค้าเป็นสาวอีสานสองคนมาเช่าบ้านในหมู่บ้านจัดสรรทำเป็นร้านดัดผม  พอดิฉันไป "เว้าลาว" ด้วยเข้าเค้าก็ดีใจ  คุยไปคุยมา  
ะอทราบว่าดิฉันอยากไปบ้านนอก  ด้วยความแปลกใจ(พี่สาวของดิฉันคิดว่า เสียสติไปแล้วค่ะ)  เค้าก็บอกว่า  
พี่เขยของเค้าจักลับไปเยี่ยมบ้านที่จังหวัดร้อยเอ็ด  เป็นผมู่บ้านเล็กๆมีร้อยหลังคาเรือนได้  ดิฉันก็ตามเค้าไป  แต่พี่สาวให้พาบอดี้การ์ดไปด้วย  
ก็นั่งรถทัวร์ไปลงข้างไฮเวย์ตอนตีห้า  พี่คนนั้นก็ไปตบประตูบ้านเพื่อนปลุกเค้าเอารถมอเตอร์ไซต์ให้ไปส่งที่หมู่บ้าน  ซึ่งอยู่เข้าไปจากถนนอีกสิบกิโล  
แต่ซ้อนท้ายมอเตอร์ไซต์ไปอีกเกือบชั่วโมงเพราะถนนลูกรังขรุขระมาก  ไปไม่ได้ไกล  แล้วก็ไปพักที่บ้านของสาวร้านดัดผมนั้น  แม่เค้าก็ดีใจมาก  
เพราะเหลืออยู่บ้านคนเดียวกับลูกสาวอีกคน  ที่เป็นภรรยาของพี่คนที่พาไปน่ะค่ะ   ก็เหงามาก  ลูกๆไปทำงานกรุงเทพกันหมด  
พอดีเป็นหน้าเก็บเกี่ยว  ก็ได้ออกไปช่วยเค้าฟาดข้าวในนา

ทีนี้มีแม่ใหญ่คนหนึ่งในหมู่บ้านขึ้นเรือนมาหา  คือเค้าไม่ค่อยได้เห็นคนกรุง  ก็มานั่งคุยไปๆนำ้หมากกระเซ็น  ดิฉันก็ไม่ได้คิดอะไร  
เพราะเห็นคนกินหมากจนชิน  แต่คุยๆกันไปได้ซักพัก  บอดี้การ์ดของดิฉันก็ดึงตัวออกไปนอกชานเรือน  ตาลีตาเหลือกบอกว่า  
น่าจะพาคุณยายไปหาหมอนะ  ดูสิ่ เลือดไหลท่วมปากเลย  ดิฉันงี้สำลักหัวเราะอยู่ร่วมห้านาที  กว่าจะได้หายใจหายคอออกพูดกันรู้เรื่องได้น่ะค่ะ


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: อ้อยขวั้น ที่ 05 ม.ค. 01, 15:29
ใบเนียมเป็นใบไม้ที่มีกลิ่นหอมค่ะ  แต่ไม่เคยเห็นเหมือนกันว่าหน้าตาเป็นยังไง

เคยได้ยินคำว่าหมากหน้าหวาน  หมายถึงอะไรหรือคะ


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 05 ม.ค. 01, 17:12
ว่ากันว่า รถไฟไทย (รุ่นเก่า ไม่ใช่รถสปรินเตอร์) ที่ทาสีแดงมอๆ ออกแดงเลือดหมู นั้น ทาสีนี้มาตั้งแต่ครั้งกรมรถไฟหลวงสยามเพิ่งตั้งใหม่ๆ เพราะกรมรถไฟหลวงสมัยโน้นเห็นว่า คนไทยกินหมาก ก็ทาสีตู้รถไฟเป็นสีน้ำหมากเสียเลย จะได้เปื้อนแล้วไม่เห็นว่าเปื้อน

ใครเคยทราบเรื่องคนไทยหลอกขายพลูให้ทหารญี่ปุ่นเอาไปผัดกินบ้างครับ สมัยญี่ปุ่นขึ้นเมื่อครั้งสงครามมหาเอเชียบูรพา มีค่ายทหารญี่ปุ่นเต็มเมืองไปหมด แล้วก็มีคนไทยค้าขายกับญี่ปุ่นอยู่หลายราย เพราะทหารญี่ปุ่นรวย อยากได้อะไรก็ซื้อเอาได้ง่ายๆ ก็กองทัพญี่ปุ่นพิมพ์ธนบัตรไทยใช้เองนี่ครับ
เล่ากันว่า ฝ่ายพลาธิการของญี่ปุ่นคนหนึ่งไปเห็นไอ้เจ้าใบพลู เถาวัลย์อย่างนี้แหละ วางขายอยู่ (หลุดรอดการทำลายสมัย "รัถนิยม" มาได้อย่างไรไม่ทราบ) ก็ส่งภาษาไทยบ้าง ญี่ปุ่นบ้าง ภาษาใบ้บ้าง ถามว่าต้นนี้กินได้ไหม คนไทยคนขายก็บอกว่า โฮ้ย- กินได้ อร่อยดี ญี่ปุ่นเลยเหมาใบพลูไปทั้งกระจาด เอาไปผัดกินในค่าย
ก็แน่ละครับ ต้องทิ้งทั้งกะทะที่ผัดแหละ ใครจะไปกินได้ ...


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: ภูมิ ที่ 05 ม.ค. 01, 18:16
ใบพลูนี่บ้านผมก็ปลูกอยู่แต่เอาไว้กินห่อกินเป็นเมี่ยง
ใส่อะไรก็ไม่รู้เยอะเเยะเต็มไปหมด  รู้สึกจะมีหมากหั่นเป็นชิ้นเล็กๆด้วย
เหมือนที่คุณพวงร้อยบอก แต่รู้สึกบ้านผมเรียกเมี่ยงนะ


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 05 ม.ค. 01, 22:50
ที่คุณภูมิว่าจะเป็นใบชะพลูหรือเปล่าคะ  มันไม่เหมือนกันนะคะ  ใบชะพลูนี่บางที่เค้าก็อาจจะเรียก ใบพลูได้ มังคะ  แต่ที่แน่ๆที่ห่อ เมี่ยงคำนี่
เป็นใบชะพลูค่ะ  ใบที่ทานกัลหมากก็ เป็นใบพลู

เมี่ยงคำนี่ของโปรดเลยค่ะ  เครื่องก็มี ขิง มะนาว(ทั้งเปลือก) หอมแดง ทั้งสามหั่นลูกเต๋า  แล้วยังมี ถั่วลิสงคั่ว กุ้งแห้ง มะพร้าวซอยคั่วแห้ง  
ใส่ใบชุพลูห่อเป็นกรวย  แล้วหยอดหน้าด้วยนำ้จิ้ม  ที่รู้สึกจำทำจากนำ้ตาลมะพร้าวเคี่ยว ใส่กะปิกับมะพร้าวซอย  รึไงเนี่ยะค่ะ  
คุณยายกับญาติๆชาวมอญทำประจำเลยค่ะ  เลยนึกว่า  อาจจะเป็นของมอญ  แล้วก็ข้าวแช่  และข้าวเกรียบว่าวอีกอย่าง  ที่คงมาจากมอญด้วย


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: ก.แก้ว ที่ 06 ม.ค. 01, 09:49
อ่านกระทู้นี้แล้วทำให้คิดถึงความหลังเมื่อครั้งยังเยาว์พู้นนนน บ้านเกิดของดิฉันอยู่ในสวนฝั่งธน ย่านตำบลตลาดพลู ในคลองบางน้ำชน
ใกล้กับคลองบางหลวง ที่มีปรากฏเป็นฉากในเรื่องจดหมายจากเมืองไทยและอีกหลาย ๆเรื่องของคุณโบตั๋นน่ะค่ะ  สวนของคุณตาคุณยายเป็นสวนผลไม้ที่อยู่ในแวดวงของสวนพลู
ที่คนปลูกพลูส่วนใหญ่เป็นคนจีนที่ขอถือสวน
ทำสวนพลู (ตอนเด็ก ๆก็เคยสงสัยเหมือนกันว่า ทำไมจึงเรียกการเช่านี้ว่าถือ ) สวนพลูจะเป็นสวนที่สะอาดและมีระเบียบมาก ต้นพลูจะปลูกเลื้อยขึ้นบนไม้ค้างพลูที่ปักเป็นแถวแนวบนร่องที่ยกไว้สูง มีส่วนกว้างประมาณเมตรครึ่งถึงสองเมตร ปักเป็นแถวคู่กันไปบนยกร่อง  แล้วก็ยังปลูกพืช ผักคลุมดินบนยกร่องและข้างร่องไว้กินและขายได้ด้วย มีร่องเป็นคูน้ำสำหรับรดพลูขนานไปตามแนวยาวของร่องที่ยกไว้ ในความคิดของเด็ก ๆ คนทำสวนพลูขยันมาก เขาจะอยู่ในสวนของเขาตลอดวัน รดน้ำ ใส่ปุ๋ย ถอนหญ้า ลอกท้องร่อง  สิ่งที่รบกวนเพื่อนบ้านสวนขนัดอื่น ๆคือ เวลาใส่ปุ๋ยที่เป็นปุ๋ยคอก ชาวสวนพลูเขาจะมีหลุมหมักปุ๋ย เหม็นมาก เด็ก ๆ ก็จะกลัวเพราะผู้ใหญ่มักเล่าว่าเขาจะใส่ทรากสุนัขหรือสัตว์ที่ตายแล้วเป็นปุ๋ยได้ลงไปหมักไว้ รวมกระทั่งปุ๋ยชั้นดีจากคนด้วยโดยตักจากส้วมหลุมผสมไว้ เด็ก ๆจะกลัวถูกหมกในหลุมนี้มาก เวลาที่เขารดปุ๋ยจะเหม็นตลอดวัน  ดิฉันชอบไปดูเวลาที่เขาเด็ดพลู เขาจะมีเล็บเหล็กอันเล็ก ๆ
สวมเวลาเก็บพลูจะใช้เล็บนี้สวมที่นิ้วโป้งจิกที่ก้านพลูเหนือขั้วของใบพลู ใส่ในเข่งที่แขวนไว้ที่บันไดเก็บพลู  แล้วตะนี้ก็ต้องเอามาจัดเป็นเรียงเพื่อนำไปขาย ก็จะมีคนมารับจ้างเรียงพลูกัน เวลาเรียงพลูก็จะใช้วิธีจับที่ก้านขั้วของใบพลูจากใบใหญ่ซ้อนตามด้วใบเล็กตามลำดับโดยประมาณน่าจะ ๒๐ ใบ เรียงเสร็จก็จะจัดใส่เข่งนำไปขาย ย่านนี้จึงเรียกตลาดพลูค่ะ เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว มีเพียงสวนผลไม้หลงเหลือบ้างเล็กน้อยเท่านั้น  ตอนเด็ก ๆดิฉันชอบดูคุณยายนาบพลู เป็นกรรมวิธีที่สามารถเก็บพลูไว้กินยามขาดแคลนที่ฉลาดมากค่ะ
คือเอากระทะตั้งไฟอ่อนร้อนรุมๆ วางใบพลูลงไป ใช้ผ้าทำลูกประคบนาบพลูกับกระทะจนใบพลูแห้ง แต่ไม่กรอบนะคะ เรียงใส่ใหหรือภาชนะไว้กินได้นานเชียว  คุณอ้อยขวั้นถามถึงหมากหน้าหวานก็คือหมากที่เมื่อผ่าออกมาแล้วยังไม่แก่เกินไป หน้าจะฉ่ำน้ำ สีอ่อนสวยดูนุ่มน่ารับประทาน  ส่วนหมากที่แก่จะเรียกหมากสง คุณยายมักจะหั่นตากแดดจนแห้งเก็บไว้กินได้นานเหมือนกันค่ะ  สิ่งที่หลาน ๆทุกคนจะชอบมากคือการเล่นเชี่ยนหมากของคุณยายค่ะ เพราะมีสารพัดให้ค้นให้เล่น ตั้งแต่กวนเต้าปูน เอาสีผึ้งมาสีปาก
ก้นเศษสตางค์ก้นเชี่ยนหมาก และแม้กระทั่งยุงกัด ก็ยังใช้ปูนนี่แหละค่ะทาตุ่มยุงกันหายคันชะงัดนัก เป็นลมพิษก็ใช้ใบพลูของคุณยาย
ขยี้กับเหล้าโรงทาหายค่ะ
คำว่า pile ของท่าน ม.ล.ปิ่น จะหมายถึงใบพลูที่กองไว้เป็นกองใหญ่ หรือพลูที่เรียงไว้เป็นปึก ๆ หรือเป็นเรียง ๆแล้วก็ไม่ทราบนะคะ ถ้าท่านแยกทีละใบคงนานพอดู
เพื่อนๆที่อยู่แถวซอยสวนพลูคงจะมีบรรยากาศไปอีกแบบนะคะ ตลาดพลูกับซอยสวนพลูอยู่กันคนละแห่งหนตำบลเลยทีเดียว


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 06 ม.ค. 01, 10:19
ขอบคุณมากค่ะคุณแก้ว  ที่กรุณาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับสวนพลู

ดิฉันจำได้ว่า  เคยอ่านที่ไหนก็จำไม่ได้แล้วค่ะ  ว่าสมัยจอมพลปอที่ท่านเกิดมารณรงค์ให้คนไทยเป็นเทศ  อย่างจูบภรรยาก่อนไปทำงาน  สวมหมวก  
กินก๊วยเตี๋ยว(สะกดแบบภาษาวิบัติหรือเปล่าก็ไม่ทราบนะคะ)  และเลิกเคี้ยวหมากพลูนี่  พาเอาคนไทยลงแดงกันเป็นแถว  
มใีการเปิดตลาดมือซื้อขายหมากแห้งพลูนาบ  ยังกับในอเมริกาสมัยที่ห้ามขายเหล้ากันน่ะค่ะ  ดิฉันเกิดไม่ทันหรอกค่ะ  แต่ได้ยินผู้ใหญ่ท่านเล่าให้ฟัง  
คอดว่ามันมีผลกับคนในกรุงเท่านั้น  เพราะคนบ้านนอกไกลปืนเที่ยงจริงๆ  ก็ยังมีที่เคี้ยวหมากให้เห็นอยู่อย่างที่ดิฉันไปเห็นที่ร้อยเอ็ดเมื่อสิบปีก่อนมังคะ


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: โสกัน ที่ 07 ม.ค. 01, 23:35
ถามคุณพวงร้อยครับ
(อ่านข้อเขียนเรื่องคุณยายกินหมากที่น้ำหมากเต็มปาก เหมือนเลือดกลบปากของคุณพวงร้อยแล้วชอบครับ)
คงจะเป็นที่มาของสำนวนไทย "แจกหมาก" (ต่อยปาก)

โสกันอยากรู้ที่มาของสำนวนที่ว่า
"ข้าวยากหมากแพง"
"หมาก" นี่หมายถึงหมากที่กินจนปากแดงเถือก หรือ
หมากไม้ (ผลไม้) ครับ


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: สอบวา ที่ 08 ม.ค. 01, 00:12
เข่าขวาชันขึ้นชิดแนบอก เข่าซ้ายแบแนบไปกับพื้น พอได้ที่ยายก็ก้มหน้างุดๆ ตำหมากในตะบันทองเหลืองเสียงดังอยู่ขลุกๆ
แว่วเสียงวิทยุที่ลานบ้านใต้หลังคาจากแว่วมาเบาๆ "คณะเสนีย์บุษปะเกศ ขอเสนอ "ไอ้แปดนิ้วววววว…" เด็กๆ ล้อมวงฟังด้วยใจระทึกว่าวันนี้พระเอกจะเข้าไปช่วยนางเอกที่ถูกขังไว้ได้หรือปล่าว
เสียงขลุกๆ จากตะบันหมากยายเงียบไปแล้ว  ยายกระแทกจุกด้านล่างตะบันหมาก  แล้วค่อยๆ ดันหมากป้อนเข้าปาก  เคี้ยวช้าๆ คราบน้ำหมากจับริมฝีปากยายเป็นเส้นๆ  มือขวาวางตะบันลงในเชี่ยนหมากแล้วค่อยๆพาดบนเข่าด้านที่ชัน  สีหน้ากำซาบรสหมากเต็มที่
"ไอ้หนูเอ๊ย  วิ่งไปดูแม่เอ็งทีซิว่าอาการเป็นไงบ้าง เจียนอยู่เจียนไปหรือหรือยังก็ไม่รู้ แล้วเตรียมข้าวต้มกับปลาย่างเกลือไว้ให้แม่เอ็งด้วยนะ  ไอ้แกละเดี๋ยวตามยายไปท้ายสวนช่วยกันริดใบตองมาเจียนทำตะโก้  แน่ะๆ ไม่ต้องมาลอยหน้าลอยตา เป็นเด็กเป็นเล็กมาจีบปากจีบคอเถียงผู้ใหญ่…"


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: สอบวา ที่ 08 ม.ค. 01, 00:13
ก๋งนั้นนานๆ จะกินหมากซักคำ  ส่วนใหญ่จะชอบดูดยาเส้นมวนใบจาก แต่ว่ายายติดกินหมากมาตั้งแต่สมัยยังรุ่น  กินหมากวันละหลายๆ คำ แม้กระทั่งย่างเข้าสู่วัย ๙๔ ปีวัยที่เราเรียกว่า
"ตะบันน้ำกิน" คือทั้งปากไม่เหลือฟันแท้สักซี่  แต่ฟันปลอมก็ช่วยให้ยายเคี้ยวหมากได้อร่อยจนวันสุดท้าย
ภาพเก่าสมัยก่อนค่อยๆผุดขึ้นทีละนิด  ภาพหลานตัวเล็กยามไปเยี่ยมยายในวันปิดเทอมนั้น ชอบขลุกอยู่ใกล้เชี่ยนหมากของยาย  คอยช่วยยายตำหมาก เจียนหมาก จีบพลูอยู่เนืองๆ  ก็เลยพอจะจำความได้
รำลึกนิพนธิ์เรื่องนี้ยาวมาก  พอเขียนเสร็จรู้สึกว่าวัย ๓๖ ในปีนี้  พาลจะกลายเป็นอายุ ๖๓ เหมือนคนแก่รื้อฟื้นเรื่องเก่า
แต่ไปไม่เป็นไรครับ นอกจากเขียนให้ความรู้สำหรับผู้สนใจแล้ว  ส่วนตัวผมถือว่าจะเจียนหมาก จีบพลูไหว้ท่านผู้มีพระคุณทุกท่านไว้ ณ ที่นี้แล้วกัน
สำหรับภาษาเก่าที่ปนอยู่เยอะแยะ  อ่านแล้วขัดตาขัดใจก็ข้ามไปได้เลยครับ


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: สอบวา ที่ 08 ม.ค. 01, 00:20
-------------------------เชี่ยนหมากของยาย--------------------------
เชี่ยนหมากของยายที่คุ้นตามาตั้งแต่ห้าหกขวบจนอายุย่างเข้ายี่สิบหกนั้น  อยู่ในสภาพที่เรียกว่า"สับปะรังเค" เต็มที แต่ว่ายายก็คุ้นมือไม่เคยเปลี่ยน  เชี่ยนหมากเก่าคร่ำเครื่องนี้ทำด้วยไม้ตะแบกนาถากหยาบๆ  มีฝาปะกนกั้นเป็นช่องๆ ช่องเล็กสุดจะทำพอดีกับตัวเต้าปูน ที่ปลายกระจ่าป้ายปูนทองเหลืองนั้นแกะเป็นลายเทพนม ช่องถัดมาใหญ่กว่าเดิมนิดหน่อยยายใช้เก็บกระป๋องยาเส้นสนิมเขรอะ แบ่งเป็นทั้งยาฉุนและยาจืดไว้เป็นเครื่องแกล้มเวลากินกับหมาก  ส่วนช่องเล็กอีกด้านนั้นไว้เก็บของจุกจิกเช่นตลับสีผึ้ง ผงการบูรหรือพิมเสน  ที่ช่วยเพิ่มรสชาดหมากให้อร่อยมากขึ้น
ส่วนช่องใหญ่สุดพื้นที่ประมาณหนึ่งตารางคืบครึ่ง คือกว้างหนึ่งคืบยาวหนึ่งคืบครึ่งนั้น  จะมีครกเล็กๆ ขุดจากไม้มะขามพร้อมสากไม้ไว้ตำหมากที่ใช้หมากแห้ง  ถัดมาก็เป็นเรียงพลูที่คว่ำวางไว้อย่างเป็นระเบียบ มีตะบันทองเหลืองน้ำยางหมากจับเขรอะวางทับไว้กันพลูปลิว มีหมากอ่อนอยู่สองสามลูก  ส่วนกรรไกรหนีบหมากและมีดบางนั้นเสียบอยู่ข้างๆ ซอกครก  นานๆ ครั้งถึงจะมีใบเนียมแนบเข้าสักครั้ง  นั่นหมายถึงลูกหลานที่อยู่ไกลๆ เก็บมาฝาก  ดินกร่อยน้ำเค็มริมน้ำบางปะกงยามหน้าแล้งกับไก่ชนฝูงใหญ่นั้น ไม่เอื้อให้ต้นเนียมขึ้นได้ดีซักเท่าใดนัก
ยายรักเครื่องเชี่ยนชุดนี้มาก  ไม้ตะแบกนาขัดหยาบๆ ไม่แกะลายดูไม่มีราคา แต่ค่าที่ก๋งลงมือทำให้ด้วยสองมือของตัวเอง  คงช่วยให้ชีวิตในยามถือไม้เท้ายอดทอง  กระบองยอดเพชรของก๋งและยายใกล้ชิดกันมากขึ้น


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: สอบวา ที่ 08 ม.ค. 01, 00:25
-------------------------หมากหนึ่งคำ กำซาบใจ------------------------------
หยิบพลูจีนขึ้นมาหนึ่งใบ  เจียนปลายใบแหลมและริดก้านพลูออก ปลายใบนั้นแปะซ้อนไว้ตรงกลาง ทำเป็นไส้เวลาเคี้ยวแล้วมันจะดื้อปาก ยิ่งเคี้ยวยิ่งอร่อย
ชาดดีต้องมีสีแดง เวลามาผสมกับปูนขาว นอกจากจะได้สีปูนแดงอย่างที่เห็น รสชาดนี้ช่วยกร่อนฤทธิ์ปูนไม่ให้กัดปากแล้วยังช่วยให้รสหมากดีขึ้น  ป้ายปูนพอประมาณลงไปด้านท้องใบที่ออกเขียวเทา ลายใบจะช่วยจับเนื้อปูนให้ติดใบได้ดี และเวลาจีบพลูนั้นใบจะไม่แตก เจียนเปลือกหมากแล้วฝานหมากสดลงไปหนึ่งเสี้ยว โรยผงการบูรหรือพิมเสนลงไปหนึ่งหยิบมือ  ปิดท้ายด้วยยาฉุน  ห่อเข้าด้วยกัน ยัดลงตะบันแล้วตำ ตำ และตำ พอหมากแหลกก็ส่งเข้าปาก สีหน้ายายยามนี้เป็นสุขนักฝาดยางหมากนั้นจะ "ยัน" อยู่ในปาก  ยิ่งหมากที่หน้าดีๆ และมียางหมากเยิ้มจะยิ่งยันแรง ใส่ไส้ใส่เครื่องดีๆ มีใบเนียมอบด้วย  แม่บอกว่ายายชอบเพราะว่าทั้งดื้อ ทั้งยันทั้งหอม มียาจืดเป็นเครื่องแกล้มคอยขัดฟันเอาคราบฝาดหมากและพลูออก อย่างนี้ยิ่งเคี้ยวแล้วยิ่งอร่อย
แค่ชั่วเคี้ยวหมากแหลก ยายก็จีบหมากพลูเสร็จอีกหนึ่งคำ  คราวนี้ไม่ตำแต่ม้วนเป็นท่อนกลมๆ ใช้ด้ายพันเอาไว้  เหน็บพลูขึ้นทัดหู ถกเขมรแล้วคว้าพร้าเดินลงไปท้ายสวนริมทด ไปตัดดอกจากและใบจาก ระหว่างทางยายก็บ้วนน้ำหมากปริ๊ดๆ รายทาง กว่าจะตัดจากเสร็จหมากที่ทัดหูก็ย้ายไปอยู่ในปากเรียบร้อย
ยามไปไหนไกลๆ ยายจะจีบหมากเป็นม้วนกลม แล้วเก็บไว้ในซองพลู ทำอย่างนี้ไม่ต้องมาเสียเวลาจีบหมากทีละคำ
แต่เมื่อยายย้ายมาอยู่ที่บางเสร่  ยายเคี้ยวหมากไม่อร่อยเหมือนอยู่บางปะกง  ยายบ่นว่าคาวปลาทะเลกับสากลิ่นน้ำเค็มนั้นมันกลบกลิ่นหอมของหมาก เคี้ยวหมากแล้วจืดเร็ว
คาวปลาทะเลมันคงกลบกลิ่นทุ่งข้าวที่คุ้น กระสากลิ่นน้ำเค็มมันกลบกลิ่นน้ำฝนหลังคาจาก
ลมทะเลยิ่งพัดพายายไกลไปจากบ้านเกิดที่ท้องนาริมคุ้งน้ำเต็มที
รสหมากมันไม่กำซาบใจ ยามที่ต้องจากบ้านเกิดมาอยู่ถิ่นไกล ถิ่นที่ไม่เคยคุ้นมาก่อน


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: สอบวา ที่ 08 ม.ค. 01, 00:25
-------------------------------กรุ่นกลิ่นเนียม ----------------------------------
เนียมเป็นไม้ต้นเล็กๆขึ้นเกะกะอยู่ในสวน ต้นไม่สูงนักเห็นจะสูงไม่เกินศอก  จะว่าไปแล้วหน้าตามันเหมือนวัชพืชด้วยซ้ำ  เพียงแต่เป็นวัชพืชที่คนรุ่นก่อนรู้จักใช้ประโยชน์
เนียมแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่อยู่สองประเภท คือเนียมอ้มกับเนียมหอม เนียมอ้มนั้นจะใบใหญ่กว่านิดหน่อย  แต่ว่าเนียมหอมนั้นจะให้กลิ่นที่หอมกว่าและอวลกว่า
ยายปลูกขิงข่าตะไคร้ใบกระเพราและโหระพาไว้เป็นเครื่องทำกับข้าว ถึงแม้ใบจะไม่งามแต่ก็ให้รสจัดจ้านแบบลูกทุ่ง
และยายก็เคยปลูกเนียมไว้เพื่อเป็นเครื่องปรุงหมาก แต่เนียมหอมนั้นปลูกแสนยาก ต้องใส่กะละมังเก่าแล้วใช้ไม้ปักล้อมๆ ไว้ แต่ไม่เคยรอดพ้นปากไก่  ใบเนียมนั้นหน้าตาดูธรรมดาไม่มีกลิ่น แต่ยามไปนาบไฟร้อนๆ กลิ่นหอมของเนียมจะค่อยๆ โชยออกมา  เวลาปรุงยาเส้นนี้จะเอาเนียมนาบไฟ แล้วอบยาเส้นในกระป๋องให้หอมกลมกล่อมมากขึ้น หรือบางทีก็อบไว้ในเต้าปูน  กลิ่นเนียมจะไปลดกลิ่นของใบพลูให้กลมขึ้น เวลาเคี้ยวหมากนั้นกลิ่นเนียมจะกรุ่นอยู่ในปาก
เคยเห็นแม่ใหญ่ที่ภาคอีสาน ใช้เนียมนาบไฟเหน็บไว้ในมวยผม เพื่อให้กลิ่นกรุ่นของเนียมบูชาหัว  คงเช่นเดียวกับแม่อุ๊ยที่ลำปางใช้ดอกกระต่ายหืนซุกไว้ในมุ่นผมตอนเช้าๆ ก่อนไปวัด


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: สอบวา ที่ 08 ม.ค. 01, 00:27
----------------------------- หมาก -------------------------------
แต่ก่อนสวนยายนั้นเคยปลูกหมากไว้เหมือนกัน แต่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่เพราะว่าสวนรั่ว จะปักกระทู้โคนจากยังไง น้ำเค็มเดือนห้าก็รั่วเข้ามาได้
ในที่สุดสวนหมากของยายก็ล่ม ยายเลยต้องหาซื้อหมากเก็บไว้กิน หมากแต่ละทะลายนั้นมีเป็นร้อยลูก เวลาซื้อก็นับกันเป็นร้อย
แต่เวลาพ่อหรือแม่เอาหมากที่สวนดอนทองไปฝาก  ยายขอบเป็นที่สุด สวนหมากและผลไม้ตั้งแต่ดอนทอง ยันจุกเฌอ สาวชะโงกจนถึงบางคล้า เป็นสวนหมากและผลไม้ที่ขึ้นชื่อของแปดริ้ว
หมากดีต้องมียาง เนื้อเนียนละเอียด แต่ให้จาวเล็ก เวลาเพาะก็ขึ้นยากปลูกยาก ร้อยนึงงอกไม่เท่าไหร่
หมากที่สวนดอนทองของพ่อนั้น เป็นหมากชั้นดี  นอกจากหมากจะยันสนุกปากแล้ว หมากสวนนี้ยังแสดงคารวะที่เขยพึงมีต่อแม่ยาย หมากสวยแสดงว่าเจ้าของต้องดูแลและขยัน ยายคงชอบหมากสวนของพ่อมากเป็นพิเศษด้วยเหตุนี้
หมากลูกกลมๆ เปลือกแข็งและลื่น  เวลาเจียนหมากต้องระวังไม่ให้มีดแฉลบมาบาดมือ ถ้าใช้กรรไกรหนีบหมากก็ไม่ยาก  แต่ยามหลานเอากรรไกรไปเล่น ยายก็จะค่อยๆ เจียนเปลือกหมากด้านนอกออกก่อน พอเจอเปลือกด้านในสีขาวก็ช่วยให้การเจียนหมากไม่ลื่นมือ  ยายจะหั่นออกมาทีละเสี้ยว กินทีก็เจียนออกมาเสี้ยวนึง เปลือกหมากสีขาวตัดกับเนื้อหมากสดสีแดงน้ำตาล ดูแล้วเหมือนไข่เค็ม หมากที่หน้าดีๆ จะให้เนื้อหมากเนียนละเอียด ให้ยางที่เยิ้ม


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: สอบวา ที่ 08 ม.ค. 01, 00:28
-------------------------- หมากสง - หมากค่อม --------------------------------
หมากนั้นต้นเล็กแต่สูงลิบ  ยามออกช่อดอกทีกลิ่นดอกหมากจะตลบไปทั้งสวน ลูกเท่าหัวแม่มือก็ตัดขายส่งต่างประเทศ  แถวตะวันออกกลางกับไต้หวันชอบเคี้ยวหมากขบเผาะแบบนี้  หน้าฝนนั้นเป็นช่วงหมากหน้าอ่อนจะไว้กินสด เวลาเก็บหมากทีต้องไปจ้างคนมาขึ้นและตัดลงมาทั้งทะลาย ถ้าปล่อยให้แก่เกินที่เรียกกันว่าหมากสง  กินสดไม่อร่อย ก็ต้องไปฝานบางๆ ไว้ตากแดด  ถ้าปล่อยให้สุกคาต้นก็จะออกสีเหลืองปนส้มข้น คล้ายสีเปลือกมะพูด
เคยเห็น "ตะวันสีหมากสุก" กันไหม?
หมากนี้เราเรียกกันรวมๆว่าหมาก  ไม่เคยจำแนกพันธุ์เพียงแต่ให้ชื่อว่าสวนไหนๆ เท่านั้น แล้วก็เพาะสืบต่อกันมาเรื่อยๆ
สำหรับต้นเตี้ยที่ปลูกอยู่หลังบ้านตอนนี้เรียกว่าหมากค่อม เป็นสายพันธุ์ที่มาจากด้านอีสาน ต้นเตี้ยแค่เมตรครึ่งก็ให้ลูกแล้ว ตอนนี้ค่าเพียงแค่ไม้ประดับ เวลาติดจั่นก็ให้กลิ่นหอมไปทั้งสวนเหมือนกัน  แต่ยามออกลูกก็ไม่ต้องแหงนคอตั้งบ่า พ่อเห็นต้นหมากเห็นหน้าหมากแล้ว พูดเบาๆ ว่าหมากนี้หน้าดี เห็นแล้วคิดถึงยายคิดถึงย่า
เลยจะเพาะไปลงที่ในสวนดอนทอง แทนหมากสูงที่กำลังโรย
พ่อแก่แล้ว แหงนคอตั้งบ่าไม่ไหว กว่าจะเกษียนราชการก็ทำสวนไม่ไหวแล้ว


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: สอบวา ที่ 08 ม.ค. 01, 00:29
-------------------- จีบพลู ---------------------
พลูจีนใบกว้างให้คำใหญ่  พลูทองหลางใบยาวและแคบกว่า แต่รสจัดจ้านเหลือใจ พลูลิงนก ต้นนี้เป็นพลูป่าไม่รู้ว่าในป่าในดงสมัยก่อนใช้ใบนี้ในการกินหมากกันบ้างหรือปล่าว? ส่วนพลูคาวที่ให้รสขื่นคาวนั้นทางอีสานล้านนาเค้าใช้เป็นเครื่องแกล้มกินกับน้ำพริก กินกับลาบ
ต้นพลูที่สวนในของพ่อที่ญาติคราวก๋งเช่าที่ปลูกค่าเช่าที่ปีละ ๑๒ บาทนั้น เวลาปลูกเค้าก็จะปลูกกันบนร่องมีคูน้ำรอบๆแล้วก็ใช้ไม้ทองหลางทำเป็นค้างให้พลูพันขึ้นไป  ปลูกกันเป็นแถวยาวๆ เวลาเก็บเค้าจะมีปลอกสวมอยู่ที่ปลายนิ้วไว้ริดใบพลู  เสร็จแล้วก็มาเรียงซ้อนๆ กัน ใช้เชือกกล้วยหรือไม่ก็ต้องเลียดผิวไผ่ให้เป็นตอกไว้มัดใบพลูเรียงเข้าด้วยกัน เรียกว่าเรียง หนึ่งเรียงจะมีอยู่ ๒๐ ใบ ใช้น้ำพรมแล้วห่อด้วยใบตองอีกทีจะได้สดและไม่สลบเวลาเจอลม  เวลาซื้อขายกันเค้าก็ซื้อกันเป็นเรียง  
หน้าฝนนั้นใบพลูจะแตกยอดเยอะ  ใบพลูสดจะถูก  ยายจะเก็บใบพลูในสวนหรือไม่ก็ซื้อจากเรือเร่ที่มาจอดริมคลองไว้ที่ละเยอะ เสร็จแล้วจะนึ่งพลูเก็บไว้กินยามหน้าเกี่ยวและหน้าเคยในช่วงฤดูน้ำเค็มหลาก ยายจะค่อยๆ หยิบใบพลูสดนาบไปบนกระทะเหล็กร้อน พอใบตายนึ่งก็จะเก็บมาผึ่ง ก่อนที่จะม้วนใบพลูเสียบไม้เป็นตับๆ  แต่อย่างนี้จะทำให้พลูเป็นรอยไม่สวย ยายก็จะใช้วิธีค่อยๆเรียงเวียนไว้ในไหซอง  นึ่งพลูแบบนี้เก็บไว้กินนานๆ เรียกว่าพลูค้างปี


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: สอบวา ที่ 08 ม.ค. 01, 00:31
-----------------------------  ใบชะพลู  ----------------------------
ใบชะพลูนั้นคนละอย่างกับใบพลู  แต่ให้รสเผ็ดเหมือนกัน ไม่ได้ใช้กินหมาก แต่ใช้ทำเมี่ยงคำไว้กินเล่น เมี่ยงคำนั้นคนละอย่างกับ "เมี่ยง" ของทางเหนือ และหน้าตาก็ไม่ละม้ายกับเมี่ยงลาวเอาซะเลย
นอกจากจะใช้ห่อเมี่ยงให้เป็นคำๆ ป้อนเข้าปาก แล้วเคี้ยวหยับๆ ดื้อพอละมุนปากแล้ว ใบชะพลูยังใช้ทำกับข้าวอร่อยๆ ได้หลายสำรับ ตั้งแต่เหนือจดใต้ ไปถึงภาคอีสานยันภาคกลาง
ปกติแล้วก๋งจะทำหน้าที่เป็นจุมโพล่ทำกับข้าวแทบจะทุกมื้อ  แต่สมัยที่ยายยังสาวอายุหกสิบนั้น ฝีมือของยายก็เลื่องกันไปทั้งคุ้งน้ำเหมือนกัน
ผมได้ฝีมือการทำกับข้าวเบื้องต้นก็ที่ครัวของยายนี้แหละ  มีก๋งเป็นพี่เลี้ยงและยายเป็นผู้สอนเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย
เตาไฟที่ยกลอยเหนือพื้นดินที่ชานครัวนั้น แทบจะมีเชื้อไฟหมกขึ้เถ้าอยู่ทั้งวัน เวลาจะหุงข้าวดงข้าวและทำกับข้าวนั้น ก็แค่เขี่ยขี้เถ้าให้ลอดแผ่น "ตะกรับ" ลงไปกองอยู่ใต้ถุน แล้วเกรียกฟืน(คำเก่าของคนแก่บางทีก็ออกเสียงเจียกฟืน) ให้เป็นแผ่นบางๆ วางลงไปบนไฟแดงๆ แค่นี้ก็ก่อไฟเสร็จเรียบร้อย
แกงคั่วหอยขม แกงลูกชิ้นปลากรายถ้าให้อร่อยก็ต้องใส่ใบชะพลูลงไปด้วย จะฉีกหรือหั่นหยาบๆ ก็ดูน่ากิน  และแค่เปลี่ยนใบชะพลูเป็นใบยอ  รสขมของใบยอก็หอมอร่อยไปอีกแบบ
ทำกับข้าวมื้อเย็นเสร็จก็ต้องเก็บฟืนไฟขึ้เถ้าให้เรียบร้อย  เตาไฟในสมัยก่อนนั้นต้องดูให้เรียบร้อย   ถ้าไม่ดูแลปล่อยให้เกิดอุบาทว์พระโสมไม่ว่าหมาอีแดงไปออกลูกที่เตาไฟ หรือปล่อยให้รกจนหนูเข้าไปทำรังใต้เตาไฟ ปลวกไปทำรังหรือปล่อยให้ชื้นจนเห็ดขึ้น อย่างนี้ถือว่าซวยกันทั้งบ้าน  อย่างนี้ก็ต้องเอาเงิน ดอกไม้ ธูปเทียน อาหารคาวหวานและหมากพลู ไปไหว้ทางทิศอีสานเพื่อลบอุบาทว์พระโสม


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: สอบวา ที่ 08 ม.ค. 01, 00:34
----------------------- เมื่อคนไทยกินหมาก ----------------------------
"หมากบ่เคี้ยว ปากเปล่าบ่มีแดง
แม่นสิมีเต็มพาน  กะบ่แดงเองได้"
ผญาอีสานบทนี้บอกถึงคำสอนของคนสมัยก่อนได้ดี เครื่องปรุงหมากของอีสานต่างกับคนภาคกลาง นอกจากเครื่องปกติแล้ว ส่วนใหญ่จะใส่เปลือกสีเสียดหรือแก่นคูนเข้าไปด้วย เพื่อให้หมากอร่อยขึ้น
เชี่ยนหมากของอีสานทรงสูงลายซื่อ และกลายเป็นของเก่าที่คนไล่เก็บสะสม

ไทยเรานั้นรับวัฒนธรรมการกินหมากมาจากอินเดีย ผ่านเข้ามาทางชนชาติมอญ ซึ่งเป็นชาติที่มีวัฒนธรรมแข็งแรงมาก
และคนไทยได้ดัดแปลงการกินหมากจนเป็นวัฒนธรรมพื้นถิ่นของเราที่หลากหลาย  เป็นทั้งประเพณี วัฒนธรรมและวิถีชีวิต และแต่ละถิ่นก็กินหมากต่างกัน
เครื่องใช้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับการกินหมากสวยและแตกต่างกันออกไป
ภาคกลางมีเชี่ยนหมากและตะกร้าหมากยามเดินทางไกลคนภาคใต้ใช้ย่านลิเพามาสานสลับกับไม้ไผ่และหวายน ทำเป็น ฌะหมากไว้ใส่เครื่องปรุงหมากยามเดินทางไกล
ส่วนคนล้านนานั้นกินหมากกันมานาน   ก่อนสมัยพระยามังราย ตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี
นับเนื่องได้กว่าพันปี คนล้านนามีขันหมากที่ทำด้วยเครื่องเขินอย่างดีไว้คอยต้อนรับแขก  แต่หมากของทางล้านนานี้ บางทีก็ใส่ของลงไปด้วย  คนล้านนาเก่าก็เลยต้องเด็ดปลายใบพลูทิ้งทุกครั้งเป็นประเพณีสืบมา
"โลมชาติมิ่งบังอร……….อยู่ซอกซอนเร้นลับแฝง
นำซ่อนสอดหลืบแหล่ง….ในอมเหมี้ยงสุบหมากพลู
"ใบพลู" ยอดจรดจิ้ม……...จ่อจุ๋มจิ๋ม ข่มมนต์ครู
ของฝากลัวะเจ้าชู้…………เสมือนรักจากหทัย
แต่นั้นเป็นต้นมา………….ชาวล้านนาจำใส่ใจ
กินหมาก พลูคราวใด……..ต้องเด็ดปลาย ยอดแหลมทิ้ง
กลายเป็นสิ่งปฏิบัติ………..จำไว้ชัดอย่างจังจริง
เค้าเงื่อนคือยอดหญิง………จามเทวี แต่โบราณ
(กาพย์เจี้ยจามเทวีและวิรังคะ โดยอาจารย์ไกรสีห์ นิมมานเหมินทร์)


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: สอบวา ที่ 08 ม.ค. 01, 00:35
คาวปลาทะเลมันคงกลบกลิ่นทุ่งข้าวที่คุ้น กระสากลิ่นน้ำเค็มมันกลบกลิ่นน้ำฝนหลังคาจาก
ลมทะเลยิ่งพัดพายายไกลไปจากบ้านเกิดที่ท้องนาริมคุ้งน้ำเต็มที
รสหมากมันไม่กำซาบใจ ยามที่ต้องจากบ้านเกิดมาอยู่ถิ่นไกล ถิ่นที่ไม่เคยคุ้นมาก่อน

ต่อแต่นี้เสียงขลุกๆ ตำหมากโขลกๆ ไม่มีอีกแล้ว มันจางหายไปจากบ้านนานมาแล้ว
และเสียงขลุกๆ ตำหมากโขลกๆ คงค่อยๆ จางหายไปจากเมืองไทยเช่นกัน
คงเหลือไว้แต่เพียงจีบพลูที่ใช้ในงานพิธีมงคล หรือในการไหว้ครูเท่านั้น

คำตอบทั้งหมดที่เขียนขึ้นนี้ แม้จะไม่ได้ลงมือเจียนหมากจีบพลูเป็นคำไว้เคี้ยว  
แต่ก็เป็นเจียนหมาก จีบพลูที่ออกมาจากใจไหว้ผู้มีพระคุณทุกท่าน เขียนให้ย่าให้ยายที่ชอบกินหมากเป็นชีวิตจิตใจ
และเพื่อประโยชน์ของการศึกษาสำหรับเยาวชนไทยทุกคนแล้วกันครับ


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 08 ม.ค. 01, 06:47
กลิ่นดอกหมากใบเนียมโชยข้ามมหาสมุทร มากรุ่นกำจายในนาสิกประสาท   ตาหลับลงก็เห็นหมากพลูที่ยายจีบไว้จะใส่ตะบันหมาก  
เสียงขลุกๆโขลกตะบันบนชานเรือนยังก้องอยู่สองหู ...

อ่านข้อเขียนของคุณสอบวาแล้วเหมือนได้กลับไปสู่อดีตอีกครั้ง   ขอบคุณมากค่ะ  ที่กรุณาเล่ามาอย่างละเอียด  
อ่านแล้วอ่านอีกหลายครั้งก็ซาบซึ้งใจไม่หายค่ะ  วันหลังว่างๆแวะมาเยือนที่ เรือนไทย อีกนะคะ  ยังอยากจะฟังเรื่องความหลังแบบนี้อีกจังค่ะ  เอ
รึว่าเราชักแก่มั่งแล้วซี ฮิฮิ


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: อ้อยขวั้น ที่ 08 ม.ค. 01, 09:54
คุณสอบวาเขียนเก่งจัง  อ่านแล้วคิดถึงย่าทวด (เป็นผู้ใหญ่ท่านเดียวที่จำได้ว่าเคี้ยวหมาก)

ขุนแผนตัดพ้อนางพิมว่ารักนางพิมมากจนหมากที่เคี้ยวในปากก็ยังคายให้นางพิมได้ใช่ไหมคะ  กลอนเต็มๆ ว่ายังไงนะคะ  ลืมไปแล้ว


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ม.ค. 01, 11:48
คุณสอบวาเล่าเรื่องเก่งมากค่ะ   อ่านแล้วเพลิน แล้วเห็นภาพได้ชัดเจน มีชีวิตชีวามากทีเดียว

ตอบคุณอ้อยขวั้น

เจ้าลืมนอนซ่อนพุ่มกระทุ่มต่ำ
เด็ดใบบอนช้อนน้ำที่ไร่ฝ้าย
พี่เคี้ยวหมากเจ้าอยากพี่ยังคาย
แขนซ้ายคอดแล้วเพราะหนุนนอน

เป็นบทโรแมนติคสุดๆของคู่รัก สมัยยังไม่มีคอฟฟี่เมท คู่รักคู่รสค่ะ


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: อักกา ที่ 09 ม.ค. 01, 10:32
ไม่แน่ใจว่าผมเข้าใจถูกหรือเปล่าว่าเวลาขุนแผนคายหมากให้นางพิมด้วยการจูบแทนที่จะคายใส่มือแล้วป้อน หรือผมคิดมากไปเอง


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ม.ค. 01, 11:24
เอ   ไม่รู้จะไปตามตัวขุนแผนจากที่ไหนมาตอบเสียด้วย

คุณอักกาเข้าใจคิด  ดิฉันไม่เคยคิดละเอียดถึงขั้นนี้เลยค่ะ
แต่อยากวิเคราะห์ตามไปด้วย

ใครเคยเห็นคนกินหมาก ช่วยตอบหน่อยนะคะ
คิดว่าเป็นไปได้ไหมคะที่จะคายจากปากต่อปาก
คงต้องบ้วนน้ำหมากเสียก่อนมั้ง  ไม่งั้นคงเลอะหน้านางพิม


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 09 ม.ค. 01, 13:45
โห คุณอักกา ชั่งคิดดีจั๊ง  ทำเอาหายหิวเลยค่ะ (โอ้ก)


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ม.ค. 01, 15:07
แหม คุณพวงร้อยขา ดิฉันอุตส่าห์กลั้นไว้ได้แล้วเชียวนา  
คุณจะทำให้ดิฉันแย่เสียแล้ว เพิ่งทานข้าวไปหยกๆ

คิดว่าคนโบราณคงไม่รังเกียจน้ำหมากน้ำลายกันค่ะ เพราะเพิ่งจำได้ว่าอิเหนาเคยใช้ให้สียะตราไปขอชานหมากจากนางบุษบามาให้
สียะตราซึ่งยังเด็กมากก็เอาใจพระเอก  วิ่งไปหาพี่สาวอ้อนขอหมากกิน  หยิบหมากใส่เครื่องให้เยอะป้อนใส่ปากพี่  
แล้วให้พี่สาวคายใส่มือ  แต่ไม่เอาใส่ปากตัวเอง  กำหมากที่เคี้ยวแล้ววิ่งเอาไปให้อิเหนากิน
อิเหนาก็ชื่นชมชานหมากนั้นเป็นการใหญ่
อย่างในบทความ ชานพระศรี  ร. ๒ ท่านก็ทรงเคี้ยวหมากเสร็จแล้วก็พระราชทานให้เจ้าฟ้ามงกุฎ

ยุคนี้ใครเคี้ยวหมากฝรั่งแล้วส่งให้แฟนกิน  คงเลิกเป็นแฟนกันวันนั้นเอง


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: ก.แก้ว ที่ 09 ม.ค. 01, 18:12
นั่งอมหมาก เอ๊ย! อมยิ้มตั้งแต่กระทู้ที่ 46-49
เลยค่ะ จินตนาการกันยอดจริง ๆ


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: ก.แก้ว ที่ 09 ม.ค. 01, 18:23
อุ๊บ ขอโทษค่ะ ขอเปลี่ยนคำว่ากระทู้ที่46-49
เป็นความเห็นที่ 46-49 ค่ะ เพลินไปหน่อย
เรื่องคุณยายเลือดกบปาก ทำให้ดิฉันคิดถึงอีกเรื่องนึงค่ะ เมื่อปีก่อนดิฉันไปร่วมงานทำบุญที่วัดเสมียนนารี ในขณะที่พระท่านสวดมนตร์อยู่ก็เกิดโกลาหลขึ้น พระรูปหนึ่งเป็นลมล้มตึงลงนอนเลยค่ะ มีสีเหมือนเลือดสีแดงไหลเลอะเทอะนองไปหมด ทุกคนตกใจมาก คิดว่าเลือดออก ก็เตรียมตัวจะนำไปโรงพยาบาล ปรากฏว่าท่านล้มทับกระป๋องน้ำหมากหก  ปฐมพยาบาลกันฟื้นแล้วก็โล่งใจกันไป


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: สอบวา ที่ 09 ม.ค. 01, 19:56
ไหนๆ ก็เข้ามาแล้ว ผมช่วยเพิ่มเติมให้แล้วกันครับ จะได้รวมไว้ในเรื่องนี้ซะเลยทีเดียว
ปริศนาคำทายที่เกี่ยวกับการกินหมากของล้านนานั้น  บอกว่าการกินหมากของล้านนานั้นมีมานานมาก
ทั้งหมดผมใช้การเขียนแบบล้านนาดั้งเดิมแล้วกันครับ แต่จะกำกับคำแปลไว้ให้ด้วย
ไม้เต้เข้ ปักกลางหนอง คนใดมากค็ถอด (ไม้ปักอยู่กลางสระ คนใดมาถึงก็ถอด)
ไม้หลักต้นหน้อย อยู่กลางหนอง คนใดมาค็ถอด
ไม้หลักปักอยู่กลางหนอง ไผมาก็ต้อง ไผมาค็ต้อง(ผู้ไปก็แตะต้อง)
ไม้หน้อยหน้อย ปักอยู่กลางหนอง คนใดไปค็ถอด คนใดมาค็ถอด
ทั้งสี่ข้อนี้แปลว่า “ไม้ควักปูน”


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: สอบวา ที่ 09 ม.ค. 01, 19:57
ไก่แม่แดง แทงลงช่อง
ไก่แม่แดง แทงรูช่อง
สองปริศนานี้แปลว่าน้ำหมากที่บ้วนผ่านร่องกระดานหรือร่องฟากสับ(คำว่าไก่แม่แดงนี้อยู่ในคำทายของทางล้านนาหลายอย่าง แล้วแต่ที่ที่จะนำไปใช้  มีบางปริศนาคำทายที่ใช้ไก่แม่แดงในเรื่องอาหารและการครัวจะใช้ในความหมายที่แปลว่าปลาไหล)
อุ้มลุ้มเท่าไข่เป็ด  กินเจ็ดวันบ่เสี้ยง แปลว่าสีเสียดที่กินกับหมาก


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: สอบวา ที่ 09 ม.ค. 01, 19:58
ปริศนาคำทายชุดนี้ของทางล้านนา เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกริยาอาการที่เกี่ยวข้องกับการเคี้ยวหมาก โดยเน้นที่รูปคำและความหมายที่สองแง่สองง่าม
พระห้าตน ล่นเข้ารู คำออกมามีตนเดียว(พระห้ารูปวิ่งเข้ารู  ออกมารูปเดียว)
แปลว่า “คนเคี้ยวหมาก” (คำหมากของทางเหนือประกอบด้วยพลู ปูน สีเสียด ยาเส้น และหมากดิบหรือหมากแห้ง)
ทุเข้าถ้ำเจ็ดตน ออกมาตนเดียว(ภิกษุเข้าถ้ำเจ็ดรูป  ออกมารูปเดียว)
แปลว่า”คำหมาก” ที่เพิ่มเครื่องปรุงที่เพิ่มผิวหมากดิบหรือแห้งและเปลือกไม้ก่อที่ทุบ และนำไปตากให้แห้ง เพื่อเพิ่มรสอร่อย
ห่อแท้บแพ้บ โช่งเข้าจ้อก ห่มย้อกย้อก เปนน้ำแซะแฟะ (ห่อแบนๆ โยนเข้ามุม ขยับๆ น้ำแฉะๆ)
แปลว่า” คนเคี้ยวหมาก”
เอายำยุไฟใส่ยำยะ เอายำยะไพใส่รูหนัง – คนตำหมาก คนเคี้ยวหมาก


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: สอบวา ที่ 09 ม.ค. 01, 19:59
คำกล่าวที่ว่าข้าวยากหมากแพงนั้น เป็นความหมายที่ใช้เหมือนกันทั่วทุกถิ่น หมายถึงบ้านเมืองเดือนร้อน ประชาชนเดือดร้อน  เพราะสมัยก่อนคนไทยผูกพันกับข้าวและหมากมาก  การรบหรือสงครามต้องหลบซ่อนหรือต้องย้ายที่อยู่บ่อยๆ ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล หรือการเก็บส่วนอากรจังกอบที่สูงเกินไป จะกระทบต่อข้าวและหมากเป็นเบื้องต้น  ดังนั้นหมากในความหมายนี้ก็คือหมากที่ใช้เคี้ยวร่วมกับพลูนั้นเอง
ไม่ได้หมายถึงหมากที่นำหน้าผลไม้  หรือหมากที่เแปลว่าลูกไม้แบบทางอีสาน
แจกหมากนั้นเป็นสำนวนเก่า  มาจากสำนวนเต็มที่กล่าวว่า “แจกหมาก แจกแว่น”  สำนวนนี้มาเฟื่องฟูสมัยพระนครและถนนราชวงศ์มาก  จะเห็นสำนวนนี้เช่นว่า “เจ้าพลนั้นออกหมัดแจกหมากแจกแว่นอย่างรวดเร็ว ทั้งซ้ายและขวา  ส่วนนิกรนั้นอาศัยความไวในการแจกหมากของสิงห์สำอางฝั่งตรงข้าม  ส่วนดิเรกนั้นมัวแต่งุ่มง่าม เลยได้รับแว่นเข้าเต็มเปา”  สำนวนนี้ใช้ในเรื่องพล นิกร กิมหงวนเยอะมาก(เท่าที่เคยอ่านเจอ)
แจกหมากเนื่องจากการกินหมากจะให้น้ำหมากสีแดงเขรอะอยู่ที่มุมปากและริมฝีปาก  ซึ่งต้องมีผ้าคอยซับน้ำหมากอยู่บ่อยๆ แต่คราบน้ำหมากก็ยังคงจับอยู่ตามรอยย่นอยู่บ้าง  การแจกหมากจึงมีที่มาด้วยเหตุนี้ครับ


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: สอบวา ที่ 09 ม.ค. 01, 20:00
ส่วนเรื่องการเคี้ยวหมากและคายหมากให้อีกฝ่ายหนึ่ง   และเป็นการมอบความไว้วางใจให้อีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าเป็นชายกับหญิงก็เพื่อเป็นการแสดงความรักกันอย่างที่สุด  แบบที่มอบใจให้กันนิรันดร แต่ถ้าเป็นชายกับชายนั้น เพื่อแสดงเจตนาบริสุทธิ์และไว้วางใจกันมาก  เนื่องจากสมัยก่อนคนไทยมีการใช้อาคมและไสยเวทกันเยอะ  
ทุกวันนี้คนลัวะในดอยสูงเหนือขุนแม่แจ่มนั้น ฝ่ายหญิงก็ยังคงแสดงความรักต่อชายที่หมายใจด้วยการจุดบุหรี่ให้เช่นเดียวกันครับ


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: สุรัชน์ ที่ 09 ม.ค. 01, 21:36
มายาวถึงนี่กันแล้วหรือครับ ไม่ได้มาอ่านแป๊บเดียว ชอบปริศนาที่ยกมาครับ ไม่ทราบว่าปกติเขาเคี้ยวหมากแต่ละครั้งนานเท่าไรครับ รสชาดมันจะจางลงใช่หรือไม่ หรือเมื่อยปากเมื่อไร เมื่อนั้นจึงหยุดครับ


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 10 ม.ค. 01, 22:02
เรื่องบุหรี่สาวจุดให้ของคุณสอบวา ทำให้นึกขึ้นได้อีกเรื่องหนึ่ง

ผมไม่สูบบุหรี่นะครับ เมื่อไปเมืองจีนก็อึดอัดหน่อย เพราะคนเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งจีน เกาหลี และญี่ปุ่น สูบบุหรี่กันมากเหลือเกิน จนกระทั่งอดีต รมต.สาธารณสุขจีนท่านหนึ่ง (นพ. เฉิน หมิ่น จาง- เสียไปแล้ว) ต้องออกมารณรงค์อย่างจริงจังให้คนจีนเลิกบุหรี่ หรือเพลาๆ บุหรี่ลงบ้าง งานการรณรงค์ตลอดชีวิตท่านงานนั้น ทำให้ท่านได้รับพระราชทานรางวัลมหิดลจากในหลวงอยู่ปีหนึ่ง จะราว 5-6 ปีมาแล้วกระมัง เพราะเป็นผลงานสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบคนเป็นพันล้าน และยากเย็นแสนเข็ญยิ่งกว่าเข็นภูเขาลงครกอีก

นอกเรื่องไปหน่อย ผมได้รับเชิญจากคนจีนที่ขับรถสถานทูตให้ไปงานแต่งงานญาติเขา ก็ไปในฐานะแขกผู้มีเกียรติครับ นั่งโต๊ะประธานเลย งานแต่งงานคนจีนนี่เราเคยได้ยินในหนังกำลังภายในว่ามีสุรามงคลใช่ไหมครับ สุรามงคลผมมก็พอจะดื่มได้ แต่งานนี้มีบุหรี่มงคลด้วย เจ้าสาวจุดให้นะครับ ผมก็ขอตัวว่า ทำงานด้วยกันก็รู้อยู่แล้วว่าผมไม่สูบบุหรี่ คนขับรถก็มาคะยั้นคะยอ สูบให้เป็นเกียรติหน่อยน่า นี่บุหรี่มงคลเจ้าสาวจุดให้เชียวนา สูบแล้วไม่เป็นพิษเป็นภัยหรอก - ว่าไปโน่น

ผมก็เลยต้องทำตามประธานาธิบดีคลินตัน คือยอมให้เขาจุดให้พ่นควัน แล้วก็ I didn't inhale...

เห็นจะไม่ไหวครับ ด้วยรักและมะเร็งนี่


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: อ้อยขวั้น ที่ 11 ม.ค. 01, 16:13
นึกขึ้นมาได้อีกอย่างค่ะ  สลาเหินที่ปู่เจ้าสมิงพรายเสกส่งไปให้พระลอ  ถ้าคนอื่นเกิดเอาไปเคี้ยวแทนจะเป็นยังไงคะนี่

ส่วนที่ว่าคายหมากให้คนที่รัก  น่าจะให้แบบปากต่อปากล่ะมังคะ  คิดสภาพดูแล้วว่าถ้าคายใส่มือก่อนแล้วส่งให้อีกฝ่ายรับเอาไปใส่ปากเคี้ยวต่อ  มันจั๊กกึ๋ยยังไงไม่รู้  จากปากเข้าปากยังไม่ค่อยพะอืดพะอมเท่า  หมายเหตุว่าคงบ้วนน้ำหมากที่ท่วมอยู่ทิ้งไปก่อนแหละ  อ้อ สมัยเด็กๆ เคยได้ไปนมัสการหลวงปู่ขาวที่อุดร  ท่านเคี้ยวหมาก  มีคนขอชานหมากของท่านไปบูชา  ผู้ใหญ่ที่ไปด้วยก็ได้มาขยุ้มหนึ่ง  ดีอกดีใจใหญ่เลย


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ม.ค. 01, 16:53
ของอาถรรพณ์ ถือว่าอาถรรพณ์อยู่ที่ของ ไม่ใช่อยู่ที่ผู้รับ  ถ้าใครรับแทนคนนั้นก็น่าจะโดนแทนนะคะ
เหมือนส่งระเบิดไปให้ทางไปรษณีย์ ใครเปิดพัสดุแทนก็โดนระเบิด   ไม่รอจนเจ้าของตามจ่าหน้าซองมาเปิดเองหรอก

เคยมีความเชื่อเก่าๆทางภาคกลาง ว่าในยามค่ำคืน จะมีคนปล่อย"ของ" มาตามลม   ใครโดนเข้าเรียกว่าลมเพลมพัด  มีอาการไปต่างๆนานา
ถึงห้ามกันว่า  ค่ำๆมืดๆถ้าได้ยินใครเรียกชื่อลอยๆ แว่วมาตามลม อย่าขานรับ ของจะเข้าตัว

คุณอ้อยขวั้น  ที่ว่าปากต่อปากไม่พะอืดพะอม  เป็นเพราะไม่เห็นชัดๆเท่าคายลงมาในมือหรือไงคะ  
สำหรับดิฉัน    ไม่ว่าปากต่อปากหรือคายใส่มือก่อน  พะอืดพะอมพอกันเลยค่ะ


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: สอบวา ที่ 11 ม.ค. 01, 18:52
พูดถึงเรื่อง "ของ"  ที่เกี่ยวกับหมากนั้น คนสมัยก่อนต้องระวังกันมากเลยครับ
โดยเฉพาะสาวๆ ล้านนานั้นระวังมากที่สุด คงคล้ายๆ กับเรื่องของพระลอครับ เพราะเป็นเรื่องอาคม ขนาดที่ว่าสาวๆ ต้องทำขันหมากของตัวเองแยกต่างหากจากของบ้านเลยครับ-

-------------หมากกับคนล้านนา---------------
การกินหมากของล้านนานั้นเป็นวัฒนธรรมที่มีมานานและเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนล้านนามาก
ขันหมากของล้านนานั้น ผมขอขยายความเพิ่มเติมไว้ดังนี้แล้วกันครับ
ขันหมากของล้านนานั้นแบ่งใหญ่ๆ ออกเป็นสามประเภทด้วยกันคืออย่างแรกจะเป็นขันหมากไม้ อย่างนี้จะเป็นของเก่าแท้ๆ ที่กลึงจากไม้ให้กลวงด้านในเพื่อใส่เครื่องเชี่ยนเครื่องหมาก  แล้วกลึงฝาไม้ปิดด้านบนอีกที อย่างที่สองจะเป็นขันหมากเงิน หน้าตาคล้ายกับขันหมากไม้แต่ว่าจะใช้เงินล้วนในการตีเป็นขันแล้วทำเป็นลวดลายต่างๆ จะใช้สำหรับคนที่มีฐานะดี
ส่วนอย่างที่สามจะเป็นขันหมากสาน ซึ่งเป็นใบที่สำคัญที่สุดของผู้หญิงล้านนา  เป็นเครื่องเขินสีส้มอมแดงหรืออมน้ำตาลแบบที่เค้าสะสมกันเยอะๆ หรือแบบที่เราเห็นเค้ากลับมาทำ re-production กันใหม่  ขันหมากสานนี้จะนิยมทำกันเป็นชั้นๆ เพื่อแยกเก็บเครื่องหมากและของจุกจิก
คนล้านนานั้นแต่เดิมนิยมกินหมากแทบทุกบ้าน  ขันหมากเป็นเครื่องต้อนรับแขกและแสดงไมตรีจิตเหมือนกับของไทยทุกภาค  ขันหมากที่คนในบ้านใช้กับที่ใช้ต้อนรับแขกนั้นจะเป็นชุดเดียวกัน  ซี่งส่วนใหญ่จะเป็นขันหมากไม้เท่านั้น


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: สอบวา ที่ 11 ม.ค. 01, 18:52
ส่วนขันหมากสานนั้น  ส่วนใหญ่จะใช้เมื่อมีงานพิธีในบ้าน  เมื่อแม่หญิงล้านนาอายุได้สิบห้าปีขึ้นไป  จะต้องหาหรือทำขันหมากสานที่เป็นขันหมากประจำตัวของตัวเอง  นอกจากจะใส่เครื่องหมากแล้ว  ในชั้นล่างสุดจะเป็นที่เก็บของเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นของส่วนตัวของหญิงสาวนั้นๆ เช่นเครื่องประดับ ผ้าเช็ดหน้าเช็ดปาก  เมื่อรู้ตัวว่ากำลังเป็นสาวแล้วผู้หญิงล้านนาจะระวังตัวในการเคี้ยวและกินหมาก(แบบคำปริศนาด้านบน)
ถ้าไม่จำเป็นหญิงสาวจะไม่เคี้ยวหมากจากขันหมากรวมในบ้านอีกต่อไป  เพราะกลัวว่าจะถูกใส่ของด้วยอาคมจากผู้ชาย  เมื่อ”อยู่นอก” คือการอยู่ที่ชานเรือนคอยเลือกคู่อู้บ่าวนั้น เมื่อมีชายมาแอ่วก็จะเคี้ยวขันหมากรวม  สาวล้านนาจะไม่ยอมให้ชายเคี้ยวหมากจากขันหมากสานส่วนตัวเป็นอันขาด  นอกจากชายที่เป็นคู่หมายที่เรียกว่าตัวพ่อเท่านั้น จึงจะมีสิทธิ์เคี้ยวหมากจากขันหมากส่วนตัวของนางได้
และเมื่อผู้สาวแต่งงานออกเรือน ขันหมากสานใบนี้ก็จะออกเรือนไปพร้อมกับผู้หญิงด้วย  เพื่อไว้ใช้ในงานบุญของบ้านที่ไปอยู่ด้วย  ในวันแต่งออกนั้นในชันหมากสานชุดนี้จะต้องประกอบด้วยหมากสวยๆ ๘ ลูก และต้องติดเป็นแง่เดียวกันไม่แยกออกจากกัน  แต่ในกรณีที่หาไม่ได้ต้องแยกออกเป็นคู่ๆ และมีใบพลู ๔ แหลบ ๆ ละ ๘ ใบ(แบบที่ภาคกลางเรียกกันว่าเรียง)


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: สอบวา ที่ 11 ม.ค. 01, 18:54
เวลาที่สาวเจ้าอยู่นอกนั้น  ก็จะนั่งรอหนุ่มอยู่ทิ่เติ๋น ถ้าเทียบเป็นไทยภาคกลางก็ประมาณชานบ้านชานเรือนนั้นเห็นจะได้ ต่อจากนั้นก็จะเป็นการอู้บ่าวสาวล้านนา  หนุ่มไหนที่ขี้อายหน่อยก็จะแก้ขวยด้วยการขอเคี้ยวหมาก
“ขันหมากรูปนก ชันพลูรูปสิงห์ ถ้าเป็นของญิง พี่กินบ่ย่าน”
(ขันหมากรูปนกขันพลูรูปสิงห์ ถ้าเป็นของน้องพี่ก็เคี้ยวด้วยความสะดวกใจ)
แต่ถ้าสาวเจ้านั้นรูปสวยมีหนุ่มหลายมาติดพัน หนุ่มที่หาญกล้าจะชิงความเป็นต่อด้วยการขอเคี้ยวหมากเหมือนกัน
“เอื้อยสาว เดิ้กมาปันอี้ ขอเทขันจา ปู่เพิ่นมา ค่อยดาแถมใหม่ อดบ่ได้ จะเคี้ยวเหียก่อน”
(พี่สาวดึกขนาดนี้แล้ว ขอรื้อขันแห่งคำพูด ถ้าคนรักของสาวมาค่อยจัดให้ใหม่นะ อดไม่ได้แล้วจะขอเคี้ยวหมากเสียก่อน)

สาวเจ้าที่มีมารยาทงามก็จะต้อนรับให้ผู้บ่าวเคี้ยวหมาก  ในคำเชิญนี้จะอ่อนน้อมถ่อมตนมาก
“เคี้ยวเทอะ เคี้ยวเทอะ  พลูข้าบ่หอม บ่มีไผตอม เค้ามันบ่อ้วน
ขออดใจกัน พลูดินยอดด้วน บ่เหมือนพลูคำบ้านพี่ไท้ พี่พากันมา
หอเรือนน้องไท้ มีใจใคร่ได้หยังชา”
(เคี้ยวเถิด พลูน้องมันไม่หอม ต้นไม่อ้วนไม่มีใครอยากได้หรอก ขอให้ทนกินพลูดินยอดด้วน ไม่เหมือนพลูทองบ้านพี่  ที่พี่พากันมาถึงเรือนของน้องนี้ มีใจอยากได้อันใดหนอ
พลูทอง – พลูจีนใบใหญ่อ้วน ส่วนพลูดินหมายถึงพลูป่า ใบเล็กแคบ กระด้างปาก)


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: สอบวา ที่ 11 ม.ค. 01, 18:56
เรื่องหมากพลูในล้านนานอกจากจะเกี่ยวข้องกับเรื่องวิถีชีวิตแล้ว ยังค่อนข้างจะแน่นแฟ้นกับเรื่องการเมืองการปกครองในล้านนาค่อนข้างมาก  ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีการปฏิรูปการปกครองเป็นระบบมณฑลนั้น
ล้านนาซึ่งกำลังถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามในยามนั้น  ถูกผลกระทบมากกว่าภาคอื่นๆ ส่วนหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการเก็บอากร  โดยให้เจ้านายที่อยู่ในเขตล้านนาซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานหรือค้าขายเป็นผู้จ่ายอากร  อากรพืชที่ถูกเก็บเป็นจำนวนเงินที่สูงกว่า  ส่วนหนึ่งเป็นอากรหมากและพลู  ทำให้ชาวบ้านและเจ้านายที่เป็นเจ้าของสัมปทานไม่พอใจ  และได้ก่อให้เกิดการแข็งข้ออยู่เนืองๆ  กบฏสำคัญที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ข้าวยากหมากแพงนั้น  คือกบฏพญาผาบ หรือพญาปราบ (พญาเป็นตำแหน่งด้านทหารของล้านนา
คล้ายกับออกญาของภาคกลาง)  ซึ่งมีชาวบ้านเข้าร่วมด้วยส่วนหนึ่ง  และส่วนกลางต้องส่งกำลังขึ้นไปปราบ

------------ ผมว่าเราเคี้ยวหมากกันเมื่อยปาก เมื่อยตากันแล้ว ไปหาอย่างอื่นเคี้ยวกันมั่งดีไหมครับ ?-------------------


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ม.ค. 01, 19:24
ขอบคุณค่ะคุณสอบวา
อ่านด้วยความทึ่งในความรู้ของคุณ เกี่ยวกับวัฒนธรรมทางเหนือ จริงๆ
ละเอียดลออมาก จนน่าจะเอาไปลงเป็นบทความนะคะ
เป็นประโยชน์แก่เยาวขน จะได้อ่านได้ง่ายๆ ค้นหาง่ายๆค่ะ
เชิญทางซ้ายมือของเว็บบอร์ดได้ ตามสบาย
ถ้าไม่ทราบจะส่งอย่างไร เมล์มาที่ดิฉันก็ได้ค่ะ


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 11 ม.ค. 01, 21:23
อยากเชิญคุณสอบวา ลงไปที่กระทู้คุณมัญชรี ที่ถามว่า กาแลเรือนไทยภาคเหนือมีไว้ทำอะไรด้วยครับ กระทู้ 244


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: อ้อยขวั้น ที่ 12 ม.ค. 01, 14:31
เก็บมาฝากค่ะ

*เคี้ยวหมากแบบไทยรักษาโรคจิตวัยรุ่น*

นักวิทยาศาสตร์พบสรรพคุณของหมากที่คนเอเชียเคยกินเป็นของขบเคี้ยวกันมานานว่า  ช่วยรักษาโรคจิตเสื่อมวัยรุ่นได้

นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโอ๊กแลนด์ของนิวซีแลนด์  เป็นผู้พบสรรพคุณของหมาก  ในการทดลองรักษาคนไข้จำนวนหนึ่งได้พบด้วยความประลาดใจว่า  คนไข้ที่ให้เคี้ยวหมากวันละไม่ต่ำกว่า 10 คำ  พากันมีอาการทุเลาขึ้น  นักวิทยาศาสตร์สาขาการแพทย์เชื่อว่า  อาจเป็นเพราะฤทธิด่างในหมากมีสรรพคุณควบคุมการขับฮอร์โมนโดพามีนในร่างกาย  ฮอร์โมนโดพามีนเป็นสารสื่อประสาทชนิดหนึ่ง  ถ้าสมองส่วนหนึ่งส่วนใดไม่ผลิดสารนี้  จะเป็นต้นเหตุของโรคพาร์กินสัน  หรืออาการกระตุกเนื่องจากสมองพิการ

จากหน้า 7 ไทยรัฐฉบับวันที่ 12 มกราคม 2544


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: สอบวา ที่ 12 ม.ค. 01, 20:49
คร้าบบผม
ไว้ว่างๆ จะส่งบทความไปให้คุณเทาชมพูนะครับ
อ่านข่าวที่คุณอ้อยขวั้นเขียนมาติดให้นั้น เลยเข้าใจเลยครับว่าทำไมไต้หวันถึงได้กว้านซื้อหมากอ่อนของเราไปให้คนของเค้าเคี้ยวกัน


กระทู้: ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 13 ม.ค. 01, 01:01
โฮ้ย ดีใจมากเลยค่ะ  คุณสอบวาหาเวลาได้อยากให้ช่วยรวบรวมเรื่องหมากให้เห็นบทความด้วยนะคะ  และก็อีกหลายๆเรื่อง (แฮ่ๆ งกค่ะ)  เสียดายไม่อยากให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนไทยสูญหายไปกับสังคมสายเดี่ยวนะ่ค่ะ  ไม่ได้ว่านะคะ  โลกมันก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป  แต่เราควรจดบันทึกเก็บไว้ไม่ให้สูญน่ะค่ะ  เวลาไปค้นประวัติของตัวเอง  จะได้เข้าใจ