เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: naitang ที่ 31 พ.ค. 23, 18:48



กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 พ.ค. 23, 18:48
สังคมที่เรียบง่ายดูจะเป็นสังคมที่ผู้คนต่างๆที่มีส่วนได้เสีย(เกือบทั้งหมด)ล้วนมีสำนึกของพรหมวิหารสี่อยู่ในจิต-ใจและในสภาพอารมณ์ต่างๆ ซึ่งก็คือเรื่องของความเมตตา(ความเห็นใจ ความเอ็นดู)  ความกรุณา(การให้ความช่วยเหลือเจือจุน)  มุทิตา(การยกย่องซึ่งกันและกัน)  และอุเบกขา(การวางตัวเป็นกลางอย่างเหมาะสม)

สังคมที่เรียบง่ายแบบชาวบ้านจึงมีกิจกรรมที่ร่วมกันทำค่อนข้างจะหลากหลายตลอดทั้งปี  ซึ่งเมื่อมีการทำต่อเนื่องกันมาหลายๆครั้งและต่อเนื่องเป็นเวลานานมากเข้า ก็กลายเป็นกิจกรรมที่ต้องมีการดำเนินการในลักษณะเป็นประจำของแต่ละชุมชน กลายเป็นประเพณีของพื้นถิ่น  ในที่สุดก็มีการตีไข่ใส่สีพัฒนาไปอยู่ในรูปของวัฒนธรรม  (ก็เลยมีวลี 'วัฒนธรรมประเพณี'  ?)


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 พ.ค. 23, 19:19
วัฎจักรในการดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติของผู้คนทั่วไปก็คือ นอนตอนกลางคืน ทำงานตอนกลางวัน  แต่ก็มีวัฏจักรที่ไม่ปกติซึ่งอาจจะมีได้ในหลายรูปแบบ เช่นนอนตอนกลางวัน ทำงานตอนกลางคืน  หรือการทำงานเป็นกะ ซึ่งจะนอนหรือทำงานคร่อมเวลาที่คนปกติเขาทำกัน    ทั้งมวลนี้เป็นลักษณะของชีวิตผู้คนที่ใช้ชีวิตในเมือง    เรื่องของเวลาและช่วงระยะเวลาดูจะถูกใช้เป็นกำหนดเป็นกฏเณฑ์ที่มีผลโยงใยไปถึงในด้านคุณภาพของชีวิตและความเป็นอยู่


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: unicorn9u ที่ 01 มิ.ย. 23, 09:04
สังคมชนบท กับสังคมเมืองมีความแตกต่างกันมาก
ทีนี้ สิ่งที่น่าคิดคือ การใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายในสังคมเมืองมันจะออกมารูปแบบใด
ท่ามกลางมนุษย์ที่เต็มไปด้วยกิเลส ความอยากได้อยากมี การแข่งขัน และสิ่งยั่วยุ หลายๆอย่างแบบทุกวันนี้ครับ


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 มิ.ย. 23, 18:04
สังคมชนบทอยู่ในสิ่งแวดล้อมภายใต้กลิ่นอายของปรัชญาแบบพรหมวิหารสี่  ต่างกับสังคมเมืองที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมภายใต้กลิ่นอายของความมีกิเลส (รัก โลภ โกรธ หลง) ที่จะต้องมีการตอบโต้เพื่อให้ได้มาซึ่งความสงบในลักษณะของ action = reaction และก็จะต้องได้รับผลที่มีคุณภาพในระดับของความสะใจอีกด้วย

ซึ่งสื่อออกมาในอีกมุมหนึ่งว่า ความต่างระหว่างสังคมชนบทและสังคมเมืองก็มีเเรื่องเกี่ยวกับการมองโลกของผู้คนในสังคมนั้นๆว่า เป็นในลักษณะของการมองแบบ inside out หรือแบบ outside in     


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 มิ.ย. 23, 19:59
....ทีนี้ สิ่งที่น่าคิดคือ การใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายในสังคมเมืองมันจะออกมารูปแบบใด
ท่ามกลางมนุษย์ที่เต็มไปด้วยกิเลส ความอยากได้อยากมี การแข่งขัน และสิ่งยั่วยุ หลายๆอย่างแบบทุกวันนี้ครับ

ผมเห็นว่า สังคมชนบทก็มีลักษณะของการอยู่เป็นหมู่ร่วมกันแบบต่างคนต่างอยู่เช่นเดียวกันกับที่เป็นอยู่ของสังคมเมือง  จะมีความต่างกันอยูก็ในเรื่องของภาระกิจที่จะต้องผจญในแต่ละวันเมื่อออกนอกบ้าน     ชาวบ้านออกจากบ้านไปผจญกับการกระทำของธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิตและจิตใจ ยกเว้นก็แต่เฉพาะสรรพสัตว์ต่างๆ ซึ่งเรา(คน)อยู่ในสถานะเป็นผู้ล่าในระดับสูงสุดของระบบนิเวศ   เป็นการสู้กับธรรมชาติที่ไม่มีวันที่เราจะแพ้ (แพ้ก็คงละทิ้งไปแล้ว) หากแต่เป็นการสู้เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขในลักษณะที่ไม่ประจันหน้ากัน แต่เป็นการพยายามทำให้เป็นคุณหรือจัดระบบเบี่ยงเบนผลกระทบต่างๆ

สังคมเมือง เมื่อออกจากบ้านก็จะพบแต่สิ่งที่รู้สึกว่าไม่เจริญใจ มีสภาพคล้ายกับการเดินเข้าไปในสิ่งแวดล้อม/ในมวลของข้อกำหนดต่างๆที่พึงจะต้องปฏิบัติตาม มีกฎหมาย มีกติกาทางสังคมและค่านิยมที่ต้องปฏิบัติ...ฯลฯ   แต่ที่ดูจะสำคัญที่ทำให้ชีวิตดูวุ่นวายก็เห็นจะเป็นเรื่องของข่าวสารที่ตนเองเป็นผู้เลือกที่จะเสพ    จะทำให้เกิดการใช้ชีวิตแบบมีความเรียบง่ายในสังคมเมือง ที่ได้ปฏิบัติมาก็มีอาทิ ไม่ยึดกับหัวโขน  งานอยู่ในเวลาของการทำงาน  นอกเวลางานก็เป็นตัวของตัวเองและเป็นเรื่องของครอบครัว...   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มิ.ย. 23, 11:02
สังคมชนบทที่ดิฉันรู้จัก คือสังคมที่รู้จักกันหัวบ้านท้ายบ้าน   เป็นเครือญาติเกี่ยวดองกันเยอะ    ผิดกับสังคมเมืองที่ต่างคนต่างอยู่มากกว่า
ชาวกรุงอยู่หอพัก หรือคอนโด แม้ห้องติดกันก็เกือบไม่เคยพูดจากันเลย   จึงมีข่าวคนตายในห้องมาหลายวันโดยไม่มีใครรู้ จนส่งกลิ่นออกมานั่นแหละ เพื่อนห้องข้างๆถึงเอะใจ

สังคมชนบทไม่ค่อยมีอะไรที่ปกปิดกันได้   ลูกชายบ้านโน้นหนีทหารก็รู้กันทั่ว   ลูกสาวบ้านนี้ท้องขึ้นมาก่อนแต่งก็รู้กันหมด    ลุงสองบ้านที่เป็นพี่น้องกัน อยู่บ้านติดกันแต่มึนตึงใส่กัน ชาวบ้านก็รู้ว่าทะเลาะกันเพราะมรดก  บ้านนี้ได้ลูกเขยเลวๆเข้ามาผลาญสมบัติเมีย  ก็รู้กันทั่วว่าบัดนี้เมียหมดตัวแล้ว
เวลาบ้านไหนจัดงานเขาจะเปิดเครื่องขยายเสียงให้พูดไมโครโฟนดังลั่นได้ยินกันไปทั้งหมู่บา้น เป็นการเชื้อเชิญคนมาร่วมงาน
อีกอย่างที่ขาดไม่ได้คือ สังคมชนบทนอกจากมีวัดเป็นที่ทำบุญ จัดงานคอนเสิร์ตลูกทุ่งแล้ว   ยังมีสำนักเจ้าพ่อเจ้าแม่อยู่ในทุกตำบลให้ขอหวยด้วยค่ะ


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: unicorn9u ที่ 02 มิ.ย. 23, 13:57
จะทำให้เกิดการใช้ชีวิตแบบมีความเรียบง่ายในสังคมเมือง ที่ได้ปฏิบัติมาก็มีอาทิ ไม่ยึดกับหัวโขน  งานอยู่ในเวลาของการทำงาน  นอกเวลางานก็เป็นตัวของตัวเองและเป็นเรื่องของครอบครัว...  
เท่าที่ประสบมา มันก็เหมือนกับเรากระโดดลงไปในบ่อน้ำลึก จะขึ้นก็ขึ้นไม่ได้ ทำได้แต่ตะเกียกตะกาย หรือแค่เพียงพยุงตัวอยู่เพื่อชีวิตรอด
ความเรียบง่ายหลายๆอย่างที่เคยพบเจอสมัยก่อน เรียกกลับมายากมากอย่างที่เรียกว่า เข้ามาในวงการแล้วออกไปยาก
การใช้ชีวิตในเมืองมันช่างดูมีเรื่องยุ่งยากซับซ้อนไปเสียหมด นอกจากเวลางาน แล้วก็ยังต้องมีเรื่องที่ต้องต้องคิด ต้องวางแผน ต้องจัดสรร เพื่อจะให้อยู่รอดได้ไปจนถึงในอนาคต
ต่างกับสมัยก่อนที่ยังอยู่บ้านนอก ไม่เคยต้องกังวลกับเรื่องพวกนี้ บางอย่างขาดไปบ้างก็ไม่เป็นไร อยู่ได้ การช่วยเหลือเกื้อกูลกันก็มีตลอด

สิ่งที่จะสื่อคือ แลกความสะดวกสบายที่ได้มา กับความสุข ความสงบ ที่หายไป ครับ


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 มิ.ย. 23, 19:25
ประมวลจากความเห็นในกระทู้ที่ผ่านมา ก็พอจะได้พื้นฐานแรกๆของความเห็นในเรื่องของความแตกต่างระหว่างสังคมที่เรียบง่ายกับสังคมที่วุ่นวาย   ซึ่งก็พอจะจำแนกออกได้เป็นในด้านของเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมนอกนอกกาย กับในด้านที่เป็นความรู้สึกและการพิจารณาของแต่ละบุคคล 

สังคมชนบทที่ดูเรียบง่ายนั้น ผมเห็นว่าเป็นเพียงภาพในใจของพวกเราที่ได้มาจากการพิจารณาภาพของสิ่งแวดล้อมทางกายที่ได้เราเห็น (visual perception ?)    ในความเป็นจริงแล้ว ในเนื้อในของภาพที่เราเห็นว่าเรียบง่ายเหล่านั้น มันก็มีความวุ่นวายและมีความสลับซับซ้อนอยู่มากทีเดียว     เรื่องหนึ่งที่ต่างไปจากสังคมเมืองก็ดูจะเป็นเรื่องของความรับผิดชอบของชาวบ้านแต่ละคนที่ีมีหน้าที่จะต้องเข้าร่วมในกิจกรรมทางสังคมของพื้นถิ่น  ในขณะที่ผู้คนในสังคมเมืองสามารถละเว้นกิจกรรมทางสังคมของเมือง (ส่วนรวม) ได้  แต่ไปเน้นให้ความสำคัญกับกิจกรรมทางสังคมของกลุ่มแทน   

ในภาพที่ว่ามานี้ ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย จึงอาจจะมองใด้ในลักษณะของวิถีชีวิตในพื้นถิ่นที่ตนเองรู้สึกจากการเปรียบเทียบตามจริตของตน หรือมองในลักษณะของสิ่งแวดล้อมที่ตนเองรู้สึกว่าไม่ยุ่งเหยิง ไม่วุ่นวาย ไม่เร่งรีบ... ไปเสียทุกเรื่อง   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 มิ.ย. 23, 18:27
ดูจากปฎิทินที่กำหนดเป็นวันหยุดราชการในแต่ละปี จะพบว่ามีอยู่ประมาณ 20+วันที่เป็นวันหยุดที่คนในเมืองส่วนมากจะอยู่กับบ้าน แต่หากมีวีนหยุดชดเชยต่อเนื่องก็มักจะหาโอกาสพาครอบครัวเดินทางออกไปพักผ่อนในต่างจังหวัด  ต่างไปจากผู้คนที่อยู่ในชุมชนระดับหมู่บ้าน ที่หลายๆวันหยุดเหล่านั้นกลับต้องมีภารกิจที่ต้องทำร่วมกัน    ซึ่งเมื่อผนวกกับวันที่เป็นวันบุญและวันประเพณีของถิ่น ก็ทำให้จำนวนวันของกิจกรรมที่จะต้องทำร่วมกันก็จะมีเพิ่มขึ้นอีกมาก(ก่อนและหลังวันงาน)  ยังไม่นับรวมถึงวันที่ต้องประชุมเพื่อหาความเห็นและการตัดสินใจร่วมกันในเรื่องต่างๆที่มากระทบกับหมู่บ้าน หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มงานที่จัดตั้งขึ้นมาโดยทางราชการ หรือโครงการที่จะพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน... (ดูจะเรียกการประชุมเหล่านี้ว่า 'ประชาคม')  แล้วก็ยังมีวันที่จะต้องออกไป 'เอาแรง' หรือ 'ใช้แรง' ในกรณีของบางภารกิจที่ต้องดำเนินการในลักษณะที่เรียกว่า 'ลงแขก'

ก็เป็นภาพอย่างคร่าวๆที่ดูลึกลงไปในมุมหนึ่งของวิถีชีวิตในสังคมที่ดูเรียบง่าย


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 มิ.ย. 23, 19:57
ก็จะขอขยายภาพลักษณะของโครงสร้างของชุมชนและสังคมในท้องถิ่น

ตามประสบการณ์ของผม โครงสร้างของชุมชนในพื้นที่ต่างจังหวัดเริ่มแปรไปอย่างเห็นได้ชัดในช่วงประมาณ พ.ศ.2525 หลังจากเรื่องความเห็นต่างทางอุดมการณ์ทางการเมืองการปกครองได้ยุติลง    ชุมชนเล็กๆที่ตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยร่วมกันในระดับ 5-10 หลังคาเรือนได้ขยายใหญ่ขึ้นไปในระดับ 20+ หลังคาเรือน จากที่เรียกกันว่า 'บ้าน' ก็กลายเป็นเรียกว่า 'หมู่บ้าน' ขนาดเล็ก   ขยายต่อเนื่องไปสู่ระดับ 50+ หลังคาเรือนในช่วงระยะเวลาประมาณ 10 ปีต่อมา แล้วกลายเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ถึงระดับ 100 หลังคาเรือน   หมู่บ้านที่มีการขยายใหญ่ในช่วงเวลาเช่นนี้ ก็มีเหตุมาจากถนนและไฟฟ้าที่เข้ามาถึง  ซึ่งก็หมายถึงการมีโครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยให้เกิดสภาพของ 'การเข้าถึง' (Accessibility) ในด้านต่างๆ ยังผลต่อไปให้เกิดการเพิ่มในด้านของขีดความสามารถในการพัฒนาด้านการผลิตและด้านผลิตผล

สภาพของชุมชนที่มีลักษณะเป็นหมู่บ้านใหญ่ แต่เดิมที่เรียกว่า 'บ้าน....'  ถูกนำมาจัดเป็นกลุ่มใหญ่แล้วเรียกแต่ละหมู่บ้านว่า 'หมู่ 1, 2,..'  หลายหมู่จัดรวมกันเป็น 'ตำบล...'   แต่ละตำบลมีขอบเขตพื้นที่กำหนดไว้ชัดเจน   คนที่ไม่คุ้นเคยก็เลยงงกับชื่อหมู่บ้านและชื่อหมู่ที่ใช้ตัวเลขว่ามันใช่เป็นหนึ่งเดียวกันหรือไม่  แต่ก็จะมีงงเข้าไปอีกที่ เช่น หมู่ 1 ชื่อ บ.ป่าซางเหนือ หมู่ 2 ชื่อ บ.ป่าซางใต้ ฯลฯ   หรือกระทั่ง บ.ป่าซางเหนือป็อกเหนือ (กลุ่มด้านทิศเหนือ) กับ บ.ป่าซางใต้ป็อกใต้ (กลุ่มด้านทิศใต้)   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 มิ.ย. 23, 18:21
ดังที่ อ.เทาชมพู ให้ความเห็นไว้

สังคมชนบทที่ดิฉันรู้จัก คือสังคมที่รู้จักกันหัวบ้านท้ายบ้าน   เป็นเครือญาติเกี่ยวดองกันเยอะ.....  ผิดกับสังคมเมืองที่ต่างคนต่างอยู่....
สังคมชนบทไม่ค่อยมีอะไรที่ปกปิดกันได้ ....

ในปัจจุบัน สภาพเช่นนี้ก็ยังคงเป็นอยู่  ที่จะต่างออกไปจากในอดีตก็คือ เดิมนั้นหมู่บ้านจะมีขนาดเล็ก ในระดับ 20-50 หลังคาเรือน แต่ในปัจจุบันนี้ส่วนมากดูจะอยู่ในระดับ 100-300 หลังคาเรือน   ซึ่งระดับของการขายตัวของชุมชน(ขนาดของหมู่บ้าน)ดูจะมีความสัมพันธ์กับช่วงของการฟื้นทางเศรษฐกิจหลังวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งและโควิด-19   เป็นลักษณะของการกลับมาทำมาหากินในพื้นที่บ้านเกิด ทั้งการกลับมาทำนา ทำสวน รับงานที่ตนเองมีความสันทัดทางฝีมือที่ได้มาจากการทำงานในอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ (skill)   ก็จึงไม่แปลกนักหากจะพบคนที่เราเห็นว่ามีบ้านที่มีอุปกรณ์และมีอาชีพทำนา แต่รับซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอีเล็กทรอนิกส์ (ทีวี โทรศัพท์มือถือ...)


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 มิ.ย. 23, 19:26
สังคมพื้นบ้านได้เปลี่ยนไป แต่ละหมู่บ้านได้ขยายใหญ่ขึ้นด้วยการกลับมาของลูกหลานและญาติโยม  ปู่ย่าตายายใช้ชีวิตอยุ่กับบ้าน พ่อแม่ยังคงใช้ชีวิตประจำวันลงสวน ไร่ นา และรับจ้างรายวัน    ฝ่ายลูกหลานก็เปิดร้านกาแฟบ้าง ร้านซ่อมเครื่องยนต์บ้าง รับงานเชื่อมบ้าง รับทำมุ้งลวดบ้าง รับคั่วเมล็ดกาแฟบ้าง หรือเข้าไปทำงานในเมือง ....

ในตลาดสดซึ่งแต่ก่อนนั้นมีแต่ผักพื้นบ้านไม่กี่ชนิดวางขาย  ในปัจจุบันก็มีพวกผักเมืองหนาวหลายชนิดวางขายมากขึ้น เช่น พวกผัก Cos ต่างๆ  เห็ดกระดุม (Champignon)  Avocado หลายสายพันธ์      บางช่วงเวลาก็มีผลไม้ ลูก Nectarine สด  ลูก Plum สด (ลูกไหน,ลูกพรุน)

ก็มีที่ประทับใจผมในหลายๆความรู้สึก คือ ได้ไปนั่งกินอาหารในร้านอาหารที่อยู่ห่างจากเมืองไปประมาณ 15 กม. โต๊ะอาหารตั้งอยู่ในพื้นที่สวนหลังบ้าน เป็นอาหารกลางวัน เป็นอาหารไทยฉบับนิยมของไทย (ลาดหน้า ผัดกะเพรา..) ใช้ผักปลอดสารที่ปลูกเองหลังบ้าน เครื่องปรุงและการจัดจานออกไปทางแฝงแนวคิดแบบ fusion   จานสลัดก็ใช้ผักปลูกเองและดอกไม้ แถมน้ำสลัดก็เป็นแบบทำเองด้วยการใช้ผลไม้เป็น base  อร่อยใช้ได้เลยครับ  น้ำผลไม้ก็ไม่ธรรมดา รสดีและรู้สึกสดชื่นทีเดียว   ก็ปรากฎว่า เชฟเป็นสาวจบระดับ ป.ตรี จาก Cordon Blue  ก็ไปใช้บริการมื้อกลางวันอยู่หลายครั้ง   ในสังคมที่เรียบง่าย ก็มีความเรียบง่ายที่มีอะไรๆที่ไม่สูงด้วยราคาแฝงอยู่เช่นนี้เหมือนกัน         


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 มิ.ย. 23, 18:30
แต่เดิม คนในแต่ละหมู่บ้านโดยส่วนมากจะเป็นญาติหรือมีความเกี่ยวดองกันฉันญาติที่มีความใกล้ชิดกัน  เติบโตขึ้นมาด้วยกัน เล่นด้วยกันมา หรือได้รับการเลี้ยงดู/ดูแลจากคนเดียวกัน (ผู้พี่, ฝากช่วยดูแล...)  แต่ในปัจจุบันก็มีคนที่เป็นเขย เป็นสะใภ้ และที่โยกย้ายเข้ามาอยู่อาศัยรวมอยู่ด้วย (เช่น ซื้อที่ดิน ปลูกบ้าน ทำสวน ทำไร่ในพื้นที่) ซึ่งก็มีความน่าสนใจเหมือนกัน เพราะพวกแปลกปลอมที่เข้ามาอยู่นี้ ส่วนมากจะเป็นพวกที่เคยสวมหัวโขนในระดับตัวนำของส่วนราชการ เมื่อถอดหัวโขนแล้วก็กลับลงสู่สามัญ ลงสู่ระดับอยู่คลุกกับชาวบ้าน พยายามแสวงหาการใช้ชีวิตที่สงบและเรียบง่าย ที่บวชเป็นพระจำวัด/จำพรรษาอยู่ที่วัดของหมู่บ้านก็มี   ในละแวกพื้นที่ๆผมไปอยู่และดำเนินชีวิตในแนววิถีชาวบ้านเป็นช่วงๆนี้ ก็มีทั้ง Celeb.และผู้มีชื่อเสียงโด่งดังมาใช้ชีวิตอยู่เป็นช่วงๆเช่นกัน

ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย จึงน่าจะพิจารณาได้ในสองรูปแบบ ซึ่งเป็นการมองในเชิงของการเปรียบเทียบ คือ เอาวิถีการดำเนินชีวิตของเราที่ดูวุ่นวาย ที่ต้องถูกกำหนดโดยกฎกติกาและ Ettiquette ทางสังคมเป็นที่ตั้ง เอาไปเปรียบเทียบกับภาพของการดำเนินชิวิตของผู้คนที่ได้เห็นเมื่อผ่านเข้าไปในพื้นที่ชนบทต่างๆ  ก็คือเห็นเขาเรียบง่าย   หรือมองในภาพของความรู้สึกภายในของเราว่าเรารู้สึกสงบและเรียบง่าย                 


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 มิ.ย. 23, 19:19
ด้วยที่ได้คลุกอยู่ในสังคมพื้นถิ่นมานานพอสมควร  ก็ได้เห็นภาพด้านหลังของสังคมชนบทที่เราเห็นภายนอกว่าดูเรียบง่ายนั้น ซึ่งก็มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย

ย้อนกลับไปว่า ในหนึ่งตำบลนั้นมีหลายหมู่บ้าน ที่ว่าผู้คนล้วนมีความเกี่ยวโยงกันในเชิงญาตินั้นก็จริงอยู่ แต่ภายในหลายๆตำบลนั้นก็มีหมู่บ้านที่เกือบจะไม่มีผู้คนโยงใยกันในเชิงญาติเลยก็มี  ซึ่งก็มีเหตุผลและที่มาที่ไปอยู่พอสมควร   ส่วนมากแล้วหมู่บ้านเหล่านี้มักจะเป็นหมู่บ้านเกิดใหม่ เกิดมาจากการแบ่งเขตการปกครองตามนัยของกฎหมายเกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่นและเรื่องอื่นใด (สภาพภูมิประเทศ จำนวนประชากร สภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ ...)  ในหลายๆกรณีแต่ละหมู่บ้านก็มีความต่างกันที่สามารถโยงไปถึงพื้นที่ต้นทางที่อพยพมาอยู่อาศัย  ตัวอย่างที่พอจะกล่าวถึงก็เช่น หมู่บ้านในพื้นที่ตำบลของบางอำเภอของจังหวัดในภาคเหนือของไทย (ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา) ในภาคอีสาน (สกลนคร นครพนม สุรินทร์ บุรีรัมย์...) ในภาคกลาง (ราชบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี...) ในภาคใต้ (ระนอง ยะลา นราธิวาส...) 

ก็น่าจะพอนำไปสู่ภาพของความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประเทศไทยเราที่มีความต่างกันลงไปได้ถึงในระดับหมู่บ้าน         


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: unicorn9u ที่ 06 มิ.ย. 23, 09:54
อยู่ๆนึกถึงการทำบุญสลากภัต ขึ้นมาได้ เคยทำที่วัดแถวบ้านสมัยอยู่ต่างจังหวัดครับ
ไม่รู้เดี๋ยวนี้ยังมีอยู่ไหม


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 มิ.ย. 23, 18:03
งานบุญสลากภัต  ผมไม่คุ้นกับชื่อของงานบุญนี้ ต้องสอบถาม อ.กู๋ จึงรู้ว่าก็คืองาน 'บุญตาน(ทาน)ก๋วยสลาก' นั่นเอง    งานบุญรูปแบบนี้ดูจะนิยมจัดขึ้นในช่วงระหว่างช่วงปลายของการเข้าพรรษา ซึ่งเป็นช่วงที่เสร็จภารกิจของงานในภาคสนาม ก็เลยไม่ค่อยจะได้เห็น    ก็ยังมีงานบุญนี้อยู่นะครับ ในกรุงเทพฯที่เด่นดังก็ที่วัดเบ็ญจมบพิตร สำหรับวัดอื่นๆนั้นแทบจะไม่เคยได้ยินชื่อวันของงานบุญในลักษณะนี้เลย 

ในภาคเหนือนั้น ยังพบว่าในหมู่บ้านต่างๆที่มีวัดประจำหมู่บ้านยังคงมีงานบุญในลักษณะนี้เป็นประะจำทุกปี แต่จะมีการปรับให้เข้ากับสภาพของพื้นที่ (ภูมิประเทศ ลักษณะการกระจายและทัศนคติของชุมชน...) 

คงจะต้องใช้ภาพในอีกด้านหนึ่งเพื่อช่วยขยายให้เห็นภาพที่กล่าวถึงมานี้ 


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 มิ.ย. 23, 18:18
ลืมบอกกล่าวไปว่า เพื่อความเข้าใจมากขึ้น เรื่องราวของบุญสลากภัต(ตานก๋วยสลาก)นั้น อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็ปที่ผมลิ้งค์ใว้ให้ข้างล่างนี้ มีรายละเอียดที่ดีและเข้าใจง่าย ครับ

https://archive.lib.cmu.ac.th/full/T/2556/acma40956cp_ch4.pdf (https://archive.lib.cmu.ac.th/full/T/2556/acma40956cp_ch4.pdf)   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 มิ.ย. 23, 19:15
เป็นภาพที่ดูจะเป็นปกติที่เราจะเห็นว่า แต่ละหมู่บ้านมักจะมีวัดประจำหมู่บ้าน แต่ก็มีแบบที่บางหมู่บ้านมีหลายวัด ทั้งแบบหลายหมู่บ้านมีวัดร่วมกันวัดเดียว     วัดเหล่านั้นที่มีชื่อของวัดตามชื่อของหมู่บ้าน หรือมีชื่อตามชื่อของตำบล หรือมีการเปลี่ยนชื่อจากชื่อตามชื่อของหมู่บ้านไปเป็นชื่อที่ตั้งใหม่  ซึ่งชื่อใหม่ที่ดูจะนิยมกันก็คือ วัดเวฬุวัน   ซึ่งชื่อ วัดเวฬุวัน นี้มีการใช้ซ้ำกันอยู่มากทั้งภายในจังหวัดเดียวกัน และที่ใช้กันทั่วประเทศ

เมื่อมีวัด ก็ต้องมีพระ  ด้วยที่มีคนสละทางโลกบวชเป็นพระเป็นจำนวนน้อย วัดในพื้นที่ชนบทแต่ละวัดโดยส่วนมากก็เลยมีพระประจำอยู่น้อยองค์ ซึ่งหนักไปทางมีอยู่องค์เดียว แล้วมีเณรเป็นลูกวัดมากน้อยในแต่ละช่วงเวลา    ก็คงไม่ต้องเล่าความต่อไปนะครับว่า ในพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆก็จะมีจำนวนของพระในการประกอบพิธีไม่เหมือนดังที่เรา(ผู้เป็นคนเมือง)มีความคุ้นเคย  พิธีกรรมทางศาสนาหลายๆเรื่องจึงต้องมีการนิมนต์พระจากวัดอื่นๆในละแวกหมู่บ้านให้มาร่วมเพื่อให้ครบองค์คณะสงฆ์ตามเกณฑ์  ความไม่ครบเกณฑ์ของพิธีกรรมต่างๆก็จึงที่เกิดขึ้นเป็นปกติ    เรื่องหลายๆเรื่องก็จึงต้องเป็นเรื่องที่กระทำในภาพระดับตำบล           


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: unicorn9u ที่ 07 มิ.ย. 23, 10:13
ลืมบอกกล่าวไปว่า เพื่อความเข้าใจมากขึ้น เรื่องราวของบุญสลากภัต(ตานก๋วยสลาก)นั้น อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็ปที่ผมลิ้งค์ใว้ให้ข้างล่างนี้ มีรายละเอียดที่ดีและเข้าใจง่าย ครับ

https://archive.lib.cmu.ac.th/full/T/2556/acma40956cp_ch4.pdf (https://archive.lib.cmu.ac.th/full/T/2556/acma40956cp_ch4.pdf)   

ขอบคุณมากครับ อ่านดูแล้ว ของภาคเหนือจะมีพิธีรีตองเยอะกว่า ของทางภาคกลางที่่ผมเคยทำมาครับ
แต่ก็น่ายินดีว่าชาวเหนือยังรักษาประเพณีนี้ไว้ได่เป็นอย่างดีครับ


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 มิ.ย. 23, 18:41
ชุมชนในระดับหมู่บ้านจะมีประชากรทั้งเด็กและผุ้ใหญ่อยู่ในระดับประมาณ 500+/-    ในระดับตำบล โดยส่วนมากก็จะมีหมู่บ้านในระดับประมาณ 10+/- หมู่บ้าน  ในหนึ่งตำบลก็เลยมีประชากรรวมกันในระดับประมาณ 5,000+/- คน 

ด้วยที่จำนวนคนทั้งของแต่ละหมู่บ้าน และทั้งของแต่ละตำบลมีเป็นจำนวนค่อนข้างมาก แต่มีลักษณะของการตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยในลักษณะเป็นกระจุกๆ กระจายอยู่เป็นหย่อมๆ ก็จึงเป็นธรรมดาที่จะต้องมีผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลความมั่นคงของชีวิต (ทุกข์ สุข เกิด แก่ เจ็บ ตาย ความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน ภยันตรายและโรคภัยต่างๆ ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ...)  ก็เลยมีการกำหนดให้แต่ละหมู่บ้านต้องมีหัวหน้าผู้ดูแล เรียกกันตามภาษาทางราชการว่า ผู้ใหญ่บ้าน  โดยให้ชุมชนเป็นผู้ลงคะแนนเลือกตั้งกันขึ้นมา  คำว่าผู้ใหญ่บ้านนี้ ชาวบ้านในภาคเหนือนิยมจะเรียก แก่บ้าน หรือพ่อหลวง  สำหรับในภาคอื่นๆ ไม่มีความรู้ครับ    ตามกฎหมาย จะต้องมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านอีก 2 คน  คนหนึ่งให้ช่วยทำหน้าที่ในด้านการปกครอง อีกคนหนึ่งช่วยทำหน้าที่ด้านการรักษาความสงบ

ในความเป็นจริง ทั้งผู้ใหญ่และผู้ช่วยก็จะช่วยกันทำงานและส่อภาพของความร่วมมือกันในเกณฑ์ที่ดี ด้วยเพราะเป็นการเสนอตัวเข้ามาเลือกตั้งในลักษณะเป็นทีม   เมื่อมาจากการเลือกตั้งก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในการหาเสียง ผนวกกับเป็นการให้ได้มาด้วยอำนาจบางประการทั้งในทางรูปธรรมและนามธรรมในระดับหนึ่ง ก็เลยหนีไม่ค่อยจะพ้นจากใยแมลงมุมทางการเมืองในระดับต่างๆ ที่ต้องการขยายอุดมการณ์ ตรรกะความคิด ทัศนคติ ความเชื่อทางโลกและทางธรรม อิทธิพลทางการเมือง การได้ประโยน์ทางทรัพย์สิน (เชิง wealth ต่างๆ) ...    ก็หนีพ้นใยนั้นได้บ้าง ไม่ได้บ้าง มากน้อยต่างกันไป       


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 มิ.ย. 23, 19:33
ในระดับตำบลก็จะมีผู้ดูแลที่มีอำนาจหน้าที่คล้ายๆกับผู้ใหญ่บ้านอีกชั้นหนึ่ง เรียกว่า กำนัน ซึ่งจะตั้งผู้ช่วยได้ 2 คน เรียกว่า สารวัตรกำนัน  ซื่งก็คือลูกมือของกำนัน  เชื่อว่าคงจะไม่ค่อยได้ยินชื่อเรียกตำแหน่งนี้กัน

และก็มี 'แพทย์ประจำตำบล' ซึ่งก็คงจะไม่ค่อยจะได้ยินชื่อนี้เช่นกัน  ภารกิจของแพทย์ประจำตำบลก็เป็นไปตามชื่อตำแหน่งที่เรียก คือการช่วยดูแลเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ สุขอนามัย และโรคระบาดต่างๆ   แต่ดั้งเดิมมา แพทย์ประจำตำบลน่าจะเป็นผู้ที่มีความรู้ทางด้านการแพทย์แผนโบราณในระดับหนึ่ง ผมได้ทันอยู่ในช่วงเวลาที่ยังมีแพทย์ประจำตำบลปฏิบัติงานอยู่  ซึ่งมีทั้งที่เป็นผู้ที่มีความรู้ทางแพทย์แผนโบราณ รู้จักสมุนไพรต้นเป็นๆและการใช้ต่างๆ และผู้ที่มีความรู้ในระดับเป็นทหารเสนารักษ์     เชื่อว่าผู้ที่ทำหน้าที่เป็นแพทย์ประจำตำบลช่วงประมาณ พ.ศ.2500+/- น่าจะเป็นผู้ที่เคยเป็นทหารเสนารักษ์ที่ปฎิบัติภารกิจในช่วงสงครามเอเซียบูรพา  แพทย์ประจำตำบลในยุคนั้นดูจะมีภารกิจในด้านของสัตวแพทย์ด้วย

คนหนึ่งที่รู้จักและได้เคยสนทนาด้วยบ่อยครั้ง เป็นผู้ที่ให้ข้อมูลพื้นฐานในการนิพนธ์นวนิยายเรื่อง 'ล่องไพร'

คำว่าแพทย์ประจำตำบลดูจะค่อยๆเลือนลางหายไปในช่วงประมาณ พ.ศ.2520       


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 มิ.ย. 23, 17:41
เรื่องทางด้านการสาธารณสุขในระดับหมู่บ้านนี้ ก็มีเรื่องที่น่าสนใจอยู่เหมือนกัน   

ในสมัยก่อนนั้น จะมีผู้ดูแลแยกออกไปในบางเรื่องที่เกี่ยวกับผู้หญิงเป็นการเฉพาะ เรียกกันว่า 'หมอตำแย'   ชา่วบ้านสมัยก่อนเกิดมาด้วยฝีมือการทำคลอดของหมอตำแยเกือบทั้งนั้น  ท่านที่เป็นแพทย์คงจะนึกไปได้ไกลถึงบรรดาอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆที่ต้องเตรียมเพื่อใช้ เช่น กาน้ำหรือหม้อต้มน้ำร้อน กะละมัง ผ้านุ่งหรือผ้าซิ่น ผ้าสะอาด มีดสะอาดที่ผ่านการต้มในน้ำเดือด....  หลังจากการคลอดแล้วก็จะเห็นอุปกรณ์สำหรับการอยู่ไฟ เช่น เตาอั้งโล่ ตะแกรงปิ้ง ใบของต้นพลับพลึง ก้อนอิฐ ผ้าหนาๆ...     

ก็มีพัฒนาการต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ค่อยๆเปลี่ยนจากหมอตำแยไปเป็นพยาบาลผดุงครรภ์  เกิดมีการจัดให้มีที่ทำงานของพยาบาลผดุงครรภ์ ซึ่งดูจะมีแต่เฉพาะหมู่บ้านใหญ่ๆ หรือที่เป็นตัวตำบลที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองนัก หรือในตัวอำเภอ   พัฒนาต่อไปเป็นอนามัยตำบล/อำเภอ มีนางพยาบาลหรือบุรุษพยาบาลอยู่ประจำ ต่อไปเป็นสถานีอนามัย มีแพทย์ไปให้การรักษาตามวันและเวลาที่กำหนด  จนเป็นดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน คือเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งดูจะมีไม่ครบทุกตำบล (?) แล้วก็มีโรงพยาบาลประจำอำเภอต่างๆ  แล้วก็มีโรงพยาบาลที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์เพื่อรับการส่งต่อและให้ความช่วยเหลือในการรักษาโรคเฉพาะทางและโรคที่รักษายากๆ 

ภาพของพัฒนาการเหล่านี้ ดูจะเริ่มมีอัตราของการพัฒนาและของการขยายตัวที่ค่อนข้างจะมากและรวดเร็วตั้งแต่ช่วงประมาณ พ.ศ.2525 เป็นต้นมา 


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 มิ.ย. 23, 18:26
ยังเห็นภาพเก่าๆในเรื่องเกี่ยวกับโรคภัยใข้เจ็บนี้  ชาวบ้านที่อยู่ในรัศมีห่างจากโรงพยาบาล(น่าจะ)ประมาณ 20 กม. ต้องออกจากบ้านมาตั้งแต่ดึก เอาคนป่วยนั่งเกวียนมาโรงพยาบาล มากันเป็นกลุ่มสองสามเล่มเกวียน นัดกันเป็นเพื่อนเดินทาง   จอดเกวียนในสนามของโรงพยาบาล เอาวัวไปปล่อยให้พักกินหญ้าในทุ่งนานอกเขตโรงพยาบาล  ล้อมวงนั่งกินข้าวรอเวลาการตรวจ  คนป่วยก็มีทั้งเดินได้ มีที่ต้องอุ้ม มีที่ต้องล่าม เพราะเป็นโรคจิต หรือเป็นไข้มาลาเรียขึ้นสมอง ....   นึกถึงภาพในแต่ละวันของแพทย์หนึ่งหรือสองคน พยาบาลสามสี่คน กับคนไข้เป็นร้อย มีทั้งกรณี emergency ผ่าตัด คลอดลูก...

ก็เป็นภาพภายในสังคมที่ดูเรียบง่ายอีกภาพหนึ่ง 


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 มิ.ย. 23, 19:10
เมื่อมีผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และสารวัตรกำนัน ช่วยกันดูแลในเรื่องของ 'ความสงบสุข'  ซึ่งเป็นเรื่องในด้านของอำนาจในการปกครอง รัฐก็เลยจัดใ้ห้มีการตั้งกลุ่มชาวบ้านขึ้นมาอีกกลุ่มหนึ่ง เพื่อดูแลในด้านของการพัฒนา เรียกว่า อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล)  คณะบุคคลของ อบต.ก็ได้มาจากการเลือกตั้งเช่นกัน  โดยนัยก็คือหน่วยงานที่ดูแลในด้านของ 'ความสุขสบาย' ของชุมชน     ซึ่งก็น่าจะโดยนัยของเรื่องทางด้านความสุขสบายนี้   อบต.ต่างๆจึงได้รับการพยายามสนับสนุนให้ยกระดับเป็น 'เทศบาลตำบล' ซึ่งจะเป็นเรื่องในด้าน Institutional building  ที่โยงไปถึงด้านของการงบประมาณที่จะดีขึ้น  ซึ่งก็จะโยงต่อไปถึงในเรื่องของการการพัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆ (Capacity building) ทางด้านเศรษฐกิจและสังคม     


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 มิ.ย. 23, 19:06
อบต. โดยนลักษณะก็คือคณะกรรมการในระดับตำบล ที่มีหน้าที่ในเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานต่างๆ คล้ายกับงานของ กทม.แบบย่อขนาด  มีทั้งด้านการศึกษาด้วย 

เมื่อ อบต.เริ่มเบ่งบาน ก็เริ่มมีเรื่องแบบพ่อแง่แม่งอนกับกลุ่มงานด้านการปกครองตามมา ซึ่งก็คงยังมีอยู่จนในปัจจุบัน    อบต.มีงบประมาณในการดำเนินการต่างๆ  หากแต่การจัดสรรเพื่อการพัฒนาให้มีความเสมอภาคระหว่างหมู่บ้านต่างๆก็ดูจะมีปัญหาแล้ว  เพราะแต่ละหมู่บ้านต่างก็มีความแตกต่างกันในด้านกายภาพ สังคมและเศรษฐกิจพื้นฐาน  และมีความต้องการที่แตกต่างกัน   การสมานให้มีความเสมอภาคดูจะทำให้การดำเนินงานของ อบต. ออกไปในลักษณะของงานกระจุกกระจิกและกระจัดกระจาย    ผู้ใหญ่บ้านก็เลยจึงยังคงเป็นผู้นำที่ชาวบ้านพึ่งพามากที่สุดในเรื่องของการพัฒนาชุมชนของตน

ที่เล่ามาก็คงพอจะทำให้เห็นภาพของสังคมที่ต่างไปจากภาพที่ผู้คนประสงค์จะให้เกิดขึ้นกัน  ที่มีเป้าในด้านของการสร้างเสริมพื้นฐานของความพร้อมและความมั่นคงสำหรับโอกาสของการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในองค์รวม (ศักยภาพสำหรับการพัฒนาตนเอง)  แต่กลับกลายเป็นเครื่องมือเพื่อใช้ในด้านของอำนาจและการเมือง   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 มิ.ย. 23, 19:15
ก็เห็นว่า ภาพที่เล่ามานั้นเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาพในอีกด้านหนึ่งที่ทำให้เราเห็นว่าชนบทนั้นเป็นสังคมที่เรียบง่าย ภาพแรกก็คือ การอยู่ร่วมกันอย่างสงบและมีความสามัคคี


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 มิ.ย. 23, 18:37
เมื่อต้องดำเนินการพัฒนาชุมชนด้วยตัวของตัวเอง จะทำได้ก็จะต้องมีความสามัคคี ซึ่งหมายถึงว่าการจะกระทำการใดๆ ชาวบ้านต้องมีความเห็นพ้องกันเป็นส่วนใหญ่ สถานที่ๆจะใช้ถกกันก็คือ ศาลาประชาคม หรือใช้ศาลาวัด    แต่ก่อนนั้นจะเห็นศาลาประชาคมที่มีลักษณะเป็นโรงเรือนมีหลังคา และมีป้ายคำว่าศาลาประชาคม แม้จะเห็นไม่มากนัก แต่ภาพดังกล่าวนี้ดูจะไม่เห็นเลยหลังจากประมาณ พ.ศ.2520 เป็นต้นมา   แต่ก็ยังคงมีสถานที่ๆชุมชนของหมู่บ้านเลือกใช้เป็นการเฉพาะสำหรับการชุมนุม การประชุม หรือการทำประชาคม รวมทั้งใช้เก็บอุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนกลางของหมู่บ้าน  ผู้ใหญ่บ้านจะทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม การประชุมจะมีบ่อยครั้งหรือไม่อย่างไรก็ขึ้นอยู่กับเรื่องที่จะมี ซึ่งวาระหลักๆก็จะมีเรื่องของทางราชการ  ข่าวสารบางเรื่อง การพัฒนาหมู่บ้าน เรื่องของความร่วมมือต่างๆทางสังคม   การประชุมมีได้ทั้งช่วงเวลากลางวันหรือในตอนเย็นหลังหกโมงเย็นไปแล้ว ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม คือให้รบกวนน้อยช่วงเวลาของการไปสวน ไปไร่ ไปนา หรือการไปทำมาหากิน   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 มิ.ย. 23, 17:50
ประชาคม กับ ประชาพิจารณ์

ทำประชาคมเป็นศัพท์ที่ชาวบ้านใช้กัน  ทำประชาพิจารณ์เป็นศัพท์ที่ชาวเมืองและทางราชการใช้กัน  น่าสนใจนะครับว่าทั้งสองการกระทำนี้มีความเหมือนกันหรือมีความต่างกันอย่างไร  ทิ้งไว้ตรงนี้เพื่อลองพิเคราะห์กันดูนะครับ   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 มิ.ย. 23, 19:02
แต่ละหมู่บ้านต่างก็ล้วนมีเรื่องที่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบดูแล และส่งเสริมพัฒนาให้มันมีความก้าวหน้าและมีความยั่งยืนยิ่งๆขึ้นไปด้วยกำลังของตนเองเพื่อประโยชน์ในองค์รวมของผู้คนที่อยู่ในหมู่บ้านนั้นๆ ก็มีเช่นเรื่องของการดำเนินการตามนโยบายของรัฐเพื่อความมั่นคงในด้านต่างๆ (สาธารณสุข ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อาชีพการงาน น้ำสะอาด ประปาหมู่บ้าน .....)  ซึ่งผู้ดำเนินการเกือบทั้งหมดจะมาร่วมด้วยช่วยกันดำเนินการในลักษณะของอาสาสมัคร  มีกลุ่มคนที่เป็นแกนหลักจริงๆอยู่ไม่กี่คน แต่มีคนมากมายที่สามัคคีเข้ามาช่วยแบบไม่ต้องมีการข้อร้องใดๆ ตัวอย่างก็เช่นกรณีของ อสม.(อาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน)+ชาวบ้าน ที่เป็นกองกำลังช่วยกันสู้กับโรคระบาดโควิด-19    อพปร.(อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน)+ชาวบ้าน    คณะกรรมการวัดของหมู่บ้าน ....

ก็มีหลายภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคของชุมชนที่ช่วยกันสร้างสรรขึ้นมา (เช่น ระบบประปาหมู่บ้าน ระบบประปาภูเขา  ระบบคลองส่งน้ำกลางเพื่อการเกษตร ระบบการสูบน้ำบาดาลด้วยไฟฟ้าหรือด้วยเครื่องยนต์ ...)  ก็จะดำเนินการในรูปของคณะกรรมการ  มีการสมัคร มีการเลือกตั้งกัน ซึ่งด้วยภารกิจนี้มีเรื่องของเงินเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากมีการเก็บค่าใช้ ก็เยต้องมีการตรวจสอบโดยประชาคม 


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 มิ.ย. 23, 17:47
ก็มีเรื่องอื่นเช่น มีหมู่บ้านที่ผู้คนช่วยกันสละรายได้เล็กๆน้อยๆตามกำลัง จัดตั้งอาสาสมัครทำหน้าที่เป็นหน่วยลาดตระเวน/ยาม/หน่วยเคลื่อนที่เร็ว ใช้รถมอเตอร์ไซด์นั่งซ้อนกันเป็นคู่ วิ่งตระเวณเดี่ยวบ้าง เป็นคู่บ้าง หรือหลายคันบ้าง ขึ้นอยู่กับพื้นที่และสภาพการณ์ข่าว  ผู้ที่เป็นอาสาสมัครเกือบทั้งหมดจะเป็นคนหนุ่มสาวและวัยกลางคน  ที่ผมเองได้สัมผัสอยู่ก็เป็นกลุ่มคนจำนวนประมาณ 30+ คน จัดแบ่งกันกลุ่มเป็นเวรทำงานของแต่ละวัน  เริ่มจับกลุ่มทำงานกันตอนหัวค่ำ มีการประชุมฟังสรุปเรื่องและประเด็นที่พึงเน้นการให้การเพ่งเล็ง การสอดส่อง ติดตาม ฯลฯ     การดำเนินการได้ทำให้ปัญหาเรื่องการโจรกรรม ลักเล็กขโมยน้อย ได้หายไปหมดเลย หากจะมีก็เกือบจะรู้ได้เลยว่าเป็นการกระทำของคนนอกหมู่บ้านหรือมาจากถิ่นอื่น    เรื่องเกี่ยวกับยาเสพติดก็ทุเลา เกือบจะไม่ปรากฎเป็นปัญหาหลักของชุมชนเช่นแต่เดิม   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 มิ.ย. 23, 19:24
ที่เล่ามาก็คงพอจะเห็นภาพของกิจกรรมของชุมชนในบางเรื่องในเชิงที่เกี่ยวกับความมั่นคง ที่ต้องมีการดำเนินการในแต่ละหมู่บ้าน  ซึ่งก็จะมีทั้งลักษณะที่เป็นนโบายของทางราชการ/มาจากทางราชการ และลักษณะที่เป็นนโยบายของผู้นำชุมชนที่มีความเห็นชอบร่วมกัน   

ในด้านทางสังคมและทางประเพณีและวัฒนธรรมก็มีมากเช่นกัน  กิจกรรมที่จะนึกออกกันในทันทีก็จะเป็นเรื่องของวันสำคัญทางศาสนาและงานบุญต่างๆ  วันสงกรานต์  วันยี่เป็ง  งานตาน(ทาน)ข้าวใหม่  งานปอยหลวง และงานปอยต่างๆ ฯลฯ  และเรื่องของงานเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทิตา เรื่องของงานฉลองวันสำคัญต่างๆ 

ก็น่าจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจทีเดียวในการบริหารจัดการในเรื่องเหล่านี้โดยผู้คนของแต่ละหมู่บ้านที่มีจำนวนประมาณ 500++ คน ที่สามารถยังให้เกิดผลแบบ fruitful  แม้จะดูอุดมไปด้วยเรื่องที่วุ่นวาย  แต่ภาพที่เราเห็นภายนอกกลับเป็นภาพที่สะท้อนออกมาในอีกภาพหนึ่งที่ทำให้เราเห็นว่าเป็นสังคมที่สงบสุขและเรียบง่าย    ผู้คนก็ยังตื่นแต่เช้ามืดไปทำงานในเรือกสวนไร่นา กลับมาบ้านห้าหกโมงเย็น อาบน้ำกินข้าว เข้าประชาคม เข้านอนประมาณสองทุ่ม ตื่นขึ้นมาตีสามตีสี่ ไปทำงานต่อ เป็นวัฎจักร       


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 มิ.ย. 23, 19:23
ภาพของโครงสร้างของหมู่บ้านในเชิง institutional framework ที่กล่าวมาก็น่าจะพอสำหรับการขยายความในเรื่องวิถีชีวิตของชาวบ้านในวันต่างๆ (ภาพเชิง a day in a life)

ประมาณตี 3 ตี 4 เป็นช่วงเวลาปกติที่ชาวบ้านส่วนมากจะตื่นนอน ลุกไปทำธุระส่วนตัว ส่วนเด็กในวัยเรียนโดยทั่วไปก็จะตื่นในเวลาประมาณตี 5     ช่วงเวลาดังกล่าวนี้ดูจะเป็นเวลามาตรฐานของชาวบ้านโดยทั่วไป  ซึ่งดูจะมีสาเหตุมาจากเรื่องของความคุ้นเคยที่กระทำต่อๆกันมารุ่นต่อรุ่น   แต่ก่อนนั้นส้วมจะสร้างอยู่นอกบ้าน ห่างจากตัวบ้านออกไปประมาณ 5+ เมตร การไปทำธุระในช่วงเวลาดึกดื่นนั้นรู้สึกไม่ค่อยปลอดภัย ก็เลยต้องกลั้นใว้บ้างจนเวลาใกล้ฟ้าสาง และก็ด้วยที่เข้านอนเมื่อเวลาประมาณ 2-3 ทุ่ม เพราะเหนื่อยมาจากการทำงาน  เมื่อนอนได้ประมาณ 6-7 ชม. ก็ถือว่านอนได้เพียงพอและรู้สึกว่านอนเต็มอิ่มแล้ว ก็ตื่นมาดูวัวควายและสัตว์เลี้ยงอื่นใด ออกไปดูไร่นาพร้อมกับทำธุระส่วนตัวในขณะที่ฟ้ายังมืดอยู่

กิจกรรมในช่วงเวลาเช้ามืดใกล้ฟ้าสางนี้มีอยู่หลายลักษณะ เช่น เข้าไร่สวนเพื่อดูความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำของธรรมชาติ ไปดูกับดักสัตว์ ไปเก็บพืชผักผลไม้เพื่อเอามาทำอาหารหรือนำไปขายในตลาดเช้า ไปนาเพื่อดูเรื่องของน้ำ (ปรับระดับน้ำเข้าออกนา)...    ฝ่ายแม่บ้านส่วนมากก็จะหุงหาอาหารสำหรับลูก (ทั้งอาหารเช้าที่บ้านและอาหารเที่ยงนำติดตัวไปโรงเรียน)  สำหรับอาหารของสามีนั้น จะกลับมากินก็เมื่อเวลาค่อนข้างสายมากแล้ว หรือไม่ก็เตรียมเพื่อนำไปส่งให้เป็นอาหารเช้าควบเที่ยง_brunch .....         


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 มิ.ย. 23, 19:07
ใช้คำว่า ไปทำธุระส่วนตัว ซึ่งเป็นภาษาแสลงที่มีความสุภาพมาก  ทำให้นึกถึงคำว่า ไปทุ่ง ที่ชาวบ้านภาคกลางใช้กัน หรือ ไปโต้ง ที่ชาวบ้านภาคเหนือใช้กัน

ผมค่อนข้างจะคุ้นเคยกับภาพของการไปทำธุระตอนเช้าในพื้นที่ชนบท เพราะตัวเองก็ต้องทำเช่นนั้นเมื่อครั้งยังออกทำงานภาคสนาม  จะดีกว่าชาวบ้านก็ตรงที่เราใช้กระดาษชำระ ต่างกับชาวบ้านที่ใช้กิ่งไม้หรือใบไม้เมื่อเสร็จธุระ       กระดาษชำระสมัยก่อนนั้นจะมีใช้กันเฉพาะบ้านบางบ้านและตามร้านอาหารบางร้านในเมือง เรียกกระดาษชำระนั้นว่า กระดาษฟาง  ชื่อก็น่าจะสื่อเรื่องที่เกี่ยวข้องต่างๆได้เป็นอย่างดีแล้วนะครับ

ส้วมของบ้านที่อยู่นอกบ้านก็เป็นส้วมหลุม บางบ้านก็มีเพียงไม้ 2 แผ่นวางพาดที่ปากหลุม มีฟากไม้ไผ่สานกั้นเป็นห้องสี่เหลี่ยม บางแห่งก็เปิดโล่งไม่ทำหลังคา เป็นเรื่องที่ไม่สนุกเลยเมื่อต้องทำธุระในช่วงกลางคืน   ก็คงพอจะนึกออกว่าการไปทุ่งในตอนเช้าจะรู้สึกผ่อนคลายและสบายกว่าเช่นใด  ภาพนี้เริ่มหายไปจากพื้นที่ในชนบทเมื่อประมาณ พ.ศ.2515 เปลี่ยนสภาพเป็นส้วมซึมที่ใช้โถส้วมแบบนั่งยองๆ พร้อมๆไปกับเริ่มเห็นภาพชาวบ้านเดินแบกจอบในช่วงเวลาฟ้าเริ่มสาง   แล้วภาพเหล่านี้ก็หายไปเกือบสิ้นเชิงในช่วงเวลาประมาณ 10 ปีต่อมา ซึ่งแสดงถึงการเอาจริงเอาจังในการพัฒนาด้านสุขอนามัยของไทยจนประสบผลสำเร็จทั่วประเทศไทย  เรื่องของการควบคุมโรคไข้มาลาเรียก็เช่นกัน และที่ไม่ค่อยจะรู้กันก็คือโรคเท้าช้าง ก็มีการไปเจาะเลือดกันถึงในพื้นที่ชายแดน(มิใช่เฉพาะในภาคใต้) ซึ่งจะต้องทำการเจาะเลือดเฉพาะในเวลากลางคืนอีกด้วย  รู้แต่เพียงว่าโรคเท้าช้างนี้เกิดมาจากพยาธิชนิดหนึ่งที่ทำงานในเวลากลางคืน แะฝังตัวอยู่ได้นานเป็นสิบปีก่อนจะออกอาการ  ที่เรียกว่าโรคเท้าช้างก็เพราะส่วนใหญ่เกิดที่บริเวณใต้เข่าลงไป แต่ก็มีที่มันไปเกิดที่บริเวณอัณฑะ เป่งโตออกมาได้เต็มขันน้ำเลย               


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 มิ.ย. 23, 18:04
ภารกิจเมื่อยามฟ้าเริ่มสางของชาวบ้านส่วนมากจะจบลงไปเมื่อกลับมาบ้านในช่วงเวลาประมาณ 8-9 โมงเช้า  มีไม่มากนักที่จะกลับมาบ้านในช่วงประมาณเวลาพระฉันเพล หรือหายไปเลยทั้งวัน ขึ้นอยู่กับแต่ละช่วงเวลาของปี    ในสมัยก่อนโน้น (สมัยที่ถนนทางหลวงยังเป็นถนนลาดยางที่ใช้วิธีการบดอัดก้อนกรวดหรือหินปูนแล้วราดยางมะตอยปิดทับลงไป โรยด้วยทรายที่ผิวหน้าอีกทีหนึ่ง แล้วบดอัดให้แน่น) ภารกิจในช่วงเวลาที่กล่าวถึงนี้น่าจะจัดได้ว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตนเองและครอบครัวโดยแท้จริง เรื่องที่จะต้องทำอื่นๆนอกจากธุระส่วนตัวและที่ได้กล่าวถึงแล้วก็จะมี เช่น เอาวัวหรือควายไปผูกหรือไปปล่อยให้กินหญ้า ไปไถนาพรวนดินสักรอบหนึ่ง  หาบน้ำใส่ตุ่มเพื่อใช้ในในบ้าน ...   โดยนัยก็คืองานต่างๆที่พึงต้องหลบแดดหลบร้อน

ในปัจจุบันนี้ ภาพในเชิงของงานก็ยังไม่ต่างไปจากเดิมมากนัก   จากการเดินก็เป็นการใช้มอเตอร์ไซด์หรือรถกระบะ  จากการพาวัวควายออกไปทำงาน ก็เป็นการใช้ควายเหล็กหรือรถแทรกเตอร์  จากเดิมที่กลับมากินข้าวบ้าน ก็เปลี่ยนไปเป็นแบบห่อไปกินหรือเอาไปส่ง 

เมื่อดูช่วงเวลาของภารกิจยามเช้า ก็จะเห็นว่าโอกาสที่ชาวบ้านจะกลับมาอยู่ที่บ้านหรืออยู่ในพื้นที่หมู่บ้านพร้อมๆกันก็หลังจากเวลาประมาณ 9 โมงเช้าไปแล้ว


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 มิ.ย. 23, 18:41
ช่วงเวลาประมาณ 10 โมงเช้าถึงเที่ยง จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับงานทางด้านสังคมที่คนทุกคนในหมู่บ้านสามารถมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทางราชการ เรื่องของความร่วมมือในระดับตำบลหรือในระหว่างหมู่บ้าน และเรื่องที่เกี่ยวข้องหรือยังผลต่อทุกคนในหมู่บ้านของตนเอง

งานทางด้านสังคมที่กล่าวถึงนี้เป็นงานใน 2 ลักษณะ คือ ลักษณะแรก เป็นการประชุม/หารือ/ตัดสินใจ  ลักษณะที่สองเป็นการรวมพลร่วมกันทำงาน   ทั้งนี้ สำหรับกิจกรรมด้านการหารือหรือการตัดสินใจใดๆนั้น(ทำประชาคม) ส่วนมากจะกระทำกันในช่วงเวลาหลังอาหารเย็นไปแล้วคือเริ่มเวลาประมาณ 1 ทุ่ม


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 มิ.ย. 23, 19:08
การนัดประชุมที่เราคุ้นเคยกันตามปกตินั้น จะกระทำกันโดยมีหนังสือแจ้งถึงตัวบุคคล จะมีการแจ้งสถานที่และเวลาพร้อมกับวาระและเอกสารประกอบการประชุมแนบมาด้วย   ในแบบหมู่บ้าน จะไม่มีหนังสือเชิญหรือเรียกประชุม แต่ใช้วิธีการประกาศด้วยเครื่องขยายเสียงผ่านหอกระจายช่าวของหมู่บ้าน    หอกระจายข่าวนี้น่าจะมีในเกือบทุกหมู่บ้านที่มีไฟฟ้าเข้าถึง หรือมีการปั่นไฟฟ้าใช้เองเป็นการเฉพาะกิจ  แต่จะมีการใช้ให้เกิดประสิทธิผลดังเป้าประสงค์ที่ตั้งขึ้นมาเช่นใดนั้น คิดว่าไม่ ด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการ คืออุปกรณ์เสียหรือไม่สามารถใช้งานได้(เพราะขาด....)  กับเรื่องของสาระข่าวสารที่จะค้ดมาออกมาป่าวประกาศนั้น มีประโยชน์หรือไม่ก้บชุมชนหมู่นั้นๆมากน้อยเช่นใด   ทั้งนี้ แม้ว่าหอกระจายข่าวจะมีกันในระดับหมู่บ้าน ก็เคยเห็นว่า ในระดับในระดับอำเภอก็มีอยู่เช่นกัน (กระทั่งในปัจจุบัน)

ภาระในเรื่องของการกระจายข่าวผ่านทางหอกระจายข่าวนี้เป็นของผู้ใหญ่บ้าน  แต่ก่อนนั้น จะมีหรือไม่มีข่าวสารหรือการนัดประชุมใดๆ หอกระจายข่าวก็จะส่งเสียงของนาฬิกาจากสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยเมื่อเวลา 8.00 น.ตรง ดังจนเพลงชาติจบลง ทุกวัน  และอาจจะแถมการถ่ายทอดข่าวต่อไปอีกสักสามสี่นาที  ก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องและพึงกระทำ อย่างน้อยก็ในเรื่องของเวลาอ้างอิง   ก็มีที่มีการใช้วิธีการเปิดวิทยุให้เสียงดังลั่นในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งพบได้มากตามหมู่บ้านเล็กๆที่อยู่ห่างไกลใกล้ชายแดน

ที่เล่าความมา ก็คงพอจะทำให้นึกไปถึงภาพต่อเนื่องต่างๆได้อีกมากมาย เช่น ด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ด้านความมั่นคง ด้านการเมือง...  ซึ่งก็เห็นว่าเรื่องที่กระทำต่างๆในอดีตและที่ยังคงมีหลงเหลืออยู่เหล่านั้น ดูจะตั้งอยู่ในภาคของการป้องกัน (defensive minded) มากกว่าในด้านของภาคการเพิ่มโอกาส (offensive minded) 


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 มิ.ย. 23, 19:19
ก็มีการใช้หอกระจายข่าวในเชิงของการสรุปเรื่องราวของวาระเพื่อการพิจารณาเรื่องที่จะประชุมให้ความเห็นกัน   เสียงจากหอกระจายข่าวโดยทั่วไปจะได้ยินในสองช่วงเวลา คือในช่วงเวลาประมาณเที่ยงวัน และในช่วงเวลาประมาณ 5 โมงเย็น  โดยส่วนมากก็มักจะเป็นในช่วงเวลาเย็น  สำหรับในเวลากลางวันนั้น ดูจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแม่บ้าน และเรื่องที่ต้องการให้แม่บ้านบีบ ( ;D) ให้พ่อบ้านต้องไปประชุม ห้ามหนีประชุม 


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 มิ.ย. 23, 17:59
ที่จริงแล้ว ในกรุงเทพฯในปัจจุบันนี้ก็ยังมีระบบหอกระจายเสียงให้เห็นอยู่ ไม่มีสภาพตั้งเป็นหอหรือการตั้งเสาเพื่อติดตั้งลำโพง หากแต่เป็นการติดลำโพงไว้ที่ปลายเสาไฟฟ้าในพื้นที่ชุมชนที่มีผู้คนอาศัยอยู่ค่อนข้างมาก พบเห็นได้ตามชุมชนในพื้นที่ของเขตต่างๆ หลายๆแห่งได้ใช้วัดเป็นจุดกระจายเสียง แต่จะส่งเสียงเพียงตอนเวลา 8 โมงเช้าพร้อมเพลงชาติแล้วก็หยุด แต่ก็มีอีกเช่นกันที่บางเขตใช้ช่วงเวลาสั้นๆนี้บอกข่าวสารที่สำคัญ ซึ่งที่ได้ยินก็จะเป็นข่าวด้านสาธารณสุข เช่น เรื่องโรคระบาด หรือการเชิญชวนให้ไปฉีดวัคซีน ภาพในกรุงเทพฯนี้ดูจะพบเห็นได้ตามวัดที่มีการติตลาดสดเช้า   

ทั้งมวลที่ได้เล่ามานั้น ก็คงเป็นเรื่องหนึ่งที่พอจะเป็นตัวบ่งชี้ในด้านคุณภาพของความเป็นผู้ใหญ่บ้าน หัวหน้าชุมชนหรือเขต  ซึ่งเป็นการทำงานด้วยใจและรู้รับผิดชอบโดยไม่ต้องมีฉากแสดง   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 มิ.ย. 23, 18:43
ด้วยที่เรื่องราวยังเกี่ยวพันอยู่ในช่วงของเวลาเช้า ก็เลยขอออกไปเรื่องของตลาดสดในตอนเช้า

ผมเชื่อว่าทุกท่านที่ตื่นแต่เช้ามืดได้ และสามารถออกไปเดินเที่ยวในตลาดสดตอนเช้าในช่วงเวลาประมาณตีห้าครึ่งได้ จะต้องชอบกันทุกคน ตลาดสดเช้าและตลาดสดบ่ายในระดับหมู่บ้านจะไม่น่าสนใจ เพราะจะมีแผงขายของอยู่น้อยมาก  ของที่ขายส่วนมากจะเป็นพวกเครื่องปรุงที่ขาดมือ เช่น ผักชีใบเลื่อย(ผักชีฝรี่ง) ลูกมะกอก และของแห้งต่างๆ....     

ตลาดสดที่น่าสนใจจะเป็นของระดับตำบลและของอำเภอห่างไกล ซึ่งก็มีลักษณะจำเพาะบางประการ คือมักจะมี 2 สถานที่ เป็นตลาดที่ติดในตอนเช้าที่หนึ่ง ติดในตอนเย็นอีกที่หนึ่ง

ขอหลบฝนก่อนครับ 


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 มิ.ย. 23, 18:01
ทั้งตลาดเช้าและตลาดเย็นจะมีลักษณะเป็นตลาดสดที่มีการขายทั้งของสดและอาหาร แต่ก็มีความแตกต่างกันค่อนข้างจะมาก

ตลาดสดเช้าส่วนมากจะเป็นตลาดที่ขายของกันภายใต้หลังคาของโรงเรือน  หากเป็นตลาดในเมือง (ตัวจังหวัดหรือตัวอำเภอ) และในหมู่บ้านใหญ่ที่เป็นจุดเชื่อมต่อของการเดินทางระหว่างหลายชุมชนในพื้นที่กับเมือง  ตลาดพวกนี้ก็จะมีลานพื้นที่ๆจอดรถ หรือมีพื้นที่ข้างทางที่พอจะจอดรถได้มากๆคัน  ตัวตลาดก็จะเป็นตลาดสดของเทศบาลหรือของอำเภอ ตลาดมีลักษณะเป็นกึ่งตลาดขายส่ง อาหารที่ขายในตลาดที่เป็นอาหารแบบสำเร็จรูปจะมีน้อย จะเป็นอาหารประเภทสั่งแล้วนั่งกินเสียมากกว่า   อาหารสำเร็จรูปที่วางขายส่วนมากจะออกไปทางเป็นอาหารแบบแห้งที่เหมาะกับการพกพาเพื่อการเดินทาง หรือเป็นกับข้าวสำหรับมื้ออาหารกลางวัน

ตลาดเช้าเป็นตลาดที่น่าเดินมาก อย่างน้อยก็เพราะเป็นช่วงเวลาอากาศกำลังเย็น  และก็เห็นว่า ในช่วงเวลาประมาณ 6+/- โมงเช้าดูจะเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุด ตัวเราเองตื่นมาแต่เช้าเมื่ออากาศกำลังสดชื่น ออกไปเดินตลาด ก็เหมือนกับไปเดินออกกำลังกายแบบเบาๆ  ในฝ่ายแม่ค้าเองก็อยู่ในช่วงเวลาที่ได้จัดวางของขายเป็นระเบียบเรียบร้อยตามที่ต้องการและพร้อมขายแล้ว ผัดหน้าทาแป้งพอเหมาะแล้ว ใจก็สบาย หายอารมณ์เสีย  ก็จึงเป็นเวลาที่เหมาะที่เรากับแม่ค้าจะพบกัน คุยกัน สอบถามกัน เรียนรู้สาระเรื่องราวบางเรื่องระหว่างกัน .... ถูกใจกันก็ได้ของแถม ได้ราคาของที่ถูกลง หรือไม่ก็ถูกหลอกแบบสนิทใจไปเลย

ที่น่าสนใจก็คือ ในพื้นที่บริเวณชายขอบของตลาดเช้าเหล่านี้ จะมีร้านอาหารเจ้าอร่อยของพื้นที่ตั้งอยู่ ซึ่งอาหารของร้านเหล่านี้ดูจะเป็นอาหารที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว (signature) แม้ว่าจะเป็นอาหารตามปกติแบบที่ขายกันที่วๆไป 


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 มิ.ย. 23, 18:58
ในตัวจังหวัด  ในปัจจุบันนี้ อาหารปรุงสดที่เราจะเห็นขายเป็นปกติในพื้นที่รอบๆตลาดสดเช้าก็จะเป็นพวก ต้มเลือดหมู(ต้มเครื่องในหมู) โจ๊ก และปาท่องโก๋ ซึ่งเป็นภาพกลางๆในพื้นที่ภาคเหนือ  ในภาคใต้ดูจะมีอาหารหนักเพิ่มขึ้นมา เช่น ข้าวมันไก่ และข้าวเหนียวห่อหน้าต่างๆที่กินไปพร้อมกับกาแฟ และดิ่มซำ   ในพื้นที่แถบภาคตะวันตกก็จะมีพวกอาหารหนักเป็นหลัก ออกไปทางพวกข้าวราดแกงต่างๆ     ก็คงพอจะเป็นภาพเล็กๆน้อยๆที่สื่อให้เห็นถึงลักษณะทางสังคมและลักษณะของกิจกรรมในด้านเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค  กรณีของภาคเหนือจะออกออกไปในทางการรับผู้คนต่างถิ่น  ส่วนในภาคใต้และภาคตะวันตกก็จะออกไปในทางด้านของภาคการผลิต     


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 มิ.ย. 23, 20:11
ตลาดสดเช้าในเมืองและระดับอำเภอใหญ่นั้น แต่ก่อนก็ไม่มีอาหารปรุงสดขาย  คิดว่าเริ่มเห็นเป็นประเภทรถเข็นที่มีการตั้งโต๊ะสำหรับนั่งกินอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในช่วงประมาณ พ.ศ.2520+    ก่อนนั้น จะมีแต่แผงในตลาดสดหรือข้างตลาดที่ขายไข่ลวก กาแฟ และขนมปังปิ้งทาเนย(มาการีน)  อาหารเช้าสำหรับฝ่ายชายที่ไปเดินตลาดหรือไปนั่งสมาคมกับเพื่อนฝูงที่ตลาดเช้าในสมัยนั้น ดูจะนิยมเป็นไข่ลวก 2 ฟอง ปาท่องโก๋ 2-3 ตัว จิ้มนมข้นหวาน และกาแฟดำร้อนที่เรียกว่า 'โอยั๊วะ' หรือกาแฟใส่นมข้นหวาน บางคนก็นิยมขนมปังทาเนยปิ้ง ซึ่งบ้างก็ให้โรยน้ำตาลทรายขาวด้วย ได้เวลาพอประมาณแล้วก็กลับบ้านเพื่อแต่งตัวหรือเพื่อกินอาหารเช้าที่แม่บ้านทำให้ก่อนที่จะออกไปทำงาน

ก็น่าจะเป็นอีกภาพหนึ่งของวิถีชีวิตและสังคมที่เรียบง่าย ต่างคนต่างก็มีกิจกรรมและภาระที่เป็นของตัวเอง รู้ขอบเขต ไม่ยกเรื่องใดๆขึ้นมาให้เป็นประเด็นเพื่อการแข่งขันกัน ไม่เคยเห็นพ่อค้าแม่ค้ามีอารมณ์เกรี้ยวกราดต่อกัน เห็นมีแต่การทักทายสอบถามทุกข์สุขของคนในครอบครัว สภาพนี้ก็ยังคงเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 มิ.ย. 23, 19:18
ตลาดเย็นก็เป็นตลาดที่น่าสนใจ เมื่อตลาดสดเช้าซาไปแล้ว ก็มักจะเปลี่ยนสภาพ แปรไปเป็นตลาดเครื่องอุปโภค (เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ในครัวเรือน ...)  พ่อค้าแม่ค้าที่ขายของและทำอาหารขายช่วงเย็น ก็เลยหนีไปตั้งแผงขายกันขางถนน นานเข้าก็แปรสภาพเป็นถนนคนเดินกลายๆ ซึ่งในที่สุดก็ทำให้เป็นถนนคนเดินจริงๆด้วยการปิดถนน ณ วันเวลาที่กำหนด  กลายเป็นวันสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะได้ลิ้มลองอาหารพื้นบ้านและซื้อของกินของใช้ประเภท OTOP

ตลาดเย็นในระดับตำบล ในปัจจุบันนี้ ส่วนมากก็จะวางแผงขายของอยู่ในโรงเรือนมีหลังคา   ที่น่าสนใจก็จะพวกอาหารสำเร็จรูปพื้นบ้านที่ต้องใช้เวลาในการทำ สำหรับนักชิมก็น่าจะเข้าใจได้ดีว่า ผัดแกงหลายชนิดที่ว่าอร่อยนั้น หลายชนิดจำเป็นต้องทอดระยะเวลาให้เครื่องรสต่างๆมันเข้าเนื้อ แม้ว่ามันจะสุกเต็มที่แล้วก็ตาม ช่วงเวลาบ่ายแก่ๆจึงดูจะเหมาะสม  เช่น แกงส้มจะมีรสที่นุ่มนวลอร่อยกว่าเมื่อแกงเสร็จใหม่ๆ โดยเฉพาะเมื่อได้ค้างหม้อมาสักหนึ่งคืนแล้ว  แกงขนุนอ่อน  แกงไตปลา แกงมัสมั่น ต้มมะระซี่โครงหมู  แกงอ่อม... เหล่านี้ก็ใช่      ลืมไปครับ นึกถึงแกงคั่วสับปะรดกับไข่แมลงดาทะเลแล้วใส่เห็ดเผาะลงไปด้วย ก็เป็นของอร่อยสุดๆไปเลย ก็ด้วยเช่นกัน   ช่วงแรกเริ่มของฤดูฝนทุกปี จะเป็นฤดูของเห็ดเผาะ ปีนี้มีน้อย ราคาสูงมาก กิโลฯละหลายร้อยบาทมาก ค่อนไปทางหลักพันบาทเลยทีเดียว   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 มิ.ย. 23, 18:30
แต่ก่อนนั้น ตลาดสดเช้ามีความคึกคักมากกว่าตลาดเย็น  ด้วยที่ตลาดอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับท่าจอดรถระหว่างอำเภอ เป็นที่มีผู้คนมาก จึงมีสภาพเป็นพื้นที่ทางด้านการสังคมของชุมชน เป็นพื้นที่สำคัญด้านการสื่อสารข่าวสารและเรื่องราวต่างๆสำหรับผู้คนที่อยู่ทั้งใกล้และไกล พอเวลาประมาณ 10 โมงเช้า บรรดาพ่อค้าแม่ค้าก็จะเริ่มทะยอยเดินทางกลับบ้านพร้อมกับข่าวสารและความคืบหน้าของเรื่องราวต่างๆของวันที่ผ่านมา

ผมชอบเดินตลาดเช้าในต่างจังหวัดเมื่อครั้งยังต้องเดินทางออกไปทำงานในพื้นที่ต่างๆ เหตุหนึ่งก็คือ การเตรียมสะเบียง   อีกเหตุหนึ่งคือ การหาข้อมูลข่าวสารและประเมินสถานการณ์ต่างๆเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการรับสภาพการณ์ต่างๆทั้งที่เป็นในเชิงบวกและเชิงลบ   อีกเหตุหนึ่งก็คือ ได้มีโอกาสคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ที่มานั่งขายของ ซึ่งแต่ละครั้งก็ได้เรียนรู้ ได้ขยายความรู้เพิ่มเติมในเรื่องที่เกี่ยวกับวิถีและการดำเนินชีวิตของคนพื้นถิ่น ความเหมือน/ความต่างของพวกเขาเหล่านนั้น (ปรัชญา แนวคิด อาหารการกิน ...)  และเรื่องสุดท้ายก็คือ ได้ทำบุญด้วยไถ่ชีวิตสัตว์บางชนิดที่ยังมีชีวิตที่ถูกจับเอามาขายเพื่อเอาไปทำเป็นอาหาร เอาไปปล่อยสู่ธรรมชาติ   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 มิ.ย. 23, 18:58
ปัจจุบันนี้ ผมชอบเดินตลาดเย็นมากกว่า  มีขายทั้งอาหารสำเร็จรูปและของสดต่างๆ   ความน่าสนใจก็คือ มีพืชผักที่ชาวบ้านปลูกใว้สำหรับกินเอง เอาส่วนเกินหรือที่กินไม่ทันนั้นมาวางขาย ก็เลยมีราคาที่ถูก สด และไร้ยา  และเป็นของที่ผ่านการคัดมามาในระดับหนึ่ง  มิใช่ในลักษณะของที่ต้องรีบเก็บแข่งกับเวลา(ให้ทันฟ้าสาง) หรือที่ต้องเก็บค้างคืนเพื่อนำมาขายในตลาดเช้า

ตลาดเย็นมีลักษณะออกไปทางตลาดที่ทุกคนเร่งรีบจะซื้อของ ทำให้เสร็จธุระโดยเร็วเพื่อจะได้ไม่ต้องกลับถึงบ้านเมื่อฟ้ามืดแล้ว จึงเป็นตลาดที่มีการสังคมน้อยมาก 


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 มิ.ย. 23, 19:23
ก็มาถึงภาพของวิถีของชุมชนและของชาวบ้านในช่วงเวลาสายถึงช่วงเวลาอาหารกลางวัน  เห็นว่าน่าจะจำแนกออกได้เป็น 4 กลุ่มเรื่อง คือ กลุ่มของเรื่องความร่วมมือในการพัฒนาชุมชน  กลุ่มของเรื่องประเพณีและงานบุญ  กลุ่มของเรื่องทางราชการ  และกลุ่มของเรื่องภาระการต่างตอบแทน


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 มิ.ย. 23, 18:52
เกือบลืมเรื่องการบิณฑบาตรและการใส่บาตร

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าพระจะออกบิณฑบาตรในตอนเช้า ซึ่งการใส่บาตรของผู้คนก็จะทำกันด้วย 4 วิธีการ คือ ใส่แต่ข้าวในบาตร แล้วเอากับข้าวตามไปส่งให้ที่วัด โดยชาวบ้านจะจัดบ้านเวรเพื่อทำหน้าที่ทำกับข้าวและนำไปถวายที่วัด   วิธีที่สอง ใส่ทั้งอาหารคาวและของหวานในบาตร โดยการค่อยๆใส่แต่ละอย่างไล่เรียงกันไป เป็นวิธีที่เกือบจะไม่เห็นว่ามีทำกันวันวันปกติ เห็นแต่ทำกันในวันที่มีพิธีทางศาสนาที่มีการจัดขึ้นมา   วิธีที่สาม จัดชุดอาหารใส่ถุงครบทั้งคาวและหวาน แล้วใส่บาตรถวายไปทั้งถุง ซึ่งเป็นวิธีนิยมของผู้คนในกรุงเทพฯและในเมืองใหญ่ต่างๆในปัจจุบัน    และวิธีที่สี่ ใช้วิธีการถวายปัจจัย ซึ่งดูจะพบวิธีการนี้แต่เพียงในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็มีทั้งแบบใส่ซองเตรียมพร้อมไว้ และแบบควักออกจากกระเป๋าในเวลานั้น นัยว่าเตรียมตัวไม่ทันหรือไม่พร้อม ณ เวลานั้น (กระทันหัน ...)

ภาพที่สวยงามและยังให้เกิดความรู้สึกอิ่มบุญและอิ่มใจของชาวพุทธ ก็ดูจะเป็นภาพเมื่อวันวาน(แต่ก่อนโน้น)ของการเดินบิณบาตรของพระ ซึ่งดูจะมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้น้อย ภาพในลักษณะเช่นนี้ดูจะยังคงเห็นอยู่ในพื้นที่ภาคอิสาน   

ทางภาคเหนือตอนบน  แต่ก่อนนั้น เมื่อช่วงเวลาประมาณตีห้าถึงแปดโมงเช้า จะได้ยินเสียงฆ้อง สักพักก็จะเห็นเด็กลูกศิษย์วัดเดินตีฆ้องนำหน้าแถวพระและเณรที่เดินตามมา ตามปกติก็ประมาณห้าหกองค์   ภาพนี้ไม่เหลืออยู่ให้เห็นอีกแล้ว และก็เป็นเวลานานมามากแล้วด้วย น่าจะเป็นหลังจากประมาณ พ.ศ.2500 เป็นต้นมา


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 มิ.ย. 23, 19:55
ภาพของพระเดินบิณฑบาตรที่เล่ามานั้น เป็นภาพในตัวเมืองและตามหมู่บ้านบางแห่งที่จำได้นะครับ  เมื่อแถว พ.ศ.นั้น ผมเองก็ยังเด็กอยู่มาก ได้เห็นและจำได้ก็เพราะเคยอยู่และต้องเดินทางผ่านเพื่อเข้ากรุงเทพฯมาเรียนหนังสือ   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 มิ.ย. 23, 18:53
วันนี้มาเข้ากระทู้ช้าเพราะต้องจัดกรงนกและหาอาหารให้นกแก้ววัยกำลังโต ไม่รู้หลงมาจากใหน มาเกาะอยู่ที่ต้นกุหลาบดูจะตลอดบ่าย ส่งเสียงร้องบ้าง ตกเย็นจึงเห็นว่าเป็นนกแก้วมาเกาะอยู่ ก็เลยเอาตัวเขามาใส่กรง ออกไปหาซื้อเมล็ดทานตะวันมาให้เขา หิวโซเลยทีเดียวครับ เชื่องมาก รู้เลยว่าเป็นนกเลี้ยงมาตั้งแต่เป็นลูกนกตัวเล็กๆ  แล้วก็รู้ว่าเจ้าของเค้าคงจะรักมันมากเช่นกัน เพราะมีกำไลลงหมายเลขสวมไว้ที่ข้อเท้า (เป็นนกที่มีทะเบียน)  ก็จะพยายามตามหาเจ้าของคนที่เลี้ยงเขามา คงจะไม่ยากนัก 

ก็รู้สึกเป็นสุขและมีความสุขใจที่บ้านของเราเป็นที่ร่มรื่นและปลอดภัยสำหรับสัตว์ที่หลงทางจะหลบมาพักรักษาตัว มาสะสมแรงเพื่อกลับไปใช้ชีวิตตามธรรมชาติของเขาต่อไป   เมื่อช่วงปลายปีที่แล้วเป็นลูกนกเขาชวา ก็เลี้ยงไว้จนมีขนเต็ม แลัวก็ปล่อยให้เป็นอิสระ เขาก็แวะมาเยี่ยมเยียนอยู่บ้าง เมื่อโตเต็มที่ก็เหมือนกันหมดทุกตัวก็เลยจำเขาไม่ได้  ก็น่าจะลงมาพร้อมกับฝูงนกที่ลงมากินอาหารตอนบ่ายๆก่อนแยกย้ายกันกลับรังไปนอน


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 มิ.ย. 23, 19:27
การใส่บาตรในภาคอิสานดูจะมีรูปแบบเฉพาะที่กระทำกันทั่วทั้งภาค คือพระเดินเรียงกันเป็นแถวตามอาวุโส ชาวบ้านใส่บาตรโดยปั้นข้าวเหนียวก้อนหนึ่งใส่ลงในบาตร กับข้าวที่จะฉันพร้อมข้าวจะมีบ้านเวรทำไปถวายที่วัด 

วิธีการใส่บาตรแต่เพียงข้าว ส่วนกับข้าวคาวหวานนำไปถวายที่วัดนี้ ดูจะเป็นวิธีการปกติที่เห็นได้เช่นกันในหมู่ชาวมอญที่เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดนทางตะวันตกของไทย 

สำหรับในพื้นที่ภาคกลาง เท่าที่ได้เห็นมาดูจะมีวิธีการคละกันไปหมด 


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 มิ.ย. 23, 19:25
ภาพของพระเดินเรียงกันเป็นแถวบิณฑบาตร เป็นภาพในลักษณะหนึ่งที่ให้ความรู้สึกได้ถึงความสงบของสิ่งแวดล้อมทั้งด้านทางกายภาพและด้านจิตใจ    ในพื้นที่ภาคกลางซึ่งเต็มไปด้วยแม่น้ำคูคลอง จะมีอีกภาพหนึ่ง คือพระพายเรือออกบิณฑบาตร  ภาพลักษณะนี้ ในปัจจุบันนี้คิดว่าน่าจะยังพอเห็นได้บ้างในบางจุดในพื้นที่ๆมีวัดตั้งอยู่ติดชายฝั่งแม่น้ำ เช่น แม่น้ำน้อย แม่น้ำสะแกกรัง และคลองขุดที่ขุดในสมัยสมัยต้นถึงกลางยุครัตนโกสินทร์    ภาพพระพายเรือบิณฑบาตรที่ยังมีให้เห็นแน่ๆก็น่าจะอยู่ในละแวกแพรกคลองต่างๆในพื้นที่ อ.อัมพวา  แต่จะเป็นการใช้เรือในอีกลักษณะหนึ่งที่ไม่เหมือนกับเรือที่พระในสมัยก่อนใช้กัน ที่เรียกว่า 'เรือบด'   เรือบดเป็นเรือที่สร้างขึ้นมาเป็นการเฉพาะ มีขนาดเล็กมาก พระนั่งได้เพียงรูปเดียว

ในพื้นที่ป่าเขาก็มีที่พระที่ออกบิณฑบาตรด้วยการใช้ม้าเป็นพาหนะ   เคยเห็นเมื่อหลายสิบปีมาแล้วที่หมู่เหมืองปิล็อก อ.ทองผาภูมิ บริเวณเส้นเขตชายแดนไทย-พม่า   สำหรับในปัจจุบันนี้ก็ทราบว่ามีที่มีการใช้ม้าเป็นพาหนะอยู่ในพื้นที่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย    และก็มีอีกภาพหนึ่งที่พระใช้วิธีการเดินทางด้วยรถเพื่อไปเดินบิณฑบาตรตามหมู่บ้านที่ไม่มีวัดที่อยู่ค่อนข้างห่างไกล ซึ่งก็จะมีการนัดวันกันล่วงหน้าเพื่อการตักบาตร

การใส่บาตรในเวลาประมาณ 10 โมงเช้าก็มีเหมือนกัน เรื่องของเรื่องก็เกิดในพื้นที่ๆมีการทำเหมืองแร่ดีบุก  ก็คงจะเป็นโรคทางประเพณีที่ติดต่อกันมาว่า ตื่นแต่เช้ามืดกินกาแฟแก้วเดียว แล้วออกไปทำงานหน้าเหมือง กลับบ้านมากินข้าวเช้า (เป็น brunch) ตอนประมาณ 10 โมง ทำให้ไม่มีคนใส่บาตรในตอนเช้า อีกทั้งชาวเหมืองก็ยังไม่มีของพร้อมจะใส่บาตร เพราะทั้งมวลยังอยู่ในช่วงของการเตรียมการและทำการปรุงอาหารสำหรับเวลา 10 โมงเช้า  ก็เป็นการปรับความเหมาะสมให้คนกับวัดสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุขและเกิดความสมดุลย์ระหว่างทางโลกกับทางธรรม   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 มิ.ย. 23, 18:58
ก็มาถึงภาพของวิถีของชุมชนและของชาวบ้านในช่วงเวลาสายถึงช่วงเวลาอาหารกลางวัน  เห็นว่าน่าจะจำแนกออกได้เป็น 4 กลุ่มเรื่อง คือ กลุ่มของเรื่องความร่วมมือในการพัฒนาชุมชน  กลุ่มของเรื่องประเพณีและงานบุญ  กลุ่มของเรื่องทางราชการ  และกลุ่มของเรื่องภาระการต่างตอบแทน

กลุ่มเรื่องเหล่านี้ต่างก็มีวาระงานของมัน หลายๆวาระงานถูกกำหนดขึ้นมาเป็นปฏิทินงานประจำในระดับประเทศที่พึงจะต้องมีการจัดงานร่วมด้วย หลายวาระงานเป็นเพียงการประชุมตามระเบียบหรือกฎเกณฑ์  หลายๆงานเป็นงานที่ต้องทำเร่งด่วน  หลายๆงานเป็นเรื่องที่ต้องมีการเตรียมการล่วงหน้าเป็นเวลาค่อนข้างนาน  ในขณะเดียวกัน แต่ละผู้คนก็มีวาระงานของตนเอง ทั้งในลักษณะที่ตนเองสามารถปรับและเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตนเอง และที่เป็นเรื่องเร่งด่วน ต้องรีบไปทำการแก้ไขความเสียหายที่เกิดมาจากกระบวนการทางธรรมชาติ

ก็คือ ย่อมเกิดกรณีของความขัดแย้งในเรื่องของประโยชน์อันพึงได้ต่างๆ


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 มิ.ย. 23, 19:56
เขียนเล่าความแบบตะกุกตะกักมาสักพัก รู้สึกว่านั่งเล่าให้ฟังจะง่ายกว่า  นึกออกว่าน่าจะลองใช้วิธีการเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับคนที่เป็นชาวบ้านบุคคลหนึ่งในวันหนึ่งๆ เพื่อการสื่อให้เห็นภาพ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวผม


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 มิ.ย. 23, 19:57
ขอเริ่มต้นด้วยการลงไปสำรวจดูด้านรายจ่ายของชาวบ้าน

ในเชิงรายวัน ค่าใช้จ่ายส่วนมากจะเป็นเรื่องของอาหารประเภทเนื้อสัตว์สด โดยเฉพาะเนื้อหมู  เรื่องเงินค่าขนมสำหรับลูกไปโรงเรียน ค่าระบบการสื่อสาร (โดยเฉพาะโทรศัพท์) ...

ในเชิงรายเดือน รายจ่ายพื้นฐานก็จะมีเรื่องค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา(ประปาหมู่บ้าน) ค่าน้ำมันรถและสำหรับเครื่องยนต์เกษตรกรรม  ค่าปุ๋ยและเคมีทางการเกษตร ...

ในเชิงฤดูกาลก็จะมี เรื่องที่เกี่ยวกับงานบุญต่างๆ วัฒนธรรมประเพณี ...

ในเชิงรายปีก็จะเป็นเรื่องของการใช้จ่ายในการเตรียมการ (ไถพรวน ...) เพื่อเพาะปลูกพืชไร่ นา สวนต่างๆ 

สุดท้ายก็เป็นค่าใช้จ่ายทางสังคมที่เป็นเรื่อง/งานจรทั้งหลาย เช่น งานศพ งานกีฬาระหว่างหมู่บ้าน ...     


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 มิ.ย. 23, 18:35
กระบวนคิดเรื่องรายได้และรายจ่ายนี้  โดยทั่วๆไปดูจะมีใน 3 ลักษณะ คือ คิดในลักษณะของการได้มา-จ่ายไปแบบหมุนเวียน เป็นลักษณะของคิดแบบการค้าขาย    ลักษณะที่สอง คิดในลักษณะของการสะสมรายได้เพื่อให้ได้มากถึงระดับที่สามารถจะใช้จ่ายตามยอดค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นเป็นประจำในแต่ละปี    และคิดในลักษณะที่สาม เป็นการหารายได้ให้ได้มากพอสำหรับการใช้จ่ายให้สามารถอยู่รอดในแต่ละวัน ทุกวัน ทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน

แนวคิดแรกจะเป็นแนวคิดหลักสำหรับผู้หญิงเกือบจะทุกคนที่เป็นแม่บ้าน ก็จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเห็นผู้หญิงเป็นฝ่ายที่ออกเดินเก็บผักป่า เก็บเห็ดป่าต่างๆ  ลงห้วยลงหนองหากุ้ง หอย ปู ปลา  เดินส่องกบ เขียด อึ่งอ่าง หลังฝนหยุดตกแล้วในเวลาค่ำคืน

แนวคิดที่สอง เป็นแนวคิดของผู้ชายเกือบทั้งหมด ก็เพราะเป็นฝ่ายที่ต้องดำเนินการในเรื่องของรายได้จากผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งแต่ละเรื่องทางการเกษตรล้วนมีช่วงเวลาบังคับให้ต้องมีการใช้จ่ายในลักษณะเป็นเงินก้อน เป็นลักษณะของการลงทุนที่มีภาคบังคับ  ยิ่งทำการเกษตรหลายอย่างก็จะยิ่งต้องคิดให้รอบคอบและมีความวุ่นวายมากขึ้น  ทั้งนี้ เรื่องของการทำนาจะเป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องมีการดำเนินการสำหรับทุกครัวเรือน   

สำหรับแนวคิดที่สามนั้น มีอยู่ 2 ลักษณะ คือ ในลักษณะของการยึดเป็นอาชีพรับจ้างทำงานรายวัน  และในลักษณะของรับทำงานรายวันในวันที่ตนเองว่าง(จากการต้องไปทำสวนทำนา ....)  คนที่ยึดอาชีพรับจ้างรายวันจริงๆไม่ค่อยจะพบเห็นกันในแต่ละหมู่บ้าน เกือบทั้งหมดจะเดินทางไปทำงานในต่างพื้นที่   ที่จะพบก็จะเป็นในลักษณะของการรับจ้างเมื่อมีวันว่าง   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 มิ.ย. 23, 19:21
ก็คงพอจะสื่อให้เห็นภาพได้ว่า  หลักคิดของชาวบ้านโดยทั่วไปจะอยู่ในลักษณะของแนวคิดที่สอง ซึ่งเป็นลักษณะของการคิดบนพื้นฐานของรายได้แบบรวมเป็นรายปี ผนวกกับรายได้ในลักษณะแรกและลักษณะที่สามซึ่งเป็นรายได้ในลักษณะของ Petty cash (ในระบบบัญชีใช้คำว่าเงินสดย่อย)  ต่างกับหลักคิดของชาวเมืองที่จะมองรายได้ในลักษณะของรายเดือนแล้วใช้วิธีบริหารการใช้จ่ายแบบค่อยๆทยอยแบ่งจ่ายสำหรับแต่ละเรื่อง

ทั้งนี้ สำหรับรายได้ลักษณะที่สามของชาวบ้านนั้น หากเป็นการทำงานต่อเนื่องกันเป็นช่วงเวลาหลายสัปดาห์ ก็จะนิยมรับเป็น 'วิก' ซึ่งก็คือ 'วีค' (week) เป็นลักษณะของรายได้ต่อสัปดาห์  ซึ่งก็เป็นสิ่งที่แสดงถึงความสมบูรณ์พอประมาณของชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านของหมู่บ้านที่เราเห็นนั้นๆ   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 มิ.ย. 23, 19:24
ก็คงจะสื่อให้เห็นภาพที่มาของรายได้หลักประจำปีของชาวบ้านว่า ส่วนมากก็จะได้มาจากการทำนา เพื่ออย่างน้อยก็จะได้มีข้าวกินเองอย่างพอเพียงในแต่ละปี ก็มีที่ได้มาจากการปลูกพวกพืชล้มลุกและที่ได้มาจากพวกพืชสวน ซึ่งก็จะมีทั้งที่เป็นในลักษณะของรายได้หลักและที่เป็นรายได้เสริม    ด้วยที่ว่าเรื่องของผลิตทางการเกษตรจะได้ผลเช่นใด มันเกี่ยวข้องกับสภาพทางภูมิอากาศและการดูแลบำรุงรักษา  ก็สื่อความว่ามันมีค่าใช้จ่ายที่ต้องมีในแต่ละช่วงเวลา  ทุนก็จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งผลให้ชาวบ้านสามารถดำรงชีวิตได้อย่างที่พอจะมีความสุขได้ในแต่ละปี     
 
ที่เล่ามาก็น่าจะพอสื่อความให้คิดต่อไปได้อีกมากเรื่อง เช่นในเรื่องด้านของกระบวนการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนสภาพของการดำรงชีวิตจากสภาพ การพอมี-พออยู่ ไปเป็นสภาพของ การอยู่ดี-กินดี   ซึ่งก็มีกระบวนวิธีคิดต่างๆกัน อาทิ บ้างก็ใช้การจำนำผลิตผล บ้างก็ในด้านการประกันรายได้ บ้างก็ในด้านการตลาด บ้างก็ในด้านการสหกรณ์ ....    เชื่อว่า มีเป็นจำนวนน้อยที่จะคิดในด้านของการเข้าถึงแหล่งทุน ด้านของแหล่งและกระบวนการเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง ด้านของโอกาสเข้าถึงในเชิงนวัตกรรม....         


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 มิ.ย. 23, 19:06
ขอขยายความเรื่องของเหตุที่ใช้คำพูดว่ารายได้หลักมาจากการทำนา รายได้จากการทำไร่ทำสวนเป็นรายได้เสริม   ภาพนี้เป็นภาพของชาวบ้านที่อยู่นอกระบบชลประทาน เกษตรกรรมที่ทำทั้งหลายจะได้ผลผลิตหรือไม่ และจะมากน้อยเพียงใด จะขึ้นอยู่กับฟ้าฝนและฤดูกาลตามธรรมชาติที่นิยมเรียกกันง่ายๆว่า นาน้ำฟ้า  ซึ่งเป็นสภาพโดยส่วนใหญ่ของภาคเหนือ อีสาน และขอบแอ่งภาคกลางตอนบน

ผืนที่ดินทำนาแต่ดั้งเดิม รุ่นพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย นั้น  แต่แรกก็น่าจะมีอยู่ในระดับประมาณ 20-50 ไร่  เมื่อมีการแบ่งสมบัติ ผืนนาสำหรับลูกหลานแต่ละคนก็จะเล็กลง  แต่ละคนก็จะได้ปริมาณข้าวปลูกน้อยลง รายได้ก็น้อยลงตามกันไป   เพื่อจะหารายได้เพิ่มบนพื้นฐานของการทำนา ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องขยายพื้นที่การทำนา ซึ่งทำได้สองวิธีการ คือ หาซื้อนาของผู้อื่นเพิ่มเติม หรือไม่ก็ต้องหักร้างถางพงทำให้เป็นพื้นที่ๆสามารถทำนาได้ ซึ่งด้วยที่ทำนาข้าวมีลักษณะ/คุณสมบัติจำเพาะ การจะหักร้างถางพงเพื่อขยายพื้นที่ผืนนาจึงมีความจำกัดและเป็นไปได้น้อยมาก  พื้นที่ๆหักร้างถางพงจึงมีสภาพการใช้งานออกไปทางการทำพืชไร่หรือพืชสวนเสียมากกว่า  ซึ่งจะเป็นไร่หรือเป็นสวนก็ไปขึ้นอยู่กับลักษณะของพื้นที่และดิน  ทั้งนี้ พื้นที่หักร้างถางพงของแต่ละคน ดูจะอยู่ในระดับน้อยกว่า 10 ไร่  ขนาดพื้นที่มากกว่านี้ดูจะเป็นของผู้ที่อยู่ในระดับผู้มีอันจะกิน 

ก็เป็นภาพพอสังเขปเมื่อประมาณ 30+ปีที่ผ่านมา จากนั้นภาพที่กล่าวมานี้ก็จางหายไปเป็นหย่อมๆ แปรสภาพจากการทำไร่ทำสวนเพื่อช่วยเพิ่มรายได้ ไปเป็นการทำไร่ทำสวนเพื่อการได้มาซึ่งรายได้หลัก ก็คือการทำเกษตรกรรมเพื่อป้อนผลผลิตสำหรับตลาด niche market เช่น แป้งท้าวยายม่อม กระเจี๊ยบ วาซาบิ พืชสมุนไพรต่างๆ....

จะเป็นเช่นใดก็ตาม ภาพแต่ดังเดิมก็คงยังมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 มิ.ย. 23, 19:23
เรื่องที่น่าจะคิดก็คือ อะไรจะดีกว่ากันระหว่างรายได้แบบน้ำซึมบ่อทรายกับรายได้แบบเป็นก้อนใหญ่ปีละครั้ง 

ในปัจจุบัน ชาวบ้านแต่ละครอบครัวจะมีนาเหลือให้ทำอยู่ประมาณไม่เกิน 10 ไร่ ซึ่งเมื่อแตกออกเป็นในเชิงของแต่ละบุคคล ก็ดูจะมีนาข้าวกันในระดับประมาณ 2-3 ไร่ต่อคนเป็นส่วนใหญ่  โดยพื้นๆแล้ว ข้าวจากนาประมาณ 2 ไร่ จะพอเพียงสำหรับการบริโภคทั้งปีของครอบครัวหนึ่ง ก็แสดงว่ามีผลผลิตข้าวเหลือพอที่จะขายได้มากโขอยู่ ซึ่งเมื่อประเมินรายได้โดยใช้ฐานข้อมูลอย่างหลวมๆแบบไม่หักค่าใช้จ่ายค่าลงทุนและค่าแรงงานอันพึงมี...ผลผลิตข้าวต่อไร่ได้ประมาณ 500 กก.ข้าวเปลือก ราคาขายข้าวเปลือก กก.ละ 10 บาท  ก็หมายความว่าเจ้าของจะมีรายได้ในเกณฑ์ประมาณ 40,000-50,000 บาทต่อปี   เมื่อจะหารายได้เพิ่มจากผืนนาเดิมด้วยการใช้วิธีการทำนาซ้ำ ก็หมายถึงต้องทำนาซ้ำอีกเป็นครั้งที่ 2 หรือครั้งที่ 3 ในรอบหนึ่งปี (ซึ่งจะทำได้ก็เฉพาะในพื้นที่ๆอยู่ในเขตชลประทาน)  หรือจะใช้วิธีเปลี่ยนการปลูกพืชอื่นใดในผืนนา หรือจะไปหาพื้นที่อื่นเพื่อปลูกพืชไร่หรือพืชสวน

>แทรก...กรณีแล้งน้ำของชาวบ้านที่อยู่ในเขตหรือนอกเขตชลประทานมีความแตกต่างกัน คำว่าแล้งซ้ำซากก็จึงต่างกัน  ทั้งมวลไปขึ้นอยู่กับว่าจะพูดถึงกันบนพื้นฐานใด ระหว่างการขาดแคลน(ไม่มี)น้ำสำหรับการใช้ในชีวิตประจำวันของผู้คน หรือการขาดแคลนน้ำ(มีไม่เพียงพอ)ที่จะใช้ในกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจดังที่เคยมี เช่น ไม่สามารถทำนาได้ปีละ 2 หรือ 3 ครั้งเหมือนเดิม ...

พระเอกของรายได้แบบน้ำซึมบ่อทรายอย่างหนึ่งก็คือ การปลูกยางพารา  ใช้เวลาให้มันโตประมาณ 6-7 ปี แล้วก็กรีดเอาน้ำยางของมันได้เกือบจะทุกวันและเกือบจะทั้งปี  อื่นๆก็มีเช่น มะละกอดิบ(ส้มตำ) มะกรูด มะนาว ชะอม หอยขม กล้วยน้ำว้า ผักเชียงดา ผักพาย(ตาลปัตรฤๅษี) มะเขือส้ม การเลี้ยงโคนม ....
 


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ก.ค. 23, 19:18
ผมมองว่า สังคมที่เรียบง่ายเป็นสังคมของชุมชน(หรือผู้คน)ที่ใช้ชีวิตสอดคล้องไปกับครรลองของธรรมชาติบนฐานของความชัดเจน(แบบเหรียญสองด้าน) ไม่นิยมอะไรๆที่มีลักษณะเป็นสีเทา  เป็นลักษณะสังคมแบบของพหุภาคี (ช่วยกันคิดช่วยกันทำ)   และก็เห็นว่าความเรียบง่ายนั้นมันมีและคงอยู่ได้ก็เพราะชุมชนยังคงมีจิตสำนึกในด้านคุณธรรมและยังคงมีภาคปฏิบัติในเรื่องที่เกี่ยวกับจริยธรรม ประเพณี และวัฒนธรรม

เรื่องชู้สาว เรื่องการตบตีระหว่างสามีภรรยา และเรื่องของการรังแกข้ามเพศ เป็นเรื่องที่เกือบจะไม่เกิดขึ้นเลย  แต่เรื่องของผู้ญิงคนนี้หรือผู้ชายคนนั้นที่เคยเป็นสามีภรรยากัน มีลูกด้วยกัน แล้วเลิกกัน แยกกันไปแต่งงานใหม่กับอดีตสามีภรรยาของคนนั้นคนนี้ กรณีเช่นนี้ได้เห็นเป็นภาพปกติ เห็นเขานั่งคุยกันเป็นปกติธรรมดา ก็เป็นลักษณะทางสังคมอย่างหนึ่งของชาวบ้านในหมู่บ้านหนึ่งๆ   ฝ่ายชายก็ยังคงทำหน้าที่เหมือนเดิมคือ เป็นฝ่ายลงแรงหารายได้ ได้เงินมาก็ส่งให้ฝ่ายหญิงเก็บ (ก็มีที่แอบแบ่งส่วนแยกเก็บไว้เอง)  ฝ่ายหญิงก็ทำหน้าที่ในเรื่องของการหุงหาข้าวปลาอาหาร และดูแลสัตว์เลี้ยงที่บ้านหรือที่คอกในไร่/สวน (ไก่ หมู ....)


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.ค. 23, 19:30
ทราบกันดีอยู่แล้วว่า  คนที่เรียกตนเองว่าเป็นคนไทยล้วนมีครรลองตามจารีตประเพณีและวัฒนธรรมที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษ แม้ว่าเรื่องของจารีตประเพณีเหล่านั้นจะตั้งอยู่บนฐานที่มาที่ต่างกันก็ตาม ต่างก็ล้วนยอมรับและในบางกรณีก็ร่วมด้วย   

ก็มีข้อสังเกตว่า เรื่องของจารีตประเพณีนั้น มีความหมายสองนัยปนกัน คือ ในเชิงของวาระ และ ในเชิงของการกระทำ     ในเชิงของวาระนั้นก็จะมีทั้งในลักษณะที่เป็นวาระในระดับประเทศ ในระดับจังหวัด และในระดับของชุมชน เช่น วัน....ต่างๆ      ในความหมายเชิงของการกระทำนั้น ส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของระเบียบพิธีกรรมต่างๆ

กำลังนำเรื่องเข้ามาสู่ประเด็นในเรื่องของภาษีสังคม ครับ แต่จะต้องขอพักไว้ตรงนี้เพื่อหนีฝนอีกครั้ง ครับ   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.ค. 23, 19:10
ใช้คำว่าภาษีสังคมก็เพราะว่า มันเป็นวาระที่ต้องมีค่าใช้จ่ายอิงอยู่ และก็ยังเป็นวาระที่เป็นการแสดงว่าตนเองยังมีความผูกพันและมีความมั่นคงในการเป็นสมาชิกของสังคมนั้นๆ     ภาษีสังคมโดยทั่วๆไปจะมีอยู่ใน 2 ลักษณะ คือ ในรูปของสิ่งที่เห็นได้หรือจับต้องได้ (in kind) และในรูปของเงิน (in cash)  ซึ่งผู้คนโดยทั่วไปยอมรับได้ไม่ว่าจะเป็นในรูปใด ซึ่งก็จะรู้สึกมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งกับการให้ทั้งสองรูปแบบ   

ภาษีสังคมเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ของทุกปี ก็จะต้องมีรายจ่ายที่ทราบกันดีอยู่แล้ว บ้างก็เกี่ยวกับการทำบุญ บ้างก็เกี่ยวกับประเพณีนิยมที่ลอกเลียนแบบมา ....  รายจ่ายจะมีมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับค่านิยมและความสามารถทางการเงิน   

สำหรับวันขึ้นปีใหม่ของชาวบ้านทั่วไปก็จะเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวกับเรื่องของการทำบุญตักบาตรที่วัดของหมู่บ้าน   ต่อมาอีกไม่นานในเดือนเดียวกัน  ในภาคเหนือก็จะมีงานบุญที่เรียกว่าทานข้าวใหม่ ประเพณีก็นี้ยังคงมีอยู่ แต่ดูจะกระทำกันแบบเงียบๆ  และก็มีเรื่องที่น่ารัก คือ ก่อนที่ลูกหลานจะเอาข้าวของฤดูใหม่ที่เก็บเกี่ยวได้มาหุงกินกัน เขาจะเอาข้าวใหม่นั้นมาหุงให้พ่อแม่ปู่ย่าตายายกินก่อนเป็นอันดับแรก  เป็นภาพที่แสดงถึงลักษณะของจิตใจ ความรู้สึก และสำนึกที่แสดงถึงความเป็นมนุษย์ของผู้คนต่างๆ   คิดว่าในภาคอื่นๆก็น่าจะมีประเพณีนี้เช่นกัน

เกือบลืมไปว่า ทุกว้นเสาร์ของสัปดาห์ที่สองของเดือนมกราคมทุกปีก็จะเป็นวันเด็กแห่งชาติ  ก็เป็นอีกวาระหนึ่งที่จะต้องมีรายจ่ายทั้งในลักษณะที่เป็นส่วนกลางและในลักษณะที่เป็นส่วนตัว(ครอบครัว)     เมื่อครั้งยังทำงานอยู่  ด้วยที่ทำงานเป็นสถานที่หนึ่งที่เด็กจะมาแวะมาดูซากบรรพชีวิน หินแร่ ... ก็มีการสมัครใจช่วยกันบริจาคทรัพย์เพื่อจัดหาสิ่งของสำหรับแจกเด็กให้เป็นที่ระลึก บางปีก็เพื่อจัดหาของส่งไปให้โรงเรียนที่อยู่ห่างไกลปืนเที่ยงต่างๆ  เมื่อเกษียณแล้วไปใช้ชีวิตบางส่วนในพื้นที่ชุมชนนอกเมืองในต่างจังหวัด ก็ยังมีโอกาสได้ร่วมในการให้เป็นครั้งคราว     บางที ในช่วงปลายสัปดาห์ที่สองของเดือนมกราคม หลายๆท่านอาจจะอยู่ในระหว่างเดินทางกลับจากต่างจังหวัด ก็อาจจะเดินทางผ่านพื้นที่ชุมชน หมู่บ้าน โรงเรียนที่ตั้งอยู่ริมถนน  ก็อาจจะนึกถึงการซื้อของเล็กๆน้อยๆติดไม้ติดมือ แวะลงไปให้กับเด็กหรือผู้จัดงานในระหว่างที่กำลังมีงานก็น่าจะเป็นบุญอย่างยิ่ง  ง่ายๆก็เช่นท๊อฟฟี่ เป็นของกินเล่นที่เด็กชอบ เด็กบางคนไม่เคยมีโอกาสได้ลิ้มลองเลย แพ็คละไม่กี่บาทเอง

ความสุขและความอิ่มเอมใจมันฟ้องออกมาที่ตา  เลยทำให้นึกไปถึงภาพตาในระยะใกล้ของช้างพลายศักดิ์สุรินทร์ที่เพิ่งกลับมาถึงไทย ที่บอกถึงความสุขแบบสุดๆที่ได้กลับบ้าน     


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.ค. 23, 18:58
คงจะนึกออกว่าตลอดทั้งปีจะมีวาระงานอะไรบ้าง ซึ่งเกือบทั้งหมดก็ไม่ต่างไปจากที่ทำกันในเมืองดังที่เรารู้กันอยู่  หากแต่ว่าในเมืองนั้น ภาระงานและค่าใช้จ่ายจะเป็นเรื่องของหน่วยงาน ซึ่งผู้คนทั่วไปมีอิสระที่จะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมก็ได้  ต่างไปจากชาวบ้าน ซึ่งหากไม่ร่วมมือกัน งานนั้นๆก็จะกร่อยไปทันที เพราะแต่ละหมู่บ้านส่วนใหญ่จะมีประชากรทั้งเด็กและผู้ใหญ่รวมกันระหว่าง 500-1000 คน ซึ่งก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมีผู้ที่ไม่สามารถไปร่วมงานได้ (ส่วนมากก็จะมาจากเหตุความขัดแย้งในเรื่องของกรอบเวลาของงานทางสังคมที่จัดขึ้นในวันนั้นๆกับเวลาของงานที่ต้องใช้ในการหารายได้)

คงนึกออกเช่นกันว่า จะจัดงานใดๆก็ตามก็จะต้องมีการเตรียมการ      การจัดงานในเมือง สามารถจัดหาอุปกรณ์และสิ่งของต่างๆได้ด้วยการซื้อหรือสั่งทำ แต่การจัดงานในระดับหมู่บ้านนั้น ด้วยมีข้อจำกัดทางด้านการเงินและวัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในพื้นที่  สิ่งของต่างๆที่จะต้องใช้จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำหรือประดิษฐ์ขึ้นมาด้วยตนเอง ก็จึงดูจะไม่แปลกนักที่เรามักจะได้ยินการเรียกคนด้วยคำว่า'ช่าง'นำหน้าชื่อ เพราะแต่ละคนมีความสันทัดในการทำหรือประดิษฐ์เครื่องใช้บางอย่างไม่เหมือนกัน ทางภาคเหนือเรียกช่างเหล่านี้ว่า 'สล่า'   สำหรับฝ่ายหญิง งานส่วนมากจะไปทางด้านของความสวยงามและความอิ่มหนำสำราญ ก็คือการจัดการร้อยข้าวตอกดอกไม้ และการทำโรงครัว   ทั้งมวลก็เป็นเรื่องของงานในลักษณะของการลงแรง (in-kind contribution) ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.ค. 23, 19:59
ภาษีสังคมอีกอย่างหนึ่ง ก็คือการหารายได้ประจำปีเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของวัดและการบำรุงวัดของหมู่บ้าน  วิธีการตามปกติที่กันก็คือ การทอดผ้าป่า การทอดกฐิน และการจัดงานวัดเพื่อการเฉลิมฉลองในเรื่องหนึ่งใด

ก็มีวิธีการหนึ่งที่พบมา คือใช้การบริจาคส่วนของผลผลิตข้าว (ไม่มีความรู้ว่าสำหรับผลิตผลทางการเกษตรอื่นๆจะกระทำเช่นใด) คณะกรรมการหมู่บ้านจะประเมินผลผลิต แล้วตกลงกันว่านาของผู้ใดจะต้องจัดให้วัดเป็นปริมาณเพียงใด (หรือเป็นจำนวนเงินเท่ากับราคาข้าวเปลือกปริมาณนั้นๆ) เพื่อเป็นการช่วยรายจ่ายเรื่องค่าน้ำค่าไฟของวัด


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.ค. 23, 18:58
งานหนึ่งที่มีค่าใช้จ่ายมากเป็นพิเศษเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดงานศพ และจะยิ่งมากขึ้นไปอีกมากหากผู้เสียชีวิตเป็นผู้ที่มีคนรักและนับถือมาก   ชาวบ้านโดยทั่วๆไปจะจัดพิธีกันที่บ้าน ไม่นำไปทำกันที่วัด  ทำพิธีสวด 2-3 คืนแล้วก็เคลื่อนศพไปเผาที่เมรุเผาของหมู่บ้าน ซึ่งนิยมสร้างอยู่ใกล้หรือหลังว้ด แต่จะอยู่นอกเขตกำแพงวัด ก็มีการพัฒนาไปเป็นเตาเผาแบบปิดมิดชิดหากแต่ยังคงใช้ถ่านไม้   เมรุอีกลักษณะหนึ่งเป็นแบบเปิด เป็นการใช้ฟืนสุมในการฌาปนกิจ แบบนี้ยังมีให้เห็นโดยทั่วไป ดูจะเรียกกันว่าเมรุลอย   

ที่ว่ามีค่าใช้จ่ายมากนั้น มันก็มากจริงๆ หลายๆงานดูจะมากกว่าการทำพิธีงานศพของวัดในกรุงเทพฯเสียอีก   ผมเห็นว่าสาเหตุที่งานศพของชาวบ้านในต่างจังหวัดมีค่าใช้จ่ายสูงมากนั้น ก็ดูจะเป็นเพราะเรื่องของการต้องต้อนรับแขกแบบไม่รู้ว่าจะมาเมื่ีอใดและจำนวนมากน้อยเพียงใด    เมื่อได้ทราบข่าวการเสียชีวิต ก็จะมีการมาเคารพศพ ซึ่งนอกจากคนในหมู่บ้านเดียวกันแล้วก็จะมีพวกที่อยู่ต่างหมู่บ้าน ต่างอำเภอ หรือต่างจังหวัด การเดินทางของคนเหล่านี้จะต้องใช้เวลาในการเดินทาง บ้างก็หลังเลิกงาน บ้างก็ต้องนั่งรถข้ามคืนมา.... เวลามาถึงบ้านงานจึงแตกต่างกันไป ทั้งวันตั้งแต่เช้าจนค่ำมือดึกดื่น  เจ้าของงานก็ต้อนรับแบบไทยแท้แต่โบราณ มาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ  ก็เป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีการจัดน้ำจัดอาหารการกินต้อนรับ แขกใหม่มาก็ต้องตั้งวงตั้งสำรับอาหารใหม่ ทั้งมวลก็เพื่อเป็นการแสดงถึงความขอบคุณกับแขกทุกคนอย่างเหมาะสม       


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.ค. 23, 19:26
ในสภาพเช่นนี้ เชื่อว่าทุกคนจะคิดถึงการต้อนรับแบบมีพร้อมไว้ซึ่งข้าวหม้อแกงหม้อ น้ำดื่ม น้ำขวด(น้ำหวาน) น้ำแข็ง และเรื่องของเหล้ายาปลาปิ้ง  ก็หมายถึงจะต้องมีการตั้งครัว ต้องมีแม่ครัวอาสา ต้องมีฝ่ายชายช่วยกันจัดการในเรื่องเช่น เต็นท์ เก้าอี้ งานที่ต้องใช้แรงต่างๆ และเวรไปอยู่เป็นเพื่อนผู้ตายตลอดคืน...   คงจะนึกออกถึงภาพจำนวนคนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งดูจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของบุญคุณทั้งนั้น   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ก.ค. 23, 18:17
ข้าวหม้อแกงหม้อ เป็นสำนวนในความหมายของอาหารการกินแบบเรียบง่าย แต่ในความเป็นจริง มันเป็นเรื่องของอาหารหลักที่มีความพร้อมกินได้ในทุกเวลา แน่นอนว่าเมื่อเป็นการจัดงานก็ต้องมีอาหารเสริมแบบที่ทำได้เร็ว ต้องมีของขบเคี้ยวกินเล่นแก้ปากว่าง และก็ต้องมีเมรัยรวมอยู่ด้วย

เมนูอาหารส่วนที่เรียกว่าแกงหม้อหนึ่งนั้น เท่าที่มีประสบการณ์มาและดูจะยืนยงอยู่ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา พบว่าเกือบทั้งหมดจะเป็นต้มเสียมากกว่าแกง ที่นิยมก็ดูจะมีต้มเครื่องในหมูหรือเครื่องในวัวหั่นแยกแต่ละส่วนเป็นชิ้นใหญ่ๆ หรือทำต้มจืดฟักกับหมูหรือไก่ ทำกันเป็นหม้อใหญ่ๆตั้งบนเตาไฟอุ่นให้ร้อนอยู่ตลอดเวลา  จัดเครื่องปรุงให้พร้อมไว้ พวกพริกแห้ง พริกสด มะนาว มะขาวเปรี้ยว น้ำปลา น้ำตาล หัวหอม น้ำดี(ของวัว) ข้าวคั่ว และบรรดาผักที่ใช้ปรุงหรือใช้แนมทั้งหลายเท่าที่จะหาได้... 

ในด้านอาหารเสริมนั้น จะเป็นการทำของแม่ครัวอาสาช่วย จะทำเพิ่มมาให้ก็เพียงหนึ่งหรือสองจานสำหรับบางกลุ่มแขกและบางช่วงเวลา  ในด้านของกินเล่นแก้ปากว่างนั้น แต่ดังเดิมน้้นจะเป็นพวกผลไม้เช่น กล้วย อ้อย น้ำตาลอ้อย ...ตามที่มีอยู่ในพื้นที่   แต่ในปัจจุบันดูจะนิยมเป็นพวกเมล็ดทานตะวันและข้าวเกรียบทอด   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ก.ค. 23, 19:18
ก็คงพอจะเห็นว่า ด้วยเหตุใดในงานศพของชาวบ้านจึงต้องมีการล้มหมู หรือวัว หรือควาย หรือเชือดไก่   แน่นอนว่าไปซื้อในตลาดก็ได้ แต่การล้มจะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่ามาก ทั้งยังได้ชิ้นส่วนทั้งตัวอีกด้วย  บางงานที่มีแขกมากก็ถึงกับต้องล้มทั้งหมูและวัว

ก็เลยต้องขยายความต่อไปอีกถึงเหตุว่าด้วยเหตุใดจึงต้องใช้ปริมาณเนื้อสัตว์มากเหลือเกิน  เรื่องนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเพณีซึ่งดูจะมีเหมือนๆกันทั่วไทย   เริ่มด้วยคนที่ทำการล้มสัตว์ตัวใหญ่จะได้ส่วนแบ่งบางชิ้นส่วนของสัตว์ เสมือนเป็นค่าแรงสำหรับผู้ที่ออกแรงดำเนินการ  งานที่เห็นมาก็มีตั้งแต่การล้ม การถลกหนัง การแล่/ชำแหล และการจำแนกออกเป็นชิ้นส่วนต่างๆ เป็นงานที่ทำกันในช่วงเวลาก่อนรุ่งสาง  เมื่อชิ้นส่วนต่างๆถึงมือเจ้าของงานในตอนเช้า ก็จะต้องมีคนช่วยกันดำเนินการทำความสอาด ต้ดแยก ย่อยซอย จนถึงการเอาไปต้มหรือจะเอาไปทำอื่นใด  ซึ่งก็แน่นอนว่าเจ้าของงานยินดีที่จะแบ่งปันให้กับผู้มาช่วยทำงาน  ด้วยเพราะด้วยที่ผู้มาช่วยงานเช่นนี้จะเป็นผู้หญิง เมื่อมาช่วยงานตั้งแต่เช้าก็จึงไม่มีเวลาทำกับข้าวกับปลาหุงหาอาหารให้ลูกและสามี การแบ่งปันของสดหรืออาหารจึงเป็นการตอบแทนที่ดีที่สุดที่พึงกระทำ   ในกรณีที่ต้องมีการเลี้ยงเพล ก็หมายถึงต้องมีการทำกับข้าวต่างๆเพื่อถวายพระและเลี้ยงแขก บรรดาแม่ครัวอาสาก็จะยิ่งไม่มีเวลาทำกับข้าวให้กับครอบครัว   การณ์นี่ก็ยังเกิดกับฝ่ายหญิงที่เดินทางมาร่วมในพิธีแทนบรรดาสามีที่ยังคงติดงานสวน-ไร่-นาอยู่  ก็เลยมีภาพที่ดูจะแปลกตาว่า ในงานเช่นนี้จะมีหญิงที่มางานห่อกับข้าวกลับบ้าน แม้กระทั่งแบบหิ้วปิ่นโตมาเลยก็มี      จะว่าไป ภาพเช่นนี้ก็มีในเมืองหลวงของเรา (ไม่ค่อยจะเห็นใน ตจว.) เลยเป็นที่รู้กันอยู่ในหมู่เจ้าภาพว่า จะต้องจัดเตรียมถุงพลาสติกและยางรัดพร้อมไว้   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ก.ค. 23, 17:45
ขออภัยครับ อ่านแล้วก็งงตัวเอง ข้อความในวงเฃ็บหลุดออกไปได้ไงก็ไม่รู้ เรียกว่าสะเพร่าในการตรวจทานมากไปหน่อยครับ
 


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ก.ค. 23, 18:51
ต้มเครื่องในหม้อใหญ่นี้ แปรออกไปเป็นอาหารได้หลายเมนูเลยทีเดียว ทั้งแปรเป็นกับข้าวหรือแปรเป็นกับแกล้ม และก็เป็นที่รู้กันอยู่ว่าแขกที่มางานก็ต้องช่วยตัวเองในเรื่องอาหารการกินด้วย และก็รับรู้กันว่าแขกที่มาจากบ้านใกล้จะช่วยกันทำหน้าที่ต้อนรับแขกพวกบ้านห่างไกล   เมื่อแขกที่อยู่ห่างไกลเดินทางมาถึงงานก็จะได้รับเชิญให้เข้านั่งร่วมวงกับชุดที่มาก่อนที่มีความสนิทสนมกัน  นอกจากเสิร์ฟน้ำเปล่าแก้กระหายแล้วก็มักจะตามมาด้วยน้ำเมา ซึ่งในงานเช่นนี้ ไม่เคยเห็นว่ามีการดื่มกันจนเมามายหรือมีการส่งเสียงดัง  แขกฝ่ายหญิงจะแยกตัวออกไปคุยกับบรรดาแม่ครัวต่างๆ    งานศพแต่ละงานก็เลยมีค่าใช้จ่ายในเรื่องของเมรัยผนวกเข้าไปด้วย



 


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ก.ค. 23, 19:51
เมื่อเผาศพแล้ว ก็ยังมีค่าใช้จ่ายตามหลังอีกวันหรือสองวัน ก็คือการดูแลผู้ที่มาช่วยกันเก็บของที่ขอยืมมาเพื่อส่งคืนเจ้าของ ก็จะเป็นมื้อเย็นแบบครึ่งทาง(กึ่งอิ่ม กึ่งเมา)   บางทีถัดมาอีกสองสามวัน ก็มีที่เจ้าของงานจัดเลี้ยงตอบแทน

ค่าใช้จ่ายของงานศพของชาวบ้านในปัจจุนี้ดูจะอยู่ในระดับกว่าแสนบาท ซึ่งก็มีหลายกรณีที่ไปไกลถึงหลักสามแสนบาท  ก็คงเป็นจำนวนที่ไม่ต่างไปมากนักกับการจัดงานในกรุงเทพฯ
 
จำนวนวันที่ใช้ในการจัดงานก็ไม่ต่างกันนักเช่นกัน  ของชาวบ้าน สวด 2-3 วัน เผา 1 วัน เก็นอัฐิ 1 วัน เก็บของจัดงาน 1 วัน เลี้ยงตอบแทน 1 วัน   ของกรุงเทพฯ สวด 3-5 วัน เผา 1 วัน เก็บอัฐิ 1 วัน ลอยอังคาร 1 วัน
     
จำนวนเงินช่วยเหลืองานจากแขก ของชาวบ้านอยู่ในหลักไม่เกินหมื่นบาท เงินช่วยเหลือก้อนใหญ่จะได้มาจากญาติพี่น้อง   ของกรุงเทพฯได้ในหลักหลายหมื่นบาทถึงหลายแสนบาท       


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ก.ค. 23, 18:27
ก็เป็นอีกภาพหนึ่งของสังคมที่อยู่แบบอยู่ร่วมกันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ยอมรับและยกย่องกันและกัน ยอมรับในทักษะและความสามารถของผู้อื่น ไม่ค่อยจะมีเรื่องการยกตนข่มท่านหรือดูถูกเหยียดหยามกัน 

สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็คือการที่ทุกคนรู้จักตัวเองมากพอที่จะรู้ระดับของตนในสังคมและในงานต่างๆ  คือรู้จักและมีความเข้าใจในเรื่องของ hierarchy ของตนเองในวงสังคมและในแวดวงของงานหนึ่งใดเมื่อต้องทำงานร่วมกัน    อาจจะดูเหมือนสังคมในฝัน แต่มันก็เป็นภาพที่ปรากฎจริงเช่นนั้น  อันที่จริงมันก็มีเรื่องของความขัดแย้งต่างๆตามปกติของมนุษย์ เพียงแต่ความขัดแย้งเหล่านั้นเขาไม่โพนทะนาออกมาให้เป็นที่รับรู้กันเป็นวงกว้าง  ที่กระทำกันก็คือพยายามไม่ก้าวล่วงกันในเรื่อง/ด้านที่ต่างคนต่างไม่ชอบกัน  ทำให้เรื่องของการทะเลาะกันแบบรุนแรงๆภายในชุมชนจึงไม่ค่อยจะมี หากจะมีก็มีแบบรุนแรงไปเลย   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ก.ค. 23, 19:20
ตัวอย่างหนึ่งที่พอจะแสดงถึงการเคารพและความเข้าใจในเรื่องของ hierarchy ก็เช่นกรณีงานก่อสร้าง  ได้กล่าวมาแล้วว่าในหมู่บ้านหนึ่งๆจะมีคนที่มีทักษะในบางเรื่องมากพอจนชาวบ้านเรียกว่าช่าง  เป็นเรื่องปกติที่ช่างบางคนรับทำงานพิเศษบางอย่าง  ก็ต้องมีลูกมือ ด้วยที่ทุกคนต้องหาเงิน บรรดาลูกมือส่วนหนึ่งก็คือช่างต่างๆที่อยู่ในชุมชนของตนนั้นเอง ช่างเหล่านี้ก็แปรสภาพเป็นลูกจ้างมีฝีมือรายวัน จะทำงานตามสั่งของผู้ที่รับงานมา  แล้วก็มีลูกมือที่ทำงานในลักษณะของผู้ช่วยช่าง ซึ่งคนเหล่านี้ส่วนมากก็จะเป็นญาต พี่-ป้า-น้า-อา  ก็เช่นกันจะทำงานตามสั่งของช่างต่างๆ   ฝ่ายหญิงโดยส่วนใหญ่จะทำงานในหน้าที่กรรมกร    ปัจจุบัน สำหรับงานช่วงสั้นๆหนึ่งหรือสองสัปดาห์ ค่าจ้างคนในระดับช่างในพื้นที่อยู่ที่วันละ 450 บาท ผู้ช่วยช่างวันละ 400 บาท และกรรมกรวันละ 350 บาท  แล้วก็มีธรรมเนียมพ่วงท้ายหลังเลิกงานอีกเล็กน้อยเพื่อแก้เหนื่อย และจัดกำหนดงานของวันถัดไป ก็มีของแกล้มเล๋กน้อยสักอย่างหนึ่งกับเมรัยสักสองสามกรึ๊บ


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ก.ค. 23, 18:17
เล่าเรื่องในลักษณะของภาพในองค์รวมของสังคมมาพอควรแล้ว  อาจจะน่าเบื่อ ลองมาดูภาพในลักษณะของแต่ละบุคคลบ้าง ซึ่งจะใช้กรณีที่เกิดขึ้นกับตัวเองเป็นตัวอย่าง ซึ่งคงจะพอแสดงให้เห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านทั่วไป

ผมมีนาแปลงเล็กๆประมาณ 2 ไร่ ได้ปลูกข้าวกินเองมาระยะหนึ่งแล้ว ตามปกติก็ใช้พันธุ๋ข้าวที่หาได้ในพื้นที่ บางปีก็ซื้อกล้าข้าวที่ชาวบ้านเขาเหลือจากการใช้ปลูกในนาของเขา เดิมเป็นการปลูกข้าวหอมมะลิ พันธุ์ กข.105  ปีนี้เกิดอยากปลูกข้าวที่มีปริมาณน้ำตาลต่ำ พันธุ์ กข.43 ก็เลยต้องหาพันธุ์เอง เพราะชาวบ้านเขานิยมปลูกข้าวจ้าว กข.105 (หรือปลูก กข.15_ข้าวดอ? แบบประปราย) สำหรับข้าวเหนียวนั้น นิยมปลูกกันอยู่หลายพันธุ์ เช่น กข.6, เขี้ยวงู, สันป่าตอง, ข้าวก่ำ...  ก็มีที่สนใจปลูก กข.แม่โจ้ 2

เหตุที่ต้องหาพันธุ์เองก็เพราะเป็นพันธุ์ข้าวที่มีการปลูกกันในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาแถวอ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท ซึ่งเป็นพื้นที่ในระบบชลประทาน  แต่ที่นาที่จะปลูกอยู่ในภาคเหนือ เป็นพื้นที่ๆมีแต่เพียงลำเหมือง(ร่องขุด)ส่งน้ำเข้านาที่ค่อนข้างดี  ก็เลยอยากได้สายพันธุ์ต้นตอที่บริสุทธิ ประกอบกับเคยได้กินข้าวหอมมะลิตัวจริงจากนาของตัวเอง ทำให้ได้รู้ว่า หอมจริง นิ่มจริง นั้นมันเป็นเช่นใด     
 


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ก.ค. 23, 19:31
เมื่อจะทำอะไรก็ต้องมีการศึกษาหาข้อมูลเพื่อให้มีความรู้และรอบรู้มากพอเท่าที่จะทำได้ เลยทำให้มีความรู้เพิ่มพูนขึ้นมาอีกหน่อย แต่ก็ยังน้อยนิดในเรื่องของวิชา วิทยาการ และกิจกรรมต่างๆว่าด้วยเรื่องของข้าว   

ก็จึงได้เห็นความแตกต่างลึกๆระหว่างชาวนาที่มีอาชีพปลูกข้าวขายบนฐานของการค้าและการลงทุน  กับชาวนาที่การทำนาเป็นเพียงวิธีการหนึ่งในหลายๆวิธีของการหาเลี้ยงชีพที่ใช้ประโยชน์/อาศัย/พึ่งพาธรรมชาติ    ชาวนาทั้งสองลักษณะนี้มีความแตกต่างกันค่อนข้างจะมากในด้านของโอกาสของการเข้าถึงและการได้รับการสนับสนุนในเรื่องข้อมูล/การเงิน/ความรู้ที่มีความเหมาะสมตามสภาพและสถานะภาพ     


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ก.ค. 23, 19:28
ศัพท์และเรื่องเกี่ยวกับข้าวที่เราคุ้นเคยกันมากที่สุดน่าจะเป็นคำว่า ข้าวเปลือก ข้าวเหนียว ข้าวเจ้า(จ้าว) ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวหอม ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวแดง ...  สำหรับคนที่พิถีพิถันในการกินก็จะคุ้นกับศัพท์อีกชุดหนึ่ง เช่น ข้าวหอมปทุม ข้าวสังข์หยด(หยอด) ข้างหอมมะลิ ข้าวดอกข่า ข้าวเหนียวเขี้ยวงู ข้าวเหนียวสันป่าตอง ข้าวแม่จัน ...  ในกลุ่มคนทำอาหารก็จะมีศัพท์อีกชุดหนึ่ง เช่น ข้าวเสาไห้ ข้าวเหลืองอ่อน ข้าวตาแห้ง ข้าวเจ็กเชย ...   ในกลุ่มผู้ปลูกข้าวเพื่อการค้าก็จะมีชุดศัพท์ที่ลงลึกลงไปถึงระดับสายพันธุ์ เช่น ข้าวที่มีชื่อนำหน้าว่า กข. ต่างๆ ข้าวสายพันธุ์ประจำถิ่นต่างๆ ข้าวสายพันธุ์จากแหล่งที่เอกชนปลูกขึ้นมาเพื่อการขายพันธุ์ข้าว ...    ส่วนในระดับชาวบ้านส่วนมากก็จะมีแต่ชุดศัพท์ของสายพันธุ์พื้นบ้านในละแวกจังหวัดใกล้เคียง และสายพันธุ์ที่ส่วนราชการแนะนำ

ดูเผินๆก็ไม่น่าจะมีอะไรที่สลับซับซ้อน แต่มันก็มี เมื่อพิจารณาข้อมูลข้างต้นก็น่าจะเห็นภาพใน 3 ประเด็นหลักๆ คือ มันมีข้าวสายพันธุ์ที่มีแหล่งบ่งชี้ทางภุมิศาสตร์  มันมีข้าวพันธุ์ที่มีการวิจัยพัฒนามากจากสายพันธุ์เดิม  และมันมีเรื่องของคุณภาพข้าวที่ต่างกันเนื่องจากคุณภาพของสายพันธุ์ (ที่มีการปลูกในพื้นที่ๆมีสภาพทางกายภาพต่างๆ)     ก็ดูจะเป็นสาเหตุที่ทำให้มีลักษณะการใช้ชื่อเรียกสายข้าวพันธุ์ต่างๆที่มีลักษณะเป็นการจำเพาะ คือ ข้าวสายพันธุ์ดั้งเดิมของถิ่นก็จะใช้ชื่อดังเดิม  ข้าวสายพันธุ์ที่วิจัยพัฒนาขึ้นมาทางิวชาการก็จะใช้คำว่า กข.นำหน้าตัวเลข (เลขคู่เป็นพันธุ์ข้าวเหนียว เลขคี่เป็นพันธุ์ข้าวเจ้า)  และข้าวสายพันธุ์ที่เอกชนผลิตเพื่อการจำหน่าย(จากการขยายพันธุ์ของสายพันธุ์ต่างๆ)
 


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ก.ค. 23, 20:20
ในปัจจุบันนี้ ข้าวหอมมะลิ (ราชการ_ข้าวหอมดอกมะลิ ?) ดูจะเป็นข้าวที่จะเริ่มมีการแข่งกันเข้าสู่การมีแหล่งทางภูมิศาสตร์กำกับ (เป็นการภายใน ?) เช่น หอมมะลิสุรินทร์ หอมมะลิศรีสะเกษ หอมมะลิร้อยเอ็ด... ตามรอยข้าวสังข์หยดพัทลุง ข้าวดอกข่าพังงา 


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ก.ค. 23, 18:24
เลยได้รู้ว่า พันธู์ข้าวต่างๆนั้นมันมีการแบ่งชั้นกันโดยมีกฏและระเบียบกำหนด  ก็จะขอขยายตามที่มีความเข้าใจ  ก็มี ชั้นพันธุ์คัด ชั้นพันธุ์นี้ดูจะเป็นเรื่องของส่วนราชการ    ชั้นพันธุ์หลัก ชั้นพันธุ์นี้ผลิตโดยกรมการข้าวเพื่อการนำไปปลูกขยายพันธุ์ ซึ่งดูจะมีแหล่งผลิตเป็นการเฉพาะสำหรับแต่ละสายพันธุ์ (กข.43 อยู่ที่ อ.วังทอง พิษณุโลก)    ชั้นพันธุ์ขยาย ชั้นพันธุ์นี้จะเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตเพื่อการกระจายการปลูกไปในพื้นที่ต่างๆ เป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีการควบคุมดูแลการผลิตอย่างใกล้ชิดโดยส่วนราชการ ได้ผลผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์จำหน่าย    แล้วก็มีคำว่า เมล็ดพันธุ์ควบคุม ซึ่งเป็นเรื่องในด้านของมาตรฐานทางคุณภาพ เช่น การงอก ความบริสุทธิ์ การปนเปื้อนจากสายพันธุ์อื่น ...     

เมล็ดพันธุ์ข้าวของชั้นพันธุ์เหล่านี้จะบรรจุอยู่ในถุง(กระสอบ)ขนาดน้ำหนัก 25 กก. สอดคล้องกับปริมาณที่จะใช้สำหรับการปลูกข้าวในพื้นที่นาประมาณ 1 ไร่  ซึ่งแต่ละถุงดูจะต้องมีคำประทับบอกว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์อะไร   ทั้งนี้ ร้านที่จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวเหล่านี้จะต้องได้รับการอนุญาต/มีใบอนุญาตจากส่วนราชการ   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ก.ค. 23, 19:06
จาการหาข้อมูล ก็เลยได้รู้ว่ามันมีข้าวไวแสง(ข้าวไวต่อช่วงแสง) และข้าวไม่ไวแสง (ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง)  เดิมก็เป็นงงจากคำสั้นๆ_ข้าวไวแสง/ข้าวไม่ไวแสง และก็ไม่เข้าใจว่า เหตุใดข้าวในบางพื้นที่มันจึงออกดอกออกรวงในช่วงเวลาเดียวกัน การเก็บเกี่ยวข้าวในบางพื้นที่ก็เป็นเวลาเดียวกันทั้งๆที่ทำการปลูกก่อนปลูกหลังต่างเวลากัน    ก็ได้พบว่ามีเว็บที่ให้ข้อมูลแบบสรุปสั้นๆ เข้าใจได้ง่ายๆ ดังที่แนบมา

https://www.gib.co.th/%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%84%E0%B8%A7%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B8%87_Und_%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%A7%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B8%87/5d031e9e234a8b001efcb2a3 (https://www.gib.co.th/%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%84%E0%B8%A7%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B8%87_Und_%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%A7%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B8%87/5d031e9e234a8b001efcb2a3)


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ก.ค. 23, 20:05
เมื่อประมวลข้อมูลต่างๆแล้ว แรกเริ่มก็หาเมล็ดพันธุ์ในเน็ต ปิ๊งแรกก็พบอยู่บนแพล็ตฟอร์มขายสินค้า ลองสั่งดูแต่ไม่ได้จัดการให้จบเรื่องเพราะเห็นว่ามีค่าส่งของซึ่งเมื่อบวกกับค่าสินค้าแล้วราคาสูงมากกว่าที่พึงจะเป็น เลยใช้วิธ๊โทรถามร้านค้าที่มีใบอนุญาติจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวโดยตรง (บังเอิญไปพบรายชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อในเว็ปเผยแพร่ของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง)  แรกๆก็โทรสอบถามเฉพาะร้านค้าที่อยู่ในพื้นที่ใกล้ๆเพื่อจะได้เสียค่าส่งของน้อยลง ไม่พบว่ามีร้านใดจำหน่าย ทราบสาเหตุว่า เพราะเกือบจะไม่มีการปลูกข้าวพันธุ์นี้กันในพื้นที่  เลยโทรไปถามร้านค้าในพื้นที่ๆมีการปลูกข้าวพันธุ์นี้กันมาก (ชัยนาท สิงห็บุรี อ่างทอง ...) สามสี่เจ้าล้วนไม่มีจำหน่ายเช่นกัน  เลยโทรไปสอบถามส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จึงได้ทราบว่าพื้นที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชนิดนี้อยู่ที่ อ.วังทอง พิษณุโลก  ติดต่อไปก็ได้ความว่ามีขายแต่ไม่มีการจัดส่ง ต้องไปจัดการและขนของที่สำนักงานด้วยตัวเอง ซึ่งก็ทำให้ได้ทราบต้นทุนของเมล็ดพันธุ์ข้าวที่แท้จริง     โชคดีที่เจ้าที่สั่งของบนแพล็ดฟอร์มเห็นเบอร์โทรศัพท์ตกค้างอยู่ในระบบ จึงโทรติดต่อมา เรื่องก็จึงจบ   

ปรากฏว่าสภาพเป็นเช่นนี้ คนสั่งของ(ตัวผม)อยู่กรุงเทพฯ คนขายบนแพล็ตฟอร์มอยู่จังหวัดหนึ่ง ของอยู่อีกจังหวัดหนึ่ง ส่งของมาให้ผม(ปลายทาง)ในอีกจังหวัดหนึ่ง  ราคาของที่ต้องจ่ายจริงเป็น ค่าของ(ต้นทุนจากแหล่งผลิต+ค่าขนส่งไปยังร้านค้า)+ค่าขนส่งจากร้านค้าไปยังผู้ซื้อ (ซึ่งในกรณีของผมอยู่ที่ประมาณ 3 ใน 5 ของต้นทุนจากแหล่งผลิต เพราะระยะทางไกล)

เรื่องที่เล่ามาค่อนข้างละเอียดนี้ น่าจะพอช่วยฉายภาพในบางมุมเกี่ยวกับเรื่องของข้อจำกัด โอกาส การเข้าถึง การสนับสนุน ... ที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านคนหนึ่งคนใด/ในสังคมหนึ่งใด   

ในมุมหนึ่งของสังคมที่ดูเรียบง่าย ก็จึงอาจจะเป็นเพราะการรู้จักตนเองของผู้คนในสังคมนั้นๆ รู้จักการประมาณ ...   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ก.ค. 23, 19:17
ลองเข้าไปดูภาพในเรื่องของการใช้จ่ายต่างๆที่มีลักษณะเป็นประจำในแต่ละรอบปี ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะต่างไปจากของชาวเมือง  ก็จะมีค่าน้ำ-ค่าไฟประจำเดือน   ส่วนที่เป็นค่าไฟก็คงจะเหมือนๆกันกับชาวเมือง เพราะราคาค่าไฟพื้นฐานต่อหน่วยของการใช้จะไม่ต่างกัน   แต่ในเรื่องของค่าใช้น้ำประปา เรื่องนี้จะต่างกันเพราะระบบการผลิตน้ำประปาของแต่ละชุมชนมีความแตกต่างกัน เพราะ บ้างก็ใช้น้ำจากน้ำบาดาล (ประปาบาดาล)  บ้างก็ใช้น้ำจากอ่างน้ำของเขื่อนกักเก็บน้ำ  บ้างก็ใช้น้ำจากฝายกั้นลำธารน้ำไหล/ลำห้วย (ประปาภูเขา)     

ประปาบาดาล จะมีค่าใช้จ่ายในเรื่องของการต้องใช้พลังงานในการสูบน้ำจากบ่อขึ้นสู่หอถังเพื่อการแจกจ่ายเข้าระบบท่อต่างๆ   ประปาในระบบนี้ค่อนข้างจะมีค่าใช้จ่ายในการผลิตคงที่ มีการจัดตั้งคณะผู้ดูแลของชุมชนชุดหนึ่ง  เป็นระบบประปาที่รัฐจัดการให้ในส่วนของการเจาะบ่อบาดาลและการทำหอถังน้ำ รวมทั้งระบบปรับคุณภาพน้ำและการวางท่อหลักสำหรับการส่งน้ำในระยะทางหนึ่ง

ประปาที่ใช้น้ำจากอ่างน้ำของเขื่อน(และแม่น้ำ) ระบบนี้เป็นระบบที่เป็นไปตามมาตรฐานในเรื่องของการประปาทั่วๆไป (คุณภาพ ความปลอดภัย...) ประปาลักษณะนี้ทั้งหมดดูจะเป็นการดำเนินการโดยการประปาส่วนภูมิภาค  ค่าใช้จ่ายในการใช้น้ำก็จะตั้งขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้น้ำ

ประปาภูเขาหรือประปาชาวบ้าน  ระบบนี้พบอยู่ในหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบตีนเขา  เป็นระบบที่ชาวบ้านช่วยกันสร้างขึ้นมา มีทั้งแบบลงทุนลงแรงร่วมกันและแบบได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากโครงการที่เสนอของบงบประมาณช่วยเหลือ


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.ค. 23, 17:52
ระบบประปาที่ชาวบ้านช่วยกันลงแรงนี้ เป็นระบบที่มีการกรองน้ำเพียงหยาบๆคือแยกเศษไม้ใบหญ้าและตะกอนบางส่วน  มีคณะผู้ดูแลที่ได้รับค่าตอบแทนจากการดูแลระบบและเก็บค่าใช้น้ำ ในช่วงฤดูฝนก็จะไม่มีการเก็บค่าใช้น้ำ เพราะชาวบ้านมีน้ำใช้จากแหล่งต่างๆอย่างเกินพอ    ระบบประปานี้เป็นแบบใช้แรงดันน้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ มีการสร้างบ่อคอนกรีตสำหรับดักตะกอนก่อนที่จะปล่อยน้ำเข้าระบบ   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.ค. 23, 20:07
การใช้จ่ายอีกอย่างหนึ่งอยู่ในรูปแบบของการให้และการบริจาค...  ซึ่งวันสำคัญต่างๆโดยรวมก็ไม่ต่างไปจากของชาวเมือง  ต่างกันที่ของชาวบ้านจะอยู่ในลักษณะของภาคบังคับมากกว่าชาวเมือง  มีงานเป็นจำนวนมากที่ชาวเมืองสามารถหลีกเลี่ยงไม่เข้าร่วมได้ ต่างกับชาวบ้านที่ต้องเข้าร่วมเกือบจะทุกครั้ง  ด้วยเพราะเป็นสังคมของชุมชนขนาดเล็ก ทุกคนรู้จักกัน มีความเกี่ยวดองกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง   ก็อาจจะพอกล่าวได้ว่า ชาวบ้านต้องลงทั้งแรงและทั้งเงินเพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมเกี่ยวกับงานนั้น และเงินที่อยู่ในรูปของการบริจาคหรือเพื่อร่วมทำบุญ 

นอกจากงานตามปฏิทินแล้ว ชาวบ้านบางหมู่ก็อาจจะจัดงานเพื่อสร้างเสริมความสามัคคีกันภายใน ที่พบมาก็มีเช่น การแข่งขันกีฬาต่างๆ  การจัดงานวันทำความสะอาดหมู่บ้าน  การจัดแห่และแข่งขันบ้องไฟ ซึ่งงานบ้องไฟนี้ แต่ก่อนนั้นก็มีในภาคเหนือ แล้วก็หายไปเลยหลัง พ.ศ.2510 +/-   งานผีตาโขนของ อ.ด่านซ้าย จ.เลย  วานวันลองกอง ซึ่งจัดในหลาย  ฯลฯ     


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.ค. 23, 18:21
ตกคำว่า 'จังหวัด' ท้ายประโยคสุดท้ายของข้อความที่แล้ว  ก็เป็นไปตามปกติตามประสาของคนสูงวัย ครับ หลงๆลืมๆ

นึกไปถึงคำบรรยายลักษณะทางพฤติกรรมของคนที่ฉายภาพได้อย่างชัดเจนดีด้วยวลีสั้นๆ เช่น ตกๆหล่นๆ หลงๆลืมๆ งกๆเงิ่นๆ เลอะๆเทอะๆ ลมๆแล้งๆ นั่งๆนอนๆ บ้าๆบอๆ ลับๆล่อๆ ดีๆร้ายๆ    น่าสนใจก็ตรงที่ เพียงเติม 'ไม้ยมก' ต่อท้ายคำบางคำ มันก็ทำให้เปลี่ยนความหมายจากที่แสดงลักษณะของเรื่องราวที่เกิดขึ้นในครั้งหนึ่งครั้งใด ไปเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง  ลักษณะวลีและความหมายเช่นนี้ดูจะมีอยู่แต่เฉพาะในภาษาไทยภาคกลาง นึกไม่ออกว่ามีการใช้ในภาษาพื้นถิ่นแต่เดิมในภาคต่างๆหรือไม่  ในภาษาถิ่นต่างๆดูจะเป็นลักษณะของการใช้คำเปรียบเทียบและคำพังเพยเพื่อขยายความในเรื่องของพฤติกรรมของคน             


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.ค. 23, 19:19
เขียนเสร็จแล้ว มือกับใจไม่ไปด้วยกัน  พลาด ข้อความหายก็เลยหายไปหมดเลย  ต่อพรุ่งนี้ครับ


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.ค. 23, 18:34
ด้วยรายได้ไม่ค่อยจะสมดุลย์กับรายจ่าย ชาวบ้านจึงขวนขวายหารายได้แบบเก็บเล็กผสมน้อย จนกระทั่งในช่วงประมาณปี พ.ศ.2515 ในช่วงต้นของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 3  รัฐได้เริ่มปรับระบบเศรษฐกิจจากการพึ่งพาการขายทรัพยากรธรรมชาติ ไปเป็นการส่งเสริมการผลิตเพื่อการส่งออก ก็คือการเริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในแผน 4    ทั้งมวลก็คือการแรกเริ่มของของการเคลื่อนย้ายแรงงงานในลักษณะเป็นกลุ่ม  ที่เป็นภาพชัดเจนที่สุดก็คือในเรื่องของแรงงานในการตัดอ้อยสำหรับป้อนอุตสาหกรรมน้ำตาล  พื้นที่ราบรกชัฎติดเขาทางตะวันตกถูกแปลงไปเป็นไร่อ้อยเกือบทั้งหมด  เมื่อถึงฤดูกาลตัดอ้อย ก็จะมีการนัดหมายเอารถไปรับผู้คนมาจากหมู่บ้านต่างๆเป็นกลุ่มๆ กลายเป็นช่วงเวลาของหมู่บ้านที่มีแต่ผู้สูงวัย ผู้หญิง และเด็กเป็นส่วนมาก  ทำให้เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น ทั้งที่บ้านตน และชุมชนตั้งใหม่ มีการใช้จ่ายเงินที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนต่อยอดกันในระดับ grassroots economy ที่ดี ชาวบ้านยิ้มแย้มแจ่มใส   เมื่อครั้งยังทำงานภาคสนามอยู่ในพื้นที่ทางภาคตะวันตก ผมได้พบเห็นและสัมผัสกับภาพนี้ตั้งแต่ก่อนเริ่มการเปลี่ยนแปลงจนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงไปแบบเกือบจะจำพื้นที่ไม่ได้ จากป่าโปร่ง ละเมาะ ทุ่งหญ้า กลายเป็นไร่อ้อยกว้างใหญ่มองไม่สุด   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.ค. 23, 19:07
ภาพหนึ่งคือเรื่องทางเศรษฐกิจดูดีขึ้นในทุกระดับในองค์รวม  ก็มีอีกภาพหนึ่งที่ได้เห็น คือความก้าวหน้าในเชิงของไหวพริบและความรู้ของทั้งฝ่ายแรงงาน ฝ่ายผู้จ้าง และฝ่ายนายทุน  เกิดระบบเศรษฐกิจจุลภาคที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ผมต้อง update ความรู้และความเข้าใจทุกๆปีที่เข้าไปทำงานในพื้นที่

อีกภาพหนึ่ง เป็นภาพในทางลบ เป็นความรู้ที่ได้มาจากการพูดคุยกัยผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษก็เพราะตัวเองติดเชื้อมาลาเรียมาหลายครั้งด้วยกัน (8 ครั้ง)  เรื่องก็คือ จากกรณีปฏิบัติการฉีด DDT เพื่อควบคุมไข้มาลาเรียทั่วประเทศที่ดำเนินการมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2500  ซึ่งทำให้ไทยเราสามารถควบคุมไข้นี้ได้ดีมาก ลดปริมาณการติดเชื่อเป็นไข้ของชาวบ้านได้จนใกล้จะหมดสิ้น  ก็จนกระทั่งเกิดกรณีขนแรงงานข้ามฝั่งจากภาคอีสานมาตัดอ้อย โดยเฉพาะจากในพื้นที่ใกล้ชายแดนด้านตะวันออก ก็เลยมาพร้อมกับเชื้อมาลาเรีย เอามากระจายในพื้นที่ๆเกือบจะปลอดเชื้อไปแล้ว แถมทำให้เกิดการดื้อยาบางอย่างขึ้นมาอีกด้วย จะดื้อยามากน้อยเพียงใดก็ไม่รู้ รู้แต่ว่ามากพอที่ทำให้แพทย์ทางโรคเขตร้อนกังวลเหมือนกัน 


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.ค. 23, 18:29
การตัดอ้อย-ปลูกอ้อย ทำให้ที่พักคนงานค่อยๆเกิดเป็นชุมชนเล็กๆ ค่อยๆขยายตัว   พื้นที่ๆใช้ปลูกอ้อยไม่ค่อยดีก็เปลี่ยนไปเป็นปลูกมันสำปะหลัง การย้ายที่อยู่ชั่วคราวก็เริ่มเปลี่ยนไปเป็นการตั้งหลักปักฐานชีวิตใหม่   ด้วยที่ชุมชนเกิดใหม่เหล่านี้ประกอบไปด้วยผู้คนจากถิ่นอื่นและมีจำนวนน้อยคน มีวัฒนธรรมประเพณีในเชิงกระบวนวิธีการต่างกันกับภูมิลำเนาเดิมที่ตนอยู่  เมื่อถึงกาลเวลานั้นๆก็จึงเดินทางกลับไปร่วมพิธีกรรมที่ถิ่นเดิม บ้านเกิดเมืองนอนของตน  ชุมชนใหม่เหล่านี้ก็ยังพอจะสังเกตร่องรอยที่มาแต่เดิมได้ในปัจจุบัน เช่น จากชื่อของหมู่บ้าน ลักษณะบ้าน จากนามสกุลของผู้คน จากพืชผัก อาหารและของกินของใช้ที่ขายในตลาด (เช่น ลักษณะมีด พร้า แห รูปทรงของอุปกรณ์การจับปลา ...) ฯลฯ

อันที่จริงแล้วผู้คนของชุมชนใหม่เหล่านี้ ส่วนหนึ่งย้ายมาอยู่เพราะต้องการหลีกหนีภัยจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองในสมัยก่อน ผนวกกับการที่จะได้มีผืนดินสำหรับการทำมาหากินใหม่  ชุมชนใหม่เหล่านี้ได้ขยายใหญ่จนกลายเป็นอำเภอก็มี เช่นอำเภอทางด้านตะวันตกของ จ.กำแพงเพชร

ก็น่าสนใจที่ชุมชนเหล่านี้ค่อนข้างจะมีความสงบสุขทั้งๆที่ประกอบไปด้วยผู้คนจากหลากหลายที่มา ทั้งชาติพันธุ์ ภาษา อาหาร วัฒนธรรม ...   นึกไปถึงพื้นที่รอยต่อของนครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี  ซึ่งเป็นชุมชนที่สงบเรียบง่าย มีอาหารอร่อยๆแบบดั้งเดิมอีกด้วย    'ห้วยกระบอก' ครับ
   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.ค. 23, 19:17
เมื่อเข้าสู่แผน 4  สภาวะความขัดแย้งทางการเมืองดีขึ้น การเชื่อมต่อทางสังคม เศรษฐกิจ คมนาคม ฯลฯ ทำได้ง่ายขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น  มีการก่อสร้างทางวิศกรรมขนาดใหญ่ทั้งในและนอกประเทศ(เขื่อน ถนน อาคาร ...) เกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆขึ้นมามากขึ้น   ก็ได้เห็นภาพการเคลื่อนย้ายแรงงานขึ้นมาในอีกลักษณะหนึ่ง   แรงงานวัยกลางคนมักจะพบอยู่ตามงานก่อสร้างทางวิศวกรรม  แรงงานวัยฉกรรจ์ดูจะไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต   ผู้หญิงส่วนมากจะไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรมบริการ (พนักงานต่างๆ)   

ที่สัมผัสมา หมู่บ้านต่างๆก็เลยดูเงียบ ที่พบมักจะเป็นผู้เฒ่าอยู่กับหลาน และก็จะพบว่าในแต่ๆละรอบปีจะมีการเปลี่ยนแปลงภายในหมู่บ้าน ที่เห็นได้ชัดก็จะเป็นในเรื่องของการปรับปรุงที่อยู่อาศัยเล็กน้อยๆ และปริมาณมอเตอร์ไซด์ที่เพิ่มมากขึ้น 

ในช่วงเวลานี้เช่นกัน ได้เห็นชาวบ้านมีการรวมตัว จับกันเป็นกลุ่มอาชีพเฉพาะทาง เช่น การขายสลากกินแบ่ง งานลงเสาเข็ม(อาคาร)แบบเจาะ งานทาสีอาคาร ฯลฯ 


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.ค. 23, 18:31
โครงการตามพระราชดำริต่างๆได้ทำให้ชาวบ้านทั่วไปได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ในการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาทำให้เกิดใช้ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ  พวกที่ไม่ออกไปทำงานต่างถิ่นก็จะหารายได้ด้วยการทำผลิตภัณฑ์ตามทักษะของตนออกขาย  ในช่วงเวลาของแผน 4 และ แผน 5 นั้น การคมนาคมมีการเติบโตมาก มียานยนต์วิ่งกันขวักไขว่ทั่วทุกถนน  สินค้าเหล่านั้นปรากฏให้เห็นอยู่ในร้านค้าตามเส้นทางที่มีรถวิ่งผ่าน มีทั้งเครื่องจักสาน อาหารแห้ง อุปกรณ์เครื่องใช้ด้านอุปโภคและบริโภค ...     ผมได้เห็นประดิษฐกรรมตามภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีความหลากหลายมากมายอย่าง เช่น กับดักหนู  ทรงมีดสำหรับการใช้งานแบบต่างๆที่ต่างกัน  ยาดองสมุนไพร  การถนอมอาหารต่างๆ (ลักษณะ วิธีการ)  เครื่องมือดักจับสัตว์(โดยเฉพาะที่ใช้กับนกชนิดต่างๆ) การตัดต่อดัดแปลงต่างๆให้เหมาะสมกับการใช้งาน (สามล้อเครื่องสกาบแลป มอเตอร์ไซด์พ่วงข้าง ....) ฯลฯ   

งานที่ต้องใช้สติปัญญา ความคิด และงานฝีมือต่างๆนั้น จะรังสรรค์ให้เกิดขึ้นมาได้ก็แต่เพียงในสังคมที่มีความสงบและมีความสมบูรณ์มากพอที่ผู้คนสามารถสัมผัสได้ถึงระดับของความเพียงพอ ก็คือมากพอที่จะดำเนินชีวิตได้แบบมีความสุข มีช่องเวลามากพอที่จะใช้ไปในด้านความคิด/สติปัญญาเพื่อทำสิ่งใหม่ๆ 

ก็เป็นเครื่องบ่งชี้อีกรูปแบบหนึ่งของสังคมที่สงบสุขและเรียบง่าย แม้นคนภายนอกจะดูว่าเป็นสังคมที่วุ่นวายก็ตาม           


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.ค. 23, 19:57
เรื่องของทักษะที่ได้กล่าวมาดูจะเป็นเรื่องของบุคคล  ก็มีที่ทำกันเป็นกลุ่ม ทำเป็นผลิตภัณฑ์ของหมู่บ้าน (ลักษณะเข้าไปอยู่ในเกณฑ์ของเรื่อง OTOP)  ซึ่งดูจะพอจำแนกได้เป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ เป็นของดีที่มีพื้นเดิมเป็นของหมู่บ้านของตนจริงๆ  และที่เป็นของดีที่ได้จากผลิตของอื่นใดในหมู่บ้านของตน   

น่าสนใจก็คือ ในเรื่องที่กล่าวถึงนี้ เป็นเรื่องที่ผู้หญิงเข้ามาเกี่ยวข้องเกือบทั้งหมด  เป็นเรื่องที่ทำกันอยู่หน้าประตูของความเป็น Micro SME และ Entreprenoirship และในเรื่องของ Economy of scale    ซึ่งเท่าที่ได้สัมผัสมาในหลายพื้นที่ หมู่บ้านในกลุ่มที่กล่าวถึงนี้ดูจะมีความสงบเรียบง่ายเอามากๆเลยทีเดียว อาจจะเพราะด้วยเหตุของความรู้สึกว่าเป็นสุขพอแล้วในสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมเท่าที่เป็นอยู่       


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ก.ค. 23, 19:03
ภาพก็เป็นดังนี้  ระหว่างวัน ฝ่ายชายออกไปทำงานในพื่นที่ไร่นานอกบริเวณชุมชนที่อยู่อาศัย ฝ่ายหญิง เมื่อเสร็จงานเกี่ยวกับบ้านเรือนและลูกเต้าแล้ว ก็ไปรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อช่วยกันทำผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายหารายได้เพิ่ม ซึ่งกระทำกันใน 2 ลักษณะ  ลักษณะแรกคือ ทำงานที่บ้านของตนเองแต่ละคน เป็นผลิตภัณฑ์ตามทักษะฝีมือของแต่ละคน เอาไปวางรวมกันที่จุดจำหน่าย  จุดจำหน่ายเหล่านี้ มีทั้งที่เป็นของพ่อค้าคนกลางหรือที่เป็นของหมู่บ้านหรือของตำบล  สินค้าเหล่านี้ส่วนมากจะเป็นพวกที่เกี่ยวกับสิ่งทอ  ท่านที่เป็นนักท่องเที่ยวน่าจะคุ้นกับหลายๆชื่ออยู่แล้ว เช่น ผ้าเกาะยอ สงขลา, ผ้าบ้านเขว้า ชัยภูมิ, ผ้าหม้อฮ่อมทุ่งโฮ้ง แพร่, ผ้าบ้านไร่ อุทัยธานี, ผ้าน้ำอ่าง อุตรดิตถ์, ผ้าทอต่างๆของอีสานตอนบน.....

อีกลักษณะหนึ่ง คือช่วยกันทำงานโดยใช้พื้นที่ของบ้านผู้ใดผู้หนึ่งหรือที่ศาลาประชาคม  เป็นผลิตภัณฑ์ที่ดูจะเป็นพวกที่เกี่ยวกับเครื่องปรุงประกอบอาหารเป็นส่วนมาก เช่น ไข่เค็มไชยา น้ำปลาทำจากปลาสร้อยของบางเลน(นครปฐม)/บ้านกร่าง(พิษณุโลก), เค็มบักนัดอุบลฯ, กล้วยตากพิษณุโลก/กำแพงเพชร, ปลากุเลาเค็มตากใบ นราธิวาส, ฝอยทองฉะเชิงเทรา, น้ำบูดูสายบุรี, เค็กลำภูรา ตรัง, น้ำพริกของถิ่นต่างๆ .....   ซึ่งล้วนเป็นของดีของอร่อยทั้งนั้น   

ที่จริงแล้วก็มีของดีอีกมากมายที่ซ่อนอยู่ในหลายหมู่บ้าน         


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ก.ค. 23, 19:18
ที่ได้เล่ามานั้น กิจกรรมเกือบทั้งหมดดูจะจัดอยู่ในประเภทวิสาหกิจชุมชน เข้าข่ายของการเป็นผู้ประกอบการ เพียงแต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในลักษณะขนาดจิ๋ว 


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.ค. 23, 19:14
ผู้ประกอบการขนาดจิ๋วน่าจะพบได้ในเกือบจะทุกหมู่บ้าน มีทั้งที่ทำผลิตภัณฑ์ส่งขายกระจายอยู่ภายในเขตตำบลของตน ที่วางขายข้ามพื้นที่ไปในตำบลอื่นๆ ที่กระจายข้ามอำเภอสู่ระดับพื้นที่ของจังหวัดก็มี และก็มีที่ข้ามจังหวัดไปไกลๆ กิจกรรมเหล่านี้มีทั้งในลักษณะที่เป็นอุตสาหกรรมครัวเรือนและหัตถกรรมครัวเรือน   และก็มีผู้ประกอบการในอีกลักษณะหนึ่ง จะเป็นประเภทรับเหมางาน

กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆน่าจะพอจำแนกออกได้เป็น 3 ประเภท คือ พวกที่อยู่ในตลาดเฉพาะกลุ่ม ก็มีทั้งเฉพาะถิ่นและในวงกว้าง   พวกที่อยู่ในตลาดตามฤดูกาล พวกนี้มีมาก  และพวกตลาดที่ต้องใช้ทักษะและฝีมือเป็นการเฉพาะและพิเศษ พวกนี้จะเป็นกลุ่มงานที่ใช้เวลาในการทำงานแต่ละชิ้นงาน
   
ดูเป็นภาพที่ดีในเชิงของเศรษฐกิจระดับรากหญ้า แต่ในภาพของความเป็นจริง มันเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยจะมีที่เกิดใหม่ มีแต่จะล้มหายไป เพียงแต่การเกิดใหม่กับการล้มอยู่ในระดับที่พอจะมีความสมดุลย์กันอยู่บ้าง แม้จะใช้ช่วงเวลานานสักหน่อย  ทั้งนี้ ที่เกิดใหม่นั้นก็มักจะเป็นกิจกรรมในลักษณะหรือรูปแบบที่ต่างไปจากเดิม   ก็เป็นภาพที่บ่งชี้ว่ามีลักษณะของการ 'สู้ตลอด' ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นใด  เช่นกัน ก็เป็นภาพที่บ่งบอกว่ามันมีภูมิปัญญาท้องถิ่นแอบแฝงอยู่มากมายในผู้คนที่เราเรียกว่าชาวบ้าน  ซึ่งภูมิปัญญาที่แฝงอยู่ในตัวผู้คนเหล่านั้นได้แสดงออกมาทางตรรกะความคิดต่างๆในกิจกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นมา   ก็เป็นประเด็นในการพุดคุยสนทนากับชาวบ้านที่ทำให้มีความสนุกเพลิดเพลินและได้เรียนรู้เรื่องราวนอกตำรามากมาย  ฟังจากเขาแล้วทำความเข้าใจ(ในใจ)ให้ถ่องแท้ด้วยความรู้ทางตำราของเรา ก็จะเข้าใจในความเหมือนหรือไม่เหมือนของตรรกะต่างๆของเขาและเรา  ระหว่างความเป็นไปตามธรรมชาติกับความเป็นไปตามความรู้ที่เราถูกครอบมา... 


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ก.ค. 23, 18:46
ตัวอย่างหนึ่งที่ได้เข้าไปยุ่มย่ามและให้ความเห็น ทำให้ได้เข้าใจในเรื่องราวและประเด็นที่เป็นข้อจำกัด/ปัญหาในด้านการเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการในระบบการค้าที่เราคุ้นกัน

ก็มีแม่บ้านกลุ่มหนึ่งประมาณ 10 คน ร่วมกันลงทุนทำน้ำพริกตาแดงใส่กระปุกขาย  เป็นการนัดรวมตัวกันเพื่อทำการผลิตสัปดาห์ละครั้ง บังเอิญได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียน ทำความรู้จัก และได้นั่งสนทนาด้วย  ก็ทราบว่าขายดีและผลิตไม่ทัน  ต้นเหตุหลักๆที่พบก็คือ เป็นเพราะความพิถีพิถันในการผลิต จึงใช้เวลาในการจัดการกับแต่ละส่วนประกอบ จะปรับให้เร็วขึ้นก็พอได้อยู่ แต่คุณภาพก็จะลดลง และก็ไม่อยากจะถูกต่อว่า   กระบวนการผลิตก็มีการคั่วพริกแห้งให้หอม แล้วตำให้ละเอียด การเคี่ยวปลาร้าในกระทะจนสุกและแห้งพอดีๆ การเผาหัวหอมให้สุกทั่วทั้งหัว ซึ่งใช้วิธีหมกในขี้เถ้าร้อนๆใต้เตาไฟ ปอกเปลือกให้สะอาด เพื่อใส่ครกรวมกับเครื่องปรุงอื่นแล้วโขลกให้ละเอียด  ก็จะได้น้ำพริกตาแดงที่มีเนื้อละเอียดยิบ มีความหอม มีรสเผ็ดไม่มาก มีความฉ่ำและมีความนุ่มเนียนคล้ายกะปิคลองโคลน

ได้คุย ได้สอบถามในรายละเอียดของแต่ละขั้นตอนการผลิตแล้วก็ได้พบว่า เพียงเพิ่มกระทะขนาดใหญ่กว่าเดิม 1 ใบ เพิ่มหัวเตาแกส 1 หัว และข้อต่อสามทางสำหรับสายยางท่อแกส ก็น่าจะพอที่จะทำให้เวลาที่ใช้ในการผลิตสั้นลง จะควบคุมความสม่ำเสมอของคุณภาพได้คงที่มากขึ้น และจะช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตได้พอสมควร   ก็ดูจะเป็นการปรับปรุงที่ง่ายๆ ไม่มีอะไรสลับซับซ้อน  เงินที่เป็นรายได้สะสมใว้ก็มีพอที่จะใช้จ่ายได้         


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ก.ค. 23, 20:01
ก็ได้พบว่า มันไม่ใช่เรื่องของการไม่มีเงิน  แต่มันเป็นเรื่องของข้อจำกัดทางด้านเวลา และการเข้าถึงสิ่งที่ต้องการ

ในเรื่องของเวลา ก็คือแต่ละคนต่างก็มีภาระ เรื่องบ้านบ้าง เรื่องลูกบ้าง เรื่องต้องช่วยงานสามีในนาบ้าง ในสวนบ้าง เรื่องนัดเอาแรงบ้าง ใช้แรงบ้าง (การลงแขก)  สารพัดเรื่องที่เราๆในสังคมชาวเมืองแบบเราๆไม่คุ้นเคยและอาจจะไม่เข้าใจในความเป็นสาระสำคัญของมัน   สรุปง่ายๆก็คือไม่มีเวลาไปใช้เวลาเสาะหาซื้อในเมืองหรือในพื้นที่อื่นใด 

ในเรื่องของการเข้าถึงสิ่งที่ต้องการ  เราชาวเมืองก็ไม่ต่างกับชาวบ้านมากนัก เรามีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆมากมายที่ทำให้น่าจะดูเป็นเรื่องที่ไม่เห็นจะยาก   ลองดูกรณีเช่น ถ้าเราต้องการจะซื้อเมล็ดกาแฟที่ยังไม่คั่วหรือที่คั่วแล้วในกรุงเทพฯเพื่อเอามาบดชงเป็นกาแฟถุงแบบโบราณ จะต้องไปหาซื้อที่ใด  หรือจะไปหาซื้อหมูตั้งได้ที่ใหน เพื่อเอามากินเป็นกับข้าวต้มหรือเอามาทำเป็นใส้ปอเปี๊ยะสด ....   ของชาวบ้านแย่กว่าเรามากทั้งในเรื่องของการเดินทาง การขนส่ง ชนิด ขนาด คุณภาพ ฯลฯ   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.ค. 23, 19:16
เมื่อเห็นว่าเป็นของดี มีตลาดพอที่จะขยาย น่าจะสามารถจะทำเป็นธุรกิจที่เป็นกิจจะลักษณะได้  ก็เลยให้คำแนะนำเท่าที่จะมีความรู้  ให้เริ่มโดย้ให้จัดมีการจดบันทึกรายรับ/รายจ่าย ก็ถึงขั้นที่ต้องบอกว่าจะต้องทำเช่นใด ให้ใช้สมุดนักเรียน แบ่งหน้าซ้ายขวา หน้าหนึ่งให้เป็นรายรับอีกหน้าหนึ่งให้ป็นรายจ่าย  เพื่อจะได้มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องของทุน/กำไรเฉลี่ยในแต่ละช่วงเวลา เพื่อจะได้ใช้ตัดสินใจในการจัดการเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้อง  คุยกันไปคุยกันมาก็เลยได้รู้ว่ามีข้อจำกัดค่อนข้างมากในการจะขยายกิจการ  อาทิ จะต้องมีคนที่ทำงานในลักษณะงานประจำ ซึ่งหมายถึงคนเหล่านั้นจะต้องได้รับค่าตอบแทน ซึ่งค่าตอบแทนก็จะต้องใกล้เคียงกับรายได้แรงงานมาตรฐาน  แต่เงินหมุนเวียนในกิจกรรมที่ทำกันอยู่นั้นยังอยู่ในวงเงินน้อยกว่าหลักหมื่น ทรัพย์สินที่ใช้ในกระบวนการผลิตก็มีมูลค่าน้อยมาก (มีกระทะสามใบ หัวเตาแกส 2 หัว มีครกหิน ...)  มีเพียงตู้อบที่ใช้แกสใบเดียวที่มีราคาในหลักหมื่นบาท ซึ่งเป็นของที่ได้รับการสนับสนุนจากงบอะไรสักอย่างหนึ่ง  ด้วยสภาพเช่นนี้ โอกาสในการเข้าถึงสถาบันการเงินเพื่อการขยายกิจการเป็นศูนย์ คงนึกออก และคงไม่ต้องขยายความต่อไป   

ปัจจุบันนี้ กิจกรรมของแม่บ้านกลุ่มนี้ก็ยังอยู่ แต่ละคนก็มีความสุขดี  ทุกสัปดาห์ก็ได้มาพบกัน ตั้งวงทำงานไป เม้าท์กันไป   กลุ่มเองก็มีรายได้สะสมมากพอที่จะแบ่งปันกันเอาไปใช้ในลักษณะเป็นเงินก้อนเมื่อต้องการ (แชรฺแบบไม่มีดอก)  ทั้งมวลก็คือสภาพของการมีกิน มีใช้ อยู่ดี กินดี พอเพียง เพียงพอ สอดคล้องกลมกลืนไปตามสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของพื้นถิ่นที่อยู่อาศัย เป็นสภาพของความสุขและความสงบสุขของลักษณะการ living in harmony     


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.ค. 23, 17:46
 'กรรมการ' 

ตัด ร.เรือ ออกไปตัวหนึ่งก็จะกลายเป็น 'กรมการ'  :D    มี ร.เรือ 2 ตัว เป็นเรื่องเกี่ยวกับคณะบุคคลกลุ่มเล็กที่ใช้กำลังสมองและกำลังใจในการดำเนินการ   เหลือ ร.เรือ ตัวเดียว กลายเป็นเรื่องเกี่ยวกับคณะบุคคลกลุ่มใหญ่ที่มีความพร้อมเรื่องของอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆเพื่อการทำงานงาน

ไม่ไหวครับ ต้องหลบฝนอีกแล้ว  ;D


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.ค. 23, 19:25
'คณะกรรมการ' เป็นเครื่องมือที่ใช้กันในระบบการบริหาร/จัดการเพื่อแสดงออกถึงความโปร่งใสและความเป็นกลาง ทั้งในด้านแนวคิดและด้านปฏิบัติการ  ก็เป็นเรื่องที่มีอยู่ค่อนข้างมากและหลากหลายในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ต่างในส่วนกลาง ที่เราได้ยินคุ้นหูกันจากข่าวสารต่างๆ

ที่จะต่างกันอยู่บ้างก็คือ ของหมู่บ้าน/ชุมชน มีคณะกรรมการจำนวนค่อนช้างมากที่ไม่มีเบี้ยประชุมให้กับกรรมการในวาระการประชุมและวาระงานต่างๆ  ซึ่งเป็นผลดี ทำให้กรรมการมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่ต้องคำนึงถึงรายได้ที่อาจจะต้องสูญไป (เนื่องจากถูกขับออกจากคณะ) หากแต่จะยังได้รับความนิยมในหมู่ชาวบ้านเสียอีกว่ากล้าพูด/กล้าแสดงความเห็น   และอีกประการหนึ่งคือ จะต้องเป็นผู้ที่ทำงานจริงๆ ลงแรงจริง มิใช่เอาแต่พูด เพราะกรรมการทุกคนในเรื่องใดก็ตาม ไม่ว่าจะเสนอตนเองหรือได้รับการเสนอชื่อ ล้วนจะต้องได้รับความเห็นชอบจากชาวบ้านในที่ประชุมประชาคม โดยนัยก็คือเป็นคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมายโดยเสียงส่วนมาก และมี commitment ในวาระงานที่ชัดเจน

ก็มีกรรมการที่ต้องจัดตั้งขึ้นตามกฎระเบียบของทางราชการ  กรรมการเหล่านี้มีการประชุมที่มีการกำหนดชัดเจนทั้งวาระและช่วงเวลาของการประชุม เป็นกรรมการที่ดูจะได้รับเบี้ยประชุม ทำให้เกิดภาพที่ไม่ต่างไปจากที่มีอยู่ทั่วไปในส่วนกลาง เช่นกรณีเซ็นชื่อแล้วออกไปทำธุระอื่นของตน หรือให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทน หากแต่ของชาวบ้านจะค่อนข้างดีกว่าตรงที่ กรรมการตัวจริงใช้วิธีแบ่งเบี้ยประชุมให้กับผู้แทนที่เข้าประชุม มิได้รับเบี้ยแล้วเก็บไว้คนเดียว


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.ค. 23, 18:27
คณะกรรมการที่ชาวบ้านตั้งขึ้นมา ค่อนข้างจะมีความซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบสูง และทำงานจริงจัง  ในมุมหนึ่ง โดยนัย คณะกรรมการของชาวบ้านก็คือฝ่ายเลขาฯ(ฝ่าย Secretariat)ของงานเรื่องหนึ่งใดของชุมชน มิใช่เรื่องในนิยมของการเอาเท่ห์ อวดอ้างและแสวงเงิน

ขยายความนิดเดียวว่า เมื่อมีเหตุให้ต้องตั้งคณะกรรการหนึ่งใดขึ้นมา มักจะนิยมให้ความสำคัญกับการได้รับหน้าที่เป็นประธาน ในมุมมองว่ามีอำนาจและการสั่งการในเรื่องราวต่างๆ  หลายคนพอใจในหน้าที่เพียงการเป็นกรรมการ เป็นพระอันดับที่เกือบจะไม่ต้องมีความรับผิดชอบใดๆนอกจากการเข้าร่วมประชุมเพื่อแสดงตนเพื่อให้ครบองค์ประชุม  น้อยคนที่อยากจะอยู่ในตำแหน่งเลขานุการของคณะกรรมการ ด้วยเห็นว่าเป็นตำแหน่งเบ็ มีงานมาก ต้องทำงานมาก     ในความเป็นจริงแล้ว ฝ่ายเลขาฯมีความสำคัญอย่างมากเลยทีเดียว เพราะเป็นฝ่ายที่ทำหน้าที่บันทึกการประชุม ประมวลข้อมูลและเรื่องราว วิเคราะห์ และนำเสนอแนวคิดเพื่อให้คณะกรรมการพิจารณา/ตัดสินใจ  เรื่องราวต่างๆจึงอาจจะถูกโน้มน้าวให้ไปทางใดก็ได้  เมื่อคณะกรรมการเห็นด้วย ประธานก็เกือบจะหนีไม่พ้นที่จะต้องรับรองความเห็นหรือการตัดสินใจนั้นๆ  ความรับผิดหรือรับชอบจึงไปตกอยู่ที่ประธานเป็นหลัก 


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.ค. 23, 19:18
คงจะพอนึกออกว่าฝ่ายเลขาฯทำอะไรได้มากน้อยเพียงใด   ในภาพที่ไม่ยุ่งยากนัก ก็ลองนึกถึงการประชุมหนึ่งที่มีการถกความเห็นกันหลากหลาย ซึ่งย่อมจะต้องมีคำเปรียบเปรย สำนวนภาษา มีการใช้ภาษาอื่นเข้ามาปนเพื่อความหมายหนึ่งใด ....  ฝ่ายเลขาฯที่ทำหน้าที่บันทึกการประชุม สามารถทำหน้าที่ได้ใน 2 ลักษณะ คือ นำเสนอรายงานการประชุมแบบถอดเทปเป็นตัวอักษรทุกคำพูด หรือนำเสนอรายงานการประชุมแบบเป็นเนื้อหาสรุปเรื่องราว ซึ่งเป็นลักษณะของความเห็น   เมื่อต้องมีการรับรองรายงานการประชุม ก็เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า ไม่ค่อยจะมีการแก้ไขในเรื่องของสาระ เอาเพียงเท่าที่พอที่จะเข้าใจได้ในเรื่องราวก็พอ   ก็น่าจะพอนำให้เห็นภาพว่าฝ่ายเลขาฯสามารถทำอะไรได้มากน้อยเพียงใด   

เป็นประสบการณ์ที่พบมาในการประชุมภายในประเทศ ระหว่างรัฐ องค์กรพหุภาคี และองค์กรนานาชาติ   ซึ่งการแก้ไขให้มีความถูกต้องเป็นไปตามกระบวนความที่เป็นประโยชน์แก่เรานั้น สามารถทำได้ทั้งในห้องประชุม และการเข้าไปยุ่มย่ามตรวจทานในห้องฝ่ายเลขาฯก่อนที่จะพิมพ์แจกในห้องประชุม 


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ก.ค. 23, 19:03
การลงแขก  เรื่องนี้อคงจะไม่ต้องขยายความใดๆ  ดูผิวเผินก็จะเป็นแต่เพียงเรื่องของการมารวมกันเป็นกลุ่มเพื่อช่วยกันทำงานหนึ่งใดให้ลุล่วงไป การลงแขกจัดเป็นประเพณีของหมู่ชนชาวไทยทั่วทุกภูมิภาค  เป็นภาพที่แสดงถึงความเป็นมิตรไมตรี ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันในหมู่ชาวบ้าน    แต่ดั้งเดิม ภาพก็เป็นเช่นนั้น  จนกระทั่งเข้าสู่ยุคแบ่งแยกพวกมึงพวกกูเมื่อประมาณเกือบสองทศวรรษที่แล้ว สภาพก็เข้าสู่การเปลี่ยนไปเป็นมุมมองในตรรกะ nothing is for granted คือ ทุกการกระทำมิใช่เป็นของฟรี การกระทำนั้นๆมีราคาหรือมีคุณค่า แถมยังเพิ่มเรื่องของการได้กับเสียไปในเชิงของกำไรและขาดทุนเข้าไปอีกด้วย    คำว่า'เอาแรง'และ'ใช้แรง' จากเดิมที่เกือบจะไม่มีการคำนึงถึงเรื่องของผลตอบแทน กลายเป็นเรื่องที่ต้องมีการประเมินถึงความจำเป็นหรือความต้องการที่เหมาะสมในแต่ละรอบปี  จะไปให้แรงมากน้อยเพียงใดเพื่อที่จะได้แรงมากพอสำหรับงานของตนในรอบปีนั้นๆ  ทั้งมวลเป็นเรื่องในวงรอบของแต่ละปี   ในกรณีที่ได้แรงไม่พอตามที่ประเมินไว้ ก็ต้องไปหาคนมาเติม หากแต่จะอยู่ในลักษณะของการจ้างแรงงาน   

ระบบลงแขกยังคงมีความนิยมใช้กันในทุกๆเรื่องที่ต้องใช้คนหลายคน โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นการทำงานรูปแบบเดียวกัน/เหมือนกัน (เช่น กรณีการสร้างบ้าน งานศพ งานแต่ง ขุดบ่อน้ำ ....)  แต่ก็มีระบบลงแขกที่กำลังหายไปอย่างอย่างสิ้นเชิงเช่นกัน  เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำนา โดยเฉพาะในด้านของการเกี่ยวข้าว เพราะการใช้รถเกี่ยวข้าวมีความสะดวกและประหยัดกว่ามาก  สำหรับในด้านการปลูกข้าวนั้น แม้จะยังคงต้องใช้คนในการดำนา แต่ก็เริ่มมีการใช้เครื่องจักรกลเข้ามาทดแทนมากขึ้น           


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ก.ค. 23, 20:14
การลงแขกในปัจจุบันนี้ดูจะเป็นกิจกรรมที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก    ตอนเช้า ทุกคนมารวมกัน ต่างคนต่างห่อข้าวมื้อกลางวันของตัวเองมาด้วย มื้อกลางวัน ทุกคนจะมานั่งกินข้าวร่วมกัน เอากับข้าวที่ห่อมาคนละเล็กละน้อยมาแกะวางรวมกันเป็นสำรับกับข้าวกลาง กับข้าวตามปกติของแต่ละคนมักจะเป็นน้ำพริกแบบแห้งๆ กินกับผักแนม อาจจะมีเนื้อสัตว์พวกปลาแห้งหรือย่างอยู่บ้าง เจ้าของงานก็มักจะดูแลด้วยการจัดน้ำดื่มหรือน้ำเย็นให้  เรื่องใหญ่จะมาตกอยู่ในช่วงเย็นก่อนกลับบ้านซึ่งได้เล่าผ่านมาแล้ว แต่ก่อนนั้นกับแกล้มหรือของว่างแก้หิวก่อนกลับไปหุงหาอาหารเย็นต่อที่บ้าน ก็จะเป็นพวกของที่หาได้ตามห้วย/หนอง ที่เป็นของน้ำก็อยู่ในใหตามโคนต้นไม้ ไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายมากนัก   แต่ในปัจจุบันนี้ ของแนมน้ำเหล่านี้กลายเป็นของที่พึงต้องดูดี (ที่มิใช่มะขามจิ้มเกลือ) อาจจะเป็นลาบหรือยำอะไรสักอย่าง  ยิ่งจำนวนคนมาก การสนทนาหลังความเหนื่อยก็นานมากขึ้น ปริมาณของกินแก้เหนื่อยก็เลยมีมากขึ้นตามไปด้วย  (อาจนึกถึงภาพการละเล่นหลังเลิกงานของชาวบ้านภาคกลางก็ได้ _เพลงฉ่อย เพลงอีแซว...)   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.ค. 23, 20:02
คำว่า 'บ้านนอก' 'โง่' 'ล้าหลัง' 'จน' 'หลอกง่าย' 'ใช้ง่าย' 'งมงาย' 'ขาดความรู้' และอื่นๆที่เป็นคำในลักษณะ hashtag ที่มักจะปรากฎอยู่ในวลีหนึ่งใดในเรื่องราวที่เกี่ยวกับคำว่า'ชาวบ้าน'นั้น   ก็อาจจะมองในมุมกลับในอีกมุมหนึ่งได้เช่นกันว่า อาจจะเป็นตัวเรา(คนเมือง)เองนั่นแหละที่ควรจะมี hashtag เหล่านั้นติดอยู่ในกระบวนความรู้และความคิดของเราที่เผยออกไป  เพราะในสังคมหนึ่งๆ ในสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ ในศาสตร์หนึ่งๆ ล้วนมีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องของตรรกะพื้นฐานทั้งในด้านที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมที่ทำให้ปรากฎเป็นภาพที่เราได้เห็นและได้สัมผัส   การเปรียบเทียบกันโดยใช้มาตรฐานของเรา(คนเมือง)เป็นที่ตั้ง ซึ่งดูจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของเรื่อง availability เป็นหลัก จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องนัก  การใช้การเปรียบเทียบกันด้วยดัชนีความสุข (happiness index) อาจจะเป็นวิธีที่น่าจะมีความเหมาะสมมากกว่า

เรื่องราวและภาพที่ปรากฎตามสื่อต่างๆที่นักท่องเที่ยวต่างชาติได้ให้ความเห็นและเผยแพร่ออกไปในสื่อโซเชียลต่างๆ ล้วนแสดงถึงภาพของความเฉลียวฉลาด(intelligence) ของชา่วบ้าน มิใช่ในทางความโง่   แสดงถึงความความเคารพในประเพณีวัฒนธรรม (respectful) ของชาวบ้าน มิใช่ในทางของความโง่เขลา/งมงาย   และแสดงถึงความทันสมัย (modern) มิใช่ตกเทคโนโลยีสมัยใหม่  รวมถึงการแสดงถึงเชิงภูมิปัญญาบางอย่างที่น่าทึ่งของชาวบ้าน   

ดูๆไป บางทีก็คิดว่าสังคมเมืองกับสังคมชนบทนั้น อยู่ร่วมกันในลักษณะคล้ายๆกับระบบ apartheid กลายๆ (ขอยืมคำนี้มาใช้) ที่แบ่งกันด้วยฐานะทางเศรษฐกิจ   คำว่านายทุนกลายเป็นคำที่ชาวบ้านดูจะนิยมใช้กับชาวเมืองใหญ่ที่ไปอยู่ในพื้นที่     
 


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.ค. 23, 18:24
ก็เป็นภาพภายในของสังคมที่ผู้คนภายนอกเห็นว่าดูเรียบง่าย  เป็นมุมมองของผมได้เห็นจากการที่ได้มีโอกาสคลุกคลีเป็นระยะๆกับสังคมแบบชาวบ้านมานานหลายสิบปี  ภาพที่ได้เล่ามานั้นจะมีรายละเอียดลึกๆไม่เหมือนกันในภูมิภาคต่างๆ แต่ในภาพรวมๆจะใกล้เคียงกัน

ก็มาถึงเรื่องของภาพต่างๆที่เกิดขึ้นกับฝั่งคนที่ไปอยู่อาศัย/ไปใช้ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย หรือไปใช้ชีวิตเป็นบางช่วงเวลาในพื้นที่ๆเห็นว่าเป็นสังคมที่เรียบง่าย  ก็มีทั้งในลักษณะที่เป็นการย้ายที่อยู่อาศัย ย้ายถิ่นทำมาหากิน หรือในลักษณะที่เป็นบ้านที่สองเพื่อการพักผ่อน     

ในภาพหลวมๆ คนที่จะย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยดูจะมีอยู่ 3 พวก คือพวกที่มีพื้นหลังเคยทำงานหรือประจำการอยู่ในพื้นที่นั้นๆ พวกนี้โดยส่วนมากดูจะย้ายบนเหตุผลเพราะว่าชอบความสงบเรียบร้อย (สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและทางสังคม)  พวกที่สองเป็นพวกที่ทำอาชีพทางการค้าขาย พวกนี้ย้ายบนเหตุผลที่เกี่ยวกับเรื่องของการทำมาหากิน (เศรษฐกิจ)  และพวกที่ย้ายที่อยู่ตามคู่สมรส (ครอบครัว)   

ก็จะขอเล่าความเฉพาะพวกที่ไปอยู่ด้วยเหตุผลเพราะว่าชอบสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและสภาพทางสังคมของพื้นที่


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.ค. 23, 19:12
กลุ่มคนพวกนี้พอจะจัดได้ว่าเป็นพวกที่พอจะมีฐานะ คือมีฐานะดีพอที่จะซื้อหาที่ดินได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งก็ยังพอจะจำแนกออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือที่ดินในพื้นที่เมืองที่มีสาธารณูปโภคตามสมควร  กับที่ดินที่มีถนนและไฟฟ้าเข้าถึงที่อยู่ห่างจากจุดที่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยรวมกันของชุมชนหมู่บ้าน    ผมไม่อยู่ในพวกลักษณะแรก(อยู่ในเมือง) 

สภาพของสังคมที่เรียบง่ายแบบในพื้นที่เมืองนี้ อาจเห็นได้ทั้งในตัวพื้นที่ๆเป็นที่ตั้งของส่วนราชการระดับจังหวัดหรือในระดับของอำเภอ  แต่ก็มีที่ความสงบเงียบและสังคมที่เรียบง่ายกลับไปปรากฎอยู่ในตัวจังหวัด มิใช่ในตัวอำเภอ เช่น อ.เมืองประจวบฯ กับ อ.หัวหิน หรือ อ.เมืองสงขลา กับ อ.หาดใหญ่ เป็นต้น             


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.ค. 23, 18:57
ชีวิตในสังคมที่เรียบง่ายในอีกมุมมองหนึ่ง อาจจะหมายถึงลักษณะของการใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายของตนเองในสังคมที่ตนเองเห็นว่ามีความวุ่นวายน้อยกว่าสังคมที่ตนเองใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบัน   จึงอาจจะเป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากความต้องการที่จะหลุดพ้นหรืออยู่ห่างจากกรอบของกฎ กติกา มารยาท ที่ตนเองประสบอยู่ (วินัย etiquette ... ฯลฯ)   จะเป็นลักษณะใดก็ตาม ชีวิตในสังคมที่เรียบง่ายมีความเกี่ยวข้องกับความรู้สึกของการอยู่ได้ด้วยตนเอง หรือในความรู้สึกว่าอยู่ห่างจากการที่ต้องมีการแข่งขันหรือรีบเร่งไปเสียทุกเรื่อง   เลยกลายเป็นเรื่องปกติที่คนที่ใช้ชีวิตทำงานหรือประจำการอยู่ในต่างจังหวัด เมื่อพ้นวัยทำงานแล้วจึงมักจะนิยมเลือกใช้ชีวิตในวัยชราในต่างจังหวัด บ้างก็ในลักษณะของบ้านถาวร บ้างก็ในลักษณะของบ้านที่สอง บ้างก็ในลักษณะของพื้นที่เพื่อความสุขไนด้านการทำไร่ทำสวน  ซึ่งการเลือกพื้นที่ก็ดูจะไปขึ้นอยู่กับความรู้สึกที่ได้จากการเปรียบเทียบระหว่างความวุ่นวายกับความสงบเงียบ                 


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.ค. 23, 20:11
ก็หมายถึงการมีเรื่องของที่ดินหรือมีบ้านที่อยู่อาศัยมาเกี่ยวข้อง   ซึ่งเชื่อว่า น่าจะทุกคนเลือกที่จะเป็นเจ้าของที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ๆมีธรรมชาติดูสวยงาม   ในเมืองกรุง ที่ดินอยู่อาศัยขนาด 50-100 ตรว. ก็ถือว่ากำลังพอดี แต่ดูจะเล็กไปสำหรับในต่างจังหวัดซึ่งก็อาจจะต้องนึกถึงในระดับ 100 ตรว.เป็นอย่างต่ำ ชานเมืองก็อาจจะนึกถึงระดับ 1 ไร่  แต่หากเป็นพื้นที่ในชนบทในเขตอำเภอต่างๆก็อาจจะนึกถึงในระดับประมาณ 5 - 10+/-ไร่ เพราะนึกไปถึงเรื่องของการปลูกไม้พืชผลด้วย 


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ก.ค. 23, 19:31
สำหรับบ้านและที่ดินขนาดประมาณ 1 ไร่ สองตายายก็พอจะใช้ความขยันดูแลทั้งบ้านและต้นไม้ที่ปลูกไว้ให้ดูได้ดีและสะอาดเรียบร้อยได้  แต่ก็จะอยู่ในสภาพที่ต้องมีงานเต็มมือ    หากเป็นที่ในระดับประมาณ 5 ไร่ขึ้นไปถึงประมาณ 10 ไร่ ก็จะเข้าในลักษณะของการคิดทำสวนแบบสวนผสม คือปลูกต้นไม้ ไม้ผล ไม้ดอก หลากหลายพันธุ์ตามความอยากและความชอบ  จะเข้าเป็นลักษณะของบ้านสวน ซึ่งก็จะมีในแบบที่ไปใช้ชีวิตอยู่ประจำอยู่ที่นั่น กับแบบไปอยู่เป็นระยะๆตามที่วันว่าง/ช่วงเวลา  บ้านสวนนี้โดยนัยแล้วก็คือการหลบออกไปใช้ชีวิตนอกกรอบกติกาทางสังคมแบบคนในเมือง และ etiquette ต่างๆที่รู้สึกว่ารัดตัวที่พึงต้องระวังอยู่เสมอ  เป็นการหลบไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดูไม่วุ่นวาย เรียบง่าย เป็นอิสระ และสามารถเป็นตัวเองได้ตามความรู้สึกอยาก  ก็แน่นอนว่า พื้นที่ดินขนาดนี้ย่อมต้องอยู่ในพื้นที่นอกเมือง และย่อมต้องอยู่นอกพื้นที่อยู่อาศัยของชุมชนที่เป็นหมู่บ้าน    กรณีเป็นพื้นที่ขนาดมากกว่าประมาณ 10 ไร่ขึ้นไป ก็พอจะเดาได้ในสองลักษณะ คือการสะสมที่ดิน และการคิดทำไร่ทำสวน ผืนที่ดินเหล่านี้มักจะอยู่ไกลปืนเที่ยง ก็คือเกือบจะไม่คิดที่จะไปกินอยู่หลับนอนในพื้นที่นั้นๆเลย  สิ่งปลูกสร้างที่ทำขึ้นในพื้นที่มักจะเป็นในลักษณะที่เรียกว่ากระท่อม ขนำ เพิง โรงเก็บของ ....


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ก.ค. 23, 19:17
การก็เลยกลับกลายออกไปในทางว่า สังคมที่เรียบง่ายนั้นมีองค์ประกอบส่วนหนึ่งที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมาเองด้วย  หนึ่งในนั้นก็คือความรู้สึกทางใจที่ได้อยู่ห่างจากสังคมเดิมที่เราเห็นว่ามันมีความไม่สงบและไม่เรียบง่าย และอีกส่วนหนึ่งคือการที่ได้มีอิสระอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่รู้สึกว่ามันเป็นของเรากว้างขวางมากขึ้น

โดยสรุปแล้ว สาระทั้งมวลที่ได้เล่ามาก็คงพอจะทำให้นึกถึงภาพของการใช้ชีวิตในสังคมที่ดูว่าเรียบง่ายได้ว่ามันจะเป็นเช่นใด  ก็ทำได้ทั้งการอยู่นอกวง ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องใดๆ(ผู้คน ชุมชน งานหลวง งานราษฎร์ กิจกรรทางสังคมของพื้นถิ่น...) หรือเลือกเรื่องที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในสังคมนั้นๆ (ช่วยเหลือเจือจุน ลงแรง ให้ความเห็น...)  หรือเลือกที่จะต่อต้าน เป็นปฏิปักษ์ในเรื่องที่ชาวบ้านเขาทำกัน (วิจารณ์ ใส่ร้าย...)  หรือเลือกที่จะทำตนเป็นคนสำคัญ (ยกตนข่ม ทำรวย นักเลง...)

       


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ส.ค. 23, 19:20
ถึงตรงนี้ ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย จึงมีคุณสมบัติที่ประกอบไปด้วยลักษณะในทางนามธรรมและในทางรูปธรรมที่อยู่ในนึกคิดของตัวเรา ผสมผสานกับสิ่งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมที่มีปรากฎอยู่ในอิทธิพลของสังคมรอบข้างใกล้ตัวเรานั้นๆ

ได้เล่าความพอสังเขปกับชีวิตในสังคมที่เรียบง่ายของผู้คนฝ่ายที่อยู่ในพื้นที่ๆเราเห็นว่าเป็นสังคมที่เรียบง่ายมาแล้ว  ก็ลองมาดูชีวิตของคนนอกที่พยายามเข้าไปใช้ชีวิตในพื้นที่ๆเห็นว่าเป็นสังคมที่เรียบง่ายเหล่านั้นว่าจะเป็นเช่นใด   กรณีการไปใช้ชีวิตในพื้นที่เมืองคงเป็นเรื่องที่ไม่ต้องขยายความใดๆ ซึ่งดูจะมีอยู่ 3 เหตุผลหลัก คือ กลับไปใช้ชีวิตที่ภูมิลำเนาเดิมเมื่อเกษียณงานแล้ว  ติดพื้นที่เนื่องจากย้ายไปอยู่ ไปทำงานมานานมากจนฝังรากลึก  และเหตุผลสุดท้าย คือมีธุรกิจที่มั่นคงอยู่ที่นั่น     

ที่น่าสนใจก็คือกลุ่มที่ไปใช้ชีวิตในพื้นที่นอกเมืองในผืนดินขนาดมากกว่า 1 ไร่ ไปจนถึงประมาณ 10+ไร่ ซึ่งค่อนข้างจะเด่นชัดว่าเป็นผู้คนที่มีฐานะค่อนข้างจะดีมาก   กลุ่มคนพวกนี้จะพิจารณาเลือกไปอยู่และเป็นเจ้าของที่ดินในชนบทด้วยองค์ประกอบในการตัดสินใจ เช่น การคมนาคมสะดวก (เครื่องบิน รถไฟ) ระยะทางไปถึงที่ไม่ไกลมากนักจากสนามบิน สถานีรถไฟ (ควรจะน้อยกว่า 50+/- กม.) ถนนดี น้ำไฟถึง...เป็นต้น   กลุ่มพวกนี้ดูจะ hashtag ทุกอย่างที่ยังดูไม่ modern รวมทั้งกิจกรรมต่างๆทางสังคมที่เห็นว่าเป็นไปด้วยความเยิ่นเย้อ ว่า(ลักษณะเหล่านั้น)เป็นการแสดงถึงความยังคงอยู่ของสังคมที่มีความเรียบง่าย


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ส.ค. 23, 19:20
จัดหาที่ิดินได้แล้ว   วาระแรกก็คือการปรับพื้นที่ให้ดูดี พร้อมที่จะทำอะไรๆต่อไปตามที่ฝันว่าจะทำ แต่ไม่ว่าจะเป็นการทำเพื่อการอยู่แบบถาวรหรือการทำเพื่อเป็นบ้านหลังที่สองสำหรับการไปพักผ่อนได้ปีละหลายๆครั้งก็ตาม  ก็จะเริ่มพบปัญหาแรกที่ต้องแก้ใข คือเรื่องของน้ำกินน้ำใช้ว่าจะมีให้ใช้ได้อย่างพอเพียงหรือไม่ และควรจะทำได้อย่างไร    ด้วยที่ผืนดินแปลงขนาดใหญ่ส่วนมากจะอยู่ห่างไกลจากระบบประปาหมู่บ้าน ทางออกก็ดูจะมีเพียงการขุดบ่อน้ำตื้น การเจาะบ่อบาดาล การขุดสระน้ำ และการแบ่งปันขอใช้น้ำจากระบบคลองส่งน้ำเข้าพื้นที่เรือกสวนไร่นาของชาวบ้าน   เรื่องทั้งมวลนี้ล้วนทำให้ผู้มาอยู่ใหม่ต้องเข้าไปมีความสัมพันธุ์กับชาวบ้าน  แรกๆก็อาจจะเริ่มด้วยการมีผู้ใหญ่บ้านเข้ามาเยี่ยมเยียนสอบถามเพื่อการทำความรู้จักกับผู้ที่เข้ามาอยู่ใหม่ในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นประกายแรกของความรู้สึกของทั้งสองฝ่ายว่า ความสัมพันธ์เรื่องราวต่อไปจะเป็นไปในทางบวก (มิตร) หรือไปในทางลบ (ศัตรู) หรือจะเป็นแบบลุ่มๆดอนๆ   

ด้วยที่ ในทางที่ถูกที่ควรแล้ว ผู้ที่จะเข้ามาอยู่ใหม่เขตพื้นที่ใดๆ พึงจะต้องหาโอกาสสำแดงตนต่อผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านนั้นๆก่อนที่จะทำกิจกรรมใดๆในพื้นที่นั้นๆ  อย่างน้อยก็เป็นการแสดงถึงการให้ความเคารพกับสังคมที่ตนจะเข้าไปร่วมอยู่ด้วย   ซึ่งก็แน่นอนว่าอาจจะเกิดมีการเบ่งกล้ามโชว์ระหว่างกันบ้างว่า ไผเผ็นไผ 

ความสัมพันธุ์แรกๆระหว่างผู้มาอยู่ใหม่กับชุมชนชาวบ้านมักจะนึกถึงและยืนดีกับการได้สิ่งต่างๆแบบได้มาฟรีๆ เพราะนึกไปถึงเรื่องของความเอื้ออาทรและการมีน้ำใจของชาวบ้านที่ต่างไปอย่างสิ้นเชิงในความคิดของชาวบ้านที่แยกแยะระหว่างการมีน้ำใจ (เมตตา) และความเอื้ออาทร (กรุณา) ซึ่งเป็นเรื่องในทางนามธรรม กับการใช้แรงงานที่เป็นเรื่องในทางรูปธรรม   

ผู้ที่มาอยู่ใหม่นั้น หนีไม่พ้นที่จะต้องพึ่งพาชาวบ้านในเรื่องของแรงงานและในทักษะของงานในบางเรื่อง  ซึ่งชาวบ้านเขาก็พร้อมขายทักษะและแรงงานให้ ก็เป็นเรื่องบนฐานของเงิน   เรื่องที่เราคิดว่าเป็นเรื่องไม่ยาก/ไม่น่าจะมีอะไรเป็นพิเศษนั้น ในหลายๆกรณีอาจจะเป็นเรื่องที่จะต้องว่าจ้างผู้ที่มีความชำนาญเฉพาะทาง

ในมุมมองทางโครงสร้างเศรษฐกิจระดับรากหญ้า แสดงว่า ไทยเราดูจะมี micro entrepreneurship ในระดับรากหญ้ากระจายอยู่ทั่วไปในชุมชนต่างๆ       


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ส.ค. 23, 18:56
ขอขยายความกรณีเรื่องน้ำใช้สักเล็กน้อย    คิดว่าส่วนมากจะนึกถึงการเจาะบ่อบาดาล เพราะจะคิดกันในลักษณะของการเป็นทรัพย์สินเฉพาะของตน ซึ่งเมื่อเจาะลงไปแล้ว จะมีหรือไม่มีน้ำก็ไม่รู้ หากมี ก็ยังไม่รู้ว่าจะมีปริมาณน้ำสูบขึ้นมาได้มากน้อยเพียงใดสำหรับการใช้ในกรณีต่างๆที่ต่างกันไป (ทำสวนผลไม้ ทำพืชไร่ อยู่อาศัย...) ก็เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงพอสมควร   กรณีได้ปริมาณน้ำเป็นปริมาณมาก ไม่นานนักก็มักจะต้องมีชาวบ้าน/ชุมชนมาขอร่วมใช้ เพราะเป็นแหล่งน้ำสะอาดเพื่อการบริโภค

กรณีต้องใช้น้ำจากระบบร่องส่งน้ำของชาวบ้าน   ระบบร่องส่งน้ำนี้เกิดมาจากการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านหลายชุมชน(ตามเส้นทางที่จะทำให้ร่องน้ำๆหลผ่าน)ร่วมกันขุดเซาะทำให้เป็นร่องน้ำ  ต้นทางของร่องน้ำนี้อาจจะเริ่มต้นจากฝายกั้นน้ำในห้วยที่มีน้ำไหลเกือบตลอดปี(หุบห้วย ร่องเขา) หรือเริ่มจากจุดที่มีการทดน้ำจากห้วยใหญ่ คลอง หรือแม่น้ำ ที่มีน้ำไหลตอดปี  ร่องน้ำนี้ ภาษาเหนือเรียกว่า 'เหมือง'   ในสมัยก่อนก็เพื่อการส่งน้ำเข้าไร่นาและเพื่อเป็นน้ำอุปโภคสำหรับพื้นที่ที่อยู่อาศัยของชุมชน แต่ในปัจจุบันนี้จะเป็นเพื่อการส่งน้ำเข้าผืนนาเท่านั้น   

ตามนัยที่เล่ามานี้ จะเห็นว่าร่องน้ำนี้มีความเป็นเรื่องของส่วนรวม เป็นแบบกี่งๆสาธารณะกับนิติบุคคล  ก็จึงต้องมีผู้ดูแลที่เรียกว่ากรรมการ มีหน้าที่ตรวจสอบสภาพและประสิทธิภาพของการใช้งาน  ดำเนินการประสานเกี่ยวกับการลงแรงเพื่อช่วยกันทำการบำรุงรักษาประจำปีหรือในเรื่องอื่นๆ  มีการเรียกเก็บเงินเป็นรายปีในลักษณะคล้ายเป็นสมาชิกรายปีที่ผนวกกับการที่สมาชิกต้องร่วมลงแขกออกแรงช่วยกัน (มีการพัฒนาไปเป็นการออกเงินแทนการออกแรงแล้ว)   ร่องน้ำนี้มีระยะทางยาวหลายๆกิโลเมตรเลยทีเดียว   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ส.ค. 23, 20:00
งานที่ทำเกี่ยวกับเรื่องของการไหลของน้ำในร่องน้ำนี้ ในสังคมปัจจุบันจะเป็นการใช้การส่องกล้องเพื่อจับระดับและกำหนดเส้นทางการไหลของน้ำให้ไปตามเส้นทางที่มีความลาดเอียงที่ความเหมาะสมกับปริมาณของน้ำที่ต้องการจะให้ไหล   ในสมัยก่อนโน้น ชาวบ้านเขาทำได้เช่นใด?  ลองจินตนาการกันดูครับ

ในสมัยก่อน ชาวบ้านนิยมปลูกต้นมหาหงส์(สะเลเต)ตามแนวรั้วหน้าบ้านที่มีร่องน้ำเหมืองไหลผ่าน ช่วงเย็นใกล้ดวงอาทิตย์ตกในฤดูที่มีอากาศเย็น ความหอมเย็นของดอกมหาหงส์นี้ได้ให้ความรู้สึกที่สดชื่นจริงๆ


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ส.ค. 23, 18:02
เมื่อเป็นเรื่องที่ต้องเป็นการขุดสระน้ำ   การขุดคงต้องใช้เครื่องจักรกล ช่วงเวลาของการขุดที่เหมาะก็น่าจะเป็นในฤดูแล้งจัดๆ เพราะจะได้ปลอดภัยมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี  ได้สระมีน้ำแล้วก็ต้องมีเครื่องสูบน้ำ ก็สุดแท้แต่ว่าจะเลือกใช้แบบเครื่องยนต์หรือแบบไฟฟ้า ต้องมีแท้งค์น้ำเพื่อพักน้ำให้เกิดการตกตะกอนบ้าง มีการวางระบบส่งน้ำ ....   

มีน้ำแล้วก็มีการปลูกพืชพรรณไม้ต่างๆ  ซึ่งจะตามมาด้วยการดูแลรดน้ำ ดายหญ้า ใส่ปุ๋ย แต่งกิ่ง พรวนดิน ....  ล้วนเป็นงานกลางแจ้งและใช้แรงทั้งนั้น

ทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการต้องจ้างแรงงาน ซึ่งหมายถึงว่า เป็นเรื่องที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้านในพื้นที่ใกล้ๆตัว  ชาวบ้านก็ดีใจที่มีรายได้เพิ่ม และหวังว่าจะได้รับการจ้างในลักษณะเป็นคนงานประจำ       


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ส.ค. 23, 19:13
การปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้มาอยู่ใหม่กับชาวบ้านในช่วงแรกเริ่มมักเป็นไปด้วยดี มีการเอื้อเฟื้อกันตามสมควร เป็นลักษณะของการเรียนรู้ซึ่งกันและกันในเรื่องต่างๆ แต่มีนัยลึกๆของการเรียนรู้กันคนละมุม  ที่คิดเหมือนๆกันก็จะอยู่ในเรื่องของการหลอกเอาประโยชน์ ความเชื่อใจ ความไว้วางใจ ความร่วมมือ ความช่วยเหลือ ความเสมอต้นเสมอปลาย ...

ไม่นาน ต่างคนต่างก็จะออกลาย ซึ่งลายแย่ๆที่ชาวบ้านไม่ยอมรับกันก็คือเรื่องของการไร้น้ำใจ ความตระหนี่ขี้เหนียว การผิดนัด ผิดคำสัญญา การเอาเปรียบ     หากเป็นกรณีที่ชาวบ้านเขาพอใจ รับได้ว่าเป็นคนหนึ่งในสังคมของเขา ข้อสังเกตแรกๆก็คือ เราจะได้รับข่าวสารการเคลื่อนไหวของเรื่องราวส่วนกลางต่างๆของชุมชน ซึ่งมีได้หลายลักษณะวิธีการ เช่นการแวะมาทักทาย เยี่ยมเยียนสอบถามทุกข์สุข ฯลฯ   หรือการเรียกเราด้วยการใช้คำสรรพนาม เช่นพ่อ แม่ น้า ลุง ตา อุ้ย พ่ออุ้ย พ่อใหญ่ นายหัว พ่อเลี้ยง แม่เลี้ยง ฯลฯ     


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ส.ค. 23, 18:59
ผู้ที่จะไปมีที่ดินและบ้านอีกหลังหนึ่งในต่างจังหวัด หากมิใช่คนที่มีภูมิลำเนาเดิมในพื้นที่นั้นๆ ก็จะต้องเป็นผู้ที่มีสถานะทางการเงินที่ค่อนข้างจะดีกว่าคนปกติโดยทั่วไป  ก็หมายความว่าจะมีรสนิยมค่อนข้างจะออกไปในทางหรู ใช้ของดี ติดที่จะต้องอวดต้องโชว์ฐานะบ้างเมื่อมีโอกาส   หากเดินทางท่องเที่ยวในต่างจังหวัดแบบซอกซอน ก็จะสามารถสังเกตเห็นที่ดินและบ้านของผู้คนเหล่านี้ได้ไม่ยากนัก ซึ่งมักจะมีองค์ประกอบเหล่านี้ คือ มีรั้วที่สมบูรณ์รอบที่ดิน มีทั้งแบบก่ออิฐทึบและทาสี หรือเป็นแบบขึงลวดหนามในสภาพที่เรียบร้อย  มีพื้นที่หน้าบ้านที่เป็นสนามหญ้า ที่บริเวณตัวบ้านอาจจะมีการถมดินยกระดับ  หากเป็นบ้านปูนก็มักจะเป็นทรงผสมผสานระหว่างแบบสมัยใหม่กับแบบคลาสสิค  หากเป็นบ้านไม้ก็มักจะเป็นบ้านทรงพื้นบ้านที่จะเน้นโชว์ไม้และเสาบ้าน    ซึ่งเราพอจะดูออกได้ในทันทีเลยว่า ที่ดินและบ้านนั้นๆมีเจ้าของเป็นคนชาวเมือง ก็เป็นทรัพย์สินทางวัตถุที่เป็นไปตามความนึกฝันของผู้ที่เป็นเจ้าของ คนที่รู้สึกสุขใจจริงๆก็คือเจ้าของทรัพย์สินนั้นๆ   สำหรับคนนอกพื้นที่ๆเมื่อได้เห็นในระหว่างเดินทางผ่านไปผ่านมาก็จะรู้สึกว่าพื้นที่แถบนั้นๆดูมีความสงบ สวยงามและน่าอยู่  ซึ่งเป็นภาพแฝงเนื่องจากเป็นภาพของการอยู่แบบกระจาย อยู่กันแบบห่างๆ (เพราะความกว้างของแต่ละผืนที่ดิน) เป็นความรู้สึกแบบการใช้ชัวิตห่างจากสังคม ไม่รู้สึกอึดอัดแบบชีวิตเมืองที่แต่ละบ้านจะทำอะไรก็ได้ยินได้รู้กันไปทั่ว    ก็เป็นอีกมุมหนึ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นชีวิตที่เรียบง่ายในสังคมที่เรียบง่าย (ดูจะไปสัมพันธ์กับนัยของคำว่า social isolation)

           


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ส.ค. 23, 20:10
เมื่อที่ดินและบ้านสวย ก็น่าจะพอคาดได้ว่าเครื่องเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ตกแต่งภายใน และเครื่องใช้ต่างๆก็จะต้องเป็นของดีมีราคาตามไปด้วย ก็แน่นอนว่าต้องมีความรู้สึกรักและหวงแหน   บ้านระดับนี้ก็ต้องมีแม่บ้าน  เช่นกันก็ต้องมีคนดูแลบ้านเมื่อไม่อยู่  อาจจะต้องมีคนสวนเป็นการเฉพาะ   กลายเป็นเรื่องที่ต้องมีรายจ่ายประจำเป็นรายเดือน ซึ่งจะเป็นรายจ่ายที่สูงมากกว่ารายจ่ายที่จ่ายกันตามปกติสำหรับการอยู่อพาร์ตเมนต์หรือคอนโดมีเนียม   เป็นรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นที่อาจจะไม่คุ้มกับการใช้เพื่อการดูและทรัพย์สินที่ได้เพิ่มเติมขึ้นมา

การมีคอนโดฯที่ต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนกลางและอื่นๆ มีลักษณะเป็นรายจ่ายที่ค่อนข้างจะคงที่  แต่หากเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้เพื่อการดูแลที่ดิน ที่ สวน และบ้านในต่างจังหวัด ดูจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่คงที่ ดูจะออกไปทางบานปลายในแต่ละปี เพราะเป็นเรื่องที่ไปเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ส.ค. 23, 19:08
เท่าที่เห็นมา บ้านหลังที่สองนี้มักจะขาดลักษณะที่แสดงว่ามันมีชีวิตเป็นช่วงๆเวลา  ก็มีทั้งแบบเป็นช่วงเวลานานมากหลายๆเดือนในแต่ละปี และแบบเป็นช่วงสั้นๆสองสามเดือน   ไม่รู้ว่าจะอธิบายเช่นใดดี เลยจะขออธิบายความด้วยภาพที่เราเห็นและสามารถสังเกตได้ระหว่างที่ดินและบ้านร้าง กับที่ดินและบ้านที่มีคนอยู่อาศัย ภาพทั้งสองนี้น่าจะอธิบายความในเรื่องนี้ได้ดี    ที่ดินและบ้านที่ไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลใดๆในช่วงเวลาเพียงสองสามเดือนจะเริ่มแสดงภาพของการร้าง  ก็เป็นภาพที่ค่อนข้างจะแสดงถึงช่วงเวลาที่เจ้าของมาอยู่อาศัยได้เป็นอย่างดี

เรื่องหลังภาพก็คือ ที่เจ้าของเคยคิดว่าจะเดินทางมาพักในช่วงเวลาวันหยุดยาวบ้างหรือในช่วงเวลาสองสามเดือนครั้งบ้างนั้น เอาเข้าจริงๆมันมิใช่เป็นเช่นนั้น กลายเป็นส่วนมากจะออกไปทางปีละครั้งหรือนานมากกว่านั้นด้วยเหตุผลต่างๆ เช่นเรื่องของธุระกิจการงาน วิธีการเดินทาง ค่าใช้จ่ายในแต่ละครั้ง ระยะทางและระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทาง ...     

ในเรื่องการบริหารจัดการกับที่ดินและบ้านนั้นๆ จะพบว่าเกือบทั้งหมดจะเป็นเรื่องของการจ้างชาวบ้านให้ช่วยดูแลพื้นที่บริเวณนอกตัวบ้าน (เพราะปิดบ้านลงกลอน) เช่นพวกไม้ประดับ ไม้แต่งสวน รดน้ำ ตัดหญ้า ...    เมื่อเจ้าของไม่อยู่ คนงานรู้ช่วงเวลาที่เจ้าของจะมา หรือได้รับแจ้งล่วงหน้า ก็จะรีบดำเนินทำให้พื้นที่ต่างๆให้ดูสะอาดเรียบร้อย (ตัดหญ้า รดน้ำต้นไม้ เก็บกวาด...)  ส่วนในช่วงที่เจ้าของบ้านยังไม่มาก็จะละเว้นงานที่ต้องทำ หันไปให้เวลากับการทำงานหารายได้เพิ่มเติม   ดังนั้น เมื่อตัวเจ้าของมาอยู่ที่บ้านวันแรกๆ ก็เรื่องที่จะต้องทำ(เพราะปิดบ้านไว้)เกี่ยวกับการทำความสะอาดภายในบ้าน เครื่องเรือน อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ...  ก่อนที่จะพักอยู่ได้อย่างความรู้สึกสะอาดและปลอดภัยจากเชื้อโรคต่างๆ   สำหรับภาระก่อนกลับก็เช่นกัน ก็จะเป็นเรื่องของการเก็บและการคลุมผ้าป้องกันฝุ่น ปิดแกสหุงต้ม ตัดกระแสไฟฟ้า ...


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ส.ค. 23, 20:00
ชีวิตในสังคมที่เราจินตนาการว่าเรียบง่ายทั้งที่เป็นภาพภายนอกที่เราเห็นว่ามันเป็นเช่นนั้นและที่เป็นภาพภายในที่เกี่ยวกับตัวเราที่เห็นว่าน่าจะเป็นเช่นใดนั้น โดยเนื้อในของภาพทั้งสองฝั่งแล้ว ต่างก็มีความวุ่นวายอยู่ภายในวงสังคมของมัน     สังคมที่เรียบง่ายหรือสังคมที่วุ่นวายก็เลยดูจะเป็นความต่างในความรู้สึกที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากข่าวที่เผยแพร่อยู่ในสื่อต่างๆทั้งในเชิงปริมาณและในเชิงคุณภาพ    ข่าวที่คนในพื้นที่เมืองเสพอยู่นั้นได้มาจากสื่อหลายชนิด/หลายรูปแบบ ซึ่งส่วนมากจะเป็นข่าวเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมแบบเมืองที่วุ่นวายเกี่ยวโยงกันไปหมด แถมยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นในทางดีหรือในทางที่ไม่ดี    ส่วนข่าวที่เกี่ยวกับสังคมต่างจังหวัดและในพื้นที่นอกเมืองนั้น ส่วนมากจะเป็นข่าวที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอาญา   

ก็น่าจะพอเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้คนทั่วไปเห็นว่าในต่างจังหวัดนั้นมีความสงบเรียบง่ายมากกว่าในเมืองมากนัก       


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ส.ค. 23, 18:23
เล่าความมาแบบเดินทางไปตามถนนลูกรัง อาจจะรู้สึกกระโดกกระเดก ไม่ค่อยจะราบเรียบนัก แต่ก็น่าจะพอสื่อความ/สื่อภาพที่ได้พบเห็นมา ซึ่งเป็นภาพรวมๆของสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาประมาณ 30 ปีที่ผ่านมาจนในปัจจุบัน เท่าที่ได้สัมผัสมาด้วยตัวเอง

ที่เล่ามาดูจะเป็นเรื่องที่มีเนื้อหาสื่อออกไปในทางความไม่สงบและความไม่เรียบง่ายต่างๆ   แล้ว..ชีวิตในสังคมที่เรียบง่ายจะเกิดขึ้นได้เช่นใด ??

ตามประสบการณ์ที่ได้มาจากช่วงเวลาของการทำงานภาคสนามในพื้นที่ไกลปืนเที่ยงหลายๆพื้นที่ในภูมิภาคต่างๆ ผนวกกับที่ได้ประสบมาเมื่อใช้ชีวิตเป็นช่วงๆในพื้นที่ไกลปืนเที่ยงหลังเกษียณงาน  พบว่า ตัวเราเองต่างหากเป็นผู้สร้างสิ่งแวดล้อมให้เกิดเป็นสังคมที่เรียบง่ายสำหรับตัวเรา และก็จะไปทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับตัวเราได้เกิดความรู้สึกเช่นนั้นเช่นกัน               


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ส.ค. 23, 19:27
ความเห็นของผม

สังคมของชาวบ้านก็มีลักษณะหนึ่ง ของชาวเมืองก็มีลักษณะหนึ่ง แล้วก็ยังมีแยกย่อยๆออกไปอีก เช่น สังคมบนฐานทางอาชีพ สังคมบนฐานของลักษณะงาน สังคมบนฐานด้านการศึกษา ...    สิ่งที่จะทำให้ผู้คนที่อยู่ในวิถีของสังคมที่ต่างกันมาอยู่ร่วมกันในสภาพที่มีความรู้สึกว่าไม่อึดอัด มีแต่ความสงบและเรียบง่าย ก็คือการช่วยกันสร้างให้เกิดความรู้สึกสงบและเรียบง่ายนั้นๆ ซึ่งเกิดได้ด้วยการสร้างสังคมเล็กๆระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องกัน จากระดับบุคคลแล้วค่อยๆขยายไปในวงกว้าง   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ส.ค. 23, 19:53
ก็มีบางมุมมองและความเห็นที่ได้สัมผัสมาในเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจในพื้นที่นอกเมือง   เป็นภาพที่เห็นจากการที่ผมนิยมเดินทางไปต่างจังหวัดด้วยการขับรถเอง เลือกพักตามโรงแรมระดับ 3 ดาวที่ดูดีและมีอาหารเช้าบริการ ที่ใกล้ๆที่พัก(เดินไป)มีร้านข้าวต้มหรือร้านที่เปิดขายอาหารเย็นที่มิใช่แบบเป็นสวนอาหารหรือภัตตาคารชื่อดัง  การเดินทางในลักษณะนี้ทำให้ได้มีโอกาสคุยกับคนพื้นถิ่นค่อนข้างมาก ได้ข้อมูล ความรู้ ปัญหา และพื้นฐานของกระบวนคิดต่างๆของผู้คนในสังคมระดับรากหญ้ามากทีเดียว  หลายๆเรื่องเหล่านั้นดูจะเป็นองค์ประกอบ(มากบ้าง น้อยบ้าง)ที่ส่งผลให้เกิดเป็นลักษณะจำเพาะของอุปนิสัยใจคอของผู้คนพื้นถิ่นนั้นๆ


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ส.ค. 23, 18:50
ที่ว่ากันว่าเศรษฐกิจไม่ดีนั้น เกือบทั้งทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อเดินทางผ่านไปทางใหนก็เห็นมีการปลูกบ้านใหม่กระจายอยู่ทั่วไป พื้นที่ละสองสามหลัง  ที่ดูจะมีลักษณะเป็นการเฉพาะในเรื่องนี้ก็คือ เกือบทั้งหมดจะเป็นการเปลี่ยนจากบ้านไม้ไปเป็นบ้านปูนที่สร้างในพื้นที่เดิม ไม่ค่อยจะเห็นมีการสร้างอาคารพาณิชย์ใหม่ (ซึ่งภาพที่เห็นมักจะเป็นอาคารที่ยังสร้างไม่เสร็จ ทิ้งร้างไว้)    อีกภาพหนึ่งที่เห็นคุ้นตาก็คือ ไม่ค่อยจะเห็นรถกระบะส่วนบุคคลรุ่นเก่า มีแต่รุ่นค่อนข้างใหม่ไม่ไกลจากปีปฏิทิน ซึ่งก็มีการแต่งตามความพอใจของเจ้าของ (ล้อแม็ก ขนาดยาง ช่วงล่าง เครื่องประดับรถ...)    ในด้านเครื่องจักรกลทางการเกษตรก็เช่นกัน รถอีแต๊ก อีแต๋น ที่แต่เดิมมักจะเห็นวิ่งอยู่ตามถนนในยามเย็น ก็ถูกแทนที่ด้วยรถไถเอนกประสงค์ขนาดเล็กที่ใช้ได้ทั้งไถนา ตัดหญ้า ยกร่องสวน พรวนดิน...   และก็แน่นอนว่าเห็นมอเตอร์ไซด์เป็นจำนวนมากตามถนนต่างๆทั้งภายในตัวเมืองและตามถนนหลวง ในเมืองในช่วงเช้าก็จะมีทั้งแบบที่ผู้คนใช้เดินทางไปทำงานและที่นักเรียนใช้ในการไปเรียนหนังสือ   ในพื้นที่ชานเมืองในรัศมีถึงประมาณ 20 กม. ก็จะเป็นพวกคนที่ไปทำงานในเมือง รวมทั้งชาวบ้านที่ไปสวน ไปไร่ ไปนา


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ส.ค. 23, 20:03
ภาพดังกล่าวนี้ ดูจะไม่บ่งชี้ไปในทางว่าเศรษฐกิจไม่ดีในองค์รวม  แต่ดูจะบ่งชี้ไปในทางว่าที่ไม่ดีนั้น มันเป็นเฉพาะกับบางวงจรของเงินหมุนเวียนในกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางอย่าง(ที่ทำให้เกิดรายได้)  เช่น ช่างไม้ย่อมมีรายได้ลดลงหรือขาดรายได้ ต่างกับช่างปูนที่ย่อมจะมีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากความนิยมในการสร้างบ้านที่เป็นบ้านปูน    หรือเช่น เปลี่ยนจากการซึ้อของสดจากตลาดมาทำกับข้าวกินเอง ไปเป็นการซื้ออาหารสำเร็จรูป เรื่องเช่นนี้กระทบถึงรายได้ของชาวบ้านระดับรากฝอยค่อนข้างมาก   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ส.ค. 23, 19:23
ข้อสังเกตที่ผมใช้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ดีในพื้นที่ๆไปทำงานที่เรียกว่าต่างจังหวัด อำเภอ หรือตำบลห่างไกลนั้น มีอยู่สองสามเรื่อง โดยใช้การพิจารณาจากภาพที่เห็น   ก็จะมีเช่นเรื่องที่เกี่ยวกับความหลากหลายของนิติบุคคลที่ปรากฎอยู่ในพื้นที่  เรื่องที่เกี่ยวกับปริมาณการคมนาคมในพื้นที่  เรื่องที่เกี่ยวกับการจับจ่ายในเรื่องอาหารการกิน   และที่เกี่ยวกับการกระทำบนฐานของความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (comparative advantage)

เรื่องแรก _ความหลากหลายของนิติบุคคลที่ปรากฎอยู่ในพื้นที่ เรื่องนี้ดูจะเป็นสิ่งที่สะท้อนภาพออกมาให้เห็นได้ดีที่สุด  ก็คือความหลากหลายของธนาคารพาณิชย์ที่ปรากฎให้เห็นอยู่ในพื้นที่ ทั้งในเชิงของความหลากหลาย จำนวนที่ตั้งและความหรูหราของสำนักงานที่ปรากฎ  (เงินเป็นปัจจัยสำหรับการอยู่รอดของธนาคารต่างๆ)

เรื่องที่สอง การคมนาคมในพื้นที่นั้นดูได้จากหลายๆภาพ เช่นจากปริมาณการสัญจรของรถบรรทุก(เล็ก ใหญ่)  ขนาดและลักษณะของรถบรรทุก  จำนวนโกดังเก็บ/กระจายสินค้า  รวมทั้งปริมาณรถยต์ส่วนบุคคลที่วิ่งขักไขว่อยู่ในพื้นที่ .....

เรื่องเกี่ยวกับอาหารการกิน  เรื่องนี้ดูได้จากเมนูอาหารนิยมที่ผิดที่ผิดทางในพื้นถิ่น  ก็คงจะไม่ต้องขยายความ  กรณีก็เช่น ปลากะพงแดดเดียว ยำหอยแครง ต้มยำหัวปลาแซลม่อน เนื้อโพนยางคำย่างน้ำตก....


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ส.ค. 23, 19:13
ในด้านของการกระทำที่แสดงถึงการวิเคราะห์ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (comparative advantage) นั้นมีให้เห็นอยู่มาก เพียงแต่อาจจะไม่ได้นึกถึงในประเด็นนี้กัน หากแต่จะมองไปในภาพของการเลียนแบบในมุมของ copy บ้าง  ในมุมของ imitation บ้าง  ในมุมของ replica บ้าง ....    ภาพของการมีการวิเคราะห์ที่กล่าวถึงนี้จะเห็นได้ค่อนข้างจะเด่นชัดจากผลิตภัณฑ์ต่างๆหลายๆอย่างที่เอามาแสดงและวางขายกันในงานโอทอปที่จัดให้มีขึ้นเป็นประจำในแต่ละปีที่เมืองทองธานีและที่อื่นๆ   

ผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอและขายในงานโอทอปนี้ น่าจะจำแนกออกได้เป็น 4 ประเภท คือ ประเภทที่ติดตลาดแล้ว  ประเภทขยายตลาด  ประเภทเกิดใหม่ กำลังหาตลาด  และประเภทสินค้าซื้อมา-ขายไป   หากได้เดินเที่ยวดูของในงานที่จัดขึ้นในแต่ละครั้ง ก็จะมีโอกาสได้เห็นภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นถิ่นทั่วไทยว่าน่าจะอยู่ในสภาพของสิ่งแวดล้อมใด ดีหรือเลว มากหรือน้อยเพียงใด   น่าเสียดายที่ผู้คนส่วนมากดูจะมองเห็นแต่เพียงภาพของงานออกบูทขายของ   

ก็อยู่นอกวงทางวิชาการเกี่ยวกับเรื่องทางเศรษฐกิจและทางเศรษฐศาสตร์ แต่ก็เชื่อว่าน่าจะมีการนำเอาประเด็นต่างๆที่สัมผัสได้จากงานโอทอปในแต่ละครั้งเหล่านั้น เอาไปวิเคราะห์ในเชิง holistic เกี่ยวกับต้นทางที่ทำให้เกิดและเหตุที่ทำให้ล้มหายตายจากไปของพวก micro SME ที่ได้มาแสดงตนหรือที่หายไปจากงานโอทอปที่ผ่านๆมา 


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ส.ค. 23, 20:03
นึกออกถึงสิ่งบ่งชี้ทางเศรษฐกิจอีกอย่างหนึ่ง  คือเรื่องของการสร้างสรรค์กิจกรรมทางด้านศิลปะ ซึ่งผลงานของศิลปินมักจะแสดงออกมาในลักษณะที่สะท้อนถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัวและสภาพของจิตใจของผู้คนในทางที่อาจจะเป็นบวก(ผ่อนคลาย)หรือในทางที่เป็นลบ(เครียด) ซึ่งก็คือการบ่งบอกไปถึงสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมโดยทั่วๆไป


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ส.ค. 23, 19:00
ตรรกะง่ายๆก็คือ ในสิ่งแวดล้อมของสภาพทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่นั้น ลักษณะการดำรงชีพของผู้คนจะอยู่ในภาพของการมีรายได้แบบตึงมือ ชักหน้าไม่ถึงหลัง ไม่มีช่วงเวลาที่จะอยู่ได้แบบเอ้อระเหย มีข้อจำกัดในการนึกฝันไปถึงเรื่องของสิ่งปรุงแต่งเพิ่มเติมให้กับชีวิต อาทิ สิ่งที่จะมาช่วยทำให้เกิดความสดวกสบายเพิ่มมากขึ้น การรังสรรค์ความสวยงามให้กับที่อยู่อาศัย และสิ่งที่ทำให้เกิดความรู่สึกเจริญใจต่างๆ

ศิลปะที่แสดงออกมาที่เห็นได้ในปัจจุบันนี้ ดูล้วนแต่แสดงภาพที่บ่งชี้ว่า ได้สร้างสรรค์ออกมาภายใต้สิ่งแวด้อมทางเศรษฐกิจที่อยู่ในเกณฑ์ดี   วัดดูจะเป็นสิ่งบ่งชี้ที่ค่อนข้างดี  คนสายวัดน่าจะได้เห็นความสวยงามของสิ่งก่อสร้างต่างๆของวัดจากการได้ไปเที่ยววัดไหว้พระในพื้นที่ต่างๆ  น่าจะได้พบว่าแต่ละวัดล้วนมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสิ่งก่อสร้างของวัดให้ดูมีความสวยงามมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดมา โดยเฉพาะกับงานในด้านตบแต่งอย่างมีศิลปะ  งานเช่นนี้เป็นงานที่ใช้เวลา ซึ่งวัดเอง โดยเฉพาะวัดในระดับหมู่บ้าน จะไม่มีเงินมากพอเพื่อใช้ในจ้างช่างและจ้างแรงงาน งาน ก็จึงอยู่ในภาพของการอาสาฯเป็นพื้นฐาน ซึ่งหมายถึงว่าอาสาสมัครเหล่านั้นจะต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีพอ ไม่รู้สึกเดือดร้อนที่จะต้องใช้เวลาที่มีทั้งหมดในแต่ละวันไปในการหาของเพื่อยังชีพ คือสามารถเว้นว่างได้ 


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ส.ค. 23, 20:13
ผมเป็นคนที่ฟังเพลงหลากหลายประเภทและหลากหลายลักษณะ ทั้งของไทยและของเทศ ทั้งสมัยเก๋าและสมัยปัจจุบัน   ช่วงที่เริ่มสูงวัยจัดๆนี้ ได้เกิดความสนใจกับพวกเพลงรุ่นเก่าๆที่เอามาร้องใหม่โดยนักร้องใหม่ที่มีเสียงต่างกันออกไป ทั้งที่เป็นเพลงประเภทลูกทุ่งและลูกกรุง แล้วก็ขยายต่อไปถึงพวกเพลงพื้นถิ่นที่ใช้เครื่องดนตรีพื้นถิ่น โดยเฉพาะของภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน และภาคอีสานตอนล่าง   ก็ใช้ยูทูปค้นหาและเปิดฟัง เลยเกิดข้อสังเกตที่น่าสนใจ 


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ส.ค. 23, 20:08
โดยทั่วๆไปเราจะจำแนกเพลงไทยออกเป็น 4 ประเภท คือเพลงไทยเดิม เพลงพื้นบ้าน เพลงลูกกรุง และเพลงลูกทุ่ง  เพลงต่างๆก็มีพัฒนาการไปตามปกติ จนในปัจจุบันมีความหลากหลายมากพอที่จำแนกเพิ่มได้เป็นอีกหลายๆลักษณะ ซึ่งก็มีชื่อเรียกกันเป็นการเฉพาะสำหรับกลุ่มเพลงที่มีลักษณะแบบนั้นๆ   

ในช่วงของทศวรรษที่ผ่านมา เพลงไทยเดิมที่ฟังแล้วน่าเบื่อ ก็กลับมีศิลปินที่แสดงความสามารถจนเกิดเป็นสินค้าทางพาณิชย์ได้  เพลงลูกกรุงและลูกทุ่งก็มีการเอามาร้องใหม่ มีการปรับเพลงใหม่ทั้งด้าน orchestrate โทนและท่วงทำนอง     ที่น่าสนใจก็คือพวกเพลงพื้นบ้าน โดยเฉพาะที่ใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านล้วนๆและแบบที่ประยุกต์ใช้เครื่องดนตรีสมัยใหม่มาร่วมด้วย  ซึ่งอายุของนักดนตรีที่อยู่ในวงดนตรีเหล่านั้นล้วนอยู่ในวัยฉกรรจ์เกือบทั้งหมด  อีกทั้งเพลงที่นำมาเล่นแสดงก็มีทั้งลักษณะการเล่นได้ทั้งแบบเเก่า แบบประยุกต์เครื่องดนตรี แบบประยุกต์ style (เรียกว่า'สำเนียง'ในภาษาเหนือ 'ลาย'ในภาษาอีสาน) แบบเอาเพลงรุ่นใหม่มาเล่นด้วยเครื่องดนตรีพื้นบ้าน แบบ Potpourri ....ฯลฯ   

ก็เป็นเรื่องชวนให้คิดว่า งานสร้างสรรค์เหล่านี้คงจะเกิดขึ้นได้ไม่ง่ายนักหากการดำรงชีวิตยังคงอยู่ในสภาวะที่ฝืดเคือง     


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ส.ค. 23, 18:58
สังคมที่เรียบง่ายอาจจะมีได้หลายลักษณะบนพื้นฐานต่างกันที่ใช้ในการพิจารณา  เห็นว่าโดยทั่วๆไปก็จะเป็นการพิจารณาจากภาพของความขวักไขว่ของผู้คนและกิจกรรมต่างๆในพื้นที่นั้นๆ ผนวกกับจินตนาการที่เกิดมาจากการได้สัมผัสกับโสตทัศน์ต่างๆที่กระจายอยู่ในสื่อประเภทต่างๆ แต่เนื้อในของสังคมที่ว่าเหล่านั้น อาจจะมิได้เป็นจริงตามนั้น   ชีวิตในสังคมที่เรียบง่ายบนฐานของเรื่องทางประเพณี/วัฒนธรรม อาจจะเป็นสังคมที่ดูไม่เรียบง่ายในเรื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ  เช่นกัน สังคมที่ดูเรียบง่ายในเรื่องกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ก็อาจจะไม่เรียบง่ายในเรื่องทางประเพณี/วัฒนธรรม    เมืองหลักและเมืองรองในภูมิภาคต่างๆของเราให้ภาพเหล่านี้ได้ดี


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ส.ค. 23, 20:18
เห็นว่า ความอยู่รอดของสภาพสังคมที่เรียบง่ายก็ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของการมีและการคงอยู่(รอด)ของวงจรและการหมุนเวียนของเงินในกิจกรรมทางธุรกิจภายในพื้นที่(หมู่บ้าน) และการมีโอกาสในการก้าวข้ามออกไปสู่กิจกรรมในระดับระดับตำบล ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และก้าวสู่ระดับระหว่างประเทศ

สังคมที่เรียบง่ายเป็นสังคมที่น่าจะเป็นที่ปราถนาของผู้คนต่างๆ  กำลังคิดว่าจะขยายความออกไปดีใหมในเรื่องของการทำให้มันยืนยงคงอยู่ (sustainability) ?


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ส.ค. 23, 18:41
จากประสบการณ์ในการทำงานในพื้นที่ของจังหวัดต่างๆ ผมได้เห็นภาพของชาวบ้านในมุมหนึ่งว่าแต่ละคนดูล้วนมีผู้ที่มีทักษะฝีมือในการทำงานเรื่องหนึ่งเรื่องใดเด่นเป็นการเฉพาะของแต่ละคน เรื่องหนึ่งที่บ่งชี้ให้เห็นถึงทักษะหลากหลายที่มีอยู่ในหมู่ชุมชนหนึ่งๆก็เช่นบ้านเรือนที่อยู่อาศัย โบสถ์ วิหาร ศาลาวัด...  การสร้างสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นล้วนเป็นการสร้างขึ้นมาด้วยความคิด การใช้ทักษะฝีมือและแรงงานของผู้คนในชุมชนนั้นๆ ทั้งในเชิงของการออกแบบ ในเชิงของโครงสร้าง ในเชิงของการก่อสร้าง และในเชิงของศิลปะและการตกแต่งต่างๆ   ก็อาจจะมีการจ้างนิติบุคคลหรือบุคคลอื่นบ้าง แต่ส่วนมากก็จะเป็นพวกที่อยู่ในหมู่บ้านใกล้เคียง

ในปัจจุบันนี้ การปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยมี อบต.(องค์การบริหารส่วนตำบล) และที่มีความพร้อมก็ผันออกไปเป็นเทศบาลตำบล  งานหลักของ อบต.และเทศบาลตำบลนี้ เกี่ยวกับเรื่องของการพัฒนาและเรื่องของการอยู่ดีมีสุข  ก็เลยมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับงานการสร้างสรรค์และงานทางโยธาค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นงานที่มีเรื่องของผู้รับเหมาช่วง(subcontractor)และผู้จัดหา(supplier)เข้ามาเกี่ยวข้อง  อีกทั้งก็เป็นงานที่มีระบบราชการเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย

ขอหนีฝนสาดก่อนครับ


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ส.ค. 23, 19:08
กำลังจะให้ภาพว่า ชาวบ้านแต่ละคนต่างก็มีทักษะฝีมือในบางเรื่องที่เด่นมากพอที่จะเป็นหัวหน้ากลุ่มรับงานประเภทที่ต้องใช้ทักษะฝีมือในเรี่องนั้นๆ ซึ่งก็คือลักษณะของการเป็นผู้ประกอบการในเรื่องนั้นๆ หากแต่เป็นผู้ประกอบที่ไม่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายต่างๆ ธุรกรรมต่างๆก็จึงอยู่ในสภาพที่เป็นเพียงการรับจ้าง   

ก็คงนึกออกถึงข้อจำกัดในเชิงของโอกาสต่างๆของชาวบ้าน เช่น ในการถึงแหล่งงาน แหล่งเงิน แหล่งทุน การสร้างคู่หูทางธุรกิจ องค์ความรู้ ...ฯลฯ  ซึ่งภาพในองค์รวมก็คือการขาดโอกาสในการเข้าถึงในเรื่องต่างๆในเกือบจะทุกเรื่อง  คงจะไม่ต้องขยายความต่อ เพราะมีเรื่องราวอยู่มากมายที่เกี่ยวกับการเข้าไปช่วยชาวบ้าน ทั้งข่าวสาร การศึกษาวิจัย นโยบาย ส่วนราชการ   ซึ่งเกือบทั้งหมดก็ดูจะอยู่แต่ในประเด็นเรื่องเกี่ยวกับโอกาสต่างๆ  ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง หากแต่มันออกไปทางภาพของอาจารย์ออกมายืนอ่านเลคเชอร์โน๊ตวิชา 101 อยู่หน้าห้องที่ขาด Q&A session  เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นทั่วไปในประเทศต่างๆ แต่ละประเทศก็มีวิธีการทำให้มันครบวงจร ก็มีทั้งการใช้ระบบกลุ่ม ระบบสหกรณ์ ระบบความร่วมมือกับสถานศึกษา ระบบองค์กรของรัฐ ระบบองค์กรผู้มีความรอบรู้  ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่กระทำอยู่ในกรอบของนโยบายด้าน SME ซึ่งก็มีที่หมายรวมถึงระดับ micro entrepreneurship ด้วย     


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ส.ค. 23, 19:59
ท่านที่มีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในยุโรป และโดยเฉพาะในพื้นที่ๆเป็นหมู่บ้านเล็กๆหรือที่อยู่ห่างจากเมืองใหญ่ต่างๆ ก็น่าจะสัมผัสได้ถึงภาพของความสงบและความเรียบง่ายที่มีอยู่ในพื้นที่ ซึ่งยิ่งหากได้แวะพักค้างคืนและได้ใช้ชีวิต/กิจกรรมเล็กๆน้อยๆ (พักค้าง กินในร้านอาหารพื้นบ้าน เดินชมเมือง ซื้อของเล็กๆน้อยๆ) ก็จะยิ่งได้เห็นภาพของสังคมที่เรียบง่ายซึ่งแสดงออกมาภายใต้ภาพของความสวยงาม ภาพที่ไม่แสดงถึงความวุ่นวาย และภาพของการทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยกิจการขนาดเล็กๆในระดับครัวเรือน ซึ่งทำให้เกิดการจินตนาการต่อไปถึงอีกความรู้สึกของสภาพของการ'กินดีอยู่ดี'  ซึ่งเป็นภาพภาพที่กล่าวมานี้ ในซีกโลกทางตะวันออกก็สามารถสัมผัสกับความรู้สึกเช่นนั้นได้เช่นกัน หากแต่มีพื้นที่ๆแสดงภาพในลักษณะนั้นไม่มากนัก   ในไทยเราก็มีปรากฏอยู่ในหลายๆแห่งและก็มีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยเสียด้วย   

ทิ้งท้ายไว้ในเรื่องราวที่ผ่านมาว่า มันมีความช่วยเหลือเพื่อทำให้เกิดวงจรที่สมบูรณ์ (การสร้างให้เกิดขึ้น_ผลิต  การจำหน่าย_ขาย และการนำไปใช้_ตลาด) และก็ต้องมีการะบวนการพัฒนาทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณควบคู่กันไปด้วย   ก็มีตัวอย่างที่น่าสนใจในกระบวนการนี้ เป็นของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้เริ่มกระบวนการนี้มาหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองได้ยุติลง   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ส.ค. 23, 19:56
ญี่ปุ่นให้ความสนใจกับผู้ประกอบการระดับรากหญ้ามานานมาก   ในปี ค.ศ.1936 ได้มีการตั้งธนาคาร Shoko Chukin ขึ้นมาโดยมีฝ่ายรัฐและฝ่ายผู้ประกอบการรายย่อยร่วมกันเป็นเจ้าของ ลงทุนร่วมกัน และร่วมกันบริหาร  (ฝ่ายผู้ประกอบการรายย่อยก็คือสหกรณ์ต่างๆทั่วประเทศญี่ปุ่น) ลักษณะและภารกิจโดยนัยก็ไม่ต่างไม่ต่างไปจาก ธกส.ของบ้านเรา ที่ต่างกันก็ในเรื่องของลักษณะของความเป็นนิติบุคคลที่ให้น้ำหนักกับความเห็นและการตัดสินใจของคณะกรรมการฝ่ายที่เป็นผู้ประกอบการ คงกล่าวได้ว่าเป็นธนาคารของผู้คนระดับรากหญ้าที่แท้จริง  หลักการสำคัญของธนาคารก็คือ เป็นแหล่งเงินสำหรับผู้คนที่ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า คือเปิดโอกาสและช่องทางให้ผู้คนระดับรากหญ้าสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจของตน     

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง ญี่ปุ่นก็ไม่รอช้าที่จะใช้ช่องทางนี้เพื่อการฟื้นฟูการล่มสลายของระบบเศรษฐกิจทั้งมวล โดยได้ตั้งองค์กรของรัฐในลักษณะเป็นหน่วยงานทางนโบายขึ้นมาเพื่อดูแลการฟื้นฟูระบบการผลิตเป็นการเฉพาะ ตั้งแต่ธุกิจระดับจิ๋ว (รถเข็นขายของ...)  ครอบคลุมไปจนถึงธุรกิจระดับที่มีผลผลิตขายไปทั่วประเทศ  เรื่องต่างๆก็ดำเนินไปจนเป็นภาพที่เราได้เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้    ของเราก็มีทั้งหน่วยงานและธนาคารที่มีภารกิจโดยตรง รวมทั้งธนาคารที่ทำธุรกิจใน sector ด้านนี้เช่นกัน   ประเด็นที่น่าสนใจก็คือการใช้ตัวชี้วัดที่บ่งชี้ถึงความสำเร็จที่อาจจะเน้นในด้านรูปธรรมหรือในด้านนามธรรม (achievement) ก็ได้  องค์กรทางด้านการเงินที่เกี่ยวกับ SME จึงไม่ติดกับอยู่กับเรื่องของกำไรหรือขาดทุน  ระบบ KPI เป็นเครื่องมือเพื่อบอกถึงระดับของความสำเร็จในแต่ละขั้นตอนต่างๆในการดำเนินนโยบายหรือโครงการระยะยาวหนึ่งใด     


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ส.ค. 23, 18:40
หลังสงคราม ในปี ค.ศ.1949 ญี่ปุ่นได้ตั้งหน่วยงานชื่อว่า National Life Finance Corporation (NLFC) เพื่อเป็นแหล่งเงินให้ทุกผู้คนได้เข้าถึงและเป็นแหล่งเงินหมุนเวียน เพื่อการเริ่มต้นกิจการเพื่อหา/สร้างรายได้ เพื่อการสร้างให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าเพื่อจะได้ขยายตัวและเติบโตต่อไป   

ก็แน่นอนว่า ในสภาพของความกะรุ่งกะริ่งในทุกๆเรื่องที่เป็นผลจากการทำสงคราม ย่อมทำให้การทำมาหากินเป็นเรื่องที่ยาก บ้างก็ขาดเงินทุน บ้างก็ขาดหัวหน้าครอบครัว บ้างก็ขาดผู้ที่มีความรู้ความชำนาญ เนื่องจากเสียชีวิตหรือหายไป   โดยสรุปก็คือขาดคนและขาดองค์ความรู้ การแจ้งเกิดใหม่ของกิจการหรือธุรกิจในสภาพของสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปก็ย่อมต้องล้มลุกคลุกคลาน ส่งผลให้เกิดเรื่องต่างๆตามมามากมาย โดยเฉพาะในเรื่องของหนี้สิน (ที่มักจะตามมาด้วยเรื่องของการฮุบทรัพย์สิน ที่ดิน และในเรื่องอื่นๆ)

ที่น่าสนใจก็คือ แนวคิดและการปฏิบัติเพื่อรองรับประเด็นของปัญหาและเรื่องดังกล่าว ซึ่งก็ยังมีการปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน ทั้งในบริบทเชิงกฎหมาย ในบริบทเชิงสำนึกของภาคการศึกษา/วิชาการ  ในบริบทเชิงสำนึกของผู้ที่ได้มีโอกาสมากกว่าผู้คนโดยทั่วไป และในสำนึกของผู้บริหารระดับท้องถิ่น     


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ส.ค. 23, 20:17
แล้วทำกันเช่นใด ??

ในเรื่องของการเงิน  โดยพื้นฐานก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของการขอยืมเงิน การกู้เงิน และวิธีการอื่นใดเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินสำหรับการลงทุน    กรณีไปขอกู้ธนาคารเพื่อเอาไปทำธุรกิจก็คงจะหนีไม่พ้นการให้ข้อมูลและการประเมินในความหมายของคำเช่น business plan, cash flow, irr ฯลฯ  ซึ่งผู้ประกอบการแจ้งเกิด (รายใหม่) คงจะหนีไม่พ้นที่จะต้องพึ่งบุคคลอื่นให้ช่วยทำเอกสารเสนอการวิเคราะห์ขอกู้ให้ดูดีเพื่อที่จะได้รับการอนุมัติให้กู้ แล้วก็ต้องมีการค้ำประกัน ซึ่งทั้งมวลก็คงจะหนีไม่พ้นในเรื่องของการมีความเกินจริง  ซึ่งย่อมอาจจะส่งผลให้เกิดความผิดพลาดที่ทำให้ธุรกรรมไม่เป็นไปตามข้อสัญญา  ยังผลให้เกิดการยึดทรัพย์สิน(ซึ่งสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยก็มักจะเป็นเครื่องมือในการทำมาหากิน) ทำให้หมดโอกาสที่จะสู้ต่อไป  ทั้งๆที่ความล้มเหลวนั้นอาจจะเกิดเนื่องมาจากสิ่งแวดล้อมใดๆที่เป็นเหตุสุดวิสัยที่กระทบกับกิจการ/ธุรกิจนั้นๆ
การ refinance จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่คำนึงถึงเป็นอันดับแรก มิใช่การคำนึงถึงแต่ประเด็นของเรื่อง NPL   ก็อาจจะให้โอกาสได้ 2-3 ครั้งบนพื้นฐานบางอย่าง เช่น ในเรื่องของการริเริ่ม ในเรื่องของศักยภาพ ในเรื่องของเอกลักษณ์ ในเรื่องของการแข่งขัน ...   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ส.ค. 23, 19:22
ในเรื่องของการพัฒนา   ผู้คนในระดับรากหญ้าจะมีโอกาสได้มีความรู้เพิ่มเติมจากสถานศึกษาในพื้นที่ หรือจากแหล่งความรู้เฉพาะทางที่กระจายอยู่ในประเทศ และจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่เกษียณอายุแล้ว     

วิธีการก็คือ ส่วนราชการในพื้นที่หรือของท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการดำเนินวิถีชีวิต จะทำการประสานกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดการเปิดชั้นเรียน เปิดอบรม หรือเปิดสัมนาเชิงปฏิบัติการที่ผนวกกับการปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน ในเรื่องที่เกี่ยวกับอาชีพ การทำมาหากิน การทำธุรกิจบางอย่าง(ที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่_วัตถุดิบ คน อาชีพ ...)  เพื่อร่วมกันคิดหาสิ่งที่เหมาะสมในการขจัดปัญหาหรือข้อจำกัดต่างๆ หรือเพื่อหาช่องทางและโอกาสที่จะเจริญเติบโต   ซึ่งโดยนัยก็คือ เรื่องของการแนะแนวที่มีภาคการปฏิบัติจริง ทั้งในเชิงการทดลอง การทดสอบในทางปฏิบัติ การติดตาม ประเมินผล และ Q & A  เพื่อสร้างความมั่นใจในเรื่องต่างๆเพื่อการก้าวเดินที่มั่นคงต่อไป   

ได้มีโอกาสไปสัมผัสกับเรื่องเหล่านี้ในพื้นที่ชนบททั้งในพื้นที่ตอนบนและตอนล่างของญี่ปุ่น ก็เลยพอจะขยายความได้     


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ส.ค. 23, 19:25
ขอขยายเรื่องราวเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย    ก็ได้มีโอกาสสนทนากับอาจารย์ของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของญี่ปุ่น ได้ทราบถึงนโยบายบางอย่างที่น่าสนใจ คือ ผลการศึกษาวิจัยที่นักศึกษาได้จากการทำ Thesis หรือ Dissertation นั้น ให้เป็นลิขสิทธ์ร่วมสามฝ่าย_นักศึกษาผู้ทำวิจัย อาจารย์ที่ปรึกษา และมหาวิทยาลัย  หากมีการเอาไปทำการต่อยอดเพื่อให้ได้เป็นผลผลิตที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือออกมาเป็นสินค้าที่เป็น goods หรือที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญา ค่าลิขสิทธิ์ที่ได้มานั้นจะแบ่งออกเป็นสามส่วนตามสัดส่วนที่จะตกลงกัน  ซึ่งแนวคิดและนโยบายนี้ ฝ่ายบ้านเมืองหรือกระทั่งสถานศึกษาในพื้นที่ๆมีศักยภาพมากพอทางด้านงบประมาณและการเงิน ก็ดูล้วนจะให้การสนับสนุนกิจกรรมการวิจัย/ทดลองเพิ่มเติมนี้ เพื่อหวังให้เกิดผลทางเศรษฐกิจ/การค้าในพื้นที่     

ลักษณะของการสนับสนุนก็ง่ายๆไม่มีอะไรสลับซับซ้อนนัก ก็เพียงจัดให้มีสถานที่/อาคารที่มีห้องสำหรับผู้วิจัย(ที่ทำการ) มีอุปกรณ์เครื่องมือพื้นฐานส่วนรวมบางอย่างที่นักพัฒนาต่อยอดจำเป็นต้องใช้ (เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่มีราคาสูงมากๆ หรือที่ยังไม่จำเป็นต้องแสวงหามาเป็นของตนเอง)  ตัวนักพัฒนาต่อยอดงานวิจัยจะใช้ผลลงานของตัวเองหรือจะไปเอางานวิจัยของผู้อื่นมาหาทางต่อยอดก็ได้    ผู้ที่จะใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการต่อยอดเหล่านี้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในราคาที่ถูกมากๆและมีกำหนดการเช่าใช้ไม่นาน (3-6 เดือน) 


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ส.ค. 23, 19:02
มีตัวอย่างเล่าให้ฟังสัก 2-3 เรื่อง   

เรื่องแรก ชาวนาญี่ปุ่นปลูกข้าวกันในสองสามลักษณะ คือลักษณะของ contract farming มีผู้รับซื้อผลิตผลทั้งหมดในแต่ละ crop แน่นอน ผู้ซื้อดูจะเป็นพวกโรงงานทำเหล้าสาเกในพื้นที่นั้นๆเท่านั้น     ลักษณะที่เป็นอุตสาหกรรมการทำนาข้าว โดยการรวมพื้นที่ทำนาให้เป็นแปลงใหญ่ (ซื้อ เช่า...) ซึ่งเป็นเรื่องที่มีต้นตอและพัฒนาการมาจากผลของข้อกำหนดทางกฏหมายในเรื่องของทรัพย์สินมรดก    และลักษณะสุดท้าย เป็นลักษณะของอาชีพทำนาปลูกข้าวขาย ซึ่งทำการผลิตและขายในในแนว niche market  ข้าวพวกนี้จะบอกสถานที่ผลิต แหล่งผลิต พร้อมรูปและชื่อผู้ผลิต สถานที่อยู่และการติดต่อ

เรื่องที่สอง  ญี่ปุ่นก็มีการทำนาเกลือในหลายๆพื้นที่ชายฝั่งทะเล เกลือที่ตามปกติแล้วเราอาจจะใช้แต่เพียงคุณสมบัติความเค็ม ซึ่งในปัจจุบันเราบางคนได้พัฒนาไปสู่การเลือกใช้ตามแหล่งผลิต/แหล่งที่มา สีของเกลือ (trace elements) คุณภาพ ...      เกลือที่ขายในญี่ปุ่นได้พัฒนาไปสุูตลาด niche market ด้วยการผูกพื้นที่การผลิตกับคุณภาพ แล้วก็ยังผลิตเป็นสินค้าในรูปของน้ำเกลือที่ใช้ในการพรมข้าวสวยหรือทำกับข้าวสำหรับเมนูอาหารต่างๆ (ซูชิ ...)   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ส.ค. 23, 20:05
เรื่องที่สาม  การบำบัดน้ำเสียครัวเรือนของชุมชนให้ออกมาเป็นน้ำที่มีความเป็นน้ำ EM แล้วปล่อยออกสู่ธรรมชาติ   ก็เคยไปดูเรื่องนี้ในพื้นที่จังหวัด Saga ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพื้นที่ทำนาและการเลี้ยงวัวเนื้อชื่อดัง (เนื้อวากิว) จากเดิมที่ถูกต่อต้านกันมากในการตั้งโรงบำบัดน้ำเสีย แต่ในที่สุดทุกคนก็แย่งกันนำไปใช้ในด้านเกษตรกรรมและปศุสัตว์ บ้างก็กั้นลำรางน้ำที่ปล่อยออกมาเข้าสู่พื้นที่ทำนา บ้างก็เอารถใส่แท้งค์น้ำมาขนเพื่อเอาไปรดแปลงพืชผัก  ทำให้ได้ผลผลิตทางเกษตรกรรมและปศุสัตว์เพิ่มมากขึ้นมาก แถมยังสามารถนำไปทำการผลิตปุ๋ยคอกได้มากกว่าความต้องการใช้อีกด้วย   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ส.ค. 23, 18:56
เรื่องที่สี่ เกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์และการเปิดช่องทางสำหรับชาวบ้านให้สามารถที่จะนำผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นมา ให้ได้มีโอกาสได้ออกมาแสดงตนและทดสอบตลาดว่าจะมีโอกาสในทางการตลาดมากน้อยเพียงใด   ก็เป็นการดำเนินการโดยความร่วมมือขององค์กรภาครัฐที่เกี่ยวกับเรื่องการพัฒนา SME กับองค์กรเอกชนที่มีลักษณะคล้ายสภาอุตสาหกรรม แต่เป็นสภาในเรื่องของ SME (และผู้ประกอบการรายย่อยขนาดจิ๋ว)  ทำการเปิดร้านสำหรับวางสินค้าและเพื่อการทดสอบตลาดของสินค้าของชาวบ้านหรือของชุมชนทั่วประเทศ   เท่าที่รู้ มีอยู่ร้านเดียวและตั้งอยู่ในกรุงโตเกียว บริเวณสถานี Yurakujo ของรถไฟสาย JR Yamanote  ฝั่งย่านกินซ่า  เป็นร้านขนาดเล็ก มีพื้นที่สำหรับวางสินค้าน่าจะไม่เกิน 50 ตารางเมตร

ความน่าสนใจของกิจกรรมทางนโยบายนี้ อยู่ที่เรื่องของกระบวนวิธีการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย โดยไม่มีเรื่องของเงินเข้ามาเป็นแก่นสาร  หากแต่เป็นเรื่องของผลสัมฤทธิ์ในเรื่องของความมีประสิทธิภาพและความอยู่รอดในองค์รวมของระบบทางเศรษฐกิจที่มีความเกี่ยวพันกันของผู้เล่น (ผู้ประกอบการ) ตั้งแต่ระดับจิ๋วไปจนถึงระดับใหญ่   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ส.ค. 23, 20:02
เรื่องที่เล่ามานั้นเป็นเรื่องในด้านการบริโภค ซึ่งร้านจะให้ความสนใจกับสินค้าประเภทผลิตผลทางเกษตรกรรมเป็นการเฉพาะ   (สำหรับในเรื่องอุปโภคนั้น มีกระบวนวิธีที่ต่างกันออกไปเกือบจะอย่างสิ้นเชิง  ประกอบกับเป็นเรื่องที่เกือบจะไม่เกี่ยวกับชาวบ้านเลย ก็จะต้องขอเว้นไม่กล่าวถึง)
 
ประโยชน์แรกๆของร้านดังกล่าวนี้ ก็คือ เป็นสถานที่เพื่อการแจ้งว่า ณ เวลานั้น ได้ถึงฤดูหรือวันเวลาที่มีผลิตผลทางการเกษตรของพื้นที่ใดออกและสามารถวางตลาดบ้างแล้ว  วิธีการก็ทำง่ายๆด้วยการนำผลิตผลนั้นๆมาวางขายจำนวนหนึ่ง ไม่มากแต่ก็พอที่จะกระจายข่าวให้แพร่ออกไปได้ อย่างน้อยก็กับผู้คนที่อยู่อาศัยตามเส้นทางรถไฟ ทั้งนี้ ก็มิได้เป็นการให้นำมาวางแสดงและขายได้ตลอดฤดูกาล  ส่วนมากจะให้เวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ส.ค. 23, 19:26
วิธีการดำเนินการโดยสรุปก็คือ จะมีของอยู่ 4 จำพวกที่วางขายอยู่ในร้าน คือ พวกของที่วางขายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการแจ้งเกิดในตลาด หรือเพื่อการประเมินการตอบสนองต่อสินค้าดั้งเดิมที่ได้มีการปรับปรุงความรู้สึกในสัมผัสทั้งห้าเสียใหม่ (รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส)     พวกของที่เริ่มเป็นที่รู้จัก เริ่มขายได้ดี มักมีคนถามหา พวกนี้จะถูกแยกไปจัดวางใว้เป็นกลุ่มรวมกันที่บริเวณหนึ่งของร้าน    พวกสินค้าที่ขายได้ดี ติดตลาดแล้ว พวกนี้ทางร้านจะจัดคัดเลือกและซื้อนำมาจำหน่ายเอง เพื่อเป็นรายได้สำหรับการดำเนินกิจการและภารกิจที่รับผิดชอบของร้าน    สุดท้ายก็เป็นพวกสินค้าที่ผู้ประกอบการเอามาทำตลาดเองโดยอาศัยพื้นที่หน้าร้านนี้    เกือบลืมไปว่าทางร้านเองก็มีที่พื้นที่เล็กๆสำหรับวางผลิตภัณฑ์ตามฤดูกาลจำนวนเล็กน้อยในแต่ละวัน เพื่อบอกกล่าวว่าตอนนี้มีผลิตผลของพื้นที่นั้นพื้นที่นี้ออกแล้วนะ (ก็ไปหาซื้อกันเอาเองนะ)

ก็มีข้อกำหนดและกติกาสำหรับสินค้าทั้งหลายที่นำมาวางขายในร้านและในพื้นที่หน้าร้าน  ข้อกำหนดสำคัญก็คือ สินค้าทุกชนิดจะต้องเป็นการผลิตโดยชาวบ้านหรือผู้ประกอบการรายจิ๋วในพิ้นที่ชนบท โดยที่ทางร้านจะทำการบันทึกเชิงสถิติ รวบรวม ประเมินความเห็นของผู้บริโภค แล้วรายงานให้ผู้ประกอบการทราบเป็นระยะๆหรือเมื่อสิ้นสุดสัญญากันแล้ว  ก็จะมีค่าใช้จ่ายในการเอาสินค้ามาวางขายในร้านซึ่งจะต่างกันไป สำหรับสินค้าใหม่ก็จะถูกมาก มีระยะเวลา 7 วันสำหรับตะกร้าใส่ของขนาดประมาณ 30x45 ซม.  หากสินค้าเริ่มขายได้ดีในระดับที่สามารถย้ายจากชั้นวางของแรก ก็จะย้ายไปวางอยู่ที่อีกชั้นวางของหนึ่ง ค่าจ่ายที่ผู้ประกอบการจะต้องเสียก็มีมากขึ้น และสินค้านั้นๆก็จะต้องแสดงถึงความสามารถของผู้ประกอบการในระดับหนึ่ง ก็คือในเรื่องของมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ เรื่องของความสามารถในเชิงของการป้อนตลาด...   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ส.ค. 23, 20:14
ที่เล่ามาก็คงจะเห็นภาพของการปฏิบัติทั้งในเชิง macro และ micro approach ที่ทำกันในเรื่องของการช่วยเหลือและการพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวบ้าน (ในกรอบของ Productivity movement ที่เริ่มในปี ค.ศ.1950 ที่ทำกันต่อเนื่องมาจนในปัจจุบัน)   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ส.ค. 23, 18:31
ทุกสัปดาห์ที่ปากประตูเข้าร้านจะมีสิ่งพิมพ์วาง แจกให้อ่านฟรี  ผมอ่านไม่ออกแต่ก็เข้าใจจากลักษณะของภาพ คอลัมน์ในสิ่งพิมพ์ รวมทั้งที่ได้จากการสนทนากับผู้บริหารของร้าน สิ่งพิมพ์นี้ทำเป็นเล่มเรียบร้อยในลักษณะของแม็กกาซีน เนื้อหาข้างในก็คงจะเป็นการสาธยาย แนะนำสินค้าต่างๆที่อยู่ในกระบวนการจัดวางจำหน่ายในร้าน  มีการให้ข่าวสารด้วยว่าสินค้าใดจะเปลี่ยนสถานะเป็นเช่นใดในการวางจำหน่าย เช่น กรณีการปลดออกจากชั้นวาง เพราะหาซื้อได้ทั่วไปแล้ว  หรือกรณีสินค้าในตะกร้าจะถูกนำไปจัดวางในพื้นที่ใหม่ (เพื่อดูปริมาณของความต้องการของตลาด และเพื่อประเมินในเรื่องอื่นๆ)  รวมทั้งกรณีจะมีสินค้าใดที่เจ้าของสินค้าจะนำสินค้ามาวางจำหน่ายที่หน้าร้าน ว่าเป็นสินค้าอะไรและเมื่อใด (ซึ่งปกติก็จะมีเพียงเจ้าเดียว แต่ก็เคยเห็นที่มีสองสามเจ้าเช่นกัน)   สำหรับกรณีการเอาสินค้ามาวางหน้าร้านนี้ จะมีระยะเวลาให้หนึ่งสัปดาห์ และจะต้องมีค่าใช้จ่าย(ค่าเช่าพื้นที่)ประมาณสี่เท่าของกรณีการใช้ตะกร้า  ซึ่งเท่าที่ได้สัมผัสมา เรื่องนี้มิได้เป็นกรณีของการเช่าพื้นที่เพื่อการขายของหาเงิน หากแต่เป็นเรื่องของความต้องการๆสัมผัสที่เป็น reality ระหว่างตัวผู้บริโภคกับตัวผู้ประกอบการ (มิใช่ในลักษณะของ virtuality)


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ส.ค. 23, 19:59
เรื่องทั้งหมดที่ขยายความมานี้ เป็นกระบวนการช่วยชาวบ้านและผู้ประกอบการขนาดจิ๋ว เพื่อให้ได้มีโอกาสแสดงตน แสดงผลิตภ้ณฑ์ รวมทั้งได้มีโอกาสได้รับคำติชมจากฝ่ายผู้บริโภคในวงกว้าง ... ก็คือได้มีช่องทางและโอกาสในการแจ้งเกิดในวงจรเศรษฐกิจในระดับกว้างขึ้นไปต่อไป 

ทั้งมวลนี้ ก็เป็นเพียงหนึ่งในกระบวนวิธีการต่างๆเท่านั้น ซึ่งก็ดูจะประสบผลสัมฤทธิ์ดี  ทั้งนี้ก็ดูจะเป็นเพราะเหตุว่า ผู้คนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งหมดมีสำนึกและความเข้าใจกับปัญหาและอุปสรรคที่ประเทศเผชิญอยู่ในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องของสังคมผู้สูงอายุ เรื่องของเศรษฐกิจพื้นภิ่น เรื่องของ SME hollow out ซึ่งโยงไปถึงเรื่องของ subcontract & supply chain และเรื่องของการปฏิบัติมิชอบที่จะนำไปสู่การ monopolize  เกิดการตัดวงจรของการผลิตและระบบเศรษฐกิจเล็กๆของพื้นถิ่น เกิดการฮุบและการขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของชาวบ้านและผู้ประกอบการขนาดจิ๋ว (ที่เห็นกันได้ทั่วไปในปัจจุบันนี้)   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ก.ย. 23, 19:08
สังคมที่สงบและเรียบง่ายนั้น เป็นสังคมที่ผู้คนในสังคมมีความสุขในชีวิตประจำวันในระดับที่รู้สึกว่าพอเพียงกับสภาพแวดล้อมต่างๆที่อยู่รอบๆตัว มีความรู้สึกว่ามีโอกาสและช่องทางในการเผชิญ/ต่อสู้กับความท้าทายต่างๆในเส้นทาง/วิถีที่เลือกใช้ในการดำเนินชีวิต

ซึ่งโอกาสต่างๆนั้น ล้วนมีอยู่ในวงวัฏจักรของสรรพเรื่องต่างๆที่มีหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจและสังคมทั้งวงเล็กและวงใหญ่ โอกาสที่จะเกิดมีขึ้นได้นั้นจึงมาจากสองเส้นทางหลัก คือได้มาจากการ รู้เอง ซึ่งหมายถึงคนนั้นๆจะต้องมีรู้และความเข้าใจในเรื่องราวนั้นๆ อาจจะด้วยทาง empirical approach หรือด้วยทาง theoretical approach     กับโอกาสที่ได้มาด้วยการชี้ช่องให้ ซึ่งหมายถึงการมีคนมาให้ความคิด มาบอก มาสอนให้ รวมทั้งการให้การฟูมฟัก (incubation) จนเกิดผลสัมฤทธิ์     ก็คงจะนึกภาพออกนะครับว่าอะไรเป็นอะไรที่ได้เกิดขึ้นในบ้า่นเมืองเรา     


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ก.ย. 23, 20:00
ผมเห็นว่ายังมีอยู่เรื่องหนึ่งที่ยังคงมีอยู่ในสังคมที่สงบและเรียบง่ายตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ซึ่งเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่ทำให้สังคมเช่นนั้นยังคงสามารถรักษาไว้ซึ่งความสงบและความเรียบร้อยต่างๆ คือการที่ต่างคนต่างก็ยื่นมือออกไปเพื่อการสร้างสรรค์ให้เิกิดสิ่งแวดล้อมดีๆรอบๆตัว/ใกล้ตัว ในลักษณะของการให้ มิใช่ในลักษณะของการโกยเอาแต่ประโยชน์   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.ย. 23, 18:48
การที่ต่างคนต่างยื่นมือออกไปนั้น จัดเป็นการแสดงออกถึงความรู้สึกภายในจิตใจที่นึกคิดแต่ในด้านดีต่ออีกฝ่ายหนึ่งใน ผลรวมที่เกิดขึ้นก็คือบรรยากาศของความเป็นมิตรในองค์รวมภายในสังคมนั้นๆ ก็คือเป็นบรรยากาศของความเป็นพวกกัน/เป็นหมู่เดียวกัน

ก็มีที่ความเป็นกลุ่มเป็นก้อนดังที่ว่ามานี้ เมื่อมีการสัมผัสกับกลุ่มก้อนภายนอกกลับมีภาพลักษณ์ออกไปในทางความดุดัน นักเลงหัวไม้ ...  สังคมที่ภายในสงบและเรียบง่ายแต่ภายนอกดูดุดันนี้ เมื่อครั้งยังต้องเดินทางไปทำงานในที่ต่างๆก็ได้สัมผัสอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย   ก็เห็นว่า ด้วยสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในยุคนั้น แต่ละชุมชนยังคงมีสภาพความเป็นอยู่ในลักษณะค่อนข้างเป็น isolated community  ก็จึงเป็นเรื่องปกติที่แต่ละชุมชนจะต้องมีเรื่องให้กระทำต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชนในด้าน defensive หรือในด้าน offensive ซึ่งบ้างก็ออกไปทางดุดันแบบหัวชนฝา บ้างก็ออกไปทางอลุ่มอล่วย ค่อยๆตกลงกัน  บ้างก็ออกไปทางยังไงก็ได้     


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.ย. 23, 18:55
ความต่างๆที่ได้เล่ามานี้เป็นเพียงภาพที่นึกออก ท่านที่ได้มีโอกาสคลุกอยู่ในแต่ละพื้นที่เป็นช่วงเวลาหลายๆวัน ได้มีโอกาสเดินชมและซื้อของในตลาดสินค้าอุปโภคและบริโภค ได้พูดคุยกับพ่อค้าแม่ค้าและชาวบ้าน และมีโอกาสได้เห็นและได้ร่วมในกิจกรรมบางอย่าง ก็น่าจะได้สัมผัสกับภาพที่เล่ามาและสามารถนำไปเปรียบเทียบเพื่อดูความต่างระหว่างสังคมในพื้นที่ต่างๆได้  น่าจะได้เห็นสังคมที่มีความสงบเรียบง่ายที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการคละกันของความต่างๆกันในด้านความเชื่อ ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณี ฯลฯ ซึ่งก็มีการแสดงออกได้อย่างเต็มที่หากแต่มิใช่ในลักษณะทาง extremism   

ก็น่าจะพอในเรื่องที่พยายามจะแสดงภาพของสังคมที่สงบและเรียบง่าย   

ก็น่าจะมาถึงเรื่องว่า แล้วกับคนที่ไปใช้ชีวิตในสังคมนั้นล่ะ เป็นเช่นใด ?


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.ย. 23, 20:17
คงจะมิบังอาจบอกกล่าวว่าผู้ใดควรจะดำรงชีวิตอย่างไร ทำอะไร ทำเช่นใด ....   ก็คงจะต้องเป็นเรื่องว่า ของตนเองใช้ชีวิตอย่างไร ทำอะไร ทำเช่นใด ... 

ผมมีช่วงเวลาของการทำงานเป็นเวลานานพอสมควรในพื้นที่ชนบทที่อยู่ในสภาพที่มีความธุรกันดารมาก ได้เห็น ได้คลุกคลีกับสภาพของความไม่มีของคนและชาวบ้านที่เป็นความไม่มีอะไรจริงๆในเกือบจะทุกๆด้าน   ภาพเหล่านั้นทำให้เกิดความรู้สึกของความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ซึ่งส่งผลทำให้เลือกวิถีการดำเนินชีวิตในลักษณะที่เรียบง่ายจนในปัจจุบัน 


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.ย. 23, 19:12
ผมซื้อของๆชาวบ้านโดยไม่ต่อราคามาเป็นเวลานานมากแล้ว  ก็ใช้วิธีพิจารณณาง่ายๆว่า ตัวเราถูกใจ/พอใจหรือไม่ และก็พยายามที่จะเลือกซื้อกับแม่ค้าที่มีอายุมาก แม่ลูกอ่อน และที่ดูว่ามีสภาพทางเศรษฐกิจ/ครอบครัวที่ดูไม่ดีนัก    เงินเพียง 1 บาท หรือ 5 บาทของชาวบ้านนั้นมีค่าและมีความสำคัญกับพวกเขามากกว่าที่เรารู้สึกมากนัก เช่น มีค่าพอที่จะใช้จัดหาของเล่น ขนม และสิ่งอื่นใดเพื่อเพิ่มความสุขเล็กๆน้อยๆให้กับเด็กๆที่มีข้อจำกัดทางโอกาส ...

เรามีรายได้ในระดับที่พอจะยังชีพได้อย่างมีคุณภาพพอสมควรในเมือง  นึกถึงหนุ่มสาวเป็นจำนวนมากที่พยายามทำงานหาเงินเกื้อหนุนครอบครัว ส่งตัวเองเรียนหนังสือ ... ที่ส่วนมากจะเป็นงานการให้บริการ ซึ่งเป็นอาชีพที่สุจริต  เงินจากทิบที่ได้จากการให้บริการต่างๆเป็นเงินรายได้พิเศษที่ได้เพิ่มจากค่าจ้างประจำ ซึ่งส่วนมากก็ดูจะมากพอที่จะเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยไม่ต้องไปเจียดจ่ายเอาจากเงินเดือน

ทั้งสองเรื่องที่ยกมานี้ ก็เพื่อจะแสดงถึงใจที่มีความนึกคิดในเรื่องของความเมตตา กับเรื่องของความสุจริตทางใจของทั้งฝ่ายตนเองและฝ่ายที่มิใช่ตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เชื่อว่ามีอยู่ในใจของทุกผู้คน 


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.ย. 23, 19:31
ด้วยพื้นฐานดังกล่าว เมื่อต้องเข้าไปสัมพันธ์กับสังคมที่ว่าสงบและเรียบง่ายนั้น  สำหรับตัวผมได้เริ่มด้วยการสร้างความเชื่อมั่นซึ่งกันและกันบนฐานของคำว่า 'ซื่อต่อกัน'   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.ย. 23, 19:33
ซื่อต่อกัน เป็นวลีที่ทุกคนเข้าใจในความหมายที่ครอบคลุมการกระทำในเรื่องต่างๆเกือบจะทุกเรื่องที่แสดงถึงการมีความจริงใจและความเข้าใจซึ่งกันและกันในความต่าง/ความเหมือนทั้งในด้านที่เป็นเปลือกและด้านที่เป็นแก่นของบุคคลนั้นๆ  สภาพของการมีความซื่อต่อกันจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยบรรยากาศที่เป็นมิตร  ซึ่งความเป็นมิตรนั้นเป็นเรื่องของจิตใจและความพอใจในผู้คนนั้นๆ

เมื่อเราคิดจะเอาตัวเรา  เอาการใช้ชีวิตของเราเข้าไปร่วมอยู่อย่างมีความสุขในสังคมที่เราเห็นว่าสงบและเรียบง่าย  ซึ่งหมายถึงการต้องการความสงบที่จะให้เกิดขึ้นกับชีวิตของตัวเรา  ทำให้ต้องมีเรื่องที่พึงจะต้องพิจารณา พึงปฏิบัติ และพึงมีความเข้าใจกับมัน ก็คือการเห็นภาพและความเข้าใจในเรื่องของความต่างระหว่างตัวเรากับชาวบ้าน  ตัวเราเองส่วนมากจะมีเปลือกที่ติดตัวเราอยู่(ฐานะ ตำแหน่ง วิถีการใช้ชีวิต ...)    การลดละหัวโขน การลดละปฏิบัตินิยมทาง etiquette และการลดละกฎกติกาตามที่เราตั้งขึ้นมาเองในการดำเนินชีวิตในแต่ละวันเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องพื้นฐานที่ช่วยในการสร้างมิตรกับชาวบ้าน ซึ่งก็จะตามมาด้วยเรื่องของน้ำใจที่จะมีเผื่อแผ่ให้แก่กัน ก็คือการที่ต่างคนต่างยื่นมือออกมาเพื่อรับและเพื่อส่งสิ่งดีๆให้แก่กัน   

ในองค์รวมก็คือ ตัวเราเองก็ต้องสร้างพื้นที่ของสภาพสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่สงบและเรียบง่ายให้เกิดขึ้นรอบๆตัวเรา เพื่อที่จะให้สามารถผสมผสานเข้ากันได้ดีกับสังคมที่เขามีอยู่แต่เดิม มิใช่การเข้าไปอยู่ในสังคมของเขาในลักษณะเป็นสิ่งแปลกปลอมในสิ่งที่เขามีอยู่เดิม   


กระทู้: ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.ย. 23, 20:36
คงจะไม่ขยายความไปมากกว่านี้แล้วนะครับ  ผมเชื่อในเรื่องของการพยายามลดความรู้สึกแบบ Xenophobia ให้หมดสิ้นไป ทั้งที่เกิดขึ้นกับฝ่ายเขาและกับตัวเรา และพยายามปรับตนเองให้อยู่ได้อย่างสอดคล้องกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมต่างๆที่เป็นจริง  ผลที่ได้รับก็คือความรู้สึกที่เป็นสุขที่เกิดขึ้นกับตัวเรา

คิดว่าเรื่องราวที่เล่ามานี้น่าจะพอมีสาระและประโยชน์อยู่บ้างนะครับ

ก็จะขอจบกระทู้แต่เพียงเท่านี้