เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: กุรุกุลา ที่ 20 ก.ค. 06, 20:11



กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 20 ก.ค. 06, 20:11
 เมื่อผมสมัครสมาชิกในเรือนไทยแรกๆ กระทู้ยอดนิยมขณะนั้นเป็นเรื่องของภาพถ่ายเก่าสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งถ่ายโดย หลวงอัคนีนฤมิตร หรือ ฟรานซิส จิตร (นายจิตร จิตราคนี) มีภาพมากมายทีเดียวที่น่าสนใจ แล้วก็มาสะกิดใจเมื่อทราบว่า ฟรานซิส จิตร คนนี้เป็นชาวกุฎีจีน ตั้งร้านอยู่ที่เรือนแพหน้าวัดกุฎีจีนหรือวัดซางตาครู้ส ตรงกันข้ามกับปากคลองตลาด พอผมมีเวลาพอก็หมายใจว่าจะไปค้นหาและไหว้หลุมศพท่านเสียหน่อยที่บ้านกุฎีจีน จนเมื่อสัปดาห์ก่อนก็มีโอกาสได้ไปจริงๆเข้า ก็ปรากฏว่าเขาย้ายสุสานหลุมฝังศพไปนครปฐมเสียนานแล้ว เพราะไม่ถูกสุขลักษณะและเกิดน้ำท่วมบ่อย ประกอบกับชุมชนขยายตัวเร็วมาก ที่เหลืออยู่ก็เพียงหลุมฝังศพเจ้าอาวาสที่สำคัญๆเท่านั้น แต่เพื่อไม่ให้เสียเที่ยว จึงหาข้อมูลเกี่ยวกับโบสถ์ซางตาครู้สมาฝากสมาชิกทุกๆท่านในเรือนไทยแทนครับ


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 20 ก.ค. 06, 20:14

โบสถ์ซางตาครู้สในสมัยปัจจุบัน


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 20 ก.ค. 06, 20:16
 เมื่อเอ่ยถึงกุฎีจีน ใครๆก็คงนึกถึงขนมฝรั่งเป็นอันดับแรก เรื่องขนมผมไม่เชี่ยวชาญคงต้องรอผู้ชำนาญด้านการนี้อย่างคุณติบอมาเล่าให้ฟัง แต่ขนมฝรั่งกุฎีจีนนั้นก็เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนไปแล้วถึงกับมีคำร้องขายขนมของแม่ค้าสมัยก่อนว่า

“ซื้ออ้อยจีนบางใหญ่ อ้อยไทยบางโคกวัด ข้าวหลามตัดวัดระฆัง ขนมฝรั่งกุฎีจีน แม่เอ๊ย”

   เผื่อมีคนถามว่ากุฎีจีนคืออะไร ถ้าเราลองเดินเลียบทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาจากวัดกัลยาฯไปเรื่อยๆ จะพบศาลเจ้าจีนเก่าแก่ อันวิจิตรด้วยไม้สลักแห่งหนึ่ง (เสียดายว่าเขาห้ามถ่ายภาพ มิฉะนั้นจะนำมาให้ชมกัน) มีชื่อว่า ศาลเจ้า เกียนอันเก๋ง ซึ่งศาลเจ้านี้สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยตรัสเล่าในสาส์นสมเด็จว่า

   “ที่เรียกกุฎีจีนนั้น มีตัวกุฎีจริง และเป็นของสำคัญในทางโบราณคดี ด้วยหม่อมฉันก็เผอิญไปรู้เห็นโดยมิได้คาดคิด ครั้งหนึ่งหม่อมฉันรับเชิญไปช่วยงานหล่อระฆังใหญ่ที่วัดกัลยาณมิตร กระบวนงานออกจะยุ่ง ต้องคอยอยู่นานกว่าชั่วโมง หม่อมฉันจึงไปเที่ยวเดินดูวัดกัลยาณมิตร ไปถึงเขตวัดทางด้านใต้ริมคลองกุฎีจีน แลดูข้ามฟากคลองไปสักสองเส้นยังบริบูรณ์ดี ดูเหมือนจะยังมีผู้คนนับถือ หม่อมฉันถามคนที่ไปด้วยว่านั่นศาลอะไร เขาเรียกว่า ศาลเจ้ากุฎีจีน ได้คิดก็ “หูผึ่ง” ด้วยรู้ว่าศาลเจ้านั้น พวกจีนคงสร้างแต่เมื่อที่ตรงนั้นเป็นแหลมแม่น้ำเลี้ยว เหมือนชอบสร้างในที่อื่นๆเช่นเดียวกัน คือ สร้างเมื่อสายแม่น้ำเจ้าพระยายังไปทางคลองบางกอกใหญ่ เวลาที่ตรงวัดกัลยาณมิตรยังเป็นแม่น้ำในสมัยแรกหรือก่อนขุดคลองลัดบางกอกครั้งรัชกาลสมเด็จพระชัยราชาธิราช คลองกุฎีจีนเป็นแนวฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาในสมัยนั้น แต่ตรงที่สร้างวัดกัลยาณมิตรเห็นจะตื้นเขินจนเกิดคลองกุฎีจีนมาแต่ในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรี ตั้งเมืองธนฯเป็นราชธานี รวบรวมผู้คนที่แตกฉานกระจัดกระจายให้มาอยู่ที่กรุงธนฯจึงโปรดให้พวกจีนชาวพระนครศรีอยุธยา มาตั้งบ้านเรือนอยู่เหนือข้างคลองกุฎีจีนตรงที่วัดกัลยาณมมิตร เจ้าสัวมันบิดาเจ้าพระยานิกรบดินทร์ มาอยู่ที่นั่นและเจ้าพระยานิกรบดินทร์เกิดที่นั่นจึงเป็นเหตุที่สร้างวัดกัลยาณมิตรเมื่อรัชกาลที่ 3 ท่านก๋งของเราก็มาอยู่ที่นั่นแต่อยู่แพจอดตรงที่ทูลกระหม่อมทรงสร้างหอไตรวัดกัลยาณมิตร ส่วนฝรั่งเชื้อสายโปรตุเกสที่เคยอยู่ ณ พระนครศรีอยุธยาก็ให้รวมกันตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำใต้กุฎีจีนต่อลงไป จึงเรียกว่า ฝรั่งกุฎีจีน”


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 21 ก.ค. 06, 21:31
 ในฐานะของโบสถ์เก่าแก่ อายุเกินกว่ากรุงรัตนโกสินทร์เสียอีก ประวัติเรื่องราวต่างๆก็สืบเนื่องไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา หลัง พ.ศ. 2310 ชาวโปรตุเกสบางส่วนที่ไม่ได้อพยพหนีภัยสงคราม และเข้าร่วมกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสู้รบกับพม่า จากจดหมายเหตุของสังฆราชเลอ บ็อง ได้กล่าวว่า

สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงวางพระทัยพวกเข้ารีตมาก ถ้าเสด็จทัพครั้งใดก็ต้องมีพวกเข้ารีตติดตามไปด้วยทุกครั้ง พวกเข้ารีตเป็นพวกที่กล้าหาญของพระเจ้าตาก และพระเจ้าตากก็ทรงจัดให้พวกเข้ารีตเป็นทหารรักษาพระองค์

เมื่อปี พ.ศ. 2312 บาทหลวงคอร์ Corre ซึ่งอพยพลี้ภัยสงครามไปยังประเทศเขมรได้นำชาวคริสต์ 4 คนกลับเข้ามาเฝ้าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และได้รับการต้อนรับอย่างดี พระองค์ได้พระราชทานเงิน 20 เหรียญ และเรือลำหนึ่งแก่ท่าน และเมื่อวันที่ 14 กันยายน ได้พระราชทานที่ดินสร้างโบสถ์แก่ บาทหลวง Corre ซึ่งได้ตั้งชื่อโบสถ์ว่า “ซางตาครู้ส” (Santa Cruz) เป็นภาษาโปรตุเกส เนื่องจากตรงกับวันฉลองเทิดทูนไม้กางเขน

นับเป็นผืนแผ่นดินแห่งที่สองที่พระมหากษัตริย์ได้พระราชทานให้แก่ชาวโปรตุเกส (แห่งแรกคือโบสถ์คอนเซ็ปชัญสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช)


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 21 ก.ค. 06, 21:38
 แต่ต่อมาเหตุการณ์กลับเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง คือทุกๆปีจะมีพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ซึ่งในศาสนาคริสต์ถือว่าเป็นสิ่งที่ขัดต่อคำสอนของศาสนา สังฆราชจึงห้ามชาวคริสต์เข้าร่วม

ในเดือนมีนาคม 2316  สังฆราชเลอ บ็อง ได้ถวายฎีกาทูลขอพระบรมราชานุญาตให้ข้าราชการชาวคริสต์ทำพิธีสาบานตนตามจารีตศาสนาแทนพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา พระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงตอบ

อีกไม่กี่เดือนก็ทรงเรียกประชุม พระภิกษุ ชาวมุสลิม และมิชชันนารีคนหนึ่งเพื่อถกปัญหาเกี่ยวกับการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตตามที่พุทธศาสนาสอน พระภิกษุอภิปรายว่าการห้ามนั้นถูกต้อง แต่ชาวมุสลิมและชาวคริสต์มีความเห็นที่ต่างออกไป จึงทำให้พระเจ้าตากสินไม่พอพระทัยมาก


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 22 ก.ค. 06, 20:09
 ในวันที่ 13 ตุลาคม 2317 พระองค์ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกา ห้ามคนไทย และคนมอญนับถือศาสนาคริสต์และอิสลาม ว่า


“ ถ้าพระสังฆราชมิชชันนารี หรือคริสตัง หรือมุสลิมคนใดทำคนไทยหรือคนมอญ แม้แต่คนเดียวไปเข้ารีตเป็นมุสลิม หรือคริสตัง ก็ให้จับกุมสังฆราชหรือมิชชันนารีหรือคริสตัง หรือชาวมุสลิมคนนั้น และให้ถือว่าสมควรจะต้องตาย ”


ในเดือนกันยายน 2318 มีพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาอีก นายทหารชาวคริสต์สามคนได้เข้าไปในโบสถ์ซางตาครู้ส และคุกเข่าลงหน้าแท่นบูชาต่อหน้าประชาชนจำนวนมาก และได้กล่าวสาบานโดยอ้างพระคัมภีร์เป็นพยานต่อหน้าสังฆราช แล้วทำหนังสือสำคัญว่าเขาได้ทำพิธีสาบานแล้ว

พระเจ้าตากสินทรงเห็นว่าเป็นการลบหลู่พระเกียรติ และเป็นการคิดร้ายต่อพระราชอำนาจโดยตรง จึงทรงบัญชาให้จับนายทหารนั้นจำคุกในวันที่ 22 และ25 กันยายน และยังทรงให้จับพระสังฆราชเลอบ็อง กับบาทหลวงกูเด บาทหลวงกาโนไปเข้าคุกด้วย ทั้งหมดถูกจำคุกอยู่ 7 เดือนจนได้รับอิสรภาพ โดยไม่ได้กล่าวถึงเรื่องข้อบังคับในอดีตอีก


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 23 ก.ค. 06, 12:20
 ไม่เคยไปเลยค่ะ ขอบคุณที่นำมาให้ชม


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 23 ก.ค. 06, 15:22
 ผมเพิ่งว่างพอจะได้เข้ามาอ่านครับ คุณกุรุกุลา
อ่านแล้วนึกถึงเมื่อหลายวันก่อน ไปเดินเล่นแถวที่คุณเล่าให้ฟังพอดี
จำได้ว่าศาลเจ้าที่คุณเล่าถึง พี่ที่ไปด้วยกันก็ถ่ายรูปไว้หลายภาพนะครับ
เพราะงานไม้แกะสลัก และงานพับกระดาษตกแต่งที่นั่นสวยมากครับ
(ผู้ดูแลศาลเขาจำกัดเฉพาะด้านในน่ะครับ ด้านนอกถ่ายได้)



เสียดายพี่คนที่ผมพูดถึงแกสมัครวิชาการดอทคอมพ์แล้วข้อมูลมีปัญหา เลยเข้าบอร์ดมาไม่ได้
ผมติดต่อไปทาง VTeam ไปเมื่อหลายวันแล้ว แต่ทีมงานยังไม่ได้ตอบจดหมายผมกลับมา
หวังว่าพี่เขาจะได้เข้าบอร์ดมาเร็ว คุณกุรุกุลาคงจะได้มีภาพสวยๆประดับกระทู้น่ะครับ


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 25 ก.ค. 06, 09:13
 ตามหาจนเจอ
คนบอกว่ามีกระทู้เกี่ยวกับชุมชนต่างชาติที่เกี่ยวเนื่องจากอยุธยาจนถึงกรุงเทพฯ  คงจะที่นี่แหละ

ผมไม่มีความรู้เกี่ยวกับคริสต์  หรือโปรตุเกส  เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่าเป็นโบสถ์ของชาวคริสต์เชื้อสายโปรตุเกส

พอเริ่มอ่านต้นเหตุของการสร้างโบสถ์หลังนี้  เห็นมีเกี่ยวข้องกับนาม "เขมร" ด้วย จึงเกิดคำถามเล็กๆ ขึ้นมาว่าชาวคริสต์ ๔ คนที่อพยพกลับจากเขมรมาเฝ้าสมเด็จพระเจ้าตากสินพร้อมกับบาทหลวงคอร์ Corre เป็นชาวโปรตุเกสอย่างเดียว  หรือว่า  มีชาวเขมรปนด้วยครับ

เป็นความสงสัยในรายละเอียดเล็กน้อย  ที่อาจต่างจากคนอื่น

แล้วก็  ผมจะขออนุญาตพล่ามไปเรื่อยๆ หากมีโอกาส : Are you OK?


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 25 ก.ค. 06, 09:27
 ผมมีโอกาสได้อ่านนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องหนึ่ง ชื่อ "ตากสินมหาราชชาตินักรบ"  เขียนโดยนักเขียนชาวฝรั่งเศส  คนแปลแปลได้ชุ่มชื่นหัวใจมาก  อ่านแล้วให้นึกถึงนวนิยายเรื่อง "ฟ้าใหม่" ของคุณศุภร บุนนาค

ซึ่งเรื่องฟ้าใหม่มีตัวละครหลักคือ คุณใหญ่-คุณกลาง-คุณเล็ก  แล้วก็ดำเนินเรื่องโดย "พ่อแสน" ลูกหลานชาวแขก

แต่ในเรื่องนี้ดำเนินเรื่องอย่างน้อย ๒ คนคือ "ชวง ฟอลคอน"  เหลนของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ที่มีชีวิตอยู่เมืองไทยขณะนั้น  แล้วอีกคนคือ "มาธิว"  นายทหารลี้ภัยรักจากฝรั่งเศส

ซึ่งทั้ง ๒ ท่านเป็นชาวคาทอลิก  ในเรื่องมีความสนิทสนมกับ "สิน" แต่ต้น  แล้วก็ตรงกับ คหพต.๓ ที่กล่าวไว้ว่า ".....สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงวางพระทัยพวกเข้ารีตมาก ถ้าเสด็จทัพครั้งใดก็ต้องมีพวกเข้ารีตติดตามไปด้วยทุกครั้ง พวกเข้ารีตเป็นพวกที่กล้าหาญของพระเจ้าตาก และพระเจ้าตากก็ทรงจัดให้พวกเข้ารีตเป็นทหารรักษาพระองค์"

ผมอ่านนวนิยายแล้วมักจะ "อิน" และจะสืบตามต่อว่าตัวละครในเรื่อง คือใครในประวัติศาสตร์  หรือเหตุการณ์สมมุติเป็นของจริงแค่ไหน  แล้วก็  จะปวดหัวหนักกับเรื่องไม่เป็นเรื่องเหล่านี้

ผมจะรอเวอร์ชั่นต่อไปของพระเจ้าตากสิน  ที่อยู่ในทัศนะของคนชาติอื่นๆ ในโอกาสต่อไปด้วยครับ


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: -AnToiNetty- ที่ 25 ก.ค. 06, 20:48
 ขอบคุณ ที่ช่วยแบ่งปันกระสบการณ์ ครับ ..
เหตุการณ์ ประวัติศาสตร์ ของพระศาสนจักร ในประเทศไทย
ของสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน
ไม่ค่อยเป็นที่เผยแพร่เท่าไหร่
ขอขอบคุณ คุณกุรุกุลา มาก ๆ นะครับ ..
วัดซางตาครู๊ส
เปนวัด ที่สวยมาก ๆ วัดหนึ่งในประเทศไทย ..
ส่วนสำหรับหลุมศพ ของ ฟรานซิส จิตร ที่คุณ กุลุกุรา กล่าวถึง
คาดว่า ตอนนี้ น่าจะตั้งอยู่ที่ สุสาน ศานติคาม จ.นครปฐม นะฮะ


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.ค. 06, 21:30
 นิยายก็คือนิยายละค่ะคุณ Nickynick อย่าไปคิดว่าเป็นของจริง แม้แต่จะอิงข้อมูลจริงบางอย่างก็เถอะ
ถ้าทำใจได้ว่าเป็นจินตนาการ  อ่านเอาสนุก   แนะนำนิยายของคุณปองพล อดิเรกสาร เรื่อง "รัตนโกสินทร์"   แต่เป็นยุคธนบุรีค่ะ  ทำไมท่านไม่ตั้งชื่อว่า " ธนบุรี" ก็ไม่ทราบ
เรื่องนี้พระเจ้าตากไม่ได้ถูกประหารเสียด้วยซี


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 26 ก.ค. 06, 10:06
 ขอบคุณคุณเทาชมพูมากครับ
บางทีนิสัยคนเราก็แก้ไม่ค่อยหาย  โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ชาติไทย  ผมมักจะซาบซึ้งเกินเหตุ
สำหรับหนังสือรัตนโกสินทร์ของคุณปองพล  ชื่อเรื่องคล้ายๆ กับละครเรื่องหนึ่งที่เคยเผยแพร่ทางโทรทัศน์เมื่อก่อนเลยนะครับ  ไม่น่าจะเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะในโทรทัศน์   เรื่องนั้นเป็นสมัยรัตนโกสินทร์จริงๆ

หนังสือเล่มนั้นกับอีกหลายเล่มของคุณปองพล  เป็นเรื่องอิงประวัติศาสตร์
ผมเปิดพลิกๆ ดูหลายครั้งแล้วตัดสินใจไม่ซื้อ  เพราะขณะนั้นหาที่เก็บหนังสือไม่ค่อยได้  ยังร่อนเร่พเนจรอยู่  พอถึงตอนนี้กะจะใช้วิธีลัด  หยิบยืมของพรรคพวกมาอ่านก่อนครับ

เรื่องอินหรือไม่อิน  ที่เกี่ยวข้องกับกระทู้นี้ของผมยังมีอีกเยอะ  จะค่อยๆ ทยอยเปิดเผยออกมาครับ  อย่างการตั้งกระทู้ต่างๆ ขึ้นมาของแต่ละท่าน  มักจะมีความหลังกับเรื่องเหล่านั้นบ้างไม่มากก็น้อย  เพราะใครที่จะสืบรู้ลึกกันถึงขนาดนี้  ก็ต้องมีใจรักจริงหรือผูกพันกับเรื่องนี้พอสมควร

อย่างในกระทู้นี้  ผมอยากจินตนาการไปถึงว่า  อาจมีใครในนี้มีความหลังกับท้องถิ่นกุฎีจีน  หรืออาจเป็นที่สามเสนอันเป็นรกรากแต่เดิม  หรือเป็นรกรากเดิมของคนรักเก่าที่ท่านเคยลุ่มหลง (อย่างกับที่ผมเคยเป็นมาก่อน)   หรือว่าชาวโปรตุเกส หรือเขมร หรือญวนคริสตังในพงศาวดารท้องถิ่น  อาจกลายมาเป็นกุรุกุลาน้อยภายหลังก็เป็นได้

เพราะนาม "กุรุกุลา"  ดูช่างรุ่มรวยความหมายเสียจริงๆ

ท่านอย่าพาลคิดมากจนปวดหัวแบบผมไปด้วยก็แล้วกันครับ


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ค. 06, 10:47
 นวนิยายชื่อ "รัตนโกสินทร์" มี ๒ เรื่องค่ะ เรื่องหนึ่งของคุณปองพล  อีกเรื่องทำละครอย่างที่คุณ Nickynick จำได้

พูดถึงความสนใจต่อสถานที่

ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว  ดิฉันเคยเดินท่อมๆกลางแดด อยู่แถววัดอนงคาราม  เพื่อสืบค้นความเป็นไปของบ้านหลังหนึ่ง ที่เคยตั้งอยู่ในละแวกนั้น ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
เจ้าของบ้านชื่อเจ้าพระยารัตนบดินทร์     เป็นบุตรของเจ้าพระยานิกรบดินทร์
ถ้าคุณนิคสนใจประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ ๓ คงจำได้ถึงนายโต ที่ทำหน้าที่ผู้จัดการด้านค้าสำเภาให้พระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ทรงเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์
ทำงานถวายด้วยความเรียบร้อยมาโดยตลอด  มีกำไรมั่งมี นำขึ้นทูลเกล้าถวายพระเจ้าอยู่หัว เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย  
เงินที่นำขึ้นถวายจากการค้าสำเภา ต่อมาก็คือ "เงินถุงแดง" ที่ใช้ไถ่บ้านไถ่เมือง ในสมัยฝรั่งเศสวางอำนาจกับสยาม
ต่อมาจนถึงรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯเลื่อนท่านเป็นเจ้าพระยานิกรบดินทร์

นามสกุลพระราชทานในรัชกาลที่ ๖ ก็บอกบ่งถึงความสำคัญของท่านในสมัยรัชกาลที่ ๓  
ส่วนจะเป็นนามสกุลอะไร ขอเชิญคุณนิคค้นหาเอง  เพื่อจะได้อ่านแล้วไม่ง่วง

ในบ้านของเจ้าพระยารัตนบดินทร์ผู้เป็นบุตรชายของท่าน   เล่าสืบกันมาในหมู่เครือญาติ  ว่ามีกุลบุตรผู้หนึ่งอาศัยอยู่
มีชื่อว่า "ชุ่ม"
ท่านชุ่มมีบุตรหลายคน   หนึ่งในนั้น ประวัติศาสตร์รู้จักกันในนามว่า "ท่านชู" เป็นช่างทอง  มีภรรยาชื่อท่าน"คำ"
มีธิดาคนเดียว  ต่อมาได้ทุนหลวงไปศึกษาวิชาพยาบาล ณ สหรัฐอเมริกา

ถึงตอนนี้ก็คงเดาได้แล้วว่า คือสมเด็จพระศรีนครินทราฯ หรือ" สมเด็จย่า" ผู้เป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยนั่นเอง

ขอเล่าแค่นี้ละค่ะ


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 26 ก.ค. 06, 10:48
 บอกตามตรงครับ พอเห็นกระทู้นี้ ดีใจเหมือนลิงได้แก้ว  ไม่ได้เชี่ยวชาญ  แต่เป็นเรื่องที่อยากรู้มานาน  แล้วก็ไม่ได้มีความหลังอะไรในเรื่องเหล่านี้ด้วยครับ  เป็นความรักความชอบที่มีมาแต่เล็ก  เหมือนกับที่ชอบกระทู้ตามรอยท่านอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ  และก็เพียงหวังแต่ว่า  ที่นี่  คงจะดำเนินเรื่องไม่เชื่องช้าเท่า  เดี๋ยวจะหายเห่อ

จะบอกว่าไม่มีความหลัง  เดี๋ยวท่านจะหาว่าโม้  เอาเป็นว่าประทับใจโปรตุเกสนัดที่ยิงลูกโทษชนะอังกฤษรอบก่อนรองไงครับ  โดยเฉพาะผู้รักษาประตู  นิ่งจริงๆ  แต่ว่าปีนี้เป็นปีที่อัปยศที่สุดของผมสำหรับฟุตบอลโลกเลยครับ  ไม่มีโอกาสติดตามดูเท่าที่ควร  ช่วงนั้นหัวสมองตึ้บไปหมด

กลับมาใหม่  เข้าใจว่า จขกท. คงไม่เพียงแต่เล่าเฉพาะโบสถ์ซางตาครู้สเท่านั้น  แต่อาจจะสืบเนื่องไปถึงความสัมพันธ์กับโปรตุเกสย้อนไปถึงปี ค.ศ.๑๕๑๑ (พ.ศ.๒๐๕๔)  รวมทั้งเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับชนชาตินี้ด้วยครับ   ไม่รู้ว่าผมจะเว่อร์หรือหวังมากเกินไปรึเปล่า


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 26 ก.ค. 06, 11:18
 พอดีส่งเข้ามาพร้อมกัน มาอ่านเนื้อความของคุณเทาชมพูทีหลัง
นามเจ้าพระยานิกรบดินทร์ อยู่ในความทรงจำของผมอยู่ตลอดเวลา  ท่านเคยเป็นแม่กองบูรณะปฏิสังขรณ์วัดสำคัญวัดหนึ่งของเมืองหนึ่งในอดีต

นั่นก็คือ วัดป่าเลไลยก์เมืองสุพรรณครับ  ท่านบูรณะทั้งองค์พระป่าเลไลยก์  ทั้งวิหาร  รวมทั้งน่าจะเป็นสิ่งที่เราเรียกกันสมัยปัจจุบันว่าอาคารสถานที่อื่นๆ ในวัดนั้นด้วยครับ  ผมได้พยายามค้นหาหลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการนั้น  แต่เพราะอาชีพหลักเป็นเรื่องอื่น งานที่รักเช่นนี้จึงต้องค้างไว้บ้าง  การขึ้นล่องค้นหาหลักฐานในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ  หรือสมุดแห่งชาติท่าวาสุกรี สำหรับคนต่างจังหวัด และมีภาระ เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก

ทราบแต่เลาๆ ว่าบูรณะใหญ่ครั้งนั้นสมัยรัชกาลที่ ๔  แต่อ่านไปอ่านมา  บางทีก็มีหลักฐานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ บ้างแล้ว  ก็ยังงงอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ครับ

แล้วก็เลยได้รับรู้ถึงประวัติของท่านเจ้าพระยานิกรบดินทร์เป็นความรู้เสริมด้วยครับ  รู้ว่าท่านสร้างวัดกัลยาณมิตร  ซึ่งในพงศาวดารฯ รัชกาลที่ ๓ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ฯ ก็กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

".... เจ้าพระยานิกรบดินทร์ยกที่บ้านเดิมของท่าน  แล้วซื้อที่บ้านข้าราชการและบ้านเจ๊สัว  เจ้าภาษี  นายอากรอื่นอีกหลายบ้านสร้างเป็นวัดใหญ่   พระราชทานชื่อวัดกัลยาณมิตรวัด ๑  แต่วิหารใหญ่เป็นของหลวง...."  ซึ่งเริ่มสร้างเมื่อปี ๒๓๖๘ ครับ

จึงคิดแต่เพียงว่า  การได้รับพระราชทานนามสกุลในสมัยต่อมา  น่าจะเกี่ยวกับนามของวัดนี้  แต่จริงๆ แล้วมีความหมายแฝงมากกว่าที่เรารู้ด้วย

วัดที่ท่านเจ้าพระยานิกรบดินทร์มีส่วนเกี่ยวข้อง  จะมีพระพุทธรูปประธานที่ใหญ่  ดังวัดของตระกูลท่านแห่งนี้  คนไทยเรียก "หลวงพ่อโต"   คนจีนเรียกกันว่า "ซำปอกง"  ซึ่งวัดพนัญเชิงอยุธยาเขาก็จะเรียก "ซำปอกง" เหมือนกัน  วัดนี้จะมีเหตุเกี่ยวกับท่านเจ้าคุณรึเปล่าไม่รู้

พระประธานองค์ใหญ่ที่วัดป่าเลไลยก์เมืองสุพรรณ เรียกหลวงพ่อโตเหมือนกัน  แต่คนจีนไม่ได้เรียกซำปอกง  แต่องค์ก็ใหญ่มากเช่นกันครับ


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 26 ก.ค. 06, 11:39
 ชักเริ่มสนุกเสียแล้วซี  หากท่านกุรุกลาไม่เข้ามา  เดี๋ยวกระทู้จะกู่ไม่กลับนะครับ

นึกออกแล้วครับว่าบ้านของเจ้าพระยารัตนบดินทร์ (รอด) หลังนั้นอยู่ตรงไหน  พอบอกว่าเป็นนิวาสถานเดิมของสมเด็จย่า  ก็ต้องร้องอ๋อเป็นธรรมดา

ขอต่ออีกนิดครับ  เพราะอ่านตรงที่พระองค์ได้รับทุนพระราชทานเรียนพยาบาล ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา  ในฐานะที่ชอบศึกษาทั้งเรื่องสถานที่  แล้วก็เรื่องของบุคคลด้วย  ได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง  ทราบว่าพระองค์จบพยาบาล  ขณะนั้นเรียกโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์ และ หญิงพยาบาล  เป็นรุ่นที่ ๘  พ.ศ.๒๔๕๘  เพื่อนร่วมรุ่นมี ๖ ท่าน คือ
๑. สมเด็จพระศรีนครินทราฯ
๒. เล็ก  หริณสุต
๓. เชื้อ  โรหิตโยธิน (นางอิทธิวัฒนะ)
๔. เนื่อง  จินตดุลย์  (คุณท้าวอินทรสุริยา)
๕. จันทร์ตรี (นางสุขกิจบำรุง)
๖. สมบุญ  ธะเทียนทอง

ไม่ค่อยได้รู้จักชื่อเลยครับ  แต่คงจะมีทายาทให้พอทราบนามได้บ้าง


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 26 ก.ค. 06, 12:15
 ขอเข้าเรื่องเดียวกันกับท่านกุรุกุลาเสียที  เดี๋ยวท่านกลับมาอ่านแล้วจะนั่งน้ำตาไหล  ไหลเพราะความซาบซึ้งมากกว่า  คงเป็นเช่นเดียวกับพวกเราในนี้มังครับ  ที่มีเพื่อนเข้ามาร่วมพูดคุย

จะขอรวบรวมเนื้อความจากหนังสือบางเล่มที่เกี่ยวข้องกับสถานที่นี้  เฉพาะตอนที่จะเริ่มเป็นแหล่งชุมชนสำหรับชาวโปรตุเกสแห่งนี้ ณ กุฎีจีน

เฮลเดอร์ เดอ เมนดอนซา เอ กุนญา (Helder de Mendonca e Cunha) (ชื่อเป็นอักษรโรมันเพี้ยนนิดหน่อยครับ เพราะตัวอักษรบางอย่างไม่มีในแป้นพิมพ์)  เขียนไว้ว่า ....


“.....เมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าทำลายลงในปี ค.ศ.๑๗๖๗  ชุมชนโปรตุเกสที่อยุธยาก็พลอยสูญสิ้นไปด้วย   พระเจ้าแผ่นดินในอนาคต (พระยาตากสิน) ผู้ทรงสามารถกอบกู้เอกราชของราชอาณาจักรสยามได้ในปีถัดมา   ได้พระราชทานที่ดินบริเวณเมืองหลวงใหม่ที่ธนบุรีให้แก่ชาวโปรตุเกสซึ่งช่วยพระองค์ต่อสู้กับพม่า   ที่ดินใหม่นี้อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา   ชุมชนแห่งใหม่นี้มีชื่อว่า  “ดินแดนแห่งไม้กางเขนอันศักดิ์สิทธิ์ (the Settlement of the Holy Cross)  ในบรรดาผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนดังกล่าว  ยังมีบางครอบครัวที่ใช้ชื่อโปรตุเกสอยู่  เช่น จีซัส (Jesus)  สองคนในจำนวนนั้นทำขนมหวานชิ้นเล็กๆ ขาย   ซึ่งกล่าวกันว่ามาจากตำรับดั้งเดิมของโปรตุเกส....”

ซึ่งท่านได้เพิ่มเติมตรงเชิงอรรถไว้ด้วยว่า  ขนม “fios do ovos” (ฝอยทอง)  ของเราเป็นขนมหวานขึ้นชื่อของไทยอย่างหนึ่ง


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 26 ก.ค. 06, 12:17
 หนังสือของกรมศิลปากรเล่มหนึ่ง  ชื่อ “นานาสาระประวัติศาสตร์จากเอกสารต่างประเทศ”  

เขียนไว้ว่า  “อาณาบริเวณที่เรียกว่ากุฎีจีนนั้น  ตั้งอยู่ตรงบริเวณที่เรียกกันว่าแขวงวัดกัลยาณ์  ซึ่งเป็นอาณาเขตที่ตั้งของวัดซางตาครู้ส   เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก   ฝั่งธนบุรี   สาเหตุที่เรียกว่ากุฎีจีนนั้นสืบเนื่องมาจากเมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยามาตั้งอยู่ที่กรุงธนบุรีนั้น   พระองค์ได้ทรงรวบรวมผู้คนที่อพยพหลบหนีพวกพม่าไปเมื่อคราวเสียกรุงให้กลับเข้ามาตั้งถิ่นฐานกันอยู่ภายในราชธานีแห่งใหม่   โดยในส่วนของชาวจีนจากพระนครศรีอยุธยานั้น  ทรงโปรดฯ ให้อพยพมาตั้งบ้านเรือนกันอยู่แถบวัดกัลยาณมิตร   ด้วยเหตุนี้ชุมชนแถบนี้จึงมีชาวจีนพำนักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก   นอกจากนี้ทางด้านทิศตะวันออกของวัดกัลยาณมิตรยังพบมีศาลเจ้าของจีนตั้งอยู่   และมีพระภิกษุจีนพำนักอยู่ในหมู่กุฏีซึ่งมีชื่อว่า เกียงอันเก๋ง   คำว่า “กุฎี” ในนี้น่าจะหมายถึงที่พำนักของพระสงฆ์   ชื่อกุฎีจีนจึงน่าจะมีที่มาจากการที่ผู้คนเรียกศาลเจ้าตรงบริเวณวัดกัลยาณมิตรว่ากุฎีจีนนี่เอง.....”


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 26 ก.ค. 06, 12:21
 ครับ รอสักพักนะครับ เดี๋ยวผมจะโยงกลับไปที่โปรตุเกสต่อ ท่าทางคุณนิกจะมีความหลังฝังใจกับฟุตบอลโลกคราวนี้เหลือเกิน

  น่าเสียดายว่าไม่ค่อยปรากฏความสัมพันธ์อย่างชัดเจนระหว่างวัดกัลยาณมิตรกับโบสถ์ซางตาครูส เหมือนวัดราชาธิวาสกับโบสถ์คอนเซ็ปชัญ หรือโบสถ์เซนต์ฟรานซิส ซาเวียร์ สามเสนกับวัดส้มเกลี้ยง มิฉะนั้นคงเขียนนิยายเรื่องสองฝั่งคลองได้อีกยาวเหยียดทีเดียว

คนไทยสมัยนั้นก็อยู่กันได้รักใคร่สามัคคี ไม่มีแบ่งแยกเชื้อชาติศาสนา ผู้คนสมัยนี้น่าจะมองย้อนอดีตกลับไปบ้างนะครับ ว่าความแตกต่างทาวศาสนาไม่ควรเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 26 ก.ค. 06, 13:16
 ผมมีความหลังทุกที่ที่เกี่ยวข้องครับ
ต่อเลยนะ
เล่มเดียวกัน
“.....ในอดีตบริเวณที่เป็นชุมชนกุฎีจีนแห่งนี้นอกเหนือจากจะมีชาวจีนพำนักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากแล้ว  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียังได้โปรดฯ ให้ชาวโปรตุเกสจากอยุธยาอพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาถัดจากศาลเจ้ากุฎีจีนลงไป  เป็นเหตุให้ผู้คนนิยมเรียกชาวโปรตุเกสเหล่านี้ว่า  “ฝรั่งกุฎีจีน”  ตามไปด้วย  ในอดีตชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสที่ชุมชนแห่งนี้เคยได้รับการยกย่องว่ามีความสามารถในทางเป็นล่าม  เพราะเมื่อครั้งที่อังกฤษส่งทูตเข้ามาทำสัญญากับไทยก็ต้องอาศัยล่ามโปรตุเกสเข้ามาช่วยในการเจรจา   ดังปรากฎในหนังสือประชุมพงศาวดาร  พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า  “...ทั้ง ๒ ฝ่ายพูดไม่เข้าใจภาษากัน  ในเวลานั้นไม่มีไทยที่พูดภาษาอังกฤษได้  อังกฤษก็ไม่มีที่พูดภาษาไทยได้   ทั้งหนังสือและคำพูดต้องใช้แปลเป็นภาษาโปรตุเกสบ้าง   ภาษามลายูบ้าง   แล้วจึงแปลเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษอีกชั้น ๑.... ฝ่ายล่ามของไทยเล่า  ล่ามที่สำหรับแปลภาษาโปรตุเกสก็ใช้พวกกะฎีจีน”   ส่วนชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสที่วัดคอนเซ็ปชัญ  สามเสนนั้นว่ากันว่า   สืบเชื้อสายมาจากพวกจางวางทหารฝรั่งแม่นปืน   ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้เปรียบเปรยชาวโปรตุเกสในชุมชนทั้ง ๒ แห่งนี้ว่า   “ผู้สืบเชื้อสายโปรตุเกสบ้านกุฎีจีนนั้น   เป็นฝ่ายบุ๋น (คือถนัดทางการรบ)  ฝ่ายผู้สืบเชื้อสายโปรตุเกสบ้านวัดคอนเซ็ปชัญ  เป็นฝ่ายบู๊  (คือถนัดทางการรบ)....”

ใครเป็นล่าม  มีนามว่าอะไร  สำคัญประการใด  คุณกุรุกุลาคงจะทราบอยู่เป็นแน่แท้


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 26 ก.ค. 06, 13:33
 ต่อครับ  เล่มเดียวกัน

"......ภายหลังจากที่ชาวโปรตุเกสได้พากันมาตั้งหลักปักฐานอยู่ในย่านกุฎีจีนแห่งนี้แล้ว   ต่อมาจึงได้มีการสร้างวัดในคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกตามมาเพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของชุมชน  โดยในปี  พ.ศ.๒๓๑๒  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้พระราชทานที่ดินให้บาทหลวงกอร์  ชาวฝรั่งเศสสร้างวัดคริสต์ขึ้นแห่งนี้ในย่านกุฎีจีน  และตั้งชื่อวัดแห่งนี้ว่า “วัดซางตาครู้ส”  หรือวัดมหากางเขน  เพื่อเป็นที่ระลึกถึงวันี่ได้รับพระราชทานที่ดินซึ่งตรงกับวันเทิดทูนมหากางเขนของชาวคริสต์  วัดซางตาครู้สนับได้ว่าเป็นวัดคาทอลิกที่เก่าแก่มากแห่งหนึ่งในย่านธนบุรี   เพราะสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อครั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี  มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าวัดกุฎีจีน   สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นอาจจะเนื่องมาจากทำเลที่ตั้งของวัดอยู่ในย่านที่มีชาวจีนอาศัยอยู่ก่อน   และชาวโปรตุเกสที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ก็มักจะถูกเรียกว่า  ฝรั่งกุฎีจีน   เป็นเหตุให้ผู้คนพากันเรียกโบสถ์ของฝรั่งเหล่านี้ว่า  “วัดกุฎีจีน”  ตามไปด้วย   ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งก็คือ  ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของโบสถ์หลังเก่าเมื่อแรกสร้างนั้นมีรูปทรงคล้ายแบบจีน   คือ โครงตอนปลายอ่อนช้อยคล้ายลวงลายปูนปั้นบนหลังคาศาลเจ้าจีน   จึงอาจเป็นไปได้ว่าเป็นสาเหตุให้ผู้คนเรียกขาน  โบสถ์ซางตาครู้สว่า  “วัดกุฎีจีน”....."

......................

จากบทความของกรมศิลปากรฉบับนี้  กลายเป็นว่า  บาทหลวงกอร์ เป็นชาวฝรั่งเศส   ไม่ใช่ บาทหลวงคอร์ (Corre) ที่เราเข้าใจว่าเป็นชาวโปรตุเกส  ตาม คหพต.๓ ซะแล้ว


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 26 ก.ค. 06, 13:40
 ในเล่มเดียวกัน  แต่ต่างบทความ  บอกว่า  มีชาวโปรตุเกสส่วนหนึ่งที่หมู่บ้านคอนเซ็ปชัญ สามเสน  ได้แยกตัวออกไปตั้งภูมิลำเนาใหม่อยู่ทางฝั่งธนบุรี  ซึ่งก็คือบริเวณที่เป็นหมู่บ้านกุฎีจีนในปัจจุบัน

ตอนที่แยกตัวนั้นเป็นช่วงเดียวกับที่มีชาวเขมรเข้ารีตได้มาอาศัยอยู่ร่วมด้วยในบริเวณนี้สมัยรัชกาลที่ ๑


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 26 ก.ค. 06, 13:58
 ได้ไปค้นอ่านหนังสือของ “กาญจนาคพันธุ์”  เรื่อง เด็กคลองบางหลวง เล่ม ๑  ได้พูดถึงกุฎีจีนสั้นๆ ว่า

"..... ที่กุฎีจีนนี้เมื่อข้าพเจ้าโตเป็นผู้ใหญ่  เคยลงเรือที่ท่าปากคลองตลาดข้ามไปขึ้นที่ท่ากุฎีจีนหลายครั้ง  เป็นสถานที่เงียบๆ มีบ้านเรือนไม่หนาแน่นนัก   เดินผ่านโบสถ์ซังตาครุสไปออกถนนที่เป็นเขตของกุฎีจีน   เห็นสาวๆ แต่งตัวอย่างไทยห้อยไม้กางเขนเล็กๆ  (คงเป็นทองคำ) บ้าง   เวลานี้ฝรั่งที่เป็นโปรตุเกสแท้ดั้งเดิมจะต้องไม่มีแล้ว   เพราะนับเพียงสมัยธนบุรีจนบัดนี้ก็กว่า ๒๐๐ ปีแล้ว   จะมีแต่เชื้อสายโปรตุเกส หรือไทยที่เข้ารีตในตอนหลังๆ  ซึ่งยังคงอยู่ในกุฎีจีน  และนับว่าเป็นไทยและแต่งตัวเป็นไทยแล้วทั้งนั้น...."


นี่เป็นหนังสือที่ท่านเขียนเมื่อราวปี ๒๕๑๙ ครับ  ตอนนั้นอายุเกือบ ๘๐ ปี  และเมื่อตอนหนุ่มๆ ของท่านไม่รู้ว่าเป็นสมัยไหน  หากอยากจะตามรอยท่านไปค้นหาฝรั่งโปรตุเกสแท้ดั้งเดิมที่นั่นแล้ว  จะมีเหลือไหมหนอ

ถ้าเจอ  จะเรียกว่าเป็นเพราะบุญช่วย  หรือว่าผีหลอกก็ไม่รู้

อ้อ  ลืมบอกคุณกุรุกุลาไป  เราคนไทยด้วยกัน  รักกันอยู่แล้ว  แต่ที่มีปัญหา  เป็นเพราะคนเพียงส่วนน้อยครับ  ซึ่งส่วนน้อยก็ทำให้เราปวดหัวได้มากเหมือนกัน  และเราก็เห็นตัวอย่างของความปั่นป่วนในบางกระทู้ในนี้แล้วด้วย


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 26 ก.ค. 06, 14:15
 ลืมอีกเรื่องหนึ่ง  ไม่ต้องแต่ง "สองฝั่งคลอง" แข่งกับคุณ ว.วินิจฉัยกุล หรอกครับ

ของเดิมดีอยู่แล้ว  เอาชื่อใหม่ก็แล้วกัน  ถ้ายังอยากคงความหมายเดิมๆ เก๊าะเป็น  "สองฝั่งใจ"  หรือ  "สัญญารักจากสองฟากใจ"   อิอิ  รับรอง  คนตรึม  วิ่งหนีกันตรึม


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 26 ก.ค. 06, 21:07
 ลืมบอกไปครับ ว่าบาทหลวงกอร์เป็นชาวฝรั่งเศส แต่ตั้งชื่อวัดเป็นภาษาโปรตุเกสคงเพื่อให้เกียรติกับชนชาติเดิมที่อยู่มาก่อน


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 26 ก.ค. 06, 21:47
 วันที่ 1 พฤศจิกายน 2322 สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีบัญชาให้ขับไล่มิชชันนารีออกจากราชอาณาจักร เพราะพวกมิชชันนารีขัดขวางไม่ให้ชาวคริสต์เข้าร่วมพิธีทางศาสนาของคนไทย


ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จปราบดาภิเษกแล้ว จึงได้เชิญบรรดามิชชันนารีที่ถูกขับไล่ออกนอกราชอาณาจักรกลับคืนมา และยังได้ส่งทูตไปยังเมืองมาเก๊า เพื่อขอให้บาทหลวงชาวโปรตุเกสมาปกครองชาวคริสต์ที่กรุงเทพ


ทั้งนี้เพราะพระองค์มีนโยบายที่จะฟื้นฟูการค้ากับตะวันตกขึ้นใหม่ ทรงแสดงพระเมตตาต่อชาวคริสต์ด้วยการยกเว้นให้ทหารชาวคริสต์ไม่ต้องถือน้ำพิพัฒน์สัตยา


ในปี พ.ศ. 2328 กองทัพสยามกลับมาจากกัมพูชาและเวียดนามหลังจากที่ได้ไปช่วยรบกับพวกไต้ซ้อง พระองค์โปรดให้ชาวเขมรที่นับถือคริสต์ไปอยู่ในชุมชนโบสถ์คอนเซ็ปชัญ นับตั้งแต่นั้นจึงเรียก โบสถ์คอนเซ็ปชัญว่า “บ้านเขมร”


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 26 ก.ค. 06, 21:51
 มีชาวโปรตุเกสจำนวนหนึ่งที่ไม่ยอมรับการปกครองของบาทหลวงชาวฝรั่งเศส จึงแยกตัวออกไปตั้งหมู่บ้านใหม่เรียกว่า “ค่ายแม่พระลูกประคำ” ซึ่งรัชกาลที่ 1 ได้พระราชทานที่ดินให้สร้างโบสถ์ขึ้น ชื่อ “กาลหว่าร์” นับเป็นผืนแผ่นดินผืนที่ 3 ที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงมีพระเมตตาพระราชทานให้ชาวโปรตุเกส


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 27 ก.ค. 06, 11:06
 จะเพิ่มเติมอีกบ้าง  คงไม่ว่ากระไรนะครับ  ท่านกุรุกุลาน้อย

ขอย้อนกลับไปถึงปี ๒๔๑๒  ตาม คหพต.๓ ซ้ำอีกครั้ง  เพื่อความกระจ่างของการตั้งคณะบาทหลวงแห่งนี้  จึงได้ไปคัดลอกประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๙  มาร่วมด้วยอีกครั้ง  "เรื่องจดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศ  กับครั้งกรุงธนบุรีแลกรุงรัตนโกสินทรตอนต้น"

.................

วันที่  ๘  เดือนมิถุนายน  ค.ศ. ๑๗๖๙ (พ.ศ. ๒๓๑๒)

ทางที่จะไปเมืองไทยจากเมืองคันเคาเปนอันไปไม่ได้แล้ว  เพราะเหตุว่าเจ้าเมืองคันเคาได้เกิดอริกับผู้ที่คิดจะเอาราชสมบัติไทย ข้าพเจ้าจึงได้ลองเดิรทางเมืองป่าสัก เพราะที่นั่นมีเรือจีนอยู่ลำ ๑ จวนจะแล่นใบไปยังเมืองไทยอยู่แล้ว  เมื่อวันที่ ๑๖ เดือนมกราคม  ข้าพเจ้าได้ลามองเซนเยอร์เดอคานาธ  และข้าพเจ้าได้ลงเรือเมื่อวันที่ ๒๒ เดือนมกราคม และเมื่อวันที่ ๔ เดือนมีนาคมก็ได้ไปถึงบางกอก  และได้ไปพักที่บ้านคนเข้ารีดชาติปอตุเกตคน ๑ รุ่งขึ้นกำลังข้าพเจ้าจะลงมือสวดมนต์ ก็ได้รับพระราชโองการให้ข้าพเจ้าไปเฝ้าและได้มีเรือมามารับข้าพเจ้าด้วยลำ ๑ ข้าพเจ้าจึงจำเปนต้องเลิกการสวดมนต์และรีบไปเฝ้าตามรับสั่ง  พระเจ้ากรุงสยามได้พระราชทานเงินให้ก่ข้าพเจ้า ๒๐ เหรียญ    เรือลำ ๑   กับที่สำคัญปลูกวัดแห่ง  ๑  เงิน ๒๐ เหรียญนั้นข้าพเจ้าได้รับไว้แล้ว  แต่ของอื่น ๆ ยังมาไม่ถึง และของเหล่านั้นก็คงจะไม่ได้จนกว่าจะได้ให้เงินหรือของแก่เจ้าพนักงาร พวกไทยเห็นจะไม่ทิ้งนิสัยเปนแน่  อย่างไรๆ ก็คงจะหาข้อแก้ตัวที่จะขัดพระราชโองการให้จงได้  เพื่อจะถ่วงเวลาให้ได้รับของกำนันเสียก่อนเท่านั้น  

ข้าพเจ้าได้เห็นพวกเข้ารีดในค่ายของเราและค่ายปอตุเกตุซึ่งอยู่ใกล้กับป้อมที่บางกอกเหลืออยู่ ๑๔ คนเท่านั้น  นอกนั้นเที่ยวกระจายอยู่ทั่วไปหมด พวกนี้ก็ได้มาหาข้าพเจ้าโดยมาก ข้าพเจ้าได้นับพวกเข้ารีดมาหาข้าพเจ้าถึง ๑๐๘ คน  เมื่อพวกเข้ารีดที่หนีไปเมืองเขมรได้กลับมาเมื่อไรก็คงจะรวบรวมพวกเข้ารีดได้ไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ หรือ ๔๐๐ คน

ค่าอาหารการรับประทานในเมืองนี้แพงอย่างที่สุด เวลานี้  เข้าสารขายกันทนานละ ๒ เหรียญครึ่ง คนที่หาการเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างนั้นถึงจะหมั่นสักเพียงไร  ก็จะหาเพียงซื้ออาหารรับประทานแต่คนเดียวก็ไม่พอ  เมื่อเปนเช่นนี้บุตรภรรยาจะเปนอย่างไรบ้าง  พวกที่อ้างตัวว่าเปนปอตุเกตุนั้นดูเหมือนจะเดือดร้อนมากกว่าคนอื่นมาก เพราะพวกนี้ไม่ละความเกียจคร้าน  หรือลดหย่อนความหยิ่งของตัวเลยร้องแต่ว่าทุนไม่มีจึงไม่ได้ทำอะไร  นอกจากนอนขึงอยู่บนเสื่อตั้งแต่เช้าจนเย็น  ส่วนพวกเข้ารีดของเรานั้นพอเอาตัวรอดได้  เขาไม่ได้รบกวนใครแต่ทำมาหาเลี้ยงชีพของตัวไป ........


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 27 ก.ค. 06, 11:23
 ในภาคเดียวกัน  นำความภาคภูมิใจมาสู่คณะบาทหลวงเป็นอันมาก  ติดตามกันดูครับ

............................

..... เมื่อวันที่ ๒๕ เดือนพฤษภาคมปีนี้ (๒๓๑๓)  พระเจ้ากรุง   สยามได้เสด็จมาเยี่ยมข้าพเจ้าด้วยพระองค์เอง  ซึ่งเปนการไม่เคยมีตัวอย่างมาเลย  พวกขุนนางผู้ใหญ่ก็ไม่กล้าจะมาสนทนากับสังฆราชที่บ้านบาดหลวง  พระเจ้ากรุงสยามได้เสด็จมาในครั้งนี้  ได้ทอดพระเนตร์เห็นว่าที่ของเราคับแคบมาก  จึงมีรับสั่งให้รื้อศาลาซึ่งอยู่ในที่ของเราลงหลัง ๑  และรับสั่งให้ขุดคูเอาดินขึ้นถมที่  และให้ก่อผนังโบสถ์ซึ่งเปิดอยู่ทุกด้าน  แล้วได้รับสั่งสรรเสริญชมเชยพวกเข้ารีดเปนอันมาก  คือรับสั่งว่า  พวกเข้ารีดลักขะโมยปล้นสดมภ์ไม่เปน  และเปนคนที่ซื่อสัตย์และกล้าหาญดี  ทั้งสาสนาคริศเตียนก็เปนสาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลกนี้  แล้วพระเจ้ากรุงสยามจึงได้รับสั่งถามข้าพเจ้าว่าเหตุใดเราจึงยอมให้ฆ่าสัตว์  ข้าพเจ้าจึงได้กราบทูลตอบว่า  พระเยซูเจ้าผู้เปนนายของสิ่งทั้งปวง  ได้สร้างสัตว์ไว้สำหรับให้เปนประโยชน์แก่มนุษย์  อันนี้เปนสิ่งที่เชื่อกันทุกประเทศ  เพราะฉนั้นจะผิดไม่ได้  เมื่อข้าพเจ้าได้กราบทูลมาถึงเพียงนี้ได้สังเกตว่ายังไม่ทรงเบื่อที่จะฟังต่อไป  ข้าพเจ้าจึงกราบทูลต่อไปอีกว่า  ถ้าไม่ยอมให้ฆ่าสัตว์แล้วไม่ช้าโลกเรานี้ก็จะไม่มีมนุษย์อยู่  เพราะเหตุว่าสัตว์กวางก็คงจะมารับประทานหญ้าและพันธุ์เข้าเสียหมด  ทำให้มนุษย์อดอาหารตาย  ปลาก็จะตายตาม  ลำน้ำลำคลอง  ทำให้น้ำและอากาศเหม็นโสโครก  เกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นดังนี้  ในระหว่างที่ข้าพเจ้าได้กราบทูลอยู่นั้น  ทรงพลิกหนังสือทอดพระเนตร์อยู่  แล้วจึงรับสั่งว่า  "สาสนาคริศเตียนจะไม่ดีอย่างไรได้  อะไรของเขาดีไปหมด   จนกระดาษที่เขาใช้ก็ดี" .....


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 27 ก.ค. 06, 12:30
 พระราชพงศาวดารฯ รัชกาลที่ ๑ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)

...... ลุจุลศักราช ๑๑๔๔  ปีชาล จัตวาศก (ตรงกับ พ.ศ.๒๔๒๕- NickyNick) ....... พระยายมราช (แบน) พระยากลาโหม (ปก)  เห็นจะสู้มิได้  ไม่ทันจะตระเตรียมตัว  ก็พาพระท้าวสองนางซึ่งเป็นกนิษฐภคินีของสมเด็จพระนารายณ์ราชาลงเรือ  กวาดต้อนครอบครัวเขมรเข้ารีดมาด้วยประมาณ ๕๐๐ คน  หนีเข้ามาขึ้นที่เมืองพระตะบองเข้ามา ณ กรุงเทพมหานคร  ในปีขาลจัตวาศกนั้น   ชนมายุนักพระองค์เองได้ ๑๐ ปี  แต่นักองเมนป่วยถึงแก่พิราลัยเสีย  ยังอยู่แต่พระเรียมสององค์ คือ .......

....................

สืบได้ว่าปีที่เขมรเข้ารีตมาอยู่ ณ กรุงเทพฯ น่าจะตรงกับปี พ.ศ.๒๓๒๕ ครับ
พระยายมราช (แบน)  ภายหลังในปีถัดไป  ก็ได้รับโปรดเกล้าเป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศร  ไปรั้งเมืองเขมร  ท่านอยู่ในสกุล "อภัยวงศ์" ครับ
แล้วเดี๋ยวว่างๆ จะค้นเกี่ยวกับชื่อสถานที่ตรงนั้นที่มีหลายชื่อต่างๆ กันไป คือ วัดคอนเซ็ปชัญ  บ้านเขมร  หรือบ้านญวน  รอสักหน่อยนะครับ


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 27 ก.ค. 06, 12:48
 ขอโทษด้วย  บวกลบผิด  มึนไปเอง  ไม่ค่อยสบายอยู่ด้วยครับ  เปื่อยอยู่
จ.ศ.๑๑๔๔  ตรงกับปี พ.ศ.๒๓๒๕ ครับ

...............

ขอออกตัวไว้ก่อนครับ  ผมไม่มีความรู้เรื่องชื่อสถานที่ต่างๆ ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้เลยแม้แต่น้อย  เพียงแต่ว่าขยันพิมพ์มาเผยแพร่กันแค่นั้นเอง

ต่อกันเลยนะครับ  ตรงบริเวณวัดคอนเซปชัญ  คัดจากหนังสือของกรมศิลปากร ชื่อ "นานาสาระประวัติศาสตร์จากเอกสารต่างประเทศ"

....................

......... และเมื่อคราวที่ไทยเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าก็ได้มีชาวโปรตุเกสจากอยุธยาส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ภายในหมู่บ้านโปรตุเกส สามเสนแห่งนี้ด้วย

ส่วนชาวเขมรนั้นในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์  รัชกาลที่ ๑ ได้บันทึกไว้ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พวกเขมรเข้ารีต ๕๐๐ คน  ที่พระยายมราชพามาจากเมืองเขมรไปตั้งบ้านเรือนอยู่เหนือวัดสมอราย  หรือวัดราชาธิวาส  ซึ่งก็คืออาณาบริเวณที่เป็นวัดคอนเซ็ปชัญในปัจจุบันนั่นเอง  สาเหตุที่โปรดเกล้าฯ เช่นนั้นก็เพราะทรงเห็นว่าภายในหมู่บ้านแห่งนี้มีชาวโปรตุเกสที่นับถือศาสนาคาทอลิกอาศัยอยู่ร่วมกันได้โดยง่าย   นอกจากนี้ภายในหมู่บ้านก็ยังมีศาสนสถานที่จะให้พวกเขมรเข้ารีตเหล่านี้สามารถประกอบศาสนกิจได้โดยสะดวก   และต่อมาก็ได้มีชาวเขมรอพยพเข้ามาอาศัยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ   พระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ขยายอาณาเขตของหมู่บ้านออกไปอีก   จนเป็นเหตุให้ผู้คนทั่วไปนิยมเรียกนามหมู่บ้านแห่งนี้ว่า  "บ้านเขมร"

สำหรับชาวญวนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้นั้น   เป็นชาวญวนเข้ารีตที่มาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  โดยได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ถัดบ้านเขมรไปทางเหนือ   และส่งผลให้มีผู้นิยมเรียกชุมชนแห่งนี้ว่า   "บ้านญวน"   ด้วยอีกชื่อหนึ่ง ...............


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 27 ก.ค. 06, 13:59
 ตอนนี้ขอเร่งหน่อยครับ  กลัวท่านกุรุกุลาจะหนีไปเสียก่อน  ข้อความต่อไปนี้ก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน  หากรวบรวมไว้ที่เดียวกันตรงนี้จะมีประโยชน์   แล้วก็ยังมีอีกหลายเรื่องครับ  แต่ยังไม่รู้ใจ จขกท. จึงขอเก็บไว้ก่อน  เดี๋ยวจะเป็นการอ๊อฟไซด์   จะถูกกรรมการให้ใบเหลือง  คงไม่ถึงกับใบแดงหรอกนะครับ

................................

เฮลเดอร์ เดอ เมนดอนซา เอ กุนญา (Helder de Mendonca e Cunha) (ชื่อเป็นอักษรโรมันเพี้ยนนิดหน่อยครับ เพราะตัวอักษรบางอย่างไม่มีในแป้นพิมพ์) เขียนต่อจาก คหพต.๑๗ ไว้ว่า ....

.......... ในช่วงเวลาที่ย้ายเมืองหลวงจากฝั่งธนบุรีมาทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงยกที่ดินซึ่งมีความสำคัญและมีค่ายิ่งอีกแห่งหนึ่งให้แก่พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสในปี ค.ศ.๑๗๘๖ (พ.ศ.๒๓๒๙ – NickyNick)  ที่ดินนี้อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้กับสถานทูตโปรตุเกสในปัจจุบัน  ถิ่นฐานของโปรตุเกสแห่งใหม่นี้มีชื่อว่า  "โรซารี" (The Rosary)  ซึ่งได้มอบให้แก่โปรตุเกส  "เนื่องจากชาวโปรตุเกสได้ให้ความช่วยเหลือในการสู้รบกับกษัตริย์พม่า"

เฟร ฟรานซิสโก ดาส ชากัส (Frei Francisco das Chagas)  ซึ่งถูกส่งตัวมาจากเมืองกัวเพื่อให้มาดูแลชาวโปรตุเกสได้สร้างโบสถ์ขึ้นที่นั่น  สมาชิกในชุมชนแห่งใหม่ได้สร้างบ้านเรือนและประกอบการค้า  พวกเขายังต่อเรืออีกด้วย  เรือหลายลำในจำนวนนั้น เช่น  เรือ "คอนคอร์เดีย" (Concordia)  ได้รับการขึ้นทะเบียนไว้ที่สถานกงสุลโปรตุเกสในกรุงเทพฯ ......


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 27 ก.ค. 06, 14:30
 เอาแค่กระทู้เดียวนี่แหละ  ให้ครบร้อย  งก  จะได้พาหนะคู่กายเป็น Spiderman หยั่งกับท่านกุรุกุลาน้อยซะที
ต่อกันเลยนะเพื่อน  จากหนังสือเล่มเดียวกันกับข้างบน

................

........ ในหนังสือการพระราชทานที่ดินของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  มีข้อความระบุไว้ว่า  "พระเจ้าแผ่นดิน (สยาม)  ทรงรู้สึกสำนึกในบุญคุณของสมเด็จพระราชินี ดี มาเรีย ที่ ๑   ที่ทรงมีน้ำพระทัยเมตตากรุณาอันเป็นเครื่องหมายของไมตรีจิตที่มิอาจลืมเลือนได้ชั่วนิรันดร์ ..... ในอนาคตพระเจ้าแผ่นดินสยามจะไม่ทรงก่อให้เกิดความไม่สะดวกขึ้นในการส่งกองทหารและกระสุน   แต่ทรงขอร้องให้โปรตุเกสมีคำสั่งไปยังรัฐบาลที่เมืองกัวให้ส่งปืนคาบศิลาจำนวน ๓,๐๐๐ กระบอกในระหว่างปี ค.ศ.๑๗๘๗  หากข้าแผ่นดินของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปรารถนาจะจัดตั้งโรงสินค้า   พระเจ้าแผ่นดินสยามก็ทรงเต็มพระราชหฤทัยที่จะพระราชทานที่ดินให้เพื่อการนี้   ซึ่งอาจจะมีการสร้างโบสถ์บนที่ดินนั้น...."

เรื่องที่พระเจ้าแผ่นทรงยินดีจะพระราชทานที่ดินเพื่อจุดประสงค์ในการสร้างโรงสินค้าซึ่งเป็นที่ทราบในขณะนี้ว่าเป็นการตั้งถิ่นฐานในด้านการค้าขึ้นที่กรุงเทพฯ นั้นได้มีการปฏิบัติให้เป็นผลในเวลาต่อมา ...........


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 27 ก.ค. 06, 14:35
 อ้อ  ข้อความตาม คหพต.๓๒ กับ ๓๓  เขาบอกว่าอ้างอิงมาจาก
"the Letter of Concession"  ส่งถึงผู้รับที่เมืองกัวในวันที่  ๒๘ ธันวาคม  ค.ศ.๑๗๘๖ ครับ


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 27 ก.ค. 06, 20:45

ลองเปลี่ยนมาชมบรรยากาศในโบสถ์บ้างครับ รูปอาจมัวไปบ้าง ขออภัยครับ แล้ววันหลังจะถ่ายภาพโบสถ์หลังก่อนหน้านี้มาให้ชม หลังปัจจุบันนี้สร้างเสร็จสมัยรัชกาลที่ 6 ครับ  


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 27 ก.ค. 06, 20:50

กระจกสีนี้เป็นของใหม่ เนื่องจากสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ตัวโบสถ์ได้รับแรงสั่นสะเทือนจากการทิ้งระเบิด ภาพนี้ตั้งใจจะถ่ายให้ติดช่อฟ้าวัดกัลยาณมิตร แต่ไม่ชัด  


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 27 ก.ค. 06, 21:01

กระจกสีเล่าเรื่อง การปรากฎของพระนางมาเรีย พระมารดาของพระเยซู ต่อยวง ดิอาโก ชาวเอซแทก ที่กวาเดอลูป เม็กซิโก เมื่อปี ค.ศ. 1531  


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 29 ก.ค. 06, 14:56
 เมื่อผมเข้าไปชมโบสถ์คาทอลิกของแต่ละที่  โดยเฉพาะในต่างประเทศที่มีผู้นับถือกันมาก  ที่นั่นจะสร้างโบสถ์กันที่เรียกว่ายิ่งใหญ่  สวยงาม  บางแห่งเป็นสถาปัตยกรรมที่มีอายุมานานมาก แล้วก็ยิ่งมีความสำคัญเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

แต่ละแห่งจะมีความประณีตบรรจงทั้งรูปภายนอก  และสิ่งประดับภายใน  บรรยากาศก็มีความขรึม  จึงเกิดความขลังตามมาในความรู้สึกของเรา

กระจกสีที่ประดับบนขอบหน้าต่างหรือที่อื่นๆ  เป็นสิ่งที่ผมชอบมองดูมาก  เป็นศิลปะที่มีความงามยิ่ง  บางแห่งมีหลายภาพต่อเนื่องกันบนกระจก  สามารถเล่าเรื่องให้เรารู้ได้แม้ไม่มีตัวหนังสือ

นี่เป็นความรู้สึกของเราแค่เฉียดๆ เท่านั้นครับ  ยังไม่ได้ลงลึกถึงรายละเอียดและการศึกษาเรื่องราวข้างใน


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 29 ก.ค. 06, 17:07
 อ่า... แล้วกางเขนศักดิ์สิทธิ์อยู่ตรงไหนเหรอครับ
ผมหาไม่เจออ่ะครับ คุณกุรุกุลา



ปล. อ่านไปอ่านมานึกว่ากระทู้คุณNickyNick ซะอีก แหะๆ คุณกุรุกุลาหลบฉากไปซะแล้วเหรอครับเนี่ยะ อิอิ


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 31 ก.ค. 06, 20:35
 ตอนนี้ยังไม่ค่อยว่างครับ ขอโทษด้วย แล้วก็อย่างที่คุณติบอว่า ผมยังไม่ได้เริ่มพูดถึงกางเขนศักดิ์สิทธิ์เลย รอให้สอบเสร็จก่อนละกันครับแล้วจะมาขยายถ้อย


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 02 ส.ค. 06, 11:10
 ระหว่างว่างๆ รอดูใจคุณกุรุกุลาน้อย  ก็ขอเพิ่มเติมอีกสักเล็กน้อยจาก คหพต.๒ ท่านคงจะคัดลอกมาผิด หรือตำราเก่าเขียนเพี้ยนไปก็ไม่รู้  ตรงคำอ้อยไทย  น่าจะเป็น "บางคูวัด" มากกว่า  เพราะตรงกับชื่อสถานที่ที่มีอยู่จริง   ผมนำมาจากหนังสือเล่มเดิมของกาญจนาคพันธุ์ เรื่อง "เด็กคลองบางหลวง เล่ม ๒" ครับ

"ว่าโดยเฉพาะที่กุฎีจีน  ชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องทำขนมที่เรียกว่า "ขนมฝรั่ง"  หรือ "ขนมฝรั่งกุฎีจีน"  ดังที่เขาร้องขายกันในสมัยข้าพเจ้าเป็นเด็กว่า

อ้อยจีนบางใหญ่  อ้อยไทยบางคูวัด  ข้าวหลามตัดวัดระฆัง  ขนมฝรั่งกะดีจีน

ขนมฝรั่งนี้ต้องเป็นพวกฝรั่งโปรตุเกสทำขึ้นก่อนที่กุฎีจีน  แปลกไปจากขนมต่างๆ ของไทย  ข้าพเจ้าเคยซื้อกินเมื่อเป็นเด็กบ่อยๆ  รูปร่างโตขนาดจานรองถ้วยน้ำชากาแฟ   กลมๆ แบนๆ หนาราวองคุลี   ข้างบนนูนโค้งขึ้นนิดหน่อย  สีเป็นสีน้ำตาลอ่อน  เนื้อพูดให้เข้าใจง่ายก็คล้ายขนมเค้กนี้แหละ  แต่ไม่มีอะไรปรุงแต่งเลย  รสหวานน้อยๆ ถ้าจะว่าไปก็เป็นขนมอย่างเดียวที่แปลกไปจากขนมไทยทุกอย่างในสมัยนั้น   ข้าพเจ้าไม่ได้เห็นขนมฝรั่งกุฎีจีนอย่างที่เคยกินเมื่อเป็นเด็กมานานหนักหนาจนปัจจุบันนี้  จะมีพอคล้ายกันก็ที่เป็นขนมเค้กเกลี้ยงๆ ไม่มีหน้ารูปย่อมๆ ที่ขายกันทั่วไปในเวลานี้   ปัจจุบันขนมฝรั่งกุฎีจีนอย่างที่ข้าพเจ้าเคยกิน   จะยังคงทำกันอยู่หรือไม่ไม่ทราบ   สมัยโน้นราคาอันละฬสหรืออันละอัฐก็ลืม..."


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 02 ส.ค. 06, 11:29
 ว่าแล้วก็ต่ออีกตามถนัด  ครั้งเดียวไม่เคยพอ  อย่าว่ากันเลยนะ  ต่อเนื่องติดพันจากคำ "บางคูวัด"  ต้องโทษท่านเอง  ที่คัดมาเพี้ยนทำให้ผมนิ่งเฉยอยู่ไม่ได้

คัดจากหนังสือ "นานาสาระประวัติศาสตร์จากเอกสารต่างประเทศ" กรมศิลปากร

".....ส่วนวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสที่สืบทอดต่อๆ กันมาในเขตชุมชนกุฎีจีนแห่งนี้ที่ปรากฏเด่นชัดเห็นจะได้แก่การทำขนมฝรั่งด้วยกรรมวิธีแบบโบราณที่ชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสได้เรียนรู้สืบต่อกันมา  เช่น  ฟืนที่ใช้อบขนมฝรั่งจะต้องเป็นฟืนไม้แสม   ส่วนการตีแป้งก็จะต้องใช้มือตีแต่เพียงอย่างเดียว  ไม่มีการใช้เครื่องทุ่นแรงใดๆ ทั้งสิ้น  ในปัจจุบันนี้มีผู้สืบทอดการทำขนมฝรั่งแบบกุฎีจีนเหลืออยู่เพียง ๒-๓ รายเท่านั้น   กรรมวิธีในการทำก็อาจจะมีการพัฒนาไปจากเดิมบ้าง  เป็นต้นว่ามีการแต่งเติมหน้าขนมด้วยพลับแห้ง   น้ำตาลทรายและฟักเชื่อมจนกระทั่งกลายเป็นเอกลักษณ์ของขนมฝรั่งกุฎีจีนยุคใหม่ไปในที่สุด

...............

ท่านขุนวิจิตรมาตรา หรือท่าน "กาญจนาคพันธุ์" ไม่มีโอกาสลิ้มรสขนมฝรั่งกุฎีจีนแบบเก่า  แต่พวกเรายังหากินของแบบใหม่หรือแบบประยุกต์ที่ถูกลิ้นคนสมัยปัจจุบันได้มากขึ้น  

หิวซะแล้ว  ท่านติบอ ท่านกุรุกุลา  พาพี่ไปหม่ำหน่อยซี


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 04 ส.ค. 06, 13:18

กลัวไม่เชื่อ  เลยเอาแผนที่มาให้ดู  ขอก็อปมาจากกรมแผนที่ทหาร  ราคาเท่าไรไม่บอกกันหรอก  เสียเงินไปกับเรื่องเหล่านี้หลายพันหลายหมื่น  ลูกเมียอดน้อยใจเล็กๆ ไม่ได้  บอกแล้วไง  ทนเอา  เลือกเองนี่  ไม่มีใครบังคับ  อยู่กันจนตายไปคนใดคนหนึ่ง

ถ่ายเมื่อ 13 JAN 53  แปลเป็นไทยก็วันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๖ ครับ

ดูให้ดี  ตอนนั้นยังไม่มีถนนมาลัยแมน  ตรงนี้สำคัญมาก  จะชี้แล้วก็จะอธิบายอะไรให้ดูอีกทีหลัง

กรอบสีส้มๆ แดงๆ คร่อมสองฟากแม่น้ำสุพรรณ  คือ กำแพงเมืองคูเมืองสมัยสุพรรณภูมิครับ
หมายเลข
1 คือคลองน้ำเชี่ยว
2 คือคลองเพนียดคล้องช้าง  คนสุพรรณสมัยก่อนเรียกว่า "คลองตลาด"  ที่เรียกอย่างนี้เพราะคนตลาดข้ามฟากแล้วก็มาสักการะศาลเจ้าพ่อตามคลองนี้แหละ  มาจากคำว่า  คลองของคนตลาดรึเปล่าไม่รู้
3 คือคลองวัดป่าเลไลยก์  ขุดสมัยรัชกาลที่ ๓-๔ ช่วงที่เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) มาบูรณะวิหารและองค์หลวงพ่อโตวัดป่าไงครับ  ขุดคลองเพื่อจะนำท่อนซุงมาจากแม่น้ำเข้ามายังวัดได้ ต่อมาก็เป็นคลองที่คนพายเรือกันเข้ามาชมงานประจำปี  ตอนนี้คลองเหลือตี๊ดเดียวครับ  ที่ดินมีค่า  ใครๆ ก็อยากได้  แม้จะเป็นของหลวงก็เหอะ
4 คือวัดป่าเลไลยก์ครับ  เขียนใหญ่  ก็เพราะเป็นวัดใหญ่  เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีครับ  เรียกเต็มๆ ว่าวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร
5 คือถนนป่าเลไลยก์ครับ  เชื่อมระหว่างวัดประตูสารกับวัดป่าฯ  คนจากตลาดข้ามฟากก็ใช้ถนนนี้ด้วย  ไปสักการะหลวงพ่อโตตอนหน้าแล้ง  แต่ปัจจุบันถนนนี้สั้นเหลือตี๊ดเดียวเหมือนกัน  เหลือแค่จากวัดประตูสารถึงแนวปากทางศาลเจ้าพ่อฯ แค่นั้น  ให้พอเป็นตำนานอันรุ่งเรืองครั้งอดีต  เพราะมีถนนของนายปุย มาลัยแมนมาทับทีหลัง  เลยจากศาลเจ้าพ่อไปถึงวัดป่าเลยกลายเป็นส่วนหนึ่งของถนนมาลัยแมนไปด้วย
5 ริมแม่น้ำสุพรรณเหนือสุดของภาพ  เพี้ยนใหญ่แล้ว พิมพ์ซ้ำ ขี้เกียจแก้แล้ว  เป็นวัดหน่อพุทธางกูรครับ  มีจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ ๓  หากอยากฟังผมเล่าเรื่องนี้อีก  ผมสืบค้นสายตระกูลคนวาดได้หมดจนถึงปัจจุบันเลยครับ  ตรงนี้อยู่ตำบลพิหารแดง  ชนเขตแดนกับตำบลรั้วใหญ่  คนสุพรรณเก่าๆ เรียกวัดขามหน่อ หรือวัดมะขามหน่อ
6 คือวัดพระลอยครับ  เริ่มต้นเขตตำบลรั้วใหญ่  เพราะกำแพงเมืองใหญ่ครับ เลยตั้งชื่อว่ารั้วใหญ่  สมัยก่อนมีชื่อเยอะแยะ  เช่นค่ายเก่า  วัดนี้มีอุทยานมัจฉา  เช่นเดียวกับวัดพระนอนที่อยู่เหนือวัดหน่อฯ ขึ้นไปอีกหน่อยหนึ่ง
7 คือวัดสารภีครับ  มีรูปปั้นช้างเอราวัณสามเศียรแข่งกับที่ปากน้ำ สมุทรปราการด้วยแหละ  เลยไปทางตะวันตกของวัด  เป็นวัดร้างชื่อวัดพระอินทร์ (แล้วก็วัดน้อยอีก ติดกันเลย)  ตำนานว่าเป็นวัดเดียวกัน  เพียงแต่แม่น้ำงอกออกไปทางตะวันออก  วัดร้างแถวนี้เลยห่างแม่น้ำไปไกลๆ ทั้งนั้น  วัดใหม่ๆ มาอยู่ริมน้ำแทน  บอกแล้วไง  ทุกอย่างมีที่มาที่ไป  มีเหตุมีผลของตัวมันเอง
8 คือวัดแค  ที่ผมเล่าไว้ในกระทู้หลวงตากัน ทองมี ในเวปหนึ่งไงครับ
9 คือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ  มีพระผงสุพรรณ พระกำแพงศอกอันเลื่องชื่อ
10 คือวัดประตูสารทางเหนือ  กับวัดตะไกรทางใต้
คั่นกลางแยกเหนือใต้ด้วยคลองวัดป่า
11 คือวัดพระรูป  มีกรุพระขุนแผนอันเลื่องชื่อ  แข่งกับวัดบ้านกร่างศรีประจันต์
12 คือโรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย  ตั้งอยู่บนวัดร้าง ๒ วัด คือวัดพริกด้านเหนือ  วัดชุมนุมสงฆ์ ด้านใต้  อ้อ ตรงวัดป่าที่ติดๆ กันนั้นเดิมชื่อวัดลานมะขวิด  แล้วก็มีวัดโคกกระต่ายอยู่ประจันหน้ากับวัดชุมนุมสงฆ์ด้วย

หากจะเล่าเรื่องวัดร้างแถบนี้  เฉพาะรอบๆ กำแพงเมืองรัศมีไม่เกิน ๑ กิโลเมตร  มีเป็นร้อยๆ วัดเลยครับ  แต่ละวัดก็มีความสำคัญแตกต่างกันไป

กุรุกุลาน้อย  มึนไหมครับ  เห็นว่าชอบ  เลยเล่าให้ฟังเป็นกระสายยยยย  หากอยากรู้วัดไหนแถวนี้  บอกมา  จะคุยเป็นฉากๆ เลย


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 04 ส.ค. 06, 13:35
 อุอุ  ขอโทษที  พิมพ์ไปส่งเรื่องไป
ดันใส่ช่องกระทู้ผิด

คหพต.๔๓  อยู่ในกระทู้ของผมเองครับ
กระทู้ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี
ไม่ได้หวังจะเพิ่มเรทติ้งขี่ Spiderman ไวๆ ดอก
มิมีเจตนาอื่นใดแอบแฝงเลย
เป็นเพราะ ก่งก๊ง  อย่างเดียวเท่านั้น


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 08 ส.ค. 06, 09:12

เมื่อคืนกลับไปอ่านหนังสือเก่าเก็บอีกเช่นกัน  ซื้อมานานแล้ว  ไม่ค่อยได้เอาออกมาเปิด  นึกขึ้นมาจะใช้ก็ปัดฝุ่นกันที  เป็นหนังสือรวมภาพมุมกว้างกรุงเทพฯ สมัยเก่าครับ  แพงด้วย  กัดฟันซื้อ  ยอมก็ยอมเดี๋ยวหนังสือมันจะหมดซะก่อน  แล้วจะเสียใจภายหลัง  แต่ซื้อมาก็ปล่อยให้ท่านๆ นอนพักอยู่ในตู้ซะหลายปีเลย

ขออนุญาตท่านกุรุกุลามาโชว์เลยนะครับ  เป็นชุมชุนกุฎีจีนสมัยโน้นนน  เป็นหมู่เรือนแพหนาแน่นเชียว  ผู้บรรยายบอกว่าน่าจะถ่ายจากแพห้องภาพของนายจิตร  จิตราคนี  หากเป็นสมัยนี้ภาพออกมาคงไม่เป็นภาพสวยยังงี้หรอก  เพราะแพจะต้องสะเทือนเลื่อนลั่นไปด้วยคลื่นเรือบื่อ (ภาษาสุพรรณ  คือเรือหางยาวของเมืองกรุงนั่นเอง)  ภาพคงจะสวยหวั่นไหวไปอีกแบบ

อ้อ  ผม search กระทู้ฮ้อทเกี่ยวกับนายจิตรที่ท่านแนะนำไว้ตอนต้นไม่ได้เลยครับ  ไม่รู้ว่าเขาโชว์ภาพนี้  แล้วก็ภาพต่อไปอีกด้วยรึเปล่า  หากซ้ำกัน  ถือว่าเป็นการเน้นเพื่อความรู้กันนะครับ


บรรยายภาพไว้ว่า  "ภาพ ๑๑๓  หมู่เรือนแพที่กระดีจีน  จาก หจช.  อาจถ่ายจากแพห้องภาพนายจิต"

(พิพัฒน์  พงศ์รพีพร  "ภาพมุมกว้างของกรุงเทพพระมหานคร ในสมัยรัชกาลที่ ๔  การค้นพบใหม่"  สนพ.เมืองโบราณ   ๒๕๔๔)


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 08 ส.ค. 06, 09:17

ขออนุญาตเอามาต่ออีกหน่อย

"ภาพ ๑๑๒  แผนที่กระดีจีนและปากคลองบางหลวง  ขยายจากแผนที่ ร.ศ. ๑๑๕ (พ.ศ.๒๔๓๙) ฉบับนายวอน  นายสอน  เป็นผู้เขียน"

จากหนังสือเล่มเดิมครับ

สำหรับภาพแผนที่แผนผังปัจจุบันของชุมชนนี้  ท่านคงหาได้ง่ายๆ  เพราะอยู่ในหนังสือแนะนำการท่องเที่ยวของกรุงเทพฯ แทบทุกฉบับ  เพราะเป็นสถานที่ที่ฮ้อทอยู่แล้วครับ

กุรุกุลา  ตื่นหน่อยเหอะ อย่าลืมอาบน้ำล้างหน้าแปรงฟัน  แล้วก็กินข้าวก่อนล่ะ


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 08 ส.ค. 06, 19:56
 มาต่อกระทู้ครับ หายไปนานเนื่องจากสอบกลางภาค

ผมไม่ได้หลับหรอกครับคุณนิก  แค่ยังไม่อยากตื่นเท่านั้นเองก็เลยแกล้งทำเป็นหลับ แต่ตอนนี้คงต้องรีบโพสบ้างแล้วครับ เดี๋ยวจะโดนคุณนิกแซงหน้าไปเสียก่อน ขอบคุณนะครับที่ช่วยโพสแทนผมไปมากมาย กระทู้นี้ถึงไม่ร่วงไปเสียก่อน คราวหน้าคงต้องรบกวนคุณนิกอีกหลายครั้ง

เรือบื่อนี่แถวบ้านผมเมืองนนท์ก็เรียกกันครับ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้ยินแล้ว ส่วนรูปเรือนแพหน้าวัดอรุณคาดว่าจะเคยเห็นกันมาหนักหนาแล้ว ผมก็เลยขอไม่เอามาลงครับ

จำได้ว่าเคยมีฉากเรือนไทยมุมนี้ในเรื่องทวิภพ เมื่อวันก่อนผมซื้อซีดีเพลงของกรมนริศท่านก็มีการนำภาพนี้มาเป็นปกซีดี สวยงามน่าชมบารนี

ตอนนี้ผมค่อนข้างว่างแล้ว มาดูภาพไม่สวยกันบ้างครับ เนื้อหาคงจะไม่มีอะไรแล้ว


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 08 ส.ค. 06, 20:04

วัดซางตาครู้ส หลังเดิมครับ สร้าง พศ 2378-2456


สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 เพราะวัดหลังแรกอายุมากถึง 66 ปีแล้ว คงจะชำรุดทรุดโทรมลงตามกาลเวลา วัดหลังนี้สร้างโดยสังฆราชปัลเลอกัวร์ผู้โด่งดัง สมัยนั้นท่านยังไม่มีสมณศักดิ์ ได้กล่าวถึงชุมชนกุฏีจีนว่า


ชมรมแซงเตอะครัวซ์ มีโบสถ์อันภูมิฐานและกว้างขวาง ซึ่งใช้เงินของพวกคริสตังที่น่าสงสารไปถึงสองหมื่นฟรังซ์ แต่ก่อนนี้การประกอบพิธีกรรม กระทำกันในโรงหลังคาต่ำเป็นที่ลุ่มน้ำเฉอะแฉะ แท่นบูชาจึงกลายเป็นที่ซ่องสุมของอสรพิษ"


วัดหลังนี้สร้างเสร็จในปี พศ 2378 มีลักษณะสถาปัตยกรรมคล้ายแบบจีน มีปูนปั้นอ่อนช้อยคล้ายศาลเจ้า ผสมกับโบสถ์ไทย ติดพระราชนิยมรัชกาลที่ 3 นิดๆ ตรงหลังคาทรงกระเท่เซรที่ก่ออิฐสูงยันอกไก่ แต่มีปีกนกรอบด้านแป  


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 08 ส.ค. 06, 20:09

พิธีศพในสมัยโบราณ สังเกตที่โลงหน้าตาประหลาดแบบนี้  ยังไม่ทราบว่ามีที่มาจากประเทศใด แต่ก็ยังมีสืบทอดรูปแบบมาถึงปัจจุบัน (เพียงแต่ไม่ค่อยมีใครใช้) ดูจากเครื่องแต่งกายแล้วน่าจะอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่จะเป็นช่วงใดคงต้องรอผู้เชี่ยวชาญอย่างคุณติบอมาตอบ  


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 08 ส.ค. 06, 20:14

ด้านข้างของโบสถ์ดูไม่ต่างกับโบสถ์ไทย


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 08 ส.ค. 06, 20:16

พิธีแต่งงานหน้าโบสถ์ คาดว่าจะเป็นสมัยรัชกาลที่ 6 (รอคุณติบอมาอธิบายเรื่องที่คาดศีรษะของผู้สาวครับ) วัดเป็นวัดหลังที่ 3 แล้ว


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 09 ส.ค. 06, 13:32
 ยอดเยี่ยมเลยครับ
รูปแบบนี้แหละที่อยากดูมานาน
หากไม่ได้กุรุกุลาช่วยค้นมาให้
คงไม่มีวาสนาได้ดูเป็นแน่

เป็นภาพโบสถ์เก่าที่ดูแล้วมีความขลัง
สถาปัตยกรรมงดงาม
ท่านออกตัวว่าไม่สวย
แต่ผมว่าสวย  ใครจะทำไม


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 09 ส.ค. 06, 13:36
 ท่านบอกว่าเนื้อหาเหลือไม่เท่าไร
แต่ผมยังมีเรื่องอยากจะถามอีกเยอะแยะ
ในหัวตอนนี้มีแต่คำถาม
แล้วจะหาการบ้านให้ทำเรื่อยๆ

ไม่อยากให้กระทู้ตกไป
เลยเข้ามาเสริมเท่าที่กำลังมี
แล้วก็  ไม่ออฟไซด์



โบสถ์หลังเก่าสร้างขึ้นสมัยกรุงธน
พระสังฆราชปาเลอกัวซ์บูรณะในปี ๒๓๗๗-๘
โบสถ์หลังปัจจุบันสร้างในปี ๒๔๕๖-๗

แล้วผมจะมีวาสนาได้เห็นรูปโบสถ์หลังแรกมั้ยครับ


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ส.ค. 06, 14:18
 ขอสันนิษฐานแทนติบอได้ไหมคะ  เจ้าตัวยังไม่เข้ามาตอบ

ภาพในค.ห. 51 เป็นปลายรัชกาลที่ 6 หรืออย่างช้าทึ่สุดก็ต้นรัชกาลที่ 7 ค่ะ
แถบคาดหน้าผาก หรือ headband แบบนี้ เป็นแฟชั่นนำโดยพระวรกัญญาเมื่อเป็นพระคู่หมั้น
เจ้าสาวตัดผมสั้นแค่คอ (สมัยนั้นมี 2 ทรงคือชิงเกิ้ล และบ๊อบ)
ดูเหมือนจะมีคีมเย็นจับลอนผมเสียด้วย  หน้าตาสวยทันสมัยไม่แพ้สาวชาวกรุง  
ถ้าเทียบกับคุณแม่เธอ(เดาว่างั้นนะ)ทางซ้ายสุด    คุณแม่ยังไว้ผมเสยด้วยขี้ผึ้ง  แต่งตัวแบบโบราณอยู่เลย


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 10 ส.ค. 06, 09:32
 ขอบพระคุณมากครับ อาจารย์เทาชมพู ผมคิดว่าเจ้าสาวก็คงพยายามจะแต่งตัวให้ทันสมัยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะโบสถ์นี้ก็ไม่ได้อยู่ไกลปืนเที่ยง แทบจะอยู่ฝั่งตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวังทีเดียว

อีกเรื่องหนึ่งที่อยากทราบก็คือ การใช้แขนไว้ทุกข์น่ะครับ ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรและเริ่มสมัยไหน

อ้อ ขอบคุณคุณนิกมากนะครับ ที่ติดตามชมกันอย่างสม่ำเสมอ วันหลังช่วยผมโพสอีกนะครับ


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 10 ส.ค. 06, 10:04

เชิงเทียนพระราชทานครับ แต่ก็ไม่ทราบว่าพระราชทานในโอกาสใด คงต้องไปค้นหาให้มากกว่านี้ ผมไม่มีความรู้เรื่องถนิมพิมพาภรณ์ ก็คงต้องรอผู้รู้ชี้แจงว่าเป็นของนำเข้าหรือช่างไทยทำเลียนแบบ แต่ผมว่าคงจะมีแต่คนเข้ามากระเทียบมากกว่าว่าถ่ายรูปไม่ได้เรื่อง ขอชี้แจงครับว่า เวลาใช้ save for web ในโฟโต้ชอปแล้วภาพที่ได้มันจะออกมาใหญ่ แต่ความละเอียดมันจะน้อยลง ถ้าปรับไปน้อยมากๆมันจะแตกไปเลย


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 10 ส.ค. 06, 10:06

-


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ส.ค. 06, 10:06
 ดิฉันสับสนเองละค่ะคุณกุรุฯ
อ่านกระทู้นี้พร้อมกับกระทู้เมืองเพชร   เลยพลาดไปนึกว่าเจ้าสาวอยู่เมืองเพชร
กราบขอโทษเจ้าสาวซานตาครูสงามๆสามที    ไปว่าเธอไม่ใช่สาวชาวกรุง

เรื่องแขนทุกข์   จำได้ว่าในนิยายของดอกไม้สด มีฉากพระเอกพันแขนทุกข์แล้ว  
นิยายแต่งในรัชกาลที่ 7 ช่วง 2470-2475


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 11 ส.ค. 06, 08:14

ก่งก๊งเข้าไปร่วมกระทู้ผม  อย่างกับที่ผมมาก๊งใน คหพต.๔๓ เชียวนะท่าน  รึจะเลียนแบบ  เป็นการเชิญชวนทางอ้อม  เรทติ้งดีเชียวนา  ตอนนี้ภาวะก๊งกำลังระบาด  เจอหลายคนพร้อมๆ กันเลยครับ

ท่านอุตส่าห์เยินยอซะดิบดี  ของชอบเสียด้วย  ก็ต้องช่วยๆ กันไป  กระทู้จะได้ไม่ต้องตกหน้าจากเรือนไทยที่รักยิ่งของเรา

ว่าแล้วก็สมนาคุณซะหนึ่งรูป  ควักเอามาจากเล่มเดิมที่กล่าวถึงข้างบนโน้นแหละครับ  เห็นยังติดพันอยู่กับเรื่องสาวๆ สวยๆ งามๆ  กลัวจะมาไม่ทันเขา  เดี๋ยวเลิกเห่อไปซะก่อน

นี่เป็นสาวเมืองกรุงนะจ๊ะ  ไม่ใช่สาวเมืองเพชร   หากอาจารย์เทาไปอ่านกระทู้ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองฯ ของผม  อาจเผลอนึกว่าเป็นสาวสุพรรณเป็นแน่เลย

ท่านเจ้าของหนังสือบรรยายว่า  ภาพนี้คือ  แองเจลินาทรัพย์  ผู้สืบสกุลรุ่นสี่ของเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ (วิชเยนทร์-วิชาเยนทร์? - NickyNick)  ภริยาของหันแตร (โรเบิร์ต ฮันเตอร์ : หลวงวิเศษอาวุธประเทศพานิช  พ่อค้าต่างชาติหมายเลข ๑ ในสมัยรัชกาลที่ ๓)   เรียกกันอย่างยกย่องว่า  ท่านผู้หญิงทรัพย์   เป็นผู้นำชุมชนเชื้อสายโปรตุเกสแห่งหมู่บานกระดีจีน   ที่ขึ้นตรงต่อโบสถ์แซงเตอ ครัวส์ (Sainte Croix)  ซึ่งพระสังฆราชปาลเลอกัวส์เคยเป็นเจ้าอาวาส


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ส.ค. 06, 09:08
โดนคุณ Nick แซวเข้าให้แล้ว
ต้องแก้เก้อถามว่าสาวชาวกรุง คุณนายทรัพย์ของคุณ Nick  ดูรูปแล้วอยากจะถามว่ามีเชื้อมอญหรือเปล่าคะ  
ดูจากทรงผม และผ้านุ่ง   สาวไทยสมัยรัชกาลที่ 3 หรือ 4 ไม่แต่งตัวแบบนี้ ยังนุ่งโจงไว้ผมปีกกันอยู่

คำว่า "ท่านผู้หญิง" ในสมัยรัชกาลที่ 1-3  เป็นคำที่น่าค้นคว้า  ดิฉันเข้าใจว่าคำว่า "คุณหญิง"เพิ่งมามีอย่างเป็นทางการเอาในรัชกาลที่ 5
ก่อนหน้านี้สตรีบรรดาศักดิ์ที่ไม่ใช่ชาววัง   เห็นมีแต่"ท้าว" อย่างท้าวสุรนารี  ถ้าเป็นสมัยนี้ท่านอาจจะเป็นท่านผู้หญิงสุรนารี

ส่วนคำว่า"ท่านผู้หญิง" ในร. 3 เห็นทีจะมีความหมายเพียงว่าเป็นเมียหลวงของขุนนาง  ตั้งแต่ระดับขุนถึงเจ้าพระยา
เรียกกันด้วยความยกย่อง  คล้ายๆชาวบ้านร้านถิ่นในตจว.ไกลๆเรียกภรรยาข้าราชการว่า  "คุณนาย" เมื่อสัก 50-60 ปีมาแล้ว
ที่คิดอย่างนี้ เพราะมีตัวอย่างในนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่

ได้เยี่ยมเยือนเรือนบ้านท่านขุนแพ่ง
มาปลูกแปลงแปลกกว่าเมื่ออาศัย
ด้วยศึกลาวคราวนั้นเธอบรรลัย
ไม่มีใครครอบครองจึ่งหมองมัว
แสนสงสารท่านผู้หญิงมิ่งเมียหลวง เฝ้าข้อนทรวงเสียใจอาลัยผัว
ทั้งเมียน้อยอ้อยอิ่งหญิงคนครัว
พากันมัวหมองคล้ำระกำตรอม

ขุนแพ่งเป็นขุนนางระดับ ขุน  ชั้นผู้น้อย ต่ำกว่าหลวงหันแตร เสียอีก สุนทรภู่ยังเรียกเมียหลวงว่า "ท่านผู้หญิง" เต็มปาก  
ถ้าจะว่าสุนทรภู่เรียกผิด   ก็ยังมีคำนี้อีกในเสภาขุนช้างขุนแผนฉบับหอพระสมุด มีตอนหนึ่งเรียกนางวันทองเมื่ออายุมากแล้วว่า

ท่านผู้หญิงวันทองร้องเรียกบ่าว

ทั้งที่ขุนช้างสามีของนางก็เป็นแค่มหาดเล็กของพระพันวษา ไม่ใช่ขุนนางมียศศักดิ์  แต่เป็นคนใหญ่คนโตในเมืองสุพรรณ  
ภรรยาก็เลยเป็นคุณนาย  เรียกว่าท่านผู้หญิง ได้เนียนๆ


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 11 ส.ค. 06, 10:21
 เรื่องแองเจลินาทรัพย์  มีเชื้อมอญหรือเปล่า  ผมคงไม่ทราบครับ  ต้องแวบไปค้นหาหนังสือศิลปวัฒนธรรมฉบับเก่าๆ ที่เคยมีทายาทของท่านเขียนเรื่องราวไว้  เพื่อแก้ต่างที่ถูกประวัติศาสตร์ไทยกล่าวในทางลบเยอะ

แต่ก็เป็นผู้สืบเชื้อสายที่อยู่ต่างประเทศ  ไม่น่าจะมีกล่าวถึงภริยาของท่านหันแตรผู้นี้  จะลองค้นดูครับ  หากมีเล่มนั้นอยู่


นิราศเมืองเพชรนิราศที่อาจารย์ยกมาให้อ่านตอนนี้  ไพเราะมาก  เลยลองไปค้นฉบับพิมพ์ของคุณเทพ  สุนทรศารทูล  พิมพ์เมื่อปี ๒๕๓๕  กล่าวถึงยศศักดิ์แตกต่างกันเล็กน้อย  จะลองยกมาให้อ่านกันเพลินๆ นะครับ


แสนสงสารคุณหญิงมิ่งเมียหลวง         เฝ้าค่อนทรวงเสียใจอาลัยผัว
ทั้งเมียน้อยอ้อยอิ่งหญิงคนครัว           พากันมัวหมองคล้ำระกำตรอม
เมื่อมาเรือนเยือนศพได้พบพักตร์        ไม่หมองนักคราวนี้รูปช่างซูบผอม
เพราะครวญคร่ำกำสรดสู้อดออม         เหมือนแก่งอมหงิมเงียบเชียบสำเนียง
โอ้อกเอ๋ยเคยสำราญอยู่บ้านนี้            ได้ฟังปี่พาทย์เพราะเสนาะเสียง
ทั้งหญิงชายฝ่ายเพื่อนริมเรือนเรียง      เคยพร้อมเพรียงเพรางายสบายใจ
โอ้คิดคุณขุนแพ่งเสียแรงรัก              ไม่พบพักตร์พลอยพาน้ำตาไหล
ได้สวดทั้งบังสุกุลแบ่งบุญไป             ให้ท่านไปสู่สวรรค์ชั้นวิมาน


อธิบายว่า  ขุนแพ่งไปตายเสียในศึกเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์  พ.ศ.๒๓๖๙
คราวก่อน พ.ศ.๒๓๖๘  ตายใหม่ๆ  คุณหญิงยังไม่หมองนักคราวนี้ช่างซูบผอมไป
สุนทรภู่มาครั้งนี้บวชเป็นพระอยู่จึงได้บังสุกุลให้ด้วย  ไม่ใช่นิมนต์พระมาบังสุกุล
ท่านชักบังสุกุลเองที่เมืองเพชรบุรีนี้


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 13 ส.ค. 06, 10:20
 ได้ไปค้นหนังสือศิลปวัฒนธรรมอย่างที่ตั้งใจไว้  เป็นฉบับปี ๒๕๔๐ เขียนโดยคุณภูธร ภูมะธน  ไม่มีเกี่ยวกับสายสกุลเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ที่อยู่เมืองไทยเลย  แต่พูดถึงต้นตระกูลของท่านที่อยู่ประเทศกรีซ  ตระกูลท่านเป็นขุนนาง  พ่อเป็นถึงข้าหลวงของเกาะเซฟาโลเนีย  ไม่ได้เป็นเด็กเร่ร่อนขุดทองเหมือนกับที่ประวัติศาสตร์ทั่วไปได้กล่าวไว้

พ่อของท่านชื่อ ดอน จิออจิโอ  เยรากี (Don Giorgio GERACHI)  คำว่า "เยรากี" เป็นภาษากรีกที่ตรงกับภาษาอังกฤษว่า "ฟอลคอน" (Falcon หรือ Hawk)  อันแปลเป็นไทยว่า "เหยี่ยว"

และทราบอีกด้วยว่า  รูปที่เชอวาเลีย เดอ โชมอง เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ต่อพระหัตถ์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๒๒๘   เป็นภาพวาดสีน้ำมันที่ตกทอดมาถึงครอบครัวเยรากีที่เมืองมาร์ซายส์  ประเทศฝรั่งเศส  เป็นการยื่นมือถือพานถวายโดยตรง  ไม่ได้มีด้ามถือยาวดังปรากฏอยู่ในหนังสือทั่วไปถึงปัจจุบัน


กระทู้: ซางตาครู้ส กางเขนศักดิ์สิทธิ์
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 19 ส.ค. 06, 15:17

ยังไม่เห็นกางเขนศักดิ์สิทธิ์เลย  อยู่ไหนเนี่ยะ  จะเข้าไปสำรวจข้างในเองก็ไม่กล้า  จะห้ามจะหวงแค่ไหนก็ไม่รู้

งั้นเราขอแวะเลียบๆ เคียงๆ แถวข้างนอกโบสถ์ก่อนละกัน

เอาภาพนี้มาโชว์  ชื่อภาพ "วัดกัลยาณมิตร ฝั่งธนบุรี" เมื่อ ค.ศ.๑๙๔๗  หรือ พ.ศ.๒๔๙๐

เป็นฝีมือวาดของศิลปินชาวญี่ปุ่น  แต่มาอยู่เมืองไทย  นาม นิโร โยโกตา (๒๘ พ.ย. ๒๔๓๘ - ๑๒ เม.ย. ๒๕๒๘)

ดูดมาจากนิตยสารสารคดี  พ.ค. ๔๒