เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: NAVARAT.C ที่ 17 ธ.ค. 14, 19:46



กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ธ.ค. 14, 19:46
ท้ายๆกระทู้ “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้"
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6131.msg139892;topicseen#msg139892 (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6131.msg139892;topicseen#msg139892)
กล่าวถึงกำจัด พลางกูร ไว้ว่า


"เรื่องสั้นสันติภาพ" ที่ดิฉันได้รับมาจากงานเสวนารำลึกถึง"เสนีย์ เสาวพงศ์" เมื่อวานก็มีเรื่องของเสรีไทย เป็นจดหมายเหตุรายวันของ "จำกัด พลางกูร" อ่านแล้วยกย่องในความเสียสละของท่านและภรรยาเป็นอย่างมาก

เสียดายที่ดิฉันเพิ่งมาสนใจเรื่องนี้เอาตอนนี้ เมื่อครั้งเป็นเด็ก ดิฉันเคยมีโอกาสได้คุยกับเสรีไทยสายอเมริกาท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ของเพื่อนสนิท ยอมรับว่าตอนนั้นท่านเล่าอะไรให้ฟัง มันฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง จึงได้แต่เออออคะขาไปตามมารยาท ตอนนี้อยากฟังท่านเล่าแทบขาดใจ...แต่ท่านก็ไม่อยู่เล่าให้ฟังเสียแล้ว :'(

"เรื่องสั้นสันติภาพ" ที่ดิฉันได้รับมาจากงานเสวนารำลึกถึง"เสนีย์ เสาวพงศ์" เมื่อวานก็มีเรื่องของเสรีไทย เป็นจดหมายเหตุรายวันของ "จำกัด พลางกูร" อ่านแล้วยกย่องในความเสียสละของท่านและภรรยาเป็นอย่างมาก

๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๖
นายจำกัด พลางกูร ถึงแก่กรรมที่จุงกิง
(ถือว่าเป็นเสรีไทยคนแรกที่ได้สละชีพเพื่อชาติ ภายหลังสงครามอดีตเสรีไทยผู้นี้ได้รับยศทหารเป็นพันตรี รวมทั้งได้รับการจารึกชื่อไว้ ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ)


วันนี้วันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นวาระ ๑ ศตวรรษ จำกัด พลางกูร วีรบุรุษเสรีไทย ผู้ถูกขานชื่อและเรื่องราวสั้น ๆ ว่า เสียชีวิตในเมืองจีน ระหว่างภารกิจส่งสารไปถึงฝ่ายสัมพันธมิตร

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนเรื่องจำกัดไว้ใน “ป๋วย” จุลสารเตรียมงานรำลึก ๑๐๐ ปีชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ว่า จำกัด (๓๐ ต.ค. ๒๔๕๗ - ๗ ต.ค. ๒๔๘๖) เป็นบุตรคนโตของพระยาผดุงวิทยาเสริม (กำจัด พลางกูร) เจ้ากรมแต่งตำรา กระทรวงธรรมการ

สอบชิงทุนรัฐบาลสยามได้ที่ ๑ ศึกษาต่อมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สาขาวิชาปรัชญา การเมืองและเศรษฐศาสตร์

ปี ๒๔๗๙ เขียนหนังสือ ปรัชญาแห่งสยามใหม่ เสนอว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ เป็นดั่งเรเนสซองค์ของสยามทลายฝากั้นฝั่งราษฎรและวัฒนธรรม เปิดทางให้สยามเข้าสู่โลกใหม่อันมีฐานมาจากราษฎร

เขียนบทความวิจารณ์รัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม ท่านผู้นำไม่พอใจสั่งให้ขอขมา จำกัดปฏิเสธ ถูกสั่งห้ามไม่ให้เข้ารับราชการ จำกัดเดินหน้าต่อไป รวบรวมนักเรียนไทยในอังกฤษ เมื่อกลับไทย ร่วมมือกับ เตียง ศิริขันธ์ จัดตั้งคณะกู้ชาติ

การต่อสู้อีกด้าน จำกัดกับฉลบชลัยย์ พลางกูร ภรรยาเปิดโรงเรียนดรุโณทยาน มุ่งหมายไม่เพียงสอนให้เด็กมีวิชาความรู้เท่านั้น ยังมุ่งมั่นบ่มเพาะให้เด็กเป็นพลเมืองที่รักบ้านเมืองและรักประชาธิปไตย

สงครามโลกครั้งที่ ๒ ปี ๒๔๘๔ จำกัดรับมอบหมายจากนายปรีดี พนมยงค์ เดินทางไปเมืองจุงกิง เมืองหลวงของจีนเวลานั้น เพื่อติดต่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตร ทราบถึงการทำงานของขบวนการเสรีไทยในประเทศ

ปี ๒๔๘๖ จำกัดแต่งงานกับฉลบชลัยย์ได้ ๓ ปี เดินทางเสี่ยงการจับกุมของทหารญี่ปุ่น ไปจนถึงเมืองจุงกิง

ภารกิจสำคัญ คือการเจรจากับจอมพลเจียงไคเช็ก ให้รับรองคณะเสรีไทย และรับรองอิสรภาพของไทยหลังสงคราม

เมื่อจีนเป็นต้นเสียงใหญ่...รับรองอิสรภาพให้ไทย สหรัฐฯและอังกฤษก็ต้องออกเสียงตามความคิดของบางประเทศมหาอำนาจ...ที่จะยึดไทยเป็นรัฐในอารักขา แบ่งประเทศไทยออกเป็นไทยเหนือ ให้ฝ่ายคณะราษฎรปกครอง และไทยใต้ให้ฝ่ายเจ้าปกครอง จึงเป็นอันล้มเลิกไป

กล่าวได้ว่า ไทยได้เป็นเอกราชได้มาถึงทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการเจรจาของจำกัด ที่เมืองจุงกิงนี่เอง

อีกภารกิจที่สำคัญไม่น้อยกว่า ในเมืองจุงกิงนั่นเอง จำกัดได้เจรจากับ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ ผู้นำเสรีไทยในอังกฤษ นอกจากได้ความร่วมมือระหว่างเสรีไทยในไทยและในต่างประเทศ

การเจรจาครั้งนั้น เป็นสมานไมตรีระหว่างฝ่ายเจ้ากับฝ่ายคณะราษฎร ที่บาดหมางกันมาตั้งแต่เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕

เป็นการสมานไมตรีที่ได้ผลดี แม้จะไม่ได้รับความร่วมมือจาก ราชนิกุล ผู้นำเสรีในสหรัฐอเมริกา อย่างเท่าที่ควร

ข้อเขียนของกษิดิศ อนันทนาธร ชี้ว่า ผลงานของจำกัดพลางกูร ยิ่งใหญ่ยืนยาว...เป็นคุณูปการอันใหญ่หลวง ที่คนไทยทั้งปวงจะต้องจดจำ...จึงไม่ใช่เรื่องราวสั้น ๆ จำกัดตายระหว่างการเดินทาง...แต่อย่างใดเลย

ภารกิจเพื่อชาติจบ...ชีวิตจำกัด พลางกูรก็จบ หลังการเดินทางอันยากลำบาก ภายใต้สภาพแวดล้อมเลวร้าย การทำงานที่มีความกดดันสูง ในเมืองจุงกิง จำกัด พลางกูร วัย ๒๘ ปี ก็เสียชีวิตลง

แพทย์ลงความเห็น จำกัดเป็นมะเร็งตับและโรคกระเพาะอาหาร...แต่ฝ่ายสืบราชการลับของฝ่ายสัมพันธมิตร สงสัย เขาอาจถูกวางยาพิษ จากฝ่ายจีนหรือญี่ปุ่น

วันนี้ นับจากวันที่จำกัด พลางกูร เกิดมาครบ ๑๐๐ ปีพอดี เขายังเป็นวีรบุรุษเสรีไทย...เป็นเสรีไทยขนานแท้

เป็นเสรีไทย ท่ีสละชีวิตเพื่อชาติ เพื่อคนไทย...ชื่อของเขาจึงยังดังก้อง กล่าวขาน ไม่เคยตายไปจากหัวใจคนไทยด้วยกันเลย.

กิเลน ประลองเชิง (http://www.thairath.co.th/content/459938)

นายจำกัด พลางกูร เป็นเสรีไทยที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับเสรีไทยอีกสองนายที่สละชีพเพื่อชาติ และมีชื่อจารึกเป็นเกียรติประวัติอยู่ ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

จึงเรียกท่านว่าวีรบุรุษนิรนามไม่ได้ ผิดความหมาย


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ธ.ค. 14, 19:52
ผมเพิ่งจะบรรลุความเข้าใจ หลังจากการอ่านหนังสือหลายเล่มที่ต่างคนต่างเขียนโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะยกย่องบุคคลที่ตนนิยมชมชอบ แต่ละเลยที่จะกล่าวถึงบุคคลอื่น อาจจะเป็นเพราะไม่ทราบว่าใครทำอะไรกันอยู่บ้างในตอนนั้น เพราะงานกู้ชาติของเสรีไทยมิได้ดำเนินไปอย่างมีเอกภาพ แต่ต่างคนต่างกระทำไปโดยมีจุดหมายร่วมกันอย่างเดียวที่จะขับไล่ญี่ปุ่นไปให้พ้นเมืองไทยเท่านั้น

ต้องเพิ่มเติมที่ผมเขียนไปแล้วตรงนี้ด้วยว่า นอกจากจะละเลยที่จะกล่าวถึงบุคคลอื่นแล้ว ยังนำเสนอข้อมูลให้คนอ่านเกิดความเข้าใจบุคคลอื่นในทางที่เป็นบวกหรือเป็นลบมากๆอีกด้วย

ยกตัวอย่าง

ภารกิจสำคัญ คือการเจรจากับจอมพลเจียงไคเช็ก ให้รับรองคณะเสรีไทย และรับรองอิสรภาพของไทยหลังสงคราม

เมื่อจีนเป็นต้นเสียงใหญ่...รับรองอิสรภาพให้ไทย สหรัฐฯและอังกฤษก็ต้องออกเสียงตามความคิดของบางประเทศมหาอำนาจ...ที่จะยึดไทยเป็นรัฐในอารักขา แบ่งประเทศไทยออกเป็นไทยเหนือ ให้ฝ่ายคณะราษฎรปกครอง และไทยใต้ให้ฝ่ายเจ้าปกครอง จึงเป็นอันล้มเลิกไป

กล่าวได้ว่า ไทยได้เป็นเอกราชได้มาถึงทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการเจรจาของจำกัด ที่เมืองจุงกิงนี่เอง



จำกัด หลังจากการรอคอยนานนับปีและถูกจีนกีดกันทุกหนทาง จนกระทั่งป่วยหนักและใกล้เสียชีวิต จึงได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับเจียงไคเช็กในเวลาที่สั้นๆ
 
ข้อความที่นายกิเลนเขียน มีความประสงค์จะอ้างบุญคุณของจีนต่อไทยโดยปราศจากข้อเท็จจริงรองรับ ซึ่งก็เป็นผลอยู่บ้างเมื่อบทความของเขาถูกลอกลงเน็ท และมีคนป้ายไปลงในโยงใยของตนต่อไปเรื่อยๆ

เรื่องของจำกัดมีความยาวหลายหน้ากระดาษ ผมคงต้องยอมเหนื่อยลอกทั้งบทด้วยการพิมพ์มาลงในกระทู้นี้จากต้นจนจบ เพื่อให้ง่ายต่อนักส่องอินทรเนตรอย่างคุณเพ็ญชมพูจะป้ายต่อไปเผยแพร่บ้าง  แต่เพื่อแก้ความเข้าใจกันตรงนี้ก่อน ผมจะถ่ายภาพมาลงเท่าที่จะตอบโจทย์เฉพาะหน้า


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ธ.ค. 14, 20:03
ข้อความที่ผมขีดเส้นใต้ เป็นข้อยืนยันว่ารัฐบาลจีนได้ส่งหน่วยสืบราชการลับมาปฏิบัติงานในเมืองไทย ภายใต้ความอุปถัมภ์ของอังกฤษควบคู่กับเสรีไทยเช่นกันดังที่ผมได้เขียนไว้แล้ว แสดงว่าจีนมีแผนอะไรในใจอยู่แน่นอน


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ธ.ค. 14, 20:07
อีกภารกิจที่สำคัญไม่น้อยกว่า ในเมืองจุงกิงนั่นเอง จำกัดได้เจรจากับ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ ผู้นำเสรีไทยในอังกฤษ นอกจากได้ความร่วมมือระหว่างเสรีไทยในไทยและในต่างประเทศ

การเจรจาครั้งนั้น เป็นสมานไมตรีระหว่างฝ่ายเจ้ากับฝ่ายคณะราษฎร ที่บาดหมางกันมาตั้งแต่เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕

เป็นการสมานไมตรีที่ได้ผลดี แม้จะไม่ได้รับความร่วมมือจาก ราชนิกุล ผู้นำเสรีในสหรัฐอเมริกา อย่างเท่าที่ควร


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ธ.ค. 14, 20:24
เป็นการสมานไมตรีที่ได้ผลดี แม้จะไม่ได้รับความร่วมมือจาก ราชนิกุล ผู้นำเสรีในสหรัฐอเมริกา อย่างเท่าที่ควร

คำว่าราชนิกุลถูกนำมาใช้ในที่นี้เพื่อบิดเบือนภาพของหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในอเมริกา เพื่อวัตถุประสงค์อย่างไรก็ทราบกันดีไม่ต้องขยายความ ทั้งที่ความจริงราชนิกุลอย่าง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมท ท่านได้บันทึกถึงเสรีไทยผู้เสียสละท่านนี้ว่า


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ธ.ค. 14, 20:41
คงต้องอดทนรอผมพิมพ์บทความใน "ตำนานเสรีไทย" ว่าด้วยชีวิตและงานเพื่อชาติของจำกัด พลางกูรหน่อยนะครับ จะเร็วนักก็ไม่ไหว แค่คอนหนังสืออย่างเดียวก็สี่ห้ากิโลแล้ว


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ธ.ค. 14, 05:15
"เพราะจำกัดตาย ข้าพเจ้าจึงเห็นแล้วว่า ยังมีเกียรติสูงสุดอันพึงใฝ่สูงกว่าเกียรติของการเป็นนายกรัฐมนตรี ใหญ่ยิ่งกว่าเกียรติของกษัตริย์ เกียรติอันนั้นคือ เกียรติของผู้ตายเพื่อชาติ วงศ์กษัตริย์มีวันล้ม ตำแหน่งรัฐมนตรีมีวันเปลี่ยนมือ แต่เกียรติของผู้ตายอย่างจำกัดนี้ ไม่มีใครแย่งไปจากเขาได้ เขาตายแล้วไม่สูญ"

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/smiley17.png)ง


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ธ.ค. 14, 06:52
^
ถ้าผมไม่ถ่ายรูปข้อความนี้มาลง ก็คงไม่เชื่อ

เพราะราชนิกุลอย่าง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมท เป็นผู้เขียนถ้อยความดังกล่าว ก็เลยไม่มีปัญหา
ตรงข้าม ถ้าผู้เขียนคือ ปรีดี พนมยงค์ ก็คงโดนด่าไม่เลิก

ก็มนุษย์เป็นเช่นนี้ รักใครก็ชู เกลียดใครก็เหยียบไว้ก่อน ไม่ต้องสนใจครามจริงว่าเป็นอย่างไร


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ธ.ค. 14, 07:46
เมื่อจีนเป็นต้นเสียงใหญ่...รับรองอิสรภาพให้ไทย สหรัฐฯและอังกฤษก็ต้องออกเสียงตามความคิดของบางประเทศมหาอำนาจ...ที่จะยึดไทยเป็นรัฐในอารักขา แบ่งประเทศไทยออกเป็นไทยเหนือ ให้ฝ่ายคณะราษฎรปกครอง และไทยใต้ให้ฝ่ายเจ้าปกครอง จึงเป็นอันล้มเลิกไป

เมื่อคืนผมยังไม่ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ เพราะต้องการตรวจสอบให้แน่ใจอีกครั้งหนึ่งก่อนว่า หลังสงครามเลิก รัฐบาลจีนได้แสดงบทบาทอย่างใดบ้างที่พอจะเป็นเค้าที่มาของประโยคข้างบน ซึ่งถ้าสลับประโยคเสียหน่อยก็จะเข้าใจดีขึ้นดังนี้
สหรัฐฯและอังกฤษก็ต้องออกเสียงตามความคิดของบางประเทศมหาอำนาจ...ที่จะยึดไทยเป็นรัฐในอารักขา แบ่งประเทศไทยออกเป็นไทยเหนือให้ฝ่ายคณะราษฎรปกครอง และไทยใต้ให้ฝ่ายเจ้าปกครอง  เมื่อจีนเป็นต้นเสียงใหญ่...รับรองอิสรภาพให้ไทย จึงเป็นอันล้มเลิกไป

…คงหมายความว่าฝรั่งเศส

ผู้เขียนไม่ได้ลืมหูลืมตารับรู้เลยว่า สหรัฐและอังกฤษทั้งในช่วงสงครามและหลังสงครามคือพี่เบิ้ม ฝรั่งเศสและจีนเป็นเป็ดง่อยทั้งคู่ ต้องพึ่งพาอาวุธยุทโธปกรณ์ และความช่วยเหลือจากเขาตลอด สหรัฐและอังกฤษจึงเป็นผู้นำในนโยบายหลังสงครามทั้งหมด ฝรั่งเศสกับจีนคอยผงกหัวรับอย่างเดียว
ส่วนอีกมหาอำนาจหนึ่งนั้นคือรัสเซีย ซึ่งไม่ได้แสดงบทบาทอะไรกับไทยเลย  มีตอนไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติหน่อยเดียวที่รัสเซียบอกว่าคงสนับสนุนไม่ได้ เพราะไทยไม่มีสัมพันธภาพทางการทูตกับเขา แต่พอทำสัญญาสัมพันธไมตรีกันแล้วก็หมดอุปสรรค

ฝรั่งเศสมีปัญหามากหน่อย เพราะไทยเคยทำสงครามที่ไม่ได้ประกาศ ที่เรียกว่ากรณีย์พิพาทอินโดจีนกับเขา จึงยังมีปัญหาเรืองการคืนดินแดน และค่าชดใช้ความเสียหายกันอยู่ และถึงแม้จะมีข้อเรียกร้องประหลาดๆ เช่นจะให้ไทยคืนพระแก้วมรกตให้ลาว แล้วก็หน้าแตกกลับไปเป็นต้น แต่ก็ไม่มีตรงไหนในหนังสิอฉบับครูทุกเล่มที่ผมอ่านเมื่อคืน จะระบุว่าฝรั่งเศสเสนอให้แบ่งประทศไทยเป็นฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ คงเอาไปมั่วกับเวียตนามกระมัง ยิ่งบอกทางเหนือให้คณะราษฎรปกครองยิ่งเข้าป่าไปใหญ่  ตอนนั้น คณะราษฎรกวาดล้างกันเองจนสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว ที่เหลืออยู่มีนายปรีดีคนเดียวในฐานะบุคคล ซึ่งก็คงไม่พร้อมที่จะขึ้นมาเป็นพระเจ้ามูลเมืองดังว่า

จีน นอกจากจะไม่ช่วยดังที่กล่าวแล้ว สื่อจีนยังเรียกร้องให้ไทยจัดพิธียอมแพ้เช่นเดียวกับญี่ปุ่น โดยกองทัพจีนจะเข้ามาปลดอาวุธ คนจีนในเยาวราชชักธงชาติจีนโบกไสวไปทั้งถนนในฐานะผู้ชนะสงครามโดยไทยเป็นฝ่ายแพ้  ม.ร.ว.เสนีย์เป็นนายกได้ ๕วัน ตำรวจที่ไปเดินตรวจตราในเยาวราชก็โดนลอบยิง ตำรวจก็เลยยิงตอบ เบิกบานเป็นจลาจล ในที่สุดทางราชการก็ต้องใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม จะว่ารุนแรงก็รุนแรง แต่มีคนตายเพียงสิบยี่สิบคน จิ๊บจ๊อยมากเมื่อเทียบกับวิกฤตการณ์ที่เกิดในมลายาและอินโดนีเซีย ที่นั่นมุสลิมเจ้าของประเทศทนความเหิมเกริมของคนจีนไม่ไหวก็ออกมาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ คนตายเป็นพันเป็นหมื่น ในประเทศไทยนั้นโชคดีที่คนจีนกับคนไทยจริงๆแล้วแยกกันไม่ออก ก็กากี่นั๊งเป็นญาติพี่น้องกันทั้งนั้น ที่แสบๆจะเป็นพวกจีนใหม่ที่หนีตายเข้ามาช่วงสงคราม แต่จิตไม่สำนึก


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ธ.ค. 14, 09:00
เพราะราชนิกุลอย่าง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมท เป็นผู้เขียนถ้อยความดังกล่าว ก็เลยไม่มีปัญหา
ตรงข้าม ถ้าผู้เขียนคือ ปรีดี พนมยงค์ ก็คงโดนด่าไม่เลิก

คุณชายเสนีย์กล่าวเชิดชูคุณจำกัดไว้ในตอนจบ ส่วนคุณปรีดีกล่าวสั่งเสียกับคุณจำกัดไว้ในตอนเริ่มเรื่อง

“เพื่อชาติ เพื่อ humanity นะคุณ เคราะห์ดีที่สุดอีก ๔๕ วัน ก็ได้พบกัน เคราะห์ไม่ดีนัก อย่างช้าอีกสองปีก็ได้พบกัน และเคราะห์ร้ายที่สุดก็ได้ชื่อว่าสละชีวิตเพื่อชาติไป”

คำกล่าวของคุณปรีดี พนมยงค์ที่มีต่อคุณจำกัด พลางกูร หลังจากมอบหมายภารกิจสำคัญยิ่งในการปกป้องอำนาจอธิปไตยของชาติ เพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเข้าใจจุดยืนของประเทศว่าไม่ได้เข้าข้างฝ่ายอักษะในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

เรื่องของคุณจำกัด พลางกูร น่าจะได้รับการกล่าวถึงโดยแยกเป็นกระทู้ใหญ่กระทู้หนึ่ง  ;D



กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ธ.ค. 14, 09:57
เห็นด้วยครับ น่าจะแยกเป็นตั้งแต่คคห.๑๔๘ เป็นต้นมา

ขอเสนอชื่อกระทู้ว่า ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ธ.ค. 14, 10:08
ขอเสนอชื่อกระทู้ว่า ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด

ขออนุญาตเสนอคุณนวรัตนเพิ่มเติม อยากให้มีชื่อของคุณจำกัด พลางกูรอยู่ในชื่อกระทู้ด้วย  ;D


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ธ.ค. 14, 10:14
ถ้าไม่ยาวเกินก็ดีครับ แต่ถ้ายาวเกินก็ไม่ต้องเป็นห่วง ในเนื้อเรื่องตั้งแต่คคห.แรกก็ไม่มีชื่อคนอื่นมาชิงเด่นอยู่แล้ว


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ธ.ค. 14, 14:01
ชื่อนี้คงไม่ยาวนัก และสะท้อนถึงสถานะในปัจจุบัน

จำกัด พลางกูร : เสรีไทยในวันที่ใกล้ถูกลืม


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ธ.ค. 14, 15:34
จำกัด พลางกูร : เสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
กับ
จำกัด พลางกูร : เสรีไทยในวันที่ใกล้ถูกลืม

สองชื่อนี้ต่างความหมายกันโดยสิ้นเชิง

ผมเชื่อว่า จำกัดเป็นหนึ่งในเสรีไทยที่มีชื่อเสียงมากที่สุด พอๆกับป๋วย   ดร.ป๋วย อึ้งภากรนั้นท่านรอดชีวิตจากสงคราม และวิถีชีวิตการงานของท่านส่งให้มีชื่อเสียงอุโฆษอยู่แล้วโดยไม่ต้องอาศัยอดีตของการเป็นเสรีไทยหนุน  ในขณะที่จำกัด เสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่ในเมืองจีน  แต่ด้วยเหตุว่าเป็นผู้ที่ไปปฏิบัติงานเสรีไทยสายในประเทศที่นั่นตามคำสั่งของนายปรีดี พนมยงค์   งานที่จำกัดทำย่อมมีความหมาย โดยเฉพาะเมื่อถูกนำไปเปรียบเทียบกับผลงานของเสรีไทยสายสหรัฐ หรือสายอังกฤษ ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีปริมาณมากกว่า  จำกัดจึงเป็นผู้ที่ตัวตายแต่ชื่อยัง ที่ผู้ที่นิยมศรัทธาต่อนายปรีดีจะนำมาอ้างอิงเสริมบทบ่อยมากในหนังสือหนังหา บทความนานาชนิด  ทุกวันนี้ก็ยังเติมเชื้อกันอยู่เรื่อยๆเพื่อไม่ให้เปลวไฟแห่งศรัทธานั้นดับไปจากความทรงจำของประชาชน

หากเสรีไทยอย่างจำกัดใกล้ถูกลืม  คนอื่นๆจะอยู่ในสถานะอย่างไรเล่า  เราจะต้องเขียนต้องเล่ากันขนาดไหนหรือ  เพื่อที่คนจะไทยจะให้ความสนใจต่อผู้ที่อุทิศตนทำงานเพื่อกอบกู้ชาติคณะนี้ โดยปลอดจากการเมือง

ผมว่า จำกัด พลางกูร ยังห่างวันที่ใกล้ถูกลืม  เพราะท่านเป็นเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุดในการต่อสู้ทางการเมืองของไทยหลังจากสงครามโลก  ซึ่งคนไทยได้แบ่งแยกความคิดกันคนละลัทธิอันเป็นผลมาจากสงครามเย็น  ซึ่งทุกวันนี้ เจ้าภาพเขาเลิกเล่นเกมนี้กันแล้ว แต่ในเมืองไทยยังไม่จบขบวนการของมัน


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 18 ธ.ค. 14, 20:21
มาลงชื่อจองที่เรียนแถวแรก ไม่ว่าชื่อไหนก็จะรออ่านค่ะ ;D


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ธ.ค. 14, 21:06
ก่อนอื่น ผมจะขออนุญาตนำบทความในหนังสือ ชื่อตามปกว่า  “ ตำนานเสรีไทย ” เรียบเรียงโดย คร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ผู้ซึ่งเป็นเสรีไทยท่านหนึ่งเช่นกัน  หนังสือที่ท่านมานะพยายามเรียบเรียงขึ้นนี้ความหนาถึง ๙ เซนติเมตร มีจำนวนทั้งสิ้นด้วยกัน ๑๙๑๕ หน้า โดย ๑๖ หน้าในจำนวนทั้งหมดเป็นเรืองราวโดยเฉพาะของนายจำกัด พลางกูร นอกนั้นเป็นประวัติความเป็นมาของขบวนการเสรีไทย และเรื่องราวโดยเฉพาะของเสรีไทยท่านอื่นๆ(น่าจะ)ครบทุกคน

เพื่อปูความรู้ความเข้าใจในประวัติ และผลงานของเสรีไทยท่านนี้ ก่อนที่จะดำเนินเรื่องไปตามชื่อที่ตั้งไว้นั้น ผมขอโอกาสที่จะลงเรื่องราวของนายจำกัดตั้งแต่ต้นจนจบให้อ่านอย่างไม่สะดุด  แต่จะซอยเป็นช่วงๆไม่ให้ยาวจนเกินไป โดยผมจะใช้เวลาสักสองสามวันก่อนที่จะเชิญคุณเพ็ญชมพู หรือท่านอื่นๆเข้ามาในทุกประเด็นที่แล้วแต่จะต้องการ  แต่ถ้าทนไม่ไหวจริงๆก็เชิญตามสบายนะครับ ไม่ว่ากัน


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ธ.ค. 14, 21:07
ในบรรดาเสรีไทย ผู้ซึ่งอุทิศตนเพื่อสนองคุณชาติบ้านเมืองในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น พันตรีจำกัด พลางกูร มีความโดนเด่นเป็นพิเศษ  ไม่เพียงแต่แสดงความกล้าหาญและความเสียสละ อาสาเป็นตัวแทนองขบวนการใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทย เดินทางฝ่าความทุรกันดารออกไปติดต่อกับโลกภายนอกเป็นคนแรกเท่านั้น หากยังได้จบชีวิตคนหนุ่มอันมีค่ายิ่งต่อบ้านเมืองในขณะที่กำลังปฏิบัติภารกิจความเป็นความตายของชาติที่นครจุงกิง เมืองหลวงของจีน ห่างไกลจากมาตุภูมิและบุคคลอันเป็นที่รักและห่วงใย ประวัติศาสตร์เสรีไทยไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการตายของนายจำกัด พลางกูร คือ รังสีที่ฉาบวิญญาณรักชาติของผู้ที่อยู่เบื้องหลังให้แข็งแกร่งสำหรับการฝ่าฟันอุปสรรคไปสู่จุดมุ่งหมายโดยปราศจากความย่อท้อจนถึงที่สุด


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ธ.ค. 14, 21:08
นายจำกัด พลางกูร ถือกำเนิดในครอบครัวของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในวงการศึกษาของชาติ ได้รับทุนจากกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ) ไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2474 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียง 7 เดือน นายจำกัด เริ่มศึกษาที่โรงเรียนมัธยมบรอมโกรฟ จนกระทั่งสอบเข้าศึกษา ณ วิทยาลัยบอลลิโอล มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้ในปี 2479 ซึ่งเป็นสถานที่ศึกษาแห่งเดียวกับพระเจ้าวงวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ต่อมาในปี 2481 ก็สำเร็จรับปริญญาเกียรตินิยมในสาขาวิชาปรัชญา รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ เมื่อกลับประเทศไทยได้เข้ารับราชการในกระทรวงศึกษาธิการชั่วระยะหนึ่ง แล้วถูกให้ออกจากราชการเพราะมีทัศนคติต่อต้านการใช้อำนาจของผู้มีอำนาจ จากนั้น จึงประกอบอาชีพครูอย่างอิสระ จนกระทั่งวันที่ 8 ธันวาคม 2484 เมื่อญี่ปุ่นก่อสงครามมหาอาเซียบูรพาขึ้น

พ.ต. จำกัด พลางกูร เขียนถึงเหตุการณ์หลังจากกองทัพญี่ปุ่นบุกประเทศไทยว่า ในวันนั้นได้ปรึกษากับนายเตียง ศิริขันธ์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นสหายร่วมอุดมการณ์ประชาธิปไตยว่า ควรหาทางเดินทางออกไปนอกประเทศ หรือไม่ก็จัดตั้งรัฐบาลใหม่ขี้นทางภาคอีสาน ปฏิบัติการณ์ต่างๆ เหล่านี้ต้องการหัวหน้าซึ่งมีบารมีและมีแนวคิดที่คล้ายคลึงกัน ซี่งก็เห็นมีแต่นายปรีดี พนมยงค์ ผู้เดียวที่จะทำหน้าที่เป็นผู้นำ “คณะกู้ชาติ” ได้ ดังนั้น นายจำกัด, นายเตียง, และมิตรร่วมอุดมการณ์อีกหลายคน อาทิ นายถวิล อุดล ผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นต้น จึงเดินทางไปพบนายปรีดี และมอบคณะกู้ชาติของพวกตนให้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของนายปรีดีโดยเด็ดขาด และจะอยู่ในระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด รวมทั้งอุทิศตัวหรือแม้กระทั่งชีวิตสำหรับการทำงานเพื่อชาติ


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ธ.ค. 14, 21:10
เวลาผ่านไปปีเศษ จนถึงต้นปี 2486 นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และหัวหน้าขวนการต่อต้านญี่ปุ่น ตัดสินใจที่จะส่งผู้แทนของขบวนการออกไปติดต่อประสานงานกับ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช  อัครราชทูตไทย  ณ กรุงวอชิงตัน ซึ่งได้จัดตั้งองค์การที่เรียกตัวเองว่า “เสรีไทย” ขึ้น เพื่อช่วยสหรัฐอเมริกาในการทำสงครามกับญี่ปุ่น ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ใช้วิทยุ”เสียงอเมริกา” ปลุกจิตสำนึกของคนไทยที่อยู่ในประเทศไทยให้ร่วมกันต่อสู้ผู้รุกรานมาโดยตลอด หลังจากใช้เวลาคัดเลือกบุคคลที่มีความสามารถ ความเหมาะสม และไว้วางใจได้เพื่อเป็นตัวแทนของขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นอยู่นานพอสมควร ในที่สุดนายปรีดี พนมยงค์ จึงมอบความไว้วางใจให้แก่นายจำกัด พลางกูร ซึ่งรับอาสาที่จะปฏิบัติการอันสำคัญยิ่งนั้นด้วยความเต็มใจ กระตือรือร้น และเสียสละ ความเหมาะสมของนายจำกัด มิใช่เพียงแต่เป็นผู้ที่เปี่ยมด้วยอุดมการณ์ และมีความเข้าใจในภารกิจของขบวนการอย่างดียิ่งเท่านั้น หากนายจำกัดยังสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งจะสร้างความเชื่อถือให้แก่ทางอังกฤษอีกด้วย นอกจากนั้น นายจำกัดเคยเป็นเพื่อนบ้านของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ที่ซอยร่วมฤดี และเคยสนทนาวิสาสะกันอยู่เสมอก่อนที่ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช จะไปรับตำแหน่งอัครราชทูต ณ กรุงวิชิงตัน นอกเหนือไปจากการเป็นศิษย์เก่าของออซ์ฟอร์ดด้วยกัน ภูมิหลังต่าง ๆ เหล่านี้คงจะช่วยให้นายจำกัดสามารถติดต่อกับ ม.ร.ว. เสนีย์ ได้สะดวกกว่าผู้อื่น และนายจำกัดยังมีน้องชายคนหนึ่งกำลังศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ (นายกำแหง พลางกูร) และอีกคนหนึ่งในสหรัฐอเมริกา (นายบรรเจิด พลางกูร)


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ธ.ค. 14, 21:11
ภารกิจที่หัวหน้าขบวนการเสรีไทยมอบหมายให้นายจำกัด พลางกูร เป็นผู้แทนไปดำเนินการ ประกอบด้วยสาระสำคัญ 3 ประการคือ

(1)   ชี้แจงสถาการณ์ภายในประเทศไทยให้โลกเข้าใจอย่างถูกต้องว่ามิตรภาพระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ตลอดจนประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรอื่นๆ มิได้เปลี่ยนแปลง การประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐฯ โดยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2548 นั้น ถือว่าเป็นโมฆะ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนชาวไทย และให้ชี้แจงแก่ฝายสัมพันธมิตรด้วยว่า รัฐบาลไทยขณะนั้นตกอยู่ภายใต้อำนาจญี่ปุ่นและปราศจากอิสรภาพโดยแท้จริง

(2)   ชี้แจงว่าได้มีองค์การต่อต้านญี่ปุ่นเกิดขึ้นในประเทศไทยแล้ว โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นหัวหน้า และต้องการจัดตั้งรัฐบาลไทยที่เป็นอิสรเสรีขึ้นในดินแดนของฝ่ายสัมพันธมิตร เช่น ในอินเดีย เป็นต้น รัฐบาลพลัดถิ่นนี้ประกอบด้วยผู้นำที่จะหลบออกไปจากประเทศ โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ รัฐมนตรีบางคนในคณะรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยไม่น้อยกว่า 10 คน จึงขอให้รัฐบาลอังกฤษและรัฐบาลสหรัฐฯ รับรองรัฐบาลใหม่นี้ว่าเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย และมีความสัมพันธ์ทางการทูตต่อการกันตามปกติ อีกทั้งขอให้รัฐบาลอังกฤษซึ่งครอบครองอินเดียอยู่ในขณะนั้น ให้ความเอื้อเฟื่อ และให้เกียรติแก่รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นในอินเดียตามสมควร เช่นเดียวกับที่ให้แก่รัฐบาลนอร์เวย์ และ รัฐบาลเนเธอแลนด์พลันถิ่น

(3)   ขอให้รัฐบาลอังกฤษและสหรัฐฯ ปลดปล่อยเงินของรัฐบาลไทยที่ฝากไว้ในประเทศทั้งสองตั้งแต่ก่อนสงคราม และถูกกักกันไว้ เพื่อให้รัฐบาลไทยพลัดถิ่นได้ใช้เป็นทุนในการดำเนินสงครามกับญี่ปุ่น


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ธ.ค. 14, 21:14
ตอนเย็นวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2486 นายจำกัด พลางกูร ไปรับประทานอาหารและปรึกษาเรื่องทั่วๆไปกับนายปรีดี พนมยงค์ ที่ทำเนียบท่าช้าง หัวหน้าขบวนการเสรีไทยมอบเงินรวมทั้งธนบัตรจุงกิงจำนวนหนึ่งและทอง ให้นายจำกัดไว้ขายในยามขัดสน จนกระทั่งเวลาประมาณ 21.30 น. นายจำกัด พลางกูร จึงลากลับ นายปรีดีได้ให้โอวาทและกล่าวว่า
   
“เพื่อชาติ เพื่อ Humanity นะคุณ เคราะห์ดีที่สุด อีก 45 วันก็คงได้พบกัน เคราะห์ไม่ดีนัก อย่างช้าอีก 2 ปีก็ได้พบกัน และถ้าเคราะห์ร้ายที่สุด ก็ได้ชื่อว่าสละชีวิตเพื่อชาติไป”

นายจำกัด พลางกูร ตื้นตันและน้ำตาคลอ เมื่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เดินตามลงมาส่งถึงบันใดตึก


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ธ.ค. 14, 07:01
วันรุ่งขึ้นนายจำกัด พลางกูร ออกเดินทางโดยรถไฟจากหัวลำโพง พร้อมด้วยนายฉลบชลัยย์ ผู้ภรรยา ซึ่งได้พบกันตั้งแต่ครั้งศึกษาอยู่ในอังกฤษ และจะไปส่งสามีที่ชายแดนไทย ผู้ร่วมทางอีกคนหนึ่งคือ นายไพศาล ตระกูลลี้ ซึ่งนายหลุย พนมยงค์ แนะนำมา หนุ่มลูกจีนผู้เป็นนักเรียนจากสิงคโปร์ รู้ภาษาจีนหลายภาษา จึงทำหน้าที่เป็นล่าม เมื่อไปถึงสถานีอุดรธานี นายเตียง ศิริขันธ์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร ได้เตรียมรถยนต์ไว้สำหรับการเดินทางต่อไปจนถึงจังหวัดนครพนม นายเตียงกับนางนิวาศน์ ศิริขันธ์ และนางฉลบชลัยย์ ไปส่งคนทั้งสองข้ามแม่น้ำโขงไปท่าแขกฝั่งลาวก่อนที่จะอำลาจากกัน

ก่อนออกเดินทาง นายจำกัด พลางกูร ได้ไปเฝ่าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพื่อขอประทานหนังสือแนะนำตัวไปถึงศาสตราจารย์ ยอร์จ เซเดย์ ปราชญ์ชาวฝรั่งเศสนักอ่านจารึกภาษาโบราณ ซึ่งเคยรับราขการเป็นเจ้าหน้าที่หอพระสมุดแห่งชาติในกรุงเทพฯ ขณะนั้นทำงานอยู่กับสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ (Ecole Francaise d’Extreme Orient) ด้วยความช่วยเหลือของยอร์จ เซเดย์ และนายบริอองวาล เลขานุการสถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ นายจำกัด พลางกูร และนายไพศาล ตระกูลลี้ สามารถเดินทางผ่านเข้าสู่ประเทศจีนทางเมืองมองกาย-ตงเฮง เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2486 โดยใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ นอกจากจะต้องผ่านพื้นที่ซึ่งไม้คุ้นเคยแล้วยังต้องหลบหลีกทหารและสายลับญี่ปุ่น ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในอินโดจีนอีกด้วย


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ธ.ค. 14, 07:49
ทันที่ที่นายจำกัด พลางกูร เดินทางเข้าสู่ดินแดนจีนที่เมืองมองกาย-ตงเฮง ทางการทหารของจีนก็ได้เข้าประกบตัวและนำไปที่พักที่เมืองลิวเจา นายจำกัดขอให้เจ้าหน้าที่ของจีนช่วยส่งโทรเลขถึง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่กรุงวิชิงตัน ถึงจอมเพลเจียงไคเช็ค และถึงเอกอัครราชทูตอังกฤษและอเมริกาในจุงกิง โทรเลขของนายจำกัดถูกส่งออกไปเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ต่อมาในวันที่ 4 เมษายน ก็ได้รับคำตอบจากสถานทูตอังกฤษใน จุงกิงให้ติดต่อกับกงสุลใหญ่อังกฤษที่เมืองกุยหลิน ซึ่งอยู่เหนือเมืองลิวเจาไปเล็กน้อย ส่วนสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ก็ตอบอย่างแกนๆ มาว่า กระทรวงต่างประเทฯสหรัฐฯ รับทราบแล้ว

ที่เมืองกุยหลิน นายจำกัด พลางกูร พบกับนายจี.อี. สต็อคลี ผู้รักษาการกงสุลใหญ่อังกฤษ และขอให้สต็อคลีส่งโทรเลขไปยังกระทรวงต่างประเทศอังกฤษที่ลอนดอน ให้ติดต่อกับเสอร์ โจชายอา ครอสบี้ อดีตทูตอังกฤษประจำกรุงเทพฯ และนายฟิตซ์เจอรรัลด์ อดีตผู้จัดการธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ในกรุงเทพฯ ทั้ง 2 คนนี้รู้จักนายจำกัด พลางกูร สามารถให้คำยืนยันได้ว่าเขาเป็นใคร ทหารจีนซึ่งประกบตัวนายจำกัดอยู่พยายามไม่ให้เข้าได้พบกับกงสุลอังกฤษ และขอเข้าฟังการสนทนาด้วย ทำให้นายจำกัดไม่สามารถพูดกับสต็อคลีได้อย่างเต็มที่ สต็อคลีแนะนำให้นายจำกัด พลางกูรติดต่อกับหน่วยความช่วยเหลือของกองทัพบกอังกฤษ (บี.เอ.เอ.จี) และได้ให้ชื่อ พ.อ. ลินเซย์ ที ไรด์ ผู้บังคับการหน่วย กับ พ.ต. ไดเนซส์ จันทรา มิสรา นายทหารอินเดียประจำหน่วนยซึ่งเป็นผู้ช่วยของ พ.อ. ไรด์ ด้วย


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 19 ธ.ค. 14, 09:02
บันทึกของ 'จำกัด พลางกูร' ใน'เรื่องสั้นสันติภาพ'ท่านได้เล่าเรื่องนี้ไว้เหมือนกันค่ะ แต่อย่างย่นย่อ


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ธ.ค. 14, 09:40
วันที่ 7 เมษายน 2486 นายจำกัด พลางกูรส่งโทรเลขจากกุยหลินถึงม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ที่กรุงวอชิงตันอีกฉบับหนึ่งว่า “(ผม)กำลังปฏิบัติภารกิจที่สำคัญมากและด่วนมาก ถูกกักตัวไว้(ที่กุยหลิน)ถึง 12 วันแล้ว ขอให้จัดการส่ง(ผม)ไปจุงกิงทันที  เป็นเรื่องลับ”

วันรุ่งขึ้น นายจำกัด พลางกูร ได้พบกับ พ.ต. มิสรา แต่การสนทนาถูกขัดจังหวัดโดยนายทหารจีน ซึ่งแจ้งว่านายจำกัด จะติดต่อกับอังกฤษไม่ได้ เฉพาะกับจีนเท่านั้นจึงจะติดต่อกันได้ และกล่าวว่าเขาได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาห้ามมิให้นายจำกัด ติดต่อกับหน่วย บี.เอ.เอ.จี แต่กระนั้นในวันต่อมา นายจำกัด ก็ถูกพาตัวไปพบกับ พ.ต.มิสรา อีกครั้งที่กองบัญชาการของ บี.เอ.เอ.จี  ขณะที่สนทนากัน มิสราให้นายจำกัดเขียนรายงานเกี่ยวกับกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทย เพื่อเสนอต่อ พ.อ.ไรด์ นายทหารจีนซึ่งนั่งฟังอยู่ด้วยก็ขัดขึ้นว่านายจำกัด ไม่ควรทำตามคำขอของมิสราก่อนที่จะได้รับฉันทานุมัติจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารของจีน


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ธ.ค. 14, 09:41
นายจำกัด พลางกูร บันทึกไว้ในไดอารี่ของเขาว่า “นับว่าเป็นโชคดีสำหรับผม ที่ผมสามารถหลบไปพักกับพันเอกไรด์  ผู้ซึ่งรับฟังเรื่องของผมด้วยความเห็นอกเห็นใจ ทั้งนี้ก็เพราะเขาเป็นนักเรียนเก่าออซ์ฟอร์ด (เช่นเดียวกับผม) ผมแจ้งให้เขาทราบถึงความยากลำบากต่างๆ และขอให้เขาช่วยเหลือให้ผมได้เดินทางไปกรุงลอนดอน”

   ในการสนทนากันกลางดึกคืนนั้น นายจำกัดเล่าถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในประเทศไทยหลังการรุกรานของญี่ปุ่น พ.อ. ไรด์ แนะนำว่าควรจะเขียนรายงานเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทยอย่างละเอียด รวมทั้งประวัติส่วนตัวและเรื่องการเดินทางจากเมืองกรุงเทพฯ มาเมืองจีน บุคคลทั้งสองปรึกษากันถึงวิธีส่งข่าวของนายจำกัด ไปยังขบวนการใต้ดินที่กรุงเทพฯ ทางวิทยุ นายจำกัดว่าควรจะใช้ออล อินเดีย เรดิโอ และ พ.อ. ไรด์ โน้มน้าวให้ใช้วิทยุจุงกิง ส่วนข้อความจะส่งเป็นโค้ดว่า “จางและหลี ได้มาถึงเมืองจีนแล้ว”


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ธ.ค. 14, 10:07
เมื่อมาถึงจุงกิงแล้ว นายจำกัด พลางกูรถูกพาตัวมาพบกับดร.เค.ชี.วู แห่งกรรมการเมืองซึ่งรักษาราชการแทนดร. ที.วี.ซุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน นายจำกัดร้องเรียน ดร. วู ถึงการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่จีนที่มีต่อเขา และกล่าวว่างานของเขามีความสำคัญและทำอย่างสุจริตใจ ดร. วู ตอบว่าเจ้าหน้าที่ของจีนไม่อาจให้การรับรองต่อนายจำกัดได้ จนกว่าจะพิสูจน์ตัวเองได้ว่าเขาเป็นใคร  ครั้งแรกทางจีนคิดว่าเขาเป็นจารชน แต่บัดนี้ทราบแล้วว่านายจำกัด เป็นสมาชิกคนหนึ่งของขบวนการใต้ดินในประเทศไทย นายจำกัด พลางกูรกล่าวว่า ถ้าหากจีนไม่รับรองก็ขอให้ส่งเขาไปกรุงวอชิงตัน ดร.เค.ซี.วู ตอบว่า รัฐบาลจีนก็ไม่รับรองม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชด้วยเช่นกัน เพราะเป็นผู้ที่จอมพล ป. พิบูลสงครามส่งไปวอชิงตันก่อนที่จะมีขบวนการเสรีไทย


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ธ.ค. 14, 10:10
ดร. วูขอให้นายจำกัดเสนอความต้องการที่เป็นรูปธรรม นายจำกัดกล่าวว่า แผนการเบื้องแรกที่ได้ตัดสินใจกันแล้วคือ การนำบุคคลสำคัญของขบวนการใต้ดินในเมืองไทยเล็ดลอดออกไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ดร.วูอธิบายว่าสหรัฐฯและอังกฤษได้มอบอำนาจในการดำเนินสงครามในตะวันออกไกลให้กับจอมพลเจียงไคเช็ค ดังนั้นเรื่องนี้จึงต้องนำเสนอเจียงไคเช็ค เพื่อขออนุมัติ นายจำกัด พลางกูร จึงขออนุญาตเข้าพบประมุขของรัฐบาลจีนเป็นการด่วน

จากนั้น เจ้าหน้าที่จีนนำนายจำกัด พลางกูร ไปพำนักอยู่ที่บ้านรับรองของกระทรวงการต่างประเทศจีน โดยมีเจ้าหน้าที่จีนชุดใหม่ให้ “การอารักขา” สองสามวันต่อมา นายจำกัดเตรียมประเด็นต่างๆ ที่จะเจรจากับจอมพลเจียงไคเช็ค ขณะเดียวกันก็พยายามติดต่อกับสถานทูตอังกฤษและสหรัฐฯในจุงกิง แต่ถูกขัดขวางโดยเจ้าหน้าที่จีนที่ควบคุมตัวเขาไว้ ถึงแม้ว่านายไพศาล ตระกูลลี้พอจะใช้ประโยชน์ในการส่งข่าวได้ แต่นายจำกัดก็ลังเลที่จะทำเช่นนั้น เพราะเกรงว่าทางจีนจะระแวงว่าเขาพยามยามติดต่อตกลงอะไรลับๆกับอังกฤษและสหรัฐฯ โดยไม่ให้ทางจีนรับรู้ด้วย ในที่สุดนายจำกัดก็อาศัยนายไพศาล ซึ่งอ้างกับทางการจีนว่าเป็นสมาชิกขององค์การชาวจีนต่อต้านญี่ปุ่นในเมืองไทย ลอบส่งข่าวไปยังสถานทูตอังกฤษในจุงกิง และส่งข่าวไปให้ พ.อ. ไรด์ ที่กุยหลิน


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ธ.ค. 14, 10:25
ก่อนที่นายจำกัด พลางกูรจะออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ได้มีการตกลงกันว่า ภายในเวลา 1เดือนภายหลังที่เดินทางไปถึงเมืองจีน นายจำกัดจะติดต่อให้อังกฤษส่งเครื่องบินทะเลมารับบุคคลสำคัญของขบวนการเสรีไทยที่หัวหิน เพื่อออกไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นในอินเดีย การเลือกเอาหัวหินเป็นที่นัดพบเพราะในฤดูร้อนช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม จะมีบุคคลชั้นสูงและครอบครัวไปพักผ่อนตากอากาศกันมาก ซึ่งจะทำให้ญี่ปุ่นไม่ระแวงสงสัย แต่เมื่อล่วงเข้าเดือนพฤษภาคม

นายจำกัดก็เหลือเวลาอีกเพียง 2สัปดาห์เท่านั้น เพราะหลังจากนั้นแล้วทะเลจะมีคลื่นลมจัด เครื่องบินทะเลลงไม่ได้ และญี่ปุ่นก็จะระแวงสงสัยด้วยว่าทำไมจึงมีบุคคลสำคัญไปชุมนุมกันอยู่ที่นั่น


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ธ.ค. 14, 10:28
วันที่ 1 พฤษภาคม 2486 เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวกรองของจีนแจ้งให้นายจำกัด ทราบว่าทางจีนได้รับโทรเลขจาก ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช สั่งให้นายจำกัด พลางกูรติดต่อเจรจาโดยตรงกับรัฐบาลจีนและรัฐบาลสหรัฐฯ และเน้นด้วยว่าไม่ให้ติดต่อกับอังกฤษ ข่าวสารที่ได้รับจากจีนนี้ไม่มีคำอธิบาย และก็ไม่มีคำสั่งใดๆตามมาอีก ทำให้นายจำกัดตกอยู่ภาวะที่สับสน

วันต่อมานายจำกัด พลางกูรบันทึกในไดอารี่ว่า

“ภายหลังอาหารกลางวัน ได้ออกเดินเล่นกับเฉิน(เจ้าหน้าที่อารักขาคนหนึ่ง) ข้ามไปฝั่งใต้ และกลับที่พักประมาณ 17.00 น. ได้รับประทานแซนด์วิช ซึ่งทันที่หลังจากนั้นก็รู้สึกปวดท้องอย่างมาก และความปวดก็เพิ่มขึ้นทุกขณะ ได้กินยาโดเวอร์ ซึ่งทำให้ทุเลาลงบ้างเล็กน้อย”


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ธ.ค. 14, 10:32
2-3 วันหลังจากนั้น นายจำกัดมุ่งที่จะส่งข่าวไปถึงอุปทูตอเมริกัน นายไพศาล ตระกูลลี้เป็นผู้นำจดหมายไปสถานทูตสหรัฐฯแล้วกลับมารายงานว่าได้พบกับเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่ง บอกว่าทราบถึงภารกิจของนายจำกัด ทาง อเมริกันสนับสนุนรัฐบาลจีนเป็นอย่างยิ่ง และขอให้นายจำกัดติดต่อกับจีนโดยตรง นายไพศาลได้ไปที่สถานทูตอังกฤษด้วยเช่นกัน แต่ทางสถานทูตบอกว่ายังไม่มีเรื่องที่จะแจ้งให้นายจำกัดทราบ

ช่วงเวลาเดียวกัน เจ้าหน้าที่ข่าวกรองของจีนแจ้งต่อนายจำกัด พลางกูร ว่าเขาได้ยินจากทางอังกฤษมาว่า เสอร์ โจซายอา ครอสบี้ อดีตอัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงเทพฯ ซึ่งนายจำกัดรู้จักและอ้างถึงนั้น ไม่ทราบเรื่องราวของขบวนการใต้ดินในประเทศไทย (ภายหลังสงคราม ข้อเท็จจริงได้ยืนยันว่าเสอร์โจซายอา ครอสบี้ และ นายฟิตซ์เจอรัลด์ อดีตผู้จัดการธนาคารฮ่องกงเซี่ยงไฮ้ในกรุงเทพฯ ไม่เคยได้รับการติดต่อสอบถามเกี่ยวกับนายจำกัด พลางกูร แต่ทางการจีนทำให้เข้าใจว่าได้ติดต่อสอบถามไปยังบุคคลทั้งสองแล้ว ซึ่งมีผลต่อนายจำกัดในทางลบ) เจ้าหน้าที่จีนแนะนำให้นายจำกัดเลิกคิดที่จะร่วมมือกับทางอังกฤษเสีย และว่าอังกฤษกับสหรัฐฯมีความขัดแย้งกัน ทางอังกฤษไม่พอใจที่สหรัฐฯส่งอาวุธให้จีน และได้ยึดอาวุธที่ส่งผ่านมาทางอินเดียอยู่เนืองๆ  นายจำกัดรู้สึกผิดหวังกับข่าวนี้มาก และเริ่มเชื่อว่าอังกฤษมีท่าทีต่อต้านภารกิจของเขา ซึ่งหมายถึงว่าแผนการที่จะจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในอินเดียจะต้องยกเลิกไป และตัวเขาก็จะต้องพึ่งพาจีนเท่านั้น เจ้าหน้าที่ข่าวกรองของจีนให้ข่าวแก่นายจำกัดว่า ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช และหน่วย โอ.เอส.เอส. ของสหรัฐฯ กำลังส่ง พ.ท. หม่อมหลวงขาบ กุญชร ทูตฝ่ายทหาร ณ กรุงวอชิงตัน เดินทางมาพบนายจำกัดที่จุงกิง


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ธ.ค. 14, 10:34
ขณะนั้นนายจำกัด พลางกูร คิดว่าจะเปลี่ยนสถานที่ที่บุคคลสำคัญของขบวนการเสรีไทยจะลอบออกไปตั้งรัฐบาลนอกประเทศ จากหัวหินไปยังระนองทางฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งอาจจะใช้เรือดำน้ำแทนเครื่องบินทะเลได้ นายจำกัดบันทึกในไดอารี่ว่า การปฏิบัติของจีนต่อตัวเขามีลักษณะที่เลวลง ถูกย้ายไปอยู่ชั้นใต้ดิน อาหารและบริการอื่นๆ ก็ไม่เพียงพอสำหรับความเป็นอยู่ นายจำกัด พลางกูร เริ่มขับถ่ายปนโลหิตและไม่สบายมาก เขาเริ่มรู้สึกหมดหวัง

ปลายเดือนพฤษภาคม เจ้าหน้าที่จีนนำเอกสารทีอ้างว่าเป็นของอังกฤษซึ่งแถลงจุดยืนต่อขบวนการเสรีไทยและต่อภารกิจของนายจำกัดมาให้อ่าน แต่ไม่ยอมให้สำเนา นายจำกัดพยายามบันทึกข้อความที่สำคัญของเอกสารฉบับนั้นไว้ในไดอารี่เท่าที่จะจดจำได้ ดังนี้


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ธ.ค. 14, 10:42
ลับมาก

รัฐบาลอังกฤษคิดว่า(ภารกิจของ)นายจำกัดเป็นเรื่องก่อนถึงเวลาอันควร เสนอมาโดยปราศจากแผนงานที่รอบคอบ

กระทรวงการต่างประเทศ(อังกฤษ)เห็นว่าเวลายังไม่เหมาะสมที่จะสนับสนุนขบวนการเสรีไทยให้ปฏิบัติการอย่างจริงจังในปัจจุบัน เพราะกองทัพไทยจะเป็นอุปสรรคมากกว่าที่จะให้ความช่วยเหลือ และถ้าหากว่าขบวนการเสรีไทยจะกระทำการใดๆลงไปในขณะนี้ ทหารญี่ปุ่นก็จะต้องโต้ตอบทันที และคนไทยที่ทรยศต่อชาติจะช่วยทำให้ญี่ปุ่นหมดปัญหาในการปกครองประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ขบวนการเสรีไทยควรจะเตรียมการอย่างรอบคอบเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการของสัมพันธมิตร และควรจะดำเนินการรุกทางด้านการเมืองต่อไปอย่างช้าๆ

ขณะนี้ ไม่มีปัญหาในเรื่องที่อังกฤษจะช่วยให้ผู้นำเสรีไทยเล็ดลอดออกมาจากประเทศทางทะเลหรือทางอื่นๆ ส่วนเรื่องการรับรองรัฐบาลของเสรีไทย หรือยกเลิกการกักกันทรัพย์สินของรัฐบาลไทยในอังกฤษก็ไม่เป็นปัญหา



กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ธ.ค. 14, 10:45
นายจำกัด พลางกูร บันทึกไว้ในไดอารี่ว่าอย่างน้อยที่สุดอังกฤษก็รับรู้ว่ามีขบวนการเสรีไทยอยู่ เขาเล่นงานอังกฤษว่าทำให้ภารกิจของเขาล้มเหลว และกล่าวหาว่าอังกฤษสนใจเฉพาะสงครามในยุโรป นายจำกัด พลางกูรรำพันว่า เขากำลังตกอยู่ในห้วงลึกแห่งความมืดมนที่สุดของความเศร้าสลด และรู้สึกว่าเขาคงจะพบจุดจบแห่งชีวิตในเวลาอันไม่นานนัก

ปลายเดือนเดียวกัน พล.ต. กริมสเตลบอกพ.อ. ไรด์ว่าเรื่องของนายจำกัด พลางกูรจบลงได้แล้ว และห้าม พ.อ.ไรด์ ยุ่งเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทยอีกต่อไป


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ธ.ค. 14, 10:51
วันที่ 8 เดือนต่อมา นายจำกัด พลางกูรทราบโดยบังเอิญว่า พ.ท. หม่อมหลวงขาบ กุญชร และเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกาจำนวนหนึ่งกำลังเดินทางมาจุงกิง และได้รับการบอกเล่าจากทางจีนว่า ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชจะส่ง ม.ล. ขาบมาพบเขา โอ.เอส.เอส.นั้นทราบดีว่านายจำกัดอยู่ในเมืองจีน แต่จีนไม่ยอมให้ผู้ใดพบนายจำกัด และไม่ยอมเปิดเผยว่าจีนกำลังควบคุมตัวอยู่ กลางเดือนเดียวกัน นายจำกัด บันทึกว่าไอและปวดศรีษะ ตระหนักดีแล้วว่าทางการจีนไม่ต้องการให้เขาติดต่อกับคนไทย และบันทึกไว้ว่า “ บางทีผู้การไรด์คิดถูกแล้วว่าจีนคงไม่ปรารถนาให้ผู้ใดตั้งกลุ่มต่อต้านญี่ปุ่นขึ้นในประเทศจีน และนี่คือเหตุผลว่าทำไมจึงเงียบหายกันไปหมด”

ด้วยเหตุผลบางประการซึ่งบัดนี้ก็ยังไม่กระจ่าง แต่อาจจะเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายๆอย่าง รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างชาติสัมพันธมิตรด้วยกัน ความคืบหน้าของสงครามในแปซิฟิก สถานการณ์ในประเทศไทยและความปลอดภัยของบรรดาเชลยศึกในไทย ปรากฏว่าท่าทีอย่างเป็นทางการของจีนที่มีต่อขบวนการเสรีไทยในประเทศไทย และต่อนายจำกัด พลางกูรเปลี่ยนแปลงไปอย่างกระทันหัน แต่ก็สายเกินกว่าที่จะช่วยชีวิตของนายจำกัดเอาไว้ได้


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ธ.ค. 14, 10:53
ตอนเช้าวันที่ 28 มิถุนายน 2486 เป็นเวลา 9สัปดาห์หลังจากเขาเดินทางมาถึงจุงกิง และประมาณ 3สัปดาห์ภายหลังที่เขาได้รับข่าวการเดินทางมาจุงกิงของเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา นายจำกัด พลางกูร ซึ่งอยู่ในสภาพของคนป่วยหนักถูกนำไปพบจอมพลเจียงไคเช็ค แม้ว่าร่างกายจะกะปลกกะเปลี้ยเต็มที่ แต่จิดใจยังคงแจ่มใส นายจำกัดรวบรวมพลังความรูสึกนึกคิดอันยิ่งใหญ่ทั้งหมดของเขา ด้วยความพยายามอย่างไม่เห็นแก่ชีวิตเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อปฏิบัติภารกิจให้บรรลุเป้าหมายให้จงได้ ดร.เค.ซี.วู และนายไพศาล ตระกูลลี้เดินทางมาด้วย หลังจากรออยู่ในห้องรับแขกของประธานาธิบดีประมาณ 5 นาที จอมพลเจียงไคเช็คจึงออกมาตอนรับ


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ธ.ค. 14, 10:57
ประมุขของแผ่นดินใหญ่กล่าวกับนายจำกัดเป็นภาษาจีน และไต่ถามถึงสุขภาพของเขาอย่างสุภาพ ดร. วูทำหน้าที่เป็นล่าม นายจำกัด พลางกูรพูดถึงภารกิจที่เขาได้รับมอบหมายในการเล็ดลอดเดินทางออกจากประเทศไทย เขาแจ้งต่อเจียงไคเช็คว่า คนไทยต้องการจะต่อสู่กับญี่ปุ่น และต้องการช่วยจีนรบกับญี่ปุ่น จอมพลเจียงไคเช็คกล่าวว่า ทางจีนถือว่าสัญญาร่วมเป็นสัมพันธมิตรระหว่างไทยกับญี่ปุ่นเป็นโมฆะ นายจำกัดอธิบายว่า เนื่องจากทางอังกฤษไม่เห็นชอบด้วยกับแผนการของขบวนการเสรีไทย ดังนั้นเขาจึงไม่สามารถจะดำเนินการให้บรรดาหัวหน้าเสรีไทยภายในประเทศหลบหนีออกมาได้ ประธานาธิบดีจีนชี้แจงว่า ความร่วมมือกับ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และทุกคนต้องรอฟังเสนีย์ว่าอย่างไรในเรื่องของนายจำกัด ขณะนี้ ม.ร.ว. เสนีย์ กำลังส่งคนมาจุงกิง จึงควรที่จะได้พบกับบุคคลผู้นั้นเสียก่อน นายจำกัด พลางกูร พยายามเน้นคุณประโยชน์ของขบวนการใต้ดินในประเทศไทย ซึ่งเจียงไคเช็คก็แสดงความเห็นด้วย และกล่าวว่าจีนพร้อมที่จะช่วยให้ไทยกู้เอกสารกลับคืนมา นายจำกัดบอกว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ทางจีนจะต้องติดต่อกับขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในไทย จอมพลเจียงไคเช็คตอบว่า จีนมีการติดต่อในทางลับกับไทยอยู่แล้ว


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ธ.ค. 14, 10:58
การสนทนาระหว่างนายจำกัด พลางกูรกับจอมพลเจียงไคเช็ค ใช้เวลาประมาณ 25นาที จากนั้นประธานาธิบดีจีนจึงหันมาพูดกับนายไพศาล ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้แทนของชาวจีนในประเทศไทย นายไพศาล ตระกูลลี้เรียนต่อประมุขของรัฐบาลจีนว่า คนจีนในประเทศไทยถูกข่มเหงรังแกมาก นับตั้งแต่จอมพล ป. พิบูลสงครามขึ้นมามีอำนาจ ขบวนการเสรีไทยกำลังพยายามที่จะโค่นอำนาจของจอมพล ป.และขับไล่กองกำลังญี่ปุ่นออกไปจากประเทศ ชาวจีนในเมืองไทยจึงขอความช่วยเหลือจากทางการจีน จอมพลเจียงไคเช็คบอกนายไพศาลว่าจะให้ความร่วมมือกับขบวนการเสรีไทยอย่างใกล้ชิด

หลังจากนั้น นายจำกัด บันทึกในไดอารี่ว่า เขาตั้งใจจะพูดกับเจียงไคเช็คเรื่องรัฐบาลไทยพลัดถิ่น แต่เวลาไม่อำนวย จึงหวังว่าจะมีโอกาสพูดเรื่องนี้และเรื่องอื่นๆ กับจอมพลเจียงไคเช็คอีก นายจำกัดบันทึกต่อไปว่า จากการสนทนากับผู้นำรัฐบาลจีน รู้สึกว่าจีนไม่ค่อยจะพอใจในอังกฤษในงานสงครามนัก และเป็นเรื่องที่แปลก เจียงไคเช็คกล่าวว่าจีนจะช่วยให้ไทยได้เอกราชคืนมา โดยไม่ได้แสดงให้เห็นว่าจีนต้องการอะไรจากประเทศไทย


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ธ.ค. 14, 11:03
เย็นวันนั้น นายจำกัด พลางกูร ได้รับโทรเลขจาก ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช มีสาระสำคัญว่า “ยินดีที่จะพบด้วยกำลังพยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ความสะดวกในการเดินทาง” นายจำกัดลอกข้อความในโทรเลขฉบับนั้นส่งไปให้เจียงไคเช็ค แต่เรื่องก็เงียบหายไปอีก

เหตุการณ์ตอนนี้ นายจำกัด พลางกูร ได้บันทึกเป็นรายงานถึงนายปรีดี พนมยงค์ ว่า

“....ทางจอมพลเจียงได้สั่งให้ ดร.ซุงไปถามเสนีย์ดูว่าอยากพบผมหรือไม่ และว่าขาบเป็นผู้แทนของเสนีย์ที่แท้จริงหรือไม่ เพราะเสนีย์เคยทำให้กระทรวงการต่างประเทศจีนเข้าใจไปอย่างนั้น

...เสนีย์ตอบมาทางจีนว่า ขาบไม่ได้เป็นผู้แทนของเขา และเรื่องผมจะไปพบเขาที่อเมริกานั้น ขอให้รัฐบาลจีนวินิจฉัยเอาเองว่าควรอนุญาตให้ผมไปหรือไม่ ถ้าทางจีนเห็นสมควรก็ให้ไป ถ้าไม่เห็นสมควรก็ไม่จำเป็นต้องไป เขา(เสนีย์)ว่าถ้ามีเรื่องอะไรที่จะพูดกับเขา เขาจะส่งผู้แทนของเขามาจุงกิงก็ได้....”



กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ธ.ค. 14, 11:06
ปรากฏว่าจีนไม่เห็นความจำเป็นที่นายจำกัด พลางกูร จะต้องไปสหรัฐอเมริกา ทำให้นายจำกัดต้องรอต่อไปอีก แต่ก็ไม่หมดความพยายาม และได้ส่งโทรเลขเร่งรัดม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชไปอีกหลายฉบับ แม้ว่าจะไม่ได้รับตอบ ความโอ้เอ้ล่าช้าในการติดต่อกับอัครราชทูตไทย ณ กรุงวิชิงตันนี้ไม่เป็นที่กระจ่างในเหตุผล


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ธ.ค. 14, 11:09
ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2486 สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น อังกฤษส่ง พ.ต.หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน และ พ.ต.ครุ อดีตผู้จัดการโรงไฟฟ้าวัดเลียบเดินทางมาพบนายจำกัด พลางกูรที่สถานทูตเอกอัครราชทูตอังกฤษในจุงกิง  โดยมีเสอร์ไฮรัส เซมัวร์เอกอัครราชทูตร่วมอยู่ด้วย จากข้อมูลที่ได้รับจากนายจำกัดทำให้กองกำลัง 136 ของอังกฤษนัดหมายให้องค์การใต้ดินในประเทศไทยเตรียมรับ ร.ต. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ แห่งปฏิบัติการ “พรีชาร์ด” กับคณะซึ่งจะเดินทางโดยเรือดำน้ำมาขึ้นบกที่พังงาในปลายปีนั้น  ม.จ. ศุภสวัสด์ฯได้รับมอบอำนาจจากอังกฤษให้ส่งคนเดินสาร (นายกระจ่าง ตุลารักษ์) นำหนังสือแจ้งการนัดหมายไปมอบให้นายปรีดี พนมยงค์ที่กรุงเทพฯ แต่กว่าที่ขบวนการเสรีไทยจะได้รับข่าวสาร ก็ล่วงเลยเวลาที่นัดหมายไปแล้วหลายเดือน ปฏิบัติการพริชาร์ดจึงประสบกับความล้มเหลวทั้งๆ ที่เรือดำน้ำมาถึงพังงาเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน แต่ไม่มีคนไปคอยรับ


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ธ.ค. 14, 11:12
วันที่ 2 สิงหาคม 2486 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่นายจำกัด พลางกูร ได้พบกับ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ทางการจีนให้ พล.ท.โจ๊ะ นายทหารคนสำคัญของจีนคนหนึ่งนำข่าวมาแจ้งแก่นายจำกัดว่า จอมพลเจียงไคเช็คอนุญาตให้เขาเดินทางไปอเมริกาแล้ว เพียงแต่ต้องรอเครื่องบินเท่านั้น ต้นเดือนต่อมานายสงวน ตุลารักษ์, นายแพง คุณะดิลก และ นายวิบูลวงศ์ วิมลประภา เดินทางมาถึงจุงกิงเพื่อติดตามข่าวของนายจำกัด พลางกูร ซึ่งเงียบหายไปหายเดือนตามที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าขบวนการเสรีไทย

ทางด้าน พ.ท.หม่อมหลวงขาบ กุญชร และเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา รุ่นที่ 1 ซึ่งมาถึงจุงกิงก่อนหน้านั้นได้มาพบนายสงวน ตุลารักษ์ และนายแพง คุณะดิลก กับเสรีไทยสายอเมริกาบางคน จากนั้นก็ไปพบนายจำกัด พลางกูรซึ่งกำลังป่วยหนัก นายจำกัดจึงทราบถึงความคืบหน้าของขบวนการเสรีไทย และได้รับการยืนยันว่าเขากับนายสงวน ตุลารักษ์ จะเดินทางไปวอชิงตันด้วยกันในอีกไม่นาน


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ธ.ค. 14, 11:15
แต่นายจำกัด พลางกูร ไม่ได้ไปกรุงวิชิงตันตามที่กำหนดไว้ เขาถึงแก่กรรมที่จุงกิง แพทย์จีนสันนิษฐานว่าเป็นโรคมะเร็งในลำไส้ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2486 ในวันหนุ่มฉกรรจ์ อายุเพียง 26 ปี และด้วยวาจาครั้งสุดท้ายที่แผ่วออกมาว่า

   “เพื่อชาติ-เพื่อHumanity….”

นายสงวน ตุลารักษ์ กับนายแดง คุณะดิลก จัดการฌาปนกิจศพนายจำกัด พลางกูรที่วัดเล็กๆ แห่งหนึ่งในจุงกิง และนำอัฐิของนายจำกัดพร้อมด้วยสมุดไดอารี่ซึ่งมีคุณค่าในประวัติศาสตร์เสรีไทยติดตัวไปด้วย เมื่อเดินทางไปกรุงวิชิงตัน แล้วนำมามอบให้นายปรีดี พนมยงค์ เมื่อนายสงวนเดินทางกลับประเทศไทยในตอนปลายสงคราม

อัฐิของนายจำกัด พลางกูร ได้รับการประดิษฐานอยู่ชั้นบนของตึกโดมในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง โดยมีนักเรียนนายสิบสารวัตรทหารผลัดเปลี่ยนเวรกันถืออาวุธเป็นเกียรติตลอด 24 ชั่วโมง ภายหลังวันสันติภาพ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศทหารให้นายจำกัด พลางกูร เป็นพันตรี

ปัจจุบัน อัฐิของ พ.ต. จำกัด พลางกูร บรรจุอยู่ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ธ.ค. 14, 11:19
เมื่อข่าวการเสียชีวิตของนายจำกัด พลางกูร ไปถึงกรุงวอชิงตัน ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ได้แสดงความรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งไว้ในบันทึกประจำวัน อัครราชทูตไทยอาจจะตระหนักว่าความล่าช้าในการจัดการให้นายจำกัดเดินทางมาสหรัฐอเมริกามีส่วนอยู่บ้างที่ทำให้นายจำกัด พลางกูร หมดโอกาสที่จะรับใช้ชาติบ้านเมืองได้มากไปกว่าที่เขาได้กระทำไปแล้ว แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น การตัดสินใจต่อปฏิบัติการใด ๆ ในยามสงครามย่อมต้องการความมั่นใจและความรอบคอบเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม จากบันทึกประจำวันของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ได้สะท้อนความจริงว่า หัวหน้าเสรีไทยในสหรัฐฯรู้จักนายจำกัด พลางกูรเป็นอย่างดี และเห็นคุณงามความดีของเขา ดังที่ได้เขียนถึงความรู้สึกเกี่ยวกับนายจำกัด พลางกูร ไว้บางตอนว่า

   “...ยิ่งคิดก็ยิ่งน่าสงสารและนับถือจำกัด คนดีที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย จำกัดตายคราวนี้ไม่ได้ตายเปล่าให้โลกลืมอย่างคนทั้งหลาย จำกัดอาจจะเป็นคนหัวดื้อและบ้าบิ่น แต่ตลอดชีวิตเขาเป็นคนติดตามแสวงความจริง เพราะเหตุนี้จึงถูกรังแกมาแล้ว แม้แต่ในชีวิตอันสั้นและที่ตายก็อาจจะตายเพราะพูดจริงทำจริงนั่นเอง วีรบุรุษจำกัด วิญญาณของท่านจะอยู่ที่ไหนก็ตาม  ขอจงเป็นสุขเถิด เราทั้งหลายที่ยังมีชีวิตอยู่เบื้องหลังจะรับช่วงดำเนินงานของท่านต่อไปจนสำเร็จ ท่านอุทิศชีวิตให้แล้ว งานอันมีเกียรติยิ่งที่จะกอบกู้เอกสารราชของไทย...
   ....เพราะจำกัดตาย ข้าพเจ้าจึงเห็นแล้วว่ายังมีเกียรติสูงสุดอันพึงใฝ่สูงกว่าเกียรติของการเป็นนายกรัฐมนตรี ใหญ่ยิ่งกว่าเกียรติของกษัตริย์ เกียรติอันนั้นคือ เกียรติของผู้ตายเพื่อชาติ วงศ์กษัตริย์มีวันล้ม ตำแหน่ง ร.ม.ต. มีวันเปลี่ยนมือ แต่เกียรติของผู้ที่ตายอย่างจำกัดนี้ไม่มีใครจะแย่งไปจากเขาได้ เขาตายแล้วไม่สูญ.....

   ขอให้วิญญาณของจำกัดไปสู่สุคติเถิด เราผู้มีชีวิตอยู่เบื้องหลังจะไม่นิ่งดูดายให้เขาตายเปล่า เมล็ดพืชอันใดที่จำกัดได้หว่านลงไว้แล้วด้วยดีเพื่อเอกราชของชาติ เราจะเก็บเกี่ยวรวบผลเอาไว้ประดับเกียรติของเขาต่อไป...”


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ธ.ค. 14, 11:29
โชคดี วันนี้ได้คุณหมู เลขาของผมเองช่วยพิมพ์ให้ จากที่คิดว่าต้องใช้เวลาสองสามวัน ก็กลายเป็นแค่สองสามชั่วโมง การคัดลอกเอกสารซึ่งได้มาจากบันทึกของนายจำกัด พลางกูรโดยตรง รวมทั้งของม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมท ผ่านการเรียบเรียงโดยเสรีไทยตัวจริง ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร มานำลงในกระทู้นี้โดยไม่ตัดทอนเสริมแต่ง จึงพร้อมที่จะใช้อ้างอิงได้แล้ว

จึงขอเชิญคุณเพ็ญชมพูและทุกท่าน นำเสนอเรื่องราวอื่นๆที่พบในเน็ท โดยกล่าวถึงเสรีไทยท่านนี้ในทัศนคติต่างๆบ้างได้แล้วครับ

 


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ธ.ค. 14, 13:14
ระหว่างที่รอคุณเพ็ญในเรื่องที่เกี่ยวกับเสรีไทยในวันที่ใกล้ถูกลืม
ผมขอนำตัวอย่างการอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์จากความเสียสละของนายจำกัด พลางกูร จากบางเวปเพจที่หาเจอบนเน็ท  
บทความที่ ๑๘๑. สุลักษณ์ ศิวรักษ์ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องท่านปรีดีฯ

ถาม เรื่องเสรีไทย อาจารย์ปรีดีกับอาจารย์เสนีย์ มีบทบาทอย่างไร

ส. คุณต้องเข้าใจนะว่า เสนีย์น่ะเป็นประเด็นเล็กมากในขบวนการเสรีไทยทั้งหมด วิธีจะดูนี่ คุณต้องถามคนรุ่นนั้นดู อาจารย์เสนีย์นี่แกนึกว่าแกใหญ่ตลอดเวลา ข้อเสียของเสนีย์นี่ แกสอบได้ที่ ๑ เป็นนักเรียนอังกฤษแกเลยนึกว่าแกที่หนึ่งตลอดเวลา ความจริงแกเล็กมากในขบวนการเสรีไทย คุณอย่าเชื่อผม คุณไปถามนักเรียนไทยในอเมริกาเวลานั้นทั้งหมด ไม่มีใครเขานับถือชอบพอเสนีย์ คุณอ่านหนังสือที่พระพิศาลสุขุมวิทเขียน หลังสงครามแล้วไปติดต่อกับอเมริกาต่างๆ ก็ชัดเจนว่าไม่ได้ติดต่อผ่านเสนีย์เลย ติดต่อกับอเมริกาโดยตรง

เพราะฉะนั้นเสนีย์แกมีบทบาท ไม่ใช่ไม่มีบุญคุณ แกมี แต่บทบาทและบุญคุณแกน้อยมาก แต่แกนึกว่าแกยิ่งใหญ่ คุณลองนึกดูว่าแกยิ่งใหญ่เท่าท่านปรีดีหรือไม่ ถ้าไม่มีอาจารย์ปรีดี ทำสำเร็จได้หรือไม่ ทำไม่ได้ ท่านปรีดีเวลานั้นท่านเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วย สำคัญเหลือเกิน

ท่านติดต่ออังกฤษ อเมริกาโดยตรง เสนีย์เข้ามาเกี่ยวน้อย แล้วถ้าเสนีย์ทำดีๆ แล้วคุณจำกัด พลางกูรจะไม่ต้องตาย แต่คุณเสนีย์สนใจแต่ตัวเอง ลองไปถามนักเรียนไทยดู...แกเป็นคนแคบ เป็นคนไม่กว้างเลยและเป็นคนที่ไม่มีเวลาให้กับคนอื่น


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ธ.ค. 14, 13:17
ถาม เรื่องเสรีไทยที่ชื่อจำกัด พลางกูร ที่ถูกส่งไปเมืองจีนแล้วอาจารย์เสนีย์ ปราโมชบอกไม่รู้จัก

ส. เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่อาจารย์ปรีดีส่ง(นายจำกัด)ไปเมืองจีนจริง เรื่องมันซับซ้อนมาก ถ้ามาพูดตอนนี้มันจะไขว้เขว มีคนสงสัยว่าจีนจะแอบฆ่า อะไรต่างๆแต่อันนี้ก็พิสูจน์ไม่ได้ พูดกันไปก็ทะเลาะกันเปล่า ๆ แต่ที่ท่านไปตายประเทศจีน ที่จริงเรื่องนี้พูดกันตรงไปตรงมาแล้ว เขาไม่มีเอกสารเปิดเผย แล้วคนที่นั่นเขายังอยู่ เป็นใหญ่เป็นโต เป็นหัวหน้าพรรคเวลานี้ ท่านปรีดีติดต่อให้เขาไปคนแรก ที่เขาอ้างว่าเขารักชาติ แต่เขาไม่ไป! ที่ให้เขาไปเพราะมันมีประโยชน์ เพราะหัวหน้าเสรีไทยในอเมริกาเป็นหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เขาอ้างว่ารักชาติ แต่เขารักชาติโดยทำเฉพาะสิ่งที่เขาจะได้หน้า นี่มันเสี่ยงชีวิต คุณจำกัดแกก็ไป แกเป็นคนใจนักเลง มีวิชาความรู้ไม่น้อยกว่าคึกฤทธิ์ แกก็เสียสละไป แล้วไปก็ไม่ใช่ไปง่าย ภรรยาไปส่งกันที่ชายแดน ข้ามไปเมืองลาว จากลาวข้ามไปญวน จากญวนถึงจะทะลุเข้าไปทางฮานอย ต้องหาทางเข้าเมืองจีนเอง เรื่องมันหโหฬาร


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ธ.ค. 14, 13:21
ถาม ภาพที่ออกมานี่ในขบวนเสรีไทย อาจารย์เสนีย์จะเด่นมาก

ส. อ้าว ธรรมดาที่คุณเรียนที่เค้าจะต้องยกย่องเสนีย์เรื่องเสรีไทย การเปลี่ยนแปลงการปกครองนี่ก็ไปยกย่องเจ้าคุณพระยามโนฯ เขาพยายามลบท่านปรีดีฯออกจากประวัติศาสตร์เพราะอะไร? เพราะประวัติศาสตร์ไทยเป็นประวัติศาสตร์ของอธรรม หลวงประดิษฐ์มนูธรรมท่านอยู่ฝ่ายธรรมะ ผมเองก็เติบโตมาด้วยการเกลียดหลวงประดิษฐ์ฯ เพราะว่าประวัติศาสตร์ไทยมอมเมา ให้เห็นว่าประชาธิปไตยเป็นของเลว ราชาธิปไตยเป็นของดี หลวงประดิษฐ์ฯท่านอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย คุณเสนีย์อยู่ฝ่ายราชาธิปไตย เขาเป็นหม่อมราชวงศ์ ประชาธิปัตย์นี่ก็อยู่ฝ่ายราชาธิปไตยไม่ได้อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย แล้วเวลานี้พรรคการเมืองทั้งหมดนี่มีแนวโน้มจะกลับไปหาราชาธิปไตย

ดูซิระบบโรงเรียน ระบบหนังสือพิมพ์ก็ปกครองด้วยระบบราชาธิปไตยทั้งนั้น มีฟังเสียงผู้น้อยหรือเปล่า แต่หลวงประดิษฐ์ท่านต้องการให้เป็นอีกอย่างหนึ่งครับ เพราะฉะนั้นเขาก็ไม่อยากให้มีคนอย่างท่าน ประเด็นมันอยู่ตรงนี้ คือเขาต้องการจะลบท่านออกจากประวัติศาสตร์ อะไรที่เขาปฏิเสธไม่ได้ก็บอกว่ามันเป็นเรื่องเล็กนิดเดียว การแก้สนธิสัญญาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตครั้งสุดท้ายท่านปรีดีฯเป็นคนเดินทางไปเจรจา แต่พวกนี้กลับมายกย่องฟรานซิสบีแซ บีแซนี่ต่อต้านประเทศไทยอย่างหนักเลย ต่อต้านครั้งสุดท้ายไม่ให้มีประชาธิปไตยเสนอพระปกเกล้าฯ แล้วเราก็มาเชื่อฝรั่ง ในสมัยของหลวงประดิษฐ์ฯนั้นท่านร่างกฎหมายขัดผลประโยชน์ของอเมริกัน นายบีแซเลยวีโต้ในฐานะที่ปรึกษาระหว่างประเทศแล้วเราก็ยกย่อง มีถนนกัลยาณมิตร บีแซ อยู่ข้างกระทรวงต่างประเทศ เราช่วยยกย่องคนเหล่านี้เพราะเขาเป็นประโยชน์กับชนชั้นปกครอง


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ธ.ค. 14, 13:23
ถาม เรื่องที่จีนขอเข้ามาปลดอาวุธญี่ปุ่นในเมืองไทย

ส. อันนี้จริงทีเดียว เพราะงั้นถึงส่งจำกัด พลางกูร ไปเจรจากับเจียง ไคเช็ค ถึงต้องติดต่อกับอเมริกัน ที่นายจำกัดถูกฆ่าเพราะเหตุนี้  ถ้าจีนเข้ามาเมืองไทย เราก็จะกลายเป็นเหมือนเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ กองทัพของจีนตอนนี้ก็ยังอยู่-กองพล ๙๓ ตอนแรกก็ไม่ยอมรับ ตอนหลังก็รับออกมา นี่เป็นบุญคุณสำคัญของท่านปรีดีฯ แต่เราก็พยายามไม่นึกถึงกัน ถ้าไม่มีท่านเรื่องนี้(เรื่องต่อต้านการแบ่งไทย) ก็ไม่สำเร็จ


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ธ.ค. 14, 13:27
ท่านที่ติดตามกระทู้ที่แล้วมาที่กระทู้นี้ คงจะเห็นนะครับว่านักคิดนักพูดที่คนกลุ่มหนึ่งยกย่องว่าเป็นปัญญาชนสยามนั้น ในสมองของท่านมีแพะกับแกะชนกันวุ่นวายขนาดไหน


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ธ.ค. 14, 13:46
ระหว่างที่รอคุณเพ็ญในเรื่องที่เกี่ยวกับเสรีไทยในวันที่ใกล้ถูกลืม

จำกัด พลางกูร : เสรีไทยในวันที่ใกล้ถูกลืม หัวข้อนี้จริงหรือไม่ มีตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ จากบทความของ คุณวิกกี้ (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%82%E0%B8%9A%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2) มานำเสนอ


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ธ.ค. 14, 14:07
ผมขอนำตัวอย่างการอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์จากความเสียสละของนายจำกัด พลางกูร จากบางเวปเพจที่หาเจอบนเน็ท  
บทความที่ ๑๘๑. สุลักษณ์ ศิวรักษ์ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องท่านปรีดีฯ

ขอยกตัวอย่างเพิ่มอีกบทความหนึ่ง

บทความที่ ๓. ความทรงจำของ ดร. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร เกี่ยวกับท่านปรีดี พนมยงค์

จากปลายปี ๒๔๙๒ จนกระทั่งต้น  ๆปี ๒๕๑๓ ผมไม่เคยพบท่านปรีดีและคุณอาพูนศุขเลย รู้แต่ว่าอยู่เมืองจีน ในปี ๒๕๑๓ จึงได้ทราบว่าทั้งสองท่านย้ายมาพำนักอยู่ที่กรุงปารีส

บังเอิญในปีนั้นผมมีราชการต้องไปประชุมที่กรุงเวียนนาและรัฐบาลฝรั่งเศสได้ถือโอกาสเชิญให้ผมไปดูงานที่ปารีส ท่านปรีดีและท่านผู้หญิงได้กรุณามารับผมและครอบครัวที่สนามบิน จึงเป็นโอกาสแรกใน ๒๑ ปีที่ได้กราบเท้าท่านผู้ใหญ่ทั้งสอง และการเยือนปารีสของผมคราวนั้นก็เป็นโอกาสเดียวที่ได้พูดคุยกับท่านปรีดีเป็นเวลานาน ๆ ท่านกำลังมีอายุครบ ๗๐ ปี ยังกระฉับกระเฉงตามวัย และยังจิบไวน์ได้

เมื่อผมศึกษาบทบาทของท่านปรีดีในอีก ๑๐ ปีต่อมาเพื่อเขียนชีวประวัติของท่านเป็นภาษาอังกฤษ ผมได้พบสิ่งที่ผมไม่เคยทราบมาก่อน เช่นบทบาทอันโดดเด่นและเด็ดเดี่ยวของท่านทั้งในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี ๒๔๗๕ และในการพิทักษ์เอกราชและอธิปไตยของชาติโดยผ่านปฏิบัติการเสรีไทย

ท่านปรีดีได้นำการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่ท่านชอบเรียกว่า “ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย” มาสู่เมืองไทย

ท่านปรีดี พนมยงค์ เน้นความสำคัญของราชาธิปไตยรัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตย ในฐานะสถาบันที่จะต้องสถิตสถาพรอยู่คู่ชาติไทยชั่วกัลปาวสาน

การเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่คนไทยยุคปัจจุบัน “เล่น” กันอยู่ในทุกวันนี้ ท่านปรีดีเป็นผู้สร้างกติกาไว้ให้ ท่านเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่สถาปนาการปกครองระบอบใหม่ในประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ และมีบทบาทสำคัญมาก ๆ ในการร่างรัฐธรรมนูญอีกสองฉบับต่อมา

ในส่วนของงานเสรีไทยระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น ท่านปรีดีเป็นผู้เดียวที่ตัดสินใจและกำหนดแผนการต่าง ๆ ตลอดจนออกคำสั่งให้การปฏิบัติการเดินไปสู่จุดหมาย สำหรับบุคคลอื่น ๆ นั้นเป็นผู้รับคำสั่งจากท่านนำไปปฏิบัติ

ท่านปรีดีได้ทำให้ประเทศไทยไม่ต้องตกเป็นผู้แพ้สงครามให้เป็นรอยมนทินว่า “กรุงแตก” ครั้งที่ ๓ ท่านจัดการให้รัฐบาลไทยไม่ต้องทำการยอมจำนน กองทัพไทยไม่ต้องวางอาวุธ และดินแดนไทยไม่ต้องถูกยึดครอง นี่คือบทบาทของท่านปรีดี พนมยงค์ ที่ผมเห็นว่ามีคุณูปการต่อสังคมไทยอย่างยิ่ง

ผมคิดว่าข้อบกพร่องของท่านซึ่งได้นำไปสู่ความผิดพลาดในบางกรณี เนื่องมาจากเหตุสองประการ

ประการแรก ท่านมีความรักชาติอยู่ในวิญญาณและสายเลือดและยึดถือเอาประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง ตรงนี้จะทำให้คนเถียงกับท่านยากมาก และจะหักล้างเหตุผลของท่านก็ไม่ได้ นอกจากนั้นท่านปรีดีก็ยังไม่เชื่อใครเสียด้วย หากเหตุผลของผู้นั้นมิได้ตั้งอยู่บนผลประโยชน์สูงสุดของชาติ

ยกตัวอย่างเช่น ท่านปรีดีตัดสินใจที่จะตั้ง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งเสรีไทยในอเมริกาขึ้นระหว่างสงคราม ให้เป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังสันติภาพ ท่านปรีดีพิจารณาเห็นว่าภายหลังสงคราม รัฐบาลจะต้องมีเรื่องติดต่อร่วมมือและทำความเข้าใจกับฝ่ายสัมพันธมิตรอยู่มาก ดังนั้นจึงจะต้องได้บุคคลที่ฝ่ายสัมพันธมิตรรู้จักและเชื่อถือ เป็นหัวหน้ารัฐบาลไทย ซึ่งท่านเห็นว่าขณะนั้นไม่มีใครที่จะเหมาะสมไปกว่า ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช

เพียงไม่กี่สัปดาห์ที่ ม.ร.ว. เสนีย์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ปรากฏว่าได้มีปัญหาในด้านแนวความคิดและอื่นๆ หลายเรื่องที่ความเห็นไม่ค่อยจะต้องกันระหว่างนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีหลายคนและแม้กระทั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่ค่อยจะราบรื่น ไป ๆ มา ๆ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ก็มีความรู้สึกว่าท่านปรีดีหักหลัง และจากนั้นก็มีท่าทีเป็นปรปักษ์ต่อท่านปรีดีมาโดยตลอด

อีกประการหนึ่ง ท่านปรีดีเป็นผู้ที่ยึดมั่นในความถูกต้อง ที่เรียกกันว่า “อวิโรธนะ” คือไม่ประพฤติผิดธรรม ด้วยหลักการนี้ท่านจึงสามารถทำอะไร (หรือไม่ทำอะไร) ที่ขัดใจผู้คนได้เสมอ ยกตัวอย่างเช่น ท่านเห็นว่าคนที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ควรจะเปิดโอกาสให้ผู้อื่นเป็นบ้าง ซึ่งส่งผลทำให้มิตรกลายเป็นศัตรูไป นอกจากนั้นท่านปรีดีก็ยังไม่เป็นที่พึ่งต่อบุคคลที่มาขอความช่วยเหลือในเรื่องที่เกี่ยวกับราชการบ้านเมือง แต่ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวจริง ๆ แล้ว ท่านช่วยอะไรได้ก็เป็นช่วยเสมอไป ตรงนี้ก็ทำให้มีทั้งผู้โกรธเคืองและผู้ที่เคารพนับถือ

กล่าวกันว่าจุดอ่อนของท่านปรีดี พนมยงค์ อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ท่านถูกห้อมล้อมด้วยสานุศิษย์และผู้ใกล้ชิดทางการเมือง และว่ากันว่าท่านดูเหมือนจะเชื่อคำพูดของบุคคลเหล่านี้จนเกินไป จนกระทั่งผู้ที่เข้าไม่ถึงท่าน เข้าใจท่านผิดไป หรือท่านเข้าใจเขาผิดไป ผมคงจะไม่มีความเห็นในประเด็นนี้ เพราะมิได้อยู่ใกล้ชิดท่านในสมัยนั้น แต่ผมก็คิดว่าบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งสูง ๆ แทบทุกคนก็มักจะต้องมีปัญหาอย่างนี้

สำหรับท่านปรีดี พนมยงค์ เคยทำสิ่งใดที่ถือว่าเป็นความผิดพลาดที่สำคัญนั้น ผมเห็นว่ามีอยู่หลายเรื่อง แม้ว่าทุกเรื่องจะมีคำอธิบายที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเหตุใดความผิดพลาดจึงเกิดขึ้น

เรื่องแรกเป็นความผิดพลาดที่ท่านปรีดีมิได้มีความอดทนพยายามอธิบาย “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ของท่านให้เป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้งต่อผู้ที่ไม่เห็นด้วยเพราะขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ ท่านปรีดีในวัยหนุ่ม ๓๒ ปี ขาดความอดทนและความรอบคอบ ผลจากการนั้นก็คือ ท่านปรีดีต้องถูกส่งไปฝรั่งเศสเสียหลายเดือนอีกทั้งถูกให้ร้ายว่าเป็นคอมมิวนิสต์อีกด้วย

เรื่องที่ ๒ เป็นความผิดพลาดที่ท่านเจาะจงแต่งตั้งให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อหลังสันติภาพ ตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น

เรื่องที่ ๓ เป็นความผิดพลาดของท่านปรีดีที่สนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ซึ่งท่านเองเป็นคนสำคัญในการยกร่าง และได้ประกาศไว้แล้วว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับถาวร” การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นแทนการแก้ไขเพิ่มเติมฉบับเดิมได้ทำลาย “ความศักดิ์สิทธิ์” ของรัฐธรรมนูญลงโดยสิ้นเชิง จากนั้นไทยก็มีรัฐธรรมนูญอีก ๑๔-๑๕ ฉบับ ซึ่งยกเลิกและร่างกันใหม่เป็นว่าเล่น

เรื่องที่ ๔ เป็นความผิดพลาดของท่านปรีดีที่ไม่ได้พยายามประนีประนอมกับท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาด้วยกัน ความแตกแยกจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามที ได้ทำให้เกิดความอ่อนแอและเป็นจุดอ่อนให้ปรปักษ์ของ “คณะราษฎร” สามารถทำลายทั้งท่านปรีดีและท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม ให้ย่อยยับได้

เรื่องที่ ๕ เป็นความผิดพลาดของท่านปรีดีที่ยุบเลิกขบวนการเสรีไทยเสียเกือบจะเรียกว่าทันทีภายหลังสันติภาพ แทนที่จะใช้ขบวนการเสรีไทยสนับสนุนการพัฒนาระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายของคณะราษฎรที่แถลงไว้เมื่อคราวเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งได้ถูกสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขัดจังหวะ ท่านปรีดีเกรงคำครหาว่าท่านจะใช้ขบวนการเสรีไทยเพื่อประโยชน์ทางการเมือง จึงได้รีบยุบเลิกเสียหลังสงคราม แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคำครหา เพราะสมาชิกขบวนการเสรีไทยหลายนายซึ่งมีฐานกำลัง ได้ให้ความสนับสนุนท่านปรีดีในสภาผู้แทนราษฎรต่อเนื่องมา

เรื่องที่ ๖ เป็นความผิดพลาดของท่านปรีดีที่ยอมรับเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อได้รับการขอร้องและวิงวอนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพท่าน แม้จะเป็นการยอมรับที่มีเงื่อนไขว่าเป็นการชั่วคราวเท่านั้นก็ตาม การที่ท่านปรีดีลดตัวลงมาในระดับการเมืองในสภาเช่นนี้ ได้เปิดโอกาสให้ฝ่ายปรปักษ์ของท่านถือว่าท่านเป็นคู่ต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งท่านเป็นฝ่ายเสียเปรียบทุกประตู และต้องบอบช้ำเป็นอย่างมาก

เรื่องสุดท้ายก็คือ การที่ท่านกลับเข้ามาในประเทศไทยภายใต้ “ขบวนการ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒” ซึ่งท่านปรีดีประเมินสถานการณ์ผิดพลาด โดยมุ่งหวังที่จะเอาชนะอย่างเดียว เมื่อท่านเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ความสูญเสียยิ่งใหญ่ก็บังเกิดขึ้น มิตรสหายของท่านจำนวนมากต้องสังเวยชีวิตอันเนื่องจากเหตุการณ์นั้น และตัวท่านเองก็เกือบจะเอาตัวไม่รอด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าท่านปรีดีจะได้เคยผิดพลาดมาหลายครั้ง หากกรณียกิจที่ท่านได้บำเพ็ญต่อชาติบ้านเมืองก็ยังมีความสำคัญอย่างเอกอุที่จะต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์

ผมเชื่อว่าเมื่อสังคมไทยในยุคนี้และในยุคต่อไปได้รู้จักผลงานของท่านดีขึ้น ก็คงจะเพิ่มความสำคัญให้แก่ท่านปรีดีมากขึ้นโดยไม่มีข้อสงสัย

จาก http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/02/blog-post_4079.html (http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/02/blog-post_4079.html)


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ธ.ค. 14, 14:16
เป็นบทความที่ดีนะครับ แต่ผมใคร่จะขอร้องอย่างหนึ่ง  ถ้าจะเสนอไม่ใช่ชี้แจงแล้ว ขอความกรุณาให้มีเรื่องของจำกัด พลางกูรอยู่ด้วย เข้าเรื่องหน่อย อย่าออกไปนอกประเด็นของหัวข้อกระทู้ โดยเฉพาะการนำสู่ประเด็นใหญ่ๆเช่นนี้ ผมไม่ไหวที่จะต้องเสนอให้แยกกระทู้ในช่วงนี้อีก


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ธ.ค. 14, 15:07
แต่นายจำกัด พลางกูร ไม่ได้ไปกรุงวิชิงตันตามที่กำหนดไว้ เขาถึงแก่กรรมที่จุงกิง แพทย์จีนสันนิษฐานว่าเป็นโรคมะเร็งในลำไส้ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2486 ในวันหนุ่มฉกรรจ์ อายุเพียง 26 ปี และด้วยวาจาครั้งสุดท้ายที่แผ่วออกมาว่า

   “เพื่อชาติ-เพื่อHumanity….”
 

ในวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๖ มีการแสดงละครเวทีเรื่อง เพื่อชาติ เพื่อ  humanity แสดงโดยนิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อำนวยการสร้างและเขียนบทโดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ผู้เขียนหนังสือชื่อเดียวกัน

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=6177.0;attach=53414;image)


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ธ.ค. 14, 15:14
สาเหตุใดที่ทำให้ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา สนใจและให้ความสำคัญเรื่องของคุณจำกัด พลางกูร ?

ขบวนการเสรีไทยนี้สำคัญมาก ทำให้ไทยไม่เป็นประเทศที่แพ้สงครามและถูกยึดครอง ถูกปลดอาวุธ แต่ไม่ชัดเจนนักว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ตอนนี้ได้ค้นคว้าชัดเจนว่า เรามีกองกำลังที่เป็นจริงภายในประเทศ กองกำลังนี้ได้ช่วยสัมพันธมิตรในการวางแผนต่าง ๆ ก่อนสงครามจะสงบไม่กี่เดือนตามจริง ปี ๑๙๔๕

ทางสัมพันธมิตรเท่ากับรับรองคณะเสรีไทย หรือกล่าวได้ว่าฝ่ายเสรีไทยที่อยู่ข้างหลังของรัฐบาลของคุณควง อภัยวงศ์ เท่ากับรับรองทางทหารแล้วเพราะมาร่วมวางแผนด้วย ส่งอาวุธให้เราด้วย สิ่งนี้สำคัญมาก

หน้าฉากจะทำอะไรมากไม่ได้ เพราะรัฐบาลยังเซ็นสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่นอยู่ ซึ่งแรกเริ่มเลยอาจารย์ปรีดีฯ ต้องการไปจัดตั้งรัฐบาลนอกประเทศ แต่การที่สัมพันธมิตรมาช่วยเสรีไทยและการวางแผนร่วมมือกับท่านหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ ก็เท่ากับรับรองคณะเสรีไทยทหารมาช่วยเหลือกันเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็เกิดจากที่คุณจำกัด พลางกูรได้รับมอบหมายจากอาจารย์ปรีดีฯ ให้ไปบอกสัมพันธมิตร ซึ่งตอนนั้นไปประเทศจีนที่เป็นฝ่ายเดียวกับสัมพันธมิตร จึงทำให้สัมพันธมิตรรู้ว่ามีกำลังภายในประเทศ มีขบวนการเสรีไทยในประเทศ ซึ่งเขามีโทรเลขลับติดต่อกันผ่านทางทำเนียบของอาจารย์ปรีดีฯ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองนี้เองที่ตั้งโทรเลขลับ

นี่จึงเป็นเหตุผลให้จำกัดฯ ไปติดต่อและนายสงวน ตุลารักษ์ก็ตามไปสมทบอีกที ไม่เช่นนั้นทางนู้นก็ไม่ทราบว่าทางนี้มีอะไร แค่ประกาศนั้นยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เราได้รับการรับรองระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็รับรองกันทางทหาร และสิ่งนี้เองที่ทำไมอังกฤษซึ่งผ่านทางลอดด์หลุยส์เมาท์แบตแตนติดต่อกับปรีดีอยู่ตลอดเวลาในระยะหลัง ๆ อีกทั้งตอนที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามแล้วเขาได้บอกอาจารย์ปรีดีฯ ทางโทรเลข บอกให้ไทยรีบประกาศสันติภาพ เราจึงสามารถประกาศสันติภาพได้

เหล่านี้เองเป็นผลมาจากจำกัดฯ เสียมาก เพราะถ้าจำกัดฯ ไม่ไป ก็ไม่รู้ว่าการเจรจาจะล่าช้าออกไปเพียงใดและจะจบลงเช่นนี้หรือไม่ อย่างที่อาจารย์ปรีดีฯ ได้บอกไว้ในหนังสือ X.O Group ว่า “ถ้าปราศจากจำกัด พลางกูร งานขององค์กรใต้ดินครั้งนี้อาจจะล้มเหลว หรือหากสำเร็จ ก็คงเป็นไปในรูปที่ผิดแผกกว่าที่ได้ปรากฏแก่ตาโลกภายหลัง” อาจารย์ปรีดีฯ ก็ยังให้ความสำคัญกับจำกัดฯ ขนาดนี้

ตอนที่จำกัดเริ่มสร้างคณะเสรีไทยนั้น ซึ่งเป็นวันที่ญี่ปุ่นบุกวันแรก จำกัดฯ บอกกับอาจารย์ปรีดีฯ ว่าผมกับอาจารย์เตียงได้สร้างคณะกู้ชาติไว้ ถ้าไม่มีคณะฯ อยู่ก่อนหน้านั้น การณ์ต่าง ๆ ก็อาจจะสายออกไปอีกว่าเมื่อไหร่จะมีคณะเสรีไทยในประเทศ ดังนั้น จำกัด พลางกูร ซึ่งเป็นเลขาธิการ เป็นแกนกลางของคณะเสรีไทยในประเทศ เป็นผู้ไปแจ้งข่าวถึงการมีอยู่ของคณะเสรีไทยในประเทศและกองกำลังที่เป็นจริง

โดยบอกเจียงไคเชค ว่าคณะปรีดีฯ ไม่ได้เหมือนกับจอมพล ป. ไม่ได้ต่อต้านจีน และเป็นคณะรัฐธรรมนูญ นิยมซุนยัดเซ็น ซันหมินจู่ยี่ เจียงไคเชคก็คงคิดว่าคนไทยก็นิยมจีนเหมือนกัน จึงบอกจำกัดฯ ว่า ไม่ว่าการณ์จะเป็นเช่นไร ประเทศจีนจะช่วยให้ประเทศไทยได้รับสถานะเอกราชกลับคืนมา ซึ่งจีนก็อยากกันอังกฤษออก และก็จำกัดก็ไปบอกด้วย จึงทำให้ผมสนใจและจึงศึกษาจำกัดฯ


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ธ.ค. 14, 15:18
ระหว่างทางในการศึกษาวิจัยเรื่องของคุณจำกัด พลางกูร และขบวนการเสรีไทย สิ่งใดที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงข้อมูล

เรื่องของเสรีไทยไม่ได้รับการให้ความสำคัญเท่าที่พวกเขาสำคัญอย่างแท้จริง เพราะเรื่องเอกราชของประเทศเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าไม่มี ผมว่าเราก็ต้องถูกยึดครองเหมือนประเทศผู้แพ้สงครามทั้งหลาย และอาจถูกแบ่งแยกประเทศ ฝ่ายนั้นจะเอาส่วนนี้ ฝ่ายนี้จะเอาส่วนนั้น อย่างน้อยก็เสียเอกราช ไม่ได้รับการรับรองว่ามันสำคัญขนาดไหนขณะที่มันสำคัญ

เพราะอาจารย์ปรีดีฯ และคณะของเขาพ่ายแพ้ทางการเมืองหลังจากรัฐประหาร ๒๔๙๐ ซึ่งพรรคพวกของท่านก็ถูกลอบฆ่าบ้าง จนท่านก็ต้องหนีออกนอกประเทศ กลายเป็นว่าเรื่องนี้ไม่พูดกันเท่าไหร่ เพราะถ้าพูดถึงเสรีไทยก็เท่ากับว่ายกย่องฝ่ายอาจารย์ปรีดีฯ

โอกาสที่เรื่องนี้ฟื้นกลับคืนมาจึงเกิดขึ้น ในการค้นคว้านั้นก็ยังเป็นเรื่องร่วมสมัยพอสมควร ผู้คนมีให้เราสัมภาษณ์ไม่ถึงกับลำบากมาก แต่ว่าเรื่องบันทึกของจำกัดซึ่งเป็นหัวใจของการศึกษา ขณะที่เรื่องเสรีไทยอื่นๆ พอศึกษาได้ เมื่อสังคมเปิดกว้าง และเป็นเสรีไทยสายภายในประเทศที่ผมมองว่าสำคัญที่สุด เพราะสายต่างประเทศไม่มีกำลังที่เป็นจริง

ขณะที่เรื่องของคุณจำกัดฯ นั้นไม่มีการเปิดเผย แม้จะมีคนเขียนถึงอยู่บ้าง อย่างในบันทึก X.O Group และบันทึกที่ไม่ได้เปิดเผย แต่ปรากฏอยู่ประปรายในหลายๆ แห่ง เดิมที ผมเริ่มเขียนเป็นบทละครก่อนเป็นหนังสือวิชาการเพราะบทละครสามารถจินตนาการได้ ต่อมา มีคนเอาบันทึกมาให้ผมแต่ไม่ให้เปิดเผยที่มาหลังจากที่ได้มา ผมก็เขียนทั้งบทละครที่ปรับใหม่ให้เป็นจริงให้หมด และเขียนหนังสือวิชาการซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าเอามาจากใคร

แต่ตอนนี้ได้เปิดเผยแล้วที่หอจดหมายเหตุคือบันทึกประจำวัน (โดยคุณจำกัด พลางกูรเป็นคนบันทึกไว้แต่ไม่ได้ทำทุกวัน) หลังจากที่ได้บันทึกเล่มนั้น ผมได้เดินทางไปจุงกิงประมาณ ๑ สัปดาห์ แต่ก่อนไปได้ส่งเรื่องไปให้เพื่อนที่อยู่ที่ยูนนานก่อน เนื่องจากจีนมีสมาคมสำหรับผู้ที่เกษียณแล้ว แต่รัฐบาลให้มางานด้านค้นคว้าวิจัยต่อ โดยสถาบันประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมืองจุงกิงหรือเมืองฉงชิ่งนั้น ได้ช่วยกันค้นหาข้อมูลให้ก่อนล่วงหน้าอยู่เป็นเวลาหนึ่งเดือน เพื่อสืบค้นว่า จำกัด พลางกูร ไปไหนบ้าง

ผมเดินทางไปตามนั้นทั้งบ้านพักรับรองแขกของเจียงไคเชค สถานทูตอังกฤษและอเมริกา โรงพยาบาลที่เขาเจ็บป่วย และที่สุดท้ายคือที่เผาศพ ที่พักของเขาถูกรื้อแล้วแต่รู้ว่าอยู่ตรงไหน และที่เป็นปัญหาหน่อยคือบ้านรับแขกของเจียงไคเชค สุดท้ายก็หาพบ และที่เป็นปัญหาจนวันสุดท้ายคือโรงพยาบาลที่เขาเจ็บและวัดที่เผา พอดีคนที่เขาเคยอยู่ตั้งแต่สมัยก่อนเขารู้สถานที่ว่าอยู่ตรงไหนเพราะยังใช้ชื่อเก่า ก็ได้ไปถึงโรงพยาบาลและห้องที่จำกัดป่วยด้วย มีพยาบาลที่อายุมากแล้วและมีชีวิตอยู่มาตั้งแต่สมัยนั้นได้มาดูให้ด้วย พบว่ามีเอกสารทางราชการระบุว่ามีผู้แทนของเสรีไทยมาป่วยเสียชีวิต และก็มีรายละเอียดว่าเสียชีวิตแล้วนำไปเผาที่ไหนด้วย เป็นวัดอยู่ริมแม่น้ำแยงซี สถานที่สำคัญก็สืบค้นได้ครบถ้วน

ผมได้สัมภาษณ์คุณฉลับชลัยย์ พลางกูร หลายหนและเพื่อนคุณจำกัดบางท่านเช่นพ่อของคุณพันธ์ศักดิ์ วิญญรัตน์ แต่พอดีตอนนี้ท่านเสียไปแล้ว (คุณประยูร วิญญรัตน์) และตอนนั้นก็มีน้องสาวคุณเสาวรส ที่ไม่เคยเจอคุณจำกัดเพราะอายุห่างกันเยอะ และอีกคนหนึ่งคือคุณสลวย กรุแก้ว ตอนนี้เกษียณแล้ว คุณจำกัดเป็นพี่ชาย ได้สัมภาษณ์หลายคน ที่สำคัญก็คือได้ไดอารี่ ซึ่งคราวแรกยากลำบากเพราะทีแรกยังไม่มี


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ธ.ค. 14, 15:20
อาจารย์รู้สึกอย่างไรบ้างที่เรื่องราวของกระบวนการเสรีไทยนั้นเลือนหายไปจากสังคม

ก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะเรื่องกระบวนการเสรีไทยเป็นเรื่องที่คนไทยทุกหมู่เหล่าได้ประสานร่วมแรงร่วมใจกันเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติ เป็นการปรองดองกันของคณะราษฎรกับคณะฝ่ายเจ้าเพื่อเอกราชของประเทศ

การพยายามจะเป็นระบอบประชาธิปไตยหลังสงคราม โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและทรงอยู่เหนือการเมือง และกระบวนการเสรีไทยก็ให้ความสำคัญกับประชาชนธรรมดาในท้องถิ่นที่เป็นพลพรรคหรือกำลังทำให้ประชาชนมีจิตสำนึกที่จะร่วมมือกันได้ คนในอีสานหรือในภาคอื่นก็เข้าร่วมด้วย ผมยังไปพบเจอตามท้องที่ต่าง ๆ เขายังพูดถึงเรื่องนี้อยู่ด้วยความภูมิใจ ที่ จ.แพร่ ก็มีพิพิธภัณฑ์เสรีไทย ที่คุณภุชงค์ กันทาธรรม (ทายาทของนายทอง กันทาธรรม อดีตเป็นเสรีไทยในจังหวัดแพร่ ถึงแก่กรรมแล้ว) ได้ทำไว้ ซึ่งดีมาก

แสดงให้เห็นถึงกลุ่มของชาวบ้านสามัญธรรมดาว่าเป็นกำลังหลักของประเทศชาติ เหมือนกับที่จำกัดพูดกับนายเตียง ศิริขันธ์ว่า “ท่านคือกำลังที่เป็นจริงของประเทศ ต้องพึ่งท่านแล้ว”

เมื่อความทรงจำร่วมกันที่สำคัญนี้ถูกข้ามมันก็มีผลต่อเส้นทางประชาธิปไตยและการปรองดองกันของผู้คนในช่วงหนึ่งที่เผด็จการทหารได้หวนกลับคืนมา จนกระทั่งระยะหลังถึงได้รื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ ก็เสียดายที่เราไม่ได้ศึกษาเรื่องคุณูปการของขบวนการอันสำคัญนี้

ละครเรื่องนี้ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะสื่อสารและรื้อฟื้นจิตวิญญาณของผู้คนที่รู้สึกว่าจะซึมซับได้มากกว่าเขียนหนังสือ ผมสนใจงานวิชาการที่จะเสนอแก่คนจำนวนมาก ผมจึงเขียนหนังสือ และอีกวิธีหนึ่งที่คนเขาบอกว่าจะสื่อต่อคนจำนวนมากได้คือละคร เสนอวิชาการที่มีการ commitment ด้วยใจ จะนำไปสู่ความเป็นจริงที่ทำให้ผลักดันสังคมไปสู่ Utopia ได้ ความมีประสิทธิภาพ ความมีเหตุมีผลที่เป็นความมุ่งมั่นของคนที่ตั้งใจ

ส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์จาก siamintelligence.com  (http://www.siamintelligence.com/for-nation-for-humanity-chamkad-balangkura/)


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ธ.ค. 14, 15:49
บางส่วนจากละครเวทีเรื่อง "เพื่อชาติ เพื่อ humanity"

http://www.youtube.com/watch?v=o-9Me1lcyfc#ws (http://www.youtube.com/watch?v=o-9Me1lcyfc#ws)


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ธ.ค. 14, 20:43
^
ด้วยความเคารพนะครับ เป็นละครที่ไร้ชีวิตชีวาจริงๆ


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ธ.ค. 14, 07:44
ระหว่างทางในการศึกษาวิจัยเรื่องของคุณจำกัด พลางกูร และขบวนการเสรีไทย สิ่งใดที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงข้อมูล

เรื่องของเสรีไทยไม่ได้รับการให้ความสำคัญเท่าที่พวกเขาสำคัญอย่างแท้จริง เพราะเรื่องเอกราชของประเทศเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าไม่มี ผมว่าเราก็ต้องถูกยึดครองเหมือนประเทศผู้แพ้สงครามทั้งหลาย และอาจถูกแบ่งแยกประเทศ ฝ่ายนั้นจะเอาส่วนนี้ ฝ่ายนี้จะเอาส่วนนั้น อย่างน้อยก็เสียเอกราช ไม่ได้รับการรับรองว่ามันสำคัญขนาดไหนขณะที่มันสำคัญ

เพราะอาจารย์ปรีดีฯ และคณะของเขาพ่ายแพ้ทางการเมืองหลังจากรัฐประหาร ๒๔๙๐ ซึ่งพรรคพวกของท่านก็ถูกลอบฆ่าบ้าง จนท่านก็ต้องหนีออกนอกประเทศ กลายเป็นว่าเรื่องนี้ไม่พูดกันเท่าไหร่ เพราะถ้าพูดถึงเสรีไทยก็เท่ากับว่ายกย่องฝ่ายอาจารย์ปรีดีฯ

เหตุที่ขบวนการเสรีไทยยุติบทบาทลงโดยรวดเร็วนั้น เรื่มมาจากท่านผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ ซึงเป็นหัวหน้าเสรีไทยสายในประเทศเอง
ในวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๔๘๘ ซึ่งเสรีไทยทั้งหมด ๘๐๐๐นายได้เดินสวนสนามหลังสงครามยุติลงนั้น ภายหลังการสวนสนาม ณ สโมสรมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ท่าพระจันทร์ นายปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวคำปราศรัยแก่บรรดาผู้แทนพลพรรคเสรีไทย มีสาระสำคัญว่า

ในโอกาสนี้ ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะแสดงเปิดเผยในนามของสหายทั้งหลายถึงเจตนาอันบริสุทธิ์ซึ่งเราทั้งหลายได้ถือเป็นหลักในการรับใช้ชาติครั้งนี้ว่า เรามุ่งจะทำหน้าที่ในฐานะที่เราเกิดมาเป็นคนไทย ซึ่งจะต้องสนองคุณชาติ เราทั้งหลายไม่ได้มุ่งหวังทวงเอาตำแหน่งในราชการมาเป็นรางวัลตอบแทน การกระทำทั้งหลายไม่ใช่ทำเพื่อประโยชน์ของบุคคลหรือหมู่คณะใด แต่ได้ทำไปเพื่อประโยชน์ของคนไทยทั้งมวล…วัตถุประสงค์ของเราที่ทำงานคราวนี้มีจำกัดดังกล่าวแล้ว และมีเงื่อนไขเวลาสุดสิ้น กล่าวคือเมื่อสภาพการเรียบร้อยลงแล้ว องค์การเหล่านี้ก็จะเลิก และสิ่งซึ่งจะเหลืออยู่ในความทรงจำของเราทั้งหลายก็คือมิตรภาพอันดีในทางส่วนตัวที่เราได้ร่วมรับใช้ชาติด้วยกันมา…ผู้ที่ได้ร่วมงานกับข้าพเจ้าคราวนี้ ถือว่าทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ชาติ มิได้ถือว่าเป็นผู้กู้ชาติ การกู้ชาติเป็นการกระทำของคนไทยทั้งปวง” คำปราศรัยดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นการสลายตัวของขบวนการเสรีไทย ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมธิการวิสามัญเพื่อสอบสวนสะสางทรัพย์สินของชาติซึ่งขบวนการเสรีไทยได้ใช้ประโยชน์ไปทั้งภายในและภายนอกประเทศ สรุปว่าการใช้ประโยชน์เป็นไปโดยสุจริตและมีหลักฐานตามความจำเป็นทุกกรณีโดยถูกต้อง

การสลายตัวของขบวนการและพลพรรคเสรีไทยในเวลาค่อนข้างจะรวดเร็วภายหลังที่ได้เอกราชและอธิปไตยคืนมานั้น นายปรีดี พนมยงค์ ได้กระทำด้วยเหตุผลหลายประการ แต่ที่สำคัญก็คือ ไม่ประสงค์จะให้เกิดข้อครหาว่ามีการฉกฉวยโอกาสรักษาอำนาจทางการเมืองเอาไว้โดยอ้างความรักชาติบังหน้า ดังนั้นเมื่อภารกิจในการรับใช้ชาติในบริบทของเสรีไทยได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ขบวนการเสรีไทยก็ต้องสลายตัวไปโดยมิรอช้า นายปรีดีมีความเชื่อว่าความรักชาติย่อมพิสูจน์จากการกระทำเท่านั้น มิใช่โดยคำพูด

ที่มา

http://www.pridi-phoonsuk.org/pridi-and-the-free-thai-movement/ (http://www.pridi-phoonsuk.org/pridi-and-the-free-thai-movement/)


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ธ.ค. 14, 07:58
หลังจากวันนั้นแล้ว บรรดาพลพรรคเสรีไทยสายต่างประเทศต่างทะยอยกันกลับไปเรียนหนังสือหนังหาที่ทิ้งมาให้จบการศึกษา ส่วนเสรีไทยสายในประเทศก็กลับไปทำงานทำการของตน โดยมีบางคนมีงานนอกด้วย เช่นครูเตียง ศิริขันธ์ ใช้เวลาทำงานการเมืองด้วยการดำเนินงานคณะกู้ชาติต่อ

อ้างถึง
ตอนที่จำกัดเริ่มสร้างคณะเสรีไทยนั้น ซึ่งเป็นวันที่ญี่ปุ่นบุกวันแรก จำกัดฯ บอกกับอาจารย์ปรีดีฯ ว่าผมกับอาจารย์เตียงได้สร้างคณะกู้ชาติไว้ ถ้าไม่มีคณะฯ อยู่ก่อนหน้านั้น การณ์ต่าง ๆ ก็อาจจะสายออกไปอีกว่าเมื่อไหร่จะมีคณะเสรีไทยในประเทศ ดังนั้น จำกัด พลางกูร ซึ่งเป็นเลขาธิการ เป็นแกนกลางของคณะเสรีไทยในประเทศ เป็นผู้ไปแจ้งข่าวถึงการมีอยู่ของคณะเสรีไทยในประเทศและกองกำลังที่เป็นจริง


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ธ.ค. 14, 08:21
ด้วยความเคารพนะครับ เป็นละครที่ไร้ชีวิตชีวาจริงๆ

อยากฟังคำวิจารณ์ หลังจากคุณนวรัตนดูข่าวเกี่ยวกับละครเรื่องนี้  ;D

http://youtube.com/watch?v=orlA_80GQXk#ws (http://youtube.com/watch?v=orlA_80GQXk#ws)


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ธ.ค. 14, 08:50
คำวิจารณ์ของศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช (https://www.gotoknow.org/posts/550038)

ละครเป็นการแสดง ที่จะต้องให้ความสำราญเป็นหลัก แถมด้วยสาระและอารมณ์ ละครเรื่องนี้ ตามสัมผัสของผม ให้ครบ และที่ไม่น่าเชื่อคือ ผู้แสดงเป็นศิษย์ของศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมืองทั้งสิ้น ไม่ใช่นักแสดงอาชีพ แต่เล่นได้เหมือนนักแสดงอาชีพ โดยมีผู้กำกับการแสดงเป็นมืออาชีพ คือ ปิยศิลป์ บุลสถาพร

ผมเดาว่า ผู้แสดงละครเรื่องนี้ต้องฝึกซ้อมกันอย่างหนัก โดยที่ตัวละครแต่ละคนต่างก็มีภารกิจประจำอยู่แล้ว การที่ทุกคนพร้อมใจกันมาฝึกซ้อมเพื่อเล่นละครเพียงครั้งเดียวในวันที่ ๓๑ ส.ค. ๕๖ นี่ นอกจากความรักและเคารพ ศ. กิตติคุณ ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และ ดร. ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ แล้ว น่าจะได้พลังจากความรักชาติของคุณจำกัด พลางกูร ที่ขุดขึ้นมาจากผลการวิจัยของ ศ. ดร. ฉัตรทิพย์

ทุกฉากของละคร เล่นได้ดี มีพลัง ได้อารมณ์ ทั้งอารมณ์เศร้าในการจากระหว่าง จำกัดกับภรรยาที่เพิ่งแต่งงานได้ ๓ ปี คือคุณฉลบชลัยย์ อารมณ์สนุกสนานจากงิ้ว และอื่น ๆ แต่สำหรับผม จุดไฮไล้ท์ อยู่ที่ตอนจบการแสดง และมีการแนะนำตัวคุณฉลบชลัยย์ ที่มีอายุถึง ๙๗ ปีแล้ว ทายาทของท่านชิ้น (มจ. ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์) และท่านอื่น ๆ เสียดายที่ผมบันทึกเสียงผิดพลาด ไม่ได้เสียงช่วงละครและช่วงแนะนำบุคคลมาตรวจสอบชื่อคน

วิจารณ์ พานิช

๑ ก.ย. ๕๖


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ธ.ค. 14, 08:55
ผมเข้ากระทู้ครั้งนี้แปลกใจทำไมโหลดนานจัง มาอ๋อก็ตรงเจอคลิ๊บยาวเกือบสิบนาทีของคุณเพ็ญชมพูนี่เอง ผมดูแล้วเป็นข่าวโฆษณาละครเสียส่วนใหญ่เห็นการแสดงนิดเดียว มีฉากที่เป็นdramaด้วย เขาก็คงแสดงกันได้ดีพอสมควรนั่นแหละคนดูจึงตบมือกันเกรียว ถ้าทื่อๆแบบฉากแรกคนคงหลับกันสบายอารมณ์

ส่วนเนื้อหาผมขอตัวไม่ออกความเห็นก็แล้วกัน คือผมเคารพในเรื่องจริงของวีรบุรุษผู้เสียสละเพื่อชาติท่านนี้มาก แต่ละครก็คือละครถ้าไม่เสริมฝอยบ้างก็จะจืด หากไปวิจารณ์ดีไม่ดีเข้าจะกลายเป็นการปรามาสคุณจำกัดไป




กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ธ.ค. 14, 09:07
คำวิจารณ์ของศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา (http://www.siamintelligence.com/chamkad-balangkura-the-great-unsung-hero/)

ผมชอบฉากการตกลงของคุณจำกัดฯ กับหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ฯ นะ เพราะเป็นภาพที่สวยงาม เป็นการร่วมมือของสองฝ่ายระหว่างฝ่ายเจ้า ฝ่ายคณะราษฎรซึ่งมีความหมายที่รวมทั้งคนชั้นกลาง ประชาชนทั่วไป เป็นการเข้าใจกันอย่างดีของทั้งสองด้านโดยยึดหลักเอกราช ประชาธิปไตย และความเจริญของประเทศ และมีการตกลงจริง ตัวแทนจริงของทั้งสองฝ่าย

ฝ่ายหนึ่งคือพระเชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ และอีกฝ่ายหนึ่งก็คือคุณจำกัด พลางกูรซึ่งเป็นตัวแทนของคนชั้นกลางในเมือง และประชาชนธรรมดาสามัญในประเทศที่มีนายเตียง ศิริขันธ์เป็นตัวแทนซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับคุณจำกัด มันเกิดขึ้นจริงและเราก็แสดงตามที่มันเป็นจริง ภาพนี้มันสวยงามมาก

นายฉันทนา (มาลัย ชูพินิจ) ก็ได้เขียนเรื่องราวนี้ขึ้นด้วย ซึ่งเป็นภาพที่เขาตื้นตันใจ เป็นภาพที่สวยงามมากที่บอกว่า “ในหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ จำกัดได้พบทั้งมือที่พร้อมสำหรับกางออกต้อนรับ และใจซึ่งพร้อมจะสนับสนุนแผนการและอุดมคติของเขาอย่างเต็มที่ ในเจ้าชายเชื้อพระวงศ์องค์นี้ เขาได้พบคนไทยที่บูชาประชาธิปไตย”

ผมคิดว่ามันเป็นฉากที่เกิดขึ้นจริง และมันก็ไม่ใช่ utopia ที่เป็นไปไม่ได้ เพราะมันเกิดขึ้นแล้ว และถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปได้ เมืองไทยจะไปได้ดี และผมหวังว่าเมืองไทยจะไปตามฉากนี้

ท่านศุภสวัสดิ์ฯ ยอมรับหลักการของการเปลี่ยนแปลงการปกครองของ ๒๔๗๕ ที่อยากให้ประเทศชาติเป็นประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ทรงอยู่เหนือการเมือง ซึ่งท่านเป็นเจ้าที่ยอมตามคณะราษฎร ซึ่งมันมีอยู่จริงในบันทึกประจำวันของจำกัดนะ


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ธ.ค. 14, 09:21
เนื้อหาของฉากนี้คือ

เมื่อนายจำกัดได้พบกับจอมพลเจียง ไคเชก นอกจากจอมพลเจียงจะรับประกันเอกราชของไทยหลังสงครามแล้ว ยังอนุญาตให้เขาเดินทางไปวอชิงตัน แต่จนถึงเดือนสิงหาคมเขาก็ยังไม่ได้เดินทาง

แม้เขายังไม่ได้เดินทางไปวอชิงตัน แต่ระหว่างรอคอย การได้มีโอกาสพบกับเสรีไทยสายอังกฤษที่เมืองจุงกิง ก็มีความสำคัญยิ่งต่อภาระกิจของนายจำกัด

วันที่ ๕ สิงหาคม ๒๔๘๖ เมืองจุงกิง พลตรีหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ พระเชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ผู้นำเสรีไทยสายอังกฤษ ได้บินจากกองกำลัง ๑๓๖ อังกฤษที่อินเดียมาที่เมืองจุงกิง เพื่อพบกับจำกัด

ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ทราบข่าวจากฝ่ายอังกฤษว่า ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม มีผู้แทนเสรีไทยเดินทางมาอยู่ที่จุงกิง จึงติดต่อขอพบนายจำกัด แต่ทางการจีนปัดว่านายจำกัดไม่ต้องการพบ

ขณะเดียวกัน นายจำกัดก็ได้ข่าว ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ มาอยู่ที่อินเดียเช่นกัน จึงเขียนจดหมายไป ๒ ฉบับ บอกว่าสำคัญมากที่เขาและ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ จะต้องพบกัน

ด้วยจดหมายของนายจำกัด ทำให้ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ใช้ยืนยันกับทางการจีนได้ว่า นายจำกัดยินดีจะพบกับท่าน ทำให้การบอกปัดของจีนว่า จำกัดไม่ต้องการพบ ไม่เป็นผล

ทั้งนี้ ฝ่ายเจ้ากับนายปรีดีบาดหมางกันมาตั้งแต่เหตุการณ์ ๒๔๗๕ การพบกันระหว่าง ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ กับนายจำกัดจึงมีความสำคัญเป็นที่สุดต่อเอกภาพของขบวนการเสรีไทย

ระหว่างวันที่ ๕-๑๑ สิงหาคม ๒๔๘๖ นายจำกัดพบกับ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ทุกวัน วันละหลายชั่วโมง เป็นเวลา ๗ วันต่างฝ่ายต่างเชื่อถือกันและกัน เห็นด้วยกันและตกลงกันในแนวนโยบายและปฏิบัติการเดียวกัน ในเรื่องซึ่งมีผลประโยชน์สำคัญยิ่งต่อประเทศ

ในเรื่องการเมืองของประเทศไทย ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ เห็นว่า นายปรีดีเป็นผู้ที่มีหัวใจอยู่กับผลประโยชน์ของชาติ ท่านยอมรับให้นายปรีดีเป็นหัวหน้าคณะเสรีไทย ยอมรับให้คณะของนายปรีดีเป็นผู้นำประเทศ คนไทยต้องไม่แตกแยกกัน ต้องรวบรวบขบวนการเสรีไทยทุกสายให้เป็นเอกภาพให้ได้ ท่านเองไม่ต้องการอำนาจ ของเพียงให้คณะของนายปรีดีเล่นการเมืองอย่างยุติธรรม (fair play in politics ) เมื่อสงครามเสร็จสิ้นแล้วขอให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแท้จริง

นายจำกัดยืนยันว่า คณะของนายปรีดีก็ต้องการเช่นนั้น

ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ได้ถามว่า จะจัดการอย่างไรกับนักโทษการเมืองขณะนั้น ซึ่งก็คือเจ้าและพวกฝ่ายเจ้า

นายจำกัดบอกว่า จะปล่อยทั้งหมด ทำให้ ม.จ.ศุสวัสดิ์ฯ ดีใจมาก

นายจำกัดและ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลต่อกัน นายจำกัดได้ให้ข้อมูลว่า กำลังของคณะเสรีไทยในประเทศประกอบด้วยทหารเรือและกองโจร ๓๐ กอง กำลังส่วนใหญ่คือพวกทหารเรือ และผู้สนับสนุนหลวงประดิษฐ์ฯ กับพลพรรคชาวบ้าน อาวุธเป็นของทหารเรือ ของส่วนตัว และที่แย่งได้มาจากญี่ปุ่น เราเคลื่อนไหวแบบกองกำลังใต้ดิน คอยตัดเส้นทางลำเลียง ขโมยเสบียง ก่อนกวนพวกญี่ปุ่น เราหวังว่าสัมพันธมิตรจะช่วยเราต้านทหารด้วย

ด้าน ม.จ.ศุภสวัสดิ์เล่าว่า ได้นำนักเรียนไทย ๒๑ คนที่อาสาสมัครเป็นเสรีไทยมาฝึกทหารอยู่ที่เมืองปูนา อินเดีย คณะเสรีไทยอังกฤษได้รับเบี้ยเลี้ยงจากรัฐบาลอังกฤษ และพยายามติดต่อกับ ม.ร.ว.เสนีย์ แต่ไม่ได้รับคำตอบและไม่ได้รับการติดต่อจาก ม.ร.ว.เสนีย์ แต่จะพยายามใหม่ และชวนให้นายจำกัดรีบเดินทางไปวอชิงตันเพื่อพบ ม.ร.ว.เสนีย์ แล้วชวนท่านต่อไปลอนดอน จากนั้นช่วยกันเจรจากับอังกฤษให้รับรองคณะเสรีไทย เมื่อเราพูดเป็นเสียงเดียวกันหนักแน่น สัมพันธมิตรก็จะต้องรับรองเรา

เมื่อฝ่ายนายปรีดีและเสรีไทยสายอังกฤษตกลงกันได้ มีผลทำให้สถานทูตไทยที่วอชิงตันอนุโลมตาม หากฝ่ายผู้นำการเมืองหลายกลุ่มไม่สามารถตกลงกันได้ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศไทยอาจถูกตัดแบ่งเป็นไทยเหนือ–ไทยใต้

นายปรีดี ด้วยความสนับสนุนจากจีน ปกครองไทยเหนือ ติดกับเขตอิทธิพลจีน

ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ และ ม.ร.ว.เสนีย์ ด้วยความสนับสนุนจากอังกฤษ ปกครองกรุงเทพฯ และไทยใต้ ติดกับดินแดนมลายูของอังกฤษ

การแบ่งแยกประเทศชาติหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ อันเป็นผลจากการแตกแยกและต่อสู้ระหว่างพลังการเมืองภายในชาติ มีให้เห็นอยู่แล้วในกรณีเวียดนาม เกาหลี และเยอรมนี

ทั้งนี้ นายฉันทนาได้เขียนถึงฉากการพบกันระหว่างนายจำกัดกับ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ไว้ในหนังสือ X.O Group โดยบรรยายว่า “ใน ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ จำกัดได้พบทั้งมือที่พร้อมสำหรับกางออกต้อนรับ และใจซึ่งพร้อมที่จะสนับสนุนแผนการและอุดมคติของเขาอย่างเต็มที่ ในเจ้าชายเชื้อพระวงศ์องค์นี้ เขาได้พบคนไทยที่บูชาประชาธิปไตย….”

ข้อมูลจาก  thaipublica.org (http://thaipublica.org/2013/10/the-state-of-humanity-7/)


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ธ.ค. 14, 09:28
จดหมายของจำกัด พลางกูร เขียนถึง ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ ที่มา: ๑ ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ธ.ค. 14, 09:41
ฉากสุดท้าย

แต่นายจำกัด พลางกูร ไม่ได้ไปกรุงวอชิงตันตามที่กำหนดไว้ เขาถึงแก่กรรมที่จุงกิง แพทย์จีนสันนิษฐานว่าเป็นโรคมะเร็งในลำไส้ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2486 ในวันหนุ่มฉกรรจ์ อายุเพียง 26 ปี และด้วยวาจาครั้งสุดท้ายที่แผ่วออกมาว่า

   “เพื่อชาติ-เพื่อHumanity….”

นายสงวน ตุลารักษ์ กับนายแดง คุณะดิลก จัดการฌาปนกิจศพนายจำกัด พลางกูรที่วัดเล็กๆ แห่งหนึ่งในจุงกิง และนำอัฐิของนายจำกัดพร้อมด้วยสมุดไดอารี่ซึ่งมีคุณค่าในประวัติศาสตร์เสรีไทยติดตัวไปด้วย เมื่อเดินทางไปกรุงวิชิงตัน แล้วนำมามอบให้นายปรีดี พนมยงค์ เมื่อนายสงวนเดินทางกลับประเทศไทยในตอนปลายสงคราม

ช่วงหลังการพบกับเจียง ไคเชก และการพบกับ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ฐานะของนายจำกัดดีขึ้นมากในสายตาของทั้งจีนและอังกฤษ เขาได้รับเชิญไปเยี่ยมคณะยุวชนซันหมินจู่ยี่ ได้รับการต้อนรับอย่างดีเยี่ยมแบบเป็นผู้แทนประเทศ ตรวจแถวกองเกียรติยศ และ กล่าวสุนทรพจน์ต่อนักศึกษา และอาจารย์นับพันคน

ทางการจีนยังได้ย้ายเขาไปอยู่ที่โรงแรม Victory House โรงแรมชั้นหนึ่งของเมืองจุงกิง และให้เงินใช้ แต่สุขภาพของจำกัดกลับทรุดลงอย่างหนัก ส่วนไพศาล จำกัดได้ส่งไปดูลาดเลาที่คุหมิง ตั้งแต่วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๔๘๖

๑ กันยายน นายสงวน ตุลารักษ์ และ ครอบครัวและผู้ติดตาม ๗ คน เดินทางมาถึงจุงกิง คณะของนายสงวนได้รับหมอบหมายจากนายปรีดีให้มาตามนายจำกัด เพราะนายปรีดีไม่ได้ข่าวของเขาอีกเลยหลังจากข่าววิทยุจุงกิง วันที่ ๑๖ เมษายน เพียงครั้งเดียว

๒ กันยายน นายจำกัดได้พบกับคณะของนายสงวน เขาผิดหวังที่นางฉลบชลัยย์ ผู้เป็นภริยา ไม่ได้มาด้วย เขาพยายามหักห้ามใจคิดว่า ถ้าเธอมาคงลำบาก เขาได้ลาเธอเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ถ้าไม่พบกันอีก ก็หมายความว่าเขาได้เต็มใจสละชีวิตเพื่อประเทศชาติไปแล้ว งานที่เขาได้ทำไว้แล้วเพื่อกู้เอกราชคงจะออกดอกออกผลในภายหลัง เขาขอให้นางฉลบชลัยย์คิดว่า นางได้อุทิศเขาให้แก่ชาติไปแล้ว

๘ กันยายน นายจำกัดเริ่มป่วยหนัก และไปพบหมอ

๑๑-๑๕ กันยายน เขาอาการดีขึ้นเล็กน้อย

๑๗ กันยายน เป็นต้นมา อาการเขาทรุดลงไปอีก กินอะไรก็อาเจียน เพลียมากขึ้น

๑๘ กันยายน เขาเขียนบันทึกเป็นวันสุดท้าย ย่อหน้าสุดท้ายของบันทึกเขาเขียนว่า “ข้าพเจ้ากลุ้มใจเรื่องการเจ็บไข้นี่ของข้าพเจ้าจริง ๆ ต้องนอนซมอยู่เรื่อย เบื่อเต็มทนแล้ว คิดถึงฉลบเหลือทน”

๗ ตุลาคม ๒๔๘๖เวลา ๐๑.๑๐ น. นายจำกัด พลางกูร วัย ๒๘ ปี ผู้แทนคณะเสรีไทย เสียชีวิตที่โรงพยาบาล Canadian Mission Hospital เมืองจุงกิง

แพทย์ชาวแคนนาดาลงความเห็นว่า เขาป่วยเป็นมะเร็งที่ตับและกระเพาะอาหาร แต่ยังมีความสงสัยในหมู่เจ้าหน้าที่สืบราชการลับของฝ่ายสัมพันธมิตรว่า เขาอาจถูกวางยาพิษโดยฝ่ายจีนหรือโดยฝ่ายญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่มาดูแลเขาถูกจับได้ในปีถัดมาว่าเป็นสายลับญี่ปุ่น และถูกยิงเป้า

โรงพยาบาล Canadian Mission Hospital ตั้งอยู่บนภูเขาคนละฝั่งแม่น้ำกับตัวเมืองจุงกิง เงียบ และห่างไกลผู้คน เมื่อนายสงวนทราบข่าวว่าจำกัดจะเสียชีวิตในคืนนั้น นายสงวนไม่สามารถไปเยี่ยมจำกัดที่โรงพยาบาลได้ เพราะไม่มีเรือข้ามฟากแล้ว

นายจำกัดเสียชีวิตอย่างเดียวดาย ก่อนสิ้นใจ เขาเอ่ยทบทวนคำกำชับภารกิจจากหัวหน้าคณะเสรีไทย “เพื่อชาติ เพื่อ humanity”

ข้อมูลจาก  thaipublica.org (http://thaipublica.org/2013/10/the-state-of-humanity-8/)


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ธ.ค. 14, 09:54
มีคนถามว่า ทำไมฉันไม่รั้งเขาไว้ ฉันรั้งไม่ได้หรอก ฉันต้องสนับสนุนเขาแทนที่จะไปรั้งเขาไว้ การที่เขาได้มาร่วมเสรีไทย ทำให้เขามีโอกาสรับใช้ชาติ ถ้าเขาขาดตรงนี้ไปเขาคงเสียใจมาก ถ้าไม่ได้เข้าร่วมงานนี้ เขาจะเสียใจ เพราะฉะนั้นฉันก็ไม่กล้าขัด ต้องสนับสนุนเขา

ฉลบชลัยย์ พลางกูร
๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๖



กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ธ.ค. 14, 09:56
อ้างถึง
นายจำกัดและ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลต่อกัน นายจำกัดได้ให้ข้อมูลว่า กำลังของคณะเสรีไทยในประเทศประกอบด้วยทหารเรือและกองโจร ๓๐ กอง กำลังส่วนใหญ่คือพวกทหารเรือ และผู้สนับสนุนหลวงประดิษฐ์ฯ กับพลพรรคชาวบ้าน อาวุธเป็นของทหารเรือ ของส่วนตัว และที่แย่งได้มาจากญี่ปุ่น เราเคลื่อนไหวแบบกองกำลังใต้ดิน คอยตัดเส้นทางลำเลียง ขโมยเสบียง ก่อนกวนพวกญี่ปุ่น เราหวังว่าสัมพันธมิตรจะช่วยเราต้านทหารด้วย
ตรงนี้เป็นการโยงเอาอุบัติการณ์ไทยถีบ ซึ่งเกิดจากพวกหัวขโมยได้ส่งคนขึ้นไปถีบสัมภาระที่ญี่ปุ่นลำเลียงโดยทางรถไฟ ไปส่งเสบียงกองทัพของตนในมลายา เมื่อถีบหีบห่อลงมาตามจุดนัดหมายแล้ว พรรคพวกที่รออยู่บนดินก็นำเอาสินค้าเหล่านั้นไปขายในตลาดมืด เป็นวิถีโจรตามปกติไม่เกี่ยวอะไรกับขบวนการเสรีไทยในประเทศเลย (ถ้าคิดว่ามีก็ช่วยกันค้นด้วยครับ ไม่เอาเรื่องประเภทได้ยินมาว่านะครับ ขอร้อง) ภายหลังญี่ปุ่นรู้เข้าก็จัดการขั้นเด็ดขาด อุบัติการณ์นี้จึงเพลาๆลง

ตอนที่นายจำกัดพบกับ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ในจุงกิง เสรีไทยในประเทศยังมีแค่หัวหน้าและผู้ร่วมอุดมการณ์ไม่กี่คน กองกำลังจัดตั้งยังไม่มีเพราะยังติดต่อสัมพันธมิตรให้ส่งอาวุธช่วยเหลือไม่ได้เลย


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ธ.ค. 14, 10:07
อ้างถึง
ด้าน ม.จ.ศุภสวัสดิ์เล่าว่า ได้นำนักเรียนไทย ๒๑ คนที่อาสาสมัครเป็นเสรีไทยมาฝึกทหารอยู่ที่เมืองปูนา อินเดีย คณะเสรีไทยอังกฤษได้รับเบี้ยเลี้ยงจากรัฐบาลอังกฤษ และพยายามติดต่อกับ ม.ร.ว.เสนีย์ แต่ไม่ได้รับคำตอบและไม่ได้รับการติดต่อจาก ม.ร.ว.เสนีย์ แต่จะพยายามใหม่ และชวนให้นายจำกัดรีบเดินทางไปวอชิงตันเพื่อพบ ม.ร.ว.เสนีย์ แล้วชวนท่านต่อไปลอนดอน จากนั้นช่วยกันเจรจากับอังกฤษให้รับรองคณะเสรีไทย เมื่อเราพูดเป็นเสียงเดียวกันหนักแน่น สัมพันธมิตรก็จะต้องรับรองเรา

เมื่อฝ่ายนายปรีดีและเสรีไทยสายอังกฤษตกลงกันได้ มีผลทำให้สถานทูตไทยที่วอชิงตันอนุโลมตาม

ท่านทำงานวิจัยก่อนเขียนบทยังไง จึงไม่พบความจริงที่ว่า นักเรียนไทยในอังกฤษทราบข่าวของการจัดตั้งเสรีไทยขึ้นที่สหรัฐอเมริกา จึงทำหนังสือถึง ม.ร.ว.เสนีย์  ปราโมช  อัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน  แจ้งให้ทราบว่า คนไทยในอังกฤษมีความปรารถนาจะเข้าร่วมในขบวนการเสรีไทย  และขอเชิญให้ ม.ร.ว.เสนีย์เดินทางมาอังกฤษ เพราะที่นั่นหาผู้นำไม่ได้ ทาบทามแล้วไม่มีผู้ใหญ่ยอมรับ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ ทรงปฏิเสธว่าไม่มีพระประสงค์จะเกี่ยวข้องกับการเมือง  และได้ทรงสมัครเข้ารับหน้าที่ในกองรักษาดินแดนของอังกฤษอยู่แล้ว   สำหรับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี  พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗  และ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงส์สนิท สวัสดิวัตน์ พระเชษฐา สนพระทัยที่จะร่วมงานกับเสรีไทย แต่ทรงขัดข้องว่าหากทรงรับเป็นผู้นำ อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดในด้านการเมืองในประเทศไทยได้

สุดท้ายม.ร.ว.เสนีย์ได้ส่งนายมณี  สาณะเสนเดินทางจากกรุงวอชิงตันถึงกรุงลอนดอน  ก่อนออกเดินทาง กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้ให้ความเห็นชอบปฏิบัติการนี้

นายมณีได้ติดต่อสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษเพื่อขออนุมัติเดินทางไปลอนดอนด้วยวัตถุประสงค์  ๓ ประการ
(๑) ประสานงานกับคนไทยในอังกฤษและยุโรป 
(๒) ปรึกษาหารือกับฝ่ายอังกฤษและสหประชาชาติในการประชาสัมพันธ์
(๓) คัดเลือกบุคคลเพื่อจัดตั้งหน่วยทหารอาสาสมัครที่จะส่งเข้าไปปฏิบัติการในประเทศไทย

เสรีไทยสายอังกฤษได้ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นผลสำเร็จจากการประสานงานของนายมณี  สาณะเสน อาสาสมัครเสรีไทยเหล่านี้ได้รับการฝึกทหารแล้วจึงได้รับการส่งตัวไปรอปฏิบัติงานในประเทศไทยอยู่ที่เมืองปูนา ประเทศอินเดีย


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ธ.ค. 14, 10:12
อ้างถึง
เมื่อฝ่ายนายปรีดีและเสรีไทยสายอังกฤษตกลงกันได้ มีผลทำให้สถานทูตไทยที่วอชิงตันอนุโลมตาม หากฝ่ายผู้นำการเมืองหลายกลุ่มไม่สามารถตกลงกันได้ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศไทยอาจถูกตัดแบ่งเป็นไทยเหนือ–ไทยใต้

นายปรีดี ด้วยความสนับสนุนจากจีน ปกครองไทยเหนือ ติดกับเขตอิทธิพลจีน

ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ และ ม.ร.ว.เสนีย์ ด้วยความสนับสนุนจากอังกฤษ ปกครองกรุงเทพฯ และไทยใต้ ติดกับดินแดนมลายูของอังกฤษ

การแบ่งแยกประเทศชาติหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ อันเป็นผลจากการแตกแยกและต่อสู้ระหว่างพลังการเมืองภายในชาติ มีให้เห็นอยู่แล้วในกรณีเวียดนาม เกาหลี และเยอรมนี

ระหว่างศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา กับนายกิเลน ไม่รู้ใครลอกใคร นี่เป็นเรื่องมโนล้วนๆ แล้วยัดเยียดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงเข้าสู่แมมโมรี่ของคนดู ซึ่งเป็นคนยุคใหม่ไม่ได้สนใจรายละเอียดในประวัติศาสตร์

ละครเรื่องนี้ใช้นายจำกัด พลางกูรเป็นเครื่องมือในการเชิดชูการเมืองค่ายหนึ่ง เพื่อข่มอีกค่ายหนึ่ง


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ธ.ค. 14, 10:23
การแบ่งแยกประเทศชาติในกรณีเวียดนาม เกาหลี และเยอรมนีเป็นการแบ่งระหว่างการปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์ กับระบอบทุนนิยมเสรี ที่ทั้งสองฝ่ายอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยทั้งคู่

อ้างถึง
นายปรีดี ด้วยความสนับสนุนจากจีน ปกครองไทยเหนือ ติดกับเขตอิทธิพลจีน

ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ และ ม.ร.ว.เสนีย์ ด้วยความสนับสนุนจากอังกฤษ ปกครองกรุงเทพฯ และไทยใต้ ติดกับดินแดนมลายูของอังกฤษ

นี่แปลว่านายปรีดี ด้วยความสนับสนุนจากจีน ปกครองไทยเหนือ ติดกับเขตอิทธิพลจีนจะเป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์  ส่วนม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ และ ม.ร.ว.เสนีย์ (ฝ่ายเจ้า) ด้วยความสนับสนุนจากอังกฤษ ปกครองกรุงเทพฯ และไทยใต้ ติดกับดินแดนมลายูของอังกฤษ จะเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ(เอาศัพท์ที่พวกเค้านิยมใช้มาใช้หน่อย) กระนั้นหรือ


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ธ.ค. 14, 10:24
อาจารย์ฉัตรทิพย์เขียนเรื่องนี้โดยอาศัยบันทึกของคุณจำกัด เรื่องใน #๗๐ และ #๗๑ คุณนวรัตนสามารถตรวจสอบได้ว่ามีอยู่ในบันทึกของคุณจำกัดหรือไม่ บันทึกนี้ปัจจุบันเก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ  ;D


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ธ.ค. 14, 10:28
ถ้ามีก็เป็นเรื่องมโนอีกนั่นแหละ

หรือคุณเพ็ญชมพูว่าไม่ใช่ ก็เชิญว่ามา ผมจะคอยฟัง

ขอแก้ไขเพิ่มเติม ผมไม่เชื่อว่าจำกัดจะบันทึกข้อความตาม 70 และ 71 เป็นการเอาความคิดของใครบางคนไปยัดใส่ปากคุณจำกัด


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ธ.ค. 14, 11:06
หรือคุณเพ็ญชมพูว่าไม่ใช่ ก็เชิญว่ามา ผมจะคอยฟัง

ขอแก้ไขเพิ่มเติม ผมไม่เชื่อว่าจำกัดจะบันทึกข้อความตาม 70 และ 71 เป็นการเอาความคิดของใครบางคนไปยัดใส่ปากคุณจำกัด

เรื่องตอนนี้เป็นการการสนทนาทางการเมือง ข้อเท็จจริงและรายละเอียดอาจถูกละเลยไปบ้างด้วยจุดประสงค์บางอย่าง

คุณนวรัตนสามารถตรวจสอบว่าคุณจำกัดบันทึกอย่างนั้นจริงหรือไม่ตามคำแนะนำใน #๗๔


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ธ.ค. 14, 11:26
ผมจะต้องเสียเวลาไปตรวจสอบทำไมล่ะครับ

ประวัติศาสตร์นั้น เราจะละเลย time line ไม่ได้เป็นอันขาด เพราะมิฉะนั้นแล้วการสลับหน้าสลับหลังของเหตุการณ์ต่างๆจะเกิดขึ้นได้เสมอ
เรื่องที่อ้างว่าทั้งสองคุยกันนั้น ผมก็ชี้แจงไปเมื่อกี้แล้วว่าในละครเขาเอาเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิด มาสนทนากัน เหตุการณ์ที่เกิดแล้วก็ผิดความจริง

เอกสารเช่นที่คุณเพ็ญเอามาแสดงใน#67 ผมมีทั้งฉบับ คุณจำกัดเขียนด้วยลายมือที่อ่านยากมาก แต่พอจะแกะได้ว่าเป็นเรื่องความยากลำบากในการทำงานในเมืองจีน จบท้ายด้วยการขอให้ท่านศุภสวัสดิ์ช่วยทดรองเงิน และให้ซื้อยาส่งมาให้ โดยจะใช้คืนภายหลัง

ถ้าผมต้องไปอ่านลายมืออย่างนั้นทั้งหีบ ผมคงระบมสายตาเกินกว่าจะรับไหว


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ธ.ค. 14, 11:27
ใครไม่อยากอ่าน หรืออ่านไม่รู้เรื่องก็ไม่เป็นไรหรอกนะครับ ข้ามไปได้เลย


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ธ.ค. 14, 12:15
การแบ่งแยกประเทศชาติในกรณีเวียดนาม เกาหลี และเยอรมนีเป็นการแบ่งระหว่างการปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์ กับระบอบทุนนิยมเสรี ที่ทั้งสองฝ่ายอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยทั้งคู่

อ้างถึง
นายปรีดี ด้วยความสนับสนุนจากจีน ปกครองไทยเหนือ ติดกับเขตอิทธิพลจีน

ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ และ ม.ร.ว.เสนีย์ ด้วยความสนับสนุนจากอังกฤษ ปกครองกรุงเทพฯ และไทยใต้ ติดกับดินแดนมลายูของอังกฤษ

นี่แปลว่านายปรีดี ด้วยความสนับสนุนจากจีน ปกครองไทยเหนือ ติดกับเขตอิทธิพลจีนจะเป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์  ส่วนม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ และ ม.ร.ว.เสนีย์ (ฝ่ายเจ้า) ด้วยความสนับสนุนจากอังกฤษ ปกครองกรุงเทพฯ และไทยใต้ ติดกับดินแดนมลายูของอังกฤษ จะเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ(เอาศัพท์ที่พวกเค้านิยมใช้มาใช้หน่อย) กระนั้นหรือ

นี่เป็นตัวอย่างของการนำจำกัดมาอ้างอิงมาใช้ประโยชน์ แต่จนถึงนาทีนี้ผมยังเดาไม่ถูกจริงๆว่าเพื่อประโยชน์ของใคร เพราะจะว่าไป ชื่อที่ถูกละครอ้างถึงก็ซวยกันไปทั้งคู่นั่นแหละ

นายปรีดีเคยปฏิเสธเสียงแข็งมาแล้วว่าท่านไม่ใช่คอมมิวนิสต์ แต่ก็โดนรัฐประหารตามข้อกล่าวหาที่ว่า
อ้างถึง
เพราะอาจารย์ปรีดีฯ และคณะของเขาพ่ายแพ้ทางการเมืองหลังจากรัฐประหาร ๒๔๙๐ ซึ่งพรรคพวกของท่านก็ถูกลอบฆ่าบ้าง จนท่านก็ต้องหนีออกนอกประเทศ กลายเป็นว่าเรื่องนี้ไม่พูดกันเท่าไหร่ เพราะถ้าพูดถึงเสรีไทยก็เท่ากับว่ายกย่องฝ่ายอาจารย์ปรีดีฯ


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ธ.ค. 14, 12:49
เทาชมพู
อ้างถึง
อย่างที่เคยเล่าไว้ในค.ห.ก่อนหน้านี้  ว่าเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ จบลง หน้าที่ของเสรีไทยก็จบ  เสรีไทยส่วนใหญ่สลายตัวกลับไปประกอบอาชีพของใครของตัว    แต่บางส่วนก็ก่อตั้งพรรคการเมืองสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ต่อไป เช่นครูเตียงและเพื่อนอีสานแห่งพรรคสหชีพด้วยกัน ล้วนชะตารุ่ง   ได้เป็นรัฐมนตรี ๓ สมัย ๓ รัฐบาล คือ รัฐบาลนายทวี บุณยเกตุ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และรัฐบาลพล.ร.อ.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์      

อุดมการณ์ของพรรคสหชีพคือการเรียกร้องเพื่อปากท้องของประชาชนโดยเฉพาะชาวอีสาน   พร้อมกับได้ตำหนิการทำงานหลายอย่างของรัฐ เช่นการจัดสรรงบประมาณด้านการทหารมากเกินไป ข้อนี้ทำให้พรรคสหชีพถูกทหารเขม่นอยู่ไม่น้อย  

งานสำคัญของครูเตียงและพรรคพวก   คือหนุนเวียตนามเรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศส  โดยไปช่วยฝึกอาวุธให้ขบวนการกู้ชาติญวนของโฮจิมินห์  ตั้งค่ายฝึกอยู่ที่อีสาน    และไปช่วยฝึกอาวุธให้ขบวนการลาวอิสระของเจ้าสุภานุวงศ์ ได้สนับสนุนจัดตั้งและให้มาฝึกอาวุธเช่นกัน นอกจากนี้เสรีไทยอีสานบางส่วนยังข้ามน้ำโขงไปช่วยลาวและเวียดนามอีกด้วย ดังนั้น อาวุธเสรีไทยจึงได้ถูกลำเลียงไปสนับสนุนลาว และเวียดนาม

ในเดือนกันยายน ๒๔๙๐ ครูเตียง กับกลุ่มแกนนำภาคอีสานได้ก่อตั้งขบวนการสันติบาตเอเชียอาคเนย์ เพื่อต่อต้านการหวนกลับมาของฝรั่งเศส มีครูเตียง เป็นประธาน เจ้าสุภานุวงศ์ เป็นเลขาธิการ นายถวิล อุดล เป็นประชาสัมพันธ์ และนายเลอ ฮาย เป็นเหรัญญิก

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3419.180 (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3419.180)

ขบวนการสันติบาตรเอเชียอาคเนย์ประกอบด้วยกลุ่มการเมืองที่ชูธงคอมมิวนิสต์ทั้งนั้น  ระหว่างที่พลพรรคเสรีไทยทั้งสายอังกฤษและอเมริกากลับไปเรียนต่อเพื่อเอาปริญญา ม.จ.ศุภสวัสดิ์เมื่อเห็นว่าไม่จำเป็นต้องลี้ภัยแล้วก็นำเสด็จสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพร้อมพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯกลับกรุงเทพ หลังจากนั้นท่านก็ไปทำสวนอยู่ที่ชะอำชื่อสวนเสมา เสรีไทยสายในประเทศแม้จะสลายตัวกลับไปเรียนหนังสือหรือทำงานทำการเป็นส่วนใหญ่  แต่กลุ่มกู้ชาติดั้งเดิมก็ยังดำเนินการตามอุดมการณ์อยู่ จึงไม่แปลกที่นายเตียงจะโดนข้อกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ รวมทั้งส.ส.ในมุ้งสหชีพทั้งหมดด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ นายปรีดี จึงยากที่จะลอยตัวพ้นข้อกล่าวหาได้  

แม้ในพ.ศ.นี้ก็ยังถูกลากกลับรับความซวยอีก


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ธ.ค. 14, 17:50
จากกระทู้ ร.ต.อ.โพยม จันทรัคคะ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6177.75 (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6177.75)

กองกำลัง ๑๓๖ ของอังกฤษเพื่อปฏิบัติการในประเทศไทยนั้น  มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เคยอยู่ในเมืองไทยหลายคน ทราบดีว่าประเทศนี้มีคนจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และเมื่อญี่ปุ่นรุกรานจีน ก็ย่อมเป็นเดือดเป็นแค้นด้วย จึงน่าจะตั้งหน่วยปฏิบัติราชการลับที่เป็น “ลูกจีนเกิดในเมืองไทย” โดยเฉพาะ  น่าจะเป็นประโยชน์และบางทีอาจจะดีกว่าคนไทยนักเรียนนอกในหลายๆเรื่องด้วยซ้ำ จึงได้ประสานกับจุงกิงและได้รับคนจีนพูดไทยดังกล่าวมาฝึกที่อินเดียหลายคน อังกฤษเรียกพวกนี้ว่าพวกแดง ในขณะที่เรียกเสรีไทยว่าพวกเหลือง เอ้ย พวกขาว

ผมเจอแล้วครับ ว่า  ชุดปฏิบัติการจีนที่ส่งมาโดดร่มลงเป็นหน่วยแรกที่นครไชยศรีเป็นนายทหารจีนล้วน ประกอบด้วย ร.อ.หลิน เจี้ยงหง   ร.อ.หอ เฉินถง ซึ่งถูกยิงเสียชีวิต ร.อ.ตง หยุนกัง  ร.อ.วุน ฮั่นอู่  สองคนนี้ถูกจับไปอยู่สันติบาลร่วมกับเสรีไทยอื่นๆ ส่วนคนที่หนีรอดไปได้ ชื่อจีนไม่ทราบ แต่มีชื่อไทยว่า ร.อ.สมบูรณ์ สุดศรีวงศ์ สามารถติดต่อกับเครือข่ายของนายสงวน ตุลารักษ์ในเมืองไทยได้ แล้วถูกส่งไปปฏิบัติการลับอยู่ที่ปากน้ำโพ ผมจึงเล่าต่อไม่ได้ว่าไปทำอะไร เพราะจบกันแค่นั้น

จากเว็ปเพจหน้าหนึ่งซึ่งผมเพิ่งจะเจอเมื่อค้นข้อมูลคุณจำกัด พลางกูร เจอebookเล่มหนึ่ง เขียนโดยอดีตนายทหารของกอ.รมน. มีข้อความอันสอดคล้องกับคำถามของผมเข้า เลยเอามาให้อ่านกัน เพราะทำให้ทราบว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในระหว่างสงครามได้รับการจัดตั้งที่นครสวรรค์ โดยมีศิษย์เอกของนายปรีดีเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ด้วย


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ธ.ค. 14, 17:52
คณะกู้ชาติของนายเตียง กอ.รมน.เรียกเต็มปากเต็มคำว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยใช้ชื่อย่อว่า พ.ค.ท.


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ธ.ค. 14, 18:01
อ้างถึง
บทความที่ ๓. ความทรงจำของ ดร. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร เกี่ยวกับท่านปรีดี พนมยงค์

กล่าวกันว่าจุดอ่อนของท่านปรีดี พนมยงค์ อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ท่านถูกห้อมล้อมด้วยสานุศิษย์และผู้ใกล้ชิดทางการเมือง และว่ากันว่าท่านดูเหมือนจะเชื่อคำพูดของบุคคลเหล่านี้จนเกินไป จนกระทั่งผู้ที่เข้าไม่ถึงท่าน เข้าใจท่านผิดไป หรือท่านเข้าใจเขาผิดไป ผมคงจะไม่มีความเห็นในประเด็นนี้ เพราะมิได้อยู่ใกล้ชิดท่านในสมัยนั้น แต่ผมก็คิดว่าบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งสูง ๆ แทบทุกคนก็มักจะต้องมีปัญหาอย่างนี้

สำหรับท่านปรีดี พนมยงค์ เคยทำสิ่งใดที่ถือว่าเป็นความผิดพลาดที่สำคัญนั้น ผมเห็นว่ามีอยู่หลายเรื่อง แม้ว่าทุกเรื่องจะมีคำอธิบายที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเหตุใดความผิดพลาดจึงเกิดขึ้น……

……..เรื่องที่ ๕ เป็นความผิดพลาดของท่านปรีดีที่ยุบเลิกขบวนการเสรีไทยเสียเกือบจะเรียกว่าทันทีภายหลังสันติภาพ แทนที่จะใช้ขบวนการเสรีไทยสนับสนุนการพัฒนาระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายของคณะราษฎรที่แถลงไว้เมื่อคราวเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งได้ถูกสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขัดจังหวะ ท่านปรีดีเกรงคำครหาว่าท่านจะใช้ขบวนการเสรีไทยเพื่อประโยชน์ทางการเมือง จึงได้รีบยุบเลิกเสียหลังสงคราม แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคำครหา เพราะสมาชิกขบวนการเสรีไทยหลายนายซึ่งมีฐานกำลัง ได้ให้ความสนับสนุนท่านปรีดีในสภาผู้แทนราษฎรต่อเนื่องมา



กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ธ.ค. 14, 18:10
ดังนั้น เวลาสานุศิษย์ของนายปรีดี พนมยงค์จะออกมาแก้ตัวให้ท่านในเรื่องขบวนการเสรีไทยแล้ว จึงต้องอ้างอิงเรื่องราวของกำจัด พลางกูรอยู่เสมอ เพราะประวัติและผลงานของท่าน Clean & Clear ในเรื่องของการอุทิศตนเพื่อชาติ โดยไม่มีเป้าหมายทางการเมืองอื่นใด

ผมจึงเชื่อว่ากำจัด พลางกูรจะไม่ถูกลืม ตราบเท่าที่นายปรีดี พนมยงค์ยังมีสานุศิษย์ที่พร้อมที่จะสืบต่ออุดมการณ์


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ธ.ค. 14, 21:01
คำกล่าวหาของท่าน กอ.รมน. ใน #๘๑ เรื่องการแบ่งแยกดินแดนหนักหนาสาหัสนัก เรื่องนี้ศาลท่านตัดสินยกฟ้อง ด้วยไม่มีหลักฐาน

กบฏแบ่งแยกดินแดนภาคอีสานเป็นข้อหาที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ใช้กล่าวหาศัตรูทางการเมืองของตนในช่วงหลังการรัฐประหารวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ ผู้ที่ถูกจับกุมและถูกตั้งข้อหาดังกล่าวคือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดในภาคอีสาน

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภาคอีสาน ๒ กลุ่มคือ กลุ่มเสรีไทยอีสาน ซึ่งมีแกนนำกลุ่มอันประกอบไปด้วย นายเตียง ศิริขันธ์, นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายถวิล อุดล และนายจำลอง ดาวเรือง และกลุ่มที่มีนายฟอง สิทธิธรรม เป็นผู้นำ ได้เคลื่อนไหวนอกสภาฯ ร่วมกับขบวนการลาวอิสระซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการกู้เอกราชให้แก่ลาว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกลุ่มเสรีไทยอีสานยังได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งสันนิบาตเอเชียอาคเนย์ในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภาคอีสานทั้งสองกลุ่มถูกกล่าวหาจากรัฐบาลว่า ต้องการแบ่งแยกดินแดนภาคอีสาน

ในต้นปี พ.ศ. ๒๔๙๑ นายเตียง ศิริขันธ์ ซึ่งถูกประกาศจับเนื่องจากคณะรัฐประหารเชื่อว่าเตียงและพรรคพวกจะดำเนินการต่อต้านการรัฐประหาร ในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ เตียงก็เข้ามอบตัวกับตำรวจ และเดือนมิถุนายนปีเดียวกันอัยการก็ส่งสำนวนฟ้องเตียงในข้อหาสมคบกันพยายามจะก่อการกบฏเพื่อทำลายรัฐบาลกับมีอาวุธปืน กระสุนปืน และวัตถุระเบิดไว้โดยไม่ได้รับอนุญาต ข้อความในสำเนาฟ้องส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกล่าวหาว่าเตียงพยายามจะก่อการกบฏมีว่า

“...ระหว่างเดือนกันยายน ๒๔๙๐ นายเตียงได้ประกาศชักชวนประชาชนที่จังหวัดสกลให้คิดแบ่งแยกจากไทย และรวบรวมพวกลาวด้วยกันขึ้นเป็นรัฐลาว และขึ้นตรงต่อสันนิบาตเอเชียอาคเนย์โดยมีตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี และนายเตียงได้กล่าวยุยงพวกที่อยู่ร่วมด้วยให้คิดจัดการแบ่งแยกประเทศไทยออกเป็น ๔ รัฐ และรวบรวมกำลังเพื่อจะทำการปฏิวัติ ซึ่งการกระทำของนายเตียงนี้มีผิดฐานพยายามกบฏและยุยงให้เกิดกระด้างในหมู่ประชาชน...”

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๑  ก็มีการจับกุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภาคอีสานในข้อหา “กบฏแบ่งแยกดินแดน” อีกครั้งหนึ่ง ผู้ที่ถูกจับกุมในครั้งนี้ คือ นายทิม ภูริพัฒน์, นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายเตียง ศิริขันธ์, นายถวิล อุดล และนายฟอง สิทธิธรรม ซึ่งทั้งหมดถูกปล่อยตัวในชั้นศาล เนื่องจากไม่มีหลักฐาน

ข้อมูลจากบทความเรื่อง  กบฏแบ่งแยกดินแดนอีสาน (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/กบฏแบ่งแยกดินแดนอีสาน)

ป.ล. ๑ ข้อมูลท่าน กอ.รมน. ไม่แน่น คุณเตียงเป็นศิษย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ไม่ใช่ธรรมศาสตร์เด้อ  ;)

ป.ล. ๒ อาจถึงเวลาแยกกระทู้พูดถึงคุณเตียง ศิริขันธ์ เสรีไทยผู้ถูกลืม (ตัวจริง) แล้วกระมัง  ;)  ;)


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ธ.ค. 14, 21:20
ด้วยความเคารพต่อวินิจฉัยของศาลสถิตย์ยุติธรรมนะครับ (ศาลพิเศษไม่นับ)

คุณเพ็ญชมพูใช้อินทรเนตรได้เชี่ยวชาญ กรุณาหาหน่อยว่าคณะกู้ชาติที่จัดตั้งก่อนญี่ปุ่นบุกนั้น กู้ชาติจากใคร

อ้างถึง
ตอนที่จำกัดเริ่มสร้างคณะเสรีไทยนั้น ซึ่งเป็นวันที่ญี่ปุ่นบุกวันแรก จำกัดฯ บอกกับอาจารย์ปรีดีฯ ว่าผมกับอาจารย์เตียงได้สร้างคณะกู้ชาติไว้ ถ้าไม่มีคณะฯ อยู่ก่อนหน้านั้น การณ์ต่าง ๆ ก็อาจจะสายออกไปอีกว่าเมื่อไหร่จะมีคณะเสรีไทยในประเทศ ดังนั้น จำกัด พลางกูร ซึ่งเป็นเลขาธิการ เป็นแกนกลางของคณะเสรีไทยในประเทศ เป็นผู้ไปแจ้งข่าวถึงการมีอยู่ของคณะเสรีไทยในประเทศและกองกำลังที่เป็นจริง

อย่างไรก็ตามแต่การที่จำเลยทั้งหมดถูกปล่อยออกมาโดยไร้ความผิดนั่นเอง  จึงต้องพบกับชะตากรรมจากศาลเตี้ยของตำรวจ ที่เผ่า ศรียานนท์ มือขวาของจอมพล ป. เป็นอธิบดี


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ธ.ค. 14, 21:23
เพลงนี้คงเหมาะสำหรับคุณเตียง  ;D

http://www.youtube.com/watch?v=bo5AqFHEKYQ#ws (http://www.youtube.com/watch?v=bo5AqFHEKYQ#ws)

ขออนุญาตนำเพลง "เธอผู้เสียสละ" แต่งโดย  ศักดิ์สิทธิ เชื้อกลาง (เศก ศักดิ์สิทธิ์) แห่งวงคุรุชน มาประกอบบรรยากาศของการตัดสินคดีครั้งนี้  

รุ่งเช้าวันหนึ่งแจ่มใส                
เธอพาดวงใจของเธอก้าวมา
แผ่วเบาเหมือนดังลมพา
เธอเริ่มแสวงหาในสิ่งที่ควร

เธอยังใหม่ในศึกษา
ได้ปรารถนาศึกษาโซ่ตรวน
ผูกมัดรัดตรึงทุกส่วน
จนเธอผันผวนในสังคม

เธอได้พบสิ่งใหม่
ที่ชูใจให้ชื่นชม
สลัดทุกข์อันแสนเศร้าตรม
หลุดหายไปในชีวี

แสงเจิดจ้าผ่องใส
ชูผู้นำชัยเรืองรองทั่วไป
เธอมีความสุขใจ
มวลชนพ้นภัยอยู่สุขชื่นบาน

และเธอก็ถูกกล่าวหา
เป็นกบฏชั่วช้าคิดคดการณ์ไกล
กบฏหรือคือผู้นำชัย
เข่นฆ่าโพยภัยหมดสิ้นดินทอง


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ธ.ค. 14, 21:40
ระหว่างที่รอคุณเพ็ญในเรื่องที่เกี่ยวกับเสรีไทยในวันที่ใกล้ถูกลืม

จำกัด พลางกูร : เสรีไทยในวันที่ใกล้ถูกลืม หัวข้อนี้จริงหรือไม่ มีตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ จากบทความของ คุณวิกกี้ (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%82%E0%B8%9A%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2) มานำเสนอ

ป.ล. ๑ ข้อมูลท่าน กอ.รมน. ไม่แน่น คุณเตียงเป็นศิษย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ไม่ใช่ธรรมศาสตร์เด้อ  ยิ้มเท่ห์

เชื่อวิกี้มากใช่ไหม

นายเตียง ศิริขันธ์ เกิดที่บ้านในตำบลตลาด อำเภอเมืองสกลนคร เป็นบุตรคนที่ 6 ในจำนวน 10 คน ของขุนนิเทศพาณิชย์ (บุดดี ศิริขันธ์) กับนางอ้อน ศิริขันธ์ จบโรงเรียนเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศวิหาร สมรสกับนางนิวาศน์ ศิริขันธ์ (นามเดิม นิวาศน์ พิชิตรณการ เป็นบุตรสาวของ ร.อ.นาถ และนางเวศ พิชิตรณการ) มีบุตร 1 คน ชื่อ นายวิฑูรย์ ศิริขันธ์ เกี่ยวกับเชื้อสายของเตียง ศิริขันธ์ นั้นบิดาเป็นบุตรชายลำดับที่ 4 ของรองอำมาตย์โท พระบริบาลศุภกิจ (คำสาย ศิริขันธ์) หรือเพียเมืองขวา อดีตกรมการเมืองสกลนครชั้นผู้ใหญ่ กับนางบัว ศิริขันธ์ ธิดาของพระโคษาราช (ต้นตระกูล นาถโคษา) กำนันตำบลสะพานหิน ปู่ของเตียง ศิริขันธ์ ชื่อพระเสนาภักดี (ขันธ์ ศิริขันธ์) ย่าชื่อนางพรหมา ศิริขันธ์ ปู่ทวดชื่อพระศรีวรราชหรือเพียสีสุวงษ์ (ท้าวรี) ย่าทวดชื่อนางที บิดาของปู่ทวดชื่อเพียสีหาเทพ (ท้าวศรี) กรมการเมืองสกลนครชั้นผู้ใหญ่ชุดแรกสมัยเริ่มตั้งเมืองสกลนคร ตระกูลของเตียงศิริขันธ์นับว่าเป็นเชื้อสายขุนนางเก่าแก่ และเกี่ยวดองกับตระกูลเจ้าเมืองของสกลนครมายาวนาน คือ ตระกูล พรหมสาขา ณ สกลนคร

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87_%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%82%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B9%8C (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87_%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%82%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B9%8C)


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ธ.ค. 14, 22:00
หลายครั้งที่คุณวิกกี้เชื่อไม่ได้

ข้อมูลจาก เว็บคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ (http://www.arts.chula.ac.th/events/arts96/timeline.html)  ;D


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ธ.ค. 14, 22:02
ก็น่านนาซี้ แล้วตอนนั้นเอามาอ้างทำมาย


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ธ.ค. 14, 22:21
ไม่ได้เชื่อดอก เพียงอยากจะบอกว่า แม้แต่คุณวิกกี้ยังลืมคุณจำกัด (ไม่ใช่คุณกำจัดเด้อ)  ;D


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ธ.ค. 14, 22:26
เอ้า ผ่านครับ   ผ่าน
เข้าเรื่องคุณจำกัดได้แล้ว


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ธ.ค. 14, 08:46
คุณเพ็ญชมพูใช้อินทรเนตรได้เชี่ยวชาญ กรุณาหาหน่อยว่าคณะกู้ชาติที่จัดตั้งก่อนญี่ปุ่นบุกนั้น กู้ชาติจากใคร

ขบวนการกู้ชาติ

จำกัด พลางกูร อักษรศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดแกนนำคนหนึ่งของขบวนการกู้ชาติ ได้เล่าไว้ในหนังสือ การกู้ชาติ ว่า

"เมื่อข้าพเจ้ายังเรียนอยู่ที่ประเทศอังกฤษข้าพเจ้ารวบรวมสมัครพรรคพวกได้เป็นอันมาก เพื่อจะมาตั้งคณะต่อสู้กับจอมพลแปลกเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างแท้จริงขึ้นทางลับ ๆ ในประเทศไทยแต่ครั้นข้าพเจ้าถูกไล่ออกจากทางราชการ เพราะข้าพเจ้าไม่ไปประกาศทางวิทยุกระจายเสียง เกี่ยวกับประชาธิปไตยของข้าพเจ้าเพื่อนฝูงก็เริ่มเหินห่างออกไป"

แต่เมื่อทราบข่าวญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกและท่าทีของรัฐบาลที่ไม่ยอมต่อต้านญี่ปุ่น ความพยายามในการก่อตั้งขบวนการกู้ชาติก็กลับมาอีกครั้ง

"ตอนบ่ายวันที่ ๙ ธันวาคม (๒๔๘๔) ...ข้าพเจ้าได้ปรึกษานายเตียง หาทางออกไปนอกอาณาจักรไทยไปยังพม่า ทราบว่ามีทางออกอยู่ทางแม่สอดและกาญจนบุรี แต่ต่อมาอีกสองวันก็ได้ข่าวว่าญี่ปุ่นได้ยึดสองทางนั้นเสียแล้ว เป็นอันว่าการเตรียมตัวของเราต้องล้มเหลวไปข้าพเจ้าจึงรวบรวมเพื่อนพ้องเพื่อตั้งขบวนการกู้ชาติ ... หลักการของข้าพเจ้ามีอยู่ว่า จะรวบรวมพรรคพวกเท่าที่จะหาได้ แบ่งออกเป็น ๓ ชั้น คือ ชั้นที่ ๑ พวกที่รู้แผนการของข้าพเจ้า ชั้นที่ ๒ คือพวกที่รู้เลา ๆ ว่าข้าพเจ้าทำอะไร และชั้นที่ ๓ คือพวกที่มีความเลื่อมใสและนิยมในตัวข้าพเจ้า พวกเหล่านี้ให้ล่วงรู้อะไรโดยตรงไม่ได้ และถึงเวลาจำเป็นก็คงใช้บริการได้ พวกนี้ได้แก่ศิษย์ข้าพเจ้าโดยมาก

พวกชั้นที่ ๑ เท่าที่รวบรวมได้ก็มีนายเตียง ศิริขันธ์ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายถวิล อุดล นายจำลอง ดาวเรือง นายเรือโท โกเมศ เครือตราชู นายยล สมานนท์ ชั้นที่ ๒ ภรรยา ข้าพเจ้า (นางฉลบชลัยย์ พลางกูร) ได้ไปชวน นางปิ่น บุนนาค (นางราชญาติรักษา) และพวก ข้าพเจ้าได้ไปชวนนายแพทย์เฉลิม บุรณนนท์ ฯลฯ ชั้น ๓ นั้นมีมากมาย

แต่ข้อที่สำคัญก็คือ แม้ว่าพวกเราจะหนีไปตั้งรัฐบาลได้ เราก็ไม่มีกำลังพอที่จะต่อสู้กับกองทัพของจอมพลได้ ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า ในระหว่างผู้มีอำนาจคงมีใครบ้างที่คิดอย่างเรา แล้วรวมคณะเราเข้าไป คงทำประโยชน์ได้บ้างไม่มากก็น้อย ข้าพเจ้าส่ายตาดูก็เห็นมีแต่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้เดียวซึ่งจะเป็นหัวหน้า เป็นกำลังสำคัญของคณะกู้ชาติของเราได้ ข้าพเจ้าจึงตรงไปหาท่านที่บ้านสีลมทันที"

ต่อมา ขบวนการกู้ชาติและองค์การต่อต้านญี่ปุ่นได้รวมตัวกันในปลายปี ๒๔๘๔

เรื่องของคุณจ้อมาจาก ๖๐ ปีเสรีไทย วีรกรรมของผู้รับใช้ชาติ โดย ธนาพล อิ๋วสกุล (http://www.sarakadee.com/feature/2001/12/free_thai.htm) นิตยสารสารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๒ เดือน ธันวาคม ๒๕๔๔

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ธ.ค. 14, 09:43
อ้างถึง
จำกัด พลางกูร อักษรศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดแกนนำคนหนึ่งของขบวนการกู้ชาติ ได้เล่าไว้ในหนังสือ การกู้ชาติ ว่า

"เมื่อข้าพเจ้ายังเรียนอยู่ที่ประเทศอังกฤษข้าพเจ้ารวบรวมสมัครพรรคพวกได้เป็นอันมาก เพื่อจะมาตั้งคณะต่อสู้กับจอมพลแปลกเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างแท้จริงขึ้นทางลับ ๆ ในประเทศไทยแต่ครั้นข้าพเจ้าถูกไล่ออกจากทางราชการ เพราะข้าพเจ้าไม่ไปประกาศทางวิทยุกระจายเสียง เกี่ยวกับประชาธิปไตยของข้าพเจ้าเพื่อนฝูงก็เริ่มเหินห่างออกไป"

ครับ ดังนั้นคณะต่อสู้กับจอมพลแปลกนี้ก็คงจะมีนายเตียงอยู่ด้วยแน่นอน

อ้างถึง
แต่เมื่อทราบข่าวญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกและท่าทีของรัฐบาลที่ไม่ยอมต่อต้านญี่ปุ่น ความพยายามในการก่อตั้งขบวนการกู้ชาติก็กลับมาอีกครั้ง

"ตอนบ่ายวันที่ ๙ ธันวาคม (๒๔๘๔) ...ข้าพเจ้าได้ปรึกษานายเตียง หาทางออกไปนอกอาณาจักรไทยไปยังพม่า …..
……..แต่ข้อที่สำคัญก็คือ แม้ว่าพวกเราจะหนีไปตั้งรัฐบาลได้ เราก็ไม่มีกำลังพอที่จะต่อสู้กับกองทัพของจอมพลได้ …….

ครั้นสงครามเลิกแล้ว นายเตียงมีกองกำลังพร้อมอาวุธที่จัดตั้งไว้แล้ว  ก็ดำเนินการกู้ชาติต่อตามอุดมการณ์ และเมื่อต้องต่อสู้กับจอมพล ป.  ซึ่งหวนคืนสู่อำนาจ มาอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับนายปรีดี  นายเตียงและสหายจึงถูกจัดการ ตามเกมแห่งอำนาจ


กระทู้: ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ธ.ค. 14, 09:54
เกมแห่งอำนาจนี้  คือการต่อสู้ช่วงชิงการเป็นผู้ชนะ  ผู้สมัครเข้าเล่นเกมจะต้องกำจัดคู่ต่อสู้ออกไปให้พ้นทางด้วยวิธีที่ยังให้เป็นอยู่ หรือให้ตายก็ได้  
ผู้ที่ถูกกำจัดคือผู้แพ้  เมื่อสมัครใจเข้าเล่นเกมแห่งอำนาจแล้ว ผู้แพ้ก็ไม่ควรจะต่อว่าผู้ชนะว่าเล่นรุนแรงเกินเหตุ  เพราะหากตัวทำเขาได้  ตัวก็คงทำเช่นเดียวกัน  แต่นี่ตัวทำเขาไม่ได้  ตัวจึงได้แพ้และถูกขจัดออกไป

เกมแห่งอำนาจนี้เล่นกันมานานแล้ว ตั้งแต่มนุษย์ทุกชาติทุกภาษาเกิดมาในโลก เดี๋ยวนี้เกมนี้ก็ยังเล่นกันอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไปตามกาลสมัยเท่านั้น