เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: อำแดง ที่ 14 พ.ย. 00, 06:00



กระทู้: มุกดาหารใช่ไข่มุกหรือเปล่าคะ
เริ่มกระทู้โดย: อำแดง ที่ 14 พ.ย. 00, 06:00
ทีแรกเข้าใจว่ามุกดาหารคือไข่มุก แต่พออ่านเรื่องแก้วเก้าเนาวรัตน์ของคุณเทาชมพูแล้วเห็นวงเล็บเป็นภาษาอังกฤษว่า moonstone ไม่ใช่ pearl เลยชักสงสัยค่ะ


กระทู้: มุกดาหารใช่ไข่มุกหรือเปล่าคะ
เริ่มกระทู้โดย: อำแดง ที่ 26 ต.ค. 00, 00:00
ขอโทษค่ะที่ใส่ชื่อหัวข้อกระทู้กับชื่อคนตั้งกระทู้สลับช่องกัน

(หมายเหตุ : เปลี่ยนชื่อและหัวข้อให้แล้ว - VTeam)


กระทู้: มุกดาหารใช่ไข่มุกหรือเปล่าคะ
เริ่มกระทู้โดย: รัตนพันธุ์ ที่ 26 ต.ค. 00, 00:00
เป็นคนละอย่างกันค่ะ ไข่มุกเป็น by product ของสัตว์ทะเล (หอยมุก) โดยมากมีสีนวล
ในขณะที่มุกดาหารเป็น รัตนมณี (prescious stone) เป็นหนึ่งในนพรัตน์ด้วยค่ะ
เพชรดี มณีแดง
เขียวใสแสงมรกต
เหลืองสวยสดบุษราคัม
แดงแก่ก่ำโกเมนเอก
สีหมอกเมฆนิลกาล
มุกดาหารหมอกมัว
แดงสลัวเพทาย
สังวาลย์ไพฑูรย์

ไม่ทราบพิมพ์ถูกหรือเปล่า ต้องรบกวนผู้รู้ช่วยดูด้วยนะคะ
อีกอย่างนะคะ มีใครทราบกลอนของรำนพรัตน์บ้างไม๊คะ?


กระทู้: มุกดาหารใช่ไข่มุกหรือเปล่าคะ
เริ่มกระทู้โดย: รัตนพันธุ์ ที่ 26 ต.ค. 00, 00:00
ขอแก้วรรคสุดท้ายค่ะ

สังวาลย์สายไพฑูรย์


กระทู้: มุกดาหารใช่ไข่มุกหรือเปล่าคะ
เริ่มกระทู้โดย: เชษฐ์ ที่ 26 ต.ค. 00, 00:00
แล้วมุกดานี่อย่างเดียวกับมุกดาหารใช่ไหมครับ


กระทู้: มุกดาหารใช่ไข่มุกหรือเปล่าคะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ต.ค. 00, 12:08
ตอบคุณอำแดง
ตำราไม่ได้อยู่ใกล้มือ ตอบจากความทรงจำนะคะ
เดิมในตำรารัตนชาติของอินเดีย พูดถึง มุกดา ว่าเป็นมณีที่เกิดจากท้องทะเล  สีขาว สัณฐานกลมเหมือนไข่จิ้งจก    ฟังแล้วก็รู้ว่าหมายถึงไข่มุก
แต่ไข่มุกไม่ใช่รัตนชาติกำเนิดในอินเดียหรือ ยังไงก็ไม่ทราบ  เมื่อมีการรวบรวมกันขึ้นมาภายหลัง เพื่อเป็นเครื่องประดับ   จึงไปเลือกแก้วสีขาวชนิดหนึ่งมาเป็นหนึ่งในเก้า  แล้วเรียกว่าคือมุกดา
ไข่มุกก็เลยหลุดจากตำแหน่ง   แก้วอย่างนั้นก็อยู่แทนที่ มาจนทุกวันนี้ค่ะ


กระทู้: มุกดาหารใช่ไข่มุกหรือเปล่าคะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ต.ค. 00, 12:21
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตฯ ให้คำจำกัดความว่า
มุกดา,มุกดาหาร  (น.) ไข่มุก,  ชื่อรัตนะอย่างหนึ่งในพวกนพรัตน์ สีหมอกอ่อนๆ
คำว่ามุกดา มุกดาหาร  มาจากสันสกฤต  บาลีใช้ว่ามุตฺตา  มุตฺตาหาร   ในพจนานุกรมแถมท้ายว่า สร้อยไข่มุก
ในพจนานุกรมบาลี ไทย ของนายแปลก สนธิรักษ์  ป.๙ แปล มุตฺตา ว่า มุกดา,ไข่มุก   แสดงว่าคำนี้ แปลได้ ๒ อย่าง
ส่วนสร้อยไข่มุก ในพจนานุกรมบาลี ใช้คำว่า มุตฺตาวลี  ไม่ได้เก็บคำ  มุตฺตาหาร อย่างในพจนานุกรมราชบัณฑิตฯ


กระทู้: มุกดาหารใช่ไข่มุกหรือเปล่าคะ
เริ่มกระทู้โดย: อินทาเนีย ที่ 29 ต.ค. 00, 09:39
มีปรากฏในคาถาโบราณว่า...



(ลองแปลดูนะครับ มีคำคุ้น ๆ ทั้งนั้น)



สุวณฺณํ รชตํ มุตฺตา

มณิ เวฬุริยานิ จ

วชิรญจ ปพาฬนฺติ

สตฺตาหุ รตนานิเม



"ทองคำ เงิน แก้วมุกดา

แก้วมณี แก้วไพฑูรย์

เพชร และ แก้วประพาฬ

ทั้ง ๗ นี้ เรียกว่า รัตนะ"



"The men of old say that there are seven previous things, namely, gold, silver, pearl, red ruby, cat's eye, diamond and coral"



(จาก สุตวัฑฒนนีติ)




ดังนั้นผมจึงคิดว่าตามต้นตำรับเดิมแล้ว "มุกดา" ที่เป็นหนึ่งในนพรัตน์นั้นน่าจะเป็น "ไข่มุก" (pearl) ไม่ใช่ moonstone แต่ไม่ทราบว่าไทยเราเปลี่ยนไปตีความว่า "มุกดา" ในนพรัตน์หมายถึง moonstone มาตั้งแต่เมื่อไหร่



moonstone นั้น ในภาษาบาลีสันสกฤตเขาเรียกว่า "อินทุมณี" หรือ "อินทุกานต์" มีสีเหลืองอ่อน  

เป็นอัญมณีคู่กับ sunstone ซึ่งเรียกว่า "อัคนิมณี" หรือ "สูรยกานต์" มีสีออกส้มๆ



หมายเหตุ : "อินทุ" แปลว่า พระจันทร์ (moon) อย่างที่ได้กล่าวไว้แล้วในกระทู้ http://vcharkarn.com/vcafe/show_message.php?roomname=reurnthai&number=101



กระทู้: มุกดาหารใช่ไข่มุกหรือเปล่าคะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ต.ค. 00, 15:34
ไม่เคยเห็นเครื่องประดับนพรัตน์ของอินเดีย  จึงบอกไม่ได้ว่าในนั้นเขาใช้ pearl หรือว่า moonstone
แต่ในนพรัตน์ของไทย ใช้แก้วสีขาว  ไม่ใช้ไข่มุก  เข้าใจว่าเมื่อเริ่มทำนพรัตน์ก็ใช้แก้วอย่างนี้แล้ว  
ถ้าจะหาไข่มุกมาจริงๆก็คงไม่ยาก  เพราะไทยติดต่อค้าขายกับญี่ปุ่นมาตั้งแต่สมัยอยุธยา   แต่ก็ไม่เคยพบว่าไทยนำไข่มุกมาเป้นเครื่องประดับ สมัยอยุธยา
รัชกาลที่ ๑-๔ ไม่พบหลักฐานการใช้ไข่มุก   แต่รัชกาลที่ ๕ มี   เป็นเครื่องประดับแบบตะวันตก   สมเด็จพระพันปีทรงใช้สร้ยอไข่มุกยาวมาก หลายเส้นควบกันแบบเดียวกับควีนอเลกซานดรา

จึงขอมองในแง่ของช่างว่า  เมื่อทำเครื่องประดับนพรัตน์  รัตนะทุกชนิดต้องฝังลงเรือนให้เข้าชุดกัน   เพชรและของอื่นๆสามารถเจียระไนให้พอดีกับเรือน และเข้าชุดกลมกลืนกันได้  
 แต่ไข่มุกจะเอามาเจียระไนฝังในเรือนและทำรูปทรงให้เข้ากันกับอีก ๘ อย่างไม่ได้แน่
จึงมีการแสวงหาแก้วสีขาว มาแทน  แล้วเรียกว่ามุกดาหรือมุกดาหาร  ไม่ได้เรียกว่าอินทุกานต์

moonstone  นี้  เคยพบในพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖  ทรงเรียกว่า " จันทรกานต์" บอกว่าเป็นแก้วที่เกิดจากแสงจันทร์   ทำให้เย็น   แต่ถูกแสงจันทร์นานๆเข้าก็ละลายได้ (น่าจะเป็นความเชื่อ)  คู่กับ " สุริยกานต์" หรือแก้วที่เกิดจากดวงอาทิตย์


กระทู้: มุกดาหารใช่ไข่มุกหรือเปล่าคะ
เริ่มกระทู้โดย: อินทาเนีย ที่ 29 ต.ค. 00, 16:32
คุณเทาชมพูบอกว่า "เดิมในตำรารัตนชาติของอินเดีย พูดถึง มุกดา ว่าเป็นมณีที่เกิดจากท้องทะเล สีขาว สัณฐานกลมเหมือนไข่จิ้งจก ฟังแล้วก็รู้ว่าหมายถึงไข่มุก..."

ผมก็ว่ารัตนชาติของอินเดียที่ว่านี้ก็คือไข่มุก(pearl)นั่นแหละครับ ไม่ใช่อินทุกานต์หรือจันทรกานต์(moonstone)

และที่คุณเทาชมพูสงสัยว่า "แต่ไข่มุกไม่ใช่รัตนชาติกำเนิดในอินเดียหรือยังไงก็ไม่ทราบ" นั้น ผมเคยอ่านเจอว่านางวิสาขามหาอุบาสิกาในครั้งพุทธกาลนั้นเป็นสตรีที่ร่ำรวยมาก มีเครื่องประดับล้ำค่าชิ้นหนึ่งเป็นสายสร้อยเพชรและไข่มุก จำไม่ได้ว่าน้ำหนักกี่ทะนาน (ทะนาน!) แต่เมื่อพันทบๆกันแล้วยาวตั้งแต่หัวจรดปลายเท้าเลยทีเดียว!

ดังนั้นผมจึงคิดว่า "มุกดา" นั้นเป็นรัตนะชาติสามัญในอินเดีย และเข้าใจว่าล้ำเลอค่า บ่งบอกถึงความมีฐานะของผู้เป็นเจ้าของ มากกว่าอินทุกานต์หรือจันทรกานต์

แล้วถ้าจะมองในแง่ทางช่างแล้ว โปรดอย่าลืมว่าในสมัยก่อนนั้นไม่มีเครื่องเจียระไน รัตนชาติต่างๆที่นำมาเป็นเครื่องประดับในสมัยนั้นไม่ได้ถูกเจียระไนเป็นเหลี่ยมเป็นมุมเหมือนสมัยนี้ ที่ผมเคยเห็นของโบราณก็เป็นเม็ดเรียบๆ กลมบ้าง มนบ้าง เพราะเขาฝนเอา ไม่ได้เจียระไน ดังนั้นการใช้ไข่มุกเป็นเรื่องประดับรวมกับรัตนชาติอย่างอื่นจึงเป็นไปได้ ครับ



กระทู้: มุกดาหารใช่ไข่มุกหรือเปล่าคะ
เริ่มกระทู้โดย: อินทาเนีย ที่ 29 ต.ค. 00, 16:53
แต่สำหรับ "นพรัตน์" ที่อยู่บนดวงจักรหรือพระสังวาลย์นพรัตน์ราชวราภรณ์ของโบราณนั้น ไม่ทราบว่าเป็น pearl หรือว่า moonstone ...

คุณเทาชมพูมีข้อมูลตรงจุดนี้ไหมครับ? (คิดว่าคุณหมูสยามน่าจะทราบ...แต่จะเข้ามาอ่านกระทู้นี้หรือเปล่าหนอ?)



กระทู้: มุกดาหารใช่ไข่มุกหรือเปล่าคะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ต.ค. 00, 22:14
คำว่าเจียระไน หมายถึงการทำแก้ว หรือหินแก้วต่างๆด้วยเครื่องมือให้มีรูปร่าง ประกาย เนื้อผิว  แตกต่างไปจากของเดิมตามธรรมชาติค่ะ  ไม่ได้หมายความว่าเป็นเหลี่ยมอย่างเดียว    
การเจียระไนรูปนูน เรียกว่าหลังเบี้ย อย่างทับทิมก็มีมานานแล้ว
เพชรไทยของเดิม เจียฯ เป็นเหลี่ยม เรียกว่าเพชรซีก เพราะการเจียระไนแบบเพชรลูกยังทำไม่ได้
ดิฉันเข้าใจว่าการเจียระไนรัตนะ ๘ อย่าง คงจะเลือกการทำให้มีรูปร่างคล้ายกันเพื่อเข้าชุด คือกลมรีเป็นรูปไข่ครึ่งซีก หรือกลมแบบวงกลมผ่าซีก และมีความโค้งด้านบนเสมอกัน
ไข่มุกมีลักษณะสัณฐานตายตัวในด้านความกลม และความโค้ง  ทำให้ยากจะเข้าชุดกับอีก ๗ อย่างได้ ในรูปของแหวน หรือสร้อยตัว

เครื่องประดับของนางสุชาดาที่ว่ามา  ทราบว่ามีค่ามหาศาล  เคยอ่านพบ แต่ไม่แน่ใจว่าทำด้วยเพชรไข่มุก หรือว่าทอง   สวมตั้งแต่ศีรษะยาวลงถึงข้อเท้า   ถ้าหากว่าคุณบอกว่ามีไข่มุกประกอบด้วย ก็แปลว่าไข่มุกเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะของมีค่า   แต่ก็ไม่ทราบว่าเมื่อประกอบเข้าเป็นนพรัตน์แล้วจะอยู่ในลํกษณะไหน

นพรัตน์ราชวราภรณ์ ของโบราณเห็นแต่ในภาพวาดค่ะ  ดูไม่ออกว่าไข่มุกหรือ moonstone    
คุณหมูสยามอาจจะตอบได้ ถ้าแวะเข้ามาเชิญตอบด้วยนะคะ


กระทู้: มุกดาหารใช่ไข่มุกหรือเปล่าคะ
เริ่มกระทู้โดย: อินทาเนีย ที่ 03 พ.ย. 00, 14:26
ผมไปตรวจดูแล้วพบว่าเครื่องประดับค่าควรเมืองของนางวิสาขา(ไม่ใช่นางสุชาดา)ที่ว่านั้น มีเพชรและไข่มุก รวมทั้งรัตนะอย่างอื่นด้วย เครื่องประดับนี้เรียกว่า "มหาลดาปสาธน์" หรือ "มหาลดาปิลันธ์" คุณเทาชมพูลองไปหาดูนะครับ

(ขออภัยครับ...ที่ตำราอ้างอิงของผมเป็นภาษาอังกฤษ...ค่อนข้างยาว...ขี้เกียจแปลครับ ^_^)



กระทู้: มุกดาหารใช่ไข่มุกหรือเปล่าคะ
เริ่มกระทู้โดย: อินทาเนีย ที่ 03 พ.ย. 00, 14:54
ไหนๆก็ไหนๆแล้ว...ขอแปลสรุปให้ฟังคร่าว ๆ พอหอมปากหอมคอสักหน่อยก็แล้วกันนะครับ...



เครื่องประดับมูลค่ามหาศาล "มหาลดาปสาธน์" หรือ "มหาลดาปิลันธ์" นี้ เมื่อครั้งพุทธกาลมีผู้เป็นเจ้าของครอบครองต่อๆกันมาอยู่ ๓ คน คือ นางวิสาขา นางมัลลิกา และเทวทานิยโจร เครื่องประดับชิ้นนี้ใช้เวลาทำนานถึง ๔ เดือน ประกอบด้วย:-

- เพชร ๔ นาฬี (ผมขออนุญาตใช้คำว่า 'นาฬี' ตามต้นฉบับ นาฬีเป็นมาตราตวงของมคธ เท่ากับทะนานของไทยนั่นเอง)

- ไข่มุก ๑๑ นาฬี

- ประพาฬ ๒๒ นาฬี

- ทับทิม ๓๓ นาฬี

- ทอง ๑๐๐๐ นิกขะ ('นิกขะ' เป็นมาตราชั่งน้ำหนักทองของมคธ, ๕ นิกขะหนักเท่ากับ ๑ บาท -- อินทาเนีย)

- เงิน(silver)อีกจำนวนหนึ่ง



ฯลฯ



วันหลังว่างแล้วจะมาเล่าต่อครับ :-)




กระทู้: มุกดาหารใช่ไข่มุกหรือเปล่าคะ
เริ่มกระทู้โดย: อินทาเนีย ที่ 03 พ.ย. 00, 15:04
ขออภัยครับ...เมื่อกี้ผมผิดไปนิดนึง...



คำว่า "ปิลันธ์" ต้องมี 'น' ตัวหลังด้วยครับ

"ปิลันธน์" แปลว่า เครื่องประดับ ครับ



กระทู้: มุกดาหารใช่ไข่มุกหรือเปล่าคะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 พ.ย. 00, 16:50
เรื่อง มหาลดาประสาธน์ของนางวิสาขา เป็นที่มาของโลหะปราสาท
ในตอนแรกว่าจะเขียนบทความเรื่องโลหะปราสาทวัดราชนัดดา  แต่เปิดไปเจอในเว็บก็เลยไม่ได้เขียนค่ะ
พอดีคุณยกเรื่องนี้ขึ้นมาก็เลยได้ทบทวนความจำอีกครั้ง

มหาลดาประสาธน์ ของนางวิสาขา มีรายละเอียด  ดังนี้
ใช้เวลาทำ ๔ เดือน
ใช้ช่างทอง ๕๐๐ คน
ทองคำ ๑๐๐๐ ลิ่ม
แก้วมณี ๓๓ ทะนาน
แก้วมุกดา ๑๑ ทะนาน
แก้วประพาฬ ๒๐ ทะนาน
เพชร ๕ ทะนาน
ลักษณะเครื่องประดับ เป็นเครื่องคลุมตั้งแต่หัวจรดหลังเท้า  
บนศีรษะทำเป็นรูปนกยูงยืนในท่ากระพือปีก   ขนปีกทำด้วยทองคำ  
จงอยปากทำด้วยแก้วประพาฬ  ตา คอ และหางทำด้วยแก้วมณี
ก้านขนและหน้าแข้งทำด้วยเงิน  ลูกดุมทำด้วยทอง  รังดุมทำด้วยเงิน
เป็นราคาทั้งหมด ๙ โกฎิ  ค่ากำเหน็จ ๑ แสน
เครื่องประดับนี้เป็นที่มาของโลหะประสาทหลังแรก ชื่อ มิคารมาตุปราสาท


กระทู้: มุกดาหารใช่ไข่มุกหรือเปล่าคะ
เริ่มกระทู้โดย: อินทาเนีย ที่ 08 พ.ย. 00, 09:40
รู้สึกว่าปริมาณรัตนะที่ใช้ทำมหาลดาปสาธน์ที่คุณเทาชมพูเขียนไว้ ต่างจากของผมนะครับ ไม่ทราบว่าคุณเทาชมพูไปเอามาจากตำราเล่มไหน ใครเป็นคนเขียนครับ?


กระทู้: มุกดาหารใช่ไข่มุกหรือเปล่าคะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 พ.ย. 00, 13:42
หนังสือ โลหะปราสาท ของกองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ค่ะ
คิดว่านำมาจากพระไตรปิฎกอีกทีหนึ่ง


กระทู้: มุกดาหารใช่ไข่มุกหรือเปล่าคะ
เริ่มกระทู้โดย: อินทาเนีย ที่ 08 พ.ย. 00, 14:32
ขอบคุณครับ...



ที่ผมแปลนั้นมาจากหนังสือ "Dictionary of Pali Proper Names" เขียนโดยท่าน G.P. Malalasekera แห่ง Pali Text Society (สมาคมบาลีปกรณ์) ครับ ทั้งคนเขียนและทั้งสมาคมนั้นมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ หนังสืออ้างอิงของผู้เขียนท่านนี้ก็คือพระไตรปิฎกเหมือนกันครับ แต่ไม่รู้ว่าข้อมูลใครผิด ผมตรวจดูแล้ว ผมแปลไม่ผิดครับ อย่างคำว่า "มุกดา" ที่คุณเทาชมพูลอกมานั้น เขาใช้คำว่า "pearl" คือ ไข่มุก เลยหละครับ ไม่ใช่ 'moonstone' ซึ่งหมายถึงอินทุกานต์หรือจันทรกานต์



กระทู้: มุกดาหารใช่ไข่มุกหรือเปล่าคะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 พ.ย. 00, 15:26
ดิฉันคิดว่า คำว่า มุตฺตา ในภาษาบาลี พอมาแปลเป็นไทยแล้ว เปรียญทั้งหลายท่านใช้คำว่า มุกดา   ไม่เคยเห็นใช้คำว่าไข่มุกเลย

คำว่า ไข่มุก จะมาจากหนังสือต้นฉบับภาษาอังกฤษ มากกว่า   เริ่มต้นจากปลายรัชกาลที่ ๕ เมื่อวรรณกรรมจากอังกฤษเข้ามาในไทย
แปลจากคำว่า pearl


กระทู้: มุกดาหารใช่ไข่มุกหรือเปล่าคะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ย. 00, 16:23
งั้นพอจะย่ออย่างนี้ได้ไหมคะ
มุตฺตา,มุก.ดา  (จากบาลี สันสกฤต) --->  อังกฤษ + pearl
มุตตา  มุกฺดา (บาลีสันสกฤต) --> ไทย + มุกดา  ไข่มุก

ในแหวนนพเก้า  แปล มุกดาหาร ว่า moonstone ไม่ใช่ pearl
ส่วนใครเป็นคนริเริ่มใช้ moonstone แทน pearl  เป็นคนแรก
ทั้งคุณและดิฉันยังหาคำตอบไม่ได้


กระทู้: มุกดาหารใช่ไข่มุกหรือเปล่าคะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ย. 00, 00:16
"...ท่านใช้คำว่า มุกดา ไม่เคยเห็นใช้คำว่าไข่มุกเลย" ก็หมายความตรงตัวละค่ะ  ว่าดิฉันไม่เคยเห็น
ในวรรณคดีที่ย้อนหลังตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ ถอยขึ้นไปจนอยุธยา

แต่การใช้คำว่า ไข่มุก เห็นบ่อยในวรรณกรรมตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา  ในหนังสือแปลจากตะวันตก

ถ้าคุณเคยเห็นก็ช่วยเอามาเล่าให้ฟังด้วยค่ะ   ถ้ายกตัวอย่างด้วยจากหนังสือได้ก็เป็นประโยชน์แก่คนอ่านที่ไม่มีหนังสือด้วยค่ะ


กระทู้: มุกดาหารใช่ไข่มุกหรือเปล่าคะ
เริ่มกระทู้โดย: ป้านิล ที่ 13 พ.ย. 00, 09:49
เคยไปนั่งคุยกับเจ้าของร้านจิวเวลลี่  ถามเขาเรื่องนี้เหมือนกันว่าไข่มุก กับ มุกดานี่เหมือนกันไหม เขาหยิบมุกดามาให้ดู  ไม่เหมือนมุกเลยค่ะ เป็นสีขาวขุ่นๆ  แต่มีความแวววาว ใศแบบทับทิมที่ยังไม่ได้เจียระนัย  ดูแล้วสวยสู้ไข่มุกไม่ได้  ไข่มุกดูหรูกว่า


กระทู้: มุกดาหารใช่ไข่มุกหรือเปล่าคะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ย. 00, 13:04
moonstone หรือมุกดาหาร  จัดอยู่ในกลุ่ม semi-precious stones เป็นอัญมณีประจำราศีเมถุน  มีหลายสีค่ะ เช่น สีฟ้า ชมพู ส้ม แต่ในเมืองไทยเรามักจะเห็นสีขาวมากกว่าสีอื่น

อย่างภาพที่เอามาลง เป็นเข็มกลัดมุกดาหารสีขาว  หัวเป็นไข่มุกสีดำ


กระทู้: มุกดาหารใช่ไข่มุกหรือเปล่าคะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ย. 00, 13:06
ส่วนนี่คือ  moonstone สีฟ้าค่ะ


กระทู้: มุกดาหารใช่ไข่มุกหรือเปล่าคะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ย. 00, 13:11
ส่วนนี่คือไข่มุกที่คุณป้านิลชอบ


กระทู้: มุกดาหารใช่ไข่มุกหรือเปล่าคะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ย. 00, 13:14
แถมให้ดูอีกชิ้นค่ะ  ใกล้คริสต์มาสแล้ว  ต้นคริสต์มาสจิ๋วประดับด้วยอัญมณีหลายชนิดและไข่มุก


กระทู้: มุกดาหารใช่ไข่มุกหรือเปล่าคะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ย. 00, 14:27
มุกดาหาร หาอ่านได้ที่นี่ค่ะ

http://thai.to/gemstones/gemsInfo/gindex.html



~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

มุกดาหาร-บาลีว่ามุตฺตา มุตฺตาหาร บางแห่งก็ใช้ศัพท์ว่า สิปฺปิ-หอยมุก หรือศัพท์ว่า สุตฺต-หอยโข่ง ล้วนแต่หมายถึงมุก ทั้งนั้น)

อันว่ามุก มีที่กำเนิด ๑๒ แห่ง (คือ)



-เกิดในศีร์ษะปลาทั้งปวง ผลเท่าเปล็ดมะกล่ำไฟ สีขาวแกมดังดอกแคฝอย ผู้ใดถือเบาตัว ดำมิจมน้ำเลย



-เกิดในหอยโข่งใหญ่ มีผลกลมดังไข่จิ้งจก สีพรรณขาวดังสังข์ ผู้ใดถือจะจำเริญสุข จะมีสมบัติ



-เกิดในศีร์ษะสมัน มีรัศมีกล้าดังพระอาทิตย์ และสีดังตานกเค้า



-เกิดในงาช้าง หารัศมีมิได้มีพรรณแดงรูปใหญ่เท่าไข่ไก่ถือ รบศึกชนะ ช้างไล่มิได้เลย ช้างกลัวนัก



-เกิดในคอผู้หญิง เกิดในคอผู้ชาย เกิดในคอนกกระทุง สามจำพวกนี้เกิดแต่ในกฤดายุค และทวาปรยุค จะได้เกิดในกลียุคทุกวันนี้หามิได้จึงมิได้กล่าวไว้ในตำรา



-เกิดในต้นอ้อ ต้นขาวและต้นไม้ไผ่ ผู้ใดถือเป็นเสน่ห์



-เกิดในหัวงู มีอานุภาพมาก ผู้ใดถือรบศึก ข้าศึกเห็นดังงูจะขบกลัวหนีไปเอง



-เกิดในเขี้ยวหมู ผลเท่าเล็บเหยี่ยวลายน้อยหนึ่ง สีเหลืองดังสีเล็บเหยี่ยว ผู้ใดถือจะประสิทธิ์ (สำเร็จสมประสงค์) ทุกประการ



-เกิดในหอยชะเล (หอยทะเล) ๔ แห่ง คือ แห่งหนึ่งเกิดในชะเลปาละฤาษีเทศ แห่งหนึ่งเกิดในหอยชะเลปาลิไลยะเทศ แห่งหนึ่งเกิดในหอยชะเลตะนาวศรี แห่งหนึ่งเกิดในชะเลสิงหล รัศมีงาม สีหม่นดั่งเมล็ดพรรณผักกาด อนึ่งมุกอันเกิดในหอยชะเลตะนาวศรี น้ำแดงผลใหญ่



-เกิดในเมฆ มีรัศมีดังพระอาทิตย์ ถ้าจะแลดูแสงทอตานัก มุกจำพวกนี้พิทยาธรและฤาษีทั้งหลายจึงจะถือได้ มนุษย์บ่ห่อนจะถือได้เลย



มุกให้คุณและโทษ

อันว่ามุก จะให้จำเริญคุณแก่ผู้ถือมี ๖ จำพวก คือ

จำพวกหนึ่งเหลืองอ่อนดังรัศมีพระจันทร์

จำพวกหนึ่งถือเย็นแก่มือ(น่าจะเป็น แก้วจันทรกานต์-เทาชมพู)

จำพวกหนึ่งเบาแก่มือ

จำพวกหนึ่งถือเย็นแก่ตา

จำพวกหนึ่งมีรูปดังดีนก

จำพวกหนึ่งกลมขาวบริสุทธิ์ (น่าจะเป็นไข่มุก-เทาชมพู)



อันว่ามุก มีโทษ ๑๐ ประการคือ ประการหนึ่งดังหนามติดอยู่ในผล ๑ เมล็ดทรายติดอยู่ในผล ๑ สองประการนี้ผู้ใดถือจะป่วยไข้ จะเป็นผี

ผู้ใดถือมุกอันดินดำเข้าติดอยู่ในผลก็ดี ดินแดงเข้าอยู่ในผลก็ดี ผู้ถือนั้นสมบัติจะฉิบหาย

ผู้ใดถือมุกโทษอันมีผลเบี้ยวก็ดี เป็นฝาแฝดก็ดี ผู้ใดถือจะเข็ญใจยากไร้

ผู้ใดถือมุกโทษอันเป็นลายกลีบ ผู้ถือจะเป็นผู้หูหนวก ผู้ใดถือมุกโทษอันคร่ำมีสีดังน้ำไหลไปมา ผู้ถือจะต้องเครื่องศาสตราวุธ



ผู้ใดถือมุกอันประกอบด้วยคุณ ๖ จำพวก และเว้นจากโทษ ๑๐ ประการผู้ถือจะมไพร่ฟ้าข้าไทช้างม้าศฤงคารบริวารเป็นอันมาก จะสุขสำราญด้วยอานุภาพมุกอันมีคุณพิเศษดังกล่าวมานี้


กระทู้: มุกดาหารใช่ไข่มุกหรือเปล่าคะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ย. 00, 14:31
คำอธิบายเรื่องมุกดาหารข้างบนนี้ มาจาก "ตำรานพรัตน์)

เข้าใจว่าตำรานี้เป็นสำเนาหนังสือที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิส บุนนาค) เมื่อยังเป็นพระยาสุรวงศ์มนตรีได้สอบสวน พร้อมด้วยผู้มีนามในหนังสือนั้น แล้วนำขึ้นทูลเกล้าทูนกระหม่อมถวาย พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย

มีความว่า

"ข้าพระพุทธเจ้า พระยาสุริยวงศ์มนตรี, พระมหาวชิรธรรรม, หลวงลิขิตปรีชา, หลวงภักดีจินดา, นายชม ปรึกษาพร้อมกับสอบตำราเพชรรัตน์ตำหรับพราหมณ์ ซึ่งหลวงภักดีจินดาได้เรียนไว้มาชำระเทียบต้องกันสามฉบับ พระมหาวิชาธรรนค้นพระบาลีพุทธศาสตร์ ประกอบกับตำราไสยศาสตร์ หลวงลิขิตปรีชาอาลักษณ์แต่งตำหรับพุทธศาสตร์ ประกอบกับตำราไสยศาสตร์ทูนเกล้าถวาย ในพระบาลีคัมภีร์พุทธศาสตร์นั้นว่า



วชิรํ รัตตํ อินฺทนีลํ เวฬุริยํ รัตฺตกาฬมิสิสกํ โอทาตปีตมิสสฺกํ นีลํ ปุสฺสราคํ มุตตาหารญจาติ อิมานิ นวากาทีนิ รตนานิ ตฺสมา รตนชาติ โย อเนกวิธา นานาปเทเสสุ อุปปชฺชนตีติ เวทิตฺพพา



อธิบายตามพระบาลีว่า รตนานิ อันว่ารัตนชาติทั้งหลาย เอนกวิธา มีประการเป็นอันมากจะประมาณมิได้ นวกาทีนิ มีแก้วเก้าประการเป็นอาทิ คือ แก้ววิเชียร ๑ แก้วแดง ๑ แก้วอินทนิล ๑ แก้วไพทูรย์ ๑ แก้วรัตกาลมิสก ๑ แก้วโอทาตปปิตมิสก ๑ นิลรัตน์ ๑ แก้วบุษราคัม ๑ แก้วมุกดาหาร ๑ แก้วทั้งเก้าประการมีพรรณต่างกัน แต่แก้ววิเชียรนั้นมีสีงามบริสุทธิ์ดังน้ำอันใส ตำราไสยศาสตร์ชื่อว่า "เพชร" นับถือว่าเป็นมงคล อันพราหมณ์ทั้งหลายนำมาใช้ให้ช่างเจียรนัยผูกเรือนธำมรงค์ประดับด้วย เนาวรัตน์จัดเอาเพชรตั้งเป็นปฐม รัตตํ อันว่าแก้วมีพรรณแดงงามสดใสยิ่งนัก ในตำราไสยศาสตร์สมมุติชื่อว่าปัทมราช ถ้ามีสีแดงอ่อนดังผลเมล็ดทับทิมสุกนั้นชื่อว่า ทับทิม ประดับเรือนธำมรงค์เนาวรัตน์เป็นที่สอง อินทนีลํ อันว่าแก้วอินทนิล มีพรรณผลนั้นเขียวเลื่อมประภัสสร (สีพรายแสงพราวดังพระอาทิตย์แรกขึ้น) ดังแสงแห่งปีกแมลงทับ ในตำหรับไสยศาสตร์ชื่อว่า แก้วมรกต ประดับเรือนนพรัตน์เป็นที่สาม เวฬุริยํ อันว่าแก้วไพทูรย์ มีสีเหลืองเลื่อมพรายดังสีสรรพ์พรรณบุปผชาติทั้งหลายมีสีดอกทรึก (ซึก เป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง) เป็นอาทิ ตำราไสยศาสตร์ว่าแก้วไพทูรย์ ประดับนับเข้าในเรือนนพรัตน์เป็นที่สี่ รตฺตกาฬมิสฺสกํ อันว่าแก้วอันมีสีดำและสีแดงเจือแกมกัน (แดงก่ำ) ดูงามสดใส ในตำราไสยศาสตร์ชื่อว่า แก้วโกเมน สมมติว่ามีคุณอันพิเศษนำมาผูกเรือนธำมรงค์เนาวรัตน์จัดเป็นที่ห้า โอทาตปิตมิสฺสกํ อันว่าแก้ว อันมีสีขาวกับสีเหลืองเจือกันนั้น ตำราไสยศาสตร์ว่า แก้วเพทาย ประดับเนาวรัตน์เป็นที่หก นีลํ อันว่านิล มีสีดอกอัญชันและดอกสามหาว ประดับเรือนเนาวรัตน์เป็นที่เจ็ด ปุสฺสราคํ อันว่าบุษราคัม มีสีเหลืองเลื่อมประภัสสรดังสีวงแววหางปลาสลาด นัยหนึ่งมีสีดังหลังปู ประดับเรือนนพรัตน์เป็นที่แปด มุตฺตาหาร อันว่ามุกดาหาร มีสีดังมุกอันเลื่อมพราย ดูงามเป็นที่จำเริญจักขุบุคคลอันเล็งแลดู ประดับเรือนพระธำมรงค์นพรัตน์เป็นที่เก้า



โบราณาจารย์พฤฒาพราหมณ์ทั้งหลายผู้ฉลาดชำนาญในไตรเพท เหตุรู้จักคุณวิเศษแห่งรัตนะทั้งปวงจึงเลือกคัดจัดรัตนชาติเก้าประการ มีผลอันบริสุทธิ์สิ้นโทษทั้งนี้มาเจียรนัย ได้ศุภฤกษ์ดีจึงประดับเรือนเนาวรัตน์เป็นพระธำมรงค์ ประกอบแก้วทั้งเก้าประการ ต้องตามตำหรับไสยศาสตร์นับถือว่าเป็นมงคลอันวิเศษ เหตุดังนั้น พระอรรถกถาจารย์จึงมีคำอธิบายเป็นพระบาลีว่า "ตถา รตฺตนีลาทิ เภทา อเนกวิธา มณโย นานาฐาเนสุปากฎา" แปลว่า อันรัตนชาติทั้งหลายมีสีดำและสีแดงและมีสีต่าง ๆ ซึ่งวิเศษมากกว่าแก้วเก้าประการนี้ มีเป็นอันมาก ย่อมบังเกิดในที่แทบเชิงพระเมรุบรรพต และเกิดในท้องที่พระมหาสมุท และเกิดในเขาวิบูลบรรพต และเกิดในป่าพระหิมพานต์ และบังเกิดด้วยอำนาจเทวฤทธิ์ และบังเกิดในบ่อแก้วทั้งหลายในแดนมนุษย์ ด้วยอานุภาพบุญฤทธิ์แห่งกษัตริย์ทั้งหลาย มีสมเด็จพระบรมจักรพรรตราธิราช เป็นอาทิ รัตนชาติทั้งหลายก็ปรากฎมีมาคุ้มเท่าทุกวันนี้



สนใจหาอ่านได้เพิ่มเติมที่นี่ค่ะ

http://thai.to/gemstones/gemsInfo/gindex.html


กระทู้: มุกดาหารใช่ไข่มุกหรือเปล่าคะ
เริ่มกระทู้โดย: ป้านิล ที่ 14 พ.ย. 00, 17:40
คนราศีเมถุนบางตำราก็บอกว่าไข่มุกเป็นอัญญมณีประจำตัว  บ้างก็ว่า moonstone ถ้า 2 อย่างนี้ไม่เหมือนกัน  จะใช้อย่างไหนดีเล่าคะ


กระทู้: มุกดาหารใช่ไข่มุกหรือเปล่าคะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 พ.ย. 00, 18:01
ชอบอย่างไหนก็ใช้อย่างนั้นดีกว่าค่ะ สบายใจดี