เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: ซันเต๋อ ที่ 25 ธ.ค. 01, 03:05



กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: ซันเต๋อ ที่ 25 ธ.ค. 01, 03:05
ไม่ทราบความสำคัญค่ะ ว่าเป็นวันอะไร
วันตรุษจีน รู้ว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่
วันเชงเม้ง รู้ว่าเป็นวันไหว้บรรพบุรุษ
วันไหว้พระจันทร์ ก็รู้ว่าไหว้พระจันทร์
 แต่วันสารทจีน เขาทำอะไรกันคะ
รบกวนหน่อยค่ะ  ขอบคุณมาก


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: นนทิรา ที่ 17 ธ.ค. 01, 14:26
วันสารทจีนนี่จะตกประมาณเดือนไหนคะ เผื่อจะเป็นแนวทางให้ดิฉันนึกต่อได้


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: ฝอยฝน ที่ 17 ธ.ค. 01, 15:14
คำว่า "สารท" ค้นเจอว่าเป็นเทศกาลทำบุญสิ้นเดือนสิบ  หรือ เหตุการณ์ที่เกิดในฤดูใบไม่ร่วงค่ะ
อ่านจากหนังสือ ของคุณจิตรา กล่าวไว้ว่า สารทจีน เป้นการไหว้เจ้า ครั้งที่ 5 ประจำปีค่ะ เห็นว่าปีหนึ่งจะไหว้ทั้งหมด 8 ครั้ง
ก็ไหว้เจ้า ไหว้ บรรพบุรุษ และต้นตระกูลจีนที่มาตั้งรกรากในไทย แล้วไม่มีลูกหลาน ก็ไหว้กันช่วงนี้ค่ะ (ลอกมาจากหนังสือค่ะ)


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: ซันเต๋อ ที่ 18 ธ.ค. 01, 09:57
ขอบคุณค่ะ ที่แท้ก็วันไหว้เจ้านี่เอง


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: สายลม ที่ 18 ธ.ค. 01, 11:20
..  .เท่าที่เห็นมา ชาวจีนในเมืองไทยจะมีการไหว้เจ้าและการไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วที่บ้านสองครั้งในรอบปี คือในวันตรุษจีนซึ่งเป็นเทศกาลขึ้นปีใหม่ของจีน และในวันสารทจีนซึ่งเป็นห้วงระยะเวลาครึ่งปี ถ้านับรวมการไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วในวันเช็งเม้งที่สุสาน ณ ฮวงซุ้ยชองแต่ละครอบครัว กับการไหว้พระจันทร์ด้วย ก็จะรวมกันเป็นปีละ ๔ ครั้ง แต่ถ้านับรวมถึงการไหว้พระภูมิเจ้าที่ ( ตี้จู้ ) ด้วยในการไหว้แต่ละครั้งก็อาจรวมกันเป็น ๘ ครั้งได้


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: กระบี่อิงฟ้า ที่ 19 ธ.ค. 01, 17:03
เอ...คุณสายลมครับ  ถ้านับรวมไหว้ตีจู่เอี๊ยด้วย  นี่ปีหนึ่งไหว้กันเป็นร้อยเลยนะครับ  ไหว้8ครั้งเท่าที่จำได้ก็มี  
    ตรูษจีน เช็งเม้ง  โหงวเหว่ยโจ่ย(ไหว้บ๊ะจ่าง)    ตงชิว(สารทจีน)  ไหว้ขนมอี๋  ไหว้พระจันทร์ จำได้แค่นี้ ผมจำไม่ได้ว่าเขานับไหว้ก๊วยนี้(สิ้นป๊)รวมกับตรุษจีนหรือว่านับแยก
   คุณซันเต๋อ ถ้าอยากรู้มากกว่านี้ ลองดูในหนังสือ ตึ่งหนั่งเกี้ย ของ จิตรา ก่อนันทเกียรติ  ดูนะครับ
   ขยายความให้ฝอยฝนหน่อยนะครับ เวลาตรุษจีนกับสารทจีน นี่ตอนไหว้บางคนจะไหว้2อย่างคือไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ แต่บางคนก็จะไหว้3อย่าง คือเพิ่มไหว้ผีไม่มีญาต(ไป๊ฮ๋อเฮียตี๋)


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: สายลม ที่ 20 ธ.ค. 01, 12:47
. .ความหมายของคำว่า สารท ตามที่คุณฝอยฝนให้มานั้น เป็นความหมายที่ใช้ตามแบบของไทย  ในความหมายแรกคือสารทไทย เป็นเทศกาลทำบุญสิ้นเดือนสิบ ส่วนความหมายที่สองที่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดในฤดูใบไม้ร่วงนั้นนึกไม่ออกว่าจะไปอิงกับของชาติใด เพราะเมืองไทยไม่มีฤดูใบไม้ร่วง
.   .ส่วนสารทจีนนั้นน่าจะยืมคำว่าสารทของไทยไปใช้ จึงไม่เกี่ยวกับเดือนสิบของไทยหรือฤดูใบไม้ร่วงของใครก็ไม่รู้
 . .ที่คุณซันเต๋อสรุปว่า ที่แท้คือวันไหว้เจ้านี่เอง ก็น่าจะยังไม่เชิง เพราะหลักใหญ่ของสารทจีนอยู่ที่การไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และมีการไหว้เจ้าเป็นส่วนประกอบ
  .เคยอ่านเรื่องเทพเจ้าของจีนที่คุณจิตราฯ เขียนลงในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันแล้วรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยคุ้น ที่คนไทยคุ้นคือเทพยดาที่เรียกว่า เซียน ของชาวจีนแต้จิ๋วซึ่งเป็นชาวจีนส่วนใหญ่ที่อพยพเข้ามาอยู่เมืองไทยอาจจะตั้งแต่ต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงหลังสงครามมหาเอเซียบูรพายุติใหม่ๆ สังเกตได้จากวรรณกรรมจีนภาคภาษาไทยจะใช้ภาษาแต้จิ๋วทั้งนั้น และเทพยดาหรือเซียนก็มีอยู่ไม่มากมาย ดังจะเห็นได้จากเรื่อง ไซอิ๋ว  โป้ยเซียน  ชั่นบ้อเหมา ฯลฯ ส่วนใหญ่จะเป็นเทพยดาหลักๆ


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: Linmou ที่ 25 ธ.ค. 01, 15:05
เห็นเพื่อนคนมาเก๊าบอกว่า
เป็นวันที่ประตูผี(นรก)เปิด ให้บรรดาผีทั้งหลายมากินเครื่องเซ่นได้
เหมือนวันชิงเปรตเดือน ๑๐ ของไทยน่ะค่ะ
แต่ของจีนจะอยู่ในช่วงราวเดือน ก.ค. - ส.ค.
กินเวลานานประมาณ ๑ เดือน
ช่วงนั้นเห็นเพื่อน(คนเดียวกัน)บอกว่า ใครที่ชอบแขวนกระดิ่งลมไว้ตรงประตูจะเก็บกระดิ่งหมด เพราะกลัวจะเป็นการเรียกผีเข้าห้อง

จะเป็นช่วงเวลาที่คนกลัวผีปอดลอยที่สุดในรอบปี


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ส.ค. 15, 09:41
ปฏิทินจีนโบราณ เดือน ๗ ถือเป็นเดือนสำคัญที่ลูกหลานจะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษโดยพิธีเซ่นไหว้ หญิงที่แต่งงานแล้วต้องกลับมาเซ่นไหว้ที่บ้านเดิม
          
ต่อมาเรื่องนี้ได้ไปปะปนกับเรื่องของพระโมคคัลลานะ ที่ช่วยมารดาให้พ้นจากนรก จึงมีความเชื่อว่าเป็นเวลาที่ประตูนรกนั้นได้ถูกเปิด เพื่อให้บรรดาภูติผีออกเร่ร่อนตามสถานที่ต่าง ๆ ชาวจีนจะมีการเซ่นไหว้เพิ่มขึ้นมาอีกพิธีหนึ่ง คือ ในตอนเช้าจะเซ่นไหว้เจ้าที่ และเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ตอนบ่ายจะเซ่นไหว้ผีไม่มีญาติ หรือบรรพบุรษต้นตระกูลของชาวจีน ที่ล่วงลับไปแล้วแต่ไม่มีลูกหลานสืบสกุล แต่ในบางแห่งก็นิยมไหว้ในตอนเช้าด้วยเช่นกัน ประเพณีนี้ได้ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนาน

ในรอบหนึ่งปีชาวจีนจะมีไหว้เจ้าใหญ่ ๘ ครั้ง เรียกว่าไหว้ ๘ เทศกาลโป๊ะโจ่ย การไหว้สารทจีนเป็นการไหว้ครั้งที่ ๕ ตรงกับวันที่ ๑๕ เดือน ๗  ซึ่งถือกันว่าเป็นเดือนผี เป็นเดือนที่ประตูนรกปิดเปิด ให้ผีทั้งหลายมารับกุศลผลบุญได้ ตำราจีนหนึ่งกล่าวไว้ว่า วันที่ ๑๕ เดือน ๗ เป็นวันที่เช็งฮีไต๋ตี๋จะตรวจดูบัญชีวิญญาณคนตาย ส่งวิญญาณดีขึ้นสวรรค์ และส่งวิญญาณร้ายลงนรก ชาวจีนทั้งหลายรู้สึกสงสารวิญญาณร้าย จึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ นรกจึงเปิดประตู เพื่อให้วิญญาณร้ายออกมารับกุศลผลบุญได้

ข้อมูลจาก สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง (http://www.lib.ru.ac.th/journal/sart-chin.html)

วันที่ ๑๕ เดือน ๗ ตามปฏิทินจีน ปีนี้ตรงกับวันที่ ๒๘ สิงหาคม

สุขสันต์วันสารทจีน   ;D


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 28 ส.ค. 15, 13:49
มูลนิธิเล็กประไพเค้าย่อสาระงานเสวนามาให้อ่าน น่าจะไขข้อสงสัยได้บ้างครับ

http://www.lek-prapai.org/watch.php?id=5046 (http://www.lek-prapai.org/watch.php?id=5046)


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: ปิ่น ที่ 03 ก.ย. 15, 11:02
มีเพื่อนร่วมงานก็ถามปิ่นเหมือนกัน แต่ปิ่นรู้แค่ว่าวันสารทจีน หรือ 中元节(ตงหงวนจ่อย) นั้น ประจำวันขึ้น15ค่ำเดือน7ของปฏิทินจันทรคติทุกปี เป็นวันปล่อยผี คือวันที่ประตูนรกเปิดให้ผีออกมา ดังนั้นเวลาไหว้เจ้าก็จะไหว้สัมภเวสี หรือที่คนจีนเรียกกันว่า โฮ้ เฮีย ตี่ (好兄弟)ด้วย

วันตงหงวนปีนี้ที่จีน มีผู้หญิงคนนึงแต่งตัวcosplayเป็นผีไปขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดินจนดังไปทั่วโลกโซเชียลจีน ก็อาศัยพื้นที่ตรงนี้ให้ทุกคนได้ดูด้วยค่ะ


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 ก.ย. 17, 10:31
สุขสันต์วันสารทจีน ๒๕๖๐  ;D


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 ก.ย. 17, 10:56
ปิ่นรู้แค่ว่าวันสารทจีน หรือ 中元节(ตงหงวนจ่อย) นั้น ประจำวันขึ้น15ค่ำเดือน7ของปฏิทินจันทรคติทุกปี เป็นวันปล่อยผี คือวันที่ประตูนรกเปิดให้ผีออกมา ดังนั้นเวลาไหว้เจ้าก็จะไหว้สัมภเวสี หรือที่คนจีนเรียกกันว่า โฮ้ เฮีย ตี่ (好兄弟)ด้วย

วันสารทจีน หรือ เทศกาลจงหยวน (中元节) คุณหาญปิงเล่าว่าเป็นเทศกาลลอยกระทงแบบจีนด้วย  ;D

ในเทศกาลจงหยวนนี้กิจกรรมพื้นฐานคือการบูชาบรรพบุรุษที่ล่วงลับ เรื่อยไปจนถึงไหว้เจ้าทำบุญตามวัดวาอารามศาลเจ้าต่าง ๆ เผากระดาษเงินกระดาษทองไปตามเรื่อง แต่ที่โดยเด่นที่สุดในเทศกาลนี้คือการลอยกระทง และการเล่นโคมดอกบัว การที่ลอยกระทงลงน้ำนี้มีจุดประสงค์เพื่อรำลึกถึงญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ในบางพื้นที่ก็มีแนวคิดอื่นเพิ่มเติมเข้าไปด้วย อาทิ เขตแม่น้ำแยงซีเกียงตอนใต้หรือที่เรียกว่าเขตเจียงหนาน (江南) คนป่วยลอยกระทงด้วยมีความประสงค์ว่าจะให้ความป่วยไข้ลอยหายไปกับสายน้ำด้วย กระทั่งบางพื้นที่ลอยกระทงนี้อาจจะถือเป็นการอวยพรแต่ผู้อื่น โดยลอยได้ทุกครั้งช่วงต้นเดือนและกลางเดือนตลอดทั้งปีก็มี แต่ว่าถ้าจะนับว่ายิ่งใหญ่จริง ๆ ก็คือวันที่ ๑๕ เดือน ๗ ตามปฏิทินจันทรคติ

ในกรุงปักกิ่งเทศกาลจงหยวนถือเป็นเทศกาลที่สนุกสนานคึกคักมากเทศกาลหนึ่ง เพราะนอกจากตามบ้านช่องจะมีการไหว้เจ้าอย่างคึกคัก ตามวัดวาอารามทั้งพุทธและเต๋าก็มีพิธีสวดมนต์ทำบุญกันยกใหญ่ ถ้าตามวัดใหญ่ ๆ ก็มีการ “เผาเรือ” (烧法船) เรือที่ว่านี้คือข้าวของเครื่องใช้ทำจากกระดาษที่จะอุทิศให้ผู้ตาย หรือที่คนไทยเรียกกันว่าการเผากงเต็กอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย ทำเป็นรูปเรือขนาดมโหฬาร ตั้งไว้หน้าวัด เมื่อเสร็จพิธีก็เผาอุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับ ตามโรงงิ้วต่าง ๆ ก็จะเล่นงิ้วเรื่อง “มู่เหลี่ยนช่วยมารดา” (目莲救母)ซึ่งเป็นงิ้วที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับความกตัญญูรู้คุณ ตกเย็นคนก็ไปลอยกระทงกันสนุกสนาน โดยกระทงทำจากวัสดุหลากหลาย ที่แบบพื้น ๆ คือการนำใบบัวมาปักเทียนไว้ตรงกลาง หรือนำ ฟักทอง ฟักมาแกะสลักและจุดโคมไว้ข้างในปล่อยลอยลงน้ำ ถ้าจะให้วิเศษงดงามหน่อยก็นำวัสดุอื่น ๆ มาใช้แทนดัง กระดาษสี ในเทศกาลนี้เด็ก ๆ ยิ่งสนุกใหญ่ เพราะว่าจะได้ถือโคมดอกบัว (莲花灯) ซึ่งทำจากกระดาษสีไม่ก็ทำจากผ้าไหม วิ่งไปวิ่งมาถึงไม่วูบ ๆ วาบ ๆ อาจไม่ตื่นเต้นเท่าดอกไม้ไฟ แต่ก็สนุกพอดูอยู่สำหรับเด็ก

เมืองภูมิ หาญสิริเพชร
๒๕ ๑๑ ๒๕๕๘

https://www.facebook.com/gugonglady/posts/916052731804642


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 ก.ย. 17, 15:27
วันสารทจีน หรือ เทศกาลจงหยวน (中元节) คุณหาญปิงเล่าว่าเป็นเทศกาลลอยกระทงแบบจีนด้วย  ;D

ในเทศกาลจงหยวนนี้กิจกรรมพื้นฐานคือการบูชาบรรพบุรุษที่ล่วงลับ เรื่อยไปจนถึงไหว้เจ้าทำบุญตามวัดวาอารามศาลเจ้าต่าง ๆ เผากระดาษเงินกระดาษทองไปตามเรื่อง แต่ที่โดยเด่นที่สุดในเทศกาลนี้คือการลอยกระทง และการเล่นโคมดอกบัว การที่ลอยกระทงลงน้ำนี้มีจุดประสงค์เพื่อรำลึกถึงญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ในบางพื้นที่ก็มีแนวคิดอื่นเพิ่มเติมเข้าไปด้วย อาทิ เขตแม่น้ำแยงซีเกียงตอนใต้หรือที่เรียกว่าเขตเจียงหนาน (江南) คนป่วยลอยกระทงด้วยมีความประสงค์ว่าจะให้ความป่วยไข้ลอยหายไปกับสายน้ำด้วย กระทั่งบางพื้นที่ลอยกระทงนี้อาจจะถือเป็นการอวยพรแต่ผู้อื่น โดยลอยได้ทุกครั้งช่วงต้นเดือนและกลางเดือนตลอดทั้งปีก็มี แต่ว่าถ้าจะนับว่ายิ่งใหญ่จริง ๆ ก็คือวันที่ ๑๕ เดือน ๗ ตามปฏิทินจันทรคติ

กิจกรรมนี้ถ้าคนไทยเห็นคงเรียกว่าลอยกระทง แต่ตามหลักของจีนต้องเรียกว่าโคม เพราะต้องมีเทียนหรือประทีปอื่นเป็นส่วนสำคัญที่สุด รูปทรงโคมอาจเป็นรูปดอกบัว โคมไฟ บ้านหลังเล็ก ๆ หรือลักษณะอื่น ข้างในมีเทียนหรือประทีปอื่นจุดสว่างไสว
 
ที่มาของการลอยโคมตำราบางเล่มว่า พุทธศาสนานำมาจากอินเดียสมัยราชวงศ์ถัง แต่บางเล่มก็ว่าน่าจะเกิดจากศาสนาเต๋า เพราะเต๋ามีประเพณีชักโคมบูชาดาวและเทพเทียนกวน (นภเสนา) ในวันเทศกาลหยวนเซียวกลางเดือนอ้ายมาก่อน กลางเดือน ๗ เป็นเทศกาลบูชาเทพตี้กวน (ธรณิศเสนา) จึงจุดโคมบูชาท่านบ้าง แต่ลอยลงน้ำแทนเพื่อส่องทางให้ผีขึ้นมาสู่โลกมนุษย์ รับเครื่องเซ่นสังเวยและ "การอภัยโทษ" จากเทพตี้กวน ทั้งพุทธ เต๋า เชื่อว่าน้ำเป็นทางเชื่อมหรือแดนต่อยมโลกกับมนุษยโลก ในคัมภีร์พุทธกล่าวว่ามีแม่น้ำชื่อ "ไน่เหอ" กั้นระหว่างโลกมนุษย์กับยมโลก ในพิธีอุลลัมพนสังฆทานจึงมีการลอยโคมเพื่อส่องทางให้ผีข้ามแม่น้ำไน่เหอด้วย  
 
การลอยโคมในวันสารทจีนคงมีมาตั้งสมัยราชวงศ์ถัง ถึงสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ มีบันทึกว่า "ราชสำนักส่งขันทีไปลอยโคมนับหมื่นดวง" ในวันนี้ สมัยราชวงศ์หยวนการลอยโคมแพร่หลายไปทั่วประเทศจีน มีบันทึกของคนร่วมสมัยกล่าวถึงประเพณีนี้ในเมืองหลวงว่า "เดือน ๗ วัน ๑๕ ค่ำ วัดต่าง ๆ จัดงานอุลลัมพนสังฆทาน ตอนค่ำลอยโคมลงแม่น้ำ เรียกว่า "ลอยคงคาประทีป" เถียนยู่เฉิงบันทึกประเพณีนี้ในเมืองหางโจวสมัยนั้นไว้ว่า "วัน ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ เรียกว่าเทศกาลจงหยวน เล่าสืบกันมาว่าเป็นวันที่เทพตี้กวนประทานอภัยโทษ ผู้คนจะถือศีลกินเจ สวดมนต์อุทิศให้บรรพชนและผีทั้งหลายให้พ้นโทษภัย---พระสงฆ์จัดงานอุลลัมพนสังฆทาน ลอยโคมในทะเลสาบซีหูและที่เจดีย์ แม่น้ำ เรียกว่า "ส่องยมโลก"


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 ก.ย. 17, 15:29
ในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง การลอยโคมเป็นทั้งการบุญและงานรื่นเริงสนุกสนาน หนังสือ "จิงโตวเฟิงซู่จื้อ (บันทึกประเพณีเมืองหลวง)" กล่าวว่า "วัน ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ เป็นวันเทศกาลจงหยวน เล่าสืบกันมาว่าเป็นวันที่เทพตี้กวนประทานอภัยโทษ ผู้คนไปเซ่นไหว้บรรพชนที่สุสานเหมือนวันเช็งเม้ง พระสงฆ์สวดมนต์ทำพลีกรรม เผาเรือกระดาษเรียกว่า "ส่งธรรมนาวา" เชื่อว่าจะช่วยรับผีไม่มีญาติออกจากยมโลก ในตลาดขายโคมนานาชนิด ที่ทำเป็นรูปดอกบัวเรียกว่าปทุมมาลย์ประทีป ที่ทำเป็นรูปใบบัวเรียกปทุมบรรณประทีป ตกค่ำเด็ก ๆ รวมกันเป็นกลุ่มๆ ต่างถือโคมดอกบัว โคมใบบัวเดินไปตามถนนตรอกซอกซอยร้องว่า "โคมดอกบัว โคมดอกบัว จุดวันนี้ พรุ่งนี้โยน" บ้างก็เอาผลไม้มาปักธูปเทียนทั่วทั้งลูก เรียกว่าโคมธูปเทียนและใช้ไม้ยาวปักธูปเทียนเป็นรูปต้นไม้ โคมพวกนี้ทำให้ที่มืดมีแสงระยิบระยับราวหิ่งห้อยนับหมื่น เหมือนแสงผีทั่วพันลี้ น่าชมยิ่งนัก" การจุดโคมพราวพร่างระยิบระยับไปทั่วนี้ยังเป็นการเซ่นสรวงบรรพชน ขอให้พืชพรรณธัญญาหารสมบูรณ์อีกด้วย บางแห่งเอาธูปเทียนปักที่ดิน ยิ่งปักมากยิ่งดี เรียกว่า "ดำนา" เป็นเครื่องหมายว่าข้าวกล้างอกงามดี และเป็นการบูชาพระกษิติครรภโพธิสัตว์ ผู้มีมหาปณิธานโปรดสัตว์ให้พ้นบาปหมดไปจากนรก ขอให้ท่านช่วยโปรดวิญญาณบรรพชนและเปตชนทั้งหลายให้พ้นนรก และอำนวยสุขสวัสดีแก่คนที่ยังมีชีวิตอยู่
 
การลอยโคมในอดีตมีทำตั้งแต่วัน ๑๓-๑๕ ค่ำ ในไต้หวันนิยมลอยวัน ๑๔ ค่ำ เพื่อส่องทางให้ผีขึ้นมารับการเซ่นไหว้ในวัน ๑๕ ค่ำ ในจีนบางแห่งลอย ๑๕ ค่ำ มีคำอธิบายว่าเมื่อผีได้รับการเซ่นไหว้และส่วนกุศลพ้นจากบาป แต่หาทางไปผุดไปเกิดไม่เจอ แสงโคมจากพิธีลอยโคมทำให้ผีเห็นภพภูมิที่จะไปเกิดได้ ความเชื่อนี้เกิดทีหลัง กล่าวโดยสรุปการลอยโคมเป็นการส่องทางให้ผี และคนก็ได้รับความสนุกสนานไปด้วย
 
หลังจากสิ้นราชวงศ์ชิงการลอยโคมเสื่อมตามเทศกาลสารทจีนไปด้วย ในจีนยังมีทำอยู่บ้างในบางถิ่น เช่น ที่อำเภอหนันจาง จังหวัดเซียงผาน มณฑลหูเป่ย ยังมีการลอยโคมในเทศกาลสารทจีน กลางวันมีการเล่น "แปรอักษรโคม" ก่อน โดยแบ่งเป็น ๒ ทีม ทุกคนถือโคม ทีม ก จะเอาโคมไปวางเรียงเป็นรูปตัวอักษรก่อน เช่น (อี-หนึ่ง) ทีม ข ต้องใช้อักษรนี้เป็นฐาน ต่อเติมหรือเปลี่ยนแปลงให้เป็นอักษรอื่น เช่น (เออว์-สอง) (ซาน-สาม) (เฟิง-อุดมสมบูรณ์) สลับกันไปมาเช่นนี้จนกว่าจะ "จน" แปรเป็นอักษรต่อไปไม่ได้ ทีมที่ "จน" เป็นผู้แพ้ ในไต้หวันแต่ก่อนทุกวัดมีพิธีลอยโคม แต่ปัจจุบันเหลือที่วัดหลงซานเพียงแห่งเดียว ส่วนในเมืองไทยไม่มีพิธีลอยโคมในเทศกาลสารทจีนเลย การลอยโคมไปทำในเทศกาลกินเจเดือน ๙

จาก สารทจีน : เทศกาลสำคัญที่กำลังลบเลือน โดย ถาวร สิกขโกศล นิตยสารศิลปวัฒนธรรม วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๑๐

http://www2.manager.co.th/mwebboard/listComment.aspx?QNumber=203932&Mbrowse=33



กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 ก.ย. 17, 07:03
อนึ่ง ชาวสยามมีมหรสพเนื่องในการพระศาสนาด้วย ลุฤดูน้ำเริ่มลด ประชาชนพลเมืองจะแสดงความขอบคุณแม่คงคาด้วยการตามประทีปโคมไฟขนาดใหญ่ (ในแม่น้ำ) อยู่หลายคืน มิชั่วแต่แม่พระคงคาจะลดราถอยไปเท่านั้น ยังอำนวยให้พื้นดินที่จะทำการเพาะปลูกอุดมดีอีกด้วย เราจะได้เห็นทั้งลำแม่น้ำเต็มไปด้วยดวงประทีปลอยน้ำ (กระทง) ไปตามกระแสธาร มีขนาดใหญ่ย่อมต่างกันตามศรัทธาประสาทะของแต่ละคน และมีกระดาษสีต่าง ๆ ซึ่งประดิษฐ์คิดทำกันขึ้นประดับประดาเครื่องลอยประทีปนั้น เพิ่มให้แสงสีงดงามขึ้นอีก.  โดยนัยเดียวกัน เพื่อแสดงความขอบคุณต่อแม่พระธรณีที่อนุเคราะห์ให้เก็บเกี่ยวพืชพรรณธัญญาหารได้อย่างอุดมสมบูรณ์ในวันต้น ๆ ของปีใหม่ ชาวสยามก็จะตามประทีปโคมไฟขึ้นอย่างมโหฬารอีกครั้งหนึ่ง. ครั้งแรกที่เราไปถึงเมืองละโว้นั้นเป็นเวลากลางคืน พอดีกับคราวตามประทีปนั้น และเราได้เห็นกำแพงเมืองตามประทีปโคมไฟสว่างไสวรายเรียงอยู่เป็นระยะ ๆ แต่ภายในพระบรมมหาราชวังนั้นยังงดงามยิ่งขึ้นไปอีก ในกำแพงแก้วที่ล้อมพระราชฐานนั้น มีซุ้มช่องกุฏิ ๓ แถวโดยรอบ แต่ละช่องมีประทีปดวงหนึ่งตามไฟไว้ บัญชรและทวารทั้งนั้นก็ประดับดวงประทีปด้วยเหมือนกัน มีโคมประทีปใหญ่และย่อม ตกแต่งเป็นรูปแปลก ๆ กัน ปิดกระดาษ หรือหุ้มผ้าแก้วโปร่งระบายสีต่าง ๆ  แขวนไว้อย่างเป็นระเบียบตามกิ่งไม้หรือตามเสาโคม.

จากหนังสือ "จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม" แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร

ภาพดวงประทีปลอยน้ำไปตามกระแสธารที่อำเภอจือหยวน เมืองกุ้ยหลิน มณฑลกวางสี ประเทศจีน คืนวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๐ ในเทศกาลจงหยวน น่าจะเป็นบรรยากาศเดียวกับที่อยุธยา สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ชวนให้นึกว่าเรารับประเพณีนี้มาจากเมืองจีน ?

ภาพจาก http://www.gettyimages.com/license/842691924


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 06 ก.ย. 17, 09:44
(https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1879336118982861&set=pb.100007194729198.-2207520000.1504665493.&type=3&theater)


(https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1879336118982861&set=pb.100007194729198.-2207520000.1504665493.&type=3&theater)


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 06 ก.ย. 17, 09:56
(https://scontent-sin6-2.xx.fbcdn.net/v/t1.0-9/20638191_1879336118982861_5585119125294026600_n.jpg?oh=88c1befc3ba35bce306c36a1d2ecdcef&oe=5A53E0EE)


(https://scontent-sin6-2.xx.fbcdn.net/v/t1.0-9/20663634_1879336285649511_2968355953156241327_n.jpg?oh=a707628057a70472a1d3325379c606c8&oe=5A4E8770)


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 ก.ย. 17, 10:46
มูลนิธิเล็กประไพเค้าย่อสาระงานเสวนามาให้อ่าน น่าจะไขข้อสงสัยได้บ้างครับ

http://lek-prapai.org/home/view.php?id=5046 (http://lek-prapai.org/home/view.php?id=5046)


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ส.ค. 19, 10:04
สุขสันต์วันสารทจีน ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๒


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 19, 10:44
https://www.sanook.com/horoscope/165947/

“วันสารทจีน” เป็นอีกวันสำคัญที่ลูกหลานชาวจีนมีโอกาสได้แสดงถึงความกตัญญูที่มีต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ และในปีนี้วันสารทจีนตรงกับวันที่ 15 สิงหาคม 2562 นอกจากประวัติของวันสารทจีน ความเชื่อต่างๆ แล้วอีกสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับวันสำคัญนี้คือของไหว้สารทจีนที่มีความเป็นสิริมงคล Sanook! Horoscope จึงรวบรวมของไหว้สารทจีน พร้อมความหมายของไหว้ที่เป็นสิริมงคลเหล่านั้น

 วันสารทจีน 2562 ของไหว้ ประวัติ ความสำคัญ
อาหารคาว

เป็ด : ความบริสุทธิ์

ไก่ : การงานก้าวหน้า

ปลา : มีอันจะกินไม่หมดสิ้น

หมูสามชั้น : ความอุดมสมบูรณ์

เกี๊ยวกุ้ง : ห่อโชคลาภ

ขนม

ขนมเข่ง และขนมเทียน : ความราบรื่น หวานชื่น

ขนมถ้วยฟู : เพิ่มพูน รุ่งเรือง

ขนมเปี๊ยะ : ครอบครัวสามัคคี

ขนมปุยฝ้าย : เงินทองเพิ่มพูน

ถั่วตัด : กินอยู่อุดมสมบูรณ์

ผลไม้

ส้ม : ความโชคดี

กล้วย : ลูกหลานเต็มบ้านเต็มเมือง

แอปเปิล : ความสงบสุขในครอบครัว

องุ่น : อายุยืน เจริญ งอกงาม

สาลี่ : ความสำเร็จ

หมายเหตุ   : เวลาเลือกของไหว้ อาจเลือกของคาว 3 อย่างแล้วผสมกับขนมให้เป็น 5 อย่าง เช่นเดียวกันกับเวลาเลือกขนม ก็อาจจะเลือกขนม 3 อย่างผสมกับผลไม้ให้กลายเป็น 5 อย่างก็ได้


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 19, 10:56
มอบให้ท่านผู้อ่านเรือนไทยค่ะ


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ส.ค. 19, 14:24
ของไหว้วันสารทจีน (https://www.facebook.com/651740491527753/posts/2322151951153257?s=100006582436536&sfns=mo)  ;D


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 15 ส.ค. 19, 16:44
จีนลอยโคม หรือ กระทง วันสารท คล้ายประเพณีลอยกระทงในไทย

ล่าสุดบทความในมติชนสุดสัปดาห์ลงบทความ ลอยกระทงวันสารทจีน หรือจะเป็นที่มา ของประเพณีลอยกระทงในสยาม?
โดย อ. ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

https://www.matichonweekly.com/column/article_220153


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ส.ค. 19, 17:46
ล่าสุดบทความในมติชนสุดสัปดาห์ลงบทความ ลอยกระทงวันสารทจีน หรือจะเป็นที่มา ของประเพณีลอยกระทงในสยาม?
โดย อ. ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

https://www.matichonweekly.com/column/article_220153

ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๙ - ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๒ คอลัมน์ On History เผยแพร่วันพฤหัสที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๒

วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ตามปฏิทินจันทรคติแบบจีน มีเทศกาลสำคัญเทศกาลหนึ่งเรียกว่า “เทศกาลจงหยวน” แปลเป็นไทยตรงตัวมีความหมายว่า “วันจันทร์เพ็ญแรกกลาง” โดยตามคติจีนถือว่าเป็นวันเกิดของเทพตี้กวน ที่ชาวจีนเชื่อกันว่าเป็นเสนาแห่งแผ่นดิน

“เทพตี้กวน” นอกจากจะเป็นเสนาแห่งแผ่นดินแล้ว ชาวจีน ศาสนาเต๋า (ใช่แล้วครับ “เต๋า” เป็นศาสนา ไม่ใช่ลัทธิ ถึงแม้จะมีองค์ประกอบของศาสนาไม่ครบตามเกณฑ์ความเป็นศาสนา ตามหลักที่นักวิชาการในยุคหลังกำหนดกัน แต่ศาสนาเต๋าก็ยิ่งใหญ่ และมีผู้คนนับถือมากมายเสียจนไม่ควรจะถูกนับเป็นแค่ลัทธิความเชื่อเล็ก ๆ) ยังถือว่าเทพเจ้าองค์นี้คือ “พญายมบาล” อีกด้วย

กิจกรรมในช่วง "เทศกาลจันทร์เพ็ญกลาง" หรือ "วันสารทจีน" ที่ไม่พบในหมู่คนจีนโพ้นทะเล (ซึ่งก็หมายความว่าคนเชื้อสายจีนในไทยไม่ได้ประกอบพิธีนี้ด้วยตามระเบียบ) แต่ก็น่าสนใจเป็นอย่างมากก็คือ ชาวจีนมีการลอยกระทงลงบนแม่น้ำ คล้าย ๆ กับลอยกระทงของบ้านเรา

แต่ต่างกันตรงที่ พวกเขาไม่ได้ลอยเพื่อขอขมาพระแม่คงคาแต่อย่างใด พวกเขาลอยเพื่อไหลนำทางพวกผีทั้งหลายไปสู่แดนสุขาวดี ถือเป็นการโปรดผีทั้งปวงให้พ้นจากนรกภูมิเนื่องในวันคล้ายวันเกิดของพญายมบาลต่างหาก

อันที่จริงแล้ว “สุขาวดี” เป็นชื่อสวรรค์ในพุทธศาสนา แบบมหายานแขนงหนึ่ง ที่นับถือพระอมิตาภพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าองค์สำคัญที่สุด (คือองค์เดียวกับที่หลวงจีนเปล่งคำสรรเสริญให้ได้ยินในภาพยนตร์กันบ่อย ๆ ว่า อมิตพุทธ นั่นแหละครับ) และสถิตอยู่บนสวรรค์สุขาวดีที่ว่านี้

สวรรค์ชั้นที่ว่าจึงไม่ใช่สวรรค์ของศาสนาเต๋ามาแต่ดั้งเดิม แต่บังเอิญว่า ตามปรัมปราคติของชาวพุทธกลุ่มนี้เชื่อกันว่า “สุขาวดี” เป็นสวรรค์ที่อยู่ทางทิศตะวันตก ซึ่งก็ไปพ้องกันกับคติเรื่องสวรรค์ในศาสนาเต๋าว่า สวรรค์ก็อยู่ทางทิศนั้นเหมือนกันพอดี นี่ก็เลยเป็นเรื่องที่พี่จีนไม่ได้รู้สึกตะขิดตะขวงอะไรนัก ที่ต้องอิมพอร์ตเอาสวรรค์ทั้งชั้นมาจากพวกแขกอินเดียเขา

แต่ไม่ได้หมายความว่า การลอยกระทงไหลนำทางผี เป็นประเพณีอินเดียมาก่อนนะครับ ผมหมายถึงเฉพาะแค่การเอาคติในพุทธศาสนา มาผสมโรงเข้ากับพิธีกรรมต่าง ๆ ในวันสารทจีนต่างหาก


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ส.ค. 19, 17:48
จากความเชื่อเรื่องการลอยกระทงเพื่อนำทางผีไปสู่สวรรค์ชั้นสุขาวดี ของพระอมิตาภพุทธเจ้า จึงทำให้ไม่น่าประหลาดใจที่จะมีผู้เสนอว่า การลอยกระทงในวันสารทจีนมีที่มาจากอินเดีย พร้อมกับการเข้ามาของพุทธศาสนา ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง (ร่วมสมัยกับความรุ่งเรืองของวัฒนธรรมทวารวดีในไทย ในช่วงหลัง พ.ศ. ๑๑๐๐ โดยประมาณ)

แต่อันที่จริงแล้ว ในอินเดียไม่มีประเพณีทำนองนี้ (อย่างน้อยก็ไม่มีความเชื่อเรื่องการลอยกระทงนำพวกผีไปสวรรค์ของพระอมิตาภะ) ในขณะที่ในศาสนาเต๋ายังมีประเพณีการลอยกระทงที่เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องผีอยู่อีก อย่างน้อยหนึ่งประเพณีคือ “เทศกาลเซี่ยหยวน” หรือ “เทศกาลจันทร์เพ็ญปลาย” ในวัน ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐

เทศกาลดังกล่าวยังถือว่าเป็นวันเกิดของ “เทพสุ่ยกวน” หรือ “เสนาแห่งน้ำ” ซึ่งตามความเชื่อในศาสนาเต๋าถือว่าเป็นพี่น้องกัน โดยในเทศกาลจันทร์เพ็ญปลายนี้จะมีทั้งประดับโคม และลอยกระทง เช่นเดียวกับในเทศกาลสารทจีน ที่บูชาเทพตี้กวน

เฉพาะในส่วนของการลอยกระทงในเทศกาลจันทร์เพ็ญปลายนั้น ว่ากันว่าทำไปเพื่อบูชาเทพสุ่ยกวน ที่เป็นเสนาแห่งท้องน้ำ และอุทิศส่วนกุศลให้กับผีบรรพชน ดังนั้น คติการลอยกระทงที่เกี่ยวกับผี จึงน่าจะมีอยู่แล้วในศาสนาเต๋า มากกว่าที่จะอิมพอร์ตเข้ามาจากอินเดีย
 
อันที่จริงแล้ว ปกรณ์ในศาสนาเต๋ายังระบุไว้ด้วยว่า เทพตี้กวน และเทพสุ่ยกวนนั้น ยังมีพี่ชายอีกคนหนึ่งคือ “เทพเทียนกวน” ซึ่งเป็น “เสนาแห่งท้องฟ้า” โดยนับเป็นเทพคนโตของเทพทั้งสามองค์นี้ ส่วนเทพสุ่ยกวนนั้นนับเป็นเทพคนสุดท้อง

เทพเจ้าทั้งสามองค์นี้ ซึ่งเรียกรวม ๆ ว่า ชุดเทพ “ซานกวน” นี้ มีหน้าที่ตรวจสอบความดี-ความชั่วของมนุษย์ มีอำนาจให้รางวัล และลงโทษ จึงไม่แปลกเลยสักนิด ที่ในเทศกาลที่เกี่ยวข้องกับชุดเทพซานกวนนี้ จะมีประเพณีที่เกี่ยวข้องกับผี (ในภายหลังความเชื่อเกี่ยวกับชุดเทพซานกวนนี้ ได้พัฒนาเป็นว่า เทพเทียนกวนประทานโชคลาภ เทพตี้กวนประทานอภัยโทษ ส่วนเทพสุ่ยกวนขจัดทุกข์ภัย)

พวกเต๋าเชื่อว่า วันเกิดของเทพเทียนกวน ตรงกับวัน ๑๕ ค่ำ เดือนอ้าย คือวันเพ็ญแรกของปี ตรงกับวันหยุดสุดท้ายในช่วงเทศกาลตรุษจีน จึงจัดให้มี “เทศกาลหยวนเซียว” ซึ่งแปลไทยตรงตัวได้ว่า “เทศกาลจันทร์เพ็ญต้น” ด้วยการชักโคม และประดับโคมบูชาเทพเทียนกวน และดวงดาวต่าง ๆ

เทศกาลที่เกี่ยวกับโคมของจีน (ชาวจีนมองอะไรที่เราเรียกว่า “กระทง” เป็น “โคม” ชนิดหนึ่ง เพราะกระทงของพี่จีนเขาทำมาจากกระดาษสี ไม่ใช่ใบตองเหมือนอย่างเราในปัจจุบัน) จึงเกี่ยวอยู่กับชุดเทพซานกวนนี้ กับการอุทิศส่วนกุศลให้ผีบรรพชน และพระจันทร์ (แน่นอนว่า พระจันทร์ย่อมเกี่ยวกับเรื่องของน้ำ)


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ส.ค. 19, 17:49
น่าสังเกตว่าในจดหมายเหตุของราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส ที่เข้ามาในอยุธยาในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๐ อย่าง ซิมง เดอ ลา ลูแบร์ ได้พรรณนาถึงประเพณีลอยกระทงในสมัยอยุธยา ที่ท่านได้พบเห็นกับตาเอาไว้ว่า

“เราได้เห็นทั้งลำแม่น้ำเต็มไปด้วยดวงประทีปลอยน้ำ (กระทง) ไปตามกระแสธาร มีขนาดใหญ่ย่อมต่างกันตามศรัทธาปสาทะของแต่ละคน และมีกระดาษสีต่าง ๆ ซึ่งประดิษฐ์คิดทำกันขึ้นประดับประดาเครื่องลอยประทีปนั้น เพิ่มให้แสงสีงดงามขึ้นอีก” (สำนวนแปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร เน้นคำโดยผู้เขียน)

กระทงของอยุธยาจึงทำขึ้นจากกระดาษสี (แน่นอนว่า กระทงบางอันอาจเป็นแค่ประดับด้วยกระดาษสี แต่ถ้าบางอันจะทำขึ้นจากกระดาษสีทั้งดุ้นก็ไม่เห็นจะแปลก) แถมลา ลูแบร์ ยังบอกไว้ด้วยว่า การลอยกระทงนั้นทำเพื่อ “แสดงความขอบคุณต่อพระแม่ธรณี ที่อนุเคราะห์ให้เก็บเกี่ยวพืชพรรณธัญญาหารได้อย่างอุดมสมบูรณ์” (เน้นคำโดยผู้เขียน)

เป็น “พระแม่ธรณี” นะครับ ไม่ใช่ “พระแม่คงคา” ตามอย่างคำอธิบายสมัยต้นกรุงเทพฯ (เรื่องของนางนพมาศ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ ระดับพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยอย่าง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บอกไว้เองว่า เป็นพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๓)

อ่านแล้วก็ชวนตะหงุดตะหงิดใจให้นึกถึง เสนาแห่งแผ่นดิน อย่างเทพตี้กวน ที่ชาวจีนเขาแฮปปี้เบิร์ธเดย์ท่านกันด้วยการ “ลอยกระทง” ในวันสารทจีน

แถมในกฎมณเฑียรบาล ที่เขียนขึ้นในช่วงต้นอยุธยายังระบุไว้ด้วยว่า ในช่วงพิธี “จองเปรียงลดชุดลอยโคมลงน้ำ” (ก็ลอยกระทงนั่นแหละ) กษัตริย์ต้องไปประกอบพิธีที่วัดพุทไธสวรรย์ ซึ่งเป็นวัดที่เชื่อกันว่าเป็นที่สถิตของพระเทพบิดร คือพระเจ้าอู่ทอง ซึ่งก็คือ “ผีบรรพชน” ของกษัตริย์อยุธยานั่นเอง


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 19, 18:41
แต่อันที่จริงแล้ว ในอินเดียไม่มีประเพณีทำนองนี้

อินเดียมีประเพณี Diwali  หรือเทศกาลทีปวลี คือการจุดประทีปเฉลิมฉลองการกลับคืนเมืองอโยธยาของพระรามและนางสีดา หลังจากไปอยู่ในป่าถึง 14 ปี และอีกคติหนึ่งเพื่อบูชาพระลักษมี เทวีแห่งความร่ำรวย สมบูรณ์ และโชคลาภ

ประทีปจุดในลักษณะของการวางประดับบน“ฆาฏ” (घाट / Ghat) หรือท่าน้ำที่มีลักษณะเป็นขั้นบันไดริมฝั่งแม่น้ำคงคา บางคนจะจุดประทีปใส่ลงไปในกระทงเล็ก ๆ ที่ทำจากใบไม้แห้ง ซึ่งเรียกว่า โดนา (दोना / Dona) ประดับด้วยดอกกุหลาบและดาวเรืองอย่างเรียบง่ายลอยลงไปในแม่น้ำคงคา โดยถือเป็นเครื่องสักการะบูชาเทพเจ้า

ในสมัยอยุธยา อิทธิพลทางวัฒนธรรมของอินเดียมีมากกว่าอิทธิพลจากจีน  เพราะผ่านเข้ามาทางพุทธศาสนาซึ่งมีพิธีกรรมต่างๆผสมด้วย     ลองกระทงไทยจึงน่าจะมาจากอินเดียมากกว่าจีน


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ส.ค. 19, 20:45
การจุดประทีปที่ท่าน้ำ หรือในกระทงลอยไปตามแม่น้ำคงคา นิยมทำกันในเมืองพาราณสีแห่งเดียวในเทศกาลเทวทีปาวลี หรือ เทศกาลทีปาวลีของเทวดา

หลังเทศกาลทีปวลีของมนุษย์ผ่านไป ๑๓ วัน วันทีปาวลีของทวยเทพก็จะมาถึง เรียกว่า วันเทวทีปาวลี (दे व दीपावली / Dev Deepavali) หรือเรียกว่า “การติกะ ปูรณิมา” (काितक पूणि णमा / Kartika Purnima) โดยวันน้ีเป็นวันพระจันทรเ์ต็มดวงในเดือนการติกะ ซึ่งจะตรงกับวันเพ็ญเดือน ๑๒ หรือวันลอยกระทงของไทยนั่นเอง ชาวฮินดูมีความเชื่อว่าเหล่าทวยเทพจุดประทีป ในคืนเทวทีปาวลีเพื่อฉลองชัยชนะที่พระศิวะสามารถปราบอสูรชื่อตริปุระลงได้สำเร็จ ทำให้ความผาสุกกลับคืนมาสู่เหล่าเทวดาอีกครั้ง

เมืองพาราณสี ตะเกียงดียาแสนดวง

น่าประหลาดใจว่าความนิยมเฉลิมฉลองเทศกาลเทวทีปาวลีมีอยู่เพียงแต่ในเมืองพาราณสีแห่งเดียวเท่านั้ ไม่พบความนิยมในที่อื่น ๆ อีก เทวทีปาวลีถือเป็นเทศกาลใหญ่และมีชื่อเสียงมากที่สุดเทศกาลหน่ึงประจำเมืองพาราณสี

ในเวลากลางคืน ชาวเมืองพาราณสีจะต้อนรับเหล่าทวยเทพที่กำลังมาเยี่ยมเยือนเมืองพาราณสีในคืนเทวทีปาวลี โดยการจุดตะเกียงดียาจํานวนเป็นแสน ๆ ดวงประดับบน “ฆาฏ” (घाट / Ghat) หรือ ท่าน้ําที่มีลักษณะเป็นขั้นบันไดริมฝั่งแม่น้ำคงคา ท่าน้ํานั้นมีจำนวนมากกว่า ๘๐ ท่า บางคนจะจุดประทีปใส่ลงไปในกระทงเล็ก ๆ ที่ทำจากใบไม้แห้งซึ่งเรียกว่า โดนา (दोना / Dona) ในกระทงประดับด้วยยดอกกุหลาบและดาวเรืองอย่างเรียบง่ายลอยลงไปในแม่น้ำคงคาโดยถือเป็นเครื่องสักการะบูชาเทพเจ้า

อย่างไรก็ตามการลอยกระทงในแม่น้ําคงคาในเทศกาลเทวทีปาวลีนี้ก็มิใช่ประเพณีเฉพาะแต่อย่างใด ตลอดทั้งปีผู้ที่เดินทางมาแสวงบุญยังท่าน้ําคงคาเมืองพาราณสีโดยทั่วไป ก็นิยมบูชาแม่น้ำคงคาด้วยวิธีลอยกระทงแบบน้ีอยู่แล้ว

สรุป

ด้วยความคล้ายคลึงกันของบรรยากาศการเฉลิมฉลอง และความตรงกันของวันเทศกาล ทําให้อาจสันนิษฐานได้ถึงความสัมพันธ์ประการใดประการหน่ึงที่มีระหว่างเทศกาล ทีปาวลี-เทวทีปาวลีของอินเดียกับลอยกระทงของไทย แต่ไม่ควรด่วนสรุปเสียทีเดียวว่า ประเพณีลอยกระทงนั้นมีที่มาจากทีปาวลี-เทวทีปาวลี สมควรศึกษาค้นคว้าให้กว้างและลึกกันต่อไปเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง

จากบทความเรื่อง เทศกาลทีปาวลี และเทวทีปาวลีของอินเดีย โดย  อาจารย์กิตติพงศ์ บุญเกิด   สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  หนังสือลอยกระทง เรือพระราชพิธี วัฒนธรรมนํ้าร่วมราก (http://arts.tu.ac.th/culture/Master%20Kratong4.pdf) หน้า ๔๖-๔๗


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 19, 20:57
[
ด้วยความคล้ายคลึงกันของบรรยากาศการเฉลิมฉลอง และความตรงกันของวันเทศกาล ทําให้อาจสันนิษฐานได้ถึงความสัมพันธ์ประการใดประการหน่ึงที่มีระหว่างเทศกาล ทีปาวลี-เทวทีปาวลีของอินเดียกับลอยกระทงของไทย แต่ไม่ควรด่วนสรุปเสียทีเดียวว่า ประเพณีลอยกระทงนั้นมีที่มาจากทีปาวลี-เทวทีปาวลี สมควรศึกษาค้นคว้าให้กว้างและลึกกันต่อไปเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง

จากบทความเรื่อง เทศกาลทีปาวลี และเทวทีปาวลีของอินเดีย โดย  อาจารย์กิตติพงศ์ บุญเกิด   สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  
แล้วรู้ได้ยังไงว่าไม่ถูกต้องล่ะคะ


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 16 ส.ค. 19, 10:31
            เดือนนี้ที่ญี่ปุ่นก็มีประเพณี Shoro Nagashi Lantern Floating ปีนี้ตรงกับวันที่ 15 สิงหาคม

https://japancheapo.com/events/shoro-nagashi-lantern-floating-ceremony/

เชิญเพ็ญซัง ขยายความ


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 ส.ค. 19, 14:23
โชโรนะกะชิ (精霊流し) แปลตามตัวอักษรคือการลอยวิญญาณ เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลโอะบง (お盆) ของญี่ปุ่น  เป็นประเพณีที่มีชื่อเสียงของเมืองนะงะซะกิ จัดขึ้นในวันที่ ๑๕ สิงหาคมของทุกปี ผู้ร่วมงานจะสร้างเรือส่งดวงวิญญาณของบรรพบุรุษไปสู่แดนสุขาวดี แล้วลากเรือนั้นไปทั่วเมือง


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 ส.ค. 19, 14:27
ประเพณีที่คล้าย ๆ กันเรียกว่า โทโรนะกะชิ (灯籠流し) คือการลอยโคมไปตามแม่น้ำเพื่อรำลึกถึงบรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นกิจกรรมซึ่งคล้ายกับการลอยกระทงของเราแต่จุดประสงค์ต่างกัน


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 ส.ค. 19, 14:29
เทศกาลโอะบง (お盆) นี้อาจจะเรียกแบบไทย ๆ ว่า สารทญี่ปุ่น มีจุดประสงค์ทำนองเดียวกับสารทจีน เทศกาลโอบ้ง ส่วนใหญ่มักจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๓ - ๑๖ สิงหาคม บางภูมิภาคก็อาจจะต่างไปบ้าง ชาวญี่ปุ่นมักลาหยุดยาวในช่วงนี้เพื่อกลับไปไหว้บรรพบุรุษ ด้วยความเชื่อที่ว่าช่วงนี้โลกวิญญาณกับโลกมนุษย์เชื่อมโยงถึงกัน บรรพบุรุษผู้ล่วงลับจะกลับมาพบลูกหลาน มารับของไหว้ที่บ้าน

เทศกาลโอะบงในญี่ปุ่น เป็นความเชื่อในพระพุทธศาสนา ตำนานหนึ่งกล่าวว่า ชาวญี่ปุ่นทำตามพระมหาโมคคัลลานะ (โมะกุเร็น - 目犍連) เล่ากันว่ามารดาของพระมหาโมคคัลลานะทำกรรมหนัก เมื่อตายแล้วได้ไปเกิดเป็นเปรต พระมหาโมคคัลลานะหยั่งรู้ด้วยทิพยญาณ จึงจัดงานทำบุญครั้งใหญ่อุทิศส่วนกุศลช่วยเหลือมารดาของท่านให้พ้นเคราะห์กรรมจากเปรตภูมิ ตามคำแนะนำขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศรีศากยมุนี (お釈迦様 - โอะชะกะสะมะ)

เรื่องนี้มีบันทึกใน อุลลัมพนสูตร ของพุทธจีนมหายาน จึงคิดว่าเทศกาลโอะบงน่าจะเป็นพิธีที่ผสมผสานระหว่างความเชื่อแบบพุทธกับขงจื๊อ ซึ่งญี่ปุ่นรับมาจากจีน แล้วเอามาปน ๆ กันกับชินโตอีกที เป็นพุทธพิธีทำนองเดียวกับการสักอนิจจาในบุญเดือนห้า (สงกรานต์) ทางภาคอีสานของไทย ที่ผสมผสานความเชื่อแบบพุทธ พราหมณ์ และผีเข้าไว้ด้วยกัน

ความเชื่อที่ว่าโลกวิญญาณติดต่อกับโลกมนุษย์ได้ในช่วงใดช่วงหนึ่งของปี ดูเหมือนจะมีกระจัดกระจายอยู่ทั้งโลกตะวันออก (สารทจีน โอะบง บุญเดือนห้า) และโลกตะวันตก (ฮาโลวีน) แต่อาจจะมีรายละเอียดแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละพื้นที่

นอกจากพิธีไหว้บรรพบุรุษแล้ว คนญี่ปุ่นยังมีพิธีเต้นรำที่เรียกว่า บงโอะโดะริ (盆踊り) หมายถึง การเต้นรำในเทศกาลบง เชื่อกันว่าการเต้นรำนี้มีแบบแผนสืบทอดมาจากพระมหาโมคคัลลานะในพิธีทำบุญใหญ่ครั้งกระโน้น มองด้วยสายตาแบบพุทธเถรวาทว่า น่าจะเป็นพิธีของชินโตที่ถูกจับบวชให้เป็นพุทธเสียมากกว่า บางภูมิภาคจัดงานใหญ่โต มีขบวนแห่ มีปะรำพิธี แขวนโคมสว่างไสวกันทั่วไปหมด

ข้อมูลจาก https://www.facebook.com/JapanNutshell/photos/a.514361938718018/527176950769850?type=3&sfns=mo

https://youtu.be/pQ4UkUGOf7c

https://youtu.be/fQeWfIh-CzI


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 16 ส.ค. 19, 16:05
       ที่เม็กซิโก ก็มีวันบรรพชนผู้ล่วงลับ Day of the Dead (Día de Muertos)
       บรรดาญาติมิตรจะมารวมกันเพื่อรำลึกและสวดให้ผู้ตายที่เดินทางไปในโลกหน้า ในบรรยากาศของ
การเฉลิมฉลองเพราะพวกเขาเชื่อว่าช่วงเวลานี้ผู้ตายจะกลับคืนมาร่วมฉลองด้วยกัน
        ในช่วงศตววรษที่ 14 – 16, ชาว Aztec ที่มีอำนาจเหนือดินแดนแถบนี้ได้จัดให้มีงานนี้เป็นระยะ
เวลา 1 เดือนเต็มใน เดือนสิงหาคม
        จนกระทั่งงศตวรรษที่ 16 เมื่อสเปนมาถึง เทศกาลนี้จึงถูกผสมผสานเข้ากับความเชื่อของคริสต์ศาสนา
แล้วเปลี่ยนมาฉลองกันในคืนวันที่ 31 ตุลาคม - 1, 2 พฤศจิกายนแทน

ภาพจากอนิเมชั่น Coco (2017)


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 18 ส.ค. 19, 09:27
(https://scontent.fbkk22-1.fna.fbcdn.net/v/t1.0-9/1780838_1489086711341139_8085375988844622413_n.jpg?_nc_cat=101&_nc_eui2=AeHdNfCIhQFH2LSQ3T_5_I3IEB85oSpwF-OA6eB0P-8Wm-2-lf5kMNwq1D9hHsC24kpbIsl_ctZuurJOKoX7iCTwq8SIvDfZ7Qcb1XHPMZl-uA&_nc_oc=AQlVqYITRY7ohvjo5LZ2hkEGr-jeaZdQTQQP7zktcy3ROa55OlRhfz83pZTA3QX5m94&_nc_ht=scontent.fbkk22-1.fna&oh=7926fed2969f4ebcd906408f34c4f3df&oe=5DDB9624)

(https://scontent.fbkk22-2.fna.fbcdn.net/v/t1.0-9/1891039_1489086768007800_6899929651265938179_n.jpg?_nc_cat=106&_nc_eui2=AeHf7nuT0LaTd69luXLjTCXEIzTcENaYpccwLe7It2-35EpVcHmP_jrxJzdmmMVY5wTUsVqAa5vxDPDSq-65-RWrhjfm29kO8VZuLLUY9fbUpw&_nc_oc=AQlZfzZ5kvy-cWzFf6QCDk17wspD4X4cf8cx_kf8Rh46Hmntbyoc81vwENY0CCVES9E&_nc_ht=scontent.fbkk22-2.fna&oh=fd1a5ec0ebeccff554f7774a0ba6d13f&oe=5DC81F65)


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ส.ค. 19, 09:41
^^

http://lek-prapai.org/home/view.php?id=5046


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 18 ส.ค. 19, 17:04

สรุปว่า​ ลอยกระทง​ จีนรับไปจากอินเดีย


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 20 ส.ค. 19, 09:07
แปล 佛說盂蘭盆經
.
พระสูตรฝ่ายอาจริยวาท
.
ว่าด้วยอานิสงส์ของการถวายภัตตาหาร และเครื่องไทยธรรมในวันออกพรรษา ( ฝ่ายอาจริยวาทเป็นเพ็ญเดือนเจ็ดจันทรคติจีน )
.
ต้นกำเนิดเทศกาลงานบุญวันเพ็ญเดือนเจ็ด
.
ที่สงฆ์จีนในประเทศไทยละเว้นไม่เทศน์ (แปลความ)
ให้พุทธบริษัทฝ่ายจีนนิกายให้ได้เข้าใจ กระทั่งเกิดความเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนไปจับประเด็นผิด
กลายเป็นเรื่อง (นิยาย) การเปิดประตูนรกในเดือนเจ็ด...


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 20 ส.ค. 19, 09:14
ขอโทษครับ admin ผมโพสต์แล้ว แต่ระบบนำข้อความขึ้นมาแสดงไม่ครบ

พอแก้ไข ระบบก็ไปตั้งเป็นอีก คห. หนึ่ง ( นี้ ) แยกออกมา ครับ

ผมตั้งใจแสดงข้อความที่คัดจาก

https://web.facebook.com/plu.danai/posts/2093929180856886?hc_location=ufi


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 20 ส.ค. 19, 09:22
เทพจงหยวน ( 中元 )

จง 中 แปลว่า กลาง

หยวน 元 แปลว่า ต้นกำเนิด

จงหยวน เป็นหนึ่งในคณะเทพ เรียก ซานหยวน ( 三元 ) อันหมายถึงเทพต้นกำเนิดทั้งสาม
คนจีนโบราณท่านหมายถึง “ เทพต้นกำเนิดแห่งการกสิกรรม ”

อันประกอบด้วย

1. ซั่งหยวน ( 上元 ) อันหมายถึง ภูมิอากาศ
คนโบราณไหว้ซั่งหยวน อันหมายถึงฟ้า หรือ เทียน ( 天 ) เพื่อขอให้มีสภาพอากาศเหมาะกับการเพาะปลูก ในวันเพ็ญเดือนอ้าย

2. จงหยวน ( 中元 ) อันหมายถึง ผืนแผ่นดิน
ที่โอบอุ้ม ให้พืชผลได้หยั่งราก เจริญเติบโตให้ดอกผลเป็นอาหารของคน หรือที่บทความที่แอดมินคัดลอกมา เรียก เทพแห่งท้องนา
คนจีนโบราณบูชาแผ่นดินเพื่อเป็นการขอบคุณใน วันเพ็ญเดือนเจ็ด ที่คนจีนแต้จิ๋วในบ้านเราเรียก ‘ ชิกหง่วยปั้ว ’

3. เซี่ยหยวน ( 下元 ) อันหมายถึง น้ำ
ที่หล่อเลี้ยง ให้พืชพันธุ์ธัญญาหาร เจริญเติบโต ให้ดอกผล
คนจีนโบราณไหว้ขอบคุณท้องน้ำ ในวันเพ็ญเดือนสิบ
การไหว้ซันหยวนของชาวจีน มีมาก่อนยุคฮั่น หรือมีอยู่ก่อนเข้ามาของพุทธศาสนา ที่นำความเชื่อเรื่องภูติผี และความเชื่อเรื่องนรกเข้ามาจงหยวน หรือประเทศจีน...


(https://scontent.fbkk2-6.fna.fbcdn.net/v/t1.0-0/p173x172/69447826_2702651469745519_8855415144860090368_n.jpg?_nc_cat=104&_nc_eui2=AeGMpyivhuUwB3opiFS2eBXNIFIhLeTV5mu_52fMFsfGe5Y33jB3PO9vMVUM6EIbMwduSd0NU-x98o-6NdCcWcLoZdzbhDTFhn781vj2eug61Q&_nc_oc=AQk7iF7tzip3qDJd-NiRHufAc6IIXzD2Z4kdBEbBfG-sW7wo_bbcSz7Mwb3ScClAaqc&_nc_ht=scontent.fbkk2-6.fna&oh=b1108747cea3a3dfbd5e2a944588e938&oe=5DCCD1BB)


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 ส.ค. 21, 10:24
สุขสันต์วันสารทจีน ๒๕๖๔  ;D


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ส.ค. 22, 10:35
สุขสันต์วันสารทจีน ๒๕๖๕  ;D


กระทู้: วันสารทจีนคือวันอะไรคะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ส.ค. 22, 08:22
มอบให้ท่านผู้อ่านเรือนไทยทุกท่านค่ะ