เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: ลุงไก่ ที่ 11 ก.พ. 11, 08:05



กระทู้: งานวัด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 11 ก.พ. 11, 08:05
ปัจจุบันนี้แหล่งบันเทิงมีมากมายในทุกที่ ... แต่ในสมัยก่อนนั้นล่ะ
วัยรุ่น รุ่นพ่อรุ่นแม่ของเรา จะเที่ยวกันที่ไหน ... แห่งหนึ่งที่เป็นที่รู้จักและคุ้นเคยที่สุด ก็คือ "งานวัด"
ในกรุงเทพฯ เอง งานวัดที่ขึ้นชื่อลือชาที่สุดและดังที่สุด ก็คือ "งานวัดภูเขาทอง"
แต่ในต่างจังหวัดล่ะ คนกรุงเทพฯ เองแทบไม่เคยรู้จักงานวัด "บ้านนอก" จะมีก็แต่คนจากต่างจังหวัดหรือ "คนบ้านนอก" ที่เข้ามาอาศัย เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เล่าขานให้ฟัง
จึงขอเรียนเชิญวัยรุ่นทุกรุ่น จะรุ่นผ้าขะม้าคาดพุงนุ่งกางเกงขายาว ประแป้งขาวเต็มหน้า, หรือจะเป็นวัยรุ่นสวมกางเกงมอสขาบานหรือเดฟขาลีบเสื้อเชิร์ตลายพร้อย ปกเสื้อใหญ่หรือเล็กลีบ มาเล่าประสบการณ์สู่กันฟังครับ

http://www.youtube.com/watch?v=phDWS88lCYI&feature=related (http://www.youtube.com/watch?v=phDWS88lCYI&feature=related)


กระทู้: งานวัด
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 11 ก.พ. 11, 14:43
งานวัดไม่ว่าจะเป็นงานประจำปี งานฉลองพัดยศ งานสงกรานต์ หรือเทศกาลต่างๆ ที่จัดตามวัด  การแสดงที่ยืนพื้นคงไม่พ้นลิเกกับหนัง  ลิเกที่ดังมากสมัยก่อนคงเป็นคณะ “หอมหวล”   ส่วนหนังนั้นบ้านนอกมักจะเรียกว่า”หนังฉาย” เข้าใจว่าคงมีการแสดงหนังประเภทที่ไม่ได้ฉายจากเครื่องฉายหนังด้วย ชาวบ้านจึงเรียกหนังว่า “หนังฉาย”   หนังเรื่องมักจะฉายตอนดึก และมักมีการคั่นรายการด้วยข่าวต่างๆรวมทั้งภารกิจของนายกรัฐมนตรี ในสมัยนั้น   จำได้ว่าครั้งหนึ่งก่อนฉายหนังเรื่องมีภารกิจของท่านผู้หญิงละเอียดพิบูลสงคราม ภรรยา จอมพล ป.พิบูลสงคราม ไปจังหวัดนครนายก ฉายให้ดูด้วย วันนั้นท่านใส่เสื้อแขนสั้นสีแดงสด กระโปรงไม่มีจีบยาวสีออกเทา เดินข้ามหมู่ก้อนหินที่น้ำตกสาริกา


กระทู้: งานวัด
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 11 ก.พ. 11, 16:10
เป็นคนกรุงเทพนะคะ เมื่อก่อนกรุงเทพก็มีงานวัดค่ะ
เวลานึกถึงงานวัดจะนึกถึง.... ;D

- เวลากลางคืน เพราะงานวัดมักจะไปเที่ยวกันตอนกลางคืน อากาศเย็นๆ
   ซึ่งเป็นความพิเศษสำหรับเด็กๆ อย่างพวกเรา (ในสมัยนั้น)
  เพราะนานทีปีหนถึงจะมีโอกาสได้ออกไปสูดอากาศนอกบ้านยามค่ำคืน..
- ชิงช้าสวรรค์  ซึ่งเป็นเหมือนสัญญลักษณ์ของงานวัด
   ตอนเป็นเด็กเวลาได้ขึ้นชิงช้าสวรรค์ทีไร รู้สึกเหมือนว่ามันหมุนขึ้นไปสูงจังเลย
   ยิ่งตอนที่เขาหยุดชิงช้าเพื่อให้คนอื่นๆ ขึ้น แล้วเราได้อยู่ข้างบนสุด รู้สึกเหมือนกับ
   ว่าเราจะเอื้อมมือไปจับดาวได้เลย มองไปเห็นวิว มีแสงไฟสวยมากๆ เพราะสมัยที่เป็นเด็กๆ
   ตึกสูงๆ มีน้อย โอกาสที่จะได้ขึ้นไปมองเห็นวิวบนที่สูงมีน้อยครั้ง
- ลูกโป่ง สีสวยๆ หลายๆ ใบ อยู่ในกำมือ ที่บางครั้งก็เสียน้ำตาเพราะทำหลุดมือ
   ได้แต่แหงนมองลูกโป่งหลุดลอยไปบนฟ้า แต่แม่ก็ทำให้มันกลายเป็นความสุขและเสียงหัวเราะได้
   เพราะชี้แนะให้เราได้มองในแง่ที่สวยงามของลูกโป่งที่ลอยคว้างหลากสีบนท้องฟ้านั้น
- ขนมแปลกๆ  ที่ในยามปกติ ไม่ค่อยมีโอกาสได้รับประทาน เช่น สายไหม สีสวยฟูฟ่อง
   ที่พอแตะลิ้นก็ละลายเป็นน้ำตาลหวานๆ
- การแสดงต่างๆ ที่ดูน่าตื่นตา ตื่นใจไปซะทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น ลิเก ลำตัด
   หรือการแสดงที่ต้องเสียเงินเข้าชม เช่น รถไต่ถัง เมียงู คนสองหัว ...
- เสียงอึกทึกครึกโครม เสียงประกาศ เสียงเพลง ผู้คน ละลานตา แสงสีเสียง ที่น่าตื่นตาตื่นใจ

นึกถึงงานวัดทีไร เราจะรู้สึกมีความสุข นึกถึงอากาศเย็นๆ ที่ได้ไปเที่ยวกันอย่างอบอุ่นกับคุณพ่อคุณแม่
เอ...จำไม่ได้แล้วว่าไปเที่ยวงานวัดครั้งสุดท้าย เมื่อไหร่ ... แล้วงานวัดสมัยนี้เป็นอย่างไรนะ..


กระทู้: งานวัด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.พ. 11, 23:01
เท่าที่นึกออกตอนนี้คือ ม้าหมุน ค่ะ

(http://www.gmwebsite.com/upload/nganwad.com/content/%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B9%88_0.jpg)


กระทู้: งานวัด
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 12 ก.พ. 11, 00:26
ของกินตามงานวัดเป็นที่โปรดปรานของเด็กๆมาก ส่วนมากจะเป็นของกินเล่น ประเภทของกินขึ้นอยู่กับท้องถิ่นนั้นๆด้วย อย่างภาคกลางก็มี ก๋วยเตี๋ยว เครื่องในต้ม ระยะหลังไก่ย่างก็พอมี  พวกของขบเคี๋ยวหรือพวกขนมก็จะมี โรตี  ตังเมหลอด ข้าวโพดคั่ว ไอติมหลอด น้ำแข็งกด ข้าวเกรียบว่าว ข้าวเกรียบงา ข้าวโพดต้ม อ้อยควั่น ถั่วลิสงต้ม แห้ว กระจับ ฝักบัว กล้วยแขก ที่เด็กเล็กๆชอบมากคือขนมปังกรอบก้อนกลมเล็กๆแต้มหน้าด้วยครีม 3 สีคือขาว เขียวและแดง ร้อยเป็นพวงใหญ่กว่าสายสร้อยสักสองเท่าเด็กๆชอบเอามาคล้องคอแล้วกินไปด้วย พวกของดองเช่นฝรั่งดอง มะม่วงดอง มะยมดอง มะดันดอง ลูกหวายดอง ลูกหว้า เป็นต้น เครื่องดื่มก็จะมีกาแฟชงแบบโบราณกับน้ำอัดลมเป็นหลัก กาแฟมีทั้งร้อนทั้งเย็น กาแฟร้อนถ้าไม่กินที่ร้านก็จะใส่กระป๋องนมให้ ใช้เชือกกล้วยร้อยที่รูฝากระป๋องนมไว้หิ้ว  ร้านค้าจะใช้ตะเกียงเจ้าพายุหรือตะเกียงแก๊สช่วยส่องสว่างหรือบางร้านที่เล็กหน่อยก็ใช้ตะเกียงรั้ว       


กระทู้: งานวัด
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 12 ก.พ. 11, 14:06
ขอเพิ่มเมนูของกินงานวัดอีกหน่อย  ประเภทกินแล้วติดฟัน ก็มีเผือกต้ม มันต้ม ของกินที่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีขายคือ พุทราไทยเชื่อม มีทั้งเชื่อมทั้งลูกและแบบทำเป็นแผ่นกลมๆ กินกับพริกกะเกลืออร่อยมาก(น่าจะยังมีขายที่วัดหลวงพ่อมงคลบพิตร อยุธยา) นอกจากนี้ยังมี พุทรากวน ข้าวต้มผัด(ข้าวต้มมัด) ข้าวเม่าทอด ข้าวเม่าคลุก กล้วยปิ้ง เป็นต้น  นอกจากลิเกกับหนังฉายที่ยืนพื้นแล้ว งานใหญ่ๆบางทีจะมีลำตัดและโขน บางทีก็มีมวย แต่โขนนั้นเท่าที่จำได้ในรอบหลายสิบปีมาเล่นที่วัดแถวบ้านแค่ครั้งเดียว ส่วนลำตัดนั้นคณะที่ดังที่สุดคงเป็น หวังเต๊ะ  ผมรู้จักเพลง Hit the road jack ของ Ray Charles จากเวทีลำตัดนี่เอง  หวังเต๊ะ นำไปร้องบนเวทีจำได้ว่าลุงหวังเต๊ะ ร้องเพลงนี้ 3 ประโยคแรกแค่นั้นเอง  แต่ก็ประทับใจตั้งแต่นั้นมา


กระทู้: งานวัด
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 12 ก.พ. 11, 21:51
นอกจาก ชิงช้าสวรรค์และม้าหมุน  “ยิงปืนไม้ก๊อก” ก็เป็นที่นิยมและยังยืนหยัดมาจนถึงทุกวันนี้เพียงแต่รางวัลที่แจกจะต่างกัน  งูเป็นสัตว์ที่ถูกนำมาเล่นมากที่สุดในงานวัด เมียงูเป็นการแสดงยอดฮิตในบรรดาการแสดงของงูทั้งหลาย  การแสดงแบบหลอกคนดูเช่น  “หัวคนตั้งโต๊ะ”  “กาขาวขันได้” ยังคงขายได้อยู่   งานวัดใหญ่ๆ จะมีรถไต่ถังด้วย ในยุคนั้น รถไต่ถังคณะ “เปรื่อง เรืองเดช”ดังที่สุด  สาวน้อยตกน้ำเป็นเครื่องเล่นที่อย่างหนึ่งที่พวกหนุ่มๆยุคนั้นชอบกันมากแต่ผมสงสารพวกเธอมากกว่า โดยเฉพาะหน้าหนาว ขึ้นจากน้ำแต่ละทีพวกเธอสั่นงั่กๆจนต้องเอาผ้าขนหนูมาห่มส่วนบนเอาไว้   จ้ำบ๊ะ(ขอเซ็นเซอร์บรรยากาศ) ก็นำมาเล่นในงานวัดแต่ช่วงหลังน้อยลงเพราะถูกครหามาก  สิ่งที่คู่กับงานวัดอีกอย่างคือ ขอทาน แต่ก่อนจะมีเด็กหัวโตตัวเล็กเดินไม่ได้พ่อแม่จะพาไปนอนทำตาปริบๆขอทานตามงานวัด ไม่รู้ว่ามีกี่คนแต่ไปวัดไหนก็จะเจอ แต่เดี๋ยวนี้ไม่เห็นแล้ว


กระทู้: งานวัด
เริ่มกระทู้โดย: puyum ที่ 13 ก.พ. 11, 21:19
แล้วก็ร้านถ่ายรูป
มีฉากหลังเป็นบางแสน หัวหิน แล้วก็เชียงใหม่
ใช้กล้องตัวใหญ่ กดชัดเตอร์ด้วยการบีบลูกโป่ง
ถ่ายออกมาแล้วเหมือนไปมาจริงๆ
ตามด้ายตู้เซียมซี


กระทู้: งานวัด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.พ. 11, 08:45
อย่างที่สองที่จำได้คือลูกโป่งงานวัด   



กระทู้: งานวัด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.พ. 11, 21:26
ยิงเป้าในงานวัด

(http://statics.atcloud.com/files/comments/147/1479257/images/1_original.jpg)


กระทู้: งานวัด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.พ. 11, 21:29
ขาดไม่ได้อีกอย่างคือลิเกงานวัด

(http://www.bloggang.com/data/junely/picture/1265092359.jpg)


กระทู้: งานวัด
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 16 ก.พ. 11, 09:45
ดูภาพลิเกในรูปก็คงคล้ายๆเมื่อก่อน สิ่งที่ต่างไปคือ"ฉากลิเก" ในภาพที่ดูมีสีสันขึ้น เมื่อก่อนฉากลิเกจะเป็นรูป "ท้องพระโรง " ยืนพื้น ลิเกบางคณะที่มีลูกเล่นมากๆอย่างคณะ "แสงอุทัยเจริญ" ที่เล่นอยู่แถวภาคกลางมักจะมีฉากหลายฉาก เช่น ฉากเข้าเฝ้าจะเป็นรูปท้องพระโรง ตอนเดินป่าก็จะเอาฉากป่าลงมาแล้วใช้ไฟช่วยเป็นแบ็คกราวด์ให้ดูสมจริงขึ้น ฉากประหารชีวิตก็จะเป็นอีกบรรยากาศหนึ่ง


กระทู้: งานวัด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.พ. 11, 10:58
ฉากท้องพระโรงแบบนี้ใช่ไหมคะ

(http://learners.in.th/file/monumenta/1314.jpg)


กระทู้: งานวัด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.พ. 11, 20:05
แล้วก็ไอติมหลอด

(http://statics.atcloud.com/files/comments/147/1479279/images/1_original.jpg)


กระทู้: งานวัด
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 17 ก.พ. 11, 10:24
ลูกโป่งที่ลอยได้ เรียกว่า ลูกโป่งสวรรค์
สมัยก่อนมีรูปทรงแบบเดียว คือหัวโตคล้ายหลอดไฟ สกรีนตัวหนังสือเป็นข้อความต่าง ๆ เช่น สวัสดีปีใหม่
ไม่ได้เป็นรูปการ์ตูนสวยงามมากมายหลายอย่างเช่นทุกวันนี้

ความสุขอย่างหนึ่ง เมื่อขอพ่อแม่ซื้อลูกโป่งสวรรค์ได้ คือ ท่านจะเอาเส้นด้ายที่ผูกลูกโป่งผูกไว้กับข้อแขนเรา เพื่อกันลูกโป่งหลุดไป
แต่เราจะงอแง คิดว่าแม่จะให้ลูกโป่งพาเราลอยหนี
ยังจำความรู้สึกอบอุ่นนั้นได้ คิดถึงจัง   :'(


กระทู้: งานวัด
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 17 ก.พ. 11, 11:48
เห็นภาพ ท้องพระโรง แล้ว นึกถึง ลิเกตอนโหมโรง ได้ยินแต่เสียงระนาดกับเสียงกลอง ผู้ใหญ่บางคนพูดว่า  “แค่ลิเกโหมโรง” ซึ่งหมายถึงยังหัวค่ำหรือยังไม่มีอะไรน่าสนใจ ยังไม่ต้องรีบไปก็ได้  ตามธรรมเนียมของลิเก ก่อนเข้าเรื่องต้องมีการออกแขกก่อน จากนั้นคนพากย์ก็จะนำเข้าสู่ท้องเรื่อง  เมื่อก่อนลิเกเป็นอาชีพที่เฟื่องฟูมาก ตอนหลังๆซบเซาลงไปมาก บางคราวถึงกับไปขอวัดเล่นแล้วเดินเรี่ยไรเงินจากคนดูก็มี  ลิเกป็นอาชีพที่ ติดอันดับหนึ่งในสี่ของอาชีพถือว่าเป็นพวกไว้ใจไม่ได้เรื่องผู้หญิง คือ รถไฟ เรือเมล์ ลิเก ตำรวจ   ลิเกภาคกลางมีถิ่นฐานอยู่แถว อยุธยา อ่างทอง  ลพบุรี และจังหวัดรอบๆ  จังหวัดที่มีลิเกอยู่มากเท่าที่เห็นคือที่ อยุธยา  ถ้านั่งรถไฟขึ้นเหนือ เมื่อผ่านสถานีอยุธยา ด้านขวามือหลังวิหารหลวงพ่อคอหักจะมองเห็นป้ายคณะลิเกจนตาลาย  ขึ้นไปจนถึงลพบุรี ที่นี่ก็มีคณะลิเกมากเช่นกันจากถนนข้างปรางค์สามยอดเรื่อยขึ้นไปจะเห็นป้ายลิเกมากมาย มากเสียกว่าที่อยุธยาอีก  ยุคที่ลิเกเฟื่องฟูนั้นมีวิกลิเกซึ่งเล่นกันหลายวันมีแม่ยกสนับสนุนอยู่ไม่ขาดขนาดย้ายไปเล่นที่อื่นไกลแค่ไหนก็ต้องตามไปดู   ตามงานวัดนั้นลิเกมักจะเล่นกันแค่ครึ่งคืน ส่วนหนังก็แล้วแต่ บางงานก็ครึ่งคืนบางงานก็สว่าง คนที่อยู่ดูหนังกันยันสว่างนั้นเหตุผลหนึ่งก็คือตอนกลับบ้านมืดมากและหนทางจะเปลี่ยว ส่วนใหญ่เมื่อมาแล้วก็อยู่จนสว่างแล้วค่อยกลับบ้าน 


กระทู้: งานวัด
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 17 ก.พ. 11, 15:08
ไอติมหลอดเป็นของประจำงานวัดและเป็นไอติมแท่งที่ขายกันโดยทั่วไปยุคก่อน  เป็นไอติมที่ทำกันตามบ้านแล้วส่งขาย มีทั้งวางขายเป็นถังหรือมีเด็กรับไปเดินขาย ไอติมหลอดแต่ก่อนมักจะใส่ใส้ต่างๆ ด้วย  เช่น ถั่วดำ ลอดช่อง ข้าวเหนียว และมีรสกะทิซึ่งหวานมันกว่าไอติมหลอดที่นำมาย้อนยุคเพราะมีแต่ความหวานจากน้ำหวานอย่างเดียว  เด็กขายไอติมจะสะพายตะกร้าไอติมซึ่งทำด้วยหวายมีหูยาวสำหรับสะพายไหล่  เวลากินไอติมเสร็จต้องดูไม้ไอติมให้ดี  ถ้าได้ “ไม้แดง” ได้กินฟรีอีก 1 อัน   จำได้ว่าเมื่อบริษัทโฟโมสต์ เข้ามาเมืองไทยใหม่ๆ ได้ทำการตลาดโดยการนำไอติมไปแจกนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ นักเรียนได้รับแจกไอติมคนละ 2 ถ้วย เป็นถ้วยย่อมๆทำด้วยกระดาษฟอล์ยมีจีบรอบถ้วย   ถ้วยหนึ่งเป็นสีฟ้าสด อีกถ้วยเป็นสีแดงสด มีช้อนตักเป็นไม้แบนๆ  เป็นไอติมที่อร่อยที่สุดเท่าที่เคยกิน       


กระทู้: งานวัด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.พ. 11, 18:20
เคยกินไอติมขายในกระติกที่คนขายสะพานเดินขายตามบ้าน    เป็นแท่งยาว มีหลายรส   ที่กินเป็นประจำคือสีแดง รสหวานแบบน้ำหวาน 


กระทู้: งานวัด
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 18 ก.พ. 11, 13:46
นอกจาก ลูกหว้าแล้ว "ชำละเลียง" ก็เป็นของกินที่มีขายตามงานวัดเหมือนกัน ชำมะเลียงอย่างที่เห็นในรูปเป็น "ชำมะเลียงบ้าน" ลูกโตกว่าลูกหว้า มีสีเข้ม กินแล้วปากและฟันจะเป็นสีม่วงเข้มๆเหมือนสีเปลือกชำมะเลียง  อีกประเภทหนึ่งคือ "ชำมะเลียงป่า" ลูกเล็กกว่าชำมะเลียงบ้านกินได้เหมือนกันแต่มักไม่มีขาย หาได้ตามป่าละเมาะ "ชำมะเลียง" มีรสหวานอมฝาด แม่ค้ามักนำไปขายเสริมกับของกินอย่างอื่นมากกว่าเป็นของขายหลัก เพราะรสชาดไม่ค่อยถูกปากเด็กเท่าไรนัก  ชำมะเลียงป่า มีลูกขนาดเล็กพอดีรูไม้ไผ่ บางทีเด็กๆก็จะใช้เป็นกระสุน "ไม้โผละ" หรือ "ไม้โพล๊ะ" เอาไว้ยิงเล่นกัน ถ้าหาเม็ดชำมะเลียงไม่ได้ก็ใช้กระดาษอ่อนชุบน้ำแล้วปั้นเป็นก้อนยัดไปในรูไม้ไผ่แล้วใช้แกนไม้กระแทก เวลาโดนไม้โพล๊ะยิงจะรู้สึกเจ็บๆคันๆ เล่นกันเอาสนุกมากกว่าใช้เป็นอาวุธ




กระทู้: งานวัด
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 18 ก.พ. 11, 13:54
"ชำมะเลียงบ้าน" (ภาพจาก http://www.kaset4you.com/forum/index.php?topic=1479.0)


กระทู้: งานวัด
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 18 ก.พ. 11, 22:53
ขออภัย ชำมะเลียงในจานเป็น "ชำมะเลียงป่า " ครับ


กระทู้: งานวัด
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 19 ก.พ. 11, 17:32
“ยกตะลุ่ม”  -   งานวัดมักจัดในวันพระสำคัญ ๆ โดยตอนเช้าจะมีการทำบุญเลี้ยงพระ ตอนกลางคืนจะมีมหรสพ  มีงานวัดแต่ละครั้ง นอกจาก พระ เณร ต้องทำงานหลายอย่างแล้ว เด็กวัดก็เหนื่อยเหมือนกันเพราะต้องทำงานตามที่พระสั่งแต่หลักๆจะเป็นงานที่ใช้แรง  สิ่งที่เด็กวัดชอบอยู่อย่างหนึ่งคือได้เปิดหูเปิดตาและได้กินอาหารดีๆที่ญาติโยมนำมาถวายพระหลังจากที่พระฉันเสร็จแล้ว บางทีก็จะได้เงินเล็กๆน้อยๆ จากหลวงลุง หลวงพี่ด้วย   กิจกรรมหลักของเด็กวัดตอนเลี้ยงพระก็คือการ “ยกตะลุ่ม” เป็นการยกอาหารที่ใส่ไว้ใน “โอ” ที่อยู่ในถาดนำไปประเคนให้พระ(จริงๆแล้วโอใส่อาหารต้องอยู่ใน ตะลุ่ม แล้วยกไปถวายพระ แต่ยุคหลังใช้ถาดแทนตะลุ่ม แต่ยังคงเรียกว่า “ยกตะลุ่ม “ อยู่)    “โอ” เป็นภาชนะคล้ายขันใบเล็กๆแต่ปากจะเล็กกว่าและทรงสูงกว่าขัน  “โอ” ใช้วัสดุเคลือบแบบจานสังกะสี  มี  สีขาว สีไข่ไก่ สีน้ำเงินและ สีเขียวอ่อน    เมื่อพระฉันเสร็จเด็กวัดก็จะยกถาดอาหารไปเก็บ พอพระสวดเสร็จก็จะได้กิน จากนั้นก็ทำหน้าที่ล้าง โอ จาน ถาดและบาตรพระ โดยเฉพาะบาตรพระต้องขัดทั้งข้างนอกข้างในจนดูเป็นเงาวับ   “โอ” คงจะหายไปพร้อมๆกับจานสังกะสีเพราะ เดี๋ยวนี้ใช้ถ้วยหรือจานกระเบื้องใส่อาหารแทน  จึงเหลือแต่ คำว่า  “ถ้วย โถ โอ ชาม”


กระทู้: งานวัด
เริ่มกระทู้โดย: Rangson Boontham ที่ 19 ก.พ. 11, 21:52
ตอนเป็นเด็กไปงานวัดกับครอบครัว แม่จะเขียนชื่อกับที่อยู่ตัวเองใส่กระเป๋าให้ทุกครั้ง พูดถึงงานวัดแล้วอยากกลับไปเป็นเด็กจัง  :-[


กระทู้: งานวัด
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 20 ก.พ. 11, 14:39
“พวงมโหตร”  เป็นสิ่งที่สร้างสีสันให้กับงานวัด โดยเฉพาะบนศาลาวัดที่ญาติโยมมาชุมนุมกัน  “พวงมโหตร “(พวง-มะ-โหด)  ทำด้วยกระดาษสีบางๆ มีหลายสี ทำโดยนำกระดาษสีมาพับเป็นชั้นๆแล้วตัดให้เป็นลายตามต้องการจากนั้นคลี่ออกจะกลายเป็นพวง ใช้แขวนประดับตามจุดต่างๆบนศาลาวัด  สิ่งประดับศาลาวัดอีกอย่างคือ “ธงสี” เป็นธงกระดาษสามเหลี่ยมติดไว้บนเชือกยาวประดับตามระเบียงศาลาวัด    ตรงกึ่งกลางเพดานศาลาวัดมักประดับด้วย “กระดาษสี”เส้นเล็กๆยาวหลายเมตร แขวนจากกึ่งกลางเพดานศาลาไปจรดชายคาโดยรอบ กระดาษสีจะถูกตีเป็นเกลียวเวลาเคลื่อนไหวจะพลิ้วไปมา   



กระทู้: งานวัด
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 21 ก.พ. 11, 09:55
“เครื่องไฟ “– เมื่อก่อนบ้านนอกไม่มีไฟฟ้าใช้ เวลามีงานวัดหรืองานบ้านต้องอาศัย “เครื่องไฟ” ทั้งนั้น คนบ้านนอกเรียกเครื่องปั่นไฟ เครื่องขยายเสียงรวมทั้งไฟประดับต่างๆว่า “เครื่องไฟ”   สมัยที่หลอดฟลูออเรสเซ็นต์(ที่เรากันเรียกติดปากว่าหลอดนีออน) ยังไม่แพร่หลาย ไฟส่องสว่างที่ใช้ตามโรงลิเกและที่ต่างๆเป็นแบบหลอดใส้ธรรมดา บรรยากาศจึงไม่สว่างไสวเหมือนหลอดแบบปัจจุบัน  เมื่อหลอดฟลูออเรสเซ็นต์แพร่หลายคณะเครื่องไฟก็นำไฟหลอดยาวๆมาใช้ตามงานวัด โดยผูกกับไม้ปักเรียงกันไปบนถนนหน้าวัด หลังวัด ข้างวัด ยาวไปหลายสิบเมตร  วัดตามบ้านนอกมักอยู่ใกล้ลำน้ำและใกล้ทุ่งนา ปกติจะมืดมาก พอนำไฟไปติดก็จะมีกองทัพแมลงมาเล่นไฟและจะมีฝูงคางคกนักร้อยๆก็จะมารุมกินแมลงตามหลอดไฟ พวกเด็กๆจะพากันไปไล่คางคกเป็นที่สนุกสนาน    อาชีพ “เครื่องไฟ” แต่ก่อนคงไม่ได้เป็นอาชีพที่มีรายได้ดีนัก เพลง “ชีวิตคนเครื่องไฟ” ที่คำรณ สัมบุณณานนท์ร้องจึงพรรณาถึงความลำเค็ญของคนเครื่องไฟเอาไว้อย่างมองเห็นภาพได้ (ฟังเพลง “ชีวิตคนเครื่องไฟ”http://www.baanmaha.com/forums/showthread.php?t=8913  )    ตามบ้านนอกนั้นถ้าวัดไหนมีงานและเปิดเครื่องขยายเสียง เสียงจะ “ดังลั่นทุ่ง” จากท้องทุ่งฟากหนึ่งไปถึงท้องทุ่งอีกฟากหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปหลายสิบเส้น เพลงที่เปิดก็คงเป็นเพลงแนวของ คำรณ สัมบุณณานนท์  ชาญ เย็นแข  กุหลาบ กฐินะสมิต เช่น เพลง  ชีวิตคนเครื่องไฟ เด็กข้างถนน สาวพลัดถิ่น เป็นต้น    แต่ก่อนเวลาหาเครื่องไฟมาเล่นต้องเดินทางไปเป็นวัน  จากวัดแถวบ้านบางทีต้องนั่งเรือและต่อรถไปถึง “แปดวา” คนสมัยก่อนเรียก “คลองรังสิต”  ว่า “แปดวา” ตามความกว้างของคลอง


กระทู้: งานวัด
เริ่มกระทู้โดย: puyum ที่ 22 ก.พ. 11, 22:14

คุณpathuma พูดถึงพวงมะโหด ธงทิว
เมื่อสิบปีก่อน ชนอิสลามที่ผักไห่ ตัดขาย มีหลายแบบ ไม่ทราบว่ายังมีอยู่หรือเปล่า


กระทู้: งานวัด
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 24 ก.พ. 11, 10:03
“ข้าวตังงานวัด” – เมื่อมีงานวัด ที่วัดจะหุงข้าวด้วยกระทะใบใหญ่และต้องใช้คนที่หุงข้าวกระทะเป็นมาหุง   กระทะข้าวจะตั้งอยู่บนเตาที่ก่อด้วยอิฐและสุมด้วยฟืน คนหุงข้าวจะใช้พายคนข้าวอยู่เรื่อยๆ  การหุงข้าวแบบนี้ไม่ต้อง “เช็ดน้ำ”  พอข้าวสุกได้ที่คนหุงก็จะตักข้าวใส่กระบุงที่รองด้วยใบต้องหรือไม่ก็เป็นกาละมังใบใหญ่ๆ  เมื่อข้าวสวยถูกตักออกไปจากกระทะหมดแล้วข้าวที่เหลือในกระทะจะจับตัวเป็นแผ่นทั่วกระทะกลายจนกลายเป็น “ข้าวตัง”  พอข้าวใกล้สุกเด็กก็จะมารอเตรียมรับแจก ข้าวตัง   คนหุงข้าวจะปล่อยให้ข้าวตังแห้งพอประมาณไม่เกรียมมากนัก จากนั้นจะตัดแจกเด็กๆ รสชาดจืดชืดแต่ก็ถือว่าอร่อยสำหรับเด็กเพราะนานๆจะได้กินสักครั้ง    ถ้าคนหุงใจดีหน่อยก็จะเพิ่มรสชาดข้าวตังโดยการโรยเกลือป่นลงไปเล็กน้อยพอมีรสเค็มหรือไม่ก็โรยหน้าด้วยมะพร้าวขูด  กินตอนอุ่นๆ ได้ทั้งรสเค็มและรสมัน  “ข้าวตังงานวัด” เดี๋ยวนี้หากินยากเพราะหุงข้าวด้วยหม้อไฟฟ้ากันหมด