เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 03 พ.ค. 15, 16:55



กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 พ.ค. 15, 16:55
ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร เป็นภรรยาเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์)    ท่านไม่ได้ขอพระราชทานนามสกุลส่วนตัว  ด้วยพี่น้องผู้สืบเชื้อสายที่เป็นชายถึงแก่กรรมไปก่อนยุคคนไทยมีนามสกุล เหลือแต่น้องสาว สมรสไปอยู่สกุลฝ่ายสามี    จึงไม่ปรากฏว่าท่านผู้หญิงมีนามสกุลเดิม
ตามประวัติ ท่านผู้หญิงมาจากสกุลคหบดีทางฝั่งธน ทั้งฝายปู่และย่า   บิดาชื่อปิ่น รับราชการเป็นหมื่นนราอักษร
ส่วนมารดาผู้มีนามว่าหุ่นมีเชื้อสายขุนนาง คือเป็นธิดาของหลวงรามณรงค์(เอม)  คุณนายหุ่นเป็นหลานปู่ของหลวงธรเณนทร์ น้องชายเจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน)   
คุณหลวงธรเณนทร์มีภรรยาเชื้อสายเจ้าลาว ชื่อเจ้าสุพุทา   ได้มาเมื่อครั้งตามเสด็จรัชกาลที่ 1  ไปราชการสงครามที่เวียงจันทน์


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เอื้องหลวง ที่ 03 พ.ค. 15, 22:26
ขออนุญาตปูเสื่อรอความรู้ใหม่ๆ จากอาจารย์นะคะ  ;D


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 04 พ.ค. 15, 00:18
(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQSQfMdP19a4JerXy1_aNfRqYHnlY7HWU_3KopKv9amZTseMY-B)ขอหนูฟังด้วยคนนะเจ้าคะ


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ค. 15, 08:21
ประวัติท่านผู้หญิงกลีบ น่าสนใจตรงที่สะท้อนบทบาทของแม่บ้านแม่เรือนไทยสมัยรัชกาลที่ 5  เรื่อยมาจนถึงเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475     แสดงให้เห็นความเป็นนักบริหารของผู้หญิง ที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบสูงมาก ไม่ใช่แต่กับสามีและลูกๆเท่านั้น แต่รวมเครือญาติในครอบครัวขยายอันกว้างขวางด้วย
บทบาทนี้หมดไปเมื่อสังคมไทยเปลี่ยนจากครอบครัวขยายเป็นครอบครัวเดี่ยว    ผู้หญิงออกมาทำงานนอกบ้าน   เปลี่ยนความรับผิดชอบใหม่  คล้ายกับผู้ชาย แม้ว่าจะต้องแบกภาระเดิมคือทำงานบ้านและเลี้ยงลูก แต่ในเมื่อเป็นครอบครัวเดี่ยว ก็บรรเทาลงมาอีกหน่อยค่ะ

   กลับมาเรื่องประวัติของท่าน    
   ตาทวดกับยายทวดของท่านผู้หญิง คือคุณหลวงธรเณนทร์กับเจ้าสุพุทาผู้ภรรยา อาศัยอยู่ในบ้านของพี่ชายคุณหลวง คือเจ้าพระยารัตนาพิพิธ(สน สนธิรัตน์) ที่สำราญราษฎร์   ลักษณะครอบครัวเจ้าพระยารัตนพิพิธ เป็นแบบครอบครัวไทยโบราณคือมีบ้านที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่มาก  สามารถรองรับเครือญาติบุตรหลานได้หลายชั่วคนด้วยกัน อยู่รวมกันได้โดยไม่เบียดเสียด  ไม่เฉพาะแต่ทายาทสายตรงของเจ้าพระยารัตนาพิพิธ แต่รวมทายาทของคุณหลวงธรเณนทร์ผู้น้องชายด้วย
  


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ค. 15, 08:22
     เห็นได้จากลูกชายของคุณหลวงธรเณนทร์คือหลวงรามณรงค์(เอม สนธิรัตน์)ก็เกิดและอาศัยอยู่ที่นี่  จนสมรสมีธิดาคือคุณนายหุ่นมารดาของท่านผู้หญิง  เมื่อคุณนายหุ่นโตเป็นสาว สมรสกับหมื่นนราอักษร  แทนที่จะโยกย้ายออกไปอยู่บ้านสามี   ก็กลับเป็น "แต่งเขยเข้าบ้าน"   หมื่นนราอักษรในฐานะเขยก็ออกจากครอบครัวเดิมของตนที่บางยี่ขัน ฝั่งธนบุรี  กลายมาเป็นสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัวภรรยา   
     ธรรมเนียมแต่งเขยเข้าบ้านเกิดได้ตามความสะดวกหลายอย่างในสังคมไทย ไม่เคร่งครัดว่าลูกสาวจะต้องออกจากบ้านไปอยู่บ้านสามีอย่างธรรมเนียมจีน       เช่นพ่อแม่มีลูกสาว ไม่มีลูกชาย  ต้องการเขยมาช่วยแรงงานเกษตรกรรม หรือมาเป็นหัวหน้าครอบครัวแทนพ่อที่ชราหรือถึงแก่กรรมแล้ว แม่ยายก็ให้เขยเข้ามาอยู่ในบ้าน   ตัวอย่างที่เห็นก็ในรื่องขุนช้างขุนแผน พลายแก้วแต่งงานกับนางพิมก็เข้ามาอยู่ในบ้านเจ้าสาว   ไม่ได้พานางพิมไปอยู่กับแม่ที่กาญจนบุรี
     เหตุผลอื่นๆ ก็เช่่นครอบครัวทางฝ่ายหญิงมีฐานะเป็นปึกแผ่นมั่นคง สามารถรองรับครอบครัวใหม่ของลูกสาวได้ ก็ให้เขยมาอยู่ในบ้าน แทนที่จะให้ลูกสาวแยกออกไปจากบ้านเดิม     หรือไม่ ฝ่ายชายเป็นคนพื้นเพมาจากต่างจังหวัด  ไม่สะดวกจะพาภรรยาไปอยู่ถิ่นเดิม  ก็อยู่เสียกับพ่อตาแม่ยาย   
     จะเป็นเหตุผลข้อไหนก็ตาม    ในเมื่อหมื่นนราอักษรอยู่บ้านภรรยา  ท่านผู้หญิงกลีบจึงเกิดในบ้านของเจ้าพระยารัตนาพิพิธ   ใกล้ชิดคุ้นเคยกับญาติทางฝ่ายมารดา   มากกว่าญาติทางฝ่ายบิดาในสวนฝั่งธนแถวบางยี่ขัน ซึ่งสมัยโน้นถือว่าไกล  ไม่สามารถจะเดินทางไปกลับได้ทุกวันอย่างสมัยนี้


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 พ.ค. 15, 10:56
ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร เป็นภรรยาเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์)    ท่านไม่ได้ขอพระราชทานนามสกุลส่วนตัว  ด้วยพี่น้องผู้สืบเชื้อสายที่เป็นชายถึงแก่กรรมไปก่อนยุคคนไทยมีนามสกุล เหลือแต่น้องสาว สมรสไปอยู่สกุลฝ่ายสามี    จึงไม่ปรากฏว่าท่านผู้หญิงมีนามสกุลเดิม

คุณเทาชมพูเคยบอกว่านามสกุลเดิมของท่านคือ "บางยี่ขัน"

ปีต่อมา เจ้าพระยามหิธรได้เลื่อนขึ้นเป็นเสมียนเอกเงินเดือน ๔๐ บาท  มีอายุครบปีบวชคือ ๒๐ ปี  หลังสึกออกมาแล้วก็ได้สมรสกับ นางสาวกลีบ บางยี่ขัน ธิดาหมื่นนราอักษร

ท่านใช้ครองคู่กันต่อมาจนบั้นปลายชีวิต   คุณนายกลีบได้เป็นท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
 


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ค. 15, 11:22
ทีแรกก็เข้าใจเช่นนั้น ว่าสกุลเดิมของท่านผู้หญิงคือ "บางยี่ขัน" 
แต่ในหนังสือประวัติที่ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ธิดาของท่านเขียนไว้ ระบุชัดเจนว่า
" ท่านผู้หญิงมิได้ขอพระราชทานนามสกุล   เนื่องจากน้องผู้ชายของท่านตายไปเสียแต่ยังรุ่น เหลือน้องสาวอยู่ 2 คน"
จึงเดาว่านามสกุลบางยี่ขัน อาจเป็นนามสกุลของญาติพี่น้องทางฝ่ายบิดาท่าน ที่ยังมีทายาทชายสืบต่อกันมา   จึงอนุโลมว่าท่านผู้หญิงอยู่ในสกุลนี้


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: unming ที่ 04 พ.ค. 15, 13:16
ขออนูุญาติ รอฟังนะค่ะ


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 04 พ.ค. 15, 16:11
ลงชื่อเข้าจับจองที่นั่งหลังห้องตามธรรมเนียม  ;D  ;D  ;D


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 05 พ.ค. 15, 15:44
มาตามลงชื่อเจ้าค่ะ ;D ;D ;D ;D


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 06 พ.ค. 15, 04:30
...


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ค. 15, 07:54
นั่งหลับในชั้น ต้องคาบไม้บรรทัด


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 พ.ค. 15, 15:56
เกรงว่าในชั้นเรียนจะหลับกันหมด เอาเรื่องเซอร์ไพรส์ของท่านผู้หญิงมาเล่า ท่านผู้หญิงกลีบนั้นชื่อเต็ม ๆ ของท่านตั้งแต่เกิด คือ "กลีบจำปา"  แลเหลือเพียง "กลีบ" หลังแต่งงาน  ด้วยท่านเจ้าคุณเกรงว่าชื่อยาว ๆ นั้นจะเสมือนเทียบชั้นกับเจ้านาย  ;D


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 06 พ.ค. 15, 16:26
มารอคุณครู


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ค. 15, 17:32
  เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) มีบุตรหลายคน หนึ่งในจำนวนนั้นคือเจ้าพระยาธรรมา(เสือ) ราชทินนามเต็มๆน่าจะเป็น ธรรมาธิกรณ์ (ยังไม่ได้ค้น เพราะวันนี้ลงจากเรือนไทยมาอยู่ในที่ที่ไม่มีหนังสือให้ค้น  ฝากการบ้านให้คุณหมอเพ็ญชมพูด้วยค่ะ)
  เจ้าพระยาธรรมา(เสือ)ถึงแก่อนิจจกรรมไปก่อนท่านผู้หญิงกลีบเกิด    ท่านผู้หญิงไม่มีโอกาสรู้จัก   รู้จักแต่เจ้าจอมพุ่มบุตรีของท่าน ซึ่งมีศักดิ์เป็นป้า
  เจ้าจอมพุ่มเป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๓    ไม่มีพระองค์เจ้า  ท่านผู้หญิงเกิดในรัชกาลที่ 5   ซึ่งหมายความว่าล่วงมา 2 รัชกาลแล้วนับแต่เจ้าจอมท่านได้รับราชการฝ่ายใน      เป็นธรรมดาในสมัยนั้นว่า เมื่อสิ้นรัชกาล  เจ้าจอมที่ไม่มีพระองค์เจ้าก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ในพระบรมมหาราชวังอีก   จะถวายบังคมลาออกมาอยู่บ้านเดิมกับพ่อแม่พี่น้องก็ได้   เจ้าจอมพุ่มจึงกลับมาอยู่ในบ้านของเจ้าพระยารัตนาพิพิธ เป็นเหตุให้เห็นหนูน้อยกลีบมาตั้งแต่เกิด    ท่านก็เมตตารักใคร่เป็นพิเศษ   ถึงขั้นเอาตัวจากเรือนมารดา   ขึ้นไปเลี้ยงดูบนตึกใหญ่ตั้งแต่เช้าจนเย็นทุกวัน    อาบน้ำเกล้าจุกให้    รับประทานอาหารกลางวัน และนอนกลางวันกับท่าน   ตกกลางคืนถึงส่งคืนตัวมานอนบ้านมารดา


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 06 พ.ค. 15, 18:28
ขออนุญาตปาดคุณหมอเพ็ญครับ
ข้อมูลจากหนังสือ เรื่องตั้งเจ้าพระยากรุงรัตนโกสินทร์ ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมติอมรพันธุ์ กล่าวว่า
เจ้าพระยาธรรมา (เสือ  สนธิรัตน)  เป็นบุตรเจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน  สนธิรัตน) สมุหนายกข้าหลวงเดิมในรัชกาลที่ ๑

ในหนังสือเรื่อง ลำดับเสนาบดี ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่า แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้พระยาเพ็ชรพิชัย (เสือ) บุตรเจ้าพระยารัตนาพิพิธ เป็นเจ้าพระยาธรรมา ได้ ๑๑ ปี  ถึงอสัญกรรมในรัชกาลที่ ๔  นามสมญา เจ้าพระยาธรรมา มีสร้อยดังนี้ เจ้าพระยาธิกรณาธิบดี  ศรีสุวิรมหามัตยวงศ์  ราชพงศนิกรานุรักษ์  มหาสวามิภักดิบรมราโชปการาภภิรมย์  สรรโพดมกิจวิจารณ์  มหาม
ณเฑียรบาลบดินทร  ราชยนิเวศนินทรามาตย์  อันเตบุริกนาถเสนาบดี  อภัยพิริยกรมบราหุ

บุตรธิดาของท่านคือ พระยามหาเทพ (แสง)  และเจ้าจอมพุ่ม รัชกาลที่ ๓

เจ้าพระยาธรรมา (เสือ  สนธิรัตน)  ถึงอสัญกรรมเมื่อวันที่  ๑๔  กรกฎาคม  ปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๔


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 06 พ.ค. 15, 18:32
ภาพนี้เป็นเครื่องแต่งกายและสพักตราจุลจอมเกล้า  ที่ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา  มาลากุล บุตรีของท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร มอบไว้ที่พิพิธภัณฑ์โรงเรียนราชประชาสมาศัย


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 พ.ค. 15, 18:44
ในหนังสือเรื่อง ลำดับเสนาบดี ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่า แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้พระยาเพ็ชรพิชัย (เสือ) บุตรเจ้าพระยารัตนาพิพิธ เป็นเจ้าพระยาธรรมา ได้ ๑๑ ปี  ถึงอสัญกรรมในรัชกาลที่ ๔  นามสมญา เจ้าพระยาธรรมา มีสร้อยดังนี้ เจ้าพระยาธิกรณาธิบดี  ศรีสุวิรมหามัตยวงศ์  ราชพงศนิกรานุรักษ์  มหาสวามิภักดิบรมราโชปการาภภิรมย์  สรรโพดมกิจวิจารณ์  มหาม
ณเฑียรบาลบดินทร  ราชยนิเวศนินทรามาตย์  อันเตบุริกนาถเสนาบดี  อภัยพิริยกรมบราหุ

คุณวีมีกรุณาตรวจสอบว่า เจ้าพระยาธิกรณาธิบดี   น่าจะเป็น เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี   หรือเปล่า


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 07 พ.ค. 15, 07:44
คุณวีมีกรุณาตรวจสอบว่า เจ้าพระยาธิกรณาธิบดี   น่าจะเป็น เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี   หรือเปล่า
[/quote]

ขอบพระคุณครับคุณหมอเพ็ญ  ที่ถูกคือ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี ครับ


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 พ.ค. 15, 09:12
จุลลดา ภักดีภูมินทร์ เล่าประวัติเกี่ยวกับเจ้าพระยาธรรมา (เสือ) ไว้ใน เวียงวัง  (http://writer.dek-d.com/bird711/story/viewlongc.php?id=524172&chapter=225) ดังนี้

ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ปรากฏนาม พระยาราชนิกุล (เสือ) หลายแห่ง ครั้งเมื่อโปรดฯให้ยกกองทัพใหญ่เป็นพยุหยาตราไปเวียงจันทน์นั้น เจ้านาย ตั้งแต่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล และสมุหนายก (สุมหพระกลาโหมขณะนั้นกำลังป่วย) เสนาบดี ตลอดจนขุนนางผู้ใหญ่ชั้นพระยาคุมทัพออกศึกกันแทบจะทุกท่าน (พ.ศ.๒๓๖๙ เมื่อเสด็จครองราชย์ใหม่ ๆ)

ในจำนวนนี้ มีชื่อพระยาราชนิกุล (เสือ) อยู่ด้วย

ครั้งเมื่อโปรดฯให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา และเจ้าพระยาพระคลัง สองอัครเสนาบดี เป็นแม่ทัพไปรบญวน (พ.ศ.๒๓๗๖) ก็โปรดฯให้พระยาราชนิกุล (เสือ) และเจ้าพระยานครราชสีมา คือเจ้าพระยากำแหงสงคราม (ทองอิน) ไปด้วย ซึ่งเจ้าพระยาบดินทรเดชาจัดการให้แยกยกไปทางบก

ครั้นเมื่อเสร็จศึกแล้วก็โปรดฯให้เจ้าพระยาบดินทรฯ และพระยาราชนิกุล (เสือ) กลับเข้ากรุงเทพฯ กราบบังคมทูลแจ้งข้อราชการ แล้วจึงโปรดฯให้เจ้าพระยาบดินทรฯ กลับไปจัดการเรื่องเมืองเขมรให้เรียบร้อย

แต่ครั้นเมื่อญวนกับขุนนางเขมรที่ฝักฝ่ายญวนพากันไปตั้งอยู่เมืองกะพงสวาย (หรือกำปงสวาย) ใกล้เขตแดนลาว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงโปรดฯให้ พระยาราชนิกุล (เสือ) ยกไพร่พล ๑,๐๐๐ ไปช่วยรักษาเมืองอุบลและเมืองจำปาสัก พระยาราชนิกุล (เสือ) ได้ไปเร่งรัดสร้างค่ายป้อมประตูหอรบสร้างฉางข้าว โรงดินปืน เตรียมรบไว้พร้อมสรรพ

พระยาราชนิกุล (เสือ) นั้น ก.ศ.ร.กุหลาบเล่าไว้ในประวัติเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ตอนหนึ่ง เมื่อเจ้าพระยาบดินทรฯ ท่านสั่งเฆี่ยน นายสนิท หุ้มแพร (แสง) บุตรชายของท่าน ๑๐๐ ที เมื่อมีผู้มาฟ้องว่า นายสนิท หุ้มแพร ลักลอบขายฝิ่น โดยให้นำตัวมาใส่ขื่อ มัดมือมัดเท้าโยงกับหลักปักคา แล้วเฆี่ยนด้วยหวายให้ครบ ๑๐๐ ที

ครั้งนั้น เมื่อบรรดาขุนนางผู้ใหญ่ ข้าเฝ้าใกล้ชิดพระองค์ซึ่งมี พระยาศรีพิพัฒน์ฯ (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ใน ร.๔) พระยาราชนิกุล (เสือ) พระยาอภัยโนริด (บุนนาก) และพระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) กับพระยาราชสุภาวดี (โต) เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ  ท้องพระโรง พระยาศรีพิพัฒน์ฯเข้าเฝ้าฯ ช้าไป จึงทรงมีพระราชดำรัสถาม พระยาศรีพิพัฒน์ฯก็กราบบังคมทูลถวายเรื่องราวว่า มัวแต่ไปจวนเจ้าคุณผู้ใหญ่สมุหนายก เพื่อไปขอโทษให้ นายสนิท หุ้มแพร แต่ก็ไม่มีผู้ใดกล้าเอ่ยปากขอโทษ ทรงมีพระราชดำรัสถามเรียงตัวทั้ง ๕ คน ต่างกราบถวายบังคมทูลเหมือนๆกันว่า ไม่กล้าขอโทษได้แต่นั่งดู นายสนิท หุ้มแพร ถูกเฆี่ยนจนสลบแล้วสลบอีก บรรดาผู้ปรากฏนาม ๕ ท่านนี้ นอกจากพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัด - สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ในรัชกาลที่ ๔) แล้ว ก็มี พระยาอภัยโนริด (บุนนาก) ซึ่งต่อมาในรัชกาลที่ ๓ นี้เอง โปรดฯให้เป็นเจ้าพระยายมราช (บุนนาก) ท่านผู้นี้ เมื่อสร้างวัดราชนัดดา ปลายรัชกาลและโปรดฯให้เชิญพระประธานไปที่วัด บ้านของเจ้าพระยายมราชอยู่ใกล้วัด ท่านจึงออกมาช่วยบัญชาการ โดยเหตุที่ชรามากแล้ว เกิดพลาดล้มลงโดนล้อตะเฆ่ทับ แล้วเลยถึงแก่อสัญกรรม เวลานั้นยังไม่ได้ใช้นามสกุล ท่านจึงมีฉายาว่า เจ้าพระยายมราชตะเฆ่ทับ ต้นสกุล ‘ยมนาค’

พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) เล่าแล้วในเรื่องชื่อสี่กั๊กพระยาศรี ต้นสกุล “ศรีเพ็ญ”

พระยาราชสุภาวดี (โต) หรือ เจ๊สัวโต มีหน้าที่อยู่ในกรมท่าซ้าย เป็นเจ้าพนักงาน “เหยียบหัวตะเภา” คือตรวจดูสินค้าในเรือที่ทางการต้องการเอาไว้ก่อน หรือก็คือการจัดสรรสินค้าให้นำไปออกขายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ตรัสเรียกว่า “เจ๊สัว (เจ้าสัว) เหยียบหัวตะเภา” ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯให้เป็นเจ้าพระยานิกรบดินทร์ สมุหนายก ต้นสกุล “กัลยาณมิตร”

คนที่ตั้งใจจะเล่าในตอนนี้ คือ พระยาราชนิกุล (เสือ) นั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ตรัสเรียกอย่างสนิทสนมว่า “ไอ้เสือ” เช่นเดียวกับที่เรียกพระยาราชมนตรี (ภู่) ข้าหลวงเดิมคนโปรดว่า “ไอ้ภู่” พระยาราชนิกุล (เสือ) นี้เกิด พ.ศ.๒๓๓๐ ปีเดียวกันกับพระราชสมภพในรัชกาลที่ ๓ เห็นจะเป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เหมือนกัน คงจะเข้าเฝ้าแหนมาแต่ยังเยาว์วัย ด้วยเป็นบุตรชายของเจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) ต้นสกุล ‘สนธิรัตน’

เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) นั้น ปรากฏว่าเป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ และคงโปรดปรานมาก ด้วยในจดหมายเหตุปูนบำเหน็จ มีความว่า

“...มีความชอบมาก สมควรจะให้ไปพานเมืองครองเมืองอันใหญ่ แต่ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าจะไกลใต้ละอองธุลีพระบาทนัก ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงขอพระราชทานให้เป็นเจ้าพระยารัตนาพิพิธ ว่าที่สมุหนายก...”

จึงเป็นสมุหนายกหรือจักรี ท่านแรกในกรุงเทพรัตนโกสินทร์ คู่กันกับ เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) สมุหพระกลาโหม ที่เป็นแม่ทัพไปตีทวายในรัชกาลที่ ๑ แล้วหายสูญไปไม่ได้ข่าวคราว

เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) มีบุตรชายเกิดแต่ท่านผู้หญิง ๓ ท่าน และธิดา ๑ ท่าน

บุตรชายทั้ง ๓ นั้น ท่านตั้งชื่อว่า เสือ หมี และ ลมั่ง (ต่อมาท่านใช้เพียง ‘มั่ง’)

๑. เสือ คือ พระยาราชนิกุล (เสือ) ถึงรัชกาลที่ ๔ ได้เป็นเจ้าพระยาธรรมา (เสือ) เสนาบดีจตุสดมภ์กรมวัง

๒. พระยาเสนาพิพิธ (หมี) ในรัชกาลที่ ๓

๓. เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (มั่ง) เสนาบดีจตุสดมภ์กรมวังในรัชกาลที่ ๕

ตระกูลเจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน สนธิรัตน) ได้เป็นเจ้าพระยาสืบกันมา ๓ ท่าน


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 พ.ค. 15, 09:28
เจ้าพระยาสามชั่วคน นับว่าตระกูลสนธิรัตน์ " บิ๊ก" เอาการทีเดียวในช่วงรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4

เจ้าพระยาเสือ ไม่มีบทบาทในชีวิตของท่านผู้หญิงกลีบเพราะถึงแก่อนิจกรรมไปก่อน  ส่วนเจ้าจอมพุ่มธิดาก็ท่านก็ถึงแก่กรรม จบบทบาทไปเมื่อท่านผู้หญิงอายุ 7 ขวบ   แต่ชีวิตเด็กชาววังของท่านผู้หญิงเพิ่งเริ่มต้น
ประวัติของท่านผู้หญิง สะท้อนให้เห็นแนวทางชีวิตของเด็กหญิงลูกผู้ดีมีสกุลในยุคนั้น ว่าได้รับการศึกษาอบรมดีกว่าลูกชาวบ้านโดยทั่วไป  คือมีโอกาสเข้าไปอยู่ในวังหลวงตั้งแต่อายุน้อยๆ จนโตเป็นสาว   ได้เล่าเรียนวิชาที่จำเป็นสำหรับสตรีคือวิชาการเหย้าการเรือน เพื่อออกมาบริหารครอบครัวต่อไป    ไม่ได้รียนเพื่อออกมาทำมาค้าขายอย่างลูกชาวบ้าน

การเข้าไปอยู่ในวังสำหรับเด็กหญิงในสมัยนั้นก็ไม่ใช่ว่าเข้ากันได้ง่ายๆ   คือแค่อยากเข้าก็เดินตรงเข้าไปได้   หากจำเป็นจะต้องมีผู้ใหญ่ในวัง จะระดับสามัญชนหรือระดับเจ้านายเป็นผู้สนับสนุนให้เข้าไปอยู่   เหมือนแม่พลอยมีแม่เป็นชาววังข้าหลวงเสด็จ  แม่ก็พาเข้าวังไปฝากไว้กับเสด็จเจ้านายเก่า ซึ่งถ้านับกันทางสายเลือดก็เป็นญาติกันทางเจ้าจอมมารดาของเสด็จ     ถ้าหากว่าแม่แช่มแม่ของแม่พลอยเป็นชาวบ้านธรรมดาก็ไม่อาจจะพาพลอยเข้าไปในวังได้ง่ายดายอย่างนี้


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 พ.ค. 15, 09:50
    เจ้าพระยารัตนาพิพิธผู้เป็นคุณทวดคนใหญ่ของท่านผู้หญิงกลีบ มีธิดาท่านหนึ่งชื่อเจ้าจอมปุก เป็นเจ้าจอมมารดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าจามรี พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 3    พระองค์เจ้าจามรีทรงรับเด็กหญิงกลีบเข้าไปเป็นนางข้าหลวงน้อยๆในตำหนักของท่านในพระบรมมหาราชวัง
    นี่คือก้าวแรกในชีวิตชาววังของท่านผู้หญิง
    เด็กหญิงกลีบอยู่ในวังหลวงมาจนโกนจุก พ้นจากวัยเด็กเข้าสู่วัยสาว อายุได้ 13 ปี พระองค์เจ้าจามรีก็สิ้นพระชนม์ในพ.ศ. 2432

   ข้างล่างคือพระรูปพระองค์เจ้าจามรี

   


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 พ.ค. 15, 10:00
     ตามธรรมเนียมสมัยนั้น เมื่อเจ้านายฝ่ายในตำหนักไหนสิ้นพระชนม์ นางข้าหลวงก็แยกย้ายกันไป บางคนก็ไปอยู่กับเจ้านายใหม่ บางคนก็กลับบ้านไปอยู่กับญาติพี่น้องหรือแต่งงานไป      
     ส่วนเด็กหญิงกลีบไปเป็นนางข้าหลวงของเจ้านายฝ่ายในพระองค์ใหม่ คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้านารีรัตนา  และเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าประดิษฐาสารี   ทั้งสองพระองค์เป็นพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4   ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาดวงคำ พระราชนัดดาในเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์
     การไปอยู่ตำหนักเสด็จฯทั้งสองพระองค์นี้ก็มีที่มาที่ไป   กล่าวคือเจ้าจอมมารดาดวงคำ เป็นญาติกับเจ้าสุพุทา ภรรยาของคุณหลวงธรเณนทร์ คุณทวดของท่านผู้หญิงกลีบ  คือย่าเจ้าสุพุทากับย่าของเจ้าจอมดวงคำเป็นพี่น้องกัน    ดังนั้นเจ้าจอมดวงคำกับเจ้าสุพุทาก็เป็นลูกพี่เรียงน้องในระดับเจอเนอเรชั่นเดียวกัน     เสด็จทั้งสองพระองค์ก็ทรงเห็นว่าเด็กหญิงกลีบนั้นเป็นญาติทางฝ่ายเจ้าจอมมารดาของท่าน
    เด็กหญิงกลีบจึงใช้ชีวิตในวัยรุ่นสาวอยู่ในตำหนักของเสด็จพระองค์หญิงทั้งสองพระองค์    นานเท่าใดไม่ได้บอกในประวัติ   ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาเล่าว่า เสด็จพระองค์หญิงสองพระองค์ทรงเล่าประทานท่านว่าเจ้าจอมมารดาดวงคำเห็นว่านางข้าหลวงคนนี้มีรูปร่างหน้าตางดงาม อัธยาศัยดี จึงตั้งใจจะนำขึ้นถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อรับราชการฝ่ายใน

ภาพล่าง เจ้าจอมมารดาดวงคำ


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 พ.ค. 15, 10:18
   เมื่อความคิดนี้ล่วงรู้ไปถึงหูหมื่นนราอักษรผู้บิดาท่านผู้หญิง    ท่านไม่เต็มใจจะให้ลูกสาวเป็นเจ้าจอม จึงส่งภรรยามารับตัว ทูลลาว่าจะพาไปเยี่ยมบ้าน    แล้วท่านหมื่นก็พาลูกสาวหนีเข้าสวนบางยี่ขันไปฝากไว้กับมารดาท่าน
   ระหว่างนั้น หมื่นนราอักษรก็เสียชีวิตลง    แต่ได้สั่งคุณนายหุ่นมารดาของท่านผู้หญิงว่าเพื่อความปลอดภัยทั้งปวง   มิให้รับท่านผู้หญิงกลับไปอยู่ด้วยในพระนคร  จนกว่าจะมีครอบครัวเป็นหลักฐาน

   ท่านผู้หญิงกลีบในวัยสาวก็เลยต้องจากชีวิตในวัง มาอยู่อย่างลูกหลานชาวสวนแถบบางยี่ขัน กับญาติฝ่ายบิดาที่ท่านเองก็ไม่รู้จักมักคุ้นมาก่อน

   เรื่องนี้ถ้ามีใครยกมือถามว่าเหตุใดหมื่นนราอักษรถึงไม่เต็มใจกับเกียรติยศอันสูงส่งที่ลูกสาวจะได้รับ   ดิฉันก็จนปัญญาที่จะตอบ  เพราะการได้เป็นเจ้าจอมนั้นก็มิใช่ว่าเป็นได้ง่ายๆ   ยากกว่าเป็นนางข้าหลวงในวังเสียอีก   จะมีกรณียกเว้นเช่นพระเจ้าอยู่หัวโปรดประทานเกียรติยศนี้เองโดยตรงอย่างกรณีเจ้าจอมมารดาอ่วม  ก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก     ส่วนใหญ่ขุนนางใหญ่ๆต่างก็เต็มใจจะถวายลูกสาวเป็นเจ้าจอมกันเป็นส่วนมาก   
    ถ้ามีคำถามก็คงจะต้องตอบแบบกำปั้นทุบดินว่า ท่านหมื่นท่านไม่สมัครใจ ก็เท่านั้น   
   พูดถึงพฤติกรรมของท่านหมื่นก็นับว่าห้าวหาญมาก   เพราะรู้ทั้งรู้ว่าเจ้าจอมมารดาดวงคำซึ่งก็มีความสำคัญโขอยู่ ในฐานะเจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าถึงสององค์ อยากถวายลูกสาว   ท่านก็กล้าขัดใจ   ไม่ยักกลัวว่าเครือญาติในสกุลสนธิรัตน์ซึ่งมีจำนวนอยู่หลายคนในบ้านจะพลอยขัดเคืองไปด้วย   และท่านก็ไม่ยักกลัวว่าเครือญาติในย่านบางยี่ขันของท่านจะพลอยเดือดร้อนที่เอาลูกสาวไปฝากไว้


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ค. 15, 15:01
  พยายามวาดภาพว่าชีวิตของเครือญาติฝ่ายพ่อของท่านผู้หญิงเป็นอย่างไร   เพราะท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาธิดาของท่านไม่ได้ให้รายละเอียดไว้   เข้าใจว่าเป็นคหบดีชาวสวน คงจะอยู่รวมกันหลายคน  เป็นครอบครัวขยายตามธรรมเนียมในสมัยหนึ่งร้อยกว่าปีก่อน  มีมารดาของหมื่นนราอักษรหรือคุณย่าของท่านผู้หญิงเป็นผู้หลักผู้ใหญ่อยู่ในบ้าน     ท่านหมื่นจึงนำลูกสาวมาฝากไว้    ตัวท่านเองก็กลับไปอยู่บ้านของภรรยาที่สำราญราษฎร์ ไม่ได้มาอยู่รวมกันกับลูกสาว     เรียกได้ว่าเก็บลูกสาวไว้มิดชิดจริงๆ
  ในบ้านสวน  ท่านผู้หญิงได้รับการอบรมใหม่อย่างลูกสาวคหบดีชาวสวน  คือหัดทำกับข้าวกับปลาอย่างโบราณ   ไม่ได้ทำงานฝีมือละเอียดประณีตอย่างในวัง เพราะดูจะไม่จำเป็นสำหรับชีวิตชาวสวน     เรื่องใหญ่ในชีวิตประจำวันคือทำมาหากิน   เจ้าของสวนก็จะมีผลไม้ มีผักหญ้าในสวน เป็นสินค้านำรายได้เข้าบ้าน    ท่านผู้หญิงกลีบจึงต้องเก็บผลไม้ เก็บผัก ตัดใบตอง ให้คนใช้นำไปขาย     การที่มีคนใช้รับของสวนเหล่านี้ไปขาย ก็แสดงว่าฐานะเจ้าของสวนบางยี่ขันค่อนข้างดี  มีนายมีบ่าว  ท่านผู้หญิงไม่ต้องพายเรือนำไปขายเอง
   เจ้าของสวนบางยี่ขันคงจะเป็นคนขยัน  ลูกหลานจึงต้องทำโน่นทำนี่ไม่อยู่นิ่ง  และบวกกับเป็นนิสัยของท่านผู้หญิงด้วยที่เป็นคนขยัน   ในประวัติจึงบรรยายไว้ว่า  ในยามว่างท่านก็ทำการฝีมือที่ได้รับถ่ายทอดมาจากในวัง เช่น ถักตาชุน  ร้อยดอกไม้  ทำเครื่องใบตองพวกกระทงแบบต่างๆ ทั้งเล็กและใหญ่   พวกนี้นอกจากจะทำใช้เองแล้ว ก็เป็นสินค้าขายได้ด้วย     รายได้อีกอย่างคือรับสบงจีวรมาเย็บ เป็นรายได้พิเศษ 
   งานทั้งหมดนี้นอกจากเพิ่มพูนรายได้ ยังเป็นการเตรียมเด็กสาววัย 15  ไว้สำหรับภาระหนักที่จะตามมาข้างหน้า พร้อมกับบุญบารมีของท่าน
   


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ค. 15, 15:19
  อันที่จริง  ถ้าหากว่าท่านผู้หญิงกลีบไม่ได้ถูกชะตาฟ้าลิขิตมาให้มีบุญเป็นถึงท่านผู้หญิง  ก็น่าคิดว่าสภาพแวดล้อมใหม่ที่บิดาของท่านส่งมาให้อยู่เพื่อหนีชีวิตเจ้าจอมในวัง  น่าจะทำให้ท่านหมื่นมีโอกาสได้ลูกเขยชาวสวนมากกว่าอาชีพอื่น
   ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาไม่ได้เล่าว่า ระยะเวลาสามปีเศษนับแต่ท่านผู้หญิงกลีบออกจากวังเมื่ออายุ 15 กว่า ๆมาจนถึงอายุ 18 ย่าง 19   มีหนุ่มชาวสวนบ้านใกล้เรือนเคียงมาสนใจใคร่สู่ขอบ้างหรือไม่      แต่ถ้ามองตามที่ท่านอธิบายไว้ในหนังสือว่า แม้ว่าหมกตัวอยู่ในสวน แต่กิติศัพท์ความดีความงามของท่านก็ขจรไปไกล  ถึงขั้นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในสกุลไกรฤกษ์อย่างพระยาเพ็ชรรัตน์ สนใจถึงกับส่งลูกหลานผู้หญิงไปดูตัว
   ขนาดสกุลไกรฤกษ์ที่อยู่ฝั่งพระนคร ยังสนใจ แล้วเจ้าของสวนแถวบางยี่ขันจะไม่สนใจอยากสู่ขอมาให้ลูกชายบ้างหรือ  มันก็คงต้องมีบ้างละน่า
   เดาว่าท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาอาจจะทราบ แต่เอ่ยข้ามไป  เพราะถึงมีเจ้าของสวนแถวนั้นมาขอ  คุณย่าก็คงจะไม่ยกให้อยู่ดี   ท่านผู้หญิงเองก็คงไม่สมัครใจด้วย  จึงไม่จำเป็นต้องเอ่ยถึง


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ค. 15, 15:28
ท่านผู้หญิงในวัยสาว


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 พ.ค. 15, 17:47
^
ภาพ "คุณหญิงกลีบ" เมื่ออายุ ๓๐ ปี ถ่ายเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๙ ในเครื่องแต่งกายเต็มยศประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จตุตถจุลจอมเกล้า


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ค. 15, 18:03
เจออีกรูปหนึ่งค่ะ


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ค. 15, 09:45
   ในยุคต้นรัชกาลที่ 5    หน้าที่การหาคู่ครองให้ลูกเป็นเรื่องของพ่อแม่   หนุ่มสาวโดยเฉพาะผู้อยู่ในฐานะสังคมดีแทบไม่มีโอกาสหาด้วยตัวเอง     พระยาเพ็ชรรัตน์ (โมรา ไกรฤกษ์)บิดาของเจ้าพระยามหิธรก็ทำตามธรรมเนียมนี้     เมื่อบุตรชายท่านคนที่ชื่อละออ เติบโตเป็นหนุ่ม เรียนจบเข้าทำงานราชการ  หน้าที่ของพ่อแม่ก็คือมองหาตัวสะใภ้ไว้ให้    โดยคัดเลือกจากหญิงสาวที่เหมาะสม
   สมัยนั้นอีกเช่นกัน ผู้ชายเป็นฝ่ายเลือก  ผู้หญิงเป็นฝ่ายถูกเลือก   จริงอยู่ ผู้หญิงอาจปฏิเสธชายที่ตนไม่พึงพอใจได้    แต่ก็ทำได้แค่นั้น   ไม่มีสิทธิ์จะไปมองหาหนุ่มคนไหนที่ถูกใจแล้วบอกพ่อแม่ว่า อยากจะแต่งกับคนนี้ละ     สิทธิ์นี้สงวนไว้ให้ชายโดยเฉพาะ

  พระยาเพ็ชรรัตน์มองหาว่าที่สะใภ้มาหลายรายแล้วหรือเปล่า ในหนังสือไม่ได้บอก   แต่ก็น่าคิดว่าคงมองๆเอาไว้หลายบ้าน  โดยให้ลูกหลานผู้หญิงเป็นแมวมอง   ในประวัติเล่าว่าท่านให้หลานสาวคือคุณท้าวนารีวรณารักษ์ (แจ่ม ไกรฤกษ์) สะใภ้ใหญ่ของท่าน คุณหญิงเอี่ยม จรรยายุตกฤตย์  และลูกสาวซึ่งยังเด็กไม่ประสีประสาคือเด็กหญิงจำเริญ (ต่อมาคือคุณหญิงจำเริญ ประเสริฐศุภกิจ) เป็นกองทัพเสริม  พากันไปดูตัวหญิงสาวในสวนบางยี่ขันซึ่งมีคนมาเล่าว่าหน้าตางดงาม มีคุณสมบัติเหนือสาวชาวสวนทั่วไป


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ค. 15, 10:20
      เมื่อมาถึงบ้านสวนบางยี่ขัน   ฝ่ายมาเยือนก็เห็นบ้านช่องที่สะอาดมีระเบียบ   หลานสาวเจ้าของบ้านมีหน้าตางดงาม กิริยามารยาทเรียบร้อย  ดูเป็นผู้ดีผิดจากสาวชาวสวนโดยทั่วไป   แมวมองก็กลับมารายงานว่าหญิงสาวคนนี้เหมาะจะเป็นสะใภ้อีกคนของเจ้าคุณเพ็ชรรัตน์
      เมื่อได้รับคำรับรองเป็นเสียงเดียวกัน     พระยาเพ็ชรรัตน์ก็ตกลง   ในหนังสือไม่ได้บอกว่าท่านเจ้าคุณไปดูตัวว่าที่ลูกสะใภ้ด้วยตัวเองอีกทีหนึ่งหรือเปล่า    หรือว่าพอได้รับคำรับรองก็ตกลงเลย ไม่ต้องเห็นตัวจริงก็ได้     เรารู้แต่ว่าท่านขอให้พี่สาวท่านซึ่งเป็นภรรยาพระยามหาอำมาตย์ไปเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายท่าน สู่ขอท่านผู้หญิงกลีบให้บุตรชาย ซึ่งขณะนั้นทำงานเป็นเสมียนเงินเดือน 30 บาทอยู่ที่อรรถวิจารณ์ศาลา (หรือศาลฎีกา)    คุณย่าของท่านผู้หญิงก็ตกลง
      ขอหมายเหตุไว้ว่า  เรื่องดำเนินมาจนตกลงปลงใจจะร่วมหอลงโรงกัน  ท่านผู้หญิงกลีบกับว่าที่เจ้าบ่าวยังไม่เคยเห็นหน้าค่าตากันเลย


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: unming ที่ 11 พ.ค. 15, 10:22
แปลกเหมือนกันนะคะ ในสมัยก่อน ผู้ใหญ่ จะ เป็นคน คัดเลือก คู่ครองให้กับ ลูก ๆ หลาน ๆ เหมือนจะไม่มีสิทธิในการเลือกคู่ครองเอง แต่ก็อยู่กินกันยืดยาวไม่ค่อยมีการหย่าร้าง แต่สมัยนี้ รักกัน ชอบกันเอง แต่อัตราการหย่าร้างสูงมาก  ???


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ค. 15, 10:37
เกิดจากบริบททางสังคมเปลี่ยน   ความรู้สึกนึกก็คิดเปลี่ยน   ค่ะ
ผู้หญิงยุคก่อนถูกสอนให้อดทน    ผู้หญิงยุคนี้ถูกสอนให้ถามว่า "ทำไมต้องทน"


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ค. 15, 11:02
   อ่านประวัติในหนังสืองานศพของคนยุคหนึ่งร้อยกว่าปีก่อนหลายๆท่านด้วยกัน   ได้แบบแผนการดำเนินชีวิตมาคล้ายๆกัน  คือในการแต่งงาน ผู้ใหญ่จะคำนึงถึงความมั่นคงของชีวิตคู่มากกว่าอารมณ์ส่วนตัวของหนุ่มสาว     เมื่อมีการทาบทามสู่ขอ  ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงก็จะพิจารณาว่าฝ่ายชายมาจากครอบครัวที่ดีไหม   คือมีพ่อที่ทำงานเป็นหลักเป็นฐาน มีฐานะไม่ลำบากยากจน   ตัวผู้ชายเองมีงานทำ มีรายได้พอเลี้ยงภรรยาและลูกๆที่จะเกิดมา   
    ส่วนผู้ใหญ่ฝ่ายชายก็จะมองว่าหญิงสาวที่เข้ามาเป็นสะใภ้ สามารถแบกรับภาระครอบครัวได้ดีหรือไม่  คือนอกจากดูแลปรนนิบัติสามีด้วยวิชาการครัวและดูแลบ้านช่องเป็นแล้ว ก็ต้องเลี้ยงลูกเป็น เช่นเย็บเสื้อผ้า ทำกับข้าวทำขนมให้ลูกได้   เข้ากับญาติผู้ใหญ่ฝ่ายสามีได้ดี    ถ้าสามีเกิดตายหรือลำบากยากจนกะทันหัน   ภรรยาก็ต้องขยัน รู้จักหารายได้เข้าบ้านช่วยสามีได้ด้วย  ไม่เอาแต่ผลาญเงินสามี
   สรุปว่าสมรสในสมัยนั้นคล้ายๆกับหาหุ้นส่วนตั้งบริษัท  ต่างฝ่ายต่างต้องมีคุณสมบัติที่ดี จึงช่วยกันประกอบกิจการให้เจริญรุ่งเรืองได้    แต่หุ้นส่วนไม่จำเป็นต้องรักกันชนิดจะตายแทนกันได้  แค่เคารพและให้เกียรติกันก็พอ


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 11 พ.ค. 15, 11:15
   เมื่อความคิดนี้ล่วงรู้ไปถึงหูหมื่นนราอักษรผู้บิดาท่านผู้หญิง    ท่านไม่เต็มใจจะให้ลูกสาวเป็นเจ้าจอม จึงส่งภรรยามารับตัว ทูลลาว่าจะพาไปเยี่ยมบ้าน    แล้วท่านหมื่นก็พาลูกสาวหนีเข้าสวนบางยี่ขันไปฝากไว้กับมารดาท่าน
   ระหว่างนั้น หมื่นนราอักษรก็เสียชีวิตลง    แต่ได้สั่งคุณนายหุ่นมารดาของท่านผู้หญิงว่าเพื่อความปลอดภัยทั้งปวง   มิให้รับท่านผู้หญิงกลับไปอยู่ด้วยในพระนคร  จนกว่าจะมีครอบครัวเป็นหลักฐาน

   ท่านผู้หญิงกลีบในวัยสาวก็เลยต้องจากชีวิตในวัง มาอยู่อย่างลูกหลานชาวสวนแถบบางยี่ขัน กับญาติฝ่ายบิดาที่ท่านเองก็ไม่รู้จักมักคุ้นมาก่อน

   เรื่องนี้ถ้ามีใครยกมือถามว่าเหตุใดหมื่นนราอักษรถึงไม่เต็มใจกับเกียรติยศอันสูงส่งที่ลูกสาวจะได้รับ   ดิฉันก็จนปัญญาที่จะตอบ  เพราะการได้เป็นเจ้าจอมนั้นก็มิใช่ว่าเป็นได้ง่ายๆ   ยากกว่าเป็นนางข้าหลวงในวังเสียอีก   จะมีกรณียกเว้นเช่นพระเจ้าอยู่หัวโปรดประทานเกียรติยศนี้เองโดยตรงอย่างกรณีเจ้าจอมมารดาอ่วม  ก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก     ส่วนใหญ่ขุนนางใหญ่ๆต่างก็เต็มใจจะถวายลูกสาวเป็นเจ้าจอมกันเป็นส่วนมาก   
    ถ้ามีคำถามก็คงจะต้องตอบแบบกำปั้นทุบดินว่า ท่านหมื่นท่านไม่สมัครใจ ก็เท่านั้น   
   พูดถึงพฤติกรรมของท่านหมื่นก็นับว่าห้าวหาญมาก   เพราะรู้ทั้งรู้ว่าเจ้าจอมมารดาดวงคำซึ่งก็มีความสำคัญโขอยู่ ในฐานะเจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าถึงสององค์ อยากถวายลูกสาว   ท่านก็กล้าขัดใจ   ไม่ยักกลัวว่าเครือญาติในสกุลสนธิรัตน์ซึ่งมีจำนวนอยู่หลายคนในบ้านจะพลอยขัดเคืองไปด้วย   และท่านก็ไม่ยักกลัวว่าเครือญาติในย่านบางยี่ขันของท่านจะพลอยเดือดร้อนที่เอาลูกสาวไปฝากไว้

อันนี้ขอสันนิษฐานจากเรื่องราวในวังจีน

ในวังจีนนั้นพ่อแม่หลายคนวิ่งเต้นแทบตายเพื่อให้ลูกสาวได้ถวายตัวเข้าอยู่ในวัง แต่หลายคนก็ไม่มีความประสงค์ เพราะมีคำกล่าวแต่โบราณว่า "ลู่กงเซินซื่อไห่" (入宫深似海) แปลว่า เข้าสู่วังนั้นลึกล้ำหนึ่งก้าวลงทะเล คือ ลูกสาวเข้าวังปุ๊บ พ่อแม่ก็สิ้นความสามารถในการที่จะปกป้องคุ้มครองลูก เรื่อยไปจนถึงความสะดวกในการพบหน้าพบตาลูกอีกต่อไป นี้ยังไม่นับลูกตัวเองจะกลายเป็นหมู่ดาวเล็กๆอันล้อมรอบเดือน ดังนั้น พ่อแม่หลายคนจึงเลือกที่จะไม่ยอมส่งลูกเข้าวัง ให้ลูกใช้ชีวิตแบบสามัญชนเรียบๆง่ายๆ สบายๆมากกว่า เรื่องนี้มีขุนนางจีนหลายท่าน รวมไปจนถึงเชื้อพระวงศ์จีนหลายท่านพยายามไม่ให้ลูกสาวตัวเองถูกส่งเข้าวัง เพราะความห่วงลูก อาทิ บิดาของท่านหญิงเต๋อหลิง ถึงขั้นไม่ยอมบันทึกการเกิดของลูกสาวสองคนของตนไว้ เพราะกลัวว่า ถ้าบันทึกแล้วลูกสาวตัวเองจะต้องถูกส่งตัวไปคัดเลือกเข้าวังและจะได้เข้าวังกับเขาจริงๆ

ท่านหมื่นคงมีความคิดเช่นเดียวกัน กระมัง

อันนี้สันนิษฐานล้วนๆ


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ค. 15, 11:48
ก็เป็นความเห็นที่เป็นไปได้ค่ะ    ขอบคุณที่มาร่วมวง


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เอื้องหลวง ที่ 11 พ.ค. 15, 12:16
อย่างเรื่องการแต่งงานของคนสมัยก่อน เหมือนกับที่อาจารย์เทาชมพูเขียนไว้ว่าเหมือนหาหุ้นส่วนที่ต้องช่วยกันประกอบกิจการ ผู้หญิงสมัยก่อนไม่ได้เรียนหนังสืออ่านเขียน หน้าที่ทำงานหาเงินนอกบ้านจึงเป็นของสามี แต่งานในบ้านตั้งแต่การอยู่การกินไปจนถึงเลี้ยงลูก ก็เป็นหน้าที่ของภรรยา
สมัยนี้ผู้หญิงผู้ชายก็เรียนสูงพอๆ กัน หน้าที่การงานมั่นคงเหมือนๆ กัน สามารถเป็น single mom / dad ได้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอีกฝ่าย เลยเป็นเหตุผลให้คนเลือกที่จะหย่ากันมากกว่าทนทุกข์ร่วมกันมั้งคะ


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ค. 15, 16:24
  ผู้ใหญ่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงตกลงกันด้วยทองหมั้น หนัก 20 บาท   กองทุนแต่งงานคือผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายต่างนำมามอบให้เท่าๆกันคือฝ่ายละ 5 ชั่ง (400 บาท)  สินสอด 2 ชั่ง (160 บาท)   ฝ่ายชายตกลงปลูกเรือนหอให้ที่ในที่ของคุณนายหุ่นมารดาของท่านผู้หญิงที่สำราญราษฎร์  เป็นเรือนไทยฝาปะกน 1 หลัง
  เมื่อตกลงหมั้นกันโดยไม่ได้เห็นหน้ากันแล้ว   คุณนายหุ่นมารดาของท่านผู้หญิงก็มารับตัวลูกสาวออกจากบ้านบางยี่ขันกลับไปอยู่ที่สำราญราษฎร์  เพื่อเตรียมตัวสำหรับวิวาห์    จากประวัติตอนนี้ทำให้ทราบว่าท่านผู้หญิงอยู่กับคุณย่านั้นอยู่ตัวคนเดียวจริงๆ  แม่ไม่ได้มาอยู่ด้วย     เพิ่งมารับกลับไปบ้านแม่ที่อยู่ในเขตบ้านคุณตาทวดก็เมื่อจะแต่งงานนี้เอง
  ส่วนทางเจ้าบ่าวก็ทำตามประเพณีไทย คือบวชให้เรียบร้อยก่อนแต่ง    การบวชสมัยนั้นก็ต้องบวชครบ 1 พรรษา ไม่ใช่สามวันเจ็ดวัน   
  นายละออหรือเจ้าพระยามหิธรบวชที่วัดบวรนิเวศ    พายเรือมารับบิณฑบาตในคลองหน้าบ้านเจ้าสาวหนหนึ่ง  ทำให้เจ้าสาวมีโอกาสเห็นคู่หมั้นเป็นครั้งแรก   แต่การเห็นครั้งนั้นก็คงเห็นกันเป็นเวลาไม่กี่วินาที   แค่มารับบาตร   แล้วพายเรือออกไป   จะพูดจากันสักคำก็ไม่ได้แน่นอน
  หลังจากเห็นกันครั้งเดียว  ท่านผู้หญิงมาเห็นอีกครั้งก็ในวันรดน้ำแต่งงาน  เจ้าบ่าวมาเข้าพิธีเลยทีเดียว   


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 พ.ค. 15, 08:33
   วันสมรสของท่านผู้หญิงกลีบ แม้บรรยายไว้ในหนังสือเพียงย่อหน้าเดียว แต่ก็ชัดเจนมองเห็นภาพ 
   ในยุคนั้น ไม่มีชุดเจ้าสาวเป็นพิเศษสำหรับวันนี้  เจ้าสาวคงจะแต่งชุดที่ดีที่สุดเท่าที่มี   ท่านผู้หญิงกลีบนุ่งผ้าลายขัดมัน  คาดเข็มขัดเงิน ใส่เสื้อมีเอ็น ปลายเอวแหลมติดลูกไม้โดยรอบ  และห่มแพรจีบสไบเฉียง  ไม่ได้สวมรองเท้า
   ส่วนเจ้าบ่าวนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบนสีเหลือง ใส่เสื้อราชปะแตน สวมถุงน่องรองเท้า

   ขออธิบายแฟชั่นสมัยนั้นให้สาวๆ ที่เข้ามาอ่านกระทู้นี้ได้ฟังค่ะ
   ผ้าลาย-ชาวเรือนไทยคงรู้จักว่าเป็นผ้าแบบไหน   ส่วนคำว่า"ขัดมัน" ไม่ใช่ชนิดของผ้าลาย   แต่เป็นกรรมวิธีทำให้ผ้าลายแข็งเรียบขึ้นเงาสวยงาม    คือเวลาซักผ้า  ต้องใส่ลูกซัดลงไป  มันจะคายยางออกมาเหมือนเจล ทำให้ผ้าแข็ง   จากนั้นก็เอาผ้าขึ้นมาขัดด้วยหอยโข่งตัวใหญ่ๆ ลงมือขัดไปทีละส่วน  ผ้าลายจะเรียบเป็นมัน   สวยกว่าผ้าลายที่ไม่ได้ขัด
   เข็มขัดเงิน สาวๆสมัยนั้นนุ่งผ้าไม่มีขอบเอว ไม่มีซิป ไม่มีตะขอ ก็ต้องอาศัยเข็มขัด    ปกติเข็มขัดหรูหราที่สุดคือเข็มขัดทอง รองลงมาคือเข็มขัดนาก  เข็มขัดเงินอยู่อันดับสาม
   ใส่เสื้อมีเอ็น   เอ็นนี้เป็นเส้นแข็งเล็กๆสอดไว้ข้างในตัวเสื้อ เหมือนโครงเสื้อชั้นในสมัยนี้เพื่อยกทรงให้กระชับ 
   ปลายเอวแหลม =  ตัวเสื้อยาวเลยเอวลงมา  ปลายด้านหน้าแหลม ติดลูกไม้
   ห่มแพรจีบ      =  จีบเหมือนพลีต  เป็นสไบทับเสื้ออีกที


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 พ.ค. 15, 08:36
ภาพนี้คือเจ้าคุณพระประยูรวงศ์  แต่งกายในยุคเดียวกับท่านผู้หญิงกลีบในวันวิวาห์  แม้ไม่เหมือนกันทีเดียวก็พอจะทำให้นึกออกว่า ท่านผู้หญิงแต่งกายแบบไหน


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 พ.ค. 15, 08:30
     พูดถึงพิธีรดน้ำแต่งงานของไทย  ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เรียกว่าซัดน้ำมากกว่ารดน้ำ  คือพระสงฆ์สาดน้ำเจ้าบ่าวเจ้าสาวและเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาวจนเปียกโชก    เจ้าบ่าวต้องผลัดผ้าใหม่    ต่อมาพิธีซัดน้ำในสมัยรัชกาลที่ 5  ก็เปลี่ยนให้เปียกน้อยลงคือเป็นรดน้ำ ไม่ใช่ซัดน้ำอย่างเดิม
      ในวันรดน้ำแต่งงาน  ผู้มารดน้ำคือผู้ใหญ่ของทั้งฝ่ายเจ้าบ่าวเจ้าสาว  ไม่มีเพื่อนๆหรือหนุ่มสาววัยเดียวกันมาร่วม    วิธีรดน้ำแบบเก่าดิฉันยังทันเห็น คือรดน้ำสังข์ลงไปบนศีรษะจนหัวหูเปียกทั้งบ่าวและสาว   ไหลลงไปถึงเสื้อผ้า    แต่ตอนหลังก็เพลาๆลงเป็นแค่รดนิดหน่อยบนหน้าผาก ไม่กี่หยด    ไม่ถึงกับเปียกปอน  เจ้าบ่าวเจ้าสาวยังรักษาเสื้อผ้าไว้ได้เอี่ยมอ่อง พร้อมจะต้อนรับแขก        ปัจจุบันรดที่มือ ถือว่าสะดวกที่สุด
     ในเมื่อรดน้ำกันจนเสื้อผ้าเปียก   เจ้าบ่าวก็ต้องเปลี่ยนผ้าใหม่เวลาส่งตัว  จะนั่งเปียกปอนอย่างนั้นต่อไปก็ไม่เข้าที   ผ้าที่มีไว้ให้เจ้าบ่าวผลัดเรียกว่า "ผ้าห้อยหอ" (ไม่ใช่ผ้าห้อยคอ นะคะ)
     ผ้าห้อยหอของนายละออหรือเจ้าพระยามหิธร   ท่านผู้หญิงกลีบเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี  อีก 36 ปีต่อมาผ้าเก่าแก่ผืนนี้ก็ได้ใช้งานอีกครั้งในวันวิวาห์ของท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาลูกสาวของท่าน  เป็นผ้าห้อยหอสำหรับเจ้าบ่าว ม.ล.ปิ่น มาลากุล   

     


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 พ.ค. 15, 08:35
  ความประทับใจของเจ้าบ่าวที่มีต่อเจ้าสาววัย 18 ย่าง19 ที่มีโอกาสเห็นกันก่อนหน้านี้หนเดียว คือความประทับใจในฝีมือทำอาหารของฝ่ายหญิง      
  อาหารมื้อแรกที่ท่านผู้หญิงทำให้สามีคือน้ำปลามะกอก     เดี๋ยวนี้จะยังมีใครทำอยู่หรือไม่ก็ไม่ทราบ เพราะไม่เคยเจอตามร้านอาหาร  อาจจะมีกินตามบ้านสำหรับบ้านที่ชอบรสชาติอาหารไทยพื้นบ้านของภาคกลาง

   ไปเจอวิธีทำน้ำปลามะกอกของคุณหนานคำ เจ้าของคอลัมน์พ่อบ้านทำครัว   ซึ่งรวมเล่มหนังสือมาหลายเล่มแล้ว จึงขอลอกมาให้อ่านกันค่ะ

พ่อบ้านทำครัว
หนานคำ
น้ำปลามะกอก

   กับข้าวที่ผมเสนอคราวนี้ ขอนำท่านผู้อ่านออกจากร้านกุ๊กจีนกลับคืนสู่บ้านทุ่งริมแม่น้ำน้อยอีกครั้ง เมื่อดูจากชื่อและภาพประกอบผมเชื่อท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงรู้จักดี เป็นกับข้าวชาวทุ่งที่ธรรมดาสามัญอย่างยิ่ง แต่ผมขอเรียนถามท่านผู้อ่านสักหน่อยเถิดว่า ได้กินน้ำปลามะกอกครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ครับ
   ผลมะกอกที่ท่านเห็นอยู่ในภาพ ชาวบ้านทุ่งเรียกกันว่า “มะกอกน้ำ” ใช่แล้วครับเคยมีขายตามรถเข็นขายผลไม้ดองบางเจ้าในลักษณะดองเกลือจิ้มกินกับพริกกะเกลือ บางเจ้าเชื่อมด้วยน้ำตาลเหนียวใสซึ่งบางทีก็มีกุ้งแห้งตัวเล็กๆสีแดงใส่มาด้วย แต่ครั้งสุดท้ายที่ผมเคยเห็นนั้นผ่านมานานหลายปีแล้ว
   ที่บ้านริมแม่น้ำน้อยปลูกมะกอกน้ำไว้ที่ริมตลิ่งชายแม่น้ำหน้าบ้านสลับกับต้นสนุ่น พวกเราชาวทุ่งเก้าในสิบบ้านใช้ต้นไม้สองชนิดนี้กันลมมรสุมที่พัดมาจากทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ นอกจากนั้นยังใช้รากต้นไม้ช่วยยึดเกาะอุ้มดินชายตลิ่งเอาไว้ไม่ให้ถูกกระแสน้ำพัดเซาะจนละลายไปกับสายน้ำ
   มะกอกน้ำให้ผลปีละครั้งเดียวในหน้าน้ำหลาก คือช่วงระหว่างปลายเดือน ๑๐ ถึงต้นเดือน ๑๒ (ไทย) พร้อมๆกับมะดันที่ให้ผลชุกในหน้านี้เช่นกัน ทั้งมะกอกน้ำและมะดันไม่ใช่พืชเศรษฐกิจ จึงหลงเหลืออยู่เท่าที่สภาพธรรมชาติเอื้ออำนวยและเจ้าของที่ดินยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่บริเวณนั้น เท่านั้นเอง


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 พ.ค. 15, 08:38
       ผลมะกอกน้ำจากต้นหน้าบ้านเมื่อแก่จัดจนสุกคาต้นจะหล่นลงไปลอยอยู่ในแม่น้ำน้อย พอได้เวลามะกอกสุกยายหรือแม่มักใช้ให้พวกเราลงน้ำลอยคอเอาไม้ไผ่แห้งปล้องโตๆผูกกับหลักเป็นคอกสี่เหลี่ยมลอยน้ำอยู่โดยรอบทรงพุ่มของต้นมะกอก เพื่อให้สามารถเก็บผลมะกอกที่ร่วงลงไปอยู่ในน้ำได้โดยง่าย
ผลมะกอกน้ำที่สุกคาต้นนี้เนื้อนุ่ม มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว แต่ยังรักษาความเปรี้ยวอันเป็นเอกลักษณ์ไว้เช่นเดียวกับมะดัน
   เมื่อเก็บผลสุกมาได้ยายจะเลือกเอามาแต่ผลใหญ่ๆล้างให้สะอาด ใช้มีดปอกผลไม้คมๆปอกเปลือกออกอย่างเบามือ ฝานเอาแต่เนื้อใส่ถ้วยผสมกับน้ำปลาดี น้ำตาลปีบนิดหนึ่ง คนให้เข้ากัน ซอยหอมแดงใส่ลงไปตามด้วยพริกป่นคั่วใหม่ๆ บางทีก็เปลี่ยนจากพริกป่นเป็นพริกขี้หนูสวนซอยละเอียดยิบ
   น้ำปลามะกอกฝีมือยายหอมหวนชวนหิว ฉีกปลาย่างใหม่ๆชิ้นพอคำวางลงในจานข้าวที่เพิ่งสุกระอุ ตักน้ำปลามะกอกให้มีเนื้อมะกอก หอมแดงซอยติดแกมกันมาหยอดลงไปบนชิ้นปลา ใช้มือเปิบข้าวเข้าปาก ความเปรี้ยวและกลิ่นหอมของเนื้อมะกอกสุกทำให้ต่อมน้ำลายและน้ำย่อยทำงานไปพร้อมกัน
   วันไหนที่เก็บมะกอกน้ำได้มากจนเหลือกิน บางทีแม่ก็ล้างให้สะอาด ดองน้ำเกลือยกเอาไปตากไว้กลางแดดจัด ๒-๓ วัน ก่อนสงขึ้นมาเชื่อมด้วยน้ำตาลปีบเคี่ยวเหนียวหนับมีครบรสทั้งเปรี้ยว เค็ม หวาน เป็นขนมสำหรับลูกหลานที่มีอยู่เต็มบ้าน บางทีก็มีคนมารับซื้อผลมะกอกดิบถึงบ้านโดยใช้วิธีปีนขึ้นเขย่าต้น
   เมื่อเข้าไปเรียนชั้นมัธยมที่ตลาดบ้านแพน เวลาที่ครูภาษาไทยสอนถึงคำพังเพยที่ว่า “มะกอกสามตะกร้าปาไม่ถูก” ผมไม่เคยนึกถึงมะกอกชนิดอื่นนอกจากมะกอกน้ำ เพราะสมัยนั้นยังไม่รู้จักทั้งมะกอกฝรั่งและมะกอกป่าที่ชาวอีสานใส่ปรุงรสส้มตำ


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 พ.ค. 15, 08:39
      เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วน้ำท่วมครั้งใหญ่ พื้นบ้านสามหลังที่ริมแม่น้ำน้อยถูกน้ำท่วมทั้งหมด ขณะนั้นพ่อและแม่ยังมีชีวิตอยู่ ต้องยกพื้นบ้านขึ้นมาสูงกว่าระดับพื้นบ้านเดิมถึงเมตรเศษ ครอบครัวของผมจึงล่องมาจากชัยนาทเพื่อเยี่ยมพ่อกับแม่และน้องๆ
   พี่อั้มกับน้องอั๋นซึ่งยังเป็นเด็กลงหัดว่ายน้ำพายเรือเล่นในบริเวณซึ่งเคยเป็นนอกชานบ้าน ขณะนั้นน้ำท่วมลึกเพียงอกผู้ใหญ่ เสียงคุณแดงบ่นแจ๋วๆด้วยความเป็นห่วงลูกขณะที่ปู่กับย่านั่งอมยิ้มดูหลานเล่นน้ำอย่างมีความสุข
พอคุณแดงเผลอผมซึ่งลงน้ำเป็นพี่เลี้ยงอยู่ใกล้ๆลูกก็ชวนลูกชายทั้งสองคนขึ้นนั่งเรือ ซ้อมพายวนไปวนมาอยู่สักพักก็แอบพายเรือผ่านประตูหน้าบ้านออกไปในแม่น้ำน้อย
   พวกเราสามคนพ่อลูกพายเรือเลาะไปตามชายฝั่งกลางแดดร้อนเปรี้ยง ผมชี้ให้ลูกดู “รอ” ที่บางบ้านปักไม้ไผ่ทั้งลำลงไปในน้ำเป็นแถวยาวออกมาจากชายตลิ่ง ผูกไม้ไผ่ลอยตามขวางไว้จนตลอดความยาวขวางแม่น้ำบางส่วนไว้มีแพสวะติดอยู่เต็มเขียวเป็นพืด ผมบอกเขาว่านั่นคือภูมิปัญญาท้องถิ่น
กระแสน้ำเชี่ยวกรากในแม่น้ำน้อยเมื่อประทะเข้ากับรอที่สร้างขวางอยู่ก็ชะลอความเร็วลง มีหลายรอหลายบ้านเข้าน้ำใกล้ตลิ่งก็จะค่อยๆไหลช้าลงกว่ากระแสน้ำที่กลางแม่น้ำ เป็นการป้องกันไม่ให้ผืนดินที่ปลูกบ้านถูกน้ำเซาะจนบ้านพังทลายไปกับสายน้ำ โดยเฉพาะบ้านที่ปลูกอยู่บริเวณคุ้งน้ำ
ปีนั้นมะกอกน้ำหน้าบ้านพร้อมใจกันไม่ออกผล ผมพายเรือพาไปดูต้นที่ออกผลซึ่งอยู่หน้าบ้านถัดขึ้นไป ๒-๓ หลังให้หายสงสัย ยังมีไม้น้ำอีกหลายอย่างที่ลูกไม่เคยรู้จักเช่น อ้อ พง แขม แพงพวย โสน ฯลฯ ก็ได้โอกาสแนะนำให้เขารู้จักเสียคราวนั้น
ถือเป็นการผจญภัยย่อยๆใช้ชีวิตลูกแม่น้ำร่วมกันระหว่างพ่อลูก ก่อนหันหัวเรือพายกลับบ้านมาผจญภัยในบ้านกับเสียงบ่นด้วยความห่วงใยของคุณแดง
ตามคุณแดงไปจ่ายกับข้าวที่ตลาดนัดกระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้ ผมได้พบมะกอกน้ำเพื่อนเก่าที่ ชาวสวนใส่กระทงใบตองมาวางขาย ลองแอบบีบดูไม่ใช่มะกอกสุกครับ นึกถึงน้ำปลามะกอกฝีมือยายแล้วอยากบันทึกไว้จึงเกิดกับข้าวนอกรายการขึ้นอีกอย่าง รอถึงการถ่ายภาพครั้งต่อไปก็เลยหน้ามะกอกเสียแล้ว
เนื้อมะกอกน้ำดิบมีรสฝาด ต้องปอกเปลือกแล้วสับละเอียดขยำกับเกลือซาวน้ำทิ้งเสียครั้งหนึ่งความฝาดจึงจะลดลงจนนำมาทำกินได้ แต่ไม่หอมอร่อยเหมือนกับเนื้อมะกอกน้ำสุกคาต้น
ปลาดุกย่างในภาพก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผมอยากอวดท่านผู้อ่าน ลองสังเกตวิธีเสียบไม้ย่างปลาดุกสิครับ เสียบไม้ลักษณะนี้คือการย่างปลาแบบลูกแม่น้ำ กินปลาเป็นมาตั้งแต่สอนเดิน(คนเสียบไม่ใช่ลูกแม่น้ำ คนสอนก็ต้องเป็นลูกแม่น้ำละครับ) เสียบไม้ย่างปลาวิธีนี้ดึงไม้ออกง่ายเสียเนื้อปลาติดไม้ไปไม่มากนัก
ไม่ใช่วิธีในปัจจุบันซึ่งเสียบไม้เข้าทางปากดันไม้เลาะก้างกลางไปจนถึงปลายหาง ขึงตัวปลาเหยียดตรงเหมือนแท่งหินไร้อารมณ์ถอดไม้เสียบออกก็แสนยาก


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 พ.ค. 15, 08:40
         ผมจะชวนท่านผู้อ่านเข้าครัวทำ “น้ำปลามะกอก” ก็ดูเหมือนว่าเป็นกับข้าวที่มีขั้นตอนยากเย็นเสียนักหนา เอาอย่างนี้เถอะตามผมมานั่งที่ยกพื้นหน้าครัว ดูผมทำน้ำปลามะกอกแบบแกะรอยยายจะดีกว่า
เครื่องปรุง มะกอกน้ำสุกขนาดเขื่องหน่อยสัก ๗-๑๐ ผล หอมแดง ๒-๓ หัว น้ำปลาดี น้ำตาลปีบ พริกป่นคั่วใหม่ๆ
วิธีทำ ๑) ล้างผลมะกอกน้ำให้สะอาด ใช้มีดปอกผลไม้คมๆปอกเปลือกมะกอกอย่างเบามือแล้วจึงฝานเอาแต่เนื้อมะกอกใส่ถ้วยจนหมด
๒) เทน้ำปลาดีลงไปในถ้วยพอท่วมเนื้อมะกอกที่ฝานไว้ น้ำตาลปีบสัก ๑ ช้อนกาแฟใส่ตามลงไปแล้วคนจนน้ำตาลละลายเข้ากับน้ำปลา
๓) ปอกเปลือกหอมแดงล้างให้สะอาดซอยตามขวางบางๆใส่ตามลงไปในถ้วยคนเคล้าให้เข้ากัน โรยพริกป่นคั่วใหม่ลงไปตามชอบ ส่วนของผมคือ ๑ ช้อนกาแฟพูน จัดสำรับได้แล้วครับ

หมายเหตุและทีเด็ดเคล็ดไม่ลับ
๑) น้ำปลามะกอกกินกับปลาย่างใหม่ๆจึงจะถูกคู่อร่อยที่สุด กินกับไข่เจียวหรือปลาทูทอดก็ได้ครับอร่อยรองลงไปหน่อย
๒) แถวบ้านผมเรียกมะกอกน้ำว่า “มะกอก” ผมจึงเขียนปะปนกันไป ชาวทุ่งเรียกมะกอกผลใหญ่ขนาดไข่ไก่ที่ปอกแล้วเฉาะจิ้มพริกกะเกลือว่า “มะกอกฝรั่ง” เรียกมะกอกที่ใส่ส้มตำว่า “มะกอกป่า”


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 พ.ค. 15, 09:03
      ในเมื่อรดน้ำกันจนเสื้อผ้าเปียก   เจ้าบ่าวก็ต้องเปลี่ยนผ้าใหม่เวลาส่งตัว  จะนั่งเปียกปอนอย่างนั้นต่อไปก็ไม่เข้าที   ผ้าที่มีไว้ให้เจ้าบ่าวผลัดเรียกว่า "ผ้าห้อยหอ" (ไม่ใช่ผ้าห้อยคอ นะคะ)

แต่เมื่อท่านผู้หญิงอยู่กับบ้านก็ชอบพาดผ้าห้อยคอ  ดังในภาพที่ท่านถ่ายกับท่านเจ้าคุณและลูกหลาน ;D


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 พ.ค. 15, 10:00
ผ้าห้อยคอ เรียกอีกอย่างว่าผ้าคล้องคอ   เป็นคนละอย่างกับผ้าห้อยหอ
ผ้าห้อยหอ เป็นผ้านุ่งสำหรับผู้ชาย  ใช้ผลัดจากผ้าที่เปียกเพราะรดน้ำ เวลาเข้าเรือนหอ  ดีกว่าให้เจ้าบ่าวเดินปอดบวมเข้าหอ
จะเอามาห้อยคอไม่ได้ค่ะคุณหมอเพ็ญ

ผ้าคล้องคอเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่งของผู้หญิงสมัยรัชกาลที่ 5 เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 7    มีขายกันเป็นผืนสำเร็จรูป หรือจะเย็บเอาเองก็ได้  ลักษณะเหมือน scarf ของสาวฝรั่ง เพียงแต่ของไทยทำด้วยแพร หรือผ้าเบาๆเหมาะกับอากาศร้อน ไม่ใช่ขนสัตว์หรือไหมพรมอย่างของเมืองนอก

แฟชั่นผ้าห้อยคอที่ท่านผู้หญิงกลีบใช้ในรูปที่คุณหมอนำมาแสดง ปัจจุบันก็คืนกลับมาอีกแล้ว   สาวๆในบ้านของคุณหมอเพ็ญอาจเคยใช้แบบนี้บ้างก็ได้


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 พ.ค. 15, 10:04
ขอโทษที กลับไปขยายรูปมาดูอีกครั้ง  ผ้าที่ท่านผู้หญิงกลีบใช้ ไม่ใช่ผ้าคล้องคอ  เป็นผ้าคลุมไหล่ ตรงกับ shawl ของฝรั่ง
ใช้ห่มทับผ้าแถบ หรือเสื้อ อีกทีเวลาออกไปข้างนอกบ้าน   เพื่อความสุภาพเรียบร้อย
จะพยายามหารูปผ้าคล้องคอสมัยหนึ่งร้อยปีก่อนมาให้ค่ะ


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 พ.ค. 15, 10:37
   ชีวิตคู่ของคุณนายกลีบและนายละออในบ้านที่แม่ยายปลูกให้ที่สำราญราษฎร์ดำเนินไปได้เพียง 6 เดือน ก็ต้องโยกย้ายไปอยู่ที่บ้านของพระยาเพ็ชรรัตน์พ่อสามี ที่ตำบลตึกแดง ตามความประสงค์ของท่าน     แปลว่าชีวิตท่านผู้หญิงก็หลุดจากสังคมเครือญาติทางฝ่ายแม่ มาสู่ทางฝ่ายสามีเต็มตัว
   บ้านของพวกไกรฤกษ์เป็นบ้านใหญ่  มีเครือญาติและบริวารรวมกันประมาณ 100 คน     คุณนายกลีบต้องรับภาระดูแลบ้านเรือนและทำอาหารให้สามีและตนเอง  สำคัญกว่านี้คือต้องทำตัวให้เข้ากับญาติทางฝ่ายสามี   และทำตัวให้พ่อแม่สามีรักและเอ็นดู   ทั้งหมดนี้ก็ต้องถือว่าเป็นภาระไม่น้อยสำหรับหญิงสาววัย 19 ปี   เพราะจะทำอะไรตามใจชอบไม่ได้เลย 
  ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาเล่าถึงนิสัยอย่างหนึ่งของท่านผู้หญิงกลีบว่า เป็นผู้มีเมตตาจิตสูง    เมื่อเข้ามาอยู่ในบ้านที่มีผู้คนมากมาย ก็แน่ว่าการปกครองในบ้านจะต้องเด็ดขาด มิฉะนั้นจะรักษาระเบียบวินัยในบ้านไว้ไม่ได้     พระยาเพ็ชรรัตน์เป็นคนเด็ดขาดน่าเกรงขามแม้แต่กับลูกเมีย     จึงไม่ต้องพูดให้มากความว่าท่านทำตัวให้บ่าวไพร่บริวารเกรงกลัวได้ขนาดไหน     ถึงท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาไม่เล่ารายละเอียดก็พออ่านระหว่างบรรทัดออก ว่าการเฆี่ยนตีลงทัณฑ์คงเป็นเรื่องธรรมดาในบ้านนี้     ส่วนท่านผู้หญิงกลีบเป็นคนอ่อนโยนและมีเมตตา เมื่อเห็นใครจะถูกลงโทษท่านก็อดสงสารไม่ได้   จึงอ้อนวอนขอร้องพ่อสามีให้ลงอาญา ได้สำเร็จหลายครั้ง  ข้อนี้ทำให้บริวารในบ้านเกิดความรักและนับถือ     ข้อนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญให้ท่านสามารถคุมบ่าวไพร่ให้ช่วยงานในบ้านซึ่งนับวันก็ยิ่งทวีคูณ ตามความเจริญก้าวหน้าของสามี


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 พ.ค. 15, 10:42
   อ่านประวัติของท่านผู้หญิงกลีบแล้วก็พอจะมองเห็นว่า นอกจากต้องมีฝีมือทำกับข้าว รักษาบ้านช่องให้สะอาดมีระเบียบ เลี้ยงลูกเป็นแล้ว ยังต้องมีจิตวิทยาในการปกครองบริวารและเครือญาติอีกนับร้อย   ไม่ใช่เรื่องง่ายๆสำหรับหญิงสาวในวัย 19-20  ซึ่งถ้าเป็นสมัยนี้ก็ยังเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ปีหนึ่งปีสอง     ไม่ต้องรับผิดชอบใครนอกจากตัวเอง
   แต่คนโบราณ เขาเติบโตเร็วกว่าคนสมัยนี้  อายุยี่สิบต้นๆก็ถือว่าเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวแล้ว     เห็นได้จากนายละออผู้สามี ซึ่งก้าวหน้าในราชการรวดเร็วมาก  แต่งงานไม่นานก็ได้เงินเดือนขึ้นเป็น 40 บาท   สอบได้เป็นเนติบัณฑิตคนแรกของประเทศไทย   ได้บรรดาศักดิ์เป็นหลวงจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ   และเป็นอธิบดีศาลแพ่งเมื่ออายุเพียง 23 ปี    อย่างหลังนี้ ถ้าเป็นหนุ่มยุคนี้ก็เพิ่งจบมหาวิทยาลัยมาทำงานระดับต้นในราชการของบริษัท


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 พ.ค. 15, 11:26
เห็นได้จากนายละออผู้สามี ซึ่งก้าวหน้าในราชการรวดเร็วมาก  แต่งงานไม่นานก็ได้เงินเดือนขึ้นเป็น 40 บาท   สอบได้เป็นเนติบัณฑิตคนแรกของประเทศไทย    

สามีท่านผู้หญิงเป็นคนเก่งสอบเนติบัณฑิต่รุ่นแรก ได้เป็นที่ ๑ และได้รับเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา

เนติบัณฑิตไทย รุ่นที่ ๑ ร.ศ.๑๑๖ (พ.ศ.๒๔๔๐) มีอยู่ ๙ ท่าน

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3266.0;attach=9670;image)

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ และพระองค์ก็ได้ร่วมลงมือสอนด้วยตนเอง

ในที่สุดมีนักเรียนกฎหมายที่สอบไล่ได้ในปีแรก ๙ คน  ล้วนเคยทำงานมาแล้ว

คะแนนแบ่งเป็น ๒ ชั้น ชั้นที่หนึ่งมี ๔ คน ชั้นที่สองมี ๕ คน ในชั้นที่ ๑ มีผู้ได้เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ๑ คน คือ นายลออ ไกรฤกษ์

รายนามเนติบัณฑิตรุ่นแรกมีดังต่อไปนี้
ชั้นที่ ๑

๑. นายลออ ไกรฤกษ์ ภายหลังเป็นเจ้าพระยามหิธร  ได้รับการยกย่องว่าเป็นเนติบัณฑิตคนแรก
๒. นายไชยขรรค์ หุ้มแพร (เทียม บุนนาค) ภายหลังเป็นขุนหลวงพระยาไกรสี
๓. นายบุ สุวรรณศร ภายหลังเป็นหลวงอรรถสารสิทธิกรรม
๔. นายถึก ภายหลังเป็นหลวงนิเทศยุติญาณ

ชั้นที่ ๒
๕. นายทองดี ธรรมศักดิ์ ภายหลังเป็นพระยาธรรมสารเวทย์วิเศษภักดี
๖. นายจำนงค์ อมาตยกุล ภายหลังเป็นพระยาเจริญราชไมตรี
๗. นายเสนอ งานประภาษ ภายหลังเป็นพระยาพิจารณาปฤชามาตย์(สุหร่าย วัชราภัย)
๘. นายโป๋ คอมันตร์ ภายหลังเป็นพระยาพิพากษาสัตยาธิปตัย
๙. ขุนสุภาเทพ (เภา ภวมัย) ภายหลังเป็นพระยามหาวินิจฉัยมนตรี

ข้อมูลจาก โรงเรียนกฎหมายของกรมหลวงราชบุรี โดย อาจารย์ทวี กสิยพงศ์  (http://www.museum.coj.go.th/malao/school.html)




กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 พ.ค. 15, 12:21
ขอบคุณค่ะคุณหมอเพ็ญ

นายทองดี ธรรมศักดิ์ หรือพระยาธรรมสารเวทย์วิเศษภักดี  คือบิดาของศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่12 และอดีตประธานองคมนตรี


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ค. 15, 16:56
   ตำแหน่งงานของหลวงจักรปาณีก้าวหน้ารวดเร็วมาก ผ่านไปแค่ 2 ปี อายุ 25 เท่าน้นเอง ก็ได้เป็นปลัดทูลฉลอง  เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระจักรปาณี  ภาระหนักก็ยิ่งทับถมลงบนบ่าของภรรยาวัยยี่สิบต้นๆ    ทั้งในฐานะแม่ มีลูกทยอยกันออกมาแทบไม่เว้นแต่ละปี   เพราะสมัยนั้นการมีครอบครัวใหญ่ ลูกนับสิบคนถือเป็นเรื่องธรรมดา   นอกจากจะไม่มีการคุมกำเนิด  อัตราการตายของทารกและเด็กที่สูงมาก ก็ทำให้พ่อแม่อยากจะมีลูกมากๆเอาไว้ก่อน   
   หน้าที่การงานที่ก้าวหน้าของสามี ทำให้พระจักรปาณีมีแขกเหรื่อมาเยี่ยมเยียนไม่เว้นแต่ละวัน  ทั้งเพื่อนฝูง ลูกน้อง ลูกศิษย์ลูกหา  ขออธิบายเพิ่มเติมว่าสมัยรัชกาลที่ 5 ตอนต้นๆและกลางๆ  ไม่มีร้านอาหารหรือสโมสรที่จะนัดสังสรรค์กันนอกบ้านได้    เมื่อจะพบปะพูดคุยกันก็ต้องไปหากันที่บ้านอย่างเดียว      บ้านใครกว้างขวางพอก็กลายเป็นแหล่งประชุมพบปะกันในหมู่คนที่เกี่ยวข้องกัน  ไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ
     เมื่อเป็นเช่นนี้เจ้าของบ้านก็ต้องรับภาระหาของกินหมากพลูบุหรี่มาต้อนรับ     อยู่นานๆก็ต้องเลี้ยงข้าวเย็นกัน    คนที่รับหน้าที่ไปเต็มๆคือคุณนายเจ้าของบ้าน    ในเมื่อโทรศัพท์ก็ยังไม่มี  การบอกล่วงหน้ากันก็เป็นเรื่องยาก   จึงปรากฏบ่อยๆว่า มีแขกเหรื่อของคุณพระมาร่วมรับประทานอาหารด้วยมื้อละหลายคนโดยคุณนายมิได้ทราบล่วงหน้า      ท่านผู้หญิงกลีบจะปฏิเสธว่าฉันไม่พร้อม  ทำไม่ได้เป็นอันขาด   ถ้าเตรียมมื้อเย็นไว้สำหรับพ่อแม่ลูก ก็ต้องรีบเพิ่มปริมาณ หรือพลิกแพลงจัดปรุงอาหารให้เสร็จ และมากพอสำหรับแขกทุกคน  แล้วมาร่วมรับประทานด้วย
    ฝีมือปรุงอาหาร และปฏิภาณเฉพาะหน้าของแม่บ้านแบบนี้เป็นคุณสมบัติที่ผู้หญิงสมัยนั้นต้องมี


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 พ.ค. 15, 10:28
ทั้งในฐานะแม่ มีลูกทยอยกันออกมาแทบไม่เว้นแต่ละปี   เพราะสมัยนั้นการมีครอบครัวใหญ่ ลูกนับสิบคนถือเป็นเรื่องธรรมดา   นอกจากจะไม่มีการคุมกำเนิด  อัตราการตายของทารกและเด็กที่สูงมาก ก็ทำให้พ่อแม่อยากจะมีลูกมากๆเอาไว้ก่อน   

ท่านเจ้าคุณและท่านผู้หญิงมีบุตรธิดา ๑๒ คน

๑๒ พี่น้องมีดังนี้ครับ

๑)  จักร  (ถึงแก่กรรมแต่ยังเยาว์)
๒)  ปาณี  ต่อมาเป็น นายจ่ายวด 
๓)  ศรี  ต่อมาเป็นเป็นคุณหญิงไชยยศมบัติ (ศรี  ฤษณามระ)
๔)  ศีล  (ถึงแก่กรรมแต่ยังเยาว์)
๕)  วิสุทธิ์  ต่อมาเป็น หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์
๖)  ดุษฎีมาลา  ต่อมาเป็น ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา  มาลากุล
๗)  วิจิตราภรณ์
๘)  ภูษนอาภรณ์  สมรสกับคุณสังวรณ์  บุญเกตุ
๙)  นิภาภรณ์  วิมลศิริ
๑๐) มัณฑนาภรณ์
๑๑) ดารา  ต่อมาเป็นคุณดารา  ไชยยศมบัติ (สมรสกับพระยาไชยยศสมบัติ)
๑๒) รัตนาภรณ์  สมรสกับนายแพทย์ใช้  ยูนิพันธ์



กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 พ.ค. 15, 17:07
  ชีวิตครองเรือนของท่านผู้หญิงกลีบ ไม่ได้มีแต่สามีเป็นหัวหน้าครอบครัวอยู่คนเดียว แต่มีหัวหน้าใหญ่กว่านั้นคือเจ้าคุณพ่อของสามี   คำสั่งของท่านคือสิ่งที่ทุกคนในบ้านต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
   เจ้าคุณเพ็ชรรัตน์นอกจากเป็นคนเคร่งครัดและเข้มงวดแล้ว  ยังเป็นคนมัธยัสถ์ รู้ค่าของเงิน และขยันด้วย    ลูกสะใภ้ของท่านจึงได้รับมอบหมายให้ทำงานหารายได้เพิ่มพูนขึ้นจากการเป็นแม่บ้าน     ถ้ามองในแง่ที่ว่าในบ้านสกุลไกรฤกษ์มีคนอยู่นับร้อยคนทั้งญาติและบริวาร ก็มองได้ว่า พวกนี้คือแรงงานฟรีหรือไม่ก็แรงงานราคาถูก    จะปล่อยไว้เฉยๆให้กินอยู่เข้าไปทุกวันเป็นภาระของเจ้่าของบ้านก็คงไม่ไหว  เอาแรงงานมาใช้ดีกว่า
   ต้นทุนราคาถูกที่มี คือผลิตผลจากไร่นาที่พวก "เลข" หรือแรงงานสังกัดของเจ้าคุณผลัดกันนำมากำนัลนายตลอดปี  เช่นข้าวเปลือก  ปลาแห้ง มะพร้าว น้ำตาล กล้วย   ล้วนเป็นวัตถุดิบที่ทำให้งอกเงยเป็นเงินขึ้นมาได้     เจ้าคุณจึงแนะนำให้ลูกสะใภ้ทำขนมขายเป็นรายได้พิเศษ    อาศัยว่าลูกสะใภ้ทำอาหารเก่ง    แรงงานบ่าวไพร่ในบ้านก็มีมาก    ท่านผู้หญิงก็ปฏิบัติตาม ทำขนมจากกล้วย น้ำตาล มะพร้าว ให้บ่าวออกเร่ขาย   ได้เงินมาเป็นรายได้เพิ่มเติมจากเงินเดือนสามี  ทำให้เจ้าคุณเมตตาสะใภ้เพิ่มมากขึ้นอีก
   ถ้านึกถึงภาระที่หญิงสาววัยยี่สิบกว่าๆ แบกอยู่จนถึงสี่สิบ คือลูก 12 คน   ทำอาหารเลี้ยงสามี และญาติมิตรไม่เว้นแต่ละวัน   ว่างก็ไม่ได้ต้องทำขนมทีละมากๆให้บ่าวออกเร่ขาย  ก็ต้องถือว่าท่านผู้หญิงทำงานหนักจริงๆในแต่ละวัน  แม้ว่ามีลูกมือช่วยมากมายหลายคนก็ตาม


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 พ.ค. 15, 08:16
ท่านผู้หญิงกลีบเมื่ออายุ ๔๙ ปี


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ค. 15, 09:04
   ตำแหน่งการงานของพระจักรปาณีก้าวหน้าไม่หยุดยั้ง   หลังจากพระยาเพ็ชรรัตนฯถึงแก่อนิจกรรมในพ.ศ. 2445  ท่านก็ได้เลื่อนเป็นพระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์     แต่ว่าคุณนายกลีบยังคงเป็น "คุณนาย" มิได้เลื่อนเป็นคุณหญิง เพราะยังไม่ได้รับพระราชทานตราจุลจอมเกล้า อย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่ง สมัยนั้นผู้ชายมีภรรยาได้หลายคนพร้อมกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย   จะยกตำแหน่งเอกภรรยาให้คนใดคนหนึ่งก็ได้   
  ข้อความในประวัติตอนนี้ ทำให้ทราบว่า พระยาจักรปาณีฯ สามีท่านมิได้มีท่านเป็นภรรยาคนเดียว แต่มีหลายคน  คนหนึ่งที่ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาเล่าถึงก็คือน้องสาวของคุณนายกลีบเอง    มีบุตรชายด้วยกันหนึ่งคนชื่อมาลา     การที่น้องสาวมาเป็นภรรยาอีกคนของสามีคงจะเป็นความยินยอมพร้อมใจของคุณนายกลีบเอง     เห็นได้จากท่านก็รักใคร่เอ็นดูนายมาลาหลานชายท่านด้วยดี   ไม่ได้รังเกียจ   น้องสาวคงจะช่วยแบ่งเบาภาระทางบ้านของพี่สาวลงได้มาก

   อย่างไรก็ตาม คุณนายกลีบก็ได้รับการยอมรับนับถือเป็นเอกภรรยาของเจ้าคุณ  ไม่ทราบว่าเมื่อสมรสกันนั้น สามีท่านมี "เมียในบ้าน" อยู่ก่อนแบบเดียวกับคุณเปรมมีแม่ของตาอ้นหรือเปล่า    ถ้าไม่มี ก็แปลว่าสมรสกับท่านเป็นคนแรก  เป็นการสู่ขอและแต่งงานรดน้ำสังข์กันอย่างถูกต้องตามประเพณี    เมื่อเจ้าคุณจักรปาณีมีตำแหน่งสูงเป็นถึงปลัดทูลฉลองในกระทรวงยุติธรรม  ต้องออกสมาคม   ไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูงเป็นประจำ  คุณนายกลีบก็สามารถทำตัวให้ทันสมัย คู่เคียงไปกับสามีได้อย่างเหมาะสม
    ท่านนั่งรถม้าคู่กับสามีไปตามบ้านเพื่อนฝูง  ไปดูละครและมหรสพต่างๆ ทำตัวให้เหมาะสมกับตำแหน่งและหน้าตาของสามี   ตำแหน่งเอกภรรยาจึงอยู่กับท่าน


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 21 พ.ค. 15, 20:44
ปลัดทูลฉลองในกระทรวงสมัยนั้น ประมาณตำแหน่งปลัดกระทรวงในสมัยนี้หรือเปล่าค่ะ 


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ค. 15, 22:43
ขออ้างจากคุณ V_Mee ค่ะ
ยศและบรรดาศักดิ์ข้าราชการยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นเทียบกับปัจจุบันไม่ได้เลย  เพราะในยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคือหัวหน้าคณะรัฐบาล  ซึ่งในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วเปลี่ยนมาเป็นนายกรัฐมนตรี  ส่วนเสนาบดีในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองก็เป็นข้าราชการประจำมียศเป็นมหาอำมาตย์เอก  มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา  แต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองรัฐนตรีซึ่งเป็นตำแหน่งที่เทียบเท่าเสนาบดีเปลี่ยนมาเป็นนักการเมืองที่ไม่มียศบรรดาศักดิ์

ตำแหน่งที่พอจะเทียบกับปัจจุบันได้คือ ปลัดทูลฉลองที่เปลี่ยนมาเป็นปลัดกระทรวง  สมัยก่อนมียศเป็นมหาอำมาตย์โท พระยา  และอธิบดีซึ่งสมัยกอนมียศเป็นมหาอำมาตย์โท หรือตรี มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาพานทอง คือได้รับพระราชทานตรา ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ หรือทุติยจุลจอมเกล้า ซึ่งได้รับพระราชทานทองเป็นเครื่องยศตั้งแต่ได้รับพระาชทานทุติยจุลจอมเกล้า


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 พ.ค. 15, 09:21
จุลลดา ภักดีภูมินทร์อธิบายไว้ใน "เวียงวัง" (http://writer.dek-d.com/bird711/story/viewlongc.php?id=524172&chapter=135) ดังนี้

เทียบปลัดทูลฉลองก็คล้าย ๆ กับปลัดกระทรวง แต่ไม่เหมือนกันทีเดียว เพราะหน้าที่สำคัญของปลัดทูลฉลองก็คือเป็นผู้กราบบังคมทูลเรื่องราวของกระทรวงนั้นๆ และเชิญพระราชดำรัส พระราชดำริไปยังเสนาบดี เนื่องจากเสนาบดีบางครั้งก็มิได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินบ่อยนัก

ดังนั้น ปลัดทูลฉลองจึงต้องเป็นผู้ใกล้ชิด พระเจ้าแผ่นดิน และเป็นผู้ที่เข้ากันได้กับเสนาบดี


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: Methawaj ที่ 25 พ.ค. 15, 17:18
แอบมาด้อม ๆ มอง ๆ รับความรู้จากอาจารย์หลายหน วันนี้ขออนุญาตเข้าชั้นเรียนนะครับ

ขอบพระคุณอาจารย์มากครับ... ;D


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 พ.ค. 15, 20:45
     ยุคนั้นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์   ในฐานะปลัดทูลฉลอง พระยาจักรปาณีฯก็ต้องเข้านอกออกในวังของกรมหลวงราชบุรีฯเป็นประจำ   เป็นโอกาสให้เอกภรรยาของท่านได้เข้าวังไปด้วย     ท่านได้มีโอกาสเข้าเฝ้าเจ้านายฝ่ายในคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอัจฉรพรรณีรัชกัญญา  เชษฐภคินีของกรมหลวงราชบุรีฯ  จนเป็นที่คุ้นเคยกัน
    เมื่อคุ้นเคยกัน  พระองค์เจ้าอัจฉรพรรณีฯก็ทรงนำท่านผู้หญิงกลีบ (ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้เป็นคุณหญิง)เข้าไปในพระบรมมหาราชวัง ให้ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในฐานะที่เป็นภรรยาของขุนนางชั้นผู้ใหญ่     ทำให้ท่านผู้หญิงกลีบได้พบกับเจ้านายฝ่ายในพระองค์อื่นๆรวมทั้งพระองค์เจ้าประดิษฐาสารีด้วย
     พระองค์เจ้าประดิษฐาสารีถึงกับตกพระทัย   ไม่คิดว่าเด็กสาวที่บิดาพาหนีไปจากตำหนักเมื่อ 10 ปีก่อน จะกลับมาเข้าเฝ้าอีกครั้ง    ในฐานะภรรยาของขุนนางชั้นผู้ใหญ่ระดับปลัดทูลฉลอง
    เรื่องนี้ก็เห็นจะอธิบายด้วยคำอื่นไม่ได้ นอกจากวาสนาของท่านผู้หญิงกลีบ เป็นเช่นนั้น


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 พ.ค. 15, 09:53
ชีวิตราชการของพระยาจักรปาณีหรือเจ้าพระยามหิธร ช่วงนี้เรียกได้ว่าโชติช่วงชัชวาล มีแต่ความก้าวหน้า      เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงขยายความเจริญของกรุงเทพออกไปทางทิศเหนือของพระบรมมหาราชวัง   ไปสร้างพระราชวังสวนดุสิต   บริเวณใกล้เคียงซึ่งในยุคนั้นเป็นสวนผลไม้นอกเมือง ก็เจริญขึ้นเป็นลำดับ      บุคคลสำคัญในยุคนั้นก็พากันไปหาที่อยู่ใหม่กันแถวนั้น  เมืองก็ขยายออกไปอีก

พระยาจักรปาณีได้ย้ายบ้านจากตึกแดงที่มีกาฬโรคระบาดไปอยู่ที่ใหม่  ท่านซื้อที่ดินตรงถนนราชวิถี ไปปลูกบ้านใหม่อยู่ใกล้พระราชวังดุสิต   และใกล้กับบ้านเจ้าจอมมารดาชุ่ม  ธิดาของพระมงคลรัตน์ราชมนตรี (ช่วง ไกรฤกษ์)   เป็นญาติลูกพี่ลูกน้องกับพระยาจักรปาณี   
เจ้าจอมมารดาชุ่มผู้นี้เป็นเจ้าจอมสำคัญท่านหนึ่งในรัชกาลที่ 5    นอกจากเป็นเจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา และพระองค์เจ้าหญิงสุจิตราภรณีแล้ว    ท่านเป็นเจ้าจอมคนโปรดเพราะพูดภาษาอังกฤษเก่ง  แต่งกายแบบแหม่มได้งามมาก  พระเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้ตามเสด็จชวาถึง 2 ครั้ง
นับเป็นโชคดีของท่านผู้หญิงกลีบที่ได้มีโอกาสทำความรู้จักจนสนิทสนมคุ้นเคยกับเจ้าจอมมารดาชุ่ม      เจ้าจอมมารดาชุ่มก็เมตตาด้วยดี  ถึงกับกราบบังคมทูลเบิกตัวเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะเป็นน้องสะใภ้ของท่าน




กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 พ.ค. 15, 10:23
พระยาจักรปาณีได้ย้ายบ้านจากตึกแดงที่มีกาฬโรคระบาดไปอยู่ที่ใหม่  ท่านซื้อที่ดินตรงถนนราชวิถี ไปปลูกบ้านใหม่อยู่ใกล้พระราชวังดุสิต   และใกล้กับบ้านเจ้าจอมมารดาชุ่ม  ธิดาของพระมงคลรัตน์ราชมนตรี (ช่วง ไกรฤกษ์)   เป็นญาติลูกพี่ลูกน้องกับพระยาจักรปาณี   


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: NT ที่ 26 พ.ค. 15, 11:19
พระยาจักรปาณีได้ย้ายบ้านจากตึกแดงที่มีกาฬโรคระบาดไปอยู่ที่ใหม่  ท่านซื้อที่ดินตรงถนนราชวิถี ไปปลูกบ้านใหม่อยู่ใกล้พระราชวังดุสิต   และใกล้กับบ้านเจ้าจอมมารดาชุ่ม  ธิดาของพระมงคลรัตน์ราชมนตรี (ช่วง ไกรฤกษ์)   เป็นญาติลูกพี่ลูกน้องกับพระยาจักรปาณี   

เรียนถามท่านอาจารย์ต่างๆ ว่าพื้นที่บริเวณบ้านบ้านพระยาพิพิธ บ้านพระยาไชยยศสมบัติ และบ้านเจ้าพระยามหิธร ปัจจุบันเป็นอะไรครับ ผมเคยไปเดินสำรวจแถวนั้นแต่ไม่คุ้นเลยครับ อีกฝั่งหนึ่งจำได้ว่าวังเสด็จพระองค์อาทรฯ ยังเป็นบ้านสกุลไกรฤกษ์ บ้านพระยาประสิทธิ์ฯ กลายเป็นคอนโดมิเนียม และบ้านพระยาบุรุษฯ คือสำนักงานตรวจบัญชีกองทัพบก


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 พ.ค. 15, 11:36
คุณ NT ลองอ่านกระทู้นี้ก่อน

บ้านเศรษฐีสยามที่งามราวกับวังเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน  (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5555.120)

หากมีข้อสงสัยสามารถถามต่อในกระทู้นั้นได้  ;D


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: NT ที่ 26 พ.ค. 15, 16:50
คุณ NT ลองอ่านกระทู้นี้ก่อน

บ้านเศรษฐีสยามที่งามราวกับวังเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน  (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5555.120)

หากมีข้อสงสัยสามารถถามต่อในกระทู้นั้นได้  ;D

ขอบคุณอาจารย์เพ็ญชมพูครับ และขออภัยที่เบี่ยงประเด็นออกจากท่านผู้หญิงกลีบฯ

เรียนเชิญต่อครับ  ;D


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 พ.ค. 15, 08:48
ท่านซื้อที่ดินตรงถนนราชวิถี ไปปลูกบ้านใหม่อยู่ใกล้พระราชวังดุสิต  
ข้อมูลอีกทางหนึ่งว่าทีดินผืนนี้เป็นที่ดินพระราชทานแก่เจ้าพระยามหิธร

ที่ดินผืนนี้ ตั้งแต่ริมถนนสามเสนเลียบถนนราชวิถี ถนนขาว(คั่นกลางระหว่างวัดราชผาติการาม) และถนนที่คั่นระหว่างวชิรพยาบาลนี้ เป็นที่ดินที่พระราชทานแก่พระยาบุรูษรัตนราชพัลลภ และพี่น้องในสกุลไกรฤกษ์ ฝั่งตรงข้ามทางถนนราชวิถีนั้นพระราชทานเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) ผู้เป็นลูกผู้พี่
ตัวบ้านไม้สักหลังใหญ่ก็สร้างด้วยเงินพระราชทานจากรัชกาลที่ ๖

ข้อมูลจาก ลัดเลาะคลองสามเสน โดย ปราณี กล่ำส้ม วารสารเมืองโบราณ (http://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=11)


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 พ.ค. 15, 09:02
ปัจจุบันบ้านเจ้าพระยามหิธรเป็นที่ตั้งของหน่วยสันติภาพสหรัฐอเมริกา (Peace Corps)


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 พ.ค. 15, 09:14
ตัวบ้านยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 พ.ค. 15, 09:18
 ;D


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 พ.ค. 15, 09:25
ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาเขียนไว้ว่า

 "เจ้าพระยามหิธรได้ซื้อที่ที่ถนนซังฮี้นอก ซึ่งบัดนี้เรียกว่าถนนราชวิถี  และไปปลูกสร้างบ้านเรือนใหม่ขึ้นที่นั่น"

บ้านที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯพระราชทาน  คือบ้านของพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ  (นพ ไกรฤกษ์) และพระยาประเสริฐศุภกิจ (เพิ่ม ไกรฤกษ์) น้องชายของเจ้าจอมมารดาชุ่ม อยู่ในละแวกเดียวกัน
ไม่ได้พระราชทานพระยาจักรปาณีฯ(ละออ ไกรฤกษ์)


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 พ.ค. 15, 09:44
  ชะตาท่านผู้หญิงกลีบในช่วงนี้  เหมือนภาพสะท้อนในตอนหนึ่งในมหาเวสสันดรชาดก ที่ว่า "สามีมีอยู่แล้ว เสมือนหนึ่งฉัตรแก้วอันกั้นเกศ งามหน้างามเนตรทุกเวลา"   ในฐานะของภรรยาปลัดทูลฉลอง  ท่านได้รับพระมหากรุณาธิคุณ รับพระราชทานผลไม้จากพระราชวังสวนดุสิตอยู่หลายครั้ง   
  เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ  ท่านผู้หญิงก็ได้รับของที่ระลึกพระราชทาน  หลายครั้งหลายคราว เช่นได้รับผ้าคลุมไหล่ตราจ.ป.ร. ถึง 2 ผืน  สีแดงและเทา เมื่อเสด็จกลับจากชวน   เมื่อเสด็จกลับจากยุโรปก็ได้รับพระราชทานกระเป๋าร้อยลูกปัดอย่างสวย   ซึ่งท่านผู้หญิงเก็บรักษาไว้อย่างดี นานหลายสิบปีต่อมา

  ในพ.ศ. 2449   ท่านผู้หญิงกลีบวัย 30 ปี ก็ได้รับพระราชทานตราจตุตถจุลจอมเกล้า  เป็นคุณหญิงโดยสมบูรณ์

  รายละเอียดเรื่องรับพระราชทานตรา และเรื่องแต่งตัว  ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาเล่าไว้ละเอียดมาก   เห็นภาพตามแล้วน่าสนุก    แต่วันนี้ต้องลงเรือนไทยไปธุระ     อดใจรออ่านคราวหน้านะคะ


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 พ.ค. 15, 09:58
ในพ.ศ. 2449   ท่านผู้หญิงกลีบวัย 30 ปี ก็ได้รับพระราชทานตราจตุตถจุลจอมเกล้า  เป็นคุณหญิงโดยสมบูรณ์ 

ลงภาพประกอบและคำบรรยายอีกที จาก # ๒๖ และ # ๒๗  ;D

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=6285.0;attach=56441;image)

"คุณหญิงกลีบ" เมื่ออายุ ๓๐ ปี ถ่ายเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๙ ในเครื่องแต่งกายเต็มยศประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จตุตถจุลจอมเกล้า


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 พ.ค. 15, 14:55
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2449/035/893.PDF (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2449/035/893.PDF)


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ค. 15, 08:47
   ท่านผู้หญิงเล่าว่า เมื่อมีข่าวว่าท่านจะได้รับพระราชทานตราจุลจอมเกล้า  เป็น "คุณหญิง" โดยสมบูรณ์   มีผู้มีพระคุณแสดงความเมตตาจะช่วยแต่งตัวเต็มยศให้ท่านถึง 3 ราย คือ
   1  พระองค์เจ้าอัจฉรพรรณี
   2  เจ้าจอมมารดาชุ่ม
   3  พระองค์เจ้านารีรัตนา และพระองค์เจ้าประดิษฐาสารี
   ทั้งนี้เป็นมาจากธรรมเนียมของเจ้านายฝ่ายในสมัยนั้น ว่าถ้าท่านมีญาติพี่น้องหรือพวกพ้องได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานตราจุลจอมเกล้า  ก็ถือเป็นหน้าเป็นตาของเจ้านายด้วย  จึงจะมาช่วยแต่งตัวให้   การแต่งตัวในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเจ้านายเหล่านั้นจะมาช่วยสวมเสื้อนุ่งโจงกระเบนให้  แต่หมายถึงมากำกับให้แต่งตัวถูกแบบแผน     เพราะการแต่งกายในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่อิทธิพลตะวันตกเข้ามาแล้ว เป็นการแต่งกายที่มีระเบียบแบบแผนละเอียดลออและประณีตมาก     จะผิดเพี้ยนหรือขาดตกบกพร่อง ไม่ครบถ้วน ไม่ได้เลย
   การแต่งกายเต็มยศของสตรีชั้นสูงคือสวมถุงเท้ายาวฉลุลวดลาย ตามแฟชั่นตะวันตก   รองเท้าส้นสูงหุ้มส้น   ผ้านุ่งโจงกระเบนเป็นผ้าไหมอย่างดี   เสื้อต้องเป็นเสื้อแพร แขนยาว คอตั้ง ติดริบบิ้น ตัวเสื้อต้องประดับลูกไม้อย่างงามเย็บด้วยฝีมือประณีต   ที่สำคัญคือคุณหญิงในยุคนั้นต้องมีแพรสะพายประกอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์  เป็นสายสายสะพายแพรสีชมพูปักตราจุลจอมเกล้า  สะพายจากบ่าซ้ายลงมาถึงเอวขวาก็รวบเข้าด้วยกัน    แพรนี้ไม่ใช่ผืนแพรตรงๆ  แต่ตัดให้คอดและผายออกตรงกลาง  ตรงบ่าและตรงเอวคอดเข้าไป    ปักดิ้นและไหมเป็นรูปดวงตราจุลจอมเกล้าตรงชายสายสะพาย ชายละดวง  บนผืนแพรปักดิ้นเป็นอักษร จ.จ.จ. เป็นระยะตลอดผืน  
   ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาไม่ได้เล่าว่า แพรสะพายนั้นทางสำนักพระราชวังจัดหาให้  หรือว่าผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชฯต้องมาปักกันเอง   เล่าแต่ว่าเป็นเครื่องยศที่โปรดเกล้าฯวางระเบียบไว้     แต่จะเป็นอย่างไหนก็ตาม   ก็ถือว่าการเป็นผู้รับตราฯในสมัยนั้น มีพิธีรีตองและการเตรียมตัวที่อลังการมาก


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ค. 15, 08:55
ปัญหาเรื่องใครจะมาแต่งตัวให้ท่านผู้หญิง ในเมื่อมีสตรีสูงศักดิ์ถึง 3 พระองค์และ 1 ท่านแสดงความจำนงพร้อมกัน    เจ้าจอมมารดาชุ่มเป็นคนตัดปัญหาให้ โดยขอให้ท่านผู้หญิงตกลงถวายหน้าที่นี้ให้พระองค์เจ้าอัจฉรพรรณี     
เจ้าจอมมารดาชุ่มท่านให้เหตุผลน่าฟังน่านับถืออย่างผู้ใหญ่มาก  ว่า ตัวท่านและพระองค์เจ้าอีก 2 พระองค์นั้น ยังไงก็ถือว่าท่านผู้หญิงกลีบเป็นญาติอยู่แล้ว  จะแต่งตัวหรือไม่แต่งตัวก็ยังเป็นญาติกันเช่นเดิม
ส่วนพระองค์เจ้าอัจฉรพรรณี ทรงเป็นพระเชษฐภคินีของกรมหลวงราชบุรีฯ เจ้านายโดยตรงของพระยาจักรปาณีฯ   หากว่าท่านผู้หญิงไม่รับพระเมตตา อาจจะน้อยพระทัยได้    ที่ละไว้ไม่ต้องพูดกันมากกว่านี้ก็คือ  เกรงว่าจะมีผลกระทบถึงพระยาจักรปาณีไม่มากก็น้อย

ก็ถือว่าผู้ใหญ่สมัยนั้นคิดอะไรกว้างไกลและรอบคอบ   ถึงเหตุการณ์อาจไม่ได้เกิดขึ้นอย่างที่กริ่งเกรง    แต่ป้องกันไว้ก่อนไม่ให้เกิดขึ้นได้ก็ดีกว่าปล่อยให้เกิดขึ้นแล้วมาแก้กันทีหลัง


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 พ.ค. 15, 09:12
ที่สำคัญคือคุณหญิงในยุคนั้นต้องมีแพรสะพายประกอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์  เป็นสายสายสะพายแพรสีชมพูปักตราจุลจอมเกล้า  สะพายจากบ่าซ้ายลงมาถึงเอวขวาก็รวบเข้าด้วยกัน    แพรนี้ไม่ใช่ผืนแพรตรงๆ  แต่ตัดให้คอดและผายออกตรงกลาง  ตรงบ่าและตรงเอวคอดเข้าไป    ปักดิ้นและไหมเป็นรูปดวงตราจุลจอมเกล้าตรงชายสายสะพาย ชายละดวง  บนผืนแพรปักดิ้นเป็นอักษร จ.จ.จ. เป็นระยะตลอดผืน 

รายละเอียดเรื่องแพรห่มสีชมพูมีอยู่ในพระราชบัญญัติเครื่องราชอิศริยาภรณ์สำหรับตระกูลจุลจอมเกล้า รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒ (ฝ่ายใน)

พระราชบัญญัติฯ (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2436/032/346.PDF) มาตรา ๑๖ นั้นว่าดังนี้

“มาตรา ๑๖ เครื่องยศสำหรับสมาชิกฝ่ายในนั้น คือ

แพรห่มสีชมภูปักดิ้นเลื่อมลายทอง

ชั้นที่ ๑  ปักเป็นอักษร จ.๓ ตัวไขว้กันเป็นหย่อม กว้าง ๒ นิ้ว มีใบชัยพฤกษ์เป็นแหย่ง ชายผ้ามีรูปตราปฐมจุลจอมเกล้า

ชั้นที่ ๒  ปักลายอย่างเดียวกับที่ ๑ แต่หย่อมกว้างเพียงนิ้วกึ่ง ชายผ้าเป็นรูปตราวิเศษของทุติยจุลจอมเกล้า

ชั้นที่ ๓  ปักเป็นอักษร จ.๓ ตัว เป็นหย่อมกว้างนิ้วหนึ่ง ไม่มีแหย่ง ชายผ้าเป็นรูปดวงตราตติยจุลจอมเกล้า แต่กลางดวงตราเป็น จ.๓ ตัว แทนพระบรมรูป

ชั้นที่ ๔  ปักเป็นหย่อมอย่างชั้นที่ ๒ แต่หย่อมกว้างเพียงกึ่งนิ้ว เป็นดอกรายไป ชายผ้าเป็นรูปดวงตราจตุตถจุลจอมเกล้า แต่ใช้อักษร จ.๓ ตัวแทนพระบรมรูป”


(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=6084.0;attach=51626;image)


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ค. 15, 18:58
  พิธีอีกอย่างหนึ่งที่คุณหญิงในสมัยนั้นต้องเข้าร่วม คือพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของบรรดาข้าราชการ    ซึ่งมาล้มเลิกไปหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475    ในฐานะภรรยาเอก  คุณหญิงกลีบต้องสวมเสื้อขาวนุ่งผ้าขาว สะพายแพรปัก และประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เต็มยศ    ตามสามีเข้าไปร่วมพิธีที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้ว     ในรัชกาลต่อมาก็โปรดเกล้าฯให้ย้ายไปทำพิธีที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ
   พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในสมัยต้นรัตนโกสินทร์  เป็นพิธีที่มีสีสันอย่างหนึ่งคือ ภรรยาเอกนุ่งขาวห่มขาว  ส่วนภรรยาน้อยทั้งหลายแต่งสีต่างๆตามเข้าไปเป็นขบวนด้วย    เนื่องจากสังคมไทยไม่ได้กีดกันเมียน้อย  มีกฎหมายรองรับ     งานที่เมียหลวงพาเมียน้อยมาร่วมด้วยจึงกลายเป็นงานประกวดประขันกันอยู่ในที ว่าขบวนของท่านขุนนางคนใดดูโอ่อ่ากว่ากัน     เป็นหน้าที่เมียหลวงจะจัดหาเสื้อผ้าเครื่องประดับให้เหมาะสมกับนางเล็กๆของสามี อย่าให้อายบ้านอื่นได้
  แต่ในเรื่องนี้ ไม่ได้บรรยายว่าอนุภรรยาคนอื่นๆของเจ้าคุณจักรปาณีได้ติดตามขบวนเข้าไปด้วยหรือไม่      หรือว่ามีแต่คุณหญิงกลีบคนเดียว
  ในรัชกาลที่ 6 และ 7  ธรรมเนียมนุ่งขาวห่มขาวของสตรีบรรดาศักดิ์หมดไป   เปลี่ยนเป็นแต่งสีสันต่างๆแล้วแต่สมควร   


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ค. 15, 08:36
     ชะตาที่กำลังโชติช่วงเหมือนพลุของพระยาจักรปาณีและคุณหญิง จู่ๆก็มีอันตกวูบลงไปอย่างไม่มีใครนึกถึง  เมื่อเกิดคดี "พญาระกา" ขึ้น เป็นเหตุให้กรมหลวงราชบุรีฯทรงถวายบังคมลาออกจากราชการอย่างกะทันหัน     
(อ่านได้ที่กระทู้ เจ้าพระยามหิธร ค่ะ)
     เมื่อเจ้านายลาออกจากราชการ   พระยาจักรปาณีในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาก็ต้องลาออกไปด้วย  ทั้งๆที่ท่านไม่ได้เกี่ยวข้องกับต้นสายปลายเหตุ     เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่โตชนิดดับอนาคตของท่านได้ในพริบตา   แม้ว่ากรมขุนศิริธัชสังกาศ เจ้านายที่ทรงพระเมตตาพระยาจักรปาณีมาก ได้เสด็จรีบรุดเข้ามาแก้ไขปัญหา ผ่อนหนักเป็นเบาได้ทันเวลา   อนาคตของพระยาจักรปาณีก็เหมือนแขวนอยู่บนเส้นด้าย จะขาดร่วงลงไปเมื่อใดก็ได้
    คุณหญิงกลีบในฐานะผู้บริหารกิจการครอบครัว  ก็เจอปัญหาหนักเฉพาะหน้าเข้าให้อย่างไม่นึกไม่ฝัน     เนื่องจากในสมัยนั้น  ครอบครัวข้าราชการอยู่ได้เพราะเงินเดือนหัวหน้าครอบครัว     ซึ่งมีมากพอจะเลี้ยงลูกเมียบริวารนับร้อยได้สบายๆ    ดีกว่าทำการค้าเสียอีก  เป็นที่มาของคำว่า "สิบพ่อค้าไม่เท่าพญาเลี้ยง"
     ถ้าหากว่าพ่อบ้านต้องออกจากราชการ ไม่มีเงินเดือน  ก็ถือว่าครอบครัวแทบจะสิ้นเนื้อประดาตัวลงในบัดนั้น      เพราะทรัพย์สินอื่นๆเช่นหุ้นล้านๆหุ้น หรือรีสอร์ทส่วนตัว  หรือที่ดินกลางใจเมืองราคาพันล้าน ยังไม่ถือกำเนิดในสังคมไทย   ที่ดินที่มีในสมัยนั้นก็มีเฉพาะเอาไว้ปลูกบ้านอยู่   หรือได้มรดกสวนจากบรรพบุรุษให้คนอื่นเช่าเดือนละไม่กี่สตางค์
    ดังนั้นเมื่อรายได้จากสามีทำท่าจะหมดลงในวันใดก็ได้     คุณหญิงกลีบก็ต้องขวนขวายหารายได้มาเลี้ยงลูก และบริวารในบ้านด้วยตัวเอง


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ค. 15, 08:39
เรื่องของเจ้าพระยามหิธร  ส่วนที่เกี่ยวกับ "พญาระกา"
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1190.15 (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1190.15)


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 พ.ค. 15, 09:03
เพิ่มเติมจาก พันทิป  ;D

คดีพญาระกา
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/08/K8266277/K8266277.html (http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/08/K8266277/K8266277.html)


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 31 พ.ค. 15, 10:38
  พิธีอีกอย่างหนึ่งที่คุณหญิงในสมัยนั้นต้องเข้าร่วม คือพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของบรรดาข้าราชการ    ซึ่งมาล้มเลิกไปหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475    ในฐานะภรรยาเอก  คุณหญิงกลีบต้องสวมเสื้อขาวนุ่งผ้าขาว สะพายแพรปัก และประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เต็มยศ    ตามสามีเข้าไปร่วมพิธีที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้ว     ในรัชกาลต่อมาก็โปรดเกล้าฯให้ย้ายไปทำพิธีที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ
   พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในสมัยต้นรัตนโกสินทร์  เป็นพิธีที่มีสีสันอย่างหนึ่งคือ ภรรยาเอกนุ่งขาวห่มขาว  ส่วนภรรยาน้อยทั้งหลายแต่งสีต่างๆตามเข้าไปเป็นขบวนด้วย    เนื่องจากสังคมไทยไม่ได้กีดกันเมียน้อย  มีกฎหมายรองรับ     งานที่เมียหลวงพาเมียน้อยมาร่วมด้วยจึงกลายเป็นงานประกวดประขันกันอยู่ในที ว่าขบวนของท่านขุนนางคนใดดูโอ่อ่ากว่ากัน     เป็นหน้าที่เมียหลวงจะจัดหาเสื้อผ้าเครื่องประดับให้เหมาะสมกับนางเล็กๆของสามี อย่าให้อายบ้านอื่นได้
  แต่ในเรื่องนี้ ไม่ได้บรรยายว่าอนุภรรยาคนอื่นๆของเจ้าคุณจักรปาณีได้ติดตามขบวนเข้าไปด้วยหรือไม่      หรือว่ามีแต่คุณหญิงกลีบคนเดียว
  ในรัชกาลที่ 6 และ 7  ธรรมเนียมนุ่งขาวห่มขาวของสตรีบรรดาศักดิ์หมดไป   เปลี่ยนเป็นแต่งสีสันต่างๆแล้วแต่สมควร   
นางเล็กๆนี่หมายถึงภรรยารอง อันดับ 1,2,3 ฯลฯ ถ้าเป็นเมียบ่าวก็ไม่อยู่ในสารบบนี้ใช่ไหมคะ ???


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 พ.ค. 15, 11:17
ถ้านางเย็นพ้นโทษ จบแฮปปี้เอนดิ้ง หลังเรื่องจบแล้ว    ก็มีสิทธิ์ตามคุณหญิงแย้มเข้าวังในพิธีนี้ได้ค่ะ


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 31 พ.ค. 15, 12:04
ถ้านางเย็นพ้นโทษ จบแฮปปี้เอนดิ้ง หลังเรื่องจบแล้ว    ก็มีสิทธิ์ตามคุณหญิงแย้มเข้าวังในพิธีนี้ได้ค่ะ
นางเย็น-คุณหญิงแย้มไหน?
ชงมุขฟ้าแลบแบบนี้เกือบรับไม่อยู่
เหมือนจะรู้กันสองคนกะคุณแอนนา :D


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 พ.ค. 15, 12:23
ไม่รู้จักดูละครช่อง 7  ก็ตกยุคยังงี้ละค่ะ คุณ Jalito


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 31 พ.ค. 15, 12:43
โดนเต็มๆเลยหนึ่งดอก
ทีวีเมืองเราตอนนี้ หลายช่องมาก 7สีเบอร์อะไรไม่รู้แล้วครับ
ละครนางทาส จัดกันบ่อยมาก แทบจะว่าปีเว้นปี
แต่ถ้านามผู้ประพันธ์ เชื่อได้เลยว่าคงอ้อมแอ้มตอบ
เชิญอาจารย์ต่อกระทู้ คุณหญิงกลีบ มหิธร เถอะครับ(เกือบจะพิมพ์เป็นคุณหญิงแย้มซะแล้ว)


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 31 พ.ค. 15, 12:52
ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธรครับ
ขออภัยครับที่ลดบรรดาศักดิ์ของท่าน ไม่ได้ตั้งใจ
มัวแต่ดูภาพคุณหญิงแย้มเพลินไป


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มิ.ย. 15, 14:52
     วิธีหารายได้ของคุณหญิงกลีบ ก็คือค้าขาย
     แต่มีข้อจำกัดว่า  ผู้หญิงในสมัยท่านถ้าไม่ได้มาจากตระกูลค้าขาย  มีห้างหรือร้านค้าของครอบครัวโดยตรงแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะตั้งห้างตั้งร้านของตัวเองได้      คุณหญิงกลีบก็หวนนึกถึงวิธีการของเจ้าคุณเพ็ชรรัตน พ่อของสามีที่เคยแนะนำให้ท่านทำขนมขาย เพิ่มรายได้      ท่านก็เลือกหาสินค้าที่จะผลิตเองในบ้าน   ไปลงเอยที่ทำน้ำอบไทย  น้ำปรุง แป้งร่ำ แป้งนวล ขี้ผึ้งสีปาก และน้ำมันตานี  ล้วนแต่เป็นเครื่องสำอางที่สตรีไทยสมัยนั้นใช้กันประจำ   ทำวันละมากๆ ให้บริวารในบ้านหาบไปขายถึงวันละ 6 หาบ
   ละแวกที่อยู่แห่งใหม่นี้ นอกจากชาวบ้านสามเสนแล้วก็มีบ้านของขุนนางข้าราชการใหญ่ๆอยู่หลายบ้าน  และที่สำคัญคือพระราชวังดุสิตที่มีเจ้านายฝ่ายในทรงพำนักอยู่     เมื่อบริวารนำเครื่องสำอางฝีมือชาววังเก่าอย่างท่านไปขาย    ทั้งชาวบ้านและชาววังก็พากันอุดหนุน   เพิ่มรายได้ให้ทางบ้านพอให้คลายวิตกไปได้

 


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มิ.ย. 15, 15:01
   ชะตาของพระยาจักรปาณีค่อยดีขึ้นเมื่อผลัดเปลี่ยนรัชกาลใหม่     ท่านย้ายจากตำแหน่งปลัดทูลฉลองไปเป็นกรรมการศาลฎีกา ซึ่งสมัยนั้นเป็นศาลที่รับผิดชอบโดยตรงต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว      เจ้าคุณทำหน้าที่อย่างฉลาดเฉลียวและซื่อตรง  คำพิพากษาฎีกาที่ท่านเขียน เป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว   จึงโปรดเกล้าฯพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษและพานทองเครื่องยศ     ส่วนคุณหญิงกลีบก็ได้รับผลดีเช่นเดียวกับสามี  คือได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ ตติยจุลจอมเกล้า เลื่อนจากเดิมขึ้นอีกชั้นหนึ่ง
   ก็เป็นอันว่าเมฆหมอกที่เคลื่อนเข้าบดบังชีวิตท่านทั้งสองในปีก่อนๆ  ได้เคลื่อนผ่านไปแล้ว

   รัชกาลใหม่นี้มีกิจกรรมสำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นของใหม่ คือกองเสือป่าและลูกเสือ เพื่อฝึกพลเรือนให้รู้จักป้องกันประเทศ    ข้าราชการจำนวนมากสมัครเข้าเป็นเสือป่ารวมทั้งเจ้าคุณจักรปาณีด้วย   ท่านสมัครเข้ากองม้าหลวง  ส่วนปาณีลูกชายท่านสมัครเป็นลูกเสือ
   พระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงมองข้ามบทบาทของสตรีในการป้องกันประเทศ   จึงโปรดให้มี "สมาชิกแม่เสือ" ขึ้น    มีหน้าที่คล้ายแนวหลัง คือจัดหาคุรุภัณฑ์เสบียงอาหาร และหยูกยาเวชภัณฑ์ต่างๆส่งให้กองเสือป่า   มีเข็มเครื่องหมายแม่เสือ พระราชทานให้ เป็นรูปหน้าเสือพร้อมพระปรมาภิไธยย่อ วปร.
   เราก็คงเดาออก ว่าหนึ่งในแม่เสือ คือคุณหญิงจักรปาณี นางเอกของกระทู้นี้


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 02 มิ.ย. 15, 19:52
พระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ (ลออ  ไกรฤกษ์) ได้สมัครเป็นสมาชิกเสือป่าตั้งแต่แรกกแงตั้งเสือป่า
ได้รับพระราชทานยศเสือป่าครั้งแรกเป็นนายหมู่ตรี  แล้วได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นลำดับ ดังนี้
เลื่อนเป็นนายหมู่โท  ๓๐  กันยายน  ๑๓๐
เลื่อนเป็นนายหมู่เอก  ๑๗  กุมภาพันธ์  ๑๓๐
เลื่อนเป็นนายหมู่ใหญ่  ๑๗  กุมภาพันธ์  ๑๓๑
เป็นนายหมวดโท  ๕  ธันวาคม  ๒๔๕๗
เป็นนายหมวดเอก  ๖  กุมภาพันธ์  ๒๔๕๗
เป็นนายกองตรี  ๑๖  ธันวาคม  ๒๔๕๘

วันที่ ๒ กันยายน  ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔)  ได้รับพระราชทานธงประจำตัวนายหมู่  มีลักษณะเป็นธง
พื้นธง      สีเหลือง  หมายว่ามีกำเนิดในวันพฤหัสบดี
ลายกลาง   รูปมือ ๒ ข้างชูจักร์  มือตัดแค่ข้อ  โผล่จากมงคล  หมายถึงปาณี (คือมือ) ถือจักร  ตรงกับราชทินนาม จักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ 
อักษรด้านบน  ยถาวาที  ตถาการี  แปลความว่า เป็นผู้มีปกติกล่าวอย่างใด  เป็นผู้กระทำอย่างนั้น
อักษรด้านล่าง  เมธารโน  เป็นนามฉายาเมื่อครั้งอุปสมบทเป็นพระภิกษุ



กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 02 มิ.ย. 15, 19:59
เช็มสมาชิกสมาคมบำรุงเสือป่า  ซึ่งท่านอาจารย์เรียกว่า "เข็มแม่เสือ" นั้น  เป็นเข็มอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ รร ๖ พระมหามงกุฎ ประดิษฐานเหนือหน้าเสือ  สอดด้วยแพรแถบหมายกองเสนาที่สังกัด  ในภาพเป็นแพรแถบสีดำมีริ้วสีแดง  หมายกองเสนาหลวงรักษาพระองค์ที่เจ้าพระยามหิธรสังกัด

กองเสนาอื่นๆ ก็มีสีหมายกองเสนแตกต่างกันไป คือ
๑)   กองเสนารักษาดินแดนกรุงเทพฯ         หมายสีเหลือง
๒)   กองเสนารักษาดินแดนกรุงเก่า          หมายสีชาต
๓)   กองเสนารักษาดินแดนฝ่ายเหนือ       หมายสีม่วงแก่
๔)   กองเสนารักษาดินแดนอีสาน           หมายสีน้ำตาลอ่อน (กากี)
๕)   กองเสนารักษาดินแดนตวันออก        หมายสีแสด
๖)   กองเสนารักษาดินแดนอาคเนย์        หมายสีไพล
๗)   กองเสนารักษาดินแดนปักษ์ใต้          หมายสีเขียว
๘)   กองเสนารักษาดินแดนภูเก็ต         หมายสีฟ้า
๙)   กองเสนารักษาดินแดนตวันตก        หมายสีน้ำเงินแก่   
๑๐)   กองเสนารักษาดินแดนพายัพ          หมายสีบานเย็น



กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มิ.ย. 15, 20:30
 :D


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: Diwali ที่ 03 มิ.ย. 15, 02:45
มาลงชื่อเข้าเรียนรอบดึกมากๆ หลังจากตั้งกระทู้ไปแล้วครบสามสิบวันนะครับ

หวังว่าคุณครูทุกท่านคงไม่ลงโทษแบบโบราณเอาหวายตีก้นนะครับ





ขออนุญาตนั่งหลังห้องต่อไปแบบเงียบๆนะครับ
8) 8) 8)


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 04 มิ.ย. 15, 14:13
  พิธีอีกอย่างหนึ่งที่คุณหญิงในสมัยนั้นต้องเข้าร่วม คือพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของบรรดาข้าราชการ    ซึ่งมาล้มเลิกไปหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475    ในฐานะภรรยาเอก  คุณหญิงกลีบต้องสวมเสื้อขาวนุ่งผ้าขาว สะพายแพรปัก และประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เต็มยศ    ตามสามีเข้าไปร่วมพิธีที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้ว     ในรัชกาลต่อมาก็โปรดเกล้าฯให้ย้ายไปทำพิธีที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ
   พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในสมัยต้นรัตนโกสินทร์  เป็นพิธีที่มีสีสันอย่างหนึ่งคือ ภรรยาเอกนุ่งขาวห่มขาว  ส่วนภรรยาน้อยทั้งหลายแต่งสีต่างๆตามเข้าไปเป็นขบวนด้วย    เนื่องจากสังคมไทยไม่ได้กีดกันเมียน้อย  มีกฎหมายรองรับ     งานที่เมียหลวงพาเมียน้อยมาร่วมด้วยจึงกลายเป็นงานประกวดประขันกันอยู่ในที ว่าขบวนของท่านขุนนางคนใดดูโอ่อ่ากว่ากัน     เป็นหน้าที่เมียหลวงจะจัดหาเสื้อผ้าเครื่องประดับให้เหมาะสมกับนางเล็กๆของสามี อย่าให้อายบ้านอื่นได้
  แต่ในเรื่องนี้ ไม่ได้บรรยายว่าอนุภรรยาคนอื่นๆของเจ้าคุณจักรปาณีได้ติดตามขบวนเข้าไปด้วยหรือไม่      หรือว่ามีแต่คุณหญิงกลีบคนเดียว
  ในรัชกาลที่ 6 และ 7  ธรรมเนียมนุ่งขาวห่มขาวของสตรีบรรดาศักดิ์หมดไป   เปลี่ยนเป็นแต่งสีสันต่างๆแล้วแต่สมควร   

แอบมาถามอาจารย์ว่า ถ้ากรณีขุนนางท่านนั้นมีภรรยาที่เป็นเมียพระราชทานกับเมียกลางเมืองในบ้านเดียวกัน อย่างกรณีพระไวยกับสร้อยฟ้าศรีมาลา ใครจะเป็นคนนุ่งขาวเข้าวังตามพระไวยคะ เพราะสองนางศักดินาเท่ากัน หรือแต่งขาวทั้งคู่

อันนี้สงสัยจริงๆเจ้าค่ะ ;D ;D ;D ;D


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มิ.ย. 15, 19:24
ภรรยาคนไหนได้รับพระราชทานตราจุลจอมเกล้า คนนั้นได้นุ่งขาวห่มขาวเข้าวังค่ะ
ถ้าหากว่าไม่มีคนไหนได้รับพระราชทาน   ในบ้าน สามีนับใครเป็นภรรยาเอก คนนั้นนุ่งขาวห่มขาวเข้าวัง


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มิ.ย. 15, 08:08
   เมื่อพระยาจักรปาณีฯกลับมาสู่ความเจริญก้าวหน้าอีกครั้ง    คุณหญิงกลีบก็ต้องมีบทบาทเป็นแรงหนุนสำคัญ ด้วยฝีไม้ลายมือในการทำอาหารของท่าน  เมื่อเจ้าคุณได้รับเลือกเป็นนายทะเบียนของสโมสรจิตรลดา ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงก่อตั้งขึ้น แบบสโมสรอังกฤษ  เป็นสโมสรที่หรูหรามีหน้ามีตาที่สุดในยุคนั้น    สโมสรมีการนัดพบปะสมาชิกที่พระตำหนักจิตรลดาทุกวันเสาร์   มีการรับประทานอาหารค่ำร่วมกัน  และมีการบันเทิงต่างๆ   
   นอกจากนี้ มีการจัดเวรทำอาหารมาเลี้ยงแขก หมุนเวียนกันไปในหมู่กรรมการสโมสร    เมื่อถึงเวรพระยาจักรปาณี  ก็เป็นหน้าที่คุณหญิงต้องโชว์ฝีมืออาหาร จัดหามาจากบ้าน  เป็นอาหารชั้นดีและแปลกไปกว่าที่จะหารับประทานกันได้ทั่วๆไป
   
   เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงจัดงานออกร้านในฤดูหนาว เพื่อหารายได้มาบำรุงกิจการเสือป่า   ในพ.ศ. 2461    เจ้าคุณได้รับมอบหมายให้ออกร้าน    คนดำเนินการตัวจริงก็คือคุณหญิง  ต้องจัดการออกแบบร้าน ตกแต่งร้าน  หาคนเฝ้าร้าน ฯลฯ  และคอยรับเสด็จเมื่อเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมเยียนร้านด้วย


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มิ.ย. 15, 08:43
  เมื่อเมฆหมอกในปลายรัชกาลก่อนผ่านไป    พระยาจักรปาณีกลับสู่ความก้าวหน้าในราชการอีกครั้ง  คุณหญิงกลีบก็รู้สึกเป็นสุขและมั่นคงในชีวิต   แต่ท่านก็ยังไม่ละทิ้งรายได้ในการปรุงน้ำอบน้ำปรุงขายอยู่เช่นเดิม    ท่านปลูกไม้หอมเอาไว้เต็มบ้าน  ชื่อไม้ดอกที่ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาบรรยายไว้ในหนังสือ ทำให้มองภาพออกว่าบริเวณบ้านเจ้าคุณคงจะกว้างมาก ถึงปลูกได้เป็นสิบๆชนิด  บางอย่าง เด็กรุ่นหลังก็ไม่รู้จักแล้ว  ทั้งชื่อและดอก
   ขอยกตัวอย่างมาบางชื่อที่หายาก     เช่น เกด บุนนาค สารภี ประยงค์ กาหลง โยทะกา    บุหงา ลำเจียก สายน้ำผึ้ง จำปาแขก จันทน์กะพ้อ  นมแมว   ส่วนที่หาไม่ยาก มีอีกเป็นสิบ

   คุณหญิงกลีบสอนให้เด็กในบ้านร้อยมาลัย   แต่ไม่ได้ร้อยไว้เปล่าๆ ท่านนำไปฝากขายตามร้าน เป็นค่าขนมให้เด็กๆ


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มิ.ย. 15, 08:59
เกด โยทะกา  นมแมว กาหลง จำปีแขก


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 มิ.ย. 15, 12:59
จำปีแขก

คนละอย่างกับดอกจำปี Michelia alba


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 มิ.ย. 15, 13:09
ดอกจำปีแขก หรือ จำปาแขก Michelia figo


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มิ.ย. 15, 14:52
มีฝากให้คุณหมอเพ็ญอีกเยอะเลย
มหาหงส์ มะลิลา มะลิซ้อน  กระดังงา ลำดวน เทียนกิ่ง เขี้ยวกระแต ชะลูด โมก พุทธชาด  จันทน์กะพ้อ

เพราะทำน้ำอบน้ำหอมขาย   งานอดิเรกของคุณหญิงกลีบคือกลั่นน้ำหอมด้วยเครื่องกลั่นที่ซื้อมาประจำบ้าน   กลั่นจากกระดังงา กุหลาบและจันทน์กะพ้อ  โดยสกัดน้ำมันออกเสียก่อน   เอาน้ำมันนี้ไว้ใช้ปรุงน้ำอบได้ตลอดปี
ในเมื่อปรุงน้ำอบขาย  ท่านก็เลยต้องสะสมเครื่องหอมต่างๆ รวมทั้งเลี้ยงชะมดเอาไว้ด้วย   ท่านฟั่นเทียนเอง   จัดพานพุ่มดอกไม้เอง นำไปถวายพระเถระผู้ใหญ้ในเทศกาลทางศาสนา    เมื่อถึงวันวิสาขบูชา ข้าราชการทำโคมดอกไม้สดแขวนที่ระเบียงวัดพระแก้ว ก็แน่นอนว่ามีโคมดอกไม้สดฝีมือคุณหญิงจักรปาณีรวมอยู่ด้วย

ชะตาของคุณหญิงกลีบรุ่งเรืองขึ้นอีกเมื่อปาณี บุตรชายคนหนึ่งของท่านได้รับพระมหากรุณาธิคุณคัดเลือกไปเป็นมหาดเล็กรับใช้ และได้ร่วมแสดงละครพระราชนิพนธ์หลายเรื่อง     ในฐานะแม่ คุณหญิงก็ได้รับเชิญไปชมละคร ตลอดจนจัดหาเครื่องแต่งกายโก้ๆงามๆสมฐานะให้บุตรชาย
ท่านจึงกลายเป็นสตรีบรรดาศักดิ์ฺระดับผู้ใหญ่รายหนึ่ง ได้รับพระมหากรุณาฯ ให้เข้าวังในโอกาสต่างๆเสมอๆ รวมทั้งรับพระราชทานเลี้ยงในวังเจ้านายหลายๆพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นสมเด็จพระพันปี  หรือวังของเจ้าฟ้ากรมขุนนครราชสีมา


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มิ.ย. 15, 15:05
   ความเป็นสตรีบรรดาศักดิ์ในสมัยนั้น ทำให้เจ้าตัวต้องปรับปรุงตัวเองให้ทันสมัยอยู่เสมอ  คำบรรยายของท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาละเอียดพอจะทำให้เห็นวิวัฒนาการการแต่งกายของสตรีในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อถึงรัชกาลที่ 6 ได้
   เผื่อใครที่ทำละครเข้ามาอ่าน จะได้เห็นภาพ  ไม่พลาดในการกำหนดเครื่องแต่งกาย
   ตอนเล็กๆในสมัยรัชกาลที่ 5   เด็กหญิงกลีบแต่งกายอย่างเด็กลูกผู้ดี คือไว้ผมจุก  นุ่งโจงกระเบนสวมเสื้อคอรูด (คือคอกระเช้าร้อยริบบิ้นรูดมาผูกไว้ตรงกลางเหนืออก) สวมกำไลและลูกปะวะหล่ำ  สวมกำไลเท้า   การแต่งกายแบบนี้สำหรับเด็กหญิงที่ยังไม่โกนจุก
   เมื่อโกนจุก แสดงว่าเข้าสู่วัยสาว ก็เลิกสวมเสื้อคอรูด  มาห่มสไบจีบ  นุ่งผ้าลายขัดมัน  ผมจุกตัดแล้วก็ไว้เป็นผมสั้น  ไม่ปล่อยยาว นี่คือการแต่งกายของสาวชาววังและสาวลูกขุนนาง
    เมื่อออกจากวังไปอยู่สวน   การแต่งกายก็เปลี่ยนไป  ชาวบ้านไม่แต่งกายประณีตอย่างสาวชาววัง เพราะต้องทำงานหนัก เคลื่อนไหวตลอดเวลา  ท่านก็สวมเสื้อแขนกระบอกรัดกุม นุ่งโจงกระเบนรัดกุมเช่นกัน
   ชะตาเปลี่ยนไป กลายเป็นภรรยาขุนนาง   คุณนายกลีบซึ่งต่อมาเป็นคุณหญิงกลีบ ก็แต่งกายสวยงามตามแบบแผนสตรีมีตระกูลสมฐานะ สวมเสื้อติดลูกไม้สะพายแพร โจงกระเบนผ้าลายอย่างดี   
   มาถึงรัชกาลที่ 6  พระราชนิยมคือให้สตรีนุ่งซิ่น  ไว้ผมยาว และขัดฟันให้ขาว   คุณหญิงกลีบก็ทำตามพระราชนิยม เปลี่ยนแปลงตัวเองให้ทันสมัยอยู่เสมอ
     
   


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 08 มิ.ย. 15, 15:06
ถามคุณหมอเพ็ญชมพู ว่าลำดวนมีพันธ์ุหอมและไม่หอมด้วยหรือ
ลำดวนต้นที่บ้านดอกเยอะเลยแต่ไม่ค่อยหอม

เคยปลูกนมแมวหลายปี ไม่หอม ถอนทิ้งไปแล้ว
มาปลูกลำดวน ตอนนี้สูง ๔ เมตรได้ ออกดอกปีแรก

ยังมีจันกะพ้ออีกต้น สูง ๘ เมตรแล้วไม่มีดอกเลย


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 มิ.ย. 15, 15:12
ชะตาของคุณหญิงกลีบรุ่งเรืองขึ้นอีกเมื่อปาณี บุตรชายคนหนึ่งของท่านได้รับพระมหากรุณาธิคุณคัดเลือกไปเป็นมหาดเล็กรับใช้ และได้ร่วมแสดงละครพระราชนิพนธ์หลายเรื่อง   

นายปาณี ไกรฤกษ์หน้าตาหล่อเหลาทีเดียว

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3290.0;attach=10793;image)


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 มิ.ย. 15, 15:41
เรื่องดอกไม้ที่คุณหมอ visitna ถามถึง  นมแมว Uvaria siamensis (แสดงว่าเป็นไม้พื้นเมืองของไทย) เป็นไม้พุ่มกิ่งเลื้อย สูงประมาณ ๓-๔ เมตร  ส่วนลำดวน Sphaerocoryne affinis เป็นไม้ขนาดใหญ่สูงประมาณ ๖-๑๐ เมตร ทั้งสองอยู่ในวงศ์เดียวกันคือ วงศ์กระดังงา Annonaceae ปรกติมีกลิ่นหอม เคยมีนมแมวอยู่ในบ้านก็หอมตลบอบอวลอยู่  ;D

นมแมว (ซ้าย) ลำดวน (ขวา) ดอกคล้าย ๆ กัน


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 มิ.ย. 15, 17:57
ยังมีจันกะพ้ออีกต้น สูง ๘ เมตรแล้วไม่มีดอกเลย
จันทน์กะพ้อของคุณหมออายุสักกี่ปีแล้ว บางคนปลูกสิบกว่าปีแล้วจึงจะเห็นดอก

...ดอกจันทน์กะพ้อร่วงพรู
เจ้ามิใช่ร่วงสู่ แผ่นดินแห่งไหนโดยง่าย...


http://youtube.com/watch?v=8gSbxTl5fo8#ws (http://youtube.com/watch?v=8gSbxTl5fo8#ws)


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 10 มิ.ย. 15, 10:48
มาติดตามต่อ กระจ่างแล้วเจ้าค่ะเรื่องภรรยาถือน้ำ

อ่านในหนังสือ รสรักปักอุรา ของอ.กฤษณา อโศกสิน กล่าวถึงจันทร์กระพ้อว่า ปลูกยากนัก กว่าจะชำกิ่งให้รอดเป็นต้นใหญ่ได้ก็แทบล้มประดาตาย กว่าจะออกดอกได้ก็แสนลำบาก ค้นต่อไปจึงพบว่าเป็นไม้ค่อนข้างชอบน้ำชุ่มชื้นพอควร


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มิ.ย. 15, 10:02
      คุณสมบัติพิเศษอีกอย่างหนึ่งของท่านผู้หญิงกลีบ นอกจากฝีมือในการทำกับข้าว ทำของหอม และปกครองบริวารมาด้วยดี คือท่านเป็นคนชอบอ่านหนังสือ     ในประวัติไม่ได้กล่าวว่าท่านเรียนหนังสือจากที่ไหน แต่คิดว่าคงเป็นสมัยท่านอยู่ในวัง  ได้เล่าเรียนเขียนอ่านโดยไม่ต้องไปเรียนหนังสือในร.ร.   ในรัชกาลที่ 6  เมื่อการออกหนังสือเป็นพระราชนิยม ทำให้ข้าราชการใหญ่น้อยพลอยสนใจไปด้วย   ท่านผู้หญิงก็สมัครเข้าเป็นสมาชิกบอกรับหนังสือ "ดุสิตสมิต"   และสมัครเข้าเป็นสมาชิกสโมสรทวีปัญญา ซึ่งเป็นสโมสรวรรณกรรม เพื่อจะได้รู้เรื่องในแวดวงวรรณกรรมสมัยนั้นมากขึ้น
      ในพ.ศ. 2462  เป็นทั้งปีโชคดีและเคราะห์ร้ายประดังเข้ามาพร้อมกัน    โชคดีคือพระยาจักรปาณีได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็น ราชเลขาธิการ ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญเทียบเท่าเสนาบดี   และเป็นสามัญชนคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้    มีหน้าที่เข้าเฝ้าใกล้ชิดพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะผู้ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยมากที่สุดคนหนึ่ง    คุณหญิงกลีบจึงได้เป็นสตรีบรรดาศักดิ์ชั้นผู้ใหญ่ ได้ร่วมโต๊ะเสวยพร้อมกับพระบรมวงศานุวงศ์และทูตานุทูตต่างประเทศอยู่บ่อยๆ       แม้ในประวัติไม่ได้กล่าวถึงโดยตรง แต่เราก็คงพอเดาออกว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงเฟื่องฟูเต็มไปด้วยความสุข 
      แต่เคราะห์ร้ายก็จู่โจมกะทันหันมาในตอนปลายปี    เมื่อปาณี หรือนายจ่ายวด บุตรชายที่กำลังเป็นหนุ่ม มีอนาคตสดใส ในฐานะมหาดเล็กที่พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดปราน  ถึงกับให้ทำหน้าที่เลขานุการคนสนิท  เกิดประสบอุบัติเหตุเมื่อขี่จักรยานยนต์จากวังจะกลับมาเยี่ยมบ้าน พร้อมด้วยเพื่อนมหาดเล็กคือหม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์   
    หม่อมทวีวงศ์ฯได้รับบาดเจ็บสาหัสแต่รอดตาย    ส่วนปาณีเสียชีวิต    ทำให้คุณหญิงกลีบวิปโยคแสนสาหัส   ทุกข์ครั้งนี้คงทำให้ท่านหมดกำลังใจลงไปมาก  ญาติสนิทมิตรสหายจึงสังเกตว่าท่านทรุดโทรมและแก่ลงจนผิดตา นับแต่สูญเสียบุตรชาย   


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 มิ.ย. 15, 11:45
ขุนตำรวจเอก พระมหาเทพกษัตรสมุห(เนื่อง  สาคริก)  เขียน


     "ระหว่่างต้นปี ๒๔๖๓  นายจ่ายวด(ปรานี  ไกรฤกษ์) กับข้าพเจ้า  ทำหน้าที่เป็นเสมียนประจำออฟฟิศทนายความของท่านราม ณ กรุงเทพ  

อยู่ด้วยกันที่พระราชวังพญาไท  ทุกโอกาสที่เสด็จลงดุสิตธานีจะต้องอยู่คอยเฝ้ารับใช้     วันหนึ่งคุณจ่ายวดซื้อมอเตอร์ไซด์ยี่ห้ออินเดียนสีแดงมาใหม่คันหนึ่ง  

เป็นธรรมดาที่มักจะใช้เวลาง่วนอยู่กับรถตามลักษณะของคนที่กำลังหนุ่ม

     ณ บริเวณถนนหน้าเรือนพักของมหาดเล็กรับใช้  ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับบ้านสองชั้นที่คุณเฉลิมลาภพักอยู่ชั้นบนพอดีนั้น   ตอนเย็นใกล้เวลาที่ท่านรามจะเสด็จลงดุสิตธานี

ข้าพเจ้าก็แต่งตัวนุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงิน   สวมเสื้อนอกขาวเดินลงมาจากเรือนพัก   เห็นคุณจ่ายวดกำลังง่วนอยู่กับรถมอเตอร์ไซด์   จนกะดูว่าพอจะติดเครื่องให้รถวิ่งได้

ก็หันมาชวนข้าพเจ้าให้ขึ้นนั่งเกาะท้ายเพื่อไปลองวิ่งดู    พอข้าพเจ้านึกได้ตอนที่จะขึ้นนั่ง  ก็พูดกับคุณจ่ายวดว่า  เผื่อเสด็จลงมาในตอนนี้แล้วไม่เห็นเราทั้งสองคน

น่าจะพลอยกันถูกกริ้วเป็นแน่   คุณจ่ายวดก็ว่า  เออ! จริงซิ   ถ้าเช่นนั้นเนื่องอยู่คอยรับหน้าท่านจะดีกว่า  อย่าไปเลย

     ยังมิทันจะสิ้นเสียงเรื่องการต่อรองกัน   ก็พอได้ยินเสียงคุณเฉลิมลาภตะโกนเสียงดังลงมาจากชั้นบนว่า  จะไปไหนกัน  ขอไปด้วยคน  รอด้วย ๆ  แล้วก็รีบ

วิ่งตึง ๆ ลงบันไดมาโดยไม่รอคำตอบ  ถึงพื้นชั้นล่างแล้วก็วิ่งตรงมากระโดดขึ้นนั่งท้ายรถมอเตอร์ไซด์ทันที         สมัยนั้นรถมอเตอร์ไซด์ยังไม่มีสต้าตเตอร์  

ข้าพเจ้าเห็นเขานั่งกันเรียบร้อยดีแล้วก็ช่วยเข็นท้ายให้เครื่องติดวิ่งออกประตูหายไป   แล้วข้าพเจ้าก็ไปคอยเฝ้ารับใช้ท่านราม ณ กรุงเทพ อยู่ตามหน้าที่


     เวลาผ่านไปไม่ถึง ๒ ชั่วโมง  นายพยอม อักษรมัต  ก็มาขอเฝ้ากราบบังคมทูลว่า  นายจ่ายวดขี่มอเตอร์ไซด์พาม.ร.ว. เฉลิมลาภ

ไปชนกับรถยนต์หลวงแดงพญาเข้าที่ถนนราชวิถีตอนข้ามทางรถไฟไปจากพระราชวังพญาไทประมาณ ๔ เส้น   นายจ่ายวดกะโหลกศีรษะแตกสลบ  

ส่วนหม่อมราชวงษ์เฉลิมลาภกระดูกไหปลาร้าหักเป็นลมอยู่"



กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 มิ.ย. 15, 11:49
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงขับรถยนต์พระที่นั่งที่พระราชวังสนามจันทร์ นักเรียนมหาดเล็กรับใช้ปาณี ไกรฤกษ์ โดยเสด็จพระราชดำเนินมาท้ายรถยนต์พระที่นั่ง
 


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: otto t ที่ 15 มิ.ย. 15, 23:53
ขออนุญาตเข้ามานั่งเรียนอยู่หลังห้องด้วยอีกคนนะคะอาจารย์ :-[


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 มิ.ย. 15, 07:56
มาเสิฟโจ๊กมื้อเช้าให้นักเรียน ทั้งรุ่นก่อนรุ่นหลังค่ะ


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 มิ.ย. 15, 08:40
ขอเลือกชามบน-ล่างซ้าย หน้าตาดูดี

ขอบพระคุณคุณเทาชมพูสำหรับอาหารมื้อเช้านี้  ;D


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 16 มิ.ย. 15, 16:20
อยากกิน


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 16 มิ.ย. 15, 21:15
เห็นคุณประกอบน้ำหูน้ำตาไหลแล้วสงสารจัง อันที่จริงโจ๊กก็ทำไม่ยากหรอกนะคะ เพื่อนดิฉันที่อยู่เมืองนอกเคยเล่าให้ฟังว่า เขาทำโจ๊กโดยเอาข้าวสวยที่หุงแฉะๆใส่เครื่องปั่น แล้วผสมน้ำมากๆ จากนั้นก็ต้มใส่หมูใส่ไข่ ใส่ผักโรยเท่าที่จะหาได้ ก็พอแก้ขัดได้ค่ะ จะขาดก็แต่ปาท่องโก๋เท่านั้นที่ต้องมโนเอาเองในระหว่างกิน


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 มิ.ย. 15, 20:56
      เมื่อความทุกข์เรื่องปาณีค่อยบรรเทาลง   คุณหญิงกลีบก็อ้างว้างอีกครั้งเมื่อบุตรชายอีก 3 คนคือวิสุทธิ์ วิจิตราภรณ์ และภูษณาภรณ์  ได้รับพระราชทานทุนหลวงไปศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ   แต่ท่านก็ไม่ได้ปล่อยเวลาให้ผ่านไปด้วยความตรอมใจ  ตรงกันข้าม ท่านกลับหาอะไรต่อมิอะไรมาทำให้มีคุณค่า เช่นอบรมกิจการบ้านเรือนให้ธิดาทั้งหลายของท่าน    เสาะหาครูมาสอนวิชาการเรือนทั้งสูงเช่นปอกมะปรางริ้ว  ละเลงขนมเบื้อง  ทำขนมโบราณหายาก   
     พระยาจักรปาณีเป็นชายไทยที่มีรสนิยมเรื่องอาหารแตกต่างจากชายไทยโดยมาก   คือท่านชอบรับประทานอาหารฝรั่งทั้ง 3 มื้อ   คุณหญิงก็จ้างกุ๊กฝรั่งจากวังกรมหลวงราชบุรีฯ  มาสอนวิชาทำอาหารฝรั่งแบบยากๆ จนชำนาญ   สมัยนั้นไม่มีเตาอบไฟฟ้า แม้แต่เครื่องไม้เครื่องมือทำขนมต่างๆที่เป็นของหาง่ายในสมัยนี้ ก็ยังไม่มี   แต่ท่านก็สามารถทำอาหารและขนมฝรั่งต่างๆได้สำเร็จ
     การเลี้ยงดูธิดาของท่าน สะท้อนค่านิยมของชนชั้นสูงในสมัยนั้น  นอกจากสอนเรื่องอาหารการกิน ร้อยมาลัย จัดการบ้านเรือนแล้ว ท่านยังส่งธิดาไปรับการอบรมเรื่องขนมธรรมเนียมประเพณีจากคุณท้าวนารีวรคณารักษ์ พี่สาวของเจ้าคุณ    สิ่งเหล่านี้เป็นการเตรียมตัวธิดาของท่านให้พร้อมสำหรับเป็นภรรยาของขุนนางต่อไปในภายหน้า


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 มิ.ย. 15, 17:44
     ชีวิตของคุณหญิงกลีบ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนถึงบทบาทหน้าที่ของสตรีชั้นสูงในสังคมไทย (ที่มิใช่ชั้นเจ้านาย)  เมื่อ 100 ปีก่อน   คือเป็นสตรีที่มีสามีเป็นฉัตรแก้วกั้นเกศโดยแท้    จะเห็นได้ว่า จากหญิงสาวที่พ่อเก็บตัวให้อยู่ในสวน  แต่โชคชะตาบันดาลให้เธอได้เป็นภรรยาของขุนนางหนุ่มที่ก้าวหน้าในราชการ   ชีวิตเธอก็ขึ้นบันไดไปสู่ที่สูง เคียงข้างสามี   สามีมีบรรดาศักดิ์สูงสุดในราชการได้ขนาดไหน  เธอก็สูงสุดในฐานะสตรีบรรดาศักดิ์ได้ขนาดนั้น
     คุณหญิงกลีบมีคุณสมบัติที่น่าชมเชยหลายอย่าง ไม่เฉพาะแต่โชคบันดาลเท่านั้น  คือสามารถทำตัวให้เข้าได้กับคนรอบข้างในครอบครัวสามี    ต้องดูแลเอาใจใส่พ่อแม่สามี   ปกครองบริวาร และลูกๆ   ตลอดจนภรรยาน้อยและลูกภรรยาน้อย    แล้วยังต้องพัฒนาตัวเองไม่หยุดยั้ง ทำตัวเองให้ทันสมัยไม่คร่ำครึ เพื่อจะออกงานสังคมเคียงข้างสามีได้ไม่ขัดเขิน     ฝีมือในการทำอาหารและดอกไม้ก็ต้องนำออกมาใช้ประโยชน์ ทั้งในด้านเป็นหน้าเป็นตาให้สามี และหารายได้ในยามสามีตกอับในหน้าที่การงาน    เรียกได้ว่าเป็นกองหลังที่แข็งแกร่ง
     ส่วนบุตรธิดานั้น  คุณหญิงกลีบก็เอาใจใส่ทั้งบุตรชายและหญิง   บุตรชายได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ คนเป็นแม่ก็ต้องหักใจไม่ให้ห่วงใย   ธิดาทั้งหลายท่านก็อบรมให้รู้จักการเหย้าการเรือนและขนบธรรมเนียมชั้นสูง   เตรียมพร้อมจะเป็นสตรีบรรดาศักดิ์ต่อไป 
    สมัยนั้นสังคมมีระเบียบแบบแผนตายตัวอยู่มาก   ลูกชายขุนนางก็จะเป็นขุนนางต่อไป  ในสายงานเดียวกับบิดา     ส่วนลูกสาวขุนนางก็จะเป็นภรรยาขุนนาง   ลูกเขยก็จะถูกคัดเลือกมาให้สมน้ำสมเนื้อ  เพื่อชีวิตลูกสาวจะได้ดีแบบเดียวกับแม่     การเรียนรู้วิชาต่างๆระดับสูงของแม่บ้านจึงเป็นสิ่งจำเป็น ตั้งแต่เธอเหล่านั้นยังเยาว์
    แต่ทุกอย่างก็มาพลิกผันเมื่อเกิดเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 

    ก่อนหน้านี้ ชีวิตยังดำเนินไปด้วยความราบรื่นตามขั้นตอน   ชะตาของคุณหญิงกลีบยังก้าวขึ้นสู่ที่สูงไม่หยุดยั้ง   ในพ.ศ. 2465  สามปีก่อนสิ้นรัชกาลที่ 6   พระยาจักรปาณีฯได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยามหิธร   คุณหญิงกลีบก็ได้รับพระราชทานเครื่องราชทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ เป็น ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 มิ.ย. 15, 21:02
ประวัติคลาดเคลื่อนไปหน่อย  เพราะเขียนโดยไม่ได้เปิดหนังสือ
คุณ V_Mee กรุณาแก้มาให้ตามนี้ค่ะ ขอขอบคุณอย่างยิ่ง

เรียนท่านอาจารย์ที่เคารพ

อ่านที่ท่านอาจารย์เขียนไว้ในกระทู้ท่านผู้หญิงกลีบ  มหิธร ว่า  คุณหญิงกลีบก็ได้รับพระราชทานเครื่องราชทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ เป็น ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร

ความตอนนี้อาจจะคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงในสมัยนั้นครับ  เพราะข้อเท็จจริงที่พบในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น  ถ้าสามีได้เป็นเจ้าพระยารับพระราชทานปฐมจุลจอมเกล้าแล้ว  คุณหญิงภรรยาจะได้รับพระราชทานทุติยจุลจอมเกล้า  แล้วในเวลาต่อมาจึงรับพระราชทานเครื่องยศเป็นท่านผู้หญิง  ตัวอย่างเช่น ท่านผู้หญิงเสงี่ยม  พระเสด็จสุเรยทราธิบดี  เมื่อเจ้าพระยาพระเสด็จฯ ได้เป็นเจ้าพระยาเสนาบดีแล้ว  ท่านผู้หญิงเสงี่ยมได้รับพระราชทาน ท.จ.  ต่อจากนั้นอีกราว ๒ ปี จึงได้รับพระราชทานเครื่องยศเป็นท่านผู้หญิง  แต่คุณหญิงประจวบ  รามราฆพ  เมื่อสมรสกับเจ้าพระยารามราฆพเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ นั้น  เจ้าพระยารามฯ ได้เป็นเจ้าพระยาสุพรรณบัฏแล้ว  คุณหญิงจึงได้รับพระราชทานตรา ท.จ.  แต่ยังมิทันได้รับพระราชทานเครื่องยศเป็นท่านผู้หญิง  ล้นเกล้าฯ เสด็จสวรรคตเสียก่อน  คุณหญิงประจวบจึงเป็นเอกภรรยาทเจ้าพระยาที่เป็นเพียงคุณหญิงมาจนถึงแก่กรรมครับ


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 มิ.ย. 15, 10:34
ความตอนนี้อาจจะคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงในสมัยนั้นครับ  เพราะข้อเท็จจริงที่พบในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น  ถ้าสามีได้เป็นเจ้าพระยารับพระราชทานปฐมจุลจอมเกล้าแล้ว  คุณหญิงภรรยาจะได้รับพระราชทานทุติยจุลจอมเกล้า  แล้วในเวลาต่อมาจึงรับพระราชทานเครื่องยศเป็นท่านผู้หญิง  ตัวอย่างเช่น ท่านผู้หญิงเสงี่ยม  พระเสด็จสุเรยทราธิบดี  เมื่อเจ้าพระยาพระเสด็จฯ ได้เป็นเจ้าพระยาเสนาบดีแล้ว  ท่านผู้หญิงเสงี่ยมได้รับพระราชทาน ท.จ.  ต่อจากนั้นอีกราว ๒ ปี จึงได้รับพระราชทานเครื่องยศเป็นท่านผู้หญิง  แต่คุณหญิงประจวบ  รามราฆพ  เมื่อสมรสกับเจ้าพระยารามราฆพเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ นั้น  เจ้าพระยารามฯ ได้เป็นเจ้าพระยาสุพรรณบัฏแล้ว  คุณหญิงจึงได้รับพระราชทานตรา ท.จ.  แต่ยังมิทันได้รับพระราชทานเครื่องยศเป็นท่านผู้หญิง  ล้นเกล้าฯ เสด็จสวรรคตเสียก่อน  คุณหญิงประจวบจึงเป็นเอกภรรยาทเจ้าพระยาที่เป็นเพียงคุณหญิงมาจนถึงแก่กรรมครับ

จาก พระราชกฤษฎีกาให้ใช้คำนำนามสัตรี (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2460/A/326.PDF)

คำนำหน้า "คุณหญิง" ไม่ต้องรอพระราชทานเครื่องยศ ส่วน "ท่านผู้หญิง" ต้องรอพระราชทานเครื่องยศ


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: หมามุ่ย ที่ 25 มิ.ย. 15, 08:38
เข้ามาแอบแฝงตัวเป็นผู้อ่านอยู่นาน..ได้รับความรู้และความสุขใจมากมายค่ะต้องขอบพระคุณอาจารย์หลายๆท่านจบจากกระทู้นี้แล้วคงได้เข้าไปอ่านกระทู้"เจ้าพระยามหิธร"ต่อเลย...รู้สึกแปลกใจค่ะว่าทำไมสองกระทู้นี้ถึงได้ห่างกันถึง 10 ปี


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มิ.ย. 15, 09:56
ตอบง่ายนิดเดียวค่ะ
ได้หนังสือห่างกัน 10 ปีค่ะ


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มิ.ย. 15, 10:18
          ชีวิตในช่วงปลายรัชกาลที่ 6  ต่อกับต้นรัชกาลที่ 7 ดำเนินไปอย่างราบรื่น   เว้นเรื่องมรณกรรมของปาณีเสียเรื่องหนึ่ง  ท่านผู้หญิงกลีบก็มีชีวิตที่สุขสบาย  พรั่งพร้อมด้วยเกียรติยศ
          ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาบรรยายถึงนิสัยของมารดาท่าน ที่ออกจะทันสมัยกว่าสตรีอื่นๆในยุคเดียวกันอยู่มาก   เช่นมีใจรักในศิลปะและวรรณกรรม  ถึงกับจัดละครรำขึ้นในบ้านของท่าน  ผู้แสดงคือธิดาและเด็กๆในบ้าน โดยมีครูละครของคุณท้าวนารีวรคณารักษ์มาฝึกสอนให้  ละครที่เล่นก็เป็นละครพระราชนิพนธ์ในศกุนตลา อิเหนา สังข์ทอง และไกรทอง   ฝึกหัดกันจนรำได้ดี  ท่านผู้หญิงจัดให้แสดงต่อหน้าแขกเหรื่อญาติมิตรหลายครั้ง
         คุณสมบัติของท่านผู้หญิงกลีบ นอกจากทำกับข้าวเก่งทั้งไทยและฝรั่ง  ปรุงน้ำอบน้ำหอมเองได้ถึงขั้นทำเป็นสินค้าออกขาย อ่านหนังสือยากๆอย่างวรรณคดีได้   ชอบละคร    ด้านกีฬาท่านก็เก่งเกินหน้าสตรีสมัยนั้นมาก  คือเล่นแบดมินตันได้   และที่น่าอัศจรรย์กว่านี้ คือเล่นบิลเลียดได้ด้วย    แทงลูกได้แม่นยำขนาดเป็นเพื่อนเล่นบิลเลียดของเจ้าพระยามหิธรสามีท่านได้เป็นประจำ


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: หมามุ่ย ที่ 25 มิ.ย. 15, 12:32
ในสมัยนั้นนับว่าน่าทึ่งมากค่ะสำหรับ"แม่บ้าน"อย่างท่่านที่มีงานรัดตัวขนาดนั้น....แล้วยังจะมีเวลาสำหรับงานอดิเรกด้านกีฬาได้อีกโดยเฉพาะ"บิลเลียด"เพราะเป็นกีฬาที่ต้องผ่านการฝึกซ้อมจึงจะแทงได้อย่างแม่นยำ :)


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มิ.ย. 15, 09:41
   หลังจากประสบความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตมาหลายปี  โลกธรรม 8 ก็ได้สำแดงตัวทางด้านเสื่อมให้ท่านผู้หญิงกลีบได้ประสบ    เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475  คณะราษฎร์ได้ทูลสมเด็จพระปกเกล้าให้ยุบตำแหน่งเสนาบดีมุรธาธรของเจ้าพระยามหิธร  เปลี่ยนจากราชเลขาธิการเป็นราชเลขานุการ และลดฐานะลงให้เทียบเท่าปลัดกระทรวง    เมื่อถูกบีบบังคับเช่นนั้น   เจ้าพระยามหิธรจึงกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง
   ความผันผวนในโชคชะตาของสามี เป็นความกังวลของท่านผู้หญิง    แต่ก็ยังดีอยู่หน่อย ที่บุตรชายทั้งสามกลับจากต่างประเทศมาแล้ว  ไม่มีเรื่องต้องให้ห่วงใยอีก
   ท่านผู้หญิงประสบโลกธรรม อยู่ 3 ปี    ชะตาของเจ้าพระยามหิธรก็กระเตื้องขึ้นมาอีกครั้ง   กลับขึ้นสู่ที่สูง เมื่อรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาขอให้ท่านเข้าร่วมค.ร.ม. ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม
   
   ในพ.ศ. 2479   ท่านผู้หญิงกลีบมีความสุขอีกครั้ง เมื่ออายุท่านครบ 5 รอบ    ซึ่งโบราณถือว่าเป็นมงคลที่มีอายุยืนยาวมาจน 60 ปี  ควรแก่การฉลองเป็นงานใหญ่ โดยมีลูกๆหลานๆช่วยกัน จัดทั้งพิธีสงฆ์ การเลี้ยงญาติมิตร และมีละครที่จัดฉลองอายุ     ทุกคนเห็นพ้องกันว่าจะทำตรานางฟ้าโปรยดอกไม้ ติดหน้าโรงละคร      เมื่อถามกันว่าจะเป็นดอกอะไรดี  ท่านผู้หญิงก็ตอบว่า ควรเป็นดอกจำปา  เพราะนามเต็มของท่านคือ "กลีบจำปา"   ทำให้ลูกๆประหลาดใจมากเพราะไม่รู้มาก่อน  และไม่เคยได้ยินใครเรียกด้วย
   ท่านผู้หญิงหัวเราะและตอบว่า เจ้าพระยามหิธรเป็นคนตัดชื่อของท่านให้เหลือสั้นๆ เพียง"กลีบ" คำเดียว     โดยให้เหตุผลว่าชื่อสามัญชนที่ยาวเกิน 2 พยางค์ ถือว่าทำเทียมเจ้านาย  ไม่สมควรทำ


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 มิ.ย. 15, 09:58
ท่านผู้หญิงหัวเราะและตอบว่า เจ้าพระยามหิธรเป็นคนตัดชื่อของท่านให้เหลือสั้นๆ เพียง"กลีบ" คำเดียว     โดยให้เหตุผลว่าชื่อสามัญชนที่ยาวเกิน 2 พยางค์ ถือว่าทำเทียมเจ้านาย  ไม่สมควรทำ

แต่ก็แปลกที่ธิดาของท่านมีชื่อเกิน ๒ พยางค์แทบทุกคน  ;D

ท่านเจ้าคุณและท่านผู้หญิงมีบุตรธิดา ๑๒ คน

๑๒ พี่น้องมีดังนี้ครับ

๑)  จักร  (ถึงแก่กรรมแต่ยังเยาว์)
๒)  ปาณี  ต่อมาเป็น นายจ่ายวด 
๓)  ศรี  ต่อมาเป็นเป็นคุณหญิงไชยยศมบัติ (ศรี  ฤษณามระ)
๔)  ศีล  (ถึงแก่กรรมแต่ยังเยาว์)
๕)  วิสุทธิ์  ต่อมาเป็น หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์
๖)  ดุษฎีมาลา  ต่อมาเป็น ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา  มาลากุล
๗)  วิจิตราภรณ์
๘)  ภูษนอาภรณ์  สมรสกับคุณสังวรณ์  บุญเกตุ
๙)  นิภาภรณ์  วิมลศิริ
๑๐) มัณฑนาภรณ์
๑๑) ดารา  ต่อมาเป็นคุณดารา  ไชยยศมบัติ (สมรสกับพระยาไชยยศสมบัติ)
๑๒) รัตนาภรณ์  สมรสกับนายแพทย์ใช้  ยูนิพันธ์



กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เอื้องหลวง ที่ 26 มิ.ย. 15, 11:09
   
   ท่านผู้หญิงหัวเราะและตอบว่า เจ้าพระยามหิธรเป็นคนตัดชื่อของท่านให้เหลือสั้นๆ เพียง"กลีบ" คำเดียว     โดยให้เหตุผลว่าชื่อสามัญชนที่ยาวเกิน 2 พยางค์ ถือว่าทำเทียมเจ้านาย  ไม่สมควรทำ

เวลาเปลี่ยน ค่านิยมก็เปลี่ยนนะคะ ถ้าคนสมัยก่อนมาเห็นชื่อจริงของคนสมัยนี้คงตกใจ


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 มิ.ย. 15, 11:34
ชื่อยาว ๆ มีมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว อย่างชื่อบุตรธิดา เจ้าพระยารามราฆพ  (https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%86%E0%B8%9E_(%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%9F%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD_%E0%B8%9E%E0%B8%B6%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%8D)) นอกจากจะยาวแล้วยังคล้องจองกันด้วย  ;D

เรื่องตั้งชื่อลูกยาวๆ นี่  ทำให้นึกถึงลูกเจ้าพระยารามราฆพ ทราบว่า
ชื่อลูกๆ ท่านเจ้าคุณ  ยาวและคล้องจองพิศดารมาก
อย่างกับชื่อป้อมประตูในพระบรมมหาราชวัง

ชื่อบุตรธิดาเจ้าพระยารามราฆพ  จัดให้

รุจิรา
มานน  
พัฒนา  
บุษบานงเยาว์  
เชาว์ชาญบุรุษ  
พิสุทธิ์อาภรณ์  
บทจรพยัพทิศ  
จักรกฤษณ์กุมารา  
วนิดาบุญวาส  
พรหมาศนารายณ์  
เจ้าสายสุดที่รัก  
สุรางค์  
โสภางค์พึงพิศ  
จิตอนงค์  
บุษบงรำไพ  
อนงค์ในวัฒนา  
ปรียานงราม
ความจำนงค์  
สิริโสภา  
ดวงสุดาผ่องศรี  
กุมารีหริลักษณ์  
ทรงจักรวรพันธ์  
รามจันทร์วรพงศ์  
ภุชงค์บรรจถรณ์  
จันทรรัศมี  
รฆุพงศ์  
นีละพงศ์รำไพ  
ไกรกรีกูล  
ประยูรกาฬวรรณ  
นวลจันทร์ธิดาราม  
โสมยามส่องฟ้า  
สู่นคเรศ  
ทักขิณีเขตจรดล  
อำพลปนัดดา



กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มิ.ย. 15, 11:59
บุตรธิดาหมายเลข ๑-๕  ยังคงรักษาธรรมเนียมเดิม คือชื่อไม่เกิน ๒ พยางค์
๑)  จักร  (ถึงแก่กรรมแต่ยังเยาว์)
๒)  ปาณี  ต่อมาเป็น นายจ่ายวด
๓)  ศรี  ต่อมาเป็นเป็นคุณหญิงไชยยศมบัติ (ศรี  ฤษณามระ)
๔)  ศีล  (ถึงแก่กรรมแต่ยังเยาว์)
๕)  วิสุทธิ์  ต่อมาเป็น หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์

ตามชื่อราชทินนามของเจ้าคุณพ่อ
จากนั้น ก็ข้ามไป หมายเลข ๑๑   ที่ยังรักษาธรรมเนียมเดิม
๑๑) ดารา  ต่อมาเป็นคุณดารา  ไชยยศมบัติ (สมรสกับพระยาไชยยศสมบัติ)


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 28 มิ.ย. 15, 20:17
 8)
บุตรธิดาหมายเลข ๑-๕  ยังคงรักษาธรรมเนียมเดิม คือชื่อไม่เกิน ๒ พยางค์
๑)  จักร  (ถึงแก่กรรมแต่ยังเยาว์)
๒)  ปาณี  ต่อมาเป็น นายจ่ายวด
๓)  ศรี  ต่อมาเป็นเป็นคุณหญิงไชยยศมบัติ (ศรี  ฤษณามระ)
๔)  ศีล  (ถึงแก่กรรมแต่ยังเยาว์)
๕)  วิสุทธิ์  ต่อมาเป็น หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์

ตามชื่อราชทินนามของเจ้าคุณพ่อ
จากนั้น ก็ข้ามไป หมายเลข ๑๑   ที่ยังรักษาธรรมเนียมเดิม
๑๑) ดารา  ต่อมาเป็นคุณดารา  ไชยยศมบัติ (สมรสกับพระยาไชยยศสมบัติ)

พระยาไชยยศสมบัติท่านนี้คือบิดาของ พ.เนตรรังสี ผู้เขียน 'เด็กบ้านสวน' ใช่หรือเปล่าคะ



กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 มิ.ย. 15, 10:25
อ่านประวัติพระยาไชยยศสมบัติ ( เสริม กฤษณามระ) ได้ที่นี่ค่ะ

http://www.shicu.com/index.php/about-us/story/33-2012-10-19-08-01-06 (http://www.shicu.com/index.php/about-us/story/33-2012-10-19-08-01-06)


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 มิ.ย. 15, 10:40
  ความผันผวนทางการเมืองยังคงติดตามมาอีกไม่หยุดยั้ง   รัฐบาลพระยาพหลฯ พ้นหน้าที่ไปเมื่อพ.ศ. 2480  เป็นผลให้เจ้าพระยามหิธรพ้นจากตำแหน่งรมว.ยุติธรรมไปด้วย     จากนั้นชีวิตราชการของท่านก็สิ้นสุดลง กลายเป็นข้าราชการบำนาญมาตลอดอายุขัย

   ชะตาชีวิตหลังจากนั้นของท่านผู้หญิง ประสบเรื่องหนักๆเพียงครั้งเดียวคือป่วยหนักในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2   ถึงขั้นครอบครัวคิดว่าจะไม่รอด   เจ้าพระยามหิธรถึงกับตระเตรียมงานศพไว้ล่วงหน้า และเรียกบุตรชายที่รับราชการอยู่สงขลากลับมาดูใจแม่      แต่ชะตาท่านผู้หญิงยังไม่ถึงฆาต   บุตรเขยของท่านคือนายแพทย์ใช้ ยูนิพันธ์ ที่จบวิชาแพทย์มาจากอังกฤษ  ได้รักษาท่านจนหายสนิท แข็งแรงเป็นปกติ   เดินทางไปท่องเที่ยวจังหวัดไกลๆอย่างเชียงใหม่และสงขลาได้     ส่วนสุขภาพของเจ้าคุณ กลับเสื่อมโทรมลง

    หลังสงครามโลก ท่านผู้หญิงย่างเข้าวัย 70  ท่านมองเห็นสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก โดยเฉพาะสังคมครอบครัว  บ้านใหญ่ที่มีบริวารมากๆ มีแรงงานเหลือเฟือ เริ่มหมดไปจากสังคมไทย     วิชาทำกับข้าวที่ถ่ายทอดกันมาก็หายากขึ้น  แม่ครัวดีๆหาตัวไม่ได้เหมือนก่อน   ท่านจึงเขียนตำรากับข้าวขึ้นสำหรับลูกหลาน ให้หัดทำกันเอง  พิมพ์แจกในวันเกิดครบรอบ 72 ปีเมื่อพ.ศ. 2492  ตามมาด้วยตำราว่าด้วยการปอกผลไม้  ทำของว่างและขนม   โดยวิธีบอกปากเปล่าให้หลานจด แล้วนำไปพิมพ์รวมเล่ม
     หนังสือสองเล่มนี้เป็นผลงานที่ธิดาของท่าน ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาภูมิใจมาก ว่ามารดาผู้ชราและเป็นคนรุ่นเก่า สามารถเรียบเรียงหนังสือตำราได้ถึง 2 เล่ม   ถือว่าเป็นความสามารถระดับอัจฉริยะ


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: กะออม ที่ 29 มิ.ย. 15, 13:36
บิดา พ. เนตรรังสี คือ พระยาไชยยศสมบัติ (เนื่อง เนตรรังสี) มารดา ชื่อ ชม ค่ะ


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 29 มิ.ย. 15, 20:49
ขอบพระคุณอาจารย์เทาชมพูและคุณกะออม เดี๋ยวจะเข้าไปอ่านตามลิ้งค์ที่แนะนำค่ะ


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 29 มิ.ย. 15, 20:53
บิดา พ. เนตรรังสี คือ พระยาไชยยศสมบัติ (เนื่อง เนตรรังสี) มารดา ชื่อ ชม ค่ะ


คุณกะออมพอจะมีประวัติของ พ.เนตรรังสี เพิ่มเติมบ้างไหมคะ ดิฉันเสิร์ชเน็ทแล้วแต่ได้ข้อมูลแค่นิดหน่อยเท่านั้น


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: กะออม ที่ 30 มิ.ย. 15, 08:01
ประวัติ พ.  เนตรรังษี เท่าที่พอหาได้และปะติดปะต่อจากหลายที่นะคะ
พ. เนตรรังษี หรือ พัฒน์ เนตรรังษี บุตรคนเล็กของพระยาไชยยศสมบัติ (เนื่อง เนตรรังษี) กับนางชม เนตรรังสี เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๙ มีพี่ร่วมมารดาเดียวกัน ๒ คน
ประวัติเมื่อเยาว์  อ่านได้จากเด็กบ้านสวน และหนุ่มนักเรียน 
พัฒน์เป็นคนเรียนหนังสือเก่ง  สอบได้ที่หนึ่งที่สองเมื่อเริ่มเรียนที่โรงเรียนวัดพิชัยญาติ ต่อด้วยโรงเรียนวัดประยุรวงศาวาส
เมื่อสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมที่โรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยาแล้ว  เข้าเป็นนักเรียนช่างรังวัดที่ดินรุ่นแรก รับราชการเป็นช่างรังวัดจัตวา กองรังวัด กรมที่ดิน ประมาณ ๖ ปี จากนั้นเข้ารับราชการที่กรมโฆษณาการ ประจำกองข่าว ได้ ๒ ปีกว่า แล้วลาออกระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒
พัฒน์เป็นนักเขียนในคณะสุภาพบุรุษ (เรื่องราวของคณะสุภาพบุรุษต้องแยกเป็นอีกเรื่องหนึ่ง) มีงานเขียนในหนังสือ สุภาพบุรุษ
พ. เนตรรังษี เป็นนักประพันธ์มีผลงานหลายเรื่อง เช่น  ความรักเรียนไม่รู้จบ แม่ศรีเรือน โลกละคร แต่ที่รู้จักกันดีน่าจะเป็นเด็กบ้านสวน และหนุ่มนักเรียน 
พ. เนตรรังษี ถึงแก่กรรม มีงานฌาปนกิจที่ วัดประยุรวงศาวาส เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๙

นามสกุลท่าน เนตรรังษี ค่ะ คอมพิวเตอร์รุ้ดีแก้ให้เป็น ส เสมอ


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 30 มิ.ย. 15, 10:15
ขอบคุณสำหรับข้อมูลเพิ่มเติมค่ะ คุณกะออม

ขอโทษอาจารย์เทาชมพูด้วยค่ะ ที่เแทรกเรื่องนี้ในกระทู้ท่านผู้หญิงกลีบ คือดิฉันกำลังหาประวัติของ พ.เนตรรังษี อยู่พอดีน่ะค่ะ เห็นชื่อพระยาไชยยศสมบัติก็เลยได้จังหวะถามถึง


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 15, 17:10
ไม่เป็นไรค่ะ คุณ Anna ตามสบาย


ช่วงทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือช่วง 2490s   ท่านผู้หญิงกลีบประสบโลกธรรมด้านลบ อีกครั้ง  คือการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก  คนแรกคือบุตรชาย วิจิตราภรณ์ซึ่งรับราชการเป็นผู้พิพากษา ชีวิตการงานกำลังเจริญก้าวหน้า ได้เลื่อนเป็นชั้นพิเศษ  ก็เกิดประสบอุบัติเหตุถึงเสียชีวิตในพ.ศ. 2495 ยังความวิปโยคแสนสาหัสให้ท่านผู้หญิง
แต่ท่านเป็นพุทธศาสนิกชนที่ยึดมั่นในพระธรรมจริงๆ จึงสามารถข่มความทุกข์ลงได้    ดำเนินชีวิตต่อไปด้วยการเลี้ยงหลานกำพร้าทั้งสองคนอย่างดีที่สุด   
ผ่านมาอีกเพียง 4 ปี   บุคคลสำคัญที่สุดในชีวิตท่านผู้หญิง คือเจ้าพระยามหิธรก็จากไปในพ.ศ. 2499    หลังจากใช้ชีวิตคู่กับท่านมาถึง 61 ปี   แม้ว่าท่านผู้หญิงประสบความวิปโยคสาหัสอีกครั้ง   ท่านก็เข้มแข็งพอจะเป็นแม่งานจัดงานศพให้สามีจนเรียบร้อย  จากนั้นก็ดูแลแบ่งมรดกให้บุตรธิดาอย่างทั่วถึง
ท่านผู้หญิงตัดสินใจยกตึกริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลตึกแดง ที่ท่านเคยใช้ชีวิตคู่กับเจ้าคุณมาตั้งแต่แต่งงานได้ 6 เดือน ให้เนติบัณฑิตยสภาตั้งเป็นมูลนิธิเจ้าพระยามหิธร และท่านผู้หญิงกลีบ   เพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียนเนติบัณฑิตยสภา    โดยมีเหตุผลว่า เจ้าคุณกับท่านได้ใช้ชีวิตร่วมกันที่บ้านนั้น  ขณะที่เจ้าคุณเริ่มเรียนกฎหมายจนสอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตคนแรกของประเทศไทย
การสละทรัพย์สินมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ทำให้ท่านผู้หญิงได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก จากการทำเรื่องกราบบังคมทูลขอพระราชทาน โดยกระทรวงยุติธรรม


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ค. 15, 15:30
   ท่านผู้หญิงกลีบมีอายุล่วงเข้า 80 หลังเจ้าพระยามหิธรจากไป   ท่านมีความสุขสงบอย่างผู้ชราอยู่กับลูกๆหลานๆ   มีวิสุทธิ์หรือหลวงจักรปาณีกับภรรยาย้ายมาอยู่เป็นเพื่อน   แต่เป็นสุขได้เพียง 2 ปี ก็ประสบความวิปโยคแสนสาหัสอีกครั้ง เมื่ิิอหลวงจักรปาณีถึงแก่กรรมลงอย่างกะทันหัน     นายแพทย์ใช้ผู้เป็นบุตรเขยถึงกับต้องให้ยาระงับประสาท เพราะเกรงว่าท่านจะไม่สามารถอดกลั้นต่อความทุกข์โศกได้
      ในระยะนี้ สุขภาพท่านผู้หญิงเสื่อมลง   ทั้งหูก็เริ่มไม่ได้ยิน และดวงตาก็เป็นต้อกระจก     เดินไม่ค่อยไหวและนั่งนานไม่ได้ แต่ท่านก็ปลาบปลื้มยินดีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จฯพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานเพลิงในงานศพหลวงจักรปาณี
     ท่านผู้หญิงได้มีโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอีก 2 ครั้ง ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อพ.ศ. 2502 ที่ท่านแต่งเต็มยศไปเฝ้า  และอีกครั้งเมื่อไปรับพระราชทานเครื่องอิสริยาภรณ์ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก    ในเวลานั้นดวงตาท่านมืดมัว มองไม่เห็นถนัด แต่ท่านก็ปลาบปลื้มที่ได้ฟังกระแสพระราชดำรัส โดยเฉพาะเมื่อทรงพระกรุณาโปรดถามถึงอาการดวงตาของท่าน


กระทู้: ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 15, 16:14
   ท่านผู้หญิงกลีบดำเนินชีวิตอย่างสงบ และสมเกียรติยศท่านผู้หญิงมาจนอายุ 85 ปี    ไม่มีอุปสรรคใดๆขัดขวางนอกจากต้อกระจก ซึ่งทำความเดือดร้อนรำคาญให้ เพราะท่านเป็นผู้ชอบอ่านหนังสือ  เมื่ออ่านไม่ได้ท่านก็รำคาญมาก   ท่านพยายามแสวงหาจักษุแพทย์มารักษา   จนในที่สุดก็เข้าลอกต้อที่รพ.ศิริราช   แต่กลับเป็นว่า นอกจากลอกต้อไม่สำเร็จ  วัยที่ชราเป็นไม้ใกล้ฝั่งทำให้ท่านป่วยหนัก  กลับมาอยู่บ้านด้วยการประคับประคองของลูกหลานที่เป็นแพทย์ได้ 15 วัน ท่านก็ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบ และมีสติดีตลอดเวลาที่ป่วยหนัก

    ชีวิตของท่านผู้หญิงกลีบ เป็นชีวิตที่เป็นแบบอย่างของสตรีโบราณก็ว่าได้      คือเป็นสตรีที่มีบุญวาสนาดีตลอดตั้งแต่วัยต้นจนปลายชีวิต      ทั้งนี้จะเหมาว่าท่านเจอแต่โชคดีจากภายนอกใ่ายเดียวก็คงไม่ใช่    จริงอยู่ ท่านเป็นตัวอย่างความเชื่อของสมัยนั้นดังที่สุนทรภู่กล่าวว่า "เป็นสตรีสุดดีอยู่ที่ผัว"   คือได้สมรสไปกับชายดี มีหน้าที่การงานสูง  ยกย่องท่านเป็นเอกภรรยา  ทำให้ชีวิตท่านรุ่งเรืองไปด้วย     
     ท่านผู้หญิงกลีบเองก็ได้วางตัวเหมาะสมกับความสูงส่งที่ได้รับจากสามี    เป็นช้างเท้าหลังที่คอยพยุงเท้าหน้าให้ก้าวไปด้วยกันอย่างมั่นคง     ส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของสามี เท่าที่ภรรยาจะทำได้     นอกจากนี้จากคำบรรยายของท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา  มารดาท่านว่าเป็นผู้มีอัธยาศัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่   เมตตาบุตรธิดาทุกคนเสมอกัน  แม้แต่คนอื่นๆที่ห่างออกไป เป็นญาติหรือไม่ใช่ญาติ แต่มาอยู่ในความปกครองของท่าน ท่านก็มีเมตตาจิตด้วยสม่ำเสมอ  เป็นที่เคารพรักของคนเหล่านั้น 
    ข้อนี้เป็นธรรมะข้อสำคัญมากสำหรับสตรีที่ต้องปกครองคนจำนวนมากในบ้าน     ถ้าไม่มี บ้านช่องก็จะวุ่นวาย ถึงบ้านแตกสาแหรกขาดก็เป็นได้